นายรวี เล็กอุทัย

  • กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพครับ กระผมนายรวี เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต ๓ พรรคเพื่อไทย ขอ Slide ขึ้นด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ปัญหาความรุนแรง ในครอบครัวนั้นมีความละเอียดอ่อน ซับซ้อน และมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับบุคคล ที่มีความใกล้ชิดกันในครอบครัว ตามนิยามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำ ด้วยความรุนแรงในครอบครัว พุทธศักราช ๒๕๕๐ ที่กินความหมายเกินไปกว่าคู่สมรส ตามนิตินัย และประเด็นสำคัญที่ท่านผู้ชี้แจงต้องมารายงานให้รัฐสภาของเรารับทราบ ตามมาตรา ๑๗ ในวันนี้ยิ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นประเด็นใหญ่ ที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะจะมีกฎหมายสักกี่ฉบับกันครับที่กำหนดให้ท่านต้องกลับมา รายงานสถานการณ์ให้สภาได้ทราบถึงสถานการณ์และมาตรการในการแก้ไขปัญหา เป็นประจำทุกปี และจากที่ผมได้ศึกษารายงานสถานการณ์ด้านความรุนแรงประจำ ปี ๒๕๖๓-๒๕๖๔ จึงอยากขอร่วมอภิปรายซักถามในครั้งนี้ด้วย จาก Slide ผมมีประเด็น แล้วก็มีตัวเลขเชิงสถิติ ๓ ด้านเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงในครอบครัวของประเทศไทย ที่อยากแสดงให้ดูครับ ใน Slide แรกนี้เป็นสถิติความรุนแรงในครอบครัวในรอบ ๗ ปี ระหว่างปีงบประมาณ ๒๕๕๙-๒๕๖๕ จำนวนทั้งสิ้น ๑๑,๖๑๗ ราย เฉลี่ย ๑,๖๖๐ รายต่อปี หรือเฉลี่ย ๑๓๘ รายต่อเดือน หรือเฉลี่ย ๕ รายต่อวัน ซึ่งจากข้อมูลนี้มาจาก Website ของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ซึ่งพอมาเปรียบเทียบกับในเอกสารแล้วข้อมูล ไม่ตรงกัน ตัวเลขไม่ตรงกัน ผมก็เลยมีคำถามว่าสรุปแล้วเราควรจะต้องใช้ตัวเลขจาก แหล่งข้อมูลไหนกันแน่ถึงจะถูกต้อง แต่อย่างไรดีข้อมูลทั้ง ๒ แหล่งเป็นในทิศทางเดียวกัน ก็คือความรุนแรงนั้นไม่ได้มีแนวโน้มลดลง แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเหมือนกันทั้งคู่ ในขณะที่ ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวเป็นเหมือนที่เพื่อนสมาชิกหลาย ๆ ท่าน ได้อภิปรายไปครับ ยาเสพติด สุรา ความหึงหวง การหย่าร้าง สุขภาพจิต แล้วก็ความตึงเครียด ของเศรษฐกิจ โดยปัญหาหลัก ๆ ปัจจัยหลัก ๆ นั่นก็คือเรื่องของยาเสพติดและสุรา แล้วเมื่อผมลองมาค้นถึงระดับประเทศ ระดับจังหวัด รวมทั้งประเทศมีสถิติผู้ใช้บริการ บ้านพักเด็กและครอบครัวในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ อยู่ถึง ๒๔,๖๕๔ ราย อันดับ ๑ อยู่ที่ภาคกลาง ๗,๐๐๐ กว่าราย แล้วก็มาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก และพอมาค้นในระดับจังหวัดเป็นที่น่าตกใจว่า ๕ อันดับสูงสุดของประเทศที่มีสถิติผู้ใช้บริการ บ้านพักเด็กและครอบครัวนั้นก็คือขอนแก่น ๑,๒๖๐ ราย และมีอุตรดิตถ์จังหวัดของผมเอง อยู่ที่ ๑,๑๐๘ ราย จากสถิติครับท่านประธาน จากการค้นคว้าย้อนหลังพบว่าสถิติการใช้ ความรุนแรงในครอบครัวนั้นไม่ได้มีแนวโน้มที่ลดลง แต่ในอีกมุมหนึ่งครับ ตามหลักการของ Iceberg Model หรือทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง สถิติที่เราเห็นนั้นอาจเป็นเพียงแค่ยอดภูเขาเล็ก ๆ ของยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นผิวน้ำขึ้นมาเท่านั้นเองครับ หรือกล่าวได้ว่าการรายงานสถิติ ดังกล่าวของท่านเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ถูกตรวจพบและมีการรายงานบันทึกไว้เท่านั้น แต่ยังอาจมี ความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นจริงอีกมากที่ไม่สามารถตรวจพบหรือไม่มีการบันทึกเอาไว้ โดยหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นฐานขนาดใหญ่ของภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ใต้ผิวน้ำ ซึ่งเราไม่รู้เลยว่าจะมีขนาดหรือปริมาณอยู่อีกมากน้อยเพียงใด และที่สำคัญเราไม่ได้มีวิธีการ ในการจัดเก็บข้อมูลมากเกินไปกว่าการจัดทำโดยหน่วยงานของรัฐ แต่ในอีกมุมหนึ่งในทางที่ดี ก็อาจเป็นแนวโน้มที่แสดงให้เห็นว่าภาครัฐหรือผู้ถูกกระทำได้ให้ความสำคัญต่อปัญหานี้ ทำให้มีการรับแจ้งและการเข้าถึงกลไกของการดูแลของหน่วยงานของภาครัฐมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นทั้งข้อกังวลและข้อสงสัยของผมว่าจริง ๆ แล้วตัวเลขสถานการณ์ ความรุนแรงในครอบครัว ณ ปัจจุบันนั้นอยู่ที่จุดไหนกันแน่

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับข้อสังเกตในมาตรการที่รายงานเสนอมา ผมขออภิปรายเพิ่มเติม เพื่อร่วมเสนอแนวคิดและแนวทางในการปรับ และนำเสนอรายงานให้เห็นภาพชัดเจน มากยิ่งขึ้น ท่านประธานครับ ในมุมมองของผมนั้นปัญหาความรุนแรงในครอบครัว มีเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องหลายประการ หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องของโครงสร้างของสังคมไทย ที่ผ่านมา ซึ่งถูกทำให้เชื่อว่าปกติแล้วผู้ชายเป็นใหญ่ในครอบครัว ทำให้โครงสร้าง และบทบาทในครอบครัวจะนำโดยผู้ชายและมักปลูกฝังให้ผู้หญิงต้องอดทน แต่ในประเด็นนี้ จากการศึกษาหลาย ๆ ชิ้นจะพบว่าถ้าผู้หญิงมีการศึกษา มีการเคารพในตัวเอง และผู้หญิง สามารถพึ่งพาตนเองได้ ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจและสถานะทางสังคมจะลดความรู้สึกว่า ต้องอดทนลงได้ และเป็นพื้นฐานสำคัญในการคลี่คลายปัญหานี้ ดังนั้นผมจึงอยากทราบว่า ท่านได้มีมาตรการในการปลูกฝังเรื่องเหล่านี้ให้กับผู้หญิงและเด็กผู้หญิงอย่างไรบ้าง รวมถึง องค์กรที่ทำงานในด้านนี้ได้มีการประสานการทำงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างไร จริง ๆ ผมทราบครับว่านอกจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยังมีอีก หลายหน่วยงานและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่เหมือนว่าการสร้าง ทิศทางเพื่อเห็นภาพรวมของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้นยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นถัดไปครับ การไม่มีความตระหนักร่วมกันของคนในสังคม และการขาด การให้การศึกษา เนื่องจากปัญหาสำคัญของความรุนแรงในครอบครัวนั้นมักถูกมองว่า เป็นเรื่องน่าอายไม่ควรนำออกจากครอบครัว หรือคำกล่าวที่ว่าความในอย่านำออก ความนอก อย่านำเข้า แต่ความเชื่อแบบนี้กลับทำให้สังคมไม่ได้ตระหนักถึงความเป็นจริงของความรุนแรง ของปัญหา ผมจึงเห็นว่าควรมีการรณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจังและสร้างกลไกในชุมชนให้เข้ามา มีส่วนร่วมในการให้การศึกษา รวมถึงการรณรงค์ให้สังคมร่วมแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นในทุกระดับ ผมทราบว่าตอนนี้ทางกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้สร้างผู้ไกล่เกลี่ยภาคประชาชน อย่างมากมายตาม พ.ร.บ. ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พุทธศักราช ๒๕๖๒ ที่สามารถไปตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ย ที่ชุมชนได้ น่าจะลองพิจารณาดูว่าความช่วยเหลือนี้จะช่วยเหลือได้ขนาดไหนนะครับ อีก ๒ ประเด็นครับท่านประธาน นั่นก็คือเรื่องของปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ซึ่งต่อไปเราจะมี รัฐบาลใหม่แล้วก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในอนาคตจะช่วยลดปัญหา ความรุนแรงในครอบครัวลงได้

    อ่านในการประชุม

  • โดยสรุปสุดท้าย ผมทราบดีว่าเรื่องนี้ไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะสั้น เนื่องจาก มีปัจจัยหลายอย่างที่จะต้องควบคุม แต่เราก็ควรมีการหาทิศทางพร้อมกับกำหนดผลลัพธ์ ที่กำหนดให้ชัดเจนมากกว่านี้ ดังนั้นผมขอความกรุณาท่านผู้ชี้แจงหากเป็นไปได้ช่วยส่งข้อมูล โครงการและงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความรุนแรงตาม พ.ร.บ. คุ้มครอง ผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พุทธศักราช ๒๕๕๐ เพื่อที่สภาแห่งนี้จะได้เห็น และรับทราบว่าจะช่วยท่านปรับแก้ หรือสนับสนุนโครงการ หรือมาตรการอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้เกิดการแก้ไขและป้องกันปัญหาความรุนแรงอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่การรับรู้ข้อมูล ผ่านเพียงตัวเลขเท่านั้นครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพครับ ผม นายรวี เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต ๓ พรรคเพื่อไทย สำหรับกรอบการอภิปรายในวาระการพิจารณาพระราชกำหนดมาตรการ ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๖๖ ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้ว เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคมที่ผ่านมานี้นะครับ ซึ่งในท้ายราชกิจจานุเบกษาได้ระบุไว้ถึงความฉุกเฉิน และความจำเป็นเร่งด่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ของ พ.ร.ก. ฉบับนี้ แต่สำหรับผมครับ ขอตั้งข้อสังเกต และข้อกังวลไว้ ๒ หัวข้อใหญ่ ๆ ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนของข้อแรกนั้น ก็คือการตราพระราชกำหนดฉบับนี้นั้น มีความสำคัญ จำเป็นเร่งด่วนในการออกจริงหรือไม่

    อ่านในการประชุม

  • และข้อ ๒ คือข้อกังวลต่อสาระสำคัญในพระราชกำหนดฉบับนี้ครับ ขอ Slide ขึ้นนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนแรก ประเด็นปัญหาทางอาชญากรรมทาง เทคโนโลยีนั้น มีความสำคัญ และส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนเป็นวงกว้าง อันนี้ผมเห็นด้วยครับ ดังจะเห็นได้จากสถิติของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะจากหน่วยงานของตำรวจนะครับ ขอ Slide ต่อไปด้วยครับ จากสถิติการรับแจ้งความ Online ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม ปี ๒๕๖๖ เป็นตัวอ้างอิงของจากสถิติการรับแจ้งความ Online ของ thaipoliceOnline.com ในเดือนมีนาคมนั้นมีการรับแจ้งความคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ๒๑,๐๒๐ เคส เดือนเมษายน ๑๙,๕๕๓ เคส เดือนพฤษภาคม ๒๒,๗๒๙ เคส เดือนมิถุนายน ๑๗,๗๕๕ เคส และ เดือนกรกฎาคม ๑๖,๑๓๒ เคส ในขณะที่อาชญากรรม Online ที่คนไทยตกเป็นเหยื่อสูงสุด ๕ อันดับแรก ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ปี ๒๕๖๕ ถึงวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๖ อ้างอิงข้อมูลจาก กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับ อาชญากรรมทางเทคโนโลยี อันดับ ๑ หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ จำนวน ๑๐๘,๓๘๓ เคส หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน ๓๘,๖๖๙ เคส หลอกให้กู้เงิน ๓๕,๑๒๑ เคส หลอกให้ลงทุนผ่านระบบ คอมพิวเตอร์ ๒๓,๕๔๕ เคส และข่มขู่ทางโทรศัพท์ ๒๑,๔๘๒ เคส ท่านประธานครับ โดยสรุป จำนวนคดีที่มีการรับแจ้งความภายหลังที่ พ.ร.ก. ฉบับนี้ออกมาแล้วนั้น ในทางตัวเลขยังมี การลดลงที่ไม่มีนัยสำคัญ ไม่ได้ลดลงมากขนาดนั้นครับ อีกทั้งจากการคาดการณ์ของกองบังคับการ ปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีนั้น แสดงให้เห็นว่าในครึ่งปีหลังของ ปี ๒๕๖๖ นั้น ได้ชี้แจงไว้ว่าสถานการณ์ก็จะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปมากจากเดิม ดังนั้นการที่ ฝ่ายบริหารได้อ้างถึงความจำเป็นเร่งด่วนของการออก พ.ร.ก. ฉบับนี้ แต่ในทางปฏิบัติการรับ แจ้งความและแนวโน้มนั้นกลับไม่ได้ดีขึ้นตามที่คาดการณ์ นอกจากนั้นในประเด็นของการที่จะมี หรือไม่มี พ.ร.ก. ฉบับนี้นั้น ควรพิจารณาควบคู่ไปกับกฎหมายที่อยู่ในอำนาจของตำรวจ DSI และ ปปง. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีการบังคับใช้กฎหมายเดิมอยู่แล้ว ผมจึงอยากเห็นความละเอียด รอบคอบในการออก พ.ร.ก. ฉบับนี้ที่มากกว่านี้ และอยากขอสอบถามถึงการนำทรัพย์สินกลับคืน ไปยังผู้เสียหายด้วยครับว่ามีความแตกต่างหรือไม่ อย่างไร กับก่อนหน้าที่จะมีการออก พ.ร.ก. ฉบับนี้ ขอ Slide ต่อไปด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ต่อมานะครับ ในส่วนข้อกังวลอีกข้อหนึ่งใหญ่ ๆ นั่นคือในส่วนของสาระ ในพระราชกำหนดฉบับนี้ ฝ่ายบริหารได้ตรากฎหมายที่เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ ของประชาชน ทั้งในด้านความเป็นอยู่ การสื่อสาร ทรัพย์สิน และการประกอบอาชีพ ซึ่งโดยปกติแล้วการตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนนั้น จะกระทำมิได้ ยกเว้นตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖ แต่ถึงจะยกเว้น ก็ให้เป็นไปตาม เหตุที่จำเป็นเท่านั้น และที่สำคัญ ควรจะต้องผ่านการพิจารณา ผ่านฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อให้มี การพิจารณาอย่างรอบคอบ ถี่ถ้วน และเหมาะสม ไม่เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ ของประชาชนมากเกินจำเป็น นอกจากนั้นในมาตรา ๔ ซึ่งมีการระบุไว้ว่าในกรณีที่มีเหตุ อันควรสงสัยว่ามีหรืออาจจะมีการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้สถาบัน การเงินและผู้ให้บริการทางการสื่อสารทุกประเภทสามารถเปิดเผยและแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ แต่ยังไม่ได้มีการระบุนิยามหรือเกณฑ์ที่ชัดเจนของคำว่า เหตุอันควรสงสัย ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งนั่นผมมองว่ามันอาจจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ที่ต้องการจะกระทำความผิด เป็นการเปิด โอกาสให้กับผู้เกี่ยวข้องใช้ดุลยพินิจในการร้องขอข้อมูล เรียกข้อมูลของประชาชนเพื่อไปใช้ ในทางที่ผิดหรือผลประโยชน์ส่วนตัวได้ ยิ่งไปกว่านั้นครับ ยังไม่มีการตั้งกฎเกณฑ์ของระบบ การเปิดเผยและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นรูปธรรม ไม่มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ ของผู้รับผิดชอบ และรูปแบบของคณะกรรมการที่ถูกแต่งตั้งตามมาตรา ๑๓ นั้นก็ยังไม่มี ความชัดเจน จึงอาจส่งผลกระทบต่อการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลโดยไร้ซึ่งความรับผิดชอบ รวมถึงยังไม่มีการพูดถึงมาตรการเยียวยาผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับความเสียหายจากผลของการระงับ การทำธุรกรรมที่อยู่ในช่วงระยะเวลา ๗ วัน หรือมากกว่า ๗ วันนั้นตามที่ พ.ร.ก. ฉบับนี้ ออกมาครับ

    อ่านในการประชุม

  • โดยสรุปครับ ท่านประธานครับ ผมเห็นด้วยว่าการตรากฎหมายที่จะช่วย แก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีนั้นมีความสำคัญครับ แต่ขอตั้งคำถาม แล้วก็ เป็นข้อกังวลครับว่าในความจำเป็นเร่งด่วนในการออก พ.ร.ก. ฉบับนี้นั้นที่ยังมี ความหละหลวม มีความบกพร่องอยู่นี้ แล้วยังมีอีกหลายประเด็นที่เราควรจะต้องพิจารณา เพื่อคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชนคนไทยครับ อย่างไรฝากด้วยครับ ขอบพระคุณมากครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพครับ กระผม นายรวี เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต ๓ พรรคเพื่อไทย สำหรับการอภิปรายรายงานการสอบบัญชีและรายงานการเงิน สำหรับ ปีสิ้นสุด ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๓ และรายงานการตรวจสอบการประเมินผล การใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินสำหรับปี ๒๕๖๓ ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช. นะครับ ขอ Slide ขึ้นด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ผมขอแบ่งประเด็นคำถามครับ เพื่อให้ทาง กสทช. ได้โปรดชี้แจงให้เกิดความกระจ่าง โดยแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนดังนี้ ๑. ประเด็น ด้านการดำเนินงานเชิงนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของสาธารณะ ๒. ประเด็น ความชัดเจนของรายงบการเงิน

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๑ ถึงแม้ว่าวันนี้ทางผู้ชี้แจงจะเป็นทางท่าน สตง. กสทช. อาจจะไม่ได้มา แต่ผมขอฝากประเด็นไปถึงทาง กสทช. ด้วยว่า สืบเนื่องจากพระราชกำหนด มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีซึ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อตั้งแต่ วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๖ และได้ผ่านการพิจารณา และมีการลงมติเห็นชอบจากสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรเป็นเรียบร้อยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทาง กสทช. ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานสำคัญ ในการขับเคลื่อนมาตรการออกกฎหมายฉบับนี้ ท่านได้เตรียมการอย่างไรเพื่อปกป้อง ผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เช่นขบวนการแก๊ง Call Center อย่างที่เพื่อนสมาชิกหลายท่านได้อภิปรายไป โดยเฉพาะการวางแนวปฏิบัติ ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความรัดกุมและความปลอดภัย มากที่สุด

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ Slide ถัดไปด้วยครับ เกี่ยวกับความชัดเจนของรายงาน ของงบการเงิน ก็เหมือนที่เพื่อนสมาชิกหลายท่านได้อภิปรายไปเช่นเดียวกันว่าทำไมถึงมี ความล่าช้าในการเสนอรายงานของงบการเงินนี้ซึ่งเป็นการรายงานของปี ๒๕๖๓ ซึ่งก็ล่วงเลย ระยะเวลามาหลายปีแล้วครับ ณ ปัจจุบันนี้ปี ๒๕๖๖ แล้ว แล้วส่วนต่อมาก็คือเมื่อพิจารณา ถึงรายได้และรายจ่ายจากการดำเนินงาน ในส่วนของรายได้ในปี ๒๕๖๓ จะเป็นจำนวนเงิน ๑๐๔,๘๒๑,๕๙๒,๓๑๒.๑๐ บาท ในขณะที่มีรายจ่ายอยู่ที่ ๘๒,๔๐๒,๙๒๒,๕๕๗.๑๓ บาท ซึ่งเมื่อพิจารณาในส่วนของรายจ่าย โดยเฉพาะหมวดของค่าใช้จ่ายในการประมูล หมวดของ ค่าทดแทนชดใช้ หรือค่าตอบแทนตามคำสั่งหัวหน้า คสช. และหมวดค่าใช้จ่ายตามคำพิพากษา ศาลปกครองสูงสุด ซึ่งรวมกันแล้วคิดเป็นประมาณ ๓๘ เปอร์เซ็นต์ของรายจ่ายจาก การดำเนินการทั้งหมดนะครับ มีประเด็นที่ผมอยากจะขอเรียนถามทางผู้ชี้แจงเกี่ยวกับ รายจ่ายทั้ง ๓ ส่วนนี้ เนื่องจากตัวผมเองนั้นไม่ได้มีความรู้เรื่องของการดำเนินงานด้านการ จัดการประมูล และผมก็เชื่อว่าพี่น้องประชาชนทางบ้านอยากทราบ เช่นเดียวกันถึงวิธีการ ดำเนินงานของ กสทช. โดยเฉพาะการจัดการประมูลว่าเหตุใดจึงมีค่าใช้จ่ายในการจัดประมูล สูงถึงกว่า ๓๐,๐๐๐ ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ ๓๗ เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายจาก การดำเนินงานทั้งหมด จึงอยากรบกวนให้ทางผู้ชี้แจงช่วยอธิบายให้เกิดความเข้าใจด้วย ในส่วนต่อไปเป็นประเด็นค่าใช้จ่ายที่อยากจะรบกวนให้ทาง กสทช. ช่วยชี้แจงนั้นก็คือ ค่าทดแทน ชดใช้ หรือค่าตอบแทนตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งเป็นตัวเลขกว่า ๙๓๐ ล้านบาท ว่าตัวเลขนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร เพราะ คสช. นั้นถูกยุบไปแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ ดังนั้นทำไม ถึงยังมีค่าใช้จ่ายหรือภาระผูกพันก้อนนี้ตามมาอยู่อีกจนถึงปี ๒๕๖๓ และในส่วนค่าใช้จ่าย สุดท้ายที่อยากให้ชี้แจงนั่นก็คือค่าใช้จ่ายตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเป็นจำนวนเงินกว่า ๗๗๑ ล้านบาท ทาง กสทช. ได้ดำเนินการไปแล้วหรือไม่ อย่างไร กับผู้ที่ทำให้เกิดความเสียหายนี้ครับ และเมื่อพิจารณาประกอบกับหมายเหตุที่ ๔๙ ตามรายงานของชุดนี้ กรณีข้อพิพาทและคดีที่สำคัญจะพบว่า กสทช. ถูกฟ้องเป็นจำนวน รวมทั้งสิ้น ๓๐ คดี ซึ่งมีทุนทรัพย์รวมถึง ๑๒๖,๕๐๙.๔๓ ล้านบาท ในขณะที่ กสทช. เอง เป็นโจทก์ทั้งหมด ๗ คดี คิดเป็นทุนทรัพย์ ๔,๗๙๒.๘๔ ล้านบาท จึงอยากทราบว่าทาง กสทช. ได้มีแนวทางในการแก้ไขลดข้อพิพาทและคดีความต่าง ๆ นี้อย่างไร เพื่อไม่ให้มีข้อพิพาท หรือคดีความเกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคตครับ จึงเรียนมาผ่านท่านประธานไปยังผู้ชี้แจงเพื่อกรุณา ตอบข้อซักถามทั้งหมดนี้ต่อไปด้วยครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพครับ กระผม นายรวี เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต ๓ พรรคเพื่อไทย ขออนุญาต Slide ขึ้นด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • จากการที่ผมได้ตรวจสอบรายงานการเงิน ของกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ ซึ่งถ้าพิจารณา ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนนี้แล้ว นับได้ว่าเป็นวัตถุประสงค์ที่ดี แล้วก็เป็นปัจจัยที่จะ ช่วยเหลือสนับสนุนแก่เกษตรกร โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า สถาบันการเงินทั่ว ๆ ไป อีกทั้งยังเป็นกองทุนที่มีเงินทุนเกือบถึง ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท แต่เมื่อพิจารณาถึงผลการดำเนินงานและฐานะทางการเงินของกองทุนแล้ว โดยเฉพาะ ในส่วนของสถานะลูกหนี้ในปี ๒๕๖๔ จะพบว่ามีลูกหนี้ค้างชำระเงินคืนเกือบ ๓,๒๐๐ ล้านบาท ถึงแม้จะลดลงจากปี ๒๕๖๓ อยู่ที่ ๓,๔๖๓ ล้านบาท ในเดือนเดียวกัน แต่เป็นการชำระเงินคืนจำนวน ๒๗๙ ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณเพียงแค่ ๘ เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ซึ่งเมื่อผมลองเจาะไปที่ลูกหนี้ส่วนใหญ่แต่ละราย จะพบว่ามีอัตราการชำระเงินคืน ที่ไม่มาก ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าโครงการยังไม่ถึงกำหนดชำระหนี้ แต่ก็มีอีกเกือบครึ่ง เช่นเดียวกันของโครงการทั้งหมดที่น่ากังวลเป็นอย่างมาก นั่นก็คือมีลูกหนี้ที่ไม่สามารถ ชำระหนี้ได้ตามกำหนดระยะเวลา อีกทั้งแผนการชำระเงินในหลายโครงการได้มีการขยาย เวลาออกไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นการบังคับคดี ซึ่งไม่ทราบได้เลยว่าจะต้องดำเนินการไป ยาวนานแค่ไหน และจะสิ้นสุดลงเมื่อไร ผมจึงอยากฝากท่านประธานผ่านไปยังผู้ชี้แจง ให้ช่วยกรุณาตอบประเด็นซักถามตรงนี้ด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ยกตัวอย่าง จากหน้าแรก ในรายละเอียดเงินให้กู้ยืมระยะยาวของโครงการ จัดหาปุ๋ยเพื่อเกษตรกร จะเห็นว่าทุกโครงการจะต้องมีการขยายเวลาการชำระเงินออกไป ทั้งหมดจนกว่าจะมีการเสร็จสิ้นการบังคับคดี ซึ่งคิดเป็นมูลค่าค้างชำระรวมทั้งหมด กว่า ๘๒ ล้านบาท นี่แค่โครงการเดียวนะครับ ขณะที่ลูกหนี้ที่มียอดค้างชำระมากที่สุด ๒ อันดับแรก ก็คือกรมปศุสัตว์ กับกรมส่งเสริมสหกรณ์ มีมูลหนี้คงเหลือทั้งหมดที่ยัง ค้างชำระอยู่ประมาณ ๑,๒๐๐ ล้านบาท แล้วก็ ๑,๖๐๐ ล้านบาท ตามลำดับ รวมกันแล้ว ประมาณ ๒,๘๐๐ ล้านบาท หรือคิดเป็น ๘๗.๕ เปอร์เซ็นต์ของยอดหนี้คงเหลือทั้งหมด ในเดือนกันยายน ๒๕๖๔ นอกจากนี้ในงานวิจัยของ TDRI หรือ Thailand Development Research Institute หรือสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้สรุปภาพรวม ของปัญหา อุปสรรคในการดำเนินงานของกองทุนเอาไว้หลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดำเนินงานที่ทับซ้อนกันหรือคล้ายคลึงกันของกองทุนต่าง ๆที่อยู่ในกำกับของ ส่วนราชการ เช่นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เองก็มีหลายกองทุน เช่น กองทุน หมุนเวียนเพื่อการกู้ยืม กองทุนปฏิรูปที่ดิน กองทุนพัฒนาสหกรณ์ กองทุนจัดรูปที่ดิน กองทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทาน และอีกหลาย ๆ กองทุนที่อาจจะมีวัตถุประสงค์ ที่ไปในทิศทางเดียวกัน หรือมีความซ้ำซ้อนกันจนทำให้มีกลุ่มเกษตรกรบางกลุ่มที่ได้รับ ผลประโยชน์ที่ซ้ำซ้อน ทำให้ความช่วยเหลือนั้นกระจุกอยู่เพียงแค่บางกลุ่มเท่านั้น อีกทั้งการช่วยเหลือที่เกิดขึ้นนั้น ถ้าหากว่าวิเคราะห์ดี ๆ แล้ว ต้นเหตุของปัญหาของเกษตรกร อาจจะไม่ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง ผลที่ได้จากกองทุนโดยส่วนใหญ่จะเป็นเพียงแค่ การอุดหนุนเงินทุนเท่านั้น แต่ในอีกมุมหนึ่งยังเป็นการเพิ่มหนี้สะสมให้กับเกษตรกรอีกด้วย เพราะในความเป็นจริงเกษตรกรเขาต้องเจอกับปัญหามากมาย โดยเฉพาะเรื่องของปัญหา ราคาผลผลิตที่ตกต่ำ แต่หากต้องเจอนะครับ หรือนอกจากนั้นการขายที่ได้ต่ำกว่าต้นทุน ในการผลิตที่ลงไป รวมถึงมีผลผลิตแต่ก็ไม่มีตลาดรองรับ ดังนั้นเมื่อได้รับการอุดหนุนสินเชื่อ แม้จะในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำก็ตาม แต่หากต้องเจอกับปัญหาการขาดทุนจากการขายสินค้า ก็จะไม่สามารถชำระเงินคืนได้ ไม่สามารถหาเงินมาชำระเงินคืนได้ และอาจจะต้อง ชำระเงินคืนที่มากกว่าที่ควรจะเป็นด้วยซ้ำจากกรณีที่ต้องถูกดำเนินคดี โดยสรุปนะครับ ท่านประธาน ผมมองว่ากองทุนนี้ยังมีปัญหาในเรื่องของการขาดระบบการติดตามประเมินผล ที่ไม่ใช่เพียงการวัดจากแค่ยอดเงินอนุมัติเงินทุนและผลของการชำระเงินคืน แต่ควรดูผลลัพธ์ ของโครงการด้วยว่าตรงตามวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์จริงหรือไม่ รวมถึงควรมี การเพิ่มฐานข้อมูลของเกษตรกรให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ เพื่อสามารถช่วยเหลือได้อย่าง ตรงจุด มีประสิทธิภาพ และไม่ซ้ำซ้อนกับแผนงานประจำครับ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายครับ ผมฝากว่าทางกองทุนควรมีการบริหารจัดการความเสี่ยง ทางการเงินที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของกองทุนเอง และไม่เป็นการสร้างภาระหนี้สินเพิ่มเติมให้กับเกษตรกรด้วยครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพครับ กระผม นายรวี เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต ๓ พรรคเพื่อไทย ตามที่ผมได้อ่านรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินกองทุนพัฒนา น้ำบาดาล สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ ผมมีข้อสงสัยและข้อสังเกต ในรายงานฉบับนี้อยู่บางประเด็นครับ จึงอยากขอร่วมอภิปรายซักถามกับทางกองทุน ในประเด็นดังต่อไปนี้ ขอ Slide ขึ้นด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับประเด็นแรก ผมมีข้อกังวลต่อ เงินรับรอการตรวจสอบ โดยในหมายเหตุที่ ๑๓ ครับท่านประธาน เมื่อพิจารณาจะพบว่า ทั้งในปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ จะมียอดรับรอการตรวจสอบทั้ง ๒ ปีซึ่งรวมกันแล้ว เป็นเงินกว่า ๓๒ ล้านบาท โดยเป็นเงินที่รับชำระโอนค่าใช้น้ำและค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล จากผู้ประกอบการโอนมายังบัญชีธนาคารพาณิชย์ของหน่วยจัดเก็บรายได้ครับ แต่ปัญหา ที่เกิดขึ้นปรากฏว่ามีเงินคงค้างอยู่ใน ๔ บัญชี ซึ่งมีอีกกี่บัญชีก็ไม่อาจทราบได้ อีกทั้ง ยังไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ายอดเงินที่เข้าบัญชีมานั้นเป็นเงินของผู้ใดบ้าง ซึ่งถึงแม้ว่า ในเอกสารจะระบุด้วยเจตนาที่ดีว่ามีการนำส่งเงินก้อนนี้เป็นรายได้ของแผ่นดิน แต่ผล ที่เกิดขึ้นทำให้มีข้อกังวลว่าทำไมถึงไม่มีการวางระบบหรือการตรวจสอบการเข้ามา ของเงินรายได้นี้อย่างเป็นระบบเพื่อให้ตรวจสอบได้ง่าย เพราะเรื่องการรับเงิน จ่ายเงิน หรือการเข้าออกของเงินนั้นควรจะต้องมีเอกสารหลักฐานที่ชัดเจน เพื่อความโปร่งใส และป้องกันการทุจริต นอกจากนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ดังนั้น ผมจึงคิดว่าทางกองทุนควรจะต้องให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้ เกิดปัญหาเช่นนี้อีก รวมถึงเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ในประเด็นถัดไป ผมมีข้อสงสัยต่อการขาดทุนจากการโอนสินทรัพย์ ตามหมายเหตุที่ ๒๔ ของเอกสารรายงานเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายอื่นของกองทุน ในประเด็น ของการขาดทุนจากการโอนสินทรัพย์ก็เป็นประเด็นที่คล้ายคลึงกันกับที่ทางเพื่อนสมาชิก บางท่านได้อภิปรายไป การโอนสินทรัพย์นี้มียอดถึง ๖๑๖ ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี ๒๕๖๓ ที่อยู่ ๔๐ ล้านบาทนั้นแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ จึงอยากขอความรู้ว่า การโอนสินทรัพย์ในปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ นั้นทำไมถึงมีความแตกต่างกันมากถึงขนาดนี้

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนต่อมาที่อยากให้ชี้แจงนั่นก็คือสินทรัพย์ที่โอนไปนั้นคืออะไรบ้าง ทำไม ถึงต้องมีการโอน และมีความจำเป็นอย่างไร เพราะจำนวนเงินที่ขาดทุนในส่วนนี้มีปริมาณ ที่สูง และสูงกว่าหมวดค่าใช้จ่ายจากการอุดหนุนและการบริจาค ซึ่งเป็นการนำเงินไปจัดทำ โครงการในปี ๒๕๖๔ ดังนั้นจึงเป็นที่น่าสงสัยว่าโอนสินทรัพย์นี้เป็นการโอนสินทรัพย์อะไร ทำไมถึงต้องโอน และหากโอนแล้วทำให้เกิดขาดการขาดทุนมากในระดับที่มากกว่า ๑,๐๐๐ ล้านบาทขณะนี้ ยังควรมีความจำเป็นที่จะต้องโอนอยู่จริงหรือไม่ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ผมมีข้อเสนอแนะต่อการบริหารจัดการโครงการ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำของทั้งประเทศ อย่างที่ทุกท่านทราบกันดีในบริบทปัจจุบัน ที่สภาพภูมิอากาศของประเทศไทยและของทั้งโลกมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่ส่งผลต่อพี่น้องประชาชนต้องประสบพบเจอกับปัญหาภัยแล้ง และ El Nino ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตโดยตรงของประชาชนโดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกร ซึ่งในภาพรวมของประเทศไทยมีความต้องการใช้น้ำกว่า ๑๕๐,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งนำไปใช้ใน ๔ ส่วน ก็คือ เพื่อการเกษตร เพื่ออุปโภคบริโภค และการท่องเที่ยว เพื่ออุตสาหกรรม และเพื่อรักษาระบบนิเวศ ในขณะที่ประเทศไทยเรามีน้ำบาดาลสะสมอยู่ที่ประมาณ ๑.๑๓ ล้านล้านลูกบาศก์เมตร โดยทุกปีเราสามารถพัฒนาขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ราว ๔๕,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ตามรายงานของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ขอ Slide ถัดไปครับ ผมมีกรณีตัวอย่าง อยากจะขอนำเสนอ ยกตัวอย่างกรณีของที่บ้านผมหรือจังหวัดอุตรดิตถ์ ตามข้อมูล ของสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ ในภาพรวมนั้นจังหวัดอุตรดิตถ์ มีความต้องการใช้น้ำอยู่ที่ประมาณ ๒๕๐ ล้านลูกบาศก์เมตร และกว่า ๙๒ เปอร์เซ็นต์ อยู่ในภาคของการเกษตร ซึ่งพื้นที่เกษตรกรรมในเขตชลประทานนั้นมีความต้องการใช้น้ำ ๓๐ ล้านลูกบาศก์เมตร และนอกเขตชลประทานอีก ๒๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร รวมถึง เพื่อการอุปโภคและบริโภค และการท่องเที่ยว ๒๐ ล้านลูกบาศก์เมตร จึงเห็นได้ชัดว่า พ่อแม่พี่น้องในจังหวัดอุตรดิตถ์เวลานี้นั้นยังประสบปัญหาข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งน้ำ เพื่อใช้ในการเกษตรและอุปโภคบริโภคได้อย่างเพียงพอและทั่วถึง ผมจึงมีความเห็นว่า การเพิ่มและพัฒนาแหล่งน้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวข้องนี้ นั่นก็คือการพัฒนา แหล่งน้ำบาดาลจะเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ดังนั้นการจัดทำ โครงการที่เกิดขึ้นของกองทุนควรมีการกระจายความช่วยเหลือให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ใน ๒๗ แอ่งน้ำบาดาลที่มีอยู่ ไม่ควรกระจุกอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเท่านั้น ที่ผมกล่าวแบบนี้ เนื่องจากว่าเมื่อดูตามรายชื่อของโครงการต่าง ๆ ในปี ๒๕๖๔ ที่ชี้แจงอยู่ในหมายเหตุที่ ๒๓ ของเอกสารรายงานนั้น พบว่าโครงการส่วนใหญ่จะอยู่ในจังหวัดหรือพื้นที่เดิม ๆ เพียงเท่านั้นเอง แต่ปัญหาความขาดแคลน ความต้องการใช้น้ำของพี่น้องประชาชนนั้นเกิดขึ้นทั่วประเทศครับ ท่านประธาน ผมจึงอยากขอฝากเรื่องนี้ให้ทางกองทุนช่วยพิจารณากระจายงบประมาณ ให้เหมาะสมไปยังพื้นที่อื่น ๆ ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • และโดยสรุปครับ ผมต้องการเห็นการบริหารงานของกองทุนมีประสิทธิภาพ และมีความรัดกุมมากกว่านี้ ควรมุ่งเน้นให้เกิดความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ เพราะการใช้จ่ายเงินที่เกิดขึ้นนั้นมาจากพี่น้องประชาชน ซึ่งควรจะต้องนำไปดำเนินการ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและครอบคลุม ไม่กระจุกอยู่เพียงแค่ในพื้นที่บางแห่ง รวมไปถึง ควรมีการดำเนินโครงการที่มุ่งสู่การแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึง และตรงความต้องการของทุกพื้นที่ด้วยครับ ขอบพระคุณมากครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพครับ กระผม นายรวี เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต ๓ พรรคเพื่อไทย จากที่ผมได้ศึกษารายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือ EEC ผมมีข้อสงสัยแล้วก็ข้อสังเกตในรายงาน ฉบับนี้อยู่บางประเด็น จึงอยากขอร่วมอภิปรายซักถามในครั้งนี้ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • จากผลการดำเนินงานในรายงาน ประจำปี ๒๕๖๕ ทำให้เห็นภาพการพัฒนาที่ล้ำสมัย ที่มีเป้าหมายในการปรับโครงสร้าง ของประเทศ สร้างความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อปรับใช้ในอนาคตของไทย รวมถึงเป็นการมุ่งเพื่อเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของเศรษฐกิจของ Asia รวมถึงการกำหนด อุตสาหกรรมเป้าหมายไว้ถึง ๑๒ ประเภท ผ่านแนวทางการพัฒนาใน ๖ แนวทางสำคัญ ตามที่ทางท่านผู้ชี้แจงได้กรุณานำชี้แจงมาตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคซึ่งเป็นส่วนที่ท่านใส่เม็ดเงินลงทุนเป็นจำนวนสูงมากที่สุด การพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การพัฒนาส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยว บุคลากร การศึกษา เมืองอัจฉริยะ สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข การพัฒนาประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม เป้าหมาย จากที่กล่าวมาทั้งหมดท่านให้ข้อมูลเห็นภาพที่สวยงาม ดูประสบผลสำเร็จทุกอย่าง รวมถึงจะไม่มีอุปสรรคใด ๆ เลยระหว่างการดำเนินการ ทำให้ในภาพรวมนั้นดูจะเป็นโครงการ ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก แต่ผมมีประเด็นข้อสังเกตบางประการที่อยากให้ทาง ผู้ชี้แจงช่วยตอบคำถามครับ เพื่อจะได้ทราบว่าจริง ๆ แล้วโครงการ EEC ที่กำลังดำเนินไปได้ อย่างสวยหรูราบรื่นนี้จริงหรือเปล่า โดยผมมี ๒ ประเด็นใหญ่ ๆ ที่อยากให้ทางผู้ชี้แจง ช่วยตอบนั่นก็คือ ๑. ในเรื่องของผลการดำเนินงาน โครงการมีการใช้จ่ายงบประมาณได้อย่าง คุ้มค่าหรือไม่ และมีความซ้ำซ้อนของงบประมาณมากน้อยเพียงใด ๒. มีการเยียวยาช่วยเหลือ หรือผลกระทบที่มีต่อประชาชนอย่างไรจากการดำเนินงานตามนโยบาย

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรก จากการดำเนินงานผ่านการใช้จ่ายผ่านงบประมาณบูรณาการ ของ EEC ในห้วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งท่านได้ดำเนินการผ่านส่วนราชการประจำ โดยเฉพาะ อย่างยิ่งกรมทางหลวงในประเด็นของการจัดการทำโครงสร้างพื้นฐาน ข้อสงสัยของผมก็คือ นอกเหนือจากการวางแผนในภาพกว้าง และเพื่อเป็นการป้องกันภาพของการทำงาน ในลักษณะของหอคอยงาช้าง ผมจึงอยากทราบว่าท่านได้เข้าไปมีส่วนในกระบวนการจัดทำ โครงการที่จะสอดคล้องกับแผนใหญ่อย่างไร และมีการป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดการทับซ้อน ในการใช้จ่ายงบประมาณระหว่างงบประมาณประจำตามแผนของส่วนราชการกับงบบูรณาการ ซึ่งผู้ใช้ก็เป็นส่วนราชการเช่นเดียวกัน อีกทั้งการทำงานที่จำเป็นต้องสอดประสาน กับส่วนราชการสำคัญที่เกี่ยวข้อง ท่านได้วางแผนแนวทางป้องกันการทับซ้อนในภารกิจ หน้าที่ไว้หรือไม่ เช่นกรณีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI ตลอดจน ประสานในหน้างานการปฏิบัติหน้าที่จำเป็นจะต้องร่วมกับหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นทั้ง BOI การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมศุลกากร ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การนำเข้า ส่งออกสินค้า เป็นต้น เพื่อให้เกิด การใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนั้นในแนวทางการพัฒนา และส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากที่จะดึงดูดเงินผ่านนักท่องเที่ยวเพื่อเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ และจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนของจำนวนเงินมหาศาล ท่านได้มีการวางแผนพัฒนา ในแนวทางดังกล่าวไว้มากน้อยเพียงใด รวมถึงความต่อเนื่องในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เป็นอย่างไรบ้างตามข้อเท็จจริงที่ท่านพบเจอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาพื้นที่ธุรกิจ และบริการเชื่อมต่อพื้นที่ท่าเทียบเรือเฟอร์รี่ และท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ บริเวณท่าเรือ จุกเสม็ดซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อจากสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา และสามารถเชื่อมการท่องเที่ยว ข้ามภาคได้เป็นอย่างดี ไม่ทราบว่าปัจจุบันนี้ผลที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไรบ้างครับ อยากให้ท่าน ช่วยชี้แจงเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวและการลงทุน ในประเทศของเรา

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ การเยียวยาช่วยเหลือผลกระทบที่มีต่อประชาชนจากผล ของการดำเนินนโยบาย การพัฒนาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ จะละเลยไม่ได้เลยนั่นก็คือผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และผลกระทบ ที่เกิดจากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอันนำไปสู่ปัญหามลภาวะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหา มลภาวะทางอากาศที่สร้างมลพิษจนทำให้จังหวัดระยองครอง Champ ผู้ป่วยมะเร็งมากที่สุด ในประเทศไทย และปัญหามลพิษทางเสียง โดยเฉพาะปัญหาแนวเส้นเสียงที่สร้างความเดือดร้อน ให้แก่พี่น้องประชาชนใกล้สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ท่านได้ตั้งเป็นหมุดหมายสำคัญ ในการเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก ท่านได้มีการลงพื้นที่เข้าไปพูดคุยเจรจาด้วยตัวเอง เพื่อรับทราบปัญหาและเพื่อร่วมกันผ่านปัญหาดังกล่าวหรือไม่ อย่างไรครับ นอกจากนั้น ในประเด็นเรื่องของทรัพยากรน้ำในพื้นที่ EEC ซึ่งในแต่ละจังหวัดก็มีบริบทที่แตกต่างกันไป ท่านได้มีส่วนร่วมในการจัดการได้อย่างเหมาะสมเพียงพอต่อความต้องการแล้วหรือไม่ เพราะถ้าได้ติดตามข่าวที่ผ่านมาจะทราบว่ายังมีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของน้ำ โดยเฉพาะ ในจังหวัดฉะเชิงเทราที่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน รวมถึงภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็นการพบสารปนเปื้อนในน้ำประปาหรือปัญหาน้ำเค็ม ในแม่น้ำบางปะกง ซึ่งก็ยังคงต้องหาแนวทางแก้ไขอยู่ในปัจจุบัน นี่เป็นปัญหาสำคัญมาก เพราะทรัพยากรน้ำเป็นปัจจัยสำคัญและอาจเป็นเงื่อนไขที่เป็นกรอบจำกัดพัฒนาของพื้นที่ EEC อีกด้วยครับ ท่านประธานครับ ผมมีข้อคิดเห็นว่าพื้นที่ EEC เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน เศรษฐกิจของประเทศมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การพัฒนาที่มุ่งเน้นในมิติทางด้านเศรษฐกิจ ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบของพี่น้องประชาชน ดังนั้นการสร้างความเข้าใจ กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายกลุ่มพลังสตรี EEC ที่ท่านมีอยู่ในภาค ประชาชนและภาคเอกชนจึงเป็นสิ่งสำคัญครับ เพื่อให้ทราบถึงผลการพัฒนาเป็นระยะ รวมถึงมีการระมัดระวังป้องกันผลกระทบให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด และอย่างน้อยที่สุดคนในพื้นที่ ควรที่จะเข้าใจและสามารถอธิบายได้ว่า EEC คืออะไร ส่งผลกระทบต่อชีวิตของเขาอย่างไร และจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของเขาอย่างไร

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายครับ ผมอยากฝากให้ทางหน่วยงานให้ความสำคัญกับภารกิจ การดำเนินงานให้สำเร็จลุล่วงเป็นไปตามแผน รวมถึงความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ เพราะท่านเป็นหน่วยงานสำคัญที่จะต้องทำหน้าที่ขับเคลื่อนโครงการเพื่อให้บรรลุพันธกิจ เป้าหมายตามแผนพัฒนาของ EEC ในการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนกว่า ๒.๒ ล้านล้านบาท นับตั้งแต่ปี ๒๕๖๖ นี้ไปจนถึงปี ๒๕๗๐ เพื่อให้โครงการต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศและพี่น้องประชาชนครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ กระผม นายรวี เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต ๓ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตปรึกษาหารือเพียงเรื่องเดียวครับวันนี้ โดยจะขอปรึกษาหารือในปัญหาการไม่สามารถลงทะเบียนเพื่อมีสิทธิเข้าสอบใบประกอบ วิชาชีพครู เนื่องจากผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นน้อง ๆ นักศึกษา ที่สำเร็จการศึกษาทางครุศาสตร์

    อ่านในการประชุม

  • โดยในจังหวัดอุตรดิตถ์ของผมจะมี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์เป็นมหาวิทยาลัยหลักในการผลิตนักศึกษาที่มีความรู้ และพร้อมจะไปทำหน้าที่เป็นครูต่อไป ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู เปรียบเสมือนการสอบภาค ก ของ ก.พ. สำหรับผู้ที่ต้องการสมัครเข้ารับราชการ แต่ปัญหา ที่เกิดขึ้นคือ มีผู้สมัครจำนวนมากต้องประสบปัญหากับการไม่สามารถลงทะเบียนได้ทัน ซึ่งเมื่อมีการเปิดรับสมัครภายในวันแรกและในเพียงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้นก็มีผู้สมัคร เต็มจำนวนทุกที่นั่งแล้วครับ อีกทั้งยังมีปัญหาระบบการสมัคร Online ล่มอีกต่างหาก และปัญหาดังกล่าวก็เกิดขึ้นทั่วประเทศ ท่านประธาน ขอ Slide กลับไปก่อนนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นปรึกษาหารือในประเด็นแรก ผมต้องการหารือในส่วนของสิทธิ ในการมีโอกาสเข้าสอบใบประกอบวิชาชีพครูของผู้มีคุณสมบัติทุกคนอย่างทั่วถึง

    อ่านในการประชุม

  • และประเด็นการบริหารจัดการในกระบวนการจัดสอบของคุรุสภา ผมเห็นว่า นิสิตนักศึกษาทุกคนควรต้องได้รับสิทธิใบประกอบในการสอบใบประกอบวิชาชีพครู ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่ผู้เรียนจะได้มีโอกาสจากสิ่งที่ได้เรียนมา เพื่อนำไปประกอบอาชีพ ในการเป็นครู ไม่ว่าจะอยู่ในสถานศึกษาที่สังกัดของรัฐหรือเอกชน ใบประกอบวิชาชีพจึงเป็น สิ่งที่สำคัญมากครับท่านประธาน แต่ปัญหาของการจัดสอบในครั้งนี้เกิดจากการที่เมื่อเปิด รับสมัครระหว่างวันที่ ๔-๒๒ กันยายน แต่กลับมีผู้สมัครเต็มตั้งแต่วันแรกและเพียงไม่นาน หลังจากการเปิดระบบ ตามข้อมูลที่ปรากฏทางคุรุสภาได้กำหนดที่นั่งสอบไว้เพียงประมาณ ๒๐,๐๐๐ ที่นั่ง ในขณะที่จำนวนผู้ต้องการสมัครสอบทั้งประเทศนั้นมีจำนวนมหาศาล อีกทั้งสถานที่หรือศูนย์สอบที่รองรับนั้นก็กระจายอยู่เพียงแค่ไม่กี่จังหวัด แถมรองรับได้ จำนวนไม่มาก อย่างเช่นในภาคเหนือมีจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำปางเท่านั้นเอง ด้วยความเคารพนะครับ ผมเชื่อว่าทางคุรุสภาท่านคงจะมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว ทั้งจำนวน หลักสูตรที่ท่านรับรองและจำนวนนิสิตนักศึกษาที่เรียนในหลักสูตรดังกล่าว แต่ปัญหา ที่เกิดขึ้นนี้โดยส่วนตัวผมเชื่อในหลักคิดที่ว่า ว่าที่คุณครูทุกคนควรมีสิทธิในการเข้าถึงการสอบ รับใบอนุญาตอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ไม่ใช่ว่าจะต้องมาแย่งกันลงทะเบียนเพื่อสอบ เหมือนมาแย่งกันซื้อบัตรคอนเสิร์ตเช่นนี้

    อ่านในการประชุม

  • ผมอยากฝากท่านประธานไปถึงคุรุสภา แล้วก็กระทรวงศึกษาธิการครับ ท่านต้องรีบชี้แจงเพราะว่าตอนนี้มีประชาชนที่เดือดร้อนและร้อนใจต่ออนาคตของพวกเขา เป็นจำนวนมาก และท่านควรจะต้องรีบแก้ไขและตอบคำถามเพื่อคลายความกังวลให้แก่ พวกเขาอย่างเร่งด่วน นั่นก็คือ

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ท่านก็ต้องมีแผนการดำเนินการจัดสอบที่ชัดเจน ทั้งในส่วนของจำนวน รอบและสถานที่จะสอบที่สามารถรองรับผู้มีสิทธิได้ทุกคน เพราะมันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ของผู้สมัครทุกคน รวมถึงเขาจะได้วางแผนได้ถูกต้อง ทั้งในส่วนค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

    อ่านในการประชุม

  • ๒. สิทธิในการสอบของผู้สมัครแต่ละคนจะสามารถลงทะเบียนสมัครสอบได้ กี่ครั้งต่อปี เพื่อความเสมอภาคของบุคคลที่มีสิทธิในการสอบ เพราะจำนวนที่นั่งสอบ ไม่ได้เท่ากับสิทธิในการสอบ จึงกราบเรียนท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้โปรดรีบชี้แจงด้วยครับ ขอบพระคุณมากครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพครับ กระผม นายรวี เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต ๓ พรรคเพื่อไทย ขอ Slide ขึ้นด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ผมขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายในญัตติเรื่อง ของราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำครั้งนี้ด้วยนะครับ เนื่องจากตามที่เพื่อนสมาชิกทุกท่าน ได้อภิปรายแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรไทยทั้งประเทศ ผมก็มีตัวเลขที่เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาด้านราคาสินค้าเกษตรที่ส่งผลกระทบ ต่อรายได้ของพ่อแม่พี่น้องเกษตรกรไทยเป็นอย่างมาก โดยในช่วงต้นปี ๒๕๖๔ จนถึง เดือนกรกฎาคมปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา ดัชนี ๓ ตัว ได้แก่ ดัชนีผลผลิต ดัชนีราคา และดัชนี รายได้เกษตรกรมีความผันผวนมาโดยตลอดครับ และตั้งแต่ต้นปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา ราคาผลผลิตซึ่งเป็นแท่งสีเหลือง และรายได้ของเกษตรกรซึ่งเป็นเส้นสีแดงนั้น มีแนวโน้ม ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงเดือนกรกฎาคมปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา ดัชนีผลผลิต ทางการเกษตรมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ๒.๖๙ เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรปรับตัว ลดลงอยู่ที่ ๓.๖๙ เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ดัชนีรายได้ของเกษตรกรลดลง ๑.๑ เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งจากการเปลี่ยนแปลงของดัชนีทั้ง ๓ ตัวนี้ ทำให้เห็นถึงความน่ากังวลต่อปัญหาความเดือดร้อนด้านราคาผลผลิตและรายได้ของ พี่น้องเกษตรกรเป็นอย่างมาก

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นสำคัญที่ผมอยากจะชี้ให้เห็นสำหรับการแก้ไขปัญหาราคาสินค้า เกษตรตกต่ำนั้น ผมเห็นว่าเราควรจะต้องมีการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าอย่างเป็นระบบ มีความต่อเนื่อง และมีการกำหนดทิศทางที่มีความชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความผันผวนทางด้าน ราคา แล้วรัฐต้องมาคอยแก้ไขด้วยการอุดหนุนหรือชดเชยราคาเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับจังหวัดอุตรดิตถ์ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีภาคการเกษตร มีความสำคัญ เป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน และเป็นภาคการผลิตหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัด มาโดยตลอด โดยข้อมูลพื้นฐานของอุตรดิตถ์มีพื้นที่การเกษตรว่า ๑.๖๘ ล้านไร่ หรือคิดเป็น ประมาณ ๓๔ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็สอดคล้องกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจังหวัดที่อยู่ใน ภาคเกษตรเป็นหลักถึง ๓๑ เปอร์เซ็นต์ และอยู่ในภาคของการเพาะปลูกกว่า ๗๙ เปอร์เซ็นต์ ในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันพี่น้องเกษตรกรจังหวัดอุตรดิตถ์นั้นต่างก็เจอกับปัญหา ราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำเช่นเดียวกัน อย่างเช่น ท่าน สส. วารุจ ศิริวัฒน์ ที่อยู่ข้าง ๆ ผมนี้ ขออนุญาตพาดพิงท่านครับ ได้เล่าให้ผมฟังว่ายางพาราก้อนถ้วยในอำเภอบ้านโคก เขตของท่านนั้นก็เคยตกต่ำถึง ๕ กิโลกรัมต่อ ๑๐๐ บาทมาแล้ว ถึงแม้ว่า ณ ขณะนี้ปัจจุบัน ราคาสินค้าเกษตรบางตัวจะมีการขยับปรับขึ้นมาบ้างแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่ดีมากนะครับ เนื่องจากปัญหาสินค้า Shortage หรือสินค้าขาดตลาด จากผลของภาวะโลกร้อนและ El Nino แต่มีสินค้าเกษตรตัวหนึ่งที่ผมอยากจะขอพูดถึง เนื่องจากในอดีตนั้นเป็นสินค้าหลัก ประจำจังหวัดอุตรดิตถ์จนถึงขั้นมีชื่ออยู่ในคำขวัญประจำจังหวัด นั่นคือเหล็กน้ำพี้ลือเลื่อง เมืองลางสาดหวาน บ้านพระยาพิชัยดาบหัก ถิ่นสักใหญ่ของโลก ใช่ครับ ผมจะขอพูดถึง ลางสาดครับ เพราะลาดสาดนั้นในขณะนี้กำลังจะกลายเป็นผลไม้ที่ถูกลืม เนื่องจากคนหันไป บริโภคลองกองแทน รวมถึงเกษตรกรเองก็หันไปปลูกผลไม้เศรษฐกิจที่ให้ผลตอบแทนที่ดี มากกว่าอย่างทุเรียนหลงลับแล หลินลับแลเช่นเดียวกัน ในปัจจุบันลางสาดนั้นมีพี่น้อง เกษตรกรที่ปลูกราว ๕,๒๐๐ คน เนื้อที่เพาะปลูกสามารถเก็บเกี่ยวได้ประมาณ ๘,๖๐๐ ไร่ และจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ ๔,๓๐๐ ตัน แต่ในส่วนของราคาเฉลี่ยของลางสาดที่ผ่านมาในอดีตจะอยู่ที่เพียงแค่ ๑๐ บาทต่อกิโลกรัม เท่านั้น ซึ่งในอดีตมีราคาตกต่ำถึงขนาด ๕ บาทต่อกิโลกรัมมาแล้ว ซึ่งในยุคนั้น ท่าน สส. กฤษณา สีหลักษณ์ และ สส. ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย ต้องขออภัยที่เอ่ยนามท่านนะครับ ร่วมกับพ่อแม่พี่น้องในจังหวัดอุตรดิตถ์ ต้องช่วยกันรับซื้อลางสาดจากเกษตรกรเพื่อระบาย สินค้า และช่วยให้เกษตรกรชาวสวนมีรายได้ไปจุนเจือครอบครัว จากปัญหาดังกล่าวจึงทำให้ เกษตรกรมีแนวโน้มที่จะเลิกปลูกลางสาด ทั้ง ๆ ที่เคยเป็นผลไม้เศรษฐกิจของอุตรดิตถ์

    อ่านในการประชุม

  • ขอ Slide ถัดไปครับ ผมจึงมองว่าปัญหาราคาสินค้าเกษตรนั้นควรจะต้อง ได้รับการแก้ไข โดยมีแรงสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่เองด้วย เพื่อให้ เกิดเสถียรภาพทางด้านราคา และก่อให้เกิดรายได้ต่อเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง โดยผม มีข้อเสนอดังนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๑. การเพิ่มศักยภาพในการผลิตและปรับปรุงพันธุกรรม โดยมุ่งเน้นการเพิ่ม คุณภาพและมูลค่าให้กับตัวสินค้าเกษตร เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีมากยิ่งขึ้นเช่น การให้รับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เหมือนทุเรียนหลงลับแล หลินลับแล และสับปะรด ห้วยมุ่นของอุตรดิตถ์ หรือการปรับปรุงสายพันธุ์เช่นข้าว เพื่อให้ทนต่อโรคและต้านทาน ต่อแมลง และได้ผลผลิตต่อไร่มากยิ่งขึ้น รวมถึงการใช้เทคนิคปรับปรุงสายพันธุ์เพื่อให้ได้ ผลผลิตที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เช่นการตัดต้นลางสาดและต่อยอด กับกิ่งลองกอง หรือที่เราเรียกกันว่า ลางกอง

    อ่านในการประชุม

  • ๒. การผลักดันสถาบันเกษตรกรสู่อุตสาหกรรมและภาคบริการ เช่น การวิจัย และพัฒนาแปรรูปสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าและเพิ่มช่องทางตลาดให้กับสินค้าของเกษตร รวมถึงการเพิ่มภาคบริการและการท่องเที่ยวของสวนผลไม้ เพื่อสร้างการรับรู้และเป็น การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

    อ่านในการประชุม

  • ๓. การพัฒนาระบบชลประทานและบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้ได้ปริมาณและคุณภาพของผลผลิตตามที่ต้องการ

    อ่านในการประชุม

  • ๔. การเชื่อมโยงทางการตลาดและการขนส่ง โดยภาครัฐควรเข้ามามีส่วนช่วย ในการหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อรองรับการผลิต โดยในส่วนของตลาดต่างประเทศอาจจะมีการทำ เขตการค้าเสรี หรือ Free Trade Agreement หรือ FTA เพื่อยกเว้นภาษี หรือการตั้งมาตรการ กีดกันทางการค้า Trade Barrier เพื่อป้องกันสินค้าจากต่างประเทศที่มีความคล้ายคลึงกัน เข้ามาตีตลาดในไทย รวมถึงควรมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง เช่น ถนนหนทางต่าง ๆ รถไฟรางคู่ และรถไฟความเร็วสูง เพื่อเป็นการช่วยเปิดโอกาส ให้แก่ตลาดสินค้าเกษตรของไทย รวมถึงเป็นการช่วยลดต้นทุนในการขนส่งอีกด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • จากทั้งหมดที่กล่าวมา ผมเชื่อว่าทางรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง น่าจะมีแผนหรือโครงการลักษณะนี้อยู่แล้ว ซึ่งก็หวังเป็นอย่างยิ่งครับว่าจะมีการดำเนิน พัฒนาต่อยอดมากยิ่งขึ้นต่อไป และเพื่อการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร รวมถึงเป็น การยกระดับสินค้าเกษตรของไทยให้มีคุณภาพและมีมูลค่ามากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขัน ได้ในตลาดโลกครับ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ครับท่านประธาน ขณะนี้เป็นฤดูของลางสาดและลองกอง ซึ่งเป็นของดีของจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งผมก็มีลางสาดของจังหวัดอุตรดิตถ์มาด้วยครับ ซึ่งที่จังหวัดอุตรดิตถ์นั้นจะมีการจัดงานเทศกาลลางสาด ลองกองหวานของอุตรดิตถ์ เป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้จะมีวันที่ ๑๕-๒๔ กันยายน ขอเรียนเชิญทุกท่าน รวมถึง พ่อแม่พี่น้องทางบ้านไปเที่ยวงานและชิมของดีที่จังหวัดอุตรดิตถ์กันได้เลยนะครับ ขอบพระคุณมากครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม นายรวี เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต ๓ พรรคเพื่อไทย ขอ Slide ขึ้นด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ผมขอปรึกษาหารือในปัญหาความเดือดร้อน เร่งด่วนของพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ ๒ ประเด็นด้วยกันครับ นั่นก็คือเรื่องของลองกอง กับข้าวโพด โดยมีรายละเอียดดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • ในประเด็นปัญหาราคาผลิตผลของลองกองตกต่ำ จังหวัดอุตรดิตถ์เป็นหนึ่งใน จังหวัดที่มีเกษตรกรปลูกลองกองเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในเขตตำบลแม่พูลและตำบล นานกกกของอำเภอลับแล ในปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตรวมประมาณ ๓๐,๐๐๐ กว่าตัน โดยผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมนี้ รวมกันกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ หรือกว่า ๒๗,๐๐๐ ตัน ในขณะนี้ผลผลิตได้ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องกว่า ๓๙ เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการผลิต ส่งผลให้ราคาผลผลิตลองกองเริ่มประสบปัญหาราคา ตกต่ำ คือลองกองคละเบอร์อยู่ที่ประมาณแค่ ๘ บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้นเอง อีกทั้งยังเสี่ยง ที่จะถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง รวมถึงลองกองยังเป็นผลไม้ที่มีความเปราะบาง และไม่สามารถเก็บไว้ได้นานครับ ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาและได้รับความเดือดร้อน อย่างมาก และหากปล่อยไว้โดยปราศจากมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ เมื่อถึงช่วงผลผลิตออกมากในเดือนตุลาคม จะยิ่งทำให้ราคาผลผลิตตกต่ำลงอีกครับ ผมจึง ขอเรียนท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเข้ามาช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกลองกอง อย่างเร่งด่วน และร่วมกันหาแนวทางแก้ไขอย่างเป็นระบบ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ พี่น้องเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง โดยทางท่านนายกดำเนิน นันเขียว นายก อบต. น้ำอ่าง และนายกวินัย ระนาดเสนาะ นายก อบต. วังแดง ได้แจ้งให้ผมรับทราบถึงปัญหาในพื้นที่ที่ขณะนี้พบว่าในเขตตำบลน้ำอ่าง มีพี่น้องเกษตรกรที่ทำไร่ข้าวโพดได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง ทำให้ข้าวโพดเสียหาย เป็นจำนวนมาก แค่เฉพาะตำบลน้ำอ่างมีพี่น้องได้รับผลกระทบถึง ๑๐๗ ราย กินพื้นที่กว่า ๑,๒๐๐ ไร่ ซึ่งยังไม่รวมพื้นที่อื่น ๆ ของตำบลวังแดง ตำบลข่อยสูง ตำบลหาดสองแคว ในอำเภอตรอน และตำบลนาอินกับตำบลนายาง ในอำเภอพิชัย ผมจึงขอฝากไปยังกระทรวง เกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เข้ามาช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน ให้กับพี่น้องเกษตรกร โดยมีมาตรการที่สามารถช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงทีด้วยครับ ขอบพระคุณมากครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม นายรวี เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต ๓ พรรคเพื่อไทย สำหรับการอภิปรายในญัตตินี้ผมขออนุญาตแบ่งกรอบออกเป็น ๓ ประเด็นหลัก ๆ ขอ Slide ขึ้นด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรก เป็นประเด็นเกี่ยวกับการบังคับ ใช้กฎหมายที่มีความขัดแย้งกับวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ การออกโฉนดที่ดินในบริบทที่จะเป็นสินทรัพย์เพื่อให้พี่น้อง ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๓ การส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนสามารถเข้าถึงระบบโครงสร้าง และระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกและป้องกันภัยอันตราย บนภูเขา

    อ่านในการประชุม

  • โดยผมจะขออนุญาตยกตัวอย่างกรณีศึกษาของปัญหาในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นเขตของผมเอง เนื่องจากในพื้นที่ของอำเภอลับแลนั้น มีตำบลแม่พูล ตำบลนานกกก และตำบลฝายหลวง ที่มีพื้นที่ที่เป็นป่าและภูเขาอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยเฉพาะพื้นที่ ป่าสงวนนานกกกนั้น จากการจัดทำข้อมูลขององค์การบริหารส่วนตำบลแม่พูล ได้มีพี่น้อง ประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์ในการอยู่อาศัยและทำสวนผลไม้กว่า ๑๐,๐๐๐ ไร่ ในขณะที่ พื้นที่ป่าตาม พ.ร.บ. ปี ๒๔๘๔ ตำบลแม่พูล ก็มีพี่น้องประชาชนเข้าไปปักหลักทำมาหากิน อยู่ถึงกว่า ๔๖๒ ไร่ นอกจากนั้นในส่วนของพื้นที่ป่าถาวรตำบลแม่พูล มีประชาชนเข้าไป อยู่อาศัยทำมาหากินคิดเป็นพื้นที่กว่า ๒๔,๐๐๐ ไร่ ท่านประธานครับ ตามข้อเท็จจริงนั้น ส่วนใหญ่แล้วพี่น้องในชุมชนเหล่านี้ได้เข้าไปทำมาหากินอยู่เป็นระยะเวลานานกว่า ๒๐๐ ปี แล้วครับ โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สามารถตรวจสอบได้อย่างหนึ่ง นั่นคืออายุของ ต้นทุเรียนที่มีอายุกว่า ๒๐๐ ปี ของนายชาญชัย แก่นตนุ ประชาชนในพื้นที่หมู่ที่ ๑๑ ที่ได้รับ มรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ แต่ท่านประธานครับ การประกาศของกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑,๐๔๙ ปี ๒๕๒๗ ที่ประกาศให้ป่านานกกกเป็นเขต ป่าสงวนแห่งชาติและป่าไม้ถาวรนั้น ได้ทำให้พ่อแม่พี่น้องในเขตนั้นกลายเป็นผู้กระทำ ผิดกฎหมายและกลายเป็นผู้บุกรุกป่าไปโดยปริยาย และนั่นทำให้โอกาสในการขอเอกสารสิทธิ รับรองครอบครองพื้นที่ทำกินอย่างถูกกฎหมายได้จบสิ้นลงไปด้วย ท่านประธานครับ ผมมี คำถามอยู่ภายในใจว่าการประกาศเขตป่าในครั้งนั้นอาจจะกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ผิดทางระเบียบหรือไม่ เพราะก่อนจะประกาศเป็นเขตป่าได้นั้นควรจะต้องมีการกันพื้นที่ ของชุมชนออกไปก่อนใช่หรือไม่ และกฎหมายควรเป็นสิ่งที่สามารถช่วยเหลือดูแลพี่น้อง ประชาชน ข้อเท็จจริงเราสามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นอย่างไร แต่ผมไม่อยากให้วิถีปฏิบัติ และความเคยชินเป็นอุปสรรคในการทำพี่น้องประชาชนที่เขาอยู่อาศัยมาอย่างเปิดเผย ยาวนาน และควรได้สิทธิที่เขาพึงมีพึงได้ต้องสูญเสียโอกาสนานัปการจากการไม่สามารถ ถือครองสิทธิในที่ดินทำกินของตัวเอง หรือพื้นที่ที่เป็นบ้านที่พวกเขาเกิดและเติบโตมา

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ นั่นก็คือสิ่งที่ต่อเนื่องมาจากประเด็นแรก หากพี่น้องประชาชน ได้โอกาสในการเข้าถึงสิทธิที่กฎหมายไม่ได้ลิดรอนไปจากเขา สิ่งที่เขาพึงได้คือกรรมสิทธิ์ ในที่ดินทำกินที่เขาประกอบอยู่ และการมีกรรมสิทธิ์ดังว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นอยู่ในรูปแบบใด ภายใต้กรอบของกฎหมาย ก็จะสามารถมีส่วนสำคัญในการเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันให้กับ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนและแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ในกรณีที่พี่น้องประชาชนต้องการ เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ถูกกฎหมาย เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดในการประกอบอาชีพและสร้าง ความมั่นคงให้กับครอบครัว ซึ่งผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะมีส่วนช่วยให้พี่น้องประชาชน ในพื้นที่นี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายครับ ในประเด็นการส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนสามารถเข้าถึงระบบ โครงสร้างและระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกและป้องกันภัย อันตรายบนพื้นที่ภูเขา ท่านประธานครับ ในพื้นที่แม่พูล นานกกก และฝายหลวง ตามที่ ผมได้เรียนมาตั้งแต่ต้นนั้น มีลักษณะเป็นพื้นที่เขา ซึ่งผมได้ทราบและได้รับการแจ้งว่ามีพี่น้อง ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและต้องประสบกับอุบัติเหตุอยู่เป็นประจำ เนื่องจากการขาด การได้รับความดูแลอย่างทั่วถึงจากส่วนงานราชการ เพราะด้วยข้อจำกัดของกฎหมายในพื้นที่ ป่าเขา ทำให้การเข้าไปพัฒนาและช่วยเหลือของภาครัฐไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นทั้งเรื่องของถนนหนทาง ไฟฟ้า ประปา อันเป็นสิ่งพื้นฐานที่จะช่วยให้พี่น้อง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานที่ดีได้ และเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับคนในพื้นที่ รวมไปถึงการสูญเสียโอกาสที่จะได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำเกษตรกรรมและการสร้างรายได้

    อ่านในการประชุม

  • โดยสรุป ผมต้องยอมรับว่าในพื้นที่บนเขานั้นอาจมีการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่ แต่ด้วยสาเหตุจากประเด็นต่าง ๆ ที่ผมได้อภิปรายไปแล้ว ผมจึง อยากเรียนท่านประธานว่าเราไม่ควรซุกปัญหาไว้ใต้พรมอีกต่อไป เพราะผมเชื่อว่าในอีก หลาย ๆ พื้นที่ของเพื่อนสมาชิกหลาย ๆ ท่านคงเกิดปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้ ดังนั้นการมี ส่วนร่วมที่จะทำให้กฎหมายสามารถตอบสนองต่อประโยชน์สาธารณะอย่างสมเหตุสมผล และมีความยุติธรรม และการทำให้พี่น้องประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดิน ของพวกเขาเองโดยชอบด้วยกฎหมาย จะทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงไม่ต้อง กังวลว่าเมื่อไรจะถูกไล่ออกจากพื้นที่หรือบ้านของพวกเขาเอง และนั่นเองจะเป็นสิ่งที่ทำให้ พวกเขามีความหวังในการดำรงชีวิตอยู่ต่อไป ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม นายรวี เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต ๓ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้แทนของจังหวัดอุตรดิตถ์ ผมขอหารือเกี่ยวกับสถานการณ์อุทกภัยของจังหวัด อุตรดิตถ์ ขอ Slide ขึ้นด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • โดยระหว่างวันที่ ๘-๙ ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้เกิดฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้ปริมาณน้ำในลำห้วยและคลองต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชน สถานที่ราชการ สิ่งสาธารณประโยชน์ เส้นทางคมนาคม รวมถึงพื้นที่เกษตรกรรม โดยพื้นที่ ประสบภัยรวมทั้งสิ้น ๗ อำเภอ แบ่งเป็น ๑๗ ตำบล ๔๕ หมู่บ้าน ๒,๑๕๒ ครัวเรือน โดยอำเภอเมืองมีพื้นที่เสียหาย ๒ ตำบล คือตำบลท่าเสาและตำบลขุนฝาง รวม ๒๕๐ ครัวเรือน อำเภอลับแล ๕ ตำบล ตำบลฝ่ายหลวง ตำบลไผ่ล้อม ตำบลชัยชุมพล ตำบลทุ่งยั้ง และตำบลด่านแม่คำมัน รวม ๒๕๐ ครัวเรือน อำเภอพิชัยมีพื้นที่เสียหายที่ตำบลท่าสัก รวม ๑๐ ครัวเรือน และที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดก็คือในพื้นที่เขต ๒ ของท่าน สส. วารุจ ศิริวัฒน์ ซึ่งในขณะนี้คุณวารุจได้กำลังลงพื้นที่อย่างหนักเพื่อช่วยเหลือพ่อแม่พี่น้องที่ได้รับ ผลกระทบจากเหตุอุทกภัย ณ ขณะนี้อยู่ และเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมต้องลุกขึ้นมาพูดหารือ เรื่องนี้แทนคุณวารุจด้วยครับ โดยความเสียหายของเขตพื้นที่ของคุณวารุจนั้นประกอบด้วย อำเภอน้ำปาด มีพื้นที่เสียหาย ๔ ตำบล คือ ตำบลน้ำไผ่ ตำบลเด่นเหล็ก ตำบลบ้านฝาย และตำบลแสนตอ รวม ๑๔๖ ครัวเรือน อำเภอท่าปลามีพื้นที่เสียหาย ๑ ตำบล คือตำบลน้ำ หมัน ๔๕ ครัวเรือน อำเภอบ้านโคก ๒ ตำบล คือ ตำบลม่วงเจ็ดต้นและบ่อเบี้ย ๗๓ ครัวเรือน อำเภอฟากท่าเป็นอำเภอที่ได้รับผลกระทบสูงสุด มีพื้นที่เสียหาย ๒ ตำบล คือตำบลฟากท่า กับตำบลสองคอน ๑,๓๗๘ ครัวเรือน ท่านประธานครับ นี่เป็นเพียงตัวเลขความเสียหาย ที่เกิดขึ้นในช่วงของเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ แต่หลังจากที่ปริมาณน้ำลดลงและเริ่มผ่าน พ้นไป ตัวเลขความเสียหายที่แท้จริงคงปรากฏออกมามากกว่านี้แน่นอน อย่างไรก็ดี ผม สส. รวี เล็กอุทัย สส. กฤษณา สีหลักษณ์ และ สส. วารุจ ศิริวัฒน์ พวกเรา ๓ คน ต้องขอขอบคุณไปยังหน่วยงานราชการ ตลอดจนหน่วยงานทหาร พลเรือน องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ มูลนิธิ ภาคเอกชน และทุกภาคส่วนอื่น ๆ ที่ได้เข้าไปช่วยเหลือ รวมถึงเป็นกำลังใจให้พี่น้องผู้ประสบภัยในครั้งนี้ และกราบเรียนท่านประธานผ่านไปยังรัฐบาล ได้โปรดเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในครั้งนี้ด้วย ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม นายรวี เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต ๓ พรรคเพื่อไทย ผมขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายในญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มี สัญชาติไทย โดยขอแบ่งกรอบการอภิปรายออกเป็น ๒ ประเด็น ขอ Slide ขึ้นด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • โดยในประเด็นแรกเป็นจุดเริ่มต้นของโอกาส ในการศึกษาและเงินสนับสนุนรายหัวนักเรียน รวมถึงการศึกษาต่อเนื่อง ๒. ความสำคัญ ของการศึกษาในบริบทของการของทรัพยากรมนุษย์ ก่อนที่จะลงลึกไปยังทั้ง ๒ ประเด็น ดังกล่าว โดยส่วนตัวผมเห็นด้วยและขอสนับสนุนว่าเด็กทุกคนไม่ว่าจะมีหรือไม่มีสัญชาติไทย ที่อยู่ในเขตแดนในประเทศของเรา พวกเขาควรได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง เหมือนเด็กทั่ว ๆ ไปตามหลักสิทธิมนุษยชน

    อ่านในการประชุม

  • ในประเด็นแรก ผมจะขอพูดถึงจุดเริ่มต้นของโอกาสในการศึกษา และเงินสนับสนุนรายหัวนักเรียน รวมถึงการศึกษาต่อเนื่อง โดยเมื่อเราเริ่มพิจารณาจาก การที่ประเทศไทยเราเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๓ ประเด็นที่สำคัญคือเด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยไม่กำหนดว่าเป็นสัญชาติหรือเป็นพลเมืองของรัฐหรือไม่ เด็กต้องได้รับโอกาส ในการพัฒนาซึ่งหมายรวมถึงการศึกษาทุกประเภท และหลักการนี้ได้ถูกนำมาบัญญัติไว้ในกฎหมายไทย ทั้งในรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ ในมาตรา ๔ และมาตรา ๕๔ รวมถึงในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๔๒ ในมาตรา ๑๐ ซึ่งผมก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการตีความของกฎหมายว่าจะหมายถึงเพียงแค่ เด็กที่มีสัญชาติไทยเท่านั้นหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามผลที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนให้เด็ก ได้รับการศึกษาโดยตรงนั่นก็คือเงินสนับสนุนรายหัวที่รัฐได้อนุมัติไว้ให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโรงเรียนภายใต้สังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีความครอบคลุม อยู่แล้วตั้งแต่ระดับชั้นก่อนอนุบาล ระดับอนุบาล ระดับประถมศึกษา ไปจนถึงระดับ มัธยมศึกษา โดยกระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศ ซึ่งก็เป็นคำถามว่าเงินสนับสนุนรายหัวดังกล่าวนี้ มีให้เฉพาะเพียงเด็กที่มีสัญชาติไทยหรือไม่ และเด็กที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร จะสามารถเข้าถึงการศึกษาในโรงเรียนภายใต้สังกัดของ สพฐ. ได้จริง ๆ หรือไม่ครับ

    อ่านในการประชุม

  • Slide ถัดไปครับ ความซับซ้อนที่เกิดขึ้นจากกรอบของกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น สถานะทางทะเบียนราษฎรซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างเลี่ยงไม่ได้กับตัวเด็กที่จะเอาไว้เป็น หลักฐานในการสมัครเข้าเรียนหนังสือ หรือถึงแม้ว่าจะมีบางโรงเรียนที่ใจดีให้การสนับสนุน ทางการศึกษา เช่น ในโรงเรียน ตชด. ตามเขตแนวชายแดนที่รับเด็กทุกคนเข้าเรียนหนังสือ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของระดับการสอนอยู่ดี ที่มีถึงเพียงแค่ระดับชั้นประถมศึกษาเท่านั้น ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าในประเทศไทยของเราสถานะความเป็นพลเมืองไทยที่มีสัญชาติไทย ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการที่จะได้รับและเข้าถึงการศึกษา แต่หากเป็นเด็กที่ไร้สัญชาตินั้น การจะผลักดันให้เด็กได้อยู่ในระบบการศึกษาช่างเป็นสิ่งที่ยากมากเสียเหลือเกิน และยิ่งไปกว่านั้น คือการได้รับการศึกษาที่มีความต่อเนื่อง ซึ่งก็ดูเป็นเรื่องที่อาจจะเป็นไปไม่ได้เลยเช่นเดียวกัน

    อ่านในการประชุม

  • Slide ถัดไปครับ และนั่นจึงเชื่อมโยงไปถึงในประเด็นที่ ๒ ที่ผมต้องการ กล่าวถึง นั่นก็คือความสำคัญของการศึกษาในบริบทการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เพราะในประเด็นนี้เราต้องลองพิจารณาว่าในกรณีที่เกิดขึ้นจริงและเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว ในปัจจุบัน โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดที่อยู่ติดกับชายแดนของประเทศเพื่อนบ้าน เรามีเด็ก ไร้สัญชาติที่อาศัยอยู่ในเขตแดนของประเทศไทย และไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม มันก็หนีไม่พ้นที่รัฐจะต้องหาคำตอบว่าจะดำเนินการกับเด็กเหล่านี้อย่างไร ซึ่งหากมองในมิติ ของความมั่นคงเราอาจได้คำตอบแบบหนึ่ง แต่สำหรับผมมองว่ากลุ่มเด็กเหล่านี้ที่ใช้ชีวิต อยู่ในประเทศไทยและคงจะไม่เดินทางไปยังประเทศใดต่อ เพราะข้อติดขัดของกฎหมาย ควรที่จะสามารถเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาต่อเนื่องในระดับชั้นต่อ ๆ ไปได้ เพราะอย่างน้อยที่สุดนี่เป็นหนทางที่ทำให้รัฐจะสามารถลดความเสี่ยงในการเผชิญกับ ภัยความมั่นคงที่เราไม่สามารถจินตนาการออกได้เลยว่า หากเด็กคนหนึ่งที่ไม่มีโอกาสได้รับ การศึกษาและขาดการอบรมสั่งสอน หรือปลูกฝังความเป็นพลเมือง และไร้การชี้แนะ ถึงเป้าหมายของชีวิต เด็กคนนั้นจะเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสังคมไทย ได้อย่างไร และอาจจะก่อให้เกิดปัญหาอะไรขึ้นตามมาอีกได้บ้าง

    อ่านในการประชุม

  • ดังนั้นการศึกษาจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยทั้งตัวเด็กและรัฐไทยไปในเวลาเดียวกัน การทำให้เด็กทุกคนเข้าถึงระบบการศึกษาที่ดีและเท่าเทียม จะช่วยสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ และมีศักยภาพ รวมไปถึงเป็นโอกาสที่จะทำให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีคุณค่าที่จะมาช่วย พัฒนาประเทศในอนาคตต่อไป ผมคิดว่าการศึกษาเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะสามารถช่วยหา แนวทางพัฒนาให้เด็กที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร หรือไม่มีสัญชาติไทยสามารถ กลายเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าในตัวเองและสังคม รวมถึงสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา ศักยภาพในภาพรวมของประเทศไทยเราได้ด้วยเช่นเดียวกัน ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ ผม นายรวี เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต ๓ พรรคเพื่อไทย ผมในฐานะสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร และในฐานะประชาชนผู้ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยคนหนึ่ง ผมขอแสดงความเห็นต่อญัตตินี้ดังนี้ครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ประการแรก ผมขอยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีความเป็นธรรม และเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่สุด ผมจึงเห็นด้วย กับการที่ต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากประชาชน ผ่านกระบวนการ ประชามติ อันนี้เป็นจุดยืนแรกที่ผมขอยืนยันให้ชัดเจนก่อนเป็นอันดับแรก

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๒ เป็นความคิดเห็นเกี่ยวกับการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ผ่านการประชามติของประชาชน ซึ่งผมคิดว่าเป็นประเด็นหลักที่สมาชิกในที่ประชุมแห่งนี้ กำลังพิจารณาถกเถียงกันอยู่ สำหรับผมการแสดงความเห็นเกี่ยวกับญัตตินี้นั้นมีคำถาม

    อ่านในการประชุม

  • คำถามแรกนั้น ก็คือความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการทำประชามติในหลาย ขั้นตอนระหว่างการก่อรูปรัฐธรรมนูญ จนถึงการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประเด็นนี้ ผมพบว่าหากพิจารณาตามญัตตินี้ จะสามารถตีความได้ว่าผู้เสนอญัตติมองว่าการเสนอญัตติ เพื่อให้ทำประชามติสอบถามประชาชนนั้น จะสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๔/๒๕๖๔ และสอดคล้องกับความเห็นของ สส. และ สว. ที่ยังไม่มีการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าสู่รัฐสภา โดยใช้ช่องทางให้ ครม. มีมติตาม พ.ร.บ. ประชามติ พ.ศ. ๒๕๖๔ และนำไปสู่ การทำประชามติถึง ๓ ครั้ง คำถามก็คือการทำประชามติถึง ๓ ครั้งนั้นมีความจำเป็น จริงหรือไม่ เพราะนอกจากเวลาและงบประมาณเกี่ยวกับการทำประชามติในแต่ละครั้ง ที่เพื่อนสมาชิกหลาย ๆ ท่านได้อภิปรายไปว่าใช้เวลามาก แล้วก็เป็นงบประมาณที่จำนวน มหาศาล เราต้องยอมรับครับว่าการทำประชามติต้องมีการเตรียมคำถามในแต่ละครั้ง การทำ ประชาสัมพันธ์และการรณรงค์เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนในการออกเสียง ประชามติในแต่ละรอบ

    อ่านในการประชุม

  • คำถามที่ ๒ ในสาระของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ผมเชื่อว่าสมาชิกในสภา แห่งนี้ต้องการให้ยึดโยงกับประชาชนออกเสียงเลือกตั้ง ในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย ให้มากที่สุด และนำมาซึ่งการพิจารณาว่าการมี สสร. นั้นมีความจำเป็น แต่ในขณะเดียวกัน การมี สสร. ที่สะท้อนความต้องการของประชาชนสำหรับผมนั้นต้องครอบคลุมทุกภาคส่วน ซึ่งก็เป็นความตั้งใจของรัฐบาลอยู่แล้วที่จะให้ได้ตัวแทนที่ครอบคลุมภาคส่วนต่าง ๆ ของกลุ่ม ในสังคมให้ได้มากที่สุด หนทางนี้จึงน่าจะเป็นทางออกให้กับการลดจำนวนครั้งของการทำ ประชามติได้ และยังสามารถรักษาการยึดโยงกับเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งก็คือ ประชาชนไว้ได้ด้วยเช่นเดียวกัน

    อ่านในการประชุม

  • อีกประเด็นหนึ่ง ที่ผมมองว่าการเสนอจัดทำประชามติของญัตตินี้ยังมี ประเด็นที่แตกต่างจากจุดยืนของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลอยู่ นั่นก็คือเรื่องของการแก้ไข รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะเรามีจุดยืนที่ชัดเจนมาโดยตลอดว่าเราจะจัดทำรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ แต่จะเว้นแก้ไขในหมวด ๑ และหมวด ๒ นั่นจึงทำให้ผมมองว่าการเสนอญัตติ ถามความเห็นในครั้งนี้ที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ยังมีความเห็นไม่ตรงกันกับ แนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญของรัฐบาลอยู่ ปัญหาที่หลายส่วนเป็นกังวล รัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ที่คณะกรรมการศึกษาที่รัฐบาลตั้งขึ้น และ สสร. ยกร่างขึ้น อาจจะไม่สะท้อน ความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงอย่างที่บางท่านกล่าว และไม่ลดปัญหาที่เกิดขึ้น จากรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ แต่ผมมั่นใจว่าไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาไหนก็ตาม ทั้งตัวผู้เสนอ ญัตติเอง หรือจะเป็นใครก็ตาม ที่ต้องการเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญ ย่อมสามารถแสดงความเห็นไปยังรัฐบาลได้ เพราะรัฐบาล ณ ปัจจุบันนี้ที่กำลังทำงานอย่างขยันขันแข็งอยู่นั้น พร้อมเปิดรับฟัง ทุกความคิดเห็นอยู่แล้ว ยิ่งถ้าฟังจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่านที่อภิปรายในวันนี้ และเสียงของพี่น้องประชาชนที่สะท้อนถึงรัฐบาลอยู่แล้ว ผมมั่นใจว่าทุกเสียงเหล่านี้ได้ส่ง ไปถึงยังรัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนแน่นอน ผมเข้าใจครับว่าประเด็นของการได้มา ซึ่งประชาธิปไตยนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นสิ่งที่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศต่างรอคอย และตั้งความหวังอยู่ ซึ่งผมอยากจะชี้แจงให้พี่น้องประชาชนทุกท่านที่รับฟังอยู่ในขณะนี้ ได้รับรู้ว่ารัฐบาลได้มีการดำเนินการเรื่องนี้มาโดยตลอด และได้มีการตั้งคณะกรรมการ ในการพิจารณาเรื่องนี้ และทุกกระบวนการขั้นตอนของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ของประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายครับท่านประธาน ผมเชื่อมั่นว่ารัฐบาลนี้เห็นด้วยกับการให้ทำประชามติ เห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. และให้ความสำคัญสูงสุดในการจัดทำ รัฐธรรมนูญบนหลักของประชาธิปไตยที่ต้องการคืนอำนาจสูงสุดให้แก่พี่น้องประชาชน คนไทยทุกคน ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม นายรวี เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต ๓ พรรคเพื่อไทยครับ ในฐานะผู้แทนของจังหวัดอุตรดิตถ์

    อ่านในการประชุม

  • ผมขอหารือเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหา หนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ครับ และได้นำไปสู่การเปิดลงทะเบียน เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับลูกหนี้มาตั้งแต่ วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๖ และประกาศให้การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบนั้นเป็นวาระแห่งชาติ ในวันที่ ๑๒ ธันวาคมที่ผ่านมา สำหรับกรณีของจังหวัดอุตรดิตถ์นั้นได้เกิดเหตุการณ์ สะเทือนใจและเป็นข่าวใหญ่ที่ผ่านมา นั่นก็คือกรณีของคุณยายท่านหนึ่งที่ได้ออกมาร้องเรียน กับสื่อมวลชน จากการที่ผู้เป็นสามีนั้นเลือกจบชีวิตตัวเอง เพื่อคุณยายจะได้นำเงินฌาปนกิจ มาใช้หนี้เงินกู้นอกระบบ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะสามารถปิดหนี้ได้ทั้งหมด อย่างไรก็ดี ภายหลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเมื่อคุณยายได้มาแจ้งลงทะเบียนหนี้นอกระบบ ตามโครงการของรัฐบาลในวันที่ ๘ ธันวาคม ปัญหาต่าง ๆ ก็ได้รับการคลี่คลายอย่างรวดเร็ว จากการเข้ามาช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นท่านรองผู้ว่า ราชการจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค ๖ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุตรดิตถ์ อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือ ทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดอุตรดิตถ์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดอุตรดิตถ์ นายอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรวังกะพี้ รวมถึงเมื่อ วันที่ ๑๒ ธันวาคมที่ผ่านมา ได้มีการนำไปสู่การดำเนินคดีต่อเจ้าหนี้ ๒ ราย ในข้อหา ประกอบธุรกิจสินเชื่อโดยไม่ได้รับอนุญาต และเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ท่านประธานครับ นี่เป็นเพียงเหตุการณ์ ๆ หนึ่งที่เกิดจากปัญหาหนี้นอกระบบ และผมมั่นใจ ว่ายังมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นอีกมากมายในประเทศของเรา เพราะแค่ยอดผู้ลงทะเบียน หนี้นอกระบบ ณ วันที่ ๑๑ ธันวาคมที่ผ่านมา จะพบว่าอุตรดิตถ์มียอดลูกหนี้ถึง ๕๑๙ ราย และมียอดหนี้รวมถึงกว่า ๒๐ ล้านบาท ในขณะที่วันที่ ๑๓ ธันวาคม ยอดผู้มาลงทะเบียน ทั้งประเทศอยู่ที่กว่า ๙๑,๘๒๙ ราย และมีมูลหนี้รวมทั้งหมดกว่า ๕,๓๐๐ ล้านบาท ท่านประธานครับ ผมขอเรียนว่าการแก้ไขปัญหาหนี้สินของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะ หนี้นอกระบบนั้นที่รัฐบาลกำลังผลักดันอยู่นี้ แม้จะดูเป็นสิ่งที่ยากและมีความสลับซับซ้อน แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นและสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างเห็นผล ผมจึงขอฝากข้อหารือนี้ ไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหา ทั้งการเจรจาไกล่เกลี่ย รวมถึงให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ให้เป็นไปตามกรอบของ กฎหมาย และผมขอเป็นกำลังใจให้ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการที่จะช่วยให้ประชาชน ที่เป็นหนี้นอกระบบ ซึ่งประกอบสัมมาอาชีพสามารถมีทางเดินต่อไปและมีคุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้นได้ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ ผม นายรวี เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต ๓ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ พระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียมเป็นการแสดงออกถึงการมีแนวคิด ที่คำนึงถึงความเท่าเทียมของประเทศไทยและสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ ผมในฐานะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขอสนับสนุนพระราชบัญญัติฉบับนี้ครับ เพราะนี่เป็นเรื่องของสิทธิ มนุษยชนและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมถึงผมเห็นควรในการท้าทายเกี่ยวกับ ค่านิยมและกฎหมายไปพร้อม ๆ กัน ดังนั้นผมจึงขออนุญาตเสนอประเด็นที่ต้องคำนึงถึง หลักการเพื่อนำไปพิจารณากำหนดรายละเอียดในกฎหมายต่อไปใน ๓ ประเด็นครับ ขอสไลด์ ถัดไปครับ

    อ่านในการประชุม

  • นั่นคือ ๑. ประเด็นความเท่าเทียม ๒. ประเด็น การรับรองให้ถูกกฎหมาย และ ๓. ประเด็นข้อใส่ใจที่อาจเกิดผลกระทบต่อสังคม

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรก คือความเท่าเทียมครับท่านประธาน โดยข้อเท็จจริงพื้นฐาน คนเราที่เกิดขึ้นมามีชีวิตเป็นบุคคลหรือมนุษย์ไม่ว่าจะในแง่ของบริบทตามธรรมชาติ หรือคลอดและอยู่รอดเป็นทารกตามข้อกฎหมาย เราทุกคนไม่สามารถที่จะเลือกได้ว่าจะเกิด มาเป็นเพศอะไร อยู่ในครอบครัวแบบไหน แต่เมื่อเกิดและมีชีวิตมาแล้วเราต่างเป็นคนที่มี ความเท่าเทียมกันและไม่ควรจะมีข้อจำกัดใดที่จะขึ้นมาว่าเราเป็นคนที่ไม่เท่ากันตามเพศสภาพ ที่มีเพียงชายและหญิง ดังนั้นบุคคลไม่ว่าจะเพศใดควรจะมีสิทธิที่จะเลือกใช้ชีวิต ตามวิถีที่แต่ละคนปรารถนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการสมรสเพื่อมีชีวิตครอบครัวและ การมีคนดูแลเป็นคู่ชีวิตร่วมกัน ซึ่งเพศกำเนิดไม่ควรถูกนำมาเป็นข้อจำกัดทางกฎหมาย ที่สร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมขึ้นมา ซึ่งผมดีใจที่เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็มี การคำนึงและให้ความสำคัญต่อบริบทดังกล่าวอย่างมาก และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เพื่อนสมาชิกทุกท่านในที่ประชุมแห่งนี้จะให้การสนับสนุนและช่วยกันพิจารณาถึงความก้าวหน้า ในทางสิทธิเสรีภาพและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมไทย ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะให้ การรับรองบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น การมีพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พุทธศักราช ๒๕๕๘ เพื่อไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลทางเพศ แต่ประเทศไทยควร จะต้องมีกฎหมายที่เป็นรูปธรรมที่สอดคล้องตามพันธสัญญาที่เราได้ให้ไว้กับนานาอารยประเทศ ตามหลักการของสิทธิมนุษยชนด้วยครับ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะมีส่วนสำคัญที่เราจะสามารถ ทำให้เกิดผลขึ้นจริงได้ แล้วจะก่อให้เกิดผลดีต่อความเชื่อมั่นที่แสดงให้เห็นถึงความจริงใจ ของประเทศไทยที่เคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นถัดมา คือประเด็นการรับรองให้ถูกกฎหมาย ในประเด็นแรกที่ผม ได้อภิปรายวางกรอบเริ่มจากบุคคลที่ไม่ว่าจะเกิดมีเพศสภาพแบบใดก็สามารถที่จะสมรส และมีชีวิตคู่ร่วมกันได้ อันเป็นสิทธิที่บุคคลพึงได้รับการรับรองจากรัฐ หลังจากที่มีสิทธินี้ ขึ้นมาแล้ว กฎหมายพึงจะต้องทำให้สอดคล้องกับจุดเริ่มต้นด้วย เช่น การปรับเปลี่ยนคำที่มี นัยในทางกฎหมายให้มีความสอดคล้องกัน แต่ผมเห็นด้วยที่จะต้องมีคำที่ระบุเพศ ในบางบริบท เช่นเพื่อให้พิสูจน์ทราบได้ในทางอัตลักษณ์กำเนิด ซึ่งย่อมมีผลต่อความสะดวก ในการจัดทำบริการสาธารณะต่าง ๆ ที่รัฐพึงจะจัดให้ หรือการพิสูจน์ทราบอัตลักษณ์ของ บุคคลที่มีผลในแง่ของความมั่นคง นอกจากการมีสิทธิในการสมรสแล้วกฎหมายฉบับนี้ ยังได้กำหนดหน้าที่ที่คู่สมรสต้องมีเช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ขอชื่นชมว่าคณะผู้ร่างได้พยายามคิด มาอย่างรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการหมั้น เหตุแห่งการฟ้องหย่า การถือครองทรัพย์สิน การพิสูจน์สิทธิในตัวบุตร อย่างไรก็ตามครับ สภาแห่งนี้จะได้มีส่วนสำคัญในการมีส่วนร่วม พิจารณาให้เกิดความรอบคอบมากยิ่งขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นสุดท้าย คือข้อใส่ใจที่กฎหมายฉบับนี้อาจส่งผลกระทบต่อสังคม แม้ว่าจุดเริ่มต้นจะเป็นจุดที่สวยงามทั้งในเชิงหลักการและความปรารถนาที่จะทำให้ประเทศไทย เป็นสังคมที่มีความเท่าเทียม แต่ในทางปฏิบัติการใช้ชีวิตร่วมกันของบุคคลในครอบครัวจะมี แต่ความสุขสงบนั้นคงเป็นไปไม่ได้ ความรักและความสัมพันธ์ที่มีลักษณะเฉพาะในครอบครัว นั้น ๆ ย่อมมีทั้งทุกข์และสุขครับ ซึ่งรัฐควรจะต้องให้ความรับรองโดยพื้นฐานของกฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียต่อปัจเจกบุคคล ตลอดรวมไปถึงความสัมพันธ์ที่จะเกิดขึ้นต่อบุตร ในบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการจัดทำบริการสาธารณะ เช่น ในมิติของการศึกษา ที่จะต้องก่อร่างสร้างฐานความเข้าใจชุดใหม่ที่จะทำให้สังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเคารพ สิทธิซึ่งกันและกัน ในส่วนที่มีความสอดคล้องไปกับประเด็นสมรสเท่าเทียมนี้ภายใต้ของ กฎหมายอื่น ๆ โดยเฉพาะความมั่นคงและความเชื่อทางศาสนา เราอาจจะต้องให้ความสนใจ และใส่ใจในการร่วมกันพิจารณาเพื่อให้กฎหมายเมื่อมีผลบังคับใช้แล้วสามารถปฏิบัติได้ โดยมีผลกระทบน้อยที่สุดด้วยเช่นเดียวกัน

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ครับท่านประธาน ผมขอสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติสมรส เท่าเทียมฉบับนี้บนฐานที่เชื่อว่าคนเรามีความเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเกิดมาในเพศอะไรก็ตาม ตามธรรมชาติ ทุกคนควรมีสิทธิที่จะเลือกใช้ชีวิตสมรส สร้างครอบครัวกับบุคคลที่รัก โดยมี กฎหมายที่เป็นธรรมให้การรับรอง ซึ่งขณะเดียวกันจะต้องมีหน้าที่ที่พึงร่วมกันรับผิดชอบ ทั้งต่อตนเองและสังคมด้วย ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม นายรวี เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต ๓ พรรคเพื่อไทย สำหรับการอภิปรายในร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอนั้น ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๖ ของเรานี้จะ ได้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนผลักดันเพื่อให้ประชาชนของเราได้มีสิทธิในการได้รับ อากาศที่สะอาด และแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลที่จะผลักดันให้กฎหมาย ฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่พวกเราทุกคน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกสำคัญที่มีผลต่อ การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และปัญหาฝุ่น PM2.5 ขอสไลด์ถัดไปเลยครับ ท่านประธานครับ เมื่อย้อนกลับไปหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของเรื่องนี้ นั่นคือการประชุม UNEA สมัยที่ ๓ ในปี ๒๕๖๐ ที่มีประเด็นหลักในการก้าวสู่โลกที่ปราศจากมลพิษ ซึ่งเป็น กลไกที่เร่งให้เกิดการดำเนินงานนำไปสู่การลดและขจัดมลพิษทั้งในอากาศ ดิน และน้ำ รวมถึงทะเลและมหาสมุทร โดยเน้นให้เกิดนโยบายที่มุ่งไปยังการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการจัดการสารเคมีและของเสียเพื่อก่อให้เกิดผลดีต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งแรกของการประชุม UNEA ที่ประเทศสมาชิกร่วมกันรับรอง ร่างปฏิญญาอย่างเป็นฉันทามติ ที่เน้นถึงแนวทางปฏิบัติของภาครัฐ เพื่อป้องกันบรรเทาและ จัดการมลพิษในประเด็นต่าง ๆ โดยที่สำคัญนั่นก็คือการมีนโยบายการจัดการสารเคมีและ ขยะของเสียที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างความสามารถในการแก้ไขปัญหา มลพิษ ที่มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน จากผลของการประชุมครับ ส่วนราชการของไทยเราหลาย ๆ กระทรวง โดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและ สหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาต่างได้ พยายามปรับตัว โดยมีกลไกที่จะขับเคลื่อนให้เป็นไปตามร่างของปฏิญญา นอกจากนั้น ในระดับภูมิภาคยังมีความตกลงว่าด้วยหมอกควันข้ามพรมแดน ที่มุ่งเน้นการป้องกันและ ติดตามไฟป่า และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ครอบคลุมถึงการจัดทำระบบตัวชี้วัดทางมลพิษ โดยมีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ จากกรอบในระดับต่างประเทศครับท่านประธาน ปัญหาที่เราต้องเผชิญร่วมกันในประเด็น มลพิษทางอากาศ ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งในร่างของ พ.ร.บ. อากาศสะอาดฉบับนี้ เพื่อให้ เกิดการขับเคลื่อนการทำงานในการจัดการมลพิษทางอากาศให้เป็นไปอย่างชัดเจนและ มุ่งหวังผลอย่างเป็นรูปธรรมได้มากยิ่งขึ้น จากการที่มีโครงสร้างอำนาจหน้าที่ที่มีความชัดเจน ตลอดจนการมีกลไกสร้างเครื่องมือหรือมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อเป็นกลไกสนับสนุน ในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศครับ ผมมีความคิดเห็นครับว่าเราไม่สามารถแยก ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจออกจากกันได้ ดังนั้น ผมจึงขออภิปรายใน ๒ ประเด็น นั่นก็คือ ๑. มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนในการแก้ไขปัญหามลพิษ ทางอากาศจากมลพิษที่มีแหล่งกำเนิดข้ามแดน และ ๒. กลไกที่ก่อให้เกิดการแก้ไขปัญหา มลพิษทางอากาศในระยะยาวอย่างยั่งยืน

    อ่านในการประชุม

  • ในประเด็นของมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการแก้ไข ปัญหามลพิษข้ามแดนครับ โดยเนื้อความร่างของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ผมมองว่านี่ถือเป็นโอกาส ของประเทศไทยในการเป็นประเทศแกนนำที่จะชวนให้ประเทศเพื่อนบ้านของเรา ร่วมกัน ตระหนักถึงปัญหามลพิษทางอากาศที่มีผลกระทบร่วมกัน โดยอ้างอิงตามหลักพันธสัญญาระหว่างประเทศที่ต่างก็เข้าไปผูกพันในการเป็นประเทศ สมาชิก ซึ่งถึงแม้ว่าตามหลักของรัฐอธิปไตยเราไม่ควรจะมีการก้าวล่วงระหว่างกัน แต่ปัญหา มลพิษทางอากาศนั้นเราคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าแต่ละประเทศนั้นจะไม่มีความรับผิดชอบ ร่วมกันเลยคงเป็นไปไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นในภาคปฏิบัติที่จะเป็นผลต่อเนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ หลังจากมีผลบังคับใช้ ผมก็ต้องขอฝากความหวังและขอให้กำลังใจต่อกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่จะต้องขับเคลื่อนในกรณีของความร่วมมือที่จะต้องมีกับ รัฐต่างประเทศ ตลอดจนหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งของรัฐและของภาคเอกชน รวมถึงองค์การ ระหว่างประเทศเพื่อให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและการหาแนวทางแก้ไขร่วมกันครับ

    อ่านในการประชุม

  • อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ที่ประกาศให้สินค้าต่าง ๆ จากแหล่ง กำเนิดมลพิษทางอากาศภายนอกประเทศ ที่มีการเผาไหม้จนเกิดเป็นมลพิษข้ามแดนนั้น ให้เป็นสินค้าห้ามนำเข้าส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการส่งออกไปนอกและนำเข้ามาใน ราชอาณาจักร รวมถึงบทกำหนดโทษต่อผู้ก่อมลพิษนอกราชอาณาจักรที่ก่อให้เกิดมลพิษ ข้ามพรมแดนเข้ามาสู่ประเทศไทยของเรา โดยส่วนตัวครับ ผมเห็นด้วยในหลักการ แต่อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายเราควรให้ความสำคัญถึง ความละเอียดอ่อนต่อรัฐอธิปไตยนอกราชอาณาจักรด้วย รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ภายใต้กฎการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งควรมีการคำนึงถึงการบังคับใช้กฎหมายที่มีความ เท่าเทียมระหว่างกัน โดยไม่มีการแบ่งแยกระหว่างคนภายในชาติหรือต่างชาติ ซึ่งจะไม่เป็น ปัญหามากนักหากเราทำให้เห็นถึงความสำคัญและมีแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันกับ รัฐต่างชาติหรือประเทศเพื่อนบ้าน

    อ่านในการประชุม

  • ในประเด็นที่ ๒ นั่นคือเรื่องของกลไกที่ก่อให้เกิดการแก้ไขปัญหามลพิษทาง อากาศในระยะยาวอย่างยั่งยืน หากเทียบเคียงกับกรณีของประเทศจีนที่ประสบความสำเร็จ ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่ปี ๒๐๐๖ รวมถึงการออกมาตรการทั้งในเชิงบังคับ เช่น การปิดโรงงานอุตสาหกรรมที่สร้างมลภาวะและมาตรการจูงใจต่าง ๆ ในการเปลี่ยนวิธีในการ ผลิตพลังงานไปสู่พลังงานสะอาด แม้ว่าจะต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการบรรลุผล แต่ผลลัพธ์นั้นย่อมส่งผลดีต่อประชาชนในระยะยาวแน่นอน ดังนั้นในร่างกฎหมายฉบับนี้ ผมเห็นว่ามีการครอบคลุมในเชิงมาตรการที่มีการบังคับและมีบทกำหนดโทษที่ชัดเจน แต่ในส่วนที่ผมอยากเพิ่มและฝากไปยังรัฐบาล นั่นก็คือมาตรการจูงใจ ซึ่งอาจจะออกเป็น นโยบายต่อไปได้นะครับ เพื่อให้เกิดการจูงใจต่อพี่น้องเกษตรกรในการลดหรือหยุดเผาใน พื้นที่ต่าง ๆ รวมไปถึงการจูงใจให้ประชาชนและผู้ประกอบการมีการลดการปล่อยมลพิษจาก ยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้าง และสถานประกอบกิจการ ยกตัวอย่างเช่น การสนับสนุนให้นำเศษซากทางการเกษตรหรือขยะสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ มาเข้าสู่กระบวนการ Bio Refinery หรือการแปรรูปเป็นพลังงานแทนที่การเผา เป็นต้น

    อ่านในการประชุม

  • โดยสรุปผมเชื่อมั่นในร่างกฎหมายฉบับนี้ที่จะเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการ ยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนที่ควรจะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงอากาศ ที่สะอาดและบริสุทธิ์ เพื่อให้มีสุขภาพที่ดี นอกจากนั้นการมีกฎหมายฉบับนี้ยังมีผลดีต่อ เศรษฐกิจ เพราะว่าไทยเราจะก้าวทันต่อเงื่อนไขของการกีดกันทางการค้าจากเหตุผลทาง สิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้า รวมไปถึงยังอาจเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างพื้นฐานที่ดีต่อมิติ ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ เพราะคงไม่มีนักท่องเที่ยวคนไหน อยากเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศที่มีค่า PM2.5 เป็น Top Ten ของโลกหรอกครับ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายครับท่านประธาน ผมจึงอยากตั้งความหวังกับ พ.ร.บ. อากาศฉบับนี้ และขอให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อคืนอากาศสะอาดและบริสุทธิ์ให้แก่พี่น้องคนไทยของเรา ทุกคนครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม นาย รวี เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต ๓ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับจากการที่มีเพื่อนสมาชิกหลายท่านได้ลงชื่อเสนอญัตติและอภิปราย เกี่ยวกับการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะภายในประเทศไทยของเรานั้น ทำให้เราเห็น ถึงความสำคัญและควรตระหนักถึงปัญหาของเรื่องนี้ และผมก็เป็นคนหนึ่งที่เห็นด้วย ว่าเรา ทุกคนควรต้องให้ความสำคัญกับการจัดการขยะ เพราะปัญหาของเรื่องนี้นั้นเกี่ยวข้องและมี จุดเริ่มต้นมาจากพวกเราทุกคน ดังนั้นปัญหาหรือผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งที่พวก เราทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบ จากการที่ผมได้ศึกษาข้อมูลของสถานการณ์ขยะ ของประเทศไทยต้องเรียนตรง ๆ ครับท่านประธานว่าเป็นสิ่งที่น่าตกใจและน่ากังวลเป็น อย่างมาก อะไรนั้นเดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังครับ ขอสไลด์ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ จากข้อมูลของกรมควบคุม มลพิษในปี ๒๕๖๕ เรามีปริมาณขยะมูลฝอยกว่า ๒๕.๗ ล้านตัน หรือ ๗๐,๐๐๐ ตันต่อวัน หากถัวเฉลี่ยคิดเป็นต่อคนนะครับ คน ๑ คนจะก่อให้เกิดขยะ ๑.๐๗ กิโลกรัมต่อวัน และจาก แนวโน้มหากมีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากยิ่งขึ้น ผลที่ตามมาปริมาณขยะก็ย่อมจะเพิ่มมากขึ้น ตามไปด้วยเช่นกัน ต่อมาสถิติที่ผมอยากจะแสดงให้ทุกท่านได้เห็น นั่นก็คือสัดส่วนของ การจัดการขยะ โดยส่วนแรกนั่นคือการจัดการกันเองโดยครัวเรือนและชุมชนคิดเป็น ๗ เปอร์เซ็นต์หรือ ๑.๗ ล้านตัน และมีการคัดแยกใช้ประโยชน์จากกระบวนการซาเล้ง หรือเจ้าของขยะนำไปขาย ราว ๑๕ เปอร์เซ็นต์หรือ ๔ ล้านตัน โดยทั้ง ๒ ส่วนนี้จะคิดเป็น สัดส่วน ๒๒ เปอร์เซ็นต์ของปริมาณขยะทั้งหมด

    อ่านในการประชุม

  • ถัดมาคือส่วนที่ใหญ่ที่สุด ๗๘ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๒๐ ล้านตันนั้น จะถูกจัดการ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือเอกชนที่ได้รับมอบหมายในการคัดแยกหรือกำจัดขยะ ซึ่งในส่วนของ ๒๐ ล้านตันนี้จะถูกแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน นั่นก็คือส่วนที่ ๑ การคัดแยก และนำไปใช้ประโยชน์ ๑๙ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๔.๘ ล้านตัน ส่วนที่ ๒ เป็นขยะที่ต้องดำเนินการ กำจัด ๕๙ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๑๕.๒ ล้านตัน ท่านประธานครับ เมื่อเราพิจารณาไปในส่วนที่ ๒ หรือในส่วนของขยะที่ต้องดำเนินการกำจัดนี้กลับพบว่ามีที่ดำเนินการกำจัดอย่างถูกต้อง โดยการฝังกลบก็ดี หรือนำไปเผาผลิตเป็นพลังงานและการทำปุ๋ยหมักก็ดี เพียง ๙.๘ ล้านตัน หรือคิดเป็น ๓๘ เปอร์เซ็นต์ของปริมาณขยะทั้งหมดเท่านั้น ในขณะที่มีการกำจัดที่ไม่ถูกต้อง โดยวิธีการเทกอง เผากลางแจ้ง และเผาในเตาขนาดเล็กปริมาณกว่า ๕.๔ ล้านตัน หรือ ๒๑ เปอร์เซ็นต์ของปริมาณขยะทั้งหมด และในข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ ถึงปี ๒๕๖๕ จะพบว่ามีการกำจัดที่ไม่ถูกต้องอยู่ในช่วง ๒๘-๓๓ เปอร์เซ็นต์ของปริมาณขยะ ทั้งหมดในประเทศ ทีนี้เราลองมาพูดถึงเรื่องของสถานที่กำจัดขยะกันบ้าง จะพบว่าประเทศ ไทยเรามีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่เปิดดำเนินการอยู่รวม ๒,๐๗๔ แห่ง โดยในจำนวน ดังกล่าวนี้ดำเนินการโดย อปท. ๑,๙๙๐ แห่ง หรือคิดเป็น ๙๖ เปอร์เซ็นต์ แต่ในจำนวนนี้ กลับพบว่ามีการดำเนินการกำจัดอย่างถูกต้องเพียงแค่ ๘๑ แห่งเท่านั้น ที่เหลืออีกกว่า ๑,๙๐๙ แห่ง กลับมีการดำเนินการอย่างไม่ถูกต้อง ขณะที่ในส่วนความรับผิดชอบของ ภาคเอกชนที่ได้รับมอบหมายในการดำเนินการจัดการขยะหรือกำจัดขยะรวม ๘๔ แห่ง ก็มี การจัดการได้อย่างถูกต้องเพียงแค่ ๓๐ แห่ง หรือ ๓๖ เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่อีก ๕๔ แห่งนั้นมี การกำจัดที่ไม่ถูกต้อง นั่นหมายความว่าทั้งประเทศเรามีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยภายใต้ การกำกับดูแลของ อปท. และเอกชนที่มีการกำจัดอย่างถูกวิธีเพียงแค่ ๑๑๑ แห่งเท่านั้น ในขณะที่อีก ๑,๙๖๓ แห่ง ยังมีการกำจัดขยะมูลฝอยที่ผิดวิธีอยู่ เมื่อมาถึงจุดนี้ครับท่านประธาน เราจะพบว่าปริมาณขยะที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะถูกจัดเก็บ โดยกลไกของการจัดทำบริการสาธารณะซึ่งมีผู้รับผิดชอบหลัก ก็คือองค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น แต่จากสถิติทั้งหมดที่ผมได้นำเสนอไป กลับเป็นสิ่งที่เราต้องกังวลว่าการจัดการขยะ ที่ไม่ถูกต้องนั้นยังมีอยู่ในสัดส่วนที่มากเหลือเกิน ยิ่งไปกว่านั้นต้องอย่าลืมว่าเมื่อเทียบสัดส่วน ของจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศที่มีอยู่ ๗,๘๕๐ แห่ง กลับมีสถานที่ กำจัดขยะที่ดำเนินการโดย อปท. อยู่เพียงแค่ ๑,๙๙๐ แห่งเท่านั้น นั่นแสดงให้เห็นว่ายังมี อปท. อีกจำนวนมากที่น่าจะยังขาดสถานที่กำจัดขยะอยู่ ณ ปัจจุบัน ท่านประธานครับ ที่ผมเป็นกังวลอีกเรื่อง นั่นก็คือเมื่อพิจารณาไปในส่วนของสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย ๒,๐๗๔ แห่งนั้น โดยถ้าแบ่งตามกรรมสิทธิ์จะพบว่ามีสถานที่กำจัดขยะที่อยู่ในเขตป่า หรือป่าสงวน รวมกว่า ๔๒๗ แห่ง หรือเป็น ๒๑ เปอร์เซ็นต์ของสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย ที่เปิดดำเนินการอยู่ แต่เมื่อย้อนกลับไปดูจะพบว่ามีสถานที่กำจัดขยะที่ดำเนินการ อย่างถูกต้องที่ผมได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่ามีรวมกันแล้วอยู่เพียงแค่ ๑๑๑ แห่งเท่านั้น ดังนั้น ผมจึงกังวลถึงผลกระทบที่จะมีต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะผลกระทบที่จะมีต่อพื้นที่ป่าต้นน้ำ ยิ่งไปกว่านั้นในจำนวน ๑๑๑ แห่ง ที่ดำเนินการจะกำจัดขยะอย่างถูกต้องนี้ทั้งประเทศ ของเรามีเพียงกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดภูเก็ต จังหวัดยะลา จังหวัด สมุทรสงคราม และจังหวัดสมุทรสาครเพียง ๖ จังหวัดเท่านั้นที่สามารถจัดการได้อย่าง ถูกต้องทั้งหมด และมีอีกหลายจังหวัดที่ไม่มีการกำจัดขยะที่ถูกต้องเลย ยกตัวอย่างเช่น ในจังหวัดอุตรดิตถ์ของผมเองครับท่านประธาน ทั้งจังหวัดเรามีสถานที่กำจัดขยะที่ดำเนินการ ถูกต้องอยู่เพียงแค่แห่งเดียวเท่านั้นจากทั้งหมด ๓๙ แห่ง

    อ่านในการประชุม

  • โดยสรุปครับท่านประธาน ผมเห็นถึงความสำคัญของญัตติการจัดการขยะ ของเพื่อนสมาชิกทุกท่าน ทั้งในเรื่องของการจัดการขยะในชุมชน การจัดทำบริการสาธารณะ โดย อปท. ผลกระทบที่จะมีต่อสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยว เพราะจากข้อมูลที่ผมอภิปรายไป ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าขยะซึ่งเราทุกคนมีส่วนที่ทำให้เกิดขึ้นนี้ได้ส่งผลกระทบไปยังมิติ ต่าง ๆ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ดังนั้นผมจึงเห็นด้วยที่เราจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง ของการศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาของเรื่องนี้อย่างจริงจัง และทำให้มันมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมด้วย สุดท้ายนี้ผมขอฝากความหวังและกำลังใจ ในการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะนี้ไปถึงคณะทำงานและภาครัฐที่มีส่วนกำกับดูแล โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย รวมไปถึงภาคประชาชนหรือตัวพวกเราเองที่ต้องตื่นตัวและ เห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาของเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น อย่าปล่อยให้ถึงวันที่เรื่องของขยะ กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ฉุดรั้งความเจริญของประเทศไทยของเราไว้เลยครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ผม รวี เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต ๓ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ เนื่องจาก ญัตติเรื่องนี้ผู้เสนอได้เสนอมาเพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณารวมกัน จำนวนทั้งหมด ๕ ฉบับ ซึ่งจากที่ผมรับฟังนะครับ แล้วก็จับใจความได้ว่ามีประเด็น หลัก ๆ อยู่ ๒ ประเด็นที่คล้ายคลึงกัน นั่นก็คือเรื่องของการบริหารจัดการขยะขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วก็เรื่องที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นผมขอเสนอ ญัตติส่งให้คณะกรรมาธิการสามัญที่เกี่ยวข้องพิจารณาดังนี้ โดย ๑. ญัตติตามระเบียบวาระที่ ๕.๗ ของนางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช และนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง เป็นผู้เสนอ และระเบียบวาระที่ ๕.๖๑ นายสฤษดิ์ บุตรเนียร เป็นผู้เสนอ ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับ การบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเห็นสมควรส่งให้คณะกรรมาธิการ การกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ เพื่อพิจารณา และ ๒. ญัตติ ตามระเบียบวาระที่ ๕.๒๕ ของนายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี เป็นผู้เสนอ ระเบียบวาระที่ ๕.๓๖ นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ เป็นผู้เสนอ และระเบียบวาระที่ ๕.๕๐ นายวิทยา แก้วภราดัย กับคณะเป็นผู้เสนอ ซึ่งเป็นปัญหาการจัดการขยะ ซึ่งเห็นสมควรส่งให้คณะกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณา ขอผู้รับรองครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายรวี เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต ๓ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ สำหรับประเด็นในเรื่องของความเท่าเทียมและการคุ้มครองผู้มีความ หลากหลายทางเพศนั้น ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งครับว่าเราควรให้ความสำคัญและเคารพ ถึงความเป็นปัจเจกบุคคล รวมถึงสิทธิเสรีภาพที่มนุษย์ทุกคนพึงจะได้รับ ไม่ว่าเขาจะมี เพศสภาพแบบใดก็ตาม เพราะนี่ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของสิทธิเสรีภาพเท่านั้นครับท่านประธาน แต่ยังรวมถึงความเสมอภาคและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ตามหลักการของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งทางฝ่ายนิติบัญญัติและสภาผู้แทนราษฎรของเราก็ได้มีการ เดินหน้าเพื่อขับเคลื่อนในประเด็นเรื่องนี้ด้วยแล้วเช่นเดียวกัน นั่นก็คือร่างของ พ.ร.บ. สมรส เท่าเทียม ซึ่งผมได้มีส่วนร่วมในการอภิปรายไป และกำลังอยู่ในขั้นพิจารณาของคณะกรรมาธิการ วิสามัญอยู่ ณ ขณะนี้ ขอสไลด์ขึ้นด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนของการรับรองเพศ คำนำหน้านาม ของผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นผมเห็นว่าเป็นประเด็นที่สำคัญเช่นเดียวกัน และมี ความสอดคล้องกับหลักการตามรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียม แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นประเด็นที่ยังมีความละเอียดอ่อน และมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่อง กับกฎหมายหลายฉบับ รวมไปถึงการจัดทำบริการสาธารณะของภาครัฐด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นผมมองว่าในเรื่องนี้เราจำเป็นที่จะต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบเป็น อย่างมากครับ สำหรับผมครับผมขอย้ำนะครับว่าผมเห็นด้วยถึงความเป็นมนุษย์ที่จะต้องมี ความเท่าเทียมกันและเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เมื่อเราคลอดและอยู่รอดมาจน เป็นทารก ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม สถานะของความเป็นบุคคลของเราก็ได้เกิดขึ้นแล้วครับ และต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย แต่อย่างไรก็ดีครับสิ่งที่เราไม่อาจละเลยหรือ มองข้ามได้ นั่นก็คือประเด็นด้านชีวภาพของบุคคล ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องถึงสิทธิและหน้าที่ ของพลเมืองไทยต่อไปอีกด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งทั้งสองหลักการนี้ครับสำหรับผมแล้วเราจะต้อง มีการพิจารณาให้รอบคอบ เพราะมันเป็นส่วนสำคัญที่จะส่งผลต่อการกำหนดทั้งสิทธิและ หน้าที่ ตลอดจนการจัดทำบริการสาธารณะที่เกี่ยวข้อง ผมจึงมองว่าเราไม่สามารถพิจารณา สิ่งเหล่านี้แยกออกจากกันได้เลย อีกทั้งเมื่อพูดถึงการจัดทำบริการสาธารณะให้กับพี่น้อง ประชาชนด้วยแล้ว ย่อมเกี่ยวเนื่องกับการใช้จ่ายงบประมาณของแผ่นดิน และเพื่อให้เงิน ทุกบาททุกสตางค์ที่ลงทุนไปนั้นสามารถตอบโจทย์ในการอำนวยความสะดวกและยกระดับ คุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชนทุกคนทุกวัยครับ โดยให้ความสำคัญและยืนอยู่บนหลัก ของความเสมอภาคเท่าเทียม ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นเพศกำเนิดอะไร มีเพศวิถีแบบไหน หรือ เลือกว่าจะใช้คำนำหน้าอย่างไรด้วยเช่นเดียวกันครับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้นำไปสู่สิ่งที่ผมเป็นกังวล นั่นก็คือในประเด็นของการพิสูจน์ทราบอัตลักษณ์ของบุคคล และการจัดทำบริการสาธารณะ ยกตัวอย่างเช่น การจัดทำบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข โดยกระบวนการดูแลรักษา สุขภาพย่อมเกี่ยวเนื่องกับเพศกำเนิดของบุคคลนั้น ๆ แน่นอนอยู่แล้ว ซึ่งการเปิดช่องให้มี การใช้คำนำหน้านามที่อิสระจนเกินไปอาจทำให้เกิดขั้นตอนที่มีความยุ่งยาก ซับซ้อน และ อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อกระบวนการรักษาทางการแพทย์ ซึ่งเรื่องของเวลาและความ รวดเร็วของขั้นตอนต่าง ๆ ทางการแพทย์นั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการรักษาโรคภัย ต่าง ๆ ให้กับพี่น้องประชาชน หรือในกรณีหากเกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น กรณี สึนามิในปี ๒๕๔๗ ที่มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ในกรณีเช่นนี้สิ่งสำคัญคือการพิสูจน์ทราบ ทางอัตลักษณ์ เพื่อนำคนที่เรารักกลับบ้าน ดังนั้นผมจึงเป็นกังวลถึงปัญหาความยุ่งยากที่ อาจจะเกิดขึ้นจากการพิสูจน์ทราบอัตลักษณ์ และต้องการให้มีการปรึกษาหารือกับผู้ที่เป็นฝ่ายปฏิบัติด้วย เพื่อให้เห็นถึงแนวทางที่จะ เกิดผลชัดเจนถึงการป้องกันปัญหาอย่างรอบด้านก่อนครับ นอกจากนั้นยังรวมไปถึงประเด็น อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ นานาตามมาเช่นเดียวกัน เช่น ผลกระทบ ที่เกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์การเข้าเมืองของแต่ละประเทศ การแข่งขันกีฬาในระดับสากลที่ใช้ เพศกำเนิดเป็นตัวกำหนดในการแข่งขัน สิทธิภายหลังจากการสมรสเพื่อต้องการสร้าง ครอบครัวและมีบุตรทางสายเลือด และผลกระทบจากเหตุแห่งการฟ้องหย่าตามเนื้อความ ในร่างของกฎหมายฉบับนี้ หรือแม้กระทั่งผลกระทบของร่างกฎหมายฉบับนี้ที่จะส่งผลต่อ กฎหมายที่เกี่ยวข้องตามมา รวมถึงแนวทางป้องกันปัญหาของหน่วยปฏิบัติ ท่านประธานครับ การให้เกียรติและเคารพในความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าทุกท่านในสภาแห่งนี้ รวมถึงพี่น้องคนไทยทุกคนที่กำลังมองอยู่ ต่างมองเห็นความสำคัญและต้องการทำให้เกิดขึ้น ในประเทศไทยของเรา แต่การพิจารณาเรื่องเพศกำเนิดและการจัดทำบริการสาธารณะของ ภาครัฐตามที่ผมอภิปรายไปนั้นเป็นสิ่งที่เราก็มองข้ามไม่ได้จริง ๆ ครับ เพราะนี่เป็นสิ่งที่ส่งผล กระทบต่อวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งผม คิดว่าเป็นประเด็นที่เราจะต้องพิจารณาให้รอบคอบเป็นอย่างยิ่ง โดยสรุปผมขอให้กำลังใจ ต่อเพื่อนสมาชิกที่เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้เข้ามาสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ของเรา และผมเชื่อมั่นครับว่ารัฐบาลก็ให้ความสำคัญต่อหลักความเท่าเทียมและเคารพ ในอัตลักษณ์ที่มีความหลากหลายของคนไทย ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าในพัฒนาการที่สภาของเรานี้ ได้มีการริเริ่มขึ้นแล้ว ในร่างของ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมนั้นแนวทางการยกระดับความเป็น บุคคลที่มีความเท่าเทียมกันของประเทศไทยของเราจะต้องดีขึ้นเรื่อย ๆ แน่นอนครับ แต่อย่างไรก็ตามความละเอียดรอบคอบและการมีแนวทางปฏิบัติที่สามารถนำไปปฏิบัติ ใช้ได้จริง ก็เป็นสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญควบคู่ไปด้วยเช่นเดียวกัน ผมจึงอยากขอเสนอให้มี การศึกษาเรื่องนี้ให้มีความละเอียดรอบคอบชัดเจนมากกว่านี้ก่อน โดยมีการศึกษาและรับฟัง จากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นทั้งภาคนโยบาย ภาคปฏิบัติ และที่สำคัญคือภาคประชาชนด้วย เช่นเดียวกันครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม นายรวี เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต ๓ พรรคเพื่อไทย ผมขอปรึกษาหารือในประเด็นปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ อุตรดิตถ์ ๓ ประเด็นครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรก ทาง อบต. น้ำอ่าง ขาดงบประมาณ ในการซ่อมแซมฝายสีสวาทในพื้นที่หมู่ ๙ ตำบลน้ำอ่าง อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ เนื่องจากตัวฝายได้รับความเสียหายจากผลกระทบของพายุ Depression ในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้น้ำล้นฝายออกมาเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงกัดเซาะถึงฐาน Spillway รวมไปถึง ผนังดินของคลอง ทำให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้รับความเสียหายกว่า ๓๐๐ ราย และ ที่สำคัญหากฝายสีสวาทไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงทีจะส่งผลกระทบต่อการทำ การเกษตรกรรมในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง ผมจึงขอเรียนท่านประธานไปยังส่วนราชการ เพื่อขอรับงบประมาณในการซ่อมแซมฝายสีสวาทเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนโดยเร็วครับ

    อ่านในการประชุม

  • ในประเด็นที่ ๒ เป็นในเรื่องของการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตป่า ตามมาตรา ๕๔ ของ พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ ในกรณีขอผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๓ และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ กรณีที่ปรากฏว่ายังมีหน่วยงานใดเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาต ประเด็นนี้ผมได้รับข้อมูลจาก อบต. แม่พูล ในการขออนุญาตเข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ เพื่อปรับปรุงถนนสายต้นขนุน โจ้โก้เก๊าแก เนื้อที่รวม ๑๗ กว่าไร่ ในพื้นที่หมู่ที่ ๑๑ ตำบลแม่พูล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นเส้นทางที่พี่น้องประชาชนอำเภอลับแลใช้เป็นเส้นทางหลัก ในการสัญจร รวมถึงขนส่งผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน ลางสาด และลองกอง ยิ่งไปกว่านั้นยังมี คำขอในลักษณะนี้อีกมากของอำเภอลับแล ทั้งในตำบลแม่พูล ตำบลฝายหลวง และตำบล นานกกก ที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานราชการ ทำให้พี่น้องประชาชนต้องเรี่ยไรเงิน ซ่อมถนนกันเองอยู่ ณ ปัจจุบัน ดังนั้นเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและเพื่อความ ปลอดภัยของพี่น้องประชาชน ผมจึงขอเรียนท่านประธานไปยังสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ ๓ ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการช่วยพิจารณาอนุญาตให้ หน่วยงานท้องถิ่นสามารถเข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ในกรณีขอผ่อนผันตามมติ ครม. เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนโดยเร็วด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายในประเด็นการแก้ไขปัญหาราคาโคกระบือตกต่ำ ซึ่งผมได้รับ ข้อร้องเรียนจากพี่น้องผู้เลี้ยงโคกระบือ โดยเฉพาะในพื้นที่ตำบลนาอินและตำบลนายาง ในอำเภอพิชัย ว่าขณะนี้ราคาซื้อขายโคกระบือในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ก็ตกต่ำลงอย่างมาก เช่นเดียวกัน อีกทั้งยังถูกกดราคารับซื้อจากพ่อค้าคนกลาง ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ผมจึงขอเรียนท่านประธานไปยังกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์โปรดช่วยสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้รับการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ซึ่งทราบดีว่า ท่านกำลังแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อยู่อย่างเต็มที่ จึงขอเป็นกำลังใจและขอให้ท่านสามารถแก้ไข ปัญหานี้ให้พี่น้องประชาชนได้ครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม นายรวี เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต ๓ พรรคเพื่อไทย วันนี้ต้องขอขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬานะครับ ท่านสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล ที่ได้สละเวลามาตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะในวันนี้นะครับ ทราบว่า ท่านภารกิจเยอะ ก็ยังอุตส่าห์สละเวลามา ขอบพระคุณมากนะครับ เข้าเรื่องเลยครับ ท่านประธาน ในจังหวัดอุตรดิตถ์เรามีความมั่งคั่งของประชากรอยู่ในอันดับที่ ๖๒ ของประเทศ ซึ่งแทบจะรั้งท้าย เนื่องจากว่าในจังหวัดอุตรดิตถ์ มีรายได้ต่อหัวอยู่ที่ ๙๙,๒๓๖ บาท ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศไทยค่อนข้างมาก โดยพี่น้องประชาชน ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคการเกษตร แล้วก็ประสบกับปัญหาความยากจน เพราะฉะนั้นนอกจาก ด้านการเกษตรแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผมมองว่าน่าจะเป็นการช่วยพี่น้องประชาชนได้ในการทำให้เขา มีรายได้ที่มากขึ้น นั่นก็คือเรื่องของการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นก็เลยเป็นประเด็นที่ ผมอยากจะมาสอบถามท่านรัฐมนตรีในวันนี้ครับว่า จังหวัดอุตรดิตถ์ในเชิงของการท่องเที่ยว แทบจะบอกได้ว่าเป็นรองในหลาย ๆ จังหวัดมาก ๆ โดยทางรัฐบาลเองผมก็เชื่อว่ามีนโยบาย ในการผลักดันเรื่องการท่องเที่ยวของจังหวัดเมืองรอง แต่ถ้าจะใช้คำว่า เมืองรองกับอุตรดิตถ์ ก็ไม่ทราบว่าจะใช้ได้ด้วยหรือเปล่านะครับ เพราะว่าเรื่องการท่องเที่ยว โดยเมืองรองของ จังหวัดอุตรดิตถ์แทบจะไม่ค่อยมีคนพูดถึงเลยด้วยซ้ำ แต่จังหวัดอุตรดิตถ์ความเป็นจริงแล้ว เรามีศักยภาพ เรามีสิ่งต่าง ๆ ที่อุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นพืชผล ผลไม้ต่าง ๆ ก็ดี รวมถึงเป็น จังหวัดที่ติดพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศลาว โดยที่เรามีด่านภูดู่อยู่ ซึ่งผมมองว่า เรามีศักยภาพในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวให้สามารถเป็นที่รู้จักของทั้งคนในประเทศไทยเองก็ดี หรือทั้งคนต่างประเทศด้วยก็ดีเช่นเดียวกันนะครับ เพราะฉะนั้นขออนุญาตเข้าสู่คำถามครับ เนื่องจากว่าประเด็นต่าง ๆ ที่ผมได้กล่าวไปข้างต้น อยากจะขอสอบถามทางท่านรัฐมนตรี ครับว่า ท่านมีแนวทางอย่างไรในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดอุตรดิตถ์ให้มีศักยภาพ และมีโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอในการรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมไปถึงการ ประชาสัมพันธ์ด้วย เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามารู้จักอุตรดิตถ์ได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและการท่องเที่ยวชายแดน ขออนุญาตสอบถามครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขอบพระคุณท่านประธานครับ จากที่ได้ฟัง ท่านรัฐมนตรีตอบคำถาม ก็ทำให้เห็นนะครับว่าทางกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาเอง รวมถึง ททท. ก็มีการวางแผนในการที่จะทำท่องเที่ยวภายในจังหวัดอุตรดิตถ์ให้เที่ยวได้ ๓๖๕ วัน ก็รู้สึกมีความหวัง แล้วก็ยินดีที่ได้ฟังคำตอบเช่นนี้นะครับ แต่อีกส่วนหนึ่งที่ผมเป็นกังวลอยู่ อย่างหนึ่งนั่นก็คือเรื่องของบุคลากรรวมถึงมาตรฐานในการที่จะจัดการท่องเที่ยวต่าง ๆ แนวทางจนถึงผู้ประกอบการในจังหวัดอุตรดิตถ์เองยังจะพูดได้ว่า ยังไม่มีมาตรฐานหรือ มีศักยภาพเพียงพอในการที่จะรองรับเรื่องการท่องเที่ยวต่าง ๆ เลยเป็นคำถามต่อเนื่องมาถึง คำถามที่ ๒ ว่าท่านพอจะมีแนวทางในการยกระดับคุณภาพมาตรฐานของผู้ประกอบการ ด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะทางด้านโรงแรม ร้านอาหารก็ดี หรือมัคคุเทศก์ อย่างที่ท่าน รัฐมนตรีกล่าวครับว่า อุตรดิตถ์เองมีวัฒนธรรม ประเพณีเยอะ แต่ว่าตัวมัคคุเทศก์เองแทบ ไม่มีเลย แล้วคนที่มาท่องเที่ยวในจังหวัดเขาก็ไม่รู้ว่าจะต้องไปเที่ยวที่ไหน เที่ยวอย่างไร อันนี้ ก็เป็นปัญหาอีกด้านหนึ่งเช่นเดียวกันครับ ถ้าหากว่าทางกระทรวงหรือทางหน่วยงานราชการ มีการ Support เรื่องของบุคลากร เรื่องการมีมาตรฐานต่าง ๆ ทั้งมัคคุเทศก์ก็ดี ทั้งผู้ประกอบการก็ดี ผมก็คิดว่าน่าจะช่วยในการยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวภายใน จังหวัดอุตรดิตถ์ให้ได้มากยิ่งขึ้น ก็เลยอยากจะขอทราบแนวทางประมาณนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม นายรวี เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต ๓ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ ในฐานะที่ผมเป็นคนจังหวัดอุตรดิตถ์ หรือเป็นประชาชนคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ ผมมีความยินดีที่ญัตติเพื่อการศึกษาถึงแนวทาง การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือตอนล่าง ๑ ได้เข้าสู่สภาในวันนี้ เพราะนอกจากที่ ผมได้มีการศึกษาถึงข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับภาคเหนือตอนล่าง ๑ ผมได้พบทั้งจุดแข็งและ จุดอ่อน อุปสรรคและโอกาสของการพัฒนาเศรษฐกิจในภาคเหนือตอนล่าง ๑ มากมาย เลยครับท่านประธาน และจากที่ท่าน สส. พรรณสิริ ขออนุญาตเอ่ยนามท่านครับ ได้อภิปราย ถึงโอกาสและศักยภาพด้านต่าง ๆ ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่างครับ โดยเฉพาะ ภาคเหนือตอนล่าง ๑ ผมมองว่าการศึกษาเรื่องนี้เป็นทางออกที่สำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหา ต่าง ๆ ให้กับพี่น้องประชาชนในกลุ่มภาคเหนือตอนล่าง ๑ ด้วยเช่นเดียวกัน เพราะถ้ามองไป จนถึงปัญหาแล้วพี่น้องในจังหวัดกลุ่มภาคเหนือตอนล่าง ๑ ยังประสบปัญหาต่าง ๆ มากมาย ในปัจจุบันครับ และผมอยากจะนำมาเรียนในสภาแห่งนี้ให้รับทราบทั่วกัน

    อ่านในการประชุม

  • เริ่มแรกนะครับท่านประธาน ในด้าน ภูมิศาสตร์ ถ้าเอาภาคเหนือตอนล่างทั้งหมดเราจะมีพื้นที่รวมกันกว่า ๕๒ ล้านไร่ครับ โดยจะ แบ่งเป็นพื้นที่ป่ากว่า ๒๐ ล้านไร่ หรือประมาณ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ พื้นที่การเกษตรเกือบ ๒๒ ล้านไร่ และพื้นที่ใช้ประโยชน์นอกการเกษตรกว่า ๙.๗ ล้านไร่ แต่สิ่งที่กลุ่มจังหวัด ภาคเหนือตอนล่าง ๑ ครับ ซึ่งประกอบไปด้วย ๕ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัด เพชรบูรณ์ จังหวัดสุโขทัย จังหวัดตาก และจังหวัดอุตรดิตถ์ ต้องพบเจออยู่ ณ ปัจจุบันนั้น กลับเป็นสิ่งที่ทำให้การพัฒนาและการเติบโตของแต่ละจังหวัดนั้นยังไม่ค่อยไปไหนครับ เพราะหากพูดถึงภาพรวมของด้านเศรษฐกิจ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ นั้นมีขนาด เศรษฐกิจที่ค่อนข้างเล็กและขยายตัวช้า เนื่องจากการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มี มูลค่าสูง ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมก็ดี หรือภาคบริการก็ดีนั้นยังไม่มีการกระจายตัวเข้าสู่ ภาคเหนือตอนล่างมากนักเท่าไร โดยจะสังเกตได้ว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัวของแต่ละจังหวัดนั้นจะ อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศมากพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณา ลงไปในพื้นที่ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ จะเห็นได้ว่า GPP Per Capita ซึ่งเป็น ตัวเลขที่สะท้อนถึงศักยภาพในการสร้างรายได้ต่อหัวของแต่ละจังหวัดกลับอยู่ในระดับ ที่ต่ำมาก โดยพบว่าในปี ๒๕๖๔ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ นั้นมีตัวเลข GPP Per Capita เฉลี่ยอยู่ที่ ๙๙,๕๘๓ บาทต่อคนต่อปีเท่านั้นเอง ขณะที่ระดับประเทศค่าเฉลี่ยของประเทศ อยู่ที่ ๒๓๑,๙๘๖ บาทต่อคนต่อปี หรือเรียกได้ว่าห่างกันกว่า ๒ เท่าเลยทีเดียวครับ ท่านประธาน และหากเปรียบเทียบให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น นั่นจะแปลได้ว่าค่าเฉลี่ยของคน ทั้งประเทศจะมีรายได้ราวเดือนละเกือบ ๒๐,๐๐๐ บาท แต่พี่น้องในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ๑ จะมีรายได้เพียงเดือนละ ๘,๐๐๐ กว่าบาทเท่านั้นเอง โดยเฉพาะจังหวัดสุโขทัยครับ มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุดอยู่ที่ ๘๐,๑๗๐ บาทต่อคนต่อปี หรือราว ๆ ๖,๖๐๐ บาทต่อเดือน ซึ่งนี่แสดงให้เห็นถึงปัญหาของความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ที่ค่อนข้างมากครับ ส่วนในช่วง ๖ ปีที่ผ่านมาครับท่านประธาน ระหว่างปี ๒๕๕๙-๒๕๖๔ มูลค่าและอัตราการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการเกษตร มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่น้อยมาก โดยภาคอุตสาหกรรม นั้นมีการขยายตัวอยู่เพียง ๔.๒ เปอร์เซ็นต์ และภาคการเกษตรขยายตัวเพียง ๑.๗ เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ในขณะที่ภาคบริการซึ่งมีสัดส่วนสูงที่สุดกว่าครึ่งหนึ่งนั้นกลับไม่มีการเปลี่ยนแปลง อะไรเลย นอกจากนั้นอุปสรรคอีกด้านที่พบเจอ นั่นก็คือผลิตภาพแรงงานของภาคเกษตร ที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ของแรงงานในสาขาการผลิตอื่น ๆ โดยรายได้ ในปี ๒๕๖๓ ของภาคอุตสาหกรรมจะเท่ากับ ๒๖๐,๓๓๔ บาทต่อคนต่อปี และภาคบริการ เท่ากับ ๑๕๘,๓๓๐ บาทต่อคนต่อปี แต่ภาคการเกษตรของภาคเหนือทั้งหมดกลับมีมูลค่า เท่ากับ ๓๕,๑๒๖ บาทต่อคนต่อปีเท่านั้นเอง น้อยมากครับ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่น่ากังวลเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกัน เนื่องจากประชากรในภาคเกษตรซึ่งมีสัดส่วนสูงที่สุดถึง ๔๕ เปอร์เซ็นต์ ของประชากรทั้งหมด กลับมีสัดส่วนรายได้ต่ำที่สุด ณ ช่วงเวลาเดียวกัน รวมถึงมีแนวโน้ม ที่จะมีแรงงานผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามมาด้วยปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับที่สูง โดยมีครัวเรือนที่มีหนี้สินถึงร้อยละ ๔๙ ของครัวเรือนทั้งหมด ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ในพื้นที่ก็ยังเป็นอุตสาหกรรมขั้นต้นที่มีการใช้ Labor Intensive หรือใช้แรงงาน เป็นหลัก โดยยังขาดการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมขั้นสูงที่สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในแต่ละห่วงโซ่อุปทานหรือขั้นตอนการผลิต ต่าง ๆ ท่านประธานครับ จากที่ผมอภิปรายไปข้างต้นจะทำให้เห็นว่ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ตอนล่าง ๑ นั้นยังประสบปัญหาความเดือดร้อนในหลาย ๆ ด้านครับ ไม่ว่าจะเป็นปัญหา ทางด้านรายได้ ด้านความเหลื่อมล้ำ ด้านการพัฒนาทางการเกษตร ด้านสังคมผู้สูงอายุ และ ปัญหาหนี้สินครัวเรือน ซึ่งหากยังไม่มีการพัฒนาและหาแนวทางแก้ไขอย่างจริงจังที่เป็น รูปธรรมปัญหาเหล่านี้ก็จะยังคงอยู่กับพี่น้องประชาชนไปอีกนาน และนี่จึงเป็นสาเหตุ สำคัญหนึ่งในการที่สภาของเราแห่งนี้ควรจะมีการพิจารณาเพื่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ในการศึกษาเพื่อพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือตอนล่าง ๑ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญ ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของพี่น้องประชาชน และสร้างโอกาสในการเติบโตอย่างยั่งยืน ให้กับประเทศไทย เพราะเมื่อพิจารณาต่อในมิติของด้านโอกาส โดยเฉพาะด้านภูมิศาสตร์แล้ว พื้นที่ภาคเหนือตอนล่างมีพื้นที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญ ได้แก่ สปป. ลาวและ เมียนมาอย่างที่ดอกเตอร์พรรณสิริได้พูดไปเช่นเดียวกัน โดยมีจุดผ่านที่สำคัญ ได้แก่ ด่านภูดู่-ผาแก้ว และด่านแม่สอด-เมียวดี ซึ่งเป็นพื้นที่ตามแนว GMS และ AEC โดยเฉพาะ ด่านพรมแดนภูดู่ ซึ่งมีพื้นที่ต่อเนื่องกับเมืองไชยะบุรี วังเวียง หลวงพระบาง และเวียงจันทน์ ของ สปป. ลาว และเป็นแนวกึ่งกลางระเบียงเศรษฐกิจ LIMEC ตลอดจนแนวระเบียง เศรษฐกิจเหนือ ใต้ และตะวันออก ตะวันตก ซึ่งผมไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดมาก เพราะว่า ท่าน สส. ดอกเตอร์พรรณสิริได้กล่าวไปเยอะแล้ว ซึ่งแนวเศรษฐกิจต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นส่วน ช่วยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสร้างโอกาสชุดใหม่ให้กับพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและ ประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้นในส่วนของภาคการเกษตร กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ นั้น ก็มีพื้นที่กว่า ๙ ล้านไร่ สำหรับพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด นอกจากนั้นในแต่ละรายจังหวัดก็ยังมีพืชและผลผลิตทางการเกษตรที่มีศักยภาพในการ พัฒนาให้มีโอกาส และสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรมากยิ่งขึ้น เช่น ในจังหวัดอุตรดิตถ์ เองเราก็มีทุเรียนหลง-หลินลับแล รวมถึงสับปะรดห้วยมุ่น จังหวัดสุโขทัยก็มีมะยงชิด ในส่วน ของจังหวัดตากก็มีกล้วยหอมทอง ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ทั้งสิ้น และในอีกมิติหนึ่งที่สำคัญนั่นคือด้านของการท่องเที่ยวที่มีแหล่งท่องเที่ยว จำนวนมากครับ ทั้งในมิติของทางประวัติศาสตร์ก็ดี ทางวัฒนธรรมก็ดี รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่นเดียวกัน ซึ่งหากมีการเชื่อมโยงสถานที่ต่าง ๆ เหล่านี้กับกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อดึงดูดให้ นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามามากยิ่งขึ้น ก็จะเป็นการสร้างรายได้มหาศาลให้แก่พี่น้อง ประชาชนในพื้นที่ครับ ท่านประธานครับสิ่งที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ผมอยากชี้ให้เห็นครับว่า ทุกพื้นที่ย่อมมีปัญหาและอุปสรรคที่ท้าทายที่ต้องการการแก้ไข ซึ่งพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ๑ นั้นก็มีความสำคัญจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาหนทางเพื่อช่วยให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ มีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเช่นเดียวกัน และอย่างที่ผมได้กล่าวไปในกลุ่มจังหวัด ภาคเหนือตอนล่าง ๑ เป็นพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยศักยภาพ ซึ่งรอโอกาสในการได้รับการพัฒนา เพราะอย่างน้อยที่สุดครับท่านประธาน พี่น้องประชาชนในพื้นที่เขาควรมีรายได้ที่มากขึ้น และมั่นคงมากกว่านี้รายได้ที่เพียงพอต่อการยังชีพและทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้น กว่าในปัจจุบัน ดังนั้นครับท่านประธาน การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาในเรื่อง ดังกล่าวนี้จึงมีความสำคัญจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้ชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ภาคเหนือตอนล่าง ๑ ไม่ด้อยไปกว่าพี่น้องในภูมิภาคอื่น ๆ รวมถึงเป็นหนทางสำคัญที่ผมมอง ว่าจะเพิ่มโอกาสของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ ให้สามารถพัฒนาขีดความสามารถ ด้านเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขัน และลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ ซึ่งนอกเหนือจากจะเป็นการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นยังเป็นการรวมถึง โอกาสในการพัฒนา และเติบโตของประเทศไทยไปอีกก้าวหนึ่งด้วยเช่นเดียวกันครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม นายรวี เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย ขออนุญาตเสนอกรอบระยะเวลา ๙๐ วัน ขอผู้รับรองด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม นายรวี เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต ๓ พรรคเพื่อไทย ผมขอปรึกษาหารือในประเด็นปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ จังหวัดอุตรดิตถ์รวม ๓ ประเด็นครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรกผมได้รับแจ้งจากองค์การบริหาร ส่วนตำบลพญาแมน และองค์การบริหารส่วนตำบลท่ามะเฟือง ถึงสถานการณ์ภัยแล้งพบว่า ขณะนี้น้ำในคลองสายหลักและคลองสาขาต่าง ๆ มีปริมาณน้ำที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและ น่าเป็นกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดต่อพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งมีพื้นที่เกษตรกรรม ค่อนข้างมากครับ โดย ณ ปัจจุบันต้องขอขอบคุณทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน ที่ได้เข้าไปช่วยเหลือจัดสรรเพิ่มปริมาณน้ำเข้าสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ แต่จากการประเมิน สถานการณ์ปริมาณของน้ำที่ผันเข้ามานั้นยังไม่เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรมของพี่น้อง เกษตรกรทั้ง ๒ พื้นที่ ดังนั้นผมจึงขอเรียนผ่านท่านประธานไปยังกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์โปรดช่วยสั่งการไปยังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่านให้ช่วยพิจารณา หาแนวทางเพิ่มปริมาณการจัดสรรน้ำเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นถัดมา ผมได้รับแจ้งถึงปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องในพื้นที่ บ้านไร่ปู่ฉิม หมู่ที่ ๕ ตำบลแม่พูล อำเภอลับแล โดยในพื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะเป็นหุบเขา เป็นเหตุทำให้ยังขาดสาธารณูปโภคด้านการสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น ต่อการดำรงชีวิตและพัฒนาเศรษฐกิจของคนในพื้นที่ เพราะที่บ้านไร่ปู่ฉิมนี้เองก็เป็น พื้นที่สำคัญซึ่งเป็นเส้นทางหลักสำหรับการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างตำบลแม่พูลและ ตำบลนานกกก รวมถึงพี่น้องเกษตรกรส่วนใหญ่มีการเข้าไปทำสวนทุเรียนเป็นจำนวนมาก ดังนั้นผมจึงขอเรียนผ่านท่านประธานไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ ส่วนราชการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องโปรดช่วยเข้ามาหาแนวทางตั้งเสาสัญญาณโทรคมนาคม เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนนี้ของชาวลับแลด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายในช่วงปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมาพี่น้องเกษตรกรในจังหวัดอุตรดิตถ์ต้องเผชิญ ทั้งปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง ซึ่งสำหรับภัยแล้งนั้นพบว่ามีพี่น้องเกษตรกรได้รับผลกระทบ กว่า ๑,๐๐๐ ราย และมีพื้นที่ได้รับความเสียหายกว่า ๘,๕๐๐ ไร่ โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกร ผู้ปลูกข้าวโพดในอำเภอตรอนของผม โดยมีการประเมินว่าทั้งจังหวัดจะได้รับความช่วยเหลือ จากภัยแล้งนี้เป็นวงเงิน ๑๖.๗ ล้านบาท ขณะที่ในส่วนของอุทกภัยหรือน้ำท่วม เช่น บนรูป ในหน้าจอที่ทุกท่านเห็น ที่เห็นอยู่นี้ไม่ใช่ทะเล แต่เป็นไร่นาของพี่น้องเกษตรกรที่ถูกน้ำท่วม ในตำบลด่านแม่คำมัน อำเภอลับแล ซึ่งโดยรวมทั้งจังหวัดมีผู้ประสบภัยกว่า ๑,๕๐๐ ราย และมีพื้นที่ได้รับผลกระทบรวมกว่า ๑๒,๔๐๐ ไร่ ซึ่งคาดว่าจะต้องได้รับการช่วยเหลือกว่า ๑๘.๘ ล้านบาท แต่ท่านประธานครับผมได้รับแจ้งจากพี่น้องเกษตรกรว่าการได้รับเงิน ช่วยเหลือดังกล่าวจากรัฐบาลนั้นยังไม่ครบถ้วน ผมจึงขอฝากท่านประธานไปยังส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้อง โปรดช่วยเร่งดำเนินการช่วยเหลือจ่ายเงินเยียวยาให้กับพี่น้องเกษตรกรจังหวัด อุตรดิตถ์ให้ครบถ้วนโดยเร็วด้วยครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม นายรวี เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต ๓ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ ผมขอปรึกษาหารือในประเด็นความเดือดร้อนเรื่องน้ำของพี่น้องประชาชน ในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ๒ ประเด็นครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรกครับท่านประธาน ผมได้รับแจ้งจากท่านผู้นำท้องที่และท้องถิ่น ในพื้นที่ตำบลด่านแม่คำมัน ตำบลทุ่งยั้ง ตำบลไผ่ล้อม ในอำเภอลับแล และตำบลข่อยสูง ของอำเภอตรอน ถึงความต้องการพัฒนาพื้นที่แก้มลิงบึงมาย ซึ่งปัจจุบันนี้มีพื้นที่ประมาณ ๔,๕๐๐ ไร่ ในการกักเก็บน้ำกว่า ๑๕.๕ ล้านลูกบาศก์เมตร แต่อย่างไรก็ตามครับ ที่อ่างเก็บน้ำบึงมายนั้นมีความจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำให้ได้มากยิ่งขึ้น ไม่น้อยกว่า ๒๐ ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อให้เป็นแหล่งน้ำสำคัญในการดูแลพี่น้องเกษตรกร ทั้ง ๒ อำเภอ ๔ ตำบล โดยจำเป็นต้องทำการขุดลอก ยกระดับคันคลองด้านนอกของอ่างเก็บ น้ำบึงมาย ให้คันคลองด้านนอกของบึงมายให้คันคลองมาตรฐานเท่ากับระดับถนน พร้อมทั้ง มีประตูน้ำและช่องทางน้ำเข้าออกแปลงนาของพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่โดยรอบ ผมจึงขอ เรียนผ่านท่านประธานไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ครับ โปรดช่วยสนับสนุน งบประมาณไปยังกรมชลประทานหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อเร่งให้เกิดการขุดลอก ในพื้นที่บึงมายให้มีศักยภาพในการกักเก็บน้ำได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงควรให้มีการก่อสร้างถนน รอบพื้นที่บึงมายประมาณ ๑๑ กิโลเมตร ให้ได้มาตรฐาน เนื่องจากจะเป็นการช่วยพัฒนาให้ เกิดประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวต่อไปครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ ต่อเนื่องจากที่ท่าน สส. นพพล เหลืองทองนารา คนพรหมพิราม ได้ปรึกษาหารือในที่ประชุมไปเมื่อวานนี้ ผมขออนุญาตปรึกษาหารือเพิ่มเติมในประเด็น เดียวกันครับ นั่นก็คือโครงการผันน้ำวัดเกาะวารี ที่ตำบลพญาแมน อำเภอพิชัย เพื่อประโยชน์ในภาพรวมของพี่น้องทั้งจังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดสุโขทัย โดยจะขอมุ่งเน้นไปยังการแก้ไขข้อติดขัดในช่วงแนวก่อสร้างทางผันน้ำ ระยะที่ ๑ โครงการ YN 2/1 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการผันน้ำจากแม่น้ำน่านเชื่อมคลองปลามันบริเวณวัดเกาะวารี ไปยัง คลองน้ำไหล ซึ่งในการก่อสร้างนั้นยังติดขัดปัญหาในส่วนที่จะต้องมีการตัดผ่านถนนทาง หลวงหมายเลข ๑๑๗ ในพื้นที่อำเภอพิชัย ซึ่งหากดำเนินการแก้ไขได้แล้วเสร็จจะเป็น ประโยชน์อย่างมากต่อพี่น้องประชาชนและพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ ผมจึงขอเรียนผ่าน ท่านประธานไปยังกรมชลประทานและกรมทางหลวงโปรดร่วมกันแก้ไขปัญหาข้อติดขัดนี้ อย่างเร่งด่วน และโปรดช่วยจัดสรรงบประมาณเพื่อให้โครงการนี้ ซึ่งเป็นดั่งความหวังใน การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำอย่างยั่งยืนของพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวทั้ง ๓ จังหวัด ให้สามารถสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม