เรียนท่านประธาน ผม ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พรรคก้าวไกล จากชาวอยุธยา และบางบาลครับ ท่านประธานครับ วันนี้ขอปรึกษาหารือทั้งหมด ๕ เรื่องด้วยกันครับ
เรื่องที่ ๑ ขอให้เร่งรัดโครงการปรับปรุงพื้นผิวถนนและขยายช่องจราจร ทางหลวง หมายเลข ๓๐๙ บริเวณทางเข้าวัดจุฬามณี ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอบางบาล ซึ่งเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งจากปัญหาพื้นผิวการจราจรที่ชำรุดและคอสะพานที่ทรุด อีกทั้งยังมี ช่องการจราจรเพียงแค่ ๒ ช่องเท่านั้น
เรื่องที่ ๒ ขอให้เร่งรัดโครงการปรับปรุงพื้นผิวจราจรทางหลวงชนบท หมายเลข ๔๐๓๘ จากสี่แยกวัดกอไผ่ถึงคลองมโนราห์ อำเภอบางบาล ซึ่งได้รับความเสียหาย จากรถบรรทุกดิน รถบรรทุกทราย ที่วิ่งอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก
เรื่องที่ ๓ ต่อเนื่องเลยครับ ขอให้เร่งรัดแก้ไขถนนเลียบคลองมโนราห์ จากทางหลวงชนบท ๔๐๓๘ จนถึงวัดบางปลาหมอ อำเภอบางบาล เนื่องจากเป็นชุมชนที่มี ศักยภาพด้านการท่องเที่ยวมากครับท่านประธาน มีทั้ง Resort โรงละคร จุดชมค้างคาวแม่ไก่ และวัดสำคัญหลายแห่ง แต่ถนนกลับทรุดโทรมเป็นอย่างมากจนกระทบต่อวิถีชีวิต และการท่องเที่ยวของชุมชน
เรื่องที่ ๔ ขอให้แก้ไขจุดกลับรถใต้สะพานวัดกษัตราธิราชวรวิหาร ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา วัดสำคัญของพวกเราชาวอยุธยาครับ เนื่องจากมีรถบรรทุกจำนวนมาก หลบด่านชั่งน้ำหนักมาใช้เส้นทางนี้ครับ ท่านประธาน ต่อเนื่องไปจนถึงตำบลปากกราน คลองตะเคียน และตำบลบ้านรุน โดยเฉพาะหลังจากที่ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ประกาศว่าจะลงพื้นที่ก็พบว่ารถบรรทุกหนีมาใช้เส้นทางนี้เยอะมากขึ้นจนปัจจุบันนี้ ถนนเสียไปแล้ว ๑ เลนนะครับ ท่านประธาน พี่น้องประชาชนเดือดร้อนมาก
เรื่องที่ ๕ ศูนย์ขยะต้นแบบองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือชื่อเล่นว่าบ่อขยะบางบาล กำลังก่อปัญหาอย่างหนักให้กับพี่น้องอำเภอพระนครศรีอยุธยา และอำเภอบางบาลครับท่านประธาน เมื่อฝนตกหนักก็เกิดกลิ่นเหม็นไปทั่วพื้นที่ แต่เมื่อฝนแล้งก็เกิดเพลิงไหม้บ่อขยะ เกิดเป็นมลพิษและหมอกควัน กล่าวได้ว่าอยุธยา และบางบาลนี่ถูกปกคลุมไปด้วย ๔ หมอกร้ายด้วยกันครับ ท่านประธาน ได้แก่ ๑. ฝุ่นควัน จากรถบรรทุกดิน รถบรรทุกทราย ๒. หมอกควันจากการเผาอิฐ ๓. หมอกควันจากการเผานา จนไปถึง PM2.5 และ ๔. หมอกควันจากเพลิงไหม้บ่อขยะจนเป็นมลพิษที่ส่งผลร้ายแรง ต่อสุขภาพประชาชน ผมมีข้อเสนอเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาดังนี้ครับ ๑. คือ ขอให้ อบจ. พระนครศรีอยุธยาเร่งหาแนวทางการจัดการขยะที่ตกค้างอยู่ในบ่อขยะโดยเร็ว ที่สุด โดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและพี่น้องประชาชน ๒. ขอให้กระทรวงมหาดไทย ได้พิจารณาแก้ไขประกาศกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการกำจัดขยะมูลฝอย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เพื่อปลดล็อกให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถกำจัดขยะได้เองโดยที่ไม่ต้อง ขอความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขอให้พิจารณาด้วยครับ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พรรคก้าวไกล จากชาวอยุธยาและบางบาลครับ วันนี้ผมขอมีส่วนร่วมในการนำเสนอแนวทาง หรือความคิดเห็นต่อกองทุนจัดรูปที่ดินในฐานะนักผังเมืองและสถาปนิกครับ
ท่านประธานครับ การจัดสรรรูปที่ดินกองทุนนี้นั้นเป็นกองทุนที่ดีเยี่ยมมาก เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในต่างประเทศที่ใช้ในการออกแบบผังเมือง ใช้ในการออกแบบ สาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานให้กับประชาชนในประเทศที่เจริญแล้ว แต่ในประเทศไทย ของเรายังมีปัญหาเยอะแยะมากมายในเรื่องการจัดรูปที่ดินอย่างที่เพื่อนสมาชิกได้กล่าว ไปข้างต้นแล้ว แต่วันนี้ผมขอเรียงลำดับความสำคัญการออกแบบผังเมืองที่จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องควบคู่ไปกับการออกแบบขนส่งมวลชน เพื่อให้ขนส่งมวลชนนั้นต้องเป็นขนส่งมวลชน ที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ สามารถไปส่งพี่น้องประชาชนได้ใกล้บ้านของพวกเขาได้มากที่สุด จึงจำเป็นที่จะต้องมีขนส่งที่หลากหลายรูปแบบ หลากหลายประเภท เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย ของเมืองนั้น ๆ ครับ
ประการแรกที่ผมอยากจะสื่อ ถึงความสำคัญของการจัดรูปที่ดินและขนส่งสาธารณะในพื้นที่ ความสัมพันธ์ของเมือง และขนส่งมวลชนหรือขนส่งสาธารณะในเชิงทฤษฎีเราบอกว่าเราต้องออกแบบเมือง ออกแบบความสัมพันธ์ ออกแบบประเภทการใช้งานของที่ดินก่อน จากนั้นจึงหาทางเชื่อมต่อ หาทางทำให้ทุกประเภทเชื่อมต่อเข้าหากัน และสุดท้ายหาสิ่งที่จะมาเชื่อมโยงทุกอย่าง นั่นก็คือยานพาหนะหรือขนส่งมวลชน มันคือการจัดสรรความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน และระบบขนส่ง ไม่ใช่เพียงแค่รถไฟฟ้าใต้ดิน บนดิน หรือรถเมล์สารพัดรูปแบบ รถยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์เท่านั้น แต่ทางเท้าและทางจักรยานก็ถือเป็นขนส่งมวลชน ขนส่งเพื่อบุคคล สาธารณะทั้งหมดครับ
ประการที่ ๒ กองทุนจัดรูปที่ดินนั้นจากที่ได้ลงรายละเอียดข้อมูล รวมไปถึง ที่เพื่อนสมาชิกได้กล่าวมาแล้วนั้น ต้องบอกตามตรงว่าสิ่งที่จำเป็นสำหรับกองทุนนี้ผมเสนอว่า คือการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น กระจายอำนาจและกระจายงบประมาณเพื่อให้คนในท้องถิ่น ที่เขารู้จักพื้นที่ของเขาดีที่สุด มีส่วนร่วมในการออกแบบครั้งนี้ครับ แต่อีกจุดหนึ่งที่อยากจะ นำเสนอนั่นก็คือเรื่องของความไม่สอดคล้องกันระหว่างที่อยู่อาศัยและสถานที่ทำงาน ของประชาชนในปัจจุบัน โดยเฉพาะประชาชนในเมืองใหญ่ของประเทศไทย ยกตัวอย่าง คนที่ทำงานอยู่ในกรุงเทพมหานครก็มีบ้านที่อยู่ไกลจากพื้นที่ของเขาแล้ว นั่นเป็นสิ่งสำคัญที่ว่า ทำไมการจัดสรรรูปที่ดินนั้นต้องเกิดทุกพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ และผมเชื่อว่าการกระจายอำนาจ แบบพรรคก้าวไกล การปลดล็อกท้องถิ่นจะสามารถช่วยทุกท่านได้แน่นอนในการแก้ปัญหานี้
ประการที่ ๓ ผมต้องขอเรียนนำเสนอถึงกองทุนจัดรูปที่ดินครับ ผมได้เห็น ข้อมูลหนึ่งที่ทางกองทุนนี้ได้พูดถึงเรื่องของการจัดสรรที่ดินบริเวณโดยรอบสถานีรถไฟ หรือที่เราเรียกกันว่าการออกแบบ TOD การออกแบบ TOD นี้เริ่มจะมีความสำคัญ ในประเทศไทยเยอะมาก เพราะปัจจุบันนี้เรามีโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่จะไปถึง แต่ละจังหวัดของประเทศไทย ผมขออนุญาตพาทุกท่านมาดูสถานีรถไฟของจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ผมอยากเรียนตามตรงว่าขอให้กองทุนจัดรูปที่ดินได้ให้ความสำคัญ และเพิ่มการทำงานไปสู่ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่สามารถที่จะทำให้กองทุนจัดรูปที่ดินสามารถ พัฒนาได้มากกว่านี้ เนื่องจากว่าในหลาย ๆ จังหวัด ในหลาย ๆ พื้นที่ไม่เกิดการจัดรูปที่ดิน ในพื้นที่ที่สำคัญ ตัวอย่างเช่นโครงการรัฐขนาดใหญ่เลยครับ ผมพาไปดูตัวอย่างที่จังหวัด พระนครศรีอยุธยา นี่เป็นแบบล่าสุดของสถานีรถไฟอยุธยา รถไฟฟ้าความเร็วสูงที่จะมา ที่สถานีแห่งนี้ ผมไม่ติดใจเรื่องของการออกแบบส่วนอื่น ๆ หรือตำแหน่งของสถานี แต่สิ่งที่ผมติดใจนั่นก็คือรถไฟไทยหรือการรถไฟแห่งประเทศไทยออกแบบอยู่ในพื้นที่ที่ดิน ของตัวเองเพียงเท่านั้น แต่ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นแบบนี้ครับท่านประธาน ทำให้เกิดพื้นที่สีเขียวหรือทางเข้า หรือที่เรียกว่า Dropoff จุดรับผู้โดยสาร จุดรับพี่น้อง ประชาชนมีรูปร่างที่แปลกไปแปลกมาครับ นั่นทำให้เกิดผลหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ทางเข้า ทางออก ก็ทำให้พี่น้องประชาชนเข้าออกได้ลำบาก หรือขนส่งมวลชนที่ผม ได้กล่าวมานั้นมารับส่งได้ลำบาก เกิดเป็นความล่าช้า รวมไปถึงด้านบนด้วยที่มีพื้นที่อยู่แค่นั้น แต่มีการวางเอาขนส่งสาธารณะลงมาในนั้น จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการจัดรูปที่ดิน ในต่างประเทศหรือในประเทศที่เจริญแล้วมันสำคัญอย่างยิ่ง สำคัญกับการออกแบบเมือง เพราะว่าการออกแบบเมืองนั้นคือคุณภาพชีวิต คือลมหายใจ คือน้ำ คือทุกอย่างที่พี่น้อง ประชาชนตื่นเช้าออกมาจากบ้านแล้วมาเจอเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพวกเราในฝ่ายบริหาร และฝ่ายการเมือง เพราะฉะนั้นเรื่องนี้อยากขอฝากท่านประธานไปถึงกองทุนและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาเรื่องการจัดรูปที่ดินให้เป็นสิ่งที่พัฒนาท้องถิ่นของประเทศไทย และผมจะขอติดตามการออกแบบพื้นที่รอบสถานีรถไฟทั่วประเทศต่อไป ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พรรคก้าวไกล จากชาวพระนครศรีอยุธยาและบางบาลครับ ท่านประธานครับ วันนี้มีเรื่องด่วนมาก ขอฝาก เรื่องเร่งด่วนของชาวพระนครศรีอยุธยาไปยังสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. และท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ขออนุญาตเอ่ยนามครับ เมื่อคืนมีการเริ่ม ปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาที่ ๑,๗๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีแล้วนะครับ สัปดาห์ที่ผ่านมา เขื่อนเจ้าพระยาได้ปล่อยน้ำมามากกว่า ๑,๖๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้บ้านเรือน ของชาวพระนครศรีอยุธยาในอำเภอผักไห่ อำเภอเสนา และอำเภอบางบาลบ้านผมน้ำเริ่ม เข้าท่วมแล้ว ถึงแม้ระดับน้ำจะไม่สูงมากนัก แต่ความเสียหายและความเดือดร้อนได้เกิดขึ้น แล้วครับ จึงขอถอดบทเรียนและเสนอแนะการบริหารน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมด ๓ เรื่องด้วยกันครับ
เรื่องที่ ๑ สทนช. ไม่มีแผนรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ผันผวนเลย ต้นเดือนบอกว่าน้ำแล้ง แต่พอปลายเดือนน้ำก็เข้าท่วมบ้าน เตือนภัยก็ล่าช้า แบบนี้ประชาชน เก็บข้าวของและคาดการณ์ไม่ทัน ศูนย์อพยพก็ไม่เตรียม ที่เตรียมไว้ก็ชำรุด อีกทั้งยังตั้ง ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าภาคกลางช้าเกินไปหรือเปล่า ควรจะตั้งรับมือตั้งแต่ การปล่อยน้ำที่ ๑,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีหรือไม่
เรื่องที่ ๒ ขอเสนอผ่านไปถึง สทนช. ให้ได้เร่งรัดจัดกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาทุ่งรับน้ำภาคกลางเพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินให้รองรับน้ำจริง ๆ ไม่ใช่ปล่อยให้ อุตสาหกรรมอย่างบ่อดิน บ่อทราย ต้องมาอยู่ในทุ่งรับน้ำและก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วม ซ้ำซากแบบนี้
เรื่องที่ ๓ การเยียวยาที่ไร้คุณภาพและไร้ความเป็นธรรมจากภาครัฐ สิ่งที่พี่น้อง ต้องประสบพบเจอหลังจากน้ำท่วม คือความทุกข์ใจกับการเยียวยาที่ไม่คุ้มค่าและไม่ครอบคลุม อีกทั้งคุณภาพของของบริจาคจากรัฐนั้นก็น้อยมาก จะบริจาคข้าวแข็ง ๆ แบบนี้ให้กับ ชาวพระนครศรีอยุธยาอีกนานแค่ไหนครับ สอดคล้องกับการตั้งกองทุนเพื่อรัฐจะได้มี งบประมาณที่เพียงพอต่อการเยียวยาแบบที่พรรคก้าวไกลเราเสนอไว้ที่ ๓,๐๐๐ บาทต่อ ครัวเรือนต่อเดือน
สุดท้ายนี้ผมทราบดีว่าหากทุ่งรับน้ำของพระนครศรีอยุธยาไม่มีน้ำมาถือเป็น วิกฤติใหญ่ของประเทศไทยแน่นอน แต่ทั้งหมดมันพิสูจน์แล้วว่าที่น้ำท่วมพระนครศรีอยุธยา ซ้ำซากมันไม่ได้เกิดจากภัยธรรมชาติ แต่เกิดจากการบริหารน้ำที่ล้มเหลวของ สทนช. ผมจะ ขอติดตามเรื่องการบริหารจัดการน้ำต่อไปเป็นเงาตามตัวแน่นอน ขอบคุณท่านประธานครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พรรคก้าวไกล จากชาวอยุธยาและบางบาลครับ ท่านประธานครับ เมื่อช่วงปิดสมัยประชุมไม่นานนี้เอง ผมมีโอกาสได้ร่วมงานไว้อาลัยแด่เด็กชายชาวอยุธยาคนหนึ่ง ซึ่งประสบอุบัติเหตุถูกรถชน ที่แยกวัดใจในวัยเพียง ๑๑ ขวบเท่านั้นครับ
ผมเป็นผู้แทนที่อายุ ค่อนข้างน้อยและได้มีโอกาสทำตามความฝัน แต่เรื่องนี้อาจจะไม่เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ หลายคน ที่ควรจะเป็นอนาคตของอยุธยา เรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นที่ทางแยกของถนนที่ชาวอยุธยา เรียกมันว่าแยกวัดใจ เพราะอะไรรู้ไหมครับ ก็เพราะว่ามันคือทางแยกบนถนนที่ไม่มีสัญญาณ ไฟจราจร ไม่มีสัญญาณเตือน ต่างฝ่ายต่างต้องคอยกะและวัดใจเอาเอง ว่าหากออกตัวไปแล้ว จะมีรถสวนมาหรือมีรถมาชนเราหรือไม่ สัญญาณไฟข้ามถนนนี้ไม่ต้องพูดถึงครับ แยกวัดใจแบบนี้ครับท่านประธาน กระจายตัวอยู่ทั่วเกาะเมืองอยุธยาและโดยรอบครับ และนั่นเป็นเหตุให้เมื่อปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสต้องมาสังเวยชีวิตอย่างน่าอนาถใจ จากการชนอย่างรุนแรงโดยรถยนต์บนทางแยกที่มีทั้งทางม้าลายและสัญญาณไฟที่เปิด แต่เพียงไฟเขียวครับ ผมจึงอยากขอเสนอแนวทางการแก้ปัญหาดังนี้
เรื่องที่ ๑ ควรพิจารณาให้มีการกำหนดเส้นทางเดินรถทางเดียวในชั่วโมง เร่งด่วนบนถนนคับแคบและพื้นที่การจราจรหนาแน่น ยกตัวอย่าง เช่น หน้าโรงเรียน โรงพยาบาล หรือจุดท่องเที่ยวสำคัญ
เรื่องที่ ๒ แก้ปัญหาจุดเสี่ยง โดยเริ่มจากถนนสายหลักอย่างถนนปรีดีพนมยงค์ ให้มีสัญญาณไฟแบบกด โดยเฉพาะด้านหน้าที่ว่าการอำเภอพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมี นักท่องเที่ยวใช้จักรยานเป็นจำนวนมาก และเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสเสียชีวิต
เรื่องที่ ๓ ทางแยกขึ้นสะพานวัดกษัตราทั้งขาเข้าและขาออกเมืองเป็น แยกวัดใจที่อันตรายอย่างมาก เพราะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านไปผ่านมา แต่กลับมี รถบรรทุกวิ่งหนีด่านชั่งน้ำหนักมากลับรถที่แยกนี้ นั่นเพิ่มความอันตรายให้ทั้งผู้ใช้รถ และจักรยาน
ผมจึงขอฝากเรื่องนี้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความจำเป็นและความตายของพี่น้อง ชาวอยุธยาผ่านไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อพิจารณาจัดสรรงบประมาณ และบูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อเร่งนำเอาความปลอดภัยของพวกเรา ชาวอยุธยากลับคืนมา ขอบคุณท่านประธานครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พรรคก้าวไกล จากชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและบางบาลครับ ผมขอใช้โอกาสนี้ร่วมอภิปรายถึงปัญหา และข้อเสนอแนะในการจัดการขยะในพื้นที่มรดกโลกและเมืองท่องเที่ยวครับ ในฐานะคนที่เกิด และโตในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเมืองมรดกโลกที่เราภูมิใจนักภูมิใจหนา ก็เห็นได้ชัดครับว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาที่สำคัญ ปลายปีที่แล้วจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเรามีงานเทศกาลใหญ่ ประจำปีที่ใช้งบประมาณมหาศาล แต่เชื่อหรือไม่ครับท่านประธาน การจัดการขยะนั้น ถูกหลงลืมไปเสียหมด ขอภาพประกอบด้วยครับ
ท่านประธานครับ ภาพนี้เห็น ไหมครับว่าคือภาพขยะเกลื่อนเมืองมรดกโลกที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาบ้านผมครับ กลายเป็นภาพชินตาที่ไม่ควรชินหลังจากการจบงานเทศกาลทุกปีครับ พี่น้องประชาชน ต่างบ่นและร้องเรียนมาว่าภายในงานนั้นจุดทิ้งขยะน้อยมากจนเหมือนไม่มีครับ และที่สำคัญ คือไม่มีการคัดแยกขยะ เมื่อสิ้นสุดงานสิ่งที่หลงเหลือไว้แทนที่จะเป็นความประทับใจกลับ กลายเป็นกองขยะหลากหลายรูปแบบที่คัดแยกได้ยากเย็นเหลือเกิน หากท่านประธานได้มี โอกาสไปเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาบ้านผม สิ่งที่ท่านจะประทับใจอย่างแรกอาจไม่ใช่ โบราณสถานที่ทรงคุณค่า แต่เป็นเศษขยะและกองสิ่งปฏิกูลที่เรียงรายและกลาดเกลื่อน ไปทั่วลานจอดรถบัส ลานจอดรถยนต์ ริมถนน และทางเดินโดยรอบพื้นที่มรดกโลก ในภาพนี้ จุดที่ ๗ คือศาลหลักเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ตอนนี้กำลังดังเลยนะครับ แล้วดูขยะสิครับ ภาพนี้ถ่ายเมื่อวาน สมกับเป็นศาลหลักเมืองหรือไม่ครับ หากว่าการจัดการขยะของเมืองมรดกโลก เมืองท่องเที่ยว แล้วทุกเมืองในประเทศไทย ยังคงเป็นแบบนี้ พวกเราจะมีแต่เพียงมรดกบาปสุดสกปรกที่ทิ้งไว้ให้ลูกหลานเราต้องมา ตามล้างตามเช็ด ก็ลองดูภาพที่อาสาสมัครไปเก็บขยะมาสิครับ แต่การจัดการและบริหารขยะ ทั้งหมดนั้น ต้องย้ำว่าเราจะผลักภาระและโยนมรดกบาปนี้ไปให้เพียงแต่องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นเพียงอย่างเดียวไม่ได้ครับท่านประธาน เพราะการสร้างวัฒนธรรมการคัดแยก ขยะที่ต้นทาง สร้างการอำนวยความสะดวกต่อการทิ้งและเอื้อให้ประชาชนสามารถมีวินัยได้ เป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐบาลที่ต้องฝากท่านประธานไปถึงนะครับ ผมขอขยายความเพิ่มเติม ไปถึงปัญหาขยะที่กระจายตัวอยู่ทั่วเมืองท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกที่ชาวต่างชาตินั้นใฝ่ฝัน อยากจะมาเยือน แต่สิ่งที่เขาเหล่านั้นต้องพบ คือขยะพลาสติกขยะที่ย่อยสลายได้ยาก มากมาย แบบนี้เราเป็นเจ้าบ้านเราไม่รู้สึกเขินอายบ้างหรือครับ กลับมายกตัวอย่างที่เมือง ท่องเที่ยวอย่างเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาและพื้นที่ใจกลางมรดกโลกที่มีโบราณสถาน ที่ทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมไทยตั้งอยู่ สถานที่แห่งนี้ที่มีขยะจากหลากหลายแหล่งกำเนิด มารวมตัวกัน ประกอบไปด้วย ๔ ส่วนด้วยกัน
ส่วนที่ ๑ คือขยะจากสถานศึกษา สถานศึกษาโดยรอบพื้นที่มรดกโลกคงไม่มี เวลาเพียงพอให้กับวิชาที่เกี่ยวข้องกับการคัดแยกขยะ ทำให้น้อง ๆ นักเรียนอาจไม่เข้าใจว่า ขยะแบบไหนต้องทิ้งแบบใด
ส่วนที่ ๒ คือขยะจากการท่องเที่ยว ปัจจุบันมีกลุ่มคนทำธุรกิจท่องเที่ยว จำนวนมากที่ไม่คิดถึงส่วนรวม นำขยะที่อยู่บนรถทัวร์บ้าง รถนำเที่ยวบ้าง หรือรถส่วนตัวบ้าง ทิ้งลงที่ตัวเองจอด ว่าง่าย ๆ คือจอดตรงไหนก็เขวี้ยงทิ้งตรงนั้น
ส่วนที่ ๓ คือขยะจากร้านหาบเร่แผงลอย เมื่อไม่มีกฎระเบียบที่เข้มงวด ไม่มี ผังเมืองเพื่อคนเท่ากันและไม่มีระบบการจัดการคัดแยกขยะ ร้านค้าเหล่านี้ก็ทำได้เพียง จอดตรงไหน ขายตรงไหน ก็ทิ้งตรงนั้นอีกแล้วครับ แต่ขยะที่น่าจับตาคือขยะอินทรีย์ที่เป็น เศษอาหารและน้ำมันจากการประกอบอาหาร ซึ่งมักจะเทลงท่อและส่งผลระยะยาว ไม่ใช่เพียงแค่บนพื้นผิว แต่เมื่อไหลลงไปสู่ท่อระบายน้ำไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาจะกลายเป็น ปัญหาใหญ่ในอนาคต
ขยะส่วนสุดท้ายส่วนที่ ๔ ขยะจัดงานเทศกาล เท่าที่ทราบและมีข้อมูล แล้วอยากจะยกกรณีศึกษามาเป็นตัวอย่าง คือที่ถนนคนเดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทีนี้มีจุด ทิ้งขยะและจุดแยกขยะที่เห็นได้ชัดเจนจำนวนเพียงพอ และมีถังขยะมากกว่า ๓ ประเภท พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่คอยอำนวยความสะดวก คอยบอกว่าขยะแบบไหนทิ้งแบบใด ทำให้ต้องนึกย้อนไปถึงประเทศญี่ปุ่นที่ว่าเมื่อมีเทศกาลของเมืองเมื่อไร จุดคัดแยกขยะในงาน ก็พร้อมจะสร้างความประทับใจให้แก่ผู้มาเยือนเสมอ ท่านประธานครับ ผมและพรรคก้าวไกล เรามาพร้อมกับข้อเสนอแนะเสมอ ทางรอดเดียวที่เราเหลืออยู่ คือการคัดแยกขยะที่ต้นทาง แม้จะบอกว่าการสร้างวินัยในการคัดแยกขยะนั้นยาก ที่จริงแล้วต้องบอกว่าเราไม่จริงจัง ต่างหาก ผมขอเสนอให้หลักสูตรการเรียนที่บางวิชานั้นไม่ทันต่อยุคต่อสมัยแล้ว เปลี่ยนมา เป็นหลักสูตรการคัดแยกขยะเป็นวิชาขั้นพื้นฐานที่สามารถนำมาทดแทนได้ทันที เช่น ที่ประเทศญี่ปุ่นที่ไม่เพียงแต่หลักสูตรด้านการคัดแยกขยะ แต่ยังมีสื่อการเรียนการสอน มากมาย ป้ายสัญลักษณ์ที่ออกแบบมาอย่างดีน่าสนใจ บอกประเภทขยะที่ชัดเจนและ ตัวอย่างดี ๆ จากผู้ใหญ่ จนเกิดเป็นวินัยและวัฒนธรรมในชีวิตประจำวัน เราจะให้พี่น้องเรา คัดแยกขยะได้อย่างไร หากว่าในเมืองของเรายังมีถังขยะอยู่เพียงสีเดียว เราจะให้พี่น้องเรา คัดแยกขยะได้อย่างไร หากเรายังไม่มีตารางเก็บขยะที่แบ่งตามประเภทขยะ เราจะให้พี่น้อง เราคัดแยกขยะได้อย่างไร หากเรายังไม่มีภาษีการเก็บขยะที่เป็นธรรม เราจะให้พี่น้องคัดแยก ขยะได้อย่างไรครับ หากเรายังมีแต่รถขยะที่ล้าสมัยเก็บได้น้อยและมีแต่น้ำขยะที่ไหลเรี่ยราด ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วเมือง อีกอย่างที่สำคัญ แล้วเราจะให้พี่น้องเราคัดแยกขยะได้อย่างไรครับ ท่านประธาน หากว่าเรายังมีแต่บ่อขยะที่เอื้อแต่กลุ่มทุนใหญ่กลายเป็นที่เรียกรับผลประโยชน์ จากภูเขาขยะ ทั้งหมดที่ผมกล่าวมานั้นแสดงให้เห็นแล้วว่าวัฒนธรรมการคัดแยกขยะที่ต้นทางสามารถสร้าง ได้โดยรัฐบาล ผมจึงขอเห็นด้วยกับญัตตินี้และส่งต่อแก่คณะกรรมาธิการเพื่อแก้ปัญหาขยะ เกลื่อนเมืองมรดกโลก โดยมีประโยชน์สูงสุดของพี่น้องชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและ ชาวไทยทุกคนเป็นหมุดหมายสำคัญ ขอบคุณท่านประธานครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พรรคก้าวไกล จากชาวอยุธยาและบางบาลครับ
ท่านประธานครับ เรื่องด่วน ของชาวอยุธยาอีกแล้วครับ เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกิดเหตุเพลิงไหม้บ่อขยะ ณ ศูนย์จัดการขยะต้นแบบของ อบจ. พระนครศรีอยุธยา ในพื้นที่ ตำบลมหาพราหมณ์ อำเภอบางบาล หรือที่เรียกว่าบ่อขยะบางบาล พร้อมกลุ่มควันและ มลพิษที่ลอยปกคลุมไปทั่ว เหตุเกิดไม่ทันไรครับ เมื่อวานครับท่านประธานสด ๆ ร้อน ๆ เลย วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ไฟไหม้จุดคัดแยกขยะของเอกชนในพื้นที่อำเภอบางไทร แต่ใกล้กับพี่น้อง ของผม อย่างในตำบลปากกราน ตำบลบ้านรุนและตำบลคลองตะเคียน กลับมาที่บ่อขยะ บางบาลครับ ซึ่งในปัจจุบันรับขยะจากทั่วจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อีกทั้งยังเหลือเพียง บ่อขยะเดียวของภาครัฐในจังหวัด ท่านประธานทราบไหมครับว่าบ่อขยะบางบาลแห่งนี้ เกิดเหตุเพลิงไหม้แทบทุกปี ยิ่งในช่วงอากาศร้อนแบบนี้ยิ่งมีโอกาสเกิดมาก อีกทั้งมลพิษ ที่ออกไปนั้นเป็นสารก่อมะเร็งที่เป็นโรคที่คร่าชีวิตชาวอยุธยาเป็นอันดับต้น ๆ ผมจึงขอใช้ โอกาสนี้เพื่อส่งต่อคำเตือนด้วยความห่วงใยอย่างยิ่งไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีบ่อขยะในการกำกับและกระทรวงมหาดไทย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่บ่อขยะบางบาล เกิดจากเราไม่มีระบบการกำจัดก๊าซมีเทนที่เป็นเชื้อเพลิงสำคัญใต้ภูเขาขยะ ระบบที่สมบูรณ์ จะต้องมีท่อลำเลียงก๊าซมีเทนยาวไปจนถึงเครื่องเผาก๊าซมีเทน อย่างที่เห็นจากบ่อฝังกลบ ที่มีมาตรฐานของเอกชนในจังหวัดชลบุรีดังภาพครับ เมื่อเปรียบเทียบกับบ่อขยะบางบาล ซึ่งมีเพียงปลายท่อเท่านั้น แต่ไม่มีระบบนำก๊าซไปกำจัด ทำให้เมื่อองค์ประกอบของการ เกิดเพลิงไหม้อย่างออกซิเจนจากอากาศ ความร้อนจากสภาพอากาศปัจจุบันรวมเข้ากับ ก๊าซมีเทนหนึ่งในเชื้อเพลิงสำคัญ ก็ทำให้บ่อขยะบางบาลพร้อมที่จะเกิดเพลิงไหม้ได้อยู่เสมอ จึงขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกระทรวงมหาดไทยได้เร่งรัดจัดทำแผนและมาตรการ การป้องกันเหตุเพลิงไหม้บ่อขยะ แผนการอพยพและมาตรการการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ผมและพรรคก้าวไกลยินดีพร้อมช่วยประชาสัมพันธ์ และทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์แบบนี้อย่างเต็มความสามารถ ขอบคุณท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (ประธานสภาผู้แทนราษฎร) ขอเชิญ คุณปรัชญาวรรณ ไชยสืบ ครับ
ขออนุญาตท่านประธานครับ ๑๔๗ แสดงตนครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพระนครศรีอยุธยา พรรคก้าวไกล จากชาวอยุธยา และบางบาลครับ ผมขอใช้โอกาสนี้ในการตั้งกระทู้ถามท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถึงคำถามที่ค้างคาใจและเป็นข้อถกเถียงของพี่น้องชาวอยุธยาครับ สืบเนื่องจากกระทรวง คมนาคมมีการอนุมัติให้ก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง จากความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ ถึงหนองคาย โดยมีการตั้งสถานีที่อยุธยาบ้านผมด้วย นั่นเป็นเรื่องที่ดีครับ ท่านประธาน เราจะมีการเดินทางที่สะดวกสบายมากขึ้น และมีทางเลือกในการเดินทางใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการท่องเที่ยวครับ แต่สิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือผลกระทบจาก การก่อสร้างสถานีนี่ล่ะครับ ผมขอให้ท่านประธานได้ทราบถึงมหากาพย์ของสถานีอยุธยาครับ
ที่ผมพูดแบบนั้นก็เพราะว่า นี่คือจุดเริ่มต้นการจัดทำรายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรมหรือ HIA ซึ่งหาก แล้วเสร็จรายงานฉบับนี้จะเป็นรายงานฉบับแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย ผมต้องขอไล่เลียง เหตุการณ์ให้ท่านได้เข้าใจครับ ท่านประธานครับ หลังจากมีหนังสือจาก UNESCO ที่แสดง ความกังวลถึงความเสี่ยงต่อแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอย่างที่ อยุธยาว่า หากจะมีการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่แบบนี้ อาจทำให้มรดกทางวัฒนธรรม โบราณสถานต่าง ๆ อาจชำรุดและสูญเสีย ซึ่งเป็นการสูญเสียที่ประเมินเป็นมูลค่ามิได้ จึงนำมาสู่การตอบรับโดยรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ท่านประวิตร วงษ์สุวรรณ จากรายงานผลการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ท่านรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้สั่งการ ให้กรมการขนส่งทางราง ซึ่งได้นำเสนอทางเลือกการสร้างสถานีถึง ๕ แบบ โดยให้ความเห็น เพิ่มเติมอีกว่าแบบที่ ๓ ถึงแบบที่ ๕ นั้นรางสูงมาก ต้องหาทางอ้อมหรือจะมุด มุดจะดีกว่าอ้อม เพราะใช้เงินมากเหมือนกัน ทางเลือกที่ ๑ และ ๒ พอรับได้ หากจำเป็นต้องเสียเงิน ก็จำเป็นต้องทำ ต่อมาในวันที่ ๒๓ กรกฎาคมปีเดียวกัน ได้มีบัญชาจากสำนักเลขาธิการ นายกรัฐมนตรีให้กระทรวงคมนาคมหารือร่วมกับกรมศิลปากร ดังนี้
ประการที่ ๑ คือให้กระทรวงการต่างประเทศแจ้งกับ UNESCO ว่าไทย มีการทำรายงาน HIA ก่อนการก่อสร้างสถานี ขออนุญาตใช้ตัวย่อและภาษาอังกฤษครับ
ประการที่ ๒ คณะกรรมการแห่งชาติ มีมติมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม พิจารณาการก่อสร้างสถานีในทางเลือกที่ ๑ คือการก่อสร้างอุโมงค์ลอดผ่านพื้นที่มรดกโลก หรือทางเลือกที่ ๒ การเปลี่ยนเส้นทางใหม่โดยอ้อมพื้นที่มรดกโลก ล่วงเลยมาจนถึงวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๕ การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ว่าจ้างให้คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้จัดทำ HIA วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๖ คณะโบราณคดีส่งรายงาน HIA ตามที่การรถไฟ แห่งประเทศไทยได้ว่าจ้างให้มีการประเมิน โดยใน TOR ได้กำหนดให้มีการประเมินจาก ทางเลือกเพียงทางเลือกเดียวคือทางลอยฟ้า นี่เป็นอีกข้อมูลครับท่านประธานที่เป็นข้อสังเกต สำคัญว่า ทำไม TOR การจ้างทำแบบประเมินนั้น ถึงเป็นการประเมินเพียงทางเลือกเดียว และไม่ใช้ทางเลือกที่เป็นมติของที่ประชุมจากรองนายกรัฐมนตรี
ต่อมาวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ การรถไฟแห่งประเทศไทยได้จัดส่ง รายงานผลการประเมิน HIA ให้กับสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. โดยมีใจความที่บอกว่าจะขอก่อสร้างตามแผนเดิม ซึ่งสอดคล้องกับผลการประเมิน EIA เดิมในปี ๒๕๖๐ โดยอ้างถึงผลกระทบในแง่งบประมาณที่เพิ่มขึ้น ผลกระทบในแง่ ความสัมพันธ์และความเชื่อมั่นระหว่างประเทศ รวมถึงผลกระทบต่อการส่งมอบงาน ตามสัญญาอีกด้วย สผ. จึงมีหนังสือให้ทางกรมศิลปากรได้พิจารณารายงานนี้ เนื่องจากพบว่า
ประการที่ ๑ การรายงานไม่เป็นไปตามคู่มือของศูนย์มรดกโลก ฉบับปี ๒๐๒๑ เนื่องจากขาดการวิเคราะห์แนวทางเลือกอื่น เพื่อลดผลกระทบและยืนยันจะทำตามแนวทางเดิม นั่นอาจทำให้ UNESCO เห็นถึงความไม่โปร่งใสและมีอคติต่อการเลือกแนวทางที่เหมาะสมครับ
ประการที่ ๒ สผ. มีความเห็นให้กรมศิลปากรได้พิจารณาในฐานะหน่วยงาน กำกับดูแลพื้นที่ และพิจารณาให้ความเห็นถึงผลการประเมิน HIA
ประการที่ ๓ สผ. ขอให้กรมศิลปากรนำเรื่องความเห็นนี้เข้าสู่การประชุม คณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรมอีกด้วย
ต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๖ กรมศิลปากรได้แจ้งความเห็น ที่มีต่อรายงาน HIA กับทาง สผ. โดยมีใจความดังนี้
เรื่องที่ ๑ รายงานมีสาระและองค์ประกอบสำคัญไม่ครบถ้วนตามหลักการ และแนวทางการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านต่าง ๆ ที่ศูนย์มรดกโลกกำหนด
เรื่องที่ ๒ รายงานอธิบายคุณค่าโดดเด่นระดับสากล หรือ OUV ของแหล่ง มรดกโลกประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาคลาดเคลื่อนจากที่ประกาศให้เป็นมรดกโลก
เรื่องที่ ๓ รายงานนำเสนอคาดการณ์ผลกระทบเชิงลบในระดับสูง แต่มิได้ เสนอแนวทางในการลดผลกระทบดังกล่าว และเห็นว่าควรนำเสนอแนวทางการลดผลกระทบ ในหลายระดับ
ต่อมาล่าสุดวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๗ กรมศิลปากรได้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณา โดยคณะอนุกรรมการมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งมีท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน โดยมีมติที่ประชุมอยู่ ๒ ประเด็น
ประเด็นที่ ๑ คือพิจารณาความเห็นและข้อสังเกตของอนุกรรมการมรดกโลก ทางวัฒนธรรมที่มีต่อรายงาน HIA และสั่งการให้กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลแนวทางการลดผลกระทบในรายงานให้สมบูรณ์
ประเด็นที่ ๒ พิจารณาให้มีการตอบหนังสือไปยัง UNESCO โดยด่วน เพื่ออธิบายถึงการแก้ปัญหาตามข้อห่วงกังวลและชี้แจงว่าอยู่ในระหว่างการจัดทำรายงาน คำถามครับท่านประธาน
คำถามข้อที่ ๑ จากการที่ได้เกริ่นมานั้นเห็นได้ชัดว่า โครงการนี้ขาดการมีส่วนร่วม จากภาคีทุกฝ่าย โดยเฉพาะหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์อย่างกรมศิลปากร หลังจากมีมติจากหน่วยงานหลายภาคส่วนแล้ว การรถไฟแห่งประเทศไทยจะเดินหน้าจัดทำ รายงานการศึกษาแนวทางเลือกอื่นที่ลดผลกระทบต่อมรดกทางวัฒนธรรม และจัดทำ รายงาน HIA ให้สมบูรณ์หรือไม่ อย่างไร ขอบคุณท่านประธานครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พรรคก้าวไกล จากชาวอยุธยาและบางบาลครับ ขอบคุณท่านประธานผ่านไปถึงท่านรัฐมนตรีครับ แต่ต้องบอกว่าท่านรัฐมนตรีอาจจะยังตอบเกือบไม่ตรงคำถามครับ เนื่องจากว่าสิ่งที่ผม อยากจะทราบนั่นก็คือทางเลือกที่ลดผลกระทบได้มากกว่านี้ ซึ่งก็ขอขอบคุณอย่างยิ่ง ที่ท่านรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการลดผลกระทบครับ แต่ผมขออนุญาต ขยายความเพิ่มเติมจากแผนภาพที่ท่านรัฐมนตรีได้นำมาครับ จุดที่ห่างจากสถานีอยุธยา ๑.๕ กิโลเมตร คืออุทยานประวัติศาสตร์เท่านั้นครับ แต่จริง ๆ แล้วกรมศิลปากรกำลังจะ ขยายพื้นที่ตามภาพที่ท่านได้นำมาเลยครับ ภาพที่มีหมายเลข ๒ ๓ ๔ ๕ ไปจนถึง ๗ นั่นคือ พื้นที่การอนุรักษ์ที่กรมศิลปากรกำลังจะขยาย นั่นแสดงให้เห็นครับว่าการมีส่วนร่วมของ หน่วยงานต่าง ๆ นั้นยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร
คำถามที่ ๒ กระทรวงมีแผนการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีอยุธยา เช่น แผนการพัฒนา จัดการระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อรองรับการกระจุกตัวของผู้โดยสาร รวมถึงการจัดการน้ำ และอุทกภัย ระบบหมุนเวียนพลังงานภายในสถานี และระบบสุขาภิบาลภายในสถานีอย่างไร อีกทั้งการพัฒนายังส่งผลกระทบกับพี่น้องประชาชนโดยรอบทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งการเวนคืนและการขอคืนที่ดิน อีกทั้งผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ไม่ทราบถึงแนวทาง ที่ชัดเจนในการชดเชยหรือเยียวยา ผู้ประกอบการรถรับจ้างไม่ทราบถึงแผนการรองรับ ขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่น ๆ กระทรวงจะมีแผนหรือมาตรการในการเยียวยาช่วยเหลือชดเชย เพื่อความเป็นธรรมหรือไม่อย่างไร
คำถามที่ ๓ รัฐบาลและกระทรวงจะมีมาตรการอย่างไร ในการรองรับกลุ่มทุน จากประเทศจีนที่จะเข้ามาใช้ผลประโยชน์จากรถไฟความเร็วสูงนอกเหนือจากการท่องเที่ยว เช่นปัญหาเรื่องทัวร์ศูนย์เหรียญ หรือป้องกันมิให้เมืองที่โครงการจากจีนลากผ่านนั้นจะไม่พบ จุดจบแบบเดียวกับที่สีหนุวิลล์ ขอบคุณท่านประธานครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สมาชิกผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พรรคก้าวไกล จากชาวจังหวัด พระนครศรีอยุธยาและอำเภอบางบาล ในฐานะคณะอนุกรรมาธิการครับ ผมขอชี้แจง ในประเด็นที่ ๕ คือข้อสังเกตที่เกี่ยวข้องอันเป็นประโยชน์ต่อการขนส่งทางบก ก่อนอื่นต้อง ขอเกริ่นครับว่าทำไมคณะเราถึงตั้งใจกับเรื่องนี้มากครับ ท่านประธานครับ หากท่านได้ไป เยือนที่อำเภอบางบาลในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาบ้านผมสักครั้ง ท่านประธานจะเข้าใจว่า ทำไมรายงานนี้ถึงสำคัญ และขอให้ฝ่ายบริหารได้นำไปพิจารณาแก้ไขปัญหาโดยด่วน อำเภอ บางบาลและพื้นที่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาบ้านผมต้องเจอกับปัญหามากมายจาก ผลกระทบของการบรรทุกดินและทรายที่ไม่คำนึงถึงผู้ร่วมทาง ไม่ว่าจะเป็นการขับขี่ รถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกินไปมากทำให้ถนนผุพัง เป็นหลุมเป็นบ่ออย่างกับดาวเคราะห์ ที่ไร้การเหลียวแล และสิ้นเปลืองงบประมาณไปกับการซ่อมบำรุง ในรายงานฉบับนี้ก็แสดง ให้เห็นถึงผลการศึกษางบประมาณในการสร้างถนนที่เพิ่มขึ้นทุกปีของกรมทางหลวงและ กรมทางหลวงชนบท ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นดิน ฝุ่นทรายที่ตกบนท้องถนน เกิดเป็นฝุ่นทำลาย ทางเดินหายใจของชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอำเภอบางบาล และต้องเสียเงินเสีย ทองรักษาเนื้อรักษาตัวด้วยตนเอง ผมเพิ่งลงพื้นที่ที่อำเภอบางบาล ที่ตำบลบางหลวงโดด พี่น้องถึงกับบอกว่าไม่ไหวแล้วครับ ขอยอมแล้ว แต่ต้องมาทำความสะอาดถนนให้หน่อย ได้ไหม เวลาขับขี่จักรยานก็เสี่ยงอันตรายครับ จะลื่นทรายและเกิดอุบัติเหตุจากการต้องหลบ รถบรรทุกก็บ่อยครั้ง และไม่ว่าจะเป็นควันสีดำที่เป็นมลพิษต่อผู้ร่วมทางก็ดี การขับขี่ ที่อันตราย รวมถึงการต่อเติมตัวรถจนกระทบต่อผู้ร่วมทาง เช่น การเสริมบังโคลนให้ ขนาดใหญ่ก็ดี นี่ยังไม่นับการวิ่งที่ไม่จำกัดเวลา กลางค่ำกลางคืนก็วิ่งกันเสียงดัง พี่น้องต่าง ร้องเรียนว่าไม่ได้หลับไม่ได้นอนครับ แค่เราฟังแบบนี้ผมคิดว่าเรายังรู้สึกถึงความลำบากใจแทน แต่ว่าความช้ำอกช้ำใจของผมทุกครั้งที่เดินทางไปอำเภอบางบาลมันช้ำใจทุกครั้งที่เราเห็น ปัญหาอยู่ข้างหน้า แต่เราไม่สามารถแก้ปัญหามันได้เลย แต่ท่านประธานครับ คนที่ทำช้ำอกช้ำใจมากที่สุดกับเรื่อง นี้แล้วต้องทุกข์ทนทรมานอยู่ทุกวี่ทุกวันคือพี่น้องชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอำเภอ บางบาล ข้อสังเกตในรายงานฉบับนี้ผมจึงขอวิงวอนร้องขอไปถึงรัฐบาลให้เร่งนำรายงานเข้าสู่ การพิจารณาและบังคับใช้ต่อไป โดยข้อสังเกตจากรายงานที่น่าสนใจ ผมขออนุญาตสรุปให้ เพื่อนสมาชิกได้ฟังและพิจารณาครับ
ข้อสังเกตจากรายงานที่น่าสนใจ อย่างแรกคือ เสนอให้กรมทางหลวงเร่งสร้างจุดพักรถเพื่อรองรับการใช้รถ ใช้ถนนใน ระยะทางยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับรถบรรทุกครับ มากไปกว่านั้นหากเรามีการออกแบบ เส้นทางเฉพาะรถบรรทุกก็น่าจะเป็นแนวคิดที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ภาพถัดไปครับ
ข้อสังเกตที่ ๒ คือปัจจุบันพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พุทธศักราช ๒๕๖๕ ส่งผลให้ความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียวตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กับการขนส่งทางบกที่สำคัญเข้าสู่กระบวนการปรับเป็นพินัยไม่เป็นโทษอาญา ซึ่งนั่นอาจจะ ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอาจเกิดความสับสนและทำงานคลาดเคลื่อนได้ จึงเสนอให้ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมการขนส่งทางบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งรัดจัดอบรมทำความเข้าใจแก่ผู้ปฏิบัติงานโดยด่วนครับ แต่ท่านประธานครับ ข้อสังเกต เหล่านี้อาจไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาให้พี่น้องชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอำเภอ บางบาลได้ครับ ไม่สามารถแก้ปัญหาในระดับโครงสร้างและต้นตอของการเกิดส่วยรถบรรทุก ผมมาพร้อมกับข้อเสนอในการแก้ปัญหาให้อยุธยาก้าวหน้า ก้าวไกลและประเทศไทยไม่มี วันเหมือนเดิมครับ ข้อเสนอของผมมีแนวทาง ๓ ประการดังนี้ครับ
ประการที่ ๑ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นคือทางรอดเดียวครับ เพื่อการเสริม กำลังให้ท้องถิ่นสามารถบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชนได้ทันที ในประเทศที่มีการกระจาย อำนาจแบบเต็มรูปแบบ ตำรวจในแต่ละพื้นที่ขึ้นตรงต่อเทศบาลและ อบจ. หรือผู้ที่มาจาก การเลือกตั้งในท้องถิ่น นั่นทำให้ตอนนี้แม้ท้องถิ่นหลายแห่งจะอยากแก้ปัญหาท้องถิ่นใน จังหวัดพระนครศรีอยุธยาจะยากรีบเร่งแก้ปัญหาให้ประชาชน ก็ทำได้เพียงแต่บอกให้รถหยุด วิ่ง แต่ไม่มีอำนาจในการกวดขัน ตรวจสอบ หรือจับกุมใด ๆ ต้องรอให้หน่วยงานอย่างตำรวจทางหลวง และแขวงในพื้นที่มากวดขันแทน รวมไปถึงการกระจายงบประมาณให้ท้องถิ่นสามารถได้ จัดซื้อเทคโนโลยีในการตรวจน้ำหนักหรือด่านชั่งน้ำหนักที่เป็นของตัวเองได้แล้วยังสามารถ ออกแบบผังเมือง ออกแบบถนนของตนเอง เพื่อให้การขับขี่รถบรรทุกมีเส้นทางที่ชัดเจน ในการวิ่ง พร้อมจำกัดเวลาหรือพื้นที่ให้เหมาะสมกับชุมชน
ประการที่ ๒ การทำงานของหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะรัฐจากส่วนกลาง ต้องบูรณาการทำงานร่วมกัน หากยังทำงานโดยแบ่งแยกข้อมูลออกจากกันตำรวจ มีหน้าที่ด้านหนึ่ง กรมการขนส่งทางบกทำงานอีกด้านหนึ่ง ท้องถิ่นทำงานอย่างจำกัดจำเขี่ย อีกด้านหนึ่ง ไม่มีการเชื่อมต่อข้อมูลกันระหว่างหน่วยงานกว่าจะรู้ว่ามีการกระทำความผิด หรือเดือดร้อนถึงประชาชน กว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบจะเริ่มแก้ปัญหา ก็อาจจะทำได้เพียง จับกุมผู้ขับขี่ แต่ไม่สามารถสื่อไปถึงผู้ประกอบการหรือผู้ว่าจ้างที่ต้องรับผิดชอบด้วย การกระจายอำนาจจากประการที่ ๑ จะเป็นคำตอบ เพราะหน่วยงานส่วนกลางจะเป็น ผู้ตรวจตราตรวจสอบความโปร่งใส และเป็นองค์ความรู้เฉพาะทางให้กับท้องถิ่นที่มีตำรวจอยู่ ในมือของตนเอง แยกการปฏิบัติให้ชัดเจนให้ขึ้นอยู่กับท้องถิ่น แก้ปัญหาเรื่องการหาเจ้าภาพ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเสียที
ประการที่ ๓ คือการใช้เทคโนโลยีเพื่อตรวจสอบอย่างเต็มระบบ
๓.๑ จากข้อเสนอที่บอกว่าการใช้หน่วยชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ หรือ Spot Check จำเป็นต้องมีอุปกรณ์นี้ให้กับท้องถิ่นครับ เป็นอุปกรณ์หลักในการกวดขันอย่างครอบคลุม ทุกพื้นที่ได้จริง
๓.๒ การใช้เทคโนโลยีอย่างระบบตรวจวัดน้ำหนักรถบรรทุกขณะวิ่ง หรือ Weigh In Motion หรือเรียกย่อ ๆ ว่า WIM ขออนุญาตท่านประธานได้ใช้ภาษาอังกฤษ นำมาใช้งานอย่างเต็มระบบ กระจายออกทุกด่านตราชั่ง อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบการบรรทุกน้ำหนักย้อนหลังได้ว่า รถคันนี้ต้นทางบรรทุกเท่าไร วิ่งไปทางไหนบ้าง เพื่อตรวจสอบความโปร่งใสว่ามีความตั้งใจในการบรรทุกน้ำหนักเกิน จริงหรือไม่ แล้วก็วิ่งเข้าพื้นที่ชุมชน หรือวิ่งเกินเวลากำหนด หากเรานำมาใช้ร่วมกับระบบ GPS ดุลพินิจและความน่าสงสัยที่มีต่อเจ้าหน้าที่รัฐจะหายไป การตรวจสอบส่วยและ การทุจริตจะมีความยุติธรรมกลับมา ท่านประธานครับ ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะทั้งหมดนี้ ขอย้ำผ่านท่านประธานไปถึงรัฐบาล ผมขอกราบวิงวอนและร้องขอจากใจจริง ๆ ครับ ช่วยได้ เร่งแก้ปัญหานี้ ปัญหาที่อยู่ในใจพี่น้องชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอำเภอบางบาล ทุกคืนวัน ปัญหาที่พี่น้องชาวอยุธยาต้องสะดุ้งตื่นในยามค่ำคืน และต้องคอยระแวดระวัง ความปลอดภัยของลูกหลานในชุมชน ปัญหาที่พี่น้องชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาต้องโดน ทำร้ายทางเดินหายใจอยู่ทุกเสี้ยววินาที ผมขอกราบอ้อนวอนครับ ให้ท่านได้ช่วยรักษา ทางเดินหายใจของพี่น้องชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเสียที และขอให้เพื่อนสมาชิกได้ แนะนำทางออกและสนับสนุนรายงานฉบับนี้ด้วย ขอบคุณท่านประธานครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะอนุกรรมาธิการครับ ผมขออนุญาตให้ชี้แจงเรื่องของประเด็นการคงโทษจำคุกไว้ ตามมาตรา ๗๓/๒ เนื่องจากที่เราได้พิจารณาแล้วก็ประชุมกันในคณะอนุกรรมาธิการ เราได้ พิจารณาเหมือนกันถึงความเห็นจากทั้งผู้ประกอบการเอง แล้วก็สหพันธ์รถบรรทุกที่เข้ามา แสดงความคิดเห็นเรื่องของการไม่ให้มีโทษจำคุกอยู่ในการลงโทษผู้ที่บรรทุกน้ำหนักเกินแล้ว แต่สิ่งที่เราได้พิจารณากันครับ เราจึงเห็นว่าสมควรที่จะยังคงโทษจำคุกมาตรา ๗๓/๒ ไว้ เพื่อให้เกิดความเกรงกลัว รวมไปถึงที่สำคัญที่สุดยังพูดถึงเรื่องของการใช้งบประมาณ ไปอย่างสิ้นเปลือง หากเราต้องคอยซ่อมบำรุงถนนอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น กรมทางหลวง ในปีล่าสุดใช้งบประมาณน้อยกว่า ๘๐,๐๐๐ ล้านบาท พอ ๆ กันกับกรมทางหลวงชนบทเลย ที่ใช้ถึง ๓๕,๐๐๐ ล้านบาท สิ่งเหล่านี้เป็นงบประมาณที่เราจะต้องเสียไปในทุก ๆ ปี นั่นทำให้ เราคิดว่าการจะคงโทษให้เป็นการโทษปรับเพียงสถานเดียวนี้ อาจจะยังทำให้มีการกระทำ ความผิดหรือมีการละเมิดกฎหมายอยู่ตลอดเวลานะครับ เราเลยคิดว่าการคงโทษไว้ซึ่งโทษอาญาจำคุก ๖ เดือนนั้นน่าจะสามารถที่จะแก้ปัญหาและทำ ให้ผู้ที่ต้องการจะกระทำความผิดนั้นมีความรู้สึกเกรงกลัว และไม่กล้าที่จะเริ่มกระทำความผิด ทำให้ความผิดนั้น ๆ ยังไม่ส่งผลกระทบ และส่งผลความเดือดร้อนต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ขอบคุณท่านประธานครับ