เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายอับดุลอายี สาแม็ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดยะลา เขต ๓ เขตอำเภอกรงปินัง อำเภอบันนังสตา อำเภอธารโต และอำเภอเบตง ผมขอหารือกับท่านประธาน ๑ เรื่องนะครับ เนื่องจากเรื่องขอการเยียวยาผลอาสินที่เกิดความเสียหายจากช้างป่าที่ไปทำลายในพื้นที่สวน ของพี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่หลาย ๆ อำเภอของอำเภอบันนังสตา อำเภอธารโต อำเภอเบตงครับ ก็สืบเนื่องจากตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ เป็นต้นมา ก็ปรากฏมีช้างป่า ออกมาทำลาย ผลอาสินของพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันนี้ก็ยังมีช้างมาทำลาย ในเขตพื้นที่สวน อย่างภาพที่ปรากฏที่ฉาย Slide ในห้องประชุมแห่งนี้ในขณะนี้ครับ ก็ปรากฏว่ามีช้างป่าเป็นทำลายพื้นที่สวนทุเรียนของชาวบ้าน ภาพที่เห็นนะครับ พื้นที่สวน ก็ประมาณสัก ๗๐ ต้นนะครับ อีกประมาณสัก ๒ เดือนก็คงจะเก็บผลได้แล้ว แล้วก็มีการเหมาสวนล่วงหน้าก็ตกประมาณสัก ๒๐๐-๓๐๐ กิโลกรัมต่อต้น ความเสียหาย ทั้งหมดก็ประมาณ ๗๐ ต้น อันนี้เฉพาะกรณีตัวอย่างนะครับ ความเสียหายในสวนนี้ ก็ตกประมาณ ๒ ล้านกว่าบาท ทำให้ความคาดหวังของพี่น้องประชาชนในปีนี้ก็หมดหวัง แล้วก็ยังมีพื้นที่ลักษณะเดียวกันที่เกิดความเสียหายนี้อีก รวมพื้นที่ความเสียหายทั้งหมด ประมาณสัก ๒๐ กว่าล้านบาทเท่าที่เห็นอยู่ ก็อยากจะนำเรียนให้ท่านประธานประสานไปยัง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เนื่องจากว่าสัตว์ป่าเหล่านี้เราชาวบ้านปกติทั่วไป ก็ไม่สามารถที่จะทำลายหรือทำร้ายช้างเหล่านี้เพื่อต้อนออกไปจากพื้นที่สวนก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากว่ายังมีกฎหมาย พ.ร.บ. การคุ้มครองสัตว์ป่า แล้วก็มีความผิด ดังนั้นก็อยากจะให้ ท่านประธานช่วยประสานไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ความเสียหาย ที่เกิดขึ้นก็คงหลีกไม่พ้น เป็นเรื่องของความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อที่จะไปเยียวยาให้กับพี่น้อง ประชาชนที่เกิดความเสียหายเหล่านี้ เบื้องต้นก็ได้มีการสำรวจและส่งความเสียหายเหล่านี้ ไปทางอำเภอแต่ละอำเภอที่เกิดความเสียหาย แล้วก็อยากจะให้ท่านประธานเพิ่ม การประสานงานเพิ่มเติมไปยังที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อีกขั้นตอนหนึ่ง เพื่อที่จะได้มาหาวิธีการเยียวยาแล้วก็ช่วยเหลือเรื่องความเสียหายที่เกิดกับพี่น้องประชาชน โดยทั่วไป ขอขอบคุณท่านประธานครับ
เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพครับ ผม นายอับดุลอายี สาแม็ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๓ จังหวัดยะลา เขตอำเภอกรงปินัง อำเภอบันนังสตา อำเภอธารโต และอำเภอเบตง พรรคประชาชาติ ผมขอหารือกับท่านประธาน ๑ เรื่องนะครับ
เนื่องจากว่าครั้งที่ผ่านมาผมก็ได้หารือประเด็นคล้าย ๆ กันนี้แล้วก็คือ เรื่องช้างป่า เหมือนท่านสมาชิกที่มีการหารือจากปราจีนบุรีเมื่อสักครู่ ของผมครั้งที่แล้ว เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคมก็มีช้างป่าที่มันทำลายทรัพย์สินเป็นผลทุเรียนที่กำลังจะเก็บผล ในระยะเร็ววัน แต่ว่าได้รับความเสียหาย ณ ขณะนี้เป็นร้อยล้านบาทอยู่ในระหว่าง การเยียวยาของกองทุนอุทยานแห่งชาติ แต่ยังไม่ได้รับการเยียวยาใด ๆ ระหว่างนั้น เมื่อวานซืนก็คือวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๖๖ ก็เกิดเหตุอย่างสลดใจเหมือนว่า ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรกอะไรอย่างนั้นนะครับ ช้างมันก็ดุกว่าที่ทางปราจีนบุรีพูดเมื่อสักครู่ ไล่เหยียบชาวบ้านเสียชีวิตไป ๑ ท่าน ในเขตหมู่ที่ ๒ ตำบลบ้านแหร บ้านบัวทอง อำเภอธารโต จังหวัดยะลา เรื่องนี้ก็ได้มีการนำเสนอไปตามลำดับแล้ว ก็อยากจะให้ช่วยเร่งการหาเงิน มาเยียวยาความเสียหายที่เกิดกับชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน เรื่องนี้ก็ถือว่า เป็นเรื่องใหญ่มากยังไม่เคยเกิดในพื้นที่ของจังหวัดยะลา เพราะช้างก็อย่างว่าช้างก็มาหากิน ในพื้นที่ในหมู่บ้าน ในเขตบ้านเรือนของพี่น้องประชาชนเป็นเหตุการณ์ที่เกิดกลางวันแสก ๆ ประมาณสัก ๙ โมงกว่าเกือบ ๑๐ โมง ช้างก็มากินพืชผลทุเรียน เจ้าของสวนก็เห็นว่า มันเป็นเรื่องเกิดความเสียหายต่อเขา เขาก็ไปหาวิธีการต้อนช้างไล่ต้อนออกไปจากพื้นที่สวน ก็โดนช้างวิ่งต้อนกลับมาเหยียบเจ้าของสวนได้เสียชีวิตไปเมื่อวันที่ ๕ กันยายนที่ผ่านมา ก็อยากจะให้ท่านประธานประสานไปยังกองทุนอุทยานหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะ มาเยียวยาอย่างเร่งด่วน ถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของการเสียขวัญและกำลังใจของชาวสวน ทุเรียนในเขตพื้นที่เขตผมเป็นอย่างมาก ครั้งที่แล้วก็เสียหายเป็น ๑๐๐ ล้านบาทก็ไม่ได้รับ การดูแลเยียวยาจากภาครัฐ วันนี้ก็เสียชีวิตไปอีก ๑ คน กลายเป็นว่าเราจะต้องหาวิธีการ อย่างเร่งด่วน ก็ฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบมาเยียวยาเรื่องนี้ ให้เร่งด่วนเพื่อฟื้นในเรื่องของความรู้สึกให้เกิดขวัญและกำลังใจในการที่จะทำอาชีพ การเกษตรต่อไป ส่วนเรื่องของการดำเนินการในระยะที่ ๒ ระยะที่ ๓ ก็อยากจะมี การประสานเพื่อวางแผนให้เกิดการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุลักษณะอย่างนี้อีกนะครับ ก็ต้องขอขอบคุณท่านประธานเป็นอย่างมากครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายอับดุลอายี สาแม็ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยะลา เขต ๓ อำเภอกรงปินัง อำเภอธารโต อำเภอบันนังสตา และอำเภอเบตง วันนี้อยากจะมามีส่วนร่วมในเรื่องของญัตติ เรื่องของราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ซึ่งหลาย ๆ ท่านสมาชิกในสภาแห่งนี้ก็ได้มี การสะท้อนปัญหาให้พวกเราได้ยินกันทั้งสภาแล้ว ผมจะพูดในเรื่องของยางพารานะครับ ซึ่งยางพาราเราก็มีปัญหามาอย่างต่อเนื่องหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา ราคาก็ไม่สามารถที่จะ Up หรือจะยกราคาให้มันสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องปีที่ผ่านมาไม่ได้เฉพาะแค่หลายปี ที่ผ่านมา ๓-๔ ปีนะครับท่านประธาน ยางพาราก็มีปัญหาอีกด้านหนึ่งก็คือเรื่องโรคใบยางร่วง ทำให้ปริมาณยางเกิดตกต่ำขึ้นมานะครับ ลดหายไปประมาณ ๔๐-๕๐ เปอร์เซ็นต์ เป็น ๒ เรื่องที่เกิดปัญหา ๑. ราคายางตกต่ำ ๒. เรื่องของปริมาณยางที่หายไป วันนี้ส่วนใหญ่ ยางพาราก็มีการปลูกในเขต ๑๔ จังหวัดภาคใต้ อาจจะมีอีก ๓ จังหวัดในภาคเหนือ ภาคอีสาน ซึ่งมีผลกระทบในเรื่องประเภทเดียวกัน ส่วนอีกจังหวัดหลาย ๆ จังหวัดภาคเหนือ ภาคอีสานส่วนอื่น ๆ อาจจะมีผลกระทบด้านเดียวก็คือด้านราคา แต่ ๑๗ จังหวัด ภาคตะวันออก ๓ จังหวัด แล้วก็ภาคใต้อีก ๑๔ จังหวัด ก็โดน ๒ ประเด็นนะครับ ก็คือ เรื่องราคากับเรื่องโรคใบยางร่วงซึ่งทำให้ปริมาณน้ำยางลดหายไปประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ตรงนี้ถามว่าปีที่แล้วปี ๒๕๖๕ ตามสถิติและข้อมูลก็มีการผลิตยางออกมาได้ประมาณ ๒ ล้านกว่าตันของประเทศไทย แล้วก็ยางทั้งหมดในโลกนี้อาจจะผลิตได้ถึง ๓ ล้านตัน เรา ๒ ประเทศ มาเลเซียและอินโดนีเซียผลิตได้ประมาณ ๒ ใน ๓ ของโลก ผมก็ได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปกับท่านประธานรัฐสภาไทยไปร่วมประชุม AIPA เมื่อวันที่ ๕-๑๐ สิงหาคมที่ผ่านมา เนื่องจากว่าช่วงนั้นเรายังไม่มีรัฐบาล ยังไม่มีรัฐมนตรี ที่มารับผิดชอบกับประเทศเรา ท่านประธานก็บอกว่าเราจะต้องเจอกับโจโกวี ซึ่งเป็นผู้นำ ของประเทศอินโดนีเซียจะมาพูดเรื่องยาง บังเอิญก็ได้เจอกันจริง ๆ แล้วก็มีการนัดหมาย กับประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย พูดเรื่องของราคายางตกต่ำ ซึ่งเรามีเหลือแค่ ๒ ประเทศ ยังเป็นผู้ผลิตยางในภูมิภาคหรือในโลกนี้ ซึ่งผลิตได้ประมาณเกินกว่า ๖๐ เปอร์เซ็นต์ที่ใช้กัน ทั้งโลก เมื่อท่านอาจารย์วันมูหะมัดนอร์ในฐานะเป็นประธานสภาได้เจอกับประธานาธิบดี โจโกวี ท่านโจโกวีก็ได้สั่งการไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของอินโดนีเซีย เพื่อมา พูดคุยเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ ท่านอาจารย์วันมูหะมัดนอร์ก็ได้นำคณะของเราไปพบปะพูดคุย เพื่อเอาปัญหาเรื่องของราคายางที่เกิดในภูมิภาคแห่งนี้ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า ก็ยินดีที่จะให้ความร่วมมือ แต่ในขณะเดียวกันเราเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ อันนี้พูดถึงอาจารย์ วันมูหะมัดนอร์พูดอย่างนี้ เราเป็นฝ่ายนิติบัญญัติก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ แต่ไม่อยาก ให้เสียโอกาสระหว่างที่เราได้พบเจอกันแล้ว แล้วก็อยากจะให้รัฐบาลต่อจากนี้ไปก็ได้ ไปประสาน สานต่อในเรื่องของโอกาสที่จะมาพูดคุยเพื่อที่จะพูดในเรื่องของราคายาง เพราะอินโดนีเซียเองก็มีปัญหาในเรื่องของราคายางตกต่ำเหมือนกัน แล้วก็อยู่ที่ประมาณสัก ๑๐๐,๐๐๐ รูปียะฮ์ สัก ๑ กิโลกรัม อย่างนี้ก็เป็นปัญหาไม่ได้แตกต่างกันไป เอาเป็นว่า ณ วันนี้เป็นต้นไปเราอาจจะต้องฝากเรื่องนี้ต่อไปยังรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการต่างประเทศ รวมไปถึง นายกรัฐมนตรีจะต้องเอาใจใส่เรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะอย่างที่ผมเคยเล่าให้ฟังว่าหลายปี ที่ผ่านมา ๓-๔ ปีที่ผ่านมา ผลกระทบจากโลกเราก็โดนไปแล้วว่าเอาราคาที่เป็นปัจจุบัน ผลกระทบจากโลกเราก็เสียเงินไป ลดน้อยถอยลงไปอีกประมาณเกือบ ๆ ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ในรอบ ๔ ปี ถ้าจะว่าไปแล้วจะซื้อเรือดำน้ำอีก ๔-๕ ลำ ไม่ได้ลำบากเลยถ้าราคายางอยู่ใน สภาพดี แต่นี่เราก็เสียหายไปแล้วประมาณเกือบ ๆ ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ท่านประธานครับ เรื่องนี้จะต้องเอาจริงเอาจัง ถามว่าวันนี้เราจะโค่นต้นยางไปปลูกทุเรียนมันก็เป็นไปไม่ได้ ในพื้นที่การปลูกหลายล้านไร่ ซึ่งปัจจุบันทั้งประเทศนี้ ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ก็เป็น พื้นฐานอยู่แล้ว เราจะไปเปลี่ยนอาชีพเกษตรกรเป็นอย่างอื่นก็คงได้ยาก แต่ถามว่าต่อไปนี้ เราจะบริหารจัดการผลผลิตจากยางพาราไปสู่ในระบบอุตสาหกรรมได้อย่างไร จะมาผลิต ยางรถยนต์อย่างที่เพื่อนสมาชิกได้นำเสนอในสภาแห่งนี้เป็นอย่างไร แต่อย่างน้อยที่สุด มันเป็นเรื่องของต้นทุนที่เราจะต้องไปสู่เรื่องของเศรษฐกิจหลักของประเทศ เรามีรายได้ จากเรื่องนี้หลายแสนล้านต่อปี ซึ่งพี่น้องเกษตรกรก็ถือว่ายางพารานี้เป็นตู้ ATM นะ ท่านประธาน นึกถึงว่าอยากจะมีรายได้สักบางส่วนของตามผลผลิตของตัวเองรุ่งเช้าก็ไป กรีดยางก็สามารถมีเงินได้ทันที มันไม่เหมือนผลไม้หรือว่าพืชผลเศรษฐกิจอย่างอื่นก็จะต้องไป ในรอบปีของฤดูกาล อย่างเช่นปัญหา ณ วันนี้เรื่องตกต่ำของทุเรียนก็เช่นกัน ซึ่งอาจจะมี ผู้แทนจากพรรคประชาชาติของเราจะสะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่มันเกิดเป็นปัญหาราคาตกต่ำ เรื่องทุเรียนอาจจะมีหนอนมีอะไรเราก็ยอมรับ เพราะนั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง การมีหนอน ก็คือการมีผีเสื้อตอนกลางคืนไปแล้วพยายามที่จะจุดไฟจุดอะไรก็ยังไม่สามารถที่จะมาดูแล ทั้งพื้นที่ได้ อันนี้ก็ต้องไปสู่ระบบของอุตสาหกรรมต่อไปว่าจะเตรียมวัตถุดิบ ซึ่งที่มีปัญหา ลักษณะของราคานี้ไปได้อย่างไร กลับมาที่ยางพารา ก็อยากจะฝากบอกท่านประธาน และประสานไปยังรัฐบาลปัจจุบันนะครับ จากการที่เราได้สร้างโอกาสไปสานต่อกับภูมิภาคนี้ แล้วก็อยากจะให้รัฐบาลชุดนี้ แล้วก็หวังว่ารัฐมนตรีชุดปัจจุบันก็คงจะมีความมุ่งมั่นที่อยากจะ แก้ปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกรโดยเฉพาะเรื่องยางพารา อย่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศก็ตามจะต้องร่วมด้วยช่วยกันเพื่อที่จะไปยกราคา ไม่ได้แค่คิดในประเทศ จะต้องคิดทั้งภูมิภาคว่าเราจะเอาโอกาสตรงนี้เพื่อไปสู่เรื่องของต้นทุนเป็นเท่าไร เพื่อกำหนด ราคาให้พี่น้องเกษตรกรสามารถที่จะมีราคา เราก็คุยบ้างแล้วที่ประเทศอินโดนีเซียว่าราคา ถ้าเทียบกับประเทศไทยควรจะมีราคาประมาณ ๖๕ บาทขึ้นไป ขอขอบคุณท่านประธานครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายอับดุลอายี สาแม็ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยะลา เขต ๓ พรรคประชาชาติ ผมขอหารือกับท่านประธานสัก ๔ เรื่องนะครับ
เรื่องที่ ๑ ก็คือเรื่องด่านตรวจค้นบนถนนสาย ๔๑๐ ซึ่งมีปัญหาเกิดอุบัติเหตุ กันบ่อย
อยากจะให้มีการปรับปรุงสถานที่ ที่หน้าด่านให้เกิดการแก้ปัญหาเรื่องของการจราจรบนท้องถนน อย่างที่เห็นในรูปเป็นด่านที่ อยู่ในระหว่างเขตกรงปินัง ซึ่งเขตรอยเดินต่ออำเภอบันนังสตาครับ
เรื่องที่ ๒ ก็คือเรื่องการชดเชยค่าทุเรียนที่ช้างไปทำลายต้นทุเรียนในพื้นที่ของ ๓ อำเภอ อำเภอเบตง อำเภอธารโต และอำเภอบันนังสตา ซึ่ง ณ ขณะนี้ทางเกษตร ทาง ปภ. ก็จะไปชำระค่าเสียหายให้กับต้นเหล่านี้ประมาณไร่ละ ๔,๐๔๘ บาท ซึ่งตกต้นละ ประมาณ ๒๐๐ กว่าบาท แล้วก็จริง ๆ แล้วความเสียหายที่เกิดต่อต้น ณ ขณะนี้ราคาปัจจุบัน ก็ตกประมาณต้นละ ๒๐,๐๐๐ บาท โดยเฉพาะผลผลิตในปีนี้ ส่วนค่าต้นทุเรียนอีกประมาณ สักไม่รู้จะประเมินมูลค่าได้อย่างไร ก็ประมาณสัก ๑๐,๐๐๐ บาท ก็ตกประมาณ ๓๐,๐๐๐ บาท ค่าชดเชย ณ ขณะนี้ก็อาจจะไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าจริงปัจจุบัน อยากจะให้มีการปรับปรุงแก้ไขในเรื่องของค่าชดเชยเหล่านี้ และรีบไปชดเชยให้ดำเนินการ อย่างเร่งด่วน
เรื่องที่ ๓ ก็คือเรื่องขอการเยียวยา เกิดจากวันที่ ๒๘ ที่ผ่านมา ที่เขต อำเภอเบตง บ้านบ่อน้ำร้อนซึ่งมีการเลี้ยงปลานิลน้ำไหลซึ่งมีแห่งเดียวในประเทศไทย แล้วก็ มีฝนตกหนักน้ำไหลเข้าในพื้นที่บ่อเลี้ยงปลาเกิดความเสียหายเกือบ ๆ ๒๐ ล้านบาท ก็อยากจะให้ทางจังหวัดไปเยียวยาแก้ไขโดยไม่ต้องรอว่าพื้นที่ไม่มีการประกาศอุทกภัย เป็นการล่วงหน้า ก็อยากจะให้เอาเรื่องนี้เป็นการเฉพาะเลยนะครับ
เรื่องที่ ๔ เรื่องการร้องเรียนของชลประทานที่สร้างในพื้นที่ของชาวบ้าน เพื่อรองรับในภัยพิบัติที่จะเกิดในอนาคตข้างหน้า เรื่องภัยแล้งก็อยากจะให้ไปดูแลระบบของ ชลประทาน เรื่องฝาย เรื่องท่อ เรื่องอะไรให้ดี ไม่อย่างนั้นมันจะเกิดปัญหาใน ๑ ตำบลเต็ม ๆ ของอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายอับดุลอายี สาแม็ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยะลา เขต ๓ เขตพื้นที่ อำเภอกรงปินัง อำเภอบันนังสตา อำเภอธารโต และอำเภอเบตง พรรคประชาชาติ ก็อยากจะมีส่วนร่วมในเรื่องของการพูดคุยเรื่องของนโยบายการบริหารและการพัฒนา จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี ๒๕๖๕-๒๕๖๗ สิ่งที่มันเป็นปัญหามาโดยตลอด ผมว่าหลาย ๆ ท่าน ซึ่งเพื่อนสมาชิกได้มีการพูดคุยในสภาแห่งนี้ไปแล้ว ความจริงแล้วถ้าผมกระโดดไกลได้ ผมจะกระโดดข้ามปัญหาของ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีระยะเวลาหลายสิบปี แล้วก็ การวางนโยบาย และการที่จะต้องปฏิบัติตามนโยบายนั้นก็ซ้ำ ๆ ซาก ๆ บางคนก็บอกว่า นี่ใช้เงินไปแล้วตั้ง ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ถามว่าถ้าเป็นเรื่องของการลงทุนอะไรสักอย่าง น่าจะมีผลผลิตที่น่าพอใจ ปีนี้ค้าขายขาดทุนปีหน้าน่าจะต้องมีกำไร เพราะว่านั่นเป็นเรื่อง ของการเรียนรู้ในสิ่งที่ผ่านมา แต่วิธีการปฏิบัติของ ศอ.บต. ที่ดำเนินการมาโดยตลอดนั้น ก็ซ้ำซากจริง ๆ เราอยากจะให้เกิดแนวคิดใหม่ ผมจะขออนุญาตอย่างนี้ว่าหลาย ๆ เรื่อง ที่พูดเรื่องของปัญหา ซึ่งจริง ๆ แล้วทุกครั้งที่เป็นคำพูดออกมาที่เพื่อนสมาชิกพูดให้ฟังนั้น เป็นเรื่องของการตอกย้ำความรู้สึกที่เราไม่อยากจะฟังแล้ว เพราะหลายสิบปีที่ผ่านมา ก็สมควรแก่เหตุที่จะต้องไปยุติ แล้วก็น่าจะเป็นเรื่องของสันติภาพที่ทุกคนอยากจะได้ พอมาวันนี้สมาชิกบางท่านก็พูดบ้างแล้ว ยกตัวอย่างเช่นการศึกษา เราพอใจมาโดยตลอด กับคำพูดที่บอกว่าการศึกษาในเขต ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเกณฑ์มาตรฐานที่ต่ำที่สุด ในประเทศไทย แล้วก็เป็นมาอย่างนี้โดยตลอด แค่จะขยับตัวโผล่หัวขึ้นมายังไม่มีเลยนะประธาน ถ้าเป็นเรื่องของการลงทุน ๔๐๐,๐๐๐-๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาทน่าจะเปลี่ยนแปลงได้แล้ว พอมาในเรื่องของเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องของ ๓ จังหวัด เมื่อสักครู่นี้ผมยังชื่นชมท่านวรวิทย์ บารู ว่าให้เครดิตกับ สมช. ที่บอกว่ารายได้ต่อหัวของพี่น้องประชาชนในเขต ๓ จังหวัดชายแดน ภาคใต้ ๖๘,๐๐๐ บาท แต่ในหนังสือเล่มนี้ที่มีการนำเสนอเขาก็เขียนว่า ๖๑,๐๒๖ บาท ซึ่งมันต่ำกว่า ผมยังชื่นชมน้ำใจนะครับ แล้วก็ไม่อยากจะได้ยินตัวเลขตามที่เป็นจริงที่เขียน ในหนังสือฉบับนี้ ถามว่าแล้วจะทำอย่างไร ก็มีการกำหนดนโยบายมาโดยตลอด โดยรัฐบาล ชุดแล้วชุดเล่ามาก็บอกว่า อย่างเช่นชุดก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งรอบนี้ก็มีการกำหนด ในพื้นที่ ๓ จังหวัด ๓ มุมเมือง ที่อำเภอสุไหงโก-ลก ก็เป็นการค้าชายแดน ที่จังหวัดปัตตานี ก็เป็นเรื่องของการปศุสัตว์ การเกษตร อย่างที่ท่านวรวิทย์ได้เอ่ยถึง ที่จังหวัดยะลาก็เป็นเรื่อง ของการกำหนดเรื่องของเมืองต้นแบบของการท่องเที่ยว เราเห็นด้วยอย่างยิ่งถ้าคิดเหล่านี้ ในเชิงปฏิบัติอย่างที่เป็นจริง ผมขออนุญาตอย่างนี้นะครับท่านประธาน ผมอาจจะขอ ขึ้น Slide เป็นพื้นที่จังหวัดหนึ่งในเขตภาคใต้ซึ่งไม่มีทะเล
เพราะเรื่องของการที่ไม่มีทะเลแล้วก็ พยายามที่จะสร้างให้มีทะเล ทุกคนก็อยากจะได้ในสิ่งเหล่านี้ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ดีมาก ในเมื่อของรัฐบาลก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขตามยุทธศาสตร์พัฒนาชาติ ๒๐ ปีก็มี การพูดถึงเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่ในเชิงการปฏิบัติแล้วมันไม่เป็นอย่างนั้นนะครับ โดยเฉพาะ ใน ศอ.บต. ก็มีการพูดถึงในเรื่องของการกำหนดนโยบายและการมีส่วนร่วมของพี่น้อง ประชาชน แต่ในเชิงการปฏิบัติจริง ๆ จากเดิมทีอย่างที่สมาชิกของเราได้พูดคุยว่า แต่เดิม มีสภาพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีจำนวนสมาชิก ๔๙ คน อยู่ ๆ ก็มี การดำเนินการโดยคณะปฏิวัติขึ้นมาก็อาจจะมีการใช้กฎ คำสั่งของ คสช. แล้วก็เปลี่ยนแปลง จากสภาบริหารแล้วก็ให้มันเป็น กพต. ขึ้นมาอย่างนี้เป็นต้น ก็พูดอย่างทำอย่าง ในหนังสือ ฉบับนี้ก็พูดชัดเจนว่าการกำหนดนโยบายเรื่องของการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน แต่ปฏิบัติจริง ๆ ด้วยคนส่วนเดียวเท่านั้นเองนะครับท่านประธาน ถ้าอย่างนั้นมันก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง โครงสร้างให้เกิดความสมดุล โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้ทรัพยากรธรรมชาตินั้น เราทะเลาะกันบนบก แต่ในทะเลก็ดูดเอาก็เรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อนสมาชิกของผม ก็ได้พูดถึงว่า คนปัตตานี คนยะลาก็มีรายได้ ๖๘,๐๐๐ บาท แต่ในหนังสือตัวเลขตัวนี้ ๖๑,๐๐๐ บาทเศษ ในขณะเดียวกันคนที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เรามีอยู่ก็ไปที่จังหวัดระยอง ได้ ๑,๑๐๐,๐๐๐ บาท กว่าจะได้เขต JDA คือ Joint Development Area ในจุดตรงนั้น ที่เพื่อนสมาชิกผมเอ่ยถึงเกาะโลซิน เกาะโลซินเป็นตัวอ้างอิงว่าในพื้นที่ JDA คนไทยสามารถ ที่จะไปมีส่วนร่วมในเรื่องของการได้ประโยชน์ เพราะจากผืนแผ่นดินไปถึงเกาะโลซิน ก็ประมาณ ๖๕ กิโลเมตร และจากเกาะโลซินไปถึง JDA อีกประมาณ ๖๘ กิโลเมตร และเกาะโลซินก็อยู่ในเขตตำบลบ้านน้ำบ่อ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี แต่คนที่นั่น ไม่ได้อะไรเลย ก็ยังได้รายได้ต่อหัวซึ่งมีความภาคภูมิใจมายาวนานนั้น ๖๑,๐๐๐ บาท แต่ในขณะที่คนใช้ประโยชน์อยู่ที่จังหวัดระยอง เส้นทางการเดินท่อไปขุดเจาะแก๊ส ขุดเจาะ น้ำมัน จาก JDA ไปถึงระยองก็ประมาณ ๗๘๐ กิโลเมตร ทำไมต้องลงทุนมากไปกว่านั้น ผืนแผ่นดินของ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้น่าจะได้รับประโยชน์มากกว่าและอย่างต่อเนื่อง แต่วันนี้ไม่รู้จะคิดทันหรือเปล่าท่านประธาน เพราะว่า Joint Development Area JDA ตัวนี้จะมีอายุสัมปทานเหลือแค่ ๖ ปีเองจากหลายสิบปีที่ผ่านมา มันจะหมดแล้วนะครับ ท่านประธาน เราจะทันหรือไม่อันนั้นไม่เป็นไร ก็อยากจะให้กำหนดแนวนโยบายว่า ศอ.บต. อย่าไปทำแข่งกับจังหวัด อะไรที่จังหวัดทำ ศอ.บต. จะไม่ทำ อะไรที่เป็นของเล็ก ๆ ให้จังหวัด ทำไปเถอะ ศอ.บต. ต้องคิดเรื่องใหญ่ อย่างเช่นผมขึ้นจอเมื่อสักครู่ว่าต้นแบบเมืองท่องเที่ยว ก็คืออำเภอเบตง เราก็อาจจะขีดเส้นสร้างถนนเข้าไปในเขตพื้นที่ของป่า แล้วก็มีปัญหาในเรื่อง ของเขตอนุรักษ์เขตป่า เราก็อาจจะต้องต่อสู้สิ่งเหล่านี้เพื่อให้เกิดโครงสร้าง เพื่อความสะดวก ในเรื่องของการจัดหารายได้ในเรื่องของการท่องเที่ยวต่อไป อย่างเช่นว่าที่อำเภอเบตงเราก็มี Skywalk มีสนามบิน แต่ร้างไปแล้วนะครับท่านประธาน ไม่มีเครื่องบินจะลง ด้วยเวลา ก็อยากจะเสนอแนะว่า ศอ.บต. ควรจะทำอะไรในสิ่งที่เป็นใหญ่ ๆ แล้วก็เป็น Consultant ให้กับจังหวัดทั่ว ๆ ไป อย่าไปคิดสร้างตัวเองให้เสมอเหมือนกับจังหวัดทั่วไปครับ ขอขอบคุณ ท่านประธานครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายอับดุลอายี สาแม็ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยะลา เขต ๓ เขตอำเภอกรงปินัง เขตบันนังสตา เขตอำเภอธารโต เขตอำเภอเบตง พรรคประชาชาติครับ ผมขอหารือกับ ท่านประธาน ๓ เรื่องครับ
เรื่องที่ ๑ ก็ได้รับการร้องเรียนจากราษฎร หมู่ที่ ๔ ตำบลธารน้ำทิพย์ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา สืบเนื่องจากที่นายพรชัย มงคลรัตนมณี ได้เคยมีการถวายฎีกาต่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เพื่อขอความช่วยเหลือ ตามหนังสือฉบับ วันที่ ๒๐ เดือน ๙ ๒๕๖๐ นะครับ ขอความช่วยเหลือในเรื่องขอถนนทางเข้าหมู่บ้านขยาย ไฟฟ้า ซึ่งมีราษฎรอยู่ในพื้นที่ตรงนี้บ้านซาโห่ มีประมาณ ๑๕๐ หลังคาเรือน แล้วมี สำนักสงฆ์มีโรงเรียนถึงขนาดนี้เข้าไปไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ตรงนี้เกือบ ๑๐๐ ปีแล้ว แต่ยังไม่มี ถนน ยังไม่มีการขยายไฟฟ้าให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี ก็ขอให้ท่านประธานได้ประสานไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะให้ความช่วยเหลือต่อไป
เรื่องที่ ๒ เรื่องดินสไลด์ดินถล่ม เนื่องจากว่าเขตอำเภอบันนังสตา อำเภอธารโต อำเภอเบตง จังหวัดยะลา มีพื้นที่เป็นที่ดินที่มีด้านธรณีวิทยาที่ไม่สามารถที่จะยึดเกาะในตัว มันได้เมื่อมีการอมน้ำเป็นจำนวนมากระหว่างฤดูฝนตกก็จะทำให้ดินสไลด์ดินถล่ม ซึ่งไป กระทบต่อบ้านเรือนของพี่น้องประชาชนถึงขนาดว่ามีการเสียชีวิตเกือบทุกปี ก็อยากจะให้ ท่านประธานได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่นกรมธรณีวิทยา กรมพัฒนาที่ดิน แล้วกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อหามาตรการป้องกันและระวังภัยในระหว่าง ที่เกิดเหตุ ในช่วงฤดูฝนนะครับ
เรื่องที่ ๓ ได้รับการร้องเรียนจากสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา เขตอำเภอเบตงว่ามีเขตตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลาก็ได้รับความ เดือดร้อนในหน้าแล้งไม่มีน้ำในการที่จะใช้อุปโภคบริโภคหลายหมู่บ้านนะครับ ในของตำบล ตาเนาะแมเราะ เพราะเหตุผลว่า ณ ขณะนี้ทางกรมชลประทานได้มีการทำ โครงการอ่างเก็บ น้ำขนาดใหญ่ซึ่งมีการบรรจุน้ำถึง ๘ ล้านลูกบาศก์เมตร ในพื้นที่ของตำบลยะรม จังหวัดยะลา ตรงนี้ก็มีการเดินท่อเพื่อขยายพื้นที่การใช้น้ำ แต่ไม่ครอบคลุมของตำบลที่ผมกล่าวถึง ที่ว่าเมื่อสักครู่นี้ก็อยากจะให้ท่านประธานประสานไปยังกรมชลประทานเพื่อขยายเรื่องของ การเดินท่อน้ำเพื่อคครอบคลุมพื้นที่ความเดือดร้อนดังกล่าวด้วยนะครับ ขอขอบคุณ ท่านประธานครับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม นายอับดุลอายี สาแม็ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๓ จังหวัดยะลา อำเภอกรงปินัง อำเภอบันนังสตา อำเภอธารโต และอำเภอเบตงครับ พรรคประชาชาติก็ต้องขอขอบคุณ ท่านประธานที่ได้ให้โอกาสในการที่ผมมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องของ พ.ร.บ. สมรส เท่าเทียมในครั้งนี้ด้วย สิ่งที่ผมอยากจะเล่าให้ฟังเนื่องจากว่าผมเป็นมุสลิมคนหนึ่งแล้วก็มี ความยึดมั่นและเชื่อมั่นศรัทธาในหลักการของอิสลาม ซึ่งจริง ๆ แล้วผมก็มีธรรมนูญแห่งชีวิต ในการที่จะดำรงชีวิตตามแบบอย่างของท่านศาสดา แล้วก็ตามรูปแบบที่ถูกกำหนด ในคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่หมายความว่าผมจะมาค้านในสิ่งที่เป็นข้อเสนอตาม พ.ร.บ. ๒-๓ ฉบับในวันนี้นะครับ เป็นเรื่องของการให้ความคิดเห็นว่าทำไมวันนี้ผมจะมา ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า เราก็มีการพิจารณา พ.ร.บ. ลักษณะนี้ มาแล้ว ครั้งหนึ่งในสภาแห่งนี้ เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๕ สิ่งที่ปรากฏ ณ วันนั้นก็มีการผ่านใน วาระที่ ๑ ไปอย่างเรียบร้อย แล้วก็คนที่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็มีความรู้สึกว่ายินดีแล้วก็ พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันเราก็ไม่ได้รู้สึกอะไรกับสิ่งที่พอใจหรือไม่พอใจ เราไม่ได้รู้สึกอะไรกับการที่จะบอกว่าเราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เพียงที่จะบอกว่าวิถีของเรา ก็จะเล่าให้สภาแห่งนี้ได้ทราบว่า โดย Timeline โดยประวัติศาสตร์ของการเป็นมุสลิมนั้น เรามีคัมภีร์อัลกุรอาน เรามีธรรมนูญแห่งชีวิตซึ่งเป็นแนวทางที่เราจะยึดมั่น ซึ่งคนทั้งโลกนี้ ก็ประมาณ ๒,๐๐๐ กว่าล้านคน ก็ยังไม่มีใครสักคนที่บอกว่าเราจะต้องยกร่างคัมภีร์อัลกุรอาน ใหม่ขึ้นมา ทุกคนก็ยึดมั่นในแนวทางของที่ถูกกำหนดมานะครับ เช่นเดียวกันเรื่องนี้ถ้าโดย ประวัติศาสตร์อย่างไรก็ต้องขออภัยกับคณะบุคคลที่เห็นต่างตรงนี้ว่า เรื่องศาสนาก็เรื่องศาสนา เรื่องสิทธิมนุษยชนก็เรื่องสิทธิมนุษยชน ล้วนแล้วก็เป็นเรื่องของศาสนาทั้งสิ้น สิทธิมนุษยชน ในกรอบของศาสนานี้เป็นอย่างไร ผมจะขออธิบายนิดเดียวว่าในเรื่องของรักร่วมเพศ เอากัน ตรง ๆ อย่างนี้เลยว่าสมัยหนึ่งเมื่อ ๒,๕๐๐ ปี อันนี้ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอานว่ามีท่านศาสดา องค์หนึ่งก็คือท่านนบีลู้ฎ ก็ได้รับการบัญชาจากพระผู้เป็นเจ้าให้ไปจัดการกับพื้นที่แห่งหนึ่ง ในโลกนี้ ก็คือที่บ้านกำปงโสดม ณ ขณะนี้อยู่ที่ไหน ณ ขณะนี้ก็คือเดดซีที่ประเทศจอร์แดน ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ได้เป็นหลุม ไม่ได้เป็นทะเลสาบ แต่เนื่องจากว่าคนที่นั่นหมู่บ้านนั้น ก็มีพฤติกรรมผิดเพศ คือผู้ชายจะไม่ชอบผู้หญิง ผู้ชายก็ชอบผู้ชาย ด้วยความได้รับการบัญชา จากพระผู้เป็นเจ้า ท่านนบีลู้ฏต้องไปที่นั่น ก็ไปพูดคุยทำความเข้าใจว่าในหลักการของ พระผู้เป็นเจ้าไม่ชอบในวิธีการอย่างนั้น แต่ไม่ได้รับการยอมรับในวิธีคิดของท่านนบีลู้ฏ วันหนึ่ง พระผู้เป็นเจ้าก็ได้ส่งเทวทูตแปลงเป็นมนุษย์ ๓ คนไปที่กำปงตรงนี้ คงจะเป็นรูปหล่อ หรือกระไร ก็ได้รับการรบกวนจากคนในหมู่บ้านนี้พยายามที่จะให้มาเป็นคู่ชีวิตของเขา สุดท้ายแล้วกำปงก็ได้รับโทษจากพระผู้เป็นเจ้าด้วยการล้มภูเขา ที่อยู่ระหว่างประเทศ จอร์แดนกับประเทศอิสราเอล ณ ปัจจุบันนี้ ประทับลงไปในพื้นที่หมู่บ้านก็จมอยู่ในทะเล ก็ประมาณสัก ๓๐๐-๔๐๐ เมตร ถ้าเทียบกับระดับน้ำทะเลของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ณ ปัจจุบัน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในคัมภีร์อัลกุรอานในธรรมนูญตรงนี้ และยังไม่มีใครที่คิดจะแก้ไข ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดว่าเป็นอย่างไรกับคน ๒,๐๐๐ กว่าล้านคนในโลกนี้นะครับ
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมบอกว่าวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๕ ในสภาแห่งนี้ผมก็เห็นว่า มีความชื่นชม มีความยินดีกับการที่ได้ผ่านวาระที่ ๑ ของตรงนี้ หลังจากผ่านวาระที่ ๑ ไปเป็นที่ เรียบร้อยแล้ว ๑ สัปดาห์เท่านั้นมันมีภัยพิบัติที่เกิดในประเทศไทย สืบเนื่องจากผู้ชายอยู่กิน กับผู้ชาย นั่นก็คือโรคฝีดาษลิงทำให้เกิดปัญหาทั้งประเทศไทย เกิดความวุ่นวายไปหมดเลย และรัฐบาลตอนนั้นไม่ได้อธิบายหรือว่าโรคนี้มาจากตรงไหน ผมก็จะบอกตรงนี้ให้ทราบว่า ผลกระทบของการคิดวิธีการที่จะต้องทำให้รักร่วมเพศมันจะทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของ โรคภัยไข้เจ็บทั้งหมดนะครับ เรื่องโรคฝีดาษลิงที่มันเกิดในประเทศไทยครั้งที่ผ่านมา ก็อยากจะบอกว่าเรื่องอย่างนี้นะครับ สมรสเท่าเทียมผมกลัวว่าจะมีปัญหาสักวันหนึ่ง ผมกลัวว่าพระเจ้าจะลงโทษอีกรอบหนึ่ง ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม นายอับดุล อายี สาแม็ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยะลา ก็เพื่อความเรียบร้อยในการประชุมครั้งนี้ ผมอาจจะต้องถอนคำว่า ฝีดาษลิง แต่ไม่รู้โรคอะไรสักอย่างนี้ที่มันเกิดขึ้น แล้วก็อยากจะได้ คำอธิบายจากรัฐบาล ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายอับดุลอายี สาแม็ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยะลา เขต ๓ พรรคประชาชาติ ผมขอหารือกับท่านประธาน ๓-๔ เรื่องนะครับ
เรื่องแรก สืบเนื่องจากการที่ฝนตกหนัก เมื่อครั้งที่ผ่านมาผมไปเห็นสภาพของพระตำหนักสุขทาลัยที่บ้านกือลอง ดินสไลด์ ดินถล่ม ทำให้พระตำหนักนี้เกือบจะพังลงมา ก็อยากจะให้ท่านประธานประสานไปยังหน่วยงาน เพื่อซ่อมแซมโดยด่วน
เรื่องที่ ๒ เรื่องสนามบินนราธิวาส เนื่องจากทราบข่าวมาว่าตอนนี้มี ๒ สายการบินที่บิน ก็คือแอร์เอเชียกับการบินไทย เมื่อสิ้นเดือนมีนาคมการบินไทยอาจจะมี การยกเลิก และจะให้บริษัทการบินอื่นมาบินทดแทน กลัวว่า ณ ขณะนี้มีผู้โดยสารสามารถ บินจากสนามบินนราธิวาสไปยังดอนเมือง ๑ สายการบิน บินไปที่สุวรรณภูมิ ๑ สายการบิน กลัวว่าพอมีการทดแทนด้วยสายการบินอื่น กลัวจะไปลงที่ดอนเมืองทั้งหมด ก็อยากจะให้ ท่านประธานประสานไปยังผู้เกี่ยวข้อง ให้กระจายสายการบินให้ลงทั้ง ๒ สนามบินนะครับ
เรื่องที่ ๓ เรื่องปัญหาที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ คิดว่าภัยแล้งก็จะตามมา มันมีสิ่งหนึ่งที่ทางท้องถิ่นได้รับการถ่ายโอนโครงการต่าง ๆ อย่างเช่น ฝายพวกเขื่อนหรือว่า ที่กักเก็บน้ำมีการเสียหายทรุดโทรม ไม่มีกำลังพอที่จะไปแก้ไขหรือฟื้นฟูสิ่งเหล่านี้ ส่วนชลประทานเองก็ถ่ายโอนไปแล้ว ไม่สามารถที่จะตั้งงบประมาณที่จะมาแก้ไขให้กลับสู่ สภาพเดิม ก็อยากจะให้ท่านประธานประสานไปที่หน่วยงานที่ควรจะต้องใช้งบประมาณ ในการที่จะแก้ไขปัญหาเพื่อรองรับภัยแล้งที่จะเกิดในเร็ววันนี้นะครับ
เรื่องที่ ๔ สืบเนื่องจากที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้มีการพูดหารือยืนยันในสภา แห่งนี้เมื่อวันที่ ๒๓ ที่ผ่านมาเรื่องปลานิลสายน้ำไหล หลังจากที่ท่านนายกรัฐมนตรีพูดแล้ว ผมก็ลงไปดูในพื้นที่ ก็มีชาวบ้านต้องการที่จะขยายอาชีพเพื่อเพิ่ม Demand เพิ่ม Supply ในการที่จะสร้างอาชีพใหม่ แต่เป็นห่วงเรื่องเดียวก็คือว่าเรื่องของเกษตรกรอาชีพปลูกพืช ทางการเกษตรอย่างอื่น ใช้สารเคมีแล้วเทลงไปในคลองที่มีน้ำไหลทำให้บ่อปลาเกิดความเสียหาย มันไม่ได้ตามวัตถุประสงค์ที่ท่านนายกรัฐมนตรีพูดนะครับ ขอขอบคุณท่านประธานครับ
จำนวนสมาชิกที่มาประชุมทั้งหมดที่ลงชื่อไว้เมื่อเลิกประชุม ....... คน
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายอับดุลอายี สาแม็ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยะลา เขต ๓ ผมอยากจะอภิปราย ญัตติการนำเสนอในเรื่องของการจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็อยากจะให้ เหตุผลหนึ่งว่าวันนี้และหลาย ๆ ปีที่ผ่านมาเราก็ได้มีการพูดถึงปัญหาเรื่องขยะทั้งประเทศไทย มาโดยตลอดหลายสิบปี แต่ก็ยังไม่มีแนวทางที่จะไปจัดการขยะให้มันหมดปัญหาไปเสียที หลายงบประมาณที่เราไปจัดการ ไปดูเรื่องงานที่นั่นที่นี่ ไปดูในเรื่องของการศึกษาดูงาน หลาย ๆ ประเทศที่เขาจัดการเรื่องขยะ เขาบอกว่าได้ดี ทีนี้อีกอย่างหนึ่งในขณะเดียวกัน คนภายในประเทศของเราก็มีสุขภาพไม่ได้ดีขึ้นจากบริเวณที่เราอยู่ใกล้กับบ่อขยะ ซึ่งมี การสะท้อนมาโดยตลอดว่าเราควรจะต้องแก้ไขให้สำเร็จเสียทีในเรื่องของขยะ ผมอยากจะ เสนออย่างนี้ ผมเห็นด้วยกับญัตตินี้ในการที่จะไปให้ท้องถิ่นจัดการ แต่ในขณะเดียวกัน ท้องถิ่นเองก็ทราบ ๆ อยู่แล้วว่าเราไม่มีงบประมาณมากพอที่จะไปทำเรื่องโรงกำจัดขยะหรือ จะทำการแก้ไขในเรื่องของขยะได้ อย่างเช่นครั้งที่ผ่านมาเรามีงบประมาณของท้องถิ่น ของบประมาณปี ๒๕๖๗ แค่ ๑ ล้านล้านบาท ในการที่จะไปเป็นงบประมาณของท้องถิ่น ซึ่งดูแล้วก็ไม่สามารถที่จะไปแก้ไขตรงนั้นได้เลย จากงบประมาณ ๓ ล้านกว่าล้านบาท ในการ ที่จะไปเป็นงบประมาณของแผ่นดินนั้น ผมอยากจะนำเสนออย่างนี้นะครับว่า วิธีคิดใน การจัดการขยะ ถ้าเราคิดแบบ Social Welfare เหมือนทั่ว ๆ ไป เป็นเรื่องของสวัสดิการสังคมไปเลยนะครับ ถ้าเปรียบเสมือนหนึ่งว่าขยะนี้ก็เป็นสิ่งมีชีวิต ณ ขณะนี้เขาบาดเจ็บ เขาป่วย เขาไม่สบาย เขามีกลิ่นเหม็น ซึ่งส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมมากมาย ที่เราพูดถึง ดังนั้นถ้าหากว่าเรารัฐ ไม่ต้องไปคิดอะไรมากนะครับ วันนี้ก็ฟังมาโดยตลอดว่า การลงทุนเรื่องขยะอาจจะไม่คุ้มทุน มีภาคเอกชนจะไปวิเคราะห์ วิจัย จะเอาขยะไปทำ โรงไฟฟ้า ถ้ามีขยะต่ำกว่า ๓๐๐ ตันต่อวันนี้ก็ไม่สามารถที่จะไปทำโรงไฟฟ้าได้ ถือว่าไม่คุ้มทุน เรายังคิดถึงทุนอยู่ เรายังคิดถึงกำไรอยู่ แต่ในขณะเดียวกันขยะก็เจ็บปวด คนก็เจ็บป่วย ถามว่าเราจะแก้ปัญหาเมื่อไรให้มันยั่งยืนกันต่อไป ผมก็คิดว่าอย่างเช่นวันนี้จากข้อมูล หลาย ๆ จุดที่ขยะในกรุงเทพมหานคร อย่างเช่นที่อ่อนนุชเขาบอกว่ามีขยะประมาณสัก ๑,๐๐๐ ตันต่อวัน ก็มีการนำเสนอให้ทำโรงกำจัดขยะประมาณสัก ๕,๐๐๐ ล้านบาท เลยได้ ตัวเลขตัวนี้ว่าก็ไปดูในหลาย ๆ จังหวัด แล้วก็เฉลี่ยทั้งประเทศ ก็มีขยะจังหวัดละประมาณสัก ๕๐๐ ตัน ถ้าขยะประมาณสัก ๕๐๐ ตัน ถ้าเราลงทุนไปจังหวัดละประมาณ ๒,๕๐๐ ล้านบาท ก็อาจจะต้องใช้งบประมาณเพียงแค่ไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท เราจะมีโรงกำจัดขยะ ได้ทั้งประเทศ ทีนี้ถามว่าแล้วจะเอาเงินที่ไหนอีก ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท นี่คือเป็นปัญหา ที่รัฐบาลจะต้องมาคิดต่อร่วมกันว่าเราจะกู้เงินไหม เราจะกู้เงินเพิ่มไหม อย่างครั้งที่ผ่านมา ท้องถิ่นได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลไปเพียง ๑ ล้านล้านบาท ก็เพียง ๒๙ เปอร์เซ็นต์ ของงบประมาณแผ่นดิน เราก็ยังมีช่องว่างอยู่อีกประมาณ ๖-๗ เปอร์เซ็นต์ กว่าจะถึง ๓๕ เปอร์เซ็นต์ ดีไหมถ้าเราเอาส่วนนี้ขยับขึ้นไปสักนิดหนึ่ง ถือว่าให้กับท้องถิ่นไปเลย ให้ไป ก้อนเดียว ไปทำโรงกำจัดขยะ หรือแบบฝังกลบ หรืออะไรก็แล้วแต่ในแต่ละพื้นที่อาจจะมี ลักษณะที่แก้ปัญหาไม่เหมือนกัน แล้วก็โดยพื้นฐานอาจจะตั้งงบประมาณให้เขาเลย จังหวัดละ ๒,๕๐๐ ล้านบาท ก็ใช้งบประมาณอีก ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท เรากู้เพิ่มเข้าไปเลย แล้วก็เบ็ดเสร็จทีเดียว ในเรื่องของการบริหารจัดการขยะ ชุมชนเป็นคนสร้างขยะ ท้องถิ่น เป็นคนเก็บบริหารจัดการขยะ แล้วก็ในขณะเดียวกันโรงกำจัดขยะก็เป็นรัฐบาลลงทุนให้ แล้วพอลงทุนเสร็จเรียบร้อยก็ยกให้ท้องถิ่นไป จัดเก็บรายได้ได้เท่าไร อะไรเท่าไรมาบริหาร จัดการเอา ไม่ใช่ว่าให้เขาไปลงทุน รอให้ท้องถิ่นไปลงทุนจนถึงวันนี้เห็นไม่กี่ท้องถิ่น แม้แต่ กรุงเทพมหานครก็ยังไม่สามารถที่จะไปทำได้ เพราะเรามัวแต่คิดว่า ขยะมันเป็นเรื่องที่ มันเป็นเศษเป็นเลย เป็นอะไรที่เป็นของสังคมไปเลย ไม่มีใครอยากได้ขยะหรอกครับ แต่ถ้าเราไม่เอาใจใส่กับเรื่องนี้ สุขภาพของพี่น้องประชาชนก็จะแย่ลงทุกวัน ดังนั้นผมคิดว่า จะนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการเสียเลยว่าวันนี้ถ้าเราหาเงินอีก ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท สร้างโรงกำจัดขยะโดยรัฐบาล แล้วก็ให้ท้องถิ่นเป็นผู้บริหารจัดการในอนาคตต่อไป มอบให้ เขาไปเลยนะครับ ไม่ต้องเสียดาย และไม่ต้องไปคิดว่าจะกำไรจะขาดทุนเท่าไร ก็ถือว่า เป็นลักษณะของ Social Welfare เราให้สวัสดิการแห่งรัฐ วันนี้เราสร้างโรงพยาบาลมากมาย นั่นก็คือเป็นลักษณะหนึ่งในการที่จะไปให้รัฐสวัสดิการกับคน กับประชาชนในแผ่นดินนี้ ในขณะเดียวกันมองอีกด้านหนึ่ง ถ้าเราไปจัดการในเรื่องของขยะ ในลักษณะของ Social Welfare เหมือนกัน ผมคิดว่าการจัดการขยะก็คงจะได้ผลในระยะเร็ววัน ๖๐ ปีที่ผ่านมา เราก็พูดอย่างนี้ วันนี้เราก็ยังพูดแบบนี้ แล้ววันพรุ่งนี้มันจะเป็นอย่างไร และอีกกี่ปีข้างหน้า ถึงจะสำเร็จ แล้วเมื่อไรจะเกิดการแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืนของประเทศไทย ไม่ต้องไป หรอกคิดครับ ผมว่าถ้าทำอย่างนี้อาจจะเป็น ๑ ในโลกก็ได้นะครับท่านประธาน เราอาจจะ เป็นที่ ๑ ของโลกก็ได้ในการจัดการขยะที่ดีที่สุดของโลก วันนี้ผมอาจจะต้องใช้เวลาไม่มาก ผมฝ่ายรัฐบาล ก็คนสุดท้ายแล้วนะครับ ไม่ต้องให้เสียเวลาคนอื่น ขอขอบคุณท่านประธาน ที่ให้โอกาสครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายอับดุลอายี สาแม็ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยะลา เขต ๓ อำเภอกรงปินัง อำเภอบันนังสตา อำเภอธารโต และอำเภอเบตง
เนื่องจากทราบข่าวว่าที่ท่านนายกรัฐมนตรี มีแผนการที่จะเดินทางไปพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ วันที่ ๒๗ วันที่ ๒๘ วันที่ ๒๙ นี้ สิ่งที่ท่านนายกรัฐมนตรีปรารถนาเป็นอย่างแรงกล้า ก็ต้องการไปสร้างคุณภาพชีวิตของพี่น้อง ประชาชนในเขต ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ดีขึ้น ให้มีรายได้ต่อหัวของพี่น้องประชาชน ให้สูงขึ้น ในขณะเดียวกัน ณ ขณะนี้ก็อยากจะนำเรียนประธานสภาไปยังนายกรัฐมนตรีว่า รายได้ของพี่น้องประชาชนในเขต ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเป็นรายได้ที่ต่ำที่สุด ในประเทศไทย ในขณะเดียวกันผมก็ทราบข่าวมาว่าได้มีการกล่าวถึงเรื่องของ Battani Basin ซึ่งอยู่ในอ่าวไทยว่าสิ่งเหล่านี้เป็นทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งน้ำมัน ทั้งแก๊สก็ดูแลเลี้ยงดูของคน ทั้งประเทศให้มีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ในขณะเดียวกัน จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาสก็ยังเป็นคนจนที่สุดในประเทศไทย ก็อยากจะฝากให้ท่านนายกรัฐมนตรี พิจารณาเรื่องนี้ เพื่อให้ความเป็นธรรมในเรื่องของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นธรรมต่อ พี่น้องที่อยู่ในเขต ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
อันที่ ๒ เรื่องของโครงการโคบาลชายแดนใต้ ท่านนายกรัฐมนตรีจะต้องไป ตรวจสอบแล้วก็หาข้อยุติให้ได้ ณ วันนี้สมาชิกวิสาหกิจชุมชนจะต้องเป็นผู้ที่ต้องกู้เงิน เพื่อที่จะไปเข้าโครงการตัวนี้ ในขณะเดียวกันก็มีวัวที่เป็นโครงกระดูกลักษณะอย่างนี้ โดยเป้าหมายของโครงการเพื่อที่จะขยายพันธุ์ให้เป็นรายได้ของพี่น้องในเขต ๓ จังหวัด ชายแดนภาคใต้ แล้วก็โครงการนี้ดีครับ แต่วิธีการมันไม่ดี ก็อยากจะให้นายกรัฐมนตรีไป ทบทวนเสียใหม่ และขณะเดียวกันอีก ๒ เรื่อง เรื่องของโครงการต่าง ๆ ในเขตพื้นที่ทางจังหวัดก็เตรียมการให้ ทางนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว นิดเดียวนะครับท่านประธาน เรื่องของ Ezy Airlines เนื่องจากว่า นายกรัฐมนตรีจะไปที่อำเภอเบตงด้วย ณ ขณะนี้ก็อยากจะฝากไปที่ท่านประธานว่าเครื่องบิน Ezy Airlines กำลังที่จะได้นำเข้ามาประมาณเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ และอยากจะให้ นายกรัฐมนตรีเร่งรัดเรื่องการอนุญาตการบินเพื่อที่จะไปเสริมในเรื่องของ Demand ที่ท่านนายกรัฐมนตรีพูดในสภาแห่งนี้ เพื่อที่จะได้ให้บริการพี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่ของ ๓ จังหวัด โดยเฉพาะที่อำเภอเบตงครับท่านประธาน ขอขอบคุณมากครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายอับดุลอายี สาแม็ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยะลา เขต ๓ อำเภอกรงปินัง อำเภอบันนังสตา อำเภอธารโตและอำเภอเบตง ผมจะขอสนับสนุนเรื่องญัตติแนวทาง การบูรณาการระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจังหวัดในพื้นที่ ที่มีเขตป่าสงวน เพื่อลดขั้นตอนการอนุมัติของอธิบดี ตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ เพิ่มเติม ก็อยากจะนำเรียนอย่างนี้นะครับท่านประธาน ในเขตพื้นที่ของผมเป็นกรณีตัวอย่าง เนื่องว่าผมอยู่ในเขตพื้นที่ที่มีป่าสงวนแห่งชาติ เป็นตัวพื้นที่ของที่ทำกินของพี่น้องประชาชน ผมจะยกตัวอย่างเมื่อปี ๒๕๓๐ ก็มีถนนที่มัน เกิดขึ้นในพื้นที่ตำบลหนึ่ง ก็คือตำบลธารน้ำทิพย์ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา พื้นที่ตำบล ณ ขณะนี้เป็นพื้นที่ของเขตการบริหารจัดการของท้องถิ่น คือเทศบาลตำบลธารน้ำทิพย์ ทั้งตำบลนั้นเป็นพื้นที่อยู่ในเขตป่าสงวน อยู่มาวันหนึ่งทางผู้บริหารท้องถิ่นโดยนายกเทศมนตรี ตำบลธารน้ำทิพย์ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ก็ได้มีการพูดคุยในเรื่องของการพัฒนาพื้นที่ เนื่องจากว่าตำบลนี้มันอยู่ในระหว่างของชายแดนประเทศมาเลเซียกับประเทศประเทศไทย แล้วก็มีการพูดถึงว่าจะต้องมีการเสริมแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นหลักกิโลเมตรที่ 54A ทุกคน ก็เห็นด้วย และเนื่องจากว่าถนนนี้มีแค่ครึ่งเดียว ก็มีการพัฒนาไปก่อนเพื่อที่จะมุ่งสู่ หลักเขตแดนที่ 54A ก็มีการตั้งงบประมาณในการที่จะปรับปรุงถนนซึ่งไม่ได้ถนนดีอะไร ขนาดไหน เป็นถนนหินคลุกเพื่อไปเสริมถนนให้มันอยู่ในสภาพที่ดีขึ้น อยู่มาวันหนึ่งก็ใช้ งบประมาณของ ปี ๒๕๖๐ ซึ่งมีแผนของการพัฒนาท้องถิ่นตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ และดำเนินการ จริงในปี ๒๕๖๒ ทางป่าไม้ก็ไม่ได้เป็นคนไปฟ้องแจ้งข้อกล่าวหากับผู้บริหารท้องถิ่น แต่เป็น เรื่องของ ป.ป.ช. ไปแจ้งข้อกล่าวหาให้กับท้องถิ่นว่าไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ให้มันเป็นไปตาม รัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดในปี ๒๕๔๒ เนื่องจากเขาบอกว่านายกไม่ดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ สุดท้ายนายกก็ต้องโดนออกไปจากตำแหน่งของนายกซึ่งเป็นผู้บริหารท้องถิ่น นายกคนนั้น ก็ออกไปจากตำแหน่งตามคำสั่งของ ป.ป.ช. สุดท้ายก็เครียด ตายนะครับท่านประธาน เครียดจนตายเลยนะครับ แต่ว่าพื้นที่ของตำบลแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัยมาก่อนประมาณ ๗๐-๘๐ ปีแล้ว ทีนี้การกำหนดแผนที่ของป่าไม้ ซึ่งพวกเราก็มีการพูดคุยกันในสภา ไม่ได้เฉพาะแค่ตำบลธารน้ำทิพย์ อันนี้มันเป็นเรื่องของกรณีตัวอย่างที่ผมจะเล่าให้ ท่านประธานฟังว่า คนอยู่อาศัยที่นั่นมานมนานเป็นเวลาประมาณ ๘๐ กว่าปีแล้ว เสร็จแล้ว ก็มีการออกแผนที่ครอบเป็นพื้นที่ป่าในเขตพื้นที่แห่งนี้ แล้วสุดท้ายก็เกิดเป็นองค์กรปกครอง ท้องถิ่นพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ จาก อบต. ก็มาเป็นเทศบาล ซึ่งคลุมพื้นที่บนนี้ทั้งหมด ถามว่า วิธีการจัดการในการบริหารจัดการในเรื่องของการพัฒนาท้องถิ่นนั้น ก็จำเป็นจะต้องมีที่ดิน มีเส้นทาง มีถนน มีอะไรเหล่านี้ ก็ไม่อาจจะดำเนินการได้ อย่างกรณีตัวอย่างที่ผมพูดขึ้น ถ้าอย่างนั้นที่บอกว่าเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมสนับสนุนญัตติเรื่องของการบูรณาการอย่างที่ว่านี้
เมื่อ ๒ สัปดาห์ที่แล้วผมก็ได้มีการหารือในสภาแห่งนี้ พื้นที่ในตำบลเดียวกัน เมื่อปี ๒๕๖๒ ก็มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งซึ่งอยู่ในบ้านซาโห่ ในพื้นที่ของตำบลธารน้ำทิพย์เช่นกัน อยู่กันมา ๗๐ กว่าปี ที่มีการปลูกต้นไม้พืชเศรษฐกิจทั้งหลาย ทั้งยางพารา ทุเรียนอะไรต่าง ๆ แต่ก็ไม่มีถนนหนทางเข้าไป ไม่มีไฟฟ้าเข้าไป ทั้ง ๆ ที่นั่นมีโรงเรียนประถม มีวัด มีอะไรต่าง ๆ ในเขตพื้นที่ ก็มีการถวายฎีกาต่อสมเด็จพระเทพฯ ทางจังหวัดก็ได้รับทราบเรื่องนี้ หลังจาก ที่มีการหารือก็ไปรับปากกับพี่น้องประชาชนว่าจะเข้าไปดำเนินการสร้างถนน แล้วก็สร้างไฟฟ้า ให้กับชุมชนที่อยู่ข้างใน ระยะทางเข้าไปประมาณ ๘ กิโลเมตร ผมก็เป็นห่วงนะครับ การถวายฎีกาก็เป็นส่วนหนึ่งที่น่าจะเป็นเรื่องทางออกในการแก้ปัญหา แต่ว่าการถวายฎีกา ก็เป็นการถวายฎีกาเฉพาะจุด ในพื้นที่อื่นที่กรณีตัวอย่างที่ท่านนายกเทศมนตรีตำบลธารน้ำทิพย์ ได้ดำเนินการก็จะถูกปัญหาโดนคดีของ ป.ป.ช. ที่กล่าวหา ที่แจ้งความข้างต้น ทีนี้พออีก จุดหนึ่งในพื้นที่ตำบลเดียวกันก็จริงอยู่ ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไปบอกว่าจะดำเนินการให้ อะไรอย่างนี้เป็นต้นนะครับ ผมเป็นห่วงตรงที่ว่าในเรื่องของการใช้กฎหมายป่าไม้ในเขตพื้นที่ ของการพัฒนาลักษณะอย่างนี้ เดี๋ยวสุดท้ายมันก็จะเกิดเป็นปัญหาเหมือนกับนายกที่เกิดปัญหา ก็อยากจะเล่าให้ท่านประธานฟังว่า สิ่งเหล่านี้เราก็ควรที่จะต้องมีการพูดคุยในรายละเอียด ขั้นตอนต่อไป
เพิ่มเติมอีกเรื่องหนึ่ง ในพื้นที่ของผมมันมีเรื่องของนิคมสร้างตนเอง ก็เป็นปัญหาในเรื่องของการดำเนินการ ในเรื่องของการพัฒนาในพื้นที่เช่นกัน สมมุติว่า ในพื้นที่เดียวกันก็มีมัสยิดอยู่แล้ว แต่การที่จะสร้างโรงเรียนจริยธรรมอะไรต่าง ๆ จะเข้าไป ก็จะต้องมีการขออนุญาตอีกต่างหาก ทั้ง ๆ ที่ว่าบริเวณเดียวกันได้รับอนุญาตในการจัดสร้าง เหล่านี้เป็นต้น มาแล้วก็ยังจะต้องมีการขออนุญาตเป็นขั้นตอนต่อไป หลาย ๆ เรื่องที่เป็น เรื่องเกี่ยวข้องกับการป่าไม้ การบูรณาการระหว่างของป่าไม้กับทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมก็น่าจะต้องไปดำเนินการให้มันแล้วเสร็จ ปัญหาทั้งหมดที่ฟัง ๆ จากเพื่อนสมาชิก ที่พูดในสภาแห่งนี้ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องเป็นทั่วทั้งประเทศ แล้วเกิดขึ้นมาหลายสิบปี ๔๐ ปีขึ้นไป แล้วก็ไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลอย่างจริงจัง ไม่รู้ว่าหน่วยงานไหนจะต้องรับผิดชอบ ไม่รู้ว่า นายกคนไหนจะรับผิดชอบ ปีนี้เรายังมีความคาดหวังว่าท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา เป็นผู้มองการณ์ไกล ในเรื่องของการใช้ที่ดินเป็นทุนในการพัฒนาทุกด้าน หวังว่าจะได้รับ การแก้ไขในรอบนี้ ขอขอบคุณท่านประธานครับ