กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ และคณะผู้ชี้แจงที่เคารพทุกท่าน ดิฉัน สุภาพร สลับศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑ จังหวัดยโสธร พรรคไทยสร้างไทย ท่านประธานคะ ก่อนอื่นก่อนที่ดิฉันจะลงสาระและรายละเอียดเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ก็ขออนุญาต ชี้แจงเจตจำนงในการลุกขึ้นมาอภิปรายว่าดิฉันเป็น สส. หญิง บทบาทเป็นทั้งลูก เป็นทั้งแม่ แล้วก็เป็นทั้งภรรยา ซึ่งโดยธรรมชาติย่อมใส่ใจปัญหาของครอบครัวอยู่แล้ว อีกทั้งโดยวิชาชีพ ที่ดิฉันเคยทำมาก่อนก็คือการเป็นพยาบาล อายุราชการก็ประมาณ ๒๐ ปีกว่า ๆ ผ่านประสบการณ์ ในการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบทั้งด้านร่างกาย โดยเฉพาะทางด้านจิตใจจากปัญหา ความรุนแรงครอบครัวมาไม่น้อย ดังนั้นดิฉันทราบและตระหนักดีว่าการจะแก้ไขปัญหาเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวนั้นเป็นเรื่องไม่ง่าย แล้วก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และตัวเลขสถิติความจริงที่เกิดขึ้นอาจจะมีมากกว่าในรายงาน ของ ๑๖ หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน สมาคม และมูลนิธิต่าง ๆ ที่มารายงานในครั้งนี้ อย่างแน่นอน และในขณะเดียวกันดิฉันไม่ได้มีเจตนารมณ์มาจับผิดผลการดำเนินงาน ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด แต่ดิฉันขออนุญาตฝากข้อสังเกต แชร์ประสบการณ์ ข้อห่วงใย ข้อบันทึกไว้ และร่วมด้วยช่วยกันทำให้สังคมไทยมีความรัก มีความอบอุ่น สร้างสายใยรักแห่งครอบครัวมากยิ่งขึ้น ท่านประธานคะ ประการแรกที่เราจะแก้ไขปัญหา ความรุนแรงในครอบครัว ดิฉันเชื่อและเห็นด้วยว่าการจะแก้ไขปัญหาความรุนแรง ในครอบครัวได้ดีนั้น อย่างแรกเราควรมีการรณรงค์ให้คนในสังคมเปลี่ยนค่านิยม ความคิด และทัศนคติใหม่ โดยยึดหลักว่าความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไป ถือว่าเป็นเป็นเรื่องของคนในสังคมที่ต้องดูแลแก้ไขร่วมกัน เพราะที่ผ่านมาคนไทยมักจะถูกสอน ให้ยึดหลักที่ว่า เรื่องของครอบครัวเราไม่ควรยุ่ง เรื่องของสามีภรรยาคนนอกไม่ควรยุ่ง ซึ่งจริง ๆ แล้ว หากไม่มีความรุนแรงในครอบครัวก็ไม่มีใครกล้าไปยุ่ง แต่ในโลกทุกวันนี้สถิติบ่งบอกเด็ก สตรี ผู้ได้รับผลกระทบ หรือผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวมากที่สุดจากการที่ได้ยินข่าว ในช่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะพ่อทำร้ายลูก หรือลูกทำร้ายบิดามารดา ซึ่งถือว่าเป็นความรุนแรง ที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ควรจะแบกรับภาระนี้ เราควรที่จะเริ่ม หาทางแก้ไขร่วมกัน ซึ่งวันนี้ดิฉันก็ขอฝากข้อคิดไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบันทึกไว้ หรือปรับปรุงแก้ไข โดยมีรายละเอียดดังนี้
อย่างแรก เราควรที่จะมีการรณรงค์ให้คนไทยตระหนักใส่ใจ เข้าใจปัญหา ความรุนแรงในครอบครัวมากยิ่งขึ้น และจริง ๆ แล้วพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำ ความรุนแรงในครอบครัว ปี ๒๕๕๐ ก็มีประมาณ ๑๑ มาตรา ซึ่งจับประเด็นใหญ่ ๆ ให้ประชาชน เข้าใจกฎหมายแล้วก็เข้าใจสิทธิของผู้ถูกกระทำความรุนแรง รวมถึงช่องทางต่าง ๆ ในการช่วยเหลือ การประชาสัมพันธ์ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์การกระทำความรุนแรงเราสามารถแจ้ง ขอความช่วยเหลือ ขอคำแนะนำได้ที่ไหน เช่นในกรุงเทพฯ เราก็จะมีกรมกิจการสตรี และสถาบันครอบครัว ประสานสถาบันครอบครัว ส่วนภูมิภาคเราก็จะมีสำนักงานพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ แล้วก็มีสายด่วน ๑๓๐๐ หรือสามารถแจ้งที่สถานีตำรวจ โรงพยาบาล ศูนย์พึ่งพิง ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ หรือในชุมชน ในหมู่บ้าน เราอาจจะแจ้งที่ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หรือที่ทำการของท่านกำนัน ซึ่งส่วนนี้ยังไม่มีการประชาสัมพันธ์มากยิ่งขึ้น
ส่วนที่ ๒ ดิฉันคิดว่าเราควรมีกองทุนพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำ ความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อขับเคลื่อนการทำงานตามกระบวนการ ทางกฎหมาย ตามเจตจำนงของกฎหมายก็น่าจะดียิ่งขึ้น
ส่วนที่ ๓ ดิฉันคิดว่าเจ้าหน้าที่ที่ประจำศูนย์ตามจังหวัดต่าง ๆ เพื่อป้องกัน การกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นส่วนมาก ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นนะคะ เป็นพนักงานจ้างเหมาทำสัญญาจ้างเป็นปีต่อปี เงินเดือนค่อนข้างน้อยน่าจะไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาทต่อเดือน ซึ่งความมั่นคงในตำแหน่งหน้าที่ของกรมกิจการสตรีและสถาบัน ครอบครัวจะมีการอบรมต่าง ๆ เกี่ยวกับความเชี่ยวชาญการทำงาน แต่เมื่อสัญญาจ้างหมดไป เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการอบรมมีความเชี่ยวชาญแล้วก็จะไม่ได้ทำงานต่อ ก็จะทำให้สูญเสีย บุคลากรที่มีคุณภาพต่อไป
ข้อสุดท้าย ดิฉันคิดว่าถ้ามีการจัดตั้งศูนย์ในระดับหมู่บ้าน ตำบลทุกตำบล จะเป็นสิ่งที่ดี หรือถ้ามีแล้วหากมีการขับเคลื่อนศูนย์ให้เกิดขบวนการเฝ้าระวังป้องกัน คุ้มครอง และพัฒนาครอบครัวให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยมีงบประมาณสนับสนุน อย่างต่อเนื่องก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี สุดท้ายก็อยากจะฝากถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งภาครัฐ เอกชน หน่วยงานต่าง ๆ ให้ร่วมมือช่วยกันแก้ไขปัญหาเรื่องนี้เพื่อให้สังคมอยู่อย่างมีความสุข ขอบคุณท่านประธานมากค่ะ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน สุภาพร สลับศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยโสธร เขต ๑ พรรคไทยสร้างไทย ขออนุญาต อภิปรายตั้งข้อสังเกตระเบียบวาระการประชุมที่ ๒.๖ รับทราบรายงานผู้ตรวจสอบบัญชี และรายงานการเงินกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล โดยมีรายละเอียดอภิปรายดังนี้
ประการแรก ดิฉันรับทราบรายงานและไม่ติดใจในรายงานชุดนี้และในฐานะ ที่ดิฉันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรกก็ยอมรับตรง ๆ ว่ายังไม่คุ้นชื่อหรือรู้จักกองทุน พัฒนาน้ำบาดาลในบทบาทอำนาจหน้าที่ แต่พอได้เริ่มศึกษาก็เห็นว่ากองทุนพัฒนาน้ำบาดาล ถือว่าเป็นองค์กรภาครัฐที่สำคัญ มีบทบาทหน้าที่เป็นหน่วยงานเสริมเป็นแหล่งทุน เพื่อการศึกษา การวิจัยเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำบาดาลที่จะมีผลเชื่อมโยงกับทรัพยากรธรรมชาติ อีกหลายแห่ง และมีผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ที่ห่างไกลที่ชัดเจน เพราะดิฉันเชื่อว่าน้ำคือปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิต หลายพื้นที่ในภาคอีสานก็ล้วน มีปัญหาเรื่องทรัพยากรน้ำ ทั้งน้ำดื่ม น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค หรือน้ำเพื่อการเกษตร ที่สำคัญทรัพยากรน้ำนั้นมิใช่เพียงน้ำจากฟ้าคือน้ำฝน น้ำผิวดินจากแหล่งน้ำต่าง ๆ ไม่ว่า จะเป็นห้วย หนอง คลอง บึง หรือแม่น้ำ ลำน้ำต่าง ๆ เท่านั้น แต่น้ำจากใต้ดินหรือที่เรา เรียกว่าน้ำบาดาลก็มีความสำคัญไม่แพ้แหล่งน้ำอื่น ๆ เลย ดังนั้นที่ดิฉันขอพูดก็คืออยากจะให้ เราช่วยกันเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ภารกิจงานบทบาทหน้าที่ของกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล ให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงให้กองทุนนี้มีงบประมาณหรือมีแหล่งที่มาของรายได้เพิ่มมากยิ่งขึ้นนะคะ เพื่อจะได้มาบริหารและทำภารกิจแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ให้มากยิ่งขึ้น อันนี้คือข้อสังเกตประการแรก
ประการที่ ๒ ท่านประธานและคณะผู้ชี้แจงทุกท่าน ดังที่ดิฉันได้นำเรียน เบื้องต้นว่าดิฉันเป็น สส. เขต ๑ จังหวัดยโสธร ซึ่งมีทั้งหมด ๓ เขต และมีทั้งหมด ๙ อำเภอ เมื่อดิฉันได้ศึกษาแผนที่ศักยภาพน้ำบาดาลจังหวัดยโสธรที่ได้รับความกรุณาแล้วก็อนุเคราะห์ จากข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดยโสธร ขออนุญาตเอ่ยนามนะคะ แล้วก็ขอขอบพระคุณท่านเป็นอย่างสูง ก็พบว่าจังหวัดยโสธรของดิฉันยังมีปัญหาน้ำหายาก หลายพื้นที่ หลายอำเภอ โดยเฉพาะอำเภอเลิงนกทา อำเภอไทยเจริญ อำเภอกุดชุม อำเภอทรายมูล ๔ อำเภอนี้น้ำหายาก ปริมาณน้ำน้อย ทั้งน้ำผิวดิน ใต้ดิน เพราะฉะนั้น ก็ยังคาดหวังว่าหากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลก็ดี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ดี หากท่านมีองค์ความรู้ มีนวัตกรรม มีโครงการดี ๆ ก็โปรดเมตตาเผยแพร่ให้ชาวจังหวัดยโสธร และจังหวัดอื่น ๆ ที่มีปัญหาเรื่องนี้ อย่างเช่นเมื่อ ๑-๒ สัปดาห์ที่ผ่านมาบ้านคำไผ่ ขออนุญาต ยกตัวอย่างตำบลดงมะไฟมีปัญหาเรื่องน้ำประมาณ ๗๐ หลังคาเรือนกว่า ๓๐๐ ชีวิต ต้องอาศัยรถน้ำไปส่งน้ำในพื้นที่เพื่อช่วยแก้ปัญหาเบื้องต้น และเมื่อดิฉันลงพื้นที่ พี่น้องประชาชนก็ร้องเรียนปัญหาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น อบต. เทศบาล หรือ อบจ. ก็ช่วยกันเต็มที่ แต่ยังมีข้อจำกัดมากมายทีเดียว เพราะอำเภอทรายมูลนั้นน้ำผิวดินหายาก น้ำใต้ดิน น้ำบาดาลจุดที่เยอะก็ยังไม่กระจาย และบางแห่งยังเป็นน้ำใต้ดินที่กร่อยเค็มไม่เหมาะแก่การอุปโภคบริโภคหรือการเกษตร ก็ขออภิปรายเป็นข้อสังเกตและเป็นข้อบันทึกไว้นะคะ
ประการที่ ๓ ขอตั้งข้อสังเกตไม่มั่นใจว่าจะสอดคล้องกับภารกิจหน้าที่ ของกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลจะดำเนินการสนับสนุนส่งเสริมได้หรือไม่ นั่นก็คือปัญหา โลกร้อนและภัยแล้ง ดิฉันเชื่อว่ารัฐบาลและหลาย ๆ หน่วยงานให้ความสำคัญต่อนโยบาย ปลูกป่า แล้วก็แน่นอนอยู่แล้วว่าป่านั้นการปลูกต้นไม้อาจจะไม่ยากนัก แต่ถ้าปลูกแล้ว ต้นไม้จะรอดไหม จะมีน้ำหล่อเลี้ยงไหม ซึ่งดิฉันก็เป็นลูกอีสาน คนบ้านนอก ในพื้นที่อีสาน เราจะมีดอนปู่ตา มีป่าเล็ก ๆ แทบทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ราษฎรได้อาศัยป่าเหล่านี้ เป็นแหล่งอาหารดำรงชีพ บางครั้งก็เก็บเห็ด ทุกวันนี้ดงป่าเล็ก ๆ เหล่านี้เริ่มหาย ซึ่งสาเหตุหนึ่งก็มาจากภัยแล้ง ขาดแหล่งน้ำ และองค์ความรู้ที่จะทำให้ป่าดงดอนดำรงความสมบูรณ์ชุ่มชื้นกลับคืนมาได้ ซึ่งในมุมมองความคิดเห็นของดิฉันถ้าไม่ผิดหลักเกณฑ์หรือวัตถุประสงค์ของกองทุนพัฒนา น้ำบาดาล ดิฉันก็อยากจะเห็นงานวิจัยหรือโครงการต้นแบบนำน้ำบาดาลมาทำให้ผืนป่า กลับมาเขียวขจี เป็นโครงการต้นแบบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพัฒนาต่อยอดต่อไป ถ้าไม่ผิดหลักเกณฑ์ของการใช้งบของกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลนะคะ สุดท้ายก็ขอขอบคุณ คณะกรรมการผู้ชี้แจงทุกท่านและท่านประธานที่ให้ดิฉันได้อภิปรายตั้งข้อสังเกต ขอบคุณ ท่านประธานมากค่ะ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน สุภาพร สลับศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑ จังหวัดยโสธร พรรคไทยสร้างไทย ซึ่งประกอบด้วย อำเภอเมือง อำเภอทรายมูล ตำบลศรีฐาน ตำบลกระจาย และตำบลทุ่งมน วันนี้ขอหารือ ต่อท่านประธานสภาในปัญหาที่พี่น้องราษฎรร้องเรียน ซึ่งมี ๒ ประเด็นใหญ่ ๆ ด้วยกันค่ะ
ประเด็นแรก คือปัญหาเรื่องน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ราษฎรตำบลดงมะไฟ อำเภอทรายมูล มีทั้งหมด ๓ หมู่บ้านที่ร้องเรียนมา ขอ Slide ด้วยค่ะ
ซึ่งดูจากแผนที่น้ำ วงกลมสีแดง จะเป็นแผน ที่บ้านกุดกว้าง บ้านดงมะไฟ แล้วก็บ้านโคกก่อง ซึ่งบ้านแรกก็คือบ้านกุดกว้าง ขอ Slide แผ่นที่ ๒ ด้วยนะคะ ปัจจุบันใช้ระบบน้ำประปาบาดาล น้ำเค็ม น้ำกร่อย แล้วก็ระบบ น้ำประปาชำรุด แนวทางแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนที่อยากจะให้ช่วยผลักดัน ก็คือการผันน้ำจาก แหล่งน้ำผิวดิน นั่นก็คือหนองน้ำหนองลาดมั่งซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ ๒๐ ไร่ เหมาะแก่การนำน้ำ ไปผลิตเป็นน้ำประปา
บ้านที่ ๒ คือบ้านดงมะไฟ ซึ่งเป็นบ้านตำบลขนาดใหญ่ประกอบด้วย หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๘ แล้วก็หมู่ที่ ๑๐ มีจำนวนประชากรค่อนข้างมาก ซึ่งปัจจุบันใช้ระบบ น้ำประปาบาดาลและน้ำผิวดิน ปัญหาที่พบคือค่าไฟที่แพง ปริมาณน้ำกำลังผลิตไม่เพียงพอ แนวทางแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนที่อยากจะให้ช่วยปรับปรุงก็คือ การปรับปรุงโสกขามป้อม ให้รองรับน้ำได้มากขึ้น และเดิมใช้ระบบไฟฟ้า ๓ เฟส แต่ค่าไฟแพงแสนแพงค่ะ ราษฎร สู้ไม่ไหวนะคะ จึงออกเงินซื้อแผง Solar cell มาใช้เป็นพลังงาน เพื่อแก้ไขปัญหาค่าไฟที่แพง จึงทำให้ระบบประปาดงมะไฟกระท่อนกระแท่น น้ำไม่ผ่านระบบกรอง ด้อยมาตรฐาน การแก้ไขปัญหาที่อยากจะให้รัฐสนับสนุนคือการสร้างระบบพลังงานไฟฟ้า Solar cell ให้มีขนาดใหญ่เพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้า เพื่อจะแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน
บ้านที่ ๓ บ้านโคกก่อง หมู่ที่ ๕ ตำบลดงมะไฟ ซึ่งมีปัญหาคล้ายคลึงกับ ทั้ง ๒ หมู่บ้านนะคะ ที่ผ่านมาแม้จะใช้ประปาระบบน้ำบาดาล แต่ก็มีปัญหาเรื่องความเค็ม กร่อย น้ำไม่ผ่านระบบกรอง และปริมาณน้ำไม่เพียงพอ จึงอยากจะให้รัฐบาลช่วยแก้ไข ปัญหา โดยผันน้ำผิวดินจากแหล่งน้ำที่มีอยู่แล้วก็คือสระหลวง ให้มาผลิตเป็นน้ำประปา
ส่วนประเด็นที่ ๒ ที่จะหารือในวันนี้ก็คือปัญหาการออกเอกสารกรรมสิทธิ์ ที่ดินของจังหวัดยโสธร ซึ่งมีปัญหามากทั้งจังหวัด ขออนุญาตยกตัวอย่างตำบลหนองหิน อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นต้นแบบสามารถนำร่องเพื่อแก้ไขปัญหาการออกโฉนดที่ดิน เอกสาร ส.ค. ๑ ซึ่งมีจำนวนประมาณ ๔๐๐ ราย เพราะราษฎรมีความเพียรพยายามมากกว่า ๑๐ ปี ทั้ง อบต. หนองหิน แล้วก็ฝ่ายปกครองช่วยกันขับเคลื่อน เดินตามแนวทางที่ภาครัฐ ให้คำแนะนำอย่างเต็มที่ แต่เป็นที่ทราบกันดีว่างานออกโฉนดที่ดินเป็นปัญหาระดับชาติ ที่ภาครัฐก็ดี รัฐบาลก็ดี ดำเนินการแก้แทบจะไม่คืบหน้าและล่าช้านะคะ ดังนั้นดิฉัน จึงอยากจะขอหารือท่านประธานสภาให้รัฐบาลชุดใหม่โฟกัสนำร่องใช้กรณีการออกโฉนด เอกสาร ส.ค. ๑ ของตำบลหนองหิน อำเภอเมือง ซึ่งมีทั้งหมด ๑๒ แปลง ส.ค. ๑ แยกออกเป็นขอออกโฉนดจำนวน ๔๑ รายย่อยที่น่าจะอยู่ในเกณฑ์ สามารถดำเนินการ ออกโฉนดได้โดยไม่มีปัญหา หากทำสำเร็จจะสร้างขวัญกำลังใจ ความเชื่อมั่น และลด ความเหลื่อมล้ำเรื่องปัญหาที่ดินให้แก่ประชาชน พร้อมเป็นต้นแบบแก่พื้นที่อื่น ๆ โปรดเมตตา ชาวจังหวัดยโสธรด้วยนะคะ กราบขอบคุณท่านประธานมากค่ะ
ท่านประธานคะ สุภาพร สลับศรี ๔๓๘ แสดงตนค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภา ท่านสมาชิก ผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ดิฉัน สุภาพร สลับศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคไทยสร้างไทย เขต ๑ จังหวัดยโสธร ซึ่งประกอบไปด้วยอำเภอเมือง อำเภอทรายมูล ตำบลกระจาย ตำบล ศรีฐาน และตำบลทุ่งมน ท่านประธานคะ ดิฉันขอร่วมอภิปรายร่วมกับเพื่อนสมาชิกในญัตติเรื่องปัญหาน้ำท่วม และขอฝากข้อสังเกต ข้อคิดและนำเสนอปัญหา พร้อมขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาโดยมีรายละเอียดดังนี้
ประการแรก สภาพปัญหาของจังหวัดยโสธรเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ มีแม่น้ำชี เป็นแม่น้ำสายหลัก โดยหากจะเปรียบเทียบไปก็มิต่างจากจังหวัดอุบลราชธานี คือจังหวัด ยโสธรเป็นพื้นที่ปลายน้ำซึ่งเป็นพื้นที่รองรับน้ำจุดสุดท้าย เพื่อให้เห็นภาพค่ะท่านประธาน ลุ่มน้ำยังที่ต้นทางจากจังหวัดกาฬสินธุ์ก็จะผ่านมาจังหวัดร้อยเอ็ด แล้วก็ผ่านมาจังหวัดยโสธร ก็คือตำบลเดิด แล้วก็ตำบลดู่ทุ่งและสิ้นสุดลำน้ำยัง โดยไหลลงสู่แม่น้ำชีที่บ้านแจ้งน้อย ตำบลค้อเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลจากปัญหาน้ำท่วมก็คือตำบล ค้อเหนือ ถือเป็นแก้มลิงธรรมชาติที่น้ำต้องท่วมซ้ำซากทุกปี ย้ำนะคะท่านประธาน ท่วมแบบ ซ้ำซากทุกปี แก้ไขมิได้สักที เพราะถือว่าเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำติดลำน้ำทำให้เกิดปัญหา ซึ่งประชาชนจังหวัดยโสธรประสบปัญหา ณ ปัจจุบันนี้ พื้นที่ตำบลค้อเหนือซึ่งประสบปัญหา ก็จะเป็นบ้านโนนหัน บ้านดอนกลอย มีน้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนประมาณ ๓๐ หลังคาเรือน ประกอบกับพื้นที่การเกษตร เกษตรกรรมเสียหายประมาณ ๕,๓๗๐ ไร่ ดิฉันจึงอยากจะวอน ฝากถึงรัฐบาลจัดงบดูแลพี่น้องประชาชนอย่างเร่งด่วนด้วย
อีกทั้งเรื่องการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติเพื่อให้ทันต่อปัญหาความเดือดร้อนของ พี่น้องประชาชน พื้นที่ไหนที่เข้าเกณฑ์ โดยเฉพาะตำบลค้อเหนือหรือตำบลอื่น ๆ หรือพื้นที่ อื่น ๆ ควรเร่งพิจารณาประกาศเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อน ส่วนปัญหาแก้ไขระยะยาว ดิฉันขอความเมตตาจากรัฐบาลช่วยสนับสนุนงบประมาณ ในการจัดทำถนนพนังกั้นน้ำความกว้างประมาณ ๔ เมตร ความยาวประมาณ ๒ กิโลเมตร ณ จุดบ้านดอนยาง ตำบลค้อเหนือ เพราะว่าประมาณ ๒-๓ สัปดาห์ที่ผ่านมา ดิฉันก็ร่วมไป กรอกทรายเพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร ซึ่งดิฉันหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจาก หน่วยงานที่รับผิดชอบทำการสำรวจพื้นที่เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาที่ซ้ำซาก เหล่านี้ให้หมดไป
จุดที่ ๒ ค่ะท่านประธาน ที่ดิฉันอยากจะฝากก็คือตำบลเขื่องคำ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ตำบลนี้ติดอยู่ฝั่งลุ่มน้ำชี ถือเป็นพื้นที่รองรับน้ำจากลุ่มน้ำยัง น้ำชี แล้วก็ลุ่มน้ำ ลำทวน มีการรับมวลน้ำ ทำให้มีน้ำท่วมหนักทุกปี แต่ปัญหาที่พบคือ อบต. เขื่องคำได้รับ การสนับสนุนงบประมาณแก้ไขปัญหาน้ำท่วมค่อนข้างน้อย น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับ ภาระงานของ อบต. เขื่องคำซึ่งต้องแบกภาระรับผิดชอบ ดิฉันจึงอยากจะขอความเมตตาจาก รัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบสนับสนุน เพราะหากจะกล่าวไปแล้วพื้นที่ตำบลเขื่องคำ คือพื้นที่ที่เสียสละแบกปัญหาเป็นแก้มลิงรับน้ำจากพื้นที่อื่น ๆ เกือบทุกปี
จุดที่ ๓ ที่อยากจะฝากท่านประธานถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบก็คือ บ้านโนนรัง หมู่ที่ ๑๑ ตำบลกระจาย อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร มีปัญหาน้ำท่วมเช่นกัน โดยเฉพาะพื้นที่ การเกษตรได้รับผลกระทบทุกปีถึงแม้ว่าจะเป็นพื้นที่เป็นบ้านขนาดเล็ก ๖๐ หลังคาเรือน แต่มีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายประมาณเกือบ ๑๐๐ ไร่ ซึ่งค่อนข้างมาก ในพื้นที่นี้ น้ำที่ท่วมไม่ใช่น้ำหลากแต่เป็นน้ำจากฟ้าคือน้ำฝน เพราะเป็นพื้นที่ที่ต่ำ เมื่อฝนตกมาไม่มีทาง ที่จะระบายน้ำออกเพราะมีปัญหาเรื่องการขยายตัวของชุมชนรอบข้างขวางทางน้ำ แต่สามารถแก้ไขปัญหาด้วยการทำช่องระบาย Box Converse ก็ได้ หรือการสร้างจุดสูบน้ำ ระบายลงคลองส่งน้ำของกรมชลประทานที่อยู่ใกล้จะได้ระบายลงสู่ลุ่มน้ำลำโพง หากเป็น ไปได้ก็อยากจะวอนรัฐบาล หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องขอความเมตตาลงพื้นที่ ช่วยแก้ไขปัญหาให้พี่น้องบ้านโนนลัง ตำบลกระจายด้วยนะคะ
อีกปัญหาหนึ่งที่อยากจะฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ ก็คือปัญหาด้านสุขภาพ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจของพี่น้องที่ได้รับปัญหาเรื่องน้ำท่วม ไม่ว่าจะปัญหาเรื่องด้านสุขภาพ โรคมือเท้าเปื่อย บาดแผลจากการทิ่มตำ อุจาระร่วง ตาแดง หรือโรคจากความเครียด เครียดจากข้าวของเสียหาย เครียดจากผลผลิตการเกษตรได้รับ ผลกระทบกระเทือน ก็อยากจะฝากหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ดูแลแล้วก็เยียวยาเรื่องพื้นที่ ที่ได้รับผลจากความเดือดร้อนได้
สุดท้าย เมื่อสักครู่หรือเมื่อเช้านี้ก็ได้ทราบข่าวว่าท่านนายกรัฐมนตรี แล้วก็ทีมผู้ติดตามจะลงพื้นที่อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด แล้วก็ยโสธรด้วย หากท่านนายกรัฐมนตรี แล้วก็คณะผู้ติดตามพอมีเวลาก็โปรดลงพื้นที่เขต ๑ จังหวัดยโสธรซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วม ซึ่งจะเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดยโสธรด้วย ขอบคุณ ท่านประธานมากค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาและสมาชิก ผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ดิฉัน สุภาพร สลับศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยโสธร เขต ๑ เมืองบั้งไฟโก้ แตงโมหวาน หมอนขวานผ้าขิด แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ พรรคไทยสร้างไทย
วันนี้ขอหารือต่อท่านประธานสภาไปถึง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๒ ประเด็นดังนี้
ประเด็นแรก ก็คือเรื่องแรงงานไทยในอิสราเอลที่ต้องการกลับบ้าน เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคมที่ผ่านมา ขออนุญาตเอ่ยนาม ดิฉันแล้วก็คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้า พรรคไทยสร้างไทย ได้ลงพื้นที่เยี่ยมเยือนพี่น้องชาวจังหวัดยโสธร ได้พูดคุยกับแรงงานไทย และพ่อแม่ ครอบครัวของผู้ใช้แรงงานไทย ทำให้ทราบปัญหาความเป็นห่วงลูกหลาน แรงงานไทย ดิฉันเข้าใจหัวอกนั้นดีเพราะดิฉันก็เป็นแม่ของลูก กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เป็นอย่างไร ภาษาอีสานก็คือ อุกอั่งเอ้า ทุกครอบครัวอยากให้ลูกหลานแรงงานไทยกลับบ้าน อย่างปลอดภัยและเร็วขึ้น และอีกปัญหาหนึ่งก็คือปัญหากู้ยืมเงิน ทำให้แรงงานไทยบางราย ไม่อยากกลับบ้านเพราะหนี้สินที่ต้องกู้ก่อนไปและภาระใช้จ่ายในครอบครัวที่ตนเองเป็น เสาหลัก จึงอยากจะวอนรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยเพิ่มเที่ยวบินให้คนไทย เพื่อรับแรงงานไทยที่อยากกลับให้ได้กลับมากที่สุดและเร็วขึ้น อันที่ ๒ สร้างความมั่นใจ ให้แรงงานไทยว่าถ้าเหตุการณ์สงบ รัฐบาลจะช่วยพาเขากลับไปทำงานได้และช่วยเหลือ ค่าใช้จ่ายใบอนุญาตเข้าเมืองให้ทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ดิฉันขอเป็นกำลังใจ ให้แรงงานไทย รัฐบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการทำงานอย่างเต็มที่นะคะ
ประเด็นที่ ๒ คือปัญหาน้ำท่วมในเขตพื้นที่ตำบลขุมเงิน ตำบลขุมเงิน อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร คือพื้นที่สุดท้ายที่รับน้ำจากลุ่มน้ำลำทวนซึ่งไหลลงแม่น้ำลำชี ณ บ้านคุยตับเต่า ในภาพ Slide ที่ ๒ ท่านจะเห็นวงกลมเล็กสีแดงคือบ้านคุยตับเต่า ส่วนเส้นสีฟ้ามีเส้นสีดำอยู่ตรงกลางคือแม่น้ำชี ปากน้ำที่ลำน้ำทวนไหลลงแม่น้ำชี จุดนี้เป็น สะพานธรรมดาทั่วไปยาวประมาณ ๑๒ เมตร น้ำไหลออกแบบน้ำขึ้นน้ำลง ไม่มีฝาย ไม่มีประตูปิดกั้นน้ำ กันน้ำแต่อย่างใด ดังนั้นหน้าน้ำน้ำชีไหลเข้าน้ำจะท่วมมหาศาล แต่หน้าแล้งน้ำสาขาจะไหลออกแม่น้ำชีจะแล้งเนิ่นนาน จึงขอวอนรัฐบาลให้ช่วยแก้ไขปัญหา ของตำบลขุมเงิน ๓ เรื่องด้วยกัน
เรื่องด่วนก็คือเรื่องน้ำระบายออกจากเขื่อนลำปาว ลำน้ำพองท่วมชายขอบตลิ่ง วัดเมรุน้ำท่วมมาก จึงอยากจะวิงวอนหน่วยงานที่รับผิดชอบช่วยแก้ไข
แล้วก็เรื่องที่ ๒ ถนนหลายสายในตำบลขุมเงินชำรุดเพราะน้ำท่วม วอนรัฐบาลอุดหนุนงบประมาณให้แก่ อบต. ขุมเงินด้วยค่ะ
แล้วก็เรื่องสุดท้ายก็คือโครงการระยะยาว ของบแก้มลิงเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว ขอบคุณท่านประธานมากค่ะ
เรียนท่านประธานสภา ท่านสมาชิก ผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ดิฉัน สุภาพร สลับศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยโสธร เขต ๑ เมืองบั้งไฟโก้ แตงโมหวาน หมอนขวานผ้าขิด แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ พรรคไทยสร้างไทย ซึ่งประกอบด้วยอำเภอเมือง อำเภอทรายมูล ตำบลกระจาย ตำบลศรีฐาน และตำบลทุ่งมน วันนี้ขออภิปรายในญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำบาดาล และปัญหาน้ำบาดาลคุณภาพต่ำ ก่อนอื่นดิฉันก็ต้องขอขอบคุณเพื่อนสมาชิกที่ได้เสนอญัตตินี้ เพราะประเด็นการศึกษาเรื่องน้ำบาดาล ไม่ว่าจะเป็นปริมาณน้ำบาดาลที่ขาดแคลน หรือคุณภาพน้ำบาดาลนั้นถือเป็นประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนเป็นอย่างยิ่ง เพราะทุกวันนี้ น้ำบาดาลหรือน้ำที่อยู่ใต้พื้นดินลึก ๑๕ เมตรขึ้นไปนั้น ณ ปัจจุบันมีการถูกนำมาใช้ทั้งอุปโภค บริโภค เพื่อการเกษตร การอุตสาหกรรม การพาณิชย์ เนื่องจากต้นทุนราคาน่าจะต่ำกว่า น้ำจากแหล่งอื่น ๆ ทั้งนี้ การนำเสนอประเด็นนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่มีประโยชน์อย่างยิ่งแก่พี่น้อง ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ดิฉันจึงขอสนับสนุนในญัตตินี้
ประการต่อไป ดิฉันขออนุญาตอภิปรายตั้งข้อสังเกตเล็กน้อยเกี่ยวกับประเด็น ปริมาณและคุณภาพน้ำบาดาลของจังหวัดยโสธรซึ่งเป็นบ้านเกิดของดิฉันเอง เพื่อเป็น ข้อสังเกต ขอ Slide ด้วยนะคะ
Slide นี้เป็นแผนที่น้ำบาดาลจังหวัดยโสธร ส่วนนี้ต้องขอขอบคุณสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยโสธร ที่ได้อนุเคราะห์ให้ข้อมูล ขออภัยที่เอ่ยนาม ไม่เสียหาย ท่านประธานคะ ดิฉันเชื่อว่า ทั่วประเทศไทยพื้นที่ทุกจังหวัด แผนที่น้ำบาดาล ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจัดทำ และเผยแพร่อย่างทั่วถึงแน่นอน ในแผนที่น้ำบาดาลก็จะดูไม่ยากและมีความแม่นยำ น่าเชื่อถือสูง ดิฉันเคยสอบถามนักธุรกิจที่ประกอบธุรกิจน้ำแข็ง น้ำดื่ม ส่วนใหญ่แทบทุกราย จะมีแผนที่น้ำบาดาลทั้งสิ้น เมื่อเขาจะซื้อที่ดิน โรงงาน หรือสิ่งก่อสร้าง กางแผนที่ดูรู้ทันที จุดไหนเป็นจุดสีน้ำเงินแสดงว่าน้ำบาดาลเยอะและดีมาก ส่วนสีฟ้า สีอ่อน ๆ ก็จะอยู่ใน เกณฑ์ดี แต่ว่าถ้าเป็นสีเขียว สีส้มอ่อน ๆ อันนี้น้ำบาดาลมีปัญหาแน่ คือน้ำบาดาล มีปัญหาน้อย คุณภาพน้ำไม่เหมาะสม อาจเค็มหรือกร่อย ไม่เหมาะสมต่อการใช้งานโดยตรง แผนที่น้ำบาดาลถือเป็นข้อมูลที่บ่งชี้ปริมาณน้ำ คุณภาพน้ำได้ระดับหนึ่ง ขออนุญาต ยกตัวอย่างจังหวัดยโสธร ดูจากแผนที่จะระบุขนาดพื้นที่จังหวัดยโสธร มีพื้นที่ ๔,๑๓๑ ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำที่กักเก็บประมาณ ๔,๐๕๐ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ปริมาณน้ำบาดาลที่สามารถนำมาใช้ได้ต่อปีประมาณ ๔๑๕ ล้านลูกบาศก์เมตร อันนี้คือ ข้อมูลเบื้องต้นจากแผนที่น้ำบาดาลของกรมทรัพยากรน้ำ ท่านประธานคะ ในมุมมอง ความคิดเห็นส่วนตัวของดิฉันลึก ๆ เชื่อว่าประเทศไทยน้ำบาดาลไม่น่าจะขาดแคลน แต่ปัญหาใหญ่ที่ขาดแคลนและไม่เพียงพอแน่นอนก็คืองบประมาณและการบริหารจัดการ เรื่องทรัพยากรน้ำอาจจะยังไม่สมบูรณ์ หรือไม่มีประสิทธิภาพนัก รวมถึงนโยบายการดูแล รักษาเครื่องมือให้คงสภาพใช้งานอย่างต่อเนื่อง และใช้งานได้มากที่สุด อันนี้ดิฉันไม่มีเจตนา จะตำหนิบุคคลหรือหน่วยงานใด ๆ เจตนาเพียงต้องการตั้งข้อสังเกตเพื่อให้เกิดการจัดการ เรื่องน้ำบาดาลให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชน ท่านประธานคะ จังหวัดยโสธร บ้านดิฉัน มีประชาชนหลาย ๆ หมู่บ้าน หลาย ๆ ตำบล ร้องเรียนขอรับการช่วยเหลือ เรื่องน้ำบาดาลมากกว่า ๒๐๐ เรื่อง อย่างไรก็กราบขอความเมตตาจากรัฐบาลและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลพี่น้องชาวจังหวัดยโสธรและพี่น้องทั่วประเทศไทยที่มีความเดือดร้อน เรื่องน้ำบาดาล จะขอบคุณเป็นอย่างสูง ขอบคุณท่านประธานมากค่ะ
ท่านประธานคะ ๔๓๘ สุภาพร สลับศรี แสดงตนค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภา ท่านสมาชิก ผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ดิฉัน สุภาพร สลับศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคไทยสร้างไทย เขต ๑ จังหวัดยโสธร ยโสธรเมืองบั้งไฟโก้ แตงโมหวาน หมอนขวานผ้าขิด แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ ซึ่งประกอบไปด้วยอำเภอเมือง อำเภอทรายมูล ตำบลกระจาย ตำบลศรีฐานและตำบลทุ่งมน วันนี้ดิฉันขอร่วมอภิปรายในญัตติเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาค่าไฟราคาแพง โดยมีรายละเอียดดังนี้
ประการแรกค่ะท่านประธาน ดิฉันขอเรียนด้วยความเคารพและสุดจะดีใจว่า ดิฉันไม่ติดใจในการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ หรือจะเป็นอนุกรรมาธิการที่พิจารณาโดย คณะกรรมาธิการชุดใด ขอเพียงให้มีการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ให้เกิดมรรคผลเป็นรูปธรรม ที่ชัดเจน และประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริงเท่านั้นพอค่ะ
ประการที่ ๒ คำว่า ค่าไฟแพง ดิฉันก็เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็เล็งไปที่ค่าไฟฟ้า ที่ผลิตโดยการไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือไฟฟ้า กระแสหลัก ซึ่งแน่นอนค่ะ เมื่อค่าไฟแพงก็ย่อมส่งผลกระทบในวงกว้างแก่พี่น้องประชาชน อย่างมหาศาล เพราะพลังงานไฟฟ้าที่พี่น้องประชาชนใช้ส่วนมากมาจากแหล่งนี้ – วันนี้พี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ดำรงชีวิตหรือประกอบอาชีพ ส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาการใช้ไฟฟ้า เป็นหลัก ทำให้ทางเลือกของพี่น้องประชาชนจึงมีไม่มากนัก ดิฉันก็เห็นด้วยนะคะกับ คำอภิปรายของเพื่อนสมาชิกหลาย ๆ ท่าน ตั้งแต่เมื่อวานและวันนี้ที่สะท้อนปัญหาทำให้ ไฟฟ้าแพง และวันนี้ก็เป็นโอกาสอันดี เพราะที่ประชุมแห่งนี้จะได้ร่วมกันเสนอแนะปัญหา และแนวทางแก้ไขเพื่อส่งต่อไปยังรัฐบาลให้เร่งดำเนินการ เพราะอย่าลืมนะคะว่าอีก ไม่กี่เดือนข้างหน้าประเทศไทยของเราจะเข้าสู่ช่วงอากาศร้อน ความต้องการใช้ไฟก็จะ ยิ่งเพิ่มขึ้นทวีคูณ ท่านประธานจำได้ไหมค่ะว่า เดือนพฤษภาคมปีที่แล้วประเทศไทยเกิด สถิติใหม่ก็คือ เกิดสถิติความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของระบบไฟฟ้า หรือค่า Peak ใหม่ อยู่ที่ ๓๔,๘๒๖.๕ เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก สาเหตุก็เกิดจากอากาศที่ร้อนมากกว่า ๔๐ องศาเซลเซียส แต่ประเด็นที่ดิฉันจะขอสะท้อนปัญหาและฝากเป็นข้อสังเกตผ่าน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับฟังหาทางแก้ไข ปัญหา โดยเฉพาะในพื้นที่ของตัวดิฉันเองซึ่งเป็นพื้นที่เล็ก ๆ แต่ว่ามีปัญหาที่ต้องได้รับการ แก้ไข นั่นก็คือปัญหาของบ้านดงมะไฟ ตำบลดงมะไฟ อำเภอทรายมูล ที่ได้รับผลกระทบจาก ค่าไฟแพงและกระเทือนไปแก่การผลิตน้ำประปาในหมู่บ้าน ดิฉันขอเล่าถึงที่ไปที่มาของ ปัญหาก่อนนะคะท่านประธาน บ้านดงมะไฟแต่ก่อนใช้ระบบน้ำประปาหมู่บ้าน ไม่ได้ใช้ระบบ ประปาแบบปกติทั่วไป เพราะระบบสาธารณูปโภคยังไม่ครอบคลุมทั่วถึง จึงต้องใช้ระบบ ประปาหมู่บ้าน ซึ่งเดิมประปาหมู่บ้านจะผลิตได้ก็ต้องใช้ไฟฟ้าในการผลิต โดยการสูบน้ำ แต่ชาวบ้านสู้ค่าไฟไม่ไหวค่ะ จึงต้องลงขันเปลี่ยนมาใช้ระบบโซลาเซลล์เพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งก็ดีขึ้นในระยะหนึ่ง แต่เนื่องจากทุนหรืองบของพี่น้องมีจำนวนจำกัดและงบประมาณของ อบต. ที่มาช่วยอุดหนุนก็มีน้อย องค์ความรู้ในการดูแล การซ่อมบำรุงระบบโซลาเซลล์ ให้สามารถใช้งานอย่างต่อเนื่องก็ไม่ชำนาญ ดิฉันจึงเห็นว่าอีกทางเลือกหนึ่งที่พอจะช่วย ค่าใช้จ่ายให้กับพี่น้องชาวบ้านได้ก็คือ การมีระบบโซลาเซลล์แบบครบวงจร มีอุปกรณ์และ บุคลากร ซึ่งอยากจะให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดสนับสนุนพลังงานไฟฟ้า โซลาเซลล์ ให้ใช้เพิ่มมากขึ้นและมีการขยายนำร่องทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความ เดือดร้อนเพื่อความเท่าเทียม จะทำให้ประชาชนมีต้นทุนค่าครองชีพที่ถูกลง ดังคำกล่าว ที่หลายคนว่า ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถลืมตา อ้าปากได้ มีเงินเก็บและมีความสุขมากยิ่งขึ้น
สุดท้ายค่ะท่านประธาน ที่ดิฉันอยากจะฝากสอบถามผ่านไปถึงรัฐบาล และกระทรวงพลังงานที่ทำการประชาสัมพันธ์ เชิญชวนให้พี่น้องประชาชน ทั้งภาค สถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองท้องถิ่นทำโครงการขอรับการสนับสนุน เพื่อส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน ก็จะมีโครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบ บ่อบาดาลขนาดไม่น้อยกว่า ๒,๕๐๐ กิโลวัตต์ ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แบบเคลื่อนที่ ชนิดรถเข็น และรถสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แบบชนิดลากจูง แล้วก็ระบบอบแห้งพลังงาน แสงอาทิตย์ ซึ่งโครงการเหล่านี้ กระทรวงพลังงานมีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้พี่น้อง ประชาชนในวงกว้าง ประชาชนรอคอยงบประมาณ ปี ๒๕๖๖ และปี ๒๕๖๗ ฝากรัฐบาลและ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้ด้วยนะคะ กราบขอบพระคุณท่านประธานมากค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภา ท่านสมาชิก ผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ดิฉัน สุภาพร สลับศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยโสธร พรรคไทยสร้างไทย เขต ๑ ที่ประกอบไปด้วยอำเภอเมือง อำเภอทรายมูล ตำบลกระจาย อำเภอศรีฐาน และตำบลทุ่งมน วันนี้ขอหารือต่อท่านประธานสภาผ่านไปยังรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๒ เรื่อง โดยมีรายละเอียดดังนี้
เรื่องแรก เป็นเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องชาวอำเภอทรายมูลทั้ง ๕ ตำบล โดยท่านเลิศศักดิ์ มูลสาร สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร ท่านนายกเทศมนตรี ตำบลนาเวียง ท่านอานันท์ ทองเฟื่อง ขออภัยที่เอ่ยนามไม่เสียหาย ได้ร้องเรียนผ่านตัวดิฉัน ถึงความเดือดร้อน ในเรื่องการย้ายบุคลากรของกรมที่ดินและเอกสารทั้งหมดจากสำนักงาน ที่ดินอำเภอทรายมูลไปรวมศูนย์ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดยโสธร ซึ่งสร้างความลำบากนะครับ เดือดร้อนให้กับชาวอำเภอทรายมูลทั้งอำเภอเป็นอย่างมากที่จะต้องทำธุรกรรมเกี่ยวกับที่ดิน ทั้งหมด ซึ่งจำเป็นต้องเดินทางมาใช้บริการที่สำนักงานที่ดินจังหวัดยโสธร ท่านประธานคะ ถ้ามองอย่างเผิน ๆ เหมือนจะระยะทางจากตัวอำเภอทรายมูลห่างจากตัวจังหวัดยโสธรแค่ ๑๘ กิโลเมตรเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงแล้วไม่ใช่ เพราะ ๓ ตำบลจาก ๕ ตำบล ของอำเภอทราย มูลนั้นล้วนอยู่ห่างไกลจากตัวจังหวัดยโสธรเกิน ๓๐ กิโลเมตรทั้งสิ้น
ตำบลนาเวียง ตำบลดู่ลาด ตำบลดงมะไฟ ระยะทางไปกลับในการเดินทางแต่ละครั้งประมาณ ๗๐-๙๐ กิโลเมตรต่อวัน ส่งผลให้ราษฎร ทั้ง ๓ ตำบลนี้ต้องทำธุรกรรมเกี่ยวกับที่ดินเกิดความเดือดร้อนอย่างมาก บางเรื่องน่าจะใช้ เวลาในการดำเนินการไม่เกิน ๓ ชั่วโมง ก็ต้องเสียระยะเวลาในการเดินทางสูญเสียรายได้ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และการทำธุรกรรมที่ดินในจังหวัดมีพี่น้องประชาชนไปใช้บริการจำนวนมาก และตอนนี้ สภาพสำนักงานที่ดินอำเภอทรายมูลก็ยังคงสภาพการใช้งานได้ดีก็ถูกปล่อยรกร้าง อย่างน่าเสียหาย ฝากรัฐบาล แล้วก็กรมที่ดิน แล้วก็หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดเมตตาทบทวน คืนความเป็นสำนักงานที่ดินแก่อำเภอทรายมูลด้วยนะคะ
เรื่องที่ ๒ อีกนิดหนึ่ง เป็นความเดือดร้อนของพี่น้องชาวตำบลนาเวียง ซึ่งปัญหาการออกเอกสารสิทธิที่ดินทั้ง ส.ค.๑ น.ส.๑ และ ส.ป.ก. ซึ่งมีปัญหาทั้งประเทศยัง หาข้อยุติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่จบ ยังคาราคาซังเกินกว่า ๒๐ ปี จึงระหว่างรัฐบาลและ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้พี่น้องที่รอคอยอย่างมีความหวังให้ได้รับโฉนดที่ดิน ขอบคุณท่านประธานมากค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภา ท่านสมาชิก ผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ดิฉัน สุภาพร สลับศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคไทยสร้างไทย เขต ๑ จังหวัดยโสธร ยโสธรเมืองบั้งไฟโก้ แตงโมหวาน หมอนขวานผ้าขิด แหล่งผลิต ข้าวหอมมะลิ วันนี้ขอหารือถึงปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวจังหวัดยโสธรที่มา รับบริการที่โรงพยาบาลยโสธร นั่นก็คือเรื่องสถานที่จอดรถแออัดและไม่เพียงพอต่อ ผู้รับบริการ
ท่านประธานคะ จังหวัดยโสธรมีทั้งหมด ๙ อำเภอ มีจำนวนประชากรประมาณ ๕๒๘,๐๐๐ คน โรงพยาบาลยโสธรเป็นโรงพยาบาลประจำ จังหวัด เป็นโรงพยาบาลขนาด Size S มีบุคลากรให้บริการประมาณ ๑,๓๐๐ คน มีผู้ป่วย มารับบริการเป็นผู้ป่วยนอกเฉลี่ย ๑,๐๐๐ คนต่อวัน เป็นผู้ป่วยใน ๕๐๐ คนต่อวัน อันนี้ไม่ได้ นับประชาชนที่มาใช้บริการที่ไม่เจ็บป่วย โรงพยาบาลยโสธรมีเนื้อที่ประมาณ ๓๒ ไร่ แต่ที่ จอดรถในโรงพยาบาลรองรับได้ประมาณ ๒๐๐ คนต่อวัน ส่งผลให้รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ ล้นทะลักออกมาจากนอกโรงพยาบาล ทำให้ผู้รับบริการต้องจอดรถตามขอบถนนข้าง โรงพยาบาล บางคันต้องจอดไกลห่างจากโรงพยาบาลประมาณ ๑-๒ กิโลเมตร บางคันต้องไป จอดในสถานที่ของเอกชนซึ่งไกลและต้องเสียค่าใช้จ่าย อีกทั้งโรงพยาบาลยโสธรอยู่ใกล้สี่แยก ไฟแดง ใกล้โรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด ยิ่งทำให้เกิดความแออัดและสถานที่จอดรถ ไม่เพียงพอมากยิ่งขึ้น ท่านประธานคะ เจ็บป่วยกายและใจก็ถือว่าหนักอยู่แล้ว ยังต้องมาวน หาที่จอดรถอีก กว่าจะได้ที่จอดรถ กว่าจะได้เข้าไปรับการรักษาก็ใช้เวลานาน รวมทั้งต้องมา ห่วงทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ หรือสิ่งของมีราคากว่าจะหามาได้ แสนยากลำบาก ถ้าสูญหายหรือเกิดความเสียหายขึ้นมาใครจะรับผิดชอบ ดิฉันจึงเรียนผ่าน ท่านประธานสภาไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขออนุญาตเอ่ยนาม ท่านนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โปรดสนับสนุนเมตตางบประมาณ ก่อสร้างอาคารที่จอดรถให้พี่น้องชาวจังหวัดยโสธร และวาดหวังว่าน่าจะได้ โปรดเมตตา งบประมาณ ปี ๒๕๖๘ หรือปี ๒๕๖๙ ถ้าได้จะทำให้พี่น้องชาวจังหวัดยโสธรปลอดภัย ทางด้านร่างกายและจิตใจ และเกิดความอบอุ่นใจเมื่อมารับบริการที่โรงพยาบาลยโสธรค่ะ กราบขอบพระคุณท่านประธานค่ะ