กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน ดอกเตอร์ณัฐจิรา อิ่มวิเศษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๔ พรรคเพื่อไทย จากการที่ดิฉันได้อ่านรายงานพบว่ามีข้อสังเกตและข้อซักถาม ๓ ประการ
ประการแรก กว่า ๑๖ ปีที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง ในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้มีการบังคับใช้ แต่จากสถิติความรุนแรงในครอบครัวที่ผ่านมา พบว่าไม่ได้มีจำนวนลดลงเลยค่ะ เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปีด้วยซ้ำ โดยเฉพาะความรุนแรงที่เกิดกับสตรี จากสถิติที่ผ่านมาพบว่าผู้หญิงเป็นผู้ถูกกระทำอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นทุกปี ในจำนวน ของผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงมีจำนวนหลายร้อยรายถึงขั้นเสียชีวิต โดยผลสำรวจ สถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและสตรีพิการในปี ๒๕๖๔ โดยมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาค ทางสังคม สมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการพบว่าหญิงไทยถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกทำร้าย ร่างกายและจิตใจไม่ต่ำกว่า ๗ วันต่อคน และมีผู้หญิงได้เข้ารับการบำบัดรักษา แจ้งความ ร้องทุกข์ประมาณปีละ ๓๐,๐๐๐ ราย ถือว่าเป็นสถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงที่สูงติด ๑ ใน ๑๐ ของโลก ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สำรวจสถานการณ์ ความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวของประเทศ พบว่าประเภทความรุนแรงสูงสุด คือความรุนแรงทางด้านจิตใจ รองลงมาความรุนแรงทางด้านร่างกาย และในรายงานปี ๒๕๖๔ พบว่าข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่งผู้หญิงเป็นผู้ถูกกระทำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากศูนย์พึ่งได้ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีจำนวนผู้ถูกกระทำรวม ๑๖,๖๗๒ ราย โดยมีผู้หญิง คิดเป็นร้อยละ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ หรือข้อมูลจากศูนย์ช่วยเหลือทางสังคม สำนักงานปลัดกระทรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีผู้ขอรับบริการจากศูนย์ ๒,๓๘๒ ราย ก็เป็นผู้หญิงจำนวนสูงสุดเช่นกัน และข้อมูลจากกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีจำนวนผู้ถูกกระทำก็เป็นผู้หญิง สูงสุดเช่นกัน คิดเป็น ๗๙ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลที่เป็นเศษเสี้ยวของความรุนแรง ของผู้หญิง เพราะยังมีผู้หญิงอีกจำนวนนับไม่ถ้วนที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงที่ยังไม่ได้มี มาตรการที่จะช่วยเหลือ เพื่อที่จะลดจำนวนของผู้ถูกกระทำที่เป็นผู้หญิงให้มีจำนวนลดลง และทำให้ผู้ถูกกระทำกล้าที่จะขอความช่วยเหลือ หรือเข้ารับการปรึกษาจากหน่วยงาน และดิฉันเป็นผู้หญิงคนหนึ่งเห็นอกเห็นใจผู้หญิงด้วยกันว่าความรุนแรงในครอบครัวนั้น มันย่ำยีหัวใจผู้หญิงอย่างมาก ทั้งที่สังคมในปัจจุบันเป็นสังคมเสมอภาคทางด้านเพศ และความเท่าเทียม เพราะฉะนั้นอยากให้ความรุนแรงของผู้หญิงมีจำนวนที่ลดลง
ประการที่ ๒ จากการเก็บข้อมูลข่าวความรุนแรงในครอบครัวและคู่รัก ทางหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ปี ๒๕๖๓ พบ ๕๙๓ ข่าวจากหนังสือพิมพ์ทั้งหมด ๙ ฉบับ และปี ๒๕๖๔ พบ ๓๗๒ ข่าว จากหนังสือพิมพ์ทั้งหมด ๑๑ ฉบับ ข้อมูลดังกล่าว ปี ๒๕๖๔ พบว่ารูปแบบความรุนแรงในการฆ่ากันในครอบครัวสูงถึง ๑๙๕ คิดเป็น ๕๒.๔ เปอร์เซ็นต์ เมื่อมาดูในรูปแบบความสัมพันธ์พบว่าอันดับ ๑ เป็นฆ่ากันระหว่างสามีภรรยา โดยสามี ฆ่าภรรยา หรือฆ่าผู้เกี่ยวข้อง อันดับ ๒ เป็นฆ่ากันระหว่างคู่รักหรือแฟน โดยฝ่ายชาย เป็นผู้กระทำฝ่ายหญิง คิดเป็น ๖๕ เปอร์เซ็นต์ และสาเหตุของการฆ่านั้นก็เกิดจากการหึงหวง จากสถิติข่าวความรุนแรงในครอบครัวจะเห็นได้ว่าปัญหาความรุนแรงของครอบครัว เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างอำนาจ จากตัวอย่างข่าวในการฆ่าที่ผ่านมาที่มีสามีฆ่าภรรยาและลูก อันนั้นก็คือจากสังคมไทยส่งผลให้ความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นจากผู้ชายเป็นผู้กระทำ อาจจะเนื่องด้วยจากพิษเศรษฐกิจรายจ่ายสูงกว่ารายได้หรือเป็นหนี้ จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ ฆาตกรรมเกิดขึ้น กำลังความรุนแรงของสมาชิกในครอบครัวบางครั้งในแบบเรียนไทย ผู้ชายก็ยังเป็นใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือภาษาพาที วิชาภาษาไทยตามหลักสูตรแกนกลาง การศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๕๑ หรือจากข้อสอบที่เป็นข่าวดังตามตามสื่อ Online นอกจากนี้ยังมีกรอบความเชื่อที่ว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว ส่งผลให้ ผู้ถูกกระทำปกปิดปัญหาไม่ขอความช่วยเหลือ หรือทำให้ผู้คนในสังคมไม่กล้าให้ความช่วยเหลือ ถือว่าเป็นเรื่องของสามีภรรยา อีกทั้งเป็นบรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อความคิด ทำให้ผู้หญิงไม่กล้าที่จะก้าวออก จากความรุนแรงในครอบครัว ทั้งแนวคิดว่าผู้หญิงถูกมองว่าเป็นเพศจำยอม การอดทนเพื่อลูก เพื่อรักษาครอบครัวที่สมบูรณ์และรักษาหน้าตาทางสังคม ในประเด็นนี้ทางหน่วยงานจะมี การดำเนินงานเพื่อที่จะลดการผลิตแบบเก่า ๆ ซ้ำ ๆ และมีแผนงานอย่างไรในการที่จะสร้างพลัง ให้กับผู้ที่ต้องเผชิญความรุนแรงในครอบครัว ให้สามารถหลุดพ้นจากความรุนแรงได้ เพื่อไม่ให้ผู้ถูกกระทำต้องอดทน และเผชิญหน้ากับความรุนแรงโดยลำพัง เพราะมีความจำเป็น อย่างยิ่ง และต้องมีการดำเนินการร่วมกันจากหลาย ๆ หน่วยงานในการที่จะแก้ปัญหา ความรุนแรงในครอบครัวให้ครบทุกมิติ
ประการที่ ๓ เมื่อพิจารณาตามมาตรการทางกฎหมายจะเห็นได้ว่า การออกกฎหมายเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวมีเจตนาหลักที่จะให้ความครอบคลุม ผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรง แต่จากบทบัญญัติในมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครอง ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ระบุว่าไม่ว่าพิจารณาคดีการกระทำ ความรุนแรงในครอบครัวจะได้ดำเนินไปแล้วเพียงใด ให้ศาลพยายามเปรียบเทียบให้คู่ความ ได้ยอมความกัน โดยมุ่งถึงความสงบสุขและการอยู่ด้วยกันของครอบครัวเป็นสำคัญ แม้กระทั่ง มาตรากฎหมายก็ยังให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัว เพราะฉะนั้นดิฉันเองเป็นตัวแทน ของผู้หญิงคนหนึ่งก็ขอให้คุ้มครองสิทธิผู้หญิง หรือความรุนแรงเกี่ยวกับผู้หญิงด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพค่ะ ดิฉัน ดอกเตอร์ณัฐจิรา อิ่มวิเศษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย จังหวัด นครราชสีมา เขต ๔ อำเภอสูงเนิน อำเภอขามทะเลสอ อำเภอโนนไทย ๗ ตำบล ท่านประธานคะ วันนี้ดิฉันขอปรึกษาหารือความเดือดร้อนในพื้นที่จำนวน ๓ เรื่อง
เรื่องแรก เนื่องจากโรงพยาบาลสูงเนิน อำเภอสูงเนิน จากที่ผ่านมามีผู้ป่วย เข้ามาใช้บริการจำนวนมาก และปัจจุบันมีผู้ป่วยนอนรักษาจำนวนมากกว่า ๙๐ คนต่อวัน แต่จำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยได้เพียงแค่ ๙๐ เตียง ทำให้เตียงที่โรงพยาบาลไม่เพียงพอ และต่อไปมีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นค่ะ ตอนนี้มีอาคารพักผู้ป่วยจำนวน ๒ อาคาร และมีอายุการใช้งานมาแล้วกว่า ๔๒ ปี มีสภาพเสื่อมโทรม ถึงแม้จะได้รับการบำรุงรักษา ซ่อมแซมแล้ว แต่ก็ยังเสี่ยงต่อการทรุดตัวตลอดเวลาค่ะ อาจจะเกิดอันตรายต่อผู้ป่วย ได้ตลอดเวลา ดังนั้นเห็นควรก่อสร้างอาคารพักผู้ป่วยทดแทนอาคารเดิมที่ชำรุดทรุดโทรม และแออัด จึงนำเรียนท่านประธานไปยังกระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยสนับสนุนจัดสรรงบประมาณการสร้างอาคารผู้ป่วย โรงพยาบาลสูงเนิน เพื่อให้พี่น้อง ชาวสูงเนินและอำเภอใกล้เคียงได้รับการบริการที่เพียงพอและบริการที่ดีขึ้นค่ะ
เรื่องที่ ๒ ดิฉันได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องชาวอำเภอขามทะเลสอ เรื่องปัญหาไฟแสงสว่างเส้นทางจราจรบริเวณอุโมงค์ บ้านโนน ตำบลโป่งแดง อำเภอ ขามทะเลสอ ทางลอดถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา หมายเลข ๒๙๐ อุโมงค์ดังกล่าว เป็นถนนสัญจรเชื่อมระหว่างอำเภอสูงเนิน อำเภอขามทะเลสอ มีชาวบ้านสัญจรไปมา ตลอดเวลา และทางลอดอุโมงค์ในช่วงเวลากลางคืนไม่มีแสงสว่างของไฟฟ้าที่เพียงพอ ทำให้ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและอันตรายต่อผู้สัญจรไปมาค่ะ ดิฉันขอวิงวอนกรมทางหลวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อให้ผู้ขับขี่สัญจรมีวิสัยทัศน์ที่ดีขึ้น มีความปลอดภัยต่อชีวิตและมีความปลอดภัยต่อทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ค่ะ
เรื่องที่ ๓ เนื่องจากตอนนี้ปัญหาฝนทิ้งช่วงเกิดภัยแล้ง ได้รับเรื่องร้องเรียน จากพ่อแม่พี่น้องในเขต ๔ จังหวัดนครราชสีมามาเกือบทุกตำบลเลยค่ะ เกษตรกรร้องขอให้ รัฐบาลช่วยขุดลอกสระน้ำและทำฝายชะลอน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในยามวิกาล และขอให้ รัฐบาลมีมาตรการควบคุมราคาปุ๋ยซึ่งปัจจุบันมีราคาที่สูงมาก ส่งผลให้ต้นทุนการผลิต ของชาวบ้านสูงขึ้นซึ่งไม่สมดุลกับราคาพืชผลทางการเกษตร ณ ปัจจุบัน จึงขอให้รัฐบาล เยียวยาเร่งแก้ไขกับเกษตรกรที่ประสบปัญหาอยู่ขณะนี้ด้วยค่ะ ขอขอบคุณท่านประธานค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพค่ะ ดิฉันนางสาวณัฐจิรา อิ่มวิเศษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย นครราชสีมา เขต ๔ อำเภอสูงเนิน อำเภอขามทะเลสอ อำเภอโนนไทย ๗ ตำบล ก่อนอื่น ขอขอบคุณท่านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แล้วก็คณะทำงานทุกท่านที่ทำงาน อย่างเต็มที่ภายใต้ข้อจำกัดเพื่อสิทธิ ประโยชน์สิทธิของประชาชน ดิฉันเข้าใจว่าอำนาจหน้าที่ ของท่านหลากหลายและกว้างขวาง และดิฉันขอชื่นชมและยินดีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แห่งชาติที่ปรับเลื่อนจากระดับ B เป็น A จากที่ดิฉันได้อ่านรายงานของท่านนะคะ ดิฉันมีข้อสงสัย และข้อสังเกตเกี่ยวกับสิทธิผู้สูงอายุอยู่ ๔ ประเด็น
ประเด็นแรก ประเทศไทยถูกประกาศเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ เมื่อปีที่แล้ว โดยมีจำนวนผู้สูงอายุ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ และในอีกไม่กี่ปีโครงสร้างประชากร จะเปลี่ยนไปในปี ๒๕๘๓ จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น ๒๐ ล้านคน หรือ ๑ ใน ๓ ของประชากรทั้งหมด ทาง กสม. มีข้อแนะนำหรือคำแนะนำอย่างไรให้กลุ่มบุคคลที่จะเข้าสู่ วัยสูงอายุรวมถึงแผนงาน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการรับมือสังคมผู้สูงอายุอย่างไรบ้าง ที่จะสามารถคุ้มครองสิทธิของเขาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากกลุ่มผู้สูงอายุ มีอัตราที่สูงขึ้น แล้วก็กลุ่มผู้สูงอายุถือเป็นกลุ่มเปราะบางเพราะจากการรายงานสถานการณ์ เมื่อ ๒-๓ ปีที่แล้ว การแพร่ระบาดของ COVID-19 กลุ่มผู้สูงอายุถือว่าเป็นกลุ่มผู้เปราะบางมาก แล้วในช่วงนั้นมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง และกลุ่มผู้สูงอายุป่วยด้วยโรคเรื้อรังด้วยค่ะ ไม่ได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยี และขั้นตอนกระบวนการในการลงทะเบียนที่ยุ่งยาก นอกจากนี้ในการแพร่ระบาดนะคะ กลุ่มผู้สูงอายุมักจะเป็นแรงงานกลุ่มแรกที่ถูกเลิกจ้างค่ะ และเป็นกลุ่มที่มีอุปสรรค ในการเข้าถึงมาตรการรัฐเรื่องการเยียวยา เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านความสามารถ ในการใช้เทคโนโลยีด้วย แล้วก็ขาดอุปกรณ์ที่จำเป็นในการลงทะเบียน จากข้อมูล ในการรายงานได้มีการคาดการณ์ว่าในอนาคตอาจจะขาดแคลนบุคลากรที่จะมาทำหน้าที่ ในการดูแลผู้สูงอายุ จึงต้องมีการพึ่งพาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อดูแลผู้สูงอายุ เพิ่มมากขึ้น แต่จากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมา กลุ่มผู้สูงอายุกลับเป็นกลุ่มที่ขาดโอกาส ในการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของภาครัฐ เพียงเพราะว่าไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี ในช่วงนี้ทาง กสม.มีแนวทางช่วยเหลือผู้สูงอายุอย่างไร เพื่อไม่ให้กลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มบุคคล ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังเพราะความรู้ความสามารถทางเทคโนโลยีเข้าไม่ถึงนะคะ ส่วนใหญ่ ในปัจจุบันโรงพยาบาลหรือสถานที่ต่าง ๆ นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทั้งการรักษาพยาบาล ทางไกล และการช่วยเหลือหรือเยียวยาต่าง ๆ อันนี้ประเด็นแรกค่ะ
ประเด็นที่ ๒ ที่ดิฉันตั้งคำถามก็คือในการส่งเสริมและการคุ้มครองสิทธิ มนุษยชนของผู้สูงอายุ คือการดูแลผู้สูงอายุ สามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ มีศักดิ์ศรี โดยให้ผู้สูงอายุที่ยังสามารถทำงานได้ ต้องการทำงานเข้าถึงโอกาสค่ะ ให้เขามีโอกาส ในการทำงานที่เหมาะสม แต่จากผลการส่งเสริมศักยภาพและความสามารถในการประกอบ อาชีพ เช่น การจ้างงาน ซึ่งดำเนินงานโดยกรมการจัดหางาน งบประมาณปี ๒๕๖๕ สามารถ ดำเนินงานให้ผู้สูงอายุมีงานทำ มีรายได้เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา ๓๓ จำนวน ๑๗๗,๖๘๓ คน ถึงแม้ว่าจะเพิ่มขึ้นจากในปี ๒๕๖๔ ก็ตาม แต่กลับลดน้อยลงกว่า ปี ๒๕๖๓ เกือบ ๗๐,๐๐๐ คนค่ะท่าน ทั้ง ๆ ที่ในปี ๒๕๖๕ ประเทศไทยได้รับการประกาศว่า เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ และจากสถิติผู้สูงอายุในไทยปี ๒๕๖๕ ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่ามีจำนวนของผู้สูงอายุอยู่ ๑๒ ล้านกว่าคน ซึ่งเมื่อเทียบกับสถิติ ของผู้สูงอายุที่มีงานทำและมีรายได้เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมคิดเป็นร้อยละ ๑.๓๙ ของผู้สูงอายุทั้งหมด และถ้านำมาเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้สูงอายุที่ถือว่ายังมีศักยภาพ ในการทำงานที่ดีอยู่ ก็คือช่วงอายุ ๖๐-๖๙ ปี ซึ่งมีจำนวน ๗ ล้านกว่าคน คิดเป็นร้อยละ ๒.๔๙ ของจำนวนผู้สูงอายุ ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่น้อยมาก และจากข้อมูลของสถาบันวิจัยประชากร และสังคมของมหาวิทยาลัยมหิดล สำรวจพบว่าผู้สูงอายุมีรายได้น้อยยังต้องรับเงินจากบุตรหลานอยู่ ๕๗.๗ เปอร์เซ็นต์นะคะ ซึ่งในอนาคตจะมีกลุ่มผู้สูงอายุที่ครองโสดเพิ่มขึ้น มีจำนวนบุตรที่ลดลงหรือไม่มีบุตร มีสัดส่วน ผู้ไม่มีบุตรเพิ่มขึ้น ทำให้แหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจาก ปัจจุบัน ไม่มีแหล่งรายได้จากบุตรและคู่สมรสแล้วนะคะ ในส่วนนี้จึงอยากสอบถามทาง กสม. นะคะว่าจะมีคำแนะนำไหมหรือมีการวางแผนงานและแนวทางในการดำเนินงาน อย่างไรเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุให้สามารถเข้าถึงการทำงาน มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ที่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นค่ะ
ประเด็นที่ ๓ จากรายงานสถิติการรับเรื่องร้องเรียนของ กสม. รวมทั้งสิ้น ๑,๑๔๙ เรื่อง พบว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิผู้สูงอายุจำนวน ๑ เรื่องแต่จากสถานการละเมิดสิทธิ ผู้สูงอายุในปี ๒๕๖๕ พบเหตุการณ์เกิดขึ้นหลายกรณี เช่น ในข่าวทีวีต่าง ๆ เช่น กรณีผู้สูงอายุ จำนวนมากถูกล่ามโซ่ไว้ในศูนย์ผู้ดูแลผู้สูงอายุแห่งหนึ่ง กรณีหญิงสูงอายุถูกคนร้ายใช้อาวุธ ทำร้ายร่างกายและข่มขืนค่ะ และกรณีผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งปล่อยให้อยู่คนเดียวในบ้านพัก จนมีสภาพร่างกายที่ซูบผอมนะคะ อันนี้ก็คือเป็นกรณีในข่าวนะคะ แต่กรณีในพื้นที่ของ เมย์เองก็มีค่ะ ถูกทอดทิ้งไว้คนเดียวก็เป็นผู้ป่วยติดเตียง ส่วนตัวเมย์เองได้เข้าไปเยี่ยม ๑ ครั้ง ก็เกิดความคิดว่าอยากให้มีมาตรการที่ดูแลและเยียวยาเขามากกว่านี้ค่ะ อันนี้ก็จากรายงาน พบว่า กสม. มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น อย่างเช่นค่าใช้จ่ายฝึกอบรมเพิ่มขึ้น ๔ ล้านกว่าบาทในปี ๒๕๖๕ แต่คิดว่าในหลาย ๆ ท่านก็พูดเรื่องค่าใช้จ่ายไปแล้วนะคะ ที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหลายส่วนเลยค่ะ อย่างไรก็ตามที่ตั้งข้อสังเกตไปและซักถามไปก็เพื่อเรียกร้องสิทธิให้ชาวบ้านให้ผู้พิการ ให้ผู้ป่วย ติดเตียงหรือผู้สูงอายุ อยากให้ท่านลงพื้นที่เชิงลึกมากกว่านี้ จะเก็บข้อมูลในการวิเคราะห์ เพื่อปฏิบัติงานและพัฒนางานได้ดียิ่งขึ้น ดิฉันเองลงพื้นที่สูงเนิน อำเภอขามทะเลสอ อำเภอโนนไทย ทราบเลยค่ะว่ามีผู้ป่วยติดเตียงเพิ่มขึ้นเยอะจริง ๆ แล้วก็ผู้พิการ แล้วยิ่งต่อไป อยู่ในสังคมวัยผู้สูงวัยนะคะ ดิฉันในฐานะตัวแทนชาวบ้านจากที่ตั้งคำถามไปขอให้พัฒนา ให้ดีขึ้น ตามความหมายก็คือความมีคุณธรรม ความเอื้ออาทรระหว่างเพื่อนมนุษย์ ขอบคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพค่ะ ดิฉัน นางสาวณัฐจิรา อิ่มวิเศษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๔ พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันมีปัญหาของพ่อแม่พี่น้องในพื้นที่ดิฉันค่ะ เรื่องที่ ๑ นะคะ ขอ Slide ค่ะ
เนื่องจากผลกระทบจาก ฝนตกหนักส่งผลให้มีน้ำไหลจากตำบลหนองสรวงมายังตำบลพันดุง อำเภอขามทะเลสอ และน้ำได้กัดเซาะสะพานข้ามคลองผักขมชำรุดเสียหาย ส่งผลให้พ่อแม่พี่น้องจำนวน ๔ หมู่บ้าน ได้รับผลกระทบ แล้วก็ความเดือดร้อนในการสัญจรเข้าออกหมู่บ้านนะคะท่าน ถ้ามีฝนตกหนักบริเวณนั้นน้ำจะท่วม ทำให้พ่อแม่พี่น้อง ๔ หมู่บ้าน ขับรถอ้อมไปอีกทาง ก่อนหน้านี้ได้ยื่นเรื่องเข้างบกลางแล้ว แต่ไม่ปรากฏโครงการดังกล่าว ด้วยเหตุนี้จึงอยาก วิงวอนขอความอนุเคราะห์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างสะพาน คอนกรีตเสริมเหล็กข้ามคลองผักขม ตำบลพันดุง เพื่อพ่อแม่พี่น้องได้สัญจรเข้าออกหมู่บ้าน สะดวกค่ะ
เรื่องที่ ๒ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านโป่งบูรพา หมู่ที่ ๖ ตำบลโป่งแดง อำเภอขามทะเลสอ จากรูปดังกล่าวจะเห็นได้ว่าน้ำประปามีสีขุ่นแดง ส่งผลให้เสื้อผ้า หรือสุขภัณฑ์ของพ่อแม่พี่น้องตำบลโป่งแดงมีความเสียหาย ผ้าสีขาวซักออกมาเป็นสีแดง หรือสีส้มเลย ผลกระทบทำให้การอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันส่งผลทันที จึงอยากขอ ความอนุเคราะห์ให้การประปาส่วนภูมิภาคดำเนินการขยายเขตประปาให้พ่อแม่พี่น้อง ชาวโป่งแดงด้วยค่ะ
เรื่องที่ ๓ ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากชาวบ้านตำบลค้างพลูใต้ อำเภอโนนไทย ซึ่งถนนเส้นนี้เป็นถนนเชื่อมหลายตำบล ไม่ว่าจะเป็นค้างพลูใต้ หมู่ที่ ๓ บ้านหนองราง หมู่ที่ ๔ บ้านหนองบัว หมู่ที่ ๘ บ้านกระพี้ หมู่ที่ ๖ ตำบลค้างพลู อำเภอโนนไทย จากที่ดิฉันได้ลง พื้นที่ดังรูปเลยค่ะท่านประธาน เป็นหลุมเป็นบ่อจำนวน ๔ กิโลเมตร และตลอดทั้งเส้น ไม่มีไฟฟ้าแสงสว่างเลยค่ะ จึงขอความอนุเคราะห์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงถนนเส้นนี้ แล้วก็ขอแสงสว่างให้พ่อแม่พี่น้องชาวค้างพลูใต้ด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ
ท่านประธานสภาที่เคารพคะ ดิฉัน นางสาวณัฐจิรา อิ่มวิเศษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๔ พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันต้องขอขอบคุณทางรัฐมนตรีแล้วก็รัฐบาลที่เห็นเรื่องความเท่าเทียม เป็นเรื่องสำคัญ วันนี้ดิฉันจึงขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายค่ะ มนุษย์ทุกคนเกิดมามีอิสระ และเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิค่ะ ข้อความนี้ถูกระบุในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิ มนุษยชนซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศค่ะ สิทธินั้น เป็นของทุกคน โดยผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQIAN+ ต่างก็มีสิทธิที่จะได้รับ การคุ้มครอง เคารพ และเติมเต็มสิทธิมนุษยชนของพวกเขาเช่นเดียวกันค่ะ รวมไปถึง การคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติ แต่ที่ผ่านมาบุคคลหลากหลายทางเพศกลับเป็นกลุ่มบุคคล ที่ถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค บางคู่ต้องประสบปัญหาจากการที่ไม่สามารถสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ส่งผล ไม่สามารถใช้สิทธิใด ๆ ได้เช่นเดียวกับคู่รักแบบชายหญิง นั่นถือเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำ ให้กับกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศเป็นอย่างมาก ดิฉันเชื่อว่าความรักเป็นสิ่งสวยงามและ ไม่ควรถูกจำกัดด้วยอำนาจใด ๆ ทั้งสิ้น ทุกประเทศต่างให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิและ เสรีภาพ ดังนั้นสิทธิและเสรีภาพของบุคคลไม่ควรถูกจำกัดด้วยเพศสภาพหรืออัตลักษณ์ ทางเพศหรือใด ๆ เพราะฉะนั้นในการสมรสของ ๒ คนที่รักกันก็ควรจะได้รับสิทธิอย่าง เท่าเทียมกันทุกคน อีกทั้งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการสร้างครอบครัวด้วยค่ะ เพราะฉะนั้นถือ เป็นสิทธิที่ทุกคนพึงได้รับหลักการไม่เลือกปฏิบัติโดยกฎหมาย สิทธิส่วนบุคคลในการตัดสินใจ ที่เกี่ยวข้องกับการสมรสและเสรีภาพในการสมรส ถือเป็นสิ่งที่บุคคลไม่ว่าจะเป็นเพศใด พึงที่จะมีสิทธิที่จะได้รับอย่างเสมอภาค ด้วยเหตุนี้กฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้จะทำให้ ความหลากหลายทางเพศก็สามารถหมั้นได้และสมรสกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ อันจะส่งผลให้มีสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัวที่เท่าเทียมกันกับคู่สมรสที่เป็นชายหญิง สิทธิในการจดทะเบียนสมรสก็เช่นกันค่ะ หรือสิทธิในการจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส ก็มีเพื่อนสมาชิกหลายท่านได้พูดถึงเรื่องสิทธิในการจดทะเบียนสมรสหรือการรักษาพยาบาล ต่าง ๆ รวมไปถึงสิทธิประโยชน์และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส เช่นสิทธิรับประโยชน์ ทดแทนจากประกันสังคมเป็นต้น ก็อย่างที่ทราบกันดีว่ากว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมจะได้เข้า มาสู่ในรัฐสภาก็ใช้เวลาพอสมควร ซึ่งวันนี้ก็ได้เข้ามาสำเร็จแล้วก็ยินดีกับทุกท่านนะคะ เมย์เองก็มีเพื่อน พ่อ แม่ พี่น้อง หรือว่าญาติเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ วันนี้ก็รู้สึก ดีใจที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่ง เป็นหนึ่งเสียงเพื่อผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ ซึ่งเมื่อเราได้มี การเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งเป็นการดำเนินการ ตามคำแถลงนโยบายของคณะท่านเศรษฐา ทวีสิน ที่แถลงต่อรัฐสภาว่า รัฐบาลจะผลักดันให้ มีกฎหมายสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพราะฉะนั้นวันนี้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยไม่ควรไม่มีใครไม่เท่าเทียม ขอบคุณค่ะ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวณัฐจิรา อิ่มวิเศษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๔ พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายนะคะ เพื่อให้มีการแก้ปัญหาเรื่อง ค่าไฟแพง ตามรัฐธรรมนูญได้มีการบัญญัติไว้ว่า รัฐต้องจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภค ขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง ตามหลักการพัฒนา อย่างยั่งยืนค่ะ ซึ่งไฟฟ้าถือเป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานของพ่อแม่พี่น้องประชาชนเลยนะคะ หรือ ประชาชนทุกครัวเรือนจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าค่ะ แต่ในปัจจุบันพบว่าประชาชนต้องแบกรับ ค่าใช้จ่ายในเรื่องของค่าไฟในอัตราที่สูงกว่าเดิมเป็นอย่างมากค่ะ ซึ่งถ้าหากเราไม่สามารถ แก้ไขปัญหาค่าไฟแพงที่ต้นเหตุได้นั้น ปัญหานี้ก็จะกลายเป็นปัญหาหนึ่ง หรือปัญหาสำคัญ ที่ตอกย้ำวิกฤติค่าครองชีพในสังคมไทย ในบิลค่าไฟมีอะไรบ้างนะคะ จากทุกบ้าน ทุกหลังคาเรือน อันดับ ๑ เลยจะมีค่าไฟฟ้าฐาน แล้วก็บวกค่าไฟฟ้าผันแปร แล้วก็อันดับ ๓ จะมีค่าบริการรายเดือน และ ๕ สุดท้ายภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้ง ๔ ตัวนี้รวมทั้งหมด ซึ่งออกมาเป็น ค่าไฟของทุกบ้าน ขอสไลด์ถัดไปเลยค่ะ
ค่าไฟผันแปร หรือค่า FT ที่เรา เรียกกัน ที่มีหลาย ๆ ท่านที่บ่นว่าค่า FT สูงขึ้น หรืออื่น ๆ ตรงนี้ค่า FT ในการที่จะแก้ปัญหา เรื่องค่าไฟฟ้าแพงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่แท้จริงว่าอะไรส่งผลที่ทำให้ ค่าไฟแพง และเมื่อตรวจสอบดู หรือ Check ดู ค่าไฟฟ้าฐาน ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่า FT ที่ ขยับสูงขึ้นจาก ๑.๓๙ สตางค์ต่อหน่วย ในช่วงต้นปี ๒๕๖๕ เป็น ๙๓.๔๓ สตางค์ต่อหน่วย ในช่วงปลายปี ๒๕๖๕ ถึงต้นปี ๒๕๖๖ ซึ่งเป็นอัตราค่า FT ที่สูงสุดในรอบ ๑๐ ปีเลยค่ะ ท่านประธาน และจากการวางแผนการผลิตไฟฟ้าที่คำนึงความมั่นคงทางด้านพลังงาน เกินความจำเป็น และเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนในธุรกิจพลังงานไฟฟ้าเกินสมควร ส่งผลให้ เกิดปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้าที่มากเกินความต้องการ ถ้ามองในกราฟบนสไลด์ ตรงเส้น สีแดงจะเป็นความต้องการไฟฟ้าสูงสุด และเส้นสีเหลืองก็คือกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่ควร มีในระบบนะคะ ซึ่งไม่ควรเกิน ๑๕ เปอร์เซ็นต์ แต่ปัจจุบันเป็นเส้นสีน้ำเงิน กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่มีในระบบมีถึง ๕๕ เปอร์เซ็นต์ในปี ๒๕๖๔ และเมื่อเทียบกับ ปี ๒๕๔๔ อยู่ที่ ๓๗ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเกินกว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง ๑๕ เปอร์เซ็นต์ ไปเยอะค่ะท่านประธาน และนอกจากนี้ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่มีเงื่อนไขว่า ไม่ซื้อก็ต้อง จ่ายค่ะ คือแม้จะไม่ได้ผลิตไฟฟ้าแต่ยังได้เงินค่าไฟฟ้า หรือที่เรียกว่าค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า ทำให้โรงงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิตล้นเกินความต้องการ แม้ไม่ได้เดินเครื่องผลิต ไฟฟ้าแต่ก็ได้เงินค่าไฟฟ้า และจากการที่กำลังผลิตไฟฟ้าล้นระบบส่งผลให้โรงงานไฟฟ้า ขนาดใหญ่ไม่ได้เดินเครื่องไฟอย่างเต็มศักยภาพ และมีการถ่ายการผลิตไฟฟ้าไปให้โรงไฟฟ้า ขนาดเล็กผลิตแทน ซึ่งอันนี้ก็เป็นปัญหาที่ทำให้มีค่า FT ที่เรียกเก็บกับประชาชน ซึ่งในแต่ละปี พบว่ามีจำนวนสูงพอสมควรค่ะ ตลอดจนที่ประชาชนไม่ได้ใช้ราคาแก๊สธรรมชาติที่ผลิตจาก อ่าวไทย จริง ๆ ก๊าซธรรมชาติที่อ่าวไทยมีราคาต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับราคาก๊าซจากแหล่ง อื่น ๆ แต่ต้องใช้ราคา Pull Gas หรือราคาผสมจากทุกแหล่ง และ LNG ที่ราคาสูงขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง โดยก๊าซธรรมชาตินี้จากอ่าวไทยมีเพียงกลุ่มโรงแยกก๊าซธรรมชาติและกลุ่ม อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเท่านั้นที่ใช้ได้ ก๊าซธรรมชาติในราคาถูก ซึ่งถ้าเราสามารถแก้ปัญหานี้ ให้เป็นธรรมได้ก็จะช่วยลดค่าไฟลงได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาหรือขอเสนอแนวทาง การแก้ปัญหา ๑. ควรมีแนวทางและมาตรการที่ยั่งยืนในการแก้ปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าแพง ไม่ว่าจะเป็น ค่า FT ก็ตาม หรือค่าอื่น ๆ ก็ตาม เราควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ๒. การเพิ่มสัดส่วน ของพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า และ ๓. ให้ความสำคัญกับการกระจายประเภทของ เชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ๔. การส่งเสริมให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าด้วยระบบผลิตไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาเซลล์ หรือ Solar Rooftop แต่ประเด็นที่ ๔ ในการติดตั้ง อาจจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ซึ่งตรงนี้ก็อาจจะทำได้ในบางจุด อันนี้ก็ต้องมีการวิเคราะห์ อีกต่อไป
ดังนั้นทั้งหมดที่ดิฉันกล่าวมาก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ภาคประชาชน ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคที่แพงขึ้น คนไทยอาจจะต้องจ่ายค่าไฟ แพงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างนี้นะคะ เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นต้นทุนทางการผลิต หรือต้นทุน ค่าใช้จ่ายของพ่อแม่พี่น้องประชาชน วันนี้ดิฉันเองก็ขอเป็น ๑ ปาก ๑ เสียงให้พ่อแม่พี่น้อง ประชาชนในเรื่องของค่าไฟแพง ด้วยเหตุนี้ดิฉันจึงเห็นสมควรให้มีการพิจารณาในเรื่องแก้ไข ปัญหาเรื่องค่าไฟแพงค่ะท่านประธาน ขอบคุณค่ะ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวณัฐจิรา อิ่มวิเศษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๔ พรรคเพื่อไทยค่ะ ดิฉันมีเรื่องปรึกษาหารือท่านประธานจำนวน ๓ เรื่องด้วยกันค่ะ ขอสไลด์ ด้วยค่ะ
เรื่องแรก เรื่องซ่อมแซมถนน ทางหลวงชนบท หมายเลข ๓๐๖๕ บริเวณวัดธรรมจักรเสมาราม ตำบลเสมา อำเภอสูงเนิน พระนอนที่เมืองเสมาได้ขึ้นชื่อว่าเป็น UNESCO Global Geoparks อย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวอารยธรรมของจังหวัดนครราชสีมาค่ะ แต่ภาพทางขวามือคือถนน เข้าวัดค่ะ ดังนั้นจึงอยากวิงวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนะคะ กรมทางหลวงชนบท กระทรวง คมนาคมให้ซ่อมแซมบำรุงถนนบริเวณทางหลวงหมายเลข ๓๐๖๕ ด้วยค่ะ
เรื่องที่ ๒ เรื่อง Barrier บริเวณอำเภอโนนไทยตั้งแต่ตำบลด่านจากจนถึง ตำบลโคกสวาย หรือตำบลสายออของอำเภอโนนไทย บริเวณดังกล่าวเป็นถนน ๔ เลน แล้วก็จะเป็นรถสัญจรระหว่างจังหวัด ทำให้มีอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จึงวิงวอนหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเพิ่ม Barrier หรืออุปกรณ์กั้นตรงกลางถนน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน ลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ แล้วก็เห็นความปลอดภัยของพ่อแม่พี่น้องเป็นเรื่องสำคัญค่ะ จึงอยากวิงวอนกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม เห็นความปลอดภัยของพี่น้องเป็นเรื่อง สำคัญค่ะ
เรื่องที่ ๓ บริเวณหนองสรวง หมู่ที่ ๕ หรือบ้านหนองสรวงพัฒนา บริเวณ ดังกล่าวมีแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์แต่ตื้นเขิน อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสรร งบประมาณในการขุดลอกคลองเพื่อกักเก็บน้ำให้พ่อแม่พี่น้องบ้านหนองสรวงพัฒนา หมู่ที่ ๕ หรือหมู่บ้านใกล้เคียงได้ใช้น้ำบริเวณในคลองดังกล่าวในเวลาทำการเกษตรด้วย ขอบคุณค่ะ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวณัฐจิรา อิ่มวิเศษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๔ พรรคเพื่อไทยค่ะ วันนี้ดิฉันมี ๒ เรื่อง ปรึกษาหารือท่านประธานด้วยกันค่ะ
เรื่องแรก ดิฉันได้รับเรื่องจากทาง ท่านนายกเทศมนตรีตำบลโพธิ์กลางและประชาชนค่ะ บริเวณแยกดังกล่าวคือ แยกถนนทางหลวงหมายเลข ๓๐๖๔ และถนนทางหลวงหมายเลข ๓๐๔ เป็นบริเวณ หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีกับตำบลนาโพธิ์กลาง แยกดังกล่าวเข้าไปเทศบาล ตำบลโพธิ์กลาง ข้อมูลพื้นฐานของตำบลโพธิ์กลาง มีประชากรประมาณ ๓๐,๐๐๐ คน แล้วก็มีรถสัญจรผ่านไปมาบริเวณแยกดังกล่าว ๓,๐๐๐ คันต่อวัน และต้องการเปิดจุดเชื่อม ไฟแดงบริเวณดังกล่าวค่ะ เพราะว่าฝั่งตรงข้ามเป็นมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาล แล้วประชาชนตำบลโพธิ์กลางก็ต้องไปกลับรถไกล ถ้าเกิดจะไปมหาวิทยาลัยหรือโรงพยาบาล ดังนั้นจึงขอให้กระทรวงคมนาคมเปิดเชื่อมถนนสี่แยกไฟแดงดังกล่าว เพื่ออำนวยความสะดวก ให้พี่น้องประชาชนด้วยค่ะ
เรื่องที่ ๒ คือเป็นเรื่องสำคัญและเป็นความหวังของคนโคราชอีกครั้งค่ะ เดิมทีจังหวัดนครราชสีมามีสนามบินนครราชสีมา แต่อยู่ที่หนองเต็ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ก่อนหน้านี้เมื่อไม่นานได้เปิดใช้สนามบินนครราชสีมาที่หนองเต็ง แต่มีระยะทางห่างจาก ตัวอำเภอเมือง ๓๒ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางเกือบ ๔๐ นาทีค่ะท่านประธาน แต่ไม่นาน ก็ไปต่อไม่ได้ เนื่องจากไกลจากตัวเมืองมีผู้โดยสารน้อย และเมื่อหลายปีก่อนก็คือได้เปิดใช้ สนามบินที่กองบิน ๑ ดังภาพขวามือ ซึ่งมี Runway แล้วก็มีอาคารแล้วค่ะ เพราะฉะนั้น เมื่อวันที่ ๑๙ ที่ผ่านมา หารือทางท่านรัฐมนตรีประเสริฐ จันทรรวงทอง และ สส. จังหวัดนครราชสีมา แล้วก็หน่วยงานข้าราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องขอเปิดใช้พื้นที่ สนามบินกองบิน ๑ ซึ่งทุกส่วนเห็นพ้องต้องกันว่าสมควรเปิดใช้สนามบินนครราชสีมา ที่กองบิน ๑ นะคะ ก่อนหน้านี้ดิฉันได้ลงพื้นที่ แล้วประชาชนก็รับทราบเห็นพ้องต้องกันว่า ควรเปิดที่กองบิน ๑ เนื่องด้วยอะไรรู้ไหมค่ะ ประหยัดเวลาในการเดินทาง ประหยัดค่าใช้จ่าย ดังนั้นดิฉันขอวิงวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดเวลาในการพิจารณากลับมาใช้ สนามบินนครราชสีมาที่กองบิน ๑ เพื่อเติมเต็มความหวังให้คนโคราชกลับมามีสนามบินใช้ อีกครั้งค่ะท่านประธาน ขอบคุณค่ะ