ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อรายงานประจำปี ๒๕๖๕ กองทุนการออมแห่งชาติ ท่านประธานครับ หลายปีก่อน มี Slogan ของสายการบินประเภท Low Cost หรือสายการบินต้นทุนต่ำว่าใคร ๆ ก็บินได้ แต่สำหรับ กอช. แล้วผมอยากให้มี Slogan จะโดยตั้งหรือไม่ตั้งก็ตามแต่ว่าใคร ๆ ก็ออมได้ เพราะอะไรครับ เพราะเรื่องของการออมจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เราสามารถที่จะ บริหารจัดการชีวิตให้มีความมั่นคงทั้งในปัจจุบันและในอนาคต กองทุนการออมแห่งชาติ เป็นกองทุนบำนาญสำหรับประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบที่รัฐบาลได้ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุน ให้เกิดการออมในหมู่ประชาชนทุกหมู่เหล่า ผู้ที่สามารถสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิก กอช. ได้ คือประชาชนชาวไทยที่มีอายุระหว่าง ๑๕-๖๐ ปี ที่ไม่มีสวัสดิการบำนาญหรือไม่ได้รับ สวัสดิการใด ๆ จากรัฐ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ พ่อค้าแม่ขาย ชาวไร่ชาวสวน หรือแม้แต่นักเรียน นิสิตนักศึกษา ผมขอใช้เวลาในการอภิปรายของผมในวันนี้ทำหน้าที่แบบ Multi Tracking คือได้ทำการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ได้เข้าถึง ให้ได้เข้าใจบทบาทภารกิจ หน้าที่ของ กอช. หรือกองทุนการออมแห่งชาติไปพร้อม ๆ กัน การเป็นสมาชิกนั้นสามารถ ส่งเงินสะสมเพื่อเป็นเงินออมไว้ใช้หลังอายุ ๖๐ ปี โดยจะส่งเงินออมเป็นรายเดือน โดยเริ่มออมขั้นต่ำ ๕๐ บาทต่อครั้ง สูงสุด ๓๐,๐๐๐ บาทต่อปี โดยรัฐจะสมทบเงินออมเพิ่ม ให้ขึ้นอยู่กับเงินออมของสมาชิกและช่วงอายุของแต่ละคน ยอดเงินสมทบที่รัฐจ่ายให้สูงสุด ๑,๘๐๐ บาทต่อปี และยังมีผลประโยชน์จากการลงทุนของเงินออมสะสม และเงินสมทบ จากรัฐได้ นอกเหนือจากนั้นสมาชิก กอช. ยังสามารถนำเงินออมในแต่ละปีไปลดหย่อนภาษี ประจำปีได้สูงสุดไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาทต่อปี แล้วก็เป็นหน้าที่รัฐบาลที่จะได้ไปเชิญชวน ผู้สนใจให้มาสมัครเป็นสมาชิก กอช. เพื่อมีเงินออมไว้ใช้ในระยะยาว ผมนั่งอ่านรายงาน หลายรอบก็ได้เห็นว่าผลการดำเนินงานของ กอช. โดยเฉพาะในปีรายงาน ๒๕๖๕ นั้น กอช. ได้บูรณาการความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนในการส่งเสริมการออมให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและเพิ่มจำนวนสมาชิก ได้อย่างทั่วถึง ทำให้มีสมาชิกจำนวนไม่น้อย ๒.๕๑๖ ล้านคน เทียบกับปีก่อนหน้านี้อยู่ที่ ๒.๔๙๕ ล้านคน แล้วก็มีเงินกองทุนอยู่ ๑๑,๖๖๘.๖๙ ล้านบาท ส่วนในแผนปีนี้ก็มีเป้าหมาย ในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระยะยาว ๕ ปี ก็คือตั้งแต่ปี ๒๕๖๖ ถึงปี ๒๕๗๐ ภายใต้กรอบวงเงินขอรับการจัดสรรจากรัฐบาล ๑,๒๑๒.๘๙ ล้านบาท เพื่อนำไปสมทบ เงินออมให้กับสมาชิก โดยเป้าหมายจำนวนสมาชิกจะเพิ่มเป็น ๒.๕๔ ล้านคน ท่านสมาชิก ที่อภิปรายก่อนหน้านี้ ขออนุญาตเอ่ยนามครับ ท่านณพล เชยคำแหง บอกว่าประชาชนไทยนั้น มีเกือบ ๗๐ ล้านคน แต่มีคนเข้าเป็นสมาชิก ๒ ล้านคนเศษ ข้อสังเกตต่อไปก็คือว่า กอช. ได้คาดการณ์จำนวนสมาชิกและกรอบวงเงินการดำเนินการระยะเวลา ๓ ปีข้างหน้า ไปปี ๒๕๖๗ คาดว่าจะมีจำนวนสมาชิก ๒.๖๔ ล้านคน มีกรอบวงเงินงบประมาณที่รัฐ ช่วยสมทบเงินออมให้ ๑,๕๑๓.๔๐ ล้านบาท ปี ๒๕๖๘ คาดว่าจะมีจำนวนสมาชิก ๒.๗๐ ล้านคน ในกรอบวงเงินงบประมาณ ๑,๕๕๓.๕๖ ล้านบาท และปี ๒๕๖๙ คาดว่า จะมีจำนวนสมาชิก ๒.๗๖ ล้านคน กรอบวงเงินงบประมาณ ๑,๕๙๒.๐๒ ล้านบาท ตัวเลข ที่ท่านตั้งเป้าว่าจะมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้น ปี ๒๕๖๗ เท่าไร ปี ๒๕๖๘ เท่าไร ปี ๒๕๖๙ เท่าไร ก็ดูเหมือนว่าเป็นการตั้งเป้าที่ผมเชื่อมั่นว่าท่านจะสามารถขับเคลื่อนและผลักดัน งานของท่านไปถึงเป้าหมายได้ แต่ดูเหมือนว่าเป้าหมายนี้อาจจะไม่ได้ Challenge หรือท้าทายเท่าที่ควรครับ ผมพยายามจะไปดูตัวเลข Realtime ของจำนวนสมาชิก กอช. ก่อนอภิปราย แต่ว่าไม่สามารถตรวจ Check ได้ แต่ผมเชื่อว่าตัวเลข ๒.๗๖ ล้านคน ในปี ๒๕๖๙ นั้นท่านไปถึงแน่นอน แต่เราตั้งเป้าว่าถ้าหากท่านสามารถที่จะสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ให้คนเข้าถึงกองทุนการออมแห่งชาติได้มากขึ้นจะเป็นประโยชน์ ต่อประเทศชาติและพี่น้องประชาชน ผมจึงมีข้อสังเกตพร้อมข้อห่วงใยสัก ๕ ประการด้วยกัน
ประการที่ ๑ ผมเปิดไปตั้งแต่หน้า ๒๑ หน้า ๒๒ หน้า ๒๓ หน้า ๒๔ หน้า ๒๕ เป็นต้นมานั้น เป็นเรื่องของคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติหรือ Board กอช. ต้องขออนุญาตตั้งข้อสังเกตว่าใน Board หลายท่านน่าจะมีบทบาทภารกิจงานที่ค่อนข้าง จะเยอะ เราไม่ได้ตั้งคำถามหรือสงสัยในเรื่องของคุณสมบัติหรือความสามารถ แต่เรา ตั้งคำถามถึงว่าท่านมีเวลาในการมาทำงาน นี่ขนาดไม่ค่อยมีเวลายังมีผลสัมฤทธิ์ขนาดนี้ ถ้าหากว่าเรามี Board ที่อาจจะไม่ได้ตั้งกันมาตามตำแหน่ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็น ปลัดกระทรวงมาเป็นกรรมการ ถ้าเรามีคนที่มีความรู้ เข้าใจ เข้าถึง ผลงานน่าจะดีกว่านี้ นั่นประการที่ ๑ ตั้งข้อสังเกตในเรื่องโครงสร้างของ Board
ประการที่ ๒ กองทุนนั้นมีการขาดทุนสะสมที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ท่านจะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร แน่นอนการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาพิจารณาให้ดี ก่อนการตัดสินใจลงทุน แต่ว่าท่านจะมีโครงสร้างที่จะสื่อสารอย่างไรว่าผลการดำเนินงาน ของกองทุนท่านนั้นจะไม่ขาดทุนเพิ่มขึ้นอีก
ประการที่ ๓ รูปแบบการลงทุนจะพัฒนาอย่างไร อย่างที่เรียนว่าการลงทุน มีความเสี่ยง แต่เราจะป้องกันหรือลดความเสี่ยงได้อย่างไร
ประการที่ ๔ ผมไปดู Content หรือเนื้อหาที่ท่านได้ทำการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ ไปดูใน Facebook รายการคุยกับ กอช. ไปดู YouTube ไปดู TikTok ดูแล้วเหมือนไม่น่าชื่อรายการ คุยกับ กอช. น่าจะเป็น กอช. คุยกันเองมากกว่า เพราะจำนวน คนเข้าไปดูค่อนข้างน้อย ท่านต้องไปพัฒนาว่าจะทำอย่างไรที่ให้คนเข้าถึงได้มากกว่านี้ และตัวเลขมันไม่ควรจะอยู่แค่ ๒.๗๖ ล้านคน แต่ควรจะเป็น ๕ ล้านคน ๑๐ ล้านคน ในปีต่อไป
ประการสุดท้าย ที่เป็นความห่วงใยก็คือกิจกรรมต่าง ๆ กิจกรรม CSR ท่านต้องไปจัด Grouping หมวดหมู่ให้ดีว่าอะไรที่เป็นภารกิจที่นอกเหนือจากภารกิจหลัก หรือ รปจ. หรือระเบียบปฏิบัติประจำของ กอช. และผมเชื่อว่า ๔-๕ ประการที่ได้ตั้ง ข้อสังเกตนั้นจะทำให้คนไทยเข้าถึงการออม และเป้าหมายที่ตั้งไว้ใคร ๆ ก็ออมได้จะไม่ไกล เกินจริงอย่างแน่นอนครับ กราบขอบพระคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อแนวทางของการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากปรากฏการณ์ El Nino ท่านประธานครับ ถ้าจะพูดถึงเรื่องปรากฏการณ์นี้อธิบายสั้น ๆ ง่าย ๆ ไว ๆ ก็ต้องว่าเป็นเรื่องของปรากฏการณ์ ลมเปลี่ยนทิศ แม้ว่าจะไม่ใช่ลมของหนุ่ม กะลา แต่ว่าลมเปลี่ยนทิศครั้งนี้ส่งผลใหญ่หลวง กระทบต่อคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ผมขอ Slide ด้วยครับ
ปรากฏการณ์ El Nino สาเหตุเกิดจากกระแสลมที่มีกำลังอ่อนและเปลี่ยนทิศทางพัดจากมหาสมุทรแปซิฟิก ตะวันออกไปตะวันตกอ่อนกำลังผิดปกติ ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลย้อนกลับไปยังอเมริกาใต้ ผลกระทบต่อประเทศไทยทำให้สภาพอากาศผันแปรผิดปกติ ทำให้ปริมาณฝนของประเทศ ไทยมีแนวโน้มว่าจะต่ำกว่าปกติ โดยเฉพาะฤดูร้อนและต้นฤดูฝน ในขณะที่อุณหภูมิ ของอากาศจะสูงกว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ El Nino มีขนาดรุนแรงก็จะส่ง ผลกระทบชัดเจนมากยิ่งขึ้น นี่คือความสำคัญของปัญหาและสาเหตุของปรากฏการณ์นี้ ปี ๒๕๖๖ มีแนวโน้มว่าฝนจะน้อยกว่าปี ๒๕๖๕ เกิน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ จากข้อมูลนี้เราต้อง คิดเตรียมการวางแผน แม้ว่าจะเป็นสถานการณ์ที่อยู่ในภาวะกระชั้นชิด แต่เริ่มคิดวันนี้ เริ่มเตรียมการวันนี้ ก็จะสามารถทุเลาเบาบางปัญหาเรียกว่าหนักเป็นเบา ทุเลาเป็นหาย ท่านประธานครับ การคาดหมายฝนรายเดือนของประเทศไทยตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๖๖ ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ของกรมอุตุนิยมวิทยา ผม Highlight เดือนกันยายน ๒๕๖๖ ปริมาณฝนน้อย เดือนตุลาคม ๒๕๖๖ บริเวณประเทศไทยจะมีฝนโดยรวมต่ำกว่าค่าปกติ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๖ ปริมาณฝนรวมของประเทศไทยก็จะมีปริมาณฝนใกล้เคียง แล้วก็ลดต่ำกว่าค่าปกติ เดือนธันวาคมฝนก็น้อย เดือนมกราคมก็ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย เดือนมกราคม ๒๕๖๗ บริเวณประเทศไทยจะมีผลรวมต่ำกว่าค่าปกติ กล่าวโดยสรุป เดือนกันยายน เดือนตุลาคม เดือนพฤศจิกายน เดือนธันวาคม เดือนมกราคม เดือนกุมภาพันธ์ ประเทศไทยจะมีฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ปริมาณน้ำใช้การของอ่างเก็บน้ำ ขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ดูตรงกลาง ๆ น้ำใช้การทั้งประเทศน้อยกว่า ๕,๐๒๖ ล้านลูกบาศก์เมตร นี่ทั้งประเทศนะครับ ถ้าไปแยกดูภาคเหนือก็ต่ำ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก น้ำน้อยครับ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ที่มีผลกระทบต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค กระทบต่อวิถีชีวิตของพี่น้องเกษตรกร และผลกระทบต่อเนื่องอื่น ๆ นั้น ถ้าจะแยกเป็นหัวข้อแบบชี้ชัด ๆ
ประการที่ ๑ ได้รับผลกระทบปัญหาภัยแล้งมีความรุนแรงขึ้น ฝนจะทิ้งช่วง นานขึ้น
ประการที่ ๒ ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำผิวดินลดลงอย่างรวดเร็วและลดลง อย่างมีนัยสำคัญ
ประการที่ ๓ อุณหภูมิจะสูงขึ้น ส่งผลต่อการเติบโตของผลผลิตทางการเกษตร นี่ละครับ เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว
ประการที่ ๔ ผลผลิตทางการเกษตรจะลดน้อยลง ส่งผลต่อภาพรวมของ สภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทย
แนวทางการแก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากปรากฏการณ์ El Nino ผมสรุป มาสัก ๓ ประการด้วยกัน
ประการที่ ๑ เราถึงเวลาจะต้องเตรียมพื้นที่สำรองน้ำและวางแผนการใช้น้ำ ให้กับเกษตรกร เพื่อให้ปัญหาการขาดแคลนน้ำส่งผลกระทบต่อเกษตรกรให้น้อยที่สุด และจัดการกับปัญหาฝนทิ้งช่วงอย่างยั่งยืน
ประการที่ ๒ เราจะไปหาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพทั้งปริมาณ และคุณภาพเพื่อแก้ปัญหาเชิงรุกต่อสถานการณ์ El Nino ที่จะส่งผลกระทบในระยะยาว ท่านประธานครับ เพื่อนสมาชิกอาจจะมีคำถามว่าทำไมเราไม่ทำฝนเทียม ต้องขอกราบเรียน วันนี้ถ้าเราใช้งบประมาณเพื่อการทำฝนเทียมนั้นเราไม่สามารถจะคาดการณ์หรือวิเคราะห์ ความแม่นยำของงบประมาณที่ลงทุนไปได้ ถามต่อครับ ทำไมเราไม่สร้างอ่างกักเก็บน้ำ ผมมีสถิติและตัวเลขครับ อ่างเก็บน้ำที่สามารถเก็บกักน้ำได้ไม่เกิน ๑๐ ล้านลูกบาศก์เมตร เราต้องใช้งบประมาณสูงถึง ๑,๕๐๐ ล้านบาท หมายความว่าอะไรครับ หมายความว่า เราลงทุนไป ๑,๕๐๐ ล้านบาท แลกกับการได้ภาชนะ ชื่อก็บอกนะครับว่าเป็นอ่างกักเก็บน้ำ แล้วกรณีภาชนะรั่วหรืออ่างรั่วก็ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน พี่น้องเกษตรกร และฝน ไม่ตกอีกนี่นะครับ ลงทุน ๑,๕๐๐ ล้านบาท ก็ได้ภาชนะมาเปล่า ๆ เพราะฉะนั้นเราก็ ไม่แนะนำ เราไปดูน้ำที่ทั่วโลกเขาใช้ แต่ประเทศไทยนั้นอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญก็คือ น้ำบาดาล เราไปดูสัดส่วนน้ำในโลกมีน้ำเค็มอยู่ ๙๗ เปอร์เซ็นต์ น้ำจืด ๓ เปอร์เซ็นต์ ในอัตราส่วนน้ำบาดาลต่อน้ำผิวดินเท่ากับ ๓๐ เท่า แปลว่าอะไรครับ แปลว่าถ้าเราให้ ความใส่ใจในการพัฒนาศักยภาพน้ำบาดาลในประเทศไทย ปริมาณน้ำบาดาลกักเก็บ ๑.๑๓ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ปริมาณน้ำเพิ่มเติม ๗๒,๙๘๑ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ปริมาณน้ำบาดาลที่สามารถนำมาใช้ได้ ๔๕,๓๘๖ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ปริมาณการใช้ น้ำบาดาล ๑๔,๗๔๑ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ปริมาณน้ำบาดาลที่คงเหลือ ๓๐,๖๔๔ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
ผมกำลังจะสรุปในตอนท้ายว่าถ้าเรามุ่งเน้นในการเสริมศักยภาพในการนำเอา น้ำบาดาลซึ่งเป็นแหล่งน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ เปรียบเทียบกับอ่างกักเก็บน้ำ ๑,๕๐๐ ล้านบาทนั้น ได้ภาชนะมาอันหนึ่งครับ แต่ว่าการสำรวจเพื่อการขุดเจาะน้ำบาดาลใช้งบประมาณไม่กี่แสน ละครับ เจอแล้วเจอเลย และเมื่อเราได้นำจากแหล่งน้ำบาดาลที่มีคุณภาพแล้วเราสามารถ จะพัฒนาต่อยอดในการเกษตรได้ เช่น เราสามารถนำไปปลูกป่าได้ ท่านประธานครับ เพื่อนสมาชิกครับ เราไม่เคยได้ยินข่าวว่าพื้นที่ที่มีป่ามาก เช่น บริเวณอุทยานแห่งชาติ เขาใหญ่มีปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 เพราะป่าคือผืนอัญมณีที่ดูดซับน้ำฝนที่ร่วงหล่นลงมาจากฟ้า ดังนั้นถ้าเรามีผืนป่ามาก ๆ อากาศก็จะมีความชุ่มชื้น ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ก็จะหมดไป กล่าวโดยสรุป พัฒนาศักยภาพแหล่งน้ำบาดาลและน้ำใต้ดินมาใช้ควบคู่กับการปลูกป่า เพื่อสร้างและลดมลภาวะ และจะนำไปสู่การเยียวยาภาวะภัยแล้งจาก El Nino กราบขอบพระคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านความรุนแรงในครอบครัว สำหรับการรายงานตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ ประจำปี ๒๕๖๓ แล้วก็ประจำปี ๒๕๖๔ ท่านประธานครับ ผมมีข้อสังเกตต่อรายงาน ของข้อมูลดังกล่าวจะอภิปรายรวบทั้งปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ ถ้าเราสำรวจรายงาน ด้วยสายตาคร่าว ๆ จะเห็นว่าตัวรายงานทั้งปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ ขนาดพอ ๆ กันนะครับ ปี ๒๕๖๓ ก็ประมาณ ๕๔ หน้า ปี ๒๕๖๔ ประมาณ ๕๗ หน้า นั่นก็แปลว่าสถานการณ์ การใช้ความรุนแรงในครอบครัวนั้นมีลักษณะทรง ๆ อาจจะไม่ได้รับการพัฒนาหรือแก้ไข แบบชนิดที่เรียกว่าปรับเปลี่ยนแบบเห็นได้ชัด นอกเหนือจากในสถานะของสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร ต้องขอกราบเรียนท่านประธานว่าผมเป็นอดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นเลขา ๒ สมัยครับ เพราะฉะนั้น พูดชื่อกระทรวงถูกต้องตรงเป๊ะครับ กระทรวงนี้ถ้ารัฐมนตรีว่าการเป็นสุภาพบุรุษก็ต้องเรียกว่า เป็นกระทรวงพ่อพระ ถ้ารัฐมนตรีว่าการเป็นสุภาพสตรีก็ต้องบอกว่าเป็นกระทรวงแม่พระ เพราะว่าเป็นกระทรวงที่มีแต่ให้ ผมเข้าใจถึงความพยายามในการจะทุ่มเททุกสรรพกำลัง บุคลากร งบประมาณ ในการแก้ไขปัญหาเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว แต่ว่า เห็นความตั้งใจนั่นก็ส่วนหนึ่งครับ แต่ถ้าจะไม่ได้ตั้งข้อสังเกตเพื่อนำไปสู่การปรับปรุง หรือยกระดับให้ดีขึ้นนั้นก็อาจจะเป็นการเสียโอกาส ผมมีข้อสังเกตบนพื้นฐานของ ความห่วงใยสัก ๕ ประการด้วยกัน ท่านประธานครับ มีข้อมูลว่าประเทศไทยติด Top 10 ประเทศที่มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัวมากที่สุด ซึ่งก็เป็นสถิติที่ไม่ได้น่าภาคภูมิใจอะไร แม้ว่าเป้าหมายจะมีไว้พุ่งชน สถิติมีไว้ทำลาย แต่เราคงไม่พยายามจะไปเป็นอันดับ ๑ ใน ๕ หรือ ๑ ใน ๓ ของโลก เพราะว่าการที่เราทำงานตลอดมานั้นเราเห็นว่าแนวโน้มหรือ Trend ของการใช้ความรุนแรงในครอบครัวนั้นมันสูงขึ้น มีนักวิชาการบางส่วนบอกจริง ๆ มันก็เป็นการใช้ความรุนแรงในลักษณะแบบเดิม ๆ นั่นละครับ เพียงแต่วันนี้เราเข้าถึง ข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้น เรามีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการใช้ความรุนแรงมากขึ้น เมื่อก่อนเราอาจจะไม่รู้ว่าการ Bully เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ความรุนแรง หรือการกระทำ บางอย่างมันเข้าข่ายการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ดังนั้นเมื่อเรารู้แล้วเราก็ต้องช่วยกัน ในการยกระดับ สร้างเสริมความรู้ความเข้าใจ และจะไม่ยอมให้มีการใช้ความรุนแรง ในครอบครัวมากขึ้น ข้อสังเกตบนพื้นฐานความห่วงใยของผม ๕ ประการคือ
ประการที่ ๑ ผมนั่งอ่านรายงาน ๒ สัปดาห์ พบว่าข้อมูลสถานการณ์ ความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและความรุนแรงในครอบครัวในรายงานประจำปี ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๔ เป็นรายงานที่รวบรวมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๑๖ หน่วยงาน ท่านประธานครับ ผมเห็นว่า ควรจะได้มีการรวบรวมตัวเลขของสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวให้เป็นภาพรวม เป็นหมวดหมู่ ไม่มีการทับซ้อน เพื่อจะได้ทราบถึงสถิติการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ที่ถูกต้อง ที่แท้ True ในรอบปีที่ผ่านมา
ประการที่ ๒ จากรายชื่อ ๑๖ หน่วยงาน ที่จัดทำสถิติข้อมูลการใช้ความรุนแรง ต่อเด็ก สตรีและความรุนแรงในครอบครัวนั้น พิจารณาแล้วเห็นว่าอาจจะยังไม่ครอบคลุม กับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เช่น ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก เยาวชน สตรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด ต่อเด็ก เยาวชนและสตรี ศูนย์สวัสดิภาพเด็ก เยาวชน สตรี กองบัญชาการตำรวจนครบาล ศูนย์ประชาบดี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มูลนิธิเครือข่าย ครอบครัว มูลนิธิคุ้มครองเด็ก สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ดังนั้นจึงเห็นสมควรว่าควรจะได้มีการสำรวจหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนทั้งหมด ที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมข้อมูลสถิติให้ครบถ้วนถูกต้องยิ่งขึ้น
ประการที่ ๓ จากรายงานข้อมูลสถานการณ์การใช้ความรุนแรงในครอบครัว ปี ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๔ พบว่าสถิติการเกิดความรุนแรงมีจำนวนมากขึ้น เช่น ในปี ๒๕๖๓ มีการใช้ความรุนแรง ๑๖ หน่วยงาน รวบรวมไว้อยู่ที่ ๓๘,๕๐๗ ราย แต่ว่าเป็นคดีที่นำไปสู่ การร้องทุกข์กล่าวโทษได้เพียงแค่ ๑๘๕ ราย และมีการจัดทำคำสั่งกำหนดมาตรการวิธีการ เพื่อบรรเทาทุกข์ได้เพียงแค่ ๗ ราย มีการยอมความในชั้นสอบสวน ๔๐ ราย ซึ่งถือว่า เป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับสถิติที่เกิดขึ้นจริง จึงเห็นว่าควรจะได้มีการวิเคราะห์ ถึงสาเหตุที่ทำให้คดีความรุนแรงในครอบครัวทำไมถึงนำไปสู่การร้องทุกข์กล่าวโทษได้น้อยมาก เกิดจากอะไร
ประการที่ ๔ ความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นั้นตัวเลขจะน้อย จริง ๆ รายงานจัดทำ โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว แต่ว่ากรมกิจการผู้สูงอายุข้อมูลอาจจะน้อยหรือไม่ แต่พอไปดูกราฟจะเห็นว่าผู้ที่ถูกตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงอายุประมาณ ๑๐-๑๕ ปี จะไปฟ้องร้อง ร้องทุกข์กล่าวโทษเป็นคดีมากขึ้น ซึ่งจะเป็นอัตราส่วนที่ผกผันกับอายุที่เพิ่มขึ้น เช่น ถ้าไปถูกใช้ความรุนแรงล่วงละเมิดตอน ๔๐ ปี จะไปร้องทุกข์กล่าวโทษน้อยลง ไป ๖๐ ปี ก็จะน้อยกว่า ๔๐ ปี อย่างนี้เป็นต้น
ประการที่ ๕ การจัดทำรายงานสถานการณ์ด้านความรุนแรงในครอบครัวนั้น ในครั้งต่อไปผมอยากจะขอความกรุณาท่านผู้จัดทำรายงานได้สรุปการจัดทำเป็นรูปแบบ แผนภูมิต่าง ๆ แทนการนำเสนอในรูปแบบของตารางข้อมูลที่เยอะเกินไป เพื่อจะทำให้เกิด การเปรียบเทียบและมีความชัดเจนในการนำเสนอ ท่านประธานครับ ผมทราบดีว่า ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นั้นมีความใส่ใจ มีความตั้งใจ ที่จะรณรงค์ สร้างความรู้ความเข้าใจ ลดการใช้ความรุนแรง แต่ผมฝากเรื่องสำคัญ ประการท้ายก็คือ เรื่องของการเชื่อมโยงบูรณาการจากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชน อย่างเป็นระบบ วันนี้หากเกิดการใช้ความรุนแรงผมอยากจะมีหน่วยงานที่เป็น One Stop Service ที่เรียกว่าถูกล่วงละเมิด ถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัว อย่าตกใจ ไปที่หน่วยงานเดียว ข้อสังเกตที่ผมตั้งไว้ก็คือว่าทำไมเมื่อถูกใช้ความรุนแรง ถูกล่วงละเมิดถึงนำไปสู่การฟ้องร้อง หรือเป็นคดีน้อยลงเรื่อย ๆ ตามกลุ่มอายุที่ถูกใช้ความรุนแรง เพราะอะไรครับ ผู้ที่ได้รับ ความเสียหายอาจจะเกิดความชินหรือท้อ เช่นเมื่อเกิดเหตุไปไหนครับ เกิดเหตุไปตำรวจ ก็จะมีความยากในการพิสูจน์ว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้ความรุนแรง ไปตำรวจ พอนิ่ง ๆ ปุ๊บไปไหนต่อครับ ไปออกรายการโทรทัศน์ พอไปโทรทัศน์ยังนิ่งอยู่ไปไหนต่อครับ ก็จะไปหากลุ่มบุคคล ทนายความ หรือบุคคลที่ปวารณาตัวเองขึ้นมาเป็นผู้ช่วยเหลือเหยื่อ หรือผู้ถูกกระทำเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้ความรุนแรง ดังนั้นผมคิดว่าไม่อยากให้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทุกกรมที่เรามีเครือข่ายทางสังคม ที่เรียกว่า Social Safety Net ไปได้ทุกกรมนะครับ ควรจะเป็นองค์กรแรกหรือกรมแรก ที่ผู้ได้รับผลกระทบไปหา ไม่ใช่ไปทุกที่แล้วไม่ขยับ แล้วไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไข แล้วไปนึกถึง กระทรวง พม. เป็นองค์กรสุดท้าย กราบขอบพระคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อรายงานของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน เป็นรายงานประจำปีงบประมาณ พุทธศักราช ๒๕๖๔ ท่านประธานครับ ต่อรายงานฉบับดังกล่าว ผมต้องขอให้กำลังใจกับ กกพ. ที่ได้ทำงานยาก แล้วก็เผชิญกับ ความยากลำบากตลอดหลายปีที่ผ่านมา ที่ต้องให้กำลังใจเพราะอะไรครับ ผมได้ฟังคำชี้แจงรอบแรกก็เห็นถึงความยากลำบาก เพื่อนสมาชิกหลายท่านนั้นได้ตั้งข้อคำถาม มากมาย ถามว่าค่าไฟแพงจริงหรือไม่ ตอบเลยว่าแพง และแพงมาก แต่ด้วยเหตุผลที่ท่าน ได้อรรถาธิบายนั้นพอฟังได้หรือไม่ ผมมีคำวินิจฉัยส่วนตัวว่าก็พอฟังได้ มีหลายท่านลุกขึ้นมา ตำหนินะครับ แต่ผมขออนุญาตมองในมุมกลับไปอีกทางหนึ่งว่าถ้าหากเราไม่มี กกพ. ค่าไฟ มันอาจจะไหลไปไกล อาจจะแพงกว่านี้ก็เป็นได้ คำถามที่เราต้องขบคิดและต้องถกแถลงกัน ต่อก็คือว่าแล้วตกลงค่าไฟประเทศไทยมันแพงเบอร์ไหน แพงที่สุดใน ASEAN หรือไม่ ท่านไม่ต้องตอบว่าแพงเบอร์ ๕ เพราะเบอร์ ๕ ประหยัดไฟ แต่ว่าแพงเบอร์ไหนแปลว่า มันแพงอยู่ในลำดับที่เท่าไรของ ASEAN ผมมีข้อมูลจาก Global Petrol Price ได้ทำรายงาน ปีนี้ละครับ ประเทศใน ASEAN ที่ค่าไฟสูงที่สุดไม่ใช่ประเทศไทย อันดับ ๑ ประเทศสิงคโปร์ ๖.๒๒ บาทต่อหน่วย อันดับ ๒ ก็ยังไม่ใช่ประเทศไทย ประเทศฟิลิปปินส์ครับ ๖.๔ บาทต่อหน่วย อันดับ ๓ ก็ยังไม่ใช่ประเทศไทย ประเทศกัมพูชาครับ ๕.๑๒ บาทต่อหน่วย ประเทศไทย แพงตรงไหน แพงอันดับ ๔ ครับ อยู่ที่ ๔ บาท ๗๐ สตางค์ต่อหน่วย อันนั้นก็ไม่ได้แปลว่า ประเทศไทยแพงที่สุดนะครับ แต่ถามว่าเราสามารถทำได้ดีกว่านี้หรือไม่ ผมต้องตอบว่าทุกคน เอาใจช่วยและอยากให้ท่านทำสำเร็จในการจะลดค่าไฟให้คนไทย เพราะวันนี้เราเดือดร้อนกันทั่ว หน้า มีการอำกันในโลก Social ว่าร้อนอยู่ดี ๆ พอ Bill ค่าไฟมาปั๊บหนาวขึ้นมาทันที เพราะเจอ Bill ค่าไฟเข้าไป บางคนบอกว่าช่วยประหยัดไฟในวันนี้ จะได้ไม่เป็นหนี้ในวันหน้า บางคนบอกว่าค่าไฟแพงมหาโหด ต้องอยู่ในโหมดขยันทำงานเพื่อเก็บเงินมาจ่ายค่าไฟ ท่านประธานครับ ผมตั้งใจฟังท่านเลขาธิการ กกพ. ได้ชี้แจงรอบแรก คำถามที่เพื่อนสมาชิกถาม ซึ่งนำเอาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมาถามนี่ละครับว่าตกลงเอาชัด ๆ ชี้ชัด ๆ ว่า ค่าไฟประเทศไทยที่แพงอันดับ ๔ มันแพงเพราะอะไร ท่านก็ได้กรุณาตอบนะครับ นี่ผมจดมา ตั้งใจฟังท่านเลขาธิการนะครับ อันดับ ๑ ท่านบอกว่ามันมาจากปัญหาการต่อสัมปทานก๊าซ อันดับ ๒ บอกว่าสาเหตุก็คือปริมาณก๊าซในอ่าวไทยลดลงแล้วก็หายไปอย่างมีนัยสำคัญ สาเหตุอันดับ ๓ มาจากปัญหาวิกฤติสถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ต้องทำ ข้อ ๔ ซี่งเป็น Fight บังคับ ไม่ทำก็ไม่ได้ครับ ก็คือต้องนำเข้า LNG ราคาสูงมากจากต่างประเทศ ท่านประธานครับ ฟังมาถึงตรงนี้ก็อยากเอาใจช่วย กกพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ท่าน ไปบริหารจัดการก๊าซ บริหารอย่างไรครับ ที่ท่านทำมาก็ดีแล้วครับ แต่เราเชื่อว่า มันดีกว่านี้ได้อีก ท่านต้องไปบริหารก๊าซอย่างเป็นระบบ สร้างเสถียรภาพด้านราคาไม่ให้ขึ้นแรง ลงแรง หรือหวือหวา เพื่ออะไรครับ เพื่อจะนำไปสู่ความมั่นคงทางพลังงาน ท่านประธานครับ ผมกราบเรียนท่านประธานผ่านไปยัง กกพ. ไปถึงท่านเลขาธิการและคณะที่มาชี้แจงวันนี้ว่า คำชี้แจงฟังได้ครับ แต่บางคนก็บอกอีกว่าบางครั้งเหตุผลกับข้ออ้างมันมีเส้นกั้นบาง ๆ แต่ผม ก็เชื่อว่าทุกปัญหามีทางออก อาจจะไม่ต้องไปถึงช่องเม็กแบบ สส. สุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ ว่าละครับ เพราะเราก็ไม่อยากเป็นมนต์แคน แก่นคูณ ที่ไปคอยน้องที่ช่องเม็ก เพราะไม่รู้ว่า จะได้เจอเมื่อไร แต่ผมเชื่อว่าถ้าท่านแก้ปัญหา ๔-๕ ข้อที่ว่ามานี้ คนไทยจะได้เห็นค่าไฟ ที่ลดลง จากเราแพงเป็นเบอร์ ๔ อันดับ ๔ นี่นะครับ เราอาจจะมาอยู่แพงอันดับท้าย ๆ ของ ASAIN ก็เป็นได้ เพราะต้องยอมรับว่า ๔-๕ สาเหตุนี้มันเกิดขึ้นในช่วง ๔-๕ ปีที่ผ่านมานี้จริง ๆ ท้ายสุดครับ ขอให้กำลังใจ กกพ. อีกครั้งหนึ่ง แล้วก็ขอให้ท่านได้ร่วมมือและสนับสนุน รัฐบาลใหม่ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย โดยการประชุม ครม. นัดแรกจะได้เห็นแล้วครับเรื่องของ การลดค่าไฟ ค่าพลังงานลงในทันที ลำพังรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ทำคนเดียวก็อาจจะสัมฤทธิผลได้ช้า ต้องเอาหน่วยงานภาครัฐ เอา กกพ. มาช่วย เพราะว่าถ้าเราทำไม่สำเร็จนี่นะครับ เงินทองที่พี่น้องทำมาหาได้ หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน เมื่อก่อน หาเช้ากินค่ำครับ วันนี้หาเช้า เย็นมาจ่ายค่าไฟครับ ยังดีว่ามีนโยบาย Digital Wallet ๑๐,๐๐๐ บาทนะครับ และผมถามก่อนมาอภิปรายว่าตกลงค่าไฟที่ติดค้างนี่ ๑๐,๐๐๐ บาท Digital Wallet จ่ายได้หรือไม่ ก็ขอให้กำลังใจและจะรอผลว่าตกลงค่าไฟจะลดลงและการกำกับ กิจการพลังงานของ กกพ. จะดีขึ้นกว่านี้ ที่ท่านทำมาก็ดีที่สุดแล้วครับ แต่เราหวังว่า จะดีได้กว่านี้ กราบขอบพระคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย วันนี้ผมตั้งจิตมาแต่ไกล ตั้งใจมาแต่บ้านครับ จะมาอภิปรายแล้วก็ซักถามไปยังหลายหน่วยงาน แต่ว่าก็เหลืออยู่หน่วยงานเดียวก็คือกองทุนประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม ที่ได้ให้เกียรติต่อสภามารายงานในวันนี้ ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณนะครับ ถ้าท่านไม่ได้มา ผมก็ไม่ได้พูดนะครับ ผมขออนุญาตที่จะมีประเด็นตั้งข้อสังเกตอยู่สัก ๔-๕ ประเด็นด้วยกัน
ประเด็นแรกนะครับ สำนักงานประกันสังคมจะมีกองทุนอยู่ ๒ กองทุน ก็คือกองทุนประกันสังคม แล้วก็กองทุนเงินทดแทน เท่าที่ผมได้ดูนี่นะครับ กองทุน เงินทดแทนก็คือเป็นเงินที่จัดเก็บจากนายจ้างเพียงฝ่ายเดียว แต่ว่ามีการบริหารแบบไตรภาคี ใช้สำหรับดูแลผู้บาดเจ็บและทุพพลภาพจากการทำงาน เท่าที่ดูนี่บอกว่ามีเงินทั้งหมดประมาณ ๗๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท มีศูนย์ฟื้นฟูเยียวยาประมาณ ๕ แห่งทั่วประเทศ ในประเด็นที่ ๑ นี้ ผมมี ๒ คำถามครับ คำถามแรกก็คือว่าเงินฟื้นฟูเยียวยาช่วงโควิด-๑๙ ตัดจบไปหรือยัง แล้วตัวเลขเป็นอย่างไร คำถามที่ ๒ ในประเด็นที่ ๑ ครับ กองทุนเงินทดแทนนี่ต้องขอชื่นชม นะครับ หลังเกิดเหตุกรณีสะพานข้ามแยกถล่มที่เขตลาดกระบังของพื้นที่ท่าน สส. ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ต้องชื่นชมว่ามีการเข้าไปช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้บาดเจ็บ ทุพพลภาพ แต่คำถามก็คือว่ามาตรฐานในการเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และผู้ได้รับ ผลกระทบนั้นเป็นอย่างไร
ประเด็นที่ ๒ ครับ ผมอยากจะให้ทุกท่านไปดูรายงานหน้า ๔๖ นะครับ หน้า ๔๖ หมายเหตุที่ ๒๔ เครื่องมือทางการเงินกรณีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เขียนไว้อย่างนี้ครับ บอกว่าเนื่องจากกองทุนประกันสังคมมีการลงทุนในหลักทรัพย์ที่เป็น สกุลเงินต่างประเทศ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจึงมีผลต่อการดำเนินงานในรูปแบบ สกุลเงินบาท ดังนั้นกองทุนประกันสังคมจึงได้บริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนโดยตราสารอนุพันธ์ ประเภทสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า และสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตรา ต่างประเทศกับสถาบันการเงิน เพื่อวัตถุประสงค์ในการลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ภายใต้กรอบการควบคุมสัดส่วนที่คณะกรรมการประกันสังคมได้ประกาศกำหนด ผมอ่าน เอกสารนี้เพื่อจะตั้งคำถามนะครับว่าปัจจุบันนี้การลงทุนแม้จะบริหารจัดการกองทุน โดยผู้บริหารกองทุนระดับโลกนะครับ ส่วนใหญ่ผลประกอบการก็มีปัญหาเพราะเราก็ทราบ โดยทั่วไปว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาพิจารณาให้ดีก่อนการตัดสินใจลงทุน ขนาดนักบริหารกองทุนระดับโลก นักบริหารกองทุนมืออาชีพยังไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ แล้วกองทุนประกันสังคมมีอะไรเป็นหลักประกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินของผู้ประกันตน ที่นำไปลงทุนควรจะได้มีการสื่อสารชี้แจงให้เกิดความชัดเจนกับประชาชน ผมทราบว่า กองทุนเงินทดแทนนี่นะครับ ที่บอกว่าไปลงทุนต่างประเทศมีสินทรัพย์ประมาณ ๗๐,๐๐๐-๘๐,๐๐๐ ล้านบาท เฉพาะกำไรประมาณ ๑๒,๐๐๐ ล้านบาท ก็อยากจะให้ ชี้แจงนโยบายการลงทุน สัดส่วนการลงทุน เพื่อเป็นหลักประกันหรืออย่างน้อยก็เป็น การให้ความเชื่อมั่นว่าได้คำนึงถึงหลักการในการลดความเสี่ยง
ประเด็นที่ ๓ ครับท่านประธาน Board ประกันสังคมชุดปัจจุบันมีที่มาจาก คสช. ถ้าเราตามข่าวแบบลงลึก แบบแฟนพันธุ์แท้ของสำนักงานประกันสังคมก็จะทราบว่า มีการกดดันให้ Board บางคนลาออก พอลาออกไปก็ตั้งคนทดแทนใหม่เข้าไปไม่ได้ ที่เข้าไปได้ก็แบบผิดฝาผิดตัว ทราบว่ามีการเตรียมการที่จะเลือกตั้ง Board ประกันสังคม แล้วก็ทราบต่อไปด้วยนะครับว่าผู้ประกันตนที่จะเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีจำนวนมาก และต้อง ใช้เม็ดเงินถึงประมาณ ๓,๐๐๐ ล้านบาทก็ระดับใกล้เคียงหรือน้อง ๆ กับการเลือกตั้งทั่วไป ทราบว่าท่านรัฐมนตรีได้ลงนามไปแล้ว ความคืบหน้าในเรื่องของการเลือกตั้ง Board ประกันสังคมเป็นอย่างไร
ประเด็นที่ ๔ นะครับ ผมตามไปดูในรายงานหน้า ๔๗ ตรงหมายเหตุ ๒๖ กาดอกจันตรงคำว่า ภาระผูกพันและหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นในภายภาคหน้า ณ วันที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๕ สำนักงานประกันสังคมถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากบุคคลภายนอก หรือหน่วยงานอื่น ในคดีที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของกองทุนประกันสังคม โดยโจทก์ยื่นฟ้อง สำนักงานประกันสังคมให้จ่ายเงิน และเรียกร้องค่าเสียหายจำนวน ๕ คดี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน ๖.๓๔ ล้านบาท คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลยุติธรรมดังนี้ ศาลชั้นต้นจำนวน ๔ คดี ศาลฎีกาจำนวน ๑ คดี รวมเป็น ๕ คดี คำถามจากรายงานถามว่าคดีที่ว่านี้นะครับ ที่อยู่ในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาเป็นคดีอะไรบ้าง ทำไมถึงถามครับ เพื่อจะนำสืบไปยังประเด็น การตั้งข้อสังเกตว่าคดีที่อยู่ในศาลชั้นต้น ศาลฎีกานั้นมันน่าจะเป็นดัชนีชี้วัดผลการดำเนินงาน ของกองทุนประกันสังคมว่ามีผลสัมฤทธิ์ ผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร ถึงได้มีเรื่อง มีคดีอยู่ที่ศาลชั้นต้น แล้วก็ศาลฎีกานะครับ
ประเด็นที่ ๕ เป็นประเด็นสุดท้ายในเวลาที่จำกัดนะครับ ผมกราบเรียนว่า ความเชื่อมั่นมันเป็นสิ่งที่สร้างยากครับ แต่สูญเสียได้ง่าย วันนี้ถ้าเป็นเงินของใคร คนใดคนหนึ่งเราคงไม่ต้องมาเสียเวลาสภา เสียเวลาของพี่น้องประชาชนมาตั้งคำถาม แต่ว่ามันเป็นเงินของผู้ประกันตน แล้วก็เป็นเงินที่สังคมจับตามองดูอยู่ ผมก็กราบเรียน ในตอนท้ายนะครับว่าในโอกาสที่ท่านได้กรุณาให้เกียรติสละเวลา ให้เกียรติสภา มารายงาน และชี้แจงในวันนี้ ฝากประเด็นเรื่องการสื่อสารด้วยความโปร่งใสตรงไปตรงมา เพื่อให้เกิด การสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับจากทุกภาคส่วนครับ กราบขอบพระคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ก่อนจะได้อรรถาธิบายความต่อไป ผมขอปักหมุดวางธงเสียก่อนว่าผมเห็นชอบกับ พ.ร.ก. นี้ ทั้งโดยความสำคัญของปัญหา แนวคิดหลักในการปฏิบัติ แต่ว่าต้องขออรรถาธิบายเพิ่มเติม เพื่อเป็นการเติมช่องว่าง เติมจุดโหว่เพื่อให้ พ.ร.ก. ฉบับนี้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทำไมถึงเห็นด้วยครับ เพราะถ้าไม่เห็นด้วยข้าราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะไม่มีเครื่องมือ ในการนำ พ.ร.ก. ฉบับนี้ไปใช้ดูแลพี่น้องประชาชน ข้อสังเกตของผมมีประมาณสัก ๔-๕ ประการเท่านั้นละครับ และขอ Slide ด้วยนะครับ
ข้อที่ ๑ การที่ธนาคารให้ โอนเงินง่ายเกินไปนะครับ เท่าที่ไล่ดู พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าวยังไม่มีข้อบังคับจาก พ.ร.ก. ฉบับนี้ ที่ให้ธนาคาร หรือสถาบันการเงินรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการก่อ อาชญากรรมทางเทคโนโลยี
ประการต่อมา เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ พ.ร.ก. ฉบับนี้ก็ยังไม่ได้พูดถึง บทบาทความรับผิดชอบว่าปล่อยให้มีการส่ง Link ที่อาจจะนำไปสู่การก่ออาชญากรรม ทางเทคโนโลยีได้ ผมเห็นว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้ควรจะต้องเพิ่มในเรื่องของความรับผิดชอบ ทั้งสถาบันการเงิน แล้วก็ทั้งเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ
ประการที่ ๒ ที่ตั้งข้อสังเกต ก็คือบัญชีม้าบางส่วน ต้องยอมรับนะครับว่า ถูกหลอกให้มาเปิด ดังนั้นการกำหนดโทษรุนแรงสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบบัญชีม้า อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหา อย่างที่ผมกราบเรียนท่านประธานครับว่า ผู้ที่มาเปิดบัญชีม้าบางส่วนถูกหลอกมา คือลำพังถูกหลอกก็เจ็บปวดอยู่แล้ว แต่ว่า โทษที่บอกว่าจำคุกไม่เกิน ๓ ปี และปรับไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาทนี่อาจจะเป็นการซ้ำเติม ผู้ที่ถูกหลอกมาให้เปิดบัญชีม้าไปอีก และที่สำคัญกฎหมายไม่ได้กำหนดข้อยกเว้น ในการพิสูจน์ความผิดได้ง่าย ทำให้การต่อสู้ว่าตนเองถูกหลอกกระทำได้โดยยาก
ประเด็นสำคัญที่ทางธนาคารหรือสถาบันการเงินที่จะต้องดูแลประชาชน ก็คือการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างธนาคาร เช่น ธนาคาร A มีคนชื่อเดียวกัน นามสกุลเดียวกัน เปิดบัญชีม้าซ้ำ ๆ ๘-๙ บัญชี แล้วธนาคารอื่นมีการเชื่อมโยงหรือไม่ อย่างไร ตรงนี้ถ้าหากว่า เราสามารถทำให้ระบบ Link หรือเชื่อมโยงกันได้ในสถาบันการเงินก็จะช่วยลดทอนปัญหา ลงไปได้
ประการที่ ๓ ที่เป็นข้อสังเกต มีการใช้รูปแบบการก่ออาชญากรรม ทางเทคโนโลยีซ้ำ ๆ ใช้เบอร์โทรศัพท์ที่ทำให้คนสับสนหรือสงสัย หรือเชื่อว่าเป็น เบอร์โทรศัพท์จากหน่วยงานรัฐ รูปแบบซ้ำ ๆ แบบนี้ก็ยังไม่สามารถจะป้องกันได้
ประการที่ ๔ ผมตั้งข้อสังเกตว่าไหน ๆ เราออก พ.ร.ก. ทั้งทีเราควรจะดูแล พี่น้องประชาชนได้ดีกว่านี้หรือไม่ ในอดีตเราก็เห็นนะครับ หลังรถแท็กซี่ หลังรถเมล์ รถ บขส. เขียนว่า ตกงานอย่าตกใจ แต่เราไม่ได้เห็นว่าถูกหลอกให้โอนเงิน เป็นผู้ได้รับ ความเสียหาย ได้รับผลกระทบจากการก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีต้องตกใจหรือเปล่า วันนี้ความเดือดร้อนที่มันเกิดขึ้นมันมีกระบวนการ มีขั้นตอน ที่ผมเห็นว่ายังมีความซ้ำซ้อน วกวน และทำให้ผู้ได้รับความเสียหายนั้นไม่สามารถได้รับการเยียวยาหรือฟื้นฟูได้ทันท่วงที เท่าที่ดู พ.ร.ก. ฉบับนี้นะครับ ผมไม่เห็นอะไรเป็นหลักประกันว่าจะสามารถรับมือ กับนวัตกรรมที่อาชญากรรมนั้นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง วันนี้ถ้าตั้งคำถามว่าระหว่างอาชญากร ทางเทคโนโลยีกับหน่วยงานภาครัฐ ใครมีมาตรการรองรับ หรือใครมีนวัตกรรมที่ล้ำสมัย กว่ากัน ผมว่ามันตอบยากนะครับ หยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ แต่วันนี้ท่านลองไปทบทวนนะครับว่า ท่านก้าวทันนวัตกรรมหรือไม่ ผมไปย้อนดูตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงปัจจุบันนี้ หลัง พ.ร.ก. นี้ มีผลใช้บังคับ เรายังไม่ได้เห็นรูปแบบการทลายรังโจร ทลายแก๊ง Call Center ขนาดใหญ่ ไม่ได้เห็นเป็นมรรคเป็นผลรุนแรงว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลเพียงไร ผมมีข้อสังเกตในประเด็นที่ผมอธิบายไว้เบื้องต้นก็คือว่าไหน ๆ เราออก พ.ร.ก. ฉบับนี้ แต่ว่ามาตรา ๑๓ บอกว่า ในวาระเริ่มแรกให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น คณะหนึ่งจำนวนตามที่เห็นสมควร คำถามก็คือว่าผมไม่เห็นมีการกำหนดคุณสมบัติของ คนเป็นกรรมการ กำหนดเพียงลอย ๆ กว้าง ๆ และมีเจตนาที่จะให้เป็น Board แบบชั่วคราว เท่านั้นหรือไม่ ความจริง Board ชุดนี้ควรจะเป็น Board ถาวร และมีผลการประเมิน ที่เป็นเรื่องเป็นราว ไม่ใช่ว่าตั้งมา ๕ ปี แล้วจะอยู่ต่อไปแบบชั่วคราวหรือถาวรก็ยังไม่ชี้ชัด จริง ๆ แล้วกรรมการตามมาตรา ๑๓ ควรจะเป็น Board ถาวรที่ประกอบไปด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อมากำกับดูแลและติดตามเรื่องนี้เพื่อแก้ไขเยียวยาพี่น้องประชาชนได้
ผมสรุปท้ายสั้น ๆ นิดเดียวครับว่าอาชญากรรมทางเทคโนโลยี อาชญากร ได้พัฒนาไปมาก หน่วยงานภาครัฐต้องก้าวให้ทัน แล้วผมก็สรุปอีกครั้งนะครับว่าผมเห็นชอบ ในหลักการ แต่ขออนุญาตตั้งข้อสังเกตเพื่อเติมช่องโหว่เพื่อให้ พ.ร.ก. ฉบับนี้มีความสมบูรณ์ มากยิ่งขึ้นครับ ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลำดับแรกผมขออนุญาตที่จะได้กำหนดกรอบ ชี้เป้า แล้วก็ปักธงการอภิปรายของผมเสียก่อน ว่าจะเป็นการอภิปรายเพื่อสนับสนุน พ.ร.ก. ฉบับนี้ ก็คือ พ.ร.ก. การแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๖๖ ขออนุญาต ขอ Slide ครับ
ท่านประธานที่เคารพครับ ๘-๙ ปีที่ผ่านมานั้นต้องยอมรับนะครับว่าเรื่องของจุดยืนท่าทีความโปร่งใสของรัฐบาลไทย มีข้อกังขา มีข้อคำถามต่อเวทีการค้าการขายระหว่างประเทศ ๘-๙ ปีที่ผ่านมานั้นเรื่องของ การสร้างความเชื่อมั่น ความน่าเชื่อถือ การยอมรับถือเป็นจุดบอดแล้วก็เป็นหลุมดำของ รัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นผมคิดว่าถ้าหากว่าจะมีช่องทางใดหรือเครื่องมือใดที่จะนำพา ธุรกิจไทย ผู้ประกอบการไทยกลับไปยืนบนเวทีการค้าการขายโลกอย่างภาคภูมิใจเป็นสิ่งที่ เราต้องทำ และต้องทำอย่างเร่งด่วนด้วย ท่านประธานที่เคารพครับ แม้ว่าผมจะเห็นด้วยตาม หลักการ และแนวคิดของ พ.ร.ก. ฉบับนี้ แต่ผมอดไม่ได้ที่จะต้องมีการตั้งข้อสังเกต สัก ๔ ข้อสังเกต แล้วก็มี ๒ ข้อห่วงใยผ่านประกอบไปยัง ๔ คำถามดังนี้ครับ
ข้อสังเกตประการที่ ๑ พ.ร.ก. นี้เป็นข้อตกลงว่าจะแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง ไทยกับ OECD และ G20 เพื่อให้ไทยนั้นสามารถค้าขายกับประเทศในกลุ่ม OECD ต่อได้ โดยไม่มีการกีดกันทางการค้า ผมจึงกราบเรียนว่านี่จึงเป็นเรื่องสำคัญ
ข้อสังเกตประการที่ ๒ วัตถุประสงค์หลักของ พ.ร.ก. ฉบับนี้คือ การแลกเปลี่ยนข้อมูล การทำธุรกรรมทางการเงินและการค้าของประชาชนในประเทศภาคี ไม่เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
ข้อสังเกตประการที่ ๓ ผมมีตัวอย่างกรณีของการบังคับใช้กฎหมาย ตาม พ.ร.ก. ฉบับนี้ ยกตัวอย่างเช่นกรณีมีประชาชนของประเทศสมาชิก เช่นมีชาวยุโรป หลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมในประเทศของตัวเอง โดยมาใช้ประเทศไทยเป็นฐานเป็นที่ทำการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยต้องส่งข้อมูลนี้กลับไปยังประเทศต้นทางให้รับทราบ กรณีที่เกิด การร้องขอ
ข้อสังเกตประการที่ ๔ สาเหตุที่เราต้องเร่งออกเป็น พ.ร.ก. ผมเข้าใจ ความสำคัญจำเป็นเร่งด่วนและเข้าใจถึงความสำคัญของปัญหา ท่านประธานครับ เพราะมี ความจำเป็นเร่งด่วนในช่วงเวลาของการเจรจาทางการค้ากับชาติ OECD ที่กำหนด ให้แล้วเสร็จก่อนเดือนกันยายน ๒๕๖๖ นั่นหมายความว่าเราเหลือเวลาไม่ถึง ๒ เดือนนะครับ ผมจึงกราบเรียนครับว่าถ้าจะมีช่องทางหรือมีกระบวนการใดที่จะนำพาผู้ประกอบการไทย กลับไปสู่เวทีการค้าโลกอย่างภาคภูมิ อย่างเชื่อมั่นเราต้องรีบทำ ผมมี ๒ ข้อห่วงใย ท่านประธานครับ พ.ร.ก. ฉบับนี้มีความสำคัญครับ เนื่องจากว่าหากเราไม่ปฏิบัติตามจะส่ง ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ และกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ
ข้อห่วงใยประการที่ ๑ กรณีที่เราไม่ปฏิบัติตาม ประเทศไทยอาจจะถูกจัด อยู่ใน EU Blacklist หรือถูกจัดอยู่ใน G20 Blacklist ซึ่งที่สุดก็จะส่งผลต่อการลงทุนในไทย ของธุรกิจประเทศสมาชิกภาคี
ข้อห่วงใยประการที่ ๒ กลุ่ม EU นั้นอาจจะใช้มาตรการตอบโต้ทางภาษี กับผู้ประกอบการที่ส่งสินค้าหรือทำธุรกรรมกับประเทศสมาชิกภาคี เช่นการขึ้นอัตราภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับสินค้าส่งออกจากไทย รวมถึงการนำรายได้ของบริษัทในเครือที่ตั้งอยู่ ในประเทศไทยไปรวมกับรายได้ของบริษัทแม่ใน EU ที่ส่งผลให้เกิดการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน ซึ่งข้อหลังนี้จะทำให้บริษัทต่างชาติย้ายฐานผลิตออกจากประเทศไทย ซึ่งที่สุดเราก็จะได้รับ ผลกระทบ ผมมีคำถาม ๔ คำถามด้วยความห่วงใยนะครับ
คำถามที่ ๑ พ.ร.ก. ฉบับนี้จะสามารถรักษาสมดุลระหว่างการปฏิบัติตาม ข้อตกลงกับการปกป้องข้อมูลทางธุรกิจในประเทศได้อย่างไร ผมไปดูทั้ง ๓๒ มาตรา ท่านประธานครับ ผมไม่เห็นมีมาตราใดที่มีการคุ้มครองสิทธิของเจ้าของข้อมูล
คำถามที่ ๒ หากเกิดการรั่วไหลของข้อมูล พ.ร.ก. ฉบับนี้จะรับผิดชอบ จะพิทักษ์สิทธิของผู้ประกอบการ หรือเจ้าของข้อมูลอย่างไร ผมเกรงว่าถ้าเราเดินตาม พ.ร.ก. นี้แบบไม่ดูตาม้าตาเรืออาจจะกลายเป็นกระบวนการชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน หรือไม่
คำถามที่ ๓ พ.ร.ก. ฉบับนี้ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นในทางกว้างที่ครอบคลุม หลากหลายเพียงพอหรือไม่ วันนี้ท่านได้ตรวจสอบ ตรวจทาน ตรวจเช็กหรือยังว่า ผู้ประกอบการไทยพร้อมแค่ไหนที่จะปฏิบัติตามกรอบข้อตกลงนี้ ผมไม่อยากให้เป็นลักษณะ ที่เราไม่พร้อมแต่เราจำเป็นต้องไปแข่ง สภาพเหมือนกับเอาเรือไทย ๒๐ ฝีพายไปแข่งกับ Speed Boat สากล ซึ่งที่สุดเราก็ได้รับผลกระทบ
คำถามข้อที่ ๔ พ.ร.ก. ฉบับนี้ได้เปิดกว้างให้สามารถรับฟังและรับ กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างไร
กล่าวโดยสรุปครับท่านประธาน ผมเห็นชอบในหลักการของ พ.ร.ก. ฉบับนี้ แต่ขอฝากข้อสังเกตและข้อห่วงใยไว้ ณ สภาแห่งนี้ด้วยครับ กราบขอบพระคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ ก่อนอื่นผมต้องขอแสดงความเสียใจต่อพี่น้องประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ จากเหตุพลุระเบิดที่สุไหงโก-ลก นราธิวาส ในครั้งนี้ ผมอยากจะวางกรอบการอภิปราย ๕ นาที ของผมนะครับ และอยากตั้งชื่อเรื่องว่า ๘ ปมคาใจโกดังพลุไฟมูโนะ สุไหงโก-ลก นราธิวาส ระเบิด ใครต้องรับผิดชอบ ทำไมผมถึงมาแนวนี้ ทำไมถึงมาในแนวการตั้งคำถาม เพราะผม ไม่อยากให้เราใจเร็วด่วนได้ ด่วนสรุป หรือชี้นำ ควรให้โอกาสกับผู้เกี่ยวข้องนั้นได้ตอบคำถาม แต่ผมก็ไม่อยากได้ฟังคำตอบในลักษณะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะมันแปลว่าเรารู้เท่าถึง แค่นครปฐมหรืออย่างไร ทำไมมันไม่ถึงกาญจน์ แล้วหลายเหตุการณ์ก็จะสรุปแบบนี้ วัวหาย ล้อมคอกว่าหนักแล้ว แต่ที่หนักกว่าคือคอกที่ล้อมก็ล้อมช้า และไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ผมเริ่ม ๘ ปมคาใจอย่างนี้ครับ ท่านประธานครับ เหตุการณ์พลุระเบิดมันเกิดทุกปี มันคร่าชีวิต คนไทยทุกปี สถิติย้อนหลัง ๑๕ ปีนี่นะครับมีระเบิดลักษณะแบบนี้ไม่ต่ำกว่า ๒๐ ครั้ง เฉลี่ยปีหนึ่งนี่นะครับประมาณครั้งครึ่งหรือ ๑.๕ ครั้ง และเส้นทางของพลุมรณะมาจากไหน
ประเด็นที่ ๑ ผมถามครับ ในอดีตนี่เราเคยได้ทราบนะครับว่าเส้นทาง พลุมรณะผลิตจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีที่ตั้งอยู่ตอนบนของประเทศไทย แล้วก็ขนกันมา ผ่านจังหวัดทางภาคเหนือ แล้วหลายปีเราได้เห็นเหตุพลุระเบิดนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน จังหวัดลำปาง แล้วเส้นทางนี้ไปไหนต่อครับ รอบนี้มันไปเกิดทางภาคใต้ คำถามคือเส้นทางการลำเลียงพลุไฟมรณะนี้ไปอย่างไร และเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนรู้เห็นเป็นใจ หรือไม่ เพราะมันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีหน่วยงานที่ต้องกำกับดูแลหลายหน่วยงานครับ อย่างน้อยในพื้นที่เกิดเหตุนายอำเภอมีหน้าที่ในการออกใบอนุญาต และใบอนุญาตนี้ จะต้องต่อปีต่อปี นั่นหมายความว่า ๑ ปีมาต่อครั้งหนึ่ง แล้วมันมีกฎหมายที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งเทศบาล ทั้ง อบต. ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีเรื่องของ กอ.รมน. ภาค ๔ ส่วนหน้าด้วย แล้วมันหลุดรอดไปได้อย่างไร
ประเด็นที่ ๒ ครับท่านประธาน จากเชียงใหม่จังหวัดทางภาคเหนือไปสุไหงโก-ลก ได้อย่างไร แล้วที่สำคัญไปอยู่กลางชุมชนได้อย่างไร เจ้าของโกดังพลุไฟระเบิดเคยถูกจับ ในปี ๒๕๕๙ ในที่สุดก็ไม่ถูกสั่งฟ้อง เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่หรือไม่
ประเด็นที่ ๓ ผมตั้งคำถามถึงหน่วยงานด้านความมั่นคง วันนี้การข่าว ด้านความมั่นคงมีข้อมูลมาก่อนหรือไม่ ถ้ารู้ก่อนทำไมป้องกันไม่ได้ แล้วถ้าไม่รู้มาก่อนท่านจะ ปรับปรุงแก้ไขเพื่อประสิทธิภาพ ประสิทธิผลการทำงานด้านการข่าวเพื่อความมั่นคงอย่างไร วันนี้สิ่งที่คนไทยตกใจนะครับ พลุระเบิดมันหลอนไปหมดเหมือนกับเหตุการณ์สะพาน ข้ามแยกถล่มที่ลาดกระบังครับ เราไปที่ไหนเห็นสะพานข้ามแยกในพื้นที่ สส. ดอกเตอร์ ธีรรัตน์เราก็อดใจไม่ดีครับ เหมือนกันครับเหตุพลุระเบิด ถูกตั้งคำถามนะครับว่ามีมาตรการ ในการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอย่างไร และจะป้องกันไม่ให้กลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่สามารถฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์อันเกิดจากพลุระเบิดนี้ ได้อย่างไร
ประเด็นที่ ๔ มีกระแสข่าวว่าพลุมรณะนี่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องของส่วยพลุไฟ จ่ายส่วยเดือนหนึ่งประมาณ ๓๐,๐๐๐-๕๐,๐๐๐ บาท รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องจะตอบอย่างไร ก็เป็นสิทธิครับ แต่ว่ารอง ผบ. ตร. รับแล้วครับ ยืนยันแล้วครับว่ามีส่วยพลุไฟจริง จะมีมาตรการป้องกัน แก้ไขอย่างไร
ประเด็นที่ ๕ การฟื้นฟูเยียวยา ครอบคลุมทั่วถึง รวดเร็วหรือไม่
ประเด็นที่ ๖ ลักษณะสภาพแวดล้อม ซึ่งได้รับผลกระทบ และมีปัญหา เช่น ดิน น้ำ เราได้เห็นแต่ละหน่วยงานออกมาบอกว่าน้ำ ๓ วันใช้ได้ ๕ วันใช้ได้ เราอยากจะ รู้ลึกลงไปกว่านั้นนะครับว่าจะฟื้นฟูเยียวยาในอนาคตอย่างยั่งยืนได้อย่างไร
ประเด็นที่ ๗ เป็นปมคำถามสุดท้าย เราทราบดีครับท่านประธานในข้อจำกัด ของรัฐบาลรักษาการ ก็อย่างนี้อย่างไรเราถึงต้องรีบมีรัฐบาลตัวจริงเสียงจริงมีอำนาจเต็ม โดยเร็ว แต่คำถามในปมที่ ๗ ที่ผมถามนะครับว่า ในสภาวะสุญญากาศเช่นนี้ที่เกิดภาวะ สุญญากาศรัฐบาลรักษาการทำอะไรได้มากกว่านี้หรือไม่ และจะสื่อสารทำความเข้าใจ กับพี่น้องประชาชน ท่านประธานครับ มีคำกล่าวว่าความเชื่อมั่นมันสร้างยาก แต่เมื่อไร ก็ตามที่มันได้สูญเสียไปแล้วมันกระทบ และพูดอะไรมันเกิดปัญหา วันนี้เรารอดูท่าที ของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลรักษาการ เพื่อเยียวยา ฟื้นฟู พี่น้องประชาชนได้อย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ครับ กราบขอบพระคุณครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ ต่อรายงานผลการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ในการปราบปราม ยาเสพติด ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๔ ผมมีข้อสังเกตอยู่ ๖ ประการด้วยกัน ประการที่ ๑ ผมตั้งคำถามวางไว้บนโต๊ะก่อนว่าทำไมเราถึงไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องของยาเสพติด ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทำไมเราไม่เอาจริงเอาจังในการประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ แล้วก็ไม่ปล่อยให้เป็นภาระของชาติเหมือนช่วงที่ผ่านมา ท่านที่เคารพครับ ผู้บริหาร ป.ป.ส. ที่มานั่งรับฟัง ผมต้องขอชื่นชมและขอให้กำลังใจ ความจริงเป็นงานของท่านที่ท่านทำมา อย่างต่อเนื่องตลอดมา ท่านเป็นผู้ที่อ่านปัญหายาเสพติดรู้ ดูปัญหายาเสพติดเป็น แต่ว่า ก็สละเวลามารับฟังอีกหนึ่งมุมมองจากผู้แทนของพี่น้องประชาชน ผลสำรวจพบว่าแนวโน้ม ของผู้ติดยาเสพติดจะมีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ ยาบ้ายังคงเป็นยาเสพติดยอด Hit อันดับต้น ๆ UNODC สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติได้ประมาณการ เอาไว้น่าสนใจครับ บอกว่าในภูมิภาคนี้การค้ายาเสพติด การผลิตยาเสพติดในภูมิภาคนี้ สร้างกำไรได้อย่างน้อย ๗๑,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ ๒.๒ ล้านล้านบาท ในปีที่ผ่านมา ในอดีตเฉพาะวงจรการผลิตของยาบ้าสามารถผลิตได้เต็มที่ประมาณ ๒,๗๐๐ เม็ด ต่อชั่วโมง แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตมันไปไกลด้วยระบบ Hydraulic สามารถผลิตได้ ๒๘๘,๐๐๐ เม็ดต่อชั่วโมง หรือมีศักยภาพการผลิตเพิ่มสูงขึ้นถึง ๑๐๐ เท่า แต่ว่าการจับกุม ส่วนใหญ่ที่ผ่านมาเป็นเพียงการจับกุมในลักษณะของรายเล็ก ๆ เต็มที่ก็เป็นขนาดกลาง เราไม่สามารถที่จะไปกระชากเอากระบวนการโครงข่ายที่เชื่อมโยงของผู้ผลิต ผู้ค้ายาเสพติด รายใหญ่ได้บ่อยครั้งนัก เพราะอะไรครับ เพราะโลกก้าวไว เทคโนโลยีก็ไปไกล แต่ถ้าเรา ก้าวไม่ทัน วันนี้ผู้ผลิต ผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่เขาใช้เทคโนโลยีในการจะพัฒนาทั้งเรื่องการผลิต เรื่องการขาย รวมถึงการฟอกเงิน มีการนำเงินไปลงทุนในสกุลเงิน Digital ไปลงทุนใน Cryptocurrency ในขณะที่ถ้าเราใช้วิธีการแบบ Analog เราไม่สามารถจะไล่ตามจับได้ทัน ผมตั้งข้อสังเกตนะครับ ที่ผ่านมาเรื่องของการยึดทรัพย์ในกระบวนการผู้ค้าและผู้ผลิตยาเสพติด รายใหญ่ยังเป็นปัญหา รัฐบาลที่ผ่านมาในช่วงต้น ๆ สถิติการจับกุมและนำไปสู่การยึดทรัพย์ ค่อนข้างน้อย แต่ว่าในปีหลังก็ต้องยอมรับว่าตัวเลขยอดของการจับกุม รวมถึงการยึดทรัพย์นั้น ก็สูงขึ้นมา แต่ยังไม่พอ ท่านที่เคารพครับ สหรัฐอเมริกานั้นเคยประกาศสงครามกับยาเสพติด เขาเป็นประเทศมหาอำนาจ มีเครื่องไม้เครื่องมือ มีเทคโนโลยีมากมาย เขาใช้เงินไปจำนวน มากกว่า ๑ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ใช้เวลาไป ๕๐ ปี แต่เขายังทำไม่สำเร็จ ดังนั้นประเทศไทย วันนี้ถ้าไปเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาเราจะได้เห็นครับ เพราะมองต่ำเราเหลือ มองเหนือ เราขาด ๕๐ ปีของสหรัฐอเมริกายังคลำไม่ถูกเป้ามากนัก แต่ถ้าไปดูงบประมาณของประเทศไทย ในการใช้เพื่อบริหารจัดการแก้ปัญหาเรื่องยาเสพติดนั้น เราจะพบว่างบหลายงบชื่อดี ท่านประธานครับ เช่นงบบูรณาการ ฟังดูเหมือนจะดี แต่พอไปดูเป็นงบบูรณาการที่ไม่ค่อยจะได้ บูรณาการครับ มีการตัดงบออกไปให้โรงเรียนก็ได้ทำ จังหวัดก็ได้ทำ ต่างคนต่างทำ ก็เลย ไม่ทราบว่าเป้าหมายหลักหรือผลสัมฤทธิ์ที่จะวัดผลงานอย่างเป็นเอกภาพนั้นคืออะไร วันนี้ ต้องกลับมาตั้งข้อสังเกตว่าการบริหารจัดการงบประมาณ โดยเฉพาะงบที่เอาไปฝากไว้ในหน่วยงานอื่น ๆ ไปไว้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงมหาดไทย ส่งต่อไปยังจังหวัด ไปไว้กระทรวงศึกษาธิการ ไปไว้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการไปติดตาม ตรวจสอบผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานมากน้อยแค่ไหน อย่างไร ในตอนจบผมสรุปไว้ ๒ เรื่องที่อยากจะฝากไว้ก็คือเรื่องของการยึดทรัพย์ครับ วันนี้ถ้าข้าราชการเกียร์ว่างก็ถือว่า ประเทศเสียโอกาส แต่บางช่วงบางตอนมันหนักกว่าเกียร์ว่าง สภาพคล้าย ๆ กับล็อกเกียร์ เพราะว่าแผนปฏิบัติการในการไปยึดทรัพย์เราไม่ค่อยได้เห็น และเราไม่ค่อยได้ใช้เทคโนโลยี ที่จะทำให้ผู้แจ้งเบาะแสที่นำไปสู่การยึดทรัพย์นั้นได้รับความปลอดภัย เขาเอาเงินที่ได้จาก การขายยาเสพติดไปลงทุน Cryptocurrency เราควรจะมีเทคโนโลยีประเภทแบบ Blockchain เพื่อที่จะให้ความปลอดภัย ให้ความมั่นใจกับผู้แจ้งเบาะแส เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น วันนี้ ถ้าแจ้งเบาะแสแล้วสามารถนำไปสู่การจับกุมได้และเขาก็ปลอดภัย และได้รับเงินรางวัล ในการนำจับ เพื่อเข้าสู่กระบวนการของการยึดทรัพย์ ผมว่าจะเกิดกระบวนการมีส่วนร่วม และพี่น้องประชาชนจะเข้าสู่กระบวนการในการช่วยภาครัฐช่วย ช่วย ป.ป.ส. ในการทำหน้าที่ ส่วนที่ ๒ ที่ฝากไว้ก็คือเรื่องของการบริหารจัดการงบประมาณ วันนี้งบประมาณ ป.ป.ส. มาก อยู่แล้ว แต่ว่าในช่วงที่ผ่านมามีการบริหารจัดการที่ขาดเอกภาพอย่างที่ผมได้ตั้งข้อสังเกต ถ้าเราจะใช้โอกาสนี้รวบรวมประมวลความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้ตั้งข้อสังเกต ที่แล้วมา เราก็พยายามพัฒนาปรับปรุงยกระดับเพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการงบประมาณ ในครั้งต่อไปให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นครับ กราบขอบพระคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ผมตั้งจิตมาแต่ไกลตั้งใจมาแต่บ้านครับ จะมาอภิปรายเพื่อตั้งข้อสังเกตในรายงานของ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฟังไปฟังมาท่านผู้ชมทางบ้านอาจจะตั้งคำถามว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีไว้ทำไม ทั้งที่จริง ๆ แล้วคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แห่งชาติมีบทบาทหน้าที่มีผลงานมากมาย แต่ว่าการตั้งคำถามดังกล่าวนั้นมันนำไปสู่คำตอบ ที่ว่าหรือวันนี้เรามีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไว้แบบเท่ ๆ ประเทศอื่นเขามี เราก็มีบ้าง ดังนั้นการลุกขึ้นตั้งข้อสังเกตของผมจึงไม่ใช่การลุกขึ้นมาพูดแบบเท่ ๆ ครับ แต่เอาจริง ๆ พรรคเพื่อไทยอ่านรายงานรู้ดูรายงานเป็นครับ จากรายงานผลการปฏิบัติงาน ปี ๒๕๖๕ ผมขอ Slide ด้วยนะครับ
ระบุว่าได้รับเรื่องร้องเรียน การกระทำละเมิดสิทธิมนุษยชน จำนวน ๑,๑๔๙ เรื่องและได้รับไว้ดำเนินการ ๙๒๔ เรื่อง คิดเป็นร้อยละ ๘๐.๔๒ ซึ่งมีการจำแนกเรื่องร้องเรียนเป็นประเภทต่าง ๆ เป็นแยกตามประเภท สิทธิมนุษยชนตามพื้นที่ที่เกิดเหตุ ตามเพศผู้ร้องเรียน แล้วก็ตามช่องทางการร้องเรียน เฉพาะเรื่องที่ได้รับไว้ดำเนินการทั้งหมด ๙๒๔ เรื่อง ได้รับไว้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ๒๓๖ เรื่อง รับไว้ดำเนินการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๑๖๔ เรื่อง รับไว้เพื่อศึกษา และจัดทำข้อเสนอแนะ ๒๙ เรื่อง และรับไว้ดำเนินการช่วยเหลืออื่น ๆ อีก ๔๙๕ เรื่อง ท่านประธานผมมีข้อสังเกตครับ เฉพาะเรื่องร้องเรียนที่รับไว้ดำเนินการประสานหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น มีการระบุว่าสามารถดำเนินการให้ความช่วยเหลือเสร็จสิ้นไปแล้ว ๑๔๒ เรื่อง คิดเป็นร้อยละ ๘๖.๕๘ คำถามคือเรื่องร้องเรียนที่บอกว่ารับไว้ตรวจสอบ เรื่องร้องเรียนที่บอกว่ารับไว้เพื่อศึกษา และจัดทำข้อเสนอแนะ รวมถึงเรื่องที่รับไว้อื่น ๆ นี่นะครับ และไม่มีการแจ้งผลว่าเรื่องที่ว่านั้น มีการดำเนินการเสร็จสิ้นไปกี่เรื่อง ช่วยเหลือได้จริง ๆ หรือไม่ ประเด็นคือท่านได้มีการแจ้งกลับ ผู้ร้องให้ช่วยถึงผลการดำเนินการหรือไม่ และหากมีการดำเนินการแจ้งกลับนั้นท่านมีมาตรการ ในการดำเนินการอย่างไร ในการที่จะแจ้งให้ผู้ร้องเรียนได้ทราบถึงขั้นตอนกระบวนการ ในการร้อง อย่างที่บอกครับว่า กสม. ไม่ควรจะทำงานในเชิงรับ คือเน้นรับเสียเป็นหลักครับ หรือบางคนไป กสม. ก็ไปยื่นพร้อมซอง แต่ว่าการดำเนินการที่สำเร็จเสร็จสิ้นนั้นมีกี่เรื่อง ดำเนินไปถึงขั้นไหนอย่างไร มีการตอบหรือสื่อสารอย่างไร ผมไปดูปัญหาจากรายงานครับ ท่านประธาน ผมพบปัญหาและอุปสรรคที่ กสม. ได้ระบุไว้ในรายงานนี่ ๓ ประการด้วยกัน
ข้อที่ ๑ เป็นเรื่องอำนาจหน้าที่ของ กสม. กรณีมีการรายงานสถานการณ์ เกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม ซึ่ง กสม. เห็นว่าการกำหนดบทบาทหน้าที่และอำนาจดังกล่าวตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยคณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๒๖ (๔) และมาตรา ๔๔ นั้น ไม่สอดคล้อง กับหลักการความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งขัดกับหลักการปารีส และ กสม. ได้มี การเสนอขอแก้ไขกฎหมายดังกล่าวไปยัง ครม. แล้วเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๖๕ ผมมีความเห็นว่า ถ้า กสม. จะขอแก้ไข พ.ร.ป. ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๒๖ (๔) และมาตรา ๔๔ นั้น กสม. ก็ควรจะต้องขอเสนอแก้ไข รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๔๗ (๔) ด้วย เพราะว่าในมาตรานี้ได้บัญญัติให้ กสม. มีอำนาจหน้าที่ ในการชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้า
ข้อสังเกตข้อที่ ๒.๒ ตามที่ กสม. ระบุว่า พ.ร.ป. ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิ มนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ ไม่ได้ให้อำนาจการประนีประนอมข้อพิพาทด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งแตกต่างกับ พ.ร.ป. พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่มีบทบัญญัติดังกล่าว ผมขอตั้งข้อสังเกตอย่างนี้ครับ ท่านประธาน หากมีการแก้ไข พ.ร.ป. ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ ให้ครอบคลุมถึงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้ด้วยนั้น อาจจะซ้ำซ้อนกับ พ.ร.ป. การไกล่เกลี่ย ข้อพิพาท พ.ศ. ๒๕๖๒ และหากมีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจริง ควรที่จะแก้ไข พ.ร.บ. การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ให้รวมถึงกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและควรปรับเพิ่ม ทุนทรัพย์ให้สูงกว่าเดิม ความจริงเรื่องของการไกล่เกลี่ยกับการประนีประนอม ถ้าไปถาม ผู้เสียหายหรือผู้ร้องนี่นะครับ ไกล่เกลี่ยก็น่าจะพอรับได้ แต่ประนีประนอมสำหรับผู้ได้รับ ผลกระทบผู้เสียหายอาจจะทำใจลำบาก แต่ประเด็นที่จะไม่ให้ซ้ำซ้อนกันนี่นะครับ ก็ควรจะ เปลี่ยนจากคำว่า ไกล่เกลี่ย เป็นการประนีประนอมและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับคำว่า ไกล่เกลี่ย ตาม พ.ร.บ. การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
ข้อสังเกตข้อที่ ๒.๓ เรื่องการไม่ตอบข้อเสนอของ กสม. ในเรื่องของ การละเมิดสิทธิมนุษยชนของหน่วยงานต่าง ๆ เนื่องจาก กสม. ไม่ได้มีอำนาจในการบังคับบัญชา หน่วยงานนั้น ๆ กรณีนี้มีความเห็นนะครับว่า กสม. นั้นควรจะแจ้งต่อ ครม. และรัฐสภา เพื่อให้กำชับหรือติดตามการปฏิบัติงานของหน่วยงานรัฐ และรายงานผลการปฏิบัติงาน ประจำปีที่รายงานต่อสภา ควรระบุว่าได้มีการแจ้งข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานใดแล้วด้วย ท่านประธานที่เคารพครับ ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรม ผมขอให้กำลังใจ กสม. ให้ท่านได้ไปยกระดับเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้เกิดประสิทธิผลให้ลุล่วงและทำงาน แข่งกับเวลา ตรงไหนที่เป็นอุปสรรคท่านต้องทะลุและผ่าทางตันไปให้ได้ อย่าเอาความหวัง ของประชาชน อย่าเอาความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบผู้เสียหายไปนั่งทับไว้ที่ซอกตึก วันนี้ทุกคนอยากเห็นการยกระดับของ กสม. ซึ่งที่ผมกราบเรียนในเบื้องต้นนี้ครับว่า เรามี กสม. ไม่ได้มีไว้แบบเท่ ๆ แต่ต้องแก้ปัญหาได้จริงครับกราบขอบพระคุณครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ โดยหลักการ เหตุผล วัตถุประสงค์ของกองทุนนั้นถือว่าเป็นหลักการที่ดี ยิ่งถ้าเราไปดูความสำคัญของปัญหา ๔๐ กว่าปีที่ผ่านไปนั้นเราได้เห็นว่าถ้าทำได้ตาม วัตถุประสงค์ กองทุนสงเคราะห์เกษตรกรนั้นจะเป็นตัวช่วยที่จะนำพาพี่น้องเกษตรกร ออกจากความยากจน แต่ว่าเราไม่สามารถจะดูเพียงแค่หลักการ เหตุผล และวัตถุประสงค์ เท่านั้น เพราะถ้าดูแค่นั้นเหมือนกับการที่เราไปอ่านหนังสือชี้ชวน แล้วเป็นหนังสือชี้ชวนที่ดี แต่ทำงานจริงผลการปฏิบัติการนั้นอาจจะไม่ตรงปกก็เป็นได้ ท่านประธานที่เคารพครับ ผมขออนุญาตตั้งข้อสังเกตในชื่อกองทุน กองทุนชื่อว่า กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ถ้าเราไป ตีความหรือแปลความหมายของคำว่าสงเคราะห์ น่าจะหมายถึงการให้โดยไม่มีเงื่อนไข ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน หรือเป็นการให้ที่ผู้รับแทบจะไม่มีสิทธิได้รับแต่ก็ได้รับด้วย แต่ในความเป็นจริงกองทุนดังกล่าวนั้นไม่ได้ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรแบบชนิดที่เรียกว่า ทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย กองทุนมีเงื่อนไขครับ แล้วก็มีอุปสรรคพอสมควร ที่จะทำให้ เกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงกองทุนนี้ได้ ดังนั้นผมขออนุญาตตั้งข้อสังเกตว่าถ้าเราตั้งกองทุน สงเคราะห์พี่น้องเกษตรกรขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือจริงนั้น เราต้องไปรู้จักพี่น้องเกษตรกรก่อนว่า ถ้าเขาไม่เข้าร่วมโครงการนี้ กองทุนนี้ ปกติเขาจะลงทุน จะเลี้ยงวัว เลี้ยงหมู จะปลูกผัก ปลูกพืช เขากู้อะไรครับ ก็พบว่าจำนวนมากของพี่น้องเกษตรกรนั้นกู้ ธ.ก.ส. ถ้า ธ.ก.ส. เต็มวงเงินแล้ว ก็ไปรอลูก Free Kick คือมาตรการเงินช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาจากภาครัฐ ซึ่งมีเป็นฤดูกาล ดังนั้นข้อจำกัดของพี่น้องเกษตรกรที่เข้าถึงกองทุนนี้เป็นไปด้วย ความยากลำบาก พอมีกองทุนนี้ขึ้นมาพี่น้องเกษตรกรก็มีความสุขแล้วก็คาดหวังว่านี่คือ แสงสว่างจากปลายอุโมงค์ที่สว่างวาบขึ้น แท้จริงแล้วมันอาจจะเป็นเพียงแค่ไฟจากหน้ารถ ที่วิ่งสวนทางมา ไม่ได้เป็นแสงสว่างที่เป็นความมั่นคงยั่งยืนแต่อย่างใด ดังนั้นผมมีข้อสังเกต ที่จะแนบไปพร้อมความห่วงใย สัก ๕ ประการครับท่านประธาน
ประการที่ ๑ ชื่อกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร แต่ทำจริงเหมือนจะสงเคราะห์ เฉพาะส่วนราชการ หรือองค์กรภาคเกษตรกรรมขนาดใหญ่ เช่น อ.ต.ก. มีบางองค์กร ผมไม่ต้องลงไปลึกถึงขั้นระบุชื่อองค์กรนะครับ เป็นองค์กรภาคการเกษตรขนาดใหญ่ เข้าถึง การกู้ กู้เงินไป ๓๐๐-๔๐๐ ล้านบาท แล้วกู้นานมากก็ไม่สามารถใช้คืนได้ จะใช้คำว่า Haircut จะใช้คำว่าปรับโครงสร้างหนี้ก็ว่ากันไป ตั้งคำถามว่าถ้าเงิน ๓๐๐-๔๐๐ ล้านบาทนั้น ไม่กระจุกตัวอยู่เฉพาะองค์กรภาคการเกษตรขนาดใหญ่ หรือส่วนราชการขนาดใหญ่ มันกระจายไปยังพี่น้องเกษตรกร พี่น้องเกษตรกรจะเข้าถึงแหล่งทุน แล้วป่านนี้พี่น้อง เกษตรกรของไทยจะสามารถลืมตาอ้าปากได้มากขนาดไหน อย่างไร ดังนั้นตั้งข้อสังเกตว่า แทนที่ท่านจะกระจุกเงิน ๓๐๐-๔๐๐ ล้านบาท ไปไว้กับองค์กรทางการเกษตรขนาดใหญ่ ท่านควรจะกระจายไปยังเกษตรกรรายย่อย หรือองค์กรทางการเกษตรขนาดเล็กลงไป
ประการที่ ๒ เกษตรกรที่ไปยื่นคำขอกู้ กว่าจะรู้ว่าผ่านหรือไม่ผ่านใช้เวลานาน มากเลยครับ บางคนยื่นไปแล้วก็เงียบไปเสียเฉย ๆ ถ้าร้องเป็นเพลงก็ต้องบอกว่ากลับตัว ก็ไม่ได้ ให้ไปต่อไปก็ไปไม่ถึง ไม่มีสัญญาณตอบรับจากเลขหมายที่ท่านเรียก เป็นไปได้หรือไม่ ที่ทางกองทุนจะกำหนด Timeline ว่าถ้ายื่นเรื่องเข้ามาภายใน ๒ สัปดาห์หรือ ๑ เดือน จะต้องมีคำตอบกลับไปยังเกษตรกรที่เป็นเจ้าของเรื่องที่ขอยื่นกู้เข้าไป
ประการที่ ๓ กองทุนสงเคราะห์เกษตรกรนั้นท่านต้อง Make it Easy ครับ ทำเรื่องอยากให้กลายเป็นเรื่องง่าย แล้วต้องผ่อนปรนหลักเกณฑ์บางอย่าง คือถ้าท่านไป ทำตัวเหมือนกับเงื่อนไขของธนาคารพาณิชย์ เกษตรกรไทยก็ไม่สามารถเข้าถึงท่านได้เลยครับ ดังนั้นแทนที่จะทำให้เงื่อนไขมันยากขึ้น ท่านควรจะผ่อนปรนหลักเกณฑ์ กติกา เพื่อให้พี่น้อง เกษตรกรเข้าถึงได้โดยง่าย
ประเด็นที่ ๔ ความยุ่งยากมาพร้อมกับความล่าช้า เวลาไปยื่นกู้นะครับ จะต้องไปเขียนแผนธุรกิจ เป็นไปได้ไหมครับที่กองทุนจะมีเจ้าหน้าที่ถ้าพี่น้องเกษตรกร ทำแบบ Step by Step จับมือทำครับ แผนธุรกิจที่ว่านี้บางทีเขาเขียนไม่เป็นครับ ถ้าเจ้าหน้าที่จะได้ลงพื้นที่ไปดูสิครับว่าเขาเลี้ยงหมูอย่างไร โครงการโคล้านตัวจะเข้าถึง จะวัวเนื้อ วัวนมทำอย่างไร และความล่าช้าที่สูญเสียไป ๓-๔ ปี ถ้าเขาได้รับการอนุมัติ ได้รับเงินกองทุนมาป่านนี้วัวอาจจะล้นคอก หมูอาจจะล้นฟาร์มไปแล้ว นี่คือความเสียโอกาส ที่พี่น้องเกษตรกรเข้าไม่ถึงกองทุนนี้
ประการที่ ๕ ในภาคของการลงทุนครับท่านประธาน เราเคยได้ยินคำว่า กองทุนรวม แต่สำหรับมาตรการในการช่วยเหลือ ในการส่งเสริมให้พี่น้องเกษตรกรเข้าถึง แหล่งทุนนั้น คงไม่ใช้คำว่า กองทุนรวม ผมอยากใช้คำว่า รวมกองทุน ทำไมต้องรวมกองทุน วันนี้แต่ละกองทุนนั้นมีความซ้ำซ้อน แต่ละกองทุนมีการบริหารจัดการแบบเป็นเอกเทศ บางกองทุนนั้นมีเงินงบประมาณ มีเงินในกองทุนไปซุกซ่อนอยู่ในหมวดต่าง ๆ ที่มีคนหา ไม่เจอ แล้วที่สุดก็ใช้เงินไม่หมดครับ พี่น้องเกษตรกรเข้าไม่ถึง ดังนั้นถ้าเราสามารถที่จะจัด โครงสร้างของกองทุนต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลดความซ้ำซ้อน และเอามาบูรณาการร่วมกันในแต่ละกองทุน เป็นบริการแบบ One Stop Service ให้พี่น้อง เกษตรกรเข้าถึงโดยง่าย จะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกรมากกว่า ผมต้องขอขอบคุณ ทางเจ้าหน้าที่กองทุนที่ให้ความใส่ใจ แล้วก็ดูแลพี่น้องเกษตรกรไทย แต่เราไม่สามารถดูได้ แค่หนังสือชี้ชวน ต้องทำให้ตรงปกด้วยครับ กราบขอบพระคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของสภาองค์กรของผู้บริโภค ก่อนอื่นผมต้องขอชื่นชมกับวาระ และพันธกิจตลอด ๒๓ ปี ของสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการดูแล ผู้บริโภคในประเทศไทย ท่านประธานครับ ผมใช้เวลาอ่านรายงานฉบับนี้ ๒ สัปดาห์ ความจริงตั้งแต่เอามาวางไว้ก็เริ่มอ่าน ก็เห็นว่ารายงานก็เป็นปัจจุบันเรียบร้อยดีครับ ท่านประธาน แต่พออ่านไปอ่านมาแล้วแม้จะเป็นปัจจุบัน แต่มองเห็นปัญหาว่ายังขาด มาตรการ หรืออาจจะยังไม่ครอบคลุมในส่วนของการเตรียมการที่จะรองรับปัญหาที่จะ เกิดขึ้นในอนาคต ท่านประธานครับ ในรายงานบอกว่าสภาองค์กรของผู้บริโภคนั้นทำงาน ใน ๒ มิติ ทั้งในเชิงรุก แล้วก็เชิงรับ แต่ถ้าเราประเมินผลการปฏิบัติการ เราจะเห็นแต่เชิงรับ มากกว่าเชิงรุก ในรายงานท่านบอกด้วยครับว่าจะเป็นตัวแทนในการคุ้มครองดูแลผู้บริโภค ๘ ด้าน ผมก็อ่านรายงานรู้ ดูรายงานเป็นครับ ผมก็ตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่ามีข้อห่วงใย ๘ ประการสั้น ๆ ดังต่อไปนี้ครับท่านประธาน
ประการที่ ๑ มีการตั้งคำถามจากภาคประชาสังคมว่าเอาจริง ๆ แล้ว สภาองค์กรของผู้บริโภคนั้นเป็นเสือกระดาษจริงหรือไม่ ข้อสังเกต ข้อท้วงติง คำแนะนำ ข้อเสนอแนะ ที่ท่านส่งไปยังหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคเอกชนอื่น ๆ นั้นเขารับไป ปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน อย่างไร และเราจะช่วยกันทำอย่างไรเพื่อให้สภาองค์กรของผู้บริโภคนั้น จะไม่ได้ทำหน้าที่แค่เป็นเสือกระดาษอีกต่อไป
ประการที่ ๒ สภาองค์กรของผู้บริโภคนั้นต้องไม่กระทำตน หรือปฏิบัติตน เป็นเหยื่อเสียเองครับ หมายความว่าท่านต้องไม่เป็น ๑ ในผู้ที่ร่วมชะตากรรมว่าไปร้อง อะไรแล้วไม่มีความคืบหน้า ร้องอะไรแล้วไม่มีผลสัมฤทธิ์ในการร้องเรียน ซึ่งก็ไม่น่าจะ ต่างจากผู้บริโภคทั่วไปที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ดังนั้นท่านต้องเป็นหัวหอกครับ ท่านต้องไม่เป็นเหยื่อ หรือตกเป็นผู้ได้รับผลกระทบเฉกเช่นเดียวกับผู้บริโภคทั่วไป ในประเทศไทย
ผมตั้งคำถามในประการที่ ๓ ถึงมาตรฐานการดำเนินการของสภาองค์กร ผู้บริโภคว่ามีมาตรฐานที่เป็นสากล หรือเป็นมาตรฐานเฉพาะในประเทศ ความจริงรัฐบาล ชุดรักษาการเขากล้าหาญชาญชัยถึงขั้นเขียนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี แต่เราตั้งคำถามนะครับว่า สภาองค์กรผู้บริโภคนั้นได้เตรียมการรองรับสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี มากน้อย แค่ไหน อย่างไร
ประการที่ ๔ เทคโนโลยีก้าวไกล สภาองค์กรผู้บริโภคไทย ต้องก้าวทัน วันนี้มี ผู้ตกเป็นเหยื่อหรือได้รับผลกระทบจากการกระทำผิดหรืออาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้รับ ผลกระทบจากการลงทุนในสกุลเงิน Digital แก๊ง Call Center เมื่อวานนี้มีการแถลงข่าว ที่จังหวัดเชียงราย มีการทลายแก๊ง Call Center มีการใช้เทคโนโลยี AI ในการจะปฏิบัติการ ระบบ LINE แล้วสามารถใช้ AI เปิดภาพให้เห็นเป็นตำรวจแล้วอยู่ในโรงพัก มูลค่า ความเสียหายใกล้ ๆ ๑,๐๐๐ ล้านบาท ทุกครั้งที่มีข่าวจับได้แบบนี้ ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อหรือได้รับ ผลกระทบก็ภาวนาว่าขอให้แก๊งที่ถูกจับนี้เป็นแก๊งที่เอาเงินเราไป วันนี้ผู้ได้รับผลกระทบ อายุน้อยลงไปทุกขณะ ทางสภาองค์กรของผู้บริโภคได้มีมาตรการในการดูแลเรื่องนี้อย่างไร เรื่องของการขาย Online และเรื่องของการเสียสิทธิ จากการใช้ Platform ทาง Digital มีการตั้งคำถามจากทั่วโลกนะครับว่ายักษ์ใหญ่ที่เป็น 4 Kings ของ Platform Digital ไปประกอบธุรกิจในหลายประเทศได้อย่างไรโดยไม่เสียภาษี และหากมีการล่วงละเมิดหรือใช้ ความรุนแรงผ่าน Platform Social Media นั้น สภาองค์กรของผู้บริโภคจะมีมาตรการ และดูแลเรื่องนี้อย่างไร
ประการที่ ๕ ปัญหาเรื่องของค่าพลังงานแพง ค่าแรงถูก วันนี้ค่าไฟขึ้นราคา ค่าก๊าซขึ้นราคา เพื่อนสมาชิกจากพรรคเพื่อไทยพูดหลายท่านว่าโครงสร้างราคาพลังงาน ของประเทศวันนี้ไม่โปร่งใส ไม่สามารถตรวจสอบได้ เราจะไปดูเรื่องนี้ได้อย่างไร เพราะการตรวจสอบของประชาชนในฐานะผู้บริโภคนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก
ประการที่ ๖ ปัญหาการควบรวมกิจการโทรคมนาคม การแข่งขันมันลดลง เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่ ๒ บริษัทมาควบรวมกัน เรื่องของชั่วโมง Internet เรื่องของระบบ Internet ล่ม การชดเชยเยียวยาเป็นอย่างไร แจ้งยกเลิกแล้วไม่ยกเลิก ระบบคิดค่าใช้จ่าย ยังเดินหน้าต่อไป มีการครอบคลุมดูแลเรื่องนี้อย่างไร
ประการที่ ๗ ทางสภาองค์กรของผู้บริโภคได้มีมาตรการรณรงค์ หรือการส่งเสริมเพื่อให้คนไทยนั้นมีสวัสดิภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร เช่น พ.ร.บ. อากาศ สะอาดที่พรรคเพื่อไทยได้เสนอเมื่อคราวที่แล้ว คนไทยต้องมีสิทธิที่จะได้รับอากาศบริสุทธิ์ การแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน Carbon Credit คนไทยต้องเข้าถึงสิทธิอากาศสะอาด ได้เตรียมการในโลกอนาคตไว้อย่างไร วันนี้เราตื่นเต้นที่เรามีรถไฟฟ้า มีรถ EV แต่ว่า ประเทศจีนไปไกลถึงขั้นรถพลังงานสะอาดเป็นรถไฮโดรเจน ในอนาคตเราเตรียมการไว้ อย่างไรว่าถ้าซื้อรถ EV มาใช้แล้วเกิดอุบัติเหตุมันเกินทุนประกันจะรับผิดชอบอย่างไร หรือเป็นรถไฮโดรเจนที่ได้รับผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพ ทรัพย์สิน ชีวิต ของพี่น้องประชาชน จะดูแลอย่างไร
ประการที่ ๘ สภาองค์กรของผู้บริโภคนั้นได้ไปดูแลสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ในทุกมิติ ทุกบริบทอย่างไร เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้โหดทั้งแบงก์ ทั้ง Non แบงก์ มีมาตรการ ในการควบคุมได้อย่างไร วันนี้ผู้บริโภคก็แสวงหาดิ้นรนทางรอดกันเองว่าถ้าเป็นหนี้ บัตรไม่ต้องตกใจ มีแผนปฏิบัติการอย่างไร
ท้ายที่สุดครับ ผมตั้งข้อสังเกตอย่างนี้ว่าหน่วยงานในการคุ้มครองผู้บริโภค ในประเทศของเรานั้นมีมากมายหลายหน่วยงาน เปรียบไปแล้วก็เหมือนคนนอนเตียงเดียวกัน แต่ฝันคนละเรื่องต่างคนต่างทำ ทำอย่างไรที่เราจะบูรณาการและเชื่อมโยงโดยยึดเอา ประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นสำคัญ กราบขอบพระคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อรายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ประจำปี ๒๕๖๕ ผมต้องกราบเรียนว่าอ่าน ๕ ปีแผนปฏิรูปประเทศแล้วมีแนวโน้มครับว่าอาจจะต้องกลับไป ทำแผนใหม่ ลักษณะมันจะหมุนวนเป็นวัฏสงสาร คือวางแผนแล้วปฏิบัติการไม่ได้ตามแผน ตั้งคณะกรรมการเพื่อไปร่างแผนแล้วไปทำตามแผนใหม่ เมื่อไม่สัมฤทธิผลก็กลับไปร่างใหม่ แต่ที่ผมพูดนี่ไม่ได้หมายความว่า ๕ ปีที่ผ่านไปนั้นเป็น ๕ ปีที่สูญเปล่า ท่านประธาน ที่เคารพครับ ในดีมีเสีย ในเสียมีดี เพียงแต่ว่าเราดู Teaser ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยินว่าจะมี คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ เรานึกว่าเราจะได้ดูหนังบู๊ดุเดือด ล้างผลาญ ฉลอง ภักดีวิจิตร ระเบิดภูเขา เผากระท่อม แต่ดูจนจบ ๕ ปี กลายเป็นหนังชีวิต หนัง Drama ที่จบไม่ลง ในวาระครบ ๕ ปี ถ้าเป็นจดหมายรายงานฉบับนี้ก็จะถือว่าเป็นจดหมายฉบับสุดท้าย แต่นั่น ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากรายงานหรือจดหมายฉบับสุดท้ายนี้ ในโอกาสครบ ๕ ปีที่สิ้นสุดไป ผมขออนุญาตมีข้อสังเกต ๕ ประการด้วยกัน ผมตั้งข้อสังเกตถึงแผนปฏิรูปประเทศ ว่าเกิดขึ้นหลังการทำรัฐประหาร แล้วก็มีรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ จะเรียกว่าเป็น EP ต่อมา หรือเป็นภาคต่อจากสภาปฏิรูปประเทศ จากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศชุดต่าง ๆ ก็ว่าไปครับ แต่ว่าคำว่า ปฏิรูป นี่เป็นคำใหญ่ครับ แต่เราใช้คำว่าปฏิรูปในช่วง ๘-๙ ปีที่ผ่านมาจากคำใหญ่กลายเป็นคำเล็ก แล้วก็กลายเป็นคำที่ ประชาชนฟังแล้วรู้สึกเฉย ๆ ผมไปเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานนี่ เขาบอกว่า ปฏิรูป หมายถึง การทำให้ดีขึ้น แต่เป็นการทำในลักษณะค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป ไม่กระโชกโฮกฮาก แต่ในพจนานุกรมไม่ได้บอกนะครับว่าถ้าทำไม่สำเร็จจะกลับไปทำใหม่หรือปฏิรูปใหม่ แต่อย่างน้อย อย่างที่ผมตั้งข้อสังเกตว่า ๕ ปี ปฏิรูปประเทศผ่านไป ตัวชี้วัดที่เราวัดกันง่าย ๆ ๒ มือล้วง เข้าไปในกระเป๋าเราไม่ได้พบว่ามีสินทรัพย์ มีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นครับ แต่ไม่ถึงขั้นกับว่า กระเป๋าว่างเปล่า รัฐราชการรวมศูนย์ที่มีคนตั้งข้อสังเกต วันนี้กลายเป็นรัฐราชการรวมศูนย์ ที่รวมมากกว่าเดิม ประกาศว่าประเทศไทยจะเป็น Thailand 4.0 ทำไปทำมากลายเป็น Thailand 0.4 ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น อันนี้ไม่ต้องเถียงครับ ที่พอเถียงกันได้ก็คือตกลง ประเทศไทยเหลื่อมล้ำเป็นอันดับ ๑ ของโลกใช่หรือไม่ เรื่องของคนจน เมื่อสักครู่ ท่านเลขาธิการลุกขึ้นมาตอบนะครับว่าคนจนที่เป็นเส้นค่าความยากจน กับคนจนที่ถือบัตร สวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจนนี่เป็นคนละเกณฑ์กัน แต่เอาว่าที่ประชาชนฟังเข้าใจโดยง่าย ก็คือว่าจากคนจน ๘ ล้านคน วันนี้มาเป็น ๒๐ ล้านคน จะเส้นค่าเฉลี่ยเส้นความยากจน ตรงไหนก็สุดแท้ แต่ว่ามันความจนเพิ่มขึ้น คนจนเพิ่มมากขึ้น แต่ประเทศนี้ไม่ใช่จะจนกันง่าย ๆ ก่อนจะจนได้ต้องผ่านการพิสูจน์ความจนก่อนนะครับ บางคนนี่จนขนาดพิสูจน์ไม่ได้ครับว่า ตัวเองจน แต่ตัวเลขมันเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สิ่งที่ผมตั้งข้อสังเกตก็คือว่าแต่ละฝ่ายอ่าน รายงานแล้วเกิดคำถาม ว่ารายงานของแผนการปฏิรูปประเทศนั้นมีผลผูกพันต่อองค์กรอื่น หรือมีผลผูกพันต่อทุกองค์กรหรือไม่ คำแนะนำข้อเสนอแนะที่ท่านเสนอไปในหน่วยงาน ภาครัฐองค์กรอื่น ๆ นั้นมีงบประมาณตามไปหรือไม่ ในเรื่องของการกระจายอำนาจ ท่านประธานครับ เราได้เห็นความเดือดร้อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ออกมาบ่น ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาว่าเป็นการโอนเฉพาะภาระงาน แต่ไม่ได้โอนงบประมาณตามไป ด้วย นั่นก็เกิดภาวะสุญญากาศในส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท่านบอกว่าแผนปฏิรูป มี ๑๓ ด้านนะครับ ก็ต้องประเมินด้วยความเป็นธรรมว่าใน ๑๓ ด้านนี่เรื่องที่พอจะคุยได้ พอจะเป็นเนื้อเป็นหนัง เป็นมรรคเป็นผล น่าจะเป็นเรื่องของกฎหมาย แต่ว่าก็ไปไม่สุดหรอกครับ หลายเรื่องมีปัญหาติดตามมาว่าถ้าข้อเสนอกับการดำเนินการการปฏิบัติการของหน่วยงาน ต้นสังกัดที่แนะนำไปไม่ตรงกันอะไรคือบทสรุปว่าทิศทางที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไร ผมขอชื่นชมนะครับ ท่านที่ทำรายงานมาเสนอต่อสภา ที่ต้องชื่นชมเพราะว่าท่านสามารถ เขียนเรื่องที่ดูเหมือนไม่มีอะไรครับ ให้ดูเหมือนมีอะไร สิ่งที่เราอยากจะเห็นว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้นเราน่าจะใช้โอกาสในการที่มีกรรมการปฏิรูปประเทศนี้ ในการที่จะยุบรวม หรือผ่าตัด หรือบริหารจัดการหน่วยงานที่มันซ้ำซ้อนกัน เช่น เรื่องน้ำ มีไม่ต่ำกว่า ๑๗ หน่วยงาน หรือกระทรวงบางกระทรวง ผมยกตัวอย่าง เช่น ชื่อกระทรวง การท่องเที่ยวและกีฬา กรรมการชุดนี้อาจจะทำข้อเสนอว่าที่จริงท่องเที่ยวและกีฬามันน่าจะ แบ่งแบบผิดฝาผิดตัวหรือไม่ มันควรจะเป็นกระทรวงการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมหรือเปล่า หรือหน่วยงานเพื่อความเป็นเลิศด้านกีฬา ควรจะกลับไปสังกัดกระทรวงศึกษาธิการหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามผมยังยืนยันว่า ๕ ปีที่ผ่านไปนั้นไม่ใช่ ๕ ปีที่สูญเปล่าครับ และวันนี้เรากำลังจะมีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มเข้ามารับไม้ต่อ ผมกราบเรียนนะครับ ว่าสิ่งที่ได้ศึกษามาถ้าจะได้มีการเชื่อมประสานกับรัฐบาลใหม่ และเพื่อการรับไม้ต่อ ที่จะดำเนินการต่อไปให้เป็นประโยชน์นั้นก็จะถือว่า ๕ ปีที่ผ่านไปนั้นจะไม่ใช่ ๕ ปีที่สูญเปล่า ผมเรียนในตอนท้ายครับว่าเราจงตั้งเป้าหมายไว้ให้ไกลครับ เพราะถ้าเราตั้งเป้าหมาย ไว้ที่ดวงจันทร์อย่างน้อยถ้าไปไม่ถึงเราก็ยังตกอยู่ท่ามกลางหมู่ดาวครับ กราบขอบพระคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล สำหรับปีสิ้นสุด วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ ท่านประธานครับ ก่อนอื่นผมต้องขอขอบคุณทางกองทุน และกรมทรัพยากรน้ำบาดาลที่ได้มาชี้แจงต่อสภาในวันนี้ ความจริงถ้าเอาตามที่ท่านศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ พูดก็ต้องบอกว่ากรมนี้เป็นกรมที่อุดมไปด้วยนักวิชาการ นักวิจัย วิศวกร นักธรณีวิทยา เรียกว่ามีนักปราชญ์ราชบัณฑิตแน่นกรม แต่โจทย์ที่ต้องตีให้แตกก็คือว่าเราจะเอาองค์ความรู้ ที่มีอย่างมากมายนั้นไปแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างไร สิ่งที่เราต้องตามไปดู ก็คือว่างานวิจัยที่ได้ใช้งบประมาณโดยการสนับสนุนของกองทุนนั้นได้ถูกนำไปต่อยอด นำไปปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร เราไม่อยากเห็น งานวิจัยที่อยู่บนหิ้ง แต่ต้องเป็นงานวิจัยที่เอาลงมาจากหิ้ง และไปแก้ไขปัญหาในชีวิตจริง ให้กับพี่น้องประชาชน ท่านประธานครับ น้ำคือชีวิต น้ำคือปัจจัยพื้นฐานในการผลิต อย่างน้อยก็ ๓ ด้านหลัก ๆ ก็คือ น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตรกรรม น้ำเพื่ออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมก็แบ่งได้ อุตสาหกรรมขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ประเทศไทยต้องเผชิญกับสภาวะปัญหา El Nino ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาโลกร้อน จริงอยู่ว่า เรามีน้ำในผิวดิน แต่ถ้าหากว่าเราไม่ได้ใส่ใจหรือมุ่งมั่นในการค้นหาแหล่งน้ำใต้ดินที่ดูแล โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลนั้น ก็เรียกว่าเราจะขาดโอกาสการเติมความมั่นคงในเรื่อง ทรัพยากรน้ำให้กับประเทศชาติและประชาชน แต่เรื่องของการพัฒนารัฐบาลได้ให้นโยบายไว้ ว่าสนับสนุนงานวิจัยที่จะไปดูในเรื่องของ ๑. เกี่ยวกับการจัดหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เป็นหลัก ๒. งานวิจัยนั้นจะต้องตอบโจทย์ในเรื่องของการแก้ปัญหาภัยแล้ง ๓. ต้องเป็น การสร้างความสมดุลและบริหารจัดการโครงการศึกษาวิจัยที่จะนำไปสู่การพัฒนา และอนุรักษ์ควบคู่ไปด้วย คำถามต่อไปก็คือว่าทำอย่างไรถึงจะเข้าถึงเงินสนับสนุนของกองทุน ๑. งานวิจัยนั้นจะต้องมีเป้าหมายและมีแนวทางที่ชัดเจน ๒. ตอบสนองต่อความต้องการ ของประชาชน ๓. นำไปสู่การพัฒนาประเทศ ผมมีข้อห่วงใยสัก ๕ ประการด้วยกัน
ข้อห่วงใยประการที่ ๑ ทำอย่างไรเราถึงจะเปิดกว้างให้นักวิจัยได้สามารถ เข้าถึงเงินสนับสนุนได้กว้างและมาก และหลากหลายกว่านี้ ทำอย่างไรที่จะทำให้ผู้ได้รับ งบวิจัยสนับสนุนนั้นไม่เป็นการ Lock Spec หลายโครงการต่างคนต่างทำ มองปัญหา แบบแยกส่วน ขาดการเชื่อมโยงบูรณาการ
ข้อห่วงใยประการที่ ๒ ผมอยากจะให้เทียบสัดส่วนของงบสนับสนุนงานวิจัย ว่าได้รับงบไปแล้วงานวิจัยดังกล่าวถูกนำไปปรับใช้ ถูกนำไปต่อยอด ไปใช้จริงอย่างไร ถ้าเทียบสัดส่วนเป็นเปอร์เซ็นต์จะได้ศึกษาและวิเคราะห์ความคุ้มค่า คุ้มทุนได้อย่างชัดเจน
ข้อห่วงใยประการที่ ๓ ผมอยากให้กองทุนได้ออกสำรวจแหล่งน้ำ ออกให้เยอะ สำรวจให้มาก ขุดให้มาก อย่าไปผลักภาระหรือไปฝากความหวังไว้กับองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น จะฝากไว้ อบต. หรือองค์กรใดก็ตามแต่ เขามีปัญหาทั้งเรื่องของบุคลากร เรื่องของเครื่องมือเครื่องไม้ เรื่องของงบประมาณ อยากจะฝากในข้อที่ ๓ ว่าอยากให้ทาง กองทุนสำรวจให้มาก แล้วขุดเจาะให้มาก งบไม่พอมาบอกครับ จะบอกกรมทรัพยากร น้ำบาดาลหรือบอกทางกระทรวงก็ได้ แล้วก็บอกรัฐบาลได้
ข้อห่วงใยประการที่ ๔ มีการแอบอ้างจากมิจฉาชีพให้เข้าใจว่าสามารถ จะวิ่งเต้นให้เข้าถึงเงินสนับสนุนของนักวิจัย เข้าถึงกองทุนได้ ซึ่งตกเป็นข่าวแล้วก็มีเหยื่อ มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก และเรื่องของการแอบอ้างนั้นไม่ได้หลอกเฉพาะนักวิจัย มีการไปหลอกลวงพี่น้องประชาชนซึ่งไม่เกี่ยวกับกองทุน ไม่เกี่ยวกับทางกรม เช่นกรณี ของการอ้างว่าได้รับงบอุดหนุน เงินอุดหนุนจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล จากการขุดเจาะ บ่อบาดาล ๑ บ่อประมาณ ๑ ล้านบาท แต่ว่าได้รับเงินอุดหนุนเหลือแค่บ่อละ ๒๕,๐๐๐-๕๐,๐๐๐ บาท พี่น้องประชาชนก็ไปลงขันกันมา สุดท้ายได้ลงเงินครับ แต่ว่า ไม่ได้บ่อ เราจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร โดยเฉพาะการแอบอ้าง คือชื่อกองทุนนี้ดีกองทุน พัฒนาน้ำบาดาล ถูกนำไปแอบอ้างทั้งในส่วนของให้นักวิจัยเข้ามาและในส่วนของพี่น้อง ประชาชน ผมอยู่ในพื้นที่ภาคอีสานพี่น้องประชาชนคนอีสานขาดน้ำ ท่านอดีตอธิบดี ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ ก็บอกว่าน้ำบนผิวดินภาคอีสานอาจจะขาด แต่แหล่งน้ำใต้ดินที่สั่งสมมา เป็นพันปีหมื่นปีเราสามารถนำไปพัฒนาแล้วก็ต่อยอดได้
ท้ายที่สุด ผมขอให้กำลังใจทั้งกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล แล้วก็กรมทรัพยากร น้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ได้เดินหน้าทั้งเรื่องงานวิจัย แล้วก็ไปขุดเจาะให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อเป็นการเพิ่มความมั่นคงให้กับการบริหารจัดการ ทรัพยากรน้ำให้กับประเทศชาติและประชาชนครับ ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออกหรือ สกพอ. ประเทศไทยนั้นติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางมาเป็น ระยะเวลานาน ผมเข้าใจคนจัดทำโครงการนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ อะไรที่พอจะ หยิบฉวยทำได้ก็พึงที่จะทำ ถ้าใช้กฎหมายปกติป่านนี้ไม่แน่ใจว่า EEC จะเกิดหรือยัง แต่การใจเร็วด่วนได้ ขาดกระบวนการมีส่วนร่วม ไม่รับฟังเสียงของพี่น้องประชาชน มันก็อาจจะเกิดปรากฏการณ์หรือสิ่งที่เรียกว่าได้ไม่คุ้มเสียครับ โครงการ EEC นั้นเริ่มโดย คสช. ที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี ๒๕๕๗ ทำให้ขาดปัจจัยที่จะส่งผลต่อความสำเร็จ จากการนำนโยบาย EEC ไปปฏิบัติ ท่านประธานครับ EEC นั้นมีดีหลายอย่าง แต่ในดี มีเสีย ในเสียมีดี ส่วนที่จะต้องเพิ่มเติมเพื่อทำให้โครงการนี้ดียิ่งขึ้นนั้นมีหลายปัจจัยด้วยกัน ที่โครงการนี้ยังไม่ดีเท่าที่ควร เท่าที่ควรจะดีได้ ประการที่ ๑ ขาดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ระหว่างฝ่ายออกนโยบาย ฝ่ายกำกับนโยบาย และฝ่ายปฏิบัติการ ออกมาแล้วก็สับสนอลหม่าน ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน อย่างไร ประการที่ ๒ ขาดกระบวนการมีส่วนร่วม ขาดกระบวนการ ช่วยคิดช่วยทำจากทุกภาคส่วน ประการที่ ๓ ขาดเวทีรับฟังความเห็นของพี่น้องประชาชน ที่หลากหลายครอบคลุม ท่านคณะกรรมการฟังอยู่อาจจะบอกว่ามีเวที ผมก็เรียนว่ามีครับ แต่ว่ายังไม่มาก ยังไม่หลากหลาย และไม่ครอบคลุมพอ พอขาดเวทีมันเลยส่งผลถึงปัจจัยที่ ๔ นั่นก็คือขาดการสนับสนุนจากประชาชน เมื่อสักครู่ขออนุญาตเอ่ยนาม ท่าน สส. ฐิติมา ฉายแสง บอกว่าลงพื้นที่ไปถามชาวบ้าน ถามพี่น้องประชาชนว่า EEC คืออะไร ยังตอบกันไม่ถูกครับ ดังนั้นในมิติของผลกระทบต่อภาคประชาสังคม กระทบต่อพี่น้องประชาชน ผมอยากจะชวน ไปดูผลกระทบที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องของผังเมืองที่ EEC ไปทำลายระบบนิเวศ ไปทำลายวิถีชีวิต ชุมชนของพี่น้องประชาชน ที่ว่าไปทำลายไม่ใช่ข้อกล่าวหาที่เกินจริง มันเกิดจาก ๕ สาเหตุ ด้วยกัน
สาเหตุที่ ๑ โครงการนี้ไปเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรมให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม แล้วก็ขาดความสอดคล้องกับระบบนิเวศ วิถีชีวิตที่เขาอยู่เป็นเกษตรกรรม พอปรับเป็น อุตสาหกรรมที่ประชาชนไม่สามารถก้าวทัน ประชาชนก็เลยตกเป็นผู้รับกรรมครับ
สาเหตุที่ ๒ ในโครงการนี้มีมาตรการทางสิ่งแวดล้อมที่ค่อนข้างจะอ่อนแอ เปิดช่องให้มีการตั้งโรงงานแล้วก็กระทบต่อวิถีชีวิตของภาคประชาชนสังคม กระทบต่อ วิถีชุมชน
สาเหตุที่ ๓ EEC ในส่วนผังเมืองเปิดช่องให้ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว แล้วก็เกิดเป็นขยะสะสมจำนวนมาก มีงานวิจัยบอกว่าอาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย ๑๒ ปี ถึงจะสามารถกำจัดขยะสะสมนี้ได้
สาเหตุที่ ๔ EEC ไปแย่งชิงน้ำจากภาคประชาสังคม ไปแย่งน้ำจากคน ภาคตะวันออก ซึ่งปกติน้ำก็ลำบากอยู่แล้วนะครับ ถ้าเราไปเที่ยวตามโรงแรม Resort ที่พัก ก็จะเห็นแล้วว่าจะมีรถขนน้ำมาเติมให้ ลำพังภาคธุรกิจพื้นฐานเดิม ภาคการท่องเที่ยว ภาคเกษตรกรรมน้ำก็มีปัญหา พอมี EEC แย่งชิงน้ำเข้าไปอีกก็เลยทำให้เกิดปัญหาซ้ำ เข้าไปอีก เพราะว่าใน EEC นั้นใช้น้ำมหาศาล
สาเหตุที่ ๕ แล้วก็ส่งผลถึงปัจจัยการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างภาคเกษตรกรรม กับภาคอุตสาหกรรม สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำแล้วก็นำไปสู่ความขัดแย้ง วันนี้ ผมไม่แน่ใจถ้าเราจะทำประชาพิจารณ์หรือทำประชามติว่าเห็นควรอย่างไรกับโครงการ EEC อาจจะเป็นในลักษณะกลับตัวก็ไม่ได้ ให้ไปต่อไปก็ไปไม่ถึง ไม่รู้ว่าจะหยุด จะไปต่อ หรือควรจะพอแค่นี้ แต่สิ่งที่ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมก็คือว่าช่วงเวลาต่อจากนี้ไปสำนักงาน EEC ต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจบนพื้นฐานของกระบวนการมีส่วนร่วมต่อนโยบายเพื่อสร้าง ความเชื่อมั่น และเร่งขอแรงสนับสนุนจากพี่น้องประชาชน ทางสำนักงานคณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ทางรัฐบาลหน่วยงานที่กำกับดูแลท่านจะลงทุน เรื่องอะไรก็เป็นสิทธิของท่านแล้ว ตราบที่การลงทุนนั้นอยู่บนพื้นฐานของกรอบกฎหมาย และรัฐธรรมนูญรับรองไว้ แต่โครงการนั้นจะไม่สามารถประสบผลสัมฤทธิ์ได้เลยครับ หากขาดกระบวนการมีส่วนร่วม ขาดการช่วยคิดช่วยทำ ขาดการร่วมแรงร่วมใจจากพี่น้อง ประชาชน และผมจึงมั่นใจนะครับ อย่างที่ผมกราบเรียนว่าทุกโครงการในดีมีเสีย ในเสียมีดี เร่งปิดจุดอ่อนเพื่อให้โครงการนี้ได้เดินหน้าต่อไป เพื่อเป็นมรรคเป็นผล เพื่อประโยชน์ ต่อประเทศชาติและประชาชน กราบขอบพระคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี ๒๕๖๕ ของ Thai PBS ผมต้องขออนุญาตกราบเรียน ท่านประธานว่าจะได้มีข้อสังเกต ข้อเสนอแนะแบบชนิดที่เรียกว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้ของ Thai PBS ท่านประธานครับ มีคำกล่าวว่าสื่อมวลชนคือฐานันดรที่ ๔ ของสังคม คำกล่าวนี้ ถูกเอ่ยขึ้นมาเป็นครั้งแรกราวศตวรรษที่ ๑๘ ในประเทศอังกฤษ สมัยก่อนชาวยุโรปเขาแบ่งคน ออกเป็น ๓ ฐานันดรด้วยกัน ฐานันดรที่ ๑ ก็คือกษัตริย์ ขุนนาง นักรบ นี่ฐานันดรที่ ๑ ฐานันดรที่ ๒ บรรพชิต ผู้ทรงศีล นักบวช ฐานันดรที่ ๓ ประชาชนทั่วไป แล้วก็ฐานันดรที่ ๔ สื่อมวลชน เพราะอะไรครับ เพราะภาพสะท้อนของฐานันดรที่ ๔ หรือภาพสะท้อน ของสื่อมวลชนก็คือภาพสะท้อนของสังคมนั่นเอง ผมอ่านรายงานของ Thai PBS ก็ชื่นชม Slogan น่าสนใจ สื่อสาธารณะ คุณค่าที่ยึดโยงกับประชาชน ที่ผมเรียนว่าเป็นแฟนรายการ ชนิดที่เรียกว่าแฟนตัวยงแฟนพันธุ์แท้ ผมชอบหลายรายการ เช่น รายการ Foodwork รายการดูให้รู้ ซึ่งพิธีกรจะต้องบอกว่าพบกับรายการดูให้รู้กับผมฟูจิ ฟูจิซากิ แต่ว่ารายการ ที่ผมไม่ค่อยสบายใจและไม่ค่อยได้ดูบ่อยนักเป็นรายการในแนวข่าวครับ ข่าวในลักษณะที่คน ในวงการข่าวเรียกว่าเป็นข่าวอ่านที่ใช้ Prompter ใช้ Telescript มี บ.ก. มีเจ้าของผู้เปิดปิด ทฤษฎีข้อมูลข่าวสารคอยคัดกรองเรียบเรียงข่าว อันนั้นไม่เป็นปัญหาหรอกครับ แต่ที่ไม่ค่อย สบายใจคือรายการข่าวในประเภทที่เรียกว่ามานั่งวิเคราะห์ในลักษณะชี้นำ แล้วหลายครั้ง เป็นสาเหตุของการนำไปสู่ความขัดแย้ง ก่อนจะไปขัดแย้งข้างนอก ขัดแย้งกันเองในรายการก่อน ผมไม่เอ่ยชื่อรายการ แต่ผมเรียนว่าถ้าเป็นข่าวประเภทเรียบเรียงกลั่นกรองมา อันนี้เราดูได้ อย่างสบายใจ แต่รายการประเภทแนววิเคราะห์ แล้ววิเคราะห์ผิดก็ไม่รับผิดชอบอะไร วิเคราะห์ผิดก็วิเคราะห์ใหม่ ที่วิเคราะห์ใหม่ก็วิเคราะห์ผิด แล้วก็วิเคราะห์ใหม่ไปเรื่อย ๆ เพื่อมากลบวิเคราะห์เก่าที่ผิดไป ถ้าใช้คำแบบชาวบ้านคืออาจจะใช้วิธีการเอาโกหกใหม่ มากลบโกหกเก่า ซึ่งตรงนี้ผมถือว่าอาจจะเป็นการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความขัดแย้งขึ้นมา อีกรอบหนึ่ง ท่านประธานที่เคารพ ผมต้องชื่นชม Thai PBS ว่าในบางช่วงที่มันไม่มีข่าว ประเภท Drama หรือข่าวประเภทผัวตบเมียตี ผัวหนีเมียด่า ผัวกระทืบเมียคลานออกมา ไม่นำเสนอข่าว Drama บางช่องบางสถานีก็เลือกนำเสนอข่าวประเภทเอาข่าวอาชญากรรม มานำเสนอเป็น Series เป็น Ep เป็นตอน ๆ หรือเลยจากข่าวอาชญากรรมก็มาทำเป็นข่าว การเมืองให้เป็นประเด็น Drama ซึ่งต้องเรียนด้วยความชื่นชมว่า Thai PBS แทบไม่ค่อยมีหรือมีน้อยมาก หลายสถานการณ์ ทางการเมืองที่เป็นวาระสำคัญของประเทศเราก็ได้พลอยอาศัย Thai PBS เช่นผลการนับคะแนน เมื่อเลือกตั้งทั่วไป ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๖ การรายงานแบบ Real time ของ Thai PBS ไม่ต้องเร็วกว่าใคร ไม่ต้องวิเคราะห์อะไรมากมายครับ แต่ว่าช้า ๆ แต่ Sure หรือแม้แต่ การรายงานผลการโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ ๓๐ คุณเศรษฐา ทวีสิน ในสภา ผมเห็น เพื่อนสมาชิกในสภาก็ได้พลอยอาศัยดูรายงานแบบ Real time ของ Thai PBS ซึ่งอย่างที่ ผมกราบเรียนไม่จำเป็นต้องเร็วกว่าใคร แต่ขออยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง ช้าได้ครับ แต่ต้อง Sure ประเด็นที่ผมตั้งใจที่จะฝากข้อเสนอแนะซึ่งเป็นความจริง ๑๕ ปีบนทางเดิน ของ Thai PBS วันนี้ต้องเรียนว่าท่านมาได้ไกลมาก ผมไม่ได้ติดใจกรณีที่ว่า Rating ท่านน้อย หรือคนดูท่านไม่มาก เพราะว่าพฤติกรรมของการบริโภคสื่อวันนี้เปลี่ยนไป ช่องทาง และ Air time ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดครับ สิ่งสำคัญที่สุดคือ Content คนอาจจะมาเปิดดูท่านน้อย ในเวลาของการออกอากาศ แต่ TV สมัยนี้หรือ Content สมัยนี้มันสามารถดูย้อนหลังได้ เช่นรายการ Foodwork เขาจะมา ๔ โมงวันอาทิตย์ ดูก็จะหลังจากนั้น ถ้าผมมีโอกาส ลงพื้นที่ ไม่ได้ดู ก็จะกลับมาเปิดดูย้อนหลัง แต่ที่ห่วงก็คือห่วง Content ครับ หลายครั้ง มีสถานการณ์ทางการเมืองที่รายการประเภทวิเคราะห์ข่าวมานั่งคุยกันเอง แล้วก็ไปเอา ชุดข้อมูลจากที่ใดมาไม่ทราบแล้วก็มานั่งคุยกัน พอหมดเวลาเสร็จปั๊บ Tape หน้าก็มา วิเคราะห์ใหม่ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผิด คำถามคือเราไม่ได้เห็นการออกมาขอโทษสังคม ไม่ได้เห็น การออกมาขอโทษประชาชน ผมเข้าใจว่าผู้บริหาร Thai PBS คณะกรรมการบริหารนั้น มีข้อจำกัดในการที่จะไปก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพของการนำเสนอข่าว แต่ผมว่าต้องไปหาวิธีทาง แนวทางในการที่จะทำให้ Thai PBS เป็นสื่อคุณภาพที่เราดูได้อย่างสบายใจ ที่ผ่านมา มีหลายเหตุการณ์ก่อนเข้ารายการอีกแบบหนึ่ง หลังรายการ ต้องยอมรับว่าโลกยุคปัจจุบันนั้น มนุษย์ก็คือสื่อ สื่อก็คือมนุษย์ บางท่านไป Post Facebook บางท่านไปใช้ Platform ใน Social Media ทั้งหลาย มีตัวตนเผยทัศนคติจุดยืนชัดเจน แต่กลับมาเข้าในรายการ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วพอจบรายการก็นำประเด็นในรายการไปขยายความต่ออีกประเด็นหนึ่ง นี่สิ่งที่ผมกังวลว่าเรื่องของความขัดแย้ง วันนี้เราพูดเรื่องก้าวข้ามความขัดแย้ง แล้ว Thai PBS ก็มาไกลมาก ผมฝากว่าท่านจะต้องกลับไปหาแนวทางว่าทำอย่างไรที่จะกลับคืนสู่เป้าหมาย กลับคืนสู่จุดยืน และแนวทางที่ท่านได้วางไว้ ๑๕ ปีของ Thai PBS เดินมาไกล ปรับอีกนิดเดียว ทำอย่างไรจะไม่ไปสร้างความขัดแย้ง ทำอย่างไรจะลดความเหลื่อมล้ำเพื่อที่จะทำให้ ๑๕ ปีของ Thai PBS นั้นเป็นสื่อสาธารณะ เป็นคุณค่าที่ยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ ผมอยากจะขออนุญาตที่จะ Head line หรือพาดหัวประเด็นอภิปราย ของผมว่า อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด พรรคเพื่อไทย เสนอ ๕ แนวทาง ในการแก้ไขปัญหาสินค้า เกษตรราคาตกต่ำ และเราได้เห็นการพิจารณา การอภิปรายในญัตติที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่อง ลักษณะนี้ เช่น สินค้าเกษตรราคาตกต่ำ ผลผลิตล้นตลาด ผลิตออกมาได้ไม่สามารถมีตลาด รองรับได้ ผมมี ๕ แนวทางที่จะได้เสนอ จะใช้คำว่า แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างก็พอไปได้ จะใช้คำว่า รดน้ำที่ราก ก็สามารถที่จะไปด้วยกันได้ แต่ก่อนอื่นเราต้องเรียนอย่างนี้นะครับว่า ปัญหาของพี่น้องเกษตรกรที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าได้อภิปราย ได้ถกแถลงกัน ต่างกรรม ต่างวาระในสภาแห่งนี้หลายครั้ง และครั้งนี้ก็เป็นอีก ๑ ครั้ง ผมไม่อยากให้พี่น้องเกษตรกร ที่ติดตามการถ่ายทอดสดอยู่ในขณะนี้ได้ฟังการอภิปรายแบบสิ้นหวัง เรามีรัฐบาลใหม่ พี่น้องเกษตรกรก็จะได้ตั้งตาฟังว่าจะมีเครื่องมือใหม่ มีแนวทางใหม่ที่จะช่วยเหลือเยียวยา ทั้งระบบให้กับพี่น้องเกษตรกรได้อย่างไร
แนวทางที่ ๑ ที่อยากฝากไปยังรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามาแถลงนโยบาย และจะขับเคลื่อนฟื้นฟูเยียวยาพี่น้องเกษตรกร แนวทางแรกก็คือเรื่องของการลดต้นทุน ลดปัจจัยการผลิตให้ราคาต่ำลง ต้องยอมรับนะครับว่าศักยภาพของเกษตรกรไทยเทียบกัน หมัดต่อหมัด ปอนด์ต่อปอนด์ ปลูกข้าวเราก็ไม่แพ้ใคร ปลูกมันเราก็เก่งกว่าใคร แต่ว่าสิ่งที่เกิด เป็นปัญหาในขณะนี้ก็คือการควบคุมราคา การควบคุมปัจจัยการผลิตให้ราคาลดต่ำลง ทำอย่างไรที่จะให้พี่น้องเกษตรกรสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ ผลิตผล พืชผลการเกษตรออกมา ในต้นทุนที่ต่ำ ซึ่งภาครัฐต้องไปช่วยในเรื่องของปัจจัยการผลิต ก็ไล่เรียงตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ น้ำมัน หรือแม้แต่ปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ที่จะสามารถควบคุมราคาให้ลดต่ำลงได้เป็นสิ่งที่ รัฐบาลพึงทำ
แนวทางที่ ๒ เป็นเรื่องของการสนับสนุนพี่น้องเกษตรกรให้สามารถเข้าถึง แหล่งทุน โดยเฉพาะเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทยที่เตรียมจะ ขับเคลื่อนโดยเร่งด่วนในเดือนตุลาคมนี้เลย ก็คือการพักชำระหนี้เกษตรกร พักต้น พักดอก และในขณะเดียวกันควรจะทำควบคู่ไปด้วย ก็คือการส่งเสริมให้พี่น้องเกษตรกรให้สามารถ เข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำได้ ให้สามารถเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือปลอดภาระดอกเบี้ย ก็จะเป็นการเสริมศักยภาพให้กับพี่น้องเกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง
แนวทางที่ ๓ เป็นแนวทางการจัดสรรที่ดินเพื่อการเกษตร เราพูดถึงเรื่องของ ส.ป.ก. เราพูดถึงที่รกร้างว่างเปล่าที่ไม่ได้นำมาก่อประโยชน์ในทางการค้า หรือทางพาณิชย์ และสามารถเอื้อต่อการนำมาผลิตสินค้าเกษตร ภาครัฐจะต้องไปดูในเรื่องนี้ว่าสามารถนำ ที่ดินดังกล่าวนั้นมาพัฒนาต่อยอดเพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพยากรพื้นฐาน ในการเข้าถึงการผลิตได้อย่างไร
แนวทางที่ ๒ ครับท่านประธาน เรื่องของการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ เราได้ยินกันมานานโครงการโขง เลย ชี มูล เราจะผันน้ำอย่างไร ประเทศไทยถ้าไปดูสถิติ ปริมาณฝนตกที่ตกก็ไม่ได้เป็นรองประเทศใดในภูมิภาคนี้ครับ แต่ว่าเมื่อตกมาไม่มีมาตรการ ในการรองรับ ไม่มีการบริหารจัดการที่ดี เราก็จะประสบกับปัญหาแบบวน Loop เป็นวัฏสงสาร พอแล้ง พอฝนมาน้ำท่วม น้ำท่วมเสร็จก็ฟื้นฟูเยียวยา เยียวยาเสร็จผลผลิต ก็เสียหาย ภาครัฐก็ต้องเข้าไปฟื้นฟูเยียวยาชดเชยอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นถึงเวลาที่รัฐบาล จะต้องบริหารจัดการน้ำ ต้องบอกลาน้ำท่วม น้ำแล้งอย่างเป็นระบบ และบริหารจัดการน้ำ เพราะน้ำคือชีวิต น้ำควรจะเป็นต้นทุนหรือปัจจัยการผลิตที่ใช้มูลค่าต่ำที่สุด เพราะที่ผ่านมา น้ำคือชีวิต มีพรรคเพื่อไทยต้องมีน้ำทำนา เกษตรกรที่สามารถเข้าถึงทรัพยากรน้ำได้ก็จะมี ศักยภาพที่เหนือกว่าหรือมีแต้มต่อ ดังนั้นรัฐบาลต้องไปทำเรื่องการบริหารจัดการน้ำ เพื่อการเกษตรกรรมทั้งระบบ
แนวทางที่ ๕ นโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาลเพื่อไทยที่ผมสำรวจดูในช่วง หาเสียง แล้วก็จะรอติดตามในช่วงที่จะมาแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรม เสริมเพิ่มรายได้ ใช้ตลาดนำเข้ามา และมูลค่าสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มได้อย่างไร ต้องมี ตลาดรองรับไม่ว่าจะเป็นโครงการโคล้านตัว ไม่ว่าจะเป็นโครงการทุเรียนล้านไร่ เราผลิต ได้มากเราต้องเร่งเจรจากรอบการค้าเสรี เร่งเจรจา FTA โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง ๘-๙ ปี ที่ผ่านไปนั้นเราสูญเสียโอกาสไปมาก ดังนั้นเมื่อเรามีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม มีพรรคร่วมรัฐบาล ที่เข้มแข็ง และยึดประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกร พี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ ผมว่าถึงเวลา ที่เราจะต้องไปดูเรื่องกรอบการค้าการเจรจา FTA ตรงไหนที่เกิดภาวะสุญญากาศ ตรงไหน ที่เกิดความล่าช้าเสียโอกาส รัฐบาลจะต้องไปดู ไปเร่งเจรจากรอบการค้าเสรี เร่งนับหนึ่ง โดยเฉพาะ FTA ไทยกับสหภาพยุโรปที่เราสูญเสียโอกาสไปก่อนหน้านี้ เราผลิตได้มาก แต่ว่า ถ้าหาตลาดไม่ได้วน Loop ของพี่น้องเกษตรกรที่ประสบปัญหาเราก็ต้องมาคุยกันใหม่ครับ วันนี้คุยเรื่องสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ ต่อไปก็ต้องมาคุยเรื่องผลผลิตล้นตลาด ดังนั้นจึงขอ เสนอ ๕ แนวทางที่จะเป็นการแก้ปัญหาด้านการเกษตรเชิงโครงสร้าง และเป็นการรดน้ำ ที่ราก กราบขอบพระคุณครับท่านประธาน
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อรายงานประจำปี ๒๕๖๕ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ผมได้อ่านรายงาน ก็สวยงาม เรียบร้อยดี สานพลัง สสส. สร้างนวัตกรรม สื่อสารสุข ท่านประธานที่เคารพครับ สสส. นั้นจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พุทธศักราช ๒๕๔๔ มีหน้าที่หลักในการสนับสนุนกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพในประเทศไทย ได้ทำงาน สนับสนุนและร่วมมือกับหน่วยงานและภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ภาคประชาสังคม มหาวิทยาลัย และชุมชนท้องถิ่น ในการส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดี ท่านประธานที่เคารพครับ จะว่าเป็นอุปาทานหมู่หรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ แต่ผมรู้สึกและสัมผัส ได้ว่าตั้งแต่มีการทำงานของ สสส. ทำให้คนไทยหันมาใส่ใจและห่วงใยในสุขภาพเพื่อเป็น การยกระดับคุณภาพชีวิตดีมาโดยลำดับ ในโอกาสที่ท่านได้มารายงานต่อสภาในวันนี้ผมคง ไม่ใช้เวลานี้ในการตั้งข้อคำถาม แต่ผมขออนุญาตที่จะได้ตั้งข้อสังเกตบนพื้นฐานของ ความห่วงใยเป็นข้อเสนอแนะ ซึ่งท่านผู้บริหาร สสส. ท่านคณะกรรมการก็คงจะทราบดี แต่ผมเพียงแต่มาเน้นย้ำ มาเสนอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า เส้นทางที่ท่านเดินมาตลอดระยะเวลานั้น ถือว่ามาถูกทาง แต่ว่าข้อเสนอ ๕ ประการของผมดังต่อไปนี้ ผมหวังว่าจะทำให้เส้นทาง ในการเดินไปสู่เป้าหมายนั้นประสบผลสำเร็จได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผมมีข้อสังเกตข้อห่วงใย ๕ ประการด้วยกันครับ
ประการที่ ๑ สสส. ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมานั้นทำโครงการต่าง ๆ มากมาย หลายโครงการ ผมคิดว่าเราน่าจะมีประสิทธิภาพในการทำงานได้ดีกว่านี้หากเรามีการจัด หมวดหมู่ จัดลำดับความสำคัญของปัญหา โครงการลักษณะเดียวกัน ประเภทเดียวกันควร จะได้เชื่อมโยงสอดประสานบูรณาการใช้เม็ดเงินโครงการงบประมาณในลักษณะ แบบเดียวกันเพื่อลดความซ้ำซ้อนและสะดวกต่อการบริหารจัดการโครงการ สะดวก ต่อการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา และทำให้ สสส. เป็นองค์กรที่มีความโปร่งใส โดยประชาชนร่วมเป็นเจ้าของและร่วมตรวจสอบ
ข้อห่วงใยประการที่ ๒ ท่านประธานครับ อย่างที่เราทราบครับว่า สสส. นั้น ทำโครงการมากมายที่ปังก็มาก ที่แป๊กก็พอมี ดังนั้นเราจะทำอย่างไรให้ทุกโครงการ เป็นโครงการที่ปังแล้วก็ปังปุริเย่ยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ทำอย่างไรที่เราจะมีตัวชี้วัด มีการประเมิน ความคุ้มค่าและความคุ้มค่าที่ได้นั้นต้องเป็นความคุ้มค่าที่ยั่งยืนด้วย ท่านประธานครับ ผมตั้งข้อสังเกตโครงการประเภทที่ สสส. ไปสนับสนุน เช่น โครงการเดินการกุศล โครงการวิ่ง โครงการจัดดนตรี คำถามคือว่าถ้าเราแปรงบประมาณมาเป็นความคุ้มค่าที่ยั่งยืน มัน Return กลับมาได้คุ้มค่าการลงทุนหรือไม่ และความคุ้มค่านั้นเป็นความคุ้มค่า ที่จีรังและยั่งยืนแค่ไหน อย่างไร ถามว่าแต่ละโครงการที่ สสส. ทำมาแล้ว Impact มีไหม มีครับ ถามว่า Impact อยู่ที่ไหน Impact ไม่ได้แค่เมืองทองธานี แต่ Impact อยู่ใน หลายโครงการที่เกิดขึ้นโดย สสส. ดังนั้นผมอยากจะชี้ว่าถ้าเรามีตัววัดผล มีเกณฑ์ การประเมินความคุ้มค่าที่เหมาะสมก็จะทำให้เป้าหมายของเราชัดเจนขึ้นครับ
ข้อห่วงใยข้อที่ ๓ ท่านประธานครับ โครงการใดที่ สสส. ได้ดำเนินการ และประสบความสำเร็จผมไม่ทราบว่าท่านสมาชิกท่านอื่นมีข้อสังเกตเหมือนผมหรือเปล่า แต่ผมสังเกตว่าหลายเรื่องที่ปัง หลายเรื่องที่โดนใจคนไทยในที่สุดก็หายไปไม่ได้รับการต่อยอด หรือบางโครงการที่ทำแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ ไม่คุ้มค่าในแง่ของตัวชี้วัดหรืออื่นใดก็ตามแต่ ยังมีโครงการลักษณะที่ไม่ประสบความสำเร็จออกมาเป็นระยะ ๆ ดังนั้นผมคิดว่าเราควรจะมี ตัวชี้วัดว่าโครงการที่ประสบความสำเร็จเราจะเดินหน้าต่ออย่างไร และโครงการที่ไม่ประสบ ความสำเร็จใช้เม็ดเงินงบประมาณลงทุนไปแล้วให้ผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่า เราจะมาสำรวจ จุดอ่อนและเราจะพัฒนาจุดแข็งเข้าไปเพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้อย่างไรบ้าง
ข้อห่วงใยข้อที่ ๔ ผมเห็นว่าตลอดระยะเวลาที่ สสส. ทำมานี้เดินมาถูกทาง แต่จะดีกว่านี้หรือไม่ หาก สสส. เป็นองค์กรที่เปิดรับแนวความคิดหรือ Idea แปลกใหม่ ที่กว้างขวางขึ้น ครอบคลุมขึ้น หลากหลายขึ้น ผมรวมถึงการเปิดรับเม็ดเงินที่จะมา เป็นเม็ดเงินสนับสนุนจากองค์กรภาคเอกชนหรือองค์กร NGO ต่าง ๆ ที่จะมาร่วมขับเคลื่อน ท่านประธานครับ บางครั้งโครงการที่คิดโดยมุมมองใหม่ ย้ายที่คิด เปลี่ยนมุมมอง ในการนำเสนอ เปลี่ยนแหล่งเงินงบประมาณ อาจจะทำให้เราได้โครงการที่มีความแปลกใหม่ แล้วก็สอดรับกับวิถีชีวิต วิถีสังคมที่เปลี่ยนไปในยุคปัจจุบัน
ข้อห่วงใยและข้อสังเกตประการที่ ๕ ผมเห็นข้อสังเกตในความพยายาม ของ สสส. ว่า สสส. ก็พยายามที่จะต่อยอดในการสนับสนุนงานวิจัย แต่ก็ต้องยอมรับนะครับว่า งานวิจัยหลายเรื่องที่ สสส. สนับสนุนนั้นอาจจะเป็นโครงการที่มีความซ้ำซ้อนกับหน่วยงาน ที่เขาดูแลอยู่แล้ว ผมขออนุญาตยกตัวอย่างนะครับ ก็คือสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข หรือ สวรส. สวรส. คืออะไรครับ สวรส. เป็นองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ มีอำนาจหน้าที่ในการสำรวจ ศึกษา และวิเคราะห์ทางวิชาการต่าง ๆ เพื่อวางเป้าหมาย นโยบาย และจัดทำแผนงานโครงการ และมาตรการต่าง ๆ ในการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ ผมเห็นว่าถ้าเรื่องงานวิจัย มอบให้กับองค์กรที่เป็นเจ้าภาพหลักที่มีความเชี่ยวชาญ มีชำนาญการพิเศษน่าจะเหมาะสมกว่า นี่ก็เป็นข้อห่วงใย ๕ ประการที่ผมนำเรียน แล้วก็ขอให้กำลังใจ สสส. ให้เดินหน้าต่อไป เพื่อสุขอนามัยที่ดีขึ้นของคนไทยทุกคนครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ผมขออนุญาตท่านประธานที่ได้อภิปรายสนับสนุนในการเสนอญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาของธุรกิจสถานบันเทิง และการแก้ไขปัญหา เกี่ยวกับการเรียกรับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐ ผมไปเปิดพจนานุกรมนิยามของ คำว่า สถานบันเทิง คืออะไร ก็มีคนให้คำจำกัดความไว้แตกต่างแล้วก็หลากหลาย แต่ผมจัด Grouping อย่างนี้ครับ สถานบันเทิงก็คือสถานที่ที่เป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ และให้ ความบันเทิงต่อผู้มาเที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ เช่น สถานบันเทิงบางที่อาจจะมีศิลปินนักร้อง มีคอนเสิร์ต มีการแสดงก็ว่าไปครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อให้ความบันเทิงกับผู้ที่มาเที่ยว บางครั้งพอเราจะไปที่ไหน เราก็ไปเปิด Review ดูใน Platform ทาง Social บางครั้ง ไปเปิดดู TikTok โฆษณาว่าเป็นอัครสถานความบันเทิงแห่งใหม่ พอขับรถไปถึงก็ไปเจอ อาคารพาณิชย์เก่า ๆ ร้าง ๆ อยู่ ๒ คูหา พอเราบอกว่าไม่ตรงปก ทางร้านก็บอกว่าร้านทำ สถานบันเทิง ไม่ได้ทำหนังสือจะได้ต้องตรงปก แต่นั่นก็ว่ากันไปครับ ในแต่ละปีมีการเก็บ รวบรวมรายได้ที่เกิดจากสถานบันเทิงทั่วประเทศจากเหนือจรดใต้ ตะวันออกจรดตะวันตก พบว่าสถานบันเทิงทำรายได้ต่อปีมากกว่า ๑๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ฟังดูตัวเลขก็น่าจะบันเทิง แต่เจ้าของสถานบันเทิงดูจะไม่ค่อยบันเทิง เพราะกว่าจะเปิดสถานบันเทิงได้นั้นมีกฎหมาย มีระเบียบวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวเนื่องมากมาย มีเทศบัญญัติที่เกี่ยวเนื่องกับท้องถิ่นเกี่ยวข้อง มากมายหลายฉบับ ลองไปตามดูครับว่าก่อนจะเป็นเจ้าของสถานบันเทิงนั้นต้องไป ขออนุญาตอะไรบ้าง อันดับแรกต้องไปขอจดทะเบียนพาณิชย์ ไปขอใบอนุญาตในการเปิด สถานประกอบการธุรกิจบันเทิง ต้องไปขึ้นทะเบียนภาษีป้าย ต้องไปขออนุญาตจำหน่ายสุรา หรือจำหน่ายแอลกอฮอล์ ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. สถานบันเทิง ซึ่งก็ยังไม่ได้ Update ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม พ.ร.บ. สาธารณสุข และอื่น ๆ อีกมากมาย ท่านประธาน ลองนึกภาพนะครับ เราส่งเสริมการประกอบธุรกิจจะเรียก Startup จะเรียก SMEs ในภาคสถานบันเทิงก็ว่าไป แต่กว่าจะได้ใบอนุญาตในการเปิดสถานประกอบการนั้นมันไม่มี One Stop Service ครับ ต้องออกเดินเท้า ออกเดินทางไปพบปะหน่วยงานต่าง ๆ แล้วก็ มีกฎหมายที่ควบคุมเกี่ยวเนื่องมากมาย กล่าวโดยสรุปครับ บางครั้งธุรกิจสถานบันเทิงนี้ ก็เป็นธุรกิจที่มีความสุ่มเสี่ยงเสียด้วย ดังนั้นผู้ประกอบการก็เลยว้าวุ่นเลยครับ เพราะจะมี หน่วยงานอื่น ๆ มาบังคับใช้กฎหมายมากมาย เช่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ใน ๑๐ รายการ ที่เขาไปตรวจ ผิดไป ๙ รายการแล้วครับ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เจ้าหน้าที่ตำรวจ ต่างฝ่ายต่างบังคับใช้กฎหมายที่ถือคนละฉบับ ผมอภิปรายมาถึงครึ่งเรื่องกลางทางครับ ต้องขอแสดงจุดยืนว่าผมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในธุรกิจสถานบันเทิงนั้นได้ประกอบ ธุรกิจต่อ แต่จะไม่ยืนข้างผู้ประกอบการแบบไร้เหตุผล ขอยืนอยู่ในจุดสมดุล จุดสมดุล คืออะไร คือจุดที่ผู้ประกอบการสามารถเดินหน้าประกอบธุรกิจในสถานบันเทิงได้ มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมาไม่เลือกปฏิบัติ และการบังคับใช้กฎหมายนี้ต้องไม่เป็นช่องว่างหรือเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่การเรียกรับ ผลประโยชน์ ท่านประธานครับ ในอดีตเราเคยได้เห็นนะครับว่ามีนโยบายจัดระเบียบ สถานบันเทิง แต่หลายครั้งพอฝ่ายรัฐมีการผ่อนปรน ผ่อนคลายจากมาตรการจัดระเบียบ ก็กลับไปไร้ระเบียบแทบทุกครั้งไป ต้องยอมรับครับว่าสถานบันเทิงนั้นถ้าหากจะปฏิบัติให้ได้ ตามมาตรฐานของไทยและของโลกนั้น เราต้องยกระดับในธุรกิจสถานบันเทิงนี้ทั้งระบบครับ เราไปต่างประเทศไปดูใน Website ที่เป็น Search Engine อย่าง Google และ Website อื่น ๆ ในอดีตมีคนไทยไปหาว่า ๑๐ บาร์และผับที่ดีที่สุดในย่านอิแทวอน มีผับและบาร์อะไรบ้าง ๑๐ อันดับ แต่ท่านทราบไหมครับว่าแม้อิแทวอนซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลกนี่นะครับ ยังเกิดเหตุโศกนาฏกรรมสลดเหยียบกันตายเกือบ ๒๐๐ ราย นั่นแปลว่าอะไรครับ ธุรกิจ ประเภทนี้หากเป็นธุรกิจที่ไม่ถูกจัดมาตรฐานก็สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหา ในประเทศไทยของเรา เคยมีผับหรูเกิดไฟไหม้ในคืนส่งท้ายปี และหลังจากนั้นอย่าว่าแต่ไฟไหม้ฟาง วัวหายล้อมคอก เลยครับ วัวหายไปหมดนี่เราก็ยังล้อมคอกไม่เสร็จ
ประเด็นที่ผมจะขอฝาก แม้ว่าท่านสมาชิกหลายท่านอาจจะบอกว่าเดี๋ยวเขา จะไปตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อไปศึกษาเรื่องนี้ แต่ผมขอฝากข้อห่วงใย ข้อกังวล ในฐานะที่ไม่ได้เป็นกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ว่าสิ่งที่คณะกรรมาธิการวิสามัญต้องไปศึกษา ก็คือจะทำอย่างไรที่จะอุดช่องโหว่ ที่จะปิดช่องว่าง มีคำกล่าวนะครับว่าถ้าเราทำร่างกาย ของเราให้แข็งแรง โรคแทรกมันจะไม่มี หรือมีมันก็แทรกด้วยความยากลำบาก เฉกเช่นเดียวกันครับ วันนี้การที่มีเจ้าหน้าที่รัฐ มีหน่วยงานอื่น ๆ ไปหาประโยชน์ จากการบังคับใช้กฎหมาย จากการไม่เป็นมาตรฐานของสถานบันเทิงนั้น มันเป็นช่องว่าง ที่เอื้อต่อการเรียกรับผลประโยชน์ ดังนั้นเราจะทำอย่างไรที่ต้องฝากการบ้านไปยัง คณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้คือสร้างมาตรฐาน ยกระดับและทำให้ผู้ประกอบการ สถานบันเทิงเข้มแข็ง แข็งแรงจะได้ไม่มีโรคแทรกซ้อน และปัญหาส่วยที่เกิดขึ้นจะต้องหมดไป ตราบใดที่เรามีกฎเกณฑ์ กติกา ข้อบังคับ ข้อกฎหมายที่ไม่เป็นปัจจุบัน ต้องมีการบังคับใช้ และปรับให้เป็นปัจจุบัน กราบขอบพระคุณครับ
ท่านประธานครับ อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ๔๗๑ แสดงตนครับ
ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ขออนุญาตที่จะแก้ไขรายชื่อคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม ในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย จากนางสาวสกุณา สาระนันท์ เปลี่ยนเป็น นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ขอผู้รับรองด้วยครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อญัตติด่วนขอให้สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจะได้รวบรวม ส่งให้กับรัฐบาลได้นำไปบริหารจัดการ และแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ แต่ผมอยากจะต่อว่า นอกจากเป็นระบบแล้วต้องแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนด้วยครับ ท่านประธานครับ จนถึง ณ ขณะนี้ เรื่องของน้ำท่วมไม่ว่าท่านจะอยู่กรุงเทพฯ อยู่เหนือจรดใต้ ตะวันออกจรดตะวันตก จะเป็น สส. จะเป็นเกษตรกร ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ท่าน สส. วัชระพล ขาวขำ ฝากเรียนนะครับว่า สัปดาห์ที่แล้วบอกว่าน้ำท่วมบ้าน ตอนนี้น้ำได้ลดแล้ว นั่นแปลว่าอะไรครับ ทุกคนประสบ กับปัญหานี้ และต้องร่วมกันในการแก้ไขปัญหานี้ จนถึงขณะนี้มีจังหวัดที่เรียกว่าจมน้ำไป ประมาณ ๖ จังหวัด กระทบต่อพี่น้องประชาชนประมาณ ๑๖,๐๐๐ ครัวเรือน อย่างไม่ เสียหายนี่นะครับ แต่ละปีหลักหมื่นล้านบาท เฉพาะปีที่แล้วปีเดียว ปี ๒๕๖๕ มีมูลค่า ความเสียหายที่เกิดจากสินค้าทางการเกษตรเสียหายสูงถึง ๓๓,๐๐๐ ล้านบาท คิดเป็น ความเสียหายที่กระทบต่อ GDP ประมาณร้อยละ ๐.๒๒ และสถานการณ์น้ำท่วมจนถึง ขณะนี้เริ่มที่จะคาดการณ์ได้ยาก ประเทศที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง เทคโนโลยีล้ำสมัย ก็ไม่ได้เป็น หลักประกันว่าจะไม่ประสบกับปัญหาน้ำท่วม พูดถึงเรื่องน้ำท่วมทุกคนก็จะไปนึกถึง Model แบบที่เรียกว่าเนเธอร์แลนด์โมเดล เพราะคำว่า Nether แปลว่า ต่ำกว่า เนเธอร์แลนด์ เป็นประเทศที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล เขามีเทคโนโลยีบริหารจัดการที่เรียกว่า Delta Works นั่นหมายความว่ามีเทคโนโลยีขนาดนั้นนะครับ แต่ ๗๐ ปีที่แล้ว เขาก็ประสบปัญหาได้รับ ความเสียหายจากน้ำท่วมชนิดที่เรียกว่าต้องหันกลับมาบูรณาการและผลักให้เป็นวาระ แห่งชาติ มาที่ใกล้ ๆ บ้านเราครับ ประเทศสิงคโปร์ขณะนี้ได้เตรียมการและตั้งคณะทำงาน อย่างเป็นระบบเพื่อบูรณาการแก้ปัญหาว่าภายในระยะเวลาไม่กี่ปีข้างหน้านี้สิงคโปร์อาจจะ เป็นประเทศที่จมน้ำ นั่นหมายความว่าประเทศไทยในวันนี้เราอยู่ในสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยง ไม่ได้ เราต้องหันกลับมาและร่วมกันหาแนวทางและทางออกในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้งอย่างเป็นระบบ ถามว่าที่ผ่านมาประเทศไทยมีคิดแผนบูรณาการไหม ต้องตอบว่า มีครับ หลังปี ๒๕๕๔ รัฐบาลท่านนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้นำเสนอโครงการ แผนบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ๓๕๐,๐๐๐ ล้านบาท ไปเชิญเอานักปราชญ์ ราชบัณฑิต องค์การ สถาบันชั้นนำระดับโลกมาคิด Module กันได้ทั้งหมด ๑๐ Module เสนอมา ๘ กลุ่มงาน คัดเหลือ ๖ กลุ่มงาน แต่น่าเสียดายว่าโครงการในวันนั้นไม่เกิดขึ้น และเราก็นึกเสียดายครับว่าถ้าวันนั้นโครงการบริหารจัดการน้ำ ๓๕๐,๐๐๐ ล้านบาทเกิดขึ้น เราคงพ้นจากวังวนน้ำท่วม น้ำแล้ง วันนี้ถ้าเราไปดูการรายงานข่าวที่เรียกว่า Airtime ครับ เวลาของสื่อกระแสหลัก TV ช่องหลักวันนี้นำเสนอข่าวน้ำท่วมน้อยลง ๆ ทุกขณะ ช่องหลัก นำเสนอไม่เกิน ๑๐ นาทีครับท่านประธาน เพราะอะไรครับ เพราะอาจจะเกิดภาวะคุ้นชิน มีการล้อกันในโลก TikTok ว่าเมื่อก่อนน้ำมาปลากินมด น้ำลดมดกินปลา สมัยนี้ต้องบอกว่า น้ำท่วมขนของหนี น้ำลดขนของกลับแล้วรอรับเงินเยียวยา เราจะชินไม่ได้ครับ เราต้องลุก ขึ้นมาต่อสู้เพื่อเอาชนะและบริหารจัดการอย่างยั่งยืน ผมไปถอด ๑๐ Module และไปถอด ๖ กลุ่มงาน ที่นักปราชญ์ราชบัณฑิตของพรรคเพื่อไทยได้คิดไว้ร่วมกับองค์กรชั้นนำระดับโลก พรรคเพื่อไทยมีปรัชญาว่าพรรคเพื่อไทยหัวใจคือประชาชน พรรคเพื่อไทยอ่านเรื่องน้ำรู้ ดูเรื่องน้ำเป็นครับ ผมจะได้เสนอ ๕ แนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง อย่างเป็นระบบ
มาตรการที่ ๑ ถึงเวลาที่เราจะต้องนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงนำมา ปรับใช้และเอานวัตกรรมนี้มาใช้แก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งอย่างเป็นระบบ หลายโครงการ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งระดับหลายแสนล้านบาท เรายังกล้าลงทุน แต่ว่าโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบบูรณาการ ลาที่น้ำท่วม น้ำแล้ง ทำไมเราไม่กล้าลงทุน
มาตรการที่ ๒ ถึงเวลาที่เราต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จะบริหาร จัดการน้ำแบบบูรณาการ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ใช้คำว่า ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ถ้าใช้ภาษาแบบผู้ว่าชัชชาติ ก็ต้องบอกว่าต้องเชื่อมสอดประสานบูรณาการระหว่าง เส้นเลือดใหญ่และเส้นเลือดฝอย ถึงเวลาที่เราต้องบูรณาการโครงการระบบชลประทาน ขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ต้องมาเป็นเส้น ต้องมาเป็น Package
มาตรการที่ ๓ น้ำต้องมีที่อยู่ น้ำต้องมีที่ไป เราต้องหาที่อยู่ให้น้ำ พื้นที่ใด ที่เป็นทุ่งรับน้ำต้องได้รับสิทธิพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูเยียวยา และต้องพัฒนา มองไปถึงเรื่องของแหล่งกักเก็บน้ำจืด พื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติในวันนี้ถ้าเราเปลี่ยนมุมคิด ย้ายฝั่งคิดจะนำไปสู่มาตรการต่อไป
มาตรการที่ ๔ คือเรากล้าคิดนอกกรอบ หมายความว่าแทนที่เราจะปล่อยให้ เป็นพื้นที่รับน้ำซ้ำซาก เราเปลี่ยนเป็นระบบธนาคารน้ำ และเอาน้ำที่เกิดจากน้ำท่วมมาขาย ให้กับเกษตรกร ก็พัฒนาให้สามารถทำการเกษตรได้ ไปขายให้การไฟฟ้าก็สามารถ ผลิตเป็นไฟฟ้าได้ นี่คือการเปลี่ยนและลักษณะของการยกระดับพัฒนาการคิดแบบ นอกกรอบ
มาตรการที่ ๕ ถึงเวลาที่เราต้องพัฒนาระบบเตือนภัย หลายเรื่องประเทศไทย เราขาดการซ้อม เราไม่ได้ซ้อมครับ เฉกเช่นเดียวกันวันนี้น้ำท่วมเราก็ต้องซ้อม จะอพยพ ผู้ประสบภัยไปไหน หลายประเทศต้องซ้อม ประเทศไทยก็ต้องซ้อม
ท่านประธานครับ ผมกล่าวสรุปในตอนท้ายว่าน้ำท่วมไม่ใช่โชคชะตา และน้ำท่วมถ้าผลักดันเป็นวาระแห่งชาติเราสามารถแก้ไขปัญหาได้ เราเสียเวลามากว่า ๑๐ ปี และเราจะเสียเวลาอีกต่อไปไม่ได้แล้ว กราบขอบพระคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา ปรับปรุง แก้ไขกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องในการไปกำกับดูแลตลาดทุนของหน่วยงานรัฐ ท่านประธานครับ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ เป็นหายนะของนักลงทุนที่เรียกว่าเป็นมหากาพย์ การโกง เป็นปล้นกลางแดดที่เขย่าขวัญสั่นประสาทตลาดทุนไทยมากที่สุดครั้งหนึ่งของ วงการตลาดทุนไทย นั่นคือมหากาพย์การโกงของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่พบว่ามีการวางแผน วางงานเป็นลำดับขั้นตอนเป็นกระบวนการแบ่งงาน กันทำแบบมืออาชีพ ตั้งแต่ร่วมกันตกแต่งบัญชี สร้าง Order ยอดขายเทียม สร้างลูกค้าปลอม ทำลูกหนี้เก๊ Siphon โอนเงินสด ๆ ออกไปจากบริษัท กว่าที่ความจริงจะปรากฏว่านี่คือ มหากาพย์การโกงก็สร้างความเสียหายไปทั่วทุกวงการ ใครจะไปอดใจไหวท่านประธานครับ งบการเงินที่อวดกำไรงาม ๆ โตต่อเนื่องมาตลอดหลายปี หลายไตรมาส แท้จริงแล้วกลวงโบ๋ ขาดทุนบักโกรก หลังงบการเงินสิ้นปี ๒๕๖๕ ถูกเปิดเผยออกมาพบว่ามีการขาดทุนสะสม รวมกัน ๑๐,๓๗๙ ล้านบาท ที่น่าตกใจเงินที่เพิ่งได้จากการเพิ่มทุน และการออกหุ้นกู้รวมกัน มากกว่า ๑๔,๐๐๐ ล้านบาทนั้นหายวับไปกับตา เป็นหายนะที่เกิดกับเจ้าหนี้ และหายนะ ที่เกิดกับผู้ถือหุ้นทันที เกิดคำถามว่า Board บริหารบริษัท คณะกรรมการบริษัท กรรมการ ตรวจสอบ กรรมการอิสระ ผู้สอบบัญชี หน่วยงานกำกับดูแล ทั้งตลาดหลักทรัพย์ ทั้ง ก.ล.ต. รู้เท่าทันหรือไม่ แล้วหายไปไหนทำไมถึงปล่อยให้เกิดมหากาพย์การโกงเกิดขึ้นอีกครั้ง ท่านประธานครับ มีคำกล่าวว่า ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว STARK ก็เช่นกันครับ มีความจริงเรื่องเดียวก็คือ ชื่อหุ้น STARK เพราะถ้าชื่อหุ้นปลอมเราก็ Trade กันไม่ได้ครับ แต่ที่เหลือปลอมหมดครับ ปลอมแทบทุกอย่าง นักลงทุนหลายประเภทได้รับผลกระทบ นักลงทุนประเภทที่เรียกว่า VI หรือ Value Investor นักลงทุนที่เลือกลงทุนในหุ้นคุณค่า อันนี้ถือว่าไม่น่าห่วงมากครับ แต่นักลงทุนประเภทจอมลงทุน บู๊ล้างผลาญถอยหลังหกล้ม ระเบิดภูเขาเผากระท่อม ใครจะ เป็นเศรษฐี ฉันนะสิ ๆ อันนี้น่าห่วงท่านประธานครับ มีการบอกกันว่าหุ้นตัวนี้มีบ้านขายบ้าน มีรถขายรถแต่พอเข้ามาในวังวนนี้ครับ บ้านที่ขายครับถูกยึดครับ รถที่เอามาขับหายไปครับ ดังนั้นคนที่ได้รับผลกระทบนั้นต้องยอมรับว่ามีคนได้รับผลกระทบและมูลค่าความเสียหาย มากกว่า ๑๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ดังนั้นถึงเวลาที่เราต้องยกเครื่องกฎหมายตลาดหุ้น และที่สำคัญที่สุดต้องไปดูกฎหมาย กฎ ระเบียบในตลาดหุ้น ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้กำกับดูแล ของใครจะอยู่กับตลาดหลักทรัพย์ จะอยู่กับ ก.ล.ต. ก็ต้องไปทบทวน ไปยกระดับปรับปรุง ครั้งใหญ่ เพราะบทเรียนในวันนี้พิสูจน์แล้วว่าลำพังเครื่องมือที่เรามีอยู่ไม่เพียงพอ ต่อการป้องกันการโกงของกลุ่มโจรเสื้อนอกที่ปล้นนักลงทุนกลางแดด ท่านประธานครับ ถึงเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์ และ ก.ล.ต. จะต้องหันมาจับมือกันอย่างเหนียวแน่น ไม่ผลักภาระ ไม่โทษกัน และหันมาทำงานร่วมกับรัฐบาล ตั้งแต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจเศรษฐกิจ DSI ต้องเชื่อมโยงบูรณาการทำงานอย่างรวดเร็วครับ เพราะถ้าเราชักช้าไปแม้เสี้ยววินาทีครับ โจรขนเงินออกนอกประเทศหายไปไหนต่อไหนครับ ท่านประธานครับ ตัวเลขจาก DSI ระบุ ว่ามูลค่าความเสียหายของ STARK อยู่ระหว่าง ๕๐,๐๐๐-๑๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ส่งผล กระทบร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ผู้ที่สุ่มเสี่ยงว่าจะถูกออกหมายจับหนีออก นอกประเทศไปแล้วแล้วก็ไม่มีอะไรเป็นหลัก Guarantee ว่าต่อให้เราลากคออภิมหาโจร กลับมาติดคุกติดตะรางได้แล้วเราจะสามารถติดตามเงินกลับคืนมาให้กับผู้เสียหายและ นักลงทุนได้แค่ไหน อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม ท่านประธานครับเรื่องราวมหากาพย์ การโกงของ STARK จะจบอย่างไรก็ว่าไป แต่ความหวังของนักลงทุนคือการทำงาน อย่างจริงจังเข้มข้นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลผลประโยชน์และทวงความยุติธรรม ให้กับนักลงทุนที่ตกเป็นเหยื่อของกระบวนการหลอกลวงครั้งนี้ ผมเข้าใจว่าลำพังเครื่องมือ ที่มีอยู่นอกเหนือจากการยกระดับแล้วเครื่องมือของสภาก็คือกลไกของกรรมาธิการสามัญ ผมเล็งไปที่กรรมาธิการ การเงิน การคลังจะสามารถทำงานเรื่องนี้ได้ จะไปตาม ๒ เรื่องครับ เรื่องแรก ไปตามล่าหาความจริงเพื่อปิดช่องโหว่ช่องว่าง เรื่องที่ ๒ ไปตามเงินกลับคืนให้กับ นักลงทุนแล้วต้องทำอย่างรวดเร็ว เพราะความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรม ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาหาแนวทาง แก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางบก เพื่อให้มีความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการ และประชาชน และป้องกันการเรียกรับผลประโยชน์ ท่านประธานครับ ผมอ่านชื่อญัตติแล้วก็พบ คำสำคัญอยู่ ๓ คำด้วยกัน
ข้อแรก คือคำว่า แก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางบก
ข้อที่ ๒ แยกเป็น ๒.๑ กับ ๒.๒ ครับ ๒.๑ เพื่อให้มีความเป็นธรรม แก่ผู้ประกอบการ และ ๒.๒ มีความเป็นธรรมกับประชาชน
ข้อที่ ๓ คือคำที่ ๓ เป็นเรื่องของการป้องกันการเรียกรับผลประโยชน์
ผมไปทีละคำก็แล้วกันครับ ท่านประธานครับ ทำไมผู้ประกอบการบริการ รถขนส่ง รถบรรทุกจะต้องดิ้นรน หรือหาแนวทางในการจะประกอบสัมมาวิชาชีพนี้ให้ได้ มีหลายปัจจัยครับ หนึ่งในนั้นก็คือศูนย์วิจัยทางเศรษฐกิจหลายสำนักพยากรณ์ว่า ในช่วงปี ๒๕๖๕-๒๕๖๗ ธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าจะเติบโตเฉลี่ย ๓-๕ เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ประเทศที่เป็นต้นทางโรงงานของโลก สามารถผลิตสินค้าได้มากขึ้น หันกลับมาดู บ้านเรา เราสามารถผลิตสินค้าเกษตรได้มากขึ้น เรามีเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการผลิต สินค้าเกษตรที่เป็นเกษตรแม่นยำ ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นการค้าการขายสินค้าไม่ว่าจะเป็น Offline Online ขยายตัวทุกช่องทาง การขายสินค้าผ่านด่านพรมแดนต่าง ๆ เพิ่มขึ้น อย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่พฤติกรรมการซื้อสินค้าของคนไทย โดยเฉพาะสินค้า Online น่าดีใจครับ คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก เราเป็นมือวางอันดับหนึ่งในการซื้อสินค้า Online สูงสุดของโลก ดังนั้นเวลาเราจะซื้อสินค้า ๑ ชิ้นจะต้องมีต้นทุนที่สามารถแจกแจงชี้แจงได้ว่า เป็นต้นทุนผลิตสินค้าเท่าไร ค่าขนส่งเท่าไร แล้วเราก็พบว่าค่าขนส่งต่อหน่วยสินค้าของไทยนั้น ยังอยู่ในอัตราค่อนข้างสูง ดังนั้นเราต้องไปดูว่าอะไรที่ทำให้ต้นทุนในระบบ Logistics หรือห่วงโซ่การผลิตอาหาร ห่วงโซ่ของการขนส่งนั้นสูงขึ้น ไปไล่เรียงดูแต่ละตัวครับ เราไปพบว่ากฎหมายที่เราใช้นั้นความจริงเพื่อนสมาชิกหลายท่านก็อภิปรายไปก่อนหน้านี้ว่า เป็นกฎหมายเก่าครับ เราใช้พระราชบัญญัติทางหลวง ปี ๒๕๓๕ จะเก่าจะใหม่ก็ว่ากันละครับ แต่ถามว่าเก่าที่ว่านั้นเป็นธรรมกับผู้ประกอบการหรือไม่ และเป็นธรรมกับประชาชนหรือไม่ ไปที่โหมดความเป็นธรรมกับประชาชนครับ มีความพยายามจะออกกฎหมายที่จะพราก ระหว่างรถขนคนกับรถขนของออกจากกัน ทั้งจัด Zoning จัด Timing ให้เวลาเหลื่อมกัน เวลาขนคนกับขนของอย่ามาทับซ้อนกันรถบรรทุกอย่าวิ่งน้ำหนักเกินครับ ผ้าใบต้องคลุม มิดชิด อย่าแช่ขวา เราได้เห็น Sticker รถบรรทุกครับ ขับซ้ายเมียก็ด่า ขับขวาจ่าก็จับ แต่ว่าการป้องกันการเรียกรับผลประโยชน์เป็นเรื่องยากครับ เพราะตราบใดที่ฝ่ายให้กับ ฝ่ายรับยินยอมพร้อมใจกัน โดยพยายามช่วยกันหาช่องว่างทางกฎหมาย อันนี้ก็เป็นไปด้วย ความยากที่เราจะแก้ไขปัญหาส่วย หรือปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์ แต่ถ้าคนที่ปฏิบัติตาม กฎหมายที่ว่าเก่านี่นะครับ เอาให้เห็นภาพชัด ๆ แบบชาวบ้านร้านตลาดอย่างเรานี่ละครับ เช่น ถ้าเราขับรถมาจากมุกดาหารจะมากรุงเทพฯ มาประชุมสภา อย่างน้อย ๆ ต้องเจอ ๑-๒ ด่าน เจ้าหน้าที่ตำรวจบางทีเวลาบังคับใช้กฎหมายก็ตอบคำถามยากครับ เช่น เรื่องของความเร็ว บอกว่าห้ามขับเกิน ๑๒๐ ลงมาเจ้าหน้าที่ก็ถามว่าขับรถ ๑๒๐ เราบอกเราขับไม่ถึง เต็มที่ ก็ ๘๐-๙๐ ตำรวจบอกใช่ ๑๒๐ จะเอาผิดให้ได้ก็เดินไปคลำกระโปรงหน้ารถแล้วบอกว่า ๑๒๐ แน่นอนเพราะว่ากระโปรงหน้าร้อนขนาดนี้แสดงว่า ๑๒๐ เราเห็นทางรอดครับ เราบอกว่ารถรุ่นนี้เครื่องมันอยู่ข้างหลังครับ ตำรวจบอกว่าแสดงว่าต้องขับเร็ว ๒ เท่า ต้องวิ่งเร็ว ๒๔๐ ครับ เพราะมันร้อนจากข้างหลังมาข้างหน้า นี่ครับท่านประธาน คนไม่ใช่ ทำอะไรก็ผิด ดังนั้นเมื่อต้องการความถูกต้องจึงมีความพยายามที่จะดิ้นรน พยายามที่จะ แสวงหาช่องทางที่จะเป็นคนที่ถูกครับ ดังนั้นเรื่องของการเรียกรับผลประโยชน์จะหมดไป มันต้องแก้อย่างเป็นระบบ ความจริงผมทำ Q & A มาเพื่อจะบอกว่า ๓ ปัญหาที่เป็นคำถาม ผมมีคำตอบมาเสร็จครับ
คำถามที่ ๑ ปัญหาเรื่องความซ้ำซ้อนในการออกประกาศของหน่วยงานแต่ละพื้นที่ ถนนแต่ละเส้นใครจะไปจำครับว่าใครเป็นเจ้าของถนนถูกไหมครับ และการบังคับใช้กฎหมาย แต่ละเส้น แต่ละถนนนั้นมีอิสระต่อกัน นี่พูดแบบสวยงามนะครับ อิสระต่อกัน แต่ถ้าแปล ภาษาชาวบ้านคือต่างคนต่างบังคับใช้ ดังนั้นทางแก้ก็คือทำอย่างไรที่เราจะบูรณาการ แก้กฎหมายให้สอดคล้องสอดรับไปด้วยกัน
ประเด็นปัญหาข้อที่ ๒ วันนี้นายจ้างลอยตัวเนื้อปัญหา คนขับก็ไปเผชิญ ชะตากรรมเองครับ ถูกจับถูกปรับคนขับต้องรับผิดชอบ ทางแก้เห็นอยู่แล้วครับ ก็ไปศึกษา แก้ไขกฎหมายเพื่อให้ผู้ประกอบการนั้นต้องร่วมรับผิดชอบด้วย
ประเด็นปัญหาข้อที่ ๓ ปกติรถจะสามารถบรรทุกได้วิ่งบนถนนปลอดภัย ๒๑ ตัน แต่ถ้าไปจ่ายส่วยก็จะเลยจาก ๒๑ ตันไปเป็น ๕๐ ตัน ทางแก้ก็มีอยู่ ๒-๓ ทาง ๑. สร้างถนนที่สามารถรองรับน้ำหนักรถได้มากขึ้น ๒. ถ้าบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดแล้ว มันแก้ไม่ได้ก็ต้องไปแก้ไขกฎหมายให้เป็นปัจจุบัน แต่ผมเห็นว่าเรื่องนี้ท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม ท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านมนพร เจริญศรี ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สุรพงษ์ ปิยะโชติ เอาอยู่ครับ และในส่วนของคณะกรรมาธิการสามัญ ชุดของครูมานิตย์ สังข์พุ่ม คณะกรรมาธิการการคมนาคม ผมมั่นใจว่าถ้าได้ศึกษาเรื่องนี้จะแก้ไขปัญหาได้อย่างแน่นอน เพราะผมไม่เคยเห็นครูตกเลข ครูเก่งทุกคน สามารถคำนวณน้ำหนัก อ่านกฎหมายรู้ดูกฎหมายเป็น จึงขอเสนอว่าให้นำเรื่องนี้ ไปให้กับคณะกรรมาธิการการคมนาคมซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการสามัญศึกษาเรื่องนี้ หวานเจี๊ยบครับท่านประธาน กราบขอบพระคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหา และการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและลุ่มน้ำทะเลสาบอื่น ๆ อย่างยั่งยืน เมื่อสักครู่ เราไปนครสวรรค์ ผมจะพาท่านกลับไปที่ทะเลสาบสงขลาอีกครั้งหนึ่ง ผมขออนุญาตปักธง การอภิปรายในวันนี้ในหัวเรื่องว่า ทะเลสาบสงขลาในวันที่ไม่เหมือนเดิม จังหวะชีวิตที่หายไป และลมหายใจที่เปลี่ยนแปลง ท่านประธานครับ ทะเลสาบสงขลานั้นได้ชื่อว่าเป็นทะเลสาบ ๓ น้ำ ๓ จังหวัด ๓ น้ำประกอบไปด้วย น้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด ๓ จังหวัดก็ครอบคลุม สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช ทะเลสาบสงขลาเป็นแหล่งรับน้ำขนาดใหญ่ที่เรียกว่า ไทยลากูน คือเป็นระบบรองรับน้ำจืดขนาดใหญ่จึงมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เราไปตรวจสภาพของทะเลสาบสงขลา ณ ปัจจุบัน ไปดูตัวชี้วัดด้านต่าง ๆ ท่านประธานครับ ไปดูทรัพยากรสัตว์ทะเลหายาก ถ้าพูดถึงสัตว์ทะเลที่ทุกคนต้องไปตรงนั้นก็คือโลมาอิรวดี ท่านอดีตอธิบดี ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สส. พรรคเพื่อไทย ในวันนี้ไปนับโลมาอิรวดีได้ทั้งหมด ๑๔ ตัว และตอนนี้ก็ต้องเฝ้าระวังให้อยู่ดีมีสุข ๑๔ ตัวต่อไป เพราะว่าสภาพแวดล้อมมันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดผลต่อการดำรงชีวิตอยู่ของโลมาอิรวดี ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการติดเครื่องมือประมงประเภทอวน เช่น อวนปลาบึก อวนปลากะพงมีสาเหตุจากปัจจัยทางกายภาพและชีวภาพที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การตื้นเขิน ของทะเลสาบสงขลาที่เกิดจากตะกอนชายฝั่ง การเกิดมลพิษของน้ำในทะเลสาบ และการลดลงของอาหาร ปัจจัยเหล่านี้ทำให้โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาที่มีอยู่อย่าง จำกัดนั้นไม่สามารถที่จะขยายพันธุ์ ไม่สามารถที่จะอพยพ เคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่ได้ เคลื่อนไปได้อย่างไร เคลื่อนไปก็ไปเจออวน ไปเจออุปกรณ์ประมงที่ไม่ได้มาตรฐาน ผมจัดหมวดหมู่สาเหตุที่ส่งผลกระทบต่อโลมาอิรวดีแบ่งเป็นหมวดหมู่ดังนี้
ปัจจัยที่ ๑ เครื่องมือประมง เนื่องจากแหล่งอาศัยอยู่ใกล้ชิดกับพื้นที่การทำ ประมง มีการใช้เครื่องมือทำประมงที่อันตรายต่อโลมาอิรวดี อวนปลาบึก อวนปลากะพง อวนลอย เบ็ดราว และมักพบร่องรอยของอวนบริเวณลำตัวของโลกมามากขึ้น
ปัจจัยที่ ๒ มลพิษและความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม ขยะในทะเลที่เพิ่ม มากขึ้น เห็นตัวอย่างจากการตายของโลมาอิรวดีหลายรายก่อนหน้าพบว่ามีขยะเข้าไป ในท้องของโลมาและไม่สามารถย่อยสลายได้ และขยะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
ปัจจัยที่ ๓ การเจ็บป่วยตามธรรมชาติและภัยจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น เกิดมรสุมพายุคลื่นลมแรงหรือการเปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศสภาพแวดล้อม และอุณหภูมิของน้ำ
ปัจจัยที่ ๔ การขาดมาตรการในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ของโลมาอิรวดี อย่างเหมาะสม และระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง การตื้นเขินของทะเลสาบที่เกิดจากตะกอน ชายฝั่ง
ปัจจัยที่ ๕ คือการเกิดมลพิษในน้ำและดินในทะเลสาบ และการลดลงของ ปริมาณสัตว์น้ำที่เป็นอาหาร รวมถึงจำนวนประชากรโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา ที่มีอยู่อย่างจำกัด
ผมไม่ได้เล่าเฉพาะปัญหาครับ ผมมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กับ โลมาอิรวดีดังนี้ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ประชากรโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาที่มีอยู่ อย่างจำกัด เห็นควรให้มีมาตรการในการคุ้มครองผลกระทบต่าง ๆ เพื่อให้โลมาอิรวดีนั้น ได้เป็นสัตว์สงวนโดยเร็ว เพราะถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ๑๔ ตัวก็จะไม่เหลือเท่าเดิม แล้วอัตรา การเกิดใหม่ก็จะไม่เกิด ในปี ๒๕๖๕ มีความพยายามในการจัดทำแผนบริหารจัดการอนุรักษ์ โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา โดยมีแผนระยะสั้นคือแผน ปี ๒๕๖๕-๒๕๖๖ และแผนระยะยาว ปี ๒๕๖๖-๒๕๗๐ เป้าหมายมีไว้พุ่งชนแล้วเราต้องไปถึง จาก ๑๔ ตัวเราจะขยายให้ไปได้ถึง ๓๐ ตัวด้วยกัน ซึ่งจะต้องมีปัจจัยแวดล้อมสนับสนุน จากปัจจัยเรื่องโลมาอิรวดีเราไปดู ทรัพยากรป่าไม้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยป่าพรุ แล้วก็ป่าชายเลนในพื้นที่นั้นได้รับ ผลกระทบ ไปดูทรัพยากรหญ้าทะเลก็ได้รับผลกระทบลดลง ทรัพยากรสัตว์น้ำที่เกี่ยวเนื่อง ล้วนได้รับผลกระทบ ผลจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ภายในทะเลสาบสงขลา ที่ส่งผลกระทบ เช่น การพัฒนาชายฝั่ง การทำการเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและการประมง ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสภาพแวดล้อม คุณภาพน้ำ และการทำ ประมงผิดกฎหมาย ผมไม่อยากให้สังคมไทยและคนไทยของเรานั้นใส่ใจฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเป็นวาระ ไม่อยากให้เรา ใส่ใจแบบปรากฏการณ์ดาวหาง Halley ที่ ๗๕ ปีจะวนมา เพราะถ้าเช่นนั้นมันจะเปรียบ เหมือนกับรักแท้ที่ดูแลไม่ได้ ผมอยากจะฝากนะครับว่าคนไทยทุกภาคส่วนสามารถร่วมแรง ร่วมใจกันในการรักษาสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น แต่โดยส่วนตัวก็เห็นว่าคณะกรรมาธิการสามัญ ชุดที่เกี่ยวเนื่องของสภานั้นสามารถจะขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหานี้ได้ โดยอาจไม่จำเป็น ในชั้นนี้ที่จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ด้วยความเคารพ กราบขอบพระคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและเสนอแนะ การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมงทั้งระบบ ให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรม กับผู้ประกอบการประมงและกิจการต่อเนื่อง และสอดรับกับพันธกรณีระหว่างประเทศ ผมจงใจออกเสียงคำว่า และ เพราะว่าในญัตตินี้มีคำว่า และ หลายคำ เหตุที่ และ หลายคำเพราะว่าญัตตินี้ถ้าจะให้ครอบคลุมการแก้ปัญหาทุกมิตินั้นจะต้องแก้แบบเชื่อมโยง และบูรณาการ จะดำเนินการขับเคลื่อนผลักดันเพียงส่วนหนึ่งส่วนใด หน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใด ไม่ได้ ผมได้ฟังการนำเสนอญัตติโดยท่าน สส. ดอกเตอร์ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ คนสวย ลาดกระบัง คนงามกรุงเทพฯ ก็เข้าใจครับว่าท่านนั้นอ่านปัญหาประมงรู้ ดูปัญหาประมงเป็น ผมจึงขออภิปรายสนับสนุน ท่านประธานครับ ในอดีตนั้นประเทศไทยติดอันดับ ๑ ใน ๑๐ ของโลก เป็นประเทศที่ สามารถจับสัตว์น้ำได้มากที่สุดในโลก ต้องย้อนกลับไปเกือบ ๆ ๒๐ ปีในช่วงปี ๒๕๔๓ ถึง ปี ๒๕๔๗ ตอนนั้นเรามีผลผลิตสัตว์น้ำมากถึง ๓.๗-๔.๑ ล้านตัน เนื่องด้วยความได้เปรียบ จากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทย เรามีพื้นที่ประมาณ ๕๔๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร และมีความยาวชายฝั่งยาวถึง ๒,๖๑๔ กิโลเมตร แต่นั่นก็เป็นเรื่องในอดีตไม่ใช่ว่าจะมาพูด ความเก่าเล่าความหลัง แต่ยกขึ้นมาเพื่ออรรถาธิบายว่าอุตสาหกรรมประมงไทยนั้นเราเคย ยิ่งใหญ่มาก่อน การทำธุรกิจประมงหากล้มพังครืนลงไปไม่ได้กระทบเฉพาะพี่น้อง ผู้ประกอบการเจ้าของเรือประมงเท่านั้น มีธุรกิจในห่วงโซ่การผลิตที่เรียกว่า Supply chain ได้รับผลกระทบอีกหลายทอด ไม่ว่าจะเป็นโรงน้ำแข็ง ห้องเย็น รถขนส่ง โรงงานแปรรูป อุตสาหกรรมเรือประมง การสร้างเรือ อุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ โรงงานผลิตอาหาร กระป๋อง ปลากระป๋อง โรงงานแช่แข็ง ผลิตอาหารสัตว์ และส่งผลกระทบอย่างชนิดที่เรียกว่า เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว ถ้าเราไปฟังเพลงตังเกของพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ เราจะพบเลยครับว่าเพลงนี้แต่งและร้องและดังในปี ๒๕๓๓ ยุคนั้นละครับเพลงก็เป็นภาพ สะท้อนของสถานภาพทางเศรษฐกิจสังคมของประเทศ ในปีนั้นประเทศไทยขึ้นเป็นอันดับ ๑ ของประเทศผู้ผลิตอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีปริมาณการจับมากถึง ๒.๘ ล้านตัน และนั่นก็เป็นความภูมิใจที่ดูเหมือนว่าเราจะย้อนหวนกลับคืนไปได้ยากเหลือเกิน วันนี้หลายอย่างเปลี่ยนไป หลายสิ่งไม่เหมือนเดิม เส้นทางชีวิตที่จะกำหนดชะตาชีวิตของ ทะเลไทยเพื่อต่อลมหายใจชาวประมงนั้นต้องทำอย่างเข้าใจ และยึดประโยชน์ของ ประเทศชาติ ประชาชน และชาวประมงเป็นสำคัญ และถ้าหากว่าเราไม่ศึกษา ไม่แก้ไข กฎหมาย ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ วันหนึ่งอาชีพประมงจะกลายเป็นอาชีพที่สูญพันธุ์ไปจาก ประเทศไทย วันนี้เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดปรับ Mindset ใหม่ว่าเราจะปรับการบังคับใช้ กฎหมายที่เคร่งครัด ปรับการบังคับใช้กฎหมายแบบลักษณะห้ามปราม ควบคุม เป็นการ ส่งเสริมอาชีพประมง เป็นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม และรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อต่อลมหายใจ ให้กับพี่น้องชาวประมงได้อีกครั้งได้อย่างไร ผมมี ๕ เรื่องเร่งด่วนที่ความจริงรัฐบาล ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐานั้นก็ได้ริเริ่ม แต่ก็ว่าต้องรอการเติมเต็ม ๕ เรื่องที่ว่านั้นมีอะไรบ้าง
มาตรการที่ ๑ ต้องไปศึกษา ทบทวนขอแจ้งเตือนกฎระเบียบของสหภาพ ยุโรป หรือ EU ไปดูองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ไปวิเคราะห์ถึงผลกระทบ ต่ออุตสาหกรรมประมงจากการดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดขึ้น เพื่อนำไปสู่การเจรจา ระหว่างกันครั้งใหม่ มีคนบอกครับเขาให้ใบเหลืองเจตนาเขาอาจจะเพียงแค่ต้องการ แตะเบรก แต่ด้วยอารามตกใจ รัฐบาลที่ผ่านมานั้นอาจจะถึงขั้นโยนเครื่องเรือทิ้ง ดังนั้น ต้องกลับไปศึกษาว่าเขาให้ไปแตะเบรก แตะเบรกอย่างไร
มาตรการที่ ๒ ต้องกลับไปศึกษาทบทวนไปพิจารณาว่าเราจะสนับสนุน การแก้ไขกฎหมายประมงไทยให้สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของการประมงไทย และบริบทของกฎหมายระหว่างประเทศได้อย่างไร หยิกเล็บก็เจ็บเนื้อครับ ถ้าเรามุ่งเน้น จะเอาตามข้อบังคับให้ถูกใจกฎหมายระหว่างประเทศ โดยละทิ้งหรือมองข้ามบริบทประมง ไทยก็จะทำให้เราเสียโอกาส
มาตรการที่ ๓ การดำเนินการเจรจาระหว่างไทยกับองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะ EU เพื่อให้ประเทศไทยได้คืนสิทธิประมงแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะการประมงพื้นถิ่น การทำกินพื้นบ้านที่ปฏิบัติมาช้านาน
มาตรการที่ ๔ ควรเสนอมาตรการเยียวยา เพื่อแก้ไขผลกระทบต่อชาวประมง และอุตสาหกรรมประมงอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูอุตสาหกรรมประมงของไทย
มาตรการที่ ๕ ต้องสนับสนุนให้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาข้อกฎหมาย อย่างจริงจัง ต้องมีนักกฎหมายไปช่วยชาวประมง ต้องมีนักบริหารจัดการไปดูเรื่องการแก้ไข การบริหารจัดการ ไปดูเรื่องการเจรจาระหว่างประเทศเพื่อการช่วยเหลือชาวประมง ในอดีตมีคำกล่าวว่าชาวประมง ๑ คน มีเรือประมง ๑ ลำ สามารถส่งลูกเรียนหนังสือสูง ๆ ได้ แต่วิกฤติประมงที่ผ่านมานั้นเรือต้องขายครับ ลูกต้องถูกเรียกตัวกลับมา และวันนี้ผมเห็นด้วย ในการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อจะคืนศักดิ์ศรีและประกาศศักดานำธุรกิจประมงไทย กลับไปสู่การเป็นเบอร์ ๑ ของโลกอย่างยั่งยืนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ มีคำกล่าวว่า ถ้าคุณเกิดมาจน นั่นไม่ใช่ความผิดคุณ แต่ถ้าคุณตายจน อันนั้นละความผิดคุณเติม ๆ อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ไม่ได้ Said that กล่าวคำนี้ด้วยตัวเอง แต่กล่าวตามบิลล์ เกตส์ ขออนุญาตที่เอ่ยนามถึงบิลล์ เกตส์ แต่ถ้าจะให้สอดคล้อง สอดรับ กับญัตติในวันนี้ต้องบอกว่า ถ้าคุณเกิดมาพร้อมหนี้ อาจไม่ใช่ความผิดคุณ แต่ถ้าคุณตายไป แต่หนี้ยังคงอยู่หนี้ไม่หมด นั่นละความผิดคุณ ผมคิดว่ามาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการออกแบบนโยบายโครงการมาตรการที่จะช่วยประชาชนในการปลดหนี้ หรือลดหนี้ ให้ประชาชนนั้นเป็นสิ่งที่ภาครัฐ ภาคสถาบันการเงิน จะแบงก์ Non-Bank ต้องร่วมด้วย ช่วยกันทำ เพราะถ้าภาครัฐขยับ และได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนปัญหาหนี้สิน จะกลายเป็นปัญหาที่จากหนักเป็นเบา ทุเลาเป็นหาย ดังนั้นผมเชื่อว่าสิ่งที่รัฐบาลพยายาม ดำเนินการมาแม้ว่าจะใช้เวลาเดือนเศษแต่ก็ต้องยอมรับว่าเราเห็นสัญญาณที่ดี และอีกมิติหนึ่งเราก็เห็นครับว่าปัญหาการแก้หนี้สินให้กับพี่น้องประชาชนแม้จะมีการตั้ง คณะกรรมาธิการมาหลายคณะ แต่การแก้ปัญหาหนี้สินไม่ใช่เรื่องง่ายครับ หลายคณะกรรมาธิการพ้นวาระแต่หนี้ประชาชนก็ไม่ยอมลดละ เพราะถ้าแก้ง่ายก็คง สำเร็จไปแล้ว เราตามตอบว่าคนไทยเป็นหนี้อะไรมากที่สุด หลายท่านอาจจะตอบว่าคนไทย เป็นหนี้จากการซื้อบ้าน เป็นหนี้จากการซื้อรถ แต่ความจริงคนไทยเป็นหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล มีสัดส่วน ๓๙ เปอร์เซ็นต์ของหนี้ครัวเรือน และคนไทยก็เป็นหนี้บัตรเครดิต ซึ่งคิดเป็น ๒๙ เปอร์เซ็นต์ ย้อนกลับไป ๑๐ ปีไปเดินห้างสรรพสินค้าเผลอไม่ได้พวกจะยื่น Application กรอกใบสมัครบัตรเครดิตอยู่เรื่อย แต่เราได้องค์ความรู้แบบนี้ครับว่าไม่ใช่ว่าจะมีคนหนึ่ง ๕ ใบ ๑๐ ใบ เราก็พยายามที่จะจัดระเบียบในการถือครองบัตรเครดิตแต่ก็ต้องยอมรับว่า หนี้มันมาจากตรงนี้ครับ เราไปดูตัวเลขคนไทย ๒๕ ล้านคน หรือ ๑ ใน ๓ มีหนี้สินเฉลี่ย มากถึง ๕๒๐,๐๐๐ บาท โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ อธิบายให้เห็นภาพก็คือ ซื้อมาจับจ่ายใช้สอยเพื่อการอุปโภคบริโภคใช้แล้วก็หมดไป หนี้ส่วนนี้มีสัดส่วนถึง ๙ เปอร์เซ็นต์ด้วยกัน แต่เราก็ต้องยอมรับทุกรัฐบาลนั้นมีความตั้งจิตตั้งใจดีในการแก้ปัญหา ให้กับพี่น้องประชาชน แต่ต้องยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมาทั้งวิกฤติโควิด วิกฤติน้ำท่วม ภัยแล้ง การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเติบโตของเศรษฐกิจบ้านเราที่ช้ากว่าเพื่อนบ้าน สงครามจาก ๑ คู่ กลายเป็น ๒ คู่ เราไม่ต้องไปลงลึกครับว่าคู่ใดบ้าง แต่ ๒ คู่ ๔ ทีม ๔ ประเทศนี้เขาก็ นกมีขน คนมีเพื่อน พอเกิดสภาวะสงครามขึ้นมาในขณะที่หลายปัญหาที่รุมเร้าหมักหมม มาก่อนหน้านี้ไม่ได้รับการแก้ไข เราก็ว้าวุ่นเลยครับทีนี้ ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องขับเคลื่อน เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สิน ผมมีข้อเสนอ ๕ มาตรการด้วยกัน
มาตรการที่ ๑ รัฐนั้นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ ถ้าเปรียบเป็นการรักษาต้องไม่ใช่แบบหยอดน้ำข้าวต้ม หรือให้น้ำเกลือหมด ๑ ขวด ๒ ขวด แล้วกลับบ้าน ต้องเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ นั่นก็คือโครงการ Digital Wallet ซึ่งถือว่ามาได้ถูกที่ ถูกเวลา มาแก้ปัญหาในเวลาที่ใช่ โครงการนี้ถ้าเกิดขึ้นจะเป็นมิติ ทั้งการเพิ่มทุนให้กับพี่น้องประชาชน ในมิติของการกระตุ้นการลงทุนให้กับพี่น้องประชาชน ถ้า ๑๖ ปีขึ้นไปจะได้รับคนละ ๑๐,๐๐๐ บาท แต่ถ้าคิดแบบ ๑๐,๐๐๐ ต่อ ๑ คน อาจไม่ใช่ เรื่องที่จะต้องตกใจ แต่ถ้าคิดว่าในครัวเรือนของท่าน สมาชิกในบ้านของท่าน มี ๔ คน ๔๐,๐๐๐ บาท ๕ คน ๕๐,๐๐๐ บาท นี่เรื่องใหญ่นะครับ ดังนั้นโครงการ Digital Wallet หรือเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาลนี้ มีคำกล่าวว่าน้ำที่อุ้มเรือได้เช่นไร น้ำก็สามารถคว่ำเรือ ได้เช่นนั้น ผมไม่อยากให้เกิดบรรยากาศแบบนั้นสวนทางกับความต้องการและการรอคอย ของพี่น้องประชาชน ทุกภาคส่วนต้องร่วมด้วยช่วยกันว่าจะผลักดันโครงการนี้ให้เกิดอย่างไร บนพื้นฐานของกรอบวินัยการเงินการคลัง ห่วงใยได้ ตั้งข้อสังเกตได้ แต่ต้องยึดประโยชน์ว่า สุดท้ายถ้าเอาประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง ผมว่าโครงการนี้ ต้องเกิดครับ
มาตรการที่ ๒ รัฐบาลต้องเดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชน ต้องลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อย
มาตรการที่ ๓ การพักหนี้เท่ากับการเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกร นโยบายของรัฐบาลพักชำระหนี้เกษตรกร ๓ ปี ก็เป็นหนึ่งในเรือธงที่รัฐบาลชุดนี้พยายาม เดินหน้า มีการขยายไปพักหนี้ในกลุ่ม SMEs และจะขยายไปกลุ่มวิชาชีพอื่น ๆ ย้ำว่า มาตรการพักหนี้ต้องทำพร้อมรักษาและยึดมั่นในกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด
มาตรการที่ ๔ ต้องให้ความรู้ทางการเงิน ส่งเสริมวินัยการออมให้กับ พี่น้องประชาชนอย่างเคร่งครัด
มาตรการที่ ๕ ต้องพัฒนาทุนมนุษย์ ส่งเสริมการออม เสริมสร้างศักยภาพ การแข่งขันของคนไทย ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อจะทำให้การลงทุนของไทยเข้มแข็ง เพื่อรองรับการขยายงานตามนโยบายของรัฐบาล ท่านประธานครับการเป็นหนี้ไม่ได้น่ากลัว เลยครับ ตราบเท่าที่เรามีศักยภาพในการใช้หนี้ มีเงิน ๑๐ บาทในกระเป๋าไม่กล้าพาเพื่อน ไปกินก๋วยเตี๋ยว แต่ถ้ามี ๕๐ บาท มีศักยภาพ เรากล้าและมีความเชื่อมั่น ผมเชื่อว่ารัฐบาลนี้ ต้องถือธงนำ และขอรับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนในการเสริมสร้างศักยภาพของคนไทย ให้แก้ปัญหาหนี้ได้อย่างยั่งยืน ปัญหาหนี้ประชาชนควรต้องจบในรุ่นเรา ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อญัตติ เรื่อง ปัญหาการลักลอบตัดไม้หวงห้ามในเขตพื้นที่ส่วนราชการ จากญัตติคำถาม สำคัญคือว่าทำไมต้องลักลอบตัด ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดินก็ต้องบอกว่าถ้าไม่ลักลอบ ไปตัดเลยถูกจับครับ แต่การอภิปรายของผม ๗ นาที ผมจะนำย้อนกลับไปว่าในอดีตสยาม ประเทศของเรานั้นเป็น Destination เป็นจุดหมายปลายทางของนักค้าไม้ระดับโลกครับ ไม้ดี ๆ ไม้แพง ๆ ต้องมาที่ประเทศไทย ใครใคร่ค้าไม้ค้า ใครใคร่ตัดไม้ตัด แต่เพื่อให้มีการตัดไม้ และยกระดับเพื่อการพาณิชย์เป็นมาตรฐานสากล ประเทศไทยได้เชิญ Mr. H. Slade Mr. H. Slade เป็นใครครับ เป็นชาวอังกฤษ แต่มีประสบการณ์ในการทำไม้ระดับโลก โดยเฉพาะที่อินเดีย Mr. H. Slade มาวางระบบให้การทำไม้ของไทยนั้นเป็นมาตรฐาน ต่อมา ในวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๔๙๓ ได้โปรดเกล้าฯ สถาปนากรมป่าไม้ขึ้นเป็นครั้งแรก จากนั้น ๑๖ ตุลาคม ๒๔๓๙ Mr. H. Slade ได้ขึ้นเป็นอธิบดีกรมป่าไม้หรือในขณะนั้นเรียกว่า เจ้ากรมป่าไม้ สังกัดกระทรวงมหาดไทยเป็นคนแรก ซึ่งมีที่ทำการกรมแห่งแรกอยู่ที่ จังหวัดเชียงใหม่ การทำไม้ที่ Mr. H. Slade ได้วางไว้นั้นถือว่า World Class ครับ จะมีพื้นที่ ได้รับสัมปทานเท่าไรก็ตาม ต้องแบ่งออกเป็นตอน ๆ ตอนละเท่า ๆ กัน เช่นมี ๓๐ ไร่ แบ่งเป็น ๓ ตอน ตอนละ ๑๐ แปลง ให้ทำแปลงละ ๓ ปี ทำไมต้องทำ ๓ ปี เพราะพอครบ ๓๐ ปี ขึ้นปีที่ ๓๑ ก็จะไปเริ่มตอนใหม่ ในระหว่างนั้นก็จะทำนุบำรุงดูแลเพื่อให้ไม้สามารถ ตัดได้ในปีที่ ๓๑ และระหว่างนั้นหากปล่อยให้มีการลักลอบไปตัดไม้เจ้าของสัมปทานถือว่า มีความผิดอาจจะต้องถูกเพิกถอนใบสัมปทานนั้นด้วย กระบวนการในการทำไม้ที่ Mr. H. Slade วางไว้ก็คือ ๑. คัดเลือก ๒. ชักลาก ๓. ตีค่าภาคหลวง ๔. ออกใบเบิกทาง นำเคลื่อนที่ เห็นไหมครับว่าเป็นระบบ พอครบ ๓๐ ปี ขึ้นปี ๓๑ ก็วนไปตัดในตอนแรกใหม่ ถ้าสมัยนั้นมี ISO ก็ต้องยอมรับนะครับว่าต้องได้ ISO ในทุกขั้นตอน ท่านลองนึกภาพตาม มีบริษัทได้รับสัมปทานทำไม้ ๔๐๐ บริษัท แต่ละบริษัทมีคนงาน ๕๐๐ คน จะมีคนไปอยู่ ในป่า ๒๐,๐๐๐ คนครับ แต่ละป่าจะคึกคักขนาดไหน ๒๐,๐๐๐ คนทำอะไร คัดเลือก ชักลาก ตีค่าภาคหลวง ออกใบเบิกทางนำเคลื่อนที่ แต่น่าเสียดายครับยุคทองของการทำ อุตสาหกรรมป่าไม้ก็มาสะดุดหยุดลงจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่พิปูน จังหวัด นครศรีธรรมราช เหตุการณ์นั้นเกิดปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๑ เกิดฝนตกหนัก ๓ วัน ๓ คืน นอกจากน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ก้อนหินขนาดใหญ่ ยังมีท่อนซุงครับ ท่อนซุง ที่ไหลมานั้นเป็นไม้ที่ล้มขอนนอนไพร ไหลมาชนิดที่เรียกว่าราวกับลาวาป่าไม้ ช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมงครับหมู่บ้านที่เคยมีผู้คนอยู่อาศัยทั้งหมู่บ้านหายวับไปกับตา เหตุการณ์ ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิต ๙๐ ศพ สูญหาย ๑๐๒ คน ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ในสมัยนั้นเห็นถึงความจำเป็นว่าต้องไปตรวจสอบการได้รับสัมปทานป่าไม้ ไปตัด อย่างไรถึงมีไม้ล้มขอนนอนไพรไหลกันมาราวกับลาวาไม้ขณะนั้น ในยุคนั้นมาตรฐาน การตรวจสอบอาจไม่เข้มข้นเหมือนทุกวันนี้ มีกระแสข่าวว่าการตรวจสอบใบสัมปทานนั้น อาจจะมีการเปิดช่องหรือเอื้อให้มีการทุจริต หลายมาตรฐานบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม เดือดร้อนถึงนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ไม่ขออนุญาตเอ่ยนามท่าน ได้มีคำสั่งประกาศยกเลิก การให้สัมปทานป่าไม้ทั้งระบบ บางส่วนบอกว่าเป็นการแก้ปัญหาแบบกำปั้นทุบดิน บางส่วน บอกยอมหักไม่ยอมงอ ทำให้ในวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๓๒ หลังจากยกเลิกทำให้ ๑๔ มกราคม ของทุกปีเป็นวันทรัพยากรป่าไม้แห่งชาติ ปัญหาอยู่ตรงนี้ครับ หลังยกเลิกสัมปทาน ป่าไม้ ท่านประธานจำคน ๒๐,๐๐๐ คน ที่ผมเล่าได้นะครับ เกิดความไม่พอใจครับ เมื่อพวก เขาไม่ได้ประโยชน์จากการทำไม้เขาก็ไม่คืนป่า มีการลักลอบตัด มีการเผาทิ้งไปเฉย ๆ ในภาวะสุญญากาศนั้นประเทศไทยเสียโอกาสไปมาก และเมื่อเสียโอกาสทำให้รัฐบาลต่อมา ต้องมีมติ ครม. เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๓๖ ๓๐ ปีที่แล้ว ให้ผู้บุกรุกตามพื้นที่ป่ากลับมา เป็นของรัฐบาล ตั้งเป้าครับจะทวงคืนให้ได้ ๔๔ ล้านไร่ แต่ทวงไปทวงมาจากเป้า ๔๔ ล้านไร่ เหลือแค่ ๘ ล้านไร่ จุดเปลี่ยนสำคัญก็คือการยกเลิกสัมปทานป่าไม้ ทำให้มาตรฐานระดับ World Class ที่เราเคยปฏิบัติที่ Mr. H. Slade ได้วางไว้ ถ้า Mr. H. Slade มองกลับมาก็คง รู้สึกว่าเสียดายวันเวลากว่าจะรวบรวมกฎ กติกา มารยาทในการปฏิบัติเรื่องการสัมปทาน ป่าไม้สุดท้ายกลายเป็นประสาททรายไม่เหลืออะไรเลย มันจึงเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมาจนถึง การตัดไม้พะยูงแบบลักลอบตัด คำถามคือแล้วไม่ลักลอบตัดไม้อื่นหรือ ตัดเหมือนกัน แต่ว่า ไม้พะยูงเป็นไม้ในวงศ์ศักดิ์สูง เป็นไม้ชั้นสูงที่ประเทศจีนเวลาเขาได้ไม้พะยูงไปเขาเอาไป ทำนุบำรุงวัดวาอาราม วังหลวง ถามว่าเอาไปทำโต๊ะ เตียง ตั่งไหม มีครับ แต่ว่าโต๊ะ เตียง ตั่ง ของบุคคลระดับ VIP ดังนั้นเมื่อตลาดเปิดกว้างที่ประเทศจีนรู้ว่าเสี่ยงอย่างไรก็ต้องขอลอง จึงมีความพยายามในการลักลอบตัดไม้พะยูง ผมจะไม่บอกว่าแนวทางการแก้ต้องสร้าง จิตสำนึก ผมไปอีกทางหนึ่งครับ ผมอยากเสนอว่าเราอาจจะต้องกลับมาทบทวนว่าเราจะ กลับไปรื้อฟื้นหรือกลับมาให้มีการอนุญาตให้เกิดสัมปทานป่าไม้ได้อย่างไร โดยยึดประโยชน์ ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ ไม่เช่นนั้นเราจะเสียประโยชน์โดยไม่ได้อะไรเลย ขอบคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร หรือที่เรียกว่า Entertainment Complex ผมต้องเรียนอย่างนี้นะครับว่าถ้าเราไปดูขนาดตลาดการพนันของไทย ขนาดตลาดใหญ่ เป็นอันดับ ๔ ของโลก มูลค่าประมาณ ๗๕๐,๐๐๐ ล้านบาท เป็นรองญี่ปุ่นที่มีเม็ดเงินหมุนเวียน ในธุรกิจการพนัน ๗๘๐,๐๐๐ ล้านบาท ต่างกันไม่มากครับ แค่ ๓๐,๐๐๐ ล้านบาท ห่างกันชนิดที่เราเรียกว่าหายใจรดต้นคอ จากบันทึกของเออร์เนสต์ ยัง ซึ่งเป็น Teacher ชาวอังกฤษที่เข้ามาวางรากฐานการศึกษาให้กับประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ บอกว่า คนไทยเป็นนักพนันมาตั้งแต่กำเนิด คนไทยมีสายเลือดนักสู้ ถึงขั้นถ้าจะขึ้น Status ก็ต้อง บอกว่ากินแกลบอย่างโอหัง แต่โอนตังค์อย่างกล้าหาญครับ นักพนันไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก ปี ๒๐๒๑ ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันได้มีบทวิเคราะห์ว่าคนไทยที่เล่นการพนันมีจำนวน ประมาณ ๓๓ ล้านคน หรือคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรไทย อย่างไม่เล่น ๆ ครับ วันที่ ๑ กับวันที่ ๑๖ ต้องมีลุ้นบ้างครับ เช้าวุ่นวาย บ่ายตื่นเต้น เย็นนั่งเศร้า บางทีความสุข ไม่ได้อยู่ด้วยกันถูกครับ แต่การถากก็ทำให้รู้ว่าชีวิตยังมีงวดต่อไป เคยมีคนเสนอครับว่า เราออกรางวัลกันทุกวันดีไหม หรือในบางประเทศเขาออกวันละ ๒ ครั้ง ผมขอคัดค้านครับ เพราะถ้าออกทุกวันเราจะฝันกันไม่ทัน เอาเฉพาะ ๑ กับ ๑๖ ไว้อย่างเดิม แต่ต้องจัดระเบียบ จัดระบบให้ดี ศูนย์วิจัยกรุงเบอร์ลินทำการสำรวจพฤติกรรมการยอมรับความเสี่ยงของผู้คน ในประเทศที่มีรายได้ปานกลาง พบว่าสามารถที่จะมีความเสี่ยงได้มากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว เราถูกหลอกครับ ให้เข้าไปในวังวนของการพนันโดยไม่รู้ตัว เช่น ขูดรหัสใต้ฝา หรือมี Campaign ไปแต่ตัวทัวร์ยกแก๊ง บางทีเรากินจนเบาหวานขึ้นตาแล้วครับ ตั๋วเครื่องบิน ยังไม่เห็น เราก็กินกันมาเช่นนั้น เราลุ้นกับการต้องซื้อของในกล่องสุ่ม แล้วก็มาลุ้นกันว่า ของที่ซื้อมาในกล่องสุ่มเปิดออกมามันจะคุ้มค่าการลงทุนหรือไม่ ปฏิเสธไม่ได้เลยครับว่า การพนันนั้นได้ฝังรากลึกลงไปในสังคมไทยจนยากจะแก้ไข อยากชนิดที่เรียกว่า พ.ร.บ. การพนัน ปี ๒๔๗๘ เราก็ยังไม่สามารถแก้ได้ พอแก้ไม่ได้ก็ว้าวุ่นเลยครับทีนี้เพราะประเทศเพื่อนบ้าน เขามีหมดครับจากเหนือจรดใต้ ตะวันออกจรดตะวันตก แนวตะเข็บชายแดนเลาะรอบ ขอบเขตเหนือใต้ออกตกเขามีหมด จากการพนัน Offline ไปดูการพนัน Online Offline นี่ ไทยสู้เขาไม่ได้ Online ก็สู้ไม่ได้ อังกฤษมีมูลค่าตลาด Online นี่ ๔๐๐,๐๐๐ ล้านบาท สหรัฐ ๓๐๐,๐๐๐ ล้าน บาท ออสเตรเลีย ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท อิตาลี ๑๕๐,๐๐๐ ล้านบาท ฝรั่งเศส ๑.๓๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ผมมีข้อสังเกตว่ากรรมาธิการทุกชุด หลายชุดเคยศึกษา และเอาผลการศึกษามาถอดบทเรียน เราไม่เห็นทิศทางว่าตกลงจะเดินหน้าต่ออย่างกล้าหาญ หรือจะสรุปกลับมาไม่ทำอย่างมั่นใจแล้วหรือยัง มีข้อสังเกตข้อห่วงใยหลายประการนะครับ เช่นถ้าจะเปิดให้มี Entertainment Complex จะต้องมีการกำหนดอายุผู้เข้าไปใช้ เช่นต้องมีอายุ ๒๑ ปีขึ้นไป ต้องแสดงสถานะทางการเงินย้อนหลัง ๖ เดือน ต้องไม่มีบัญชีม้า ต้องมีเงินหมุนเวียนในบัญชีไม่ต่ำกว่า ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการเข้าไป ใช้บริการ ท่านประธานครับ ถึงเวลาแล้วที่ขุนศึกนักพนันไทยจะไปประกาศศักดาบนเวที การพนันโลก เรามีผู้เล่นหน้าใหม่ มีผู้สูงอายุ สูงวัย อาวุโสโอเคเต็มไปหมดครับ แต่เราจะจัด ระเบียบอย่างไรที่ทำให้การเข้าถึงสิ่งที่เราต้องระมัดระวังอย่างสูงนั้นเป็นประโยชน์โพดผล และผมคิดว่าถึงเวลาที่เราจะต้องมีข้อสรุปว่าถ้าเราจะเดินหน้าต่อจะเดินหน้าต่ออย่างมั่นใจ ได้อย่างไร และถ้าจะไม่ไปต่อก็ต้องสิ้นสงสัยว่าเราจะไม่ทำเพราะอะไร ไม่ใช่ละล้าละลัง กลับไปกลับมา ด้วยความเคารพท่านประธานครับนี่คือมุมมองของผู้อภิปราย อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ที่ไม่ชอบการเล่นการพนัน ไม่เคยพิศวง ไม่เคยชอบ ไม่เคยพิสมัยการเล่นการพนันครับ ท่านประธานก็รู้ดี ท่านประธานเชื่อไหมครับว่าผมไม่ติดการพนัน ท่านประธานไม่เชื่อ พนันกับผมก็ได้ครับ แต่ผมกราบเรียนว่าข้อสังเกตนี้ เป็นข้อสังเกตบนพื้นฐานของ ความห่วงใยและต้องการยึดประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ เราเสียเวลา มามากแล้วครับ ถึงเวลาที่เราจะตกผลึก แล้วก็จะเดินหน้าต่ออย่างมั่นใจ และลูกหลานเรา ต้องปลอดภัยถ้วนหน้า ขอบคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ผมต้องขอกราบเรียนท่านประธานและท่านผู้มาชี้แจงนะครับว่า ความจริงวันนี้การเข้ามารับฟัง รับทราบ การรายงานจากสถาบันพระปกเกล้านั้น ผมเพียงตั้งจิตมาแต่ไกลตั้งใจมาแต่บ้าน มาให้กำลังใจ แต่เมื่อฟังข้อเสนอแนะจากเพื่อนสมาชิกซึ่งก็เป็นสิทธิของท่านในการเสนอแนะ รวมถึงตั้งคำถาม เพื่อนสมาชิกจากพรรคเพื่อไทยก็เดินมาที่ที่นั่งของผมครับ แล้วก็บอกว่า ท่านอนุสรณ์ ในฐานะที่ท่านเป็นศิษย์เก่าสถาบันพระปกเกล้า ท่านเป็นมนุษย์ฝึกอบรม คนหนึ่ง เป็นคนที่อ่านหลักสูตรรู้ ดูหลักสูตรเป็น มีอะไรที่ท่านจะช่วยสถาบันพระปกเกล้า ได้บ้าง ผมขอเรียนว่าเวทีนี้คงไม่ได้มีการช่วยเหลืออะไรกันครับ แต่เพียงแต่ว่าอยากให้ กำลังใจกับสถาบันพระปกเกล้า ผมได้เรียนเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ ๕ กันยายน ซึ่งเป็นวันสถาปนา สถาบันพระปกเกล้า และปีนี้ก็ครบรอบ ๒๕ ปีสถาบันพระปกเกล้า เป็น ๒๕ ปีที่เดินมาถูกทิศ ทำงานมาถูกทางครับ แน่นอนครับว่าระหว่างทางนั้นก็จะต้องปรับ ต้อง Tune ต้องเปลี่ยน ข้อคำถามหรือแม้แต่ข้อครหาต่าง ๆ ที่มีกับสถาบันพระปกเกล้าผมต้องเรียนนะครับว่า บางข้อกล่าวหานั้นปัจจุบันนี้ไม่หลงเหลือรูปแบบนั้นแล้วนะครับ และผมเชื่อมั่นว่าสถาบัน พระปกเกล้ามุ่งมั่นตั้งใจในการปรับเปลี่ยนไปสู่การเป็นสถาบันวิชาการชั้นนำของประเทศ ผมต้องขอแสดงความยินดีกับท่านอาจารย์วิทวัส ชัยภาคภูมิ ท่านเลขาธิการสถาบัน พระปกเกล้าท่านใหม่ ความจริงเพื่อนสมาชิกบางท่านบอกว่ารายงานประจำปี ๒๕๖๕ นี้เป็น รายงานผลการดำเนินงานของเลขาธิการท่านเก่า ความจริงท่านอาจารย์วิทวัสและคณะ ไม่ได้เป็นคนเก่าคนใหม่ไปไหนครับ เป็นลูกหม้อ เป็นคนในองค์กรของสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งสามารถอธิบายได้ด้วยความภาคภูมิใจครับว่ามีส่วนร่วมในการจัดทำรายงานนี้และหาก ในรายงานจะได้พูดถึงความสำเร็จใด ๆ ผมเชื่อว่าอาจารย์วิทวัสและคณะนั้นมีสิทธิ อันชอบธรรมที่จะได้นำเสนอความภาคภูมิใจนั้นครับ ผมกราบเรียนว่าผมไล่เรียงดูเนื้อหา ในรายงานก็ต้องชื่นชมที่ท่านทำรายงานได้น่าสนใจแล้วก็ชวนอ่านตั้งแต่ต้นจนจบ ผมสะดุดตรงแผนยุทธศาสตร์สถาบันพระปกเกล้า ฉบับที่ ๖ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔-๒๕๖๘ ผมอ่านวิสัยทัศน์นะครับ Vision บอกว่า จะเป็นสถาบันวิชาการชั้นนำ ด้านการพัฒนาประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล และสันติวิธี ที่จะมุ่งนำความรู้สู่สังคม เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ผมเข้าใจว่าวิสัยทัศน์นี้ก็คงจะขับเคลื่อนระหว่างปี ๒๕๖๔-๒๕๖๘ แต่ ณ ปัจจุบันนี้ถ้าเราไปดูในหลักสูตรผมคิดว่าวิสัยทัศน์ดังกล่าวนั้นไม่ใช่เป้าหมายที่ไกล เกินไป หลักสูตรในปัจจุบันนี้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เป็นปัจจุบันและสามารถใช้งาน ได้จริง ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตว่าผู้เข้ารับการฝึกอบรมหรือเข้าศึกษาในหลักสูตรของสถาบัน พระปกเกล้าในปัจจุบันนี้มองสถาบันพระปกเกล้าว่าเป็นสถาบันที่เข้มความขลัง และพยายาม จะเติมความปัง เข้มความขลังคืออะไรครับ ในฐานะที่ผมอ่านหลักสูตรรู้ ดูหลักสูตรเป็น ต้องเรียนครับว่าหลายต่อหลายหลักสูตรของสถาบันพระปกเกล้านั้นไม่เรียนไม่ได้ครับ เพราะถ้าคุณไม่เรียนคุณจะคุยกับเขาไม่รู้เรื่องครับ
ส่วนข้อครหาหรือข้อคำถาม ๓ ประการที่ตั้งคำถามไปยังสถาบันพระปกเกล้า เช่น เรื่องของไปเรียนแล้วก็ไปสร้าง Connection ผมเรียนเลยครับว่ามาตรฐานการคัดกรอง กระบวนการที่จะนำไปสู่การคัดเลือกผู้จะได้เป็นนักศึกษาของสถาบันพระปกเกล้า ปัจจุบันนี้ ผมเข้าใจว่ามีมาตรฐานระดับสากล และมีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้จะเข้าไปเป็น นักศึกษา และแน่นอนล่ะครับคนไปเรียนตรงนั้น ๖ เดือน ๘ เดือน ๙ เดือน กิจกรรมที่จะ ควบคู่ไปกับการเรียนที่เรียกว่า Plearn หรือ Play and Learn ที่เรียกว่างาน Party มีปัญหา ผมเรียนว่า ณ ปัจจุบันนี้สถาบันพระปกเกล้าก็ปรับเปลี่ยนเข้าไปควบคุมตรวจสอบและ ให้คำแนะนำ ให้คำชี้แนะกับนักศึกษาผู้เข้าอบรมอย่างใกล้ชิด ในอดีตอาจจะมีหลายหลักสูตร จากบางสถาบัน เวลาเป็นงาน Party หลังเลิกเรียนก็จะว่าด้วยเรื่องของงบประมาณหรูหรา อู้ฟู่ว่าแข่งขันกัน แต่ปัจจุบันนี้สถาบันพระปกเกล้า โดยเฉพาะอาจารย์วิทวัสนี่ล่ะครับ ก็จะ ให้คำแนะนำกับนักศึกษาว่าด้วยเรื่องของวัตถุประสงค์ เป้าหมายของการจัดกิจกรรมสังสรรค์ หรือสาระสังสรรค์หลังเลิกเรียนนั้นมีวัตถุประสงค์อย่างไร ไม่ให้ติดกับเปลือกหรือรูปแบบครับ แต่จะต้องไปถึงแก่นแท้ของวัตถุประสงค์หลักของการจัดกิจกรรมในการสังสรรค์หลังเลิกเรียน เรื่องของวิทยากรผมต้องกราบเรียนนะครับ อาจจะไม่เป็นธรรมกับสถาบันพระปกเกล้า ที่บอกว่าไปเชิญทหารยศนายพลมา ผมขออนุญาตกราบเรียนนะครับ ผมเป็นผู้หนึ่งที่เรียน ในหลายหลักสูตรของสถาบันพระปกเกล้า ผมเห็นถึงความตั้งใจของสถาบันพระปกเกล้า ในการจะเชิญวิทยากรให้มีความหลากหลายครับ คือคงไม่สามารถจัดวิทยากรให้ไปพูดตรงใจ ผู้เข้าอบรมได้ทั้งหมดหรอกครับ แต่เราคงไม่สามารถไปตัดสินวินิจฉัยว่าถ้าวิทยากรเป็น นายทหารยศพลเอกนี้ฟังไม่ได้คงไม่ถึงขั้นนั้น ผมยกตัวอย่างนายทหารยศพลเอก ที่เป็นนายทหารประชาธิปไตย นายทหารสันติวิธี ผมนึกถึงท่านพลเอก เอกชัย ศรีวิลาศ นายทหารสันติวิธีผู้ล่วงลับ ท่านเป็นผู้อำนวยการหลักสูตร เป็นผู้ผลักดันหลักสูตร ๔ ส เป็นเตรียมทหารรุ่นที่ ๑๐ แล้วก็เป็นนายทหารที่นำสู่การแก้ไขปัญหาและนำไปสู่สันติวิธี หรือแม้แต่ พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก นายทหารประชาธิปไตยก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรในการ มาบรรยาย และผมคิดว่าเป็นการเปิดกว้างเพื่อให้เราฟังมุมมองแง่คิดที่หลากหลาย
สุดท้ายครับ ผมขอให้กำลังใจสถาบันพระปกเกล้าในการเข้มความขลัง เติมความปัง เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติและประชาชน และผมเชื่อว่าทุกหลักสูตร ที่เกิดขึ้นและวันทุกวันของสถาบันพระปกเกล้าจากนี้จะนำมาซึ่งการพัฒนาต่อยอดและ เปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดให้กับประเทศไทย กราบขอบพระคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อปัญหาลิงล้นเมืองที่ไม่ใช่แค่วิกฤติเฉพาะจังหวัดหรือวิกฤติเฉพาะชุมชน แต่เป็นปัญหาใหญ่ ที่รอวันแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการแล้วก็เป็นระบบ ท่านประธานที่เคารพครับ สถิติจากการ สำรวจสำมะโนประชากรลิงกรณีศึกษาพื้นที่จังหวัดลพบุรี สถิติในปี ๒๕๖๓ ซึ่งมีการสำรวจ สำมะโนประชากรลิงโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ข้อมูลในปี ๒๕๖๑ และปี ๒๕๖๓ พบว่ามีประชากรลิงจำนวน ๓,๑๒๑ ตัว ในจำนวนนี้แบ่งเป็นลิงตัวโตเต็มวัย ๑,๕๔๗ ตัว แบ่งเป็นลิงวัยรุ่น ๑,๒๒๕ ตัว และเป็นลิงที่เป็นลูกเกาะอกอยู่ ๓๔๙ ตัว ตัวเลข ในปี ๒๕๖๑ มาปี ๒๕๖๓ แล้วก็ปี ๒๕๖๕ ตัวเลขก็พุ่งสูงขึ้นโดยลำดับนะครับ โดยตัวเลข จากการสำรวจในปี ๒๕๖๖ พบจำนวนประชากรลิงอยู่ที่ ๒,๒๐๖ ตัว จากปัญหานี้เราก็ เห็นว่าในจังหวัดลพบุรีแล้วก็หลายพื้นที่ที่ประสบปัญหาประชากรลิงล้นเมือง ถ้าวิเคราะห์ แล้วคิดแบบกำปั้นทุบดิน แบ่งรูปแบบการแก้ปัญหาลิงเป็น ๓ หมวดใหญ่ ๆ จะพบหมวดที่ ๑ คือแนวทางการแก้ปัญหาโดยการย้ายคนออกจากลิง ซึ่งอันนี้น่าจะเป็นเรื่องใหญ่ ความจริง ไม่ต้องย้ายคน ภาคธุรกิจบริการในหลายพื้นที่ เช่น กรณีศึกษาจังหวัดลพบุรีร้านรวงอยู่ไม่ได้ เมื่อก่อนเคยมีร้านซื้อของฝาก เคยมีร้านอาหาร ปัจจุบันเหลือเพียงร้านอะไหล่ยนต์ หรือร้าน ที่ไม่ได้รับผลกระทบ หรือได้รับผลกระทบจากปัญหาลิงล้นเมืองมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น โมเดลที่ ๑ การย้ายคนออกจากเมืองน่าจะไม่ Work โมเดลที่ ๒ เป็นแนวทางในการย้ายลิง ออกจากคน อันนี้แลดูมีความหวังนะครับ เคยมีความพยายามที่จะสร้างนิคมลิง คงไม่ถึงขั้น นิคมลิงสร้างตนเองนะครับ แต่ว่าเป็นนิคมลิง แต่เชื่อไหมครับว่าความพยายามในการสร้าง นิคมลิงเพื่อจะย้ายลิงออกไปอยู่ในนิคม แต่ปรากฏว่าประชาชนในพื้นที่เคลื่อนไหวเพื่อย้าย เจ้าหน้าที่ที่เสนอให้ย้ายลิง เราเลยไม่ทราบว่าตกลงจะย้ายเจ้าหน้าที่ก่อนหรือว่าจะย้ายลิง ได้สำเร็จก่อน ดังนั้นแนวทางในการย้ายลิงออกจากคนก็เป็นแนวทางที่น่าสนใจ แต่ต้องจำกัด กรอบแนวคิดและวิธีการปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด โมเดลที่ ๓ ซึ่งผมเชื่อว่าจะเป็น แนวทางที่ ทำให้ลิงอยู่กับคนได้ในระบบนิเวศที่เป็นปัจจุบัน และได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ถามว่าลิงอยู่กับคนได้ต้องมียุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนคู่ขนานอย่างไรบ้าง อย่างแรกครับ ต้องไปสำรวจสำมะโนประชากรลิงให้ชัดเจน เพราะในปัจจุบันตัวเลขที่จังหวัดมี ตัวเลข ที่ท้องถิ่นมี ตัวเลขที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชมี ไม่ค่อยจะตรงกันสักเท่าไร เมื่อสำรวจสำมะโนประชากรลิงแล้ว เราจะเห็นเส้นกราฟที่ชัดเจนครับว่า ๑๐ ปีที่แล้ว ลิงลพบุรีอยู่ประมาณ ๑,๐๐๐ ถึง ๑,๐๐๐ ปลาย ๆ ยังไม่แตะ ๒,๐๐๐ ดี แต่ปัจจุบันครับ ท่านประธาน ลิงลพบุรีไปแตะถึง ๓,๐๐๐ กว่าตัว
แนวทางที่ ๒ สำรวจสำมะโนประชากรแล้วก็ทำหมันสิ พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะมันมีต้นทุน ต้องใช้งบประมาณในการทำหมันลิงต่อตัวประมาณ ๑,๒๐๐ บาท งบประมาณที่ได้มาก็ทำได้เต็มที่ประมาณ ๓๐๐-๕๐๐ ตัวเท่านั้น และถ้าทำหมันลิง โดยไม่เข้าใจลักษณะการขยายพันธุ์ของลิงก็จะเหมือนกับการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำครับ เพราะว่าลิงมีตัวผู้ มีตัวเมีย เวลาที่ไปทำหมันตัวเมีย แต่ตัวผู้ยังอยู่ ประสิทธิภาพในการ ขยายพันธุ์ของลิงตัวผู้ใน ๑ วัน ลิงตัวผู้ ๑ ตัวสามารถขยายพันธุ์โดยการผสมพันธุ์ได้มากกว่า ๑๐ ตัว นั่นแปลว่าถ้าเรามุ่งทำหมันเฉพาะลิงเพศเมีย ไม่ทำหมันลิงเพศผู้ก็อาจจะแก้ปัญหาได้ ไม่ตรงจุด ทีนี้ถามว่าในห้วงระยะเวลาย้อนหลังกลับไป ๑๐ ปีเขาทำหมันหรือเปล่า คำตอบ คือทำครับ แต่ทำไมทำแล้วการสำรวจสำมะโนประชากรลิงลิงถึงเพิ่มมากขึ้น เพราะทำแบบ ไม่ครอบคลุม มีข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณ
แนวทางที่ ๓ ก็คือการขับเคลื่อนนิคมลิงอย่างเป็นระบบ อย่างที่ผมเรียน พอมีการเคลื่อนไหวว่าจะย้ายลิง คนจะย้ายลิงก็โดนปัญหาจะถูกย้ายเสียเองก่อน ดังนั้น เราต้องสร้างโครงข่าย สร้างระบบนิเวศให้เหมาะสม และทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน ในพื้นที่โดยรอบของนิคมลิง และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม
แนวทางที่ ๔ ต่อไปครับ เป็นการกำหนด Zoning ลิงอยู่พื้นที่ใดได้ อยู่พื้นที่ใด ไม่ได้ และต้องเร่งประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ อย่างที่ผมเรียนครับปัญหาลิงล้นเมืองนั้นไม่ใช่ ปัญหาของเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ใช่ปัญหาของชุมชนหรือจังหวัดครับ แต่เป็น ปัญหาใหญ่ระดับชาติ
และแนวทางที่ ๕ ซึ่งเป็นแนวทางที่น่าสนใจครับ ก็คือแนวทางการสร้าง กระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างคนกับลิง และเปิดพื้นที่รับฟังความเห็นของทุกภาคส่วน เพราะถ้าคิดแต่จะย้ายอย่างเดียวประชาชน ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ปลายทางของนิคมลิงเขาไม่รับ โครงการสร้างนิคมลิง ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ดังนั้นแนวทางในการสร้างกระบวนการ มีส่วนร่วม การรับรู้รับทราบจากชุมชนท้องถิ่น มาจนถึงปัญหาระดับชาติต้องแก้ปัญหา แบบบูรณาการอย่างเป็นระบบ และมองปัญหาเป็นภาพใหญ่ได้แก้แบบเบ็ดเสร็จครับ ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานที่เคารพ หลายปีที่ผ่านมานั้นชีวิตคนไทยต้องเปื้อนฝุ่น แต่ถ้าเราไม่แก้ปัญหา แบบบูรณาการจริงจัง จากชีวิตเปื้อนฝุ่นจะกลายเป็นชีวิตที่จมฝุ่นในที่สุดครับท่านประธาน ในแต่ละปีมีการเก็บสถิติตัวเลข มีคนไทยมากกว่า ๙.๒ ล้านคนได้รับผลกระทบจากปัญหา ฝุ่นพิษ ดังนั้นถึงเวลาที่เราต้องลุกขึ้นมาช่วยกันสนับสนุนผลักดันร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด ในอดีตเขาบอกว่าถ้าอยากหนาวต้องขึ้นไปทางภาคเหนือครับ ไปดอยอ่างขาง ไปดอย อินทนนท์ ตื่นเช้ามาก็นึกถึงเพลงเบิร์ดครับ หมอกจาง ๆ และควันคล้ายกันจนบางทีไม่อาจรู้ แต่วันนี้ไม่ต้องไปถึงภาคเหนือ กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ตื่นเช้ามาเราก็เจอหมอกจาง ๆ และควัน ซึ่งมันเจือไว้ด้วยปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 สิ่งที่เราต้องเริ่มคิดเราไม่ได้เริ่มตั้งแต่วันนี้ พรรคเพื่อไทยนั้นถือว่าเป็นตัวจริงเสียงจริงที่จะนำเสนอและมุ่งเน้นแนวทางในการแก้ไข ปัญหาอย่างเป็นระบบ เป็นขั้น เป็นตอน มีวิวัฒนาการ ในช่วงของการเลือกตั้งนั้นพรรคเพื่อไทย เสนอแผนในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ไว้ ๓ ขั้นตอน คือระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว พอเราได้รัฐบาล สมัยก่อนนี้ผู้นำรัฐบาลเวลาไปเยือนต่างประเทศเคยมีนโยบาย Slogan ว่า เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า วันนี้ไปเยือนเพื่อนบ้านครับ รัฐบาลก็ต้องไปขอความ ร่วมมือ ถ้ารักกันจริง ห่วงใยกันจริง อย่าสร้างปัญหาฝุ่นพิษ แล้วก็ลอยเข้าไปในพื้นที่ของ ประเทศเพื่อนบ้าน ต้องช่วยกันตั้งแต่ต้นทางของปัญหา การประชุมเวทีระดับโลก เช่น เวที COP28 สส. ดอกเตอร์ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ คนสวยลาดกระบัง คนงามกรุงเทพฯ ไปฟัง แล้วก็ได้ยืนยันว่าภายใต้การทำงานร่วมกันของรัฐสภาไทย รัฐบาลภายใต้การนำของ พรรคเพื่อไทยเรามีความมุ่งมั่นตั้งใจจะแก้ไขปัญหา Climate Change อันกระทบจาก โลกร้อน รวมถึงปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ประชาชนมีความหวังมาเป็นระยะ ๆ แล้วก็ตั้งคำถาม ว่าเมื่อไรล่ะ เอาสักทีเถอะ และวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้น เป็นหมุดหมายสำคัญที่เราจะแก้ปัญหา ฝุ่นพิษ PM2.5 แบบบูรณาการอย่างเป็นระบบ ย้อนไปดูว่าตอนหาเสียงเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย พูดเรื่องแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ๓ ระยะไว้อย่างไรบ้าง ระยะสั้น เราจะเน้นการเตือนภัย เมื่อเกิดปัญหา ฝุ่นพิษมาไม่ต้องตกใจครับ มาตรการระยะสั้นแจกหน้ากากอนามัย สั่งหยุด โรงเรียน หยุดทำงาน มีแผนป้องกันการดับไฟป่าตลอดปี ไปประเทศเพื่อนบ้าน ไปเยือน ต่างประเทศก็ขอความร่วมมือ แผนระยะกลาง เราจะให้ความสำคัญกับการออกกฎหมาย ควบคุมการก่อสร้างที่เป็นปัจจัยสำคัญในการก่อมลพิษทางอากาศ เราจะออกมาตรการทาง ภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมรายใหญ่ เราจะแก้ไขปัญหา การเผาพื้นที่การเกษตร เช่น สำหรับการทำเกษตรแบบต้นทุนต่ำ เวลาเก็บเกี่ยวพืชผล การเกษตรเสร็จเรียบร้อยก็ใช้ไฟเผา ต่อไปต้องไม่สามารถทำได้ครับ เราจะมีการปล่อยน้ำเข้าไป ในระบบชลประทานหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว เราจะประสานโรงงานน้ำตาลซึ่งเป็นต้นทางในการรับซื้ออ้อย ต้องซื้ออ้อยสดและส่งเสริม ให้ได้ราคา และปฏิเสธการซื้ออ้อยเผา แผนระยะยาวเราจะประกาศใช้ พ.ร.บ. อากาศสะอาด เพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ปัญหาฝุ่นพิษนั้นมันสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำและสะท้อน โครงสร้างทางสังคมที่บิดเบี้ยวมาก่อนหน้านี้ เราต้องออกแบบผังเมืองใหม่เพื่อลดปัญหา การจราจร เราต้องประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อนบ้านต้องหยุดฝุ่นข้ามพรมแดน และการจัดตั้งคณะกรรมการครบทุกกระทรวงเพื่อจัดการเรื่องฝุ่น ที่ผ่านมานั้นเราแก้ปัญหา แบบลูบหน้าปะจมูก ขายผ้าเอาหน้ารอด เหมือนสามีภรรยานอนเตียงเดียวกันแต่ฝันคนละเรื่อง ต่างคนต่างทำ เช่น เกิดปัญหาฝุ่นพิษบังคับใช้กฎหมายโดยการใช้ พ.ร.บ. การสาธารณสุข แค่นั้นครับ ถ้าไปเผาป่าก็ผิด พ.ร.บ. ป่าไม้ เผาในพื้นที่ป่าสงวนก็ผิด พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ เราต้องไม่แก้แบบแยกส่วน แต่เราต้องแก้แบบเชื่อมโยงบูรณาการ ท่านประธานครับ บางช่วง บางเวลานั้นสำหรับบางคน คำว่า รัก มันกลายเป็นฝุ่นไปแล้ว แต่การแก้ปัญหาฝุ่นพิษ เพื่อให้ได้อากาศสะอาดนั้นต้องไม่กลายเป็นฝุ่น ต้องไม่วูบวาบ ต้องไม่เป็นแสงสว่างที่ ปลายอุโมงค์ที่เป็นความหวัง แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงแสงไฟหน้ารถของรถที่สวนทางมา เท่านั้น บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะลุกขึ้นมาร่วมกันแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ถึงเวลาที่คนไทย จะมีอากาศสะอาดภายใต้ พ.ร.บ. อากาศสะอาด ผมขอสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด ทั้ง ๗ ร่าง และเชื่อมั่นว่าในยุคของเราปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปัญหาที่หมักหมมและแก้ ไม่ได้มาเป็นระยะเวลานานจะสำเร็จเสร็จสิ้นและแก้ได้ในยุคนี้ เหมือนอย่างที่เราไปประกาศ ในหลายเวทีว่าได้เวลาพรรคเพื่อไทย ได้เวลารัฐบาลที่จะแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน และผมเชื่อว่าในการโหวตช่วงหลังจากนี้ประชาชนจะจับตาและจะได้เห็นความจริงใจของ พวกเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายนิติบัญญัติที่จะเป็นหมุดหมายและจุดเริ่มต้นอันดีในการ แก้ปัญหาฝุ่นพิษครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อรายงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ มาพร้อมกับ กตป. หรือคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ผมนั่งฟังด้วยความตั้งใจตั้งแต่เช้าครับ แล้วก็ต้องกราบเรียนว่าที่ลุกขึ้นอภิปรายในวันนี้ ก็ตั้งจิตมาแต่ไกล ตั้งใจมาแต่บ้าน เพราะเรื่องของ กสทช. นั้นมันกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ ของพี่น้องประชาชน เรื่องของการบริหารจัดการคลื่นความถี่ เรื่องของความโปร่งใส ในการบริหารจัดการงบประมาณของ กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรขนาดใหญ่ของประเทศนั้น เป็นสิ่งที่พี่น้องประชาชนจับตา และหลายต่อหลายครั้งที่เราได้ฟังคำอรรถาธิบายจาก กสทช. เหมือนกับฟังเพลงศิรินทรา นิยากร คืออยากฟังซ้ำคำที่ท่านอธิบาย เพราะหลายเรื่องฟังแล้ว เกิดความมั่นใจ แต่หลายเรื่องแล้วก็เหมือนเราพายเรือวนในอ่างกลับมาที่เดิม ท่านประธาน ด้วยความเคารพครับ ผมลองจัดหมวดหมู่ที่ท่านสมาชิกได้ลุกขึ้นอภิปรายในหมวดหมู่ใหญ่ ๆ ได้หลายหมวดหมู่ด้วยกัน เรื่องที่ท่านสมาชิกให้ความห่วงใยสนใจหลัก ๆ เรื่องแรก ก็คือเรื่องของการใช้จ่ายงบประมาณของ กสทช. ก่อนลุกขึ้นอภิปรายผมก็ได้ถามข้อมูล จากเพื่อนสมาชิกทั้งในสภา นอกสภา เขาบอกว่าฝากให้กำลังใจ กสทช. และฝากเน้นย้ำ ให้ปฏิบัติตามข้อบังคับและกฎหมายให้ชัดเจน ยึดกฎหมายให้มากเพราะว่าจะมีคนติดตาม ตรวจสอบท่านอย่างใกล้ชิด อย่างที่ผมเรียนว่างานของ กสทช. นั้นภารกิจสำคัญมันเป็น หนึ่งในปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตถือเป็นปัจจัยที่ ๕ ตื่นเช้ามานี้ถ้าเรามาวัดชั่วโมง ของการที่เรามีภารกิจในชีวิตระหว่างการอยู่บ้าน กับการอยู่กับโทรศัพท์มือถือ อยู่กับหน้าจอ อยู่กับภารกิจของ กสทช. นั้น ตัดสินใจยากว่าเราใช้ภารกิจในแต่ละวันนั้นไปกับสิ่งใด มากกว่ากัน ดังนั้นข้อห่วงใยที่ ๑ ก็คือเรื่องของการใช้จ่ายงบประมาณของ กสทช. ซึ่งท่าน ก็ได้ชี้แจงแล้ว เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องของ USO ซึ่งก็เข้าใจว่ามีการเติม Speed มีการเพิ่มเข้าไป แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีจุดโหว่หรือยังมีจุดที่มีปัญหา โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงกรณี ของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องของปัญหาแก๊ง Call Center ด้วยความเคารพนะครับ ผมเป็นผู้หนึ่งที่ลุกขึ้นอภิปรายและตั้งข้อสังเกตใน พ.ร.บ. ป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และผมก็ได้ใช้บริการคณะกรรมการนะครับ ด้วยความเคารพ เพราะก็มีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของ แก๊ง Call Center ผมก็ฝากท่านกรรมการไป ซึ่งก็ต้องกราบเรียนท่านว่าจากวันฝากจนวันนี้ ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ดังนั้นท่านต้องอดทนนะครับ ถ้าจะมีคนตั้งข้อสังเกตเรื่องของงาน แก้ไขเรื่องของแก๊ง Call Center
เรื่องสำคัญอีก ๑ เรื่อง ที่พี่น้องประชาชนไม่ค่อยสบายใจก็คือเรื่องของ การควบรวมกิจการโทรคมนาคมของค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ ๒ ค่าย ซึ่งเรื่องนี้มีประชาชนได้รับ ผลกระทบอย่างมาก และหลายครั้งที่แต่ละท่านชี้แจงมันก็ยังมีหลายประเด็น โดยเฉพาะ ในเรื่องของสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ใช้บริการในค่ายมือถือทั้ง ๒ ค่ายดังว่า ดังนั้นผมจึงต้องเรียน ว่าการสื่อสารชี้แจงทำความเข้าใจเพื่อพิทักษ์สิทธิของพี่น้องประชาชนผู้ใช้บริการ โทรศัพท์มือถือทั้ง ๒ ค่ายนั้นท่านจะต้องดำเนินการต่อไป ผมต้องขอกราบเรียนว่า งาน กสทช. ที่ลุกขึ้นมาชี้แจงหลายเรื่อง เฉพาะวันนี้ท่านสมาชิกได้ถามท่านก็ตอบตรง ประเด็นเช่นเรื่องของการจัดระเบียบสายสื่อสาร ผมก็ได้ทราบจากท่านว่าก่อนจะเอา สายใหม่ขึ้นก็ต้องมีการเปลี่ยนถ่ายสัญญาณปล่อยผ่านสายเก่าก่อน ทีนี้สิ่งที่ท่านยังชี้แจง ไม่ชัดหรือตอบไม่ตรงนัก ก็คือว่าการจัดระเบียบสายสื่อสารจากบนดินลงไปใต้ดินมันทำให้ ต้นทุนเพิ่มขึ้นอย่างไร แต่ผมยืนยัน ผมฟังท่าทีของท่านแล้วสบายใจที่ท่าน กสทช. บอกว่า ต่อไปนี้ถ้าเพื่อนสมาชิกในพื้นที่ใดก็ตามที่สนใจใคร่รู้ตื่นตัวในเรื่องนี้จะไปชี้ด้วยกัน ไปจัด ระเบียบสายสื่อสารด้วยกันท่านก็ยินดี ซึ่งผมว่าเป็นท่าทีที่จะทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน โดยยึดเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง เรื่องของการจัดระเบียบสายสื่อสารที่ผมตั้ง คำถามต่อว่ามันมีผลต่อต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างไร เรื่องของ Cell Broadcast SMS เตือนภัย พิบัติท่านก็ชี้แจงได้ดีนะครับ ผมฟังก็เห็นภาพว่ามันจะไปเตือนอุตลุดก็คงไม่ได้ คือแทนที่จะ เตือนภัยมันกลายเป็นการสร้างความโกลาหล แต่ผมคิดว่าท่านควรจะต้องมีระบบ ในการสร้างสมดุลว่าความเหมาะสมเป็นอย่างไร แล้ว Cell Broadcast มันเหนือกว่า วิทยุทรานซิสเตอร์ที่เคยมีคนแนะนำให้เราใช้ในการเตือนภัยพิบัติอย่างไร และผลสัมฤทธิ์ ของเรื่องนี้เดินมาถึงปัจจุบันนี้อยู่ตรงไหน แล้วระยะทางกว่าจะถึงเป้าหมายอยู่ไกลแค่ไหน อย่างไร ผมใช้เวลากับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการ โทรคมนาคมแห่งชาติ ผมเข้าใจว่าครบถ้วนก็ต้องบริหารจัดการที่ กตป. ด้วย ผมตั้งคำถาม สัก ๓ ข้อ ขอบพระคุณที่ท่าน กตป. ยิ้มรับคำถามที่ผมจะได้ถามนะครับ
คำถามที่ ๑ ผมถาม กตป. หรือคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. หรือที่เรียกว่า Super Board เอาเข้าจริงเป็น Super Board จริงหรือเปล่าหรือเป็นเสือกระดาษ เพราะ กตป. ถูกตั้งข้อสังเกตว่าจริง ๆ แล้วทำอะไร กสทช. ไม่ได้เลยหรือเปล่า ทำได้แค่การรายงานเท่านั้น หรือไม่ ปัญหาและอุปสรรคของ กตป. มีอะไรบ้าง นี่คำถามข้อที่ ๑ ซึ่งผมเชื่อว่า กตป. ต้องตอบได้นะครับ
คำถามที่ ๒ ความไม่เป็นเอกภาพของกรรมการ กสทช. ที่ต้องยอมรับว่า มีสารพัดข่าวมากมาย ข่าวเชิงบวกนี่น้อยครับ แต่ข่าวเชิงลบนี่เยอะ คำถามคือ กตป. จะใส่ เข้าไปในรายงานปีหน้าหรือไม่ หรือไม่กล้าใส่เพราะว่าเกรงใจ กสทช.
คำถามที่ ๓ การที่ Board ๔ คน มีมติปลดเลขาธิการ แต่ประธานไม่ยอมปลด ในแง่กฎหมายจะต้องส่งไปที่ศาลปกครองหรือไม่ แล้วถ้าสรรหาเลขาธิการ กสทช. แล้วได้เลขาธิการคนที่โดนปลดไป สิ่งที่เซ็นคำสั่งไปเป็นโมฆะนั้นกรรมการ กสทช. จะทำ เรื่องนี้ให้ชัดเจนได้อย่างไร นี่ก็เป็นประเด็นคำถามที่ฝากไว้ แล้วก็ขอให้กำลังใจ ทั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ รวมถึง กตป. คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กราบขอบพระคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อญัตติให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบ และแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มี การออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลังจาก พูดถึงชื่อญัตติแล้ว ผมขออนุญาตท่านประธานด้วยความเคารพครับ ในการที่จะ Headline พาดหัวหรือปักธงการอภิปรายว่า อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เห็นชอบให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด เห็นชอบให้มีการทำประชามติ อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด เห็นชอบให้มีการตั้ง สสร. เพื่อมาร่างรัฐธรรมนูญ เหตุที่ต้องพาดหัว เช่นนี้เพื่อเป็นการปักธงป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะมีนำไปบิดเบือน หรือด้อยค่า แพร่มลทินกับผู้อภิปราย และ สส. ที่ได้ลุกขึ้นมาในการสนับสนุนเรื่องของการทำประชามติ ความจริงถึงตรงนี้ผมจะนั่งลงเลยก็ได้นะครับ แต่ว่าขออนุญาตอรรถาธิบายเพิ่มเติมว่าเมื่อสนับสนุนเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ก็เห็นชอบ เห็นด้วยทั้งเรื่องการทำประชามติ เรื่องตั้ง สสร. แต่ทำไมถึงจะไม่เห็นด้วย ตามข้อเสนอที่จะให้มีการทำประชามติจาก ๒ รอบ เป็น ๓ รอบ ไม่เห็นด้วยที่จะมี การซ้ำซ้อน สิ้นเปลืองงบประมาณ และอื่น ๆ อีกหลายประการด้วยกัน
สิ่งที่เราต้องยอมรับว่าหลังการเลือกตั้งที่ผ่านมานั้น ในช่วงของการรณรงค์ หาเสียงเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยประกาศจุดยืนท่าทีชัดเจน แทบจะเรียกได้ว่าพรรคเพื่อไทย หัวใจคือประชาชน เป็นพรรคการเมืองที่เป็นเจ้าของทฤษฎีแนวคิด เป็นเจ้าของ Brand เรื่องนี้ คือเลือกตั้ง สสร. เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระหว่างทางมีคนบอกครับว่าพรรคเพื่อไทย จะแก้ แก้จริงหรือเปล่า เราบอกว่ารอรับได้เลย ไม่เคยบิดพลิ้ว สัญญาเป็นสัญญา และเมื่อ ประชุม ครม. นัดแรก นอกเหนือจากเรื่องลดค่าไฟ ค่าพลังงาน เรื่องรัฐธรรมนูญก็เป็นไป ตามที่บอกว่ารอรับได้เลย นี่คือสิ่งบ่งชี้ที่สนับสนุนว่าสิ่งที่เราได้ประกาศไว้ไม่มีบิดพลิ้วครับ แล้วก็พิสูจน์ให้ได้เห็นชัดเจน เราตามไปดูข้อเท็จจริงต่อว่ารัฐบาลเขามีการตั้งคณะกรรมการ ขึ้นมา ในชุดที่มีรองนายกรัฐมนตรีภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธาน เขาก็ไม่ได้อิดออดดึงเช็ง ซื้อเวลา เรียกว่าประชุมต่อเนื่องกันหลายครั้ง ถามว่ามีความหลากหลายของคณะกรรมการ หรือไม่ มีหลากหลายครับ ประกอบด้วยหลายภาคส่วนหรือไม่ มีความน่าเชื่อถือไม่ ครบถ้วนครับ ส่วนพรรคการเมืองใดจะไม่มาร่วมก็เป็นสิทธิของท่าน แต่รัฐบาลเขาก็บอกว่ารัฐบาลเขาไปต่อ ไม่รอแล้ว
ประการต่อมา ที่ผมจะไม่เห็นด้วยกับญัตตินี้ คือตัวญัตติที่บอกว่าจะให้มี การออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อนสมาชิกหลายท่านอภิปรายว่าเป็นเหมือนการตีเช็คเปล่า เขียน Blank กว้าง ๆ เหมือนกับจะให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาทั้งฉบับ แต่จุดยืนพรรคเพื่อไทยเรา ประกาศตั้งแต่ต้นเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยตั้งจิตมาแต่ไกล ตั้งใจมาแต่บ้าน อธิบายสื่อสารชัดเจนว่าเราจะไม่แก้หมวด ๑ คือบททั่วไป เราไม่แก้หมวด ๒ ไม่แตะ หมวดสถาบัน แล้วเราก็ดำเนินการตามพันธสัญญาเช่นนั้น
ประการที่ ๓ ที่ไม่เห็นด้วย คือการทำประชามติจะต้องทำโดยอาศัย พ.ร.บ. ประชามติ พ.ศ. ๒๕๖๔ มาตรา ๙ (๔) ก็หมายความว่าจะได้เสียงของรัฐสภานั้นก็ต้องไป ขอความเห็นชอบจาก สว. ด้วย ที่ผ่านมาสายัณห์ สัญญา เคยบอกว่าความรักเหมือนยาขม แต่เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นก็ต้องยอมรับว่า สว. ก็เป็นยาขมสำหรับเรื่องนี้ จุดยืนของแต่ละ องค์กร แต่ละฝ่ายก็ว่าไป ทุกคนมีเหตุผลของตัวเอง เพื่อพิทักษ์รักษา เพื่อป้องกัน ความขัดแย้งขยายวงอะไร เราก็ต้องเคารพแล้วก็รับฟัง แต่การจะไปขอเสียง สว. มา สนับสนุนนั้น ต้องเรียนว่าเป็นเรื่องที่ยากถึงยากมาก
ประการที่ ๔ อย่างที่ผมเรียนครับ พรรคเพื่อไทยแทบจะถามปุ๊บตอบปั๊บ ถามปั๊บตอบปุ๊บ ถามปุ๊บ ๆ ปั๊บ ๆ ตอบปั๊บ ๆ ปุ๊บ ๆ พรรคเพื่อไทยแก้ไหม แก้ครับ พรรคเพื่อไทยตั้ง สสร. ไหม ตั้งครับ พรรคเพื่อไทยทำประชามติไหม ทำแน่นอน ผมนั่งฟัง เพื่อนสมาชิกจากบางพรรคหลายท่านลุกขึ้นมาอภิปรายในทำนองว่าจะไปคิดแทนประชาชน ได้อย่างไร เอาอะไรไปคิดแทน ไม่มีใครคิดแทนใครครับ ในอดีตรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา เขียนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี แต่ถ้าเราไม่รู้ว่าเรื่องใดที่เราทำ มันจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว เรื่องใดที่มันจะเกิดความขัดแย้ง เราไม่หลีกเลี่ยงหรือครับ รู้ว่าเดินชนตอแล้วก็จะชนอยู่ เช่นนั้นหรือ หรือประโยคที่อาจจะจำต่อกันมาในทำนองที่บอกว่ากลัวอะไรกับประชาชน ไม่มีใครกลัวหรอกครับ ตลอดระยะเวลา ๒๐ กว่าปีที่ผ่านมาผมต้องเรียนว่าผมเป็นส่วนหนึ่ง ของความขัดแย้งทางการเมืองจากสงครามสีเสื้อ ผมผ่านออฟฟิศเก่าผมนะครับ ออฟฟิศเก่า ผมอยู่ตามสะพาน ตามแยก ไม่ว่าจะเป็นสะพานมัฆวานรังสรรค์ สะพานชมัยมรุเชฐ ไปถึง แยกราชประสงค์ วันนี้รัฐบาลมีเรื่องที่ต้องทำเร่งด่วนหลายเรื่อง และแต่ละเรื่องนั้นต้องจัดลำดับความสำคัญของปัญหาให้ดี ต้องเรียง Priority ให้ถูก มี ๑๐๘ เรื่องให้ทำ เราระมัดระวังอย่าไปทำเรื่องที่ ๑๐๙ ประโยคทองวรรคเด็ดจากหนัง เรื่องสัปเหร่อเขาบอกว่า ความตายฆ่าเฮาได้เพียงเทื่อเดียวเท่านั้น แต่ความฮักมันฆ่าเฮาได้ เรื่อย ๆ เรื่อย ๆ เรื่อย ๆ ผมก็อยากสรุปว่าความขัดแย้งมันสามารถฆ่าเราได้เรื่อย ๆ เรื่อย ๆ เรื่อย ๆ และถ้าเราหยุดความขัดแย้งได้เราพึงทำครับ ขอบคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... ความจริงผมก็ควรจะ มีเสื้อเหมือนท่านประธานนะครับ แต่ว่าเตรียมไม่ทัน แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือจะต้องขอแสดง ข้อคิดความเห็น ตั้งเป็นประเด็นข้อสังเกตไว้เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ครับ ท่านประธานครับ ทั่วโลกมีชนเผ่าพื้นเมืองมากกว่า ๓๗๐ ล้านคน และคน ๓๗๐ ล้านคนนี้ ก็ไปกระจายอยู่มากกว่า ๙๐ ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีมากกว่า ๕,๐๐๐ ชนเผ่า และมีภาษา พื้นเมืองประจำชนเผ่ามากกว่า ๔,๐๐๐ ภาษา อนุมานว่า ๑ ภาษาต่อ ๑ ชนเผ่าหรือ ๑ ชนเผ่าต่อ ๑ ภาษา และมีคำกล่าวว่า เมืองใดไม่มีกวีแก้ว เมืองนั้นไม่แคล้วคนหยามหมิ่น กวีหรือภาษานั้นก็เป็นสิ่งยืนยันในขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมของแต่ละชนเผ่า ประชาชนทั่วโลก ถ้าคิดเป็นชนเผ่าจะมีสัดส่วนประมาณ ๕ เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก และเป็นที่น่าสังเกตนะครับว่าชนเผ่าพื้นเมืองมากกว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์นั้น อาศัยอยู่ในแถบ ทวีปเอเชีย ซึ่งก็คือแถบบ้านเรานี่ครับ ปัจจุบันในประเทศไทยมีประชาชนที่เป็นชนเผ่า พื้นเมืองรวมกันมากกว่า ๖๐ กลุ่มชาติพันธุ์ และจำนวนประชากรที่อยู่นี้ก็กระจายไปแทบจะ ทุกจังหวัด ท่าน สส. ประเสริฐ บุญเรือง ว่าด้วยเรื่องของหนาวลมที่เรณูไปแล้ว ผมก็มีงาน รวมเผ่าไทยมุกดาหาร มะขามหวานชายโขงเช่นกันครับ รวมเผ่าไทยมุกดาหารมีเผ่าอะไรบ้าง มีผู้ไท โซ่ ย้อ ข่า กะเลิง และมีกุลา ผมประทับใจคำกล่าวของเพื่อนสมาชิกที่บอกว่า แท้จริงแล้ว เราทุกคนก็อาจจะล้วนมีที่มาจากชนเผ่าเช่นกัน ทีนี้เราไปดูความสำคัญของ ปัญหาครับว่าเรื่องชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยนั้น มันมีความสำคัญของปัญหาสัก ๕ ประการ เรื่องอะไรบ้าง
ประการที่ ๑ ปัญหาเรื่องสัญชาติและสถานะบุคคล นี่เป็นเรื่องใหญ่นะครับ อยู่ในประเทศไทยตั้งนานแต่ว่าไม่ได้รับสัญชาติ เข้าไม่ถึงครับ และเรื่องใหญ่อีก ๑ เรื่อง ก็คือการอยู่ยังไม่มีสถานะ ผมไปอ่านคำคมก็เจอนะครับ เขาบอกว่าบางครั้งเจ็บกว่า การไม่มีใคร คือการอยู่ไปแบบไม่มีสถานะ ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ลำพังสภาแห่งนี้ อาจจะไม่สามารถดำเนินการให้ลุล่วงได้ หากรัฐบาลไม่เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันในการ ดำเนินการ
ประการที่ ๒ ปัญหาการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและสวัสดิการแห่งรัฐ สิทธิขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง สิทธิขั้นพื้นฐานด้านบริการสาธารณสุข ในยุค ๓๐ บาท รักษาทุกโรค คนที่เข้าถึงสิทธินี้ตั้งท้องแล้วคลอด คลอดแล้วตั้งท้อง ต่อลูก ๑ คน ๓๐ บาท ๓ คน ๙๐ บาท ยังไม่ถึง ๑๐๐ บาทเลยครับ แต่ว่าการเข้าถึงสิทธินั้นก็มีข้อจำกัด ดังนั้น เราต้องไปศึกษาว่าจะทำอย่างไรให้พี่น้องกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง กลุ่มชาติพันธุ์นั้นสามารถเข้าถึง สิทธิขั้นพื้นฐานและสวัสดิการแห่งรัฐนั้นได้
ประการที่ ๓ ปัญหาและผลกระทบจากนโยบาย และกฎหมายด้านความ มั่นคงแห่งชาติ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องบูรณาการและมองปัญหาแบบครบถ้วน รอบด้าน ไม่แก้ปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูกหรือปะผุไป
ประการที่ ๔ ปัญหาและผลกระทบจากนโยบายการปราบปรามยาเสพติด ซึ่งเรื่องนี้บางครั้งหยิกเล็บก็เจ็บเนื้อครับ เพราะในพื้นที่ชายขอบในหลายพื้นที่นั้นมีความ เปราะบางที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการในการปราบปรามยาเสพติด
ประการต่อไป เป็นปัญหาและผลกระทบจากนโยบายด้านป่าไม้และที่ดิน ทำกิน มีหลายท่านตั้งคำถามปุจฉา วิสัชนา ว่าระหว่างคนกับป่านี้ ถ้าคนอยู่ก่อนป่า แล้วมาประกาศพื้นที่ป่าในภายหลัง คนต้องออกหรือป่าต้องออก นี่ก็เป็นเรื่องใหญ่ แล้วก็เป็นประเด็นละเอียดอ่อน
๔-๕ ประการ ที่ผมไล่เลียงมานั้น ผมก็พยายามไปอ่านในเนื้อหาที่มี การนำเสนอในเอกสารประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมือง แห่งประเทศไทย พ.ศ. .... ผมก็เห็นว่าในหลายเรื่อง หลายมิติก็เขียนมาได้ครบถ้วนรัดกุม แต่ว่าก็ยังมีในหลายประเด็นที่เป็นปัจจัยเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน ซึ่งเราต้องใช้เวลา และต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ไม่เฉพาะสภาแห่งนี้ ไม่เฉพาะพี่น้องประชาชน ชนเผ่า หรือกลุ่มชาติพันธุ์ จะต้องมีรัฐบาลเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันในการขับเคลื่อนและผลักดันเรื่องนี้ ท่านประธานครับ ผมยังมั่นใจและยังยืนยันนะครับว่าผมอยากจะเห็นพี่น้องประชาชน ทุกหมู่เหล่า พี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและสวัสดิการแห่งรัฐ ทุกคนต้องเข้าถึง และผมมั่นใจผมเชื่อมั่นว่ารัฐบาลเขาก็ได้เตรียมการในการดำเนินการเรื่องนี้ ไว้แล้ว ดังนั้นผมจะให้ความเห็นในตอนท้ายครับว่าควรที่จะได้ส่งเรื่องนี้ไปให้กับทางรัฐบาล ได้ดำเนินการทั้งในมิติของกระบวนการการมีส่วนร่วม ทั้งในมิติของการแก้ไขปัญหา แบบบูรณาการจากทุกภาคส่วน และเราไม่ต้องย้อนวนกลับมาอภิปรายเรื่องนี้กันอีก ไม่ต้องมาพูดถึงความสำคัญของปัญหา และเชื่อว่าจะสำเร็จเสร็จสิ้นได้ในรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน อย่างแน่นอนครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อรายงานผลการดำเนินการตามมาตรา ๘ แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ เพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๖๔ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ ความสำคัญของปัญหาที่ ต้องเล่าความเดิมตอนที่แล้วหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ รัฐบาลในขณะนั้นก็คิดว่าจะกู้เงินมาเพื่อแก้ไขบริหารสถานการณ์ หวังจะให้เจ็บ แต่จบ ก็เลย กู้เงินมา ๑ ล้านล้านบาท แต่ ๑ ล้านล้านบาทนั้นเจ็บครับ แต่ไม่จบ เมื่อเจ็บ ไม่จบก็เลยจะต้องมี พ.ร.ก. เงินกู้เพิ่มเติม เดิมครั้งก่อนกู้ ๑ ล้านล้านบาท รอบนี้มากู้อีก ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาท งบประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาทเอาไปทำอะไรบ้าง ๑. เป็นแผนงาน และโครงการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ โดยมีกระทรวง สาธารณสุขและหน่วยงานของรัฐที่ได้รับมอบหมายอยู่ในกรอบนี้ ๓๐,๐๐๐ ล้านบาท ส่วนที่ ๒ เป็นแผนงานในโครงการเพื่อช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ โดยมีกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย มูลค่ารวม ๓๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ๒ ส่วนนี้รวมกันจะเป็น ๓๓๐,๐๐๐ ล้านบาท และส่วนที่ ๓ จะเอาไปฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยมีกระทรวงการคลังและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบ ส่วนนี้ได้ไป ๑๗๐,๐๐๐ ล้านบาท ตัวเลข ๓ ส่วนนี้ ๓๐,๐๐๐ ล้านบาท บวก ๓๐๐,๐๐๐ ล้านบาท บวก ๑๗๐,๐๐๐ ล้านบาทก็จะเป็นตัวเลข ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาท พอดี ทีนี้เราไปดูการประเมินนะครับ ในส่วนที่ ๑ ที่เอาไปแก้ปัญหาการแพร่ระบาด เอาไปให้ กระทรวงสาธารณสุข เอาไปจัดซื้อเวชภัณฑ์ วัคซีน เอาไปบริหารจัดการ ได้รับเกณฑ์การ ประเมิน Grade A ส่วนที่ ๒ แผนงานในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน เอาไปฟื้นฟูเยียวยา ๓๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ก็ได้รับเกณฑ์การประเมินในระดับ A ครับ ส่วนที่ ๓ ที่เอาไปฟื้นฟู เศรษฐกิจและสังคมโดยมีกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายดูแล ๑๗๐,๐๐๐ ล้านบาท น่าเสียดายครับที่ไม่ได้รับเกณฑ์การประเมิน A ครับ ไม่เช่นนั้นจะเป็น Triple A หรือได้ ๓ Champ ในสถานการณ์นี้ คือ AAA เราไปดูส่วนที่ ๑ นะครับ ถามว่า ๓๐,๐๐๐ ล้านบาท ตัวเลขสมเหตุสมผลมากน้อยแค่ไหน อย่างไร ก็ต้องเรียนนะครับว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดช่วงแรกเกิดความสับสน โกลาหล อลหม่านครับ การบริหารจัดการวัคซีนต้องยอมรับครับว่าล่าช้า ประชาชนต้องเสาะแสวงหาข้อมูล ด้วยตัวเองครับ ตอนนั้นเรากลายเป็นผู้มีความรู้น้อง ๆ อสม. ครับ ไปหาว่าจะฉีดวัคซีน ด้วยตัวเอง จะเข้าถึงวัคซีนแบบเชื้อเป็น เชื้อตาย หรือจะเป็น mRNA เดือดร้อนครับ ประชาชนต้องไปหา และด้วยความตื่นตระหนกกลายเป็นว่าวันนี้คนไทยโดยเฉลี่ย อย่างไม่ได้ ๆ อย่างไม่มี ๆ นะครับ เรามีวัคซีนทั้งเชื้อเป็น เชื้อตาย mRNA ไม่ต่ำกว่าคนละ ๔-๕ Dose ในร่างกาย แล้วก็กลายเป็นภาวะ Long COVID ในปัจจุบัน งบประมาณบางส่วนเอาไปสร้าง โรงพยาบาลสนาม ซึ่งก็ถูกมองว่าคุณภาพของงานไม่สอดรับ ไม่สอดคล้องกับเงินที่ใช้ไป หรือการไปใช้เพื่อการลงทุนในการสร้างอาคารซึ่งอาจจะไม่ตรง ไม่ตอบโจทย์กับวัตถุประสงค์ ในส่วนที่ ๑ ส่วนที่ ๒ ที่ได้รับการประเมิน A ผมคิดว่า ๓๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ยังมีการบริหาร จัดการของแต่ละโครงการที่มีความซับซ้อน แล้วก็ซ้ำซ้อน มีโครงการลักษณะแบบเดียวกัน ในหลายโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้ไปดำเนินการ เปรียบเสมือนการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ไม่เชื่อมโยงบูรณาการกัน ส่วนที่ ๓ ๑๗๐,๐๐๐ ล้านบาท เอาไปทำโครงการคนละครึ่ง เอาไปทำโครงการเที่ยวด้วยกัน เข้าใจครับว่าเป็นการรักษาการจ้างงาน เพราะผู้ประกอบการในวันนั้นต้องยอมรับนะครับว่า ภาคธุรกิจ อาหาร บริการ ขนส่ง ได้รับผลกระทบหมดครับ และโดยเฉพาะในธุรกิจประเภท ร้านอาหาร ภัตตาคาร ก็ต้องรักษาสภาพการจ้างงาน เพราะถ้าปล่อยให้เลิกจ้างพนักงานไป หรือปิดกิจการไป โอกาสจะกลับมาในร้านเดิม บริษัทเดิม องค์กรเดิม เป็นไปด้วยความ ยากลำบาก ผมอยากจะมีข้อสังเกตสัก ๕ ประการด้วยกัน เพื่อให้สถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ที่เราบริหารจัดการกันมากลายเป็นองค์ความรู้จาก การถอดบทเรียน เพื่อจะแก้ปัญหาในครั้งต่อไป
ข้อสังเกตประการที่ ๑ ถามว่าวันนี้ที่เราผ่านโควิดกันมานี้ เราสู้โควิดได้ดีกว่า ประเทศอื่นหรือไม่ พบว่าเรามาตรฐานครับ แต่เรายังสามารถยกระดับให้ดีกว่านี้ได้
ข้อสังเกตประการที่ ๒ ถามว่างบประมาณโดยเฉพาะจากเงินกู้ ๑ ล้านบาท งวดแรก งวด ๒ อีก ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาท เป็น ๑,๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาทนี้ เราบริหารจัดการได้คุ้มค่าเหมาะสมหรือไม่ ก็ต้องเรียนครับว่าเราจะต้องไปถอดบทเรียน และใช้เงินกู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีความซ้ำซ้อนครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัคซีน ไม่ว่า จะเป็นเรื่องของเวชภัณฑ์ ซ้ำซ้อนกระทั่ง Application ครับ เราไม่รู้ครับว่าจะเข้า Application ไหน แล้วรายงานอย่างตรงไปตรงมาถูกต้อง เรามีหมอพร้อมก็ไม่จบนะครับ มีหมอชนะ และอีกหลายต่อหลาย Application ด้วยกัน เพราะฉะนั้นถึงเวลาที่จะมา เชื่อมโยงบูรณาการแล้วตัดลดงบที่ไม่จำเป็นออกไป
ข้อสังเกตประการที่ ๓ การบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเรื่องยาก แต่ว่า ถ้าหากเราถอดบทเรียนเพื่อจะแก้ไข ผมเชื่อว่าจะเป็น Model ที่เราใช้ได้ในอนาคต
ข้อสังเกตประการที่ ๔ แต่ละโครงการที่ได้รับอนุมัตินั้น จะต้องมีการเชื่อมโยง บูรณาการ ไม่ซ้ำซ้อนกัน
ข้อสังเกตประการที่ ๕ ทุกโครงการนั้น ถ้าหากว่าถอดบทเรียนแล้วสามารถ พัฒนาไปสู่ความยั่งยืน ก็จะเป็นประโยชน์ จะเป็นการสนับสนุนการใช้เงินกู้หรือเงินงบประมาณ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยความเคารพครับ ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ พ.ศ. .... ผมพิจารณารายละเอียดประกอบในเอกสารประกอบการพิจารณา ผมขออนุญาตปักธงไว้ก่อนนะครับ ว่าโดยหลักการและเหตุผลในการเตรียมจะออกร่าง พระราชบัญญัติฉบับนี้ผมถือว่าฟังได้ มีเหตุมีผล ผมเปิดไปดูส่วนที่ ๑ หลักการและเหตุผล หลักการ ก็คือการยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ พ.ศ. .... เขียนเหตุผลกำกับไว้น่าสนใจครับ มีน้ำหนัก โดยบอกว่า โดยที่พระราชบัญญัติว่า ด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ พ.ศ. .... มีวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริม การใช้เช็คในการทำธุรกรรม โดยวิธีการกำหนดให้เป็นโทษทางอาญาสำหรับผู้ซึ่งไม่สามารถ ชำระเงินตามเช็คได้ อันเป็นการนำโทษทางอาญามาใช้บังคับกับการผิดนัดทางแพ่งซึ่งไม่ สอดคล้องกับมาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่กำหนดให้พึงกำหนดโทษอาญา เฉพาะความผิดร้ายแรง และไม่สอดคล้องกับ ข้อ ๑๑ ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่กำหนดว่าบุคคล จะถูกจำคุกเพียงเพราะเหตุว่าไม่สามารถปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญามิได้ สมควรยกเลิก กฎหมายว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ ท่านประธานที่เคารพครับ สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าที่ประชุมแห่งนี้ และผู้ติดตามการอภิปราย จะต้องพิจารณาและต้องขีดเส้นใต้กำกับชัดเจนก็คือเรื่องของเจตนาในการกระทำความผิด ท่านประธานครับ หลายครั้งลูกหนี้สั่งจ่ายเช็คโดยไม่มีเจตนาทุจริต แต่ว่าไม่สามารถ Check ได้ว่าจำนวนเงินเพียงพอกับเงินในเช็คที่ออกไปหรือไม่ อันนี้ถือว่าไม่มีเจตนาทุจริต หรือขาดเจตนา มิได้หมายความว่าพอกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้เจตนาไม่เกี่ยวนะครับ คือคนที่มีเจตนาในการทุจริตก็ยังคงต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอาญาต่อไป ท่านประธาน ที่เคารพครับ โลกก้าวไกล สังคมไทยต้องก้าวทัน ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีมีผลิตภัณฑ์ทาง การเงินมากมายครับ เรามี Fintech เฉพาะผลิตภัณฑ์ทางการเงินครับ นอกจากเงินสดเรามี บัตรเดบิต มีบัตรเครดิต ดังนั้นถ้าหากว่าเราไม่ปรับเปลี่ยนและไม่ปรับข้อกฎหมายให้ สอดคล้องกับปัจจุบัน ที่สุดครับ เราจะมีผู้ต้องหาหรือมีการฟ้องร้องกันทางอาญา ถ้าพูด ภาษาชาวบ้านก็เรียกว่าเป็นคดีที่ไปรกโรงรกศาล ดังนั้นสิ่งที่สำคัญก็คือว่าเราควรจะต้อง พิจารณาในส่วนของเจตนาให้ชัดเจน แน่นอนนะครับ ข้อห่วงใยของเพื่อนสมาชิกผู้ที่อภิปราย ก็คือว่าในรายละเอียดนี้ยังมีบางจุดที่อาจจะต้องไปดูในบริบทต่าง ๆ ให้ครบถ้วนรอบด้าน ผมคิดว่าหากทางเจ้าของร่างหรือทางสภาจะได้มีข้อเสนอใดเพิ่มเติมก็ควรจะเปิดพื้นที่ เพื่อให้ ร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวนั้นมีผลบังคับใช้ที่ครบถ้วน ครอบคลุม ไม่เป็นการรีบร้อน เกินไปจนขาดความรอบคอบ แต่อย่างไรก็ตามผมเห็นว่าในการเตรียมการในเนื้อหา รายละเอียดทั้งหมดนั้นมีความพร้อม มีหลักการ มีเหตุมีผล แล้วก็หวังนะครับว่าจะได้เห็น ทุกฝ่ายร่วมด้วยช่วยกันในการทำให้กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่แก้ปัญหา และไม่ทำให้ ประชาชนได้รับผลกระทบ อันเกิดจากการใช้เช็คโดยไม่มีเจตนาทุจริตครับ ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ผมต้องขอกราบเรียนนะครับว่าปัญหาเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชันไม่ได้ เกิดกับประเทศไทยประเทศเดียว หลายประเทศก็ประสบปัญหานี้ครับ แต่คำถามคือว่า เมื่อเขาประสบกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันแล้ว บางประเทศแก้ไขได้มาก บางประเทศ แก้ไขได้น้อย และบางประเทศแก้ไขไม่ได้เลย องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติได้ประกาศ ผลดัชนีการรับรู้การทุจริตที่เรียกว่า CPI ประจำปี ๒๕๖๕ ประเทศไทยได้ ๓๖ คะแนนครับ เห็น ๓๖ นี่เราคิดว่าไม่ขี้เหร่ครับ แต่พอรู้ว่าจาก ๑๐๐ นี่ขี้เหร่เลยครับ ไทยอยู่อันดับ ๑๐๑ ครับ ถ้าวัดเฉพาะ ASEAN อยู่อันดับ ๔ ของ ASEAN Champ กลุ่มของการป้องกันปราบปราม การทุจริตคอร์รัปชันของ ASEAN ก็คือสิงคโปร์ สรุปครับไทยอยู่ ๑๐๑ จาก ๑๘๐ ประเทศ ได้ ๓๖ คะแนนจากคะแนนเต็ม ๑๐๐ คะแนน ท่านที่เคารพครับ เราไม่อาจคาดหวังผลลัพธ์ ที่แตกต่างตราบที่เรายังใช้วิธีการเดิม การที่ ครม. และรัฐบาลได้เสนอปรับปรุงกฎหมาย ในส่วนของพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๕๑ จากเดิมมี ๖๗ มาตรา ซึ่งจะมีการปรับแก้ ๒๙ มาตรา บัญญัติใหม่ ๑๔ มาตรา ยกเลิก ๑ มาตรา รวมทั้งสิ้นจะมีเพิ่มขึ้นเป็น ๘๐ มาตรา ท่านที่เคารพครับ กฎหมายนี้มีการ ใช้มาแล้วถึง ๑๖ ปี ซึ่งควรจะมีการปรับแก้ให้สอดรับกับยุคสมัย โดยกฎหมายฉบับนี้ ขณะร่างแก้ไขนั้นได้ออกแบบ ได้มีการให้กฤษฎีกาได้ตรวจสอบ หัวใจสำคัญหรือสารัตถะ สำคัญที่ไม่พูดไม่ได้คือการปรับให้มีอำนาจในการตรวจสอบมากขึ้น เนื่องจากว่าที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. จะสามารถ ตรวจสอบได้ก็ต่อเมื่อ ป.ป.ช. ได้ส่งมอบเรื่องให้เท่านั้น อธิบายแปลเป็นภาษาชาวบ้านก็คือ ป.ป.ช. ต้องเป็นคนชงเรื่องมาให้ ป.ป.ท. ถึงจะรับเรื่องที่ชงไปดำเนินการต่อ ทั้งที่จริง ๆ แล้ว หากเราสามารถปรับแก้ให้ ป.ป.ท. สามารถที่จะชงเอง ฟาดเองได้ก็จะเป็นการเพิ่ม ประสิทธิภาพ เป็นการเสริมเขี้ยวเล็บและลดความซ้ำซ้อนระหว่างการทำงานของ ป.ป.ท. และ ป.ป.ช. ผมได้หารือฝ่ายกฎหมายนะครับ ว่าเรื่องที่ทาง ป.ป.ช. ส่งให้ ป.ป.ท. สอบก็ว่าไป แต่เรื่องที่ ป.ป.ท. จะลุกขึ้นมาชงเองจะเป็นในหมวดการประพฤติมิชอบ ซึ่งก็สามารถทำได้ พอพูดถึงการประพฤติมิชอบบางท่านก็จะไปเข้าใจว่า เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นคดี มโนสาเร่ แต่จริง ๆ แล้วสำคัญครับ เพราะถ้าเราสามารถตัดไฟได้ตั้งแต่ต้นลมหนักก็จะกลายเป็นเบา ทุเลาก็จะกลายเป็นหาย ดังนั้นกฎหมาย ป.ป.ท. ปัจจุบันนั้นต้องไปเพิ่มบทบัญญัติในส่วนนี้ และสารัตถะสำคัญอีก ๑ เรื่องครับ ก็คือหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ซึ่งจะมีการให้ เปิดเผยถึง ๓ ขั้นตอน ก็คือ ๑. ถ้าเป็นงาน Production ก็เรียกว่า Pre-Production คือ ก่อนการไต่สวน ๒. เปิดเผยได้เมื่อได้ดำเนินการไปแล้ว และ ๓. คณะกรรมการ ป.ป.ท. ได้ชี้มูล พร้อมกันนี้ครับ ป.ป.ท. ยังมีอำนาจในเรื่องของการออกหมายจับ โดยสามารถขอศาล ออกหมายจับได้เอง รวมถึงสามารถวินิจฉัยในการดำเนินการจับ ปล่อยตัวชั่วคราว หรือจะ มอบพนักงานสอบสวนทำแทน ซึ่งก็สามารถดำเนินการได้ด้วย ป.ป.ท. เอง คดีที่พูดแบบ ชาวบ้านคือคดีมโนสาเร่ เรื่องการคุกคามทางเพศ เรื่องของการเอาผิดในเรื่องเพศ เรื่องอนาจาร ก็เปิดโอกาสให้ไปตรวจสอบในเรื่องวินัย แล้วก็นำไปสู่คดีอาญา รวมถึงเรื่องที่ อาจจะดูไม่เป็นเรื่องนะครับ ข้าราชการเลิกงานไวกว่าปกติ จึงมีคำถามครับว่านาฬิกาที่ใด ปลอดภัยที่สุด เขาบอกนาฬิกาที่ออฟฟิศครับ เพราะทุกคนจะจ้องดูนาฬิกาเป็นตาเดียวกัน แต่ถ้าหากว่ามีการเลิกงานไวกว่าเวลาก็จะมีการดำเนินการได้ กรณีการนำรถหลวงไปใช้ ส่วนตัวนอกเวลาราชการ ในส่วนนี้ ป.ป.ท. ก็สามารถจะชงเรื่องในการประพฤติมิชอบ โดยสามารถดำเนินการสืบสวนสอบสวนได้ทันที นี่ครับ จึงเป็นสารัตถะสำคัญที่สามารถ ดำเนินการชี้เป้าเอาผิด สามารถดำเนินการสืบสวนสอบสวนได้ทันที จึงถือเป็นเรื่องใหญ่ครับ เป็นเรื่องของการสร้างความโปร่งใสเพื่อการป้องกันการประพฤติมิชอบของส่วนราชการ ท่านประธานครับ กฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานของภาครัฐยิ่งขึ้น จะเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ โดยกฎหมายฉบับนี้จะสอดคล้องกับอนุสัญญา สหประชาชาติ ว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตหรือ UNCAC ซึ่งถือว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ของการแก้ไขกฎหมาย ท่านประธานครับการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัยให้เป็นปัจจุบัน สอดรับกับสถานการณ์ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพื่อให้กฎหมายนั้นได้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม รวมถึงเป็นกฎหมายที่ดีได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน แต่กฎหมายที่แก้ไขนั้น ต้องไม่ถูกนำไปเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งกัน ดังนั้นการเสนอกฎหมายในลักษณะของ การเพิ่มอำนาจ ไม่ใช่การเพิ่มอำนาจไม่ใช่การแย่งอำนาจ แต่เป็นการทำงานให้การตรวจสอบ ในภาครัฐสามารถดำเนินการเพื่อการป้องกันการทุจริต รวมถึงการประพฤติมิชอบได้ ผมจึง ขอเห็นชอบกับร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวครับ ขอบคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ ผมรู้สึกมีความสุขแล้วก็ภาคภูมิใจทุกครั้งที่สภาเราได้เปิดพื้นที่ให้ ความสำคัญกับเรื่องของการส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน หลาย ๆ ครั้ง ก็รู้สึกเท่ด้วยนะครับที่สภาไทยพูดถึงเรื่องที่เป็น Trend ของโลก ผมเป็นผู้หนึ่งที่เห็นด้วยกับ การตั้งกรรมาธิการวิสามัญสมรสเท่าเทียม เพราะผมเชื่อและเคารพในสิทธิเสรีภาพ เชื่อและเคารพในความเท่าเทียม กฎหมายสมรสเท่าเทียมนั้นมีหลายเรื่องที่ให้ความเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมิติสินสมรสและเรื่องเสรีภาพขั้นพื้นฐานอื่น ๆ แต่พอมาเป็นเรื่องของ การเปลี่ยนคำนำหน้านาม ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่เราต้องพิจารณารับฟังให้ครบถ้วนรอบด้าน อย่าเหาะเกินลงกา อย่าไปไกลชนิดสุดลิ่มทิ่มประตู เพราะว่าเดี๋ยวมีปัญหาติดตามมา จะเป็นไปในลักษณะสร้างปัญหาต่อ ก่อปัญหาใหม่ ท่านประธานที่เคารพครับการที่เราจะ ภาคภูมิใจ หรือไม่ได้ภาคภูมิใจต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น ไม่ได้ขึ้นเพียงเพราะว่าเราใช้คำนำหน้านาม ว่าอะไร การที่เราจะภาคภูมิใจหรือไม่ภาคภูมิใจเรื่องใดก็ตามนั้น น่าจะมีสาเหตุและปัจจัย จากหลายประการ คงไม่ใช่ว่าปกติก็เป็นคนหม่นหมองตรอมเศร้า ผลไม้ที่ชอบก็ชอบระกำ ปลูกดอกไม้ก็ปลูกดอกลั่นทม ครั้นจะปลูกหญ้าก็ปลูกหญ้าตรอมใจ เป็นคนประเภทระทม ระกำตรอมใจ แต่พอเปลี่ยนคำนำหน้านามแล้วก็จะลุกขึ้นมา Happy ชนิดที่เรียกว่าเปลี่ยนปุ๊บ Happy ปั๊บ คงไม่ใช่เช่นนั้น ผมไม่รู้ว่าความภาคภูมิใจในความเป็นตัวของเราเอง ไม่ว่าเราจะ เป็นชาย เราจะเป็นหญิง เราจะเป็น LGBTQ+ หรือเป็นอะไรก็ตาม เราสามารถภาคภูมิใจได้ ในอดีตเคยมีศิลปินหมอลำชื่อว่า ปอยฝ้าย มาลัยพร เคยร้องเพลงว่า ฉันภูมิใจ ภูมิใจที่เป็น กระเทย ไผสิเว้าเยาะเย้ย กะส่างเถาะเว้ย. กะส่างเถาะเว้ยปากคน เป็นกระเทยก็ภาคภูมิใจ ได้ครับ แล้ววันนี้คำว่า กระเทย คำที่บ่งบอกถึงเพศสภาพ เพศที่ ๓ ๔ ๕ ไม่ใช่สิ่งที่จะไป Bully กัน ไม่ใช่คำที่ฟังแล้วรู้สึกว่าถูกประณามหยามหมิ่น สังคมเราเปิดกว้างแล้วก็เปิดรับ กับความหลากหลายทางเพศ วันนี้สิ่งที่ต้องตั้งข้อสังเกตก็คือว่าเราจะเป็นชายจริงหญิงแท้ เราจะเป็น LGBTQ เราก็ควรจะภาคภูมิใจในสิ่งที่เราจำเป็น มีงานเทศกาลที่เขาเรียกว่า งาน Pride Pride แปลว่าภาคภูมิใจ ก็ไหนว่าเราภาคภูมิใจในความเป็น LGBTQ แล้วเราจะ ไปเปลี่ยนจากสภาพ LGBTQ ไปเป็นนาย ไปเป็นนางสาว ก็เท่ากับว่าอย่างนั้นเราไม่ได้ Pride ไม่ได้ภูมิใจกับเพศสภาพกับสถานะที่เราเป็นหรือเปล่า เราจะเป็นนาย จะเป็นนางสาว เราก็สร้าง คุณค่าแห่งความภาคภูมิใจด้วยตัวของเราเองได้ ผมเห็นเพื่อนสมาชิกบางท่านพยายามลุก ขึ้นมา Update สถานการณ์ว่าวันนี้เราไม่ได้คุยกันว่าเพศที่ ๓ ๔ ๕ ไม่ได้รับการยอมรับ มัน Out ไปแล้วครับ วันนี้ไม่มีใครคุยเรื่องนั้น แต่วันนี้เรากำลังจะคุยกันว่านอกจากสมรส เท่าเทียมที่กำลังพิจารณาศึกษากันอยู่ตอนนี้ เราจะไปไกลถึงขั้นเปลี่ยนคำนำหน้านามหรือไม่ สิ่งที่จะเป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ หากทุกคนลุกขึ้นมาเปลี่ยนคำนำหน้านาม ผมดูเอกสาร บอกว่าสามารถยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐเพื่อให้สามารถออกเอกสาร ให้จัดทำเอกสาร หรือให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลเอกสารได้ ไปเปลี่ยนอะไรบ้างครับ ให้บุคคลที่รับการรับรอง เพศตามมาตรา ๙ วรรคสอง หรือมาตรา ๙ วรรคสามแล้วแต่กรณี ไปยื่นคำขอต่อหน่วยงาน ของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ออกเอกสาร ให้จัดทำเอกสาร หรือให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูล ในเอกสาร ทั้งนี้เพื่อให้ข้อมูลคำนำหน้านามและเพศตรงกับเพศที่ตนได้รับการรับรอง ในเอกสารดังต่อไปนี้ ทะเบียนบ้านก็จะมีคนไปเปลี่ยน บัตรประจำตัวประชาชน สูติบัตรหรือ สำเนาสูติบัตร หนังสือเดินทาง ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ เอกสารสิทธิหรือ เอกสารราชการอื่นใดที่หน่วยงานของรัฐออกให้ตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ หรือคำสั่ง ท่านประธานลองนึกภาพตามนะครับ ถ้าคน LGBTQ หรือแม้แต่ชายจริงหญิงแท้ ลุกขึ้นไปเปลี่ยนคำนำหน้านาม จะมีคนไปติดต่อหน่วยงานราชการจำนวนมากขนาดไหน จะต้องใช้งบประมาณในการเปลี่ยนข้อมูลและการจัดทำบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน สูติบัตร หนังสือเดินทาง ใบขับขี่ เอกสารสิทธิต่าง ๆ มันจะสับสนอลหม่านขนาดไหน อย่างไร ในระหว่างที่ผมเตรียมการจะพูดครับ มีเพื่อนสมาชิกเดินมาถามว่า อนุสรณ์อภิปรายแน่นะ ผมแน่ครับ ตัดสินใจเปลี่ยนหรือยัง ผมหันกลับไปตอบด้วยความมั่นใจว่า ยังครับ ผมยัง ไม่เปลี่ยนคำนำหน้านาม เพราะผมเชื่อมั่นว่าจะใช้คำนำหน้านามว่าอะไรเราก็สามารถภาคภูมิใจ ในสิ่งที่เราเป็นได้ ท่านประธานที่เคารพครับ ก่อนที่เราจะเรียกร้องให้คนอื่นเคารพเรา เราควรเคารพผู้อื่นก่อน ก่อนที่เราจะเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้กับตัวเอง เราหันไปมองให้ รอบด้านเสียก่อนว่าสิทธิที่เราเรียกร้องนั้นได้ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นหรือไม่ และต้อง ระมัดระวังถึงผลกระทบที่จะเกิดตามมา ดา เอ็นโดรฟิน เคยร้องเพลงไว้ครับว่า ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ นั่นก็ลำบากแล้วนะครับ ถ้าเราเปลี่ยนคำนำหน้านามมันจะไม่หยุดแค่ ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ แต่มันจะกลายเป็น ไม่รู้จักชาย ไม่รู้จักหญิง ไม่รู้จัก LGBTQ และขอยืนยันตรงนี้ ครับว่าเราภาคภูมิใจในความเป็นตัวของเราเองได้ตลอดเวลา ขอบคุณครับ
ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตหารือท่านประธานครับ
ท่านครับท่านประธาน ที่เคารพครับ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยครับ ผมขออนุญาต มี ๒ ดาบ ดาบแรกหารือก่อน ถ้าเกิดว่าการดำเนินการเป็นปัญหาผมจะขอใช้ สิทธิประท้วง ผมได้ฟังการอภิปรายแล้วไม่สบายใจ ผมเดินไปหาเจ้าหน้าที่ว่าถ้อยคำที่บอกว่า มีการตัดไป ฟังเสมือนหนึ่งว่ามีกระบวนการที่จะทำให้มีการได้เปรียบเสียเปรียบ ถ้อยคำที่ว่า ถูกตัดไปนั้นคือถ้อยคำที่เขียนว่า เป็นร่างพระราชบัญญัติที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน และสตรี
นี่ผมยังพูดไม่จบเลยนะครับ
ท่านประธานวินิจฉัยได้ ถูกต้องครับ ขอบคุณครับ ข้อความที่หายไปที่ท่านอ้างเป็นร่างพระราชบัญญัติที่มีสาระสำคัญ เกี่ยวกับเด็ก เยาวชน และสตรี ซึ่งถูกตัดจริงครับ แต่ไม่ได้ถูกตัดเพื่อให้ความได้เปรียบรัฐบาล หรือให้ใครเสียเปรียบ ผมไปถามเจ้าหน้าที่ว่าตัดเพราะอะไร เจ้าหน้าที่ให้เหตุผล น่าเห็นใจ เจ้าหน้าที่ครับ เขาบอกว่าเขาขึ้นข้อความ ยินดีต้อนรับคณะผู้มาดูงาน เท่านั้นเองครับ ดังนั้น ผมจึงเรียนว่าการที่อภิปรายในลักษณะทำนองว่ามีการตัดถ้อยคำเพื่อให้เกิดความได้เปรียบ เสียเปรียบ จึงไม่เป็นความจริงครับ ขอให้ถอนในประเด็นนี้ครับ และอีก ๑ ประเด็นกับการใช้ ถ้อยคำว่า รัฐบาลใช้ประชาชนบังหน้า ผมเห็นว่าเป็นการใช้คำพูดที่เล่นใหญ่เกินเบอร์เกินไป ขอบคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผมอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อร่างพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. .... ซึ่งเสนอโดยท่าน สส. ดอกเตอร์ ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ ที่อยู่อาศัยนั้นถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่สำคัญของมนุษย์ รัฐบาลแทบจะทุกประเทศก็ประกาศ พันธกิจว่าคนในประเทศของเขาประชากรของเขานั้นทุกคนจะต้องมีบ้าน รัฐบาลไทยก็เคย ประกาศว่าภายในปี ๒๕๗๙ คนไทยทุกคนต้องมีบ้าน บ้านหรือที่อยู่อาศัยนั้นก็มี หลายรูปแบบ มีวิวัฒนาการ มีลำดับขั้นตอน แต่สิ่งที่เราจะชี้ชัด ๆ Focus ลึก ๆ ไปที่ธุรกิจ บ้านจัดสรร เพราะว่ากระทบกับคุณภาพชีวิตของผู้คนจำนวนมากในสังคมไทย ในแต่ละปี มูลค่าหรือขนาดธุรกิจของธุรกิจบ้านจัดสรรอย่างไม่ได้ ๆ แต่ละปีตกประมาณเฉียด ๆ ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ปีนี้ก็ ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาทครับ มีผู้คนได้รับผลกระทบจำนวนมาก แต่ก็ต้องยอมรับว่าเรามีวิวัฒนาการมีขั้นตอนของการแก้ปัญหา ปัญหามีไว้แก้ครับ แล้วก็มา โดยลำดับขั้น แต่ว่าธุรกิจบ้านจัดสรรในอดีตปัญหาเยอะกว่านี้ครับ เช่น ดาวน์น้อยผ่อนนาน ดาวน์ไปตั้งนานไม่ได้เห็นตัวบ้านก็มีครับ ตอนซื้อบ้านบอกว่าจะได้บ้านต่างระดับ อยู่ไปไม่ถึง ๒ ปีต่างระดับจริง เพราะบ้านทรุด แล้วก็ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาช่วยเหลือ เราก็วิวัฒนาการ ออกกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น สคบ. หรือแม้แต่กลไกของสภาเราก็มีกรรมาธิการคุ้มครอง ผู้บริโภคและช่องทางอื่น ๆ ก็ต้องให้เครดิตของวิวัฒนาการและขั้นตอนการพัฒนาทาง กฎหมาย ผมชี้ชัดไปที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ ซึ่งชื่อว่าร่างพระราชบัญญัติจัดสรรที่ดิน (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. .... ซึ่งเสนอเข้ามาได้ครบถ้วนรอบด้าน ความจริงก็ต้องขอเอ่ยนามว่าอีก ๑ ฉบับนอกเหนือจากฉบับของท่าน สส. ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ พรรคเพื่อไทย ก็มีฉบับของ สส. ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ กับคณะ ผมจะชี้ไปให้เห็นปัญหาของนิติบุคคล ความจริง นิติบุคคลไม่ได้มีเฉพาะนิติบุคคลบ้านจัดสรรนะครับ มีนิติบุคคลอาคารชุดและอีกหลาย รูปแบบ แต่ในชั้นนี้เราจะชี้ปัญหานิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร มันเป็นเรื่องแปลกว่าพอจะตั้ง นิติบุคคลบ้านจัดสรรมันจะมีป้อมแยกทางความคิดแตกต่างกัน ๒ ค่าย บางโครงการก็เป็น การเห็นต่างระหว่างผู้จัดสรรที่ดินกับผู้ซื้อหมู่บ้านจัดสรร หรือบางโครงการก็แตกเป็น ๓ ฝ่าย คือผู้จัดสรรที่ดิน ผู้ซื้อบ้านฝ่ายหนึ่ง แล้วก็ผู้เห็นต่างกับผู้ซื้อบ้านอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้นเรื่องนี้ ถ้าบริหารจัดการไม่ดีแม้จะมีเครื่องหมายมันก็จะถูกลิดรอนและประชาชนเข้าถึงสิทธิ ประโยชน์ขั้นพื้นฐานของการเป็นเจ้าของบ้านถามว่าเราจะแก้ปัญหาเรื่องนิติบุคคลนี้ได้ อย่างไร ผมมีข้อสังเกตอยู่ ๕ ประการด้วยกัน ซึ่งก็ต้องขอเรียนว่ายึดเอาตามร่างที่ สส. ดอกเตอร์ธีรรัตน์นั้นเป็นผู้เสนอ ผมมีข้อสังเกต ๕ ประการ
ประการที่ ๑ ควรจะต้องมีการกำหนดระยะเวลาให้ผู้จัดสรรที่ดินนั้น จะต้องเรียกหรือจะต้องแจ้งให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรนั้นได้ทราบถึงสิทธิ แล้วก็จัดประชุมเพื่อจัดตั้ง นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ผู้จัดสรรที่ดินทำเฉย ๆ เลย ๆ โทรศัพท์ที่ท่านเรียกติดต่อไม่ได้ นี่ไม่ได้นะครับ เพราะฉะนั้นประการที่ ๑ เป็นเรื่องสำคัญต้องกำหนดระยะเวลาให้ชัดเจน ซึ่งในชั้นที่จะส่งไปให้รัฐบาลดูนั้น ผมคิดว่าจะมี Guru ผู้รู้นักปราชญ์ราชบัณฑิตช่วยกันตรวจ ช่วยกันคิด ช่วยกันดู
ประการที่ ๒ ที่ขออนุญาตตั้งข้อสังเกต ท่านประธานครับ ควรจะมีบทบัญญัติ ให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรนั้น สามารถจะเป็นผู้ริเริ่มในการก่อตั้งนิติบุคคลบ้านจัดสรรได้ กรณีนี้แยก เป็น ๒.๑ กรณีที่ซื้อบ้านแล้ว ผู้จัดสรรที่ดินติดต่อไม่ได้หายไป โทรไปไม่รับ โทรกลับก็มีโทร อันนี้ควรจะให้สิทธิกับผู้ซื้อบ้านจัดสรร ๒.๒ ระยะเวลาที่มันเนิ่นนานเกินไปทำให้ผู้ซื้อบ้าน จัดสรรนั้นเสียสิทธิ ก็เปิดโอกาสให้มีบทบัญญัติให้สามารถจัดตั้งนิติบุคคลได้
ประการที่ ๓ สามารถเรียกประชุม เพื่อจัดตั้งนิติบุคคลบ้านจัดสรรโดยสามารถ ใช้เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง หมายความว่าถ้าหมู่บ้านนั้นมี ๑๐๐ Unit หรือพูดภาษาชาวบ้านคือมี ๑๐๐ หลังคาเรือน ผู้มาจัดตั้งนิติบุคคลก็ควรจะมีตั้งแต่ ๕๑ หลังคาเรือน หรือ ๕๑ Unit เป็น ต้นไป แต่เรื่องนี้ระมัดระวังอย่างนี้ว่าจะต้องไม่ลิดรอนสิทธิของผู้ซื้อบ้านเสียงข้างน้อย เช่น เสียงข้างมาก ๖๐ ๔๐ นี้ก็ต้องมีส่วนร่วมมีพื้นที่ความเห็นต่างให้เขาด้วยจะเลือก รปภ. บริษัทไหน จะเอาไม้กั้นเข้าหมู่บ้านยี่ห้ออะไร กล้องวงจรปิดจะติด ๘ ตัว ๔๐ ตัว หรือกี่ตัว เขาต้องมีส่วนร่วมคิด ร่วมตัดสินใจด้วย แม้จะเป็นเสียงข้างน้อย
ประการที่ ๔ ต้องมีการกำหนดอำนาจของคณะกรรมการเพื่อคุ้มครอง ผู้ซื้อที่ดินด้วย เพราะไม่เช่นนั้นเมื่อได้รับผลกระทบแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะต้องไปร้องเรียนใคร ไม่ฉะนั้นก็มาสภา ไม่เช่นนั้นก็ไป สคบ. ควรจะมีการกำหนดบทบาทหน้าที่
ประการที่ ๕ ถ้าทำ ๔ ข้อนี้ได้ ท่านประธานครับ จะเป็นการฟื้นเรียกคืน ความมั่นใจ เรียกคืนความเชื่อมั่นของธุรกิจบ้านจัดสรรและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมเชื่อมั่น เหลือเกินว่าถ้าสภาของเราได้ร่วมด้วยช่วยกันในการพิจารณาทุกข้อเสนอ ทุกร่างแบบ ครบถ้วนรอบด้าน เปิดพื้นที่คนเห็นต่างอย่างสร้างสรรค์ เราจะนำมาซึ่งการสร้างความเชื่อมั่น ให้กับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภาคที่อยู่อาศัยของคนไทย และขอให้มั่นใจว่าภายใต้การนำ ของรัฐบาลชุดนี้ ภายในปี ๒๕๗๙ คนไทยทุกคนจะมีบ้านอยู่อย่างแน่นอนครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อความเห็นในญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรได้เสนอแนะแนวทางในการ แก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในโรงเรียนอย่างเป็นรูปธรรม ผมขอ Highlight ขีดเส้นใต้และ กาดอกจันคำว่า อย่างเป็นรูปธรรม ท่านประธานที่เคารพครับ ก่อนอื่นผมต้องขอแสดง ความเสียใจกับผู้เสียชีวิต ครอบครัวผู้สูญเสีย ใจจริงผมอยากจะกล่าวคำว่า ขอให้เหตุการณ์ การใช้ความรุนแรงในโรงเรียนครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย แต่ก็ดูว่าคำขอนั้นอาจจะมากเกินไป ก็ขอในระดับแรกเบื้องต้น ขอให้หลังการอภิปรายของพวกเราในสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ จะเป็นหมุดหมายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้การใช้ความรุนแรงในโรงเรียนนั้นลดน้อยลงอย่างมี นัยสำคัญ ท่านประธานครับ หัวอกของคนเป็นพ่อเป็นแม่ วันนี้เราไม่รู้เลยครับว่าหลังจากที่ เราส่งลูกไปโรงเรียน ส่งลูกขึ้นรถตู้ สาย ๆ บ่าย ๆ ทางโรงเรียนจะโทรมาบอกเมื่อไรว่าลืมเอาลูกลงจากรถตู้ ลูกไปเรียนพลศึกษาแต่งกายด้วยชุดเครื่องแบบพลศึกษา เราไม่รู้เลยว่าชั่วโมงเรียนพลศึกษานั้น เสา Goal จะล้มทับเด็กนักเรียนเมื่อไร เสาบาสเกตบอลจะล้มลงมาทับลูกเสียชีวิตเมื่อไร นี่คือปัญหาความปลอดภัยในโรงเรียน และการใช้ความรุนแรงในโรงเรียนวันนี้มันไม่ใช่แค่ ปัญหาเด็กตีกัน เด็กตีกันมันฟังดูไม่รุนแรง แต่วันนี้ปัญหามันพัฒนารุนแรงจากเด็กตีกัน กลายไปเป็นเด็กฆ่ากันครับท่านประธาน เพราะฉะนั้นถ้าเราบอกว่าแก้ปัญหาเด็กตีกันก็จะแก้ แบบหนึ่ง แต่ถ้าเราคิดว่าวันนี้ปัญหามันรุนแรง ยกระดับอย่างมีนัยสำคัญถึงขั้นกลายไปเป็น ปัญหาเด็กนักเรียนฆ่ากัน มันต้องแก้แบบยกให้เป็นวาระแห่งชาติ ท่านประธานครับ ผมจะ ไม่ฉายหนังเก่าเล่าเรื่องเดิม แต่ผมอยากจะเสนอแนะแนวทางและมาตรการในการแก้ไข ปัญหาและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำอย่างเป็นรูปธรรม ๕ ประการด้วยกัน
ประการที่ ๑ ผมเรียกว่าการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ท่านสมาชิกหลายท่าน ไปดูงานการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุไฟไหม้ อาคารถล่ม โรงแรมทรุด แผ่นดินไหว มีแผนปฏิบัติการ ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ อย่างไรบ้าง เราไปประเทศญี่ปุ่น เขามีแผนอพยพ แผนเผชิญเหตุ หากเกิด กรณีแผ่นดินไหวเขาจะเตรียมถุงยังชีพแขวนไว้ในจุดที่หยิบฉวยได้สะดวก และในถุงยังชีพนั้น ประกอบไปด้วยอาหารแห้ง สิ่งของดำรงชีพที่สามารถอยู่ได้อย่างน้อย ๒ สัปดาห์ หรือ ๑๔ วัน อย่างนั้นเขาซ้อมหนักกว่าเรา เพราะมีความเป็นความตาย ความอยู่รอดของชีวิต เป็นเดิมพัน หันกลับมาบ้านเรา ในโรงเรียนของเรา เราซ้อมอะไรบ้าง เราต้องซ้อมแผน เผชิญเหตุครับ ท่านประธานที่เคารพ เมื่อครั้งเหตุกราดยิงสยามพารากอน ผมเคยอภิปราย แผนเผชิญเหตุที่เรียกว่า แผนหนี-ซ่อน-สู้ แผนหนี-ซ่อน-สู้เป็นอย่างไร เมื่อเกิดเหตุต้องเอา ตัวเองหนีไปก่อน พอหนีเสร็จก็เอาตัวเองไปซ่อนไว้ในที่ปลอดภัย และ Step ที่ ๓ สู้ คือหา วิธีการจะสู้เอาตัวรอดและดูแลคนอื่นได้อย่างไร นั่นคือแผนหนี-ซ่อน-สู้ แต่การซักซ้อม เรื่องการใช้ความรุนแรงการก่อเหตุในโรงเรียน ผมอยากจะใช้อีก ๑ แผนครับ ไม่ใช้แผน หนี-ซ่อน-สู้ ผมใช้ช่วยกันแยก ช่วยกันแยกทำอย่างไร อย่างแรกต้องช่วยผู้ได้รับบาดเจ็บ ต้องช่วยผู้ถูกทำร้ายและต้องกันผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องออกนอกพื้นที่เกิดเหตุ ด้วยความเคารพ ท่านประธาน ผมไม่อยากจะฉายสถานการณ์อันเป็นการใช้ความรุนแรง แต่ยกตัวอย่างว่า มีรายงานข่าวว่าหลังเกิดเหตุที่พัฒนาการ มือมีดผู้ก่อเหตุยังตามไปดูความเป็นความตายของ เหยื่อมีด แล้วก็มองเพื่อนเสียชีวิตไปต่อหน้าต่อตา แล้วเด็กนักเรียนที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง จะด้วย ความหนีจากสถานที่เกิดเหตุการใช้ความรุนแรง จะด้วยภาวะไทยมุง เฮโลสาระพากรูกัน เข้าไป ไม่รู้ใครได้รับบาดเจ็บ ไม่รู้ใครคือผู้ก่อเหตุ ดังนั้นอันดับที่ ๑ ต้องช่วยผู้ได้รับบาดเจ็บ ๒. ต้องกันผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องออกจากพื้นที่เกิดเหตุ และ ๓. แยก แยกนี้สำคัญครับ แยกข้อมูลข่าวสาร และพอกันทีประเภทที่เรียกว่าพอเกิดเหตุปั๊บ ทางโรงเรียนจะปิดข่าว จะโทรไปบอกผู้ปกครองในลักษณะบอกให้น้อยที่สุด แล้วก็กำชับกำชากันว่าอย่าให้ข้อมูลนี้ หลุดรั่ว หลุดรอดออกไป เพราะจะนำมาซึ่งความเสียหายชื่อเสียงของโรงเรียน เราจะรู้ ตอนไหนครับ เราจะรู้ก็ต่อเมื่อมี LINE หลุดจากโรงเรียน มี LINE หลุดจากผู้ปกครอง ดังนั้นเราต้องแยกข้อมูลข่าวสาร ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน และคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพ ของผู้ก่อเหตุ ผู้ได้รับผลกระทบไปในคราวเดียวกัน ดังนั้นจากการกราดยิง หนี-ซ่อน-สู้ ผมเสนอ Model ช่วยกันแยกในเหตุการณ์ใช้ความรุนแรงในโรงเรียน
ประการที่ ๒ ผมอยากจะเสนอเปลี่ยนครูแนะแนวเป็นครูแนะนำ เปลี่ยนครู แนะแนวเป็นครูแนะนำ แล้วก็เปลี่ยนครูประจำชั้นเป็นครูที่ดูแลนักเรียนดุจพ่อแม่ผู้ปกครอง ดุจญาติมิตร โดยการทำงานร่วมกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข มีรายงานข่าวว่า การก่อเหตุครั้งนี้มีส่วนเกี่ยวข้องว่าเป็นเด็กพิเศษหรือไม่ อย่างไร เราคงไม่ไปถึงตรงนั้นครับ ก็ต้องพิทักษ์สิทธิของเด็กผู้ได้รับผลกระทบ แต่ผมกราบเรียนว่านอกเหนือจากพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ดูแลลูก ๆ ที่บ้านแล้ว คุณครูประจำชั้น ครูที่ดูแลใกล้ชิดเด็กนั้นจะต้องเฝ้าระวัง และต้องเห็นสัญญาณการที่จะเกิดเหตุได้ในอนาคต
ประการที่ ๓ ผมขอเสนอให้มีการต่อต้านการ Bully ทุกรูปแบบ สมัยผม เป็นเด็กบางทีเราก็หาเหตุผลไม่ได้ว่าการไปล้อชื่อพ่อชื่อแม่กันมันเป็นความสนุกสนานตรงไหน หรือการไปล้อเพศสภาพ รูปร่าง ผิวพรรณ รูปพรรณสัณฐานของเพื่อน แบบนี้ต้องห้ามครับ เพราะว่าการ Bully ในโรงเรียนนั้นไม่ได้มีเฉพาะนักเรียน Bully นักเรียน มีนักเรียน Bully ครู ครู Bully นักเรียน ครู Bully ครู เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ต้องหมดไป และต้องไม่เกิดขึ้น ผมก็เป็นผู้หนึ่งที่เห็นว่าการมีอารมณ์ขันในการใช้ชีวิตนั้นทำให้ชีวิตของเราผ่อนคลายและ ยืนยาวได้ แต่วิธีการในการสร้างอารมณ์ขันมีมากมายล้านแปดวิธี ไม่จำเป็นต้องสร้างอารมณ์ขัน บนความเจ็บปวดความทุกข์ร้อนของผู้ถูกกระทำหรือถูก Bully
ประการที่ ๔ ผมอยากจะเสนอเป็น Motto ว่าถึงเวลาที่เราจะล้อมรักเป็นรั้ว ล้อมครอบครัวด้วยความรัก พ่อแม่ผู้ปกครองในอดีตครับ สมัยเรียนเคยมีหนังสือพ่อแม่รังแกฉัน วันนี้ผมเสนอ พอกันทีครับ เวลาเกิดเหตุแล้วบอกว่าเป็นเรื่องของเด็ก เด็กมันหยอกกัน เด็กมันเล่นกัน เพราะถ้าเรามีสมมุติฐานแบบนี้ มีทัศนคติแบบนี้ ก็เท่ากับว่าเรากำลังจะทำให้ ทุกคนนั้นยอมรับการใช้ความรุนแรงว่าเป็นส่วนหนึ่งของการหยอกล้อ การอำกันเล่น หรือการใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ควรจะยอมรับได้ วันนี้ไม่ควรจะมีเด็กหยอกกัน พลั้งพลาด เสียชีวิต ต้องเลิกครับ
ประการที่ ๕ มีการเสนอแนะและถกแถลงกันในหลายเวทีว่าถึงเวลาที่เรา จะลดอายุการดำเนินคดีของเด็กที่เป็นอาชญากรเด็กหรือผู้กระทำความผิดในวัยเยาว์ เพราะถ้าเราลด เราจะลดไปเรื่อย ที่สุดลดเหลือ ๑ ปี หรือ ๖ เดือนอายุผู้ก่อเหตุก็ไม่ช่วย แต่แนวทางในการลดอายุนั้นเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แนวทางที่เราจะแก้ปัญหา อย่างยั่งยืนเราต้องช่วยกันในการเร่งสร้างวัฒนธรรมของครอบครัว เร่งสร้างวัฒนธรรมของ ประเทศไทย และไม่ยอมรับการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ท่านประธานครับ เราเคยได้ยิน โครงการโรงเรียนสีขาว โรงเรียนสีขาวคือโรงเรียนที่ปลอดยาเสพติดทุกประเภท เราเคย ได้เห็นโรงเรียนสีเขียว คือโรงเรียนรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการปลูกต้นไม้ แต่เราไม่ค่อยได้ ยินหรือได้ยินน้อยมากกับโรงเรียนริบบิ้นสีขาว ริบบิ้นสีขาวคืออะไร ริบบิ้นสีขาวคือการยุติ การใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบในโรงเรียน และผมไม่ขอให้เราทำแค่การเปลี่ยนสีรั้วโรงเรียน ด้วยวิธีการทาสี เพราะทาสีแล้วจะเป็นสีขาว สีเขียว มันก็ลอกไป แต่เราควรจะติดริบบิ้น สีขาวในหัวใจคนไทยทุกคน และร่วมกันประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติที่จะปฏิเสธการใช้ ความรุนแรงทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความรุนแรงในครอบครัว และโรงเรียนต้องเป็น พื้นที่ปลอดภัย ขอบคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... ท่านประธานที่เคารพครับ วันนี้ผมจะไม่ย้อนเรื่องเก่าเล่าเรื่องเดิม จะไม่ชี้กลับไปว่าปัญหา ประมงไทยที่อยู่ในช่วงวิกฤตินั้นเป็นความผิดของใคร พอย้อนกลับไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร บางครั้งในช่วงที่ไม่ใช่ทำอะไรก็ผิดครับ ดังนั้นการอภิปรายของผมในวันนี้จึงวางหมุดหมาย แล้วก็ชี้ไปที่เป้าว่าเราจะทำอย่างไรที่จะฟื้นคืนชีพอาชีพประมง เพื่อคืนศักดิ์ศรีให้พี่น้อง ชาวประมงไทย ฟื้นประมงพื้นถิ่น การทำกินพื้นบ้าน และอุตสาหกรรมประมงไทยให้กลับมา เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศ ประธานที่เคารพครับ ในอดีตนั้นกองเรือประมง โดยเฉพาะกองเรือประมงพาณิชย์ของไทยนั้นติดอันดับ Top Five เป็น ๑ ใน ๕ เสือของเอเชีย วันนี้กลับไปดูครับว่า ๕ ประเทศที่เป็นผู้นำของกองเรือ ประมงพาณิชย์นั้นมีประเทศอะไรบ้าง ญี่ปุ่นยังคงอยู่ เกาหลีใต้ยังคงอยู่ ไต้หวันยังคงอยู่ แต่ที่หายไปคือประเทศไทย ดังนั้นวันนี้ต้องมาช่วยกันครับว่าเราจะออกแบบเครื่องมืออย่างไร ที่จะคืนศักดิ์ศรี เยียวยาพี่น้องประมงไทยให้กลับไปยืนที่เดิม ที่แห่งความภาคภูมิใจ ที่ที่ประมงไทยเคยอยู่ ท่านประธานครับ ผมได้พิจารณาร่างที่มีผู้เสนอมาหลายเรื่องด้วยกัน แต่ก็ต้องยอมรับนะครับว่าร่างของท่านวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ขออนุญาตเอ่ยนาม ผมมีโอกาส ได้ติดตามไปรับฟังปัญหาประมงกับท่านวิสุทธิ์ ไชยณรุณ หลายครั้ง ผมเห็นว่าเป็นร่างที่ ตอบโจทย์และสอดรับต่อแนวทางการแก้ปัญหา มุ่งเน้นไปสู่การปักธงที่จะฟื้นฟูและเยียวยา พี่น้องประมงไทย ผมใช้เวลาจำกัดที่จะชี้ให้เห็นว่าประเด็นร่างของท่านวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ๑๙ ประเด็น ตามเวลาเอื้ออำนวยนั้นมีอะไรบ้างที่เป็น Highlight ที่ต้องขออนุญาตนำเสนอ ต่อท่านประธานในวันนี้
ประเด็นที่ ๑ ร่างท่านวิสุทธิ์นั้นมุ่งเน้นให้มีเจตนารมณ์ในการคุ้มครอง ทั้งในแง่ ของชาวประมง ให้สามารถทำประมงถูกกฎหมายและสอดรับกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นการอนุรักษ์วิถีชีวิตพื้นถิ่น อนุรักษ์การทำกินพื้นบ้าน ส่งเสริมการทำประมงควบคู่กับ การรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำ
ประเด็นที่ ๒ ให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดเสนอกำหนดเขตทะเล ชายฝั่งสอดคล้องกับลักษณะทางกายภาพทางพื้นที่ของแต่ละจังหวัด จะไปให้คนอื่นหรือ คณะกรรมการจากภายนอกไปกำหนด อาจจะไม่สอดรับกับสภาพกายภาพที่แท้จริงของพื้นที่ จะเป็นการทำให้ชาวประมงมีพื้นที่ในการทำประมงเพิ่มมากขึ้น สามารถบริหารจัดการ เขตทะเลชายฝั่งในพื้นที่จังหวัดชายทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ประเด็นที่ ๓ การทำประมงพื้นบ้านสามารถออกทำการประมงนอกพื้นที่ เขตทะเลชายฝั่งได้ ชาวประมงทำการประมงพื้นบ้านก็จะได้รับประโยชน์มากขึ้น เมื่อมีอาณาเขต ในการทำพื้นที่ประมงได้มากขึ้นขยายกว้างออกไป
ประเด็นที่ ๔ ยกเลิกบทบัญญัติเกี่ยวกับโรงงานที่มีการกำหนดไว้ไม่ให้มี ความซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะแล้ว อาทิ พระราชบัญญัติคุ้มครอง แรงงานในงานประมง พ.ศ. ๒๕๖๒ พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของ คนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๖๐
ประเด็นที่ ๕ กำหนดคุณสมบัติและการออกใบอนุญาตให้ทำการประมง พื้นบ้านต้องเป็นบุคคล ตรงนี้ต้องขีดเส้นใต้ครับ เฉพาะบุคคลผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น เพื่ออะไรครับ เพื่อเป็นการสงวนรักษาอาชีพประมงพื้นถิ่น การทำกินพื้นบ้าน ตามคำเรียกร้อง ของพี่น้องชาวประมง
ประเด็นที่ ๖ เพิ่มเติมคุณสมบัติต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาตให้มีลักษณะ ต้องห้ามเฉพาะกับเรือที่กระทำผิดเท่านั้น นี่เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของชาวประมง ที่ได้รับผลกระทบจากที่ก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบมากเกินควร
ประเด็นที่ ๗ เพิ่มเติมให้สามารถดัดแปลงเครื่องมือที่ใช้ทำการประมงได้ ชาวประมงจะสามารถปรับปรุงเครื่องไม้เครื่องมือในการทำการประมง แต่ว่าต้องได้รับอนุญาต จากกรมประมงก่อน
ประเด็นที่ ๘ สามารถใช้ระบบสังเกตการณ์เรืออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อที่จะ ทำการประมงได้นอกเหนือจากการใช้คนเป็นผู้สังเกตการณ์ ชาวประมงนอกน่านน้ำจะสามารถใช้ ผู้สังเกตการณ์อย่างอื่นทดแทนได้
ประเด็นที่ ๙ รัฐมนตรีสามารถกำหนดขนาด ชนิด ปริมาณ กำหนดพื้นที่ ที่จับสัตว์น้ำหรือห้ามจับหรือนำขึ้นเรือประมงได้ สามารถกำหนดข้อห้ามในการจับสัตว์น้ำ ขนาดเล็กได้อย่างเหมาะสมและต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการทำประมง ซึ่งจะกระทบในวงกว้าง
ประเด็นที่ ๑๐ ยกเว้นความรับผิดการจับสัตว์น้ำเลี้ยงลูกด้วยนมที่ห้ามจับ ให้หมายรวมถึงกรณีติดเครื่องมือทำการประมงโดยไม่ได้มีเจตนา นี่จะเป็นการลดผลกระทบ กับชาวประมง
ประเด็นที่ ๑๑ อธิบดีสามารถที่จะกำหนดเครื่องมือต้องห้ามและกำหนด ห้ามเครื่องมือที่มีการดัดแปลง เพื่อเลี่ยงกฎหมายเพิ่มเติมให้ชัดเจน เพื่อเป็นการให้มาตรการ ที่เพียงพอ ป้องกันการดัดแปลงเครื่องมือที่ส่งผลทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำ เป็นการปกป้อง คุ้มครองทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อให้มีอยู่อย่างยั่งยืน
ประการที่ ๑๒ สามารถกำหนดพื้นที่ห้วงเวลาเฉพาะ ให้สามารถทำประมง ด้วยอวนตาเล็กกว่า ๒.๕ เซนติเมตร ในเวลากลางคืนได้ เรื่องนี้จะเปิดโอกาสให้ชาวประมง สามารถที่จะทำการประมง โดยเฉพาะกับปลากะตักในเวลากลางคืน นี่เป็นข้อเรียกร้อง ที่เรานั่งอยู่เฉย ๆ ไม่ได้แน่ครับ ต้องไปรับฟังข้อเรียกร้องและความต้องการของพี่น้องชาวประมง
ประเด็นที่ ๑๓ เจ้าของเรือผู้ได้รับใบอนุญาตต้องแจ้งเข้าออกท่าเทียบเรือ เฉพาะเมื่อจะออกทำการประมงเท่านั้นเป็นการลดภาระชาวประมง เดิมต้องแจ้งทุกครั้ง แม้ไม่ได้ออกทำการประมง ก็เป็นการเพิ่มภาระให้กับพี่น้องชาวประมงโดยไม่จำเป็น
ประเด็นที่ ๑๔ ไม่ต้องแสดงเอกสารที่เกี่ยวข้องกับลูกเรือทุกครั้ง ในการแจ้ง เข้าออกเรือ เป็นการอำนวยความสะดวกชาวประมง เป็นการดำเนินการในลักษณะ One Stop Service เนื่องจากว่าทางการนั้นมีข้อมูลและมีระบบอยู่แล้ว และระบบนั้น สามารถเรียกแล้วก็สืบค้นได้ตลอดเวลา
ประเด็นที่ ๑๕ ผู้ประกอบการที่ให้บริการติดตามเรือต้องรับผิดชอบ ความเสียหายกรณีถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีและกักเรือไว้ ในกรณีที่การถูกดำเนินคดีเกิดจาก ระบบติดตามเรือขัดข้อง นี่ก็เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของชาวประมง
ประเด็นที่ ๑๖ เพิ่มอัยการเป็นองค์ประกอบคณะกรรมการมาตรการ ทางปกครอง คณะกรรมการสามารถพิจารณาทางปกครองได้ถูกต้อง เหมาะสมและเป็นธรรม มากขึ้น
ประเด็นที่ ๑๗ แก้ไขเพิ่มเติมการกระทำความผิดที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย อย่างร้ายแรงให้เหมาะสม ไม่กำหนดให้เรือประมงเป็นสิ่งที่ต้องถูกริบ ให้ชาวประมงสามารถ กลับมาประกอบอาชีพประมงได้สอดคล้องกับหลักการออกนอกระบบชั่วคราว
ประเด็นที่ ๑๘ แก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษทางอาญาให้มีความเหมาะสมมากขึ้น
ประเด็นที่ ๑๙ แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดโทษปรับทางอาญาให้มีจำนวนค่าปรับ ที่เหมาะสม
ผมอ่านอยู่หลายรอบครับ ผมเห็นว่า ๑๙ ประเด็นนี้ ถ้าเพื่อนสมาชิกได้ใช้เวลา จะเห็นจุดที่จะเป็นเครื่องมือ และจะเป็นจุดเปลี่ยนที่จะพาชาวประมงไทยกลับคืนไปยืนอยู่ เป็น Top Five ของเอเชียได้ และผมเชื่อว่าท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อนสมาชิก ทุกท่านและทุกร่างจะได้ร่วมด้วยช่วยกันในโอกาสสำคัญนี้ ในการคืนศักดิ์ศรีให้กับพี่น้อง ประมงไทย ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อญัตติ ขอให้คณะกรรมาธิการการสาธารณสุขได้พิจารณาศึกษาการแยกกัญชงออกจาก กฎหมายว่าด้วยกัญชาให้ชัดเจน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรม ท่านประธานที่เคารพครับ ผมนั้นมองกัญชารู้ ดูกัญชงออก แต่ก่อนอภิปราย เพื่อความ Sure ครับ ผมได้สอบทานตรวจสอบข้อมูลจากหลายหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข ถ้าเป็นนักมวย ก็เรียกว่าน้ำหนักชั่งเมื่อเช้านี้ ข้อมูลอภิปรายตรวจสอบครั้งหลังสุด ไม่ถึง ๓๐ นาที ก่อนอภิปราย โดยขอยกเอาข้อสังเกต และงานวิจัยที่เป็นบทความเชิงวิชาการจาก หลายหน่วยงาน Highlight ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ท่านประธานครับ โลกของเรานั้นนอกจากจะมี BYD ยังต้องมี Tesla มีกัญชาก็ต้องมีกัญชง กัญชากับกัญชงเป็นญาติกันครับ แม้ว่าอาจจะไม่ใช่ญาติสนิท แต่ถ้าพูดแบบข้อมูล ทางวิทยาศาสตร์ก็เรียกว่าเป็นพืชอยู่ในตระกูลเดียวกัน อยู่ในวงเดียวกัน ถ้าเปรียบเป็น มะม่วงก็เหมือนกับแบบหนึ่งเป็นน้ำดอกไม้สีทอง อีกแบบเป็นมะม่วงอกร่องหวานเจี๊ยบครับ อยู่ที่ว่าเราจะเอาไปใช้เพื่อประโยชน์อะไร อธิบายให้เห็นชัด ๆ สำหรับท่านที่ติดตามรับชม การอภิปรายนะครับ ว่ามีการแยกปริมาณของ THC ถ้าปริมาณ THC ต่ำกว่า ๑ เปอร์เซ็นต์ เราเรียกว่ากัญชงครับ แต่ถ้าปริมาณ THC สูงกว่า ๑ เปอร์เซ็นต์ เราเรียกว่ากัญชา ถามว่า แยกดีหรือไม่ ตอบคำถามตรงนี้ก่อนครับ แยกดีครับ คำถามต่อไป แยกดีนี้มันแยกง่ายไหม แยกไม่ง่ายครับ ถ้าจะแยกนี่แยกยาก แต่ต้องแยกไหม คำตอบคือ ต้องแยกครับ เพื่อ ประโยชน์ ไม่ได้แยกเฉพาะกัญชา กัญชงครับ เฉพาะกัญชงก็ต้องแยกว่า ถ้าจะเป็นกัญชงเพื่อ อุตสาหกรรม ซึ่งขออนุญาตเรียกว่า Industrial Hemp ก็ต้องแยก อีกแบบหนึ่งแยกเป็น ประโยชน์ที่ใช้ในครัวเรือน เรียกว่าพื้นบ้าน Hemp ครับ ดังนั้น ๒ ส่วนนี้ ต้องแยกให้ชัด แต่ผมจะฟันเปรี้ยงตรงนี้เลยนะครับว่า แม้จะแยกยาก แต่ในแง่ของการใช้ประโยชน์นั้นควรแยก ท่านประธานครับกัญชาและกัญชง เป็นพืชวงเดียวกัน ถ้าจะติวน้อง ๆ แบบไปสอบต้องบอกว่ากัญชามี THC ใช้เสพนี่เมาครับ มีอาการเคลิบเคลิ้ม แต่ว่าสามารถลดปวดได้ ใช้เยอะ ๆ มีอาการหน้ามืด ใจสั่น เห็นภาพ หลอนครับ กัญชงมี CBD และก็มี Omega 3 Omega 6 ซึ่งใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และ สามารถใช้ซ้ำหรือใช้ต่อเนื่องได้ ดังนั้นไหน ๆ ก็ไหน ๆ ครับ ถ้าเราจะมาแยกเราควรจะแยก อะไรบ้าง การร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. .... ไว้ด้วยกันรังแต่จะเกิดปัญหาครับ และจะส่งผลให้เกิดผลในทางปฏิบัติยาก และทำให้การใช้ประโยชน์กัญชงในทาง อุตสาหกรรมไม่ได้รับการคุ้มครอง ดังนั้นจึงควรแยกระหว่างกัญชงและกัญชาออกจาก กฎหมายว่าด้วยกัญชาดังนี้ครับ
ประการแรก ควรตรากฎหมายโดยจำแนกกัญชากับกัญชงออกจากกัน แยกเป็น ๒ ร่าง คือร่างพระราชบัญญัติกัญชา พ.ศ. .... นั่น ๑ ฉบับ และอีกร่างก็เป็น ร่างพระราชบัญญัติกัญชง พ.ศ. .... โดยหลักเกณฑ์ที่เอามาจับก็คือปริมาณ THC และเราก็ จะได้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรม ท่านประธานที่เคารพครับ วันนี้กัญชา อาจจะถูกแบน กัญชาถูกให้นำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เป็นหลัก แต่ว่ากัญชง ไปพลอยฟ้าพลอยฝนโดนไปกับเขาด้วย ทั้งที่จริง ๆ แล้วถ้าเราจะใช้ประโยชน์จากกัญชง เราใช้ได้เยอะมาก เส้นใยของกัญชง โดยเฉพาะกัญชงพันธุ์ที่ปลูกในประเทศไทยมีลักษณะ ความเหนียวพิเศษระดับโลก คนอื่นอาจจะเรียกว่าเส้นใยกัญชง แต่พรรคเพื่อไทยเราจะ เรียกว่า Soft Power สามารถทำอะไรได้บ้างครับ ไปทำผลิตภัณฑ์ ทำเสื้อผ้า หรือไปไกล ขนาดถึงขั้นที่เรียกว่าทำเสื้อกันกระสุนได้ ดังนั้นไม่เป็นธรรมครับ และเราไม่ได้ประโยชน์ หรือได้ประโยชน์น้อยหากเราจะมัดรวมกัญชงไปรวมกับกัญชา ดังนั้นถึงเวลาต้องแยกครับ แยกเพื่ออะไรครับ เพื่อเอาไปใช้เป็นกัญชงเพื่ออุตสาหกรรม กัญชงเพื่อการพาณิชย์ กัญชง เพื่อการเศรษฐกิจ ทีนี้ถามว่าในชั้นกรรมาธิการการสาธารณสุข ถ้ายังแยกออกเป็นกฎหมาย กัญชา กัญชง ๒ ฉบับไม่ได้ มันควรจะแบ่งแยกหลักเกณฑ์อะไรบ้าง เพื่อประโยชน์ต่อพี่น้อง ประชาชนที่จะปลูกกัญชงในอนาคต ควรจะมีการกำหนดขอบเขตจำนวนพื้นที่การปลูกกัญชง ควรจะกำหนดขั้นตอนการขอใบอนุญาต เพราะปัจจุบันนี้ปริมาณ THC ที่มีการระบุไว้ ที่บอกว่าแยก ไม่แยกก็เหมือนกัน เขาระบุไว้นะครับว่า ถ้ามี THC สูงกว่า ๐.๒ เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าจะเป็นกัญชา กัญชง ถ้าสูงกว่า ๐.๒ เปอร์เซ็นต์ปริมาณ THC นั้นจะไปทำอะไร ต้องไปยื่นจดแจ้งกับ อย. นี่คือการเสียประโยชน์และเสียโอกาสในมิติของเศรษฐกิจและ มิติของภาคอุตสาหกรรม ท่านประธานครับ ไม่อยากจะสรุปว่ารวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย แต่เฉพาะการนี้ถ้ารวมกันแล้วไม่ได้ประโยชน์อะไร แยกกันไปใช้ประโยชน์ แยกประเภท ที่จะทำให้กัญชงเข้าถึงประโยชน์ทางอุตสาหกรรมและประโยชน์ที่จะสนับสนุนวิถีชีวิตแบบ พื้นบ้าน และที่สุดประโยชน์จะตกกับประเทศชาติและประชาชนครับ
ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ขอเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงาน ส่วนบุคคลส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... สัดส่วนพรรคเพื่อไทย จำนวน ๗ คนดังต่อไปนี้ ๑. พลตำรวจโท วิโรจน์ เปาอินทร์ ๒. นายพัฒนา สัพโส ๓. นายชูศักดิ์ แม้นทิม ๔. นายวสวรรธน์ พวงพรศรี ๕. นายทรงยศ รามสูต ๖. นายชำนาญพัฒน์ หาญแก้ว และ ๗. นายวัฒนา เตียงกูล ขอผู้รับรองด้วยครับ
ท่านประธานครับ ผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ขอกำหนดระยะเวลาแปรญัตติ ๑๕ วัน ขอผู้รับรองครับ
ขออนุญาตใช้ร่างของ นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม เป็นร่างหลักในการพิจารณาครับ ขอผู้รับรองครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ก่อนอื่นผมต้องขอแสดงตัวประกาศตนว่าผมนั้นไม่ได้เป็นผู้ที่ขอลาออกจากคณะกรรมาธิการ วิสามัญแลนด์บริดจ์และไม่เคยคิดจะลาออกแต่อย่างใด เหตุที่ไม่คิดจะลาออกเพราะว่า ผมไม่ได้เป็นกรรมาธิการชุดนี้ตั้งแต่ต้น
ประการที่ ๒ ผมศึกษา ผมอ่านรายงานรู้ ดูรายงานเป็นครับ ชื่อเขาก็บอกว่า รายงานผลการพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง การศึกษาโครงการ นี่เขาบอกว่าเขาศึกษาครับ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยง การขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือโครงการแลนด์บริดจ์ ผมต้องขอเรียนว่าผมอ่าน อยู่ ๒ รอบผมก็เห็นว่าครบถ้วนรอบด้าน ไม่ได้เป็นการเสื่อมเสียชื่อเสียงประเทศชาติอะไร เลยครับ เป็นการทำงานของกรรมาธิการที่สมศักดิ์ศรี ครบถ้วนรอบด้าน ภายใต้กรอบภารกิจ กรอบงบประมาณ เราก็ทำกันได้เต็มที่ครับ แต่ถ้ากรรมาธิการวิสามัญแลนด์บริดจ์จะไปจ้าง บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกแพง ๆ อันนั้นต้องเป็นประเด็นคำถาม แต่พวกเราซึ่งเป็น กรรมาธิการวิสามัญเป็นศูนย์รวมจากทุกพรรคการเมือง มีนักปราชญ์ราชบัณฑิต มีนักคิด ผู้รู้ มีภาครัฐ เอกชน มี สนข. ที่ท่านโดนพาดพิง ผมยึดสุภาษิตช่างตัดผมครับท่านประธาน หลายหัวดีกว่าหัวเดียวครับ เป็นไปได้อย่างไรที่คนขนาดนี้จะมารายงานแล้วใช้ไม่ได้เลย
ประการที่ ๓ ในการคิด วิเคราะห์ ตัดสินใจเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ในรายงาน ไม่ได้มีธงครับ และไม่ได้สรุป ไม่ได้ชี้ชัด ไม่ได้บังคับกดดันรัฐบาลว่าจะต้องเดินหน้าทำ โครงการนี้หรือไม่ทำ ชื่อก็บอกว่าศึกษา และเมื่อศึกษาจบแล้วก็ส่งไปให้รัฐบาลเท่านั้นเอง
ประการที่ ๔ เรื่องผลกระทบและการเยียวยาประชาชน ในพื้นที่ผมเห็น ในกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ก็มีตัวแทนจาก สส. ครับ ในพื้นที่และพื้นที่ที่เกี่ยวเนื่อง เขาก็ น่าจะมีความเป็นตัวแทนในการพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ และหากจะมีการชดเชยเยียวยา เขาเหล่านั้นก็พร้อมที่จะทำหน้าที่ต่อสู้ปกป้องสิทธิประโยชน์ ดูแลรักษาวิถีชุมชน หากต้อง มีการเวนคืน หากต้องมีการเยียวยา ผมเชื่อครับว่าการดำเนินการนั้นจะต้องเป็นไปตาม หลักการทั้งสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและสวัสดิการพื้นฐานภาครัฐที่พึงมี พึงได้รับ ครั้นจะไปดูผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จะ EIA EHIA ศึกษาไม่พอ ศึกษาเพิ่มครับ ไปเปิดเวที ทำประชาพิจารณ์ ฟังเสียงประชาชน ถ้าฟังไม่พอรัฐบาลก็ไปฟังเพิ่มได้ครับ แต่ถ้าชี้เฉพาะ กรอบการทำงานของกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ผมเห็นว่าครบถ้วนรอบด้าน
ประการที่ ๕ มีการไปบอกว่าไปเปรียบเทียบกับหลายประเทศของเรา ยังห่างไกล ผมก็ติดตามภารกิจท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา มีบริษัทเอกชน เอาเฉพาะสัญชาติ อเมริกาที่ให้ความสนใจในโครงการแลนด์บริดจ์ประเทศไทยครั้งนี้ ผมไล่เอาเฉพาะบริษัท ที่เป็นระดับ Big 5 ของประเทศเขาครับ ไม่ว่าจะเป็น บริษัท SSA Marine บริษัทผู้ให้บริการ ทางทะเลรายใหญ่ที่สุดในโลก เขาบอกเขาสนใจโครงการนี้ครับ ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น บริษัทเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ข้ามชาติสัญชาติอเมริกัน เขาบอกว่าเปิดเมื่อไร ขอให้บอกครับ บริษัท จาค็อบส์ บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจและบริการบอกว่าน่าสนใจ บริษัท Amazon Web Services (AWS) บริษัทในเครือของ Amazon.com เขาบอกว่าเพิ่งมาบอก แต่จะรีบมาดูครับ eBay Website Shopping Online รายใหญ่ของอเมริกาบอกว่าสนใจ โครงการนี้ครับ บริษัท The Port of Long Beach หน่วยงานท่าเรือ Long Beach ของ แคลิฟอร์เนีย Wabtec ผู้ให้บริการอุปกรณ์ระบบ Solution Digital ชั้นนำระดับโลกและ บริการเสริมสำหรับภาคการขนส่งสินค้าและบริการของสหรัฐอเมริกาเขาบอกเขาสนใจ ไหนละครับ เสื่อมเสียชื่อเสียงประเทศ ทำประเทศชาติเสียโอกาส ถ้าท่านพยายามจะเข้าใจ ผมเชื่อว่าสักวันหนึ่งท่านจะเข้าใจ แต่ถ้าท่านพยายามจะไม่เข้าใจ ท่านจะขยับห่างไกลและ หนีห่างจากความเข้าใจไปเรื่อย ๆ ครับ
ประเด็นที่ ๖ มีคำถามในเชิงลักษณะว่านายกรัฐมนตรีเศรษฐาไปต่างประเทศ ไปเอาโครงการที่ยังไม่ได้ข้อสรุปไปพูด ผมถามว่าถ้าไม่พูดตอนนี้จะพูดตอนไหนครับ เปิดสัก ๓ ปีแล้วโครงการไม่ประสบผลสำเร็จ แล้วก็ไปเร่ขายโครงการอย่างนั้นหรือครับ ในการไปพบปะประเทศเจรจาการค้า คุยเรื่องอดีต ปัจจุบัน และอนาคตครับ แน่นอนครับ อดีต ปัจจุบันแก้ไม่ได้ แต่เอาอนาคตไปขายได้ครับ และผมเชื่อมั่นว่าบริษัทชั้นนำของโลก เห็นในโอกาสนี้ มันมีศัพท์ในทางการลงทุนเขาบอกว่า แม้โครงการยังไม่เกิด แต่เขารับรู้ โอกาส และเมื่อรับรู้โอกาสส่งสัญญาณจะลงทุน เกิดดัชนีความเชื่อมั่นที่เรียกว่าการรับรู้ รายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ประเด็นที่ ๗ คุ้มค่าหรือไม่คุ้มค่า ได้คุ้มเสียหรือไม่ เราไม่สามารถมองได้ จากจุดนี้ครับ หลายโครงการขนาดใหญ่ก็เกิดคำถามแบบนี้ แต่วันนี้ก็ประสบผลสำเร็จ เพราะมองไกล มองไปถึงอนาคต วันนี้ถึงจุดที่เราต้องเลือกว่าเราจะเป็นคนประเภทไหน เราจะเป็นคนที่เห็นโอกาสในทุกปัญหาหรือเราจะเป็นคนที่เห็นปัญหาในทุกโอกาส ตัดสินใจ ได้ครับ แต่ในชั้นนี้ผมชี้ชัด ๆ ว่าผมเห็นชอบ และยืนยันอีกรอบว่าไม่คิดจะลาออกจาก กรรมาธิการวิสามัญแลนด์บริดจ์ครับ ขอบคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ ผมได้อ่านรายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี งบประมาณ ๒๕๖๕ โดย สปสช. ซึ่งต้องขออนุญาตกราบเรียนว่า ขอให้กำลังใจแล้วก็ เป็นรายงานที่เห็นถึงอนาคต เห็นถึงความเชื่อมั่นของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ของประเทศไทยของเรา ท่านประธานที่เคารพครับ ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยนั้น ติดอันดับ ๑ ของอาเซียน บางช่วงเป็นอันดับหนึ่งของเอเชีย และบางครั้งของการจัดอันดับนั้น เคยขึ้นไปเป็นอันดับ ๒ ของโลก นโยบายที่ถือเป็นเรือธงต้นแบบที่ไม่พูดไม่ได้ก็คือ นโยบาย ๓๐ บาทรักษาทุกโรค เป็นหนึ่งในปฐมบทต้นแบบของนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ของโลก ชนิดที่องค์กรระดับโลกมากมาย รวมถึง UN ได้ยกย่องให้เป็นโครงการต้นแบบ การวางระบบสาธารณสุขของโลก
ท่านประธานครับ จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ๒๒ ปีครับ กับระบบหลักประกัน สุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย และเป็นความโชคดีครับ วันนี้เรามีผู้บริหารกระทรวง สาธารณสุข ๒ ท่าน ท่านแรกหมอชลน่าน ขออนุญาตเอ่ยนามครับ อีกท่านเป็นหมอสันนะครับ ไม่ใช่หมอศัลยแพทย์ หรือศัลยศาสตร์ หมอสันติ พร้อมพัฒน์ ก็เป็น ๒ ประสาน ในการ ร่วมด้วยช่วยกันขับเคลื่อนบริหาร รวมถึงให้หลักประกันในการสร้างระบบหลักประกัน สุขภาพถ้วนหน้า ผมได้เห็นปรัชญาหลักคิดสำคัญของ สปสช. ก็คือระบบหลักประกันสุขภาพ ถ้วนหน้าจะเป็นการบริการด้านสุขภาพของรัฐ ที่ให้ความเป็นธรรมกับประชาชนทุกส่วน ทุกคนในสังคมควรได้รับการประกันสุขภาพอย่างเท่าเทียมกัน นี่เป็นปรัชญาและเป็นหลักคิด สำคัญของ สปสช. จาก ๓๐ บาทรักษาทุกโรคในวันนั้น ยกระดับสู่ ๓๐ บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนเพียงใบเดียว ผมมีโอกาสได้ไปร่วมเป็นสักขีพยาน ในพิธีเปิดเฟส ๑ เป็นโครงการนำร่อง บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ๔ จังหวัด ก็คือจังหวัดแพร่ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดนราธิวาส และเฟส ๒ ตามมาติด ๆ ครับ นั่นคือ จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดสระแก้ว จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดอำนาจเจริญและจังหวัดพังงา ผมได้เห็นงานหลายงานนะครับ ได้เห็นโครงการหลายโครงการที่เป็นความริเริ่ม ความพยายามที่จะเติมเต็มให้กับระบบ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้สามารถดูแลพี่น้องประชาชนได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง
ผมไปดูโครงการเกี่ยวกับเรื่องของโรคไต คนไทยเป็นโรคไตเยอะนะครับ แล้วก็ถ้าไม่มีการยกระดับในการป้องกันรักษาอย่างมีนัยสำคัญ ปริมาณคนเป็นโรคไตจะเพิ่ม สูงขึ้น สปสช. ไปริเริ่มโครงการครอบคลุมทุกสิทธิ พิชิตโรคไต ใส่ใจการใช้ยา แล้วก็มีงาน วันไตโลก ไปริเริ่มเรื่องของมะเร็งครบวงจร เป็นมะเร็งไม่ต้องตกใจครับ สปสช. ยืนเคียงข้าง พี่น้องประชาชน แต่ประเด็นที่เป็นข้อห่วงใยก็มีนะครับ ไม่นานมานี้ สปสช. แถลงยืนยันครับ ว่าภาระทางการเงินและหนี้สินของ สปสช. นั้น ณ ปัจจุบันไม่ได้มีหนี้สินคงค้างกับองค์การ เภสัชกรรมครับ องค์การเภสัชกรรมทำอะไร ก็ผลิตยา ขายยา บริหารจัดการเรื่องยา ร่วมกับ สปสช. ซึ่ง สปสช. ยืนยันว่าไม่มีหนี้คงค้างกับองค์การเภสัชกรรม แต่ผมจะถามเพิ่ม นะครับว่าท่านมีหนี้กับโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลในกำกับของมหาวิทยาลัยหรือไม่ เพราะก็มีการตั้งคำถามในประเด็นนี้ในหลายช่องทาง สปสช. ไปริเริ่มโครงการที่สำคัญ เรียกว่าคลินิกชุมชนอบอุ่น แล้วก็นำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีการปรับรูปแบบ การจ่ายเงินค่าบริการตามข้อเสนอ มีการเบิกจ่ายงบผู้ป่วยนอกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผ่านระบบ Online ก็ต้องขอเรียนครับว่าระบบนี้ถ้าคนใช้เป็น ระบบโครงสร้างพื้นฐาน ด้านอินเทอร์เน็ตให้บริการได้ทั่วถึงนั้น ก็จะช่วยลดภาระทั้งของ สปสช. และของ พี่น้องประชาชน
นโยบายสำคัญอีก ๑ เรื่อง ที่ผมถือว่าเป็นอีก ๑ เรือธงของนโยบาย ด้านสาธารณสุขของรัฐบาล ภายใต้การนำของรัฐมนตรีนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว คือถ้าคนไทยโดยนโยบายสาธารณสุขไม่ทำอะไรเลย ภายในอีก ๖๐ ปีข้างหน้า คนไทย จะเหลือเพียงแค่ ๓๓ ล้านคน ดังนั้นจึงมีแนวคิดว่าทุกการเกิดคือการให้ สปสช. ไปทำ โครงการเพิ่มช่องทางการรับยา เพื่อเสริมธาตุเหล็กหนุนหญิงวัยเจริญพันธุ์ให้ตั้งครรภ์ อย่างมีคุณภาพ ผมคิดว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี แต่ว่าเราจะทำอย่างไรที่จะสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนได้เข้าถึงมากกว่านี้ ท่านประธานครับ ท้ายที่สุดผมต้องขอกราบเรียนว่า ผมไม่ได้เป็นหมอครับ แต่ผมเป็นห่วง แล้วก็ขอให้กำลังใจกับผู้บริหาร สปสช. เจ้าหน้าที่ บุคลากรทุกภาคส่วน รวมถึงทราบว่ากำลังจะมีการคัดสรร สรรหาเพื่อที่จะตั้งบอร์ดชุดใหม่ ไม่ว่าชุดเก่าใครจะได้ไปต่อ หรือชุดใหม่ใครจะมาก็ขอให้ท่านได้เดินหน้า และขอเปลี่ยน จากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่บอกว่าทุกคนในสังคมควรได้รับ ผมขอเปลี่ยนเป็นทุกคน ต้องได้รับการประกันสุขภาพอย่างเท่าเทียมกัน และผมเชื่อมั่นนะครับว่านโยบายที่เป็น ต้นแบบของโลกแบบนี้เราทำมา ๒๒ ปีดีอยู่แล้ว และจะก้าวต่อไปอย่างมั่นใจ เพื่อเป็น หลักประกันให้กับคนไทยทั้งประเทศ ขอบคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทาง บูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจังหวัดในพื้นที่ เขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ท่านประธานครับ ภูเขายังมีหมอก ท้องฟ้ายังมีฝน คนไทยต้องไม่ยืนงงในดงป่าสงวนแห่งชาติครับ ป่าสงวนแห่งชาติคืออะไร ป่าสงวนแห่งชาติ คือ ป่าที่พระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนป่า พุทธศักราช ๒๔๘๑ ได้ประกาศว่าเป็นป่าสงวน และป่าคุ้มครอง ปัญหาอยู่ตรงไหนครับ ปัญหาคือประกาศว่าเป็นป่าสงวนไปแล้ว เมื่อประกาศเสร็จให้เป็นป่า เป็นแล้วเป็นเลย จะไม่เป็นก็ต้องมีการเพิกถอนสภาพป่า ปัญหาอยู่ตรงนี้ล่ะครับว่า เวลาประกาศแล้วจะเพิกถอนมันเพิกถอนยาก ต้องใช้พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ จะยกเลิกต้องออกกฎกระทรวง ตามมาตรา ๗ คำถามคือ ถ้าป่าสงวนแห่งชาติ ณ ปัจจุบันไม่ได้คงสภาพความเป็นป่าแล้ว จะเพิกถอนได้อย่างไร เพราะถ้าเพิกถอนไม่ได้จะมีปัญหาตามมามากมาย เสียของครับ จะทำถนน จะทำสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้กับชุมชน ให้กับภาคประชาสังคมทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องเอาให้ชัดว่าตกลงป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเกิดก่อนคนหรือคนเกิดก่อนป่า และต้องชี้ชัด ๆ ครับว่ามันมีแนวทางช่องทางกระบวนการใดหรือไม่ ที่จะทำให้ การเพิกถอนสภาพป่าสงวนแห่งชาตินั้น สามารถเพิกถอนได้ด้วยอำนาจของประชาชน แน่นอนครับ เรายึดโยงอ้างอิงเอากับ อปท. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบจ. เทศบาล สามารถเพิกถอนได้หรือไม่ แต่ถ้าไม่แก้แทบจะเรียกได้ว่าไม่สามารถจะเพิกถอนและเรา ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้
ดังนั้นผมจึงขอวางกรอบการอภิปรายของผมในครั้งนี้ว่าเป็น ๓ ปัญหา และ ๕ แนวทางในการแก้ไข ๓ ปัญหา ผมรวบรวมขมวดตัดตอนมา
ปัญหาประการที่ ๑ ถ้าเราเพิกถอนไม่ได้หรือไม่สามารถเพิกถอนโดยง่าย การขออนุญาตการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ เป็นการขออนุญาตที่เกี่ยวข้องกับหน่วยราชการ หลายหน่วย มีขั้นตอน มีกระบวนการ มีการใช้เอกสารหลักฐานอ้างอิงจำนวนมาก ที่สำคัญ ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการมาก เรียกว่า กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้ เช่น กรณีของ การขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎกระทรวง การขออนุญาตทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ต้องให้อธิบดีกรมป่าไม้ เป็นผู้พิจารณาอนุญาต จึงจะสามารถดำเนินการได้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีลำดับ มีกระบวนการ มีขั้นตอนมากกว่า ๓ เดือน จึงไม่ทันต่อสถานการณ์และไม่ทันต่อการสร้างภาระงบประมาณ คือของบประมาณไปก็รอกันแบบสะพาน ๗ ชั่วโคตร และกระบวนการการขออนุญาต เข้าทำประโยชน์นั้น เป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ โดยการ ดำเนินการเกิดจากเจ้าหน้าที่ต้องเริ่มต้นจากการพิจารณาว่าจะอนุมัติได้หรือไม่ ซึ่งไม่สามารถ ทำได้ทันทีครับ เนื่องจากอะไรครับ เจ้าหน้าที่ Play Safe Guard สูงครับ ต้องไปดูกฎ ระเบียบ ข้อบังคับกฎหมาย ต้องมีการตีความ ต้องหารือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรียกว่า ถ้าถามกฤษฎีกาได้ก็ต้องไปถามกฤษฎีกาครับ เพราะ Play Safe เจ้าหน้าที่ก็ไม่อยาก เดือดร้อน ทีนี้พอไปหารือหลายหน่วยงานครับท่านประธาน ก็ต้องรอการเดินทางของหนังสือ ตั้งแต่เดินทางไปถาม แล้วก็รอหนังสือตอบเดินทางกลับมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชน แล้วก็ต้องรอรับฟังความเห็นให้ครบถ้วนรอบด้าน นี่เป็นปัญหาประการที่ ๑
ปัญหาประการที่ ๒ ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐต้องจัดทำรายงาน การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะเรียกว่า EIA EHIA ก็ต้องไปทำ มีการประเมิน โครงการต่าง ๆ ตามแนวทางปฏิบัติของใครครับ ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้กำหนดไว้ว่า ก่อนเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าทุกกรณีนั้นต้องขออนุญาต ประเด็นปัญหา สำคัญอีกเรื่องคือการรับฟังความเห็น การเปิดเวทีรับฟังเสียงสะท้อนจากพี่น้องประชาชน ที่เรียกว่า Public Hearing ประชาชนบอกว่าศัพท์แสงที่ใช้พูดคุยในการทำประชาพิจารณ์ ในการรับฟังเสียงประชาชนนั้น เต็มไปด้วยเนื้อหาศัพท์วิชาการที่ยากต่อการทำความเข้าใจ บางทีก็มีกระบวนการในการ Set Up จัดฉาก ทำกระบวนการว่า Hearing ฟังครบถ้วน เรียบร้อยแล้วแต่มีธง อย่างนี้ก็ทำให้ประชาชนและประเทศชาติเสียโอกาส
ปัญหาประการที่ ๓ การจัดทำข้อมูลและเอกสารประกอบคำขออนุญาต การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า ต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกันจากหลายหน่วยงาน ประกอบกับว่า ถ้าไปขอดำเนินการเกี่ยวกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่เป็นพื้นที่ป่าผืนใหญ่ อันนี้หนักเลยครับ ต้องใช้ระยะเวลาตั้งแต่การตรวจสอบพื้นที่ ต้องจัดทำเอกสารประมวลความรู้และดำเนินการ ให้ครบถ้วนตามกระบวนการ ถามว่าวันนี้นะครับ ไม่ได้ว่าดูแคลนเทคโนโลยีของประเทศเรา หรอกครับ แต่ผมถามว่าระหว่างการจัดทำแผนที่ของหน่วยงานรัฐของเราบางหน่วยงาน กับการใช้บริการองค์กรระดับโลกที่ใช้ฟรี เช่น Google Map เราเลือกเชื่ออะไร ระหว่าง กรมแผนที่สักหน่วยงานหนึ่งกับแผนที่ของ Google Map
ดังนั้นเราควรจะเปิดพื้นที่เพื่อรองรับและมีช่องทางให้เราสามารถรับความ หลากหลายและข้อมูลจากเทคโนโลยีที่เราสามารถเข้าถึงและใช้งานได้โดยง่าย พื้นที่ เป้าหมายบางแห่งขออนุญาตในหลายขั้นตอน ตั้งแต่ส่งเรื่องไปจนบัดนี้ยังไม่ส่งกลับมา ภารกิจของกรมป่าไม้ก็มีมาก ภารกิจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติก็มีมาก ดังนั้นประชาชนก็ต้องทนรอไป ทั้งที่จริง ๆ แล้วถ้าเราปรับแก้และบูรณาการร่วมกัน ในการแก้ปัญหาประชาชนก็จะได้ประโยชน์ นั่นเป็นปัญหา ๓ ประการ ที่ผมชี้ชัด ๆ ขมวดมา ให้เห็นแบบเน้น ๆ ครับท่านประธาน ผมมี ๕ แนวทางในการเสนอเพื่อจะแก้ไขปัญหา ในเรื่องนี้
แนวทางที่ ๑ เสนอให้มีการทบทวนขั้นตอนและกระบวนการในการ ขออนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้ ตลอดจนพื้นที่ป่าสงวน และหารือให้ครบถ้วนจาก ส่วนราชการอื่น ๆ หารือฝ่ายท้องถิ่น เพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้สอดคล้องกับ สถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน
แนวทางที่ ๒ นี่สำคัญครับท่านประธาน จัดทำฐานข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือที่เรียกว่า Big Data เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพ มากยิ่งขึ้น
แนวทางที่ ๓ ต้องฝึกอบรม จัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้สามารถปฏิบัติงาน ในเรื่องของระเบียบขั้นตอนการอนุญาตและการให้ใช้พื้นที่ ให้ใช้ประโยชน์ป่าไม้ เพื่อให้เกิด การบูรณาการร่วมกันในการดำเนินการใช้พื้นที่ป่า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
แนวทางที่ ๔ การตรวจสอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA EHIA ควรกระจายอำนาจให้สภาท้องถิ่นมีส่วนร่วม ตรงนี้ล่ะครับ ที่เรียกว่ากระบวนการ มีส่วนร่วมจากพี่น้องประชาชนและทุกภาคส่วน เป็นการเปิดพื้นที่ให้ทุกคนมีอารมณ์ ความรู้สึกร่วมกันว่า เราเป็นเจ้าของทรัพยากรป่าไม้ร่วมกัน และจิตวิญญาณแห่งความหวงแหน และการพัฒนาผู้ใช้ประโยชน์จะได้เกิดขึ้น
แนวทางที่ ๕ การจัดทำแผนที่ฐานข้อมูลในการกำหนดแนวเขตการใช้ ประโยชน์ จะต้องกำหนดขอบเขตที่ดินทุกประเภทให้ชัดเจน ไม่ให้ตีความซ้ำซ้อนทับซ้อนกัน พื้นที่ใดควรจะคงไว้เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติก็คงไว้ พื้นที่ใดที่ไม่เหลือสภาพป่าแล้ว ต้องเปิดโอกาส เปิดช่องทาง จะแก้กฎหมายก็ต้องแก้ จะเสนอ พ.ร.บ. ประกอบการพิจารณา ก็ต้องทำ นั่นคือให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วเราก็อย่าไปคิดนะครับว่าจะไปไว้ใจ ท้องถิ่นได้อย่างไร เพราะถ้าท่านไม่ไว้ใจท้องถิ่นเท่ากับว่าท่านไม่ไว้วางใจประชาชน เพราะผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชน
ดังนั้นการเพิกถอนสภาพป่า อย่าให้กระจุกตัวเป็นคอขวดครับ ต้องกระจาย อำนาจและเปิดพื้นที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วม ท่านประธานที่เคารพครับ เข้าป่าก็ต้องก่อไฟ แต่จะเข้าใจต้องใช้เวลา เรื่องนี้จะไม่เกิดประโยชน์ครับ ถ้าทุกฝ่าย Guard สูง ไม่เปิดพื้นที่และปรับเปลี่ยน Mindset อย่างที่ผมเคยกราบเรียนครับ คนบางคนเห็นปัญหา ในทุกโอกาส แต่คนบางคนเห็นโอกาสในทุกปัญหา ถึงเวลาที่เราจะกระจายอำนาจ ถึงเวลา ที่เราจะลดการกระจุกตัวด้วยการกระจายอำนาจ ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชน ด้วยความเคารพครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่องการพัฒนาระบบบำนาญพื้นฐานประชาชนของ คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ก่อนอื่นผมต้องขออนุญาต ขีด Highlight พาดหัวข่าวตัวโต ๆ ครับว่า อนุสรณ์เห็นด้วยกับการพัฒนาระบบบำนาญ พื้นฐานประชาชน ท่านประธานครับ คำว่า เงินเดือน พูดเบา ๆ ก็มีความหวัง คำว่าบำนาญ ได้ยินบ่อย ๆ ก็สามารถสร้างความสุขได้ เพราะบำนาญแปลว่า เงินตอบแทนความชอบ ที่ได้รับราชการหรือได้รับจากการทำงานมาเป็นเวลานาน ซึ่งจ่ายเป็นรายเดือนจนตลอดชีวิต เมื่อออกจากงาน โบร่ำโบราณใช้คำว่า เบี้ยบำนาญ ในเวลาต่อมาก็มีอีกหลายเบี้ยครับ เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพ เบี้ยคนชรา นโยบายเบี้ยผู้สูงอายุ ต้องกราบเรียนว่าพูดเมื่อไร ก็โดนครับ ในช่วงของการเลือกตั้งนำเสนอนโยบาย บางพรรคบอก ๖๐๐ บาท บางพรรค บอก ๑,๒๐๐ บาท ๑,๕๐๐ บาท ๓,๐๐๐ บาท และเป็นที่คาดเดาได้ว่าอีก ๔ ปีข้างหน้า อาจจะได้เห็นตัวเลข ๕,๐๐๐ บาท หรือ ๑๐,๐๐๐ บาท ที่พูดอย่างนี้เพื่อจะสะท้อนว่า สังคมไทยและพรรคการเมืองที่นำมาทำนโยบายนั้นให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ จึงไม่มีใคร คัดค้านหรอกครับ จะ ๖๐๐ บาท จะ ๑,๒๐๐ บาท จะ ๑,๕๐๐ บาท จะ ๓,๐๐๐ บาท อะไรที่จะเป็นประโยชน์ อะไรที่พี่น้องประชาชนจะได้รับ ทุกพรรคการเมืองร่วมด้วยช่วยกัน เห็นชอบผลักดันสนับสนุนครับ แต่ปัญหาก็คือว่าเราจะจ่ายอย่างไร เราจะทำอย่างไรให้การ จ่ายสวัสดิการนั้นเพียงพอ ยั่งยืน และครบถ้วน แล้วเรื่องพวกนี้ไม่ใช่ว่าเราจะมโนหรือนึกเอง คิดเองได้นะครับ มีรายงานศึกษาซึ่งในรายงานนี้ก็พูดไปครบถ้วนหลายประการ แต่ถ้าเราไปดู ดัชนีบำนาญโลก หรือที่เรียกว่า Global Pension Index ประจำปี ๒๕๖๖ เราพบว่าประเทศ เนเธอร์แลนด์กลับมาครองตำแหน่งประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีระบบบำนาญดีที่สุดในโลก ก็ส่งผลให้ ประเทศไอร์แลนด์จากอันดับ ๑ ตกไปเป็นอันดับที่ ๒ แล้วก็ประเทศเดนมาร์กมาเป็นอันดับที่ ๓ ประเทศไทยอยู่ตรงไหนครับ ประเทศไทยอยู่รั้งท้าย แต่ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะสถิติ มีไว้ทำลาย เราอยู่สุดท้ายแล้วเราจะไม่แย่ไปกว่านี้แล้วครับ เราจะดีขึ้นในปีต่อ ๆ ไป ผมเรียน ปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เราเชื่อเรื่องโครงข่ายทางสังคมที่เรียกว่า Social Safety Net ตกงานอย่าตกใจ สูงวัยไม่ต้องตื่นตระหนก เรามีโครงสร้างทางสังคมร่วมด้วย ช่วยกันในการดูแลประชาชนในสังคม แต่ว่าการที่เราจะจัดสวัสดิการให้เหมาะสมเราก็ต้องไป ดูเกณฑ์ของโลกว่าเขาจัดอย่างไร ทำไมเขาเป็นที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ เวลาไปดูงานพวกนี้จะเรียกว่า รัฐสวัสดิการ จะเรียกว่าโครงสร้างทางสังคมในการช่วยเหลือประชาชนผู้สูงวัยหรืออื่นใด ก็ตามแต่ เขาไปดูแถบ ๆ ประเทศสแกนดิเนเวียครับ ไปดูประเทศสวีเดน ประเทศนอร์เวย์ ประเทศเดนมาร์ก ประเทศเนเธอร์แลนด์แถว ๆ นี้ เพราะประเทศเหล่านี้ถือว่าเป็นต้นแบบ ส่วนหนึ่งเขาจัดเก็บรายได้ได้สูง ภาษีสูง เวลาคนไปดูงาน ไปซื้อสินค้าที่เป็น Brand Name ระดับ High End Premium พอถอดภาษีปุ๊บถือว่าได้ราคาถูกเลย นั่นหมายความว่าเขาจัดเก็บรายได้ได้สูง จึงนำเงินที่มีมากนั้นมาจัดสวัสดิการอย่างเพียงพอ ทั่วถึง ยั่งยืน ครบถ้วนให้กับประชาชนของเขา เราไปดูว่าดัชนีชี้วัดบำนาญโลก MCGPI นั้น เขาเน้นไป ๓ เรื่อง ๓ หลักอะไรบ้าง
เรื่องที่ ๑ เขาดูเรื่องความเพียงพอ ซึ่งคำนึงถึงผลประโยชน์ที่มอบให้กับคนจน และคนมีรายได้ระดับต่าง ๆ ตลอดจนการออกแบบต่าง ๆ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ เกษียณแล้วจะบริหารจัดการรายได้เชิงระบบอย่างไรให้เหมาะสมและเพียงพอ
เรื่องที่ ๒ เขาไปดูเรื่องความยั่งยืน ไปพิจารณาจากตัวชี้วัดที่มีอิทธิพลต่อ ความยั่งยืนในระยะยาว ไม่ใช่ว่าจ่ายแบบวูบวาบ จาก ๖๐๐ กระโดดไปตัวเลขสูง ๆ แล้วก็ จ่ายได้ไม่นาน แล้วสุดท้ายก็ไม่ยั่งยืน
เรื่องที่ ๓ ที่เขาไปดูครับ คือเรื่องความครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นระบบบำเหน็จ บำนาญที่มีกฎระเบียบ มีความโปร่งใส มีธรรมาภิบาลตรวจสอบได้ ถามว่าแล้วประเทศไทย จะทำ ทำอย่างไร ผมมีข้อเสนอนะครับ อันดับแรก เราต้องรีดไขมัน ต้องลดรายจ่าย ที่ไม่จำเป็นจากหลาย ๆ หน่วยงานในที่นี้จะไม่บอกว่าไปรีดตรงไหน แต่ลำพังการรีดไขมัน อย่างเดียวไม่พอ ต้องสร้างกล้ามเนื้อ คือสร้างรายได้ที่เป็นรายได้ที่แท้จริง พูดง่าย ๆ ก็คือการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ที่แท้จริงเข้ามา รายได้มาจากไหน เช่นนี่อย่างไรครับ Digital Wallet เพิ่มอำนาจซื้อให้กับประชาชน รายได้จากปัจจัยภายนอกครับ เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว ส่งเสริม Soft Power ส่งเสริมการส่งออก ไปหารายได้ใหม่ เช่น ทำ Entertainment Complex รายได้จากสินค้าหรือบริการที่บั่นทอนสุขภาพ เช่น ภาษีหวาน ภาษีเค็ม หรือไป เก็บธุรกิจกิจการประเภทที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 เก็บภาษีจากรถที่ใช้น้ำมันในอัตรา ที่สูงกว่า ภาษีรถที่ใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ดังนั้น ๓ หลักที่ต้องทำครับ เพียงพอ ยั่งยืน และครบถ้วน ท่านประธานครับ ไม่มีใครขัดขวาง แต่เราจะต้องดูว่าเราจะจ่ายอย่างเพียงพอนั้นต้องทำ อย่างไร ขอเป็นกำลังใจให้ผู้สูงอายุนะครับ เพราะการรอคอยที่ทรมานที่สุด คือการรอคอย เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเราเชื่อว่าเมื่อโครงสร้างพื้นฐานของเราพร้อม เราจะพัฒนาเพื่อดูแล ประชาชนผู้สูงอายุและทุกวัยไปพร้อมกัน ขอบคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อรายงานผลการพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาทางกฎหมายที่เกี่ยวกับ การขนส่งทางบกและป้องกันการเรียกรับผลประโยชน์โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ของคณะกรรมาธิการ การคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ท่านประธานที่เคารพครับ ปัญหาเรื่องส่วยทางหลวงนั้น ไม่ใช่เป็นปัญหาใหม่ครับ แต่ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่และเป็นปัญหาที่เหมือนเราแพ้ทาง แก้แบบวัวพันหลัก แก้มาหลาย สิบปีก็แก้ไม่ได้ และที่สำคัญมูลค่าการทุจริตคอร์รัปชันของส่วยทางหลวงนั้นมีมูลค่าพุ่งสูงขึ้น ตลอดเวลาระดับหลายหมื่นล้านบาท ในรายงานที่ท่านศึกษามาถ้าจะ Comment แบบในฐานะ ที่เป็น Commentator ก็ต้องบอกว่าให้ท่านผ่านครับ แต่ถ้าในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นอกจากให้ผ่านแล้ว ก็ขออนุญาตเสนอแนะเพิ่มเติม โดยขออนุญาตเรียนว่าการแก้ปัญหานี้ เราควรมุ่งไปที่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของปัญหาส่วย ต้องมุ่งเน้นไปแก้ที่ต้นตอของ ปัญหา ซึ่งก็เห็นในความพยายามที่ท่านได้ศึกษาและอยู่ในรายงาน ความพยายามข้อที่ ๑ ของท่านก็คือการพยายามที่จะทบทวนแล้วก็แก้ไขกฎหมาย ซึ่งก็ต้องบอกว่าท่านมีอยู่แล้ว ข้อที่ ๒ ซึ่งในรายงานเหมือนเฉียดไปเฉียดมายังไม่ชัด ถ้าเราจะบังคับใช้กฎหมายและเอา กฎหมายเป็นเครื่องมือหลักในการบังคับใช้ มันแก้ไม่จบไม่สิ้นครับเราต้องแก้โดยการเร่งสร้าง วัฒนธรรมในการใช้รถใช้ถนนด้วยจิตสาธารณะ ข้อที่ ๓ ซึ่งในรายงานผมเห็นว่าก็เฉียดไป เฉียดมายังไม่ได้ลงลึกหรือไม่ได้มีเข็มมุ่งที่เห็นชัดเจน คือความพยายามที่จะใช้เทคโนโลยี มาใช้ในการแก้ปัญหาส่วย กรณีข้อที่ ๓ นี้ผมมีตัวอย่างไม่ต้องไปไกลเอาประเทศเพื่อนบ้าน อย่างประเทศสิงคโปร์ครับ เขามีการจัดทำเครือข่ายที่เป็น Big Data รวบรวมประมวลผลเก็บ ข้อมูลการจราจร เวลาในการเดินทาง ความต้องการในการใช้รถใช้ถนนในแต่ละช่วงเวลา ผู้ใช้รถใช้ถนนจะรู้เลยว่าจะเดินทางจากจุด A ไปจุด B ในระยะเวลาที่จำกัดหรือว่าเร็วที่สุดนั้น Big Data จะประมวลผล แต่ของเราต้องเรียนว่าเราไม่ได้มีแผนแม่บทแบบประเทศสิงคโปร์ที่ เขามีแผนแม่บทแห่งชาติ ชื่อแผนคือ Smart Mobility Master Plan เขาใช้เทคโนโลยี อัจฉริยะมาเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มขีดความสามารถของเครือข่ายบนท้องถนนอย่างสูงสุด ซึ่งจะครอบคลุมทั้งการตรวจสอบ ควบคุมปริมาณจราจร การใช้รถใช้ถนนให้มีความปลอดภัย มากยิ่งขึ้น ท่านประธานที่เคารพ ท่านเคยสังเกตไหมว่าเวลาที่มีด่าน ทุกครั้งที่มีด่าน จะด่าน ถาวร จะด่านลอย ด่านหลบแบบสุมทุมพุ่มไม้มาแบบไม่ให้ซุ่มให้เสียง จะมีอุบัติเหตุ ไม่หน้าด่าน ก็หลังด่าน หรือไม่มีอุบัติเหตุปริมาณการจราจรก็จะคับคั่ง ทำให้รถติดเกิน ความจำเป็น มีคนไปถามว่าทำไมต้องใส่หมวกกันน็อกสำหรับรถมอเตอร์ไซค์ เขาบอกว่าใส่ หมวกกันน็อกตำรวจจะได้ไม่จับซึ่งในความเป็นจริงไม่ใช่ครับ ประโยชน์ของหมวกกันน็อก ก็คือใส่แล้วจะได้ป้องกันหากเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน วันนี้เหมือนกันครับ จะบรรทุกน้ำหนัก เกินจะขับเร็วถ้าไม่เจอจ่าก็ไม่โดนจับ ดังนั้นทุกครั้งของการกระทำผิดกฎหมายนั้นเขา ระมัดระวังจ่า บางคนติด Sticker หลังรถครับบอกว่าอย่าโบกเลยจ่า พกมาแค่ ๒๐๐ ครับ เพราะจ่าเรียก ๔๐๐ บาทไม่พอจ่ายครับ ข้อที่ ๒ สิ่งที่เราเห็นว่าวันนี้ในประเทศจีนในเมืองที่ เป็นที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก เขาแก้ปัญหารถติดได้ครับ เช่น คุณจะออกจาก บ้านเจ็ดโมงคุณจะไปถึงที่หมายแปดโมง ข้อมูล Big Data จะประมวลผลหมดเลยครับว่า จะหลีกเลี่ยงถนนเส้นใด แล้วจะไปให้ถึงที่หมายด้วยการใช้วิธีการเดินทางแบบใด มีตัวเลือก A B C ครับ ของเราต้องนำมาใช้ และผมขอเสนอกรอบแนวคิดที่จะเป็นเข็มมุ่งให้กับ ท่านกรรมาธิการและท่านคณะอนุกรรมาธิการที่ศึกษาเรื่องนี้
ประการที่ ๑ กฎหมายที่ท่านพยายามแก้ ผมเห็นชอบครับ แต่ท่านต้อง พยายามไปลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ครับ เพราะมีการบังคับใช้กฎหมายที่แตกต่างกัน ตัวบทกฎหมายเหมือนกัน แต่บังคับใช้ต่างกันผลต่างกันครับ
ประการที่ ๒ ต้องใช้ศูนย์ประมวลผลแบบ Big Data หรือถ้าท่านดูฟุตบอล Thailand Premier League ก็จะเห็นเทคนิค VAR ครับ ผมเสนอให้ใช้เทคนิค VAR มาใช้ ประมวลผลในการปราบส่วยครับ VAR คือ Video Assistant Referee เพราะว่าวันนี้พอเกิด เหตุปั๊บ จ่าก็มีกล้องของจ่านะครับ Chauffeur คนขับรถบรรทุกก็มีกล้องของตัวเอง ในคดี เดียวกรณีเดียวนี้ต่างมุม ต่างข้อมูล การวินิจฉัยแตกต่างกัน ดังนั้นเราควรจะมีศูนย์ ประมวลผลที่เป็น Big Data ไม่ต้องไปตั้งด่านครับ รถบรรทุกวิ่งผ่านวันนี้เราสามารถรู้ว่า ความเร็วที่รถวิ่งกี่กิโลเมตรต่อชั่วโมง มันไม่น่าจะยากเกินไปนะครับ ถ้ารถวิ่งผ่านและเรา สามารถระบุน้ำหนักของรถบรรทุกได้
ประการที่ ๓ ท่านต้องเปลี่ยนอะไรที่เป็นสีเทาให้เป็นสีขาว เปลี่ยนจากส่วย เป็นการเก็บค่าใช้ถนน ผมว่าถ้าตรงไปตรงมาแม้จะแพงขึ้นก็แก้ปัญหา ต่อไปนี้จ่าไม่ต้องไป ล็อกล้อแล้วครับ ถ้าจอดรถในถนนในที่ห้ามจอด ก็เก็บสตางค์เลยครับ มีตู้แบบต่างประเทศ จะจอดผิดที่ยินดีจ่ายไม่เป็นปัญหาครับ แล้วก็เอาภาษีนั้นมาใช้ในการพัฒนาประเทศ ผมขอให้กำลังใจทางคณะศึกษา ก็ขอเรียนว่าท่านเดินมาถูกทางแล้วครับ และเราน่าจะ ได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่ผมหวังว่าแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์นั้นจะเป็นทางออก จะไม่ใช่แค่ไฟหน้ารถที่วิ่งสวนทางมา ขอให้กำลังใจครับ ขอบพระคุณครับ