นายชลน่าน ศรีแก้ว

  • ท่านประธาน ที่เคารพ กระผม นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทยในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้องขอบคุณผ่านท่านประธาน ไปยังท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ท่านสัญญา นิลสุพรรณ ที่ได้ให้ความสำคัญ ให้ความสนใจ ประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้เกี่ยวกับเรื่องของกฎกระทรวงที่กำหนดปริมาณ ยาเสพติดที่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ในคำถามแรก เหตุผลที่มาของการกำหนดกฎกระทรวงและกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษ และวัตถุออกฤทธิ์เป็นมาอย่างไร ผมกราบเรียนท่านประธานด้วยความเคารพผ่านไปยัง เพื่อนสมาชิก เหตุผลประการที่ ๑ เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายประมวลยาเสพติด ในมาตรา ๑๐๗ บทบัญญัติกฎหมายมาตรา ๑๐๗ ในวรรคสองได้เขียนไว้ในกรณีที่มี การครอบครองยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ ประเภท ๒ ประเภท ๕ หรือวัตถุออกฤทธิ์ ประเภท ๑ ประเภท ๒ ในปริมาณเล็กน้อย ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำหนดในกฎกระทรวงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้เพื่อเสพ ตรงนี้มันเป็นที่มาของว่า จำเป็นต้องออกกฎกระทรวงรองรับการใช้บังคับตามประมวลกฎหมายยาเสพติดมาตรานี้ แต่ก่อนถึงวรรคสองผมขยายความนิดเดียวครับ เดี๋ยวจะเข้าใจผิดว่าไปออกกฎกระทรวง เพื่อยกเว้นความผิด ท่านประธานที่เคารพ ในวรรคหนึ่งเขาห้ามครับ มาตรา ๑๐๗ ห้ามครอบครองยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ ประเภท ๒ ประเภท ๕ วัตถุออกฤทธิ์ประเภท ๑ ประเภท ๒ ห้ามหมดครับ บทห้ามนี้มีบทลงโทษ พูดง่าย ๆ ครอบครองถือว่ามีความผิด ตามกฎหมาย แต่วรรคสองที่ออกมาตรงนี้เพื่อรองรับเจตนารมณ์หรือจุดมุ่งหมายของ กฎหมายฉบับนี้ที่ต้องการให้โอกาสกับผู้ที่หลงผิด ผมเน้นนะครับ ให้โอกาสกับผู้ที่หลงผิดได้มี โอกาสกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดีในสังคมได้ และต้องการแยกผู้เสพออกจากผู้ค้า ผู้ที่หลงผิด อยู่ขณะนี้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดที่มีพฤติกรรมการเสพ เป็นผู้ใช้ ผู้เสพ ผู้ติด ๑,๙๐๐,๐๐๐ คน คนเหล่านี้อยู่ในชุมชน อยู่ในบ้านเมืองเรา ถ้าเราไม่แก้ปัญหาให้คนกลุ่มนี้ คนกลุ่มนี้ก็จะมี พฤติกรรมที่เลวร้ายหนักแน่นขึ้นไปเรื่อย ๆ แล้วก็หนักหนาสาหัสไป แล้วก็ผันตัวเองไปเป็น ผู้ค้า เพราะฉะนั้นเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้เลยให้โอกาสว่าจะต้องแก้ไขคนกลุ่มนี้ และป้องกันไม่ให้เกิดกลุ่มใหม่ก็เลยให้โอกาส ถ้ามีครอบครองไว้ไม่เกินกำหนดให้สันนิษฐาน เบื้องต้นไว้ก่อนว่า เป็นการสันนิษฐานเบื้องต้นนะครับ ไม่ใช่สันนิษฐานเด็ดขาด มีไว้เพื่อเสพ เพื่ออะไรครับ เพื่อเข้าสู่การบำบัดรักษา ตรงนั้นจะเป็นข้อชี้บ่งว่าเมื่อเข้าสู่การบำบัดรักษา แล้วเขาจะได้มีโอกาสไม่ต้องรับโทษ เพราะฉะนั้นเหตุผลแรกเป็นอย่างนี้ว่าเป็นไปตาม กฎหมาย

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ที่มาของการกำหนดปริมาณมาอย่างไร ผมกราบเรียนท่านประธาน ผ่านไปเพื่อนสมาชิกด้วยความเคารพว่า ๑. เรามีคณะกรรมการที่ประกอบด้วยหลายภาคส่วน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นกรรมการที่อยู่ในกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานอยู่ ประกอบด้วยฝ่ายของ ป.ป.ส. ทางยุติธรรม ทางทหาร ทางตำรวจ ทางอัยการ ทางกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันพิจารณา ว่าปริมาณที่เหมาะสมที่จะตอบโจทย์ของคำว่า ในปริมาณที่เล็กน้อย ตามกฎหมายบัญญัติไว้ คืออะไร ก็กราบเรียนด้วยความเคารพว่ายาบ้า แอมเฟตามีนหรือเมทแอมเฟตามีนมีข้อสรุป อยู่ที่ ๕ เม็ด หรือ ๕ หน่วยการใช้ น้ำหนักสุทธิไม่เกิน ๕๐๐ มิลลิกรัม เม็ดหนึ่ง ๑๐๐ มิลลิกรัมครับ อันนี้เป็นสิ่งที่กรรมการพิจารณาออกมา เหตุผลที่ผมได้รับทราบ แล้วนั่งฟังกรรมการเขาพิจารณา เหตุผลที่ ๑ เป็นเหตุผลการแพทย์ เหตุผลที่ ๒ เป็นเหตุผล เกี่ยวกับตัวผู้เสพ เหตุผลที่ ๓ เป็นเกี่ยวกับกระบวนการการค้าการขาย เขาใช้เหตุผล ๓ เหตุผลมาประกอบกันแล้วก็พิจารณากำหนดจำนวนเม็ดออกมา

    อ่านในการประชุม

  • เหตุผลที่ ๑ เกี่ยวกับการแพทย์ ทำไมเป็น ๕ เม็ดครับ ใช้ลักษณะของอาการ ที่เกิดขึ้นจากยาเสพติดเป็นตัวชี้วัด ในทางการแพทย์ถ้ามีผู้เสพยาบ้า แอมเฟตามีน หรือ เมทแอมเฟตามีนในปริมาณที่เกิน ๕ เม็ดจะเริ่มมีอาการทางจิต หวาดระแวง กระสับกระส่าย ก้าวร้าว จะเริ่มมีอาการ เพราะฉะนั้นเราใช้อาการทางการแพทย์เป็นตัววัดว่าถ้าเราปล่อยให้ เกิดมีอาการอย่างนี้มันจะเข้าสู่การเป็นอันตรายต่อสังคม เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถกำหนด ไว้ที่ไม่เกิน ๕ เม็ด และสามารถที่จะเอาเขาเข้าสู่การบำบัดได้ก่อนก็จะเป็นการป้องกัน

    อ่านในการประชุม

  • เหตุผลที่ ๒ เกี่ยวกับเรื่องของตัวผู้เสพ พฤติกรรมการเสพ ผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยตรง เขาให้เหตุผลว่าสิ่งที่เขาพบคือผู้เสพมักจะพกยาอยู่ที่ ๑ เม็ด ๒ เม็ดหรือ ๓ เม็ด มักจะไม่เกิน ๕ เม็ดเพื่อไว้เสพ เพราะฉะนั้นเลยเป็นข้อสันนิษฐานว่าถ้าเกิน ๕ เม็ดมันน่าจะมี เหตุผลอื่นแล้วเกี่ยวกับพฤติกรรมของการเสพของผู้พกยาเสพติดนั้น

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ เกี่ยวกับเรื่องของการค้า เขาให้เหตุผลว่าผู้ค้าส่วนใหญ่จะทำ Packaging อยู่ที่ ๑๐ เม็ด ๑๐ เม็ด ๑๐ เม็ด สำหรับผู้ค้ารายย่อย เพื่อคุ้มทุน เพื่อเปิดโอกาส ให้ได้มีโอกาสได้ขายมากขึ้น การที่จะไปแบ่งซอยย่อยเป็น ๕ เม็ด ๕ เม็ดนี้โอกาสที่มันจะ ไม่คุ้มทุนมีเยอะ และ ๑๐ เม็ดนี้เขาเห็นว่าผู้ซื้อสามารถที่จะมีทุนทรัพย์หรือมีเงินที่จะซื้อได้ ก็เป็นเหตุผลโดยรวมเขาก็เลยกำหนดอยู่ที่ ๕ เม็ด ซึ่งการกำหนดของคณะกรรมการไม่ได้ สิ้นสุด ก็เสนอเป็นร่างกฎกระทรวง ในคำถามนี้ผมต้องขออนุญาตอธิบายให้ลงชัดไปว่า แล้วกฎกระทรวงออกมาได้อย่างไร เสนอเป็นร่างกฎกระทรวงแล้ว เราเอาร่างกฎกระทรวงนี้ เข้าสู่เวทีการรับฟังความเห็นในช่วงเดือนพฤศจิกายน ๑๕ วัน เปิด Platform ต่าง ๆ ทั้งทางตรง ทางอ้อม Website ให้ทุกคนมาแสดงความเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่เกี่ยวกับร่างกฎกระทรวง ที่กำหนดปริมาณยานี้ หลังจาก ๑๕ วันแล้วเราก็เอาความคิดเห็นทั้งหลายมาประมวลว่า เห็นด้วย เห็นต่างอย่างไร แน่นอนครับ มีเห็นต่าง แต่ส่วนใหญ่เห็นด้วย เมื่อเห็นด้วยเราจึง นำร่างนี้เสนอคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ปี ๒๕๖๖ ว่า เห็นชอบกับร่างและหลักการของการกำหนดปริมาณยา ร่างนี้จึงถูกส่งให้กฤษฎีกาตรวจร่าง พิจารณาร่างว่าเป็นไปตามแบบแผนขั้นตอนการเสนอกฎกระทรวงหรือไม่ หลังจากนั้น กฤษฎีกาส่งกลับมาที่กระทรวงสาธารณสุข ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็มีหน้าที่และอำนาจที่จะลงนามในกฎกระทรวงนั้น ผมลงนามเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๗ แล้วก็ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ นี่คือที่มาที่ไปของการออก กฎกระทรวง ขออนุญาตตอบคำถามแรกครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธาน ที่เคารพ กระผม ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอบคุณคำถามที่ ๒ จากเพื่อนสมาชิกครับ เรื่องของปริมาณยาที่ท่านถามว่า เสพวันละเม็ด วันละเม็ดนี้จะมี อาการอย่างไร และเสพ ๕ เม็ดจะเป็นอย่างไร ท่านประธานที่เคารพ เรื่องการเสพยาเสพติด มันจะออกฤทธิ์ต่อสมอง ไปทำลายสมอง ในปริมาณที่สะสมก็มีการกร่อนทำลายสมองได้ เช่นกันถ้าใช้ติดต่อกันไปเรื่อย ๆ แม้จะปริมาณที่เล็กน้อยแต่มีการใช้ต่อเนื่องก็จะมีผล ต่อสมอง ทางด้านจิตใจและร่างกายเช่นกัน แต่ประเด็นหนึ่งที่ผมเองอยากจะกราบเรียน เราแบ่งลักษณะอาการของผู้เสพไว้โดยอาศัยอาการทางจิตเป็นหลัก กลุ่มผู้ใช้คือผู้เสพ ๑ เม็ด ๒ เม็ดในแต่ละวันจะไม่มีอาการทางจิต เราเคยถือว่าเป็นเป็นกลุ่มผู้ใช้ประเภทที่ ๑ ถ้าจัดสี เป็นสีเขียวครับ ที่ผมต้องบอกสีเขียวเพราะมันมีผลต่อเรื่องการบำบัด แบ่งเป็นกลุ่มสีเขียว ซึ่งกลุ่มนี้ผมกราบเรียนท่านประธานผ่านไปยังเพื่อนสมาชิก ในปี ๒๕๖๖ มีถึง ๑,๔๖๐,๐๐๐ คน ในปี ๒๕๖๗ นับตั้งแต่เดือนตุลาคมมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๖,๐๐๐ คน กลุ่มนี้เป็นคนที่ ไม่มีอาการครับ ไม่มีอาการทางจิตเลย แต่ถ้าขยับเป็นปริมาณที่มากขึ้น เช่นเกิน ๕ เม็ดขึ้นไป จะเริ่มมีอาการกระสับกระส่าย กระวนกระวาย ก้าวร้าว อารมณ์ฉุนเฉียวรุนแรง อันนี้เขา เรียกเป็นประเภทที่เริ่มมีอาการ เราจะจัดอยู่ในประเภทสีเหลืองและสีส้ม กลุ่มนี้ในปี ๒๕๖๖ มีถึง ๔๕๖,๐๐๐ คน ปี ๒๕๖๗ ตั้งแต่เดือนตุลาคมมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ วันที่ ๑๐ ๓,๐๐๐ คน กลุ่มที่เป็นสีแดงหรืออันตราย ผู้ติดเลยนะครับ แล้วกลุ่มนี้พร้อมที่จะเป็นอันตรายต่อสังคม ผมมีสไลด์ให้แต่ว่าอาจจะไม่มีโอกาสได้ฉาย กลุ่มนี้ถือว่าเป็นอันตรายต่อสังคม เขาเรียก SMI-V (Serious Mental Illness with High Risk to Violence) ต้องขออนุญาตท่านประธาน ที่ใช้ภาษาอังกฤษ เป็นกลุ่มที่มีอาการทางจิตที่จะเป็นอันตรายต่อสังคม ขณะนี้ ป.ป.ส. มีตัวเลขอยู่ในมือ ๔,๔๐๐ กว่าคน เข้าสู่การบำบัดแล้ว ๔,๐๐๐ คน เหลือประมาณ ๔๐๐ คน ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขั้นตอน กลุ่มนี้ ๓๕,๐๐๐ คน ปี ๒๕๖๗ ๕,๐๐๐ คน อันนี้คือ ลักษณะที่เราแบ่งตามอาการตามที่ท่านได้เป็นข้อห่วงใย

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นของ ความพร้อมเรื่องของสถานบำบัด ผมกราบเรียนท่านประธานด้วยความเคารพครับ นโยบาย แก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน แถลงต่อรัฐสภา แห่งนี้ จะต้องลดจำนวนผู้ที่เกี่ยวข้องยาเสพติดให้ได้ภายใน ๑ ปีแล้วประกาศแผนออกมาเลย ในการดำเนิน การประกาศแนวทางและยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนชัดเจน ปลุก เปลี่ยน ปราบ เปลี่ยน คือ เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ตรงนี้เราเลยนำเอานโยบายนี้มารองรับในนโยบายของ กระทรวงสาธารณสุข เราใช้เป็นนโยบายที่จะต้องเร่งรัดปฏิบัติการให้แล้วเสร็จภายใน ๑๐๐ วัน หรือ Quick Win ๑๐๐ วัน กราบเรียนท่านประธานด้วยความเคารพครับ ในส่วนของ กระทรวงสาธารณสุขเราก็เตรียมการที่จะรองรับเรื่องนี้ โดยกำหนดให้มีสถานบำบัดยาเสพติด ซึ่งเราได้กระจายไปทุกจุดในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชนที่เป็น การบำบัดทางการแพทย์ กราบเรียนท่านประธานครับ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลธัญญารักษ์ ศูนย์บำบัดยาเสพติดตามที่กระจายอยู่ ๗ ศูนย์ทั่วประเทศรองรับ ทุกจุด มีมินิธัญญารักษ์อยู่ในโรงงานชุมชน รองรับการบำบัดอยู่ถึง ๑๕๓ แห่ง เราเตรียมการ ไว้พร้อมหมดครับ มีหน่วยงานที่เกี่ยวกับด้านยาเสพติดและจิตเวชอยู่ในโรงเรียนชุมชน ทำได้ ขนาดนี้ถึงร้อยละ ๘๐ กว่า เพราะฉะนั้นสถานบำบัดทางการแพทย์เราพร้อมครับ เรามั่นใจว่า ทำรองรับไว้หมดแล้ว

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธาน ที่เคารพครับ คำถามว่า กรณีกฎกระทรวงนี้ใช้บังคับแล้วมีผลเสียที่เกิดขึ้นจะมีการปรับแก้ได้ หรือไม่ ด้วยความเคารพท่านประธานครับ กฎกระทรวงเป็นการออกตามบทบัญญัติของ กฎหมาย ในการปรับแก้ก็ปรับแก้ได้เฉพาะเรื่องของปริมาณ แต่ต้องมีกฎกระทรวงออกมา รองรับ เช่น ปริมาณ ๕ เม็ดที่กำหนดเรื่องของยาบ้ามันไปทำให้เกิดผลกระทบคือผลเสีย มากกว่าผลดี ก็ต้องไปพิจารณาใหม่ว่าจำนวน ๕ เม็ดเหมาะสมหรือไม่ จะเป็น ๓ เม็ด หรือ ๑๕ เม็ด เดิมกำหนด ๑๕ เม็ด ประกาศ คสช. ลดมาเหลือ ๕ เม็ด ๑๐๘/๒๕๕๗ นะครับ ขณะนี้ ๕ เม็ดเหมือนกับประกาศ คสช. แต่ผมมั่นใจว่าการประกาศแบบนี้มันแตกต่างจาก กฎหมายฉบับเดิม บังคับบำบัด ไม่ให้โอกาส ฉบับนี้เราให้โอกาสคนดีกลับคืนสู่สังคม เราจับตัว แล้วก็มีส่วนร่วมทุกฝ่าย ผมมั่นใจว่าจะมีผลดีมากกว่าผลเสีย แต่ก็ยินดีครับ ถ้ามันมีเหตุการณ์ อะไรเกิดขึ้นในสิ่งที่เป็นผลร้าย เป็นผลกระทบต่อสังคม แม้กระทั่งตัวพระราชบัญญัติ สภาแห่งนี้ก็ต้องมาช่วยกันแก้ว่าทำอย่างไรให้นำพระราชบัญญัติฉบับนี้ ประมวลกฎหมาย ยาเสพติด ปี ๒๕๖๔ ที่บังคับใช้อยู่นี้ให้มันเกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน กฎกระทรวงเรื่องเล็กมากครับ ไปแก้ตามบทบัญญัติของกฎหมาย เพราะเขาเพียงแต่กำหนด ปริมาณเล็กน้อย เล็กน้อยนี้เท่าไรเท่านั้นเอง ขอบพระคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธาน ที่เคารพ ผม ชลน่าน ศรีแก้ว พรรคเพื่อไทย จังหวัดน่าน ขออนุญาตลงคะแนน เห็นชอบครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธาน ที่เคารพ กระผม นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขออนุญาตท่านประธานตอบคำถาม ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติที่ได้กรุณาถาม เรื่องของการใช้บริการในคลินิกอบอุ่นนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • คำถามแรก ถามว่าในวันที่ ๑ มีนาคม จะมีการเปลี่ยนรูปแบบการจ่ายเงิน ให้กับคลินิกอบอุ่นหรือไม่ อย่างไร และใช้เงินจากไหน รูปแบบเป็นอย่างไร ผมกราบเรียน ท่านประธานผ่านไปยังเพื่อนสมาชิกครับ สิ่งที่เพื่อนสมาชิกได้กรุณานำเข้าสู่ก่อนที่จะมี คำถามเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ผมเองเข้ามาทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีก็รับรู้รับทราบปัญหานี้ จริง ๆ รับรู้รับทราบตั้งแต่ผมเป็นผู้นำฝ่ายค้านนะครับ แล้วก็ทำเรื่องนี้มาพอสมควร แล้วพอมาเป็นรัฐมนตรีก็รับทราบรับรู้ปัญหาเรื่องนี้ เคยให้ตัวแทน ให้ผู้แทนของคลินิกอบอุ่น กลุ่มสถาบันการแพทย์ ที่เราเรียกว่า UHosNet เข้ามาพบปะพูดคุยกัน ผมเองก็ยังบอกว่า ช่วยไปทำข้อเสนอมาให้ผมหน่อยว่าจะต้องทำอย่างไร โดยสรุปครับ คำถามท่านถามเรื่อง รูปแบบการเบิกจ่าย

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธาน ที่เคารพ กระผม ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขออนุญาต ตอบคำถามเพื่อนสมาชิกท่าน สส. ปวิตราที่กรุณาถามในคำถามที่ ๒ เรื่องของเงินที่ค้างจ่าย แล้วพูดถึงการจัดสรรที่ได้น้อย ขาดทุน ก่อนที่ผมจะตอบเงินค้างจ่ายนะครับ ผมขออนุญาต ชี้แจงประเด็นเรื่องของวิธีการจัดสรรที่ท่านถามในข้อที่ ๑ ถึงรายละเอียดของการจัดสรร สักนิด ท่านจะได้เห็นภาพว่าคำถามที่ ๒ ของท่านที่บอกค้าง ๕๘๐ ล้านบาท มันเกิดขึ้น ได้อย่างไร ท่านประธานที่เคารพครับ รายการเบิกจ่ายของเขตบริการสุขภาพที่ ๑๓ คือ กทม. เขาเป็นการนำเอาวิธีการมาใช้แบบใหม่ที่แตกต่างจากภาพทั่วไป ที่เราใช้คำว่า จ่ายตามรายการกำหนด แต่ไม่เกินเพดานวงเงินคือ Fee Schedule with Global ต้องขออนุญาตใช้ภาษาอังกฤษนะครับ วิธีการแบบนี้หลักการเขาเริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๖๔ เดิมคลินิกอบอุ่นจะเป็นหน่วยบริการประจำ หมายความว่าขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการ ประจำจะได้รับเงินแบบเหมาจ่ายรายหัว พอเปลี่ยนมาเป็น Fee Schedule หรือจ่าย ตามรายการแล้วจะต้องมีหน่วยบริการประจำ เขาก็เลยให้ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. เป็นหน่วยบริการประจำ คลินิกอบอุ่นก็จะเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิเป็นเครือข่าย แล้วเงิน ก็จะผ่านไปที่หน่วยประจำ แล้วกระจายเข้าไป การจ่ายในเงื่อนไขที่มีข้อตกลงกันเขาบอกว่า จ่ายค่าบริการปฐมภูมิลักษณะเป็นแต้มหรือ Point ไม่เกิน ๑ บาท ต่อ Point ใช้คำว่า ไม่เกิน ๑ บาทต่อ Point นะครับ ตามวงเงินเหมาจ่ายรายปีภาษาอังกฤษเขาใช้ว่า Point System with Global Budget นะครับ หากปลายปีมีเงินเหลือ ก็คืนเพิ่มให้หน่วยบริการปฐมภูมิทั้งหมด ก็คือคลินิกอบอุ่นนะครับ หากไม่พอก็ลดลงได้ Point ละไม่ถึง ๑ บาท อันนี้คือสิ่งที่เริ่มทำเมื่อเดือนมีนาคม ปี ๒๕๖๔ เมื่อ ๒ ปีที่แล้ว อันนี้คือเงื่อนไขนะครับ ประเด็นที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้คลินิกอบอุ่น ไม่ได้รับ ๑ บาทต่อ Point ที่ท่านบอกว่าเสมือนเป็นหนี้นะครับ ระบบการจ่ายแบบนี้ คลินิกอบอุ่นเองจะต้องรับผิดชอบการส่งต่อ ที่เราเรียกว่า OPD Refer ส่งต่อผู้ป่วยนอก ไปยังสถานบริการที่มีความสามารถในระดับสูงขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็น Tertiary Care หรือ หน่วยบริการตติยภูมิ ซึ่งค่าใช้จ่ายสูงมาก เม็ดเงินที่ผ่านมาประเมินโดยรอบ เอาง่าย ๆ ครับ ในปีที่ผ่านมานี้ เม็ดเงินที่คลินิกอบอุ่นจะได้รับทั้งหมดเมื่อมีข้อกำหนดแบบนี้และมีเงื่อนไข ด้วยนะครับว่า การจ่ายต้องจ่ายให้กับ OPD Refer ก่อน หมายความว่าคลินิกอบอุ่นไหน ส่งคนไข้ไปต้องให้ตรงนี้เป็นอันดับแรกก่อน ตามไปจ่ายก่อน เหลือเท่าไรก็เอาเม็ดเงินที่เหลือนั้น มากระจายให้กับคลินิกอบอุ่น จากเดิม Point ละ ๑ บาทใช่ไหมครับ เพราะฉะนั้นวิธีการจ่าย แบบนี้ มันทำให้คลินิกอบอุ่นไม่มีทางได้ Point ละ ๑ บาทแน่นอน เพราะตัวเลขที่จ่ายให้กับ คนไข้นอกที่ส่งต่อ มีสัดส่วนถึงร้อยละ ๗๐ ของเม็ดเงิน ร้อยละ ๗๐ เลยนะครับ มีเงิน ๑๐๐ บาท Refer คนไข้ไป ตัวเลขที่ผมมีอยู่ขณะนี้แค่ ๓๕ เปอร์เซ็นต์ของคนไข้นอกที่มา รับบริการทั้งหมด เขาส่งต่อแค่ ๓๕ เปอร์เซ็นต์ แต่ ๓๕ เปอร์เซ็นต์ เมื่อไปอยู่ในโรงพยาบาล ระดับโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาล UHosNet โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแล้ว กินเม็ดเงินไป ๗๐ เปอร์เซ็นต์ พอหัก ๗๐ เปอร์เซ็นต์นี้ออกไป จะเหลือเม็ดเงินอยู่แค่ จาก Point ละ ๑ บาท เหลือแค่ ๐.๕๗ บาทเองครับ มันก็เลยเป็นประเด็นว่าต้องเอา ๐.๕๗ บาท มาจ่ายให้กับคลินิกอบอุ่น ซึ่งไม่พอแน่นอน สิ่งที่เขาจะได้รับมันไม่ได้เต็มครับ เพราะฉะนั้นวิธีการเบิกจ่ายแบบนี้ ตั้งแต่แรกผมเลยบอกว่าทดลองใช้ Model 5 เขาเรียก Model 5 ครับ มันอาจจะไม่สอดคล้อง ไม่เหมาะสม เพราะว่าเป็นการจ่ายตามรายการ ที่กำหนด มันอาจจะเกิดปัญหา มันเกิดปัญหาจริง ๆ แล้วสิ่งที่ผมพูดไว้มันก็เกิดปัญหาจริง ๆ พอผมมาเป็นรัฐบาลจะต้องรีบแก้ตรงนี้ครับ ต้องปรับวิธีการจ่าย เหมือนที่ได้นำเรียนไปแล้ว

    อ่านในการประชุม

  • ทีนี้ประเด็นเม็ดเงินที่ค้างอยู่ผมเข้าไปดูในรายละเอียด ไม่เฉพาะแค่ คลินิกอบอุ่นนะครับ ทั้งประเทศด้วย เพราะวิธีการจ่ายมันทำให้เกิดภาระหนี้ทางบัญชี วิธีการจ่ายแบบนี้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอกยังคิดง่ายนะครับ เอาเป็นว่า คลินิกอบอุ่นเราคิดเฉพาะผู้ป่วยนอก ผมไม่เอาผู้ป่วยในมาเกี่ยวข้อง เดี๋ยวจะสับสน เม็ดเงิน ที่ได้ไป ๐.๕๗ บาทนี้มันเป็นเม็ดเงินในข้อตกลงรวม แต่สิ่งที่คลินิกได้ไป เอาผลงานปี ๒๕๖๕ ปี ๒๕๖๖ มาบวก เขาก็เอาผลงานนี้มา Claim จ่ายเข้าไป สปสช. เองก็เอาผลงานนี้จ่าย ตามจ่ายเข้าไป ส่วนหนึ่งมีการจ่ายเกิน ส่วนหนึ่งมีการจ่ายขาด เพราะฉะนั้นภาระหนี้ที่ทาง คลินิกบอกว่า ๕๘๐ ล้านบาท ตรงนี้ก็เป็นตัวเลขที่ ๒ ฝ่าย ต้องมาคุยกันในรายละเอียด ผมให้นโยบายไป ตอนแรกเขาจะใช้เม็ดเงินปีงบประมาณใหม่ ซึ่งใช้กฎหมายเดิมก็คือ กฎหมายปี ๒๕๖๖ นี้จ่ายไปพลางก่อน ไปหักไว้ใช้หนี้ประมาณร้อยละ ๓๐ คือจ่าย Point ละ ๑ บาท ก็หักไว้ก่อน ๓๐ เปอร์เซ็นต์ เพื่อเอาไปชดเชยหนี้ ผมให้นโยบายบอกว่าอย่าไปหักเขา ต้องจ่ายให้เขาเต็ม แล้วผมจะหาวิธีการว่าที่เป็นหนี้จะแก้หนี้กันอย่างไร ขอให้ไปดูในรายละเอียด ว่าวิธีระบบบัญชีมันถูกหรือเปล่า มันควรจะเป็นระบบมาตรฐานหรือไม่ เป็นหนี้ค้างบัญชี ถ้าเกิดเนื้องานมันสามารถหักลบกลบหนี้ได้ ก็เอาเนื้องานไปชดเชยก็คิดเป็นเงินออกมา วิธีการพวกนี้เรากำลังคิดอยู่ครับ ซึ่งมันต้องหาตัวเลขจริง ๆ เข้ามา เพราะฉะนั้น ตอบท่านสมาชิกว่า ๕๘๐ ล้านบาทนี้จะจ่ายเมื่อไร มันอยู่ที่ระบบวิธีการที่เราจะไปดู ในรายละเอียดทั้งหมดนะครับ ถ้าเขาควรได้รับจริง ทาง สปสช. เราเองก็พร้อมที่จะเติมเต็มให้ในส่วนที่ขาด แต่ว่าส่วนใหญ่ มันเป็นหนี้ทางบัญชีครับ เป็นหนี้ทางบัญชีก็จะใช้วิธีการทางบัญชีมาพิจารณาดูว่าจะสามารถ กลบหนี้เขาอย่างไร เพราะบางส่วนคลินิกเป็นหนี้ สปสช. เพราะ สปสช. ได้จ่ายเงินไปแล้ว แต่เนื้องานคุณทำไม่ถึง อันนี้ก็เลยทำให้เกิดปัญหาทั้ง ๒ ฝ่าย ในคำถามนี้ขอเรียนผ่าน ท่านประธานไปยังเพื่อนสมาชิกครับ มันเป็นหนี้ทางระบบบัญชี เพราะฉะนั้นกลไกการแก้หนี้ เราจะไปดูในรายละเอียดให้ ผมอยู่ตรงนี้ผมให้ความมั่นใจครับว่า ทุกฝ่ายต้องได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะพี่น้อง กทม. นี้ ระบบบริการจาก Primary Care ขึ้นไป Tertiary เลยนะครับ ค่าใช้จ่ายมันเลยกระโดดสูงมากในการส่งต่อ และในรายละเอียดอีกนิดหนึ่งครับ เม็ดเงินที่เราให้สำหรับ กทม. เราให้เหมาจ่ายรายหัว แต่ว่าขาลงนี้เราคิด Fee Schedule แบบเดิมให้ทั้ง PP และ OPP คือการส่งเสริมป้องกัน เม็ดเงินก้อนนี้เหลือเยอะมากครับ เหลือ ๑,๕๐๐ ล้านบาท หมายความว่าอย่างไรครับ หมายความว่าไม่มีรายการส่งเบิก ค่าส่งเสริมป้องกันโรค เงินตัวนี้ก็กองอยู่ ขณะที่เงินบริการขาด เพราะฉะนั้นวิธีการเบิกจ่าย ต่อไปในอนาคตที่เขาคิดไว้ เราจะต้องคำนึงถึงรายละเอียดพวกนี้ให้มันสามารถดูแลพี่น้อง ประชาชน ทั้งส่งเสริมป้องกันรักษาพยาบาลและฟื้นฟูสภาพได้ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธาน ที่เคารพ กระผม ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขออนุญาตตอบ คำถามที่ ๓ ของเพื่อนสมาชิก เป็นคำถามที่ต้องขอบคุณครับ เพราะว่าเรื่องนี้มันเป็นข้อเสนอ ที่เรานำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบอร์ด สปสช. เมื่อวานนี้ ก็แจ้งข่าวท่านประธานผ่านไปยังเพื่อนสมาชิกและพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะ เครือข่ายผู้ให้บริการทั้ง ๕ เครือข่าย ที่ได้ทำข้อเสนอแล้วมายื่น ผมเองได้ลงไปนั่งรับ นั่งฟังด้วยตนเองครับ วันที่เขามาที่กระทรวงสาธารณสุขที่ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร ฟังประเด็นทั้งหมด แล้วในส่วนของผมเองนั้น ผมก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง สนับสนุนนะครับ เราทำเรื่องนี้ก่อนที่จะมีข้อเสนอของเครือข่ายทั้ง ๕ สถาบัน ๕ ชมรมนี้ กระทรวงสาธารณสุข ทำเรื่องนี้เสนอเข้าบอร์ด สปสช. ๒ ครั้ง เพื่อจัดตั้งที่เราเรียกว่า คณะกรรมการฝ่ายผู้ให้บริการ เพื่อมาพัฒนาเรื่องของระบบ ดูเรื่องของการจัดการบริการทั้งหมดให้มันเป็นไปในทางที่ เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นระบบเรื่องของเม็ดเงิน ต้นทุน กระบวนการ วิธีการในการที่จะดูแลรักษาต่าง ๆ เราส่งไป ๒ ครั้ง บอร์ด สปสช. บอกว่า อยากจะให้ไปศึกษาในรายละเอียด มันจะเป็นประเด็น เป็นปัญหา ผมก็เลยให้ถอนออกมาก่อน แล้วเอามาทำใหม่ ยื่นเข้าไปใหม่อีกครั้งหนึ่ง ผมเองนั่งเป็นประธาน ผมจะทุบโต๊ะก็คงทำไม่ได้ ครั้งที่ ๒ นี้มีทางออกบอกว่า ถ้าเสนอแบบนี้มันไม่เข้าช่องทางของกระบวนการวิธีการ การทำงานตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การทำหน้าที่ของคณะกรรมการ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีคณะอนุกรรมการหลายคณะมาก เพราะฉะนั้นให้ไปผ่าน คณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องก่อน ให้พิจารณาเข้ามา ครั้งที่ ๒ เลยมีข้อยุติว่ามีทางเห็น แสงสว่าง ก็ให้คณะอนุกรรมการ ซึ่งอนุกรรมการไปพิจารณาชุดนี้เขาเรียกว่าเป็นอนุกรรมการ นโยบายและยุทธศาสตร์ เขาพิจารณาครับ แล้วส่งกลับมาเมื่อวาน มาพิจารณา ภายใต้ความเห็นต่างค่อนข้างหลากหลายครับ แต่ข้อสรุปคือกรรมการเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วย ให้ตั้งคณะกรรมการเป็นอนุกรรมการภายใต้กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นคณะกรรมการสนับสนุนเรื่องหน่วยบริการผู้ให้บริการ มีองค์ประกอบจากตัวแทนของ หน่วยบริการทุกส่วน ทั้งมาตรา ๓ มาตรา ๔๕ มาตรา ๔๖ มาตรา ๕๗ รวมหมดครับ เข้ามาอยู่ในองค์ประกอบของคณะกรรมการ หน้าที่และอำนาจเน้นเรื่องของการที่จะไปดู และพัฒนาสิ่งที่จะเป็นข้อเสนอจากคณะกรรมการชุดนี้ให้สู่ สปสช. เพื่อดูเรื่องระบบบริการ ไม่ว่าเรื่องจะเป็นปัจจัยการบริการทั้งหมด ไม่ว่าคน เงิน ของ ที่จะต้องทำเสนอเข้าไป ระบบบริการที่เราวางอยู่ โดยเฉพาะในยุค Digital Health เรื่องเศรษฐกิจสุขภาพตรงนี้ เรื่องของ Digital Health ที่เรากำลังดำเนินการอยู่ เขาก็จะทำข้อเสนอขึ้นมา นี่เป็นหน้าที่ แล้วก็ประเมินวิเคราะห์ต่าง ๆ เรื่องของความเป็นไปเป็นอยู่ แล้วก็การมีส่วนร่วมของ ทุกเครือข่ายที่จะมาจัดบริการ ผ่านเรียบร้อยครับ หลังจากนี้ส่วนของสำนักงานเลขาธิการ สปสช. ก็จะไปดำเนินการในการที่จะเสนอแต่งตั้งตัวคณะกรรมการเข้ามาสู่บอร์ด บอร์ดก็จะแต่งตั้ง หลังจากนั้นก็มอบหมายหน้าที่เข้าไปดำเนินการ กรรมการชุดที่ผ่าน ก็จะเป็นเรื่องที่ดีที่ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม ในการที่จะนำเอาความต้องการของพี่น้อง ประชาชน โดยเฉพาะประเด็นเป็นปัญหาต่าง ๆ เข้ามาแก้ไข ผมอยู่ตรงนี้ ผมเรียนกับ ท่านประธานด้วยความเคารพครับ ให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก แล้วก็ขับเคลื่อนมาภายใน ๔-๕ เดือนนี้ ผมได้ถึงขนาดนี้ ผมเชื่อว่ามันก็จะเป็นโอกาสอันดีในการที่จะขับเคลื่อนร่วมกัน ระหว่างเครือข่ายต่าง ๆ เพราะขณะนี้สถานบริการที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องการบริการ สุขภาพมันหลากหลายมาก ไม่เหมือนเดิมครับ เดิมมีเฉพาะส่วนราชการ เอกชนเข้ามา มีส่วนร่วมน้อยมาก ตรงนี้มีทุกภาคส่วนครับ แม้กระทั่งสถานบริการที่ผมเรียนท่านประธาน ตึกนอนผู้ป่วยที่บ้าน บ้านเป็นเรือนนอนผู้ป่วยที่เราเรียกว่า Home Ward ก็เป็นสถานบริการ เป็นหน่วยบริการในเครือข่าย สถานชีวาภิบาล สปสช. ก็เห็นชอบครับ เป็นหน่วยบริการ ในเครือข่ายสามารถที่จะใช้สิทธิ ใช้อะไรต่าง ๆ ตรงนี้ได้ เพราะฉะนั้นตัวแทนเขาเหล่านี้ ก็จะเข้ามามีส่วนร่วมในการที่จะพิจารณารายละเอียด เพื่อเสนอให้เป็นประโยชน์กับพี่น้อง ประชาชน ในเรื่องการจัดบริการจากหน่วยบริการครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธาน ที่เคารพครับ ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับข้อเสนอท่าน เดี๋ยวจะทำเอกสารแจงรายละเอียดให้ แล้วทางฝ่ายที่เกี่ยวข้องเฉพาะเขาก็คงจะตอบคำถาม ท่านไปแล้ว ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม