ท่านประธานที่เคารพ ผม ปิยชาติ รุจิพรวศิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนครราชสีมา เขต ๒ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ปัจจุบันแนวโน้มความรุนแรงในครอบครัวสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยมีเหยื่อเป็นกลุ่มเด็ก และสตรีซึ่งบุคคลกลุ่มนี้มีแนวโน้มถูกกระทำความรุนแรงมากที่สุด และที่ยังน่าเป็นห่วง ในขณะนี้ คือจากข้อมูลองค์การสหประชาชาติ ประเทศไทยยังคงติด ๑ ใน ๑๐ ประเทศ ที่มีสถิติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความรุนแรงในครอบครัว ที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดแค่ Physical Assault คือการใช้กำลังทำร้ายร่างกาย แต่ยังรวมถึง Psychological Expressing คือการใช้คำพูดและการบังคับบงการที่ทำให้เกิดผลกระทบ ต่อจิตใจ อารมณ์ รวมถึงความรู้สึกไม่ปลอดภัยในการใช้ชีวิต และแนวโน้มความรุนแรงยังคง เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ สูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันยังคงมีเหยื่อที่เป็นเด็กถูกกระทำ ความรุนแรงจากบุคคลใกล้ชิด หรือผู้ปกครองที่ทำร้ายร่างกาย เมื่อเหยื่อกระทำสิ่งใดโดยผิด หรือโดยพลาดไป และยังเป็นที่น่าตกใจครับ เพราะยังมีบุคคลที่ยังคงมีชุดความคิดที่ว่า การตี หรือใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะในครอบครัว ในโรงเรียน หรือตามสถานที่ ต่าง ๆ ซึ่งการกระทำแบบนี้ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากครับ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต ของเหยื่อผู้ถูกกระทำ ท่านประธานครับ ในประเทศไทยก็มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่ ๑ ฉบับ ซึ่งเป็นกฎหมายที่อนุญาตให้ผู้ปกครองสามารถใช้ความรุนแรงกับลูกได้ ประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๖๗ (๒) บอกว่าผู้ใช้อำนาจปกครองสามารถทำโทษบุตร ได้ตามสมควร เพื่อว่ากล่าวสั่งสอน แต่ในบทบัญญัตินี้ไม่ได้นิยามว่า ตามสมควรคืออะไร แบบไหน จึงจะเรียกว่าสมควร ผมอยากจะขอเสนอแนะผ่านท่านประธาน หากเราพิจารณา ให้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองสามารถทำโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนได้ตามสมควร แต่ทั้งนี้ ต้องไม่ใช่วิธีการเฆี่ยนตี ทำร้ายร่างกายและจิตใจ หรือวิธีอื่นใดในทำนองเดียวกันแบบนี้ จะดีกว่าไหมครับ สิ่งที่ผมเสนอนี้ไม่ใช่เพราะไม่มีกฎหมายอื่นคุ้มครอง และไม่ใช่ว่าเราจะไป ลดทอนอำนาจการปกครองของผู้ปกครอง เราเพียงแค่ต้องการการป้องกันเหตุ และตัดวงจร การส่งต่อความรุนแรงภายในครอบครัวเท่านั้นครับ ท่านประธานครับผมขอยกตัวอย่าง ประเทศที่มีกฎหมายห้ามลงโทษเด็กด้วยการตี ไม่ว่าจะเป็นสวีเดน สกอตแลนด์ และฝรั่งเศส ซึ่งทุกประเทศที่กล่าวมาล้วนเป็นประเทศที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีอันดับต้น ๆ ของโลก และประเทศที่ยกเลิกการทำโทษด้วยการตีเป็นชาติแรกของโลก คือประเทศสวีเดนครับ ประเทศสวีเดนได้มีการออกกฎหมายห้ามลงโทษเด็กด้วยการทำร้ายร่างกายทุกชนิด ตั้งแต่ปี ๒๕๒๒ หรือว่า ๔๔ ปีก่อน โดยกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ห้ามแค่การตีเท่านั้น แต่ยังรวม ไปถึงการหยิก การตบหน้า หรือการดึงผมด้วย ในขณะเดียวกันประเทศสวีเดนเป็น หนึ่งในประเทศที่แทบไม่มีอาชญากรรมและความรุนแรง คุกในประเทศสวีเดนแทบไม่มี ความหมาย นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งหรือไม่ครับท่านประธาน ที่แสดงให้เห็นว่าการเลิกส่งต่อความรุนแรง ส่งผลอย่างมากต่อสังคมภายนอกเช่นกัน ผมขออนุญาตพูดถึง พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนา และคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งตราขึ้นเพื่ออุดช่องว่างจาก พ.ร.บ. คุ้มครอง ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ แต่ก็ได้มีข้อสังเกตคือเวลาผ่านมา ก็นานแล้ว การแก้ไขเพิ่งแก้ไปเพียงไม่กี่มาตรา ไม่ทราบว่าทางหน่วยงานติดอะไรตรงไหนหรือเปล่า อีก ๑ มาตราที่ผมจะขออนุญาตพูดผ่านท่านประธานเพื่อการพิจารณาครับ พ.ร.บ. ส่งเสริม การพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. ๒๕๖๒ มาตรา ๒๓ ที่กล่าวว่า ผู้ใดพบเห็น หรือทราบว่ามีการกระทำความรุนแรงในครอบครัว ให้แจ้งข้อมูลหรือข่าวสารกรณีดังกล่าว ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือแจ้งต่อศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัวโดยตรง เพื่อให้การคุ้มครองสวัสดิภาพ ผมอยากจะขอเสนอผ่านท่านประธาน หากเราสามารถพิจารณาให้เป็น ผู้ใดพบเห็น หรือทราบว่ามีการกระทำความรุนแรงในครอบครัวอันเป็นเหตุก่อให้เกิดอันตรายให้สามารถ เข้าทำการช่วยเหลือได้ตามสมควร และให้แจ้งข้อมูลหรือข่าวสารกรณีดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือแจ้งต่อ ศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัวโดยตรง เพื่อให้การคุ้มครองสวัสดิภาพแบบนี้จะดีกว่าไหมครับ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลผู้พบเห็นได้มีโอกาสช่วยเหลือได้ทันท่วงทีก่อนที่ จะเกิดอันตรายใด ๆ แก่เหยื่อครับ
สุดท้ายครับ ปัญหาความรุนแรงที่เกิดในครอบครัว ผมมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ ที่เราควรร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการแก้ไขป้องกัน เพราะนี่อาจจะเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้น ที่ก่อปัญหาอาชญากรรม ซึ่งอันที่จริงแล้วเราควรที่จะมีวิธีป้องกัน และการป้องกันเราควร มองในมุมของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ไม่ใช่มองในมุมของคนนอกที่มองเข้าไป ขอบคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ปิยชาติ รุจิพรวศิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนครราชสีมา เขต ๒ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอนำปัญหา ของพี่น้องชาวนครราชสีมา เขต ๒ มาหารือกับท่านประธาน ๓ เรื่องครับ
เรื่องที่ ๑ ปัญหาเรื่องไฟริมถนนซึ่งมีแต่เสาไฟแต่ไฟไม่ติดมาเป็นเวลานานแล้ว และยังเป็นถนนสายหลักที่พี่น้องประชาชนถึง ๔ ตำบล มะเริง หนองระเวียง หนองบัวศาลา และหัวทะเล ใช้เพื่อเดินทางสัญจร เส้นทางประกอบไปด้วย
๑. จากสามแยกโลตัสตำบลหัวทะเลไปจนถึงหน้าสวนพระเทพฯ ตำบล หนองระเวียง
๒. ถนนสาย ฉ. เส้น ๑๑๑๑ จากตำบลมะเริงไปตำบลหนองบัวศาลา จากการสำรวจพบว่าไฟริมถนนบริเวณดังกล่าวไม่ติดมาเป็นเวลานานเกือบปี เพราะหม้อแปลง ไฟฟ้ากับสายไฟถูกขโมย ผมจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันหาทางออกเพื่อแก้ไข ปัญหาเรื่องนี้ให้พี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืนครับ ถนนเส้นนี้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง รวมไปถึง มีการจี้ มีการปล้น เกิดขึ้นได้ ผมขอฝากท่านประธานไปยังกระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง ชนบท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดำเนินการติดตั้งให้มีไฟส่องสว่าง เพื่อให้พี่น้องชาวหัวทะเล มะเริง หนองบัวศาลา และหนองระเวียง ได้ขับขี่รถอย่างปลอดภัย
เรื่องที่ ๒ ปัญหาของพี่น้องชาวตำบลบ้านโพธิ์ ถนนเส้นหน้าโรงเรียนบ้านหนองบัว ซึ่งมีนักเรียนกว่า ๑๐๐ ชีวิตถนนเส้นนี้เป็นหลุมเป็นบ่อตลอดเส้นทาง ประชาชนชาวบ้านโพธิ์ ขับขี่รถลำบาก เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ผู้ปกครองใช้ส่งน้อง ๆ ไปเรียนหนังสือ ซึ่งเป็น อันตรายทั้งตัวผู้ขับขี่ รวมไปถึงน้อง ๆ นักเรียนที่เดินอยู่ข้างทางจะเกิดอันตราย จึงอยากฝาก ท่านประธานช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลแก้ไขด้วยครับ
เรื่องสุดท้ายผมได้รับการร้องเรียนมาจากพี่น้องชาวตำบลจอหอ ๒ เรื่อง ๑. น้ำประปามีลักษณะขุ่นและไม่สะอาด ไม่สามารถนำไปอุปโภคหรือบริโภคได้ ๒. ถนนหลายเส้น ไม่ว่าจะเป็นบริเวณเส้นบึงทับช้าง บ้านปูน เส้นหน้าเจริญภัณฑ์ และอีกหลายจุด เวลาฝนตกมักจะมีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานทำให้พี่น้องชาวจอหอ และประชาชนผู้สัญจรไปมาได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมากครับ ผมขอเรียนผ่าน ท่านประธานไปยังกระทรวงมหาดไทย การประปาส่วนภูมิภาค อบต. จอหอ และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องช่วยดำเนินการแก้ไขให้พี่น้องประชาชนชาวจอหอด้วยครับ สำหรับวันนี้ผมขอนำ ปัญหาพี่น้องชาวนครราชสีมา เขต ๒ มาหารือกับท่านประธานเพียงเท่านี้ ขอบคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ดีเจซัว ปิยชาติ รุจิพรวศิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๒ พรรคก้าวไกลครับ ท่านประธานครับ ในทุกวันนี้สถานบันเทิง ผับ บาร์ หรือแม้กระทั่งร้านอาหารต้องจ่าย การเรียกรับผลประโยชน์ หรือที่เราเรียกกันว่าส่วย ให้กับบุคคลหรือกลุ่มที่อ้างตนมาจาก หน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนเกิดขึ้นมากมายให้เห็นกันเป็นประจำจนดูเป็น เรื่องปกติ และเหตุผลที่ผู้ประกอบการยอมแลกกับการจ่าย เพราะทั้งหมดนี้ติดที่ข้อบังคับ บางข้อที่ไม่ได้ปรับเข้ากับสภาพการณ์ปัจจุบัน ซึ่งมีขั้นตอนหรือความยุ่งยากในการขอ อนุญาต นี่จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ประกอบการยอมเลือกที่จะใช้วิธีการจ่าย และใน เดือน ๆ หนึ่ง ผู้ประกอบการถูกเรียกเก็บส่วยไม่น้อย จากข้อมูลที่ผมได้มา ทุกวันนี้ร้านอาหาร ผับ บาร์สถานบันเทิงต้องจ่ายให้กับหน่วยงานที่เข้าไปเรียกเก็บค่าดูแลมากถึง ๗-๑๐ หน่วย ตกหน่วยละประมาณ ๓,๐๐๐ บาท ลองคำนวณเล่น ๆ กันดูว่าแต่ละเดือนพวกเขาต้องจ่าย กันเท่าไร และหน่วยที่มีการเรียกเก็บส่วยได้สูงกว่าปกติส่วนใหญ่คือหน่วยงานที่บังคับใช้ กฎหมายในพื้นที่โดยตรง อีกหน่วยคือหน่วยที่มาจากพื้นที่รอบนอกแต่มีอำนาจบังคับใช้ กฎหมาย ซึ่งเดี๋ยวจะมีเพื่อนสมาชิกจากพรรคก้าวไกลมาพูดประเด็นต่าง ๆ อย่างละเอียด อีกทีครับ ท่านประธานครับ นอกจากสถานบันเทิงแล้ว ในฐานะที่ผมเป็นดีเจ เป็นนักดนตรี ที่เคยทำงานกลางคืน และมีเพื่อนหลากหลายอาชีพที่ทำงานกลางคืน เรื่องที่เราจะไม่พูดถึงไม่ได้เลย คือเรื่องสวัสดิการของคนทำงานกลางคืนครับ คนทำงาน กลางคืนส่วนใหญ่จะพบกับปัญหามากมาย ทั้งในเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ ยกตัวอย่าง กรณีวิกฤติเหตุการณ์โรคระบาดที่ผ่านมา คนทำงานกลางคืน หรืออาชีพอิสระแทบจะเป็น กลุ่มท้าย ๆ ที่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา หรือกรณีเช่นไม่สามารถที่จะซื้อบ้าน หรือซื้อรถได้ เพราะโดนมองว่าเป็นอาชีพที่มั่นคง เป็นต้น ซึ่งทางพรรคก้าวไกลได้ยื่นกฎหมายเพื่อผลักดัน นโยบาย ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ แน่นอนครับว่ารวมไปถึง คนทำงานกลางคืน ดีเจ นักดนตรี อาชีพอิสระ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ร.บ. สหภาพแรงงาน และ พ.ร.บ. บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า ซึ่งได้ยื่นไปแล้วเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อให้กลุ่มคนทำงานทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมาย และได้รับ การคุ้มครองทุกคนโดยไม่แบ่งแยกนอกระบบหรือในระบบ มีระบบสวัสดิการที่ดี เพื่อการมี ส่วนร่วมมากขึ้น ให้พวกเขาสามารถรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานได้ ได้รับสิทธิในการเจรจา ต่อรอง นอกจากนัดหยุดงานแล้วยังมีสิทธิในการเฉื่อยงานหรือที่เราเรียกว่า Slowdown เพื่อจำกัดอำนาจรัฐในการสั่งยุติการนัดหยุดงาน ซึ่ง พ.ร.บ. ทั้งหมดที่ยื่นไปอยู่ในขั้นตอน รอบรรจุวาระเข้าสู่วาระที่ ๑ ขั้นรับหลักการ
ท่านประธานครับ กลับมาที่เรื่องสถานบันเทิง หากเรามีกฎหมายสถาน บันเทิงที่ดีและทันสมัย เป็นไปตามยุคตามสมัยมากขึ้น รัฐหรือเขตก็จะสามารถจัดเก็บภาษีได้ มากขึ้น และยังลดช่องว่างจากการเรียกเก็บส่วยของผู้อ้างตนมาจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้อีกด้วย ผมจึงขอสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการปรับปรุง กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงให้สอดคล้องกับสภาพการณ์จริง ทั้งหมดนี้เราจะ สามารถเปลี่ยนจากการที่ให้สถานบันเทิงต้องจ่ายส่วย เป็นให้พวกเขาจ่ายสุขผ่านการบริการ ผ่านรสชาติอาหาร ผ่านเสียงดนตรี เสียงเพลง และผ่านกลไกที่ถูกต้องและเป็นระบบ ขอบคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ปิยชาติ รุจิพรวศิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนครราชสีมา เขต ๒ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ผมในฐานะที่เป็น สส. ตัวแทนของประชาชน วันนี้ผมได้นำข้อซักถาม ข้อสงสัยจากประชาชน รวมถึงเพื่อนทนายความหลายท่านที่ฝากมาหารือผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงาน สำนักงานศาลยุติธรรม ท่านประธานครับ ในการพิจารณาคดีอาญามีหลักกฎหมายสากล ที่สำคัญอยู่ข้อหนึ่งคือหลัก Presumption of Innocent หรือหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่า บริสุทธิ์ นั่นคือการที่ใครคนใดคนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิด ซึ่งมีโทษในทางอาญา จะต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าคนคนนั้นบริสุทธิ์ จนกว่าจะมีการพิสูจน์ความว่า คนคนนั้นเป็นผู้กระทำความผิดจริงถึงจะลงโทษได้ นั่นแสดงให้เห็นว่าเราควรให้ความสำคัญ ต่อการพิจารณาความคดีอาญาของศาลแค่ไหน ซึ่งการที่จะพิจารณาว่าผู้ต้องหาหรือจำเลย เป็นผู้กระทำความผิด หรือเป็นผู้บริสุทธิ์นั้น ต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานที่คู่ความ แต่ละฝ่ายนำมาสืบในคดี ซึ่งพยานหลักฐานที่สำคัญที่สุดในการนำมาพิจารณาคดีอาญา คือพยานบุคคล โดยเฉพาะพยานบุคคลที่เห็นเหตุการณ์ด้วยตัวเอง หรือที่เราเรียกกันว่า ประจักษ์พยาน ปัจจุบันศาลยุติธรรมใช้วิธีการบันทึกคำเบิกความของพยานบุคคล จากปากของผู้พิพากษา ผมขออธิบายให้เห็นภาพว่าในการสืบพยานบุคคล อัยการ หรือทนายความจะเป็นผู้ถามพยาน เมื่อพยานมีการเบิกความใด ๆ ผู้พิพากษาจะบันทึกคำเบิกความของพยาน ใส่เครื่องบันทึกเสียง และปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ผู้พิพากษาบางท่าน ขอย้ำว่าบางท่าน อาจบันทึกคำเบิกความโดยละเอียดทุกคำพูด แต่ผู้พิพากษาบางท่านอาจบันทึกคำเบิกความ โดยสรุปตามความเข้าใจของตัวเองหรือไม่ ซึ่งอันที่จริงผู้พิพากษาควรจะบันทึกเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นในขณะที่พยานเบิกความโดยละเอียด ไม่ว่าพยานจะเบิกความโดยการร้องไห้ พยานเบิกความโดยการตอบไม่ตรงคำถาม โดยทั่วไปแล้วปัญหาในการสังเกตพฤติกรรม ต่าง ๆ ของพยานในระหว่างเบิกความของศาลชั้นต้นอาจไม่เกิดขึ้นมากนัก เพราะผู้พิพากษา ศาลชั้นต้นได้นั่งพิจารณาคดีด้วยตัวเอง และได้เห็นการสืบพยานทุกขั้นตอน เห็นกิริยาท่าทาง หรือข้อพิรุธต่าง ๆ ของพยาน แต่ในการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา จะพิจารณาคดีจากเพียงเอกสารในสำนวน และคำเบิกความที่ถูกบันทึกเป็นข้อความเท่านั้น อีกทั้งไม่มีโอกาสได้เห็นกิริยาท่าทาง หรือข้อพิรุธต่าง ๆ ในระหว่างการสืบพยาน ของศาลชั้นต้นเลย เราจะเห็นได้ว่าหลาย ๆ ประเทศมีการบันทึก Video การพิจารณาคดีไว้ แม้กระทั่งคดีอื่นนอกจากในคดีอาญาด้วยซ้ำครับ เพราะหลักสำคัญในการพิจารณาคดี ของศาลควรจะเป็นไปอย่างเปิดเผย เพื่อแสดงให้เห็นว่าการพิจารณาคดีเป็นไปด้วย ความถูกต้องและเป็นธรรมต่อคู่ความทุกฝ่าย จริง ๆ แล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา คดีอาญามาตรา ๑๗๒ วรรคสี่ และ วรรคห้า ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ ให้มี การบันทึก Video คำเบิกความของพยานบุคคลในการสืบพยานคดีอาญาแล้ว และประธาน ศาลฎีกาก็ได้มีการออกข้อบังคับเกี่ยวกับการบันทึก Video คำเบิกความของพยานบุคคล ในการสืบพยานคดีอาญาดังกล่าวเมื่อปี ๒๕๖๔ ให้สำนักงานศาลยุติธรรมเร่งจัดสรร งบประมาณ และอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอต่อการดำเนินการดังกล่าว ผมจึงขอถาม ผ่านท่านประธานไปยังสำนักงานศาลยุติธรรมว่าปัจจุบันท่านได้ดำเนินการตามข้อบังคับ ดังกล่าวไปถึงไหนแล้ว ปัจจุบันมีศาลที่มีความพร้อมต่อการบันทึก Video ในขณะที่มี การเบิกความของพยานบุคคลในคดีอาญาแล้วบ้างหรือไม่ นี่ก็เป็นระยะเวลากว่า ๑๕ ปีแล้ว นับแต่มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้มีการบันทึก Video การสืบพยานในคดีอาญา ผมจึงอยากเรียนถามท่านว่าเราจะต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหน กว่าที่ศาลยุติธรรมทั้งประเทศจะพร้อมบันทึก Video ในการพิจารณาคดีอาญาได้ทุกศาล และจากที่ผมตรวจสอบดูงบประมาณของสำนักงานศาลยุติธรรมพบว่างบประมาณ น่าจะเพียงพอต่อการจัดหาอุปกรณ์ในการบันทึก Video การพิจารณาคดีอาญาตามกฎหมาย ผมอยากฝากผ่านท่านประธาน ขอให้สำนักงานศาลยุติธรรมดำเนินการตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและข้อบังคับของประธานศาลฎีกาด้วยครับ เพราะไม่เพียง แค่ผู้เสียหายเท่านั้นที่ต้องการได้รับความยุติธรรม แต่ผู้ต้องหาและจำเลยซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหา ก็ต้องการได้รับความยุติธรรมด้วยเช่นกัน อย่าให้ประชาชนในประเทศนี้จะต้องกังวล ว่าวันหนึ่งจะต้องตกเป็นแพะ และต้องเข้าคุกเข้าตะรางจากความไม่พร้อมของกระบวนการ ยุติธรรมเลยนะครับ ขอบคุณครับ
ขอ Slide ด้วยครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ปิยชาติ รุจิพรวศิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๒ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอ ปรึกษาหารือผ่านท่านประธาน
เรื่องที่ ๑ ช่วง ๒-๓ วันมานี้ฝนตกหนัก น้ำท่วม น้ำขังที่จังหวัดนครราชสีมา ผมขอขอบคุณและเป็นกำลังใจให้กับทุกหน่วยงาน รวมถึงหน่วยงานที่ผมประสาน ขอความอนุเคราะห์ไป และได้รับความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนเป็นอย่างดี
เรื่องที่ ๒ ช่วงนี้โคราชมีฝนตกหนักและในพื้นที่ตำบลหัวทะเล ผมได้รับแจ้ง ปัญหาจากประชาชนหมู่บ้านมงคลชัยนิเวศน์ ประสบปัญหาน้ำท่วมสูงประมาณ ๑ เมตร ประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า ๑๐๐ หลังคาเรือน ประชาชนในหมู่บ้านอยากทราบ และฝากผมสอบถามผ่านท่านประธานไปยังกระทรวงมหาดไทย เทศบาลหัวทะเล ช่วยตรวจสอบว่ามีสิ่งปลูกสร้างใดสร้างขวางทางน้ำหรือไม่ ถ้ามี เป็นการสร้างที่ผิดกฎหมาย หรือไม่ ช่วยให้ความกระจ่างต่อพี่น้องประชาชนชาวหัวทะเลด้วยครับ
เรื่องที่ ๓ ผมขอหารือเกี่ยวกับการขอดำเนินการขยายอ่างเก็บน้ำ หนองตะลุมปุ๊ก ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลโพธิ์กลาง แต่เป็นอ่างเก็บน้ำที่มีความสำคัญต่อประชาชน ในเขตพื้นที่ตำบลหนองบัวศาลาเป็นอย่างมาก โดยอ่างเก็บน้ำดังกล่าวเป็นแก้มลิงที่คอย ช่วยชะลอน้ำที่จะไหลเข้าท่วมหมู่บ้านจามจุรีและชุมชนใกล้เคียงในตำบลหนองบัวศาลา และในช่วงที่มีฝนตกหนัก อ่างเก็บน้ำหนองตะลุมปุ๊กอาจไม่สามารถรองรับน้ำได้เพียงพอ เนื่องจากปัจจุบันอ่างเก็บน้ำหนองตะลุมปุ๊กสามารถรองรับน้ำได้ประมาณ ๑.๔ ล้านลูกบาศก์เมตร เท่านั้น ผมจึงขอเรียนผ่านท่านประธานไปยังกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้ดำเนินการขยายอ่างเก็บน้ำหนองตะลุมปุ๊กเพื่อเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาและเพื่อป้องกัน น้ำท่วมให้กับชาวตำบลหนองบัวศาลาครับ
เรื่องสุดท้าย ผมได้รับการร้องเรียนมาจากพี่น้องชาวตำบลหนองไข่น้ำว่า ทางหลวงชนบทหมายเลข ๑๐๔๙ ซึ่งเป็นถนนสายหลักของตำบลหนองไข่น้ำ มีปัญหาดิน จากรถขนดินตกบนพื้นผิวถนนจำนวนมาก ทำให้การสัญจรลำบาก ผมขอเรียนผ่าน ท่านประธานไปยังกระทรวงคมนาคม กรมทางหลวงชนบท และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนเพื่อประชาชนชาวตำบลหนองไข่น้ำ อำเภอเมือง นครราชสีมาด้วยครับ ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม ปิยชาติ รุจิพรวศิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๒ พรรคก้าวไกลครับ วันนี้ผมขอนำปัญหาของพี่น้องชาวโคราช เขต ๒ มาหารือกับท่านประธาน ๓ เรื่อง
เรื่องที่ ๑ ปัญหาการลักลอบเผารายวันแทบทุกพื้นที่ในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งตอนนี้เผากันหนักมาก สร้างมลพิษ ทำให้มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนมากมาย และเป็นเรื่องที่ดีที่สภาจะมีการคุยเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง แต่เบื้องต้นผมอยากฝาก ท่านประธานไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาสั่งระงับการเผาในที่โล่งชั่วคราว และใช้มาตรการทาง กฎหมายมาลงโทษผู้ที่ลักลอบเผาในจังหวัดนครราชสีมาอย่างจริงจัง เพราะทุกครั้งที่มี การลักลอบการเผามีประชาชน ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ป่วยได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก
เรื่องที่ ๒ ปัญหาไฟริมถนนเลียบทางรถไฟตลอดเส้นหลัง อบต. บ้านเกาะ ไปจนถึงฝั่งตำบลตลาดมืดมาก ไฟติดไม่ครบทุกดวง รวมไปถึงถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อ จึงอยากฝากท่านประธานไปยังกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ช่วยพิจารณาซ่อมแซมถนนและทำให้ไฟริมถนนติดทุกดวงเพื่อพี่น้องชาวตำบลบางเกาะ ตำบลตลาด รวมถึงตำบลใกล้เคียงจะได้ขับขี่รถได้อย่างสะดวกและปลอดภัยด้วยครับ
เรื่องที่ ๓ ปัญหาถนนตำบลพะเนา หมู่ ๘ บริเวณสะพานข้ามลำตะคองใหม่ ไปเชื่อมกับตำบลมะเริง ถนนเป็นลูกรังสัญจรลำบาก โดยเฉพาะเวลาหน้าฝนมีน้ำท่วมขัง ประชาชนในตำบลพะเนาส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรยิ่งทำให้พวกเขาขับขี่รถลำบาก มากยิ่งขึ้น จึงอยากฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยพิจารณาซ่อมแซมถนน เส้นนี้เพื่อพี่น้องชาวตำบลพะเนาด้วย ขอบคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ปิยชาติ รุจิพรวศิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๒ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ นอกจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะได้กำหนดให้มีการรับรองเสรีภาพ ในการชุมนุมโดยสงบของประชาชน อย่างที่เราทุกคนรู้กันอยู่แล้วว่าการชุมนุมโดยสงบ ยังเป็นสิทธิที่ถูกรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง International Convenance on Civil and Political Rights หรือเรียกโดยย่อว่า ICCPR อีกด้วย ซึ่ง ICCPR เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยประเทศที่เป็นสมาชิกจะต้องเคารพ และประกันสิทธิเสรีภาพดังกล่าวให้กับประชาชน ซึ่งประเทศไทยเองก็เข้าเป็นภาคี และมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ เราจะเห็นได้ว่านานาอารยประเทศที่ปกครองด้วย ระบอบประชาธิปไตยให้ความสำคัญต่อเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนเป็นอย่างมาก โดยปกติแล้วย่อมไม่มีใครอยากจะมาชุมนุม แต่เพราะมีเหตุต่าง ๆ ที่ไม่มีหนทางสื่อสาร พวกเขาจึงต้องออกมาชุมนุมเพื่อบอกให้ผู้มีอำนาจรู้ว่าบ้านเมืองกำลังมีปัญหา ในสังคม ประชาธิปไตย เสรีภาพในการชุมนุมถือเป็นเครื่องมือของประชาชนเพียงไม่กี่เครื่องมือ ที่จะทำให้ประชาชนได้มีโอกาสส่งเสียงของพวกเขาถึงผู้แทนราษฎรทั้งหลาย รวมถึงผม และทุกคนที่อยู่ในที่นี้ด้วย แต่จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี ๒๕๖๓ ทำให้ผมเห็นว่า ประเทศของเรายังมีการลิดรอนเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบที่ควรจะเป็นของประชาชน อย่างที่ทำเสมอมาจนเป็นเรื่องปกติ ในการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองของประชาชน เมื่อปี ๒๕๖๓ ควรจะเป็นการชุมนุมที่รัฐบาลให้การสนับสนุน คุ้มครอง รวมถึงเฝ้าระวัง ความปลอดภัยให้กับประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมและไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมทุกคน สิ่งที่เกิดขึ้นคือเจ้าหน้าที่นอกจากจะไม่สนับสนุนและคุ้มครองประชาชนแล้ว กลับลิดรอน เสรีภาพอันควรจะเป็นของประชาชนโดยใช้วิธีสลายการชุมนุม ซึ่งการสลายการชุมนุม โดยหลักสากลแล้วควรจะกระทำต่อเมื่อการชุมนุมได้ก่อให้เกิดความไม่สงบ และไม่ควร จะใช้กำลัง เว้นแต่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จากที่ผมเห็นการชุมนุมในปี ๒๕๖๓ ผมเห็น เยาวชน ผมเห็นประชาชนมือเปล่าถูกสลายการชุมนุมด้วยรถฉีดน้ำแรงดันสูง ผมเห็น พวกเขาถูกสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง น่าเห็นใจเจ้าหน้าที่ที่เขาต้องจำใจ สลายการชุมนุมเพียงเพราะเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ท่านประธานครับ เสรีภาพ ในการชุมนุมถือว่าเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของ การแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในสังคมประชาธิปไตย ผมในฐานะผู้แทนราษฎร ของประชาชน อยากขอให้เพื่อนสมาชิกสนับสนุนให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษามาตรการควบคุมฝูงชน และแสวงหาข้อเท็จจริงการสลายการชุมนุม อันเนื่องมาจาก เหตุการณ์การชุมนุมของเยาวชน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๖๓ ถึง พ.ศ. ๒๕๖๕ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทุกคนมีมาตรฐาน เพื่อเป็นการสร้าง บรรทัดฐานทางเสรีภาพของประชาชนให้ถูกต้องอย่างที่ควรจะเป็น เพื่อป้องกันความสูญเสีย ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพราะหนึ่งในผู้ชุมนุมอาจเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นลูก เป็นหลาน เป็นคนที่ท่านรู้จัก หรือเป็นคนที่ผมรู้จัก และเพื่อเสรีภาพของประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะฝั่งไหน ฝ่ายไหน ขอบคุณครับ
ท่านประธานครับ ๒๒๗ ปิยชาติ แสดงตนครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ปิยชาติ รุจิพรวศิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๒ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ปริมาณขยะที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นปัญหาที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญ ซึ่งทุกวัน จะมีปริมาณขยะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประเทศไทยและจังหวัดนครราชสีมาด้วยครับ
โดยเฉพาะในพื้นที่โคราช เขต ๒ ที่ตำบลหนองบัวศาลา ซึ่งเป็น ๑ ใน ๒ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยของอำเภอเมืองนครราชสีมา ในแต่ละวันต้องกำจัดขยะมูลฝอย จาก ๓๔ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชนในพื้นที่ ใกล้เคียง รวมปริมาณเฉลี่ย ๕๕๐ ตัน แบ่งเป็นขยะในเขตเทศบาล ๒๒๐ ตัน นอกเขตเทศบาล ๓๒๐ ตัน แต่ระบบสามารถกำจัดได้เพียงวันละ ๑๐๐ ตันเท่านั้น โดยนำไปใช้ระบบผลิต ปุ๋ยอินทรีย์และกระแสไฟฟ้า จำนวน ๒๕,๐๐๐ หน่วยต่อเดือน คงเหลือขยะสะสมตกค้าง ๔๕๐ ตัน ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็เท่ากับช้างขนาดใหญ่ ๗๕ ตัว ซึ่งเป็นจำนวนที่เยอะ มาก ๆ ท่านประธานครับ ช่วงแรก ๆ ก็มีการมอบหมายให้บริษัทเอกชนขนย้ายขยะส่วนเกิน ๓๐๐ ตันไปกำจัดที่โรงงานในจังหวัดใกล้เคียง แต่ล่าสุดปัจจุบันนี้ไม่ได้นำไปทิ้งแล้ว เพราะ เหตุผลคือยังตกลงกับบริษัทเอกชนไม่ได้ ผมเองก็ไม่ทราบว่าสาเหตุใดที่ทำให้การตกลงกันนี้ ไม่สำเร็จ แต่หากมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาการจัดการ ขยะชุมชน ผมจะส่งเรื่องนี้เข้าไปหาทางแก้ไขปัญหาให้พี่น้องชาวโคราชและตำบล หนองบัวศาลา ท่านประธานครับ ปริมาณขยะสะสมตกค้างกว่าหลายแสนตัน บ่อฝังกลบ แทบจะไม่มีพื้นที่รองรับและเกิดภาวะวิกฤต นี่ก็เป็นเวลากว่า ๒๐ ปี แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พยายามแก้ไขเยียวยา แต่ปัญหาที่เกิดจากศูนย์กำจัดขยะแห่งนี้ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากความเจริญเติบโตของเมือง อัตราการสร้างขยะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่มีการจัด กิจกรรมหรือเทศกาลสำคัญต่าง ๆ ในพื้นที่ ขยะทั้งหมดจะถูกขนมาทิ้งไว้ที่บ่อขยะแห่งนี้ ด้วยปริมาณขยะเพิ่มขึ้นได้สร้างปัญหาทั้งน้ำเสียและกลิ่นเหม็นแสบจมูก หากฝนตกหนัก จะมีน้ำจากกองขยะไหลลงสระน้ำธรรมชาติ ทำให้สิ่งมีชีวิตในน้ำเสียชีวิต และช่วงฤดูหนาว กระแสลมจะพัดกลิ่นเหม็นฟุ้งกระจาย และขณะนี้ลูกบ้านหลายรายได้ล้มป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ส่งผลกระทบต่อ คุณภาพชีวิตของชาวบ้าน หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๕ หมู่ที่ ๖ หมู่ที่ ๙ และหมู่ที่ ๑๐ ของตำบล หนองบัวศาลา รวมกว่า ๒,๐๐๐ ครัวเรือนครับ ท่านประธานครับ ผมเห็นเพื่อนสมาชิก ได้เสนอแนะวิธีการจัดการขยะที่น่าสนใจกันหลายท่าน และคงเป็นเรื่องดีหากได้มีการนำข้อดี ต่าง ๆ มาปรับใช้ในท้องถิ่นของเรา รวมถึงที่จังหวัดนครราชสีมา แต่ท่านประธานครับ ยังมีพี่น้องอีก ๑ กลุ่มอาชีพ ที่พวกเขาก็อยู่ใกล้กับขยะเหล่านี้ทุกวันเช่นกัน ผมจึงอยากจะ ขอเสนอแนะเพิ่มเติมในส่วนของบุคลากร ผู้ซึ่งทำหน้าที่เสียสละในการเก็บขยะหรือแยกขยะ ให้พวกเราว่าเรามีการดูแลพวกเขาดีพอกันแล้วหรือยัง ทั้งในเรื่องของค่าครองชีพ ทั้งในเรื่อง ของสวัสดิการ อุปกรณ์ป้องกันขณะที่พวกเขากำลังทำงาน จากข้อมูลอาชีพคนเก็บขยะ เงินเดือนของพวกเขาเริ่มต้นที่ ๙,๐๐๐ บาท บวกเงินสนับสนุนค่าครองชีพอีก ๑,๐๐๐ บาท บวกกับค่าเสี่ยงภัยต่อสุขภาพอีกประมาณ ๑,๕๐๐ บาท ใช่ครับ ค่าเสี่ยงภัย ๑,๕๐๐ บาท สำหรับพนักงานจัดเก็บขยะมูลฝอยซึ่งมีความเสี่ยงจากการติดเชื้อในขณะทำงาน และจาก ข้อมูลที่ผมได้กล่าวข้างต้นว่าขยะสร้างมลพิษให้แก่ประชาชน ส่งผลกระทบมากมายต่อ สุขภาพกาย ในขณะเดียวกันผู้ที่ทำอาชีพเก็บขยะหรือคัดแยกขยะเหล่านั้นจะต้องอยู่ใกล้ชิด ต่อความเสี่ยง ไม่ว่าจะโรคติดต่อหรืออะไรใด ๆ ก็ตามซึ่งไม่คุ้มเลยที่พวกเขาได้รับ ค่าตอบแทนเพียงเท่านี้ ท่านประธานครับ จากข้อมูลของเว็บไซต์ Naver ระบุว่าพนักงานเก็บ ขยะในประเทศเกาหลีใต้มีเงินเดือนอยู่ที่ ๘๘๐,๐๐๐-๑,๑๐๐,๐๐๐ บาทต่อปี หรือประมาณ เดือนละ ๘๗,๐๐๐ บาท ในขณะที่ค่าครองชีพโดยเฉลี่ยของประเทศเกาหลีนั้นอยู่ที่ประมาณ เดือนละ ๓๘,๑๖๙ บาท พอลองเปรียบเทียบกับประเทศไทยแล้ว พนักงานเก็บขยะของไทย จะต้องทำงานเกือบ ๑๐ เดือนถึงจะได้เงินเดือนเทียบเท่ากับพนักงานเก็บขยะของประเทศ เกาหลีใต้ที่ทำงานแค่เดือนเดียว เป็นอัตราส่วนที่ฟังแล้วน่าตกใจและหดหู่อย่างบอกไม่ถูก ท่านประธานครับ ทั้งหมดที่ผมกล่าวมานี้เพราะอยากให้มีการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ทั้งใน เรื่องการจัดการขยะ การร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชนและประชาชน รวมถึงด้าน บุคลากรด้วย เพราะหากเรามีการจัดการขยะที่เป็นระบบนอกจากจะทำให้ประเทศเรา บ้านเมืองเรา จังหวัดที่ทุกท่านอยู่อาศัย รวมถึงจังหวัดนครราชสีมาให้ประชาชนชาวโคราชได้ ห่างไกลจากมลพิษ ทั้งนี้ยังจะเป็นการร่นเวลาให้เจ้าหน้าที่ที่ต้องทำการแยกขยะหรือ พนักงานเก็บขยะ ให้พวกเขาได้มีเวลาเสี่ยงภัยน้อยลงเพื่อที่พวกเขาจะได้กลับไปเจอหน้า ครอบครัวได้เร็วขึ้น ได้กลับไปเจอคนที่เขารัก และกลับไปอยู่กับคนที่เขารักได้นานขึ้นครับ ผมจึงขอสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหา การจัดการขยะชุมชน เพื่อมาร่วมกันหาทางจัดการเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง ขอบคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ปิยชาติ รุจิพรวศิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๒ พรรคก้าวไกล ขอหารือ กับท่านประธาน
เรื่องที่ ๑ ผู้พิการในจังหวัดนครราชสีมากว่า ๙๙,๐๐๐ คน ฝากผมมา ทวงถามว่าเมื่อไรศูนย์บริการคนพิการโคราชที่กำลังสร้างอยู่ที่ตำบลหนองบัวศาลา ด้วยงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จำนวนกว่า ๓๐ ล้านบาท เมื่อไรศูนย์บริการคนพิการแห่งนี้จะสร้างเสร็จและได้เปิดใช้ กำหนดการเดิมนั้นจะต้อง เสร็จสิ้นในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ โดยมีงวดเงินและงวดงานทั้งสิ้น ๑๒ งวดตามลำดับ ต่อมา ผู้รับจ้างได้เสนอแผนก่อสร้างดำเนินการแล้วเสร็จเดือนตุลาคม ๒๕๖๖ ปัจจุบันนี้ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ และถึงแม้จะแจ้งว่าสร้างเสร็จไปแล้วกว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยัง ไม่มีท่าที่ว่าจะได้เปิดใช้งาน โดยตัวอาคารมีสภาพเสื่อมโทรม จนถึงขณะนี้เวลาล่วงเลยมานาน กว่า ๔ ปี ยังไม่มีการส่งมอบอาคาร จึงอยากฝากท่านประธานไปยังกระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องช่วยตอบพี่น้องผู้พิการจังหวัดนครราชสีมาว่าเมื่อไรศูนย์คนพิการแห่งใหม่ จะสร้างเสร็จและเปิดใช้งานได้สักที เงินงวดงานที่ไม่ทราบว่าเบิกไปก่อนหรือจ่ายตาม ประเมินงวดงานหรือไม่ อย่างไร มีการจ่ายเงินค้ำประกันที่ผิดสัญญาหรือไม่ อย่างไร ใบเสนอ ราคาวัสดุมีการเสนอทั้งที่ผิดสัญญาดำเนินงานหรือไม่ อย่างไร
เรื่องที่ ๒ ปัญหาน้ำประปาโคกสูง หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๑๑ ปัญหาหลักคือ บ่อพักน้ำที่วัดบ้านโคกสูงไม่มีที่บำบัดน้ำเสีย จึงทำให้ระบบกรองน้ำที่มีอยู่ยังกรองไม่ได้ผล เท่าที่ควร และยิ่งตอนนี้คลองที่นำน้ำมาผลิตน้ำประปาที่มาจากเขื่อนโพธิ์เตี้ยมีจำนวน ปริมาณที่น้อยและน้ำไม่ไหลเวียน ยิ่งทำให้น้ำเป็นตะกอนไม่สะอาดมากขึ้นกว่าเดิม จึงอยากฝากท่านประธานไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยพิจารณางบประมาณขุดลอกและขยายทางน้ำพื้นที่บริเวณตำบลโคกสูง หมู่ที่ ๒ และ หมู่ที่ ๑๑ ซึ่งตรงจุดนี้หากมีการขุดลอก รวมไปถึงหากสามารถพิจารณาขยายทางน้ำและ ขยายจุดกักเก็บน้ำได้ คาดว่าจะบรรเทาปัญหาเรื่องน้ำให้ชาวตำบลโคกสูงได้อย่างยั่งยืนครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ปิยชาติ รุจิพรวศิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๒ พรรคก้าวไกลครับ ก่อนอื่น ต้องขอขอบคุณทาง สปสช. ที่วันนี้เข้ามารายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ นะครับ แต่ผมมีเรื่องที่อยากจะหารือผ่านท่านประธานไปยัง สปสช. นะครับ เนื่องด้วยงบประมาณโครงการผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับที่ไม่เพียงพอ ต่อผู้ป่วยที่มีสภาวะติดเตียงหรือมีปัญหาขับถ่ายครับ
ท่านประธานครับ สืบเนื่องจาก การดำเนินของภาครัฐในโครงการผ้าอ้อมผู้ใหญ่ดังที่ในสไลด์ขึ้นตอนนี้นะครับ แผ่นรองซับ สำหรับผู้ที่มีภาวะติดเตียงหรือมีปัญหาในเรื่องของการขับถ่ายนั้น เป็นโครงการที่ดีต่อพี่น้อง ประชาชนเป็นอย่างมาก ท่านประธานครับ ในปัจจุบันนั้นมีผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้ที่มีปัญหา ในเรื่องของการขับถ่ายที่ได้รับการสนับสนุนผ้าอ้อม แผ่นรองซับหรือแผ่นซึมซับอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือคละกันตามความจำเป็นของการใช้งานเฉลี่ยวันละ ๓๐ บาทต่อคน ประกอบไปด้วย ๑. ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ราคา ๙.๕๐ บาท ต่อ ๑ ชิ้น ๒. แผ่นรองซับการขับถ่ายราคา ๖ บาท ต่อ ๑ ชิ้น ๓. แผ่นซึมซับราคา ๔.๗๐ บาท ต่อ ๑ ชิ้น ท่านประธานครับ โครงการนี้อยู่ใน งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นหรือพื้นที่ โดยในปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕ แต่ไม่ได้ปรากฏเอกสารสรุปยอดการแจกจ่ายและใช้จ่ายงบประมาณโครงการนี้ในปีที่ผ่านมา เว้นแต่มีเอกสารเงินคงเหลือกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น หรือพื้นที่ดังที่ปรากฏ ดังภาพในสไลด์ตอนนี้ ซึ่งเอามาจากรายงานเล่มนี้ในหน้า ๒๔๕ ท่านประธานครับ จากนั้น ในปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา มีการสรุปการแจกจ่ายจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ถึงการแจกจ่ายผ้าอ้อมจำนวนทั้งสิ้น ๑๘.๐๒ ล้านชิ้น และแผ่นรองซับจำนวนทั้งสิ้น ๕๗๒,๗๔๑ ชิ้น ต่อจำนวนผู้ป่วยทั้งสิ้น ๔๔,๖๖๗ คนทั่วประเทศ รวมงบประมาณที่ใช้ไป ทั้งสิ้น ๑๕๔.๕๓ ล้านบาท
ท่านประธานครับ จากเอกสารของ สปสช. ในพื้นที่ตำบลบ้านโพธิ์ ขออนุญาต ท่านประธานเอ่ยชื่อตำบลนะครับ แต่ไม่เสียหาย เพราะผมกำลังจะชี้แจงให้เห็นว่าผู้ป่วย ที่ได้รับผ้าอ้อมผู้ใหญ่นี้มีไม่ทั่วถึงครับ ตำบลบ้านโพธิ์ตั้งอยู่ในพื้นที่เขต ๒ จังหวัดนครราชสีมา ได้รับงบไปที่ ๑๑๐,๗๑๖ บาท แต่เมื่อหักค่าต่าง ๆ ดังสไลด์นี้ อาทิ ค่าผ้าอ้อม ค่าแผ่นรองซับ ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ ค่าประชาสัมพันธ์โครงการ ค่าวัสดุจัดทำกิจกรรมและค่าใช้จ่าย ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมนั้น ทำให้ยอดเงินคงเหลือมีเพียงผู้ป่วยไม่กี่คนที่ได้รับงบผ้าอ้อมนี้ ซึ่งยังไม่รวมผู้ป่วยที่ตกสำรวจจากโครงการนี้อีกจำนวนหนึ่ง รวมไปถึงผมได้รับเสียงสะท้อน มาจากผู้ป่วยที่ได้รับผ้าอ้อมผู้ใหญ่นี้ เขาแจ้งมาว่าคุณภาพยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน
ท่านประธานครับ ยังมีพื้นที่อื่น ๆ ในอำเภอเมือง รวมถึงตำบลพะเนาที่อยู่ ในเขต ๒ จังหวัดนครราชสีมา จากการสำรวจพื้นที่พร้อมกับทีมงานและได้รับความร่วมมือ ของพี่ ๆ อสม. ในพื้นที่ ทำให้พบว่าคุณลุงในภาพนี้ มีเพียงแค่เบี้ยผู้สูงอายุในการเลี้ยงชีพ แต่ละเดือน ท่านไม่มีแม้แต่เงินพอที่จะซื้อผ้าอ้อม แล้วท่านที่อยู่ในรูปนี้ตกสำรวจโครงการนี้ และทางโครงการได้ตัดงบประจำปีไปแล้วเรียบร้อย ผมจึงมีความรู้สึกว่ายังมีผู้ป่วยและ ผู้ต้องการผ้าอ้อมผู้ใหญ่แผ่นรองซับอีกหลายท่าน ไม่เพียงแต่พื้นที่ในจังหวัดนครราชสีมา แต่ยังมีอีกหลายจังหวัด หลายอำเภอ หลายพื้นที่ ที่กำลังพบเจอกับเหตุการณ์ในลักษณะ เดียวกันนี้ ผมจึงอยากฝากข้อเสนอแนะผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงาน สปสช. แล้วก็ อยากจะขอความร่วมมือได้ลองหาวิธี หรือว่าหาทางออกในการแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืน และเหมาะสม อาจจะเป็นการพิจารณาการยืดหยุ่นระยะเวลาการตัดงบประมาณในส่วนนี้ รวมไปถึงพิจารณาเกณฑ์การได้รับให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อที่ทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์ ต่อผู้ป่วยที่มีภาวะติดเตียง หรือมีปัญหาขับถ่ายที่กำลังรอการช่วยเหลือจากภาครัฐอยู่ ขอบคุณครับ