นายสรวงศ์ เทียนทอง

  • ท่านประธานที่เคารพ สรวงศ์ เทียนทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสระแก้ว เขต ๓ พรรคเพื่อไทยครับ วันนี้ขออนุญาตยืนพูด ใน ๒ สถานะครับท่านประธาน สถานะแรก ก็คือเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนเกษตรกร เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อีกสถานะหนึ่ง ก็คือสถานะที่ตัวเองก็เป็นเกษตรกรครับ ท่านประธาน ก่อนอื่นต้องตอบคำถามของท่าน สส. ฐิติมา ฉายแสง ก่อนเลยครับ ผมเอง ก็เพิ่งรู้ครับว่ามีกองทุนนี้อยู่ เมื่อสักครู่ท่านขึ้น Chart มาเต็มที่เลยนะครับ ไปทำสำรวจมา ๑๐ กว่าราย ไม่รู้จักเลยกองทุนนี้ วันนี้ตอบคำถามท่านครับว่าผมเองคนหนึ่งก็ไม่รู้จัก แล้วก็ไม่เคยทราบเลยว่ามีกองทุนนี้อยู่ สงสัยไหมครับท่านประธาน กองทุนเล็ก ๆ ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เงินก็ไม่เยอะ แต่ทำไมพี่ ๆ น้อง ๆ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของพวกเราให้ความสำคัญในการอภิปรายเยอะขนาดนี้ เพราะพวกเราลงพื้นที่ครับ พวกเรา เห็นถึงปัญหาของพี่น้องเกษตรกร ปัญหาใหญ่ที่สุดก็คือเรื่องเงินทุน ง่าย ๆ เลยครับ ยกตัวอย่างตัวผมเอง ๔ ปีที่แล้วเริ่มทำการเกษตร มีคนแนะนำว่าให้ไปเป็นลูกค้า ธ.ก.ส. สิ เขามีเครือข่ายนะ ดีนะ ผมก็ไปคุยกับ ธ.ก.ส. ท่านประธานทราบไหมครับว่า ณ วันนั้นที่ผม ไปคุยกับ ธ.ก.ส. ดอกเบี้ย MRR ลูกค้าใหม่เท่าไร วันที่ผมไปคุยจำตัวเลขได้ขึ้นใจครับ ๙.๒๗ เปอร์เซ็นต์ครับพี่น้อง สิ่งที่เกิดขึ้นคือออกมาจากธนาคารแทบไม่ทันครับ วันนี้ก่อนเข้า ที่ประชุม ผม Check กับทาง ธ.ก.ส. ดอกเบี้ย ณ ปัจจุบัน ๖.๙๗๕ สิ่งเหล่านี้ละครับ คือต้นทุนในการใช้ชีวิต ต้นทุนในการทำมาหากินของพี่น้องเกษตรกร อย่างที่ท่าน สส. วิชัย จากกาฬสินธุ์ได้พูดไปเมื่อเช้านี้ เกษตรกรก็ไม่ต่างอะไรจากข้าราชการของประเทศไทยทุกคน กู้ทุกอย่าง ยกเว้นระเบิด แล้วเรามองหาจริง ๆ พี่น้องเกษตรกรมองหาจริง ๆ ว่าใครที่จะเป็น ที่พึ่งให้เขาได้ ผมขออนุญาตแยกชื่อกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรออกเป็น ๒ คำ กองทุน ท่านประธานครับ กองทุนมันจะมีระเบียบการจัดตั้งกองทุนของมันอยู่ ก็คือได้รับเงิน สนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นเงินไม่เยอะ แต่การจัดเก็บรายได้ ของกองทุน ถ้าเราดูในเอกสารหน้า ๑๗ เราจะเห็นได้ชัดครับ ไม่ต้องดูตัวเลขย้อนไกล ดูปี ๒๕๖๔ รายได้อื่น ๆ ทั้งหมด ๒๕,๖๐๐,๐๐๐ บาท แต่รายได้ดอกเบี้ยเงินฝากจากสถาบัน การเงินเกือบ ๑๕ ล้านบาท เกือบ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ของรายได้ของกองทุนนี้มาจากเงินฝาก จากสถาบันการเงินอื่น ๆ พูดง่าย ๆ ก็คืออยู่เฉย ๆ เอาเงินไปฝากธนาคารก็ได้ดอกเบี้ยมา ที่เหลือก็เป็นรายได้อื่น ๆ ที่ได้จากการชำระในการกู้ยืมของเกษตรกร อีกคำหนึ่งก็คือคำว่า สงเคราะห์ คำว่า สงเคราะห์ อยากจะจำแนกแล้วก็อยากจะขอความชัดเจนจากหน่วยงานนี้ จริง ๆ เลย วันนี้เสียดายไม่ได้มา คำว่า สงเคราะห์ จะต้องถึงขนาดใช้คำว่า เกษตรกรผู้ยากไร้ หรือไม่ ถึงจะมีสิทธิเข้าโครงการ ถึงจะมีสิทธิกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินแห่งนี้

    อ่านในการประชุม

  • อีกเรื่องหนึ่งท่านประธานครับ ผมขออนุญาตขึ้น Slide นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • วันนี้หน่วยงานไม่ได้มา แต่ก็ขอฝาก ไปครับ ขอเป็นหน้า ๑ ประเด็นที่น่าเปลี่ยนแปลงของกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ซึ่งถ้าเราดู วัตถุประสงค์และหน้าที่ของหน่วยงานนี้ พรรคเพื่อไทยยิ้มเลยครับ เพราะมันตรงกับ Slogan ของพวกเราที่ใช้หาเสียงเลย ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ท่าน สส. ฐิติมาพูดไป เมื่อเช้านะครับ นโยบายต่าง ๆ แล้วก็วัตถุประสงค์ต่าง ๆ ในการทำงานมันดีเหลือเกิน มันครอบคลุมทุกอย่างเลย แต่ท่านประธานครับ ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว ๖ ข้อที่ใส่ลงมา ในวัตถุประสงค์ ผมขออนุญาตเพิ่มอีก ๓ ข้อ คือ การส่งเสริมเข้าถึงการตลาด และแนวพัฒนา ผลิตภัณฑ์อันต่อเนื่องจากกระบวนการการแปรรูป อีกข้อหนึ่ง ส่งเสริมการเข้าถึง การสนับสนุนทางการเงิน สภาพคล่อง ให้สามารถดำเนินงานและรักษาส่วนแบ่ง ทางการตลาดได้อย่างยั่งยืน ข้อสุดท้าย ส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งกลุ่มเกษตรกร หลายกลุ่ม ต่างประเภท มีการผลิตและการค้าที่เชื่อมโยงและสนับสนุนซึ่งกันและกันภายใน เครือข่าย

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ อีกเรื่องหนึ่งที่หลาย ๆ ท่านได้อภิปรายไปก็คือเรื่องของ การเข้าถึง แล้วก็การอนุมัติเงินกู้ต่าง ๆ ให้กับเกษตรกร ถ้าเรามองลงไปในโครงสร้าง ของคณะนี้ เราจะเห็นได้เลยว่ามีแต่ตัวแทนของภาครัฐทั้งหมด ๒๓ คน เป็นตัวแทน จากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวง เลขาธิการคณะโน้นคณะนี้ต่าง ๆ เป็นตัวแทนของภาครัฐ ๑๓ คน แล้วก็เป็นผู้ทรงคุณวุฒิอีก ๑๐ คนซึ่งก็มาจากการคัดสรร จากภาครัฐอยู่ดี ผมขอเสนอให้เพิ่มและเปลี่ยนเอาภาคเกษตรกรผู้ปฏิบัติงานจริง ผู้อยู่ใน สายงานจริง และผู้รู้ปัญหาจริง เข้าไปเป็นโครงสร้างให้กับกองทุนนี้ด้วย เพื่ออะไรครับ เพื่อเราจะได้รู้ปัญหาจริง ๆ และจะได้แก้ปัญหาให้ถูกจุด อย่างไรก็กราบขอบพระคุณ หน่วยงานที่เข้ามาชี้แจงวันนี้ ถ้ามีโอกาสก็ฝากไปถึงกองทุนช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร หน่วยงานนี้ด้วยครับ กราบขอบพระคุณอย่างสูงครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ สรวงศ์ เทียนทอง สระแก้ว เขต ๓ พรรคเพื่อไทยครับ ขออนุญาตใช้เวลาสภาหารือความเดือดร้อนของพี่น้อง ประชาชนในตำบลทัพไทย อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ๓ เรื่อง

    อ่านในการประชุม

  • ผมได้รับการร้องเรียนจากท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทัพไทย ท่านอนันชัย พูพิลึก และท่านสุชาติ สำราญใจ กำนันตำบลทัพไทย ถึงความเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชนในเรื่องของการสัญจรไปมา ขอ Slide ด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ทางหลวงท้องถิ่นหมายเลข สก.๓๐๘๒ ท่านประธานครับ มีระยะทางประมาณ ๒,๔๐๐ เมตร ก็คือ ๒.๔ กิโลเมตร จากบ้านกะสังไป บ้านรัตนะ บ้านน้ำเงิน บ้านแสนสุข ประชากรประมาณ ๓,๐๐๐ กว่าคน ๘๐๐ กว่าครัวเรือน ต้องการความดูแลในเรื่องของการสัญจรไปมา กราบเรียนท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องของน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภคของบ้านทัพไทย หมู่ที่ ๑ และหมู่ที่ ๒ ผมได้รับการร้องเรียนจากนายสงบ พลารัมย์ แล้วก็นายวสันต์ สุขบุญช่วย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑ และหมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๑ บ้านทัพไทย และหมู่ที่ ๒ บ้านโคกตาด้วง ในเรื่องของความเดือดร้อนในเรื่องของน้ำ ที่ท่านประธานเห็น ขอ Slide กลับไปอันหนึ่ง นี่คือบ้านทัพไทยหมู่บ้านที่ได้รับการขนานนามว่ามีผังเมืองที่สวยที่สุดในประเทศไทย ท่านประธานครับ หมู่ที่ ๑ และหมู่ที่ ๒ บ้านทัพไทยและบ้านโคกตาด้วง ในกรอบสีเหลือง จะเป็นแหล่งน้ำที่พี่น้องประชาชนใช้อยู่ในปัจจุบัน ในกรอบสีแดงจะเป็นที่พี่น้องประชาชน ต้องการที่จะขยายบ่อน้ำแห่งนี้ ท่านประธานครับ น้ำที่ท่านประธานเห็นอยู่นี้เป็นน้ำที่พี่น้อง ประชาชนชาวบ้านทัพไทยหมู่ที่ ๑ และหมู่ที่ ๒ ใช้บริโภคมาเป็นเวลาหลายสิบปี เมื่อวาน ผมเอาเข้ามาเจ้าหน้าที่ รปภ. บอกว่าห้ามนำของมึนเมาเข้ามาในสภา นึกว่าเป็นน้ำกระท่อม ท่านประธาน วันนี้หมู่บ้านทัพไทยทั้ง ๒ หมู่ ได้เสนอโครงการวางท่อน้ำจากบ่อน้ำ UN มายังบ่อน้ำสาธารณะบ้านทัพไทย Slide ต่อไปเลยครับ บ่อน้ำ UN เป็นบ่อน้ำที่องค์การ สหประชาชาติสร้างมาตอนที่เขมรแตกมีความจุ ๑๘๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร อยู่ที่สูง สามารถวางท่อลงมายังบ้านทัพไทยได้เลย ระยะทางประมาณ ๗,๕๐๐ เมตร ใช้งบประมาณ ไม่เยอะ ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนเรื่องสุดท้าย เป็นการของบประมาณในการซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำรัตนโกสินทร์ ในตำบลทัพไทย น้ำเยอะครับท่านประธาน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือสันเขื่อน สันเขื่อน ทำมาจากดินซึ่งเป็นดินทรายหรือที่เรียกว่าดินละลุสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้อง ประชาชนเวลาฝนตกไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ในจำนวนที่พอเหมาะ ก็ฝากท่านประธานไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสรรงบประมาณมายังพี่น้องประชาชนด้วยครับ กราบขอบพระคุณ อย่างสูงครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ สรวงศ์ เทียนทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสระแก้ว เขต ๓ พรรคเพื่อไทย วันนี้ต้องขออนุญาต ยืนอภิปรายด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจจริง ๆ เวลาเราพูดถึงภาคตะวันออกมันมีแค่ ๓ จังหวัด จริง ๆ หรือครับ จังหวัดปราจีนบุรีหายไปไหน จังหวัดจันทบุรีหายไปไหน จังหวัดตราด หายไปไหน จังหวัดสระแก้วหายไปไหน ท่านประธานครับ จังหวัดสระแก้วเป็น ๑ จังหวัด ที่ได้รับการประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วยประกาศของ คสช. เมื่อปี ๒๕๕๘ ลงนาม โดยนายกรัฐมนตรี ท่านประยุทธ์ จันทร์โอชา ปี ๒๕๕๙ กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศ เป็นผังเมืองออกมาครอบประกาศ คสช. อีกครั้งหนึ่ง แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคือการนิคมอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทยเอาเงินมหาศาลครับ รัฐบาลที่ผ่านมาใช้เงินมหาศาลจริง ๆ ในการพยายาม ที่จะทำให้จังหวัดสระแก้วซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนที่ใกล้กรุงเทพฯ มากที่สุด จากกรุงเทพฯ ไปถึงอำเภออรัญประเทศชายแดน ๓๐๐ กว่ากิโลเมตร แต่ไม่ได้รับการพิจารณาให้อยู่ใน EEC Eastern Economic Corridor ก็น้อยเนื้อต่ำใจเป็นธรรมดาครับ วันนี้ถึงต้องยืนพูด

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ นิคมอุตสาหกรรม ป่าไร่เป็นนิคมที่มีข้อพิพาทมากมาย ใช้เงินมหาศาลในการทำนิคมนี้ขึ้นมา ใช้เงินมหาศาล ในการที่เดินท่อประปาจากเขื่อนพระปรง อำเภอวัฒนานครไปยังอำเภออรัญประเทศ มหาศาลจริง ๆ แต่ถูกวันนี้ถูกปล่อยร้างครับ มีการพยายามที่จะเปลี่ยน พยายามที่จะทำ EIA ใหม่เพื่อจะสร้างโรงงานไฟฟ้า แล้วก็เป็นข้อพิพาทให้กับพี่น้องประชาชนมากมาย ในการที่จะใช้ชีวิตในละแวกนิคมอุตสาหกรรมนี้ ท่านประธานครับ ผมใช้เวลาอีกไม่นาน แต่ขอให้พี่น้องประชาชนได้เห็นถึงตัวเลข ตัวเลขที่ผมเอามาวันนี้เป็นตัวเลขจากกรมการค้า ระหว่างประเทศ เฉพาะแค่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน ปี ๒๕๖๖ นี่เองมูลค่าโดยรวม ๙๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท เฉพาะไทย-กัมพูชา และที่สำคัญที่สุดท่านประธานเห็นนะครับ อำเภออรัญประเทศแค่ไม่กี่เดือน ๔๑,๖๖๑ ล้านบาทส่งออก นำเข้า ๑๓,๐๐๐ ล้านบาท ถ้าสรุปเมื่อปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านมาเราส่งออก ๑๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท นำเข้าประมาณ ๓๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท นี่ความน้อยเนื้อต่ำใจของคนจังหวัดสระแก้วว่าทำไมเราถึงไม่ถูก บรรจุเข้าไปอยู่ใน EEC ทั้ง ๆ ที่ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ถ้าเรารวมกันผมมั่นใจ จริง ๆ แล้ว Facility ต่าง ๆ ของอำเภออรัญประเทศเอง หรือว่า จังหวัดสระแก้ว จังหวัดจันทบุรี จังหวัดปราจีนบุรี ผมมั่นใจว่าไม่ต้องลงทุนอีกเยอะแยะมากมาย ไม่เหมือนแผนที่ออกมาสวยหรู เห็นด้วยนะครับ เห็นด้วยจริง ๆ ในการพัฒนาพื้นที่ เขตตะวันออก แต่ผมไม่เข้าใจ ทุกวันนี้ก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมแค่ ๓ จังหวัด ก็ขอให้คณะกรรมการ ผมก็มั่นใจว่าคงจะไม่ได้อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ แต่ว่าท่านสามารถที่จะทำเรื่อง ในการเสนอแนะคณะรัฐมนตรีหรือว่ารัฐบาลที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศได้ครับ ขอขยายพื้นที่ได้ไหม เอาจันทบุรี เอาสระแก้ว เอาปราจีนบุรี เอาตราดเข้าไปรวมด้วยได้ไหม ผมกราบเรียนกับท่านประธานผ่านไปยังผู้ชี้แจงว่าท่านสามารถที่จะแนะนำคณะรัฐมนตรี ชุดใหม่ได้ แล้วก็ขออนุญาตพูดในนามของคนสระแก้วว่ารบกวนให้ท่านพิจารณาเอาจังหวัด สระแก้วเข้าไปอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของท่านด้วยครับ กราบขอบพระคุณ อย่างสูงครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ สรวงศ์ เทียนทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสระแก้ว เขต ๓ พรรคเพื่อไทย ก่อนอื่นต้องกราบ ขอบพระคุณสภาแห่งนี้ที่เปิดโอกาสให้สมาชิกได้เสนอญัตติ ซึ่งเป็นญัตติด่วนเกี่ยวกับ ความเป็นอยู่ ปากท้องของพี่น้องประชาชน ขออนุญาตท่านประธานอ่านญัตติให้กับที่ประชุม แล้วก็พี่น้องประชาชนให้ได้รับทราบครับ เรื่องขอเสนอญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรร่วมกัน พิจารณาหามาตรการและแนวทางการแก้ไขปัญหา และป้องกันราคาพืชผลทางการเกษตร และสินค้าทางการเกษตรตกต่ำ เพื่อเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการ ต่อไป เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร เนื่องด้วยประเทศไทยถือเป็นประเทศเกษตรกรรม กว่า ๔๐ เปอร์เซ็นต์ของประชากรมีอาชีพเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรมเพื่อการบริโภค หรือเกษตรกรรมเพื่อการอุตสาหกรรม รวมถึงการทำปศุสัตว์เพื่อการพาณิชย์ ทั้งหมดนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นอาชีพหลักซึ่งสร้างรายได้ให้กับประเทศมหาศาล อย่างไรก็ตามเกษตรกร มักไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของปัญหาต้นน้ำ กลางน้ำ หรือปลายน้ำ ดังนั้นกระผมขอเสนอญัตติดังกล่าวเพื่อให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรช่วยกัน ระดมความคิดเห็น เสนอปัญหา และวิธีการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อหามาตรการในการป้องกันและแก้ปัญหาพืชผลและสินค้าทางการเกษตรตกต่ำต่อรัฐสภา เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนต่อไป ท่านประธานครับ ปฏิเสธไม่ได้เลยครับว่าประเทศไทยคือประเทศเกษตรกรรม มากกว่า ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ของประชากรมีอาชีพเป็นเกษตรกร สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยมหาศาล แต่ในขณะเดียวกัน ภาครัฐเองก็ต้องใช้งบประมาณมหาศาลเช่นกัน ในการดูแลเยียวยาให้กับพี่น้องเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นราคาพืชผลตกต่ำแต่ละปี ๆ ผมมั่นใจว่ารัฐบาล โดยการนำของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน และคณะรัฐมนตรี จะนำพา ประเทศไทย และช่วยกันแก้ปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน ผมขออนุญาต ที่จะเข้าไปสู่ Slide ที่ ๑ ครับ

    อ่านในการประชุม

  • เพื่อจะให้ท่านสมาชิก แล้วก็พี่น้อง ประชาชนได้เห็นครับว่าจาก ๔๐ เปอร์เซ็นต์ผมพูดถึงที่เป็นเกษตรกรนั้น ๗๗ เปอร์เซ็นต์ เพาะปลูก ไม่ว่าจะเป็นปลูกข้าว ปลูกยาง ผลไม้ต่าง ๆ ๗๗ เปอร์เซ็นต์ อีก ๑๗ เปอร์เซ็นต์ จะเป็นปลูกพืชและทำปศุสัตว์ แต่ถ้าเรามองไปที่กราฟทางขวามือ นั่นจะเป็นการแยกแยะ ประเภทของพืชที่เกษตรกรปลูกครับ มากกว่าครึ่งหนึ่ง ๕๗ เปอร์เซ็นต์คือ ข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด นี่คือพืชเศรษฐกิจหลัก และเราจะเห็นได้เลยครับว่า ๙๕ เปอร์เซ็นต์ก็คือไม่รวมพืชอื่น ๆ คือเกษตรกรรม เพื่อการอุตสาหกรรม ไม่ใช่เกษตรกรรมเพื่อการบริโภค เกษตรกรรมเพื่อการบริโภค ก็คือปลูกแล้วสามารถเก็บเกี่ยวมารับประทานได้เลย เกษตรกรรมเพื่อการอุตสาหกรรม ก็คือข้าวก็ต้องเข้าโรงสี ยางพารา มันสำปะหลังก็ต้องไปแปรรูปเป็นแป้งมัน เป็นโน่นเป็นนี่ต่าง ๆ อ้อยก็ต้องกลายเป็นน้ำตาล สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่สามารถจะบอกได้เลยว่าประเทศไทย เป็นประเทศที่เป็นเกษตรกรรมเพื่อการอุตสาหกรรมเป็นส่วนมาก วันนี้ผมขอเสนอญัตตินี้ เพื่อให้พี่น้องและเพื่อนสมาชิกในสภาแห่งนี้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นครับ เพราะแต่ละที่ แต่ละพื้นที่ปัญหาต่างกัน วิธีการแก้ปัญหาต่างกัน เพราะฉะนั้นบอกกับท่านประธานตรงนี้ เลยครับว่าเดี๋ยวจะมีเพื่อน ๆ สมาชิกหลาย ๆ ท่านขึ้นมาอภิปรายในส่วนของรายละเอียด แต่ละพืช วันนี้ผมขอเสนอในภาพรวมให้ท่านประธานได้เห็นว่าการแก้ปัญหาจะทำไม่ได้เลย ถ้าเราไม่รู้ปัญหา

    อ่านในการประชุม

  • ขออนุญาตไป Slide ที่ ๓ ผมขออนุญาตอย่างนี้ครับ ผมและทีมงาน ทีมเกษตรของพรรคเพื่อไทยลงพื้นที่ทำการบ้าน เราจะไม่รู้ปัญหาเลยถ้าเราไม่สามารถที่จะ แยกแยะปัญหาได้ ผมขออนุญาตที่จะนำเสนอแนวคิดไปสู่รัฐบาล ก่อนอื่นเลยต้องแยกพืช ก่อนครับว่าอันไหนเป็นพืชที่ตลาดมีความต้องการมาก อาจจะมีมูลค่าไม่ได้สูงมาก แต่ตลาด ต้องการเยอะ กับอีกฝั่งหนึ่งก็คือตลาดต้องการน้อยแต่ราคาสูงลิบลิ่วเลย เพราะฉะนั้น ผมเอากราฟนี้ขึ้นมาให้ดูเพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นครับว่าการที่เราจะจำแนกผลิตภัณฑ์ ผลิตผล ทางการเกษตรนี่เราสามารถแยกได้ออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ก็คือเป็น Mass กับเป็น Niche Market ก็จะเป็นตลาดต้องการเยอะแต่เราผลิตได้น้อย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องนำไปสู่ การเป็นตัวตั้งในการที่จะพิจารณาการแก้ปัญหาครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • Slide ถัดไปครับ นี่คือวิธีการคิดคร่าว ๆ ยกตัวอย่างถั่วเหลือง ตลาด ถั่วเหลืองความต้องการแต่ละปี ๔ ล้านตัน ผลิตได้ครับ ประเทศไทยผลิตได้ ๒๐,๐๐๐ ตัน นี่คือสิ่งที่เป็นตัวอย่าง เราผลิตได้ผลผลิตต่อไร่ ๒๓๕ กิโลกรัม ในขณะเดียวกันมาตรฐานโลก เขาผลิตกันได้ ๔๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ ผมจำแนกออกมาแล้วตรงนี้เป็น M2 ครับ

    อ่านในการประชุม

  • Slide ต่อไปครับ ผมขออนุญาตไปเร็ว ๆ นี่คือตัวอย่างการแยกประเภท พืชไร่ พืชยืนต้น แล้วก็สัตว์ ที่ผมทำตัวเลขออกมาคร่าว ๆ ข้าวเจ้า ข้าวหอมมะลิ อ้อย นี่คือพืชไร่ที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศไทยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ต่อไปเลยครับ นี่คือวิธีการแก้ปัญหา เราเอาตัวต้นหลักของปัญหาจำแนก พืชเสร็จ เรามาจำแนกว่าในส่วนของด้านการผลิตเราต้องแก้อย่างไร ในส่วนของด้านการค้า การตลาดเราต้องแก้อย่างไร การวิจัยเพิ่มเติม วางแผนปริมาณผลผลิต บริหารปัจจัย แล้วก็ การบริหารสาธารณภัยต่าง ๆ นี่คือตัวอย่างที่กระผมได้ทำการบ้านแล้วก็อยากที่จะเสนอ ต่อรัฐบาลให้ได้ทราบว่าถ้าเรารู้ปัญหา รู้วิธีการแก้ปัญหา และจะแก้ปัญหาให้กับพี่น้อง เกษตรกรได้อย่างยั่งยืนจริง ๆ ครับ

    อ่านในการประชุม

  • Slide ต่อไปเลยครับ เพราะฉะนั้นขออนุญาตสรุปเลยนะครับว่าแนวทาง การแก้ปัญหาก็คือจำแนกประเภทสินค้า เลือกชุดนโยบายที่เหมาะสมในการที่จะแก้ปัญหา ดำเนินนโยบายให้เข้ากับลักษณะของสินค้า แล้วก็การประเมินผลิตภัณฑ์ตามผลการใช้ นโยบายต่าง ๆ ก็คือการติดตามผลงานนั่นเองครับ

    อ่านในการประชุม

  • ต่อไปครับท่านประธาน ผมขออนุญาตลงรายละเอียดในพืช ๒ ตัวครับ ที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศไทย จำ Slide ที่ ๑ ได้ใช่ไหมครับ ที่ผมบอกว่า ๕๗ เปอร์เซ็นต์ของเกษตรกรปลูกข้าว และ Slide นี้ก็จะได้เห็นเลยครับว่าข้าวไทยกับราคา ข้าวไทยในตลาดโลกเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับตลาดเพื่อนบ้าน จะเห็นเลยว่าประเทศไทย ในตลาดโลกพร้อมที่จะจ่ายราคาข้าวไทย ทั้งข้าวหอมมะลิแล้วก็ข้าวจ้าวขาวมากกว่าในตลาด เพื่อนบ้าน

    อ่านในการประชุม

  • Slide นี้เป็นราคาตลาดโลกกับราคารับซื้อข้าวไทย จะเห็นว่าตลาดโลก มีแนวโน้มของราคาที่สูงขึ้น เนื่องจากเรื่องสงครามยูเครน-รัสเซียด้วยอะไรต่าง ๆ แต่พอ มองดูด้านล่างเป็นสิ่งที่น่าตกใจครับ ที่กราฟมันอยู่ในแนวดิ่งลง ตลาดไทย ราคาข้าวไทย กลับตกลง ผมมองว่าอาจจะเป็นในเรื่องของการตลาด แล้วก็การดำเนินนโยบายของรัฐ ที่ไม่สมบูรณ์ ผมขออนุญาตเสนอกับที่ประชุมอย่างนี้ครับ ถ้าเป็นไปได้เราจะรู้จักกันแต่ เรื่องของการทำ Contract Farming ผมอยากให้ท่านประธานแล้วก็คณะรัฐมนตรี ได้คำนึงถึงการที่จะใช้ Profit Share Contract Farming ให้เกษตรกรเป็นเจ้าของตลาด เองด้วย ทำไม่ยากครับ เราจะเห็นว่าชาวนาลงทุน ๘๐ เปอร์เซ็นต์ โรงสีลงทุน ๖ เปอร์เซ็นต์ ผู้ส่งออกลงทุน ๑๔ เปอร์เซ็นต์ แต่กำไรที่ได้ชาวนาได้กำไร ๓ เปอร์เซ็นต์ โรงสีได้กำไร ๒๗ เปอร์เซ็นต์ ผู้ส่งออกเยอะสุด ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ลงทุนน้อยแต่กำไรมาก ถ้าเราใช้ Profit Share Contract Farming เข้ามา เกษตรกรจะได้กำไรเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนที่เขาลงทุนไป ทำง่าย ๆ เลยครับ พ.ร.บ. ข้าว ที่เราใช้กันอยู่ตอนนี้ พ.ศ. ๒๔๘๙ แก้ได้แล้วครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ ๕ ต้องมีข้าวสารในกรรมสิทธิ์ไม่น้อยกว่า ๕๐๐ เมตริกตัน ภายใน ๑๕ วันที่ได้รับหนังสืออนุญาตและตลอดเวลาที่ได้รับอนุญาตการค้าข้าว อันนี้ขอฝากรัฐบาล ให้รีบแก้เลยครับ ผมหมดเวลาแล้วแต่ว่าขอฝากเพื่อน ๆ สมาชิกครับ ในเรื่องของตลาดผลไม้ ตลาดโค กระบือ ตลาดโคนม โคเนื้อ แล้วก็พืชต่อ ๆ ไป ขออนุญาตท่านประธานเสนอญัตติ ให้กับสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอกับรัฐบาลชุดนี้ในการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน ต่อไป กราบขอบพระคุณอย่างสูงครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ สรวงศ์ เทียนทอง สระแก้ว เขต ๓ พรรคเพื่อไทยครับ วันนี้ขออนุญาตหารือกับท่านประธาน ๓ เรื่องครับ เรื่องสำคัญทั้ง ๓ เรื่องเลยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรกครับ ผมได้รับการร้องเรียนจากญาติของนายวรภพ จันมา อายุ ๒๑ ปี เด็กหญิ งสิรินทรา เลื่อมพักตร์ อายุ ๑๔ ปี นายสันติ สงนอก อายุ ๑๕ ปี และนางสาวเสาวลักษณ์ กรุสูงเนิน ท่านประธานครับ Slide มาได้เลยครับ

    อ่านในการประชุม

  • น้อง ๆ ทั้ง ๔ คนนี้ได้ถูกชักชวน โดยคนไทยไม่ทราบชื่อเข้าไปทำงานในจังหวัดบันเตียเมียนเจยในประเทศกัมพูชา ด้วยข้อตกลงเงินเดือนเดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท เข้าไปทำงานในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม แต่ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ได้รับการแจ้งจากเจ้านายว่าจะต้องย้ายไปอยู่พนมเปญ แต่สุดท้ายท้ายสุดไปจบอยู่ที่บ้านบาเว็ต จังหวัดสวายเรียง ซึ่งเป็นประเทศกัมพูชา ติดกับแนวชายแดนเวียดนามครับท่านประธาน ต่อมาวันที่ ๒๕ สิงหาคม ทางญาติของน้อง ๆ ทั้ง ๔ คนได้ถูกติดต่อมาเพื่อเรียกค่าไถ่คนละ ๘๐,๐๐๐ บาทครับท่านประธาน น้อง ๆ ทั้ง ๔ คนไม่มีเงินครับ ครอบครัวยากจน วันที่ ๒๖ ทางเจ้านายติดต่อมาอีก ลดเหลือ ๒๐,๐๐๐ บาท ก็ยังไม่มีเงินไปไถ่ตัวน้อง ๆ กลับมา อย่างไรก็แล้วแต่ฝากท่านประธานครับ น้อง ๆ อยู่กันแบบยากเข็ญจริง ๆ ครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ครับท่านประธาน ผมได้รับการติดต่อจากนางสมพิศ อัญญเวชสัมฤทธิ์ กำนันตำบลหนองสังข์ และ พันเอก ผาแดง อัญญเวชสัมฤทธิ์ นายกองค์การบริหาร ส่วนตำบลหนองสังข์ ท่านประธานครับ เพื่อติดตามงบประมาณในการขยายเขตประปา ส่วนภูมิภาคสาขาอรัญประเทศมายังบ้านหนองสังข์ ซึ่งมีทั้งหมด ๘ หมู่บ้าน ๒,๒๘๔ ครัวเรือน ประชากร ๗,๔๕๐ คน

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ ครับท่านประธาน ผมได้รับการร้องเรียนจากนายอุเทน พิมพิสาร นายกเทศมนตรีตำบลฟากห้วย ขอให้ทางการประปาส่วนภูมิภาคสาขาอรัญประเทศ ได้ออกแบบและขอขยายเขตการประปาให้ทั่วถึงในตำบลฟากห้วย ซึ่งมีทั้งหมด ๑๑ หมู่บ้าน ๓,๖๘๕ ครัวเรือน และประชากร ๗,๘๑๘ คน ฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ๓ เรื่องให้กับพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดสระแก้วด้วย กราบขอบพระคุณอย่างสูงครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ สรวงศ์ เทียนทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสระแก้ว เขต ๓ พรรคเพื่อไทย ก่อนอื่นเลยต้องกราบ ขอบพระคุณทุก ๆ ญัตติ เพื่อนสมาชิกทุกท่านที่เสนอญัตติในเรื่องของปัญหาที่ดินทำกิน ของพี่น้องประชาชน ท่านประธานครับ ปัจจัยสี่ อาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ผมขอเติม ที่ดินทำกิน ให้กับพี่น้องประชาชนด้วยครับ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าที่ดินคือต้นทุน ในการใช้ชีวิต คือต้นทุนในการทำมาหากิน คือหลักทรัพย์ที่พี่น้องประชาชนสามารถเอาไป เพื่อเป็นเงินทุนในการทำมาหากินได้ แล้วก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัญหาที่ดินเป็นปัญหาที่เขา เรียกว่ามหากาพย์ หลาย ๆ รัฐบาลต้องการที่จะแก้ปัญหาเรื่องที่ดินให้กับพี่น้องประชาชน เราจะสังเกตได้จากเพื่อนสมาชิกทุกเช้าที่มีการหารือความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ทุกครั้งจะต้องมีเรื่องของที่ดินทำกินของพี่น้องประชาชนเข้ามาสู่สภาแห่งนี้ ท่านประธานครับ ที่ดินเป็นปัญหาที่พี่น้องประชาชนต้องต่อสู้ ต่อสู้กับหน่วยงานของรัฐ แล้วหลายครั้งหลายหน เหลือเกินที่พี่น้องประชาชนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ไม่ว่าจะเป็น ส.ป.ก. ภ.บ.ท. ที่ราชพัสดุ ทุ่งเลี้ยงสัตว์ ที่รถไฟ ที่ทหาร และอื่น ๆ อีกมากมาย ผมยกตัวอย่างจังหวัดสระแก้วให้ท่านประธาน และเพื่อนสมาชิกได้เห็น ขอ Slide ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • จังหวัดสระแก้วครับท่านประธาน พื้นที่ ทั้งหมด ๔,๕๐๐,๐๐๐ ไร่ โดยประมาณ เป็นที่อุทยาน ๑๕.๕ เปอร์เซ็นต์ ป่าสงวนแห่งชาติ ๑๔.๗๗ เปอร์เซ็นต์ ป่าไม้ถาวร ๔.๒ เปอร์เซ็นต์ ส.ป.ก. ๔๑ เปอร์เซ็นต์ นิคมสหกรณ์ ๔.๖ เปอร์เซ็นต์ นิคมสร้างตนเอง ๒.๖ เปอร์เซ็นต์ ที่ราชพัสดุประมาณ ๑ เปอร์เซ็นต์ และที่สำคัญที่สุด ที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ ๑๖ เปอร์เซ็นต์ จาก ๔,๕๐๐,๐๐๐ ไร่ มีเพียง ประมาณ ๗๒๐,๐๐๐ ไร่เท่านั้นที่มีเอกสารสิทธิ แล้วเอกสารสิทธิในที่นี้อย่างที่เพื่อนสมาชิก ได้อภิปรายไป ไม่ใช่โฉนดนะครับ มีทั้ง ส.ค. ๑ มีทั้ง น.ส. ๓ น.ส. ๓ ก. นี่คือเอกสารสิทธิ ผมถึงบอกว่าปัญหานี้พี่น้องประชาชนต้องต่อสู้กันมาโดยตลอด ผมยกตัวอย่างอีกสัก ๓ เคส ครับท่านประธาน ผมเคยอภิปรายแล้วก็เคยหารือกับท่านประธาน จังหวัดสระแก้ว เป็นจังหวัดชายแดน และเป็นจังหวัดที่มีศึกสงครามมาก่อน เพราะฉะนั้นพื้นที่ของพี่น้องประชาชนที่มีเอกสารสิทธิอยู่แล้ว อย่างเช่น ส.ค. ๑ ซึ่งออก เมื่อปี ๒๔๙๘ พี่น้องถูกกองทัพขอใช้พื้นที่เป็นจำนวนมาก พื้นที่ที่ ๑ ที่ผมอภิปราย เคยหารือ กับท่านประธานไปแล้ว ที่ตำบลโนนหมากมุ่น อำเภอโคกสูง อันนี้มีพี่น้องประชาชน ๔๖ ราย ๘๗๒ ไร่ ที่กองทัพขอใช้พื้นที่ อีกทีหนึ่งก็คือที่อำเภออรัญประเทศ บางท่านไม่รู้จัก จังหวัดสระแก้ว แต่เคยไปอรัญประเทศ รู้จักตลาดโรงเกลือ ท่านประธานทราบไหมครับว่า พื้นที่ในอำเภออรัญประเทศเกือบทั้งอำเภอไม่มีเอกสารสิทธิ เป็นที่รถไฟ เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ และเป็นที่ที่ทหารขอใช้พื้นที่ แล้วไม่สามารถที่จะต่อสู้และเอาชนะได้ หลาย ๆ ครั้งเมื่อสมัยที่ ท่านรัฐมนตรีชัชชาติ ขออนุญาตเอ่ยนามท่าน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผมพา พี่น้องประชาชนเข้าไปจะให้ท่านแก้ปัญหาเรื่องพื้นที่รถไฟ เจ้าหน้าที่เอาแผนที่มา ต้องใช้ ไม้ไผ่เปิดครับท่านประธาน ใช้มือเปิดไม่ได้ เพราะเป็นแผนที่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เขาเรียกว่าทางเกวียน ไม่ใช่ทางรถไฟสมัยก่อน แต่ถูกกันเขตไว้เป็นแนวทางรถไฟ นี่คือ แค่ตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่พี่น้องประชาชนต้องเผชิญ อีกที่หนึ่งบ้านเกิดผมเลยวัฒนานคร บ้านผมอยู่ติดกับกองบิน ๓ แต่ก่อนเป็นฝูงบิน ๒๐๖ ทหารขอใช้พื้นที่ ๑๕,๐๐๐ ไร่ กินพื้นที่ ๔ ตำบล ตำบลโนนหมากเค็ง ตำบลหนองแวง ตำบลวัฒนานคร ตำบลห้วยโจด ตอนนี้ มีการพัฒนาจากสนามบิน กองบิน ตอนนี้มาเป็นกองบิน ๓ เป็นกองบินใช้ Drone แต่ตอนนี้ มีการกันพื้นที่ของพี่น้องประชาชนออกไปเยอะมาก อย่างที่ผมเรียนให้ทราบ ๑๕,๐๐๐ กว่าไร่ ผมก็ไม่แน่ใจว่าทุกวันนี้การทหารสำคัญขนาดไหน แต่ผมมั่นใจว่าการทูตสำคัญกว่า และสำคัญที่สุดก็คือพี่น้องประชาชนต้องมีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ผมกราบเรียนว่าปัญหา ส่วนหนึ่งของปัญหาที่ดินคือการใช้แผนที่คนละสัดส่วนกัน ทหารใช้สัดส่วนหนึ่ง ราชพัสดุ ใช้สัดส่วนหนึ่ง ป่าไม้ใช้สัดส่วนหนึ่ง บางทีที่ดินแปลงเดียวมีหลายเจ้าภาพหลายเจ้าของ เหลือเกิน ไม่รู้จะไปติดต่อหน่วยงานไหน เมื่อไรที่เราจะเห็น One Map ออกมาใช้สักที One Map ที่ทุก ๆ หน่วยงานใช้แผนที่เดียวกัน ตรงจุดจุดเดียวกัน พรรคเพื่อไทยได้มี นโยบายสำคัญ นโยบายที่จะออกเอกสารสิทธิ ๕๐ ล้านไร่ให้กับพี่น้องประชาชนได้มี ที่ทำกินกัน แบ่งเป็น ส.ค. ๑๗ ล้านไร่ ที่ป่า ๑๐ ล้านไร่ ส.ป.ก. ๓๓ ล้านไร่ ผมมั่นใจว่า รัฐบาลโดยการนำของท่านนายกเศรษฐา ทวีสิน จะนำพาประเทศนี้และแก้ปัญหาที่ดินให้กับ พี่น้องประชาชนได้ ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจ กราบขอบพระคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ สรวงศ์ เทียนทอง จังหวัดสระแก้ว เขต ๓ พรรคเพื่อไทย ขออนุญาตหารือความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ เรื่องไฟส่องสว่างตามไหล่ทาง จากตำบลทับพริก อำเภออรัญประเทศ ผมได้รับการร้องเรียนจากนางรัตนากร พุฒเส็ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทับพริก อำเภออรัญประเทศ เรื่องไฟส่องสว่างถนนทางหลวง หมายเลข ๓๔๗๙ ถนนรัชตะวิถี จากอำเภอคลองหาดถึงอำเภออรัญประเทศ หมู่ที่ ๑ บ้านสี่แยกทันใจ แล้วก็หมู่ที่ ๕ บ้านป้ายเขียว ขอความกรุณาแขวงการทางและทางหลวง ชนบทเขาสารภี ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ เรื่องพื้นที่พิพาทระหว่างประชาชนกับกองทัพและหน่วยงานของรัฐ มี ๒ จุดครับท่านประธาน ที่แรกผมได้รับการร้องเรียนจากนายวิฑูรย์ ศรีสุนทร ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๑ บ้านโนนหมากมุ่น อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว มีพี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบ จากเรื่องนี้ ๔๖ ราย กินพื้นที่ ๘๗๒ ไร่ ๒ งาน ซึ่งเป็นพื้นที่ ส.ค. ๑ ซึ่งออกให้เมื่อปี ๒๔๙๘ และเมื่อปี ๒๕๖๒ นี้เองกองทัพบกได้นำป้ายไปติดในที่ดินแห่งนี้ ข้อความว่าที่ดินราชพัสดุ น.ส.ล. เลขที่ ๙๑๑/๒๕๐๔ กองทัพบกขอใช้ประโยชน์จำนวน ๘๗๒ ไร่ ๒ งาน ทำให้ พี่น้องประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนไม่สบายใจครับ ฝากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง และกองทัพบกเร่งแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนด้วย

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ ผมได้รับการร้องเรียนจากนายสุภา น้อยมณี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑ บ้านโคกสะพานขาว ตำบลป่าไร อำเภออรัญประเทศ และนางทองม้วน พิมพา อายุ ๗๑ ปี รวมถึงพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในที่ดิน ส.ค. ๑ ซึ่งถูกอดีตนายอำเภอเพิกถอน ไปเมื่อปี ๒๕๔๔ ปัญหานี้เกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๙ จนถึงปัจจุบัน ๒๗ ปีแล้วครับท่านประธาน มีผู้ถูกร้องเรียน ๘ ราย กินพื้นที่ ๒๐๐ ไร่ อย่างไรก็แล้วแต่ ป้าทองม้วนฝากมาให้หน่วยงาน ของรัฐตั้งคณะกรรมการลงพื้นที่ตรวจสอบพิสูจน์สิทธิด้วยตัวเอง แล้วก็ขอให้ผู้ที่ได้รับ ความเดือดร้อนร่วมเป็นกรรมการด้วยครับ กราบขอบพระคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ สรวงศ์ เทียนทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสระแก้ว พรรคเพื่อไทย ก่อนอื่นต้องกราบขอบพระคุณ เพื่อนสมาชิกที่ได้เสนอญัตติให้แก่สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา เพื่อจะพิจารณาศึกษาปัญหาและผลกระทบในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการประมง เพื่อจะหาวิธีการแก้ปัญหาให้พี่น้องชาวประมงได้ทำมาหากินกันอย่างเต็มประสิทธิภาพ กลับมาเหมือนก่อนที่เราจะถูกกดดันโดย IUU ท่านประธานครับ ปฏิเสธไม่ได้เลยครับว่า ปัญหาอาชีพประมงของไทยนั้นเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมายาวนานพอสมควร นับตั้งแต่ ผมได้รับมอบหมายจากพรรคเพื่อไทยให้เป็นหนึ่งในตัวแทนไปคุยกับสมาคมประมง แห่งประเทศไทย เมื่อประมาณ ๒ ปีที่แล้ว เราเริ่มทำงานกันมายาวนานพอสมควร และสิ่งต่าง ๆ ที่ผมประสบมา แล้วก็ได้รับการร้องเรียนมาก็จะเกี่ยวข้องกับหลาย ๆ ส่วนครับ กฎหมายระหว่างประเทศบ้าง IUU ที่เรารู้กัน กฎหมายในประเทศ ข้อบังคับต่าง ๆ ตลอดจน อุปสรรคในการทำมาหากินของผู้ประกอบการในเรื่องของแรงงาน และเชื้อเพลิงในการ ประกอบอาชีพ ท่านประธานครับ ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้ลงชื่อสนับสนุนร่างญัตตินี้ เพราะว่า เราต้องหาทาง ที่จะแก้ปัญหาประมงให้แล้วเสร็จ ผมเป็นอีกคนหนึ่งที่อยากจะบอกว่ามุมมองของผม ผมมอง ว่าการ Action ของรัฐบาลในสมัยนั้นอาจจะมากเกินไป อาจจะเป็นการออกกฎเกณฑ์มา เพื่อจะ Ban ตัวเองพูดง่าย ๆ การออกพระราชบัญญัติการประมงออกมาในสมัยนั้นอาจจะ เป็นการทุบหม้อข้าวตัวเองครับ เพราะการเสนอของ IUU เองก็ไม่ได้มากมายอะไรจนกระทั่ง ถึงต้องออกกฎ ระเบียบมากมายเพื่อจะมาล็อกตัวเอง ล็อกผู้ประกอบการภายในประเทศ กฎหมายลูกกว่า ๓๐๐ ฉบับ ที่ประกอบพระราชบัญญัติการประมง ๒๕๕๘ แล้วก็ฎกระทรวง ข้อบังคับต่าง ๆ มันส่งผลให้มีค่าปรับกับผู้ประกอบการ ซึ่งผมมองว่าไม่เป็นธรรม แล้วก็จริง ๆ แล้ว มากเกินจริงทำให้ผู้ประกอบการหลาย ๆ ราย อย่างที่เราทราบกันต้องหยุดปฏิบัติงาน ต้องหยุดการทำมาหากิน ต้องหยุดกิจการไปโดยปริยาย ผมขออนุญาตเสนอ ๓ สไลด์ ครับท่านประธานขอ Slide ที่ ๑ เลยครับ

    อ่านในการประชุม

  • มุมมองของผมเป็นแบบนี้ครับ ถ้าเราจะมองกันจริง ๆ แล้วมูลค่าการส่งออกสินค้าทางประมงและสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ ประมงของไทย ๘-๙ ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ จนถึงปี ๒๕๖๕ เห็นแท่งน้ำเงินไหมครับท่าน ประธาน แท่งน้ำเงินคือ ๕ เปอร์เซ็นต์เองนั่นคือ EU ครับ นั่นคือคนที่กดดันเราเหลือเกินใน เรื่องของ IUU มูลค่า ๕ เปอร์เซ็นต์ของสินค้าส่งออกทางการประมงทั้งหมดของประเทศไทย

    อ่านในการประชุม

  • Slide ที่ ๒ เป็น Slide ที่แสดงให้เห็นถึงสินค้าการประมงที่ส่งออกไปยัง EU ระหว่างปี ๒๕๕๖ ถึงปี ๒๕๖๕ ท่านประธานเห็นเส้นสีน้ำเงินนะครับ สีน้ำเงินคือหมึกกล้วย หมึกกล้วยแช่แข็ง สีส้มคือปลาทูน่ากระป๋องครับ เน้นย้ำนะครับกระป๋องครับ สีเทาคือ อาหารสุนัข อาหารแมว อาหารสัตว์เลี้ยงที่มีส่วนผสมของปลา เราจะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ ที่ IUU เตือนเรา ให้ใบเหลืองกับเราปี ๒๕๕๙ ยอดส่งออกภาคประมง ของเราถดถอยลง แล้วก็จะเห็นได้ชัดว่าพอปี ๒๕๖๒ IUU ถอนใบเหลืองให้ใบเขียวกับเรา สิ่งต่าง ๆ ดีขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • แต่อย่างไรก็ตามใน Slide ที่ ๓ ผมมีมุมมองอีกมุมมองหนึ่งที่อยากจะเสนอ ให้กับคณะกรรมาธิการที่จะเข้าไปถกกันเรื่องปัญหา การประมงบ้านเราไม่ใช่มีแค่ประมง พาณิชย์ ประมงทางทะเลนะครับ ท่านประธานเห็นกราฟนี้สีเทาคือปลาทูน่า และสินค้าที่ เกี่ยวข้องก็คือปลาทูน่ากระป๋อง สีเหลืองคืออาหารสัตว์ อาหารสุนัข อาหารแมว ที่มีส่วนประกอบของปลา สีส้มก็คือหมึกกล้วย แต่ที่น่าตกใจคือสีน้ำเงิน สีน้ำเงินไม่ได้ เกี่ยวข้องกับการประมงขนาดใหญ่เลย แต่เป็น ๔ ผลผลิตหลักทางการประมงที่ส่งออก ไปทั่วโลกนั่นก็คือกุ้ง ถ้าจำกันได้เมื่อประมาณ ๑ เดือนที่ผ่านมา เพื่อน ๆ สมาชิกใน สภาแห่งนี้เสนอญัตติในเรื่องของราคากุ้งตกต่ำ นี่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นครับว่าประมง ในบ้านเราควรจะได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมทุก ๆ กระบวนการ ไม่ว่าจะเป็น การประมงเพื่อพาณิชย์ การประมงพื้นบ้าน หรือแม้กระทั่งประมงเพาะเลี้ยง บ้านผมสระแก้ว ไม่มีทะเล ท่าน สส. ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กรุงเทพฯ ก็ไม่มีทะเลครับ แต่เรามีพี่น้อง ประชาชนเกษตรกรชาวประมงที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำส่งออก อย่างไรก็แล้วแต่วันนี้ผมขอ อนุญาตที่จะสนับสนุนรัฐสภาแห่งนี้ในการตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษากฎหมายต่าง ๆ และหาวิธีการแก้ไขให้กับพี่น้องชาวประมงให้ครบวงจรครับ กราบขอบพระคุณอย่างสูงครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ สรวงศ์ เทียนทอง จังหวัดสระแก้ว เขต ๓ พรรคเพื่อไทยครับ ผมได้รับการร้องเรียนจากนายชาญ สมสุขสันต์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลผ่านศึกและผู้บริหารตลอดจนสมาชิก อบต. และนายทองคำ จำนิล กำนันตำบลผ่านศึก ตลอดจนผู้ใหญ่บ้าน ถึงเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ๔ เรื่องครับ

    อ่านในการประชุม

  • ที่ท่านประธานและท่านสมาชิกได้เห็นอยู่ บนจอนี้ก็คือด่านชายแดนจุดผ่อนปรนบ้านหนองปรือครับ ฝั่งขวาที่เราเห็นจากเส้นสีแดงไป คือบ้านมาลัย เป็นบ้านใหญ่ของจังหวัดบันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา ถนนในละแวกตลาด จุดผ่อนปรนบ้านหนองปรือเป็นเช่นนี้ เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ และเป็นจุดที่ทำเงิน มหาศาลให้กับประเทศชาติ แต่ถนนแถว ๆ นั้นเป็นแบบนี้ครับ อย่างไรก็แล้วแต่ฝาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหางบประมาณลงไปทำถนนใหม่ให้กับตลาดชุมชนบ้านหนองปรือ ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ท่านประธานครับ ถนนหมายเลข ๓๐๖๗ ถนนรัชตวิถีช่วงด่านดงยาง ถึงโรงเรียนชุมชนบ้านโนนสาวเอ้ ระยะทางประมาณ ๙ กิโลเมตร ผ่านประมาณ ๖ หมู่บ้าน ไม่มีไหล่ทาง และตอนกลางคืนไม่มีไฟส่องสว่างอันเพียงพอทำให้เป็นอันตรายอย่างมาก ตอนค่ำคืนครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ ถนนหมายเลข ๓๓๘๔ มีระยะทางประมาณ ๑๒ กิโลเมตร ซึ่งผ่านทั้งโรงเรียน ผ่าน ๖ ชุมชน ผ่านป้อมตำรวจ มีโค้งมากมาย เช่นเดียวกันครับไม่มีไหล่ทาง และตอนกลางคืนไม่มีไฟส่องสว่างที่เพียงพอครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๔ อ่างเก็บน้ำเขารัง หมู่ที่ ๑๑ ตำบลผ่านศึก อำเภออรัญประเทศ ที่ท่านประธานเห็นอยู่เป็นอ่างเก็บน้ำเขารัง สร้างเมื่อปี ๒๕๒๙ กว่า ๓๐ กว่าปีแล้วครับ ความจุ ๓.๒ ล้านลูกบาศก์เมตร ต้องการงบประมาณให้กรมชลประทานลงไปขุดลอก และต้องการงบประมาณที่จะไปฟื้นฟูและบูรณาการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของตำบลผ่านศึก และอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว กราบขอบพระคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ สรวงศ์ เทียนทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสระแก้ว เขต ๓ อำเภอตาพระยา อำเภอโคกสูง ตำบลช่องกุ่ม ตำบลแซร์ออ ในอำเภอวัฒนานคร และสำคัญที่สุดอำเภออรัญประเทศครับ ขออนุญาต ใช้เวลาสภาเพียงนิดหน่อยในการหารือสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่อำเภออรัญประเทศ เมื่อสัปดาห์ ที่แล้วครับ เป็นคดีความของคุณป้าบัวผันหรือว่าที่พวกเราทราบกันดี ถ้าติดตามในสื่อมวลชน ก็คือคดีป้ากบครับท่านประธาน เรื่องคดีความผมขออนุญาตไม่พูดถึงขอให้เป็นในเรื่องของ ขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในสื่อมวลชนทุกวันนี้ผมไม่เห็นสื่อมวลชนไหน พุ่งประเด็นไปที่ต้นเหตุและต้นตอของปัญหา ผมมั่นใจครับว่าไม่ใช่เฉพาะพี่น้องประชาชน ในอำเภออรัญประเทศ ไม่ใช่เฉพาะในจังหวัดสระแก้วที่ได้รับผลกระทบจากความเป็นอยู่ จากสภาวะครอบครัว จากสภาวะสังคมที่เปลี่ยนไป ผมขออนุญาตที่จะฝากหน่วยงานต่าง ๆ ในภาครัฐ กระทรวงต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ทุก ๆ พื้นที่ ช่วยกันเป็นหูเป็นตา สถาบันครอบครัวเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะก่อให้เกิดสิ่งที่เกิดขึ้นกับคดีป้ากบ ผมขออนุญาตท่านประธานที่จะวิงวอนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ กระทรวงต่าง ๆ ที่จะให้ความสำคัญ กับต้นตอของปัญหายาเสพติด สภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ ทุกสิ่งทุกอย่างนั่นคือต้นตอของปัญหา ผมขอเสนอให้เอาบ้าน วัด โรงเรียน หรือว่าที่เราเรียกกันว่าบวรกลับมาใช้ เพื่อจะเสริมสร้าง ความแข็งแกร่งทางด้านจิตใจทั้งครอบครัวและสังคม กราบขอบพระคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ สรวงศ์ เทียนทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสระแก้ว พรรคเพื่อไทย ขออนุญาตใช้เวลานี้ปรึกษาหารือ ท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับปัญหาเรื่องช้างป่าลงมาทำลายพืชผล ของพี่น้องประชาชนครับ

    อ่านในการประชุม

  • ผมได้ติดตามความเดือดร้อนของ พี่น้องประชาชนผ่านเพจ Facebook สระแก้วบ้านเราครับ และได้ประสานไปยังท่านกำนัน สมบัติ เจิมขุนทด กำนันตำบลทุ่งมหาเจริญ อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว ที่ท่านประธาน และพี่น้องประชาชนเห็นในคลิปตอนนี้ ก็คือช้างป่าจำนวนกว่า ๓๐ เชือกที่ลงมาทำลาย พืชผลของพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นพืชสวน พืชไร่ สวนมะม่วง ไร่มันสำปะหลัง ไร่อ้อย พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก แล้วก็ขอบคุณคลิปภาพจากคุณชัยสิทธิ์ เกรียงศักดิ์ ด้วยครับ ท่านประธาน ข้อเสนอของท่านกำนัน สมบัติ เจิมขุนทด อยากให้ หน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เร่งหา แหล่งอาหารให้กับช้างป่าพวกนี้ครับ แล้วสำคัญที่สุดอยากจะให้จัดสรรงบประมาณลงไป ส่งเสริมการปลูกพืชที่เป็นอาหารให้กับสัตว์ป่าพวกนี้ทั้งช้างและกระทิงครับ ถ้าจำกันได้ ท่าน สส. สุรเกียรติ เทียนทอง ได้เคยอภิปรายแล้วก็หารือกับท่านประธานผ่านไปยัง หน่วยงานนี้แล้วในเรื่องของช้างป่าที่ลงมาทำลายพืชผลของชาวบ้านในเขตพื้นที่ตาพระยา วันนี้เป็นพื้นที่อำเภอวังน้ำเย็น ตำบลทุ่งมหาเจริญ อย่างไรฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย แล้วก็ฝากทีมสัตวแพทย์ช่วยกันจัดทำแผนในการที่จะทำหมันช้างป่าพวกนี้ให้อยู่ในจำนวนที่ พวกเราสามารถจะควบคุมได้ครับ กราบขอบพระคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม