กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางเทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ดิฉันขอร่วมสนับสนุนอภิปรายญัตติเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้ง จากปรากฏการณ์ El Nino เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาภัยแล้งตามที่เพื่อนสมาชิก หลาย ๆ ท่านได้เสนอญัตติรวมกันแล้วประมาณ ๑๐ ญัตตินั้น ก่อนที่จะอภิปราย แต่เหตุการณ์ปัจจุบันนี้มันไม่ใช่ภัยแล้งแล้วค่ะ เป็นน้ำท่วม น้ำท่วมเกิดขึ้นทางภาคอีสาน หลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดอุดรธานี เมื่อวานนี้ท่านวัชระพล ขาวขำ ก็ได้อภิปราย ในสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว สาเหตุมาจากการบริหารการจัดการน้ำ วันนี้ก่อนที่จะอภิปราย ก็ขอขอบคุณทางสภาผ่านไปยังจังหวัดอุดรธานี ขอบคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ขอบคุณ ท่านนายก อบจ. ขอบคุณ ปภ. และหัวหน้าส่วนราชการทุกส่วน ทั้ง อปท. ทุกส่วน จังหวัดอุดรธานีได้ประชุมร่วมกันแก้ปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดอุดรธานีมาแล้ว ๒ วัน ต้องขอบคุณมากค่ะ
ท่านประธานคะ ปัญหา El Nino คือปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตามที่องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกประกาศเตือนให้แต่ละประเทศเตรียมการรองรับภัยแล้ง จะเกิดขึ้นในปี ๒๕๖๗ ถึงปี ๒๕๖๘ นี้นั้น หมายถึงว่าจะมีปัญหาภัยแล้งเกิดขึ้น ในสภาแห่งนี้ พี่น้องหรือเพื่อน ๆ สมาชิกหลาย ๆ ท่านก็ได้พูดกันถึงแนวทาง ถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น ถึงวิธีการแก้ปัญหาต่าง ๆ เพื่อน ๆ สมาชิกก็ได้นำเสนอหลาย ๆ แนวทาง ก็ฝากให้สภา เป็นแนวทางที่จะต้องเข้ามาแก้ปัญหา แต่สำหรับตัวดิฉัน El Nino ซึ่งได้ความหมายมาว่า ก็คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีผลกระทบต่อปัญหาภัยแล้ง จะส่งผลกระทบ ทำให้ขาดแคลนน้ำบริโภคและอุปโภค น้ำเพื่อการเกษตร และขาดน้ำเพื่ออุตสาหกรรม อย่างรุนแรง เขาบอกว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ไทยก็ว่าได้ภายใน ๒ ปีนี้ ดิฉันได้อ่านญัตติของแต่ละท่านแล้ว หลาย ๆ ฉบับ แล้วก็อ่านการวิเคราะห์ มีความรู้สึกเป็นห่วงพี่น้องประชาชนคนไทยที่จะต้อง เจอปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ใน พ.ศ. ๒๕๖๗ และ พ.ศ. ๒๕๖๘ ก็จะส่งผลกระทบ ให้อาชีพการเกษตร ปศุสัตว์ อุตสาหกรรม โรงงานต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบมาก โรงงาน ถ้าขาดน้ำไป ๑-๒ วัน โรงงานก็ต้องหยุดกิจการ ก็ส่งผลกระทบทางธุรกิจ ด้านการเกษตรถ้า ขาดน้ำไป ๑-๒ วัน ข้าวในนา พืชไร่ ผลไม้ในสวนต้องเหี่ยวแห้งเฉาตาย ก็จะส่งผลกระทบต่อ ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก คงจะเหลือเพียงคราบน้ำตาของพี่น้องชาวไร่ชาวนา เกษตรกร ไทย
ขณะเดียวกันพอเราพูดถึงปัญหาภัยแล้งเกิดขึ้น ภัยแล้งนี่ก็พูดกันมาตลอด ทุกยุคทุกสมัย พูดกันมาตลอดเป็นสิบ ๆ ปี ดิฉันถือว่าถ้าจะใช้คำพูดว่าแล้งซ้ำซากก็ว่าได้ ดิฉันได้ลงพื้นที่ในจังหวัดอุดรธานี ขอยกตัวอย่างจังหวัดอุดรธานีก็จะไปเจออ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ ลำห้วย อุดรธานีมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่หลายอ่าง มีลำห้วยก็หลายลำห้วย เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง อ่างเก็บน้ำห้วยทราย อ่างเก็บน้ำพาน ที่อำเภอสร้างคอม อ่างเก็บน้ำหนองหาน อำเภอกุมภวาปี ทำไมดิฉันถึงพูดอย่างนี้ ลำห้วยน้ำโสม ลำห้วยลา ลำห้วยน้ำฟ้า เพราะว่าอะไรน้ำมันถึงท่วม ดิฉันจะพูดให้ฟังว่าทำไมอุดรธานีถึงน้ำท่วม ก็เพราะว่าอ่างเก็บน้ำไม่สามารถจะเก็บน้ำฝนที่ฝนตกหนักติดต่อกัน ๒-๓ วัน ไม่สามารถจะ เก็บน้ำฝนตกได้ เพราะในอ่างเก็บน้ำนั้นมีวัชพืชอยู่หนาแน่น บางคนเขาบอกว่าไปเล่น ฟุตบอลได้เลย อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง อ่างเก็บกุดลิงง้อ อ่างเก็บน้ำห้วยทราย อ่างเก็บน้ำพาน แล้วก็ไม่ได้ขุดลอก ฝนตกมาชะล้างดินเข้าไปก็ตื้นเขินก็ไม่สามารถจะเก็บน้ำได้ น้ำก็ต้อง ไหลบ่าก็ลงมาตามถนนหนทาง ตามร่องน้ำก็เกิดน้ำท่วม นี่ละค่ะทำให้น้ำไม่สามารถจะเก็บไว้ ใช้ได้ในฤดูแล้ง ดิฉันรู้สึกเป็นห่วงอย่างมากเลยสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นเกี่ยวกับ เรื่องภัยแล้ง ซึ่งพูดกันอยู่ตลอดเวลาเรื่องภัยแล้ง และวันนี้ก็ได้รับโทรศัพท์ประชาชนถามว่า ที่สภาอภิปราย El Nino มันคืออะไรกัน ทางภาคอีสานไม่ค่อยเข้าใจ เมื่อวานนี้ท่านธีระชัย แสนแก้ว ก็บอกว่าถ้าอธิบายง่าย ๆ El Nino ก็คือสถานการณ์เห็ดระโงก ท่านประธาน รู้จักไหมคะ ปรากฏการณ์เห็ดระโงก ภาคอีสานนี่คำว่า เห็ดระโงก หมายถึงดินแตกแห้ง เขาเรียกว่าระแหงเลยละค่ะ เป็นรอยเลย พอพื้นดินมันแห้งแล้วนี่แห้งและแล้ง ไฟป่าก็ไหม้ และขณะเดียวกันเห็ดก็ไม่เกิด เป็นอาหารที่ดีอุดมสมบูรณ์ มีเห็ด มีผักหวาน มีหน่อไม้ มีอาหารธรรมชาติ มีดอกกระเจียว พืชต่าง ๆ ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นดิฉันก็ขอเสนอ แนวทางที่จะมาแก้ปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนี้ ก็ขอให้กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน หรือกรมฝนหลวงและการบินเกษตร หรือกรมส่งเสริม การเกษตรบูรณาการกัน โดยเฉพาะกรมชลประทานก็เร่งรัดพิจารณาตรวจสอบแหล่งน้ำ ที่ตื้นเขิน ที่มีวัชพืชมาก ตามอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ในจังหวัดอุดรธานี แล้วก็ขอให้ขุดลอก และซ่อมแซมประตูกั้นน้ำ ก็ขอให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเตรียมแผนขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล หาแหล่งน้ำใต้ดินมาบริการพี่น้องประชาชน สทนช. สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติวางแผน ในการบริหารจัดการน้ำอย่างจริงจัง อย่างเป็นระบบตามที่ สส. วัชระพล ขาวขำ ได้นำเสนอ เมื่อวานนี้ ดิฉันขอสนับสนุนการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญด้วยค่ะ กราบขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน เทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ดิฉันขอร่วมอภิปรายรับทราบรายงานของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และสำนักงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ผ่านไปยังผู้ชี้แจงในวันนี้นะคะ ท่านประธานคะ ดิฉันมี ความสนใจเรื่องกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในรายการที่ปรากฏอยู่ในหน้า ๕๒-๖๓ เกี่ยวกับ กองทุนพัฒนาไฟฟ้าจัดตั้งขึ้นในสำนักงาน กกพ. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนในการสนับสนุน ให้บริการไฟฟ้าไปยังท้องถิ่นต่าง ๆ อย่างทั่วถึง เพื่อให้ประชาชนได้มีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ เป็นการกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่นต่าง ๆ กองทุนนี้ยังมีวัตถุประสงค์ให้ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและใช้เทคโนโลยีในการประกอบ กิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ท่านประธานคะ ดิฉันเห็นว่าในมาตรา ๙๗ (๓) คือการพัฒนา หรือฟื้นฟูสู่ท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นเรื่อง ที่เชื่อมโยงโดยตรงกับท้องถิ่นของดิฉันคือจังหวัดอุดรธานี ในพื้นที่อำเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญมีหลายบ่อ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผลิตแก๊สธรรมชาติ ที่จะต้องบริการหรือให้ใช้ในภาคอีสาน ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุด เขาเรียกว่า โครงการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม ซึ่งตั้งอยู่บนแปลงสัมปทานในพื้นที่อำเภอหนองแสง คลุมไปยังจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดขอนแก่น ในปริมาณ ๒๓๒.๒ ตารางกิโลเมตร ซึ่งเริ่มผลิตแก๊สครั้งแรกในปี ๒๕๔๙ ชนิดของปิโตรเลียมนี้ก็เป็นแก๊สธรรมชาติชนิดเหลว โดยส่งแก๊สไปยังสถานีแก๊สธรรมชาติภูฮ่อม ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ผ่านระบบท่อซึ่งมีความยาวทั้งสิ้น ๖๔ กิโลเมตร แหล่งก๊าซธรรมชาติภูฮ่อมนี้มีปริมาณ การผลิตก๊าซธรรมชาติเฉลี่ย ๙๐ ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และก๊าซธรรมชาติเหลวเฉลี่ย ๒๖๐ บาร์เรลต่อวัน ที่ผ่านมาก็มีการสำรวจ ศึกษา ขุดเจาะหลุมแก๊สเพิ่มอยู่ตลอดเพื่อบริการ ความต้องการการใช้พลังงานในพื้นที่ของภาคอีสาน โดยเฉพาะ ๑๖ จังหวัดภาคอีสาน ที่ผ่านมาในการขุดเจาะบริการพี่น้องภาคอีสาน แล้วในการขุดเจาะนี้ก็จะต้องมีการจ่าย ค่าภาคหลวง ซึ่งเริ่มจ่ายค่าภาคหลวงมาในปี ๒๕๖๐ จนถึงปี ๒๕๖๓ เงินจ่ายค่าภาคหลวง ๓ ปีนี้ได้ประมาณ ๒,๔๐๐ ล้านบาท แบ่งการจัดสรรเป็นรายได้แผ่นดิน ๙๗๐ ล้านบาท แต่จัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีก ๑,๔๕๐ ล้านบาท ดิฉันเห็นว่าในการจัดสรร ค่าภาคหลวงแหล่งแก๊สธรรมชาติอันนี้ ดิฉันดูแล้วว่ายังไม่เป็นธรรมต่อพี่น้องประชาชน จังหวัดอุดรธานี เพราะว่าบ่อหลุมแก๊สนี้อยู่ที่จังหวัดอุดรธานี อำเภอหนองแสง แต่ว่า ผ่านท่อไปที่จังหวัดขอนแก่นเป็นแหล่งกระจายอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น แต่เวลาแบ่งให้ จังหวัดอุดรธานีก็ไม่เท่ากับจังหวัดขอนแก่น อยากจะขอฝากท่านประธานผ่านไปยังผู้ชี้แจงว่า ขอให้ทบทวนกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรค่าภาคหลวง ขอให้ทบทวนนะคะ หากติดขัด ระเบียบข้อปฏิบัติดิฉันคิดว่ามันน่าจะแก้ไขข้อปฏิบัติเสียใหม่ได้นะคะ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ต่อพี่น้องประชาชนในจังหวัดอุดรธานี
และเรื่องที่ ๒ ดิฉันขอฝากแล้วก็ตั้งข้อสังเกตว่าทราบมาว่าพบสารระเหย แล้วก็ขอให้ช่วยเร่งรัดในการตรวจสอบคุณภาพอากาศให้ได้มาตรฐาน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบ กับสิ่งแวดล้อม เป็นการป้องกันปัญหาด้านสุขภาพให้พี่น้องประชาชนจะได้ปลอดภัย แล้วก็ ขณะเดียวกันทั้งมีแก๊สอยู่ในจังหวัดอุดรธานี มีปิโตรเลียมในจังหวัดอุดรธานี พี่น้องประชาชน ก็ยังบ่นว่าในพื้นที่มีปัญหาไฟดับอยู่บ่อย ๆ ไฟไม่พอใช้ในครัวเรือน ไม่พอใช้ในด้านการเกษตร ดิฉันก็เลยต้องบอกว่าขออนุญาตแจ้งในที่นี้นะคะ แจ้งพี่น้องประชาชนคนไทยทุก ๆ ท่านค่ะ ตามที่เพื่อน สส. ได้พูดไปแล้วหลายท่าน เช่น ท่านบุญแก้ว สมวงศ์ ก็พูดไปแล้วว่า ท่านนายกรัฐมนตรีคนที่ ๓๐ และคณะรัฐบาล ถ้าประชุม ครม. นัดแรกจะประกาศทันที ในการลดค่าพลังงานเป็นค่าไฟ ลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน ค่าแก๊สหุงต้มทันทีค่ะ ก็ขอให้พี่น้อง อดใจรออีกสักนิด วันนี้ดิฉันเองก็ขอขอบคุณคณะกรรมการที่มาชี้แจงจนได้เวลาดึกดื่น ๓ ทุ่มกว่าแล้ว ต้องขอบคุณคณะกรรมการทุก ๆ ท่านนะคะ ขอบคุณค่ะ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน เทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ดิฉันขอนำความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในจังหวัดอุดรธานี มาหารือกับ ท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่องที่ ๑ ดิฉันได้รับการร้องเรียนจากพี่น้อง บ้านหยวก อำเภอน้ำโสม เรื่องคัดค้านการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งพื้นที่ที่จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำนี้ติดกับพื้นบ้านหยวก ตำบลบ้านหยวก อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี มันติดกับพื้นที่ที่ทับกับพื้นที่ของพี่น้องประชาชนที่เป็นแหล่งทำมาหากิน ของพี่น้องประชาชน พี่น้องจึงแสดงความคัดค้านไม่เห็นด้วยที่จะต้องสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ ตำบลบ้านหยวก อำเภอน้ำโสม ดิฉันจึงขอฝากท่านประธานผ่านไปยังกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพิจารณาดำเนินการด้วยค่ะ
เรื่องที่ ๒ ขอฝากท่านประธานผ่านไปยังกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ซึ่งมีถนนสำคัญ ๆ เป็นถนนสายหลักที่พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะข้าราชการ และการท่องเที่ยวสัญจรมากก็คือถนนหมายเลข ๒๓๔๘ ซึ่งเป็นถนนเชื่อมไปจังหวัด หนองคายก็ได้ เป็นถนนเพื่อการท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ถนนเส้นนี้คับแคบ แล้วก็ไม่มีไฟฟ้าแสงสว่าง ช่วงบ้านน้ำทรง บ้านโคกน้อยน้ำ ตำบลน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี และบ้านวังบง บ้านโนนศิลา บ้านวังแคร่ ตำบลนาแค อำเภอนายูงนะคะ และเส้นที่ ๒ ถนนหมายเลข ๒๓๗๖ ช่วงบ้านนาสมนึก ตำบลนายูง อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี ช่วงถนน แถวนี้ที่ดิฉันเอ่ยนามนี้ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อย ๆ จึงขอให้ท่านประธาน ผ่านไปยังกรมทางหลวงได้จัดสรรงบประมาณได้ก่อสร้างและซ่อมแซมขยายไหล่ทางและติด ไฟฟ้าแสงสว่างด้วยนะคะ
เรื่องที่ ๓ ดิฉันขอฝากท่านประธานผ่านไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทย ดิฉันทวงถามมาหลายครั้งแล้วเกี่ยวกับเรื่องขยายจุดตัดทางรถไฟ ช่วงบ้านโนนงาม ตำบลบ้านขาว อำเภอเมือง ซึ่งเป็นที่คอขวดคับแคบมาก ทางเข้าขยาย ๔ เลน ทางออก ขยาย ๔ เลย แต่ตรงทางรถไฟที่เหลืออยู่ ๒ เลน แล้วก็เกิดปัญหาอุบัติเหตุรถชนกัน อยู่บ่อย ๆ ขอฝากท่านประธานผ่านไปการรถไฟแห่งประเทศไทยด้วยนะคะ
เรื่องที่ ๔ ค่ะขอแถมอีกสักเรื่องนะคะท่านประธาน ดิฉันได้รับการร้องเรียน จาก อบต. นาแค อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี ให้ดิฉันทวงถามหลายครั้งแล้วเกี่ยวกับ เรื่องการจัดสรรงบประมาณก่อสร้างโครงการเรียงหินกล่อง Gabion ลำห้วยลาง ไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งสืบเนื่องมาจากเกิดพายุโนรู เมื่อปี ๒๕๖๔ จนป่านนี้ยังไม่ได้จัดสรรงบประมาณดำเนินการแก้ปัญหาตลิ่งพังให้กับพี่น้อง ประชาชน ขอบคุณค่ะท่านประธาน
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางเทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี เขต ๑๐ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ดิฉันขอมีส่วนร่วมอภิปรายรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงิน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๐ และรายงานการประเมินผลการใช้จ่ายเงิน และทรัพย์สินสำหรับการสิ้นสุดวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ ของสำนักงานคณะกรรมการ การเลือกตั้ง โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตามที่ผู้ชี้แจงโดยสำนักงานการตรวจเงิน แผ่นดิน แล้วก็ตัวแทนจากคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ชี้แจง ดิฉันมีข้อสังเกต ๒-๓ ประเด็น ดังนี้ค่ะ
ดิฉันเข้าไปดูกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองที่จัดสรรให้พรรคการเมือง ดำเนินการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือ สนับสนุน และพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นสถาบัน ทางการเมืองที่ยั่งยืน แล้วก็สร้างพรรคการเมืองและสาขาให้มีความเข้มแข็ง ให้มีเครือข่าย สถาบันพรรคการเมืองมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะเห็นว่ากองทุนนี้เป็นกองทุนที่มีภารกิจ ที่สำคัญจะต้องสร้างการปกครอง การดำเนินการต่าง ๆ ให้เป็นระบอบประชาธิปไตย ดิฉันเห็นว่าการจัดสรรงบประมาณนี้ ยังไม่ค่อยสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ดิฉันจึงขอเรียนถามท่านประธานผ่านไปยังผู้ที่ชี้แจง และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. ว่าจะมีทางเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเพิ่ม งบประมาณให้กับกองทุนพัฒนาการเมือง เพื่อจัดสรรให้พรรคการเมืองต่าง ๆ ได้ดำเนินการ อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง เพื่อสามารถทำตามอุดมการณ์ ที่ให้ไว้กับพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่นะคะ แล้วท่านจะนำงบประมาณรายจ่ายแต่ละปีของ กกต. มาใช้สนับสนุนพรรคการเมืองเพิ่มขึ้นอีกไหมคะ
อีกเรื่องหนึ่ง ดิฉันจะขอเรียนถามท่านประธานผ่านไปยังผู้ที่ชี้แจงนะคะ เกี่ยวกับเรื่องเงินบริจาคภาษีที่พี่น้องประชาชนตั้งใจจะบริจาคสมทบและช่วยเหลือ พรรคการเมือง ที่เขารักถึงบริจาคให้พรรคการเมืองของเขา โดยไม่ผ่านพรรคการเมือง เพราะฉะนั้นอยากจะถามว่าถ้าการบริจาคไม่ผ่าน กกต. จะมีเงื่อนไขอย่างอื่นได้หรือไม่ ไม่ผ่าน กกต. จะมาผ่านบริจาคพรรคการเมืองโดยตรงนี้ได้ไหม มีเงื่อนไขอย่างไร ดิฉันก็ขอฝากทางท่าน สตง. ได้แนะนำให้ กกต. ได้เสนอแก้ไขกฎหมาย หรือระเบียบ การปฏิบัติ หรือเงื่อนไขการใช้ลดลงได้ไหม เพื่อให้มันสอดคล้องของพรรคการเมือง เพื่อสนับสนุนให้พี่น้องประชาชนได้อย่างอิสระนะคะ
อีกประเด็นหนึ่ง จากรายงานฉบับนี้ดิฉันได้เข้าไปดูหมายเหตุที่ ๒๗ คดีฟ้องร้อง โดยเฉพาะส่วนที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. ที่ถูกฟ้อง ซึ่งท่านได้ตั้ง งบประมาณในส่วนนี้ไว้ ๒๓๗ ล้านบาท ทั้งคดีการปกครอง ๕ คดี และคดีแพ่งอีก ๕ คดี ดิฉันขออนุญาตเรียนถามท่านประธานผ่านไปยังผู้ที่ชี้แจงและสำนักงานคณะกรรมการ การเลือกตั้งหรือ กกต. ว่าคดีต่าง ๆ ที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว แล้วก็แพ้คดีแล้วนะคะ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. วางแนวทางการฟ้องหรือไล่เบี้ยเจ้าหน้าที่ ในการปฏิบัติที่เกิดความเสียหาย ไม่ว่าจะกระทำแบบจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดชอบและละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ไว้อย่างไร และที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ไล่เบี้ยเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ เกิดความเสียหายมาแล้วจำนวนเท่าไรคะ รวมคดีการเลือกตั้งที่เป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหาย ทั้งหมด ๒๐ คดี มีทุนทรัพย์ตามที่ฟ้อง ๓,๐๐๐ กว่าล้านบาท ดังนั้นดิฉันก็ขอฝากท่านประธาน ผ่านไปยังผู้ชี้แจงหรือสำนักงาน กกต. ด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางเทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี เขต ๑๐ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ดิฉันขอร่วมอภิปรายรับทราบรายงานผู้สอบบัญชี และรายงาน การเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ปี ๒๕๖๔ ตามพระราชบัญญัติ มาตรา ๔ กองทุน ก็หมายถึงกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เกษตรกร ก็หมายถึงผู้ประกอบการด้านเกษตรกรรม
ประเด็นที่ดิฉันขอร่วมอภิปรายนะคะท่านประธาน เกี่ยวกับเรื่องกองทุน สงเคราะห์ อันนี้ดิฉันมีข้อสนใจ ให้ความสนใจอย่างยิ่ง เพราะกองทุนฉบับนี้ รายการนี้ เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกรอย่างมาก เพราะเปิดโอกาสให้เกษตรกรสามารถเข้าถึง แหล่งเงินทุนเข้ากู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ และเป็นการช่วยเหลือสนับสนุนเป็นเงินทุนหมุนเวียน ในการใช้จ่ายประกอบอาชีพของกลุ่มพี่น้องเกษตรกร ดิฉันมีข้อสังเกตและจะขออนุญาต ยกตัวอย่างปัญหาที่จังหวัดอุดรธานี ของจังหวัดอุดรธานีมีกลุ่มเกษตรกรให้ความสนใจ กับกองทุนนี้มากเกือบ ๒๖ กลุ่ม ซึ่งก็ทำรายการขอกู้กับกองทุน แต่ดิฉันเองก็ไม่ทราบว่า ติดปัญหาอะไรถึงไม่ผ่าน ๒๖ กลุ่ม เขาก็บอกว่ากองทุนที่จังหวัดอุดรธานี ที่ผ่านสหกรณ์ จังหวัดอุดรธานี ได้รับเงินเพียง ๑๐ ล้านบาท ดิฉันว่าก็เพียงพอน้อยนิด เพราะว่าประชาชน ในจังหวัดอุดรธานี ๑,๕๐๐,๐๐๐ กว่าคน แล้วมีผู้สนใจ ๒๖ กลุ่ม ดิฉันคิดว่าคงไม่เพียงพอ ในการช่วยเหลือและสนับสนุนพี่น้องเกษตรกรเป็นทุนในการประกอบอาชีพได้ ดิฉันจึง ขอฝากท่านประธานผ่านไปยังผู้ชี้แจงที่เกี่ยวข้องว่ากองทุนสนับสนุนการเกษตร สงเคราะห์ การเกษตรนี้มันสำคัญนะคะ เป็นไปได้ไหมเพิ่มวงเงินให้พี่น้องเกษตรกรที่สนใจทั้งประเทศค่ะ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการส่งเสริมอาชีพหรือประกอบอาชีพของครัวเรือนได้
ประเด็นที่ ๒ เกี่ยวกับเรื่องโครงสร้างของหน่วยงาน ซึ่งโครงสร้างของ หน่วยงานที่ถ่ายโอนภารกิจจากกรมส่งเสริมการเกษตรมายังกรมส่งเสริมสหกรณ์ ทำให้พี่น้อง เกษตรกรหนักใจนะคะ ไม่สามารถจะชำระหนี้ได้ตามกำหนดเวลา ปัญหาจึงตกอยู่กับผู้ที่ ค้ำประกัน ผู้ที่จะค้ำประกันของกลุ่มเกษตรกรที่เป็นหลักประกันก็คือ คณะกรรมการเกษตรกร เป็นผู้ค้ำประกัน จึงจะต้องรับผิดชอบหนี้แทนกองทุนเกษตรกร ปัญหาที่ดิฉันได้พบกรณี กลุ่มเกษตรกรที่ผิดชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันมีการชำระหนี้แทนเกษตรกรแล้ว ก็ทำให้มีเงิน จำนวนหนึ่งเกินเงินต้นตามสัญญาหรือตามคำพิพากษา แต่ไม่สามารถลดหนี้ได้เพราะอำนาจ การอนุมัติให้ลดหนี้ อำนาจอยู่ที่ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ผ่านมาดิฉันขอยกตัวอย่าง จังหวัดอุดรธานี ได้ดำเนินการขอลดหนี้ในกรณีกลุ่มเกษตรกรแล้ว ใช้ชำระหนี้เกินเงินต้น ตามสัญญาไปแล้วแต่ก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติแต่อย่างใด ดิฉันเห็นว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญ
อีกประเด็นหนึ่ง ดิฉันคิดว่าเรื่องเงินกู้ ของกองทุนสหกรณ์การเกษตร ที่สำคัญมีข้อสังเกตระยะเวลาการกู้เงินของกองทุน ในหน้า ๑๓ หมายเหตุที่ ๗ เรื่องเงินกู้ยืมระยะสั้น ให้กู้เงินกับเกษตรกรที่จะกู้เป็นกลุ่ม กำหนดระยะเวลาคืนชำระหนี้สั้นเหลือเกินเพียง ๑ ปี เงินกองทุนนี้เป็นเงินสงเคราะห์ เกษตรกร ทำไมถึงมีระยะเวลาชำระหนี้ภายใน ๑ ปี ดิฉันยกตัวอย่างพี่น้องเกษตรกร จังหวัดอุดรธานีที่มีอาชีพปศุสัตว์ ที่เลี้ยงโคเนื้อ โคนม หรือว่ากระบือ เดี๋ยวนี้กระบือเป็นที่ สนใจของพี่น้องประชาชนไม่ว่าจะเป็นประเภทเนื้อ หรือกระบือสวยงาม กำลังเป็นประเด็นที่ สนใจของเกษตรกร อันนี้ในประเภทปศุสัตว์นี้จะต้องใช้เวลาเลี้ยงประมาณ ๓ ปี ถึงจะขาย ได้เงินมาชำระหนี้ได้ ดิฉันเห็นว่าเงื่อนไขการชำระเงินมันไม่สอดคล้องแล้วก็ไม่เหมาะสม กับการส่งเสริมอาชีพด้านปศุสัตว์กับพี่น้องเกษตรกรเลย เพราะระยะเวลามันสั้นเหลือเกิน จะต้องรีบชำระหนี้ภายใน ๑ ปี
ประเด็นสุดท้าย ดิฉันขอฝากท่านประธานผ่านไปยังผู้ชี้แจง ในหน้า ๑๕ หมายเหตุที่ ๑๓ ภาระผูกพันนะคะ ในรายงานฉบับนี้บอกถึงภาระผูกพันกองทุนสงเคราะห์ เกษตรกรว่ามีภาระผูกพันกับหน่วยงานของรัฐและองค์กรเกษตรที่เกิดจากโครงการที่ผ่าน การอนุมัติจากมติคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการสงเคราะห์การเกษตร แต่ยังไม่ได้ เบิกจ่ายเงินอีก ๒๓ ล้านบาท ข้อมูล ณ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ ดิฉันจึงอยากเรียนถาม ผ่านท่านประธานไปยังผู้ชี้แจง หรือผู้เกี่ยวข้องว่าตอนนี้มีการเบิกจ่ายเงินไปแล้วกี่โครงการ และมีโครงการใดบ้างที่ยังไม่ได้รับการเบิกจ่ายเงิน เหตุใดยังไม่มีการเบิกจ่ายเงินดังกล่าว ทั้งทีได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว และได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการสงเคราะห์ เกษตรกรแล้วค่ะ ขอบคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางเทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ดิฉันขอร่วมอภิปรายเพื่อแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะในวาระ รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ประจำปี ๒๕๖๕ ก่อนอื่นดิฉันต้องขอชื่นชมกับรายงานเล่มนี้นะคะ ทำได้ละเอียดมาก ดิฉันได้อ่านรายงาน ผลการปฏิบัติงานทั้งหมดนี้คงไม่ครบทุกหน้านะคะ ก็ได้บางประเด็นค่ะ ดิฉันได้พบว่า ผลการตรวจเงินแผ่นดินในภาพรวมของปี ๒๕๖๕ ก็ยังมีหน่วยงานทั้งส่วนราชการ ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐ กองทุนหมุนเวียน หรือหน่วยงานอื่น ๆ ได้จัดทำรายการการเงินไม่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีของภาครัฐ แล้วก็นโยบายบัญชี รับรองทั่วไป ตามรายละเอียดปรากฏในหน้า ๑ และหน้า ๒ ของสำนักงานการตรวจเงิน แผ่นดินที่ได้แจ้งข้อบกพร่องไป พร้อมทั้งข้อเสนอแนะให้แก้ไขแล้วก็ควบคุมกำกับเพื่อไม่ให้ เกิดขึ้นอีก อันนี้ดิฉันเห็นด้วย ขอชื่นชมนะคะ แล้วดิฉันเองก็ได้รับเสียงสะท้อนจาก ส่วนราชการว่าขณะนี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือส่วนราชการจะเรียกว่า สตง. บางคนเขาบอกว่าจะกลัว สตง. ถ้า สตง. เข้าส่วนราชการจะมีความรู้สึกกลัว แต่เดี๋ยวนี้ ปัจจุบันนี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือ สตง. ปัจจุบันนี้เขาทำหน้าที่เชิงรุกแบบใหม่ เป็นการให้ความรู้ ตรวจสอบโดยการให้ความรู้ ให้คำแนะนำ คำปรึกษา ข้อเสนอแนะ ไม่ได้ เข้าไปตรวจส่วนราชการเพื่อการจับผิดนะคะ อันนี้ดิฉันต้องขอชื่นชมที่ท่านทำแนวทาง การปฏิบัติช่วยเหลือขององค์กรส่วนราชการได้ดีตามรายงานในหน้า ๑๕๗ และหน้า ๑๕๘ ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่วางแผน วางนโยบายในการตรวจเงินให้ประสบ ผลสำเร็จให้เป็นแนวการปฏิบัติในการทำงานเป็นไปตามกฎหมายของหน่วยงาน แล้วดิฉัน ก็พบว่าในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ก็มีหน่วยงานที่ตรวจรับการใช้บริการแล้ว ๙๙ เรื่อง มันน้อยไปไหมคะ ก็อยากจะเสนอให้ท่านได้ประชาสัมพันธ์หน่วยงานที่ผู้รับการตรวจสอบ ๙,๔๗๑ หน่วยงาน ให้ทราบ เพื่อลดข้อผิดพลาด ข้อบกพร่องในการรักษาเงินของแผ่นดินเป็นอย่างดีนะคะ
ซึ่งอีกประเด็นหนึ่ง ดิฉันก็ได้ให้ความสนใจในเรื่องของการให้ความรู้นะคะ เป็นโครงการของ สตง. ในการส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงานของหน่วยงาน ดังปรากฏในรายงานหน้า ๕ และหน้า ๑๕๑-๑๖๓ เช่น โครงการสัมมนา เรื่อง เปิดใจ ไขปัญหา ท้องถิ่นถามมา สตง. ตอบไป วินัยการเงินการคลังของรัฐ เป็นการเสวนา Online ค่ะท่านประธาน มีผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนา ๓,๑๕๗ คน และอีกโครงการ ๑ โครงการสัมมนา เชิงวิชาการ เรื่อง ดำเนินการเกี่ยวกับความผิดวินัยการเงินและการคลัง เรื่อง การดำเนินการ เกี่ยวกับความผิดวินัยการเงินและการคลังนี้เป็นเรื่องใหม่ใกล้ตัวผู้บริหารนะคะ แล้วก็บอกว่า เป็นโครงการที่ฟังไว้ห่างไกลความผิดซึ่งจัดทำสัมมนาสำหรับผู้บริหารเข้าร่วม ๔,๐๘๗ คน ตลอดปี ๒๕๖๕ จะเห็นได้ว่าทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ได้จัดสัมมนา เพียง ๒ ครั้ง แล้วมีคนสนใจ ๗,๐๐๐ กว่าคนนะคะ จะเห็นได้ว่าผู้ที่เข้าร่วมเขาอยากมีความรู้ อยากพัฒนาตัวเองสำหรับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบนี่ เขาก็อยากทำให้ถูกต้อง ไม่อยากให้มี ข้อผิดพลาด ดิฉันจึงขอเสนอให้ สตง. จัดอบรมจะโดยวิธีไหนก็ได้ค่ะ จะจัดอบรมตามภาค ของ สตง. หรือจะอบรม Online หรือ Video Conference อยากจะขอให้จัดบ่อย ๆ ทบทวนบ่อย ๆ เพราะว่าระเบียบ กฎหมาย กติกา แนวการปฏิบัติจะมีเป็นระเบียบข้อปฏิบัติ เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลาค่ะท่าน ดิฉันก็ขอฝากทางหน่วยงาน สตง. เพิ่มการจัดอบรมสัมมนา กับหน่วยงานของส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขึ้นมาก ๆ นะคะ
อีกประเด็นหนึ่งค่ะ เป็นประเด็นเกี่ยวกับเรื่องปัญหาการเบิกจ่ายเงิน งบประมาณของท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นองค์กรที่อยู่ใกล้ชิดพี่น้องประชาชน จะดูแลพี่น้องประชาชน น้ำไม่ไหล ไฟไม่สว่าง ถนนไม่ดี ขรุขระก็อยู่ที่ท้องถิ่นซึ่งดูแลพี่น้อง ประชาชนจำนวนมาก ดังนั้นอำนาจในการเบิกจ่ายเงินของภารกิจขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นในเรื่องของการบริการสาธารณะนั้น มักจะถูกปัญหาท้วงติงจาก สตง. จนทำให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ค่อยกล้าจัดการบริการสาธารณะ ซึ่งไม่กล้าตัดสินใจที่จะทำ อะไรออกไป แก้ปัญหากับพี่น้องประชาชนนะคะ ดังนั้นดิฉันคิดว่าเรื่องให้มันสอดคล้องกับ ภารกิจของ สตง. ก็ควรจะจัดอบรมให้มากเกี่ยวกับเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณของทาง ราชการนะคะ มันจะได้ทันท่วงที
อีกประเด็นหนึ่งค่ะ ปัญหาเรื่องการท้วงติง เรื่องการเบิกจ่าย เรื่องอำนาจ หน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดิฉันขออนุญาตเสนอแนะท่านประธานผ่านไปยัง ผู้ที่ชี้แจง แล้วก็ สตง. นะคะ อยากให้ สตง. เร่งรัดทำบัญชีรายการที่องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นที่ทำได้หรือทำไม่ได้ให้มันชัดเจนให้ทุกกิจกรรม เพื่อให้ฝ่ายปฏิบัติจะได้ปฏิบัติ ได้อย่างถูกต้อง ไม่ต้องเสนอตีความให้มันเสียเวลาค่ะ มันเกิดการสับสนในเรื่องของ การบริการสาธารณะ ดังนั้นเพื่อดูแลให้กับพี่น้องประชาชนได้ดี ทันเหตุการณ์ แล้วก็ดูแล พี่น้องประชาชนให้มีประสิทธิภาพ ก็ฝากท่าน สตง. ได้พิจารณาเรื่องอำนาจ บทบาทหน้าที่ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยนะคะ ดิฉันขอเป็นกำลังใจให้คณะกรรมการ หรือสำนักงาน สตง. ที่ท่านจะต้องมารับผิดชอบดูแลงบประมาณส่วนราชการจำนวนมากค่ะ ขอบคุณค่ะท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน เทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ท่านประธานค่ะ ดิฉันขอร่วมอภิปรายแล้วก็แสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะในวาระ รับทราบรายงานผู้สอบบัญชีและรายงานกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลในปี ๒๕๖๔ นะคะ กองทุนพัฒนาน้ำบาดาลนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา แล้วก็งานวิจัย แล้วก็ขึ้นอยู่ที่ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเป็นกรมที่มีความสำคัญอย่างมากที่จะต้องดูแลพี่น้องประชาชน ในชนบท พี่น้องเกษตรกรในหลายพื้นที่ ตอนนี้พี่น้องเกษตรกรในหลายพื้นที่ในจังหวัด ภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดอุดรธานีขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูก เพื่อการเกษตร ในช่วงฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วง น้ำบาดาลก็จะได้ใช้เป็นที่สำคัญในยามยาก ยามที่ขาดแคลน ก็ต้องใช้น้ำบาดาล เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรได้ใช้ดำรงชีพอยู่ เพราะฉะนั้นเรื่องน้ำ ดิฉันเห็นว่า น้ำคือชีวิต เพราะว่าเป็นหลักสำคัญที่จะต้องใช้อุปโภคบริโภคแล้วก็เพื่อการเกษตร ดิฉัน เห็นว่าสำคัญอย่างยิ่ง น้ำในการเกษตรทุกวันนี้เราอาศัยน้ำฝนน้ำจากฟ้าเป็นส่วนใหญ่ เพื่อชีวิต ความอยู่รอด ถ้ามีน้ำคนก็อยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนก็อยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีไฟฟ้าก็ยังอยู่ได้ ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้นะคะ
ท่านประธานคะ ในกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลดิฉันก็อ่านตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๒๐ วัตถุประสงค์หลักคือใช้เงินทุนเพื่อการใช้จ่ายการศึกษาและวิจัย พัฒนาอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาล และสิ่งแวดล้อม อันนี้สำคัญเป็นอย่างมากเลย แล้วก็ภารกิจ ที่จะอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาลและสิ่งแวดล้อมเป็นภารกิจสำคัญของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ในการบริหารจัดการน้ำให้ครบวงจรนะคะ ซึ่งจะเห็นว่าปัญหาการขาดแคลนน้ำผิวดิน พื้นที่ห่างไกลแหล่งน้ำ จะต้องพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลให้เหมาะสมกับลักษณะภูมิประเทศ ที่แตกต่างกัน จะสร้างให้เกิดความสมดุลในสภาพเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตของชุมชน ทุกมิติ ก็เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน ภารกิจของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลคือ การจัดหาแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคให้หมู่บ้านและชุมชนให้เพียงพอนั้น ดิฉันเองขอสนับสนุน แนวคิดการอภิปรายของเพื่อนสมาชิกคือท่านศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ ได้พูดอภิปรายให้เข้าใจถึง น้ำบาดาลและกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล แล้วก็เข้ามาแก้ปัญหาให้พี่น้องเกษตรกร หรือพี่น้อง ประชาชนได้ใช้ประโยชน์มากที่สุด ดิฉันก็ต้องขออนุญาตเอ่ยนามท่าน เพราะท่านให้แนวคิดที่ดี
ท่านประธานคะ ดิฉันขอไปประเด็นสำคัญที่ข้อมูลของกรมทรัพยากร น้ำบาดาลได้แจ้งว่าปัจจุบันนี้ในประเทศไทยเรามีแหล่งน้ำใหญ่ ๆ ๓ แหล่งก็คือ แอ่งเจ้าพระยาตอนบนที่ใช้บริการได้แก่จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง สุโขทัย นครสวรรค์ กำแพงเพชร ตอนล่างก็สุพรรณบุรี ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี แต่ส่วนที่สำคัญดิฉันสนใจ ภาคอีสานก็คือแอ่งอุบลราชธานี โคราช แล้วก็แอ่งอุดรธานี สกลนคร ๒ แอ่งนี้มีพื้นที่ถึง ๒ ใน ๓ ของภาคอีสานซึ่งเป็นขนาดใหญ่ค่ะ ถือว่าเป็นแอ่งน้ำบาดาลที่มีความสำคัญ ของคนภาคอีสาน ครอบคลุมในภาคอีสานทุกจังหวัด พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่เจาะแหล่งน้ำบาดาลได้ยาก เนื่องจากปริมาณน้ำน้อย น้ำน้อยยังไม่พอ น้ำบาดาล ที่นี่ยังกร่อยเค็มด้วยนะคะ เพราะฉะนั้นทำให้พี่น้องภาคอีสานเดือดร้อนขาดแคลนน้ำมาก ๆ ทำความเดือดร้อนกับพี่น้องเกษตรกร ดิฉันจึงขอเสนอให้กองทุนพัฒนาน้ำบาดาลได้จัดสรร งบประมาณการศึกษาวิจัยในเขตภาคอีสานเพิ่มขึ้น เพื่อขุดเจาะบ่อบาดาลให้พี่น้องเกษตรกร ได้มีความสุขมากยิ่งขึ้น ได้ใช้ประโยชน์ ได้ชีวิตที่ดีขึ้น
ท่านประธานคะ ดิฉันได้อ่านรายงานในหมายเหตุที่หน้า ๒๓ ค่าใช้จ่าย จากเงินอุดหนุนและบริจาคหน้า ๒๑ ถึงหน้า ๒๙ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายของโครงการต่าง ๆ ที่ได้รับเงินจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลในปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ รวม ๙๗ โครงการ จะเห็นได้ว่าบางโครงการมีขึ้น ๒ ปี บางโครงการใช้ปีเดียว ดำเนินการปีเดียว รวมงบประมาณ ที่ใช้ในส่วนนี้เกือบ ๙๐๐ ล้านบาท ในปี ๒๕๖๓ ใช้ไป ๒๙๔ ล้านบาท และปี ๒๕๖๔ ใช้ไป ๕๙๕ ล้านบาท ดิฉันมีข้อสังเกตอยู่บางประการ ในนี้มี ๑๔ โครงการเท่านั้นที่อยู่ในภาคอีสาน มีโครงการที่ ๕ โครงการที่ ๓๓ โครงการที่ ๓๗ โครงการที่ ๔๕ โครงการที่ ๔๗ ดิฉันคงไม่ลง รายละเอียด จะยกตัวอย่างให้ท่านฟังว่าพื้นที่อีสานเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลอาชีพหลัก คือการเกษตร แต่ทำไมในเรื่องของการจัดการบริหารน้ำน้อยลง น้อยมาก ๆ พื้นที่ในภาคอีสาน เป็น ๑ ใน ๓ ของประเทศนะคะ ดังนั้นดิฉันจึงขออนุญาตเสนอแนะผู้ชี้แจงที่มาในวันนี้ ขออนุญาตท่าน แนะนำท่าน ขอให้ ท่านได้สงสารและเมตตาคนภาคอีสานเถอะค่ะ ขุดเจาะน้ำบาดาลก็เจาะยาก น้ำบาดาล ก็มีน้อย ขอให้ท่านจงเพิ่มงบประมาณไปช่วยขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลให้มีจำนวนบ่อบาดาล มาก ๆ เพิ่มขึ้นยิ่งขึ้นนะคะ กราบขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางเทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะดิฉันขออนุญาตร่วมอภิปรายสนับสนุนญัตติของท่านสรวงศ์ เทียนทอง และญัตติของเพื่อนสมาชิกทุกญัตติ ๑๑ ญัตติ เกี่ยวกับการขอให้สภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาหามาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหา และป้องกันราคาพืชผลสินค้า ทางการเกษตรราคาตกต่ำ และเสนอเรื่องดังกล่าวนี้ไปให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการ อย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นยางพารา ข้าว ปาล์ม มันสำปะหลัง ผลไม้ และอ้อย แม้กระทั่ง ปศุสัตว์
ท่านประธานคะ สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้เป็นชุดที่ ๒๖ แต่ดิฉันจำได้ว่า เมื่อชุดที่ ๒๕ ชุดปี ๒๕๖๒ ญัตตินี้เป็นญัตติแรกเหมือนกันนะคะ เข้าในสภาให้พิจารณา ร่วมกัน ก็แสดงว่าปัญหานี้เป็นปัญหาสำคัญที่สุด ดิฉันคิดว่าผ่านมาแล้ว ๔ ปี ก็ยังแก้ปัญหา ราคาพืชผลสินค้าการเกษตรยังไม่ได้ดี เรื่องนี้ดิฉันคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญของพี่น้องเกษตรกร ทั้งประเทศ พอเข้ามาถึงในสภานี้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลก็ต้องมาร่วมด้วยกัน อภิปรายถึงปัญหาของพี่น้องเกษตรกรนำมาเสนอในวันนี้ ดิฉันต้องขอขอบคุณเพื่อน ๆ สมาชิกทุก ๆ ท่านที่เห็นความสำคัญของพี่น้องเกษตรกรนะคะ พี่น้องเกษตรกรจะมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น หรือไม่ดีขึ้นก็จะอยู่ที่พวกเราที่จะต้องมาช่วยกัน นำเสนอนะคะ พวกเราในฐานะที่เป็นสมาชิกเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนนำมาเสนอ ให้รัฐบาลได้เข้าไปแก้ปัญหาให้พี่น้องเกษตรกร ในเรื่องของการประกอบอาชีพ ด้านการเกษตร หรือการปศุสัตว์ก็เป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทยประมาณ ๗๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปลูกข้าว ผลไม้ มันสำปะหลัง ปาล์ม ยางพารา ด้านการปศุสัตว์ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดอุดรธานีของดิฉัน พี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพเกษตรกรเกือบ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ค่ะท่านประธาน แต่ปัจจุบันราคาพืชผล ทางเกษตรตกต่ำไม่ว่าจะเป็นราคายางพารา ราคามันสำปะหลัง และราคาอ้อยก็ตกต่ำอย่างมาก ทำให้พี่น้องเกษตรกรนั้นมีปัญหาในเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตไม่ค่อยดี ขายพืชผลราคาตกต่ำ ปุ๋ยก็แพงก็คือขาดทุนนั่นเอง ในเมื่อขาดทุนแล้วพี่น้องก็ไม่มีเงิน ที่จะมาจับจ่ายใช้สอย เศรษฐกิจในหมู่บ้านก็ไม่มีการหมุนเวียน ก็มีหนี้สินล้นพ้นตัว เกิดความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสเลยพี่น้องเรา แต่ในทางตรงกันข้ามสินค้าที่จำเป็น ต่อการดำรงชีวิต สิ่งของเครื่องใช้ที่มีความจำเป็นต่อชีวิตขั้นพื้นฐานกลับสูงขึ้น แต่สินค้า การเกษตรต่ำ อุปกรณ์การเกษตรต่ำลง แต่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภคในตลาดการค้าตอนนี้สูง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมู ไก่ ผัก ผลไม้ในตลาดสูงขึ้น มันสวนทางกันนะคะท่านประธาน ที่จริงแล้วดิฉันก็คิดว่าพฤติกรรม กิจกรรมหรือชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรปัจจุบันนี้ ขายสินค้าการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นยางพารา ขายมันสำปะหลัง ขายอ้อย สินค้า ภายในประเทศ ผลผลิตทางด้านการเกษตรมีราคาถูกลงมันก็น่าสงสาร ดิฉันได้รับ การร้องเรียน ดิฉันได้ไปเยี่ยมพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ไปรับฟังปัญหาของพี่น้องประชาชน ในอำเภอบ้านผือ อำเภอน้ำโสม และอำเภอนายูง ปัญหาต่าง ๆ รุมมาก็คือเรื่องราคาพืชผล การเกษตร โดยเฉพาะเรื่องยางพารา เพราะพื้นที่ในจังหวัดอุดรธานีปลูกยางพาราเกือบ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ในพื้นที่ปลูกประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ กว่าไร่ ผลิตผลประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ตัน ต่อปี โดยเฉพาะที่ปลูกมากที่สุดก็เป็นอำเภอบ้านผือ อำเภอน้ำโสม และอำเภอนายูง ก็เป็นเขตพื้นที่ของดิฉันซึ่งนิยมปลูกมากก็คือยางพารา ถ้าวันไหนราคายางพารา ได้ ๒๐ บาท ๒๒ บาทก็คงจะเห็นรอยยิ้มนิดหนึ่งค่ะ แต่ถ้าวันไหนราคายาง ๑๗ บาท ๑๘ บาท ๑๙ บาท ไม่ถึง ๒๐ บาท ก็คงจะเห็นเป็นคราบน้ำตาของพี่น้องเกษตรกร ซึ่งราคายางทุกวันนี้ ปัจจุบันนี้ยางเขาเรียกว่ายางก้อนถ้วยนะคะ ยางก้อนถ้วยหน้าลาน ๑๗ บาท ๑๘ บาท ๑๙ บาท หน้าลานที่เขารับซื้อ ขณะเดียวกันปุ๋ยนี่เมื่อก่อนราคา ๗๐๐ บาท แต่ปัจจุบันนี้ราคาปุ๋ย ๑,๓๐๐-๑,๔๐๐ บาท พี่น้องเกษตรกรจะเอาเงิน ที่ไหนไปใช้หนี้ ธ.ก.ส. เพราะราคายาง ราคาพืชผลการเกษตร ราคาปศุสัตว์ก็ตกต่ำ แค่ลำพังจะเอาเงินไปซื้อข้าวกินแต่ละวันก็แสนยากลำบากแล้วนะคะ พี่น้องเกษตรกร ถามดิฉันเสมอค่ะ เห็นหน้าดิฉันเมื่อไรก็จะบอกว่าเมื่อไรเราจะขายยางหรือขายผลผลิต ทางด้านการเกษตรได้เงินเยอะ ๆ เหมือนสมัยท่านนายกทักษิณบริหารประเทศ เมื่อไร เราจะขายยางพาราได้เหมือนสมัยท่านนายกยิ่งลักษณ์ ที่เรามีเงินเหลือเพราะช่วงนั้นราคายางพาราแผ่นราคา ๗๐-๑๐๐ บาท ราคายางก้อนถ้วย ๓๕-๗๐ บาท แต่พี่น้องบอกว่าอยากจะให้พี่น้องเกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ ไม่อยากได้ ขนาดนั้นหรอกค่ะขอให้แค่ยางก้อนถ้วย ขอราคายางก้อนถ้วยที่หน้าลานที่รับซื้อ ๓๐ บาท เขาบอกว่าเขาพออยู่ได้ พอมีเงินใช้หนี้ ธ.ก.ส. แล้วดิฉันก็ขอเสนอท่านประธานผ่านไปยัง รัฐบาลแล้วก็หน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าปัญหาที่ราคาสินค้าตกต่ำที่พอจะช่วยเหลือพี่น้อง เกษตรกรได้ก็ขอให้ช่วยมาแก้ปัญหาเรื่องปุ๋ย ต้องมาควบคุมราคาปุ๋ย หาแหล่งผลิตปุ๋ย ในประเทศในราคาถูก จัดหาแหล่งน้ำจะเป็นลำคลอง ลำไส้ไก่ หรือขุดลอกแหล่งน้ำให้มีน้ำใช้ ในฤดูแล้ง แล้วก็ย้ำขอช่วยประกันราคายางก้อนถ้วยในราคา ๓๐ บาท ให้พี่น้องประชาชน เกษตรกรก็จะได้ดีใจและมีความสุขมากยิ่งขึ้น ขอกราบขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่คารพ ดิฉัน เทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ดิฉันขอร่วมอภิปรายกองทุนจัดรูปที่ดินเพื่อการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ จัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ พ.ศ. ๒๕๔๗ ตามมาตรา ๗๕ โดยจัดขึ้นอยู่ในกรมโยธาธิการ และผังเมือง กระทรวงมหาดไทย
กองทุนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนดำเนินการจัดรูป ที่ดินในการพัฒนาพื้นที่ให้ดีขึ้น เป็นที่ดินลักษณะพื้นที่ตาบอด ที่ไม่มีประโยชน์หลาย ๆ แปลง มารวมกัน ให้จัดระเบียบเพื่อบริการสาธารณะให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างครบถ้วน การวางผังเมืองนี่ดิฉันเห็นว่าเป็นปัญหากันทั้งประเทศ ในเรื่องของการขัดแย้งแนวเขต ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างเต็มที่ เช่น ที่ดินบางแปลงก็เป็นที่ดินตาบอด บางแปลงก็เป็นที่รกร้างว่างเปล่ามีวัชพืชปกคลุม ดินเป็นหลุมเป็นบ่อ ที่ดินบางแปลง ก็ขาดการพัฒนา หน้าดินแคบใช้ประโยชน์ไม่ได้ ไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะ ทำให้บริการ สาธารณะเข้าไม่ถึง เมื่อเข้าไม่ถึงดิฉันคิดว่ามันเป็นที่ดินตาบอด พอเป็นที่ดินตาบอดแล้ว ปัญหาก็ไม่เฉพาะจังหวัดอุดรธานี ทั้งประเทศปัญหาที่ดินตาบอดไม่จบไม่สิ้นง่าย ๆ หรอกค่ะ เพราะว่าที่ดินใครมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการสัญจรไปมา ทางเข้า ทางออก เจรจากันไม่ได้ ไม่ยินยอมก็ต้องไปร้องต่อศาลก็มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ซึ่งปัญหาที่ดินตาบอดนี้ดิฉันดีใจกับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศที่กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้จัดกองทุนจัดรูปที่ดินเพื่อการพัฒนาขึ้นเพื่อมาช่วยเหลือพี่น้อง ประชาชนในการแบ่งจัดสรรที่ดินให้ทุกแปลงมีมูลค่าขึ้นและให้ถูกต้อง จัดระเบียบที่ดี แล้วก็ทำให้การบริการสาธารณะเข้าถึงได้ง่าย ดิฉันอยากจะขอยกตัวอย่างในจังหวัดอุดรธานี หรือจังหวัดหนองบัวลำภู หรือพี่น้องประชาชนคนไทยที่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องที่ดิน ที่อยู่อาศัยจำนวนมากนี้มีหลายหมู่บ้าน หลายตำบล เกี่ยวกับการจัดรูปแบบผังเมือง ที่ไม่เป็นไปตามหลักการของกรมโยธาธิการและผังเมือง ไม่สามารถจะตอบสนอง ความต้องการการใช้ชีวิตของพี่น้องประชาชนให้มีคุณภาพดีได้ เมื่อมีการจัดรูปแบบผังเมืองไม่ดี ก็ทำให้คุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนก็ไม่ดีด้วยค่ะ ปัญหาต่าง ๆ มันเกิดขึ้นตกกับพี่น้อง ประชาชน เป็นปัญหาที่จะพูดคำว่า ซ้ำซาก ก็ว่าได้นะคะ ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่มีระบบ การระบายน้ำ ปัญหาที่ดินพังทลายเขื่อนริมตลิ่งพังทำให้เกิดน้ำท่วมขัง สร้างความทุกข์ ความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนก็เหมือนกับว่าน้ำจะท่วมซ้ำซากในไร่นา ตามบ้าน ก็ทำให้ผลิตผลทางการเกษตรของพี่น้องประชาชนเสียหายมาก
ดิฉันยกตัวอย่างมานี้ก็เพื่อจะเชื่อมโยงให้ท่านได้ทราบว่ากองทุนนี้น่าจะเข้าไป ทำประโยชน์การวางผังเมืองให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างทั่วถึง ส่วนใหญ่พี่น้องประชาชน จะไม่ทราบว่ากรมโยธาธิการและผังเมืองมีกองทุนนี้คอยช่วยเหลือและบริการพี่น้องประชาชน ดังนั้นดิฉันก็ขอฝากกับคณะกรรมการของกองทุนด้วยนะคะ เพื่อแก้ปัญหาในการจัดระเบียบ ผังเมืองให้มันดีขึ้น และให้มันสะดวกสบายต่อการบริการสาธารณะกับพี่น้องประชาชน
ดิฉันจะขอยกตัวอย่างในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี โดยเฉพาะตำบลโสมเยี่ยม อำเภอน้ำโสม ดิฉันเคยของบประมาณเกี่ยวกับเรื่องการจัดตั้งวางผังเมืองของกรมโยธาธิการ และผังเมือง กระทรวงมหาดไทย มาแล้วแต่ก็ยังไม่ได้รับการดูแล เนื่องจาก รพ.สต. โสมเยี่ยม ติดกับตลิ่ง ติดกับคลองน้ำโสม น้ำจะถูกกัดเซาะ ๆ มาอยู่ตลอดทำให้พื้นที่ดินหายไปตรงนั้น ก็จะเป็นอ่างเก็บน้ำหรือเป็นร่องน้ำ ทำให้พี่น้องที่อยู่ใกล้เคียงหวาดกลัวอันตรายกลัวว่า ดินถล่มลงมาอีก ขอฝากท่านประธานไปยังกรมโยธาธิการและผังเมืองที่บริหารรูปที่ดินนี้ได้เข้ามา ดูแลพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึง อย่างเร่งด่วน เพื่อเป็นการป้องกันการแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก และเป็นการแก้ปัญหาการขยายตัวของเมืองในอนาคต และเป็นการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ของพี่น้องประชาชน สุดท้ายนี้ดิฉันก็ขอชื่นชมและขอเป็นกำลังใจให้กับผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ ของกองทุนนี้นะคะ กราบขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางเทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ดิฉันขออนุญาตร่วมอภิปรายสนับสนุนญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาของธุรกิจสถานบันเทิง และแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ การเรียกรับผลประโยชน์จากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามข้อเสนอของท่าน สส. พลากร พิมพะนิตย์ และเพื่อนสมาชิกหลาย ๆ ท่านที่ได้อภิปรายถึงข้อเสนอแนะและแนวทางไปหลาย ๆ ประเด็น
กราบเรียนท่านประธานว่าดิฉันเห็นด้วยอย่างยิ่งในการแก้กฎหมายข้อบังคับ ในการใช้ครั้งนี้ เพราะกฎหมายฉบับนี้ค่อนข้างจะไม่ทันสมัยแล้วก็ไม่ทันเหตุการณ์ เพราะว่า กำเนิดมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๙ รวมแล้วก็ประมาณ ๕๗ ปี ซึ่งในเรื่องของสถานบันเทิง ธุรกิจ สถานบันเทิงนี้ก็เป็นที่นิยมของผู้ที่ใช้บริการเป็นทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก เพราะว่าเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้เข้าประเทศ ในเรื่องของธุรกิจ สถานบันเทิงนี้เป็นธุรกิจเกี่ยวกับในเรื่องของบริการ เป็นเรื่องของความสนุกสนาน ในเรื่อง ของการผ่อนคลาย แล้วก็คลายความตึงเครียดด้วยจะได้ไปร้องรำทำเพลง เข้าผับ คาราโอเกะ หรือจะไปร้านอาหารนั่งดื่มสักนิดหนึ่ง สถานบันเทิงนี้เปิดให้ดำเนินการมา ตอนนี้ใช้ พระราชบัญญัติปี ๒๕๐๙ ดิฉันเห็นว่าออกกฎหมายมาเนิ่นนานแล้ว สมควรจะปรับปรุงแก้ไข ให้ทันกับเหตุการณ์สภาพความเป็นจริง ซึ่งกฎหมายเกี่ยวกับสถานบันเทิงนี้ท่านสมาชิก หลาย ๆ ท่านก็ได้นำเสนอถึงปัญหาในเรื่องของระยะเวลาก็ดี ผู้ขออนุญาตก็ดี หรือบทลงโทษ ผู้ที่กระทำผิดก็ดี ในตอนนี้ดิฉันขออนุญาตนำเสนอมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาของธุรกิจ สถานบันเทิง เพื่อให้คณะกรรมาธิการวิสามัญได้เป็นแนวทางในการพิจารณา
ข้อที่ ๑ ดิฉันขอเสนอกำหนดระยะเวลาในการเปิดบริการสถานบันเทิง และขอเสนอให้กำหนดเป็น Zoning กำหนดระยะเวลาเปิดและปิดสถานบันเทิงให้ชัดเจน ให้กำหนดเขตพื้นที่เศรษฐกิจขึ้น และกำหนดระยะเวลาเปิดปิดสถานบันเทิงให้ชัดเจน โดยพิจารณาในเขตท้องที่ที่สถานบันเทิงนั้นจะตั้งอยู่ หากตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เศรษฐกิจ ก็ขอให้รัฐบาลได้กำหนดเป็นพระราชกฤษฎีกาขยายระยะเวลาเปิดตั้งแต่ ๑๘.๐๐ นาฬิกา ถึง ๐๔.๐๐ นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้นน่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ อันนี้ก็ขอเสนอ
ในเรื่องของการใช้พื้นที่เป็น Zoning เป็นการกำหนดพื้นที่ เป็นการจัด ระเบียบสังคมด้วย ถ้าจะให้ดีดิฉันก็ขอเสนอว่าการจะกำหนด Zoning เพื่อจัดสถานที่ เป็นธุรกิจสถานบันเทิงเกิดขึ้นนั้น ตามบริบทของแต่ละจังหวัดที่จะกำหนดระยะเปิดและปิด ถ้าจะให้ดีดิฉันนำเสนอให้ทำประชาพิจารณ์สอบถามความคิดเห็น ความต้องการของพี่น้อง ประชาชนในจังหวัดก่อนเพื่อจะได้ทำงานตามความเหมาะสม ตามความต้องการของพี่น้อง ประชาชนที่อยู่ใกล้ชิดสถานบันเทิง กำหนดมาตรการเป็น Zoning เป็นการแก้ไขปัญหาด้วย ในการเปิดบริการเกินเวลาก็ว่าได้นะคะ และเมื่อกำหนดให้ชัดเจนแน่นอนแล้ว เจ้าหน้าที่ ของรัฐก็ต้องอนุญาตให้เปิดตามความต้องการของพี่น้องประชาชน ยังป้องกันสถานบันเทิง ในการจ่ายส่วนเกินหรือจ่ายส่วยในการให้เจ้าหน้าที่เพื่อเปิดและปิดเกินเวลา เป็นแนวทาง ป้องกันนะคะ
ข้อที่ ๒ ในทางแก้ไข ดิฉันขอนำเสนอคณะกรรมาธิการวิสามัญ ถ้าเป็นไปได้ กำหนดอายุพนักงานในสถานที่บันเทิง เราควรจะกำหนดเป็นเกณฑ์อายุขั้นต่ำของพนักงาน สถานบันเทิงให้ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาการใช้แรงงานและป้องกันปัญหาการเรียกเก็บส่วย จากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดิฉันจึงขอสนับสนุนญัตติดังกล่าวนี้เพื่อเป็นการปรับปรุงกฎหมาย จะได้ใช้ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน กราบขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางเทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันขอนำความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมาหารือกับท่านประธานเพื่อไปให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก้ปัญหาดังนี้นะคะ ดิฉันได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องประชาชน ในตำบลน้ำโสม อำเภอน้ำโสม อำเภอบ้านผือ และอำเภอนายูง ส่วนใหญ่พื้นที่อยู่อาศัย ไม่มีเอกสารสิทธิ เป็น ส.ป.ก. เป็น น.ส. ๒ น.ส. ๓ ไป ภ.บ.ท. ๕ ส่วนใหญ่หลายร้อย หลายพันหลังคาเรือน จึงขอฝากท่านประธานไปยังกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งการออกเอกสารสิทธิด้วย
เรื่องที่ ๒ ขอให้กรมทางหลวงแผ่นดินได้แก้ปัญหาเรื่องถนน ๒๐๒๑ สามแยก บ้านดงไร่ ขณะนี้กลางคืนมืดมิด ไฟไม่สว่างเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อย ๆ ดิฉันเดินทางเป็นประจำ มีแต่กรวยสีส้มแล้วก็มีกระดาษสะท้อนแสงอยู่แค่ประมาณ ๑๐ อัน เพราะฉะนั้นขอให้เพิ่ม ไฟฟ้าแสงสว่างแล้วก็เพิ่ม Barrier ด้วยเพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน
เรื่องที่ ๓ ขอให้กรมทางหลวงได้ซ่อมแซมถนนที่ถูกกระทบจากน้ำท่วม ได้เข้ามาซ่อมแซมถนน แล้วก็ก่อสร้าง แล้วก็ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างถนนสาย ๒๓๔๘ ช่วงบ้านกลางใหญ่ขึ้นเขาไปลงเขาทางอำเภอหนองแวง อำเภอน้ำโสม ระยะทาง ๒-๓ กิโลเมตรเป็นทางคดเคี้ยวมาก ขอขยายถนน ไหล่ทาง แล้วก็ขอไฟฟ้าส่องสว่าง แล้วก็ ถนนสาย ๒๓๔๘ ช่วงอำเภอน้ำโสมไปบ้านปากมั่ง บ้านวังบง บ้านโนนศิลา บ้านวังแข้ และถนนสาย ๒๓๗๖ ช่วงบ้านน้ำซึมไปอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย บ้านนาเก็น ไปบ้านห้วยทราย บ้านนาต้อง บ้านนาสมนึก อำเภอนายูง และถนนหมายเลข ๒๓๔๙ ตอนนี้ชำรุดเสียหายมากทาง อบต. นาแค ขอความร่วมมือมา ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางเทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ดิฉันต้องขอขอบคุณเพื่อน ๆ สมาชิกทุก ๆ ท่านที่ได้อภิปรายสนับสนุนญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาการไม่มีที่ดินทำกิน และลด ความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินอย่างยั่งยืน จากที่ท่านสมาชิกหลาย ๆ ท่านได้ร่วมกัน แสดงความคิดเห็น อภิปรายถึงปัญหาที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ถึงการจัดสรรทรัพยากรที่ดินของพี่น้องประชาชนมีมากมาย ดิฉันว่าทั่วทั้งประเทศก็ได้นะคะ เรื่องปัญหาของที่ดินที่ทำกินที่ไม่ได้รับเอกสารสิทธินั้น จะเห็นได้จากที่เพื่อนสมาชิก ได้อภิปรายให้ความเห็น ให้เหตุผล ชี้ให้เห็นว่าเรื่องปัญหาที่ดินเป็นปัญหาความเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ก็ว่าได้ ดิฉันคิดว่าอันนี้เป็นปัญหาใหญ่ ดิฉันขอยกตัวอย่างในพื้นที่ของดิฉันนะคะ
เช่น อำเภอน้ำโสม และอำเภอนายูง พื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. จะเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. เป็นพื้นที่ น.ส.ล. เป็นพื้นที่ป่าสงวน เสียส่วนใหญ่ เช่นบ้านคีรีวงกต ทั้งหมู่บ้านนั้นเลยเป็นพื้นที่ป่าสงวน ตอนนี้ก็เป็นสถานที่ แหล่งท่องเที่ยว คนส่วนใหญ่ก็จะไปเที่ยวบนภูเขาเพื่อเป็นแหล่งรรมชาติ มีต้นไม้เยอะ และยังมีอีก อำเภอบ้านผือ อย่างอำเภอบ้านผือก็มีพื้นที่ป่าสงวน ป่าสงวนของอำเภอบ้านผือ เป็นป่าสงวนแห่งชาติ เรียกว่าป่าสงวนเขือน้ำ กำหนดขึ้นจากกฎกระทรวง บังคับใช้ตั้งแต่ ปี ๒๕๑๘ ปัจจุบันนี้ก็ยังบังคับใช้อยู่ ดังนั้นพี่น้องในเขตอำเภอบ้านผือตอนนี้หนักใจค่ะ แล้วก็มาเจอดิฉันไปพบปะกับพี่น้องประชาชน เขาก็จะถามว่าเมื่อไรจะได้เอกสารสิทธิ ไม่ว่าจะเป็น บ้านติ้ว บ้านผือ บ้านจำปาโมง ท้องที่ ทั้งนั้นเลยอยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. ในพื้นที่ป่าสงวน ดังนั้นดิฉันจึงขอนำเสนอท่านประธานผ่านไป ยังรัฐบาล
ข้อ ๑ ก็ขอให้เร่งรัดการพิสูจน์สิทธิที่ดินเพื่อให้ได้มาซึ่งโฉนดที่ดินอย่างถูกต้อง และเป็นธรรม เช่น ที่ดิน ส.ป.ก. ที่ดินเขตป่าสงวน ที่ดิน น.ส. ๓ ขอให้สำรวจตรวจสอบ แนวเขตให้ชัดเจน แล้วก็ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องตรงตาม สภาพความเป็นจริง
ข้อ ๒ ขอให้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินเพื่อให้พี่น้องประชาชนที่อยู่อาศัย ๕๐ ล้านไร่ อย่างเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐบาล
ข้อ ๓ ที่ดินที่ได้รับการออกโฉนดนั้นจะต้องส่งเสริมให้มีการปลูกไม้ยืนต้น เพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อเป็นการสร้างอากาศสะอาด แล้วก็เป็นการสร้างรายได้ให้กับพี่น้อง ประชาชน
ข้อ ๔ ขอให้หน่วยงานของรัฐยุติความขัดแย้ง ยุติการฟ้องดำเนินคดี กับพี่น้องประชาชนคนที่ยากจนโดยทันที
ข้อ ๕ ขอให้รัฐพิจารณานำที่ดินของรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาจัดสรรให้กับ พี่น้องประชาชนเข้าทำประโยชน์โดยแก้ไขข้อกฎหมาย อันไหนที่เป็นปัญหาอุปสรรค ในการดำเนินการก็ขอให้แก้ไข แล้วก็สนับสนุนงบประมาณในการรังวัดด้วย
ข้อ ๖ ก็ขอเสนอให้แก้ไขกฎกระทรวงว่าด้วยข้อห้ามการออกโฉนดที่ดิน บนภูเขา เชิงเขา เพื่อให้ความเป็นธรรมกับพี่น้องประชาชน
ข้อ ๗ ขอให้แก้ไขกฎกระทรวง ฉบับที่ ๗๔๕ ที่กำหนดเขตป่าสงวน คือป่าเขือน้ำ เพื่อให้พี่น้องประชาชนที่อาศัยมาก่อนมีสิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ทำกิน ป่าเขือน้ำมีเนื้อที่ ๑๖๐,๐๐๐ ไร่ ก็ขอเสนอให้แก้ไขกฎกระทรวง ฉบับที่ ๗๔๕ ดิฉันหวังว่า ในการประชุมสภาครั้งนี้คงจะได้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนจะได้มีที่ดินที่ทำกิน และมีเอกสารสิทธิเป็นของตัวเองและยังสามารถเอาเอกสารสิทธินี้เข้าสู่แหล่งเงินทุนเพื่อเป็น การพัฒนาคุณภาพชีวิตกับพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้นค่ะ กราบขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางเทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย เขตอำเภอบ้านผือ อำเภอน้ำโสม อำเภอนายูงนะคะ ท่านประธานคะ ดิฉันขอร่วมอภิปราย แล้วก็ขอสนับสนุนญัตติของท่านธีระชัย แสนแก้ว และเพื่อนสมาชิกหลาย ๆ พรรคที่ได้ นำเสนอญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาหาแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วม เยียวยาผู้ได้รับ ผลกระทบอย่างเร่งด่วน และส่งเรื่องให้รัฐบาลดำเนินการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบค่ะ ท่านประธานคะ ก่อนอื่นดิฉันก็ขอแสดงความชื่นชมกับเจ้าหน้าที่ทุก ๆ ท่านนะคะ ที่ได้เข้าไป ช่วยเหลือพี่น้องที่ประสบอุทกภัย แล้วก็ขอแสดงความเสียใจกับพี่น้องที่ได้รับความเสียหาย ด้วยนะคะจากสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบันนี้ ซึ่งประเทศไทยเรานี้ก็เกิดมรสุมมาหลาย ๆ ลูก ก็ทำให้ฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลากก็เกิดปัญหาน้ำท่วม ดิฉันเองก็ขออนุญาตพูดในพื้นที่ น้ำท่วมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากพายุนะคะ ขออนุญาตยกตัวอย่างเป็นจังหวัด อุดรธานี หนองบัวลำภู และหนองคาย ซึ่งสภาพภูมิประเทศของจังหวัดอุดรธานีนี้ก็จะอยู่ ใต้เทือกเขาภูพานซึ่งจะเชื่อมจังหวัดเลยจนถึงสกลนคร แล้วก็เทือกเขาภูพานนี้จะเป็น เทือกเขาที่ยาวหลายร้อยกิโลนะคะ จนถึงหนองคาย จนถึงฝั่งแม่น้ำโขง
ในเทือกเขาภูพานนี้เวลาฝนตกหนัก น้ำก็จะไหลลงมาจากเทือกเขาภูพานก็จะลงมาตามรางน้ำ ลำห้วยเล็ก ห้วยน้อย ลำห้วยใหญ่ เช่น ลงมาที่จังหวัดหนองบัวลำภู อำเภอสุวรรณคูหานะคะ ก็จะไหลผ่านมาที่อำเภอบ้านผือ โดยลำห้วยโมง พอลำห้วยโมงไหลผ่านไปทางอำเภอบ้านผือแล้วก็จะไหลมาบรรจบกับลำห้วย น้ำฟ้า ลำห้วยรางนะคะ แล้วก็จะไหลลงไปสู่อ่างเก็บน้ำห้วยบังพวน พออ่างเก็บน้ำห้วยบังพวน ซึ่งอยู่ในจุดของตำบลคำบง อำเภอบ้านผือ และอีกส่วนหนึ่งก็จะเชื่อมอำเภอเมือง จังหวัด หนองคายก็จะไหลลงสู่แม่น้ำโขงก็จะมีประตูปิดเปิดอยู่ที่ท่าบ่อ ขณะเดียวกันอีกทางหนึ่ง เส้นทางหนึ่งก็จะขึ้นจากอำเภอบ้านผือผ่านสันเขาอีก คดเคี้ยวเลี้ยวลดหลายกิโลเมตรเข้าไป อำเภอน้ำโสมน้ำไหลหลากจากเทือกเขาภูพานก็ไหลลงลำห้วยโสมและลำห้วยราง ลำห้วยโสม และลำห้วยรางนี้ก็จะไหลผ่านหลายตำบลนะคะ น้ำก็จะไหลผ่านหลายตำบล ผ่านอ่างเก็บน้ำ ผ่านลำห้วยต่าง ๆ ในขณะที่ผ่านลำห้วย ผ่านอ่างเก็บน้ำนั้น ในลำห้วยนั้นก็ตื้นเขินนะคะ ตื้นเขินน้ำก็ทะลักเข้ามาท่วมไร่นาพี่น้องประชาชน เข้าท่วมบ้าน และขณะเดียวกันแม่น้ำนี้ ก็จะไหลผ่านไปยังจากอำเภอน้ำโสมแล้วเข้าอำเภอนายูงก็จะไหลไปที่บ้านน้ำโสม อำเภอ สังคม จังหวัดหนองคายนี่ก็จะมีประตูปิดเปิดน้ำอยู่ ทำไมดิฉันต้องพูดถึงเรื่องนี้เพราะว่าในพื้นที่อำเภอบ้านผือ อำเภอน้ำโสม อำเภอนายูง พอเกิดน้ำท่วมแล้วไม่มีที่เก็บกักน้ำ เพราะอะไรละคะ เพราะอ่างเก็บน้ำ เช่น อ่างเก็บน้ำ กุดลิงง้อ อ่างเก็บน้ำห้วยทราย อ่างเก็บน้ำบ้านน้ำทรง อ่างเก็บน้ำเหล่านี้เป็นโครงการ พระราชดำริแต่ตื้นเขินค่ะท่านประธาน ไม่สามารถจะเก็บน้ำ รองรับน้ำจำนวนมากได้ ตื้นเขิน แล้วขณะเดียวกันพอตื้นเขินแล้วน้ำก็ไหลท่วมบ้านเรือน แล้วในคลอง ลำห้วยต่าง ๆ ที่ดิฉันพูดถึงนี่น้ำไม่สามารถที่จะระบายออกได้เร็วได้เพราะมีขยะ มีวัชพืช มีเศษไม้ กีดขวางทางน้ำ น้ำก็ไม่มีที่ไปก็ต้องมาท่วมบ้านพี่น้องประชาชน มาท่วมถนนหนทาง สัญจร ไปมาไม่สะดวก ทำให้สะพานขาด นี่คือปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในเขต ในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง ก็คงจะเป็นเหมือน ๆ กันที่เพื่อน ๆ สมาชิกได้พูดถึง ดิฉันเอง ก็ขออนุญาตนำเสนอแก้ปัญหาแผนระยะสั้นของในพื้นที่ลำห้วยน้ำโสม ลำห้วยราง แล้วก็ ลำห้วยที่ไปบรรจบที่อำเภอท่าบ่อ ซึ่งมี ๒ ประตูกั้นน้ำอยู่ที่อำเภอท่าบ่อ ก็ขออนุญาต นำเสนอแก้ปัญหาก่อนแบบเร่งด่วน ก็ขอให้ขุดลอกอ่างเก็บน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง ในจังหวัดอุดรธานีมีเยอะเหลือเกินค่ะ งบประมาณก็ได้น้อย ที่ผ่านมา ๘-๙ ปี ขออนุญาตนิดหนึ่งนะคะท่านประธาน แล้วก็ให้กำจัดวัชพืชขวางทางน้ำ ขอขยายและเพิ่ม ประตูระบายน้ำ ๒ จุด ที่อำเภอท่าบ่อและที่ปากโสม อำเภอสังคม แล้วก็ขอเพิ่มเครื่องดันน้ำ ทุกจุดอย่างน้อย ๕ เครื่อง แล้วก็ขอให้ขยายประตูระบายน้ำให้กว้างขึ้น ตอนนี้ประตูระบายน้ำ แคบเหลือเกิน
ดิฉันขอเสนอแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ขออนุญาตลัดขั้นตอน ขอเสนอ การแก้ปัญหาพัฒนาน้ำท่วมอย่างเป็นระบบลุ่มแม่น้ำโมง โดยประกอบไปด้วย ๓ โครงการ
โครงการที่ ๑ เพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำห้วยทอนตอนบน อันเนื่องมาจาก พระราชดำริจังหวัดหนองคาย
โครงการที่ ๒ โครงการปรับปรุงลำน้ำห้วยโมงพร้อมก่อสร้างประตูระบายน้ำ เพิ่มขึ้นอีก ๒ แห่ง ในจังหวัดอุดรธานีในลุ่มห้วยโมงตอนกลาง
โครงการที่ ๓ โครงการผันน้ำห้วยลานและห้วยคุกที่จังหวัดหนองคาย เพื่อบรรเทาน้ำท่วมลุ่มห้วยโมงตอนล่าง
ทั้งนี้การพัฒนาลุ่มห้วยโมงจะช่วยการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำ ในการระบายน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ ปลายน้ำ กลางน้ำได้อย่างเป็นระบบ และมีประโยชน์ ประชาชนในภาคอีสานตอนบนอุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภูได้รับประโยชน์มาก เป็นการช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคและการเกษตร เพราะฉะนั้นดิฉันจึงขอเสนอการแก้ปัญหาอันนี้ และสุดท้ายนี้ดิฉันก็ขอเสนอให้รัฐบาลชุดนี้ นำแผนบริหารจัดการน้ำไปบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางเทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ดิฉันขอมีส่วนร่วมอภิปรายรับทราบรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงาน การเงินสำนักงานศาลยุติธรรม สำหรับสิ้นสุดปีวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๕ ดิฉันขอตั้งข้อสังเกต มีข้อเสนอแนะอยู่ ๒ ประเด็น ท่านประธานคะ ความยุติธรรมเป็นสิ่งที่พี่น้องประชาชนทุกคน ต้องการ ต้องการความยุติธรรม เพราะว่าบ้านเมืองนี้ถ้าเกิดเหตุขึ้นมา ถ้ามันมีเหตุการณ์ ขึ้นมามันก็มีความยุติธรรมกับความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นจาก ๒ ฝ่ายเป็นคู่กรณี ต่างก็บอกว่า คนนี้ถูกต่างก็บอกว่าคนนี้ผิด เพราะฉะนั้นในเรื่องที่ศาลยุติธรรมที่มารายงานวันนี้ ดิฉันอยากจะขออนุญาตนำเสนอข้อสังเกตไปยังคณะทำงาน เพราะว่าศาลยุติธรรม เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการในการอำนวยความยุติธรรมและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ให้กับพี่น้องประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ความเสมอภาค ดังนั้นประเด็นที่ดิฉันจะขอฝากศาลยุติธรรม ผู้พิพากษา และผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการ ยุติธรรมทั้งหมดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำว่านอกจากท่านจะต้องพิจารณาคดี ตามพยานหลักฐานแล้ว ดิฉันจึงขอให้ท่านคำนึงถึงความมีเหตุมีผลเป็นพื้นฐานของแต่ละคนด้วย เช่น ถ้ามีพี่น้อง ๒ คน ในกรณีที่มีข้อพิพากษาระหว่างกัน และต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หากคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งยากจนก็มีข้อจำกัด มีเรื่องติดขัดหลาย ๆ อย่าง และตามเหตุผล ทางพื้นฐานของเขาเองก็คงขาดงบประมาณ ไม่มีค่าจ้างทนายความ ไม่มีทรัพย์สิน จะเข้าสู่กระบวนการศาล ดังนั้น ศาลยุติธรรมเองก็จะมีทนายความขอแรง หรือภาษากฎหมายเรียกว่า ทนายความที่ศาลตั้งให้ จะคอยให้คำปรึกษาคดีต่อพี่น้อง ประชาชนที่ไม่มีทรัพย์สินในการว่าจ้างทนายความ ซึ่งทนายความขอแรงนี้ ศาลสามารถ จะตั้งให้เข้าไปช่วยพี่น้องประชาชนได้ อันนี้เป็นสิ่งที่ดี ตั้งแต่ในชั้นสอบสวนข้อมูลต่าง ๆ จนถึงฟ้อง ถึงชั้นพิจารณา ในเรื่องนี้ดิฉันเห็นว่าเป็นเรื่องดีมาก ๆ เลยดิฉันต้องขอชื่นชม เพราะค่าจ้างทนายไม่ใช่ค่าจ้างที่ถูก ๆ บางคนกู้หนี้ยืมสินมีดอกเบี้ยนอกระบบเพื่อมาจ้างทนาย ถ้าโชคดีเจอทนายดี ถ้าโชคไม่ดีก็เจอทนายอีกรูปแบบหนึ่งดังนั้น ใน Case นี้ดิฉันเอง ก็อยากจะเสนอ ขอสอบถามเพื่อคลายกังวลว่าทำไมการบริการศาล บริการทนายที่อยู่ในศาล เขาตอบมาว่าที่ใช้ทนายขอแรงในการพิจารณามักจะเจอว่ารับสารภาพนะ บาง Case ก็บอก สู้คดีนะ บาง Case ก็บอกไม่ต้องสู้ รับโทษพอสมควร การให้คำแนะนำอะไรต่าง ๆ ฟังแล้ว ดิฉันคิดว่ามันยังไม่ถูกนะคะ ท่านประธานคะ เรื่องนี้ดิฉันคิดว่าน่าจะเกิดหลาย ๆ ที่เกี่ยวกับ เรื่องทนาย ซึ่งพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่กังวลมาก ขึ้นศาลทีไรก็จะกลัวมาก ๆ ดิฉันได้อ่าน ศึกษาวิจัยของสำนักงานศาลยุติธรรมว่าในเรื่องของการเผยแพร่ในสถาบันวิจัยและพัฒนา รพีพัฒนศักดิ์ และสำนักกฎหมายของศาลยุติธรรมที่เคยทำการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพ ของทนายขอแรง ก็ยังชี้ให้เห็นว่าทนายขอแรงหรือทนายความที่ศาลตั้งให้ขาดประสิทธิภาพ อยากให้เกิดการพัฒนา ในวิจัยยังบอกถึงวิธีปัญหา และคำแนะนำในการแก้ปัญหา ในเชิงประสิทธิภาพของทนายขอแรง ในวิจัยก็บอกว่าต้องเพิ่มคุณสมบัติและประสบการณ์ ของทนายความ เพราะเหตุผลของทนายความขอแรงบางคนที่ทำมา บางคนก็เพื่อเก็บจำนวนคดีโดยไม่ส่งผล ต่อคดี เพื่อเอาไปสอบอัยการ บางคนก็นำข้อมูลไปสอบอัยการหรือไปสอบผู้พิพากษาเท่านั้น ดิฉันคิดว่าคำแนะนำนี้ควรจัดอบรมให้ทนายความ จะเป็นทนายความขอแรงหรือเพื่อเป็น การจูงใจให้ทนายความ ดิฉันเข้ามาดูประเด็นนี้ในหน้า ๖ ของรายงานงบอบรม หรืองบด้านบุคลากร ท่านบอกว่าในปี ๒๕๖๕ มีงบประมาณเกี่ยวกับบุคลากรจำนวน ๑๖,๐๐๐ ล้านบาท และในหน้า ๒๑ ค่าตอบแทนเงินรางวัลทนายความมีเพียง ๒๐๔ ล้านบาท ประเด็นนี้ดิฉันจึงขอเสนอว่าสำนักงานศาลยุติธรรมควรจัดสรรงบประมาณเกี่ยวกับ ทนายขอแรงให้เพิ่มขึ้นเพื่อเป็นสิ่งจูงใจในการทำงานของทนายขอแรงตามคำแนะนำ ของงานวิจัยที่ดิฉันได้อ่านมา เพื่อให้ทนายขอแรงได้ตั้งใจทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้มีใจที่ได้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนนะคะ ดิฉันถือว่าทนายขอแรงก็เป็นบุคคลสำคัญ ที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ลำบากยากจนไม่มีเงินทองทรัพย์สินอะไรเลยที่จะต้องมาจ้าง ทนายเก่ง ๆ มาทำงาน เพื่อต่อสู้คดี เพื่อความยุติธรรมที่พวกเขาถูกกระทำอยู่ อันนี้ก็ขอฝาก ไปทางคณะทำงานด้วย
ประเด็นสุดท้ายค่ะท่านประธาน ดิฉันได้ดูในหน้าที่ ๒๑ เรื่องงบประมาณ ค่าใช้จ่ายฝึกอบรม ท่านมีงบประมาณเพียง ๒๐๐ ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งดิฉันมองว่ามันน้อย เหลือเกินสำหรับสำนักงานศาลยุติธรรมที่จะต้องดูแลศาลทั้งประเทศ ๒๘๕ ศาล ถ้าเฉลี่ยแล้ว เหลือศาลหนึ่งประมาณไม่เกิน ๑ ล้านบาท เรื่องการอบรมนี้เป็นเรื่องอบรมบุคลากรนะคะ ไม่ได้อบรมท่านผู้พิพากษา ดิฉันไม่ได้มีความหมายดังนั้น แต่ดิฉันหมายถึงการอบรม ในงบ ๒๐๐ ล้านบาทนี้นะคะ ไปใช้อบรมเผยแพร่ให้ความรู้ด้านกฎหมายที่ใช้ใน ชีวิตประจำวันให้กับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ๗๐ ล้านคนให้มีองค์ความรู้ด้านกฎหมาย เบื้องต้นที่เขาได้ใช้ในชีวิตประจำวัน ดิฉันจึงขอฝากประเด็นนี้ให้กับผู้บริหารสำนักงาน ศาลยุติธรรมได้พิจารณาถึงความสำคัญ การเผยแพร่ความรู้ข่าวสารให้พี่น้องประชาชนได้เข้าใจ ให้มีความรู้สึกว่ากฎหมายหรือศาลได้อยู่ใกล้ตัวเขาง่าย เขาจะได้มีความอบอุ่น เขาไม่รู้สึกกลัว เวลาขึ้นศาล ดิฉันคิดว่าโครงการเผยแพร่ความรู้ของกฎหมายเบื้องต้นนี้ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงประชาชนในชุมชนนี้ ในหมู่บ้านนี้ ดิฉันคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีจะทำในรูปแบบไหนก็ได้ค่ะ จะจัดอบรมก็ได้ จะส่งข้อมูลข่าวสารในทางวิทยุ ทีวี หรือสื่อสาร Online ก็ได้ ให้พี่น้องประชาชนได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายของศาลได้มากขึ้น และเขาจะมีความรู้สึกว่าตัวพี่น้องประชาชนเองกับศาล มีความใกล้ชิด มีความใกล้ตัว ดิฉันคิดว่าในการรายงานวันนี้หวังว่าคงจะได้เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนทั่วไป กราบขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางเทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย
ท่านประธานคะ ดิฉันขอมีส่วนร่วม ในการอภิปรายรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำปี ๒๕๖๕ ดิฉันเองได้อ่านรายงานของ กกต. ในหน้า ๒๒๐ เกี่ยวกับประเด็นผลการใช้จ่ายเงิน งบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๖๕ ซึ่งสำนักงาน กกต. ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ประจำปีเป็นงบอุดหนุนและงบทั่วไปประมาณ ๑,๗๐๐ ล้านบาทแล้วก็ใช้เงินนอกงบประมาณ อีก ๑,๘๐๐ ล้านบาท รวมกันแล้วเพื่อจะจัดทำแผนการใช้งบประมาณรายจ่าย ประจำปี ๒๕๖๖ นี้โดยประมาณทั้งสิ้น ๓,๕๐๐ ล้านบาท ในเรื่องนี้จะเห็นว่าสำนักงาน กกต. ใช้เงินนอกงบประมาณเป็นจำนวนมาก ซึ่งดิฉันเห็นว่ามากกว่าที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปีเสียอีก ในประเด็นนี้ดิฉัน ขอเรียนถามท่านประธานผ่านไปยังผู้ชี้แจงว่าสำนักงาน กกต. ท่านมีหลักเกณฑ์ในการใช้ งบประมาณจากเงินสะสมในแต่ละปีอย่างไร หากในปีใดที่เงินเหลือจ่ายสะสมมีไม่พอ ท่านจะวางแผนแนวทางการบริหารงบประมาณอย่างไร ดิฉันก็ขอความชัดเจนด้วย
อีกประเด็นหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณของสำนักงาน กกต. ดิฉันมีความเป็นห่วงถึงค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรของท่านมาก ดูรายงานในหน้า ๒๒๐ ได้แสดง ให้เห็นถึงค่าใช้จ่ายการบริหารงานบุคคลในปี ๒๕๖๕ ได้ใช้จ่ายด้านการบริหารงานบุคคลไป ๑,๗๐๓ ล้านบาท เพิ่มจากปี ๒๕๖๔ ซึ่งท่านได้ใช้จ่ายงบประมาณด้านบุคลากรไปเพียง ๑,๖๗๓ ล้านบาท ซึ่งภายในระยะเวลาแค่ปีเดียว ท่านใช้เงินงบประมาณด้านบุคลากรเพิ่มขึ้น ๓๐ ล้านบาท นี่ยังไม่นับรวมค่าบำเหน็จ ค่าตอบแทนอีก ดิฉันขอเรียนถามไปยัง ท่านผู้ชี้แจงว่าค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรที่เพิ่มขึ้น ๓๐ ล้านบาทนี้ ในระยะสั้นเพียงปีเดียว ท่านเอาไปทำอะไร เป็นการปรับปรุง เป็นเงินเดือนของผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่หรือเปล่า นอกจากนี้ดิฉันก็ได้ไปดูงบประมาณการจัดสรรตาม พ.ร.บ. งบประมาณ เพิ่มขึ้น ๑,๗๐๐ ล้านบาท เป็นค่าบุคลากร เรียกว่ามันเพิ่มขึ้น มันมากกว่า หรือน้อยกว่า ดิฉันก็เกิด ความสงสัยว่าเงินพวกนี้เอาไปทำอะไรกัน เป็นเงินค่าตอบแทนของคณะผู้บริหารหรือคะ เพราะว่าตามลำพังค่าบริหารเห็นบอกว่าเงินเดือนเจ้าหน้าที่ก็ไม่มาก ในเรื่องนี้ดิฉันมี ความเห็นว่าในการใช้งบประมาณด้านบุคลากรมันขัดกับหลักการบริหารงานภาครัฐแนวใหม่ หรือเปล่า คือเราจะต้องทำงานในหน่วยงานภาครัฐให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ ให้มีขนาด เล็กลง จำนวนคนทำงานก็ลดลง ให้นำเทคโนโลยีเข้ามาบริหาร เข้ามาจัดการให้มากขึ้น คือใช้ระบบสารสนเทศให้มากขึ้นแทนแรงงานของคน แต่ขณะเดียวกันการปฏิบัติงานต้องมี คุณภาพ ต้องได้คุณภาพ แล้วก็บริการพี่น้องประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
อีกประเด็นหนึ่ง ดิฉันอยากจะขอเรียนถามท่านประธานผ่านไปยังผู้ชี้แจง ที่สำนักงาน กกต. ว่าในปีต่อ ๆ ไปท่านมีแผนที่จะกำหนดแนวทางในการบริหารงบประมาณ ด้านบุคลากรไว้ให้เหมาะสมกว่านี้ได้หรือไม่ ท่านมีวิธีการปรับลดสมดุลในด้านค่าใช้จ่าย ด้านบุคลากรได้อย่างไร อันนี้ดิฉันฝากเป็นคำถามเพราะเป็นห่วง เพราะจำนวนบุคลากร ของท่านก็ดูว่ารู้สึกจะมีจำนวนเยอะ
ดิฉันกลับไปดูในรายงานหน้า ช ข้อ ๑.๒ ท่านบอกว่าการบริหารจัดการ เลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมเพื่อให้ได้คนดีมาปกครองบ้านเมือง ก็ดีค่ะ ในหลักการ อยากให้ได้แบบนี้ กกต. คงจะตระหนักให้ความสำคัญในภารกิจทุก ๆ ด้าน รวมถึงการควบคุมในการบริหาร การสอดส่องในการสืบสวน ไต่สวน การวินิจฉัย ดำเนินคดี ต่าง ๆ ในการร้องเรียนการเลือกตั้ง หรือในศาล เช่น การคุ้มครองพยาน ประเด็นในเรื่องของ การคุ้มครองพยาน ถ้าทำได้จริง ๆ ดิฉันว่าดี ถ้ามีหลักการ มีระบบมาดูแล ในรายงานนี้ท่านบอกว่าเพื่อให้พยานเกิดความปลอดภัยในการยอมเข้ามาเป็นพยานในคดี เลือกตั้ง ท่านได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานสืบสวนและไต่สวน โดยการนำระบบศูนย์แลกเปลี่ยน ข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ หรือเรียกระบบว่า DXC มาใช้ในการสืบสวน ไต่สวน หรือมี Application ตาสับปะรด ดีมากค่ะ ถ้าได้นำข้อมูลในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามาใช้ แต่ขณะเดียวกัน กกต. ต้องประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนได้รู้จัก หลาย ๆ ช่องทางแบบนี้ พี่น้องประชาชนจะได้ร่วมเข้ามีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสให้กับ ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง ดิฉันต้องขอชื่นชมที่ท่านนำเทคโนโลยีอันนี้มาใช้ ในการทำงาน โดยเฉพาะในเรื่องคุ้มครองพยานตามรายการในหน้า ๖๓ ซึ่งในรายการนี้ ย้ำอยู่ว่าให้ Download ข้อมูลใน Application ตาสับปะรด ก็ขอให้เป็นตาสับปะรดจริง ๆ ตามวัตถุประสงค์การพัฒนาในการทำงาน เพื่อพี่น้องประชาชนจะได้เข้าใจ เข้าถึง เข้ามา มีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตได้ดีขึ้น ดิฉันก็ขอขอบคุณคณะที่มา ชี้แจงในวันนี้ด้วยค่ะ กราบขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานค่ะ ดิฉัน เทียบจุฑา ขาวขำ ๑๕๖ แสดงตนค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางเทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ดิฉัน ขอนำความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในเขตอำเภอบ้านผือ อำเภอน้ำโสม และอำเภอนายูง มาเรียนกับท่านประธานดังนี้
เรื่องที่ ๑ ได้รับการร้องเรียนจากนายก อบต. ตำบลเมืองพาน และ สจ. อรวรรณว่า บ้านเมืองพาน ตำบลเมืองพาน ขาดน้ำอุปโภคบริโภค คือบ้านกาลึม บ้านไผ่ บ้านดอนขี้เหล็ก มี ๖๘๔ ครอบครัวเขาขาดน้ำ เขาอยากได้บ่อน้ำบาดาลเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ได้ทำเรื่องไปถึงสำนักงานทรัพยากรน้ำเขต ๑๐ อุดรธานีแล้วยังเงียบไป จึงขอฝาก ท่านประธานผ่านไปยังกรมทรัพยากรน้ำบาดาลและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เรื่องที่ ๒ ดิฉันได้รับการร้องเรียนจากนายกเทศมนตรีตำบลนางัว อำเภอน้ำโสม และ สจ. อัมพร นนทพันธุ์ ว่าถนนทางหลวง ๒๓๔๘ สายบ้านผือ-ปากมั่ง ช่วงตอนสามแยก ห้วยผาแดง-บ้านสันติสุข และดิฉันก็ได้รับการร้องเรียนจาก สจ. เข็มทอง ว่าถนนสาย ๒๓๔๘ บ้านนาแค-บ้านวังแข้-บ้านโนนศิลา หลักกิโลเมตร ๕๗ ถึงกิโลเมตร ๖๙ ตำบลนาแค อำเภอนายูง ปัจจุบันนี้ถนนคับแคบแล้วก็ชำรุดเสียหายมากเป็นหลุมเป็นบ่อเนื่องจาก เกิดอุทกภัยทำให้ถนนเสียหายจึงขอให้กรมทางหลวงได้ขยายถนนเป็น ๔ ช่องจราจร แล้วก็ ขอไฟฟ้าส่องสว่างให้กับพี่น้องประชาชนได้เดินทางสัญจรไปมาได้สะดวกนะคะ
ดิฉันได้รับการร้องเรียนจากนายก อบต. ของอำเภอบ้านผือ ว่าถนน ในความรับผิดชอบของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ถนนบ้านดอนตาล-บ้านนาไฮ ตำบลโนนทอง ถนนบ้านศรีวิราช ตำบลโสมเยี่ยม และบ้านทุ่งทอง-บ้านก้อง อำเภอนายูง แล้วถนนเหล่านี้จะนำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยว ของจังหวัดอุดรธานี และขณะเดียวกันก็อยากจะกราบเรียนท่านประธานว่าจังหวัดอุดรธานี ได้รับเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกในวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๙ จนถึงวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๗๐ แต่ขณะเดียวกันถนนหนทางที่จะให้นักท่องเที่ยวได้สัญจรไปมาได้สะดวก ไม่ค่อยดีค่ะ ขาดการบูรณาการมาหลายปีแล้ว ๗-๘ ปีก็ว่าได้ชำรุดเสียหายเป็นอย่างมาก จึงขอฝากท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม แล้วก็ส่งไปขอความอนุเคราะห์ไปยังกรมส่งเสริม การปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้ดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยค่ะ กราบขอบพระคุณค่ะ
จำนวนสมาชิกที่มาประชุมทั้งหมดที่ลงชื่อไว้เมื่อเลิกประชุม ๔๗๓ คน
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน เทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ดิฉันขอร่วมอภิปรายรายงานประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ของศาลปกครอง และสำนักงานศาลปกครอง หลักยุติธรรมก็ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมหมายถึง กลไก กระบวนการหรือขั้นตอนที่รัฐใช้กฎหมาย เป็นเครื่องมือในการควบคุมและจัดการข้อพิพาทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน ในสังคมนี้ เพื่อสร้างให้เกิดความยุติธรรมทางสังคม รวมถึงการให้ความคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพี่น้องประชาชนด้วย ดังนั้นศาลปกครองก็มีพันธกิจในการ อำนวยความยุติธรรมทางการปกครองให้กับพี่น้องประชาชน การพิจารณาพิพากษาคดีรวมการบังคับคดีจะต้องทำด้วยความถูกต้อง เป็นธรรม แล้วก็ รวดเร็ว ศาลปกครองของจังหวัดอุดรธานีเปิดทำการเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๓ ก็มีเขตปฏิบัติหน้าที่ มีจังหวัดที่อยู่ในอำนาจการปกครอง หรือทำหน้าที่หลายจังหวัด ในภาคอีสาน มีจังหวัดอุดรธานี จังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย และจังหวัดหนองบัวลำภู ทราบว่าจะมีจังหวัดบึงกาฬ จังหวัดสกลนครด้วย ดังนั้นศาลปกครองของจังหวัดอุดรธานี มีเขตควบคุมหลายจังหวัดก็ถือว่าเป็นเขตพื้นที่ขนาดใหญ่ที่มีจำนวนประชากรหลายล้านคน ดิฉันดูรายงานในหน้า ๕๓-๕๙ จากสถิติคดีรับข้าวของศาลปกครองชั้นต้นมีคดีอยู่ระหว่าง การพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้น ณ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๕ มีมากถึง ๑๕,๗๔๘ คดี ส่วนศาลปกครองจังหวัดอุดรธานี ในระหว่างปี ๒๕๖๑ ถึงปี ๒๕๖๕ มีคดีรับเข้าจำนวน ๕๐๐ คดี ท่านประธานที่เคารพคะ หากเราพิจารณาผิวเผินว่าใน ๕ ปีนี้มีคดีรวม ๕๐๐ คดี คิดเฉลี่ย แต่ละปีก็ปีละ ๑๐๐ คดี แต่ดิฉันว่าคงไม่ใช่ และดูให้ลึก ๆ จะพบว่าคดีทางศาลปกครองเข้าสู่ กระบวนการพิจารณาในศาลปกครองของจังหวัดอุดรธานีมีจำนวนมากเพิ่มขึ้นเหมือนก้าวกระโดด เพิ่มขึ้นทุกปี ๆ ซึ่งเป็นนัยที่สำคัญ มีแนวโน้มว่าในอนาคตนี้คงจะมีคดีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดูตัวอย่างเพียง ๕ คดี ในปี ๒๕๖๒ มีคดีเพิ่มขึ้น ๒๓ คดี ปี ๒๕๖๓ คดีเพิ่มขึ้น ๖๕ คดี ปี ๒๕๖๔ มีคดีเพิ่มขึ้นอีก ๑๙๗ คดี ในปี ๒๕๖๕ มีคดีเพิ่มขึ้น ๒๑๐ คดี ดังนั้นจะเห็นว่า ตัวเลขสถิติของจำนวนคดีทางศาลปกครองในจังหวัดอุดรธานี ดิฉันคิดว่ามีตัวเลขเพิ่มสูงขึ้น ทุก ๆ ปี ในประเด็นนี้ดิฉันเป็นห่วงเป็นอย่างมาก ดิฉันคิดว่าอาจจะเป็นปัญหาในเรื่องของ การบริหารจัดการ ความล่าช้า หรือการอำนวยความยุติธรรมให้แก่พี่น้องประชาชน ดิฉันก็ค่อนข้างจะเป็นห่วง เพราะว่าการพิจารณาของศาลปกครองใช้เวลานาน มีหลายขั้นตอนเป็นระบบไต่สวนในการพิจารณาคดี ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงคงจะต้อง ใช้เวลานานเพื่อสืบค้นหาพยาน ซึ่งดิฉันเองก็เป็นห่วงในเรื่องของระยะเวลาการดำเนินงาน ของการพิจารณาคดี แล้วดิฉันก็อยากจะกลับมาถามท่านประธานผ่านไปยังคณะผู้ชี้แจงว่า ในจังหวัดอุดรธานีมีเขตรับผิดชอบเยอะ แต่ได้อ่านในรายงานทราบว่าจะมีการก่อสร้าง เพิ่มขึ้นอีกศาลปกครองหนึ่งที่จังหวัดสกลนคร ทราบว่าตั้งงบประมาณไว้ปี ๒๕๖๖ แต่ไม่ได้รับ งบประมาณจัดสรร ไม่ทราบว่าเกิดเหตุอะไรขึ้นถึงไม่ได้รับ เพราะดูสถิติของคดีแล้วก็เยอะ ดิฉันอยากเรียนถามท่านประธานผ่านไปยังคณะผู้ชี้แจงว่าศาลปกครองของจังหวัดสกลนคร จะได้มีโอกาสได้ก่อสร้างทันในปี ๒๕๖๗ หรือไม่
ท่านประธานคะอีกประเด็นหนึ่ง ดิฉันดูจากรายงานหน้า ๑๖ เรื่องผลการดำเนินงานของศาลปกครองในปีงบประมาณ ๒,๕๖๕ พบว่าศาลปกครองมีคดี ความรับผิดชอบถึง ๔๐,๐๐๐ กว่าคดี แต่ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาแล้วเสร็จเพียง ๑๓,๐๐๐ กว่าคดีเท่านั้นเอง เท่ากับว่ายังมีคงค้างพิจารณาอยู่ต้องยกไปพิจารณาในปี ๒๕๖๖ ถึง ๒๗,๐๐๐ กว่าคดี ก็เท่ากับว่าศาลปกครองนี้ยังมีคดีคงค้างมากกว่าเป็น ๒ เท่าของคดี ที่พิจารณาแล้วเสร็จ ดิฉันก็มีความคิดและมีความคาดหวังว่าศาลปกครองคงจะหาแนวทาง ในการบริหารคดีต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ให้ทันต่อการเยียวยา และแก้ปัญหา ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนนะคะ ดิฉันขอเป็นกำลังใจ และขอขอบพระคุณ ทุก ๆ ท่านที่มาร่วมชี้แจงในวันนี้ค่ะ กราบขอบพระคุณค่ะ
ท่านประธานคะ ๑๕๖ เทียบจุฑา ไม่เห็นชอบค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางเทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ท่านประธานค่ะดิฉันขอร่วมอภิปรายร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของเพื่อนสมาชิกที่ได้นำเสนอ ท่านประธานค่ะดิฉันมีหลายประเด็นมีความกังวล แล้วก็ไม่แน่ใจกับเจตนารมณ์ของผู้ที่จะเสนอเกี่ยวกับการกำหนดข้อบังคับ โดยเฉพาะเรื่อง กำหนดตำแหน่งประธานกรรมาธิการ ๓ คณะ ว่าจะต้องมาจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน เท่านั้นนะคะท่านประธาน คือในร่างข้อบังคับ ข้อ ๑๔ ที่มีการเพิ่มเติมในข้อ ๙๓/๑ ของข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ ว่าเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ การบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี ให้ประธานกรรมาธิการป้องกันและปราบปราม ทุจริตและประพฤติมิชอบ และประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการ บริหารงบประมาณ แล้วก็พูดถึงประธานกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร ต้องเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากพรรคการเมืองที่สมาชิกไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เท่านั้นค่ะท่านประธาน นั่นหมายความว่าในร่างข้อบังคับนี้ ท่านเสนอให้มีการกำหนด เป็นเฉพาะว่าประธานกรรมาธิการทั้ง ๓ คณะนี้ จะต้องมาจากพรรคฝ่ายค้านเท่านั้นหรือคะ ท่านประธาน ท่านประธานที่เคารพคะก่อนอื่นดิฉันต้องขออนุญาตกล่าวถึงหลักการของ การตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นในสภาผู้แทนราษฎรของเราว่า คณะกรรมาธิการมีหน้าที่ทำงาน เสนอความเดือดร้อน แก้ปัญหาวินิจฉัยหรือศึกษาปัญหา กลั่นกรองการกระทำต่าง ๆ ให้เป็น ประโยชน์แล้วก็ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ในคณะกรรมาธิการนั้นไม่มีเฉพาะท่าน สส. เป็นกรรมาธิการ มีผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการเฉพาะด้านเข้ามาร่วมพิจารณาให้ข้อมูล ให้ถูกต้องและให้เป็นประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน ซึ่งทำให้สภาผู้แทนราษฎรมีส่วน เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐและพี่น้องประชาชนที่ได้รับทราบปัญหาข้อเท็จจริงในเชิงลึกได้ ดังนั้นคณะกรรมาธิการยังช่วยให้ทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในการ แก้ปัญหาการบริหารงานตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา และคณะกรรมาธิการทำให้สามารถติดตามบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหารได้อย่างมี ประสิทธิภาพ นี่คือหลักการและเหตุผลที่สภาผู้แทนราษฎรจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมาธิการ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร เป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่ ของสภาผู้แทนราษฎรเป็นอย่างดีก็ว่าได้ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุม ที่ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ รวมทั้งกรรมาธิการยังเป็นกลไกที่สำคัญในระบอบรัฐสภา จะทำ ให้การทำงานของสภาของเรานี้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนะคะ ดังนั้นดิฉันได้กล่าวถึง หลักการและเหตุผลแนวการทำงานของคณะกรรมาธิการมาแล้ว เมื่อดิฉันพิจารณาจาก ร่างข้อบังคับ ในข้อ ๑๔ ที่มีการเพิ่มข้อความในข้อ ๙๓/๑ โดยกำหนดให้คณะกรรมาธิการ ๓ คณะ ให้มีประธานคณะกรรมาธิการต้องมาจากฝ่ายค้าน ดิฉันว่าไม่เห็นมีความจำเป็นเลย ที่จะต้องมาแก้ไข ทำไมจะต้องมากำหนดสิทธิและเสรีภาพตรงนี้นะคะ ดังนั้นท่านผู้ที่ยกร่าง มีเหตุผลอย่างไรคะ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบในการบริหารราชการแผ่นดินของ คณะรัฐมนตรีหรือคะ ที่จะต้องกำหนดให้มี ๓ คณะนี้เท่านั้น ต้องเป็นฝ่ายค้าน ดิฉันจึงขอ อนุญาตกล่าวถึงประธานคณะกรรมาธิการทั้ง ๓ คณะ ที่ผู้เสนอได้แก้ไขข้อบังคับ เช่น ประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ก็คืออาจารย์ ชูศักดิ์ ศิรินิล ท่านเป็นอาจารย์ด้านกฎหมาย ท่านมีความเชี่ยวชาญชำนาญมากค่ะ มีความรู้ ความสามารถเหมาะสมทุกประการ หรือประธานคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร ก็คือท่านประเสริฐ บุญเรือง ท่านก็มีความรู้ความสามารถในการทำงาน เหมาะสมค่ะ แม้กระทั่งประธานคณะกรรมาธิการศึกษาจัดทำติดตามการบริหารงบประมาณ คือท่าน สส. ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ นี่ก็เป็น สส. พรรคก้าวไกล ดิฉันก็ชื่นชอบนะคะ น้อง ๆ ท่าน สส. ทำงานดีค่ะ ซึ่งดิฉันคิดว่าการกำหนดตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการทั้ง ๓ คณะนี้ ดิฉันไม่เห็นด้วยค่ะ ดิฉันจึงขออนุญาตย้อนถามไปว่า เหตุใดท่านจึงระบุเฉพาะเจาะจงเพียง ๓ คณะกรรมาธิการเท่านั้นค่ะท่านประธาน แล้วอีก ๓๒ คณะท่านไม่ให้ความสำคัญหรือคะ ไม่ได้ทำงานในการควบคุมโดยการตรวจสอบบริหารราชการแผ่นดินหรือคะ ๓๒ คณะ ก็ทำงานเหมือนกันค่ะ เช่นเดียวกันค่ะ ถ้าท่านตอบว่า ๓ คณะนี้เป็นคณะที่มีความสำคัญ และมีกลไกในการตรวจสอบรัฐบาลแล้ว และเพื่อน ๆ สมาชิกใน ๓๒ คณะเขาไม่ได้ทำงาน หรือคะ ไม่ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินหรือคะท่าน ดังนั้นดิฉันว่าทุกคณะ ๓๕ คณะ มีความสำคัญเหมือนกันหมดค่ะท่านประธาน ท่านประธานคะ ในโลกปัจจุบันนี้มีการปกครอง แบบระบอบเสรีประชาธิปไตย เราต้องเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน เราต้องให้เกียรติในการ ทำงานของกันและกัน ไม่ควรจะดูถูกดูแคลนหรือด้อยค่าบุคคลอื่นหรือคณะบุคคลอื่น ดังนั้น จากเหตุผลดิฉันกล่าวมานี้ ดิฉันไม่สามารถจะรับหลักการร่างข้อบังคับการประชุมฉบับนี้ ได้ค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางเทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ดิฉันขอร่วมอภิปรายสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศ สะอาด พ.ศ. .... ตามที่คณะรัฐมนตรีและเพื่อนสมาชิกได้เสนออีกทั้ง ๖ ฉบับ ท่านประธาน เกี่ยวกับเรื่องปัญหาฝุ่นเป็นพิษหรืออากาศไม่บริสุทธิ์เป็นเสียส่วนใหญ่นี้ ส่วนมากจะเห็น ง่าย ๆ ได้จากในกรุงเทพมหานคร ถ้าเพื่อนสมาชิกหรือท่านประธานมองไปข้างนอกอาคาร ก็จะเห็นหมอกควันขึ้นมากมายหนาแน่น นี่ละคะถือเป็นอากาศเป็นพิษ เพราะฉะนั้นปัญหา อากาศเป็นพิษทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองที่เรียกกันว่า PM2.5 หรือ PM10
ซึ่งปัจจุบันดิฉันก็พูดแล้ว พูดย้ำอีก มีมากที่สุดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จากนั้นยังไม่พอ ยังขยายไปยังต่างจังหวัด ทุกภูมิภาคค่ะท่านประธาน ต้องเผชิญกับปัญหาอากาศเป็นพิษอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะอะไร เพราะมลพิษอากาศไม่สะอาดอันนี้ ซึ่งตอนนี้เราไม่สามารถจะควบคุมได้ มันเกิดจากอะไร แหล่งมลพิษทางอากาศนี้ เช่น เกิดจากการสร้างถนน เกิดจากการสร้างอาคาร เกิดจาก เรื่องของมลพิษภาวะรถยนต์ จากโรงงาน จากอุตสาหกรรมต่าง ๆ จากการสร้างรถไฟ เผาป่า เผาเศษวัสดุเกษตร แล้วยังไม่พอยังมีหมอกควันข้ามแดนอีก อย่างจังหวัดดิฉันจังหวัด อุดรธานีก็มีหมอกควันข้ามแดน ในจังหวัดอุดรธานีนี้จะเห็นได้ว่าหมอกควันที่เป็นปกติที่อยู่ ในเกณฑ์ในช่วงเดือนมกราคมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ค่อนข้างจะเป็นปกติ แต่ยังไม่ถึงเกณฑ์ จะเป็นสีแดง แต่พอมาเป็นปลายเดือนธันวาคมเข้ามาห้วงเดือนพฤษภาคมจะเป็นเกณฑ์สีแดง PM2.5 เกินมาตรฐานเป็นพื้นที่สีแดง ดูสิคะ ขนาดพื้นที่จังหวัดอุดรธานีเป็นพื้นที่ป่าไม้พื้นที่ สีเขียวเยอะ อุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์ไม้ธรรมชาติเยอะ แล้วบางอำเภอก็เป็นพื้นที่สีน้ำตาล อันนี้เป็นข้อมูลจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมจังหวัดอุดรธานี ปัญหามันเกิด จากอะไรเกิดจากหมอกควันที่พี่น้องประชาชนได้เผาฟางหญ้าเกษตรต่าง ๆ เพราะพื้นที่ตรงนี้ เป็นพื้นที่อยู่ใกล้กับป่าสงวนพื้นที่อำเภอบ้านผือ น้ำโสม นายูง เป็นพื้นที่ป่าสงวน ป่าแห่งชาติ ป่าอนุรักษ์ และพื้นที่เกษตร เขต ส.ป.ก. และพื้นที่ใกล้เคียงกับประเทศลาว โดยเฉพาะอำเภอ นายูง จะได้รับผลพวงจากหมอกควันข้ามแดนของจังหวัดอุดรธานี ดังนั้นปัญหามลพิษถือว่าเป็นอากาศก็ส่งผลกระทบต่อเรื่องสุขภาพชีวิตความเป็นอยู่ของ พี่น้องประชาชน ดิฉันเป็นห่วงมากเลย เพราะเป็นเรื่องฝุ่นละอองพอหายใจเข้าสู่ปอดแล้ว มันไม่ได้หายใจเข้าสู่ปอดอย่างเดียว ฝุ่นละอองอย่างเดียว ยังนำสารพิษเข้าไปสู่ในร่างกาย ของเราด้วย ทำให้เกิดการสุ่มเสี่ยงต่อสุขภาพ ทำให้เกิดโรคหลาย ๆ โรคเกิดขึ้น เช่น ที่ใกล้ ๆ ตัว ก็คือโรคระบบทางเดินหายใจ เป็นภูมิแพ้ หายใจไม่สะดวก ไอ จาม แสบคัน คันตามเนื้อ ตามตัว บางทีก็จะลามไปถึงโรคหัวใจด้วย เพราะฉะนั้นผลกระทบเรื่องสุขภาพแล้ว ผลกระทบเรื่องการภูมิทัศน์แย่แล้ว ทำให้อุณหภูมิลดต่ำลงกว่าปกติ วิสัยทัศน์แย่ มันปกคลุมไปด้วยหมอกมองไม่เห็นถนนหนทาง เกิดอุบัติเหตุบ่อย ๆ บางทีก็ไปทำลาย สิ่งก่อสร้างที่ทำด้วยโลหะทำให้สึกกร่อนได้ง่าย นี่คือปัญหาของมลพิษสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ดิฉันว่าปัญหานี้มันเป็นปัญหาที่สำคัญที่ส่งผลกระทบด้านสุขภาพ ด้านชีวิตความเป็นอยู่ของ พี่น้องประชาชน ส่งผลกระทบถึงด้านการท่องเที่ยว ทำให้สถิตินักท่องเที่ยวลดลง เพราะอากาศไม่ดี อันนี้ก็ทำให้ส่งผลกระทบไปให้กับประชาชน ทำมาค้าขายก็ไม่คล่องตัว เศรษฐกิจก็แย่ลง นี่ละค่ะท่านประธานเป็นเรื่องที่สำคัญดิฉันจำเป็นจะต้องมาอภิปราย สนับสนุนร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ดิฉันก็อยากจะขอยกตัวอย่างจาก World Bank นะคะ ท่านประธาน World Bank บอกว่าปัญหาของมลพิษฝุ่นละออง PM2.5 PM10 นี้เป็นปัญหา สิ่งแวดล้อมทำให้เกิดโรคร้าย ๆ หลายโรค แล้วก็ทำให้บุคคลหรือคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร แทนที่จะต้องทำงาน จะต้องเรียนหนังสือ แต่ต้องมาเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทั่วโลกนี้ มีประมาณ ๙ ล้านกว่าคนจากมลพิษนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากพิษทางอากาศค่ะท่านประธาน ตัวเลข ๙ ล้านกว่าคนนี้มากกว่าผู้ที่เสียชีวิตจากโรคเอดส์ จากวัณโรคด้วยจากสภาพปัญหา ดังนี้ ดิฉันอยากจะขอยกตัวอย่างให้ท่านประธานได้ทราบว่ามีประเทศที่เขาบริหารจัดการ มลพิษทางอากาศที่ประสบผลสำเร็จนี้คือประเทศแคนาดา เมืองแวนคูเวอร์ แล้วก็ประเทศ เดนมาร์ก โคเปนเฮเกน เขาก็จัด Zoning ในเรื่องของการปล่อยมลพิษเลย ประเทศญี่ปุ่นเขา ก็ติดตั้งระบบแจ้งเตือนหมอกควันต่าง ๆ ดังนั้น ดิฉันเห็นว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นร่าง พ.ร.บ. ที่สำคัญ เพราะจากที่ดิฉันได้ศึกษามีหลาย ๆ มาตราได้กำหนดมาตรฐานและมาตรการในการ กำหนดในการไปปฏิบัติให้กฎหมายใช้ได้อย่างดี เช่น กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมาย เป็นแม่บท เป็นหลักในการแก้ปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศแล้วก็มีคณะกรรมการระดับชาติ ระดับประเทศคอยกำกับการดูแล เช่น นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน แล้วก็มีมาตรการควบคุม มลพิษหรือโรคทางอากาศชัดเจน มีมาตรการให้อำนาจหน้าที่กับเจ้าพนักงานอากาศสะอาด พนักงานอากาศสะอาดมีอำนาจควบคุมและให้ถ้อยคำ สอบปากคำได้อย่างเต็มที่ ตามอำนาจ เพื่อให้ยุติการเกิดอากาศเป็นพิษ ดังนั้น ดิฉันขอสนับสนุนเพื่อให้พี่น้องได้มีสุขภาพดี มีสุขภาพจิตดี สุขภาพกายดี ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ดังนั้นดิฉันมั่นใจว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะนำพาพี่น้องประชาชนทุกคนมีความสุข มีสุขภาพดี มีความสุข ดิฉันจึงขอสนับสนุนรับ หลักการร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดฉบับนี้ ขอบคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางเทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ดิฉันขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลน น้ำบาดาลและแก้ปัญหาน้ำบาดาลคุณภาพตกต่ำ ท่านประธานคะ น้ำเป็นสิ่งที่สำคัญ น้ำคือชีวิต น้ำบาดาลก็เป็นทรัพยากรธรรมชาติ แล้วก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิต ของพี่น้องเกษตรกร พี่น้องชาวไร่ชาวนาที่มีอาชีพเกษตรกรซึ่งต้องอาศัยน้ำบาดาลประกอบ อาชีพทำพืชผลสินค้าการเกษตร พื้นที่ดิฉันถ้าหากฤดูแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงจะพบปัญหา การขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อพืชผลการเกษตร เช่น ต้นอ้อย ข้าว มันสำปะหลัง ขาดน้ำแห้งเหี่ยวเฉาตาย ดังนั้นพี่น้องเกษตรในพื้นที่ดิฉันต้องอาศัย น้ำบาดาลเสียส่วนใหญ่ เพราะน้ำบาดาลช่วยพืชผลการเกษตร ช่วยเพิ่มผลิตผลการเกษตร ให้ได้มาก แล้วก็เป็นอาชีพหลักด้วย ท่านประธานคะ ดิฉันอยู่ภาคอีสาน อยู่จังหวัดอุดรธานี ภาคอีสานส่วนใหญ่เป็นพื้นที่แห้งแล้งเสียส่วนใหญ่ แล้วก็เป็นพื้นที่ที่หาแหล่งเจาะน้ำบาดาล ได้ยาก เนื่องจากปริมาณน้ำบาดาลนั้นมีน้อย แล้วถ้าเจาะแล้วยังพบน้ำบาดาลเค็มแล้วก็ น้ำกร่อยด้วย ทำให้พี่น้องประชาชนภาคอีสานได้ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค และบริโภค และปัญหาทำการเกษตรบางพื้นที่ไม่สามารถจะทำการเกษตรได้เลย ท่านประธานคะ ดิฉันขอโยงไปหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกที่ได้เริ่มใช้น้ำบาดาลแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ
เช่น ประเทศเดนมาร์ก สหรัฐอเมริกา ใช้น้ำบาดาลอุปโภคบริโภคเกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็ยังช่วยเหลือภาคเกษตรด้วย เป็นจำนวนมาก แล้วก็สามารถแก้ปัญหาภัยแล้งให้ประชาชนในประเทศเขาได้ แล้วอีกอย่างหนึ่ง ที่ดิฉันอยากจะขอยกตัวอย่างให้เห็นได้ชัดเจนก็คือประเทศอิสราเอล ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ ทะเลทราย มีพื้นที่เป็นทะเลทรายอยู่ตะวันออกกลาง พื้นที่ส่วนใหญ่ของเขาแห้งแล้ง ล้อมรอบด้วยทะเลทราย แต่ทำไมเขาประสบผลสำเร็จในเรื่องของการเกษตร ส่งพืชผล สินค้า การเกษตรออกขายไปทั่วโลก ก็เพราะเขาจัดการบริหารน้ำอย่างเป็นระบบ เขาจัดการ บริหารน้ำอย่างเป็นระบบ แก้ปัญหากฎ ระเบียบให้มันชัดเจน จัดการน้ำทุกประเภท ต้องมี องค์กร หน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง และทำให้ประเทศอิสราเอลได้พึ่งพาน้ำใต้ดิน หรือน้ำบาดาลเป็นส่วนใหญ่ แล้วก็ได้นำเทคโนโลยีมาพัฒนาน้ำในระบบของเขา ใช้ระบบ วิศวกรน้ำบาดาลเข้ามาจัดการ ให้มีโครงสร้างเครือข่ายน้ำจืดต่อท่อระบบใต้ดินเพื่อขนน้ำจืด จากทางเหนือลงมาทางใต้ของประเทศ ระยะทาง ๖,๕๐๐ กิโลเมตร เขาใช้น้ำทั้งระบบ ๒,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่ออุปโภคและบริโภคแล้วก็ผลิตกระแสไฟฟ้า จะเห็นได้ว่า ประเทศอิสราเอลถึงแม้ภูมิประเทศของเขาห้อมล้อมด้วยทะเลทราย แต่เขาสามารถนำน้ำมา ปลูกพืช ผัก ผลไม้ ส่งออกไปต่างประเทศ ก็ทำให้แรงงานไทยภาคเกษตรไปทำงาน ที่ประเทศอิสราเอลเป็นจำนวนมากหลายหมื่นคน ใน ๑ เดือนทำงานด้านการเกษตร ที่อิสราเอล เขามีรายได้ประมาณเดือนละ ๕๐,๐๐๐-๖๐,๐๐๐ บาท เพราะฉะนั้นดิฉัน นำเสนอว่าถ้าหากประเทศไทยเราพัฒนาบริหารการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เหมือนประเทศอิสราเอล ประเทศไทยเราก็จะชุ่มฉ่ำ มีน้ำเพื่อการเกษตรจะเยอะ แล้วก็ยัง ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรไทยไม่ต้องไปขายแรงงานที่ประเทศอิสราเอล ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสิน เสี่ยงภัยไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล กลับมาแล้วก็กลายเป็นโศกนาฏกรรม ดิฉันอยาก กราบเรียนท่านประธานว่าปัจจุบันนี้ประเทศไทยเราก็ใช้น้ำบาดาลเหมือนกัน แต่ใช้ได้น้อย เพราะว่าปัญหาเหมือนที่ดิฉันบอก เพราะปัญหาน้ำเค็มและน้ำใต้ดินมีน้อย แต่อยากจะ นำเสนอว่าขอให้แก้ปัญหาสถานที่เก็บกักน้ำ เช่น อ่างเก็บน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึงที่ตื้นเขิน ก็ควรจะดำเนินการขุดลอกระบบชลประทานให้เก็บน้ำให้ได้เยอะ ๆ ให้เพียงพอ ต่อการเกษตร ดังนั้นดิฉันก็ขอให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรมป่าไม้ได้บูรณาการกัน เข้ามาดูแล มาสำรวจขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลให้เป็นระบบ ดังนั้นดิฉันจึงขอสนับสนุนญัตตินี้ให้กับสภาผู้แทนราษฎรได้ศึกษาเพื่อแก้ปัญหา การขาดแคลนน้ำบาดาลให้กับพี่น้องประชาชนอย่างเร่งด่วนค่ะท่านประธาน ขอบคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางเทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย
ท่านประธานคะ ดิฉันขอนำความ เดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมาหารือกับท่านประธาน แต่ก็พูดบ่อยครั้งแล้วนะคะเกี่ยวกับ เรื่องการปรับปรุงซ่อมแซมถนนและขอไฟฟ้าส่องสว่าง วันนี้ดิฉันได้รับการร้องเรียนจาก นายเมืองแมน นายก อบต. บ้านผือ แล้วก็นายกิตตินันท์เป็นภาคประชาชน แล้วก็ สจ. ว่า ถนนทางหลวงหมายเลข ๒๓๔๘ บ้านผือ-น้ำโสม ในระหว่างกิโลเมตรที่ ๔ กิโลเมตรที่ ๕ มีแต่เสาไฟฟ้า แต่ไม่มีไฟฟ้าส่องสว่างมานานแล้ว แล้วก็ขอไฟฟ้าส่องสว่างไปถนน ๒๐๙๗ ที่บ้านภูดิน ทางโค้งบ้านดงยางของตำบลบ้านผือ แล้วก็จุดที่ ๓ ถนนบ้านพลับ-บ้านแวง ถนนตรงนี้ชำรุดเสียหาย ก็ฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ กระทรวงคมนาคม แล้วก็อีกเรื่องหนึ่งทางพี่น้องอำเภอน้ำโสมได้มีความเห็นตรงกันมาว่า ขอให้กรมทางหลวงหรือกระทรวงคมนาคมขยายถนน ๔ ช่องจราจร ช่วงเขาขาด ถนน ๒๓๔๘ แล้วก็ปรับปรุงสามแยก ตำบลนางัว แล้วก็ปรับปรุงผิวจราจรตำบลหนองแวง ตั้งแต่โรงเรียน น้ำซึม อำเภอน้ำโสม
เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องเกี่ยวกับวัตถุโบราณสำริด ตามที่เป็นข่าวอยู่ในสื่อ ในกระแสหลักว่าสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น พิพิธภัณฑ์ Metropolitan Museum of Art แห่ง นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาเตรียมคืนวัตถุโบราณสำริดที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ๒ ชิ้นให้กับประเทศไทย คือประติมากรรมพระศิวะสำริดและประติมากรรมสตรี คืนให้ กับประเทศไทย ซึ่งปรากฏในข้อสงสัยเกี่ยวกับการลักลอบค้า ขนย้ายวัตถุผิดกฎหมาย เรื่องนี้สำคัญนะคะท่านประธาน ดิฉันขอต่อนิดหนึ่ง ดิฉันจึงขอฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าโบราณสถาน โบราณวัตถุเป็นมรดกศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศไทย ซึ่งเป็นรากเหง้า ทางประวัติศาสตร์ของเรา ขอฝากกระทรวงวัฒนธรรม แล้วก็หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกัน ระดมความคิด ช่วยกันฟื้นฟูรักษา และพัฒนาโบราณสถาน โบราณวัตถุอันนี้ให้กับประชาชน เยาวชนรุ่นหลังได้ตระหนักรู้ และขณะเดียวกันในการต้อนรับวัตถุโบราณ ๒ ชิ้นนี้ ดิฉันก็ขอ นำเสนอว่าขอให้กระทรวงวัฒนธรรม ขอให้ท่านรัฐมนตรีเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช จัดการ ต้อนรับวัตถุโบราณอันทรงคุณค่านี้ที่จะกลับประเทศไทยอย่างสมเกียรติ แล้วก็ยิ่งใหญ่ด้วย กราบขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางเทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ดิฉันขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายรับทราบ รายงานผลการดำเนินงาน ตามมาตรา ๘ แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดต่อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ เพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๖๔ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๖ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า พ.ร.ก. เงินกู้เพิ่มเติมแก้ไข ปัญหาโควิดดังนี้ การออกพระราชกำหนดเพิ่มเติมฉบับนี้ได้ให้อำนาจกระทรวงการคลัง มีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศ หรือจะออกตราสารหนี้ก็ได้ ก็ได้กู้ไปแล้ว ดำเนินการแล้ว รวมมูลค่าไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาท เพื่อเอามาแก้ไขปัญหาผลกระทบจาก สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ดิฉันได้อ่านรายงานฉบับนี้พบว่า ณ วันสิ้นสุด งบประมาณปี ๒๕๕๖ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนงานและโครงการจำนวน ๒,๕๓๙ โครงการ แต่ก็มีบางหน่วยงานที่ขอยกเลิกโครงการไปจำนวน ๑๗๒ โครงการ เนื่องจากไม่สามารถ ดำเนินการให้ทันหรือทำงานในวงเงินที่ใช้ไปทั้งหมด ไม่ได้ แต่ว่าใช้ไปแล้ว ประมาณ ๔๙๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท คิดเป็น ๙๔.๘๕ เปอร์เซ็นต์ของวงเงิน ซึ่งหากเราจะพิจารณา ผลสำเร็จของการใช้เงิน หรือเงินกู้ที่กู้ตามพระราชกำหนดนี้ เพิ่มเติมฉบับนี้ประสบ ความสำเร็จหรือไม่ แต่ดิฉันคิดว่าประสบความสำเร็จ เพราะ ๙๔ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็สามารถ ดำเนินการที่ปฏิบัติงานโครงการได้ครบตามโครงการเป็นส่วนใหญ่นะคะ แต่ถ้าหากเรามา พิจารณาถึงผลการดำเนินงาน ประโยชน์และวัตถุประสงค์ของเงินกู้ตามพระราชกำหนดนั้น จะพบว่ากระทรวงการคลัง โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้ดำเนินการจ้างที่ปรึกษา เพื่อติดตามประเมินผลแผนงานและโครงการภายใต้พระราชกำหนดฉบับนี้ โดยที่ปรึกษา ก็จะทำการประเมินโครงการทั้งหมด ๒๕๐ โครงการ แล้วก็พบว่าผลการประเมินในระดับ ภาพรวมของทุกแผนงานอยู่ในระดับ Grade A ก็คือดีมาก นี่เป็นการสะท้อนให้เห็นถึง การดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของการใช้เงินกู้ ท่านประธานคะ พระราชกำหนดฉบับนี้ แบ่งแผนงานออกเป็น ๓ แผนงาน โดยแต่ละแผนงานก็จะมีการประเมินผลการดำเนินงาน แล้วก็มีข้อเสนอแนะของการดำเนินงานแต่ละแผนงานนั้น เพื่อการใช้ประโยชน์ในเงินกู้ ตามพระราชกำหนด หรือกฎหมายเงินกู้ฉบับนี้ได้บรรลุวัตถุประสงค์สามารถสร้างประโยชน์ ดูแลพี่น้องประชาชนให้ได้ประโยชน์มากนะคะ ดิฉันคิดว่าแผนงานหรือโครงการที่มี วัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาโรคระบาดโควิด-๑๙ ที่คณะที่ปรึกษาได้ประเมินอยู่ในระดับ Grade A หรือระดับดีมาก โดยมีข้อเสนอแนะว่าควรมีการปรับปรุง ดิฉันขอเน้นย้ำนะคะ ในข้อเสนอแนะควรมีการปรับปรุงระเบียบหรือมาตรการการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการเงินกู้ ให้รอบคอบ ให้ดี ให้ชัดเจน เพื่อสร้างความคล่องตัวให้กับผู้ปฏิบัติงาน เพื่อทันในการทำงานแก้ไขปัญหาของพี่น้อง ประชาชนได้ดียิ่งขึ้นนะคะ ดังนั้นแม้บางโครงการก็จะมีระเบียบแล้วก็ต้องสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจแก่ผู้ปฏิบัติงานกับเจ้าหน้าที่ให้มากขึ้น สามารถดูแลบริการแก้ไขปัญหา ของพี่น้องประชาชนได้ตรงจุดนะคะ
อันที่ ๒ แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือและเยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด-๑๙ ซึ่งมี ผู้ประเมิน ประเมินแล้วอยู่ใน Grade A ดีมาก แล้วก็มีข้อเสนอว่าควรจะปรับปรุง ดิฉันขอ เสนอนะคะว่านำข้อเสนอของผู้ประเมินนั้นมาเสนอท่านประธานว่าควรมีการปรับปรุง ฐานข้อมูลของพี่น้องประชาชนที่มีประสิทธิภาพ จัดทำ Big Data ให้แต่ละหน่วยงานสามารถ ดึงข้อมูลที่ถูกต้อง ที่ทันสมัยจากฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อสามารถใช้เงินกู้ให้ถูกต้องกับ พี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และถูกกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการรับความช่วยเหลือ อย่างเร่งด่วนนะคะ ซึ่งเรื่องนี้ดิฉันเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ เป็นสิ่งที่รัฐบาลและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องควรจะต้องดำเนินการสร้าง Big Data เพื่อนำมาดูแลและบริการพี่น้องประชาชน ได้อย่างครบถ้วนค่ะ
อันที่ ๓ แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด-๑๙ นั้น ผลประเมินก็อยู่ในระดับ Grade B หรือ D ก็มีข้อเสนอว่าควรมีการวิเคราะห์และจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงของโครงการ โดยเฉพาะโครงการช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร และพี่น้องเกษตรกร เนื่องจากพี่น้อง เกษตรกรมีอาชีพการเกษตรเสียส่วนใหญ่ แล้วก็ของประเทศด้วยซ้ำไป เหมือนภาคเกษตร สร้างรายได้หลักอย่างมหาศาลให้กับประเทศไทย ดังนั้นท่านประธานค่ะ ดิฉันเห็นว่าควรเน้น ที่จะต้องมีแผนวิเคราะห์การจัดทำบริหารความเสี่ยงของโครงการให้กับพี่น้องเกษตรกร ก็เพราะว่าภาคเกษตรมีตัวแปรที่เราควบคุมไม่ได้เยอะ เช่น ธรรมชาติ เรื่องดิน เรื่องน้ำ เรื่องลม เรื่องฝนนะคะ แล้วก็ยังมีปัจจัยจากราคาอุปกรณ์การเกษตรด้วย ราคาปุ๋ยด้วย ทั้งแพง บางทีราคาขึ้นลงไม่แน่นอนนะคะ ดิฉันจึงขอฝากไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีการ วางแผนบริหารความเสี่ยงของโครงการและพัฒนาการช่วยเหลือภาคเกษตร เพื่อไม่ให้เกิด ความซ้ำซ้อน เพื่อไม่ให้เกิดการใช้เงินผิดพลาด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้กับพี่น้อง ประชาชนค่ะท่านประธาน กราบขอบพระคุณค่ะ
ท่านประธานค่ะ ๑๕๖ เทียบจุฑา ขาวขำ แสดงตนค่ะ ขอบคุณค่ะ
ขอบคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางเทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ท่านประธานค่ะ ดิฉันขอนำความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมาหารือกับท่านประธาน ดังต่อไปนี้ค่ะ
เรื่องที่ ๑ ดิฉันได้รับการร้องเรียนจากนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านก้อง นายธีระพงษ์ โมลาเดชและนายแก้วพรชัย โสภารักษ์ สมาชิก อบต. บ้านนาชมภูว่า ขณะนี้ น้ำอุปโภคบริโภคในหมู่บ้านนี้ขาดมาก จึงไม่มีน้ำกินน้ำใช้ไม่สะดวก ขอฝากท่านประธาน ผ่านไปยังกรมน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ช่วยเหลือ ความเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชนด้วย
เรื่องที่ ๒ ดิฉันได้รับการร้องเรียนจากท่านธีระพงษ์ โมลาเดช นายกองค์การ บริหารส่วนตำบลบ้านก้องว่า ถนนสายบ้านสมประสงค์-บ้านห้วยเวียงงาม มีความสำคัญมาก ส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์ของหลวงตาอินทร์ถวาย สร้างในหมู่บ้านนี้ ซึ่งถนนเส้นนี้เป็นถนนแห่งการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและธรรมะ ก็คือถนนสายบ้านสมประสงค์ บ้านห้วยเวียงงาม เส้นที่ ๒ ถนนสายบ้านคำเจริญ-บ้านโนนม่วง และถนนสายบ้านนาชมภู บ้านโนนม่วง อันนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท กระทรวงมหาดไทย แล้วอีกเส้นหนึ่ง เส้นของตำบล อบต. นาแค อำเภอนายูง คือถนนทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๒๓๔๘ สายน้ำสม-ปากมั่ง ตั้งแต่กิโลเมตรที่ ๕๗-๕๙ เป็นระยะทาง ๑๒ กิโลเมตร ดิฉันได้รับการร้องเรียนจากนายก อบต. ศรัณย์พงศ์ สาวิสัย และท่านกำนันทองคำบอกว่า ถนนเส้นนี้ชำรุดทรุดโทรมมาก จึงขอให้กรมทางหลวงแผ่นดินได้ช่วยมาแก้ไขปัญหาเส้นนี้ด้วย เส้นนี้เป็นถนนท่องเที่ยวทางธรรมชาติบ้านคีรีวงกต น้ำตกตาดขามป้อม แล้วก็ไปวัดป่าบ้านเพิ่ม วัดป่าภูก้อน ก็ขอฝากท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย กราบขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางเทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ดิฉันขอมีส่วนร่วมอภิปรายสนับสนุนรายงานการพิจารณาศึกษาและ เสนอแนะการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมง ให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรม กับผู้ประกอบการประมงและกิจการประมงทั้งระบบนะคะ วันนี้ดิฉันรับฟังจากชาวประมง พื้นบ้านเขาก็มีความคาดหวัง มีความหวังที่จะแก้กฎหมายฉบับนี้ ดิฉันก็อยากจะกราบเรียน ท่านประธานให้ทราบว่าประเทศไทยเราเคยถูกจัดอันดับอยู่ ๑ ใน ๑๐ ที่เป็นผู้ส่งออก ในการค้าขายอาหารทะเลออกไปสู่ต่างประเทศ แล้วก็ในพื้นที่ประเทศไทยเรานี้มีพี่น้อง ประมาณ ๒๕ จังหวัด ๑๔๒ อำเภอ ๘๓๗ ตำบล ที่ประกอบการประมงพื้นบ้านด้วย แล้วก็ เพาะสัตว์เลี้ยงรายย่อยมากกว่า ๖๐๐,๐๐๐ คน นี่ล่ะค่ะเป็นอาชีพหลักของพี่น้องประชาชน คนไทย โดยเฉพาะทางภาคอีสานเหมือนกัน ถึงแม้ว่าจะไม่มีน้ำทะเล แต่จะเน้นไปในเรื่องของประมง พื้นบ้านนะคะ จากการอ่านรายงานก็ได้ทราบถึงผลการศึกษารายงานว่ากฎหมายฉบับนี้ เป็นต้นเหตุที่ทำให้ภาคการประมงหรือพี่น้องชาวประมง รวมถึงผู้ประกอบการหรือ Supply Chain ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการประมงได้รับผลกระทบกันทั้งนั้นเลย เพราะมาจากกฎหมาย ประมงฉบับนี้ เพราะกฎหมายประมงฉบับนี้ได้ออกกฎหมายโดย คสช. ซึ่งไม่ได้ตรวจสอบ ความคิดเห็นหรือสอบถามกับพี่น้อง ไม่ได้รับฟังความคิดเห็นกับพี่น้องประชาชนเลย ก็ถือว่า ขาดความรอบคอบก็ว่าได้นะคะท่านประธาน
ประเด็นที่ ๒ จากรายงานฉบับนี้ได้มีการรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน ชาวประมง แล้วก็ผู้ประกอบการ แล้วก็หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย พอจะยกเป็นตัวอย่าง พอจะสรุปได้ว่า ๑. เกี่ยวกับเรื่องการออกพระราชกำหนดการประมง ปี ๒๕๕๘ และกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการออกกฎหมายที่เร่งรีบเกินไป ซึ่งไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจาก ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่มีการศึกษาอย่างรอบคอบ ดังนั้นมันทำให้ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ของการประมงไทยค่ะท่านประธาน ๒. กฎหมายมีการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการโอน ใบอนุญาตเรือ การกักเรือ ซึ่งเรื่องพวกนี้กระทบต่อสิทธิในทรัพย์สินของชาวประมง ทำให้ พี่น้องชาวประมงไม่สามารถที่จะออกเดินเรือในการประกอบอาชีพได้ เขาก็ขาดรายได้นะคะ และอีกอย่างหนึ่งจากรายงานฉบับนี้จะเห็นว่ากฎหมายมีการบังคับใช้อย่างเข้มงวดเกินไป ก็เป็นเหตุ การกำหนดโทษอาญาสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด อันนี้มีทั้งโทษจำและโทษปรับสูง แล้วรายงานฉบับนี้ก็กล่าวถึงการกระทำผิดด้านการประมง เข้าข่ายความผิดอย่างร้ายแรง ในมาตรา ๑๑๔ ซึ่งดิฉันเห็นว่ามันก็ร้ายแรงเกินไป เช่น การลืมเอกสาร การไม่พกพา ใบอนุญาต พวกนี้มีการปรับเป็นแสน ๆ บาทนะคะ แล้วก็อย่างข้อที่ ๕ เรื่องการบังคับใช้ กฎหมายฉบับนี้ไม่มีความเป็นธรรม เมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายอื่น โดยเฉพาะความผิด เกี่ยวกับแรงงานภาคการประมงจะมีโทษสูงกว่าภาคแรงงานอื่น ๆ ทั้งที่มีฐานความผิด อันเดียวกัน ดังนั้นการจะต้องปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ให้สอดคล้องกับนโยบายการประมงทะเล และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชนชาวประมงให้ดีขึ้น แล้วก็ให้มีอาชีพที่มั่นคง แล้วควรจะให้การช่วยเหลืออย่างเป็นธรรมและเป็นระบบ
อีกประเด็นหนึ่งค่ะท่านประธาน ในระหว่างที่จะต้องดำเนินการยกร่างกฎหมาย ประมงฉบับใหม่ หรือแก้ไขปรับปรุงกฎหมายประมงฉบับเดิม ดิฉันขออนุญาตเสนอแนะ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาช่วยเหลือพี่น้องชาวประมงควบคู่กันไปนะคะ เช่น การพิจารณาศึกษาแนวทางด้านการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำจืด ให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ เหมือนในอดีต ดั่งคำพูดว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ให้มีความสมบูรณ์ เพื่อพี่น้องชาวประมงจะได้ไม่ต้องอพยพไปทำงานที่ต่างประเทศหรือต่างถิ่น โดยเฉพาะ ภาคอีสานจะต้องไปทำงานในจังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดภูเก็ต แล้วก็ไปอิสราเอล ไปไต้หวัน ไปเกาหลี
ข้อเสนอแนะประเด็นที่ ๒ การพิจารณาศึกษาขอให้กระจายอำนาจการจัดการ ทรัพยากรประมงน้ำจืดให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนประมงพื้นบ้านให้มากขึ้น เช่น การอนุญาตให้ใช้ประโยชน์และรายได้จากทรัพยากร การตั้งงบประมาณอุดหนุน ให้ชุมชน เพื่อนำไปจัดการบำรุง อนุรักษ์ ฟื้นฟูให้มีประโยชน์มากยิ่งขึ้น
ข้อเสนอแนะประเด็นที่ ๓ ขอนำเสนอว่าในเรื่องของการกำจัดและแพร่พันธุ์ ของผักตบชวา จอกหูหนูยักษ์ วัชพืชนี้สำคัญมากในแหล่งน้ำที่จะประกอบอาชีพชาวประมงนี้ อย่างจังหวัดอุดรธานีของดิฉันจอกหูหนูยักษ์มากเยอะที่สุด เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง อ่างเก็บน้ำห้วยทรายเป็นปัญหาอุปสรรคทำให้เกิดน้ำเน่า เกิดเป็นปัญหาอุปสรรค การเจริญเติบโตของปลาในแหล่งน้ำ ดังนั้นดิฉันจึงขอให้เป็นการศึกษาและพิจารณาเป็น วาระเร่งด่วนในการดำเนินการควบคู่ไปกับการยกร่างกฎหมายประมงฉบับนี้
สุดท้ายนี้ดิฉันก็ขอฝากพี่น้องประมงว่า วันนี้กรมประมงเปิดให้พี่น้องชาวประมง ขอรับไปลงทะเบียนกับกรมเจ้าท่าภายใน ๙๐ วัน ก็เป็นข่าวดีเพื่อเป็นการสร้างอาชีพ อย่างถูกต้อง ก็คาดว่าการนำประโยชน์เป็นการช่วยเหลือให้กับพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน ได้รับประโยชน์สูงสุด ดิฉันก็ขอขอบคุณรายงานฉบับนี้ที่ให้ความช่วยเหลือพี่น้องชาวประมง โดยเฉพาะพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านและชาวประมงทั่วไป ขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน เทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ดิฉันขอร่วมอภิปรายสนับสนุนญัตติของเพื่อนสมาชิกทั้ง ๕ ฉบับ ที่ขอให้ สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่อง การบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท่านประธานคะ จะเห็นว่าขยะนี้ มีความสำคัญมาก ถึงแม้จะมีกลิ่นเหม็นไม่ค่อยดี แต่ก็มีความสำคัญ ส่งผลกระทบ หลาย ๆ อย่างต่อการบริหารจัดการแล้วก็สุขภาพของร่างกาย ท่านประธานทราบไหมว่า ประเทศไทยเรานี้มีขยะต่อวัน ๗๘,๐๐๐ ตันต่อวัน เยอะเหลือเกิน เป็นปัญหาใหญ่ของ ประเทศ นับว่าจะทวีคูณขึ้นมาทุกวัน ๆ จนจะล้นเมืองแล้ว โดยเฉพาะปัญหาขยะตกค้าง มีมากในสิ่งแวดล้อมทั่ว ๆ ไป จากรายงานของกรมควบคุมมลพิษได้ระบุไว้ในปี ๒๕๖๕ ว่ามีขยะทั้งหมด ๒๕.๗ ล้านตัน และมีขยะที่ไม่ได้รับการจัดการให้ถูกต้องมีปริมาณถึง ๗.๑ ล้านตัน ก็คือประมาณร้อยละ ๒๗ จากปริมาณขยะทั้งหมดของปี ๒๕๖๕ ขยะนี้มันก็ เป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ละคนก็บอกมันเหม็น มันทำบรรยากาศเสีย มันเกิดมลภาวะ มลพิษ ต่าง ๆ แล้วก็ถ้ามันหมักหมมกันนาน ๆ ก็จะเป็นแหล่งรวมเชื้อโรค ถ้าดูแลไม่ดี เก็บขยะไม่ดี หมักหมมนาน ๆ น้ำมันก็รั่วไหลในบ้าน ในถนนเหมือนที่ท่านสมาชิกหลาย ๆ ท่านได้พูดไป ลงแม่น้ำลำคลองจนเป็นขยะในน้ำ น้ำเน่า ลงไปในทะเลก็ทำให้น้ำทะเลเสียหาย เกิดปัญหา สะสมของไมโครพลาสติก มันก็จะเกิดขึ้นในอาหารทะเลที่เรารับประทานอยู่ทุก ๆ วัน อันนี้ดิฉันก็ได้ไปดูผลสำรวจ ของกรมควบคุมมลพิษเกี่ยวกับสถานที่กำจัดขยะ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ แต่เขาได้สำรวจเพียง ๗,๗๗๗ แห่ง ก็พบว่า ๓๒๘ แห่ง เป็นสถานที่กำจัดทั้งหมด นำขยะมา ใช้ได้ ๓๐๐ กว่าแห่ง ที่เหลืออีก ๗๐๐ กว่าแห่งมีปัญหาในการจัดการขยะ ในรายงานของ กรมควบคุมมลพิษยังพบอีกว่าขยะที่ถูกกำจัดถูกต้องเกิดจากสถานที่เหล่านี้ คือหมายถึง สถานที่ดีตามหลักวิชาการเพียง ๒๖ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพราะฉะนั้นดิฉันคิดว่าขยะที่ยังเหลือ อีก ๗๔ เปอร์เซ็นต์ของประเทศถูกกำจัดหรือจัดการโดยวิธีที่ยังไม่ถูกต้อง ขอสไลด์นะคะ
เช่น เอาไปเทกองไว้ หรือว่าเผากลางแจ้ง ไม่ได้เผาอยู่ในเตา ไม่มีระบบการจัดการ นี่คือการจัดการผิดหลักการ มันก็ทำอากาศเสียเป็น มลพิษ พอเผาแล้วเกิดมลพิษ เป็นพิษผสมไปกับอากาศไม่ดีอีก ก็จะเกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 เกิดเป็นสารพิษที่พี่น้องประชาชนเราจะต้องสูดดมหายใจเข้าสู่ปอด ทำให้ร่างกายของเรามี โรคร้ายเข้ามาแทรกแซง ระบบทางเดินหายใจก็แย่ จะมีโรคปอดเข้ามาอีก แล้วได้ดูรายงาน ทราบว่าอากาศเป็นพิษคร่าชีวิตพี่น้องประชาชนก่อนวัยอันควร ปีหนึ่ง ๒๘,๐๐๐ กว่าคนถึง ๓๒,๐๐๐ กว่าคน ก็เกิดจากปัญหาอุปสรรคหลาย ๆ อย่างจากการกำจัดขยะขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นเกือบทั้งหมด ปัญหาสำคัญที่สุดก็คือปัญหาการขาดแคลนงบประมาณ จัดงบประมาณให้ท้องถิ่นเขาน้อยในการทำสถานที่จัดการขยะ ถ้าจะให้เขาทำให้ดีต้อง สนับสนุนงบประมาณเขาให้มาก จะได้จัดสถานที่กำจัดขยะให้ถูกต้อง เพราะมันมีค่าใช้จ่ายสูง
ปัญหาข้อที่ ๒ คือเรื่องสถานที่การกำจัดขยะ เพราะว่าบางชุมชนนี้จะต่อต้าน เกี่ยวกับเรื่องสถานที่ เพราะมันส่งกลิ่นเหม็น แล้วก็อากาศก็ไม่ค่อยดี ส่งผลกระทบให้กับ ร่างกาย ต่อครอบครัวพี่น้องประชาชน แล้วก็ขณะเดียวกันพอแหล่งสถานที่นี้ไปอยู่ใกล้กับ ชุมชน ชุมชนก็ไม่ชอบอีก เพราะว่ามันส่งกลิ่นเหม็น มันไม่ดี มลภาวะไม่ค่อยดี คนที่จะมารับ สัมปทานขยะนี้ก็มีน้อย เพราะปัญหาจุดคุ้มทุนของการลงทุนระบบการทำขยะ เนื่องจาก การเผาขยะมันมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ต้องหาขยะที่ดี ที่เขาสามารถปรับเปลี่ยนเป็นพลังงานได้ เป็นไฟฟ้าได้หรือนำมาขายได้ เพราะฉะนั้นการลงทุนของเอกชนก็มีน้อย ดิฉันขอยกตัวอย่าง ของพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ปัญหาการจัดการขยะของจังหวัดอุดรธานีก็มีปัญหามาก จากข้อมูล ของสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ ๙ จังหวัดอุดรธานีพบว่า การจัดการขยะมูล ฝอยชุมชนในปี ๒๕๖๖ ของจังหวัดอุดรธานี วันหนึ่งมี ๑,๕๘๓ ตัน แต่ว่าจัดเก็บได้แค่ ๑๕๒ แห่ง ๒ แห่งถูกหลักทางวิชาการ อีก ๖๒ แห่งนี้ไม่ถูก เพราะฉะนั้นในจังหวัดอุดรธานีมี ปริมาณขยะสูงมากที่กำจัดไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการของหลักการที่กำหนดในเรื่องของ วิชาการการกำจัดขยะ ดิฉันขอเพิ่มอีกประเด็นหนึ่งค่ะท่านประธาน ขอเวลานิดเดียวค่ะ จากงานวิจัยของท่านศุภกร ฮั่นตระกูล ท่านให้ข้อมูลว่าปัญหาการแก้ขยะปัจจุบันนี้ที่เกิดปัญหาก็มาจากเรื่องทาง กฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยเป็นต้นเหตุ เขาว่าอย่างนั้นนะคะ เกิดปัญหา บริหารจัดการขยะของประเทศไทยมี ๓ สาเหตุ ๑. ปัญหาเกี่ยวกับการที่ไม่มีกฎหมายเป็น การเฉพาะในการจัดการขยะ การบังคับใช้ในปัจจุบันไม่เข้มงวด ไม่มีกฎหมายที่บังคับ ให้แยกขยะ ทำให้การบังคับกฎหมายขาดประสิทธิภาพในการจัดการขยะในภาพรวม ๒. ปัญหาในเรื่องของการจัดการขยะมีหลายหน่วยงาน มันต้องมาบูรณาการจัดการขยะให้ไป ทิศทางเดียวกัน ๓. ปัญหาขาดการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน เพราะว่าเนื่องจาก หน่วยงานของรัฐมีหลายหน่วยงาน ในเรื่องการจะสื่อสารให้ความรู้ความเข้าใจกับ พี่น้องประชาชน ให้พี่น้องประชาชนรับรู้ข้อมูลดิฉันว่าเข้าถึงน้อย ดังนั้นดิฉันจึงขอเสนอให้ คณะกรรมาธิการที่จะทำการศึกษาถึงการมีกฎหมายกลาง ให้มีกฎหมายกลางมาบังคับใช้ ในการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ แล้วก็ศึกษาประเด็นในการส่งเสริมให้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นมีภารกิจในการจัดการขยะ แยกขยะให้ได้มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศค่ะ ท่านประธาน ขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางเทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ก่อนอื่นดิฉันต้องขอขอบคุณท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีที่เดินทางไป จังหวัดอุดรธานี ไปรับฟังความคิดเห็นเพื่อแก้ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม ที่จังหวัดอุดรธานี
เรื่องปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ก็เดือดร้อนเรื่องถนนหนทาง สัญจรไปมา ก็ขอขยายถนน ขอไฟฟ้าแสงสว่าง ถนนทางหลวงสาย ๒๐๒๐ บ้านผือ จังหวัด อุดรธานี ไปอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เส้นทางนี้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เพื่อการ ท่องเที่ยวแล้วก็เดินทางสู่ประเทศลาวได้
เรื่องที่ ๓ ดิฉันต้องขอขอบคุณท่านทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ยุติธรรมที่เดินทางไปให้กำลังใจอาสาสมัครคุมประพฤติที่จังหวัดอุดรธานี อาสาสมัคร คุมประพฤติตามบทบาทของภาคประชาชน พ.ศ. ๒๕๖๐ มีหน้าที่ช่วยดูแลติดตามสอดส่อง ผู้กระทำผิดในชุมชน เหมือนกับเป็นแมวมอง เป็นมดงานที่ทำงานให้กับทางราชการ แล้วเขา ก็ไม่ได้ค่าตอบแทน เมื่อดิฉันไปร่วมงานอาสาสมัครคุมประพฤติในจังหวัดอุดรธานีเขาก็ ฝากมาว่าอย่างไรก็ขอฝากให้กระทรวงยุติธรรมได้พิจารณาค่าตอบแทนให้แก่อาสาสมัคร คุมประพฤติ เพื่อเป็นการให้โอกาสพวกเขาได้ทำงานดูแลในชุมชนอย่างเข้มแข็ง เพื่อเป็น กำลังใจให้กับพี่น้องอาสาสมัคร กราบขอบพระคุณค่ะท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางเทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ดิฉันขอร่วมอภิปรายสนับสนุนญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาการตั้งกองทุนรักษาป่าต้นน้ำ ที่เพื่อนสมาชิกเสนอคือ ท่านทรงยศ รามสูต เป็นผู้เสนอ ดิฉันขอสนับสนุนค่ะ เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าทรัพยากรป่าไม้ซึ่งเป็น ทรัพยากรที่สำคัญในการดำรงชีวิตของเพื่อนมนุษย์ของมนุษย์เราแล้วก็สิ่งมีชีวิตทั้งนั้น ไม่ว่า จะเป็นแหล่งธรรมชาติ แหล่งอาหาร เป็นแหล่งที่สร้างอากาศบริสุทธิ์ เป็นแหล่งต้นน้ำ ที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เป็นระบบนิเวศ นี่เป็นสิ่งที่สำคัญของทรัพยากรป่าไม้ จากข้อมูลของ กรมป่าไม้ปรากฏว่าพื้นที่ในประเทศไทย จากรายงานในปี ๒๕๖๔ ประเทศไทยเรามีป่าไม้ ที่ยังคงสภาพดีอยู่นี้ ๑๐๒ ไร่ คิดเป็น ๓๑ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ ซึ่งน้อยกว่านโยบายป่าไม้ แห่งชาติที่กำหนดเป้าหมายไว้ว่าประเทศไทยเราอาจจะต้องเป็นป่าไม้สีเขียว ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ ดิฉันมาจากจังหวัดอุดรธานีก็เลยอยากจะขอยกตัวอย่างพื้นที่ป่าไม้ของจังหวัด อุดรธานี พื้นที่จังหวัดอุดรธานีมี ๒,๙๐๐,๐๐๐ ไร่ คิดเป็น ๓๙ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ในจังหวัด ส่วนพื้นที่ป่าไม้ที่มีความสมบูรณ์จำนวน ๘๐๐,๐๐๐ กว่าไร่ คิดเป็น ๑๑ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ จังหวัดเท่านั้น และขณะเดียวกันป่าไม้เทือกเขาภูพานซึ่งเป็นเทือกเขาที่ยาวหลายร้อย กิโลเมตร ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำ เป็นแหล่งน้ำ เป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญ ๆ จากป่าภูพานนี้ หลายแห่ง
ดิฉันจะขอยกตัวอย่างป่าต้นน้ำจาก เทือกเขาภูพานก็คือป่าต้นน้ำห้วยหลวง ป่าต้นน้ำห้วยหลวงเป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญซึ่งจะอยู่ บนภูเขาภูพาน น้ำบนภูเขาภูพานไหลจากจังหวัดหนองบัวลำภูเข้ามาจังหวัดอุดรธานี เข้ามา อำเภอกุดจับ แล้วก็เข้าไปสู่อำเภอบ้านผือ เข้าไปอำเภอโพนพิสัยสู่แม่น้ำโขง อันนี้ต้นน้ำ ห้วยหลวง ท่านจะเห็นภาพว่าต้นน้ำห้วยหลวงนี้จะมีอาสาสมัครช่วยกันอนุรักษ์ฟื้นฟูรักษาป่า ซึ่งป่าแห่งนี้อยู่ตำบลกุดหมากไฟ อาสาสมัครจะช่วยกันรักษาผืนป่า ช่วยกันเป็นอาสาสมัคร นะคะ
อันที่ ๒ แหล่งต้นน้ำที่ ๒ ก็คือต้นน้ำโสมที่เกิดมาจากเทือกเขาภูพาน เหมือนกัน ต้นน้ำโสมแหล่งน้ำนี้จะไหลจากอำเภอบ้านผือไปอำเภอน้ำโสม แล้วก็ออกไปสู่ แม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย ก่อนจะไปสู่จังหวัดหนองคายจะผ่านห้วยราง นาแค ผ่านห้วย มะหาด วังแข้ แล้วก็ซำน้ำค่อ นี่เป็นต้นน้ำสำคัญ ๆ ของจังหวัดอุดรธานี แต่ปรากฏว่าสภาพ ป่าปัจจุบันเสื่อมโทรม ทำไมถึงเสื่อมโทรม เพราะว่าความเจริญของบ้านเมืองนี้อยู่ในเมือง ไม่ได้ออกไปอยู่ชนบท ออกไปอยู่นอกเมือง มีประชาชนหนาแน่น พอเกิดความหนาแน่น ทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ จะเป็นดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำต่าง ๆ ก็จะมีคนใช้กันเยอะ ทรัพยากร เหล่านี้ก็จะลดลง ร่อยหรอลง เสื่อมโทรมลงอย่างมาก ส่วนใหญ่พี่น้องภาคอีสานเขาจะอาศัย ธรรมชาติเป็นอาหาร ป่าไม้ธรรมชาติ เช่น หน่อไม้ ผักหวาน ไข่มดแดง ท่านประธานเคยทานไหมคะ ไข่มดแดงเขาบอกว่า เป็นอาหารของสูง กว่าจะหาทานได้จะต้องเป็นป่าที่สมบูรณ์ แต่ขณะนี้ป่าเสื่อมโทรมมาก ดังนั้นญัตติที่ท่านผู้ทรงเกียรติได้เสนอให้พิจารณาในวันนี้ ดิฉันเห็นด้วยแล้วก็ขอสนับสนุน ญัตติที่ท่านทรงยศได้นำเสนอให้พิจารณากองทุนรักษาป่าต้นน้ำ เนื่องจากปัจจุบัน การคุ้มครองดูแลรักษาป่าให้สมดุลในธรรมชาติเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการดำรงชีพของพี่น้อง ประชาชน ต้องการให้มีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน แต่ปัญหาสร้างความมีส่วนร่วมก็คือ เรื่องงบประมาณ เรื่องขาดทุนในการดูแล ไม่มีทุนทรัพย์ในการดูแล เพราะงบประมาณ ไม่เพียงพอ ไม่ทั่วถึงที่จะไปฟื้นฟูป่าสาธารณะ ป่าพื้นที่ต่าง ๆ อันที่ ๒ การจัดตั้งกองทุนนี้ จะได้ช่วยสนับสนุนให้ชาวบ้านที่เป็นอาสาสมัครในการดูแลฟื้นฟูป่าไม้ที่จะได้เป็นแรงจูงใจ เป็นสวัสดิการ เมื่ออาสาสมัครไปดูแลป่าไม้มักจะเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อย ๆ อันนี้อาจจะเป็น งบทุนส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาและคุ้มครองผู้ที่เข้าไปดูแลป่าในครั้งนี้ กองทุนนี้ดิฉัน ชอบมากเลย จะต้องช่วยกันปลูกป่าฟื้นฟูพื้นที่ให้เป็นสีเขียวอยู่มาก ๆ เป็นการลดภาระ โลกร้อน ช่วยให้โลกของเรามีอากาศดี ๆ ขึ้น ท่านประธาน ดิฉันอยากจะขอเสนอแนะให้ คณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางดังกล่าวควบคู่ไปกับการพิจารณาเพื่อตั้งกองทุน รักษาป่าต้นน้ำ ดังนี้
๑. การส่งเสริมให้มีสถาบันชุมชนและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการ บริหารจัดการป่าชุมชน พัฒนาเครือข่ายป่าชุมชนให้มีการสนับสนุนข้อมูลวิทยาศาสตร์ ทางวิชาการด้านวรรณศาสตร์ ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการป่าชุมชน
๒. ขอให้ดำเนินการตรวจสอบสภาพป่าและการใช้ที่ดินในพื้นที่ป่า Update ข้อมูลให้เป็นปัจจุบันเพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลป่าที่ยังเหลืออยู่ทั้งหมดอย่างถูกต้องในการฟื้นฟู
๓. ดำเนินการสำรวจพื้นที่ในการสร้างฝายขนาดเล็กทุกพื้นที่ในประเทศ และดำเนินการจัดทำงบประมาณสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อสร้างความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่า ให้กระจายกันทั่วถึงทั้งประเทศ
สุดท้าย ดิฉันก็ขอฝากว่าการดูแลรักษาป่านั้นก็ถือเป็นหน้าที่ของคนเราทุกคน ที่จะต้องช่วยเหลือ อนุรักษ์ และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากที่สุดเพื่อให้มีป่าไม้เป็นต้นกำเนิด ของน้ำ ของชีวิต คงความสมบูรณ์ เอื้อประโยชน์ให้กับส่วนรวม ให้คนรุ่นต่อรุ่นต่อไป ดิฉัน ก็หวังว่าญัตตินี้คงจะมีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง กราบขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน เทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ดิฉัน ขอร่วมอภิปรายร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... ตามที่ท่านวิสุทธิ์ ไชยณรุณ และเพื่อน สส. หลาย ๆ ท่านได้นำเสนอดิฉันเห็นด้วยในการแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้ ท่านประธานคะ แทบจะพูดได้เลยว่าตั้งแต่ประกาศการใช้กฎหมายประมง ในปี ๒๕๕๘ มานั้น เกือบ ๑๐ ปีแล้ว พี่น้องประมงพื้นบ้านแทบจะสูญพันธุ์กันเลยค่ะ ท่านประธาน เพราะว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เอื้อคนตัวเล็กตัวน้อยประมงขนาดเล็ก ไปเอื้อนายทุนขนาดใหญ่ หรือเอื้อเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่อย่างเช่นในสไลด์นะคะ
แล้วก็เอารัดเอาเปรียบพี่น้องชาวประมง ตัวเล็กตัวน้อยมากค่ะท่านประธาน ดิฉันเห็นใจเพราะว่าดิฉันได้มีญาติพี่น้องที่ทำอาชีพ ประมงหลายจังหวัดตามชายฝั่งทะเล ดิฉันขอยกตัวอย่างกฎหมายประมงฉบับ พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่สร้างปัญหาอุปสรรคให้กับพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน ยกตัวอย่างเช่น คำนิยามในมาตรา ๕ ว่าด้วยนิยามจะส่งผลกระทบในเรื่องของการบริหารการจัดการ เป็นอำนาจคณะกรรมการ ประมงประจำจังหวัด โดยระบุว่าการประมงพื้นบ้านก็คือเรือที่มีขนาดต่ำกว่า ๑๐ ตันกรอส หากใหญ่กว่านั้นก็จะถูกจัดเป็นเรือประมงพาณิชย์ ท่านประธานเห็นไหมคะเอารัดเอาเปรียบ จะเห็นว่าวัตถุประสงค์ทางกฎหมายไม่ส่งเสริมให้กับคนรายเล็กรายย่อยเลย ส่งผลกระทบ รุนแรงมากต่อกลุ่มประมงพื้นบ้าน รวมทั้งเกิดช่องโหว่ทางกฎหมายมากมาย มีข้อกำหนด ก็ไม่ชัดเจน ไม่ตอบโจทย์ แล้วก็ไม่ได้แก้ปัญหาให้พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านเลย แล้วการนิยามความหมายของประมงพื้นบ้านแบบนี้ ก็ไม่ตรงวิถีชีวิตของพี่น้องชาวประมง ตามความเป็นจริงเลย ชาวประมงพื้นบ้านก็ทำประมงนอกเขตชายทะเลด้วยน่าจะดี ดิฉันสนับสนุนร่างของท่านวิสุทธิ์ แล้วก็เพื่อน สส. ที่นำเสนอแก้ไขยกร่างในการแก้กฎหมาย เพิ่มเติมในมาตรา ๕ และแก้ไขเพิ่มเติมบทคำนิยามว่า ประมงพื้นบ้าน ให้หมายความว่า ประมงในเขตทะเลชายฝั่ง เห็นด้วยค่ะ ไม่ว่าจะใช้เรือประมงหรือใช้เครื่องมือ โดยการใช้ เรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า ๑๐ ตันกรอส และมีคุณลักษณะอื่นตามที่กำหนดในกระทรวง ทั้งคุณลักษณะอื่นที่กำหนดจะต้องประกอบไปด้วยขนาดแรงม้าของเรือ ลูกเรือและเครื่องมือ ของประมงพาณิชย์ด้วย ดิฉันก็ได้มาศึกษา ได้อ่าน ได้ศึกษาของสำนักงานอัยการสูงสุด ก็มีความเห็นด้วย เพราะว่าการยกร่างคำนิยามใหม่นี้จะต้องช่วยให้เกิดความชัดเจนและ ครอบคลุมกิจการประมง และจัดระเบียบการประมงในประเทศไทยรองรับการจัดระเบียบ การประมงทะเลในน่านน้ำอื่นด้วย ภายใต้กติการะหว่างประเทศเพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำ การประมงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ดิฉันเห็นด้วยในการแก้ไขค่ะ
อย่างมาตรา ๑๐ ก็ระบุว่า ห้ามไม่ให้ผู้ใดใช้เรือไร้สัญชาติทำการประมง ซึ่งมีความหมายครอบคลุมถึงเรือที่ไม่มีทะเบียน ซึ่งเรือที่มีปัญหาต่อพี่น้องชาวประมงรายเล็ก รายน้อยมีเยอะ เพราะพวกเขาใช้เรือเป็นอาชีพทำมาหากิน ต้องใช้เรือหาปลาเป็นอาชีพ แล้วเรือก็ไม่ได้ขึ้นทะเบียน พอถูกจับว่าเรือไร้สัญชาติก็จะถูกริบ แล้วถูกปรับเงินเป็นแสน โทษมันสูงเกินไป ซึ่งปัญหานี้ก็เกิดทั่วไปหมดทั้งประเทศก็ว่าได้ ซึ่งพี่น้องชาวประมงบางคน ก็มีความรู้ บางคนก็ไม่มีความรู้ ไม่ได้ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด ตัวเองก็ถูกปรับ ริบเรือไป นี่ล่ะค่ะน่าเห็นใจมาก ดังนั้นร่างที่ท่านวิสุทธิ์และเพื่อนสมาชิกเสนอ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ แก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา ๑๐ โดยตรง แต่ร่างนี้มีการแก้ไขบทลงโทษผู้กระทำความผิดที่ใช้เรือ แบบที่ไม่มีทะเบียนให้เป็นไปอย่างเหมาะสมแล้วก็เป็นธรรม เราจะเห็นได้ในร่างมาตรา ๑๒๐/๑ ที่บัญญัติว่า การกระทำดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นการกระทำการประมงโดยการฝ่าฝืนกฎหมาย อย่างร้ายแรงตามมาตรา ๑๒๐ โดยเฉพาะความผิด (๑) การใช้เรือไร้สัญชาติทำการประมง ตามมาตรา ๑๐ ซึ่งบทลงโทษในกฎหมายฉบับปัจจุบันนี้ความผิดในมาตรานี้แค่ใช้เรือ ไปทำมาหากินแบบที่ไม่มีทะเบียนนี่ก็มีโทษรุนแรงแล้ว จะเรียกได้ว่าเป็นฆาตกร พี่น้องชาวประมงก็ว่าได้ เช่น การยึดสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมงมา ห้ามทำการประมงจนกว่าจะมีการปฏิบัติให้ถูกต้อง สั่งพักใช้ใบอนุญาตกำหนดระยะเวลา ไม่เกิน ๙๐ วัน แล้วก็เพิกถอนใบอนุญาตและประกาศให้เรือประมงนั้นเป็นเรือที่ใช้ ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกักเรือประมงให้พี่น้องชาวประมงนำเรือนั้น ออกมาทำมาหากินได้ แต่ในร่างของพรรคเพื่อไทยโดยท่านวิสุทธิ์เสนอบทลงโทษนั้น ดิฉันชอบ เพราะว่ามันลดลง ซึ่งมีความเหมาะสมกับพี่น้องชาวประมงคือ การอายัดสัตว์น้ำที่ได้จาก การทำประมงหรือการกักเรือประมงนั้นให้ได้ไม่เกิน ๙๐ วัน แล้วการพักใบอนุญาต หรือยึดใบอนุญาตเท่านั้น ดังนั้นการทำประมงต่าง ๆ กฎหมายต่าง ๆ ที่แก้พระราชบัญญัติ ดิฉันเห็นว่ามันเป็นการปรับปรุงกฎหมายให้สอดรับกับนโยบายการประมง เป็นการพัฒนา คุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวประมงให้ดีขึ้นด้วย แล้วก็จะได้รับการบริหารจัดการอย่างดีจาก ภาครัฐและเป็นธรรมด้วย ดิฉันขอสนับสนุนในการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน เทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ดิฉันขอร่วมอภิปรายสนับสนุนญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ท่านประธานคะ จากที่เพื่อน สส. ของพรรคเพื่อไทย ท่านพรรณสิริ กุลนาถศิริ ท่านรวี เล็กอุทัย นายจักรวาล ชัยวิรัตน์ แล้วก็ท่านนพพล เหลืองทองนารา และนางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ และ สส. ต่างพรรคอีกหลายท่านที่ได้นำเสนอญัตตินี้ ดิฉันถือว่าเป็นญัตติ ที่สำคัญที่ทุกท่านที่ได้แสดงพูดถึงหลักการและเหตุผลไปแล้วนั้น ดิฉันก็ขออนุญาตเสริม อภิปรายสนับสนุนต่อนะคะ ท่านประธานคะ ในเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจนี้ ดิฉันได้อ่าน ยุทธศาสตร์ของ BOI ในระยะ ๕ ปี คือปี ๒๕๖๖-๒๕๗๐ ตามที่กำหนดยุทธศาสตร์ไว้ให้มีการ มุ่งส่งเสริมการลงทุน เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไปสู่เศรษฐกิจใหม่ เราเรียกว่า New Economy แล้วก็ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ รวมถึง คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมเพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืน นี่เป็น ยุทธศาสตร์ของ BOI ในการจะสนับสนุนในการลงทุนของนักลงทุน ดิฉันคิดว่าเป็นหัวใจ สำคัญในการที่จะสร้างความเจริญเติบโตอย่างทั่วถึงครอบคลุมทั่วประเทศไทยได้ต้องอาศัย การส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมายให้ถูกต้อง ดังนั้นการลงทุนจะต้องสอดคล้องกับ ศักยภาพในพื้นที่ แล้วก็สามารถตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้ เพื่อกระจายกิจกรรมด้านเศรษฐกิจให้ครอบคลุมถึงทั่วประเทศได้ ซึ่งดิฉันก็เห็นด้วยนะคะ ที่ท่านสมาชิกทุกท่านเสนอนี้ อย่างระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ เศรษฐกิจภาคเหนือเป็น การยกระดับพื้นที่ภาคเหนือ ท่านก็รู้จักดีนะคะ พื้นที่ภาคเหนือนี้ให้เป็นพื้นที่ลงทุนด้าน การพัฒนา ให้เป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักของประเทศ และโดยเป็นแหล่งผลิตสินค้า และบริการต่อยอดจากฐานวัฒนธรรมล้านนาที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น หัตถกรรม ศิลปกรรม ผลิตภัณฑ์ชุมชนอีกมากมาย เราสามารถผลักดันให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้ หรือจะผสมผสานกับ ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ฉบับล้านนา ของล้านนาร่วมกับการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่นำการผลักดันให้เกิดความนิยม ให้เขาชื่นชอบสินค้า อันนั้นได้รับการ ยอมรับในระดับสากลเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น ดังนั้นดิฉันเห็นว่าการพัฒนาพื้นที่เขต เศรษฐกิจพิเศษ พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งจะมีจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดตาก จังหวดสุโขทัย จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดอุตรดิตถ์เหมาะสมที่จะตั้งกลุ่มพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของ ภาคเหนือตอนล่าง ท่านประธานเองก็คงอยู่ใน Zone จังหวัดพิษณุโลก เพราะฉะนั้นในพื้นที่ ตรงนี้จะเป็นหัวใจสำคัญ ถ้าสร้างได้ ฟื้นฟูขึ้นมาเศรษฐกิจพิเศษ จะนำไปสู่การเจริญเติบโต ในการพัฒนาประเทศได้อย่างทั่วถึงแล้วก็ยั่งยืน แล้วก็การส่งเสริมการลงทุนนี้เมื่อสักครู่นี้ ดิฉันย้ำแล้วนะคะ ต้องทำตามพื้นที่เป้าหมายให้ถูกต้อง การลงทุนนั้นจะต้องสอดคล้องกับ ศักยภาพในพื้นที่ และตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เป็นการกระจาย รายได้ กระจายสินค้า กระจายเศรษฐกิจ ดังนั้นระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือตอนล่าง ดิฉันเห็นด้วยอย่างยิ่งด้วยเหตุผลว่าในพื้นที่ตรงนี้ ในด้านการลงทุนในการพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง มันเป็นพื้นที่ที่มีจุดตัดระเบียง เศรษฐกิจ เหนือ ใต้ กับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก ตะวันตก และเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ หลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลำไย แล้วก็เชื่อมโยงร่วมมือภายในประเทศและในประเทศกลุ่ม อนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงกลุ่ม BIMSTEC ก็หมายถึงกลุ่มประเทศบังกลาเทศ ประเทศ ภูฏาน ประเทศอินเดีย ประเทศพม่า ประเทศเนปาล ประเทศศรีลังกา และประเทศไทย ถ้า หากว่าเราเดินทางในถนนสายเอเชีย ในพื้นที่ของจังหวัดพิษณุโลกตามสี่แยกถนนเอเชียจะมี ป้ายบอกเลยว่า เชื่อมโยงไปประเทศอินโดนีเซีย มาลายู ไปประเทศลาว เห็นได้ชัดเลยเป็น การเชื่อมโยงการคมนาคมเห็นได้ชัดประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่มีศักยภาพในด้านการ ลงทุน มีการคมนาคมสะดวกสบาย มีถนนหลายสายที่เชื่อมโยงไปในกลุ่มอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง ดังนั้นการเชื่อมโยงเป็นการเชื่อมโยงให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในกลุ่มจังหวัด ดิฉันเห็นด้วยที่จะต้องผลักดันให้กลุ่มจังหวัดนี้เป็นกลุ่มพัฒนาการสร้างเศรษฐกิจและ เชื่อมโยงการท่องเที่ยว เชื่อมโยงด้านการเกษตร เพิ่มมูลค่าการแปรรูปสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มุ่งสู่การเชื่อมโยงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ดังนั้นในระเบียง เศรษฐกิจตะวันออก ตะวันตกนี้ ดิฉันคิดว่าในระเบียงนี้ที่เกิดขึ้นในจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง มีประโยชน์สูงสุด เพราะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในการลงทุน และการพัฒนาระเบียง เศรษฐกิจภาคเหนือก็จะดึงดูดการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก่อให้เกิดเม็ดเงิน หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงาน แล้วก็เพิ่มรายได้ให้กับประชาชน และยกระดับ ภาคเหนือเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เห็นไหมคะการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ ภาคเหนือจะเป็นการส่งเสริมการลงทุนที่มีเป้าหมายเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้ และอันดับที่ ๓ ที่สำคัญเป็นการพัฒนาคุณภาพ ชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข สวัสดิการและสังคม ซึ่งดิฉันก็ยกตัวอย่างได้ว่า จากภาคอีสานของดิฉันก็มีนะคะ NEC เชื่อมไปจนถึงอยู่ในกลุ่ม จังหวัดหนองคาย จังหวัดอุดรธานี จังหวัดขอนแก่น จังหวัดนครราชสีมาเชื่อมไปจนถึง EEC จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดตราด ดังนั้นญัตติที่เพื่อนสมาชิกได้นำเสนอมา จากเหตุผลดิฉันได้กล่าวไว้แล้วนั้น ดิฉันก็ขอสนับสนุนนะคะ เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างเม็ดเงินสู่กระเป๋าพี่น้องประชาชน เป็นสิ่งที่ต้องการค่ะ ดังนั้นก็ขอสนับสนุนญัตตินี้ทุก ญัตติเพื่อให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญได้ศึกษา ขอบคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน นางเทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ดิฉันขอร่วมอภิปรายสนับสนุนการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติระเบียบ บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของท่านสมาชิกหลาย ๆ ท่าน เช่น ท่านพัฒนา สัพโส ท่านครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ท่านชัยชนะ เดชเดโช แล้วก็เพื่อน สส. อีก หลายท่านที่ได้นำเสนอร่าง ๔ ฉบับนี้ และตัวดิฉันเองก็ได้ลงนามแก้ไขในฉบับนี้ด้วยค่ะ ท่านประธาน จากที่ดิฉันได้ฟังเพื่อนสมาชิกได้พูดถึงการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติระเบียบ บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ทั้ง ๔ ฉบับ ทั้ง ๔ ฉบับนี้ เน้นไปในเรื่อง ของการแก้ไขพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๘/๒๕๖๐ เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น ลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๐ พ.ศ. .... เท่าที่ได้จับประเด็นว่าในร่างนี้ ประเด็นนี้ การแก้ไขคำสั่ง คสช. นี้ ดิฉันเห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ ท่านประธานคะ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยเรานี้ มีหลายประเภทก็มีทั้ง อบจ. องค์การบริหารส่วนจังหวัด ๗๖ แห่ง มีเทศบาล ๒,๔๐๐ กว่าแห่ง เทศบาลนคร ๓๐ แห่ง เทศบาลเมือง มีเทศบาลตำบลอยู่ ๒,๐๐๐ กว่าแห่ง องค์การ บริหารส่วนตำบล หรือ อบต. ๕,๐๐๐ กว่าแห่ง กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา รวมทั้งสิ้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย รวมแล้ว ๗,๘๕๐ แห่งนะคะท่านประธาน จำนวนมาก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนี้เป็นหน่วยงานการปกครองที่บริการสาธารณะ ที่ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนมากที่สุด มากกว่าหน่วยงานอื่น ๆ แล้วก็รับภารกิจ รับภาระหน้าที่ บริการสาธารณะมาก ดิฉันต้องย้ำว่ามากทุกเรื่อง น้ำไม่ไหล ไฟไม่สว่าง ถนนเสีย ตลอดจน ท่อระบายน้ำ สร้างตลาด การขนส่งระบบสาธารณะ การจัดเก็บภาษี การหารายได้ การจัดทำ ผังเมือง การทำประชาคม ทำบริการสาธารณะต่าง ๆ เป็นหน้าที่ขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น แต่น่าเห็นใจนะคะท่านประธาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความรับผิดชอบมาก บางทีส่วนกลางยังมาขอใช้งบของท้องถิ่นด้วย รับผิดชอบบริการสาธารณะ จัดงานส่งเสริม ทุก ๆ ด้าน ก็องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องให้ความร่วมมือทุก ๆ ครั้ง ทุก ๆ ด้าน แต่งบประมาณที่จะสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนี้มีน้อยเหลือเกิน ต้องรอเงิน อุดหนุนจากส่วนกลาง ก็คือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ท่านประธานคะที่ดิฉันได้พูดถึงไปแล้วนั้นเป็นภาระหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่การกระจายอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่ระบุไว้ว่า ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนี้มีอิสระ อย่างไรคะ มีอิสระกำหนดนโยบาย ในการบริหารการเงิน บริหารเงิน บริหารงานบุคคลของตนเองได้อย่างอิสระ ซึ่งจะเห็นได้ว่า จากการบริหารงานบุคคลนั้นก็เริ่มต้นจากผู้บริหารก็มาจากการเลือกตั้ง เลือกนายก อบต. เลือกนายกเทศบาล เลือกนายก อบจ. เลือกสมาชิก สท. เลือกสมาชิก สจ. นี่เป็นลักษณะ มาจากการเลือกตั้งผู้นำท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้ง เป็นการสนองความต้องการของพี่น้อง ประชาชน ตอบโจทย์ของระบอบประชาธิปไตยได้ แต่กลับกันค่ะ ปัจจุบันนี้การบริหารองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นที่เกิดขึ้น ปัจจุบันนี้เป็นการรวมศูนย์อำนาจ บริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อสักครู่นี้ดิฉันก็พูดแล้วนะคะ ว่าสืบเนื่องมาจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ก็คือ คสช. ที่ ๘/๒๕๖๐ เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น ลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๐ ให้อำนาจหน้าที่คณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การบริหาร ส่วนจังหวัด แล้วก็ให้คณะกรรมการกลาง พนักงานเทศบาล คณะกรรมการกลางส่วนตำบล และคณะกรรมการกลางสอบการแข่งขันพนักงานท้องถิ่น ให้จัดการดำเนินการสอบ การแข่งขันคัดเลือก และคัดเลือกข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งมาตรการนี้ดิฉันคิดว่า มันขัดต่อหลักการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นค่ะท่านประธาน มันเหมือนกับว่ารวบอำนาจไว้ ที่ส่วนกลาง เหมือนแบบเป็นระบบคอขวดค่ะ แล้วก็การรวบอำนาจนี้ก็ได้เสียงแว่ว ๆ มาว่า อ้างเหตุผลว่าที่รวบอำนาจมาไว้ส่วนกลาง เพราะท้องถิ่นอาจจะโกง อาจจะทุจริตข้อสอบ อ้างว่ามีการเรียกเงิน ซีละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ก็เลยรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง จัดสอบเอง กันทั้งประเทศ ท่านประธานคะ การรวบอำนาจจัดสอบเองที่กรุงเทพมหานครที่มหาวิทยาลัย ดำเนินการดิฉันเห็นใจข้าราชการที่มาสอบเสียเงิน เสียทั้งค่าใช้จ่าย ค่าพาหนะหลาย ๆ อย่าง มาสอบที่กรุงเทพมหานคร ความโปร่งใสมีไหมคะ ดิฉันก็คิดว่าคงจะเหมือนเดิม ถ้าไม่เชื่อ ท่านประธานลองไปถามพี่น้องท้องถิ่นดูว่าการสอบส่วนกลางมีการโกงกันจริงหรือไม่ ดังนั้น ดิฉันเห็นด้วยกับทั้ง ๔ ฉบับ ที่ให้แก้ไขยกเลิกคำสั่ง คณะ คสช. ที่ ๘/๒๕๖๐ ดิฉันขอ สนับสนุนคืนอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเขามีอำนาจจัดการสอบกันเอง คัดเลือกข้าราชการกันเอง พนักงานท้องถิ่น ให้เขาทำกันเองตามความจำเป็นของเขาที่เขา ต้องการ เขามีคณะกรรมการข้าราชการ ก. จังหวัด แต่ละ อบต. อยู่แล้ว แต่ละ อปท. อยู่แล้ว กำหนดประกาศหลักเกณฑ์ต่าง ๆ นี้ เขามี ก. ของเขาอยู่แล้ว ดิฉันว่าคืนอำนาจให้เขาเสีย เถอะค่ะ ดิฉันขอสนับสนุนเพราะทำให้เกิดความคล่อง บริหารการจัดการของท้องถิ่นให้มัน คล่องตัว บริหารงานบุคคลตามความจำเป็น ตามความเหมาะสมของงาน ข้าราชการที่ ปฏิบัติงานในท้องถิ่นก็มีกำลังใจในการทำงาน มีความก้าวหน้าด้วยแล้วข้าราชการที่ตั้งใจ อปท. เขาดำเนินการเอง เขารู้จักพื้นที่ รู้จักแนวทางแก้ไข รู้จักแนวทางปฏิบัติจากผู้ที่สอบ ส่วนกลางไปรับตำแหน่งที่จังหวัดอุดรธานี กว่าจะเข้าที่เข้าทางใช้เวลานานหลายเดือน ๖ เดือนถึง ๑ ปี ไม่ต้องทำอะไรค่ะ เดี๋ยวนี้คิดอย่างเดียวว่าเขาจะต้องย้ายกลับถิ่นฐาน บ้านเกิดของตัวเอง อัตราที่ไหนว่าง คอยดู คอยสอบถามย้ายกลับ มันขาดขวัญและกำลังใจ ที่จะทำงาน ฉะนั้นคนที่เสียประโยชน์ในการทำงานในด้านบริการสาธารณะให้กับพี่น้อง ประชาชน ก็คือประชาชนค่ะ เสียประโยชน์ ไม่ได้ประโยชน์ ดังนั้นดิฉันต้องขอสนับสนุน การแก้ไข พ.ร.บ. บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ของร่างท่านพัฒนา สัพโส ท่านครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ท่านชัยชนะ เดชเดโช และเพื่อน สส. ทุก ๆ ท่านที่นำเสนอ เพื่อคืนอำนาจ ในการบริหารงานบุคคลกลับคืนสู่ท้องถิ่นให้พี่น้องท้องถิ่นอย่างมีความสุข ขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางเทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ดิฉันขอร่วมอภิปรายญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม และจังหวัดพื้นที่ในเขตป่าสงวนเพื่อลดขั้นตอนการอนุมัติของอธิบดี ตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ตามที่เพื่อนสมาชิก โดยเฉพาะท่าน สส. ทรงยศ รามสูต เป็นผู้เสนอ แล้วก็ท่าน สส. หลายพรรค เพื่อนสมาชิกหลายท่านก็ได้นำเสนอ ได้อภิปรายไปก็คงจะเป็นปัญหาแล้วก็ประเด็นเดียวกันเกี่ยวกับเรื่องการขออนุญาตการใช้ ป่าสงวน พูดถึงปัญหาอุปสรรค แนวทางต่าง ๆ ปัญหาที่สำคัญก็คือกระบวนการ ขั้นตอน การขออนุญาตเข้าไปใช้ประโยชน์ หรือที่อยู่อาศัยของพี่น้องประชาชนในพื้นที่เขตป่าสงวน ตามมาตรา ๑๖ จากคู่มือของกรมป่าไม้
ขั้นตอนการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ ที่อยู่อาศัยเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ในเขตป่าสงวนนี้ดิฉันได้ศึกษากระบวนการ ขั้นตอน การขออนุญาตจากพื้นที่ จากจังหวัดเข้ามากรม จากกรมกลับไปหาพื้นที่ กลับไปกลับมาที่จะ พิจารณาถึงการอนุญาตให้ใช้ จากอธิบดีกรมป่าไม้ รับเรื่องแล้ว แล้วก็ตรวจสอบ อนุญาต ขั้นตอนสุดท้ายกว่าจะอนุญาต ดิฉันรวบรัดเลยนะคะ นับเวลาขั้นตอนการยื่นขอ การตรวจสอบ ตรวจสอบที่ทำการจังหวัด ตรวจสอบที่กรม ตรวจสอบที่คณะกรรมการจังหวัด แล้วก็ให้คณะกรรมการของกรมป่าไม้ประชุม รวมทั้งหมด ๒๖๒ วัน เกือบ ๑ ปี ดิฉันว่ามันนานไป จริง ๆ แล้วมันควรจะลดขั้นตอนให้ได้ ย่นระยะ ได้มากกว่านี้ ควรจะกระจายอำนาจไปให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดีไหม ใช้ระบบ เข้ามาบริหารจัดการ เพราะเดี๋ยวนี้มันก็ทันสมัยแล้ว ทางเขตขอนแก่น ท่าน สส. วันนิวัติก็พูด เหมือนกัน ก็บ่นเหมือนกัน ทาง สส. เทอดชาติก็พูดเหมือนกันว่าการติดต่อประสานงานกับ กรมป่าไม้ โดยเฉพาะจะขออนุญาตใช้ที่เขตป่าสงวนล่าช้ามาก ดังนั้นดิฉันก็ขออนุญาตโยง เข้ามาที่จังหวัดอุดรธานีของดิฉันที่ดิฉันได้รับการร้องเรียนในพื้นที่พี่น้องอำเภอน้ำโสมและ อำเภอนายูง พี่น้องอาศัยอยู่ในเขตป่าสงวนที่พวกเขาอยู่มานมนานแล้ว เกือบเป็นร้อยปีก็ว่าได้ ตั้งแต่บรรพบุรุษ คุณพ่อคุณแม่ คุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย ทำมาหากินอาศัยอยู่ในบริเวณ พื้นที่มานานแล้วก็ประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวน ตามสไลด์นะคะ เขตอำเภอน้ำโสมและอำเภอ นายูงประกาศเป็นพื้นที่เขตป่าสงวน ท่านประธานคะ ในพื้นที่ประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวนของ อำเภอน้ำโสมและอำเภอนายูงเป็นเขตป่าไม้ถาวร เป็นป่าน้ำโสม-ป่านายูงตามมติ ครม. วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๐๙ ตั้งเป็นเขตป่าสงวนป่านายูง-ป่าน้ำโสม ตามกฎกระทรวง ไม่รู้กฎหมายกี่ฉบับ ระเบียบกี่ฉบับ อันนี้ก็ฉบับที่ ๗๘๐ พ.ศ. ๒๕๑๙ ก็เป็นเขตป่าสงวน เป็นพื้นที่หวงห้าม ต้องห้ามไม่ให้ออกโฉนด แล้วก็อยู่ในเขตปฏิรูปตามพระราชกฤษฎีกา กำหนดในเขตท้องที่ คือพื้นที่ในอำเภอนายูง ตำบลโนนทอง ตำบลบ้านก้อง ตำบลนายูง เขตอำเภอนายูงห้ามหมดเลย อำเภอน้ำโสม ๗ ตำบลก็ห้าม ดิฉันเลยต้องมาขอพูดกับ ท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พื้นที่อำเภอน้ำโสม อำเภอนายูง เดี๋ยวนี้เจริญหมดแล้ว มีเทศบาล มีหมู่บ้าน มีอำเภอ มีร้านค้า Mini Mart Mini Shop เต็มไปหมดแล้วค่ะ เจริญไปหมดแล้ว แต่ออกโฉนด ไม่ได้ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามเอกสารดังกล่าวนี้เขาบอกว่าไม่ได้แจ้งการ ครอบครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ เมื่อมันมี ปัญหาอย่างนี้ดิฉันก็ไปค้นเอกสารมา ขอนำเสนอหรือข้อเสนอแนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงแก้ไขระเบียบและกฎหมายเกี่ยวกับ ป่าสงวน กรณีที่ดินที่อยู่ในเขตเทศบาล ชุมชน หมู่บ้านต่าง ๆ ควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป่าไม้กันเขตออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ กรมพัฒนาที่ดินก็กันเขตออกจาก เขตป่าไม้ถาวร และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมก็กันเขตดังกล่าวนี้ออกจาก เขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อให้กรมที่ดินดำเนินการตามโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินให้กับ ชาวบ้าน เนื่องจากรัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทยมีนโยบายเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินให้กับ ประชาชนทุกปี โดยเฉพาะปี ๒๕๖๗ นี้ก็มีการประกาศเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน ๖๘ จังหวัด จังหวัดอุดรธานีก็มีค่ะ แต่ขาดอำเภอน้ำโสมและอำเภอนายูง ไม่มีงบประมาณเข้าไปสำรวจ ไม่สามารถจะดำเนินการสำรวจเข้าโครงการนี้ได้ เนื่องจากอยู่ในเขตป่าไม้ถาวรทั้งอำเภอค่ะ ท่านประธาน มันอยู่กันได้อย่างไรคะท่าน ดังนั้นดิฉันจึงขอให้ท่านประธานผ่านไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือคณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะตั้งขึ้น ดิฉันก็ขอฝากด้วยว่าขอให้ ศึกษาถึงระเบียบ กฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับป่าสงวนนี้ ช่วยแก้ไขด้วยเถอะค่ะ เพื่อดำเนินการ แก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้รับการถือครองสิทธิที่ดิน สามารถนำไปใช้ประโยชน์จาก ที่ดินอันนี้ได้ เป็นการสร้างโอกาสให้เขาเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำทุนนั้นมาประกอบอาชีพ ดำรงชีพ เป็นแรงจูงใจในการพัฒนาที่ดินเพื่อเพิ่มผลผลิต สร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน ดังนั้นดิฉันจึงขอสนับสนุนญัตติทุกญัตติที่นำเสนอในวันนี้ ให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจังหวัดในพื้นที่เขตป่าสงวนเพื่อลดขั้นตอนการอนุมัติของอธิบดี ตามมาตรา ๑๖ ด้วยค่ะ