เรียนท่านประธานที่เคารพค่ะ ดิฉัน การณิก จันทดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พรรคก้าวไกล เขต ๒ อำเภอ สารภี อำเภอเมืองเชียงใหม่ แล้วก็อำเภอสันกำแพง
จากรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของกองทุนการออมแห่งชาติ ที่รัฐบาล ได้กำหนดให้การออมเป็นวาระแห่งชาติ โดยได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการออม ระยะยาวตั้งแต่วัยทำงานจนถึงวัยเกษียณอายุ โดยภาพรวมแล้วจากรายงานถือว่าเป็น รายงานที่ดูค่อนข้างจะครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ว่าดิฉันมีข้อสังเกตเล็ก ๆ นะคะ
เรื่องแรกจะคล้าย ๆ กับท่านสมาชิกเมื่อสักครู่ เรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสมาชิก ในหน้า ๘๙ แล้วก็หน้า ๑๐๘ ของรายงาน เราจะเห็นว่าในปี ๒๕๖๔ มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ สมาชิกทั้งหมด ๓๘ ล้านบาท ส่วนปี ๒๕๖๕ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสมาชิกจะอยู่ที่ ๔๕ ล้านบาท ซึ่งในปี ๒๕๖๕ จะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ ๖.๙ ล้านบาท หากแยกย่อยออกมาจะเห็นว่า ค่าจัดกิจกรรมส่งเสริมการออมของปี ๒๕๖๔ ใช้ไปเพียงแค่ ๓ ล้านบาท แต่พอเป็นปี ๒๕๖๕ ใช้ไปทั้งหมด ๙.๙ ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเดิมถึง ๖.๘ ล้านบาท เมื่อเห็นผลการดำเนินงาน ในปี ๒๕๖๕ ที่ทาง กอช. ได้มีการจัดประชุมส่งเสริมวินัยการออมกับ กอช. ในระดับพื้นที่ แล้วก็มีการจัดอบรมตัวแทน กอช. ประจำหมู่บ้าน ดิฉันเห็นว่าการจัดประชุมและการอบรม มีรวมทั้งสิ้นถึง ๓๑ จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งคัดเลือกจากจังหวัดที่ กอช. ยังไม่เคยลงพื้นที่ แล้วก็จังหวัดที่มีสมาชิก กอช. น้อย เทียบจากจำนวนสมาชิกสะสมของปี ๒๕๖๔ กับปี ๒๕๖๕ ที่เพิ่มขึ้น ๕๗,๕๑๐ ราย เทียบกับจำนวนสมาชิกสะสมของปี ๒๕๖๓ กับปี ๒๕๖๔ ที่เพิ่มขึ้น ๖๒,๓๗๓ ราย กับการใช้งบประมาณของปี ๒๕๖๔ ที่ใช้ไป ๓ ล้านบาท แต่ว่าอันนี้ดิฉันเทียบ มาจากจำนวนสมาชิกสะสม ซึ่งดิฉันไม่สามารถหาข้อมูลว่าจำนวนสมาชิกใหม่ที่รับเพิ่มมา ของระหว่างปี ๒๕๖๓ เพิ่มขึ้นมาปี ๒๕๖๔ แล้วก็ปี ๒๕๖๔ เพิ่มขึ้นปี ๒๕๖๕ มีจำนวนเท่าไร ไม่แน่ใจว่าดิฉันหาข้อมูลไม่เจอ ตกหล่นประการใด เพราะว่าไม่เจอในรายงานฉบับนี้ แล้วก็ ทั้งจาก Website ของ กอช. เอง ก็เลยอยากจะฝากท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานเกี่ยวกับ ขอข้อมูลจำนวนสมาชิกใหม่ด้วย ซึ่งดิฉันเลยมีความกังวลว่าค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับสมาชิก ที่เพิ่มขึ้นจะเป็นการใช้งบประมาณที่เกิดประโยชน์ต่อการเพิ่มจำนวนสมาชิก กอช. ได้อย่างมี ประสิทธิภาพหรือไม่ ขอบคุณท่านประธานค่ะ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน การณิก จันทดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขต ๒ พรรคก้าวไกล วันนี้ ดิฉันขอหารือกับท่านประธาน ๓ เรื่องด้วยกันนะคะ
เรื่องแรก เนื่องด้วยกฎกระทรวงเรื่องการกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิด หรือบางประเภท ของพื้นที่บางส่วนในท้องที่ ตำบลหนองหอย ตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่ และตำบลท่าวังตาล ตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี ที่จังหวัดเชียงใหม่ พุทธศักราช ๒๕๔๘ ขอ Slide ด้วยค่ะ
กฎกระทรวงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่ออนุรักษ์พื้นที่โบราณสถานเวียงกุมกาม แต่ว่าในปัจจุบันวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชน สภาพบริบทพื้นที่โดยรอบได้เปลี่ยนเป็นสังคมเมืองมากขึ้น กลายเป็นจำกัดพื้นที่ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หลายพื้นที่ต้องเสียโอกาสในการพัฒนาทั้ง ๆ ที่ไม่ได้อยู่ใกล้ กับโบราณสถานในระยะ ๑๐๐ เมตร ไม่สามารถสร้างอาคารสูงได้เพื่อประกอบธุรกิจอย่างอื่น ทำให้ท้องถิ่นขาดรายได้จากการจัดเก็บภาษีค่ะ วันนี้ดิฉันจึงอยากจะขอหารือผ่าน ท่านประธานไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยว่าพอจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ หากพื้นที่ดังกล่าวจะได้รับการยกเว้นเฉพาะที่หรือเฉพาะส่วนในพื้นที่ ๓ หมู่บ้านของเขต เทศบาลตำบลหนองหอย ให้คงไว้เฉพาะการควบคุมอาคารในช่วงรัศมี ๑๐๐ เมตรของพื้นที่ รอบนอกแนวเขตโบราณสถานค่ะ
เรื่องถัดมา ท่านประธานเห็นอะไรในภาพไหมคะ ถ้าไม่เห็นก็คงไม่แปลก เพราะว่ามันมืดมากจริง ๆ นี่คือถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๑๔๗ ช่วงบริเวณบ้านป่าไผ่ ถึงบ้านดอยยาว ตำบลแช่ช้าง อำเภอสันกำแพง ซึ่งมีระยะทางกว่า ๔.๓ กิโลเมตร เส้นทางนี้ ประชาชนเขาใช้สัญจรไปยังน้ำพุร้อนสันกำแพง แล้วก็สถานที่ท่องเที่ยวมากมาย และยังเป็น ทางเชื่อมระหว่างจังหวัดเชียงใหม่กับจังหวัดลำพูนค่ะ หลายชีวิตต้องประสบอุบัติเหตุ สูญเสียคนที่รักไปจากความมืดบนท้องถนนเส้นนี้ค่ะ ไม่ใช่แค่คนนะคะ วัวควาย ก็โดนความมืดนี้พรากชีวิตไปเช่นเดียวกันค่ะ ดิฉันจึงอยากจะขอฝากท่านประธานไปยัง กระทรวงคมนาคม ขอให้เร่งรัดการแก้ไขปัญหาเพื่อให้แขวงทางหลวงเชียงใหม่ได้ดำเนินการ ติดตั้งไฟส่องสว่างในเส้นทางนี้ค่ะ
สำหรับเรื่องสุดท้ายที่จะหารือในวันนี้นะคะ นี่คือสวนสาธารณะบนพื้นที่ของ การรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งได้ถูกปล่อยรกร้างขาดการดูแล จากการที่ดิฉันได้เข้าไปพูดคุย กับประชาชนที่เข้ามาใช้ในพื้นที่นี้สำหรับออกกำลังกาย แล้วก็ทำกิจกรรมต่าง ๆ นะคะ ก็ได้รับเสียงสะท้อนมาว่าอยากให้พื้นที่นี้ได้ถูกกลับมาพัฒนาใช้ให้เกิดประโยชน์ อีกครั้งหนึ่ง จึงอยากจะขอหารือผ่านท่านประธานไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทย สังกัด กระทรวงคมนาคม ขอความอนุเคราะห์ช่วยเข้ามาตรวจสอบและจัดการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ให้กลับมาดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของการตั้งเป็นสวนสาธารณะใจกลางเมืองต่อไป ขอบคุณค่ะ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน การณิก จันทดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉัน ขอร่วมอภิปรายในญัตติหัวข้อน้ำท่วมภาคเหนือนะคะ ถึงประเด็นความสอดคล้อง ความมีประสิทธิภาพ และความต่อเนื่องของโครงการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน ของ สทนช. หรือว่าสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติค่ะ ดิฉันได้รับทราบข้อมูลจากหน่วยงาน ท้องถิ่น เมื่อปลายปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านมาหน่วยงานต่าง ๆ ของท้องถิ่นได้เข้าร่วมประชุมผังน้ำ โดยเฉพาะผังน้ำลุ่มน้ำปิง ในโครงการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน ร่วมกับทาง สทนช. สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปรากฏว่าได้รับเสียงสะท้อนมาจากหน่วยงานท้องถิ่นที่ทำงาน ใกล้ชิดกับประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม น้ำขัง น้ำรอการระบายในพื้นที่ ต่าง ๆ ซึ่งพวกเขาได้มีความกังวลเกี่ยวกับบางยุทธศาสตร์ในแผนแม่บทฉบับนี้ค่ะ เนื้อหา ในที่ประชุมกล่าวว่ามีการเขียนกำหนดรหัส Zone พื้นที่ โดยดิฉันจะพูดถึง ๒ โซน ที่สำคัญ
Zone แรกพื้นที่ทางน้ำหลากริมน้ำ ดิฉันหรือว่าประชาชนก็ไม่ได้มี ความกังวลแต่อย่างใด เพราะว่าทาง สทนช. ได้วิเคราะห์จากลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะ การเกิดน้ำท่วม ระดับน้ำท่วม แล้วก็ความเสียหายที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดอุทกภัย
แต่ว่า Zone ที่ ๒ Zone ที่เรียกว่า พื้นที่ทางน้ำหลากเพื่อระบายน้ำ ในส่วนนี้ในพื้นที่ที่ดิฉันรับผิดชอบไล่ตั้งแต่อำเภอเมืองเชียงใหม่ ตำบลท่าศาลา ตำบล หนองป่าครั่ง ตำบลวัดเกต ตำบลหนองหอย อำเภอสารภีทุกตำบลอีก ๑๒ ตำบล รวมไปถึง อำเภอสันกำแพง ตำบลแช่ช้าง ตำบลบวกค้าง ตำบลสันกลาง ส่วนนี้ดิฉันและหน่วยงาน ท้องถิ่นไม่ได้มีความติดใจแต่อย่างใด หากพื้นที่ของตนจะต้องรับมวลน้ำเพื่อส่งต่อไปยังพื้นที่ อื่น ๆ ที่ใกล้เคียง ตามหลักน้ำย่อมไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ พื้นที่ไหนที่อยู่สูงกว่าก็ย่อมต้องการ ระบายน้ำในพื้นที่ของตนออก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ของตน แต่ว่าในแต่ละพื้นที่ก็ไม่ได้มีใครอยากจะรับมวลน้ำมหาศาลนี้ เว้นแต่ในภาคพื้นที่ที่มีเกษตรกรรม หน่วยงานท้องถิ่นต้องเพิ่มภาระงาน เพิ่มภาระกำลังคน ต้องระดมทุกทรัพยากรที่มี เพื่อช่วย ระบายมวลน้ำเหล่านี้ออกไปทั้ง ๆ ที่ในแต่ละท้องถิ่นทั้งตัวเทศบาล อบต. รวมไปถึง อบจ. มีศักยภาพในการจัดการมวลน้ำเหล่านี้ไม่เท่ากัน พอ สทนช. แบ่ง Zone แล้ว ก็ได้ทำ ข้อเสนอแนะให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ผังน้ำตามรหัส Zone โดยระบุว่าถ้าเป็นพื้นที่ ทางน้ำหลากเพื่อระบายน้ำ ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม ชนบทและปศุสัตว์ อนุรักษ์ชนบท และเกษตรกรรม ชุมชน แล้วก็อื่น ๆ บางประการ แต่ในข้อเสนอแนะของ การใช้พื้นที่ในอนาคตไว้แบบนี้ ส่วนนี้ในความเป็นจริงของพื้นที่ไม่ได้เป็นไปตามที่ระบุ เพราะพื้นที่ที่ดิฉันได้กล่าวไปเบื้องต้นจะเป็นพื้นที่เมืองแทบจะทั้งหมด พื้นที่ของดิฉัน ในปัจจุบันเป็นพื้นที่จัดสรรเพื่อการอยู่อาศัยและอุตสาหกรรมค่ะ แน่นอนว่าพื้นที่เหล่านี้ เมื่อได้รับมวลน้ำมหาศาลย่อมเกิดความเสียหายต่อประชาชนเป็นวงกว้างและเป็นมูลค่า ที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ หรือแม้แต่ถ้าหากท่านจะระบุว่าให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม แล้วพื้นที่ เกษตรกรรมของเกษตรกรไม่ได้มีความสำคัญหรือคะ ทำไมพื้นที่เกษตรกรรมถึงจะต้อง แบกรับภาระมวลน้ำขังไว้ในพื้นที่ของตน ดิฉันจึงอยากจะให้มีการทบทวนแผนแม่บทของ ส่วนมาตรการที่ชัดเจนและสนับสนุนเพื่อให้พื้นที่รับน้ำเหล่านี้เป็นพื้นที่รับน้ำอย่างมี ประสิทธิภาพ สามารถจัดการได้ตรงตามวัตถุประสงค์โดยไม่เพิ่มภาระให้กับท้องถิ่นมากเกิน ศักยภาพ หากแผนแม่บทนี้ของ สทนช. มีผลบังคับใช้จริง ๆ ค่ะ นอกจากแผนแม่บทของ โครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน ดิฉันขอพูดถึงในพื้นที่จริงที่ท่วมจริง อย่างในพื้นที่ ปัญหาน้ำล้นตลิ่งของลำน้ำปิง พนังกั้นน้ำปิงบางจุดไม่ได้มาตรฐาน ทำอย่างไรเราคนเชียงใหม่ ถึงจะมีพนังกั้นแม่น้ำที่ได้มาตรฐาน มีความคงทนถาวร สามารถประคอง ป้องกันเป็นปราการแรก ระหว่างน้ำกับชุมชน ยกตัวอย่างจุดต้นน้ำฝายพญาคำ ตำบลวัดเกต อำเภอเมืองเชียงใหม่ ชาวเชียงใหม่ทางด้านตะวันออกของแม่น้ำปิงจะทราบดี หากพูดถึงร้านลาบบังเก้อ ขออนุญาตที่เอ่ยชื่อร้าน บังเก้อ คือที่หลบภัย แต่ว่าถ้าแตกเมื่อไรน้ำมวลมหาศาลนั้นก็จะกอง ไปอยู่ที่ภาคประชาชน จุดนี้พังแล้วได้ทำเป็นพนังกั้นน้ำชั่วคราวมีกระสอบทรายกั้น แม้ว่าจะอยู่ใกล้กับจุด P1 สถานีสะพานนวรัฐที่เป็นจุดที่บอกระดับน้ำไล่ลงมาไปยังจุดพนัง กั้นน้ำตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี ซึ่งชาวบ้านจะเรียกจุดฝายตรงนี้ว่าจุดฟันหลอ ต่อให้ ระดับน้ำปิงรวมนี่จะไม่สูง แต่ในเมื่อมันไม่มีฟันมวลน้ำมันก็ทะลักเข้าโจมตีตำบลท่าวังตาล ตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภีอยู่ดี ดังนั้นดิฉันจึงอยากฝากท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงาน กรม กระทรวง ทุกฝ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันหารือแก้ไขที่ต้นเหตุและสร้างพนังกั้นน้ำ ปิงตลอดแนวที่ได้มาตรฐาน ตลอดจนการวางแผนเมื่อน้ำมาแล้วไม่มีทางระบายออก เราจะ ระบายน้ำที่ผิดพลาดนี้ออกไปได้อย่างไร ฝากท่านประธานด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน การณิก จันทดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขต ๒ พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันขอปรึกษาหารือผ่านท่านประธานด้วยกัน ๔ เรื่องค่ะ
เรื่องแรก ดิฉันได้รับร้องเรียนจากชุมชนบ้านแมกไม้ หมู่ที่ ๘ ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี ซึ่งเป็นความเดือดร้อนจากเส้นทางที่ใช้สัญจรในชีวิตประจำวัน ถนนเป็นหลุม เป็นบ่อ มีน้ำขังทุกครั้งที่ฝนตก ชุมชนนี้มีประชาชนอาศัยอยู่จำนวนมาก ท้องถิ่นได้จัดทำ โครงการขอรับเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ จึงอยากฝากไปยังกระทรวงมหาดไทยหรือหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องพิจารณาบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวแมกไม้ด้วยค่ะ
เรื่องที่ ๒ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน ปัญหาฝนตกทีไรน้ำท่วมขัง เป็นบริเวณกว้าง ก่อความเสียหายแก่บ้านเรือน กระทบหลายหมู่บ้านในพื้นที่ตำบลไชยสถาน อำเภอสารภี ดิฉันได้ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นพบว่าสภาพพื้นที่เป็นพื้นที่รับน้ำ ที่ระบายมาจากตำบลต่าง ๆ ของอำเภอเมืองเชียงใหม่ พอระบายน้ำมาจากตัวเมืองเชียงใหม่ เข้าสู่ตำบลไชยสถานมันก็เกิดปัญหาเรื้อรังเพราะด้วยข้อจำกัดของขนาดลำเหมืองเดิม ซึ่งไม่รองรับกับปริมาณน้ำจำนวนมาก จึงเห็นว่าควรมีการปรับปรุงพัฒนาลำเหมือง ให้มีศักยภาพในการรองรับและระบายน้ำ ดิฉันจึงอยากจะฝากไปยัง กนช. และ สทนช. สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี พิจารณาแก้ไขปัญหาค่ะ
ดิฉันอยากจะฝากท่านประธานไปยังกระทรวงคมนาคมพิจารณาแก้ไขปัญหา ๒ เรื่องสุดท้าย
เรื่องแรก ขยายเขตและติดตั้งไฟส่องสว่างถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๑๘๙ หลักกิโลเมตรที่ ๕+๐๑๔ จนถึงหลักกิโลเมตรที่ ๔+๑๑๘๙ เส้นทางป่าแดด-ช่างเพี้ยน เพราะถนนมืดสนิทเกิดอุบัติเหตุถึงขั้นเสียชีวิตบ่อยครั้งค่ะ
เรื่องสุดท้าย พื้นผิวถนนชำรุดเสียหายหนักมากซ่อมแล้ว ซ่อมอีก ซ่อมต่อไป แก้ไขไม่ได้มานานหลายปี เกิดอุบัติเหตุประชาชนได้รับความเดือดร้อนบริเวณเส้นทาง ถนนคันคลองสายใหญ่ฝั่งซ้ายของฝายชลขันธ์พินิจ ตำบลดอนแก้ว ตำบลหนองช้างคืน ซึ่งเชื่อมไปโยงถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๓๐
ทั้ง ๔ เรื่องนี้ดิฉันอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้กล่าวถึงได้โปรดรับทราบ ถึงปัญหาและพิจารณาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนอย่างเร่งด่วน ขอบคุณค่ะ
ท่านประธานคะ ๐๑๙ การณิก เห็นด้วยค่ะ
เรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน การณิก จันทดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากคนเชียงใหม่ เขต ๒ พรรคก้าวไกล ดิฉันได้นำ เรื่องเดือดร้อนจากพี่น้องประชาชนมาด้วยกันดังนี้
เรื่องแรก เนื่องจากว่าดิฉันเคยหารือ ผ่านท่านประธานไปเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคมที่ผ่านมา เรื่องไฟส่องสว่างถนนทางหลวง หมายเลข ๑๑๔๗ วันนี้ก็เลยอยากจะมาลงรายละเอียดให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง ดิฉันได้รับการ ประสานจากชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตำบลแช่ช้าง อำเภอสันกำแพง เรื่องการขอให้ กรมทางหลวงพิจารณาติดตั้งไฟส่องสว่างบนถนนทางหลวงหมายเลข ๑๑๔๗ ช่วงที่มืด ก็คือช่วงบริเวณหน้าร้านเฮือนไม้ในสวน หมู่ ๖ ตำบลแช่ช้าง บ้านป่าไผ่ หลักกิโลเมตรที่ ๒๙ ยาวไปจนถึงก่อนถึงสี่แยกดอยยาว หมู่ ๑ ตำบลแช่ช้าง ก่อนที่จะตัดกับถนนหมายเลข ๑๓๑๗ ระยะทางก็แค่ประมาณ ๒.๗ กิโลเมตร
เรื่องถัดมา ดิฉันได้รับการขอประสานงานจากคณะผู้บริหารเทศบาลตำบล หนองผึ้ง เรื่องขอติดตามความคืบหน้าการขอรับการสนับสนุนงบประมาณโครงการปรับปรุง ทางเพื่อความปลอดภัย ถนน ชม ๓๐๒๙ สมโภชน์เชียงใหม่ ๗๐๐ ปี บริเวณทางลอดสารภี ตำบลหนองผึ้ง ที่จะเชื่อมกับบริเวณจุดเชื่อมซอย ๓ ซอย ๔ ของบ้านหนองผึ้ง ตำบลหนองผึ้ง เข้ามายังถนนหมายเลข ๑๐๖ หรือว่าเส้นต้นยาง หรือว่าถนนเชียงใหม่-ลำพูน เนื่องจากว่า ปากทางซอยที่เข้าออกเชื่อมกับถนนดังกล่าวมีความคับแคบ เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง แล้วก็มี ประชาชนผู้ใช้ถนนบ่อยมาก ๆ ในรูปที่วงกลมก็จะเป็นผู้ใช้ถนนจริง อันนี้ดิฉันเอารูปมาจาก Google Street ก็จะเห็นว่ามีคนใช้ถนนจริง ก็เลยอยากจะขอความอนุเคราะห์หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องหรือว่าแขวงทางหลวงได้พิจารณาศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการ ดังกล่าว โดยยึดหลักความปลอดภัยและความสะดวกของผู้ใช้รถใช้ถนนค่ะ
อีกเรื่องนะคะ สี่แยกกองทรายมีประชาชนใช้ถนนบริเวณแยกนี้ค่อนข้างเยอะ อยากจะขอทางกรมทางหลวงพิจารณาติดตั้งตัวนับเวลาถอยหลังบริเวณสี่แยกนี้ด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ
เรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน การณิก จันทดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขต ๒ จากพรรคก้าวไกลค่ะ ท่านประธานทราบไหมว่าเมื่อต้นปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมาประเทศไทยเรามีจำนวนยอดผู้ป่วย ที่ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจทั้งหมดกี่ราย ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม ๒๕๖๖ ที่ผ่านมานี้ประเทศไทยเรามีจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจนี้ถึง ๑.๗ ล้านคน
แล้วในจังหวัดเชียงใหม่ เรามีจำนวน ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมเป็นจำนวนถึง ๗๒,๐๐๐ ราย ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลประจำอำเภอ แล้วก็โรงพยาบาลประจำจังหวัดค่ะ ส่วนที่เข้ารับการรักษาเฉพาะในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่มีถึง ๑๒,๐๐๐ กว่าราย เลยค่ะ และที่เรามีจำนวนผู้ป่วยที่มีการกำเริบในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม ก็เป็นเพราะว่า เป็นช่วงที่มีค่าฝุ่น PM2.5 ที่วัดได้นั้นสูงเกินกว่าค่ามาตรฐานค่ะ วันนี้ดิฉันจึงขอร่วมอภิปราย สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน ที่ท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา เพิ่งได้เซ็นไปเมื่อวานนี้นะคะ ปัญหาไฟป่ามันไม่ได้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะใน ประเทศไทยหรือว่าประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่รอบ ๆ ประเทศไทย แต่ว่าปัญหาไฟป่ามันเกิดขึ้น ทั่วโลก ขอยกตัวอย่างไฟป่าฮาวายเป็นปัญหาไฟป่าล่าสุดที่เกิดขึ้นในรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า ๑๑๕ ราย สูญหายไป ๓๐๐ กว่าราย ที่ยังชันสูตรไม่ได้ไม่ทราบว่าเป็นใครซึ่งถือว่าเป็นปัญหาไฟป่าที่รุนแรงก็เลวร้ายที่สุดในรอบ ๑๐๐ ปี Oak Fire California ก็เป็นปัญหาวิกฤติที่เกิดจากสภาวะความแห้งแล้ง เกิดจากพืช ที่ปกคลุมหนาแน่น แล้วก็การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงต้อง ใช้เวลานานหลายวันกว่าจะควบคุมเพลิงได้ หรือว่าหายนะไฟป่า Siberia ที่ก่อให้เกิดปัญหา มลพิษสู่ชั้นบรรยากาศของโลก โดยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างมหาศาล หลายล้านตัน ทำให้ชั้นบรรยากาศของเรามีฝุ่นพิษเป็นจำนวนมาก ทีนี้หลายประเทศก็ได้เริ่ม มีการสนใจในการนำเทคโนโลยี AI หรือว่าปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการตรวจจับจุดความร้อน ในพื้นที่ป่า เพื่อใช้ประเมินแนวโน้มทิศทางลุกลามของไฟ ช่วยประเมินพื้นที่เสี่ยงแล้วก็ กำหนดพื้นที่อันตราย ก่อนที่จะส่งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงหรือว่าอาสาสมัครดับไฟป่าเข้าไปสู่พื้นที่ ป่าทำให้สามารถรับมือกับไฟป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพรวดเร็ว แล้วก็ลดความเสียหาย ที่เกิดขึ้นได้ ดิฉันขอยกตัวอย่างทวีปอเมริกาเหนือ อย่างแคนาดาหรือสหรัฐอเมริกานี้เขาก็เริ่ม นำระบบ AI มาใช้ โดยใช้ประโยชน์จากเครือข่ายของกล้อง แล้วก็ระบบตรวจจับควันไฟ บนยอดเขากว่า ๑,๐๐๐ ตัว ที่มีอยู่ในระบบเครือข่ายนี้ แปลค่าออกมาแล้วก็ใช้ทำนายทิศทาง แนวโน้มของการลุกลามของไฟ ดังนั้นจุดเด่นของการนำปัญญาประดิษฐ์ หรือว่า AI มาใช้ก็ เพื่อที่จะสามารถจับตรวจหมอกฝุ่นแล้วก็ควันที่เกิดจากการเผาไหม้ได้อย่างแม่นยำ สามารถระบุความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง สามารถทำนายทิศทางการลุกลามของไฟ ทำให้ส่งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงหรือว่าเจ้าหน้าที่อาสาดับไฟป่านี้เข้าไปได้อย่างตรงจุด ลดอันตราย ที่เกิดจากไฟต่อเจ้าหน้าที่ดับเพลิง ทำให้ลดอัตราการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงค่ะ ประเทศไทยเราเองก็มีการพัฒนาโดรนดับเพลิง ระบบ AI มาใช้งานร่วมกับ Sensor จาก IOT หรือว่า Internet Of Things ในการตรวจจับสัญญาณควัน ความร้อน แล้วอุณหภูมิเพื่อแจ้ง เตือนเจ้าหน้าที่ให้เห็นภาพรวมของสถานการณ์ เห็นสภาพของผืนป่าก่อนที่จะเดินป่าเข้าไป เพื่อที่จะดับไฟ หรือว่าสร้างแนวกันไฟได้อย่างแม่นยำแล้วก็มีประสิทธิภาพ วันนี้ดิฉันมี ข้อเสนอค่ะ อยากจะเสนอแนะในเรื่องของการส่งเสริมการพัฒนา แล้วก็การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการประเมินจุดความร้อน พร้อมกับการสร้างระบบข้อมูล Digital ของแหล่งฝุ่นหรือ บริเวณที่มีค่าฝุ่นสูง การร่วมมือกันของหน่วยงานในการจัดทำโครงข่ายระบบฐานข้อมูล ที่เชื่อมต่อกัน ประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ จะต้องสามารถเรียกดูข้อมูลเหล่านี้ได้ทันที และที่สำคัญหน่วยงานจะต้องแจ้งเตือนคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทันที เมื่อพบว่าพื้นที่นั้น มีค่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐานติดต่อกันต่อเนื่อง ๒๔ ชั่วโมง หลายประเทศจึงมีระบบแจ้งเตือนภัย ทั้งภัยพิบัติ ภัยคุกคาม เหตุการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ แบบ Real Time ยกตัวอย่างในยุโรปเขาจะมีระบบที่ชื่อว่า EU Alert ไว้สำหรับเตือนข้อความฉุกเฉินเป็น Messenger เป็นข้อความ ส่วนสหรัฐอเมริกาเองก็จะมีระบบที่ชื่อ Wireless Emergency Alert ไว้สำหรับเตือนสภาพอากาศ รวมถึงคำสั่งอพยพต่าง ๆ แล้วเขาจะมีระบบ AMBER Alert ไว้ สำหรับแจ้งติดตามช่วยเหลือเด็กหายภายใน ๒๔ ชั่วโมง ส่วนประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มี แผ่นดินไหวค่อนข้างบ่อย ทำนายไม่ได้ แต่ว่าเขาก็ยังมีระบบ J Alert ไว้สำหรับแจ้งเตือน ทันทีที่ทางเขาสามารถแจ้งเตือนได้ ประเทศฟิลิปปินส์เขาก็ใช้ระบบ Emergency Cell Broadcast System สำหรับแจ้งเตือนก่อนที่จะเกิดภัยพิบัติอีกด้วย ประเทศเกาหลีใต้เขามี เป็นข้อความฉุกเฉิน ๓ ภาษา ประเทศเกาหลี ประเทศจีน ประเทศอังกฤษ ไว้สำหรับเตือน ทั้งคนเกาหลีเองแล้วก็ชาวต่างชาติเองเรียกว่า Korean Emergency Alert ทีนี้ของประเทศ ออสเตรเลียมาทั้งตัวอักษรแล้วก็ข้อความเสียงนะคะ เขาใช้ระบบที่ชื่อว่า Emergency Alert Australia ส่วนประเทศไทยเองน่าเสียดายค่ะ ประเทศไทยเรายังไม่มีระบบเตือนภัย ผ่านข้อความหรือว่าส่ง SMS เข้ามือถือสำหรับแจ้งเตือนภัยต่าง ๆ ทั้งชาวไทยและชาว ต่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทย ดิฉันจึงมีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะมีการพัฒนา ระบบ AI สำหรับตรวจสอบจับและประเมินจุดความร้อนก็ดี ระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติครบ วงจรก็ดี ที่สามารถส่งเป็นข้อความตัวอักษรหรือข้อความเสียงส่งเตือนเข้าสู่ประชาชนในพื้นที่ ที่ได้รับทั้งภัยพิบัติหรือว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งการพัฒนาระบบเหล่านี้สมควรอย่างยิ่งที่จะต้อง ได้รับการสนับสนุนส่งเสริม แล้วก็เดินหน้าพัฒนาระบบจากรัฐบาล เพื่อที่จะสามารถนำระบบ ต่าง ๆ มาใช้ในการแจ้งเตือนแล้วก็ประเมินสถานการณ์ไฟป่าได้จริง ๆ ขอบคุณค่ะ
เรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน การณิก จันทดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พรรคก้าวไกล พื้นที่เขตเลือกตั้ง เขต ๒ วันนี้ดิฉันขอร่วมอภิปรายสนับสนุนขอให้ทางสภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะชุมชน ดิฉันมีข้อสังเกต แล้วก็ มีข้อเสนอแนะประมาณ ๒-๓ ประการ
ข้อเสนอแนะแรก เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา วันที่ ๒๓ มกราคม ดิฉัน ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม Kick Off อำเภอสารภี ไม่เผา เราทำปุ๋ย ซึ่งเป็นกิจกรรมนำร่อง ภายใต้โครงการส่งเสริมการผลิตปุ๋ยหมักที่ได้จากใบยางนา ที่ทางเทศบาลตำบลสารภี เขาได้ทำมาอย่างต่อเนื่องค่ะ ดิฉันได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าหน้าที่กองสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อมของเทศบาลตำบลสารภีที่เขารับผิดชอบโครงการนี้ ร่วมกับอาจารย์จาก มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ได้มาสาธิตวิธีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบไม่พลิกกับกองนะคะ บอกก่อนว่า ความพิเศษของอำเภอสารภีนี้จะมีถนนที่ชื่อว่าถนนหมายเลข ๑๐๖ เชื่อมระหว่างจังหวัด เชียงใหม่แล้วก็จังหวัดลำพูน ๒ ข้างทางของถนนจะมีต้นยางนาสูงใหญ่ สูงหลายเมตรกิ่งก้าน ใหญ่โต ยิ่งในช่วงฤดูผลัดใบ ใบจากต้นยางนาก็จะร่วงหล่น เจ้าหน้าที่จากท้องถิ่น เทศบาล อบต. นี้เขาจะต้องมาเก็บกวาดกองรวมกัน แล้วก็จัดหาคนมาขนขยะตรงนี้ไป ทีนี้ทางผู้บริหารของเทศบาลตำบลสารภีเขาก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาการเผาเศษ กิ่งไม้ที่จะก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 เขาก็ได้ Idea นำร่อง โดยการเอาใบยางนามาทำเป็นปุ๋ยหมัก วิธีทำก็ง่าย ๆ นำใบไม้หรือว่าใบยางนา ๔ ส่วน ผสมเข้ากับมูลสัตว์ ๑ ส่วน จะเป็นมูลอะไร ก็ได้ ไก่ วัว ควาย หมู ได้หมดเลยนะคะ หมักรดน้ำจนครบ ๖๐ วัน จากนั้นก็นำไปบด พอนำไปบด ก็จะได้เป็นปุ๋ยหมักจากใบยางนาถือว่าเป็นการสร้างมูลค่าให้กับกองใบไม้ นอกจากนี้ชาวบ้านก็ได้รับปุ๋ยหมักจากใบยางนาไปใช้ได้ ถือว่าเป็น Idea นำร่องที่เป็น ประโยชน์อย่างยิ่ง ดิฉันขอชื่นชมแล้วโครงการดี ๆ อย่างนี้ที่นอกจากจะช่วยลดการจัดการ ใบไม้แล้ว ยังช่วยลดภาระการขนกิ่งไม้ ใบไม้ไปทิ้งอีกค่ะ พื้นที่อื่น ๆ ก็สามารถกระทำได้ เช่นเดียวกันค่ะ
ข้อเสนอแนะถัดมา เรื่องการบริหารจัดการรอบของรถเก็บขยะที่ทางองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นต้องอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในพื้นที่ ดิฉันขออนุญาต ยกตัวอย่างเทศบาลตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่ ต้องขอชื่นชมคณะผู้บริหารที่เขา ได้จัดรอบรถเก็บขยะ ขอยกตัวอย่าง หมู่ที่ ๒ บ้านโรงวัว เขาก็กำหนดให้ทุกวันจันทร์ วันพฤหัสบดีมีรอบเก็บขยะครัวเรือน ก็จะเป็นขยะทั่วไป ขยะเปียก โดยจะมีการบังคับให้ใช้ ถุงที่ทางเทศบาลกำหนดไว้ ก็จะมีค่าบริการในการจัดเก็บ ๕ บาท ๑๐ บาท แล้วแต่ถุง แล้วแต่พื้นที่ ส่วนรอบทุกวันอังคารเขาก็จะเพิ่มเป็นรอบเก็บขยะกิ่งไม้ ใบไม้โดยอนุโลม ให้สามารถใช้ถุงอื่นได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ถุงของเทศบาลค่ะ เพราะว่าบางท้องถิ่นถ้าเกิดว่า ไม่ใช่ถุงที่มีสัญลักษณ์เขาก็จะไม่เก็บถุงนั้นไป ทำให้ถ้าเป็นขยะเปียกก็ส่งกลิ่นเหม็นเน่า ถ้าเป็นขยะใบไม้มันก็ค่อย ๆ แห้งเฉา ก็ไม่สามารถกำจัดได้ สุดท้ายก็มีการลักลอบเผา ทีละเล็กทีละน้อยแบบนี้ ต้องขอชื่นชมทางเทศบาลตำบลหนองหอยที่เขาเพิ่มการจัดเก็บ รอบรถนี้ขึ้น ดิฉันจึงเล็งเห็นว่าการที่ท้องถิ่นเพิ่มรอบรถเก็บขยะ เพื่อจัดเก็บขยะประเภท กิ่งไม้ใบไม้ หรือแม้กระทั่งขยะชิ้นใหญ่โตที่ย่อยสลายไม่ได้ อย่างเช่นตู้เสื้อผ้าพลาสติก ฟูกนอน ขยะที่กำจัดไม่ได้ ถ้าทางเทศบาลสามารถช่วยลดภาระตรงนี้ได้ ก็จะช่วยลดการก่อ มลพิษทางสิ่งแวดล้อมได้เช่นเดียวกันค่ะ
ข้อเสนอแนะสุดท้าย ดิฉันได้มีโอกาสพูดคุยกับทางนายกสมาคมส่งเสริม การท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ เขาก็ได้มีการเสนอหาทางออกในการกำจัดขยะเพื่อเพิ่มมูลค่าขยะครัวเรือน ทางสมาคมเขา บอกว่าเขาพร้อมที่จะจัดอบรมการคัดแยกขยะให้ประชาชนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยเขาจะ สามารถช่วยเพิ่มความเข้าใจในการแยกขยะอย่างถูกวิธีเพื่อลดปัญหาขยะ Recycle ยกตัวอย่าง ขวดน้ำ ทราบไหมคะว่าขวดน้ำทั่วไปถ้ามีฉลากก็จะขายได้ราคาหนึ่ง แต่ถ้าเกิด เราแกะฉลากออก แกะฝา เอาหลอดออก มูลค่าที่เป็นขวดเพียว ๆ แบบนี้ก็จะส่งผลให้ขายได้ ราคาสูงขึ้นค่ะ ส่วนเศษอาหารหรือว่าขยะกำพร้า ขยะที่ใช้ประโยชน์ต่อไม่ได้ ก็คือพวกฉลาก หลอด ฝา พวกพลาสติกต่าง ๆ ทางสมาคมท่องเที่ยวเองเขาก็ได้ประสานไปยังโรงงานผลิต เชื้อเพลิงจากขยะหรือว่าโรงงาน RDF ให้รับช่วงต่อไป ขยะส่วนนี้ก็จะถูกนำไปทำเป็น พลังงานเชื้อเพลิงต่อไป ดังนั้นดิฉันจึงเล็งเห็นว่าอยากให้หลาย ๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐและ ภาคเอกชนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการกำจัดขยะที่ถูกวิธี ส่งเสริมให้เด็กเยาวชนและ ประชาชนเห็นความสำคัญของการคัดแยกขยะก่อนที่จะมีการทิ้งขยะต่อไป เล็งเห็นถึงคุณค่า มูลค่าของขยะให้เป็นรูปธรรม ซึ่งจะสอดคล้องกับโครงการ Kick Off ขับเคลื่อนธนาคารขยะ ที่ทางกระทรวงมหาดไทยเพิ่งรณรงค์ไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ก็อยากจะฝากว่าการทิ้งขยะ มันไม่ได้อยู่ที่ประชาชนอย่างเดียว การอำนวยความสะดวกของประชาชนในการทิ้งขยะ ก็อยู่ที่ภาครัฐจะเป็นผู้กำหนดให้ค่ะ ขอบคุณมากค่ะท่านประธาน
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพค่ะ ดิฉัน การณิก จันทดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พรรคก้าวไกลค่ะ ท่านประธานคะ ดิฉันเห็นด้วยกับการผลักดันให้ภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นเหนือตอนบนหรือว่า เหนือตอนล่างให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ เพราะว่าขณะนี้ภาคเหนือมีขนาด เศรษฐกิจที่เล็ก แล้วก็มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ช้ากว่าเมื่อเทียบกับภาคอื่น ๆ แต่ว่าดิฉัน มีข้อสังเกต ข้อเสนอแนะแล้วก็ข้อกังวลให้ฉุกคิดนะคะ หากทางสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้จะมี การพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจ พิเศษภาคเหนือค่ะ
ประเด็นแรก ก็คือโครงสร้างพื้นฐาน อย่างที่เพื่อนสมาชิกหลายท่านได้พูดไป มีความกังวล ไม่ว่าจะเป็นถนน เส้นทางจราจร ป้ายจราจร สัญญาณไฟจราจร Footpath แม้กระทั่งรถขนส่งสาธารณะว่าเรามีความพร้อมแล้วหรือยังนะคะ ตอนนี้ดิฉันเชื่อว่าธุรกิจ ด้านการท่องเที่ยวในหลายจังหวัดสามารถทำเม็ดเงินเข้าสู่จังหวัดนั้น ๆ ได้อย่างมหาศาลค่ะ ยกตัวอย่างจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดที่ดิฉันอยู่ ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาทราบว่านักท่องเที่ยว มาเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่เกือบ ๓๐๐,๐๐๐ คน นำเงินเข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ ๔,๐๐๐ กว่าล้านบาท ถ้าดิฉันพูดประโยคนี้กับคนเชียงใหม่ในพื้นที่ เขาก็คงตอบมาแบบเสียงเบา ๆ ว่า โห เพราะว่า เขาไม่ได้เห็นเม็ดเงินเหล่านี้ เขาไม่ได้อะไรเลยจากนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ เม็ดเงิน ๔,๐๐๐ กว่าล้านบาทที่เข้ามามันไหลไปอยู่กับคนไม่กี่กลุ่ม เจ้าของกิจการที่เป็นคน ต่างถิ่นที่กำลังเข้ามายึดจังหวัดเชียงใหม่ หรือคนมีทุนจากต่างประเทศ กลุ่มทัวร์ศูนย์เหรียญ หรือกลุ่มทุนสีเทา เท่านั้นยังไม่พอนะคะ สิ่งที่คนเชียงใหม่ได้เจอ ช่วงปีใหม่ดิฉันไม่ได้ ออกบ้านนะคะ ออกบ้านไม่ได้ค่ะ เพราะว่าจะต้องเจอกับปัญหารถติด ขนส่งเรามีไม่เพียงพอ ปัญหาขยะ ขยะที่มากเกิน ไม่มีการกำจัดอย่างถูกวิธี ดังนั้นคนงาน แรงงานจะต้องทำงานหนักขึ้น ต้องเจอกับสภาวะความเครียดจากงานที่เพิ่มขึ้น ค่าแรงที่ได้รับแทบจะไม่พอใช้ ค่าแรงขั้นต่ำของจังหวัดเชียงใหม่ตอนนี้ ๓๕๐ บาท เพิ่งขึ้นมา อันนี้วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ เพิ่งขึ้นมาจากเดือนมกราคม ๑๐ บาท จาก ๓๔๐ บาทเป็น ๓๕๐ บาทต่อวัน แรงงานจำนวนมากในภาคบริการ เขาต้องทำงานหนักติดต่อกันเกิน ๘ ชั่วโมงต่อวัน เรื่องนี้ไม่ควรที่จะเกิดขึ้นหากเราจะพัฒนาให้พื้นที่ใด ๆ ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ พิเศษ ถัดมานะคะความกังวลที่ดิฉันกังวลก็คือ Digital Nomad ชาวต่างชาติสาย TECH หรือว่ากลุ่มคนที่ทำงาน ไม่ว่าจะด้านไหน ไม่เฉพาะด้านเทคโนโลยีที่เขาทำงานออนไลน์ ไม่ต้องเข้า Office เขาก็จะไปอาศัยอยู่ในประเทศที่มีค่าครองชีพต่ำค่ะ เมืองสวย ๆ วิว ดี ๆ อากาศดี ๆ เขากำเงินเข้ามาอยู่บ้านเรา ๓ เดือน ๖ เดือน จากรายงานฉบับนี้นะคะ บอกว่ารายเฉลี่ยค่าใช้จ่ายต่อหัวของ Digital Nomad ๖๐,๐๐๐ บาท ในจังหวัดเชียงใหม่ เขาใช้จ่ายถึง ๓๐,๐๐๐ กว่าบาท ส่วนคน Local คนพื้นถิ่นเชียงใหม่เองไม่ได้เป็นเจ้าของ ธุรกิจอะไรเลย เขาก็ไม่ได้อะไรจากตรงนี้ค่ะ ตอนนี้บางประเทศที่มี Digital Nomad เข้าไป อาศัยอยู่มาก ๆ อย่าง Mexico City หรือว่าเมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส โปรตุเกสถือว่า เป็น ๑ ใน ๓ ที่ Digital Nomad เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ เขาก็กำลังเดือดร้อนนะคะ ชาวลิสบอน ถึงกับต้องเดินประท้วงค่ะ เพราะว่า Digital Nomad ทำให้ราคาค่าเช่าบ้าน ค่าที่อยู่อาศัย หรือแม้แต่ค่าอาหารสูงขึ้น กลายเป็นว่าชาวบ้านในพื้นที่ต้องแบกรับค่าครองชีพที่สูงขึ้นค่ะ ดังนั้นเม็ดเงินที่ Digital Nomad เข้าไป มันไม่ได้เข้าสู่ Local People โดยตรงนะคะ แต่มัน ไปเข้าสู่ระบบทุนอะไรบางอย่าง หรือแม้กระทั่งการที่เราอยากจะทำให้พื้นที่จังหวัดใด จังหวัดหนึ่ง หรือภาคใดภาคหนึ่งเป็น Medical Hub หรือว่า Wellness Center ให้ต่างชาติ ที่มีทุนหนาเข้ามารักษา เข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ที่เมืองไทย กลุ่มคนเหล่านี้เขามีเงินค่ะ เขาสามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องเป็นห่วงค่ะ แต่คนไทยเองจะเข้า โรงพยาบาลทีก็ลำบาก เรามี รพ.สต. เรามีโรงพยาบาลประจำอำเภอ เรามีโรงพยาบาล ประจำจังหวัด แต่สภาพก็อย่างที่หลาย ๆ ท่านได้เห็นข่าวนะคะ ความยากลำบากในการ จะเข้าถึงบุคลากรทางการแพทย์ การต่อคิวนาน การที่จะเปลี่ยนถ่ายโรงพยาบาลก็ใช้ เวลานานเนื่องจากเตียงไม่เพียงพอ นอกจากนี้คนทำงานบุคลากรทางการแพทย์ อย่างหมอ พยาบาลเขาก็มีความทุกข์นะคะ แทบจะไม่มีเวลาที่ลุกไปเข้าห้องน้ำ เพราะต้องแบกรับภาระ ผู้ป่วยที่จำนวนมาก โดยที่โรงพยาบาลเหล่านี้ไม่สามารถที่จะตอบสนอง ขนาดพื้นที่ของ โรงพยาบาลไม่เพียงพอ ประชาชนแออัด คนที่เข้ามาใช้บริการแออัด แล้วแบบนี้จะให้ คนต่างชาติเขาได้แค่ Wellness กลับไป ส่วนคนไทยได้อะไรจากการทำ Medical Hub คะ หากจะพัฒนาให้เกิดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่ ท่านก็ต้องตอบให้ได้นะคะว่า แล้วเขต เศรษฐกิจที่ท่านกำลังจะตอบโจทย์ มันตอบโจทย์กับประชาชน ประชาชนได้ประโยชน์ จริง ๆ ไหม หรือว่ามันจะเข้าอีหรอบเดิมค่ะ เตะหมูเข้าปากหมา มีแต่นายทุนที่ได้รับ ผลประโยชน์ แรงงาน คนทำงานก็ต้องทำงานหนักเหมือนเดิม แล้วไทยเองก็ต้องเสีย ทรัพยากรหลาย ๆ อย่างไปค่ะ Idea เรื่องการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษทำมาหลายสมัยค่ะ ซึ่งเขาเชื่อนะคะว่าจะทำให้เศรษฐกิจและคนไทยเติบโต แล้วมันจะเติบโตได้จริงไหม แรงงาน คนทำงานจะสามารถลืมตาอ้าปากได้จริงหรือเปล่านะคะ หากจะมีการอ้างว่าถ้าเกิดว่า มีเขตเศรษฐกิจพิเศษเกิดขึ้น มันจะทำให้เกิดการพัฒนาทักษะแรงงาน แล้วปัจจุบันนี้เรามี กรมพัฒนาฝีมือแรงงานไว้ทำไม ดังนั้นดิฉันยังจึงอยากที่จะฝากข้อกังวลเหล่านี้ให้ช่วยศึกษา พิจารณาว่าการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคเหนือ มันจะเอื้อให้ใคร มันจะเอื้อให้ทุนใหญ่ หรือว่ามันจะเอื้อให้ประชาชนแบบไหนมากกว่ากัน ขอบคุณค่ะท่านประธาน
ท่านประธานคะ ๐๑๙ ก็กดไม่ติดค่ะ
ขอบคุณค่ะท่านประธาน เรียนท่านประธานที่เคารพค่ะ ดิฉัน การณิก จันทดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จากจังหวัดเชียงใหม่ค่ะ ท่านประธานคะ วันนี้ปีนี้เป็นปี ๒๕๖๗ แต่ว่าขณะนี้เรากำลังจะ พิจารณารายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือว่า สปสช. ประจำปี งบประมาณ ๒๕๖๕ ดิฉันอ่านรายงานเล่มนี้ก็ต้องบอกว่ายินดีกับพี่น้องประชาชนที่ใช้สิทธิ ประกันสุขภาพหรือว่าสิทธิบัตรทองเป็นอย่างยิ่ง ดิฉันเห็นวิดีโอนำเสนอผลงานการสร้าง หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ เทียบกัน เดี๋ยวขอสไลด์ด้วยนะคะ
ระหว่างปี ๒๕๖๔ กับปี ๒๕๖๕ พบว่า การเข้าถึงบริการตามสิทธิประโยชน์พื้นฐานนี้ การบริการผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกเทียบกัน ปี ๒๕๖๔ กับปี ๒๕๖๕ มีผู้ป่วยมาใช้บริการในสถานบริการทางแพทย์เพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึง การเข้าถึงบริการตามสิทธิประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยความดัน ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV หรือว่าที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ แม้แต่ผู้ป่วยจิตเวช หรือว่าผู้ป่วยติดเตียงก็มีอัตราการเข้ารับบริการที่สูงขึ้น มันก็เลยทำให้ดิฉันมีการตั้งข้อสังเกตว่า แล้วถ้าจำนวนผู้ป่วยมาใช้สิทธิบัตรทองเพิ่มมากขึ้น แล้วเรามีเตียง มีเก้าอี้นั่งรอ มีพื้นที่ ที่เพียงพอต่อการรับการบริการในสถานพยาบาลเพียงพอแล้วหรือยัง นอกจากนั้นเรามีแพทย์ พยาบาล เภสัชกร เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล รถฉุกเฉิน เพียงพอต่อคนไข้ที่เพิ่มขึ้นแล้วหรือยัง แล้วยิ่งตอนปี ๒๕๖๓ วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๓ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบให้มีการยกระดับบัตรทองสู่ระบบหลักประกันสุขภาพยุคใหม่ มีการขยาย การให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ ๔ ชนิด ในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ในรายงานฉบับนี้ ๔ บริการ มีอะไรบ้าง
บริการที่ ๑ ประชาชนที่เจ็บป่วยสามารถรับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิ ที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ ใช้บัตรประชาชนแค่ใบเดียวเชื่อมต่อข้อมูลคลินิกหมอครอบครัว ที่เข้าร่วมโครงการ ไม่ว่าจะเป็นคลินิกชุมชน ร้านยาชุมชน ซึ่งเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ ใกล้บ้านที่จะช่วยลดความแออัด สะดวกครอบคลุมถึง ๑๖ โรคทั่วไป
บริการที่ ๒ ผู้ป่วยในไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ครอบคลุมหน่วยบริการทั่วประเทศ ดีค่ะ ผู้ป่วยไม่ต้องขอใบส่งตัวใหม่ แม้ว่าใบส่งตัวนั้นจะหมดอายุก็ยังสามารถใช้บริการ ในโรงพยาบาลที่เข้าไปนอนได้ แต่ว่าทำไมมันยังมีข่าวว่าผู้ป่วยบางรายย้ายโรงพยาบาลไม่ได้ เพราะว่าโรงพยาบาลปลายทางเตียงเต็ม อันนี้ก็เป็นข้อน่าสังเกตนะคะ
บริการที่ ๓ ผู้ป่วยโรคมะเร็งสามารถไปรักษาที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ แต่ท่าน ทราบไหมคะว่ามันไม่ใช่ทุกโรงพยาบาลที่จะมีแพทย์เฉพาะทางที่จะรักษาโรคมะเร็งได้นะคะ
บริการที่ ๔ ผู้ป่วยเองหรือว่าผู้ใช้บริการเอง ประชาชนทั่วไปที่มีสิทธิบัตรทอง สามารถเลือกที่จะย้ายหน่วยบริการ แล้วได้สิทธิทันที ไม่ต้องรอ ๑๕ วันในการอนุมัติ โดยผ่าน Application สปสช. เลือกเปลี่ยนได้ไม่เกิน ๔ ครั้งต่อปี สะดวกมาก ๆ เลยค่ะ
ตัดมาที่ปัจจุบันนะคะ ปีนี้ปี ๒๕๖๗ รายงานเป็นปี ๒๕๖๕ นี่เป็นภาพคลินิก ชุมชนอบอุ่น หรือว่าคลินิกบัตรทองที่เขาแบกรับภาระจากความล่าช้าในการจ่ายเงินจาก สปสช. ไม่ไหว เพราะว่าไหนจะต้องมาแบกรับราคาต้นทุนยาที่ให้เบิกจาก สปสช. มันต่ำกว่า ราคากลางของโรงพยาบาล แล้วตอนนี้เองทางโรงพยาบาลรัฐ หรือว่าโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้อง กับเป็นโรงเรียนแพทย์ อย่างนี้ก็ประสบปัญหาขาดทุนสะสม ขาดสภาพคล่องจากความล่าช้า ในการจ่ายเงินจาก สปสช. ถึงขั้นวิกฤติ แต่ว่าถ้าท่านจะมาตอบว่า เพราะมันเป็นปัญหาทุจริต ในหน่วยบริการอย่างเดียวมันก็ไม่ได้นะคะ เพราะว่าการที่มีคลินิก มีร้านยา บัตรทอง ที่กระจายอยู่ทั่วมันดีค่ะ เพราะว่ามันช่วยลดภาระของคุณหมอในโรงพยาบาล ลดความแออัด เพิ่มความรวดเร็ว แต่ทีนี้ท่านจะสร้างระบบอย่างไรให้มันสามารถป้องกันการทุจริตที่ท่านว่า แล้วมันจะไม่กระทบต่อการรักษาของประชาชนได้ งบประมาณมาปลายปิด แต่ว่าจะให้รักษา แบบปลายเปิด สปสช. จะมีวิธีการแก้ไขในระยะยาวอย่างไร ที่จะไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน จากการบริหารของ สปสช. ในเรื่องนี้ ท่านประธานคะ รายงานนี้มันดูดีค่ะ แต่มันไม่ได้ หมายความว่าในโลกแห่งความเป็นจริงระบบสาธารณสุขของเราไม่ได้ไม่มีปัญหานะคะ ดิฉันจึงมีความกังวลใจเป็นอย่างยิ่งนะคะว่า ถ้าวันนี้เรามีปัญหา ปี ๒๕๖๗ เรามีปัญหา แล้วเราพูดคุยกัน หาทางออกร่วมกัน วางแผนใหม่ร่วมกัน อย่าปล่อยให้บุคลากรทางการแพทย์ ที่เขาตั้งใจทำงาน ที่เขาอยากจะบริการประชาชนต้องมีความอึดอัดใจ อย่างไรก็ขอฝากทาง สปสช. ร่วมกับทั้งกระทรวงค่ะ กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาหาทางออกในระยะยาวด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพนะคะ ดิฉัน การณิก จันทดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จากจังหวัดเชียงใหม่ ท่านประธานคะ จังหวัดเชียงใหม่ก็มีผู้สูงอายุที่ค่อนข้างเยอะนะคะ และดิฉันเชื่อว่าทุกจังหวัด ทุกตำบลก็มีผู้สูงอายุมากเพิ่มขึ้นในทุก ๆ วันเช่นเดียวกัน ท่านประธานคะ สิทธิและเสรีภาพ ไม่เคยได้มาด้วยการร้องขอ แต่ได้มาจากการต่อสู้ของประชาชน เช่นเดียวกันกับสิทธิ สวัสดิการผู้สูงอายุที่พวกเรา แล้วก็คณะกรรมาธิการทุก ๆ ท่านกำลังต่อสู้เพื่อให้ได้รายงาน ฉบับนี้ขึ้นมา สวัสดิการผู้สูงอายุเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทย มันไม่ใช่บุญคุณ ไม่ใช่ การสงเคราะห์ของนักการเมือง ดังนั้น Mindset ที่จะต้องปรับกันก็คือว่า ที่สำคัญไม่มี ประเทศไหนในโลกนี้ที่ล่มสลายเพียงเพราะว่าประเทศนั้นมีสวัสดิการเด็ก สวัสดิการผู้สูงอายุ สวัสดิการผู้พิการค่ะ ท่านประธานเชื่อไหมคะ ว่าถ้าเรานำเด็ก ๑๐๐ คน จากครอบครัวที่มี ฐานะปานกลาง ชนชั้นกลางถึงชนชั้นล่าง ถ้าเราสอบถามเขา ๑๐๐ คนนี้ เกิน ๗๐ เปอร์เซ็นต์ เขาจะตอบว่าสิ่งที่เขาต้องการงาน เขาต้องการงานประเภทงานที่มีความมั่นคงที่จะสามารถ ดูแลพ่อแม่ของเขาได้ค่ะ นั่นหมายถึงว่าประเทศของเรากำลังบ่งบอกว่างานที่พวกเขา กำลังทำส่วนใหญ่เป็นงานที่ไม่มั่นคงเช่นนั้นหรือคะ ดังนั้นสวัสดิการของวัยทำงาน คนทำงาน ที่จะต้องได้รับสวัสดิการผู้สูงอายุมันอาจจะดูไม่เกี่ยวข้องกันใช่ไหมคะ แต่ในเมื่อเราเป็นวัย ทำงาน เราจะได้ไม่ต้องมีการพะวักพะวงกับการที่จะต้องส่งเสียเงินให้คุณพ่อคุณแม่ ให้คุณตา คุณยายที่บ้าน ดังนั้นการเพิ่มเงินสวัสดิการผู้สูงอายุขั้นต่ำที่เพียงพอกับฐานของความ เหลื่อมล้ำทางสังคม อย่างเช่น ๓,๐๐๐ บาท จริง ๆ แล้วถือว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างต่ำ ในเมื่อ ๓,๐๐๐ บาท จะช่วยทำให้วัยทำงานแล้วก็วัยเด็กสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตได้ ดิฉันเชื่อว่าปัญหาอาชญากรรมร้ายแรง การมี Passion ของบุคคลที่เขาทำงาน ถ้าเกิดสมมุติ ว่ารัฐบาลมีสวัสดิการ ๓,๐๐๐ บาทดูแล คนทำงานเขาก็จะมี Passion เขาจะได้ไม่ต้องพะวง กับบุคคลทางบ้าน ปัญหาอาชญากรรมร้ายแรงก็จะลดลงเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นเราไม่สามารถ บอกได้ว่าคนวัยทำงานที่เขาทำงานนอกระบบเขาไม่ได้ทำงานหนัก คนที่ทำงานนอกระบบ เขาทำงานหนักค่ะ และเขาเสียภาษีในเรื่องของค่าอุปโภคและค่าบริโภคเยอะกว่าคนที่มีฐานะ ดังนั้นดิฉันจึงอยากที่จะสนับสนุนรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง การพัฒนาระบบ บำนาญพื้นฐานของประชาชนฉบับนี้ให้ผ่านเข้ามา แล้วขอวิงวอนท่านผู้มีอำนาจทุกท่าน โดยเฉพาะฟังรัฐบาลลองพิจารณาดู และเราไม่สามารถที่จะปฏิเสธได้แล้วว่า ๓,๐๐๐ บาท ไม่สามารถที่จะช่วยดูแลผู้สูงอายุได้ ในเมื่อรายงานฉบับนี้ยืนยันแล้วว่าขั้นต่ำ ๓,๐๐๐ บาท สามารถดูแลคุณภาพผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังดูแลคุณภาพวัยทำงาน คุณภาพชีวิตของเด็ก ที่สำคัญมันจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศนี้ในระดับชุมชน ในระดับท้องถิ่น ให้สามารถมีเศรษฐกิจที่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขอบคุณค่ะ