ข้อมูลการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ชุดที่ 26

ปีที่ 1

สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง

ครั้งที่ 20 วันพฤหัสบดีที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.36 - 19.22 นาฬิกา

เอกสารต้นฉบับ: บันทึกการประชุมบันทึกการออกเสียงและลงคะแนนรายงานการประชุม

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านสมาชิกครับ อนุญาตให้มีการหารือก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระนะครับ เรียนเชิญท่านแรก ท่านปรีดา บุญเพลิง ครับ

นายปรีดา บุญเพลิง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายปรีดา บุญเพลิง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน การศึกษานำการเมือง ครูพัฒนาคน ประชาชน พัฒนาชาติ รากฐานของตึกคืออิฐ รากฐานของชีวิตคือการศึกษา ขอหารือท่านประธาน ผ่านไปยังนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้

นายปรีดา บุญเพลิง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากคณะครูและองค์กรครู เรื่องการโยกย้าย ประจำปีของคุณครู ไม่ว่าจะเป็นผู้สอน รองผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้ปฏิบัติงานในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งการโยกย้ายแต่ละครั้งมีปัญหา การจัดเลี้ยงส่งและต้อนรับกัน ทำให้เกิดปัญหาค่าใช้จ่ายตามมา ผมไม่ปฏิเสธการเลี้ยงรับ และเลี้ยงส่งนะครับ แต่ต้องไปร่วมงานเลี้ยงส่งและเลี้ยงต้อนรับ คือการจัดงานปัจจุบันนี้ มีโต๊ะจีน ทุกคนจะต้องไปซื้อบัตรหรือเหมารวมโรงเรียน แต่ละโต๊ะบางโรงเรียนก็ ๑ โต๊ะ ๒ โต๊ะ ตามจำนวนครูของแต่ละโรงเรียน ถ้าหากมองปัญหานี้เป็นปัญหาเล็กน้อยก็ใช่ แต่ถ้ามอง ปัญหาให้ลึกก็เป็นปัญหาที่สร้างหนี้สินให้กับครู โดยเฉพาะเกณฑ์โยกย้ายของข้าราชการครู โดยครูมีข้อเสนอแนะให้เกณฑ์การโยกย้ายสำหรับผู้ใกล้เกษียณอายุราชการ ๒ ปี ค่อยมีสิทธิ การย้ายได้ เพราะการย้ายครั้งแรกมีการเลี้ยงส่ง มีการเลี้ยงต้อนรับโรงเรียนใหม่ อยู่อีก ๑ ปี ก็เลี้ยงเกษียณ อีกไม่นานก็เลี้ยงต้อนรับครูบรรจุใหม่ ถ้ามองปัญหานี้เป็นปัญหาเล็ก ๆ ก็ใช่ แต่ถ้ามองเป็นปัญหาทั้งประเทศ เป็นปัญหาใหญ่ครับ นี่คือหลุมดำที่ทำให้เกิดปัญหาหนี้สิน ของครูอีกจุดหนึ่ง ไม่มีใครมองเห็นในเรื่องนี้ ก.ค.ศ. ควรจะแก้ไขหลักเกณฑ์การย้ายครู รอง ผอ. โรงเรียน ผอ. โรงเรียนเสียใหม่ เพื่อให้พัฒนาโรงเรียนก่อนเกษียณอายุราชการ เป็นการลดภาระการใช้จ่ายในการเลี้ยงต้อนรับและเลี้ยงส่งสำหรับผู้ใกล้เกษียณ เป็นการ ลดรายจ่าย ลดภาระหนี้สินครูอีกทางหนึ่ง ขอบคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านธิษะณา ชุณหะวัณ ครับ ยังไม่พร้อมนะครับ ขอเชิญท่านพรเทพ ศิริโรจนกุล ครับ

นายพรเทพ ศิริโรจนกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายพรเทพ ศิริโรจนกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑๖ พรรคเพื่อไทย ได้แก่ อำเภอคง อำเภอบ้านเหลื่อม อำเภอขามสะแกแสง และอำเภอ พระทองคำ วันนี้มีข้อปรึกษาหารือกับท่านประธานเกี่ยวกับปัญหาในพื้นที่มีทั้งสิ้น ๒ ประเด็น ดังนี้

นายพรเทพ ศิริโรจนกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ ปัญหาทางด้าน สาธารณสุข หลังจากที่ผมได้ลงพื้นที่ประชุมร่วมกับท่าน ผอ. พีรวัฒน์ ลิ้มมหาคุณ เนื่องด้วย โรงพยาบาลคง ที่ต้องรับรองพี่น้องประชาชนกว่า ๘๐,๐๐๐ คน และในสไลด์ท่านจะเห็น อาคารฉุกเฉิน ER ที่เป็นจุดบริการหลัก ผู้ป่วยทุกคนจะต้องมาตรวจบริการ ณ จุดนี้ แต่อาคาร มีขนาดเล็กและแออัด ซึ่งไม่เพียงพอต่อการให้บริการ อีกทั้งอาคารนี้สร้างมานานแล้วกว่า ๔๐ ปี ซึ่งโครงสร้างของอาคารฐานรากนั้นมีรอยแตกร้าวจำนวนมาก ซึ่งเกรงว่าอาจจะทำให้เกิด อันตรายได้ในอนาคต สไลด์ที่ ๒ ตามที่เห็นในสไลด์เลยครับ อาคารผู้ป่วยในซึ่งมีโครงสร้าง ฐานรากที่เริ่มชำรุดทรุดโทรมแล้วเช่นเดียวกันครับ สไลด์ต่อไปเป็นสภาพโรงอาหาร ร้านค้าสวัสดิการที่คุณหมอ คุณพยาบาล ผู้มาใช้บริการโรงพยาบาลเป็นเต็นท์ที่เคยใช้ เป็นเต็นท์แยกผู้ป่วยโควิดมาใช้เป็นโรงอาหารชั่วคราว เราก็จะเห็นสภาพแล้วก็รู้สึกหดหู่ใจ มากครับ ผมจึงฝากท่านประธานไปยัง สสจ. จังหวัดนครราชสีมาและกระทรวงสาธารณสุข ให้ช่วยพิจารณาจัดสรรงบประมาณในการสร้างและซ่อมแซมอาคารต่าง ๆ เพื่อรองรับผู้ป่วย รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมงานพืชสวนโลกที่จะจัดที่อำเภอคงของเราด้วยครับ

นายพรเทพ ศิริโรจนกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ หลังจากได้มีการประชุมหารือกับผู้ประกอบการ ผู้นำหน่วยงาน ราชการ ท่านรัฐมนตรีประเสริฐ จันทรรวงทอง ท่านรัฐมนตรีสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล และพวกเรา สส. นครราชสีมาจากพรรคเพื่อไทยทั้ง ๑๒ ท่าน เพื่อที่ให้โคราชเป็นเมือง MICE City เราจำเป็นที่จะต้องมีศูนย์ประชุมนานาชาติ เพื่อรองรับการประชุมระดับประเทศ หรือระดับนานาชาติ เราจะเห็นได้ว่างานแสดงสินค้าใหญ่ ๆ ล้วนแต่กระจุกตัวอยู่ใน กรุงเทพมหานครเป็นหลัก หากอีก ๓-๔ ปีข้างหน้า โคราชเรามีรถไฟความเร็วสูงมีมอเตอร์เวย์ มีรถไฟรางคู่ที่เชื่อมต่อกับจีน หากเราไม่มีสถานที่ใหญ่ ๆ และได้มาตรฐานที่เพียงพอ เพื่อรองรับการจัดงานต่าง ๆ จะทำให้โคราชของเราเสียโอกาสขาดรายได้เป็นอย่างมากครับ พวกเราทุกคนจึงขอฝากไปยังท่านเศรษฐา ทวีสิน ท่านนายกรัฐมนตรีให้พิจารณางบประมาณ ก่อสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติที่จังหวัดนครราชสีมาด้วยครับขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านวีรวุธ รักเที่ยง ครับ

นายวีรวุธ รักเที่ยง กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม วีรวุธ รักเที่ยง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก คลองสามวา จากพรรคก้าวไกลครับ ผมมีปัญหาจะหารือกับท่านประธานผ่านไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงปัญหาเพลิงไหม้ครับ ในพื้นที่เขตกรุงเทพตะวันออกในเขตหนองจอก คลองสามวา มีปัญหาเพลิงไหม้เกิดขึ้นวันละหลายพื้นที่ และในหลาย ๆ ครั้งพบว่าเป็นปัญหา ความร้อนสะสมจากการเก็บขยะและมีการเผาขยะ มีการทำพื้นที่รกร้าง โดยการที่จะทำให้ พื้นที่รกร้างเป็นสวนกล้วยหรือสวนมะพร้าว มีการเผาครับ ในหลาย ๆ ครั้งที่ผมลงพื้นที่ จากการร้องเรียนของชาวบ้าน พบว่าหน่วยงานที่เข้ามาดับเพลิงไม่ใช่เจ้าหน้าที่ดับเพลิง เป็นจิตอาสา อาทิเช่น ของราชพฤกษ์ หน่วยงานของร่มไทร ร่วมกตัญญู และป่อเต็กตึ๊ง ไม่มีเจ้าหน้าที่มากเพียงพอ และอุปกรณ์ในการป้องกันตัวเองน้อยมาก จึงอยากจะฝากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยช่วยประชาสัมพันธ์ ในเรื่องของการไม่เผาขยะ ซึ่งเป็นมลพิษที่ส่งผลบริเวณกว้างในเขตหนองจอกและ คลองสามวานั้น อยากให้ช่วยบังคับใช้กฎหมาย เพราะว่าในหลาย ๆ ครั้งที่ลงพื้นที่แล้ว เราพบว่าเจ้าหน้าที่ไม่ลงร่วมกันกับเจ้าหน้าที่จิตอาสานะครับ ปล่อยให้จิตอาสาเป็นคนที่ระดมทุน ระดมแรงด้วยตัวเอง ก็อยากจะฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยลงพื้นที่จัดการปัญหานี้ด้วย

นายวีรวุธ รักเที่ยง กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

สุดท้ายเป็นเรื่องของชุมชนที่เคหะคลอง ๙ มีพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ของ การเคหะแห่งชาติ ที่ยกให้กับกรุงเทพมหานครแล้ว แต่ว่าตอนนี้ชำรุด น้ำไม่สามารถระบายได้ มีน้ำในพื้นที่ที่ขังและเน่าเสีย ซึ่งส่งผลให้เกิดไข้เลือดออกในพื้นที่บ่อยครั้ง จึงฝากให้ ท่านประธานส่งเอกสารผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดการปัญหานี้ด้วย ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญท่านปิยะนุช ยินดีสุข ครับ

นางสาวปิยะนุช ยินดีสุข นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพค่ะ ดิฉัน นางสาวปิยะนุช ยินดีสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากอำเภอประทาย อำเภอลำทะเมนชัย อำเภอเมืองยาง อำเภอโนนแดง จังหวัดนครราชสีมา เขต ๗ พรรคเพื่อไทยค่ะ วันนี้ดิฉัน ขอหารือกับท่านประธานเกี่ยวกับปัญหาในพื้นที่มีทั้งสิ้น ๓ ประเด็น ขอสไลด์เรื่องแรกนะคะ

นางสาวปิยะนุช ยินดีสุข นครราชสีมา ต้นฉบับ

ขอเสริมผิวลาดยาง Asphaltic Concrete บนถนนทางหลวงท้องถิ่นเส้น นม.ถ.๒๕๕-๒๓ สายบ้านโนนเพชร หมู่ที่ ๓ ตำบลละหานปลาค้าว เชื่อมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองไม้ตาย ตำบลเมืองยาง ระยะทาง ๓.๕ กิโลเมตร เนื่องจากสภาพถนนขรุขระ ชำรุด ไม่เรียบ โดยเฉพาะหน้าโรงเรียนเมืองยางศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำอำเภอ อีกทั้งเป็นถนนเชื่อม ๒ ตำบล เชื่อมไปศูนย์ราชการ ทำให้มีผู้ใช้รถ ใช้ถนนเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางท่านนายกเทศบาลเมืองยาง นายก อบต. ระหานปลาค้าวได้ขอรับ สนับสนุนเงินอุดหนุนเฉพาะกิจไปแล้ว ดิฉันจึงขอฝากไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกระทรวงมหาดไทย ให้เร่งจัดสรรงบประมาณค่ะ

นางสาวปิยะนุช ยินดีสุข นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ขอไฟฟ้าส่องสว่างช่วงโค้งหักศอกอันตราย บนถนน ทช.๔๐๕๗ ช่วงหลักกิโลเมตร ๑๑-๑๔ เนื่องจากไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง ยิ่งในช่วงเวลากลางคืนมืดและ เปลี่ยวมาก เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง ดิฉันจึงขอฝากไปยังกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคมให้พิจารณาจัดสรรงบประมาณค่ะ

นางสาวปิยะนุช ยินดีสุข นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ เป็นเรื่องของโรงพยาบาลโนนแดง ดูจากรูปในสไลด์นี่คือ สภาพบ้านพักของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ตอนนี้ไม่สามารถพักอาศัยได้แล้ว ซึ่งอาคารนี้ ถูกสร้างมามากกว่า ๓๐ ปีแล้วนะคะ ปัจจุบันทั้งเก่า ทั้งแก่ ทั้งทรุด ทั้งโทรมค่ะ เจ้าหน้าที่ ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ดิฉันจึงขอฝากไปยังสำนักงาน สสจ. จังหวัดนครราชสีมา และกระทรวงสาธารณสุข ให้พิจารณาสร้างอาคารชุดครอบครัวและบ้านพักสำหรับแพทย์ ข้าราชการ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและสร้างความปลอดภัยให้แก่บุคลากรเจ้าหน้าที่ของ โรงพยาบาลต่อไปค่ะ

นางสาวปิยะนุช ยินดีสุข นครราชสีมา ต้นฉบับ

ดิฉันขอเวลาอีกสักนิดค่ะท่านประธาน อย่างที่ทุกท่านทราบนะคะ จังหวัด นครราชสีมาเป็นจังหวัดที่ใหญ่เป็นอันดับ ๒ รองมาจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งในวันนี้ สส. โคราชของเราก็มาอยู่ที่นี่แล้ว เพื่อเป็นสักขีพยานว่าเราอยากขอให้รัฐบาลชุดนี้สนับสนุน ให้โคราชมีสนามบินพาณิชย์เป็นของตัวเอง มีศูนย์ประชุมแห่งชาติเพื่อยกระดับโคราช ให้เป็น Korat MICE City ที่สามารถรองรับผู้คน รองรับการประชุมระดับนานาชาติ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของชาวโคราชหลานย่าโมทุกคน ขอขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านเจษฎา ดนตรีเสนาะ ครับ

นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ ปทุมธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผมเจษฎา ดนตรีเสนาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เขต ๒ พรรคก้าวไกล คนปทุมลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขออนุญาตขอสไลด์ด้วยครับ

นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ ปทุมธานี ต้นฉบับ

วันนี้ผมมาทวงถามเรื่องเงินเยียวยา น้ำท่วมนะครับ บัดนี้น้ำท่วมได้ผ่านมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๔ เดือนนะครับท่านประธาน แต่เงินเยียวยาน้ำท่วมยังไม่ได้เลยนะครับ ที่ยังไม่ได้เพราะว่ายังไม่มีการประกาศเขตภัยพิบัติ ไม่มีการประกาศเตือนภัย แล้วก็ไม่มีเยียวยาใด ๆ อีกไม่กี่เดือนน้ำก็จะท่วมอีกปีหนึ่งแล้ว นะครับท่านประธาน แต่ของปีที่แล้วยังไม่ได้ของปีก่อนก็ยังไม่ได้ครับท่านประธาน ผมก็อยาก ฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลประชาชนในส่วนนี้ด้วยนะครับ

นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ ปทุมธานี ต้นฉบับ

๒. เรื่องของไฟฟ้าส่องสว่าง ก็มีปัญหาบริเวณหลายจุดของจังหวัดปทุมธานี ที่ท่านเห็นนี้คือบริเวณถนนกำแพงเพชร ๖ ตรงช่วงวัดรังสิต ในบางจุดกลางคืนไม่มีไฟฟ้าเลย เป็นเวลากว่า ๒ ปีแล้ว แล้วผิวการจราจรเป็นมาหลายปีแล้ว ไม่มีการแก้ไข ฝากท่านประธาน ไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทยช่วยดูแลประชาชนด้วยนะครับ

นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ ปทุมธานี ต้นฉบับ

๓. ปัญหาเรื่องความสะอาดบริเวณแยกสันติสุข บริเวณแยกมีป้ายรถเมล์ หลายป้าย ทำให้ประชาชนไม่สะดวกในการเดินไปมา เพราะว่ามีขยะกีดขวางทางเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเป็นแยกที่มีการจราจรติดขัด เนื่องจากรถ U-Turn ต้องรอไฟแดง ทำให้การจราจร ไม่สะดวก อย่างไรฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลรับผิดชอบด้วยครับ

นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ ปทุมธานี ต้นฉบับ

๔. ปัญหารถประจำทางของจังหวัดปทุมธานี สาย ๙๐ หยุดวิ่ง สาย ๓๓ มาช้า สาย ๑๑๓๘ มาช้า รอนาน อันนี้ก็คือ Comment ของประชาชน ที่เข้ามา Comment ยัง Page ของกระผม ทำให้ได้รับทราบว่าสายรถเมล์ที่วิ่งในจังหวัดปทุมธานีตอนนี้ ในหลายอำเภอ มีรอบลดลงครับท่านประธาน พอรอบลดลงก็ทำให้ผู้ที่ต้องใช้รถประจำทางในการดำเนิน ชีวิตประจำวันต้องรอเป็นเวลานาน บางสายรอกว่า ๑ ชั่วโมง จึงจะมีรถมา แล้วก็สามารถ ไปทำงานได้ครับ ฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลแก้ไขให้ประชาชน ชาวปทุมธานีด้วย ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านอำนาจ วิลาวัลย์ ครับ

นายอำนาจ วิลาวัลย์ ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม อำนาจ วิลาวัลย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑ จังหวัดปราจีนบุรี พรรคภูมิใจไทย วันนี้ผมมีเรื่องปรึกษาหารือครับท่านประธาน เรื่องเกี่ยวกับ PM2.5 ห้องโสตขอภาพด้วยครับ

นายอำนาจ วิลาวัลย์ ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

วันนี้จังหวัดปราจีนบุรีขึ้นเป็นอันดับ ๑ ค่า PM2.5 ได้รับร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนมานะครับ ผมได้ลงพื้นที่ก็ต้องยอมรับว่าช่วงนี้ เป็นช่วงที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตก็ทำให้เกิดการเผานาขึ้น จึงเกิดควัน PM2.5 ขึ้นในช่วงนี้ ผมได้ลงพื้นที่ไปพบพี่น้องชาวนา เพื่อทำความเข้าใจกับพี่น้องชาวนาว่า การเผานามันเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย อยากให้พี่น้องชาวนาได้หยุดการเผา ก็ลงไปทำความเข้าใจ กับพี่น้องชาวนา ได้ปัญหากลับมาครับ นำมาร้องเรียนกับท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงาน ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ห้องโสตครับ ขอวิดีโออีกสักครั้งครับ เดี๋ยวท่านชมไปพร้อม ๆ กันนะครับ อันนี้เป็นปัญหาที่เกิดกับพี่น้องชาวนาที่จะต้องเผานาเพราะว่าอะไร เพราะว่ามันมีข้าวที่เป็น วัชพืช เขาจะเรียกว่าข้าวดีดนะครับ ในภาพแรกที่เราเห็นมันจะดีดออกจากรวงข้าว เวลาที่เรา เก็บเกี่ยวมันจะไม่ได้ผลผลิต เพราะว่าข้าวพวกนี้มันจะร่วงหมด ทำให้ชาวนาไม่ได้ผลผลิต จากการปลูกข้าว ภาพที่ ๒ ที่เห็นนั้นเป็นข้าวที่สมบูรณ์ เวลาเราออกแรงฟัดมันจะไม่หลุด ออกจากรวง ก็จะได้ผลผลิตอย่างเต็มที่ อันนี้จึงอยากฝากถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า ช่วยหาจะเป็นจุลินทรีย์หรือว่าเป็นยาปราบศัตรูพืชชนิดใดก็ได้ ที่เอาลงไปให้กับพี่น้องชาวนา ได้ใช้ เพื่อกำจัดวัชพืชตัวนี้ที่เรียกว่าข้าวดีดนี้ ให้แทนการเผานา ก็จะทำให้ฝุ่น PM2.5 นี้หมดไป แล้วก็จะทำให้พี่น้องชาวนากับพี่น้องชาวบ้านที่เป็นชาวเมืองไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน ก็อยากฝากท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมการข้าว ช่วยเร่งแก้ไขปัญหาอันนี้ให้กับชาวนาด้วยครับ กราบขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านณัฐพงษ์ พิพัฒน์ไชยศิริ ครับ

นายณัฐพงษ์ พิพัฒน์ไชยศิริ อุดรธานี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐพงษ์ พิพัฒน์ไชยศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดอุดรธานี วันนี้ขออนุญาตนำเรียนปรึกษาหารือเกี่ยวกับปัญหาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน จากผู้ปกครองของเยาวชนในพื้นที่ตัวเมืองจังหวัดอุดรธานี ขอสไลด์ด้วยนะครับ

นายณัฐพงษ์ พิพัฒน์ไชยศิริ อุดรธานี ต้นฉบับ

เกี่ยวกับการแพร่ระบาดอย่างหนัก ของปัญหาน้ำต้มใบกระท่อม ซึ่งปัจจุบันนี้มีการดัดแปลง เปลี่ยนแปลง ให้มีฤทธิ์ที่รุนแรงมากขึ้น วัยรุ่นเขาเรียกกันว่าสี่คูณร้อยครับ ซึ่งก็คือการนำน้ำต้มใบกระท่อมมาแต่งสีเติมกลิ่น รวมถึง นำยากดประสาทต่าง ๆ ผสมเข้าไป เมื่อยากดประสาทเหล่านี้ไปผสมกับฤทธิ์ของใบกระท่อม จะทำให้เกิดฤทธิ์ที่รุนแรงในการกระตุ้นและหลอนประสาท แน่นอนครับว่าเมื่อยามันแรง ก็ต้องส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพของผู้เสพทั้งทางร่างกายและจิตใจ ย้ำอีกครั้งนะครับ น้ำต้ม ใบกระท่อมสี่คูณร้อยนี้ ปัจจุบันนี้คือยาเสพติดอันดับ ๑ ที่เยาวชนคนไทยกำลังนิยมเสพกัน อย่างมาก และเยาวชนที่เรากำลังพูดถึงนี้หลายคนมีอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี เวลาไปกิน ไปเที่ยว ไปเสพ ยังใส่ชุดนักเรียนอยู่เลย เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนมาแล้ว ตัวผมและทีมงาน มีโอกาสลงพื้นที่ไปพบกับผู้เสพ ไปเห็นผู้ขาย รวมถึงได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในการปราบปราม ก็ทราบมาว่าก่อนหน้านี้ลักษณะการขายเป็นลักษณะ การขายแบบหาบเร่เปิดท้ายแบบนี้ เพราะฉะนั้นเขาเปลี่ยนที่ไปเรื่อย การปราบปราม จึงยังไม่สิ้นสุด แต่ปัจจุบันนี้ปัญหาใหญ่กว่านั้นครับ พ่อค้าแม่ขายเหล่านั้นมีการค้าเปิดร้าน เป็นหลักเป็นแหล่งอย่างในรูปที่เห็นนี้นะครับ แล้วก็ขึ้นป้ายโฆษณาถึงสรรพคุณด้วยนะครับ คุณกินแล้วยัน น้ำท่อมอุดรหวานเจี๊ยบ มีเมนูให้เลือกหลากหลาย นี่ขายแอลกอฮอล์ ยังโฆษณาไม่ได้อย่างนี้เลยนะครับ แล้วพ่อค้าแม่ขายเหล่านี้ Go Online มี Platform เปิด Page น้อง ๆ หนู ๆ อยากลอง อยากเสพ แค่กด Click ก็สามารถซื้อได้ แล้วถ้าไม่สะดวก มาที่ร้าน มี Delivery บริการส่งถึงหน้าบ้านครับ เพราะฉะนั้นฝากเรียนท่านประธาน กราบเรียนเลยครับ ไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผู้รับผิดชอบโดยตรง ให้ช่วยเร่งปราบปราม น้ำท่อมสี่คูณร้อยเหล่านี้ให้หมดออกไปจากสังคม ทั้ง On Ground และ Online ด้วย ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ ขออนุญาตข้ามนะครับ เชิญท่านณัฐพงษ์ สุมโนธรรม ครับ

นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สมุทรสาคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรสาคร พรรคก้าวไกล วันนี้มีข้อปรึกษาหารือท่านประธาน ๒ เรื่องด้วยกัน

นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สมุทรสาคร ต้นฉบับ

เรื่องแรก พื้นที่คลองคอกกระบือตั้งแต่ประตูระบายน้ำมาจนถึงคลองโคกขาม เขตติดต่อระหว่างตำบลมหาชัยและตำบลท่าทราย และคลองซอยวัดโกรกกราก ข้างศาลเจ้า คุณแม่นมยาน พบว่าคูคลองระบายน้ำตื้นเขิน แล้วก็มีสิ่งกีดขวางลำน้ำ ประชาชนได้รับ ผลกระทบเป็นอย่างมาก มีป่ารกชัฏขึ้นขวางทางลำน้ำ อย่างไรฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาบูรณาการแก้ปัญหาร่วมกันให้กับพี่น้องประชาชนตามที่เห็นสมควรด้วยครับ

นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สมุทรสาคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ เรื่องปัญหาฝุ่นควันและกลิ่นบริเวณตำบลบางน้ำจืด โดยเฉพาะ บริเวณซอยกองพนันพล พื้นที่บริเวณดังกล่าวมีโรงหล่อหลอมเป็นจำนวนมาก เรื่องนี้มีการ แอบปล่อยควันพิษในช่วงกลางคืนนอกเวลาราชการ แล้วผมทราบมาว่าทางอุตสาหกรรมจังหวัด ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ประกอบการ พบว่าการจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างยั่งยืน ต้องมีการ ติดตั้งเครื่องตรวจจับฝุ่น Wet Scrubber ที่มีประสิทธิภาพสูงและมีราคาสูง ซึ่งโรงงาน ขนาดกลางและขนาดเล็ก ไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะซื้ออุปกรณ์ดังกล่าว เข้าใจว่านโยบาย ของรัฐบาลที่ออกมานั้น กิจการบางแห่งไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ เนื่องจากติดปัญหา การขอใบอนุญาตไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของกิจการ แล้วก็ใบอนุญาตถูกออกมานานแล้ว รวมถึงการไม่มีเครดิตทำให้ไม่ผ่านการพิจารณา อีกทั้งโรงงานมีพื้นที่ขนาดเล็กไม่สามารถติดตั้ง เครื่องจักรที่มีขนาดใหญ่ได้ นี่ก็เลยเป็นปัญหานะครับ ซึ่งการสั่งปิดหรือสั่งพักใบอนุญาต เพื่อให้โรงงานไปแก้ไข ก็กลับมาเปิดใหม่หรือแก้ไขได้อย่างไม่ตรงจุด ผมเห็นใจนะครับ อุตสาหกรรมจังหวัด หน่วยงานท้องถิ่น ปัญหาเหล่านี้จะแก้ได้อย่างยั่งยืนก็ต้องเป็นการแก้ไข ในระดับรัฐบาล ระดับนโยบาย อย่างไรฝากท่านประธานประสานไปถึงท่านนายกรัฐมนตรี ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ช่วยพิจารณาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้กับประชาชน อย่างยั่งยืนครับ เพราะนี่ก็เป็นปัญหาในหลายพื้นที่ หลายตำบลของจังหวัดสมุทรสาคร ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านกาญจนา จังหวะ ครับ

นางสาวกาญจนา จังหวะ ชัยภูมิ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวกาญจนา จังหวะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ เขต ๔ พรรคพลังประชารัฐ ดิฉันมีข้อหารือต่อท่านประธานอยู่ด้วยกัน ๒ เรื่องค่ะ

นางสาวกาญจนา จังหวะ ชัยภูมิ ต้นฉบับ

ดิฉันได้รับคำร้องทุกข์มาจาก นายสมศรี หงษ์สาวงค์ กำนันตำบลถ้ำวัวแดง ถนนบ้านหนองหอยปัง หมู่ที่ ๖ ตำบลถ้ำวัวแดง อำเภอหนองบัวแดง ถึงบ้านคลองไทร หมู่ที่ ๗ ตำบลบ้านเจียง อำเภอภักดีชุมพล เรื่องการก่อสร้างถนนหินคลุกบดอัดแน่น ซึ่งถนนดังกล่าวได้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น และอยู่ ในแผนพัฒนาท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๖๖-๒๕๗๐ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถนนเส้นทางนี้เป็นถนน ที่เชื่อมระหว่าง ๒ ตำบล ปัจจุบันสภาพถนนชำรุด เสียหาย ขาดพัง ชาวบ้านเดือดร้อน เดินทางสัญจรลำบาก เพราะต้องใช้ถนนสายทางใหม่อ้อมมาอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งระยะไกลจากเดิม ถึง ๒ เท่า นอกจากนี้ยังมีหมู่บ้านละแวกใกล้เคียงที่สัญจรเส้นนี้เป็นจำนวนมาก ดิฉันจึงขอฝาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาให้จัดสรรงบประมาณแก้ไขถนนสายดังกล่าวด้วยค่ะ

นางสาวกาญจนา จังหวะ ชัยภูมิ ต้นฉบับ

ข้อหารือที่ ๒ ดิฉันได้รับหนังสือจาก นายศึกษา จันทร์ณรงค์ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านหนองหอยเหนือ หมู่ที่ ๑๐ ตำบลกุดชุมแสง อำเภอหนองบัวแดง เรื่องการขอขยายเขต ไฟฟ้าและติดตั้งเสาไฟฟ้าเพื่อการเกษตร เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่บ้านหนองหอยเหนือ ยังคงเป็นพื้นที่การเกษตรที่ไม่มีไฟฟ้าเข้าถึงเลย ช่วงหน้าแล้งเกษตรกรส่วนใหญ่ต้องใช้ เครื่องสูบน้ำจากบ่อบาดาลหรือน้ำคลองมาใช้ ซึ่งราคาน้ำมันสวนทางกับรายได้เกษตรยิ่งนัก ดิฉันจึงขอฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายในการขยายเขตไฟฟ้าติดตั้ง เสาไฟ พร้อมเดินสายไฟให้กับชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวด้วยค่ะ กราบขอบคุณท่านประธานค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านสุเทพ อู่อ้น ครับ

นายสุเทพ อู่อ้น แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสุเทพ อู่อ้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เครือข่ายแรงงาน มีเรื่องหารือกับท่านประธาน ๒ เรื่อง ไปยังรัฐมนตรีกว่าการกระทรวงแรงงาน โดยเฉพาะประเด็นร้อนขณะนี้ เรื่องของกฎหมายประกันสังคมที่จะมีการนำเสนอ ครม. และเข้าสภา เกี่ยวกับเรื่องของการที่จะมีการตัดเรื่องของการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมออก ซึ่งเรื่องนี้อยากให้ทบทวนโดยด่วนนะครับ

นายสุเทพ อู่อ้น แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

นี่คือสิ่งที่พี่น้องแรงงานอยากเห็น บอร์ดที่เลือกตั้งเข้าไปได้ทำงานก่อน ยังไม่ได้ทำงานเลยครับ จะตัดสิทธิกันแล้ว ก็คงต้องฝากไว้

นายสุเทพ อู่อ้น แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องต่อไปเรื่องที่สำคัญเลยนะครับ ซึ่งขณะนี้เครือข่ายแรงงานพรรคก้าวไกล เราได้มีการจัดทำเรื่องของ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ซึ่งอยากจะมีการนำเสนอไปยัง ท่านประธานสื่อสารไปยังรัฐมนตรี รัฐบาล ซึ่งมีนโยบายเรื่องแรงงานหนักหนา อยากจะให้ มาสนใจกฎหมายที่ก้าวหน้า ว่าด้วยเรื่องของการทำงานจะต้องได้รับการพักผ่อนในชีวิต ณ ปัจจุบันการทำงานรายวันทำงานกันจริง ๆ ๓๐ วัน หรือ ๓๑ วัน แต่รายได้ไม่ถึง เพียง ๒๐ วัน ๒๖ วัน แล้วจะเอาเงินที่ไหนไปเลี้ยงดูครอบครัว ดังนั้นกฎหมายที่เราต้องมีการทำเสนอคือ ทุกคนต้องมีรายได้ทุกวัน เพื่อที่จะทดแทนกับรายจ่ายที่เกิดขึ้น นั่นก็หมายความว่าสิ่งเหล่านี้ ต้องเกิดขึ้น

นายสุเทพ อู่อ้น แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องต่อไปเรื่องของการลาที่จะไปดูคนป่วยครอบครัว ปู่ย่าตายาย พ่อแม่ ยังไม่มีนะครับ ซึ่งทำให้เห็นได้ว่าขณะนี้มีผู้สูงอายุมากขึ้น แต่ระบบไม่มีการรองรับที่จะให้ลา ไปดูแลผู้ที่มีบุญคุณป่วย เรื่องนี้ต้องมีการตราเอาไว้

นายสุเทพ อู่อ้น แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่สำคัญต่อไปเรื่องของการทำงาน จะเห็นได้ว่าหลักสากล ๑ วัน ต้องทำงาน ๘ ชั่วโมง หรือสัปดาห์หนึ่งต้องทำงาน ๔๐ ชั่วโมง แต่ประเทศไทยยังไม่เป็นเช่นนั้น กฎหมายเหล่านี้ควรจะต้องมีการตราเอาไว้ เพื่อให้พี่น้องแรงงานได้รับการคุ้มครองและดูแล ก็จะเข้าในสภาประมาณสัปดาห์หน้า อยากให้พี่น้องประชาชนช่วยกันติดตามและสนับสนุน กฎหมายดี ๆ เหล่านี้เพื่อจะคุ้มครองพี่น้องแรงงานด้วยครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านธัญธารีย์ สันตพันธุ์ ครับ

นางสาวธัญธารีย์ สันตพันธุ์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ธัญธารีย์ สันตพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี เขต ๖ พรรคเพื่อไทย ขอหารือปัญหาในเขตพื้นที่อำเภอเขมราฐ อำเภอนาตาล อำเภอโพธิ์ไทร ผ่านท่านประธาน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน ๑ เรื่องค่ะ

นางสาวธัญธารีย์ สันตพันธุ์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ

ท่านประธานคะ ตามที่รัฐบาล ได้มีความตั้งใจที่จะทำให้ราคาสินค้ามีราคาเพิ่มสูงขึ้น และจากการติดตามราคาสินค้าเกษตรหลัก จากกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ก็พบว่าสินค้าเกษตรหลายรายการ เช่น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ยางแผ่นดิบชั้น ๓ ก็ล้วนมีราคาที่ปรับขึ้น ส่งผลให้พี่น้องเกษตรกรที่ทำการเกษตร ดังกล่าวมีรายได้จากการขายสินค้าเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามจากการที่ดิฉันได้ลงพื้นที่ พูดคุยกับเกษตรกร รวมถึงการติดตามจากข่าวสารในช่องทางต่าง ๆ ก็ได้ทราบว่าวัว ซึ่งเป็นอีก ๑ รายการสินค้าเกษตรที่สำคัญของพี่น้องเกษตรกร ขณะนี้ราคาวัวมีราคาที่ลดลง เป็นอย่างมาก และจากการสอบถามเกษตรกรที่เลี้ยงวัว ก็ได้ทราบว่าราคาวัวได้ลดลง อย่างต่อเนื่อง จากเดิมขายได้ ๓๐,๐๐๐ บาท ปัจจุบันขายได้ไม่เกิน ๑๕,๐๐๐ บาท หรือจะเป็นวัวที่มีท้อง จากเดิมขายได้ ๖๐,๐๐๐ บาท ณ ปัจจุบันขายได้ไม่เกิน ๒๕,๐๐๐ บาท ส่งผลให้เกษตรกรที่เลี้ยงวัวยิ่งเลี้ยงยิ่งขาดทุน เพราะราคาขายไม่คุ้มค่ากับที่ต้องลงทุนและ ลงแรงไปค่ะ นอกจากนั้นจากการติดตามข่าวสารดิฉันก็ได้เห็นว่ามีเพื่อนสมาชิกได้นำเสนอปัญหา ราคาวัวตกต่ำต่อสภาหลายครั้ง จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าพี่น้องเกษตรกรในหลายพื้นที่ กำลังประสบปัญหาราคาวัวตกต่ำ ดังนั้นเพื่อช่วยเป็นอีกหนึ่งเสียงสะท้อนปัญหาของพี่น้อง เกษตรกรที่เลี้ยงวัวและช่วยหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดิฉันจึงขอใช้ช่องทางหารือ ต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำเรียนปัญหาราคาวัวตกต่ำที่เกิดขึ้น ผ่านท่านประธานไปยังรัฐบาลและ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้รับทราบ เพื่อพิจารณาหาแนวทางในการช่วยเหลือและแก้ไขต่อไป ขอบพระคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านรอมฎอน ปันจอร์ ครับ

นายรอมฎอน ปันจอร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานครับ ผม รอมฎอน ปันจอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลครับ วันนี้ผมมีเรื่องที่จะขอปรึกษาท่านประธานแล้วก็ฝากไปถึงหน่วยงานนะครับ เรื่องมูโนะครับ เรื่องโศกนาฏกรรมที่มูโนะครับ เราผ่านเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ ๒๙ กรกฎาคมปีที่แล้ว ตอนนี้ เข้าสู่เดือนที่ ๗ กำลังเข้าสู่เดือนที่ ๘ เร็ว ๆ นี้นะครับ แผนการฟื้นฟูต่าง ๆ มองจากสายตา ของชาวบ้านที่ผมไปลงพื้นที่มา พบปะพูดคุยกับพวกเขายังไม่ค่อยคืบหน้าเท่าไรครับ ท่านประธาน อาจจะต้องทวงถามครับ แล้วเงินที่จะช่วยเหลือเยียวยาตอนนี้ การจัดการ ไปถึงไหน อย่างไร มีติดขัดเงื่อนไขโน่น นี่ นั่นนะครับ มีบ้านเรือน ๗๖ หลัง ที่พังทั้งหลังที่อยู่ ในบัญชีจะต้องมีการฟื้นฟูและสร้างใหม่ ตอนนี้ยังไม่ได้มีการเริ่มสักหลังหนึ่งเลยครับ ถามไปถามมาเข้าใจว่า ตอนนี้ติดอยู่ที่คณะกรรมการกองทุนช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย ทางราชการในพื้นที่ก็ฝากมาด้วยนะครับว่า อยากให้มีการเร่งประชุมโดยด่วน เพื่อวางกำหนด เงื่อนไข ท่านประธานครับ ต้องเข้าใจว่าสภาพของปัญหามันใหญ่มาก บ้านหลายร้อยหลัง ผู้คนที่เกี่ยวข้องตลาดวายหมดเลยครับ ตลาดชายแดนหายไปหมดเลย บ้านเรือนต้องฟื้นฟูกันใหม่ มันจำเป็นที่จะต้องมีการประชุมหารือ ตอนนี้มันยืดเยื้อมาเข้าสู่เดือนที่ ๗ แล้ว ก็อยากจะฝาก ท่านประธานถึงทางคณะกรรมการกองทุนช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย ให้เร่งประชุม เพื่อกำหนดกรอบที่ชัดเจนที่มีข้อหารือไปนะครับ

นายรอมฎอน ปันจอร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้ายฝากนิดเดียวครับ คงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุย สันติสุขครับท่านประธาน ตอนนี้มีการพูดคุยเป็นครั้งที่ ๗ ระหว่างผู้แทนของรัฐบาลไทย กับขบวนการ BRN เมื่อ ๒ สัปดาห์ที่ผ่านมา กำลังเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อครับ เพราะกำลัง พิจารณาแผนสันติภาพร่วมกัน ที่จะดำเนินการหลังจากนี้ต้องอาศัยความมุ่งมั่นการผลักดัน ของนายกรัฐมนตรี ฝ่ายบริหารต้องจริงจังมากกว่านี้ครับ ผลักดันให้การดำเนินตามแผนนั้น สำเร็จลุล่วงด้วยดีครับท่านประธาน ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ครับ

นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ นราธิวาส ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๕ จังหวัดนราธิวาส ประกอบด้วย อำเภอบาเจาะ อำเภอรือเสาะ และอำเภอศรีสาคร พรรคประชาชาติ ท่านประธานครับ วันนี้มีประเด็นหารือท่านประธานถึงปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้อง ๔ เรื่องด้วยกันครับ

นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ นราธิวาส ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ อยากให้มีหนังสือถึงสำนักงานเขตการศึกษาพื้นที่เขต ๑ นราธิวาส กระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากได้รับการร้องเรียนว่ามีการค้างชำระจ่ายเงินค่าตอบแทน ครูวิทยากรรวม ๓ เดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม ๒๕๖๗ ซึ่งเป็นจำนวนไม่มาก วิทยากรแต่ละท่านได้ชั่วโมงละ ๒๐๐ บาทเอง แล้วบางครอบครัวก็คือประสบปัญหาน้ำท่วม เงินค่าตอบแทนก็ไม่ออกค้างชำระ ประสบปัญหาความเดือดร้อนนะครับ ก็อยากให้ทาง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการจ่ายที่ค้างชำระด้วยครับ

นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ นราธิวาส ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ผลสืบเนื่องมาจากปัญหาน้ำท่วมช่วงปลายปีที่ผ่านมาในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่นราธิวาสมีการลงทะเบียนเงินเยียวยาให้กับ ชาวเกษตรกรที่เป็นเจ้าของไร่สวน โดยเฉพาะสวนทุเรียนหรือสวนอื่น ๆ นะครับ ปรากฏว่า ตอนนี้หลายครัวเรือนที่ยังไม่ทันลงทะเบียน เนื่องจากไม่ทราบ ขาดการประชาสัมพันธ์ อยากให้มีการขยายระยะเวลาให้มีการลงทะเบียน แล้วก็ให้มีการผ่อนปรนในเรื่องของ การแสดงเอกสารสิทธิ เพราะว่าหลาย ๆ ครอบครัวมีการถือครองที่ดินโดยไม่มีเอกสารสิทธิ และได้รับผลเสียหายจากอุทกภัยน้ำท่วมที่ผ่านมาครับ

นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ นราธิวาส ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ เป็นเรื่องที่ผมเคยนำมาหารือแล้วครั้งหนึ่ง แต่ว่ารอบนี้ขออีกครั้งครับ เนื่องจากว่าที่ดินที่ตั้งของมัสยิดบ้านซอแด๊ะ ตำบลโคกสะตอ อำเภอรือเสาะตั้งอยู่ ในนิคมสร้างตนเองศรีสาคร ซึ่งการจดทะเบียนมัสยิดต้องได้รับความยินยอมจากกระทรวง พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบนิคมสร้างตนเอง ศรีสาครนะครับ ทางนิคมสร้างตนเองศรีสาครได้มีหนังสือถึงกระทรวงพัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์แล้วนะครับ รอให้อธิบดีอนุมัติก็จะได้มีหนังสือยื่นขอจดทะเบียนแล้วก็ จะได้รับสิทธิต่าง ๆ ของมัสยิดและโรงเรียนตาดีกาในพื้นที่ด้วยครับ

นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ นราธิวาส ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย ผมได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องที่ใช้บริการในสนามบินสุวรรณภูมิ กับสนามบินดอนเมือง ปัญหาความเดือดร้อนตอนนี้คือในห้องน้ำของสนามบินทั้ง ๒ แห่ง ไม่มีสายฉีดน้ำเลยนะครับ แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะแต่คนในประเทศเราที่ใช้บริการที่ไม่ได้รับ ความสะดวก คนต่างชาติที่เดินทางมา ผมก็ได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องมาเลเซีย พี่น้อง อินโดนีเซีย ทำไมสนามบินบ้านเราไม่มีสายฉีดน้ำ อยากให้มีหนังสือถึงท่าอากาศยาน แห่งประเทศไทยและกระทรวงคมนาคมเร่งแก้ไข เรื่องใส่สายฉีดน้ำให้ทุกห้องน้ำในสนามบิน คงใช้งบประมาณไม่มากครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย ครับ

นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย นครสวรรค์ ต้นฉบับ

กราบเรียนประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครสวรรค์ เขต ๒ พรรคเพื่อไทย

นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย นครสวรรค์ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ผมได้รับหนังสือจากกำนันบรรชา ชื่นชาติ ตำบลหนองกรด พี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตร เนื่องจากแก้มลิงบ้านศรีอุทุมพรที่มีสภาพตื้นเขิน ขาดการพัฒนามาเป็นเวลานาน องค์การ บริหารส่วนตำบลหนองกรดได้รับทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน มานานแล้ว แต่เนื่องจากองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกรดมีงบประมาณไม่เพียงพอ ต่อการดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน จึงขอความอนุเคราะห์ชลประทานนครสวรรค์ ดำเนินการขุดลอกแก้มลิงบ้านศรีอุทุมพร ตำบลหนองกรด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการ กักเก็บน้ำ ทั้งนี้องค์การบริหารส่วนตำบลหนองกรดยินดีมอบพื้นที่ให้เมื่อเริ่มดำเนินการ โครงการดังกล่าว

นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย นครสวรรค์ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เขต ๓๕ ได้รับหนังสือจากองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำทรง ขอความคืบหน้าการจัดระเบียบสายสื่อสาร ตามคำร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ ตำบลน้ำทรง สำนักงาน กสทช. เขต ๓๕ ลงพื้นที่ตรวจสอบเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๖ พบว่าสายสื่อสารบริเวณจุดร้องเรียนได้รับการแก้ไขแล้วบางส่วน แต่ยังพบสายสื่อสาร ของหลายหน่วยงานอีกเป็นจำนวนมาก อยู่ในสภาพที่ไม่เป็นระเบียบและอาจส่งผลกระทบ ต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนได้ ขอให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่เป็นเจ้าของ สายสื่อสารดังกล่าวแก้ไขปัญหาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชนตำบลน้ำทรง ด้วยครับ

นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย นครสวรรค์ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูบึงน้ำทรงพร้อมระบบกระจายน้ำด้วยพลังงาน แสงอาทิตย์ หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๑๐ ตำบลน้ำทรง อำเภอพยุหะคีรี ปัจจุบันเกษตรกร ในตำบลน้ำทรง อำเภอพยุหะคีรี ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีความจำเป็นต้องใช้น้ำ บึงน้ำทรง ซึ่งมีสภาพตื้นเขินไม่สามารถกักเก็บน้ำได้เต็มศักยภาพ ก่อให้เกิดการขาดแคลนน้ำ อุปโภค และไม่สามารถทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้งได้ พี่น้องประชาชนตำบลน้ำทรง จึงขอสนับสนุนงบประมาณโครงการฟื้นฟูหนองน้ำทรง กราบขอบพระคุณท่านประธานสภา ที่เคารพครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านวชิราภรณ์ กาญจนะ ครับ

นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี พรรครวมไทยสร้างชาติค่ะ วันนี้ดิฉันขออนุญาตหารือท่านประธาน

นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

เรื่องแรก ก่อสร้างทางคู่ขนานเพิ่มช่องจราจรจากจุด Check In ไปจนถึง ทางเข้าเทศบาลตำบลเขานิพันธ์ อำเภอเวียงสระ เนื่องจากจุดดังกล่าวมีปริมาณการจราจรสูง และเกิดอุบัติเหตุบ่อย ดิฉันจึงอยากขอให้มีการดำเนินการก่อสร้างทางคู่ขนานทางลอด สำหรับรถเล็ก ระบบระบายน้ำและติดตั้งไฟส่องสว่างพร้อมป้ายจราจร

นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ แก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุบ่อย และน้ำท่วมขังบริเวณ หน้าโรงพยาบาลเคียนซาหรือตลาดปรายหริก อำเภอเคียนซา เนื่องจากบริเวณดังกล่าว เป็นย่านชุมชนตลาดมีปริมาณการจราจรสูง แต่ไม่มีที่กั้นระหว่างเลนสวน จึงเกิดอุบัติเหตุบ่อย รวมไปถึงบางจุดระบบระบายน้ำไม่สามารถระบายน้ำออกจากถนนได้ ดิฉันจึงอยากขอให้ มีการสร้างเป็นถนนคอนกรีต สร้างเกาะกลาง เพื่อแบ่งช่องจราจร ระบบระบายน้ำ ขุดลอก ถางป่าริมถนนและติดตั้งสัญญาณไฟพร้อมป้ายจราจร

นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ แก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังบนถนนชลประทานใต้เชื่อมต่อตำบล เพิ่มพูนทรัพย์กับตำบลลำพูน บริเวณสามแยกบ้านกอบแกบ หมู่ที่ ๕ ตำบลลำพูน บริเวณ สามแยกบ้านกอบแกบ อำเภอบ้านนาสาร เนื่องจากถนนมีสภาพต่ำกว่าบ้านเรือน ไม่มีคูระบายน้ำและแหล่งทิ้งน้ำ ในช่วงฝนตกหนักน้ำจะท่วมถนน ดิฉันจึงอยากขอให้มี การสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม

นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย แก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งและน้ำท่วมขังบนถนนพูลศิริ ระหว่าง กม.๔๓ ถึง กม.๔๔ ในพื้นที่ตลาดเทศบาลเมืองนาสาร อำเภอบ้านนาสาร เนื่องจาก บริเวณดังกล่าวเป็นย่านชุมชนตลาดมีปริมาณการจราจรสูง ถนนเป็น ๔ ช่องจราจร เกาะกลางแถบสีไม่มีที่กั้นระหว่างเลนสวนจึงเกิดอุบัติเหตุบ่อย รวมไปถึงบางจุดระบบ ระบายน้ำไม่สามารถระบายน้ำออกจากถนนได้ ดิฉันจึงอยากขอให้มีการสร้างเกาะกลางถนน ทางเท้าและระบบระบายน้ำ ซึ่งโครงการต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมานี้แขวงทางหลวงสุราษฎร์ธานีที่ ๓ ได้ทำโครงการเสนอขึ้นไปแล้ว แต่เรื่องก็เงียบหายไป ดิฉันจึงอยากฝากท่านประธาน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการด้วยค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านรัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ ครับ

นายรัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ ตาก ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม รัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตาก เขต ๒ พรรคก้าวไกล วันนี้ ผมขอหารือกับท่านประธานเกี่ยวกับปัญหาอากาศเป็นพิษที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของคนแม่สอด ท่านประธานครับ วันนี้พี่น้องคนแม่สอดไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ ปอดอักเสบครับ ไปเอกซเรย์ บางคนปอดก็เป็นฝ้า เด็กเลือดออกจมูก ผู้ใหญ่ไอเป็นเลือด บางคนหนักกว่านั้น ไปตรวจพบว่า เป็นมะเร็งปอด ทั้งที่พวกเขาไม่ได้สูบบุหรี่ ปัญหาเกิดจากอะไร ปัญหาเกิดจากพี่น้องเกษตรกร ที่ปลูกอ้อย ผมเข้าใจเขาครับ เพราะว่าการที่จะไถกลบ การนำใบและยอดคลุมดินหรือทำ ปุ๋ยหมักมีต้นทุนครับ เกษตรกรอยู่ไม่ได้ หากต้นทุนสูง กำไรน้อย และยังเพิ่มขั้นตอน การกำจัดซังด้วยวิธีต่าง ๆ เหล่าร้ายที่คุกคามโลกมาในรูปแบบไฟแช็กเพียง ๑๐ บาท ต้นทุน ชัดเจนครับ ๑๐ บาท มันกลืนจิตวิญญาณได้อย่างง่ายดาย มี Viral หนึ่งจากกลุ่มเกษตรกร จังหวัดลพบุรี Post ว่า ถ้าจะไม่เผาอ้อยรักษาสิ่งแวดล้อมก็ต้องประมาณนี้นะรัฐบาล

นายรัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ ตาก ต้นฉบับ

นี่ครับ ไม่ว่าจะต้นทุนจากการใช้รถตัดอ้อย ไถลาก ๑๐ ล้อ ไม่รู้กี่ล้านบาทกับการขายอ้อยได้เพียงตันละไม่กี่พันบาท ท่านประธานครับ อย่าปล่อยให้พวกเขาต้องต่อสู้กับไฟแช็ก ๑๐ บาทเลยครับ และอย่าทำให้คนไทยปอดพัง ไปมากกว่านี้อีกเลยครับ ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลแล้วก็เร่งแก้ไขด้วย ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านนิคม บุญวิเศษ ครับ

นายนิคม บุญวิเศษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ กระผม นายนิคม บุญวิเศษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กระผม ขอหารือท่านประธาน ๒ เรื่องครับ

นายนิคม บุญวิเศษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ประชาชนจากหมู่บ้าน Casa Grand ถนนราชพฤกษ์-รัตนาธิเบศร์ ตำบลบางรักน้อย อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ได้แจ้งปัญหาเรื่องยุงลายและกลิ่นเหม็น ที่มาจากคลองบางรักใหญ่ เนื่องจากในคลองมีสภาพน้ำไม่ไหลเวียน จึงทำให้เป็นที่แพร่พันธุ์ ของยุงลายที่เป็นแหล่งก่อให้เกิดโรคไข้เลือดออกหลายสายพันธุ์ รวมถึงที่มีผลกระทบต่อ ระบบทางเดินหายใจของประชาชน เนื่องจากน้ำในคลองเน่าเสียส่งกลิ่นเหม็น จึงขอให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปช่วยเหลือแก้ไขให้ประชาชนในเขตนั้นด้วยครับ

นายนิคม บุญวิเศษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจาก นายวัน อยู่บำรุง อดีต สส. พรรคเพื่อไทย ท่านได้ห่วงใยพี่น้องชาวหนองแขม ชาวบางบอน จึงฝากให้ผมติดตามเรื่องที่ท่านเคยหารือ ในสภาหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่รับการแก้ไขครับท่านประธาน

นายนิคม บุญวิเศษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

๑. ปัญหาการจราจรติดขัดอย่างมากบริเวณแยกบางบอน ๑ บางบอน ๒ บางบอน ๓ บางบอน ๕ จึงเสนอให้สร้างสะพานข้ามแยกหรืออุโมงค์ลอดแยก จะลดปัญหา การจราจรติดขัดได้

นายนิคม บุญวิเศษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

๒. ปัญหาถนนเอกชัยวิ่งมาที่ถนนกาญจนาภิเษก ตรงบริเวณนั้นเป็นคอขวด รถติดขัดมาก เสนอให้สร้างสะพานเชื่อมระหว่างสะพานข้ามถนนกาญจนาภิเษกครับ

นายนิคม บุญวิเศษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

๓. ปัญหาถนนเพชรเกษม ๖๙ ถนนเพชรเกษม ๘๑ ตรงคอสะพานข้ามคลอง ภาษีเจริญเป็นคอขวดทั้ง ๒ จุด จึงเสนอให้ขยายถนนและขยายสะพาน จะแก้ไขปัญหา การจราจรติดขัดได้

นายนิคม บุญวิเศษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

๔. ปัญหาการจราจรถนนกัลปพฤกษ์ พุทธสาคร รถที่มาจากถนนสีลม ถนนสาทร มาบรรจบที่ถนนกาญจนาภิเษก ทำให้การจราจรติดขัดมาก นายวันเสนอให้สร้าง สะพานข้ามถนนกาญจนาภิเษกผ่านบางบอน ๓ บางบอน ๔ บางบอน ๕ ไปถนนเศรษฐกิจ พุทธสาคร จังหวัดสมุทรสาคร จะทำให้ลดปัญหาการจราจรติดขัดได้ จึงขอหารือผ่าน ท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเร่งแก้ปัญหาให้ชาวบางบอน หนองแขมด้วยครับ ขอบคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านนพดล ทิพยชล ครับ

นายนพดล ทิพยชล นนทบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นพดล ทิพยชล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดนนทบุรี เขต ๔ อำเภอปากเกร็ด พรรคก้าวไกล วันนี้ผมมีเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชน เพื่อมาหารือกับท่านประธานอยู่ ๓ เรื่อง ดังนี้

นายนพดล ทิพยชล นนทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ปัญหาสายไฟฟ้า สายสื่อสารครับ สายไฟฟ้า สายสื่อสารนี้อยู่บน ถนนแจ้งวัฒนะและถนนติวานนท์ ตอนนี้มีสภาพรกรุงรังพันกันมั่วไปหมดครับท่านประธาน มองดูไม่เป็นระเบียบ หย่อนคล้อยลงมาบนทางเดินทางเท้าบ้างนะครับ จากภาพสไลด์ ที่ปรากฏ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการจัดระเบียบสายไฟ สายสื่อสารไปแล้วบ้างในบางจุด แต่ยังคงไม่นำสายเก่าที่ไม่ได้ใช้งานแล้วออก ทำให้สายไฟหรือสายสื่อสารยังคงรกรุงรัง อยู่เหมือนเดิม ก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชนที่สัญจรไปมาและยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ ของเมืองอีกด้วย ผมจึงเรียนผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการ จัดระเบียบสายไฟ สายสื่อสารให้เป็นระเบียบมากยิ่งขึ้นครับ

นายนพดล ทิพยชล นนทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ก็ยังคงอยู่ที่ถนนแจ้งวัฒนะนะครับ ที่ตอนนี้ชาวบ้านประชาชนแถวนั้น เขาบอกผมว่ากลายเป็นถนนแจ้งมรณะไปแล้วนะครับ ถนนใหญ่ใจกลางเมืองปากเกร็ดที่พื้นผิว ถนนเป็นคลื่น ทางเดินเท้าผุพัง ฝาท่อเห็นแล้วท้อเลยครับท่านประธาน จากภาพสไลด์ และวิดีโอที่ปรากฏ จะเห็นได้ว่าพื้นผิวถนนยังคงเป็นคลื่นอยู่ ทางเดินเท้าตั้งแต่แยกไฟแดง เมืองทองธานีจนถึงเซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ ทางเดินเท้าเป็นหลุมเป็นบ่อ แตกหัก ฝาท่อชำรุด เปิดโล่งก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชนที่ใช้ทางเดินเท้าสัญจรทุกวันเป็นอย่างมาก ผมจึงเรียน ผ่านท่านประธานไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมถึงกรมทางหลวง ปรับปรุงสภาพถนน และทางเดินเท้าบนถนนแจ้งวัฒนะให้กลับมาสู่สภาพดีเช่นเดิมด้วยครับ

นายนพดล ทิพยชล นนทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ เรื่องสุดท้ายครับท่านประธาน การติดตั้งป้ายจราจรเตือนบริเวณ แยกไฟแดง หมู่บ้านสหกรณ์ ๓ ฝั่งถนนติวานนท์ ซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่มีรถสัญจรผ่านไปมา ค่อนข้างหนาแน่น จากภาพสไลด์ที่ปรากฏจะเห็นว่าแยกไฟแดงนี้มีทั้งจุดกลับรถ ให้รถตรง เลี้ยวซ้ายขวา วิ่งตัดถนนติวานนท์เข้าออกเพื่อเป็นทางลัดมายังถนนเลี่ยงเมืองปากเกร็ด จะมีทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและรถประจำทางสาธารณะสัญจรผ่านตลอดเวลา ซึ่งมีสัญญาณ ไฟจราจรตรงทางออกไปยังถนนติวานนท์ มีแต่ลูกศรตรงไปกับเลี้ยวขวา แล้วเป็นจุดกลับรถ อยู่ด้านขวา ผู้ขับขี่เกิดความสับสนมากครับ คิดว่าเลี้ยวซ้ายผ่านตลอดไม่ต้องรอสัญญาณไฟ จนทำให้เกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง ผมจึงฝากท่านประธานผ่านไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวง คมนาคมถึงกรมทางหลวง ช่วยติดตั้งป้ายสัญญาณเตือนเลี้ยวซ้ายโปรดรอสัญญาณไฟ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านรุ่งโรจน์ ทองศรี ครับ

นายรุ่งโรจน์ ทองศรี บุรีรัมย์ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ รุ่งโรจน์ ทองศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเซราะกราว จังหวัดบุรีรัมย์ สวัสดีคับ พี่น้องบ้านเฮา ซมกราบสวัสดี แมอาวบอวปะโอน กรุ๊ป ๆ คะเนียนนะบาท แซมซายกุนะกุได เสื้อสวย ๆ ที่ผมใส่วันนี้ ผ้าไหมลายเสาวรสคชสาร อำเภอโนนแดง และที่อำเภอบ้านกรวด ผ้าไหมลายเครื่องเคลือบ จะมีงานประเพณีบ้านกรวด เครื่องเคลือบพันปี ในวันที่ ๑-๕ ยิ่งใหญ่อลังการงานสร้าง ขอเรียนเชิญทุกท่านครับ อำเภอละหานทราย ผ้าลายทราย ผไทรวมพล อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ผ้าภูอัคนี ของดีจังหวัดบุรีรัมย์ ขอนำปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องสู่การแก้ไขครับ

นายรุ่งโรจน์ ทองศรี บุรีรัมย์ ต้นฉบับ

๑. เรื่องช้างป่า เป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา บ้านระแนะ ๓ แท่นทัพไทย ตำบลหนองแวง ช้างป่าได้มาพังกระท่อมและทำร้ายคนเป็นแม่ จนเสียชีวิต ทิ้งลูกน้อยไว้ ๒ คน กำพร้าทั้งพ่อและแม่ ที่บ้านหนองบอน ตำบลลำนางรอง ได้ทำร้ายชาวบ้านจนเสียชีวิตขาด ๒ ท่อน การเยียวยาและการช่วยเหลือในเกณฑ์ช่วยเหลือ น้อยมาก ต้องเข้าใจชีวิตของคนที่อยู่ชายขอบ อยู่ชายแดน ที่ต้องอยู่บนความเสี่ยงตลอดเวลา เขาไม่มีทางเลือก ขอให้ปรับเกณฑ์การช่วยเหลือให้มากขึ้น ให้เพียงพอ และควรมีประกัน หรือกองทุนเพื่อขวัญกำลังใจพี่น้องบ้านเรา เรื่องช้างป่าต้องเป็นวาระแห่งชาติเพื่อหาทางออก ร่วมกัน และปัญหาทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวันจนชาวบ้านรับไม่ได้แล้วครับ

นายรุ่งโรจน์ ทองศรี บุรีรัมย์ ต้นฉบับ

๒. เรื่องโรงเรียน ขอขอบคุณที่กระทรวงศึกษาธิการคืนภารโรงให้โรงเรียน ขอฝากเรื่องอาหารกลางวันเด็กนักเรียนอนุบาลถึง ป.๖ วันละประมาณ ๒๒ บาท ที่ซ้ำร้าย โรงเรียนขยายโอกาสถึง ม. ๓ ในชนบททุรกันดาร ม. ๑ - ม. ๓ ต้องห่อข้าวมากินเอง ซึ่งล้วนแล้วแต่ คนยากจน ถ้าไม่ห่อมาก็อด ถ้าไปกินกับน้อง ๆ ก็ผิดระเบียบจนครูต้องไล่ออก ขอเพิ่มงบ และให้ค่าตอบแทน ม. ๑ - ม. ๓ โรงเรียนขยายโอกาสด้วยครับ

นายรุ่งโรจน์ ทองศรี บุรีรัมย์ ต้นฉบับ

๓. เรื่องถนน ช่วยเร่งเรื่องช่องตะโกบนทางหลวงหมายเลข ๓๘ กำลังทำ EIA รอบที่ ๕ สุดท้าย รีบสรุปเพื่อทำประชาพิจารณ์และตั้งงบก่อสร้าง เพราะชาวบ้านเดือดร้อน มาก ๆ ครับ รุ่งโรจน์ ทองศรี ผู้แทนเซราะกราว ซมดะเบลอยบันแต๊กนะบาด นะโม พุทธายะ อุมะ มะอุ อุอะ อะอุ จงสำเร็จ จงสำเร็จ จงสำเร็จ โอมเพี้ยง

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต้องเห็นใจชวเลขด้วยนะครับ เพราะจดตามยาก แต่ขอบคุณนะครับ เป็นภาษา ที่เพราะมากครับ ขอเชิญท่านรัชนี พลซื่อ ครับ

นางรัชนี พลซื่อ ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางรัชนี พลซื่อ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๓ พรรคพลังประชารัฐค่ะ วันนี้ดิฉันขอหารือท่านประธานเรื่องปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในการ สัญจรไปมา ดังนี้

นางรัชนี พลซื่อ ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

๑. ถนนของกรมทางหลวง หมายเลข ๒๔๑๘ ซึ่งเป็นทางหลักเชื่อมอำเภอ โพนทอง-เมยวดี และอำเภอหนองพอก ระยะทาง ๔๐ กิโลเมตรเศษ ช่วงที่ผ่านหมู่บ้านชุมชน มีสภาพแคบเป็นคอขวด ไม่สะดวกในการสัญจรไปมา โดยเฉพาะที่ผ่านบ้านชุมพร ตำบลชุมพร อำเภอเมยวดี จึงขอหารือท่านประธานผ่านไปยังกรมทางหลวงให้เร่งรัด ขยายถนนเป็น ๔ ช่องจราจร ตลอดเส้นทางหมู่บ้านและชุมชน พร้อมติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง ให้ด้วยค่ะ

นางรัชนี พลซื่อ ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

๒. ถนนช่วงที่ผ่านชุมชนเทศบาลตำบลเมยวดี อำเภอเมยวดี มีการก่อสร้าง ถนนทางหลวงแผ่นดินปิดทางน้ำเดิม เมื่อฤดูฝนที่ผ่านมาทำให้น้ำท่วมขังบริเวณห้าแยก บ้านหนองนกเขียน สูงประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ขังอยู่นานหลายวัน ทำให้เกิดความเดือดร้อน จึงขอหารือท่านประธานผ่านไปยังกรมทางหลวงให้เร่งรัดก่อสร้างท่อระบายน้ำบริเวณ ดังกล่าวด้วยค่ะ

นางรัชนี พลซื่อ ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

๓. ถนนทางหลวงชนบท หมายเลข ๔๐๔๐ จากแยกไฟสัญญาณจราจร บ้านคำโพนสูงไปบ้านบะยาว บ้านหนองบัว บ้านโชคอำนวย บ้านหนองหว้า ตำบลกกโพธิ์ ไปยังบ้านฉวะถึงเทศบาลตำบลหนองพอก อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นเส้นทาง ที่ประชาชนใช้สัญจรไปมา และขนพืชผลทางการเกษตรเข้าสู่ตลาดอำเภอหนองพอก ในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก มีสภาพชำรุด เสียหายมาก เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ พี่น้องประชาชน จึงขอหารือท่านประธานเพื่อให้กรมทางหลวงชนบทดำเนินการซ่อมสร้าง ถนนดังกล่าวเป็นการเร่งด่วนด้วยค่ะ

นางรัชนี พลซื่อ ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

๔. ถนนกรมทางหลวงชนบท หมายเลข รอ.๔๐๐๗ เส้นทางบ้านวังยาว อำเภอโพนทอง ไปบ้านหนองกุง อำเภอเสลภูมิ สร้างมานานนะคะ มีการซ่อมเป็นช่วง ๆ เหลืออีก ๒ ช่วง ที่ยังชำรุดเสียหาย คือช่วงบ้านสว่าง ตำบลสว่าง ไปบ้านคำพระ ตำบลสว่าง ระยะทาง ๒ กิโลเมตร และช่วงบ้านพรหมจรรย์ ตำบลโคกกกม่วง อำเภอโพนทอง ไปบ้านสีเสียด ตำบลศรีวิลัย อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ระยะทาง ๒ กิโลเมตร จึงขอหารือท่านประธานผ่านไปยังกรมทางหลวงชนบท เพื่อจัดงบประมาณปรับปรุง ซ่อมสร้างโดยเร่งด่วนด้วย ขอบพระคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านสหัสวัต คุ้มคง ครับ

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม สหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี เขต ๗ พรรคก้าวไกลครับ ขอปรึกษาหารือกรณีแหล่งโบราณคดีโคกพนมดีที่ไม่ได้รับการบำรุงดูแลรักษาและติดขัด เรื่องงบประมาณครับ

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

แหล่งโบราณโคกพนมดีอยู่ในพื้นที่อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรีแหล่งโบราณคดีนี้ เป็นแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์มีความสำคัญมาก ในเชิงการศึกษา เป็นพื้นที่ก่อนประวัติศาสตร์ ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ ปี ท่านประธานครับ เป็นไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่มีร่องรอยของกลุ่ม Polynesians หรือกลุ่มชนเผ่าริมชายฝั่ง ซึ่งถือว่าหายากมากในไทยครับ ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมที่นี่ร่วมกับคุณภานุพงศ์ คำมูลอามาตย์ อดีตผู้สมัคร สส. ของพรรคก้าวไกล และพบว่าเป็นแหล่งความรู้ที่ดีมาก ทางกรมศิลปากร ได้ทำตัวอาคารจัดแสดงนิทรรศการไว้ดีมาก มีทั้งหลุมขุด แบบจำลองข้าวของเครื่องใช้ และการจำลองวิถีชีวิตของมนุษย์ยุคโบราณก่อนประวัติศาสตร์ ช่วยให้เราเข้าใจที่มาที่ไป ของบริเวณภาคตะวันออกในยุคโบราณได้ดียิ่งขึ้น หากดูในภาพนี้จะเห็นว่าทางกรมศิลปากร ได้จำลองสิ่งต่าง ๆ พร้อมสื่อวีดิทัศน์ต่าง ๆ ไว้อย่างสมบูรณ์ ควรผลักดันให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ให้นักเรียนในพื้นที่ภาคตะวันออกได้มาศึกษาเรียนรู้ทัศนศึกษาความเป็นมาของท้องถิ่นตัวเอง เราสามารถสร้างเป็นเส้นทางประวัติศาสตร์การเรียนรู้ได้ เช่น เรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ ก็มาดูที่นี่โคกพนมดี ถ้ายุคประวัติศาสตร์อาจไปที่เมืองศรีมโหสถ เพื่อเรียนรู้ในยุคทวารวดีต่อ

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

ปัญหาที่เกิดขึ้นคืออย่างนี้ครับท่านประธาน ก่อนหน้านี้กรมศิลปากร ได้ทำการขุดค้นและสร้างอาคารสถานที่ไว้ให้ ๒ อาคาร ภายในพื้นที่ของวัดโคกพนมดี ประกอบด้วยอาคารนิทรรศการ ๑ อาคาร และอาคารอเนกประสงค์อีก ๑ อาคาร ซึ่งก่อนหน้านี้ทางกรมศิลปากรเป็นคนดูแลครับ แต่เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ที่ผ่านมา ก็ส่งมอบ กุญแจอาคารและมอบอำนาจให้กับ อบต. ท่าข้าม เป็นผู้ดูแล ปัญหาอยู่ที่ตรง อบต. ท่าข้าม เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็ก ไม่ได้มีงบประมาณในการดูแลมากเพียงพอ ซึ่งวันนี้ ที่นี่แทบจะถูกทิ้งร้าง ทาง อบต. โดยนายก อบต. คุณนิยม ราชนิยม พยายามให้มีคนเข้าไป ดูแล แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ตอนนี้พื้นที่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เช่นนี้ไม่สามารถเข้าชม ได้อย่างสะดวกนะครับ ถ้าวันนี้ผมจะไปเข้าชมต้องติดต่อไปทาง อบต. ก่อนล่วงหน้า ๑ วัน เพราะไม่มีงบประมาณในการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ตอนผมไปคนที่ดูแลอาคารสถานที่ก็ต้องไป ต่อน้ำต่อไฟให้ผมเข้าเยี่ยมชมครับ ปัญหาหนึ่งอาคารอเนกประสงค์เหล่านี้มีสภาพที่ไม่สมบูรณ์ ไม่พร้อมส่งมอบ ถ้าดูในภาพจะเห็นเลยครับ ประตูพัง หลอดไฟพัง ฝ้าเพดานต่าง ๆ พังหมด แอร์ก็ติดตั้งไม่เสร็จ สถานการณ์ตอนนี้คือ อบต. ก็ยังไม่ได้รับตัวอาคารมาเต็มตัว เนื่องจาก เกิดสภาวะสุญญากาศ ซึ่งก็อาจจะต้องเร่งส่งมอบในเร็ววัน อย่างไรก็ตามกรมศิลปากรก็ควร ต้องไปจัดการสิ่งต่าง ๆ ให้เรียบร้อยก่อนครับ ผมขอปรึกษาหารือท่านประธานผ่านไปยัง กรมศิลปากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครับ ๑. ทางกรมศิลปากรจะสามารถปรับปรุงอาคาร สถานที่ให้เรียบร้อยก่อนที่จะส่งมอบไปทาง อบต. ได้หรือไม่ ๒. จะมีทางไหนที่สนับสนุน งบประมาณให้กับทาง อบต. ไปดูแลเรื่องนี้ได้หรือไม่ ผมเป็นคนที่สนใจประวัติศาสตร์ครับ ท่านประธาน ผมอยากเห็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นถูกให้ความสำคัญมากขึ้น ไม่ใช่มีแต่ ประวัติศาสตร์แห่งชาติ แล้วแหล่งโบราณคดีเก่าแก่เช่นนี้และมีคุณค่าเช่นนี้ ควรถูกให้ ความสำคัญมากกว่านี้ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านอามินทร์ มะยูโซ๊ะ ครับ

นายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ นราธิวาส ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส เขต ๒ อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอตากใบ จากพรรคพลังประชารัฐ วันนี้ผมมีเรื่องหารือผ่านท่านประธานด้วยกัน ๒ เรื่อง

นายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ นราธิวาส ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายกูฮาลิ่ม อูเซ็ง นายกองค์การ บริหารส่วนตำบลเกาะสะท้อน อำเภอตากใบ ถึงเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ในตำบลเกาะสะท้อนเกี่ยวกับเรื่องแสงสว่างครับ ตำบลเกาะสะท้อนมีประชากรกว่า ๑๒,๐๐๐ คน บ้านเรือนกว่า ๒,๕๐๐ ครัวเรือน ท่านประธานครับ ตำบลแห่งนี้กว่าครึ่งตำบล ยังขาดซึ่งแสงสว่างของถนนรอบเกาะ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่บนความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท และกรมชลประทาน พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศมาเลเซีย ควรและจำเป็น จะต้องมีไฟแสงสว่างตลอดแนว เพื่อลดปัญหาด้านความมั่นคงและความปลอดภัยของ พี่น้องประชาชนในพื้นที่ จึงฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยนะครับ

นายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ นราธิวาส ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ปัญหาอาคารเรียนภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการ ศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลายโรงเรียนมีสภาพชำรุด เนื่องจากอายุการใช้งานมาแล้วหลายสิบปี หลาย ๆ อาคารเรียนไม่เหมาะต่อการเรียนการสอน เลยครับ ทางโรงเรียนได้ทำหนังสือถึงต้นสังกัด เพื่อขออนุญาตรื้อถอนและขอให้มีการจัดสรร งบประมาณเพื่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ ปัจจุบันได้รับอนุญาตในการรื้อถอน แต่ยังไม่ได้รับ การจัดสรรงบประมาณสร้างอาคารหลังใหม่ จึงจำเป็นต้องขออนุญาตกลับมาใช้อาคารหลังเดิม ทางเขตเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ขอความอนุเคราะห์ผ่านไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่จังหวัดให้มาตรวจสอบอาคาร ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าอาคารเรียนหลาย ๆ โรงเรียน ไม่เหมาะที่จะใช้ทำการเรียนการสอน แต่ก็จำเป็นต้องใช้ ผมจึงมีความกังวลว่าอาจจะ เกิดเหตุไม่คาดคิดกับนักเรียนและอาจารย์ที่ใช้อาคารเรียนดังกล่าวนะครับ ผมในฐานะผู้แทน จึงเรียนประธานสภาผ่านไปยังรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ให้พิจารณาถึงเรื่องนี้เป็นการด่วน การศึกษา ระบบสาธารณูปโภค การท่องเที่ยวใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เร็ว ๆ นี้ท่านนายกรัฐมนตรีกำลังจะลงไปในพื้นที่ คาดหวังเหลือเกินครับว่าท่านนายกรัฐมนตรี จะพัฒนาในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านกมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล ครับ

นางสาวกมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล ระยอง ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ดิฉัน กมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง เขต ๑ พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันมีเรื่องหารือกับท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

นางสาวกมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล ระยอง ต้นฉบับ

คลิปที่ทุกท่านกำลังชมอยู่ ตอนนี้ก็คือสภาพของสายไฟ สายสื่อสาร บริเวณ ๒ ข้างทางถนนสุขุมวิทพื้นที่ชุมชนเมือง ตั้งแต่ช่วงตำบลเนินพระยาวไปจนถึงบริเวณแยกมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง จะเห็นว่ามีสายไฟ สายสื่อสาร ห้อยระโยงระยางพันกันไปมา บางส่วนก็มีความพยายาม ที่จะรวบเก็บแล้ว แต่ก็ยังดูไม่เรียบร้อย แล้วก็ดูไม่ปลอดภัยสำหรับประชาชนที่ใช้ทางเท้า ในบริเวณดังกล่าวด้วย ซึ่งสายเหล่านี้มีทั้งที่ยังใช้งานได้อยู่และบางส่วนก็เป็นสายที่ไม่ได้ ใช้งานแล้ว ดังนั้นเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและทัศนียภาพที่สวยงาม จึงขอเรียนท่านประธาน ผ่านไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดระยองให้เร่งบูรณาการประสานกับทุก ๆ หน่วยงานที่เป็น เจ้าของสายไฟ สายสื่อสารดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดระยอง กสทช. และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม รวมถึงหน่วยงานท้องถิ่นร่วมกันจัดเก็บสายไฟ สายสื่อสารให้เรียบร้อยและให้มีความปลอดภัยมากขึ้นด้วยค่ะ

นางสาวกมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล ระยอง ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ในช่วงนี้ดิฉันได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ อย่างหนาหูเลยนะคะ รวมถึงมีการร้องเรียนผ่านมาทางช่องทาง Social Media ว่ามีการ ติดตั้งตู้ Slot ไว้คอยดูดเงินคนหาเช้ากินค่ำ หลอกล่อพวกเขาด้วยความหวังในการเพิ่ม ช่องทางทางเศรษฐกิจที่ไม่ถูกต้อง จึงขอเรียนท่านประธานผ่านไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่กำกับดูแลในพื้นที่จังหวัดระยอง ให้ตรวจสอบและกวดขันการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าว และขอให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ช่วยเร่งดำเนินการปราบปรามผู้มีอิทธิพล ให้หมดสิ้นไปด้วย ขอบพระคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านวิชัย สุดสวาสดิ์ ครับ

นายวิชัย สุดสวาสดิ์ ชุมพร ต้นฉบับ

กราบเรียนประธานสภาที่เคารพ ผม วิชัย สุดสวาสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑ จังหวัดชุมพร พรรครวมไทยสร้างชาติ วันนี้ผมขอนำเรียนท่านประธาน ๒ เรื่องด้วยกันนะครับ

นายวิชัย สุดสวาสดิ์ ชุมพร ต้นฉบับ

เรื่องแรก ได้รับเรื่องร้องเรียนจากท่าน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าหิน ท่านธนิต พ่วงแม่กลอง และผู้ใหญ่มารุต เรียบร้อย ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๘ ตำบลท่าหิน โดยเฉพาะในเรื่องของคันกั้นคลื่นที่ทาง อบต. ได้มีงบประมาณ เพียงน้อยนิดก่อสร้างมาตลอด และแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาวประมงหัวเขาถ่านมาตลอดเวลา ณ ปัจจุบันนี้หลายสิบปีมีปัญหาตลอด เพราะฉะนั้นแล้วก็ขอนำเรียนท่านประธาน ด้วยความเคารพว่าเรือที่จอดของชาวประมงหลบคลื่นในหน้ามรสุมของภาคใต้ ถ้าเราไม่มี คันกั้นคลื่นแตกไปหลายลำทุกปี เพราะฉะนั้นก็ขอนำเรียนว่าไม่ว่าจะเป็นเรือและเป็นสถานที่พัก ของหมู่บ้านชาวประมงแห่งนี้อยู่ประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ ครัวเรือน มีปัญหาตลอด ก็ขอนำเรียน ท่านประธานด้วยความเคารพว่า อยากจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมเจ้าท่าและ กรมโยธาธิการและผังเมืองเข้าไปดูแลและแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน โดยด่วนที่สุด

นายวิชัย สุดสวาสดิ์ ชุมพร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากท่านประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ชุมพร ท่านไชยพงษ์ ทองคำ และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลด่านสวี ท่านสมชาติ เชาวนะปัญจะ ในเรื่องของการขอก่อสร้างถนนในโครงการแต่ละโครงการในพื้นที่คาบเกี่ยว โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ติดหน่วยอนุรักษ์หรือว่าป่าชายเลนที่มีถนนอยู่แล้ว แต่มาก่อสร้างเป็น ถนนที่มาตรฐานขึ้น ยกตัวอย่างเป็นถนนคอนกรีต ทำให้พี่น้องประชาชนได้รับผลประโยชน์ อย่างน้อย และขออนุญาตขอการใช้พื้นที่ด้วยความลำบากมาตลอด ท่านประธานครับ ก็ขอนำเรียนฝากถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขอให้บูรณาการร่วมกันกับ พี่น้อง

นายวิชัย สุดสวาสดิ์ ชุมพร ต้นฉบับ

อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของหมู่บ้าน Homestay ทั้งหมดในเขตพื้นที่จังหวัดชุมพร มีปัญหาในเรื่องของการขอเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยเฉพาะ ที่อ่าวคราม ที่ตำบลด่านสวีนั้น ได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว ผมไปพบปะกลุ่มแล้วเห็นว่าเขา เดือดร้อนเป็นอย่างสูง ก็คือในเรื่องของการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับการท่องเที่ยวระบบ Homestay เพราะฉะนั้นแล้วนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วก็เกิดปัญหาเรื่องไฟฟ้าตก ช่วยให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคนที่เกี่ยวข้องในเรื่องของไฟฟ้า ให้เข้าไปดูแลและแก้ไขปัญหา ให้กับการส่งเสริมการท่องเที่ยวในครั้งนี้ด้วย ขอกราบขอบพระคุณครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านชิตวัน ชินอนุวัฒน์ ครับ

นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย เขต ๑ อำเภอเมืองเชียงราย จากพรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ วันนี้ผมมีเรื่องเดือดร้อน ๒ เรื่อง ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ขอสไลด์ด้วยครับ

นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ

เรื่องแรก ปัญหาไฟฟ้าของประชาชน หมู่บ้านจะจ๋อ บ้านอาดี่ บ้านบ่อน้ำไก่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านบริเวณบ้านห้วยปูพัฒนา ตำบลด้อยฮาง ไม่มีไฟฟ้าใช้เป็นเวลานานเนื่องจากเป็นพื้นที่ป่า ก่อนหน้านี้ในปลายปี ๒๕๖๖ บ้านจะเด้อ ที่มีระยะห่างเพียงแค่มองข้ามปลายเขา หลังจากอยู่ในความมืดมายาวนานกว่า ๓๐ ปี เพิ่งได้ไฟฟ้าใช้ครับ ผมขอวิงวอนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งแสงสว่างในยามค่ำคืน เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนด้วยครับ

นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ แนวดำเนินการซ่อมแซมบำรุงรักษาประตูระบายน้ำฝายแม่กรณ์ บริเวณน้ำแม่กรณ์ บ้านป่าตึง หมู่ที่ ๔ ตำบลสันทราย อำเภอเมืองเชียงราย ได้ก่อสร้างขึ้นมา เมื่อประมาณปี ๒๕๔๘ เพื่อให้เกษตรกรและผู้ใช้น้ำได้มีน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภค เพื่อการเกษตรได้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี จากนั้นกรมชลประทานได้ถ่ายโอนภารกิจ ให้เทศบาลตำบลสันทรายดูแลตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ ปัจจุบันมีสภาพที่เสียหาย ชำรุด ไม่สามารถ ใช้งานได้ หากปล่อยทิ้งไว้อาจก่อให้เกิดความเสียหายมากขึ้น โดยเทศบาลได้ดำเนินการ ยื่นแบบเอกสารแบบแปลนขออนุญาตซ่อมแซมต่อกรมเจ้าท่า แต่กรมเจ้าท่าไม่สามารถ อนุญาตให้ดำเนินการได้ เนื่องจากขาดเอกสารประกอบ ที่สำคัญคือใบอนุญาตก่อสร้างครับ เทศบาลจึงสอบถามไปยังกรมชลประทานได้ให้คำตอบว่า ครั้งนั้นทางกรมชลประทาน ไม่ได้ดำเนินการขออนุญาตหรือไม่มีใบอนุญาตการก่อสร้าง จึงขอให้เทศบาลปฏิบัติ ตามระเบียบ ข้อบังคับและกฎหมาย ในการขออนุญาตต่อกรมเจ้าท่า สรุปคือต้องรื้อถอน ขออนุญาตก่อสร้างใหม่ ผมขออนุญาตหารือผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในกรณีนี้สามารถดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องได้อย่างไรบ้าง เพื่อประหยัดงบประมาณ เนื่องจาก การใช้งบประมาณในการปรับปรุงใช้เพียงแค่ ๘๐๐,๐๐๐ บาท แต่ถ้าทุบทิ้ง ก่อสร้างใหม่ ใช้มูลค่ามากกว่า ๑๐ ล้านบาท ท้ายนี้ผมเพียงมุ่งหวังว่าแสงสว่างบ้านหลังน้อยบนดอยสูง น้ำท่าเพียงพอต่อการเกษตร จะทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านนิกร โสมกลาง ครับ

นายนิกร โสมกลาง นครราชสีมา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นิกร โสมกลาง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๘ พรรคเพื่อไทยครับ ท่านประธานครับ วันนี้ผมจะขออนุญาตหารือความเดือดร้อนของพี่น้องอำเภอพิมาย และอำเภอชุมพวง ๓ เรื่อง

นายนิกร โสมกลาง นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ที่ตำบลสร้างตนเอง อำเภอพิมาย ผมได้รับการร้องเรียนจากพี่น้อง ประชาชนว่ากระทรวงคมนาคมได้ก่อสร้างขยายถนน หมายเลข ๒๐๖ จากอำเภอพิมาย เชื่อมบ้านหินดาด ซึ่งเป็นการดีมากครับ แต่ปัญหามีอยู่ว่าจุดกลับรถค่อนข้างไกลครับ ทำให้ประชาชนพี่น้องที่อยู่แถวนั้นไม่สามารถกลับรถได้สะดวก ก็อยากจะขอฝากท่านประธาน ไปยังกระทรวงคมนาคมช่วยลงไปสำรวจและหาแนวทางแก้ไขให้พี่น้องตำบลนิคมด้วยครับ

นายนิกร โสมกลาง นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ที่เมืองพิมายเป็นอำเภอที่มีแม่น้ำสำคัญหลายสายไหลผ่าน แต่ละปี มีทั้งปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งอยู่เรื่อย ๆ ครับ ยกตัวอย่าง เช่น พื้นที่บริเวณบ้านขามตามุข ตำบลธารละหลอด เป็นจุดที่ลำน้ำมูลไหลเข้าเขตอำเภอพิมาย การที่เราจะสามารถบริหาร จัดการน้ำให้ไม่ท่วม และมีน้ำเพียงพอให้พี่น้องใช้เพื่ออุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตร เราต้องสามารถควบคุมการไหลของน้ำได้ ผมอยากจะฝากท่านประธานไปยังกรมชลประทาน ช่วยลงไปดูสำรวจและแก้ไขให้ด้วยครับ

นายนิกร โสมกลาง นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย พี่น้องหมู่ที่ ๓ ตำบลโบสถ์ อำเภอพิมาย ได้ทำเรื่องขอจัดตั้ง หมู่บ้านใหม่แยกออกมา เพื่อให้การปกครองและการพัฒนาเป็นไปอย่างรวดเร็วและสะดวก ซึ่งตอนนี้ทางที่ว่าการอำเภอพิมายได้ส่งเรื่องทั้งหมดไปที่สำนักงานจังหวัดแล้ว ตั้งแต่เดือน กันยายน ปี ๒๕๖๕ ถึงตอนนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ครับท่านประธาน ผมจะขออนุญาตนำเรื่องนี้เป็นตัวอย่างหารือถึงแนวทางการทำงานเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของกระทรวงมหาดไทย ว่าเหตุใดจึงใช้เวลาพิจารณาถึง ๑ ปีกว่าครับ เรื่องนี้จริง ๆ ผมมั่นใจว่า พี่น้องประชาชนเข้าใจว่าขั้นตอนการทำงานมันช้า มันต้องใช้เวลา ต้องผ่านการตรวจสอบ หลายเรื่อง แต่สิ่งที่สำคัญที่ผมนำเรื่องนี้มาหารือที่สภาคือ ผมอยากให้ฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีการสื่อสารไปยังพี่น้องประชาชนบ่อย ๆ ครับ โดยเฉพาะเรื่องต่าง ๆ ที่เขาขอมา ที่เขายื่นมา ถ้าเขาไม่เดือดร้อนเขาไม่เดินมาหาพวกท่านหรอกครับ แต่ทำอย่างไร จะให้เขารู้ว่าท่านไม่ทิ้งเขา ท่านกำลังดำเนินการให้อยู่ เราต้องสื่อสารให้มากขึ้น วันนี้ขออนุญาตฝากไว้ ๓ เรื่อง ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านชาตรี หล้าพรหม ครับ

นายชาตรี หล้าพรหม สกลนคร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ชาตรี หล้าพรหม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร เขต ๒ สส. ลูกชาวนา พรรคประชาธิปัตย์ ท่านประธานที่เคารพครับ วันนี้ผมมีเรื่องที่จะหารือท่านประธาน อยู่ ๑ เรื่อง สืบเนื่องจากผมได้รับเรื่องร้องเรียนความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน บ้านนางอย หมู่ที่ ๔ ตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร จากท่านนายก เรืองทรัพย์ งอยจันทร์ศรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเต่างอย ซึ่งมีพี่น้องประชาชนอยู่ ๓๙ ครัวเรือน และ ๑ หน่วยงาน ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ในครัวเรือนและไฟฟ้าใช้ในการเกษตร เริ่มจากถนนสายโรงเรียนบ้านนางอยโพนปลาโหล-อ่างเก็บน้ำห้วยค้อ ระยะทาง ๗ กิโลเมตร ซึ่งเมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ ทางองค์การบริหารส่วนตำบลเต่างอย โดยท่านนายกเรืองทรัพย์ งอยจันทร์ศรี ได้ทำหนังสือขอขยายเขตไฟฟ้าถึงการไฟฟ้า ส่วนภูมิภาคจังหวัดสกลนครไปแล้ว แต่ก็ยังได้รับการดูแลแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้กับ พี่น้องประชาชนได้ ผมจึงขอฝากท่านประธานผ่านไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสกลนคร และการไฟฟ้าอำเภอเต่างอย ได้โปรดออกไปสำรวจ และเร่งหางบประมาณ เพื่อมาขยายเขตไฟฟ้าให้กับพี่น้องชาวบ้านนางอย ทั้ง ๓๙ ครัวเรือน และ ๑ หน่วยงาน ในตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย จะได้มีไฟฟ้าใช้เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา ความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนดังกล่าวด้วย ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านวรรณรัตน์ ชาญนุกูล ครับ

นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ผม นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติพัฒนากล้า ผมมีเรื่อง ที่จะขอหารือกับท่านประธานโดยตรงครับท่านประธาน ถึงแม้ว่าอาคารรัฐสภาของเรา จะถูกออกแบบมาให้เป็นอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นอาคารประหยัดพลังงาน แล้วก็ตาม แต่เมื่อวิเคราะห์ดูถึงสัดส่วนของการใช้พลังงานไฟฟ้าของอาคารรัฐสภาแล้ว ก็พบว่าพลังงานไฟฟ้า ๖๕ เปอร์เซ็นต์ ใช้ไปกับระบบปรับอากาศ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ใช้ไปกับ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง และอีก ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ใช้ไปกับระบบอื่น ๆ และเมื่อหันมาดูว่า ค่าไฟฟ้าที่รัฐสภาต้องจ่ายต่อเดือนแล้ว ก็จะพบว่าในช่วงที่เปิดสมัยประชุมค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ เดือนละประมาณ ๑๔.๙-๑๕ ล้านบาท ส่วนในช่วงที่ปิดสมัยประชุมค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ ๑๑.๗ ล้านบาท ทั้งปีรัฐสภาต้องจ่ายค่าไฟฟ้าประมาณ ๑๖๖ ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นค่าใช้จ่าย ที่ค่อนข้างสูงพอสมควรทีเดียวครับท่านประธาน ด้วยเหตุนี้ผมจึงใคร่อยากจะขอหารือ ท่านประธานว่า

นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประการแรก เป็นที่น่าสังเกตว่าเจ้าหน้าที่รัฐสภาส่วนใหญ่มักนิยมใส่เสื้อ Jacket มาทำงานกัน ถามว่าเพราะเหตุใด คำตอบคือเพราะอุณหภูมิในห้องทำงาน ทั้งในห้องประชุมกรรมาธิการ ห้องรับรอง และตลอดจนห้องทำงานส่วนตัวของ สส. อุณหภูมิ เย็นมาก จนต้องใส่เสื้อ Jacket มาทำงานกันทุกวัน ดังนั้นท่านประธานครับ เป็นไปได้ไหม ที่ท่านประธานจะสั่งการให้มีการปรับเพิ่มอุณหภูมิของระบบปรับอากาศให้สูงขึ้นสักเล็กน้อย ประมาณสัก ๑-๑.๕ องศาเซลเซียส เพื่อให้อุณหภูมิรัฐสภาของเรามีความเหมาะสม มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อเป็นการประหยัดพลังงานและประหยัดค่าใช้จ่ายของสภาเราอีกด้วย

นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อีกประการหนึ่ง ปกติแม่บ้านมักจะเปิดไฟ เปิดแอร์ในห้องทำงานของ สส. ทิ้งไว้ตลอดทั้งวัน ไม่ว่าจะมี สส. เข้าไปใช้ห้องทำงานหรือไม่ก็ตาม ก่อให้เกิดการสิ้นเปลือง และสูญเปล่าของพลังงานไฟฟ้าโดยใช่เหตุ และทำให้รัฐสภาต้องจ่ายค่าไฟฟ้าสูงขึ้น โดยไม่จำเป็นอีกด้วย ผมจึงใคร่ขอฝากให้ท่านประธานได้โปรดพิจารณาสั่งการให้พนักงาน ที่เกี่ยวข้อง เลิกเปิดไฟ เปิดแอร์ในห้องทำงานของ สส. ทิ้งไว้โดยไม่จำเป็นด้วยครับ ผมเชื่อเหลือเกินว่าท่าน สส. สามารถที่จะเปิดไฟ ปิดไฟ เปิดแอร์ต่าง ๆ ได้ด้วยตัวของท่านเอง โดยไม่มีปัญหาเดือดร้อนอยู่แล้ว ถ้าเราสามารถทำได้แบบนี้ ผมเชื่อว่านโยบายสิ่งแวดล้อม ของท่านประธานรัฐสภาก็สามารถที่จะบรรลุสู่ความเป็น Green Parliament ได้อย่างง่ายดาย ขอบคุณมากครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านศรีโสภา โกฏคำลือ ครับ

นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขต ๑๐ พรรคเพื่อไทยค่ะ วันนี้ดิฉันได้นำปัญหาในพื้นที่มาหารือกับท่านประธานจำนวน ๓ เรื่องค่ะ

นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ทั้ง ๔ อำเภอ ที่ดิฉัน รับผิดชอบอยู่นั้น ในปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมามีจำนวนผู้ป่วยสูงถึง ๑๔๗,๐๐๐ คน ยังมีการประสบ ปัญหาในการเข้าถึงด้านบริการสาธารณสุข เช่น ปัญหาของประชาชนที่ต้องเดินทางมายัง สถานพยาบาลที่มีความยากลำบาก โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนทำให้สภาพถนนไม่สามารถขนส่ง ผู้ป่วยไปรักษาได้ อีกทั้งจำนวนบุคลากรด้านสาธารณสุขยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้นเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน จึงอยากขอความอนุเคราะห์ ให้คณะกรรมการโครงการสุขศาลาพระราชทาน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเข้าร่วมพิจารณาเข้าช่วยเหลือพัฒนาศักยภาพของอาสาสมัคร สาธารณสุขและแกนนำผู้นำชุมชนในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ทั้ง ๔ อำเภอนี้สามารถเรียนรู้รักษาพยาบาลเบื้องต้น ลดอัตราการเสียชีวิต และเสริมสร้าง สุขอนามัยที่ดีในชุมชน ตลอดจนพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ ครู พยาบาล เพื่อทำการรักษา และส่งต่อสถานพยาบาลของภาครัฐต่อไป

นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ได้รับแจ้งปัญหาขาดแคลนสัญญาณสื่อสาร ทั้งสัญญาณโทรศัพท์ และสัญญาณอินเทอร์เน็ต ในพื้นที่ปางหินฝน ตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ค่อนข้างห่างไกลและมีความลำบากในการเดินทางสัญจรไปมา ดังนั้นเพื่อเป็นการ บรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว จึงอยากขอความอนุเคราะห์ ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าดำเนินการ สำรวจและขยายสัญญาณในพื้นที่ดังกล่าวเป็นการเร่งด่วนค่ะ

นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย โรงเรียนบ้านทัพ ตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีอาคารทอผ้า สำหรับการทอผ้าให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔-๖ ได้รับการเรียนรู้ การทอผ้าซิ่นตีนจก ที่มีการช่วยกันเสริมสร้างกิจกรรมต่อยอดความรู้และภูมิปัญญา ให้กับเยาวชน อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในการเผยแพร่วัฒนธรรมของแม่แจ่มที่เป็นการทอผ้า และปัจจุบันอาคารดังกล่าวมีความทรุดโทรมและไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร เพื่อเป็นการ ส่งเสริมกิจกรรมดังกล่าวนี้ จึงอยากขอความอนุเคราะห์ให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรมและ กระทรวงวัฒนธรรม โปรดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจและช่วยเหลือ เพื่อให้อาคารแห่งนี้ สามารถเป็นแหล่งการเรียนรู้วิถีชีวิตและส่งเสริมด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นให้อยู่คู่เมืองแม่แจ่ม ต่อไป ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับคณะนักเรียนและครูโรงเรียนบ้านดูวา อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี ขอบคุณที่มาเยี่ยมพวกเรานะครับ ขอเรียนเชิญท่านอานุภาพ ลิขิตอำนวยชัย ครับ

นายอานุภาพ ลิขิตอำนวยชัย สมุทรสงคราม ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายอานุภาพ ลิขิตอำนวยชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสมุทรสงคราม พรรคก้าวไกล วันนี้ผมมีข้อปรึกษาหารือมาเรียนท่านประธาน เพื่อประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้ ขอสไลด์ด้วยครับ

นายอานุภาพ ลิขิตอำนวยชัย สมุทรสงคราม ต้นฉบับ

เรื่องแรก ถนนทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๓๒๕ สมุทรสงคราม-บางแพ ช่วงที่ผ่านตำบลบ้านปรก มีจุดกลับรถ ๒ แห่ง ซึ่งอยู่ห่างกันเพียง ๑ กิโลเมตร คือจุดหน้าร้านศิริรักษ์ แล้วจุดที่ ๒ คือจุดหน้าร้าน ก๋วยเตี๋ยวหมูมะนาวเป็นจุดที่เสี่ยงอันตรายมากครับท่านประธาน เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จึงขอให้ท่านประธานประสานไปยังกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ดำเนินการปรับปรุง แก้ไขด้วยวิธีการติดตั้งสัญญาณไฟจราจร หรืออาจจะยุบจุดกลับรถเหลือเพียงจุดเดียว หรืออาจจะเป็นแนวทางอื่น ๆ ที่เห็นสมควร เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุลดการสูญเสียต่อไป ในอนาคตครับ

นายอานุภาพ ลิขิตอำนวยชัย สมุทรสงคราม ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ สะพานข้ามคลองหน้าวัดพักตรารามเชื่อมต่อระหว่างตำบลบ้านปรก กับตำบลคลองเขิน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เสาตอม่อชำรุดเสียหายอย่างมากครับ อยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมจะใช้งาน ประชาชนเกรงว่าจะเกิดอันตราย กระผมจึงขอฝากท่านประธาน ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดสมุทรสงคราม องค์การบริหาร ส่วนจังหวัดสมุทรสงคราม อบต. บ้านปรก อบต. คลองเขิน ให้รีบดำเนินการซ่อมแซม หรือก่อสร้างสะพานแห่งนี้ใหม่ทั้งหมดเลยด้วยครับ

นายอานุภาพ ลิขิตอำนวยชัย สมุทรสงคราม ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย กระผมได้รับแจ้งจาก นายธนธรณ์ ลิ้มสกุล หรือ สจ. ตุ๊ก สมาชิกสภา อบจ. จังหวัดสมุทรสงคราม ว่าระบบประปาของหมู่บ้าน หมู่ที่ ๗ ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ตัวหอถังมีสภาพชำรุด ฐานราก เสา คานเหล็ก ที่เสริมคอนกรีตเกิดสนิมจนระเบิด ทำให้คอนกรีตแตกร้าว สภาพหอถังเอียงคล้ายหอเอน เมืองปิซาเลยครับ เกรงว่าจะโค่นล้มถล่มลงมา รวมถึงน้ำบาดาลที่เจาะสูบขึ้นมาก็มีความเค็ม กระผมจึงขอให้ท่านประธานประสานไปยังกรมทรัพยากรน้ำบาดาลหรือหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหานี้ด้วย ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านยศวัฒน์ มาไพศาลสิน ครับ

นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน กาญจนบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ยศวัฒน์ มาไพศาลสิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี เขต ๓ พรรคภูมิใจไทย ท่านประธานครับ

นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน กาญจนบุรี ต้นฉบับ

เรื่องแรก ผมพูดมานานแล้วก็คือ เรื่องขอให้ซ่อมถนนสาย ๓๒๓ ซึ่งเป็นประตูสู่เมืองกาญจน์ ระยะเวลานานมากแล้ว โดยเฉพาะในส่วนที่เป็น กม. ๒๔ บริเวณทางเข้าวัดดงสัก ซึ่งประกอบไปด้วยผู้สัญจรหลัก ๆ ๔ ตำบลด้วยกัน มีอุบัติเหตุบ่อยครั้งมาก ตามรูปครับ เมื่ออาทิตย์ที่แล้วก็เพิ่งจะเกิดครับ เขาเรียกว่าแยกนี้จะเป็นแยกร้อยศพแล้วครับ แต่ว่ากรมทางหลวงนิ่งนอนใจ เราต้องการ ไฟแดง เพื่อที่จะลดอุบัติเหตุครับ

นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน กาญจนบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ๆ ผมเองให้เวลาในส่วนของชุมชนและ เจ้าหน้าที่ส่วนงานที่เกี่ยวข้องมาประมาณ ๑ เดือนแล้ว ก็ได้รับการแก้ไข แต่มันยังไม่เป็น รูปธรรมครับ ก็คือเป็นคลองที่น้ำเน่ามีระยะทางกว่า ๑๐ กว่ากิโลเมตรด้วยกัน ในระยะ น้ำเน่าของคลองนะครับ ซึ่งผมได้รับการร้องเรียนจาก Facebook แล้วก็ลงไปดูพื้นที่ จากปลายเหตุหรือจากผู้ที่ร้องเรียน ก็คือบริเวณหลังวัดจันทร์ลาดสุขสุวรรณ พอไปถึงบริเวณ หลังวัดจันทร์ลาดสุขสุวรรณเห็นปลาของวัดเน่าลอยตาย จึงทำให้ได้หาไปยังส่วนของต้นเหตุ ต้นเหตุไปถึงบริเวณตำบลอุโลกสี่หมื่นหลังโรงงาน ขออนุญาตเอ่ยนามครับ หลังโรงงาน ไทยฟู้ดส์ซึ่งเป็นโรงงานไก่ โดยเฉพาะชาวบ้านคนทำไร่ได้ส่งรูปมาให้ผม แล้วผมไปดูเอง เป็นจริงครับ มีน้ำที่อยู่ในบ่อบำบัดที่ยังบำบัดไม่เสร็จ ยังเป็นน้ำเน่า ได้ไหลรั่วซึมออกจากบ่อ ลงสู่ลำคลอง อันนั้นคือต้นเหตุ สิ่งที่ผมต้องพูดตรงนี้เพราะว่าอะไรครับ ถามหาผู้รับผิดชอบ ไม่เจอครับ โรงงานได้รับคุณภาพมาตรฐาน ISO14000 ถามว่า ISO14000 เกี่ยวกับ สิ่งแวดล้อมด้วยไหม เกี่ยวข้องด้วย และในขณะเดียวกันโรงงานแห่งนี้มีแรงงานต่างชาติ เฉพาะที่ถูกต้องและทำอยู่ในโรงงาน ๘,๐๐๐ กว่าคน เพราะฉะนั้นจึงเป็นเหตุที่ทำให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อบต. ในพื้นที่ ผมสอบถามว่ามีการดูแลบริหารจัดการอย่างไร อบต. บอกว่าไม่มีงบในเรื่องของรถขยะ ไม่มีงบในเรื่องที่จะเอามาขุดลอกคูคลอง และนอกเหนือจากแรงงาน ๘,๐๐๐ คน ที่ผมได้กล่าวถึงไปข้างต้นครับท่านประธาน ถามว่า ครอบครัวเขาที่มาทำงานอยู่ใน Area นั้นอีกเท่าไรครับ ถ้าคูณ ๒ ก็ ๑๐,๐๐๐ กว่าคน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแค่โรงงานนั้นโรงงานเดียว จำนวนแรงงานที่มาใช้แรงงานมากกว่าคนที่อยู่ใน ตำบลอีกครับ แต่ทาง อบต. บอกว่าไม่มีงบบริหารจัดการ จึงฝากท่านประธานนำเรียนไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย ฝากกำชับดูแลเรื่องนี้ แล้วผมจะคอยติดตามจนกว่าพี่น้องเกษตรกร จะได้น้ำดีคืนกลับมาใช้ กราบขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านกาญจน์ ตั้งปอง ครับ

นายกาญจน์ ตั้งปอง ตรัง ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา กระผม นายกาญจน์ ตั้งปอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง เขต ๔ พรรคประชาธิปัตย์ ขออนุญาตหารือท่านประธานใน ๒ หัวข้อหลัก ๆ ดังนี้

นายกาญจน์ ตั้งปอง ตรัง ต้นฉบับ

๑. ได้รับแจ้งจากนายวิวัฒน์ สุนทรนนท์ นายกเทศมนตรีตำบลย่านตาขาว ถึงปัญหาขยะและสถานที่จัดการขยะในพื้นที่เทศบาลตำบลย่านตาขาว จากการลงพื้นที่ สำรวจพบว่า บ่อขยะดังกล่าวที่ใช้มาแล้วอย่างยาวนานตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ จนถึงปัจจุบัน รองรับขยะถึง ๑๐ ตันต่อวัน แล้วเกรงว่าในอนาคตอาจจะเกิดปัญหาต่อสภาพแวดล้อม และระบบนิเวศ พื้นที่อยู่อาศัยของประชาชน จากการหารือร่วมกันพร้อมด้วย นายนันทะ ทองเพ็ง ผู้อำนวยการสาธารณสุขเทศบาลตำบลย่านตาขาว ได้ข้อสรุปว่าหากมี เครื่องผลิตขยะอินทรีย์ ซึ่งเป็นเรื่องนวัตกรรมของไทย จะช่วยในเรื่องของการลดขยะได้มาก และใช้งบประมาณน้อยกว่าการสร้างเตาเผาขยะ จึงอยากกราบเรียนท่านประธานสภา ไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อประสานของบประมาณสนับสนุน ในการซื้อเครื่องผลิตขยะอินทรีย์ เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ในระยะยาวต่อไปครับ

นายกาญจน์ ตั้งปอง ตรัง ต้นฉบับ

๒. เรื่องสุดท้ายครับท่านประธาน เป็นเรื่องสัตว์อนุรักษ์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าพะยูนเป็นสัตว์ใกล้จะสูญพันธุ์ เป็นพะยูนฝูงสุดท้ายของประเทศไทย ที่อาศัยอยู่บริเวณเกาะลิบง เกาะมุก ของอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง จากการสำรวจพบว่า ณ ปัจจุบันหญ้าทะเลเป็นอาหารของพะยูนนั้นลดลง สาเหตุหลัก ๆ เกิดจากน้ำทะเลลดลง มากกว่าปกติ ระยะถอยร่นไปต่ำกว่าเดิมประมาณ ๕-๖ เมตร และลดแห้งเป็นเวลานาน ทำให้หญ้าทะเลผึ่งแห้งตายเป็นวงกว้าง นับเป็นปัญหาสำคัญที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งแก้ไขดำเนินการ ทราบว่าเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ท่านรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่จังหวัดตรังติดตามปัญหาดังกล่าวด้วยตนเอง กระผมในฐานะ สส. ในพื้นที่ขอเป็นตัวแทนของชาวตรังฝากความหวังในการแก้ปัญหา และขอขอบคุณท่านรัฐมนตรี ท่านพัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผ่านทางสภาแห่งนี้ ที่ท่านไม่นิ่งนอนใจ รีบลงพื้นที่ติดตามด้วยตนเอง ขอขอบพระคุณอีกครั้ง ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านณณัฏฐ์ หงส์ชูเวช ครับ

นายณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ผม ณณัฏฐ์ หงส์ชูเวช สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยครับ ผมได้รับเรื่องความไม่สบายใจ ของพี่น้องวงการบาสเกตบอลไทยนะครับ โดยปัจจุบันเรามีสมาคมที่ขับเคลื่อนกีฬานี้อยู่ ๒ สมาคม

นายณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

คือ ๑. สมาคมกีฬาบาสเกตบอล แห่งประเทศไทย ๒. สมาคมกีฬาบาสเกตบอลอาชีพไทย โดยสมาคมกีฬาบาสเกตบอล แห่งประเทศไทยนั้นเป็นสมาชิกของสหพันธ์หรือที่เราเรียกกันว่า FIBA ส่วนสมาคมกีฬา บาสเกตบอลอาชีพไทยนั้น ไม่ได้เป็นสมาชิก FIBA แน่นอนครับท่านประธาน ทั้ง ๒ สมาคมนี้ มีแนวคิดแนวทางหลายอย่างที่แตกต่างกัน เพราะไม่อย่างนั้นคงไม่มีการแยกตัวออกมาจดตั้ง สมาคมใหม่ นี่ล่ะครับท่านประธานคือปัญหา ขนาด ๒ รักยังรับไม่ไหว แล้ว ๒ สมาคมจะรับไหว ไหมครับท่านประธาน

นายณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ปัญหาอยู่ตรงนี้ครับท่านประธาน FIBA ได้เข้ามาสังเกตรายการการแข่งขัน TBL มาเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า ๓ ปี และพบว่า TBL ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของ FIBA โดยมีประเด็นที่สำคัญคือเรื่องของการเซ็นสัญญา แล้วก็เรื่องของใบโอนย้ายครับท่านประธาน แบบนี้ก็เป็นเรื่องนะครับท่านประธาน เพราะว่า FIBA ได้ส่งหนังสือไปยังกระทรวง การท่องเที่ยวและกีฬา (กกท.) และสมาคมกีฬาบาสเกตบอลแห่งประเทศไทย เรื่องว่า ไม่ให้การรับรองการแข่งขันบาสเกตบอล TBL ปี ๒๐๒๓ แต่ว่าสมาคมบาสเกตบอลอาชีพไทย ก็ยังคงยืนยันที่จะจัดการแข่งขันต่อจนจบ โดยที่ไม่ได้สนใจอะไรทั้งสิ้น ท่านประธาน ทราบไหมครับว่า การกระทำแบบนี้อาจจะทำให้ทีมชาติไทยพี่น้องวงการบาสเกตบอลไทย ถูก Ban จากการแข่งขันระดับนานาชาติได้เหมือนที่เราเคยโดนมาในอดีต ผมจึงอยากฝาก ท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กกท. สมาคมกีฬาบาสเกตบอลแห่งประเทศไทย ควรมีการหารือกันครั้งใหญ่ เพื่อให้มีความชัดเจน มีความถนัด ความเหมาะสม เพื่อยกระดับ วงการบาสเกตบอลไทย แบบนี้อาจจะทำให้ประเทศไทยถูกห้ามเข้าร่วมการแข่งขัน ในทุกรายการที่ FIBA เป็นฝ่ายจัดการแข่งขัน อย่าเอาเกมนอกสนามไปทำลายพวกเขาเลยครับ ให้โอกาสนักกีฬาได้รับใช้ประเทศชาติ สร้างชื่อเสียง ความภาคภูมิใจให้กับคนไทย ยกระดับ วงการกีฬาไทยให้เติบโตและพัฒนาต่อไปในอนาคตครับท่านประธาน ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านณัฐจิรา อิ่มวิเศษ ครับ

นางสาวณัฐจิรา อิ่มวิเศษ นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวณัฐจิรา อิ่มวิเศษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๔ พรรคเพื่อไทยค่ะ วันนี้ดิฉันมี ๒ เรื่อง ปรึกษาหารือท่านประธานด้วยกันค่ะ

นางสาวณัฐจิรา อิ่มวิเศษ นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องแรก ดิฉันได้รับเรื่องจากทาง ท่านนายกเทศมนตรีตำบลโพธิ์กลางและประชาชนค่ะ บริเวณแยกดังกล่าวคือ แยกถนนทางหลวงหมายเลข ๓๐๖๔ และถนนทางหลวงหมายเลข ๓๐๔ เป็นบริเวณ หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีกับตำบลนาโพธิ์กลาง แยกดังกล่าวเข้าไปเทศบาล ตำบลโพธิ์กลาง ข้อมูลพื้นฐานของตำบลโพธิ์กลาง มีประชากรประมาณ ๓๐,๐๐๐ คน แล้วก็มีรถสัญจรผ่านไปมาบริเวณแยกดังกล่าว ๓,๐๐๐ คันต่อวัน และต้องการเปิดจุดเชื่อม ไฟแดงบริเวณดังกล่าวค่ะ เพราะว่าฝั่งตรงข้ามเป็นมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาล แล้วประชาชนตำบลโพธิ์กลางก็ต้องไปกลับรถไกล ถ้าเกิดจะไปมหาวิทยาลัยหรือโรงพยาบาล ดังนั้นจึงขอให้กระทรวงคมนาคมเปิดเชื่อมถนนสี่แยกไฟแดงดังกล่าว เพื่ออำนวยความสะดวก ให้พี่น้องประชาชนด้วยค่ะ

นางสาวณัฐจิรา อิ่มวิเศษ นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ คือเป็นเรื่องสำคัญและเป็นความหวังของคนโคราชอีกครั้งค่ะ เดิมทีจังหวัดนครราชสีมามีสนามบินนครราชสีมา แต่อยู่ที่หนองเต็ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ก่อนหน้านี้เมื่อไม่นานได้เปิดใช้สนามบินนครราชสีมาที่หนองเต็ง แต่มีระยะทางห่างจาก ตัวอำเภอเมือง ๓๒ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางเกือบ ๔๐ นาทีค่ะท่านประธาน แต่ไม่นาน ก็ไปต่อไม่ได้ เนื่องจากไกลจากตัวเมืองมีผู้โดยสารน้อย และเมื่อหลายปีก่อนก็คือได้เปิดใช้ สนามบินที่กองบิน ๑ ดังภาพขวามือ ซึ่งมี Runway แล้วก็มีอาคารแล้วค่ะ เพราะฉะนั้น เมื่อวันที่ ๑๙ ที่ผ่านมา หารือทางท่านรัฐมนตรีประเสริฐ จันทรรวงทอง และ สส. จังหวัดนครราชสีมา แล้วก็หน่วยงานข้าราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องขอเปิดใช้พื้นที่ สนามบินกองบิน ๑ ซึ่งทุกส่วนเห็นพ้องต้องกันว่าสมควรเปิดใช้สนามบินนครราชสีมา ที่กองบิน ๑ นะคะ ก่อนหน้านี้ดิฉันได้ลงพื้นที่ แล้วประชาชนก็รับทราบเห็นพ้องต้องกันว่า ควรเปิดที่กองบิน ๑ เนื่องด้วยอะไรรู้ไหมค่ะ ประหยัดเวลาในการเดินทาง ประหยัดค่าใช้จ่าย ดังนั้นดิฉันขอวิงวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดเวลาในการพิจารณากลับมาใช้ สนามบินนครราชสีมาที่กองบิน ๑ เพื่อเติมเต็มความหวังให้คนโคราชกลับมามีสนามบินใช้ อีกครั้งค่ะท่านประธาน ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านอดิพงษ์ ฐิติพิทยา ครับ

นายอดิพงษ์ ฐิติพิทยา บุรีรัมย์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายอดิพงษ์ ฐิติพิทยา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ เขตเลือกตั้งที่ ๓ อำเภอกระสัง อำเภอห้วยราช ตำบลป่าชัน ตำบลโคกขมิ้น อำเภอพลับพลาชัย จังหวัดบุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย กระผมขออนุญาตปรึกษาหารือเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ใน ๒ ประเด็น ดังต่อไปนี้

นายอดิพงษ์ ฐิติพิทยา บุรีรัมย์ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ กระผมได้รับแจ้งจาก ท่านแดง อนันรัมย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตาเสาว่า ถนนทางหลวงชนบท หมายเลข บร.ถ.๙๑-๐๗๔ เป็นถนนสายบ้านขาม-บ้านตะครอง มีความกว้างประมาณ ๔ เมตร ยาวประมาณ ๓,๙๕๓ เมตร หนาประมาณ ๐.๑๕ เมตร เป็นถนนสายหลักที่เชื่อม ระหว่างบ้านขาม หมู่ที่ ๗ ตำบลตาเสา อำเภอห้วยราชกับบ้านตะครอง ตำบลห้วยสำราญ อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ ประชาชนประสบปัญหาการสัญจรไปมาไม่สะดวก สภาพถนน ชำรุดทรุดโทรม เป็นหลุมเป็นบ่อขนาดใหญ่ มีผิวจราจรแตกเป็นวงกว้าง ประชาชนได้รับ ความเดือดร้อน ทำให้เกิดอุบัติเหตุเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน จึงขอนำเรียนไปยัง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมทางหลวงชนบทและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้โปรดให้ความ ช่วยเหลือซ่อมแซม ปรับปรุง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนด้วยครับ

นายอดิพงษ์ ฐิติพิทยา บุรีรัมย์ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ กระผมได้รับแจ้งจากท่านสุพจน์ วชิระพรไชย ผู้อำนวยการ โรงเรียนบ้านจะเนียงสามัคคี ตำบลสูงเนิน อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ เนื่องด้วยโรงเรียน บ้านจะเนียงสามัคคี มีอาคารเรียน ๑ หลัง ซึ่งใช้งานมาเป็นเวลานานประมาณ ๔๔ ปี มีสภาพชำรุดทรุดโทรม จึงได้ขอให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองของจังหวัดบุรีรัมย์ ได้เข้ามาตรวจสอบอาคารเรียนดังกล่าว พบว่าอาคารเรียนมีฝ้าเพดานที่มีรอยน้ำรั่วซึม จากหลังคา มีพื้นที่ชำรุดแตกหลุด และมีโครงสร้างหลังคาที่เป็นโครงสร้างไม้เสื่อมสภาพ อย่างหนักถึงขั้นชำรุดทรุดโทรมขั้นวิกฤติ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับ ทางโรงเรียนและนักเรียนในการเรียนการสอน จึงขอนำเรียนไปยังกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้โปรดให้ความช่วยเหลือสนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุง ซ่อมแซมอาคารเรียน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและเพื่อความปลอดภัยของเด็กนักเรียน และคุณครูด้วยครับ ขอกราบขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านธิษะณา ชุณหะวัณ ครับ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ธิษะณา ชุณหะวัณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขต กรุงเทพมหานคร เขต ๒ พรรคก้าวไกลค่ะ ดิฉันขอปรึกษาหารือท่านประธานนะคะ ขออนุญาตสไลด์ขึ้นด้วยค่ะ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องแรก มีอยู่ ๒ เรื่องหลัก ๆ ไปถึงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จากที่ดิฉัน และ สส. เขตบางขุนเทียน คุณกาย ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ และทีมงาน ได้ลงพื้นที่ ที่แฟลตการเคหะในเขตพื้นที่ของดิฉัน พบว่าแฟลตการเคหะบ่อนไก่และแฟลตการเคหะ บ้านเอื้ออาทรสวนพลูพัฒนา ตัวอาคารชำรุดทรุดโทรมและไม่ได้รับการซ่อมบำรุงเป็นจำนวนมาก ปัญหาที่พบเห็นได้อย่างชัดเจนคืออาคารแตกร้าว ชำรุด เป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้อยู่อาศัย ท่อน้ำประปาชำรุดทำให้เกิดการรั่วซึมเกือบทุกอาคาร แท็งก์น้ำบนดาดฟ้าแตก ลูกลอยชำรุด ทำให้น้ำเอ่อล้นจนไหลออกมาตามท่อระบายน้ำฝน ส่งผลให้น้ำประปาไหลช้าหรือบางที ก็ไม่ไหลเลย สภาพเก่าเสื่อมโทรม ระบบอัตโนมัติชำรุดหมดเลยนะคะ แล้วก็เกิดเสียงดัง ในเวลากลางคืนรบกวนผู้อยู่อาศัย นอนไม่หลับ หากไม่มีผู้ไปปิดปั๊มน้ำหรือไปปิดไฟไม่ทัน ปั๊มก็จะร้อนจนมอเตอร์ไหม้เสียหายเป็นอันตรายค่ะ ปัญหาที่มองไม่เห็น เช่น ท่อน้ำทิ้ง มีสภาพอุดตัน เนื่องจากบ่อดักไขมันมีไขมันจำนวนมากไปอุดตัน ไม่ได้มีการขุดลอก ท่อดักไขมันเต็มบ่อเป็นเวลานาน ขาดการดูแล ดิฉันจึงขอฝากท่านประธานเรียนไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้าไปช่วยซ่อมแซมบำรุงโดยเร็วค่ะ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประชาชนได้ร้องเรียนเกี่ยวกับค่าส่วนกลางของผู้อยู่อาศัยทำการชำระให้กับ นิติบุคคลที่ดูแลเป็นประจำ ๓๐๐ บาทต่อเดือน แต่ไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ไม่มีการ ล้างท่อ ไม่มีการทำความสะอาด ไม่มีการซ่อมแซมและบำรุงรักษา แถมลิฟต์ก็พัง เกือบทั้งหมด แล้วก็ยังส่งเสียงดังเวลาขึ้นลง สร้างความตกใจให้กับผู้อยู่อาศัยประกอบกับ การประสานงานการเคหะที่ล่าช้า จนผู้อยู่อาศัยต้องออกเงินจ้างเอกชนมาดำเนินการเอง หรือแม้แต่ความปลอดภัยก็ต้องช่วยกันดูแล เนื่องจากไม่มีกล้องวงจรปิดค่ะ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย สืบเนื่องจากเมื่อวานนี้ค่ะ หากท่านประธานได้ติดตามข่าว ก็คงจะทราบดีว่ามีการพบปะกันของอดีต ๒ นายกรัฐมนตรี คือสมเด็จฮุนเซน (Samdech Hun Sen) อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชาที่เข้าเยี่ยมอาการป่วยของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ดิฉันจึงฝากเรื่องนี้ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สื่อกระแสหลักทั่วไปจับจ้องการพบปะของทั้งสอง อย่างไรก็ตามสิ่งที่ดิฉันให้ความสนใจ คือมีผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นพี่สาวของคุณวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ มาเฝ้ารอสมเด็จฮุนเซน (Samdech Hun Sen) เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับน้องชายของเขา ผู้นั้นคือ สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของคุณวันเฉลิม สัตย์ศักย์สิทธิ์ นักกิจกรรมทางการเมืองที่ลี้ภัย ไปอยู่ในประเทศกัมพูชาและถูกบังคับสูญหายในวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๓ ท่านประธานคะ แม้ประเทศไทยของเราจะมี พ.ร.บ. การป้องกันการทรมานอุ้มหาย ออกใช้บังคับมาเป็นเวลา เกือบ ๑ ปีแล้ว จนถึงตอนนี้คดีของวันเฉลิมเป็นหน้าที่ของอัยการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตาม พ.ร.บ. ป้องกันการซ้อมทรมาน ยังไม่มีการคืบหน้าแต่อย่างใด ดิฉันขอยืนยันว่าตราบใด ที่คดีวันเฉลิมยังไม่คลี่คลาย หมุดหมายของการใช้ พ.ร.บ. ป้องกันการซ้อมทรมาน ก็ยังไม่เกิดขึ้นในสังคมไทย และต้องเป็นประเด็นพิจารณาที่สำคัญที่รัฐบาลต้องทบทวน ถึงความน่าละอายของตนเอง

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านธิษะณาครับ เลยเวลาเยอะแล้วครับ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

หากที่ยังกล้าเสนอตัว เป็นหนึ่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติค่ะ ขณะเดียวกันตามรายงาน คณะกรรมการว่าด้วยการบังคับสูญหายของสหประชาชาติ ได้ตั้งคำถามถึงการสูญหาย ของคุณวันเฉลิมที่ประเทศกัมพูชา ดิฉันจึงอยากขอฝากไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศให้คำตอบและให้การช่วยเหลือมากกว่านี้ เพราะแม้แต่รัฐบาลกัมพูชา ไม่ยอมรับ แต่กล้องวงจรปิดก็มองเห็นได้ชัดว่าหายไปที่กรุงพนมเปญ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านธิษะณาครับ เลยเวลามาเกือบ ๒ นาทีแล้ว ต้องสรุปแล้วครับ ขอบคุณครับ เชิญท่านวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ ครับ

นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ สระบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสระบุรี เขต ๓ พรรคภูมิใจไทยครับ ในวันนี้ขออนุญาตนำเรื่องหารือเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชนในเขตเลือกตั้งของผม ๓ ประเด็นด้วยกัน ท่านประธานครับขอคลิปแรก ด้วยครับ

นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ สระบุรี ต้นฉบับ

เรื่องแรก เป็นปัญหาจุดกลับรถ ที่อันตรายสายหินกอง-ภาชี บนถนนสุวรรณศร หมายเลข ๓๓ ถ้าท่านประธานได้เห็นภาพ ก็คือมี Barrier มาตั้งกลางถนน เมื่อรถขับมาจะกลับรถก็จอดกะทันหัน เป็นอย่างนี้ ตลอดสายทางครับท่านประธาน ทำให้รถที่ขับตามมาข้างหลังเบรกไม่ทันและชนรถคันหน้า เป็นอย่างนี้ประจำจนกระทั่งเกิดเหตุหลายครั้ง แล้วก็มีผู้เสียชีวิตหลายครั้ง ฝากท่านประธาน ได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้โปรดปรับปรุงจุดกลับรถนี้ให้มีความปลอดภัยด้วยครับ ท่านประธาน

นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ สระบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ เป็นปัญหาถนนชำรุดของทางหลวงหมายเลข ๓๓ เช่นกันครับ แต่ว่าเป็นสายบ้านหินกอง-คลองยาง มุ่งหน้าสู่จังหวัดนครนายก ท่านประธานจะเห็นผิวถนน ชำรุดทั้งซ้ายและขวา ในภาพที่เห็นเส้นนี้เป็นเส้นทางขนส่งที่เป็นการคมนาคมหลัก และสู่ EEC ด้วยนะครับ จากภาพท่านประธานจะเห็นรถกระโดดเลยนะครับ แล้วเส้นนี้ เป็นเส้นที่รถนักเรียนใช้เยอะ เมื่อรถสิบล้อเห็นถนนชำรุดก็หักลบกะทันหัน ทำให้ชนนักเรียน เกิดเหตุเป็นประจำ อีกทั้งเส้นนี้เป็นการขนส่งรถขนกระเบื้องครับ รถขนกระเบื้องออกจาก โรงงาน พอถึงปลายทางก็พังหมด แตกหมดครับท่านประธาน ฝากท่านประธานได้ช่วยแจ้ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ สระบุรี ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย คลิปสุดท้ายเป็นปัญหาขอติดตามความคืบหน้าการแก้ไขประปา ในเขตอำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ซึ่งเดือดร้อนหลายตำบลในเขตอำเภอหนองแค ซึ่งผมได้ปรึกษาหารือไปครั้งหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า ภาพที่ท่านประธานเห็นนั้น ก็คือบริเวณที่จะมีการก่อสร้าง ถ้าสายทางนี้สำเร็จก็จะทำให้ปัญหาประปาในเขต อำเภอหนองแคได้รับการแก้ไข พี่น้องประชาชนได้รับน้ำบริโภคและอุปโภคที่สะอาดครับ กราบขอบพระคุณครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับ สมาชิกทุกท่านได้หารือตามข้อบังคับเรียบร้อยแล้วนะครับ ผมขอดำเนินการ ตามระเบียบวาระครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

จำนวนสมาชิกที่มาประชุมทั้งหมดที่ลงชื่อไว้เมื่อเลิกประชุม ๔๕๘ คน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ตอนนี้ มีผู้เข้าประชุมทั้งหมด ๒๙๔ ท่าน ครบองค์ประชุมครับ ผมขอเข้าสู่ระเบียบวาระกระทู้ถามครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๑ กระทู้ถาม

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๑.๑ กระทู้ถามสดด้วยวาจา

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๑. นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

กระทู้ถามสดด้วยวาจาของท่านวรรณรัตน์ ชาญนุกูล ถาม รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ด้วยสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงคมนาคม ได้มีหนังสือแจ้งว่ากระทู้ถามเรื่องนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านมนพร เจริญศรี เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทน ตามข้อบังคับที่ ๑๕๑ ขอเชิญท่านวรรณรัตน์ ชาญนุกูล ครับ

นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ผม นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติพัฒนากล้า ผมขอถาม กระทู้ถามสดต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ดังต่อไปนี้

นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข ๖ สายบางปะอิน-นครราชสีมา หรือเรียกกันง่าย ๆ ว่า Motorway สายบางปะอิน-โคราช ถือว่าเป็นโครงการหนึ่งที่มี ความสำคัญตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ เพื่อเป็นการ เพิ่มขีดความสามารถด้านการคมนาคมขนส่งที่เป็นเส้นทางเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่ง ระหว่างกรุงเทพมหานครไปยังโคราชและภาคอีสาน รวมทั้งประเทศในกลุ่มอินโดจีน ที่มีความทันสมัย มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล มีความสะดวกรวดเร็วและ มีความปลอดภัย เป็นทางเลือกใหม่ให้แก่ผู้ใช้ถนนมิตรภาพหรือทางหลวงพิเศษหมายเลข ๒ ซึ่งในเวลานี้อยู่ในภาวะที่มีการจราจรแออัดและหนาแน่นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเทศกาลที่สำคัญการจราจรจะหนาแน่นและติดขัดมากเป็นพิเศษ ซึ่งนอกจาก จะก่อให้เกิดความล่าช้าในการเดินทางและการสูญเสียพลังงานเชื้อเพลิงแล้ว ยังก่อให้เกิด อุบัติเหตุที่นำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมากในแต่ละปี อีกด้วย ดังนั้น Motorway สายนี้จึงถือว่าเป็นความหวังใหม่สำหรับพี่น้องประชาชน ชาวโคราชและชาวอีสาน รวมทั้งพี่น้องคนไทยทั้งประเทศ ตลอดจนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ทุกคนต่างเฝ้ารอที่จะใช้ถนนสายนี้กันมาช้านาน โครงการนี้จึงถือเป็นหนึ่งในโครงการ ที่สำคัญที่มีความจำเป็นเร่งด่วนของประเทศ ที่ได้รับการบรรจุอยู่ในแผนมาตรการเร่งรัด การลงทุนของกระทรวงคมนาคม และอยู่ในมาตรการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุน ในกิจการของรัฐ หรือที่เรียกว่า PPP Fast Track ของกระทรวงการคลัง เพื่อเร่งรัดการลงทุน โครงการขนาดใหญ่ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้ กรมทางหลวงได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนร่วมลงทุน และบริหารจัดการในรูปแบบที่เรียกว่า PPP Gross Cost โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างงานระบบและจัดเก็บรายได้ทั้งหมด ส่งมอบให้แก่ภาครัฐ โดยเอกชนจะได้รับค่าจ้างตอบแทนในการดำเนินงานและค่าบำรุงรักษา พร้อมทั้งจ่ายคืนค่าก่อสร้างงานระบบตามกรอบระยะเวลาและเงื่อนไขที่กำหนด ตั้งแต่วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๐ และได้มีการลงนามเซ็นสัญญาก่อสร้างตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ ซึ่งครั้งแรกคาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ สามารถใช้งานได้ตั้งแต่ปี ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่า การก่อสร้างเกิดความล่าช้าเป็นอย่างมาก จนกระทั่งบัดนี้ พ.ศ. ๒๕๖๗ แล้ว การก่อสร้าง ก็ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ อย่างไรก็ตามครับท่านประธาน ก็ต้องขอขอบคุณรัฐบาลและ กระทรวงคมนาคมเป็นอย่างมาก ที่ได้เปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนได้ใช้เส้นทางสายนี้ ในช่วงที่มีการก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จไปแล้ว คือช่วงปากช่อง-นครราชสีมา ตั้งแต่ ปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้วที่ผ่านมา ต่อเนื่องไปจนกว่าการก่อสร้างจะเสร็จสมบูรณ์สำหรับ รถสี่ล้อ โดยไม่เก็บค่าผ่านทาง

นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ผมจึงใคร่ขอถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมต่อไปนี้ว่า ๑. ความล่าช้า ของการก่อสร้างของโครงการนี้เกิดขึ้นเพราะเหตุใด และในขณะนี้มีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว การที่กระทรวงคมนาคมจะเปิดใช้งานบางส่วนในช่วงปากช่อง-นครราชสีมา โดยไม่เก็บ ค่าผ่านทางจนกว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จสมบูรณ์นั้น ก็ถือว่าประชาชนได้รับประโยชน์ และได้รับความสะดวกเป็นอย่างมากในระดับหนึ่ง และถามว่าจะเปิดให้บริการประชาชน ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์เมื่อใด จะสามารถเสร็จสิ้นภายในปี ๒๕๖๐ นี้หรือไม่ ขอบคุณครับ นี่เป็นคำถามแรกครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านมนพร เจริญศรี ครับ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม วันนี้ดิฉันได้รับมอบหมายจากท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้มาตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจาของท่านสมาชิก ท่านวรรณรัตน์ ชาญนุกูล สมาชิก สภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติพัฒนากล้า ต้องขอถือโอกาสขอบพระคุณ สำหรับคำถามนี้นะคะ เพราะจะเป็นโอกาสที่ดีที่กระทรวงคมนาคมได้รายงานถึงความคืบหน้า ของโครงการก่อสร้าง M6 ค่ะ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

ดิฉัน ขอนำสไลด์จากคำถามของท่านสมาชิกนะคะ ท่านประธานที่เคารพคะ โครงการก่อสร้าง ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข M6 ระหว่างสายบางปะอิน-นครราชสีมา เป็นระยะทางทั้งสิ้น ๑๙๖ กิโลเมตร ซึ่งแบ่งเป็นงานโยธาสำหรับก่อสร้าง ๔๐ สัญญา และงานระบบ ซึ่งเป็นระบบที่ด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางทั้งสิ้นจำนวน ๙ ด่าน ๑ สัญญา ปัจจุบันมีความก้าวหน้า งานโยธาก่อสร้างแล้วเสร็จจำนวน ๒๙ สัญญา และอยู่ในระหว่าง การก่อสร้างทั้งสิ้น ๑๑ สัญญา ดิฉันได้ขึ้นภาพให้ดูนะคะว่าช่วงเริ่มต้นก็คืออยู่ในระหว่าง ที่ดำเนินการก่อสร้าง แล้วปลายที่เห็นภาพสีแดง ๆ ก็คืออยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ในสัญญา แล้วก็ช่วงสีน้ำเงินคือช่วงที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว ซึ่งในประเด็นของความล่าช้าค่ะ ท่านประธาน กระทรวงคมนาคมโดยกรมทางหลวงไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะเร่งรัดงานก่อสร้าง ทั้งในส่วนของการก่อสร้างในส่วนของงานโยธาและงานระบบ โดยให้ก่อสร้างแล้วเสร็จ ทุกสัญญาภายในเดือนธันวาคม ปี ๒๕๖๘ โดยมีเป้าหมายดังนี้ ๑. เราสามารถที่จะ เปิดทดลองให้บริการฟรีตลอดเส้นทางในช่วงเทศกาลปีใหม่ถึงปี ๒๕๖๙ แล้วก็พร้อมที่จะ เปิดให้บริการเต็มรูปแบบและเริ่มเก็บค่าผ่านทางในช่วงต้นปีของปี ๒๕๖๙ ค่ะท่านประธาน ขอให้ดูถัดไป ซึ่งเป็นสไลด์ที่ท่านสมาชิกได้มีความห่วงใยว่าในบางช่วงที่อยู่ในระหว่าง งานก่อสร้าง ดิฉันจะฉายภาพให้ดูนะคะว่าปัญหาอุปสรรคที่ทำให้เกิดความล่าช้า ในบางสัญญา ก็ขอเรียนให้ทราบว่าโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข ๖ คือ บางปะอิน-นครราชสีมา เกิดจากการดำเนินการก่อสร้างที่มีขั้นตอนต่าง ๆ อยู่ ๔ ประเด็น ซึ่งเป็นขั้นตอน แล้วก็เป็นสาเหตุที่ทำให้งานล่าช้านะคะ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

ประเด็นแรก จะเห็นว่าสภาพพื้นที่ในขั้นตอนของการก่อสร้างได้เปลี่ยนไป จากขั้นตอนของการออกแบบ ตัวอย่าง เช่น แบบก่อสร้างเดิมพื้นที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบ แต่ปัจจุบันสภาพเปลี่ยนเป็นบ่อที่ขุดลึก แล้วสภาพที่มีการสำรวจกับตอนก่อสร้างจริง ก็พบว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เก็บกักน้ำ จึงจำเป็นจะต้องมีการปรับปรุงแบบ ซึ่งงานปรับถมดิน พื้นที่เป็นงานก่อสร้างสะพาน ซึ่งจะต้องข้ามบ่อน้ำลึก แล้วก็คงบ่อน้ำนั้นไว้เพื่อให้พี่น้อง เกษตรกรได้ใช้บ่อน้ำลึกดังกล่าวนะคะ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ การปรับปรุงรูปแบบวิศวกรรมให้สอดคล้องกับลักษณะ ทางกายภาพในปัจจุบันของพื้นที่ เช่นดังในภาพว่าสภาพภูมิประเทศก็เป็นสภาพที่หินแข็ง จึงต้องปรับปรุงรูปแบบงานก่อสร้าง แล้วก็เปลี่ยนแปลงระบบฐานราก

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ จะเห็นว่าการปรับปรุงให้เหมาะสมกับโครงสร้างของ เขตสาธารณูปโภค หรือความจำเป็นของหน่วยงานโครงการก่อสร้างเพื่อให้ตัดผ่าน ดังในรูป เห็นไหมคะท่านประธาน ว่าแนวก่อสร้างพื้นที่ดังกล่าวจะต้องผ่านระบบคลองน้ำชลประทาน ทำให้เราจะต้องเพิ่มระยะห่างของตอม่อสะพาน เพื่อยังคงระบบชลประทานนั้นไว้ให้กับ พี่น้องประชาชนต้องใช้น้ำจากระบบคลองชลประทานดังกล่าว จึงต้องมีการเปลี่ยนแบบ แล้วก็ให้เหมาะสมกับรูปแบบของกรมชลประทานและคงคลองน้ำเหล่านั้นไว้

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๔ การปรับเปลี่ยนรูปแบบของการก่อสร้างทางเชื่อมการเดินทาง ของ ๒ ชุมชนฝั่งถนน ซึ่งมีปัญหาในเรื่องนี้เป็นอย่างมากค่ะว่า เมื่อถนนหรือความเจริญไปสู่ ชุมชนใด ก็จะมีประเด็นที่พี่น้องประชาชนได้ร้องขอหลังการก่อสร้างเสร็จว่า พี่น้องประชาชน ไม่สามารถสัญจรไปมา นั่นจึงเป็นสาเหตุที่เราต้องมีการปรับปรุงแบบให้พี่น้องประชาชน ๒ ฝั่งถนน สามารถสัญจรเดินทางไปได้ นี่คือประเด็นคำถามแรกของท่านสมาชิกค่ะ ปัญหาและความล่าช้า จึงขอสรุปในเรื่องของความล่าช้าทั้ง ๔ ประเด็น ขอบคุณค่ะ ท่านประธาน สำหรับคำถามแรกค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านวรรณรัตน์ใช้สิทธิในรอบที่ ๒ ครับ

นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ผมขอถามคำถามต่อไปนะครับ คือคำถามที่ ๒ คำถามว่าช่วงเส้นทางที่เปิดให้ประชาชนใช้ไปพลางก่อนคือ ช่วงปากช่อง-นครราชสีมา ดังได้กล่าวมาแล้วนั้น ปรากฏว่าสภาพของผิวจราจรยังไม่ได้คุณภาพมาตรฐานที่ดีพอ กล่าวคือผิวถนนมีความขรุขระไม่เรียบ ทำให้รถเกิดความสั่นสะเทือนวิ่งกระโดดขึ้นกระโดดลง อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณคอสะพานและตรงรอยต่อระหว่างแผ่นคอนกรีต ทั้ง ๒ แผ่นที่เชื่อมต่อกัน ถามว่าท่านจะแก้ปัญหานี้อย่างไรครับท่านรัฐมนตรี

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านรัฐมนตรีครับ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพค่ะ ในประเด็นคำถามที่ ๒ ของท่านสมาชิก เรื่องของผิวจราจร ที่มีความขรุขระ แล้วก็เรื่องของรอยต่อ เรื่องของความไม่เรียบร้อยของผิวการจราจรดังกล่าว กรมทางหลวงได้เปิดทดลองให้ใช้บริการช่วงของปากช่องถึงทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา โดยไม่เก็บค่าผ่านทางตั้งแต่ช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา จนกว่าจะมีการ เปิดบริการให้เต็มรูปแบบ ก็คืออย่างที่ดิฉันเรียนตั้งแต่แรกก็คือในช่วงของเริ่มต้น ปีงบประมาณ ๒๕๖๙ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนในการเดินทางสู่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยสถิติผู้ใช้ถนนในช่วงทดลองที่เราใช้เปิดบริการที่ผ่านมา ประมาณ ๒๐,๐๐๐ คันต่อวัน แต่ในขณะที่เราเปิดทดลองให้ใช้ที่ผ่านมา ไม่ปรากฏว่า มีการเกิดอุบัติเหตุจากพื้นผิวจราจร หรือว่าช่วงรอยต่อสะพานคอนกรีตแต่อย่างใด แต่ด้วยความห่วงใยของท่านสมาชิก เราเองกรมทางหลวงก็ได้ใส่ใจในเรื่องของพื้นผิวจราจร หรือว่าคอสะพานที่จะเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุ ขณะนี้เราได้กำชับและได้ลงไปดู จุดแต่ละจุดที่ท่านสมาชิกได้มีความห่วงใย แต่ขอให้ได้เชื่อมั่นว่าทุกเส้นทางทุกพื้นที่ของ เส้นทางดังกล่าว กระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง ได้มีความใส่ใจแล้วก็จะลงไปดูเรื่องของ ความปลอดภัย เรื่องของผิวจราจร เรื่องของรอยต่อของสะพานคอนกรีตค่ะ ทั้งนี้เราก็ได้มี สายด่วนของกรมทางหลวงก็คือ ๑๕๘๖ ถ้าเกิดมีอุบัติเหตุทางใด ก็ขอให้โทรติดต่อเครือข่าย ของกระทรวงคมนาคมได้ที่หมายเลข ๑๕๘๖ ค่ะท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านวรรณรัตน์ ในรอบที่ ๓ ครับ

นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านประธานครับ คำถามสุดท้ายนะครับท่านประธาน เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์และสามารถใช้งาน ได้แล้ว ถามว่าท่านจะเก็บอัตราค่าผ่านทางจะจัดเก็บจากผู้ใช้บริการตลอดเส้นทาง เป็นจำนวนเงินเท่าใด เพราะผมเกรงว่าถ้าหากมีการจัดเก็บในอัตราที่สูงมากเกินไปแล้ว ก็อาจจะส่งผลกระทบ ก่อความเดือดร้อนต่อพี่น้องประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนเส้นนี้ได้ โดยเฉพาะพี่น้องชาวโคราชและชาวอีสานและคนไทยทั้งประเทศ จึงอยากขอเรียนถามว่า ท่านจะสามารถกำหนดอัตราค่าจัดเก็บค่าผ่านทาง ในราคาที่เหมาะสมเป็นธรรมได้หรือไม่ อย่างไร ขอเชิญท่านรัฐมนตรีครับ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

ขอบคุณค่ะ ท่านประธาน สำหรับคำถามที่ ๓ ของท่านสมาชิก ซึ่งเป็นคำถามที่หลาย ๆ คน หลาย ๆ ท่าน รวมทั้งท่านสมาชิกเองซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรี แล้วก็ท่านเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ท่าน ได้ใส่ใจปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน แล้วก็เป็นความห่วงใยของผู้ใช้รถใช้ถนน ที่ท่านต้องใช้เดินทางประจำระหว่างกรุงเทพมหานครไปถึงนครราชสีมานะคะ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

ก็ขออนุญาต กราบเรียนว่า สำหรับการพิจารณาเรื่องของการกำหนดค่าธรรมเนียมบนโครงการ ทางหลวงพิเศษ ระหว่างเมืองหมายเลข ๖ บางปะอิน-นครราชสีมา ซึ่งเปิดให้บริการ เต็มรูปแบบเรามีระเบียบของการเก็บค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวงของคมนาคมที่ประกาศไป เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ปี ๒๕๖๓ เรื่องการกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์ทางหลวง พิเศษหมายเลข ๖ โดยค่าธรรมเนียมผ่านทางได้ติดตามระยะทางและประเภทของรถยนต์ ดังนี้ค่ะ ดิฉันได้ขึ้นภาพให้ท่านสมาชิกได้เห็นว่ารถยนต์ ๔ ล้อ มีค่าธรรมเนียมแรกเข้า ๑๐ บาท และคิดค่าธรรมเนียมตามระยะทางที่ใช้จริง ๑.๒๕ บาท ต่อ ๑ กิโลเมตร ส่วนรถยนต์ ๖ ล้อ ก็จะเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้า ๑๖ บาท และคิดค่าธรรมเนียม ตามระยะทางที่ใช้จริง ๒ บาทต่อ ๑ กิโลเมตร ส่วนรถยนต์ที่มากกว่า ๖ ล้อ ก็จะคิด ค่าธรรมเนียมแรกเข้า ๒๓ บาท และคิดค่าธรรมเนียมตามระยะทางที่ใช้จริง ๒.๘๘ บาท ต่อ ๑ กิโลเมตร ซึ่งพี่น้องประชาชนที่ใช้เส้นทางก็จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมตามระยะทาง ที่ใช้จริง ตัวอย่าง เช่น ท่านสมาชิกเดินทางต้นทางที่ด่านบางปะอินปลายทางไปถึง ด่านขามทะเลสอ สำหรับรถยนต์ ๔ ล้อ ๒๔๐ บาท รถยนต์ ๖ ล้อ ๓๘๐ บาท และรถยนต์ มากกว่า ๖ ล้อ ๕๕๐ บาท นี่คืออัตราค่าธรรมเนียมที่เราได้ประกาศไปเมื่อปี ๒๕๖๓

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

นอกจากนั้นแล้วการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษ M6 ดิฉันเชื่อมั่นว่า มันจะเป็นเส้นทางที่เพิ่มเส้นทาง ที่จะทำให้พี่น้องประชาชนสามารถเลือกเส้นทางไปสู่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งต้องมีความสะดวกรวดเร็วและจะช่วยลดความแออัดบนเส้นทาง ของถนนมิตรภาพ ซึ่งพี่น้องประชาชนยังคงใช้เส้นทางนี้เป็นเส้นทางเลือกอีกเส้นทางหนึ่ง และเราเชื่อมั่นว่าเมื่อถนนนี้สร้างเสร็จ เราจะลดความแออัดแล้วก็ยกมาตรฐานการบริการ ของการขนส่งที่รวดเร็วแล้วก็ปลอดภัย นี่คือสิ่งหนึ่งที่กระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง เชื่อมั่นว่าถนนสาย M6 จะเป็นการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคพี่น้องคนอีสานทั้ง ๒๐ จังหวัด ขอบคุณสำหรับคำถามของท่านสมาชิกทั้ง ๓ คำถาม ขอบคุณค่ะท่านประธาน

นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับท่านรัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ขอบคุณมากครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ที่ประชุมครับ สภาผู้แทนราษฎรของเรายินดีต้อนรับคณะครูและนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ โรงเรียนบ้านเจาะกือแย อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานีครับ แล้วอีกคณะหนึ่งคณะนิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์ราชบุรี อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ส่วนอีกคณะหนึ่งผมยังไม่ได้รายชื่อ แต่ยินดีต้อนรับไว้ ล่วงหน้าเลยนะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๒. นางสาวปวิตรา จิตตกิจ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

กระทู้ถามสดด้วยวาจาของท่านปวิตรา จิตตกิจ ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวง สาธารณสุข ตอนนี้ท่านรัฐมนตรีก็ได้ให้เกียรติสภา แล้วก็เตรียมพร้อมแล้วนะครับ ขอเชิญ ท่านปวิตรา จิตตกิจ ใช้สิทธิถามในรอบที่ ๑ ครับ

นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพค่ะ ดิฉัน ปวิตรา จิตตกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตบางกอกใหญ่ ธนบุรี ภาษีเจริญ แขวงศิริราชและแขวงบางเชือกหนัง กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกลค่ะ ท่านประธานคะ ประชาชนชาวกรุงเทพมหานครที่ใช้สิทธิบัตรทองในการรักษาพยาบาล หากเจ็บป่วย ก็จะไปใช้บริการที่คลินิกบัตรทอง หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่าคลินิกชุมชนอบอุ่นค่ะ จึงถือได้ว่าคลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นสถานพยาบาลขั้นปฐมภูมิพื้นฐานเบื้องต้นให้กับ พี่น้องประชาชนที่ใช้สิทธิบัตรทอง แล้วก็สำคัญอย่างมากต่อสุขภาพของคนกรุงเทพมหานคร แต่วันนี้ที่หน้าคลินิกชุมชนอบอุ่นเราจะพบเห็นป้ายสีดำมีตัวหนังสือโต ๆ เลยค่ะ

นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

พร้อมข้อความประจาน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ขึ้นว่าบัตรทอง กทม. เงินไปไหนหมด ไม่มีเงินจ่ายคลินิกบัตรทองค่ะ ตามภาพเลยนะคะ ทำให้ประชาชนที่พบเห็นต่างก็ตระหนก ตกใจว่าจะได้รับการรักษาพยาบาลอย่างปกติหรือไม่ เกิดความปั่นป่วนในสังคมค่ะท่านประธาน รวมถึงบางคลินิกถึงกับต้องมีป้ายขอรับเงินบริจาค คนมารับบริการคลินิกชุมชนอบอุ่น ก็ไม่ได้มีสตางค์มากอยู่แล้ว แล้วต้องมานั่งคิดจะเอาเงินที่ไหนไปยอดกล่องบริจาคค่ะ ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปัญหาที่กำลังประสบอยู่นี้ ก็คือ สปสช. ค้างจ่ายเงินคลินิกชุมชนอบอุ่นมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๕ จนทำให้คลินิกหลายแห่ง ขาดสภาพคล่องและประสบกับปัญหาขาดทุน ปัจจุบันคลินิกชุมชนอบอุ่นมีอยู่ทั้งหมด ๒๗๖ แห่ง ในกรุงเทพมหานคร แต่ละแห่งต้องดูแลพี่น้องประชาชนสิทธิบัตรทองประมาณ ๑๐,๐๐๐ กว่าคนต่อแห่ง ซึ่งก็แออัดมาก จำนวน ๑ คลินิก ต่อ ๑๐,๐๐๐ กว่าคน เทียบกับ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล หรือ รพ.สต. ที่อยู่ต่างจังหวัด ดูแลประชาชน จำนวนประมาณ ๓,๐๐๐ คนต่อแห่ง อยู่ ๓ เท่าตัว ถ้าเทียบตามตัวเลขนะคะ ทุกวันนี้ กรุงเทพมหานครประสบกับปัญหาความแออัด ในการรับการรักษาพยาบาลในระดับปฐมภูมิ อยู่แล้ว และถ้ายังไม่แก้ไขปัญหานี้คลินิกชุมชนอบอุ่นจะทยอยปิดตัวไป จะเกิดปัญหา การรักษาพยาบาลของคนกรุงเทพฯ ทำให้ยุ่งยากซับซ้อนขึ้นค่ะ ท่านประธานนึกนะคะว่า คนเจ็บป่วยที่จะต้องพาร่าง พาสังขารตัวเองเดินทางไปไกลยังสถานพยาบาลที่ไกลขึ้นค่ะ โรงพยาบาลขนาดใหญ่ก็จะแออัดมากขึ้น เพราะว่าสถานพยาบาลเล็ก ๆ ปิดตัวไป แพทย์ก็มีเวลาตรวจวินิจฉัยโรคน้อยลง ผู้ป่วยวิกฤติที่รอคอยหมอก็ต้องประสบปัญหา รอคอยมากขึ้น บางท่านเจ็บป่วยร้ายแรงก็จะต้องรักษาเนิ่น ๆ ก็ไม่ได้รับการรักษา ต้องรอคอยให้โรคร้ายลุกลามบานปลายไป นั่นหมายถึงโอกาสรอดชีวิตของพี่น้องประชาชน และผู้เจ็บป่วยก็จะน้อยลงค่ะ ปัญหาเกิดจากการที่กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเขตพื้นที่ สุขภาพที่ ๑๓ มีรูปแบบการเบิกจ่ายเงินที่แตกต่างจากจังหวัดอื่น การเบิกจ่ายตามรายการ ที่มีอยู่ถึง ๔,๐๐๐ รายการ รวมถึงงานธุรการมากมาย เสี่ยงต่อการถูกจับผิด แตกต่างจาก จังหวัดอื่น ๆ ในประเทศนี้มีกรุงเทพมหานครเท่านั้นที่มีความพิเศษ รูปแบบการเบิกจ่าย แบบเหมาจ่ายรายหัวค่ะ แถม สปสช. ก็ยังจ่ายให้คลินิกชุมชนอบอุ่นแค่ร้อยละ ๗๐ จากราคาประเมิน แต่ด้วยระบบของการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการที่มีหลักเกณฑ์ว่าหากปีใด มีผู้มาใช้บริการมากจนเกินวงเงินค่าบริการที่คลินิกชุมชนอบอุ่นจะได้รับนั้น ก็จะถูกลดลง ตามสัดส่วนค่ะ

นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

นั่นหมายความว่าอย่างไรคะ คน กทม. เจ็บป่วยมากขึ้น แต่คลินิกก็ยังถูก ตัดเงินอีก น่าสงสารคนกรุงเทพฯ ในนาทีนี้ค่ะ นโยบายแบบนี้เท่ากับว่า สปสช. กำลังบีบ ให้คนกรุงเทพฯ ที่เจ็บป่วยถูกปฏิเสธการรักษาหรือต้องได้รับการรักษาแบบจำกัดจำเขี่ย ขัดกับหลักการของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างชัดเจน ที่ผ่านมา สปสช. อ้างว่า ต้องใช้รูปแบบการเบิกจ่ายแบบนี้กับเฉพาะกรุงเทพฯ เท่านั้น เนื่องจากว่าเคยมีคลินิกชุมชน บางแห่งทุจริต ดิฉันไม่ได้ปฏิเสธนะคะ แล้วก็ไม่ได้บอกว่าเราไม่ควรแก้ไขปัญหาการทุจริต เราควรแก้ไขปัญหาการทุจริตค่ะ แต่การบังคับให้คลินิกทุกแห่งในกรุงเทพมหานคร ต้องมาอยู่ในระบบการเบิกจ่ายที่เอารัดเอาเปรียบ ด้อยประสิทธิภาพ ไม่มีการดูแลอย่างทั่วถึง จะส่งผลกระทบกับคนที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานคร ซึ่งตอนนี้มีมากถึง ๑๐ ล้านคน เป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่คำนึงถึงประชาชนเหมือนเอาชีวิตของคนกรุงเทพฯ ไปแขวนไว้ -บนเส้นด้าย และเมื่อ ๑๖ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพที่ ๑๓ ก็ได้มีข้อเสนอแนะไปแล้วว่า ให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเบิกจ่ายให้เป็นแบบเหมาจ่ายรายหัว เหมือนที่ต่างจังหวัดเขาทำกัน แทนที่การเบิกจ่ายตามรายการ โดยเสนอให้มีผลบังคับ วันที่ ๑ มีนาคม ที่จะถึงนี้นะคะ แต่ทว่าจนถึงวันนี้แล้วยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเลยค่ะ ปัจจุบัน สปสช. ค้างจ่ายคลินิกชุมชนอบอุ่นทั้งหมดอยู่มากกว่า ๕๘๐ ล้านบาท และถ้าไม่แก้ไข ก็จะพอกพูนหนี้ไปเรื่อย ๆ สิทธิในการรักษาพยาบาลของคนกรุงเทพฯ ก็จะถูกลิดรอน ตกไปเรื่อย ๆ น่าสงสารคนกรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่งนะคะ จึงเป็นที่มาของคำถามที่ ๑ ค่ะ ท่านประธาน เมื่อวานวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ดิฉันทราบมาว่ามีการประชุมเรื่องนี้ในบอร์ด สปสช. ดิฉันจึงขอสอบถามค่ะท่านประธาน ว่าตกลงแล้ววันที่ ๑ มีนาคม ที่จะถึงนี้จะมีการ เปลี่ยนแปลงรูปแบบการเบิกจ่ายเงินของคลินิกชุมชนอบอุ่นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นแบบรายหัวตามที่ผู้อำนวยการเขตสุขภาพที่ ๑๓ ได้เสนอหรือไม่ จะเริ่มเบิกจ่ายได้เมื่อไร และแหล่งงบประมาณมาจากที่ใด เพราะปัจจุบันนี้เงินเหลือจ่ายก็มีอยู่จำกัดมาก แล้วงบประมาณปี ๒๕๖๗ ก็ยังไม่แล้วเสร็จ รวมถึงไม่ได้มีการสำรองเงินไว้สำหรับ การเบิกจ่ายแบบรายหัว ดิฉันขอทราบรายละเอียดค่ะท่านประธาน ขอบพระคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านรัฐมนตรีครับ

นายชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้นฉบับ

ท่านประธาน ที่เคารพ กระผม นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขออนุญาตท่านประธานตอบคำถาม ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติที่ได้กรุณาถาม เรื่องของการใช้บริการในคลินิกอบอุ่นนะครับ

นายชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้นฉบับ

คำถามแรก ถามว่าในวันที่ ๑ มีนาคม จะมีการเปลี่ยนรูปแบบการจ่ายเงิน ให้กับคลินิกอบอุ่นหรือไม่ อย่างไร และใช้เงินจากไหน รูปแบบเป็นอย่างไร ผมกราบเรียน ท่านประธานผ่านไปยังเพื่อนสมาชิกครับ สิ่งที่เพื่อนสมาชิกได้กรุณานำเข้าสู่ก่อนที่จะมี คำถามเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ผมเองเข้ามาทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีก็รับรู้รับทราบปัญหานี้ จริง ๆ รับรู้รับทราบตั้งแต่ผมเป็นผู้นำฝ่ายค้านนะครับ แล้วก็ทำเรื่องนี้มาพอสมควร แล้วพอมาเป็นรัฐมนตรีก็รับทราบรับรู้ปัญหาเรื่องนี้ เคยให้ตัวแทน ให้ผู้แทนของคลินิกอบอุ่น กลุ่มสถาบันการแพทย์ ที่เราเรียกว่า UHosNet เข้ามาพบปะพูดคุยกัน ผมเองก็ยังบอกว่า ช่วยไปทำข้อเสนอมาให้ผมหน่อยว่าจะต้องทำอย่างไร โดยสรุปครับ คำถามท่านถามเรื่อง รูปแบบการเบิกจ่าย

ตอบคำถามตรงนี้ก่อนนะครับ สปสช. ได้นำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบอร์ด สปสช. เมื่อวานนี้ ซึ่งผม นั่งเป็นประธาน มีเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณา สปสช. มีมติเห็นชอบกับรูปแบบที่ทางเครือข่าย คลินิกอบอุ่น แล้วก็เครือข่ายของสถาบันการแพทย์ได้นำเสนอมา รวมทั้งผู้อำนวยการ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเขตบริการสุขภาพที่ ๑๓ นี้เสนอมา เขาขอให้ปรับรูปแบบเป็นการ จ่ายเงินแบบเหมาจ่ายรายหัว หรือ Capitation ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม เป็นต้นไป มติเห็นชอบ เรื่องนี้ตามข้อเสนอครับ เพราะฉะนั้นวันที่ ๑ มีนาคม รูปแบบการจ่ายเงินในคลินิกอบอุ่น ในเขตที่ ๑๓ จะเป็นรูปแบบ Capitation หรือเหมาจ่ายรายหัว แต่เน้นย้ำนะครับ เฉพาะผู้ป่วยนอก เพราะว่าการบริการคลินิกอบอุ่นเป็นลักษณะบริการแบบปฐมภูมิเป็น Primary Care มีผู้ป่วยนอกและงานส่งเสริมป้องกันสุขภาพ งานส่งเสริมป้องกันสุขภาพ ที่เราเรียกว่า PP ต้นฉบับ

Prevention Promotion เรายังใช้ลักษณะการจ่ายแบบ Fee Schedule หรือจ่ายตามรายการที่กำหนดอยู่ มันจะมี ๒ รูปแบบนะครับ ถ้าเป็น PP หรือการส่งเสริม ป้องกันโรค จ่ายแบบลักษณะตามรายการที่กำหนด ที่เรียกว่า Fee Schedule นะครับ ๒. กรณีที่มีการส่งต่อ คลินิกอบอุ่นมักจะส่งต่อเข้ากับสถานพยาบาลที่เป็นสถานพยาบาล ชั้นสูง เป็น Tertiary Care หรือตติยภูมิโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ซึ่งค่าใช้จ่ายสูงมาก เรายังใช้การเบิกจ่ายแบบตามรายการที่กำหนดอยู่แบบมีเพดาน คือ Fee Schedule with Global อยู่ ต้องขออนุญาตประธานที่ใช้ภาษาอังกฤษนิดหนึ่งครับ เป็นการจ่ายตามรายการ ปลายปิด เพราะเป็นลักษณะเงินเหมาจ่าย ๒ เรื่องนี้เป็น Fee Schedule อยู่ครับ เพราะฉะนั้น วิธีการจ่ายจะเป็นแบบนั้น ถามว่าเม็ดเงินมาจากไหน ก็เป็นงบประมาณจากสำนักงาน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อันนี้คือวิธีและรูปแบบการจ่าย ผมเชื่อว่าท่านจะมีคำถามที่ ๒ คำถามที่ ๓ ผมจะได้ตอบชี้แจงต่อ กราบขอบคุณในคำถามที่ ๑ ครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านรัฐมนตรีครับ ขอเชิญท่านปวิตราถามในรอบที่ ๒ ครับ

นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ดิฉัน ปวิตรา จิตตกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ขอบพระคุณท่านรัฐมนตรี สามารถเบิกจ่ายได้เลยใช่ไหมคะ ก็ขอขอบพระคุณที่ท่านยืนยันว่าท่านก็ทราบถึงปัญหานี้ มาตั้งนานแล้ว เพราะว่าเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ท่านรัฐมนตรีสมัยที่ท่านเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ท่านก็ไปรับหนังสือร้องเรียนกับผู้แทนคลินิกชุมชนอบอุ่นด้วยตัวเอง ตามหน้าข่าวนะคะ และขณะนั้นก็ยังให้สัมภาษณ์อีกด้วยว่ากลไกการเบิกจ่ายแบบที่เป็นอยู่นั้น เป็นการทำลายพี่น้องประชาชน เป็นวิธีคิดที่แย่มาก ไม่สมควรเป็นรัฐบาล และควรถูกลงโทษด้วย และ สปสช. ก็ยังคงจัดสรรวงเงินงบประมาณในการเบิกจ่ายให้กับคลินิกชุมชนอบอุ่น น้อยกว่าความเป็นจริงตั้งแต่ปี ๒๕๖๔ จนถึงปี ๒๕๖๖ ที่จริงก็จนถึงวันนี้นะคะ ทำให้คลินิก ชุมชนอบอุ่นถูกปรับลดเงินชดเชยค่าบริการลงอย่างต่อเนื่อง ประสบกับปัญหาขาดทุน และขาดสภาพคล่องที่หนักกว่าเดิมค่ะ

นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ดังนั้นดิฉันขอสอบถามคำถามที่ ๒ เกี่ยวกับปากท้องนะคะ ในฐานะที่ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานบอร์ด สปสช. โดยตำแหน่ง และตนเอง ก็เคยไปรับหนังสือร้องเรียนด้วยตัวเองมา พร้อมกับคำพูดที่ว่าวิธีคิดการเบิกจ่ายแบบนี้ เป็นวิธีแย่มาก มันไม่สมควรเป็นรัฐบาล ดิฉันจึงขอสอบถามค่ะว่าเงินที่ค้างจ่ายคลินิก ชุมชนอบอุ่นในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีอยู่มากกว่า ๕๘๐ ล้านบาท จะจ่ายภายในเดือนไหน ในเดือนมีนาคมนี้จะได้หรือไม่ ขอทราบรายละเอียดค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านรัฐมนตรีครับ

นายชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้นฉบับ

ท่านประธาน ที่เคารพ กระผม ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขออนุญาต ตอบคำถามเพื่อนสมาชิกท่าน สส. ปวิตราที่กรุณาถามในคำถามที่ ๒ เรื่องของเงินที่ค้างจ่าย แล้วพูดถึงการจัดสรรที่ได้น้อย ขาดทุน ก่อนที่ผมจะตอบเงินค้างจ่ายนะครับ ผมขออนุญาต ชี้แจงประเด็นเรื่องของวิธีการจัดสรรที่ท่านถามในข้อที่ ๑ ถึงรายละเอียดของการจัดสรร สักนิด ท่านจะได้เห็นภาพว่าคำถามที่ ๒ ของท่านที่บอกค้าง ๕๘๐ ล้านบาท มันเกิดขึ้น ได้อย่างไร ท่านประธานที่เคารพครับ รายการเบิกจ่ายของเขตบริการสุขภาพที่ ๑๓ คือ กทม. เขาเป็นการนำเอาวิธีการมาใช้แบบใหม่ที่แตกต่างจากภาพทั่วไป ที่เราใช้คำว่า จ่ายตามรายการกำหนด แต่ไม่เกินเพดานวงเงินคือ Fee Schedule with Global ต้องขออนุญาตใช้ภาษาอังกฤษนะครับ วิธีการแบบนี้หลักการเขาเริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๖๔ เดิมคลินิกอบอุ่นจะเป็นหน่วยบริการประจำ หมายความว่าขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการ ประจำจะได้รับเงินแบบเหมาจ่ายรายหัว พอเปลี่ยนมาเป็น Fee Schedule หรือจ่าย ตามรายการแล้วจะต้องมีหน่วยบริการประจำ เขาก็เลยให้ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. เป็นหน่วยบริการประจำ คลินิกอบอุ่นก็จะเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิเป็นเครือข่าย แล้วเงิน ก็จะผ่านไปที่หน่วยประจำ แล้วกระจายเข้าไป การจ่ายในเงื่อนไขที่มีข้อตกลงกันเขาบอกว่า จ่ายค่าบริการปฐมภูมิลักษณะเป็นแต้มหรือ Point ไม่เกิน ๑ บาท ต่อ Point ใช้คำว่า ไม่เกิน ๑ บาทต่อ Point นะครับ ตามวงเงินเหมาจ่ายรายปีภาษาอังกฤษเขาใช้ว่า Point System with Global Budget นะครับ หากปลายปีมีเงินเหลือ ก็คืนเพิ่มให้หน่วยบริการปฐมภูมิทั้งหมด ก็คือคลินิกอบอุ่นนะครับ หากไม่พอก็ลดลงได้ Point ละไม่ถึง ๑ บาท อันนี้คือสิ่งที่เริ่มทำเมื่อเดือนมีนาคม ปี ๒๕๖๔ เมื่อ ๒ ปีที่แล้ว อันนี้คือเงื่อนไขนะครับ ประเด็นที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้คลินิกอบอุ่น ไม่ได้รับ ๑ บาทต่อ Point ที่ท่านบอกว่าเสมือนเป็นหนี้นะครับ ระบบการจ่ายแบบนี้ คลินิกอบอุ่นเองจะต้องรับผิดชอบการส่งต่อ ที่เราเรียกว่า OPD Refer ส่งต่อผู้ป่วยนอก ไปยังสถานบริการที่มีความสามารถในระดับสูงขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็น Tertiary Care หรือ หน่วยบริการตติยภูมิ ซึ่งค่าใช้จ่ายสูงมาก เม็ดเงินที่ผ่านมาประเมินโดยรอบ เอาง่าย ๆ ครับ ในปีที่ผ่านมานี้ เม็ดเงินที่คลินิกอบอุ่นจะได้รับทั้งหมดเมื่อมีข้อกำหนดแบบนี้และมีเงื่อนไข ด้วยนะครับว่า การจ่ายต้องจ่ายให้กับ OPD Refer ก่อน หมายความว่าคลินิกอบอุ่นไหน ส่งคนไข้ไปต้องให้ตรงนี้เป็นอันดับแรกก่อน ตามไปจ่ายก่อน เหลือเท่าไรก็เอาเม็ดเงินที่เหลือนั้น มากระจายให้กับคลินิกอบอุ่น จากเดิม Point ละ ๑ บาทใช่ไหมครับ เพราะฉะนั้นวิธีการจ่าย แบบนี้ มันทำให้คลินิกอบอุ่นไม่มีทางได้ Point ละ ๑ บาทแน่นอน เพราะตัวเลขที่จ่ายให้กับ คนไข้นอกที่ส่งต่อ มีสัดส่วนถึงร้อยละ ๗๐ ของเม็ดเงิน ร้อยละ ๗๐ เลยนะครับ มีเงิน ๑๐๐ บาท Refer คนไข้ไป ตัวเลขที่ผมมีอยู่ขณะนี้แค่ ๓๕ เปอร์เซ็นต์ของคนไข้นอกที่มา รับบริการทั้งหมด เขาส่งต่อแค่ ๓๕ เปอร์เซ็นต์ แต่ ๓๕ เปอร์เซ็นต์ เมื่อไปอยู่ในโรงพยาบาล ระดับโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาล UHosNet โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแล้ว กินเม็ดเงินไป ๗๐ เปอร์เซ็นต์ พอหัก ๗๐ เปอร์เซ็นต์นี้ออกไป จะเหลือเม็ดเงินอยู่แค่ จาก Point ละ ๑ บาท เหลือแค่ ๐.๕๗ บาทเองครับ มันก็เลยเป็นประเด็นว่าต้องเอา ๐.๕๗ บาท มาจ่ายให้กับคลินิกอบอุ่น ซึ่งไม่พอแน่นอน สิ่งที่เขาจะได้รับมันไม่ได้เต็มครับ เพราะฉะนั้นวิธีการเบิกจ่ายแบบนี้ ตั้งแต่แรกผมเลยบอกว่าทดลองใช้ Model 5 เขาเรียก Model 5 ครับ มันอาจจะไม่สอดคล้อง ไม่เหมาะสม เพราะว่าเป็นการจ่ายตามรายการ ที่กำหนด มันอาจจะเกิดปัญหา มันเกิดปัญหาจริง ๆ แล้วสิ่งที่ผมพูดไว้มันก็เกิดปัญหาจริง ๆ พอผมมาเป็นรัฐบาลจะต้องรีบแก้ตรงนี้ครับ ต้องปรับวิธีการจ่าย เหมือนที่ได้นำเรียนไปแล้ว

นายชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้นฉบับ

ทีนี้ประเด็นเม็ดเงินที่ค้างอยู่ผมเข้าไปดูในรายละเอียด ไม่เฉพาะแค่ คลินิกอบอุ่นนะครับ ทั้งประเทศด้วย เพราะวิธีการจ่ายมันทำให้เกิดภาระหนี้ทางบัญชี วิธีการจ่ายแบบนี้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอกยังคิดง่ายนะครับ เอาเป็นว่า คลินิกอบอุ่นเราคิดเฉพาะผู้ป่วยนอก ผมไม่เอาผู้ป่วยในมาเกี่ยวข้อง เดี๋ยวจะสับสน เม็ดเงิน ที่ได้ไป ๐.๕๗ บาทนี้มันเป็นเม็ดเงินในข้อตกลงรวม แต่สิ่งที่คลินิกได้ไป เอาผลงานปี ๒๕๖๕ ปี ๒๕๖๖ มาบวก เขาก็เอาผลงานนี้มา Claim จ่ายเข้าไป สปสช. เองก็เอาผลงานนี้จ่าย ตามจ่ายเข้าไป ส่วนหนึ่งมีการจ่ายเกิน ส่วนหนึ่งมีการจ่ายขาด เพราะฉะนั้นภาระหนี้ที่ทาง คลินิกบอกว่า ๕๘๐ ล้านบาท ตรงนี้ก็เป็นตัวเลขที่ ๒ ฝ่าย ต้องมาคุยกันในรายละเอียด ผมให้นโยบายไป ตอนแรกเขาจะใช้เม็ดเงินปีงบประมาณใหม่ ซึ่งใช้กฎหมายเดิมก็คือ กฎหมายปี ๒๕๖๖ นี้จ่ายไปพลางก่อน ไปหักไว้ใช้หนี้ประมาณร้อยละ ๓๐ คือจ่าย Point ละ ๑ บาท ก็หักไว้ก่อน ๓๐ เปอร์เซ็นต์ เพื่อเอาไปชดเชยหนี้ ผมให้นโยบายบอกว่าอย่าไปหักเขา ต้องจ่ายให้เขาเต็ม แล้วผมจะหาวิธีการว่าที่เป็นหนี้จะแก้หนี้กันอย่างไร ขอให้ไปดูในรายละเอียด ว่าวิธีระบบบัญชีมันถูกหรือเปล่า มันควรจะเป็นระบบมาตรฐานหรือไม่ เป็นหนี้ค้างบัญชี ถ้าเกิดเนื้องานมันสามารถหักลบกลบหนี้ได้ ก็เอาเนื้องานไปชดเชยก็คิดเป็นเงินออกมา วิธีการพวกนี้เรากำลังคิดอยู่ครับ ซึ่งมันต้องหาตัวเลขจริง ๆ เข้ามา เพราะฉะนั้น ตอบท่านสมาชิกว่า ๕๘๐ ล้านบาทนี้จะจ่ายเมื่อไร มันอยู่ที่ระบบวิธีการที่เราจะไปดู ในรายละเอียดทั้งหมดนะครับ ถ้าเขาควรได้รับจริง ทาง สปสช. เราเองก็พร้อมที่จะเติมเต็มให้ในส่วนที่ขาด แต่ว่าส่วนใหญ่ มันเป็นหนี้ทางบัญชีครับ เป็นหนี้ทางบัญชีก็จะใช้วิธีการทางบัญชีมาพิจารณาดูว่าจะสามารถ กลบหนี้เขาอย่างไร เพราะบางส่วนคลินิกเป็นหนี้ สปสช. เพราะ สปสช. ได้จ่ายเงินไปแล้ว แต่เนื้องานคุณทำไม่ถึง อันนี้ก็เลยทำให้เกิดปัญหาทั้ง ๒ ฝ่าย ในคำถามนี้ขอเรียนผ่าน ท่านประธานไปยังเพื่อนสมาชิกครับ มันเป็นหนี้ทางระบบบัญชี เพราะฉะนั้นกลไกการแก้หนี้ เราจะไปดูในรายละเอียดให้ ผมอยู่ตรงนี้ผมให้ความมั่นใจครับว่า ทุกฝ่ายต้องได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะพี่น้อง กทม. นี้ ระบบบริการจาก Primary Care ขึ้นไป Tertiary เลยนะครับ ค่าใช้จ่ายมันเลยกระโดดสูงมากในการส่งต่อ และในรายละเอียดอีกนิดหนึ่งครับ เม็ดเงินที่เราให้สำหรับ กทม. เราให้เหมาจ่ายรายหัว แต่ว่าขาลงนี้เราคิด Fee Schedule แบบเดิมให้ทั้ง PP และ OPP คือการส่งเสริมป้องกัน เม็ดเงินก้อนนี้เหลือเยอะมากครับ เหลือ ๑,๕๐๐ ล้านบาท หมายความว่าอย่างไรครับ หมายความว่าไม่มีรายการส่งเบิก ค่าส่งเสริมป้องกันโรค เงินตัวนี้ก็กองอยู่ ขณะที่เงินบริการขาด เพราะฉะนั้นวิธีการเบิกจ่าย ต่อไปในอนาคตที่เขาคิดไว้ เราจะต้องคำนึงถึงรายละเอียดพวกนี้ให้มันสามารถดูแลพี่น้อง ประชาชน ทั้งส่งเสริมป้องกันรักษาพยาบาลและฟื้นฟูสภาพได้ ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านผู้ถามใช้สิทธิในรอบที่ ๓ ครับ

นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานค่ะ ปวิตรา จิตตกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ขอบพระคุณ ท่านรัฐมนตรีค่ะ ฝากเรียนท่านประธานไปยังท่านรัฐมนตรีนะคะว่า เมื่อสักครู่ดิฉันนั่งฟังอยู่ค่ะ หนี้ทางบัญชีค่ะ หนี้ทางบัญชีมันกินไม่ได้ค่ะ คลินิกชุมชนอบอุ่นทุกที่ต้องกิน ต้องใช้ค่ะ และจะทยอยปิดตัวลงจากที่เคยมี เคยเห็นมาก่อนนะคะ ดังนั้นดิฉันอยากทราบคำตอบ ถ้าท่านรัฐมนตรีจะกรุณาตอบเป็นเอกสารก็ได้หรือจะแถลงข่าวก็ได้ค่ะ แล้วอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องที่เราพูดกันอยู่ในกระทู้นี้ สถานพยาบาลระดับปฐมภูมินี้คือคลินิกชุมชนอบอุ่น ไม่ใช่คลินิกอบอุ่นค่ะ

นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

คำถามสุดท้าย ปัจจุบันมีข้อเสนอจากเครือข่ายและสมาคมทางการแพทย์ และสาธารณสุข ๕ เครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ แห่งประเทศไทย ชมรมโรงพยาบาลสถาบันกรมการแพทย์ ชมรมโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป สมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ได้จัดตั้ง Provider Board เพื่อบูรณาการการจัดสรรการเบิกจ่ายของเครือข่ายสถานพยาบาลต่าง ๆ ให้มีความเป็นธรรมและรวดเร็ว ปัจจุบันมีความคืบหน้าอย่างไร และมีโครงสร้างการบริหาร เป็นแบบไหน จะดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมได้เมื่อไร ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านรัฐมนตรีครับ

นายชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้นฉบับ

ท่านประธาน ที่เคารพ กระผม ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขออนุญาตตอบ คำถามที่ ๓ ของเพื่อนสมาชิก เป็นคำถามที่ต้องขอบคุณครับ เพราะว่าเรื่องนี้มันเป็นข้อเสนอ ที่เรานำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบอร์ด สปสช. เมื่อวานนี้ ก็แจ้งข่าวท่านประธานผ่านไปยังเพื่อนสมาชิกและพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะ เครือข่ายผู้ให้บริการทั้ง ๕ เครือข่าย ที่ได้ทำข้อเสนอแล้วมายื่น ผมเองได้ลงไปนั่งรับ นั่งฟังด้วยตนเองครับ วันที่เขามาที่กระทรวงสาธารณสุขที่ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร ฟังประเด็นทั้งหมด แล้วในส่วนของผมเองนั้น ผมก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง สนับสนุนนะครับ เราทำเรื่องนี้ก่อนที่จะมีข้อเสนอของเครือข่ายทั้ง ๕ สถาบัน ๕ ชมรมนี้ กระทรวงสาธารณสุข ทำเรื่องนี้เสนอเข้าบอร์ด สปสช. ๒ ครั้ง เพื่อจัดตั้งที่เราเรียกว่า คณะกรรมการฝ่ายผู้ให้บริการ เพื่อมาพัฒนาเรื่องของระบบ ดูเรื่องของการจัดการบริการทั้งหมดให้มันเป็นไปในทางที่ เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นระบบเรื่องของเม็ดเงิน ต้นทุน กระบวนการ วิธีการในการที่จะดูแลรักษาต่าง ๆ เราส่งไป ๒ ครั้ง บอร์ด สปสช. บอกว่า อยากจะให้ไปศึกษาในรายละเอียด มันจะเป็นประเด็น เป็นปัญหา ผมก็เลยให้ถอนออกมาก่อน แล้วเอามาทำใหม่ ยื่นเข้าไปใหม่อีกครั้งหนึ่ง ผมเองนั่งเป็นประธาน ผมจะทุบโต๊ะก็คงทำไม่ได้ ครั้งที่ ๒ นี้มีทางออกบอกว่า ถ้าเสนอแบบนี้มันไม่เข้าช่องทางของกระบวนการวิธีการ การทำงานตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การทำหน้าที่ของคณะกรรมการ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีคณะอนุกรรมการหลายคณะมาก เพราะฉะนั้นให้ไปผ่าน คณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องก่อน ให้พิจารณาเข้ามา ครั้งที่ ๒ เลยมีข้อยุติว่ามีทางเห็น แสงสว่าง ก็ให้คณะอนุกรรมการ ซึ่งอนุกรรมการไปพิจารณาชุดนี้เขาเรียกว่าเป็นอนุกรรมการ นโยบายและยุทธศาสตร์ เขาพิจารณาครับ แล้วส่งกลับมาเมื่อวาน มาพิจารณา ภายใต้ความเห็นต่างค่อนข้างหลากหลายครับ แต่ข้อสรุปคือกรรมการเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วย ให้ตั้งคณะกรรมการเป็นอนุกรรมการภายใต้กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นคณะกรรมการสนับสนุนเรื่องหน่วยบริการผู้ให้บริการ มีองค์ประกอบจากตัวแทนของ หน่วยบริการทุกส่วน ทั้งมาตรา ๓ มาตรา ๔๕ มาตรา ๔๖ มาตรา ๕๗ รวมหมดครับ เข้ามาอยู่ในองค์ประกอบของคณะกรรมการ หน้าที่และอำนาจเน้นเรื่องของการที่จะไปดู และพัฒนาสิ่งที่จะเป็นข้อเสนอจากคณะกรรมการชุดนี้ให้สู่ สปสช. เพื่อดูเรื่องระบบบริการ ไม่ว่าเรื่องจะเป็นปัจจัยการบริการทั้งหมด ไม่ว่าคน เงิน ของ ที่จะต้องทำเสนอเข้าไป ระบบบริการที่เราวางอยู่ โดยเฉพาะในยุค Digital Health เรื่องเศรษฐกิจสุขภาพตรงนี้ เรื่องของ Digital Health ที่เรากำลังดำเนินการอยู่ เขาก็จะทำข้อเสนอขึ้นมา นี่เป็นหน้าที่ แล้วก็ประเมินวิเคราะห์ต่าง ๆ เรื่องของความเป็นไปเป็นอยู่ แล้วก็การมีส่วนร่วมของ ทุกเครือข่ายที่จะมาจัดบริการ ผ่านเรียบร้อยครับ หลังจากนี้ส่วนของสำนักงานเลขาธิการ สปสช. ก็จะไปดำเนินการในการที่จะเสนอแต่งตั้งตัวคณะกรรมการเข้ามาสู่บอร์ด บอร์ดก็จะแต่งตั้ง หลังจากนั้นก็มอบหมายหน้าที่เข้าไปดำเนินการ กรรมการชุดที่ผ่าน ก็จะเป็นเรื่องที่ดีที่ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม ในการที่จะนำเอาความต้องการของพี่น้อง ประชาชน โดยเฉพาะประเด็นเป็นปัญหาต่าง ๆ เข้ามาแก้ไข ผมอยู่ตรงนี้ ผมเรียนกับ ท่านประธานด้วยความเคารพครับ ให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก แล้วก็ขับเคลื่อนมาภายใน ๔-๕ เดือนนี้ ผมได้ถึงขนาดนี้ ผมเชื่อว่ามันก็จะเป็นโอกาสอันดีในการที่จะขับเคลื่อนร่วมกัน ระหว่างเครือข่ายต่าง ๆ เพราะขณะนี้สถานบริการที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องการบริการ สุขภาพมันหลากหลายมาก ไม่เหมือนเดิมครับ เดิมมีเฉพาะส่วนราชการ เอกชนเข้ามา มีส่วนร่วมน้อยมาก ตรงนี้มีทุกภาคส่วนครับ แม้กระทั่งสถานบริการที่ผมเรียนท่านประธาน ตึกนอนผู้ป่วยที่บ้าน บ้านเป็นเรือนนอนผู้ป่วยที่เราเรียกว่า Home Ward ก็เป็นสถานบริการ เป็นหน่วยบริการในเครือข่าย สถานชีวาภิบาล สปสช. ก็เห็นชอบครับ เป็นหน่วยบริการ ในเครือข่ายสามารถที่จะใช้สิทธิ ใช้อะไรต่าง ๆ ตรงนี้ได้ เพราะฉะนั้นตัวแทนเขาเหล่านี้ ก็จะเข้ามามีส่วนร่วมในการที่จะพิจารณารายละเอียด เพื่อเสนอให้เป็นประโยชน์กับพี่น้อง ประชาชน ในเรื่องการจัดบริการจากหน่วยบริการครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านปวิตรามีเวลาเหลือเล็กน้อย ไม่อนุญาตให้ถามแล้วนะครับ แต่มีประเด็น จะฝากท่านรัฐมนตรีได้นะครับ

นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ปวิตรา จิตตกิจ สมาชิก สภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ฝากสั้น ๆ สุดท้ายค่ะประธาน ดิฉัน ยังติดใจอยู่ค่ะ ๕๘๐ ล้านบาท ที่ค้างจ่ายอยู่จะจ่ายเมื่อไร และดิฉันก็หวังว่าภายใน ๒-๓ วันนี้ จะได้คำตอบค่ะท่านประธาน ขอบพระคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอบคุณท่านรัฐมนตรีนะครับ

นายชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้นฉบับ

ท่านประธาน ที่เคารพครับ ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับข้อเสนอท่าน เดี๋ยวจะทำเอกสารแจงรายละเอียดให้ แล้วทางฝ่ายที่เกี่ยวข้องเฉพาะเขาก็คงจะตอบคำถาม ท่านไปแล้ว ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอแจ้งสมาชิกนะครับว่าเดี๋ยวบ่ายนี้เราก็จะรับทราบรายงานของ สปสช. ด้วย แล้วท่าน เลขาธิการก็มาด้วยตัวเอง เดี๋ยวเรามีอะไรก็ลองดูในรายงานของปี ๒๕๖๕ แล้วก็มีข้อเสนอ ไปทางที่กระทรวงได้นะครับ ขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๓. นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

กระทู้ถามสดด้วยวาจา ถามโดยท่านณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ถาม รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงยุติธรรม ตอนนี้ท่านรัฐมนตรีให้เกียรติเข้าประจำที่แล้วนะครับ ขอเชิญ ท่านณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ใช้สิทธิถามในรอบที่ ๑ ครับ

นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล จากพี่น้องชาวบางขุนเทียน บางบอน ท่านประธานครับ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากระทู้ถามสดวันนี้ของผมนั้นร้อนแรงจริง ๆ เนื่องจากว่า ๒-๓ วันที่ผ่านมา ทั้งท่านรองนายกรัฐมนตรี ท่านรัฐมนตรี ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้อง เพื่อนสมาชิก สส. หลาย ๆ คนก็ได้ออกมาตอบประเด็นร้อนประเด็นนี้ เนื่องจากว่าเป็นที่สนใจของพี่น้อง ประชาชน ในกรณีการพักโทษของท่านอดีตนายกรัฐมนตรี ท่านทักษิณ ชินวัตร มาดูในส่วน ของ Timeline ในกรณีนี้กันครับ เพื่อให้เข้าสู่ประเด็นอย่างรวดเร็ว

นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็น Timeline ที่เกิดขึ้นก็คือวันที่ ๑ ท่านได้กลับมารับโทษและได้ส่งไปยังโรงพยาบาลตำรวจในวันเดียวกัน วันที่ ๒ ถึงวันที่ ๑๘๐ ครบพอดี ท่านได้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลนอกเรือนจำ โดยไม่ได้ คุมขังนอกเรือนจำ วันที่ ๑๘๑ ท่านได้รับการพักโทษมา สู่ประเด็นนี้ครับ กระบวนการที่ผ่านมา ผมไม่ติดใจ ในประเด็นการพักโทษเราก็ไปดูกันครับว่ามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพักโทษ อย่างไรบ้าง กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพักโทษมีหลายองค์ประกอบ ซึ่งต้องทำให้สอดคล้องกัน ตามหลักของกฎหมายและตามหลักของกระบวนการยุติธรรมที่บ้านนี้เมืองนี้ควรจะมี

นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ก็คือเรื่องของพระราชบัญญัติกรมราชทัณฑ์ ปี ๒๕๖๐ ได้มีการบอก ไว้ชัดเจนว่าในส่วนของ พ.ร.บ. กรมราชทัณฑ์ ในข้อ ๕๒ นั้นจะต้องเป็นนักโทษเด็ดขาด ที่ได้แสดงถึงความประพฤติดี ความอุตสาหะ ความเจริญก้าวหน้าทางการศึกษาและให้เกิดผลดี หรือทำความชอบแก่ทางราชการเป็นพิเศษ อาจได้รับประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใด และใน (๗) ก็คือการพักโทษ อันนี้คือเรื่องแรก

นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ในส่วนของกฎกระทรวงมีคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติแล้ว ต้องมาในส่วนของกฎกระทรวงก็ต้องไปดูข้อ ๔๓ ในการพักโทษกรณีพิเศษมีขั้นตอน อย่างไรบ้าง แล้วสุดท้ายก็ต้องทำให้ครบองค์ประกอบของประกาศของกรมราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๕๖๔ ที่รัฐบาลที่แล้วได้มีการแก้ไข ในส่วนนี้ก็ต้องมีคุณสมบัติที่ครบถ้วนว่าถ้าเป็น ผู้ป่วยเป็นผู้ป่วยอย่างไรบ้าง ถ้าเป็นผู้สูงอายุเป็นผู้สูงอายุอย่างไรบ้าง ผมจึงอยากจะถาม คำถามแรกกับทางท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมว่า ๓ องค์ประกอบที่ต้อง สอดคล้องกันนั้น ท่านอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณมีคุณสมบัติอย่างไรที่ผ่านการคัดกรองมา ทั้ง ๓ กฎหมายที่เกี่ยวข้องและกระบวนการต่าง ๆ ที่ประกาศไว้ อยากทราบจาก ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมครับ

นายไชยวัฒนา ติณรัตน์ มหาสารคาม ต้นฉบับ

ท่านประธาน ผม ประท้วงครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญท่านสมาชิกครับ

นายไชยวัฒนา ติณรัตน์ มหาสารคาม ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ กระผม ไชยวัฒนา ติณรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดมหาสารคาม ผมอยากจะให้ท่านประธานดูข้อบังคับการประชุม ข้อ ๑๔๗ (๘) กระทู้ถามต้องไม่มีลักษณะ อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (๘) เป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคลใด เมื่อสักครู่นี้ผมไม่อยาก ขัดจังหวะ ท่านผู้ถามได้เอ่ยชื่อบุคคลภายนอก ผมไม่ประท้วง ไม่ให้เสียมารยาท แต่ตอนหารือ ผมอยู่ข้างนอก มีผู้หารือพรรคก้าวไกลได้นำภาพของอดีตผู้นำต่างประเทศคนหนึ่ง ซึ่งเป็น บุคคลภายนอกทั้งสิ้น ผมถามท่านประธานว่าข้อบังคับการประชุมของพวกเราไม่ศักดิ์สิทธิ์ เลยหรือ และกระทู้ถามที่ว่านี้เป็นเรื่องของข้อบังคับในบริบทของข้อ ๑๔๗ (๘) เป็นข้อห้าม เลยนะครับท่านประธาน เป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคลใด นี่เรากำลังจะพูดถึงบุคคลภายนอก ท่านประธานอนุญาตใช่ไหมครับ ผมประท้วงครับ ท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับ ผมขออนุญาตวินิจฉัยข้อประท้วงนะครับ ในข้อบังคับ ข้อ ๑๔๗ (๘) บอกว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคลใด เว้นแต่ที่เกี่ยวกับการงานในหน้าที่ราชการ ฉะนั้น ผมคิดว่าคำถามของท่านณัฐชาพูดถึงกระบวนการยุติธรรม แล้วก็มาตรฐานของการใช้ กฎหมายนะครับ ก็อยากให้ท่านณัฐชาเน้นไปที่หน้าที่การปฏิบัติงานของราชการ ไม่ใช่ เรื่องส่วนบุคคล จะได้อยู่ตามข้อบังคับนะครับ ท่านครับ ผมวินิจฉัยแล้วครับ

นายไชยวัฒนา ติณรัตน์ มหาสารคาม ต้นฉบับ

นิดหนึ่งครับ ตอนหารือ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านรัฐมนตรีก็พร้อมตอบแล้วครับ

นายไชยวัฒนา ติณรัตน์ มหาสารคาม ต้นฉบับ

ตอนหารือ ข้อ ๖๙ บอกไว้ชัดเจน ห้ามนำวัตถุใด ๆ ก็หมายถึงภาพนั่นล่ะครับ พรรคก้าวไกลทำไมต้องฉวยโอกาสเช่นนี้ เอาภาพบุคคลอื่น สัปดาห์ที่แล้วพวกเราไม่เหนื่อยหรือครับ กับการเอาภาพบุคคลภายนอก ขึ้นมา เราไม่เหนื่อยหรือครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านครับ ผมขออนุญาตนะครับ เดี๋ยวเรื่องหารือเดี๋ยวผมให้ท่านปรึกษาหารือว่าจะแก้ปัญหา เรื่องนี้กันอย่างไรภายหลังนะครับ แต่ผมขออยู่ในประเด็นของกระทู้ก่อนนะครับ ด้วยความ เคารพ เชิญท่านรัฐมนตรีใช้สิทธิตอบครับ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานที่เคารพครับ ผม พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็อยากจะตอบคำถามของท่านณัฐชาที่ได้ถามเมื่อสักครู่นี้ การพักโทษเราจะมีเขียนไว้ ในพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ จริง ๆ การพักโทษน่าจะมีอยู่มาตราเดียวด้วยซ้ำครับ คือราชทัณฑ์ปี ๒๕๖๐ จะเขียนไว้ในมาตรา ๕๒ ซึ่งในมาตรา ๕๒ นี้จะเขียนจั่วไว้ว่า นักโทษเด็ดขาดหรือนักโทษที่ศาลฎีกาตัดสินแล้ว แสดงให้เห็นถึงความประพฤติดี มีความอุตสาหะ ความก้าวหน้าในการศึกษาและการงานเกิดผลดี และมีความชอบ แก่ราชการเป็นการพิเศษอาจจะได้รับดังต่อไปนี้นะครับ แล้วในข้อที่ ๗ ก็คือจะเขียน เรื่องการพักโทษ คือการพักโทษเมื่อเป็นนักโทษเด็ดขาดที่ได้รับมาไม่น้อยกว่า ๖ เดือน หรือ ๑ ใน ๓ โดยกำหนดตามที่ศาลในขณะนั้นแล้วแต่กรณี อะไรมากกว่า ก็เรียนว่าอันนี้คือ เกณฑ์การพักโทษ ซึ่งหลังจากนั้นเราก็ไปออกเป็นกฎกระทรวงเรื่องการพักโทษ ท่านได้กล่าว เมื่อสักครู่ กฎกระทรวงเรื่องการพักโทษก็จะมีอยู่ ๒ ส่วน ส่วนที่เป็นการพักโทษทั่วไป คือถ้าการเข้านิยามตรงนี้ไม่ว่าจะอย่างไรก็ไปอยู่ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาพักโทษ ซึ่งมีอยู่ ทั้งหมด ๑๙ คน ในทั้งหมด ๑๙ คน ก็มีทั้งคนของกระทรวงยุติธรรม โดยปลัดกระทรวง ยุติธรรม รองปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ แล้วก็หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กระทรวง สาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย แล้วก็มีผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน ๒ คน ก็จะต้องพิจารณา การพักโทษ ซึ่งการพิจารณาการพักโทษก็จะพิจารณาเดือนละ ๑ ครั้ง โดยเฉลี่ยการพักโทษ อันนี้เป็นการพักโทษทั่วไป ยังมีการพักโทษที่เขียนว่า มีเหตุพิเศษ จะพิเศษได้ต้องเป็น ความเห็นของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ว่า ถ้าท่านเห็นว่าจะมีการพักโทษเป็นกรณีพิเศษ แต่ก็ต้องอยู่ในกฎหมายอันนี้ที่มีเกณฑ์อยู่ในกฎกระทรวง อธิบดีกรมราชทัณฑ์ก็ต้องหยิบเอา รายชื่อส่วนใหญ่ก็คือจากผู้บัญชาการเรือนจำต่าง ๆ เสนอมา แล้วก็ส่งไปให้คณะกรรมการ ๑๙ คน ให้ความเห็นชอบ ซึ่งในคณะกรรมการ ๑๙ คน เมื่อให้ความเห็นชอบแล้ว กรณีพักโทษ กรณีพิเศษหรือพักโทษทั่วไป คณะกรรมการต้องเห็นชอบ แล้วก็จะส่งมาให้รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงยุติธรรมเป็นผู้พิจารณา สำหรับเหตุในการพักโทษพิเศษในอดีตก็มีอยู่ประมาณ ๗-๘ อย่าง แล้วทั้ง ๗ ประเภทนี้ก็ไม่ได้ถูกยกเลิก แต่บางประเภทก็ให้ชะลอไปก่อน เนื่องจากว่าในช่วงโควิดพอเราระบายผู้ต้องขังออกไปก็มีเหตุ คือจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำเราสามารถอยู่ได้ประมาณ ๑๗๐,๐๐๐ คน ตามมาตรฐานสากล วันนี้เราอยู่ ๒๘๐,๐๐๐ คนเศษ เกือบ ๓๐๐,๐๐๐ คน ก็เกินมา ๑๐๐,๐๐๐ คน ซึ่งสภาพ ๑๐๐,๐๐๐ คนนี้ เราใช้การนอนเหมือนว่าให้บิดตัวได้ ถ้าลุกไปก็เสียม้า คนก็จะเข้ามา อันนี้ คือสภาพเรือนจำ เราก็มีกฎหมายเรื่องการพักโทษ การรับโทษก็ยังอยู่ในอำนาจของกฎหมาย อย่างที่กราบเรียนก็คือ กรณีพักโทษที่เข้าเหตุเจ็บป่วยร้ายแรงหรือพิการ หรืออายุ ๗๐ ปีขึ้นไป อันนี้ก็เป็นเรื่องของ ผบ. เรือนจำ อย่างที่ท่านถามก็ ผบ. เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เสนอขึ้นมา แล้วเข้าไปสู่ท่านอธิบดีก็เป็นผู้นำเสนอเข้าไปในบอร์ด ซึ่งก็ต้องเรียนว่าในการ พิจารณาครั้งนี้มีทั้งหมด ๙๔๕ คน แล้วก็มีพักโทษกรณีพิเศษในกลุ่มต่าง ๆ และในกลุ่มต่าง ๆ เท่าที่ผมได้อ่านเวลารายงานขึ้นมา การพิจารณาการพักโทษ กรรมการไม่ใช่เป็นตรายาง กรรมการก็จะมีวินิจฉัย อย่าง ๙๔๕ คนนี้ ก็วินิจฉัยไม่ให้ ๑๕ คน แล้วก็วินิจฉัยให้ ๙๓๐ คน ซึ่งในเหตุผลของแต่ละคน

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต้นฉบับ

อย่างกรณีที่ท่านถามก็มีผู้อภิปราย เช่น กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ดูหลักฐาน ทางการแพทย์ แล้วเห็นว่าเข้าเหตุพักโทษ สำนักงานอัยการสูงสุดก็อาจจะมีคำถามว่า การอยู่โรงพยาบาลไม่ได้มาเรือนจำจะถือว่าเป็นประเด็นไหม ก็มีการตอบว่า คำว่า เรือนจำ หมายถึง ที่ซึ่งควบคุมกักขังผู้ต้องขัง แล้วเราก็ไปเขียนไว้ในกฎกระทรวงว่า การไปรักษาที่ โรงพยาบาล เราเขียนว่าเป็นที่ควบคุมโดยใช้คำพูดว่าปกติจะไม่ให้ไปอยู่ห้องพิเศษ เว้นแต่ ทางโรงพยาบาลให้อยู่ในห้องควบคุมพิเศษ ไม่ใช่ห้องรักษาพิเศษนะครับ ห้องควบคุมพิเศษ เพื่อโดยพิจารณา ซึ่งการใช้คำว่า ควบคุม ก็จะอยู่ในกฎกระทรวง โดยสรุปก็คือว่าในกรณี การประกาศดังกล่าวเป็นที่ควบคุมอยู่ในกฎกระทรวง ก็อยากจะเรียนว่านี่คือขั้นตอน และการพิจารณาก็ยังมีผู้แทนอัยการ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อันนี้ผมอ่านเฉพาะ ที่รายงานการประชุม ซึ่งก็มีการพิจารณา เพราะว่ามีความกังวลเรื่องสังคมสอบถาม ก็เป็นเหตุปกติ แล้วยังมีข้อมูลพบว่าการพักโทษกรณีดังกล่าวนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ มาถึงปัจจุบันก็มี ๒,๔๒๐ คน กรณีเจ็บป่วย อายุมาก ซึ่งผมคิดว่าก็เป็นการปฏิบัติ ตามกฎหมายราชทัณฑ์ กฎกระทรวง แล้วก็ผ่านคณะกรรมการพิจารณา อนุกรรมการ พิจารณาพักโทษ แล้วเสนอมาขออนุมัติตามลำดับชั้นครับ คำถามข้อแรกก็ตอบแค่นี้ครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านรัฐมนตรีครับ ขอเชิญท่านณัฐชาในรอบที่ ๒ ครับ

นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านประธานครับ ผม ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ก็ขอเรียนเพื่อนสมาชิกอย่างนี้ว่า ด้วยความเคารพครับ ใจเย็น ๆ ก่อน เนื่องจากคำถามผมเป็นประโยชน์ต่อท่านรัฐมนตรีในอนาคตแน่นอนนะครับ และคำถามแรกที่ผมถามจากที่ท่านเห็น ก็คือมีบุคคลมากมายกว่า ๙๓๐ คน ที่ผ่านเกณฑ์ ในรอบปกติ และมี ๘ คน ที่ผ่านเกณฑ์ในรอบพิเศษ ก็ขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีที่ช่วยขยาย คำถามของผม แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ เพราะที่ท่านได้ชี้แจงไปเมื่อสักครู่คือสิ่งที่ผมได้สอบถาม กับท่าน เอาอย่างนี้ครับ ผมช่วยขยายความสิ่งที่ท่านจะตอบให้เพิ่มเติม ขอสไลด์หน้าถัดไป

นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

สิ่งที่ท่านตอบมาเมื่อสักครู่ มี ๓ องค์ประกอบด้วยกัน ก็คือ พ.ร.บ. กฎกระทรวง และประกาศ พ.ร.บ. เขียนไว้อย่างนี้ หลักใหญ่ใจความที่ท่านอ่านเมื่อสักครู่ผมขยายความให้ชัด ๆ ก็คือว่าระหว่างคุมขังต้องมี ๔ คุณลักษณะ ที่ท่านกล่าวเมื่อสักครู่ผมไม่ต้องพูดซ้ำ ประพฤติดีหรืออะไรต่าง ๆ อันที่ ๒ ระหว่างคุมขังต้องมีความชอบแก่ราชการเป็นพิเศษ ที่ผมถามท่านคือมันเข้าเกณฑ์ข้อไหน แต่ท่านก็มาอ่านคำถามซ้ำ โดยไม่ได้บอกว่าเข้าเกณฑ์ข้อไหน ถ้าท่านบอกว่าเข้าเกณฑ์ ประพฤติดีให้ฉีดยาตรงเวลาตลอดเวลา ก็บอกกันมา ช่วยพับผ้าเตียงข้าง ๆ เป็นความ ประพฤติดี ท่านบอกมาได้ นี่เข้าข่าย พ.ร.บ.

นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ต่อไปในส่วนของกฎกระทรวงหน้าถัดไปครับ ในส่วนของกฎกระทรวงระบุไว้ ชัดเจนว่าท่านอธิบดีเห็นควรให้พักโทษ พิจารณาจาก ๒๘๐,๐๐๐ ราย ที่ท่านว่าเมื่อสักครู่ พิจารณา ๒๐๐,๐๐๐ กว่าราย ให้เหลือ ๘ รายเป็นพิเศษ ผมถามท่านว่าใช้วิธีการใด ท่านก็มาอ่านคำถามเหมือนเดิมว่าอธิบดีไปคัดสรรจากนักโทษทั้งหมด ท่านตอบมาเลยครับ วิธีการมีอะไรบ้างที่ท่านอธิบดีจะคัดจากคน ๒๐๐,๐๐๐ กว่าราย เหลือ ๘ คน ต่อมาส่งให้ คณะกรรมการ ผมไม่ได้อยากทราบว่ากรรมการมีกี่คน ท่านตอบว่ากรรมการมี ๑๙ คน ถ้าท่านตอบว่ากรรมการมี ๑๙ คน ช่วยกรุณาระบุมาเลยครับ ๑๙ คนมีใครบ้าง อนุกรรมการ เห็นชอบ เห็นชอบเสร็จทำอย่างไรครับ อธิบดีส่งให้อนุกรรมการ อนุกรรมการเห็นชอบส่งให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นั่นคือท่าน เพราะฉะนั้นท่านปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ท่านไม่เห็นเอกสาร เพราะกฎกระทรวงระบุไว้ชัดเจนว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต้องเป็นคนลงนาม เพราะฉะนั้นคำถามนี้ที่ผมถามเมื่อสักครู่คือท่านต้องบอกว่าท่านเห็น ลายลักษณ์อักษรการพิจารณาแล้ว เกณฑ์การพิจารณาตั้งแต่อธิบดีมาถึงอนุกรรมการ จากอนุกรรมการส่งมาถึงท่านด้วยคุณสมบัติอย่างไร อันนี้กฎกระทรวงครับ

นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

อันสุดท้ายประกาศ ไปดูประกาศครับ ประกาศมีอะไรบ้าง ในประกาศที่ท่าน บอกว่าเป็นผู้ป่วยหรือเป็นผู้สูงอายุ วันนี้ในสังคมตอบกันไปต่าง ๆ นานา ทำให้เสื่อมเสีย บุคคลภายนอกด้วย วันนี้ท่านใช้พื้นที่สภาตอบให้ชัดเจนเลยครับ ข้างนอกจะได้ไม่ต้อง ถกเถียงกัน มีอยู่ ๒ เงื่อนไขเท่านั้นครับ ถ้าป่วยต้องป่วย ๗ โรคครับ ๗ โรคไม่พอ เขาเขียนไว้ ในประกาศว่า และต้องส่งผลต่อชีวิตหากคุมขังต่อ นั่นหมายความว่านักโทษที่มีการป่วย ๗ ข้อนี้ ป่วยอย่างเดียวไม่ได้ ท่านยังไม่ได้รับสิทธินั้น ท่านต้องพ่วงด้วยอันตรายร้ายแรงถึงที่สุด ถ้าต้องคุมขัง อันนี้คือในเคสของคนป่วย ป่วยมีโรคอะไรบ้างครับ โรคร้ายแรงที่ไม่อาจรักษาได้ โรคระยะวิกฤติที่เสี่ยงต่อการตาย โรคที่ดูแลตัวเองไม่ได้ โรคไตวายระยะสุดท้าย โรคมะเร็ง ระยะสุดท้าย โรคเอดส์ระยะสุดท้าย โรคสมองเสื่อมและ Alzheimer นี่คือ ๗ ข้อ ในประกาศกระทรวงของท่าน ท่านตอบได้เลยครับว่า ๑ ใน ๗ นี่ข้อไหน และพ่วงด้วย อันตรายถึงแก่ชีวิตอย่างไร ไม่อย่างนั้นสังคมวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่าง ๆ นานา รัฐมนตรี แต่ละคนออกมาตอบกันคนละทิศ คนละทาง คนละโรค มันจะทำให้ท่านส่งผลเสียในอนาคต แต่ถ้าท่านบอกว่าไม่เกี่ยวกับโรคภัย ท่านได้รับคุณสมบัติเป็นผู้สูงอายุ ๗๐ ปีขึ้นไป ในประกาศของกระทรวงของท่าน ระบุไว้ชัดเจนครับว่าถ้าชราภาพก็คือท่านต้องอายุ ๗๐ ปี และช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ๗๐ ปี โอเคผ่านเกณฑ์ ดูในบัตรประชาชนก็รู้ แต่และช่วยเหลือ ตัวเองไม่ได้ ในประกาศกระทรวงของท่านระบุไว้ชัดเจนครับ ว่ากลัวจะใช้ดุลพินิจ ว่าถ้าเกิด ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อย่างไร ท่านเอาออกมาเปิดครับ มันมีบันทึกอยู่ ท่านตอบให้ชัดใน ๓ เรื่องนี้ สังคมคลี่คลายครับ ไม่ต้องไปวิพากษ์วิจารณ์กันต่าง ๆ นานา และเป็นผลดีต่อบุคคลภายนอก เป็นผลดีต่อท่านในอนาคตด้วย นี่คือคำถามที่ ๒ ครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านรัฐมนตรีครับ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ เดี๋ยวจะเกิดความสับสน คือในเหตุพักโทษกรณี เจ็บป่วยร้ายแรง กฎหมายใช้คำว่า เจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรืออายุ ๗๐ ปีขึ้นไป ที่ช่วยเหลือตัวเองได้เล็กน้อยนะครับ ในเกณฑ์ของการพิจารณาก็จะมีเกณฑ์เจ็บป่วยร้ายแรง เกณฑ์พิการ แล้วก็เกณฑ์อายุ ๗๐ ปีขึ้นไป ซึ่งอายุ ๗๐ ปีขึ้นไป ที่จะได้รับการพักโทษ คือไม่แข็งแรงที่จะช่วยเหลือตัวเอง ก็จะมีเกณฑ์ที่มีมาตรการประเมินของพยาบาลและของ ทางหมอ อย่างน้อยต้องมี ๒ ท่าน ซึ่งในรายงานคือการประเมินคะแนนจะต้องไม่เกิน ๑๑ เขาก็จะมีการทรงตัว มีอะไรอีก เขาจะเขียนไว้เยอะนะครับ แล้วในกรณีดังกล่าวนี้ เนื่องจากว่าอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์เลข ๑๑ คราวนี้ประเด็นที่ผมเองก็มีความกังวล เนื่องจากว่า ในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นพระราชบัญญัติที่แข็งมาก เขาบอกว่า ข้อมูลสุขภาพของบุคคลเป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำมาเปิดเผยด้วยประการใด ๆ น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่จะเปิดเผยเป็นไปตามวัตถุประสงค์โดยตรง ของบุคคลนั้น หรือมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นเฉพาะให้ต้องเปิดเผย แต่ไม่ว่ากรณีใด ๆ ท่านฟังนะครับ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ผู้ใดจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูล ข่าวสารของทางราชการหรือกฎหมายอื่น เพื่อขอเอกสารด้านสุขภาพของบุคคลดังกล่าว กระทำไม่ได้ ผมเรียนว่าที่ท่านถามผมก็ดูทุกอย่าง แล้วที่สำคัญก็คือคนที่เข้ามาดูละเอียดคือ คุณหมอจากกระทรวงสาธารณสุข ผมเรียนว่าในกรณีดังกล่าวก็เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ แล้วก็หลักเกณฑ์ทางการแพทย์ มีความชอบธรรมด้วยเหตุผลและชอบธรรมด้วยคุณธรรมครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญใช้สิทธิในรอบที่ ๓ ครับ

นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ก็อย่างที่ท่านรัฐมนตรีว่า ว่าท่านมีความกังวล ผมเห็นท่านตอบแล้ว ผมก็กังวลแทนท่านเหมือนกัน เพราะว่ามันจะ ส่งผลร้ายในอนาคตแน่ ๆ ถ้าเกิดท่านตอบอย่างนี้ ในส่วนที่ท่านได้ขยายความคำตอบของผม อีกแล้ว ผมแน่ใจว่าท่านต้องตอบประเด็นนี้แน่ ๆ สไลด์แผ่นที่ ๓ ครับ

นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ผมไม่ได้ขอประวัติ การรักษา ผมไม่ได้ขอรายละเอียดการประเมิน แต่วันนี้ในประกาศของท่านเอง แก้ไขปี ๒๕๖๔ ผมย้ำอีกครั้งนะครับ การพักโทษกรณีพิเศษในการแก้ไข ปี ๒๕๖๔ มีข้อ ๑ คือนักโทษเด็ดขาด อันนี้เข้าคุณสมบัติ และข้อ ๒ หรือข้อ ๔ เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งคู่ก็ได้ เลือกอย่างใด อย่างหนึ่ง ข้อ ๒ ก็คือว่าป่วย อย่างที่ผมบอกเมื่อสักครู่ ป่วยก็ต้องประเมินกันว่า ๗ โรคร้ายนั้น มีอะไรบ้าง ท่านลองปรึกษากันดู ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขนั่งอยู่ข้าง ๆ อีกส่วนหนึ่งก็คือ ๗๐ ปี ที่ท่านว่าเมื่อสักครู่ อ่านชัด ๆ ก็คือว่าเป็นนักโทษเด็ดขาดอายุ ๗๐ ปีขึ้นไป และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรือช่วยเหลือตัวเองได้เล็กน้อย โดยมีผลประเมินตามแบบประเมินคัดกรองปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวในชุมชน ของกรมอนามัย

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านณัฐชาครับ มีผู้ประท้วงครับ ขออนุญาตนะครับ เดี๋ยวท่านอภิปรายเรื่องคำถามท่าน ซ้ำใหม่ได้นะครับ แต่พอดีท่านประท้วงนานแล้ว เชิญคุณหมอครับ

นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เชิญครับผู้ประท้วง

นางสาวศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน สภาที่เคารพ ดิฉัน ทันตแพทย์หญิงศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ดิฉันขอประท้วงสมาชิกที่กำลังอภิปรายนะคะ ในหน้า ๕๒ ส่วนที่ ๑ บททั่วไป ในข้อ ๑๔๗ กระทู้ถามแต่ละกระทู้นั้นจะต้องไม่มีลักษณะที่เป็น การออกความเห็น เป็นเรื่องที่มีประเด็นคำถามซ้ำกับกระทู้ที่เคยมีคนถามในสภาแห่งนี้ แล้วก็เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ก็คือว่าในส่วนของสมาชิกได้แสดงความเห็นกับกฎหมาย ที่ทางท่านรัฐมนตรีได้ชี้แจงแล้ว เพื่อให้เกิดความเวียนวน แล้วการอ่านข้อกฎหมายจะต้อง อ่านข้อกฎหมายเพื่อให้ปฏิบัติได้ ท่านพยายามจะชี้ชวนแล้วก็ออกความเห็น เพื่อชี้นำให้เกิด ความเข้าใจผิดและเสียหายกับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในสภาแห่งนี้ค่ะ ขอบคุณค่ะท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับ เดี๋ยวสักครู่นะครับ ผมวินิจฉัยก่อนนะครับ ในบททั่วไปได้เขียนไว้ชัด ๑๔๖ ข้อ ๖ เป็นประเด็นข้อกฎหมาย แต่เนื่องจากอันนี้มันไม่ใช่เป็นการอภิปรายกฎหมาย เพราะฉะนั้นผมเข้าใจนะครับว่าข้อบังคับข้อนี้ถูกเขียนขึ้นมา เพื่อไม่ให้เราอภิปรายกฎหมาย กันทีนี่ แต่ในส่วนของผู้ถามลงรายละเอียดในเรื่องของมาตรฐานการใช้กฎหมาย เพราะฉะนั้น ผมก็เลยคิดว่ายังสามารถทำได้อยู่ครับ

นางสาวศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานคะ ขอประท้วงท่านประธานค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญครับ

นางสาวศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ขอให้ท่านประธาน ในข้อ ๙ ในความเป็นกลางค่ะท่าน ท่านต้องเข้าใจว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นที่สนใจ มีคนที่ตั้งคำถามและมีคนไม่สงสัยที่จะถามนะคะ ดังนั้นประเด็นเหล่านี้ถ้าการออกความเห็น ทางด้านกฎหมาย แล้วพยายามใช้วาทกรรมในการบิดเบือนให้คนเข้าใจผิด ขอความกรุณา ท่านประธานให้ผู้ตั้งกระทู้ถามอยู่ในคำถามค่ะ ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านวิโรจน์ครับ ประท้วงนะครับ

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ผม วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลครับ ผมขอประท้วงท่านผู้ประท้วงตามข้อบังคับ ข้อ ๗๑ วรรคหนึ่ง ในเมื่อท่านประธาน มีคำวินิจฉัยแล้วคำวินิจฉัยของท่านประธานก็ถือเป็นเด็ดขาดครับ แล้วถ้าเกิดยังไม่ฟัง ยังคงประท้วงวนเวียนซ้ำซากอย่างนี้ ผมขออนุญาตให้ท่านประธานใช้อำนาจเชิญท่านผู้ประท้วง ออกไปข้างนอกครับ จะได้ถามกระทู้กันต่อได้อย่างราบรื่นครับ ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ใจเย็น ๆ นะครับทุกท่าน เรายังอยู่ในประเด็นได้นะครับ เพราะว่าผมเข้าใจครับว่านี่เป็นประเด็น ที่อ่อนไหวแล้วก็มีการพาดพิง แต่ว่าสิ่งที่ท่านณัฐชาถามก็ยังอยู่ในประเด็นของกระทรวง ยุติธรรมอยู่ ว่ากระทรวงยุติธรรมใช้เกณฑ์ใด อย่างไร แล้วก็รายละเอียดที่มีการขยายยังอยู่ ในประเด็นคำถามของระเบียบ เพราะฉะนั้นก็อดทนกันสักนิดหนึ่ง ผมคิดว่าท่านรัฐมนตรี ก็ตอบได้ดีแล้วนะครับ แล้วดูว่าเราจะสามารถทำความเข้าใจเรื่องนี้ต่อสังคมได้อย่างไร ซึ่งผมว่า เวทีสภาก็เป็นเวทีที่ดีของคณะรัฐมนตรีด้วย ขออนุญาตวินิจฉัยครับ เชิญท่านณัฐชาครับ

นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านประธานครับ ความจริงคำถามของผมก็อยู่ในคำตอบที่ท่านผู้ประท้วงได้ประท้วงแล้วนะครับ เพราะท่าน ได้บอกเองว่าเป็นที่สนใจของพี่น้องประชาชน และนี่ผมกำลังถามกระทู้สดที่มีความสนใจ ต่อพี่น้องประชาชน และรัฐมนตรีหลายคนไปตอบในที่สาธารณะคนละทิศคนละทาง ผมเลยนำเข้ามาสู่สภาแห่งนี้เพื่อให้ตอบกันอย่างตรงไปตรงมา และเป็นประโยชน์ ต่อบุคคลภายนอก และเป็นประโยชน์ต่อสภาผู้แทนราษฎรด้วย และสิ่งที่ผมถามอยู่ไม่ได้ เวียนวน วนเวียนอย่างที่ท่านคุณหมอว่า แต่ผมคิดว่าคุณหมอน่าจะวนเวียนเวียนวนอยู่แต่กับ เรื่องเดิม เพราะฉะนั้นตอนนี้ผมกำลังจะถามในคำถามแรก

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านณัฐชาอย่าไปพาดพิงเลยนะครับ ถามเลยครับ

นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

คำถามแรกที่ท่านรัฐมนตรี ยังไม่ได้ตอบ ผมก็ลุกขึ้นถามคำถามที่ ๒ ว่าท่านรัฐมนตรีขยายความของผมทำไม ผมถาม อย่างนี้ ท่านตอบมาจบเลย เพราะฉะนั้นเอาล่ะครับท่านประธาน ถ้าผมถามอีกท่านรัฐมนตรี ก็จะต้องลุกขึ้นมาบอกข้อกฎหมายเมื่อสักครู่อีกครั้ง

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านณัฐชาครับ มีผู้ประท้วงครับ เชิญครับ ท่านศรีญาดาครับ

นางสาวศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ก็ประท้วงท่านผู้อภิปราย ในเรื่องเดิมค่ะ ข้อ ๔๗ นะคะ ท่านออกความเห็นบ่อยมากค่ะ รวมทั้งตัวดิฉัน แต่ดิฉัน ไม่ติดใจนะคะ พร้อมที่จะให้อภัยค่ะ ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านณัฐชาครับ เราอย่าไปพาดพิงท่านที่อยู่ในห้องประชุมเลยนะครับ ก็ใช้สิทธิ ในการถามเต็มที่อยู่ในประเด็นครับ

นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ก็ไม่ได้พาดพิงใครนะครับ ท่านประธาน ก็อยู่ในประเด็นคำถาม และวันนี้ผมตั้งใจถามท่านรัฐมนตรีคำถามเดียว ถ้าคำถามที่ ๑ ท่านตอบ Clear คำถามที่ ๒ กับคำถามที่ ๓ ผมได้ถามด้วยซ้ำ วันนี้ทั้งคำถามที่ ๑ ทั้งคำถามที่ ๒ ยังไม่ Clear ถ้าอย่างนั้นเหลือคำถามสุดท้ายครับ เปิดสไลด์หน้าถัดไป

นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เมื่อสักครู่ท่าน ได้บอกแล้วว่าแบบประเมินนี้เป็นของกรมอนามัย ผมไม่อยากทราบครับว่าเกณฑ์ประเมิน เป็นอย่างไร ที่ต่ำกว่า ๑๑ คะแนน มีรายละเอียดอยู่นะครับ ก็เป็นความลับของทางราชการได้ ไม่มีปัญหา แต่ผู้ประเมินและประเมินกี่ครั้ง อันนี้สามารถเปิดเผยได้ในกรณีที่ ๗๐ ปีขึ้นไป ในส่วนกรณีของกฎกระทรวงในประกาศของกรมราชทัณฑ์ ปี ๒๕๖๔ ในข้อที่ ๒ บอกว่า ถ้าเกิดเป็นนักโทษเด็ดขาดที่ได้รับการพักโทษเป็นพิเศษ ในวรรคสองนะครับ ต้องมีแพทย์ รับรองจำนวน ๒ ท่าน และรับรองการเจ็บป่วยดังกล่าวมาประกอบการพักโทษด้วย ผมไม่สอบถามครับว่ารายละเอียดของการมีโรคนั้นมีโรคอะไรบ้าง แต่ผมอยากรู้ครับว่า แพทย์ ๒ ท่าน ที่ได้รับรองโรคไปนั้นเป็นใคร เพราะเป็นหมอเทวดาที่ก่อน ๑๘๐ วันเข้าไป อาการเจ็บป่วยสาหัส แต่พอครบ ๑๘๐ วัน หายได้ทันที และออกมา ๑๘๑ วัน กลับบ้านได้ นี่ถือว่าเป็นคุณหมอเทวดาที่พี่น้องประชาชนจะต้องเชิดชู เลื่อมใส และเป็นประโยชน์ ต่อแผ่นดิน เพราะฉะนั้นท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรู้อยู่แก่ใจครับ ท่านตอบ ในที่สภาแห่งนี้ได้เลยครับ เกณฑ์การประเมินประเมินกี่ครั้ง ประเมินโดยใคร เกณฑ์การรับรอง มีแพทย์ ๒ คนรับรอง เป็นแพทย์โดยใคร โรงพยาบาลตำรวจหรือไม่ หรือกระทรวงสาธารณสุข คำถามที่ ๓ ครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านรัฐมนตรีครับ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานที่เคารพครับ ก็ขอยืนยันว่าที่ท่านได้สอบถามนี้มีการปฏิบัติครบถ้วน กรณี การประเมินมันจะมีแบบประเมินการช่วยเหลือตัวเองว่า มันมีส่วนหนึ่งคือช่วยเหลือตัวเอง ได้น้อย เขาใช้คำว่า ได้น้อย ซึ่งก็จะมีคะแนนเต็ม ๒๐ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีผู้ประเมินคือ เป็นผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาลจำนวน ๒ ท่าน แล้วก็พร้อมกับมีความเห็นของหมอ ก็หมอโรงพยาบาลตำรวจที่ตรวจนะครับ ในการประเมินเราก็พบว่ามีการประเมิน ถ้าสูงกว่า คะแนน ๑๑ ที่หลักเกณฑ์แล้วกัน ถ้าสูงกว่าคะแนน ๑๑ จาก ๒๐ นี้จะไม่อยู่ในเกณฑ์ แต่กรณีดังกล่าวคะแนนต่ำกว่า ๑๑ เล็กน้อย อันนี้มีอยู่ในประเด็น ซึ่งก็เป็นไปตามกฎหมาย เป็นไปตามระเบียบ แล้วนอกจากนั้นก็จะมีผู้ต้องขังอีกท่านหนึ่งที่ได้พักการลงโทษอายุ ๗๐ ปีกว่า ก็ประเมินลักษณะนี้เหมือนกัน ก็เรียนว่าเราได้ดำเนินการตามกฎหมาย

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต้นฉบับ

แล้วก็อยากเรียนว่าในกรณีดังกล่าวนี้ ในการถามความเห็นทุกครั้งก็จะมีแพทย์ แล้วแพทย์ไม่ใช่คนเดียว มีคณะแพทย์ที่ร่วมกันมีความเห็นด้วย ซึ่งเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล เนื่องจากว่ามีใบไม่ยินยอมของผู้ตรวจ คือของบุคคลให้เปิดเผยอาการ นี่ใบไม่ยินยอม อยู่ในมือผม ดังนั้น พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติจึงเป็นกฎหมายที่ ถ้าผู้ป่วยไม่ยินยอมเราก็ เปิดเผยไม่ได้ แต่เรียนว่าแพทย์ก็เป็นแพทย์ที่เป็นกลาง แล้วการวินิจฉัยในคณะกรรมการ ก็ใช้แพทย์ในการวินิจฉัยนะครับ ผมคิดว่าทุกอย่างก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์กฎหมายทั้งหมด ผมคิดว่าการตอบเรื่องนี้ก็มีความชัดเจนนะครับ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต้นฉบับ

แล้วก็อยากจะเรียนขยายสักนิดหนึ่งคือ อย่างที่ผมได้เรียนเมื่อสักครู่นี้คือ กฎหมายราชทัณฑ์ใหม่เขาเขียนเพราะต้องการจะให้มี เนื่องจากเรือนจำเรามีความหนาแน่น ไม่สามารถพัฒนาพฤตินิสัย เราก็จะมีขยายกรณีการไปรักษาตัวอยู่นอกโรงพยาบาล แล้วกฎกระทรวงก็เขียนว่าเป็นที่ควบคุม ก็มีสภาพคล้ายเรือนจำ แล้วเร็ว ๆ นี้ก็จะมีการที่ คุมขังอื่นก็มีสภาพคล้าย ๆ เรือนจำ เพื่อจะทำอย่างไรจะให้ยกระดับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ให้อยู่บนพื้นฐานของหลักนิติธรรม ผมก็ขอสรุปดังนี้ครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ผู้ถามเหลือเวลา ๓ นาที แต่ไม่ได้อนุญาตให้ถามรอบที่ ๔ ครับ

นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ไม่ถามครับ ต้องขอขอบคุณ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจริง ๆ นะครับว่าท่านมีเมตตา และวันนี้หลักเกณฑ์ ท่านมาประกาศในที่ประชุมแห่งนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้นนักโทษเด็ดขาดอายุ ๗๐ ปีขึ้นไป ท่านขอแบบฟอร์มที่กรมอนามัยได้เลยนะครับ แล้วท่านประเมินตัวเองส่งให้ ท่านรัฐมนตรีได้เลย เพราะฉะนั้นจะมีมาตรการในการพักโทษอายุ ๗๐ ปีอีกมากมาย ที่เข้าหลักเกณฑ์จากกรณีที่ท่านได้ชี้แจงในที่สภา ถ้าเกิดไปดำเนินการ แล้วไม่สามารถ ดำเนินการได้ เอาเทปวันนี้ไปเปิดให้ท่านอธิบดีฟังได้เลยครับ ว่าเป็นนโยบายของทาง ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ขอบคุณครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เพื่อนสมาชิกครับ วาระของการถามกระทู้สดด้วยวาจาก็จบลงเท่านี้นะครับ ขอบคุณท่านรัฐมนตรีที่ให้เกียรตินะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๑.๒ กระทู้ถามทั่วไป

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๑. เรื่อง การพัฒนาโครงข่ายสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานตามแนวทาง การกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ นายอนุชา บูรพชัยศรี เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม นายกรัฐมนตรี

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ด้วยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือแจ้งว่ากระทู้ถามเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี ท่านปานปรีย์ พหิทธานุกร เป็นผู้ตอบ กระทู้ถามแทน แต่เนื่องจากท่านรองนายกรัฐมนตรีติดภารกิจสำคัญ จึงขอเลื่อนการตอบ กระทู้ถามออกไปเป็นวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๗ ครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๒. เรื่อง สอบถามการแก้ไขปัญหาการดำเนินคดีความกับพระสงฆ์ ที่ต้องขาดสมณเพศในระหว่างดำเนินกระบวนการยุติธรรม นางสาวปวิตรา จิตตกิจ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ด้วยมีหนังสือจากสำนักนายกรัฐมนตรีแจ้งว่ารัฐมนตรีประจำสำนัก นายกรัฐมนตรี ท่านพวงเพ็ชร ชุนละเอียด ติดภารกิจสำคัญ ขอเลื่อนการตอบกระทู้ถาม ออกไปเป็นวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๗ เชิญท่านปวิตราครับ

นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานค่ะ ดิฉัน ปวิตรา จิตตกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ดิฉันอยากเรียนแจ้ง ท่านประธานผ่านไปยังท่านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีค่ะ ดิฉันรอคอยวันนี้มาตั้งแต่ สมัยประชุมที่แล้วค่ะ เนื่องจากดิฉันได้ยื่นกระทู้ถามท่านไปครั้งที่แล้ว แล้วก็ถอนออกมา แล้วก็มายื่นใหม่ เนื่องจากมีการนัดหมายว่าจะมาวันนี้แน่ ๆ แล้วดิฉันก็ได้มีกระทู้ถามสดด้วย รวมถึงกระทู้ทั่วไป ดิฉันก็เตรียมตัวตอบอย่างดี รวมถึงพี่น้องประชาชนที่เฝ้าคอยติดตาม คำถามนี้อยู่ ก็เสียความรู้สึกมากค่ะท่านประธาน ถ้าอย่างไรอยากจะฝากท่านประธาน สะท้อนไปถึงท่านรัฐมนตรีให้ด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เดี๋ยวทางฝ่ายเลขาช่วยนำส่งหนังสือของทางท่านรัฐมนตรีด้วยนะครับ ติดภารกิจอะไร อย่างไร แล้วเดี๋ยวประสานให้คราวหน้ามีการเข้ามาตอบที่ชัดเจนนะครับ เพราะเข้าใจว่ามีการเลื่อนตอบ หลายครั้งแล้วนะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๓. เรื่อง ติดตามความคืบหน้าการจัดระเบียบสายไฟฟ้า สายสื่อสาร และการบริหารจัดการไฟฟ้าส่องสว่างอย่างทั่วถึงทั้งประเทศ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม นายกรัฐมนตรี

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เป็นกระทู้ถามที่เลื่อนมาจากครั้งที่ ๑๘ วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ด้วยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือแจ้งว่ากระทู้ถามเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีได้ มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นผู้ตอบ และ ท่านรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านทรงศักดิ์ ทองศรี เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทนครับ ท่านรัฐมนตรีพร้อมประจำที่แล้ว ขอเชิญท่านอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ครับ

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร กระผม นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดราชบุรี เขต ๔ อำเภอบ้านโป่ง พรรครวมไทยสร้างชาติ ท่านประธานครับ ผมได้ทำกระทู้กราบเรียนถาม ท่านนายกรัฐมนตรี เรื่องติดตามความคืบหน้าการจัดระเบียบสายไฟฟ้าและสายสื่อสาร และการบริหารจัดการไฟฟ้าส่องสว่างอย่างทั่วถึงทั้งประเทศ ในครั้งนี้เนื่องจากเป็นญัตติ ที่มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญได้ศึกษาเรื่องดังกล่าวตั้งแต่สมัยประชุม ก็คือสมัยสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๕ ก็คือสมัยที่แล้ว ได้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญ แล้วก็มีการศึกษา เรื่องดังกล่าว แล้วก็ได้มีการส่งผลในการศึกษาอย่างชัดเจนไปยังรัฐบาล เมื่อผมกลับมาเป็น สส. อีกครั้ง ก็เลยขออนุญาตได้มากราบเรียนถามท่านนายกรัฐมนตรีว่ารัฐบาลได้ดำเนินการ ไปถึงไหนแล้ว เพราะว่าในการยื่นญัตติครั้งที่แล้ว ผมเองเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่เห็นความสำคัญในเรื่องของการจัดระเบียบสายสื่อสาร แล้วก็ได้นำญัตติดังกล่าวเข้าสู่สภาในสมัยชุดที่ ๒๕ แล้วก็ได้ประสานกับทางวิปรัฐบาลในสมัยนั้น เพื่อขอความเห็นชอบ ได้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งก็ต้องขอบคุณท่านอดีตประธาน วิปรัฐบาลในสมัยนั้นก็คือท่านวิรัช รัตนเศรษฐ ซึ่งท่านก็เห็นความสำคัญเช่นเดียวกันว่าปัญหา เรื่องสายสื่อสารที่มันยุ่งเหยิงนี้มันเป็นปัญหาของประเทศจริง ๆ ซึ่งมันเป็นหน้าตาของประเทศ ท่านประธานก็คงจะเห็นว่าเวลานักท่องเที่ยวหรือแขกต่างประเทศมาที่เมืองไทย ก็มักจะ ถ่ายรูปสายสื่อสารที่มันเกาะเกี่ยวอยู่บนเสาไฟฟ้าไป Post จนเป็นข่าวไปทั่วโลกเป็น Unseen Thailand บ้าง เป็น Incredible Thailand บ้าง ซึ่งมันก็ส่งต่อภาพลักษณ์ของ ประเทศ เมื่อผมได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ได้นำเรื่องดังกล่าวมาทำเป็นญัตติ เพื่อตั้งกรรมาธิการวิสามัญ อย่างที่เรียนครับ ด้วยความสำคัญของปัญหาดังกล่าวทำให้ สภาผู้แทนราษฎรในสมัยนั้นได้มีมติในการตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษา ในครั้งนี้ก็เลย เรียนถามท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีติดภารกิจก็ได้มอบหมายท่านทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยมาตอบ ก็ต้องขอขอบคุณท่านรัฐมนตรี จำเป็นอย่างยิ่ง ที่ท่านรัฐมนตรีเห็นความสำคัญของพี่น้องประชาชน แล้วก็เห็นความสำคัญ ของสภาผู้แทนราษฎร ท่านก็มีภารกิจเยอะ ท่านก็สละเวลามาตอบกระทู้นี้ ซึ่งเป็นปัญหา ระดับประเทศ ก็เลยจะได้รอฟังท่านรัฐมนตรีตอบครับ

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ

อยากจะเรียนท่านประธานถึงวัตถุประสงค์ในการทำกระทู้ครั้งนี้ อยากจะ ได้เรียนถามครับว่า ความคืบหน้าในการดำเนินการตามผลการศึกษาของกรรมาธิการวิสามัญ ในสมัยที่แล้วดำเนินการไปถึงไหน เพราะว่ามีการศึกษาการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่อง สายสื่อสารที่มันยุ่งเหยิงอยู่บนเสาไฟฟ้า จริง ๆ แล้วความยุ่งเหยิงที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากสายไฟฟ้า แต่เกิดจากสายสื่อสารที่มันไปเกาะเกี่ยวอยู่บนเสาไฟฟ้า พี่น้องประชาชนก็ไม่ค่อยทราบ อยากจะเรียนพี่น้องประชาชนที่ได้ติดตามการอภิปรายในครั้งนี้ อยากจะเรียนว่าสายที่มัน ยุ่งเหยิงอยู่บนเสาไฟฟ้านี้ไม่ใช่สายไฟ แต่เป็นสายสื่อสาร

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ

อันนี้คือภาพที่เขตเทศบาลเมือง บ้านโป่ง เมื่อปี ๒๕๖๓ ผมได้ลงพื้นที่กับนายกเทศมนตรีเมืองบ้านโป่งในสมัยนั้น แล้วก็ได้ไปทำ โครงการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง DES ในสมัยนั้น ผมก็ทำกระทู้นี้ครับ ให้รัฐมนตรีไปทำ บ้านโป่งโมเดล ก็ไปลงพื้นที่เมื่อปี ๒๕๖๓ ท่านประธานกับท่านรัฐมนตรีและเพื่อนสมาชิกเห็นนี้ ก็คือการลงพื้นที่ ก็ไปจัดระเบียบครับ จัดระเบียบตอนแรกนี้เราใช้วิธีการเอาสายตาย สายตายคือสายสื่อสารที่ไม่ได้ใช้แล้ว มีการศึกษาครับว่าตอนนี้สายที่มันยุ่งเหยิงอยู่บนเสาไฟฟ้า มันประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์เป็นสายตายครับ สายตายคือสายเคเบิลหรือสายสื่อสารที่ไม่ได้ใช้ มันไม่ได้ใช้งานแล้วแต่ยังเกาะเกี่ยวอยู่ ก็ไปทำการรื้อถอนออก ตั้งแต่หอนาฬิกาเทศบาลเมือง บ้านโป่งไปจนถึงสี่แยกไฟแดงบ้านโป่ง และจากหอนาฬิกาไปถึงวงเวียนช้าง แล้วก็หอนาฬิกา ไปยังหน้าวัดดอนตูม แล้วก็หอนาฬิกาไปหน้าที่ว่าการอำเภอบ้านโป่ง ๔ สายทาง ๔.๘ กิโลเมตร ก็ทำการแก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยการจัดระเบียบครับ การจัดระเบียบก็คือการนำสายตายออก แล้วก็ไปผูกรัดมัดให้มันเป็นระเบียบมากขึ้น หลังจากนั้นผมก็ได้ทำกระทู้มาให้ท่านรัฐมนตรี ในสมัยนั้นก็คือ ท่านรัฐมนตรีพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรี DES ในสมัยนั้นมาทำโครงการ บ้านโป่งโมเดล

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ

ท่านรัฐมนตรีท่านมีวิสัยทัศน์ท่านก็มาทำโครงการให้ โดยงบประมาณ ๔๘ ล้านบาท ๔.๘ กิโลเมตร โดยการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ท่านประธานครับ สายสื่อสาร ปัจจุบันนี้มันมีทั้งของที่เป็นรัฐวิสาหกิจก็คือ NT ในปัจจุบันครับ NT ในปัจจุบันก็อยากจะเรียน ท่านประธานและพี่น้องประชาชนว่า ปัจจุบันนี้เกิดจากการควบรวมของ TOT คือองค์การ โทรศัพท์กับ CAT หรือการสื่อสารแห่งประเทศไทย วันนี้มันมาควบรวมกันเป็น NT ก็คือ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ ปัจจุบันนี้ NT ก็ดำเนินโครงการโดยการเจาะสายท่อรอด ใต้พื้นที่ของเทศบาลเมืองบ้านโป่งทั้ง ๔ สายทาง อย่างที่ได้นำกราบเรียนท่านรัฐมนตรี ผ่านท่านประธานไปแล้ว ๔.๘ กิโลเมตร อันนี้เป็นโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ไม่ใช่สายไฟนะครับ ต้องเรียนกับท่านประธานและพี่น้องประชาชนว่า อันนี้เป็นโครงการ คือการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ผมเองเป็นผู้เสนอโครงการนะครับ ตอนนั้นวิกฤติโควิดก็ไปทำ พิธีเปิดโครงการ มีผู้ว่าราชการจังหวัดในสมัยนั้นก็มาทำโครงการ ก็เปิด มีรองกรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่โทรคมนาคมแห่งชาติก็ลงพื้นที่ด้วย มีรองผู้ว่าราชการจังหวัด มีนายกเทศมนตรี เมืองบ้านโป่ง ตอนนี้เป็นการเปิดโครงการ แล้วหลังจากนั้นก็ใช้เวลา ๒ ปี เจาะร้อยท่อสายสื่อสาร ปัญหามันเป็นอย่างนี้ครับ ตอนนี้ท่อเสร็จแล้ว แต่ปัจจุบันนี้ Operator เอกชนยังไม่ยอมเอาลง เพราะว่าติดเรื่อง งบประมาณอันนี้เป็นปัญหาระดับประเทศ ทำไมต้องใช้คำว่า บ้านโป่งโมเดล ครับ ท่านประธาน ที่ต้องใช้คำว่า บ้านโป่งโมเดล เพราะว่ามันยังไม่เคยทำที่อื่นสำเร็จ แต่จะทำให้ ที่บ้านโป่งนี้สำเร็จ ที่อื่นเขาทำสำเร็จเขาทำสำเร็จอย่างไรรู้ไหมครับ เขาทำสำเร็จคือเขา เอาสายไฟฟ้าลงใต้ดิน การเอาสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ๑ กิโลเมตร ใช้งบประมาณ ๘๐ ล้านบาท ๘๐ ล้านบาท เกิดจากค่าสาย ๔๐ ล้านบาท เกิดจากค่าก่อสร้างใต้ดิน ๔๐ ล้านบาท ๑ กิโลเมตร ที่ทุกวันนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคทำใช้งบประมาณ ๑ กิโลเมตร ๘๐ ล้านบาท แต่การนำสายสื่อสารลงใต้ดินใช้ ๑ กิโลเมตร ๑๐ ล้านบาท เจาะท่อร้อยสาย ๑๐ ล้านบาท อยากจะเรียนกับท่านประธานว่ามันแตกต่างกันเยอะมากเลย ๘๐ ล้านบาท กับ ๑๐ ล้านบาท ถ้าเราเอาสายไฟฟ้าลง พอสายไฟฟ้าลงปุ๊บมันก็ต้องไปล้มเสา พอล้มเสาปุ๊บสายสื่อสาร ไม่มีที่เกาะแล้ว พอไม่มีที่เกาะก็โดนบังคับเอาไปลงใต้ดินตามกับสายไฟ เพราะสายสื่อสาร มันไม่มีเสาไฟฟ้าเกาะเพราะโดนบังคับ เขาเรียกว่าสภาพบังคับ เพราะว่าโดนการไฟฟ้าล้มเสา แต่ทีนี้ ๑ กิโลเมตร ใช้งบประมาณ ๘๐ ล้านบาท ทำไมมันเป็นบ้านโป่งโมเดลครับ เพราะผม เป็นคนเสนอโมเดลนี้เองว่าที่มันมีปัญหามันไม่ใช่ปัญหาจากสายไฟฟ้า แต่มันเป็นปัญหาจาก สายสื่อสาร เราไม่ต้องไปยุ่งกับสายไฟฟ้า เราให้สายไฟฟ้าอยู่เหมือนเดิม แต่เราเอาที่มัน ยุ่งเหยิงคือสายสื่อสารลงใต้ดิน ท่านประธานเห็นไหมจาก ๘๐ ล้านบาท เหลืออยู่แค่ ๑๐ ล้านบาทต่อกิโลเมตร ประหยัดงบประมาณให้กับประเทศชาติไปมหาศาล ท่านรู้ไหมครับ โครงการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนี้ทำโครงการ ๔ เมืองใหญ่ ก็คือเชียงใหม่ โคราช หาดใหญ่ และพัทยา งบประมาณ ๑๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท ใช้ระยะเวลาดำเนินโครงการ ๕ ปี ปี ๒๕๕๙-๒๕๖๔ ๕ ปีนี้เราใช้งบประมาณ ๑๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท เอาสายไฟฟ้าลงไปใต้ดิน ได้ไม่กี่ร้อยกิโลเมตรเองครับ เขามีการศึกษาครับว่าสายไฟฟ้าที่เมืองไทยสามารถพันรอบโลกได้ ๘ รอบ กว่าจะเอาลงหมดต้องใช้ระยะเวลา ๘๐๐ ปี ถ้าเราเอาสายไฟฟ้าลงเพื่อที่จะเอา สายสื่อสารที่มันยุ่งเหยิงลง ผมเลยเสนอไอเดียครับ เพราะเป็นเจ้าของญัตติ แล้วก็เป็น ประธานอนุกรรมาธิการศึกษาเรื่องนี้ แล้วก็เป็นรองประธานกรรมาธิการในสมัยนั้น เสนอไอเดียว่าเอาเฉพาะสายสื่อสารลง ฝากท่านรัฐมนตรีลองพิจารณาดูครับว่ามันประหยัด งบประมาณไปได้มาก ทำไมมันต้องเป็นบ้านโป่งโมเดล เพราะที่อื่นเขาเอาสายไฟฟ้าลง แต่บ้านโป่งโมเดลนี้เอาสายสื่อสารลงอย่างเดียว สายไฟฟ้าไม่ต้องแตะครับ แล้วก็มีประโยชน์ด้วย ผมไปตรวจราชการที่หาดใหญ่ ชาวบ้านร้องเรียนครับ พอล้มเสาไฟฟ้าปุ๊บ เอาสายไฟฟ้าลงใต้ดิน เอาสายสื่อสารลงใต้ดิน กลางคืนมืดทั้งเมือง สายถนนที่โดนล้มเสาเพราะไม่มีไฟกลางคืน ไฟกลางคืนไม่มีเสาเกาะ เทศบาลนครหาดใหญ่ก็ต้องไปตั้งงบประมาณมาตั้งเสาไฟ เพื่อส่องสว่างกลางคืนอีก แต่ถ้าเราเอาเสาไฟฟ้าไว้ สายไฟฟ้าไม่ได้มีปัญหาเรื่องความยุ่งเหยิง ไม่มีปัญหาเรื่องความปลอดภัย เราก็ยังเอาไว้เกาะไฟกลางคืนได้ งบประมาณก็ประหยัดครับ ประหยัดไป ๑ กิโลเมตร ๗๐ ล้านบาท ทีนี้ถ้าเราจะเอาสายไฟฟ้าลง เราเอาลงเฉพาะที่เป็น Landmark ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว อย่างเช่น พระบรมมหาราชวัง เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็น หน้าเป็นตาของประเทศ อย่างเช่นแหล่งที่เป็นย่านธุรกิจ อย่างเช่น สีลม แต่ถ้าต่างจังหวัด ก็อย่างเช่น อนุสาวรีย์สามกษัตริย์เชียงใหม่ อนุสาวรีย์ท้าวย่าโมที่โคราช อย่างที่นครศรีธรรมราช ก็คือพระบรมธาตุเจดีย์ อย่างนี้ควรเอาสายไฟฟ้าลงด้วย เพราะจะได้ไม่บดบังทัศนียภาพ ความสวยงามของพระบรมมหาราชวัง

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านอัครเดชครับ ท่านใช้เวลาเกือบ ๑๐ นาทีแล้วนะครับ มันจะออกไปทางอภิปรายแล้ว ขออนุญาตให้เป็นคำถามนะครับ

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ

ท่านประธานสักนิดหนึ่งครับ คือระเบียบข้อบังคับกระทู้ถามทั่วไปไม่ได้ระบุระยะเวลา แต่ว่าผมก็รู้ข้อบังคับดีครับ ท่านประธาน เดี๋ยวผมกำลังจะถามครับ ท่านประธานต้องข้อ ๙ ด้วยนะครับ อย่าทำตัวเอียง ท่านทำตัวให้มันตรงนะครับ วางตัวให้ตรง แล้วท่านวินิจฉัยอะไรท่านก็ต้องรับผิดชอบด้วย เดี๋ยวผมต่อครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขออนุญาตนะครับ ท่านครับ ผมให้โอกาสท่านในการอภิปรายนะครับ ท่านพูดเรื่อง ๗๐ ล้านบาท ๘๐ ล้านบาท ๒-๓ รอบแล้ว มันจะเข้าข่ายวนเวียนแล้วครับ แล้วผมคิดว่า เราได้ประเด็นของตัวเนื้อหาแล้ว ก็เลยอยากจะขอให้ท่านช่วยบริหารเวลาเท่านั้นเองครับ ไม่ได้มีเจตนาจะไม่ให้ท่านอภิปรายนะครับ

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ขอบคุณ ท่านประธานครับ จริง ๆ กระทู้ทั่วไปเขาถามกัน กระทู้ถามสดผู้ถาม ๑๕ นาที เขามีระยะเวลา ในการถาม ผู้ตอบท่านรัฐมนตรีก็ตอบ ๑๕ นาที ผมเพิ่งจะถาม ๑๐ นาทีเอง ท่านมาเบรกผม ท่านมีอะไรกับผมเปล่าครับ ท่านประธานครับ คือผมอยากจะเรียนถามนะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขออนุญาตครับ ท่านมีอะไรกับผมไหมหรือครับ ไม่มีครับ ทีนี้เราคิดว่ากระทู้ถามแต่ละครั้ง ผมให้ท่านอภิปรายได้เกิน ๑๐ นาที เพราะว่าวันนี้มีกระทู้ของท่านคนเดียว ที่เหลือเป็นการ เลื่อนกระทู้นะครับ แล้วผมแค่บอกท่านเฉย ๆ ว่าตอนนี้ควรจะต้องเข้าสู่คำถามแล้วครับ เพราะเป็นการอภิปรายพอสมควรแล้ว ผมไม่มีอะไรกับท่านนะครับ

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผมเรียน ท่านประธานอย่างนี้ครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านเข้าสู่เนื้อหาเลยครับ ถ้าท่านจะอภิปรายกับผม ผมก็แค่ว่ามันเสียเวลาสภา เดี๋ยวจะขอ เข้าสู่กระทู้ต่อนะครับ

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผมต้องชี้แจงครับ เพื่อพี่น้องประชาชนจะได้เข้าใจข้อบังคับ แล้วก็สิทธิของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครับ ท่านประธานครับ ด้วยความเคารพนะครับ ส่วนสิทธิของสมาชิกคือเวลาที่ถาม ผมก็ยังบริหาร เวลาที่ผมได้สิทธิอยู่ แล้วท่านไปดูข้อบังคับกระทู้ถามทั่วไปไม่ได้ระบุระยะเวลา แต่ผม ก็เคารพเวลาของสภา ด้วยการใช้ระยะเวลาที่มีอยู่ก็คือประมาณ ๑๕ นาที ฉะนั้นการอภิปราย ของผมมันก็เป็นประโยชน์ต่อท่านรัฐมนตรี ในการให้ข้อมูลของท่านรัฐมนตรีไปบริหาร ประเทศเพื่อประหยัดงบประมาณเงินภาษีของพี่น้องประชาชน ผมถึงบอกว่า ๗๐ ล้านบาท กับ ๑๐ ล้านบาท มันต่างกันนะครับ ท่านประธานลองคิดดูว่ามัน Save เงินภาษีของพี่น้อง ประชาชนปีหนึ่งได้กี่หมื่นล้านบาท สิ่งที่ผมอภิปรายมันเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน และประเทศชาติ ดีกว่าที่เราจะไปอภิปรายเรื่องที่ทะเลาะกันไปทะเลาะกันมาที่ท่านไปวินิจฉัย แล้วมาเป็นประเด็นทำให้สภามันวุ่นวาย ผมว่าอันนั้นมันเสียเวลามากกว่าอีกครับ ผมขออนุญาต ท่านประธานนะครับ อยากให้ท่านได้ทำตามข้อบังคับแล้วก็เคารพสิทธิของสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรด้วยนะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

กระทู้ถาม ข้อบังคับบอกว่าต้องไม่เป็นลักษณะอภิปรายครับ

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ

ท่านครับ การอภิปรายนี่

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ถ้าท่านไม่ถามกระทู้ ผมขออนุญาตนะครับว่าท่านจะไม่ถามก็ได้นะครับ แล้วก็ขออนุญาตว่า เวลาของท่านผมเคารพนะครับ แต่ตอนนี้ท่านกำลังใช้เวลามากเกินไปกับเรื่องที่ไม่อยู่ ในกระทู้ครับ

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ท่านเป็น ประธานท่านจะใช้อำนาจอะไร หรือดุลพินิจอะไร หรือวินิจฉัยอะไร ขอให้ท่านอยู่ในข้อบังคับ แล้วก็อยากให้ท่านได้รักษาผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนด้วยนะครับ ผมกำลังอภิปราย ประเด็นนี้ แล้วประเด็นนี้ผมอภิปรายผมถามกระทู้มาตั้งแต่สมัยที่แล้ว ตั้งแต่สมัยท่านชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ผมไม่ใช่ถามกระทู้นี้กระทู้แรกนะครับ ผมถามกระทู้นี้ มาเป็นหลายสิบกระทู้แล้ว จะเป็น ๑๐๐ กระทู้แล้ว ท่านประธานไปดูนะครับ แล้วผม ไม่เคยมีปัญหาอย่างนี้เลยครับ เพราะ ๑. ผมรู้ข้อบังคับ ๒. ผมเอาเรื่องที่เป็นประโยชน์ ต่อพี่น้องประชาชนมา

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านเข้าเรื่องได้แล้วครับ ไม่อย่างนั้นผมไม่อนุญาตให้พูดนะครับ แล้วคำวินิจฉัยของประธาน เป็นที่สิ้นสุดนะครับ

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ

ถ้าท่านประธานใช้คำวินิจฉัยอย่างนี้ ผมขออย่างนี้แล้วกันครับท่านประธาน ผมอยากให้สภานี้บันทึกไว้ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นำปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมาอภิปราย แล้วอภิปรายตามข้อบังคับ แล้วก็จะถามท่านรัฐมนตรีตามระเบียบนะครับ แล้วก็เป็นสิทธิของสมาชิก แต่ท่าน บอกว่าจะใช้ดุลพินิจของท่าน วินิจฉัยของท่านให้สมาชิกหยุดอภิปราย ฉะนั้นผมเรียน ท่านประธานนะครับ ให้สภาแห่งนี้ได้บันทึกไว้ว่าผมมีความตั้งใจมากที่จะถามกระทู้นี้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน แล้วเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ถ้าท่านประธาน วินิจฉัยอย่างนี้ ผมขอไม่ถามกระทู้นี้ต่อแล้วกันครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เพื่อนสมาชิกครับ ผมต้องขออนุญาตนะครับ อย่างไรผมเองก็จำเป็นต้องบริหารเวลา แล้วก็ข้อบังคับให้ชัดเจนนะครับ ผมไม่มีเจตนาจะเบรกไม่ให้ท่านถามนะครับ แล้วผมขอนำ ให้ท่านช่วยอภิปรายแล้วก็นำเข้าสู่คำถาม แล้วผมคิดว่าท่านอภิปรายได้ประเด็นครบถ้วนแล้ว ก็รอคำถามจากท่านอยู่ แล้วผมก็เคารพท่านนะครับ สภาบันทึกไว้ได้ครับ คำวินิจฉัย เป็นแบบนี้นะครับ

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ท่านประธาน ไม่จบครับ ผมเรียนกับท่านประธานอย่างนี้นะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ผมจบแล้วครับท่าน ผมไม่อนุญาตให้พูดแล้วครับ ขอบคุณท่านรัฐมนตรีนะครับ ท่านผู้ถาม ไม่ได้ใช้สิทธิถามแล้วครับ เจ้าหน้าที่ครับ ท่านอัครเดชทำผิดข้อบังคับนะครับ แล้วก็ไม่เคารพ คำวินิจฉัย ขออนุญาตนะครับท่าน ผมไม่สามารถให้ท่านอภิปรายตัวผมได้นะครับ อันนี้ ไม่ใช่อภิปรายไม่ไว้วางใจ ท่านอัครเดชครับ ผมจบแล้วนะครับท่าน

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผมไม่ได้ อภิปรายครับ ผมขอประท้วงท่านประธานตามสิทธิข้อบังคับครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ประท้วงเชิญครับ

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผมประท้วง ท่านตามข้อ ๙ ครับ ก็คือท่านเป็นประธานท่านต้องวางตัวให้เป็นกลางนะครับ ท่านอย่า เอาอารมณ์เมื่อครั้งที่แล้วมาทำอย่างนี้กับสมาชิก มันไม่ถูกต้องนะครับ ผมอยากจะเรียน ท่านว่าท่านเป็นประธานผมให้ความเคารพ แล้วสมาชิกทุกคนให้ความเคารพเพราะตำแหน่งท่าน แต่การที่ท่านวินิจฉัยอย่างนี้ แล้วก็มาขัดการอภิปรายอย่างนี้ ผมถือว่าเป็นสิ่งที่ประธาน ไม่ควรทำ แล้วก็เป็นสิ่งที่ไม่สร้างสรรค์อย่างยิ่งนะครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านประเสริฐพงษ์ประท้วงหรือครับ

นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ไม่ประท้วงครับ แต่ว่า ขออนุญาตหารือท่านประธานนิดเดียว เพราะว่าเราอยู่ในข้อบังคับการประชุม แล้วผม เข้าใจว่าผู้ตั้งกระทู้อาจจะไม่ได้อ่านข้อบังคับ ข้อ ๑๕๒ การตั้งกระทู้ถามเขียนบอกชัดเจนว่า ไม่มีลักษณะให้ฟุ่มเฟือย วนเวียน ซ้ำซาก หรือมีลักษณะการอภิปราย ซึ่งเมื่อสักครู่นี้ ท่านก็สารภาพแล้วว่า ท่านอภิปรายผิดข้อบังคับครับท่านประธาน ผมทบทวนเฉย ๆ ครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เดี๋ยวให้พูดทีละท่านนะครับ ท่านประเสริฐพงษ์จบหรือยัง เชิญท่านอัครเดชครับ

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผมขอประท้วง ผู้ที่ประท้วงนะครับ ผมจะเรียนท่านประธานไปยังผู้ประท้วงครับ ผมถามครับ เมื่อสักครู่นี้ ท่านได้ฟังเพื่อนสมาชิกจากพรรคก้าวไกลท่านพูดไหมครับ ว่าอย่างนั้นเรียกถามหรืออภิปราย ท่านถามแล้วก็อภิปรายมาเป็น ๑๐ นาทีนะครับ ผมถามว่าอย่างนี้มันเป็นการอภิปราย หรือเป็นถาม ถ้าถามท่านก็ไม่ต้องอภิปรายเลยครับ ท่านลุกขึ้นมาปุ๊บท่านก็ถามเลยว่า คำถามมีอะไร ต่อไปนี้นะครับท่านประธาน ผมขอให้ใช้ข้อบังคับอย่างนี้ให้เหมือนกัน ถ้าอย่างนั้นต่อไปนี้ถ้ามีการอภิปราย แล้วต้องมีการประท้วงกันอย่างนี้ ผมถามว่ากระทู้นี้ สมาชิกมีสิทธิในเวลาที่กำหนด ถ้าอภิปรายเยิ่นเย้อเกินไปประธานมีสิทธิที่จะเบรกครับ แต่นี่ยังอยู่ในเวลาที่กำหนด ผมถามว่าสิทธิของสมาชิกทำไมท่านไม่เคารพครับ นี่คือเวลา ที่สภากำหนดมีการระบุระยะเวลาชัดเจนนะครับ ท่านประธานต้องบอกผู้ประท้วงให้เคารพ ในข้อบังคับด้วย ไม่ใช่เอาข้อบังคับนี้มาอ่านแล้วให้พี่น้องประชาชนมีความสับสนนะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เรียนท่านสมาชิกอย่างนี้นะครับ เนื่องจากกระทู้ถามทั่วไปไม่มีเวลากำหนด แล้วแบบแผน ที่เราบริหารเวลากันก็คือ ถ้ากระทู้ทั่วไปเข้าครบ ๑ กระทู้ จะอยู่ที่ประมาณ ๒๐ นาที เพื่อไม่ให้มันกินเวลาของญัตติอื่นหรือวาระอื่น เพราะฉะนั้นผมเข้าใจดีครับ ก่อนจะถามอะไร ต้องมีการอภิปรายเนื้อหาสักครู่หนึ่ง แล้วผมเองก็จับตาดูอยู่ว่าการอภิปรายแต่ละครั้งนั้น ออกนอกประเด็นหรือว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อคำถามหรือไม่ แต่ผมเรียนท่านอัครเดชว่า ผมไม่ได้มีเจตนาจะเบรกท่านจริง ๆ นะครับ แค่ผมเตือนท่านเฉย ๆ ว่าต้องเข้าสู่คำถามได้แล้ว เพราะว่าใช้เวลาพอสมควร แล้วถ้าเรื่องนี้มีปัญหาในข้อบังคับก็ไปแก้ข้อบังคับกันครับ เมื่อคราวที่แล้วเรามีปัญหาเรื่องของกระทู้ถามว่าทำไมผู้ถามกับผู้ตอบเวลาเท่ากัน ทั้งที่ คำถามสั้นกว่าคำตอบ แล้วผู้ตอบตอบไม่ทัน เรื่องพวกนี้เราพยายามทำตามข้อบังคับที่มีอยู่ แต่ถ้าท่านเห็นว่าข้อบังคับมีปัญหาเดี๋ยวเราเสนอการแก้ข้อบังคับกันได้นะครับ ขอบคุณครับ

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ

ท่านประธานนิดเดียวครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านอัครเดชครับ เราอยู่กับเรื่องนี้มานานเกินไปแล้วครับท่าน ไม่ขออนุญาตครับ ประท้วง ประเด็นเดิมไม่อนุญาตแล้วครับ

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ อย่างนี้นะครับ ผมไม่เคยพูดนะครับว่าข้อบังคับมีปัญหานะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ผมพูดเองครับ คือข้อบังคับนี้มันบอกชัดเจนว่าไม่ให้อภิปราย แต่ทีนี้เรามีการโต้เถียงคำว่า แบบไหนเรียกว่าอภิปราย แล้วกระทู้ถามทั่วไปไม่ได้กำหนดเวลา แต่เราใช้ระเบียบปฏิบัติ คือธรรมเนียมปฏิบัติว่าไม่เกิน ๒๐ นาที ต่อ ๑ กระทู้ ผมแค่ชี้แจงเท่านี้เองครับ ท่านไม่ได้พูด ว่าข้อบังคับมีปัญหา ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๔. เรื่อง แนวทางการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนกรณีไม่มีเอกสารสิทธิ ในที่ดินอยู่อาศัยและที่ดินทำกิน (เขตสงวนทุ่งเลี้ยงสัตว์) ในพื้นที่จังหวัดชุมพร นายวิชัย สุดสวาสดิ์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม นายกรัฐมนตรี

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ด้วยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีหนังสือแจ้งว่า เรื่องนี้นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นผู้ตอบ กระทู้ถามแทน แต่การนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วย ว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านชาดา ไทยเศรษฐ์ เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทน แต่เนื่องจากวันนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านชาดาติดภารกิจรับเสด็จที่จังหวัดอุบลราชธานี จึงขอเลื่อนตอบกระทู้ถามออกไปเป็นวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๗

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๕. เรื่อง ปัญหาโรงงานยางพาราของชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยาง จังหวัดบึงกาฬ จำกัด นายนิพนธ์ คนขยัน เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวง เกษตรและสหกรณ์

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ด้วยสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีหนังสือแจ้งว่า วันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่านธรรมนัส พรหมเผ่า ติดภารกิจ ซึ่งมีการนัดหมายไว้ล่วงหน้าแล้ว จึงขอเลื่อนการตอบกระทู้ไปเป็นวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๗ เชิญท่านนิพนธ์ครับ

นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ผม นิพนธ์ คนขยัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบึงกาฬ เขตเลือกตั้งที่ ๓ พรรคเพื่อไทย ก็ทราบนะครับ ไม่เป็นอะไรเลื่อนเป็นวันที่ ๗ แต่ผมก็ขออนุญาตว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญครับ โดยเฉพาะ เรื่องยางพารา โรงงานผลิตยางพารา ก็ขออนุญาตว่าวันที่ ๗ มีนาคม ก็คงจะได้ถามกระทู้ทั่วไป ต่อท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกครั้งหนึ่งครับท่านประธาน ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๖. เรื่อง โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำป่าสัก อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี นายสาธิต ทวีผล เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม นายกรัฐมนตรี

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ด้วยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีหนังสือแจ้งว่าท่านนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นผู้ตอบกระทู้ถาม และท่านรัฐมนตรีได้มอบหมายรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านมนพร เจริญศรี เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทน ตามข้อบังคับ ข้อ ๑๕๑ ขอเชิญท่านสาธิต ทวีผล ครับ

นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม สาธิต ทวีผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี เขตเลือกตั้งที่ ๒ พรรคก้าวไกล ก่อนอื่น ต้องขอขอบพระคุณท่านประธานที่กรุณาบรรจุกระทู้ของผม ซึ่งเป็นกระทู้ที่มีความสำคัญ เป็นกระทู้ที่เป็นความหวังของพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดลพบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง และขอขอบพระคุณท่านนายกรัฐมนตรี ท่านเศรษฐา ทวีสิน ที่กรุณามอบหมายให้ ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านมนพร เจริญศรี มาตอบกระทู้ของผมครับ

นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ วังนารายณ์คู่บ้าน ศาลพระกาฬคู่เมือง ปรางค์สามยอด ลือเลื่อง เมืองแห่งดินสอพอง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เกริกก้อง แผ่นดินทองสมเด็จพระนารายณ์ นี่คือคำขวัญของจังหวัดลพบุรีครับท่านประธาน จะเห็นได้ว่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เกริกก้องนั้น คือ ๑ ใน ๖ คำขวัญจังหวัดลพบุรี ๑ ใน ๖ Signature ๑ ใน ๖ ของดีของจังหวัดลพบุรี เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์นี้ สร้างขึ้นมาจากโครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักอันเนื่องมาจากโครงการ พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ของพวกเรา ปวงชนชาวไทยครับ โดยจุดเด่นของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์นั้นมีบริเวณจุดชมวิวทิวทัศน์บริเวณ สันเขื่อน พิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำป่าสัก รถไฟลอยน้ำบ้านโคกสลุง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์นี้มีถนน เลาะชายเขื่อนทั้ง ๒ เส้นทาง คือถนน ลบ.๕๑๒๙ และถนน ลบ.๕๑๓๐ มีทัศนียภาพสวยงาม ตลอดทั้ง ๒ เส้นทาง ระยะทางรวมกัน ๑๒๙ กิโลเมตร โดยมีจุดที่แคบที่สุดอยู่ที่ตำบลหนองบัว และตำบลมะนาวหวาน ระยะทางประมาณ ๑.๓ กิโลเมตร สามารถพัฒนาให้มีสะพานข้าม เพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวของทั้ง ๒ ฝั่งเข้าด้วยกัน เพื่อร่นระยะเวลาในการเดินทาง ของราษฎรตำบลห้วยขุนราม ตำบลน้ำสุด และตำบลมะนาวหวาน และพื้นที่ทางตะวันตก และตะวันออกของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ครับท่านประธาน จังหวัดลพบุรีโดยแขวงทางหลวงชนบท ลพบุรีได้ว่าจ้าง บริษัท สแปน จำกัด และบริษัท พรี ดีเวลลอปเมนท์ คอนซัลแตนท์ จำกัด ดำเนินการศึกษาออกแบบโครงการสะพานข้ามแม่น้ำป่าสัก โดยดำเนินการศึกษา และออกแบบศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้ได้ ๓ รัฐบาลแล้วครับท่านประธาน ปัจจุบันโครงการยังอยู่ในขั้นตอน การสำรวจผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA จึงได้มีคำถามจากทางชาวบ้านมาว่ามันมีความเนิ่นนาน โครงการสะพานข้ามแม่น้ำป่าสักนี้โดยรูปแบบความยาวของสะพาน ๑,๒๙๐ เมตร มีระยะตอม่อ อยู่ที่ ๑๐-๔๐ เมตร ผิวการจราจรข้างละ ๓.๕ เมตร มีไหล่ทางข้างละ ๒.๕ เมตร และมีทางเดิน เท้าเป็นจุดชมวิวข้างละ ๑.๕ เมตร โดยประโยชน์จากโครงการคาดว่าจะได้รับคือสามารถ ร่นระยะเวลาในการเดินทางของราษฎรที่จะเข้าไปติดต่อทำกิจธุระ เข้ารักษาพยาบาลในตัว อำเภอพัฒนานิคม เข้าไปรับการศึกษาในระดับชั้นต่าง ๆ และสามารถเชื่อมโยงเป็น แหล่งท่องเที่ยวของทั้ง ๒ ฝั่ง สร้างเศรษฐกิจเป็น Landmark แห่งใหม่ให้กับจังหวัดลพบุรี ผมจึงมีคำถาม ถามท่านรัฐมนตรีว่าท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรกับโครงการสะพาน ข้ามแม่น้ำป่าสักแห่งนี้ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านรัฐมนตรีครับ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมค่ะ วันนี้ดิฉันได้รับมอบหมายมาตอบกระทู้ของท่านสมาชิกจากท่านนายกรัฐมนตรี ท่านเศรษฐา ทวีสิน ต้องขอถือโอกาสขอบคุณท่านสมาชิก ท่านสาธิต ทวีผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลพบุรี จากพรรคก้าวไกล ซึ่งท่านเป็นนักการเมืองคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสนใจต่อปัญหา ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนตลอดมาค่ะ จากคำถามแรกของท่านสมาชิก ดิฉัน ขอได้ขึ้นสไลด์นะคะ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

โดยกระทรวง คมนาคม โดยกรมทางหลวงชนบท ขอเรียนให้ทราบว่าโครงการก่อสร้างข้ามแม่น้ำป่าสัก อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี เป็นโครงการก่อสร้างสะพานใหม่เชื่อมระหว่างตำบลหนองบัว กับตำบลมะนาวหวาน อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ซึ่งขณะนี้อยู่ในพื้นที่ตำบลหนองบัว ตำบลมะนาวหวาน ตำบลน้ำสุด และตำบลห้วยขุนราม ซึ่งถ้าเราได้รับการก่อสร้างดังกล่าว ประโยชน์ที่พี่น้องประชาชนจะได้รับประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน นี่พูดถึงเฉพาะในพื้นที่ของพี่น้อง ประชาชนในตำบลที่ดิฉันได้นำเรียนสักครู่นะคะว่า พื้นที่ที่จะดำเนินการก่อสร้างขณะนี้ เป็นพื้นที่ที่อยู่ในพื้นที่เขตอนุรักษ์ห้ามล่าสัตว์ป่าของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ แล้วก็การดำเนินการ ในพื้นที่ดังกล่าวเราจะต้องปฏิบัติตามระเบียบของกฎหมายที่เกี่ยวข้องค่ะ โดยขณะนี้ เราจะต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบของสิ่งแวดล้อมตามประกาศของกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องของการกำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการผลกระทบสิ่งแวดล้อมและหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ลงวันที่ ๒๐ ธันวาคม ปี ๒๕๖๖ พร้อมทั้งจะต้อง ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ของเขตห้ามล่าสัตว์จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชก่อน ถึงจะดำเนินการต่อไปได้ค่ะท่านประธาน นอกจากนั้นเขตห้ามล่าสัตว์ของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นพื้นที่ที่ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการล่าสัตว์ป่า เก็บ หรือภยันตรายแก่ไข่ หรือรังไข่ของสัตว์ป่า เช่น จำพวกนกหรือว่าสัตว์เลื้อยคลาน เช่น นกกระสาแดง นกโพระดก หรือนกกระเต็นน้อย ที่ดิฉันขึ้นภาพให้ดูเป็นภาพของสัตว์หรือว่านกที่อนุรักษ์ไว้ นอกจากนั้นประชาชนยังต้อง ใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพประมง อาชีพเกษตรกรรม อาชีพของปศุสัตว์ และเรื่อง ของการท่องเที่ยวค่ะ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพคะ ถึงอย่างไรก็ตามเรื่องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชนที่จะกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเอง ในปีงบประมาณ ปี ๒๕๖๐ จังหวัดลพบุรีได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็นงบพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคกลาง ตอนบน ได้ดำเนินการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและจัดทำรายงานดังที่ท่านสมาชิกได้กล่าว สักครู่นะคะ เรื่องของการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA พร้อมทั้งสำรวจออกแบบ โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำป่าสัก โดยแขวงทางหลวงชนบทลพบุรีได้มอบหมาย ให้เป็นหน่วยดำเนินการและจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA เสร็จเรียบร้อยแล้ว ดิฉันได้ขึ้น Chart ให้ท่านสมาชิกได้เห็นถึงการดำเนินงานในแต่ละช่วง ปัจจุบันนี้อยู่ในระหว่าง การเสนอรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ให้กับคณะกรรมการผู้ชำนาญการ พิจารณารายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือว่า คชก. พิจารณาให้ความเห็นชอบในลำดับ ต่อไป ซึ่งถ้าเราดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าวประชาชนจะได้รับประโยชน์ โดยดิฉัน ได้แยกมิติของพี่น้องประชาชนที่จะได้รับประโยชน์

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

มิติแรกเป็นมิติทางด้านสังคม พี่น้องประชาชนก็จะได้เดินทางสัญจรไปมา ไปติดต่อสถานที่ราชการดังที่ท่านสมาชิกได้เกริ่นนำเมื่อสักครู่นะคะ ได้มีความสะดวกรวดเร็ว มากยิ่งขึ้น ประหยัดเวลาในการเดินทาง ร่นระยะทางของพี่น้องประชาชนตำบลมะนาวหวาน ตำบลน้ำสุด ตำบลห้วยขุนราม ในการไปติดต่อราชการ ไปโรงพยาบาลยามเจ็บป่วย และพี่น้องในตัวอำเภอพัฒนานิคมได้ประมาณ ๑๓ กิโลเมตร

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

มิติทางด้านเศรษฐกิจ พี่น้องเกษตรกรก็จะเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง พืชผลทางการเกษตรให้ร่นระยะเวลาการเดินทาง ถ้าร่นระยะเวลาการเดินทางได้เร็ว นั่นหมายถึงเป็นการลดต้นทุน ให้พี่น้องเกษตรกรได้มีผลกำไรในการประกอบอาชีพ เกษตรกรรมนั้น ๆ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

มิติของด้านการท่องเที่ยว เราก็จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม ถ้าไปลพบุรี ก็คงไม่เพียงแต่ไปดูลิง แต่เราก็จะมีสะพานที่สวยงาม นั่นก็คือดึงดูดนักท่องเที่ยวเกิดการ กระจายรายได้ให้แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้กับชุมชนในโอกาสต่อไป ดิฉันขออนุญาตตอบ คำถามแรกของท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติค่ะท่านประธาน ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญใช้สิทธิในรอบที่ ๒ ครับ

นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม สาธิต ทวีผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี เขต ๒ พรรคก้าวไกล ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณ ท่านรัฐมนตรีที่กรุณาตอบคำถามของผมนะครับท่านประธาน อาจจะไม่ได้ตอบว่าเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย แต่ในลักษณะที่ท่านตอบมาผมขออนุญาตคิดไปเองว่าท่านเห็นด้วย กับโครงการนี้ ตัวเลขที่ท่านบอกว่า ๑๓ กิโลเมตร ท่านอาจจะได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อน จากทางหน่วยงานที่ท่านสอบถามข้อมูลมาครับ เพราะว่าผมเองเป็นคนลงพื้นที่จากจุด บ้านเขาพระไปจนถึงจุดตอม่ออีกฝั่งหนึ่งของสะพาน นี่คือจุดที่ใกล้ที่สุดแล้วนะครับ อยู่ที่เกือบ ๆ ๔๐ กิโลเมตร ยังไม่นับรวมจุดที่พี่น้องประชาชนถอยร่นออกมา ซึ่งโดยรวมแล้ว น่าจะไม่ต่ำกว่า ๕๐ กิโลเมตรครับท่านประธาน ในการที่จะต้องเดินทางสัญจรเพื่อจะ มาอีกฝั่งหนึ่งของตัวเขื่อนครับท่านประธาน โดยต้องอ้อมไปที่ถนน ๓๐๑๗ และ ๒๐๘๙ ดังนั้นการเดินทางเข้ามารักษาพยาบาลของพี่น้องประชาชนที่มีชื่ออยู่ในอำเภอพัฒนานิคม ที่เป็น ๓ ตำบล โดยชาวบ้านแถวนั้นจะเรียก ๓ ตำบลนั้นโดยรวมว่าเป็นห้วยน้ำหวานนะครับ คือน้ำสุด มะนาวหวาน แล้วก็ห้วยขุนราม ซึ่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดคือโรงพยาบาลวังม่วง และโรงพยาบาลท่าหลวงครับท่านประธาน ซึ่งสิทธิบัตรทองในการรักษาของพี่น้องประชาชน อยู่ที่อำเภอพัฒนานิคม ซึ่งโครงการนี้ได้ดำเนินการมาเข้าปีที่ ๗ แล้วครับท่านประธาน พี่น้องประชาชนก็ต่างมีความหวังว่าจะมีโครงการสะพานข้ามแม่น้ำป่าสักแห่งนี้เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะนักการเมืองเวลาลงไปหาเสียงก็จะไปให้ความหวังกับโครงการสะพานแห่งนี้ ดังนั้น เราเหลือระยะเวลาหากครบวาระของสภาแห่งนี้อีก ๓ ปีกว่า ๆ อยากจะให้พี่น้องประชาชน ได้มีข้อมูลในการตัดสินใจในการใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งหน้า ผมจึงมีคำถามว่า โครงการสะพานข้ามแม่น้ำป่าสักแห่งนี้จะเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลของท่านหรือไม่ อย่างไร ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านรัฐมนตรีครับ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพค่ะ ในประเด็นคำถามที่ ๒ ดิฉันขอย้อนไปในประเด็นคำถามแรก นะคะว่าทางกระทรวงคมนาคมเห็นด้วยหรือไม่กับการทำโครงการนี้ ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉันขอกราบเรียนว่ารัฐบาลท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ท่านได้เห็นความสำคัญ ของการพัฒนาโครงข่ายของประเทศไทยในทุกมิติ ไม่ว่ามิติทางน้ำ มิติทางบก มิติทางราง หรือมิติทางอากาศค่ะ เพราะว่าทางรัฐบาลเชื่อมั่นว่าเมื่อความเจริญถนนหนทาง หรือเส้นทางไปสู่ นั่นก็คือการลดความเหลื่อมล้ำและความเท่าเทียมต่อพี่น้องประชาชน กระทรวงคมนาคมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่จะริเริ่มแล้วก็ดำเนินโครงการ นอกจากนั้นระยะทางที่ดิฉันนำเรียนว่า ๑๓ กิโลเมตรนั้น ดิฉันได้ข้อมูลจากผลของการศึกษา EIA ที่ทำอยู่ แต่ถ้าจะมีความคลาดเคลื่อนสิ่งใด ท่านในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็สามารถสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในการแสดงความเห็นในพื้นที่ ของจังหวัดลพบุรีได้ ซึ่งความเห็นของพี่น้องประชาชนและความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็จะเป็นผลดีต่อการทำ EIA นี้ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นค่ะ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

นอกจากนั้น คำถามที่ ๒ ของท่านสมาชิกโดยกรมทางหลวงชนบท ขอเรียนให้ทราบว่าจังหวัดลพบุรี ได้ริเริ่มดำเนินการศึกษา แล้วก็ทำรายงานประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้ง สำรวจออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำป่าสัก อำเภอลพบุรี เมื่อปี ๒๕๖๐ เมื่อคณะกรรมการศึกษาหรือทำ EIA เรียบร้อยแล้ว หรือว่าเรียบร้อยเสร็จแล้ว ก็จะพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อคณะกรรมการ คชก. ที่พิจารณาไปเมื่อปี ๒๕๖๔ ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการแก้ไขรายงาน EIA ตามข้อเสนอของ คชก. ในประเด็นที่ท่านสมาชิกได้ถาม ท่านก็สามารถไปนำเสนอว่าระยะห่างของกิโลเมตร ไม่ใช่ ๑๓ กิโลเมตร อาจจะเป็น ๔๐ กิโลเมตร เพื่อให้การศึกษาของ EIA มีความสมบูรณ์ มากยิ่งขึ้น ฝากท่านสมาชิกไปด้วยนะคะ เมื่อ คชก. มีมติเห็นชอบรายงานดังกล่าว จังหวัดลพบุรีก็จะส่งรายงาน EIA นี้ให้กับกรมทางหลวงชนบท เมื่อกรมทางหลวงชนบท ได้รับรายงานนี้แล้วก็จะดำเนินการขออนุญาตใช้พื้นที่เขตล่าสัตว์ป่ากับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เมื่อได้รับอนุญาตแล้วก็จะดำเนินการก่อสร้างสะพานต่อไป แล้วบรรจุ ลงในการขอรับงบประมาณหลังจากขั้นตอนดังกล่าวได้ผ่านหมดแล้วค่ะ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพคะ ไม่ว่าจะรัฐบาลใด ๆ ก็ตามเมื่อถึงฤดูหาเสียง หรือท่านที่สมาชิกว่าแน่นอนค่ะ สิ่งดี ๆ ที่ทุกรัฐบาลนำเสนอต่อพี่น้องประชาชนนั้นก็เป็นสิทธิ ที่พี่น้องประชาชนจะตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองใดก็ตามที่สามารถนำประโยชน์ให้พี่น้อง ประชาชน แต่ท้ายที่สุดนโยบายใด ๆ เมื่อรัฐบาลที่ได้เข้ามาก็ต้องเป็นสัญญาประชาคมว่า เมื่อสัญญาต่อพี่น้องประชาชนแล้วรัฐบาลนั้นได้ทำตามสัญญาหรือไม่ แต่สำหรับรัฐบาล ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน แล้ว เราจะทำทุกนโยบายที่ได้ให้สัญญากับพี่น้องประชาชน ขณะนี้เราได้เข้ามาทำงานเป็นเดือนที่ ๗ แล้ว หลาย ๆ นโยบายที่เราได้สัญญาไว้ก็จะริเริ่มทำ แล้วก็เชื่อมั่นว่ารัฐบาลท่านเศรษฐา ทวีสิน ท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ภายใต้การกำกับดูแล ของกระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงชนบท เราเองมีความห่วงใยและจะทำให้ คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนดีขึ้น จึงมีการพัฒนาโครงข่ายในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างทั่วถึง แล้วก็เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการก่อสร้างสะพานเขื่อนป่าสัก ไม่เพียงแต่ว่า ความเจริญถึง แต่ขณะเดียวกันเราต้องอนุรักษ์ป่าซึ่งมีอยู่อย่างยาวนานของเขื่อนป่าสักแห่งนี้ โดยมีโครงการที่การก่อสร้างสะพานป่าสักแห่งนี้ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยกระดับ การเดินทางของพี่น้องประชาชนให้มีความสะดวก รวดเร็ว แล้วก็ปลอดภัย เพื่อเชื่อมโยง กับทั่วไทย เชื่อมโยงกับคนไทยทั้งชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นคำขวัญของกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม ขอบคุณท่านประธานต่อคำถามของท่านสมาชิกนะคะ ขอบคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

จบกระทู้นะครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๗. เรื่อง นโยบายจัดการคลองทั่วกรุงเทพมหานครให้สะอาด นายเกรียงยศ สุดลาภา เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม นายกรัฐมนตรี เนื่องจากในวันนี้ ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยติดภารกิจสำคัญ ขอเลื่อนตอบกระทู้เป็นวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๗ ตามข้อบังคับ ข้อ ๑๕๑ นะครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๑.๓ กระทู้ถามแยกเฉพาะ ก็ได้สอบถามในห้องกระทู้ถามแยกเฉพาะ เรียบร้อยแล้วนะครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เรียนที่ประชุมครับ ขอดำเนินการตามระเบียบวาระนะครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๑.๓ กระทู้ถามแยกเฉพาะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ก่อนดำเนินการถามและตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะ ขอชี้แจงในที่ประชุม ดังนี้ครับ การถาม ถามและตอบได้ไม่เกิน ๒ ครั้ง ถามและตอบให้แล้วเสร็จภายใน ๒๐ นาที รวมทั้งผู้ถามผู้ตอบ แล้วก็ขอความร่วมมือผู้ที่อยู่ในห้องประชุมให้รักษามารยาท ประพฤติตน ให้เหมาะสม อยู่ในความสงบ และห้ามแสดงกิริยาเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หรือกล่าววาจา ส่อเสียดใด ๆ หรือการกระทำใด ๆ อันเป็นการรบกวน ขัดขวางการประชุม แล้วก็ห้ามใช้ เครื่องมือวัสดุหรืออุปกรณ์สื่อสารใด ๆ เพื่อบันทึกภาพ บันทึกเสียง หรือกระทำการใด ๆ ที่เป็นการถ่ายทอดการประชุมสู่บุคคลภายนอก หากมีก็จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป จึงเรียนให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ทราบนะครับ ผมขอสลับลำดับการถามตอบกระทู้ถาม แยกเฉพาะ ดังนี้ ลำดับที่ ๑ กระทู้ถามแยกเฉพาะที่ ๑๖๙ ของท่านธัญธารีย์ สันตพันธุ์ ลำดับที่ ๒ กระทู้ถามแยกเฉพาะที่ ๑๖๗ ของท่านนพพล เหลืองทองนารา ลำดับที่ ๓ กระทู้ถามแยกเฉพาะที่ ๑๗๑ ของท่านศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ลำดับที่ ๔ กระทู้ถาม แยกเฉพาะที่ ๑๖๖ ของท่านทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ ลำดับที่ ๕ กระทู้ถามแยกเฉพาะที่ ๑๗๒ ของท่านอาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ ลำดับที่ ๖ กระทู้ถามแยกเฉพาะที่ ๑๔๔ ของท่านพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ อันนี้เลื่อนไปนะครับ ลำดับที่ ๗ กระทู้ถามแยกเฉพาะที่ ๑๔๗ ของท่านกัณวีร์ สืบแสง อันนี้ก็เลื่อนนะครับ ลำดับที่ ๘ กระทู้ถามแยกเฉพาะที่ ๑๔๘ ของท่านภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ อันนี้ก็เลื่อนนะครับ ก็เหลือ ๕ กระทู้ที่จะได้ถามและตอบในวันนี้นะครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๑. เรื่อง การแก้ไขปัญหาถนนชำรุดและเป็นหลุมเป็นบ่อในพื้นที่ บ้านพะลาน-ปากแซง ตำบลพะลาน อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี นางสาวธัญธารีย์ สันตพันธุ์เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ด้วยสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือแจ้งว่า ท่านรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านทรงศักดิ์ ทองศรี เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทน ตามข้อบังคับข้อ ๑๕๑ ในการนี้ เพื่อประโยชน์ในการตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะ ผมได้อนุญาตให้ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมสนับสนุนข้อมูลในการตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะ ดังนี้ ๑. นายกรวุฒิ บรรยงวรพินิจ ผู้อำนวยการกองพัฒนาและส่งเสริมบริหารงานท้องถิ่น กองพัฒนาและส่งเสริมบริหารงาน ท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ๒. นายเจษ เสียงลือชา ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกองพัฒนาและส่งเสริมบริหารงาน ท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เชิญท่านธัญธารีย์ สันตพันธุ์ ถามคำถามแรกครับ

นางสาวธัญธารีย์ สันตพันธุ์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ธัญธารีย์ สันตพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี เขต ๖ พรรคเพื่อไทย วันนี้ต้องขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านทรงศักดิ์ ทองศรี ที่ได้กรุณามาตอบกระทู้แยกเฉพาะในวันนี้ ขอบพระคุณนะคะ

นางสาวธัญธารีย์ สันตพันธุ์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ

ดิฉันของตั้งกระทู้ถาม เนื่องจาก ถนนเส้นบ้านพะลาน-ปากแซง ตำบลพะลาน อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี ระยะทาง ๑.๗ กิโลเมตร ซึ่งเป็นเส้นทางที่เชื่อมไปยังถนนยุทธศาสตร์ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๑๑๒ และถนน อบ.๔๐๑๗ ซึ่งปัจจุบันถนนดังกล่าวมีสภาพชำรุดทรุดโทรม มีผิวจราจรเป็นหลุมเป็นบ่อ ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่พื้นที่ดังกล่าว ๓ หมู่บ้าน ได้รับผลกระทบ รวมถึงโรงเรียน ๓ แห่ง ซึ่งมีนักเรียนประมาณทั้งสิ้น ๑,๕๗๗ คน ทำให้บรรดานักเรียนและผู้ปกครอง ครู ได้รับ ความเดือดร้อนในการสัญจรไปมา เนื่องจากถนนเส้นนี้เป็นถนนเส้นหลักในการสัญจร ระหว่างโรงเรียนและบ้าน รวมถึงการสัญจรเข้าไปตัวอำเภอ โรงพยาบาล และหน่วยงาน ราชการต่าง ๆ ดังนั้นหากมีการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากถนนชำรุดทรุดโทรม เป็นหลุมเป็นบ่อ จะเป็นการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว และเป็นการช่วยลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ จึงขอเรียน ถามว่ากระทรวงมหาดไทยมีนโยบายหรือแผนงานในการปรับปรุงและซ่อมแซมถนนเส้น บ้านพะลาน-ปากแซง ตำบลพะลาน อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี ที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรม อย่างไรบ้าง ขอทราบรายละเอียด ขอบพระคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญท่านรัฐมนตรีครับ

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ

ท่านประธาน ที่เคารพครับ กระผม นายทรงศักดิ์ ทองศรี ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้เป็นผู้ชี้แจงตอบกระทู้ถาม ของท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ขออนุญาตเอ่ยนาม ท่านธัญธารีย์ สันตพันธุ์ ท่านเป็นสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรของพรรคเพื่อไทย จังหวัดอุบลราชธานี

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ

ในเรื่องที่ถาม เรื่อง การแก้ไขปัญหาถนนชำรุดและเป็นหลุมเป็นบ่อในพื้นที่บ้านพะลาน-ปากแซง ตำบลพะลาน อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี ก่อนอื่นนั้นผมต้องกราบขอบพระคุณท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ อย่างสูงยิ่งครับ ที่ท่านกรุณาให้ความสำคัญกับปัญหาเรื่องของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะ เรื่องของเส้นทางคมนาคม ซึ่งถือว่าเป็นเส้นทางหลักที่ประชาชนใช้ในการเดินทาง ไปมาหาสู่กันถึง ๓ หมู่บ้าน แล้วก็มีประชากรที่ใช้ประโยชน์ ๖๑๔ ครัวเรือน โรงเรียน ๓ แห่ง มีจำนวนเด็กนักเรียนที่ใช้ทั้งสิ้น ๑,๕๗๗ คน มี ๓ โรงเรียนด้วยกัน อันนี้ผมเรียนด้วยความชื่นชม ท่านเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอยู่ในงานที่ถือว่าเป็นงานสำคัญในการดูแลประชาชน ในเรื่องของเส้นทางคมนาคม ท่านได้กรุณาถามมาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แล้วก็ เป็นกระทรวงซึ่งมีหน้าที่ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุข อำนวยความเป็นธรรมของสังคม ส่งเสริม พัฒนาการเมืองการปกครอง การพัฒนาการบริหารราชการส่วนภูมิภาค การปกครองท้องที่ รวมถึงการกำกับ ดูแล สนับสนุนและส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในเรื่อง ของการปฏิบัติงานเพื่อการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน นี่เป็นภารกิจสำคัญของ กระทรวงมหาดไทย

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ

สำหรับการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปัจจุบันส่วนกลาง ได้มีการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีอิสระในการปกครองตนเอง ตามเจตนารมณ์ของ ประชาชน ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลัก ในการจัดทำบริการสาธารณะให้แก่ประชาชน โดยกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ในการกำกับ ดูแลและส่งเสริมสนับสนุนการปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ถูกต้องเป็นไป ตามกฎหมายเท่านั้น อันนี้ผมเรียนท่านประธาน ท่านสมาชิกนะครับว่า อปท. เป็นนิติบุคคล เป็นไปตามหลักการกระจายอำนาจ ให้ประชาชนมีอำนาจในการบริหารตนเอง มีการเลือกตั้ง ตัวแทนที่มาจากประชาชนเป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน้าที่ต่าง ๆ ก็มีหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติที่มีการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการก่อสร้างบำรุงรักษาถนน เพื่อประโยชน์สาธารณะแก่ประชาชน แต่ว่าการดำเนินการทั้งหลายต้องเป็นไปตาม ความต้องการของพี่น้องประชาชน อันนี้เป็นหัวใจสำคัญนะครับ แล้วก็ผ่านความเห็นชอบ ของสภา ซึ่งเป็นสภาท้องถิ่น แต่ว่าโครงการทั้งหลายนี้มันต้องมีการบรรจุเป็นแผนงาน โครงการ แล้วถ้าเป็นโครงการเร่งด่วนก็สามารถแก้ไขได้นะครับ เวลามีแผนแล้วเราสามารถ แก้ไขให้มีการปรับปรุงแผนได้ แต่ว่าเป็นอำนาจของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วก็ต้องผ่านความชอบของสภาท้องถิ่นเสียก่อน อันนี้เป็นหลักการของ อปท. จะเป็น อบจ. จะเป็นเทศบาล จะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล เหมือนกันนะครับ

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ

สำหรับถนนในเส้นพะลาน-ปากแซง ตำบลพะลาน อำเภอนาตาล จังหวัด อุบลราชธานี ที่ท่านให้ความกรุณาถามเป็นกระทู้ถามแยกเฉพาะ แล้วก็เป็นข้อกังวลห่วงใย มีระยะทางประมาณ ๑.๗ กิโลเมตร เป็นเส้นสายทางที่เชื่อมไปยังถนนของทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๒๑๑๒ เขมราฐ-โขงเจียม และถนน อบ.๔๐๑๗ สายทางดังกล่าวเป็นเส้นถนนที่อยู่ ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลพะลาน เมื่อสักครู่เรามีรูปขึ้นอยู่นะครับ เป็นเส้นถนนที่ก็ตรงตามที่ท่านสมาชิกได้มีข้อซักถามมาเป็นความห่วงใย ถนนมีความชำรุด เป็นหลุมเป็นบ่อ แล้วการไปมาของประชาชนไม่สะดวก ก็เข้าใจว่าคงเป็นถนนที่สร้างไว้ นานแล้ว โครงสร้างพื้นฐานเดิมอาจจะมีความไม่ค่อยแข็งแรง อาจจะมีรถวิ่งสัญจรไปมา จำนวนมาก แล้วประกอบกับว่าในช่วงฤดูฝนอาจจะมีน้ำท่วมขัง ทำให้ฐานรากของถนนเกิด การชำรุด เกิดความเสียหาย แต่ก็ทราบว่าถนนสายดังกล่าวได้มีการบรรจุไว้ในแผนท้องถิ่น ตั้งแต่ปี ๒๕๖๖-๒๕๗๐ แล้ว เป็นการบรรจุตามแผนของการดำเนินการของท้องถิ่น คือ อปท. เพื่อดำเนินการในการที่จัดหางบประมาณในการดำเนินการ ซึ่งผมกราบเรียน ท่านประธานนะครับว่า ถนนดังกล่าวนี้ยังไม่เคยของบประมาณมาที่กรมส่งเสริมการปกครอง ท้องถิ่นเลย เป็นการขอเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ซึ่งโครงการการพัฒนาท้องถิ่นเอง ส่วนหนึ่ง ก็เป็นเรื่องที่ท้องถิ่นจะต้องตั้งงบประมาณตามกฎหมาย เรื่องของการทำเป็นข้อบัญญัติ งบประมาณของท้องถิ่นเอง ถ้าไม่มีก็อาจจะต้องขอไปที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นการ ขอการสนับสนุน เป็นการอุดหนุนมาจากท้องถิ่นที่ใหญ่กว่านะครับ ถ้ามีงบประมาณไม่พอ ขอที่จังหวัดไม่ได้ เราก็สามารถที่จะขอมาที่กระทรวงมหาดไทย เขาเรียกว่าเป็นการอุดหนุน เฉพาะกิจ ซึ่งการดำเนินการอุดหนุนเฉพาะกิจนั้นจะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เรื่องของการอยู่ในแผน บรรจุแผนของท้องถิ่นเอง แล้วก็การจัดทำเรื่องของรูปแบบรายการ ที่เรียกว่า ปร.๔ ปร.๕ ขอจัดทำงบประมาณ ไปลงในระบบโซลา อันนี้ผมว่าผู้บริหารท้องถิ่นเอง ก็จะเข้าใจวิธีการทำงบประมาณ เพียงแต่ว่าโครงการดังกล่าวนี้ยังไม่เคยขอมาเลย อันนี้ผมต้อง กราบเรียนท่านประธาน ท่านสมาชิกด้วยว่า ก็เข้าใจตรงกันนะครับว่าเป็นปัญหาของประชาชน แต่ว่าท้องถิ่นเองก็ต้องจัดลำดับความสำคัญ ถ้าคิดว่าถนนเส้นนี้เป็นถนนที่มีความสำคัญ จำเป็นต้องใช้ถึง ๓ โรงเรียน เป็นเรื่องงานเร่งด่วน ก็ต้องดำเนินการขอไปตามกรอบเวลา ที่กำหนด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ อบจ. หรือแม้แต่จังหวัดเองก็สามารถที่จะขอได้ เป็นงบจังหวัด แต่ว่าต้องมีการทำคำขอ แต่ว่าใน ๓ ปีที่ผ่านมา ผมขออนุญาตกราบเรียน ท่านประธานถึงท่านสมาชิกว่ากระทรวงมหาดไทยเอง ก็มีการจัดสรรโครงการต่าง ๆ ที่ทาง อปท. ดังกล่าวได้ขอมาย้อนหลัง ๓ ปี อย่างปีงบประมาณ ๒๕๖๕ จำนวน ๑ โครงการ งบประมาณ ๖,๗๙๑,๐๐๐ บาท โครงการในปี ๒๕๖๖ ก็ขอมา ๒ โครงการ ให้ ๒ โครงการ เป็นงบประมาณ ๗,๓๗๘,๐๐๐ บาท ในปีงบประมาณ ๒๕๖๗ ซึ่งอยู่ในร่างกำลังพิจารณาอยู่ ในขณะนี้ก็ขอมา ๑ โครงการ เป็นโครงการ ๔,๗๘๒,๐๐๐ บาท ขอมาก็ให้ตลอด เพียงแต่ว่า โครงการดังกล่าวนี้ทางผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองไม่ได้ขอมา อันนี้ก็ต้อง ฝากท่านประธานถึงท่านสมาชิกนะครับว่า ถ้าเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนก็กรุณาเสนอ โครงการมาด้วยนะครับ เพื่อเราจะได้มีโอกาสได้นำเสนอโครงการ เพื่อให้สำนักงบประมาณ จัดสรรงบประมาณต่อไป ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านรัฐมนตรีครับ คำถามที่ ๒ ครับ

นางสาวธัญธารีย์ สันตพันธุ์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการ ที่แนะนำค่ะ เดี๋ยวจะเข้าไปแจ้งประชาชนและทางหน่วยงานให้ทราบค่ะ ทีนี้ดิฉันขอฝาก กระทู้ถามแยกเฉพาะเพิ่มเติมนะคะ ซึ่งจะเป็นส่วนของถนนเหมือนกันค่ะ ซึ่งเป็นปัญหาของ ถนนหมายเลข อบ.ถ.๖๑-๐๐๙ ซึ่งเป็นในพื้นที่บ้านแก้งเหนือ ซึ่งมีระยะทาง ๒.๕ กิโลเมตร แล้วเส้นที่ ๒ ก็จะเป็นในส่วนของถนนหมายเลข อบ.ถ.๒๐๐๐-๒๔ ในพื้นที่บ้านสำโรง ระยะทาง ๒.๕ กิโลเมตรเช่นกันค่ะ ซึ่งตัวดิฉันก็อยากขอฝาก ๒ เส้นทางนี้ ก็คือเนื่องด้วย เกินศักยภาพขององค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งตัวดิฉันก็จะขอยื่นเอกสารต่อท่านรัฐมนตรี ภายหลังนะคะ แล้วก็จะมีการถอนกระทู้นี้ เนื่องจากว่าด้วยข้อเงื่อนไขเวลาไม่เพียงพอ ดิฉันต้องโอน ก็เลยขอฝากท่านในกระทู้นี้ เพราะเห็นว่าเป็นกระทรวงเดียวกัน ก็เลยขอฝากค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญท่านรัฐมนตรีครับ

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ผมขออนุญาตตอบเพิ่มเติมนะครับ ก็เข้าใจว่าท่านสมาชิกจะถาม เป็นคำถามที่ ๒ ต่อไป แต่ว่าต้องกราบขอบพระคุณที่ท่านได้ฝากกระทู้อื่น ๆ แล้วท่านก็ได้มี แนวทางว่ากระทู้ที่จะถามต่อไป ท่านจะถอนนะครับ แล้วก็ฝากให้ผมรับ เดี๋ยวผมจะรับไป เพราะว่าเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ

สำหรับเรื่องเส้นทางดังกล่าวนี้นะครับ ผมเรียนท่านประธานและท่านสมาชิก นะครับว่าก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ความจริง อบต. องค์การบริหารส่วนตำบลพะลาน ได้มีการซ่อมบำรุงรักษาเบื้องต้นไปแล้ว ความจริงเรามีภาพประกอบอยู่นะครับ บางส่วน ก็ใช้เป็น Asphaltic เข้าไปซ่อมที่เป็นหลุมเป็นบ่อเป็นการใช้ชั่วคราว เพื่อให้ลดการเกิดอุบัติเหตุ ที่จะเกิดขึ้นได้ โดยไม่เป็นหลุมเป็นบ่อ แต่ว่าในขณะเดียวกันผมก็เรียนท่านประธานว่าพอเห็น กระทู้แล้วก็ไม่ได้นิ่งนอนใจนะครับ ก็หารือแจ้งไปทางจังหวัดอุบลราชธานีให้ช่วยไป ประสานงาน อปท. ดังกล่าวนี้ให้ดำเนินการเสนอโครงการติดตามไปที่ อบจ. แล้วก็ดูว่า งบประมาณของจังหวัดเอง ในกรณีที่มีการใช้งบประมาณ ซึ่งปีนี้งบจังหวัดก็จะเป็นปี ๒๕๖๗ ซึ่งเราพิจารณาอยู่ ถ้าเกิดมันมีงบประมาณเหลือจ่ายอะไร ก็ขอให้เอาโครงการนี้ไปดูเป็น เรื่องเร่งด่วนด้วย แล้วก็ประสานงานไปที่องค์การบริหารส่วนตำบลพะลานให้เสนอโครงการ ขอเงินอุดหนุนเฉพาะกิจในปี ๒๕๖๘ ด้วยตามกรอบเวลาที่กำหนด ตามหลักเกณฑ์ที่ต้องทำ ซึ่งผมเรียนเบื้องต้นนะครับว่าทางผู้บริหารท้องถิ่นเอง ปลัดท้องถิ่นเองเขาจะเข้าใจในวิธีการ ของบประมาณ เพียงแต่ว่าต้องจัดลำดับความสำคัญเบื้องต้นว่า ถ้าเป็นเรื่องที่สำคัญ ก็ต้องขอมาต้น ๆ แต่ว่าเราก็จะดูให้นะครับ เพราะว่าเป็นเรื่องที่ท่านสมาชิกได้ให้ความกรุณา ให้ความสำคัญ แล้วก็ถามเป็นกระทู้ในห้องกระทู้ถามแยกเฉพาะต่อไป ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ไม่มีอะไรแล้ว เอาเบอร์ท่านรัฐมนตรีไว้นะครับ แล้วท้องถิ่นต้องทำการบ้าน ปร.๔ ปร.๕ เอามาให้ท่านรัฐมนตรีนะครับ ขอบคุณท่านรัฐมนตรี ขอบคุณท่านผู้ถามครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๒. เรื่อง ปัญหาน้ำท่วมในโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานเรศวร นายนพพล เหลืองทองนารา เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ในการนี้เพื่อประโยชน์ในการตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะ ได้อนุญาตให้ผู้แทน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมสนับสนุนข้อมูลในการตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะ คือ นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แล้วผมได้อนุญาต ให้ผู้เข้าร่วมรับฟังในการตอบกระทู้ถาม ดังนี้ ๑. นายธนาพร จีนจะโปะ ๒. นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ๓. นายสุธี พงษ์เพียงชอบ เชิญท่านนพพล เหลืองทองนารา ถามท่านรัฐมนตรี คำถามแรกครับ

นายนพพล เหลืองทองนารา พิษณุโลก ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม นพพล เหลืองทองนารา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคเพื่อไทย คนพรหมพิรามครับ กราบเรียนท่านรัฐมนตรีธรรมนัส พรหมเผ่า ท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผมเองได้ขอยื่นกระทู้แยกเฉพาะในเรื่องของปัญหาน้ำท่วม ในโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานเรศวร ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก โครงการนี้ได้มีโครงการเริ่มมาตั้งแต่เมื่อปี ๒๕๑๘ แล้วก็เรื่อยมา แล้วก็มาเต็มระบบเมื่อตอน ปี ๒๕๒๓ ท่านครับ ในโครงการนี้ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ท่าน ได้พระราชทานเขื่อนนเรศวร แล้วทำให้เกิดโครงการบำรุงรักษาและส่งน้ำนเรศวร ซึ่งโครงการนี้ มีพื้นที่ในโครงการทั้งหมด ๙๔,๗๐๐ ไร่ แต่ใน ๙๔,๗๐๐ ไร่นั้น มันจะเป็นที่ลุ่มต่ำ อยู่ประมาณ ๕๐,๐๐๐ ไร่ ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้เกษตรกรทุกข์ทรมานในเรื่องของน้ำท่วม ผลผลิตก็ไม่ค่อยได้ แล้วตั้งแต่มีโครงการส่งน้ำมาผมเองก็คิดว่า ต้องใช้คำว่า คิดว่า นะครับ คิดว่าทางส่วนที่รับผิดชอบทางกรมชลประทานก็พยายามที่จะแก้ไข แต่ผลปรากฏว่าระยะเวลา ที่ผ่านมาตั้งแต่วันนั้นจนถึง ณ วันนี้ ปี ๒๕๖๗ แล้วนะครับ หลายอย่างมันไม่คืบหน้า ผมเอง ก็ด้วยความที่เกษตรกรอยู่ในพื้นที่ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานเรศวรนี้ ก็ได้มาปรึกษา แล้วผมเองก็พยายามปรึกษาหารือในสภาตั้งแต่เป็นผู้แทนเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อนมาตลอด แต่ว่าการตอบสนองก็ยังไม่เท่าไร แต่ว่ามาถึงตอนนี้ยิ่งเศรษฐกิจยามนี้ชาวบ้านก็ค่อนข้าง จะมีปัญหา เพราะฉะนั้นผมเลยตัดสินใจที่จะยื่นกระทู้ถามแยกเฉพาะ เพื่อที่จะถามทาง ท่านรัฐมนตรี จะขอบารมีของท่านรัฐมนตรีได้ช่วยเหลือคนพรหมพิรามที่อยู่ในโครงการ ส่งน้ำนเรศวรนี้ด้วยนะครับ นั่นก็คือว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่เรื่องของน้ำท่วมนี้ จะมีปัญหาอยู่ ๔-๕ ประการ

นายนพพล เหลืองทองนารา พิษณุโลก ต้นฉบับ

ประการแรก ก็อย่างที่บอกไปแล้วว่าในพื้นที่ ๙๔,๗๐๐ ไร่นี้ จะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ อยู่ประมาณ ๕๐,๐๐๐ ไร่ ซึ่งจะเหมือนแอ่งกระทะ น้ำเข้ามาง่ายแต่ว่าออกยาก เหมือนแอ่งกระทะเลยแล้วลำดับต่อมาก็เกิดจากฝนในพื้นที่และนอกพื้นที่ของโครงการ ช่องทางที่น้ำจะสามารถท่วมได้ก็คือฝนตกในพื้นที่ ประการที่ ๑

นายนพพล เหลืองทองนารา พิษณุโลก ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ คือฝนน้ำ ที่ไหลบ่ามาจากทางด้านทิศตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ ของอำเภอวัดโบสถ์แล้วไหลลงมาในโครงการนี้ แล้วพื้นที่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมาจากอำเภอทองแสนขัน อำเภอน้ำปาด แล้วก็มาจากทางทิศเหนือ นั่นก็คือมาจาก อำเภอพิชัย อำเภอตรอน

นายนพพล เหลืองทองนารา พิษณุโลก ต้นฉบับ

สาเหตุต่อมาก็คือว่าในเรื่องของวัชพืชและผักตบชวาทั้งหลาย ซึ่งทำให้ กีดขวางทางน้ำ ทั้งที่มาจากตอนที่ฝนตกมาก ๆ แล้วมาตามลำน้ำสาขาที่จะมาลงคลองระบายน้ำ ของโครงการนี้ก็จำนวนมาก บวกกับผักตบชวาในพื้นที่ วัชพืชในพื้นที่ ก็ยิ่งทำให้มีปัญหา เข้าไปใหญ่ แล้วก็ไม่มีการที่จะดูแลรักษากันอย่างที่ควรจะเป็นไป ผมขออนุญาตใช้คำ ๆ นี้นะครับ

นายนพพล เหลืองทองนารา พิษณุโลก ต้นฉบับ

แล้วลำดับต่อมาที่ทำให้น้ำท่วมอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ในคลองระบายน้ำของ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานเรศวรนี้ มีคลองระบายน้ำเส้นหลักอยู่ ๑ เส้น แต่ว่ามีคลองซอย แยกสาขาของคลองระบายน้ำอยู่อีก ๒๐ สาย รวมแล้วเป็นระยะทาง ๑๑๒ กิโลเมตร ส่วนคลองส่งน้ำก็มี ๒ สาย มี PL.0 กับ PL.1 ซึ่งรวมแล้วยาวอยู่ ๔๒.๘ กิโลเมตร แล้วก็มี สาขาย่อย คลองซอยย่อย ๆ รวมแล้วอีก ๑๖ สาย รวมเป็นทั้งหมด ๗๔ กิโลเมตรกว่า ซึ่งตรงนี้ มีคลองระบายน้ำคลองเดียว เส้นเดียว แล้วทีนี้ลักษณะของคลองระบายน้ำสายนี้ มันเป็น ลักษณะที่ความลาดชันมันไม่ค่อยมีความลาดชันเท่าไร พอไม่มีความลาดชันเท่าไร ทำให้ การระบายน้ำค่อนข้างที่จะช้า

นายนพพล เหลืองทองนารา พิษณุโลก ต้นฉบับ

แล้วอีกสาเหตุหนึ่ง อันนี้จะว่าเป็นความรู้สึกตัวเองก็ใช่ครับ แต่ก็เป็นความรู้ ชาวบ้านบวกเข้าไปด้วยก็คือ การบริหารจัดการน้ำที่เกิดจากผู้รับผิดชอบในพื้นที่ ลักษณะ ที่เกิดขึ้นก็คือว่าการพร่องน้ำ ถึงเวลาที่ควรจะพร่องน้ำเพื่อจะรอรับน้ำใหม่ก็ไม่พร่อง ถึงเวลา ที่ควรจะต้องเก็บน้ำไว้ ก็จะปล่อย มีหลายครั้งที่ปล่อยจนกระทั่งแบบไม่มีน้ำเหลือในคลองเลย ผมเองก็ไม่เข้าใจหลักการนี้เหมือนกัน

นายนพพล เหลืองทองนารา พิษณุโลก ต้นฉบับ

แล้วสุดท้ายก็คือ ในเรื่องของการประสานงานระหว่างโครงการชลประทานต่าง ๆ ตรงนั้นมันจะมีฝายมะขามสูงอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นการประสานงานตรงนั้นผมเองก็อยากจะ ให้ช่วยดูแล ซึ่งมันเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ ผมขออนุญาตคำถามแรก เท่านี้ครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญท่านรัฐมนตรีครับ

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ท่านนพพล เหลืองทองนารา สมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดพิษณุโลก พรรคเพื่อไทย ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณท่านสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรนะครับ ที่ได้นำเสนอถึงปัญหาในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ดินแดน แห่งประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นดินแดนที่คนไทยผมเชื่อว่าร้อยละ ๘๐-๙๐ เปอร์เซ็นต์ จะรู้จัก อำเภอพรหมพิรามเป็นอย่างดี และที่สำคัญที่สุดในอำเภอพรหมพิรามจะมีตำบล ๆ หนึ่ง ซึ่งเป็นตำบลประวัติศาสตร์ บริเวณพื้นที่สีม่วงเราเรียกว่าทุ่งสาน ผมคิดว่าคนวัยอย่าง ท่านประธานกับวัยผมคงจำได้ว่าเพลงทุ่งสานสะเทือน นี่คือดินแดนแห่งประวัติศาสตร์ เรื่องประวัติศาสตร์คนพรหมพิราม คนทุ่งสานก็บอบช้ำมาพอสมควร และพื้นที่ ณ เวลานี้ ปัจจุบันนี้พื้นที่ที่ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้กล่าวถึงการบำรุงรักษาน้ำบริเวณพื้นที่ ทั้งหมด ๙๐,๐๐๐ กว่าไร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ๕๐,๐๐๐ กว่าไร่ บริเวณทุ่งสานได้รับผลกระทบ อย่างรุนแรงทุกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรองรับน้ำจากจังหวัดอุตรดิตถ์กับจังหวัดพิษณุโลก ที่ผ่านอำเภอพรหมพิรามมา ทุกอย่างจะมากองที่ทุ่งสานหมด ดังนั้นที่ท่านสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรท่านนพพลได้ตั้งกระทู้ถาม คำถามเป็นคำถามที่ดีมากนะครับ เพราะว่า ตอนผมไปหาเสียงการเลือกตั้งที่ผ่านมา มีพี่น้องชาวพิษณุโลกท่านก็สะท้อนถึงปัญหาทุ่งสาน ให้ผมฟัง

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้นฉบับ

ดังนั้นคำถามที่ ๑ ที่ท่านสมาชิกถามผมมาว่า การแก้ปัญหาระยะยาวของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานเรศวรบริเวณ ๙๐,๐๐๐ กว่าไร่ โดยเฉพาะ ๕๐,๐๐๐ กว่าไร่นี้ กรมชลประทานมีมาตรการอย่างไร ซึ่งจริง ๆ ผมดูในแผนแล้ว เนื่องจากว่าการจะบริหารจัดการน้ำกรมชลประทานเป็นหน่วยปฏิบัติการ มันจะต้องเข้าแผนผ่านคณะกรรมการลุ่มน้ำ ผ่านคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำแห่งชาติ กนช. กรมชลประทานถึงสามารถที่จะดำเนินการขอจัดตั้ง ของบประมาณในการแก้ปัญหา ผมดูแผนแล้ว การแก้ปัญหาที่กรมชลประทานต้องการแก้เพื่อให้เกิดความยั่งยืน แก้ปัญหา ของพี่น้องชาวทุ่งสานก็ดี หรือบริเวณพื้นที่ทั้งหมด ๙๐,๐๐๐ กว่าไร่ก็ดี มันต้องมีทั้งหมด ๕ แนวทางนะครับ

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้นฉบับ

แนวทางแรก จำเป็นจะต้องมีการสร้างประตูน้ำ ๑ แห่ง ซึ่งในแผนเป็นประตูน้ำ ขนาด ๖ คูณ ๖ เมตร จำนวน ๑ ช่อง พร้อมสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าขนาด ๓ ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที ๒ เครื่อง ท่านประธานครับ ซึ่งบริเวณตรงนี้หากเราดูในแผนที่ประกอบก็คือบริเวณ จุดที่ ๑ ตรงนี้จำเป็นต้องสร้างประตูน้ำ เพื่อบังคับบริหารจัดการน้ำให้ตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น ตรงนี้มันใช้งบประมาณ ในแผนใช้ประมาณ ๑๒๐ ล้านบาท ซึ่งแผนจะบรรจุในงบประมาณ ปี ๒๕๖๙ เมื่อสักครู่ก่อนเข้ามาในห้องประชุม ผมได้นำเรียนท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติและ ท่านประธานครับ ผมก็มีความคิดเช่นเดียวกันว่ามันช้าไป ดังนั้นแผนนี้ผมจะหาแนวทาง ในการแก้ปัญหาแทรกเนื้อใน ในการจัดของบประมาณปี ๒๕๖๘ ให้นะครับ อันนี้ประการแรก

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้นฉบับ

แนวทางที่ ๒ จุดบริเวณที่ ๒ เป็นการปรับปรุงท่อลอดถนนขนาด ๑.๗๕ เมตร คูณ ๑.๗๕ เมตร จำนวน ๒ แถว เพื่อแก้ไขปัญหาในการระบายน้ำ ซึ่งท่อตรงนี้อยู่ในลำคลอง ส่งน้ำขนาดใหญ่ บริเวณตำบลทับยายเที่ยง จุดที่ ๒ บริเวณนี้ผมดูแผนแล้วได้จัดตั้ง คำของบประมาณปี ๒๕๖๙ เช่นเดียวกัน ซึ่งใช้เงินแค่ ๑๐ ล้านบาท กราบเรียนท่านสมาชิก ผ่านท่านประธานว่า ตรงนี้ผมจะใช้งบประมาณ หากเป็นไปได้ท่านรองอธิบดีอยู่ตรงนี้นะครับ ท่านประธาน งบประมาณเหลือจ่ายปี ๒๕๖๗ ถ้าเป็นไปได้ให้รีบทำนะครับ

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้นฉบับ

แนวทางที่ ๓ การก่อสร้างคลองระบายน้ำเลียบคลองส่งน้ำสายใหญ่ที่เรา เรียกว่า PL.0 ช่วงกิโลเมตรที่ ๑๑+๖๓๗ ถึงกิโลเมตรที่ ๒๘+๖๓๗ ความยาว ๑๕.๒ กิโลเมตร บริเวณตำบลดงประคำ จุดที่ ๓ ซึ่งบริเวณนี้หากทำแล้วมันก็จะเกิดประโยชน์ และดูแผน การดำเนินงานแล้วก็เหมือนกันครับ แผนอยู่ปี ๒๕๖๙ เช่นเดียวกัน ใช้งบประมาณเพียง ๑๒ ล้านบาท อันนี้แนวทางที่ ๒ กับแนวทางที่ ๓ ผมจะพยายามที่จะใช้เงินเหลือจ่าย ปี ๒๕๖๗ หากแผนพร้อมแล้ว งบเหลือจ่ายเราสามารถสร้างภายในปีนี้ได้เลย ดังนั้นแนวทาง การแก้ปัญหาที่ ๒ ปัญหาที่ ๓ ผมจะทำให้แล้วเสร็จ บรรจุเริ่มก่อสร้างภายในปี ๒๕๖๗ ให้นะครับ อันนี้ถือว่าเป็นแนวทาง ๓ แนวทางแล้ว

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้นฉบับ

แนวทางที่ ๔ การก่อสร้างคันกั้นเลียบคลองระบายน้ำคลองโปร่งนกนะครับ คลองโปร่งนกคือคลองที่รับน้ำมาจากจังหวัดอุตรดิตถ์ผ่านเข้าบริเวณพื้นที่ที่มีปัญหาทุ่งสาน ดังนั้น เนื่องจากว่าคลองพนังที่เราใช้นี้เราเรียกว่าคันกั้นน้ำเลียบคลองมันต่ำ เรามีความจำเป็น ที่จะต้องก่อสร้างเพื่อไม่ให้น้ำทะลักเข้าพื้นที่ ซึ่งตรงนี้ต้องใช้งบประมาณ ๔๐ ล้านบาท ผมดูในแผนก็ปี ๒๕๗๐ ไม่รู้เราอยู่กันหรือเปล่า มีการเลือกตั้งใหม่แล้ว ตรงนี้ก็เช่นเดียวกัน ผมจะแทรกเข้าไปในงบประมาณปี ๒๕๖๘ เท่ากับปี ๒๕๖๘ วันที่ ๑ ตุลาคม เราใช้งบได้ในปีนี้ มันก็จะเริ่มก่อสร้างภายในวันที่ ๑ ตุลาคม เป็นต้นไปเลยนะครับ

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้นฉบับ

แนวทางที่ ๕ เป็นการสร้างศักยภาพการกักเก็บน้ำและกระจายน้ำแก้มลิงบึงหล่ม ซึ่งอยู่ในตำบลดงประคำเช่นเดียวกัน โดยจะขุดลอกบึงพื้นที่ ๒,๓๐๐ ไร่ เพื่อกักเก็บน้ำ ได้ประมาณ ๑๐ ล้านลูกบาศก์เมตร บริเวณนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ใช้งบประมาณทั้งหมด ๓๘๐ ล้านบาท บริเวณจุดที่ ๕ ซึ่งจุดนี้เป็นจุดสำคัญ เราสามารถที่จะระบายน้ำไปเก็บบริเวณ ตรงนี้ได้ จุดที่ ๕ ใช้งบประมาณดูตามแผนแล้วก็เหมือนเช่นกันครับ ปี ๒๕๗๑-๒๕๗๒ ฉะนั้นตรงนี้เดี๋ยวผมจะมอบนโยบายให้ทางกรมชลประทานไปปรับแผนใหม่ เนื่องจากเป็น โครงการเร่งด่วนและความเดือดร้อนของพี่น้องชาวจังหวัดพิษณุโลกเราจะแทรกปี ๒๕๖๘ หรือปี ๒๕๖๙ ได้ไหม อันนี้ผมขออนุญาตท่านประธานกลับไปทำการบ้าน นั่นคือมาตรการ ที่เราจะดำเนินการ ๕ โครงการ เพื่อเป็นโครงการที่เพิ่มประสิทธิภาพในการส่งน้ำ ในพื้นที่การเกษตรทั้งหมด ๕๒,๐๐๐ ไร่ โครงการสำคัญตรงนี้เกิดประโยชน์กับพี่น้อง อำเภอพรหมพิราม โดยเฉพาะทุ่งสานนะครับ นี่คือมาตรการเร่งด่วน กราบเรียน ท่านประธานด้วยความเคารพครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านรัฐมนตรีครับ จดทันไหม ต่อไปคำถามที่ ๒ ครับ

นายนพพล เหลืองทองนารา พิษณุโลก ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่านธรรมนัส พรหมเผ่า ผม นพพล เหลืองทองนารา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคเพื่อไทย คนพรหมพิรามครับ ท่านครับ ผมกราบขอบพระคุณท่านมากครับ ตลอด ๑๐ กว่าปีนี้ ผมก็ผ่านท่านรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาหลายท่านแล้วนะครับ ไม่เคยมีใครพูดอย่างนี้ ผมขอบคุณจริง ๆ ครับขอบคุณนะครับท่าน เอารูปเมื่อสักครู่ขึ้นอีกแป๊บหนึ่ง รูปเดียวกับของ ท่านรัฐมนตรี

นายนพพล เหลืองทองนารา พิษณุโลก ต้นฉบับ

ผมเองต้องขอบพระคุณท่านมากครับ ที่หลายอย่างท่านจะเร่งให้ แล้วมันก็เป็นความจำเป็นของเราจริง ๆ แต่ว่าผมเองก็เข้าใจ ในเรื่องของงบประมาณที่มันก็มีอยู่จำกัด แล้วมีหลายที่ก็ยังรอคอยความช่วยเหลืออยู่นะครับ แค่ในส่วนของโครงการที่ ๒ ในเรื่องของท่อลอด แล้วก็ขุดคลองขนานกับคลอง PL.0 นี้ ผมก็ปลื้มใจมากแล้วครับ ส่วนที่ว่าปั้นคันตรงคลองโปร่งนกนี้ก็พอรอได้ครับ ผมก็ไม่เอาเปรียบ ที่อื่นนะครับ พอรอได้ครับ ส่วนบึงหล่มผมขออนุญาตโครงการสุดท้ายนี้เป็นโครงการใหญ่ เพราะเนื้อที่นี้จริง ๆ แล้วมันมีเนื้อที่อยู่ ๓,๐๐๐ กว่าไร่ แต่ว่ามันก็มีการรุกล้ำของราษฎร ไปพอสมควร ตอนนี้ถ้าจะพัฒนากันจริง ๆ สามารถจะขุดได้ก็ไม่น่าจะเกิน ๒,๕๐๐ ไร่ คือ ๒,๓๐๐-๒,๕๐๐ ไร่ แต่ทีนี้มันอยู่ในรอยต่อของ ๒ จังหวัด ของอำเภอพรหมพิราม ตำบลดงประคำ จังหวัดพิษณุโลก ๑,๐๐๐ กว่าไร่ แล้วที่เหลือจะอยู่ในเขตของอำเภอพิชัย ตำบลนาอิน อีก ๒,๐๐๐ กว่าไร่ รวมแล้ว ๓,๐๐๐ กว่าไร่ ซึ่งจริง ๆ ตรงนี้ถ้าได้รับการ ดำเนินการ จะส่งผลประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกรทั้ง ๒ จังหวัด แต่ถ้าจะไปโครงการนี้ ผมไม่อยากให้ไปทีหนึ่ง ๓๐ ล้านบาท ๔๐ ล้านบาท เพราะไปแล้วที่ผ่านมาในอดีต ไม่ได้เกิดประโยชน์ใด ๆ เลยครับ เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ผมยังเสียดายงบประมาณ แต่ถามว่ามันเอื้อประโยชน์ไหม เอื้อประโยชน์ได้มากเลยครับ สำหรับคน ๒ จังหวัด โดยเฉพาะคนในตรงจุดบึงหล่มนี้มีบึงกว้างใหญ่ขนาดนั้น แต่พี่น้องแล้งตลอดเลยนะครับ ทั้ง ๒ อำเภอ ของ ๒ จังหวัดนี้มีปัญหามาตลอด ผมขอบคุณท่านมากครับ

นายนพพล เหลืองทองนารา พิษณุโลก ต้นฉบับ

ส่วนในโครงการแรกอยากได้มากเหมือนกันครับ ก็คือว่าในส่วนของที่จะสร้าง ประตูระบายน้ำเพิ่มอีก ๑ ประตู อีก ๑ ช่อง แล้วก็ให้มีเครื่องสูบน้ำ ทุกปีทางราชการจะต้อง จ่ายค่าชดเชย ในเรื่องกรณีของน้ำท่วมอุทกภัยปีหนึ่ง ๑๐๐ กว่าล้านบาท เพราะฉะนั้นแล้ว การลงทุนตรงนี้ผมว่าคุ้มค่ามากครับ แล้วเหตุผลที่เราจะต้องมีเครื่องสูบน้ำด้วย ก็เพราะว่า ประตูเดิมมันจะระบายออกแม่น้ำแควน้อย ทีนี้ปัญหามันอยู่ที่ว่าถ้าวันใดวันหนึ่งแม่น้ำแควน้อย มันก็จะมาบรรจบแม่น้ำน่าน ซึ่งห่างจากโครงการนี้ไม่กี่กิโลเมตร ถ้าสมมุติว่าแม่น้ำน่าน มีปริมาณน้ำที่มาก แล้วแม่น้ำแควน้อย ซึ่งเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนเขาปล่อยน้ำลงมาอีก ถ้าน้ำมันมีระดับที่ไม่แตกต่างกันนัก คือถ้าแม่น้ำน่านมีระดับไม่ต่ำ มาเท่า ๆ กับแม่น้ำแควน้อย น้ำในทุ่งสานนี้ปล่อยไม่ออกเลยครับ เพราะฉะนั้นแล้วเหตุผลที่เราต้องการเครื่องสูบน้ำด้วย ก็เพราะว่าเวลาน้ำมันยันกัน ระยะเวลาที่น้ำมีระดับใกล้เคียงกันไม่น้อยนะครับในแต่ละปี เพราะว่าเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนเก็บน้ำได้แค่เพียง ๙๓๖ ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นฝนตกมาบางครั้งเคยมีนะครับ ฝนตกมายังไม่ถึงอาทิตย์เลยครับ จากน้ำ ที่แทบจะเหลือประมาณ ๔-๕ เปอร์เซ็นต์ ขึ้นมาเป็น ๑๐๖ เปอร์เซ็นต์ ยังมีเลยครับ เพราะฉะนั้นตรงนี้เราก็อยากได้มากเหมือนกัน แต่ว่างบประมาณมีจำกัด ในส่วนของ คลองที่ขนานกับคลอง PL.0 มันก็จะดักน้ำได้ อันนั้นก็จะช่วยบรรเทาได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเป็นไปได้ โครงการที่ ๑ ก็มีความสำคัญมากครับ ผมขอบคุณท่านรัฐมนตรีเป็นอย่างสูง ที่ท่านเมตตาคนพรหมพิราม พวกเราดีใจมากครับ ผมก็ยิ้มจนตาตี่ไปหมดแล้ว ผมดีใจ เพราะว่าอย่างน้อยก็ได้เจอท่านรัฐมนตรีที่ท่านกล้าที่จะพูด เพราะว่าที่ก่อน ๆ มา ผมก็ ขออนุญาตพูดอย่างตรงไปตรงมา ก็ไม่มีใครเคยรับปากแบบนี้กับผมเลย ขอบพระคุณมากครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ไม่ถามคำถามที่ ๒ แล้วนะครับ

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้นฉบับ

ท่านประธานขออนุญาตใช้เวลาที่เหลือตอบให้ท่าน สส. นพพล กลับไปตอบเพิ่มเติมชาวบ้านได้ คือเมื่อสักครู่เป็นมาตรการระยะยาว แต่มาตรการเร่งด่วนมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เรา จะต้องมีการแก้ไขเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกำจัดวัชพืชบริเวณคลองโปร่งนกก็ดี เพื่อสามารถให้ระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว การเตรียมความพร้อมในการเตรียมเครื่องจักรไว้ สำนักงานชลประทานที่ ๓ ซึ่งเราจะเตรียมไว้ทั้งหมด ๑๓๗ หน่วย เพื่อในการเตรียมพร้อมรับ สถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรกล ยานพาหนะ จำนวน ๒๓ คัน หรือเครื่องสูบน้ำ เคลื่อนที่ จำนวน ๑๑๔ เครื่อง นอกจากนั้นมีการประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องรับรู้สถานการณ์น้ำ ตลอดเวลา เพื่อป้องกันปัญหาเหตุภัยพิบัติอย่างเร่งด่วน นอกจากนั้นปฏิทินการปลูกข้าวนาปี อาจจะต้องมีการปรับนะครับ จากปกติชาวบ้านเขาจะปลูกประมาณเดือนมิถุนายนและ เก็บเกี่ยวเดือนกันยายน เราอาจจะเลื่อนมาเป็นเดือนมีนาคมแล้วก็เก็บเกี่ยวเดือนกรกฎาคม เพื่อไม่ให้พืชไร่สวนต่าง ๆ ตลอดถึงนาข้าวของพี่น้องเกษตรกรได้รับความเสียหาย อันนี้เป็น มาตรการเร่งด่วน และสิ่งสำคัญที่สุดเมื่อสักครู่ท่านนพพลได้พูดถึงประเด็นการบริหารจัดการน้ำ ภายในจังหวัดพิษณุโลก ผมทราบข่าวว่าก็ยังมีปัญหาเรื่องการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่ไม่สามารถ ที่จะบริการพี่น้องประชาชนได้ทันท่วงทีอาจจะมีปัญหาภายในพื้นที่ เรื่องนี้อยากจะ กราบเรียนท่านประธานว่า ผมจะนำปัญหาไปหารือในการบริหารจัดการน้ำกรมชลประทาน ซึ่งวันนี้รองอธิบดีก็นั่งอยู่ตรงนี้ ก็ฝากท่านรองอธิบดีไปแก้ไข ก็อยากจะกราบเรียนท่านนพพล ให้มีความสบายใจ ขอขอบคุณมากครับท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านรัฐมนตรีครับ ขอคุยอีกทีหนึ่ง เชิญครับ

นายนพพล เหลืองทองนารา พิษณุโลก ต้นฉบับ

กราบขอบพระคุณท่านประธานครับ ผมเองต้องกราบขอบพระคุณท่านประธานเป็นอย่างสูงครับ แล้วก็กราบขอบพระคุณ ท่านรัฐมนตรี กราบขอบคุณท่านรองด้วยนะครับ แล้วก็ท่านผู้อาวุโสที่นั่งด้านหลังนี้นะครับ ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่น่ารักมาก ผมต้องขอบคุณเป็นอย่างสูง ท่านครับ ไม่รู้จะกล่าวคำไหน แต่เอาเป็นว่าคนพรหมพิรามรู้สึกดีใจ แล้วรู้สึกก็เป็นหนี้บุญคุณท่านนะครับ ผมขอบคุณ ท่านจริง ๆ ขอบคุณท่านมากครับ แล้วเรื่องปรับปฏิทินการเพาะปลูก เห็นด้วยนะครับ อยากให้ปรับเท่ากับบางระกำโมเดล พร้อม ๆ กันเลยครับ กราบขอบพระคุณท่านมาก ๆ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านรัฐมนตรีและท่านนพพลครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๓. เรื่อง การปรับปรุงและแก้ไขสะพานไม้สีส้มชำรุด ซึ่งประชาชน ใช้สำหรับสัญจรไปสถานีรถไฟฟ้าคูคต นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม นายกรัฐมนตรี

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ด้วยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือแจ้งว่ากระทู้ถามเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ตอบ กระทู้ถามแทน ตามข้อบังคับ ข้อ ๑๕๑ ในการนี้เพื่อประโยชน์ในการตอบกระทู้ถาม ผมได้ให้ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมสนับสนุนข้อมูลในการตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะ ดังนี้ นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และได้ อนุญาตให้ประชาชนผู้มีส่วนเข้าร่วมรับฟัง ๑. นางสาวธนาพร จีนจะโปะ ๒. นายอาทิตย์ ชูสกุลธนะชัย ๓. นายศิรชัช ตรีวิศวเวทย์ ๔. นายภมร พลจันทร์ ๕. นายไพศาล สุทธาวรางกูล ๖. นายนฤนัย กัลยา ณ สุนทร ๗. นางสาวอัญรินทร์ ปกินนกะ ๘. นางสาวรัชนี วงษาบุตร เชิญท่านศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ถามท่านรัฐมนตรี คำถามแรก เชิญครับ

นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานค่ะ ดิฉัน ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายแจม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๑๑ เขตสายไหม แขวงคลองถนน แขวงสายไหม พรรคก้าวไกล ก่อนอื่นขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีค่ะ ดีใจที่ท่านมาตอบด้วยตัวเองเลยนะคะ ให้เกียรติพวกเรามาก ๆ ก็ได้พาประชาชนในพื้นที่ มาด้วยค่ะ ปัญหาสะพานไม้สีส้ม ขอสไลด์ด้วยนะคะ

นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เป็นปัญหาที่มีมายาวนาน เพราะว่าสะพานไม้นี้มีการสร้างมากว่า ๓๐ ปีแล้วค่ะ ดิฉันก็เพิ่งทราบเมื่อไม่นานมานี้ ตอนที่ได้ไปเข้าพบกรมชลประทาน ตอนที่ไปขอเรื่องให้เอาผักตบชวาออก ก็เพิ่งทราบว่า มันเป็นการสร้างโดยที่ไม่ได้มีการขออนุญาต แต่เป็นการสร้างเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับ ประชาชนในการเดินข้ามไปขึ้นรถไฟฟ้า ซึ่งต้องบอกตามตรงค่ะท่านประธาน ก็คือว่า ในเขตสายไหมประชากรเรา ๒๐๐,๐๐๐ กว่าคน เรามีรถเมล์เพียงแค่สายเดียว ทีนี้พอมันมี รถไฟฟ้าเข้ามาถึง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นทางหลักของประชาชนที่เขาจะใช้โดยสารเข้าสู่ กรุงเทพมหานคร เพราะเขตสายไหมเป็นเขตที่อยู่ติดกับจังหวัดปทุมธานีเลย ก็ต้องใช้ รถไฟฟ้าในการเดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานครมีประชาชนจำนวนมาก ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่และ ผู้สูงอายุ ช่วงที่เดินทางหาเสียงวันนั้นลงพื้นที่กับคุณเชตวัน สส. เขตปทุมธานี ก็เลยเห็นว่า ประชาชนใช้ตรงนี้กันเยอะมาก อันนี้คือช่วงเวลาปกติ แต่ถ้าช่วง Prime Time ช่วงเดินทาง ไปทำงานหรือช่วงกลับจากทำงาน เดินเบียดกันจนบางทีเป็นอย่างนี้ คือกลัวจะตกมาก ๆ ค่ะ ถ้าช่วงที่มีน้ำเยอะ ๆ ก็จะมีต้นไม้ บางทีบังมาจนถึงทางเดินต้องแหวกหญ้าเดินกันนะคะ เคยลงพื้นที่ครั้งหนึ่งก็เจอประชาชนผู้สูงอายุยืนอยู่ตรงทาง สภ. คูคต นานมาก ก็ถามว่า คุณยายยืนรออะไร คุณยายบอกว่าคุณยายปวดเข่าลงไม่ไหว ก็เลยต้องพาแกลงมา แกก็บอกว่า ถ้าอนาคตตรงนี้มันสามารถปรับปรุงได้จะดีมากเลยนะทนาย เพราะว่าการเดินทางของ ประชาชนก็จะสะดวกขึ้น ทีนี้นอกจากการเดินทางแล้ว ในปัจจุบันที่บอกว่าตรงนี้ทางมัน แคบมาก ๆ จุดหนึ่ง แล้วก็นอกจากนั้นยังมีในเรื่องของสะพานไม้ชำรุดบ่อยมาก ตรงนี้ก็คือ ตั้งแต่เป็น สส. มานี้ แจ้งซ่อมแทบทุกเดือนเลยค่ะ ผ่านทาง Traffy Fondue พังบ่อยมาก ๆ ประชาชนบอกว่าบางทีรองเท้าไปติด บางทีโทรศัพท์มือถือร่วง เคยใช้หรือเปล่าคะ เห็นพยักหน้า มีการแบบของหล่นบ่อยมาก แล้วก็มีโอกาสที่จะตกลงไปค่อนข้างสูงค่ะ แล้วก็เท้าไปติดบ่อย ดิฉันเองก็รองเท้าติดบ่อยเหมือนกัน ก็แบบซ่อมแซมบ่อย ถ้ามีการ ปรับปรุงอย่างถูกต้อง มีการขออนุญาตคุยกันอย่างถูกต้องจะช่วยแก้ปัญหา แล้วก็ช่วยทำให้ คนใช้รถขนส่งสาธารณะกันได้มากขึ้นจริง ๆ นะคะ

นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

คำถามแรก ถามไปยังกรมชลประทานและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่เป็นผู้ดูแลคลองหกวาสายล่างนะคะว่า ถึงแม้จะไม่ได้เป็นผู้อนุมัติในการสร้าง สะพานแห่งนี้ แต่เนื่องจากว่าสะพานสร้างมา ๓๐ ปีแล้ว ประชาชนใช้สัญจรจำนวนมาก ทางกรมชลประทานมีแนวทางอย่างไร ในการที่จะอนุญาตก่อสร้างให้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งแนวทางปรับปรุง แล้วก็สร้างใหม่ให้แข็งแรงกว่าเดิม ขอรายละเอียดด้วยนะคะ

นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

นอกจากนั้นเรื่องถัดมา นอกจากสะพานไม้แล้ว บริเวณคลองหกวาสายล่าง ห่างจากสะพานไม้ประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร มีสะพานปูนข้ามฝั่งตรงวัดสายไหม ตรงนี้วัดสายไหม เป็นวัดที่นักการเมืองไปกันบ่อยมากเลยนะคะ เป็นวัดหลวงพ่ออ๊อด ก็มีการใช้สะพานปูน กว้าง ๓ เมตร มีความมั่นคงแข็งแรง มีหลังคาช่วยบังแดด บังฝนให้กับประชาชนได้ค่ะ ก็อาจจะใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงสะพานไม้สีส้มในอนาคตก็ได้นะคะ แล้วทุกวันนี้ นอกจากนั้นอันนี้จะเห็นความตลกอย่างหนึ่งก็คือว่า พอลงสะพานปุ๊บ แทนที่จะสามารถ ขึ้นรถไฟฟ้าได้เลย ก็จะเจอกำแพงแบบนี้ต้องอ้อม เคยนั่งจับประมาณ ๗๐๐-๘๐๐ เมตร เพื่อจะเดินขึ้นทางรถไฟฟ้า ประชาชนบางคนเดินกลับบ้าน คนสูงอายุต้องเดินแบกของ แล้วก็ต้องเดินอ้อม สภ. คูคต ซึ่งนอกจากทางจะยาวแล้ว สภ. คูคตก็จะมีแก๊งน้องหมา ที่ยืนตระหง่านกันอยู่ ๔-๕ ตัว โดนกัดกันก็หลายคน ก็มาแจ้งว่าโดนกัด เพราะว่าต้องเดินอ้อม อนาคตถ้าสามารถประสานกับทางกระทรวงคมนาคมได้ สามารถเปิดทาง เข้าออกตรงนี้ได้ด้วย ก็จะช่วยให้ประชาชนสัญจรได้สะดวกขึ้น ซึ่งดิฉันได้ถามไปในห้องงบประมาณบางส่วนแล้ว ทางกระทรวงคมนาคม ทางรถไฟฟ้ามหานคร ก็บอกว่าอยู่ในแผนเหมือนกัน ที่เขาก็อยากจะ เปิดตรงนี้ให้ได้ใช้เหมือนกันค่ะ ก็เลยมีการตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี เพราะว่ามันมี หลายกระทรวงที่ทำงานร่วมกัน มันต้องแก้ปัญหาร่วมกันหลายกระทรวง ก็เลยอยากถาม กระทรวงคมนาคมนะคะ ถึงแม้จะไม่ได้มาก็ฝากท่านธรรมนัสไปนะคะว่ามีแนวทางในการ ช่วยเหลือให้ประชาชนเดินทางได้สะดวกปลอดภัยขึ้น โดยทำทางเชื่อมผ่านไปยังอาคาร จอดแล้วจร สถานีคูคตได้หรือไม่ อย่างไร ประมาณนี้ ขอบคุณมากค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญท่านรัฐมนตรีครับ หลายคำถามเลยนะครับ

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ท่านศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ด้วยความเคารพ ตลอดจนผู้เข้าร่วมประชุมในห้องกระทู้ถาม แยกเฉพาะที่เคารพทุกท่านนะครับ จริง ๆ แล้วครอบครัวผมอยู่ที่เขตสายไหมเหมือนกัน แต่ว่าเรื่องของปัญหาพี่น้องชาวเขตสายไหมมีหลายเรื่องนะครับ แต่ว่าเรื่องสำคัญที่สุดตามที่ ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้นำเสนอ เรื่องของสะพานสีส้มเป็นสะพานที่มีประวัติศาสตร์ ยาวนาน แต่ผมตรวจสอบแล้ว ไม่มีการขออนุญาตการสร้างของกรมชลประทาน ดังนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงไม่มีนะครับ เพราะฉะนั้นถามว่าการแก้ปัญหาในเรื่องของ การปรับปรุงหรือการจัดสร้างสะพานสีส้มใหม่ควรจะทำอย่างไร ขออนุญาตกราบเรียน ท่านประธานผ่านไปยังท่านสมาชิกด้วยความเคารพว่า จริง ๆ มันเป็นพื้นที่ความรับผิดชอบ ของกรมชลประทานนะครับ หากพื้นที่หมายถึงเขตสายไหมต้องการที่จะปรับปรุงหรือ สร้างใหม่ กรมชลประทานยินดีที่จะอนุญาตให้สร้าง หรือถ้าเขตสายไหมไม่มีงบประมาณ ร้องขอมายังกรมชลประทาน เดี๋ยวผมจะสั่งการไปยังกรมชลประทานว่าให้รีบแก้ไขปัญหา เนื่องจากพื้นที่สร้างเป็นพื้นที่ที่กรมชลประทานรับผิดชอบ ผมคิดว่าเรื่องนี้มันสามารถแก้ไข ให้พี่น้องชาวเขตสายไหมได้ คลองนี้ซึ่งเป็นคลองที่มีวัชพืชเยอะ แล้วก็มีการเก็บผักตบชวา ตลอดเวลา แต่ว่าปัญหาของการสัญจรอย่างที่ท่านสมาชิกได้นำเรียนเมื่อสักครู่นะครับ กว่าพี่น้องจะไปขึ้นรถไฟบริเวณอาคาร ต้องอ้อมบริเวณอาคารจอดแล้วจรของ รฟม. เป็น ปัญหาใหญ่ แล้วเวลาพี่น้องข้ามสะพานไปมันแคบมาก ผมเคยลงไปพื้นที่นะครับ ปัญหาที่ท่าน สะท้อนให้เห็นเป็นเรื่องจริง

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้นฉบับ

ดังนั้นผมขออนุญาตตอบคำถามแรก คือหากพื้นที่เขตสายไหมต้องการขออนุญาต สร้างสะพานหรือปรับปรุงสะพานให้มีมาตรฐานกว่านี้ กรมชลประทานยินดีให้ความร่วมมือครับ หรือถ้าเขตสายไหมเห็นว่างบประมาณในการสร้างสะพานนี้มีไม่เพียงพอ หรือด้วยปัญหาใดก็ตาม ขอให้เขตสายไหมร้องขอมายังกรมชลประทาน กรมชลประทานพร้อมจะสนับสนุนทั้งเรื่อง งบประมาณการก่อสร้างให้มีมาตรฐานมากกว่านี้นะครับ คำถามแรก

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้นฉบับ

คำถามที่ ๒ เกี่ยวกับการขอให้ รฟม. เปิดช่องทางได้ไหม ตามที่ท่าน สส. นำเสนอเมื่อสักครู่นั้น สะท้อนปัญหาของพี่น้องนะครับ คือทางก็แคบ โดยเฉพาะเวลาหน้าฝน ผมเห็นพี่น้องเดินกันลำบากมาก ตรงนี้ถึงแม้ว่าผมไม่ได้อยู่กระทรวงคมนาคม แต่กระทรวง คมนาคมได้รับการติดต่อมาว่ามันเป็นพื้นที่ที่รักษาความปลอดภัยของทรัพย์สิน ซึ่งผมคิดว่า หากมีการบริหารจัดการดี ตรงนี้มันสามารถทำได้ เพราะว่าเกิดประโยชน์กับพี่น้อง ซึ่งเป็น การตอบโจทย์ที่สุด ถ้าหากเจาะกำแพงและกันพื้นที่ให้พี่น้องสัญจรไปมาสะดวก ตรงนี้เดี๋ยวผม จะขอขันอาสาไปประสานท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านคุณหมอหนุ่ย ผมเชื่อว่าคุณหมอหนุ่ยซึ่งดูแลระบบทางรางอยู่ น่าจะเห็นใจพี่น้องชาวเขตสายไหม ดังนั้นท่านถามยาว ผมตอบสั้น ๆ ว่า

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้นฉบับ

๑. เรื่องสร้างสะพาน กรมชลประทานยินดีที่จะแก้ไขให้พวกท่าน ท่านสามารถ ไปบอกพี่น้องประชาชนได้ว่ากรมชลประทานพร้อม ถ้าเขตมีความพร้อมสร้าง ขออนุญาตได้เลย ถ้าไม่มีความพร้อม ขัดสนในเรื่องงบประมาณ ขอให้เขตร้องขอมายังกรมชลประทาน เดี๋ยวเราจัดการให้

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้นฉบับ

๒. การเจาะกำแพงเพื่อผ่าน โดยไม่ต้องให้ชาวบ้านไปผ่านทางแคบ ๆ ซึ่งเวลา หน้าฝนมันลำบากมาก เจาะทะลุนี้เดี๋ยวผมขอไปประสานเอง หากได้ผลประการใดเดี๋ยวผม จะนำเรียนผ่านไปยังท่านประธานแล้วแจ้งท่าน สส. ในพื้นที่ ตลอดจนพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ได้รับทราบอีกครั้งหนึ่ง ผมขอเวลา ๑ อาทิตย์ เดี๋ยวผมแจ้งกลับนะครับ ขอบคุณ ท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ คำถามที่ ๒ ครับ

นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

หมดคำถามแล้วค่ะ ก็ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ จริง ๆ ก็รอมาตั้งแต่ตอนหาเสียงแรก ๆ เพราะว่าดิฉันเองตอนช่วงที่หาเสียง มีช่วงหนึ่งที่รถพังแล้วก็ไม่มีรถใช้ ก็เลยได้นั่งขนส่งสาธารณะบ่อย ก็เลยได้ทราบปัญหา แล้วก็ ได้ประสบปัญหาด้วยตัวเองด้วยค่ะ ก็ขอบคุณท่านรัฐมนตรีมาก ๆ ที่มาตอบด้วยตัวเอง แล้วก็ รับปากในเรื่องนี้ค่ะ จะเอาไปบอกพี่น้องประชาชนเขตสายไหมทุกท่าน ประมาณนี้นะคะ ขอบคุณนะคะ

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้นฉบับ

ขออนุญาตท่านประธานอีกนิดหนึ่งครับ ไหน ๆ ท่านทนายอุตส่าห์มาตั้งกระทู้ถาม ซึ่งเป็นความเดือดร้อนของพี่น้องเขตบ้านผม ขออนุญาตได้สั่งการครับท่านประธาน วันพรุ่งนี้ ให้รองอธิบดีเดชลงพื้นที่กับท่าน สส. ก็ได้ ให้ไปแก้ปัญหาให้ไว ขอบคุณท่านประธานมากครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านรัฐมนตรีครับ ผู้เข้ารับฟังไปบอกข่าวต่อ ๆ ไปด้วยนะครับ พรุ่งนี้จะไปแล้ว พรุ่งนี้ต้องไปกับท่านรองด้วยนะครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๔. เรื่อง ปัญหาเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างสถานีรถไฟ ความเร็วสูงพระนครศรีอยุธยา นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ด้วยสำนักงานคณะรัฐมนตรี กระทรวงคมนาคม ได้มีหนังสือแจ้งว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านสุรพงษ์ ปิยะโชติ เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทน ตามข้อบังคับ ข้อ ๑๕๑ เพื่อประโยชน์ ในการตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะ ผมได้อนุญาตให้ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมสนับสนุนข้อมูลในการตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะ ดังนี้ ๑. นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม ๒. นายอนันต์ เจนงามกุล วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย และได้ อนุญาตให้ประชาชนผู้มีส่วนเข้าร่วมรับฟังการตอบกระทู้ถาม ดังนี้ ๑. นายกณวรรธน์ ราษฎรนิยม ๒. นายพีรวิชญ์ เรืองเพ็ง ๓. นายภูษิต ภูมีคำ ๔. ว่าที่ร้อยตรี ธนวัฒน์ เลาะวิถี เชิญท่านทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ ครับ

นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพระนครศรีอยุธยา พรรคก้าวไกล จากชาวอยุธยา และบางบาลครับ ผมขอใช้โอกาสนี้ในการตั้งกระทู้ถามท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถึงคำถามที่ค้างคาใจและเป็นข้อถกเถียงของพี่น้องชาวอยุธยาครับ สืบเนื่องจากกระทรวง คมนาคมมีการอนุมัติให้ก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง จากความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ ถึงหนองคาย โดยมีการตั้งสถานีที่อยุธยาบ้านผมด้วย นั่นเป็นเรื่องที่ดีครับ ท่านประธาน เราจะมีการเดินทางที่สะดวกสบายมากขึ้น และมีทางเลือกในการเดินทางใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการท่องเที่ยวครับ แต่สิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือผลกระทบจาก การก่อสร้างสถานีนี่ล่ะครับ ผมขอให้ท่านประธานได้ทราบถึงมหากาพย์ของสถานีอยุธยาครับ

นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

ที่ผมพูดแบบนั้นก็เพราะว่า นี่คือจุดเริ่มต้นการจัดทำรายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรมหรือ HIA ซึ่งหาก แล้วเสร็จรายงานฉบับนี้จะเป็นรายงานฉบับแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย ผมต้องขอไล่เลียง เหตุการณ์ให้ท่านได้เข้าใจครับ ท่านประธานครับ หลังจากมีหนังสือจาก UNESCO ที่แสดง ความกังวลถึงความเสี่ยงต่อแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอย่างที่ อยุธยาว่า หากจะมีการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่แบบนี้ อาจทำให้มรดกทางวัฒนธรรม โบราณสถานต่าง ๆ อาจชำรุดและสูญเสีย ซึ่งเป็นการสูญเสียที่ประเมินเป็นมูลค่ามิได้ จึงนำมาสู่การตอบรับโดยรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ท่านประวิตร วงษ์สุวรรณ จากรายงานผลการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ท่านรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้สั่งการ ให้กรมการขนส่งทางราง ซึ่งได้นำเสนอทางเลือกการสร้างสถานีถึง ๕ แบบ โดยให้ความเห็น เพิ่มเติมอีกว่าแบบที่ ๓ ถึงแบบที่ ๕ นั้นรางสูงมาก ต้องหาทางอ้อมหรือจะมุด มุดจะดีกว่าอ้อม เพราะใช้เงินมากเหมือนกัน ทางเลือกที่ ๑ และ ๒ พอรับได้ หากจำเป็นต้องเสียเงิน ก็จำเป็นต้องทำ ต่อมาในวันที่ ๒๓ กรกฎาคมปีเดียวกัน ได้มีบัญชาจากสำนักเลขาธิการ นายกรัฐมนตรีให้กระทรวงคมนาคมหารือร่วมกับกรมศิลปากร ดังนี้

นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

ประการที่ ๑ คือให้กระทรวงการต่างประเทศแจ้งกับ UNESCO ว่าไทย มีการทำรายงาน HIA ก่อนการก่อสร้างสถานี ขออนุญาตใช้ตัวย่อและภาษาอังกฤษครับ

นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ คณะกรรมการแห่งชาติ มีมติมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม พิจารณาการก่อสร้างสถานีในทางเลือกที่ ๑ คือการก่อสร้างอุโมงค์ลอดผ่านพื้นที่มรดกโลก หรือทางเลือกที่ ๒ การเปลี่ยนเส้นทางใหม่โดยอ้อมพื้นที่มรดกโลก ล่วงเลยมาจนถึงวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๕ การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ว่าจ้างให้คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้จัดทำ HIA วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๖ คณะโบราณคดีส่งรายงาน HIA ตามที่การรถไฟ แห่งประเทศไทยได้ว่าจ้างให้มีการประเมิน โดยใน TOR ได้กำหนดให้มีการประเมินจาก ทางเลือกเพียงทางเลือกเดียวคือทางลอยฟ้า นี่เป็นอีกข้อมูลครับท่านประธานที่เป็นข้อสังเกต สำคัญว่า ทำไม TOR การจ้างทำแบบประเมินนั้น ถึงเป็นการประเมินเพียงทางเลือกเดียว และไม่ใช้ทางเลือกที่เป็นมติของที่ประชุมจากรองนายกรัฐมนตรี

นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

ต่อมาวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ การรถไฟแห่งประเทศไทยได้จัดส่ง รายงานผลการประเมิน HIA ให้กับสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. โดยมีใจความที่บอกว่าจะขอก่อสร้างตามแผนเดิม ซึ่งสอดคล้องกับผลการประเมิน EIA เดิมในปี ๒๕๖๐ โดยอ้างถึงผลกระทบในแง่งบประมาณที่เพิ่มขึ้น ผลกระทบในแง่ ความสัมพันธ์และความเชื่อมั่นระหว่างประเทศ รวมถึงผลกระทบต่อการส่งมอบงาน ตามสัญญาอีกด้วย สผ. จึงมีหนังสือให้ทางกรมศิลปากรได้พิจารณารายงานนี้ เนื่องจากพบว่า

นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

ประการที่ ๑ การรายงานไม่เป็นไปตามคู่มือของศูนย์มรดกโลก ฉบับปี ๒๐๒๑ เนื่องจากขาดการวิเคราะห์แนวทางเลือกอื่น เพื่อลดผลกระทบและยืนยันจะทำตามแนวทางเดิม นั่นอาจทำให้ UNESCO เห็นถึงความไม่โปร่งใสและมีอคติต่อการเลือกแนวทางที่เหมาะสมครับ

นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ สผ. มีความเห็นให้กรมศิลปากรได้พิจารณาในฐานะหน่วยงาน กำกับดูแลพื้นที่ และพิจารณาให้ความเห็นถึงผลการประเมิน HIA

นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

ประการที่ ๓ สผ. ขอให้กรมศิลปากรนำเรื่องความเห็นนี้เข้าสู่การประชุม คณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรมอีกด้วย

นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

ต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๖ กรมศิลปากรได้แจ้งความเห็น ที่มีต่อรายงาน HIA กับทาง สผ. โดยมีใจความดังนี้

นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ รายงานมีสาระและองค์ประกอบสำคัญไม่ครบถ้วนตามหลักการ และแนวทางการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านต่าง ๆ ที่ศูนย์มรดกโลกกำหนด

นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ รายงานอธิบายคุณค่าโดดเด่นระดับสากล หรือ OUV ของแหล่ง มรดกโลกประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาคลาดเคลื่อนจากที่ประกาศให้เป็นมรดกโลก

นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ รายงานนำเสนอคาดการณ์ผลกระทบเชิงลบในระดับสูง แต่มิได้ เสนอแนวทางในการลดผลกระทบดังกล่าว และเห็นว่าควรนำเสนอแนวทางการลดผลกระทบ ในหลายระดับ

นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

ต่อมาล่าสุดวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๗ กรมศิลปากรได้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณา โดยคณะอนุกรรมการมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งมีท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน โดยมีมติที่ประชุมอยู่ ๒ ประเด็น

นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ คือพิจารณาความเห็นและข้อสังเกตของอนุกรรมการมรดกโลก ทางวัฒนธรรมที่มีต่อรายงาน HIA และสั่งการให้กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลแนวทางการลดผลกระทบในรายงานให้สมบูรณ์

นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ พิจารณาให้มีการตอบหนังสือไปยัง UNESCO โดยด่วน เพื่ออธิบายถึงการแก้ปัญหาตามข้อห่วงกังวลและชี้แจงว่าอยู่ในระหว่างการจัดทำรายงาน คำถามครับท่านประธาน

นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

คำถามข้อที่ ๑ จากการที่ได้เกริ่นมานั้นเห็นได้ชัดว่า โครงการนี้ขาดการมีส่วนร่วม จากภาคีทุกฝ่าย โดยเฉพาะหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์อย่างกรมศิลปากร หลังจากมีมติจากหน่วยงานหลายภาคส่วนแล้ว การรถไฟแห่งประเทศไทยจะเดินหน้าจัดทำ รายงานการศึกษาแนวทางเลือกอื่นที่ลดผลกระทบต่อมรดกทางวัฒนธรรม และจัดทำ รายงาน HIA ให้สมบูรณ์หรือไม่ อย่างไร ขอบคุณท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านรัฐมนตรีตอบคำถามแรกครับ

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานที่เคารพและท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติครับ ผม สุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงคมนาคม วันนี้ได้รับมอบหมายจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้มา ตอบคำถาม และในฐานะที่กำกับดูแลการรถไฟแห่งประเทศไทย ก็อย่างที่ท่านสมาชิกได้กล่าว HIA นี้ก็คือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และเป็นฉบับแรก และเป็นสถานที่แรกที่ทำนะครับ ข้อดีก็คือมันเป็นการสะท้อนการอนุรักษ์ของการหวงแหนมรดกโลก ซึ่งส่วนตัวแล้วเห็นด้วยนะครับ แล้วก็ควรจะเอาตรงนี้เป็น Case Study เป็นตัวอย่าง ในการที่ทุกส่วนที่จะเป็นการก่อสร้าง อันนี้ก็ขอชื่นชมในมิติที่ช่วยกันอนุรักษ์ โดยข้อเท็จจริงแล้วพยายามไปศึกษา เพราะเรื่องนี้ เกิดขึ้นมาเป็นมหากาพย์หลายปี ก็พยายามไปศึกษาหาแนวทางแก้ไข แล้วมันมี Defect อย่างไร มันเกี่ยวข้องอย่างไร ก็มีประชุมกันประมาณ ๓ ครั้ง จริง ๆ แล้ววันนี้ทางรถไฟ

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

ข้อที่ ๑ กระบวนการจัดทำ HIA นี้ จัดทำเกือบแล้วเสร็จแล้ว EIA ผ่าน เรียบร้อยแล้ว ส่วนการนำเสนอเนื่องจากว่าด้วยประสบการณ์ ด้วยเป็นครั้งแรกก็อาจจะมี ติดขัด เดี๋ยวผมจะอธิบายเรื่อง HIA ต่อนะครับ แต่วันนี้จะอธิบายให้ท่านประธานผ่านไปยัง ท่านสมาชิก วันนี้เส้นทางการก่อสร้างรถไฟห่างจากเขตแนวของเมืองมรดกโลก ซึ่งมีประมาณ ๑,๘๐๐ กว่าตารางกิโลเมตร ห่างจากเมือง ๑.๕ กิโลเมตร แล้วก็มีแม่น้ำป่าสักกั้นอยู่ แล้วเส้นทางที่ทำทั้งหมดนี้เป็นเส้นทางของแนวรถไฟเดิม ไม่มีการเวนคืน ไม่มีการขยาย วันนี้ที่ท่านสมาชิกได้พูดถึงก็คือมีความกังวลเรื่องของ Station เรื่องของสถานี ไม่รู้ว่าผมเข้าใจ ถูกหรือเปล่า ผมฟังทางประเด็นท่าน Point ไปลงเรื่องของ Station สถานีที่จะไปเปลี่ยนแปลง หรือจะไปบดบัง หรือจะไปทำให้เมืองเก่าอยุธยานี้ผิดกฎของ UN ของมรดกโลก ซึ่งอันนี้ ข้อแรกอยู่ที่เดิมไม่มีการเวนคืน สร้างบนทางเดิมทั้งหมด

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

ข้อที่ ๒ สถานีอันนี้อยู่ระหว่างที่ให้ HIA นะครับ EIA ผ่านแล้ว ซึ่งก็มี ๔-๕ เส้นทาง ที่ EIA ได้ศึกษา ส่วน HIA ทางรถไฟกับทางกรมการขนส่งทางราง ก็ได้ส่ง บางส่วนที่มันสอดคล้องกับ EIA ให้ ส่วน HIA จะเรียกเอกสารเพิ่มเติมน่าจะอยู่ขั้นตอน การเรียกเพิ่มเติมนิดหน่อย ซึ่งผมก็ได้ให้ไปประชุมหาทางออกร่วมกันว่าจะเป็นอย่างไร

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

วันนี้สิ่งที่ท่านสมาชิกกังวลก็คือเรื่องของการผิดกฎของมรดกโลก การที่จะถูก ถอดถอนออกจากทะเบียนของมรดกโลก ซึ่งอันนี้ผมเห็นด้วยนะครับ แล้วผมก็เป็นคนไทยคนหนึ่ง ที่รู้สึกหวงแหน รู้สึกต้องปกป้อง แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องพัฒนาเรื่องของการเดินทาง การคมนาคมรถไฟความเร็วสูงถือเป็นอันหนึ่งในการขนส่งผู้โดยสารหรือนักท่องเที่ยวเข้าไป ทำให้จุดมรดกโลกได้รับนักท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้เข้าชม อยุธยาไม่มีสนามบิน ไปได้ทางรถไฟกับทางรถยนต์และทางน้ำ ๓ ทาง เพราะฉะนั้นรถไฟผมถือว่าเป็นเส้นเลือดหลัก ที่จะนำนักท่องเที่ยวจากสนามบินทั้งไปทั้งกลับ แล้วอีกอันหนึ่งก็คือการเดินทางระหว่างเมือง ความเร็วสูงถ้าเสร็จจากกรุงเทพอภิวัฒน์-เชียงใหม่ ใช้เวลาประมาณ ๓ ชั่วโมง ๑๐ นาที เพราะฉะนั้นมันจะเป็นเส้นทางการเดินทางที่สำคัญ แล้วตรง Station วันนี้ทั้งเส้น กรุงเทพฯ กับโคราชมันก็จะมีอยู่ ๒ Station ที่เรายังค้างไว้อยู่ ผมมานี่ผมพยายามจะแก้ปัญหา อันที่ ๑ เพื่อรักษามรดกโลกให้คงอยู่ให้ได้ ให้ถูกกฎของ HIA วันนี้อยู่ในขั้นตอน ผมว่าเกือบจบแล้วนะครับ อันที่ ๒ ผมก็อยากให้มี Station ของรถไฟความเร็วสูงที่ไม่ผิดกฎของ HIA อยู่ตรงบริเวณใกล้กับ มรดกโลก แต่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ของบริเวณ ๑,๘๐๐ ตารางกิโลเมตร แล้วบริเวณรอบ ๆ ของ Station จะไม่มีการพัฒนาเป็นเมือง คือถ้าใครได้ติดตามข่าว ผมที่รับผิดชอบขนส่งทางบกนี้ วันนี้ผมได้ออกกฎกระทรวง แก้กฎกระทรวงอันหนึ่งกระจายอำนาจให้กับจังหวัด ให้กับท้องถิ่น เพื่อพัฒนาตัวเอง ผันตัวเองเป็น Feeder เอาคนจากระบบรางเข้าไปสู่ส่วนของเมือง ส่วนของมรดกโลกได้อย่างถูกกฎกติกา แล้วก็ให้มีสิทธิ มีเสียงโดยคณะกรรมการจังหวัด โดยมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน แล้วก็จะมีพี่น้องประชาชน คณะกรรมการในจังหวัด เป็นผู้ตัดสินว่าเราควรจะเป็น Feeder ซึ่งกันและกันอย่างไร รถไฟความเร็วสูงมีหน้าที่ลำเลียง ผู้โดยสาร ลำเลียงนักท่องเที่ยวที่มาจาก Airport มาจากทางไหนก็ดี จากกรุงเทพฯ จากส่วนกลาง เข้าไปตรงนั้น หลังจากตรงนั้นที่การพัฒนาก็ขึ้นอยู่กับจังหวัดว่า จังหวัดจะออกแบบในการขนส่ง สาธารณะระหว่างสถานีไปที่ในจังหวัดอย่างไร ก็ตอบให้เบื้องต้นนะครับ แล้วก็มีตัวอย่าง ต่างประเทศที่เป็นของ HIA เหมือนกัน อย่างที่ญี่ปุ่น แต่ว่าเขาขึ้นก่อน รถไฟมาสร้างทีหลัง ก็อยู่ด้วยกันได้ ก็ห่างกันประมาณนี้ อยู่ที่ Cologne ก็มีตัวอย่างมหาวิหารกับระบบ HIA เหมือนกันกับรถไฟ ซึ่งระยะก็ห่าง ๑ กิโลเมตร ก็อยู่ด้วยกันได้ แต่ว่าเขาก็ขึ้นทะเบียนก่อน รถไฟมาทีหลัง แต่ของเราถ้าเป็นรถไฟจริง ๆ ธรรมดาอยุธยาเกิดก่อน แต่มรดกโลกเราขึ้นทีหลัง แต่หากรถไฟเราสร้างก่อน แต่วันนี้ด้วยปัญหาที่มันเกิดขึ้น ผมก็พยายามจะประนีประนอมทุก ฝ่าย แต่ First Priority ก็หวงแหนมรดกโลกนะครับ ก็คืออยุธยา แต่อันนี้ก็ต้องพยายามจะต้อง ให้มีการขนส่งที่สะดวกเกิดขึ้น และวันนี้ทั้งสายเหลืออยู่ ๒ สถานี คือผมไม่อยากให้แค่รถไฟ ความเร็วสูงวิ่งผ่านแล้วไม่มี Station นะครับ ผมก็พยายามจะให้ทางการรถไฟออกแบบ Station ที่กระทบต่อสายตา กระทบต่อกฎของ UN ให้น้อยที่สุด แล้วผมก็อยากให้มี Station ตรงนั้น บางมิติเราช่วยกันแก้ปัญหานี้ แล้วผลประโยชน์ทางอ้อมมิติอื่น ๆ ทั้งทางตรง ทางอ้อม มันจะทำให้การเจริญกระจายตัวสู่จังหวัด

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานผ่านไปยังท่านสมาชิกนะครับ ถ้ามีข้อคิดเห็นหรือมี คำแนะนำ ทางผมยินดีที่จะรับฟังแล้วก็ช่วยกันนะครับ ผมมีหน้าที่กำกับให้รถไฟผ่านตรงนั้น แล้วก็ Station ผมพยายามสร้างให้ไปลด Size ให้ดีที่สุด กระทบกับทัศนวิสัยวิวระดับสายตา ให้น้อยที่สุด และคงความเป็นเหมือนเดิมให้มากที่สุดที่มีอยู่ แต่สามารถส่งผู้โดยสารได้ ส่วนความกังวลในคำถามที่ว่าการพัฒนาตรงนั้นจะเป็นอย่างไร วันนี้ผมได้บอกแล้วว่า ผมได้กระจายอำนาจไปให้ท้องถิ่นแล้ว ท้องถิ่นก็ไปช่วยกันออกแบบในการที่จะพัฒนา ด้านการขนส่งจากสถานีรถไฟเข้าเมือง ก็ได้ตอบไปหลาย ๆ จังหวัด ก็เป็นลักษณะอย่างนี้ ขอเรียนเบื้องต้นเท่านี้ครับ ขอบพระคุณท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เหลือเวลาอีกนิดหน่อยนะครับ คำถามที่ ๒ ครับ

นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พรรคก้าวไกล จากชาวอยุธยาและบางบาลครับ ขอบคุณท่านประธานผ่านไปถึงท่านรัฐมนตรีครับ แต่ต้องบอกว่าท่านรัฐมนตรีอาจจะยังตอบเกือบไม่ตรงคำถามครับ เนื่องจากว่าสิ่งที่ผม อยากจะทราบนั่นก็คือทางเลือกที่ลดผลกระทบได้มากกว่านี้ ซึ่งก็ขอขอบคุณอย่างยิ่ง ที่ท่านรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการลดผลกระทบครับ แต่ผมขออนุญาต ขยายความเพิ่มเติมจากแผนภาพที่ท่านรัฐมนตรีได้นำมาครับ จุดที่ห่างจากสถานีอยุธยา ๑.๕ กิโลเมตร คืออุทยานประวัติศาสตร์เท่านั้นครับ แต่จริง ๆ แล้วกรมศิลปากรกำลังจะ ขยายพื้นที่ตามภาพที่ท่านได้นำมาเลยครับ ภาพที่มีหมายเลข ๒ ๓ ๔ ๕ ไปจนถึง ๗ นั่นคือ พื้นที่การอนุรักษ์ที่กรมศิลปากรกำลังจะขยาย นั่นแสดงให้เห็นครับว่าการมีส่วนร่วมของ หน่วยงานต่าง ๆ นั้นยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร

นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

คำถามที่ ๒ กระทรวงมีแผนการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีอยุธยา เช่น แผนการพัฒนา จัดการระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อรองรับการกระจุกตัวของผู้โดยสาร รวมถึงการจัดการน้ำ และอุทกภัย ระบบหมุนเวียนพลังงานภายในสถานี และระบบสุขาภิบาลภายในสถานีอย่างไร อีกทั้งการพัฒนายังส่งผลกระทบกับพี่น้องประชาชนโดยรอบทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งการเวนคืนและการขอคืนที่ดิน อีกทั้งผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ไม่ทราบถึงแนวทาง ที่ชัดเจนในการชดเชยหรือเยียวยา ผู้ประกอบการรถรับจ้างไม่ทราบถึงแผนการรองรับ ขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่น ๆ กระทรวงจะมีแผนหรือมาตรการในการเยียวยาช่วยเหลือชดเชย เพื่อความเป็นธรรมหรือไม่อย่างไร

นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

คำถามที่ ๓ รัฐบาลและกระทรวงจะมีมาตรการอย่างไร ในการรองรับกลุ่มทุน จากประเทศจีนที่จะเข้ามาใช้ผลประโยชน์จากรถไฟความเร็วสูงนอกเหนือจากการท่องเที่ยว เช่นปัญหาเรื่องทัวร์ศูนย์เหรียญ หรือป้องกันมิให้เมืองที่โครงการจากจีนลากผ่านนั้นจะไม่พบ จุดจบแบบเดียวกับที่สีหนุวิลล์ ขอบคุณท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ท่านถามเยอะเลยนะครับ ทีนี้ไม่มีเวลาแล้วทำอย่างไร อารัมภบทเยอะไปหน่อยนะครับ เดี๋ยวตอบกันข้างนอกดีไหม หรืออย่างไรดีครับ เกินนิดหน่อยนะครับ เชิญท่านรัฐมนตรีครับ

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

เรียน ท่านประธานที่เคารพ ท่านสมาชิกครับ เอาข้อ ๓ ก่อนเรื่องทัวร์ศูนย์เหรียญหรือเรื่องของทุนจีน วันนี้ทัวร์ศูนย์เหรียญไม่มีนะครับ ถ้าจะมีก็มีมาก่อนแล้วนะครับ ไม่ได้มี Project รถไฟความเร็วสูงหรอกครับ แล้วก็มีหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่แล้ว ส่วนเรื่องของทุนจีนวันนี้ การก่อสร้างทั้งหมด ๙๙ เปอร์เซ็นต์ ก็ใช้วัสดุ ใช้แรงงาน ใช้อะไรของคนไทยทั้งหมด มีบางตัว นิดหน่อยเท่านั้นเองที่เป็นเทคโนโลยีที่เราต้องอาศัยจีน อันนี้ก็ต้องบอกนะครับ

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

ส่วนเรื่องของการเยียวยาเราไม่ได้มีการเวนคืนแม้แต่ตารางนิ้วเดียว เพราะฉะนั้นเรื่องของการชดเชยค่าเวนคืนเรื่องของอันนี้มันก็ไม่มีอยู่แล้ว เพราะเราไม่ได้ เวนคืน ส่วนเรื่องของการเยียวยาระบบขนส่งสาธารณะที่อยู่รอบ ๆ ผมก็บอกแล้ว ผมได้กระจาย อำนาจไปให้กับจังหวัดแล้ว โดยวันนี้ อบจ. มีหน้าที่ที่จะเป็น Operator แล้วก็หารถร่วมมาวิ่ง สามารถเข้าไปบริหารจัดการได้ คือวันนี้ท่านจัดการตัวท่านเองได้เลย ไม่ต้องรอจากส่วนกลาง แล้วภาษีล้อเลื่อนที่ ขบ. ขนส่งทางบกเก็บทั้งหมดทุกบาททุกสตางค์ ก็นำส่งกลับไปที่ อบจ. หมดแล้ว เพราะฉะนั้นอันนี้ท่านสามารถใช้งบประมาณก้อนนี้ได้ แล้วท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่น สามารถใช้เงินอุดหนุนของตัวเอง เงินอุดหนุนทั่วไปสามารถมาใช้พัฒนาระบบขนส่งได้ ท้องที่ไหนที่อยู่ในเขตอุทยานที่ใช้ประโยชน์จากตรงนั้น ก็สามารถที่จะอุดหนุนภาษี อุดหนุน เรื่องของระบบขนส่งได้ หรือถ้าไม่มีท่านก็สามารถใช้อำนาจหน้าที่ตัวนั้นไปหารถร่วมบริการ แล้วก็ Profit Sharing กับผู้ร่วมบริการ แล้วก็ให้นักท่องเที่ยวให้จังหวัดได้ประโยชน์สูงสุดได้ ผมว่าปัญหาพวกนี้ ๒-๓ ข้อนี้ ไม่มีประเด็นเลยนะครับ แต่ประเด็นที่หนัก ๆ ก็คือวันนี้เรามา แก้ปัญหาของ UN แต่ถ้าวันนี้จะประกาศ เรามาเอาศิลปากรมาเกี่ยวอีก Shot หนึ่ง ว่าจะประกาศเพิ่ม ซึ่งยังไม่ได้ประกาศ วันนี้ผมยืนยันว่ามันอยู่ร่วมกันได้ เพราะเรา จะไม่ได้ขยายสถานี ไม่ได้ขยายให้มันมีผลกระทบ ทั้งของกรมศิลปากร จริง ๆ ของ UN นี้ กรมศิลปากรต้องประกาศก่อนแล้วถึงไปขึ้นกับ UN ได้ แต่วันนี้เรามาคุยประเด็นของ UN ว่าจะผิด HIA แต่วันนี้อย่าเพิ่งขยายไปกรมศิลปากรครับ กรมศิลปากรประกาศก็ประกาศได้ แต่ทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกันได้ ต้องยอมให้ความเจริญเข้าครับ ฝากท่านประธานไปยังท่านสมาชิก วันนี้ต้องมองหลายมิติ ทั้งการอนุรักษ์และการพัฒนาที่อยู่ร่วมกันได้แบบยั่งยืน ขอบคุณ ท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ผมยกตัวอย่างรถไฟถนนพหลโยธิน มันถูกยกเลิกไป ๑ สถานี พอถูกยกเลิกไป ๑ สถานี เดือดร้อนถึงวันนี้ครับ เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะสร้างเพิ่ม ๑ สถานี ลำบากมากเลยเมื่อมัน เสร็จไปแล้ว เพราะฉะนั้นก็ลองไปคุยกับท้องถิ่นดูนะครับว่าจะช่วยกันอย่างไร เพราะว่า อยุธยาไม่มีสนามบิน อยุธยาไปถึงอ่างทอง สิงห์บุรี ต้องใช้รถไฟฟ้านี้ล่ะครับ เมื่อสักครู่ ทางโคราชก็มาบ่นนะครับ เพราะว่ารถไฟความเร็วสูง เขาก็ต้องขับรถมา เวลามาประชุม ลำบากมาก เพราะฉะนั้นพวกท่านไม่มีสนามบิน อย่างไรก็ต้องดูเรื่องรถไฟ ไปช่วยกันแก้ไข ให้มันไปให้ได้นะครับ ขอบคุณมากนะครับท่านรัฐมนตรี ขอบคุณครับท่าน สส.

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๕. เรื่อง ขอให้ดำเนินการปรับปรุงถนนลาดยางสาย ทช.ศก.๔๐๒๐ ช่วงอำเภออุทุมพรพิสัย-อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ เนื่องจากถนนสายดังกล่าว มีปริมาณการจราจรที่หนาแน่นมาก นายอาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ด้วยสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมมีหนังสือแจ้งว่าท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านมนพร เจริญศรี เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทนตามข้อบังคับ ข้อ ๑๕๑ ในการนี้เพื่อประโยชน์ในการตอบ กระทู้ถามแยกเฉพาะ ผมให้ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมสนับสนุนข้อมูล ในการตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะ คือ นายผดุงศักดิ์ สรุจิกำจรวัฒนะ รองอธิบดี กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม ได้มาให้ข้อมูล เชิญท่านอาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ ถามคำถามแรกครับ

นายอาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ ศรีสะเกษ ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ ผม อาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย วันนี้ก็ต้องกราบขอบคุณท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ท่านได้สละเวลามาตอบกระทู้ถามของผมในวันนี้ ซึ่งเป็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ชาวศรีสะเกษ ถนนทางหลวงชนบทศรีสะเกษ หมายเลข ๔๐๒๐ เป็นถนนทางหลวงชนบท ที่มีความสำคัญ สำหรับพี่น้องชาวอำเภออุทุมพรพิสัยเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นถนนที่ผ่าน ย่านชุมชนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเทศบาลกำแพง เทศบาลอุทุมพรพิสัย ตำบลก้านเหลือง ตำบลทุ่งชัย ตำบลโคกจาน และยังเชื่อมต่อไปยังอำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ เนื่องจาก ถนนเส้นนี้นอกจากจะเป็นเส้นสำคัญที่ผ่านย่านชุมชนจำนวนมากแล้ว ยังมีสถานที่ท่องเที่ยว ทางวัฒนธรรมที่โด่งดังและสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นวัดป่าหนองหวาย ตำบลโคกจาน วัดป่าพิมลมังคลาราม ตำบลทุ่งไชย และวัดป่าศรีมงคลรัตนาราม ตำบลโคกจาน ทำให้มี นักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศนั่งรถทัวร์มากราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดป่าดังกล่าวจำนวนมาก จนทำให้ปริมาณการจราจรต่อวันบนถนนเส้นดังกล่าวนี้เกือบถึง ๓,๐๐๐ คันต่อวัน หากเปรียบเทียบกับถนนทางหลวงแผ่นดินบางเส้นทางแล้ว เส้นทางหลวงชนบท ๔๐๒๐ อาจจะมี ปริมาณการจราจรที่มากกว่าทางหลวงแผ่นดินเสียด้วยซ้ำไป จากปริมาณการจราจรดังกล่าว ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นระยะ ๆ เนื่องจากถนนหมายเลข ๔๐๒๐ มีไหล่ทาง ที่แคบมากเพียงแค่ ๕๐ เซนติเมตรเท่านั้นเอง และในบางช่วงไม่มีไหล่ทาง ผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถมอเตอร์ไซค์ รถจักรยาน ไม่สามารถใช้ผิวไหล่ทางได้ จึงต้องมาใช้ บนผิวจราจรหลัก นอกจากจะส่งผลให้รถติดแล้วยังทำให้เกิดอุบัติเหตุเป็นระยะ ๆ ตามที่ผมได้กราบเรียนไปเบื้องต้น และจากปริมาณการจราจรที่มากก็ทำให้ผิวจราจรชำรุด เสียหายเป็นหลุมเป็นบ่อ จึงเป็นคำถามของผมข้อที่ ๑ ว่าทางกระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงชนบทจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างไร คำถามที่ ๑ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญท่านรัฐมนตรีครับ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม วันนี้ดิฉันได้รับมอบหมายจาก ท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มาตอบกระทู้แยกเฉพาะของท่านสมาชิก ท่านอาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากจังหวัดศรีสะเกษ ของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติท่านนี้ท่านได้ให้ ความสนใจต่อปัญหาและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนตลอดมา ทั้งท่านตั้งกระทู้ถามทั่วไป และตั้งกระทู้ถามแยกเฉพาะค่ะ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

คำถามแรกของท่านสมาชิก ดิฉันขออนุญาตตอบต่อท่านประธานไปยัง ท่านสมาชิกนะคะว่ากระทรวงคมนาคมโดยกรมทางหลวงชนบท ที่พี่น้องประชาชนใช้เส้นทาง เดินทางสัญจรไปมา จากอำเภออุทุมพรพิสัย-อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งประกอบ ไปด้วย ๓ สายทางหลัก สายทางแรกเป็นถนนท้องถิ่น สายอุทุมพรพิสัย-บ้านกำแพง อยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลตำบลกำแพง ส่วนสายทางที่ ๒ เป็นถนนทางหลวงชนบท สาย ศก. ๔๐๒๐ บ้านกำแพง-บ้านหนองเชียงทูน อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง ชนบท และอีกสายหนึ่งถนนสายที่ ๓ เป็นถนนท้องถิ่น สายบ้านหนองเชียงทูน-อำเภอปรางค์กู่ อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษค่ะ การแก้ไขปัญหา ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในการก่อสร้างหรือว่าปรับปรุงถนนดังกล่าว ซึ่งเป็น ภารกิจของแต่ละหน่วยงานตามอำนาจหน้าที่ที่ดิฉันได้นำเรียนไปเมื่อสักครู่ว่า เป็นความ รับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท สำหรับถนนสาย ศก. ๔๐๒๐ สายบ้านกำแพง อำเภอเชียงทูน อำเภอปรางค์กู่และ อำเภออุทุมพรพิสัย ดังที่ดิฉันได้ขึ้นในภาพนะคะ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

เป็นระยะทาง ทั้งสิ้น ๒๘ กิโลเมตร มีสภาพผิวจราจรเป็นถนนลาดยางสลับกับถนนคอนกรีตเสริมเหล็กและ กว้าง ๖ เมตร ไหล่ทาง ๐-๒.๕ เมตร เนื่องจากบางช่วงไม่มีไหล่ทาง แต่บางช่วงมีไหล่ทาง ตลอดแนวเส้นทางดังกล่าวมีพี่น้องประชาชนสัญจรไปมาที่ใช้เส้นทางดังกล่าว ๖ ตำบล ใช้เส้นทางดังกล่าวประมาณ ๔๐,๑๕๖ คน ซึ่งประกอบไปด้วยตำบลกำแพง ตำบลก้านเหลือง ตำบลทุ่งไชย ตำบลโคกจาน อำเภออุทุมพรพิสัย รวมทั้งตำบลโรงปราสาท ตำบลเชียงทูน และพี่น้องอำเภอปรางค์กู่ โดยกรมทางหลวงชนบทมีแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของ พี่น้องประชาชนทั้ง ๓ กรณี ซึ่งขออนุญาตได้เรียบเรียงคำถาม ประกอบกับท่านได้ตั้งกระทู้ ดิฉันได้ดูคำถามในเอกสารที่ท่านได้ตั้งกระทู้ถามไว้ แยกเป็น ๓ กรณีนะคะ ที่ดิฉันรวบรวม ได้ตอบไปครั้งเดียว ขอประทานโทษท่านประธานค่ะ เนื่องจากดิฉันมีกระทู้ถามทั่วไปที่อยู่ ในห้องใหญ่ เดี๋ยวเสร็จจากกระทู้ถามแยกเฉพาะ ดิฉันต้องขึ้นไปตอบกระทู้ที่ห้องใหญ่ ก็เลยขออนุญาตได้รวบรวมคำถามของท่านสมาชิกไปในคราวเดียวกันเลยนะคะ ซึ่งดิฉันเห็น ในคำถามที่ท่านถามในเอกสารแล้วนะคะว่า ในกรณีที่มีการปรับปรุงซ่อมแซมผิวจราจร ที่ชำรุด แล้วกรณีที่ ๒ เรื่องของการขยายถนนพร้อมปรับปรุงรางระบายน้ำ และกรณีที่ ๓ เรื่องไฟส่องสว่างและอุปกรณ์อำนวยความสะดวก กรมทางหลวงชนบทมีแนวทางที่จะแก้ไข ปัญหาทั้ง ๓ กรณีอย่างไร

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

กรณีแรก ได้ขออนุญาตนำเสนอเรื่องของการแก้ไขปรับปรุงซ่อมแซมถนนที่มี ความชำรุดเสียหายดังที่ขึ้นในภาพนะคะว่า ปกติเราจะมีงบซ่อมบำรุงปกติที่ชำรุดเสียหาย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนดังแสดงในภาพค่ะ ถนนสายดังกล่าวก็จะ เป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว โดยการซ่อมผิวลาดยางที่ได้บรรจุในร่างพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ เพื่อมาดำเนินการ ระยะทางประมาณ ๗๓๐ เมตร งบประมาณ ๙.๙ ล้านบาท เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายได้ผ่านสภา เรียบร้อยแล้ว กรมทางหลวงชนบทก็จะดำเนินการก่อสร้างซ่อมแซมถนนสายดังกล่าว ส่วนการซ่อมแซมดังกล่าวก็จะมีว่า ถ้าเราได้รับงบประมาณบำรุงพิเศษหรือว่าซ่อมแซมกรณี ที่ความเสียหายชำรุดเป็นบางช่วง เราก็จะนำบรรจุในงบประมาณในภาพใหญ่ต่อไป อย่างไรก็ดี การบำรุงซ่อมแซมก็จะเห็นว่ากิจกรรมที่ทางหลวงชนบทเองที่ไม่ได้รับงบประมาณจำนวนมาก เราก็จัดสรรลำดับความจำเป็นและความเดือดร้อน เนื่องจากงานบำรุงรักษาซ่อมทาง อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท ในเส้นทางที่เราได้ขึ้นทะเบียนไว้เราเอง ก็จะพยายามที่จะจัดสรรปัญหาความเดือดร้อนดังที่ท่านสมาชิกได้นำเสนอเป็นลำดับ ๆ ไปค่ะ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

กรณีที่ ๒ เรื่องของการขยายถนนพร้อมปรับปรุงระบบระบายน้ำ ก็จะเห็นว่า ในการขยายถนนเส้นทางดังกล่าวเรามีระบบปรับปรุงระบบระบายน้ำตามสภาพเขตทาง ซึ่งมีอยู่ ๒ รูปแบบ รูปแบบแรกเป็นปรับปรุงรางระบายน้ำที่อยู่ในเขตชุมชน ในภาพที่ ๒ เป็นระบบปรับปรุงระบายน้ำนอกเขตชุมชน ซึ่งจะเห็นว่าการขยายเขตในเขตชุมชนส่วนมาก เราแทบจะขยายไม่ได้ เพราะว่าปกติแล้วผิวจราจรกว้าง ๕ เมตร จะมีพื้นที่ที่อยู่อาศัยของ พี่น้องประชาชนอยู่แล้ว แต่เราก็มีการขยายดังที่ท่านสมาชิกได้ถามนะคะว่ามีการขยาย ผิวจราจรกว้าง ๖ เมตร แต่ว่าไม่มีไหล่ทาง แต่มีเพียงแค่รางระบายน้ำ ส่วนนอกเขตชุมชนเรา ก็มีการขยายพื้นผิวจราจรให้เป็นกว้าง ๖ เมตร แล้วก็ไหล่ทางข้างละ ๒.๕๐ เมตร พร้อมกับ รางระบายน้ำ เช่น สร้างท่อลอดกลม ท่อลอดเหลี่ยมหรือว่าสะพาน เพื่อให้สามารถระบายน้ำ ได้อย่างเพียงพอต่อสภาพเขตทางที่มีอยู่แล้วระยะทาง ๓.๔ กิโลเมตร นอกจากนั้นเรายังได้ บรรจุถนนสายทางดังกล่าวไว้ในร่างของ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๖๗ ระยะทางอีก ๓.๙ กิโลเมตร เป็นงบประมาณทั้งสิ้น ๔๙.๕ ล้านบาท เมื่อพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๖๗ ผ่านแล้ว ก็จะดำเนินการหาผู้รับจ้างจัดซื้อจัดจ้าง ในโอกาสต่อไป แต่ว่าส่วนระยะทางที่เหลือเราก็จะจัดลำดับความสำคัญให้สอดคล้องกับ ความจำเป็นเร่งด่วนของกรอบงบประมาณในปี ๒๕๖๘ ต่อไป

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

สำหรับบริเวณบ้านกำแพงที่จะให้ท่านสมาชิกได้เห็นถึงความหนาแน่นที่เป็น จุดเชื่อมโยงของถนนสาย ศก.๔๐๒๐ ผ่านถนนท้องถิ่น ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ เทศบาลตำบลกำแพง ก็จะไปบรรจบกับถนนราชการรถไฟใต้ ระยะทางประมาณ ๑๘๐ เมตร ซึ่งมีลักษณะคอขวดที่ดิฉันได้โชว์ภาพสไลด์บนจอนะคะว่า ก็จะส่งผลให้สภาพการจราจร ติดขัด เราจึงเห็นว่าเมื่อสภาพการจราจรติดขัดแล้ว จึงเสนอให้เทศบาลตำบลกำแพง บูรณาการร่วมกับตำรวจในพื้นที่ ให้มีการบริหารจัดการสภาพของจราจรในช่วงที่เป็นชั่วโมง เร่งด่วน เช่น กำหนดลักษณะประเภทเข้าออก หรือว่าให้กำหนดที่จอดรถในช่วงเวลา ที่กำหนด หรือมีป้ายเตือนและป้ายห้ามจอด นี่คือการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานค่ะ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

ต่อไปเป็นประเด็นที่ท่านสมาชิกได้มีความห่วงใย เรื่องของไฟฟ้าส่องสว่าง และอุปกรณ์ความปลอดภัย กรมทางหลวงชนบทเองก็ได้ดำเนินการติดตั้งไฟส่องสว่าง อุปกรณ์ ความปลอดภัยของท้องถนน ท่านประธานเห็นไหมคะ มีสัญญาณไฟกระพริบ มีเครื่องหมาย สัญญาณจราจรบนผิวทาง และมีเครื่องหมายนำทางในบริเวณชุมชนและจุดเสี่ยงอันตราย เพราะระยะทางดังกล่าวเป็นระยะทางถึง ๑๐.๖๔๐ กิโลเมตร สำหรับเส้นทางในส่วนที่เหลือ กรมทางหลวงชนบทก็จะมีการพิจารณาติดตั้งไฟส่องสว่างป้ายสัญญาณเตือนจราจรบนผิวทาง รวมทั้งเครื่องหมายนำทางในโอกาสต่อไป นั่นก็คือในกรอบวงเงิน งบประมาณปี ๒๕๖๘ ค่ะ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

ท้ายที่สุดกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม ต้องขอบคุณท่านสมาชิก เป็นอย่างสูงยิ่งนะคะ ที่ท่านได้นำเสนอปัญหาและเส้นทางดังกล่าวต่อท่านประธานในการ ที่จะมาถามคำถามของกระทู้ถามแยกเฉพาะที่ท่านมีความห่วงใย และกระทรวงคมนาคมเอง ก็ต้องการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในต่างจังหวัด โดยเฉพาะการพัฒนา โครงข่ายทางหลวงชนบทได้กระจายความเจริญไปสู่ท้องที่ต่าง ๆ นอกจากนั้นสำคัญสูงสุดคือ การก่อสร้างทางหลวงชนบทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยกระดับการเดินทางของพี่น้อง ประชาชนให้มีความสะดวกรวดเร็วแล้วก็ปลอดภัย เชื่อมโยงกับพี่น้องทั่วไทย เชื่อมใจคนทั้งชาติ อย่างยั่งยืน จากกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม ขอบคุณค่ะท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญคำถามที่ ๒ ครับ

นายอาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ ศรีสะเกษ ต้นฉบับ

ผมถามคำถามแรก ๒ นาที ท่านรัฐมนตรีให้ความกรุณาผมมากใช้ตอบ ๑๐ นาทีเลย ตอบทุกคำถาม ผมเองก็ได้แจ้งคำถาม ให้ท่านรัฐมนตรีไปแล้วนะครับ ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องกราบขอบพระคุณ ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านมนพร เจริญศรี เป็นอย่างมาก ที่ได้ให้ความกระจ่างกับผมและพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมทางหลวงชน ที่ในปีงบประมาณ ๒๕๖๗ นี้ เท่าที่ฟังท่านรัฐมนตรีชี้แจง บนถนนสายดังกล่าวจะได้รับ การจัดสรรงบประมาณมากถึง ๖๐ ล้านบาท ก็เป็นเรื่องที่ดี ปัญหาของพี่น้องประชาชน จะได้รับการดูแลแก้ไข ทั้งนี้ทั้งนั้นผมก็กราบเรียนท่านประธานผ่านไปยังท่านรัฐมนตรีนะครับ ว่าในการทำระบบระบายน้ำ ขอให้ทางเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงชนบทที่อยู่ในพื้นที่จังหวัด ศรีสะเกษได้มาพูดคุยกับผมด้วย เนื่องจากผมเองต้องรับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชน โดยตรงตลอดเวลาที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ดีที่ได้ทำงานร่วมกัน ได้มีโอกาสพูดคุยกัน ก็ขอขอบคุณท่านประธานและท่านรัฐมนตรีมา ณ โอกาสนี้ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณท่าน สส. และท่านรัฐมนตรีที่ได้ให้ความร่วมมือ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๖. เรื่อง การดำเนินนโยบายการปรับขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำ สำหรับพนักงาน จบปริญญาตรีเป็น ๒๕,๐๐๐ บาท นางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม นายกรัฐมนตรี ทางท่านรัฐมนตรีขอเลื่อนไปตอบวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๗ ตามข้อบังคับ ข้อ ๑๗๐

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๗. เรื่อง ขอให้มีแนวทางเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน นายกัณวีร์ สืบแสง เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม นายกรัฐมนตรี ท่านติดภารกิจนะครับ ขอเลื่อน ไปตอบวันพฤหัสบดีที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๗

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๘. เรื่อง ขอให้รัฐบาลพิจารณาจัดทำโครงการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการ พัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ห่างไกล นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม นายกรัฐมนตรี ท่านติดภารกิจนะครับ ขอเลื่อนไปวันพฤหัสบดีที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๗ นะครับ สำหรับวันนี้จบการพิจารณากระทู้ถามแยกเฉพาะ ขอปิดการประชุมครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ท่านสมาชิกครับ ก่อนที่ที่ประชุมจะพิจารณาเรื่องตามระเบียบวาระต่อไป ผมขอปรึกษา ที่ประชุมเพื่อขอนำระเบียบวาระที่ ๓ รับรองรายงานการประชุม และระเบียบวาระที่ ๗.๒ คณะกรรมาธิการขอขยายระยะเวลาการพิจารณาการศึกษาขึ้นมาพิจารณาก่อน คงจะใช้เวลาไม่มากนักนะครับ จะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ครับ ถ้าไม่มีผู้ใด ขัดข้องถือว่าที่ประชุมเห็นชอบในการดำเนินการตามนี้นะครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๓ รับรองรายงานการประชุม

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

รับรองรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๖ ปีที่ ๑ จำนวน ๕ ครั้ง คือ ครั้งที่ ๑๗ วันพุธที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๖ ครั้งที่ ๑๘ วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๖ ครั้งที่ ๑๙ วันพุธที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๖๖ ครั้งที่ ๒๐ วันพฤหัสบดีที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๖ ครั้งที่ ๒๑ วันพุธที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๖ ก็ได้วางไว้ให้ท่านสมาชิกได้ตรวจดูแล้วนะครับ ก่อนที่จะเสนอ ให้สภารับรอง ท่านสมาชิกนั่ง ๆ ดูแล้วตรวจดูนะครับ ถ้าไม่มีขอแก้ไข แล้วก็เห็นเป็นอย่างอื่น ก็ถือว่าที่ประชุมรับรองรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรทั้ง ๕ ครั้ง ดังกล่าวแล้วนะครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๗ เรื่องอื่น ๆ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๗.๒ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร Entertainment Complex เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมาย และเพื่อประโยชน์ ด้านเศรษฐกิจของประเทศ ขอขยายระยะเวลาพิจารณาศึกษาเรื่องดังกล่าวออกไปอีก ๓๐ วัน นับตั้งแต่วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ด้วยประธานคณะกรรมาธิการได้มีหนังสือแจ้งว่าเนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่อง ที่มีความละเอียดซับซ้อนและถือเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย จำเป็นต้องพิจารณาข้อมูล ให้ครบถ้วนรอบด้าน ดังนั้นจึงขอขยายระยะเวลาการพิจารณาออกไปอีก ๓๐ วัน นับตั้งแต่ วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ตามข้อบังคับ ข้อ ๑๐๖ เพื่อประโยชน์ในการทำงานของ คณะกรรมาธิการจะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ครับ ขอขยายเวลาไปอีก ๓๐ วัน ถ้าไม่มีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่น ถือว่าที่ประชุมเห็นชอบให้คณะกรรมาธิการ ได้ขยายเวลาการพิจารณาศึกษาออกไปอีกตามที่ร้องขอมานะครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๒ เรื่องที่ประธานแจ้งต่อที่ประชุม

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๒.๑ รับทราบพิจารณารายงานของวุฒิสภาจำนวน ๒ เรื่อง ด้วยสำนักงาน เลขาธิการวุฒิสภาได้มีหนังสือแจ้งว่าที่ประชุมวุฒิสภาได้พิจารณารับรองรายงานดังนี้นะครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๑. ในคราวประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๑๕ วันจันทร์ที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ รับทราบรายงานการรับจ่ายเงินงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ ตามที่ กระทรวงการคลังเสนอนะครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๒. ในคราวประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๑๖ วันอังคารที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ รับทราบรายงานการโอนงบประมาณรายจ่ายตามพระราชบัญญัติวิธีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๕๑ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ จึงขอแจ้ง ให้ที่ประชุมได้รับทราบนะครับ

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

ท่านประธาน ขออนุญาตครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญครับ

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

กราบขอบพระคุณครับ ท่านประธานครับ กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม อรรถกร ศิริลัทธยากร สส. จังหวัดฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ ผมขออาศัยอำนาจตามข้อบังคับ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อ ๕๕ (๔) ในการที่จะขอเลื่อนการพิจารณาเรื่องที่ ท่านประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม ตามระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เรื่องที่ ๒.๒ ๒.๓ ๒.๔ ในสัปดาห์นี้ไปพิจารณาหลังเรื่องด่วนครับ ซึ่งเรื่องด่วนก็คือการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชกำหนดการประมง โดยผมขออนุญาต ให้เหตุผลนะครับว่าจริง ๆ แล้วในเรื่องของการแก้ไขปัญหาของพี่น้องชาวประมง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกพรรคการเมือง ผมยืนยันต่อท่านประธานครับ เราเห็นว่า เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไข ก็มีทุกพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคก้าวไกล พรรคพลังประชารัฐ แล้วก็พรรคร่วมอีกหลาย ๆ พรรค ได้ยื่นแก้ไขร่างกฎหมายฉบับนี้เข้ามา ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้อาจจะมีเหตุการณ์ล่าช้าไปบ้าง ผมต้องขอขอบพระคุณโดยเฉพาะทางพรรคร่วมฝ่ายค้านที่เข้าใจแล้วก็รอ ทำให้วันนี้ ตอนนี้เราก็มีคณะรัฐมนตรีมาเสนอร่างของ ครม. แล้วนะครับ ผมจึงยืนยันครับว่าวันนี้ พวกเราสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเราจะได้ทำงานร่วมกัน ในการแก้ไขกฎหมายผ่านกระบวนการของรัฐสภา เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาวประมง ต่อไป ดังนั้นผมจึงขอให้เพื่อนสมาชิกได้เห็นด้วยกับญัตติที่ผมขอเสนอเลื่อนระเบียบวาระ ดังที่ผมได้นำเรียนท่านประธานไปเบื้องต้น ขอผู้รับรองด้วยครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

มีท่านสมาชิกได้เสนอญัตติขอเลื่อนการพิจารณาระเบียบวาระที่ ๒.๒ รับทราบรายงานการสร้าง ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ แล้วก็ระเบียบวาระที่ ๒.๓ รับทราบรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงิน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ ของกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติออกไปนะครับ พิจารณาต่อจากการพิจารณาระเบียบวาระเรื่องด่วน ซึ่งเรื่องด่วนก็คือร่างพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... ตามข้อบังคับ ข้อ ๕๕ (๕) จะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ครับ เห็นพ้องต้องกันนะครับ ถ้าไม่มีถือว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้เลื่อนการพิจารณาระเบียบวาระที่ ๒.๒ และวาระที่ ๒.๓ ออกไปก่อน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๔ เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เรียนท่านสมาชิกนะครับ สำหรับการพิจารณารับทราบรายงานผลการศึกษา ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ตามระเบียบวาระที่ ๔.๑ รายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง การพัฒนาระบบบำนาญพื้นฐานประชาชน และระเบียบวาระที่ ๔.๒ รายงานผลการ พิจารณาศึกษา ญัตติ เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง และป้องกันการเรียกรับผลประโยชน์โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ท่านประธานกรรมาธิการ การสวัสดิการสังคม และประธานกรรมาธิการคมนาคม ขอเลื่อนการรายงานต่อที่ประชุม สภาผู้แทนราษฎรไปก่อนนะครับ ก็เลื่อนหมดแล้วนะครับ

นายวีรนันท์ ฮวดศรี ขอนแก่น ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ขออนุญาตหารือ ท่านประธานนิดหนึ่งครับ ก่อนเข้าระเบียบวาระครับท่าน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญครับ

นายวีรนันท์ ฮวดศรี ขอนแก่น ต้นฉบับ

เนื่องจากเมื่อวานหลังจากที่เพื่อนสมาชิก หลายท่าน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือว่าฝ่ายรัฐบาลได้อภิปรายร่าง พ.ร.บ. จัดสรรที่ดินเสร็จ ทั้งของพรรคเพื่อไทยและของพรรคก้าวไกล แล้วก็หลังจากเสร็จท่านปิดประชุมนะครับ หลังจากที่เดินออกจากห้องประชุมผมได้ยินเสียงเพื่อนสมาชิกหลายท่านบอกว่าที่ท่าน ปิดประชุม เนื่องจากเกรงว่าสมาชิกฝั่งรัฐบาลจะไม่ครบองค์ประชุมนะครับ ซึ่งเสียงซุบซิบ แบบนี้ผมไม่สบายใจ ในฐานะที่ท่านเป็นประธานควบคุมการประชุมก็เลยอยากให้ ท่านประธานชี้แจงสักนิดนะครับ เพราะผมเห็นว่าไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งสำหรับท่านนะครับ ขอให้มีโอกาสได้ชี้แจง ขอบคุณครับ

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

ประธานครับ พาดพิงครับ ผมขอใช้สิทธิพาดพิงแล้วจะได้ชี้แจงด้วยครับท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญครับ

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับ กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม อรรถกร ศิริลัทธยากร สส. จังหวัดฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะตัวแทนของวิปรัฐบาลแล้วกันครับ ผมต้องชี้แจงต่อเพื่อนสมาชิก นะครับ ไม่ได้ว่าอะไร ผมอยู่สภามานานกว่าเลยรู้นะครับ ก็ต้องเรียนว่าก่อนหน้านี้เรายังไม่ได้ วางวาระของการประชุม แต่ว่าในขณะนี้มีตัวแทนจากทางวิปทั้ง ๒ ฝ่าย ทั้งฝ่ายค้าน และรัฐบาล เราไปพูดคุยเราไปตกลงในเรื่องของระเบียบวาระการประชุมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แล้วเราก็วางระเบียบวาระวันพุธเป็นการประชุมกฎหมาย ซึ่งเมื่อวานจริง ๆ แล้วผมต้อง บอกว่าท่านประธานขยันเกินกว่าปกตินะครับ เพราะปกติแล้วเราจะประชุมกันเราพิจารณากฎหมายจนถึงสักประมาณห้าโมงครึ่งถึงหกโมง ซึ่งท่านประธานก็คงเห็นว่าเมื่อวานมีเพื่อนสมาชิกใช้สิทธิในการอภิปรายเยอะ เพราะเป็น เรื่องที่มีความสำคัญ ดังนั้นก็เป็นเรื่องปกติครับ จะมาบอกว่าไม่แน่ใจว่าองค์ประชุมของ รัฐบาลน้อย จริง ๆ ผมเรียนท่านประธานด้วยความเคารพนะครับต่อเพื่อนสมาชิก องค์ประชุม เป็นของพวกเราทุกคน ๕๐๐ คน ดังนั้นเพื่อที่จะให้พวกเราเดินหน้าทำงานร่วมกันต่อไปได้ ผมเชื่อว่าหลังจากนี้เรามาช่วยกันในเรื่องของการรักษาองค์ประชุมดีกว่าครับ จึงขออนุญาต นำเรียนท่านประธานไปยังเพื่อนสมาชิกด้วยความเคารพครับ ขอบคุณครับ

นายวีรนันท์ ฮวดศรี ขอนแก่น ต้นฉบับ

ขออนุญาตใช้สิทธิพาดพิงนิดหนึ่งครับ ท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

พอแล้ว ไม่ต้องตอบโต้แล้ว เดี๋ยวผมตอบท่านเลยนะครับ ไม่ต้องตอบโต้นะครับ โดยปกติ เรากำหนดวาระการประชุมจนถึงหนึ่งทุ่ม ก็เห็นมีผู้อภิปรายจำนวนมาก ก็อยากจะให้มันจบ จบถึงสรุป แล้วก็มันเป็นดุลพินิจของประธาน ผมเลยเวลามาชั่วโมงกว่าก็เป็นดุลพินิจครับ เอาไปต่อครั้งต่อไปนะครับ ไม่มีปัญหาหรอกครับ ไม่มีปัญหาครับ ต่อไปเป็นการพิจารณา เรื่องด่วน ซึ่งท่านสมาชิกเห็นชอบว่าจะให้นำร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เรื่องด่วน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

- ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... (คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ)

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ด้วยคณะรัฐมนตรีได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมายังสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๓๓ (๑) และได้จัดให้มี การรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากกฎหมายแล้ว เพื่อประกอบพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๗ ทั้งนี้ มีร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีได้ขอรับไปพิจารณาก่อนรับหลักการ ตามข้อบังคับ ข้อ ๑๑๘ และได้ส่งคืนให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาพร้อมกัน จำนวน ๗ ฉบับ ดังนี้นะครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๑. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... (นายอนุทิน ชาญวีรกูล กับคณะ เป็นผู้เสนอ)

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๒. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. ... (นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ กับคณะ เป็นผู้เสนอ)

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๓. ร่างพระบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... (นายพิทักษ์เดช เดชเดโช กับคณะ เป็นผู้เสนอ)

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๔. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... (นายคอซีย์ มามุ กับคณะ เป็นผู้เสนอ)

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๕. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ ๒๕๕๘ พ.ศ. ... (นายวรภพ วิริยะโรจน์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ)

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๖. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... (พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง กับคณะ เป็นผู้เสนอ)

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๗. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... (นายวิชัย สุดสวาสดิ์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ)

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ผมเห็นว่าสามารถรวมระเบียบวาระการประชุมเพื่อนำร่างทั้ง ๘ ฉบับ มาพิจารณาพร้อมกัน ตามข้อบังคับ ข้อ ๕๕ (๒) และลงมติในวาระที่ ๑ ร่วมกันได้ ตามข้อบังคับ ข้อ ๑๑๗ วรรคสาม จะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ รวม ๘ ร่าง ถ้าไม่มีท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่น ถือว่าที่ประชุมเห็นชอบนะครับ ผมขอดำเนินการดังนี้นะครับ สำหรับร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีรับไปพิจารณานั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ รับทราบข้อสังเกตและผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และมีมติให้ส่งคืนร่างพระบัญญัติ พร้อมให้แจ้งความเห็นของคณะรัฐมนตรีว่าคณะรัฐมนตรีได้รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติ ทั้ง ๗ ฉบับดังกล่าว และให้ส่งความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบพิจารณา ของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ ๑ ต่อไป รายละเอียดปรากฏตามเอกสารที่จัดวางไว้ให้ ท่านสมาชิกแล้วนะครับ ในการนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า จะเป็นผู้แทนคณะรัฐมนตรีแถลงหลักการและเหตุผลต่อที่ประชุม และผมได้อนุญาตให้ บุคคลภายนอก ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีเข้าร่วมชี้แจงข้อเท็จจริงต่อที่ประชุม ตามข้อบังคับ ข้อ ๗๖ ตอนนี้ยังไม่มีรายชื่อขึ้นมานะครับ ก็เชิญท่านรัฐมนตรีแถลงครับ

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพและท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ กระผม ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมาย จากคณะรัฐมนตรีให้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... ของคณะรัฐมนตรีต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยมีหลักการและเหตุผล ของร่างพระราชบัญญัติดังต่อไปนี้

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้นฉบับ

เหตุผลและความจำเป็นในการเสนอร่างพระราชบัญญัติ โดยที่ พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่สอดคล้องกับ สถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของพี่น้องชาวประมง ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีการทำประมงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และเพื่อประโยชน์ ในการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม และสามารถ ทำการประมงได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน และชาวประมงผู้ประกอบอาชีพประมงโดยสุจริตให้ได้รับความเป็นธรรม ตลอดจนถึง การส่งเสริมประกอบอาชีพประมงให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ ดังนั้นพระราชบัญญัติฉบับนี้สาระสำคัญของพระราชบัญญัติได้แก้ไขทั้งหมด ๓๖ มาตรา และผมขออนุญาตนำเสนอต่อท่านประธานไปยังเพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ในมาตราสำคัญ ๆ ที่พี่น้องชาวประมงได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขโดยเร่งด่วน ซึ่งในส่วนของกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ โดยกรมประมงได้แก้ไขกฎหมายรองในช่วงระยะเวลา ๔ เดือนที่ผ่านมา ทั้งหมด ๑๙ ฉบับ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของพี่น้องชาวประมงตามที่เพื่อนสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งกระทู้ถามหลายครั้งในเรื่องนี้ แต่สำหรับประเด็นสำคัญที่ผม จะนำเสนอในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีสาระสำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนด การประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พอสังเขป ดังต่อไปนี้

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้นฉบับ

๑. การแก้ไขเพิ่มเติมเจตนารมณ์ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยมุ่งหมายให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและการสนับสนุนกิจการการประมง การคุ้มครอง การประกอบอาชีพการประมง การมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน ตลอดจนถึงการเน้นย้ำ ความสำคัญของการบังคับใช้มาตรการในการบังคับกับพี่น้องประชาชนให้มีความเหมาะสม กับบริบทของประเทศไทย ซึ่งร่างมาตรา ๓ ได้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๔

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้นฉบับ

๒. การแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า ทะเลชายฝั่ง โดยเพิ่มเติมการกำหนด เขตทะเลชายฝั่งให้มีระยะน้อยกว่า ๑.๕ ไมล์ทะเล สำหรับกรณีที่มีข้อจำกัดตามลักษณะ ทางกายภาพ และแก้ไขเพิ่มเติมตามบทนิยามคำว่า การประมงพื้นบ้าน เพื่อลดข้อจำกัด ในด้านพื้นที่ของการทำประมงพื้นบ้าน ซึ่งเดิมจำกัดแต่การทำประมงในเขตทะเลชายฝั่งเท่านั้น ร่างมาตรา ๔ ยกเลิกนิยาม คำว่า ทะเลชายฝั่ง และร่างมาตรา ๕ ยกเลิกบทนิยาม คำว่า ประมงพื้นบ้าน

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้นฉบับ

๓. การแก้ไขบัญญัติเกี่ยวกับคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ โดยเพิ่มเติมให้นายกรัฐมนตรีสามารถมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการได้ และเพิ่มเติม ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และเลขาธิการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เป็นกรรมการ โดยตำแหน่ง นอกจากนี้ในส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้มีการเพิ่มเติมให้รัฐมนตรี มีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ ในการคัดเลือกผู้แทนสมาคมการประมงด้านต่าง ๆ โดยให้มีการคัดเลือกกันเองในกรณีที่มีผู้แทนสมาคมในแต่ละด้านมากกว่าหนึ่ง และกำหนด เพิ่มเติมอายุการเป็นกรรมการของผู้ทรงคุณวุฒิจากเดิม ๒ ปี เป็น ๓ ปี และแก้ไขบทบัญญัติ เกี่ยวกับคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด โดยเพิ่มเติม การเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด และผู้แทนของศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติ ทางทะเลเฉพาะจังหวัดแต่ละจังหวัดที่มีอาณาเขต ซึ่งเรื่องนี้จะมีการแก้ไขมาตรา ๙ เพื่อแก้ไข มาตรา ๑๓ ร่างมาตรา ๑๐ เพื่อแก้ไข มาตรา ๑๔ (๑) ร่างมาตรา ๑๒ เพื่อแก้ไข มาตรา ๒๖

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้นฉบับ

๔. เพิ่มเติมคุณสมบัติของผู้มีสิทธิขอรับใบอนุญาตการทำประมงพื้นบ้าน เพื่อกำหนดเฉพาะผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้นที่สามารถมาขออนุญาตทำประมงพื้นบ้านได้ รวมถึง การตัดจำกัดจำนวนใบอนุญาตของแต่ละบุคคลออก เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชน ได้ทำการประมงพื้นบ้านของผู้มีสัญชาติไทย ซึ่งมีการร่างมาตรา ๑๓ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๓๒

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้นฉบับ

๕. การแก้ไขเพิ่มเติมลักษณะต้องห้ามของผู้ขออนุญาตใบอนุญาต ทำการประมง โดยให้จำกัดเหตุอันเป็นลักษณะต้องห้ามเฉพาะกับเรือที่เกี่ยวกับการกระทำ ความผิดเท่านั้น รวมถึงการลดระยะเวลาห้ามขอใบอนุญาตลงเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ของพี่น้องชาวประมง และเจ้าของเรือประมงซึ่งมีเรือประมงในครอบครองหลายลำ ซึ่งมีการ ร่างมาตรา ๑๕ เพื่อแก้ไขมาตรา ๓๙

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้นฉบับ

๖. กำหนดให้ผู้ประกอบการประมงสามารถขออนุญาตทำการประมง ในทะเลหลวงในบริเวณที่ไม่มีองค์การระหว่างประเทศใดควบคุมดูแล หรือขอทำประมง ชนิดพันธุ์สัตว์น้ำนอกเขตการบังคับใช้ของความตกลงระหว่างประเทศในบริเวณนั้นได้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการการประมงไทยให้มีศักยภาพสามารถขออนุญาต ไปทำการประมงในบริเวณดังกล่าวได้ โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และมาตรฐาน ที่อธิบดีประกาศกำหนด ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวจะสอดคล้องกับหลักการตามข้อบังคับ บทที่ ๑๑๙ แห่งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ซึ่งบังคับใช้กับการอนุญาต ทำการประมงในเขตทะเลหลวง ได้ร่างมาตรา ๓๘ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๔๘ วรรคสาม

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้นฉบับ

๗. การแก้ไขเพิ่มเติมให้สามารถใช้ระบบสังเกตการณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า e-observer ในเรือประมงนอกน่านน้ำไทย นอกน่านน้ำได้นอกจากการใช้คน เป็นผู้สังเกตการณ์เพื่อรองรับเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลง จึงได้ร่างมาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๕๐

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้นฉบับ

๘. การแก้ไขเพิ่มเติมให้สามารถใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่ช่องตาอวนเล็กกว่า ๒.๕ เซนติเมตร ทำการประมงในเวลากลางคืนได้นอกเขต ๑๒ ไมล์ทะเล นับจากแนวทะเล ชายฝั่ง ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และพื้นที่ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดอันเป็นการ แก้ไขเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวประมง ซึ่งได้ร่างมาตรา ๒๓ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๒๙

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้นฉบับ

ดังนั้นตามที่ผมได้รายงานต่อท่านประธานพอสังเขป ประโยชน์ที่ประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องชาวประมงจะได้รับ กฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่พี่น้องประชาชนได้รับความ ทุกข์ระทมช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ตามที่มีเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้นำเสนอหลายครั้ง และผมได้มีโอกาสมานั่งรับฟังตามที่เพื่อนสมาชิก ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านได้นำเสนอ สะท้อนเห็นความยากลำบากของพี่น้องชาวประมง ทั้งฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ดังนั้น กฎหมายนี้จะมีผลในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและพี่น้องชาวประมง ผู้ประกอบอาชีพการประมงโดยสุจริตให้ได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะการปรับปรุง บทกำหนดโทษให้สอดคล้องกับสภาพความรุนแรงของการกระทำความผิด ตลอดจนถึง การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการการประมงและอุตสาหกรรมประมงของประเทศฟื้นตัว อย่างเหมาะสม นอกจากนั้นเป็นการสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศควบคู่ไปกับ การรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อเป็นแหล่งอาหารของมนุษยชาติและการใช้ประโยชน์ ทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในการอนุรักษ์ บำรุง รักษา ฟื้นฟู การคุ้มครองสภาพสิ่งแวดล้อมให้ดำรงอยู่คู่กับสภาพที่เหมาะสม อย่างยั่งยืนต่อไป ผมจึงขออนุญาตท่านประธานผ่านไปยังเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... ต่อสภาแห่งนี้ด้วยความเคารพ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านรัฐมนตรีนะครับ เนื่องจากว่าคณะรัฐบาลได้รับร่างของท่านสมาชิกทั้ง ๗ ร่าง ไว้พิจารณาแล้ว ดังนั้นสำหรับการอภิปรายของท่านสมาชิกขอให้ท่านสมาชิกอภิปราย ในหลักการและเหตุผลของร่างที่คณะรัฐมนตรีเสนอ หรืออยู่ในประเด็นข้อสังเกต หรือผล การพิจารณาที่คณะรัฐมนตรีได้ส่งคืนมายังสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งวางไว้ให้ท่านได้พิจารณาแล้ว ก็ให้อยู่ในประเด็นนะครับ มีท่านผู้อภิปราย ท่านแรก ท่านจาตุรนต์ ฉายแสง เชิญครับ

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ผม จาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ผมได้รับมอบหมาย ให้มาอภิปรายในเรื่องของร่างพระบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ประเด็นที่ท่านประธานได้ให้แนวทางไว้ว่าในการ อภิปรายนี้ควรจะอภิปรายถึงร่างของคณะรัฐมนตรี เพราะว่าเราได้อภิปรายร่างของแต่ละ พรรคการเมืองไปในการประชุมก่อนหน้านี้มาแล้ว แต่เนื่องจากว่าร่างของคณะรัฐมนตรี ที่เสนอเข้ามาพร้อมกับข้อสังเกตหรือความเห็นที่มีต่อร่างของพรรคการเมืองต่าง ๆ นั้น จะทำให้อาจจะต้องมีการเท้าความย้อนหลังไปบ้าง เพื่อเป็นการเปรียบเทียบว่าร่างของ คณะรัฐมนตรีเมื่อเทียบกับร่างของพรรคการเมืองที่ได้เสนอไปก่อนหน้านี้ มีความแตกต่าง หรือมีความเหมือนกันมีจุดร่วมกันอย่างไร เพียงพอหรือไม่ที่เราจะสนับสนุนร่างของ คณะรัฐมนตรี ท่านประธานครับ ก็ขอเท้าความเพียงเล็กน้อยที่ท่านรัฐมนตรีได้ใช้คำว่า ในเวลาที่ผ่านมา ชาวประมง ประชาชนอยู่กับความทุกข์ระทม อันนั้นก็เป็นความจริง ความจริงอันนี้เกิดขึ้น จากการที่เมื่อทาง EU ได้ให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทยว่าได้ทำผิดหลักการของ IUU ในขณะนั้นรัฐบาลไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลที่ไม่มาจากการเลือกตั้งไม่เป็นที่ยอมรับ ของนานาประเทศ เวลาแก้ไขปัญหาเพื่อปลดใบเหลืองนั้นก็เลยได้ทำเกินไป เพื่อเป็นการเอาใจ เพื่อเป็นการหวังว่าจะได้รับการยอมรับจากนานาประเทศมากขึ้น ก็ทำเกินไปกว่าที่เขาขอ มีการออกคำสั่ง คสช. ไม่น้อยกว่า ๒๐ ฉบับ ขัดต่อหลักการของกฎหมาย ขัดต่ออนุสัญญา ระหว่างประเทศและขาดมนุษยธรรม พร้อมกับบทลงโทษสูงสุดและการใช้กฎหมาย ที่ไม่เป็นธรรม จากที่เขาให้ใบเหลืองมารัฐบาลในขณะนั้นใช้เวลาแก้ปัญหา ๓ ปี ๘ เดือน ๙ วัน จนถึงวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๓ EU ก็ปลดใบเหลืองให้ไทย แต่ผลงานของรัฐบาล ที่ไม่มาจากการเลือกตั้งในครั้งนั้นแลกมากับความเสียหายของพี่น้องชาวประมง และประชาชนที่เกี่ยวข้อง ธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ก็คือการประมงไทยล่มสลายที่เคยส่ง อาหารทะเลออกไปทั่วโลกปีละ ๓๐๐,๐๐๐ ล้านบาท กลายเป็นนอกจากส่งออกไม่ได้แล้ว ยังต้องนำเข้าปีละแสนล้านบาท ความเสียหายใน ๒๒ จังหวัด ๗๐๐,๐๐๐-๘๐๐,๐๐๐ ล้านบาท มา ๘-๙ ปี การประมงนอกน่านน้ำเหลือ ๐ ในน่านน้ำปริมาณเรือหายไป ๓๐-๔๐ เปอร์เซ็นต์ คนงานประมงตกงาน ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ปลาในประเทศไทยน้อย แต่ราคาไม่แพงมาก เพราะว่า มีการลักลอบหรือส่งเสริมให้มีการนำเข้าปลาจากต่างประเทศ กระทบต่อผู้เลี้ยงปลา หรือทำประมงน้ำจืด อันนี้เป็นปัญหาที่เกิดมาตลอด ๘-๙ ปีที่ผ่านมา และที่สำคัญก็คือ ชาวประมงซึ่งเป็นอาชีพที่ควรจะเป็นที่ภาคภูมิใจ ถูกลดเกียรติ ต้องไปติดคุกติดตาราง เป็นหนี้เป็นสิน ถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่ง ทางอาญา ทางปกครอง จนกระทั่งฆ่าตัวตายกันไปก็มี ถูกตราหน้าว่าเป็นพวกโจร เป็นพวกทำความเสียหายแก่ประเทศชาติ ฉะนั้นการจะแก้ปัญหานี้ จึงต้องแก้กฎหมายต่าง ๆ จำนวนมาก ซึ่งท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อสักครู่ก็ได้พูดว่าได้มีการแก้ไขกฎหมายระดับรองลงไปแล้วหลายฉบับ ซึ่งอันนั้น ก็เป็นเรื่องดีครับ แต่ว่าเรื่องใหญ่คือตัวร่างพระราชกำหนดที่เราจะต้องแก้นี้ ผมขอสรุป เพียงสั้น ๆ นะครับว่าร่างของพรรคเพื่อไทยเพื่อจะไปเปรียบเทียบว่าทำไมพรรคเพื่อไทย จึงจะสนับสนุนร่างของคณะรัฐมนตรีนี้ว่าร่างของพรรคเพื่อไทยปลดล็อกพระราชกำหนดประมง โดยเสนอให้คุ้มครองการประกอบอาชีพประมงให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวประมง เพิ่มอิสระให้กลุ่มประมงพื้นบ้านสามารถทำประมงนอกพื้นที่ทะเลชายฝั่งได้ เปิดช่อง ให้สามารถดัดแปลงเครื่องมือทำการประมง โดยให้รัฐกำหนดเครื่องมือต้องห้ามที่ผิดกฎหมาย ให้ชัดเจน แก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรงให้เหมาะสม โดยไม่กำหนด ให้เรือประมงเป็นสิ่งที่ต้องถูกริบ แก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษปรับทางอาญาให้มีจำนวนค่าปรับ ที่เหมาะสม โดยกำหนดให้มีเพียงค่าปรับขั้นสูงเพื่อทำให้แต่ละฐานความผิดสามารถ ใช้ดุลยพินิจในการกำหนดค่าปรับให้เหมาะสมกับพฤติการณ์ อันนี้คือสาระสำคัญ ในร่างพระราชบัญญัติประมงที่พรรคเพื่อไทยเสนอ ท่านประธานครับ ขณะนี้มีร่าง คณะรัฐมนตรีเข้ามา เราพิจารณาแล้วก็เห็นว่ามีประเด็นสอดคล้องอย่างมีนัยสำคัญ กับเป้าหมายของร่างพรรคเพื่อไทย คือการผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพ ในการทำประมง คุ้มครองอาชีพประมง มาตรการเหล่านี้ล้วนมาจากการคำนึงถึงวิถีการทำประมงจริง ๆ ผมยกตัวอย่าง เช่น มาตรา ๖๙ ผ่อนปรนให้ใช้อวนล้อมที่เล็กกว่า ๒.๕ เซนติเมตร ได้ในเวลากลางคืนในที่ที่เป็น บริเวณน้ำลึก มาตรา ๕๗ ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การจับสัตว์น้ำตัวอ่อน มาตรา ๔๒ ผ่อนปรน การดัดแปลงเครื่องมือประมงให้ทำได้ในกรณีที่ไม่มีผลต่อปริมาณสัตว์น้ำหรือตัวอ่อนสัตว์น้ำ มาตรา ๔๘ คืนชีวิตประมงนอกน่านน้ำภายใต้กติกาสากล ให้ผู้ประกอบการประมงไทย สามารถขออนุญาตทำการประมงในทะเลหลวง มาตรา ๔ กำหนดทะเลชายฝั่งให้น้อยกว่า ๑.๕ ไมล์ทะเลก็ได้ เช่น ในพื้นที่ทะเลน้ำลึกที่ใกล้ชายฝั่ง อีกข้อหนึ่งที่สำคัญที่ตรงกับร่างของ พรรคเพื่อไทย ความจริงรวมทั้งอีกหลายพรรครวมทั้งพรรคฝ่ายค้าน ทั้งพรรคฝ่ายค้านและ พรรครัฐบาลก็คือทำให้ประมงพื้นบ้านมีอิสระมากขึ้น ก็อยู่ในมาตรา ๕ ลดข้อจำกัดด้านพื้นที่ ในการทำประมงพื้นบ้านให้ทำได้ทั้งในเขตชายฝั่งและครอบคลุมนอกชายฝั่งด้วย

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ส่วนที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือแม้จะเปิดโอกาสให้มีการประมงเพิ่มมากขึ้น แต่ก็เพิ่มสัดส่วนในการควบคุมและบทลงโทษ เพื่อให้เกิดการทำประมงที่ยั่งยืนควบคู่ไปด้วย อันนี้เหมือนกับข้อเสนอของพรรคก้าวไกลที่ต้องการให้การหารายได้จากการทำประมง สมดุลกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ก็อยู่ในมาตรา ๖๖ มาตรา ๖๗ มาตรา ๘๑ ผมจะไม่ขอ กล่าวในเนื้อหาในรายละเอียด ที่ตรงกับร่างของหลายพรรคคือองค์ประกอบของคณะกรรมการ ประมงจังหวัดที่กระจายอำนาจสู่มือประมงท้องถิ่นมากขึ้น โดยรวมแล้วร่างพระราชบัญญัติ ประมงที่ ครม. เสนอนี้มีจุดร่วมกันกับร่างของพรรคการเมืองต่าง ๆ ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่เสนอ ก็คือร่างพระบัญญัตินี้ไม่ได้ขัดกับหลักของ IUU ของสหภาพยุโรป แต่ให้มีข้อปฏิบัติและบทลงโทษที่แตกต่างออกไป เพื่อไม่ให้มีมาตรการ ที่รุนแรงเกินกว่าเหตุเหมือนอย่างในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งก็จะอยู่ในมาตรา ๘๒ และมาตรา ๘๙ ซึ่งท่านรัฐมนตรีก็ได้ชี้แจงแล้วเมื่อสักครู่ หลายมาตราได้มีการกำหนดโทษให้เหมาะสม กับพฤติการณ์ความผิด โดยทำบนหลักการที่ว่าชาวประมงยังคงกลับมาทำอาชีพประมงได้ ไม่ตัดโอกาสพวกเขาไปตลอดชีวิต อันนี้อยู่ในมาตรา ๓๙ มาตรา ๑๑๔ มาตรา ๑๒๑ ถึงมาตรา ๑๗๐ เราก็ศึกษาโดยละเอียดและมีการเปรียบเทียบกับร่างของพรรคการเมือง หลาย ๆ พรรคประกอบกัน โดยสรุปครับท่านประธาน ขณะนี้คือร่างนี้มาจากความต้องการ ของชาวประมง เพราะว่านี่เป็นนิมิตใหม่ นิมิตใหม่ก็คือว่าปกติเราจะเห็นว่าเมื่อ สส. เสนอ ร่างกฎหมาย รัฐบาลรับไปพิจารณาก่อนรับหลักการ พอกลับมามีร่างของรัฐบาลมา เพื่อจะเป็นร่างหลัก และเนื้อหามักจะถูกกำหนดโดยส่วนราชการต่าง ๆ มากกว่าที่จะมี ความสอดคล้องกับร่างของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ครั้งนี้ร่างของคณะรัฐมนตรี ได้รวมเอาความเห็นของ สส. ซึ่งคุยกันมาตั้งแต่สภาชุดที่แล้ว แล้วก็ตลอดเวลาในการ หาเสียงเลือกตั้งพรรคการเมืองต่าง ๆ ก็ไปฟังความเห็นของประชาชน และความเห็นเหล่านั้น ก็ถูกบรรจุอยู่ในร่างของพรรคการเมืองต่าง ๆ รวมทั้งร่างของพรรคเพื่อไทยที่คุณวิสุทธิ์ ไชยณรุณ เป็นผู้เสนอ เมื่อมีการนำความเห็นต่าง ๆ จากทั้งพรรคการเมือง จากทั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เราก็ได้ร่างที่ไม่ขัดที่ไม่ขัดต่อหลัก IUU และจะเป็นการนำรายได้ กลับคืนสู่พี่น้องชาวประมงและอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยที่มีความสมดุลในการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งให้ยั่งยืน และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ก็ทำบน หลักมนุษยชน ท่านประธานครับ ร่างของ ครม. ก็ดี ร่างของพรรคการเมืองต่าง ๆ เกือบจะ เรียกว่าเกือบทุกพรรคที่ได้เสนอกันเข้ามาในคราวนี้ ถ้าเราเห็นชอบในหลักการและมี คณะกรรมาธิการวิสามัญไปพิจารณา โดยนำเนื้อหาของร่างทั้งของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล พรรคการเมืองฝ่ายค้านที่มีหลายเรื่องสอดคล้องกัน ตรงกัน มีบางอย่างต่างกัน แต่ก็อาจจะ เลือกนำมาใช้เป็นประโยชน์ในการทำให้เป็นร่างที่จะกลับเข้ามาสู่สภาพิจารณาในวาระที่ ๒ และวาระที่ ๓ ต่อไป ผมในนามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย จึงขอสนับสนุน ร่างที่คณะรัฐมนตรีเสนอเข้ามาในครั้งนี้ และเสนอให้สภาลงมติเห็นชอบรับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติทุกฉบับที่กำลังพิจารณาและจะลงมติในขั้นรับหลักการต่อไป ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านสมาชิกครับ เหลืออีก ๒ ท่าน มีท่านวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ แล้วก็ ท่านพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากนั้นท่านรัฐมนตรีก็จะสรุปแล้วเราก็จะโหวต แล้วก็ท่านสมาชิก ที่อยู่ตามห้องต่าง ๆ ก็เตรียมตัวนะครับ ต่อไปเชิญท่านวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ ครับ เชิญครับ

นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สตูล ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ผม วรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล พรรคภูมิใจไทย ท่านประธานครับ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ผมคิดว่าน่าจะเป็นร่างที่เป็นกฎหมายที่ทุลักทุเลที่สุดฉบับหนึ่ง เราทำกันมาตั้งแต่สมัยที่แล้วครับ ตั้งแต่สภาสมัยที่แล้วจนมาถึงสมัยนี้แล้วก็เกือบที่จะตก ไปอีกเมื่อ ๒ สัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ต้องขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีชาดา ไทยเศรษฐ์ ที่วันนั้น เข้ามาแก้ปัญหา และขอบคุณท่านรัฐมนตรีธรรมนัส พรหมเผ่า ท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมไปถึงท่านนายกรัฐมนตรีและคณะ ครม. ที่ท่านได้แสดง ให้เห็นถึงความจริงใจ ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่ตั้งใจจะแก้ปัญหาให้พี่น้องชาวประมงจริง ๆ จากเดิมกฤษฎีกาจะขอกลับไปทบทวน ๖๐ วัน แต่ ครม. จัดการได้ กฤษฎีกาจัดการให้เสร็จ ภายใน ๑๕ วัน ซึ่งต้องกราบขอบพระคุณทุกท่านจริง ๆ ท่านประธานครับ สุดท้ายสิ่งที่ พวกเราทำกันในวันนี้ทั้งสภาผู้แทนราษฎร ทั้ง ครม. ก็จะเกิดประโยชน์กับพี่น้องชาวประมงครับ พอเรามาดูในตัวบทกฎหมายที่ ครม. เสนอเข้ามาครับท่านประธาน ต้องบอกว่าเป็นกฎหมาย ที่มีความคล้ายกับกฎหมายที่ทางพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้เสนอเข้าไป เข้าไปแก้เรื่อง คณะกรรมการประมงจังหวัด เข้าไปแก้เรื่องของประมงพื้นบ้าน เข้าไปแก้เรื่องของสิทธิ การทำการประมง และที่สำคัญที่สุดที่บอกว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่รังแกพี่น้อง ชาวประมงก็คือเรื่องของบทลงโทษ เข้าไปแก้ในรายละเอียดเหล่านี้ครับ เพราะฉะนั้น ผมเลยกล้าที่จะบอกได้ว่าร่างต่าง ๆ ที่เราเสนอกันเข้าไป แล้วที่เรากำลังจะหยิบขึ้นมา พิจารณาในอนาคตอันใกล้นี้เป็นร่างที่มาจากความต้องการของพี่น้องประชาชน ที่ผมกล้าพูด แบบนี้เพราะว่าจริง ๆ แล้วข้อมูล ร่าง พ.ร.บ. ทั้งหลายส่วนใหญ่แล้วเอามาจากร่างที่ กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วจากสภาสมัยที่ผ่านมา ซึ่งประกอบไปด้วยทุกองคาพยพ ที่เกี่ยวข้องกับการทำการประมง ไม่ว่าจะส่วนราชการ ส่วนการเมือง รวมไปถึงส่วนพี่น้อง ชาวประมง ซึ่งเป็นหัวใจหลักสำคัญที่สุดของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ท่านประธานครับ ถ้ากฎหมายฉบับนี้ทุกพรรคเห็นด้วยรับหลักการเข้าไปพิจารณา ต้องบอกว่าเป็นผลงานของทุกคน และเป็นของทุกคนจริง ๆ เพราะผมเชื่อว่าวันนี้ไม่มีใคร ที่ไม่เห็นด้วยกับการรับหลักการของกฎหมายฉบับนี้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือจะเป็นรัฐบาล ต้องขอบคุณไว้ล่วงหน้าเลยนะครับ สุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นก็จะกลับไปหาพี่น้องประชาชน กลับไปหากับพี่น้องชาวประมงที่เขาเฝ้ารอ เฝ้ารอมาตลอด ๙ ปี เรามาร่วมกันสร้าง ประวัติศาสตร์ในการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ที่ทำให้พวกเขานอนไม่หลับ หลับก็หลับไม่สนิท และจงภูมิใจครับว่าวันนี้เราเข้าไปปลดโซ่ตรวนให้กับคนบริสุทธิ์ที่ถูกใส่ร้ายว่าเป็นผู้ร้าย ของประเทศชาติมาตลอด ๙ ปี ให้กลายเป็นผู้บริสุทธิ์สักที และสุดท้ายในจุดยืนของผม ในจุดยืนของพรรคภูมิใจไทย ผมก็อยากจะยืนยันตรงนี้ครับว่าเราไม่อยากจะให้มีการทำ การประมงแบบไร้การควบคุม มันควรจะเป็นการทำการประมงแบบที่มีการควบคุมที่เหมาะสม และมีบทลงโทษที่สมควรให้กับโทษต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นบทลงโทษที่ไปฆ่าเขา เหมือนอย่างที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นผมเองเป็น ๑ เสียง ในสภาอันทรงเกียรติแห่งนี้ ที่อยากจะเรียกร้องให้ทุกท่านได้สนับสนุนและรับร่างกฎหมายฉบับนี้เพื่อไปพิจารณาต่อ ในวาระที่ ๒ และวาระที่ ๓ ขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านสุดท้าย ท่านพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เชิญครับ

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ ขอลุกขึ้นอภิปรายปิดท้ายร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... ก่อนที่ท่านรัฐมนตรีจะสรุป และรัฐสภาแห่งนี้จะลงมติกัน คงต้อง เริ่มต้นด้วยการเตือนสติเพื่อนสมาชิกที่อยู่ในห้องนี้ วันนี้ผมยืนท่ามกลางสมาชิกจากทั้ง ๒๒ จังหวัด ที่มีพื้นที่ติดชายทะเล วันนี้วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ครับ ปีที่แล้ววันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ เราอภิปรายเรื่อง พ.ร.บ. ประมงนี้ ข้างบนมีพี่น้องชาวประมงมากกว่า๒๒ จังหวัด มารอฟังเรา ปีที่แล้วเราผ่านมติ ๒๙๑ เสียง ตั้งกรรมาธิการ เตือนสติกันอีกครั้งครับ กฎหมาย พ.ร.ก. ประมง ตั้งแต่วันที่ ๒๑ เมษายน ปี ๒๕๕๘ แสดงให้เห็นถึงแรงเฉื่อยของ การแก้ไขปัญหาให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชน แสดงให้เห็นถึงแรงเฉื่อยของสภาแห่งนี้ แสดงให้เห็นถึงแรงเฉื่อยของการที่จะมีวาระในการแก้ไขกฎหมายให้กับพี่น้องประชาชน เตือนสติกันอีกครั้งครับ ปี ๒๕๕๘ ที่เราผ่านกฎหมาย พ.ร.ก. IUU

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ในหนังสือของสภาเขียนไว้ ฉบับนี้ครับ กฎหมาย ระเบียบของสหภาพยุโรปมีสถานะเป็นเพียงกฎหมายภายในภูมิภาค ของประเทศที่สมาชิกสหภาพยุโรปจะต้องปฏิบัติตาม แม้ประเทศไทยไม่ได้เป็นสมาชิก ของสหภาพยุโรป แต่ก็ต้องปฏิบัติตามเรียกว่าหลัก Long Arm Jurisdiction เปรียบเสมือน การออกกฎหมายภายในประเทศอื่น เนื่องจากประเทศไทยไม่ปฏิบัติตามก็จะไม่สามารถ ส่งสินค้าประมงไปขายสหภาพยุโรปได้ เตือนสติกันอีกครั้งหนึ่งว่าประเทศไทยส่งออกประมง ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ส่งออกไปยุโรปแค่ ๖.๗ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่คนที่ต้องรับกรรม คือพี่น้องประชาชนที่ไม่ได้ส่งออกไปยุโรป คนส่งออกไม่ได้รับโทษ คนรับโทษไม่ได้ส่งออก อันนี้คือความอยุติธรรมตลอด ๑๐ ปีที่ผ่านมา ที่พ่อแม่พี่น้องประชาชนน้ำตาไหลแล้ว น้ำตาไหลเล่า เพราะฉะนั้นวันนี้เป็นวันที่เราจะร่วมนิมิตหมายทุกคนทุกพรรคในการผ่าน กฎหมายฉบับนี้ ตั้งกรรมาธิการและผ่านกฎหมายโดยเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพราะอย่าง สไลด์ที่อยากจะโชว์ให้ท่านประธานดู อยากจะโชว์ให้ท่านรัฐมนตรีดู อยากจะโชว์ให้ นายกรัฐมนตรีดู ว่าผลกระทบของอุตสาหกรรมประมงที่เกิดขึ้นนั้นหนักแค่ไหน และยาวนาน แค่ไหน ทางด้านซ้ายสุดท่านดูกราฟครับ ปี ๒๕๖๐-๒๕๖๖ การส่งออกประมงลดออกไป ๑๑ เปอร์เซ็นต์ครับ อย่าลืมว่าการส่งออกไม่ได้อยู่แค่การจับปลานะครับ มันอยู่ที่อุตสาหกรรมต่อเนื่อง ในกราฟตรงกลางและกราฟทางขวา ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือ ไม่ว่าจะเป็นสะพานปลา ไม่ว่าจะเป็น การขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นโรงงานน้ำแข็ง อย่างที่นายกรัฐมนตรีไปมาเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ที่ผ่านมา และไปสัญญากับนายกสมาคมชาวประมงเอาไว้ว่าจะแก้ไขชาวประมงให้ได้เร็วที่สุด อย่างน้อยกฎหมายลูกต้องแก้ให้ได้ภายใน ๙๐ วัน ดูตัวเลขสิครับท่านประธาน ดูตัวเลขสิครับ ท่านรัฐมนตรี ผ่านท่านประธานผ่านไปยังท่านรัฐมนตรี ตัวเลขที่หายไปไม่ว่าจะเป็นจำนวน ที่จับได้ของสะพานปลา ไม่ว่าจะเป็นการขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นจำนวนซื้อขายที่สะพานปลา จาก ๒,๐๐๖ เหลืออยู่ ๑,๕๐๐ ต่อวัน หายไป ๒๕ เปอร์เซ็นต์ นี่ยังไม่รวมเรื่องของ อุตสาหกรรมโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำเค็มที่หายไปอีก ๒๔ เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเวลาที่กฎหมาย ฉบับนี้ขึ้นมา อันนี้คือความใหญ่ อันนี้คือความหนัก อันนี้คือความยาวนานกว่า ๑๐ ปี ที่พ่อแม่พี่น้องชาวประมงโดนกฎหมายอำนาจนิยมกดขี่พวกเขาไว้ โดนบีบเสียจนไม่มี ทางเลือกที่จะเหลือ

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ถ้าดูในสไลด์ต่อไปครับ ไม่ใช่ในแง่ของเรื่องแค่เศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวครับ ท่านประธาน อันนี้คือจำนวนของชาวประมงที่กลายเป็นผู้ต้องหาคดี ๔,๖๓๒ คือจำนวน ครอบครัวที่อยู่ดี ๆ เป็นชาวประมงแล้วต้องกลายเป็นผู้ต้องหาคดีไป โทษปรับหนัก โทษจำคุกหนัก เล่นกันจนถึงว่าต้องบีบกันขายเรือมากมาย อันนี้คือเป็นสิ่งที่เขาบอกกับผม อย่างนี้ครับท่านประธาน การที่จะต้องปรับตัวตาม IUU เขาไม่ได้ว่าอะไร เพียงแต่ว่า มันต้องให้โอกาสเขาปรับตัว ไม่ใช่ว่าปรับจนเขาล้มละลาย ถ้ามีกฎหมายให้ แต่มีระยะเวลา เปลี่ยนผ่านให้ มีกองทุนประมงที่ทำให้เขาสามารถที่จะปรับตัวได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง VMS ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง PIPO ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ๓ ไมล์ทะเล ๓ ไมล์ทะเลก็วนไป VMS แล้วก็ วนไป PIPO แล้วก็วนไปเรื่องแรงงานอีก เรื่องพวกนี้ผมฟังมาตั้งแต่เป็น สส. สมัยแรก ตั้งแต่ยังมีพรรคอนาคตใหม่ เป็นประธานกรรมาธิการที่ดินก็ยังต้องฟังเรื่องนี้ เป็น Candidate นายกรัฐมนตรีก็ยังต้องฟังเรื่องนี้ นี่โชคดีได้กลับมาเป็น สส. สมัยที่ ๒ ก็ยังต้องฟังเรื่องแบบนี้ เราเยียวยาพวกเขาอย่างไรครับ แน่นอนกฎหมายต้องทำให้ถูกต้อง และต้องทำให้ศักดิ์สิทธิ์ ผมไม่เถียง แต่มันได้สัดส่วนหรือเปล่ากับอาชญากรรมที่เขาก่อ มีคนหนึ่งบอกผมนะครับ คุณพ่อกำลังจะเสียชีวิตอยู่บนเรือไม่ได้แจ้ง VMS ไม่ได้แจ้ง PIPO กลับเข้ามาชายฝั่งโดนคดีนะครับ โดนค่าปรับหลายแสนนะครับ เพราะฉะนั้นนี้ถ้ามันมีกฎหมาย ที่แข็งที่มันไม่ได้เป็นอำนาจนิยม ที่มันมีส่วนร่วมมากเกินไปช่วย ๆ กันค่อยปรับตัวมีใบเหลือง ใบแดงนี้ ผมคิดว่าพี่น้องชาวประมงก็คงจะไม่ได้ต่อต้าน หรือไม่ต้องเจ็บปวดเสียขณะนี้ อันนี้คือกระบวนการในการปรับ ปรับไปในทิศทางไม่ว่ากัน แต่ความเร็วในเรื่องของ Speed มันก็ต้องค่อย ๆ ปรับตัว แล้วรัฐก็ไม่ใช่บอกว่าออกกฎหมายมาทุ่มใส่เขาอย่างเดียว แต่ในขณะเดียวก็ทุ่มความช่วยเหลือ ทุ่มงบประมาณให้เขาสามารถที่จะลืมตาอ้าปาก และสามารถปรับตัวไปได้ด้วย อันนี้คือการเดินทางร่วมกันของรัฐและชาวประมง อย่างมีส่วนร่วม ผมจึงขอเรียกร้องให้สภาแห่งนี้ครับ นอกจากจะผ่าน พ.ร.บ. ต่าง ๆ ของ ๔-๕ ร่างที่มี ไม่ว่าจะเป็นร่างของ ครม. เอง ร่างของพรรคอื่น ๆ เพื่อนสมาชิกที่อยู่ในนี้ อยากให้รวมร่างของพรรคก้าวไกลเข้าไปด้วย ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ครับท่านประธาน พ.ร.บ. ของพรรคก้าวไกลเน้นอยู่ที่การให้ท้องถิ่นดูแลทรัพยากรเอง ของพรรคก้าวไกล เราเชื่อในการส่งเสริมศักยภาพของชาวประมงครับ เราเชื่อในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ในระยะยาว เราเชื่อในความมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนี้ผมขอรับประกันครับ คนร่างนั่งอยู่ข้าง ๆ ผมตรงนี้ คุณวรภพมั่นใจว่าร่างของพรรคก้าวไกลมีส่วนประกอบสำคัญ ทั้ง ๓ อันนี้อยู่ในร่างของพรรคก้าวไกล และถ้าจะให้เป็นรูปธรรมพี่น้องชาวประมงถาม ยังไม่ได้อ่านเลย พ.ร.บ. ของคุณวรภพเขียนไว้ว่าอะไร ขอให้ตอบเป็นรูปธรรมแบบนี้ครับว่า ในร่างของเราคือคณะกรรมการประมงจังหวัดที่จะมีการกำหนดเงื่อนไขการประมง ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ไม่ใช่ตัดเสื้อตัวเดียวเป็นเสื้อโหลให้ทุกคนใส่เหมือนกันหมด เราเน้นการขยายขอบเขตกำหนดการทำประมงและการอนุรักษ์เป็น ๑๒ ไมล์ทะเล เราเน้นองค์ประกอบที่มีประชาชนไม่น้อยกว่า ๔ คน เราเน้นให้หัวโต๊ะเป็นนายก อบจ. ที่มาจากการเลือกตั้งและเราเน้นที่การมีตัวแทนเทศบาลและ อบต. ถ้ากรรมาธิการที่จะเข้าไปศึกษาเพิ่มอย่างที่ปีที่แล้วก็ศึกษามาแล้ว ปีนี้ก็ยังจะศึกษาอีก มีเนื้อหาของ พ.ร.บ. ของพรรคก้าวไกลเข้าไปจะทำให้ท่านทำงานได้มากขึ้นครับ อย่างน้อย ให้มันมีพื้นที่ ให้มันมี Space ที่จะสามารถเข้าไปศึกษาเรื่องพวกนี้ ท่านจะแปรญัตติอะไร ผมไม่ว่า แต่อย่างน้อยให้มันมีโอกาสเรื่องนี้ในการทำงานของวาระของคณะกรรมาธิการ ที่จะตั้งขึ้น สุดท้ายวิสัยทัศน์ในเรื่องเกี่ยวกับการประมงของประเทศไทย ขอให้ คณะกรรมาธิการ ขอให้ ครม. ขอให้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องคิดถึง ๓ หลักสำคัญของการ ทำประมงในประเทศไทยครับ

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อันที่ ๑ คือเรื่องการรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรประมง ขอให้นึกถึงคำว่า Blue Economy ไว้ ขอให้นึกถึงคำว่า เปลี่ยนจากจับมากได้น้อย เป็นจับน้อยให้ได้มาก ไม่เอาแล้วปลาเป็ดที่เอาไปเป็นอาหารสัตว์มาก ๆ จับมาก ๆ เข้าไป แต่ไม่มีมูลค่าที่ได้เพิ่ม ขึ้นมาอีกเลย ขอให้เน้นไปเรื่องที่ ๒ ครับ

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อันที่ ๒ เรื่องของวิถีชีวิตของพี่น้องชาวประมง แทนที่จะใช้กฎหมาย บีบบังคับเขาเอากฎหมายทุบหัวเขา เพิ่มเทคโนโลยีให้เขาสิครับ คิดถึงเรื่องที่ชื่อว่า Precision Fisheries อวน Net แบบไหนที่มีทางลอดให้สัตว์น้ำอนุบาลให้ลูกเต่าสามารถลอดออกไปได้ ถึงแม้ว่าเขาจะอยู่ใน Net อย่างนี้ อันนี้เป็นเรื่องที่ทั่วโลกกำลังคิดถึงในเรื่องแบบนี้

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สุดท้ายในเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจเน้นในเรื่องของ Environment แล้ว เน้นในเรื่องของ Livelihood แล้วก็เน้นในเรื่องของ Economy บ้าง Marine Biotechnology การเพิ่มมูลค่าให้มันมากกว่าสิ่งที่มันเป็นอยู่แค่การประมงในพื้นที่ทางทะเลเป็นได้มากมาย เพียงแต่เราจำ Keyword 3 Keyword พวกนี้ไว้ก็จะสามารถเห็นได้ว่าอีก ๑๐ ปีข้างหน้า การประมงของประเทศไทยหน้าตาจะเป็นแบบใด ที่มีทั้งเรื่องสมดุลเรื่องของการรักษา ทรัพยากรธรรมชาติ การดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวประมง และส่วนสำคัญให้ประมง เป็นเสาหลักของเศรษฐกิจไทยต่อไปชั่วนิรันดร ขอบพระคุณมากครับท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ตามข้อบังคับ ข้อ ๗๕ นะครับ ท่านรัฐมนตรีจะสรุปอีกครั้งหนึ่งไหมครับ

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพะเยา เขต ๑ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผมนั่งฟังการบรรยายเพิ่มเติมของเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง ๓ ท่าน ผมก็หลับตา แล้วก็นึกถึงภาพของพี่น้องชาวประมงทั้ง ๒๒ จังหวัด ว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาเกือบ ๑๐ ปี ความทุกข์ระทมกับพี่น้องชาวประมงทั้ง ๒๒ จังหวัด เรานึกสภาพว่าสมัยก่อนนี้ ก่อนที่เราไม่มีกฎหมายที่มาบังคับพี่น้องชาวประมงที่เป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากิน ภาคทางทะเล ประมงไทยเราถือว่าเป็นจ้าวสมุทร เราเป็นประเทศที่มีพี่น้องชาวประมง ทำมาหากินอยู่ ๒๒ จังหวัด สามารถทำรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล แต่ในช่วง ระยะเวลาที่ผ่านมาอุปสรรคกฎหมายมันมาบังคับให้พี่น้องชาวประมงไม่สามารถที่จะอยู่รอด มีแต่สภาพหนี้สิน มีคดีความติดตัวเยอะแยะ ผมเดินทางไปตรวจราชการหลายจังหวัด ผมต้องขอบคุณเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่ท่านได้สะท้อน ให้เห็นถึงปัญหาของพี่น้องชาวประมง ผมเดินทางไปที่จังหวัดระยองผมได้รับเกียรติจาก เพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง ผมจำชื่อเล่นว่าชื่อท่านกฤกษณ์ ท่านลงพื้นที่ กับผม แม้กระทั่งผมไปประชุมสัมมนากับพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านที่จังหวัดระนอง ท่านก็ลง พื้นที่กับผม ท่านได้สะท้อนเห็นปัญหาถึงพี่น้องชาวประมงในทุกมิตินะครับ ในขณะเดียวกันพี่น้องพรรคฝ่ายรัฐบาลหลาย ๆ ท่าน อย่างล่าสุดผมเดินทางไปปฏิบัติการ ปิดอ่าวที่จังหวัดชุมพร เพื่อปล่อยโอกาสให้สัตว์น้ำได้ขยายพันธุ์ในช่วงฤดูกาลขยายพันธุ์ ก็มีพี่น้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพรทั้ง ๓ เขต ต่างก็โทรมาหาผม ซึ่งวันนั้น เป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ต่างก็สะท้อนให้เห็นมิติต่าง ๆ ของความเดือดร้อน พี่น้องประชาชนชาวประมง เดินทางไปแปดริ้วครับ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติหลายท่านก็บอกว่า พี่น้องคนแปดริ้วอยู่ไม่ได้แล้ว ดังนั้นในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาคดีต่าง ๆ ความทุกข์ระทม ต่าง ๆ ผมว่าวันนี้พี่น้องชาวประมงทั้งอ่าวไทยและอันดามันต่างก็เฝ้าติดตามดูการประชุม ของสภาผู้แทนราษฎรในวาระสำคัญที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของพวกเขา ๒๒ จังหวัด นายกประมง ทั้ง ๒๒ จังหวัด ต่างก็เฝ้ารอคอยว่าวันนี้กฎหมายที่เพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนำเสนอ โดยเฉพาะกฎหมายที่รัฐบาลนำมาเสนอวันนี้ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นการร่างขึ้นมา โดยผู้มีส่วนร่วมคือภาคพี่น้องชาวประมง เพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านในสมัยที่แล้ว ดังนั้นวันนี้ผมในฐานะที่เป็นตัวแทนของคณะรัฐมนตรี เมื่อสักครู่ ท่านนายกรัฐมนตรีท่านเศรษฐา ทวีสิน ท่านก็มานั่งและให้กำลังใจว่าวันนี้อย่างไรเราต้อง สร้างประวัติศาสตร์ให้กับวงการประมงไทย ให้พี่น้องชาวประมงได้มีโอกาสลืมตาอ้าปาก ผมถือว่าวันนี้พวกเราในฐานะเป็นเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยกัน เรามาร่วมทำบุญกัน เราทำบุญให้กับพี่น้องคนไทย โดยเฉพาะครอบครัวประมงทั้ง ๒๒ จังหวัด ผมขอกราบ ขอบพระคุณท่านประธานผ่านไปยังเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยความเคารพ และในฐานะที่ผมได้คลุกคลีกับพี่น้องชาวประมง โดยเฉพาะนายกสมาคมประมงทั้ง ๒๒ จังหวัด ท่านนายกทั้งหลายฝากผมมาว่าขอขอบคุณเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลที่เห็นความสำคัญของวิถีชีวิตพี่น้องประชาชน ขอบคุณครับ ท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับคณะผู้บริหาร สมาชิกสภา ผู้นำชุมชน ผู้นำเยาวชน พนักงานส่วนตำบล และพนักงานจ้างจากองค์การบริหารส่วนตำบลอาซ่อง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับนะครับ ท่านสมาชิกครับ ก่อนลงมติผมขอตรวจสอบองค์ประชุมนะครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญท่านสมาชิกเข้าห้องประชุม

นายชัยชนะ เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ๐๘๕ แสดงตนครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เดี๋ยวนะครับ

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

ท่านประธานคะ ฐิติมา ฉายแสง ๑๑๘ แสดงตนค่ะ

นายณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ๓๙๓ ณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช แสดงตนครับ

นางรำพูล ตันติวณิชชานนท์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ

ท่านประธานคะ รำพูล ตันติวณิชชานนท์ ๓๐๗ แสดงตนค่ะ

นายชัยชนะ เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ชัยชนะ เดชเดโช ๐๘๕ แสดงตนครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๐๘๕ ครับ

นายชัยชนะ เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ

นายรังสิกร ทิมาตฤกะ บุรีรัมย์ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ รังสิกร ๓๐๐ แสดงตนครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๖ ท่านแล้วนะครับ

นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ลิณธิภรณ์ ๓๑๓ แสดงตนค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

บวกอีก ๑ นะครับ

นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ สิทธิพล พรรคก้าวไกล ๔๑๘ แสดงตนครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๔๑๘ ครับ

นายสรวีย์ ศุภปณิตา ปทุมธานี ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ สรวีย์ พรรคก้าวไกล ๔๐๒ แสดงตนครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๔๐๒ ครับ

นางสาวภัสริน รามวงศ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ท่านประธานคะ ๒๗๕ ภัสรินแสดงตนค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๒๗๕ นะครับ เชิญครับ ที่เข้ามาทีหลังกดบัตรแสดงตนเลยนะครับ ท่านที่มาทีหลังเชิญครับ หมดแล้วนะครับ เชิญครับ

นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ท่านประธานคะ ๒๙๘ รักชนก ศรีนอก แสดงตนค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ถ้าไม่มีผู้มาแสดงตน เจ้าหน้าที่แสดงผลเลยครับ มีผู้เข้าร่วมประชุม ๔๑๓ ท่าน บวกอีก ๑๐ ท่าน เป็น ๔๒๓ ท่านนะครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ต่อไปผมจะขอถามมติจากที่ประชุมว่าจะรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... ทั้ง ๘ ฉบับหรือไม่ เชิญท่านสมาชิกใช้สิทธิ ออกเสียงลงคะแนนนะครับ ผู้ใดเห็นว่าควรรับหลักการโปรดกดปุ่ม เห็นด้วย ผู้ใดเห็นว่า ไม่ควรรับหลักการโปรดกดปุ่ม ไม่เห็นด้วย ผู้ใดเห็นว่าควรงดออกเสียงโปรดกดปุ่ม งดออกเสียง เชิญครับ

นายชัยชนะ เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ชัยชนะ เดชเดโช ๐๘๕ เห็นชอบครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๐๘๕ เห็นชอบครับ

นางสาวเบญจา แสงจันทร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

๒๙๘ เห็นชอบค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๒๙๘ เห็นชอบครับ

นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

๑๒๘ เห็นชอบครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๑๒๘ เห็นชอบครับ สมาชิกลงคะแนนหมดแล้วนะครับ เจ้าหน้าที่แสดงผลเลยครับ จำนวนผู้ลงมติ ๔๑๓ ท่าน เห็นด้วย ๔๑๓ ท่าน บวกอีก ๓ ท่าน เป็น ๔๑๖ ท่าน ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง ไม่มี ไม่ลงคะแนนเสียง ไม่มี เป็นอันว่ามติที่ประชุมรับหลักการ แห่งร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... ทั้ง ๘ ฉบับ เชิญเสนอจำนวนกรรมาธิการครับ

นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

ขออนุญาตค่ะท่านประธาน ขออนุญาตสักครู่นะคะ เมื่อสักครู่มันกดไม่ติด ขออนุญาตบันทึกไว้ได้ไหมคะ พนิดา มงคลสวัสดิ์ ๒๓๗ เห็นชอบค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

บันทึกไว้นะครับ

นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

ขอบพระคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ลองไปตรวจสอบดูนะครับ

นางสาวรภัสสรณ์ นิยะโมสถ ลำปาง ต้นฉบับ

ท่านประธานคะ ๒๙๔ กดไม่ติด เหมือนกันค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๒๙๔ กดไม่ติด เจ้าหน้าที่ลองตรวจสอบนะครับ

นางสาวการณิก จันทดา เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ท่านประธานคะ ๐๑๙ ก็กดไม่ติดค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๐๑๙ ก็กดไม่ติด ๓ ท่านนะครับ บันทึกไว้นะครับ จำนวนกรรมาธิการครับ

นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ขอเสนอจำนวนกรรมาธิการ ๓๗ ท่าน ขอผู้รับรองด้วยครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ ไม่มีเห็นเป็นอื่นนะครับ ถือว่าที่ประชุมได้เสนอกรรมาธิการ ๓๗ ท่าน สัดส่วนของคณะรัฐมนตรี ๙ ท่าน สัดส่วนของพรรคการเมือง ๒๘ ท่าน ขอเชิญคณะรัฐมนตรีเสนอรายชื่อกรรมาธิการครับ

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอเสนอรายชื่อกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... ในสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี จำนวน ๙ ท่าน ดังต่อไปนี้ ๑. นายบัญชา สุขแก้ว ๒. พลเรือโทอุปถัมภ์ สมุทรานนท์ ๓. นางสาวกาญจนา พูลแก้ว ๔. นางสาลินี ผลประไพ ๕. นางสาววันดี สุชาติกุลวิทย์ ๖. นายปลอดประสพ สุรัสวดี ๗. นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ ๘. นายคอซีย์ มามุ และ ๙. นายมังกร ยนต์ตระกูล ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านรัฐมนตรีครับ ต่อไปสัดส่วนกรรมาธิการของแต่ละพรรคการเมืองเป็นดังนี้ นะครับ พรรคก้าวไกล ๘ ท่าน พรรคเพื่อไทย ๘ ท่าน พรรคภูมิใจไทย ๔ ท่าน พรรคพลังประชารัฐ ๒ ท่าน พรรครวมไทยสร้างชาติ ๒ ท่าน พรรคประชาธิปัตย์ ๒ ท่าน พรรคชาติไทยพัฒนา จำนวน ๑ ท่าน พรรคประชาชาติ จำนวน ๑ ท่าน เชิญแต่ละ พรรคการเมืองเสนอรายชื่อกรรมาธิการตามสัดส่วน และขอผู้รับรองตามข้อบังคับ ข้อ ๙๑ เชิญพรรคก้าวไกลครับ

นายศิริโรจน์ ธนิกกุล สมุทรสาคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ศิริโรจน์ ธนิกกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรสาคร จากพรรคก้าวไกลครับ ขอเสนอรายชื่อกรรมาธิการวิสามัญในสัดส่วนของพรรคก้าวไกลทั้งหมด ๘ ท่าน ด้วยกันดังนี้ ๑. นายวรภพ วิริยะโรจน์ ๒. นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม ๓. นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ๔. นายพงศธร ศรเพชรนรินทร์ ๕. นายปิยะ เทศแย้ม ๖. นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ๗. นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ๘. นายคเชนทร์ สุขเกษม ขอผู้รับรองด้วยครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ ต่อไปพรรคเพื่อไทย ๘ ท่านครับ

นายวัชระพล ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม วัชระพล ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ขอเสนอรายชื่อ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนด การประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... ดังนี้ ๑. นายพรเทพ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ๒. นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี ๓. นายกริชเพชร ชัยช่วย ๔. นางพวงทอง อ่อนอุระ ๕. นายสุเมธ ตันติกุล ๖. นายมงคล สุขเจริญคณา ๗. นายสถิตชาติ ทิมกระจ่าง ๘. นางสาวณิชาภา โกวิทานนท์ ขอผู้รับรองด้วยครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ ต่อไปพรรคภูมิใจไทย จำนวน ๔ ท่านครับ

นายธนา กิจไพบูลย์ชัย ศรีสะเกษ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ธนา กิจไพบูลย์ชัย สมาชิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ เขต ๓ พรรคภูมิใจไทย คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... ในสัดส่วนของพรรคภูมิใจไทยทั้งหมด ๔ ท่าน ได้แก่ ๑. สส. สังคม แดงโชติ ๒. สส. สัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ๓. สส. สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ๔. สส. คงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ ขอผู้รับรองด้วยครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

มีผู้รับรองถูกต้องครับ ต่อไปพรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๒ ท่านครับ

นายอัคร ทองใจสด เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายอัคร ทองใจสด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบูรณ์ ผมขอเสนอรายชื่อกรรมาธิการวิสามัญ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... ในสัดส่วนของพรรคพลังประชารัฐ ๒ ท่าน ดังนี้ครับ๑. ท่านจอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ๒. ท่านฉกาจ พัฒนกิจวิบูลย์ ขอผู้รับรองด้วยครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ ต่อไปพรรครวมไทยสร้างชาติครับ

นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน สภาที่เคารพ ผม นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ขอเสนอคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... จำนวน ๒ ท่านครับ ๑. นายวิชัย สุดสวาสดิ์ ๒. นายศันติชัย ศันติวิชยะ ขอผู้รับรองด้วยครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

มีผู้รับรองถูกต้องครับ ต่อไปพรรคประชาธิปัตย์ ๒ ท่านครับ

นายกาญจน์ ตั้งปอง ตรัง ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา กระผม นายกาญจน์ ตั้งปอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง ขอเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการ วิสามัญในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ๒ ท่าน ดังนี้ครับ ๑. ท่านพิทักษ์เดช เดชเดโช ๒. ท่านราชิต สุดพุ่ม ขอผู้รับรองด้วยครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

มีผู้รับรองถูกต้องนะครับต่อไป พรรคชาติไทยพัฒนา จำนวน ๑ ท่านครับ

นายศุภโชค ศรีสุขจร นครปฐม ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายศุภโชค ศรีสุขจร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครปฐม เขตเลือกตั้งที่ ๑ พรรคชาติไทยพัฒนา ในสัดส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนากระผมขอเสนอ ท่านนิกร จำนง ขอผู้รับรองด้วยครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ ต่อไปพรรคประชาชาติ จำนวน ๑ ท่านครับ

นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส ปัตตานี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี พรรคประชาชาติ ขอเสนอกรรมาธิการวิสามัญส่วนของพรรคประชาชาติ อาจารย์วรวิทย์ บารู ขอผู้รับรอง ด้วยครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ผู้รับรองถูกต้องนะครับ เชิญท่านเลขาธิการครับ

ว่าที่ร้อยตำรวจตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

รายชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนด การประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... ๑. นายบัญชา สุขแก้ว ๒. พลเรือโท อุปถัมภ์ สมุทรานนท์ ๓. นางสาวกาญจนา พูลแก้ว ๔. นางสาลินี ผลประไพ ๕. นางสาววันดี สุชาติกุลวิทย์ ๖. นายปลอดประสพ สุรัสวดี ๗. นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ ๘. นายคอซีย์ มามุ ๙. นายมังกร ยนต์ตระกูล ๑๐. นายวรภพ วิริยะโรจน์ ๑๑. นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม ๑๒. นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ๑๓. นายพงศธร ศรเพชรนรินทร์ ๑๔. นายปิยะ เทศแย้ม ๑๕. นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ๑๖. นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ๑๗. นายคเชนทร์ สุขเกษม ๑๘. นายพรเทพ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ๑๙. นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี ๒๐. นายกริชเพชร ชัยช่วย ๒๑. นางพวงทอง อ่อนอุระ ๒๒. นายสุเมธ ตันติกุล ๒๓. นายมงคล สุขเจริญคณา ๒๔. นายสถิตชาติ ทิมกระจ่าง ๒๕. นางสาวณิชาภา โกวิทานนท์ ๒๖. นายสังคม แดงโชติ ๒๗. นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ๒๘. นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ๒๙. นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ ๓๐. นางสาวจอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ๓๑. นายฉกาจ พัฒนกิจวิบูลย์ ๓๒. นายวิชัย สุดสวาสดิ์ ๓๓. นายศันติชัย ศันติวิชยะ ๓๔. นายพิทักษ์เดช เดชเดโช ๓๕. นายราชิต สุดพุ่ม ๓๖. นายนิกร จำนง และ ๓๗. ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวิทย์ บารู

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

วิปกำหนดเวลาแปรญัตติ

นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ขอกำหนดระยะเวลา แปรญัตติ ๑๕ วัน ขอผู้รับรองด้วยครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

กำหนด ระยะเวลาแปรญัตติ ๑๕ วัน มีผู้รับรองถูกต้อง กรณีที่มีการรับหลักการแห่งพระราชบัญญัติ มากกว่า ๑ ฉบับ จะใช้ร่างร่างพระราชบัญญัติฉบับใดเป็นหลักในการพิจารณาในวาระที่ ๒ ครับ

นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ขอเสนอร่างของ คณะรัฐมนตรีเป็นร่างหลักครับ ขอผู้รับรองด้วยครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ใช้ของคณะรัฐมนตรีเป็นร่างหลักนะครับ ก็ถือว่าจบในวาระนี้นะครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ระเบียบวาระเรื่องด่วนที่ ๒-๘ พิจารณารวมกับระเบียบวาระเรื่องด่วนที่ ๑ แล้วนะครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๒ เรื่องที่ประธานแจ้งต่อที่ประชุม

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๒.๒ รับทราบรายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี งบประมาณ ๒๕๖๕

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๒.๓ รับทราบรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงิน สำหรับปีสิ้นสุด วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานหลักประกัน สุขภาพแห่งชาติ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เนื่องจากมีเรื่องตามระเบียบวาระที่ ๒.๓ รับทราบรายงานของผู้สอบบัญชีและ รายงานการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ ของกองทุนหลักประกันสุขภาพ แห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นเรื่องของหน่วยงานเดียวกันและมี ผู้ชี้แจงชุดเดียวกัน ดังนั้นเพื่อประโยชน์ในการพิจารณา ผมเห็นควรให้รวมระเบียบวาระ เพื่อนำมาพิจารณารับทราบพร้อมกัน ตามข้อบังคับ ข้อ ๕๕ (๒) มีสมาชิกท่านใด เห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ครับ ถ้าไม่มี ผมขอดำเนินการตามนี้นะครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ด้วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้เสนอรายงาน การสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ และรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้เสนอ รายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงิน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อทราบ ตามมาตรา ๑๘ (๑๒) และมาตรา ๔๓ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ และรายละเอียดปรากฏ ตามเอกสารที่ได้วางไว้ให้ท่านสมาชิกแล้วนะครับ มีท่านสมาชิกติดใจซักถามไหมครับ

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธาน รอคิวเต็มเลยครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ มีสมาชิกเสนอที่จะอภิปรายจำนวน ๑๕ ท่าน ผมจะไป ๒ ต่อ ๑ นะครับ เชิญท่านภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ ก่อนครับ เดี๋ยวก่อนนะครับ ผมได้อนุญาตให้ผู้แทน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมชี้แจงข้อเท็จจริงต่อที่ประชุม ตามข้อบังคับ ข้อ ๓๑ เชิญผู้มีรายชื่อดังต่อไปนี้เข้าร่วมชี้แจงนะครับ ๑. นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ๒. นางลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการกลุ่มภารกิจ กำกับติดตามประเมินผล ๓. นางวราภรณ์ สุวรรณเวลา รองเลขาธิการสายงานขับเคลื่อน นโยบายและยุทธศาสตร์ ๔. นางกิ่งไผ่ จันทร์อยู่ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารระบบการเงินและ บัญชีกองทุน ๕. นางอรวรรณ ไชยวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับติดตามและประเมินผล ท่านพร้อมแล้วนะครับ ท่านจะแถลงก่อนไหม เชิญนะครับ

นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นฉบับ

กราบเรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่าน กระผม นายแพทย์ จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขออนุญาต กราบเรียนรายงานผลการดำเนินงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ดังนี้

นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นฉบับ

กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้รับการจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น ๑๙๘,๘๙๑.๗๙ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๖.๔๒ ของงบประมาณของประเทศ โดยจำแนกเป็น

นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นฉบับ

๑. งบบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว ๑๕๘,๒๙๔.๔๒ ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราเหมาจ่ายรายหัว ๓,๓๒๙.๒๒ บาท ต่อประชากรผู้มีสิทธิหลักประกัน สุขภาพแห่งชาติ๔๗.๕๔๗ ล้านคน เป็นงบประมาณทางการแพทย์ ๙๙,๙๕๒.๘๓ ล้านบาท และเงินเดือนผู้ให้บริการหน่วยบริการภาครัฐ ๕๘,๓๔๑.๖๐ ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ในการคำนวณเป็นลักษณะเหมาจ่ายรายหัวเป็น ๗ รายการ บริการเหมาจ่ายรายหัว รายการแรก คือรายการผู้ป่วยนอกทั่วไป ได้รับการจัดสรรคิดเป็นต่อผู้มีสิทธิ ๑,๓๐๕.๐๗ บาทต่อผู้มีสิทธิ รายการที่ ๒ คือผู้ป่วยในทั่วไป คิดเป็นบาทต่อผู้มีสิทธิ ๑,๔๖๐.๕๙ บาทต่อผู้มีสิทธิ รายการที่ ๓ บริการกรณีเฉพาะ ๓๙๕.๑๔ บาทต่อผู้มีสิทธิ รายการที่ ๔ ฟื้นฟูสมรรถภาพ ด้านการแพทย์ ๑๘.๗๓ บาทต่อผู้มีสิทธิ รายการที่ ๕ แพทย์แผนไทย ๑๙.๐๐ บาทต่อผู้มีสิทธิ รายการที่ ๖ ค่าบริการทางการแพทย์ที่เบิกจ่ายในลักษณะงบลงทุน ๑๒๘.๖๙ บาทต่อผู้มีสิทธิ และรายการที่ ๗ งบรายจ่ายเพื่อเพิ่มเกณฑ์คุณภาพตามผลงานบริการ ๒ บาทต่อผู้มีสิทธิ รวมทั้งสิ้นคิดเป็นเหมาจ่ายรายหัว ๓,๓๒๙.๒๒ บาทต่อผู้มีสิทธิ

นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นฉบับ

๒. เป็นงบบริการทางการแพทย์นอกเหมาจ่ายรายหัว ๔๐,๕๙๗.๓๗ ล้านบาท โดยมีรายละเอียดเป็น ๑๐ รายการย่อย ได้แก่ รายการที่ ๑ บริการผู้ติดเชื้อ HIV และผู้ป่วยเอดส์ ๓,๗๖๘.๑๑ ล้านบาท รายการที่ ๒ บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ๙,๗๓๑.๓๔ ล้านบาท รายการที่ ๓ บริการควบคุมป้องกันรักษาโรคเรื้อรัง ๑,๑๕๔.๗๘ ล้านบาท รายการที่ ๔ ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัย และพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ๑,๔๙๐.๒๙ ล้านบาท รายการที่ ๕ บริการสาธารณสุขสำหรับ ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ๙๙๐.๑๑ ล้านบาท รายการที่ ๖ บริการสาธารณสุขเพิ่มเติม สำหรับบริการปฐมภูมิ ๓๑๙.๒๘ ล้านบาท รายการที่ ๗ บริการสาธารณสุขร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๒,๗๖๙.๙๓ ล้านบาท รายการที่ ๘ บริการสาธารณสุขสำหรับ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ๘๒๕.๐๘ ล้านบาท รายการที่ ๙ เงินช่วยเหลือเบื้องต้น สำหรับผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ๒๘๓.๐๓ ล้านบาท และรายการที่ ๑๐ บริการสร้างเสริม สุขภาพและป้องกันโรค ๑๙,๒๖๕.๔๒ ล้านบาท รวมงบบริการทางการแพทย์นอกเหมาจ่าย รายหัว ๔๐,๕๙๗.๓๗ ล้านบาท และสำนักงานได้รับงบประมาณแยกจากเหมาจ่ายรายหัว เป็นค่าบริหารจัดการ ๑,๒๘๔.๙๙ ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ ๐.๖๕ เมื่อเทียบกับ งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นฉบับ

สำหรับงบดุลและรายงานรับจ่ายเงินของกองทุนประจำปี ๒๕๖๔ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีความเห็นว่า งบดังกล่าวมีความถูกต้องตามที่ควร ในสาระสำคัญตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐ ส่วนงบดุลและรายงานการรับจ่ายเงิน ประจำปี ๒๕๖๕ อยู่ระหว่างให้รัฐมนตรีเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอต่อ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อทราบ ผมขออนุญาตที่ประชุมได้นำเสนอการดำเนินงาน การสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพอสังเขปเป็นวิดีทัศน์ประมาณ ๖ นาที ขออนุญาต ท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับคณะผู้บริหาร สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล พนักงานส่วนตำบล ประชาชน จากองค์การบริหารส่วนตำบลตาเซะ อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับนะครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ต่อไปท่านสมาชิกที่มีความประสงค์จะอภิปราย ๓ ท่านแรก ท่านภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ ท่านกัลยพัชร รจิตโรจน์ ท่านธัญธร ธนินวัฒนาธร เชิญท่านภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ ครับ

นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ นครพนม ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑ จังหวัดนครพนม พรรคเพื่อไทย ก่อนอื่นผมขอกราบขอบพระคุณ นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช. และคณะ ที่ได้เสียสละเวลา ได้มาชี้แจง ได้รายงานให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เข้าใจ แล้วก็ต้องขอขอบพระคุณ เจ้าหน้าที่ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข สสจ. จังหวัดนครพนม ทุกโรงพยาบาล ทุก รพ.สต. คุณหมอ นายแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ทุกท่าน ตลอดจน อสม. ทุกท่าน ได้ดูแลพี่น้อง ประชาชนชาวจังหวัดนครพนมอย่างดี แล้วผมได้อ่านศึกษาในหนังสือรายงานการสร้างระบบ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติค่อนข้างที่ละเอียด ผมพยายามหาดูการใช้เงินงบประมาณ ในปี ๒๕๖๕ ที่ได้ทำรายงานมา ๔๐๐ กว่าหน้า ดูว่าเงินงบประมาณที่พี่น้องประชาชนของเรา เดือดร้อนกันมา ๒-๓ ปีนี้ โดยเฉพาะปี ๒๕๖๕ ที่จะใช้บำบัดลูกหลานที่ติดยาบ้า ยาเสพติด ในนี้ไม่มีเลยครับ แล้วผมได้ติดตามเงินงบประมาณปี ๒๕๖๔ ปี ๒๕๖๕ ปี ๒๕๖๖ ก็ไม่มี ซึ่งผมคิดว่ามีน้อยนิด ถูกรัฐบาลที่ผ่านมาตัดเงินงบประมาณด้านบำบัดผู้ติดยาเสพติด ไปอย่างมากมาย มันเลยสร้างปัญหาให้พี่น้องประชาชน คือลูกหลานของเราไม่ได้รับ การบำบัด ไม่ได้รับการดูแลด้านสุขภาพ ทั่วประเทศร้องเรียนเดือดร้อนกันหมด ขอให้รัฐบาลนี้ ได้เร่งรัดดูแลลูกหลานของเราให้ห่างไกลยาเสพติด กัญชา กระท่อม

นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ นครพนม ต้นฉบับ

ผมต้องขอขอบพระคุณทุกโรงพยาบาลและ รพ.สต. ทั้งหมด โดยเฉพาะ โรงพยาบาลนครพนม โรงพยาบาลจิตเวชนครพนม โรงพยาบาลทุกอำเภอพยายามที่จะรับ ผู้ป่วยทางด้านจิตเวชที่คลุ้มคลั่งในการเสพยาเสพติด ยาบ้า ในจังหวัดนครพนมมี ๑๒ อำเภอ มีเตียงรักษาผู้ป่วยอยู่ ๙๐๐ กว่าเตียง รักษาเฉพาะผู้ป่วยปกติก็รับไม่ไหว เต็มไปหมด มีศูนย์มินิธัญญารักษ์บางอำเภอ ๑๕ เตียง บางอำเภอ ๑๐ เตียง ก็มีน้อยมาก ก็รับผู้ป่วย ทางด้านจิตเวชไม่ได้ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาล สั่งการให้ ท่านสาธารณสุขจังหวัดช่วยหาเตียงรักษาผู้ป่วยทางด้านจิตเวชที่ติดยาบ้า ก็ไม่มีที่รักษา ผมจึงอยากให้ทาง สปสช. ได้ช่วยพิจารณาว่าในปีงบประมาณ ปี ๒๕๖๗ ปี ๒๕๖๘ ปี ๒๕๖๙ ทำอย่างไรที่เราจะได้ดูแลพี่น้องประชาชน ลูกหลานของเราได้อย่างใกล้ชิด และปัจจุบันนี้ มีปัญหามากในการที่บางคนไปพูดให้พี่น้องประชาชนเข้าใจผิดในเรื่องยาบ้า ๕ เม็ด ซึ่งในกฎ ระเบียบกฎหมายผู้ใดครอบครองก็ติดคุกนะครับ

นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ นครพนม ต้นฉบับ

โดยเฉพาะมาตรา ๑๐๗ มาตรา ๑๖๔ ของประมวลกฎหมายยาเสพติดซึ่งระบุไว้ชัดเจน การครอบครองยาเสพติดในปริมาณเล็กน้อย ไว้เพื่อเสพ เช่น ยาบ้าไม่เกิน ๕ เม็ด หรือไอซ์ไม่เกิน ๑๐๐ มิลลิกรัม หรือยาเคมีน้ำหนักสุทธิ ไม่เกิน ๕๐๐ มิลลิกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๖๗ ยังคงเป็นความผิด ฐานครอบครองเพื่อเสพ ขอเน้นนะครับ ยังคงเป็นความผิดฐานครอบครองเพื่อเสพ มีโทษ จำคุกไม่เกิน ๒ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท นั่นคือสิ่งที่ทางกระทรวงก็ประกาศแล้ว และมีบางท่านไปทำให้พี่น้องของเราไขว้เขวเข้าใจผิดว่ามียาบ้าได้ แม้กระทั่งสำนักงานตำรวจ แห่งชาติก็ประกาศครอบครอง ๑ เม็ด ๒ เม็ด ไม่ได้นะครับ ที่จังหวัดนครพนมทุกหน่วยงาน ราชการบูรณาการจับหมดครับ มี ๑ เม็ดก็จับ เช่นในภาพมี ๑ เม็ด ที่จังหวัดนครพนม อำเภอท่าอุเทนก็จับ มี ๒ เม็ด ที่อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม ก็จับครับ นั่นคือสิ่งที่ อยากฝากทางกระทรวงสาธารณสุขหรือรัฐบาลต้องเพิ่มเงินงบประมาณ เพราะว่าเราตัดเงิน งบประมาณ ๒-๓ ปีที่ผ่านมาไปเยอะ ต้องเพิ่มเงินงบประมาณดูแลลูกหลานของเราเป็นพิเศษ

นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ นครพนม ต้นฉบับ

เรื่องต่อมาโรงพยาบาลที่ห่างไกลขาดแคลนหมอ หมอเฉพาะทาง อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือขาด หมอแต่ละท่านเรียนจบไม่อยากไปโรงพยาบาลห่างไกล ก็ฝากท่าน ได้ช่วยพิจารณาแก้ไขปัญหานี้ โรงพยาบาลในเขตผมมี ๔ โรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลนาหว้า โรงพยาบาลนาทม โรงพยาบาลศรีสงครามและโรงพยาบาลบ้านแพง มีเครื่องฟอกไต เพียงโรงพยาบาลเดียวที่โรงพยาบาลศรีสงครามเข้าคิวยาว โอกาสที่จะได้ฟอกไตหรือ ได้รับเลือด เลือดไม่พอต่าง ๆ มีปัญหาค่อนข้างมาก ก็อยากให้ดูแลโรงพยาบาลที่ห่างไกล แต่ต้องขอกราบขอบพระคุณท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ที่ไปจังหวัดนครพนม ท่านได้ทราบปัญหา จึงอยากให้จังหวัดนครพนมมีโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์นครพนม มีคณะแพทยศาสตร์ เพื่อเอาลูกหลานของเราอยู่ในจังหวัดนครพนมมาเรียนแพทย์ แล้วกลับไปรักษาญาติพี่น้อง ประชาชน ผู้ปกครองของตัวเอง นั่นคือสิ่งที่ฝากทาง สปสช. ได้ช่วยพิจารณา กราบขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านกัลยพัชร รจิตโรจน์ เชิญครับ

นางสาวกัลยพัชร ระจิตโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนประธานสภา ที่เคารพค่ะ ดิฉัน กัลยพัชร รจิตโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ดิฉันชื่นชมการดำเนินงานของ สปสช. ที่ช่วยสร้างหลักประกันให้ประชาชนทุกคนเข้าถึง การรักษาความเจ็บป่วย ช่วยลดภาวะการล้มละลายด้วยเหตุผลด้านการเจ็บป่วย สปสช. เป็นตาข่ายรองรับความไม่แน่นอนในชีวิตของประชาชนกว่า ๔๘ ล้านคนในวันนี้ ขอบคุณการจัดทำรายงานประจำปีที่เป็นปัจจุบัน การจัดเวทีวิชาการทบทวนการทำงาน อย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งเลขาธิการสำนักงานที่กรุณาเดินทางมาให้ข้อมูลด้วยตนเอง ทั้งในที่ประชุมใหญ่และห้องกรรมาธิการการสาธารณสุขอย่างสม่ำเสมอค่ะ ท่านประธาน ที่เคารพคะ ในข้อมูลรายงานจะเห็นว่าส่วนใหญ่ สปสช. ให้บริการได้ใกล้เคียงกับเป้าหมาย ที่ตั้งไว้ แต่ด้วยสภาวะของสังคมสูงวัยจะสังเกตเห็นว่าผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นผู้สูงอายุ ป่วยเรื้อรังและติดเตียง เพิ่มขึ้น ๒ เท่า จาก ๒๐๐,๐๐๐ คน เป็นเกือบ ๕๐๐,๐๐๐ คน ดิฉันจึงมีข้อสังเกตที่ขอปรึกษาหารือและให้ข้อเสนอแนะในประเด็นสำคัญ ต่าง ๆ ดังนี้ ขอสไลด์ขึ้นด้วยค่ะ

นางสาวกัลยพัชร รจิตโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องแรก คือเรื่องของ กลุ่มผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการล้างไต ฟอกไต ปลูกถ่ายไตเพิ่มขึ้นมากกว่าเป้าหมายถึง ๒๒ เปอร์เซ็นต์ และผู้รับบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่า ๓ ปีที่แล้วอย่างชัดเจน แต่ปัจจุบัน มีเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถล้างไตทางหน้าท้องเองได้ที่บ้าน ช่วยอำนวยความสะดวก และลดต้นทุนการเดินทางมาฟอกไตที่โรงพยาบาลได้มาก แต่จากประสบการณ์ในพื้นที่ เรายังขาดบุคลากรสุขภาพอาสาสมัครที่ช่วยให้ความมั่นใจให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถดูแลตนเอง ให้ล้างไตที่บ้านได้อย่างเพียงพอ หาก สปสช. ลงทุนกับการเสริมศักยภาพและจำนวน นักบริบาลกลุ่มนี้ในชุมชน นอกจากจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายสุขภาพ ยังช่วยแบ่งเบาภาระ การเดินทางของผู้ป่วย ช่วยให้เกิดอาชีพผู้ดูแลสุขภาพในชุมชน ต่อยอดมาดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง กลุ่มอื่น ๆ ได้อีกด้วยค่ะ

นางสาวกัลยพัชร รจิตโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

นอกจากนี้กรณีผู้ป่วยตายเพิ่มสูงขึ้น ยังแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้อง สร้างเสริมสุขภาพ เพื่อป้องกันโรคไตวายเรื้อรังอย่างจริงจัง รวมทั้งปรับเปลี่ยนระบบนิเวศ อาหาร การส่งเสริมป้องกันสุขภาพชุมชนอย่างครบวงจร เช่น การพัฒนาแนวหน้าสุขภาพ การทดลองจัดทำโปรแกรมสุขภาพดีมีรางวัล ดิฉันหวังว่า สปสช. จะสนับสนุนการลงทุน ในงบส่งเสริมป้องกันสุขภาพมากขึ้นยิ่ง ๆ ขึ้นไป

นางสาวกัลยพัชร รจิตโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ยังมีผู้รับบริการอีกกลุ่มหนึ่งที่มีแนวโน้มต้องการการบริการสูงขึ้นในอัตรา เดียวกัน คือผู้มีภาวะพึ่งพิงกลุ่มติดบ้าน ติดเตียง ซึ่งต้องการรับการดูแลที่บ้านตามแผน การดูแลรายบุคคลมากกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ถึง ๒๒ เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่ต้องการดูแลแบบประคับประคองที่บ้าน กลุ่มนี้ทำยอดทะลุเป้าไปเลยนะคะ ทำยอดไปถึง ๑๕๕ เปอร์เซ็นต์ จากที่ท่านตั้งเป้าไว้ว่าจะมีผู้ป่วยระยะสุดท้ายติดเตียงอยู่เพียง ๒๐,๑๓๕ คน แต่มีผู้รับบริการจริงถึง ๕๑,๔๔๑ คน สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เห็นความจำเป็นที่ สปสช. จะต้องสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ เพื่อการดูแลผู้ป่วยติดเตียงระยะสุดท้าย ในชุมชนเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งไม่ได้หมายเพียงแค่การมี รพ.สต. เท่านั้น แต่ยังต้องรวมถึงการเสริม ศักยภาพเครือข่ายสุขภาพอื่น ๆ ในชุมชนด้วย ไม่ว่าจะเป็น อสม. อาสาสังกัดภาครัฐหรือ ภาคประชาสังคมอื่น ๆ ในชุมชน ผู้นำชุมชน นักบริบาล ผู้ดูแลในชุมชนที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน ชมรม พระสงฆ์ แม่ชี นักเรียน นักศึกษา รวมทั้งสมาชิกในชุมชน ในครอบครัว กลุ่มเหล่านี้ เป็นทุนชุมชน เป็น Social Capital ที่ สปสช. ควรสนับสนุนกลุ่มเหล่านี้ให้เข้มแข็งมากขึ้น เพราะกิจกรรมดูแลสุขภาพส่วนใหญ่ในระยะท้ายเกิดขึ้นในชุมชนค่ะ

นางสาวกัลยพัชร รจิตโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สำหรับประเด็นความเคลื่อนไหวเรื่องกุฏิชีวาภิบาลที่ สปสช. และกระทรวง สาธารณสุขต้องการสร้างความร่วมมือกับองค์กรพุทธในวัดทั่วประเทศ ดิฉันชื่นชมในความ สร้างสรรค์และพยายามหาทางออกด้วยการอบรมพระผู้ให้การดูแลผู้ป่วยเรื้อรังระยะสุดท้าย แต่ดิฉันขอสะท้อนไว้ในที่นี้ว่าลำพังการอบรมพระจำนวนมาก ๆ ไม่อาจช่วยให้พระ มีความพร้อมในการดูแลและสร้างระบบสุขภาพชุมชนได้ เราต้องการปัจจัยสนับสนุน มากกว่านั้น เช่น การมีบุคลากรที่ทำงานประสานงานระหว่างโรงพยาบาลชุมชน สามารถเป็น ครูพี่เลี้ยงได้ในระยะยาว ประคับประคองงานชีวาภิบาลในชุมชนให้เกิดขึ้นและเติบโตไปได้ ตอนนี้เราเห็นได้ชัดว่าทรัพยากรและกำลังคนใน รพ.สต. ที่ให้มายังไม่เพียงพอ คืองานงอก คนมาแต่ว่างบยังไม่มา โอกาสที่จะเกิดขึ้นจึงเป็นไปได้ยากค่ะ แล้วก็แน่นอนมีบางชุมชนที่ฝ่าความไม่พร้อมมาได้ เพราะมีทุนในชุมชนที่เข้มแข็งเป็นพิเศษ และทำงานล่วงหน้ามาก่อนบ้าง แต่ถ้าจะให้การดูแลระยะท้ายในชุมชนมีความพร้อมหลาย ๆ ที่ และทันสถานการณ์ รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ต้องลงทุนทรัพยากรมากกว่านี้ แม้ สปสช. จะมีโปรแกรม ๒ รายการ สนับสนุนการดูแลในชุมชนคือ๑. กองทุนส่งเสริม สุขภาพระดับท้องถิ่น และ ๒. การชวนหน่วยงานเอกชนมาจัดบริการรักษาฟื้นฟูดูแลสุขภาพ ร่วมกันตามมาตรา ๓ ของ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่เครือข่ายการดูแลใน ชุมชนนั้น ยากที่จะเข้าถึงการสนับสนุนโปรแกรมทั้ง ๒ ของ สปสช. นี้ ดิฉันขอให้ สปสช. พิจารณา ๓ ข้อ คือ ๑. ลดอุปสรรคในการสร้างความร่วมมือกับภาคประชาชน ๒. เพิ่มส่วน แบ่งงบประมาณในการจัดกิจกรรมสร้างเสริมฟื้นฟูดูแลสุขภาพ ๓. เพิ่มความเข้าใจ รับฟัง ข้อกังวล ข้อจำกัดและความต้องการของหน่วยงานต่าง ๆ ในชุมชนด้วย

นางสาวกัลยพัชร รจิตโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้ดิฉันขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้ผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ รวมทั้งเครือข่ายการดูแลในข่ายใยของ สปสช. ดิฉันยังขอเชิญชวนให้กองทุนประกันสังคม และกองทุนข้าราชการนำเอาแนวทางการดูแลของ สปสช. ไปประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้ป่วย เรื้อรังและผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วย ขอบคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านธัญธร ธนินวัฒนาธร เชิญครับ

นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม ธัญธร ธนินวัฒนาธร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ ๓๐ เขตบางแคและเขตภาษีเจริญ จากพรรคก้าวไกลครับ ท่านประธานครับ ผมขอมีส่วนร่วม ในการอภิปรายรายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕

นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ผมขอเริ่มด้วยสไลด์นี้ครับ ท่านประธาน ค่าใช้จ่ายรวมด้านสุขภาพเมื่อเรามาดูกราฟจากเอกสารรายงานของ สปสช. ที่เราจะเห็นได้ชัดว่ากราฟนั้นมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนะครับ นี่คือรายจ่ายรวม ด้านสุขภาพของประเทศไทย ซึ่งกราฟยิ่งสูงเท่าไรก็หมายความว่าเรามีรายจ่ายด้านสุขภาพ สูงมากเท่านั้น และปี ๒๕๖๓ อยู่ที่ ๗๑๑,๗๗๗ ล้านบาท แล้วผมก็เอะใจว่านี่เป็นรายงานของ ปี ๒๕๖๕ ทำไมกราฟมันถึงจบแค่ปี ๒๕๖๓ ในเล่มรายงาน ผมก็เลยลองไปค้นดูครับ ท่านประธาน ที่เราคุยกันสักครู่ว่าปี ๒๕๖๓ นั้นแตะระดับ ๗๑๐,๐๐๐ ล้านบาท ที่สูงที่สุด เป็นประวัติศาสตร์แล้วนั้น ยังมีสูงกว่านี้อีกครับ ปี ๒๕๖๔ นั้นอยู่ที่ ๘๗๐,๐๐๐ ล้านบาท ปีเดียวเพิ่มมากว่า ๑.๖ แสนล้าน คิดเป็น ๒๒.๔๒ เปอร์เซ็นต์เชียวนะครับ และในเมื่อเอกสาร สรุปปี ๒๕๖๕ ทำไมถึงไม่มีตัวเลขในปี ๒๕๖๔ เข้ามาในเล่มรายงานด้วย ก็ยังไม่แน่ใจ เหมือนกันนะครับ ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าเมื่อเช้าท่านรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ท่านนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ขออนุญาตเอ่ยนามนะครับ ไม่เสียหาย ก็ได้มาตอบ กระทู้ถามสด ไม่แน่ใจว่าท่านได้รู้ตัวเลขเหล่านี้หรือยัง หากท่านได้รู้รับทราบแบบนี้แล้วว่า สถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร ก็ขอฝากท่านประธานถึงผู้บริหารกระทรวงนะครับว่า ให้ทำอะไรสักอย่าง รวมถึงกำกับดูแลสาธารณสุขไทยให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ทีนี้เราลอง มาดูจำนวนผู้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพกันบ้าง ถ้าท่านประธานสังเกตตารางดี ๆ คนพิการ ผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องฟื้นฟู ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงทำไมนับวันจำนวนยิ่งถอยลงละครับ จำนวนน้อยลงเรื่อย ๆ เลยนะครับ เราประสบความสำเร็จในการรักษาพี่น้องประชาชนเหล่านี้ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้ป่วยเหล่านี้หายดีเป็นปกติสุขแล้ว ไม่จำเป็นต้องฟื้นฟูสมรรถภาพแล้ว หรืออย่างไรครับ

นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ในหน้าถัดไปจะเป็นการกายภาพบำบัดหรือฟื้นฟูการได้ยิน หรือกระตุ้น พัฒนาการ ฟื้นฟูสมรรถภาพทางการเห็นก็ต่ำเตี้ยลงทุกปีเลยครับ หากท่านจะอธิบายด้วย เรื่องของภาวะโควิด แล้วการฟื้นฟูประเภทอื่น ๆ ทำไมถึงไม่ลดลงไปด้วยละครับ อันนี้ก็ต้อง ขอฝากท่านรัฐมนตรีลงไปดูแลผู้ป่วยพี่น้องชาวไทยให้ทั่วถึงถ้วนหน้าจริง ๆ จัง ๆ นะครับ อย่าให้พ่อแก่แม่เฒ่า ผู้พิการ ผู้ติดเตียงต้องถูกทอดทิ้งแล้วหายไปจากระบบการรักษาเลย สไลด์นี้ก็พูดถึงเรื่องของ IP Anywhere ที่ช่วยให้ผู้ป่วยเข้ารับบริการเป็นผู้ป่วยในแบบต่อเนื่อง โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว มีจำนวน ๓๔.๘๘ เปอร์เซ็นต์ที่ไม่ต้องใช้ใบส่งตัวแล้ว ก็นับว่าผู้ป่วย จำนวน ๑ ใน ๓ นี้ ได้รับความสะดวกเพิ่มขึ้นมากจริง ๆ ครับท่านประธาน แต่ตรงนี้ผมก็อยากให้ท่านเน้นที่การเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยเข้ารับบริการอย่างแพร่หลายกว่านี้ เถอะครับ ถ้าท่านสมาชิกรัฐสภาทั้งหลาย ณ ที่นี้ได้ลองสัมผัสการบริการในโรงพยาบาล ของรัฐบาล หรือได้ใช้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าเองนั้น ท่านจะเข้าใจเลยครับว่าการที่ พี่น้องประชาชนต้องเดินทางไปเพื่อขอให้ส่งตัวสำหรับการรักษาต่อเนื่องนั้น เป็นภาระกับ พี่น้องประชาชนมากมายขนาดไหน แล้วจะหนักหนาสาหัสกว่านั้นมากถ้าพี่น้องเหล่านี้รักษาตัว อยู่ตามส่วนภูมิภาคตามต่างจังหวัด หรือว่าย้ายมาอยู่คนละจังหวัดกันแล้ว

นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

นอกจากนั้น ประเด็นเรื่องโควิดก็ยังไม่ห่างหายไปไหน ปัจจุบันนี้สายพันธุ์ JN.1 ซึ่งเป็นรุ่นลูกของ Omicron BA.2.86 ผู้ป่วยก็มีระบบทางเดินหายใจคล้ายไข้หวัด ไม่แน่ใจว่า ท่านสามารถประชาสัมพันธ์ได้ทั่วถึงกว่านี้ได้หรือไม่ รวมไปถึงในระบบประกันสุขภาพที่สมัย โควิด-๑๙ ระบาดหนัก บริษัทประกันได้รับผลกระทบ ออกมากำหนดกฎเกณฑ์เข้มข้นไว้ สำหรับการ Claim ประกันด้านสุขภาพ ปัจจุบันรัฐก็ควรเข้าไปกดปลดล็อกได้แล้วครับ เข้าใจนะครับว่าเป็นความจำเป็นด้านสุขภาพ เป็นเงื่อนไขสำหรับการ Admit IPD แต่ประชาชน ยอมจ่ายเงินเพื่อทำประกันสุขภาพให้ตัวเอง เกณฑ์เหล่านั้นอย่างเข้มข้นมากขึ้นเกินไป ประชาชนยอมจ่ายเงินทำประกัน เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของรัฐ แต่ทุกวันนี้ ทั้งแพทย์และผู้ป่วยยังต้องห่วงหน้าพะวงหลัง ไม่กล้า Admit IPD กัน กลัวประกันไม่จ่าย แล้วก็เป็นอย่างไรครับ เป็นภาระของรัฐเองที่ต้องนำเงินของประชาชนทั้งประเทศมาจ่าย ค่ารักษาพยาบาลแทน

นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นสุดท้ายที่ผมคงต้องขอฝากไว้จริง ๆ นะครับ จำนวนโครงการป้องกัน การแพร่ระบาดในปีที่ผ่าน ๆ มา โดยกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นนั้นมีการ กระจุกตัวอย่างผิดปกติหรือไม่ จากข้อมูลรายงานของ สปสช. ผมเปรียบเทียบให้ท่านประธาน เห็นเป็นตารางแบบนี้ครับ จากเขตสุขภาพทั้ง ๑๒ เขตทั่วไทย ซึ่งไม่รวมกรุงเทพมหานครนั้น ท่านประธานลองดูช่องที่ผม Highlight ไว้สิครับ แล้วเข้าใจเอาเองคิดว่าเชียงใหม่ ระยอง นครราชสีมาที่ดูแลพี่น้องประชาชนอยู่เป็นจำนวนมากในเขตสุขภาพแล้วกว่า ๖ ล้านคน จะต้องมีโครงการที่ได้รับการสนับสนุนเยอะถูกไหมครับ แต่เมื่อผมลองเปรียบเทียบหารเฉลี่ย จำนวนประชากรที่เขตสุขภาพนั้น ๆ จะต้องดูแลว่า ๑ โครงการที่ได้รับการสนับสนุนไปนั้น ได้ดูแลพี่น้องประชาชนอยู่จำนวนกี่พันคนครับ ทั้งในปี ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๔ และปี ๒๕๖๕ ก็เป็นดังตารางที่ Highlight อยู่ด้านขวามือ ผมเทียบสัดส่วนจำนวนประชากรให้เรียบร้อยแล้ว ถ้าท่านประธานลองเอาตัวเลขที่ผม Highlight ไว้นั้น เทียบกับค่าเฉลี่ยแถวล่างที่เป็นสีม่วง ๓ อันดับแรกที่ได้รับเงินสนับสนุน ก็ยังมากกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศอยู่มากทีเดียวครับ อย่างไรก็ตามจำนวนตัวเลขนี้ด้วยความที่ตอนนี้เป็นรายงาน สปสช. ของปี ๒๕๖๕ ก็เท่ากับว่า ตัวเลขนี้ Delay ไป ๒ ปี หวังว่าปัจจุบันจะมีการจัดสรรงบประมาณกระจายอำนาจดูแล พี่น้องประชาชนให้เท่าเทียมและทั่วถึงยิ่งขึ้นมากกว่านี้นะครับ แล้วผมก็ไม่แน่ใจครับว่า ทาง สปสช. มีวิธีการคัดเลือกโครงการอย่างไร แต่ตัวเลขที่ออกมานี้มันชี้ให้เห็นว่ามีการกระจุกตัว ด้านงบประมาณ งบกระจุกได้ไปจุก ๆ ส่วนพื้นที่อื่นประชาชนอาจจะรู้สึกจุกอกครับ ท่านประธาน ขอฝากไว้เพียงเท่านี้ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับคณะนักศึกษาชั้นปีที่ ๒ สาขาวิชารัฐศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับนะครับ ต่อไปอีก ๓ ท่าน ท่านแรก ท่านนิพนธ์ คนขยัน ท่านที่ ๒ ท่านสิริลภัส กองตระการ ท่านที่ ๓ ท่านปิยชาติ รุจิพรวศิน เชิญท่านนิพนธ์ คนขยัน ครับ

นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นิพนธ์ คนขยัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบึงกาฬ เขตเลือกตั้งที่ ๓ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ ขออนุญาตร่วมอภิปรายรับทราบรายงานการสร้างระบบหลักประกัน สุขภาพแห่งชาติ วันนี้ก็ต้องขอขอบคุณคณะผู้มารายงานทุกท่าน เท่าที่ดูแล้วก็ชื่นชมครับ แต่ก็มีบางประการที่ต้องฝากข้อสังเกต โดยเฉพาะวันนี้พี่น้องประชาชนที่อยู่ในชนบท ขออนุญาตท่านประธานยกตัวอย่างจังหวัดบึงกาฬของผม

นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ

ประการแรก วันนี้คุณหมอชลน่าน ศรีแก้ว ขออนุญาตเอ่ยนาม ท่านรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงสาธารณสุข ท่านบอกว่าวันนี้ลูกหลานเราติดยาเสพ ยาบ้า มีโครงการ มินิธัญญารักษ์ เป้าหมาย ๗๖ จังหวัดทั่วประเทศ ก็ขอบคุณท่านรัฐมนตรีครับ แต่สิ่งที่ผม เป็นห่วงครับท่านประธานที่เคารพ ทำไมถึงยกตัวอย่าง อย่างวันนี้โรงพยาบาลจังหวัดบึงกาฬ บ้านของกระผม คนป่วยมีหมอ ๑ คนต่อประชากร ๖,๐๐๐ คน ใครก็ไม่อยากไปอยู่บึงกาฬ สนามบินก็ไม่มี สวัสดิการต่าง ๆ ผมถามคุณหมอว่าสวัสดิการต่าง ๆ ก็สู้ที่อื่นไม่ได้ พอใช้ทุนหมด หนีหมดครับ นี่คือปัญหา ถามว่าโครงการมินิธัญญารักษ์ดีไหม ดี แต่เฉพาะหมอดูแลคนป่วย วันนี้ก็อ่วมแล้วครับท่านประธานที่เคารพ ดังนั้นก็ฝากท่านผู้มาชี้แจงรายงานหลักประกัน สุขภาพวันนี้ว่านี่คือปัญหา

นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ วันนี้โรงพยาบาลในเมืองนี้ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร หรือว่าเมืองใหญ่ ๆ ผมไม่ห่วงหรอกครับ มีเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย มีคุณหมอที่เชี่ยวชาญ ด้านต่าง ๆ มากมาย ก็บึงกาฬอีกล่ะครับ วันนี้เครื่องมือแพทย์ไม่ทันสมัยแล้ว คุณหมอก็น้อย ดังนั้น สปสช. จะดูสุขภาพถ้วนหน้าทั่วประเทศให้มีความสุข ก็ฝากท่านเป็นการบ้าน ไปพิจารณาการบ้านข้อนี้ข้อใหญ่เลยครับ จะทำอย่างไรให้พี่น้องชุมชนทั่วประเทศอยู่บนเขา อยู่บนไหนก็แล้วแต่ ถือว่าคนไทยด้วยกัน จะมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างไร อย่างที่เห็นอย่างวันนี้ แม้แต่โครงการคุณหมอชลน่าน ขออนุญาตเอ่ยชื่อท่านอีก ดีครับ แต่หมอดูแลคนป่วยก็ถือว่าหนักที่สุดแล้ว คนป่วยยาบ้าไม่ธรรมดานะครับท่านประธาน เห็นคลิปแต่ละวันไหม สะเทือนใจครับ วันนี้ก็ยังดีที่รัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา บอกว่าไม่เป็นอะไรเอาค่ายทหารเพิ่มเข้าไป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ท่านสุทิน คลังแสง ก็ตอบรับว่าเอาล่ะ ค่ายทหารก็ยินดี ก็ยังดีเบาแรงนะครับ ที่ค่ายมินิธัญญารักษ์ของคุณหมอ ชลน่านก็จะได้แบ่งเบาภาระ เอาไปไว้ค่ายทหารอีกก็ยังดีใจสดชื่น ไม่ให้ภาระคุณหมอ ที่โรงพยาบาลแบกรับไปเต็ม ๆ ดังนั้นวันนี้ก็ฝากท่านผู้มาชี้แจงว่า จะทำอย่างไรเพื่อพี่น้อง คนไทยในชาติจะมีหลักประกันถ้วนหน้าเหมือนตัวหนังสือครับ โดยเฉพาะเรียนว่าวันนี้ โครงการนี้ดีครับ ในอดีตหนักกว่านี้ ย้อนอดีตยิ่งหนักกว่านี้ สมัยโครงการ ๓๐ บาทยังไม่มา บ้านนอกเขาบอกว่าโครงการหมดไร่นา โครงการยังไม่มา ทำไมครับ พอเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ต้องขายที่ไร่ ที่นา พอ ๓๐ บาทว่าหาย โอเค ดีไป วันนี้ต่อยอดมาทันสมัยอีกก็ยิ่งดี แต่ยังไม่ดี ถึงที่สุด ดังนั้นจุดบกพร่องต่าง ๆ ก็ฝากผู้มาชี้แจงว่าวันนี้จะให้รัฐบาลเติมเต็มอย่างไร ด้วยงบประมาณก็ดี อย่างคุณหมอที่ขาดแคลนผมก็ถามคุณหมอนะครับ วันนั้นคุณทศพร เสรีรักษ์ ขออนุญาตเอ่ยนามท่านนะครับ ท่านเป็นประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข ลงไปดูพื้นที่โรงพยาบาลบึงกาฬว่าทำไมหมอถึงขาดแคลน ก็สาเหตุอย่างที่ผมกราบเรียนครับ ท่านประธานครับ เรียนใช้หนี้ทุนหมดลาออกหรือย้ายไปอยู่ที่อื่น คุณหมอชลน่านกับ คณะกรรมาธิการเลยสรุปวันนั้นว่าต้องให้ทุนหมอบ้านนอก อย่างบึงกาฬบ้านผมให้ทุนเด็ก บึงกาฬได้เรียนหมอ ๔ ปี ๕ ปี ๖ ปี อย่างน้อยให้ใช้หนี้บึงกาฬ ๑๐ ปี หรือจังหวัดอื่นเหมือนกัน ถ้าไม่อย่างนั้นจังหวัดที่ไกลปืนเที่ยงหมอก็หนีหมดครับ ฉะนั้นวันนี้ท่านประธานที่เคารพครับ ก็ชื่นชมในการรายงาน แต่ฝากข้อสังเกตว่าวันนี้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขออย่าให้เป็น เฉพาะตัวหนังสือครับ ประชาชนอยู่ชนบทก็ให้ได้ถ้วนหน้า และความหวังของพี่น้องเกษตรกร โดยเฉพาะชาวไร่ ชาวนาที่ยากไร้ต้องการดูแล

นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ

ก็ขออนุญาตอีกครั้งหนึ่งนะครับ อย่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนเดิม ท่านประธานครับ เขาเรียกว่า สถานีอนามัย วันนี้มาเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตำบล เข้าใจครับ ต้องการให้มีโรงพยาบาลทั่วทุกตำบล แต่ขออนุญาตพูดตรงนี้ว่า เป็นโรงพยาบาลสุขภาพชุมชนเฉพาะป้ายครับ เพราะพยาบาลหน้าเดิม เครื่องมือก็เท่าเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ท้ายที่สุดก็ได้เปลี่ยนแต่ป้ายครับ ก็ให้กำลังใจผู้มาชี้แจงสู้ต่อไป ผมเชื่อมั่น ว่าเพื่อนสมาชิกสภาทุกท่านเห็นพี่น้องประชาชนเดือดร้อนก็คงจะไม่ขัดข้อง จะเติมเต็ม ในสิ่งที่ขาด ขอกราบขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านสิริลภัส กองตระการ เชิญครับ

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาค่ะ ดิฉัน สิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตบางกะปิ เขตวังทองหลาง พรรคก้าวไกลค่ะ ก็ไม่พูดไม่ได้นะคะ ในประเด็นที่ดิฉันติดตามอยู่นั้นก็คือเรื่องของสุขภาพจิต ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณท่านผู้มาชี้แจงและคณะที่ได้มารายงานการสร้างระบบหลักประกัน สุขภาพแห่งชาติ ก็ต้องขอชื่นชมว่าในปี ๒๕๖๕ นี้ก็ได้มีการให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของ การบริการคัดกรองสุขภาพจิต ก็มีการคัดกรองมีแบบแผนมากขึ้น แล้วก็มีการรายงาน การติดตามผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชนที่เข้ามาสู่รายงานด้วย ก็สะท้อนให้เห็นได้ว่า สปสช. นี้ ได้ให้ความสำคัญเรื่องของประเด็นสุขภาพจิตมากขึ้น ขอสไลด์แรกเลยนะคะ

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

อันนี้ดิฉันอยากจะตั้ง ข้อสังเกตไว้สักเล็กน้อยเลยค่ะ ในหน้า ๑๖๔ เรื่องของการดูแลผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน ในรายงานนี้จะเห็นว่าในแท่งรองสุดท้ายของกรุงเทพมหานครอยู่ที่ ๒๐๓ คน ตัวเลขนี้เราอาจจะ ไม่ได้สะท้อนว่าในกรุงเทพมหานครมีผู้ป่วยที่น้อย แต่อาจจะสะท้อนให้เห็นว่าเราอาจจะ มีความจำกัดในด้านของการเข้าถึงหน่วยบริการหรือเปล่า ตรงนี้ก็ต้องฝากท่านพิจารณา ในการเพิ่มหน่วยบริการปฐมภูมิ ซึ่งดิฉันว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น หรือว่าถ้าท่านมีแนวนโยบาย ในการพัฒนาตรงนี้ก็อยากให้ชี้แจง หรือว่านำใส่ในรายงานในปีถัดไปด้วยก็ได้ เพราะว่าตรงนี้ ก็ถือว่าสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเพิ่มคนทำงาน เพิ่มหน่วยบริการจิตเวชปฐมภูมิ ในศูนย์บริการสาธารณสุขในกรุงเทพมหานคร หรือในต่างจังหวัดเองก็คือเรื่องของการ เพิ่มคนทำงานด้านการดูแลสุขภาพจิตใน รพ.สต.

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

อีกประเด็นสำคัญหนึ่งก็คือเรื่องของการพิจารณาเรื่องค่าตอบแทนค่ะ ค่าตอบแทนตอนนี้บุคลากรทางการแพทย์ได้น้อยนิดมากเลยค่ะ ถ้าเกิดว่าพิจารณาตรงนี้ได้ อาจจะสร้างแรงจูงใจได้ด้วย รวมไปถึงการเพิ่มสหวิชาชีพที่จะมาเป็นกำลังสนับสนุน แล้วก็ ลดการกระจุกตัวของการบริการตรงนี้ ทำให้บุคลากรนี้มีแรง มีขวัญกำลังใจในการทำงาน เรื่องของการดูแลสุขภาพจิตอีกด้วย

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นต่อไปดิฉันหวังว่ารายงานในปีถัด ๆ ไปก็จะมีการเพิ่มรายงานที่เป็น มิติของการดูแลสุขภาพจิตที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประเมิน KPI ของสายด่วน สุขภาพจิต หรือว่า KPI ของหน่วยงานที่ให้บริการทางด้านสุขภาพจิต ซึ่งตรงนี้ก็จะทำให้ สปสช. เป็นหลักประกันทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจของประชาชนอย่างครบถ้วน

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ดิฉันอยากฝากประเด็นคำถามไปถึงผู้ชี้แจงสักเล็กน้อย ก็อยากให้ตอบคำถาม ประมาณ ๓-๔ ประเด็นด้วยกัน

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นแรก เรื่องของแนวทางในการจัดสรรงบประมาณ เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ ในการดูแลสุขภาพจิตให้กับประชาชนว่าท่านมีแนวนโยบายที่จะดำเนินการในปีถัด ๆ ไป อย่างไร ที่นอกเหนือจากการเพิ่มบริการคู่สายด่วนสุขภาพจิต หรือว่าท่านจะพิจารณา เพิ่มสิทธิในการเข้าถึง การพบนักจิตวิทยาคลินิก หรือว่าการพบนักจิตบำบัดให้กับผู้ป่วยจิตเวช เพิ่มมากขึ้นได้หรือไม่

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ปัญหาต่อไปก็คือ เรื่องของโรงพยาบาลที่หลุดออกจากระบบบริการของ สปสช. ตรงที่มันสร้างปัญหานั้นก็คือ ทำให้ผู้ป่วยทั้งจะต้องเดินทางไปรักษาในโรงพยาบาล ที่ไกลออกไป พอต้องเดินทางไกลก็คือมีภาระเรื่องของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น ผู้ป่วย บางท่านเป็นผู้ป่วยติดเตียงหรือว่าเป็นผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย เราจะทำอย่างไร จะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร แล้ว สปสช. จะมีบทลงโทษสำหรับโรงพยาบาล ที่ไม่ทำตามเงื่อนไขนี้แล้วต้องหลุดออกไปหรือไม่ แล้วอีก ๑ กรณี ในกรณีที่ผู้ป่วย ไม่สามารถเดินทางเองได้ สิทธิประโยชน์ในการที่จะใช้รถพยาบาลในการรับส่งตัวผู้ป่วยนั้น รวมอยู่ในสิทธิประโยชน์ของ สปสช. หรือไม่

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

แล้วอีกอันหนึ่งที่ดิฉันอยากติดตามอย่างต่อเนื่อง นั่นก็คือการพิจารณา การเพิ่มบัญชียาหลักให้กับผู้ป่วยจิตเวช อันนี้ก็ได้รับข่าวดีมาว่าเรามียาที่จะเข้ามาฉีดให้กับ ผู้ป่วยจิตเวชที่ก่อความรุนแรงแล้ว แต่ว่าผู้ป่วยจิตเวชยังมีอีกหลายคน หลายชนิดที่เป็นผู้ป่วย จิตเวชเฉย ๆ เช่น ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยโรควิตกกังวล Panic หรืออื่น ๆ ที่เขากำลังรออยู่ ให้ทางรัฐหรือว่าคณะกรรมการพิจารณา ได้พิจารณาเพิ่มบัญชียาหลักให้เข้าสู่ทางเลือก ที่ผู้ป่วยเหล่านี้เขาจะสามารถมีทางเลือกในการทานยาได้ เพราะก็ต้องเรียนตามตรงนะคะ ในฐานะที่เป็นผู้ป่วยซึมเศร้าเหมือนกัน หลาย ๆ คนรับประทานยาที่อยู่ในบัญชียาหลักนี้ มี Effect อยู่มากมาย บางคนมีอาการดิ่งมากกว่าเดิม บางคนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและ การทำงาน ก็อยากจะให้ท่านได้พิจารณาถึงเรื่องการเพิ่มบัญชียาหลักด้วย แล้วในคณะกรรมการ ในการพิจารณานี้ ดิฉันอยากให้มีสัดส่วนของผู้ป่วยที่เป็นผู้ป่วยจิตเวช ในการเข้าไปมีส่วนร่วม ในการพิจารณาด้วย ขอบคุณมากค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านปิยชาติ รุจิพรวศิน ครับ

นายปิยชาติ รุจิพรวศิน นครราชสีมา ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ผม ปิยชาติ รุจิพรวศิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๒ พรรคก้าวไกลครับ ก่อนอื่น ต้องขอขอบคุณทาง สปสช. ที่วันนี้เข้ามารายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ นะครับ แต่ผมมีเรื่องที่อยากจะหารือผ่านท่านประธานไปยัง สปสช. นะครับ เนื่องด้วยงบประมาณโครงการผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับที่ไม่เพียงพอ ต่อผู้ป่วยที่มีสภาวะติดเตียงหรือมีปัญหาขับถ่ายครับ

นายปิยชาติ รุจิพรวศิน นครราชสีมา ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ สืบเนื่องจาก การดำเนินของภาครัฐในโครงการผ้าอ้อมผู้ใหญ่ดังที่ในสไลด์ขึ้นตอนนี้นะครับ แผ่นรองซับ สำหรับผู้ที่มีภาวะติดเตียงหรือมีปัญหาในเรื่องของการขับถ่ายนั้น เป็นโครงการที่ดีต่อพี่น้อง ประชาชนเป็นอย่างมาก ท่านประธานครับ ในปัจจุบันนั้นมีผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้ที่มีปัญหา ในเรื่องของการขับถ่ายที่ได้รับการสนับสนุนผ้าอ้อม แผ่นรองซับหรือแผ่นซึมซับอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือคละกันตามความจำเป็นของการใช้งานเฉลี่ยวันละ ๓๐ บาทต่อคน ประกอบไปด้วย ๑. ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ราคา ๙.๕๐ บาท ต่อ ๑ ชิ้น ๒. แผ่นรองซับการขับถ่ายราคา ๖ บาท ต่อ ๑ ชิ้น ๓. แผ่นซึมซับราคา ๔.๗๐ บาท ต่อ ๑ ชิ้น ท่านประธานครับ โครงการนี้อยู่ใน งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นหรือพื้นที่ โดยในปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕ แต่ไม่ได้ปรากฏเอกสารสรุปยอดการแจกจ่ายและใช้จ่ายงบประมาณโครงการนี้ในปีที่ผ่านมา เว้นแต่มีเอกสารเงินคงเหลือกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น หรือพื้นที่ดังที่ปรากฏ ดังภาพในสไลด์ตอนนี้ ซึ่งเอามาจากรายงานเล่มนี้ในหน้า ๒๔๕ ท่านประธานครับ จากนั้น ในปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา มีการสรุปการแจกจ่ายจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ถึงการแจกจ่ายผ้าอ้อมจำนวนทั้งสิ้น ๑๘.๐๒ ล้านชิ้น และแผ่นรองซับจำนวนทั้งสิ้น ๕๗๒,๗๔๑ ชิ้น ต่อจำนวนผู้ป่วยทั้งสิ้น ๔๔,๖๖๗ คนทั่วประเทศ รวมงบประมาณที่ใช้ไป ทั้งสิ้น ๑๕๔.๕๓ ล้านบาท

นายปิยชาติ รุจิพรวศิน นครราชสีมา ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ จากเอกสารของ สปสช. ในพื้นที่ตำบลบ้านโพธิ์ ขออนุญาต ท่านประธานเอ่ยชื่อตำบลนะครับ แต่ไม่เสียหาย เพราะผมกำลังจะชี้แจงให้เห็นว่าผู้ป่วย ที่ได้รับผ้าอ้อมผู้ใหญ่นี้มีไม่ทั่วถึงครับ ตำบลบ้านโพธิ์ตั้งอยู่ในพื้นที่เขต ๒ จังหวัดนครราชสีมา ได้รับงบไปที่ ๑๑๐,๗๑๖ บาท แต่เมื่อหักค่าต่าง ๆ ดังสไลด์นี้ อาทิ ค่าผ้าอ้อม ค่าแผ่นรองซับ ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ ค่าประชาสัมพันธ์โครงการ ค่าวัสดุจัดทำกิจกรรมและค่าใช้จ่าย ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมนั้น ทำให้ยอดเงินคงเหลือมีเพียงผู้ป่วยไม่กี่คนที่ได้รับงบผ้าอ้อมนี้ ซึ่งยังไม่รวมผู้ป่วยที่ตกสำรวจจากโครงการนี้อีกจำนวนหนึ่ง รวมไปถึงผมได้รับเสียงสะท้อน มาจากผู้ป่วยที่ได้รับผ้าอ้อมผู้ใหญ่นี้ เขาแจ้งมาว่าคุณภาพยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน

นายปิยชาติ รุจิพรวศิน นครราชสีมา ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ยังมีพื้นที่อื่น ๆ ในอำเภอเมือง รวมถึงตำบลพะเนาที่อยู่ ในเขต ๒ จังหวัดนครราชสีมา จากการสำรวจพื้นที่พร้อมกับทีมงานและได้รับความร่วมมือ ของพี่ ๆ อสม. ในพื้นที่ ทำให้พบว่าคุณลุงในภาพนี้ มีเพียงแค่เบี้ยผู้สูงอายุในการเลี้ยงชีพ แต่ละเดือน ท่านไม่มีแม้แต่เงินพอที่จะซื้อผ้าอ้อม แล้วท่านที่อยู่ในรูปนี้ตกสำรวจโครงการนี้ และทางโครงการได้ตัดงบประจำปีไปแล้วเรียบร้อย ผมจึงมีความรู้สึกว่ายังมีผู้ป่วยและ ผู้ต้องการผ้าอ้อมผู้ใหญ่แผ่นรองซับอีกหลายท่าน ไม่เพียงแต่พื้นที่ในจังหวัดนครราชสีมา แต่ยังมีอีกหลายจังหวัด หลายอำเภอ หลายพื้นที่ ที่กำลังพบเจอกับเหตุการณ์ในลักษณะ เดียวกันนี้ ผมจึงอยากฝากข้อเสนอแนะผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงาน สปสช. แล้วก็ อยากจะขอความร่วมมือได้ลองหาวิธี หรือว่าหาทางออกในการแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืน และเหมาะสม อาจจะเป็นการพิจารณาการยืดหยุ่นระยะเวลาการตัดงบประมาณในส่วนนี้ รวมไปถึงพิจารณาเกณฑ์การได้รับให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อที่ทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์ ต่อผู้ป่วยที่มีภาวะติดเตียง หรือมีปัญหาขับถ่ายที่กำลังรอการช่วยเหลือจากภาครัฐอยู่ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ครับ

นายกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ มหาสารคาม ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายแพทย์กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม เขต ๑ พรรคเพื่อไทย วันนี้จะมาอภิปรายรายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ท่านประธานครับ วันนี้ผมดีใจมากครับ เห็นรายงานของ สปสช. ทีไร มีความสุขใจ มีความยินดี เพราะว่าหลักประกันสุขภาพที่เราสร้างมาตั้งแต่ ปี ๒๕๔๕ จนถึงปัจจุบันเกือบ ๒๒ ปี ที่ระบบประกันสุขภาพของเราได้ก่อกำเนิดขึ้นมา และสร้างคุณูปการให้กับสังคมไทยอย่างมากมายครับท่านประธาน

นายกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ มหาสารคาม ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ถ้าพูดถึงสิ่งที่คนไทยภูมิใจเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องของ หลักประกันสุขภาพ ซึ่งหลักประกันสุภาพแห่งชาตินี้ได้รับรางวัลจากทั่วโลกต่าง ๆ มามากมาย เปลี่ยนระบบจากการสงเคราะห์ ท่านประธานครับ สมัยก่อนคนไม่มีสตางค์ คนเข้าโรงพยาบาล ต้องมีสังคมสงเคราะห์ ต้องไปขอคุณหมอเซ็นให้ว่าไม่มีสตางค์นะ ขอจ่ายเท่านั้น เท่านี้ หรือขอไม่จ่าย ผมอยู่ในช่วงนั้นนะครับ และท่านประธานครับระบบประกันสุขภาพแห่งชาตินี้ เปลี่ยนจากระบบสงเคราะห์เป็นระบบของหลักประกันหรือสิทธิของประชาชน รัฐมีหน้าที่ ในการดูแลปัญหาสุขภาพของประชาชน ให้ประชาชนได้รับสิทธิในการรักษา ในการส่งเสริม สุขภาพอย่างเท่าเทียมและไม่มีความเหลื่อมล้ำ นี่คือสิ่งที่มาที่ไปในหลักการการสร้าง หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งตลอด ๒๑ ปีที่ผ่านมา หลักประกันสุขภาพของเราพัฒนาขึ้น เรื่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ เอาส่วนต่าง ๆ ที่เป็นปัญหามาแก้ไขด้วยความรวดเร็ว ซึ่งถ้าไม่พูดถึง ผู้ที่เรียกว่าก่อตั้งมา ไม่ว่าจะเป็นคุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ หรือท่านนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ผู้ก่อตั้ง ผู้ที่ริเริ่มในการเอาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเข้ามาสู่ประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นความกล้าหาญอย่างมาก เพราะทำยาก ใช้งบประมาณเยอะ แล้วก็เปลี่ยนโครงสร้าง ต่าง ๆ มากมาย ก็ต้องขอชื่นชมในความกล้าหาญ ในวิสัยทัศน์ที่จะทำให้ประชาชนทุกคน ได้เข้าถึงสิทธิมากขึ้น คนไทยไม่เป็นหนี้จากการรักษา คนไทยไม่มีปัญหาความยากจน จากปัญหาสุขภาพ ท่านประธานครับ สปสช. ถูกออกแบบมาเป็นหลักประกันของประชาชน ประชาชนมีส่วนร่วม ในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินี้มีตัวแทนของ ภาคประชาชน ตัวแทนของหลายหน่วยงานเข้าไปเพื่อให้เป็นการ Balance ในความคิดต่าง ๆ เพื่อให้หลักประกันสุขภาพออกมาให้ดีที่สุดนะครับ พูดถึงหลักประกันสุขภาพ ผมไปที่ไหนประชาชนชื่นชมครับ บางคนร้องไห้ บางคนบอกว่า คุณหมอผมรอดตายจากหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ถ้าผมผ่าตัดโรคหัวใจ เรียกว่ายกเสื้อ ขึ้นมาเลย เห็นรอยผ่าตัดนะครับ นี่คือสิ่งที่ประชาชนเขาประทับใจ แล้วเขาก็ได้เข้าถึง หลักประกันสุขภาพอย่างทั่วถึง

นายกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ มหาสารคาม ต้นฉบับ

แล้วก็ต้องนำเรียนด้วยความเคารพนะครับว่า ในช่วงเริ่มต้นหลักประกัน สุขภาพแห่งชาติก็มีปัญหาหลายสิ่งหลายอย่างที่เราต้องอดทนและแก้ไข ผมก็อยู่ในช่วงนั้น แพทย์ทำงานหนักขึ้น แต่ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น แต่พวกเราในบุคลากรสาธารณสุข ก็มีความสุขใจนะครับว่า เราได้ทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนได้มากขึ้น แล้วประชาชนได้เข้าถึง สิทธิต่าง ๆ ด้วยความเป็นธรรม แล้วก็เป็นสิทธิ ไม่ใช่เป็นระบบสังเคราะห์ ประชาชนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีในการเข้าสู่สถานบริการของรัฐ ไม่ใช่เป็นระบบที่จะไปสังเคราะห์หรือไปขอ ซึ่งเรื่องนี้ ก็ถือว่าเราเป็นหลักประกันสุขภาพที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในวิสัยทัศน์ในรายงานปี ๒๕๖๕ บอกว่าทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ได้รับการคุ้มครองหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ด้วยความมั่นใจ โดย ๓ เป้าประสงค์หลัก คือ ๑. ประชาชนเข้าถึงบริการ ๒. การเงินการคลัง มั่นคง ๓. ธำรงธรรมาภิบาล ชื่นชมนะครับว่าทั้ง ๓ อย่างพวกท่านก็พยายามจะทำให้ดีที่สุด แล้วงบประมาณปี ๒๕๖๕ ได้ใช้งบประมาณ สปสช. เกือบ ๑๙๙,๐๐๐ ล้านบาท คิดเป็น ๖.๔๒ เปอร์เซ็นต์ ของงบประมาณแผ่นดิน จึงถือว่าถูกมากนะครับ หลักประกันสุขภาพ แห่งชาติของทั้งหมด เรื่องค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ท่านประธานครับ ทั้งระบบของประเทศไทย ปัจจุบัน ๔.๕๕ เปอร์เซ็นต์ ความเหมาะสมคือ ๔.๖-๕ เปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่ารัฐบาลได้ให้ ความเป็นธรรมในการลงทุนด้านสุขภาพ แล้วค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพภาครัฐทั้งระบบ ๑๔.๖๔ เปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่าเป็นความเหมาะสมที่เราได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐได้อย่าง เพียงพอ

นายกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ มหาสารคาม ต้นฉบับ

ฉะนั้นในเรื่องของอัตราเหมาจ่ายรายหัว ท่านประธานครับ ปี ๒๕๔๕ ได้รับเพียง ๑,๐๒๒ บาทต่อหัว ปี ๒๕๖๕ ๓,๓๒๙ บาท เพิ่มขึ้น ๓ เท่า ครอบคลุมประชาชน ๔๗.๕ ล้านคน ความพึงพอใจของผู้รับบริการ ๙๗.๖๗ เปอร์เซ็นต์ มากครับ ผู้ให้บริการ แต่ก่อน ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ๕๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ ตอนนี้ ๘๖.๑๗ เปอร์เซ็นต์ ถือว่า สปสช. ได้แก้ไข Pain Point สำคัญคือผู้ให้บริการเหนื่อย ขวัญกำลังใจน้อย แล้วก็มีปัญหาต่าง ๆ ในเชิงระบบ ท่านก็สามารถจะแก้ไขให้ความพึงพอใจของผู้ให้บริการเพิ่มขึ้นถึง ๘๖ เปอร์เซ็นต์ ส่วนภาคีเครือข่ายความพึงพอใจ ๙๗.๖๒ เปอร์เซ็นต์ และสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นทุกปี ๆ ท่านประธานครับ ปีนี้มีสิทธิประโยชน์อย่างหนึ่งที่เพิ่มขึ้น คือคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่งดงาม เพราะว่าเรื่องมะเร็งท่อน้ำดีเกิดจากพยาธิใบไม้ในตับ คนอีสาน คนเหนือเป็นเยอะ แล้วก็เกิดจากการกินปลาดิบ ซึ่งตอนนี้ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีนวัตกรรมการตรวจปัสสาวะ ซึ่งถือว่าเป็นการตรวจที่ง่าย แล้วก็สามารถจะทำให้คัดกรอง ผู้ป่วยที่มีพยาธิใบไม้ในตับ แล้วไปรักษาก่อนที่จะเป็นมะเร็งท่อน้ำดี ทาง สปสช. ก็รับลูกไป เพิ่งไปเปิดโครงการที่มหาสารคาม เป็นผ้าป่ามหากุศลของวัดป่าวังน้ำเย็น มีพระวชิรญาณวิศิษฏ์ พระอาจารย์สุริยันต์เป็นประธาน มีท่านรัฐมนตรีชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีสุทิน คลังแสง และอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ท่านนายแพทย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล ไปเป็น สักขีพยาน ก็เชื่อมั่นนะครับว่า ๓๐ บาทรักษาทุกโรค จะทำให้สังคมไทยได้รับสิทธิประโยชน์ ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นดีขึ้นอีกมากมาย ความเหลื่อมล้ำลดลงและยังมีความท้าทายใหม่ ๆ ความท้าทายอีกหลายอย่างที่ท่านยังต้องทำเพื่อให้ระบบสุขภาพดีขึ้น การส่งเสริมการป้องกันโรค ได้รับการพัฒนา ป้องกันดีกว่าแก้นะครับ ก็ขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องชาว สปสช. บุคลากร ด้านสาธารณสุขทุกท่าน ขอบคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ผมขอปิดการลงชื่อเพื่ออภิปราย ต่อไปเป็นท่านเอกราช อุดมอำนวย ครับ

นายเอกราช อุดมอำนวย ปทุมธานี ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพครับ ผม จอจาน เอกราช อุดมอำนวย ผู้แทนคนดอนเมือง พรรคก้าวไกลครับ ท่านประธานครับ ต้องขอบพระคุณท่านประธานนะครับ ที่เปิดโอกาสให้ได้อภิปรายรายงาน การสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประจำปี ๒๕๖๕ แต่ว่าก็ขอตินิดหนึ่งครับว่า กว่าท่านเลขาธิการ สปสช. จะมานี้ เลื่อนหลายสัปดาห์เหลือเกินนะครับ ผมก็เตรียมเอาไว้ ที่จะรายงานเพื่อสะท้อนปัญหาต่าง ๆ ที่ท่านมี แล้วก็จะได้เอาปัญหาและข้อเสนอแนะ เพื่อไปปรับปรุงต่อไป

นายเอกราช อุดมอำนวย ปทุมธานี ต้นฉบับ

ท่านประธานครับในเขตดอนเมืองนี้ มีคลินิกชุมชนอยู่หลายแห่งด้วยกันนะครับ อาทิ คลินิกโกสุมรวมใจ คลินิกเวชกรรมวัดไผ่เขียว หรือที่สรงประภา ซอย ๒๖ ณัฐธิดาคลินิก อันนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งนะครับ ยังมีในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเพื่อนสมาชิกก็ได้ตั้งกระทู้ได้อภิปรายกันไปแล้ว เขาถามหาว่าบัตรทอง กทม. เงินไปไหนหมด ท่านประธานครับ นี่คือสิ่งที่ผมทนไม่ได้ที่ในรายงานนี้ไม่ได้ระบุปัญหาที่มีเกี่ยวกับ ศูนย์บริการสุขภาพที่เขต กทม. จะต้องเจอเลย ฝากท่านประธานไปถึงผู้ชี้แจงนะครับว่า ถ้าท่านติดตามข่าวสารแล้วก็ใส่ใจพวกเขา อย่างน้อยก็จะได้ลงไปในรายงาน เพราะว่า ผมทราบมาเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่รับรู้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ท่านประธานครับ นอกจากที่เขา จะติดป้ายประท้วงแบบนี้ พวกเขาก็ยังไปพบผู้สื่อข่าว ไปยื่นหนังสือถึง สปสช. พวกนี้ เขาทำกันมาหมดแล้ว แต่ดูเหมือนว่ามันก็ไม่เพียงพอที่จะกดดันในการแก้ไขปัญหาได้ แต่ก่อนที่ผมจะไปลงในรายละเอียดครับท่านประธาน ผมฝากท่านประธานไปยังหน่วยงาน สปสช. นะครับว่า การทำงานผมอยากจะช่วยให้ท่านทบทวนในการเข้าถึงที่พี่น้องจะเข้าถึง ศูนย์บริการสุขภาพของชุมชนได้มากกว่านี้ ผมถอดบทเรียนมาจากนี้ครับ เราเรียนรู้อะไรบ้าง จากโควิดหลังปี ๒๕๖๕ ผมว่าท่านทราบดีถึงความสำคัญของคลินิกเหล่านี้ ท่านทราบดีนะครับ แต่ว่าสิ่งที่พวกเขาจะต้องรับผิดชอบ หน่วยงานของท่านเป็นผู้กำหนดทั้งหมดนะครับ มีตราหน่วยงานของท่าน พอผมอ่านแล้วก็มีบริการครอบคลุมมาก ไม่ว่าจะเป็นการรักษาฟรี ทั้งโรคเบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือด โรคผิวหนัง การทำแผล ล้างแผล อุบัติเหตุ ฝากครรภ์ ตรวจครรภ์ ฉีดยาคุมกำเนิด ตรวจภายใน ตรวจสุขภาพประจำปี แล้วก็ยังมีคลินิกชุมชนอบอุ่น ใช่ไหมครับ ใกล้บ้าน ประหยัดเงิน ประหยัดเวลา อันนี้คือข้อดีเรารู้อยู่แล้ว แต่ท่านประธานครับ ซึ่งพี่น้องประชาชนก็ชื่นชอบว่าการมารับบริการมันไม่ต้องสำรองจ่าย มันก็ลดภาระ แต่ว่าศูนย์พวกนี้กลับต้องแบกรับครับ แบกรับอะไรบ้างครับท่านประธาน คลินิกต้องใช้ เงินหมุนเวียนไปก่อนจากเงินที่ สปสช. ชดเชยให้ แต่ตอนนี้พวกคลินิกเขาขาดทุนต่อเนื่อง เบิกได้เพียงแค่ร้อยละ ๕๐-๗๐ เท่านั้น ที่เหลือคลินิกเขาต้องรับผิดชอบ ยังมีรายการ บางรายการที่เขาเบิกไม่ได้ด้วย ท่านประธานครับ สปสช. จะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร ผมก็อยากจะให้ท่านจเด็จตอบเหมือนกัน ท่านรู้ไหมครับว่าในไตรมาสปี ๒๕๖๗ มีการใช้จ่าย งบประมาณค่าบริการไปมากกว่าร้อยละ ๕๐ แล้ว ผมก็ฝากไปถึงเจ้ากระทรวงด้วยนะครับ คุณหมอชลน่าน ขออนุญาตกล่าวถึงไม่เสียหาย ช่วยดูแลงบประมาณในส่วนนี้ด้วย เพราะว่าปัญหามันจะกระทบกับระบบการให้บริการสาธารณสุขโดยตรง ท่านรู้ไหมว่า ค่าใช้จ่ายที่ศูนย์เขาแบกรับในแต่ละเดือน ผมไปสอบถามมานะครับ เขาใช้เป็นแสน ๆ ท่านประธาน มีทั้งค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร พยาบาล ๒ คน นักวิชาการ แล้วจริง ๆ มันเยอะมาก แล้วก็ยังไม่รวมค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเวชภัณฑ์ ค่าตึกอีกหลายอย่าง ฉะนั้นผมขอเป็นกระบอกเสียง นี่คือข้อเสนอที่ผมได้รับมา ที่เสนอต่อท่านตรงนี้เสียงสะท้อน ของบุคลากรทางการแพทย์ในคลินิกชุมชนที่ขาดทุน เป็นไปได้ไหมว่าจะเอาเงินของกองทุน ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพหรือการป้องกันโรคมาใช้ไปพลางก่อน ส่วนอีกท่านหนึ่ง เขาก็เสนอมาว่าไม่ควรให้คลินิกมารับความเสี่ยงทางการเงิน ขอให้ สปสช. อย่าเพียงแต่ว่า ประชาสัมพันธ์หาคลินิกเพิ่ม แต่ว่าไม่ดูแลรายจ่ายให้เพียงพอ นี่คือสิ่งที่พวกเขาฝากผม สะท้อนมา ผมไม่รู้ว่าท่านเรียนรู้อะไรจากสถานการณ์โควิดมาบ้างนะครับ แต่แน่นอนว่า มันก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีล่ะครับ ที่เราจะต้องตั้งคำถามว่าเราสามารถที่จะพึ่งพาระบบ ได้มากน้อยเพียงใด

นายเอกราช อุดมอำนวย ปทุมธานี ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผมยกตัวอย่าง ๔ ด้าน ที่เราจะเข้าถึงระบบสาธารณสุข ในชุมชน กทม. ประชากรแฝงกว่า ๑๐ ล้านคน แล้วการเข้าถึงทางการแพทย์อาจจะยังไม่ทั่วถึง ครอบคลุมมากนัก แล้วก็มีเฉพาะโรงพยาบาลใหญ่ที่อาจจะครอบคลุมทุกพื้นที่ ข้อเสนอที่เป็น อุเบกขามากสำหรับผมนะครับ คืออยากให้ท่านใช้เทคโนโลยีช่วยในการจัดการมากยิ่งขึ้น มันก็จะช่วยลดงานบุคลากร แล้วก็อยากให้ท่านเร่งในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้ป่วยหรือว่า Big Data เทคโนโลยีที่จะคัดกรองเบื้องต้น แพทย์ทางไกลก็จะลดความแออัด

นายเอกราช อุดมอำนวย ปทุมธานี ต้นฉบับ

ในส่วนสุดท้ายก็คือ อยากให้ท่านสนับสนุนหน่วยบริการสุขภาพอย่างสมเหตุสมผล แล้วก็ทบทวนจำนวนของการเข้าใช้บริการของโรงพยาบาลประจำจังหวัด โรงพยาบาล ประจำตำบล หรือว่าศูนย์บริการชุมชน เพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณ และเรื่องนี้ เราพูดกันมาเยอะครับท่านประธาน ก็คืออนาคตที่เราจะต้องมีความทะเยอทะยานที่จะทำให้ ครอบคลุมทุกคนจะทำได้ไหม คือรวมสิทธิการรักษาของพี่น้องประชาชนบัตรทอง ประกันสังคม ข้าราชการมา ผมอยากจะเห็นแผนการในอนาคตที่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะมี ความเข้มแข็งและดูแลอย่างไร ผมจะรอฟังคำตอบจากท่านจเด็จ ขอบคุณครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านอนุสรณ์ แก้ววิเชียร ครับ

นายอนุสรณ์ แก้ววิเชียร นนทบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม อนุสรณ์ แก้ววิเชียร สมาชิกผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี อำเภอบางกรวย ตำบลบางไผ่ พรรคก้าวไกลครับ ก่อนอื่นผมขออนุญาตเรียนก่อนนะครับว่าวันนี้ที่ผมได้มา อภิปรายรายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผมรู้สึกเป็นเกียรติมากนะครับ เพราะว่าตัว สปสช. เป็นหน่วยงานที่ผมเคยปฏิบัติงานอยู่ ผมเคยเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ของ สปสช. นะครับ ผมขออนุญาตนำเรียนอย่างนี้ว่าผมอภิปรายเนื้อหาในวันนี้ด้วยทัศนคติ เชิงบวกกับ สปสช. นะครับ ในตัวพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ ผมเข้าใจว่ากำหนดไว้ในมาตรา ๑๘ (๑๒) และมาตรา ๒๖ (๑๓) ที่กำหนดให้ สปสช. มีหน้าที่ มารายงานผลงานและอุปสรรคในการดำเนินงานต่อสภาแห่งนี้

นายอนุสรณ์ แก้ววิเชียร นนทบุรี ต้นฉบับ

แต่ผมขออนุญาตนำเรียนทางผู้ชี้แจงนะครับว่า ในเอกสารที่ท่านส่งให้ผมนี้ ผมยังไม่เห็น ผมเห็นผลงานของท่านนะครับ แต่อุปสรรคผมขออนุญาต Quote ข้อความ ตามที่พระราชบัญญัติกำหนดไว้นะครับ ผมยังไม่เห็นท่านรายงานอุปสรรคในการดำเนินงาน ในเอกสารเล่มนี้เลยนะครับ สิ่งที่ใกล้เคียงมากที่สุดในเล่มรายงานของท่านก็คืออยู่ในหน้า ๑๒ ในข้อ ๘ เรื่องความท้าทายในการดำเนินการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผมขอท้าทาย ตามข้อความที่ท่านบอกนะครับ เพราะเนื้อหาที่ท่านพูดในข้อ ๘ และ (๘) นี้ บูรณาการสร้าง ความเป็นเอกภาพของระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ ๓ ระบบ คือสวัสดิการรักษาพยาบาล ข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพ นี่คือความท้าทายที่ระบุในรายงานของท่าน ในหน้า ๓๒ ท่านระบุไว้ว่าลดความเหลื่อมล้ำบูรณาการ ๓ กองทุน ท่านลงรายละเอียดไว้ว่า คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสร้างความกลมกลืนในระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ มีนโยบาย เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ หรือ UCEP บริการสร้างเสริมสุขภาพและ ป้องกันโรคครอบคลุมคนไทยทุกสิทธิ นี่คือสิ่งที่ท่านระบุไว้ในรายงาน

นายอนุสรณ์ แก้ววิเชียร นนทบุรี ต้นฉบับ

ผมอยากชวนท่านคิด ในมาตรา ๖๖ ของ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผมขออนุญาตอ่านนะครับท่านประธาน มาตรา ๖๖ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ ภายใน ๑ ปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และหากไม่แล้วเสร็จ ให้ขยายระยะเวลาได้ครั้งละ ๑ ปี โดยให้สำนักงานหรือสำนักงานและสำนักงานประกันสังคม แล้วแต่กรณี รายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และจัดให้ มีการเผยแพร่รายงานนั้นต่อสาธารณชน ผมขออนุญาตขยายความอย่างนี้นะครับว่า ในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินี้ มีบทบัญญัติในมาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ ที่จะให้รวบการรักษาพยาบาลเอาไว้ที่ สปสช. คือรวมสิทธิทั้งสวัสดิการของข้าราชการ และสวัสดิการประกันสังคม โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งในมาตรา ๖๖ นี้ก็ระบุไว้ว่า ให้ดำเนินการภายใน ๑ ปี แต่ให้ขยายได้ ผมขออนุญาตทวนข้อความนิดหนึ่งครับว่า พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ มีผลใช้บังคับวันแรกเมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ ถึงปัจจุบันนี้ ๒๐ ปีแล้วครับ ยังไม่มีการรวมสิทธิ มันเป็นความท้าทาย ตามที่ท่านรายงานไว้เป๊ะเลยนะครับ

นายอนุสรณ์ แก้ววิเชียร นนทบุรี ต้นฉบับ

อีกกรณีหนึ่งท่านระบุไว้ในหน้า ๒๖ ว่า ๒๐ ปี หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผมขออนุญาตนำเรียนอย่างนี้นะครับว่าในระบบหลักประกันสุขภาพ แห่งชาติในมาตรา ๕ ท่านระบุว่าบุคคลทุกคนนะครับ ในสมัยที่ผมทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ อยู่ สปสช. เราจะมี Motto อยู่คำหนึ่งครับว่า บุคคลทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย ต้องมีสวัสดิการด้านสุขภาพ แต่วันดีคืนดีท่านส่งหารือไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกา แล้วมีการ ตีความกลับมาว่าท่านมีหน้าที่ดูแลเฉพาะคนไทยเท่านั้น อันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทาย ของท่านนะครับ เพราะว่าการที่ท่านจะรวม ๓ กองทุน ระยะเวลาผ่านมา ๒๐ ปีแล้ว ก็ยังทำไม่สำเร็จ อีกความท้าทายของท่าน ๆ มีเจตนาจะดูแลบุคคลทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย แต่ก็มาถูกระงับให้ดูแลเฉพาะคนไทย

นายอนุสรณ์ แก้ววิเชียร นนทบุรี ต้นฉบับ

ผมขออนุญาตเสริมท่านอีกนิดหนึ่งนะครับว่าสิ่งที่ท่านบอกใน ๓ กองทุนนั้น ท่านลืมไป ๑ หน่วยงาน หน่วยงานนั้นชื่อ กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ กองนี้อยู่ในสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขนะครับ ถามว่าหน่วยงานนี้ดูอะไร หน่วยงานนี้ ดูคนที่ไม่มีสัญชาติไทยหรืออยู่ระหว่างพิสูจน์สัญชาติ หน่วยงานนี้ไม่ได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกับ คนไทย ถึงแม้วันเวลาผ่านไปเขาจะถูกพิสูจน์มาแล้วว่าเขาเป็นคนไทย ผมยกตัวอย่างชาติพันธุ์ ที่ยังไม่มีเลข ๑๓ หลัก ระบบของ สปสช. ที่ผูกไว้กับเลข ๑๓ หลักในบัตรประชาชน กลุ่มชาติพันธุ์ ที่ยังไม่ได้สัญชาติไทยก็ยังไม่มีสิทธิ สปสช. รวมถึงเด็กติด G หรือเด็กหัว G ที่เราเรียกกัน ก็คือเด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่ไม่มีสัญชาติไทยก็ยังไม่มีสิทธิ เพราะฉะนั้นความท้าทายของท่าน ไม่ได้จบอยู่แค่ ๓ กองทุนเท่านั้น ผมอยากให้ท่านนึกถึงเจตนารมณ์ของคน ๆ หนึ่งครับ ถ้าดวงวิญญาณของท่านฟังอยู่คือ นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ พวกเราทุกคนรู้ดีครับว่า สปสช. เกิดขึ้นมาเพราะใคร มีอุดมการณ์แนวความคิดอย่างไร มีหัวก้าวหน้ามีการดำเนินงาน ที่แตกต่างจากระบบราชการอย่างไร แต่วันนี้ผมเห็น สปสช. เป็นเสมือนกรม ๆ หนึ่ง ในกระทรวงสาธารณสุข ตั้งหน้าตั้งตาเดินตามหรือทำงานตอบสนองต่อนโยบายที่ไม่ได้ทำ เพื่อประชาชน หรืออาจจะทำเพื่อประชาชนแต่ไม่เต็มที่ ไม่เต็มประสิทธิภาพ

นายอนุสรณ์ แก้ววิเชียร นนทบุรี ต้นฉบับ

วันนี้ผมขออนุญาต ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทยที่เป็นคนไทยที่ไม่มี บัตรประชาชน ขออนุญาตนำเรียนกับ สปสช. อย่างนี้ว่า อยากให้ท่านตั้งหลักเรื่องปัญหา สุขภาพและปัญหาความมั่นคงออกจากกัน วิกฤตการณ์โควิดที่ผ่านมาเราเห็นแล้วครับว่า เรื่องสุขภาพที่เกิดในช่วงโรคระบาดนี้มันระบาดได้ไม่ว่าจะสัญชาติใด ในช่วงวิกฤติโควิด ผมออกตรวจโควิดให้กับแรงงานต่างด้าวทั้งเข้าเมืองถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ผมออกตรวจ โควิดให้กับ พูดตรง ๆ คือผู้ลี้ภัยทางการเมือง ซึ่งไม่มีสิทธิการรักษาพยาบาล เหมือนที่ผม กล่าวตอนต้นครับว่า ผมลุกขึ้นอภิปรายด้วยทัศนคติเชิงบวกในวันนี้ มีความฝัน มีความหวัง อยากเห็น สปสช. เหมือนวันที่ผมเข้าไปรับการปฐมนิเทศก่อนเข้าทำงานในวันแรก ให้กำลังใจ สปสช. นะครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านปวิตรา จิตตกิจ ครับ

นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานค่ะ ดิฉัน ปวิตรา จิตตกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตบางกอกใหญ่ เขตธนบุรี เขตภาษีเจริญ แขวงศิริราชและแขวงบางเชือกหนัง กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกลค่ะ วันนี้ดิฉัน ขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายรับทราบ รายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ฉบับนี้ ซึ่งดิฉันขออนุญาตใช้คำนี้และขอเรียกรายงานฉบับนี้ สั้น ๆ ว่ารายงานลูบหน้าปะจมูกค่ะ ทำไมต้องใช้คำนี้นะคะ เพราะว่ารายงานฉบับนี้ ไม่ได้รายงานปัญหาสาธารณสุขไทยอย่างจริงจังค่ะ แล้วก็ไม่ได้ทำอย่างตรงไปตรงมา อีกทั้งงบประมาณที่ผ่านมาก็ถูกจัดสรรเป็นเศษเงินมากกว่าการลงทุน เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ ให้กับประชาชนอย่างยั่งยืนค่ะ ดิฉันอยากเชิญชวนท่านประธานผ่านไปยังประชาชนที่ชมอยู่ แล้วก็ผู้ทำรายงานให้ตั้งข้อสังเกตประเด็นเหล่านี้ค่ะ

นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นแรก จะเห็นว่ารายงานผลการดำเนินงานในปี ๒๕๖๕ มีงบประมาณ เพิ่มขึ้นค่ะ อาทิ ในหน้า ๑๐๖ หมวดจำนวนงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปีงบประมาณ ๒๕๖๑-๒๕๖๕ ข้อที่ ๑.๒ ตามภาพนะคะ เงินเดือนของหน่วยบริการภาครัฐ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นทุกปี และปีล่าสุดอยู่ที่ ๕๘,๓๔๑ ล้านบาท แต่ทว่างบประมาณที่มีความจำเป็นและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างการบริการ สาธารณสุข อย่างผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงกลับอยู่ที่ ๙๙๐ ล้านบาท ซึ่งก็มีแนวโน้มลดลง จากปี ๒๕๖๑ เห็นไหมคะ กราฟติดดินเลยนะคะ หรือว่าค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการ ในพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัย และพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้กลับอยู่ที่ ๑,๔๙๐ ล้านบาท ซึ่งก็เท่าเดิมค่ะ ตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ จนถึงปี ๒๕๖๖ ไม่มีการพัฒนา สรุปสั้น ๆ ง่าย ๆ คือ ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ แต่ว่างบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุไม่ได้โตตาม และปัญหา สาธารณสุขในพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัย ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ยังไม่ได้ถูกให้ความสำคัญ ที่จะทำให้ประชาชนได้เข้าถึงสิทธิการรักษาได้อย่างเท่าเทียมกัน

นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ รายงานหน้า ๑๙ มีการพูดถึงโครงการขอรับผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับ โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีที่ประชาชนควรจะได้รับอย่างเท่าเทียม แต่ว่า โครงการนี้มีปัญหาอย่างมาก ในเรื่องของการจัดสรรการจัดการอย่างไม่เป็นระบบของ หน่วยงานรัฐด้วยกันเอง ดิฉันก็ไปที่หน้างานมานะคะ เช่น กรุงเทพมหานครเพิ่งได้รับผ้าอ้อม เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทราบไหมคะว่าประชาชนในพื้นที่ดิฉันลงทะเบียนล่วงหน้า เพื่อจะรอรับผ้าอ้อมนี้ล่วงหน้า ๑ ปี เพิ่งจะได้รับค่ะ นั่นหมายความว่ารอจนเสียชีวิต รอจนบางท่านตายจาก และผ้าอ้อมที่ได้รับนี้ก็เป็นการจัดสรรสิทธิจากคนที่เสียชีวิตไปแล้วบ้าง บางคนก็ถอดใจไป ไปรับไม่ไหวค่ะ ให้มาที ๙ Pack ใหญ่ ๆ ซึ่งตอนแรกเจ้าหน้าที่แจ้งว่า จะจัดส่งให้ถึงที่ แต่พอถึงเวลาหน้างานจริงให้เรียกรถไปรับเอง ลำพังผู้สูงอายุที่มีภาวะแบบนี้ ก็มีเงินน้อยอยู่แล้ว ดังนั้นจะต้องหาทางไปรับผ้าอ้อมเองอีก ก็สร้างปัญหาให้เยอะนะคะ ไม่ทราบว่าเรื่องนี้ได้สะท้อนผ่านไปยัง สปสช. บ้างหรือไม่คะ ยังไม่รวมถึง Budget งบประมาณเฉลี่ยที่ให้ซื้อผ้าอ้อมแต่ละชิ้น โครงการนี้อยู่ที่ ๓๐ บาทต่อวันต่อคน ๑ ชิ้นอยู่ที่ ๙.๕๐ บาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ฝากสะท้อนมาค่ะ ผู้ปฏิบัติงานบอกว่าหามาได้ ๙.๕๐ บาท ได้แค่นี้ ก็บุญแล้วค่ะ หาคนประมูลมาทำงานนี้ได้ก็ดีแค่ไหนแล้ว ในท้องตลาดหาไม่ได้แล้วค่ะ ท่านประธานทราบหรือไม่คะว่าข้อมูลของผู้ที่มีความยากลำบาก ในการช่วยเหลือตัวเอง ในการขับถ่ายมีจำนวนประมาณ ๓๖๐,๐๐๐ คน ในประเทศเราส่วนใหญ่เป็นผู้พิการ เป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้หรือรายได้น้อยมากค่ะ แต่ว่าในปี ๒๕๖๖ โครงการดูแลผู้ป่วย ทั่วประเทศของ สปสช. ก็ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยอยู่ที่ ๔๔,๖๖๗ คน และมีฐานข้อมูลผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงผู้มีปัญหาการกลั้นการขับถ่ายอยู่ที่ประมาณ ๕๐,๐๐๐ คน นั่นคือตัวเลขมันไม่ตรงกัน ใช่ไหมคะ มันตกหล่นค่ะ หมายความว่าผู้ป่วยทั่วประเทศยังไม่เข้าถึงสิทธินี้ สิ่งเหล่านี้สะท้อน ว่าการจัดสรรงบประมาณในรายงานฉบับนี้มีปัญหา อีกทั้งการทำงานของหน่วยงานรัฐ ไม่ได้เชื่อมโยงกันจริง ๆ ค่ะ คนเขียนรายงานเป็นอย่าง คนหน้างานก็ไม่เคยคุยกัน ไม่มีโอกาส ได้สะท้อนปัญหา แล้วก็ผ่านมาในรายงานเล่มนี้ค่ะ

นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ จำนวนคลินิกชุมชนอบอุ่นที่มีไว้ดูแลรักษาผู้ป่วยขั้นปฐมภูมิ ในสภาพความเป็นจริงที่ไม่สอดคล้องกัน กรุงเทพมหานครมีประชากรที่จะใช้บัตรทอง อยู่ประมาณ ๕ ล้านคน แต่ว่าคลินิกชุมชนอบอุ่นมีเพียงแค่ ๒๗๖ แห่ง เฉลี่ยแล้ว ๑ คลินิก ดูแล ๑๘,๐๐๐ คน ท่านประธานดูภาพนะคะ พื้นที่ของคลินิกชุมชนอบอุ่นขนาดนี้จะสามารถ รองรับประชาชน ๑๘,๐๐๐ คนได้อย่างเพียงพอหรือไม่ ดูแลทั่วถึงหรือเปล่า ดิฉันก็เคยได้มี โอกาสตั้งกระทู้ถามท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการเกี่ยวกับเรื่องนี้นะคะว่า ทำอย่างไรถึงจะให้เพียงพอ ท่านตอบมาว่าหมอไม่พอ สร้างคลินิกไปก็ไม่มีประโยชน์ ดิฉันฟังแล้วก็ชวนถอนหายใจค่ะ

นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๔ เป็นเรื่องกลุ่มโรคหายาก หรือภาษาอังกฤษที่เรียกว่า Rare Disease ถูกพูดเพียงแค่ ๗ คำเท่านั้น ในรายงาน ๔๐๐ กว่าหน้าเล่มนี้ ทั้ง ๆ ที่ เมื่อปี ๒๕๖๕ ท่านอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ได้จัดการเสวนาวิชาการเรื่องนี้ ได้ให้ความสำคัญไป แต่ข้อเท็จจริงกลุ่มคนที่ป่วยโรค Rare Disease โรคหายากนี้มีความน่าเศร้า น่าสงสารมากค่ะ เนื่องจากไปหาหมอแล้วก็เบิกค่ารักษาไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่เขาก็มีสิทธิบัตรทอง เหมือนกับประชาชนกว่า ๔๗ ล้านคน แต่ไม่มีสิทธิรักษา เพียงเพราะว่าเขาป่วยเป็นโรคหายาก ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคนี้ก็สูงมาก ปัจจุบัน สปสช. ได้นำร่องเพียง ๒๔ โรค เฉพาะโรค ในกลุ่มพันธุกรรม Metabolic ตั้งแต่ปี ๒๕๖๔ แต่ในความเป็นจริงโรคหายากแบบนี้ มี ๗,๐๐๐ กว่าชนิด และอยู่ในกลุ่ม Non Metabolic ซึ่งสิทธิบัตรทองไม่ได้ครอบคลุม ยังไม่รวมประเด็นยาบางประการที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ หากจะเข้าถึงก็ต้องจ่ายเงินเอง

นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นสุดท้าย เรื่องการบรรจุวัคซีนไข้เลือดออกเข้าไปในแผนการเสริมสร้าง ภูมิคุ้มกันของโรคกระทรวงสาธารณสุข ไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่น ทุกคนมีสิทธิเป็นค่ะ เป็นแล้วก็เป็นอีกได้ แข็งแรงหรือว่ามีโรคประจำตัว มีโอกาสเป็นค่ะ ไม่มียารักษาเฉพาะเจาะจง ท่านประธานคงทราบนะคะว่าวัคซีนขณะนี้มีราคาสูงมาก แต่การป้องกันเชิงรุกย่อมดีกว่า การตั้งรับค่ะ

นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

จากประเด็นทั้งหมดที่กล่าวมาสะท้อนถึงสภาพปัญหาระบบสาธารณสุขไทย การสร้างรัฐสวัสดิการที่ล้มเหลวและขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ดิฉันหวังว่ารายงาน ฉบับหน้าเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงว่าระบบสาธารณสุขที่ใช้เงินเป็น และให้ความสำคัญ กับการสร้างระบบสาธารณสุขถ้วนหน้าอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่รายงานให้สภารับทราบค่ะ ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านกรุณพล เทียนสุวรรณ ครับ

นายกรุณพล เทียนสุวรรณ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม กรุณพล เทียนสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกลครับ ขอร่วมอภิปรายรายงานของ สปสช. ในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ก่อนอื่นผมว่าเพื่อนสมาชิก ก็ได้พูดกันหลายครั้งแล้วนะครับว่า การทำงบประมาณของ สปสช. มีปัญหาไม่ตรงเป้า ขอยกตัวอย่างที่เราเจอกันบ่อย ๆ ก็คือ เมื่อผู้ป่วยไปหาสถานบริการทางด้านการแพทย์ใกล้บ้าน กลับกลายเป็นว่าไม่สามารถที่จะรักษาได้ ด้วยการที่ไม่มีบุคลากรและไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ สุดท้ายก็ต้องย้ายมาโรงพยาบาลศูนย์ภายในเมือง ซึ่งแน่นอนเราก็จะเห็นกันแล้วนะครับว่า โรงพยาบาลศูนย์ในเมืองมีความหนาแน่นของผู้ป่วย ทำให้การใช้บริการต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน บางครั้งมาตั้งแต่เช้ากว่าจะหาหมอได้ตอนบ่าย แล้วบางครั้งอาจจะต้องกลับไปเพราะหมอเอง ก็มีธุระมากมายนะครับ จนสุดท้ายประชาชนก็ต้องกลับไปในโรงพยาบาลที่ตัวเองมีสิทธิ หรือไปที่โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งนั่นทำให้เป้าประสงค์และวัตถุประสงค์หลักของ สปสช. ที่จะให้ประชาชนได้ใช้การเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างมีคุณภาพและเท่าเทียมเป็นไปไม่ได้ วันนี้ สปสช. เองก็ได้ให้มีการใช้บัตรทองทุกที่ ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๕ เพื่อที่ให้ ประชาชนได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ใกล้บ้าน แต่ในความเป็นจริงนั้นการทำแบบนี้ ผมเชื่อนะครับว่าทาง สปสช. มีวัตถุประสงค์ที่ดี แล้วตั้งใจที่จะให้ประชาชนทุกคนเข้าถึง การรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง แต่ในความเป็นจริงแล้วอย่างที่ผมเคยเกริ่นไปขั้นต้นนะครับว่า สถานพยาบาลปฐมภูมิตามพื้นที่ต่าง ๆ ถ้าเราได้ลงไปดูแทบจะไม่มีหมออยู่นะครับ อาจจะมี พยาบาลวิชาชีพ และส่วนใหญ่ก็ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือเพียงพอที่จะใช้ในการตรวจโรค ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องเป็นมะเร็งหรือเป็นโรคที่ต้องใช้ห้อง Lab ในการดู เพราะว่าหลายพื้นที่ที่เราไปมีเพียงแค่เครื่อง Ultrasound การมีเครื่อง Ultrasound นี้ ก็ถือว่าดีมากแล้วนะครับ นอกนั้นแทบจะไม่มีอะไรเลย หรือบางพื้นที่หนักกว่านั้นอีกครับ ไม่ใช่แค่ไม่มีเครื่องมือ แต่ไม่มียาสำหรับโรคง่าย ๆ อย่างความดัน เบาหวาน เพียงเพราะ บอกว่าทางศูนย์ใหญ่ไม่ส่งมา หรือแม้แต่วัคซีนต่าง ๆ ก็ไม่มีเช่นกัน แล้วแบบนี้การที่จะให้ประชาชนเข้าถึงการพยาบาลปฐมภูมิ เพื่อที่จะลดความแออัดของ โรงพยาบาลศูนย์มันก็คงไม่ประสบความสำเร็จ เพราะแน่นอนเมื่อไปสถานพยาบาลปฐมภูมิ แล้วไม่ได้รับการรักษา ทุกคนก็ต้องแห่กันไปที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ในกรุงเทพฯ อาจจะ ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไร เพราะว่าการขนส่งสาธารณะมีค่อนข้างสมบูรณ์ แต่ในต่างจังหวัด ที่ห่างไกล เราเห็นแล้วนะครับว่าประชาชนหลายคนเคยบ่น เคยรำพึงรำพันว่าจะต้องหยุดงาน เพื่อเหมารถไปถึงโรงพยาบาลศูนย์ซึ่งอยู่ห่างไกล บางคนมีเงินรายได้เพียงค่าแรงขั้นต่ำ หรือน้อยกว่านั้น ต้องเก็บเงินเก็บทองหลายวันเพื่อที่จะเหมารถไปที่โรงพยาบาลศูนย์ และสิ่งเหล่านี้มันจะทำให้การรักษาพยาบาลของประชาชนนั้น สามารถเข้าถึงเท่าเทียม และมีคุณภาพได้อย่างไร

นายกรุณพล เทียนสุวรรณ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อันนี้ผมก็ขอฝากไปทาง สปสช. นะครับว่าจะทำอย่างไรที่จะมุ่งเน้นแค่ว่า วันนี้แพทย์ไม่พอ วันนี้งบประมาณมีน้อย แต่สุดท้ายประชาชนก็ไม่ได้ประโยชน์จากการที่ คุณจะนำเงินไปสร้างระบบ คุณจะนำเงินไปเพิ่มให้กับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือคุณบอกว่า คุณจะให้โรงพยาบาลปฐมภูมิใช้งานได้ แต่ไม่มีงบให้ อีกทั้งโรงพยาบาลที่มีอยู่ผมเชื่อว่า ประชาชนสามารถเข้ามาใช้บริการได้อย่างทั่วถึง หากมีงบประมาณและมีแพทย์ รวมถึง มีเครื่องไม้เครื่องมือที่สามารถใช้งานได้จริง

นายกรุณพล เทียนสุวรรณ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อีกครั้งหนึ่งนะครับที่เราหลงลืมไปนะครับ ผมเห็นท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุขและท่านนายกรัฐมนตรีได้บอกไว้ว่า ปัญหาหลัก ๆ ของเราคือเรา ไม่มีแพทย์ เราไม่มีพยาบาล เราจึงจำเป็นที่จะต้องผลิตแพทย์และพยาบาลออกมาให้กับ ตลาดแรงงาน รวมถึงการให้คนที่จบปริญญาตรี ๔ ปี อบรมพยาบาลอีก ๒ ปี แล้วทำงาน ได้เลย แต่ในความเป็นจริงผมว่า สปสช. เอง และกระทรวงสาธารณสุขก็คงจะมีตัวเลข อยู่แล้วนะครับว่าแพทย์ในประเทศนี้เรามีเพียงพอ โรงพยาบาลแพทย์สามารถผลิตแพทย์ ได้ปีละเป็นพัน ๆ คน เรามีพยาบาลที่อยู่ในระบบเป็นแสน ๆ คน แต่ที่มันไม่พอเพราะอะไร เพราะเราผลิตออกมาแล้ว เราไม่สามารถเลี้ยงดูเขาได้ หลายคนอาจจะชี้แจงว่าเงินเดือนแพทย์ มีเป็นหมื่นเป็นแสน แต่ต้องไม่ลืมนะครับว่าแพทย์ตามชนบทถึงจะมีเงินเดือน แต่ที่พักที่ไม่มี เพียงพอ ที่พักที่ไม่มีความปลอดภัย การทำงานที่ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ หลักประกันในชีวิต ในการเติบโตก้าวหน้าทางอาชีพแทบจะไม่มี สิ่งเหล่านี้ล่ะครับ มันทำให้แพทย์ที่อยู่ในระบบ ค่อย ๆ ไหลออกจากระบบไปอยู่ในระบบของเอกชน หรือไปอยู่ตามคลินิกเสริมความงาม เราจะผลิตแพทย์ขึ้นมาเพื่อป้อนโรงพยาบาลเอกชน หรือป้อนสถานเสริมความงามกันต่อไป อย่างนั้นหรือครับ ผมว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะเอางบที่มีมาเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของแพทย์ เพราะถ้าแพทย์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นไม่ไหลออกจากระบบ นั่นจะทำให้แพทย์ที่อยู่ในระบบ มีมากขึ้น และลดความแออัดและชั่วโมงการทำงานของแพทย์ ซึ่งปัจจุบันนี้แพทย์ทำงานกัน ๒๔-๓๕ ชั่วโมง เป็นเรื่องปกติมาก ๆ ที่ควงกะแล้วไม่ได้พักผ่อน เมื่อไม่ได้พักผ่อนการที่แพทย์ จะสามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง ก็ย่อมผิดพลาดเกิดขึ้นได้ เมื่อผิดพลาดแล้วไม่มีใคร ที่จะมาดูแลหรือคอยโอบอุ้มเขาเหล่านั้น รวมถึงพยาบาลที่ ณ วันนี้พยาบาลล้นตลาด หลายคนอยู่ในโรงพยาบาลของรัฐ แต่เป็นลูกจ้างชั่วคราวหรือยังไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ แล้วก็มาบอกว่าพยาบาลไม่พอ แต่เราไม่ได้เหลียวแลเขาเลยว่าเราจะดูแลเขาอย่างไร ให้เขาได้มีสวัสดิการที่ดี ให้เขาได้มีความก้าวหน้าในชีวิต แล้วสุดท้ายเขาก็ออกไปอยู่ โรงพยาบาลเอกชน สุดท้ายเขาก็ไปอยู่สถานเสริมความงาม ผมว่าเราต้องเปลี่ยนเป้าครับว่า นอกจากดูแลประชาชนแล้ว เราต้องดูแลบุคลากรทางการแพทย์ในระบบให้เขาได้มีโอกาส ที่จะเติบโต ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้มีการดูแลจากกระทรวงสาธารณสุขที่บอกว่าจะดูแล ประชาชนทุกคน แต่อย่าหลงลืมบุคลากรของท่านนะครับ

นายกรุณพล เทียนสุวรรณ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้ผมหวังว่าจะได้เห็นการยกระดับของระบบประกันสุขภาพที่สมบูรณ์ สักทีครับ ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือไม่ ให้มีสิทธิในการเข้าถึง บริการสุขภาพอย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพ ขอบคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เหลือสมาชิกอีก ๕ ท่านสุดท้าย เรียนเชิญท่านสุภกร ตันติไพบูลย์ธนะ ครับ

นายสุภกร ตันติไพบูลย์ธนะ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม สุภกร ตันติไพบูลย์ธนะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๒๒ พรรคก้าวไกล ตัวแทนพี่น้องประชาชนชาวสวนหลวงและประเวศ วันนี้ผมขอร่วมอภิปราย ผลการดำเนินงานของ สปสช. ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ท่านประธานครับ ก่อนที่ผม จะอภิปรายถึงผลการดำเนินงานของ สปสช. ประจำปี ๒๕๖๕ นี้ ผมเคยหารือกับ ท่านประธาน ๑ ครั้ง เรื่อง สปสช. ยกเลิกสัญญาโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯ ๙ แห่ง ที่มีผลตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา โดย สปสช. อ้างว่าพบการทุจริตจากการ เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้พี่น้องประชาชนรวมทั้งพี่น้อง ประชาชนชาวสวนหลวง ประเวศ หนองบอน ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก ผู้รับการรักษาเดิม ต้องไปใช้สิทธิเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอื่น ๆ ที่ไกลกว่าเดิมแทน รายงานเล่มนี้ บอกเราว่า สปสช. ดำเนินงานอยู่บนพื้นฐานที่เป็นหัวใจสำคัญ ๓ ข้อ คือ ๑. ประชาชน เข้าถึงบริการ ๒. การบริการการเงินการคลังมั่งคั่ง และ ๓. การดำรงความธรรมาภิบาล แต่เมื่อผมได้อ่านรายงานของ สปสช. ปีงบประมาณ ๒๕๖๕ นี้แล้ว ผมอดที่จะตั้งคำถาม ไม่ได้ครับว่า การดำรงอยู่ของหลักธรรมาภิบาลใน สปสช. นั้นยังมีอยู่จริงหรือไม่ เมื่อดูจาก กรณีที่หน่วยบริการเรียกเก็บเงินสาธารณสุขที่ไม่ตรงตามหลักเกณฑ์ในปี ๒๕๖๓ นำไปสู่ การตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า หน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายบริการ สาธารณสุขเป็นเท็จ ส่งผลให้มีการยกเลิกคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับ เขตพื้นที่กรุงเทพมหานครเพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และส่วนใหญ่เป็นเจ้าของสถานพยาบาล ซึ่งปรากฏอยู่ในหน้า ๒๕๒ ของรายงานฉบับนี้ ในช่วงปี ๒๕๖๕ สปสช. ยกเลิกการให้บริการของโรงพยาบาลเอกชนนี้ แต่กลับมี คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครเข้าร่วมตรวจสอบ พบข้อเท็จจริงว่าโรงพยาบาลเอกชนทำเอกสารเป็นเท็จด้วย แบบนี้มันจะสร้างความมั่นใจ ในธรรมาภิบาลได้อย่างไรครับท่านประธาน

นายสุภกร ตันติไพบูลย์ธนะ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

หัวใจสำคัญของ สปสช. ในรายงานเล่มนี้อีกประการหนึ่งคือการที่ประชาชน สามารถเข้าถึงการบริการรักษา ผมชวนท่านประธานคิดนะครับว่าการยกเลิกสัญญา โรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯ ๙ แห่ง ของ สปสช. ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม มันคุ้มค่า กับการที่ประชาชนจะต้องเดินทางไปรับบริการรักษาในโรงพยาบาลที่ไกลกว่าเดิม เพราะต้อง เสียเวลาในการเดินทาง เสียค่าเดินทางมากขึ้น ผมเกรงว่าจากประชาชนที่ป่วยอยู่แล้ว จะป่วยซ้ำป่วยซ้อนมากขึ้นไปอีกนะครับท่านประธาน ขณะเดียวกันในรายงานฉบับนี้ยังบอกว่า ปี ๒๕๖๕ สปสช. สามารถเรียกคืนค่าเสียหายจากหน่วยบริการที่เบิกเงินค่าใช้จ่ายไม่ถูกต้อง ได้ถึง ๑๔๑ แห่ง เป็นเงินประมาณ ๑๙๖ ล้านบาท หรือคิดเป็น ๘๒ เปอร์เซ็นต์ ผมขอเสนอ นะครับท่านประธานว่าเป็นไปได้หรือไม่ครับ หาก สปสช. เรียกเงินคืนค่าเสียหายได้ครบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว โรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯ ทั้ง ๙ แห่งนี้ จะได้รับการพิจารณาคืนสิทธิ กลับมาทำสัญญารูปแบบใหม่ เพื่อให้โรงพยาบาลเหล่านี้กลับมาให้การรักษาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ประชาชนไม่ต้องเดินทางไกลเพื่อไปรับการรักษาต่อไป ท่านประธานลองนึกถึงหัวอก คนธรรมดา โดยเฉพาะประชาชนในเขตสวนหลวง เขตประเวศของผมที่ได้รับผลกระทบก็ได้ ในวันที่มีนัดกับโรงพยาบาลเดิม ที่คุณลุง คุณป้าอาศัยอยู่ในชุมชนบริเวณโรงพยาบาล แพทย์ปัญญา และต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนั้นแล้ว กลับต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่ และต้อง รอขึ้นรถโดยสารสาย ๑๑๕ ตอนตีห้า เพื่อเดินทางไปโรงพยาบาลเลิดสินในเขตบางรัก ที่ไกลกว่าเดิม ๒๐ กิโลเมตร เผชิญกับสภาพการจราจรที่ติดขัดตั้งแต่ช่วงถนนสุขุมวิท ถนนพระราม ๔ และย่านสีลม ที่ทำให้ต้องใช้เวลาในการโดยสารรถโดยสารหลายชั่วโมง แล้วเมื่อถึงโรงพยาบาลแล้ว ก็ต้องรอคิวหมอนัดเพื่อเข้ารับการรักษา ซึ่งใช้เวลา ๕-๖ ชั่วโมง สรุปแล้วคุณลุง คุณป้า อาจจะต้องใช้เวลาในการไปโรงพยาบาลไกล ๆ ๑ วันเต็ม ๆ นะครับ ท่านประธาน

นายสุภกร ตันติไพบูลย์ธนะ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ผมฝากถึงผู้ชี้แจงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธาน กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติผ่านท่านประธาน ให้พิจารณาเรื่องตามที่ผมได้เสนอไว้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของ สปสช. บนพื้นฐานของการเข้าถึงบริการโดยสะดวก และมีหลักธรรมาภิบาลเป็นที่ตั้ง ขอบคุณครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านสิริน สงวนสิน ครับ

นายสิริน สงวนสิน กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม สิริน สงวนสิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตตลิ่งชันและเขตทวีวัฒนา พรรคก้าวไกลครับ วันนี้ผมอยากจะมาพูดถึงการดำเนินงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ครับ หลักการมีเจตนารมณ์ที่ดีมาก โดยเฉพาะมาตรา ๕๙ ที่พูดไว้ว่า ในกรณี ที่ผู้รับบริการผู้ใดไม่ได้รับความสะดวกตามสมควร หรือตามสิทธิที่จะได้รับบริการสาธารณสุข ที่กำหนดตามพระราชบัญญัตินี้จากหน่วยงานบริการ หรือหน่วยงานบริการเรียกเก็บค่าบริการ จากตน โดยไม่มีสิทธิที่จะเก็บ หรือเรียกเก็บเกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการกำหนด ผู้นั้นสามารถร้องเรียนไปถึงสำนักงานให้มีการตรวจสอบได้ ปัญหาก็เกิดขึ้นจากมาตรานี้ล่ะครับ การดำเนินการทุกอย่างดีหมด แต่ไม่ตลอดรอดฝั่งครับท่านประธาน มันก็เหมือนกับนักวิ่ง ที่จะวิ่งเข้าเส้นชัย แต่สะดุดขาตัวเองล้มเสียอย่างนั้น ปัญหามันคืออะไรครับ ปัญหามันคือ การสื่อสารของ สปสช. ที่ไม่รอบด้าน เพราะหลักการใช้บัตรทองคือ ๓๐ บาทรักษาทุกโรค และต้องไม่มีการจ่ายเงินค่าเพิ่มเติมอะไรทั้งนั้น จบที่ ๓๐ บาท ขาดตัวครับท่านประธาน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น หน่วยงานที่ให้บริการของ สปสช. ดันไปเรียกเก็บค่าบริการที่เกินจาก ๓๐ บาท จากประชาชนผู้มาใช้สิทธิครับ

นายสิริน สงวนสิน กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ปัญหานี้นอกจากจะซ้ำเติมการดำเนินชีวิต ที่ยากลำบากอยู่แล้ว ค่าครองชีพที่แพง ค่าแรงที่ถูก ยังโดนหน่วยงานรัฐที่บอกว่า ๓๐ บาทรักษาทุกโรค ทำให้ต้องเป็นหนี้สินจนบางคนถึงมาบ่นกับผมว่าอยากจะตายนะครับ ท่านประธาน อันนี้ผมก็ไม่ได้พูดเกินความจริงนะครับ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเขตของผมเอง คุณลุงวัย ๖๐ ปี เอาเรื่องนี้มาร้องเรียนกับผมครับ เมื่อกรกฎาคม ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา เขาถูกเรียกเก็บค่าบริการเกิน ๖๓,๖๙๖ บาท ต้องแบ่งชำระเดือนละ ๑,๐๐๐ บาท จำนวน ๖๓ งวด จนถึงปี ๒๕๗๑ คุณลุงมาระบายกับผมครับว่า ไม่คิดว่า ๓๐ บาทรักษาทุกโรค จะโหดร้ายขนาดนี้ ถ้ารู้อย่างนี้ผมตายเสียดีกว่า ท่านประธานครับ ผมเชื่อว่ามีพี่น้อง ประชาชนจำนวนมากทั่วประเทศที่ถูกเรียกเก็บแบบคุณลุงคนนี้ ซึ่งความจริงก็คือการเรียกเก็บ ค่าบริการส่วนเกินจากประชาชนผู้มาใช้บริการไม่สามารถทำได้ครับ เพราะหน่วยบริการนี้ ต้องไปเรียกเก็บเงินจาก สปสช. เอง ไม่ใช่มาเรียกเก็บจากประชาชนผู้มาใช้บริการครับ

นายสิริน สงวนสิน กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ผมถามว่า สปสช. รู้ถึงปัญหานี้ไหมครับ รู้ครับ และแก้ปัญหาไหมครับ แก้ครับ แต่แก้ไม่ถูกจุด ก็เหมือนเกาไม่ถูกที่คันครับท่านประธาน ปี ๒๕๕๘ ปีที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนถึง ๘,๐๔๒ เรื่อง ซึ่งความจริงอาจจะมีเป็น ๑๐,๐๐๐ ราย ก็ได้นะครับ แต่เขาไม่ได้ร้องเรียนเข้ามาเท่านั้นเอง ที่บอกว่า สปสช. แก้ไม่ถูกจุดคืออะไร สปสช. ได้ทำคู่มือ Extra Billing หรือพูดง่าย ๆ ว่า Bill ส่วนเกินกับหน่วยงานบริการของ สปสช. ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ โดยจัดทำในรูปแบบ e-Book ครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๖๓ การร้องเรียนในปีนั้นก็ลดลงเหลือ ๖๖๕ เรื่อง หรือแค่ ๖๖๕ ราย แต่ในปี ๒๕๖๔ เรื่องร้องเรียน ก็เพิ่มขึ้นมาถึง ๑,๔๒๗ เรื่อง นั่นแสดงว่าอะไรครับ นั่นแสดงว่าวิธีการที่ สปสช. แก้ปัญหา หรือประชาสัมพันธ์นั้น ยังไม่ครบถ้วน ยังไม่รอบด้าน แล้วจะทำอย่างไรครับ เราก็ควรจะทำ ในลักษณะของ Dual Track หรือทำประชาสัมพันธ์ใน ๒ เส้นคู่ขนาน คือการแจ้งให้หน่วยงาน บริการของ สปสช. และพี่น้องประชาชนที่ใช้บัตรทองด้วย วิธีการก็คืออาจจะใช้ Social Media ทุก Platform เอาท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมาเป็น Presenter ไม่ว่าจะใช้ TikTok IG Facebook Youtube ให้พี่น้องประชาชนเขารู้ว่า ๓๐ บาทต้องรักษาทุกโรค แล้วประชาชนไม่ต้องจ่ายค่าส่วนเกินอะไรนอกจาก ๓๐ บาท เพราะส่วนเกินนั้นมันต้อง ไปเรียกเก็บกับ สปสช. เอง ท่านประธานที่เคารพครับ ถ้า สปสช. แก้ปัญหาโดยยึดเอา ประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่สื่อสารประชาสัมพันธ์เฉพาะกับหน่วยงานของตัวเองเท่านั้น แต่ต้องให้พี่น้องประชาชนเขารู้ถึงสิทธิของตัวเอง ปัญหาจากการร้องเรียนก็จะน้อยลง พี่น้องประชาชนก็จะไม่ต้องมาลำบาก แล้วก็จะไม่ต้องเป็นหนี้สินจากการเข้ารักษาบริการ อีกต่อไปครับ

นายสิริน สงวนสิน กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ผมอยากจะขออาสาเป็นตัวกลางให้พี่น้องประชาชน คนที่ได้รับความเดือดร้อน จากค่ารักษาพยาบาลโดยการใช้บัตรทอง คนที่เป็นหนี้จากการใช้บัตรทองและยังผ่อนชำระอยู่ ไม่ว่าจากหน่วยงานใด ๆ ก็แล้วแต่ ท่านสามารถร้องเรียนไปที่ผมได้นะครับ สิริน สงวนสิน หรือว่าถ้าท่านรัฐมนตรีจะรับเรื่องนี้เองก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่งนะครับ ท่านประธานครับ ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความอยุติธรรม ประชาชนรอไม่ได้ครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านขัตติยา สวัสดิผล ครับ

นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉัน นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยค่ะ ท่านประธานคะ ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงพยาบาลมากถึง ๔๒๕ แห่งทั่วประเทศ โดยอยู่ ในกรุงเทพฯ ถึง ๑๓๙ แห่ง อีกทั้งยังมีสถานพยาบาลที่ไม่รับผู้ป่วยค้างคืนอีกกว่า ๓๕,๕๗๗ แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้อยู่ในกรุงเทพฯ ถึง ๗,๖๘๕ แห่ง ดังนั้นเราจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าขีดความสามารถ ด้านการแพทย์และการพยาบาลของประเทศไทยนั้นเรามีศักยภาพสูงมาก ไม่เพียงแต่ ในด้านคุณภาพของการรักษาพยาบาลที่มีมาตรฐานในระดับสากล แต่เรายังมีปัจจัยอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับทางต่างประเทศ หรือความสามารถในการ สื่อสารกับชาวต่างชาติ รวมไปถึงการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีความพร้อมในการเป็น Medical Hub หรือประเทศปลายทางของการท่องเที่ยว ในเชิงสุขภาพ

นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพคะ แต่เมื่อเราหันกลับมามองพี่น้องประชาชนเรา ก่อนหน้านี้ด้วยปัจจัยทางด้านการเงิน ทำให้การเข้าถึงบริการสาธารณสุขของพี่น้องประชาชนนั้น เป็นไปได้ยาก ดังนั้นหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงถือเป็น Social Safety Net หรือตาข่าย ความปลอดภัยทางสังคม ที่ทำหน้าที่ในการรับประกันสุขภาพให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย แล้วก็ได้ทำหน้าที่มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนไทยสามารถที่จะเข้าถึงการรักษาพยาบาล ได้อย่างถ้วนหน้า สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญต่อสุขภาพและเป็นการ สร้างความมั่นคงให้กับชีวิตของพี่น้องประชาชน อย่างไรก็ตามในห้วงเวลานี้เรากำลังเผชิญกับ ความท้าทาย ๒ ประการสำคัญด้วยกัน

นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประการแรก การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-๑๙ ทำให้รายจ่ายดำเนินการ ด้านสุขภาพต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ เพิ่มขึ้น อย่างมีนัยสำคัญ โดยมีสัดส่วนเป็นร้อยละ ๔.๓ และร้อยละ ๕.๒ ของผลิตภัณฑ์มวลรวม ภายในประเทศ

นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบของประเทศไทย ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยเรามีประชากรที่มีอายุมากกว่า ๖๐ ปีเป็นสัดส่วนถึง ๑๘ เปอร์เซ็นต์ ของประเทศ และตัวเลขก็จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยคาดการณ์ว่าในปี ๒๕๘๓ นั้น ประเทศไทย จะมีประชากรที่มีอายุเกิน ๖๐ ปี ถึง ๑ ใน ๓ ของคนทั้งประเทศ

นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพคะ จากความท้าทาย ๒ ประการที่ดิฉันได้กล่าวมา มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของกองทุน กล่าวคือจะทำให้มีรายจ่ายเพิ่มสูงมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือ จากเล่มรายงานของผู้สอบบัญชีในหน้า ๓ ที่ในปี ๒๕๖๔ มีค่าใช้จ่าย สูงกว่าปี ๒๕๖๓ มากถึง ๓.๕ หมื่นล้านบาท และมีรายได้ต่ำกว่ารายจ่ายสุทธิอยู่ที่ ๒.๔ พันล้านบาทเศษ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดจากการมีภาวะพึ่งพิงที่พุ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ในยุค หลังการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ซึ่งเป็นยุคของการฟื้นฟู เรากำลังเผชิญกับภาวะ ทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้ประชาชนมีภาระทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งแม้ว่าเราจะมี สวัสดิการในการรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมทุกคนในประเทศแล้วก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ได้ หมายความว่าสวัสดิการที่มีอยู่นั้นเพียงพอแล้ว เพราะว่าเรายังมีค่าใช้จ่ายแอบแฝงอยู่ ในบางแง่มุม ยกตัวอย่าง เช่น ครัวเรือนที่ห่างไกลจากโรงพยาบาลและมีรายได้น้อย อาจไม่สามารถที่จะเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้โดยง่าย เนื่องจากว่ายังมีค่าใช้จ่ายในการ เดินทางที่ไม่ครอบคลุมอยู่ในสวัสดิการ หรือการมีประจำเดือนที่ไม่ครอบคลุมอยู่ในการรักษา ของโครงการ ทำให้เราต้องมีค่าใช้จ่ายมากกว่าผู้ชายในการซื้อผ้าอนามัยในแต่ละเดือน ซึ่งคิดเป็นค่าแรงของเราใน ๑ วัน ซึ่งมีผู้หญิงมากเกือบ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ที่เข้าไม่ถึง การใช้ผ้าอนามัย หรือใช้ในจำนวนน้อยเกินกว่าที่จะเรียกว่าถูกสุขลักษณะได้ สิ่งนี้ อาจก่อให้เกิดโรคทางสุขภาวะทางเพศ ซึ่งก็จะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาเป็นจำนวนมหาศาล

นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ในแง่นี้เองดิฉันจึงอยากให้ทาง สปสช. คำนึงถึงความเป็นธรรมทางเพศ โดยใช้กลไก GRB หรือ Gender Responsive Budgeting คือการจัดทำงบประมาณ ที่ตอบสนองต่อเพศภาวะ และมีโครงการที่จะครอบคลุมถึงสุขภาวะทางเพศเพิ่มมากขึ้น ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉันอยากจะชื่นชมการทำงานของ สปสช. ที่มีการให้ประชาชนนั้น เข้าถึงยาต้านไวรัสได้โดยที่ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ว่ามันก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่ดิฉันคิดว่าหาก สปสช. เองสามารถที่จะยกระดับการเข้าถึงได้ ก็จะเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนเป็นอย่างสูง ไม่ว่าจะเป็นการขยายสิทธิของการ ฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก หรือ HPV การแจกผ้าอนามัย รวมถึงการให้บริการและกระจาย ฮอร์โมนข้ามเพศอย่างทั่วถึง ไปจนถึงการมีมาตรการและความเข้มงวดในการกำกับดูแล ให้แพทย์ที่ไม่ประสงค์จะยุติการตั้งครรภ์คนไข้ ให้ส่งต่อคนไข้โดยที่ไม่ตัดสิน ไม่ตีตรา และไม่เตะถ่วง อันจะเป็นการกลั่นแกล้งคนไข้ ตามที่เคยเป็นข่าวมาให้เราเห็นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งในเรื่องของการส่งต่อคนไข้ ดิฉันดีใจที่ดิฉันเห็นว่า สปสช. ได้มีการยกระบบใหม่ เพื่อให้เกิด ความเชื่อมโยงของข้อมูล เพื่อรองรับโครงการ ๓๐ บาทรักษาทุกที่ เพียงแค่พกบัตรประชาชน ใบเดียวก็สามารถรับบริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงส่งต่อได้โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว การเชื่อมโยงข้อมูลนี้จะทำให้เกิดความรวดเร็ว ความสะดวก แล้วก็ทำให้ต้นทุนในการ ให้บริการถูกลงด้วยในระยะยาว ซึ่งนั่นไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ระบบหน้าบ้านเพียงอย่างเดียว เท่านั้น แต่รวมถึงระบบหลังบ้าน นั่นก็คือการเชื่อมข้อมูลเพื่อเบิกจ่ายที่อยู่ในความรับผิดชอบ ของ สปสช. ด้วย

นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

นอกจากนี้ค่ะท่านประธาน ดิฉันยังอยากเห็นการทำงานอย่างบูรณาการ ระหว่าง สปสช. และ สสส. เพราะในด้านหนึ่งการทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลนั้น เป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันคือการหาทางป้องกันไม่ให้ประชาชนนั้นเจ็บป่วยตั้งแต่แรก การป้องกันไม่ให้คนเป็นโรคย่อมจะมีความคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพมากกว่าการรักษา ในภายหลัง

นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้ดิฉันขอฝากข้อกังวลเล็ก ๆ ประการหนึ่งให้แก่หน่วยงานนะคะ โดยรายงานจากหน้า ๖๙ พูดถึงความครอบคลุมของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แม้จะอยู่ ในระดับที่สูงอย่างเป็นที่น่าพอใจ อย่างปีนี้อยู่ที่ ๙๙.๔ เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ขอให้อย่าลืมว่า ตัวเลขที่ไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์นี้ล่ะค่ะ ก็เป็นมนุษย์ที่มีชีวิตไม่ต่างจากเรา และเป็นจำนวนมาก ถึงหลักแสนคน มากไปกว่านั้นความน่ากังวลจากตัวเลขที่ท่านรายงาน คือตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ ความครอบคลุมนั้นมีต่ำลงทุกปี หากเป็นไปได้ดิฉันก็อยากให้ความครอบคลุมนี้ไปถึงจุดที่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เพื่อที่ว่าจะได้ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านการณิก จันทดา ครับ

นางสาวการณิก จันทดา เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ขอบคุณค่ะท่านประธาน เรียนท่านประธานที่เคารพค่ะ ดิฉัน การณิก จันทดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จากจังหวัดเชียงใหม่ค่ะ ท่านประธานคะ วันนี้ปีนี้เป็นปี ๒๕๖๗ แต่ว่าขณะนี้เรากำลังจะ พิจารณารายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือว่า สปสช. ประจำปี งบประมาณ ๒๕๖๕ ดิฉันอ่านรายงานเล่มนี้ก็ต้องบอกว่ายินดีกับพี่น้องประชาชนที่ใช้สิทธิ ประกันสุขภาพหรือว่าสิทธิบัตรทองเป็นอย่างยิ่ง ดิฉันเห็นวิดีโอนำเสนอผลงานการสร้าง หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ เทียบกัน เดี๋ยวขอสไลด์ด้วยนะคะ

นางสาวการณิก จันทดา เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ระหว่างปี ๒๕๖๔ กับปี ๒๕๖๕ พบว่า การเข้าถึงบริการตามสิทธิประโยชน์พื้นฐานนี้ การบริการผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกเทียบกัน ปี ๒๕๖๔ กับปี ๒๕๖๕ มีผู้ป่วยมาใช้บริการในสถานบริการทางแพทย์เพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึง การเข้าถึงบริการตามสิทธิประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยความดัน ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV หรือว่าที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ แม้แต่ผู้ป่วยจิตเวช หรือว่าผู้ป่วยติดเตียงก็มีอัตราการเข้ารับบริการที่สูงขึ้น มันก็เลยทำให้ดิฉันมีการตั้งข้อสังเกตว่า แล้วถ้าจำนวนผู้ป่วยมาใช้สิทธิบัตรทองเพิ่มมากขึ้น แล้วเรามีเตียง มีเก้าอี้นั่งรอ มีพื้นที่ ที่เพียงพอต่อการรับการบริการในสถานพยาบาลเพียงพอแล้วหรือยัง นอกจากนั้นเรามีแพทย์ พยาบาล เภสัชกร เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล รถฉุกเฉิน เพียงพอต่อคนไข้ที่เพิ่มขึ้นแล้วหรือยัง แล้วยิ่งตอนปี ๒๕๖๓ วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๓ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบให้มีการยกระดับบัตรทองสู่ระบบหลักประกันสุขภาพยุคใหม่ มีการขยาย การให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ ๔ ชนิด ในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ในรายงานฉบับนี้ ๔ บริการ มีอะไรบ้าง

นางสาวการณิก จันทดา เชียงใหม่ ต้นฉบับ

บริการที่ ๑ ประชาชนที่เจ็บป่วยสามารถรับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิ ที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ ใช้บัตรประชาชนแค่ใบเดียวเชื่อมต่อข้อมูลคลินิกหมอครอบครัว ที่เข้าร่วมโครงการ ไม่ว่าจะเป็นคลินิกชุมชน ร้านยาชุมชน ซึ่งเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ ใกล้บ้านที่จะช่วยลดความแออัด สะดวกครอบคลุมถึง ๑๖ โรคทั่วไป

นางสาวการณิก จันทดา เชียงใหม่ ต้นฉบับ

บริการที่ ๒ ผู้ป่วยในไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ครอบคลุมหน่วยบริการทั่วประเทศ ดีค่ะ ผู้ป่วยไม่ต้องขอใบส่งตัวใหม่ แม้ว่าใบส่งตัวนั้นจะหมดอายุก็ยังสามารถใช้บริการ ในโรงพยาบาลที่เข้าไปนอนได้ แต่ว่าทำไมมันยังมีข่าวว่าผู้ป่วยบางรายย้ายโรงพยาบาลไม่ได้ เพราะว่าโรงพยาบาลปลายทางเตียงเต็ม อันนี้ก็เป็นข้อน่าสังเกตนะคะ

นางสาวการณิก จันทดา เชียงใหม่ ต้นฉบับ

บริการที่ ๓ ผู้ป่วยโรคมะเร็งสามารถไปรักษาที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ แต่ท่าน ทราบไหมคะว่ามันไม่ใช่ทุกโรงพยาบาลที่จะมีแพทย์เฉพาะทางที่จะรักษาโรคมะเร็งได้นะคะ

นางสาวการณิก จันทดา เชียงใหม่ ต้นฉบับ

บริการที่ ๔ ผู้ป่วยเองหรือว่าผู้ใช้บริการเอง ประชาชนทั่วไปที่มีสิทธิบัตรทอง สามารถเลือกที่จะย้ายหน่วยบริการ แล้วได้สิทธิทันที ไม่ต้องรอ ๑๕ วันในการอนุมัติ โดยผ่าน Application สปสช. เลือกเปลี่ยนได้ไม่เกิน ๔ ครั้งต่อปี สะดวกมาก ๆ เลยค่ะ

นางสาวการณิก จันทดา เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ตัดมาที่ปัจจุบันนะคะ ปีนี้ปี ๒๕๖๗ รายงานเป็นปี ๒๕๖๕ นี่เป็นภาพคลินิก ชุมชนอบอุ่น หรือว่าคลินิกบัตรทองที่เขาแบกรับภาระจากความล่าช้าในการจ่ายเงินจาก สปสช. ไม่ไหว เพราะว่าไหนจะต้องมาแบกรับราคาต้นทุนยาที่ให้เบิกจาก สปสช. มันต่ำกว่า ราคากลางของโรงพยาบาล แล้วตอนนี้เองทางโรงพยาบาลรัฐ หรือว่าโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้อง กับเป็นโรงเรียนแพทย์ อย่างนี้ก็ประสบปัญหาขาดทุนสะสม ขาดสภาพคล่องจากความล่าช้า ในการจ่ายเงินจาก สปสช. ถึงขั้นวิกฤติ แต่ว่าถ้าท่านจะมาตอบว่า เพราะมันเป็นปัญหาทุจริต ในหน่วยบริการอย่างเดียวมันก็ไม่ได้นะคะ เพราะว่าการที่มีคลินิก มีร้านยา บัตรทอง ที่กระจายอยู่ทั่วมันดีค่ะ เพราะว่ามันช่วยลดภาระของคุณหมอในโรงพยาบาล ลดความแออัด เพิ่มความรวดเร็ว แต่ทีนี้ท่านจะสร้างระบบอย่างไรให้มันสามารถป้องกันการทุจริตที่ท่านว่า แล้วมันจะไม่กระทบต่อการรักษาของประชาชนได้ งบประมาณมาปลายปิด แต่ว่าจะให้รักษา แบบปลายเปิด สปสช. จะมีวิธีการแก้ไขในระยะยาวอย่างไร ที่จะไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน จากการบริหารของ สปสช. ในเรื่องนี้ ท่านประธานคะ รายงานนี้มันดูดีค่ะ แต่มันไม่ได้ หมายความว่าในโลกแห่งความเป็นจริงระบบสาธารณสุขของเราไม่ได้ไม่มีปัญหานะคะ ดิฉันจึงมีความกังวลใจเป็นอย่างยิ่งนะคะว่า ถ้าวันนี้เรามีปัญหา ปี ๒๕๖๗ เรามีปัญหา แล้วเราพูดคุยกัน หาทางออกร่วมกัน วางแผนใหม่ร่วมกัน อย่าปล่อยให้บุคลากรทางการแพทย์ ที่เขาตั้งใจทำงาน ที่เขาอยากจะบริการประชาชนต้องมีความอึดอัดใจ อย่างไรก็ขอฝากทาง สปสช. ร่วมกับทั้งกระทรวงค่ะ กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาหาทางออกในระยะยาวด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านภัสริน รามวงศ์ ครับ

นางสาวภัสริน รามวงศ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพค่ะ ดิฉัน ภัสริน รามวงศ์ ผู้แทนคนบางซื่อ คนดุสิต พรรคก้าวไกลค่ะ วันนี้ดิฉันก็ขอร่วม อภิปรายการรับทราบการรายงานของการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี งบประมาณ ๒๕๖๕ วันนี้ดิฉันอยากจะบอกเล่าเรื่องราวในฐานะผู้แทนของคนบางซื่อ ดุสิต เคสที่ดิฉันอยากจะเล่าให้ฟังวันนี้ชื่อลุงประยงค์ ดิฉันขออนุญาตเอ่ยนามค่ะ มาเดินทาง เส้นทางของชีวิตของลุงประยงค์ไปพร้อม ๆ กันนะคะ ลุงประยงค์เป็นคนพิการสะโพกหัก อยู่ที่ชุมชนซอยสีน้ำเงินเขตบางซื่อ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าเหลือเกิน ในหลาย ๆ เงื่อนไข เรื่องนี้เรา สามารถหลีกเลี่ยงความสูญเสียได้ ถ้าหากเรามีระบบประกันสุขภาพที่ให้ความสำคัญกับผู้ป่วย แล้วก็อำนวยความสะดวกให้ได้มากที่สุด โดยไม่ติดขัดข้องในระบบราชการค่ะ

นางสาวภัสริน รามวงศ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เริ่มแรกลุงประยงค์ติดโควิด แล้วก็ยังประสบอุบัติเหตุล้มในห้องน้ำทำให้ สะโพกหัก ต้องได้รับการรักษาทันที ในส่วนลูกสาวของลุงประยงค์ได้ส่งประกันสังคม เพื่อประกันตนเองไว้ จึงได้รับสิทธิการรักษาแบบไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายมากนัก แต่โชคร้ายค่ะ เพียง ๑ ชั่วโมง ก่อนที่จะเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนสะโพกเทียม ก็สังเกตเห็นว่าลุงประยงค์ มีอาการปากเบี้ยว ซึ่งก็คือสัญญาณของโรคเส้นเลือดในสมองโป่งพอง ในช่วงเดือนธันวาคม ปี ๒๕๖๕ แพทย์ประเมินว่าการรักษาเส้นเลือดสมองโป่งพองนี้ อาจได้ผลเพียงแค่ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของการผ่าตัดเปลี่ยนสะโพกเทียมก็คงต้องเลื่อนออกไป ลุงประยงค์ ได้กลับมารักษาตัวที่บ้าน แต่ว่าก็ยังต้องเข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาล เพราะว่าต้องเผชิญกับ ภาวะแทรกซ้อน ไม่ว่าจะเป็นแผลกดทับการติดเชื้อ ซึ่งแพทย์ก็ได้ลงความเห็นว่าลุงประยงค์ เป็นผู้พิการทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงในเดือนพฤษภาคม ปี ๒๕๖๖ ครอบครัวของลุงประยงค์ ช่วยกันตรวจสอบสิทธิประกันสังคม เพื่อให้ลุงประยงค์มีบัตรประจำตัวคนพิการ แล้วก็ รับสิทธิประกันสังคมตามปกติ จึงดำเนินการขอบัตรผู้พิการให้กับลุงประยงค์ ๑ เดือนต่อมา ลุงประยงค์ก็ได้บัตรผู้พิการ แต่ก็ยังต้องรอแพทย์จากทางประกันสังคมมาตรวจที่บ้าน เพื่อยืนยันรับรองว่าเป็นผู้ทุพพลภาพจริง และได้รับสิทธิเบี้ยคนพิการต่อไป รอไป ๑ เดือน ก็ยังไม่ได้รับเบี้ยคนพิการ เมื่อแพทย์มาตรวจที่บ้านก็รับรองว่าลุงประยงค์เป็นผู้พิการทุพพล ภาพจริงครบถ้วนทุกอย่าง ตามกระบวนการของประกันสังคม แต่ก็ยังรอการยืนยันกลับจาก ประกันสังคม ซึ่งมาหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตก็พบว่าต้องรออีก ๒-๓ เดือน ระหว่างนั้น เมื่อสอบถามความคืบหน้า แล้วก็กระบวนการนี้ว่าจะยาวนานเท่าไรก็ไม่ได้รับคำตอบ ที่ชัดเจน ในที่สุดลุงประยงค์ก็อาการแย่ลงทุกวัน ทางครอบครัวก็ได้สอบถามร้องเรียนมายัง ที่ดิฉัน เดือนกันยายน ปี ๒๕๖๖ ลุงประยงค์ก็กลับเข้าที่โรงพยาบาลอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจาก อาการแย่ลง ปอดอักเสบและยังคงต้องเจาะคออีกด้วย เมื่อครอบครัวติดตามกลับไปที่ ประกันสังคม ทุกอย่างก็ยังอยู่ในกระบวนการ ลุงประยงค์ก็ยังไม่ได้รับเบี้ยคนพิการ น่าเศร้าค่ะ ๑ เดือนหลังจากนั้นดิฉันไปร่วมงานศพด้วย ลุงประยงค์เสียชีวิตในเดือนตุลาคม ก็ยังไม่ได้รับ เบี้ยคนพิการ ความสูญเสียเหล่านี้หลีกเลี่ยงได้ หากกระบวนการยืนยันสิทธิไม่ต้องลากยาวนาน ถึง ๔-๕ เดือน เงินผู้พิการ ๘๐๐ บาท และเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ๒๐๐ บาท รวมทั้งสิ้น ๑,๐๐๐ บาท อาจดูไม่มากนัก แต่ว่ามันสำคัญกับคนที่ไม่มีจริง ๆ ค่ะ แล้วคำว่า รอไม่ได้ มันก็รอไม่ได้จริง ๆ ค่ะ แล้วเมื่ออาการต่าง ๆ บ่งชี้ชัดแล้ว ทำไมเรายังถึงปล่อยให้ ระบบราชการเป็นสิ่งที่มาขัดขวาง การได้รับการรักษาเป็นสิทธิที่ประชาชนพึงได้รับ อยู่แล้วค่ะ ในระหว่างที่ครอบครัวรอความช่วยเหลือก็ไม่เพียงแต่ผู้ป่วยที่ทรุดหนัก ครอบครัว ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ทั้งสมาชิกในครอบครัวด้วย

นางสาวภัสริน รามวงศ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ดิฉันก็ขอฝากท่านประธานสภาไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ถึงกรณีการเข้าถึงสิทธิของคนพิการ แล้วก็ข้อเสนอที่ดิฉันเห็นว่าเป็นประโยชน์ ต่อการพัฒนาคุณภาพการให้บริการและคำนึงสิทธิของประชาชน แล้วแม้รายงานของ สปสช. จะกล่าวถึงการขยายสิทธิให้เข้าถึงได้ง่าย แต่สำหรับคนพิการ พ.ร.บ. ส่งเสริมพัฒนาคุณภาพ ชีวิตคนพิการ กำหนดให้การใช้สิทธิยังคงต้องจดทะเบียนคนพิการเสียก่อน จึงจะได้เข้ารับ สิทธิประโยชน์จากรัฐได้ ซึ่งกรณีที่ดิฉันยกไปนี้ ข้อขั้นต้นนำมาสู่ปัญหาความล่าช้าด้วยเหตุผล ๒ ประการ กรณีที่แพทย์ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการเฝ้าสังเกตอาการหรือหาก การรักษาอย่างไม่สิ้นสุดลง แล้วก็กรณีของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลไปเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน แล้วถ่ายภาพผู้ป่วยกลับมาให้แพทย์วินิจฉัย จะเห็นได้ว่าทั้ง ๒ กรณีดังกล่าวกลายเป็นเงื่อนไข และข้อจำกัดให้คนพิการบางส่วน ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบการจดทะเบียนคนพิการได้ และรับสิทธิประโยชน์ได้อย่างทันท่วงที เลวร้ายที่สุดคือไม่สามารถรับสิทธิประโยชน์ได้เลยค่ะ

นางสาวภัสริน รามวงศ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

สำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับ UNICEF ประเทศไทยสำรวจคนพิการในปี ๒๕๖๕ ระบุว่าคนพิการมีอยู่ถึง ๔.๑๙ ล้านคน พบว่า ๕๗.๔ เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ขึ้นทะเบียนรับสวัสดิการจากรัฐ แม้รายงานจากการสร้างระบบของ สปสช. จะกล่าวถึงจำนวนผู้ขึ้นทะเบียนคนพิการได้สิทธิตามกฎหมาย แต่ระบบการขึ้นทะเบียนมีปัญหา มีความล่าช้าเกิดขึ้น อยู่ในภาวะตกสำรวจ ทำให้คนพิการกว่าครึ่งยังถูกทิ้งไว้ข้างหลัง คำถามมีอยู่ว่าทำไมการรอตรวจเพื่อจดทะเบียนคนพิการ จึงใช้ระยะเวลายาวนานและมีความพยายามลดระยะเวลาตรงนี้หรือไม่ หรือปัญหานี้เกิดจากการที่เรายังติดหล่มอยู่กับความสมควร ที่จะได้รับในสิทธิหรือบริการสาธารณะใด ๆ ก็ตาม ทำให้โครงข่ายความมั่นคงทางสังคมนี้ ก้าวไปสู่ความถ้วนหน้าไม่เต็มก้าวสักที แล้วก็ยังรวมไปถึงปัญหาอื่น ๆ การขาดสวัสดิการ และระบบบริหารช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ทั้งยังเป็นความเหลื่อมล้ำในสิทธิการเข้าถึงระหว่างคนพิการด้วยกันเองอีก แล้วความพิการ เชิงประจักษ์นี้เป็นความพิการที่เห็นได้ชัด ไม่จำเป็นต้องรอตรวจพิสูจน์ความพิการจากแพทย์ เพื่อให้ออกเอกสารรับรอง ระบบคัดกรองสรรหาคนที่ได้รับสิทธิอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการ เลือกปฏิบัติอย่างหนึ่ง ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่มีบทบัญญัติห้ามไม่ให้ เลือกปฏิบัติต่อบุคคลโดยไม่เป็นธรรมแห่งความพิการด้วยค่ะ

นางสาวภัสริน รามวงศ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ขอฝากไปทาง สปสช. นะคะว่า จริง ๆ เราก็อยู่ในอันดับที่ ๒๔ ของโลก หรือว่าอันดับที่ ๒ ในอาเซียน มีคะแนนถึง ๘๒.๙๗ เปอร์เซ็นต์ ที่เป็นการครอบคลุม การเข้าถึงบริการสุขภาพ หรือว่า Universal Health Coverage ซึ่งเป็นผลงานที่น่าชื่นชม ดิฉันก็ขอฝากเรื่องนี้ เรื่องคนพิการไม่ให้ตกสำรวจอีกต่อไป เพื่อที่จะพัฒนาระบบสาธารณสุข ของประเทศเราให้ดีกว่าเดิม ขอบพระคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านเกียรติคุณ ต้นยาง ครับ

นายเกียรติคุณ ต้นยาง นนทบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ กระผม นายเกียรติคุณ ต้นยาง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี เขต ๗ อำเภอบางบัวทอง อำเภอไทรน้อย พรรคก้าวไกลครับ วันนี้ผมขออนุญาตท่านประธาน อภิปรายรายงานการสร้างระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ แล้วก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งนะครับ วันนี้ได้มีโอกาสพบกับคุณหมอจเด็จอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เรา พบกันบ่อย ๆ ช่วงปี ๒๕๖๔ ปี ๒๕๖๕ กรณีฉีดวัคซีนที่จังหวัดนนทบุรี สิ่งที่ผมจะอภิปราย ต่อไปนี้ หากจะเป็นประโยชน์ หากจะเป็นบุญกุศลใดก็แล้วแต่ ผมขออุทิศบุญกุศลนั้นให้กับ ผู้ที่สูญเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นตาล้วนวัย ๘๔ ปี ไม่ว่าจะเป็นน้องพั้นช์ หญิงสาววัย ๑๙ ปี ที่เวลาเผาแล้วอัฐิเป็นสีชมพู แม้กระทั่งน้องวินัยเด็กหนุ่มที่ทำมาหากิน ด้วยการขับรถรับจ้างวัยเพียง ๓๖ ปี และอีกหลาย ๆ ศพที่ต้องสูญเสียชีวิตไปจากการได้รับ วัคซีน แต่สิ่งนั้นมันไม่สำคัญหรอกครับ สิ่งสำคัญมันอยู่ที่ผมจะอภิปรายเรื่อง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา ๕๐ (๕) กฎหมายดีครับ ประกาศของ สปสช. ก็ดีครับ แบ่ง ๓ ระดับที่ว่าจะมาชดเชย เยียวยา ชดใช้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด เบื้องต้นถ้าอาการบาดเจ็บก็ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ถ้าทุพพลภาพสูญเสียอวัยวะไป ๒๔๐,๐๐๐ บาท แต่กระทั่งถึงขนาดเสียชีวิต ๔๐๐,๐๐๐ บาท เงินหลักแสนต้น ๆ หลักแสนกลาง ๆ มันเยียวยาครอบครัวเขาได้ไหมครับ พวกเขาผิดไหมครับ ที่ต้องไปฉีดวัคซีนแล้วมีผลกระทบ กับวัคซีนนั้น

นายเกียรติคุณ ต้นยาง นนทบุรี ต้นฉบับ

ผมชื่นชมนะครับ ทุกครั้งที่ผมร้องเรียนไปที่ สสจ. จังหวัดนนทบุรี ทุกครั้ง ที่ส่งเรื่องอุทธรณ์ไปที่ สปสช. เขต ๑๓ สระบุรี ปี ๒๕๖๔ ปี ๒๕๖๕ ผมเป็นทนายความอยู่ จังหวัดนนทบุรี ยอมรับครับ ๒ ปีนั้นผมไม่ได้ขึ้นโรงขึ้นศาลครับ ทุกวี่ทุกวันขึ้นแต่ สสจ. จังหวัดนนทบุรี พาครอบครัวผู้เสียหาย พาลูก พาเมีย พาพ่อ พาแม่ พาพี่ พาน้อง ไปเขียน คำร้องขอรับเงินเยียวยาเบื้องต้น คำร้องของท่านก็ดี เขียนง่าย ไม่ต้องมีทนายก็เขียนได้ ผมก็บอกว่าใช่สิ แล้วจะเอาผมไปทำไม ไปเขียนทำไม เขียนง่าย ๆ แบบฟอร์มง่าย ๆ หลักฐานก็ไม่มีอะไร ติ๊ก ๆ อย่างเดียวเลย สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน รายการที่ไปฉีด ไปฉีดที่ไหน ไปอย่างไร มีให้แนบหน้าปกของบัญชีธนาคารด้วย เสร็จแล้ว เดี๋ยวจะโอนเงินมาให้ บริการดีมากครับ

นายเกียรติคุณ ต้นยาง นนทบุรี ต้นฉบับ

แต่เชื่อไหมครับ ทุกเคสที่ผมทำมา ๑๐ กว่าศพ ที่ต้องตายไปต่อหน้าผม หลายคนพิการเดินไม่ได้ ทุกวันนี้ก็ยังติดเตียงอยู่กับบ้าน หลายคนที่ต้องเสียแขน เสียขา ขาลีบ แขนลีบไป ได้รับเงินเยียวยา อันนั้นก็ดีครับ แต่บางคนเจ็บป่วยเล็กน้อยยื่นคำร้อง เพื่อหวังจะได้แค่ ๑๐๐,๐๐๐ บาท สุดท้ายต้องอุทธรณ์ครับ อุทธรณ์หลายครั้งจนกระทั่ง ต้องจ่าย ๔๐๐,๐๐๐ บาท เพราะอะไร ตายระหว่างอุทธรณ์ครับ แทนที่ท่านพิจารณาครั้งแรก จ่าย ๑๐๐,๐๐๐ บาทจบแล้ว ท่านบอกว่า ๕ วัน ส่งอนุกรรมการของท่านพิจารณาเลย ๕ วัน ๕ วัน ตอบกลับมาไม่อนุมัติ หลักฐานคืออะไรครับ บอกว่ามีข้อมูลในมือถืออย่างไร ส่งเข้ามา ใน Application อย่างไร คุณดูได้เลย แต่เวลาร้องจริง ๆ อย่างตาล้วนวัย ๘๔ ปี ชีวิตแก ไม่เคยถ่ายรูป แต่โชคดีมาก ๆ เลย ณ วันนั้นแกไปนั่งรอฉีดวัคซีนอยู่ที่วัดไทรใหญ่ อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี หลานแกรอถึง ๔ โมงเย็น ยังไม่ได้ฉีด พ่อแม่เขาก็ Line มาถามว่าทำไม ตายังไม่กลับบ้าน หลานก็ถ่ายรูปว่าตารอคิวอยู่ เชื่อไหมครับ รูปที่ส่ง Line มารูปแรก รูปเดียวในชีวิตตาล้วนนั่นล่ะ คือหลักฐานให้แกได้เงิน ๔๐๐,๐๐๐ บาท มันเป็นความเป็นธรรม หรือเปล่าครับ ถ้าวันนั้นครอบครัวไม่สงสัยว่ากลับช้า อ้ายหลานเจ้ากรรมไม่ถ่ายรูปส่ง Line ไป ตาล้วนแกจะมีหลักฐานไหมครับ ว่าแกฉีดวัคซีนแล้วแกตาย

นายเกียรติคุณ ต้นยาง นนทบุรี ต้นฉบับ

สิ่งที่ผมพูดมานี้ผมไม่ได้ตำหนิ สปสช. นะครับ กฎหมายท่านดี ระเบียบท่านดี แต่ผมขออนุญาตให้ถอดบทเรียนนะครับ ถ้าต่อไปนี้จะต้องมีการฉีดวัคซีน จะต้องมีการ รักษาพยาบาล มีผลกระทบตามมาตรา ๕๐ (๕) พิจารณาจ่ายเลยได้ไหมครับ ทำไมต้องพิสูจน์ ผู้เสียหายต้องพิสูจน์ความตายหรือครับ ผู้เสียหายต้องพิสูจน์ความพิการหรือครับ ผู้เสียหาย ต้องพิสูจน์ความเจ็บปวด ปวดตัว ปวดหัว ปวดอะไรต้องพิสูจน์หรือครับ เรื่องพรรค์นี้ ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์นะครับ เรียนด้วยความเคารพนะครับ คุณหมอจเด็จผู้มีความเมตตา ทุกครั้งที่ผมอุทธรณ์ไป ท่านอนุมัติตลอดเลย แต่ทำไมต้องให้ผมอุทธรณ์หรือท่าน ต่อไปนี้ ฝากเป็นบทเรียนนะครับ ความเจ็บปวดของประชาชนไม่ใช่สิ่งที่ท่านต้องมาพิสูจน์ ความเจ็บป่วยของประชาชน ความเจ็บตายของประชาชน ไม่ใช่สิ่งที่หน่วยงานจะต้อง มาพิสูจน์ มันเห็นอยู่แล้ว ชีวิตเขาไม่เคยทำอะไร เด็กหนุ่มวัย ๓๘ ปี เป็นหัวหลักหัวแรง ของครอบครัวขับรถรับจ้าง ต้องมาตายเพราะฉีดวัคซีน ทำไมต้องพิสูจน์ละครับว่าเขาตาย เพราะฉีดวัคซีน น้องพั้นช์นักศึกษาเรียนมหาวิทยาลัยปี ๒ วัย ๑๙ ปี เลิกเรียนเข้ามาทำงาน ขาย Fast Food อยู่ห้างเซ็นทรัลเวสต์เกต บางใหญ่ นนทบุรี ต้องมาตายเพราะฉีดวัคซีน ทำไมน้องพั้นช์ต้องพิสูจน์ว่าเธอตายเพราะวัคซีน ผมฝากไว้เลยนะครับ

นายเกียรติคุณ ต้นยาง นนทบุรี ต้นฉบับ

สุดท้ายที่ผมจะฝากท่านนะครับ ถ้ามีเวลาขอให้ สปสช. ลงไปดูโรงพยาบาล บางบัวทอง ๒ ด้วยนะครับ โรงพยาบาลบางบัวทอง ๒ อยู่ตำบลพิมลราช กำลังจะเปลี่ยนชื่อ เป็นโรงพยาบาลพิมลราช ไปดูหน่อยนะครับ อย่างไรแล้วถ้าท่านไปดูผมคิดว่าประสิทธิภาพ ของ สปสช. จะดีขึ้น ถ้าท่านได้ไปดูโรงพยาบาลบางบัวทอง ๒ และผมขอ Save ผอ. ด้วยนะครับ ขอ Save คุณหมอด้วยนะครับ ขอ Save พยาบาล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบางบัวทอง ๒ ด้วยครับ อย่าให้เขามีผลกระทบกับการอภิปรายครั้งนี้ของผมเลยนะครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ สมาชิกท่านสุดท้ายเชิญท่านอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ครับ

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ ผมได้อ่านรายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี งบประมาณ ๒๕๖๕ โดย สปสช. ซึ่งต้องขออนุญาตกราบเรียนว่า ขอให้กำลังใจแล้วก็ เป็นรายงานที่เห็นถึงอนาคต เห็นถึงความเชื่อมั่นของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ของประเทศไทยของเรา ท่านประธานที่เคารพครับ ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยนั้น ติดอันดับ ๑ ของอาเซียน บางช่วงเป็นอันดับหนึ่งของเอเชีย และบางครั้งของการจัดอันดับนั้น เคยขึ้นไปเป็นอันดับ ๒ ของโลก นโยบายที่ถือเป็นเรือธงต้นแบบที่ไม่พูดไม่ได้ก็คือ นโยบาย ๓๐ บาทรักษาทุกโรค เป็นหนึ่งในปฐมบทต้นแบบของนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ของโลก ชนิดที่องค์กรระดับโลกมากมาย รวมถึง UN ได้ยกย่องให้เป็นโครงการต้นแบบ การวางระบบสาธารณสุขของโลก

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ๒๒ ปีครับ กับระบบหลักประกัน สุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย และเป็นความโชคดีครับ วันนี้เรามีผู้บริหารกระทรวง สาธารณสุข ๒ ท่าน ท่านแรกหมอชลน่าน ขออนุญาตเอ่ยนามครับ อีกท่านเป็นหมอสันนะครับ ไม่ใช่หมอศัลยแพทย์ หรือศัลยศาสตร์ หมอสันติ พร้อมพัฒน์ ก็เป็น ๒ ประสาน ในการ ร่วมด้วยช่วยกันขับเคลื่อนบริหาร รวมถึงให้หลักประกันในการสร้างระบบหลักประกัน สุขภาพถ้วนหน้า ผมได้เห็นปรัชญาหลักคิดสำคัญของ สปสช. ก็คือระบบหลักประกันสุขภาพ ถ้วนหน้าจะเป็นการบริการด้านสุขภาพของรัฐ ที่ให้ความเป็นธรรมกับประชาชนทุกส่วน ทุกคนในสังคมควรได้รับการประกันสุขภาพอย่างเท่าเทียมกัน นี่เป็นปรัชญาและเป็นหลักคิด สำคัญของ สปสช. จาก ๓๐ บาทรักษาทุกโรคในวันนั้น ยกระดับสู่ ๓๐ บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนเพียงใบเดียว ผมมีโอกาสได้ไปร่วมเป็นสักขีพยาน ในพิธีเปิดเฟส ๑ เป็นโครงการนำร่อง บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ๔ จังหวัด ก็คือจังหวัดแพร่ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดนราธิวาส และเฟส ๒ ตามมาติด ๆ ครับ นั่นคือ จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดสระแก้ว จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดอำนาจเจริญและจังหวัดพังงา ผมได้เห็นงานหลายงานนะครับ ได้เห็นโครงการหลายโครงการที่เป็นความริเริ่ม ความพยายามที่จะเติมเต็มให้กับระบบ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้สามารถดูแลพี่น้องประชาชนได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ผมไปดูโครงการเกี่ยวกับเรื่องของโรคไต คนไทยเป็นโรคไตเยอะนะครับ แล้วก็ถ้าไม่มีการยกระดับในการป้องกันรักษาอย่างมีนัยสำคัญ ปริมาณคนเป็นโรคไตจะเพิ่ม สูงขึ้น สปสช. ไปริเริ่มโครงการครอบคลุมทุกสิทธิ พิชิตโรคไต ใส่ใจการใช้ยา แล้วก็มีงาน วันไตโลก ไปริเริ่มเรื่องของมะเร็งครบวงจร เป็นมะเร็งไม่ต้องตกใจครับ สปสช. ยืนเคียงข้าง พี่น้องประชาชน แต่ประเด็นที่เป็นข้อห่วงใยก็มีนะครับ ไม่นานมานี้ สปสช. แถลงยืนยันครับ ว่าภาระทางการเงินและหนี้สินของ สปสช. นั้น ณ ปัจจุบันไม่ได้มีหนี้สินคงค้างกับองค์การ เภสัชกรรมครับ องค์การเภสัชกรรมทำอะไร ก็ผลิตยา ขายยา บริหารจัดการเรื่องยา ร่วมกับ สปสช. ซึ่ง สปสช. ยืนยันว่าไม่มีหนี้คงค้างกับองค์การเภสัชกรรม แต่ผมจะถามเพิ่ม นะครับว่าท่านมีหนี้กับโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลในกำกับของมหาวิทยาลัยหรือไม่ เพราะก็มีการตั้งคำถามในประเด็นนี้ในหลายช่องทาง สปสช. ไปริเริ่มโครงการที่สำคัญ เรียกว่าคลินิกชุมชนอบอุ่น แล้วก็นำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีการปรับรูปแบบ การจ่ายเงินค่าบริการตามข้อเสนอ มีการเบิกจ่ายงบผู้ป่วยนอกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผ่านระบบ Online ก็ต้องขอเรียนครับว่าระบบนี้ถ้าคนใช้เป็น ระบบโครงสร้างพื้นฐาน ด้านอินเทอร์เน็ตให้บริการได้ทั่วถึงนั้น ก็จะช่วยลดภาระทั้งของ สปสช. และของ พี่น้องประชาชน

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

นโยบายสำคัญอีก ๑ เรื่อง ที่ผมถือว่าเป็นอีก ๑ เรือธงของนโยบาย ด้านสาธารณสุขของรัฐบาล ภายใต้การนำของรัฐมนตรีนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว คือถ้าคนไทยโดยนโยบายสาธารณสุขไม่ทำอะไรเลย ภายในอีก ๖๐ ปีข้างหน้า คนไทย จะเหลือเพียงแค่ ๓๓ ล้านคน ดังนั้นจึงมีแนวคิดว่าทุกการเกิดคือการให้ สปสช. ไปทำ โครงการเพิ่มช่องทางการรับยา เพื่อเสริมธาตุเหล็กหนุนหญิงวัยเจริญพันธุ์ให้ตั้งครรภ์ อย่างมีคุณภาพ ผมคิดว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี แต่ว่าเราจะทำอย่างไรที่จะสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนได้เข้าถึงมากกว่านี้ ท่านประธานครับ ท้ายที่สุดผมต้องขอกราบเรียนว่า ผมไม่ได้เป็นหมอครับ แต่ผมเป็นห่วง แล้วก็ขอให้กำลังใจกับผู้บริหาร สปสช. เจ้าหน้าที่ บุคลากรทุกภาคส่วน รวมถึงทราบว่ากำลังจะมีการคัดสรร สรรหาเพื่อที่จะตั้งบอร์ดชุดใหม่ ไม่ว่าชุดเก่าใครจะได้ไปต่อ หรือชุดใหม่ใครจะมาก็ขอให้ท่านได้เดินหน้า และขอเปลี่ยน จากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่บอกว่าทุกคนในสังคมควรได้รับ ผมขอเปลี่ยนเป็นทุกคน ต้องได้รับการประกันสุขภาพอย่างเท่าเทียมกัน และผมเชื่อมั่นนะครับว่านโยบายที่เป็น ต้นแบบของโลกแบบนี้เราทำมา ๒๒ ปีดีอยู่แล้ว และจะก้าวต่อไปอย่างมั่นใจ เพื่อเป็น หลักประกันให้กับคนไทยทั้งประเทศ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญท่านประเสริฐพงษ์ครับ

นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ อดีตพรรค อนาคตใหม่ ปัจจุบันพรรคก้าวไกล ผมเข้าใจว่ามีการปิดการลงชื่อแล้ว แต่ว่าที่ผ่านมาเคยมี คนมาขอต่อหลังจากปิดแล้ว แล้วท่านประธานจะอนุญาตให้อภิปราย ผมจึงขออนุญาต ใช้สิทธิไม่เกิน ๗ นาทีครับท่านประธาน ขออภิปรายรายงานนิดเดียวครับท่านประธาน เพื่อเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญครับ

นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับ ท่านประธาน รายงานฉบับนี้เป็นรายงานที่เป็นประธานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคนเก่า คือท่านรัฐมนตรีอนุทิน แต่ผมคิดว่าปัจจุบันนี้เราเปลี่ยนรัฐมนตรีแล้ว ผมก็ยังมีความคาดหวัง ในคณะทำงานของคณะกรรมการต่าง ๆ ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทุกท่าน โดยเฉพาะอำนาจหน้าที่ที่เขียนไว้ชัดเจนเรื่องกำหนดมาตรฐานต่าง ๆ ควบคุม คุณภาพ ซึ่งที่ผ่านมาหลายจังหวัดหมอไม่พอ รอคิวนาน พยาบาลน้อย ด้อยเครื่องมือ ผู้ป่วย ต้องไปหาซื้อบริการข้างนอกเอาเอง วงเล็บว่าถ้ามีกำลังนะครับ นั่นหมายความว่าเราพึ่งพิง หน่วยงานของรัฐไม่ได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ หลายพื้นที่ครับ จังหวัดกระบี่ของผม กระทั่งผมเคย ร้องเรียนขอเครื่อง MRI ที่จังหวัดกระบี่ให้โรงพยาบาลกระบี่ ปัจจุบันมีแล้วนะครับ หลังจาก ที่ผมออกมาต่อสู้เรียกร้อง หรือแม้กระทั่งออกมาบอกว่าเตียงคนป่วยไม่เพียงพอ แม้ว่า จะพยายามของบประมาณผ่านตามระบบฟังก์ชัน ผ่านเขต ๑๑ ผ่านปลัดกระทรวง ผ่านสำนักงบประมาณขึ้นมา แต่สุดท้ายผมไม่เข้าใจว่าระบบราชการ โดยเฉพาะสำนัก งบประมาณไม่ค่อยเห็นความสำคัญ เกี่ยวกับเรื่องของการให้บริการสุขภาพของพี่น้อง ประชาชนมากไปกว่าการอนุมัติงบประมาณซื้อเรือดำน้ำหรืออย่างไร หรือแม้กระทั่งซื้ออาวุธ ของทหาร

นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ทำไมถึงมีข่าวล่าสุดว่าขาดอัตราบุคลากรอย่างพยาบาล ทั้ง ๆ ที่คณะพยาบาลศาสตร์มีแทบจะทุกมหาวิทยาลัย และแต่ละปีมีคนจบคณะนี้ออกมา เยอะมาก แต่ไม่มีอัตราบรรจุ ในระบบราชการไม่มีอัตราบรรจุ วันนี้ท่านเลขาธิการสำนักงาน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผมคิดว่าท่านรู้ประเด็นเรื่องนี้ดี ปัญหาอุปสรรคไม่ว่าจะเกิดจาก ก.พ. กีดกัน หรือว่าแม้กระทั่งอยู่ภายในของท่านเองที่มองไม่เห็นปัญหา ผมคิดว่าเรื่องนี้ ปฏิเสธไม่ได้ครับว่ามีบุคลากรที่จบด้านนี้มา เภสัชจบเยอะ พยาบาลจบออกมา วิทยาศาสตร์ การแพทย์จบออกมา เทคนิคการแพทย์จบออกมา แต่ไม่มีอัตราบรรจุครับ เขาเลยต้องไหลไป อยู่นอกระบบราชการ ท่านต้องแก้ตรงนี้ก่อนครับ ผมมาสะท้อนปัญหาให้ท่าน เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่รอไม่ได้ครับ และบุคลากรทางการแพทย์ ทุกสาขาถูกทำงานในระบบที่เพิ่มชั่วโมงทำงานเกินกว่าปกติ เรื่องนี้ยืนยันชัดเจนตั้งแต่ สมัยที่แล้ว มีบุคลากรทางการแพทย์มายื่นหนังสือที่สภาแห่งนี้ ช่วงนี้สภาชุดนี้ก็มีเหมือนกัน พูดในชั้นกรรมาธิการ พยายามผลักดันกันเหลือเกิน แต่ประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข จะปิดกั้นอะไรกันนักหนาเวลาจะพูดถึงปัญหาด้านสาธารณสุข อันนี้สะท้อนไปถึงประธาน กรรมาธิการการสาธารณสุขด้วยนะครับ ไม่ต้องปกป้องรัฐมนตรีครับ สส. เรามาช่วยกัน แก้ปัญหา ท่านต้องฟังปัญหาและช่วยกันแก้ครับ หลายวันก่อนผมเจอท่านรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงสาธารณสุข ท่านนายแพทย์ชลน่านก็มีความหวังว่าโอกาสที่จะได้ งบประมาณไปในหลายพื้นที่ ในภาคใต้บ้านผมที่จังหวัดกระบี่ ที่จังหวัดระนอง ที่จังหวัดพังงา หลายพื้นที่ขาดแน่นอนครับ เครื่องไม้เครื่องมือ ที่จอดรถหลายโรงพยาบาลไม่มีครับ กลายเป็นว่าบริษัทเอกชนหรือเอกชนที่อยู่ข้าง ๆ โรงพยาบาลสามารถที่จะเปิดพื้นที่ เช่าที่จอดรถ เก็บค่าที่จอดรถ แล้วก็ไปใช้บริการโรงพยาบาล แต่เวลาได้งบประมาณไปสร้าง อะไรรู้ไหม แน่นอนครับดูแลบุคลากร สร้างที่พักให้แพทย์ พยาบาล สร้างแฟลต แต่ปรากฏว่า ไม่ได้ดูแลลำดับความสำคัญของผู้ป่วยเลยครับ สร้างตึกเพิ่มมาได้ก็จริง แต่เตียงผู้ป่วย ไม่ได้เพิ่มขึ้นครับ นี่คือสิ่งที่ต้องมีการทบทวนและแก้ปัญหาครับท่านประธาน

นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ผมจึงอยากให้รายงานฉบับนี้ แล้วก็การอภิปรายของผมและเพื่อน ๆ สส. ได้สะท้อนให้เห็นปัญหาของท่าน ผมให้กำลังใจครับว่าบุคลากรด้านสาธารณสุขแบกภาระ เยอะมาก แบกภาระการดูแลพี่น้องประชาชนซึ่งเพิ่มขึ้นทุกปี รพ.สต. ตอนนี้ก็โอนไปอยู่ อบจ. กระบี่ ก็เจอปัญหา ท่านประธานครับเจอปัญหาแน่นอน เพราะว่าไปปิดกั้นเขา ไม่ยอมถ่ายโอนงบประมาณต่อให้เขา บุคลากรที่เขาให้ไปเขาก็เลยไม่มีความมั่นใจ แต่ทั้ง ๆ ที่ ผอ. รพ.สต. เดิมติดซี ๗ นะครับ บางคนติดซี ๗ อยู่เป็น ๑๐ ปี แต่พอย้ายไปอยู่ อบจ. ขยับเป็นซี ๘ ตอนนี้สอบแล้วนะครับ เห็นผลดีไหมครับ มีการเลื่อนไหลไปอยู่ท้องถิ่น อย่าดูถูกท้องถิ่นครับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเขาก็พร้อมดูแลบุคลากร พร้อมให้กำลังใจ และพร้อมสนับสนุนงบประมาณ ที่สำคัญถ้ารัฐบาลจริงใจเรื่องการกระจายอำนาจ ให้งบประมาณตาม พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ๓๕ เปอร์เซ็นต์ ผมคิดว่าท้องถิ่นสามารถดูแลบุคลากรด้านสาธารณสุขได้ครอบคลุมทั่วถึง มันก็จะ ส่งผลกระทบกับพี่น้องประชาชนที่ไปขอใช้บริการในพื้นที่ของเขาครับท่านประธาน ก็ฝากไว้ด้วยนะครับว่าบุคลากรด้านสาธารณสุขมีความสำคัญ ให้กำลังใจครับ แล้วที่ผ่านมา ก็ต้องชื่นชมครับ เจอปัญหาวันนี้ท่านก็ต้องแก้นะครับ ฝากให้ถึงท่านรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ด้วยครับว่า ท่านต้องทำได้ดีกว่ารัฐมนตรีคนก่อนครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านสมาชิกอภิปรายครบถ้วนแล้วนะครับ ขอเชิญทางผู้ชี้แจงครับ

นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาและท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่านครับ ก่อนอื่นก็ขอบคุณ ทุกท่านที่ช่วยกรุณาให้ความเห็นต่อร่างรายงานการสร้างหลักประกันประจำปี ๒๕๖๕ นะครับ ผมขออนุญาตเพิ่มเติมในส่วนที่ท่านสมาชิกได้กรุณาอภิปราย เพื่อให้มีความเข้าใจตรงกัน ในบางประเด็นนะครับ

นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นฉบับ

ของท่านภูมิพัฒน์ที่บอกว่างบประมาณของเราไม่ได้มีเรื่องการบำบัดยาเสพติด หรือไม่ อย่างไร เรียนท่านว่าของกองทุนหลักประกันสุขภาพจะมีงบยาเสพติดอยู่ในหน้า ๔๐๓ ๑.๔.๔ ส่วนใหญ่ที่เราให้บริการคือให้ Methadone ในกรณีผู้ติดยาเสพติด ต้องเรียนครับว่า งบยาเสพติดไม่ได้อยู่ในกองทุนหลักประกันสุขภาพอย่างเดียว แต่อาจจะอยู่ในหลายหน่วยงาน แต่ว่าในส่วนของเรานี้ เราก็เป็นส่วนในเรื่องของบริการสาธารณสุข ซึ่งปี ๒๕๖๕ ก็มีผู้เข้ารับบริการ ที่ต้องใช้ Methadone นี้ ๙,๖๒๓ คน ๗๐,๐๐๐ กว่าครั้ง นอกจากนั้นเวลาเราพูดถึง ผู้ติดยาเสพติดนี้ จะมีส่วนหนึ่งที่ท่านอาจจะป่วยทางจิตเวชด้วย ซึ่งตรงนี้ก็จะมีอยู่ในเป้าหมาย จิตเวชของเรา ๑๐,๐๐๐ กว่าคนด้วยนะครับ ท่านได้กรุณาให้ความเห็นหรือว่าให้คำแนะนำ ที่จะให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในชุมชน อันนี้ผมคิดว่าเราก็จะรับไปดูนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องล้างไต เรื่องอะไรต่าง ๆ หากมีบริการไม่ทั่วถึง ไม่เพียงพอ อันนี้ เดี๋ยวทาง สปสช. เราก็จะลงไปดู ว่าตรงไหนยังขาดตกบกพร่องอย่างไร

นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นฉบับ

ท่านกัลยพัชรที่กรุณาให้คำแนะนำว่า กรณีผู้ป่วยเรื้อรังบางครั้งต้องการ บุคลากรที่อาจจะไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์อย่างเดียว ซึ่งท่านอาจจะใช้คำว่า นักบริบาล ในชุมชน อันนี้จริง ๆ ต่อมาหลังจากปี ๒๕๖๕ เราก็เห็นปัญหานี้นะครับ แล้วก็พยายามที่จะ สนับสนุนให้มีนักบริบาลในชุมชนเพิ่มขึ้น ในปีนี้เราก็จะมีการจัดงบประมาณที่ทำร่วมกับ ชุมชนหรือท้องถิ่น อบต. เทศบาลต่าง ๆ เข้ามาขับเคลื่อนในการที่ให้พื้นที่สามารถที่จะใช้เงิน ส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของท้องถิ่นให้ไปจ้างนักบริบาลชุมชนได้ แล้วเดี๋ยวจะ รับประเด็นที่ท่านให้คำแนะนำเรื่องสุขภาพดี มีรางวัล อันนี้เราก็ได้ยินมาพอสมควรแล้ว แต่ว่าเราก็ยังพยายามจะหาดูว่ามันมีสิทธิประโยชน์ตรงไหน หรือว่ากิจกรรมใดที่เราจะนำ สุขภาพดี มีรางวัล เข้ามาได้

นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นฉบับ

กรณีที่ท่านอภิปรายในเรื่องของคนไข้ที่ให้บริการในชุมชน ผมเรียนว่าอันนี้ ทางระบบของ สปสช. เราก็กำลังดูอยู่นะครับว่า การให้บริการผู้ป่วยในวันนี้หากเราจะไปเน้น การให้บริการในโรงพยาบาลหรือเฉพาะบุคลากรการแพทย์อย่างเดียวน่าจะไม่พอ เราอาจจะ ต้องใช้ส่วนที่เราใช้คำว่า มิตรภาพบำบัด เพื่อนช่วยเพื่อน เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นใช้วัดที่จะเข้ามา ดูแลผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง หรือว่าผู้ป่วยระยะท้าย หรือว่าการให้ท้องถิ่นเข้ามาช่วย หรือว่า ใช้ภาคประชาชนเข้ามาร่วมให้บริการตามมาตรา ๓ ดังเช่น กรณีของผู้พิการต่าง ๆ ซึ่งตรงนี้เอง ก็เป็นทิศทางของนโยบายที่จะใช้เงินกองทุน ไม่ว่าจะเป็นตัวงบประมาณกองทุนเอง หรืองบประมาณในส่วนที่เราไปสมทบร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ อันนี้ผมก็คิดว่า ในทิศทางระยะต่อไป เชื่อได้ว่าถ้าเราสามารถผสมผสานการดูแลผู้ป่วยจากตัวผู้ป่วย ช่วยกันเอง ก็เชื่อว่าสถานการณ์แม้เราจะมีความขาดแคลนบุคลากร สถานการณ์การให้บริการ ผู้ป่วยยังไม่น่าจะมีปัญหามากมายเกินกว่าที่เราจะจัดการได้นะครับ ก็ขอบคุณคำแนะนำ ที่ท่านกรุณาให้มานะครับ

นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นฉบับ

ท่านธัญธรที่บอกว่าข้อมูลตัวเลขเรามันเหมือนขาดหายไป ๒ ปี อันนี้ ส่วนใหญ่เวลาข้อมูลตัวเลขพวกนี้เราได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อ GDP หรือว่าค่าใช้จ่ายงบประมาณต่อค่าใช้จ่ายสุขภาพอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ส่วนใหญ่เราจะให้ หน่วยงานภายนอกทำนะครับ ก็ต้องยอมรับว่าบางปีท่านอาจจะทำไม่ทันเวลาที่เรามา แต่ว่าถ้าดูในรายงานประจำปีในปีต่อ ๆ ไปมันก็จะทบกลับมา แล้วที่ท่านเห็นว่าประมาณ ในปี ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๔ ที่มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงขึ้น อันนี้ก็คงเข้าใจกันได้นะครับว่า เป็นสถานการณ์โควิดที่ตรงนั้นเราใช้เงินกู้เข้ามาจำนวนมาก ในการที่จะเพิ่มค่าใช้จ่าย ด้านสุขภาพในช่วงนั้น ก็เลยทำให้ตัวเลขมีการขยับสูงตั้งแต่ปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕ นะครับ

นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นฉบับ

เรื่องฟื้นฟูนี้ ส่วนหนึ่งก็คงไม่ได้แก้ตัวนะครับว่าคงเป็นการลดลงจากบริการ เรื่องโควิด แต่เท่าที่เราดูก็จะมีบริการบางอย่าง ถ้าเป็นเรื่องของลักษณะที่จำเป็นต้องบริการ ที่ไม่สามารถรอได้อันนี้จะเพิ่มขึ้น อย่างเช่นเรื่องการดูแลผู้ป่วยหลอดเลือดสมองหรือว่ากรณี ใช้เครื่องช่วยฟังหรืออะไร ซึ่งมันไม่จำเป็นต้องใช้การสัมผัสหรือว่าการดูแลใกล้ชิดนี้ก็จะ เพิ่มขึ้น เชื่อว่าเหตุหลัก ๆ คงเป็นโควิดส่วนหนึ่งที่มันต้องถูกให้ Distance ในช่วงนั้นนะครับ

นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นฉบับ

เรื่องของ IP Anywhere ตอนนี้เราก็กำลังทำอยู่ เรากำลังติดตามผลอยู่ ว่าเกิดผลอย่างไร เรื่องของโควิดในสถานการณ์ปัจจุบันที่ท่านกรุณาบอกว่าพบมากขึ้น แต่ว่า มีลักษณะเหมือนไข้หวัด แล้วก็เกรงว่าบริษัทประกันจะมีการปกป้องไม่ให้ผู้ป่วยต้อง Admit อะไรต่าง ๆ เหล่านี้นะครับ ก็เรียนว่าจริง ๆ ความรุนแรงของโรคนี้มันลดลง ไม่ว่ามันจะใช้ชื่อ อะไรก็แล้วแต่ แล้วการรักษาโรคโควิดในระยะต่อไปนี้ สำหรับมุมมองของเราก็จะถือว่า เราจะรักษาในระดับที่เรียกว่าปฐมภูมิ นั่นหมายความว่าไม่ใช่ทุกคนต้อง Admit หรือว่า ต้องมานอนโรงพยาบาล แต่ก็ไม่อยากให้เห็นเป็นประเด็นว่าในส่วนของ สปสช. ที่ดูแลเราคง ไม่มีเงื่อนไขอะไรนะครับ ถ้าคนไข้นั้นอยู่ในกลุ่มเสี่ยง แล้วก็มีความจำเป็นที่ต้องนอนพัก รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ถึงแม้จะเป็นโควิดเราก็คงสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยบริการ

นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นฉบับ

เรื่องโครงการของท้องถิ่นที่มีการกระจุกตัว อันนี้ทาง สปสช. เราก็จะ ลงไปดูอยู่แล้ว เพราะต้องเรียนว่าหลักของงบประมาณที่เราทำร่วมกับท้องถิ่น เราใช้หลักที่ว่า ทำอย่างไรให้ท้องถิ่นมีการตัดสินใจด้วยตัวท่านเอง เราไม่ได้ไปชี้นำหรือพยายามชี้นำ ให้น้อยที่สุดว่าท่านควรจะใช้เงินไปทำอะไร หรือว่าท่านควรจะทำโครงการในลักษณะโน้น ลักษณะนี้ ก็เลยทำให้เห็นว่าบางพื้นที่เงินจะเหลือเยอะ บางพื้นที่เงินก็ไม่พอ ดังนั้นเราก็มีการ แก้ปัญหา โดยการที่ส่วนใดที่เงินเหลือมากเราจะไม่สมทบลงไป เราไม่ได้ใช้วิธีการเลือก โครงการนะครับ เราให้ท้องถิ่นเป็นคนเลือกโครงการ ดังนั้นก็ต้องอดทนนิดหนึ่งครับว่าเรา คงไม่สามารถจะไปบอกท่านได้ว่าต้องทำอะไร แต่ว่าเราจะให้ท่านใช้กลไกของกรรมการ และกลไกของกองทุนในพื้นที่ทำงาน แล้วหากท่านไม่ได้ใช้เงินงบประมาณเราก็จะมีการใช้ หลักเกณฑ์ คือเราก็ไม่สมทบเพิ่ม เราก็เอาเงินที่เหลือนั้นไปให้ท้องถิ่นอื่นที่ใช้งบประมาณ เพิ่มขึ้น อันนี้เราพยายามที่จะกระตุ้นให้ท้องถิ่นที่ใช้งบประมาณร่วมกับเราได้ใช้เงิน อย่างมีประสิทธิภาพ ปีล่าสุดที่ผ่านมาเท่าที่ดูตัวเลขเงินที่เหลือตอนสิ้นปีงบประมาณนี้ ประมาณ ๑,๙๐๐ ล้านบาท ก็ถือว่าลดลงนะครับ แสดงว่าท้องถิ่นมีความเข้าใจมากขึ้น แล้วเราก็คงจะต้องกระตุ้นให้ท้องถิ่นได้ใช้งบประมาณดังกล่าวนี้มากขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นฉบับ

ท่านนิพนธ์อยู่บึงกาฬ ท่านก็กรุณาพูดถึงเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือ หรือ รพ.สต. ก็ต้องเรียนว่าทางเราก็ไม่ใช่เป็นหน่วยที่สนับสนุนเครื่องมือโดยตรง แต่เรามีงบประมาณ ในการที่จะชดเชยค่าเครื่องไม้เครื่องมือ เพราะฉะนั้นในกรณีที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือว่าโรงพยาบาลที่มีเครื่องไม้เครื่องมือไม่เพียงพอ เราจะมีงบส่วนหนึ่งของเราจัดลงไปให้

นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นฉบับ

ท่านสิริลภัส ซึ่งท่านได้พูดถึงสุขภาพจิต ผมต้องขอบคุณท่านมากที่ท่าน กรุณาพูดในหลายเวที แล้วผมก็ค่อนข้างเห็นด้วยกับท่านนะครับว่าปัญหาสุขภาพจิตนี้ เป็นปัญหาสำคัญที่เป็นผู้ป่วยกลุ่มเดียวที่ไม่มีปากเสียง เนื่องจากท่านมีปัญหาสุขภาพจิต ดังนั้นผมคิดว่าถ้ามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้กรุณาพูดบ่อย ๆ ผมคิดเชื่อว่าสังคมก็จะรับรู้ แล้วก็ให้ความสำคัญมากขึ้นนะครับ ต้องเรียนท่านว่าเราก็เห็นปัญหาแบบเดียวกับท่าน นะครับว่าที่เราจัดงบประมาณไว้ให้จิตเวชในชุมชน ประมาณในหลักหมื่นมันอาจจะไม่พอ ต่อการดูแล ปีนี้เราก็เลยจัดงบประมาณที่จะเน้นการดูแลจิตเวชในชุมชนให้กับผู้ป่วย ๔๕,๐๐๐ คน โดยเป็นผู้ป่วยที่ดูแลในสถานพยาบาล ๑๓,๐๐๐ คน และเป็นผู้ป่วยที่ดูแล ในชุมชน ๓๒,๐๐๐ คน ซึ่งอันนี้เราก็เชื่อว่ากลุ่มผู้ป่วยที่มีความจำเป็นได้รับการดูแลในชุมชน ก็ยังมีจำนวนหนึ่งที่หากเราทำได้ดี ก็เชื่อว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาทางด้านสุขภาพจิต ก็จะเริ่มลดลง อย่างไรก็ตามครั้งหน้าผมจะเพิ่มรายงานเข้าไปนะครับ อย่างที่ท่านแนะนำคือ ผลงานสายด่วนสุขภาพจิตเป็นอย่างไร หรือว่ามีหน่วยงานใดบ้างที่ให้บริการสุขภาพจิต เมื่อ ๒ เดือนก่อนผมก็ได้รับหนังสือจากผู้ป่วยเป็นกลุ่ม ๆ ที่ท่านดูแลกันเอง เราก็ยินดีที่จะ นำผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวเข้ามาเป็นหน่วยบริการตามมาตรา ๓ ท่านมีอยู่ประมาณ ๑๖๕ หน่วย ทั่วประเทศ ก็เชื่อว่าจะเป็นกลไกสำคัญอันหนึ่งนะครับ เพราะว่าผู้ป่วยเองผมยังเชื่อปรัชญา ที่ว่าให้ผู้ป่วยช่วยผู้ป่วยส่วนหนึ่ง ก็จะทำให้ระบบการดูแลรักษาดีขึ้นนะครับ

นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นฉบับ

การเพิ่มสิทธิประโยชน์ในเรื่องของสุขภาพจิต เราก็พยายามดูนะครับว่า มีสิทธิประโยชน์ใด ๆ ที่ควรจะนำเข้ามา อย่างเช่นเรื่องที่ท่านกล่าวถึงเรื่องยาจิตเวช ตอนนี้ เราก็ติดตามดูแล้วนะครับ มีคนเสนอยา ๗ ตัว ปรากฏว่ามีจำนวนหนึ่งที่เข้าสู่กระบวนการ พิจารณาแล้ว และรัฐมนตรีเองก็อยากให้ สปสช. เข้าไปสนับสนุนงบประมาณก่อนเลย ก่อนที่ บัญชียาหลักแห่งชาติจะประกาศ ซึ่งเดี๋ยวเราจะลองทำการบ้านดูนะครับว่าเราสามารถเข้าไป ดูแลได้ก่อนหรือไม่ถ้าเป็นยาดี แต่ก็ต้องเรียนท่านว่ายาบางตัวที่เสนอเข้ามานี้ ผู้เชี่ยวชาญ ก็มีความเห็นเหมือนกันนะครับว่าเป็นยาที่อาจจะไม่ได้ดีกว่ายาเดิมอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ แต่ว่า อย่างไรก็ตามผมจะรับไปติดตามนะครับว่าเป็นอย่างไร

นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นฉบับ

แล้วท่านก็ให้ความเห็นในเรื่องของการเดินทางของผู้ป่วย ต้องเรียนว่าจริง ๆ ใน พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติค่าบริการสาธารณสุขตามมาตรา ๓ นี้รวมค่าเดินทาง ด้วยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเดินทางระหว่างโรงพยาบาลอะไรต่าง ๆ เดินทางที่อุบัติเหตุฉุกเฉิน ก็อยู่ สพฉ. ใช่ไหมครับ แต่ว่าถ้าเป็นการส่งต่อภายในระบบของเราก็อยู่ในระบบเรา ถ้าท่าน ติดตามข่าวจะเห็นว่า บางครั้งในตอนนี้มีการรักษาบางอย่างที่เราต้องส่งตัวเข้ามาจากบ้านผู้ป่วย เราก็มีจ่ายค่าเดินทาง เช่น กรณีโรคที่เรียกว่า Rare Disease เราก็มีจ่ายค่าเดินทางให้กับเด็ก ที่มีการเจ็บป่วยและต้องเข้ามารับการบริการในกรุงเทพมหานครอย่างนี้เป็นต้น

นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นฉบับ

ท่านปิยชาติได้กล่าวถึงโครงการผ้าอ้อมว่าอาจจะไม่เพียงพอ โดยอัตรา ที่กำหนด ต้องเรียนว่าที่เราออกแบบโครงการผ้าอ้อมให้ไปตัดสินใจกันที่ชุมชน ก็อย่างที่ ผมเรียนนะครับ เราเชื่อในเรื่องของการกระจายอำนาจ เราเชื่อว่าให้ชุมชนเข้มแข็งจะดีกว่า สั่งการจากส่วนกลางลงไป มันไม่ยากเลยครับที่เราจะซื้อผ้าอ้อมทั่วประเทศแล้วก็แจกลงไป แต่เราก็พยายามจะสนับสนุนให้ท้องถิ่นเข้าไปช่วยกัน จุดที่มีปัญหาผมเห็นด้วยกับท่านนะครับ เพราะว่ามันมีกติกาเราอันหนึ่งที่ว่าคนไข้ต้องมาขึ้นทะเบียนก่อนถึงจะซื้อ อันนี้ล่ะครับที่เป็น ปัญหา เดี๋ยวเราจะแก้ เพราะว่าด้วยความที่ก็ต้องเรียนว่าเราก็กลัว พูดง่าย ๆ กลัวท้องถิ่น จะไปซื้อของก่อน หรือว่ามีการไปซื้อไม่ถูกต้อง ก็เลยออกกติกาเสียตึงเลยครับว่าต้องมา ขึ้นทะเบียนก่อน เรื่องนี้ผมลงไปดูพื้นที่เองหลายแห่งก็เป็นปัญหา ฉะนั้นเดี๋ยวตรงนี้อาจจะ ต้องหาทางออกนะครับ ที่ท่านบอกว่าคงต้องยืดหยุ่นหน่อย อันนี้ผมก็เห็นด้วย แล้วก็เรียน ท่านว่างบประมาณของกองทุนสุขภาพระดับตำบลที่จะใช้พวกนี้ เราไม่ได้เป็นปีงบประมาณ ดังนั้นที่พื้นที่ใดไปอ้างกับผู้ป่วยว่าพอดีหมดปีงบประมาณเงินเลยหมด ไม่เป็นความจริงครับ เพราะกองทุนที่เราใส่ลงไปมันจะอยู่ในบัญชีตลอดเวลา ท่านสามารถซื้อได้ตลอดเวลา เดี๋ยวผมจะลงไปซักซ้อมความเข้าใจอีกสักนิดหนึ่ง เพื่อให้มั่นใจนะครับว่ากรณีการซื้อผ้าอ้อม จัดหาผ้าอ้อมนี้ ท่านสามารถทำได้ตลอดเวลา แล้วจำนวนผู้ป่วยผมดูจำนวนก็เพิ่มขึ้นนะครับ อย่างในข้อมูลตอนนี้ประมาณเกือบ ๕๐,๐๐๐ คน แต่อย่างไรก็ตามเห็นด้วยครับว่าอาจจะ ยังไม่เพียงพอ และเรื่องราคาต่าง ๆ ที่เรากำหนดนี้ เราก็ป้องกันว่าแต่ละพื้นที่เวลาไปซื้อ ราคาต่างกันมาก ๆ บางที่ซื้อแพงมาก บางที่ซื้อถูกมาก เวลามีหน่วยตรวจสอบลงไปตรวจ ก็จะมีปัญหาอีกแบบหนึ่ง ก็จะถูกตรวจสอบกันอีกแบบหนึ่ง ซึ่งอันนั้นก็นำมาซึ่งความเสียหาย แล้วก็เกิดปัญหาตามมา เราอาจจะดูกลัวไปนิดหนึ่งนะครับ แต่ผมคิดว่าในเรื่องราคาที่เรา กำหนดไว้เป็นราคาที่เราเชื่อว่าซื้อได้ แล้วก็เป็นบริษัทที่ผลิตในเมืองไทยด้วยนะครับ ส่วนคุณภาพจะดีหรือไม่ดี เดี๋ยวให้ช่วยแนะนำกันมาก็แล้วกันนะครับว่า ถ้ามันไม่ดีอย่างไร เราก็จะได้พูดคุยกับผู้ผลิตอีกครั้งหนึ่งว่า ถ้ามันไม่ดีอย่างไรอาจจะต้องปรับปรุงคุณภาพด้วย

นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นฉบับ

ในเรื่องที่ท่านกรุณาให้ข้อแนะนำในเรื่องผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง ผมคิดว่า จำนวนตัวเลขอาจจะไม่ตรงกันทั้งหมด แต่ก็เชื่อว่าทิศทางมันจะเยอะขึ้น ส่วนหนึ่ง เป็นเพราะว่าเราต้องให้ท้องถิ่นหรือชุมชนในพื้นที่ลงไปค้นหาผู้ป่วยด้วย แล้วก็ต้องทำ ที่เรียกว่า Care Plan ก็คือต้องวางแผนการดูแลผู้ป่วย แม้กระทั่งผ้าอ้อมนี้เราไม่ได้แจกเฉย ๆ เราต้องมีการทำ Care Plan คือแผนการดูแลผู้ป่วย เพราะว่าผู้ป่วยส่วนหนึ่งเราเชื่อว่า เขาติดเตียงเขาจะกลับมาติดบ้านได้ คนที่ติดบ้านส่วนหนึ่งจะเข้าไปติดสังคมได้ ซึ่งถ้าเรา ทำได้อย่างนั้นก็คือการประสบความสำเร็จ ผมเคยลงพื้นที่บางครั้งผู้ป่วยที่นอนติดเตียง อยู่ตลอดเวลา เมื่อมีบุคลากรลงไปดูหรือว่ามีอาสาสมัครเข้าไปดู ในท้ายที่สุดท่านลุกนั่งได้ ผมคิดว่าก็เป็นความสำเร็จของระบบเรา ในการที่จะถือว่าได้ช่วยพี่น้องประชาชนนะครับ

นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นฉบับ

ท่านเอกราชท่านกรุณาถามในเรื่องของคลินิกชุมชนอบอุ่น ที่มีการตั้งคำถาม เป็นป้ายว่าเงินไปไหนหมด แก้ปัญหาหรือยัง ผมเรียนเบื้องต้นอย่างนี้แล้วกันนะครับว่า สปสช. เราเป็นหน่วยงานที่ใช้เงินของรัฐ ดังนั้นเวลาเราจะใช้เงินนี้เราต้องใช้ตามกติกา และกฎหมาย เราไม่สามารถที่จะจ่ายเงินให้เพียงแค่บอกว่า เราขาดทุนหรืออะไร เราไม่ได้พูด ดังนั้นเราต้องกลับไปดูกติกาเรา ทีนี้กติกาของการจัดสรรงบประมาณให้กับคลินิกมันเป็น ไปตามประกาศที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครท่านกำหนด เนื่องจากว่าเป็นอำนาจของท่าน ตอนปี ๒๕๖๔ คณะกรรมการที่เรียกว่ากรรมการเขต ๑๓ ท่านมีอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์ และแนวทางการบริหารงานของงบประมาณในส่วน ของกรุงเทพมหานคร ดังนั้นตอนนั้นท่านก็กำหนดขึ้นมาครับว่าท่านจะเปลี่ยนระบบใหม่ จากเดิมที่คลินิกดูแลประชากรเอง เป็นลักษณะที่เรียกว่าหน่วยบริการประจำ ให้ทำเป็น ลักษณะเครือข่ายบริการ โดยให้ศูนย์บริการสาธารณสุขเรียกว่าหน่วยบริการประจำ แล้วให้คลินิกเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ งบประมาณที่ท่านจัดนี้ท่านก็บอกว่าท่านจะใช้ ในลักษณะที่เรียกว่าจ่ายเป็นตามรายการที่กำหนดและเป็นลักษณะแต้ม แล้วก็มีวงเงินเพดานไว้ ซึ่งตรงนี้ล่ะครับมันก็จะมีประเด็นว่า ท่านก็กำหนดว่าถ้าบริการแต้มมันไม่ถึงเพดาน ก็เอาเงิน ที่เหลือจ่ายคืนไป แต่ถ้าแต้มมันเกินกว่าเพดาน เงินที่จ่ายก็จะลดทอนลงไป อันนี้ก็เป็นกติกา ที่ทาง สปสช. เราก็ดำเนินการมาตามที่มติของคณะกรรมการดำเนินการมา มันก็เลยเกิด ปรากฏการณ์นะครับว่า ปี ๒๕๖๔ ในส่วนของการเรียกเก็บ ในคลินิกชุมชนอบอุ่นปี ๒๕๖๔ ท่านเรียกเก็บมา ๔๘๗ ล้านบาท อันนี้คลินิกทั้งหมดในปี ๒๕๖๔ เนื่องจากเราบอกว่า มีเพดานครับ เพดานเราตอนนั้นมีเงินอยู่ ๘๙๙ ล้านบาท เราจึงจ่ายไปที่ ๘๙๙ ล้านบาท ท่านเรียกมา ๔๘๗ ล้านบาท เราจ่ายไปที่ ๘๙๙ ล้านบาท แต่ว่า ๑ คะแนนที่กำหนดนี้ เราจ่ายไปที่ ๑.๘๕ นี่คือปี ๒๕๖๔ ตอนนั้นก็จำได้ว่าคลินิกก็ถามกันมาว่าทำไมเงินมันไหล เข้าไปเยอะ ตอนนั้นมันเป็นช่วงโควิดครับ เงินมันก็เข้าไปเป็นจำนวนที่เกินกว่าเรียก ๔๑๒ ล้านบาท ปี ๒๕๖๕ ทางคลินิกก็รวมทั้งหมด ๒๐๐ กว่าแห่ง ท่านก็เบิกจ่ายมา ๙๐๒ ล้านแต้ม ตอนนั้นเราก็คิดเป็นแต้ม เรามีเงินอยู่ ๑,๕๑๘ ล้านบาท เราก็เลยกระจายเงิน เข้าไป ดังนั้นท่านเรียกเก็บมา ๙๐๒ ล้านบาท เราก็จ่ายไปที่ ๑,๕๑๘ ล้านบาท ๑ คะแนน ก็ตีเป็นเงิน ๑.๖๘ บาท ส่วนปี ๒๕๖๖ ที่มีปัญหา เพราะว่าท่านเรียกมาถึง ๑,๒๖๓ ล้านแต้ม เรามีเงินที่จะจ่ายอยู่ ๗๒๔ ล้านบาท หารออกมามันก็เลยเป็น ๐.๕๗ บาท ทีนี้เมื่อเรา เจอปัญหาตรงนี้ ท่านจะเห็นว่ามีข้อเรียกร้องว่าเงิน ๕๓๙ ล้านบาทเราหายไปไหน เมื่อไร จะคืนเราใช่ไหมครับ ทางคณะกรรมการสุขภาพระดับเขต ๑๓ ท่านก็ลงไปตรวจข้อมูล ท่านก็พบว่าเงินที่เรียกเข้ามาในปี ๒๕๖๖ นี้ ๑,๒๖๓ ล้านแต้ม มันมี ๔๖๕ ล้านแต้ม มันเป็น ผลงานของปี ๒๕๖๕ เมื่อสักครู่ที่ผมเรียนนะครับ ปี ๒๕๖๕ เราจ่ายเกินไป ๖๑๖ ล้านแต้ม ท่านก็เลยมีมติว่าให้เอาแต้มที่มันขาดไป ๕๓๙ ล้านแต้มนี้ ไปเอาเงินของปี ๒๕๖๕ ๖๑๖ ล้านแต้มนี้มาหักกลบกัน เพราะถือว่าเป็นเงินในปี ๒๕๖๕ ควรจะเป็นผลงานของปีนั้น ปรากฏว่าทางคลินิกท่านยังไม่ยอมรับ ก็เลยมีมติว่าตรงนี้ขอให้ชะลอไว้ก่อน แล้วให้มี คณะทำงานพิเศษลงไปตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้นตอนนี้เราก็ไม่ได้มีการเรียกหรือว่า มีการทำอะไรกับบัญชีตรงนี้ ก็ขอให้ทีมงานหรือว่ามีคณะทำงานลงไปตรวจดูก่อนว่ากรณีเงิน ที่เราจ่ายไปโดยกติกานี้เราจะดำเนินการอย่างไร

นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นฉบับ

เพราะฉะนั้นตั้งแต่ปี ๒๕๖๔ จนถึงปี ๒๕๖๖ เราก็ดูผลงานแต้ม เมื่อเทียบกับ จำนวนเงินที่มีที่จ่ายออกไปนี้มันจะอยู่ที่ ๑.๑๘ บาทต่อคะแนน ตรงนี้ก็เป็นตัวเลขที่ยัง ไม่ตรงกัน แล้วก็มีข้อเรียกร้องที่ไม่ตรงกัน ดังนั้นผมคิดว่าต้องลงไปตรวจสอบครับ เราก็ตั้ง ทางคณะกรรมการสุขภาพเขต ๑๓ ท่านก็ลงไปตรวจสอบ อันนี้ก็คือของเก่า

นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นฉบับ

ส่วนของใหม่ที่มีข้อเสนอมาใหม่ เมื่อวานก็มีการประชุมคณะกรรมการ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เราเรียกว่าเขต ๑๓ ท่านก็เสนอมาว่าตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม เป็นต้นไป ขอให้เปลี่ยนการจัดสรรในลักษณะที่เราได้ออกเป็นประกาศ ที่ผมนำเรียนไปนะครับ ให้เปลี่ยนเป็นระบบที่เรียกว่าเหมาจ่าย คือหมายความว่ามีการให้ตามประชากรที่ดูแลไปก่อน แล้วเวลามีการส่งต่อถึงจะตามจ่ายในลักษณะที่เรียกว่าบริการที่กำหนด ซึ่งอันนี้เราก็จะทำ ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคมนี้เป็นต้นไป แล้วก็คงจะได้ติดตามผลอีกครั้งหนึ่ง คือพูดง่าย ๆ เข้าใจว่า ทุกท่านก็เรียกร้องแบบนั้นอยู่ แล้วเราก็ทำ เพียงแต่ว่าเราก็ดำเนินการตามกฎหมาย คณะกรรมการต้องรับรู้และตัดสินใจในการจัดสรร เพราะเป็นเงินหลวงที่เราจะต้องจัดสรร ตรงนั้น อันนี้ผมขออภัยที่ใช้เวลาเยอะนิดหนึ่ง แล้วก็ล้ำมาถึงในปีนี้ด้วย แต่เข้าใจว่าเป็น เหตุการณ์ต่อเนื่องที่ท่านสมาชิกเป็นห่วงว่างบประมาณจะเพียงพอหรือไม่ จะกระทบต่อ พี่น้องประชาชนหรือไม่ ผมก็ยืนยันนะครับว่างบประมาณไม่ได้ถึงขนาดว่าไม่มี เพียงแต่ว่าเรา ไม่สามารถจ่ายได้ถ้าไม่ถูกต้องตามระเบียบ แล้วก็ยืนยันว่าไม่ได้มีผลกระทบใด ๆ ต่อประชาชน ผมเองได้ลงไปพบคลินิกบางแห่งแล้ว แล้วก็ได้ไปคุยกันอย่างที่ท่านได้กรุณาแนะนำว่า บางคลินิกก็บอกว่ามีค่าใช้จ่ายสูง เราก็ไปแนะนำ แล้วก็แนะนำบริการว่าจะทำอย่างไร จะแก้ปัญหาอย่างไร ทาง สปสช. เราก็จัดทีมลงไปดู มีคลินิกที่ยกป้ายอยู่ประมาณ ๑๐๐ แห่ง เราก็จะลงไปดูทุกแห่ง แล้วขอทราบรายละเอียด อันนี้เป็นส่วนที่ขณะนี้ก็พูดคุยกันพอเข้าใจ แล้วเดี๋ยวจะต้องติดตาม ทุกการออกแบบมีปัญหาได้หมด ผมต้องเรียนท่านสมาชิกว่า มันไม่ใช่มีแบบไหนบอกว่าดีที่สุด แล้วเราจะแก้ปัญหาได้หมดจด แต่ทั้งหลายทั้งปวงนี้เราคง ดูว่าประชาชนได้อะไร

นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นฉบับ

ต้องเรียนว่าเมื่อวานนี้มันมีการรายงานต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ แห่งชาตินะครับว่า กรุงเทพมหานครได้งบประมาณมากกว่าพื้นที่ต่างจังหวัดประมาณ ๕ เปอร์เซ็นต์ ร้อยละ ๕ แต่ผลงานบริการน้อยกว่าต่างจังหวัดประมาณร้อยละ ๔๕ มันก็เลย ทำให้เป็นตัวเลขที่มองในมุมประชาชน คือประชาชนอาจจะรู้สึกว่าเขาไม่ได้อะไร ก็เลยทำให้ เวลาเราจะเดินหน้าเดินหลังนี้มันก็จะมีข้อถกเถียงกัน แต่อย่างไรก็ตามผมคิดว่าต้องใช้วิธีการ เอาข้อมูลมาดูแล้วก็พูดคุยกัน ฉะนั้นในส่วนที่เรายังเห็นว่าคลินิกบางส่วนยังมีประเด็นอยู่ ผมก็จะรับไปดูนะครับ ในฐานะที่เป็นเลขาธิการก็รับไป แต่ก็ยืนยันต่อท่านสมาชิกนะครับว่า เราจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย แต่ให้ทุกคนสามารถที่จะดำเนินการได้นะครับ

นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นฉบับ

ท่านอนุสรณ์ท่านได้กรุณาพูดถึงเรื่องของบุคคลทุกคน แล้วก็พูดถึงว่า ทำไมเราไม่ทำตามมาตรา ๖๖ ก็ต้องเรียนว่าจริง ๆ เราก็พยายามที่จะทำตามมาตรา ๙๐ และมาตรา ๖๖ แต่ก็ต้องเรียนว่ามีข้อจำกัด ถ้าท่านทราบว่าในช่วง ๒๐ กว่าปีที่แล้ว ระบบหลักประกันสุขภาพนี้เป็นระบบที่ถูกมองว่าเป็นระบบสำหรับคนจน ก็ไม่มีใครอยากจะ มาร่วมบริหารจัดการกับเรา แต่ผมคิดว่าเมื่อเวลาผ่านไปเราก็พยายามที่จะปรับ แล้วก็ พยายามที่จะพูดคุยกับระบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบของประกันสังคม ระบบสวัสดิการ รักษาพยาบาลข้าราชการ ก็ขอบคุณท่านนะครับ คือผมคิดว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญ ที่เป็นความท้าทาย และอาจจะถือว่าเป็นปัญหาอุปสรรคจริง ๆ ต่อระบบหลักประกันของเรา แต่จะแก้ได้หรือไม่อย่างไร ผมคิดว่าคงต้องดูความพร้อมต่าง ๆ แล้วที่ท่านกรุณาแนะนำว่า ยังมีกองของกองเศรษฐกิจ ผมเข้าใจว่าท่านคงทราบที่มาที่ไปของกองนี้นะครับว่าตอนนั้น สปสช. เป็นคนเสนอสำหรับผู้ที่ไม่มีสิทธิ แล้วกลายไปอยู่ในการพิสูจน์สัญชาติไทยต่อ ครม. แต่ว่าด้วยเหตุความมั่นคงหรืออะไรก็แล้วแต่ ก็เลยไปให้ทางกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ช่วย ดำเนินการ ก็ตอนนี้เราก็ทำงานร่วมกัน แล้วก็พยายามจะดูสิทธิประโยชน์ไม่ให้เหลื่อมล้ำกัน แม้เขาจะเป็นคนที่อยู่ระหว่างพิสูจน์สิทธิ ก็คงดูตรงนี้ต่อไป ก็ขอบคุณท่านที่ให้คำแนะนำว่า ไปใช้ความท้าทายจะถูกไหม ควรจะใช้อุปสรรค เดี๋ยวผมจะลองไปปรับดูนะครับ เพราะบางปี เราใช้อุปสรรคก็มีคนบอกทำไมไม่ใช้คำว่า อุปสรรค อย่างนี้นะครับ แต่ผมก็เห็นด้วยว่า ใช้ภาษาทางกฎหมายน่าจะดีกว่านะครับ

นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นฉบับ

เรียนขอบคุณท่านที่ได้พูดถึงคุณหมอสงวนที่เป็นเลขาธิการคนแรก แต่ผม คิดว่าคุณหมอสงวนจะสอนพวกเราเสมอนะครับว่า เวลาเราจะขับเคลื่อนงานอะไร เราต้องใช้ หลักที่เรียกว่าสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา สำนักงานในฐานะที่เป็นหน่วยงานรัฐทำอะไรเองไม่ได้ เรามีหน้าที่ที่จะสร้างข้อมูล แล้วผมขอบคุณมากที่ข้อมูลรายงานประจำปีของ สปสช. แม้จะบอกว่าดีหรือไม่ดี ก็ยังเป็นข้อมูลที่เรามาถกแถลงกัน แล้วถ้าเป็นข้อมูลที่สามารถ จะเป็นประโยชน์กับฝั่งการเมืองหรือว่าท่านสมาชิก ผมคิดว่าท่านเองจะเป็นคนที่ขับเคลื่อน นโยบายที่เป็นกลไกสำคัญของสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ที่คนที่อยู่ใน สปสช. จะรู้ว่า เราจะทำงานใหญ่ไม่ได้ ถ้าเราไม่ร่วมมือกับภาคประชาชนกับภาคพรรคการเมือง ผมขอบคุณ ในข้อเสนอนะครับ แล้วผมเชื่อว่าสิ่งที่ท่านเสนอด้วยความหวังดีผมก็จะรับไปดูนะครับ

นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นฉบับ

ท่านปวิตราท่านได้บอกว่าเราอาจจะรายงานยังไม่ตรงไปตรงมา เพราะตัวเลข ยังสับสน อันนี้เดี๋ยวถ้าตัวเลขไหนยังไม่ตรง เดี๋ยวผมอาจจะรับไปดู เพราะว่าบางทีตัวเลข มันอาจจะมีการพูดในรายงาน แต่ต้องเรียนว่ารายงานเรากว่าจะออกเป็นรายงานฉบับที่ ตีพิมพ์นี้ เราก็มีการตรวจสอบนะครับ ส่วนรายงานอื่นที่ออกเป็นสไลด์ PowerPoint ในงานต่าง ๆ นี้มันอาจจะไม่ตรงกันบ้าง อันนี้ผมจะรับไปดู บังเอิญผมตามไม่ทันกับประเด็น ว่ามีตรงไหนที่รายงานไม่ตรงไปตรงมา แต่ถ้ามีตรงไหนที่ไม่ตรงหรืออะไรเราจะดูให้ ยกตัวอย่าง ท่านบอกว่างบกันดาร เสี่ยงภัย ๑,๔๙๐ ล้านบาทนี้ เราได้เท่าเดิมมาหลายปี จริง ๆ เรามี แนวโน้มจะได้งบก้อนนี้ลดลง เพราะว่าพยาบาล ๓,๐๐๐ อัตราที่อยู่ภาคใต้ เราต้องยอมรับ เมื่อเวลาผ่านไปพยาบาลกลุ่มนี้ก็จะลดลง เพราะว่าตอนนั้นถ้าท่านจำได้เมื่อ ๑๐ กว่าปีที่แล้ว เป็นปัญหาเรื่องความมั่นคง ทางกระทรวงสาธารณสุขก็มีการให้เพิ่มพยาบาลที่เข้าเรียนมากขึ้น ในพื้นที่ภาคใต้ พวกนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคใต้ แต่ว่าจำนวนพยาบาลลดลง จำนวนเงินก็จะ ลดลง กับอีกส่วนหนึ่งคือโรงพยาบาลกันดาร เสี่ยงภัยนี้ เราก็พยายามประสานกับกระทรวง สาธารณสุข เพราะเราจัดให้กระทรวงสาธารณสุข ตอนนี้ท่านมีโรงพยาบาลกลุ่มนี้อยู่ ๑๖๘ แห่ง ตราบใดที่จำนวนมันไม่เพิ่ม เงินตัวนี้มันจะเพิ่มยากนิดหนึ่ง แต่ว่าก็รับเป็นประเด็น แล้วก็ขอบคุณท่านมากที่กรุณาให้ความเห็นตรงนี้ แล้วผมขอบคุณแทนโรงพยาบาลที่อยู่พื้นที่ กันดารนะครับว่า อย่างน้อยเราได้มีการพูดคุยกันในสภาแห่งนี้ แล้วผมเชื่อว่าก็จะเป็น ประเด็นสำคัญที่เวลาเราไปขอส่วนเพิ่ม ก็หวังว่าเราได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้นนะครับ

นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นฉบับ

ที่ท่านกรุณาพูดถึงผ้าอ้อมผม ได้กล่าวไปแล้วนะครับว่าหลักเราเป็นอย่างไร ทำไมเรายังยืนยันว่าเราอยากจะทำแบบนี้ ผมเชื่อว่าเราอดทนอีกนิดหนึ่งครับ เราเชื่อว่า เมื่อท้องถิ่นเข้มแข็งขึ้นเขาก็จะทำได้ดีขึ้นนะครับ เรื่องผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง เดี๋ยวผมไปดูว่า เป็นอย่างไร แล้วก็กรณีกรุงเทพมหานครเราก็เห็นตรงกันว่ามีคนไม่ลงทะเบียนจำนวนมาก จริง ๆ ที่ท่านบอกว่า ๕ ล้านคน จริง ๆ อยู่ในระบบเราแค่ ๓,๕๐๐,๐๐๐ คนเองนะครับ มันทำให้เป็นปัญหาเราเหมือนกันว่าภาระงานนี้ดูเหมือนจะเยอะ แล้วเมื่อเทียบกับงบประมาณ ที่เราจัดสรรลงไป เพราะว่าลงทะเบียนได้น้อยกว่าที่จำนวนประชากร ตรงนี้ก็ได้มีการพูดคุย กับหน่วยที่เกี่ยวข้อง ท่านจะเห็นว่าผมได้ไปพบท่านผู้ว่าราชการหลายครั้งที่จะมีการรณรงค์ ให้คนที่มาจากต่างจังหวัดกรุณาลงทะเบียน เราจะได้รู้ว่าท่านอยู่ตรงไหน แล้วก็จะได้ ไปให้บริการท่าน อย่างน้อยเมื่อท่านย้ายกลับไปต่างจังหวัดท่านก็เปลี่ยนหน่วยกลับไปได้ ปีละ ๔ ครั้ง แต่แน่นอนครับ บ้านเรานี้ถ้าต้องเดินทางไปหน่วยราชการก็ไม่อยากไปนะครับ ตอนนี้ให้ทำทาง Application ก็ยังไม่ง่ายนัก ก็อาจจะยุ่งยาก เดี๋ยวรับไปนะครับ

นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นฉบับ

ส่วนท่านกรุณพลท่านกรุณาแนะนำในหลายเรื่องรวม ๆ กันนะครับ ผมคิดว่า หลายเรื่องก็มีประโยชน์ แล้วหลายเรื่องผมคิดว่าเป็นปัญหาจริง แล้วผมว่าตรงนี้ตัวสำนักงาน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเองก็ต้องก็ต้องดูตรงนี้ด้วยว่า อย่างเช่น ความศรัทธาของ โรงพยาบาลใกล้บ้านเป็นอย่างไร จะเห็นว่าโครงการตอนนี้ที่เราทำในเรื่อง ๓๐ บาท รักษาทุกที่ เราไม่เคยบอกว่าเราอยากให้คนไข้ไปรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่เลยนะครับ เราอยากให้ท่าน ไปลงรักษาที่หน่วยบริการใกล้บ้าน ที่เราใช้คำว่า นวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นร้านยา คลินิกพยาบาล ชุมชนอบอุ่น คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกทันตแพทย์ คลินิกคุณหมอที่อยู่ใกล้ ๆ โรงพยาบาล เพราะเราเชื่อครับ เชื่ออย่างท่านเชื่อเลยครับว่าค่าใช้จ่ายที่ทางภาษาอังกฤษเรียกว่า Indirect Cost มันสูงมาก มันสูงจนกระทั่งการที่คนจะตัดสินใจไปโรงพยาบาลครั้งหนึ่ง ก็ถือเป็นภาระสำคัญ แล้วก็ขอบคุณท่านนะครับที่เข้าใจหัวอกคนยากคนจน ที่ผมเชื่อว่า ยังมีอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นได้ แต่ถ้าหากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เราสามารถช่วยคนกลุ่มนี้ได้ ผมก็คิดว่าสมตามวัตถุประสงค์ที่เรามีระบบนี้ขึ้นมา

นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นฉบับ

ท่านสุภกรท่านได้กล่าวถึงการยกเลิกสัญญาโรงพยาบาลเอกชน ๙ แห่ง ต้องเรียนนะครับว่า สปสช. เราไม่เคยประสงค์อยากจะยกเลิกใคร ในประวัติศาสตร์ที่ผม ทำงานอยู่ สปสช. ๒๐ ปี เราไม่เคยยกเลิกสัญญาใครก่อนเลยครับ เพราะว่าเรามีหน่วยบริการ ไม่พอเราก็ยอมรับ แต่ถ้ามันมีการทำผิดแล้วเราไม่ยกเลิกตามกฎหมายนี้ เราก็จะมีความผิด เหมือนกัน มันก็เลยเป็นความอีหลักอีเหลื่อเหมือนกัน แล้วคนที่อยู่ในโรงพยาบาลเอกชนนี้ ก็เรียนว่าในทางไม่เป็นทางการนี้เราก็รู้จักกันหมด ผมไม่มีความสบายใจที่จะไปยกเลิก แต่ผมเองก็เรียนกับท่านผู้บริหารทุกคนว่า ถ้าเราไม่ทำตามมติคณะกรรมการ อันนี้ทาง สปสช. ก็อาจจะถูกตรวจสอบได้ว่าทำไมจึงเลือกปฏิบัติ ก็ขอความเห็นใจว่าที่เราทำนี้ ถึงแม้ ที่ท่านบอกว่าเราได้เงินคืนมาหมดแล้ว แต่ต้องเรียนว่ามาตรการที่คณะกรรมการกำหนด ไม่ได้หยุดอยู่แค่ได้เงินคืนมาครับ ต้องมีการแจ้งความคดีอาญา ต้องแจ้งไปที่แพทยสภา เพื่อให้ตรวจสอบจริยธรรม ต้องแจ้งไปที่กรมสนับสนุนบริการให้ตั้งกรรมการสอบ แล้วหาก ท่านใดเป็นคณะกรรมการซึ่งถือเป็นบุคคลของรัฐ จะต้องแจ้ง ป.ป.ช. ด้วย เพราะฉะนั้น มาตรการนี้เป็นมาตรการที่ทำให้ สปสช. หลังจากปี ๒๕๖๒ นี้ ทำงานที่ผมบอกว่าใช้ Guard สูงมาก ตอนนี้จริง ๆ ท่านผ่านมาเกิน ๒ ปีแล้ว โดยระเบียบเรานี้จริง ๆ สามารถพิจารณา การขึ้นทะเบียนท่านได้ ผมเองก็พิจารณาอยู่ ก็ลำบากใจนิดหน่อยตรงที่ว่าถ้าให้การ ขึ้นทะเบียนไป แล้วจะมีคนกล่าวหาผมหรือไม่ว่าทำงานแบบเอื้อประโยชน์ต่อโรงพยาบาล บางแห่ง ก็ให้คนไปดูอยู่นะครับว่ากรณีโรงพยาบาลต่าง ๆ จริง ๆ ไม่ใช่ ๙ แห่งนะครับ ๒๐ กว่าแห่ง ทั้งหมดที่ยกเลิกไปมีส่วนไหนที่จำเป็นต้องมีท่านหรือเข้ามาในระบบ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ผมขอบคุณท่านที่กรุณาเป็นห่วง แล้วก็ให้คำแนะนำที่ดี ผมคิดว่าตรงนี้จะเป็นสัญญาณ แล้วยิ่งท่านได้สามารถอธิบายปรากฏการณ์คุณลุงคนหนึ่ง ที่จะต้องไปรับบริการอย่างเห็นภาพ ผมคิดว่าภาพนี้จะสื่อสารไปว่าความลำบากของ พี่น้องประชาชนเป็นอย่างไร เพียงแต่ว่า สปสช. เราเอง เราเห็นครับ แล้วเราอยากจะทำ แต่บางครั้งด้วยกฎกติกามารยาทเราคงต้องไปดูตรงนั้นด้วย แต่ผมจะรับประเด็นไปนะครับ แล้วก็ขอบคุณท่านมากที่ให้คำแนะนำตรงนี้ พูดง่าย ๆ ก็ถือว่าเป็นจุดตั้งต้นที่ดีในการที่เรา ลองไปดูอีกครั้งหนึ่งว่าจะเป็นอย่างไร ว่าเราสามารถจะสร้างความสมดุลระหว่างกฎหมายกับ สร้างความสมดุลกับพี่น้องประชาชนอย่างไร ให้สังคมรับได้ว่าผู้มีอำนาจไม่ได้ใช้อำนาจ เกินความจำเป็น หรือไม่ได้เอื้อประโยชน์กับใครจนกระทั่งดูหมิ่นเหม่ต่อการทำทุจริต ในหน้าที่ของตนเองนะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขออนุญาตครับ ต้องขออนุญาตให้สรุป ๆ ด้วยนะครับ

นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นฉบับ

ได้ครับ ท่านสิรินท่านกรุณาพูดถึงมาตรา ๕๙ ท่านพูดถึงเรื่องของระบบเราไม่ให้เก็บเงิน ส่วนเกิน ผมก็ขอชื่นชมท่านนะครับ แล้วทาง สปสช. เราก็มีปัญหาเรื่องนี้มาตลอด ก็คุยกับ โรงพยาบาลตลอดว่าตามกฎหมายเรามาตรา ๕๙ นี้ ไม่อนุญาตให้ท่านเก็บเกินกว่าที่ คณะกรรมการกำหนด หรือเก็บในส่วนที่ไม่มีสิทธิ แต่ว่าก็ยังเกิดเหตุตรงนี้ที่ท่านยกตัวอย่าง ว่าจำนวนมากขึ้น ผมคิดว่าเราก็พยายามสื่อสารทั้ง ๒ ทาง ทั้งตัวโรงพยาบาล เผอิญท่าน อาสาจะเป็นกลไกกลาง อันนี้ผมขอบคุณมาก ถ้าท่านจะกรุณานะครับ ถ้าเป็นกลไกแล้วเชื่อม กับ สปสช. เราด้วย เพราะเรามีหน้าที่ตามกฎหมายตามมาตรา ๕๙ แล้วจริง ๆ ตอนนี้ ผมก็ถูกกดดันให้ทำตามมาตรา ๖๐ ครับ มาตรา ๖๐ คือว่าถ้าเกิดเหตุการณ์บ่อย ๆ ต้องร้อง ไปที่คณะกรรมการควบคุมลงโทษ ซึ่งอันนี้ถ้าท่านจะกรุณาเชื่อมกับเราอีกสักนิดหนึ่ง แล้วเรา จะได้ทำงานร่วมกัน ผมก็ขอบคุณ เป็นพระคุณมากเลยนะครับ

นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นฉบับ

ท่านขัตติยาท่านอยากให้เราขยายเรื่องผ้าอนามัย เรื่องข้ามเพศนะครับ ข้ามเพศนี้เรากำลังดูอยู่ เพราะว่าผมก็ไปรับนโยบายมาดู ว่าอยากให้ดูตรงนี้อยู่ เดี๋ยวผมรับไปดู แล้วกรณีคนที่ไม่มีสิทธิหรือว่า ๐.๖ เปอร์เซ็นต์อะไรนี้ ตอนนี้เรามีนโยบายในการให้ผู้ป่วย ต่างประเทศ ประชาชนต่างประเทศท่านเข้า Telemedicine เราได้ โดยที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย ก็เห็นด้วยกับท่านที่ให้ข้อเสนอนะครับ

นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นฉบับ

ท่านการณิกท่านให้คำแนะนำในเรื่องผู้ป่วยย้ายโรงพยาบาลไม่ได้ เพราะเตียงเต็ม อันนี้จริง ๆ มันเป็นเรื่องของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง เดี๋ยวไปดูให้นะครับ แล้วเรื่องคลินิก เมื่อสักครู่นี้ผมได้อภิปรายไปแล้วนะครับ แล้วโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ที่บอกว่าวิกฤติ ต้องเรียนว่าเรามีรายการหนึ่งที่เราจ่ายเขาช้า ก็คือรายการที่ไม่มีในรายการของเรา แล้วเรา ก็เลยไม่ได้จ่ายเขา ซึ่งอันนี้เมื่อเช้าผมก็ได้ประชุมกับทางตัวแทนของโรงเรียนแพทย์ทั้งหมดแล้ว ทุกคนก็เข้าใจกันดี แล้วเดี๋ยวจะรีบดูแลให้ แต่ไม่ได้เป็นเพราะว่า สปสช. เราไม่มีเงินนะครับ แต่ว่าอย่างที่เรียนนะครับ ระบบของเราถ้าไม่ได้พิสูจน์ว่ามีรายการอะไรจริง มันก็จะยุ่งยากหน่อย เดี๋ยวรับไปดูนะครับ

นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นฉบับ

ท่านภัสรินท่านได้พูดถึงผู้ทุพพลภาพ เข้าใจว่าเป็นประกันสังคม เดี๋ยวผมจะ รับประเด็นไปให้ท่านเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมนะครับ

นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นฉบับ

ท่านเกียรติคุณท่านกรุณาให้คำแนะนำในเรื่องของวัคซีนโควิด ผมย้ำนะครับ ว่า สปสช. เรายืนยันตลอดว่า การให้ค่าใช้จ่ายเรื่องความเสียหายจากวัคซีนอะไรต่าง ๆ นี้ เรายืนยันว่าไม่ต้องพิสูจน์ถูก ผิด แต่ที่ท่านบอกว่าอุทธรณ์ทีไรก็ผ่านทุกที ผมเองก็ไม่อยาก จะบอกว่าผมไปเซ็นผ่านทุกครั้งนะครับ แต่ก็ต้องยอมรับว่ากรรมการเรามีหลากหลาย และคณะกรรมการมีความเห็นที่ต่างกัน ผมยืนยันตลอดนะครับว่าเราไม่ได้ต้องการพิสูจน์ว่า ผู้ได้รับความเสียหายนั้นเกิดจากวัคซีน แต่ถ้าท่านไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามันไม่เกี่ยวกับวัคซีน เราก็จ่ายแล้วครับ ฉะนั้นหลักนี้เป็นหลักสำคัญของมาตรา ๔๑ ซึ่งเป็นหลักที่ประเทศชั้นนำ เท่านั้นที่จะมีมาตรานี้ ที่เรียกว่า No Fault Liability ผมขอบคุณท่านมาก ๆ เลยนะครับ ที่ลงมาดูตรงนี้ แล้วก็ขอบคุณที่ท่านกรุณาให้ความเห็นตรงนี้ ส่วนเรื่องกลไกของเราที่ยังติด ตรงไหน ผมเข้าใจว่าตอนนี้ไม่ได้มีอะไรติดแล้ว เพราะเข้าระบบปกติไปแล้ว แต่ว่า ประวัติศาสตร์ที่ท่านได้บันทึกไว้ในตรงนี้ ผมก็ขอบคุณแล้วก็รับไว้นะครับ แล้วก็ยังเชื่อว่า ระบบของเรานี้รองรับการดูแลผู้ป่วย โดยย้ำนะครับ ไม่พิสูจน์ถูก ผิด เป็นการเสียหาย โดยไม่พิสูจน์ถูก ผิด

นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นฉบับ

ของท่านอื่นที่ท่านไม่ได้ตั้งคำถาม ผมขออนุญาตไม่ตอบก็แล้วกันนะครับ น่าจะหมดแล้วนะครับ ถ้าไม่หมดอย่างไร เดี๋ยวกรุณาถามอีกทีแล้วกันนะครับ ขอบคุณมากครับ ท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบพระคุณนะครับท่านเลขาธิการ จริง ๆ ก็อยากให้ชี้แจงเต็มที่เลยนะครับ เพราะว่า ทุกความเห็นและข้อคำถามนี้ก็เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทั้งสิ้น แล้ววันนี้เป็นวันของ สปสช. เลยนะครับ ตอนเช้าเป็นกระทู้สด ซึ่งทั้งคำถามและคำตอบมีประโยชน์มากนะครับ แล้วคิดว่าวันนี้ก็ได้พอสมควรครับ แต่เนื่องจากต้องควบคุมเวลาก็เลยต้องขออนุญาตนะครับ มีท่านใดยังติดขัดประเด็นไหนที่จะซักถาม สปสช. ไหมครับ ขอบพระคุณมากที่สละเวลามา แล้วหวังว่าความเห็นของสภาก็จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานของท่านด้วย ขอบคุณครับ ต่อไปจะเป็นระเบียบวาระที่ ๕ แต่เข้าใจว่าจะมีการเสนอเปลี่ยนชื่อกรรมาธิการใช่ไหม ขอเชิญครับ

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม พชร จันทรรวงทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑๓ พรรคเพื่อไทย ตามที่ที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... ในการนี้ขอเปลี่ยนแปลง รายชื่อคณะกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย จาก นางสาวณิชาภา โกวิทานนท์ เป็น นายไตรฤกษ์ มือสันทัด ขอผู้รับรองด้วยครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ผู้รับรองถูกต้องนะครับ มีเปลี่ยนอีกได้ไหมครับ หมดแล้วนะครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๕ เรื่องที่ค้างพิจารณา

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๑. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาแนวทางบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจังหวัดพื้นที่ในเขตป่าสงวนเพื่อลดขั้นตอนการอนุมัติของอธิบดี ตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ (นายทรงยศ รามสูต เป็นผู้เสนอ)

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

จากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ผ่านมา ที่ประชุมได้เห็นชอบให้รวม ระเบียบวาระที่ ๕.๑-๕.๕ เพื่อนำญัตติทั้ง ๕ ฉบับ มาพิจารณาพร้อมกัน โดยผู้เสนอ ได้แถลงเหตุผล จากนั้นสมาชิกได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นเป็นเวลาพอสมควรแล้ว แล้วก็ได้ปิดการประชุมไป แล้วเอาไปประชุมคราวถัดไป ดังนั้นวันนี้ขอดำเนินการต่อนะครับ ท่านแรก ท่านษฐา ขาวขำ เชิญครับ

นายษฐา ขาวขำ นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

กราบเรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ กระผม นาย ษฐา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช เขตอำเภอถ้ำพรรณรา อำเภอทุ่งใหญ่ อำเภอบางขัน และตำบลเขาขาว อำเภอทุ่งสง พรรคภูมิใจไทย ขอร่วมอภิปรายนโยบาย เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และจังหวัดพื้นที่ในเขตป่าสงวนเพื่อลดขั้นตอนการอนุมัติของอธิบดี ตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ครับ

นายษฐา ขาวขำ นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพการบริการสาธารณะต้องมีวัตถุประสงค์ เพื่อสนองตอบ ต่อความต้องการของพี่น้องประชาชนโดยส่วนรวมจำนวน ๒ เรื่อง เรื่องที่ ๑ เรื่องของ ความต้องการได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เรื่องที่ ๒ ความต้องการได้รับ ความสะดวกสบาย ในเรื่องของการดำรงชีวิต หรือที่เรียกว่าน้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักที่สำคัญ โดยจะต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และจะต้อง มีการปรับปรุงแก้ไขอยู่เสมอ เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์

นายษฐา ขาวขำ นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ปัญหาอุปสรรคประการหนึ่งที่ทำให้การพัฒนาที่เป็นไป อย่างล่าช้า ซึ่งได้สั่งสมมาอย่างยาวนาน คือการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของป่าสงวน แห่งชาติ เนื่องจากก่อนที่จะดำเนินโครงการใด ๆ ก็ตาม จะต้องได้รับความเห็นชอบจาก อธิบดีกรมป่าไม้ โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม แล้วแต่กรณี จากข้อเท็จจริงครับท่านประธาน เป็นการดำเนินงานซึ่งล่าช้า กว่าห้วงระยะเวลาที่กำหนดไว้มาก

นายษฐา ขาวขำ นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

กระผมขอยกตัวอย่างในเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ในจังหวัดนครศรีธรรมราชครับท่านประธาน ซึ่งกระผมเคยนำเรื่องนี้มาปรึกษาหารือกับ ท่านประธานเมื่อคราวการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๖ กรณีกรมป่าไม้ได้อนุญาตให้อำเภอถ้ำพรรณรา ใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าปลายรา หมู่ที่ ๒ ตำบลถ้ำพรรณรา อำเภอถ้ำพรรณรา จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเป็นที่ตั้งศูนย์ราชการ อำเภอถ้ำพรรณรา จำนวน ๑๐๕ ไร่ ตั้งแต่วันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๓๔ ถึงวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๔ เป็นระยะเวลา ๓๐ ปี เมื่อครบกำหนดอำเภอถ้ำพรรณราได้ขอต่อใบอนุญาตเป็นที่เรียบร้อย จนกระทั่งเวลาได้ล่วงเลยมาขณะนี้เป็นเวลา ๒ ปี ๑๐ เดือน ก็ยังไม่ได้รับคำตอบจาก กรมป่าไม้แต่อย่างใด ทำให้อำเภอต้องสูญเสียโอกาสในเรื่องของการปรับปรุงสนามกีฬา อำเภอ เรื่องของการก่อสร้างศาลาประชาคม และโครงการอื่น ๆ อีกมากมายครับ ท่านประธานที่เคารพ กระผมขอหยิบยกที่ดินของรัฐอีกประการหนึ่งครับท่านประธาน ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีขั้นตอนการอนุญาตการใช้พื้นที่ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน และเอื้อต่อการพัฒนา เป็นกรณีที่แตกต่างจากการขออนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ป่าสงวนแห่งชาติครับท่านประธาน คือที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภท พลเมืองใช้ร่วมกัน หลักเกณฑ์การขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดิน คือต้องได้รับความเห็นชอบ จากผู้ว่าราชการจังหวัด และให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดิน หากส่วนราชการใด ประสงค์จะใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์อย่างถาวร เช่น การก่อสร้างอาคารสำนักงานก็ให้ ถอดถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเด็นนี้สำคัญครับท่านประธาน กรณียกเว้นกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการปรับปรุงหรือพัฒนาที่ดิน โดยไม่กระทบ ต่อการใช้ประโยชน์ร่วมกันของราษฎร และราษฎรสามารถใช้ประโยชน์ได้ดีกว่าเดิม หากเป็น การดำเนินการของอำเภอหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อบำรุงรักษาทางน้ำ ทางบก ก็สามารถดำเนินการได้ นี่คือเป็นความแตกต่างของการขออนุญาตใช้ที่ดินของรัฐ ซึ่งอยู่ใน การดูแลของกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมครับ ท่านประธาน

นายษฐา ขาวขำ นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพเพื่อให้การพัฒนาประเทศเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง กระผมขอให้มีการพิจารณา ทบทวนขั้นตอนและกระบวนการ ในการขออนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ รวมทั้งพื้นที่ของส่วนราชการอื่น ๆ เพื่อแก้ไขระเบียบกฎหมายเรื่องการลดขั้นตอนการปฏิบัติ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ขอบคุณมากครับท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ อีก ๓ ท่านนะครับ ท่านแรก ท่านอรพรรณ จันตาเรือง ท่านที่ ๒ ท่านสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ท่านที่ ๓ ท่านฐากูร ยะแสง เชิญท่านอรพรรณ จันตาเรือง ครับ

ว่าที่ร้อยตรีหญิง อรพรรณ จันตาเรือง เชียงใหม่ ต้นฉบับ

เรียนประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน อรพรรณ จันตาเรือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขต ๖ คนอำเภอเชียงดาว อำเภอเวียงแหง อำเภอพร้าว อำเภอไชยปราการ พรรคก้าวไกลค่ะ วันนี้ดิฉันขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายญัตตินี้ด้วยนะคะ เนื่องจากพื้นที่บ้านของดิฉัน ๑ พื้นที่ มีป่าทั้ง ๔ ประเภท ประกอบไปด้วย เช่น ป่าสงวน เขตป่า เขตอุทยาน เขตรักษาพันธุ์ ซึ่งพื้นที่ป่า ๑ ป่านี้ เช่น การขออนุญาตนี้ที่ว่ายากแล้ว แต่พื้นที่ในหมู่บ้าน ๑ หมู่บ้าน มีตั้ง ๓-๔ ประเภท ท่านประธานคะ การขออนุญาตจะเป็นอย่างไรบ้างละคะ

ว่าที่ร้อยตรีหญิง อรพรรณ จันตาเรือง เชียงใหม่ ต้นฉบับ

การสร้างถนนหนทาง ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า ประปา ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทั้งหมด ต้องขออนุญาต ทุกหน่วยงาน ซึ่งกฎ ระเบียบ ข้อกฎหมายมีความซับซ้อน แต่ละหน่วยงานไม่มีความเหมือนกัน ตีความแตกต่างกันอีกนะคะ เช่น การขออนุญาตใช้พื้นที่จากป่าสงวนตามมาตรา ๓๑/๑ มาตรา ๑๖ มาตรา ๒๐ อำนาจในการขออนุญาตเป็นของอธิบดี โดยความเห็นชอบของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ส่วนอุทยานแห่งชาติและ เขตรักษาพันธุ์เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี นี่ค่ะ นี่คือตารางการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งพระราชบัญญัติปี ๒๔๘๔ นะคะท่านประธาน แต่ปัจจุบันปี ๒๕๖๗ ผ่านมาแล้ว ๘๓ ปี เรายังใช้วิธีการรูปแบบเดิมนี้ ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยเราพัฒนาไปไหน ต่อไหนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นระบบสารสนเทศ เทคโนโลยี เจ้าหน้าที่มีความสามารถมากมายเลยค่ะ ท่านประธาน แต่เรายังไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ แต่หากหน่วยงานของรัฐยังไม่สามารถ ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ได้ ดิฉันแนะนำว่าสมัยหน้าให้พรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลค่ะ จากตารางนี้ การขออนุญาตใช้ระยะเวลาทั้งหมดไม่เกิน ๙๐ วัน บอกว่าไม่เกิน ๙๐ วันค่ะ ท่านประธาน ๙๐ วันไม่มีจริงค่ะ เพราะอะไรใช่ไหมคะ ดิฉันเป็นผู้เคยขออนุญาตใช้พื้นที่ป่า เพื่อปักเสาพาดสายเข้าหมู่บ้านของดิฉันเอง เป็นหมู่บ้านแม่เตาะ บ้านแม่เอาะ บ้านแม่นาจร ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากตัวอำเภอไม่ถึง ๑๐ กิโลเมตร แต่ระยะเวลาในการเดินทางของเอกสาร ใช้ระยะเวลาเดินทางตั้ง ๕ ปี ท่านประธานฟังไม่ผิดแน่นอนค่ะ ๕ ปีค่ะ ล่าสุดดิฉันได้รับความ อนุเคราะห์จากเพื่อนสมาชิกพรรคก้าวไกล สส. นิติพล ผิวเหมาะ ได้ทำการติดตาม ประสานงานจนได้รับการอนุมัติจากอธิบดีนะคะ แต่ ๕ ปีมันยาวนานเกินไป สำหรับความ เดือดร้อนของพี่น้องประชาชนนะคะ

ว่าที่ร้อยตรีหญิง อรพรรณ จันตาเรือง เชียงใหม่ ต้นฉบับ

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ดิฉันได้ลงพื้นที่ตำบลเมืองคอง อำเภอเชียงดาว ไปพบ นายกธีรเดช นายกตำบลเมืองคอง ฝากดิฉันผ่านท่านประธานไปยังกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนะคะ เรื่องการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่า เอกสารการตีความ ในตัวหนังสือมีความยุ่งยากมากค่ะ กลับไป กลับมา เจ้าหน้าที่คนหนึ่งก็ให้เขียนอีกอย่างหนึ่ง ทำให้หน่วยงานของท้องถิ่นต้องตีเอกสารกลับไป กลับมา ก็เลยฝากมาถามค่ะ ตกลงต้องการ จะให้ท้องถิ่นทำหนังสือแบบไหนคะ กรุณาขอความชัดเจนให้กับท้องถิ่นหน่อยค่ะ เพื่อความ รวดเร็วในการแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน

ว่าที่ร้อยตรีหญิง อรพรรณ จันตาเรือง เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ยังไม่พอค่ะ ดิฉันได้ไปบ้านห้วยงูนะคะ พื้นที่ที่นี่เกิดไฟป่า น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนเต็มถนนไปเลยค่ะ ท้องถิ่นกับพี่น้องประชาชนสามารถช่วยเหลือกันเอง แต่ถ้าหาก จะใช้วิธีการขออนุญาตใช้พื้นที่ตามกระบวนการที่เขียนไว้นะคะ ตอนนี้พี่น้องประชาชน คงเหลือแต่ชื่อแล้วค่ะ

ว่าที่ร้อยตรีหญิง อรพรรณ จันตาเรือง เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ยังไม่พอค่ะ ดิฉันได้ไปผ่านที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งบ้านหนองแขม หย่อมบ้าน ป่าบงงาม หมู่บ้านนี้ถนนเส้นนี้เคยเป็นถนน ค.ส.ล. ท้องถิ่นได้อนุมัติในการทำถนนคอนกรีต เรียบร้อยแล้ว แต่ตอนนี้ไม่มีรางระบายน้ำทั้ง ๒ ข้างทาง และถนนก็เกิน ๒๐ ปีแล้ว ก็เลย ขออนุญาตในการใช้ทำถนนใหม่ แต่พื้นที่ตรงนี้ไม่สามารถทำได้ค่ะ เนื่องจากทางอุทยานบอกว่าอยู่ในเขตอุทยาน ทำให้หน่วยงานท้องถิ่นตั้งงบประมาณไว้ ก็ปัดตกหมดเลยค่ะ ไม่สามารถทำได้ ปัญหามันไม่ใช่ปัญหาของเจ้าหน้าที่นะคะ แต่มัน เป็นปัญหาของพี่น้องประชาชนค่ะ พี่น้องประชาชนต้องเดือดร้อนอยู่แบบนี้ ด้วยความที่ มันล่าช้าในการขออนุญาต การกำหนดตามบัญญัติของกรมป่าไม้และการดำเนินการ ขออนุญาตในเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานดังกล่าว มันขัดกับหลักสิทธิและเสรีภาพของ ประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี ๒๕๖๐ คือได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ ของท้องถิ่น ซึ่งหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๕๖ ที่บัญญัติไว้ว่า รัฐต้องจัดหรือดำเนินการให้มี สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนทั่วถึงตามหลักพัฒนายั่งยืน ท่านประธานคะ แต่การกำหนดแบบนี้ผู้มีอำนาจแค่คนเดียวในการอนุมัติ ทำให้โครงการ ทั้งหมดมันไปกองที่ส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็นโครงการใหญ่ โครงการเล็ก ก็จะไปกองอยู่ที่ รัฐส่วนกลางหมดเลย การขออนุญาตมันถึงช้า การพิจารณากลั่นกรองในแต่ละครั้ง ในแต่ละ พื้นที่ก็มีปัญหา แต่ละครั้งในการประชุมแต่ละเดือน ก็คือ ๑ ครั้งจะมีการประชุม ให้บรรจุ ในเรื่องของการอนุมัติได้แค่ ๒๐ เรื่อง ต่อ ๑ ครั้ง

ว่าที่ร้อยตรีหญิง อรพรรณ จันตาเรือง เชียงใหม่ ต้นฉบับ

แต่สิ่งที่ดิฉันอยากจะเรียนท่านประธานไปยังคณะกรรมการกลั่นกรองว่า ทุกเรื่องที่ท้องถิ่นส่งมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ มันคือเรื่องที่มันเร่งด่วนค่ะ ถ้าหาก ไม่เร่งด่วนจริง ๆ ไม่จำเป็นจริง ๆ ท้องถิ่นจะไม่เสียเวลาในการส่งมาให้พิจารณาเลยนะคะ การประชุมในแต่ละเดือนได้แค่ ๒๐ เรื่อง แต่พิจารณาใน ๑ ปี ไม่เกิน ๕๐๐ เรื่อง แต่เอกสาร ที่ค้างอยู่ที่กรมตั้ง ๖๐,๐๐๐ กว่าเรื่อง เราคิดแค่ตัวเลขกลม ๆ ค่ะ เอา ๖๐,๐๐๐ มาหาร ๕๐๐ ใช้ระยะเวลาในการขออนุมัติให้หมด ๖๐,๐๐๐ เรื่องนี้ ตั้ง ๑๒๐ ปีนะคะท่านประธาน อันนี้แค่โครงการที่ค้างพิจารณา แต่โครงการที่ยังจะขออีกต่อไปจะเป็นอย่างไรต่อ ดิฉันคิดว่า ถ้าหากเรายังใช้วิธีการพิจารณาในรูปแบบนี้ ไม่ใช่แค่การขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนนะคะ ทั้งอุทยาน ทั้งเขตป่าไม้ ทั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทุกชนิดในรูปแบบ ขอให้มีการลดขั้นตอน ได้ไหมคะ ด้วยการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เป็นการแบ่งเบาภาระของคณะกรรมการ พิจารณากลั่นกรอง และขั้นตอนในการขออนุญาตควรจะมีความชัดเจน ใช้เทคโนโลยีมาทำ ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ทำให้หน่วยงานสามารถตรวจสอบว่าตอนนี้ขั้นตอนถึงไหนแล้ว อย่างไรแล้ว ไม่ต้องมาโทรถาม ถามแล้วถามอีกถามต่ออยู่นั่นค่ะ

ว่าที่ร้อยตรีหญิง อรพรรณ จันตาเรือง เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ดิฉันเห็นด้วยกับญัตติทั้งหมดทั้ง ๔ ฉบับนี้ เพื่อเป็นการแก้ไขการเข้าถึงสิทธิ ตามรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ และการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าเพื่อประโยชน์ขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ดั่งคำโบราณได้กล่าวไว้ว่า คนเฮาใหญ่แล้ว บ่ถ้าไผสอน จิ้งหีดแมงจอน ไผสอนมันเต้น ปัญหาทั้งหมดนี้มันไม่ได้เพิ่งเกิด เช่น การขออนุญาตเป็นปัญหาที่ยาวนาน มาแล้ว ถ้าหากรัฐทราบปัญหาแล้วนำมาแก้ไข ก็คงไม่มีใครนำปัญหามาพูดแล้วพูดอีก พูดต่อเหมือนทุกวันนี้นะคะ ขอบคุณค่ะท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ต่อไปท่านสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ เชิญครับ

นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ชัยภูมิ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ พรรคภูมิใจไทย กระผม ขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายในญัตติเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญศึกษาแนวทางบูรณาการร่วมกัน ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจังหวัดในพื้นที่เขตป่าสงวน เพื่อลดขั้นตอนการอนุมัติ ท่านประธานครับ ผมเห็นด้วย อย่างยิ่งที่เราจะนำปัญหานี้มาพูดคุยถกเถียงกัน เพื่อหาแนวทางแก้ไขให้เป็นรูปธรรม ผมเรียนท่านประธานครับว่า ก่อนที่ผมจะมาปฏิบัติหน้าที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กระผมเคยเป็นนายกเทศมนตรีมา ๑๘ ปี ทำให้ผมรู้ว่าปัญหานี้เป็นปัญหาสำคัญ เป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของ ประชาชน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาครับ

นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ชัยภูมิ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ในประเด็นปัญหาและผลกระทบต่าง ๆ ได้มีเพื่อนสมาชิก ได้อภิปรายในสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงวันนี้ค่อนข้างหลากหลาย ในส่วนกระผมจะขอ อภิปรายในประเด็นข้อกฎหมาย และข้อเสนอแนะของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ท่านประธานครับ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๔ บัญญัติว่า ป่า หมายความว่า ที่ดินรวมตลอดถึง ภูเขา ห้วย หนอง คลอง บึง บาง ลำน้ำ ทะเลสาบ เกาะ และที่ชายทะเลที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมาย ในขณะเดียวกันพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ เช่นเดียวกันนะครับ มาตรา ๔ บัญญัติว่า ป่า หมายความว่า ที่ดิน ที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน จากบทบัญญัตินี้ทำให้ที่ดินทุกแปลงที่ไม่มีบุคคล ไปขึ้นเอกสาร ส.ค. ๑ น.ส. ๓ โฉนดที่ดิน รวมถึงทางสาธารณะ คลองสาธารณะ ถูกตีความ เป็นป่าทั้งประเทศ และในมาตรา ๕๔ บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำการด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือหรือครอบครองป่า เพื่อตนเองและผู้อื่น และบทบัญญัตินี้ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเขาไม่สามารถ ก่อสร้างถนนคอนกรีต ไม่สามารถก่อสร้างถนน Asphaltic คอนกรีต หรือทำฝายชะลอน้ำ ในพื้นที่เขาได้เลยครับ หากจะดำเนินการ ตามที่ผมได้กล่าวไป ต้องขออนุญาตจากกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสียก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ ครับ

นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ชัยภูมิ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ เรื่องนี้เราได้พูดคุยกันมาเป็น ๑๐ ปี จนกระทั่งในเดือน มิถุนายน ๒๕๕๘ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีข้อเสนอแนะไปยังกระทรวง มหาดไทย ตามหนังสือหารือ โดยหนังสือเสนอแนะนะว่าเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้ กฎหมาย และสร้างภาระเกินสมควรให้แก่หน่วยงานของรัฐ และเอกชนที่มีความจำเป็น ต้องเข้าดำเนินการในพื้นที่ใด ๆ ที่ไม่มีสภาพเป็นป่าตามความเป็นจริง แต่ถือเป็นป่า ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ จึงมีข้อเสนอแนะ ให้กรมป่าไม้เร่งดำเนินการ แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า ป่า ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ เพื่อให้มีความหมาย ที่สอดคล้องกับความเป็นจริง และสภาพพื้นที่ความเป็นป่าในปัจจุบันโดยด่วนต่อไป ย้ำท่านประธานครับ ย้ำกันนะครับว่าโดยด่วนต่อไป

นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ชัยภูมิ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ตามความคิดของกระผมนะครับ หากกรมป่าไม้ กระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องการจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ ทำไมไม่ดำเนินการให้เร็วกว่านี้ ผ่านไปเกือบ ๑๐ ปี ผมอยากทราบว่าอธิบดีเปลี่ยนไปกี่คนแล้วครับ ทำไมถึงไม่ทำ ปลัดกระทรวงเปลี่ยนไปกี่ท่านแล้วครับ ทำไมไม่มาดู รวมถึงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยนไปหลายคนแล้ว ทำไมไม่พิจารณาสั่งการครับ ทั้งที่รู้ว่าปัญหานี้คือปัญหาที่เกิดขึ้น ในการพัฒนาพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท่านประธานครับ ทราบหรือไม่ครับ วันนี้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล รวมถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่เขาขาดโอกาสในการ ที่จะของบประมาณจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ขาดโอกาสที่จะของบประมาณจาก โครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล เพราะอะไรรู้ไหมครับ เพราะหลาย ๆ โครงการ เขาระบุในคำขอ ในแบบฟอร์มครับว่า การจะจัดสรรงบประมาณได้นั้นต้องได้รับหนังสืออนุญาตจากกรมป่าไม้ เสียก่อน แต่พอขอไปครับ ๑ ปีเงียบครับ ๒ ปีเงียบครับ ๓ ปีเงียบครับ ทั้งที่ผังภูมิที่ท่าน สส. อรพรรณ ขออนุญาตเอ่ยนามนะครับ เมื่อสักครู่ที่ท่านได้ขึ้นสไลด์ ระบุชัดเจนครับว่าขั้นตอน การขอนั้นใช้เวลาเพียง ๒-๓ เดือน แต่ในข้อเท็จจริงไม่ใช่ครับ ผมไม่ได้พูดไปเรื่อย ไม่ได้พูดไป ลอย ๆ นะครับ ผมยกตัวอย่างจังหวัดชัยภูมิ จังหวัดเดียวของผม มีเรื่องขออนุญาตใช้พื้นที่ไป ที่กรมป่าไม้ไม่น้อยกว่า ๒,๐๐๐ เรื่อง ๑ ปี ๒ ปี ๓ ปี ไม่มีสัญญาณตอบรับ ไปตรวจสอบดูได้ครับ แล้วเรื่องนี้ผมต้องนำเรียนว่าผมเคยสอบถามท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ในรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ถามในสภาแห่งนี้ คำตอบที่ได้อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แค่นั้นครับ สั้น ๆ ได้ใจความ ผมไม่ทราบนะครับว่าทำไมถึงไม่เร่งแก้ปัญหากัน ทั้งที่ แนวทางแก้ไข ข้อเสนอแนะของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ได้เสนอแนะไว้แล้ว

นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ชัยภูมิ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ในเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการ กฤษฎีกาก็ยังได้มีข้อเสนอแนะมายังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอีกครั้งนะครับว่า เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหา ได้แจ้งว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น ในขณะที่กรมป่าไม้มีภารกิจในการอนุรักษ์ฟื้นฟู และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ จึงเป็นการสมควรที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะใช้ มาตรการในทางบริหารเพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกัน

นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ชัยภูมิ ต้นฉบับ

ผมยกตัวอย่างสั้น ๆ อีกนิดเดียวครับท่านประธาน ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง หมู่บ้านหลังสัน ตำบลวังตะเฆ่ จังหวัดชัยภูมิ วันนี้ยังมีเด็กนักเรียนเกือบ ๑๐๐ ชีวิต ต้องนั่งรถสามล้อ รถมอเตอร์ไซค์ รถสองแถว ฝ่าโคลน ฝ่าฝุ่นมาเรียนหนังสือทุกวัน ระยะทางกว่า ๑๐ กิโลเมตร ยังมีผู้ป่วย มีผู้สูงอายุ ออกมาใช้บริการที่โรงพยาบาลต้องนั่งรถ ฝ่าโคลน ฝ่าฝุ่นมาทุกวัน ไม่สามารถดำเนินการได้ครับ ทั้งที่องค์การบริหารส่วนตำบลเขามี งบประมาณ แต่ติดขัดตรงที่เขาสร้างไม่ได้ ถ้าสร้างไปเขาก็ผิดกฎหมาย เพราะเป็นข้อเท็จจริง ที่เกิดขึ้น กระผมจึงขอให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้เป็นการเร่งด่วน ไม่ว่าจะมีการ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญหรือไม่ หรือจะดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้เกิด การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านฐากูร ยะแสง ตามด้วยท่านจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล ท่านศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ เชิญท่านฐากูร ยะแสง ครับ

นายฐากูร ยะแสง เชียงราย ต้นฉบับ

กราบเรียนประธานสภาที่เคารพครับ กระผม ฐากูร ยะแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย แม่สรวย แม่ลาว เวียงป่าเป้า พรรคก้าวไกลครับ ผมขอร่วมอภิปรายตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา แนวทางบูรณาการร่วมระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจังหวัดพื้นที่ ในเขตป่าสงวน เพื่อลดขั้นตอนการอนุมัติของอธิบดีตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ และผมเห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาการเข้าถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญด้านการพัฒนาสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานของชุมชนท้องถิ่นในเขตป่าสงวนแห่งชาติและป่าอนุรักษ์ ตามที่ ท่าน สส. มานพ คีรีภูวดล เพื่อนสมาชิกของผมเสนอ

นายฐากูร ยะแสง เชียงราย ต้นฉบับ

เนื่องด้วยเขตพื้นที่จังหวัดเชียงรายของผม เป็นเขตพื้นที่ป่าเป็นส่วนใหญ่ มีพื้นที่ทั้งหมดอยู่ ๘๙๒,๘๐๐ ไร่ครับ แล้วก็พื้นที่ส่วนใหญ่ ๗๙๙,๒๑๗ ไร่เป็นพื้นที่ป่า ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตของพี่น้องในพื้นที่ไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ความเป็นอยู่ค่อนข้างยากลำบาก เนื่องจากโครงการต่าง ๆ ที่จะทำในพัฒนาพื้นที่ เพื่อนำมา ซึ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน จะติดปัญหาของการขออนุญาตป่าไม้ เพราะอยู่ในเขตพื้นที่ป่า ส่งผลให้ไม่สามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อ พี่น้องประชาชนได้ครับ

นายฐากูร ยะแสง เชียงราย ต้นฉบับ

ปัญหาการขาดแคลนโอกาสของการขอขยายเขตไฟฟ้า ทำให้การเดินทาง สัญจรในเวลาค่ำคืนเป็นไปด้วยความยากลำบาก เป็นอันตรายต่อชีวิต ทรัพย์สิน ยังส่งผลต่อ เด็กนักเรียนขาดโอกาสทางการศึกษา ในการเข้าถึงข้อมูลแหล่งเรียนรู้อยู่อาศัยในยามค่ำคืน ที่ขาดแสงสว่างทุกหมู่บ้าน ทำให้โครงการขอไฟฟ้าเข้าหมู่บ้าน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับ พี่น้องหมู่บ้านและนักเรียนบนพื้นที่สูงได้รับโอกาสทางการศึกษา มีคุณภาพชีวิตที่ดีและได้รับ การศึกษาที่เท่าเทียมกัน การขออนุญาตการสร้างสะพานข้ามลำน้ำ ช่วงเดือนที่แล้วผมได้ไป บ้านห้วยปู ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย มันมีปัญหาในการสัญจร ก็คือสัญจรได้แค่เดินเท้ากับ จักรยานยนต์ รถยนต์ที่ใช้ในการขนส่งสินค้าทางการเกษตรไม่สามารถสัญจรผ่านไปได้ เพราะว่าเส้นนี้ช่วงหน้าฝนมีความลึกและกระแสน้ำไหลเชี่ยว ชาวบ้านต้องการสะพานครับ แต่ยังไม่สามารถขอได้ เพราะติดคำว่า ป่าไม้ ครับ

นายฐากูร ยะแสง เชียงราย ต้นฉบับ

เส้นทางการสัญจรหลายหมู่บ้านไม่สามารถสร้างถนนเพิ่ม หรือแก้สภาพถนนได้ การเข้าออกหมู่บ้านของพี่น้องยากลำบาก ผู้อาศัยริมถนนต้องทนกับปัญหามลพิษทางฝุ่น ทางเสียงจากถนนที่ผูกพัน หลายพื้นที่เส้นทางลาดชัน ถนนมีรอยลึก ผู้ป่วยไปรักษาลำบากใน ยามฤดูฝนครับ ปัญหาขยะ ชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตป่าไม่สามารถบริหารจัดการได้ เนื่องจาก พื้นที่เขตป่าไม่สามารถสร้างศูนย์บริหารจัดการขยะในเขตป่าได้ ทำให้ชาวบ้านที่ขาดความใส่ใจ ต่อสิ่งแวดล้อม ทิ้งขยะตามถนนหนทาง ตามจุดลับตาคน สร้างปัญหา สร้างมลพิษจาก สารเคมีที่ตกค้างจากขยะไหลลงสู่แหล่งต้นน้ำ สร้างความเสียหายที่เป็นอันตรายต่อชุมชน ปลายน้ำครับ เมื่อพวกเขาเหล่านั้นไม่สามารถเลือกแหล่งที่เกิดได้ต้องอยู่กับเขตป่า พวกเรา ในที่นี้จะทำอย่างไรให้พวกเขาเหล่านั้นได้อยู่อย่างผาสุก ให้พวกเขาช่วยดูแลป่า เพื่อสร้าง อากาศที่ดีและรักษาป่าที่สมบูรณ์ให้กับปวงชนชาวไทย ขอบคุณครับท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล เชิญครับ

นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล สุโขทัย ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย เขต ๔ ขออนุญาต อภิปรายในหัวข้อเรื่องขอสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญในเขตป่าสงวน ในพื้นที่ ท่านประธานครับ ก็ทราบกันแล้วว่าเขตป่าในปัจจุบันนั้นเป็นที่กว้างขวาง แล้วก็เห็นใจ กรมป่าไม้ ซึ่งมีหลายกรมที่ดูแลอยู่ ไม่ว่าป่าไม้เองหรือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งซ้ำซ้อนกันจนชาวบ้านไม่รู้และแยกไม่ออก บางทีไม่ดูระวางแผนที่ วันนี้ต้องชื่นชม กรมป่าไม้ ไม่ใช่ว่าเราจะมาต่อว่ากรมป่าไม้อย่างเดียว ที่ตำบลแม่แจ่มที่มีการร้อง พื้นที่เสื่อมโทรมไม่ให้ทำถนน ไม่ให้มีการรุกล้ำอะไรทั้งสิ้น แต่วันนี้กรมป่าไม้ลงไปพัฒนา โดยให้สิทธิ ส.ป.ก. คือสิทธิที่ทำกินให้กับพี่น้องได้ทำกินในพื้นที่มากพอสมควร แล้วก็ เป็นเรื่องที่ดีกับพี่น้องที่ไม่มีที่จะทำกิน เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวจะเป็นการปลูกชาก็ดีหรือผลไม้ เมืองเหนือก็ดี ทำให้พื้นที่เขาหัวโล้นนั้นลดน้อยลงไป มันเกิดจากปัญหาที่พี่น้องเข้าไปในพื้นที่ ป่าสงวนซึ่งกรมป่าไม้ดูแลอยู่นั้น แล้วป่าสงวนก็เป็นป่าที่มีพื้นที่จรดชนกับพื้นที่ของพี่น้อง ในชุมชนมากที่สุด ถ้าเป็นป่าอุทยานจะลึกเข้าไปหน่อยหนึ่ง ฉะนั้นปัญหานี้เกิดขึ้นก็คือ กระทบกับสาธารณูปโภคที่พี่น้องเรียกร้องกัน ในขณะที่กรมป่าไม้ให้สิทธิที่ทำกิน พี่น้องเข้าไป ทำกินด้วยเป็นที่อยู่อาศัยด้วยในเขตพื้นที่เสื่อมโทรม ตลอดจนไม่ใช่ต้นน้ำ ไม่มีสิ่งสำคัญ ที่ไปเกิดประโยชน์ถึงภาพรวมของประเทศชาติ คือวิวทัศน์ต่าง ๆ แล้วก็เหมาะสมที่จะเป็นที่ อยู่อาศัยให้พี่น้องที่ทำกินในเขตป่าไม้โดยให้ป่าสงวน ก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่มีการกระทบเรื่อง การพัฒนาพื้นที่ โดยเฉพาะท้องที่ ท้องถิ่นและองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีงบประมาณ ที่จะต้องจัดการในการที่จะพัฒนาพื้นที่ในสาธารณูปโภคที่พี่น้องต้องการ ที่สำคัญก็คือถนน ไฟฟ้าและน้ำ ผมแยกเข้าไป ๓ หัวข้อที่มีผลกระทบที่สุดก็คือการบริหารจัดการน้ำ พื้นที่ทุกครั้งที่มีการขุดอ่างเก็บน้ำก็ดี พื้นที่ที่จะมีการสร้างฝายก็ดี ตลอดจนเจาะบาดาล แค่รูเดียว ต้องเดินทางเข้าไปขออนุญาตหลายหน่วยงานในจังหวัด กระทบไปถึงสาธารณูปโภค ที่จะต้องทำถนน ทำสายไฟฟ้าเข้าไป นี่เป็นสิ่งสำคัญที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่เขาคุยกันว่าป่าไม้ มีปัญหากับชุมชนกับท้องที่ วันนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีงบประมาณ บ่นมาทุกที่ว่าทำ งบประมาณไม่ได้ เพราะว่าต้องรอการอนุญาตจากกรมป่าไม้ทุกที่เลย หรือบาง อบต. หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเดินมาทั้งคณะมาขออนุญาตที่กรมป่าไม้ มาเป็นกลุ่มเลย ใส่เสื้ออย่างสวยถ่ายรูปหน้ากรมป่าไม้ไปฝากพี่น้องว่าเราเข้ามาแล้ว

นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล สุโขทัย ต้นฉบับ

อย่างที่หลาย ๆ คน หลาย ๆ ท่านที่อภิปรายว่ามันเกิดความล่าช้าซับซ้อน ผมเองพูดเรื่องป่าไม้มา ๓ รอบแล้ว เรื่องถนนที่ห้วยหยวก ที่ห้วยสูง ห้วยระแห้ ผมบอกว่า ทำไมท่านอธิบดีไม่สั่งให้ลูกน้องลงไปดูว่าสิ่งที่บอกมานั้นมันมีการแก้ไขได้ไหม หรืออนุญาต ได้ไหม สภาพเป็นจริงเส้นทางเดินต่าง ๆ มันเดินมาเกือบ ๒๐ ปี ๓๐ ปีแล้ว ในขณะที่ท่าน ก็ทำหน้าที่ได้ดีคือให้สิทธิทำกินบนภูเขาได้ แต่ถนนเหล่านี้มันจะกลับไปปลูกป่าไม่ได้ มันคงไม่มีสัตว์ป่าอะไรที่จะมายุ่งได้ ก็มีแต่สุนัขที่เลี้ยงวิ่งไปวิ่งมา ครั้งที่แล้วผมขอโทษไปที่ ท่านอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่กล่าวว่าพื้นที่ห้วยหยวก ห้วยสูง แล้วก็ห้วยระแห้เป็นของชาติพันธุ์พี่น้องที่เหมือนกับไม่ใช่คนไทย จะขอไฟฟ้า จะขอถนน จะขอน้ำ มันยุ่งยากไปหมด ผมขอโทษท่านอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพราะว่ามันไม่ใช่เขตอุทยาน ท่านครับ ฉบับนี้ชื่นชมอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและ พันธุ์พืชที่ทำหนังสือมาชี้แจงให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติป่าคาลงไปวัด ไปบอกแจ้งข่าวว่า มันเหลือเท่าไร ห้วยหยวกมัน ๕ กิโลเมตรกว่า ทำข้างในมา ๒ กิโลเมตรแล้ว ทำข้างนอกไป ๑ กิโลเมตรกว่า เหลือแต่ ๑ กิโลเมตรกว่าตรงกลางมันไม่ได้ทำเพราะเหตุผลอะไร ถนนที่มันทำมันไม่มีสิทธิที่จะไปปลูกต้นไม้ มันไม่กระทบสัตว์ป่า

นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล สุโขทัย ต้นฉบับ

ผมเลยกราบเรียนท่านอธิบดีกรมป่าไม้ว่าวันนี้ท่านจะต้องกำมืออยู่ในอำนาจ ทั่วประเทศนั้น แล้วท่านจะมีสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในจังหวัด มีป่าไม้จังหวัด มีป่าไม้อำเภอ มีป่าไม้ในพื้นที่แต่ละตำบลทำไม ผมชื่นชมครับป่าไม้ตำบลครับ เวลามีการประชุมเรื่องการทำอ่างน้ำ ทำฝาย เข้าร่วมแล้วพูดว่าผมยินดีครับท่าน ถ้าหาก เข้ามันทำได้ แต่ด้วยกฎระเบียบเจ้านายบนต้องขอตรงนั้นครับ ส่งเรื่องหนึ่งที่จะไป ขออนุญาตลงมาต้องส่งที่ป่าไม้อำเภอให้ทราบ ป่าไม้จังหวัดให้ทราบ สำนักงานพื้นที่ป่าไม้ เขตต่าง ๆ จังหวัดสุโขทัย เขต ๔ จังหวัดตาก ส่งมาที่กรมป่าไม้บางทีต้องเรียนไปถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แล้วอย่างนี้ไม่ได้บอกว่าล่าช้า ท่านอธิบดีต้องพิจารณาว่าเส้นทางที่เป็นเส้นทางดั้งเดิม จนไม่สามารถจะปรับปรุงเป็นป่าได้แล้ว ไม่ต้องถึงท่านหรอกครับ มีสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและป่าไม้จังหวัด ไว้เพื่ออะไร ตัดสินใจลงไปข้อเท็จจริงเลยว่าอย่างนี้มันไม่ได้หรอก มันปลูกไม่ได้แล้ว มันเดินมา ตั้งหลายสิบปีแล้ว และเวลา อบต. ขอเส้นทาง ระยะทางเวลาตั้งงบประมาณท่านประธาน รู้ไหม ต้องจ่ายเงินชดเชยปลูกป่า ก็ต้นทางมันไม่เป็นทางจะไปปลูกตรงไหน มันใช้มา ๒๐ ปี จะไปเอาภาษีของเรามาใช้ให้เกิดกระทบกับภาษีของท้องถิ่นที่ต้องพัฒนา วันนี้นายก อบต. บ่นปวดหัวหมดครับ ท่านรู้ไหมครับการตอบรับอนุญาตของท่านช้า งบประมาณ มันตั้งไม่ได้ครับ ตั้งแล้วหลุด ตั้งแล้วหล่น ตกเป็นเงินสะสมชาวบ้านก็ด่า ทำไม อบต. มีงบประมาณไม่เห็นทำอะไร ก็ทำถนนของท่านที่อยู่ในเขตของท่านแล้วไม่อนุญาต มันไม่ได้อนุญาต สตง. ก็ไม่ให้ มีระเบียบการใช้การเงิน การคลังของระเบียบท้องถิ่น ท่านต้องรับรู้ตรงนี้ด้วยว่าประเทศชาติเดินด้วยงบประมาณ ท่านต้องรู้ด้วยว่า อบต. นั้นทำ เพราะรับการกระจายอำนาจเพื่อพัฒนาบ้านเมือง โดยเฉพาะสาธารณูปโภคให้พี่น้อง แล้วพี่น้องขอมาแต่ละอย่างนั้นแม้กระทั่งการปักเสาไฟฟ้าที่เกาะระเบียง ต้องให้ผู้ตรวจการ แผ่นดินลงไปดู ต้องให้ สว. ลงไปดู วันนี้ถึงได้ตอบรับว่ากำลังจะอนุญาตให้ ซึ่งเขารอมา ๔๐ กว่าปี ๓๘ ครัวเรือน ติดถนนใหญ่ครับท่าน ผมถึงบอกวันนี้ญัตตินี้ขึ้นมารู้สึกชื่นชม บางทีต้องชม บางทีก็ต้องติว่าบางครั้งท่านกำอยู่คนเดียว ท่านไม่ใช้ระบบของการกระจาย อำนาจในจังหวัดที่ตั้งเอาไว้ ก็กราบเรียนประธานไปถึงผู้หลักผู้ใหญ่ ท่านรัฐมนตรีก็ดี ท่านอธิบดีก็ดี ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้อง ลองเปลี่ยนแปลงในการทำงานโดยการลงไปสำรวจจริง แล้วก็รายงานขึ้นมาเร็ว ๆ แล้วก็ด่วน ๆ แจ้งไปในพื้นที่จะได้ตั้งงบประมาณและใช้งบประมาณ ได้ถูกต้อง แล้วก็ใช้งบประมาณได้ทันที ก่อนที่งบประมาณนั้นอาจจะตกไปอีก ขอบคุณครับ ท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ต่อไปท่านศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ เชิญครับ

นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ พิษณุโลก ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ กระผม นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ สมาชิกผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เขต ๕ พื้นที่ที่ถูก พ.ร.บ. ป่าไม้ครอบคลุมไว้กว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ อำเภอนครไทย อำเภอชาติตระการ และอำเภอวัดโบสถ์ พรรคก้าวไกลครับ ขออภิปรายสนับสนุนญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาการเข้าถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ด้านการพัฒนาสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานของชุมชนท้องถิ่น ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และป่าอนุรักษ์ ของท่านมานพ คีรีภูวดล เป็นผู้เสนอนะครับ

นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ พิษณุโลก ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผมเข้าใจได้ครับว่าประเทศเราจำเป็นจะต้องมีเขตป่าอนุรักษ์ เพื่อรักษาต้นน้ำ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาป่าไม้ไว้ อันนี้เข้าใจได้ครับ แต่การประกาศ เขตป่าในปัจจุบันที่เป็นอยู่นั้น มันไม่ใช่การอนุรักษ์ป่าไม้แต่เพียงอย่างเดียว มันเป็นการกักขัง ประชาชนไว้ในความยากจน มันเป็นอย่างไรหรือครับท่านประธาน ขอสไลด์ด้วยครับ

นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ พิษณุโลก ต้นฉบับ

วันนี้ผมเอาสไลด์มาให้ดูให้เห็นภาพ สไลด์ที่ ๑ นี้คือ แผนที่อำเภอวัดโบสถ์ทั้งอำเภอ สไลด์ที่ ๒ เป็นเขตพื้นที่ ส.ป.ก. วันนี้เอาให้ เห็นชัด ๆ เลยนะครับ นี่คือพื้นที่ ส.ป.ก. นี่คือพื้นที่ที่เราผ่อนผันให้ชาวบ้านทำกินได้นะครับ อันนี้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า สีแดงนะครับ ถัดไปอันนี้ป่าไม้ถาวรป่าแควน้อยนะครับ และนี่คือพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ อำเภอวัดโบสถ์ ๖๐ เปอร์เซ็นต์อยู่ในพื้นที่ป่าครับ สไลด์ถัดไปอันนี้อำเภอชาติตระการ นี่คือที่ดิน ส.ป.ก. คือสีเทา ๆ ม่วง ๆ นะครับ ถัดไปคือ พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าครึ่งอำเภอ ต่อไปเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ด้านขวาสีจะเข้มกว่า นิดหนึ่ง ถัดไปป่าไม้ถาวรสีฟ้า ถัดไปป่าสงวนแห่งชาติ อำเภอชาติประการ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ อยู่ในพื้นที่ป่า อำเภอนครไทยพื้นที่ ส.ป.ก. ถัดไปพื้นที่อุทยาน ถัดไปป่าไม้ถาวรสีฟ้า ถัดไปคือป่าสงวนแห่งชาติครอบไว้ครับ กินพื้นที่ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ การประกาศ เขตป่าแบบนี้ แน่นอนมันเป็นพื้นที่ที่มีป่าไม้อยู่ด้วย แต่ในขณะเดียวกันท่านประธานดูครับ ตำบลห้วยเฮี้ยทั้งตำบล ตำบลบ้านแยง ตำบลนครชุม ตำบลน้ำกุ่ม ตำบลเนินเพิ่มบางส่วน ตำบลหนองกะท้าวบางส่วน ตำบลบ่อโพธิ์บางส่วน ตำบลยางโกลนบางส่วน ตำบลนาบัว ตำบลบ้านพร้าวบางส่วน คือทั้งอำเภออยู่ในเขตที่ห้ามพัฒนาทั้งนั้นเลย เป็นพื้นที่ป่าไม้ มันเป็นไปได้อย่างไรครับ พื้นที่ที่รัฐยอมรับว่าตรงนี้เป็นเขตปกครอง ตรงนี้มีผู้คนอาศัยอยู่ แต่รัฐเอา พ.ร.บ. ป่าไม้ไปครอบพื้นที่เหล่านี้เอาไว้ ตรงนั้นมีคนอยู่ครับท่านประธาน มีบ้านเรือน มี รพ.สต. มีโรงเรียน มีสถานีตำรวจ มีที่ทำการ อบต. มีหน่วยงานราชการอยู่

นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ พิษณุโลก ต้นฉบับ

คำถามคือเอากฎหมายไปครอบเขาไว้ทำไมครับ พื้นที่แบบนี้ต่อให้เกษตรกร ปลูกพืชเก่งแค่ไหน ต่อให้จะแปรรูปสินค้าเก่งแค่ไหน ขายผลผลิตทางการเกษตรได้ดีแค่ไหน คุณไม่สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจ คุณไม่สามารถเติบโตทางธุรกิจได้ คุณจดทะเบียนจัดตั้ง เป็นบริษัทไม่ได้ ตำบลนครชุม ตำบลน้ำกุ่ม ถ้าคุณมีโฉนดเก่า ๆ ปัจจุบัน พ.ร.บ. ป่าไม้ ครอบไว้แล้วทั้ง ๒ ตำบล ถ้าคุณมีโฉนดคุณก็จะจำหน่ายจ่ายโอนให้ลูกหลานไม่ได้ครับ ติดพื้นที่ป่า ตำบลบ่อโพธิ์ อำเภอนครไทย อบต. และ อบจ. พยายามผลักดันการทำถนนเส้นบ้านโคกคล้าย ไปยังตำบลกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย เพื่อสาธารณประโยชน์นะครับ ประชุมแล้วประชุมอีก ตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ ปี ๒๕๖๑ ไล่มา จนปัจจุบันยังทำไม่ได้ครับ ติดพื้นที่ป่า ตำบลท่าสะแก อำเภอชาติตระการ ตำบลเล็ก ๆ อยากจะลืมตาอ้าปากกับเขาบ้าง อุตส่าห์พยายามออกแบบ การท่องเที่ยวทางน้ำ หวังว่าจะพัฒนาให้เป็นแหล่งสร้างเศรษฐกิจ สร้างรายได้ในพื้นที่ชุมชน ทำแบบไปเสนอกับอุทยานแห่งชาติแควน้อย เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน Present ไป ๓ รอบ นำเสนอไป ๓ รอบ นำเสนอแล้วนำเสนออีก ปัจจุบันก็ยังทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวไม่ได้ครับ ติดพื้นที่ป่า ตำบลคันโช้ง ตำบลบ้านยาง ชาวบ้านจะขุดบ่อน้ำชุมชนจะทำการเกษตร ขออนุญาตเท่าไรก็ไม่เคยทำได้ ติดพื้นที่ป่า แต่เวลารัฐอยากจะทำโรงไฟฟ้า อยากจะทำเขื่อน ทุกอย่างจะดูง่ายไปหมด ทั้งที่ส่งผลกระทบกับชาวบ้านมากมาย EIA ก็ไม่ทำ แต่รัฐสามารถ เข้าไปทำได้ง่ายกว่าชาวบ้านขอขุดบ่อน้ำครับ นี่เป็นแค่ตัวอย่างของปัญหาที่เกิดขึ้นในเขต พื้นที่เขต ๕ จังหวัดพิษณุโลก ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าไม้ในขณะนี้ มันไม่ใช่ปัญหาของ การแก้ยากหรือแก้ง่ายครับ มันเลยจุดที่จะพูดเรื่องการแก้ง่ายหรือแก้ยากไปแล้วครับ ท่านประธาน ปัญหาคือรัฐมีความจริงใจในการแก้ปัญหาหรือไม่ เพราะถ้ารัฐบาลจริงใจ ในการแก้ปัญหาจริง ๆ ปัญหานี้คงไม่ถูกปล่อยมานานถึง ๓๐-๔๐ ปีครับ ๓๐-๔๐ ปีที่ผม ได้ยินเรื่องปัญหาป่าไม้มาตั้งแต่ผมยังเด็ก เมื่อก่อนผมเคยได้ยิน สส. ไปหาเสียงในพื้นที่ บ้านผม เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว ว่าจะแก้ปัญหาที่ดิน จะแก้ปัญหาป่าไม้ ไม่น่าเชื่อครับ ๓๐ ปีผ่านไป ผมยังต้องมาหาเสียงด้วยนโยบายการแก้ไขปัญหาที่ดิน ปัญหาป่าไม้เหมือนเดิมครับ เหมือนเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว แล้วผมก็ยังเชื่อเป็นอย่างยิ่งครับว่า ถ้ารัฐบาลชุดนี้ยังไม่มี ความจริงใจในการแก้ปัญหาเรื่องนี้เหมือนเดิม ในการเลือกตั้งครั้งหน้าผมก็อาจจะต้องใช้ Script เดิมมาหาเสียงอีกแน่ ๆ แล้วถ้าเป็นแบบนั้น รอบหน้าขอให้พวกผมพรรคก้าวไกล เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้แล้วกันนะครับ ขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

อีก ๓ ท่านนะครับ ท่านแรก ท่านวรวงศ์ วรปัญญา ท่านที่ ๒ ท่านสรพัช ศรีปราชญ์ ท่านที่ ๓ ท่านธัญธารีย์ สันตพันธุ์ เชิญท่านวรวงศ์ วรปัญญา ครับ

นายวรวงศ์ วรปัญญา ลพบุรี ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผม วรวงศ์ วรปัญญา ครับ แต่ที่ทราบมาให้เจ้าหน้าที่ Check สักหน่อยไหมครับ เพราะว่าพอดีเป็นคิวท่านซูการ์โนครับ จะได้ไม่ขุ่นเคืองใจกันครับท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้องเมืองพาน รองประธานสภาผุ้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญท่านซูการ์โนครับ

นายซูการ์โน มะทา ยะลา ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ผม ซูการ์โน มะทา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยะลา เขต ๒ พรรคประชาชาติ ก่อนอื่นต้องขอบคุณ ท่านวรวงศ์ วรปัญญา นะครับ ที่สละเวลาสับเปลี่ยนคิวในการอภิปรายให้กับผม เนื่องจากว่า ช่วงเย็นวันนี้ผมมีภารกิจด่วนจะต้องไปต้อนรับคณะที่มาจากจังหวัดยะลา ที่มาเยี่ยมชม สภาผู้แทนราษฎรที่พระราม ๙ นะครับ ท่านประธานที่เคารพครับ ผมขอสนับสนุนญัตติ เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทาง บูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและจังหวัดพื้นที่ ในเขตป่าสงวนเพื่อลดขั้นตอนการอนุมัติของอธิบดี ตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ของท่านทรงยศ รามสูต แล้วก็มีเพื่อนสมาชิกหลายท่าน ที่ได้อภิปราย ท่านประธานที่เคารพครับ ผมเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยะลา ก็มีเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสักครู่นี้ มีเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดเชียงใหม่ บอกว่าพี่น้องประชาชนในพื้นที่ของเขา รอคอยไฟฟ้าแสงสว่างในครัวเรือนมาเป็นเวลา ๕-๖ ปีแล้วยังไม่ได้

นายซูการ์โน มะทา ยะลา ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ พี่น้องบ้านสองแยก พี่น้องบ้านปาโล๊ะ ในหมู่ที่ ๖ ตำบลกาบัง หมู่ที่ ๕ ตำบลกาบัง ไม่มีไฟฟ้าใช้มา ๔๐ ปีแล้ว และทุกครั้งในพื้นที่ตรงนี้ ของอำเภอกาบัง มีจำนวน ๒ ตำบล ๑๙ หมู่บ้าน อยู่ในพื้นที่ป่ามีเนื้อที่ทั้งหมด ๒๘๑,๐๐๐ ไร่ เป็นพื้นที่ของป่าสงวนแห่งชาติ ๑๖๘,๗๕๐ ไร่ มีประชากรทั้งสิ้น ๒๕,๘๖๗ คน จำนวนครัวเรือน ๗,๒๙๖ ครัวเรือน ไม่มีไฟฟ้าใช้ ๔๘๒ ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ ๐.๖ เปอร์เซ็นต์ ท่านประธานที่เคารพครับ พี่น้องประชาชนไม่ใช่ว่าอยู่เฉย ๆ ไม่เรียกร้อง ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่พี่น้องประชาชนก็เคยเรียกร้องการขอมีไฟฟ้าใช้จากหน่วยงาน ของรัฐ จากรัฐบาลกลางไปแล้ว ๔ ครั้ง ครั้งที่ ๑ เมื่อปี ๒๕๕๙ ราษฎรบ้านคลองป่อง หมู่ที่ ๖ ตำบลบาละ ร้องเรียนไปยังศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต. ว่าหมู่ที่ ๖ ไม่มีไฟฟ้าใช้ มีผู้ได้รับผลกระทบ ๘๖ หลังคาเรือน ต่อมาในปี ๒๕๖๑ นายอัสมิน อาแว ตัวแทนราษฎรร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติมกรณีราษฎรที่บ้านกาบัง หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๖ และตำบลบาละ หมู่ที่ ๖ หมู่ที่ ๑๐ เป็นครั้งที่ ๓ ในปี ๒๕๖๑ ที่ศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดยะลา

นายซูการ์โน มะทา ยะลา ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ พี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตป่าไม่ใช่ว่าเขาไม่ได้ ขออนุญาต เขาก็พยายามประสานงานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่กำกับดูแลก็คือ องค์การบริหารส่วนตำบลกาบัง และองค์การบริหารส่วนตำบลบาละ แต่ว่าเนื่องจากปัญหา เรื่องของขั้นตอนและระเบียบข้อกฎหมายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งดูแลกฎหมายของป่าไม้ว่ามีผลกระทบต่อการพัฒนา การสร้างความเจริญให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่บ้านแอและ บ้านปาโล๊ะ หมู่ที่ ๖ หมู่ที่ ๕ ตำบลกาบังนั้น ผมเองได้ไปสัมผัสเจอพี่น้องประชาชนเขาบอกว่าเขารอคอย เวลาที่จะมีไฟฟ้าใช้เหมือนกับพี่น้องประชาชนคนอื่น ซึ่งพื้นที่ที่ตั้งที่บ้านสองแยกนี้ก็ตั้งอยู่ เชื่อมติดต่อกับอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา บนทางหลวงชนบทสายสามแยกไปถึง ถ้ำตลอด ท่านประธานครับ ช่วงต้นระยะทาง ถนนเขาบอกโอเคเป็นการอำนวยความสะดวก สำหรับพวกเขาในการขนพืชพันธุ์ทางเกษตรมาขายในพื้นที่ในเมือง แต่ไฟฟ้าแสงสว่างนี้ มันเหมือนกับการเพิ่มหยักในสมอง ดังนั้นผมจึงเห็นด้วยครับว่าสภาผู้แทนราษฎรจะต้องตั้ง กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันระหว่างกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับจังหวัด เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับการอนุญาต ในเขตป่าไม้ในการพัฒนา ไม่ว่าจะการขยายเขตไฟฟ้าให้สู่พี่น้องประชาชน การสร้างถนน ไปในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ท่านประธานครับ สมัยที่ผมเป็นประธานกรรมาธิการ การกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นฯ ของสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๕ นั้น มีนายก องค์การบริหารส่วนตำบลและนายกเทศมนตรีตำบลในเขตจังหวัดลำปาง ได้มาร้องเรียน กับเราว่าดำเนินการตามข้อเรียกร้องของพี่น้องประชาชน เพื่อแก้ปัญหาตามภารกิจของ อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ที่สุดถูกทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้ดำเนินคดีจับกุม และต้องต่อสู้กันเป็นเวลายาวนาน

นายซูการ์โน มะทา ยะลา ต้นฉบับ

สำหรับในพื้นที่วันนี้ที่ผมอยากเรียนท่านประธานว่า ปัญหาอุปสรรคที่เราต้อง มาทำก็คือ หน่วยงานที่เข้าไปใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและป่าไม้ตามพระราชบัญญัติ พ.ศ. ๒๔๘๔ ที่ยื่นคำขอตรวจสอบพื้นที่ป่าแล้ว ไม่สามารถดำเนินการมีทั้งหมด ๖ คำขอ ของอำเภอกาบัง ทางหลวงชนบท ๑ คำขอ องค์การบริหารส่วนตำบลบาละ จำนวน ๕ คำขอ มีหนังสือ ยล. ที่ ๐๐๑๘/๙๐๓๑ ลงวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ขอให้กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณายกเว้นการจัดทำการประเมินผลกระทบ EIA ท่านประธานครับ การประเมินผลกระทบ EIA ในจังหวัดยะลาวันนี้หลายโครงการติดอยู่ตรงนี้ ผมจึงว่าวันนี้ถ้าสภาของเราได้อนุมัติรับหลักการ และมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา พิจารณาในเรื่องของการบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมกับจังหวัดในพื้นที่ ก็จะช่วยเหลือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาลตำบล หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด จะเข้าไปดำเนินการ ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน

นายซูการ์โน มะทา ยะลา ต้นฉบับ

สุดท้ายนะครับท่านประธาน มันเป็นข้อคิดที่ชาวบ้านฝากผมมาว่า เวลาจะถึง เวลาเลือกแต่ละครั้งทุกคนก็ไปหาเขา และมาบอกว่าเดี๋ยวจะให้ไฟฟ้า เดี๋ยวจะเอาไฟฟ้ามาให้ วันนี้ชาวบ้านรอมา ๔๐ ปี ผมอยากให้กรณีของเขตบ้านสองแยก หมู่ที่ ๕ ของตำบลกาบัง และในพื้นที่ตำบลบาละอีกหลาย ๆ ที่ คงเป็นปัญหาที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในรัฐบาล ของท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งของระบอบประชาธิปไตยครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านสรพัช ศรีปราชญ์ เชิญครับ

นายสรพัช ศรีปราชญ์ สระบุรี ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาที่เคารพ ผม สรพัช ศรีปราชญ์ สมาชิกผู้แทนราษฎรจังหวัดสระบุรี เขต ๑ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอร่วม อภิปรายสนับสนุนในญัตติ เรื่องการขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาการขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากนิคมสร้างตนเอง หรือพื้นที่จากหน่วยงานราชการอื่น ในเขตปกครองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ท่านสาธิต ทวีผล เป็นผู้เสนอ

นายสรพัช ศรีปราชญ์ สระบุรี ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี นอกจากจะมีปัญหาสิ่งแวดล้อม ก็คือเรื่องฝุ่นละอองที่เราทราบกันดีอยู่แล้ว ปัญหาการอยู่อาศัย ในนิคมสร้างตนเองก็เป็นปัญหาหนึ่งที่มีผลกระทบต่อชาวบ้านด้วยเหมือนกัน ตำบลหน้าพระลาน เดิมเป็นพื้นที่ที่มีแต่ภูเขา แต่ทางการเปิดสัมปทานบัตรพื้นที่ที่ตั้งอยู่ใกล้ภูเขาหินกลายเป็น โรงโม่หิน มีการระเบิดหินเกิดขึ้น ทำให้ผู้คนหลั่งไหลกันเข้ามาทำงานเป็นลูกจ้างโรงงานครับ สมัยก่อนเป็นช่วงที่มีงานทำอย่างคึกคัก โรงงานที่ทำเกี่ยวกับหินใช้คนงานจำนวนมาก ส่งผลให้เป็นพื้นที่ที่ผู้คนทำงานมีรายได้ที่สูงขึ้นตามไปด้วยครับ มีการหลั่งไหลของผู้คน เพื่อเข้ามารับจ้างทำงานในโรงโม่หินเพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านจึงเข้ามาจับจองปลูกสร้างที่อยู่อาศัย ในที่ดินของนิคมสร้างตนเอง กรมป่าไม้ เอกชนและที่ประทานบัตร ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับโรงงาน จนเกิดชุมชนย่อย ๆ ขึ้นมา ประกอบกับปี ๒๕๓๓ มีการตัดถนนผ่านตำบลหน้าพระลาน เป็นถนนมาตรฐาน ๔ เลน มีการตั้งโรงงานโรงโม่หิน ระเบิดผาหินเพิ่มมากขึ้น ด้วยเพราะ มีการคมนาคมขนส่งที่สะดวกสบาย ส่งผลให้มีผู้คนมารับจ้างและเข้ามาอยู่อาศัยในชุมชน เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และอาศัยอยู่เรื่อยมา จนปัจจุบันเป็นเวลาร่วม ๖๐ ปีแล้ว ตำบลหน้าพระลาน เป็นพื้นที่ที่อยู่ในนิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี โดยนิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท มีพื้นที่รับผิดชอบในเขตจังหวัดสระบุรีประกอบด้วย อำเภอเมือง อำเภอพระพุทธบาท อำเภอแก่งคอยและอำเภอเฉลิมพระเกียรติ มีจำนวนพื้นที่ประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ กว่าไร่ หากเรามาดูวัตถุประสงค์ของการตั้งนิคมสร้างตนเองนั้น ผมไปศึกษามามีอยู่ ๓ ข้อ

นายสรพัช ศรีปราชญ์ สระบุรี ต้นฉบับ

ข้อที่ ๑ เพื่อจัดสรรที่ดินให้ราษฎรเป้าหมายอพยพครอบครัวเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ประกอบอาชีพและอาศัยอยู่ในนิคมสร้างตนเองอย่างเป็นระเบียบและถาวร พร้อมทั้งส่งเสริม ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่เป็นของตนเองเป็นมรดกตกทอดสู่บุตรหลาน

นายสรพัช ศรีปราชญ์ สระบุรี ต้นฉบับ

ข้อที่ ๒ เพื่อพัฒนานิคมในด้านต่าง ๆ ให้สมาชิกนิคมมีรายได้และมีความ เป็นอยู่สูงขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถช่วยเหลือตนเองและชุมชนได้

นายสรพัช ศรีปราชญ์ สระบุรี ต้นฉบับ

ข้อที่ ๓ เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลในลักษณะโครงการพิเศษตามมติ คณะรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและการปกครอง

นายสรพัช ศรีปราชญ์ สระบุรี ต้นฉบับ

จนกระทั่งในปัจจุบันนี้ เมื่อการพัฒนาตำบลหน้าพระลานมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย มีหน่วยงานราชการต่าง ๆ เข้ามาดูแล พัฒนาการการเป็นอยู่ของประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นเทศบาล หรือ อบต. หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึงนะครับ แต่ก็มีปัญหาครับท่านประธาน ในการใช้พื้นที่นิคมสร้างตนเองมีการแบ่งเขตกันไม่ชัดเจน ทั้งที่เป็นองค์กรเพื่อรับใช้คนในท้องถิ่น ส่วนผมไม่ขอลงรายละเอียดที่ขัดแย้งกันนะครับ ปัญหานี้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ราษฎร ที่อาศัยอยู่ในนิคมอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการศึกษาที่ต่างฝ่ายก็อยากจะทำโรงเรียน ของตัวเองกัน แต่ก็ทำไม่ได้ หรือจะเป็นในเรื่องของการรักษาพยาบาล ที่ดินทับซ้อนอยู่ จะทำ รพ.สต. ก็ยังทำไม่ได้ และการเข้าใช้พื้นที่ในด้านอื่น ๆ ผมคิดว่านิคมสร้างตนเอง ควรมีการกำหนดขอบเขตให้ชัดเจน โดยคำนึงถึงความเดือดร้อนของพ่อแม่พี่น้องประชาชน และเอาวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองเป็นหลัก ในการแก้ไขปัญหาการขออนุญาต เข้าใช้พื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในนิคมสร้างตนเอง จากที่ผมได้พูดมานี้ทำให้ เห็นว่านิคมสร้างตนเองนั้นไม่ได้มีการปรับตัวให้ทันต่อยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอีกต่อไป ทั้ง ๆ ที่แนวคิดตอนที่จัดตั้งนั้นเป็นแนวคิดที่มีวัตถุประสงค์ที่ดี และมีประโยชน์ต่อประชาชน ผู้อยู่อาศัย เราจึงต้องมีการศึกษาพิจารณา เพื่อให้มีการบริหารจัดการให้สะดวกในการใช้งาน ในชีวิตของพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ในเขตนิคมสร้างตนเอง ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ต่อไปท่านวรวงศ์ วรปัญญา ครับ

นายวรวงศ์ วรปัญญา ลพบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ กระผม นายวรวงศ์ วรปัญญา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี เขต ๕ อำเภอท่าหลวง อำเภอลำสนธิ อำเภอชัยบาดาล รบกวนฝ่ายโสตแก้ชื่อให้ด้วยนะครับ วรวงศ์ วรปัญญา ครับ ไม่ใช่สรวงศ์นะครับ วันนี้ขออนุญาตใช้สภาอันทรงเกียรตินี้อภิปรายญัตติเรื่องขอให้ สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบูรณาการร่วมกัน ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและจังหวัดพื้นที่ในเขตป่าสงวน เพื่อลดขั้นตอนในการอนุมัติของอธิบดี ตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ วันนี้จากที่ทุกท่านได้ร่วมอภิปรายร่วมฟังกันมา ผมเห็นว่าทุกคนมีปัญหาจาก พี่น้องประชาชนที่ได้ร้องเรียนมาเป็นปัญหาเดียวกัน ก็คือปัญหาต่อองค์การบริหารต่าง ๆ ที่ไม่สามารถจะพัฒนาพื้นที่ให้ได้อย่างครอบคลุม หรือให้เหมาะสมตามปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่อำเภอเล็ก ๆ ของผม หรือตำบลเล็ก ๆ ภายในพื้นที่ที่ผมได้เข้ามาเป็นผู้แทนนะครับ ยังมีพี่ ๆ เพื่อน ๆ สมาชิกข้าง ๆ ที่อยู่กัน สองพี่น้องสินธุไพรก็บ่นไม่ต่างกันนะครับว่า มันเป็นปัญหาที่องค์การบริหารต่าง ๆ อยากจะพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบสาธารณูปโภค เรื่องถนนหนทาง วันนี้ผมไม่มีสไลด์เลยครับ เพราะว่าที่ผ่านมาผมเคยเอาเรื่องราวเข้ามา หารือต่อท่านประธานในที่ประชุมแห่งนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง ไม่ว่าจะเป็นเส้นหลัก เส้นรอง เป็นเส้นที่มีความสมบูรณ์แล้ว หรือบางเส้นเป็นแค่จุดเล็ก ๆ เท่านั้นเองครับ แต่มันทำให้ไม่เกิดความต่อเนื่องในการเดินทาง มีน้อง ๆ ในตำบลซับจำปาที่อำเภอท่าหลวง เคยส่งข้อความมาใน Message ส่วนตัวของผมว่า อยากให้ท่าน สส. เข้าไปดูถนนสายนี้หน่อย ผมเกิดสงสัยขึ้นมาว่าถนนสายอะไรเอ่ยมันไม่มีสาย ถนนบางพื้นที่ที่เขาอยู่กันมาอย่างยาวนาน จุดเริ่มต้นมันอาจจะมาจากเส้นทางธรรมชาติบ้าง จุดเริ่มต้นอาจจะมาจากการที่ชาวบ้าน พยายามจะทำให้การเดินทางของเขาสะดวกขึ้นบ้างครับท่านประธาน แต่วันนี้เราไม่สามารถ ที่จะช่วยเหลือให้เขาสามารถเดินทางได้ดีขึ้นเลยครับ อาจจะติดข้อระเบียบของป่าไม้บ้างก็ดี เรื่องอื่น ๆ บ้างก็ดี การอนุรักษ์ป่าเป็นสิ่งที่ดีแล้วเป็นสิ่งที่สมควรแล้วผมเห็นด้วย ก็ยังมีเรื่อง ต่าง ๆ ที่ร่วมกันผลักดันเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

นายวรวงศ์ วรปัญญา ลพบุรี ต้นฉบับ

แต่วันนี้อยากจะกราบเรียนท่านประธานครับว่า อยากให้ท่านประธานลองไป สัมผัสพื้นที่ที่อำเภอท่าหลวงผมจังเลยครับว่าแทบจะไม่มีโฉนดเลย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่า ซึ่งทำให้การพัฒนาการท่องเที่ยวก็ดี การใช้ชีวิตของพี่น้องก็ค่อนข้างย่ำแย่ ทั้ง ๆ ที่เรา มีทิวทัศน์ที่ดี มองไปนี้อาจจะนึกถึงภูเขาแถวสวิตเซอร์แลนด์ เทือกเขาแถวสวิตเซอร์แลนด์ หรือแม้แต่กระทั่งน้ำตกวังก้านเหลือง ที่ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐาก็ให้ความสำคัญเอง เช่นกัน แต่เส้นทางและสิ่งต่าง ๆ ที่เราตั้งใจที่จะปรับปรุง ไม่สามารถทำได้ ก็เนื่องด้วยติด การรอคอยในการทำเอกสารบ้าง ซึ่งอันนี้เป็นปัญหาที่ผมเชื่อเหลือเกินครับว่าเพื่อนสมาชิก หลาย ๆ ท่านก็ประสบพบเจออยู่เหมือนกัน วันนี้สิ่งสำคัญไม่ใช่ว่าป่าเป็นปัญหา สิ่งสำคัญคือ เราต้องให้ความสำคัญกับป่ากับพื้นที่กับการขออนุญาตให้ถูกจุดครับ หลายเรื่องที่เรา พยายามจะแก้ปัญหาด้วยความรวดเร็ว อาจจะทำไปอย่างไม่รอบคอบ แต่หลายเรื่องเรา ปล่อยปละให้มันอยู่มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ผมยังเด็กจนวันนี้เข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผมก็หวังว่าในสภาชุดนี้สามารถจะแก้ปัญหาสิ่งเหล่านี้ให้กับพี่น้องประชาชนได้ จนไม่ต้อง ให้ใครเอาไปหาเสียง ในการที่จะหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้า ขอให้ปัญหาเหล่านี้ เราร่วมมือกันครับ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล แต่ให้แก้ไขปัญหาเพื่อพี่น้องประชาชน ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ต่อไปท่านฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล เชิญครับ

นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ผม ฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดภูเก็ต เขต ๓ พรรคก้าวไกล ขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายทั่วไป เพื่อเสนอข้อเสนอลดขั้นตอนการพิจารณาการอนุญาต ใช้พื้นที่ป่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนับตั้งแต่ฉบับพุทธศักราช ๒๕๔๐ จนถึง ฉบับพุทธศักราช ๒๕๖๐ โดยกำหนดหลักประกันไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับว่ารัฐมีหน้าที่ ต้องจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน อย่างทั่วถึง ตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน มาตรา ๕๖ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ นั่นก็เพราะสาธารณูปโภคเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐพึงจัดให้มี เพื่อประชาชน เรื่องที่จะอภิปรายต่อไปนี้เป็นเรื่องพื้นฐาน แต่ซับซ้อนครับท่านประธาน ฟังดูขัดกัน ที่บอกว่าเป็นเรื่องพื้นฐานนั่นก็เพราะเป็นเรื่องของการซ่อมถนน น้ำอุปโภค บริโภค ไฟฟ้าซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน แต่ที่บอกว่าซับซ้อนนั้นก็เพราะว่ากฎหมายกำหนด ขั้นตอนวิธีการไว้เกินความจำเป็นและไม่ได้สัดส่วน ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา สาธารณูปโภค ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ที่พึงได้รับบริการจากรัฐ

นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ

ตัวอย่างที่จะพูดต่อไปนี้ เป็นเพียงหนึ่งในหลายปัญหาที่พี่น้องประชาชน ที่มีที่อยู่อาศัยใกล้พื้นที่ป่าต้องเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ได้ปัญหาเฉพาะถนนหรือไฟฟ้า และน้ำประปานะครับ เรื่องที่จะพูดต่อไปนี้เกิดที่จังหวัดน่าน ประชาชนในตำบลสกาด อำเภอปัว จังหวัดน่าน มีความจำเป็นต้องใช้ถนนในการสัญจร แต่วันดีคืนดีถนนชำรุดขึ้นมา หน่วยงานที่เป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนนั่นก็คือองค์การบริหารส่วนตำบล ได้ประสาน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี แต่ติดปัญหาที่ถนนสายดังกล่าว อยู่ในพื้นที่ป่าดอยภูคาและป่าผาแดง การเข้าไปซ่อมแซมต้องได้รับการอนุญาตจากกรมป่าไม้ ก็ต้องว่ากันด้วยเรื่องการขอใช้พื้นที่ป่าของส่วนราชการหรือองค์การของรัฐ ในเขตป่าสงวน แห่งชาติ ตามมาตรา ๑๓/๑ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งการอนุญาต ให้ใช้พื้นที่ป่าก็เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เบ็ดเสร็จเคสนี้ใช้เวลาพิจารณากันหลายปีเลยครับ งบประมาณที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้รับการอนุมัติก็ไม่ได้ใช้ในปีงบประมาณนั้น ก็ต้องของบคืนกันไป ไปพิจารณากัน ในปีงบประมาณอื่นอีก การสัญจรเป็นไปอย่างยากลำบาก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ในชุมชน แน่นอนนอกจากนี้ความเสี่ยงภัยของประชาชนที่ใช้สัญจรในทางที่ชำรุดก็เป็นเรื่องที่ มีต้นทุนที่ต้องจ่ายในทุก ๆ วันที่มีการพิจารณาอนุมัติยืดยาวออกไป

นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ

กลับมาที่ภูเก็ตครับ ที่บ้านบางปัน ตำบลกระทู้ ก็ไม่ต่างกัน เมื่อกรมทางหลวง จะขอใช้พื้นที่ในการตัดถนนผ่านพื้นที่ป่า เพื่อลดการจราจรที่ติดขัดจากป่าตองไปสู่สนามบิน ภูเก็ต ก็ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่า ทั้ง ๆ ที่เดิมมีทางหลวงชนบทได้ทำถนน ไปบางส่วนแล้ว แต่ยังขาดทางเชื่อมตรงกลาง ชาวบ้านเองขอไฟฟ้าใช้ก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติ เนื่องจากติดพื้นที่ป่า หรือตำบลปากครอกที่หาดท่าหราที่มีบ้านพักคนชราและศูนย์การศึกษา พิเศษอยู่ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ แต่ทางองค์การบริหารส่วนตำบล ทางเทศบาล ตำบลป่าคลอกไม่สามารถเข้าไปใช้พื้นที่ในการพัฒนา หรือสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ ได้เลย ทำให้ถนนชำรุดทรุดโทรมไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา ไม่มีห้องน้ำสาธารณะ

นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ

ทีนี้มาดูกันนะครับว่าการอนุญาตต้องทำอย่างไรบ้าง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เริ่มจากหน่วยงานที่ขอ อาจจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือทางหลวงชนบท เสนอเรื่องผ่าน ทสจ. ให้ผู้ว่าพิจารณาคำขอ อันดับแรกใช้เวลา ๕ วัน จากนั้นเป็นกระบวนการ ตรวจสอบและรายงานผลใช้เวลาอีก ๔๐ วัน จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดจะมีความเห็น เสนอไปยังสำนักทรัพยากรในพื้นที่ใช้เวลาอีก ๑๕ วัน ในขั้นแรกใช้เวลาไปแล้ว ๖๐ วัน หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการของกรมป่าไม้ ที่จะต้องพิจารณาผ่านคณะกรรมการ พิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวน หลังจากนั้นเสนอไปยังอธิบดีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่กำหนดกรอบระยะเวลาเอาไว้ แต่ระยะ ระหว่างทางอาจมีกระบวนการทบทวนรายการอีก ทำให้ไม่สามารถกำหนดกรอบระยะเวลา ที่แน่นอนได้ กว่าจะมีการออกประกาศ ป.ส. ๑๙-๑ ก็อาจจะต้องใช้เวลากันเป็นปี ท่านพอจะ มองเห็นปัญหาในเรื่องนี้หรือยังครับ นี่ขนาดหน่วยงานราชการที่เป็นผู้ยื่นคำขอนะครับ

นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ

ประเด็นแรก คือมันไม่ทันในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ความเดือดร้อนเรื่อง สาธารณูปโภคให้กับพี่น้องประชาชน

นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ

ประเด็นต่อมา เท่าที่ผมนับดูแล้ว ในกระบวนการอนุญาตต้องมีผู้พิจารณาถึง ๕ คน กับคณะบุคคลอีก ๒ คณะ ในรูปแบบคณะกรรมการและคณะตรวจสอบนับเป็น หน่วยงานก็ ๕ หน่วยงาน ซึ่งซ้ำซ้อนและไม่จำเป็น

นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ

สุดท้ายความเห็นประกอบการพิจารณาหลัก ๆ ก็หนีไม่พ้นเรื่องเหตุผลและ ความจำเป็นของการเข้าใช้พื้นที่และรายงานสิ่งแวดล้อม ถามว่า ๒ ประเด็นนี้จะมีใครรู้ดี ไปกว่าหน่วยงานราชการในพื้นที่ครับ แล้วทำไมต้องให้ราชการส่วนกลางเป็นผู้อนุมัติละครับ ระหว่างรัฐมนตรีกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใครจะเป็นผู้ตอบได้ว่ามีความจำเป็น ต้องขอใช้พื้นที่ป่าในการให้บริการสาธารณะแก่พี่น้องประชาชนได้ดีกว่ากัน

นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ

ส่วนรายงานเรื่องสิ่งแวดล้อม สุดท้ายท่านอธิบดีและท่านรัฐมนตรีก็ต้องฟัง รายงานจากหน่วยงานในพื้นที่ของกรมป่าไม้ไม่ใช่เลยหรือครับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ก็ได้บัญญัติเรื่องบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้แล้ว ตามมาตรา ๒๕๐ ว่าให้มีอำนาจหน้าที่ดูแลจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของ ประชาชนในท้องถิ่นตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน กระบวนการขออนุญาตขอใช้พื้นที่ป่า ท่านมีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัวอยู่แล้ว ปล่อยให้ราชการส่วนภูมิภาคและราชการ ส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้ที่เข้าใจปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้เป็น ผู้พิจารณาเถอะครับ อาจจะจัดตั้งในรูปแบบของคณะกรรมการระดับจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานก็ได้ หรือจะมีองค์ประกอบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและส่วนราชการ ในพื้นที่ที่สังกัดกรมป่าไม้ เขาก็เป็น Regulator คอยดูให้ท่านได้อยู่แล้ว ว่าการพิจารณา อนุมัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงเขียนไว้หรือไม่ มันจะได้เกิดความรวดเร็วทันต่อการ แก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน ปัญหาในพื้นที่ให้พื้นที่เขาบริหารจัดการดีกว่าครับ แค่อนุมัติซ่อมถนนในหมู่บ้านถึงกับต้องรอเจ้ากระทรวงสั่งการ มอบอำนาจให้คนในพื้นที่ เขาจัดการกันไป ส่วนท่านก็มีอำนาจในการทบทวนหรือเพิกถอนใบอนุญาต เป็น Case By Case ไป แบบนี้จะทันต่อการแก้ไขปัญหาในพื้นที่มากกว่า การพิจารณาเป็นไปด้วย ความรวดเร็ว เป็นไปตามหลักการกระจายอำนาจ และได้สัดส่วนของการพัฒนาคุณภาพชีวิต ของพี่น้องประชาชน และการรักษาพื้นที่ป่าให้เป็นไปตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้

นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ

ปัจจุบันทางกรมป่าไม้ได้มีคำขอที่ค้างอยู่ในระบบถึง ๑๓๐,๐๐๐ คำขอ อีกกี่ปีจะอนุมัติหมดก็ไม่ทราบ ข้อเสนอในส่วนนี้คณะกรรมาธิการการที่ดินและทรัพยากร ธรรมชาติได้เคยเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีแล้ว ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ จนถึงปัจจุบันตอนนี้ยังไม่มีความคืบหน้า ไม่มีท่าทีว่าจะหยิบยกข้อเสนอขอคณะกรรมาธิการ ขึ้นพิจารณาหรือหารือแต่อย่างใด หากต้องการรายละเอียดสามารถติดต่อเพิ่มเติมมายัง คณะกรรมาธิการการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาตินะครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านอับดุลอายี สาแม็ง เชิญครับ

นายอับดุลอายี สาแม็ง ยะลา ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายอับดุลอายี สาแม็ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยะลา เขต ๓ อำเภอกรงปินัง อำเภอบันนังสตา อำเภอธารโตและอำเภอเบตง ผมจะขอสนับสนุนเรื่องญัตติแนวทาง การบูรณาการระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจังหวัดในพื้นที่ ที่มีเขตป่าสงวน เพื่อลดขั้นตอนการอนุมัติของอธิบดี ตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ เพิ่มเติม ก็อยากจะนำเรียนอย่างนี้นะครับท่านประธาน ในเขตพื้นที่ของผมเป็นกรณีตัวอย่าง เนื่องว่าผมอยู่ในเขตพื้นที่ที่มีป่าสงวนแห่งชาติ เป็นตัวพื้นที่ของที่ทำกินของพี่น้องประชาชน ผมจะยกตัวอย่างเมื่อปี ๒๕๓๐ ก็มีถนนที่มัน เกิดขึ้นในพื้นที่ตำบลหนึ่ง ก็คือตำบลธารน้ำทิพย์ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา พื้นที่ตำบล ณ ขณะนี้เป็นพื้นที่ของเขตการบริหารจัดการของท้องถิ่น คือเทศบาลตำบลธารน้ำทิพย์ ทั้งตำบลนั้นเป็นพื้นที่อยู่ในเขตป่าสงวน อยู่มาวันหนึ่งทางผู้บริหารท้องถิ่นโดยนายกเทศมนตรี ตำบลธารน้ำทิพย์ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ก็ได้มีการพูดคุยในเรื่องของการพัฒนาพื้นที่ เนื่องจากว่าตำบลนี้มันอยู่ในระหว่างของชายแดนประเทศมาเลเซียกับประเทศประเทศไทย แล้วก็มีการพูดถึงว่าจะต้องมีการเสริมแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นหลักกิโลเมตรที่ 54A ทุกคน ก็เห็นด้วย และเนื่องจากว่าถนนนี้มีแค่ครึ่งเดียว ก็มีการพัฒนาไปก่อนเพื่อที่จะมุ่งสู่ หลักเขตแดนที่ 54A ก็มีการตั้งงบประมาณในการที่จะปรับปรุงถนนซึ่งไม่ได้ถนนดีอะไร ขนาดไหน เป็นถนนหินคลุกเพื่อไปเสริมถนนให้มันอยู่ในสภาพที่ดีขึ้น อยู่มาวันหนึ่งก็ใช้ งบประมาณของ ปี ๒๕๖๐ ซึ่งมีแผนของการพัฒนาท้องถิ่นตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ และดำเนินการ จริงในปี ๒๕๖๒ ทางป่าไม้ก็ไม่ได้เป็นคนไปฟ้องแจ้งข้อกล่าวหากับผู้บริหารท้องถิ่น แต่เป็น เรื่องของ ป.ป.ช. ไปแจ้งข้อกล่าวหาให้กับท้องถิ่นว่าไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ให้มันเป็นไปตาม รัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดในปี ๒๕๔๒ เนื่องจากเขาบอกว่านายกไม่ดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ สุดท้ายนายกก็ต้องโดนออกไปจากตำแหน่งของนายกซึ่งเป็นผู้บริหารท้องถิ่น นายกคนนั้น ก็ออกไปจากตำแหน่งตามคำสั่งของ ป.ป.ช. สุดท้ายก็เครียด ตายนะครับท่านประธาน เครียดจนตายเลยนะครับ แต่ว่าพื้นที่ของตำบลแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัยมาก่อนประมาณ ๗๐-๘๐ ปีแล้ว ทีนี้การกำหนดแผนที่ของป่าไม้ ซึ่งพวกเราก็มีการพูดคุยกันในสภา ไม่ได้เฉพาะแค่ตำบลธารน้ำทิพย์ อันนี้มันเป็นเรื่องของกรณีตัวอย่างที่ผมจะเล่าให้ ท่านประธานฟังว่า คนอยู่อาศัยที่นั่นมานมนานเป็นเวลาประมาณ ๘๐ กว่าปีแล้ว เสร็จแล้ว ก็มีการออกแผนที่ครอบเป็นพื้นที่ป่าในเขตพื้นที่แห่งนี้ แล้วสุดท้ายก็เกิดเป็นองค์กรปกครอง ท้องถิ่นพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ จาก อบต. ก็มาเป็นเทศบาล ซึ่งคลุมพื้นที่บนนี้ทั้งหมด ถามว่า วิธีการจัดการในการบริหารจัดการในเรื่องของการพัฒนาท้องถิ่นนั้น ก็จำเป็นจะต้องมีที่ดิน มีเส้นทาง มีถนน มีอะไรเหล่านี้ ก็ไม่อาจจะดำเนินการได้ อย่างกรณีตัวอย่างที่ผมพูดขึ้น ถ้าอย่างนั้นที่บอกว่าเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมสนับสนุนญัตติเรื่องของการบูรณาการอย่างที่ว่านี้

นายอับดุลอายี สาแม็ง ยะลา ต้นฉบับ

เมื่อ ๒ สัปดาห์ที่แล้วผมก็ได้มีการหารือในสภาแห่งนี้ พื้นที่ในตำบลเดียวกัน เมื่อปี ๒๕๖๒ ก็มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งซึ่งอยู่ในบ้านซาโห่ ในพื้นที่ของตำบลธารน้ำทิพย์เช่นกัน อยู่กันมา ๗๐ กว่าปี ที่มีการปลูกต้นไม้พืชเศรษฐกิจทั้งหลาย ทั้งยางพารา ทุเรียนอะไรต่าง ๆ แต่ก็ไม่มีถนนหนทางเข้าไป ไม่มีไฟฟ้าเข้าไป ทั้ง ๆ ที่นั่นมีโรงเรียนประถม มีวัด มีอะไรต่าง ๆ ในเขตพื้นที่ ก็มีการถวายฎีกาต่อสมเด็จพระเทพฯ ทางจังหวัดก็ได้รับทราบเรื่องนี้ หลังจาก ที่มีการหารือก็ไปรับปากกับพี่น้องประชาชนว่าจะเข้าไปดำเนินการสร้างถนน แล้วก็สร้างไฟฟ้า ให้กับชุมชนที่อยู่ข้างใน ระยะทางเข้าไปประมาณ ๘ กิโลเมตร ผมก็เป็นห่วงนะครับ การถวายฎีกาก็เป็นส่วนหนึ่งที่น่าจะเป็นเรื่องทางออกในการแก้ปัญหา แต่ว่าการถวายฎีกา ก็เป็นการถวายฎีกาเฉพาะจุด ในพื้นที่อื่นที่กรณีตัวอย่างที่ท่านนายกเทศมนตรีตำบลธารน้ำทิพย์ ได้ดำเนินการก็จะถูกปัญหาโดนคดีของ ป.ป.ช. ที่กล่าวหา ที่แจ้งความข้างต้น ทีนี้พออีก จุดหนึ่งในพื้นที่ตำบลเดียวกันก็จริงอยู่ ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไปบอกว่าจะดำเนินการให้ อะไรอย่างนี้เป็นต้นนะครับ ผมเป็นห่วงตรงที่ว่าในเรื่องของการใช้กฎหมายป่าไม้ในเขตพื้นที่ ของการพัฒนาลักษณะอย่างนี้ เดี๋ยวสุดท้ายมันก็จะเกิดเป็นปัญหาเหมือนกับนายกที่เกิดปัญหา ก็อยากจะเล่าให้ท่านประธานฟังว่า สิ่งเหล่านี้เราก็ควรที่จะต้องมีการพูดคุยในรายละเอียด ขั้นตอนต่อไป

นายอับดุลอายี สาแม็ง ยะลา ต้นฉบับ

เพิ่มเติมอีกเรื่องหนึ่ง ในพื้นที่ของผมมันมีเรื่องของนิคมสร้างตนเอง ก็เป็นปัญหาในเรื่องของการดำเนินการ ในเรื่องของการพัฒนาในพื้นที่เช่นกัน สมมุติว่า ในพื้นที่เดียวกันก็มีมัสยิดอยู่แล้ว แต่การที่จะสร้างโรงเรียนจริยธรรมอะไรต่าง ๆ จะเข้าไป ก็จะต้องมีการขออนุญาตอีกต่างหาก ทั้ง ๆ ที่ว่าบริเวณเดียวกันได้รับอนุญาตในการจัดสร้าง เหล่านี้เป็นต้น มาแล้วก็ยังจะต้องมีการขออนุญาตเป็นขั้นตอนต่อไป หลาย ๆ เรื่องที่เป็น เรื่องเกี่ยวข้องกับการป่าไม้ การบูรณาการระหว่างของป่าไม้กับทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมก็น่าจะต้องไปดำเนินการให้มันแล้วเสร็จ ปัญหาทั้งหมดที่ฟัง ๆ จากเพื่อนสมาชิก ที่พูดในสภาแห่งนี้ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องเป็นทั่วทั้งประเทศ แล้วเกิดขึ้นมาหลายสิบปี ๔๐ ปีขึ้นไป แล้วก็ไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลอย่างจริงจัง ไม่รู้ว่าหน่วยงานไหนจะต้องรับผิดชอบ ไม่รู้ว่า นายกคนไหนจะรับผิดชอบ ปีนี้เรายังมีความคาดหวังว่าท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา เป็นผู้มองการณ์ไกล ในเรื่องของการใช้ที่ดินเป็นทุนในการพัฒนาทุกด้าน หวังว่าจะได้รับ การแก้ไขในรอบนี้ ขอขอบคุณท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านณกร ชารีพันธ์ เชิญครับ

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม ณกร ชารีพันธ์ ผู้แทนราษฎรของพี่น้องชาวมุกดาหาร เขต ๒ ประกอบด้วยอำเภอนิคมคำสร้อย อำเภอหนองสูง อำเภอดงหลวง อำเภอคำชะอีครับ ผมขออภิปรายสนับสนุนญัตติเรื่องขอให้ สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหา การเข้าถึงสิทธิรัฐธรรมนูญด้านการพัฒนาสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานของชุมชน ท้องถิ่นในเขตป่าสงวนแห่งชาติและป่าอนุรักษ์

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ วันนี้ผมขอพูดแทนพี่น้องชาวมุกดาหารเรื่องปัญหาที่ดิน จังหวัดมุกดาหารครับ การที่มีที่ดินทำกินที่มีเอกสารสิทธิเป็นของตนเอง เป็นหมุดหมาย สำคัญในการสร้างความมั่นคงให้กับพี่น้องประชาชน ท่านประธานครับ ปัจจุบันที่ดิน ในประเทศเรา ๓๐๐ ล้านไร่ เป็นที่ดินป่าสงวน ๑๔๔ ล้านไร่ คิดเป็น ๔๖ เปอร์เซ็นต์ กรมที่ดิน ๑๓๐ ล้านไร่ คิดเป็น ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ส.ป.ก. ๓๔ ล้านไร่ คิดเป็น ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ที่ดินราชพัสดุ ๙ ล้านไร่ คิดเป็น ๓ เปอร์เซ็นต์ จะเห็นได้ว่ารัฐถือครองที่ดินเกือบ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ของประเทศนี้ การที่รัฐส่วนกลางถือที่ดินมากเกินไปทำให้ประเทศเรา ไม่เกิดการพัฒนาในทุกพื้นที่ ท่านประธานครับ ในพื้นที่จังหวัดมุกดาหารของผมมีพื้นที่ป่า อนุรักษ์สูงถึง ๘๕๐,๐๐๐ ไร่ คิดเป็น ๓๒ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งสูงที่สุด ในภาคอีสานนะครับท่านประธาน ถามว่าผมภูมิใจไหม ผมตอบเลยว่าไม่ภูมิใจเลยสักนิดครับ ท่านประธาน เพราะพื้นที่เหล่านี้ได้มาจากคราบน้ำตาของพี่น้องประชาชนที่ถูกกระทำจาก รัฐส่วนกลางครับท่านประธาน คิดมาจากส่วนกลางไม่ได้เห็นหัวพี่น้องประชาชนในพื้นที่

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผมลงพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณภูเขา ผมขอยกตัวอย่าง บ้านมะนาว ตำบลพังแดง อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร พี่น้องยังไม่มีเอกสารสิทธิ เป็นของตัวเองทั้งหมู่บ้านนะครับท่านประธาน จะสร้างโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็กอะไรต่าง ๆ ก็ไม่มีสิทธิทำในพื้นที่ครับ การสร้าง การเวนคืนที่ดิน รวมไปถึงตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง ที่เป็นพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ เป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม หากจะอนุรักษ์พื้นที่ป่าควรจะอนุรักษ์ คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนร่วมด้วย ประชาชนไม่สามารถสร้างความมั่นคงได้ มาเป็นร้อยปี เนื่องจากไม่มีเอกสารสิทธิครับท่านประธาน ผมเห็นโรงแรมในหลายพื้นที่ อยู่บนภูเขาสร้างได้ครับ แต่ทำไมพอพี่น้องประชาชนอยากมีบ้านเลขที่เป็นของตัวเอง มีที่ดิน เป็นของตัวเอง ไม่สามารถทำได้ ถูกจับติดคุกครับท่านประธาน ในพื้นที่ของผมจังหวัด มุกดาหาร โดยเฉพาะอำเภอนิคมคำสร้อย ในบ้านเกิดของผมอำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัด มุกดาหาร มีคำว่า นิคม เพราะว่าเป็นพื้นที่ของนิคมสร้างตนเองหรือพื้นที่ นค. จัดตั้ง เพื่อบำรุงขวัญกำลังใจให้พี่น้องที่อยู่ห่างไกลในเขตนิคม จัดตั้งตั้งแต่ปี ๒๔๙๙ จัดสรรที่ดิน มาเกือบ ๖๐ ปี มีที่ดินทั้งหมด ๑๑๘,๗๕๐ ไร่ เป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองอยู่ที่ประมาณ ๒,๗๘๒ ครัวเรือน ได้จัดสรรที่ดินทำกินให้ประชาชนไปแล้ว ๕๙๒ ราย คิดเป็นจำนวนแปลง อยู่ที่ ๖๒๗ แปลง สรุปแล้วออกเอกสารสิทธิ ๖๐ ปี ออกไปได้แค่ ๙.๓ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นครับ สิทธิทำกินที่ไม่ออกเอกสารสิทธิอยู่ที่ ๖๔ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๘๕,๐๐๐ กว่าไร่ และเป็นที่ป่า ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้อีก ๒๕ เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็น ๓๐,๐๐๐ กว่าไร่

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ พี่น้องชาวนิคมคำสร้อยอยู่มาเป็นร้อยปี ไม่มีเอกสารสิทธิ จึงทำให้เราไม่สามารถพัฒนาพื้นที่ได้อย่างเต็มศักยภาพ ถึงเวลาแล้วครับท่านประธาน รัฐส่วนกลางมีอำนาจมากมาย ต้องกระจายอำนาจมาให้ท้องถิ่น เพื่อให้เราตัดสินใจในการ ออกแบบพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างถนน การวางท่อประปา การสร้างศูนย์เด็กเล็ก สร้างอาคารเรียนใหม่ ให้อำนาจมาที่ท้องถิ่นเถอะครับ ไม่มีใครเข้าใจประชาชนของเรา เท่าท้องถิ่นอีกแล้ว ตลกร้ายมากครับท่านประธาน พื้นที่ของผมอำเภอนิคมคำสร้อย มีกังหันลมบนพื้นที่ป่า ๔๐๐ กว่าไร่ แต่ อบต. จะขอสร้างศูนย์เด็กเล็กสักที่ยากลำบาก เหลือเกินนะครับท่านประธาน ผมก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าประเทศนี้มันเป็นประเทศของใครกันแน่ ประเทศเราเป็นของนายทุนหรือว่าเป็นของประชาชนกันแน่ครับ

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตสรุปตรงนี้นะครับ ผมคิดว่าการสำรวจพื้นที่ จัดทำข้อมูลป่าไม้บ้านเรามีปัญหา เรามองเห็นแต่ภาพแผนที่ เราไม่ได้เข้ามาสำรวจพื้นที่จริง จึงทำให้ผลกระทบมาตกที่พี่น้องประชาชน มีคดีฟ้องร้องรกโรงรกศาลเต็มไปหมด ไม่ใช่ว่า พ่อแม่พี่น้องประชาชนละโมบอยากได้ป่าหรือว่าที่ดินเป็นของตัวเองหรอกครับ แต่เชื่อเถอะครับ วันนี้รัฐบาลต้องให้ความชัดเจนกำหนดขอบเขตให้แน่ชัด ถ้าประชาชนอยู่ก่อนก็ออกเอกสารสิทธิ ให้พี่น้องประชาชนเถอะครับ

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้ผมก็คงไม่อยากอวดอ้างหรอกครับว่า ประเทศเรามีทรัพยากร ธรรมชาติที่ดีที่สุดในโลก แต่ทรัพยากรที่เกิดขึ้นอยู่บนคราบเลือด คราบรอยน้ำตาของพี่น้อง ประชาชนที่ต้องเสียสละจากการที่รัฐบาลไม่ยอมกระจายอำนาจมาที่ท้องถิ่น ขอบคุณครับ ท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านวุฒิพงศ์ ทองเหลา เชิญครับ

นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผมวุฒิพงศ์ ทองเหลา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีน พรรคชาติพัฒนากล้า ในวันนี้ผมขอร่วมอภิปรายในญัตติ เรื่อง การพิจารณาศึกษาแนวทางบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและจังหวัดในพื้นที่เขตป่าสงวน เพื่อลดขั้นตอนการอนุมัติของอธิบดี ตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗

นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ จังหวัดปราจีนบุรีมีลักษณะแผนที่ตามภูมิศาสตร์ เป็นสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ซึ่งพื้นที่ครึ่งหนึ่งของจังหวัดปราจีนบุรีนั้นคือพื้นที่เขตอุทยานและ เขตป่าสงวน โดยเฉพาะในพื้นที่รับผิดชอบของผมมีถึง ๓ อุทยานและป่าสงวนด้วยกัน ซึ่งประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลานและป่าสงวนแควระบม ป่าสียัด ในวันนี้ผมมีตัวอย่างประเด็นปัญหาในจังหวัดปราจีน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ ในระดับประเทศที่กำลังรอการแก้ไข แต่จะแก้ไขอย่างไร ผมเองก็ยังไม่สามารถคิดได้เลยครับ ท่านประธาน ถ้าหากเราไม่ลดขั้นตอนการอนุมัติของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ลง เริ่มกันที่ประเด็นปัญหาที่ ๑ ขอสไลด์ด้วยครับ

นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

ปัญหาในเรื่องนี้เองเป็นปัญหาน้ำท่วมอุโมงค์ทับลานครับท่านประธาน เราจะเห็นว่าในรูปนี้ฝั่งทางด้านขวามือเป็นป่าเขาใหญ่ ซ้ายมือเป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน เส้นสีน้ำเงินที่ลากลงมานี้คือเส้นน้ำที่เรียกว่าคลองยาง เป็นคลองยาง ซึ่งจะมาบรรจบกันกับเส้นสีแดงที่เป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน แล้วบริเวณ ด้านล่างเป็นอุโมงค์ ตามรูปเมื่อสักครู่ที่เราเห็นอุโมงค์มีลักษณะน้ำท่วม รถไม่สามารถสัญจร ผ่านอุโมงค์ได้ บางครั้งน้ำท่วมอุโมงค์เป็นระยะเวลาถึง ๒ วัน ทำให้รถติดเป็นระยะทาง หลายกิโลเมตรข้ามไปโคราชไม่ได้ ติดอยู่ที่จังหวัดปราจีนหรือติดอยู่ฝั่งโคราชข้ามมาจังหวัด ปราจีนไม่ได้ ในภาพนี้เป็นภาพมุมสูงครับ เราจะเห็นในช่วงที่มีปัญหาน้ำป่า แนวเขตสีแดง ที่เป็นฝั่งขวามือคือพื้นที่ของชาวบ้าน ส่วนทางด้านซ้ายมือที่เป็นเขตป่า คือที่มีต้นไม้เยอะ ๆ แล้วเป็นสีเขียวนี้ เป็นจุดที่เกิดคอขวดครับ น้ำไหลบ่าลงมาจาก Contour ของภูเขาที่เป็น พื้นที่สูง แต่ไม่สามารถไหลผ่านลงไปได้ เพราะเป็นแนวทางโค้ง ซึ่งในพื้นที่นี้เองอยากให้ดูภาพ ๆ หนึ่งซึ่งเป็นสไลด์ต่อไป เราจะเห็นว่าอุทยานไม่ได้คุยกับใครเลย ป่าไม้ไม่ได้คุยกับใครเลย เอา Fend กั้นสัตว์ป่าไปกั้นขวางไว้เพียงเพื่อว่ากันชาวบ้านเข้าไปในพื้นที่เขตป่า แล้วไม่ให้ สัตว์ป่าออกมานอกอุทยาน ซึ่งเป็นปัญหามากในบริเวณนั้นมันไม่เฉพาะตัวน้ำที่ท่วมอุโมงค์ ทับลาน แต่รวมถึงบ้านเรือนชาวบ้านกว่า ๑๐๐ หลังคาเรือน ขอวิดีโอสั้น ๆ ให้ทางสมาชิก และท่านประธานได้รับชมครับ

นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

อันนี้เป็นเรื่องที่ยากลำบาก สำหรับ ชาวบ้านในพื้นที่ เพราะว่าน้ำป่าไหลหลากมาในช่วงเวลากลางคืน มีผู้ป่วยติดเตียง มีคนแก่ เก็บรถกันไม่ทัน ในเรื่องนี้เองที่ผ่านมาการแก้ปัญหายังรอคอยการอนุญาตเพื่อเข้าไป Clear ในพื้นที่อยู่นะครับ แล้วก็เศษกิ่งไม้สิ่งกีดขวางในบริเวณที่ผ่านแนวรั้วของอุทยานไป ไม่สามารถทำได้เลย จึงเกิดเป็นคอขวดดังภาพที่ผมให้ดู ปัจจุบันในบริเวณพื้นที่ทางอุทยาน ทางป่าไม้ ท่านกลัวสัตว์ป่าจะไม่สามารถข้ามไปผสมพันธุ์กันได้ครับ แต่ท่านไม่กลัวประชาชน ในพื้นที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุน้ำป่าเลย

นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

ต่อมาในประเด็นปัญหาที่ ๒ ผมยังเหลือเวลาอยู่ไม่นานนัก อยากให้ดู เป็นคลิปวิดีโออีกคลิปหนึ่งประมาณ ๔๕ วินาที ซึ่งผมคิดว่าจะเป็นการดีกว่าการอธิบายครับ ท่านประธานครับ จากวิดีโอคลิปที่ผมนำมาเปิดตัดต่อให้ดูในช่วงเวลาสั้น ๆ ประมาณ ๔๐ วินาที ให้เพื่อนสมาชิกและท่านประธานได้ทราบ ต้องกล่าวอย่างนี้ครับว่าฝั่งขวามือ เป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน ซ้ายมือเป็นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ถนนเพียงระยะ ๑ เมตร ที่จะขยับออกไปเพื่อแก้แนวที่รถจะหักเลี้ยว หรือว่าจะมีเนินที่จะชะลอความเร็วของรถ ที่เดินทางลงเขามาในระยะทาง ๓ กิโลเมตร ไม่สามารถทำได้ทั้งซ้ายและขวาครับ ติดเงื่อนไข ของอุทยาน ที่ผ่านมาทางผมเองได้ประสานงานเพื่อขออนุญาตใช้พื้นที่ แม้กระทั่งขยายถนน ไม่ได้ แต่ขออนุญาตแค่ว่ามีพื้นที่จอดรถ เพื่อให้รถบรรทุกที่วิ่งลงจากเขาได้จอดพัก ให้ตัวปั๊มลมของรถบรรทุกได้สามารถที่จะบรรจุลมเข้าไปเพื่อลงต่อ ให้เบรกที่ร้อนไม่จับตัว แล้วสามารถที่จะคลายความร้อนลงก่อน ซึ่งทุกวันนี้ยังรออยู่ครับ ตามเอกสารที่ได้เรียน ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ฉบับนี้ก็ยังรออยู่ ซึ่งอุบัติเหตุเกิดขึ้นเดือนหนึ่ง หลายครั้งครับ ไม่ใช่ ๑ ครั้ง ซึ่งในเรื่องนี้มันยากต่อการแก้ปัญหานะครับ

นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

ผมจึงสนับสนุนญัตตินี้เพื่อลดการอนุมัติของอธิบดีในการขออนุญาต การใช้พื้นที่ป่า จากเหตุผลที่ผ่านมาครับท่านประธาน การขอจัดทำโครงการเพื่อขออนุญาต เข้าไปในพื้นที่ป่า เพื่อบรรเทาผลกระทบและปัญหานั้นล่าช้า และไม่เคยได้รับการตอบสนอง จากกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ หน่วยงานต้องร้องขอครับ ทำโครงการส่งไปถึงท่าน ก็เหมือนกับมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ครับ เพียงแต่มองเห็นแสงสว่างอยู่ไกล ๆ แต่ไม่เคยไปถึง ขอบคุณครับท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านรัฐ คลังแสง เชิญครับ

นายรัฐ คลังแสง มหาสารคาม ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม รัฐ คลังแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม เขต ๖ อำเภอกันทรวิชัย อำเภอเชียงยืนและอำเภอชื่นชม ขออนุญาตร่วมอภิปรายสนับสนุนญัตติ เรื่อง ขอให้ สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบูรณาการร่วมกันระหว่าง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและจังหวัดพื้นที่ในเขตป่าสงวน เพื่อลดขั้นตอน การอนุมัติของอธิบดี ตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ จริง ๆ แล้วยังมีญัตติอีก ๔-๕ ญัตติ ที่เพื่อนสมาชิกได้เสนอประกบมาร่วมกัน แม้ว่าจะต่างกัน ในรายละเอียดบ้าง แต่จุดประสงค์ผมมองแล้วว่าเป็นจุดประสงค์เดียวกัน นั่นก็คือเพื่อลด ความยุ่งยาก แล้วก็กระชับขั้นตอนในการขออนุญาตเขาใช้พื้นที่ป่าไม้ของหน่วยงานราชการ สำหรับจัดบริการสาธารณะและเพื่อพัฒนาพื้นที่เพื่อพี่น้องประชาชน จากที่ฟังเพื่อนสมาชิก ได้เข้าชื่ออภิปรายมาตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่แล้ว แล้วก็จำนวนสมาชิกที่อภิปรายมีไม่ต่ำกว่า ๓๐-๔๐ ท่าน นี่บ่งบอกได้ชัดเจนนะครับว่าเป็นปัญหาที่กระทบทั่วทุกพื้นที่ รวมทั้งพื้นที่ ของกระผมเอง ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต. หรือเทศบาลก็ตาม ในการ เข้าพัฒนาพื้นที่ เพื่อจัดบริการสาธารณะของพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะก่อสร้างถนนหรือว่า ทำการขุดลอกห้วยหนองคลองบึง เพื่อพัฒนาพื้นที่สำหรับพี่น้องประชาชน แต่ว่าต้องติดปัญหา ว่าต้องขออนุญาตในการใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ หรือแม้กระทั่งจะสร้างสำนักงานใหม่ของเทศบาล หรือ อบต. เองก็ตาม พอไปติดพื้นที่ป่าไม้ก็ต้องมีการขออนุญาต ซึ่งใช้ระยะเวลานาน จนกระทั่งเดี๋ยวนี้เป็นระยะเวลาหลายเดือน หลายปี ยังไม่สามารถก่อสร้างได้ หรือว่าจะเป็น ภารกิจของหน่วยงานราชการอื่น เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งในพื้นที่ของกระผมเอง มีอำเภอกันทรวิชัยที่มีลำน้ำชีพาดผ่าน ภารกิจหลักของกรมโยธาธิการและผังเมืองนั่นก็คือ การสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี ปีที่ผ่านมาปี ๒๕๖๕-๒๕๖๖ แม้จะได้งบประมาณ ในการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งมาเรียบร้อยแล้ว ประกาศจัดซื้อจัดจ้าง ได้ผู้รับจ้างเรียบร้อยแล้ว แต่ว่าไม่สามารถเข้าทำงานได้ เพราะว่าไม่สามารถได้รับอนุญาตจากทางกรมป่าไม้ จริงอยู่ครับว่ากระบวนการอาจจะผิดฝาผิดขั้นตอนไปบ้าง ที่จริง ๆ แล้วในส่วนของ กรมโยธาธิการและผังเมืองนั้นจะต้องขออนุญาตจากป่าไม้เสียก่อน แต่จากการสอบถาม จากท่านโยธาธิการจังหวัด ท่านบอกว่าในส่วนการขออนุญาตมีความยุ่งยากกินเวลายาวนาน และไม่ทราบว่าจะได้งบประมาณในส่วนโครงการนั้น ๆ หรือไม่ จึงได้ขออนุมัติไปเสียก่อน แล้วพอได้งบประมาณมา จึงได้ทำเรื่องเพื่อจะขออนุญาต เผลอ ๆ การทำงานที่ยังไม่ได้รับ อนุญาตนี้อาจจะต้องได้คืนงบ เพราะว่าผู้รับเหมาไม่สามารถเข้าทำประโยชน์ได้ ไม่สามารถ เข้าพัฒนาพื้นที่ได้ กลายเป็นว่าพี่น้องคือผู้ที่ต้องเสียผลประโยชน์ ตลิ่งหน้าดินอาจจะต้อง พังลงและถูกพัดพาไปตามกระแสน้ำ แทนที่จะได้มีการอนุรักษ์พื้นที่ของป่าไม้ กลับกลายเป็นว่า เราต้องเสียพื้นที่ไปกับกระแสน้ำเสียเอง

นายรัฐ คลังแสง มหาสารคาม ต้นฉบับ

ในส่วนของสาเหตุจากที่ฟังเพื่อนสมาชิกหลายท่านได้อภิปรายมา ขอสรุปสั้น ๆ เป็น ๓ สาเหตุหลัก ๆ ก็แล้วกันนะครับ ที่ทำให้ขั้นตอนการขออนุญาตไม่สามารถทำได้ อย่างราบรื่น นั่นก็คือ

นายรัฐ คลังแสง มหาสารคาม ต้นฉบับ

สาเหตุที่ ๑ เป็นเรื่องของกฎ ระเบียบ ซึ่งมีความสับสน มีกฎหมาย มี พ.ร.บ. หลายตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง แค่อ่านชื่อกฎหมายที่ผมดูมา อ่านมานี้ก็ ๔-๕ ตัวครับ แล้วก็ แล้วแต่กรณี แล้วแต่โครงการด้วย จริง ๆ มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายตัวกว่านั้น

นายรัฐ คลังแสง มหาสารคาม ต้นฉบับ

สาเหตุที่ ๒ ก็คือเรื่องขั้นตอนครับ ขั้นตอนที่มีความยุ่งยาก มีความซับซ้อน แล้วก็ผูกพันหลายหน่วยงานที่ต้องร่วมกันขออนุญาต ดูได้จาก Flowchart ในเล่มสรุปนี้ มีหลาย Flowchart แบ่งเป็นกรณี ๆ ไป นี่แค่ดูขั้นตอนกระบวนการทำงานก็ไม่สามารถ เข้าใจได้อย่างถ่องแท้ถี่ถ้วนแล้วครับ กินระยะเวลายาวนานกว่าจะสามารถอนุมัติได้

นายรัฐ คลังแสง มหาสารคาม ต้นฉบับ

สาเหตุที่ ๓ เป็นปัญหาเรื่องคน เมื่อกฎ ระเบียบ มันมีหลายตัว เมื่อขั้นตอน มันยุ่งยาก ก็ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานนั้นเกิดความสับสน ทั้งผู้ขออนุญาตและผู้ให้อนุญาต ไม่สามารถเข้าใจขั้นตอนและปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

นายรัฐ คลังแสง มหาสารคาม ต้นฉบับ

อย่างไรก็ตามครับท่านประธาน สาเหตุทั้ง ๓ อย่างที่กล่าวมานั่นก็เป็นอุปสรรค ที่สำคัญ แต่อย่างไรก็ตามไม่น่ากลัวเท่าอุปสรรคเรื่องคนครับท่านประธาน คือคนหรือเจ้าหน้าที่ ที่มีความเข้าใจระเบียบเป็นอย่างดี แต่ว่าอาศัยช่องว่างในการประวิงเวลา หรือพูดง่าย ๆ ก็คือมีการเรียกรับผลประโยชน์จากผู้รับเหมาที่ได้รับการว่าจ้างแล้วนะครับ นี่คือส่วนที่ต้อง รีบจัดการ

นายรัฐ คลังแสง มหาสารคาม ต้นฉบับ

โดยสรุปครับท่านประธาน ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา กระผมจึงขอสนับสนุน ให้มีการส่งเรื่องไปยังคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง หรือจะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา ก็แล้วแต่ สุดแท้แต่มติของที่ประชุม เพื่อแก้ไขระเบียบขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนในการ ขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้ ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของหน่วยงาน ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของ ผู้รับจ้าง ผู้รับเหมา แต่เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเจ้าของพื้นที่ กราบขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านสุดท้ายท่านอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด เชิญครับ

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทาง บูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจังหวัดในพื้นที่ เขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ท่านประธานครับ ภูเขายังมีหมอก ท้องฟ้ายังมีฝน คนไทยต้องไม่ยืนงงในดงป่าสงวนแห่งชาติครับ ป่าสงวนแห่งชาติคืออะไร ป่าสงวนแห่งชาติ คือ ป่าที่พระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนป่า พุทธศักราช ๒๔๘๑ ได้ประกาศว่าเป็นป่าสงวน และป่าคุ้มครอง ปัญหาอยู่ตรงไหนครับ ปัญหาคือประกาศว่าเป็นป่าสงวนไปแล้ว เมื่อประกาศเสร็จให้เป็นป่า เป็นแล้วเป็นเลย จะไม่เป็นก็ต้องมีการเพิกถอนสภาพป่า ปัญหาอยู่ตรงนี้ล่ะครับว่า เวลาประกาศแล้วจะเพิกถอนมันเพิกถอนยาก ต้องใช้พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ จะยกเลิกต้องออกกฎกระทรวง ตามมาตรา ๗ คำถามคือ ถ้าป่าสงวนแห่งชาติ ณ ปัจจุบันไม่ได้คงสภาพความเป็นป่าแล้ว จะเพิกถอนได้อย่างไร เพราะถ้าเพิกถอนไม่ได้จะมีปัญหาตามมามากมาย เสียของครับ จะทำถนน จะทำสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้กับชุมชน ให้กับภาคประชาสังคมทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องเอาให้ชัดว่าตกลงป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเกิดก่อนคนหรือคนเกิดก่อนป่า และต้องชี้ชัด ๆ ครับว่ามันมีแนวทางช่องทางกระบวนการใดหรือไม่ ที่จะทำให้ การเพิกถอนสภาพป่าสงวนแห่งชาตินั้น สามารถเพิกถอนได้ด้วยอำนาจของประชาชน แน่นอนครับ เรายึดโยงอ้างอิงเอากับ อปท. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบจ. เทศบาล สามารถเพิกถอนได้หรือไม่ แต่ถ้าไม่แก้แทบจะเรียกได้ว่าไม่สามารถจะเพิกถอนและเรา ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ดังนั้นผมจึงขอวางกรอบการอภิปรายของผมในครั้งนี้ว่าเป็น ๓ ปัญหา และ ๕ แนวทางในการแก้ไข ๓ ปัญหา ผมรวบรวมขมวดตัดตอนมา

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ปัญหาประการที่ ๑ ถ้าเราเพิกถอนไม่ได้หรือไม่สามารถเพิกถอนโดยง่าย การขออนุญาตการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ เป็นการขออนุญาตที่เกี่ยวข้องกับหน่วยราชการ หลายหน่วย มีขั้นตอน มีกระบวนการ มีการใช้เอกสารหลักฐานอ้างอิงจำนวนมาก ที่สำคัญ ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการมาก เรียกว่า กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้ เช่น กรณีของ การขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎกระทรวง การขออนุญาตทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ต้องให้อธิบดีกรมป่าไม้ เป็นผู้พิจารณาอนุญาต จึงจะสามารถดำเนินการได้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีลำดับ มีกระบวนการ มีขั้นตอนมากกว่า ๓ เดือน จึงไม่ทันต่อสถานการณ์และไม่ทันต่อการสร้างภาระงบประมาณ คือของบประมาณไปก็รอกันแบบสะพาน ๗ ชั่วโคตร และกระบวนการการขออนุญาต เข้าทำประโยชน์นั้น เป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ โดยการ ดำเนินการเกิดจากเจ้าหน้าที่ต้องเริ่มต้นจากการพิจารณาว่าจะอนุมัติได้หรือไม่ ซึ่งไม่สามารถ ทำได้ทันทีครับ เนื่องจากอะไรครับ เจ้าหน้าที่ Play Safe Guard สูงครับ ต้องไปดูกฎ ระเบียบ ข้อบังคับกฎหมาย ต้องมีการตีความ ต้องหารือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรียกว่า ถ้าถามกฤษฎีกาได้ก็ต้องไปถามกฤษฎีกาครับ เพราะ Play Safe เจ้าหน้าที่ก็ไม่อยาก เดือดร้อน ทีนี้พอไปหารือหลายหน่วยงานครับท่านประธาน ก็ต้องรอการเดินทางของหนังสือ ตั้งแต่เดินทางไปถาม แล้วก็รอหนังสือตอบเดินทางกลับมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชน แล้วก็ต้องรอรับฟังความเห็นให้ครบถ้วนรอบด้าน นี่เป็นปัญหาประการที่ ๑

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ปัญหาประการที่ ๒ ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐต้องจัดทำรายงาน การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะเรียกว่า EIA EHIA ก็ต้องไปทำ มีการประเมิน โครงการต่าง ๆ ตามแนวทางปฏิบัติของใครครับ ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้กำหนดไว้ว่า ก่อนเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าทุกกรณีนั้นต้องขออนุญาต ประเด็นปัญหา สำคัญอีกเรื่องคือการรับฟังความเห็น การเปิดเวทีรับฟังเสียงสะท้อนจากพี่น้องประชาชน ที่เรียกว่า Public Hearing ประชาชนบอกว่าศัพท์แสงที่ใช้พูดคุยในการทำประชาพิจารณ์ ในการรับฟังเสียงประชาชนนั้น เต็มไปด้วยเนื้อหาศัพท์วิชาการที่ยากต่อการทำความเข้าใจ บางทีก็มีกระบวนการในการ Set Up จัดฉาก ทำกระบวนการว่า Hearing ฟังครบถ้วน เรียบร้อยแล้วแต่มีธง อย่างนี้ก็ทำให้ประชาชนและประเทศชาติเสียโอกาส

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ปัญหาประการที่ ๓ การจัดทำข้อมูลและเอกสารประกอบคำขออนุญาต การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า ต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกันจากหลายหน่วยงาน ประกอบกับว่า ถ้าไปขอดำเนินการเกี่ยวกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่เป็นพื้นที่ป่าผืนใหญ่ อันนี้หนักเลยครับ ต้องใช้ระยะเวลาตั้งแต่การตรวจสอบพื้นที่ ต้องจัดทำเอกสารประมวลความรู้และดำเนินการ ให้ครบถ้วนตามกระบวนการ ถามว่าวันนี้นะครับ ไม่ได้ว่าดูแคลนเทคโนโลยีของประเทศเรา หรอกครับ แต่ผมถามว่าระหว่างการจัดทำแผนที่ของหน่วยงานรัฐของเราบางหน่วยงาน กับการใช้บริการองค์กรระดับโลกที่ใช้ฟรี เช่น Google Map เราเลือกเชื่ออะไร ระหว่าง กรมแผนที่สักหน่วยงานหนึ่งกับแผนที่ของ Google Map

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ดังนั้นเราควรจะเปิดพื้นที่เพื่อรองรับและมีช่องทางให้เราสามารถรับความ หลากหลายและข้อมูลจากเทคโนโลยีที่เราสามารถเข้าถึงและใช้งานได้โดยง่าย พื้นที่ เป้าหมายบางแห่งขออนุญาตในหลายขั้นตอน ตั้งแต่ส่งเรื่องไปจนบัดนี้ยังไม่ส่งกลับมา ภารกิจของกรมป่าไม้ก็มีมาก ภารกิจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติก็มีมาก ดังนั้นประชาชนก็ต้องทนรอไป ทั้งที่จริง ๆ แล้วถ้าเราปรับแก้และบูรณาการร่วมกัน ในการแก้ปัญหาประชาชนก็จะได้ประโยชน์ นั่นเป็นปัญหา ๓ ประการ ที่ผมชี้ชัด ๆ ขมวดมา ให้เห็นแบบเน้น ๆ ครับท่านประธาน ผมมี ๕ แนวทางในการเสนอเพื่อจะแก้ไขปัญหา ในเรื่องนี้

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

แนวทางที่ ๑ เสนอให้มีการทบทวนขั้นตอนและกระบวนการในการ ขออนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้ ตลอดจนพื้นที่ป่าสงวน และหารือให้ครบถ้วนจาก ส่วนราชการอื่น ๆ หารือฝ่ายท้องถิ่น เพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้สอดคล้องกับ สถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

แนวทางที่ ๒ นี่สำคัญครับท่านประธาน จัดทำฐานข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือที่เรียกว่า Big Data เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพ มากยิ่งขึ้น

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

แนวทางที่ ๓ ต้องฝึกอบรม จัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้สามารถปฏิบัติงาน ในเรื่องของระเบียบขั้นตอนการอนุญาตและการให้ใช้พื้นที่ ให้ใช้ประโยชน์ป่าไม้ เพื่อให้เกิด การบูรณาการร่วมกันในการดำเนินการใช้พื้นที่ป่า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

แนวทางที่ ๔ การตรวจสอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA EHIA ควรกระจายอำนาจให้สภาท้องถิ่นมีส่วนร่วม ตรงนี้ล่ะครับ ที่เรียกว่ากระบวนการ มีส่วนร่วมจากพี่น้องประชาชนและทุกภาคส่วน เป็นการเปิดพื้นที่ให้ทุกคนมีอารมณ์ ความรู้สึกร่วมกันว่า เราเป็นเจ้าของทรัพยากรป่าไม้ร่วมกัน และจิตวิญญาณแห่งความหวงแหน และการพัฒนาผู้ใช้ประโยชน์จะได้เกิดขึ้น

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

แนวทางที่ ๕ การจัดทำแผนที่ฐานข้อมูลในการกำหนดแนวเขตการใช้ ประโยชน์ จะต้องกำหนดขอบเขตที่ดินทุกประเภทให้ชัดเจน ไม่ให้ตีความซ้ำซ้อนทับซ้อนกัน พื้นที่ใดควรจะคงไว้เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติก็คงไว้ พื้นที่ใดที่ไม่เหลือสภาพป่าแล้ว ต้องเปิดโอกาส เปิดช่องทาง จะแก้กฎหมายก็ต้องแก้ จะเสนอ พ.ร.บ. ประกอบการพิจารณา ก็ต้องทำ นั่นคือให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วเราก็อย่าไปคิดนะครับว่าจะไปไว้ใจ ท้องถิ่นได้อย่างไร เพราะถ้าท่านไม่ไว้ใจท้องถิ่นเท่ากับว่าท่านไม่ไว้วางใจประชาชน เพราะผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชน

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ดังนั้นการเพิกถอนสภาพป่า อย่าให้กระจุกตัวเป็นคอขวดครับ ต้องกระจาย อำนาจและเปิดพื้นที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วม ท่านประธานที่เคารพครับ เข้าป่าก็ต้องก่อไฟ แต่จะเข้าใจต้องใช้เวลา เรื่องนี้จะไม่เกิดประโยชน์ครับ ถ้าทุกฝ่าย Guard สูง ไม่เปิดพื้นที่และปรับเปลี่ยน Mindset อย่างที่ผมเคยกราบเรียนครับ คนบางคนเห็นปัญหา ในทุกโอกาส แต่คนบางคนเห็นโอกาสในทุกปัญหา ถึงเวลาที่เราจะกระจายอำนาจ ถึงเวลา ที่เราจะลดการกระจุกตัวด้วยการกระจายอำนาจ ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชน ด้วยความเคารพครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

มีผู้เสนอญัตติขอสรุปอยู่ ๓ ท่าน ท่านแรกท่านทรงยศ รามสูต เชิญครับ

นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ เพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ผม ทรงยศ รามสูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทยในฐานะผู้เสนอญัตติ ขอสรุปญัตติของผมในเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจังหวัดพื้นที่ในเขตป่าสงวน เพื่อลดขั้นตอนในการ อนุมัติของท่านอธิบดี

นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ

ซึ่งตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่แล้วจนถึงวันนี้มีเพื่อนสมาชิกทั้งที่เสนอญัตติ คล้ายคลึงกัน แล้วก็ที่มาอภิปรายก็พูดถึงปัญหา ก็คงจะทราบว่าตั้งแต่เราจะต้องเบิกงบประมาณ จะต้องเอาเอกสารของทางราชการมารองรับในเขตพื้นที่ป่า มีหลายพื้นที่ที่มีปัญหา ที่เพื่อนสมาชิกได้อภิปราย ไม่ว่าจะเป็นป่าสงวน ไม่ว่าจะเป็นอุทยานแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็น เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า แล้วบางครั้งก็มีในส่วนของป่าชายเลนและนิคมสร้างตนเอง ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันนะครับ โชคดีจังหวัดน่านเมื่อวันศุกร์ วันเสาร์ ที่ผ่านมา พอดีท่านรองนายกรัฐมนตรีท่านภูมิธรรม ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน มอบหมายให้ดูแล คทช. ท่านพาเจ้าหน้าที่ สคทช. ไปดูแลแก้ปัญหาที่เมืองน่านพร้อมกับ ทางทีมงานพาณิชย์โดยท่านปลัดกระทรวงพาณิชย์ ก็ไปแก้ไขปัญหาเรื่องสินค้า GI ซึ่งเป็น สินค้าที่จะบ่งชี้ที่ทางภูมิศาสตร์นะครับว่ามันมีต้นกำเนิดสร้างจากที่ไหน มีวิสัยทัศน์ที่จะ รีบแก้ปัญหา โดยจะใช้ คทช. แก้ เพราะถ้าไม่รีบแก้ ปีหน้าสินค้าประเภทไม้ กาแฟ ยาง โกโก้ น้ำมันปาล์มและถั่วเหลืองอาจจะไม่สามารถส่งไปที่ EU ได้ ถ้าเราไม่สามารถระบุแหล่งที่มาได้

นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ

นอกจากนี้พอ สคทช. มาผมก็เลยถือโอกาสได้ขอความรู้จากเขาว่า ญัตติของผม เข้าสภามันมีปัญหาเยอะมันจะแก้ไขอย่างไร เพราะว่าพยายามไปสืบถาม ไปสอบถามข้อมูล หลายครั้งก็ยังได้ข้อมูลไม่ถูกต้อง ก็ได้รับข้อมูลมาว่าในการที่จะขออนุญาตแต่ละที่ มีข้อมูล มีข้อกฎหมาย กฎ ระเบียบที่แตกต่างกัน อย่างเช่น ในส่วนของเขตป่าสงวนที่เป็นพื้นที่ราบ หรือลุ่มน้ำระดับ ๓ ๔ ๕ เรื่องนี้ต้องขอตาม พ.ร.บ. ป่าสงวน มาตรา ๑๖ ซึ่งก็มีพื้นที่ทั้งหมด ที่ คทช. เขารับผิดชอบ ๑,๕๘๒ แปลงทั่วประเทศ ซึ่งตอนนี้ปัญหามันติดขัดอยู่ตรงในพื้นที่ ของที่ อบต. จะต้องสำรวจ ปัญหาใหญ่ก็คือในเรื่องของการทำขอบเขตที่ดินรายแปลง ซึ่งพอดีจังหวัดน่านเป็นจังหวัดต้นแบบ ก็เลยได้อนุมัติเยอะกว่าเพื่อน จะทำอย่างไรที่จะให้ จังหวัดอื่น ๆ ได้รับรู้ รับทราบข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้จะได้ไปแก้ไขปัญหา เพราะได้รับทราบว่า ในส่วนของ คทช. ถ้าหลังจากอนุมัติแล้ว สามารถไปดำเนินการซ่อมสร้างในพื้นที่ของ คทช. ได้เลย แล้วก็ได้ทราบว่าเขามอบหมายทางท่านผู้ว่าราชการจังหวัด โดยทางท้องถิ่นเสนอไปขอ ผู้ว่าได้เลย แล้วในส่วนของพื้นที่ป่าสงวนถ้าได้รับการอนุมัติแล้วก็จะมีผล ๓๐ ปี แต่ถ้าอุทยาน ๒๐ ปี ส่วนในลุ่มน้ำชั้น ๑ ชั้น ๒ ก็มีการขอแตกต่างกันไป โดยลุ่มน้ำ ชั้น 1A ชั้น 1B และชั้น ๒ จะต้องขอตาม พ.ร.บ. ป่าสงวน มาตรา ๑๙ อีกมาตราหนึ่ง โดยให้ หน่วยงานของรัฐที่ดูแล อบต. ขึ้นไปอีกที เป็นเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๙ ซึ่งเวลาจะขอ ก็จะต้องระบุพิกัดว่าจะทำอะไร พิกัดไหน เท่าไร ซึ่งหลังจากอธิบดีอนุมัติมาก็จะส่งเจ้าหน้าที่ มาตรวจสอบ นี่ก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง

นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ

ส่วนอุทยานแห่งชาติ พอดีผมอยู่กรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งท่านประธานก็ตั้งคณะทำงานเรื่องนี้ขึ้นมาเมื่อเดือนที่แล้ว แต่พอดีเรื่องนี้ ผมยื่นไปตั้งแต่สมัยประชุมที่แล้ว เมื่อวานเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมา ทางอุทยานแห่งชาติ เขาบอกว่าเวลาจะขอเข้าไปทำโครงสร้างพื้นฐานในเขตพื้นที่ ถ้าเวลาไปซ่อมให้ขอตาม มาตรา ๒๒ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ ถ้าสร้างให้ขอตามมาตรา ๒๓ จริง ๆ ทางอุทยาน เขาบอกใช้เวลาไม่นาน แต่ผมคุยกับเพื่อนสมาชิกหลายคนมันตรงกันข้าม หลายคนบอกว่า เป็นปีเลยยังไม่ได้ เราก็ต้องมาหาจุดว่าจะแก้ไขอย่างไร นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายเรื่อง

นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ

ฉะนั้นผมก็เลยคิดว่าเราควรจะต้องมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษา เรื่องนี้อย่างจริงจังที่จะแก้ไขปัญหา เพื่ออย่างน้อยไม่ว่าจะตั้งกรรมาธิการหรือจะมอบหมาย ให้กรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าไปพิจารณาก็ไม่มีปัญหา หรอกครับ อย่างน้อยเราจะได้วางแผนแก้ไขปัญหาระยะสั้นทำอย่างไร เช่น ให้ความรู้กับ อบต. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลัก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เขาจะไปแก้ไขปัญหา เพราะหน่วยงานอื่นเขาขอโดยตรงจากภาครัฐตามมาตรา ๑๙ หรือตามข้อกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องได้ อย่างน้อยเราต้องให้ความรู้ว่าเขตเขาอยู่ในพื้นที่ไหน เขตป่า เขตอุทยาน ป่าสงวน ลุ่มน้ำไหน ควรขอแบบไหน มีกรณีตัวอย่างให้เข้ามาศึกษาวางแผนระยะสั้น

นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ

ระยะกลางเราจะต้องทำการดูว่าที่ผ่านมานี้ ที่ยื่น ๆ ไปมันติดขัดตรงไหน อย่างที่ผมได้กล่าวไปเมื่อสักครู่ว่า ของจังหวัดน่านได้เปรียบคือเราทำขอบเขตที่ดิน ขอบเขต รายแปลงเยอะ แล้วก็สมบูรณ์ถึงได้เปรียบ แล้วก็มาดูว่า อบต. ไหนที่ยังไม่เข้าใจ หรือขั้นตอนไหน ที่ติดขัดจะได้ดำเนินการให้ถูกต้อง แล้วก็ได้ทราบข่าวว่าหน่วยงานของรัฐก็พยายาม มอบหมายผ่องถ่าย อย่างเช่น ทางท่านอธิบดีก็ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ สำนักงาน จัดการทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่มีอำนาจในการอนุมัติได้ ก็ถือว่าลดขั้นตอน แล้วก็ได้รับทราบว่า คทช. ก็บอกว่า ถ้าเขาอนุมัติแล้วทำเรื่องไปที่ผู้ว่าได้เลย

นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ

นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายเรื่อง อย่างเช่น เรื่องของงบประมาณ เมื่อวานนี้ ทางกรมป่าไม้ได้มาชี้แจงที่กรรมาธิการ เขาบอกว่ามีเรื่องค้างอยู่เกือบทุกหมวด ขอไปทั้งหมด ๑๓๐,๐๐๐ เรื่อง เพิ่งพิจารณาได้ ๓,๐๐๐ เรื่อง อีกตั้ง ๑๐๐,๐๐๐ กว่าเรื่อง เขากำลังเสนอ ของบว่า ขอสัก ๕๐,๐๐๐ ล้านบาท ก็อาจจะได้อีกสัก ๕๐,๐๐๐-๖๐,๐๐๐ เรื่อง เพราะฉะนั้น ขั้นตอนนี้มันล่าช้าจะต้องแก้ไขอย่างไร วันที่ทาง สคทช. ไปที่จังหวัดน่าน ผมถามว่าน่าจะ บูรณาการกัน เขาบอกบูรณาการก็ต้องขอเป็นมติ ครม. แล้วต้องระบุในงบบูรณาการ ไม่อย่างนั้นแต่ละหน่วยงานก็ไม่สามารถจะของบประมาณพร้อม ๆ กันได้ นี่คือการติดขัด ที่ข้อกฎหมาย ข้อระเบียบ

นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ

นอกจากนี้การแก้ไขปัญหาในระยะยาว ก็ควรจะต้องมีแก้ไขตัวบทกฎหมาย เพราะเรื่องเกี่ยวกับที่ดิน เรื่องเกี่ยวกับการป่าไม้ กฎหมายจริง ๆ เขาเขียนห้ามไว้นะครับ รัฐบาลเองก็พยายามหาช่องว่าจะแก้ไขได้อย่างไร เพราะฉะนั้นผมคิดว่าถ้าเรามีการตั้ง กรรมาธิการมาศึกษา เราจะรู้ว่าจะแก้ตรงไหน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ พ.ร.บ. ป่าสงวน พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ร.บ. อุทยาน แล้วก็ พ.ร.บ. ที่ดินอีก เพราะฉะนั้นถ้าเรามีกรรมาธิการขึ้นมา ศึกษา ก็จะพิจารณาแก้ไขเรื่องนี้ได้อย่างเต็มที่ แล้วก็ต้องฝากมอบให้กรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ท่านประธานก็บ่นว่ารับมาหลายเรื่อง แล้วก็ช่วยโอน บุคลากรไปช่วยงาน แล้วก็โอนงบประมาณไปช่วยด้วย เพราะตอนนี้ของเรามีเกิน ๓ อนุแล้ว แต่ก็ยินดีทำงานนี้นะครับ เพื่อแก้ไขปัญหาก็ฝากเพื่อนสมาชิกได้พิจารณาตามข้อบังคับ การประชุมข้อที่ ๔๙ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านมานพ คีรีภูวดล ได้มอบให้ท่านประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ได้สรุปแทน เชิญครับ

นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันพรรคก้าวไกล ขอใช้สิทธิอภิปรายปิดญัตติของท่าน สส. มานพ คีรีภูวดล ซึ่งได้มอบหมายให้กระผมได้อภิปรายปิดญัตติ ขอให้สภาตั้งกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาการเข้าถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญด้านการพัฒนา สาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานของชุมชนท้องถิ่นในเขตป่าสงวนแห่งชาติและป่าอนุรักษ์ ซึ่งญัตตินี้มีพี่น้อง สส. รวมทั้งพี่น้องประชาชนทั้งบนเขา บนดอย บนเกาะ ภูเขาต่าง ๆ แล้วก็เกี่ยวข้องกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมือง ชาวเล ชาวมอแกน ชาวอูรักลาโวยจ ซึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้สั้น ๆ ง่ายนิดเดียวครับ เราอภิปรายกันมา ๒ อาทิตย์ ปัญหาเกิดจาก การรวมศูนย์อำนาจ คือรัฐรวมศูนย์ราชการ แล้ววันนี้ผมยืนยันว่า อบต. เทศบาล หรือ อบจ. มีความเข้าใจในความต้องการของพี่น้องประชาชน ในการแก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะไปทำถนน เดินสายไฟฟ้าในเขตป่า เพื่ออำนวยความสะดวกกับพี่น้องประชาชน ซึ่งแน่นอนว่าในหลายพื้นที่มีหน่วยราชการไปตั้งอยู่ รัฐยอมรับความเป็นหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานีอนามัย หรือ รพ.สต. มีโรงเรียน มีสถานีตำรวจอยู่ในเขตป่าครับ แต่เวลา อบต. หรือพื้นที่ท้องถิ่นต่าง ๆ เขาจะเข้าไปพัฒนาตั้งงบประมาณ กลับติดโครงสร้างระเบียบ ของกรมต่าง ๆ ในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องนี้ง่ายนิดเดียวครับ บางอย่างแก้ระเบียบก็ได้ครับ อำนาจรัฐมนตรี แค่ประชุมสั่งการ ผมก็ต้องบอกไปถึงท่านรัฐมนตรีพัชรวาท วงษ์สุวรรณ ครับ วันนี้ประชุม ข้าราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มอบนโยบาย ๔ ด้าน ยินดีครับ ทำงานมา ๕ เดือน เพิ่งจะมอบนโยบายกับอธิบดีบางกรม ผมก็อยากให้ท่านใช้ความกล้าหาญ เรื่องแบบนี้แก้ไขปัญหาโดยรัฐมนตรีสั่งการก็ได้ แต่วันนี้เอาล่ะ เสนอญัตติเพื่อจะให้มัน มีข้อมูลที่มากมาย มีความกระจ่าง มีข้อมูลที่เป็นละเอียดถี่ถ้วน ผมก็อยากให้ตั้งญัตติ แต่ถ้ารัฐบาลบอกว่าจะส่งเรื่องนี้ไปให้กรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้เข้ามาพิจารณาผมก็คิดว่ามันก็เป็นอีก ๑ ภารกิจ ที่กรรมาธิการสามัญจะสามารถ ดำเนินการได้ ก็เช่นเดียวกันผมจึงอยากวิงวอนว่าญัตติเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญและต้องเร่ง ดำเนินการแก้ไข เพราะปัญหาที่พวกเราพูดกันมาทั้ง ๒ อาทิตย์ ทั้ง สส. รัฐบาล ฝ่ายค้าน พูดกันมานี้มันหมักหมม มันสะสมกันมากว่า ๔๐-๕๐ ปีมาแล้ว แล้วพี่น้องประชาชนที่อยู่ ในพื้นที่ต่าง ๆ เขาประสบปัญหาทั้งการเดินทาง ทั้งการใช้ชีวิต คุณภาพชีวิต มากมาย หลายอย่างครับ

นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ผมจึงคิดว่าญัตติวันนี้มีความสำคัญแน่นอน แล้วก็ต้องอภิปรายบอกว่าวิธีคิด ของข้าราชการที่รวมศูนย์เหล่านี้ล่ะครับ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ต่าง ๆ ที่ผมเคยยกตัวอย่างอภิปราย ทำไมเวลาเอกชนได้ใช้สิทธิในพื้นที่เขตป่าสงวน เขตอุทยานแห่งชาติ เขตป่าอนุรักษ์ ทำไมเอกชนถึงได้สิทธิในการใช้ ในการเช่าสัมปทาน ๓๐ ปีได้ หรือแม้กระทั่งในพื้นที่เกาะ ที่ผมเคยอภิปราย เกาะลันตา เกาะพีพี พื้นที่สูงชัน ๓๕ องศา ๓๕ เปอร์เซ็นต์นี้ ปรากฏว่า อยู่ในเขตอุทยานแท้ ๆ แต่ไปออกเอกสารสิทธิมีโฉนดขึ้นมาในเขตอุทยาน ในเขตป่าได้ครับ เรื่องแบบนี้เป็นสิ่งที่ราชการส่วนกลางจะต้องตระหนัก และต้องเร่งข้อมูลแก้ไขเรื่องนี้ครับ ผมเชื่อว่าถ้ารัฐมนตรีมีความกล้าหาญในรัฐบาลนี้ที่บอกว่าจะเข้ามาแก้ไขปัญหา แถลงนโยบายตั้งแต่โน่นล่ะครับ เดือนสิงหาคม เดือนกันยายนเข้ามา ผมเชื่อว่าปัญหาเหล่านี้ จะได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว และพี่น้องประชาชนจะได้รับประโยชน์ในการใช้พื้นที่ ของตัวเอง เป็นพื้นที่ทำมาหากิน พื้นที่ที่อยู่อาศัย

นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ถ้าเรื่องนี้ต้องถูกส่งไปที่กรรมาธิการสามัญจริง ๆ ตามมติ ของวิป ผมก็ยังเชื่อว่ากรรมาธิการจะเร่งแก้ไขปัญหา และถ้าท่านรัฐมนตรีพัชรวาท วงษ์สุวรรณ ได้ยินเสียงของผม นอกจากไปแถลงข่าวพูดถึงท่านมาหลายครั้งแล้ว เรื่องการบุกรุก ของบรรดากลุ่มนายทุนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบุกรุกเอาเครื่องจักรขึ้นไปไถที่เกาะลันตา บุกรุกในเขตอุทยานแห่งชาติ ท่านก็ไม่เคยมีปฏิกิริยาโต้ตอบเลย นิ่งมากครับ รัฐมนตรีคนนี้ นิ่งมาก ผมก็ต้องสะท้อนไปให้ได้ยินถึงท่านว่าล่ะครับว่า เพิ่มความกล้าหาญแสดงฝีมือหน่อยครับ ให้คนรุ่นผมได้เห็นว่าวันนี้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่า การใช้พื้นที่ป่าอย่างเป็นธรรมทั่วถึง ไม่ใช่เอาใจเฉพาะนายทุน กลุ่มทุนเท่านั้น และขอให้ กำลังใจข้าราชการดี ๆ ในส่วนกลาง ข้าราชการดี ๆ ในส่วนภูมิภาค ที่ไม่เอาประโยชน์ ของตัวเองเป็นที่ตั้ง และมองเห็นประโยชน์ของพี่น้องประชาชนในส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ขอให้ข้าราชการเหล่านั้นได้มีความสุขในชีวิตราชการ และเติบโตเป็นข้าราชการที่ดี ให้บริการ ประชาชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมด้วยครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านสุดท้าย ท่านสาธิต ทวีผล เชิญครับ

นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม สาธิต ทวีผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี เขตเลือกตั้งที่ ๒ พรรคก้าวไกลครับ ท่านประธานครับในฐานะผมผู้เสนอญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาการขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากนิคม สร้างตนเองหรือพื้นที่จากหน่วยงานราชการอื่นในเขตปกครองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผมขอขอบพระคุณท่านประธานที่กรุณาให้ผมได้สรุปญัตติ และขอขอบคุณเพื่อนสมาชิก ที่ได้ร่วมกันอภิปราย ร่วมกันสะท้อนปัญหา ร่วมกันเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาครับ

นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ

โดยภาพรวมของเพื่อนสมาชิกที่ได้มีการอภิปราย สรุปออกมาได้ดังนี้ครับว่า มีความล่าช้าในขั้นตอนการดำเนินงานขออนุญาตใช้พื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นจากป่าไม้ จากหน่วยงานราชการอื่น หรือจากนิคมสร้างตนเอง ท้องถิ่นจึงไม่สามารถที่จะดำเนิน นโยบายสาธารณะที่ได้หาเสียงกับพี่น้องประชาชนไว้ได้ แล้วก็ไม่สามารถจัดการบริการ สาธารณะได้ ประชาชนจึงต้องเป็นผู้เสียประโยชน์จากขั้นตอนระเบียบปฏิบัติงานที่ล่าช้า ต่าง ๆ เหล่านี้ ผมขอยกตัวอย่างท้องถิ่นในพื้นที่ของอำเภอพัฒนานิคม เนื่องจากจังหวัดลพบุรีนั้น เป็นนิคมสร้างตนเองแห่งแรกของประเทศไทยครับ การจะทำถนนหรือเข้าไปปรับปรุงถนน สัก ๑ เส้น ในเขตปกครองส่วนท้องถิ่นของเทศบาลหรือ อบต. จะต้องมีการขออนุญาต ที่วุ่นวาย ต้องมีการส่งเรื่องไปขออนุญาตที่ผู้ปกครองนิคมสร้างตนเองครับ ผู้ปกครองนิคม สร้างตนเองก็ต้องส่งเรื่องไปที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กว่าจะมีหนังสือตอบตกลง กลับมาว่าให้ใช้พื้นที่ได้ นายกไม่อยู่แล้วครับท่านประธาน นายกหมดสมัยไปแล้ว บางท่าน ไม่ได้กลับเข้ามาครับ หรือบางท่านได้กลับเข้ามาก็ได้ดำเนินนโยบายต่อ แต่คนที่รอก็คือพี่น้อง ประชาชนครับ เดือดร้อนไปถึงวัดวาอาราม ผมเองได้ลงพื้นที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจาก วัดใหม่โพธิ์ทอง อันนี้ขอยกตัวอย่างนะครับ จะทำการปิดทองหลังลูกนิมิต อนุญาตสร้างโบสถ์ ไปแล้วรอบหนึ่ง จะปิดฟังลูกนิมิตต้องไปขออนุญาตสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติในการ จัดงาน จัดกิจกรรม สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติก็ต้องมีหนังสือยินยอมข้อตกลงระหว่าง นิคมสร้างตนเองกับวัด ส่งเรื่องไปตั้งแต่ปี ๒๕๖๕ ปัจจุบันนี้จะครบ ๒ ปีแล้ว ยังไม่มีหนังสือ ตอบกลับมา การจัดงานปิดทองฝังลูกนิมิต ถ้าจะให้ผู้คนมาเที่ยวงานเยอะ จะต้องจัดในช่วง ข้ามปีระหว่างปีเก่ากับปีใหม่ และการจัดหามหรสพ ไม่ว่าจะเป็นวงดนตรีหรือการละเล่นต่าง ๆ ลิเกอะไรอย่างนี้ จะต้องมีการมัดจำล่วงหน้าครับท่านประธาน บางวงต้องมัดจำเป็นปี เพราะคิวงานค่อนข้างเยอะ ทำให้มันเกิดปัญหาครับท่านประธาน เราต้องยอมรับว่าปัญหาพวกนี้มันมีอยู่จริง แต่เหมือนเรา มองไม่เห็น มาแล้วก็ไปไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้

นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ

ผมไม่ได้ติดใจครับท่านประธานว่า วิปตกลงกันว่าจะตั้งกรรมาธิการวิสามัญ หรือจะส่งปัญหาเรื่องนี้ ญัตติพวกนี้ไปให้กรรมาธิการสามัญหลักคณะไหน แต่อยากให้ พิจารณาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง จริงใจ นี่ไม่ใช่ผลประโยชน์ของหน่วยงานองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นหรือผู้รับเหมา หรือนายทุนอะไรครับท่านประธาน แต่นี่คือผลประโยชน์ ของพี่น้องประชาชน ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านสมาชิกครับ เนื่องจากญัตติเรื่องนี้ผู้เสนอโดยเสนอเพื่อขอตั้งกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณา แต่จากการที่ได้รับฟังการอภิปรายของท่านสมาชิก ผมเห็นว่าประเด็น ปัญหานี้สมควรให้ส่งคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้เสนอ และสมาชิกจะขัดข้องประกันได้หรือไม่ครับ ถ้าไม่ขัดข้องผมจะขออาศัยอำนาจตามข้อบังคับ ข้อ ๘๘ โดยการถามมติว่าจะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ครับ ถ้าไม่มีสมาชิก ท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่น ถือว่าที่ประชุมนะครับลงมติเห็นชอบให้ส่งคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศึกษาญัตติทั้ง ๕ ฉบับนี้นะครับ เชิญกำหนดระยะเวลา ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการครับ

นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธาน กระผม ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เสนอระยะเวลา ๙๐ วันครับ ขอผู้รับรองด้วยครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ให้พิจารณาภายใน ๙๐ วันนะครับ ท่านสมาชิกครับ ถือว่าวันนี้เราได้ประชุมกันมาพอสมควรแล้ว ขอปิดประชุมครับ