ขอบคุณครับ ท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทองครับ ท่านประธานครับ ต่อระเบียบวาระที่ ๕.๒ ที่จะมีการพิจารณากันต่อ ผมขออนุญาตหารือท่านประธานเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมต่อเพื่อนสมาชิก เนื่องจากว่า เท่าที่ผมได้ตรวจสอบกับทางเจ้าหน้าที่ ขณะนี้มีผู้ที่ค้างรายชื่อในการอภิปรายอยู่ทั้งหมด ๑๙ ท่านบวกนะครับ มีบางท่านจะขอท่านประธานอภิปรายเพิ่มเติม ซึ่งก็คงอยู่ในดุลยพินิจ ของท่านประธานที่จะให้หรือไม่ แต่ว่ายังมีเจ้าของญัตติทั้งหมด ๑๑ ท่าน ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะใช้ สิทธิในการสรุปอีกหรือไม่ ฉะนั้นจะรบกวนท่านประธานครับว่าอยากจะให้ท่านประธาน ช่วยประมาณการ เพราะว่าเนื่องจากญัตติทั้ง ๑๑ ญัตตินั้นเกือบทั้งหมดมีการพูดถึงการขอให้ มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณา ซึ่งก็ยังไม่ทราบว่าตกลงจะต้องใช้มติ ในที่ประชุมหรือไม่ อาจจะมีการลงมติก็ได้ ก็จะได้มีการเตรียมความพร้อมว่าเพื่อนสมาชิก ที่ทำงานกันอยู่ในสภาจะลงมาสักประมาณกี่โมง อย่างไรดีครับ เพื่อเราจะได้ทำงานกัน อย่างเต็มที่ในสภา อยากจะให้ท่านประธานได้กรุณาชี้แจงกระบวนการไว้คร่าว ๆ แล้วก็อาจจะ มีการพูดถึงกรอบเวลาที่อาจจะมีความเป็นไปได้ในการลงมติ เราก็จะได้อยู่กันเป็น องค์ประชุมที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ขอบคุณท่านประธานครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลคนจังหวัดอ่างทอง ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตท่านประธานทวนความเข้าใจ แล้วก็เอาให้ชัดในประเด็น เรื่องของการถอนวาระอีกสักนิดหนึ่ง เมื่อสักครู่ท่านประธานเอ่ยถึงการถอนวาระ เรื่องการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสภาผู้แทนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... ซึ่งมีภาคประชาชนเข้าชื่อเข้ามาจำนวน ๑๐,๐๐๐ กว่าชื่อ เป็นผู้เสนอ และท่านก็พูด เลยไปถึงกรณีของท่านเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม ต้องขอประทานโทษที่เอ่ยนามนะครับ เพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทย ที่มีการยกร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เช่นเดียวกัน ทีนี้ผมอ่านจากเอกสารประกอบครับ เอกสารประกอบการประชุมวันนี้นะครับ ท่านประธาน ครั้งที่ ๑๑ และครั้งที่ ๑๒ ในประเด็นที่ท่านพูดถึงนั้นผมจะเห็นเฉพาะเอกสาร ประกอบที่พูดถึงว่า คุณรุจิรา ภีระ เป็นผู้ถอน แต่ว่าไม่มีเอกสารประกอบการถอนที่เอ่ยถึงว่า ท่าน สส. เกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม เป็นผู้ถอนแต่อย่างใด ฉะนั้นประการที่ ๑ ที่ผมต้องนำเรียน ก็คือว่าตกลงท่านเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม ยืนยันต่อที่ประชุมแห่งนี้ได้หรือไม่ว่าท่านได้ ถอนร่างดังกล่าวไปแล้วจริงหรือ มีเอกสารประกอบการพิจารณาที่จะยืนยันคำพูดดังกล่าว ได้หรือไม่ นั่นเป็นประการที่ ๑ ครับท่านประธาน
ประการที่ ๒ ท่านประธานครับ สั้น ๆ ครับ แต่เดิมผมเข้าใจว่าการถอน ประเด็นระเบียบวาระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกฎหมายที่เข้าสู่สภานั้น จะต้องมีการพิจารณา แล้วถอนในสภา แต่เมื่อสักครู่ท่านประธานได้อ้างถึงข้อบังคับการประชุมในข้อ ๖๑ ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมญัตติ หรือการถอนญัตติที่ประธานสภาสั่งบรรจุระเบียบวาระการประชุม จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของที่ประชุม ซึ่งเมื่อสักครู่ท่านประธานก็ได้ถาม แล้วก็ เท่าที่สดับรับฟังจากการยกมือของเพื่อนสมาชิกก็ไม่มีผู้ใดค้าน ซึ่งผมก็สนับสนุนว่าถ้าเป็น เช่นนั้นจริงก็ถือว่าการถอนสำเร็จแล้ว แต่ผมอยากเรียนถามในประการที่ ๑ กรณี เรื่องร่าง ของท่านเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม แล้วก็ประการที่ ๒ ว่าท่านยืนยันว่าถ้าไม่มีผู้ใดค้านสถานะ ของร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสภานิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยทั้ง ๒ ร่าง ถือว่า เป็นการถอนออกไปก่อนก็จะพ้นวาระการประชุมในสัปดาห์ถัด ๆ ไปใช่หรือไม่ ประการใด ต้องขออนุญาตเรียนถามท่านประธานด้วยความเคารพครับ ขอบคุณครับ
ท่านประธานครับ ผม ณัฐวุฒิ ก้าวไกล ขออนุญาตท่านประธานรอกรรมการลงคะแนนด้วยครับ กรรมการนับคะแนน ยังไม่ได้ลงคะแนน เดี๋ยวเกิดท่านเอ่ยคำว่าปิดไปเดี๋ยวจะยุ่งครับ ขอความกรุณาท่านรออีก สักนิดหนึ่งครับ
ท่านประธานครับ ณัฐวุฒิครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม ผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ผมต้องขออนุญาตกราบเรียนท่านประธานด้วยความเคารพครับ กรณีที่ท่านประธานอ่าน การพ้นจากตำแหน่งของอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกล คุณณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ในหลักกฎหมายเป็นไปตามนั้นครับ แต่ผมคิดว่าเพื่อความเป็นธรรม แล้วก็การยืนยันข้อเท็จจริงให้กับคุณณธีภัสร์ อยากจะนำเรียนต่อท่านประธาน แล้วก็ อยากจะนำเรียนต่อเพื่อนสมาชิก แล้วก็อยากจะนำเรียนต่อพี่น้องประชาชนว่าคุณณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ได้แสดงเจตจำนงตั้งแต่แรกว่าประสงค์ที่จะลาออกจากการเป็นสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร และได้ยืนยันเจตจำนงนั้นอีกครั้งหนึ่งเมื่อครบกำหนดระยะเวลาของคดี ถึงที่สุดครับ หามิใช่เป็นกรณีของการพ้นจากตำแหน่งโดยคำพิพากษาของศาล แต่เป็น เจตจำนงที่เจ้าตัวยืนยันตั้งแต่ต้นเพื่อยืนยันหลักการแล้วก็สิ่งที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พึงปฏิบัติ ผมขออนุญาตนำเรียนท่านประธานเพื่อบันทึกไว้ครับ แล้วก็นำเรียนไปยัง เพื่อนสมาชิกทุกท่านเพื่อทราบเพื่อเป็นบรรทัดฐานและเป็นตัวอย่างที่ดีแก่สังคมครับ ขอบคุณท่านประธานครับ
ขอบคุณครับ ท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม ผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขออนุญาต ที่จะเอ่ยคำว่าคนจังหวัดอ่างทองเป็นครั้งแรกในการประชุมสภาในชุดนี้ครับ ท่านประธานครับ ต้องขอบพระคุณเพื่อนสมาชิกหลายท่านครับ ผมคิดว่าเราได้ข้อสรุปที่ใกล้เคียงกัน ในเชิงหลักการว่าการประชุมนั้นจะเกิดขึ้นในกี่วันต่อสัปดาห์ แต่ผมอยากจะย้ำและขอใช้สิทธิ พาดพิงที่คุณจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ได้รวมชื่อผมกับคุณณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ เป็นชื่อเดียวกัน ในฐานะที่คุณณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ เองก็เป็นคนเสนอประเด็นว่าอยากจะให้มีการประชุม ๓ วัน ที่จำเป็นต้องพูดรวมแบบนั้นเพราะผมคิดว่าประเด็นสำคัญ เพื่อนสมาชิกเห็นตรงกันว่า ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ ข้อเท็จจริงที่คุณณัฐพงษ์ได้นำเสนอว่าในช่วง ๔ ปี ของ สส. ในชุดที่ ๒๕ นั้นมีประเด็นใด ๆ ที่ค้างการพิจารณา ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือกฎหมาย หลายฉบับที่ยังไม่ได้ถือว่าตกไปนะครับ เพียงแต่ว่าค้างการพิจารณาบางประเด็นสำคัญ เช่นการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเรื่องสมรสเท่าเทียมก็ไม่ได้ตกไป ยังค้างการพิจารณา ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าไม่ว่าพรรคใดจะขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็น่าจะหยิบยก กฎหมายเหล่านี้เข้ามาพิจารณา นี่เป็นข้อมูลสำคัญที่สภาแห่งนี้ต้องบันทึกไว้ แล้วก็เป็น เรื่องจริงที่ผมเชื่อว่าเพื่อนสมาชิกก็จะหยิบยกข้อมูลตรงนี้ที่จะมาใช้ประกอบการพิจารณาว่า วันประชุมนั้นควรจะมีระยะเวลาเป็นกี่วันต่อสัปดาห์ อย่างไรก็ตามมีบางประเด็นที่ เพื่อนสมาชิกได้พูดถึงและผมคิดว่าจำเป็นต้องทำความเข้าใจว่า ข้อเสนอของพรรคก้าวไกล ที่บอกว่า ๓ วันในตอนแรกนั้นเราไม่ได้หมายถึงว่ากรณีที่จะประชุมในวันอังคารจะเริ่ม ตั้งแต่เวลาเช้า เพราะว่าเพื่อนสมาชิกบางท่านก็กังวลว่าในเช้าวันอังคารนั้นมักจะเป็นกรณี ของการประชุมคณะรัฐมนตรี บางพรรคอาจจะมีการประชุม สส. ในช่วงเวลาบ่าย ถ้าพวกผม เป็นรัฐบาลหรือท่านที่เคยเป็นรัฐบาลท่านก็ทราบดีว่าปกติจะมีการประชุม Whip วันจันทร์ ในส่วนของรัฐบาล ท่านก็เกรงว่าปัญหาของพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ท่านอาจจะไม่มีเวลา ที่พิจารณา แต่ข้อเสนอแรกของเราในการประชุมที่เพิ่ม ๓ วัน เพิ่มเป็นวันอังคารนั้นยืนบน พื้นฐานที่วันอังคารเราจะไม่ไปแตะครับ ไม่ให้กระทบต่อการประชุมคณะรัฐมนตรี ก็คือ การเริ่มการประชุมในช่วงบ่ายเป็นต้นไป แน่นอนเราอาจจะเลิกกันค่ำนิดหนึ่ง แต่ผมเชื่อมั่น ว่าวิสัยทัศน์ของท่านประธานและท่านรองประธานทั้ง ๒ ท่านก็พูดชัดเจนในการแสดง วิสัยทัศน์หรือข้อหารือที่มีปรากฏต่อสาธารณะว่าเราจะไม่ให้การประชุมนั้นเยิ่นเย้อ จนข้ามคืนต่าง ๆ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วผลกระทบก็เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน นั่นคือสิ่งที่ อยากจะชี้แจงครับ
อีกสิ่งหนึ่งที่อยากจะชี้แจงและจำเป็นต้องอธิบายต่อเพื่อนสมาชิก ในอดีต ที่ผ่านมาเราเข้าใจว่ามีการเสนอรายงานจากหน่วยราชการต่าง ๆ เป็นจำนวนมากที่ต้อง เสนอตามกฎหมาย มีรายงานของคณะกรรมาธิการที่ค้างการพิจารณาเป็นจำนวนมาก ที่ไม่อาจดำเนินการได้แล้วเสร็จและทัน แน่นอนท่านไม่ได้เอ่ยโดยตรงว่าเป็นพรรคการเมืองใดที่ใช้ เวลาในการอภิปรายเป็นจำนวนมากขนาดนั้น แต่ความจริงท่านน่าจะเอ่ยอีกสักนิดหนึ่งว่า อาจจะเป็นพรรคอันดับหนึ่งในวันนี้ที่ใช้เวลาอภิปรายจำนวนมากขนาดนั้นก็ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นั่นไม่ใช่ความเป็นจริงครับ ความเป็นจริงผมเชื่อมั่นว่าสภาชุดที่ผ่านมาสมาชิกทุกคน ได้แสดงให้เห็นว่ารายงานของคณะกรรมาธิการมีความสำคัญและนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ผมยกตัวอย่างแค่เรื่องเดียวนะครับ รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแก้ไข ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศนำไปสู่การที่รัฐบาลชุดที่ผ่านมาของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกเป็นแผนปฏิบัติการแล้วก็เป็นวาระแห่งชาติ สิ่งเหล่านี้จะบอกว่าไม่สำคัญ ไม่ได้ครับ แต่เพื่อการเดินหน้าการทำหน้าที่ของพวกเรา ท่านประธานครับ ผมคิดว่าการที่เรา แบ่งเวลาออกเป็น ๓ วันนั้นเพราะเราต้องการกำหนดให้ชัดเจนว่าวันใดควรจะต้องพิจารณา เป็นเรื่องได้ เช่นกรณีของวันพุธควรจะต้องเป็นการพิจารณาเรื่องกฎหมายที่เสนอโดยรัฐบาล หรือไม่ และท่านจะเห็นได้ว่าในสมัยประชุมที่ผ่าน ๆ มาสมาชิกของทุกพรรคก็ช่วยกัน ในการรักษาองค์ประชุมเป็นอย่างดี อันนี้เป็นสิ่งที่พวกเราในฐานะ สส. พวกผมก็เพิ่งเข้ามา แค่สมัยที่ ๒ ชื่นชมต่อสมาชิกทุกท่าน วันพฤหัสบดีก็ชัดเจนว่าจะมีวาระใด แต่สิ่งที่ขาด หายไปและบางครั้งมันตอบกับพี่น้องประชาชน มันตอบจากพวกเราเองกันไม่ได้นะครับ เช่นกรณีการเสนอกฎหมายของเพื่อนสมาชิกที่เข้าชื่อกันอย่างน้อย ๒๐ คน เสนอเป็น กฎหมายหรือกรณีที่ภาคประชาชนซึ่งยากเย็นนะครับ ถึงแม้ว่าปัจจุบันการเข้าชื่อเสนอ กฎหมายจะใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น บางครั้งเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ ใส่รหัสประชาชน เลขประจำตัวประชาชนก็สามารถเสนอกฎหมายได้ แต่การจะรวมสัก ๑๐,๐๐๐ ชื่อในการเสนอไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับท่านประธาน ฉะนั้นปรากฏว่าพอสภา ไม่สามารถพิจารณาได้ทันเป็นอันตกไป สิ่งที่ภาคประชาชนรวมเข้ามา เสนอกันมา กว่าจะ เดินมาถึงสภาทางลาดเอียงยังไม่ค่อยมีเลย นี่ตัวแทนคนพิการสากลบอกกับผม ซึ่งต้องฝาก ท่านประธานในการปรับแก้ด้วยความเคารพ พี่น้องประชาชนมาร้องเรียนจากจังหวัดชัยภูมิ บอกกับผมว่าเจ้าหน้าที่ห้ามคนที่ใส่รองเท้าแตะเข้าสภา สิ่งเหล่านี้ต้องแก้ไขครับ แต่ไม่เป็นไร เรามีวาระที่จะพูดกันในอนาคต ผมคิดว่าเพื่อการเดินหน้าการทำหน้าที่ของพวกเราข้อสรุป ที่น่าจะตรงกันวันนี้ก็คืออย่างน้อยที่สุดรักษากติกาเดิม เพิ่มเติมคือการรักษาองค์ประชุมว่า ๒ วันต่อสัปดาห์น่าจะเป็นข้อเสนอที่เราเห็นตรงกันมากที่สุด และทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ใน ๒ วันดังกล่าว แบบนี้พรรคก้าวไกลก็เห็นด้วยครับ แล้วก็เป็นข้อเสนอร่วมกันกรณีของ ๘ พรรคร่วมที่เราเดินหน้ากำลังจะจัดตั้งรัฐบาลเห็นชอบกับข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย โดยคุณจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และเพื่อนอีก ๖ พรรคที่เหลือเห็นตรงกันว่าอย่างน้อย ๒ วัน ต่อสัปดาห์น่าจะลงตัวที่สุด แต่อย่างไรก็ตามอย่างที่ผมได้เน้นย้ำว่าในกรณีที่จะเพิ่มเป็น วันพิเศษนั้นเป็นไปได้ไหมว่าขอเป็นพันธสัญญาร่วมกัน ซึ่งแน่นอนว่าพวกเราต้องช่วยกันครับ และท้ายที่สุดอยู่ที่ท่านประธานจะวินิจฉัยหรือตัดสินใจ ก็คือว่าขอพันธสัญญาร่วมกันว่า เมื่อใดก็แล้วแต่ที่มีกฎหมายที่เสนอโดยตัวแทนของพวกเรา สส. ซึ่งอาจจะข้ามพรรคก็ได้ รอบที่แล้วผมก็เสนอร่าง พ.ร.บ. ศาลจราจรกับคุณนิกร จำนง จากพรรคชาติไทยพัฒนา นี่ก็เสียดายที่ยังไม่ได้ถูกพิจารณา ขอเป็นพันธสัญญาร่วมกันและขอเป็นพันธสัญญาร่วมกันว่า เมื่อใดที่มีกฎหมายที่เสนอจากพี่น้องประชาชนค้างวาระเมื่อไร เราจะเพิ่มวันประชุมตรงนั้นทันที แน่นอนผมไม่กล้าจะไปบอกว่าท่านประธานวินิจฉัยแบบนั้นนะครับ แต่ผมเชื่อมั่นว่า เพื่อนสมาชิก เห็นตรงกัน และจะเป็นพันธสัญญาร่วมกันว่า ๒ วันนั้นคือ Fight บังคับ คือสิ่งที่เราจะเดินหน้า แต่ขอเป็นพันธสัญญาร่วมกันว่าเมื่อใดที่มีกฎหมายของพี่น้อง ประชาชน เมื่อใดที่มีกฎหมายของเพื่อนสมาชิกค้าง เราจะเพิ่มวันคล้าย ๆ กับว่าเป็นไป โดยอัตโนมัติหรือโดยทันทีในการประชุมต่อสัปดาห์ นี่ยังไม่พูดถึงการประชุมร่วมซึ่งอาจจะมี การนัดเป็นระยะ ผมคิดว่าแบบนี้ทางพวกเราพรรคก้าวไกลเองก็เห็นชอบ แล้วก็จะเดินหน้า ร่วมกันไปครับ ซึ่งในท้ายที่สุดนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับพี่น้อง ประชาชนที่เลือกพวกเราเข้ามาเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ก็ขอนำเรียนขอถอนข้อเสนอ ในส่วนของการประชุม ๓ วันต่อสัปดาห์ เป็น ๒ วันต่อสัปดาห์ บวกกับเงื่อนไขว่าหากมี กฎหมายที่ค้างการพิจารณาเมื่อใดก็ขอให้มีการนัดประชุมเป็นพิเศษ ซึ่งแน่นอนอาจจะ หมายรวมถึงกรณีที่มีวาระจำเป็นอื่น ๆ ด้วย คิดว่าแบบนี้การทำหน้าที่ของพวกเราในสมัยนี้ ก็น่าจะเดินหน้าไปด้วยกันดีครับ และผมเชื่อมั่นว่าองค์ประชุมไม่ใช่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่องค์ประชุมเป็นเรื่องของตัวแทนประชาชนทุกคน ขอบคุณครับ
ท่านประธานครับ ท่านประธาน อนุญาตไหมครับ
ขอบคุณครับ ท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม ผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทองครับ ท่านประธานครับ ต้องขอบพระคุณที่ทางเจ้าหน้าที่ทางสำนักงาน แล้วก็ท่านประธานได้กรุณามีดำริ แล้วก็เสนอเป็นตารางเพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจ ของพวกเราว่าวันที่จะเป็นวันเริ่มสมัยประชุม สมัยประจำปีครั้งที่สองนั้นควรจะเป็นวันใด แล้วก็ข้อเสนอหนึ่งของท่านประธานนั้นก็คือในรูปแบบที่ ๔ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๗ เป็นต้นไป อย่างไรก็ตามท่านประธานครับผมคิดว่าทางพรรค ๘ พรรคเอง แล้วก็โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางพรรคก้าวไกลเองนั้นเห็นว่ากรณีที่จะพิจารณาเงื่อนไข การประชุมนั้นควรจะต้องมีบนพื้นฐานอยู่สัก ๒-๓ ประการด้วยกันครับ
ประการที่ ๑ ก็คือว่าเราจำเป็นต้องมีวันเว้นวรรค วันที่เป็นช่วงเวลาการทำงาน ของคณะกรรมาธิการที่จะเกิดขึ้นทั้งสามัญหรือวิสามัญ หลายครั้งเป็นเรื่องการลงพื้นที่ รับฟังปัญหา หลายครั้งเป็นเรื่องของการศึกษาดูงานเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ หลายครั้งเป็น เรื่องของการประชุมในระดับระหว่างประเทศ ฉะนั้นหากจะมีการพักในระยะเวลาสั้นเกินไปนั้น ก็จะไม่ค่อยตอบโจทย์ดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของระยะเวลาที่สั้นซึ่งเกิดขึ้น ในรูปแบบที่ ๑ ที่มีช่วงเวลาปิดสมัยประชุมอยู่เพียงแค่ ๓๑ วัน นั่นเป็นข้อพิจารณาที่ ๑ ที่เรา อยากเห็นระยะเวลาการพัก Break นั้นเป็นอีกช่วงระยะเวลาหนึ่งครับ แต่อย่างไรก็ตามกรณี ของการใช้ระยะเวลาการเว้นวรรคมากจนเกินไปในช่วงปิดสมัยประชุมนั้นก็จะมีผลกระทบ ที่ตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อการพิจารณาเรื่องที่ค้างการพิจารณาอยู่ เช่นหากเป็น กรณีตามแบบที่ ๔ ที่จะต้องมีวันค้างการพิจารณาถึง ๗๐ กว่าวันนั้น ร่างกฎหมายหลายฉบับ ที่อาจจะมีการพิจารณาแล้วเสร็จ พิจารณาค้างอยู่ในวาระที่สองถึงมาตรานั้นมาตรานี้ก็จะถูก ชะลอออกไปอีกเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๒ เดือน เราเองก็เกรงว่าตรงนั้นจะมีผลกระทบ เช่นเดียวกันครับ ฉะนั้นผมคิดว่าหลักคิดนั้นเป็นหลักคิดที่ต้องสมดุลกันในระหว่าง ๒ อย่าง ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแบบที่ ๑ กับแบบที่ ๒ นั้นเป็นระยะเวลา ที่น่าสนใจครับ แต่สิ่งที่ประกอบการพิจารณาที่สำคัญก็คือว่าในแบบที่ ๑ นั้นก็จะไปติด ในช่วงของวันสำคัญในช่วงต้นเดือนธันวาคมหลายวันด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน วันที่ ๕ ธันวาคมและวันที่ ๑๐ ธันวาคมซึ่งพวกเราเองก็ทราบกันดีว่าเป็นวันกำเนิดรัฐธรรมนูญ ฉบับถาวรฉบับแรกของประเทศไทยครับ อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีระยะเวลาช่วงที่ ๒ แบบที่ ๒ ซึ่งจะเริ่มในวันที่ ๑๕ ธันวาคมและจะไปสิ้นสุด ๑๒ เมษายนนั้น ถึงแม้พวกเรา จะทำงานกันทุกวัน สส. เราคงไม่เอาวันหยุดมาเป็นตัวอ้างอิงใด ๆ หลายครั้งที่มี วันหยุดสำคัญหรือช่วงระยะเวลาที่คาบเกี่ยวเราก็มาประชุมกัน แต่ว่าช่วง ๑๒ เมษายน ทุกท่านก็ทราบดีว่าจะเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ซึ่งเป็นเทศกาลที่พี่น้องประชาชนจะเดินทาง กลับต่างจังหวัด แล้วก็ประเพณีสงกรานต์ของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ในภาคเหนือ มันจะมีวันเน่า วันอะไรต่าง ๆ วันปี๋ใหม่เมืองต่าง ๆ ซึ่งระยะเวลาก็จะไม่ตรงกันกับระยะเวลา ในภาคอื่น ๆ เช่นเดียวกันครับ ฉะนั้นผมคิดว่ามีความเป็นไปได้ว่าระยะเวลาที่ควรจะเกิดขึ้นนั้น ควรจะอยู่ในระหว่างแบบที่ ๑ กับแบบที่ ๒ ๑. ก็คือเพื่อหลบวันหยุดที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วง ต้นเดือนธันวาคม ๒. ก็คือให้ตอนท้ายในระยะเวลา ๑๒๐ วันไม่ไปชนกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งพี่น้องประชาชนจะเดินทางกลับต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก เป็นไปได้หรือไม่ท่านประธานครับ ว่าผมขอเสนอให้เริ่มวันประชุมในสมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง เป็นวันที่ ๑๒ ธันวาคม ปี ๒๕๖๖ ถ้าเริ่ม ๑๒ ก็จะใกล้เคียงกับแบบที่ ๒ มากที่สุด ระยะเวลาพักก็จะเป็นระยะเวลา พอสมควร ระยะเวลาที่จะประชุมไป ๑๒๐ วันก็จะไม่ไปชนกับกรณีของเทศกาล เราก็จะ ทำงานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและเต็มที่ครับ ก็เลยขอเสนอเป็นช่วงเปิดสมัยประชุม สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง เป็นวันที่ ๑๒ ธันวาคม ปี ๒๕๖๖ ขออนุญาตนำเรียนเพื่อให้ ท่านประธานได้กรุณาพิจารณาครับ ขอบคุณครับ
ท่านประธานครับ ผม ณัฐวุฒิครับ จะขออนุญาตหารือท่านประธานในวาระที่ท่านประธานแจ้งให้ทราบ สักนิดเดียวครับ ท่านประธานอนุญาตไหมครับ
ขอบคุณครับ ท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทอง ผมขออนุญาตหารือท่านประธานครับ เพื่อความชัดเจนแล้วก็เป็นการ สื่อสารความเข้าใจที่ถูกต้องต่อเพื่อนสมาชิก และต่อพี่น้องประชาชนที่ได้รับการติดตามรับชม การถ่ายทอดสดการทำงานหน้าที่ของพวกเราในสภาผู้แทนราษฎรครับ ท่านประธานครับ เมื่อสักครู่นี้ท่านประธานได้กรุณาอ่านคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่มาถึงคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล ผมต้องขออนุญาตเรียนท่านประธานแบ่งออกเป็นสัก ๓ ส่วนด้วยกันครับ
ในส่วนที่ ๑ ก็คือว่าเอาเข้าจริง ๆ แล้วพวกเราชัดเจนนะครับว่าคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เองก็ได้รับทราบหนังสือคำสั่งดังกล่าว แล้วก็ได้มีการพูดในสภาแห่งนี้ชัดเจนว่า ไม่ได้หมายถึงเรื่องของการยอมรับ แต่เป็นการรับทราบและปฏิบัติตามคำสั่งอย่างสง่างาม ด้วยการหยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เมื่อวานและเดินออกจากสภาแห่งนี้อย่างสง่างามครับ นั่นคือ ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ไม่จำเป็นที่จะต้องมาอภิปรายหรือพูดซ้ำในสภา แต่เมื่อมีการแจ้ง มายังสภา ท่านประธานก็นำเรียนนั้นถูกต้องแล้วครับ
แต่ในส่วนที่ ๒ ท่านประธานครับ เมื่อสักครู่ท่านประธานได้อ้างอิงรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒ ที่มีการส่งหนังสือมาว่ากรณีของคุณพิธานั้นเข้าเงื่อนไขการดำเนินการต่าง ๆ และขอให้มีการสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ตัวหนังสือเขียนแค่นั้นครับ แต่ว่าถ้าเราพิจารณา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒ จริง ๆ นั้นจะมีเงื่อนไขที่เพิ่มเติมอยู่ในตอนท้ายครับ บอกว่า กรณีที่มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งวันนี้คุณพิธาได้หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ ๑๙ กรกฎาคม คือเมื่อวานแล้ว แต่ไม่กระทบต่อกิจการที่ผู้นั้นได้กระทำไปก่อนพ้นจากตำแหน่ง อันนี้ไม่พ้น นะครับ เป็นการหยุดปฏิบัติหน้าที่ ฉะนั้นในส่วนที่ ๒ ผมขออนุญาตยืนยันกับท่านประธาน แล้วก็ผ่านไปยังพี่น้องประชาชนว่า ณ ขณะนี้คุณพิธาถูกคำสั่งให้หยุดเท่านั้น แต่ยังไม่ได้มี การวินิจฉัยแต่อย่างใดว่าคุณพิธานั้นเป็นผู้กระทำผิด มีคุณสมบัติหรือลักษณะที่เป็นลักษณะ ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ยังไม่มีคำวินิจฉัยอย่างใดนะครับ ในหลักการทางกฎหมายแล้ว ก็ยังมองว่าคุณพิธาเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ด้วยซ้ำ ในท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยออกมา อย่างไร ยังไม่มีผู้ใดทราบได้นั่นเป็นประการที่ ๒ ครับ
ประการที่ ๓ ท่านประธานครับ เพราะว่าประการที่ ๓ นี้เป็นประการสำคัญ ที่จะต้องนำเรียนไปยังท่านประธานและยังพี่น้องประชาชน รวมถึงเพื่อนสมาชิก ไม่ใช่แค่ สภาผู้แทนราษฎรนะครับ แต่สมาชิกรัฐสภาครับ เพราะว่ากรณีของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๕๙ บวกกับรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗๒ ซึ่งมาจากคำถามพ่วง ซึ่งมาจากประชามติ ซึ่งมีการเขียนภายหลังบอกการเลือกนายกรัฐมนตรีในวาระเริ่มแรก ๕ ปีนั้น ต้องเอาเข้า ที่ประชุมร่วมรัฐสภา และมาพิจารณาคุณสมบัติหรือลักษณะของนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ ก็ต้องเรียนครับว่าในท้ายที่สุดขณะนี้แม้จะมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สถานะของคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล และบุคคลที่พรรคก้าวไกล เสนอให้เป็น Candidate นายกรัฐมนตรีนั้น ยังมีสถานะครบถ้วน สมบูรณ์ทุกประการ ครบถ้วน สมบูรณ์ทุกประการ ฉะนั้นก็ยังมีโอกาสที่จะมีสิทธิที่เพื่อนสมาชิกจะเข้าชื่อเสนอ คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้ต่อสู้ต่อในฐานะ Candidate นายกรัฐมนตรี และเราก็ยังสามารถ ที่จะลงมติให้ความเห็นชอบต่อคุณพิธาได้ อย่างไรก็ตามกรณีของการให้ความเห็นชอบ หรือการเสนอชื่อต่าง ๆ นั้นก็คงอาจจะเร็วไปที่จะบอกว่าจะมีการยืนยันเหล่านั้นหรือไม่ เพราะว่าเมื่อวานนี้ในท้ายที่สุดสิ่งที่คุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ไม่ได้พูดตอนที่ท่านประธานรัฐสภา ปิดไมโครโฟนก็คือว่าข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ ๔๑ วรรคท้าย บอกว่าประธานรัฐสภา อาจจะสามารถพิจารณาต่อได้ หากมีสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปครับ ฉะนั้นผมขออนุญาตโดยสรุปนะครับท่านประธาน รับทราบครับคำสั่ง รับทราบตั้งแต่เมื่อวาน นะครับ รับทราบด้วยความเต็มใจ สมัครใจ จริงใจ แต่ยังยืนยันความครบถ้วน สมบูรณ์ ในสถานะของคุณพิธา ทั้งในสถานะ สส. และ Candidate นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย มิใช่ของแต่เพียงคนที่เลือกพรรคก้าวไกล ขอบคุณครับท่านประธานครับ
ท่านประธานขออีกสัก ณัฐวุฒิหนึ่งได้ไหมครับ
พอดีเดี๋ยวจะเข้าใจผิด อย่างที่ท่านจุลพันธ์พูดครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม ผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทองครับ ท่านประธานครับ ต้องขออนุญาตใช้สิทธิทั้งพาดพิงในส่วนที่พรรคก้าวไกลได้นำเสนอนะครับ การหารือเมื่อสักครู่ แล้วก็คำวินิจฉัยของท่านประธานที่ผมคิดว่าจะคลาดเคลื่อนจากสิ่งที่ ท่านจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ได้กรุณานำเสนอครับ ท่านประธานครับ ประเด็นสำคัญที่คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ ในฐานะตัวแทนของพรรคก้าวไกล ได้นำเสนอนั้น ก็คือว่าปัจจุบันข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปี ๒๕๖๒ นั้นเป็น ข้อบังคับถาวร ไม่มีประเด็นใด ๆ ที่บอกว่าข้อบังคับนี้เป็นข้อบังคับโดยอนุโลมอย่างที่ ท่านจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ได้นำเสนอต่อที่ประชุม ประเด็นก็คือว่าแล้วทำไมตอนปี ๒๕๖๒ ถึงมีการมาพิจารณาข้อบังคับ ถึงมีการแก้ไขข้อบังคับ ต้องใช้เวลาท่านประธานครับ เดี๋ยวจะ คลาดเคลื่อน พี่น้องประชาชนเข้าใจผิดตั้งคำถามว่าทำไม สส. เดินมา ๑ ใน ๔ สมัยประชุม แล้วยังไม่ได้เริ่มประชุมกรรมาธิการอะไรกันเลย ตอนปี ๒๕๖๒ เป็นอย่างนี้ท่านประธานครับ เนื่องจากว่าในปี ๒๕๕๐ มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และข้อบังคับที่เกิดขึ้นนั้นเป็น ข้อบังคับที่เกิดขึ้นก่อนรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ จึงจำเป็นต้องนำข้อบังคับนั้นมาใช้โดยอนุโลม แต่ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่พวกเรายกร่าง ผมก็อยู่ในคณะกรรมการทั้ง ตรวจสอบแล้วก็ยกร่างซึ่งแบ่งเป็น ๒ คณะนั้น เป็นข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปี ๒๕๖๒ ที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา ๑๒๘ ฉะนั้นอันนี้ ไม่ใช่การใช้ข้อบังคับโดยอนุโลม เป็นข้อบังคับถาวรนะครับท่านประธาน นั่นเป็นประเด็นที่ ๑ ที่อยากจะกราบเรียน
ประเด็นที่ ๒ ก็คือว่าหากจะมีการตั้งข้อสังเกตว่าแล้วเนื้อหารายละเอียด ของข้อบังคับนี้จำเป็นต้องทบทวนกันหรือไม่ ด้วยความเคารพครับ ผมจำได้เลย ประชุม TOT วันแรก ต้องขอบพระคุณท่านทำเป็นตัวอย่างให้เห็น นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยในวันนี้ ท่านยกมือเลยครับ บอกว่าขณะนั้นต้องหารือกัน แต่วันนี้ เราประชุมกันมา ๔-๕ รอบ ไม่มีประเด็นใด ๆ เลยที่จะต้องมาหารือกันว่าจะมีการแก้ไข ข้อบังคับฉบับนี้ ถ้าจะมีการทบทวนหรือแก้ไขก็ต้องเสนอมาเป็นญัตติ แต่ในเมื่อวันนี้ข้อบังคับ ฉบับนี้เดินหน้ามาจนถึงวันนี้แล้ว และไม่จำเป็นต้องมีการแก้ไขในกรณีของข้อ ๙๐ ผมเอง ก็อยากแก้ครับ แต่ยังคิดว่ามันเดินหน้าไปต่อได้ คำถามของคุณพริษฐ์ก็คือว่าในเมื่อวันนี้ เราเดินหน้ามาเดือนกว่า พี่น้องประชาชนตั้งคำถามรับเรื่องกันมาไม่รู้จะส่งกรรมาธิการ คณะไหน รัฐบาลก็เป็นรัฐบาลรักษาการ อ้างว่ามาตอบกระทู้ถามต่าง ๆ ไม่ได้ กลไกเดียว ของประชาชนก็คือสภาผู้แทนราษฎรครับ สส. อยากเข้าไปมีส่วนนั่งในกรรมาธิการเพื่อมา ทำหน้าที่ต่าง ๆ กัน ฉะนั้นประเด็นเดียวกันที่อยากจะปรึกษาท่านประธานครับ ง่าย ๆ เลย ก็คือว่าเป็นไปได้ไหมครับ จริง ๆ ผมอยากหาข้อสรุปจากที่ประชุมแห่งนี้ แต่อยากให้ ท่านประธานนำเรียนท่านประธานวันมูหะมัดนอร์ มะทา ว่าขอให้นัดหารือตัวแทน ของพรรคการเมืองทุกพรรคว่าตกลงแล้วกลไกของคณะกรรมาธิการสามัญ ๓๕ คณะ จะเริ่ม กันเมื่อไร อย่างไร ผมคิดว่านี่จะตรงกับสิ่งที่คุณพริษฐ์นำเสนอ แล้วก็เป็นข้อเท็จจริง ตามข้อบังคับ มิใช่ประเด็นที่จะมาทบทวนกันว่าโดยอนุโลมอีกแล้ว ต้องเดินหน้าทำงาน อย่าให้ประชาชนรอครับ นี่ผ่านมา ๑ ใน ๔ ของสมัยประชุมแล้ว ขออนุญาตนำเรียน ท่านประธานเพื่อนำเสนอต่อท่านประธานวันมูหะมัดนอร์ มะทา ต่อไป ขอบพระคุณครับ
ขอบคุณครับ ท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม ผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัด อ่างทอง ท่านประธานครับ ไม่รู้ว่าเหลือประเด็นอะไรที่แตกต่างที่ให้ผมในฐานะคนสุดท้าย จะพูดบ้าง แต่ผมเตรียมทั้งหมดมา ๑๑ ประเด็น แต่เอาแค่ ๓ ประเด็นพอ ท่านประธานครับ ใน ๓ ประเด็นที่ผมคิดว่ามีเหตุจำเป็นจะต้องสอบถามในกรณีของการออกพระราชกำหนด มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๖๖ นั้น แน่นอน อาจจะมีความคล้ายคลึงกับที่เพื่อนสมาชิกได้ตั้งคำถาม แต่ผมคิดว่ามีรายละเอียดที่แตกต่าง และมีความจำเป็นที่ท่านผู้ชี้แจงไม่ว่าจะเป็นตัวแทนของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือว่า ตัวแทนของหน่วยงานต่าง ๆ จำเป็นต้องตอบต่อสภาแห่งนี้ครับ ไม่เช่นนั้นการลงมติของสภา แห่งนี้ก็ไม่สามารถที่จะลงมติรับ พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าวได้
ประการที่ ๑ ท่านประธานครับ ใน พ.ร.ก. นั้นมีหลักการอยู่ชัดเจนครับ อยู่ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๒ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๒ ผมไม่พูดถึงวรรคหนึ่งและวรรคสองที่พูดถึงเหตุจำเป็นในกรณีการออก พ.ร.ก. ซึ่งผมคิดว่า ในกรณีนี้มีเหตุจำเป็นที่เร่งด่วนที่จำเป็นต้องออก แต่ในกรณีของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๒ วรรคสามบอกแบบนี้ครับว่า หากในกรณีที่อยู่นอกสมัยประชุม และการรอเปิดสมัยประชุม สามัญจะเป็นการชักช้า คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. แน่นอนครับเพื่อนสมาชิกเราตั้งคำถามว่าในเมื่อวันนี้ การออก พ.ร.ก. ถึงแม้ท่านไม่ได้ลงรายละเอียดวันเวลาต่าง ๆ แต่ผมไปดูมาแล้วครับ พระราชกำหนดฉบับนี้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๖ ซึ่งตรงกับ วันพฤหัสบดี แต่การยุบสภาเกิดขึ้นในวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๖ ซึ่งตรงกับวันจันทร์ และเอาเข้าจริง ๆ แล้วสภายังไม่ได้หมดวาระในวันจันทร์ที่ ๒๐ มีนาคม แต่สภาจะหมดวาระ ในวันที่ ๒๓ มีนาคม ฉะนั้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๖ ที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตกลงคณะรัฐมนตรีได้ส่งร่าง พ.ร.ก. ฉบับนี้มาที่สภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ มีอีก ๔ วันเต็ม ๆ เรากำลังบอกว่าจะป้องกัน จะส่งเสริมอาชญากรรมทางเทคโนโลยีใด ๆ ก็แล้วแต่ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี แต่ท่านเดินจดหมายทางเทคโนโลยีจากทำเนียบมา ครม. นี่ มันต้องใช้เวลามากกว่า ๑ วันหรือครับ ฉะนั้นกรณีวันที่ ๑๗ มันต้องมาถึงสภาวันที่ ๑๘ มีนาคมแล้วครับ และสภายังมีความชอบธรรมที่จะบรรจุวาระเปิดสมัยประชุมวิสามัญ เอาวันที่ ๒๐ มีนาคมนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาตอนเย็นก็ได้ แต่ทำไมท่านถึงไม่ส่ง ในขณะเดียวกันครับ ผ่านมีนาคม ผ่านการเลือกตั้งไม่ว่ากันครับ เรามีการประชุม สภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในวันที่ ๔ กรกฎาคม เลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่ ครม. ส่ง พ.ร.ก. ฉบับนี้มาวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ปี ๒๕๖๖ ก็เมื่อวันที่ ๔ สภาเปิดแล้ว ถ้าท่านบอก รอบโน้นไม่ได้ส่งทำไมวันที่ ๔ ท่านไม่ส่งมาครับ ถ้าหากส่งมาตั้งแต่วันที่ ๔ ก็มีการประชุม เมื่อวันที่ ๗ วันที่ ๘ วันที่ ๙ วันที่ ๑๐ หลังจากที่มีการโปรดเกล้าฯ ประธานรัฐสภา ก็เกิดขึ้นได้ ท่านรออะไรจนถึงวันที่ ๑๔ ฉะนั้นนี่ต้องเป็นรายละเอียดความชัดเจนครับ เป็นการผูกพันธะสัญญาว่าเหตุการณ์ในลักษณะแบบนี้เมื่อรัฐธรรมนูญเขียนบัญญัติไว้ เมื่อ ครม. ออก พ.ร.ก. โดยอ้างเหตุจำเป็นต่าง ๆ คำว่า ส่งมาโดยไม่ชักช้า มาถึงสภา ไม่ว่า ครม. ชุดใหม่ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีมันต้องเกิดขึ้นโดยทันที ฉะนั้นท่านต้อง ถอดบทเรียนให้เราว่าเกิดอะไรขึ้นในการส่ง พ.ร.ก. ฉบับนี้ นั่นเป็นประการที่ ๑ ครับ
ประการที่ ๒ ท่านประธานครับ แน่นอนครับผมพยายามอ่านนิยามคำว่า อาชญากรรมทางเทคโนโลยีนั้นคืออะไร มีความเข้าใจกันดีครับว่าเราพูดถึงบัญชีม้า เพื่อนสมาชิกผมหลายคนในระหว่างการเลือกตั้งมีเวที Debate เจอท่านรัฐมนตรีชัยวุฒิ ที่เคารพ บ้านท่านอยู่สิงห์บุรี ถิ่นวีรชนคนกล้า คู่หล้าพระนอน นามกระฉ่อนปลาแม่ลา ย่านการค้าภาคกลาง พอดีคุณพ่อเป็นคนแต่งก็เลยทราบว่าคำขวัญนั้นเป็นอย่างไร ผมอยู่อ่างทองติดบ้านท่าน แต่มีเวทีพูดถึงเรื่องของอาชญากรรมต่อเด็กในระบบ Online เขาก็รอส่งชื่อมาเลยครับ บอกวันนี้ณัฐวุฒิ บัวประทุม จะเจอชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ท่านไปทุกเวทีเจอวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เจอศิริกัญญา ตันสกุล เจอพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เสียดายพอพูดถึงอาชญากรรมเด็ก Online ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเลยนะครับ ชัยวุฒิไม่มา ตกลงแล้วในกรณีอาชญากรรมเด็ก Online แบบนี้ไม่ต้องเอา พ.ร.ก. ฉบับนี้ ก็ได้นะครับ วันนี้กระทรวงเดินหน้าไปถึงไหน หรือถ้าจะออก พ.ร.ก. บ้างเขาศึกษากันมา เต็มไปหมดเลยครับว่าเด็กกำลังอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงอย่างไร แบบนี้ก็เร่งด่วนจำเป็น แต่ทำไมท่านไม่ทำ นั่นเป็นประการที่ ๒ ครับ
ประการที่ ๓ ท่านประธานครับ เรามีความเจ็บปวดใจเป็นอย่างยิ่งต่อการออก พ.ร.ก. อยู่อย่างน้อยที่สุด ๒ ฉบับใน ครม. ซึ่งขณะนี้ยังเป็น ครม. รักษาการ กรณีที่ ๑ ก็คือการออกพระราชกำหนดเรื่องการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริม สถาบันครอบครัว ในเดือนสิงหาคม ปี ๒๕๖๒ แน่นอนครับกฎหมายฉบับนั้นมีการยื่นตีความ ศาลรัฐธรรมนูญสแตมป์ว่าสามารถที่จะออกได้ แต่ความเจ็บปวดทุกข์ใจของพวกเราเกิดขึ้น จากการออก พ.ร.ก. เพื่อนสมาชิกหลายคนก็เอ่ยถึงคือการออก พ.ร.ก. เรื่องการบังคับใช้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการกระทำทรมานและการทำให้บุคคลสูญหาย จำนวน ๔ มาตรา แล้วท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยว่าออก พ.ร.ก. โดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผมไม่ชอบ ตอบคำถามที่ขึ้นด้วยคำว่า ถ้า ครับ แล้วถ้าไม่จำเป็นอย่างยิ่งผมก็จะไม่ค่อยตั้งคำถาม ที่ขึ้นคำว่า ถ้า เช่นเดียวกันครับ แต่ในเมื่อเราเคยมีบทเรียนมาแล้วอย่างไรครับว่า พอศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเมื่อ ๑๗ พฤษภาคม ปี ๒๕๖๖ นายกรัฐมนตรีรักษาการ ชื่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ต้องมีความรับผิดชอบใด ๆ ต่อประเทศไทยแห่งนี้เลย ก็ต้องถามท่านว่าวันนี้หาก พ.ร.ก. ฉบับนี้ไม่ผ่านในที่ประชุมแห่งนี้ท่านจะรับผิดชอบอย่างไร ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ ท่านบอกมาเลยครับ บอกมาเพื่อประกอบการตัดสินใจ ของพวกเรา ถ้าวันนี้ไม่ผ่านคนที่รับผิดชอบคือใคร ผมมั่นใจในตัวพี่โอ๋ นี่เรียกตามคุณวิโรจน์ ท่านรัฐมนตรีชัยวุฒิผมไม่กังวลท่าน แต่ห่วงกังวลว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเคย ผิดพลาด ไม่รับผิดชอบในกรณี พ.ร.ก. การเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายซ้อมทรมานท่านยังจะ รับผิดชอบหรือไม่และหากวันนี้ไม่ผ่านอะไรคือความรับผิดชอบที่ ครม. รักษาการจะเป็น ผู้ดำเนินการครับ ด้วยความเคารพหากท่าน Clear ประเด็นที่ผมตั้งคำถาม โดยเฉพาะ ประเด็นที่ ๑ และประเด็นที่ ๓ ได้ ผมเชื่อมั่นว่าในเนื้อหาพวกผมเห็นด้วย แต่ท่านไม่สามารถ ตอบใน ๒ คำถามที่ผมตั้งในประเด็นที่ ๑ และประเด็นที่ ๓ ได้ ผมคิดว่าพรรคก้าวไกล ก็มีความชอบธรรมที่จะพิจารณาว่าตกลงเราควรจะลงมติเห็นชอบกับ พ.ร.ก. ฉบับนี้หรือไม่ ขอบคุณครับ ท่านประธานครับ
ท่านประธานครับ ขออนุญาต นิดเดียวครับท่านประธานครับ ณัฐวุฒิครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัด อ่างทองครับ ผมขออนุญาตท่านประธานนิดเดียวครับ แล้วก็เป็นประเด็นที่ท่านประธานเอง ตั้งแต่สมัยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสมัยที่แล้วท่านประธานก็ทวงถามตลอดครับ ผมคิดว่าประเด็นเราเห็นตรงกันครับว่าญัตตินี้จำเป็น แล้วก็เร่งด่วนที่จะต้องส่งให้รัฐบาล ในการพิจารณาครับ แต่ทีนี้ท่านประธานเคยถาม แล้วพวกผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งก็คือว่า เวลาเมื่อส่งไปแล้วมันจะต้องมีคำตอบจากรัฐบาล อาจจะเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ให้โอกาส รัฐบาลในการตอบ หรือท้ายที่สุดเมื่อมีคำตอบจากรัฐบาลว่ามีการดำเนินการอย่างไรนั้น ต้องแจ้งกลับมาที่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งผมคิดว่าอันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากรณีว่า เราจะส่งหรือไม่ เพราะว่าในกรณีของญัตติลาดกระบังเราก็ส่งไป แต่วันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบ ใด ๆ จากทางรัฐบาลกลับมาครับ ในส่วนตัวและในนามของพรรคก้าวไกลเห็นด้วยครับว่า จะต้องส่งเรื่องนี้ไป แต่อยากจะฟังหรือขอแนวทางจากท่านประธานได้กรุณาย้ำทาง ครม. ที่จะมีการตอบกลับมา และเมื่อมีคำตอบมาอยากจะให้ท่านได้กรุณาแจ้งให้สภาแห่งนี้ ได้ทราบด้วยครับ ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ สืบเนื่องจากประเด็นที่หารือ เนื่องจากเพื่อให้ครบถ้วนทุกกระบวนความ ผมสนับสนุนประเด็นของท่านจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ จากพรรคเพื่อไทย และต้องขอบพระคุณ ท่านประธานที่ได้กรุณาให้แนวทางเรื่องของการพูดคุยกันครับ แต่ผมคิดว่ามีอยู่ ๓-๔ ประเด็นที่จำเป็นต้องเพิ่มเติมเพื่อให้ครบวงจรแล้วก็ทวงสัญญาแทนพี่น้องประชาชน
ประการที่ ๑ ในที่ประชุมสภาแห่งนี้เราเคยท้วงติงกันถึงเรื่องของการตั้ง คณะกรรมาธิการสามัญ ๓๕ คณะ ตามข้อบังคับ และท่านประธานได้กรุณามอบหมายให้ ท่านรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง เป็นผู้นัดหมายในการพูดคุยกัน ซึ่งนับจากวันที่ ท่านประธานได้มอบหมายผมเข้าใจว่าวันนี้พ้นระยะเวลาเกินกว่า ๑๐ วัน ยังไม่ได้มีการนัดหมาย ตัวแทนพรรคการเมืองเข้าพูดคุยกันถึงเรื่องคณะกรรมาธิการสามัญคณะต่าง ๆ ว่าตกลง สภาเราจะเดินหน้ากันอย่างไร เอาเข้าจริง ๆ ถ้านับสัปดาห์หน้าอีกสัปดาห์ถัดไป เรามาถึง ครึ่งทางของสมัยประชุมแล้ว คณะกรรมาธิการสามัญยังไม่เกิดขึ้นเลย ทั้งที่มีข้อบังคับชัดเจน นั่นเป็นประเด็นที่ ๑ ที่ผมอยากจะนำเรียนท่านประธาน อยากจะฝากว่าหากมีการนัดหมายกัน ก็ขอให้รวมถึงการประชุมเรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ ๓๕ คณะด้วยครับ
ประเด็นที่ ๒ ผมคิดว่าเราตีความเป็นอื่นไปไม่ได้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๔๗ วรรคสอง ในกรณีที่บอกว่าคณะรัฐมนตรีสามารถยืนยันกลับมาได้ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๔๗ วรรคสองนั้น บอกว่าถ้าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ ตั้งขึ้นใหม่เท่านั้นนะครับ ไม่ได้มีความหมายบอกว่าคณะรัฐมนตรีรักษาการหรือรัฐมนตรีที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ฉะนั้น อาจจะเป็นการยาก ก็คงขึ้นอยู่กับว่าเราจะเดินหน้าในการตั้ง ครม. ใหม่ได้เร็วหรือไม่ แล้วเรานับวัน ครม. ใหม่นั้นวันใด ผมก็ยังเชื่อมั่นว่าถ้ากระบวนการเดินหน้าปกติอาจจะ เกิดขึ้นทันก็ได้ แต่พวกผมไม่รอและคาดหมายว่าอาจจะยังไม่สามารถที่จะดำเนินได้ทัน ไม่เป็นไรครับ เป็นดำริท่านประธาน พรรคก้าวไกลยินดีที่จะเข้าร่วมการประชุมที่จะเกิดขึ้น แต่มีอีก ๒ ประเด็นที่อยากจะนำเรียนท่านประธาน และผมคิดว่าเพื่อทำให้การทำหน้าที่ ของพวกเราเดินหน้าต่อได้อย่างสมบูรณ์ครับ
ประการที่ ๓ เนื่องจากว่าในตัวกฎหมายที่เสนอ มีทั้งกฎหมายที่มาจาก รัฐบาล มีทั้งกฎหมายที่มาจาก สส. เข้าชื่อกันเสนอ แล้วก็มีกฎหมายที่พี่น้องประชาชน เข้าชื่อกันเสนอ ปรากฏว่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้วท่านประธานเดินทางไปอินโดนีเซีย เพื่อนสภา ชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เพื่อนพี่น้องชาติพันธุ์เดินทางกันมาเต็มเลยที่สภาแห่งนี้ มาพบท่านประธาน ท่านก็ได้มอบหมายให้พบท่านรองประธานสภา คนที่หนึ่ง เขาก็ถาม เรื่องร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าเมืองแห่งประเทศไทย ก็บังเอิญว่าไปบรรจุอยู่แล้ว เราก็ถามว่าบรรจุแบบนี้แล้วตกลงไปเลยไหม ปรากฏว่าทางเจ้าหน้าที่สภา ต้องขอบพระคุณ เป็นอย่างยิ่งเลย เพราะผมก็ไม่มีความรู้ เขาบอกว่าตาม พ.ร.บ. เข้าชื่อ ปี ๒๕๖๒ ไม่จำเป็นต้องเข้าชื่อใหม่ครับ ในกรณีแบบนี้ แต่เวลายังสับสนนะครับ เดี๋ยวผมจะถาม ท่านประธานว่าตกลงเวลาเป็นเท่าไร เขาบอกว่าให้กรณีของผู้ริเริ่มยกร่างเดิมทำแบบเดียวกับ กรณีร้องขอต่อ ครม. เลย คือมาร้องที่สภาแล้วขอให้สภาบรรจุสิ่งที่เคยค้างอยู่แล้ว เช่น พ.ร.บ. สภาชนเผ่าพื้นเมืองนี่เข้าสู่การพิจารณาได้เลย ไม่ต้องไปรับฟังความคิดเห็นใหม่ ไม่ต้องเข้าชื่อใหม่ ไม่ต้องเอาเอกสารมาตรวจใหม่ อยู่ที่สภาบรรจุอย่างเดียว แต่สิ่งที่ผมสับสน นิดเดียวก็คือว่าทางเจ้าหน้าที่คณะแรกที่ผมเจอนี่บอกว่าต้องภายใน ๖๐ วัน นับจากวันที่ ครม. เข้ามาสู่ ๖๐ วันแล้ว และนับจากอันนั้นไป ๖๐ วัน บวกกับรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๔๗ วรรคสอง แต่ทางเจ้าหน้าที่บางท่านก็บอกว่า ๑๒๐ วัน ปัญหาก็คืออย่างที่ผมเรียนว่า ตกลงเป็นเวลากี่วันกันแน่ และผมอยากจะนำเรียนท่านประธานว่าผมเชื่อมั่นว่าในท้ายที่สุด จะต้องมีหนังสือจากท่านประธานไปถึงประชาชนที่ริเริ่ม ในทุก ๆ ฉบับเลยที่ค้างการพิจารณา เพื่อให้เขามายืนยันหรือให้เขามาร้องต่อสภา เพราะว่าถ้าไม่มีหนังสือไปนี่สภาไม่รู้นะครับ พี่น้องสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยที่มาสัปดาห์ที่แล้วก็ไม่รู้ พวกผมก็ไม่รู้ ดีว่าทางเจ้าหน้าที่สภาได้ให้คำแนะนำ อันนี้เป็นประเด็นที่ผมอยากจะนำเรียนเป็นประการที่ ๓ ท่านประธานครับ
ประการที่ ๔ เป็นประการสุดท้าย ต้องขอบพระคุณทางตัวแทนพรรคเพื่อไทย ท่านยืนยันชัดเจน สมรสเท่าเทียมท่านเอาแน่ ประเด็นก็คือว่าพรรคก้าวไกลรอไม่ได้ครับ สัปดาห์ที่แล้วพรรคก้าวไกลยื่นร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ บวก บวกก็คือบวกอีก ๖๘ มาตรา ที่เรียกว่าสมรสเท่าเทียม ทีนี้กฎหมายฉบับนี้เคยบรรจุมาแล้ว เคยพิจารณาไปถึงวาระที่สองแล้ว ถ้า ครม. ไม่ยืนยัน ถ้าไม่สามารถเอากลับมาพิจารณาได้ แต่เคยรับฟังความคิดเห็นมาหมดแล้ว พี่น้องประชาชน ไปอ่านทั้งหมด ๑,๔๐๐,๐๐๐ คน ผมก็ท้าทายว่าสภาชุดที่ ๒๖ จะมีร่างกฎหมายอื่น ที่คนไปอ่านเกิน ๑,๔๐๐,๐๐๐ คน พี่น้องประชาชนไปแสดงความเห็น ๕๐,๐๐๐ กว่าคน ผมก็ท้าทายว่าชุดที่ ๒๖ เราเอาให้ทะลุ ๕๐,๐๐๐ คน ที่ไปแสดงความคิดเห็นในร่างกฎหมาย แต่ประเด็นก็คือว่าพรรคก้าวไกลยื่นไปแล้ว ฉะนั้นถ้าทางธุรการท่านตรวจได้เร็วท่านไม่ต้อง รับฟังความคิดเห็นใหม่ ผมขอเลยครับว่าบรรจุวาระได้ไหม เอาประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์สมรสเท่าเทียมกลับมาพิจารณาแบบนี้ก็จะเร็วครับ และไม่เสียของ ไม่เสียเวลา สภาแห่งนี้ ก็ต้องขอบพระคุณท่านประธานที่ได้กรุณา ผมมี ๔ ประเด็น แต่ ๒ ประเด็นหลัง อยากจะนำเรียนท่านประธานนำไปสู่ทางปฏิบัติว่าท่านจะมีดำริอย่างไร โดยเฉพาะประเด็น เรื่องของกฎหมายประชาชนที่เข้าชื่อและค้าง และกฎหมายเดิม เนื้อหาแบบเดิมเป๊ะ ของพรรคการเมืองที่ยืนยันกลับเข้ามา ซึ่งไม่จำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นใหม่ อย่างไรก็ตาม ทางพรรคก้าวไกลยินดีและอยากจะเข้าร่วมกระบวนการพูดคุย เราอยากตั้งคณะกรรมาธิการ นี่ใจสั่นทุกวันเลย อยากทำงานครับท่านประธาน ขอบคุณครับ
ขอบคุณครับ ท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทอง ท่านประธานครับ ผมขอมีส่วนร่วมเป็นตัวแทนของประชาชน ในการอภิปรายต่อรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของสภาองค์กรของผู้บริโภค แน่นอนครับ มีหลายประเด็นที่อาจจะซ้ำซ้อนกับเพื่อนสมาชิกที่ได้อภิปรายไปบ้าง แต่ผมคิดว่าการจะย้ำ การจะถามแบบชัด ๆ การจะขอคำตอบชัด ๆ จากสภาขององค์กรของผู้บริโภคนั้น ยังจำเป็นต้องถาม ซึ่งผมขออนุญาตแยกออกเป็นทั้งหมด ๔ ประเด็นด้วยกัน
ประการที่ ๑ มีความเข้าใจอย่างชัดเจนว่าหลักการคุ้มครองผู้บริโภคนั้น เป็นหลักการที่เกิดขึ้นจากสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลที่เรียกว่า Consumer International หรือ CI ในหลักการนี้ครับ แล้วก็ต้องขอบพระคุณทางสภาองค์กรของผู้บริโภคก็เอามาคลี่ ให้เห็นอยู่ในรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ว่ามีทั้งหมดอยู่ ๘ หลักการสำคัญด้วยกัน นี่รวมถึงกรณี ที่องค์การสหประชาชาติได้มีการประกาศเพิ่มเติม ที่สำคัญก็คือว่าในพระราชบัญญัติคุ้มครอง ผู้บริโภค ปี ๒๕๒๒ นั้น มีการนำหลักการทั้ง ๘ หลักการ เอามาเขียนไว้ในกฎหมาย แบ่งออกมาเป็น ๕ หลักการด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องสิทธิการได้รับข้อมูล ข่าวสาร สิทธิที่จะมีสิทธิในการเลือกสินค้าหรือบริการต่าง ๆ สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัย สิทธิที่จะ ได้รับความเป็นธรรม แล้วก็สิทธิที่จะได้รับการชดเชยและเยียวยาในกรณีเกิดความเสียหาย อันเกิดขึ้นจากสินค้าหรือบริการต่าง ๆ แต่ในเมื่อมันมีอยู่ทั้งหมดแค่ ๕ หลักการ จากสิ่งที่ ควรจะเป็น ๘ หลักการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบางประเด็นที่สำคัญ เช่น สิทธิในการที่จะ เข้าถึงบริการที่จำเป็น หรือสิ่งที่เราเรียกว่าบริการขั้นพื้นฐานที่สุดที่พี่น้องประชาชนควรจะ ได้รับ เช่น เรื่องการศึกษา เรื่องยา เรื่องสุขภัณฑ์ ซึ่งแน่นอนพวกผมพูดบ่อยครั้ง แม้กระทั่ง กรณีของสุขภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับภาวะอนามัยการเจริญพันธุ์ เช่นผ้าอนามัยต่าง ๆ เป็นต้น แล้วก็รวมถึงสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากการทำงานที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริโภคที่เป็น เรื่องของอิเล็กทรอนิกส์ ก็ต้องถามท่านครับว่าในเมื่อท่านเขียนไว้เองว่าในพระราชบัญญัติ คุ้มครองผู้บริโภค ปี ๒๕๒๒ นั้นมีแค่ ๕ หลักการ จากสิ่งที่ควรจะเป็น ๘ หลักการ ท่านมี การสรุปบทเรียนสะท้อนในนามของสภาขององค์กรผู้บริโภคหรือไม่ว่าสมควรที่จะต้องมี การแก้ไขปรับปรุงร่าง หรือมีการปรับแก้ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค ปี ๒๕๒๒ ถ้าจะแก้ ควรจะต้องแก้อย่างไร ถ้าท่านเป็นผู้เสนอจะเสนอใคร ถ้าท่านอยากให้พรรคการเมือง ลุกขึ้นมายืนยันสนับสนุนนั้น ท่านอยากเห็นอะไรในการปรับแก้ใด ๆ ต่าง ๆ บ้าง นั่นเป็น ประเด็นที่ ๑ ที่ผมอยากจะเรียนสอบถามทางท่านผู้ชี้แจงครับ
ประการที่ ๒ ท่านประธานครับ เมื่อเราพิจารณาจากปัญหาเรื่องของการใช้จ่าย งบประมาณ ซึ่งแน่นอนว่ามีการเขียนรายละเอียดที่น่าสนใจว่าการได้รับการสนับสนุน งบประมาณของสภาองค์กรของผู้บริโภคนั้น ควรจะต้องอยู่ที่ประมาณร้อยละ ๕ บาท ต่อจำนวนประชากร ๑ คน ตัวเลขกลม ๆ นั่นหมายถึงว่าควรจะได้รับงบประมาณสนับสนุน ปีละประมาณ ๓๕๐ ล้านบาท นั่นคือสิ่งที่ท่านเคยได้รับในปี ๒๕๖๔ แต่เราไม่เห็น รายละเอียดว่าในปีงบประมาณปี ๒๕๖๕ ในปีงบประมาณปี ๒๕๖๖ แล้วก็ต้องถามเลยไปว่า สำหรับกรณีของงบประมาณปีละ ๒๕๖๗ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภา ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่า จะเป็นเมื่อไรนั้น เพราะเหตุใดตัวเลขเหล่านี้ถึงหายไป เป็นเพราะท่านใช้น้อยกว่าจำนวน ที่ควรจะเป็น เป็นเพราะปัญหาของการบริหารสินทรัพย์ของท่าน ซึ่งเพื่อนสมาชิกหลายท่าน ก็ชี้ให้เห็นว่าการบริหารสินทรัพย์นั้นจำเป็น มีเงินหลายตัวที่ต้องคลี่อธิบายให้ชัดว่า มันหายไปอย่างไร ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร หรือเป็นเพราะเหตุใดรัฐให้ท่านใช้ในปี ๒๕๖๕ และปีงบประมาณ ๒๕๖๖ ในทำนองกลับกันครับ กฎหมายในเรื่องของการตั้งสภาองค์กร ของผู้บริโภคนั้น บอกว่าต้องปราศจากการครอบงำจากรัฐ ผมก็ต้องถามท่านตรง ๆ ในเมื่อ ต้องปราศจากการครอบงำ การชี้นำจากรัฐ แต่เพราะเหตุใดถึงต้องมีสารจากรัฐมนตรีประจำ สำนักนายกรัฐมนตรี ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีนี่พอเข้าใจได้นะครับ ท่านปลัดธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส ท่านเขียนสารจากปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีถึงพี่น้องประชาชนใด ๆ ต่าง ๆ แต่ท่านบอกว่าต้องปราศจากการครอบงำของรัฐ แล้วท่านให้รัฐมนตรีประจำสำนัก นายกรัฐมนตรีเขียนสารทำไม เราอยากฟังสารจากท่านเลขาธิการ อยากฟังสารจาก ท่านประธานสภาองค์กรของผู้บริโภคมากกว่า อยากเพิ่มหน้าให้นะครับ ๑๗๔ หน้าที่ท่าน เขียนมา อยากได้หน้าของคนที่เขาเป็นผู้บริโภคที่ได้รับการดูแลจากท่านมากกว่า นั่นเป็น ประเด็นที่ ๒ ที่ผมจำเป็นต้องถามถึงครับ
ในประการที่ ๓ ท่านประธานครับ ในรายละเอียดของการดำเนินการ เราพบว่าวันนี้เรามีตัวแทนขององค์กรผู้บริโภคต่าง ๆ อยู่ทั้งหมด ๒๖๕ องค์กรที่เป็นสมาชิก หรือเครือข่ายของท่าน แต่มันกระจายตัวอยู่เพียง ๓๙ จังหวัด ท่านมีศูนย์รับเรื่องอยู่ ๑๔ แห่ง ซึ่งกระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาค คำถามก็คือว่าแล้วมันมีความแตกต่างกันหรือไม่ ระหว่างจังหวัดที่ไม่มีตัวแทนขององค์กรผู้บริโภคต่าง ๆ เลย ซึ่งก็ถือว่าเกือบเป็นจำนวน ครึ่งหนึ่ง มันมีคำถาม หรือการปฏิบัติ หรือการดำเนินการให้บริการที่แตกต่างกันหรือไม่ ในกรณีของจังหวัดต่าง ๆ ที่ไม่มีศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ ซึ่งแน่นอนเป็นจำนวนใหญ่ ผมไม่เห็นด้วยว่าการมีศูนย์ไม่จำเป็นต้องมีทุกจังหวัด แต่การมีศูนย์ที่กระจายตัวอยู่นั้น ตอบสนองต่อการรับเรื่องราวร้องเรียนต่าง ๆ หรือไม่ แล้วต้องขอบพระคุณเพื่อนสมาชิกผม ท่าน สส. ภูริวรรธก์ ใจสำราญ ท่านพูดถึงว่าโดยสถิติของการรับเรื่องของท่าน ๑๔,๙๔๑ เรื่อง แล้วมีการยุติเรื่องได้ถึง ๑๓,๖๑๗ เรื่อง หรือคิดเป็น ๙๑.๑๔ เปอร์เซ็นต์ นี่น่าสนใจนะครับ ผมเห็นแบบนี้ปุ๊บ กระทรวงยุติธรรมควรจะเอาไปใช้ ผมเห็นแบบนี้ปุ๊บ คณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรจะเอาไปใช้ ผมเห็นแบบนี้ปุ๊บ สภาควรจะเอาไปใช้ แต่ท่านสรุปหรือถอดบทเรียนให้เราหน่อยได้ไหมว่าในจำนวนความสำเร็จ ๙๑.๑๔ เปอร์เซ็นต์นั้น ท่านใช้กระบวนการหรือเทคนิควิธีการใดในการยุติเรื่องร้องเรียน แล้วมีอัตราเรื่องร้องเรียนซ้ำ ในกรณีเมื่อยุติแต่มันไม่ยุติ มันนำไปสู่การร้องเรียนกลับใด ๆ ต่าง ๆ หรือไม่ ประการใด ผมคิดว่าหากถอดบทเรียนในเชิงบวกได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนครับ
ประการที่ ๔ เป็นประการสุดท้าย แต่ผมก็จะพูดแทนเด็ก ๕๔๐,๐๐๐ คน ในประเทศ ต้องขออนุญาตท่านประธาน อาจจะเกินเวลาสักเล็กน้อย ตั้งแต่เปิดสภามา พูดน้อยมากครับ คุมเวลาไม่ค่อยได้ อะไรครับ ๕๔๐,๐๐๐ คน ๕๔๐,๐๐๐ คน คือเด็กทุกวัน ต้องขึ้นรถนักเรียน รถรับส่งนักเรียน หรือรถโรงเรียน ที่ผมต้องพูดเรื่องนี้ เพราะผม เป็น ๑ ในตัวแทนของพรรคก้าวไกลที่ไปร่วมประชุมกับท่าน แล้วท่านสรุปบทเรียนได้ น่าสนใจมากว่าเด็ก ๕๔๐,๐๐๐ คนในประเทศกำลังเจอสถานการณ์ความไม่ปลอดภัย ในรถนักเรียน เราไม่อยากร้องไห้กับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นจากการลืมเด็กไว้ในรถ แล้วบอกว่าเหตุสุดวิสัย ไม่มีนะครับ ไม่มีคำว่าเหตุสุดวิสัยจากการลืมเด็กไว้ในรถ เราไม่อยากร้องไห้จากการที่รถนักเรียน ๒ ชั้นทัศนศึกษาแล้วไปคว่ำ เราไม่อยากร้องไห้ กับรถสภาพผุพังแบกรับเด็กไม่รู้จำนวนเท่าไรแล้วไม่มีผู้ปกครองดูแลอยู่ท้ายรถ ซึ่งเหล่านี้ ข้อเสนอของท่านคือข้อเสนอ ๒ ด้าน คือด้านงบประมาณและด้านคุณภาพของรถรับส่ง นักเรียน ผมคิดว่าอยากให้ท่านขยายความครับ แล้วอยากให้ท่านทวงถามผ่านสภาแห่งนี้ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลยว่าวันนี้กระทรวงศึกษาธิการรับเรื่องนี้ไปดำเนินการแค่ไหน ต้องแก้กฎกระทรวงหรือไม่ อย่างที่ผมเคยเข้าร่วมประชุมกับท่าน กระทรวงคมนาคมเดินหน้า ไปถึงไหน ต้องแก้ดำเนินการต่าง ๆ หรือไม่ หรือใช้ระบบของจังหวัด เช่น กรณีขององค์กร ผู้บริโภคจังหวัดพะเยาที่ทำอยู่ในการแก้ไขปัญหาหรือไม่ ผมอยากให้ท่านขยายความครับ แล้วสิ่งเหล่านี้พวกเราในฐานะตัวแทนประชาชนจะได้ไปพูด เด็ก ๕๔๐,๐๐๐ คนอาจจะเป็น ลูกผม อาจจะเป็นหลานท่าน อาจจะเป็นเด็กทุกคนในประเทศแห่งนี้ เราปล่อยเขารอ ไม่ได้ครับ สิ่งเหล่านี้ต้องชื่นชม และต้องฝากเป็นประเด็นสำคัญเป็นประการสุดท้าย ขอบพระคุณท่านประธานครับ
ขอบคุณครับ ท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทองครับ ก่อนจะเข้าสู่การอภิปรายรายงานสรุปผลการดำเนินงานในภาพรวม ของทุนหมุนเวียนประจำปีบัญชี ๒๕๖๓ ปีบัญชี ๒๕๖๔ อยากจะรบกวนท่านประธานครับ อยากจะ Pan กล้องกันไปทั่ว ๆ นิดหนึ่งครับ จะได้ทราบว่าวันนี้เพื่อนสมาชิกจาก ทุกพรรคการเมืองนั้นยังอยู่ในสภาแห่งนี้ถึงแม้จะ ๖ โมงกว่า แล้วก็มีส่วนร่วมในการอภิปราย รายงานต่าง ๆ อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ พี่น้องประชาชนอยู่ทางบ้านก็จะได้ทราบว่าตัวแทน ของเขานั่งประชุมอยู่ในที่ประชุม นั่งอยู่ตรงไหนในมุมไหนของสภาแห่งนี้ครับ
ท่านประธานครับ ผมมีอยู่ทั้งหมด ๓-๔ ประเด็นด้วยกันในการจะอภิปราย กองทุนครับ แต่ประเด็นใหญ่ที่ผมอยากจะต้องเริ่มพูดถึงก็คือประเด็นว่าเราต้องยอมรับว่า ขณะนี้กองทุนหมุนเวียนนั้นมีเงินอยู่ทั้งหมดถึง ๔.๖ ล้านล้านบาทต่อปี แน่นอนครับ เมื่อเทียบกับงบประมาณที่เข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรของพวกเรา งบอาจจะแตกต่าง กันบ้างในแต่ละปีเล็กน้อย ๓.๑ ๓.๒ ๓.๓ ย้อนมา ๓.๒ ล้านล้านบาท แต่เห็นได้ว่ากองทุน หมุนเวียนหรือทุนหมุนเวียนนั้นมีปริมาณมหาศาล ผมคิดว่าประเด็นหลักเลยก็คือว่า กรมบัญชีกลางในฐานะผู้ปกป้องประโยชน์หรือเงินของแผ่นดิน อาจจะต้องชี้แจงและยืนยันว่า เรามีความจำเป็นจะต้องควบคุมการใช้เงินทุนหมุนเวียนมากไปกว่านี้อีกไม่ได้แล้วหรือไม่ จะมีข้อเสนออย่างไร จะมีวิธีการอย่างไร จะบอกเลยไหมว่าต่อไปนี้กฎหมายต่าง ๆ ที่จะมีการเสนอต่อสภานั้นควรจะต้องไม่มี บทบัญญัติที่ว่าด้วยทุนและกองทุนต่าง ๆ ซึ่งเพิ่มงบประมาณในการใช้จ่าย หรือถ้าท่าน เห็นว่าทุนหมุนเวียนยังจำเป็นอยู่ ก็จะต้องบอกว่าความจำเป็นนั้นควรจะต้องมีเงื่อนไขแบบใด ประการใด แต่ผมคิดว่าถ้าปล่อยให้สถานการณ์แบบนี้เราจะกลายเป็นรัฐซ้อนรัฐ เราจะ กลายเป็นเงินซ้อนเงิน เราจะกลายเป็นทุนที่ซ้อนทุน ซึ่งมีการใช้ในงบประมาณประจำปี อยู่ในหน่วยราชการต่าง ๆ เราปล่อยแบบนี้ต่อไปไม่ได้ นั่นเป็นประการที่ ๑
ประการที่ ๒ ผมคิดว่ามีหลายกองทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่ผมเอง ก็นั่งเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการที่ดูเรื่องกองทุนในสภาชุดที่ผ่านมา แล้วก็อภิปราย ทุนหมุนเวียนในทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุนที่เกี่ยวข้องกับทางสังคม ยกตัวอย่างบางประการ เช่นกองทุนคุ้มครองเด็ก ถ้าท่านดูคำว่า ประเด็นสำคัญในปี ๒๕๖๓ กับปี ๒๕๖๔ รายงาน ๒ ฉบับ เพื่อนสมาชิกบอกว่าอยากให้ผมถือสักนิดหนึ่ง อย่างน้อยก็จะได้รู้ว่าจำนวนหน้า เป็นจำนวนเท่าไร ก็ต้องเรียนว่าข้อความไม่แตกต่างกันเลยครับ ปี ๒๕๖๓ ท่านบอกว่า ประเด็นสำคัญมี ๑ ๒ คือการติดตามงบประมาณและประเมินผล ทั้งประเด็นเรื่องรายบุคคล และกลไกระดับจังหวัดในการคุ้มครองเด็กที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ ปี ๒๕๖๔ ท่านก็ใช้ คำเดียวกัน ผมก็ต้องถามว่าคำว่า ประเด็นสำคัญ ที่ท่านเขียนนัยอยู่ในทุก ๆ กองทุนนี้ หรือทุก ๆ ทุนมันหมายความว่าอะไร ท่านกำลังส่งสัญญาณอะไรครับ กำลังบอกว่านี่คือ ประเด็นสำคัญซึ่งควรจะต้องไม่มีอีกแล้วในปีถัดไป หรือนี่คือประเด็นสำคัญที่ Highlight ว่า ปีหน้าถ้าคุณจะต้องใช้ทุนต้องใช้ในเพื่อการแบบนี้นะ หรือกำลังจะบอกว่านี่คือประเด็นสำคัญ ที่ควรจะต้องนำไปสู่การปรับแก้ หรือยกเลิกกองทุน ท่านต้องอธิบายความหมายของคำว่า ประเด็นสำคัญ ซึ่งอาจจะวงเล็บว่าไม่สำคัญก็ได้ แต่ผมยกตัวอย่าง ในเมื่อเข้ามาสู่กองทุน คุ้มครองเด็กก็ต้องลงรายละเอียด เอาเข้าจริง ๆ เราต้องยอมรับนะครับว่ามีการใช้กองทุน คุ้มครองเด็กอยู่ใน ๒ ระบบด้วยกัน ก็คือการช่วยเหลือสงเคราะห์รายบุคคล กับการสนับสนุน โครงการ แต่ท่านไม่ได้ลงรายละเอียดว่าเงินสงเคราะห์รายบุคคลนั้นจำนวน ๑,๐๐๐ กว่าราย ต่อปีนั้นใช้วงเงินเท่าไร โครงการซึ่งมี ๒๐-๓๐ รายต่อปีใช้วงเงินเท่าไร แล้วสัดส่วน มันเป็นเท่าไร ที่ผมต้องพูดตั้งประเด็นแบบนี้เพราะว่าเงินสงเคราะห์รายบุคคลมันไปซ้อนกับ เงินสงเคราะห์ที่อยู่ในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีหลายหน่วย ที่ใช้ เยอะแยะไปหมด แต่บางโครงการท่านทราบไหมครับ มีอยู่ปีหนึ่งโรงเรียนขอใช้ งบประมาณในการไปทัศนศึกษาจากกองทุนคุ้มครองเด็ก แล้วท่านอดีตรองปลัดกระทรวง พม. มาบ่นกับผมว่าก็ต้องอนุมัติให้ไป ทั้งที่จริงทำไมไม่ไปใช้เงินปกติของกระทรวงศึกษาธิการ ตกลงเวลาที่ท่านประเมินผลมองแบบนี้อย่างไร และเอาเข้าจริง ๆ แล้วจำนวนเด็กที่ต้องได้รับ การสงเคราะห์ เด็กบางรายนั้นมีความจำเป็นมากกว่าประกาศวงเงินที่อยู่ในประกาศของ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฝากท่านไปดูครับ กายอุปกรณ์ บางอย่างสำหรับเด็กพิการ ประกาศวงเงินไม่ครอบคลุมถึง ประเด็นเรื่องการตรวจ DNA เปรียบเทียบสถานะบุคคล เพื่อนสมาชิกผมอยู่ใน กทม. ทุกเขต เจอหมดเลยครับ มีเด็ก ไร้สถานะ แต่ไม่สามารถนำไปสู่การตรวจ DNA ได้ ประกาศวงเงินบอกให้ใช้ได้ แต่ท่านลอง ไปดูให้หน่อยว่าตกลงใช้ไปกี่ราย เป็นจำนวนเงินเท่าไร หรือตั้งแต่มีประกาศวงเงิน ในปี ๒๕๕๔ เป็นต้นมาเคยมีคนใช้ไหม แต่วงเล็บไว้ก่อนนะครับ มี ๑ ราย ณัฐวุฒิ บัวประทุม เคยใช้ นั่นเป็นกองทุนคุ้มครองเด็ก กองทุนค้ามนุษย์ก็แบบเดียวกันครับ กองทุนความเสมอ ภาคทางเพศไม่ตั้งคำถามไม่ได้นะครับ เพราะว่าเกิดขึ้นจากพระราชบัญญัติส่งเสริม ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ปี ๒๕๕๘ มีการตั้งกรรมการ ๒ ชุด เรียกว่า สทพ. กับ วลพ. มีเรื่องร้องเรียนที่นำไปสู่การจ่ายเงินชดเชยหรือเยียวยาผู้ประสบเหตุจากความไม่เป็นธรรม ในเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศแค่ ๔ ราย น้อยนิดนัก คำถามของผมก็คือว่าตกลง เขา Declare หรืออธิบายท่านไหมครับว่าความเสมอภาคระหว่างเพศนั้นคืออะไร เป็นความเสมอภาคระหว่างเพศของระบบเพศ ๒ เพศ ที่เรียกว่า Binary หรือชายและหญิง หรือเป็นความเสมอภาคของทุกเพศ Gender Equality ผมคิดว่ากองทุนความเสมอภาค ระหว่างเพศนะครับ เป็นประเด็นที่นำไปสู่การต้องทบทวน พ.ร.บ. ส่งเสริมความเสมอภาค ระหว่างเพศว่าตกลงที่มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ นั้นเป็นอย่างไร นี่ยังไม่พูดถึงเรื่องค้ามนุษย์ ยังไม่พูดถึงเรื่องส่งเสริมผู้สูงอายุ เรื่องการจัดการศึกษาคนพิการ เรื่องส่งเสริมการจัด สวัสดิการสังคมที่นำไปสู่โครงการในต่างจังหวัด ก็ต้องขอบพระคุณท่านที่ไปลงรายละเอียด ที่ผมคิดว่าจำเป็นต้องแตะ ความจริงมีอีกกองทุนหนึ่งนะครับ ถ้าผมไม่พูดอายแย่เลยครับ เพราะว่าลูกชายฝากมา ก็คือการจัดการซากดึกดำบรรพ์ หรือพูดกันง่าย ๆ ก็คือขุดหา ไดโนเสาร์ ปีที่แล้ว ผอ. กองทุนมา Comment หลังจากที่ผมพูดบอกว่าขอบพระคุณท่านมาก คนสนใจน้อย ประเทศไทยมีแหล่ง Fossil เยอะมากครับ งบประมาณในการใช้การศึกษา เรื่อง Fossil จำเป็น และสำคัญ คนสนใจน้อย ประเทศไทยมีแหล่ง Fossil เยอะมากครับ งบประมาณในการใช้การศึกษาเรื่อง Fossil จำเป็นและสำคัญ เจอไดโนเสาร์ ๑ ตัว อยากมีชื่อ ณัฐวุฒิ โฮเน่ อะไรอย่างนี้เป็นต้น แต่ว่าผมไม่ได้ไปขุดเอง แต่ฝากท่านไปดูครับ นั่นเป็นประเด็นที่ ๒ ครับ
ประเด็นที่ ๓ ท่านประธานครับ เป็นประเด็นสุดท้าย ก็คือประเด็นที่เป็น เรื่องของการทวงคำตอบจากเรื่องทุนหมุนเวียน อย่างที่ผมได้นำเรียนว่า ในท้ายที่สุด แล้วนี่นะครับ อย่างที่เรียนว่ากองทุนหมุนเวียนนั้นจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ครับ แล้วมี ข้อห่วงใยในหลายประการ ก็ต้องฝากท่านว่าสุดท้ายแล้วท่านจะยืนยันหลักการว่า ยังจำเป็นต้องมีทุนหมุนเวียนมากไปกว่านี้อีก หรือควรจะมีเท่านี้ภายใต้กฎหมายหรือเงื่อนไข แบบใด ประการใด เสียดายมีรายละเอียด แต่คงไม่สามารถที่จะพูดถึงได้ในเวลาที่มีอยู่ ขอบคุณท่านประธานครับ
ท่านประธานครับ ณัฐวุฒิครับ ขอประทานโทษนิดเดียวครับท่านประธาน
ด้วยความเคารพครับ ท่านประธานครับ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อย่างที่ผมเรียนครับ เมื่อสักครู่ผมจดประเด็นที่ ๓ ไว้แล้วอ่านลายมือตัวเอง ไม่ออก ต้องขออภัยด้วยครับ ตอนนี้อ่านลายมือตัวเองออกแล้วครับ ท่านประธานครับ ประเด็นนิดเดียว เนื่องจากว่ารายงานทุนหมุนเวียนมีความแตกต่างกับรายงานอื่นตรงที่ว่า ท่านมาในนามกรมบัญชีกลาง แต่เจ้าของทุนกองทุนต่าง ๆ ไม่ได้มา ฉะนั้นมันมีคำถาม จำเพาะเจาะจงไปยังกองทุนต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก อยากฝากท่านประธานนำเรียนไปทาง กรมบัญชีกลางว่าเป็นไปได้หรือไม่ ผมเชื่อว่า ผอ. ผู้จัดการกองทุนทุกอันนั่งฟังเราหมดเลย อยากจะขอให้เขาช่วยตอบคำตอบในรายละเอียดของทุนต่าง ๆ มาที่กรมบัญชีกลางก็ได้ครับ แล้วกรมบัญชีกลางจะส่งมาสภาก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง นั่นเป็นประเด็นที่ ๑ ครับ
ส่วนประเด็นที่ ๒ ก็ทวงคำตอบภาพรวมครับ เพื่อนสมาชิกเราตอนนี้ ทวงกันถี่มากครับท่านประธานว่าหลายเรื่องที่อภิปรายมันไม่ไปปรากฏอยู่ในรายงานประจำปี ในปีถัดไป หรือมันไม่มีคำตอบส่งมาที่บ้าน ซึ่งผมต้องขอชื่นชมนะครับ ผมอภิปราย หลายรายงาน ๑. คือผู้ตรวจการแผ่นดินส่งไปถึงบ้านผมทุกรอบเลย ตอบคำถามผมทุกข้อเลย ๒. คือสำนักงาน ป.ป.ช. ไม่ได้ไปทวงว่าผมยื่นบัญชีทรัพย์สินถูก ไม่ถูก แต่ส่งไปที่บ้านว่า ผมอภิปรายอะไร แล้วเขาจะตอบอะไร ก็อยากจะฝากท่านประธานว่าถ้าเราสร้างธรรมเนียม ปฏิบัติอย่างน้อยให้มันมีรายการ หรือส่งท่านประธาน หรือส่งตอบสมาชิกได้จะเป็นประโยชน์ อย่างยิ่งครับ ต้องขออนุญาตที่จะเกินเวลา แต่คิดว่าเป็นประเด็นสำคัญและเป็นประโยชน์ ขอบพระคุณท่านประธานครับ
ท่านประธานผมประท้วง ท่านประธานครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมต้องขอ อนุญาตประท้วงท่านประธานครับ แต่ก็แน่นอนครับต้องกล่าวพาดพิงไปถึงท่านผู้อภิปราย ในการอภิปรายครับ ท่านประธานครับ ท่านประธานมีหน้าที่ในการควบคุมการอภิปรายครับ ท่านสมาชิกทุกท่านที่จะอภิปรายก็ลงชื่ออภิปราย และยิ่งวันนี้การอภิปรายยังมีต่อเนื่อง ยังมีรายงานที่ค้างการพิจารณา สมาชิกหลายท่านก็ลงชื่อเอาไว้ก็ไม่รู้ว่าจะได้อภิปรายเวลาใด แต่ว่าท่านผู้กำลังอภิปรายนี่นะครับ เมื่อวานท่านก็ขึ้นมาแบบนี้ครับ บอกขอตั้งข้อสังเกต วันนี้ท่านก็ขึ้นมาอีกบอกขอตั้งข้อสังเกต แล้วเวลามันก็ไม่เดินครับ พวกผมก็ไม่รู้ว่าตกลง ท่านใช้เวลาตั้งข้อสังเกตกี่นาที แบบนี้เดี๋ยวจบท่านผมขอตั้งข้อสังเกตต่อนะครับ เพราะฉะนั้นท่านต้องเอาให้ชัดว่าตกลงท่านอนุญาตให้ตั้งข้อสังเกตสั้น ๆ หรือว่าท่าน เปิดให้อภิปราย ถ้าเปิดให้อภิปรายผมก็จะได้ขออภิปรายต่อ ท่านประธานต้องควบคุมครับ ไม่เช่นนั้นการอภิปรายโดยอ้างว่าตั้งข้อสังเกตแบบนี้ไม่ใช่ธรรมเนียมในสภาแห่งนี้ ผมไม่กล้า รบกวนท่าน ท่านเป็นอดีต สส. เก่า เป็นผู้อาวุโส แต่ว่าท่านประธานต้องควบคุมการประชุมครับ ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานวินิจฉัยไว้ด้วยครับ
ท่านประธานครับ พรรคก้าวไกล ขอใช้สิทธิพาดพิงครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมขออนุญาตใช้สิทธิพาดพิงตามข้อบังคับการประชุม ข้อ ๗๑ ด้วยความเคารพ ต่อท่านผู้อภิปรายครับ คงไม่เอ่ยชื่อท่านซ้ำครับ แต่ว่าประเด็นที่ท่านอภิปรายมีประเด็นหนึ่ง ที่พูดพาดพิงถึงว่าเพื่อนสมาชิกพรรคก้าวไกลได้ใช้ iPad ในการอภิปราย ผมคิดว่าเพื่อสื่อสาร ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อพี่น้องประชาชนครับว่า ในพรรคก้าวไกลนั้นมีการนำเสนอ การอภิปรายหลากหลายครับ ไม่ได้ใช้เรื่องอุปกรณ์ที่เรียกว่า Tablet อย่างเดียว ยังมีกระดาษ ยังมีสมุด ยังมี Short note ยังมีอื่น ๆ อีก นั่นเป็นประการที่ ๑ ที่อยากจะทำ ความเข้าใจที่ถูกต้อง
ประเด็นที่ ๒ ก็คือว่า เพื่อนสมาชิกได้เอ่ยชื่อยี่ห้อ รุ่นของ Tablet รุ่นหนึ่ง ซึ่งจริง ๆ แล้วมันไม่ใช่หมายถึงว่าสมาชิกพรรคก้าวไกลได้ใช้รุ่นนั้นแต่เพียงอย่างเดียวครับ เดี๋ยวเกรงว่าจะส่งผลกระทบบวกลบต่อความเข้าใจว่าสมาชิกได้รับการสนับสนุนยี่ห้อนั้น มาจากที่ใด ประการใด ก็ขออนุญาตทำความเข้าใจเรียนท่านประธานครับว่าการใช้ Tablet มีหลายรุ่น มีหลายยี่ห้อ ไม่ใช่ว่าเป็นยี่ห้อที่ท่านสมาชิกได้เอ่ยแต่เพียงอย่างเดียวครับ ขอบคุณท่านประธานครับ
ท่านประธาน ผม ณัฐวุฒิ ขอเสนอแนะเพิ่มเติมประเด็นนี้นิดเดียวได้ไหมครับ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องสิทธิเด็กครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธานทราบดีว่าผมเชี่ยวชาญ เรื่องสิทธิเด็กเคยเป็น Board ในระดับชาติ ผมคิดว่าลูกผม ๕ ขวบนะครับ ผมได้ยินแบบนี้ ก็ตกใจนะครับ ฉะนั้นผมเสนอแบบนี้ครับท่านประธานสั้น ๆ
๑. ท่านต้องดูอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ประกอบ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก มาตรา ๒๗ ท่านไปเปิดดูได้ครับ พ.ร.บ. ความรุนแรงในครอบครัว มาตรา ๙ พ.ร.บ. ศาลเยาวชน มาตราถ้าจำไม่ผิด มาตรา ๘๓ เป็นประเด็นเรื่องของสิทธิส่วนบุคคลของเด็ก ทั้งหมดนี้ยังไม่พูดถึง PDPA ฉะนั้นอะไรถ้าท่านไม่มั่นใจผมเสนอแบบนี้ครับ ให้ท่านหารือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ท่านหารือคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ แล้วก็ให้ท่านหารือองค์การ UNICEF ว่าประเด็นเรื่องของการปกปิดข้อมูลโดยเฉพาะ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเด็กในเอกสารของท่านที่ท่านอ้างว่าทำตามกฎหมายนี้ อะไรจะเป็น ประโยชน์สูงสุดของเด็ก ผมใช้คำนี้นะครับ อะไรจะเป็นประโยชน์สูงสุดของเด็ก ฝากท่าน แค่นี้ครับ ขอบพระคุณครับ
พอดีท่านประธานหันมา ทางผมหลายครั้งครับ ณัฐวุฒิ บัวประทุม ตอบสั้น ๆ ว่าทางพรรคฝ่ายค้านเห็นชอบกับที่ ท่านประธานเสนอครับ ก็น่าจะจบประเด็นเมื่อสักครู่ไปแล้วครับ ขอบพระคุณมากครับ
ใช่ครับ ท่านประธาน ได้มอบให้ท่านรองพิเชษฐ์ไปหารือต่อ ทางพวกผมก็เห็นด้วยครับ ขอบพระคุณมากครับ
ท่านประธานครับ ณัฐวุฒิครับ ขออนุญาตหารือท่านประธานนิดเดียวครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผมณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลครับ ต้องขออนุญาตหารือ ท่านประธานสักนิดเดียวครับ เรื่อง Air-condition หนาวไปไม่สมดุลกับคนที่อยู่ในห้อง ผมไม่ได้ติดใจอย่างใด แต่ขณะนี้ผมไม่มั่นใจว่าท่านประธานได้สั่งให้มีการปิดการลงรายชื่อ ผู้อภิปรายหรือยังนะครับ เพราะว่าเป็นญัตติที่มีความสำคัญ สมาชิกหลายท่านก็อยากอภิปราย นั่นเป็นประการที่ ๑ ที่อยากจะนำเรียนท่านประธานนะครับ
ประการที่ ๒ ขณะนี้จำนวนผู้อภิปรายที่ค้างอยู่เหลือฝ่ายค้านอยู่ประมาณ ๑๐ ท่าน แต่ว่าเหลืออยู่ในฝั่งของฝ่ายรัฐบาลอยู่ทั้งหมด ๓๖ ท่านด้วยกันครับ ซึ่งเท่ากับว่า จะเป็นอัตราที่ ๓ เท่าของจำนวนฝ่ายค้าน ทีนี้เมื่อเช้านี้ทางท่านประธานได้กรุณาให้เป็น การสลับ ๒ ต่อ ๑ คือรัฐบาล ๒ คน ฝ่ายค้าน ๑ คน แต่ว่าในเมื่อสัดส่วนขณะนี้มันเป็น ๓๖ ต่อ ๑๐ ก็อยากจะนำปรึกษาท่านประธานว่าเป็นไปได้หรือไม่ หรือว่าท่านประธาน เห็นควรอย่างไร ว่าจะปรับเป็น ๓ ต่อ ๑ หรือไม่ แต่มันก็อยู่ที่ว่าประเด็นแรกคือท่านอยากจะ ให้มีการปิดการลงชื่อหรือยัง ตรงนี้ก็จะได้สมดุล พวกเราก็จะได้ทำหน้าที่กันอย่างเต็มที่ เพราะว่าวันนี้สมาชิกเราก็อยู่ในห้องกันอุ่นหนาฝาคั่ง Air-condition ก็ปรับเอาตามสภาพ แต่ว่าอยากให้พวกเราได้อยู่กันยาว ๆ เต็มที่ทั้ง ๒ ฝ่าย ก็เลยปรึกษาท่านประธาน เพื่อความเหมาะสมสักนิดหนึ่งครับ ขอบคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะ ตัวแทนฝ่ายค้าน ต้องขอประทานโทษครับยังไม่ชินกับคำว่าตัวแทนฝ่ายค้าน ความเป็นจริง ก็คือท่าน สส. ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ได้มาหารือกับพวกเรานะครับ วอลเลย์บอลเมื่อวาน เราชนะญี่ปุ่น ๓ ต่อ ๒ Set นะครับ วันนี้เราเจอจีนอันดับ ๕ ของโลกก็เป็นกำลังใจให้กับ นักกีฬาคนไทยครับ แต่ผมคิดว่าประเด็นหลักครับ อยู่ที่ว่าเราให้ความสำคัญกับญัตติที่เรา พูดกันมากน้อยขนาดไหนนะครับ แล้วก็เป็นที่น่าชื่นใจนะครับถ้ามองซ้าย มองขวา กล้องช่วย Pan ซ้ายขวาไปทีหนึ่งก็จะเห็นว่าวันนี้เพื่อนสมาชิกอยู่กันหนาแน่นนะครับ ก็เป็นไปตาม ความตั้งใจของพรรคก้าวไกล ฉะนั้นผมคิดว่าเป็นไปได้ครับกับกรอบเวลาที่ครูมานิตย์ได้พูดถึง แต่อย่างไรก็ตามก็ยังอยากให้ท่านประธานได้เดินหน้าไปก่อน แล้วไปดูกันอีกสักทีหนึ่งนะครับ ขณะนี้เป็นเวลาประมาณ ๑๖.๓๒ นาฬิกา อาจจะสักแดดร่มลมตกหลังหก ๖ โมงเย็น อาจจะมีบางท่านถอน มีบางท่านเพิ่มใด ๆ ต่าง ๆ แต่ถ้ามีการถอนบ้างก็อยากให้จบในวันนี้ เพื่อนำไปสู่ญัตติอื่น ๆ ที่รออยู่นะครับ แต่ถ้าเห็นว่ามีชื่ออยู่เยอะจริง ๆ ครับ แล้วคิดว่า หลายท่านนั้นมีประเด็นที่แตกต่าง พูดไม่ได้ซ้ำเพื่อนก็สงวนไว้ในการที่จะไปพูดในวันพรุ่งนี้ เราก็ไม่ได้คัดค้านแต่ประการใดครับ ก็ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่พวกเราเห็นประเด็นปัญหา เรื่องของเกษตรกร แล้วก็ช่วยกันทำงานให้กับพี่น้องเกษตรกรทั้งประเทศครับ ก็นำเรียน ท่านประธานให้พิจารณาวินิจฉัยครับ ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทองครับ ท่านประธานครับ ต่อดำริของท่านประธานในประเด็นเรื่องของ การอภิปรายญัตติในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ เนื่องจากว่าทางพรรคฝ่ายค้านเองนั้น เหลือผู้อภิปรายไม่เยอะ น่าจะอยู่ที่ประมาณสัก ๔-๕ ท่าน อย่างไรก็ตามท่านสุดท้าย เพื่อนสมาชิกจากพรรคประชาธิปัตย์ ท่านได้ขอสงวนไว้ว่าท่านขออภิปรายในวันพรุ่งนี้ ฉะนั้นในส่วนของท่านผมคิดว่าเราคงไม่ได้ใช้เกณฑ์ในกรณีของ ๕ นาที แต่อย่างไรก็ตาม มีอยู่ท่านหนึ่งในส่วนของคนสุดท้ายของพรรคก้าวไกล ก็คือคุณจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ซึ่งจะอภิปรายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของปลา ซึ่งยังไม่มีผู้ใดที่จะอภิปรายมาก่อน ฉะนั้นอาจจะต้องขออนุญาตท่านประธานว่าสำหรับคุณจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ที่ได้แจ้งพรรค ไว้แล้วว่ามีเนื้อหาการอภิปรายที่แตกต่างก็อยากจะขอคงเวลาไว้ที่ ๗ นาที แต่คิดว่า ในภาพรวมนั้นทางเราก็เห็นด้วยกับดำริของท่านประธาน แล้วก็ยินดีที่จะปฏิบัติตาม ที่ท่านประธานได้ดำริมาครับ ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานนิดเดียวครับ เรื่องว่าเราจะอภิปรายต่อได้เลยไหมครับ หรือว่าจะต้องขอเลื่อนวาระอีกครับท่านประธาน เรื่องนี้ครับ
ก่อนเข้าเวลานะครับ ท่านประธาน ขอตั้งหลักสักนิดหนึ่งครับ ที่เตรียมมาจากที่บ้านหายหมดเลยครับ ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทอง ผมมีเรื่องหารือผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ๑๑ เรื่องด้วยกันดังนี้ครับ
เรื่องที่ ๑ ถนนหมายเลข ๓๐๙ อ่างทอง-พระนครศรีอยุธยา สายในบริเวณ หน้าวัดท้องคุ้ง และโรงเรียนวัดท้องคุ้งตั้งตรงจิตร ๓ มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ท่านประธานครับ อย่างไรเสียฝากกระทรวงคมนาคมช่วยดำเนินการแก้ไขด้วยครับ
เรื่องที่ ๒ เขื่อนการป้องกันน้ำท่วมบริเวณหมู่ที่ ๗ ตำบลโพสะ อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง พังทลาย ทรุด เสียหายไปเป็นระยะทางกว่า ๒๕๐ เมตร เรื่องนี้เกินกำลัง เทศบาลจะทำได้ครับ ก็ต้องฝากกระทรวงมหาดไทย กรมโยธาธิการและผังเมืองได้พิจารณา แก้ไขด้วยครับ อย่าให้ชาวบ้านต้องเขียนยันต์ไปติดว่าป้องกันเขื่อนพังครับ
เรื่องที่ ๓ ถนนหมายเลข อท.๔๐๑๒ บนประตูระบายน้ำบางปลากด ตำบลป่าโมก อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ถนนคับแคบมาก มีรถขนทรายวิ่งผ่านไปมา วันละ ๑,๐๐๐ คัน เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เส้นนี้วิ่งไปพระนครศรีอยุธยา บางบาล ต่าง ๆ ได้ ฝากกระทรวงคมนาคมช่วยแก้ไขด้วย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะว่าถนนนั้นกระทรวงคมนาคม แต่ว่าพื้นที่ประตูระบายน้ำและคลองอยู่ในความดูแล ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เรื่องที่ ๔ ประปาชนบทบ้านดงง้าว หมู่ที่ ๕ ตำบลองครักษ์ อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง ปรากฏทรุดโทรมอย่างยิ่ง น้ำรั่วซึม พี่น้องประชาชน ๔๕ ครัวเรือน ไม่สามารถใช้ได้เลย แทงก์น้ำอยู่กับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล แต่พื้นที่อยู่กับกรมชลประทาน ฝากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการแก้ไขด้วยครับ
เรื่องที่ ๕ ปัญหาไฟทางติด ๆ ดับ ๆ วิบ ๆ วับ ๆ บนถนน อท.๔๐๐๑ กิโลเมตรที่ ๐-๒ หมู่ที่ ๔ ตำบลบ่อแร่ อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง พี่น้องประชาชน สัญจรไปมาได้รับความลำบากฝากกระทรวงคมนาคมและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคดำเนินการ แก้ไขด้วยครับ
เรื่องที่ ๖ ปัญหาคลองชลประทานเน่าเสีย แยกจากคลองชลประทาน ผ่านคลองไส้ไก่ ลอดโรงเรียนสตรีอ่างทอง ลอดถนน ลอดอาคารพาณิชย์ เข้าทุ่งนา ตำบลศาลาแดง อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง น้ำเน่าเสียกลิ่นเหม็นคลุ้ง พี่น้องประชาชน ทำเกษตรไม่ได้ ฝากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการแก้ไขด้วยครับ
เรื่องที่ ๗ ถนน อท.๓๐๒๗ ตั้งแต่แยกอำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง ไปตำบล อินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง ผ่านวัดหลุมไก่ วัดไทร วัดไผ่ล้อม พี่น้องประชาชน สับสนครับ เส้นหลักกำลังทำอยู่พี่น้องมาใช้เส้นนี้ ปรากฏเส้นนี้ดันทำอีก ผมไม่รู้จะปรึกษาใคร เพราะว่าเขาขึ้นป้ายจุดสิ้นสุด จุดเริ่มต้นโครงการ แต่ไม่มีโครงการเลย ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร งบประมาณเท่าไรไม่รู้จะถามใคร ถามนายกรัฐมนตรีให้ช่วยทบทวนการก่อสร้างด้วยครับ
เรื่องที่ ๘ เรื่องการทำร้ายนักเรียนเกิดขึ้นบ่อยครั้งในจังหวัดอ่างทองครับ ในพื้นที่อำเภอวิเศษชัยชาญ เป็นโรงเรียนมัธยมในพื้นที่อำเภอเมือง เป็นโรงเรียนประจำ จังหวัด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่เป็นตำรวจ เวลาไปแจ้งความตำรวจ ไม่ดำเนินการ ถือว่าละเว้น ก็ต้องฝากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ ไปดำเนินการทางวินัยครูที่เกี่ยวข้องด้วยครับ
เรื่องที่ ๙ ถนน อท.๔๐๑๐ บ้านหงส์-เขาแก้ว หลักกิโลเมตรที่ ๔-๕ ตำบลองครักษ์ ไม่มีไฟทางเลย ขาดแค่ ๑ กิโลเมตร เป็นป่าไม่ปลอดภัยต่อพี่น้องประชาชน เรื่องนี้ต้องฝากกระทรวงคมนาคมดำเนินการแก้ไขด้วยครับ
เรื่องที่ ๑๐ ปัญหาแหล่งโบราณคดีอายุกว่า ๓,๐๐๐ ปี พื้นที่หมู่ที่ ๕ ตำบลสีบัวทอง อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง ผมเคยปรึกษาหารือประธานสภาไปแล้วครับ อย่ามัวแต่เอาไปยุ่งกับปลาแนม ปลาแนมนั้นเป็นของกินว่าง แต่ว่าตรงนี้ต้องพัฒนา เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็ฝากกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดำเนินการแก้ไขด้วยครับ
เรื่องที่ ๑๑ กรณีของค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่สำนักงานการศึกษาพระปริยัติธรรม จศป. จำนวน ๔,๒๘๒ รูปและคน มีทั้งพระและฆราวาส รายงานตัวตั้งแต่เดือนกันยายน ปี ๒๕๖๕ บัดนี้ผ่านมา ๑ ปีเต็มไม่มีการจ่ายค่าตอบแทน ฝากนายกรัฐมนตรีกำกับดูแล สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและกระทรวงการคลังดำเนินการแก้ไขด้วยครับ วันนี้อภิปรายให้น้องมันดู ๑๑ เรื่อง ๓ นาที ขอบคุณท่านประธานครับ
เกี่ยวครับท่านประธานครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทอง เกี่ยวกับประเด็น สสส. ครับ เพียงแต่ว่าปีนี้ผมไม่ได้อภิปรายรายงาน สสส. แต่ว่าอย่างนี้ท่านประธานครับ ตอนแรกที่ได้มีการพูดคุยกันทางท่านผู้จัดการได้พูดว่า หากมีประเด็นบางข้อที่ยังมีข้อสงสัยตอบในนี้ได้ไม่หมดท่านก็อาจจะใช้ช่องทางอื่น ในการตอบ ผมอยากจะนำเรียนท่านประธานว่าขอแบบนี้ได้ไหมว่า เนื่องจากว่ารายงาน ของ สสส. มีจำนวนค่อนข้างหนา แล้วเข้าใจว่ามีพื้นที่ในการจัดการค่อนข้างดีครับ เป็นไปได้ไหมครับว่าท่านจะรวบรวมบางประเด็นอาจจะไม่ได้ตอบเป็นรายคนครับ แต่รวบรวมบางประเด็นจัดเป็นหมวดหมู่แล้วก็ใส่กรณีคำตอบที่ควรจะใส่สำหรับสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาไว้ในท้ายรายงานในปีถัด ๆ ไปครับท่านประธาน ซึ่งผมคิดว่าแบบนี้ก็จะเป็นประโยชน์นะครับ
อีกสักนิดเดียวท่านประธานครับ วันนี้ครับพวกเราอยู่หนาแน่นครับ Air ค่อนข้างอุ่น ผมคิดว่าในวันจันทร์ที่จะมีการแถลงนโยบายอย่างไรรบกวนท่านประธาน ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ปรับ Air ให้เย็นไว้นิดหนึ่งครับ ไม่เช่นนั้นนี้เดี๋ยวเพื่อนสมาชิกจะร้อนไปครับ ก็ขอบพระคุณมากท่านประธานครับ
ขอบคุณครับ ท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทอง ด้วยความเคารพครับ เท่าที่ฟังเนื้อหาเหตุและผลที่ท่านอดิศร เพียงเกษ ต้องขอประทานโทษที่เอ่ยนาม ท่านได้นำเสนอนั้น ผมเองไม่ได้มีประเด็นที่จะขัดข้อง แต่ประการใด แต่ว่าอยากจะนำเรียนปรึกษาท่านประธานว่าสิ่งที่ท่านอดิศรได้อ้างเป็น ประเด็นเรื่องของข้อบังคับ ข้อ ๕๐ ซึ่งในภาษาที่พวกเราคนที่ทำงานในสภาเข้าใจก็คือ จะเป็นประเด็นเรื่องของการเสนอญัตติด่วนครับ แต่ไม่ทราบว่าวัตถุประสงค์ในการขึ้น นำเสนอของท่านเป็นเพียงแค่เรื่องการปรึกษาหารือหรือว่าจะเป็นญัตติด่วน ซึ่งถ้าเป็น ญัตติด่วนนั้นก็จำเป็นที่จะต้องมีผู้รับรองต่าง ๆ ผมขอความชัดเจนตรงนี้ก่อนดีกว่าครับ ก่อนที่จะไปพูดกันว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แบบใด ประการใดครับ
ท่านประธานครับ ขออนุญาต ต่อเนื่องนิดเดียวครับ เพราะว่าท่านเสนอมา ผมยังไม่ได้สนองครับ ผิดหลักการ Pacta sunt servanda ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทอง ในฐานะตัวแทน Whip ฝ่ายค้านชั่วคราว ถ้าฟังจากที่ท่านประธานได้กรุณาสรุปแล้วก็เป็นความเห็นที่ให้ต่อท่านประธาน Whip รัฐบาล ท่านอดิศร เพียงเกษ ซึ่งผมคิดว่าประเด็นเรื่องของตำรวจเป็นเรื่องที่ทางพรรคก้าวไกลเรา และฝ่ายค้านเองก็เห็นด้วยมาโดยตลอด ฉะนั้นถ้าผมสรุปแล้วก็จับความไม่ผิด ท่านประธาน ได้แนะนำว่าให้ทาง Whip รัฐบาลกับ Whip ฝ่ายค้านไปคุยกันว่าจะเสนอเข้ามาในลักษณะ แบบใด ประการใดใช่หรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นเดี๋ยวทางผมก็จะแจ้งทางประธาน Whip ฝ่ายค้านรับทราบ แล้วก็ดำเนินการตามที่ท่านประธานสั่งการครับ ขอบพระคุณครับ
ขอบคุณครับ ท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทองครับ ผมขออนุญาตที่จะมีส่วนร่วมในการอภิปรายขั้นรับหลักการ ของร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ทั้งฉบับของคุณอรรถกร ศิริลัทธยากร แล้วก็คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ ท่านประธานครับ ผมคิดว่าในการอภิปรายในขั้น รับหลักการนั้นจำเป็นที่จะต้องมีทั้งประเด็นที่เป็นข้อซักถามต่อสิ่งที่เสนอเป็นหลักการ ข้อสังเกต หรือข้อเสนอแนะ ตลอดจนความเข้าใจต่าง ๆ ว่าสิ่งที่ท่านกำลังจะแก้ไขนั้น ท่านสามารถตอบคำถามเหล่านี้ที่จะเป็นคำถามที่เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนสมาชิกและพี่น้อง ประชาชนได้หรือไม่ ฉะนั้นการรับหลักการก็คงจะไม่สมบูรณ์แต่ประการใดครับ
ประการที่ ๑ ผมคิดว่าจำเป็นต้องอธิบายให้เพื่อนสมาชิกได้เห็นว่าในหลักการ ของการแก้ไขร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรทั้ง ๒ ฉบับนั้นมีหลักการที่ทั้งเหมือนกัน และมีข้อที่แตกต่างกันครับ ร่างของท่านอรรถกรนั้นเน้นประเด็นเรื่องการแก้ไขอยู่แต่เพียง ๒ เรื่อง เป็นการแก้ไขอย่างจำเพาะเจาะจง หลักการเขียนชัดเจนว่าเป็นการแก้ไขข้อบังคับ ในข้อ ๙๐ (๖) และข้อ ๙๐ (๒๙) แต่กรณีของคุณพริษฐ์นั้นเป็นการเปิดกว้างครับ บอกว่า เป็นการแก้ไขข้อบังคับซึ่งอาจจะมีข้อที่ตกหล่น บกพร่อง หรือจำเป็นต้องทำให้สมบูรณ์ขึ้น โดยไม่ได้ระบุแต่เพียงว่าจะเป็นการแก้ไขในข้อใดข้อหนึ่ง ถึงแม้ในเนื้อหานั้นจะเป็นการแก้ไข ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการเพียง ๑ คณะก็แล้วแต่ นั่นเป็น ประเด็นที่ ๑ ที่จำเป็นต้องชี้ให้เห็นครับ
ประการที่ ๒ เป็นประเด็นที่ผมคิดว่าด้วยเหตุที่มีหลักการแตกต่างนั้นก็จำเป็น ต้องถามรายละเอียดว่าที่มาที่ไปของการเสนอแก้ไขนั้นเป็นอย่างไร กรณีร่างของท่านพริษฐ์ ผมคิดว่าชัดเจนตรงไปตรงมาว่าการแก้ไขครั้งนี้เป็นการแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับการปรับ ราชการของกระทรวง ทบวง กรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งในขณะที่เรามีการพิจารณายกร่างข้อบังคับนั้น ชื่อของกระทรวงอาจจะไม่สอดคล้องกับคณะกรรมาธิการ ตลอดจนอำนาจหน้าที่ในปัจจุบัน ที่มีการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นอันนี้ไม่มีปัญหาแต่ประการใด แต่สิ่งที่เป็นกรณีการแก้ไข ของท่านอรรถกร เช่น กรณีของคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ และกรณี ของคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำที่ท่านเสนอนั้น ผมก็ต้องถามว่า ประเด็นในเชิงการศึกษาวิจัย ประเด็นในเชิงหลักที่เรียกว่าพยานหลักฐานหรือ Evidence Based ที่จะนำมาสู่การแก้ไขนั้นท่านใช้เกณฑ์แบบใด อย่างไร เรามีคณะกรรมาธิการทั้งหมด ๓๕ คณะ แน่นอนมันต้องมีคำถามคำตอบในตัวว่าเพราะเหตุใดหรือทำไมเราถึงเลือกที่จะ แก้ไขแต่เพียง ๒ ฉบับนี้ ต้องมีคำถามในตัวว่าการแก้ไขปัญหาหนี้สินนั้น เพราะมันมี พยานหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าสิ่งที่เขียนอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่สามารถนำไปสู่การแก้ปัญหา ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ แต่ผมไม่ได้เห็นในการแถลงของท่านอรรถกร ก็มีคำตอบ ที่บอกว่าการเปลี่ยนชื่อคณะกรรมาธิการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคณะที่ ๒๙ ซึ่งแต่เดิมพูดถึง ปัญหาราคาพืชผลเกษตรกรรมมาเป็นคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำนั้น Evidence Based มันคืออะไร มีหลักประกันใช่หรือไม่ว่าต่อไปนี้ประเด็นเรื่องของราคาพืชผลเกษตรกรรมนั้น จะอยู่ในคณะกรรมาธิการสามัญคณะใด และมีหลักประกันต่อพี่น้องเกษตรกรทั้งประเทศ ใช่ไหมว่าปัญหาราคาพืชผลเกษตรกรรมที่ตกต่ำลงนั้นพวกเขาจะไม่ถูกละเลยแบบอดีต ที่ผ่านมา นั่นเป็นประการที่ ๒ ที่ผมต้องถามในเชิงหลักการครับ
ประการที่ ๓ ที่ท่านพยายามจะชี้ให้เห็นว่าการแก้ไขครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีของคณะกรรมาธิการแก้ปัญหาหนี้สินแห่งชาตินั้น เพราะมีความทับซ้อนกับกรรมาธิการ สามัญที่มีอยู่ เช่นกรณีของคณะกรรมาธิการสามัญที่พูดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งในสมัยที่แล้ว เพื่อนสมาชิกของผมก็เป็นประธานคณะกรรมาธิการคณะนั้น ฉะนั้นความทับซ้อนตรงนี้มันอยู่ ตรงไหนครับ และในเมื่อวันนี้บอกว่าทับซ้อน ชี้มาชัด ๆ ได้ไหมว่าสิ่งที่ถูกถอดออกจาก การแก้ไขปัญหาหนี้สินที่บอกว่าทับซ้อนนั้น กรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจท่านรับลูก แน่นอนจะเอาเรื่องนี้ไป เพราะตอนที่แก้ปัญหาหนี้สินระบุชัดเจนมีระดับครัวเรือน มีระดับ ชุมชน มีระดับพื้นที่ มีระดับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ และระดับระหว่างประเทศ วันนี้ คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจท่านรับเรื่องนี้ใช่ไหม เพื่อนสมาชิกจากพรรคก้าวไกล เป็นประธานคนใหม่ ท่านรับแน่ ๆ ใช่ไหม ปัญหาหนี้สินของพี่น้องครู ปัญหาหนี้สินของพี่น้อง เกษตรกร ปัญหาหนี้สินของข้าราชการต่าง ๆ หนี้สินของประชาชน ไม่ตกหล่นแล้ว อะไร คือความทับซ้อนที่ท่านพยายามจะชี้ให้เห็นแล้วไม่หลุดหายไปในการแก้ไขข้อบังคับครั้งนี้ นั่นเป็นประการที่ ๓ ครับ
ประการที่ ๔ ในเชิงรายละเอียดของทั้ง ๒ ร่าง ร่างแก้ไขของท่านอรรถกร โดยเฉพาะกรณีของหนี้สินมันมีคำหลายคำที่ผมอ่านแล้วยังขาดความเข้าใจ เช่นเพื่อลด ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมันอยู่ตรงไหน ตกลง ความเหลื่อมล้ำในประเทศนี้เป็นเพราะถูกกำหนดโดยการจัดการของรัฐ ถูกกำหนดโดย เอกชน เป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมแล้วนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจ หรือเป็นความเหลื่อมล้ำ ทั้งหมดทั้งมวล เศรษฐกิจก็ต้องรวมอยู่ด้วยครับ ถ้าข้อความไม่ครบถ้วนผมจะมั่นใจ ได้อย่างไรว่าเมื่อมีการแก้ไขแล้วความเหลื่อมล้ำที่พูดถึงนั้นจะกินความไปถึงประเด็น ทางเศรษฐกิจด้วย ตอนท้ายยิ่งแล้วใหญ่เลยนะครับ ตอนท้ายในร่างการแก้ไขข้อบังคับ ในข้อ ๓ (๖) ท่านบอกว่าเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ผมไม่แน่ใจว่า ท่านหมายความว่าคำนี้ขยายคำไหน เป็นการขยายคำว่าแหล่งรายได้ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือการศึกษาติดตามต่าง ๆ ท่านอ่านดูในร่างนะครับ แต่ผมไม่เห็นเรื่องความเป็นธรรม ผมไม่เห็นเรื่องหลักประกันว่าพี่น้องประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของปัญหาที่แท้จริงในเรื่องหนี้สิน ความยากจน ความเหลื่อมล้ำจะอยู่ตรงไหนในสมการ ไม่ใช่แต่เพียงว่าความมั่นคงทาง เศรษฐกิจของประเทศ วันนี้ยังไม่ต้องพูดก็ได้ครับ เอารับหลักการไปก่อนก็ได้ แต่ผมคิดว่า ถ้ารับหลักการไป มีการตั้งคณะกรรมาธิการ คำเหล่านี้ต้องถูกพิจารณาหรือต้องบันทึก เจตนารมณ์ไว้ว่าการแก้ไขครั้งนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์และความเป็นธรรมต่อพี่น้องประชาชน ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศตามมาครับ นั่นเป็นผลพลอยได้จากความมั่นคง ของมนุษย์ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่กว่า
ประการที่ ๕ ในขณะเดียวกัน (๒๙) ของข้อ ๙๐ ที่พูดถึงเรื่องการบริหาร จัดการน้ำ ผมก็พยายามอ่านว่าเราพูดถึงการแก้ไขผลกระทบทางน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ขอเวลาท่านประธานนิดหนึ่งอภิปรายท่านเดียวเอง เพื่อการอุปโภคบริโภคครับ แต่ประเด็น ที่เราพูดกันทั้งวันเมื่อวานเช่นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอุทกภัยอยู่ตรงไหนครับ ถ้าจะบอกว่า อยู่ในการแก้ไขในคณะกรรมาธิการสามัญที่เรียกว่า ปภ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ท่านก็อาจจะพูดได้ แต่ผมคิดว่าในเมื่อเราพูดถึงการบริหารจัดการน้ำท่านใช้คำเองว่า แบบทั้งระบบครบวงจร แต่ท่านเขียนตอนท้ายแต่เพียงการแก้ไขผลกระทบทางน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค แล้วน้ำเค็มเอาไหมครับ เดินเรือเอาไหมครับ พี่น้องชาวอ่างทอง ที่วันนี้น้ำท่วมอยู่ที่ตำบลโผงเผง อำเภอป่าโมก ตำบลพระงาม อำเภอพรหมบุรี จังหวัด สิงห์บุรี ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอบางบาล เอาไหมครับ ในร่างแก้ไขผมคิดว่าถ้าจำเป็นต้องบันทึกแล้วเขียนให้ถึง นั่นเป็นประการที่ ๕
ประการที่ ๖ สิ่งที่ควรจะทบทวนมากที่สุดไม่ใช่การทบทวนแต่เพียง คณะกรรมาธิการ ๓ คณะ ร่างของคุณพริษฐ์พูดถึงการทบทวนแก้ไขข้อบังคับทั้งหมด ผมคิดว่าหากมีการรับหลักการและคณะกรรมาธิการที่จะมีการตั้งจะกรุณา ท่านช่วย ตั้งข้อสังเกตหรือพิจารณาทบทวนเผื่อในอนาคตได้ไหมครับ ผมยกตัวอย่างแค่คณะเดียวก็คือ กรณีของคณะกรรมาธิการที่ว่าด้วยกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซ้อมท่องชื่อไว้ก่อนองค์ประกอบมันเยอะ พอดีไปนั่งอยู่ใน คณะนั้น ๗ องค์ประกอบด้วยกันครับ ผมไม่แยกหรอกความหลากหลายทางเพศ แต่ผม เคยศึกษาแล้วเสนองานวิจัยต่อสถาบันพระปกเกล้า แล้วผมก็บอกว่าในหลายประเทศนั้น เขาเน้นว่าประเด็นเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศหรือ Gender Equality เป็นเรื่องสำคัญ ระหว่างเพศไม่ได้แค่ชายและหญิง ระหว่างเพศไม่ใช่แค่คู่ใดคู่หนึ่ง ระหว่างเพศไม่ใช่แค่คน สองเพศเท่านั้น แต่กำลังจะพูดถึงทุกคน และมันมีตัวชี้วัดระหว่างประเทศเยอะแยะไปหมดเลยครับ ผมคิดว่าต้องถึงเวลาสักที ที่ประเทศไทยอาจจำเป็นต้องพูดถึงการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญที่ติดตามประเด็นเรื่องของ ความเสมอภาคระหว่างเพศ วันนี้อาจจะยังไม่สามารถที่พูดถึงได้ แต่ผมคิดว่าในการรับหลักการ และการเขียนรายงานท่านอาจสามารถตั้งข้อสังเกตได้ หรือมีการทบทวนกันในอนาคตว่า จะมีการแก้ไขอย่างไร ฉะนั้นในภาพรวมผมคิดว่าแน่นอนการแก้ครั้งนี้เป็นการแก้เล็กน้อย เพื่อตอบโจทย์ต่อการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ผมไม่ติดใจ เพียงแต่ตั้งคำถามบางประการ และตั้งข้อสังเกตบางประการ ซึ่งหากมีการตั้งคณะกรรมาธิการต่อก็อยากให้คณะกรรมาธิการ ได้รับประเด็นเหล่านี้ไปพิจารณาต่อครับ ผมรับหลักการการแก้ไขข้อบังคับทั้ง ๒ ฉบับ ขอบคุณท่านประธานครับ
ท่านประธานด้วยความเคารพครับ อันนี้แสดงตนได้เลยไหมครับ พอดีบัตรใหม่ไม่มั่นใจครับ
OK ครับ
ท่านประธานครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะ ตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน
ท่านประธานครับ ในกรณีของการเสนอให้มีการเลื่อนวาระการประชุม ในเรื่องที่ ๖.๑ ร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (นายอรรถกร ศิริลัทธยากร เป็นผู้เสนอ) และ ๖.๒ ร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (นายพริษฐ์ วัชรสินธุ เป็นผู้เสนอ) ผมได้อ่านรายละเอียดแล้ว ท่านประธานครับ เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการสามัญ ถ้าจำไม่ผิด เป็นจำนวน ๓ คณะด้วยกัน ฉะนั้นในประเด็นหลักการผมไม่ติดใจแต่ประการใดครับ และผมคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญก่อนที่จะนำเข้าไปสู่การทำหน้าที่กรรมาธิการอย่างเต็มรูป เพียงแต่ว่านิดเดียว ท่านประธานครับเมื่อผมย้อนกลับไปดูในระเบียบวาระที่ ๕ มีร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และร่างกฎหมายภาคประชาชนที่ค้าง การพิจารณาอีก ๓ ฉบับ เป็นร่างข้อบังคับ ๑ ฉบับด้วย ซึ่งความจริงร่างข้อบังคับ อีกฉบับหนึ่งนั้นเนื้อหารายละเอียดเยอะกว่านี้ด้วยซ้ำครับ มีการแก้ไขอำนาจหน้าที่ หลายฉบับด้วยซ้ำ ซึ่งจริง ๆ ก็ควรจะพิจารณาไปพร้อมกัน
ส่วนร่างกฎหมายภาคประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาชนเผ่าพื้นเมือง แห่งประเทศไทยเขาก็รอกันมานาน ผมเข้าใจว่าถ้าเป็นไปได้ท่านประธานคงรับปากพวกเรา ว่าอาจจะมีการเปิดวาระการประชุมเป็นพิเศษ อาจจะเป็นในวันศุกร์ใดวันศุกร์หนึ่งของ เดือนตุลาคมเพื่อพิจารณาสิ่งเหล่านั้นอย่างนี้ก็จะเป็นประโยชน์ครับ ฉะนั้นอาจจะฝาก ท่านประธานได้พิจารณาประกอบ แต่หลักการที่เพื่อนสมาชิกได้เสนอให้มีการเลื่อนใน ๖.๑ และ ๖.๒ ทางพรรคร่วมฝ่ายค้านในฐานะผู้มีเสนอ ๑ อีกฉบับด้วย ก็มิได้มีประเด็น คัดค้าน หรือเห็นแตกต่างเป็นประการใดครับ ก็เห็นด้วยกับที่เพื่อนสมาชิกได้นำเสนอครับ ขอบคุณท่านประธานครับ
ขอบคุณครับ ท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทอง ท่านประธานครับ บ้านผมติดแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ตรงข้ามศาลากลาง จังหวัดอ่างทอง เผื่อบางท่านอาจจะไปเยี่ยมเยียนไปพบปะกัน การนั่งดูแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ใช่ สิ่ง Romantic เสมอไป ไม่ใช่ฉันนั่งตกปลาอยู่ริมตลิ่ง แปลกใจเสียจริงปลาไม่กินเหยื่อ ไม่ใช่น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง ท่านประธานครับ หากเป็นญัตติที่มีการอภิปรายหรือเตรียมการ กันเป็นเบื้องต้น ผมเองก็คงมี Slide ที่จะชี้ให้เห็นหลายประการว่าปัญหาของน้ำท่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานั้นเกิดขึ้นเพราะสาเหตุใด แต่เนื่องจากเป็นญัตติด่วน ไม่มีเวลาเตรียมข้อมูล หรือ Slide ทั้งหมด ซึ่งก็น่าเสียดายว่าปี ๒๕๖๔ เราก็พูดถึง เรื่องนี้ ปี ๒๕๖๕ เราก็พูดถึงเรื่องนี้ ปี ๒๕๖๖ เราก็ยังต้องพูดถึงสถานการณ์น้ำท่วม แล้วก็ เป็นสถานการณ์ที่มาเร็วไปเร็ว ยังไม่รู้ว่าจะไปจบเมื่อไรครับ ผมมีอยู่ ๕ ประการ ด้วยกันที่คิดว่า เป็นประเด็นสำคัญ แล้วก็เป็นข้อเสนอต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แน่นอนครับ ผมคงพูดถึงจำเพาะเจาะจงในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก
ประการที่ ๑ เราต้องทำความเข้าใจว่าแม้ปริมาณฝนนั้น หรือปริมาณน้ำนั้น จะเป็นปริมาณที่ไม่อาจคาดเดาได้แบบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่สามารถคาดการณ์ ได้เลยครับ ในแต่ละปีนั้นเราคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์มรสุมเป็นอย่างไร สถานการณ์พายุ จะเข้าช่วงไหน พายุที่เข้านั้นมีปริมาณ มีความต่ำ ความสูงมากน้อยขนาดไหน อยู่เหนือเขื่อน หรือใต้เขื่อน แบบใด อย่างไร แต่ในเมื่อน้ำนั้นเป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติโดยตัวของมันเอง แต่การจัดการนั้นเป็นเรื่องของมนุษย์ เป็นเรื่องของคนครับ เราคงปฏิเสธความรับผิดชอบ ในแง่ของการจัดการไม่ได้ ผมคิดว่าประเด็นที่สำคัญที่สุด ก็คือความจริงใจของรัฐบาล ในการสื่อสารสถานการณ์ หรือข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ไม่ใช่บอกแต่เพียงว่าปีนี้ไม่ท่วมแน่ ๆ ปีนี้แล้งนะอย่าเพิ่งทำการเกษตรต่าง ๆ แต่ต้องให้ข้อมูลความเป็นไปได้ที่ถูกต้องกับพี่น้อง ประชาชน นั่นเป็นประการที่ ๑ ครับ
ประการที่ ๒ เวลาที่เราพูดถึงระบบน้ำท่วม มันไม่ควรเป็นเรื่องที่ประชาชน ต้องมานั่ง Monitor หรือติดตามกันรายวัน ผมยกตัวอย่างวันนี้มาประชุมสภา ผมต้องนั่งอ่าน แต่เช้าว่าวันนี้ขณะนี้มีน้ำที่ผ่านประตูน้ำเจ้าพระยาเท่าไร ผ่านประตูน้ำบรมธาตุเท่าไร ผ่านประตูน้ำชันสูตร ยางมณี ผักไห่ ลำชวด พระงาม คลองสาหร่าย ม่วงเตี้ย โพธิ์ปั้น คลองตาเที่ยง ท่าอู่ คลองขนาก ราดมะไฟ ศาลาแดง โคกช้าง ไปคลอง ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ลาดชะโด ผักไห่ เจ้าเจ็ดเท่าไร ผมคิดว่าเกินกำลังความสามารถของพี่น้องประชาชนที่จะนั่ง Monitor ครับ ก็จะบอกว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำที่ผ่านนั้นความเร็วของน้ำจะมาถึงปากแม่น้ำ จะมาถึงจุดต่าง ๆ มากน้อย ขนาดไหน แต่สิ่งที่เราคาดหวังก็คือระบบเตือนภัยครับ สิ่งที่เราคาดหวังก็คือระบบเตือนภัย ที่จะบอกว่าด้วยสถานการณ์ขณะนี้ความเป็นไปได้ หรือปริมาณมันจะมาถึงไหน ผมคิดว่า แน่นอนครับ ผมไม่ปฏิเสธการชักธงว่าจะต้องมีธงเขียว ธงเหลือง ธงแดงในการเตือน ผมเอง ก็ต้องเคยรับผิดชอบในแง่ของการดูแล สมัยที่คุณพ่อเป็นรองนายกเทศมนตรีที่ต้องรับผิดชอบ การป้องกันน้ำท่วม แต่ว่ามันมีระบบเตือนภัยที่หลากหลาย และครอบคลุมกว่านั้นหรือไม่ ตีสองตื่นขึ้นมาเพื่อมากรอกกระสอบทรายกันทุกบ้านในชุมชน มันไม่ควรเรียกว่าสิ่งนี้คือ ระบบเตือนภัยครับ นั่นเป็นประการที่ ๒ ท่านประธานครับ
ประการที่ ๓ ท่านประธานครับ ก็คือเรื่องของการช่วยเหลือในสถานการณ์ ที่เกิดขึ้น ท่านประธานอยากจะให้เห็นภาพนิดหนึ่งว่าสมัยที่เราน้ำท่วมกันเมื่อปีที่แล้ว พวกผมเอง สส. พรรคก้าวไกล คุณทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ หลายท่านลงพื้นที่ บางพื้นที่ของ อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ท่วม ๓ เดือน ต้องพังผนังชั้น ๒ ลงมาเป็น ที่นอนคนเฒ่าคนแก่ที่เราเข้าไปเยี่ยมบ้าน ฉะนั้นสิ่งที่เป็นการช่วยเหลือเบื้องต้นมันต้อง มีรูปแบบ หรือ Package ที่พิเศษไปหลากหลาย เช่น ในกรณีของที่พี่น้องไม่ต้องการออก จากบ้าน ระบบการส่งอาหารจะต้องเป็นอย่างไร ในกรณีพี่น้องจำเป็นต้องไปทำงานระบบเรือ Logistics เบื้องต้นเราใช้ศัพท์สูงไปนิดหนึ่ง แต่เอาง่าย ๆ ก็คือระบบที่พาเขามาต่อไปทำงาน จะเป็นอย่างไร ในกรณีของคนเจ็บป่วยเอาอย่างไร หมา แมวก็สำคัญ เพื่อนสมาชิกผม สส. นิติพล ผิวเหมาะ สามารถประสานหน่วยงานที่ดูหมา แมว ว่าบ้านไหนมีหมามีแมวติดค้าง น้ำท่วมจะมีองค์กรใดเข้าไปช่วยเหลือแบบใด ประการใด ห้องน้ำที่ถูกออกแบบในแง่ ของการช่วยเหลือน้ำท่วมนั้นเป็นห้องน้ำที่สามารถขับถ่ายได้จริงหรือไม่ ท่านประธาน นึกภาพพี่น้องประชาชนนั่งเรือออกมา ๓-๔ กิโลเมตร ระยะทางมันดูใกล้ แต่เวลานั่งเรือ ๓-๔ กิโลเมตร คดเคี้ยวออกมาตอนมืด เสาไฟฟ้าอยู่ตรงไหน ตอม่ออยู่ตรงไหน ไม่รู้นะครับ ออกมาเพื่อมาขับถ่ายในจุดที่ห้องน้ำที่ลอยอยู่ในน้ำ และท้ายที่สุดไม่สามารถขับถ่ายได้ ปีที่แล้วผมก็เอาภาพแบบนี้ให้ดู นั่นเป็นประการที่ ๓ ที่พูดถึงเรื่องของการช่วยเหลือที่ต้องมี Package ที่สมบูรณ์ แต่หลากหลายรูปแบบที่เพียงพอต่อกระบวนการให้ความช่วยเหลือ
ประการที่ ๔ ท่านประธานครับ คือเรื่องการเยียวยาครับ การเยียวยาตกลง วันนี้อำนาจชัดเจนหรือยังว่าการประกาศเขตภัยพิบัตินั้นจะต้องเป็นของผู้ใด รอนายอำเภอ ประกาศ รอผู้ว่าราชการจังหวัด รอกระทรวงมหาดไทยประกาศเขตภัยพิบัติ พี่น้องผักไห่ ก็ถาม พี่น้องบางบาลก็ถาม พี่น้องโผงเผงอ่างทองก็ถาม เพราะเหตุใดท้องถิ่นถึงไม่สามารถ ออกเขตภัยพิบัติของตนเองแล้วดึงทรัพยากรที่มีอยู่ของตนเองนั้นมาพูดถึงเรื่องการเยียวยา มาพูดถึงการช่วยเหลือ ท่านประธานทราบไหมครับ ในแต่ละปีการซ่อมบ้านถ้าเราไม่ได้ อาสาสมัครจากองค์กรต่าง ๆ มูลนิธิ องค์กรต่าง ๆ ที่วิ่งเข้ามา ไม่ได้อาสาสมัครที่จะมา กวาดล้างบ้านที่สกปรกหลังเกิดน้ำท่วมไปแล้วระบบรัฐทำอะไรไม่ได้เลย ฉะนั้นสิ่งที่ ผมเรียกร้องก็คือกรณีของการช่วยเหลือและการเยียวยาต้องไปพร้อมกันครับ เงินช่วยเหลือ ชั่วคราวทำอย่างไร และเมื่อเกิดเหตุแล้วหลังเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมแล้วจะสามารถช่วยเหลือ เยียวยากันแบบใด ประการใด ให้อำนาจ กระจายอำนาจไปท้องถิ่นสิครับ แล้วลองดูว่าเขาจะ ทำเพื่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ของเขาได้ไหม นั่นเป็นประการที่ ๔ ครับ
ประการที่ ๕ ท่านประธานครับ เป็นประการสุดท้ายคือเรื่องการป้องกัน วันนี้เราชัดหรือยังว่าตกลงแม่น้ำเจ้าพระยามีไว้ทำไม แม่น้ำเจ้าพระยามีไว้เพื่อการผลักดัน น้ำเค็ม มีไว้เพื่อเอาน้ำประปามาทำให้พี่น้องชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือมีไว้เพื่อเป็น เส้นทางการเดินเรือของนายทุนอย่างที่เพื่อนสมาชิกผมเคยอภิปราย ฉะนั้นถ้าท่านประเมินว่า ศักยภาพการรองรับน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาและเครือข่ายไม่พอครับ ต้องพูดกันถึง เรื่องเส้นทางทางเลือก ท่านอาจจะใช้คำว่า Floodway ก็ได้ ผมเห็นข้อมูลของพรรค รัฐบาล ท่านจะทำเจ้าพระยา ๒ กับเจ้าพระยา ๓ แต่ท่านต้องคิดดี ๆ ว่าพื้นที่ที่เจ้าพระยา ๓ ที่ตัดออกมาตั้งแต่ตอนเหนือของจังหวัดอุทัยธานีออกมา ๑๐๐ กว่ากิโลเมตร มาออกที่ อ่าวไทยนั้น ผ่านเส้นทางน้ำที่ทับซ้อนกับแม่น้ำอีก ๒-๓ เส้น ผมไม่มีเวลาอภิปราย แต่ผมคิดว่า การป้องกันต้องมองทั้งระบบการบริหารจัดการครับ ไม่ใช่แต่เพียงการทำ Floodway แต่การกระจายน้ำและทำความเข้าใจกับธรรมชาติของน้ำ ตลอดจนทำความเข้าใจกับ องคาพยพของพื้นที่ซึ่งแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ก็ขออนุญาตฝากทั้ง ๕ ประเด็น ไปยังรัฐบาล แล้วก็หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอบคุณท่านประธานครับ
ขอบคุณท่านประธานครับ ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทอง พระสมเด็จเกษไชโย หลวงพ่อโตองค์ใหญ่ ท่านประธานครับ กับรายงานผู้ตรวจการแผ่นดินประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ทั้งหมด ๓๔๘ หน้า ผมอ่านครบ ทั้งหมดนะครับ ไม่ได้อ่านหน้าสุดท้ายอย่างเดียว เพราะเขาเขียนว่าออกแบบและจัดรูปเล่ม โดยใคร อย่างไร แต่ผมมี ๔ ประเด็นด้วยกันที่อยากจะพูดคุยสอบถาม แล้วก็เป็นประเด็น ที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนครับ
ประเด็นที่ ๑ ท่านประธานครับ ประเด็นนี้จริง ๆ อยากจะนำเรียนท่านประธาน ไปยังตัวแทนผู้ตรวจการแผ่นดิน และก็อยากให้ท่านผู้ตรวจการแผ่นดินได้นำเรียน ต่อท่านประธาน เพราะเป็นประเด็นที่พูดถึงเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่าง ๆ ในบรรดาเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่าง ๆ นั้นมีการแบ่งหมวดหมู่ออกเป็นทั้งหมด ๓๒ ประเภทของหน่วยงานด้วยกัน ทั้งหมดทั้งมวลผมติดใจอยู่หน่วยเดียวคือหน่วยที่ ๒๕ รัฐสภาและหน่วยงานในฝ่ายรัฐสภา ปรากฏว่านึกว่าเป็นเรื่องที่เราใช้กลไกของเราในการส่งต่อ ไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งต่อไปยังศาลต่าง ๆ เหมือนที่ท่านสมาชิก บางท่านได้อภิปราย แต่เมื่อย้อนกลับไปดูหัวเรื่องเขาเขียนว่า เรื่องร้องเรียนที่ดำเนินการแล้วเสร็จ จำแนกตามหน่วยงานที่ถูกร้องเรียน ถ้าอ่านกันตามตัวอักษรภาษาไทย ไม่มีภาษาอังกฤษปนเลย ก็แสดงว่าพวกเรานี่ถูกร้องเรียนอยู่ทั้งหมด ๑๔ เรื่องด้วยกันใช่หรือไม่ และ ๑๔ เรื่องเหล่านั้น เป็นเรื่องแบบใด ประการใด ท่านประธานทราบไหม ท่านประธานรัฐสภาทราบไหม แล้วมันมีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพวกเราหรือไม่ อย่างไร หรือเป็นปัญหาในระดับ เจ้าหน้าที่ เป็นปัญหาอาคารสำนักงาน เป็นปัญหาวัสดุอุปกรณ์ เป็นปัญหากฎหมายแบบใด ประการใด ผมคิดว่าอันนี้เป็นประโยชน์ที่ท่านประธานเองก็จะได้ถือโอกาสนี้ในการทราบ ท่านอาจจะทราบอยู่แล้ว แต่ขณะเดียวกันหากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกพวกเรา ก็จะได้รู้ด้วยว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องแบบใด นั่นเป็นประการที่ ๑ ครับ
ประการที่ ๒ ท่านประธานครับ ปกติแล้วเวลาที่ผมพูดถึงเรื่องของ การรับเรื่องร้องเรียน ในอดีตที่ผ่านมาผมก็บอกว่าแค่มีสายด่วนก็ดีใจแล้วครับ สายด่วน ของผู้ตรวจการแผ่นดินนี่ผมก็ขออนุญาตโฆษณาไม่เอาเงินนะครับ เดี๋ยวจะผิดกฎหมาย ป.ป.ช. สายด่วน ๑๖๗๖ แต่ละปีมีเรื่องรับกันมาเยอะเต็มไปหมดเลย ปี ๒๕๖๔ ๖,๓๑๓ เรื่อง ปี ๒๕๖๕ ๙,๐๕๖ เรื่อง ก็ยินดีและดีใจครับ เพียงแต่ว่าในการแบ่งประเภทหมวดหมู่ มันมีคำว่า โทรศัพท์กลั่นแกล้งหรือโทรศัพท์ผิดเป็นหลักพันเลยนะครับท่านประธาน ตกลงนี่ Call Center โทรศัพท์หาผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือว่ามันมีพี่น้องประชาชน มีคน ที่โทรศัพท์กลั่นแกล้งโทรศัพท์ผิดกันมากจริง ๆ ผมก็อยากรู้คำตอบว่าเวลาท่านบอกว่า มีคนโทรศัพท์กลั่นแกล้ง โทรศัพท์ผิดกับท่านนี่มันเป็นแบบใด ประการใด แต่เหนือไปกว่านั้น ก็คือเรื่องของระบบ Application พวกผมเป็นสมาชิกรุ่น Generation ก่อนหน้านี้พวกผม ก็เริ่มงง พรรคก้าวไกลเองก็มีหลายระบบด้วยนะครับ วันนี้ใช้ Google Chat ในการติดต่อ ถ้าเป็น กทม. ใช้ Traffy Fondue นี่ออกเสียงเป็นแบบภาษาฝรั่งเศส มี Discord ที่ใช้ต่าง ๆ ผมก็ไม่มั่นใจว่าในกรณีของผู้ตรวจการแผ่นดินนี่ท่านมีระบบรับเรื่องร้องเรียนผ่าน Application อื่นหรือไม่ ไม่ใช่แค่โทรศัพท์ ๐๒ จุด จุด จุด ไม่ใช่แค่สายด่วน ๑๖๗๖ แต่มีระบบแบบอื่นหรือไม่ ถ้ามีระบบแบบอื่นที่เป็นประโยชน์นำมาแชร์กันครับ นำมาแลกเปลี่ยนกัน แบบนั้นพี่น้องประชาชนก็จะได้ทราบว่ามันมีระบบอื่น ๆ ผมทำประเด็น เรื่องของการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ซึ่งวันนี้เป็นวันยุติการตั้งครรภ์สากล สายด่วน ๑๖๖๓ หรือ Application อื่น ๆ พี่น้องประชาชนใช้มากกว่าสายด่วนของหน่วยราชการอีก นี่ก็ต้องขออนุญาตโฆษณาไปถึงประเด็นในวันนี้ที่เป็นวันที่ ๒๘ กันยายน นั่นเป็นประการที่ ๒ ครับ
- ๖ ๘/๑
ประการที่ ๓ ท่านประธานครับ ผมเองเป็นคนอ่านรายละเอียด แล้วแน่นอน เวลาที่ผมตั้งคำถามผมก็ชื่นชมว่าหลายเรื่องของผู้ตรวจการที่มีการเสนอเชิงระบบนั้น เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเด็ก จริง ๆ ท่านทำงานอาจจะมากกว่ากระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์อีกนะครับ เพราะวันนี้เขายังถามเลยว่าระบบคุ้มครองเด็ก ของกระทรวง พม. คืออะไร แต่พวกท่านนี่มาศึกษาปัญหาเชิงระบบ แล้วก็มีอยู่ข้อหนึ่ง ศึกษาน่าสนใจ นี่โชคดีวันนี้ผมนั่งข้าง สส. วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ขอประทานโทษที่เอ่ยนาม สส. วิโรจน์ ลักขณาอดิศร เคยอยู่ในคณะกรรมาธิการการศึกษา ผมเป็นอนุดูเรื่องสวัสดิภาพ นักเรียน มันมีอยู่ข้อหนึ่งที่พูดถึงการศึกษาเชิงระบบในปี ๒๕๖๕-๒๕๖๖ และมีประเด็น เรื่องข้อ ๔ ที่บอกการศึกษามาตรการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองเด็กเล็กในสถานศึกษา อ่านแบบนี้ปุ๊บในฐานะเป็นพ่อคน ในฐานะที่ต้องดูแลเด็ก ๆ ในประเทศไทยสนใจขึ้นมาทันที เอาแค่เบื้องต้นก็พอครับ แต่ขอรายงานฉบับเต็มฝากส่งไปที่บ้านผมหน่อย ขอที่อยู่จากสภาได้ ครับ อยากจะรู้เบื้องต้นว่าการศึกษาเชิงระบบการคุ้มครองเด็กเล็กในสถานศึกษาที่ท่าน บอกว่าดูกฎหมายนี่ท่านกำลังดูอะไร ดู พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ ซึ่งกระทรวง พม. ๒๐ ปีไม่ยอมแก้ ดู พ.ร.บ. การศึกษาปฐมวัย ดู พ.ร.บ. การศึกษา ปี ๒๕๔๒ หรือดูอะไร แบบใด ประการใด แล้วเป้าหมายของการศึกษาจะอย่างไรครับ เด็กเล็กถูกใช้ความรุนแรง ในโรงเรียนก็มี เล็ก ๆ เลยถูกประเด็นเรื่องของผู้ดูแลที่อาจจะไม่มีทักษะในการดูแลก็มี เงินอุดหนุนค่าหัวค่าอาหารกลางวันก็มี ระบบที่จะส่งเสริมพัฒนาการเด็กก็มีปัญหา อีกแบบหนึ่ง ผมคิดว่าในเมื่อท่านบอกว่านี่เป็นปัญหาเชิงระบบก็ต้องขอความชัดเจนว่า ที่ท่านกำลังศึกษาเรื่องมาตรการทางกฎหมาย ซึ่งผมเข้าใจว่าจะนำไปสู่เรื่องของระบบ การคุ้มครองเด็กเล็กในสถานศึกษานั้นด้วยคืออะไร แบบใด ประการใด ขอเล่มเต็มส่งผ่าน ประธานก็ได้ครับสักเล่มหนึ่งได้ไหม เผื่อพวกผมจะได้นำไปใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการ ทำงานของพวกเราในฐานะตัวแทนของพี่น้องประชาชนในด้านการคุ้มครองเด็ก นั่นเป็น ประเด็นที่ ๓ ครับ
ประเด็นที่ ๔ ท่านประธานครับ ขออนุญาตช้านิดหนึ่งเปิดไปเปิดมาหาไม่เจอ นาน ๆ อภิปรายทีครับ ท่านประธานครับ เป็นปัญหาเรื่องเดียวแต่ผมคิดว่าสะท้อนเรื่องใหญ่มาก คือประเด็นที่ ๔ การดำเนินงานเกี่ยวข้องกับการศึกษาในเรื่องที่ ๖ คือการขอให้ประสานงาน ไปยังโรงเรียนของรัฐในพื้นที่เขตสายไหม วันนี้เพื่อนสมาชิกผม สส. ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร เพื่อรับบุตรสาวของผู้ร้องซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ไม่มีหลักฐาน ทางทะเบียนราษฎรเข้าเรียนชั้นอนุบาลหรือชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ท่านแก้ปัญหา ๑ เรื่อง ใช้เวลา ๒ วันเป็นประโยชน์มาก ก็คือโรงเรียนแห่งนี้พูดกันง่าย ๆ คือไม่รับเด็กที่ไม่มีสถานะ เข้าเรียน แต่เรื่องเดียวแบบนี้คือ ๑ ใน ๔๓๘ โรงเรียนสังกัด กทม. ยังไม่รู้ว่ามีโรงเรียนแบบนี้ ในประเทศไทยอีกมากน้อยขนาดไหน ยังไม่รู้ว่ามีเด็กที่ไม่มีสถานะ แต่พอเข้าไปเรียนแล้วมัน ต้องลงระบบรหัสที่เรียกว่า Generate Code หรือตัว G สส. อาจารย์จวง ปารมี ไวจงเจริญ เสนอ ญัตติต่อสภาแห่งนี้ไว้บอกว่าต้องการศึกษาตัว G อย่างเป็นระบบ ผมคิดว่าท่านประธานกรุณา นิดหนึ่งครับว่า ให้ตัวแทนผู้ตรวจการท่านบอกหน่อยได้ไหมครับว่า กรณีปัญหา ๑ เรื่องอันนี้ที่เขตสายไหม ถ้าท่านเปิดไม่ทัน หน้า ๑๖๐-๑๖๑ จะสะท้อนปัญหาเชิงระบบ ของประเทศอย่างไร พูดกันภาษาบ้าน ๆ คือ Education for All ท่านช่วยเราหน่อย ถามกระทรวงศึกษาธิการว่าวันนี้ไม่มีเด็กคนใดที่ไม่มีหลักฐานแล้วไปโรงเรียนแล้วไม่รับ ไม่มีแล้วใช่หรือไม่ เมื่อเข้าไปโรงเรียนแล้วไม่มีตกหล่นที่จะออกรหัส G แล้วใช่หรือไม่ จริง ๆ ตกหล่นนะครับ ๓๐๐,๐๐๐ กว่าคนไปเรียนแค่ ๑๐๐,๐๐๐ คน ออกรหัส G ได้ ๘๐,๐๐๐ คน และเมื่อมีเลขรหัส G แล้วสามารถนำไปสู่การลงรายการสถานะบุคคล ได้หรือไม่ ๘๐,๐๐๐ คนที่ผมเอ่ยเมื่อสักครู่ไปลงสถานะเหลือเท่าไรนะครับอาจารย์จวง ๓๐,๐๐๐ คน นี่ต่างหากที่เป็นปัญหาเชิงระบบและเกี่ยวข้องกับเด็กทั้งประเทศครับ ผมรบกวนท่านประธานใช้เวลาไม่เกินเพื่อนสมาชิกท่านอื่นเลยครับ เอาตามกรอบ เขาใช้เท่าไรผมใช้เท่านั้น แต่ผมคิดว่า ๔ ประเด็นที่ผมได้นำเรียนต่อท่านประธานผ่านไปยัง ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเป็นประโยชน์ถ้าท่านได้กรุณาขยายความแล้วเสนอต่อสภาแห่งนี้ ท่าน อย่าลืมรายงานเชิงระบบเรื่องเด็กเล็กนะครับ ขอสักเล่มหนึ่งครับ ขอบคุณท่านประธานครับ
ขอบคุณครับท่านประธาน ที่เคารพ ผมณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทอง แต่ขอพูดถึงปัญหาของพี่น้องใน ๓ จังหวัดชายแดนใต้ สภาผู้แทนราษฎร ในสมัยที่แล้วชุดที่ ๒๕ ผมเป็นหนึ่งในผู้เสนอญัตติที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องขอให้ สภาพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาและแก้ไขปัญหา รวมถึงการสร้าง สันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้ ผมอยากชวนเพื่อนสมาชิกขีดเส้นใต้ใหญ่ ๆ คำว่า สันติภาพ แทนคำว่า สันติสุข ไว้เป็นเบื้องแรกก่อนครับ แต่ท้ายที่สุดสภาชุดที่แล้วไม่ได้มีโอกาสที่จะ พิจารณาซึ่งเป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง แล้วเราก็ไม่อาจจะใช้ตัวชี้วัดว่าสถานการณ์ ความรุนแรงที่ลดลงในรอบหลายปีกำลังแสดงให้เห็นว่าสันติภาพกำลังเกิดขึ้นในจังหวัด ชายแดนภาคใต้ เราคงไม่สามารถที่จะพูดในเชิงแบบนั้นได้ แต่อย่างไรก็ตามในวันนี้ในเมื่อมี เพื่อนสมาชิกได้เสนอญัตติ ผมเองก็ต้องขออภิปรายสนับสนุนญัตติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของ คุณรอมฎอน ปันจอร์ ที่เกี่ยวข้องในประเด็นเรื่องของสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ครับ
ประการที่ ๑ หากจะว่ากันโดยสถานการณ์นับตั้งแต่เดือนมกราคม ปี ๒๕๔๗ จนถึงเดือนมีนาคม ปี ๒๕๖๖ ขณะนี้มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้วกว่า ๙,๖๒๔ เหตุการณ์ แล้วก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละวัน มีผู้ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก มีผู้เสียชีวิตถึง ๕,๐๐๐ กว่าคน มีผู้ได้รับบาดเจ็บถึง ๑๒,๐๐๐ คน ต้องเข้าใจว่าในบรรดาผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บต่างก็มีญาติพี่น้อง พ่อแม่ ลูกหลาน ครอบครัว คนรู้จักของคนในสังคมต่าง ๆ ฉะนั้นเวลาที่เราจะพูดถึงประเด็นปัญหาชายแดนใต้ เราคงไม่สามารถพูดแต่เพียงเรื่องแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม ที่เรียก กันว่า Joint Comprehensive Plan towards Peace หรือ JCPP แบบเดียวได้เท่านั้น แต่การจะพูดถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้จำเป็นต้องพูดถึงและคำนึงถึงมิติต่าง ๆ ซึ่งเป็นมิติที่ มากไปกว่ามิติเรื่องความมั่นคง นั่นเป็นประการที่ ๑ ที่ผมอยากจะนำเรียน
ประการที่ ๒ ก็คือว่าเราต้องสรุปบทเรียนว่ากระบวนการแสวงหาสันติภาพ ที่ผ่านมานั้นมีอะไร ผมเองก็เคยเป็นหนึ่งในอนุกรรมการอยู่ในคณะกรรมการอิสระ เพื่อการสร้างความสมานฉันท์แห่งชาติที่เรียกว่า กอส. ก็เคยมีงานวิจัยศึกษากันมาตั้งแต่ ปี ๒๕๔๐ ปลาย ๆ หลังจากเกิดเหตุการณ์ไม่นานนัก แต่วันนี้ผมต้องขอบพระคุณ ทางสภาที่ได้มีการศึกษาเอกสารประกอบการพิจารณา ซึ่งเป็นสิ่งที่พยายามย้ำให้เห็นว่า พี่น้องในต่างประเทศ พี่น้องนักวิชาการ พี่น้องที่สนใจในปัญหาชายแดนภาคใต้เขาพยายาม สรุปให้เราเห็นว่าจากมุมมองของคนภายนอก เช่น กรณีของนักวิชาการที่ชื่อว่าคุณโนเบิร์ต โรเปอร์ส นักวิชาการชาวเยอรมนีได้สรุปว่าปัญหาของกระบวนการสันติภาพในจังหวัด ชายแดนภาคใต้ที่ยังไม่สำเร็จมีเงื่อนไขอยู่ทั้งหมด ๙ ประการด้วยกัน
ประการที่ ๑ เช่น กรณีของผู้ที่เข้าร่วมในการพูดคุย ต้องถามว่าได้รับ ฉันทานุมัติอย่างเพียงพอและเข้าใจปัญหาความขัดแย้งเหล่านั้นจริงหรือไม่
ประการที่ ๒ ก็คือมีความเข้าใจต่อสถานะและวิธีการในการลดปัญหา ความขัดแย้งที่ตรงกันหรือไม่ คำว่า สันติภาพ อาจจะเป็นสันติภาพในเชิงบวกที่พวกเรา พยายามทำ หรืออาจจะเป็นสันติภาพในเชิงลบที่พูดแต่เพียงการลดความรุนแรงของ เหตุการณ์ที่เป็นมุมมองของอีกฝ่ายหนึ่ง แบบนี้ก็เรียกว่าไม่ตรงกัน
ประการที่ ๓ ก็คือว่าท่านมีวิธีการสื่อสารต่อการพูดคุยกระบวนการ ต่าง ๆ นั้น อย่างครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่
ประการที่ ๔ คือการขาดการสนับสนุนหรือการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน พี่น้องประชาชนที่เป็นเจ้าของปัญหาอาจจะมีส่วนในการพูดคุยน้อยกว่าพี่น้องที่ทำประเด็น เรื่องความมั่นคงที่ไปจากกรุงเทพมหานคร เป็นต้น
ประการที่ ๕ เป็นประเด็นเรื่องของการที่ระบบการแก้ปัญหาไม่เอื้อต่อ กระบวนการ เพราะว่ามองกันที่ตัวชี้วัดเรื่องความรุนแรง จำนวนของความแรงอย่างเดียว ซึ่งไม่ตอบโจทย์
ประการที่ ๖ เป็นเรื่องของสังคมมีความสงสัยต่อกระบวนการ อีกทั้งข้อเสนอ ของพี่น้องสื่อมวลชนที่นำไปสู่กระบวนการนั้นอาจจะไม่ชัดเจน
ประการที่ ๗ เป็นเรื่องของความมั่นคงของกลุ่มอื่น ๆ ที่อาจจะคลางแคลงต่อ กระบวนการพูดคุยและไม่มั่นใจว่ากระบวนการพูดคุยที่จะนำไปสู่การก่อให้เกิดสันติภาพ พวกเขาจะได้รับประโยชน์จากกระบวนการจริง ๆ หรือไม่
ประการที่ ๘ เป็นกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่ขาดการสนับสนุนอย่างมากพอ
ประการที่ ๙ ก็คือว่าท้ายที่สุดประโยชน์ของการพูดคุยจะไปจบอย่างไร นี่คือเหตุผลที่กระบวนการสันติภาพยังไม่อาจดำเนินการมาถึงขั้นตอนที่สมบูรณ์ได้ นั่นเป็นหมวดหมู่ที่ ๒ ที่ผมอยากจะนำเสนอ
หมวดหมู่ที่ ๓ ผมมีความจำเป็นที่จะต้องพูดในประเด็นที่แตกต่างจาก เพื่อนสมาชิกท่านอื่น ๆ ซึ่งอาจจะพูดในมุมของความมั่นคง แต่ผมอยากจะพูด มุมของผู้คนในภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องผู้หญิง พี่น้องมลายูมุสลิม พี่น้องเด็ก ๆ สตรี กลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ผมยกตัวอย่างให้ท่านเห็นกลุ่มเดียวก็คือกรณีของเด็กกำพร้า ที่ประสบปัญหาจากสถานการณ์ความรุนแรง มีการแบ่งเด็กกำพร้าออกเป็น ๔ กลุ่มด้วยกัน คือเด็กกำพร้าในสภาวะปกติที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ แบบนี้มีกระทรวงการพัฒนา สังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นคนดูแล แต่เด็กกำพร้าที่เกิดขึ้นจากความรุนแรง ตามจำนวนข้อมูลของ ศอ.บต. และ สสว. ๑๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุนด้านวิชาการของ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์บอกมีจำนวนถึง ๘,๖๒๖ คน
กลุ่มที่ ๓ คือเด็กกำพร้าไม่อยู่ในระบบ และกลุ่มนี้ผมเคยอภิปรายตั้งแต่ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ เขาเรียกว่าเด็กที่ไม่ได้รับการรับรองจาก ๓ ฝ่าย ก็คือทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง บอกได้หรือไม่ว่ามีจำนวนเท่าไร
กลุ่มที่ ๔ คือเด็กกำพร้า ที่เกิดจากกรณีไม่ใช่ความรุนแรงโดยตรง แต่เกิดขึ้น จากพ่อแม่ที่ไปปฏิบัติการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้แล้วประสบปัญหาความรุนแรง เขาอาจจะอยู่ที่อุดรธานี เขาอาจจะอยู่ที่อ่างทอง เขาอาจจะอยู่ที่อุบลราชธานี เชียงใหม่ ต่าง ๆ ก็ได้ ซึ่งก็ไม่มีข้อมูลตัวเลขว่ามีอยู่จำนวนเท่าไร คำถามของผมก็คือว่าในกรณีของ เด็กกำพร้าเหล่านี้อะไรคือเครื่องมือหรือวิธีการในการแก้ไขปัญหาสันติภาพ ถ้ามองระยะสั้นไม่พอ แต่ต้องมองระยะยาวโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อจิตใจ ผลกระทบ ทางการศึกษา ผลกระทบทางสังคม และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการทำความเข้าใจระหว่างกัน ว่าความรุนแรงนี้มันเกิดขึ้นเพราะอะไร กรีดแผลต้องกลัดหนอง ถ้าไม่กรีดหนองออก แผลก็ไม่อาจที่จะหายได้อย่างเด็ดขาด ฉะนั้นมุมมองของผมต่อประเด็นเรื่องของญัตตินี้ จึงเป็นมุมมองที่ผมคิดว่าประเด็นเรื่องงบประมาณของการดับไฟไต้ที่ท่านใช้ไปไม่ต่ำกว่า ๘๐๐,๐๐๐ ล้านบาทต้องถูกทบทวน แล้วผมคิดว่าประเด็นเรื่องการพูดคุยในวันนี้หากจะมี การตั้งคณะกรรมาธิการศึกษา ผมขอแบบนี้ได้ไหมว่าการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาต้องขอให้ คลุมถึง ๖ ประเด็นด้วยกัน ๑. คือเชื้อชาติ ๒. คือศาสนา ๓. คืออัตลักษณ์ ๔. คือวัฒนธรรม ๕. คือทัศนคติ ๖. คือความเชื่อและพฤติกรรมท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง และแถมด้วยอีกข้อหนึ่ง ก็ได้ ๗. คือการพูดคุยไปถึงเรื่องของการจัดการตนเองของพี่น้องใน ๓ จังหวัดชายแดนใต้ ฉะนั้นในภาพรวมทั้งหมดผมเห็นด้วยและสนับสนุนการจะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่จะพิจารณาศึกษาเรื่องนี้ และผมไม่คิดว่าจะมีเหตุผลหรือประเด็นใดที่มีเพื่อนสมาชิก ไม่สนับสนุนการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาชุดนี้ถ้าท่านเชื่อมั่นในสันติภาพแบบเดียวกับที่ ผมเชื่อ จะไม่มีเพื่อนสมาชิกท่านใดโหวตเป็นอย่างอื่นไปได้ ขอบคุณท่านประธานครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะ กรรมาธิการ ท่านประธานครับ ก่อนอื่นผมจะขออนุญาตชี้แจงเรื่องของการพักการประชุม แล้วก็การแก้ไขของคณะกรรมาธิการ ผมจะขออนุญาตท่านประธานแจกใบแทรกแก้ไข เพิ่มเติมรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน ๑ หน้า ท่านประธานกรุณาอนุญาตไหมครับ
ขอบพระคุณครับ รบกวน เจ้าหน้าที่ทางสภาได้กรุณาแจกใบแทรกให้กับท่านสมาชิกทั้ง ๕๐๐ ท่านด้วยนะครับ ท่านประธานครับ ก่อนที่จะพักการประชุมทางท่านประธานกรรมาธิการ ท่านอรรถกร ศิริลัทธยากร ท่านได้อธิบายให้เห็นว่าเรามีความจำเป็นที่จะต้องมีการขอแก้ไขร่างข้อบังคับ การประชุมสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเราแบ่ง Part ใหญ่ ๆ ออกเป็น ๒ Part ครับ
ช่วงแรกนั้น ๓ ข้อที่ท่านสมาชิกได้ลงคะแนนไป และท่านสมาชิกให้ความ เห็นชอบนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของกรรมาธิการที่มีการแก้ไข แต่อีก ๓ ข้อที่ทาง กรรมาธิการได้เพิ่มเติมไปนั้นเป็นเรื่องที่เสมือนเป็นบทเฉพาะกาล เพียงแต่ว่าเราไม่ได้แยก ออกมาเป็นคำว่า บทเฉพาะกาล เนื่องจากว่าเป็นการไล่เรียงข้อ ผมขออนุญาตท่านประธาน นำเรียนสั้น ๆ เพื่อประกอบการพิจารณาของท่านสมาชิกว่าในกรณีของการเพิ่มเติมข้อบังคับ ๓ ข้อ ก็คือข้อ ๔/๑ ข้อ ๔/๒ และข้อ ๔/๓ นั้นมีรายละเอียดที่แตกต่างกันในรายงานของ คณะกรรมาธิการที่ปรากฏต่อหน้าท่าน และใบแทรกที่มีการเพิ่มเติม ๓ จุดด้วยกันดังนี้ครับ
ในกรณีของข้อ ๔/๑ ในร่างของกรรมาธิการที่มีการเพิ่มเติมเข้าไปอยู่ใน รายงานนั้นไม่มีคำว่า หรืออ้างอิงว่ามาจากข้อบังคับที่มีการแก้ไขตามข้อใด วงเล็บใด แต่ว่าเมื่อมีการตรวจสอบ แล้วก็ย้อนกลับไปดูในกรณีของการที่เราแก้ไขข้อบังคับในข้อ ๓ ในข้อ ๓/๑ และในข้อ ๔ นั้น ได้มีการพูดถึงกรณีของข้อบังคับและอนุมาตราหรือวงเล็บ ของข้อบังคับต่าง ๆ เช่น กรณีของการแก้ไขคณะกรรมาธิการหนี้สินแห่งชาติ เป็น คณะกรรมาธิการแก้ปัญหาหนี้สินความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ต่อไปนั้นเราก็เป็น การพูดถึงกรณีของข้อ ๙๐ (๖) และอีก ๒ ข้อนั้นก็เป็นการพูดถึงข้อบังคับ เช่น ข้อ ๙๐ (๒๘) และข้อ ๙๐ (๒๙) ฉะนั้นเพื่อความสมบูรณ์ของเอกสาร ตามคำแนะนำของทางกฤษฎีกา ซึ่งเราเองก็ตระหนักแล้วก็ให้ความสำคัญ แล้วก็อ้างอิงให้มันสอดคล้องต้องกัน ตรงกับกรณีที่ ทางเพื่อนสมาชิกได้ให้ความเห็นผ่านที่ประชุมไปแล้วนะครับ ทางข้อ ๔/๑ นั้นเราจึงขอ เพิ่มเติมคำว่า ตามข้อ ๖ ของข้อ ๙๐ แห่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช ๒๕๖๒ เข้าไปในวรรคหนึ่ง เพิ่มคำว่า ตาม (๒๘) ของข้อ ๙๐ แห่งข้อบังคับ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ เข้าไปในวรรคสอง และเพิ่ม ตาม (๒๙) ของข้อ ๙๐ แห่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ เข้าไปในวรรคสามครับ
กรณีของข้อ ๔/๒ อันนี้ต้องขอบพระคุณครับ ทางคณะกรรมาธิการเราเอง ตกหล่นจริง ๆ ครับ คือในรายงานของคณะกรรมาธิการนั้น ในตอนท้ายใช้คำว่า ซึ่งได้กระทำ ไปแล้วในวันก่อนวันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับเป็นอันใช้ได้ ทีนี้คำว่า ในวันก่อน พอไปอ่านกัน ดูดี ๆ แล้วมันตีความได้ ๒ แบบ แบบหนึ่งก็คือทุกวันก่อนที่ข้อบังคับนี้จะมีการบังคับใช้ได้นั้น ถือว่าเป็นวันก่อนหน้าทั้งหมด กับมันมีการตีความในอีกลักษณะครับว่าในวันก่อนนั้นหมายถึง แค่ ๑ วันเท่านั้นก่อนที่ข้อบังคับจะมีการใช้ ซึ่งไม่ตรงกับเจตนารมณ์ที่ทางคณะกรรมาธิการ มีการพิจารณาครับ ฉะนั้นเพื่อตัดคำครับ แล้วก็ทำให้ข้อความนี้ไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องตีความใด ๆ ทางคณะกรรมาธิการจึงขอแก้ไขในข้อ ๔/๒ ตอนท้าย เปลี่ยนจากคำว่า ซึ่งได้กระทำไปแล้ว ในวันก่อน เป็นคำว่า ซึ่งได้กระทำไปแล้วก่อนวันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับเป็นอันใช้ได้ครับ
ส่วนกรณีของข้อที่ ๔/๓ เป็นกรณีของการเปลี่ยนผ่านในประเด็นที่เกี่ยวข้อง กับเรื่องของกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งต่าง ๆ ซึ่งได้มีการอ้างอิงถึง อำนาจหน้าที่ หรือหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการทั้ง ๓ ชุดที่มีการเปลี่ยนแปลง ทางกรรมาธิการได้ประชุมกันเมื่อสักครู่เห็นว่าเพื่อให้คำนั้นสอดคล้องต้องตรงกันและเป็นคำ ที่ถูกต้อง จะขอแก้ไขความในข้อที่ ๔/๓ ในบรรทัดที่ ๓ และบรรทัดที่ ๔ ซึ่งใช้คำว่า ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ เป็น ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับนี้ ซึ่งเป็นส่วนที่ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาได้แนะนำเรามา และทางกรรมาธิการเองก็เห็นชอบด้วย ทั้งหมดทั้งมวลนั้นเพื่อความสมบูรณ์ของการเปลี่ยนผ่านหน้าที่และอำนาจของทั้ง ๓ คณะกรรมาธิการ และเพื่อให้เพื่อนสมาชิกเราในคณะกรรมาธิการที่มีอยู่ก่อนแล้ว และที่จะเป็นต่อไปในอนาคตได้ทำงานอย่างสมศักดิ์ศรีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่านครับ ขออนุญาตนำเรียนท่านประธานเพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการดำเนินการทางธุรการของทางสภา ต่อไป ขอบพระคุณครับ
ขอบคุณครับ ก่อนที่จะสรุป ผมอยากขอแจ้งท่านประธานว่าจะใช้เวลาในการสรุปสักประมาณ ๑๐ นาที เพื่อทาง เพื่อนสมาชิกซึ่งประชุมอยู่ในที่ต่าง ๆ จะได้เตรียมตัวในการลงมตินะครับ ท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทอง ผมได้รับมอบหมายจากคุณปารมี ไวจงเจริญ และเพื่อนสมาชิก อีกหลายท่านจากพรรคก้าวไกล ให้เป็นผู้สรุปญัตติในประเด็นเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐาน ทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ผมอยากจะนำเรียนท่านประธานเป็นเบื้องต้นว่า ผมในนามของเด็กทุกคนในประเทศแห่งนี้ ไม่ว่าเขาจะมีสถานะ มีสัญชาติ มีเลข ๑๓ หลัก นับถือศาสนา ความเชื่อหรือความแตกต่างกันแบบใด อย่างไรก็แล้วแต่ แต่เสียงของพวกเขา ที่ได้ฟังได้ยินเพื่อนสมาชิกของเราทั้ง ๒๔ คน ผมคิดว่าเด็ก ๆ เหล่านี้มีความมั่นใจ มีความไว้ใจ และมีความคาดหวังว่าสภาแห่งนี้กำลังจะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะพิจารณาเรื่องของ พวกเขา และจะไม่มีเด็กคนใดที่ตกหล่นจากระบบการศึกษาในประเทศแห่งนี้อีก ผมเชื่อมั่น ว่าในเพื่อนสมาชิกของเรากว่า ๕๐๐ คน ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ในสภา ท่านเคยอ่านหนังสือเรื่อง เจ้าชายน้อยแน่นอนครับ และเวลาที่เราอ่านหนังสือเจ้าชายน้อย ซึ่งผู้เขียนชื่ออ่านยากมาก Antoine de Saint-Exupéry อะไรนี้นะครับ ประโยคที่สำคัญที่สุดในหนังสือเจ้าชายน้อยก็คือประโยคที่บอกว่าเวลาที่เราจะทำงาน เรื่องเด็กนั้น ขึ้นอยู่กับว่าท่านจะใช้หัวใจหรือสายตาในการมอง ฉะนั้นวันนี้การลงมติในญัตตินี้ จึงสำคัญยิ่งครับว่าท่านกำลังจะใช้สายตาซึ่งสั้นยาวไม่เท่ากัน ซึ่งมีกรอบ มีมุมมอง มีวิธีคิด มีความเป็นพรรคการเมือง มีความเป็นพรรค มีกรรมาธิการคณะสามัญต่าง ๆ เยอะแยะไปหมด หรือจะใช้หัวใจของท่านในการตัดสินใจว่าทุกคนที่เป็นเด็กในประเทศแห่งนี้เขาคือ ลูกหลานของเราหรือไม่ ผมหันซ้ายตลอดนะครับ วันนี้ไม่มีการหันขวามาทางพรรคฝ่ายค้าน แน่นอน ผมมีความชอบธรรมอยู่ ๓ ประการที่จำเป็นจะต้องเป็นผู้สรุปญัตติครับ
ประการที่ ๑ ในมือของผมคือเอกสารของนักเรียนจำนวน ๑๒๖ คนที่ศึกษา หรือเคยศึกษาอยู่ในจังหวัดอ่างทองบ้านของผม แล้วเขาไม่สามารถศึกษาต่อใน จังหวัดอ่างทองได้ ความจริงในวันนั้นถ้าผมไม่ใช่เป็นคนยกหูหานายอำเภอป่าโมกข์ จังหวัดอ่างทอง ท่านประธานทราบไหมครับว่าเด็กเหล่านี้ ๒๖ คนกำลังจะถูกส่งขึ้นรถไปส่งที่ ชายแดนอำเภอแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยยังไม่มีการสอบสวน โดยยัง ไม่มีการสอบข้อเท็จจริง โดยยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาคือใคร อย่างไร พ่อแม่เขาอยู่ที่ไหน แล้วเพราะเหตุใดประเทศสยามซึ่งเป็นประเทศสยามที่เคยโอบอุ้มทุกพี่น้องชาติพันธุ์ ถึงไม่สามารถให้เขาอยู่ในประเทศแห่งนี้ได้ ผมมีความชอบธรรม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ภรรยาผม ต้องไปนอนเฝ้าเด็กเหล่านี้หลังจากวันที่ผมเป็นคน Brake ว่าอย่าเพิ่งเอากลับไปในฐานะ เป็นเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งแน่นอนครับ มันก็มี ความหนักเบาในการแก้ไขปัญหา
ความชอบธรรมประการที่ ๒ ที่จำเป็นต้องอภิปรายครับ เพราะว่าเมื่อฟังจาก ญัตติที่คุณปารมีเสนอ และพวกเราเองจำเป็นต้องใช้งบประมาณของสภา ต้องขอบพระคุณ หลายสายการบินที่อำนวยการให้พวกผม สส. ปารมี ไวจงเจริญ คุณธิษะณา ชุณหะวัณ คุณณัฐพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล คุณเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล คุณมานพ คีรีภูวดล คุณอรพรรณ จันตาเรือง ลงพื้นที่ทั้งอำเภอเมือง อำเภอเชียงดาว นั่งฟังเด็ก ๆ จากอำเภอฝาง จากอำเภอแม่อาย มาบอกเล่า นั่งฟังสามเณรจากประเทศเพื่อนบ้านของเรามาบอกเล่าว่าเขาไม่สามารถเรียนได้ เพราะเหตุใด แล้วกรณีของสารเณรนี่ครับ เรียนอย่างตรงไปตรงมาว่ามันอยู่ในขอบเขตของ โรงเรียนพระปริยัติธรรม ซึ่งก็ไปไกลกว่าคณะกรรมาธิการการศึกษาที่จะดูประเด็นเหล่านี้ได้ นั่นคือความชอบธรรมประการที่ ๒ ที่ผมคิดว่ามีความชอบธรรมที่จะเป็นผู้สรุปครับ
ความชอบธรรมประการที่ ๓ ก็คือ หากท่านจะบอกว่านี่คือการต้องส่ง คณะกรรมาธิการการศึกษาของท่านประธานโสภณ ซารัมย์ ที่ผมให้ความเคารพ ผมไม่ติดใจ ใด ๆ เลยครับว่ากรรมาธิการนั้นจะพิจารณาได้หรือไม่ แต่เรากำลังทำเรื่องที่ถูกตั้งคำถาม อย่างยิ่งจากนานาอารยประเทศ ท่านทราบไหมครับ ผู้แทนในเรื่องสิทธิเด็กของสหประชาชาติ ที่เรียกว่า CRC ประเด็นเรื่องของการส่งเด็ก ๑๒๖ คน กลับประเทศเพื่อนบ้านจะต้องถูกตั้ง คำถามอย่างรุนแรงในที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติที่ไทยกำลังจะทำ รายงานในฉบับที่ ๓ และฉบับที่ ๔ ปลายปีนี้ จะต้องถูกตั้งคำถามอย่างรุนแรงในที่ประชุม ที่เรียกว่า คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกลไกที่เรียกว่า UPR ที่ไทยกำลัง จะต้องทำรายงาน แล้วคณะกรรมาธิการการศึกษาท่านรับผิดชอบไหวไหมครับว่าเรื่องที่ท่าน กำลังจะขอรับไปโดย ไม่ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญนั้นท่านสามารถเป็นตัวแทนตอบคำถาม เหล่านี้แทนพี่น้องประชาชนชาวไทยกอบกู้การปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กที่พูดกันอย่างปากเปียก ปากแฉะ ไม่เอาบัญญัติ ๑๐ ประการ ไม่เอาค่านิยม ๑๒ ประการ เอาคำเดียวง่าย ๆ ที่เรียกว่า The Best Interest of the Child หรือประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ ทำไมไม่ส่งให้ คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มี ความหลากหลายทางเพศล่ะครับถ้าอย่างนั้น ทำไมไม่ส่งให้คณะกรรมาธิการกิจการ ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติถ้าอย่างนั้น หรือเพราะเหตุใด หรือทำไมสภาแห่งนี้ตั้งใช้งบประมาณกันเยอะแยะมากมายถึงจะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ อีกคณะหนึ่งเพื่อมาศึกษาไม่ได้ นั่นคือความชอบธรรมประการที่ ๓ ที่ผมคิดว่าจำเป็นต้อง บอกกับเพื่อนสมาชิกก่อนครับ และด้วยเหตุดังกล่าวเพื่อนสมาชิกของพรรคก้าวไกล จำนวน ๑๕ ท่าน บวกกับคุณกัณวีร์ สืบแสง จากพรรคเป็นธรรม อีก ๑ ท่าน เป็น ๑๖ ท่าน ถึงต้องอภิปรายและชี้ให้เห็นอยู่ ๔ ประการสำคัญด้วยกันครับ
ประการที่ ๑ ก็คือเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของพี่น้องที่อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ใช่เรื่องของพี่น้องที่อยู่ที่จังหวัดเชียงราย ไม่ใช่เรื่องของพี่น้องที่อยู่ในเขตพื้นที่ของ สส. รัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ ที่อยู่ที่จังหวัดตาก สส. พรรคก้าวไกลรอบนี้ ๑๕๐ ครับ ยังจำได้หมด รอบหน้า ๓๐๐ ยิ่งแล้วกันใหญ่ แต่เรียนต่อไปครับว่าแม้กระทั่งในเขตเมืองของ สส. รักชนก ศรีนอก เราก็มีปัญหาแบบนี้ และ กทม. ยังตอบเราไม่ได้เลย ณ นาทีนี้ว่าคุณมี เด็กที่กำลังรอจะขึ้นเลขทะเบียนตัว G ลงรหัส Generate Code ตัว G อยู่เท่าไร เรื่องนี้ไม่ใช่ เรื่องของพี่น้องชาติพันธุ์ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของพี่น้องแรงงานข้ามชาติ ลูกหลานแรงงาน ข้ามชาติอย่างเดียวครับ แม้กระทั่งเด็กที่อยู่ในประเทศไทย ท่านไม่เคยดูรายการวงเวียนชีวิต หรือครับ ที่เขาตามหาพ่อแม่กันวันเสาร์ วันอาทิตย์นะครับ ก็แบบนั้นเขาก็มีลูกที่ไม่มีสถานะ บุคคล ไม่มีเลข ๑๓ หลักเหมือนกัน แล้วเขาเข้าเรียนไม่ได้ ฉะนั้นกรณีที่เรากำลังจะบอกว่าตัวเลข ๓๐๐,๐๐๐ คน ที่กำลังจะเข้าเรียนนั้นมันจึงเป็นตัวเลขเสมือนจริงแต่ไม่ใช่ตัวเลขจริงครับ ตัวเลขจริงที่คุณเลาฟั้งกำลังพูด ตัวเลขจริงที่คุณมานพประสบ ตัวเลขจริงที่ผมเจอ อย่างน้อยเรากำลังพูดถึงเด็ก ๖๐๐,๐๐๐ คน คณะกรรมาธิการการศึกษาบอกผมได้ไหมครับ ว่าอีก ๓๐๐,๐๐๐ คน ที่ไม่อยู่ตรงนี้ท่านจะไปหาเขาที่ไหน แล้วจะเอาเขาเข้าเรียนได้อย่างไร ท่านเห็นไหมครับว่ามันถึงมีความจำเป็น ผมจะขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งต่อ ท่านจาตุรนต์ ฉายแสง เสียดายครับท่านกำลังขึ้นไปนั่งเป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาชายแดนใต้ เพราะสิ่งที่ท่านเริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ มีมติ ครม. มาต่าง ๆ นั้น มันยังไม่ สิ้นสุดทางครับ ฉะนั้นท่านจาตุรนต์ จะต้องบอกกับพวกเราว่าถ้าเราช่วยให้เรื่องนี้มันจบใน รุ่นเรา เราก็ควรที่จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาต่อ ผมนั่งดูท่านจาตุรนต์ไปให้ การที่ สภ. ป่าโมก ไปกับอาจารย์พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์ของผม ไปกับ คุณศิวนุช สร้อยทอง มูลนิธิกระจกเงา ท่านทราบไหมครับตำรวจเขาไม่เข้าใจที่ท่านบอก เขาไม่เข้าใจเพราะเขาบอกว่ากฎหมายก็คือกฎหมาย แต่สิทธิของความเป็นมนุษย์มันสำคัญ กว่ากฎหมายครับ แล้วมันมีเหตุอะไรครับที่พวกเราจะไม่พิจารณา นั่นคือประเด็นที่ ๑ ที่ท่าน ต้องตอบว่าเด็กอย่างน้อย ๖๐๐,๐๐๐ คนที่เข้าสู่ระบบ ๓๐๐,๐๐๐ คน อีก ๓๐๐,๐๐๐ คน ถ้าไม่มีคณะกรรมาธิการวิสามัญ เขาจะเข้ามาสู่ระบบการศึกษาในประเทศไทยได้อย่างไร นั่นคือประเด็นที่ ๑ ที่ผมคิดว่าจำเป็นต้องพิจารณาในการตั้งครับ
ประเด็นที่ ๒ ที่จำเป็นต้องพิจารณาในการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญครับ ตัวเลขเมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๖ ที่บอกว่ามีเด็กนักเรียนในโรงเรียน ๓๐๐,๐๐๐ คน แต่ท่านทราบไหมครับว่ามีการลงรหัส Generate Code หรือตัว G เพื่อยืนยันว่าเขามีตัวตน เขามีตัวตนเป็น ๆ แค่ ๑๑๒,๘๔๑ คน เอา ๓๐๐,๐๐๐ คน ลบสิครับ เอา ๖๐๐,๐๐๐ คนลบ ๓๐๐,๐๐๐ คนก่อนครับ เอา ๓๐๐,๐๐๐ คน ลบ ๑๑๒,๘๔๑ คน เกือบ ๒๐๐,๐๐๐ คน ที่ลง รหัส G ไม่ได้ มันหายไปไหนละครับ กระทรวงศึกษาธิการตอบเองทั้งหมดได้หรือไม่ ก็ตอบไม่ได้หรอกครับ แต่เรากำลังจะพูดถึงระบบการคัดกรองคุ้มครองเด็ก รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แถลงนโยบายล่าสุดบอกประเทศไทย ต้องมีระบบคุ้มครองเด็ก ก็นี่อย่างไรครับ ผมกำลังจะจี้บอกว่าจำเป็นที่ต้องมีเพราะมันไม่มี ระบบคุ้มครองเด็กที่จะไปติดตามในชุมชน หมู่บ้าน สส. ตามได้ไม่หมดหรอกครับ แต่ทำไม ต้องให้ สส. รายคนเมื่อเช้าคุณภัณฑิล น่วมเจิม มาคุยกับผมตรงนี้ ว่าคืนนี้กำลังมีเด็ก ขอทานอยู่ที่อโศกคืนนี้กำลังมีเด็กขอทานอยู่ที่นานา ผมไม่รู้เขามาจากที่ไหน แล้วผมไม่รู้ ว่าเขาเข้าเรียนหรือไม่ มาคุยกับผมตรงนี้เเมื่อเช้านี้ครับท่านประธาน นั่นคือเหตุผล ความจำเป็นประการที่ ๒ ที่มันหายไป ๒๐๐,๐๐๐ กว่าคนครับ แล้วการหายไป ๒๐๐,๐๐๐ กว่าคนนี่ กำลังผลักเขาเข้าไปอยู่ตรงไหน ไม่รู้เลยว่าเขาไปทำอะไร อย่างไร มีตัวตนอยู่ที่ไหน แบบใด นั่นเป็นเหตุผลของการจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาเรื่องนี้ และแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างเป็นระบบเป็นประการที่ ๒
ประการที่ ๓ ท่านประธานที่มันตลกก็คือว่า ๖๐๐,๐๐๐ คน ลบ ๓๐๐,๐๐๐ คน ลบ ๑๑๒,๐๐๐ คนมาแล้วนะครับ ปรากฏว่ามันนำไปสู่รายการสถานะบุคคล ไปลงเลข ๑๓ หลักครับ สมมุติว่าผมมีบัตรประชาชนใครเกิดก่อนปี ๒๕๒๗ เพื่อนสมาชิกเราเกิดก่อน ปี ๒๕๒๗ ทุกคน ต้องขึ้นด้วยเลข ๓ ใครเกิดหลังปี ๒๕๒๗ สส. ก้าวไกลจำนวนมากอายุเฉลี่ย ๓๐ กว่า ๆ ต้องขึ้นด้วยเลข ๑ คนเกิดช้าขึ้นด้วยเลข ๒ พี่น้องที่แปลงสัญชาติมา มีพ่อแม่เป็น คนต่างด้าว ท้าวต่างแดนในอดีตขึ้นด้วยเลข ๕ นี่ผมยกตัวอย่างให้ฟังนะครับ เลข ๑๓ หลัก ซึ่งมันสำคัญต่อชีวิตของพี่น้อง ชีวิตมนุษยชาติเป็นอย่างยิ่ง ท่านทราบไหม ๑๑๒,๘๑๑ คน นำไปสู่การลงรายการเลข ๑๓ หลักได้แค่ ๘๐,๙๒๒ คน อีก ๔๐,๐๐๐ คนหายไปไหนครับ อีก ๔๐,๐๐๐ คนนี้ไม่เกี่ยวกับกระทรวงศึกษาธิการแล้วนะครับ เพื่อนสมาชิกเล่าให้ฟังว่า เมื่อมีการทำบันทึกส่งไปที่กระทรวงมหาดไทย กระทรวงมหาดไทยต้องรวบรวมประวัติ ข้อมูล ลงรหัสรายการทะเบียนราษฎร พี่น้องคนไหนไม่มีสถานะแต่เชื่อว่าเกิดในประเทศไทย มีข้อมูลเชื่อมโยงลงด้วยเลข ๐ พี่น้องคนไหนเป็นลูกหลานแรงงานข้ามชาติเราเคารพสัญชาติเขา เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องสัญชาติ แต่คือการระบุตัวตนเขาเรียกว่ากลุ่ม ๐๐ แต่เด็กจำนวนมาก ที่กำลังอยู่ในระหว่างการสอบประวัติ อย่างที่พรรคก้าวไกลเสนอว่าคุณต้องเพิ่มงบประมาณ ในการตรวจ DNA เปรียบเทียบเพื่อนำไปสู่การลงสถานะ ถ้าสามารถลงสัญชาติได้ ก็ต้องนำไปสู่การลงสถานะหรือสัญชาติ ท่านเห็นไหมครับว่าข้อมูลตัวเลขมันหายไปอย่างมี นัยสำคัญอย่างยิ่ง และมันไม่อยู่ในขอบเขตของคณะกรรมาธิการคณะใดคณะหนึ่งที่จะศึกษา ได้ต้องตั้งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ ความจริงผมอยากจะเสนอด้วยซ้ำว่าท่านสมาชิก ที่อภิปรายทั้ง ๒๔ ท่าน ท่านนั่นละที่ไปเป็นกรรมาธิการ ผมก็ยินดีไม่ต้องเอาพรรคมาพูด มาเป็นโควตาก็ได้ครับ
ประการที่ ๔ เป็นประการสุดท้าย ก็คือว่าเหตุผลและความจำเป็นของการ จัดตั้งคณะกรรมาธิการ เพราะเรื่องของสิทธิเด็กนั้นมันคลุมอยู่ทั้งหมด ๔ มิติด้วยกันครับ
มิติแรก ก็คือมิติทางการศึกษา หากไม่เริ่มจากการศึกษามันจะไม่นำไปสู่ ในประเด็นเรื่องของสุขภาพ หากไม่เริ่มจากการศึกษามันจะไม่นำไปสู่ในประเด็นเรื่องของ แรงงาน หากไม่เริ่มจากการศึกษามันจะไม่นำไปสู่ในประเด็นเรื่องของสิทธิความเป็นพลเมือง หรือสิทธิความเป็นมนุษย์ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดผมอยากจะย้ำแบบนี้ว่าเวลาที่เราพูดถึงสิทธิเด็ก เขาพูดด้วยตัวเขาเองไม่ได้ครับ เขาพูดด้วยตัวเขาเองเขาไม่สามารถมายืนพูดในสภาแห่งนี้ ด้วยข้อจำกัดใด ๆ ต่าง ๆ ได้ ฉะนั้นสภาแห่งนี้ที่เป็นตัวแทนของอำนาจต้องเป็นศูนย์กลาง ในการยืนยันครับ แล้วผมอยากจะย้ำเป็นประการสุดท้ายสำหรับเพื่อนที่เดินเข้ามาแล้วไม่รู้ว่า เขาอ่านหนังสือเจ้าชายน้อยกันอยู่นะครับ อีกสักรอบหนึ่งว่าผมขอวิงวอนแบบนี้ต่อ ท่านประธานครับ เรามีคณะกรรมาธิการในอดีตมามากมายไม่รู้กี่ร้อยกี่พันคณะ บางคณะ หนังสือตั้งสูงแบบนี้ผมก็ยังเก็บไว้ แล้วผมก็สงสัยว่าทำไมปีนี้สภาชุดที่ ๒๖ ตั้งอีกแล้ว คณะกรรมาธิการชื่อแบบนี้ตั้งอีกแล้ว แต่ที่กำลังพูดถึงเด็กหลายแสนคนในประเทศไทย ที่ยังไม่มีแม้แต่โอกาสจะเดินเข้าโรงเรียน แล้วจะเอาความเป็นมนุษย์ของเขามาจากไหนครับ ฉะนั้นผมอยากจะวิงวอนเชิญชวนให้ท่านอ่านเจ้าชายน้อย และท่านใช้วิจารณญาณในการ ตัดสินใจอย่างเป็นอิสระของท่านว่าสิ่งที่เรากำลังจะลงมติในวันนี้นั้นสำคัญยิ่งคือท่านกล้าที่จะ ใช้หัวใจของท่านในการลงมติแทนการใช้สายตาแต่เพียงอย่างเดียวหรือไม่ และผมไม่เห็นมี เหตุผลอื่นใดประการใดที่จะส่งให้คณะกรรมาธิการสามัญคณะใดคณะหนึ่งครับ ผมในนามของ คุณปารมี ไวจงเจริญ ผู้เสนอญัตติจึงขอสรุปว่าพรรคก้าวไกลขอยืนยันให้สภาแห่งนี้ลงมติ สนับสนุนการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็ก ที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร หรือไม่มีสัญชาติไทย ไม่ใช่เพื่อพรรคก้าวไกล ไม่ใช่เพื่อ ฝ่ายค้าน ไม่ใช่เพื่อสภาแห่งนี้ แต่เป็นเพื่อเด็ก ๆ ทุกคนที่ท่านเคยพูดถึงอยู่เสมอในประเทศ แห่งนี้ ขอบคุณครับ
ท่านประธานนิดเดียวครับ ไม่ขัดข้องครับ แต่ว่าผมฟังคุณศรัณย์ไม่ชัดว่ามีกรอบระยะเวลาไหมครับ
ท่านประธานครับ
ท่านประธานครับ ณัฐวุฒิ บัวประทุม บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ด้วยความเคารพท่านประธานครับ ๖๐ วันเองหรือครับ เห็นญัตติอื่นเสนอ ๙๐ วันหมดเลยนะครับ แต่ว่าเอาเป็นว่าผมทราบมาว่ามีการประสานงาน มาว่าทางรัฐบาลเองมีความพร้อมที่จะมีการเสนอ พ.ร.บ. ประมงเข้ามา ถ้าเกิดว่ามีฉันทามติ หรือฝ่ายรัฐบาลจะช่วยยืนยันได้ไหมว่าถ้า ๖๐ วันแล้วมันมีความเป็นไปได้ที่ทาง ครม. จะเสนอ พ.ร.บ. ประมงเข้ามา เราก็พอรับได้ แต่ว่าถ้า ๖๐ วันแล้วไม่มีเงื่อนไขอื่นอาจจะต้อง ขอเวลาอื่น ผมอยากจะขอความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลสักนิดหนึ่งครับ
ขอบพระคุณครับ ถ้าตัวแทน รัฐบาลตอบขนาดนั้นทางพวกผมก็เห็นด้วย ขอบพระคุณครับ
ขอบคุณครับ ท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทอง ก่อนที่ผมจะเข้าสู่ประเด็นเรื่องของคำถามที่เกี่ยวข้องในกระทู้ถาม ที่ผมได้เตรียมมา อย่างไรก็ตามผมก็คงต้องขอให้สภาอย่างนี้บันทึกไว้ครับว่า สิ่งที่ท่านประธานก่อนหน้านี้ได้ติงหรือแนะนำการทำหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่า ทำไมเราไม่ถามรัฐมนตรีให้ถูกคน แทนที่จะถามนายกรัฐมนตรีนั้นไม่ตรงกับสิ่งที่ผมตั้งใจ จะสื่อสารครับ ท่านประธานครับ คำถามที่ผมตั้งใจจะถามนั้น ผมตั้งใจจะถามนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ไม่รู้นะครับว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมไม่มีความเกี่ยวข้อง ท่านนั่งเป็นหัวหน้า ใน Board คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ท่านนั่งเป็นประธานคณะกรรมการใน Board การควบคุมการขอทานตาม พ.ร.บ. ควบคุมการขอทาน แต่อย่าลืมว่าคนที่นั่งเป็นประธาน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งวันนี้ท่านรัฐมนตรีเองก็มีภารกิจ ในการที่ต้องพบอุปทูตต่างประเทศพูดคุยกันถึงเรื่องการค้ามนุษย์ คือนายกรัฐมนตรี ผมไม่ต้องพูดหรอกครับว่าเป็นนายกรัฐมนตรีชื่อใด ไม่ได้พาดพิงใคร แต่พูดถึงว่าความจำเป็น ที่ต้องถามนายกรัฐมนตรีเพราะท่านนั่งเป็นประธาน Board คณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์แห่งชาติ ผมถามถูกคน ไม่ผิดคนแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม การที่ท่านมอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มาตอบแทนนั้น ก็ต้องขอบพระคุณท่านด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ และทราบว่าท่านเตรียมประเด็นต่าง ๆ เพื่อจะมาตอบในวันนี้เป็นอย่างดีครับ
ท่านประธานครับ ประเด็นที่ผมตั้งใจจะถามนั้นเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้อง บ้านท่านประธานที่จังหวัดพิษณุโลกผมเองก็เชื่อว่ามี จังหวัดสุพรรณบุรีของท่านรัฐมนตรีว่าการ ผมเองก็ส่งคนไปดู บางประเด็นที่ผมตั้งใจอย่างเฉพาะเจาะจงไม่พบ แต่ประเด็นโดยทั่วไปก็มี สี่แยกบ้านรอ จังหวัดอ่างทอง ท่านรัฐมนตรีแอบยิ้มนะครับ เราก็ส่งคนไปดูกันเหมือนกัน สี่แยกบ้านรอ จังหวัดอ่างทองที่สี่แยกบ้านผม ผมก็ส่งคนไปดูก็มีครับ มันมีหลายประเด็น ที่เกี่ยวเนื่องกันตั้งแต่การขายพวงมาลัย ตั้งแต่การขายดอกไม้ ตั้งแต่การขายขนม ตั้งแต่การขายกล้วยแขก บางครั้งก็มีการมาเช็ดระจกรถ หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ประเด็น ที่ผมเน้นที่สุดก็คือประเด็นเรื่องของการขายนมเปรี้ยวซึ่งเกิดขึ้นตามบริเวณถนนหรือสี่แยก การขายนมเปรี้ยวไม่ได้เกิดมาดั้งเดิมเหมือนกรณีที่ยมราช ซึ่งผมเองก็ผ่านกระบวนการมีส่วน ในการแก้ไขแล้วก็รู้ว่ามันไม่ง่าย แต่การขายนมเปรี้ยวที่เกิดขึ้นนั้นเพิ่งเกิดขึ้นหลังสถานการณ์ โควิดครับ ขอ Slide ด้วยนะครับ
ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์ กับประเด็นเรื่องของความยากจน ประเด็นเรื่องของการที่เด็ก ๆ จะต้องไปโรงเรียน ประเด็นเรื่องความปลอดภัย ประเด็นเรื่องความปลอดภัยอื่น ๆ ของผู้ใช้ถนนต่าง ๆ ซึ่งต้องนำเรียนว่าเป็นประเด็นคำถามที่กระอักกระอ่วนมากและสร้างความยากลำบากให้ผม ในการที่จะมาถามในวันนี้ ท่านประธานครับ มันมีเส้นแบ่งความเป็นเด็ก ความเป็นผู้ใหญ่ มันเกี่ยวข้องกับประเด็นการขายสินค้าหรือบริการบริเวณที่เกี่ยวข้องในสี่แยกต่าง ๆ มันเกี่ยวข้องกับประเด็นว่าการกระทำที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่เด็กทำโดยตนเองหรือมีบุคคลอื่น เป็นผู้จ้างวานหรือให้เด็กเป็นคนกระทำ มันเกี่ยวข้องกับประเด็นที่เราถูกตั้งคำถาม เรื่องของการใช้แรงงานเด็ก นานาอารยะประเทศเขาก็จับตาดูว่าสถานะของประเทศไทยนั้น อยู่ใน Tier ที่ไหน สุพรรณบุรีไม่มีเลยในเมืองในสี่แยกต่าง ๆ ที่ขายนมเปรี้ยว แต่จังหวัดอ่างทอง เมื่อ ๒ สัปดาห์ที่แล้ว ก็แปลกนะครับ คนของสำนักงานคุ้มครองและประกันภัยจังหวัด ที่เรียกว่า คปภ. ไปเจอแล้วก็ส่งเรื่องให้ทางพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดอ่างทอง คุณวาสนา ทองจันทร์ ท่านก็ส่งเจ้าหน้าที่ไปดู วันนี้ก็กำลังประชุม ที่จะมีการแก้ไขปัญหา ไปเจอว่าเด็กคนนั้นเป็นเด็กผู้ชายอายุ ๑๗ ปี อยู่กับยายตามลำพัง แล้วมันยากมากที่เขาต้องมีส่วนในการดูแลครอบครัวและอาศัยจังหวะในช่วงปิดเทอม มาขายของเพื่อจุนเจือครอบครัว มันไม่ง่ายกับคำถามเหล่านี้ แต่สิ่งที่ผมจำเป็นต้องชี้ให้ท่านเห็น ก็คือว่า ท่านเห็นไหมครับว่ากรณีเด็กขายนมเปรี้ยวที่จำนวนมากนั้นเขาเป็นเด็ก เยาวชน มี ๔ คำถามย่อย ๆ คือ ๑. เด็ก เยาวชน สามารถทำงานได้หรือไม่ ๒. คือเด็ก เยาวชน สามารถขายสินค้า บริการบริเวณถนนหรือสี่แยกจราจรต่าง ๆ ได้หรือไม่ ๓. ก็คือว่ากรณี เด็ก ๆ เยาวชนซึ่งเราเป็นจำนวนมาก รูปที่ผมเบลอไว้ก็จังหวัด ป ในภาคกลางใส่เครื่องแบบ นักเรียนมาขายได้หรือไม่ แล้วตกลงว่าสิ่งที่เขามาขายเป็นการมาโดยสมัครใจโดยตนเอง หรือมีบริษัท หรือตัวแทนจำหน่ายที่อยู่ในระดับภูมิภาค ในระดับจังหวัด เป็นการใช้ จ้างวาน หรือบังคับให้เขามาเป็นผู้กระทำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่ส่งผลต่อประเด็นเรื่องของ แรงงาน ใน Slide ที่ ๓ ที่ผมจะชี้ให้เห็นว่าเรามีสัดส่วนของแรงงานที่เข้าสู่วัยแรงงาน ที่เรียกว่าแรงงานเด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี และแรงงานเยาวชนอายุ ๑๕-๑๘ ปี จำนวน เป็น ๑๐๐,๐๐๐ คน ท่านรัฐมนตรีมีลูก ผมเองก็มีลูกเล็ก ในวัยของความเด็กสิ่งที่เรา อยากให้ลูกเราก็ได้รับก็คือการเข้าศึกษา แต่ท่านเห็นไหมครับเด็กจำนวนไม่น้อยในประเทศไทย คุณเซีย จำปาทอง ทำประเด็นเรื่องแรงงานก็ทราบ เขาต้องเข้าสู่การทำงานที่เร็ว ทั้งมีงานทำหรือตกงาน บางครั้งเป็นเรื่องการรอตามฤดูกาลต่าง ๆ สิ่งที่ถูกตั้งคำถาม ในระหว่างประเทศก็คือว่า เราจะไปตอบประเด็นเรื่องแรงงานเด็กในฐานะเรื่องของ การค้ามนุษย์ได้อย่างไร ทราบครับว่ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีความพยายามในการแก้ไขปัญหา เช่น การจัดประชุมคณะกรรมการควบคุมการขอทาน ในต้นปีที่ผ่านมามีการประชุม ๑ ครั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ก็ทราบครับ ท่านปลัดกระทรวง พม. กับผมก็คุ้นเคย ผมให้ความเคารพท่านเป็นอย่างยิ่ง ทราบครับ มีความพยายามบอกว่าไม่ให้เด็กขายตามถนน จะเอามาขายในบริเวณที่มีการกำหนดเป็นจุด เช่น กทม. มีการตกลงกันไว้ว่าจะมีทั้งหมด ๗๒ แห่งใน ๔๖ พื้นที่ต่าง ๆ เป็นต้น ทราบครับ มีความพยายามจะบังคับใช้กฎหมาย แต่ท่านประธานลองดูใน Slide ที่ ๕ ที่พูดถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. ควบคุมการจราจรทางบก ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องของ การคุ้มครองแรงงาน พ.ร.บ. รักษาความสะอาด พ.ร.บ. ควบคุมการขอทาน ถูกบ้าง ผิดฝาผิดตัวบ้าง มีส่วนในการถูกแสวงประโยชน์หรือไม่ผมไม่ทราบ สิ่งที่ผมได้เรียนถามท่าน Slide ท่านต้องตามให้ทันนิดหนึ่ง ไป Slide ที่ ๕ ท่านครับ ราคาเท่าไรไม่ใช่ราคานมเปรี้ยวที่ขายไป ในราคา ๑๐๐ บาท แล้วเด็ก ๆ จะได้ ๒๐ บาทนี่คือข้อตกลงการขาย แต่ราคาเท่าไร คือการที่เด็ก ๆ ผู้หญิงบางคนไปยืนขายของ ขายนมเปรี้ยว แล้วถูกเจ้าของรถไม่ต้องหรูก็ได้ โตโยต้าแบบผมก็ได้ มาจอดแล้วถามว่าหนูตัวหนูว่าราคาเท่าไร หนูมี LINE ไหม หนูมีเบอร์ โทรศัพท์ไหม ป๋าขอได้ไหม อาขอได้ไหม พี่ขอได้ไหม หนูไม่ต้องมาขายของหรอก ฉะนั้น สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญก็เลยเป็นคำถามประการที่ ๑ ที่อาจจะต้องรบกวนท่านรัฐมนตรี ในการตอบคำถาม
คำถามที่ ๑ รัฐบาลทราบถึงปัญหาและมีนโยบายการบังคับใช้กฎหมาย กับผู้กระทำ ผมไม่ได้พูดถึงผู้ที่ไปขายซึ่งเขามีความยากลำบากพอสมควรทีเดียว แต่มีการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำที่ใช้ จ้างวาน หรือบังคับให้เด็ก หรือเยาวชน หรือแม้กระทั่งบุคคลอื่น ๆ ไปขายของบริเวณถนน บริเวณสี่แยกจราจรหรือไม่ แบบใด ประการใด ท่านได้พยายามดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้ไปมากน้อยขนาดใด เอาคำถามที่ ๑ ก่อน เดี๋ยวป้องกันมาพูดกันในประเด็นคำถามที่ ๒ ขอบพระคุณครับ
ขอบพระคุณครับ กำลังจะถาม ท่านประธานทักเรื่องเด็กเลยตกใจ เสียดายว่าเมื่อวานนี้สภาไม่ยอมให้ตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญแก้ไขปัญหาการลง Generate Code หรือรหัส G ให้กับเด็กที่ไม่มีสถานะ ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ควรเป็นเจ้าภาพด้วยซ้ำ
ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตไปเลย สิ่งที่ท่านรัฐมนตรีตอบนั้นตรง แล้วก็มันมีหลายเงื่อนไขที่จะเกิดขึ้นถัดไปจากการทำงานของท่าน ซึ่งผมมั่นใจว่า ด้วยความเคารพนะครับ ข้าราชการเจ้าหน้าที่กระทรวงส่ง Signal มาเยอะว่าทำงาน กับรัฐมนตรีสบายใจ แล้วแม้กระทั่งการลดใช้แก้วพลาสติกก็เป็นสิ่งที่ถูกใจข้าราชการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ไม่น้อยทีเดียวครับ
ผมถามต่อแบบนี้ครับท่านประธาน ท่านพูดถึง พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กนี่ตรงใจที่สุด เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วที่เรียกว่า ๑ ทศวรรษ หลังการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก ปี ๒๕๔๖ ก็คือปี ๒๕๕๖ คณะกรรมการยกร่างการแก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก ที่เรียกว่า Majestic Group ที่นั่งประชุมกันอยู่ที่ตึก สยช. เดิม แยกมักกะสัน ยกร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กเสร็จแล้วครับ มีการทำงานกันต่อเนื่อง มีการจัดเวทีกันมา ๑๐ ปี นั่นปี ๒๕๕๖ แต่นี่ปี ๒๕๖๖ ฉะนั้นวันนี้มีเด็ก ๆ มานั่งฟังอยู่ เราต้องตอบรายงาน CRC Committee ที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า อยากให้ท่านส่งร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เสร็จแล้ว ประเดิมสภาเราจังเลยครับ ประเดิมสภาในการเปิดประชุมสมัยหน้าเลยครับ สมัยที่ ๒ ปีที่ ๑ เอา พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กมาพิจารณาเป็นฉบับแรกเลย เพราะมันแก้เสร็จแล้วครับ อย่างไรก็ตาม การแก้เสร็จแล้วยังมีบางประเด็นที่ผมคิดว่ายังจำเป็นต้องมาสู่คำถามที่ ๒ ของผมครับ
คำถามที่ ๒ จะเน้นไปถึงประเด็นเรื่องของการป้องกัน ความจริงเวลาเรา พูดถึงการแก้ไขปัญหานี่นะครับ ก็ต้องให้ความเป็นธรรมอย่างที่ท่านรัฐมนตรีท่านตอบจริง ๆ ประเด็นก็คือว่า ๗๗ จังหวัดวันนี้มันยังมีการขายอยู่ แล้วเราจะไปลด จะไปบอก จะไปแนะนำ จะไปช่วยเหลือจัดระบบในการขายอย่างไร ยังมีตัวแทนจัดจำหน่ายที่ยังกระทำ การฝ่าฝืน ตามเอกสารที่ท่านพูดถึงคือเอกสารลงวันที่ ๘ พฤศจิกายน ปี ๒๕๖๕ มีหนังสือเวียนจากอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอยู่ในมือผม แต่หนังสือเวียนออกช้า ประชุม ๘ พฤศจิกายน หนังสือเวียนออก ๒๖ มกราคม ปี ๒๕๖๖ ก็บอกว่าบางจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทองคนใหม่เป็นคนสุพรรณบุรีท่านก็คงทราบแล้วว่าเอกสารแบบนี้ จะดำเนินการแบบใด อย่างไรต่อ แต่มันต้องลดลงอย่างมีนัยสำคัญซึ่งอาจจะยังไม่เกิดทั้งหมด แต่ที่ผมบอกว่าต้องให้ความเป็นธรรม เพราะว่ามีบางบริษัทจริง ๆ ที่เขาใช้ตัวแทนจำหน่าย ที่ไปถึงบ้าน ขี่จักรยานไป บริษัทนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดำเนินการขายนมเปรี้ยวที่ปรากฏ ตามสี่แยก แต่ก็ยังมีบางบริษัทจะรู้โดยบริษัทหรือไม่ อย่างไร ยังกระทำอยู่ และอย่างที่ ผมเรียนว่ามันส่งผลต่อสวัสดิภาพหรือความปลอดภัยของเด็ก
สิ่งที่เป็นประเด็นที่ผมต้องชี้ครับ เพราะเรื่องมันใหญ่กว่าแค่การไปขาย นมเปรี้ยว แต่มันคือบทสะท้อนความยากจน ท่านเห็นไหมครับว่าข้อมูลจากธนาคารโลก ข้อมูลจากสภาพัฒน์เอง เรามีผู้ว่างงานเป็นจำนวนมากแล้วมีเด็กอยู่ในครอบครัว ของผู้ว่างงาน ในขณะที่เส้นแบ่งความร่ำรวยในประเทศ ๕๐ กว่าตระกูลที่มีความร่ำรวยนั้น กลับมีทรัพย์สินถึง ๕ ล้านล้านบาท ทีมเลขานุการผมถามแล้วถามอีกว่ามันถึงขนาด ๕ ล้านล้านบาทเลยหรือ เขากลัวจดผิด เขียนผิดว่าตัวเลขมันมโหฬารมหาศาลขนาดนั้น ตรงนี้ที่เขาเรียกแบบนี้ครับว่า ความยากจนทับซ้อน และในบรรดาความยากจนทับซ้อนนี่ ที่มันทำให้น้องที่ออกไปขายของอยู่ ณ วันนี้ที่สี่แยกบ้านรอ จังหวัดอ่างทอง เขาถึงหยุดขายไม่ได้ คำถามก็คือว่า ระบบคุ้มครองเด็กที่ท่านกำลังพูดถึง ระบบคุ้มครองเด็ก Child Protection International System มันหายไปไหน มันไม่จำเป็นต้องรอวงเวียนชีวิต มันไม่จำเป็นต้องรอ ให้มีคนมาแจ้งกันเป็นรายกรณี มันไม่จำเป็นต้องรอให้มีเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า ซึ่งควรจะเกิดเป็นอย่างยิ่ง แต่วันนี้ระบบที่อยู่ตามชุมชนผ่าน อพม. ซึ่งมีการตั้งไว้เป็นจำนวนมาก ผ่านผู้นำท้องถิ่น ผ่านข้าราชการ ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผ่านภาคประชาสังคม ที่จะแจ้งเหตุเพื่อนำไปสู่การคุ้มครองเด็กมันหายไปไหน ท่านประธานลองอ่านประโยคนี้สิครับ ประโยคของเด็กคนหนึ่งที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อสื่อหนึ่ง เราอยู่ในประเทศเดียวกันไหมครับ เขาถามง่าย ๆ เลยนะครับ ถ้าไฟแดงนานกว่านี้แล้วหนูจะจนน้อยลงบ้างไหม ผมถึงบอกว่า ค่าอาหารสภาเรานี่ต่อหัว สส. วันละ ๑,๐๐๐ บาท เมื่อเช้าเพื่อนสมาชิกผมบอกคุณณัฐวุฒิ กินมื้อละจานหนึ่งหรือ ผมบอกผมทานเท่านั้น นี่เป็นคำถามเมื่อเช้าจริง ๆ นะครับ ผมบอกผมทานเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันค่าอาหารเรามื้อละ ๑,๐๐๐ บาท มันเท่ากับว่า เขาอยู่ได้ทั้ง ไม่รู้จะพูดอย่างไร สิ่งที่จำเป็นต้องถามก็คือว่า เอาละวันนี้มีเด็กที่ต้องออกมาขาย ของจริงตามสี่แยก จะขายดอกไม้ ขายพวงมาลัย ขายนมเปรี้ยว เช็ดกระจก หรือใด ๆ ก็แล้วแต่ แต่ในเมื่อท่านรัฐมนตรีมีเจตจำนง ข้าราชการพร้อมให้ความร่วมมือท่านเต็มที่ สภามีเจตจำนงเช่นเดียวกัน เพื่อนสมาชิกทุกท่านมีเจตจำนงเช่นเดียวกัน ผมถามเลยแล้วกัน ในข้อที่ ๒ ครับ
คำถามในข้อที่ ๒ ว่า ถ้าเช่นนั้นรัฐบาลเองจะมีนโยบาย มีแผนให้เห็น เป็นรูปธรรมนิดหนึ่ง มีแนวทาง มีมาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาไม่ให้เด็ก ๆ เยาวชนเหล่านี้ไปขายสินค้าหรือบริการต่าง ๆ บริเวณสี่แยกหรือท้องถนน ไม่ปลอดภัย อันตราย สุ่มเสี่ยงต่อการถูกแสวงประโยชน์ และจริง ๆ มีผู้ได้ประโยชน์จากการที่เขา ไปทำแล้วด้วยซ้ำ จะป้องกันหรือจะช่วยเหลือระบบคุ้มครองเด็กให้มันลดน้อยถอยลงที่สุด ได้อย่างไร เราพูดด้วยหัวใจเดียวกันเรื่องเด็กเป็นเรื่องที่รอไม่ได้แม้แต่วันเดียวครับ Mascot นี้ผมติดไว้หลังโต๊ะทำงานตอนทำ NGO เรื่องสิทธิ เด็กที่เรียกว่า His name is today เด็กรอไม่ได้แม้แต่วันเดียว ขอถามท่านรัฐมนตรีครับ และผมไม่ถามเพิ่มมั่นใจว่าท่านรัฐมนตรี ตั้งใจทำให้สำเร็จตลอดสมัยของท่านครับ ขอบคุณครับ
ท่านประธานด้วยความเคารพ ผมยกมือพร้อมกับคุณศรัณย์รอช้ากว่าเพื่อนเลยครับ ยกใช้สิทธิประท้วงด้วยครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประชุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมขออนุญาตประท้วงท่านประธานในการทำหน้าที่ในข้อ ๙ (๖) ซึ่งเป็นประเด็นที่แตกต่าง กับท่านอื่นครับ ท่านประธานครับ ผมจำเป็นต้องรักษาเกียรติของท่านประธาน ในการทำหน้าที่ ท่านประธานตอบสิ่งที่เพื่อนสมาชิกหารือทั้งหมด ท่านอ้างว่าท่านได้ ทำหน้าที่เป็นไปตามข้อบังคับ ข้อ ๑๕๑ วรรคสอง ท่านอ้างแบบนี้ว่า วรรคสอง ก็คือว่า เป็นกรณีที่นายกรัฐมนตรีมีการมอบหมายรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง แต่สิ่งที่เพื่อนสมาชิกกำลัง หารืออยู่ และท่านประธานได้กรุณามากเลยอ่านหนังสือที่ลงนามโดยท่านสมคิด เชื้อคง อดีตเพื่อนสมาชิกของเรา
ผมขออนุญาตนิดเดียวนะครับ ผมยังประท้วงไม่จบเลยครับ ท่านจะให้ประท้วงก่อน หรือจะฟังผมก่อนครับ
ผมประท้วงพร้อมกับ ท่านศรัณย์นี่ผมยังไม่ได้พูดเลยก่อนท่านธีรัจชัยที่ผมยกมือ
ท่านประธานก็เห็นว่าผมยกมือ ก่อนท่านธีรัจชัยนะครับ
แล้วอย่างนั้นต้องรอผมก่อน สิครับ
คือจริง ๆ ท่านประธาน เด็ดขาด แต่ท่านให้อนุญาตให้ท่านศรัณย์ประท้วง ผมก็ใช้สิทธิระนาบเดียวกับท่านศรัณย์ครับ
ท่านประธานครับ ในระหว่าง ที่รอครับ ณัฐวุฒิครับ เมื่อสักครู่ยังพูดไม่จบตอนประท้วง แต่ผมจะไม่ประท้วงเพิ่มแล้วครับ แต่ขอบันทึกไว้นิดเดียวครับท่านประธานครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมขออนุญาตบันทึกไว้นิดเดียวว่า ผมเคารพความเห็นและการวินิจฉัยของท่านประธาน แต่มีอยู่ ๒ เรื่องสั้น ๆ ครับ
๑. ก็คือว่าตกลงขณะที่มีผู้ประท้วงอยู่ แล้วท่านประธานได้อนุญาตแล้ว แล้วผู้ประท้วงยังพูดไม่จบ มีผู้อื่นประท้วงแทรกแบบนี้จะวินิจฉัยอย่างไร ท่านรอให้ ประท้วงจบก่อนวินิจฉัย หรือว่าพอมีผู้แทรกปุ๊บท่านก็ใช้ในการตัดสิทธิแตกต่างไป อันนี้ ผมไม่ติดใจ แต่ว่าผมคิดว่าในอนาคตต้องมีการพูดคุยกัน
๒. คือที่ผมนำเรียนว่าจำเป็นที่ผมประท้วงเพราะท่านประธานวินิจฉัย ตามข้อ ๑๕๑ วรรคสอง แต่ผมนำเรียนว่าสิ่งที่เพื่อนสมาชิกพูดทั้งหมดอยากให้ท่านประธาน อ่านรายละเอียดหรือถามท่านนายกรัฐมนตรีในครั้งถัดไป รวมถึงรัฐมนตรีคนอื่นในครั้งถัดไป ตามข้อ ๑๕๑ วรรคหนึ่ง คำง่าย ๆ ครับ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ คำนี้ มันควรจะเป็นคำที่สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีตอบมาว่าเหตุจำเป็นคืออะไร ท่านบอกเลยครับ เหตุจำเป็นคือปฏิบัติภารกิจต่างประเทศหรือปฏิบัติภารกิจในต่างจังหวัด ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แบบนี้ก็ชัดครับ แต่หนังสือเมื่อสักครู่ที่มานี่ไม่มีคำว่าเหตุจำเป็นเลยครับ บอกว่ามีเหตุก็เลยมอบรัฐมนตรีต่าง ๆ ก็เลยขอความเป็นธรรมกับเพื่อนสมาชิกว่า สิ่งที่เราอยากได้คือการวินิจฉัยที่ตรง แล้วก็เหตุผลที่ถูกต้องเท่านั้นเองครับท่านประธาน ขอบพระคุณครับ
ขอบคุณครับ ท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทองครับ ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตใช้เวลาสั้น ๆ ก่อนที่จะเข้าสู่วาระ การประชุมหารือ จะไม่พูดเสียเลยพี่น้องชาวอ่างทองก็บอกว่าวันนี้ฝุ่นเต็มจังหวัดอ่างทอง สส. คนจังหวัดอ่างทองหายไปไหน ก็ต้องบอกว่ามาทำหน้าที่ในสภาครับ ท่านประธานครับ มีเรื่องที่เป็นข้อตกลงหรือสัญญาทางใจกับเพื่อนสมาชิกของเรากับท่านประธานแล้วก็ ท่านรองประธานสภาทั้งสองท่านอยู่สัก ๒ เรื่องด้วยกันจากสมัยประชุมที่หนึ่งซึ่งผมคิดว่า เป็นประการสำคัญ
ในเรื่องแรก คือเรื่องวันประชุม แต่เดิมนั้นเรามีการพูดคุยกันว่าเราอยากให้มี การประชุมเป็นจำนวนมากกว่า ๒ วันด้วยซ้ำ อาจจะ ๓ วัน เป็นวันอังคาร วันพุธ วันพฤหัสบดี หรืออาจจะเป็นวันพุธ วันพฤหัสบดี วันศุกร์ ก็ดูตามความเหมาะสม ดูประเด็นว่าทางสมาชิก วุฒิสภาท่านมีการประชุมหรือไม่ แบบใด ประการใด แต่ว่าท้ายที่สุดก็ตกลงกันเป็น ๒ วัน บนเงื่อนไขแบบนี้ครับท่านประธาน ว่าถ้ามีกรณีที่มีเหตุจำเป็น มีวาระค้างเป็นจำนวนมาก ก็จะเปิดให้มีการประชุมเป็นวันเพิ่มเติมขึ้นมา อย่างไรก็ตาม ก็ปรากฏโดยข้อเท็จจริงว่า ในสมัยประชุมที่หนึ่งนั้นมีการประชุมเพิ่มเติมในวันศุกร์ ถ้าผมจำไม่ผิดก็เพียงแค่ ๑ ครั้ง ในช่วงท้าย ๆ ของสมัยประชุมเท่านั้น ความจริงก็อยากหารือเพื่อนสมาชิกกับท่านประธาน ตรงไปตรงมาว่าวันนี้ผมดูวาระคร่าว ๆ เอาแค่ญัตติอย่างเดียวก็รวมกันแล้วเป็นจำนวนถึง ๓๑ ญัตติ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการเพิ่มวันประชุมกันตั้งแต่ต้น เพราะว่าเดี๋ยวงบประมาณ ก็มา เดี๋ยวอภิปรายทั่วไป เดี๋ยวอภิปรายไม่ไว้วางใจอีก เราก็จะได้เร่งทำงานให้เสร็จ ถ้าเป็นไปได้ อยากจะขอ ๓ วันด้วยซ้ำ แต่หากเป็นกรณีที่ ๓ วันยังไม่ได้ เรามีข้อตกลงอีกข้อหนึ่งครับ ท่านประธานว่าหากเป็นกรณีที่มีเรื่องของกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายจากเพื่อนสมาชิก หรือเป็นกฎหมายจากภาคประชาชนเสนอเข้ามานี้ อย่างน้อยที่สุดจะต้องมีการกำหนดวัน เพิ่มเติมหรือกำหนดวันให้ชัดไปเลยว่าจะมีการประชุมในวันใด ผมขออนุญาตท่านประธาน นำเรียนข้อเท็จจริง เท่าที่ผมอ่านในวาระการประชุมพบว่าวันนี้มีข้อกฎหมายที่ภาคประชาชน เสนอและเพื่อนสมาชิกเสนอรวมกันถึง ๘ ฉบับด้วยกัน ๘ ฉบับนะครับ ความจริงเมื่อคืน ๖ ทุ่มผมรออีกฉบับหนึ่ง เพราะว่ามีท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ไปสัญญาไว้กับพี่น้อง ประชาชนว่าร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เรียกย่อ ๆ ว่าสมรสเท่าเทียมนี้ จะมาสภา ผมก็ดูวาระไม่เจอ ก็ไม่เป็นอะไร เดี๋ยวว่ากันว่าตกลงท่านประธานตกหล่นหรือว่า เขายังไม่ได้ส่งมาที่สภาเรานะครับ อันนั้นว่ากันไว้ก่อน แต่ว่าในเมื่อวันนี้มีกฎหมาย สส. มีกฎหมายภาคประชาชนค้างอยู่ตั้ง ๘ ฉบับ แล้วก็ไม่รู้ว่าวันนี้ พรุ่งนี้จะเดินหน้าไปถึงไหน ก็หารือเพื่อนสมาชิกพรรครัฐบาลด้วย พรรคร่วมรัฐบาล ท่านประธานว่าตกลงจะเพิ่ม วันประชุมกฎหมายอย่างเดียวได้หรือไม่ หรือตกลงกันได้ไหมครับว่าถ้าอย่างนั้นเราแยกวาระ กันชัดเจนไปเลยครับ เอาสัปดาห์หน้าก็ได้ สัปดาห์นี้ยังไม่ทัน สัปดาห์หน้าเริ่มเลยครับ วันพุธหน้าจะมีการนัดประชุม เอากฎหมายแยกไปพิจารณา ๑ วันเลย ถ้า ครม. จะส่ง ความผิดจากการใช้เช็ค ถ้า ครม. จะส่งกฎหมาย ป.ป.ช. สมรสเท่าเทียม อากาศสะอาด นี่ผมฟังจากท่านศรัณย์ ทิมสุวรรณ ให้สัมภาษณ์วิทยุสภาเมื่อเช้า เอามาเลยครับ เริ่มวันพุธ หน้าเลย ก็จะได้แยกวันไปชัดเจนว่าตกลงกฎหมายของภาคประชาชน สภาชนเผ่าพื้นเมือง ได้ข่าวจะอุ้มอีกแล้ว ค้างมาตั้งแต่สมัยที่แล้ว จะได้มีการพิจารณา ฉะนั้นโดยสรุปครับ ท่านประธาน ผมขอพิจารณาให้เพื่อนสมาชิกพรรครัฐบาลได้ช่วยกันหารือหรือพิจารณาว่า ขอแค่ ๒ อย่างครับ อย่างหนึ่งถ้าเป็นไปได้อยากให้มีการเพิ่มวันประชุมเป็น ๓ วัน แต่ถ้า เห็นว่าการเพิ่มวันประชุมเป็น ๓ วันยังเอาไว้ก่อน ดูเอาตามที่จำเป็นก็ขอให้มีการแยกวาระ ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องให้ความสำคัญกับกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชน แม้กระทั่งกฎหมายที่มีเพื่อนสมาชิก สส. เสนอเข้ามาเป็นอันดับแรก ๆ ก่อนด้วยซ้ำไป ก็มี ๒ ประเด็นที่อยากจะหารือท่านประธานผ่านไปยังเพื่อนสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลครับ เปิดเทอมใหม่หัวใจไม่ว้าวุ่นนะครับ แต่อยากเร่งทำงานให้ตอบสนองต่อพี่น้องประชาชน มากที่สุดครับ ขอบคุณท่านประธานครับ
ท่านประธานครับ ณัฐวุฒิครับ ด้วยความเคารพ พอดีเห็นเพื่อนสมาชิกยกมือก็อยากจะฟังอีกท่านหนึ่ง แต่ว่าประเด็นของผม แค่กลัวว่าตกลงท่านประธานตกหล่นหรือเปล่า เพราะว่าเขารอกันถึง ๖ ทุ่มเมื่อคืน ตกลง คือยังไม่ส่งใช่ไหมครับ พ.ร.บ. อากาศสะอาด พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ยังไม่มานะครับ ท่านประธาน เอาสรุปตามนั้น แต่ประเด็นนี้ไม่สำคัญครับ ประเด็นที่สำคัญของผมก็คือว่า อยากให้มีความชัดเจน บังเอิญพวกผมอยากไปคุยด้วย วิปฝ่ายค้านเต็มตัวเป็นทางการมันก็ยัง ไม่มีครับ ฉะนั้นอยากให้มีความชัดเจนว่าเอากันเลยไหมสัปดาห์หน้า ต่อไปนี้เป็นต้นไปขอให้ แยกวาระการประชุมกฎหมายออกมาเป็น ๑ วัน จะเริ่มจากกฎหมายรัฐบาลก่อนก็ยินดี เพราะรู้ว่าก็มีประเด็นที่สำคัญที่รัฐบาลจะเป็นเครื่องมือในการทำงาน แต่ก็ต้องตามมาด้วย กฎหมายของ สส. กฎหมายของภาคประชาชนที่มีอีกหลายฉบับ ถ้าเข้าไปดู Website นี้ ผ่านการรับฟังความคิดเห็นอีก ๔๐-๕๐ ฉบับ เราจะได้ทำงานกันอย่างเต็มที่ ก็ขอหารือ ประเด็นนี้มากกว่าครับ ส่วนประเด็นเมื่อสักครู่ก็เป็นประเด็นที่จริง ๆ ผมก็พอทราบ สาธารณชนรับรู้ก็เป็นเรื่องยินดีครับ ขอบพระคุณครับ
ผมขอประทานโทษครับ ท่านประธาน
ท่านประธานครับ ณัฐวุฒิครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทอง ต้องขอบพระคุณ ท่านประธานที่ได้กรุณาอยากให้หารือครับ แต่หารือกันมาหลายวันนะครับ ทีนี้ประเด็นก็คือ ว่าที่ท่านกำลังพูดถึงว่าอยากให้รอเพราะว่ามาแน่ ๆ เดือนธันวาคม ผมมีเหตุผล ๒ ประการ ที่จะบอกว่าคงรอไม่ได้ครับ
ประการที่ ๑ ก็คือว่าร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์สมรสเท่าเทียม เราถูกเบี้ยวมาแล้วนะครับในสภาชุดที่ ๒๕ และเนื้อหา ที่คณะรัฐมนตรีกำลังพิจารณาอยู่ ณ ปัจจุบันคือร่างที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เนื้อหาเหมือนกันเป๊ะเลยครับ กฤษฎีกาไม่ต้องตรวจเลย ท่านบอกเองจะส่งวันที่ ๑๒ เดือน ๑๒ ไม่ใช่ Lazada Shopee นะครับ ๑๒ เดือน ๑๒ ปี ๖๖ วันนี้ ๑๓ นะครับ รอถึง ๖ ทุ่มท่านไม่ส่ง ฉะนั้นไม่รอแล้วครับ หากถ้าจะมีการมาพิจารณาในเชิงเนื้อหาก็ว่ากันไป ในเนื้อหา รับหลักการไปก่อนไปพิจารณากันดู แต่คงไม่รอแล้วครับ นั่นเหตุผลประการที่ ๑
เหตุผลประการที่ ๒ ก็คือที่จะมาบอกว่ารอไปก่อนเดือนธันวาคมพิจารณาแน่ ไม่มีใครกล้ายืนยันหรอกครับ ท่านศรัณย์กล้ายืนยันหรือครับ กฎหมายอากาศสะอาดก็ยังรอ กฎหมายสภาชนเผ่าพื้นเมือง พวกนี้ไม่รู้จะได้พิจารณาหรือเปล่า กฎหมายควบคุมเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์อีก ฉะนั้นผมคิดว่าก็แน่นอนครับในเมื่อพรรคฝ่ายค้านยืนยัน มีผู้รับรองถูกต้อง โหวตก็โหวตครับ จะได้รู้ว่าตกลงแล้วเราให้ความสำคัญกับร่างกฎหมายภาคประชาชน ร่างกฎหมาย สส. มากน้อยขนาดไหน เอามาต่อกันเลยครับ ส่วนญัตติที่ค้างแยกวันพิจารณา ไปเลยตั้งแต่สัปดาห์นี้เราก็ยินดีครับ เพื่อนสมาชิกหลายคนยังไม่ได้จองตั๋วกลับวันพฤหัสบดี ผมคิดว่าฝ่ายค้านไม่เปลี่ยนใจ ไม่ถอยหลัง เดินหน้าแน่นอน ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม โหวตก็โหวตครับท่านประธาน
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัด อ่างทองครับ ก่อนอื่นต้องขอบพระคุณท่านสาธิต ทวีผล ที่ให้ผมเป็นผู้สรุปญัตติ เรื่อง ขอให้ สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมกัน ของคนภายในชุมชนและลิงในจังหวัดลพบุรี และพื้นที่อื่น ๆ จะบอกว่าไม่เกี่ยวก็คงไม่ใช่ครับ เพราะว่าบังเอิญว่าจังหวัดอ่างทองของผมนั้นติดกับพื้นที่จังหวัดลพบุรี บางครั้งลิงลพบุรี ก็ขึ้นรถบัสสายลพบุรี-สุพรรณบุรีมาลงที่จังหวัดอ่างทอง นี่เรื่องจริงนะครับ สัปดาห์ที่แล้ว ผมขี่จักรยานก็เจอลิงอยู่ตัวหนึ่งอยู่ใกล้ ๆ วัดต้นสน อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง ฉะนั้น เรื่องลิงไม่ใช่เรื่องของคนวังนารายณ์คู่บ้าน ศาลพระกาฬคู่เมือง ปรางค์สามยอดลือเลื่อง เมืองแห่งดินสอพอง เท่านั้นครับ แต่ว่ามันมีนัยมากกว่านั้น แล้วมีนัยที่ผมอยากสนับสนุน สิ่งที่ท่านสรรเพชญ บุญญามณี เพื่อนสมาชิกจากพรรคประชาธิปัตย์ จังหวัดสงขลา ที่ท่าน เป็นสารตั้งต้นในการเสนอญัตติเป็นคนแรก เพราะเรื่องนี้เกินกำลังกว่าที่กรรมาธิการสามัญ คณะใดคณะหนึ่งจะพิจารณาศึกษาได้ ถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมาสภาชุดที่ ๒๕ สส. ประทวน สุทธิอำนวยเดช เพื่อนสมาชิกจากพรรคภูมิใจไทย จังหวัดลพบุรี ณ ขณะนั้น ก็เคยมีการ ตั้งกระทู้ถามเรื่องนี้ต่อรัฐมนตรีท่านใดท่านหนึ่ง ผมเองก็จำไม่ชัดว่าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ถ้าวันนั้นแก้ปัญหาได้วันนี้ก็คงไม่เกิดหรอกครับ แต่วันนั้นมันยังแก้ไม่ได้มันเลยต้องมาถึงวันนี้ ผมคิดว่าวันนี้มันมีเหตุผลจากสิ่งที่เพื่อนสมาชิก ทั้งหมด เจ้าของญัตติ ๔ ท่าน ผู้อภิปรายอีก ๑๕ ท่าน ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล ๘ ท่าน ได้เป็นผู้อภิปรายและมีนัย มีประเด็นที่อยากจะขอวิงวอนสภาแห่งนี้อีกครั้งหนึ่งว่า ร่วมกัน อีกครั้งได้ไหมครับ จะได้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากันอย่างจริงจัง อย่าให้เป็นภาระ ลูกหลานและอย่าให้เป็นภาระลูกหลานลิงในอนาคตเลยครับ ส่วนจะตั้งกรรมาธิการที่มาจาก ลิงได้หรือไม่ ผมก็คงยืนยันว่าเท่าที่สำรวจชื่อลิงทั้งหมดแล้วก็ยังไม่สามารถจะหาชื่อลิงใด ที่เหมาะสมในการตั้งเป็นกรรมาธิการได้ ผมมีอยู่ ๕ ประเด็น ที่อยากจะสรุปให้ท่านประธาน ได้รับทราบครับ
ประการที่ ๑ ที่อยากจะต้องนำเสนอซึ่งต้องขอบพระคุณท่านธีระชัย แสนแก้ว เป็นอย่างยิ่งครับ เพราะว่าข้อมูลท่านธีระชัย แสนแก้ว เพื่อนสมาชิกจากพรรคเพื่อไทย จังหวัดอุดรธานี กุมภวาปี พูดไว้น่าสนใจครับ ประการที่ ๑ ที่กำลังพูดถึงนี้ เรากำลังพูดถึง จำนวนประชากรลิงที่เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา ลพบุรีมี ๘,๐๐๐ ตัวโดยประมาณ ความจริงนี่ก็ ตัวเลขเก่า ตัวเลขที่เรามีจริง ๆ นั้นประมาณ ๑๐,๐๐๐ ตัวเศษ เพื่อนสมาชิกจากนครสวรรค์ คุณกฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี เขาหน่อ เขาพระ รวมกันก็อีกประมาณ ๘,๐๐๐ ตัว คุณธีระชัย แสนแก้ว สรุปให้เห็นว่าสถานการณ์ปัญหาลิง ณ ขณะนี้เกิดขึ้นทั้งหมดอยู่ใน ๑๘๓ แห่ง ใน ๕๓ จังหวัด และ สส. ที่มาจาก ๕๓ จังหวัดนั้นจะไม่ช่วยกันเสนอหรือครับว่าอย่างน้อยที่สุด อ่างทองมีลิงนะครับ ไม่ใช่ไม่มี อยุธยา คุณชริน วงษ์พันธ์เที่ยง ไม่ได้พูดถึง ลิงที่วัดไก่ ตำบลหันสัง อำเภอบางปะหันของท่านก็มี คุณสรพัช ศรีปราชญ์ นั่งอยู่ข้างผม ลิงที่เขาปฐวี ที่เขาโพธิสัตว์ ที่พระพุทธบาท พระพุทธเจ้าฉาย จังหวัดสระบุรีก็มี แล้ว ๕๓ จังหวัดที่ท่าน มีตัวแทนสมาชิกรวมกันไม่น้อยกว่า ๓๐๐ คนแน่ ๆ จะไม่ยืนหยัดยืนยันว่าเรื่องนี้จะตั้ง กรรมาธิการวิสามัญหรือครับ ท่านตอบคำถามเวลาที่กลับไปบ้านท่านได้หรือครับ นั่นเป็น ประเด็นที่ ๑ ที่ผมจำเป็นต้องสรุปให้เห็นว่าสถานการณ์ปัญหานั้นมีความสำคัญยิ่ง และเป็น สถานการณ์ที่กว้างขวางครอบคลุมถึงทั้งประเทศครับ
ประการที่ ๒ ท่านประธานครับ จะบอกว่าลิงอยู่ก่อนคน คนอยู่ก่อนลิง ลิงอยู่ ในป่า ลิงอยู่ในเมือง ไม่เป็นอะไรเลยครับ เอาแต่เพียงลพบุรีที่บอกว่ามีลิงอยู่ ๔ กลุ่ม ลิงที่ตึก ลิงที่ศาลพระกาฬ ปรางค์สามยอด ที่พวกเราก็อยากไปเที่ยวบางครั้งก็กังวล คุณเชตวัน เตือประโคน เคยไปหาเสียงที่จังหวัดลพบุรีนั่งประชุมกันอยู่ในศาลพระกาฬ โดนลิง เอาแว่นตาไป ต้องติดสินบนด้วยยาคูลท์นะครับ ติดสินบนอย่างไร คือยื่นยาคูลท์ไปปุ๊บ ลิงรับยาคูลท์ปล่อยแว่น คุณเชตวัน สส. ปทุมธานี ถึงได้แว่นกลับมานี่เรื่องจริง ไม่ได้พูดกัน โม้ ๆ ฉะนั้นประเด็นที่ ๒ ที่กำลังพูดถึงตัวต่อเนื่องจากสถานการณ์ก็คือว่าจะลิงศาลพระกาฬ จะลิงตึก จะลิงอะไร มาลัยรามา จะลิงใด ๆ ก็แล้วแต่มันต้องมาพิจารณาเงื่อนไข หรือความจำเป็นในแต่ละที่ไม่เหมือนกัน ลิงของท่านสรรเพชญ บุญญามณี เข้ามาถึงตัวเมือง จังหวัดสงขลา แต่ลิงของคนกฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี ยังอยู่ที่เขาหน่อซึ่งเป็นวนอุทยาน เราไปเที่ยววนอุทยานโกสัมพี ถิ่นนี้นั้นมีมนต์ขลัง ที่มหาสารคามเราก็บอกแบบนี้ รับได้ เพราะอยู่ในวนอุทยาน แต่อาหารการกินกล้วยต้องส่งกันนิดหนึ่งนะครับ เพราะว่าเดี๋ยว อาจจะไม่พอต่อการกิน ไม่เป็นอะไรไม่ว่ากัน แต่ด้วยเหตุจำเป็นเงื่อนไขที่ไม่เหมือนกันเลย เป็นประการที่ ๒ ที่ต้องมาดูรายละเอียดว่าแนวทางการแก้ไขปัญหานั้นควรจะทำอย่างไร
ประการที่ ๓ ท่านประธานครับ สิ่งที่แก้กันอยู่ ณ ขณะนี้ถ้ามันตอบโจทย์ มันแก้ได้ครับ เราไม่สามารถควบคุมจำนวนประชากรลิงได้ ด้วยการตัดสินชีวิตลิง ไม่สามารถ หยุดหรือเบรกชีวิตเขาได้ ลิงเป็นสัตว์ตามเงื่อนไขกฎหมายที่เรียกว่าสัตว์สงวน และ ๑ ชีวิต เท่าเทียมกับพวกเรา การแก้ปัญหาคือการทำลายชีวิต ทำไม่ได้ การทำหมันทำได้หรือไม่ครับ ทำได้ครับ เงื่อนไขของจังหวัดลพบุรีซึ่งต้องขอบพระคุณทางจังหวัด ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด อำพล อังคภากรณ์กุล เป็นประธานใหญ่นั่งประชุมกัน ลิงมี ๘,๐๐๐ ตัว เอาน่ะเดินหน้ากัน ทำหมันกัน ถามท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทำได้กี่ตัวครับ ปีละ ๓๐๐ ตัว ด้วยเหตุผลข้อจำกัด งบประมาณวัคซีน เงื่อนไขทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ของสำนักที่ต้องไปลงพื้นที่ทำ ท่านลอง ไปดู Series ที่ไทยรัฐทำอยู่ได้เลยครับ ตอนนี้ Series ที่เกี่ยวกับปัญหาลิงในลพบุรีมาถึง ตอนที่ ๕ แล้ว การทำหมันทำเองได้ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ครับ จะย้ายลิงออกจากเมืองบางส่วน ก็เหมาะที่จะทำ แต่หากมีจุดที่ลิงไปอยู่นั้น เป็นจุดที่เหมาะสมสามารถดูแลและให้ลิงเติบโต ได้หรือไม่ ก็เป็น Question Mark ที่แต่ละที่ไม่มีเหตุที่เหมือนกันเลย นั่นเป็นประการที่ ๓ ที่จำเป็นให้เห็นว่าการแก้ปัญหาที่มีอยู่นั้นจำเป็นที่ต้องเกิดการบูรณาการ ดังเช่นจังหวัดลพบุรี ที่มีการทำมาอย่างต่อเนื่อง ทีมงานพรรคก้าวไกล จังหวัดลพบุรี ก็ทำงานกับผู้ว่าราชการจังหวัด กับท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหานี้ รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวต่าง ๆ ด้วย
ประการที่ ๔ ท่านประธานครับ ก็คือว่าถ้าอย่างนั้นประเทศไทยเราก็มี กระบวนการในการท่องเที่ยวไปดูลิงไม่ใช่หรือ ก็มีครับ มีจริงครับอยู่ในหลายพื้นที่ครับ งานโต๊ะจีนลิงลพบุรีก็เป็นงานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว เขาหน่อ นครสวรรค์ พี่น้องไปนั่งดูกัน ที่สนามหญ้า เคยเป็นข่าวว่าเจอลิงยักษ์อยู่บนเขาหน่อ แต่เอาเข้าจริง ๆ เราก็ไม่แน่ใจว่าตัวใหญ่ ขนาดไหน เพียงแต่ว่ามันดึงดูดนักท่องเที่ยว ฉะนั้นมันอยู่ร่วมกันได้โดยเงื่อนไขที่พิจารณา อย่างเหมาะสม แต่การท่องเที่ยวนั้นจะต้องดูบนบริบทของว่าคนในพื้นที่ต้องการอย่างไร ท่านไปดูไทยรัฐลงทุนทำสำรวจประชากรของพี่น้องเราที่จังหวัดลพบุรี ๑๐,๐๐๐ กว่าคน คนอ่างทองอาจจะบอกว่าเอาไว้เถอะน่า คนอ่างทองนั่งรถไปจะได้ดู ด้วยความเคารพนะครับ นี่ยกตัวอย่าง ไม่กล่าวไปกระทบจังหวัดอื่น แต่คนลพบุรี ๑๐,๐๐๐ กว่าคนที่อยู่ในพื้นที่ ที่มีการสำรวจ ที่มีการทำประชาคม ที่มีการทำความคิดเห็น เขาบอกว่าสถานการณ์นี้ อย่า ต้องถามคนเขาแล้วเขาอยากมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในพื้นที่ของเขาเอง แต่ Model นี้ การตัดสินใจมันเกิดได้ไม่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะมันติดเงื่อนไขกฎหมายที่เราพูดถึง ความเป็นสัตว์ มันติดเงื่อนไขกระบวนการ มันติดเงื่อนไขงบประมาณ มันติดเงื่อนไขที่มุมมอง ทางศาสนาหรือมุมมองอื่น ๆ ต่อการดูแลลิงเข้าไปอีก นั่นเป็นประการที่ ๔ ที่ผมอยากจะ นำเรียนต่อท่านประธานครับ
ประการที่ ๕ เป็นประการสุดท้ายครับ ผมอยากจะนำเรียนท่านประธาน ให้เห็นก็คือว่าสภาแห่งนี้ได้พิจารณาญัตติไปหลายญัตติครับ แล้วท้ายที่สุดก็ให้กรรมาธิการ สามัญคณะใดคณะหนึ่งรับไปพิจารณา เงื่อนไขแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่เราเข้าใจดีว่า เงื่อนไขของกรรมาธิการสามัญมีข้อจำกัด ขณะนี้บางคณะซึ่งมีชื่อแพลม ๆ ออกมาว่าจะส่ง ญัตตินี้ไป ผมสอบถามเบื้องต้นเขาก็บอกว่าอนุเขาก็เต็มอยู่แล้ว อนุมีแค่ ๑๐ คน ถ้าตั้งเป็น คณะทำงานอาจจะมากขึ้น แต่ก็ไม่กว้างขวางพอครับ เรื่องการแก้ไขปัญหาลิงจำเป็นที่จะต้อง มีการร่วมมือกันระหว่าง ๑. ภาคส่วนทางวิชาการ ๒. ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคประชาสังคม ที่ดูแลทรัพยากรธรรมชาติ สวัสดิภาพสัตว์ต่าง ๆ ๓. ภาคส่วนที่มีองค์ความรู้เฉพาะ ๔. พื้นที่หรือคนที่เป็นหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่มากกว่า ๒ หน่วยอย่างที่เพื่อนสมาชิก บางคนได้พูดถึงแน่ ๆ แล้วก็ ๕. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและคนที่อยู่ในพื้นที่ ฉะนั้นการที่ เราจะสร้าง Model ในการแก้ไขปัญหาลิงอย่างเป็นระบบ ผมก็อยากวิงวอนต่อเพื่อนสมาชิก ในที่นี้ว่าขอให้พวกเราช่วยกันอีกครั้งหนึ่งในการยกมือการสนับสนุน ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ของเราตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมกัน เห็นไหมครับ ของคนภายในชุมชนและลิง ซึ่งคุณสาธิต ทวีผล อาจจะพูดถึงจังหวัดลพบุรี แต่เรากำลัง พูดถึงทั้งประเทศ เพื่อนสมาชิกที่เคารพครับ ด้วยเหตุดังกล่าวนั้นพรรคก้าวไกลขอยืนยันว่า สำหรับญัตตินี้ไม่มีเหตุผลอื่นใดที่จะไม่ตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาแก้ไข และการ ตั้งกรรมาธิการวิสามัญนั้นจะนำไปสู่คำตอบที่ดีที่สุดที่จะนำไปสู่การทำให้ทั้งคนและลิง อยู่ร่วมกันได้ภายใต้เงื่อนไขและบริบทของพื้นที่แต่ละแห่งที่ไม่เหมือนกัน พรรคก้าวไกล ขอยืนยันเช่นนั้นครับ ขอบคุณครับท่านประธานครับ
ท่านประธานครับ ณัฐวุฒิครับ ใช้สิทธิพาดพิงนิดเดียวครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัด อ่างทองครับ ต้องขออนุญาตใช้สิทธิพาดพิงที่เพื่อนสมาชิกจากพรรคเพื่อไทย คุณวรงศ์ วรปัญญา เพื่อนสมาชิกจากจังหวัดลพบุรีได้พาดพิงนิดเดียวครับ เป็นการประชุมอันเดียวกัน ท่านครับ เพียงแต่ว่าด้วยความเคารพ ผมพูดเฉพาะว่าท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีการนัดประชุม คณะทำงานแก้ปัญหาลิงอย่างต่อเนื่อง และในที่ประชุมนั้นมีตัวแทนของพรรคก้าวไกล เข้าร่วมประชุมด้วย เพียงแต่ผมไม่ได้เอ่ยว่าจริง ๆ ก็มีตัวแทนของพรรคการเมืองอื่น และภาคส่วนอื่น ๆ เข้าประชุมด้วยเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรขัดแย้ง เพียงแต่ว่าเดี๋ยวท่านจะ เข้าใจผิดหาว่าผมไปกล่าวหาว่าไม่มีตัวแทนของพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่นะครับ ผมพูดแต่เพียงว่า ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นนั่งประชุมและมีตัวแทนของพรรคก้าวไกลด้วย แต่จะมีตัวแทน ของพรรคอื่นครบถ้วนหรือไม่ อย่างไร ผมไม่ทราบ แต่มีตัวแทนของพรรคเพื่อไทยอยู่ด้วย ขอบพระคุณครับ
ขอบพระคุณมากครับ ท่านประธาน ต้องขอประทานโทษท่านวรวงศ์ด้วยครับ ขอประทานโทษครับ
ขอบคุณครับ ท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทอง ท่านประธานครับ ผมใส่ชื่อไว้หากเกิดกรณีที่อาจจะมีการไม่เซ็นอนุมัติ ร่างพระบัญญัติฉบับใดฉบับหนึ่งผมก็จะได้อภิปรายถึงหลักการว่าเพราะเหตุใดท่านถึงให้ ความสำคัญต่อร่าง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องกับอากาศสะอาดหรือฝุ่นพิษไม่เท่าเทียมกัน แต่ไม่เป็นอะไร ในเมื่อวานนี้ทั้ง ๗ ร่างนั้นได้รับการรับรองและเข้าสู่สภาแห่งนี้ผมก็คงต้องพูดแทนพี่น้องชาว จังหวัดอ่างทองว่าขณะนี้สถานการณ์เรื่องของฝุ่นพิษ มลพิษต่าง ๆ ในจังหวัดอ่างทองนั้น เป็นอย่างไร ผมยกตัวอย่างให้ท่านประธานเห็นนะครับ ท่านประธานเองก็ขึ้นเครื่องบิน เดินทางจากจังหวัดเชียงรายอาจจะผ่านจังหวัดอ่างทองอยู่บ้าง จังหวัดอ่างทองเล็ก ๆ ของเรานี้มีด้วยหรือครับเรื่องฝุ่นพิษ แต่ถ้าเราดูตามข่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือน ธันวาคมที่ผ่านมาก็ชัดเจนว่าฝุ่นพิษ PM2.5 ของจังหวัดอ่างทองนั้นขึ้นอันดับ ๑ ของประเทศ อย่างไม่น่าเชื่อ บางครั้งเป็นอันดับ ๒ บางครั้งเป็นอันดับ ๓ บางวันเป็นอันดับ ๔ อันดับ ๕ อันดับ ๖ อันดับ ๗ อันดับ ๘ แล้วเกือบทั้งหมดอยู่ใน ๑๐ อันดับแรกโดยตลอด ทางฝ่ายรัฐ ราชการมีข้อมูลหรือไม่ว่าจังหวัดเล็ก ๆ อย่างจังหวัดอ่างทองที่เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ แต่ เพราะเหตุใด ไม่ได้มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ไม่ได้มีการเผาป่า ไม่ได้มีผลิตภัณฑ์เรื่อง ของการเกษตรขนาดใหญ่ แต่ทำไมฝุ่นพิษมันถึงมากมายขนาดนั้น ผมยกตัวอย่างให้ท่านเห็น นะครับ เอาแค่วันที่ ๑๐ มกราคมซึ่งเป็นวันหนึ่งที่มีค่า PM2.5 เกินค่าเฉลี่ยโดยตลอด ที่ อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง ๑๐๑.๑๓๕๘ อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง ๙๘.๗๖๔๑ ที่อำเภอ ป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ๘๘.๐๙๕๕ ที่อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง ๙๑.๒๓๙๓ ที่อำเภอ แสวงหา จังหวัดอ่างทอง ๘๔.๘๖๑๘ ที่อำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง ๘๑.๓๗๖๔ อำเภอ วิเศษชัยชาญ ๘๖.๑๓๔๘ นี่เกินค่าเฉลี่ยของมลพิษโดยตลอด มีคำตอบไหมครับว่าเกิดอะไร ขึ้น สิ่งที่คณะทำงานทีมงานพรรคก้าวไกลจังหวัดอ่างทอง และทีมงานของพรรคก้าวไกลบอก ให้ Monitor นะ เพราะว่าจุดที่เรียกว่าจุด Hotspot ในอ่างทองเกิดน้อยมากครับ บางวันมีแค่ ๓ จุดเอง แต่เราเห็น Hotspot ในจังหวัดเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมาก เราก็ตั้งคำถามง่าย ๆ ครับ ผมเอง ก็ต้องตั้งคำถามว่าร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดทั้ง ๗ ฉบับนั้นมีคำตอบต่อสิ่งที่ผมจะถามเหล่านี้ หรือไม่
คำถามประการที่ ๑ ที่ทีมงานก้าวไกลอ่างทองถามผู้ว่าราชการจังหวัดก็คือว่า ๑. เทคโนโลยีการตรวจวัดค่าฝุ่นตามมาตรฐานได้มาตรฐานหรือไม่ อย่างไร ตั้งอีกจุดหนึ่ง ไม่เหมือนกันนะครับ ผมเองตั้งในบ้านบางวันขึ้นไป ๑๐๐ กว่า แต่ตั้งอีกจุดหนึ่งที่ห่าง จากบ้านไม่ถึง ๕๐๐ เมตร ลงไปนั่งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบางครั้งก็งงเหมือนกันว่าวันนี้ เป็นหมอกหรือควัน ลงไปนั่งคุยกับแม่น้ำอยากจะถามว่าวันนี้เธอเป็นอย่างหมอกหรือควัน ซึ่งเราก็แยกไม่ออก
คำถามประการที่ ๒ ก็คือระบบการเตือนภัยในระดับพื้นที่หรือชุมชนอยู่ที่ใด เราเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังต้องเข้าไป Search เลยว่าวันนี้ GISTDA บอกแบบใด อย่างไร แต่เสียงตามสายที่อยู่ในชุมชนหรือแม้กระทั่งจังหวัดไม่ได้มีการเตือนนะครับ
คำถามประการที่ ๓ ก็คือแล้วกลุ่มเปราะบางอย่างไร ผมพูดแค่ลง Twitter ว่าวันนี้พี่น้องชาวอ่างทองมีฝุ่นเกิน ปรากฏว่ามีชาวบ้านร้องมาถึงผมบอกว่าขอบพระคุณมาก นอนโรงพยาบาลมาแล้ว ๕ วันด้วยอาการภูมิแพ้ สิ่งเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นคนตั้งครรภ์ ไม่ว่า จะเป็นเด็ก ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย โรคต่าง ๆ ที่มีลักษณะเฉพาะเขาก็ต้อง ได้รับการเตือนภัยหรือการป้องกันเป็นพิเศษ
ประเด็นที่ ๔ ก็คือตกลงการลดการเผานั้นทำได้จริงหรือไม่ ไร่อ้อยเอาอย่างไร นาข้าวเอาอย่างไร นาข้าวที่ท่านไปรณรงค์มีการเอากรณีของการเอาฟางข้าวไปทำอย่างนั้น อย่างนี้ มันไม่ได้ตอบโจทย์นะครับ เพราะโจทย์คือการเผาไปที่ตอหรือซังของข้าวที่อยู่ ในพื้นนา
ประเด็นที่ ๕ ก็คือเรื่องของรถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถบรรทุก รถขนทราย ซึ่งก็ต้องขอบพระคุณว่าทุกโครงสร้างของคณะกรรมการในระดับจังหวัดมีขนส่งจังหวัด มีตำรวจที่ดูแลสิ่งเหล่านี้ แต่ท่านคุมได้จริงหรือไม่ แล้วเดี๋ยวผมจะตั้งคำถามต่อ
ประเด็นที่ ๗ ก็คือมลพิษที่เป็นเรื่องของการดูแลโรงงานต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งมีสภาพไม่เหมือนกัน ที่ผมต้องตั้งคำถามว่าจะทำแบบนี้ได้จริงหรือไม่ เพราะอย่างที่ผม นำเรียนว่าโครงสร้างที่ตั้งไว้โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่าง พ.ร.บ. การบริหารจัดการเพื่ออากาศ สะอาดของคณะรัฐมนตรีนั้นบอกว่าต้องมีคณะกรรมการระดับจังหวัด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า มันข้ามจังหวัดมาครับ มันข้ามจากจังหวัดข้างเคียง มันข้ามจังหวัด มันข้ามมาจากประเทศ เพื่อนบ้าน แบบนี้การมีโครงสร้างของกรรมการจังหวัดตอบคำถามเหล่านี้ได้หรือไม่ ท่านชี้แจงให้พี่น้องชาวอ่างทอง ชี้แจงให้พี่น้องประเทศไทยได้ยินชัด ๆ ได้ไหมครับว่ามันตอบ ได้จริง ๆ นะว่าโครงสร้างในระดับจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ นั่นเป็นหมวดหมู่แรกที่เป็น หมวดหมู่ใหญ่หมวดหมู่ที่ ๒ ที่ผมอยากจะนำเรียนครับ เพราะว่าโครงสร้างที่ท่านสร้างไว้มี โครงสร้างในระดับชาติออกเป็น ๒ ชุดด้วยกัน ชุดหนึ่งดูเรื่องนโยบาย ชุดหนึ่งดูเรื่อง การบริหาร ผมยกตัวอย่างครับ ในมือของผมเป็นรายงานการตรวจสอบที่ ๗๘/๒๕๖๖ ของ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต่อโรงงานเอกชนแห่งหนึ่งที่ทำเรื่องอุตสาหกรรมสิ่งทอ ท่านประธานทราบไหมครับว่าโรงงานแห่งนี้มีการถูกร้องเรียนทั้งสิ้นตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ เป็น จำนวน ๓๕๓ ครั้งด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปล่อยก๊าซที่เรียกว่า CSO เกินค่ามาตรฐาน ท่านต้องไปแบบผมครับ ไปนั่งอยู่ฝั่งตรงข้ามโรงงานในหน้าหนาว เหมือนผู้ว่าราชการจังหวัด อ่างทองท่านปัจจุบันไปนั่ง แล้วท่านจะรู้ว่ากลิ่นมันเหม็นแบบใด แสบจมูกแบบใด นี่นั่งแค่ ครึ่งชั่วโมงนะครับ ตกลงการที่ท่านสร้างโครงสร้างให้มีกรรมการในระดับชาติ กรรมการนโยบาย กรรมการบริหารจัดการ ผมยกตัวอย่างแค่อันเดียว โรงงานในจังหวัด อ่างทองร้องไป ๓๐๐ กว่าครั้งในรอบเกือบ ๑๐ ปีที่ผ่านมา โครงสร้างระดับชาติจะแก้ปัญหา เหล่านี้ได้อย่างไร ซึ่งแน่นอนครับทั้งหมดทั้งมวลที่ผมพูดเหล่านี้นั่นเป็นประเด็นที่ผมคิดว่า ร่าง พ.ร.บ. ฝุ่นมลพิษและมลพิษข้ามพรมแดนของก้าวไกลนั้น ผมก็ไม่อยากแข่งต่อท่าน นะครับ แต่จริง ๆ ถ้าท่านกาก้าวไกลฝุ่นภัยต้องลดลงแน่นอน แต่อย่างไรก็ตามวันนี้เอาเป็นว่า เราเอาตรงกันไปตรงกันมาครับ ในเมื่อหลักการของกฎหมายทั้ง ๗ ฉบับนั้นเป็นหลักการที่มี ความใกล้เคียงกัน และท่านประธานอาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา ท่านก็พูดชัดตั้งแต่ การประชุมครั้งที่แล้วว่าเราจะพิจารณาร่วมกันและลงมติครั้งเดียวกัน ก็เชื่อว่าสภาแห่งนี้ จะเป็นตัวแทนพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งประเทศรับหลักการร่างกฎหมายทั้ง ๗ ฉบับพร้อมกันเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ มลพิษให้เกิดขึ้นอย่างถาวรในประเทศไทย ขอบคุณครับท่านประธาน
ท่านประธานครับ ณัฐวุฒิครับ ขออนุญาตนิดเดียวครับ ต้องขอประทานโทษท่านคุณหมอด้วยครับ พอดีชื่อผู้ชี้แจงมันผิด
ไม่ครับท่านประธาน เสียหาย ต่อคุณหมอครับ
ท่านประธานครับ ณัฐวุฒิ บัวประทุม ต้องขอประทานโทษท่านประธานจริง ๆ ครับ แต่ท่านประธานแก้ไขแล้วครับ บังเอิญว่าชื่อผู้ชี้แจงที่ขึ้นบนจอมันไม่ตรงกับชื่อคุณหมอสรณ ซึ่งด้วยความเคารพ ผมก็รู้จัก ท่านเคยเป็นกรรมาธิการ เกรงว่าสังคมจะเข้าใจคลาดเคลื่อน ก็เลยต้องรีบยกมือ ต้องขอประทานโทษท่านประธานด้วยครับ แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้แก้ไขแล้ว ขอบพระคุณครับ
ท่านประธาน ผม ณัฐวุฒิครับ ถ้าระหว่างนี้มีเพื่อนสมาชิกอภิปรายอีกสักท่านเดียวนะครับ พรรคก้าวไกลจะขอใช้สิทธิ อภิปรายเช่นเดียวกันครับ
ท่านประธาน ผมประท้วง ท่านประธานตามข้อ ๙ ท่านผู้ประท้วง ประท้วงข้อ ๕ เรื่องการเลือกประธาน ซึ่งไม่ถูกต้อง
ผมประท้วงท่านประธาน ตามข้อ ๙ ครับ ท่านผู้ประท้วงได้ประท้วง ข้อ ๕ ซึ่งไม่ถูกต้องครับ
ท่านประธานครับ ขออนุญาต หารือนิดเดียวก่อนจะเข้าสู่วาระครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมขออนุญาตหารือท่านประธานนิดเดียวครับ ที่กระหืดกระหอบเนื่องจากว่าเมื่อสักครู่ ไฟเตือนการลงมติในทุกห้องการประชุมคณะกรรมาธิการหมดเลยครับ ฉะนั้นขณะนี้ กรรมาธิการทุกคนกำลังวิ่งลงมา เลยต้องขอความชัดเจนว่าตกลงเกิดอะไรขึ้น หรือว่า ซ้อมไว้ก่อนครับ เพราะว่าวันนี้น่าจะลงมติหลายรอบ ก็เลยต้องขอความชัดเจนจากทาง ฝ่ายเลขาคือท่านประธาน ผมเองมาจากห้อง ๓๐๕ เหนื่อยนะครับ เรามีภาวะที่เคยเป็น โรคหัวใจมาแล้ว ฉะนั้นต้องขออนุญาตว่าไม่ทดลอง เอาจริง ๆ ว่าตกลงเกิดอะไรขึ้นครับ ท่านประธานครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ ท่านประธานครับ ขอหารือนิดเดียวครับ เนื่องจากว่าเมื่อเช้ามีความผิดพลาด ในเรื่องของออด ผมก็เลยไม่มั่นใจว่าบางคณะกรรมาธิการที่ประชุมอยู่ได้ยินเสียงออด หรือไม่ได้ยินเลย ไม่รู้นะครับ แต่ได้ยินเสียงแล้วจะคิดว่าแบบเมื่อเช้าหรือเปล่า คือไม่ลงมา ฉะนั้นอันนี้ผมจะมั่นใจได้อย่างไรว่ามีการประสานยืนยันชัดเจนทุกห้องที่กดไปว่าได้ยินเสียงออด และทุกห้องทราบว่าอันนี้ไม่ได้ซ้อมครับ เอาจริง อันนี้ขอความชัดเจนยืนยันจากท่านประธาน ด้วยความเคารพครับ ผมอยู่แค่ชั้น ๓ เมื่อเช้าใช้เวลา ๑๐ นาทีในการเดินมา ฉะนั้นถ้าเรา จะรอซึ่งสภาชุดที่แล้ว เราเคยรอถึง ๕๓ นาที ก็รอเพื่อนเราสักนิดหนึ่งครับ เพื่อความสมบูรณ์ เพราะว่าเดี๋ยว ๓๐๐ กว่า เดี๋ยวปีหน้ามาลงอีก แล้วท่านบอกว่าปีที่แล้ว ๓๖๕ วัน ลืมไปแล้ว ไม่ใช่ผมเมื่อวันนั้น เดี๋ยวจะผิดพลาดอีกครับ ก็เลยอยากได้ ๓๓๐ ให้ครบถ้วนเหมือนกับ ปีที่แล้วครับ ขอบคุณท่านประธานครับ
ท่านประธานครับ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลครับ รบกวนท่านประธานนิดเดียวครับว่า เนื่องจากว่าเพื่อนสมาชิกหลายท่านวันนี้มีการประชุมคณะกรรมาธิการ อย่างที่ท่านประธาน ได้นำเรียนว่าจะรอ แต่ว่าอีกด้านหนึ่งเพื่อความสมบูรณ์อยากจะให้ท่านประธานได้ตรวจ Check ว่าระบบสัญญาณเตือนในห้องประชุมกรรมาธิการจะเป็นไฟกระพริบหรือจะเป็นเสียง ได้ยินกันครบถ้วนสมบูรณ์ทุกห้องหรือไม่ เพราะว่าเพื่อนเราอาจจะไม่ได้ยิน แล้วเดี๋ยวไม่ได้มา ก็อยากให้ครบถ้วนสมบูรณ์ครับท่านประธาน
ท่านประธานครับ ผมหารือ อีกรอบได้ไหมครับ ณัฐวุฒิครับ
พอดีเป็นเรื่องสำคัญครับท่าน ถ้าไม่หารือตอนนี้เดี๋ยวจะเกิดความผิดพลาดครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลครับ ท่านประธานครับ เพื่อนสมาชิก หลายท่านได้แสดงตนโดยการขานด้วยวาจา ทีนี้เราเคยมีปัญหาครับว่าบางท่านตอนแรก มาขานด้วยวาจา แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้นไปเอาบัตรมาเสียบแล้วกดอีกรอบหนึ่งกลายเป็นว่า เป็นองค์ประชุมที่ซ้ำซ้อน ซึ่งอาจจะหมิ่นเหม่ต่อการผิดทั้งข้อบังคับและรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นเรื่องนี้ท่านประธานต้องกรุณาเตือนเพื่อนสมาชิกอย่างชัดเจน ผิดได้นะครับ สำหรับท่านที่กดทั้ง ๒ อย่าง พูดง่าย ๆ ก็คือทั้งพูดแล้วก็กดบัตร อันนี้ต้องเตือนหน่อยครับ ท่านประธาน
ขอบคุณครับ ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัด อ่างทอง ท่านประธานครับ พอเอ่ยคำว่า คนจังหวัดอ่างทอง ท่านก็คงถามว่าแล้วที่ จังหวัดอ่างทองมีพี่น้องชาติพันธุ์ใด ๆ อยู่หรือไม่ ผมเองก็เรียนครับว่าตกลงคำถามนั้น ต้องย้อนกลับกันมากกว่าครับว่า ในประเทศแห่งนี้มีคนไทยที่อ้างว่าเป็นคนไทยโดยแท้จริง โดยบรรพบุรุษ โดยไม่มีส่วนผสมของชาติพันธุ์ใด ๆ อยู่หรือไม่มากกว่า แต่กระนั้นก็ตาม งานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลเคยพูดอย่างชัดเจนว่า อย่างน้อยที่สุดน่าจะมีอยู่ประมาณ ๖-๙ ล้านคน ที่เป็นพี่น้องชาติพันธุ์ที่อาจจะเรียกว่าไทยหรือคนพื้นถิ่นดั้งเดิมที่ไม่ได้มี ส่วนผสมใด ๆ แต่อีก ๕๐ กว่าล้านคน หรือ ๖๐ ล้านคนโดยประมาณ ที่อยู่ในผืนแผ่นดิน แห่งนี้ ล้วนมีส่วนผสมจากชาติพันธุ์อื่น ๆ ทั้งสิ้นครับ ซ้ายมือของผมพี่น้องชาติพันธุ์มลายู สส. รอมฎอน ปันจอร์ ถัดไปครับ ของ สส. ไก่ ศุภปกรณ์ ก็มีพี่น้องชาติพันธุ์ม้ง ข้างหน้าผม สส. เชียงใหม่ อำเภอเชียงดาว มีพี่น้องหลากหลายพี่น้องลีซูใด ๆ ต่าง ๆ ข้างหลังผม สส. ฐิติกันต์ จากภูเก็ตพี่น้องมอแกน มอแกลน อูรักลาโวยจ สส. เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู จากเชียงใหม่ สส. วีรนันท์ ฮวดศรี จากขอนแก่น เลยไปถึงกรณีของพี่ผู้ไทที่กาฬสินธุ์ต่าง ๆ ฉะนั้นเราอยู่บนผืนแผ่นดินแห่งนี้ด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ และพหุวัฒนธรรม ที่มิอาจเปลี่ยนแปลงได้ แล้วนั่นคือความเป็นจริงที่เราต้องยอมรับกันครับ ความเป็นจริง ดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่สวยงาม เป็น Moment ทางประวัติศาสตร์ตามที่คุณรอมฎอนพูดถึง สืบเนื่องกันมาตั้งแต่สภาชุดที่ ๒๕ มาถึงสภาชุดที่ ๒๖ สภาชุดที่ ๒๕ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ การเมืองไทยที่มีคณะกรรมาธิการสามัญคณะหนึ่งขึ้นมา แล้วมี ๒ กลุ่มเป้าหมายที่ถูกเพิ่มเข้ามา ในประวัติศาสตร์ครั้งแรกนี้ ที่เรียกว่า คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเพิ่มเติมมาด้วย คำว่า กลุ่มชาติพันธุ์และผู้มีความหลากหลายทางเพศ นั่นคือ สิ่งที่สวยงามที่สุดครับ และผมโชคดีที่มีโอกาสได้นั่งเป็นรองประธานคณะนั้น และผม ยินดีเลยครับ ถ้าท่านประธานจะขยายเวลาให้ผมที่จะตอบทุกคำถามที่เพื่อนสมาชิก ยังคลางแคลงใจถึงวัตถุประสงค์ของการมีพระราชบัญญัติที่ว่าด้วยการส่งเสริม หรือการพูดถึง สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เพราะทุกคำถามเหล่านั้นมีงานศึกษาวิจัยอยู่ในรายงาน คณะกรรมาธิการของเราในชุดที่ ๒๕ ทั้งสิ้น อยู่ที่ว่าท่านอยากจะฟังคำตอบนี้อย่างจริงใจ หรือไม่ หรือมองว่าเป็นกฎหมายของประชาชน ดูถูกดูแคลนประชาชนว่าเขียนกฎหมาย ไม่เหมือนกับ Lawmaker หรือนักนิติบัญญัติที่นั่งอยู่ในสภาแห่งนี้ นั่นเป็นประการที่ ๑ ครับ
ประการที่ ๒ ท่านประธานครับ ที่ผมอยากจะนำเรียนและผมเชื่อมั่นว่า เพื่อนสมาชิกของเราอ่านกฎหมายรู้ ดูกฎหมายเป็น ก็คือว่าเรากำลังพิจารณาในชั้นที่เรียกว่า ขั้นรับหลักการ ฉะนั้นท่านดูแต่เพียงขั้นรับหลักการครับ หลักการเขียนว่าอย่างไรและดู เหตุและผลที่มาที่ไป รายละเอียดนั้นเป็นเรื่องที่จะนำไปสู่การพูดคุย การแก้ไขปรับปรุงกัน ในชั้นกรรมาธิการได้ แต่มิใช่การดึงเวลาที่โยกโย้โดยไม่มีหลักประกันว่ากฎหมายของพี่น้อง ประชาชนจะกลับเข้ามาในสภาแห่งนี้อีกจริงหรือไม่ กฎหมายฉบับนี้มีหลักการว่าอย่างไรครับ หลักการก็คือให้มีกฎหมายว่าด้วยสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ท่านตอบใจตัวเอง ง่าย ๆ สั้น ๆ ชัด ๆ ว่าอยากให้มีกฎหมายว่าด้วยสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยหรือไม่ เหตุและผลมีอะไรเยอะแยะไปหมดครับ ถ้าจะติดก็ติดอยู่คำเดียวคำที่ท่านใช้คำว่า อุษาคเนย์ เพราะคำนี้ถ้าผมจำไม่ผิดเป็นศัพท์ที่โดนบัญญัติขึ้นมาโดยคุณไมเคิล ไรท์ (Michael Wright) อดีตนักวิชาการด้านไทยคดีศึกษาที่เสียชีวิตไปแล้วนะครับ และเป็นคนนำคำว่า อุษาคเนย์ มาใช้ แทนพี่น้องที่อยู่ในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พวกเรากำลังอยู่นี้ และมันไม่มีเส้นพรมแดน ที่จะมา ขีดกั้น กั้นกลาง ฉะนั้นในเมื่อหลักการบอกว่าให้มีกฎหมายว่าด้วยสภาชนเผ่าพื้นเมือง แห่งประเทศไทย ผมก็ไม่เห็นว่าจะมีเหตุและผลใด ๆ ที่จะปฏิเสธการมีกฎหมายฉบับนี้ สภาแห่งนี้รับหลักการกฎหมายมาไม่รู้กี่ร้อยฉบับ ย้อนกันไปดูเถอะครับ ๖๐,๐๐๐ ฉบับ ที่ท่านรับหลักการมาตั้งแต่ปี ๒๔๗๕ ท่านรับที่หลักการหรือไม่รับด้วยหลักการ ท่านรับ ที่เนื้อหา หรือเนื้อหาเป็นสิ่งที่มาแก้ไขได้ ผมอยากยืนยันว่านี่คือการรับหลักการ เป็นประเด็นที่ ๒ ครับ
ประการที่ ๓ ท่านประธานครับ ประการที่ ๓ ที่อยากจะย้ำให้เห็นก็คือว่า พวกเราอาจจะรอได้ครับ อาจจะบอกว่า ๖๐ วันเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เดี๋ยวก็กลับมาแล้ว แต่สำหรับปัญหาที่พี่น้องชาติพันธุ์เจออยู่ทุกวันเขารอไม่ได้ครับ
ปัญหาประการที่ ๑ ไม่ว่าจะเป็นปัญหากรณีของสัญชาติและความเป็นพลเมือง วันเดียวที่เขาอาจไม่มีเลข ๑๓ หลัก แล้วก็ถูกจับพรุ่งนี้ วันเดียวที่เขาไม่สามารถเดินทาง มารักษาตาที่กำลังจะบอดจากอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรีของพี่น้องมอญ แล้วทำให้ เขาตาบอดตลอดชีวิต มันรอวันเดียวได้หรือครับ หรือวันเดียวก็รอไม่ได้ สภาแห่งนี้ เคยแก้ปัญหานะครับ ผมอภิปรายเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๒ นำไปสู่การที่ให้สัญชาติ เด็กมอญรายหนึ่ง และทำให้เขาได้มารักษาตาในกรุงเทพมหานคร ฉะนั้นหลักการที่เราพูดถึง ปัญหาว่าสัญชาติและความเป็นพลเมืองของพี่น้องชาติพันธุ์ เราไม่สามารถอ้างเหตุและผล ในการรอได้
ปัญหาประการที่ ๒ คือปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ซึ่งคุณเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ได้พูดชัด ท่านไม่ทราบหรอกครับว่าเขากำลังเดินอยู่บนที่ดินทำกิน แล้วถูกจับ ผมมีประสบการณ์ที่เลวร้ายในชีวิตนะครับ ตอนที่ลงพื้นที่ที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ผมเจอพ่อมูเซาะ เสนาะพงษ์ไพร ปรัชญาปราชญ์ชาวกะเหรี่ยง ผมถามพ่อ ว่าพ่อครับ ที่ดินตรงนี้มีเอกสารสิทธิประเภทใด ผมมาด้วยการเรียนกฎหมายที่ดินเข้าใจว่า มี ส.ค. น.ส. ๓ ส.ป.ก. โฉนดแบบนั้น แบบนี้ พ่อมูเซาะ เสนาะพงษ์ไพร บอกผมว่าเขา ไม่รู้หรอกว่าตรงนี้เรียกว่าอะไร แต่นี่คือผืนแผ่นดินทำกินของเขา แล้ววันดีคืนดีก็มีคนมา จับเขาบนผืนแผ่นดินที่เขาทำกินอยู่ แบบนี้รอได้หรือครับ
ปัญหาประการที่ ๓ คือการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เลิกกันทีครับ ชาวเขา เป็นคนทำไร่หมุนเวียน ชาวเขาทำให้เกิด PM2.5 ชาวเขาเป็นคนเผาป่า ผมขอให้เลิกกันที ตั้งแต่คำเรียกว่า ชาวเขา เหตุและผลที่บอกว่าเขาเป็นคนกระทำสิ่งต่าง ๆ ปัญหาการส่งเสริม วัฒนธรรมวิถีชีวิต ผมไม่ลงรายละเอียดครับ เพราะมันมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่ต้องเอามา ประกอบกัน และปัญหาที่คุณนิติพล ผิวเหมาะ พูดไว้ผมคิดว่าชัดเจนที่สุด เป็นตัวแทนของ พี่น้องชาติพันธุ์เมี่ยน ก็คือว่าโอกาสและความเหลื่อมล้ำนั้นเป็นเพราะรัฐหรือเป็นเพราะ กรรมเวรในอดีต ในอนาคตซึ่งไม่ใช่กรรมเวร แต่เป็นปัญหามาจากรัฐครับ
สิ่งที่ผมอยากจะนำเสนอท่านประธานเป็นประการที่ ๔ และเป็นประการ สุดท้ายครับ ผมเสียดายที่ไม่มีโอกาสลงรายละเอียดครับ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่เราต้องตั้งคำถาม ในการรับหลักการกฎหมาย ผมอยากเชิญชวนเพื่อนสมาชิกได้ดูข้อบังคับสภาผู้แทนราษฎร ข้อ ๔๑๗ และข้อ ๔๑๘ เรามีการพิจารณากฎหมายแบ่งออกเป็นเรื่องที่เราจะลงมติ ๔ แบบ ด้วยกัน แบบที่ ๑ คือถ้าเราเห็นด้วยกับการรับหลักการเราก็อ้างอิงโดยอาศัย ข้อ ๑๑๗ วรรคหนึ่ง แบบที่ ๒ ถ้าเราไม่เห็นด้วยกฎหมายฉบับนั้นแย่มาก ไม่ควรรับหลักการ เราก็ ใช้ความในข้อ ๑๑๗ วรรคหนึ่ง ตอนท้ายที่บอกรับหรือไม่รับหลักการ แบบที่ ๓ เป็นกรณีที่ เราเห็นว่าในเมื่อสภาแห่งนี้ประกอบไปด้วยผู้มีความหลากหลายเยอะแยะไปหมด แค่ชาติพันธุ์ ก็มีไม่รู้กี่สิบชาติพันธุ์เป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนหลายสิบล้านคนในประเทศ เราก็อาศัย ข้อความในประเด็นที่เรียกว่า ข้อ ๑๑๗ วรรคสอง ก็ได้ครับ วรรคสองคืออะไรครับ วรรคสอง คือการบอกว่าให้ส่งให้คณะกรรมาธิการสามัญหรือคณะกรรมาธิการวิสามัญที่อาจจะแต่งตั้งขึ้น เป็นผู้พิจารณาก่อนรับหลักการก็ได้ เราอย่าดูแคลนความรู้ความสามารถตัวเองครับ แล้วเรา มีประสบการณ์มากมายในกรณีกฎหมายที่สภาที่รัฐบาลอุ้มไป ท่านทราบไหมครับ พ.ร.บ. ภาษี สรรพสามิต เรียกเพื่อนสมาชิกไปถามนัดเดียว แต่อ้างว่าใช้เวลา ๖๐ วัน ท่านทราบไหมครับ การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์สมรสเท่าเทียมของคุณธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ อ้างว่าอุ้มไป ๖๐ วัน แต่เรียกคุณธัญวัจน์ไปถามแค่ครึ่งชั่วโมงแล้วก็จบ แล้วก็ส่งรายงานมา มันใช้เวลาขนาดนั้นหรือครับ ใช้สภาของเราในการส่งให้กรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งมีตัวแทนของ ทุกพรรคการเมืองพิจารณาก็ได้ ผมก็พร้อมจะเดินหน้าพิจารณา เว้นแต่ว่าท่านเห็นว่าผม ไร้ความสามารถที่จะพิจารณา การรับหลักการหรือการลงมติประการที่ ๔ ก็คือข้ออ้างที่ท่าน มักใช้ กรณีข้อ ๑๑๘ คือการบอกว่าการพิจารณากรณีของกฎหมาย ถ้าคณะรัฐมนตรี ขอรับไปพิจารณาก็ให้รอพิจารณาไว้ก่อน แล้วรอ ๖๐ วัน ผมถามท่านประธานแบบนี้ครับ ผมไม่ถามเพื่อนสมาชิกครับ ถามท่านผู้ชี้แจงครับท่านก็คงตอบไม่ได้ ในนี้ใช้คำว่า ถ้าคณะรัฐมนตรีจะขอรับร่างพระราชบัญญัตินั้นไปพิจารณาก่อน ผมถามว่าวันนี้ที่มีเพื่อน สมาชิกบางท่านจากจังหวัดที่มีพี่น้องชาติพันธุ์ในภาคเหนือด้วยนะครับ เสียดายท่านอ้างว่า ครม. อุ้มแน่ ๆ ท่านรู้ได้อย่างไร ผมอ่านมติคณะรัฐมนตรีทุกสัปดาห์เลยนะครับ ๓-๔ เดือนนี้ ท่านไม่เคยศึกษากฎหมายฉบับนี้เลยหรือครับ แล้ว ๓-๔ เดือนที่ผ่านมาท่านมีมติคณะรัฐมนตรี วันไหนที่บอกว่าจะอุ้มกฎหมายฉบับนี้ไป ท่านรู้ได้อย่างไร ฉะนั้นท่านประธานต้องตอบครับ ถ้ามีตัวแทนของคณะรัฐมนตรีมาเสนอ ว่าจะขอรับกฎหมายฉบับนี้อุ้มไปพิจารณาก่อน ขอด้วยครับ หนังสือเลขที่เท่าไร ลงวันที่เท่าไร ส่งมาเมื่อไร แบบใด ประการใด ขอเลยครับ ว่าเป็นมติในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันไหน เวลาใด อยู่ในวาระที่เท่าไร พวกเรารอได้ แต่พี่น้องชาติพันธุ์รอไม่ได้ พี่น้องชาติพันธุ์กะเหรี่ยงหรือปกาเกอะญอ ถึงใช้คำแทนคำที่เรียกตนเองว่า ปกาเกอะญอ เพราะเป็นการยืนยันหลักการที่เรียกว่า ข้าคือคน และถ้าเรามั่นใจว่าคนเท่ากันจริง ๆ พรรคก้าวไกลยืนยัน วันนี้อย่างไรเดินหน้าลงมติรับหลักการร่างพระบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมือง แห่งประเทศไทย พ.ศ. .... เป็นกำลังใจให้กับพี่น้องและเป็นการขอโทษ ขออภัย คืนสิทธิที่เขา ควรได้รับที่อยู่ในดินแดนแห่งนี้มาตลอดชีวิตของพวกเขา ขอบคุณครับ
ท่านประธานครับ ณัฐวุฒิครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม ผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทองครับ ท่านประธาน ด้วยความเคารพครับ เนื่องจากว่าญัตติเรื่องของการลงรายการสถานะบุคคล หรือรหัส G ให้กับเด็กนั้นเป็นญัตติของพรรคก้าวไกลครับ ผมเข้าใจว่าในขณะที่มีการ พิจารณานั้น ทางสภาแห่งนี้ได้มีการตกลงกรอบระยะเวลาการพิจารณาไว้ที่ ๙๐ วัน ถ้าผมเข้าใจผิดต้องขอประทานอภัยนะครับ ซึ่งอย่างไรก็ตามคิดว่าน่าจะอยู่ในกรอบนั้นครับ ก็คือจะเสร็จสิ้นไม่เกินวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๗ อย่างที่ท่านประธานได้นำเรียนครับ
ทีนี้ประสบการณ์ผมน้อยครับ แต่ว่าปกติการขยายระยะเวลาการพิจารณา ก็มักจะอ้างอิงหรืออาศัยระยะเวลาเดิมในการขยาย เช่น หากสภาให้ไป ๙๐ วัน ก็จะขยาย ครั้งหนึ่งน่าจะไม่เกิน ๙๐ วัน แต่ว่าทางคณะกรรมาธิการการศึกษาขอมาเป็นระยะเวลาถึง ๑๘๐ วัน ความเป็นห่วงของผมก็คือว่าระยะเวลาดังกล่าวนั้นจะคร่อมปีการศึกษาหน้าครับ สิ่งที่เราเป็นห่วงก็คือว่าการลงรายการสถานะบุคคลนั้นจำเป็นต้องลงให้เสร็จสิ้นในช่วง ปีการศึกษาครับ และมันจะส่งผลต่อการลงรายการสถานะบุคคล พูดง่าย ๆ ก็คือตัว G ต้องแปลงไปเป็นเลข ๑๓ หลัก หากเป็นเช่นนั้นการใช้ระยะเวลาการขยายถึง ๑๘๐ วัน จะส่งผลกระทบต่อเด็กที่กำลังศึกษาอยู่ได้ครับ เลยอยากจะขอนำเรียนปรึกษาท่านประธาน ว่าเป็นไปได้ไหมครับว่าอยากจะขอกรอบเบื้องต้นสัก ๙๐ วันก่อนอีกครั้งหนึ่งและหากมีเหตุ จำเป็นจริง ๆ ก็นำเหตุจำเป็นนั้นมาหารือกันในสภาครับ แต่ว่าถ้าจะขยายไปครั้งเดียว ๑๘๐ วัน พวกผมเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อเด็กที่ไร้สถานะ ทั้งที่ไม่ได้เข้าเรียนและที่ กำลังเรียนอยู่ครับท่านประธานครับ
ถ้าเช่นนั้นผมขออนุญาตว่า ในนามพรรคก้าวไกล ในฐานะเจ้าของญัตติ ผมขอขยายกรอบระยะเวลาเบื้องต้นเป็น ๙๐ วัน ได้ไหมครับท่านประธานครับ
ท่านประธานครับ ณัฐวุฒิครับ ถามท่านประธานนิดเดียวครับ เนื่องจากว่ามีร่างของคณะรัฐมนตรีและร่างของท่านวิโรจน์ ลักขณาอดิศร การลงมตินี้คือการรวมทั้ง ๒ ร่าง พิจารณาลงมติว่ารับหลักการอย่างนั้น ใช่หรือไม่ครับท่านประธาน
ท่านประธานครับ ผมขอ ใช้สิทธิตามข้อ ๑๑๘ เช่นเดียวกันครับ
ท่านประธานพูดก่อนก็ได้ครับ ด้วยความเคารพครับ
ขออนุญาตเห็นแย้งครับ ท่านประธานครับ ท่านประธานอนุญาตนะครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัด อ่างทอง ท่านประธานครับ ผมขอใช้สิทธิที่มีความเห็นที่แตกต่างในข้อบังคับ ข้อ ๑๑๘ วรรคหนึ่งครับ ด้วยเหตุผล ๓-๔ ประการด้วยกันครับ
ประการแรกด้วยความเคารพครับ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาในการลงมติ เพื่อนสมาชิกพรรคเพื่อไทย คุณครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ซึ่งมาจากจังหวัดสุรินทร์พี่น้องชาติพันธุ์ เป็นจำนวนมาก ท่านพูดชัดเจนในสภาว่าจะรับหลักการ เพียงแต่ว่ายังเตรียมรายชื่อกรรมาธิการ ไม่ทัน วันนี้พวกผมก็เตรียมมาแล้วครับ รายชื่ออยู่ในมือแล้วครับ รับหลักการแน่ ๆ กรรมาธิการก็เตรียมมาแล้ว ถามภาคประชาชน ภาคประชาชนก็บอกกรรมาธิการ ๑๓ คน ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามก็เตรียมมาแล้วเช่นเดียวกัน ผมก็เลยไม่รู้ว่าตกลงเกิดอะไรขึ้นครับ สิ่งที่ครูมานิตย์พูดสัปดาห์ที่แล้วก่อนหน้านี้ท่านใช้สิทธิพาดพิงเอ่ยชื่อ ณัฐวุฒิ บัวประทุม รอบนี้ขอใช้สิทธิกลับเช่นเดียวกันนะครับ ตกลงมันเกิดอะไรขึ้นแน่ ตกลงยังยืนยันจากฟากฝั่ง ของพรรครัฐบาลก่อนนะครับ เดี๋ยวคณะรัฐมนตรีว่ากันว่ายังยืนยันว่ารับหลักการแน่ ๆ ใช่หรือไม่ นั่นเป็นประการที่ ๑ ครับ
ประการที่ ๒ ท่านประธานครับ ที่ท่านบอกว่าขอไปศึกษาก่อนใด ๆ ต่าง ๆ นี่นะครับ ผมก็ตรวจย้อนไปเลยครับ เพื่อนสมาชิกท่านหนึ่งมาบอกว่ารัฐบาลที่แล้วไม่ใช่ พวกผมแล้วนะ เพราะว่าจริง ๆ แล้วร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและอนุรักษ์วิถีชีวิต พี่น้องชาติพันธุ์อยู่ในนโยบายเร่งด่วนของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องขอประทานโทษ ที่เอ่ยนามนะครับ แต่ว่าไม่เสียหายอะไรครับ ตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ นั่นหมายถึงว่าคณะรัฐมนตรี ก็มีตัวร่างมาอยู่แล้วครับ ตรวจกันไปตรวจกันมา ให้ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กระทรวงวัฒนธรรม ตรวจกันไปตรวจกันมา ตกลงยังไม่เสร็จหรือครับ แล้วตกลงแล้วร่างจะเสร็จกันเมื่อไร อย่างไรกันแน่ครับ ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราล่าช้ามามากแล้วครับ แล้วก็อยากจะทำ ความชัดเจนว่ามันจะไม่กลับไปกลับมาอีกแน่ ๆ
ประการที่ ๓ ท่านประธานครับ ถ้าฟังจากท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง คมนาคมในฐานะตัวแทนรัฐบาล ท่านได้รับความชื่นชมเยอะนะครับ ตอบกระทู้ชัดเจน ทุกกระทู้ส่งผลในทางปฏิบัติในระดับพื้นที่ ท่านรัฐมนตรีพี่เดือนของผมนี่นะครับ ท่านมนพร เจริญศรี ปรากฏว่าอย่างนี้ครับ ท่านบอกว่าวันนี้มันมีอีก ๔ ร่างครับ อันนี้ต้องถามกัน ให้ชัด ๆ ว่าตกลงแล้วอีก ๔ ร่าง รัฐบาลมองแล้วใช่ไหมครับว่าเป็นลักษณะที่มีหลักการ ทำนองเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน เพราะผมไม่มั่นใจนะครับ ร่างของพี่น้องประชาชน คุณศักดิ์ดา แสนมี่ เรียกว่า ร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ร่างของพรรคก้าวไกลของ คุณเล่าฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล เราไม่ห่วงนะครับ เพราะเราใช้คำว่า ร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เช่นเดียวกัน ร่างของ คุณสุริยันต์ ทองหนูเอียด และภาคประชาชนก็ไม่ห่วงครับ เขียนคล้ายกัน แต่มีร่างอีก ๒ ร่างที่ใช้ คำว่า อนุรักษ์และคุ้มครองวิถีชีวิตชาติพันธุ์ แสดงว่าสรุปแล้วใช่ไหมครับว่าท่านได้ มีการศึกษา เอาเบื้องต้นก็ได้ครับ ยังไม่ได้ศึกษารายละเอียดเดี๋ยว ๖๐ วันค่อยว่ากัน แต่ศึกษา เบื้องต้นแล้วชัดเจนว่ามีหลักการในทำนองเดียวกันใช่หรือไม่ นั่นเป็นประเด็นที่ ๓
ประเด็นที่ ๔ ที่จะตามมาก็คือว่า เท่ากับว่าขณะนี้เมื่อสักครู่ท่านบอกว่า ท่านนายกรัฐมนตรีรอลงนามร่างพระบัญญัติที่เหลือ ผมขอแบบนี้ได้ไหมครับ ผมสนับสนุน การลาพักร้อนของท่านนายกรัฐมนตรีเต็มที่นะครับ พวกเราทำงานเหนื่อยสัปดาห์หน้า ก็พักก็เช่นเดียวกัน แต่เอาเป็นว่าถ้าท่านกลับจากการลาพักร้อน เซ็นหน่อยได้ไหมครับ เพราะว่าเป็นร่างการเงินครับ เป็นร่างการเงินจะได้ลดทอนเวลาในการพิจารณาครับ ขออนุญาตว่าเป็นพันธสัญญาของท่านรัฐมนตรีกับพวกเราว่า คณะรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีจะลงนามร่างทุกฉบับที่เหลือแน่ ๆ ใช่ไหม
และข้อสุดท้ายครับที่อยากจะนำเรียนท่านประธาน ก็คือว่าสัปดาห์ที่แล้ว มาถึงสัปดาห์นี้มันผ่านมาอีก ๗ วันแล้วนะครับ ฉะนั้น ๖๐ วัน ซึ่งเป็นกรอบระยะเวลา ผมเชื่อว่าท่านรัฐมนตรีมาใช้ไม่ถึงแน่ ๆ แต่เอาหักออกสัก ๗ วันก่อนได้ไหมครับ เอา ๖๐ วัน ที่เหลือที่เต็ม Max หักเหลือแค่ ๕๓ วัน แต่ถ้าท่านจะบอกว่าไม่เป็นอะไรค่ะ ดิฉันยืนยัน ๓๐ วัน ความจริงผมก็รอ พ.ร.บ. ประมงเช่นเดียวกันนะครับ เพราะ พ.ร.บ. ประมง สัญญาตั้งแต่ปลายสมัยประชุมที่แล้วนะครับ บอกกลับมา มาแน่ วันนี้ก็ยังไม่มา แต่ว่าหักนิด หักหน่อยก็ได้ครับ ฉะนั้นอาจจะยังไม่ได้ตั้งมติที่จะขอเป็นญัตติเห็นแย้งโดยตรงครับ แต่ผมขอ ๓-๔ ประการอย่างที่นำเรียนท่านประธานว่า ๑. คณะรัฐมนตรีตรวจหมดแล้ว เป็นหลักการทำนองเดียวกันใช่ไหม รับหลักการแน่ ๆ ใช่ไหม ๒. ที่เป็นร่างการเงินท่านเซ็น แน่ ๆ ใช่ไหม ๓. กลับมาแน่ ๆ ในระยะเวลาสั้น ๆ หน่อยได้หรือไม่ครับ แบบนี้เราก็จะได้ ทำงานต่อกันได้ เพราะว่ามันล่าช้ากันมาหลายปีแล้วครับ ท่านรัฐมนตรีมนพรมา ผมสบายใจ ที่สุด เพราะท่านเป็นคนตอบอะไรชัดเจน ถ้าแบบนี้ชัดเจนพวกผมก็ยินดีครับ ก็ต้อง ขอบพระคุณแทนพี่น้องชาติพันธุ์ทั้งประเทศ ส่วนกรณีของคุณครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ไม่ติดใจ ใด ๆ ครับ เชื่อมั่นว่าท่านมีความตั้งใจให้พี่น้องชาติพันธุ์ที่จังหวัดสุรินทร์จริง ๆ ครับ ขอบคุณท่านประธานครับ
ขอบคุณครับ ท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทองครับ ท่านประธานวันนี้ผมขออนุญาตเป็นมวยแทนครับ แล้วก็พูดแทน พี่น้องประชาชนทั้งประเทศในหลายประเด็นด้วยกันครับ
ประเด็นที่ ๑ เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับถนนทางหลวงหมายเลข ๓๑๙๖ เส้นทางระหว่างลพบุรี-บ้านหมี่ จากสะพาน ๖ ถึงแยกโคกกะเทียม พื้นที่ตำบลทะเลชุบศร ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ได้รับแจ้งว่ามีเรื่องของสะพานชำรุด ไม่มีไฟส่องสว่าง อยากจะฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงคมนาคมได้เร่ง ดำเนินการแก้ไขครับ
เรื่องที่ ๒ เป็นปัญหาของพี่น้องประชาชนในจังหวัดพะเยาที่เกี่ยวเนื่อง กับเรื่องของการสร้างฟาร์มเลี้ยงสุกรหรือฟาร์มหมูใน ๒ พื้นที่ด้วยกัน พื้นที่หนึ่งคือหมู่ที่ ๑๓ ตำบลดงเจน อำเภอภูกามยาว รอยต่อกับตำบลท่าวังทอง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา อีกพื้นที่หนึ่งคืออยู่ในตำบลห้วยแก้ว อำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา ปรากฏว่าบางอัน กำลังสร้าง บางอันถูกระงับไม่ให้สร้าง แต่ท้ายที่สุดส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต โดยเฉพาะน้ำที่ไหลลงร่องปอและแม่น้ำอิงซึ่งเป็นสายน้ำหลัก ของพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดพะเยา ก็ขอให้ท่านประธานฝากไปยังกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนจังหวัดพะเยาได้เร่งดำเนินการแก้ไขด้วยครับ
เรื่องที่ ๓ พี่น้องประชาชนผู้ประกอบการธุรกิจในพื้นที่ของเขตอำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ได้ร้องเรียนมายังพรรคก้าวไกลให้พิจารณาการปรับแก้ผังเมือง แล้วก็กรณีของ สถานบันเทิงหรือสถานบริการที่อยู่ในพื้นที่ของจังหวัดแพร่ เนื่องจากว่าการกำหนด Zoning ไปกำหนดที่พื้นที่อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ แต่สถานบันเทิงส่วนใหญ่นั้นอยู่ในพื้นที่ เขตอำเภอเมือง ซึ่งไม่สามารถเปิดและดำเนินการได้ครับ จึงอยากฝากท่านประธานไปยัง กระทรวงมหาดไทยได้เร่งปรับแก้เรื่องผังเมือง ตลอดจนการกำหนด Zoning ในพื้นที่ของ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ให้สอดคล้องกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในปัจจุบันครับ
เรื่องที่ ๔ เป็นเรื่องของพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดอ่างทอง จากกรณีของฝุ่น PM2.5 ซึ่งสูงขึ้น เคยขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของของประเทศนะครับ ทางพรรคก้าวไกล จังหวัด อ่างทอง ได้ร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ๕ ประการด้วยกัน ๑. คือเรื่องการวัดค่า ๒. คือเรื่องการเตือนภัย ๓. คือเรื่องของการดูแลกลุ่มเปราะบาง ๔. คือเรื่องการหาสาเหตุ ๕. คือเรื่องการป้องกัน อยากฝากท่านประธานไปยังกระทรวงมหาดไทยและจังหวัดอ่างทอง ได้เร่งดำเนินการแก้ไขด้วยครับ
เรื่องที่ ๕ เป็นประเด็นเรื่องของศูนย์เด็กเล็กครับ ทราบมาว่ามีการเบิกเงิน รายหัวให้กับค่าอาหารนี้นะครับ ถ้าเด็กน้อยกว่า ๔๐ คน ได้ ๓๖ บาท แต่ถ้าเด็กมากกว่า ๔๐ คนเมื่อไร เหลือแค่ ๒๗ บาทต่อคนครับ เรื่องนี้ต้องแก้ทั้งระเบียบกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการ เพราะเกี่ยวข้องกับศูนย์เด็กเล็กทั้งประเทศ ฝากท่านประธานไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม เนื่องจากเป็นกฎหมายสำคัญ และพี่น้องประชาชนติดตามกันเป็น จำนวนมาก เพื่อนสมาชิกส่วนใหญ่จะเตรียมเนื้อหากันมา ๗ นาที มีบางท่านขอ ๑๐ นาทีด้วย ๑๕ นาทีด้วย ผมคิดว่าเดินไปแบบนี้ก่อนดีกว่าครับท่านประธาน แล้วเดี๋ยวไปค่อนทาง อย่างไร ประเด็นซ้ำกัน ซึ่งท่านประธานก็จะแนะนำอยู่เสมอ เดี๋ยวค่อยหารือดูกันอีกทีหนึ่ง แต่ขออนุญาตเบื้องต้นเป็น ๗ นาทีต่อท่านไปก่อนครับ
ขอบคุณครับ ท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทองครับ ผมขออนุญาตเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรคนสุดท้ายทั้งในนามของ พรรคร่วมฝ่ายค้าน แล้วก็หลังต่อจากพรรคร่วมรัฐบาลที่จะอภิปรายเห็นชอบในการรับ หลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ไม่ว่าจะเป็นในส่วนร่างของรัฐบาล ร่างของพรรคก้าวไกล ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ และร่างของภาคประชาชนครับ แต่ผมอยากจะเท้าความและชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่เราทำให้เราต้อง เดินทางมาถึงวันนี้ นับจากการแก้ไขหรือการยกร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ ตั้งแต่ปี ๒๔๗๘ ซึ่งมีเพื่อนสมาชิกของผมได้คำนวณระยะเวลา นับรวมกัน มากกว่า ๔๐,๐๐๐ วันนั้น ปัญหาในทางกฎหมายนั้นคืออะไรครับ มาตรา ๑๔๔๘ ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่มีการยกร่างมีการบัญญัติมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๗ บังคับใช้ในปี ๒๔๗๘ นั้นระบุไว้ว่าการสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุ ๑๗ ปี บริบูรณ์แล้ว ความตอนท้ายผมไม่พูดถึงฉะนั้นมี ๒ เงื่อนไขด้วยกันครับ
ประการที่ ๑ ก็คือว่าถ้าใครก็แล้วแต่ที่อยากจะใช้สิทธิในการก่อตั้งครอบครัว ภายใต้การรับรองของรัฐนั้น จะต้องเป็นชายและหญิงเท่านั้น
ประการที่ ๒ ก็คือว่าคุณจะเข้าถึงการสมรสกันได้ก็ต่อเมื่ออายุนั้นจะต้องเป็น อายุ ๑๗ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ถึงแม้ว่าในกรณีของเด็กนั้นอายุต่ำกว่า ๑๗ ปีเรายังเรียกว่า เป็นเยาวชน ยังไม่บรรลุนิติภาวะและอาจจำเป็นที่จะต้องขอความยินยอมจากผู้ปกครอง แต่ท่านประธานครับ คำว่า ชายและหญิงนั้นมีบัญญัติอยู่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ระบุว่า ชาย หมายความว่า มนุษย์เพศผู้ ซึ่งโดยกำเนิดมีลึงค์เป็นอวัยวะสืบพันธุ์ ผู้ชาย ก็ว่า หรือว่าเรียกแบบเดียวกัน หญิง หมายความว่ามนุษย์เพศเมีย ซึ่งโดยกำเนิดมีโยนี เป็นอวัยวะสืบพันธุ์ ผู้หญิง ก็ว่า หรือใช้เรียกคำว่า ผู้หญิงเช่นเดียวกัน แต่คำว่า เพศ นั้น ในขณะนั้นกับในปัจจุบันนั้นมันไม่ได้มีแต่เพียงเท่านั้นครับ เพราะสิ่งที่เรากำลังเขียนหรือเรา กำลังพูดถึงนั้น หมายถึงแต่เพียงเพศที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ซึ่งอาจจะเรียกว่าเพศในทางชีวะ ก็ได้ ยังไม่ใช่การเป็นเพศสภาพหรือ Gender ด้วยซ้ำ เพราะว่าการเป็นเพศสภาพหรือ Gender นั้นอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ครับ ยังไม่นับต้องพูดถึงเรื่องของเพศเพศวิถี หรือรสนิยมทางเพศ ซึ่งแน่นอนว่ามีความหลากหลาย วันนี้ผมชอบเช่นนี้อยู่ พรุ่งนี้ผมอาจจะ เปลี่ยนใจไปชอบอีกแบบหนึ่ง และแน่นอนครับเราต้องเคารพและนับรวมถึงคนที่อาจจะไม่ เลือกที่อยากจะระบุว่าตนเองเป็นเพศใด ทุกกลุ่มนั้นมีสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว เช่นเดียวกันครับ ในที่ประชุมแห่งนี้เพื่อนสมาชิกถามหาประวัติศาสตร์ของการยกร่าง กว่าจะมาเป็นกฎหมาย ฉบับนี้ว่าเป็นอย่างไร ผมก็ต้องนำเรียนต่อท่านประธานครับว่าทั่วโลกมีกฎหมายอยู่ ๒ ระบบ ด้วยกันครับ ระบบหนึ่งคือการแก้ที่หัวใจของกฎหมายปลดล็อกเลย จากคำว่า มีเพศใด ๆ ก็แล้วแต่ เป็นเรื่องของการรองรับบุคคลทุกบุคคลที่จะสมรสกันได้ แต่อีกระบบหนึ่งนั้นคือ การยกร่างกฎหมายออกไปเป็นการเฉพาะครับ แล้วระบุเรื่องของการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันใน ลักษณะเป็นหุ้นส่วนหรือเอกชนในทางแพ่งที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า Civil Partnership สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย นี่คือเอกสารสำคัญในประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๕ คุณอรรถพล จันทวี และคุณนที ธีระโรจนะพงษ์ เดินทางไปที่ที่ว่าการอำเภอเชียงใหม่ แล้วยื่นขอจดทะเบียนบันทึกทะเบียนครอบครัว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการที่เจ้าพนักงาน ทะเบียนครอบครัวบันทึกว่าได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานและคุณสมบัติของผู้ร้องซึ่งเป็น ฝ่ายชายทั้งคู่จึงไม่สามารถดำเนินการจดทะเบียนสมรสให้กับผู้ร้องได้ เนื่องจากไม่เป็นไปตาม เงื่อนไขแห่งการสมรสขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑๐) ดังนั้นเห็นควรแจ้งผู้ร้องทราบเพื่อดำเนินการต่อไป ถ้าวันนั้นคุณนทีหยุด วันนั้น เพื่อนของพวกเราหลายคนที่วันนี้นั่งอยู่บนที่นั่งของผู้ชี้แจงหยุดครับ ก็คือการสยบยอมและ การยอมรับว่าเราคงไม่สามารถกระทำการใด ๆ ได้มากกว่านี้อีกแล้ว แต่ต้องยกเครดิตแล้วก็ ให้ความสำคัญครับ อย่างน้อยที่สุดผมยอมรับว่าคณะกรรมาธิการของสภาแห่งนี้ที่เป็นจุด ริเริ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมาธิการการกฎหมายสิทธิมนุษยชนในปี ๒๕๕๕ ซึ่งมี พลตำรวจเอก วิรุฬห์ พื้นแสน เพื่อนสมาชิกจากพรรคเพื่อไทยเป็นประธานคณะกรรมาธิการ เราไม่พูดถึงเพื่อนสมาชิกอีกท่านหนึ่ง ซึ่งวันนี้ท่านล่วงลับไปแล้วนะครับ ก็คือท่านวิรัตน์ กัลยาศิริ แห่งพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ครับ ๒ ท่านนี้มีบทบาทอย่างยิ่ง และในมือของผมนั้น คือร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตฉบับแรก ๒๘ มาตรา ก่อนที่จะแปลงออกมาเป็นร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ในปี ๒๕๕๖ แต่ท้ายที่สุดไม่อาจผลักดันสำเร็จ ผมคิดว่าเอกสาร ๒ ชิ้นนี้จะเป็น ครั้งสุดท้ายที่ผมได้ใช้และจะไม่ใช้เอกสาร ๒ ชิ้นนี้ที่ผมเองได้มีส่วนร่วมอีกแล้ว เพราะสังคมไทยมาไกลเกินกว่าจะแพ้แล้วครับ สิ่งที่อยากจะนำเรียนท่านประธานครับ ว่าความสำคัญของการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ ก็คือ การปลดล็อกจากคำที่เรียกว่าชายและหญิงเป็นการเปลี่ยนว่า บุคคลและบุคคล ขณะที่ทาง รัฐสภาทำหนังสือขอรับหรือการแสดงความคิดเห็นก็ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในศัพท์ ภาษาอังกฤษซึ่งแปลงมาเป็นภาษาไทย เพราะศัพท์ภาษาอังกฤษนั้นท่านใช้คำว่า Same Sex Marriage หรือถ้าแปลงเป็นไทยคือการสมรสของคู่รักเพศเดียวกัน แต่วันนี้เราก็ปลดล็อก แล้วครับ ความเข้าใจของพวกเราก็คือว่าเรื่องนี้ไม่มีกรอบเรื่องเพศมาเป็นตัวกำหนดครับ และสิ่งที่เราควรบัญญัติใหม่ซึ่งนำไปสู่ความเท่าเทียมสอดคล้องกับคำในภาษาอังกฤษก็คือ Marriage Equality หรือการสมรสโดยที่ไม่มีข้อจำกัดใด ๆ เรื่องเพศเป็นการสมรสแบบ เท่าเทียมอย่างแท้จริง ผมคงไม่ย้อนไปดูว่าเกิดอะไรขึ้นในสภาชุดที่ผ่านมาที่เราอาจทำ ไม่สำเร็จ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่เราอาจจะทำสำเร็จในวันนี้ก็คือการปลดล็อกมาตรา ๑๔๔๘ และนำไปสู่การรับร่างพระราชบัญญัติทั้ง ๔ ฉบับ รวมถึงการแก้ไขเงื่อนไขอื่น ๆ ที่อาจจะเป็น ปัญหาอุปสรรคอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ท่านประธานครับ ผมใช้เวลา อีกนิดเดียวว่าเรื่องนี้มันเกี่ยวข้องกับใคร และสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวนั้นเป็นสิทธิ มนุษยชนหรือไม่ หนังสือในมือผมคือคำอธิบายกฎหมายที่ผมได้มีโอกาสสอนในมหาวิทยาลัย เขาระบุหลักการยอกยาการ์ตา ข้อ ๒๔ ทุกคนมีสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวโดยไม่ขึ้นกับวิธี ทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ ครอบครัวมีรูปแบบหลากหลาย ห้ามมิให้ครอบครัวใด ถูกเลือกปฏิบัติด้วยสาเหตุวิถีทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ ของสมาชิกคนใดคนหนึ่ง ในครอบครัว ท่านประธานครับวันนี้คงไม่ใช่การให้ของขวัญครับ วันนี้คงไม่ใช่การตั้งคำถาม ว่าคุณจะเป็น LGBT ที่ดีคุณถึงจะได้สิทธิต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่มี LGBT ไม่มีเพศใด ไม่มีข้อจำกัดใด ๆ ที่จะมาวัดว่าความดีนั้นเป็นตัวระบุว่าเขาควรมีสิทธิ ต่าง ๆ แต่สิ่งที่ผมอยากจะย้ำเตือนแล้วต้องขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง อาจจะมีใครสักคน ที่ต้องขอบคุณ ก็คือขอบคุณพี่น้อง LGBT พี่น้องที่ยืนยันสิทธิมนุษยชนด้วยความเข้าใจ ด้วยหัวใจ ท่านใช้เวลายาวนานเหลือเกิน หลายประเทศใช้การต่อสู้เป็น ๑๐ ปี ๒๐ ปี ไม่ว่า จะเป็นประเทศฟินแลนด์ ประเทศคอสตาริกา ประเทศไต้หวันต่าง ๆ ๑๖ ปี แต่วันนี้นับจาก ปี ๒๕๕๕ ๑๑ ปีเต็ม แล้วผมคิดว่าวันนี้จะเป็นวันสุดท้ายที่ต้องขอบพระคุณพวกท่านว่า การต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยวกล้าหาญเสียสละด้วยเลือดเนื้อและชีวิตของท่านนั้นกำลังจะทำให้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องยืนยันสิทธิเจตจำนงของราษฎรตัวจริงนั้น ยกมือสนับสนุน ผมคิดว่าวันนี้ต้องขอเสียงฉันทามติแบบเด็ดขาด และขอเสียงฉันทามติแบบเด็ดขาด อีกครั้งหนึ่ง เมื่อผ่านวาระ ๒ และวาระ ๓ เพราะเราอย่าลืมว่ากฎหมายนี้ต้องถูกส่งให้สมาชิก วุฒิสภา ซึ่งหากท่านได้ยินเสียงของผู้เสนอทั้ง ๔ ร่าง ในวันนี้ผมก็เชื่อว่าท่านจะลงมติ แบบเดียวกัน สิ่งที่เราทำนั้นมิใช่การรับรองสิทธิ สิ่งที่เราทำนั้นเกินกว่าคำจะขอโทษหรืออภัย ซึ่งเราไม่สามารถเยียวยากับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่สิ่งที่เราทำนั้นคือการยืนยันเจตจำนงในฐานะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แทนราษฎรทุกคนว่าให้เขามีสิทธิตัดสินใจในชีวิตของเขาเอง และสมรสเท่าเทียมของทุกคนจะเป็นหมุดหมายสำคัญในการยืนยันสิทธิในการตัดสินใจ และสิทธิมนุษยชน ถ้าเรามั่นใจและเชื่อมั่นว่าคนเราเท่ากันจริง ๆ Respect ขอบคุณ ท่านประธานครับ
ขอบคุณครับท่านประธาน ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทอง ในฐานะที่เป็นวิปฝ่ายค้าน ท่านประธานครับ ก่อนอื่น ต้องขอบพระคุณท่านประธานที่ในสัปดาห์นี้มีการนัดวันประชุมเป็น ๓ วัน แล้วก็ถือว่า เป็นนิมิตหมายที่ดีครับ แต่อย่างไรก็ตามในการประชุม ๓ วันนี้ มีการพูดถึงหรืออ้างถึงว่า เป็นการชดเชยจากสิ่งที่เรามีการหยุดการประชุมมาเมื่อปลายปี ๒๕๖๖ ก็คือช่วงก่อนปีใหม่ ซึ่งเท่ากับว่าถ้าใช้เกณฑ์แบบนั้นในการชดเชย วันศุกร์นี้จะเป็นการชดเชยครั้งที่ ๑ ก็อาจจะ ต้องมีการชดเชยในครั้งที่ ๒ ต่อไป อันนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีครับ แต่ผมคิดว่าประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่า เราจะมีการประชุมเพื่อชดเชยครับท่านประธาน แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าเราจะมาพิจารณาดูว่า วาระที่ค้างการพิจารณาอยู่นั้นมีจำนวนเท่าไร ผมนับเร็ว ๆ นะครับ นับวาระต่าง ๆ ที่อยู่ ในวาระการประชุม ปรากฏว่าวันนี้มีเรื่องค้างอยู่ทั้งหมด ๖๓ เรื่องด้วยกัน แบ่งเป็นญัตติ ๔๐ เรื่อง และแบ่งเป็นร่างพระราชบัญญัติ ไม่ว่าจะมาจากในส่วนของ สส. เข้าชื่อกันเสนอ หรือภาคประชาชนทั้งหมด ๒๓ เรื่องด้วยกัน คำถามที่ผมจำเป็นต้องถามครับ ท่านประธาน ไม่อยู่สัปดาห์ที่แล้ว ท่านประธานอาจจะไม่ทราบว่าการประชุมสภาเราตะมุตะมิมากนะครับ ๔ โมงครึ่ง ปิดแล้วครับท่านประธาน ผมประชุมกรรมาธิการกลับมาก็มาเอากระเป๋าในห้องประชุม ไม่เจอใครเลยไฟมืดหมดแล้ว วันถัดมาวันพฤหัสบดีนี่ ๕ โมงกว่า ๆ นะครับ มันตะมุตะมิ จริง ๆ ครับ แล้วพี่น้องประชาชนก็ถามว่าวาระเหลือตั้งเยอะทำไมประชุมแบบนั้น แต่ว่าผม ก็ต้องเรียนให้ความเป็นธรรม เพราะว่าผมติดตามวิทยุ ติดตามทีวีสภา ท่านประธานเอง ไปปฏิบัติภารกิจที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง อันนี้ผมเข้าใจ ทำให้มีผู้ทำหน้าที่ประธานเหลือแค่ ๒ คน แต่ประเด็นที่ผมจะต้องนำเสนอก็คือว่า ผมคิดว่าเราต้องย้อนกลับไปว่า ถึงวันที่จำเป็น ต้องทบทวนนะครับ ว่าตกลงเราจะมีการเพิ่มวันประชุมในกรณีที่ญัตติที่เหลือเป็น จำนวนมาก หรือกฎหมายที่เหลือเป็นจำนวนมากกันอย่างไร ผมเชื่อว่าเพื่อนสมาชิกเรา พร้อมนะครับ ถ้าจะมีการนัดล่วงหน้า ตรุษจีนจะเอาไหม วันมาฆบูชาจะเอาไหม ซึ่งแน่นอน เราก็คงไม่เอา หรือก่อนวันมาฆบูชาสัปดาห์สุดท้ายวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ที่เป็นวันศุกร์ จะเพิ่มหรือไม่ประการใด แต่ผมคิดว่าประเด็นจำเป็นต้องมีการเพิ่มครับ ในขณะเดียวกัน ก็จำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดวันที่ชัดเจนครับท่านประธาน อย่างเช่นในสมัยที่ ๒๕ นี้ เรามีการกำหนดว่าทุกวันพุธจะเป็นวันประชุมกฎหมาย แบบนี้ก็ชัดครับ แล้วแบบนี้ถ้าผม นับกันเร็ว ๆ วันนี้เราเหลือสัปดาห์ที่จะใช้ในการประชุมในสมัยที่ ๒ นี้อีกแค่ประมาณ ๙ สัปดาห์เองครับ ๙ สัปดาห์นี้ต้องแบ่งเป็นงบประมาณ ๑ สัปดาห์ ต้องตัดอภิปรายทั่วไป หรือไม่ไว้วางใจ ซึ่งผมคิดว่าดู สว. ก่อน อาจจะไม่ไว้วางใจเลยก็ได้ อีกสัปดาห์หนึ่ง ต้องตัด ประเด็นเรื่องการประชุมร่วม ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นร่างของ พรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกลที่เตรียมจะเสนออีกสัปดาห์หนึ่งนะครับ เราเหลือแค่ ๖ สัปดาห์เองนะครับท่านประธาน แล้ว ๖ สัปดาห์นี้ผมเรียนท่านประธานด้วยความเคารพครับ ว่าวันนี้ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สมรสเท่าเทียมนี้เดินหน้า ไปครึ่งหนึ่งแล้ว มันต้องปรับเข้ามาครับ พิจารณากัน ๖๐ กว่ามาตรา ที่รัฐบาลขออุ้ม ผมถอน คำว่า อุ้ม นะครับ ขอนำไปศึกษาก่อนรับหลักการ เช่น พ.ร.บ. ร่างสภาชนเผ่าพื้นเมือง ท่านรับไปแล้ว ๓๘ วัน ท่านบอก ๖๐ วัน ผมบอกขอ ๕๓ วัน ท่านรับปากผม นั่นก็อาจจะ ต้องกลับเข้ามาในสภาอีก แบบนี้ทำให้เราเหลือวันน้อยไปอีกครับ
ต้องนำเรียนท่านประธานว่าท่านประธานเคยรับปากเมื่อ ๒ สัปดาห์ที่แล้วว่า จะตั้งคณะกรรมการร่วมกันระหว่างพรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคร่วมรัฐบาลมีท่านประธาน เป็นประธาน ที่เรียกว่าวิปร่วมกัน ผมคิดว่าเราส่งรายชื่อให้ท่านแล้วครับ รอท่านลงนาม แล้วถ้าเป็นไปได้ท่านได้ลงนามการประชุมที่เรียกว่ากรรมการร่วมกันในสัปดาห์นี้ได้ นัดประชุมเลยครับจะได้มาดูกันว่าการกำหนดวันประชุมจะเป็นแบบใดประการใด จะแยกวัน หรือไม่ แบบใด ประการใด แล้วผมคิดว่าถ้าเป็นแบบนี้จะสง่างามครับ แล้วเดินหน้า การประชุมไป ไม่เช่นนั้นผมต้องนำเรียนท่านประธานแบบนี้เลยครับว่าญัตติทั้งหมดที่มีอยู่นี้ เขียนตอนท้ายหมดเลยนะครับว่าขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ถ้าไม่มีการนัดหมาย ไม่มีการพูดคุยกันล่วงหน้า พรรคก้าวไกลพรรคร่วมฝ่ายค้านก็ต้องยืนยันว่าแบบนี้ก็ต้องลงมติกัน ทุกญัตติครับ ค่าไฟแพงก็ต้องลงมติ เรื่องกรณีที่จะเข้ามากรณีญัตติด่วนก็ต้องลงมติ เรื่องอื่น ๆ ที่ค้างการพิจารณากองทุนรักษ์ป่าต้นน้ำก็ต้องลงมติครับ เอาแบบนั้นก็ได้ ลงมติทุกวันกันไปเลย แต่ว่าถ้าท่านประธานนัดหมายกันอย่างชัดเจน มีการตั้งกรรมการร่วม รีบนัดประชุมก็มาดูกัน ว่าเราจะกำหนดวาระการประชุมเป็นแบบใดประการใด ผมคิดว่าแบบนี้จะตอบโจทย์ที่สุด และเป็นไปตามเงื่อนไขที่เราคุยกันมาตั้งแต่ต้นในสมัยประชุมของสภาชุดที่ ๒๖ ครับ ต้องนำเรียนท่านประธานด้วยความเคารพ แต่คิดว่าเราไม่สามารถเสียเวลาไปได้มากกว่านี้ อีกแล้วครับ ต้องขอให้ท่านประธานได้กรุณาวินิจฉัยหรือดำเนินการต่อในประเด็นนี้ด้วย ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานครับ ณัฐวุฒิครับ ขออนุญาตท่านประธานครับ
ประเด็นนี้ครับท่านประธาน ประเด็นนี้ไม่ประเด็นอื่นอยู่แล้วครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลครับ เรียนถามท่านประธานก่อนที่ ท่านประธานจะถามเพื่อนสมาชิกว่าเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ ผมถามแนวปฏิบัติก่อนครับ เพราะว่าในรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญประเด็นเรื่องประมงนี้มันมีอยู่ ๒ ส่วน ด้วยกันครับ ส่วนแรกก็คือเรื่องเนื้อหากับส่วนที่ ๒ ก็คือข้อเสนอแนะหรือข้อสังเกต ทีนี้หากมี บางประเด็นที่เราอยากสนับสนุน แต่ว่าอาจจะมีบางท่านที่ไม่เห็นด้วย สมมุตินะครับว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นจะลงมติอย่างไร จะลงแยกกันหรือว่าจะลงครั้งเดียวกัน แต่ถ้าเกิดเห็นด้วย ตรงกันอย่างไรเดี๋ยวว่ากัน แต่ว่าถามไว้ก่อนครับ เพราะว่าจะเริ่มมีรายงานทยอยมาเรื่อย ๆ ผมเองก็ชักไม่มั่นใจว่าวิธีปฏิบัติจริง ๆ เวลาลงมติรายงานกรรมาธิการนี้ โดยข้อบังคับ โดยกระบวนการปฏิบัติจะต้องทำอย่างไร เพราะว่าแบบนี้ลงกันเรื่อย ๆ แน่นอนครับ มีรายงานมาอย่างไรลงกันเรื่อย ๆ แน่นอน โดยถามท่านประธานไว้ตรงนี้ก่อนครับท่านประธาน
ท่านประธานครับ ณัฐวุฒิ ด้วยความเคารพครับ นิดเดียวครับว่าวันนี้ยังมีวาระอีกหลายญัตตินะครับ ผมก็เลยบอก ไว้ก่อนว่าจะมีการลงมติทุกญัตตินะครับ ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานผมประท้วง ผู้ประท้วงครับ ไม่รู้ประท้วงหรือเปล่า แต่ประท้วงครับ ท่านมาเดินดูใหม่ มาเดินดูเลยครับ นี่กดหมดเลยครับ ไม่รู้พาดพิงผมหรือเปล่า แต่มาเดินดูเลยครับ ช่วยเดินมาหน่อยครับ ตลกมากเลยครับ เรื่องนี้ไม่ควรเป็นสาระเลยครับท่านประธาน ผมประท้วงจริงจังนะครับ ให้ท่านประธานกำกับดูแลการประชุมด้วยครับ
ช่วยเดินมาดูหน่อยครับ ท่านประธาน
ขอบพระคุณครับ ท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทองครับ ก่อนอื่นครับท่านประธานต้องแสดงความยินดีต่อพี่น้องประชาชน แล้วก็เป็นที่น่ายินดีว่าถ้าท่านเหลือบไปดูจำนวนสมาชิกของสภาเราทั้งหมดวันนี้ นับจาก วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ปี ๒๕๖๖ หรือกว่า ๑๘๐ วันที่ผ่านมา วันนี้เป็นวันแรกที่มีสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรครบจำนวน ๕๐๐ คน ฉะนั้นอันนี้เป็นสิ่งที่น่ายินดีต่อพี่น้องประชาชน ในการทำหน้าที่แน่ ๆ ครับ แต่ประเด็นของคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งวันนี้ชัดเจนแล้วว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีสถานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครบถ้วนสมบูรณ์ นับตั้งแต่วันที่พี่น้องประชาชนเลือกเข้ามาทำหน้าที่ คือในวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา แต่มีความคลาดเคลื่อนความเข้าใจผิดหลายประการ ผมเรียนยืนยันกับท่านประธานว่าอาจจะต้องขอคำตอบเบื้องต้นว่าเมื่อวันที่สั่งให้มีการหยุด การทำหน้าที่คือวันที่ ๑๙ กรกฎาคมนั้น ศาลอ่านอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญที่ถนนแจ้งวัฒนะ มีการส่งเอกสารเร่งด่วนมาที่สภาภายในไม่ถึง ๑ ชั่วโมง ก็สั่งให้คุณพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ต้องเดินออกจากสภาแห่งนี้ วันนั้นอยู่ฝั่งโน้นวันนี้ย้ายมานั่งกันอยู่ฝั่งนี้ แต่วันนี้เป็นเวลาผ่านมาแล้วกว่า ๑ ชั่วโมง ยังไม่เห็นมีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งใด ๆ ของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ยกคำร้องเสียประโยชน์ต่อ พี่น้องประชาชนมาเป็นร้อยวันมาถึงสภาเสียที แน่นอนครับ มีการแถลงข่าวโดยท่าน รักษาการเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรบอกสถานะคุณพิธานั้นกลับเข้ามาทำหน้าที่ได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ซึ่งเป็นที่น่ายินดี พวกผมเองวันนี้แอร์เย็น ๆ ถ้าหากว่ามีประเด็นที่ต้องลงมติ ก็แสดงว่าคุณพิธาก็สามารถเดินเข้ามาลงมติในสภาแห่งนี้ในวันนี้ได้เลยใช่หรือไม่ครับ แต่ในขณะเดียวกันเพื่อความสมบูรณ์พวกผมก็จะได้เตรียมการทำหน้าที่ใดต่าง ๆ แล้วก็ เป็นความถูกต้องเป็นหลักเป็นฐาน เป็นหลักการนะครับท่านประธานว่า ณ ขณะนี้ตกลง สถานะของคุณพิธานั้นกลับเข้ามาสมบูรณ์แล้วใช่หรือไม่ แล้วยังจำเป็นที่จะต้องรอเอกสาร หลักฐาน หรือคำวินิจฉัยตัวเต็มตัวย่อยตัวใด ๆ ต่าง ๆ เฉพาะตนอะไรต่าง ๆ อีกหรือไม่ครับ เพื่อจะได้เห็นความสมบูรณ์ แล้วตรงนี้ก็จะทำให้พี่น้องประชาชนที่รอฟังข่าวอยู่ทั้งประเทศ เข้าใจว่าตกลงแล้ว คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และ Candidate นายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลนั้นสามารถเข้ามาทำหน้าที่ได้ตั้งแต่เมื่อไร แบบใด ประการใด ก็ต้องขออนุญาตขอรบกวนเวลาสภาแห่งนี้ต้องเรียนถามท่านประธาน ที่เคารพเพื่อความสมบูรณ์ชัดเจนครับ ขอบคุณครับ
นิดเดียวครับท่านประธาน ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เพื่อความ ชัดเจนครับท่านประธาน ถามง่าย ๆ ๑. ก็คือ ณ ขณะนี้วันนี้ถ้ามีการลงมติใด ๆ คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์สามารถเดินทางมาลงมติในสภาได้เลยใช่หรือไม่ครับ หรือ ๒. หากวันนี้ ยังไม่สามารถที่จะนำไปสู่ประเด็นดังกล่าวได้ เราไม่จำเป็นต้องรอหนังสือใด ๆ แล้วใช่ไหมครับ พรุ่งนี้คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็จะได้มาเซ็นชื่อทำหน้าที่เหมือนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คนอื่นทุกคนครับ ท่านประธานครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธาน ในเบื้องต้นน่าจะใช้หลักการเดียวกับการส่งไปในคณะกรรมาธิการต่าง ๆ ก่อนหน้านี้ ผมเห็น ควรเสนอให้มีการกำหนดระยะเวลาการพิจารณาไว้อยู่ที่ ๙๐ วันเป็นเบื้องต้นก่อนครับ
ขอบคุณครับ ท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทอง ท่านประธานครับ ผมได้รับมอบหมายจากคุณรอมฎอน ปันจอร์ เพื่อน สมาชิกจากพรรคก้าวไกล ในนามของพรรคก้าวไกลให้เป็นผู้เสนอหลักการและเหตุผล ประกอบร่างพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๔/๒๕๕๙ เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการ กำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ลงวันที่ ๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๙ พ.ศ. .... ด้วยหลักการและเหตุผลดังต่อไปนี้ครับ
หลักการ ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๔/๒๕๕๙ เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและ การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษา ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ลงวันที่ ๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๙
เหตุผล โดยที่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๔/๒๕๕๙ เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการ กำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ลงวันที่ ๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๙ ที่ให้งดการบังคับใช้บทบัญญัติมาตราต่าง ๆ แห่งพระราชบัญญัติ การบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พุทธศักราช ๒๕๕๓ โดยเฉพาะบทบัญญัติในส่วนที่ เกี่ยวกับสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงให้งดใช้บังคับ บทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีในส่วน ที่อ้างถึงสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยอาศัยอำนาจ ตามมาตรา ๔๔ แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในขณะนั้น โดยให้มีคณะกรรมการที่ปรึกษา การบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมาทำหน้าที่แทน อีกทั้งขยายบทบาท ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจการ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยนั้น ทำให้การบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาและการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ประสบปัญหาและ ข้อขัดข้อง จำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชน ในขณะที่รูปแบบและบทบาทของคณะกรรมการ ที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษา ความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๔/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๙ ยังไม่ได้ สะท้อนความเป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และมีบทบาทที่จำกัด จึงไม่เหมาะสมแก่สถานการณ์ในพื้นที่และการแก้ไขปัญหาโดยภาพรวม สมควรยกเลิกคำสั่ง ดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ท่านประธานครับ ผมขอใช้เวลาสภาแห่งนี้ และถือว่าวันนี้ไปอีก ๑ วัน ที่สำคัญต่อพี่น้องใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ครับ แน่นอนครับว่าปัญหาของจังหวัด ชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความไม่สงบที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความไม่เข้าใจ ไม่ว่า จะเป็นการเคารพอย่างขาดความเคารพต่ออัตลักษณ์ความเป็นตัวตน เชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ล้วนเป็นส่วนประกอบหรือเป็นส่วนหนึ่งของ ปัญหาที่เกิดขึ้นสืบเนื่องกันมาเอาเข้าจริง ๆ อาจจะมากกว่าตั้งแต่วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๗ แต่ย้อนหลังไปเป็นร้อยปีครับ อย่างไรก็ตามเราเข้าใจครับว่ามีการตั้งความหวังในการแก้ไข ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้พระราชบัญญัติการบริหารราชการ จังหวัดชายแดนภาคใต้ พุทธศักราช ๒๕๕๓ ในกฎหมายฉบับนั้นประกอบไปด้วยองค์ประกอบ สำคัญอยู่ ๓ ประการด้วยกันครับ องค์ประกอบประการที่ ๑ ก็คือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ องค์ประกอบประการที่ ๒ ก็คือศูนย์อำนวยการบริหาร จังหวัดชายแดนภาคใต้ และองค์ประกอบที่สำคัญประการที่ ๓ ก็คือสภาที่ปรึกษาการบริหาร และการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แน่นอนครับ ลักษณะ คุณวุฒิ คุณสมบัติ หรืออำนาจ หน้าที่ ตลอดจนบทบาทหน้าที่ขององค์ประกอบทั้ง ๓ นั้นมีความแตกต่างกัน ด้านที่ ๑ คือ การคิดยุทธศาสตร์ แล้วเอาเข้าจริง ๆ ก็จะนำมาซึ่งแผนยุทธศาสตร์ ซึ่งสภาแห่งนี้ก็เคย มีการอภิปรายแผนยุทธศาสตร์ที่ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วเราก็ ผ่านแผนฉบับนั้นไป ด้านที่ ๒ คือการจัดตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของพลเรือน พูดกันง่าย ๆ ก็คือใช้หลักการการแก้ไขปัญหา เอาพลเรือนนำทหารอย่างเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ซึ่งมีการอ้างกันอยู่บ่อยครั้ง และ องค์ประกอบประการที่ ๓ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่ง คือการมีสภาที่ปรึกษาซึ่งทำหน้าที่ ทั้งการให้คำปรึกษาในการบริหารและการพัฒนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่านประธานครับ ผมอยากให้ดูสไลด์หน้าแรกนะครับ เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ไม่ไปเร็วจนเกินไป สไลด์หน้าที่ ๑ นั้น เราพูดถึงว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ของพรรคก้าวไกลนั้นเน้นไปที่การยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ ๒๔/๒๕๕๙ คำสั่งนี้คืออะไรครับ คำสั่งนี้คือการล้างมรดกที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหาร คำสั่งนี้คือการ ฟื้นสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ และเตรียมพลิกพลเรือน ให้มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาเหนือทหาร อย่างไรก็ตามการพิจารณาการแก้กฎหมาย ฉบับเดียวนั้นคงไม่สามารถจะแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ ข้อที่ท้าทายเป็นข้อ ๑ ครับ และขณะนี้สภากำลังมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาการแก้ไขปัญหาและการสร้างกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งก็ยัง ทำงานอย่างแข็งขัน การพูดถึงเขตปกครองพิเศษอาจจะมีความจำเป็นครับ การพูดถึง การให้เขาได้มีส่วนร่วมตัดสินใจที่จะดูแลปัญหาของพี่น้องประชาชนในจังหวัดชายแดน ภาคใต้ด้วยรูปแบบการปกครองนั้นอาจจะมีความจำเป็น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดในช่วงการ รัฐประหารหลังปี ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา อย่างน้อยที่สุดมีคำสั่งอยู่ทั้งหมด ๔ คำสั่ง และรวมถึง ประกาศด้วยการที่ส่งผลต่อการทำหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ประกาศประการที่ ๑ ก็คือประกาศ คสช.ที่ ๙๘/๒๕๕๗ เรื่อง การแก้ไข ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมีการจัดตั้งกลไกพิเศษ ชื่อย่อเยอะนะครับ อันแรกเรียกว่า คณะกรรมการเตรียมการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกว่า คปต. และมีสำนัก เลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เรียกว่า สล.คปต. แถมยังมีการยกระดับ กอ.รมน. หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้าให้ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลัก นี่ก็เป็นมรดกข้อที่ ๑ ที่เกิดขึ้นจากการใช้ระบบ ทหารนำพลเรือน
คำสั่งประการที่ ๒ คือคำสั่ง คสช.ที่ ๙๖/๒๕๕๗ เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการ ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ พูดง่าย ๆ ก็คือตั้งบุคคลขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ในคณะกรรมการ คปต. ที่ผมได้นำเรียนในประกาศฉบับแรกที่พูดถึงไปแล้ว
คำสั่งประการที่ ๔ คือคำสั่ง คสช. ที่ ๕๗/๒๕๕๙ เรื่อง การปรับปรุงการบริหาร เพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ เช่น เรื่องการจัดตั้งผู้แทนพิเศษฝ่ายรัฐบาล ผมคงไม่มาบอก ว่าคำสั่งนั้นส่งผลกระทบอย่างไร และก็คงไม่ปฏิเสธครับว่าคำสั่งในบางคำสั่งนั้นก็มีผล ในเชิงบวก โดยเฉพาะกระบวนการที่เกิดขึ้นจากการพูดคุยสันติภาพที่มากและไปไกลกว่า แค่คำว่า สันติสุข ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่สิ่งที่ผมอยากจะเน้นย้ำครับ ท่านประธาน ลองดูนะครับคือคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๑๔/๒๕๕๙ เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษา ซึ่งทำให้เกิด การงดการบังคับใช้กฎหมาย อย่างน้อยที่สุดมาตรา ๑๙ มาตรา ๒๐ มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ มาตรา ๒๓ ภายใน พ.ร.บ. การบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และทำให้เกิดคณะกรรมการ ที่ปรึกษามาแทนสภาที่ปรึกษาซึ่งเกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่และมีความ หลากหลายของบุคลากรหรือหน่วยงานต่าง ๆ และรวมถึงการทำให้ กอ.รมน. นั้น มีสถานะ เหนือ ศอ.บต. ตลอดจนเป็นการเพิ่มบทบาทการป้องกันบรรเทาสาธารณภัยของ กอ.รมน. ซึ่งส่วนท้ายนั้นอาจจะเป็นส่วนที่ดีก็ได้ ผมถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการมาชี้แจงต่อวิป ฝ่ายค้านว่าเหตุผลหรือความจำเป็นขณะนั้นที่จำเป็นต้องมีการออกคำสั่ง คสช. ที่ ๑๔/๒๕๕๙ คืออะไร ท่านทราบไหมครับว่าหน่วยงานตอบในวิปฝ่ายค้านว่าอย่างไร ก็เป็นตามคำสั่งครับ ผมก็จำเป็นต้องไปอ่านว่าคำสั่งเขาเขียนว่าอย่างไร ก็ไปพบว่าคำสั่งที่ลงนามโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่๔ เมษายน ๒๕๕๙ บอกว่ามันมีเหตุผลความจำเป็นบาง ประการที่ทำให้การใช้กฎหมายว่าด้วยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีของสภาที่ปรึกษานั้นไม่อาจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ไม่มีคำตอบเลยนะครับว่า คำว่า ไม่อาจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นั้นเป็นอย่างไร พูดกันง่าย ๆ ก็คือว่าสภาที่ปรึกษา การบริหารการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถึงแม้จะมีกฎหมายมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ จนมาถึงปัจจุบันก่อนมีคำสั่ง คสช. ในปี ๒๕๕๙ พูดง่าย ๆ คือประมาณ ๖ ปีเพิ่งมีไปชุดเดียว เองนะครับ ยังไม่มีบทสะท้อนแบบใด ประการใดเลยที่ท่านบอกว่าการมีส่วนร่วมของตัวแทน ประชาชนนั้นจะไร้ประสิทธิภาพอย่างไร ไม่เป็นอะไรครับ ลองดูเปรียบเทียบก็ได้นะครับ ถ้าท่านดูสไลด์หน้าถัดไปว่าสิ่งที่เคยมีอยู่ในกฎหมายกับสิ่งที่รัฐบาลไปออกมาเป็นคำสั่ง คสช. นั้นหน้าตาแบบไหนดีกว่ากัน นี่ไม่ใช่ตารางหมากรุก นี่ไม่ใช่ตารางหมากฮอส นี่ไม่ใช่ตารางบิงโกที่จะหยอดเหรียญนะครับ แต่คือชีวิตของพี่น้องประชาชนจำนวนมากที่อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่านลองดูนะครับ ภายใต้กฎหมายปี ๒๕๕๓ ที่บอกให้มีสภาที่ปรึกษา มีทั้งตัวแทนผู้นำท้องถิ่น เพื่อนสมาชิก ท่านพูดไปแล้วครับ มีทั้งตัวแทนผู้นำท้องที่ มีทั้งตัวแทนกลุ่มสตรี และกลุ่มสตรีที่พวกผม ไปพบมีความหลากหลายมากนะครับ บางกลุ่มขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ดูแลปากน้ำ ปากแม่น้ำปัตตานี ปากแม่น้ำบางนรา บางกลุ่มทำประเด็นเรื่องของผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบ จากปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น กลุ่มด้วยใจ ต่าง ๆ เป็นต้น มีผู้นำศาสนาอิสลาม มีผู้นำศาสนาพุทธ ซึ่งต้องขอบพระคุณทางสภาได้กรุณานำเรียนในเอกสารประกอบการ ประชุมวันนี้ว่า ณ ขณะที่มีการแต่งตั้งหรือการคัดเลือกเมื่อปี ๒๕๕๔ ปี ๒๕๕๕ นั้นใครบ้าง ที่มาทำหน้าที่เป็นผู้แทนของหน่วยงานต่าง ๆ ผมไปพบมาแล้วครับ ท่านเจ้าคณะจังหวัด ปัตตานีท่านพูดชัดเจนว่าท่านเสียดายโอกาสที่วันนั้นท่านได้ทำ แต่ยังทำไม่สำเร็จในการจะมี ส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้นำศาสนาอื่นเห็นไหมครับ มีปราชญ์ ชาวบ้าน แล้วปราชญ์ชาวบ้านใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความหลากหลายมากนะครับ ฉะนั้น ครม. คงไม่ส่งปลาอะไรสักอย่างหนึ่งหรอกครับที่มาเลี้ยงผู้นำ APEC เพราะว่า ปลากุเลาหรือเปล่าครับ แบบนั้นก็มีเฉพาะที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปราชญ์ชาวบ้าน มีหลายแบบครับ แบบหนึ่งดูแลเรื่องวัฒนธรรม แบบหนึ่งดูแลเรื่องความเชื่อ แบบหนึ่งดูแล เรื่องประเพณี แบบหนึ่งดูแลเรื่องของศาสนา แบบหนึ่งดูแลเรื่องดนตรี มีปราชญ์ที่มีความรู้ เรื่องคัมภีร์เยอะแยะไปหมดครับ กำลังทำพิพิธภัณฑ์เก็บคัมภีร์ แล้วคัมภีร์บางฉบับอายุเป็น พัน ๆ ปี แบบนี้หรือครับที่เราไปตัดอำนาจเขา มีนักธุรกิจที่มาพบผมครับ แล้วเขาก็บอกว่า รัฐบาลเคยไปสัญญาไว้ว่าปั๊มน้ำมันที่ถูกระเบิดไปจะมีการอุดหนุนเงินกู้ Soft Loan แล้ววันหนึ่งมีการตัดเงินกู้ เขามาพบด้วยความเสียดายบอกว่าถ้าวันนั้นรัฐบาลบอกว่า ไม่พร้อมจะอุดหนุนคือไม่ต่ออายุเงินกู้ เขาก็จะไม่อยู่ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นไหมครับ และยังมีบุคลากรทางการศึกษาผู้แทนปอเนาะ ผู้แทนโรงเรียนเอกชน สอนศาสนาต่าง ๆ ตัวแทนของผู้ทรงคุณวุฒิอื่น ๆ วันหนึ่งออกคำสั่ง คสช. ที่ ๑๔/๒๕๕๙ ท่านตัดฉับเลยครับ ตัดให้ขาดเลย ชั๊บ ชั๊บ ชั๊บ ท่านออกมาเป็นกรณีของการแต่งตั้งภายใต้ การเสนอชื่อโดย กอ.รมน. และ ศอ.บต. ภายใต้การเสนอชื่อของผู้ว่าราชการจังหวัด ๕ จังหวัดที่อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแน่นอนครับผู้ว่าราชการจังหวัดหลายท่านที่ผม ไปพบท่านเป็นคนในพื้นที่ แต่ท่านต้องย้อนไปดูนะครับว่าปี ๒๕๕๙ ที่มีการออกคำสั่งนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดหลายท่าน รองผู้ว่าราชการจังหวัดหลายท่านก็มิใช่คนที่เกิดในพื้นที่ อยู่ใน พื้นที่ หรือมีความรู้ ความเข้าใจต่อวัฒนธรรมประเพณีใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่านย้อนไปดูพระราชนิพนธ์ในล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ ก็ทราบได้ว่ากรณีการส่งคนไปอยู่ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นต้องพิจารณาแบบพิเศษอย่างไร ด้วยความเคารพ พิจารณา แบบพิเศษบนพื้นฐานของความเข้าใจ ไม่ใช่บนพื้นฐานที่ไล่ให้ไปอยู่ใน ๓ จังหวัดชายแดน ภาคใต้ ผมขออนุญาตเวลาสภาแห่งนี้ครับ ตั้งแต่เปิดสมัยประชุมที่ ๒ มานี้ผมยังไม่เคย อภิปรายอะไรยาว ๆ เลย ฤทธิ์ของคำสั่ง คสช. ที่ ๑๔/๒๕๕๙ ไปตัดอำนาจของสภาที่ปรึกษา ในมาตรา ๑๙ อำนาจสภาที่ปรึกษาในมาตรา ๑๙ ถึงมาตรา ๒๓ สรุปให้ท่านเห็นมีอยู่ ๙ ข้อ ๙ ประการด้วยกันครับ สไลด์ถัดไปก็ได้เพราะอันนี้จะพูดถึงเรื่องร้องเรียน เรื่องอะไรต่าง ๆ แต่ท่านลองดูนะครับ การให้ความเห็นในเชิงนโยบายการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรจะมี โดนตัดออก การตรวจสอบประเมินผลการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ ของ ศอ.บต. แล้วรายงานต่อเลขาธิการและนายกรัฐมนตรีเพื่อทราบโดนตัดออก การแสวง ข้อเท็จจริงหรือข้อคิดเห็นต่าง ๆ เพื่อประกอบการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดนตัดออก ท่านไม่ให้เขาหาข้อเท็จจริงและจะให้เขาให้คำปรึกษาได้อย่างไร ไม่ต้องให้ใช้แค่ประเด็นเรื่อง ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้หรอกนะครับ เรื่องใด ๆ ก็แล้วแต่ที่จำเป็นต้องหาข้อเท็จจริง ตัดอำนาจเขาได้อย่างไร เรื่องของการเสนอย้ายข้าราชการ เรื่องของการรับเรื่องราวร้องเรียนต่าง ๆ ที่ไม่เป็นธรรม ที่เกิดขึ้นใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้โดนตัดออก ท่านประธานต้องเข้าใจนะครับเวลา พวกเราลงพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ถ้าเราไปแบบเป็นทางการท่านอาจจะได้ข้อมูล อีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าเราไปแบบไม่เป็นทางการเข้าไปพูดคุยนะครับ มีพี่น้องมุสลิมคนหนึ่ง เป็นผู้หญิงอายุ ๕๐ กว่าปีมาพบผม โดนระเบิดจากความรุนแรงใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกวันนี้บางวันนอนอยู่ดี ๆ สะเก็ดระเบิดที่ติดตัวอยู่ไหลออกจากตัว แต่ความช่วยเหลือ หมดไปแล้วนะครับ ความช่วยเหลือที่คณะรัฐมนตรีเคยออกคำสั่งไว้ในอดีตที่ผ่านมาคนละ ๗ ล้านบาทสำหรับผู้เสียชีวิต คนละ ๓ ล้านบาทเศษหมดไปแล้ว แต่ความจำเป็นเขายังมีอยู่ ท่านตัดเขาได้อย่างไรแบบนี้ ท่านตัดเขาได้อย่างไรกับลูกหลาน ไม่ว่าจะเป็นลูกหลาน เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นลูกหลานของคนที่อยู่ในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ท่านตัดอำนาจเขาได้อย่างไร ผมไม่เข้าใจวิธีคิดและ มุมมองของฝ่ายรัฐในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่านใช้วิธีแบบเดิม ผลก็เป็น แบบเดิม แล้วผลนั้นย่อมมีความรุนแรงที่เกิดขึ้น ท่านเห็นไหมครับนี่คือสิ่งที่โดนอำนาจ ฤทธิ์เดชของคำสั่ง คสช. ที่ ๑๔/๒๕๕๙ ในการตัดออก แล้วเขาเพิ่มอะไรครับ เขาไปเพิ่ม อำนาจของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งท่านก็ทราบดีนะครับ อย่าว่าแต่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้เลยครับ วันนี้กฎหมายที่เข้าสู่สภาหลายฉบับไปเขียนใน โครงสร้างเลยนะครับ ให้รอง ผอ.รมน. จังหวัด นั่งเป็นบอร์ดในการแก้ไขปัญหา ท่านกำลัง ขยายอำนาจของฝ่ายทหารไปควบคุมการดำเนินการของกิจการของพลเรือนเยอะแยะ ไปหมด คำสั่ง ที่ ๑๔/๒๕๕๙ มีอย่างน้อยที่สุด ๒ ข้อด้วยกันที่สะท้อนให้เห็นว่าเรากำลัง เดินผิดทาง เพราะท่านไม่ได้ตอบว่าวันนั้นท่านเลือกเดินเพราะอะไร ผมก็มีสิทธิตั้งข้อสังเกต และข้อสงสัยว่าเรากำลังเดินผิดทาง
ข้อที่ ๖ กำหนดให้ ศอ.บต. บูรณาการทำงานร่วมกับ กอ.รมน. ศอ.บต. มาจาก ภาคพลเรือน กอ.รมน. เราก็รู้ดีว่ามาจากภาคทหาร แต่ให้รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร พูดง่าย ๆ ก็คือผู้บัญชาการทหารบกโดยตำแหน่งมีอำนาจวินิจฉัยสั่ง การในกรณีที่เลขา ศอ.บต. เห็นแย้ง นี่ครับสิ่งที่เกิดขึ้นจากคำสั่งปี ๒๕๕๙ ในขณะเดียวกัน กรณีที่น่าจะดูดีแต่ก็ไม่ตอบโจทย์เพราะว่าหลายครั้งที่เกิดปัญหาสาธารณภัย ไม่ว่าจะเป็น น้ำท่วมล่าสุดที่เกิดขึ้นในจังหวัดนราธิวาส ไม่ว่ากรณีโรงงานพลุระเบิดที่บ้านมูโนะ ถ้าคำสั่งนี้ มัน Work วันนี้พี่น้องบ้านมูโนะที่จังหวัดนราธิวาสเขาต้องมีที่อยู่อาศัยพื้นฐานครับ เขาผ่าน หน้าฝนมาแล้ว เขาผ่านหนาวมาแล้ว เขาผ่านฝนซ้ำสองมาแล้ว เขากำลังเข้าสู่หน้าร้อน วันนี้ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเลยจากสิ่งที่โดนพลุระเบิด ซึ่งแน่นอนจะตอบอย่างไรก็แล้วแต่ แต่เราก็รู้ว่า รัฐปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ในกรณีละเลยปล่อยให้มีโรงงานที่เก็บพลุความรุนแรง ไว้ขณะนั้น ในภาษาอังกฤษเราเรียกหลักการแบบนี้ว่า Liability without Fault คือบางครั้ง คุณต้องรับผิดชอบแม้อาจจะไม่พิสูจน์การรับผิดใด ๆ ต่าง ๆ ก็แล้วแต่ แต่กลับไปให้อำนาจ กอ.รมน. ในการเป็นผู้อำนวยการเมื่อเกิดสถานการณ์ บรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ แล้ว กอ.รมน. ก็เอาไปใช้ในการเบิกใช้จ่ายงบประมาณซึ่งเยอะมากนะครับ ผมเป็น สส. คนหนึ่งที่อภิปรายงบประมาณในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วเส้นกราฟมันพุ่งขึ้นแบบนี้ครับ และยังจะพุ่งขึ้นต่อไป ฉะนั้นกล่าวโดยสรุปก็คือว่ามรดกบาปของคำสั่ง คสช. ที่ ๑๔/๒๕๕๙ ก็คือการไปยุติสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้และไปก่อให้เกิด โครงสร้างใหม่ที่เรียกว่าบทบาทของคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ และเพิ่มอำนาจก็ กอ.รมน. ในการแก้ไขปัญหา แต่จากปี ๒๕๕๙ จนถึงปัจจุบันปี ๒๕๖๗ ได้พิสูจน์แล้วว่าทิศทางการดำเนินการ แบบนี้ผมอยากจะสรุปให้เห็นอยู่ ๓ ประการสั้น ๆ
๑. ไม่ได้ตอบโจทย์ต่อการแก้ไขปัญหา ท่านอาจจะบอกว่าตัวเลขกราฟของ ความรุนแรงลดลง แต่ท่านอย่าลืมว่าความยากจน ความยากลำบาก ยังมีอยู่ ท่านอาจจะตอบ ว่ารัฐส่งเสริมการพัฒนาจำนวนมาก แต่ท่านอย่าลืมว่าการส่งเสริมการพัฒนานั้นเข้าใจบริบท ของพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้จริงหรือไม่ ท่านอาจจะพูดถึงการส่งคน งบประมาณ การบริหารจัดการเยอะแยะไปหมด แต่ขาดมิติการเคารพอัตลักษณ์ความเป็นตัวตน วัฒนธรรมประเพณี แม้กระทั่งความเชื่อ แม้กระทั่งคนที่จะไปนั่งเป็นนายอำเภอ ผู้กำกับ สถานีตำรวจ หรือข้าราชการที่ไปละเมิด ผมไม่มีเวลาจะพูดถึงนะครับ ผมก็มีเรื่องร้องเรียน สมัยทำงานเป็น NGO เรื่องสิทธิเด็กหลายเรื่องที่มีข้าราชการไปละเมิดทางเพศต่อเด็กผู้หญิง ในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเหล่านี้ล้วนแต่ขยายบาดแผลให้มันรุนแรงยิ่งขึ้นครับ ฉะนั้นสิ่งที่พรรคก้าวไกลโดย คุณรอมฎอน ปันจอร์ และพวกผมเสนอในวันนี้ ซึ่งสอดคล้อง กับร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการในทำนองเดียวกันอีก ๒ ฉบับ ของท่านอาจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล ซึ่งวันนี้ท่านกลับมาแล้วครับ เดี๋ยวท่านจะเป็นผู้เสนอถัดไป และเพื่อนสมาชิกจาก พรรคประชาธิปัตย์ คุณยูนัยดี วาบา ก็คือขอเถอะครับ ขอให้สภาแห่งนี้ช่วยกันรับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๔/๒๕๕๙ ปิดบทบาทของ คณะกรรมการที่ปรึกษา ย้อนกลับไปใช้บทบาทของสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนา จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งให้อำนาจครอบคลุมในทุกมิติของการแก้ไขปัญหาและลดบทบาท ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ถึงเวลาแล้วครับที่จะคืนการตัดสินใจ เหล่านี้ให้กับภาคพลเรือน ถึงเวลาแล้วครับที่จะคืนสันติภาพให้กับพี่น้องในจังหวัดชายแดน ภาคใต้ อาจจะไม่ใช่ทั้งหมด แต่นี่เป็นอีกหนึ่งในเงื่อนไขที่เราจะทำ และถึงเวลาแล้วครับที่เรา จะเคารพการตัดสินใจของพี่น้องใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เขาจะมีสิทธิตัดสินใจอนาคต ของพวกเขาเอง ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานครับ นิดเดียวครับ ณัฐวุฒิครับ อยากจะหารือก่อนท่านผู้อภิปรายต่อไปสักนิดเดียวครับ เนื่องจากว่าทางเพื่อน สมาชิกพรรครัฐบาลท่านเสนอให้ถอน แล้วท่านก็เหมือนจะไม่อภิปราย แต่ว่าพอพวกผม ลงชื่อกันครบถ้วนสมบูรณ์ท่านก็ค่อย ๆ ใส่ทีละชื่อ ทีละชื่อ มีคนสุดท้าย แล้วมีคนขอหลัง คนสุดท้ายอีกนะครับ ก็เลยต้องปรึกษาท่านประธานว่าตกลงระบบการเรียกจะเป็นอย่างไร หรือว่าท่านจะปิดการลงชื่ออภิปรายสักเวลาตอนไหนอย่างไรครับ วาระวันนี้ค้างอยู่ ๒๐ วาระ ถ้าท่านยืนยันว่าไม่รับ พวกผมเดินหน้ากฎหมายฉบับนี้ไปก็จะได้ไปถึงกฎหมายฉบับอื่นต่อไป ก็ต้องขอเรียนสอบถามท่านประธานนิดหนึ่งครับ งงนะครับท่านประธาน ขอคนสุดท้ายแล้วมี คนหลังคนสุดท้ายอีก ผมก็เกรงว่าท่านประธานจะลำบากใจเวลาจะเรียกครับ ต้องขอปรึกษา ท่านประธานครับ
ขอบคุณครับ ท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทองครับ ก่อนอื่นผมต้องขออนุญาตที่จะบอกท่านประธานว่าก็คงต้องหนักใจ แทนท่านประธานนะครับว่าท่านจะตั้งคำถามในการลงมติอย่างไร เพราะว่าทุกท่านก็บอกว่า ไม่มีใครไม่เห็นด้วยกับเรื่องของการออกกฎหมายรับรองเพศ คำนำหน้านาม หรือว่าการ คุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ว่าช่องลงมติมันมีแต่เพียงเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย รับ หรือไม่รับหลักการของร่างฉบับนี้ ฉะนั้นคงเป็นการบ้านของท่านประธานที่จะต้องพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ว่าจะออกแบบคำถาม ในการลงมติอย่างไร ผมต้องบอกถัดไปว่าผมรู้สึกประหลาดใจเป็นอย่างยิ่งว่าขณะนี้เรากำลัง อภิปรายต่อขั้นรับหลักการของกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งที่เสมือนว่า อยู่ดี ๆ มันก็ลอยมาจาก ฟากฟ้าแล้วก็ลงมาอยู่ในสภาแห่งนี้ โดยที่ไม่เคยมีการศึกษาใด ๆ มาก่อน ทั้ง ๆ ที่ในมือผมมี รายงานมากมายที่มีการศึกษา เอาเข้าจริง ๆ เวลาเราพิจารณางบประมาณ แล้วมีหน่วยงานใด ที่จะขอศึกษาเรื่องกฎหมายรับรองเพศอีก ถ้าท่านเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจพิจารณา งบประมาณ ผมเองยังเห็นว่าควรจะต้องตัดออกได้ด้วยซ้ำ กฎหมายไม่ได้ลอยมาจากฟากฟ้า กฎหมายคือคนที่เขียนขึ้น แต่ทุกกฎหมายนั้นมีพัฒนาการ มีความเป็นมา อย่างน้อยที่สุด ตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ ที่มีงานวิจัยฉบับแรกออกมาโดยท่านอาจารย์มาตาลักษณ์ ออรุ่งโรจน์ จาก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในตอนนั้นก็พูดถึงการควรจะมีกฎหมายการรับรอง การแปลงเพศ หรือแม้กระทั่งเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมากระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ได้ให้คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทำการวิจัย ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของกฎหมายรับรองเพศออกมาทั้งหมด ๔๔๐ หน้า ผมเชื่อมั่นครับ อยู่ในมือผม นาน ๆ จะ Save ลงมาเป็น e-Book สักทีหนึ่ง แต่ผมเชื่อมั่นว่าไม่มีคำถามใด ที่เพื่อนสมาชิกยังคลางแคลงใจอยู่ในวันนี้ และไม่มีคำตอบอยู่ในรายงานฉบับนั้น ถ้าท่าน ไม่เชื่อลองกลับไปอ่านดู หรือถ้าท่านเชื่อแบบใดแบบหนึ่งที่ผิดแผกไปจากนั้นก็คงเกินกำลัง ที่พวกผมจะสามารถเข้าไปพูดคุยได้ ผมรู้สึกประหลาดใจ ประการที่ ๒ ว่า ณ ขณะนี้เรากำลัง จะบอกให้มีการถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยบอกถึงความไม่พร้อมและเป็นความไม่พร้อมที่ ท่านเอาพี่น้องประชาชนมาบังหน้า ท่านต้องกล้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ถ้าต้องหงายการ์ด เหมือนหลายครั้งที่ผ่านมาว่าขออุ้มไปก่อน ๖๐ วัน ๑๕ วัน ๓๐ วัน ที่กฎหมายชาติพันธุ์ สภาชนเผ่าพื้นเมือง ท่านอุ้มไปเกิน ๖๐ วันแล้วนะครับ อย่าคิดว่าผมไม่รู้ อย่าคิดว่าผมไม่ดู ท่านส่งกลับมา ๑๖ กุมภาพันธ์ยังไม่มีการบรรจุวาระ กฎหมายเรื่องของเช็ค กฎหมายเรื่อง อื่น ๆ ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ท่านก็อุ้มไปเกินแล้วนะครับ แล้วทำไมรอบนี้ไม่หงาย การ์ดอุ้มอีกล่ะครับ หรือทำไมรอบนี้ไม่หงายการ์ดว่าขอรออีกสักอาทิตย์หนึ่งได้ไหม เพราะ ขณะนี้ร่างของหน่วยงานรัฐบาลยังไม่มีเลย แต่ผมไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่กระทรวงใดส่งเอกสารมา ให้ผมแล้วเขียนตรงนี้เป็นร่างของรัฐบาล อักษรย่อ พม. ไม่ใช่ลายมือพวกผมนะครับ ผมไม่รู้ว่า กระทรวงนี้ชื่อย่อกระทรวงใด ความจริงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่อักษรย่อ พม. ซึ่งเป็น เพื่อนสมาชิกเหมือนกับพวกเรา อย่างน้อยที่สุดก็ควรจะต้องมาตอบคำถามในสภาแห่งนี้ว่า ความไม่พร้อมที่ท่านบอกว่าต้องขอรอไปก่อน ท่านไปพูดในห้องประชุมหนึ่งในวันจันทร์ ที่ผ่านมา ขอกรกฎาคมปี ๒๕๖๗ ท่านมาพูดอีกวันหนึ่งในการประชุมในวันอังคารที่ผ่านมา ขอมิถุนายนปี ๒๕๖๗ ตกลงเอาอย่างไรครับ อย่างไรครับ ท่านไม่เคยประชุมคณะรัฐมนตรี กันหรือครับ ท่านไม่เคยฟังนายกรัฐมนตรีแถลงเมื่อ ๒๖ ตุลาคมหรือครับ ว่าจะเร่งผลักดัน กฎหมายฉบับนี้ เสมือนว่าเราอยู่คนละโลกเดียวกัน และการ์ดที่ท่านเคยหงายวันนั้นทำไม่ได้ อีกแล้ว ท่านประธานดูตัววิ่ง นี่ผมไม่ได้สั่งการเจ้าหน้าที่นะครับ แต่จะชี้ประเด็น ท่านลองดู ดี ๆ นะครับ ขณะนี้เป็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการรับรองเพศ คำนำหน้านาม และ การคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ เดี๋ยวท่านคอยดูนะครับ เขาจะมีวงเล็บที่ใส่ ไว้ว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เยาวชน สตรี ความหมายคืออะไรครับ ความหมายคือ ตามข้อบังคับการประชุมตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เช่น ข้อบังคับ การประชุม ข้อ ๑๒๔ นี่ท่านไปเอาออกได้อย่างไรครับตัววิ่งขอประทานโทษ เมื่อ ๑๐ นาที ที่แล้วตัววิ่งเขียนนะครับ กฎหมายนี้เกี่ยวข้องกับเด็ก เยาวชน สตรี ท่านสอบสวนให้ผมนะครับ เจ้าหน้าที่ที่เอาออกไม่ถูกนะครับ ข้อ ๑๒๔ บอกว่ากรณีจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการจะต้องมีสัดส่วนของคนที่ทำงานในองค์กร เรื่องเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือใด ๆ ต่าง ๆ นี้จำนวนไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓ ของ จำนวนกรรมาธิการทั้งหมด อันนี้คือคำตอบว่าภาคประชาชนที่ท่านพูดถึงนั้นจะสามารถ เข้ามามีส่วนในการตัดสินใจ ท่านถามเขาสิครับว่าเขาไม่อยากรับหลักการกฎหมายฉบับนี้ หรือครับ เขาอยากรับครับ แต่อาจจะมีความเห็นแตกต่างกันในเชิงรายละเอียด ซึ่งไม่ได้ผิด ไปจากการรับหรือไม่รับหลักการกฎหมายฉบับอื่นซึ่งเคยเกิดขึ้นแต่ประการใด แต่ถ้าหาก ท่านใจกว้างจริง ซึ่งพวกผมยอมเอง พวกผมก็ใจกว้างมากพอว่าถ้าเราเห็นว่าเกรงว่าร่าง ภาคประชาชนจะไม่ถูกนำเสนอ ท่านก็เอาร่างภาคประชาชนมาให้เพื่อนสมาชิกเรา ๒๐ คน เซ็นชื่อเสนอสิครับ หรือท่านก็เอาร่างภาคประชาชนไปให้คณะรัฐมนตรีดูว่าหลักการแบบนี้ รับได้หรือไม่ ส่งมาสิครับ หรือเราก็ขยายจำนวนคณะกรรมาธิการที่จะมีการพิจารณา ผมแบ่ง สัดส่วนให้พี่น้องประชาชนจากองค์กรต่าง ๆ ความเป็นจริงก็เป็นคนที่ทำงานกับพวกเรามา โดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Intersex ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Non-binary พรรคก้าวไกลก็มี สัดส่วนเหล่านั้นอยู่แล้ว และพร้อมที่จะเพิ่มสัดส่วนเหล่านั้นเข้ามาในชั้นการพิจารณา มาร่วม เป็นกรรมาธิการด้วยกัน ฉะนั้นหลักการที่พรรคก้าวไกลเสนอนั้นคือหลักการที่บอกว่า เห็นควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความ หลากหลายทางเพศ หลักการของภาครัฐเท่าที่มีอยู่ในมือ ณ ขณะนี้เห็นว่าให้มีกฎหมาย ว่าด้วยการรับรองเพศ หลักการของภาคประชาชนที่มีการเข้าชื่อการรับฟังความคิดเห็น ต่าง ๆ นั้นก็ล้วนแต่อยู่บนบริบทของคำว่า เห็นควรให้มีกฎหมายรับรองเพศ หรือกฎหมายที่ รับรองอัตลักษณ์ทางเพศ ท่านประธานครับ แบ่งกันให้หยาบที่สุด แบ่งกันให้เข้าใจได้ง่าย ที่สุด เพศมี ๓ ระดับด้วยกัน เพศระดับที่ ๑ เราเรียกว่าเพศโดยสรีระหรือ Sex เพศในระดับ ที่ ๒ ก็คือเพศสภาพ เพศสภาวะหรือ Gender ซึ่งอยู่ที่เขาเลือกที่จะเป็น หรือไม่เป็นแบบใด หรือแม้กระทั่งเลือกที่จะไม่เป็นแบบใดแบบหนึ่ง เพศระดับที่ ๓ เราเรียกว่า Sexuality หรือ วิถีทางเพศ สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ว่าจะเป็นเพศโดยสรีระ ซึ่งไม่อาจเลือกโดยตนเองได้แต่กำเนิด แต่อัตลักษณ์ทางเพศ วิถีทางเพศ รสนิยมทางเพศ หรือการเลือกที่อยากจะระบุตัวตนว่าฉันมี คำนำหน้าแบบใดประการใด ล้วนเป็นสิทธิในการเลือกของชีวิตร่างกายของตัวตนของเขา รัฐมีหน้าที่เพียงเรื่องการรับรองบุคคลเหล่านั้นครับ ด้วยความเคารพครับ ถ้าท่านเชื่อแบบเรา ว่าคนเราเท่ากันจริง ๆ แล้วเหตุใดท่านจะไม่เชื่อว่าเขามีสิทธิในการเลือกได้ ถ้าท่านเชื่อว่า บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศมีตัวตนจริง แล้วเพราะเหตุใดถึงจะไม่รับหลักการของ ร่างกฎหมายฉบับนี้ ถ้าท่านเชื่อว่าในเชิงรายละเอียดยังมีข้อคิดเห็นที่มีความแตกต่างกัน ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่อาจจะมีการแก้ไข แต่ผมเชื่อในใจลึก ๆ ในส่วนตัว ผมเชื่อว่าท่าน อาจจะไม่ได้เชื่อแบบที่พวกผมเชื่อ แบบนั้นต่างหากคือเจตนาซ่อนเร้นที่ท่านต้องการล้ม กฎหมายฉบับนี้ แม้กระทั่งแค่การรับหลักการ พรรคก้าวไกลไม่มีอะไรต้องกังวล ไม่มีอะไร ต้องเสีย ไม่มีอะไรต้องเสียใจ เสียดายแต่เพียงว่าคนที่บอกว่ากำลังสู้เพื่อบุคคลผู้มีความ หลากหลายทางเพศนั้น ท่านเชื่อแบบเดียวกับพวกเราจริงหรือไม่ ขอบคุณท่านประธานครับ
ท่านประธานช่วยกรุณาดูด้วย นะครับ เพื่อประกอบการอภิปรายของท่านอนุสรณ์ ข้อความเพิ่งกลับมานะครับ เมื่อสักครู่นี้ ตัดจริง ขอให้ท่านประธานตั้งกรรมการสอบด้วยนะครับ
ท่านประธานนิดเดียวครับ ด้วยความเคารพครับ คำถามของท่านประธานไม่ตรงกับที่ท่านณัฐพงษ์เสนอครับ นิดเดียวครับ ท่านประธาน ณัฐวุฒิ บัวประทุม บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลครับ ท่านประธานครับ ที่ท่านณัฐพงษ์เสนอนั้นเป็นการเสนอขอให้รวมระเบียบวาระเฉพาะระเบียบวาระที่ ๕.๑๓ แต่ไม่ได้รวมกรณีของระเบียบวาระที่ ๕.๕ เนื่องจากเราเข้าใจดีว่าระเบียบวาระที่ ๕.๕ นั้นมี ความแตกต่างกันในเชิงหลักการครับ ฉะนั้นคำถามต้องเป็นลักษณะว่าระเบียบวาระที่ ๕.๑๓ นั้นสามารถรวมพิจารณากับระเบียบวาระที่ ๕.๒ และระเบียบวาระที่ ๕.๓ ได้หรือไม่ครับ เพื่อไม่ให้ผิดพลาดในการถามครับ
ท่านประธานด้วยความเคารพ ไม่ตรงครับ ต้องระเบียบวาระที่ ๕.๑๓ ครับ
ขอบคุณครับ ท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทอง ท่านประธานครับ ก่อนอื่นต้องขอบพระคุณท่านประธานที่ได้กรุณาให้มี การนัดการประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วมสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งที่ ๑/๒๕๖๗ แล้วท่านประธานพิเชษฐ์เองท่านนั่งเป็นประธานในที่ประชุม ผมอยากจะนำเรียน ซึ่งท่านประธาน คงทราบดี และเพื่อนสมาชิกบางท่านก็คงทราบแล้ว แต่อยากจะนำเรียนว่าในมติที่ประชุมนั้น มีเรื่องสำคัญประการใดบ้าง พี่น้องสื่อมวลชนหรือพี่น้องประชาชนทางบ้านก็จะได้เข้าใจว่า สภาเราจะเดินหน้าการประชุมอย่างไร มติที่ประชุมมีอยู่ ๔ เรื่องที่น่าสนใจครับท่านประธาน
ประการที่ ๑ สำหรับในวันพุธที่ ๓๑ มกราคมและวันพฤหัสบดีที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ เราจะเดินวาระกันไปตามปกติ แต่แน่นอนครับว่าหากมีกรณีที่มีความจำเป็น มีเหตุ ประการสำคัญใด ๆ ที่คิดว่ายังจำเป็นต้องมีการเลื่อนวาระก็คงเป็นเรื่องที่พูดคุยกันภายใน การประสานงานของทั้ง ๒ ฝั่ง ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่ดีครับ
ประการที่ ๒ ในวันนั้นเรามีมติว่าตั้งแต่วันพุธหน้าเป็นต้นไปเราก็จะมีการนัด ประชุมกฎหมาย แล้วก็ในวันพุธที่ ๗ กุมภาพันธ์นั้นจะเริ่มจากการประชุมร่างพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง ซึ่งมีร่างของเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อยู่ทั้งหมด ๕ ร่างที่บรรจุวาระแล้ว แต่ว่ายังรออยู่ว่าจะได้รับการพิจารณาเมื่อไร บวกกับอีก ๑ ร่างของทางคณะรัฐมนตรี ซึ่งท่านประธานได้กรุณาย้ำมากในวันนั้นว่าอยากให้รัฐมนตรี เร่งดำเนินการ ผมคิดว่าเดินไปก่อนแบบนั้นครับ แต่อย่างไรก็ตามก็รับทราบมาว่า ทางคณะรัฐมนตรีเองมีมติ ครม. เมื่อวานนี้ที่ขอเวลาอีกสัก ๑ เดือนที่จะส่งให้คณะกรรมการ กฤษฎีกาพิจารณาก่อนกลับมา แต่ผมคิดว่าประเด็นหลักอยู่ที่ว่าเราเห็นว่ามีร่างของ สส. ถึง ๕ ร่างที่รอการพิจารณา แล้วพี่น้องประชาชน พี่น้องชาวประมงคงรอไม่ได้ ทั้งประมง พาณิชย์แล้วก็ประมงพื้นบ้าน ผมอยากจะนำเรียนย้ำว่าอยากจะให้เดินไปก่อน แต่ว่าถ้ามีเหตุ จำเป็นอย่างไรจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวาระก็คงจะต้องมีการหารือกัน
ประการที่ ๓ หลังจากนี้เป็นต้นไปในวันพุธครับ พูดง่าย ๆ ก็คือตั้งแต่วันพุธที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ วัน Valentine วันพุธที่ ๒๑ วันพุธที่ ๒๘ ต่าง ๆ นี้เราก็จะปรับเปลี่ยน การกำหนดวาระว่ามาประชุมพิจารณากฎหมาย จะเป็นกฎหมายของ ครม. จะเป็นกฎหมาย ของเพื่อนสมาชิก สส. จะเป็นกฎหมายของภาคประชาชน แม้กระทั่งกฎหมายที่คณะรัฐมนตรี ขออนุมัติรับไปก่อนเพื่อพิจารณาก่อนรับหลักการ เช่น ร่างพระบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมือง แห่งประเทศไทย อันนี้ก็ใกล้ครบกำหนด ๖๐ วันแล้ว ก็คาดว่าจะกลับมาให้พิจารณากัน ในทุกวันพุธ
ประการที่ ๔ เป็นประการสุดท้ายว่าสำหรับในทุกวันพฤหัสบดีนั้นเราก็จะ พิจารณาเรื่องอื่น ๆ ที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของรายงานของคณะกรรมาธิการที่มี การพิจารณาเสร็จแล้ว รายงานของหน่วยงานต่าง ๆ แล้วก็รวมถึงญัตติต่าง ๆ ที่ยังมีเพิ่ม เข้ามาเรื่อย ๆ
นั่นคือ ๔ ประการสำคัญที่ทางวิปทั้ง ๒ ฝ่ายที่มีท่านประธานกรุณานั่งเป็น ประธานได้พิจารณาหารือสรุปกัน แล้วก็ขออนุญาตแถมเพิ่มเติมอีกนิดเดียวครับว่า นอกเหนือจากนั้นก็ยังมีประเด็นที่วางไว้ล่วงหน้าว่า คาดว่าจะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพิ่มในวันศุกร์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ เพื่อนสมาชิกก็ได้มีการเตรียมตัวครับ ก็ขออนุญาตนำเรียน ในสิ่งที่ท่านประธานได้นำประชุมในวันนั้น แล้วก็เป็นประเด็นที่อยากให้พี่น้องสื่อมวลชน พี่น้องประชาชนได้รับทราบถึงการทำงานร่วมกันของสภาผู้แทนราษฎรของเรา ขอบคุณครับ ท่านประธาน
ท่านประธานครับ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ผมเข้าใจว่าเป็นการเปลี่ยนระเบียบวาระ ซึ่งทำได้ครับ เพียงแต่ว่าอยากจะฟังเหตุผลจาก ฝ่ายรัฐบาลนิดหนึ่งว่าระเบียบวาระที่ ๕.๕๐ นั้นเป็นเรื่องใด อย่างไร แล้วก็เหตุที่มี ความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงระเบียบวาระมาพิจารณานั้นท่านมีเหตุผลแบบใด ประการใด เพื่อจะได้ประกอบการพิจารณาหรือการตัดสินใจครับ
ขอบคุณครับ ท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทอง ต้องขอบพระคุณท่านประธานที่กรุณาให้ท่านผู้เสนอญัตติได้นำเสนอว่า ท่านอยากเสนอให้มีการเลื่อนระเบียบวาระเรื่องใด ด้วยเหตุผลแบบใด ประการใด ผมขออนุญาตนำเรียนแบบนี้ว่าสิ่งที่เมื่อสักครู่ท่านตัวแทนผู้นำเสนอนั้นได้พูดอย่างชัดเจน แล้วก็เป็นคำที่คิดว่าเป็นประโยชน์สำคัญที่จะนำไปสู่ว่าเห็นควรที่จะให้มีการเลื่อนหรือไม่ ก็คือฉันทามติหรือความคิดเห็นร่วมกันของสังคมว่าผู้เห็นต่างทางการเมือง ไม่ว่าจะมีความคิด เห็นที่เป็นแบบใด ประการใดนั้นได้รับผลกระทบจากการถูกดำเนินคดีอยู่จริง และเป็นฉันทามติ ร่วมกันที่คิดว่าจำเป็น ถึงเวลาที่สังคมไทยต้องทบทวนการทำกฎหมายที่พูดถึงเรื่องของ การนิรโทษกรรม แต่อย่างไรก็ตามเมื่อผมพิจารณาจากระเบียบวาระผมจะพบว่ามี ระเบียบวาระที่มีเรื่องในลักษณะอาจจะใกล้เคียงกัน ทั้งที่มีอยู่ในวาระและที่ทราบมาตามที่ เป็นข่าวที่ท่านประธานได้รับหนังสือ แล้วก็ที่ปรากฏในสื่อสารมวลชนสาธารณะอยู่ทั้งหมด ๓ เรื่องด้วยกัน ตามระเบียบวาระครับ คือระเบียบวาระที่ ๕.๔๖ ร่างพระราชบัญญัติ นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้ง ทางการเมือง พ.ศ. .... (นายชัยธวัช ตุลาธน กับคณะ เป็นผู้เสนอ) ส่วนที่ ๒ ก็คือที่ ท่านประธานได้รับไว้แล้ว ก็คือร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวเนื่องกับการนิรโทษกรรมจากผู้แทน ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งผมเข้าใจว่าท้ายที่สุดนั้นอาจจะมีหลักการที่มีนัยใกล้เคียงกัน และในเดือนกุมภาพันธ์ ทางภาคประชาชนโดยเฉพาะองค์กร iLaw และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ก็จะได้มีการพิจารณานำเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมภาคประชาชนเข้ามาด้วยเช่นเดียวกัน แน่นอนว่าในทางกฎหมายซึ่งเวทีสภานั้นน่าจะเป็นเวทีที่มาพูดคุยกัน ผมเชื่อมั่นว่าเรามี ความพร้อมที่จะมีการพูดคุย และเชื่อมั่นว่าในท้ายที่สุดจะนำไปสู่การออกกฎหมาย นิรโทษกรรมครับ ฉะนั้นเพื่อให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น หากมีการเลื่อนญัตติผมก็เชื่อมั่นว่าเมื่อมี การพิจารณาสภาแห่งนี้ก็น่าจะมีการรับหลักการและนำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ แน่นอนครับ สำหรับคนที่ติดคุก คนที่อยู่ในเรือนจำ คนที่อยู่ในการถูกดำเนินคดี ครอบครัวเขา คนรอบตัวเขาล้วนมีผลกระทบอย่างยิ่งที่ไม่อาจรอได้ ฉะนั้นถ้าเราจะเร่งให้มีการดำเนินการ มีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนในการพิจารณาญัตติ แล้วมี เป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะนำไปสู่สังคมที่กลับคืนสู่ระบบปกติ แบบนั้นพวกผมคิดว่าเห็นด้วย ที่จะให้มีการเลื่อนญัตติ แล้วก็เห็นตรงกันว่าหากมีการเลื่อนได้อย่างเร็วจะมีการพิจารณากัน อย่างรวดเร็วนำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการและขอให้เปิดพื้นที่ให้มีการมีส่วนร่วม ในทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีข่าวมาว่าการจัดสรรที่นั่งในคณะกรรมาธิการที่อาจจะเกิดขึ้นนั้น ไม่เป็นไปตามสัดส่วนปกติที่ควรจะเป็น ผมอยากย้ำนะครับ ท่านประธานช่วยดูนิดหนึ่งว่า ถ้าสัดส่วนเป็นไปตามปกติที่ควรจะเป็นทุกพรรค ทุกฝ่ายได้สัดส่วนที่เพิ่มขึ้นในนัยใกล้เคียงกัน แบบนี้ไม่มีปัญหา แต่ถ้าไม่ใช่แบบนั้นก็คงต้องมาทบทวนกันอีกครั้งว่าจะเอาอย่างไร แต่เบื้องต้นก็คิดว่าเห็นชอบ และคงไม่อาจรอได้ ไม่มีอะไรที่จะรอความทุกข์ยากของคน ที่ได้รับผลกระทบจากคดี พวกผมเองไม่ค้าน และเห็นด้วยกับการเลื่อนญัตติ ขอบคุณ ท่านประธานครับ
ขอบคุณครับ ท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม ผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัด อ่างทอง ท่านประธานครับ ผมขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง การจัดทำข้อเสนอระบบการเลือกตั้งและแนวทางการทำงานของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ภายในวงเล็บใหญ่ ๆ เลยนะครับ (ที่มาจากการเลือกตั้ง) ท่านประธานครับ พวกผมผ่าน ปี ๒๕๔๐ มา อาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ ก็อยู่กับพวกผมในปี ๒๕๔๐ ซึ่งเรามีความฝันและ ความคาดหวังร่วมกันว่าสังคมไทยมันจะก้าวหน้าไปจากรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวคิดที่เรียกว่า Constitutionalism หรือรัฐธรรมนูญนิยม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานของ ท่านอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ แล้วก็งานของคณะกรรมการพัฒนาการเมืองเป็นปึกใหญ่ ๆ ของนักวิชาการอีก ๒๐ กว่าคน แน่นอนครับ วันนั้นก็เป็นแบบวันนี้ เราเองอาจจะยังไม่ได้รู้ทั้งหมดว่าเสื้อที่เราจะออกแบบนั้น หน้าตาเป็นอย่างไร จะมีกระดุมกี่เม็ด จะมีรายละเอียด จะเย็บแบบไหน จะติดตราอย่างไร ใส่พอดีหรือไม่ บางครั้งอาจจะต้องลองใส่ดูก่อน ใส่ไม่พอดีก็อาจจะต้องมีการปรับแก้ แต่นั่นคือเป็นความฝันไม่ใช่หรือครับ เป็นสิ่งที่ดี ๆ ไม่ไช่หรือครับที่เราควรจะต้องมีส่วนร่วม ในการกำหนดมาใหม่ หรือการออกแบบรูปแบบใหม่บนพื้นฐานที่เปิดกว้างของการแสดง ความคิดเห็นอย่างแท้จริง มิได้มีคำถามนำหรือการชี้นำแบบใดแบบหนึ่ง หรือมือที่ไม่เท่ากัน ในการลงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญหรือไม่ และแน่นอนเราจำเป็นต้องยอมรับ กันอย่างตรงไปตรงมาว่าการตัดเสื้อเมื่อปี ๒๕๖๐ นั้นมีปัญหา และถึงเวลาที่เราจำเป็นจะต้อง ตัดเสื้อตัวใหม่ อย่างไรก็ตามเวลาที่เราพูดถึงเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญนั้นหนีไม่พ้นว่าที่มา ของคนที่มาแก้นั้นต้องเป็นประเด็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่ง แน่นอนครับในรายงานของ คณะกรรมาธิการพูดถึงการมีส่วนร่วมของคนที่เรียกว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญ อยู่ ๓ ส่วน ด้วยกัน
ส่วนแรก เรียกว่าเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกผม เป็น สส. มาจากต่างจังหวัด ผมเองก็อยากมีตัวแทนในพื้นที่ของผมที่เข้ามานั่ง ซึ่งยากที่สุด เมื่อเทียบกับกรณีอื่น ๆ แล้วก็กรณีแบบนี้ท่านต้องเคารพและไว้ใจว่าพี่น้องประชาชนวันนี้ มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นในการจะตัดสินใจว่าเขาจะเลือกใครมาเป็นตัวแทนของพวกเขา ปี ๒๕๔๐ ผ่านมาแล้วครับ ปี ๒๕๕๐ ผมเป็นอนุกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็น และการมี ส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในสภาร่างรัฐธรรมนูญ ผมทราบดีว่ามันมีข้อจำกัดบางอย่าง เช่นเวลาที่เราจะไปรับฟังความคิดเห็นนั้นถูกล็อกด้วยคำถามแค่ไม่กี่ข้อที่เอาให้ไปถาม ประชาชนว่า เอาแบบนั้นแบบนี้หรือไม่ นั่นเป็นปัญหาในอดีต แต่วันนี้เราต้องแก้
ส่วนที่ ๒ ก็คือหนีไม่พ้น เอาเข้าจริง ๆ แล้วเราต้องยอมรับว่าความหลากหลาย ของผู้คนนั้นมันมากขึ้น แล้วผู้คนหลากหลายนั้นบางกลุ่มไม่มีส่วนกำหนดชะตาชีวิตของ ตนเอง วันนี้ถ้าท่านพูดถึงความหลากหลายก็มีคำถามเหมือนกันว่าสัดส่วนของคนที่มีความ หลากหลายทางเพศจะอยู่ตรงไหน สัดส่วนของพี่น้องประชาชน พี่น้องชาติพันธุ์จะอยู่ตรงใด สัดส่วนของกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ซึ่งผมต้องยอมรับว่าในรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๕๐ มีมาตราหนึ่ง ที่เรียกว่า มาตรา ๔๐ (๖) ระบุไว้เลยว่า ต่อไปในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับเด็กและ เยาวชนจะต้องมีพนักงานสอบสวนหญิง อันนี้ไม่ได้พูด เขียนแบบตรงไปตรงมา แต่เป็นที่มาที่ไป ที่ทำให้มีพนักงานสอบสวนหญิง แต่ปี ๒๕๖๐ ไม่มีข้อความแบบนี้ และความรุนแรงในเด็ก เยาวชน สตรี ส่วนหนึ่งที่กระบวนการยุติธรรมเอื้อมไม่ถึง ก็มาจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ที่ไม่มีความละเอียดอ่อนอย่างเพียงพอต่อความหลากหลายที่ผมพูดนั่นละครับ
ส่วนที่ ๓ จำเป็นต้องมีคนที่มาปรับแต่งหน้าตาของกฎหมาย รัฐธรรมนูญ ไม่เคยมีข้อใด ๆ ที่จำกัดว่าจะล็อกว่าหมวดใดหมวดหนึ่งนั้นแก้ไม่ได้ รัฐธรรมนูญไม่เคยมี ข้อจำกัดว่าแม้กระทั่งประเด็นถกเถียงกันว่าอำนาจอธิปไตยจะเป็นของ หรือมาจากประชาชน พี่น้องประชาชนหรือคนที่มีความเชี่ยวชาญก็มีส่วนถกเถียงกันได้ มาตรานี้อยู่ในหมวด ๑ แน่นอนครับ อำนาจอธิปไตยจะเป็นของหรือมาจากประชาชน วันนั้นก็ยังเถียงกันได้ แล้ววันนี้เพราะเหตุใดถึงไม่อาจหยิบยกเรื่องนี้มาเถียงกันได้ครับ ฉะนั้นที่มาที่ไปของ ๓ ส่วนนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของตัวแทนของพี่น้องประชาชนในแต่ละพื้นที่ ตัวแทนของกลุ่ม ต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายและตัวแทนของคนที่มีความเข้าใจในเชิงเทคนิค ในเชิง รายละเอียด ในเชิงการเชี่ยวชาญที่จะระบุแค่คำว่า และ หรือ ต่อกัน บางครั้งกฎหมายก็เขียน ไม่เหมือนกัน เจตนารมณ์ต่างกันเลย ฉะนั้นจำเป็นต้องมี ๓ ส่วนนี้ ซึ่งเราเรียกว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตามสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะมาจากการเลือกโดยตรง จะมาจากการปรับแต่งใด ๆ ตาม Model ที่ท่านเสนอ ซึ่งผมต้องขอบพระคุณ แต่ว่า ความเข้าใจของการเลือกหรือที่มาที่ไปนั้นยากครับ ท่านเสนอ ๓ แบบ ๕ Model ต่าง ๆ ผมอยากฟังตอนท้าย ๆ อีกสักครั้งหนึ่งว่าท่านเสนอแล้วนี้ จะสรุปออกมาข่าวคร่าว ๆ ให้เรา ได้ยินได้ไหมว่าบางครั้งเป็นการเลือกโดยตรงทั้งหมดนะ บางครั้งเป็นการมาเลือกกันเอง บางครั้งเป็นการเลือกแบบเป็นพวง พูดง่าย ๆ ก็คือมีการระบุใด ๆ ต่าง ๆ แต่อย่าลืมว่าวันนี้ สัดส่วนของประชาชนคนไทยว่ากันโดยเพศสภาพ โดยกำเนิด เรามีผู้หญิงเกิน ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนประชากรในประเทศ แต่ท่านไม่ได้เขียนหรือไม่มีตรงใดเลยที่ระบุว่า ที่มาของ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญอย่างน้อย หรืออาจจะถึงกึ่งหนึ่งต้องควรมีผู้หญิงอยู่ในสัดส่วน ปี ๒๕๖๐ มีผู้หญิงอยู่ ๓ คนนะครับ ยกร่างกันไปกันมา คุณทิชา ณ นคร ลาออก ๑ คน เหลือ ๒ คนเอง เห็นไหมว่าสัดส่วนของเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงกับผู้ชายก็ต้อง มีส่วนสำคัญในสภาร่างรัฐธรรมนูญ นั่นเป็นประเด็นที่ ๓ ซึ่งผมคิดว่าถ้าเป็นไปได้ทาง คณะกรรมาธิการช่วยตอบผมนิดหนึ่งครับว่าในการจัดทำรายงานนั้นท่านพูดถึงประเด็น เหล่านี้หรือไม่
ประเด็นที่ ๔ ประเด็นสุดท้ายครับท่านประธาน รายงานฉบับนี้มีข้อสังเกต อยู่ ๒ ข้อ และเป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจ ลงนามโดย คุณปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ เลขานุการคณะกรรมการ สส. นนทบุรี เพื่อนพรรคผม ท่านประธานครับ ข้อ ๑ คือการส่งให้ คณะรัฐมนตรีพิจารณาศึกษา อันนี้ผมคิดว่าเข้าใจตรงกันครับ ไม่ยาก ถ้าเราเห็นชอบก็ส่ง แต่ข้อที่ ๒ บอกว่า ควรให้ สส. และสมาชิกวุฒิสภาพิจารณาข้อเสนอและทางเลือกทั้งหมด ผมก็ต้องเรียนถามท่านประธานว่าวันนี้เป็นไปได้หรือไม่ หากเรามีความเห็นแล้วว่ารายงาน ฉบับนี้มีสิ่งที่ดีสำคัญยิ่งที่ควรศึกษานั้น สภาผู้แทนราษฎรจะส่งให้ สว. ได้หรือไม่ ถ้าส่งให้ สว. ได้ประกอบกันผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่ดีที่จะตอบโจทย์แล้วก็นำไปสู่การร่วมกัน ในการกำหนดรูปแบบที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ และนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญ อย่าให้รอถึงปี ๒๕๗๐ ทุก ๆ ๑๐ ปีเลยครับ ก่อนปี ๒๕๗๐ ก็มีได้ แต่ขอให้เป็นรัฐธรรมนูญ ที่มาจากและพี่น้องประชาชนมีส่วนร่วมในการจะกำหนดเจตจำนงของเขาอย่างแท้จริง ขอบคุณครับท่านประธาน
ท่านประธาน ผม ณัฐวุฒิ ลูกหลานชาวจีน ขอประท้วงครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลครับ ผมประท้วงท่านผู้กำลังประท้วง ตามข้อ ๖๙ ส่อเสียดพี่น้องชาติพันธุ์ของผมครับ ผมแซ่ตั้งครับ พี่น้องชาวจีนชาติพันธุ์ในประเทศไทยไม่ได้มีแต่คนเผ่าไทย ท่านถอนดีกว่าครับ ท่านแซ่อะไร
เผ่าไทยนะครับ ประเทศไทย มีเผ่าไทยเผ่าเดียว ไม่ใช่นะครับ
ท่านถอนคำว่า เผ่าไทย นี่ครับ ประเทศไทยไม่มีเผ่าไทยครับ ไม่มีชนเผ่าไทยครับ อุดมไปด้วยพี่น้องชาติพันธุ์หลากหลายครับ ผสมกันทั้งพหุวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา ท่านรีบส่งกฎหมายสภาชนเผ่าพื้นเมืองมาเร็ว ๆ เถอะครับ จะได้ทราบว่ามีกี่ชาติพันธุ์กันแน่ครับ
ท่านประธานครับ พ.ศ. ๒๔๘๔ ขุนวิจิตรมาตรา ประเทศสยามนามประเทืองว่าเมืองทองครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะที่รับมอบหมาย ในวิปฝ่ายค้านและเป็นตัวแทนพี่น้องชาวประมงทั้งประเทศครับ ท่านประธานครับ ในหลักการเราเข้าใจว่ามันมีความจำเป็นแล้วเมื่อพิจารณาถึงแม้ เราจะยืนยันว่าทั้ง ๗ ร่างนี้มีหลักการที่น่าจะครอบคลุม ๒ ประเด็น ที่ท่านรัฐมนตรีพูดถึง แต่ว่าเพื่อความชัดเจนครับ เพื่อให้มันมีร่างมาประกบกันแล้วก็ไม่ต้องมาตีความในอนาคตว่า ครบหรือไม่ครบในเชิงหลักการ ผมขอแบบนี้ได้ไหมครับ เพื่อจะได้ไม่ต้องมีการลงมติกัน ปลายสัปดาห์นี้เราก็จะไปซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้ ขอเอาว่านับ ๑๕ วันนี้บวกลบยากครับ ท่านประธาน ขอว่าให้กลับมาพิจารณาในสภานี้ เราแยกวันพิจารณากฎหมายใช่ไหมครับ ตอนนี้เป็นวันพุธ ถ้าเป็นไปได้อยากจะขอให้กลับมาในวันพุธที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พอจะได้ไหมครับ ถ้าบวกลบคูณหารเร็ว ๆ ก็ ๑๒ คืนนิด ๆ ครับท่านประธาน อาจจะไม่เต็ม ๑๕ วัน ก็บวกลบกัน นิดหน่อย ผมเชื่อมั่นว่ารัฐบาลทำทัน กฤษฎีกาทำทัน เพราะท่านฟังพวกเราทั้งหมดแล้ว แบบนี้ก็จะได้ลงตัวครับ เพราะว่าถ้าเกิดเป็น ๑๕ วัน มันจะต้องไปรออีกเป็นสัปดาห์กว่าจะได้ พิจารณา พี่น้องชาวประมงก็รอ ถ้าอย่างนั้นขอกันนิดหน่อยครับ ขอให้กลับมาพิจารณา ไม่ใช่ว่า กลับมาสภานะครับ กลับมาบรรจุวาระแล้วพิจารณาร่วมกันในวันพุธที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ แบบนี้ก็จะครบถ้วนสมบูรณ์ทุกประการครับ ก็ขออนุญาตท่านประธานฝากไปยังท่านรัฐมนตรี ว่าพอจะรับปากกันตรงนี้ได้หรือไม่ ประการใดครับท่านประธาน
ใช่ครับท่านประธาน
นิดเดียวครับท่านประธาน
ถ้าอย่างนั้นขอเป็น วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ ได้ไหมครับ ในฐานะลูกหลานคนอุทัยธานีเหมือนกันครับ
จะได้กำหนดวาระพิเศษ
ท่านประธานครับ ด้วยความ เคารพอย่างยิ่ง ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จริง ๆ พี่น้องชาวประมงรอฟังกันทั้งประเทศครับ ผมคิดว่ามีเงื่อนไขว่าการกลับมาในวันที่ ๒๒ มันเป็นเงื่อนไขพิเศษ เพราะว่าปกติวันพฤหัสบดีเราจะไม่ได้มีการบรรจุวาระกฎหมาย แต่ผมคิดว่า นี่เป็นเงื่อนไขสำคัญที่เราเห็นตรงกันเป็นฉันทามติของตัวแทนพี่น้องประชาชน แล้วผมเชื่อมั่นว่า ถ้ากลับมาสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือการรับหลักการจะกี่ร่าง อย่างไรก็จะ นำไปสู่การตั้งกรรมาธิการ ถ้าเป็นแบบนี้ก็เป็นเงื่อนไขที่พอรับกันได้ ก็จะได้เดินหน้าต่อครับ แต่ก็อยากสื่อสารให้พี่น้องชาวประมงเข้าใจว่า เป็นพื้นฐานบนพื้นฐานความจำเป็นที่ต้องการ ให้ร่างมันครบถ้วนสมบูรณ์ ในประเด็นที่อาจจะมีการตีความว่าขาดตกบกพร่องไปจริง ๆ ครับ ท่านประธาน
ขอบคุณครับ ท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทอง ลุ่มน้ำเจ้าพระยาครับ ท่านประธานครับ ผมมีเรื่องหารือผ่านท่านประธาน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ๖ เรื่องด้วยกันครับ
เรื่องที่ ๑ เป็นเขื่อนป้องกันตลิ่ง แล้วก็ป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่หมู่ ๘ ตำบล โพสะ อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง ท่านประธานดูภาพนะครับ ท่านนายกรัฐมนตรีดูนะครับ คราบน้ำเต็มไปหมดเลย เวลาน้ำล้นเกินตลิ่งก็จะซึมออกมา แล้วก็เข้าท่วมบ้านเรือนของ พี่น้องประชาชน ฝากให้โยธาธิการจังหวัด แล้วก็จังหวัดอ่างทองได้เร่งดำเนินการแก้ไขด้วยครับ
เรื่องที่ ๒ เป็นเขื่อนป้องกันตลิ่งและป้องกันน้ำท่วมพื้นที่หมู่ที่ ๖ ตำบลโพสะ อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทองครับ เช่นเดียวกัน มีความชำรุดทรุดตัวไปกว่า ๓๐๐ เมตร มีพื้นที่ที่เสียหายเยอะแยะไปหมดเลยครับ แล้วก็ตรงนี้เมื่อน้ำเข้ามาก็จะมีการท่วม ก็ต้องฝาก กรมโยธาธิการและผังเมืองและจังหวัดอ่างทอง เร่งดำเนินการแก้ไขด้วยครับ
เรื่องที่ ๓ เป็นกรณีเขื่อนป้องกันตลิ่งเช่นเดียวกันครับ อันนี้เป็นพื้นที่หมู่ที่ ๒ ตำบลไชโย อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง ท่านประธานดูสภาพการออกแบบแต่ละหน่วยงาน ไม่เหมือนกัน ฝากท่านนายกรัฐมนตรีด้วยนะครับ อันนี้เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ออกแบบ แล้วน้ำมาทีไรล้นตลิ่งทุกที ก็เข้าท่วมบ้านเรือนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง ก็ต้องฝากกรมโยธาธิการและผังเมืองและจังหวัดอ่างทอง เร่งดำเนินการ แก้ไขด้วยครับ
เรื่องที่ ๔ เป็นถนน ถนนเชื่อมระหว่างเส้น อท.๒๐๓๔ และถนนเอเชีย ช่วงหมู่ที่ ๑ ตำบลจรเข้ร้อง อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง เป็นถนนที่ไม่มีไฟทางและต้นไม้ ปกคลุมสูงครึ้ม ฉะนั้นไม่ปลอดภัยต่อพี่น้องประชาชนในการสัญจร ต้องฝากให้จังหวัดอ่างทอง ประสานงานกับเทศบาลตำบลไชโยดำเนินการแก้ไขด้วยครับ
เรื่องที่ ๕ เป็นถนนเลียบแม่น้ำน้อย บริเวณหน้าวัดยางมณีพื้นที่หมู่ที่ ๗ ตำบลองครักษ์ อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง ต่อเนื่องกันไปถึงตำบลถอนสมอ อำเภอ ท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี น้ำท่วมหนักในปีที่ผ่านมาถนนชำรุดเด็กนักเรียนเดินทางลำบาก เรื่องนี้ก็ต้องฝากให้ทางจังหวัดอ่างทอง ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ แก้ไขด้วยครับ
เรื่องที่ ๖ พี่น้องจังหวัดเพชรบูรณ์ฝากผมมา ท่านนายกรัฐมนตรีดูนะครับ อันนี้เป็นการขุดคลองชลประทาน เนื้อที่ ๓๐๐ ไร่ ในพื้นที่ หมู่ที่ ๘ ตำบลเพชรละคร อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ ขุดมากว่า ๒ ปีไม่มีน้ำเลยครับ ก็ฝากให้กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการแก้ไขด้วย ฝากท่านประธานและท่านนายกรัฐมนตรีครับ ขอบคุณครับ
ท่านประธานครับ ยังมี ความเห็นที่แตกต่างกันอยู่เรื่องการส่งครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลครับ ท่านประธานด้วยความเคารพครับเรื่องของการสรุปญัตติหรือเนื้อหาต่าง ๆ นั้นผมเองคิดว่า ทางฝ่ายสภาสามารถทำได้อยู่แล้ว แต่ว่ามีข้อเสนอ ๓ ข้อ ที่มีความแตกต่างกันครับ ญัตติของท่านเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เสนอให้มีการส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ญัตติของ ท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์มีการเสนอ ๒ ข้อ ส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และส่งให้ คณะกรรมาธิการที่กำลังพิจารณาประเด็นเรื่องของนิรโทษกรรม ซึ่งทางพวกผมเองมีข้อเสนอ ที่เพิ่มเติมว่า ไหน ๆ จะมีการศึกษาทั้งทีก็อยากให้มีการส่งให้ทางคณะกรรมาธิการสามัญ คือคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูป ประเทศ พิจารณาด้วยครับ ฉะนั้นต้องขออนุญาตยืนยันว่าข้อเสนอของเรานั้นเป็นข้อเสนอ เพิ่มเติม ไม่ได้ลบล้าง ไม่ได้ขัดหรือแย้งกับสิ่งที่ท่านมีการเสนอ แต่ว่าอยากให้มีความ ครอบคลุมรอบด้าน เพื่อความสมบูรณ์สูงสุดของการศึกษาญัตตินี้ และนำไปสู่การแก้ไข ปัญหาในอนาคต จึงมีข้อเสนอเพิ่มเติมว่าขอให้ส่งคณะกรรมาธิการสามัญ คณะกรรมาธิการ ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ เป็นผู้ พิจารณาเพิ่มเติมขึ้นมาด้วย ท่านประธานต้องพิจารณาประเด็นนี้ด้วยครับ ขอบพระคุณครับ
หามิได้ครับ ท่านประธาน ที่เคารพครับ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมขออนุญาตเรียนท่านประธานตามข้อเท็จจริงแบบนี้นะครับ ญัตติ ถ้าไม่นับญัตติด่วนด้วย วาจาเป็นจำนวนมากนะครับ มีการเสนอขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ หลายครั้งไม่ได้พูด ในเนื้อหาเลยว่าจะมีการส่งไปที่ใด แต่ท้ายที่สุดก็มีข้อสรุปออกมาว่าให้ส่งคณะกรรมาธิการ สามัญคณะใดคณะหนึ่ง บางครั้งเนื้อหาพูดว่าส่งคณะเดียว ก็ยังมีการแยก ๒ คณะ ฉะนั้น ผมรบกวนต้องขอประทานโทษท่านประธานจริง ๆ ต้องวินิจฉัยข้อแรกก่อนว่า มีข้อเสนอของ พรรคก้าวไกลเสนอให้ส่งเพิ่มเติมเป็นคณะกรรมาธิการสามัญอีก ๑ คณะด้วย สามารถกระทำ ได้หรือไม่ ซึ่งถ้าท่านประธานบอกทำได้ เราก็จะเดินหน้าครับ ถ้าจำเป็นก็ต้องลงมติกัน เพราะว่ามีความเห็นที่แตกต่าง แต่ถ้าท่านประธานบอกว่าทำไม่ได้ โดยข้อบังคับ อันนี้ก็ต้องบันทึกไว้ครับ เพราะว่าจะเป็นบรรทัดฐานกับกรณีของญัตติอื่น ๆ ต่อไป แต่มันไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ จะไปบอกว่าคณะกรรมาธิการคณะนั้นจะเรียกไป ไม่เหมือนกัน นะครับ ศักดิ์และสิทธิของการที่สภาส่งไปให้คณะไหนศึกษา คณะนั้นต้องทำรายงานกลับเข้า มาที่สภา มันไม่เหมือนกับกรณีที่เรียกไปเอง ซึ่งอาจจะไม่มีรายงานกลับมาที่สภา ฉะนั้น พรรคก้าวไกลยืนยันนะครับ ขอให้ส่ง ครม. ส่งคณะกรรมาธิการที่พิจารณาประเด็นนิรโทษกรรม และขอให้ส่งคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและ การปฏิรูปประเทศ เป็นผู้พิจารณารายละเอียดของญัตตินี้ประกอบกันครับ ก็ขออนุญาต ยืนยันตามความเห็นเดิมครับท่านประธาน
ขอบคุณครับ ท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลครับ ท่านประธานครับ ได้พูดคุยกับผู้เสนอญัตติ แล้วก็ผู้อภิปรายหลายท่านจากหลายพรรคการเมืองครับ คือว่า มีความคิดเห็นที่ตรงกันใน ๒ ข้อด้วยกันเป็นเบื้องต้น ข้อที่ ๑ ก็คือว่าเห็นควรที่จะมีการสรุป เนื้อหาทั้งหมดที่ท่านประธาน แล้วก็ทางเจ้าหน้าที่คงได้เตรียมไว้แล้วส่งไปให้ทาง คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ซึ่งผมเข้าใจว่าโดยหลักการคณะรัฐมนตรีพิจารณาเป็นประการใด ก็จะมีคำตอบส่งกลับมาที่สภา อันนี้เป็นเรื่องปกติที่เราทำอยู่แล้ว ซึ่งเห็นด้วยครับ
ส่วนข้อที่ ๒ ข้อเสนอของท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ ผมคิดว่าเป็นข้อเสนอที่มีคุณค่ายิ่งนะครับ แล้วก็อยู่ในญัตติด้วย ก็คือส่งให้คณะกรรมาธิการ วิสามัญที่พิจารณาประเด็นเรื่องของนิรโทษกรรมได้นำไปเป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณา อันนี้ผมยืนครับว่าตรงนี้ต้องเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง แล้วจะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาเป็น อย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ตอนแรกที่ผมมีการเสนอว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งนั้น หลังจากที่ได้มี การหารือกันแล้วคิดว่าเพื่อเป็นข้อมูลที่ประกอบ จะขอให้ทางสภานี้ได้ส่งสรุปที่จะมีการส่งให้ คณะรัฐมนตรีและส่งให้กับทางคณะกรรมาธิการวิสามัญ ขอให้เป็นการส่งเฉพาะเอกสารไม่ได้ เป็นการส่งตัวญัตตินะครับ ส่งเฉพาะเอกสารไปให้ทางคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ส่วนคณะกรรมาธิการ ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ จะพิจารณา ดำเนินการแบบใดประการใดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แบบนี้ก็จะไม่ใช่เป็นข้อเสนอให้มีการส่ง ญัตติไปที่กรรมาธิการ แต่เป็นการส่งเอกสารไปเพื่อดำเนินการ ก็จะเป็นการพูดคุย ประนีประนอมความเข้าใจตรงกัน เป้าหมายตรงกันนะครับ แล้วก็เพื่อไม่ให้เสียเวลาสภา ที่อาจจะต้องมีการโหวต เพราะว่ายังมีกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นและการยกเลิก คำสั่ง คสช. เดินหน้าอยู่ ถ้าเป็นแบบนี้ก็จะตรงกันแล้ว ก็จะได้ไม่ต้องมีการลงมติครับ ท่านประธาน
ท่านประธาน ขอใช้สิทธิพาดพิง ฝ่ายค้านครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะวิปฝ่ายค้าน ท่านประธานครับ ท่านอนุชา บูรพชัยศรี ต้องขอประทานโทษที่เอ่ยนาม ท่านสมาชิกที่ได้อภิปราย ท่านได้ พาดพิงฝ่ายค้านในลักษณะว่าหากมีการขอต่อระยะเวลาการศึกษา สมาชิกฝ่ายค้านก็จะตั้ง คำถามว่าทำไมถึงไม่แล้วเสร็จ ซึ่งอันนี้ไม่เป็นความจริง ผมต้องเรียนท่านประธานแบบนี้ว่า หลายเรื่องที่เป็นญัตติ ไม่ว่าจะเป็นญัตติจากพรรคฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็มีการขอต่อเวลา มาโดยตลอด เช่น กรณีของบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งก็มีการขอต่อระยะเวลาหลายครั้งก็ยังไม่แล้วเสร็จ หรือแม้กระทั่งกรณีของการศึกษาประเด็นเรื่องตัว G ของนักเรียนที่ยังไม่มีรายการสถานะ บุคคลก็ยังไม่แล้วเสร็จ แล้วก็มีการขอต่อเวลา ทางพวกเราฝ่ายค้านก็ให้ความเห็นอย่างมี วุฒิภาวะไปแต่ละรายงานครับ ถ้าไม่เสร็จจริง ๆ เราเห็นว่ามีความจำเป็นก็อนุญาตให้มี การต่อระยะเวลาได้ครับ แต่ของท่านเมื่อครบระยะเวลาคือในกลางเดือนมกราคมท่านไม่ได้ ขอต่อ อันนี้คือความเป็นจริง ท่านไม่ได้ขอต่อ แล้ววันนี้ท่านกลับมาพูดในลักษณะว่า ถ้าต่อแล้วเกรงว่าฝ่ายค้านจะไม่เห็นด้วย ไม่ใช่นะครับ ฉะนั้นตรงนี้ต้องขออนุญาตชี้แจง ท่านประธานว่าไม่ตรงกับความเป็นจริง แล้วท่านไม่ได้ขอต่อ รายงานฉบับนี้จบตามระยะเวลา แต่จะสมบูรณ์หรือไม่ รับหรือไม่ หรือเรียนด้วยความเคารพ ถ้าจำเป็นฝ่ายค้านอาจจะขอ ลงมติเป็นรายบุคคลเพื่อจะได้รู้ว่าใครรับหรือไม่รับ ฉะนั้นต้องขออนุญาตชี้แจงต่อ ท่านประธานด้วย ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานครับ ณัฐวุฒิครับ นิดเดียวครับท่านประธาน ณัฐวุฒิ บัวประทุม ครับ เนื่องจากว่าเมื่อเช้านี้ระหว่างประชุม กรรมาธิการมีเสียงสัญญาณเตือนลงมติขึ้นในห้องกรรมาธิการหลายห้อง มีการสอบถามไป เขาก็บอกว่าซ้อม เดี๋ยวจะมาลงมติเรื่องแลนด์บริดจ์ ผมก็เกรงว่ากดไปรอบนี้สมาชิกจะ ไม่เข้าใจว่าตกลงรอบนี้ซ้อมหรือจริง ถ้าอย่างนั้นต้องสื่อสารว่ารอบนี้เอาจริง แล้วก็ลองดูก่อน ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่อยากให้ลงเป็นรายบุคคล ใช้บัตร แต่ว่าถ้าจำเป็นเดี๋ยวดูก่อนว่าเอาอย่างไรดี แต่ว่าอยากจะให้ท่านประธานสื่อสารเจ้าหน้าที่ไปถึงห้องกรรมาธิการว่ารอบนี้ไม่ซ้อมนะครับ เอาจริงครับ เดี๋ยวจะเข้าใจคลาดเคลื่อน
ท่านประธานครับ ณัฐวุฒิ อีกรอบหนึ่งครับ ท่านประธาน จอแสดงผลเวลา Check องค์ประชุมมันไม่ขึ้นเลยครับ ท่านประธานกำชับเจ้าหน้าที่นิดหนึ่ง รอบนี้ไม่ได้ซ้อม เอาจริงแล้วครับ จอไม่ขึ้นครับ ท่านประธาน
ท่านประธาน ณัฐวุฒิ อีกรอบครับ ด้วยความเคารพครับ จอมันไม่ขึ้นครับ พวกผมก็แสดงตนไปตั้งนานแล้ว ไม่แน่ใจว่าจอท่านประธานเห็นไหมครับ
ยังไม่เห็นเหมือนกัน อยากรู้ แค่นั้นครับ ขอบคุณครับ
ท่านประธานครับ ด้วยความเคารพ ณัฐวุฒิ บัวประทุม ท่านประธานปิดลงมติไปแล้ว ด้วยความเคารพต่อท่านคุณหมอชลน่าน ศรีแก้ว ผมคิดว่าไม่ใช่บวก ๑ นะครับ จะต้องมีการลงบันทึกไว้ว่าท่านมาลงมติภายหลัง ท่านแสดงเจตจำนงเช่นนั้น แต่ไม่ใช่นับรวมในคะแนนที่ลงมติไปแล้วนะครับท่านประธาน
ท่านประธานสักครู่ครับ พอดี ท่าน สส. พุธิตา มีปัญหาเรื่องบัตรนิดหนึ่งครับ กรุณาสักครู่ครับ
ท่านประธานด้วยความเคารพ
ประท้วงท่านประธานตาม ข้อ ๙ อยากให้ท่านประธานควบคุม การประชุมครับ เมื่อสักครู่ท่านประธานเริ่มเข้าสู่วาระ ถัดไปแล้วครับ แล้วก็เป็นเรื่องสำคัญที่มีเพื่อนสมาชิกรออภิปรายหลายท่าน ต้องขอบพระคุณ ทุกท่าน แล้วก็คิดว่าอยากจะให้การประชุมเดินหน้าต่อครับ
ท่านประธาน ผมยืนใช้สิทธิ ประท้วงท่านผู้อภิปรายอยู่นะครับ
ผมใช้สิทธิประท้วง ท่านผู้อภิปรายครับ ประท้วงท่านประธานตาม ข้อ ๙ ข้อ ๖๙ แบบเดียวกับที่ท่านผู้อภิปราย ประท้วงพวกผมเมื่อวานนี้ นอกประเด็นครับ แล้วก็ผมขอเสนอญัตติให้เดินหน้า การประชุมต่อ ขอสมาชิกรับรองด้วยครับ
ขอบพระคุณคุณหมอทศพร ด้วยนะครับ
ผมใช้สิทธิเดินหน้าประชุมต่อ มีผู้รับรองถูกต้องครับท่านประธาน
ท่านประธาน รอคิวเต็มเลยครับ