นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ

  • กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม เจษฎา ดนตรีเสนาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี พรรคก้าวไกล คนปทุมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเป็นการประหยัดเวลา ผมขออนุญาต เริ่มเลยนะครับ แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ๒๐ ปี ที่จัดทำโดยสำนักงาน ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า สทนช. การมีแผนเป็นสิ่งที่ดี แต่นั่นไม่ได้ หมายความว่าจะเป็นแผนที่ดีนะครับ ผมได้ปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำหลายท่าน และได้ข้อสรุปถึงข้อกังวลของแผนแม่บทนี้หลายประการนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขอ Slide ถัดไปครับ ๑. การจัดการ น้ำอุปโภคบริโภค แผนนี้ไม่ได้นำปัญหาหรืออุปสรรคความไม่สำเร็จที่เกิดขึ้นในกรณีต่าง ๆ แต่ไม่ได้แปลว่าทุกโครงการไม่สำเร็จ มากางวิเคราะห์ดู ยกตัวอย่างเช่น ทำไมน้ำประปา หมู่บ้านจำนวนมากจึงดื่มไม่ได้ ทำไมการแปรรูประบบประปาที่ปทุมธานีทำให้น้ำประปา แพงขึ้น ทำไมการขยายพื้นที่นอกชลประทานยังทำได้น้อย เพราะการกระจายงบประมาณ ที่ไม่สมดุลหรือไม่ เมื่อไม่วิเคราะห์แบบนี้ผมไม่มั่นใจเลยว่าจะแก้ไขปรับปรุงได้อย่างไร น้ำกินน้ำใช้ตั้งเป้าแค่เกณฑ์ปริมาณ แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องคุณภาพน้ำว่าจะต้องได้มาตรฐานด้วย รวมถึงไม่ได้บอกถึงที่มาของแหล่งน้ำดิบว่าจะเอามาจากไหน

    อ่านในการประชุม

  • ข้อที่ ๒ การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต ปริมาณน้ำในเขตเกษตร น้ำฝนตามแผนนี้ยังดำเนินการได้น้อยไป เมื่อเทียบกับพื้นที่เกษตรกรทั้งหมด ทำให้เกษตรกร และภาคการเกษตรจำนวนมากยังคงตกอยู่ในความเสี่ยงเหมือนเดิมนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๓ การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย แผนนี้เขียนกว้างเกินไป ไม่เป็นรูปธรรม ไม่มีรายละเอียดว่าเวลาใด พื้นที่ใดจะได้รับการปรับปรุง พื้นที่ใดจะได้รับการปกป้องมากขึ้น รวมถึงไม่อธิบายถึงการปรับปรุง การรับมือ และการเยียวยาของพ่อแม่พี่น้องประชาชนเลย ขาดการมององค์รวมของน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหลาก น้ำฝน น้ำทะเลหนุนสูง รวมทั้งต้องมี การเตรียมแผนรับมือกับน้ำทั้ง ๓ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อที่ ๔ การอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ควรกำหนดจุดสมดุลระหว่างการพัฒนา และการอนุรักษ์ระหว่างเขื่อนและป่าไม้ เรามีโครงสร้างเขื่อนทั่วประเทศ แต่ขาดการบริหาร จัดการ เราต้องเอา Innovation เอาเทคโนโลยี เอาข้อมูลมาบูรณาการร่วมกัน สร้างการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ วางแผนควบคุม และกำหนดทิศทางให้น้ำ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อที่ ๕ การบริหารจัดการน้ำ แม้ว่าตามแผนนี้จะให้ความสำคัญกับ ภาคประชาชนเช่นคณะกรรมการลุ่มน้ำ แต่กรรมการชุดนี้มีสัดส่วนภาคประชาชนน้อยเกินไป เห็นสมควรว่าควรจะเพิ่มสัดส่วนภาคประชาชนให้มากขึ้นนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อที่ ๖ การติดตามประเมินผลไม่มีความชัดเจน บอกแต่ตัวชี้วัด แต่ไม่บอก กรอบเวลาในการประเมิน กระบวนการประเมินในแต่ละพื้นที่เช่นควรใช้เกณฑ์ลุ่มน้ำ หรือเกณฑ์จังหวัดเป็นต้น อันนี้ทำให้ประชาชนแต่ละพื้นที่ไม่สามารถประเมินความคืบหน้า ในการแก้ไขปัญหาได้เลยดังที่ Slide ขึ้นอยู่ข้างบนนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขอ Slide ถัดไปครับ รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ หมวด ๑๖ การปฏิรูปประเทศ มาตรา ๒๕๘ กำหนดไว้ว่า ให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างน้อยในด้านต่าง ๆ ให้เกิดผล ดังต่อไปนี้ ช. ด้านอื่น ๆ (๑) ให้มีระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และยั่งยืน โดยคำนึงถึงความต้องการใช้น้ำในทุกมิติ รวมทั้งความเปลี่ยนแปลง ของสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศประกอบกัน ซึ่งแผนแม่บทนี้ไม่ได้เอ่ยถึงภัยพิบัติ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเลย ซึ่งปัจจุบันเราเข้าสู่ภาวะโลกเดือดแล้ว

    อ่านในการประชุม

  • ขอ Slide ถัดไปครับ Slide ที่ทุกท่านเห็นอยู่เป็นการจัดอันดับประเทศ ที่เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ไทยอยู่อันดับ ๙ จาก ๑๙๓ ประเทศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดปรากฏการณ์ El nino และ La nina ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างมาก โดยเฉพาะระดับน้ำทะเล ที่สูงขึ้น ประกอบกับภูมิศาสตร์ของภาคกลางเป็นพื้นที่ลุ่มปากแม่น้ำเจ้าพระยา มีระดับ พื้นที่ลุ่มอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางเพียง ๑-๒ เมตร อีกทั้งมีการทรุดของแผ่นดิน ทำให้น้ำเค็มรุกเข้ามาในแผ่นดินได้มาก ณ ปัจจุบันน้ำเค็มได้มาถึงจังหวัดปทุมธานีแล้ว แม้ว่าจังหวัดปทุมธานีจะอยู่ห่างจากปากแม่น้ำกว่า ๑๐๐ กิโลเมตรก็ตามนะครับ เราสนใจแต่ น้ำท่วม น้ำแล้ง แต่ละเลยเรื่องน้ำเค็ม แล้วก็เรื่องของภัยพิบัตินะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขอ Slide ถัดไปนะครับ ที่ทุกท่านเห็นอยู่นี้เป็นการจัดอันดับความเสี่ยง ของสถาบันทรัพยากรโลก ไทยมีความเสี่ยงเรื่องที่จะขาดแคลนน้ำเป็นอันดับ ๔๕ ของโลก อันดับหนึ่งของอาเซียน สนทช. ขับเคลื่อนเรื่องนี้ช้าเกินไป เราเคยชินกับการใช้การบริหารน้ำ แบบปกติที่เน้นแต่เรื่องน้ำท่วมน้ำแล้ง แต่วันนี้เราสนใจแต่น้ำท่วมน้ำแล้งไม่ได้ เพราะมันมีน้ำเค็มเข้ามาด้วย สนทช. ควรมี Road Map ในเรื่องนี้ จะใช้วิธีการใดก็ได้ จะเป็นเรื่องของโครงสร้าง หรือนำเทคโนโลยีมาใช้ หรือจะใช้ทั้ง ๒ อย่างตามความเหมาะสม ผมคิดว่าหากจะมีการก่อสร้างใด ๆ เกิดขึ้นไม่ควรเป็นโครงสร้างแข็งที่ปิดตาย สนทช. ต้องระวังเรื่องการ Operation รวมถึงมีแผนเสนอฉากทัศน์รองรับภัยพิบัติ และเริ่ม นำระบบ DSS หรือ Decision Support System มาใช้เพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจ เรื่องน้ำในภาวะวิกฤติ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการตัดสินใจผิดพลาดให้ได้มากที่สุด แม้ตอนเริ่มทำข้อมูลอาจจะไม่สมบูรณ์นัก แต่ผมเชื่อว่าในอนาคตจะเป็นตัวช่วยการตัดสินใจ ที่ดีแน่นอน การรุกล้ำของน้ำเค็มเข้ามาในพื้นที่น้ำจืดส่งผลกระทบต่อประชาชน เกษตรกรรม และพื้นที่ทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น พื้นที่ทำนาในจังหวัดปทุมธานี พื้นที่ทำสวนทุเรียนในจังหวัดนนทบุรี ถามว่าทำไมเราต้องกังวลถึงเรื่องน้ำเค็มที่ลุกล้ำเข้ามา ในแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะว่าแม่น้ำเจ้าพระยาคือแหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปา ที่ดูแลประชาชนในพื้นที่ ๔ จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ เมื่อน้ำเค็มรุกเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยามากทำให้น้ำประปามีรสเค็มไม่ส่งผลดีต่อ สุขภาพประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • ขอ Slide ถัดไปครับ ขออีก ๑ นาทีครับ ท่านประธาน ที่ผมต้องอภิปราย เรื่องนี้วันนี้เพราะว่าเห็นว่า สนทช. ดำเนินการเรื่องนี้ช้าเกินไปสำหรับการเตรียมรับมือ เพราะถึงแม้ว่าเราจะเริ่มวันนี้แต่ก็ต้องใช้เวลาอีก ๔-๕ ปี ในการเตรียมแผนที่จะรับมือ กับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในอนาคต น้ำเป็นทรัพยากรที่มีอยู่ทั่วไปในบ้านเราก็จริง แต่เป็นทรัพยากรที่ให้ได้ทั้งคุณและโทษ ส่วนจะได้คุณหรือได้โทษนั้นก็อยู่ที่การบริหารจัดการ แต่ถ้าหากเราไม่วางแผนบริหารจัดการให้ดีขึ้นน้ำจืดจะเป็นทรัพยากรที่หายากแล้วแพงขึ้น ผมหวังว่าทาง สนทช. จะเร่งเตรียมการรับมือก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป

    อ่านในการประชุม

  • ขอ Slide ถัดไปครับ นี่คืออนาคตที่เราจะเกิดขึ้น ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปทุมธานี เขต ๒ พรรคก้าวไกล จังหวัดปทุมธานี คนปทุมธานีลุ่มน้ำเจ้าพระยานะครับ ขอ Slide ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ตอนนี้จังหวัดปทุมธานีได้รับ ผลกระทบจากภัยน้ำท่วมแล้วนะครับ ซึ่งจริง ๆ จังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ เป็นปากน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นพื้นที่ที่ได้รับ ผลกระทบจากน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี แต่การเตือนภัยกลับหย่อนยานแล้วก็ขาดตกบกพร่อง เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะจังหวัดปทุมธานี ผมขอยกตัวอย่างประกาศฉบับนี้เขียนว่า แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำเจ้าพระยาใช่ไหมครับ แต่แม่น้ำเจ้าพระยาเตือนแค่ Zone ของจังหวัด พระนครศรีอยุธยา แต่ไม่มีจังหวัดปทุมธานี ผมถามว่าจังหวัดปทุมธานีไม่ได้ท่วม หรือครับ แล้วประกาศนี่ก็ประกาศเพียงว่าน้ำเพิ่มสูงขึ้นแค่ ๑-๑.๕๐ เมตร แต่ท่านระบุ ได้ไหมครับว่าตำบลหัวเวียงน้ำขึ้นเท่าไร ตำบลบางบาลน้ำขึ้นเท่าไร ตำบลโผงเผงน้ำขึ้นเท่าไร ถามว่าดีอย่างไร ชาวบ้านเขาจะได้รู้ครับว่าเขาจะต้องยกของหนีน้ำที่กี่เซนติเมตร สมมุติ ยกเมตรหนึ่งแต่น้ำมาเพิ่ม เขาต้องยกรอบ ๒ ยกรอบ ๓ มันเหนื่อยกับการรับมือภัยน้ำ ดูทาง ด้านขวา อันนี้ผมเอามาจาก Website ไม่มีข้อมูลขึ้น อันนี้คือสถานีบางไทร ที่ C29 บางที ตัวเลขก็ขึ้น บางทีตัวเลขไม่ขึ้น นี่เป็นตัวที่บอกระดับน้ำว่าน้ำไหลผ่านสถานีบางไทรเท่าไร ผมไม่รู้เลยครับ นี่ขนาด Website ของหน่วยงานรัฐ ส่วนด้านขวาเป็นรายงานสถานการณ์น้ำ ทุกท่านจะเห็นนะครับ จาก C2 C13 มาจนถึง C35 จบที่พระนครศรีอยุธยาอีกแล้วครับ ผมถามว่าแม่น้ำเจ้าพระยานี่ออกปากอ่าวที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาหรือเปล่าครับ ผมไม่ได้ กล่าวว่าคนอยุธยา แต่หน่วยงานราชการนี่ทำไมถึงไม่เตือนปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร ที่เป็นถัดไปเขาจะได้รู้บ้าง เขาก็อยากรู้ว่าน้ำที่ปทุมธานีจะเพิ่มขึ้นเท่าไร จะท่วมเท่าไร จะสูงขึ้นเท่าไร เขาก็อยากรู้ครับ ประชาชนคนปทุมธานีรอคอยว่าจะมีการเตือนของปทุมธานี เสียที แต่ก็ไม่มีครับ อันนี้เป็นเรื่องง่ายมากตั้งเสาวัดระดับน้ำขึ้นมา เอา Staff Gauge ไปแปะ แล้วก็เอากล้อง CCTV ไปจับขึ้น Online ดูง่ายมาก อันนี้ของเทศบาลนครรังสิต ใช้งบ ไม่เยอะ ขอช่วยทำให้ปทุมธานีด้วยนะครับ อันนี้เป็นแบบ On Ground อันนี้ที่เขื่อน เจ้าพระยา เขื่อนเจ้าพระยาทำได้ ปทุมธานีทำไม่ได้ แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านเหมือนกัน ผมไม่ได้เรียกร้องให้แค่จังหวัดปทุมธานี จังหวัดทุก ๆ จังหวัดที่แม่น้ำไหลผ่าน แล้วก็ได้รับ ผลกระทบจากน้ำท่วมควรจะมีการเตือนภัยทั้งแบบ Online Online ก็ได้หลากหลายนะครับ ไม่ใช่แค่กล้อง CCTV มีอันอื่นอีกมากมาย On Ground ก็ไม่ใช่แค่ตั้งป้ายแล้วก็ปักธง มันมี อื่น ๆ อีก แจ้งไปยังเทศบาลให้เทศบาลเป็นเสียงตามสายก็ดี ออกรถประกาศก็ดี มันมีหนทาง อื่น ๆ อีกมากมาย ประกาศทางวิทยุชุมชนก็ดี ขอให้ช่วยทำหน่อย การจ่ายเงินเยียวยานะครับ การจ่ายเงินเยียวยาของภาครัฐส่วนใหญ่จะเป็นการทำบุญ ไม่ใช่สวัสดิการ แต่เราคิดว่ามันเป็น สวัสดิการ ไม่ใช่การทำบุญ ท่านต้องประกาศเขตภัยพิบัติเพื่อเป็นการรับรองของผู้ที่ได้รับ ผลกระทบว่าจะได้รับการดูแลหลังน้ำลดแล้ว จริง ๆ เงินเยียวยานี่น้ำท่วมอยู่ก็จ่ายได้นะครับ ไม่ต้องรอน้ำลดก่อน มีชาวบ้านบางส่วนที่ไม่ได้อยู่ในเขตภัยพิบัติแต่ได้รับผลกระทบ เหมือนกัน แต่ไม่ได้อยู่ในประกาศเขตภัยพิบัติก็ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือครับ อย่างคลอง บางโพธิ์เหนือฝั่งเหนือเขาไม่ได้อยู่ในเขตภัยพิบัติ เขาได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่เขาไม่ได้ อยู่ในเขตภัยพิบัติตามประกาศเขาก็ไม่ได้รับเงินดูแลเยียวยา พื้นที่พิเศษที่เกิดจากการท่วม เพราะการบริหารจัดการของกรมชลประทาน เช่น คลองรังสิต คลองรังสิตส่วนปากคลอง เป็นส่วนที่จะได้รับน้ำมาจากคลองเปรมเหนือ คลองเปรมใต้ ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ แล้วก็สูบ เพื่อมายังสถานีสูบน้ำปากคลองรังสิต Zone นี้จะได้รับน้ำเยอะมาก เพราะว่าน้ำมาจากทุกที่ แต่ไม่มีการเตือนภัย ไม่มีการดูแล ไม่มีการเยียวยา ถุงยังชีพนี่บางทีได้ไปข้าวก็แข็ง ปลากระป๋องใกล้หมดอายุหรือเป็นของถูก คือท่านให้ประชาชนเหมือนแบบประชาชนเป็นคน ไม่มีสิทธิ เป็นพลเมืองชั้น ๒ ชั้น ๓ ในประเทศนี้ ทุกท่านมีคำถามมากมายเกี่ยวกับน้ำท่วม ใช่ไหมครับ เพื่อนสมาชิกที่อภิปรายอยู่ในที่นี้ก็มีคำถามมากมายเช่นเดียวกันครับว่า การจัดการน้ำนี่มันมีหรือเปล่า และมันควรจะเป็นอย่างไร ประเทศเราควรทำไหม บ้านผมได้รับ ผลกระทบน้ำท่วมตอนปี ๒๕๕๔ หนักมาก อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนนั้นรัฐบาลก็มีแผนครับ แล้วพอรัฐประหารแผนนั้นก็หายไป จนบัดนี้ก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง เราจะเอาอย่างไรกันดี อันนี้คือสิ่งที่ผมคิดเอาเองว่าเป็นแผนการจัดการของกรมชลประทาน ที่ทุกท่านเห็นเส้นสีแดง คือถนนที่ชิดแม่น้ำมากที่สุด ผมเอามาแค่เฉพาะส่วนหนึ่ง ส่วนอำเภอเมืองกับส่วนตำบล บ้านกลาง ท่านจะเห็นว่ามันจะมีพื้นที่นอกเส้นสีแดงใช่ไหมครับ กรมชลประทานจะใช้ว่า พื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำ ผมถามว่าพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำนี่คืออะไร คือพื้นที่ที่น้ำท่วมทุกปี ใช่ไหม ถ้าท่านจะให้พื้นที่นี้น้ำท่วมทุกปีท่านเคยไปคุยกับพ่อแม่พี่น้องประชาชนหรือยังว่าจะ ให้เขาได้รับน้ำท่วมทุกปี ไม่เคยนะครับ ผมก็อยู่ในนั้นไม่เคยได้รับ ไม่เคยมีหนังสือมาเรียกคุย ไม่เคยเชิญประชุมใด ๆ ทั้งสิ้นปล่อยให้เราอยู่ในแนวนอกคันกั้นน้ำโดยปริยาย โดยที่ทาง กรมชลประทานให้เหตุผลว่าเป็นวิถีชีวิต ใช่ครับเป็นวิถีชีวิต แต่ถ้าเราเลือกได้เราเลือกไม่ท่วม เช่นเดียวกันทุ่งรับน้ำที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาก็เป็นทุ่งรับน้ำไม่ใช่ทุ่งรับกรรม เพราะฉะนั้น อย่าเอากรรมมาให้เขา มันเป็นการบริหารจัดการของภาครัฐที่เราสามารถจัดการได้ แต่ทำไม ถึงทำไม่ได้เสียทีนะครับ ผมก็อยากฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แผนจัดการบริหารน้ำ มันเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อประเทศที่มีภูมิภาคอยู่ใน Zone นี้นะครับ เพราะฉะนั้นอยากฝาก รัฐบาลช่วยดูแลจัดการ แล้วก็บริหารจัดการน้ำให้ดีกว่านี้ รวมทั้งถ้ามีแผนก็ช่วยกรุณาเร่ง โดยเฉพาะการเยียวยาช่วยเหลือพ่อแม่พี่น้องประชาชน ผมอยากให้เร่งจัดการไม่ต้องรอน้ำลด ทุกคนได้รับความลำบาก ฝากรัฐบาลด้วยนะครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผมเจษฎา ดนตรีเสนาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปทุมธานีเขต ๒ พรรคก้าวไกล คนปทุม ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขออนุญาตขอ Slide ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ตอนนี้จังหวัดปทุมธานีก็เข้าสู่ช่วงฤดู น้ำหลากแต่ก็ยังไม่มีการเตือนภัยของกรมชลประทาน ตัวอย่าง ที่ผมขึ้นก็คือเป็นการเตือนภัย ของกรมชลประทาน เพียงแต่ว่าเตือนแค่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งการเตือนภัยนี่ผมเห็นว่า มันควรจะเตือนภัยทั้งลำน้ำ ไม่ใช่แค่แม่น้ำเจ้าพระยารวมทั้งแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำอื่น ๆ ด้วย แล้วก็ตัวปริมาณการบอก เขาบอกว่า ๑-๒ เมตรใช่ไหมครับ เพียงแต่ว่าไม่ได้ระบุว่า เป็นตำบลไหน ที่ไหน ผมขอให้เวลาประกาศของกรมชลประทานประกาศตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ เพราะว่าแม่น้ำไหลผ่านทุกจังหวัดแล้วก็ขอให้ระบุถึงว่าตำบลนั้นจะท่วมเท่าไร ตำบลท้ายเกาะจะท่วมเท่าไร ตำบลบางคูวัดจะท่วมเท่าไร แล้วก็ผมเสนอให้ติดกล้อง ให้ทำเสาวัดระดับน้ำที่จังหวัดปทุมธานี แล้วก็ติดกล้อง CCTV เพื่อดู Online ได้นะครับ Slide ถัดไปครับ อันนี้พื้นที่จังหวัดปทุมธานีที่รับน้ำท่วม ณ ปัจจุบัน ผมขออนุญาต ขอบพระคุณกรมชลประทานที่ได้เตรียมการประตูระบายน้ำปากคลองรังสิตไว้อย่างดี แต่ผมอยากให้ท่านช่วยตรวจสอบทุกประตูระบายน้ำของจังหวัดปทุมธานีด้วย ผมฝากท่านประธานไปยังท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครช่วยหารือแผนการระบายน้ำ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วก็นายก อบจ. ของจังหวัดที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อจะได้แผนอาจจะได้วางแผนการหรือการระบายน้ำร่วมกัน เพราะว่าอย่างคลองเปรมใต้ เป็นคลองที่กรุงเทพฯ ใช้ผันน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้พ่อแม่พี่น้องริมคลองรังสิตของผม ได้รับผลกระทบอย่างมาก เวลาฝนตกกรุงเทพฯ หนัก ๆ แล้วก็ระบายผ่านคลองเปรมใต้ ไปยังคลองรังสิต ฝากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ช่วยดูแลไฟทางไฟส่องสว่าง ในจังหวัดปทุมธานีด้วยนะครับ มีไฟดับเป็นจำนวนมาก ผมได้รับร้องเรียนตั้งแต่หลังเลือกตั้ง มาจนถึงปัจจุบันเป็นจำนวนทั้งสิ้น ๑๔๑ เคส ฝากด้วยครับ ฝากไปยังกรมประมงช่วยดู เรื่องการปล่อยเอเลี่ยนสปีซีส์ลงแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยนะครับ แล้วก็มีการลักลอบทำประมง ในเขต หน้าวัด ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เขต ๒ พรรคก้าวไกล คนปทุมธานีลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขออนุญาตขอ Slide ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • วันนี้ผมขออนุญาตขอร่วมอภิปราย ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการจัดตั้ง เมืองหลวงแห่งที่ ๒ ของประเทศไทย หรือการสร้างแนวป้องกันกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลที่ประสบปัญหากำลังจะจมบาดาล กรุงเทพมหานครและปริมณฑล หลายท่าน ก็ทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่ริมปากน้ำเจ้าพระยาที่ลุ่มปากแม่น้ำ พื้นที่ลุ่มปากแม่น้ำ หมายความว่าอย่างไร ก็หมายความว่าเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่ติดอยู่กับทะเล ไม่ใช่แค่ปากแม่น้ำ เจ้าพระยานะครับ ปากแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน ปากแม่น้ำบางปะกง ปากแม่น้ำเพชรบุรี ก็มีลักษณะเดียวกัน ทีนี้ว่า ๓ น้ำที่ส่งผลกระทบต่อกรุงเทพมหานครมีอะไรบ้างผมจะไล่เลียง ให้ทุกท่านได้เห็นภาพนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • อย่างแรกเลยก็คือน้ำเหนือ น้ำเหนือคืออะไรครับ น้ำเหนือก็คือน้ำที่มาจาก ภาคเหนือของประเทศไทยก็คือ ปิง วัง ยม น่าน ลงมาเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วก็ไหล ลงมาจากพื้นที่ที่มีระดับความสูงเกิน ๑,๐๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลไล่ลงมาจนถึงปทุมธานี ไปถึงกรุงเทพมหานครที่มีพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางแค่ ๑-๒ เมตรเท่านั้น ตามหลักการไหลของน้ำธรรมดา Gravity ถ้าเราสามารถกักเก็บน้ำส่วนนี้ได้ในส่วนแรก ไว้ตั้งแต่ภาคเหนือตั้งแต่แหล่งกำเนิดของน้ำเลย โดยการทำเป็นอ่างเก็บน้ำก็ดี หนองก็ดีเขื่อนขนาดเล็กก็ดี เขื่อนขนาดกลางก็ดีที่สามารถ เก็บน้ำได้เป็นขั้น ๆ ก่อนที่จะมาถึงตัวจังหวัดนครสวรรค์หรือว่าลงมาถึงกรุงเทพฯ น้ำส่วนนี้ ก็จะถูกทอยเก็บไว้ในที่ต่าง ๆ แล้วก็นำไปใช้ในการเกษตรในหน้าแล้ง อุปโภคบริโภค รวมทั้ง อุตสาหกรรมในฤดูที่ไม่มีน้ำฝน อันนี้คือน้ำของภาคเหนือน้ำเหนือที่เราเรียกกัน น้ำถัดไป ที่ส่งผลกระทบต่อกรุงเทพมหานครก็คือน้ำฝน ซึ่งเมื่อถึงฤดูกาลเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราสามารถทำให้น้ำฝนตกน้อยลงได้หรือกระจายการตกของฝนได้ โดยการสร้างพื้นที่ สีเขียวให้กับกรุงเทพฯ และปริมณฑลให้มากขึ้น หลายท่านสงสัยว่าทำไมฝนชอบตก ที่กรุงเทพฯ เวลาตอนเย็น ก็เพราะว่ากรุงเทพฯ มีแต่ตึก ตึกดูดความร้อนทั้งวันแล้วไอร้อน ก็ลอยขึ้นที่สูง อากาศเย็นก็เข้ามาแทนที่ พออากาศเย็นเข้ามาแทนที่ก็ดึงให้แนวฝน ที่อยู่บริเวณปริมณฑลเข้ามาตกในกรุงเทพฯ แล้วก็ตกหนัก ถ้าพื้นที่กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียว เพิ่มขึ้นลดอุณหภูมิได้สัก ๐.๕ องศา หรือ ๑ องศา ก็จะบรรเทาตัวนี้ไปได้

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนอันที่ ๓ ก็คือน้ำทะเลหนุนสูง ต้องบอกทุกท่านว่าจริง ๆ น้ำทะเลหนุนสูง นี่หนุนทั้งปี เพียงแต่ว่าทำไมมาส่งผลกระทบตอนเดือนกันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน ก็เพราะว่ามันมีน้ำเหนือลงมาด้วยนั่นเอง แล้วถ้าประกอบกับถ้ามีฝนหนักปลายฤดูก็ทำให้ ท่วมเยอะ แต่ถ้าเราสามารถจัดการภาคเหนือได้ น้ำฝนได้ น้ำทะเลหนุนที่สูงขึ้นก็จะ ส่งผลกระทบเหมือนกันแต่ส่งผลกระทบน้อย นี่คือภาพกรุงเทพมหานคร ถ้าเราไม่จัดการ อะไรเลยก็จะอย่างที่เพื่อนสมาชิกอธิบายไปก็ประมาณ ๘๐ กิโลเมตรจากปากแม่น้ำก็จะได้รับ ผลกระทบหมด ทีนี้สิ่งที่ผมอยากจะเชิญชวนทุกท่านดูก็คืออ่าวไทย หากเราทำโครงสร้าง อะไรที่จะแก้ไขปัญหาของน้ำทะเลหนุนสูงโดยไม่ได้คำนึงถึงอ่าวไทย โดยเฉพาะอ่าวตัว ก ที่เป็นอ่าวตอนในของอ่าวไทย อ่าวตัว ก มีพื้นที่กว้าง ๑๐๐ กิโลเมตร ยาว ๑๐๐ กิโลเมตร มูลค่าทางเศรษฐกิจของอ่าวตัว ก ต่อปีคือ ๒๔ ล้านล้านบาท ถามว่าทำไมตัวเลขเยอะขนาดนี้ มันประกอบด้วยหลายด้านครับ การท่องเที่ยว การประมง พลังงาน ขนส่ง การพัฒนาชายฝั่ง และด้านอื่น ๆ และยังเป็นพื้นที่ที่มีพ่อแม่พี่น้องประชาชนอยู่ริมอ่าวตัว ก เกิน ๑๐ ล้านคน ประชาชนอยู่หลายล้านครัวเรือน การประมงพื้นบ้าน การประมงสำคัญอยู่แหล่งนี้ทั้งหมด เมื่อน้ำไหลจากภาคเหนือลงอ่าวไทยก็พาแร่ธาตุต่าง ๆ มาด้วยทำให้อ่าวตัว ก เป็นแหล่ง Plankton ชั้นดี แล้วก็เป็นจุดที่มีความอุดมสมบูรณ์ติดอันดับ ๑ ใน ๑๗ ของโลก ท่านสามารถดูวาฬบรูดาได้ที่อ่าวไทย แต่ท่านไปต่างประเทศท่านอาจจะไม่เจอเลยนะครับ เพราะตรงนี้มีแพลงก์ตอน เป็นทุ่งหญ้าของสัตว์น้ำ เป็นแหล่งอนุบาลวัยอ่อน ถามว่าหากเรา ทำโครงสร้างอะไรสักอย่างลงไปโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเราจะเสียหาย ขนาดไหน อันนี้คือโครงสร้างแบบแข็งที่ทุกท่านเห็นอยู่ก็คือรอดักทราย หรือโครงสร้าง หลายอันที่ท่านเห็น เขื่อนกันคลื่น กำแพงกันคลื่น หลายอันท่านก็เห็นว่าสร้างแล้วไม่ได้รับ การแก้ไขปัญหาที่แท้จริง กลับเกิดผลกระทบเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะมีค่าบำรุงรักษาหลังจาก สร้างไปแล้วเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าก่อสร้างอีกครับ อันนี้เป็นโครงสร้างแบบอ่อน ก็คือเป็น หาดทราย เนินทราย แล้วก็เป็นป่าชายเลน ซึ่งผมคิดว่าการแก้ไขปัญหาของน้ำทะเลหนุนสูง ในกรุงเทพฯ ปริมณฑลน่าจะต้องใช้ทั้ง ๒ อย่างรวมกัน ผมก็เลยอยากชวนทุกท่านว่า แผนรับมือจริง ๆ คืออะไร ที่ผมพูดไล่เรียงมาทั้งหมดก็เป็นเรื่องของน้ำทั้งหมดใช่ไหมครับ หากเรามีแผนการจัดการน้ำที่ดี มีการวางแผนที่ดี ผมไม่ได้คัดค้านการสร้างโครงสร้างแข็ง หรือว่าสนับสนุนให้โครงสร้างอ่อนเพียงแต่ว่าเราต้องมาพูดคุยกัน ว่าอะไรที่จะทำให้เกิด ประโยชน์กับประเทศไทยมากที่สุด ประหยัดงบประมาณ ได้ประสิทธิภาพ แล้วก็ประโยชน์ สูงสุดตกกับประชาชนครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม เจษฎา ดนตรีเสนาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เขต ๒ พรรคก้าวไกล วันนี้ขอร่วมอภิปรายเรื่อง ปัญหาการลักลอบตัดไม้หวงห้ามในเขตพื้นที่ราชการ ประเด็นที่ผม อยากนำเสนอนะครับ ไม้มีค่าประเทศไทยมีมากมายหลายชนิดไม่ใช่แค่ไม้พะยูง เพียงแต่ว่าที่เป็นข่าวมาก ๆ เป็นไม้พะยูง เพราะว่ามีการลักลอบตัดจำนวนมาก ไม้พะยูง เป็นเพียงชนิดหนึ่งที่มีการลักลอบตัดจำนวนมากในบ้านเรา โดยไม้อื่น ๆ ที่มีลักษณะ ใกล้เคียงกับไม้พะยูงหรือไม้ที่อยู่ในวงตระกูลเดียวกัน เช่น ประดู่ป่าที่มีลายสวยเหมือน ไม้พะยูง กระพี้เขาควาย กระพี้นางนวล เก็ดดำ เก็ดแดง แล้วก็ไม้ลายอื่น ๆ เช่นไม้สัก ไม้ตะแบก ไม้พวกนี้ถูกลักลอบตัดทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าไม่เป็นข่าว พอไม่เป็นข่าวทุกท่านก็คิดว่า มีแต่เพียงไม้พะยูงเท่านั้น อันนี้ผมขออนุญาตเสนอจากที่เพื่อนสมาชิกได้อภิปรายไป ตอนนี้ การลักลอบตัดไม้พะยูงและไม้ที่มีลายสวยเช่นเดียวกับไม้พะยูงในประเทศไทยถือว่าวิกฤติ มากนะครับ แล้วก็อุกอาจมากเช่นเดียวกัน ผมขออนุญาตยกตัวอย่าง บ้านของเพื่อนผมอยู่ที่ จังหวัดสุรินทร์ ก็มีการปลูกไม้พะยูงไว้ในที่ ไม้ประดู่โดนลักลอบตัดตอนตีสามแต่คุณพ่อ ของเพื่อนก็ไม่กล้าออกไป เพราะรู้ว่าอีกฝั่งอาจจะมีอาวุธแน่ก็ต้องรักษาชีวิตไว้ก่อน ก็ต้องยอม โดนตัดไปทั้งหมด ๑๕ ต้น ไม่ทราบว่าเป็นมูลค่าเท่าไรแต่โดนตัดไป อันนี้ขนาดบ้าน คนธรรมดา หน่วยราชการก็โดน ในวัดก็โดน ในป่านี่ไม่ต้องพูดถึงนะครับ ตรงไหนเข้าได้เข้า เพราะฉะนั้นผมจึงเห็นว่าจริง ๆ ไม้มูลค่าของบ้านเราเป็นพืชเศรษฐกิจที่ดีที่เราสามารถ ส่งเสริมได้ ไม้สักปัจจุบันประเทศไทยมีการปลูกกันมาก แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้การแข่งขันของเราสู้ประเทศเวียดนาม สู้ประเทศพม่า สู้ประเทศมาเลเซียไม่ได้ เพราะว่ามีภาษีเรื่องการส่งออก ถ้าเราสามารถปรับเปลี่ยนกฎหมายตัวนี้และส่งเสริมการปลูก ในประเทศให้มากขึ้น ส่งเสริมให้ไม้สัก ไม้พะยูง หรือว่าไม้ที่มีลายสวยมีคุณภาพมากขึ้น เราก็ สามารถส่งออกเป็นสินค้าเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ Zone ที่ไม้พะยูงถูกตัดมากที่สุด จะเป็นรอบ ๆ ของภาคอีสานตั้งแต่เทือกเขาภูพาน พนมดงรัก ทางภาคอีสานใต้ เทือกเขา เพชรบูรณ์ เทือกเขาดงพญาเย็น Zone จังหวัดพวกนี้ เพราะอะไรถึงมีไม้พะยูงขึ้นเยอะ เพราะว่าภูมิอากาศได้ ภูมิประเทศได้ แล้วก็แร่ธาตุบางอย่างที่อยู่ในพื้นดินทำให้ไม้พะยูง มีสีสันที่สวยงามกว่าที่อื่น เพราะฉะนั้นจึงเป็นเป้าหมายของกลุ่มที่ลักลอบตัดจำนวนมาก ผมเคยคุยกับเจ้าหน้าที่อุทยาน เขาบอกว่าเจ้าหน้าที่ที่ดูแลมีน้อยจนเกินไป ตระเวนอย่างไร ก็ไม่ทั่วครับ คนจ้องจะเอากับคนจ้องจะรักษาปริมาณมันไม่เท่ากันครับ เพราะฉะนั้นผมก็ เกรงว่าหากเรายังไม่เร่งที่จะเอาเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ก็เกรงว่าไม้พะยูงจะหมดป่าของไทย ไปเสียก่อน เพราะว่าไม้พะยูงปลูกได้ทุกภาค แต่คุณภาพไม่สวยเท่าภาคอีสาน ภาคใต้ก็ปลูก ได้ครับ แต่ไม่มีแก่น ไม้พะยูงเราขายกันที่แก่น ที่ท่านเห็นสีแดง ๆ สีอมม่วง หรือสีอมส้ม เราขายกันที่แก่นนะครับ กระพี้ข้างนอกขาว ๆ เราถากทิ้ง ไม่มีค่า ภาคใต้ปลูกได้ น้ำเยอะ พะยูงไม่ชอบครับ พะยูงชอบที่แล้ง ๆ หน่อย ดินร่วนปนหิน เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นสิ่งที่ ประเทศไทยเรามี แต่ประเทศอื่นไม่มี เพราะฉะนั้นต้นไม้บางอย่างประเทศไทยจึงเป็นที่ ต้องการของต่างประเทศมากโดยเฉพาะไม้ในวงพะยูงแล้วกัน ผมขออนุญาตใช้คำนี้ เพราะฉะนั้นปัญหานี้ถ้าตราบใดที่ยังมีคนซื้ออยู่ ก็ยังต้องมีคนลักลอบตัดไปขายอยู่แน่นอน เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่เราต้องมาคำนึงกันได้แล้ว ก็คือเราควรจะต้องออกกฎหมาย แล้วก็รัฐ ควรจะต้องส่งเสริม ใครปลูกก็ให้มาขึ้นทะเบียนขายได้ ผมเคยไปขออนุญาตเลื่อยยนต์ ขอยากมากครับ ขออนุญาตเลื่อยยนต์ไม่เกิน ๑๒ นิ้ว ขออนุญาตยากมากนะครับ เจ้าหน้าที่ บอกว่าขออนุญาตยากเหมือนขออนุญาตอาวุธปืนเลย ต้องมีการประทับลายนิ้วมือ ต้องไป ตรวจสอบคดีเบื้องหลังว่าต้องคดีอาญาอะไรหรือเปล่า เพราะฉะนั้นกฎหมายทุกอัน ที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ เราควรจะต้องแก้ไขแล้วก็ปฏิรูปได้แล้วครับ เรามีของดีอยู่ แต่เราไม่ใช้ เพราะฉะนั้นเรื่องไม้หากเราไม่มีการปรับปรุงตัวบทกฎหมายนี่ รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งระบบป่าของไทยก็จะต้องหายไปเรื่อย ๆ อย่างแน่นอน เพราะว่ามันเป็นทรัพยากรที่มี มูลค่าสูงมาก เป็นทองคำเขียวที่มีอยู่เฉพาะใน Zone ประเทศไทยเท่านั้น สูงไปกว่าเรา อากาศหนาวปลูกไม่ได้ครับคุณภาพไม่ดี ต่ำกว่าเราไปก็อากาศหนาวปลูกไม่ได้อีกคุณภาพไม่ดี เพราะฉะนั้นเราทำไมถึงไม่ส่งเสริมในสิ่งที่เรามีอยู่ แล้วก็มีมูลค่าให้กับเกษตรกร ให้กับคนไทย ได้ปลูกสร้างมูลค่าส่งออกให้กับประเทศ เพราะฉะนั้นผมอยากขออนุญาตฝากว่าไม่ใช่ เพียงแต่ไม้พะยูงที่เราต้องหวง ต้องถูกส่งเสริม ไม้อื่น ๆ ที่อยู่ในความต้องการไม่ว่าจะเป็น ประดู่ป่า กระพี้เขาควาย กระพี้นางนวล เก็ดดำ เก็ดแดง แล้วก็พวกตระกูลไม้สัก ตระกูล ไม้ตะแบก ตระกูลตะเคียน พวกนี้มีมูลค่าหมดครับ เพียงแต่ว่าตอนนี้ในตลาดสูงสุด ก็คือเป็นไม้พะยูง เพราะฉะนั้นผมอยากขออนุญาตฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฝากรัฐบาลช่วยกันดูแล แล้วก็ส่งเสริมทรัพยากรอันมีค่าของประเทศไทยให้เป็นสินค้าส่งออก ของประเทศชั้นเยี่ยมชั้นหนึ่งด้วยครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เขต ๒ พรรคก้าวไกล คนปทุมลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขออนุญาตขอ Slide ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • จังหวัดปทุมธานีน้ำท่วมมาตั้งแต่ ปลายเดือนกันยายนจนถึงวันนี้วันที่ ๒๕ ตุลาคมก็ร่วม ๆ เดือนแล้ว บางพื้นที่ก็เกินเดือนแล้ว แต่ปรากฏว่ายังไม่มีประกาศเขตภัยพิบัติจากจังหวัดปทุมธานีเลย ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็ยังไม่มี แล้วผมคิดว่ายังมีพื้นที่ตกที่ยังไม่ได้ประกาศเขตภัยพิบัติอีกหลายจังหวัด หลายพื้นที่ ทำไมผมต้องทวงถามเรื่องการประกาศเขตภัยพิบัติ เพราะว่าถ้าไม่มีประกาศเขตภัยพิบัติ มันจะมีผลกระทบต่อการจ่ายเงินเยียวยาหรือว่าการเยียวยาด้านอื่น ๆ ของหน่วยราชการ ที่จะมีให้กับประชาชนได้ การประกาศเขตเยียวยาผมอยากขอให้ประกาศอยู่ใน ๓ ข้อนี้

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๑ พื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำแล้วก็พื้นที่ที่เป็นทุ่งรับน้ำ ซึ่งอันนี้หน่วยราชการ ทราบแล้วว่าอยู่ในพื้นที่ใดบ้าง แล้วโดยส่วนใหญ่ก็จะประกาศในพื้นที่ข้อ ๑ แต่ข้อ ๒ ข้อ ๓ ส่วนใหญ่จะเป็นตกหล่นหรือไม่เคยประกาศเลยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๒ พื้นที่ที่น้ำไหลผ่านจากการบริหารจัดการ เช่น คลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองบางโพธิ์เหนือ คลองบางหลวง ๓ คลองนี้เป็นคลองที่หน่วยราชการใช้การผันน้ำ จากจุดหนึ่งมาลงแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ประชาชนที่อยู่ริมคลองก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แต่ตกสำรวจเพราะหน่วยราชการมักจะบอกว่าอยู่หลังประตูระบายน้ำทำให้น้ำไม่ท่วมหรอก แต่ผิดครับ น้ำท่วมครับ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๓ พื้นที่พิเศษที่น้ำไม่มีทางออก ก็คือถ้าหากพื้นที่ของประชาชนท่านใด อยู่ในลักษณะที่ไม่มีท่อระบายน้ำ มีลักษณะเป็นแอ่ง เมื่อฝนตกมาไม่มีทางระบายน้ำก็ท่วมขัง มีกลิ่น มียุง เกิดแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค ก็อยากฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานราชการ ช่วยดูแลเรื่องการประกาศเขตภัยพิบัติให้ประชาชนด้วยครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เขต ๒ พรรคก้าวไกล ขอ Slide ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • อันนี้คือปัญหาน้ำประปา ของจังหวัดปทุมธานี น้ำไม่ไหล น้ำไหลอ่อน น้ำขุ่น จริง ๆ ผมทำตกไปอันหนึ่ง น้ำไม่ไหล ช่องแรกคือผมเอามาจากช่องทางต่าง ๆ ที่ประชาชนร้อง ไม่ว่าจะเป็น LINE ของการประปา หรือว่าใน Comment ของผม หรือว่าช่อง Comment ของการประปาเอง น้ำไหลอ่อน น้ำขุ่น อันนี้ผมเอามาจากบ้านผมเองเมื่อวันก่อน ขุ่นมากนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • Slide ถัดไป การแจ้งเตือนเป็นสิ่งสำคัญนะครับ แล้วก็ดูว่าจะเป็น ความบกพร่องของการประปามาก ๆ โดยหลัก ๆ การประปาจะแจ้งอยู่ช่องทางเดียวก็คือ ช่องทาง Online ไม่ว่าจะเป็น LINE หรือว่าเป็นหน้า Page Facebook จริง ๆ ถ้ามีกรณี ฉุกเฉินผมอยากจะให้เพิ่มการติดประกาศ ถ้าแจ้งล่วงหน้าประชาชนได้ รถประชาสัมพันธ์ ในกรณีที่ฉุกเฉิน หรือว่าเสียงตามสายในกรณีที่มีการวางแผน

    อ่านในการประชุม

  • Slide ถัดไป น้ำประปาดีกับน้ำประปาไม่ดีต่างกันอย่างไร น้ำประปาดี ประชาชนจ่ายแค่ค่าน้ำกับค่าไฟฟ้า อันที่ ๒ คือน้ำประปาไม่ดี ประชาชนต้องเพิ่ม ค่าเครื่องกรอง ค่าแท็งก์น้ำ ค่าปั๊มน้ำ ค่าบำรุงรักษา แล้วก็ค่าความเสียหายอื่น ๆ ทำให้ ค่าครองชีพประชาชนเพิ่มโดยปริยาย

    อ่านในการประชุม

  • Slide ถัดไป อันนี้คือรูปจริงจากในพื้นที่ รูปที่ ๓ คือเป็นรูปเครื่องซักผ้า คุณป้าบอกว่าไม่รู้ว่าน้ำมันจะขุ่น เปิดเข้าเครื่องซักผ้าปุ๊บ วันนั้นซักผ้าขาวพอดี ผ้าขาววันนั้น ทิ้งเลย ใช้ไม่ได้ เขาบอกว่าซักอย่างไรมันก็ไม่กลับมาขาว ต้องย้อมครามเอา ซึ่งมันก็ ไม่เหมือนเดิมแล้วครับ ด้านขวาสุดนั้นคือไส้กรองน้ำต้องทิ้งเหมือนกัน เพราะว่าแกะออกมา ก็คือโคลนทั้งนั้น ใช้ไม่ได้

    อ่านในการประชุม

  • Slide ถัดไป โดนตัดมาตรของการประปาส่วนภูมิภาคสาขาปทุมธานี ค้าง ๑ Bill กับอีก ๗-๑๐ วัน ขึ้นอยู่กับวันทำการว่าติดวันเสาร์ วันอาทิตย์หรือเปล่า ถ้าคุณค้างเกิน กำหนดตัดทันที ไม่ว่าจะค้าง ๑ บาท ๒๐ บาท ๕๐ บาท ๑๐๐ บาท ตัดหมด ค่าต่อมิเตอร์ เริ่มต้น ๓๒๑ บาท รวม VAT แล้ว ถ้าจ่ายก่อนบ่ายสองโมง ภายใน ๕ โมงเย็น เขาจะเอามา คืนให้ แต่ถ้าจ่ายหลังบ่ายสองโมงต้องวันถัดไป แปลว่าวันนั้นประชาชนจะไม่มีน้ำใช้ทั้งวัน ใช่หรือไม่ และถ้าหลังบ่ายสองโมงวันศุกร์ละครับท่านประธาน แปลว่าวันจันทร์ใช่หรือไม่

    อ่านในการประชุม

  • Slide ถัดไป อันนี้คือข้อเรียกร้อง น้ำประปาที่ไหลแรง สะอาด ดื่มได้ ไหลตลอด มันคงไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่มากเกินไปสำหรับชาวปทุมธานี อย่างไรก็ฝาก ท่านประธานไปยังรัฐบาลด้วย ช่วยดูแลประชาชนชาวปทุมธานีด้วยครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม เจษฎา ดนตรีเสนาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เขต ๒ พรรคก้าวไกล คนปทุมธานีลุ่มน้ำเจ้าพระยาครับ ขอสไลด์ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • จังหวัดปทุมธานีของผม เป็นพื้นที่ทำเกษตรกรรมมาแต่เก่าก่อนนะครับ โดยเฉพาะทุ่งนา ทั้งทุ่งนาที่เป็นของชาวบ้าน แล้วก็ท้องทุ่งนาหลวง ตลอดระยะเวลาหลายร้อยปีจังหวัดปทุมธานีเป็นแหล่งเกษตร ที่ทำนาสำคัญของประเทศ ทีนี้วันนี้ที่ผมขอร่วมอภิปรายร่างพระราชบัญญัติฝุ่นพิษและ การก่อมลพิษข้ามพรมแดน พ.ศ. .... ที่เสนอโดยท่านภัทรพงษ์ ผมสนับสนุน ไม่ใช่คัดค้าน ผมสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะว่าผมก็อยากให้พี่น้องชาวปทุมธานีของผมมีอากาศ ที่ดีเอาอากาศที่บริสุทธิ์ในการหายใจเหมือนกันครับ แต่ที่ผมต้องร่วมอภิปรายนี้เพราะว่า ผมมีความกังวลครับ มีความกังวลว่าเกษตรกรพี่น้องชาวนาของผมนี้จะได้รับผลกระทบจาก พระราชบัญญัตินี้ แล้วก็อยากให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยดูแลพี่น้องชาวเกษตรกร ชาวนาของ ผมด้วย ไม่ใช่เพียงแค่จังหวัดปทุมธานี แต่เป็นของจังหวัดอื่น ๆ ที่มีการทำนาด้วยครับ หน้าที่ภาระและผลกระทบที่เกิดขึ้น ข้อกังวลที่มีต่อพี่น้องชาวนาอย่างที่ผมได้เล่าให้ฟัง นะครับ ผมจะเล่าเหตุและความจำเป็นในการเผาตอซังอันนี้เกิดจากผมลงพื้นที่ แล้วก็ สอบถามพ่อแม่พี่น้องเกษตรกรชาวนาในจังหวัดปทุมธานีว่า เหตุผลอะไรที่จะต้องเผาตอซัง รูปแรกทางซ้ายมือกำจัดข้าวดีด ข้าวเด้งครับ ข้าวดีด ข้าวเด้ง คืออะไร ข้าวดีด ข้าวเด้ง คือข้าวที่ผสมพันธุ์กันระหว่างข้าวป่าแล้วก็ข้าวพันธุ์ ทำให้กลายพันธุ์ไป แล้วก็มีการเจริญเติบโตเร็ว แล้วก็สุกก่อนข้าวพันธุ์ เมื่อข้าวดีด ข้าวเด้งไป อยู่ในนาใดแล้วจะสร้างความเสียหายให้กับนาผืนนั้นตั้งแต่ ๑๐-๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ สมมุติตัวอย่างนะครับ ถ้าข้าวนั้นสามารถเก็บเกี่ยวได้ ๕๐๐ กิโลกรัม ถ้าข้าวดีด ข้าวเด้งทำให้ เสียหาย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แสดงว่านานั้นชาวนาขาดทุน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เสียหายทั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถเก็บเกี่ยวเป็นข้าวได้เลย ผมเล่าถัดไปครับ ภาพกลาง ก็คือการลง ไถดะ เมื่อเราปลูกข้าวไปแล้ว เมื่อเราเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ชาวนาก็มีทางเลือกว่าจะเผาหรือว่า จะไถดะ ชาวนาไหนที่ไม่เผาก็ใช้การไถ แต่การไถมันมีค่าจ้างไร่ละ ๓๕๐-๕๐๐ บาทต่อไร่ หรือว่าชาวนาจะเลือกภาพขวาสุดครับ เอาน้ำจมไว้ให้ตอข้าวมันเน่าก่อนแล้วค่อยทำการ ไถดะ ไถแปร ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เป็นกระบวนการที่ชาวนาจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ผมถามว่าชาวนาสามารถจ่ายได้หรือครับ ถ้าข้าวตันละ ๓๐,๐๐๐ ผมว่าไม่มีใครเรียกร้อง แต่ปรากฏว่าทุกท่านก็ทราบดีว่าราคาข้าวไม่ได้ดีขนาดนั้น มันจะทำให้ชาวนาต้องเลือก การเผา เพราะว่ามันเป็นการประหยัดต้นทุน ผมถามคุณลุงท่านหนึ่ง คุณลุงบอกว่าไม่ได้ อยากเผาเลย ซังข้าวของจังหวัดปทุมธานีหลายเจ้าให้เขามาอัดก้อนไปฟรีด้วยนะครับ ใครที่มีเครื่องอัดก้อนมาอัดไปฟรี หลายแปลงเป็นแบบนี้ มาอัดไปฟรีเลย ไม่ขาย ให้อัดฟรี ๆ แต่มันก็ยังเหลือเศษฝากที่เป็นตออยู่ เขาก็ต้องเลือกเผาเพื่อประหยัดต้นทุน เพื่อให้เขาเหลือ กำไรบ้าง ยิ่งนาของใครเป็นนาเช่ายิ่งแล้วไปกันใหญ่ เพราะฉะนั้นการเผาจึงกลายเป็น ทางเลือกที่รวดเร็ว สะดวก แล้วก็ประหยัด แต่มันก่อมลพิษ ซึ่งวันนี้เรากำลังพูดถึงเรื่องนี้อยู่ แล้วก็มีความจำเป็นว่าจะต้องหาทางแก้ไขร่วมกันทั้งตัวเกษตรกรแล้วก็หน่วยงานราชการ มาตรการรองรับการเยียวยา การสนับสนุนให้พี่น้องชาวเกษตรกรคืออะไร อย่างไร อันนี้ผมก็ ขออนุญาตชวนทุกท่านคิดครับว่า มีหลายมาตรการ การทำนาถ้าเราจะเลือกเยียวยาให้กับ เกษตรกรโดยใช้เงินสนับสนุนส่วนต่างที่เกษตรกรจะต้องเสียไปในการกำจัดซังข้าวแทน การเผา หรือว่าตั้งสหกรณ์ขึ้นมาแล้วใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ในการดำเนินการแทนการเผา หรือว่ามาตรการอื่น ๆ ที่รัฐเห็นว่าเหมาะสมกับการทำนาของเกษตรกร เพื่อทำให้ไม่เกิด การเผา แล้วก่อ PM2.5 ขึ้นมา เพราะฉะนั้น อันนี้คือข้อสังเกตของผมนะครับ ข้างบนก็คือ เป็นระบบกฎหมาย ระบบอนุญาต คณะกรรมการ โทษอาญา แล้วก็ดุลยพินิจ กับการมี ส่วนร่วม ไม่ใช่แค่การรับฟัง แต่คือการมีอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบายร่วมกันระหว่าง หน่วยงานราชการที่ออกกฎหมายกับประชาชน สุดท้ายแล้วผมก็อยากจะฝากกับเพื่อน สมาชิกทุกท่านว่าขอให้ช่วยดูแลมาตรการในการดูแลชาวนา ดูแลเกษตรกรที่มีต้นทุนในการ ใช้ชีวิตน้อยอยู่แล้ว แล้วผลผลิตก็ไม่ได้ราคาดีขนาดนั้น ทำให้การบังคับมาตรการอะไร บางอย่างที่ส่งผลกระทบควรจะดูแลพี่น้องชาวเกษตรกรชาวนาเป็นพิเศษ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม เจษฎา ดนตรีเสนาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เขต ๒ พรรคก้าวไกล คนปทุมลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขออนุญาตขอสไลด์ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • วันนี้ผมขอร่วมอภิปรายญัตติ ขอใช้ที่ดินราชพัสดุสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ เพื่อใช้เป็นสวนสาธารณะเพื่อประโยชน์ของ ประชาชน ในจังหวัดปทุมธานีนะครับ โดยเฉพาะปทุมธานี เขต ๒ ของบ้านผมมีพื้นที่ ที่เรียกว่าสวนสาธารณะ หรือที่เรียกว่า Public Space จำนวนน้อยมากครับท่านประธาน น้อยขนาดไหนครับ อำเภอเมืองปทุมธานีมีพื้นที่ที่เรียกว่า สวนสาธารณะหรือสวนสุขภาพ แค่แห่งเดียวเองครับท่านประธาน แห่งเดียวมีขนาดใหญ่ขนาดไหนครับ มีขนาดแค่ ๕-๖ ไร่ เท่านั้นครับ แต่จำนวนประชากร ๑๐๐,๐๐๐ กว่าคน ยังไม่รวมประชากรแฝงนะครับ แล้วก็ มีสนามเล็ก ๆ ที่เป็นสนามบาสเกตบอล สนามฟุตซอล หรือว่าเป็นสนามที่เรียกว่าสนาม เด็กเล่นที่เป็นของหน่วยงานราชการนับแห่งได้ครับ เพราะฉะนั้นมันไม่เพียงพอกับ ความต้องการของประชาชนที่ต้องการการออกกำลังกายหรือพื้นที่ภายนอกบ้าน รัฐก็จำเป็น จะต้องส่งเสริมการออกกำลังกายหรือการรักษาสุขภาพของประชาชนนะครับ เพราะว่าหากประชาชนสุขภาพดี รัฐก็ประหยัดงบประมาณในการรักษาพยาบาลไปนะครับ อันนี้คือสนามกีฬาธูปะเตมีย์ ขนาด ๖๐๐ กว่าไร่ บริเวณรอบ ๆ ที่ท่านเห็น เล็ก ๆ นั่นคือ บ้านคนนะครับ ในสไลด์นี้ประมาณการได้ว่ามีคนอยู่ประมาณ ๕๐๐,๐๐๐-๖๐๐,๐๐๐ คน ครับท่านประธาน แค่กรอบ ๆ นี้กรอบเดียวนะครับ จุดนี้คือนจุดที่หนาแน่นที่สุดของจังหวัด ปทุมธานี แต่พื้นที่สาธารณะที่จะให้ประชาชนมาออกกำลังกายกัน มาพูดคุย พาลูกหลานมา วิ่งเล่นนี่ไม่มีนะครับ มีจุดนี้ใหญ่ที่สุดครับท่านประธาน ในเขตผมเล็กกว่านี้เยอะครับ เล็กกว่านี้ เป็นหลักร้อยเท่า เพราะฉะนั้นอันนี้มันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่พวกผมผู้แทนราษฎรจังหวัด ปทุมธานีพยายามเรียกร้องว่ามีความสำคัญกับคนปทุมธานี พื้นที่ผมหากคนต้องการออก กำลังกายต้องไปไหนครับท่านประธาน ต้องไปสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ อำเภอปากเกร็ด ต้องไปใช้สนามฟุตบอลลู่วิ่งของมหาวิทยาลัยรังสิตครับ เพราะว่าอะไรครับ เพราะว่าในพื้นที่ ไม่มีครับประธาน สวนสาธารณะและพื้นที่ทำกิจกรรมมีขนาดเล็ก มีจำนวนน้อย มีจำนวน ไม่เพียงพอ จังหวัดปทุมธานีมีประชากร ๑,๒๐๐,๐๐๐ คน มีสวนสาธารณะเอาเป็นว่าใหญ่ กว่า ๑๐ ไร่นี่ นับจำนวนได้ครับท่านประทาน เผลอ ๆ ไม่ถึง ๒๐ แห่ง แล้วอย่างนี้ประชาชน จะมีสุขภาพที่ดีด้วยตัวเองได้อย่างไรในเมื่อสถานที่ของทางหน่วยราชการไม่อำนวย การขยายตัวของชุมชนก็จะมีความต้องการพื้นที่สาธารณะ แล้วก็มีพื้นที่นอกบ้านมากขึ้น เป็นเรื่องธรรมดาของชุมชนนะครับ เพราะว่าเดี๋ยวนี้บ้านในพื้นที่ของจังหวัดปทุมธานี บ้านผม ขนาดก็เล็กนะครับ บริเวณบ้านก็น้อย หมู่บ้านถึงมีที่สาธารณะส่วนกลางก็เป็นเพียงจำนวนน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของการใช้ชีวิตของประชาชน เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นส่วนสำคัญ มาก ๆ ที่รัฐจะต้องดูแลแล้วก็สนับสนุนนะครับ เมื่อเทียบกับการหารายได้และการหา สวัสดิการภายในกองทัพ ผมว่าความต้องการพื้นที่สาธารณะของประชาชนต้องเป็นสิ่งสำคัญ แล้วก็สิ่งที่มาก่อนนะครับ ถามว่าการหารายได้และสวัสดิการของกองทัพมันหายไปเลยไหม ไม่ได้หายไปนะครับ เพียงแต่ว่าย้ายไปอยู่ที่อื่นแค่นั้นเองครับ ย้ายไปอยู่ในพื้นที่ที่ประชากร หนาแน่นน้อยหรือมีความต้องการใช้พื้นที่น้อยกว่า อันนี้คือในเขตของผมนะครับ ศูนย์ซ่อม สร้างสิ่งอุปกรณ์สรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี มีพื้นที่ ประมาณ ๑๐๐ ไร่ ตอนนี้ริมคลองเปรมประชากรมีปัญหาเรื่องการสร้างบ้านมั่นคงที่สร้าง บริเวณริมคลองไม่มีสถานที่ก่อสร้างบ้านครับท่านประธาน หากเราเอาที่แปลงนี้ไปสร้างบ้าน ให้ประชาชน เอาแค่หลังละ ๒๐ ตารางวาพอครับ ได้บ้านเกือบ ๒,๐๐๐ หลัง ๒,๐๐๐ หลังนี้ เยอะขนาดไหน คลองเปรมประชากรตั้งแต่กรุงเทพมหานครจนไปถึงปทุมธานีมีความยาว ประมาณ ๒๘ กิโลเมตร ๒,๐๐๐ หลัง ได้ครึ่งหนึ่งเลยครับท่านประธาน เพราะว่าบ้านทั้งหมด มีประมาณ ๕,๐๐๐ กว่าหลัง รวมของจังหวัดปทุมธานีด้วย ของกรุงเทพมหานคร ๔,๐๐๐ กว่าหลัง ของจังหวัดปทุมธานี ๗๐๐ กว่าหลัง รวมกันแล้ว ๕,๐๐๐ กว่าหลัง พื้นที่ ๑๐๐ ไร่ ช่วยให้ประชาชนมีบ้านอยู่ได้ ๒,๐๐๐ หลังครับท่านประธาน พื้นที่สาธารณะหรือ ที่ว่างของรัฐควรได้รับการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์เพื่อตอบสนองสุนทรียภาพของเมืองและ ผู้คน ชีวิตที่สร้างสรรค์ ความสุขของชีวิตนอกบ้าน การอยู่ร่วมกันแล้วก็ชีวิตที่มีคุณภาพของ ประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่เหมือนว่ารัฐก็จะละเลย เพราะฉะนั้นผมก็อยากให้หน่วยงาน ราชการหรือรัฐบาลหันมาให้ความใส่ใจกับพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่สาธารณะตรงนี้มากขึ้น ถ้าท่านไปดูจังหวัดปทุมธานี โดยเฉพาะเขตของผมมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน ทุกวัดที่เปิดให้ อาหารปลา ตอนเย็นจะมีพ่อแม่พาผู้เฒ่าผู้แก่ พาเด็ก ๆ ไปเยอะมากครับ เพราะว่าพื้นที่ ริมแม่น้ำตอนเย็นอากาศเย็น ลมพัด ก็เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เพียงแต่ว่ามันก็เป็นเพียง หน้าวัดครับท่านประธาน มันไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนที่มีจำนวนมาก หรอกครับ เพราะฉะนั้นมันก็เลยกลายเป็นว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดูเหมือนว่ารัฐจะไม่ได้ส่งเสริม สักเท่าไร ผมก็อยากจะฝากไปถึงรัฐบาลว่าพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่ที่เรียกว่า Public Space หรือพื้นที่สาธารณะเป็นสิ่งที่จำเป็นกับประชาชน แล้วก็อยากให้ส่งเสริม หน่วยราชการใด โดยเฉพาะหน่วยราชการทหารที่มีพื้นที่จำนวนมาก สามารถแบ่งส่วนนี้มาให้ประชาชนใช้ ประโยชน์ได้นะครับ อย่างไรก็ฝากรัฐบาลด้วยครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผมเจษฎา ดนตรีเสนาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เขต ๒ พรรคก้าวไกล คนปทุมลุ่มน้ำเจ้าพระยาครับ ขอสไลด์ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • วันนี้ผมขอร่วมอภิปรายญัตติ เรื่อง การบริหารจัดการขยะชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและพื้นที่ท่องเที่ยว สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้ก็คือเป็นเรื่องของขยะเหมือนกันครับ แต่เป็นขยะที่อยู่ในน้ำหรืออยู่ใต้น้ำ ซึ่งขยะที่อยู่ในน้ำหรือใต้น้ำเป็นสิ่งที่ถูกละเลยมาตลอดครับท่านประธาน เพราะว่าอะไรครับ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่มันมีจำนวนมากเหลือเกินที่อยู่ในแม่น้ำลำคลองของ บ้านเราทุกสาย เส้นทางของแม่น้ำสำคัญ ประเทศไทยของเรามีแม่น้ำสำคัญหลายสาย ทั่วประเทศ เพราะฉะนั้นแม่น้ำเหล่านี้ก็เป็นแหล่งที่ขยะจะลงไป ด้วยอาจจะเกิดจากจิตสำนึก ของประชาชนส่วนหนึ่ง หรือว่าเกิดจากอะไรก็แล้วแต่ หรือว่าเกิดจากอุทกภัย หรือว่าเกิด จากภัยพิบัติต่าง ๆ ที่ทำให้ขยะมันลงไปอยู่ในแม่น้ำ มันก็มีขั้นตอนขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นว่าเขาจะมีการดักเก็บเป็นช่วง ๆ ที่ดักเก็บได้ก็ถูกเก็บขึ้นบกไปตลอดระยะทาง แต่ถ้าอันไหนที่มันจมน้ำหรือว่าอยู่ใต้น้ำหรือว่ามองไม่เห็นหรือไม่ถูกดักเก็บนี้มันก็จะไหลลง มาเรื่อย ๆ จากเหนือลงมาถึงปากอ่าว จนสุดท้ายก็ไปอยู่ในทะเล ท่านจะเห็นว่าตามสไลด์นี้ มันมีทั้งคลองใหญ่ แม่น้ำขนาดใหญ่ คลองมีขนาดใหญ่ คลองขนาดเล็ก คลองซอย ทุกคลอง มีขยะหมดครับท่าน อันนี้คือสถิติขยะปากแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงปี ๒๕๖๐ ถึง ๒๕๖๔ โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ท่านเห็นว่าสถิติมันลดลงใช่ไหมครับ มันก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ประเด็นก็คือมันเป็นสถิติ ของขยะที่อยู่บนน้ำที่เราสามารถจัดเก็บได้ ในส่วนที่ผมเอามาเป็น ๕ แม่น้ำที่อยู่ทางปากอ่าว ก็จะขอเน้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก อันนี้คือขยะที่อยู่บนบก อันนี้ผมคิดว่าน่าจะมี ตัวตะแกรงที่คอยกั้นขยะอยู่หรือว่าเป็นตัวสายยางที่ใช้กั้นขยะเพื่อที่จะให้เจ้าหน้าที่คอย จัดเก็บได้ง่าย เพราะว่าถ้าไม่มีการกั้นหรือว่าไม่มีการจัดเก็บนี้ก็จะไม่มีการกรองของขยะ ลักษณะนี้ ขยะก็จะลอยกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยท่านสังเกตว่าขยะ จะอยู่กับผักตบชวาหรือว่าวัชพืช ซึ่ง ๒ อันนี้ เมื่อรวมกันก็ทำให้เกิดการจัดเก็บยาก แล้วก็เสีย งบประมาณต่อปีหนึ่งเป็นมหาศาลเพื่อใช้ในการจัดเก็บ อันนี้ก็คือขยะในลำคลอง ซึ่งจัดเก็บ ยากมากกว่าขยะอยู่บนบกหลายเท่า ต้องใช้เจ้าหน้าที่ ต้องใช้อุปกรณ์และบุคลากร เราจัดเก็บอย่างไรมันก็ไม่มีทางหมด อันนี้น้ำที่เกิดจากสีดำน่าจะเกิดจากในกรุงเทพมหานคร ไม่มีการไหลเวียนน้ำเพียงพอ พอไม่มีการไหลเวียนขยะที่ถูกเก็บก็ต้องใช้เรือเอาเจ้าหน้าที่ลงไป แล้วก็ค่อยตัก ตัก ตัก แต่ขยะที่อยู่ใต้น้ำก็ยังไม่ถูกเก็บครับ หากท่านจะเก็บขยะใต้น้ำ ต้องใช้งบประมาณ บุคลากร เครื่องมือจำนวนมากครับท่านประธาน เพราะว่าคลองใน กรุงเทพมหานครนี้สามารถทำได้ เพราะว่าเรามีประตูระบายน้ำทั้งด้านต้นคลองและ ด้านปลายคลอง เราก็ปิดสูบน้ำออกหรือว่าระบายน้ำออก ให้คลองมาเหลือน้ำก้น ๆ คลอง แล้วก็ใช้บุคลากรบวกเครื่องมือลงไปเก็บ ด้านซ้ายมือก็คือเป็นขยะ ขยะนี้ภาพอาจจะไกล แต่ในนั้นก็จะมีทั้งถุงพลาสติก ขวดแก้ว ขวดพลาสติก กระป๋อง โลหะ ขยะพลาสติกอื่น ๆ ที่นอน เฟอร์นิเจอร์ มีหมดทุกอย่างครับท่านประธาน เพียงแต่ว่ามันจัดเก็บยาก ที่เราเห็น ในภาพนี้คือเป็นคลองขนาดเล็กที่เราจะเก็บได้ แต่ถ้าเป็นในแม่น้ำเจ้าพระยาละครับ ในคลอง ขนาดใหญ่ละครับ เราจะทำอย่างไร อันนี้ก็คือเลนที่เราลอกขึ้นมาไว้ข้างตลิ่งครับ แต่เลนที่อยู่ ข้างตลิ่งที่เราลอกขึ้นมาก็ยังมีเศษขยะ เศษวัชพืช เศษไม้ ทุกอย่างอยู่ครบ ไม่ได้ถูกกำจัด ไปไหน มันก็ถูกถมอยู่ริมคลองนั่นละครับ แล้วถ้าฝนตกหนัก ๆ หรือมีภาวะน้ำท่วมมันก็จะชะ ทุกอย่างที่เราลอกขึ้นมากลับลงไปในคลองเหมือนเดิม อันนี้เมื่อวันลอยกระทงผมก็ออก พายเรือเก็บขยะเท่าที่เก็บได้ มันก็เก็บได้เฉพาะบนที่อยู่บนน้ำเท่านั้น ใต้น้ำเราก็เก็บไม่ได้ อยู่ดี ซึ่งถ้ามันหล่นลงไปใต้แม่น้ำ ขวามือสุดของสไลด์ก็จะมีทั้งตะปู ทั้งเข็ม เข็มหมุด เข็ม อะไรต่าง ๆ ที่มันแหลมคมก็จะลงไปอยู่ในใต้แม่น้ำ อันนี้เป็นกิจกรรมที่จัดเก็บในคลองหนึ่ง ซึ่งคลองหนึ่งก็เป็นคลองย่อยของคลองรังสิต ซึ่งมีขนาดใหญ่ อันนี้ก็คือเป็นตัวกักเก็บที่เขาจะให้ ขยะลอยมาแล้วเราก็เก็บ เราก็ทำกิจกรรมกันขึ้นมา สิ่งที่ผมจะบอกก็คือขยะที่อยู่บนบก ว่าจัดการยากแล้วมีปริมาณมากแล้ว ขยะที่อยู่ใต้น้ำมีปริมาณมหาศาลไม่แพ้กัน แต่ไม่ค่อยได้ ถูกเก็บ เพราะว่าในแม่น้ำขนาดใหญ่หรือในคลองขนาดใหญ่การจัดเก็บมันแทบจะเป็นไป ไม่ได้เลยครับท่านประธาน เพราะว่าเราไม่มีอุปกรณ์หรือเครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่ดี เพราะฉะนั้นการป้องกันไม่ให้ขยะลงไปในน้ำก็คงจะต้องเริ่มจากต้นทางในการจัดการขยะให้ น้อยที่สุดที่จะลงไปในคลองได้ อันนี้เป็นแนวทางในการจัดการ โดยผมก็ขอเสนอประมาณนี้ ก็คือ ๑. แนวทางการบริหารจัดการขยะของภาครัฐ โดยภาครัฐก็ต้องมีแนวนโยบายที่ชัดเจน ว่าจะจัดการขยะอย่างไร จะแยกอย่างไร เพื่อนสมาชิกหลายท่านก็ได้เสนอไปแล้ว ซึ่งก็เป็น ข้อเสนอที่ดีทั้งนั้น แต่เพียงแต่ว่าต้องเป็นนโยบายระดับรัฐบาลครับ ๒. การบริหารจัดการ จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ๓. กฎหมาย เกี่ยวกับชนิดของพลาสติกที่ใช้บรรจุภัณฑ์ ซึ่งบรรจุภัณฑ์พลาสติกในบ้านเรา ปัจจุบันมันมี หลายแบบ ทั้ง PET ทั้ง HDPE พลาสติกผสม Foil ซึ่งการมีพลาสติกหลายชนิดนี้มันทำให้ การจัดการยาก รวมทั้งการนำกลับมาใช้มันก็ยากด้วย ข้อสุดท้าย ส่งเสริมการแยกขยะแล้วก็ ระบบการจัดเก็บที่ดี ก็อย่างที่เพื่อนสมาชิกหลายท่านที่ได้อภิปรายไป เริ่มต้นจากต้นทางครับ การจัดการทุกอย่างจะง่าย ผมขอสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม เจษฎา ดนตรีเสนาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชาวปทุมธานี เขต ๒ พรรคก้าวไกล คนปทุม ลุ่มน้ำเจ้าพระยาครับ ขอสไลด์ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • วันนี้ผมขออนุญาตร่วมอภิปรายญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการส่งเสริม และสนับสนุนการให้บริการของระบบนิเวศในเขตป่าต้นน้ำครับ ประเทศไทยของเรามีพื้นที่ป่า ณ ปัจจุบันเหลือเพียง ๓๑.๕๗ เปอร์เซ็นต์ เริ่มเก็บสถิติ ปี ๒๕๑๖ ที่ ๔๓.๒๑ จากกราฟนี้ ท่านจะเห็นว่าเรามีเป้าหมายในการอนุรักษ์พื้นที่ป่า ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ ๑๒ ฉบับปัจจุบันอยู่ที่ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ แต่แผน ยุทธศาสตร์ชาติปรับขึ้นไปที่ ๕๕ เปอร์เซ็นต์ จากสไลด์นี้ท่านก็จะเห็นว่าเราไม่เคยกลับไป แตะเฉียด ๆ ๔๐ เปอร์เซ็นต์เลยตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี ๒๕๑๙ เป็นต้นมา ณ ปัจจุบันนี้ ก็ผ่านมาเกือบ ๔๐ กว่าปีแล้ว เราไม่เคยถึงเลย เพราะฉะนั้นในความเป็นจริงเป้าหมายของ การอนุรักษ์พื้นที่ป่า ๔๐ เปอร์เซ็นต์นี้จึงเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด

    อ่านในการประชุม

  • ปัจจุบันนี้พื้นที่ป่าลดลงทั้งหมด ๑.๘ เปอร์เซ็นต์ โดยภาพทางซ้ายเป็น ปี ๒๕๕๑ เราเปรียบเทียบ ๒ ปีนี้เฉพาะที่มีสถิติในการเก็บ แล้วก็ปี ๒๕๖๕ จากปี ๒๕๕๑ ถึงปี ๒๕๖๕ พื้นที่ป่าลดลงใน ๑.๘๗ เปอร์เซ็นต์ เท่ากับพื้นที่ ๕.๑ ล้านไร่ ถามว่าพื้นที่ ๕.๑ ล้านไร่เท่ากับอะไรครับ เท่ากับจังหวัดกำแพงเพชรทั้งจังหวัด โดยจังหวัดกำแพงเพชร พื้นที่ ๕.๓ ล้านไร่โดยประมาณ ระยะเวลาแค่ไม่กี่ปี ๑๐ กว่าปีพื้นที่ป่าเราลดลงขนาดนี้ครับ เพราะฉะนั้นตั้งแต่ปี ๒๕๑๖ ถึงปี ๒๕๖๕ พื้นที่ป่าหายไปทั้งหมด ๓๖ ล้านไร่ ถามว่า ๓๖ ล้านไร่นี้ถ้าเราปลูกให้ได้ ๓๖ ล้านไร่กลับมา มันแค่กลับไปที่ ๔๓.๒๑ ยังไม่ถึง ๕๕ เปอร์เซ็นต์ ตามที่เป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติตั้งเลย ถ้าหากว่าจะกลับไปที่ ๕๕ เปอร์เซ็นต์ ต้องปลูกขนาดไหน ต้องปลูกขนาด ๗๐ กว่าล้านไร่ แล้ว ๗๐ กว่าล้านไร่ขนาดไหน ก็ ๑๔ เท่า ของจังหวัดกำแพงเพชร ผมว่าก็เกือบ ๆ ภาคกลางกับภาคเหนือรวมกันครับ

    อ่านในการประชุม

  • เพราะฉะนั้นวันนี้ผมขออนุญาตเสนอแนวคิดเรื่องการอยู่ร่วมกันระหว่าง ป่า รัฐ และชุมชน ซึ่งแนวคิดนี้มันเป็นแนวคิดที่ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นแนวคิดที่ใช้ได้จริง เพราะว่าปัจจุบันนี้กฎหมายของเราห้ามชุมชนหรือว่าห้ามประชาชนใช้ประโยชน์จากป่า ค่อนข้างมาก ยกเว้นอาจจะมีกฎหมายเกี่ยวกับป่าชุมชนซึ่งก็ให้ใช้แค่เฉพาะโซนที่เป็น ป่าเศรษฐกิจเท่านั้น ไม่รวมพื้นที่ป่าอนุรักษ์ แต่ผมมองว่าพื้นที่ป่าทั้งหมดนี้ประชาชนควร จะต้องใช้ประโยชน์จากป่าได้ เพราะว่าในระบบนิเวศมันมีส่วนงอกเงยจากระบบนิเวศและ สามารถใช้ประโยชน์ได้โดยให้ประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้น อาทิเช่น หน่อไม้ ของป่าต่าง ๆ เห็ดป่าต่าง ๆ ที่มีรสชาติดี แล้วก็ราคาค่อนข้างแพง ไม่ว่าจะเป็นเห็ดโคน เห็ดระโงก เห็ดเผาะ เห็ดไค น้ำผึ้ง ครั่ง ผลไม้ป่าต่าง ๆ ยอดผักป่าต่าง ๆ อย่างที่เพื่อนสมาชิก ได้อภิปรายไป เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้มันเป็นวงรอบของวัฏจักรอยู่แล้วครับ ถ้าเราไม่เก็บมา ใช้ประโยชน์ระยะสุดท้ายมันก็จะสูญสลายไป แล้วเดี๋ยวปีหน้ามันก็เกิดขึ้นใหม่ เพราะฉะนั้น ผมจึงไม่เห็นประโยชน์ที่ว่าเราจะอนุรักษ์โดยห้ามประชาชนใช้ประโยชน์หรือว่าให้ประชาชน ได้ประโยชน์ผลงอกเงยจากระบบนิเวศที่มีอยู่ เพราะฉะนั้นผมก็เลยคิดว่าการอนุรักษ์ป่า อย่างมีส่วนร่วมจากประชาชนน่าจะเป็นทางออกที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องการลดลงของป่า อย่างต่อเนื่องได้ ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาเราใช้กฎหมายในการห้ามประชาชนยุ่งกับป่า มาโดยตลอด กันประชาชนออกจากป่ามาโดยตลอด แต่ป่าไม่เคยเพิ่มขึ้น ทั้ง ๆ ที่เราปลูกป่ากัน ไม่รู้ปีละกี่ล้านไร่ ใช้งบประมาณเท่าไรป่าไม่เคยเพิ่มขึ้นเลยครับ เพราะฉะนั้นเราควรจะต้อง เปลี่ยนแนวคิดเรื่องการดูแลป่าเสียใหม่ โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์ แล้วก็อาศัยประชาชนในการเป็นหูเป็นตาให้กับรัฐ เพราะว่าอย่างที่เพื่อนสมาชิกบอกไปแล้วว่า เจ้าหน้าที่ ๑ คน ดูแลพื้นที่ป่า ๑๐,๐๐๐ กว่าไร่ ชุมชนหนึ่งดูแล ๙๐๐ กว่าไร่ ไม่มีทางเลยครับ ต้องอาศัยประชาชนเท่านั้นถึงจะทำให้ป่าดำรงอยู่ได้ เมื่อเราต้องการพื้นที่ป่า แต่อีกด้านหนึ่ง เราก็ต้องการการพัฒนา ในสไลด์นี้ผมขออนุญาตมุ่งไปที่แหล่งน้ำต้นทุน โดยเฉพาะพวกเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ถามว่าพวกแหล่งเก็บน้ำนี้ก็ย้อนแย้งกับการอนุรักษ์ป่าอีก เพราะว่า ยิ่งเรามีอ่างเก็บน้ำต้นทุนหรือมีแหล่งเก็บกักน้ำจำนวนมากเท่าไรพื้นที่ป่าก็ต้องหายไปจำนวน เท่านั้นครับ มันจึงเกิดเป็นคำถามว่าจริง ๆ แล้วเราควรจะต้องคิดได้หรือยังว่าเราจะรักษาป่าเป้าหมายที่ ๔๐ เปอร์เซ็นต์จริง ๆ ใช่ไหม หรือว่าที่ ๕๕ เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าทั้งเลข ๔๐ เปอร์เซ็นต์ และ ๕๕ เปอร์เซ็นต์ ไม่มีผลงานวิจัยรองรับว่าตัวเลขป่าที่ควรจะต้องมีมันเท่าไร ปัจจุบันก็ยังไม่มีว่าพื้นที่ป่ากับพื้นที่การพัฒนา โดยเฉพาะแหล่งน้ำต้นทุนหรือว่าแหล่งกักเก็บน้ำที่ส่วนใหญ่จะต้องอยู่ในพื้นที่ป่าหรือว่าต้องใช้พื้นที่ป่าในการทำจะต้องเป็นตัวเลขที่เท่าไร เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ดูว่าการดำเนินงานของเราในแง่ของการอนุรักษ์ป่าก็ดี ในแง่ของการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน เพื่อประชาชนก็ดีจะไร้ทิศทางเพราะว่าไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนในการทำ เพราะฉะนั้นผมจึง เชิญชวนทุกท่านคิดว่าตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่สำคัญมาก หากเรามีตัวเลขในการที่เราจะอนุรักษ์ ป่ากันอย่างจริงจังแล้ว และมีสัดส่วนในการจะใช้พื้นที่ในการทำแหล่งน้ำต้นทุนเพื่ออุปโภค บริโภคให้แก่ประชาชนแล้วโดยมีตัวเลขที่ชัดเจนก็จะทำให้การอนุรักษ์ทั้งป่าและการพัฒนา แหล่งน้ำเพื่อประชาชนมีประโยชน์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งใช้งบประมาณ อย่างคุ้มค่าแล้วก็เกิดประโยชน์ เพราะฉะนั้นวันนี้ผมจึงขออนุญาตสนับสนุนญัตติ เรื่อง ขอให้ สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาพิจารณาแนวทางการส่งเสริมและ สนับสนุนให้บริการของระบบนิเวศในเขตป่าต้นน้ำ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผมเจษฎา ดนตรีเสนาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เขต ๒ พรรคก้าวไกล คนปทุมลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขออนุญาตขอสไลด์ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • วันนี้ผมมาทวงถามเรื่องเงินเยียวยา น้ำท่วมนะครับ บัดนี้น้ำท่วมได้ผ่านมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๔ เดือนนะครับท่านประธาน แต่เงินเยียวยาน้ำท่วมยังไม่ได้เลยนะครับ ที่ยังไม่ได้เพราะว่ายังไม่มีการประกาศเขตภัยพิบัติ ไม่มีการประกาศเตือนภัย แล้วก็ไม่มีเยียวยาใด ๆ อีกไม่กี่เดือนน้ำก็จะท่วมอีกปีหนึ่งแล้ว นะครับท่านประธาน แต่ของปีที่แล้วยังไม่ได้ของปีก่อนก็ยังไม่ได้ครับท่านประธาน ผมก็อยาก ฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลประชาชนในส่วนนี้ด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๒. เรื่องของไฟฟ้าส่องสว่าง ก็มีปัญหาบริเวณหลายจุดของจังหวัดปทุมธานี ที่ท่านเห็นนี้คือบริเวณถนนกำแพงเพชร ๖ ตรงช่วงวัดรังสิต ในบางจุดกลางคืนไม่มีไฟฟ้าเลย เป็นเวลากว่า ๒ ปีแล้ว แล้วผิวการจราจรเป็นมาหลายปีแล้ว ไม่มีการแก้ไข ฝากท่านประธาน ไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทยช่วยดูแลประชาชนด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ปัญหาเรื่องความสะอาดบริเวณแยกสันติสุข บริเวณแยกมีป้ายรถเมล์ หลายป้าย ทำให้ประชาชนไม่สะดวกในการเดินไปมา เพราะว่ามีขยะกีดขวางทางเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเป็นแยกที่มีการจราจรติดขัด เนื่องจากรถ U-Turn ต้องรอไฟแดง ทำให้การจราจร ไม่สะดวก อย่างไรฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลรับผิดชอบด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๔. ปัญหารถประจำทางของจังหวัดปทุมธานี สาย ๙๐ หยุดวิ่ง สาย ๓๓ มาช้า สาย ๑๑๓๘ มาช้า รอนาน อันนี้ก็คือ Comment ของประชาชน ที่เข้ามา Comment ยัง Page ของกระผม ทำให้ได้รับทราบว่าสายรถเมล์ที่วิ่งในจังหวัดปทุมธานีตอนนี้ ในหลายอำเภอ มีรอบลดลงครับท่านประธาน พอรอบลดลงก็ทำให้ผู้ที่ต้องใช้รถประจำทางในการดำเนิน ชีวิตประจำวันต้องรอเป็นเวลานาน บางสายรอกว่า ๑ ชั่วโมง จึงจะมีรถมา แล้วก็สามารถ ไปทำงานได้ครับ ฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลแก้ไขให้ประชาชน ชาวปทุมธานีด้วย ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม เจษฎา ดนตรีเสนาะ สมาชิกผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เขต ๒ พรรคก้าวไกลคนปทุม ลุ่มน้ำเจ้าพระยาครับ ขออนุญาตขอสไลด์ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • อันนี้ผมขออภิปรายสนับสนุน รายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง การพัฒนาระบบบำนาญพื้นฐานของประชาชนครับ ก่อนอื่นผมต้องขออนุญาตขอบพระคุณท่านประธานคณะกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการ แล้วก็คณะอนุกรรมาธิการทุกท่าน รวมทั้งผู้มีส่วนร่วมในรายงานเล่มนี้ เป็นรายงานที่ดี ครบถ้วนแล้วก็กระชับสั้นในขนาด ๑๐๐ หน้าเศษ ๆ อ่านไม่นานก็จบได้ ที่ผมร่วมอภิปราย วันนี้เพราะว่าผมเห็นด้วยกับหลักการและแนวคิดของคณะอนุกรรมาธิการที่ได้ทำรายงาน เล่มนี้ขึ้นมา ผู้ชี้แจงหลายท่าน รวมทั้งเพื่อนสมาชิกหลายท่านอภิปรายสนับสนุนไปในทาง เดียวกัน ผมก็ได้ฟังแล้วผมก็สนับสนุนด้วยเช่นกัน แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกคัดค้าน ก็คือเรื่องเงิน ๑,๒๐๐ บาท ผมอยากกราบเรียนอย่างนี้ว่าเราอยู่ในบำนาญ หรือว่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เมื่อปี ๒๕๓๕ ครั้งแรกด้วยเงิน ๒๐๐ บาท แล้วเราอยู่ในหลักร้อยมา ๓๒ ปีแล้ว มันนาน เกินไปครับ ปี ๒๕๓๕ ทองบาทละ ๔,๓๐๐ บาท ปัจจุบันทองบาทละ ๓๔,๖๐๐ บาท มันต่างกันมหาศาล แต่ทำไมบำนาญหรือสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนมันช่างน้อยเหลือเกิน ผมจะไม่อภิปรายในรายละเอียดมาก เพราะว่าเพื่อนสมาชิกหลายท่านได้อภิปรายไปแล้ว อย่างที่เพื่อนสมาชิกได้อภิปรายไป ก็คือผมเห็นด้วยว่าประเทศไทยไม่ได้ยากจน แต่เราไม่ได้ จัดสรรงบประมาณหรือทรัพยากรที่เรามีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด การจัดสรร งบประมาณนั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อความเป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อความเท่าเทียม ทั่วถึงและถ้วนหน้า ภาพสไลด์ที่ผมนำนี้ผมขับมอเตอร์ไซค์ดูเรื่องของการเผาซังข้าวในนาใน เขตจังหวัดปทุมธานี ผมก็เจอคุณป้าท่านนี้กำลังปั่นจักรยาน ในมือถือเบ็ด แล้วก็มีกระป๋องสี อยู่ด้านข้าง ผมก็เลยแวะพูดคุยกับคุณป้า คุณป้าบอกว่าอายุ ๗๐ ปี กำลังออกไปตกปลากับ เก็บผักเก็บหญ้าที่สามารถหากินได้ เพราะอะไรครับ เพราะเขาบอกว่าเบี้ยผู้สูงอายุ ๗๐๐ บาทมันไม่เพียงพอ วันนี้ข้าวเสาไห้อย่างมาตรฐานถังละ ๔๐๐-๔๕๐ บาท ขึ้นมาเกือบ ๑๐๐ บาทจากเมื่อไม่กี่เดือนที่แล้วครับท่านประธาน ถามว่าราคาข้าวขึ้นดีไหม ดีครับ ถ้าเกษตรกรเป็นคนได้รับผลของการขึ้นนั้น แต่เงินรายได้ อื่น ๆ มันไม่ได้ขึ้นตามไปด้วย ผมถามว่าแล้วข้าวอื่น ๆ ล่ะ ก็ได้ญาติพี่น้องคอยช่วยเหลือจุน เจือเล็ก ๆ น้อย ๆ นี่คือตัวอย่างหนึ่ง แล้วผมคิดว่ายังมีอีกมากมายในประเทศไทยที่ต้อง ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับคุณป้า หรือต้องมีชีวิตเช่นเดียวกับคุณป้า ทั้ง ๆ ที่ท่านเหล่านี้ ประชาชนเหล่านี้ ได้ทำงานหนักมาตลอดชีวิตหลายสิบปี จ่ายภาษีให้ประเทศไทย แต่นี่คือ ผลลัพธ์ของการเกษียณอายุของประชาชนคนไทยหรือครับ ผมอ่านรายงานเล่มสีชมพูนี้ ผมก็เลยขออนุญาตสรุปมาเป็นกราฟสามเหลี่ยมแบบนี้ ผมขออนุญาตนำไปสิ่งที่ได้มากับสิ่งที่ ต้องทำก่อนครับ สิ่งที่ต้องทำอย่างแรก ก็คือการจัดสรรงบประมาณ การปฏิรูประบบภาษี การแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ เมื่อเราทำสิ่งเหล่านี้ได้แล้วก็จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจน เรื้อรัง ลดภาวะพึ่งพิง เพิ่ม GDP ลดการส่งต่อความยากจนจากรุ่นสู่รุ่น กระตุ้นระบบ เศรษฐกิจ หากเราทำ ๒ อย่างนี้ได้แล้ว จะส่งผลถึงกราฟด้านบนครับท่านประธาน ก็คือสร้าง ความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ลดความยากจนที่จะเกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางการเมือง สร้างสังคมที่เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข แต่สิ่งเหล่านี้กราฟทั้ง ๓ ชั้นด้านบนจะไม่เกิดขึ้นเลย หากไม่มี ด้านล่างสุด ด้านเล็ก ๆ แต่เป็นส่วนที่สำคัญมาก คือเจตจำนงเพื่อประชาชนเราต้องมีเจตจำนง ที่จะทำเพื่อประชาชน แล้วก็การตระหนักรู้ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุก ๆ ท่านนี้ล่ะครับ วันนี้เท่าที่ผมได้ฟังอภิปรายมา ผมเห็นว่าสภาแห่งนี้มีจุดร่วมเดียวกันในจำนวนมากแล้ว เพียงแต่ว่าเราจะช่วยกันผลักดันสวัสดิการถ้วนหน้าหรือสิทธิระบบบำนาญขั้นพื้นฐานของ ประชาชนได้อย่างไร สิทธิบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้านี้ต้องอยากชี้แจงกับประชาชนผู้ฟังอยู่ทาง บ้านอย่างนี้ว่ามันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุก ๆ ท่าน ทุก ๆ ท่านจะต้องช่วยกันเรียกร้องสิทธิ และรักษาสิทธินี้ไว้ มันไม่ใช่การสงเคราะห์ มันเป็นสิทธิที่ทุกคนควรจะได้รับหลังจากทำงาน หนักมาตลอดหลายสิบปี

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้มุมมองและทัศนคติของเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ หากเรา พิจารณาอยู่บนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย การตระหนักรู้ของผู้แทนราษฎรทุกท่าน จะนำไปสู่การสร้างระบบบำนาญขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนจำนวน ๑๒ ล้านคน และ ๑๒ ล้านคนนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามสังคมผู้สูงอายุที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สุดท้ายนี้ ผมเห็นด้วยกับผลการศึกษา แล้วก็ขอให้คณะรัฐมนตรีนำไปพิจารณาปรับใช้เพื่อดำเนินการ โดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างสังคมแห่งการเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุขกับประชาชนคนไทยทุกคน สุดท้ายนี้ การทำงานเพื่อทดแทนภาษีที่เราได้รับคือการทำงานเพื่อประชาชนครับ ขอบพระคุณครับ ท่านประธาน

    อ่านในการประชุม