นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์

  • ท่านประธานที่เคารพครับ ผม วรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล พรรคภูมิใจไทยครับ ท่านประธานครับ วันนี้ผมมีปัญหาของพี่น้องในพื้นที่ที่อยากจะหารือท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นปัญหาความเดือดร้อนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ที่ดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมนะครับ เหตุเกิดที่บ้านตะโละใส ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ซึ่งในช่วงมรสุมที่ผ่านมานี้เกิดมีพายุคลื่นลมแรงทำให้เรือของพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน ที่จอดอยู่บริเวณท่าเทียบเรืออ่าวนุ่นจมเป็นจำนวนมากนะครับ ซึ่งบริเวณที่จอดเรือนั้น มีพื้นที่เป็นอ่าวแล้วก็มีน้ำค่อนข้างที่จะตื้น เมื่อมีกระแสคลื่น กระแสลมเข้ามาสิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือคลื่นมันยิ่งแรงขึ้น พอคลื่นมันยิ่งแรงขึ้นมันทำให้เรือที่จอดบริเวณนั้นเป็นจำนวนมากจม หรือว่าภาษาบ้านผมเขาเรียกว่าเรือมันโดนคลื่นฟัดจนจม ทีนี้วิธีการแก้ปัญหา เราต้องสร้างแนวกันคลื่นเพื่อที่จะชะลอแล้วก็ลดกำลังของคลื่นลงก่อนที่จะเข้าปะทะกับ ตัวเรือนะครับ แต่ว่าจะสร้างรูปแบบไหน จะสร้างอย่างไรอันนี้ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาศึกษา โดยเฉพาะการเข้ามาพูดคุยกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต้องเข้ามาคุยครับ เพื่อที่จะหาวิธีการสร้างและแนวทางการป้องกันที่ดีที่สุด และที่สำคัญที่สุดก็คือต้องกระทบ กับธรรมชาติน้อยที่สุดด้วย เพราะว่าตรงนั้นเป็นพื้นที่ของเขตอุทยานนะครับ แน่นอนครับ พื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่ที่รับผิดชอบโดยตรงของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ซึ่งสังกัดอยู่ใน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ประเด็นก็คือกรมไม่มีงบที่จะมาสร้าง ไม่มีงบที่จะมาสร้างนะครับ ทีนี้พอไปดูหน่วยงาน ที่สามารถเข้ามาสร้างได้และมีงบประมาณ ยกตัวอย่างเช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ก็ไม่ใช่หน่วยงานที่กำกับดูแลพื้นที่โดยตรง เพราะฉะนั้นในการที่เขาจะ ได้งบประมาณ จะตั้งงบประมาณขึ้นมาเพื่อจะเข้ามาแก้ปัญหาให้ชาวบ้านก็ต้องได้รับ การอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเสียก่อนนะครับ ผมจึงอยากจะเรียน ผ่านท่านประธาน ผ่านไปยังท่านรัฐมนตรีทั้ง ๒ กระทรวงนะครับที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น กระทรวงมหาดไทย รวมไปถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยากจะให้มี การทำงานอย่างบูรณาการเรื่องนี้นะครับ เพราะว่าตอนนี้ในพื้นที่เองทั้ง ๒ หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสตูล รวมไปถึงอุทยานแห่งชาติ หมู่เกาะเภตรา ก็มีความเข้าใจปัญหานี้ดีครับ แล้วก็พร้อมที่จะแก้ปัญหานี้นะครับ อยากจะฝาก ท่านประธานผ่านไปยังท่านรัฐมนตรี ๒ กระทรวงให้สนับสนุนการแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วยครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ ผม วรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล พรรคภูมิใจไทย ก่อนที่ผมจะเริ่ม การเสนอญัตติแล้วก็การอภิปราย ผมอยากจะขอความกรุณาจากท่านประธานสักนิดหนึ่งผม อาจจะใช้เวลาเกินไปบ้าง เพราะว่าข้อมูลที่ทางพี่น้องเกษตรกรหรือว่าคนที่เดือดร้อน ส่งมาให้ผมเยอะเหลือเกิน และเขาก็อยากจะให้ผมนำข้อมูลเหล่านี้นำเสนออภิปราย ในสภาแห่งนี้ เพราะฉะนั้นต้องขอความกรุณาจากท่านประธานด้วยความเห็นใจจริง ๆ วันนี้ผมเองได้เป็นหนึ่งในตัวแทนเพื่อนสมาชิกของพรรคภูมิใจไทยได้ร่วมกันที่จะเสนอญัตติ ให้สภาแห่งนี้ได้ศึกษาปัญหาเรื่องของราคากุ้งตกต่ำ และส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่ผมจะพูดถึงเรื่องปัญหา ผมอยากจะให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับตลาดกุ้งโลกและ ของไทยเสียก่อน เพื่อที่ทุกคนจะได้มีความเข้าใจที่ตรงกัน แล้วก็จะนำไปสู่ปัญหาได้เข้าใจ ตรงกันนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ สืบเนื่องจากผมเอง ได้รับการประสานงานจากทางสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสตูล นำโดยท่านประธานก็คือ ท่านเชาวลิต แสงฉาย ทางท่าน สส. สังคม แดงโชติ ก็ประสานทางสมาคมผู้เลี้ยงกุ้ง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้ข้อมูลเข้ามา รวมถึงท่าน สส. พิบูลย์ รัชกิจประการ ว่าตอนนี้ พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งมีปัญหาเรื่องของการขาดทุน และถ้าเกิดว่าเราดูนี่มันอาจจะเป็น ปัญหาของกลุ่มอาชีพเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงแล้วผมอยากจะเรียนว่าวันนี้ มันเป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะว่าทุกคนที่เลี้ยงกุ้งวันนี้อยู่ในพื้นที่ ๒๒ จังหวัดชายทะเล ถ้าพูดกันง่าย ๆ ก็คืออยู่ในพื้นที่ประมาณ ๑ ใน ๓ ของประเทศไทยซึ่งถือว่าสูงมาก และไม่ได้กระทบเฉพาะเกษตรกรที่เลี้ยงกุ้ง กระทบทั้งอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้ง ตั้งแต่คนเลี้ยง ตั้งแต่คนคัดกุ้ง ตั้งแต่แรงงานที่ดูแลฟาร์มกุ้ง รวมไปถึงแพที่จับกุ้ง การแปรรูป ห้องเย็น รวมไปถึงการส่งออก จะเห็นว่ามันเกิดผลกระทบทั้งระบบ ก่อนที่จะเข้าในส่วนของปัญหา กุ้งในตลาดโลก ณ ตอนนี้ต้องบอกว่ามีกลุ่มผู้ผลิตหลักอยู่ประมาณ ๖-๗ ประเทศ ซึ่งมีกำลัง การผลิตในระดับโลกอยู่ที่ประมาณ ๕.๖ ล้านตัน ซึ่งไทยก็อยู่ในลำดับที่ ๕ ก่อนหน้านี้ไทยอยู่ อันดับต้น ๆ แต่ว่าโดนแซงไปหมดแล้ว และในส่วนของผู้ที่ต้องการบริโภคก็อยู่ที่ประมาณ ๔.๙ ล้านตัน ทีนี้ ๒ ตัวเลขนี้ทำให้เรา เห็นว่ามันมีช่องว่าง มีความแตกต่างอยู่ เมื่อไรก็ตามตามหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน ถ้าเกิดว่า คนซื้อน้อยกว่าคนขาย ราคามันต้องลงอยู่แล้ว ซึ่งเรากำลังอยู่ในภาวะแบบนั้น หรือว่าภาวะ ที่เราเรียกว่า ภาวะกุ้งล้นโลก และยิ่งมาประสบกับปัญหาโควิดอีกทำให้เศรษฐกิจถดถอย กำลัง การซื้อลดลงก็เลยทำให้เกิดสภาวะราคากุ้งตกต่ำที่สุดในประวัติการณ์ ๖๘๐,๐๐๐ ตัน ท่านประธานดูตัวเลขนี้ให้ดีครับ เป็นตัวเลขที่เรียกว่า Over Supply ที่น่าจะเป็นต้นเหตุ ของปัญหาหลัก ๆ ในวันนี้ที่เราอภิปรายกันเลยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ต่อไปในส่วนของในประเทศวันนี้ไทยเราผลิตกุ้งได้อยู่ที่ประมาณ ๒๘๐,๐๐๐ ตัน แล้วก็ส่งออกประมาณ ๑๔๐,๐๐๐ ตัน แล้วก็ใช้ในประเทศประมาณ ๑๔๐,๐๐๐ ตัน จะเห็นว่าตัวเลขที่ใช้ในประเทศค่อนข้างน้อย และผมอยากจะย้ำว่าจริง ๆ แล้วกุ้งไทย ที่เลี้ยงในประเทศไทย เป็นกุ้งที่ได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพดีที่สุดในโลก ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของรสชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรสสัมผัส เขาถือว่าของไทย เป็น Premium Product ที่ดีที่สุดในโลกนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ มาถึงปัญหา ผมขอจำแนกขอบเขตของปัญหาออกเป็น ๒ ส่วนใหญ่ ๆ ข้อที่ ๑ ก็คือปัญหาที่อยู่ในระดับโลกที่เกิดขึ้นนะครับ ข้อที่ ๒ ก็คือปัญหา ที่เกิดขึ้นในประเทศ ถามว่าวันนี้เกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอย เกิดสภาวะกุ้งล้นโลก แน่นอนครับ Demand มันลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการซื้อลดลง ราคาก็ลดลง อันนี้เป็นเงาตามตัวอยู่แล้วนะครับ แต่ในส่วนของในประเทศเองวันนี้ต้องยอมรับครับว่า กุ้งไทยมีคุณภาพสูงจริงครับ แต่ในขณะเดียวกันกุ้งไทยก็มีต้นทุนที่สูงเหมือนกัน ถ้าเกิดเทียบกัน ในกลุ่มผู้ผลิตหลักจะบอกว่าไทยมีต้นทุนการผลิตอยู่อันดับต้น ๆ ของโลกเช่นกัน ทีนี้ผม ถามว่าในปัญหา ๒ กลุ่มนี้เราควรที่จะเลือกแก้ปัญหากลุ่มไหน และการแก้ปัญหากลุ่มไหน เป็นสิ่งที่เป็นไปได้มากกว่ากัน ประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศเล็ก ๆ ที่ถามว่าจะสามารถ ที่จะไปเพิ่มกำลังซื้อกุ้งของโลกได้ไหม อันนี้ผมมองว่ายาก ผมก็เลยมองว่าวันนี้เราควรที่จะ มาโฟกัสปัญหาที่อยู่ในพื้นที่ ที่อยู่ในประเทศมากกว่า โดยเฉพาะเรื่องของต้นทุน จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา จากปัญหาที่เกิดขึ้นต้องขอบคุณทางรัฐบาลนะครับที่เข้ามาดูแล เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง รัฐก็ได้เข้ามาช่วยเหลือ เข้ามาชดเชยราคาให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง อยู่ที่กิโลกรัมละ ๒๐ บาท แต่ประเด็นก็คือยังไม่ได้ทุกคน ได้แค่บางช่วงของคนที่ลงกุ้งไป กิโลกรัมละ ๒๐ บาท ถ้าผมจำไม่ผิดน่าจะได้ไปประมาณ ๕,๐๐๐ ตัน แต่ถ้าเราต้องการที่จะ ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทั้งหมด ๒๘๐,๐๐๐ ตัน คูณ ๒๐ ตกอยู่ประมาณ ๕,๐๐๐ กว่าล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินที่มหาศาลมากนะครับ การชดเชยราคาเป็นเรื่องที่ดี แต่ว่าการชดเชยราคาเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ คำถามของผมก็คือว่าเราจะต้องชดเชย ราคาไปถึงเมื่อไร เราจะต้องใช้เงินมากขนาดไหนในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ทำไมเรา ถึงไม่ตั้งตัวตั้งสติที่จะเริ่มแก้ปัญหาทั้งระบบได้แล้ว ให้มันมีความยั่งยืนในอนาคตครับ ผมขออนุญาตเสนอแนวทางแก้ปัญหาทั้งหมด ๓ แนวทางด้วยกัน

    อ่านในการประชุม

  • ข้อที่ ๑ ก็คือการเพิ่มอัตราการบริโภคกุ้งในประเทศ สมาคมผู้เลี้ยงกุ้ง รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวันนี้ควรจะต้องจับมือกันได้แล้วครับ แล้วก็หาวิธีการรณรงค์ เพิ่มการบริโภคในประเทศ สินค้าเกษตรทุกชนิดที่พึ่งพิงการส่งออก ท่านจะเห็นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นยาง ไม่ว่าจะเป็นปาล์ม เมื่อไรก็ตามถ้าตลาดโลกมีปัญหาเมื่อไร แน่นอนทุกคน ก็จะบอกว่าต้องแปรรูปในประเทศเพิ่มขึ้น ต้องใช้ในประเทศเพิ่มขึ้น หลักการก็คือหลักการ เดียวกัน ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ทำให้ราคามันกระโดดสูงปรี๊ดขึ้นไป แต่อย่างน้อยที่สุดมันสร้าง เสถียรภาพทางราคาให้กับกุ้งในประเทศไทยได้

    อ่านในการประชุม

  • ข้อที่ ๒ คือการสร้างการรับรู้คุณภาพของกุ้งไทยในเวทีโลก ซึ่งเป็นกุ้งที่มีคุณภาพ ดีที่สุด วันนี้เราคือ Premium Product ผมไม่ได้บอกว่าวันนี้เราเป็นสินค้าที่คุณภาพดี แล้วเราจะต้องเพิ่มราคาไม่ใช่นะครับ ในสถานการณ์แบบนี้เราขายราคาเท่าเขา แน่นอนครับ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเขาจะต้องซื้อสินค้าของเราก่อน ก่อนที่จะซื้อของคนอื่น และเมื่อไรก็ตามถ้าเศรษฐกิจดีขึ้น เราค่อยขยับราคาเพื่อเพิ่มกำไรให้กับเกษตรกรก็เป็นไปได้ และยิ่งไปกว่านั้นเราควรที่จะมุ่งไปหากลุ่มตลาดเป้าหมายที่ต้องการ Premium Product โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นตลาดที่น่าสนใจมากก็คือตลาดตะวันออกกลาง ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งตอนนี้เองก็มีความสัมพันธ์กับไทยดีวันดีคืน และเขาก็มีกำลังที่จะซื้อนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนข้อที่ ๓ ก็คือเรื่องของการบริหารต้นทุน การลดต้นทุน ทำอย่างไร เราถึงจะสามารถเข้าไปเรียนรู้และลดต้นทุนการผลิตกุ้งได้ทั้งหมด ซึ่งในการผลิตเลี้ยงกุ้ง ออกมา ๑ Crop ๑ ฟาร์ม ผมขออนุญาตให้ข้อมูลในเรื่องของโครงสร้างต้นทุนก่อนว่า ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง อันนี้เป็นข้อมูลที่ทางเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเป็นคนหยิบยกมาให้ผม ก็คือมีส่วนของค่าแรง ๗ เปอร์เซ็นต์ ค่าพลังงาน ๒๐ เปอร์เซ็นต์ อาหารกุ้ง ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นจุดที่สูงที่สุดนะครับ เคมีภัณฑ์ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ พันธุ์กุ้ง ๗ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็อื่น ๆ อีก ๑๖ เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นผมขออนุญาตลงรายละเอียดครับว่าในแต่ละปัจจัยเราจะมี แนวทางในการลดต้นทุนให้กับพี่น้องเกษตรกรได้อย่างไร เขาบอกว่าในเรื่องของค่าแรง เราจะเห็นครับว่า ณ ตอนนี้ในภาคเกษตรกรรมของไทย เราได้มีการนำระบบ IoT หรือว่า เป็นระบบ Automatic เข้ามาช่วยค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกผลไม้ มีการให้ปุ๋ย ทุเรียน การให้น้ำ เพิ่มความแม่นยำ ลดภาระงาน ลดความผิดพลาด และที่สำคัญถ้าเกิดเรา มีการส่งเสริมให้นำระบบ IoT มาใช้ในการเลี้ยงกุ้งมากขึ้น ผู้ประกอบการจะไม่ต้องปวดหัว กับปัญหาแรงงานต่างด้าวเยอะเหมือนทุกวันนี้ บางทีเอามาปุ๊บทำเอกสารให้ ทำบัตรให้ ทำใบอนุญาตให้ อยู่กับเรา ๒ เดือนเพื่อนชวนไปอ้าวไปแล้ว สุดท้ายค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบการ ต้องรับภาระก็ต้องรับภาระฟรี แล้วยังต้องไปหาลูกน้องใหม่มาทำงานอีกด้วย อันนี้คือข้อที่ ๑ ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนของข้อที่ ๒ เรื่องของพลังงาน คนเลี้ยงกุ้งบอกผมว่าตอนนี้โดนคิด ค่าไฟอยู่ในระบบของอุตสาหกรรม เป็นไปได้ไหมครับ ถ้าเกิดว่ากระทรวงพลังงานจะเข้ามาดู และเปลี่ยนวิธีการคำนวณให้กับพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเป็นแบบอื่นได้ไหม ที่มันมี ความเหมาะสมมากกว่านี้ รวมไปถึงรัฐบาลจะสามารถสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนให้กับ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้หรือเปล่า อย่างเช่น Solar Cell ผมเชื่อเหลือเกินในระยะยาวสามารถที่จะ แก้ปัญหาเรื่องของค่าไฟได้ และที่สำคัญที่สุดถ้าเกิดใครไม่มีทุน รัฐบาลก็ต้องเข้าไปสนับสนุน ในเรื่องของเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้เข้าถึง Solar Cell ได้มากขึ้นด้วย

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนที่ ๓ เรื่องของอาหาร ผมมีประเด็นที่สนใจอยู่ ๒ เรื่องด้วยกันก็คือ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อที่ ๑ เขาบอกว่าโปรตีนที่ถูกกำหนดไว้ในระเบียบของกรมปศุสัตว์ ในอาหารกุ้งมันมีโปรตีนกำหนดอยู่ เขาบอกว่ามีงานวิจัยที่เคยวิจัยของต่างประเทศ และให้ ข้อมูลมาว่าจริง ๆ แล้ว โดยเฉพาะในกุ้งใหญ่นะครับ กรมปศุสัตว์กำหนดว่าจะต้องมีโปรตีน ขั้นต่ำในอาหารอยู่ที่ ๓๕ เปอร์เซ็นต์ งานวิจัยนั้นบอกว่าจริง ๆ แล้วกุ้งนี่ไม่ได้จำเป็นที่จะต้อง ใช้โปรตีนถึง ๓๕ เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าเอาไปใช้ไม่หมดนะครับ โปรตีนที่จำเป็นจริง ๆ อยู่ที่ ประมาณไม่ถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ ผมจึงขอตั้งสมมุติฐานและขอสื่อไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง อยากจะให้มีการศึกษาเรื่องนี้แบบจริงจังครับ ถ้าเกิดว่ามันไม่จำเป็นถึงขนาดนั้น ก็ขอให้ลดเสีย เพราะผมเชื่อว่ามันจะลดราคาของอาหารได้อย่างมีนัยสำคัญ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อที่ ๒ คือเรื่องแหล่งที่มาของโปรตีนที่เอามาใส่ในอาหารกุ้ง เขาบอกว่า บางทีทุกคนพยายามที่จะทำให้ต้นทุนถูกที่สุดเพื่อให้กำไรสูงที่สุด ไปเอาโปรตีนมาจาก แหล่งต้นทุนที่ไม่มีคุณภาพ ทำให้กุ้งนี่เอามากินปั๊บแล้วมีปัญหา บางชนิดกินไปแล้ว ไม่ย่อย บางชนิดกินแล้วเป็นโรค ทำให้กุ้งอ่อนแอ สุดท้ายกุ้งตายสิ่งที่ตามมาก็คือต้นทุน ที่เพิ่มสูงขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนของเคมีภัณฑ์ อันนี้ก็ต้องไปดูในเรื่องของแหล่งการนำเข้าเคมี ซึ่งที่ผ่านมาก็มีปัญหาอยู่พอสมควรจากสงครามยูเครนกับรัสเซีย จะไปหาแหล่งเคมีจากไหน เข้ามาเพื่อที่จะเอามาให้กับกลุ่มคนเลี้ยงกุ้งได้มีต้นทุนที่ถูกลง

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องต่อไปครับ เรื่องพันธุ์กุ้งเรื่องนี้ต้นทุนอยู่ที่แค่ ๗ เปอร์เซ็นต์ แต่เป็น ๗ เปอร์เซ็นต์ที่ยิ่งใหญ่มาก ทุกวันนี้กลุ่มผู้เพาะพันธุ์กุ้งหรือว่ากลุ่มผู้ขายลูกกุ้งรายใหญ่ ในประเทศ ซึ่งมีอยู่ประมาณ ๕-๖ เจ้า พยายามที่จะเพาะพันธุ์กุ้งให้โตเร็วที่สุดและแข็งแรงที่สุด แต่ประเด็นก็คือว่าโตเร็วจริงครับ แต่ความแข็งแรงเขาบอกว่ายังไม่ดี ทำให้กุ้งค่อนข้างมีความเปราะบางด้วยความที่มันโตเร็ว เปราะบาง เป็นโรคง่าย ทีนี้พอเป็นโรคมันก็ตาย กลุ่มที่ให้ข้อมูลนี่เขาบอกกับผมว่าจริง ๆ บริษัทใหญ่ ๆ เหล่านี้เคยเอาลูกกุ้งไปเสนอขายประเทศผู้ผลิตหลักในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีนหรือว่าอินเดีย แต่ปรากฏว่าไม่ติดตลาด ถ้าเกิดว่าคิดแบบโง่ ๆ แบบคนไม่มี ความรู้เรื่องกุ้งแบบผมนี่นะครับ สาเหตุที่เอาของไปขายเขาแล้ว และเขาไม่ซื้อแสดงว่า เขาจะต้องมั่นใจว่าของเขาจะต้องดีกว่าของเรา เพราะฉะนั้นทำไมรัฐบาลไม่สนับสนุนให้ ผู้ประกอบการนำเข้าพันธุ์กุ้งจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศเยอะขึ้น เพื่อเป็นตัวเลือก ให้กับพี่น้องเกษตรกร ผมก็ถามต่อว่าแล้วอยากจะให้รัฐบาลสนับสนุนอย่างไร เขาบอกไม่ต้อง สนับสนุนอะไรเลย ให้ทำแบบเดิมก็พอแล้ว ในการนำเข้าพันธุ์กุ้งเข้ามามันจะต้องมี การ Audit ๒ ด่านด้วยกัน คือที่ประเทศต้นและตอนนำเข้าที่ประเทศไทย ค่าใช้จ่าย ในการ Audit ประเทศต้นทางแน่นอนครับ ผู้นำเข้าเป็นผู้จัดการ แต่เมื่อก่อนค่าใช้จ่าย ที่ Audit ในประเทศกรมประมงจะเป็นผู้จัดการ แต่ตอนนี้กรมประมงบอกว่าวันนี้คงไม่มี

    อ่านในการประชุม

  • จะพยายามรีบสรุปให้ครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ได้ครับ เพราะฉะนั้นการนำเข้ามา จะช่วยทำให้เกษตรกรมีตัวเลือกมากขึ้น และในนั้นอาจจะมีพันธุ์กุ้งที่ดีกว่าที่เรามีอยู่

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายครับท่านประธาน ตัวเลขที่ผมบอกว่าถ้าเราจะต้องชดเชยราคา ทั้งหมดมันต้องใช้เงิน ๕,๐๐๐ กว่าล้านบาท คำถามคือแนวทางที่ผมได้เสนอไปนี่ผมว่า แทบจะไม่ต้องใช้เงินแม้แต่บาทเดียว แล้วทำไมวันนี้รัฐบาลถึงไม่ตื่นและเริ่มที่จะแก้ปัญหา ทั้งระบบได้แล้ว ไม่ต้องเอาอะไรมากครับ ผมขอแบ่งเงินแค่ ๑ ใน ๑๐ ส่วน หรือว่า ๑ ใน ๕ ส่วนจากเงิน ๕,๐๐๐ กว่าล้านบาท เอามาศึกษาวิจัย พัฒนาระบบการเลี้ยงกุ้ง ทั้งระบบ ผมมั่นใจเหลือเกินว่าอุตสาหกรรมกุ้งไทยจะก้าวไปข้างหน้าอย่างก้าวกระโดด อย่างเช่นประเทศอื่น ๆ อย่าง เอกวาดอร์ อินเดีย เวียดนาม ประเทศเหล่านี้รัฐเข้ามาเป็น Main Player ในการพัฒนาการเลี้ยงกุ้ง และตอนนี้ประเทศเหล่านี้ก็แซงไทยไปเรียบร้อยแล้ว ด้วย คำถามก็คือ ณ วันนี้ประเทศไทยทำอะไร เขาบอกว่ารัฐมีหน้าที่ควบคุม กำกับ

    อ่านในการประชุม

  • นาทีเดียวครับท่านประธาน จบแล้วครับ เขาบอกว่าวันนี้รัฐมีหน้าที่ควบคุม กำกับดูแล รวมไปถึงสนับสนุนและส่งเสริม มันมีคำถาม จากเกษตรกรมาครับว่าวันนี้ท่านทำงานในเรื่องของการควบคุม กำกับดูแลทำได้ดีมากเลย แต่คำถามก็คือ การสนับสนุนและส่งเสริมทำได้ดีหรือยัง

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายวันนี้ทุกคนเสนอแนวทางการแก้ปัญหาเยอะมาก ทั้งการหาวิธีการเพิ่ม ราคา การลดต้นทุน การหาตลาดใหม่ ซึ่งมีทั้งเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ แต่รัฐจะแก้ปัญหา อย่างไร อันนี้รัฐต้องตอบคำถามข้อหนึ่งให้ได้ก่อนครับว่า วันนี้รัฐจะหาวิธีการเพิ่มราคากุ้ง หรือว่าเพิ่มคุณภาพชีวิตของเกษตรกรที่เลี้ยงกุ้ง ขอบพระคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ ผม วรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล พรรคภูมิใจไทย ในช่วงวันเสาร์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้หารือร่วมกับพี่น้องตำบลขอนคลาน ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยสมาชิก อบต. รวมไปถึงอิหม่ามผู้นำศาสนาได้มีการฝากมา ๒-๓ เรื่องด้วยกันนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ พี่น้องในพื้นที่บอกว่าอยากให้ภาครัฐเข้ามากวดขันในเรื่องของ ยาเสพติด อย่างที่ทุกท่านทราบครับว่าตอนนี้ยาบ้าได้ระบาดเป็นอย่างมาก ราคาถูก หาซื้อง่าย เม็ดหนึ่งจากเมื่อก่อน ๒๐๐-๓๐๐ บาท ตอนนี้เหลือ ๒๐-๓๐ บาท ของที่อยากจะให้ถูกก็ไม่ถูก ของที่ไม่อยากให้ถูกก็ดันถูกเอา ๆ แล้วหาง่าย ซื้อง่ายเหมือนขนมเลยครับ บางคนเสพจนเสียสติ เดือดร้อนคนอื่น ไปขโมยของ ไปทำร้ายร่างกาย ไปสร้างความรำคาญให้กับคนในชุมชน ทีนี้ท่านอิหม่ามยังบอกเลย ยังเล่าติดตลกว่าเวลาท่านนำละหมาดยังต้องเสียวหลังนะครับ เพราะว่าไม่รู้จะมีใครเข้ามาก่อกวนเมื่อไร อย่างไร ตำรวจก็ช่วยจัดการไม่ได้ จะจับส่งไป สถานบำบัด จังหวัดสตูลเองก็ไม่มีสถานบำบัดที่ได้รับมาตรฐาน ก็ต้องส่งไปต่างจังหวัด ซึ่งในการส่งไปต่างจังหวัดนี่ต้องใช้งบประมาณสูงมากครับ เพราะฉะนั้นอยากจะฝาก ท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยากจะให้มีการจัดตั้งศูนย์บำบัดยาเสพติด ที่มีมาตรฐานในจังหวัดสตูลด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ท่าเทียบเรือในพื้นที่ตำบลขอนคลาน ซึ่งมีท่าเทียบเรือที่ชำรุด จนไม่อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้อยู่ ๓ ท่าด้วยกัน ซึ่งเป็นของกรมประมง กระทรวง เกษตรและสหกรณ์ ร้องเรียนไปหลายครั้งมากแล้วครับ แต่ก็ยังไม่เห็นมีการเข้ามาแก้ไข ผมเองไปเห็นสภาพท่าเรือก็แอบกลัว ไม่รู้ว่าวันไหนท่าเรือมันจะพังลงมาทับชาวบ้านตาย เสาบางต้นจาก ๑๒ นิ้วเหลือแต่เหล็ก บางต้นแม้แต่เหล็กก็ไม่เหลือ ขาดหมดแล้วนะครับ กลัวท่าเรือมันจะพังลงมา ในเรื่องนี้ท่านสมาชิกรวมไปถึงท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ขอนคลาน ท่านนายกโชติ ดำอ่อน ก็ได้แจ้งเรื่องไปทางต้นสังกัดที่รับผิดชอบหลายครั้ง ผมจึงอยากจะวิงวอนผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยากจะให้เร่งซ่อม หรือว่าสร้างท่าเทียบ เรือใหม่ให้กับพี่น้องตำบลขอนคลานด้วยเพื่อความสะดวกและความปลอดภัยก่อนที่มันจะ เกิดเหตุอันตราย

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องของพี่น้อง ชรบ. หรือว่าชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ซึ่งจริง ๆ แล้วมีความสำคัญไม่แพ้กับพี่น้อง อสม. เพียงแต่ทำงานคนละบทบาท คนละหน้าที่กัน เวลาจะขอกำลังมาดูแล มาทำกันสักทีน่าสงสารมาก นอกจากไม่มีค่าตอบแทน ข้าวก็ไม่มีให้กิน ชุดปฏิบัติงานก็ไม่มีให้ใส่ ทุกอย่างต้องลงทุนเอง ทั้งใจ ทั้งกาย ทั้งทรัพย์ เข้าคำพูดที่บอกว่า ทำเอง เหนื่อยเอง เจ็บเอง จึงอยากจะเสนอให้กระทรวงมหาดไทยได้มีการพิจารณา ในเรื่องของค่าตอบแทนให้กับพี่น้อง ชรบ. ซึ่งจะเป็นขวัญและกำลังใจให้กับพี่น้อง ชรบ. ในการทำงานเป็นอย่างสูงครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ ผม วรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล พรรคภูมิใจไทย วันนี้ผมเป็น ตัวแทนของพี่น้องชาวประมงทั้งประเทศ รวมไปถึงตัวแทนของพี่น้องสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ในการยื่นญัตติให้สภาได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการ เพื่อที่จะศึกษาปัญหาการทำประมง ทั้งระบบเพื่อแก้ปัญหาทางออกร่วมกัน ขอ Slide ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ จุดเริ่มต้นของความ โกลาหล ของความวิบัติในอุตสาหกรรมประมงไทยมันเกิดขึ้นในวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๘ นั่นเป็นวันที่ EU ได้มีการประกาศให้ใบเหลืองกับประเทศไทย โดยเป็นการเตือนแล้วบอกว่า ถ้าประเทศไทยไม่แก้ต่อไป EU จะให้ใบแดง และจะไม่มีการนำเข้าสินค้าประมงจาก ประเทศไทย โดยอ้างว่าประเทศไทยมีการทำประมงแบบผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ในขณะนั้นรัฐบาลเองก็หน้ามืดตามัวเนื้อเต้นวิ่งตาม EU ทุกอย่าง ไม่ว่า EU จะให้ทำอะไรทำหมดทุกอย่าง และที่สำคัญไปกว่านั้นคือทำมากกว่าที่ EU ขอด้วย รัฐบาลในขณะนั้นได้ให้ทุกกรม ทุกกระทรวง ทุกกองที่มีความเกี่ยวข้องกับประมงทะเลมา ร่วมกันออกกฎหมาย เพื่อที่จะบังคับใช้กับพี่น้องชาวประมงในขณะนั้น และประกาศ บอกว่าจะแก้ปัญหา IUU ให้ได้ภายใน ๖ เดือน ถ้าผมเป็น EU ผมมีลูกสาวผมยกให้เลย เพราะอะไรครับ เพราะว่าแม้แต่ประเทศในยุโรปที่ประสบปัญหาเรื่องนี้เองเขายังใช้ ระยะเวลาเป็น ๑๐ ปี ไต้หวันหรือแม้กระทั่งเวียดนามเองก็วางแผนแก้ปัญหาเรื่องนี้ ใช้ระยะเวลา ๒๐ ปี วางวงเงินไว้หลายแสนล้านบาท แล้วพี่ไทยมาจากไหนที่บอกว่าจะแก้ให้ ได้ภายใน ๖ เดือน สุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นจากกฎหมายที่ไม่มีความเป็นธรรม อุตสาหกรรม ประมงไทยทั้งระบบเจ๊ง เจ๊งอย่างไร กฎหมายที่ออกมาทำให้พี่น้องชาวประมงทำประมงไม่ได้ มีต้นทุนที่สูงขึ้น แน่นอนครับ เรือก็เจ๊งไป หายไปมากกว่าครึ่งในประเทศ ทีนี้มันเกิด Domino Effect พอเรือหายไป ตลาดปลาหายไป แรงงานก็ไม่มี ห้องเย็นก็เจ๊ง ทีนี้ผมถามว่า มันเกิดความเสียหายขนาดไหน ผมคงเปรียบเทียบเป็นตัวเลขไม่ได้ แต่รู้คร่าว ๆ แค่ว่า หลายแสนล้านบาท ถามว่าคุ้มหรือไม่ ถามว่าทำไมแค่การจัดระเบียบพี่น้องชาวประมง ทำไมมันถึงเป็น Effect เยอะขนาดนี้ทำไมมันถึงเจ๊งขนาดนี้ ยกตัวอย่างกฎหมายง่าย ๆ เวลาเราจะออกไปทำการประมงเราจะต้องแจ้งรายงานกับหน่วยงานให้ทราบ ว่าเราจะต้อง ออกไปทำการประมง มีสมาชิกกี่คน สมมุติว่าวันนี้ผมมีเรือออกไป ๒๕ คน แล้วหนึ่งในนั้นมี Accident ไม่สามารถเดินทางออกไปหาปลากับผมได้ แล้วผมที่เป็นคนบังคับเรือลืมแจ้ง ท่านรู้ไหมว่าจะโดนปรับเท่าไร หลักล้านนะครับ หลักล้าน ล้านบาทด้วยนะครับ แล้วทีนี้ ถามว่าอย่างอื่นก็มีอีก แจ้งเรือเข้าออกผิดเวลา แจ้งว่าจะเข้าถึงท่าเที่ยง มาถึง ๑๐ โมงเข้า มาถึงโดนปรับเป็นล้านอีก แล้วถามว่าพี่น้องชาวประมงจะทำอยู่ได้อย่างไร เมื่อกฎหมายไม่เป็น ธรรมแน่นอนสิ่งที่ตามมาคือเรามีต้นทุนที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว สุดท้ายพอต้นทุนที่สูงขึ้นทำให้ เรือมันเจ๊ง ปลาไม่พอบริโภค ต้องไปนำเข้าปลาจากต่างประเทศ การนำเข้าปลานี่ผมไม่ติดนะ แต่บางที่เราดันไปนำเข้าปลาจากประเทศที่มีการทำประมงผิดกฎหมายด้วย นี่คือปัญหาของ ทั้งระบบที่เกิดขึ้นในภาพใหญ่ หลังจากนั้นวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ เป็นวันที่รัฐบาลรอคอย ต้องบอกว่าเป็นวันที่รัฐบาลรอคอยนะครับ ไม่ใช่วันนี้พี่น้องชาวประมงรอคอย EU ได้ประกาศปลดใบเหลืองให้กับประเทศไทย ทุกคนดีใจมาก รัฐบาลในขณะนั้นดีใจถือว่า เป็นผลงานชิ้นโบแดง ได้รับคำสรรเสริญเยินยอ แต่ผมอยากจะบอกว่าบนความภูมิใจนั้นท่าน อย่าก้มลงไปมองที่ใต้เท้าท่านนะครับ ท่านอาจจะยืนอยู่บนซากศพพี่น้องชาวประมงก็ได้ ถามว่าความสำเร็จนี้ชาวประมงได้อะไรจากความสำเร็จนี้บ้าง ลองไปถามดูได้เลยว่าเขาดีใจ หรือเสียใจ หรือแบบไหน แต่ถ้าจะไปถามผมขออนุญาตไม่ไปด้วยเพราะว่ากลัว แล้วก็ถาม มาแล้วฟังให้ดีว่าเสียงที่มันออกมามันเป็นเสียงชื่นชมดีใจ หรือว่าเป็นเสียงร้องไห้จาก ความเสียใจ อันนี้จะต้องไปถามเลย ไม่ต้องถามเฉพาะชาวประมงก็ได้ถามเจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติงานก็ได้ว่าบังคับใช้กฎหมายแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง อย่างที่ผมเรียนไปเมื่อสักครู่นี้ว่า ปัญหาหลักใหญ่เราตั้งแต่ต้นจนถึงปลายจะมีทั้งหมด ๓ เรื่องใหญ่ ๆ ด้วยกัน

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องของกฎหมาย แน่นอนพวกเราทำงานอยู่ในสถานะของนิติบัญญัติ เราก็ต้องแก้กฎหมาย ถ้าเรามองว่ากฎหมายไม่เป็นธรรม กฎหมายไม่เหมาะสม เราก็ต้องแก้ แล้วเราก็ทำไปแล้วด้วย ในฐานะสมาชิกของพรรคภูมิใจไทยเราเริ่มทำตั้งแต่สมัยที่แล้ว เราได้มีการยื่นกฎหมาย แล้วก็ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญในการพิจารณากฎหมายประมงใหม่ ซึ่งเราก็ทำเสร็จแล้ว เพียงแต่ว่ามีการยุบสภาเสียก่อน พอยุบสภาไปทำให้สิ่งที่ทำไปมันก็ ตกไป แต่ไม่ต้องห่วงวันนี้เรามีสภาใหม่ เรามีรัฐบาลใหม่ พรรคภูมิใจไทยเองก็ยื่นไปแล้ว เช่นกันและยื่นไปเสร็จแล้ว และที่เป็นสิ่งที่น่ายินดีก็คือจากการประชุม Whip รัฐบาล ที่ผ่านมาก็ได้รับข่าวมาว่าทางรัฐบาลเองจะยื่นร่าง พ.ร.บ. เข้ามาประกบให้ทันภายใน สมัยประชุมนี้ ซึ่งถ้าทำได้จริง ๆ ผมเองต้องขอกราบขอบพระคุณแทนพี่น้องชาวประมง ทั้งประเทศด้วย

    อ่านในการประชุม

  • ข้อที่ ๒ เรื่องของต้นทุน ถามว่าจะแก้อย่างไร จริง ๆ ต้นทุนหลัก ๆ มีอยู่ ประมาณ ๕-๖ อย่าง แต่ว่า ๒ ปัจจัยหลัก ก็คือค่าแรงและน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นต้นทุนรวมอยู่ ประมาณ ๖๐-๗๐ เปอร์เซ็นต์ของการทำประมงทั้งระบบ จะแก้อย่างไร เรื่องนี้ เราต้องเอาเรื่องของอนาคตมาพูดกัน เอาเรื่องของการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนามาพูดกัน เพื่อทำให้เรามีเทคโนโลยีมีเครื่องมือเข้ามาช่วยเยอะขึ้น ยกตัวอย่างที่ปัตตานีมีพี่ท่านหนึ่ง ที่ผมรักและเคารพมาก พี่สุรัตน์ รัตนศิธร ขออนุญาตเอ่ยนามพี่สุรัตน์ด้วย ได้ทำงานร่วมกับ หน่วยงานหลาย ๆ หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น SEAFDEC ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานพัฒนา การวิจัยเกษตร (องค์การมหาชน) ได้มีการวิจัยพัฒนาเครื่องมือต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการผลิตน้ำแข็งจากน้ำทะเลซึ่งไปผลิตในทะเลได้เลย การผลิตเครื่องมือ ที่จะเอาไว้ทุ่นแรงในการเก็บอวน การเคลื่อนย้ายปลา หรือแม้แต่กระทั่งในอนาคตผมยังมอง เรื่องของน้ำมันเชื้อเพลิงผมเห็นเรือเล็ก ๆ ตอนนี้หลายลำที่มีการเปลี่ยนเครื่องยนต์ เป็นมอเตอร์ไฟฟ้า แล้วถ้าเกิดเรามีการวิจัยพัฒนาเพิ่มขึ้น ซึ่งผมมั่นใจว่าคนไทยไม่แพ้ชาติใดใน โลกแน่นอน เป็นไปได้ไหมถ้ามีการเปลี่ยนเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นมอเตอร์ไฟฟ้า เพื่อใช้พลังงานไฟฟ้าที่มีต้นทุนที่ถูกลงได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นหน่วยงานพวกนี้ผมอยากจะ ฝากท่านประธานไปเลยครับว่าควรที่จะต้องให้งบประมาณสนับสนุนการทำงานเขาเยอะ ๆ เพราะเป็นการซื้ออนาคต

    อ่านในการประชุม

  • ข้อสุดท้าย เรื่องของการนำเข้าปลาจากต่างประเทศ เรื่องนี้ผมไม่ติดเลย แต่ผมติดนิดเดียวว่าประเทศหลาย ๆ ประเทศที่เรานำเข้าปลามาเป็นประเทศที่ทำประมง ผิดกฎหมายเช่นกัน ซึ่งพวกเราพยายามหนีจากเรื่องนี้มาโดยตลอด ๑๐ ปีที่ผ่านมา แต่เรา กลับไปนำเข้าปลาจากประเทศที่ทำผิดกฎหมายมาได้อย่างไร เริ่มจากตัวกฎหมายที่บิดเบี้ยว ที่มันผิดเพี้ยน ที่มันไม่ยุติธรรม ผมอยากจะบอกว่าวันนี้ต่างชาติพอเห็นกฎหมายฉบับนี้ เขาต้องบอกว่าอย่างไรรู้ไหมครับ เขาจะบอกว่าเธอหวานเจี๊ยบ มันจะไม่หวานเจี๊ยบ ได้อย่างไร กฎหมายฉบับนี้ออกมาฆ่าประมงไทยแต่สนับสนุนประมงต่างชาติ สนับสนุน แบบไหน ก็แน่นอนเมื่อเรามีต้นทุนสูงขึ้น เราจับปลาได้น้อยลง เขาก็ไปเอาปลาจาก ประเทศต่าง ๆ ที่ไม่ได้ดำเนินการตาม IUU เข้ามา ซึ่งมีต้นทุนที่ถูกกว่า ผมอยากจะบอกว่า รัฐบาลต่างชาติจะต้องเอากระเช้ามากราบขอบคุณรัฐบาลไทยในขณะนั้นด้วยซ้ำที่สนับสนุน การประมงต่างประเทศให้กับพวกเขา แล้วสิ่งที่มันน่าน้อยใจไปกว่านั้นคืออะไรรู้ไหม พอ EU บอกว่าเราทำประมงผิดกฎหมาย รัฐบาลในขณะนั้นเอาทุกสิ่งทุกอย่างทำทุกอย่าง เพื่อแลกกับมันให้เราปลดจากใบเหลืองได้ แต่ครั้งที่แล้วผมได้มีการหารือเกี่ยวกับการนำเข้า สินค้าประมงจากประเทศที่ทำผิด เขาบอกว่าห้ามนำเข้าไม่ได้เพราะติดสนธิสัญญา ติดข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ พอทีประเทศไทยเสียประโยชน์ก็อ้างกันจัง แล้วพอตอน EU ทำไมไม่หาอะไรมาอ้างบ้าง สุดท้ายถ้าพวกเรายังอยู่แบบนี้ ถ้ายังไม่ทำอะไรแบบนี้ ผมไม่อยากจะพูดคำพูดที่บอกว่าสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าชาวประมงไทยมันอาจจะสูญพันธุ์ครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ ผม วรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล พรรคภูมิใจไทย ผมมีเรื่องอยากจะหารือ ท่านประธาน ๓ เรื่องครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก เป็นเรื่องที่ผมได้รับการร้องเรียนจากตัวแทนกลุ่มโรงเรียนตาดีกา จังหวัดสตูลซึ่งมีมากกว่า ๒๐๐ โรง แล้วก็มีเด็กเรียนอยู่มากกว่า ๑๓,๐๐๐ คน ได้ร้องเรียน มาว่ามีปัญหาเรื่องของเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวัน ก่อนหน้านี้ก็มีมติ ครม. มาแล้วว่าจะมี การอุดหนุนอาหารกลางวันให้กับโรงเรียนตาดีกาตั้งแต่ปี ๒๕๖๖ จนถึง ๒๕๗๐ แต่ปรากฏว่า ในปีนี้ปี ๒๕๖๗ พ.ร.บ. งบประมาณมันล่าช้าและคิดว่าน่าจะเสร็จประมาณเดือนเมษายน เลยทำให้เงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันขาดช่วงไป จึงอยากจะเรียนหารือกับท่านประธาน ไปยังกระทรวงศึกษาธิการ อยากจะให้หาวิธีการแก้ปัญหาให้กับครูโรงเรียนตาดีกาในพื้นที่ จังหวัดสตูลแล้วก็ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ด้วย

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องที่พี่น้องตำบลแหลมสน อำเภอละงู จังหวัดสตูล ได้ร้องขอ เข้ามาก็คืออยากจะให้มีการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างบนถนนทางหลวงชนบท ซึ่งเป็นถนน ที่เชื่อมต่อระหว่างตำบลกำแพงและตำบลแหลมสน อำเภอละงู จังหวัดสตูล ซึ่งของเดิม บางจุดมันมีอยู่แล้ว แต่ว่าบางจุดไม่มี ก็อยากจะฝากท่านประธานผ่านไปยังท่านอธิบดี กรมทางหลวงชนบท เพราะว่าถนนเส้นนี้เป็นถนนเส้นที่ค่อนข้างจะมีความเปลี่ยว แล้วก็ ไม่ค่อยมีบ้านคนเป็นจุดที่ค่อนข้างอันตราย

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ เรื่องสุดท้าย เป็นเสียงจากพี่น้องชาวใต้ที่เลี้ยงนกกรงหัวจุก เมื่อวานก็มีหลายท่านที่เดินทางมายังสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้เพื่อมาแสดงความคิดเห็น แล้วก็แสดงถึงเจตจำนงอยากที่จะให้มีการปลดนกกรงหัวจุกออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง เพราะว่าสำหรับพี่น้องชาวใต้มันไม่ใช่แค่ความชอบ มันไม่ใช่แค่การเลี้ยงสัตว์ แต่มันเป็น ประเพณี เป็นวิถีชีวิตไปแล้ว และที่สำคัญที่สุดมันสร้างรายได้ให้กับคนที่เกี่ยวข้องได้ด้วย ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ผมมีคำถามนิดหนึ่ง ขออนุญาตปรึกษาท่านประธานนิดหนึ่ง ผม วรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสตูล เป็น ๑ ในผู้เสนอญัตติครับ มีคำถามถามท่านประธานแบบนี้ครับว่าวันนี้ถ้ามี การนับองค์ประชุมไปแล้ว

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ ผม วรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล พรรคภูมิใจไทย ท่านประธานครับ ผมเป็นหนึ่งในผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... ซึ่งทุกท่านทราบดีอยู่แล้วครับว่า ปัญหาของพี่น้องชาวประมง ได้เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานและยังไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งผมเองและเพื่อนสมาชิกหลาย ๆ ท่าน หลาย ๆ พรรคการเมืองก็ได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาอภิปราย ในการหาแนวทางแก้ปัญหาให้กับ พี่น้องชาวประมงมาโดยตลอดระยะเวลา ๘ ปีที่ผ่านมา ย้อนความกลับไปนิดเดียวครับ ท่านประธานครับ ๘ ปีที่ผ่านมา EU มาแปะป้ายไว้ที่หน้าผากของพี่น้องประมงไทยว่ามีการ ทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการดูแลและไร้การควบคุม โดยถ้าเกิดประเทศไทยไม่แก้ไข EU จะ Ban การนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำของประเทศไทย รัฐบาลเองก็ต้องวิ่งครับ ออกกฎหมาย นับร้อยฉบับในระยะเวลาอันสั้นนี้ ออกมาบังคับใช้กับพี่น้องชาวประมง ออกมาเยอะไม่เท่าไร ประเด็นก็คือออกมาแบบหลับหูหลับตาออก ไม่ได้ดู ไม่ได้ถามผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ได้ฟัง คนที่ทำอาชีพประมงเลยแม้แต่น้อย ออกกันเอง แล้วสุดท้ายปัญหามันก็ตกไปสู่พี่น้อง ชาวประมง นำความหายนะมาสู่อุตสาหกรรมประมงไทย ต้องบอกว่าเรือประมงที่เกิดขึ้น ในประเทศไทยหายไปกว่าครึ่ง เพราะว่าออกไปทำการประมงไม่ได้ มิหนำซ้ำไม่ต้องไปพูดถึง อุตสาหกรรมต่อเนื่องนะครับ โรงน้ำแข็ง แรงงาน โรงงานแปรรูป หรือแม้กระทั่งตลาดปลา ทุกคนก็น่าจะเห็นสภาพที่มันเกิดขึ้นในปัจจุบันอยู่แล้วว่ามันเป็นอย่างไร ถามว่าเราได้อะไรบ้าง หลังจากที่ EU ประกาศปลดใบเหลืองให้กับเรา พี่น้องคนไทยคาดหวังอะไรบ้าง จากความสำเร็จนี้ อันนี้เป็นคำถามตัวโต ๆ ที่ผมอยากจะถามไปยังผู้มีอำนาจทั้งหลาย เราคาดหวังไหมว่าพี่น้องชาวประมงจะมีความสุขในการทำการประมงมากขึ้น เราคาดหวัง หรือไม่ว่าเราจะมีปลาจับเยอะขึ้น เราคาดหวังหรือไม่ว่า EU จะนำเข้าสินค้าประมงเราเพิ่มขึ้น หรือซื้อสินค้าประมงของเราในราคาที่สูงขึ้น คำตอบก็คือไม่เลย และไม่ใกล้เคียงเลย แม้แต่นิดเดียว

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ สิ่งเดียวที่เราได้จากการแก้ปัญหา IUU Fishing ก็คือ ความพอใจของ EU เฉพาะของ EU เท่านั้นนะครับ ไม่ใช่ของคนไทย ไปดูได้เลยครับสิ่งที่ เกิดขึ้นพี่น้องชาวประมงหลาย ๆ ท่านต้องล้มละลาย หลายท่านต้องสูญเสียธุรกิจ หลายท่าน มีหนี้สินเกิดขึ้นจากสภาวะปัญหาที่เกิดขึ้น หนำร้ายไปกว่านั้นบางคนแก้ปัญหาไม่ได้ ก็ตัดสินใจที่จะต้องปลิดชีวิตตัวเองลง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทุกท่านมองว่าเป็นความสำเร็จ ที่ท่านผู้มีอำนาจทั้งหลายมองว่าเป็นความสำเร็จ อยากจะบอกท่านว่าท่านอย่าหลงระเริง อยู่บนความตายของพี่น้องชาวประมง วันนี้ที่เราต้องพูดกันตรง ๆ ครับว่าประมงมันมีปัญหา แต่สิ่งที่พวกเราต้องทำก็คือเราต้องเข้าไปแก้ ณ จุดปัญหาจุดนั้น ไม่ใช่ไปลบทั้งระบบทิ้ง ผมขอยกตัวอย่างไปแล้วว่า ถ้าวันนี้มีแมลงสาบอยู่ในบ้าน ๑ ตัว คุณต้องไปไล่หรือว่าจัดการ กับแมลงสาบตัวนั้น ไม่ใช่ไปเผาบ้านทิ้งเพื่อจัดการกับแมลงสาบตัวเดียว เพราะสุดท้ายแล้ว สิ่งที่มันกระทบสิ่งที่มันหล่นลงมา คนที่ต้องเผชิญกับฝันร้ายนั้นก็คือพี่น้องชาวประมง

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ที่ผ่านมาสภาแห่งนี้ก็ได้มีการศึกษาหาแนวทางการแก้ปัญหา เกี่ยวกับเรื่องของพี่น้องชาวประมงหลายครั้งหลายคราว ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกรรมาธิการ สามัญ วิสามัญหลายคณะด้วยกัน ไปลองดูรายงานการศึกษาได้เลยมีหลายเล่มอ่านกันไม่จบ แต่เราไม่เคยที่จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้แบบจริง ๆ นอกจากการพูดคุยกันอย่างที่ใกล้ที่สุด ก็คือในสภาสมัยที่แล้ว สมัยที่ ๒๕ ที่ผมเองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ยื่นร่างกฎหมายนี้เข้าไป แล้วสภาแห่งนี้ก็กรุณาได้ผ่านวาระที่ ๑ เข้าไปสู่ขั้นกรรมาธิการ แล้วกรรมาธิการก็ทำงานกัน เสร็จแล้ว แล้วส่งกลับมาที่สภา แต่ปัญหาตอนนั้นก็คือมีการยุบสภาเกิดขึ้น ไม่ว่ากันครับ ถือว่าเสียงนกหวีดเป่าหมดเวลา เลือกตั้งกลับมาครั้งนี้หลังจากสภาเปิดมา ๑ เดือน ผมก็ได้ยื่นกฎหมายฉบับนี้เข้าไปอีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่จะจัดการเร่งแก้ปัญหาให้กับ พี่น้องชาวประมง แล้วต้องขอบคุณสภานะครับที่ได้บรรจุวาระร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เข้าสู่ วาระประชุม ทำให้พวกเราได้นำกฎหมายเข้าสู่สภา แล้วเราก็สามารถพูดกับพี่น้องได้เต็มปาก ว่าวันนี้เราเอาร่างกฎหมายประมงเข้าสู่สภาได้แล้วนะครับ ต้องยอมรับว่าทุกครั้งที่ผมลงไป ในพื้นที่ ไปเจอพี่น้องชาวประมง ผมนี่ลูกชาวประมง ลูกน้ำเค็ม ทุกครั้งเวลาไปเจอพี่น้อง ชาวประมงแล้วเขาถามเรื่องปัญหา ผมต้องบอกกับท่านประธานตรง ๆ ว่าผมรู้สึกละอายใจ ในใจก็คิดว่าทำไมเราถึงไม่สามารถที่จะแก้ปัญหานี้ให้กับพี่น้องได้สักที ที่ผ่านมาในการ ประชุมร่วมของวิปรัฐบาล ก็มีการสอบถามว่ากฎหมายประมงที่เสนอไปทำไมมันถึงช้านัก ทำไมถึงยังไม่บรรจุสักที กฤษฎีกาก็บอกว่าผมเพิ่งได้รับกฎหมายเข้ามาพิจารณาแล้วก็รีบ ทำส่งเรื่อง เอาล่ะครับที่ผ่านมามันอาจจะช้าไปไม่เป็นอะไร แต่หลังจากนี้มันจะเป็นการวัดใจกัน วัดใจผู้มีอำนาจ วัดใจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าท่านมีความจริงใจในการที่จะแก้กฎหมาย ฉบับนี้เพื่อแก้ปัญหาให้กับพี่น้องชาวประมงมากขนาดไหนไปดูกัน ท่านประธานครับ ยิ่งไปกว่านั้น ผมจะบอกว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำการประมงนี้ผมจะบอกว่ามีเยอะมาก นับสิบหน่วยงาน กรมประมง สวัสดิการ จัดหางาน ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง สาธารณสุข หรืออีกหลาย ๆ หน่วยงาน แต่พี่ใหญ่และอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดของพี่น้องชาวประมงก็คือ กรมประมง แน่นอนครับ ไม่พ้น พ.ร.ก. ประมง ปี ๒๕๕๘ นี่คือที่มาที่เราจะต้องแก้กฎหมาย ฉบับนี้ให้ได้

    อ่านในการประชุม

  • แล้วถ้าเกิดอยากจะให้ผมยกตัวอย่างกฎหมายสักฉบับหนึ่ง ที่บอกว่าเป็น กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เป็นกฎหมายที่ออกมารังแกพี่น้องประชาชน เป็นกฎหมายที่ออกมา โดยไร้ซึ่งความรอบคอบ ผมก็จะยกตัวอย่างกฎหมายฉบับนี้ให้ดู เพราะมีครบทุกอย่าง ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตยกตัวอย่างสิ่งที่เราจะต้องเข้าไปแก้ไขสั้น ๆ สัก ๒-๓ ข้อ เพื่อให้ทุกท่านได้เห็นถึงความสำคัญ เมื่อสักครู่ท่านสมาชิกขออนุญาตเอ่ยนาม ท่านพิทักษ์เดช ก็ได้พูดไปแล้ว เรื่องของคณะกรรมการประมงจังหวัดควรที่จะต้องจัดการสัดส่วนให้ดี ควรที่จะต้องนำคนที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นกรรมการ ไม่ควรเอาคนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามา เพื่อให้ การทำงานในการกำหนดวิธีการทำการประมง หรือขอบเขตพื้นที่ในการทำประมงให้มีคุณภาพ และคล่องตัวที่สุด แล้วต้องให้อำนาจเขาเพิ่มขึ้น เพราะไม่มีใครรู้ดีไปกว่าคนที่อยู่ในพื้นที่ แล้วพี่น้องประมงพื้นบ้านก็เช่นกัน พ.ร.ก. ประมงไปขีดเส้นไว้ ไปกั้นรั้วไว้ บอกว่าพี่น้อง ประมงพื้นบ้านให้หาปลาได้เฉพาะในเขตทะเลชายฝั่ง คำถามคือจะไปกั้นเขาทำไม ให้เขาออกไปทำเถอะครับ เพราะว่าเรือเหล่านี้มันจะโดนจำกัดด้วยขนาดอยู่แล้ว ถึงจะปล่อย ให้เขาออกไปเขาก็ออกไปได้ไม่ไกล เพราะฉะนั้นไม่ควรไปจำกัดสิทธิเขา ควรจะส่งเสริม เขาด้วย เพราะว่าประมงพื้นบ้านนี้คือรากฐานของเศรษฐกิจประมงของทั้งประเทศ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องบทลงโทษ อันนี้จะบอกว่าเป็นตัวบรรลัยเลย บทลงโทษประมงไทย ผมอยากจะบอกว่าน่าจะเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษในการปรับที่แพงที่สุดในโลก ไม่ใช่แค่ ในประเทศไทยนะครับ แต่แพงที่สุดในโลกท่านลองไปเปรียบเทียบได้เลย แล้วแพงไม่พอ เมื่อไปเปรียบเทียบความผิดในลักษณะเดียวกันกับบริบทอื่น ๆ มันเป็นคนละมาตรฐาน แบบฟ้ากับเหว ยกตัวอย่าง เช่น วันนี้ถ้าผมจดทะเบียนเครื่องมือประมง ผมบอกว่าจดเป็น เครื่องมือ A แล้วผมออกไปทำการประมง แล้วใช้เครื่องมือ B ทำการประมง ผมโดนปรับเป็น ๑๐ ล้านบาทนะครับ ท่านประธานฟังไม่ผิดครับ เป็น ๑๐ ล้านบาทจริง ๆ ถ้าวันนี้ผมออกไป ทำประมงผมจะนำสัตว์น้ำเข้ามา ผมก็ต้องแจ้งศูนย์ว่าผมจะต้องถึงท่ากี่โมง จะมีสัตว์น้ำ มาปริมาณเท่าไร ถ้าผมแจ้งผิด แจ้งเวลาผิดแจ้งเที่ยงเข้ามาถึง ๙ โมง ผมโดนปรับหลายแสน แจ้งปริมาณสัตว์น้ำผิดเกิน ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ๑๕ เปอร์เซ็นต์ ผมก็โดนปรับหลายแสนอีก ถามว่ามันใช่เรื่องที่จะต้องเอาผิดกันถึงขนาดนั้นเลยหรือ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรงงาน ถ้าบนเรือประมงมีแรงงานที่ผิดกฎหมายอยู่ ต่อหัวที่มีนี้คูณเข้าไป เลยครับ หลายแสนบาท ถ้ามี ๑๐ คน ก็หลายล้านบาท น่าน้อยใจครับ เปรียบเทียบกับโรงงาน ถ้ามีแรงงานผิดกฎหมายอยู่ในโรงงาน ยกตัวอย่าง เช่น โรงงานไม้ โรงงานถุงมือ โรงงานเหล็ก ผิดเหมือนกันไหม ผิดเหมือนกัน ลักษณะเดียวกัน แต่ทำไมในโรงงานถึงโดนปรับแค่ไม่กี่หมื่นบาท มาตรฐานมันอยู่ตรงไหน นี่คือสิ่งที่เราจะต้องเข้าไปแก้ และเรื่องที่สำคัญที่สุดคืออะไรรู้ไหม เราใช้ระยะเวลาในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ ๘-๙ ปี จนสุดท้ายเราหลุดพ้นจากใบเหลืองของ EU เรายอมเอาชีวิตของตัวเองเข้าไปแลกเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดในอาชีพประมง พอแก้เสร็จแล้ว ท่านไปดูว่าการนำเข้าปลาหรือว่าสัตว์น้ำจากต่างประเทศ ประเทศที่เรานำเข้านี้ผ่านมาตรฐาน ของ EU หรือเปล่า ไปดูได้เลยมันมีบางประเทศที่มันไม่ผ่าน เพราะฉะนั้นแล้วเราจะดั้นด้นกัน ๘-๙ ปีที่ผ่านมาเพื่ออะไร ยอมให้ลูกตัวเองตาย แต่ไปเลี้ยงลูกคนอื่นเพื่ออะไร

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายครับท่านประธาน ผมเชื่อว่าพี่น้องสมาชิกที่อยู่ในสภาอันทรงเกียรติ แห่งนี้ทุกท่านจะมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะฉะนั้นผมเองในฐานะหนึ่งในผู้ยื่น พ.ร.บ. ก็ขอเรียกร้องให้สมาชิกทุกท่านได้สนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ แล้วเราจะได้กลับไปบอก พี่น้องชาวประมงที่บ้านของพวกเราว่า เราแก้ปัญหาให้ท่านสำเร็จแล้ว ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ผม วรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ ในฐานะหนึ่งในผู้เสนอญัตติ จริง ๆ รู้สึกเกรงใจที่ทำให้เรื่องนี้มันเป็นเรื่อง ที่ทุกคนต้องมานั่งถกเถียงกัน แต่ผมขอเวลาสั้น ๆ แค่ ๒ นาทีเท่านั้นเอง ในการที่จะพูดเรื่องนี้ ก่อนที่ทุกท่านได้ลงมติกัน ต้องขอความกรุณาท่านประธานด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ได้ครับ จับได้เลย

    อ่านในการประชุม

  • เข้าใจครับท่านประธาน แต่ว่าเรา ก็ต้องเรียนตั้งแต่ตอนแรก

    อ่านในการประชุม

  • ใช่ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขอบพระคุณครูมานิตย์ครับ ท่านประธาน ที่เคารพครับ ผม นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล พรรคภูมิใจไทย ผมเป็นหนึ่งในผู้เสนอญัตติครับ วันนี้ขอเวลาสั้น ๆ ผมจะไม่มาสรุปในเรื่องของ เนื้อหาสาระเกี่ยวกับเรื่องของตัวกฎหมายอีกแล้ว เพราะว่าที่ผ่านมาเพื่อนสมาชิกก็ได้พูดกัน ไปเยอะพอสมควรแล้วครับ วันนี้ผมเองที่เป็นคนหนึ่งในฐานะคนที่ต่อสู้ให้กับพี่น้องชาวประมง มาโดยตลอดระยะ ๕ ปีที่ผ่านมา เมื่อเช้านี้ท่านประธานทราบไหมครับ ผมออกจากบ้านมา ทุกคนก็ถามผมว่า วันนี้จะเป็นวันที่ผมจะต้องเสนอกฎหมายประมงเข้าสู่สภาใช่หรือไม่ ผมตอบเขาแบบความภาคภูมิใจว่าวันนี้ผมจะมาเสนอกฎหมายประมงเข้าสภา มาทราบอีกที ในวันนี้เขาบอกว่า ครม. จะเอากฎหมายไปพิจารณาก่อน ๖๐ วัน จากที่ผมเรียนเมื่อตอนเช้า ว่ากฤษฎีกาเพิ่งได้รับข้อมูลเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ก็คือเมื่อ ๕ วันที่แล้ว ในขณะที่พวกเรา ยื่นกฎหมายไปก่อนหน้านี้ ต้องนับดูว่ากี่เดือนแล้วครับ ผมไม่ติดในประเด็นอะไรทั้งสิ้น ที่บอกว่าจะต้องไปทำประเด็นเพิ่มเติม แล้วทำไมก่อนหน้านี้คุณไม่ทำ แล้ววันนี้คุณ เอากฎหมายไป ๒ เดือน ๖๐ วัน สุดท้ายกลับมายื่นใหม่ เริ่มกระบวนการใหม่ เดี๋ยวก็มี งบประมาณอีก และสุดท้ายกฎหมายมันจะได้แก้เมื่อไร แล้วสุดท้ายความศักดิ์สิทธิ์ของ สภาแห่งนี้ในการทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติมันอยู่ตรงไหน นี่ละครับท่านประธานที่ผม อยากจะสรุป ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ ผม วรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล พรรคภูมิใจไทย ท่านประธานครับ วันนี้มีเรื่องที่ผมอยากจะให้สภาแห่งนี้ได้ติดตามกระบวนการทำงานเกี่ยวกับการออกสิทธิ ทำกินให้กับชาวบ้านในเขตอุทยาน รวมไปถึงเขตป่าสงวนแห่งชาติ ในพื้นที่จังหวัดสตูล ซึ่งผมเองต้องขอบคุณทางสภาเกษตรกรแห่งชาติที่ได้ลงมาผลักดันเรื่องนี้ไปด้วยกัน ทุกวันนี้ ชาวบ้านไม่สามารถที่จะเข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่ได้ ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ก็จะปลูกยางพารา แล้วตอนนี้ยางมันก็แก่ แก่เกินที่จะตัดได้แล้ว หน้ายางก็หมดแล้ว ซึ่งมันหมดประโยชน์แล้ว โดยปกติแล้วเราจะต้องโค่นและปลูกยางใหม่ขึ้นมาทดแทน แต่ตอนนี้จะโค่นก็โค่นไม่ได้ เพราะว่าถ้าโค่นไปก็เดี๋ยวโดนเจ้าหน้าที่เข้าไปจับกุมดำเนินคดี ซึ่งตาม พ.ร.บ. อุทยาน แห่งชาติ แล้วก็ พ.ร.บ. สงวนคุ้มครองสัตว์ป่า ปี ๒๕๖๒ ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า จะต้องสำรวจ การถือครองที่ดินของชาวบ้านที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เพื่อที่จะออกสิทธิทำกินให้เขา ให้กับชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งตอนนี้สำรวจเสร็จแล้ว แล้วก็สำรวจเสร็จมา ๓ ปีแล้วด้วย แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการให้จบกระบวนการได้ ผมก็เลยอยากจะร้องเรียนแทนพี่น้อง ชาวบ้าน อยากจะให้เป็นมติ ครม. ออกมาก่อน เพื่อให้สิทธิชาวบ้านได้เข้าไปทำมาหากินก่อน ในระหว่างที่รอกระบวนการทั้งหมดมันเสร็จสิ้น ชาวบ้านจะได้ไม่ต้องมารอ ชาวบ้านจะได้เข้าไป ทำประโยชน์ได้ก่อน ในส่วนของป่าสงวนแห่งชาติก็เช่นกัน ในจังหวัดสตูลมีป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งหมด ๙ แห่ง ๕ ใน ๙ แห่งนี้สำรวจผ่าน และผ่านคณะกรรมการ คทช. เรียบร้อยแล้ว เหลือแค่ออกสมุดประจำตัวให้ชาวบ้าน ก็อยากจะเร่งรัดให้ออกให้จบ เหลืออีก ๔ ป่า อยู่ในการพิจารณาของกรม ก็อยากจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งรัดการพิจารณาให้เสร็จ เรียบร้อยและออกสมุดประจำตัวให้ชาวบ้าน เพื่อเข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่ต่อไป ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ ผม วรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล พรรคภูมิใจไทย ท่านประธานครับ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ผมคิดว่าน่าจะเป็นร่างที่เป็นกฎหมายที่ทุลักทุเลที่สุดฉบับหนึ่ง เราทำกันมาตั้งแต่สมัยที่แล้วครับ ตั้งแต่สภาสมัยที่แล้วจนมาถึงสมัยนี้แล้วก็เกือบที่จะตก ไปอีกเมื่อ ๒ สัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ต้องขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีชาดา ไทยเศรษฐ์ ที่วันนั้น เข้ามาแก้ปัญหา และขอบคุณท่านรัฐมนตรีธรรมนัส พรหมเผ่า ท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมไปถึงท่านนายกรัฐมนตรีและคณะ ครม. ที่ท่านได้แสดง ให้เห็นถึงความจริงใจ ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่ตั้งใจจะแก้ปัญหาให้พี่น้องชาวประมงจริง ๆ จากเดิมกฤษฎีกาจะขอกลับไปทบทวน ๖๐ วัน แต่ ครม. จัดการได้ กฤษฎีกาจัดการให้เสร็จ ภายใน ๑๕ วัน ซึ่งต้องกราบขอบพระคุณทุกท่านจริง ๆ ท่านประธานครับ สุดท้ายสิ่งที่ พวกเราทำกันในวันนี้ทั้งสภาผู้แทนราษฎร ทั้ง ครม. ก็จะเกิดประโยชน์กับพี่น้องชาวประมงครับ พอเรามาดูในตัวบทกฎหมายที่ ครม. เสนอเข้ามาครับท่านประธาน ต้องบอกว่าเป็นกฎหมาย ที่มีความคล้ายกับกฎหมายที่ทางพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้เสนอเข้าไป เข้าไปแก้เรื่อง คณะกรรมการประมงจังหวัด เข้าไปแก้เรื่องของประมงพื้นบ้าน เข้าไปแก้เรื่องของสิทธิ การทำการประมง และที่สำคัญที่สุดที่บอกว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่รังแกพี่น้อง ชาวประมงก็คือเรื่องของบทลงโทษ เข้าไปแก้ในรายละเอียดเหล่านี้ครับ เพราะฉะนั้น ผมเลยกล้าที่จะบอกได้ว่าร่างต่าง ๆ ที่เราเสนอกันเข้าไป แล้วที่เรากำลังจะหยิบขึ้นมา พิจารณาในอนาคตอันใกล้นี้เป็นร่างที่มาจากความต้องการของพี่น้องประชาชน ที่ผมกล้าพูด แบบนี้เพราะว่าจริง ๆ แล้วข้อมูล ร่าง พ.ร.บ. ทั้งหลายส่วนใหญ่แล้วเอามาจากร่างที่ กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วจากสภาสมัยที่ผ่านมา ซึ่งประกอบไปด้วยทุกองคาพยพ ที่เกี่ยวข้องกับการทำการประมง ไม่ว่าจะส่วนราชการ ส่วนการเมือง รวมไปถึงส่วนพี่น้อง ชาวประมง ซึ่งเป็นหัวใจหลักสำคัญที่สุดของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ท่านประธานครับ ถ้ากฎหมายฉบับนี้ทุกพรรคเห็นด้วยรับหลักการเข้าไปพิจารณา ต้องบอกว่าเป็นผลงานของทุกคน และเป็นของทุกคนจริง ๆ เพราะผมเชื่อว่าวันนี้ไม่มีใคร ที่ไม่เห็นด้วยกับการรับหลักการของกฎหมายฉบับนี้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือจะเป็นรัฐบาล ต้องขอบคุณไว้ล่วงหน้าเลยนะครับ สุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นก็จะกลับไปหาพี่น้องประชาชน กลับไปหากับพี่น้องชาวประมงที่เขาเฝ้ารอ เฝ้ารอมาตลอด ๙ ปี เรามาร่วมกันสร้าง ประวัติศาสตร์ในการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ที่ทำให้พวกเขานอนไม่หลับ หลับก็หลับไม่สนิท และจงภูมิใจครับว่าวันนี้เราเข้าไปปลดโซ่ตรวนให้กับคนบริสุทธิ์ที่ถูกใส่ร้ายว่าเป็นผู้ร้าย ของประเทศชาติมาตลอด ๙ ปี ให้กลายเป็นผู้บริสุทธิ์สักที และสุดท้ายในจุดยืนของผม ในจุดยืนของพรรคภูมิใจไทย ผมก็อยากจะยืนยันตรงนี้ครับว่าเราไม่อยากจะให้มีการทำ การประมงแบบไร้การควบคุม มันควรจะเป็นการทำการประมงแบบที่มีการควบคุมที่เหมาะสม และมีบทลงโทษที่สมควรให้กับโทษต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นบทลงโทษที่ไปฆ่าเขา เหมือนอย่างที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นผมเองเป็น ๑ เสียง ในสภาอันทรงเกียรติแห่งนี้ ที่อยากจะเรียกร้องให้ทุกท่านได้สนับสนุนและรับร่างกฎหมายฉบับนี้เพื่อไปพิจารณาต่อ ในวาระที่ ๒ และวาระที่ ๓ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม