นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์

  • กราบเรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี เขต ๔ พรรคเพื่อไทย วันนี้หลายจังหวัดขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และในช่วงปี ๒๕๖๕ ได้มีพระราชทานโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ไขปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจาก พระราชดำริ

    อ่านในการประชุม

  • ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ดำเนินการอีก ๑๙ แห่ง อยากให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเร่งรัดดำเนินการ โดยเฉพาะที่ตำบลหนองประดู่ อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับแจ้งจากนายกมงคล ทองยิ้ม ว่าโครงการดังกล่าว ยังไม่มีความคืบหน้าเลย ฝากกรมทรัพยากรน้ำบาดาลช่วยเร่งรัดด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องหารือเรื่องที่ ๒ ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในตำบลวังไผ่ อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี ว่ามีโรงงาน Recycle ของบริษัท แบตเตอรี่ซิตี้ จำกัด ส่งกลิ่นเหม็นมีแมลงวันมากมาย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบและแก้ไขโดยด่วนครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ ขณะนี้ Motorway สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ใกล้จะเปิดเพื่อให้ ประชาชนได้ใช้ประโยชน์แล้ว ปลายทางคือที่จังหวัดกาญจนบุรียังไม่มีการขยายถนน หรือเพิ่มเส้นทางเพื่อจะรองรับรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้นแต่อย่างใด ผมอยากให้กรมทางหลวง กับจังหวัดกาญจนบุรีเร่งรัดเพื่อตรวจสอบแก้ไขปัญหารถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคตด้วย

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๔ วันนี้ประชาชนคนไทยได้รับความเดือดร้อนกับสัตว์ ๓ ประเภท ๑. นกพิราบ ๒. ลิง ๓. ช้างป่า โดยเฉพาะช้างป่าพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอเมือง อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอบ่อพลอย และอำเภอหนองปรือ ที่จังหวัดกาญจนบุรี ได้ออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตรของประชาชน ฝากให้กรมอุทยาน แห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เร่งรัดแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๔ จังหวัดกาญจนบุรี วันนี้ผมมีเรื่องที่จะฝากท่านประธานไปยัง ๔ หน่วยงาน

    อ่านในการประชุม

  • หน่วยงานแรก กรมที่ดิน วันนี้จังหวัดกาญจนบุรีได้มีการสำรวจพิสูจน์สิทธิ ในการออกโฉนดที่ดินให้กับราษฎรอำเภอห้วยกระเจา อำเภอบ่อพลอย และอำเภอพนมทวน เสร็จสิ้นแล้ว ๔,๒๑๗ แปลง แต่กรมที่ดินอ้างว่าไม่มีช่างรังวัด ไม่มีงบประมาณ ประชาชน รอคอยมา ๓ ปีแล้ว ฝากท่านประธานไปยังกรมที่ดินช่วยเร่งรัดเกี่ยวกับเรื่องช่างรังวัด และงบประมาณด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • หน่วยงานที่ ๒ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือ ส.ป.ก. ประกาศเขตปฏิรูปที่ดินตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเลาขวัญ อำเภอบ่อพลอย และอำเภอหนองปรือ การประกาศเขตปฏิรูปที่ดินทั้งอำเภอทำให้ราษฎรที่อยู่ในพื้นที่ ที่ถูกประกาศครอบคลุมเสียสิทธิในการออกเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน เพราะว่า จะออกได้อย่างเดียวคือ ส.ป.ก. เท่านั้น วันนี้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมควรเร่งรัด การปรับปรุง หรือยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลงแนวเขตปฏิรูปที่ดิน วันนี้ประชาชนเดือดร้อนมากครับ

    อ่านในการประชุม

  • หน่วยงานที่ ๓ กรมทางหลวงชนบท ประชาชนเรียกร้องอยากให้ท่านเข้าไป ปรับปรุงถนนเชื่อมต่อระหว่างอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ไปยังอำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี เพราะว่าเวลาฝนตกทีไรถนนขาดทุกครั้ง เพราะไหล่ทางระบายน้ำไม่มีครับ เส้นทางที่ ๒ ของกรมทางหลวงชนบทคือถนนเส้นอ่างหิน ตำบลวังไผ่ อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี เชื่อมต่อตำบลหลุมรัง อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี วันนี้ยังเป็น ถนนลูกรังครับ การสัญจรไปมายากลำบากมาก เป็นถนนที่ประชาชนร่วมกันใช้ประโยชน์ ในการขนส่งสินค้าเพื่อการเกษตร

    อ่านในการประชุม

  • หน่วยงานที่ ๔ กรมทางหลวง มีถนนสายที่เชื่อมต่อระหว่างอำเภอเลาขวัญ และอำเภอห้วยกระเจา เป็นถนนที่คับแคบมาก เป็นถนน ๒ เลน ประชาชนเรียกร้องอยากให้ เป็นถนน ๔ เลนหรือ ๔ ช่องจราจร เส้นที่ ๒ ถนนเชื่อมต่ออำเภอบ่อพลอยและอำเภอหนองปรือ ก็เช่นกันเป็นถนน ๒ เลน ประชาชนเรียกร้องอยากให้เป็นถนน ๔ เลน เพราะวันนี้ จังหวัดกาญจนบุรี ถ้าวันหยุดทีไรนักท่องเที่ยวจะมาเป็นอันดับ ๑ ทุกครั้ง ในรอบ ๖ วันที่เป็น วันหยุดยาวมีประชาชนเข้าไปท่องเที่ยวเกือบ ๑ ล้านคน มีรถยนต์เข้าไปในจังหวัดกาญจนบุรี ไม่ต่ำกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คัน เพราะฉะนั้นถนนหนทาง ๔ เลนในจังหวัดกาญจนบุรีแทบจะ ไม่เกิดขึ้นเลยครับ สู้อย่างจังหวัดสุพรรณบุรีและอุทัยธานีไม่ได้เลย แต่ประชากรที่เข้าไป ท่องเที่ยวมากมาย อยากให้กรมทางหลวงเร่งรัดขยายถนนเส้นทางตามที่ผมกล่าวด้วยครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๔ จังหวัดกาญจนบุรี ขอกราบเรียนท่านประธานว่าหน่วยงาน ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานที่สำคัญยิ่งในการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตของข้าราชการ นักการเมือง และยังดูแลทรัพย์สินของทางราชการ ที่เป็นภาระอันยิ่งใหญ่ของประเทศ หน่วยงาน ป.ป.ช. นั้นได้รับงบประมาณในปี ๒๕๖๔ ๒,๐๐๐ กว่าล้านบาท ซึ่งไปใช้จ่ายในการปกป้องทรัพย์สินเงินทองหรืองบประมาณแผ่นดิน จำนวนมหาศาล ในส่วนตัวผมไม่ติดใจหรอกว่างบประมาณแค่ ๒,๓๐๐ กว่าล้านบาทเศษ ที่ไปใช้จ่าย กลับมองเห็นว่าอาจจะน้อยไปเสียด้วยซ้ำ น่าจะได้มากกว่านี้นะครับ ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. มีข้าราชการหรือบุคลากรเกือบ ๓,๐๐๐ นาย ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค วันนี้หน่วยงาน ป.ป.ช. มีสำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัด ซึ่งแต่ละจังหวัด ใน ๗๖ จังหวัดมีข้าราชการเท่าที่ผมสืบทราบมาประมาณ ๑๕ นายบวกลบ บางจังหวัด ต้องดูแลพื้นที่อย่างกว้างใหญ่มหาศาล อย่างจังหวัดกาญจนบุรีที่ผมเป็นสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรอยู่มีข้าราชการอยู่ประมาณ ๑๕ นาย ซึ่งดูแลหน่วยงานมากมายครับ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน คนที่จะไปตรวจสอบและจับผิดเขาผมมองดูแล้วว่า น่าจะมีข้าราชการหรือมีเครื่องไม้เครื่องมือให้ได้มากกว่านี้ ก็ฝากท่านประธานไปยังท่านเลขา ว่าเราต้องช่วยกันส่งเสริมให้หน่วยงานของ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นหน่วยงานผมเชื่อว่าพวกเรา ที่อยู่ในห้องนี้ทั้ง ๕๐๐ ท่านก็ต่างเกรงกลัวมาตรา ๘๗ ของพระราชบัญญัติ ป.ป.ช. คือมาตราเกี่ยวกับจริยธรรมของนักการเมือง เพราะฉะนั้นเราก็อยากให้หน่วยงานนี้เข้มแข็ง กับการทุจริตในภูมิภาคด้วยนะครับ แต่ผมมีประเด็นที่จะฝากท่านประธานไปยังท่านเลขาธิการอยู่ ซึ่งมันเกิดขึ้นจริงแล้วผมคิดว่า ท่านเลขาธิการอาจจะทราบมาแล้วบ้างก็ได้ว่ามาตรา ๙๘ หลังจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ไต่สวนและสอบสวนเสร็จสิ้นกระบวนความแล้ว ส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ข้าราชการหรือพนักงานกระทำความผิดอยู่ หน่วยงานนั้นจะต้องลงโทษทางวินัยภายใน ๓๐ วัน หลังจากที่ ป.ป.ช. ชี้มูล โดยไม่ต้องสอบสวนกระบวนการของข้าราชการอีก ให้ลงโทษเลย แต่ประเด็นมันมีปัญหาอยู่ว่าถ้าข้าราชการท่านนั้นเกษียณหรือลาออกไปก่อน มีอายุมากกว่า ๓ ปี ไม่มีกฎหมายใด ๆ ที่จะไปลงโทษข้าราชการผู้นั้นที่พ้นราชการไปมากกว่า ๓ ปี แต่ถ้าน้อยกว่า ๓ ปี คือ ๒ ปี ๑ ปี หรือยังอยู่ ลงโทษได้ครับ ตามพระราชบัญญัติ ข้าราชการพลเรือน มาตรา ๑๐๐ ลงโทษได้ทันที แต่ถ้าเกิน ๓ ปีลงโทษไม่ได้ วันนี้ ความไม่เป็นธรรมมันเกิดขึ้น เพราะถ้ามี นาย ก นาย ข ไปร่วมกันกระทำความผิด นาย ก พ้นไปก่อนมากกว่า ๓ ปี ก็ไม่ต้องถูกลงโทษทางวินัยครับ ส่วนคดีอาญาผมไม่ติดใจ เพราะเรา ส่งไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีอาญา อันนี้มันแยกกัน ผมเข้าใจว่าทาง สำนักงาน ป.ป.ช. อาจจะเร่งรัดเพื่อจะแก้ไขมาตรานี้อยู่ ผมอยากจะฝากท่านช่วยดำเนินการ เพราะมันเป็นปัญหาของระบบราชการอยู่เกี่ยวกับเรื่องการลงโทษนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ หน่วยงานที่ถูกลงโทษมากที่สุดในการชี้มูลของสำนักงาน ป.ป.ช. พวกเราก็ทราบดีคือหน่วยงานท้องถิ่น อบต. กับเทศบาลทำไมเขาถึงถูกชี้มูลมาก เพราะเขา กระทำผิด การกระทำผิดของหน่วยงานหรือบุคคลท้องถิ่นมีอยู่ ๒ กรณีเท่านั้น ตั้งใจ กระทำความผิดหรือทุจริตต่อหน้าที่ อันนี้ผมก็ไม่ติดใจครับ เพราะว่าท่านตั้งใจจะกระทำ แต่บางคนกระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือไม่ได้ตั้งใจ ขาดองค์ความรู้ นายก อบต. นายก เทศบาล หรือนายกเทศมนตรีในต่างจังหวัด ผมว่าเขาขาดองค์ความรู้ด้านกฎหมาย ผมอยากจะเสนอทางสำนักงาน ป.ป.ช. ว่าถ้าเรามีการฝึกอบรม หรือให้ความรู้ หรือใช้วิธี การป้องปราม เราจะลดการสูญเสียงบประมาณ ลดการสูญเสียของการทุจริต แล้วภาระหน้าที่ ของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ที่อยู่ในต่างจังหวัดและส่วนกลางผมเชื่อว่างานท่านจะน้อยลงครับ คดีท่านจะไม่ค้าง ๒๐,๐๐๐-๓๐,๐๐๐ คดีที่ค้างอยู่ ณ ทุกวันนี้ อันนี้ผมก็ขอฝากประธาน ไปยังท่านเลขาธิการด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๓ มีคดีที่ผมพบเห็นในช่วงหาเสียง บางเทศบาลถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูล ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ภายใน ๑ เดือนหรือ ๒ เดือนทันทีเลย แต่บางเทศบาลที่อยู่ติดกันผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ได้สั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ ทั้ง ๆ ที่ ป.ป.ช. ชี้มูลไป ๒-๓ ปีแล้ว เห็นไหมประชาชนเขาไม่เข้าใจกฎหมายหรอกว่านายกตำบล A ไม่ถูกชี้มูล นายกตำบล B ถูกชี้มูล เขาจะมองว่ามีการวิ่งเต้น มีการปฏิบัติไม่เท่าเทียมกัน อันนี้ผมก็อยากจะ ฝากท่านประธานไปยังท่านเลขาธิการว่าทำอย่างไร ผมเข้าใจว่ามีเรื่องเทคนิคทางกฎหมาย เกี่ยวกับศาลปกครองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ทำอย่างไรให้มันเสมอภาค ผมเชื่อว่าทำได้นะครับ ถ้าเราเลือกปฏิบัติอย่างนี้สังคมมันจะไม่เป็นธรรมครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นสุดท้าย ผมอยากจะฝากท่านประธานไปยังท่านเลขาธิการครับ ในเขตการเลือกตั้งผม คือเขต ๔ จังหวัดกาญจนบุรี ประกอบไปด้วยอำเภอบ่อพลอย อำเภอหนองปรือ อำเภอเลาขวัญ และอำเภอห้วยกระเจา ก่อนที่ผมจะไปลงสมัครผู้แทน มีการร้องเรียนหรือมีการตรวจสอบคดีความของ สำนักงาน ป.ป.ช. ผมไม่แน่ใจว่าของ ป.ป.ช. จากส่วนกลางหรือเขต หรือของ ป.ป.ช. จังหวัดอยู่หลายคดี แต่คดีช้าอยู่นะครับ ถ้านายก อบต. หรือเจ้าหน้าที่ถูกไต่สวนจากสำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนใหญ่แล้วจะเกียร์ว่าง จะหยุด ปฏิบัติหน้าที่ จะทำงานไปวันต่อวันเลย ไม่ได้ขวนขวายที่จะทำอะไร เพราะว่ามีเรื่อง รอการตัดสินของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผมอยากจะฝากท่านประธานไปยังเลขาธิการ ช่วยเร่งรัดคดีให้ด้วยครับ เพื่อจะได้รู้ว่าเขาถูกหรือเขาผิด ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี เขต ๔ พรรคเพื่อไทย วันนี้ในสภาที่มีข้อหารือตั้งแต่เช้าเกือบทุกวันที่เรามีการประชุม สมาชิก ส่วนใหญ่แล้วจะพูดถึงเรื่องน้ำที่ขาดแคลน ด้วยความห่วงใยของประชาชน วันนี้โชคดี กรมทรัพยากรน้ำบาดาลซึ่งเป็นหัวใจหลักเกี่ยวกับเรื่องน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำ เพื่อการเกษตรในชนบท ในประเทศไทยในพื้นที่ ๓๒๐ ล้านไร่ ๑ ล้านไร่อยู่ในเขตชลประทาน แต่งบประมาณในการบริหารจัดการน้ำประมาณเกือบ ๑๐๐,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร อยู่ที่กรมชลประทาน อยู่ที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร เศษ ๆ เท่านั้นเอง คิดแล้วไม่ถึง ๓ เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณบริหารจัดการน้ำ เป็นกรม ที่น่าสงสารครับ ผมอยู่ที่นี่มา ๓ ปีเต็ม ไม่ขาดเลยสักวันเดียว แล้วก็ไม่เคย ผมได้เรียนรู้ แล้วเข้าใจว่าผมนี้เป็นกรมวิชาการ มีดอกเตอร์มากมาย มีนักธรณีเต็มกรม มีวิศวกรมากมาย แต่ปัญหาคือการขับเคลื่อนหรือการเอากรมนี้ไปช่วยเหลือประชาชนน้อยมากนะครับ เพราะวัฒนธรรมของประเทศไทยเราใช้น้ำผิวดินครับ เราใช้ระบบชลประทานเป็นหลัก เพราะมีอะไรเราจะนึกถึงแต่ชลประทาน แต่พื้นที่อีก ๒ ล้านไร่หรืออีก ๒ ส่วนของประเทศ อยู่นอกระบบชลประทานทั้งหมดทำให้ประชาชนเดือดร้อน และเพื่อนสมาชิกก็มาพูดถึงว่า ประชาชนเดือดร้อนอย่างไร วันนี้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลผมเชื่อว่าเป็นกรมที่จะแก้ไขปัญหา ให้กับประชาชนและประเทศชาติได้ครับ ขอ Slide ครับ

    อ่านในการประชุม

  • บนโลกใบนี้มีแหล่งน้ำที่เป็นน้ำเค็ม ๙๗ เปอร์เซ็นต์ อยู่ในมหาสมุทรและอยู่ในทะเล อีก ๓ เปอร์เซ็นต์เป็นน้ำจืด ในน้ำจืด ๓ เปอร์เซ็นต์เป็นน้ำแข็ง Glacier หิมะ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ อีก ๓๐ เปอร์เซ็นต์ แบ่งเป็นน้ำผิวดิน ที่เราเห็นแล้วใช้อยู่แค่ ๑ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นนะครับ ๒๙ เปอร์เซ็นต์เป็นน้ำใต้ดิน น้ำใต้ดิน มาจากไหนครับ โลกใบนี้กำเนิดมา ๔,๕๖๐ ล้านปี ไม่นานนี้ ๔,๐๐๐ กว่าล้านปีแล้ว ฝนตก ลงมาเม็ดแรกตกลงมาไปไหนครับ ก็ต้องซึมลงใต้ดินไปสะสมอยู่ใต้ดินในชั้นน้ำบาดาล ถ้าผิวดินอิ่มตัวเมื่อไรก็จะเกิดมีการไหลบ่าของน้ำลงไปตามห้วย หนอง คลอง บึง แล้วก็ไปใน แม่น้ำลำคลองต่าง ๆ เห็นไหมครับ ฝนตกมาเรื่อย ๆ น้ำบาดาลก็ไปสะสมแล้วไปกักขังอยู่ใน ใต้ดิน ในประเทศไทยมีอ่าง มีเขื่อนมากมายเลยที่เราสร้างไว้เพื่อกักเก็บน้ำด้วยระบบ ชลประทาน หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตก็ตาม หรือส่วนราชการอื่น ๆ ก็ตามที่สร้างอยู่ ภาชนะอันนี้ผมเรียกว่าที่กักเก็บน้ำไว้ใช้มีแค่ ๗๐,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น แต่น้ำ ที่กักเก็บไว้เวลาฝนตกในฤดูฝนเก็บไม่เต็มหรอกครับ เก็บได้ประมาณ ๖๐-๗๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นเวลากรมชลประทาน หรือ กฟผ. จะปล่อยน้ำมาให้ประชาชนได้ใช้ในระบบ การเกษตรก็ตามหรือน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคก็ตาม จะต้องรักษาน้ำไว้อีก ๒๐ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๓๐ เปอร์เซ็นต์เพื่อรักษาระบบนิเวศ เพราะฉะนั้นปีหนึ่งน้ำในอ่างที่เก็บสะสมไว้ จะใช้ได้ไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ถ้าปีใดฝนตกน้อยก็อาจจะเหลือ ๑๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรหรือ ๒๐,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีที่จะเอาน้ำมาใช้ได้ แต่มาดูน้ำบาดาลเสียดาย Slide ไม่ได้ให้เพื่อนสมาชิกได้ดู แต่น้ำบาดาลที่สะสมไว้ ที่ผมบอกว่ามี ๒๙ เปอร์เซ็นต์ น้ำผิวดินมี ๑ เปอร์เซ็นต์ ในประเทศไทยมีน้ำบาดาลที่ระดับ ประมาณ ๒๐๐ เมตรลึกลงไปจากผิวดินมีอยู่ถึง ๑.๑๓ ล้านล้านลูกบาศก์เมตร ถ้าคิดง่าย ๆ เร็ว ๆ ก็เหมือนว่าน้ำบาดาลมีระดับล้าน แต่น้ำผิวดินที่มีภาชนะเก็บใส่แค่ ๗๐,๐๐๐ เห็นไหม เพราะฉะนั้นน้ำบาดาลมีอยู่มากมาย แต่วันนี้ในชนบทด้วยระบบประปาหมู่บ้านก็ดีเราใช้ น้ำผิวดินให้ประชาชนใช้ด้วยระบบประปาบาดาล น้ำผิวดินมาจากไหน ก็มาจากน้ำฝนที่ตกมาแล้ว สะสมไหลบ่าลงมาในอ่างเก็บน้ำและห้วย หนอง คลอง บึง แล้วท้องถิ่นก็ไปสูบน้ำผิวดินขึ้นมา ทำระบบประปา น้ำผิวดินผ่านอะไรมาบ้าง ผ่านสารเคมีพืชไร่พืชผลทางการเกษตรก็ตาม ที่ใช้ยา เช่น มีสาร Paraquat Glyphosate สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสารละลายที่อยู่ในน้ำทำให้ ประชาชนเป็นโรคผิวหนัง เป็นมะเร็งผิวหนังมากมาย อย่างเช่นที่ผมเคยลงไปที่หมู่บ้าน คลองเจริญ ตำบลบุญทัน อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู ชาวบ้านทั้งหมู่บ้าน เป็นโรคผิวหนังเกิดจากสาร Paraquat น่าสงสารมาก เคยเป็นข่าวใหญ่โตมาเมื่อ ๒-๓ ปีก่อน วันนี้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลก็เข้าไปแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเรื่องน้ำผิวดินเปลี่ยนมาเป็น น้ำใต้ดินเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ ในต่างประเทศส่วนใหญ่แล้วเขาจะใช้น้ำใต้ดิน เพื่อเป็นน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร เสียดายไม่มี Slide น้ำบาดาล นอกจากเป็นน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคแล้ว ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจถ้าเราเข้าไปใน 7-ELEVEN น้ำดื่มทุกชนิดส่วนใหญ่เป็นน้ำบาดาลทั้งสิ้นนะครับ ไม่ว่าน้ำอัดลม เหล้า เบียร์ ไวน์ ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มาจากน้ำบาดาลทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คนรวย ใช้น้ำบาดาลเพื่อการเศรษฐกิจเกือบทั้งนั้น เราจะเห็นตัวอย่าง เพื่อนสมาชิกเราเคยได้ยิน โรงงานทางภาคอีสานขาดแคลนน้ำไหมครับ มีแต่ภาคตะวันออกขาดแคลนน้ำ เพราะว่า ภาคอีสานเป็นแหล่งน้ำใต้ดินจำนวนมหาศาล เวลาเขาจะตั้งโรงงานหรือโรงงานอุตสาหกรรม ใด ๆ ก็ตามเขาต้องหาแหล่งน้ำใต้ดินก่อน เพราะฉะนั้นวันนี้ประเทศไทยคนที่ใช้น้ำบาดาล มีแต่คนรวย ผมอยากให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลโดยเฉพาะกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลช่วยไป สำรวจหาแหล่งน้ำแล้วส่งต่อให้กับส่วนราชการเพื่อนำน้ำบาดาลที่อยู่ใต้ดินเอามาใช้ ประโยชน์ให้กับประชาชนครับ อย่าไปให้คนรวยใช้ ผมว่าควรจะหยุดเกี่ยวกับการอนุญาต ให้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่นำน้ำดี ๆ คุณภาพดีเอาไปใช้ แล้วให้คนจนหรือประชาชน ที่ขาดแคลนใช้น้ำผิวดินครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี เขต ๔ พรรคเพื่อไทย ในพื้นที่ EEC ประกอบด้วย ๓ จังหวัด จังหวัดชลบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดระยอง ปัญหาความเจริญเกิดขึ้น โรงงานอุตสาหกรรมมากมาย ประชาชน ก็เพิ่มมากขึ้น สิ่งที่ตามมา สิ่งที่เป็นปัญหาตกค้าง ซึ่งประชาชนที่อยู่ในพื้นที่จะบอกว่า ต้องรับกรรมจะเป็นไปได้ครับ คือกากขยะอุตสาหกรรม วันนี้จากตัวเลขซึ่งผมได้ค้นพบว่า กากอุตสาหกรรมปีหนึ่งจะมีประมาณ ๕ ล้านตัน แต่ทางราชการหรือ EEC กำจัดไว้ประมาณ ครึ่งเดียวเองประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก ๒.๕ ล้านตัน วันนี้มีข่าวอยู่บ่อยครั้งว่า มีผู้นำกากอุตสาหกรรมไปทิ้งในบริเวณใกล้เคียง อย่างเช่นข่าวล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ไปทิ้ง ที่จังหวัดสระแก้ว หรือไปทิ้งในบริเวณอื่น ๆ ไปฝังกลบ ซึ่งเราอาจจะตรวจไม่พบ หรือไม่เป็นข่าว แต่ประชาชนในพื้นที่รับทราบ กากอุตสาหกรรมมันเป็นขยะทางเคมี ใคร ๆ ก็ทราบ เพราะมันเป็นภัยหรือเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ที่ตามมาก็คือน้ำเสีย วันนี้ มีโรงงานอุตสาหกรรมหลายโรง เราพบเป็นข่าวอยู่อย่างต่อเนื่องว่ามีการอัดน้ำเสียลงไป ในชั้นน้ำบาดาลหรือใต้ดิน ที่โรงงานจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบเพื่อไปบำบัด แล้วก็ปิดกั้น ไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจ แล้วให้ความร่วมมือ ผมเชื่อว่าผู้มาชี้แจงก็พอที่จะทราบข่าว

    อ่านในการประชุม

  • แต่ปัญหาสำคัญที่สุดก็คือ เรื่องขยะที่ผมจะพูดในวันนี้ วันนี้ในเขต EEC มีขยะตกค้างที่ยังไม่ได้กำจัดอยู่ประมาณ ๖ ล้านตัน วันหนึ่งใน ๓ จังหวัดมีขยะเกิดขึ้นวันละ ๕,๐๐๐ ตัน แต่ถูกกำจัดได้ประมาณ ๗๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง จะถูกวิธีหรือไม่ถูกอันนี้ผมก็ไม่ยืนยันว่าเรากำจัดขยะ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ที่ให้หมดไปโดยวิธีเผา หรือ Recycle นำกลับมาใช้ใหม่ด้วยวิธีการใด ๆ ก็ตาม เพราะผมเชื่อว่าผู้ที่ปฏิบัติอาจจะปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ แต่ข้อมูลในการรายงาน ผมเชื่อว่าเป็นไปตามวิชาการครับ ไม่อย่างนั้นไม่เกิดปัญหา เพราะฉะนั้นขยะที่ตกค้าง ๖ ล้านตัน ที่ค้างอยู่กับขยะที่ตกค้างแต่ละปีเพิ่มขึ้นปีหนึ่ง โดยประมาณแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐๐,๐๐๐ ตัน ซึ่งสะสมไปเรื่อย ๆ เราจะทำอย่างไร เห็นไหมครับ นี่คือกองขยะ ส่วนใหญ่จะเป็นพลาสติก Foam ขวด ซึ่งพลาสติก พวก Foam กว่าจะย่อยสลายได้ต้องใช้เวลา ๒๐๐-๕๐๐ ปีถึงจะย่อยสลายไปหมด ถ้าเราไม่กำจัด เราปล่อยให้กองอยู่ เวลาลมมาหรือพายุมาก็จะพัดลงไปในทะเล อันนี้เป็นภาพขยะทะเล ที่อยู่ใกล้เกาะเสม็ดหรืออุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า ขวามือคือเกาะเสม็ด เกิดผลอะไร เมื่อมีขยะอยู่ในทะเล สัตว์น้ำก็ไปกินขยะ เมื่อขยะพลาสติกย่อยสลายเราเรียกว่า Micro Plastic วันนี้ Micro Plastic ซึ่งมันมีขนาดเล็กกว่า ๕ มิลลิเมตร ซึ่งเล็กกว่าที่ตาเรา จะมองเห็น มันเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของสิ่งมีชีวิต รวมทั้งมนุษย์เราด้วย เมื่อไม่นานนี้ ประเทศจีนรายงานผลว่า Micro Plastic อยู่ในหัวใจมนุษย์ มันไกลกว่าอยู่ในเลือดหรืออยู่ใน ร่างกายแล้ว อยู่ในสมอง อยู่ทุกส่วนของร่างกายมนุษย์ วันนี้ถ้าเราปล่อยให้ขยะพลาสติก ล่องลอยลงไปในทะเล หรืออยู่ในอากาศที่เราสูดอากาศเข้าไป แล้วหายใจเข้าไปเป็นอันตราย ต่อสุขภาพมากครับ ผมเชื่อว่าสมาชิกผู้ทรงเกียรติในห้องนี้หรือผู้มาชี้แจงถ้าไปตรวจ Micro Plastic ในร่างกายผมเชื่อว่ามี มันเป็นอันตรายต่อสุขภาพปอดอย่างยิ่ง ผมอยากให้ทาง EEC เร่งดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องขยะพลาสติกและ Micro Plastic ที่กำลังเกิดขึ้นเป็นปัญหา ต่อสุขภาพของคนทั้งโลกครับ ไม่ใช่คนไทยทั้งประเทศ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องสุดท้าย EEC เป็นพื้นที่ภาคตะวันออกที่ขาดแคลนน้ำในภาคอุตสาหกรรม และภาคอุปโภคบริโภค ผมได้ยินข่าวอย่างเสมอและต่อเนื่องว่ากำลังจะทำน้ำเค็มให้เป็นน้ำจืด ผมอยากให้ท่านทบทวนเรื่องการนำน้ำทะเลมาเป็นน้ำจืด ผมเชื่อว่าเป็นโครงการที่ดีถ้าเราทำได้ แต่ผมในฐานะที่เคยอยู่แวดวงในการบริหารจัดการน้ำ ผมมั่นใจว่ามันไม่คุ้มทุนหรอกครับ เพราะ ๑ ลูกบาศก์เมตรเราจะลงทุนไม่ต่ำกว่า ๗๐-๘๐ บาท จะได้น้ำจืด ๑ ลูกบาศก์เมตร แต่สิ่งที่เราได้มาอาจจะมีขยะที่เกิดขึ้น คือเกลือเราจะไปไว้ที่ไหน ขยะในการบริหารจัดการ มันจะตามมาอีกมากมาย แต่คนจะผลักดันให้เกิดการนำน้ำทะเลมาเป็นน้ำจืด ท่านประธานครับ รู้ไหมว่าใคร คือคนขายเครื่องมือ ฝากท่านประธานไปยังผู้ที่จะคิดดำเนินการเรื่องนี้ด้วยครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ผม ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ ๓๔๖ แสดงตนครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย วันนี้เรามาพูดเกี่ยวกับปัญหาที่ดินของประชาชน ก็คงจะเกี่ยวโยงกับที่ดินของรัฐ ซึ่งในประเทศไทยนั้นมีที่ดินของรัฐประมาณ ๑๐ ประเภท ที่ประกาศครอบครองพื้นที่ ตามวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เพื่อการอนุรักษ์บ้าง เพื่อการใช้ประโยชน์แต่ละวัตถุประสงค์ ซึ่งการประกาศแต่ละห้วงเวลานั้นก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เราประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติ พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เราประกาศพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ หรือประกาศพื้นที่ ส.ป.ก. ที่นิคม ที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือที่จัดสรรของการไฟฟ้า หรือที่ดินของ กระทรวงมหาดไทย รวมทั้งที่ราชพัสดุ แต่ละประเภทนั้นมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันมาก แต่ปัญหาที่เกิดวันนี้เกิดจากการบริหารจัดการทั้งสิ้น ผมเชื่อว่าการประกาศในแต่ละห้วงนั้น วัตถุประสงค์ การประกาศก็เพื่อที่จะรักษาพื้นที่ เพื่อที่จะรักษาแหล่งพันธุ์พืช พันธุ์ไม้ หรือแหล่งต้นน้ำลำธาร เอาไว้ให้ลูกหลานได้ใช้ประโยชน์ หรือเพื่อคุ้มครองระบบนิเวศ หรือสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืน แต่วันนี้ตามนโยบายของป่าไม้แห่งชาติ ไม่ว่าแต่ละยุค แต่ละสมัย เราต้องมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ป่าอนุรักษ์ก็คือพื้นที่อุทยานแห่งชาติ บวกกับพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ๓ พื้นที่นี้วันนี้เกือบใกล้ ๒๕ เปอร์เซ็นต์แล้ว หรือประมาณ ๘๐ ล้านไร่ แต่พื้นที่ ๓ ประเภทนี้ที่ประกาศ ก็ประกาศ ทับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคุ้มครอง ป่าคุ้มครอง เพื่อนสมาชิกหรือท่านประธานอาจจะ ไม่เข้าใจว่าก็คือมีพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนตั้งแต่ปี ๒๕๘๐ หรือปี ๒๕๘๑ โน่นละครับ ผมเชื่อว่าหลายท่านในห้องนี้ยังไม่ได้เกิด เราประกาศพื้นที่ป่าเพื่อที่จะรักษา พื้นที่แหล่งต้นน้ำลำธารเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และสัตว์ป่า แต่วันนี้สถานการณ์มันเปลี่ยนไปแล้วครับท่านประธาน เพราะว่าในอดีตประเทศไทย มีประชากรไม่ถึง ๑๐ ล้านคน วันนี้เกือบ ๗๐ ล้านคนแล้ว ป่าสงวนมาประกาศอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นต้นมา แต่ป่าสงวนเป็นต้นเหตุของการบุกรุก เป็นต้นเหตุของปัญหา ต่าง ๆ ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนที่ถือครองที่ดิน เพราะป่าสงวนนี่เปิดโอกาสให้มี การใช้ประโยชน์ แล้วป่าสงวนในประเทศไทยมีถึง ๑,๒๒๑ ป่า เพราะฉะนั้นปัญหาเลยมากมาย ส่วนหนึ่งเรามอบพื้นที่ป่าสงวน เมื่อมติคณะรัฐมนตรี วันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๓๖ ให้กับ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพื่อไปปฏิรูปที่ดินให้กับประชาชนหรือเกษตรกร ที่มีวัตถุประสงค์จะทำการเกษตร แต่วันนี้เมื่อส่งให้ ส.ป.ก. ก็ยังมีปัญหาอีกก็คือ เรื่องการบริหารจัดการในเขตปฏิรูปที่ดินของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะว่าอะไรครับ ในเขต ส.ป.ก. นั้นไม่มีใครเลยนะครับ หรือมีแต่ก็น้อยมาก ที่จะเอาที่ดินของนายทุนที่บุกรุก ๕๐๐ ไร่ ๑,๐๐๐ ไร่ ในส่วนที่เหลือที่จะจัดให้กับนายทุนแค่ ๕๐ ไร่ ส่วนที่เกินจาก ๕๐ ไร่ แล้วนำมาจัดสรรให้กับประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินถือครองได้เลยเพราะเกิดจาก การบริหารจัดการ เกิดจากความไม่กล้าของเจ้าหน้าที่รัฐในการจัดการกับนายทุน วันนี้ที่ดิน ส.ป.ก. เลยมีปัญหา เมื่อมีปัญหาประชาชนไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินของรัฐเท่าที่ตามนโยบาย ของรัฐจะจัดให้ก็เลยไปบุกรุกป่าใหม่ วันนี้มีประชาชนที่ไปบุกรุกในพื้นที่ป่าอนุรักษ์โดยเฉพาะ ในอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอีก ๔ ล้านไร่ หรือประมาณ ๕ เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ ๘๐ ล้านไร่ วันนี้การบริหารจัดการที่ดินของรัฐมีปัญหาหมดนะครับ ผมขออนุญาต ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือที่ราชพัสดุ ในประเทศไทยมีที่ราชพัสดุ ๑๒ ล้านไร่เศษ ที่กรมธนารักษ์ดูแลอยู่ จังหวัดกาญจนบุรี ๒๐ เปอร์เซ็นต์เป็นที่ราชพัสดุ หรือประมาณ ๒ ล้านไร่เศษ ที่ชาวบ้านเรียกว่าที่ทหาร เดิมทีตั้งใจจะประกาศพื้นที่นี้ไว้เพื่อสงวนหวงห้ามไม้ไผ่ เอาไว้เป็นต้นทุนในการผลิตเยื่อกระดาษให้กับโรงงานผลิตกระดาษที่จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งแต่สมัย พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ แต่วันนี้โรงงานกระดาษ ได้เลิกกิจการไปแล้วไม่น้อยกว่า ๕๐ ปีท่านประธานครับ แต่ประกาศพระราชกฤษฎีกา พื้นที่สงวนหวงห้ามของที่ราชพัสดุก็ยังไม่ได้ยกเลิก แต่มีหน่วยงานทางราชการคือหน่วยทหาร ไปขอใช้ประโยชน์ ก็เลยมีความขัดแย้งระหว่างประชาชนที่ถือครองที่ราชพัสดุกับหน่วยราชการ ที่ขอใช้ที่ราชพัสดุหรือที่ทหารมีความขัดแย้ง แม้กระทั่งศาลากลางจังหวัด อำเภอเมือง ก็อยู่ในเขตที่ราชพัสดุ เพราะฉะนั้นปัญหาที่ดินของรัฐแต่ละประเภทต่าง ๆ ประมาณ ๑๐ ประเภท มีปัญหาหมดครับ ผมอยากจะเสนอและเรียกร้องท่านประธานผ่านไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องครับ พื้นที่ใดที่หน่วยงานของรัฐไม่สามารถที่จะใช้ประโยชน์ได้ หรือฟื้นฟูกลับมาให้เป็นสภาพดังที่ตั้งใจ หรือพ้นวัตถุประสงค์ไปแล้วเราเพิกถอนได้ไหม ประเด็นแรก ถ้าเพิกถอนไม่ได้ที่ประชาชนถือครองหรือครอบครองอยู่ให้ประชาชนเช่าได้ไหม เขาจะได้อยู่อย่างมั่นคง อยู่อย่างสบายใจ วันดีคืนดีเจ้าหน้าที่รัฐจะได้ไม่ไปคุกคาม หรือไปจับกุมเขา ถ้าเราทำได้ผมเชื่อว่าบ้านเมืองสงบ Mob จะไม่มีครับ เพราะว่า ถ้าประชาชนเขาได้ครอบครองอย่างถูกต้องตามกฎหมายผมเชื่อว่าทุกคนพร้อมที่จะเช่า การประกาศยกเลิกที่ดินของรัฐผมเข้าใจครับเป็นเรื่องที่ยาก แต่ทุกคนก็มีความใฝ่ฝัน แต่ผมอยากจะเสนอทางเลือก คือการให้ประชาชนที่ครอบครองมีสิทธิเช่าและใช้ประโยชน์ อย่างถูกต้องตามกฎหมายครับท่านประธาน ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี เขต ๔ พรรคเพื่อไทย วันนี้เรามาพูดปัญหาน้ำท่วม ท่านประธานครับ น้ำท่วมเกิดขึ้นทุกปี ในช่วงเดือนสิงหาคม เดือนกันยายน เดือนตุลาคม ก็จะท่วมแถวภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พอมาเดือนธันวาคมปลายปีหรือต้นปีก็จะลงไปท่วมที่ภาคใต้ เกิดอย่างนี้ทุกปี ผมเชื่อว่าต่อเนื่องมา ประเทศไทยเสียงบประมาณเกี่ยวกับเรื่อง ในการเยียวยาดูแลรักษาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้กับประชาชนไม่มีที่สิ้นสุดครับ ถ้าเราไม่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่ต้นเหตุ ไม่มีทางหรอกครับที่เราจะแก้ไขปัญหาได้ วันนี้ ทุกรัฐบาลผมเชื่อว่าเราแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ผมมาดูข้อมูลในช่วงปี ๒๕๕๔ เกิด การน้ำท่วมใหญ่ที่กรุงเทพฯ ผมเชื่อว่าท่านประธานคงจำได้ ในปีนั้นเกิดจากฝนตกมาก น้ำแม่น้ำเจ้าพระยาไม่สามารถที่จะรองรับน้ำที่ไหลมาจากภาคเหนือได้ เกิดจากอะไรครับ เกิดจากน้ำบนภูเขาในพื้นที่ หรือที่เราเรียกว่าเขาหัวโล้น หรือพื้นที่ที่ไม่มีต้นไม้ ไหลบ่าลงมา อย่างรวดเร็ว เราจะมีเขื่อนกี่เขื่อน มีอ่างเก็บน้ำกี่อ่างก็ตาม ถ้ามันเต็มน้ำจะไปไหนล่ะครับ ก็ต้องปล่อย ปล่อยลงปิง วัง ยม น่าน ลงมาสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ก้นเจ้าพระยาอยู่ที่ จังหวัดนครสวรรค์ อำเภอปากน้ำโพ แม่น้ำเจ้าพระยาสามารถที่จะรองรับน้ำที่ไหลได้ วินาทีละไม่เกิน ๓,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร หรือเราเรียกว่า ๓,๐๐๐ คิวเซก แต่ในปีนั้นปรากฏว่า น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีถึง ๕,๐๐๐ คิวเซก เกินมา ๒,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีโครงการหรือมีนโยบายที่จะสร้าง Floodway ขอภาพด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • มีโครงการที่จะสร้าง Floodway เห็นไหมครับ ๒ ข้างทางคือของแม่น้ำเจ้าพระยา เราเรียกว่าฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก เพื่อที่จะระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาข้างละ ๑,๐๐๐ คิวเซก เพื่อให้น้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑล น้ำที่ท่วมก็จะเกิดจากน้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นขึ้นมา วันนี้โครงการนี้ยังไม่เกิด เพราะว่าน่าเสียดายเกิดการปฏิวัติเสียก่อน ผมเชื่อว่าถ้าไม่มีปฏิวัติโครงการนี้รัฐบาล นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ทำเสร็จแล้วครับ ไม่ใช่จะมี Floodway อย่างเดียว เป็นทาง ระบายน้ำอย่างเดียวหรอกครับ ๒ ข้างทาง Floodway ยังมีถนนจากภาคตะวันตก ไปภาคเหนือ แล้วจากภาคตะวันออกไปภาคเหนืออีกด้วย โครงการนี้เป็นโครงการที่ พรรคเพื่อไทยเสนอเป็นนโยบายข้อ ๘ วรรคสอง ไว้ ผมมั่นใจว่าโครงการนี้จะเกิดกับรัฐบาลนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของคนภาคกลางและกรุงเทพฯ รวมทั้งคนปริมณฑลด้วยครับ ทีนี้น้ำท่วมเกิดจากการไหลลงอย่างรวดเร็วของพื้นที่สูงหรือพื้นที่เขาหัวโล้น สาเหตุก็คือป่าไม้ ถูกทำลาย ผมขออนุญาตที่จะเสนอในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะยาวและยั่งยืนนะครับ เราจะได้ไม่ต้องไปแก้ไขปัญหาระยะสั้นทุกปี ๆ ที่เกิดอย่างนี้นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • อันดับแรกเลยครับ โครงการแรกที่ผมจะเสนอ คือโครงการสร้างฝายชะลอน้ำ เวลาฝนตกนะครับ พื้นที่ที่ไม่มีต้นไม้หรือไม่มีสิ่งกีดขวางนี่น้ำก็จะไหลลงมาอย่างรวดเร็ว สิ่งที่สำคัญคือจะพัดพาตะกอน หรือเกิด Erosion หน้าดินลงมาอย่างรวดเร็วครับ น้ำที่ท่วม จะเห็นว่ามีสีขุ่น มีตะกอนตามมาด้วย เพราะฉะนั้นถ้าหน้าดินถูกพัดพาจากน้ำทุกปี ๆ ดินก็จะเสื่อมคุณภาพ เวลาประชาชนจะไปปลูกพืชหรือทำการเกษตรดินก็เสื่อมสภาพ ก็จะต้องใช้ต้นทุนในการปรับปรุงดินอีกจำนวนมหาศาล ถ้าเราสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อให้ น้ำไหลช้าลงน้ำก็จะซึมลงดิน ก็จะเป็นชั้นน้ำบาดาล ประชาชนก็ยังมีโอกาสที่จะได้ใช้ในฤดูแล้ง เห็นไหมครับท่านประธาน อันนี้คือฝายต้นน้ำที่ชาวบ้านเขาอุทิศตน สละเงินช่วยกันสร้างครับ หรือเรียกว่าฝายประชาอาสา ผมอยากจะเสนอรัฐบาลให้สร้างฝายในพื้นที่ต้นน้ำเพื่อให้ น้ำไหลลงในพื้นที่ต่ำหรือพื้นที่ราบให้ช้าที่สุด

    อ่านในการประชุม

  • โครงการที่ ๒ คือการปลูกหญ้าแฝก เห็นไหมครับหญ้าแฝกเป็นพืชที่ราก จะลึก ๒-๓ เมตรเลย เมื่อรากลึกก็จะยึดหน้าดินไว้ จะทำให้การพังทลายของหน้าดินน้อยลง สิ่งตามมาคือในระบบรากเวลาฝนตกมาน้ำก็จะซึมลงไปในระบบรากของหญ้าแฝก อีกด้วย อันนี้ก็จะเป็นการช่วยนะครับ ช่วยลดทอนน้ำฝนที่จะไหลลงมาสู่พื้นล่าง หรือในบ้านเรือนที่ประชาชนอาศัยอยู่ในพื้นที่ราบด้วย ถ้าเราปลูกหญ้าแฝกกันการพังทลาย ของหน้าดินนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นสุดท้าย คือการฟื้นฟูสภาพป่าบนพื้นที่เขาหัวโล้น ถ้าเรามีพื้นที่ป่า ทางภาคเหนือหรือในจังหวัดใด ๆ ก็ตามที่เป็นภูเขาหัวโล้นหรือเป็นพื้นที่สูง ถ้าเราปลูกป่า ปลูกต้นไม้ ผมเชื่อว่าการไหลของน้ำ เมื่อฝนตกลงมาก็จะช้าลง ป่าจะช่วยกักเก็บน้ำไว้ ๑. น้ำจะซึมลงใต้ดิน ๒. การไหลของน้ำก็จะช้าลง พื้นที่ที่ประชาชนอยู่ บ้านเรือนอยู่ใน พื้นที่ราบหรือข้างล่างนี่น้ำก็จะท่วมช้าลง เพราะฉะนั้นป่ามีคุณค่า มีประโยชน์ สามารถที่ กักเก็บน้ำได้จำนวนมหาศาล วันนี้จากข้อมูลของคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พื้นที่ป่าของประเทศไทยในพื้นที่ป่าอนุรักษ์สามารถกักเก็บน้ำได้ถึง ๔๐,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ถ้าเทียบง่าย ๆ ก็ประมาณ ๔ เท่าของเขื่อนภูมิพลนะครับ ถ้าเราช่วยกันสร้างป่า ปลูกต้นไม้ ผมเชื่อว่าปัญหาน้ำท่วมที่เราแก้ไขกันทุกปีก็จะหมดไป เป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ท่านประธานครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี เขต ๔ พรรคเพื่อไทย วันนี้มีเรื่องหารือ ๓ เรื่องนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ผมได้รับแจ้งจากผู้ใหญ่บ้านหนองจั่น นางสาวจุฑามาศ เวชยานนท์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๔ ตำบลหนองนกแก้ว อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ว่าเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๖ เกิดเหตุเพลิงไหม้ ขอ Slide ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ที่โรงเรียนบ้านหนองจั่น เป็นอาคาร ไม้ชั้นเดียววอดทั้งหลังครับ ปัจจุบันนี้เด็กนักเรียนชั้น ป.๑-ป.๓ ที่อาศัยเรียนอยู่ในอาคาร หลังนี้ไม่มีสถานที่เรียนต้องไปอาศัยศาลาวัดเรียน ฝากท่านประธานไปยังกระทรวงศึกษาธิการ ช่วยจัดอาคารหลังใหม่ หรือสถานที่เรียนให้กับนักเรียนด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ อ่างเก็บน้ำห้วยกระพร้อย ตำบลหนองปรือ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี ในอดีตหรือเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาเป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งที่พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นสถานที่ออกกำลังกายของประชาชนทั่วไป แต่ปัจจุบันเสื่อมโทรมไม่มีผู้ดูแลก็ฝาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลเพื่อให้สถานที่แห่งนี้เป็นพื้นที่สวยงาม และเป็นที่ท่องเที่ยว ของประชาชนโดยทั่วไปด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ จังหวัดกาญจนบุรีจะมีเขื่อนใหญ่ ๆ อยู่ ๒ เขื่อนคือ เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ ซึ่ง ๒ เขื่อนนี้เป็นเขื่อนที่สามารถกักเก็บน้ำปีหนึ่งสามารถจะเก็บน้ำ ได้เต็มครับ หมายความว่ามีประสิทธิภาพมาก เนื่องจากรับน้ำฝนจากมรสุมมาทางด้านทะเล อันดามัน ปีหนึ่งสามารถเก็บน้ำแล้วก็เอามาให้ประชาชนในรอบ ๆ กรุงเทพฯ โดยเฉพาะ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนครปฐม รวมทั้งกรุงเทพฯ เพื่อผลิตน้ำประปา แต่วันนี้จังหวัดกาญจนบุรีมีอยู่ ๓ อำเภอคือ อำเภอเลาขวัญ อำเภอห้วยกระเจา อำเภอบ่อพลอย และอำเภอหนองปรือ เป็นอำเภอที่ชาวบ้านขนานนามว่าอีสานภาคกลาง ขาดแคลนน้ำ เหลือเกิน แต่ส่งน้ำมาให้คนกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ใช้เป็นน้ำอุปโภคบริโภค วันนี้อยากจะ เรียกร้องว่า ๓-๔ อำเภอนี้ทำอย่างไรถึงจะมีน้ำใช้อย่างคนกรุงเทพฯ เพราะว่าคนกาญจนบุรี มีเขื่อนแต่ไม่ได้ใช้น้ำอยู่ ๒-๓ อำเภอที่เราเรียกว่าอีสานภาคกลาง ก็อยากฝากไปยัง กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ไปให้คนกาญจนบุรี ที่อยู่ในเขตอำเภอเลาขวัญ อำเภอห้วยกระเจา และอำเภอหนองปรือได้ใช้ประโยชน์ด้วยครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี เขต ๔ พรรคเพื่อไทย วันนี้มีเรื่องหารือ ๔ เรื่องครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ ได้รับแจ้งจากนายมงคล โพธิ์พันธุ์ นายก อบต. ตำบลหนองปลิง อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรีว่าถนนสายหนอง มะสัง-บ้านหนองใหญ่ ตำบลหนองปลิง อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี เวลากลางคืน ถนนสายนี้ไม่มีไฟฟ้าส่องสว่างประชาชนที่สัญจรไปมาเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง อยากให้ หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งไปดำเนินการติดไฟฟ้าส่องสว่างเส้นนี้ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ได้รับแจ้งจากนายสมชาย อินชา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑๕ ตำบล หนองปรือ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี ว่าถนนสายหนองใหญ่ หมู่ที่ ๑๑ บ้านเขาสน หมู่ที่ ๑๕ ตำบลหนองปรือ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี เวลากลางคืนไม่มีไฟฟ้า ส่องสว่าง ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง อยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งรัดไปดำเนินการ ติดไฟฟ้าส่องสว่างถนนสายนี้ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ ได้รับแจ้งจากนายกสิริมงคล สืบเนียน อดีตนายกเทศบาลตำบล ห้วยกระเจาว่าถนนทางเข้าหมู่บ้านสระตาโล หมู่ที่ ๑๒ ตำบลบ่อพลอย อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรีเชื่อมต่อไปยังบ้านโกรกสมอ ตำบลห้วยกระเจา อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี ยังเป็นถนนลูกรังประชาชนสัญจรไปมาลำบากมาก อยากให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเข้าไปปรับปรุงแก้ไขถนนสายนี้ด้วย

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ วันนี้ราคาสุกร โคเนื้อตกต่ำมากครับ ผู้เลี้ยงสุกรและโคเนื้อ ถือว่าขาดทุนย่อยยับครับ เพราะว่ามีสินค้าจากต่างประเทศนำเข้ามาและยังมีโคเนื้อ และสุกรเนื้อไม่สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ครับ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ ช่วยดูแลผู้เลี้ยงสุกรเนื้อและโคเนื้อของ เกษตรกรคนไทยด้วยครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนประธานสภาที่เคารพ ผม นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย ผมเห็นด้วยกับญัตติของเพื่อนสมาชิกของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลที่ได้เสนอญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการตั้งกองทุนรักษา ป่าต้นน้ำ หรือจะตั้งกองทุนใด ๆ อะไรก็ตาม แต่เป้าหมายก็คือการที่จะอนุรักษ์ไว้ซึ่งป่าต้นน้ำ ป่าต้นน้ำตามนิยามก็คือ ป่าที่อยู่บนพื้นที่สูงที่มีความต่างจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๗๐๐ เมตรขึ้นไป และเป็นพื้นที่ที่มี Slope หรือมีความลาดชัน ๓๕ เปอร์เซ็นต์

    อ่านในการประชุม

  • เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่แล้วจะเป็น พื้นที่บนภูเขาสูง นอกจากนี้ตามมติคณะรัฐมนตรีของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดิมยังกำหนดว่าป่าต้นน้ำต้องอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำ ชั้น ๑ และชั้น ๒ ตามมติคณะรัฐมนตรี วันนี้ประเทศไทยมีป่าอยู่ประมาณ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ แต่แยกเป็นป่าต้นน้ำ สักประมาณ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่ามีป่าในพื้นที่ราบอยู่ประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ อีก ๒๐ เปอร์เซ็นต์เป็นป่าต้นน้ำ อย่างเช่น ป่าดิบเขาหรือป่าดิบชื้น ป่าต้นน้ำ มันทำหน้าที่อะไรครับ มันทำหน้าที่ช่วยให้ฝนตก ป่ามันมีความชุ่มชื้นมันทำให้ฝนตก เมื่อฝนตกลงมาแล้ว มันยังทำหน้าที่แบ่งน้ำออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนที่ ๑ ที่เป็นน้ำท่า น้ำท่า หมายถึงว่าน้ำที่ไหลลงไปห้วย หนอง คลอง บึงเลย แต่มันจะไหลอย่างช้า ๆ เพราะมันมีต้นไม้ มีกิ่งไม้ มีรากไม้ที่ชะลอน้ำไม่ให้ไหลอย่างรวดเร็ว น้ำอีกส่วนหนึ่งก็จะถูกแบ่งลงไปสู่ ใต้ดิน หรือพวกเราเรียกว่าน้ำบาดาลหรือน้ำใต้ดินลงไปตามรากโคนต้นไม้ นอกจากนี้ต้นไม้ยัง ทำหน้าที่ไม่ให้เม็ดฝนที่ตกลงมาอย่างแรงหรือเบาก็ตาม ไม่ไปทำลายเม็ดดินให้ไหลบ่าลงมา ในห้วย หนอง คลอง บึง เพราะฉะนั้นเม็ดดินมันจะถูกยึดไว้ด้วยรากไม้ เม็ดฝนที่ตกลงมา ถ้าไม่มีรากไม้ ไม่มีต้นไม้ จะทำให้ดินแน่น ดินก็จะไม่มีปุ๋ย ไม่มี Humus เพราะฉะนั้นต้นไม้ หรือป่าต้นน้ำมันมีมูลค่ามหาศาล นอกจากนี้ในพื้นที่ ๑ ไร่ ป่าต้นน้ำสามารถที่จะเก็บน้ำได้ ๗๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อ ๑ ไร่ เพราะฉะนั้นป่าต้นน้ำจึงมีความสำคัญอย่างมหาศาล แต่วันนี้ ป่าต้นน้ำเราถูกบุกรุก ถูกทำลายไปเป็นจำนวนไม่น้อยเลย การที่ป่าต้นน้ำถูกทำลายไป สิ่งแรกที่ทำให้ระบบนิเวศของป่าต้นน้ำเสีย เมื่อระบบนิเวศเสีย ความสมดุลของธรรมชาติ มันก็จะไม่เกิด สิ่งแรกที่เรามักจะเห็นก็คือ การไหลบ่าของน้ำอย่างรวดเร็วที่ไม่มีต้นไม้หรือไม่มีป่าชะลอ การไหลของน้ำ การศึกษาของสำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชว่า ถ้าไม่มีต้นไม้น้ำจะไหลเร็วกว่าปกติ ๔๒ เปอร์เซ็นต์ ถ้ามีแล้วยังสามารถที่จะ กักเก็บน้ำได้ เพราะฉะนั้นเมื่อน้ำไหลเร็วแล้วน้ำใต้ดินก็ไม่มี ปัญหาจะเกิดความแห้งแล้ง ความชุ่มชื้นไม่มี ความแห้งแล้งก็ตามมา ปัญหาก็คือ ไฟป่า หมอกควัน PM2.5 สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นให้รัฐบาลทุกรัฐบาลแก้ไขทุกปี วันนี้เราเสียเงินเกี่ยวกับเรื่องแก้ไข ปัญหาต่าง ๆ ให้กับพี่น้องประชาชน สาเหตุหลักใหญ่ก็คือการถูกทำลาย การที่ไม่มีป่าต้นน้ำ เพราะฉะนั้นผมเห็นด้วยกับญัตติของเพื่อนสมาชิกที่จะแก้ไขปัญหาป่าต้นน้ำให้ยั่งยืน แล้วก็ คงอยู่ไว้กับประเทศไทยชั่วกาลนาน ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม