เรียนท่านประธานสภา ดิฉัน เบญจา แสงจันทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลค่ะ ท่านประธานคะ ดิฉันขออภิปรายรับทราบรายงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เนื่องจากเมื่อช่วงเช้าของวันนี้ดิฉันได้รับข้อร้องเรียนจากชาวบ้านตำบลลาดตะเคียน ตำบลหาดนางแก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรีค่ะ ว่าขณะนี้กำลังมีความพยายาม ในการขออนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรมเป็นจำนวน ๓ โรงด้วยกัน ดิฉันขอ Slide ด้วยค่ะ
ซึ่งท่านประธานคะ ในแต่ละโรงมีกำลังการผลิตเป็นกำลังการผลิตโรงละ ๙.๙ เมกะวัตต์ และเมื่อนำมารวมกัน จะเป็น ๒๙.๗ เมกะวัตต์ โดย ๓ โรงนี้ที่เห็นอยู่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ต่อเนื่องและติดกันทั้งหมด อยู่บนที่ดิน ๖๒ ไร่ในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคกบินทร์บุรี ตำบลลาดตะเคียน อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี และถึงแม้ว่าโรงไฟฟ้า ๓ โรงนี้จะเป็นโรงไฟฟ้าจาก เชื้อเพลิง ขยะอุตสาหกรรมทั้งหมดนี้มาจากบริษัทเดียวกัน แล้วก็ทั้ง ๓ บริษัทนี้ ตั้งอยู่บนที่ดินต่อเนื่องกัน ดิฉันขอฝากถามท่านประธานผ่านไปยังท่านผู้ชี้แจงว่า โรงไฟฟ้าทั้ง ๓ โรงนี้ยังถือเป็นโครงการการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ อุตสาหกรรมขนาดเล็กมากได้อยู่หรือไม่ หรือถึงแม้ว่าโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ อุตสาหกรรมทั้ง ๓ โรงนี้จะเป็นโรงไฟฟ้าที่มีขนาดไม่เกิน ๑๐ เมกะวัตต์ แต่แน่นอนว่าพอโรงติดกันและเมื่อมันเดินเครื่องใกล้เคียงกัน เดินเครื่องพร้อมกันกำลัง การผลิตก็จะเกือบ ๓๐ เมกะวัตต์เลยทีเดียว และเนื่องจากว่าโรงไฟฟ้านี้มันตั้งอยู่ในบริเวณ เดียวกัน ดิฉันจึงขอตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทนี้จงใจที่จะยื่นขออนุญาตเพื่อหลีกเลี่ยงการทำ รายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือไม่
และอีกประเด็นนะคะท่านประธาน เนื่องจากการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้า โรงไฟฟ้าขนาดเล็กมากมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กเข้ามามีส่วน ในการผลิตไฟฟ้า แต่ในกรณีโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรม ไฮเทคกบินทร์บุรีไม่ได้เป็นเช่นนั้น โรงไฟฟ้าทั้ง ๓ โรงนี้จะเห็นว่ามีผู้ถือหุ้นหลักเป็น บริษัทเดียวกันนั่นคือบริษัท เก็ทกรีน พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทนี้เป็นบริษัทย่อยของ บริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยอยู่ก่อนแล้วด้วย ซึ่งพอไปดูใน Slide ที่ ๔ จะเห็นว่า บริษัท เก็ทกรีน พาวเวอร์ จำกัด ยังมีบริษัทลูกอีก ๑๐ บริษัท ซึ่งทำโรงไฟฟ้าใน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี ปราจีนบุรี และนี่จึงถือว่าเป็นการลวงตา หลบกฎเกณฑ์ เลี่ยงความรับผิดชอบ แล้วก็เป็นการดำเนินการอย่างไม่ถูกต้อง โดยมีเจตนาที่จะเลี่ยง การปฏิบัติตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานหรือไม่ ซึ่งในส่วนของการปฏิบัติ ตามระเบียบว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff ในปี ๒๕๖๕-๒๕๗๓ สำหรับขยะอุตสาหกรรมที่มีใจความสำคัญว่า โครงการที่เสนอขายไฟฟ้า ต้องเป็นโรงไฟฟ้าที่ลงทุนก่อสร้างใหม่ และไม่เคยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือไม่เคยได้รับ การตอบรับซื้อจากการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย และไม่มีลักษณะต้องห้าม เช่น เป็นโครงการที่มี สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายที่ยังมี ผลบังคับใช้อยู่ ท่านประธานคะ ถ้าดูจากระเบียบที่ดิฉันได้กล่าวมา บริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (มหาชน) จึงไม่สามารถมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าได้อีกหรือไม่ ดังนั้นการที่ทั้ง ๓ บริษัทได้รับอนุมัติและได้รับอนุญาตจาก กกพ. ให้ก่อตั้งโรงไฟฟ้าจึงเป็น การดำเนินการที่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดระเบียบ ผิดกฎหมาย และยังเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบ ธรรมอีกด้วยหรือไม่
นอกจากนี้ค่ะท่านประธาน ดิฉันได้ทราบมาในวันนี้ว่าเวทีการรับฟัง ความคิดเห็นประกอบการออกใบอนุญาตกิจการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรมนี้ เป็นกิจการที่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน มีการจัด เวทีนี้ขึ้นในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทางบริษัทที่ปรึกษาและบริษัทเจ้าของโครงการโรงไฟฟ้า ขยะอุตสาหกรรมทั้ง ๓ โครงการ ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และทำการรับฟังความคิดเห็นทั้ง ๓ โครงการในเวลาเดียวกันเลย มีการจัดประชุม แค่ครั้งเดียว แล้วก็ใช้ทั้ง ๓ โครงการ ในการจัดประชุมจัดประชุมวันเดียว ๓ โรงไฟฟ้าไปเลย แล้วก็การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นทางบริษัท เจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วก็เจ้าหน้าที่รัฐ ที่เกี่ยวข้องก็ไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างทั่วถึง ทำให้ ประชาชนในพื้นที่เกือบทั้งหมดไม่ทราบข้อมูล แล้วก็ตั้งใจจัดการประชุมนี้ในวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันที่ประชาชนส่วนใหญ่ ต้องไปทำงานกัน ส่วนสถานที่การจัดประชุม รับฟังความคิดเห็นไปใช้ในโรงแรมที่ไกลออกไปจากพื้นที่บริเวณนิคมอุตสาหกรรม และบริเวณที่ตั้งโรงไฟฟ้ามากว่า ๑๐ กิโลเมตร นี่จึงเป็นการที่แสดงถึงเจตนาในการที่จะ กีดกันและไม่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและทำให้จำนวน ผู้ที่มาร่วมในการแสดงความคิดเห็นในวันนั้นมีจำนวนลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ การกระทำที่ดิฉันได้พูดมาทั้งหมดดิฉันได้อธิบายแล้วว่าทั้งหมดนี้เป็นการดำเนินการ ที่ไม่ชอบธรรมด้วยกฎหมายและไม่ชอบธรรมกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างมากค่ะ ท่านประธานคะ ทุกครั้งที่มีโครงการและมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เกิดขึ้นโครงการเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนและเป็นโครงการที่สร้างผลกำไรอย่างมหาศาลให้กับนายทุน แต่ผลกำไรนี้มันสร้างขึ้นจากคราบน้ำตาของพี่น้องประชาชน แล้วโครงการเหล่านี้ไม่เคยไปสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับพวกเขาเลย ไม่สร้างความมั่นคง ในระบบนิเวศ แล้วไปทำลายสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของพวกเขาอีกด้วย สุดท้ายนี้ ดิฉันจึงอยากจะฝากท่านประธานผ่านไปยังผู้ที่มาชี้แจงในวันนี้ค่ะ ว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก โครงการมากที่สุดอาจจะไม่ใช่ท่านที่เป็นผู้อนุมัติ แต่เป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชน ในพื้นที่ ที่อยู่ ณ ปัจจุบันนี้ ดังนี้ดิฉันจึงขอให้ท่านช่วยพิจารณาอีกครั้ง ให้ยุติการออกใบอนุญาต โรงไฟฟ้าทั้ง ๓ โรงนี้ออกไปก่อน แล้วก็ช่วยกันทบทวนพิจารณาให้รอบคอบ รวมถึงให้ ทางท่านผู้ชี้แจงได้ทบทวนพิจารณารายชื่อของผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากที่ได้รับ การคัดเลือกตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานที่ลงวันที่ ๕ เมษายน ในปีนี้ค่ะ พิจารณาใหม่ให้มีความละเอียดและวางกรอบในเรื่องของการศึกษาความพร้อม ของพื้นที่ ให้เหมาะสมแล้วก็ตรวจสอบการปฏิบัติตามระเบียบของคณะกรรมการกำกับ กิจการให้รอบคอบมากกว่านี้ก่อนด้วยค่ะ ขอบพระคุณมากค่ะท่านประธาน
ท่านประธานคะ เบญจา แสงจันทร์ ๑๙๙ แสดงตนค่ะ
ท่านประธานคะ เบญจา แสงจันทร์ ๑๙๙ เห็นด้วยค่ะ
ท่านประธานคะ เบญจา แสงจันทร์ ๑๙๙ แสดงตนค่ะ
ท่านประธานคะ เบญจา แสงจันทร์ ๑๙๙ เห็นด้วยค่ะ
เรียนท่านประธานสภา ดิฉัน เบญจา แสงจันทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธานคะ ภายใต้รายงานประจำปี EEC ปี ๒๕๖๕ ของ สกพอ. ถ้าเราได้ติดตาม จากรายงานจะเห็นว่ามีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่รัฐได้ลงนามสัญญา ร่วมลงทุนกับเอกชนไปแล้ว ๔ โครงการ จากจำนวนทั้งหมด ๕ โครงการ และยังเป็นภารกิจ ที่รอ สกพอ. ขับเคลื่อนต่อค่ะ แต่ก่อนอื่นดิฉันขอตั้งข้อสังเกตและตั้งคำถามกับคำชี้แจง ของท่านผู้มาชี้แจงในวันนี้ เมื่อสักครู่ท่านพูดถึงโรงงานของ BYD ดิฉันเข้าใจว่าโรงงานนี้ เป็นโรงงานเดียวในพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขต Promotional Zone ซึ่งเขต Promotional Zone นี้มีหลักเกณฑ์คือจะต้องเป็นนิคมอุตสาหกรรมหรือเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมเป้าหมาย ๑๐ บวก ๒ และต้องเป็นอุตสาหกรรมชนิดเดียวกันนี้ทั้งโรงงานค่ะ ดิฉันจึงขอตั้งคำถาม ฝากท่านประธานผ่านไปยังท่านผู้ชี้แจงว่าในโรงงานอื่น ๆ ที่อยู่ในเขตนิคม WHA นี้เข้าข่าย อุตสาหกรรมเป้าหมายด้วยหรือไม่ ถ้าไม่เข้าข่ายดิฉันคิดว่าการประกาศเป็นเขต Promotional Zone ไม่น่าจะถูกต้องหรือไม่คะ อันนี้เป็นคำถามที่ ๑
คำถามที่ ๒ ที่ผู้ชี้แจงได้ชี้แจงไปแล้ว มีอีกประเด็นที่ต้องตั้งคำถาม และตั้งข้อสังเกตกับการที่ท่านผู้ชี้แจงได้ช่วยชี้แจงถึงกองทุน EEC ดิฉันอ่านจากรายงานแล้ว ก็ต้องตั้งคำถามดัง ๆ ไปยังผู้ชี้แจงว่ากองทุน EEC มีการจัดการให้กับใครบ้าง ถ้าไปดูในรายงาน เราก็จะเห็นการจัดการที่ใช้ไปกับการศึกษา การเรียนรู้ การท่องเที่ยว แต่ท่านเชื่อไหมว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบตัวจริง ในปีที่แล้วน้ำมันรั่วที่ระยองก็ไม่ได้รับการชดเชยจากเงินกองทุน เยียวยาของ EEC นี้ หรือแม้แต่แรงงานเกษตรกรกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบก็ไม่เคย อยู่ในกลุ่มเป้าหมายของกองทุนการเยียวยานี้เลยค่ะ ในส่วนของการพัฒนาดิฉันมั่นใจว่า เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการพัฒนาคือตัวแปรหนึ่งในการสร้างเม็ดเงิน สร้างเศรษฐกิจให้กับ ประเทศนี้ แต่ถ้าเราเข้าไปดูในแต่ละโครงการก็จะเห็นว่าลึกลงไปกว่าตัวเลขเม็ดเงิน ทางเศรษฐกิจเหล่านั้น ภายใต้เม็ดเงินอันมหาศาลเหล่านั้น ใครกันแน่ที่เป็นคนได้รับส่วนแบ่ง ทางเศรษฐกิจจากเม็ดเงินเหล่านั้นบ้าง และผู้ที่ได้รับผลกระทบได้รับการชดเชยเยียวยา ที่คุ้มค่าแล้ว เป็นธรรมแล้วหรือไม่คะ ถ้าเราเข้าไปดูในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบิน จากดอนเมือง สุวรรณภูมิ ไปจนถึงอู่ตะเภา เราก็จะได้เห็นกลุ่มนายทุนแค่บางกลุ่มที่ได้รับการคัดเลือกมาร่วมทุน และได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ และเราก็ได้เห็นในรายงานว่ามีชาวบ้านที่ถูกไล่ ถูกฟ้อง ถูกไล่รื้อ เพื่อนำที่ดินมาให้นายทุนพัฒนา และนี่คือเหรียญอีกด้านหนึ่งของการพัฒนา ที่ในรายงานก็กลับไม่เคยพูดถึงเลยนะคะ ถ้าเราเข้าไปดูในโครงการสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก เราเห็นแค่กลุ่มนายทุนบางกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์ จากการรับเหมาก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ในสนามบินทหาร ที่ต้องการเปลี่ยนโฉม เป็นมหานครแห่งอนาคต มหานครแห่งการบิน เป็นนายทุน เป็นขุนศึกบางกลุ่ม ที่ได้รับสัมปทานจากการขายกระแสไฟฟ้าและผูกขาดพลังงานในพื้นที่ แต่ท่านประธาน ทราบไหมว่ามีชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณเมืองมหานครแห่งการบินในเขตชลบุรี ระยอง พวกเขาถูกประกาศเป็นเขตหวงห้าม ๔๐,๐๐๐ กว่าไร่ ประชาชนในพื้นที่ได้รับ ความเดือดร้อนมากกว่า ๒๐,๐๐๐ คนในเวลานี้ และถ้าเราเข้าไปดูในโครงการถมทะเล ท่าเรือแหลมฉบัง Phase 3 และโครงการถมทะเลท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด Phase 3 เราก็ได้เห็นแค่นายทุนบางกลุ่มอีกที่ได้รับสัมปทานจากการระเบิดภูเขาเพื่อนำไป ถมทะเล ได้เห็นกลุ่มนายทุนแค่บางกลุ่มที่ได้รับการคัดเลือกมาร่วมทุนและรับประโยชน์ จากโครงการนี้ แต่ท่านประธานทราบไหมว่ามีชาวประมงใน ๒ พื้นที่นี้มากกว่า ๒,๐๐๐ คน ในแหลมฉบัง ในชลบุรี และในมาบตาพุด ระยอง พวกเขาอาชีพถูกทำลายให้ล่มสลายลงค่ะ แล้วก็สังเวยให้กับนโยบายถมทะเลที่ไม่สนใจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง ต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในทะเล และกระทบต่อวิถีการประมงพื้นบ้าน และการท่องเที่ยว ชุมชนของชายฝั่งเลยค่ะ
ท่านประธานคะ อีกโครงการหนึ่ง โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน MRO ซึ่งปัจจุบันแผนงานก่อสร้างได้หยุดชะงักไป เนื่องจากการบินไทยกำลังเข้าสู่แผนฟื้นฟู แต่กองทัพเรือก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อลงทุนในการปรับดิน ถมดินไปแล้ว ล่าสุด ดิฉันก็ทราบมาว่าโครงการนี้กำลังถูกนำมาปัดฝุ่นใหม่โดยการบินไทยค่ะ ก็คงต้องตั้งคำถาม ดัง ๆ ฝากท่านประธานไปยัง สกพอ. ว่าในขณะที่การบินไทยไม่ใช่รัฐวิสาหกิจแล้ว และการที่ กองทัพเรือจะให้ สกพอ. กลับมาปัดฝุ่นกรณีนี้ใหม่ แล้วให้การบินไทยกลับมาทำสัญญา เช่าอาคาร MRO อีกครั้งเป็นเวลา ๕๐ ปี วิธีนี้จะเป็นวิธีที่ทำได้หรือไม่ กรณีนี้จะต้องทำตาม พ.ร.บ. ร่วมทุนใหม่หรือไม่ และต้องเปิดให้เอกชนรายอื่นเข้ามาร่วมแข่งขันในการประมูล หรือไม่ ขณะนี้เองที่เรากำลังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงอย่างมากจากการที่มีบรรดา ศูนย์ซ่อมท่าอากาศยานในบริเวณภูมิภาคของเรา โดยเฉพาะสิงคโปร์ อินโดนีเซีย หรือว่า เวียดนาม หรือมาเลเซีย ที่ต่างก็พัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยานของตัวเองแล้ว โครงการนี้ยังมี ความจำเป็นในระดับภูมิภาคมากน้อยเพียงใด คงต้องมีการศึกษาและวิเคราะห์ให้รอบด้าน เพิ่มเติมใหม่ด้วยอีกหรือไม่คะ ท่านประธานคะ นี่คือส่วนหนึ่งจากโครงการเรือธง ทั้ง ๕ โครงการ ซึ่งเป็นโครงการพื้นฐานที่สำคัญในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC ซึ่งถ้าเราพิจารณาจากรายงานจะพบว่าขณะที่เราต้องเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือปรากฏการณ์ El Nino และในเขตเศรษฐกิจพิเศษเอง ก็เป็นพื้นที่ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด แต่ท่านทราบไหมว่าในรายงานฉบับนี้แทบจะ ไม่พูดถึงแนวทางและวิธีการแก้ปัญหา และการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่คาดว่าจะก่อความเสียหายทางเศรษฐกิจที่สูงมากในอนาคตอันใกล้นี้ค่ะ
สุดท้ายค่ะ จากรายงานเราจึงเห็นแค่กลุ่มทุน กลุ่มผู้มีอิทธิพล กลุ่มผลประโยชน์ แค่ไม่กี่กลุ่ม ที่ได้ผลประโยชน์จากการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ และนี่คือความจริง ความจริงที่ว่าโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้มีเพียงแค่เครือข่ายนายทุน เครือข่ายผู้มีอิทธิพล นายทุนผูกขาดและนายทุนสัมปทาน ที่ผูกขาดที่ดิน ผูกขาดน้ำ ผูกขาดไฟฟ้า ผูกขาดพลังงาน ผูกขาดความมั่นคงทางอาหาร แล้วก็ผูกขาดสาธารณูปโภค รวมไปถึงผูกขาดทรัพยากร ที่มีมูลค่ามหาศาล พวกเขากำลังเผาผลาญทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเพื่อตอบสนองความสุขสบาย ของนายทุนเท่านั้น ดังนั้นเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC จึงเป็นเมืองมหานครแห่งอนาคต ที่ไม่เคยมีอนาคตของพี่น้องประชาชนร่วมอยู่ด้วยเลยค่ะ ท้ายที่สุดนี้ก็ต้องยืนยันว่าดิฉัน ไม่ได้เห็นด้วยกับการพัฒนาทั้งหมด แต่ก็ต้องบอกว่าดิฉันเห็นด้วยกับความเจริญและเห็นด้วย กับการพัฒนาในเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC บางส่วน แต่ความเจริญและการพัฒนาไม่ได้วัดกัน ที่ตึกสูง ๆ ไม่ได้วัดกันที่อาคารสวย ๆ ไม่ได้วัดกันที่ห้างสรรพสินค้าใหญ่โตโอ่อ่า แต่ความเจริญ วัดกันที่การที่เราจะสร้างความเจริญ สร้างความมั่นคงให้กับทุกคน กระจายความมั่งคั่ง ทางเศรษฐกิจ กระจายความมั่นคงด้านชีวิตความเป็นอยู่ให้กับประชาชนทุกคนในประเทศนี้ ได้อย่างเท่าเทียมและเสมอภาค และทำให้พวกเขามีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย มีความมั่นคง ในอาหาร มีความมั่นคงในระบบนิเวศ เข้าถึงสังคมได้อย่างเท่าเทียมกัน มีโอกาสในการที่จะ ประกอบอาชีพเพื่อหารายได้ และโอกาสในการที่จะสร้างสวัสดิการสังคมอย่างเท่าเทียม และนับพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาในฐานะเจ้าของประเทศนี้ร่วมกันค่ะ ขอบคุณค่ะ ท่านประธาน
เรียนท่านประธานสภา ดิฉัน เบญจา แสงจันทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลค่ะ ดิฉัน จะขออภิปรายสนับสนุนในส่วนของร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ที่เสนอโดยภาคประชาชน คณะรัฐมนตรี และคุณธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ เพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกลและคณะ ซึ่ง รวมไปถึงอดีตเพื่อนสมาชิก ของดิฉัน คุณณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ และคุณธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ที่เคยรวมเป็นหนึ่ง ในคณะทำงานด้านการแก้ไข พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมฉบับนี้ด้วยค่ะ ท่านประธานคะ ถึงแม้ว่า กฎหมายจะมีในส่วนที่แตกต่างกันอยู่บ้างในรายละเอียด แต่ว่าทุกร่างยืนยันในหลักการ เดียวกัน นั่นก็คือสมรสต้องเท่าเทียม ท่านประธานคะ ที่ดิฉันสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. ทุกฉบับ เป็นไปเพื่อโอบรับความหลากหลายทางเพศ ภายใต้ฐานคิดที่ว่ามนุษย์ทุกคนต้อง เท่าเทียมกันตามคุณค่าหลักการความเสมอภาค ซึ่งนี่ถือว่าเป็นหลักการขั้นพื้นฐานของ ความเป็นมนุษย์ ที่มนุษย์ทุกคนต้องได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่า คน ๆ นั้นจะมีเพศ เชื้อชาติ ศาสนา พูดภาษาอะไร มีถิ่นกำเนิดใดและไม่ว่าจะมีความเชื่อทาง การเมืองแบบใดก็ตาม กฎหมายนี้จะต้องไม่เลือกปฏิบัติเฉพาะเพศสภาพที่แตกต่าง ต้องไม่ถูกจำกัดด้วยเพศกำเนิด และไม่รับรองสิทธิเฉพาะแค่คู่รักเพศเดียวกัน แต่ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมต้องรับรองสิทธิของมนุษย์ทุกคนให้สมรสได้อย่างเท่าเทียมกันค่ะ ท่านประธานคะ เพื่อนสมาชิกดิฉันได้อภิปรายถึงความหลากหลายทางเพศกับมุมมองในมิติ ของสังคมไปแล้ว อีกมิติที่ดิฉันจะขอพูดถึงก็คือมิติทางเศรษฐกิจค่ะ เมื่อประเทศไทยมี กฎหมายสมรสเท่าเทียมถ้ากฎหมายมีความมั่นคงเป็นธรรมและทุกคนรู้สึกปลอดภัย ผู้มีความหลากหลายทางเพศรวมไปถึงมนุษย์ทุกคนจะมีความมั่นใจในการที่จะก่อร่าง สร้างครอบครัว ลงทุนกับสิ่งที่พวกเขารัก ไม่ว่าจะเป็นการซื้อบ้าน ซื้อรถ ซื้อประกันหรือ ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่สร้างรายได้ ร่วมกัน รวมไปถึงการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสามารถปลดล็อกเรื่องเศรษฐกิจให้เติบโตเพิ่มมากขึ้นอย่างเต็มศักยภาพด้วย ท่านประธานคะ ถ้าดูจากข้อมูล จาก LGBT Capital ระบุไว้ว่า มูลค่าการใช้จ่ายของกลุ่มผู้มี ความหลากหลายทางเพศมีมูลค่าอยู่ทั่วโลกอยู่ประมาณ ๑๓๕ ล้านบาทต่อปี ซึ่งไทยเอง มีมูลค่ารายได้จากการท่องเที่ยวของประชากรกลุ่มนี้อยู่ที่ ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาทเลยทีเดียว นี่นับเป็นตลาดใหญ่ของการท่องเที่ยวของโลกเลยทีเดียว ของไทยเรามีรายได้จากนักท่องเที่ยว กลุ่มนี้เป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาคเอเชียและเป็นอันดับ ๔ ของโลกเลยทีเดียว ขณะที่จำนวน นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ มีอยู่ ๕๐๐ ล้านคนทั่วโลก แล้วก็อยู่ในแถบเอเชียของเราเอง ๒๒๘ ล้านคน และมีคนไทยอยู่ประมาณ ๔ ล้านคนค่ะท่านประธาน และท่านประธานคะ เมื่อ พ.ร.บ. สมรส เท่าเทียมผ่านประกาศใช้ เดือน Pride ซึ่งเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจในปีหน้านี้จะมี ชีวิตชีวาอย่างมากค่ะ ประเทศไทยจะเป็นจุดหมายปลายทางเป็นประเทศในฝันของคนทุกคน ที่จะได้เดินทางมาท่องเที่ยว เปิดโอกาสให้คู่รักทุกเพศได้สามารถจดทะเบียนสมรสได้ ให้ผู้ที่มี ความหลากหลายทางเพศสามารถที่จะยื่นกู้ร่วมเพื่อซื้อทรัพย์สิน ซื้อที่อยู่อาศัย ในนามของ คู่สมรสร่วมกัน มีกรรมสิทธิ์ในการที่จะเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยร่วมกัน ประเทศเราจะเป็น จุดหมายของการลงทุนเป็นปลายทางของนักท่องเที่ยวที่ต้องการที่จะพักอาศัยแล้วก็ใช้ชีวิต ในบั้นปลายของชีวิต สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้อีกมหาศาลค่ะ ท่านประธานคะ เพื่อนสมาชิกของดิฉันได้อภิปรายถึงสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของมนุษย์ ทุกคน รวมไปถึงการใช้ชีวิตร่วมกันของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ว่านี่เป็นสิทธิ ขั้นพื้นฐานของมนุษย์เพื่อนสมาชิกของดิฉันได้อภิปรายหลักการที่ว่าในหลายประเทศทั่วโลก ให้ความสำคัญ และตระหนักร่วมกันถึงความจำเป็นในการที่ต้องตรากฎหมาย เพื่อรับรอง สถานะการใช้ชีวิตร่วมกันของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ และกฎหมายของหลาย ประเทศเขาก้าวข้ามผ่านพ้นกรอบของการจำกัดการแต่งงานที่จำกัดไว้แค่ชายและหญิง ในหลายประเทศให้คุณค่ากับความรักของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และอนุญาตให้คู่รักที่มี ความหลากหลายทางเพศแต่งงานกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ท่านประธานคะ นี่จึงเป็น ช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อสิทธิ เพื่อความเสมอภาคเท่าเทียมของมนุษย์ ทุกคน และเป็นการยกระดับความก้าวหน้าของกฎหมายไทยให้สอดคล้องกับปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และอนุสัญญาอีกหลายฉบับ ซึ่งสมาชิกของเราก็ได้ลงรายละเอียดไปแล้ว เพื่อนสมาชิกของดิฉันได้อภิปรายถึงเส้นทางการต่อสู้ท่ามกลางความสูญเสียกว่าจะมาเป็น สมรสเท่าเทียม โดยได้อภิปรายถึงสิทธิ สวัสดิการรักษา การจัดการทรัพย์สินสมรสร่วมกัน สิทธิในการรับมรดกตามกฎหมาย อภิปรายและลงรายละเอียดไปแล้ว ดิฉันขอใช้เวลาส่วนนี้ ที่เหลือในการสื่อสารกับพี่น้องประชาชน และสื่อสารกับสมาชิกผู้แทนราษฎรในที่แห่งนี้ สำหรับท่านที่ยังไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ถึงเวลาแล้วว่าสังคมไทยต้องยอมรับความเป็น จริงว่าทุกสังคมในโลกใบนี้มีความหลากหลายมากเกินกว่าจะถูกครอบงำไว้ด้วย คู่แต่งงานที่เป็นเพศชายและหญิงเท่านั้น เราต้องยอมรับความจริงว่าความรักการแต่งงาน การใช้ชีวิตคู่ สิทธิที่จะสร้างครอบครัวไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่คู่รักชายและหญิง ขอเชิญชวน ทุกท่านจริง ๆ ค่ะ อย่าตกขบวนประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาสำคัญนี้ ร่วมกันรับร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ให้คนทุกคนได้อยู่อย่างเรียบง่ายบนโลกใบนี้ ให้มนุษย์ทุกคนได้สร้างชีวิต สร้างครอบครัว ได้ใช้ชีวิต และได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานทางกฎหมายอย่างไม่มีข้อจำกัด ท่านประธานคะ ดิฉันขอทวงคืนสิทธิให้กับพวกเขา คืนชีวิต คืนความฝันให้กับคนทุกคน ร่วมกันรับร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมคนต้องเท่ากันค่ะ สมรสต้องเท่าเทียม ได้เวลา ประชาชน ได้เวลาสมรสเท่าเทียม ขอบคุณค่ะท่านประธาน
เรียนท่านประธานสภา ดิฉัน เบญจา แสงจันทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธานคะ ดิฉันขอเสนอญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนหน้าที่การให้บริการไฟฟ้าที่อยู่ในความรับผิดชอบ ของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการกองทัพ ไปอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยตรง รวมถึงศึกษาเรื่องการถ่ายโอนธุรกิจต่าง ๆ ของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยค่ะ ก่อนที่ดิฉันจะลงรายละเอียดว่าทำไมสภาผู้แทนราษฎร จึงต้องมีความจำเป็นที่จะต้องร่วมกันลงมติตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา แนวทางการถ่ายโอนธุรกิจต่าง ๆ ของกองทัพที่เป็นขุมทรัพย์ไปอยู่ในความดูแลของรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดิฉันจะขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมกันเปิดกรุสมบัติและอาณาจักร ลึกลับขุมทรัพย์ธุรกิจในกองทัพ รวมถึงความมั่งคั่งของนายพลในกองทัพไทยและรายได้ ต่าง ๆ ในธุรกิจทั้งหมด ไปจนถึงการเติบโตของนายพลบนเส้นทางเศรษฐีสุดลี้ลับที่แทบจะ จับต้องอะไรไม่ได้เลย อันดับแรกสิ่งที่จะต้องพูดถึงวงจรปริศนานี้ มีเรื่องหนึ่งที่ผู้คนในสังคม มักจะจับตา นั่นก็คือการเปิดบัญชีทรัพย์สินของนายพลหลังจากลงตำแหน่งทางการเมือง ในทุกครั้ง ดังเช่นครั้งนี้มีการจับตาการเปิดบัญชีทรัพย์สินของ พลเอก ประยุทธ์ ในรอบ ๙ ปี และนี่เป็นที่จับตามองอย่างมากค่ะ เพราะ พลเอก ประยุทธ์ ได้เคยแจ้งว่ามีการรับมอบเงิน ที่ซื้อขายที่ดินราคา ๕๔๐ ล้านบาท จากบิดาของตนเองซึ่งเป็นการขายที่ดินให้กับบริษัท ในเครือธุรกิจเจ้าสัวเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เจ้าใหญ่รายหนึ่งในราคา ๖๐๐ ล้านบาท และเนื่องจาก พลเอก ประยุทธ์ เป็นบุตรคนโต จึงได้นำเงินแจกจ่ายให้น้องชาย ให้ลูก ๆ และให้ญาติพี่น้อง ทำให้ไม่ปรากฏบัญชีทรัพย์สินของตนเอง ดังนั้นในส่วนของลูกสาวเอง ที่เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้วก็ไม่ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สิน การแสดงบัญชีทรัพย์สินครั้งนี้จึงปรากฏ แค่บัญชีของ พลเอก ประยุทธ์ และภรรยาที่มีทรัพย์สินมั่งคั่งถึงกว่า ๑๓๐ ล้านบาท แบบไร้หนี้สิน ท่านประธานคะ ยังมีนายพลและ ผบ.ทบ. อีกหลายรายที่ออกจากการดำรง ตำแหน่งทางการเมือง ในที่นี้ก็จะมีอีกท่านที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นก็คือ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เจ้าของนาฬิกาหรู ๒๐ กว่าเรือน สถานะโสด รวย เน้นยืมเพื่อน แจ้งบัญชี ทรัพย์สินมากว่า ๘๙ ล้านบาท และดิฉันยังพบบัญชีทรัพย์สินของอดีต ผบ.ทบ. ที่เมื่อ หลังเกษียณ แล้วก็ลงจากตำแหน่งทางการเมืองหลายท่าน พลเอก ป พลเอก อ พลเอก ฉ พลเอก ณรงค์พันธ์ พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ หลายท่านมีบัญชีทรัพย์สินที่มีมูลค่า สูงมาก ดิฉันค้นพบกรุสมบัติของนายพลที่พ้นตำแหน่งทางการเมืองหลายราย บางรายมี ๒๐๐ ล้านบาท บางรายมี ๓๐๐ ล้านบาท ๕๐๐ ล้านบาท และบางรายมีทรัพย์สินมากกว่า ๘๐๐ ล้านบาท โดยนายพลที่ร่ำรวยที่สุดรายหนึ่งแจ้งบัญชีทรัพย์สิน ๘๐๐ ล้านบาท และระบุว่าคู่สมรสของตนเองมีบัญชีทรัพย์สินอยู่ ๗๒๐ ล้านบาท ซึ่งทรัพย์สินส่วนใหญ่ ของคู่สมรสเป็นที่ดินและเงินฝาก แต่แจ้งคู่สมรสว่ามีอาชีพเป็นแม่บ้านเท่านั้น เป็นแม่บ้าน ที่ไม่มีรายได้แต่กลับมีทรัพย์สินที่มั่งคั่ง และดิฉันคิดว่าหลาย ๆ คนก็คงจะแปลกใจอย่างที่ ดิฉันเป็น นี่เป็นเพียงตัวอย่างของนายพลการเมืองผู้มั่งคั่งหลังลงจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. และตำแหน่งทางการเมืองเพียงไม่กี่นาย ที่ดิฉันได้ยกมาให้ทุกท่านได้เห็น แต่ไม่เพียงเท่านั้น ประเทศไทยยังมีนายพลที่มั่งคั่งอีกกว่า ๓,๐๐๐ นาย ที่รวยกันตั้งแต่หลักสิบล้านไปจนถึง หลักร้อยล้านบาท พันล้านบาท ไล่กันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จนอาจจะกล่าวได้ว่าเป็น ทหารได้อะไรมากกว่าที่คิดจริง ๆ ค่ะ เมื่อ ๓ วันก่อนนี้โฆษกกระทรวงกลาโหมเพิ่งให้ สัมภาษณ์ว่านายพลไทยสูงทะลุ ๒,๐๐๐ คนไปแล้ว โดยนับเป็นนายพลที่มีตำแหน่งประจำ ซึ่งกระจายอยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ ของกองทัพ อย่างสำนักปลัด กระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ทั้งสิ้นมีอยู่ประมาณ ๑,๓๐๐๐ นายที่มีตำแหน่ง แต่อีก ๗๐๐ นาย เป็นนายพลที่ไม่ได้รับมอบหมายชัดเจน เป็นแค่ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นที่ปรึกษา เป็นผู้ชำนาญ หรือเป็นตำแหน่งอื่น ๆ เมื่อดิฉันได้ทราบ ตัวเลขเช่นนั้น ดิฉันต้องบอกว่าเป็นเรื่องน่าตกใจอย่างมากค่ะ ดิฉันไม่ได้ตกใจกับจำนวน นายพลที่มันมีสูงมากล้นกองทัพ แต่ดิฉันตกใจกับตัวเลขของนายพลที่มันคลาดเคลื่อน อย่างมาก เพราะเมื่อดิฉันลองไปดูเอกสารจาก Page อย่างเป็นทางการของกองทัพไทยเอง ซึ่งเป็น Page ทางการด้วยนะคะ ยิ่งต้องตกใจค่ะ เพราะเมื่อปี ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา กองทัพไทย เองเปิดเผยตัวเลขอย่างเป็นทางการว่ามีนายทหารชั้นนายพลจำนวน ๒,๒๓๐ นาย ที่เข้าเฝ้า ถวายสัตย์ปฏิญาณ และจากนั้นในปี ๒๕๖๕ ราชกิจจานุเบกษาเองก็ประกาศจำนวนนายพล ในราชกิจจานุเบกษาเปิดเผยชื่อทหารอีกจำนวน ๕๓๐ นาย และในปี ๒๕๖๖ ก็มีนายพลใหม่ เพิ่มอีก ๕๒๔ นาย และเมื่อปีที่แล้วที่มีนายพลเพิ่ม ๕๑๔ นาย ได้มีการถามตัวเลขไปว่า เรามีทหาร มีนายพลที่เกษียณแล้วเท่าไร แต่ก็ไม่มีตัวเลขที่เป็นรูปธรรมชัดเจนและไม่เคย ปรากฏ ดังนั้นดิฉันจะอนุมานว่าตอนนี้เรามีนายทหารชั้นนายพลใกล้เคียงกับจำนวนตัวเลข ๓,๒๐๐ คนแล้ว ถ้านายพลกำลังหลักตามที่ท่านโฆษกพูดมีอยู่ ๑,๓๐๐ คน นั่นเท่ากับเรามี นายพลว่างงานอยู่มากกว่านั้น นั่นก็คือว่าเรามีจำนวนนายพลที่ว่างงานอยู่อีกประมาณเกือบ ๑,๐๐๐ คน ซึ่งนายพลเหล่านี้ไม่มีรับมอบหมายงานใด ๆ ไม่มีโต๊ะนั่ง โยกย้ายไปช่วยราชการ ที่นั่นบ้าง ทีนี่บ้าง ไปนั่งเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจบ้าง เป็นกรรมการอิสระ นั่งในบริษัทมหาชน นั่ง ๆ นอน ๆ อยู่ที่บ้าน บ้างก็ไปออกรอบตีกอล์ฟค่ะ สิ้นเดือนก็รับค่าตอบแทน ค่าเบี้ย ประชุม ถ้าไปคำนวณตัวเลขค่าตอบแทนระดับนายพลที่ต่ำสุด ในเงินเดือนระดับ น.๖ ซึ่งเป็นระดับ ที่ต่ำที่สุดแล้วนะคะ อยู่ที่ ๖๙,๐๔๐ บาท เงินค่าบริหารระดับสูง ๑๔,๕๐๐ บาท ค่าตอบแทน รายเดือน ๑๔,๕๐๐ บาท และค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดการหารถประจำตำแหน่ง กรณีไม่มีรถประจำตำแหน่งอีก ๓๑,๘๐๐ บาท ดังนั้นนายพล ๑ คนในระดับต่ำสุดจะรับ เงินเดือน ๑ เดือน เป็นจำนวนเงิน ๑๒๙,๘๔๐ บาท และนี่คือค่าตอบแทนในระดับที่ ต่ำสุดแล้ว นั่นเท่ากับว่า ๑ เดือน ประเทศไทยจะต้องจ่ายเงิน ๔๒๕ ล้านบาทต่อเดือน ปีหนึ่ง เราต้องจ่ายเงินให้นายพลในอัตราที่ต่ำสุดอยู่ที่ ๕,๑๐๐ ล้านบาท ท่านประธานคะ ประเทศไทย จ่ายเงินไปจำนวนมหาศาลขนาดนี้ แล้วเราลองมองย้อนกลับมาดูแสนยานุภาพของ กองทัพไทยกันค่ะ เศร้าใจและผิดหวังไหมคะ คำถามคือนายพลเหล่านี้รับราชการทหารมา ทั้งชีวิต เหมือนกับข้าราชการในอาชีพอื่น ๆ หลายคนก็รับราชการกันมาตลอดชีวิต หลาย ๆ คนที่นั่งอยู่ที่นี่ก็รับราชการมาแล้วหลายปี แต่อะไรที่ทำให้พวกเขา หมายถึงนายทหาร นายพลนะคะ เป็นข้าราชการที่มั่งคั่งได้ถึงเพียงนี้ แน่นอนค่ะ ดิฉันก็อาจจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่งก็อาจจะอ้างว่าได้รับมาจากเงินมรดก แต่แล้วที่ไม่ใช่มรดกล่ะคะ มันจึงปฏิเสธไม่ได้ ว่าการเข้ามามีอิทธิพล มีตำแหน่งทางการเมืองและธุรกิจของทหาร เป็นเส้นทางเศรษฐี ของบุคคลระดับสูงในกองทัพที่เราทุกคนต่างเห็นเด่นชัดเป็นที่ประจักษ์มาแล้ว แต่ท่าน ประธานคะ อิทธิพลทางการเมืองและธุรกิจของทหารที่ว่านี้มีอะไรบ้าง นี่จึงเป็นสาเหตุที่ต้อง ทำให้สภามีความจำเป็นต้องตั้งกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อพิจารณาและศึกษาการถ่ายโอนธุรกิจ ของกองทัพในครั้งนี้ และดิฉันจะขอพาทุกท่านไปทัวร์อาณาจักรธุรกิจของกองทัพ ขุมทรัพย์ ทหาร เส้นทางเศรษฐีของนายพลไปด้วยกันค่ะ
เส้นทางที่ ๑ ขุมสมบัติที่ ๑ คือที่ราชพัสดุที่อยู่ในความดูแลของกองทัพและ รายได้จากการทำธุรกิจที่เกิดจากสวัสดิการเชิงพาณิชย์ของกองทัพ ท่านประธานคะ ถ้าจะ เปิดเส้นทางพี่เบิ้มยักษ์ใหญ่อย่างเจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ระดับโลกตัวจริง ก็ต้องบอกว่าคนที่ ครอบครองที่ดินจำนวนนับล้านไร่จะเป็นใครไปไม่ได้ เขาคือกองทัพไทย หน่วยงานที่มี ที่ดินครอบครองกระจายอยู่ทั่วประเทศเต็มไปหมด สิ่งที่น่าสนใจคือที่ดินราชพัสดุที่อยู่ใน ความดูแลของกรมธนารักษ์ที่มีมากกว่า ๑๒.๕ ล้านไร่ทั่วประเทศ กองทัพ ๓ เหล่าทัพ ได้ครอบครองไว้จำนวนเกือบ ๗.๕ ล้านไร่ และสิ่งที่น่าตกใจก็คือประชาชนในประเทศนี้ กี่คนกันที่จะทราบว่ากองทัพมีปั๊มน้ำมัน ๑๕๐ แห่ง มีสนามกอล์ฟ ๗๔ แห่ง และนอกจาก สนามกอล์ฟที่ครอบครองแล้วยังมีรายได้ที่มากกว่าหลายพันล้านบาทต่อปี ยังมีอะไรอีกคะ ยังมีร้านสะดวกซื้อของเจ้าสัวแบรนด์ใหญ่รายหนึ่งที่ผูกขาดเป็นร้านค้าสวัสดิการในค่ายทหาร มีธุรกิจตลาดนัด กิจการสโมสร โรงแรม สนามมวย สนามม้า สถานพักฟื้นพักผ่อน ของกองทัพ รวมไปถึงสวัสดิการเชิงพาณิชย์อื่น ๆ ค่ะ อย่างโครงการออมทรัพย์หรือ กองฌาปนกิจที่มีการบังคับให้กำลังพลทุกชั้นเข้าไปเป็นสมาชิกสวัสดิการ แล้วก็เข้าร่วม โครงการออมทรัพย์ ซึ่งรายได้ทั้งหมดที่มาจากการฝากเงินจะถูกนำไปเป็นสวัสดิการของ นายพลคนไหนไม่มีใครรู้ มีการจัดแบ่งผลประโยชน์ให้แก่นายทหารระดับใดบ้าง ก็ไม่มี ใครทราบ แล้วเรื่องนี้มีการร้องเรียนทุจริตเรื่องการยักยอกเงินสวัสดิการอยู่บ่อยครั้ง แต่นอกจากกองทัพจะไม่ทำอะไรแล้ว ก็ยังปล่อยให้เรื่องเลือนหายไปพร้อมกับการตั้ง คณะกรรมการขึ้นมาแค่ตรวจสอบเท่านั้น ไม่เพียงเท่านั้นค่ะท่านประธาน กองทัพยังเป็นทั้ง Landlord แล้วก็เป็นทั้ง Developer ใช้ที่ดินของรัฐไปทำโครงการที่ดินจัดสรรที่อยู่ภายใต้ การดูแลของกองทัพเอง เพื่อนำไปจัดสรรให้กับกำลังพล อย่างเช่น โครงการบ้านประชารัฐ บนที่ดินราชพัสดุหรือโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ โดยได้รับความร่วมมือจากทาง กรมธนารักษ์ด้วย ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงการคลัง ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า กำลังคน ๆ ไหนถ้าจะเข้าโครงการกู้เงินก็ต้องมีนายทหารผู้บังคับบัญชาเป็นคนเซ็นรับรองให้ จึงจะสามารถกู้เงินซื้อบ้านในโครงการได้ ดังนั้นผู้ที่ได้ประโยชน์จากการเอาที่ดินรัฐไปจัดสรรให้กำลังพล ก็เห็นจะมีแต่นายทหารระดับ ผู้บังคับบัญชาเท่านั้นที่หากิน สูบเลือด สูบเนื้อบนรอยเลือดและคราบน้ำตาของประชาชน และกำลังพลชั้นผู้น้อยทั้งนั้นค่ะ ประเด็นเรื่องธุรกิจเชิงพาณิชย์บนที่ดินราชพัสดุยังไม่จบแค่นี้ ค่ะท่านประธาน ยังมี Series ที่เพื่อน ๆ สมาชิกของดิฉันกำลังจะทยอยลุกขึ้นมาช่วยกัน เปิดกรุ แล้วก็คลังสมบัติ แล้วก็ช่วยอภิปรายลงรายละเอียดอีกครั้ง
ไปต่อกันที่ขุมสมบัติที่ ๒ ขุมสมบัติจากการนั่งเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจหลัง รัฐประหาร ในทุก ๆ ครั้งหลังรัฐประหารจำนวนนายพลยิ่งสวมหมวกหลายใบมากยิ่งขึ้นค่ะ เข้าไปนั่งในตำแหน่งในบริษัทเอกชน และตำแหน่งผู้บริหารในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ทั้ง ๕๖ แห่ง ซึ่งบอร์ดรัฐวิสาหกิจทั้งหมดมีสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจรวมกันราว ๆ เกือบ ๑๕ ล้านล้านบาท สร้างรายได้ต่อปีเกือบ ๕ ล้านล้านบาท นี่อาจจะถือเป็นขุมทรัพย์ทองคำที่ผู้มีอำนาจหลายคน ในกองทัพพยายามที่จะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเสมอ ไม่ว่าจะในยุคใด หลังรัฐประหารครั้ง ล่าสุดนี้เอง มีจำนวนทหารที่เข้ามานั่งเป็นประธานในบอร์ดรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น ๕ เท่า และมี จำนวนทหารและอดีตทหารเข้าไปนั่งเป็นกรรมการในบอร์ดเกือบถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ดิฉัน พบว่ามีรัฐวิสาหกิจหลายแห่งที่ประกอบกิจการที่ไม่ตรงกับความชำนาญของบุคลากรจาก กองทัพเท่าไรนัก ไม่ว่าจะเป็นการรถไฟแห่งประเทศไทย การนิคมแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ธุรกิจอย่างพลังงาน อย่าง ปตท. รวมไปถึงบอร์ดธนาคาร สถาบันการเงิน หรือแม้แต่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วยก็ตาม ท่านประธานคะบอร์ดที่เป็นผู้มีอำนาจบริหารในรัฐวิสาหกิจ นอกจากมีอำนาจในการกำกับ ดูแลและบริหารแล้ว เขายังได้รับประโยชน์ตอบแทน มีรายได้จากรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ที่ตัวเองเข้าไปนั่งเป็นกรรมการด้วย แล้วนายทหารบางรายก็ยังไปนั่งเป็นบอร์ดหลายแห่ง ในเวลาเดียวกัน หลายคนสวมหมวกหลายใบ ได้รับทั้งค่าตอบแทนรายเดือน ค่าเบี้ยประชุม ได้รับโบนัส ได้รับเงินเดือนประจำตำแหน่งนายพล ได้ค่าตอบแทน รถประจำตำแหน่ง งานสบาย ๆ รับรายได้หลายทาง และนี่คือกลายเป็นเส้นทางเศรษฐีของกองทัพไทยไปแล้ว และเรื่องที่น่าสังเกตบอร์ดรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มักจะถูกเปลี่ยนแปลงหลังจากเกิดรัฐประหาร ทุกครั้ง คำถามสำคัญค่ะ จะมีความโปร่งใสแค่ไหนในการบริหาร ใช้อำนาจที่ทับซ้อน ก่อให้เกิดการเอื้อผลประโยชน์ให้กับตนเองหรือเปล่า และมีการเอื้อพวกพ้องอย่างไรบ้าง และใครรับรายได้เข้ากระเป๋าไปเท่าไรแล้วบ้าง เราไม่เคยตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้ ที่เป็นขุมสมบัติเหล่านี้ได้เลยค่ะ และนี่จึงเป็นเหตุจำเป็นต้องตั้งกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อ พิจารณาศึกษา
ไปต่อกันที่ขุมสมบัติที่ ๓ งบประมาณในส่วนของกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็น งบก้อนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นตลอดแทบทุกปีค่ะ เมื่อเราย้อนไปดูก่อนการรัฐประหาร ในปี ๒๕๔๘ ซึ่งเป็นก่อนรัฐประหาร ๑ ปี กองทัพไทยได้รับงบอยู่ที่ ๘๑,๐๐๐ ล้านบาทเท่านั้น แต่หลัง รัฐประหาร ปี ๒๕๔๙ เป็นต้นมา งบประมาณของกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากงบประมาณที่เคยได้รับกลับเพิ่มขึ้น ๒ เท่าในปี ๒๕๕๒ และหลังจากนั้นเมื่อ คสช. เดินหน้าภารกิจยึดกุมอำนาจทางการเมืองสำเร็จ กองทัพเข้ามาครอบคลุมอำนาจรัฐได้ งบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น ๓ เท่าในปี ๒๕๖๓ โดยได้รับงบอยู่ที่ ๒๓๓,๐๐๐ ล้านบาท จึงทำให้ เห็นชัดว่างบประมาณที่กองทัพได้รับสัมพันธ์กับอำนาจที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
ท่านประธานคะ แล้วถ้าดู จากสไลด์ก็จะเห็นว่างบกระทรวงกลาโหมเป็นงบที่แทบจะไม่ค่อยได้ปรับลดเลยหลังจาก เพิ่มขึ้นแล้ว แล้วก็ตัดลดได้น้อยมากหรือแม้แต่ปรับลดได้ แต่ว่าสุดท้ายก็ไปอนุมัติเพิ่มเติมกัน ภายหลังค่ะ นอกจากงบกระทรวงกลาโหมจะปรับลดไม่ได้แล้วแทบไม่มีหน่วยงานไหนเลย ที่เข้าไปตรวจสอบได้ แม้แต่ สตง. เองก็ตาม นี่จึงทำให้เป็นต้นเหตุของการที่เกิดการทุจริต ฉ้อฉล ปล่อยให้มีเงินทอนสะพัดในโครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ตั้งแต่โครงการจัดซื้อ รถถัง เรือดำน้ำ เฮลิคอปเตอร์ ยานยนต์สรรพาวุธ โครงการจัดซื้อ GT200 ที่ใช้งานไม่ได้ ทุจริตกันแม้กระทั่งโครงการจัดซื้อกางเกงในของทหาร อย่างที่คุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แล้วก็คุณพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ เพื่อนสมาชิกจาก พรรคก้าวไกลได้เคยอภิปรายเคสทุจริตอื้อฉาวในกองทัพมาแล้วในสภา ในสมัยการประชุม สภาสมัยที่แล้วค่ะ ท่านประธานคะ และนี่คือคลังสมบัติที่มาจากงบประมาณจำนวนมหาศาล ส่งผลตามมาด้วยการตั้งบริษัททหารรับงานกองทัพ ทำธุรกิจหากินกับโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ของกองทัพ ยิ่งมีงบประมาณที่มากขึ้นเท่าไร ก็ย่อมตามมาด้วยภารกิจที่ใหญ่ยิ่งในการนำงบ ไปลงทุนในธุรกิจ ส่งผลตามมาด้วยทรัพย์สินและอำนาจของทหารระดับนายพลและ คนในเครือข่ายที่ก็จะยิ่งใหญ่ตามไปด้วย เท่านั้นไม่พอค่ะ ตามไปดูกันที่ขุมทรัพย์ที่ ๔ ค่ะ ซึ่งเป็นขุมทรัพย์สื่อที่อยู่ในมือกองทัพ ทั้งสถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุ ในปัจจุบันกองทัพ ถือคลื่นความถี่และประกอบกิจการในระบบวิทยุกระจายเสียงมากที่สุดเป็นอันดับ ๑ ในประเทศนี้ รวม ๒๐๕ คลื่น รองลงมาคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ๔๔ คลื่น และรายได้ ของธุรกิจวิทยุส่วนใหญ่มาจากการขายโฆษณาและค่าเช่าคลื่น แต่ท่านประธานทราบ หรือไม่คะ ไม่มีใครทราบตัวเลขรายได้จากคลื่นทั้ง ๒๐๕ คลื่นของกองทัพเลยว่ารายได้เหล่านี้ เข้ากระเป๋านายทหารคนใด ระดับใดบ้าง หรือรายได้ดังกล่าวถูกนำไปใช้เพื่อการพัฒนา กองทัพในส่วนใด เพียงใด ข้อมูลเหล่านี้ก็ไม่เคยมีการเปิดเผยค่ะ แต่ที่แน่ ๆ ตัวเลขรายได้ ยังคงเป็นที่ดึงดูดต่อผู้ประกอบการหลายรายนะคะ ดูได้จากการที่ยังมีผู้เข้าประมูลแข่งขัน คลื่นวิทยุกันอย่างดุเดือดมากค่ะ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา โดยมี การประมูลคลื่นไปด้วยเม็ดเงินจำนวนทั้งสิ้น ๗๐๐ ล้านบาท โดยที่เสือนอนกินอย่างกองทัพ ไม่จำเป็นต้องนำส่งคืนคลื่นของตนเองกลับมาจัดสรรใหม่แต่อย่างใดเลยค่ะ ดิฉันจะขอ ยกตัวอย่างคลื่นที่เป็นของกองทัพอย่างคลื่น คูลฟาเรนไฮต์ ๙๓ และ EFM 94 คลื่นวิทยุ Rating อันดับ ๑ ที่ยังถูกครอบครองโดยกองทัพจนถึงวันนี้และไม่มีข้อมูลว่าสัมปทาน จากการเช่าคลื่นวิทยุนี้ ที่เรียกว่าเป็นความนิยมสูงคลื่นนี้ค่ะ มีจำนวนค่าเช่าอยู่ที่เท่าไร ดิฉันขอยกตัวอย่างเท่าที่พอหาได้ ๑ คลื่น ก็คือคลื่น Life Radio ซึ่งเป็น FM 99.5 ซึ่ง FM 99.5 ทำสัญญาเช่าคลื่นวิทยุ ๑ คลื่นจากหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการ ทหารสูงสุด เป็นเวลา ๒ ปี เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๖๔,๘๐๐,๐๐๐ บาท ท่านประธานคะ จำนวนเงินเกือบ ๖๕ ล้านบาทนี้เป็นการเช่าคลื่นเพียงแค่ ๑ คลื่นที่อยู่ในมือกองทัพ นั่นเท่ากับอีกจำนวน ๒๐๐ กว่าคลื่นจะเป็นจำนวนเงินมหาศาลแค่ไหน เราไม่เคยเห็นตัวเลข และไม่เคยได้รับการเปิดเผยใด ๆ จากกองทัพเลย ดิฉันเข้าใจเป็นอย่างดีค่ะถึงประวัติ ความเป็นมาที่กองทัพใช้เป็นข้ออ้างเรื่องความมั่นคง นี่เป็นเหตุที่ยังคงแช่เวลา แล้วก็ ครอบครองขุมทรัพย์สื่อไว้ในมือเช่นนี้ แต่ท่านประธานคะดิฉันคิดว่าในยุคสมัยนี้การที่กองทัพ จะอ้างเรื่องความมั่นคงไม่น่าจะฟังขึ้นแล้วนะคะ เพราะกลับไปตรวจสอบดูได้ค่ะ ดิฉันฟังคลื่น เหล่านี้อาจจะไม่ครบทั้ง ๒๐๐ คลื่นด้วยซ้ำ แต่สถานีเหล่านี้ได้กลายเป็นคลื่นเปิดเพลง เพื่อความบันเทิงไปแล้ว ไม่เคยมีเนื้อหาใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ไม่เคยมีเนื้อหาใด ๆ ที่เตรียมการป้องกันประเทศอีกแล้วค่ะ ท่านประธานคะ สิ่งที่เราเห็นคือสื่อและภูมิทัศน์ ของสื่อเปลี่ยนไปมาก แต่กองทัพต้องทบทวนไหมในการที่จะขับเคลื่อนธุรกิจวิทยุยุคปัจจุบัน ยังคงทำตัวเป็นเสือนอนกินครองคลื่นความถี่จำนวนมาก อาจจะไม่ได้เป็นผู้ชนะในเกมธุรกิจ เสมอไป และนี่ไม่ใช่สูตรสำเร็จของการยึดอำนาจเหมือนสมัยก่อนแล้ว และถึงเวลาแล้ว ที่กองทัพจะต้องคืนสมบัติที่เป็นของสาธารณะ อย่างขุมทรัพย์สื่อที่อยู่ในมือของกองทัพ ทั้งสถานีโทรทัศน์และวิทยุคืนให้กับการจัดสรรทรัพยากรให้กับประเทศนี้ คืนการสื่อสาร คืนคลื่นวิทยุให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์กันอย่างเป็นธรรมค่ะ ไปดูกันที่ TV Digital ค่ะ กองทัพยังคงเป็นผู้ให้บริการโครงข่าย TV Digital รายใหญ่ และเป็นรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ทุกท่านอาจจะไม่ได้แปลกใจนักค่ะ ถ้าหากดิฉันจะบอกว่ากองทัพเป็นผู้ครอบครองขุมทรัพย์ สื่อที่ขึ้นชื่อว่าเป็นขุมทองธุรกิจโครงข่าย TV Digital เพราะทุกท่านคงทราบกันเป็นอย่างดีว่า กองทัพเป็นผู้บริหารโครงข่าย TV Digital ในลักษณะแบบผูกขาด หลังจาก กสทช. อนุมัติใบอนุญาตต่อเวลาให้อีกยาวนานเพิ่มอีก ๑๕ ปี หลังการรัฐประหาร ต่อมา กสทช. ก็ยังอนุมัติให้กองทัพได้ใบอนุญาตการให้บริการ โครงข่าย TV Digital เพิ่มอีก ๑ ใบ เพื่อแลกกับการเจรจากับคู่สัญญาสัมปทานอย่างกรุงเทพ โทรทัศน์และวิทยุ ในการบริหารสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๗ ให้ย่นระยะเวลาสัมปทาน ลดลง เพื่อช่วยให้การยุติทีวีในระบบ Analogue เร็วขึ้น ท่านประธานคะ ดิฉันต้องบอกว่า ในขณะที่สื่อดั้งเดิมทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ลดขนาดทางธุรกิจค่ะ บางรายต้อง ปิดตัวลง แต่กองทัพยังมีขุมสมบัติที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญจากโครงข่ายโทรทัศน์ในระบบ Digital หรือ MUX ที่ช่อง TV Digital จะต้องเช่า ททบ. ๕ เพื่อใช้แพร่ภาพกระจายเสียง โดยมีค่าเช่าช่องความคมชัดประเภทสูงอยู่ที่เดือนละ ๑๐.๕ ล้านบาท และราคาช่องที่ใช้ ในรายการประเภทความคมชัดแบบปกติเดือนละ ๓.๕ ล้านบาท นี่ลดราคาลงมาแล้วนะคะ ต้องบอกว่าข้อมูลจาก กสทช. บอกไว้ว่าช่องที่ MUX ใช้ MUX ของ ททบ.๕ มีอยู่ด้วยกัน ๑๔ ช่อง ซึ่งช่องนี้เป็นช่องความคมชัดสูง ๕ ช่องและ HD ก็คือช่องความคมชัดปกติ ๙ ช่อง นั่นเท่ากับว่า ททบ. ๕ ได้เงินค่าเช่า MUX ๑,๐๐๘ ล้านบาทต่อปี อันนี้ไม่รวมกับค่าโฆษณา ค่าทำโฆษณา ค่ารับจ้างบริการอื่น ๆ อีก ซึ่งหลายพันล้านบาทต่อปี แต่ตัวเลขเหล่านี้ไม่ปรากฏ ชัดในเอกสารใด ๆ เลย รายได้นี้ก็ต้องบอกว่าทาง กสทช. ไปเปลี่ยนเงื่อนไขให้ ททบ. ๕ สามารถไปหารายได้ได้จากการโฆษณา แล้วก็ไปแสวงหากำไรได้ โดยสามารถที่จะมีการโฆษณา ได้เฉลี่ยชั่วโมงละ ๘-๑๐ นาทีเท่ากับ TV Digital แบบระบบธุรกิจเลยนะคะ ปัจจุบันกองทัพ จึงกลายเป็นเสือนอนกินรับรายได้จากคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ ฟันกำไรมหาศาล ผูกขาด โดยไม่ ต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นเลย จริง ๆ ต้องบอกว่าถึงเวลาแล้วที่กองทัพจะคืน สมบัติที่เป็นสาธารณะ อย่างขุมทรัพย์สื่อที่อยู่ในมือกองทัพทั้งสถานีโทรทัศน์และวิทยุ คืนสิทธิในการจัดสรรทรัพยากรในการสื่อสารให้กับประชาชน ให้ประชาชนได้จัดสรรในการ ใช้ทรัพยากรแบบนี้อย่างเป็นธรรมค่ะ ไม่เพียงเท่านี้ค่ะท่านประธาน ไปดูขุมทรัพย์ต่อไปค่ะ
ขุมทรัพย์ธุรกิจพลังงานของกองทัพไทย กองทัพเป็นอีก ๑ กลุ่มทุนขนาดใหญ่ ที่ผูกขาดธุรกิจพลังงาน ทั้งธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจไฟฟ้า และ Solar Farm แน่นอนค่ะในอดีต ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจพลังงานเป็นธุรกิจที่สำคัญต่อการป้องกันประเทศ เพราะกองทัพ ไม่สามารถเคลื่อนทัพได้ ถ้าไม่มีน้ำมัน และฐานทัพเองก็ไม่สามารถดำเนินการได้ถ้าไม่มีไฟฟ้า และดิฉันเอง ก็ไม่มีปัญหากับการที่กองทัพจะสำรองพลังงานเพื่อความมั่นคง แล้วก็ เพื่อการป้องกันประเทศค่ะ แต่ความมั่นคงในปัจจุบันมันได้กลายเปลี่ยนเป็นความมั่นคงใน การขายพลังงานของกองทัพเพื่อหารายได้ให้กับตนเองไปเสียแล้วค่ะ ถ้าเราไปดูขุมทรัพย์แรก ก็คือของกรมการพลังงานทหาร เราจะเห็นว่าจากข้อมูลกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและกรมการ พลังงานทหารได้ระบุไว้ว่ามีการผลิตน้ำมันดิบที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจำนวน ๓๖๕,๐๐๐ บาร์เรล เมื่อคำนวณด้วยราคากลางย้อนหลัง ๖๐ ปีด้วยราคา ๕๐ เหรียญสหรัฐ ต่อบาร์เรล จะเท่ากับมูลค่าที่ได้รับ ๖๒๕ ล้านบาท ในระยะเวลาที่ดำเนินการมาแล้ว ณ วันนี้ ๖๘ ปี คิดเป็นมูลค่า ๔๔,๓๐๐ ล้านบาท มูลค่ามหาศาลมากค่ะ ซึ่งกองทัพก็ยังอ้างว่าผลผลิต เหล่านี้ผลิตในโรงกลั่นแล้วก็ดำเนินการทุกอย่างในกรมการพลังงานทหาร แล้วก็เอาไว้ใช้ เพื่อป้องกันประเทศ ใช้เพื่อความมั่นคงในเขตทหาร แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ค่ะว่า มูลค่าขุมทรัพย์ ใต้ดินที่สะพัดในกองทัพปริมาณมหาศาลแบบนี้ มันต้องตั้งคำถามว่ากองทัพผลิตได้ปริมาณ มหาศาลเท่าไร และใช้เท่าไรในกองทัพ พร้อมทั้งขายออกไปสู่ตลาดภายนอกเท่าไร นี่คือผลผลิตจากโรงกลั่นน้ำมันของกรมการ พลังงานทหารค่ะ ที่ได้ส่งออกไปมีการส่งออกไปที่ภาคเอกชนหรือเปล่า มีการส่งออกไป ที่รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานรัฐอื่น ๆ หรือเปล่าในรูปแบบการค้า แบบนี้ก็ไม่เคยมีการเปิดเผย แล้วก็ไม่ทราบด้วย กรรมาธิการงบประมาณหลาย ๆ ครั้งนี้ขอดูงบประมาณ ขอดูรายได้จาก ในส่วนการขายน้ำมันนี้ แต่กองทัพก็ไม่เคยนำส่งรายได้หลายหมื่นล้านบาทตรงนี้ เข้ากระทรวงการคลังเลย แล้วรายได้ที่มีปริมาณมหาศาลแบบนี้เข้ากระเป๋าใคร นายพล คนไหน ท่านประธานคะ ไม่เพียงแต่ขุมทรัพย์น้ำมันเท่านั้นค่ะ แต่กองทัพมีพลังงานไฟฟ้า ในครอบครองแห่งเดียวในประเทศไทยที่กองทัพเข้าไปดำเนินการในธุรกิจขายกระแสไฟฟ้า ให้กับประชาชนที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ที่ผ่านมากิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทาน กองทัพเรือตั้งขึ้นมากว่า ๘๔ ปีแล้ว ฐานทัพเรือสัตหีบเป็นคนตั้งขึ้น แล้วก็อ้างเรื่อง ความจำเป็นในอดีตที่ต้องเดินเครื่องจำหน่ายไฟฟ้าให้กับหน่วยงานราชการทหาร แล้วก็ ฐานทัพเรือบอกว่าจะเอาไฟฟ้าเหล่านี้ใช้ในฐานทัพ แล้วก็ใช้ในหน่วยราชการฝ่ายพลเรือน ในเขตพื้นที่ทหารเท่านั้น แต่หลังจากนั้นเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปก็ได้มีการขยายเขตเหล่านี้ เข้าไปบริการให้ประชาชนได้ใช้ ณ วันนี้มีประชาชนมากกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน ที่ต้องใช้ไฟจาก กิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ต้องถามว่ากองทัพเรือมีความจำเป็นแค่ไหน ในการที่จะจำหน่ายไฟฟ้าแบบติด ๆ ดับ ๆ แบบนี้ให้กับประชาชน นี่คือสิ่งที่ประเทศไทยมี แต่ทุกชาติในโลกไม่มีค่ะ คือการที่กิจการสวัสดิการไฟฟ้าได้ขยายธุรกิจออกไปครอบคลุม บริการด้านไฟฟ้าเบ็ดเสร็จให้แก่ประชาชนในพื้นที่หลายแสนคน ด้วยขีดความสามารถที่ ตัวเองไม่มีเลยนะคะ แล้วก็กระแสไฟฟ้าเดี๋ยวจะมีเพื่อนสมาชิกลุกขึ้นมาอภิปรายเรื่องนี้ค่ะ ก็เห็นว่ากระแสไฟฟ้าในบริเวณพื้นที่อำเภอสัตหีบ ๓ วัน ๔ วันดับ สร้างปัญหากระแสไฟฟ้า ตกบ่อย ดับบ่อย เครื่องใช้ไฟฟ้าของประชาชนในพื้นที่ก็เสียหาย แล้วไม่เคยมีใครรับผิดชอบ ตามมาด้วยราคาค่าไฟที่แพงและสูงมากกว่าปกติ ไฟติด ๆ ดับ ๆ บ่อย ๆ แบบนี้เป็นปัญหา มาก ๆ ค่ะ ไม่แน่ใจว่าจะมีขีดความสามารถอะไรไปเตรียมพร้อมในการที่จะป้องกันประเทศได้ ท่านประธานคะ ข้อเสนอของสภาที่มีต่อกองทัพมาตลอดก็คือกองทัพควรปล่อยวางจาก ธุรกิจไฟได้แล้ว ทบทวนบทบาทที่แท้จริงของตัวเองและให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งมีขีด ความสามารถและความชำนาญเข้ามาจัดการตามบทบาทหน้าที่ของเขาดีกว่าค่ะ นอกจาก น้ำมัน ไฟฟ้า ไปต่อกันที่โซลาฟาร์ม เมื่อปี ๒๕๕๒ การก่อตัวและการลงทุนด้านพลังงาน ของกองทัพปรากฏเด่นชัดขึ้น เมื่อมีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. อุตสาหกรรมป้องกัน ประเทศและการพลังงานทหาร โดยให้กระทรวงกลาโหมและสำนักงานปลัดกระทรวง กลาโหมมีอำนาจในการจัดสิทธิ จัดการทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และการพลังงานทหาร ให้มีอำนาจในการเข้าไปร่วมลงทุนร่วมทำงานจัดตั้งบริษัทหรือจัดตั้ง บรรษัทตามที่กำหนด แล้วก็ให้ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นกรรมการเพื่อให้ดำเนินงาน ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ต่อมาท่านประธานในปี ๒๕๕๗ รัฐบาล คสช. ก็เปลี่ยน ทิศทางการสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานอีกครั้งค่ะ โดยมีการผลักดันให้โครงการโรงไฟฟ้า ขนาดใหญ่จากก๊าซธรรมชาติให้ใช้การซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่เป็นจุดสานต่อการซื้อไฟฟ้าข้ามพรมแดนต่อเนื่อง มาจนถึงปัจจุบันนี้ค่ะ ดิฉันจะไม่ขอ ลงรายละเอียดในนี้ จากนั้นในปี ๒๕๕๘ กองทัพบกก็ริเริ่มการใช้ที่ดินราชพัสดุที่อยู่ใน ครอบครอง จำนวน ๔,๐๐๐ ไร่ ผลิตไฟฟ้าและพลังงานแสงอาทิตย์หรือที่เรียกกันว่า โซลาฟาร์มร่วมกันกับเอกชนตั้งโซลาฟาร์ม ๓๑๐ เมกะวัตต์ โดยมีการทำเรื่องขอให้กระทรวง พลังงานเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาฟาร์มในที่ดินกองทัพบกเพิ่มอีก แล้วก็ขยายโครงการ อีกกว่า ๒๐ แห่งค่ะ ตามโครงการโซลาฟาร์มส่วนราชการเพิ่มอีก ๑๐๐ เมกะวัตต์ แล้วก็ กองทัพก็ด้วยความที่กองทัพยังไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่ง ประเทศไทย แล้วก็ประกอบกับการที่ยังไม่มีใบอนุญาต แล้วก็ยังไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อบริษัทที่ยื่นเสนอ ดังนั้นการจัดสรรรายได้ตาม พ.ร.บ. ร่วมทุนก็จึงไม่มีการชี้แจงว่าการบริหารจัดการรายได้ เหล่านี้ที่เกิดขึ้นจากการซื้อขายไฟฟ้าจะสนับสนุนให้ใคร และจะเป็นรายได้ตัวไหน ดังนั้น ถ้าดิฉันจะยกตัวอย่างให้เห็นว่ารายได้ตรงนี้มันเยอะมากขนาดไหนนะคะ ดิฉันจะอธิบาย แบบนี้ค่ะว่า นโยบายการสนับสนุนรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาฟาร์ม ถ้าในช่วงเวลาดังกล่าว ณ ปัจจุบันอยู่ที่ ๓ บาทต่อหน่วย ในระยะเวลา ๒๕ ปี โครงการโซลาฟาร์มของกองทัพ จะมีรายได้ราว ๆ ๓๓,๔๘๐ ล้านบาท แล้วเงินเหล่านี้ ๓๐,๐๐๐ ล้านบาทนี้เข้ากระเป๋าใคร ไม่เพียงเท่านั้นค่ะท่านประธาน ปี ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา กองทัพบกและการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย EGAT ร่วมกันศึกษาพัฒนาการลงทุนโซลาฟาร์มบนที่ดินราชพัสดุ ๖๐๐,๐๐๐ ไร่ เพื่อให้รองรับการผลิตโซลาฟาร์มได้ ๓๐,๐๐๐ เมกะวัตต์ โดยจะนำพื้นที่ของ กองทัพบกทั่วประเทศกว่า ๔ ล้านไร่ มาพัฒนาแล้วก็บริหารจัดการ ทำให้เกิดการผลิตไฟฟ้า ยาวนานต่อเนื่องไปอีก ๒๕ ปี ขุมทรัพย์มหาศาลจากการลงทุนในพลังงานทั้งหมด ไม่ปรากฏต่อสาธารณะว่าจะจัดสรรให้นายพลคนใด และกองทัพได้ไปเท่าไร กรมธนารักษ์ จะได้ไปในสัดส่วนใด และเป็นเงินที่เหลือเข้าคืนคลังเท่าไรก็ไม่มีการชี้แจง ท่านประธานคะ ธุรกิจเสนาพาณิชย์ของกองทัพที่ดิฉันได้อภิปรายไปทั้งหมดเป็นแค่เศษเสี้ยวหนึ่งของปัญหา ความเหลื่อมล้ำในประเทศนี้ค่ะ ถึงแม้ว่าวันนี้พรรคก้าวไกลจะเป็นเพียงฝ่ายค้าน แล้วเราก็มี ข้อจำกัดมากมายที่ยังไม่สามารถที่จะผลักดันนโยบายปฏิรูปกองทัพของเราให้สำเร็จและ เป็นจริงได้ แต่ดิฉันคิดว่าวันนี้การตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อศึกษาการถ่ายโอนธุรกิจ ของกองทัพ เรื่องนี้เป็นประตูบานแรกที่จะทำให้สภาผู้แทนราษฎรได้ร่วมกันพิจารณากัน จริง ๆ สักทีค่ะ ว่ากองทัพมีความจำเป็นต้องครอบครองที่ดินจำนวนมหาศาล มีค่ายทหาร ที่ตั้งอยู่บนที่ดินใจกลางกรุงเทพมหานคร อยู่ใจกลางเมืองแล้วก็ผูกขาดธุรกิจที่ทำธุรกิจต่าง ๆ ยังมีความจำเป็นแบบนี้อยู่หรือไม่ และมันถึงเวลาหรือยังที่เราต้องปฏิรูปกองทัพ คืนทหารให้ ประชาชน คืนนายพลกลับไปทำงานในกองทัพและคืนธุรกิจกองทัพหลายหมื่นล้านบาทให้กับ รัฐบาล ปรับลดงบกระทรวงกลาโหมกลับไปเท่าก่อนรัฐประหารก็ได้ค่ะ เราจะมีงบประมาณ เพิ่มหลายแสนล้านบาทเพื่อมาเป็นสวัสดิการให้กับประชาชนค่ะ ถ้างบประมาณและ ทรัพยากรของประเทศนี้ถูกจัดลำดับความสำคัญอย่างถูกที่ถูกทางนะคะ ไม่กระจุกตัวอยู่แค่ กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง แต่จัดสรรผลประโยชน์เหล่านี้ให้ประชาชนเป็นที่ตั้งค่ะ วิธีการ เช่นนี้จะเป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนได้ การปฏิรูปกองทัพ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องคือเรื่องเดียวกัน ดิฉันจึงขอเสนอให้สภาตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาและ ศึกษาการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพ ส่งมอบที่ดินและธุรกิจคืนให้กับรัฐและประชาชน เพื่อนำมาจัดสรรและกระจายทรัพยากรให้กับประชาชนอย่างเป็นธรรมเพื่อสร้างความมั่นคง ให้กับประชาชน สร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจ และให้กับประเทศนี้ ขอบคุณค่ะ ท่านประธาน
ท่านประธานคะ เบญจา ๑๙๙ แสดงตนค่ะ
เรียนท่านประธานสภา ดิฉัน เบญจา แสงจันทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธานคะ ดิฉันจะขออภิปรายเพื่อสนับสนุนญัตติของคุณเพชรรัตน์ ใหม่ชมภู เพื่อนสมาชิกจากพรรคก้าวไกลที่เสนอญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญขึ้นมาเพื่อพิจารณาศึกษาการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคเหนือ หรือ NEC โดยดิฉันจะนำบทเรียนความล้มเหลวที่เกิดขึ้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC และเขตเศรษฐกิจ พิเศษ ๑๐ แห่งทั่วประเทศที่ถูกประกาศไปแล้วในยุครัฐบาลของ คสช. แต่ยังคงติดหล่ม ไปไม่ถึงฝั่งฝัน โดยดิฉันจะขอฝากเป็นข้อสังเกตให้กับคณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะตั้งขึ้นมา เพื่อนำไปพิจารณาศึกษาเพิ่มเติมด้วยค่ะ ท่านประธานคะ เวลาเราพูดถึงการพัฒนาเขต เศรษฐกิจพิเศษเราก็คงต้องนึกถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC เป็นอันดับต้น ๆ และเมื่อพูดถึง EEC เราปฏิเสธไม่ได้ค่ะว่าจะต้องพูดถึงนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นนโยบายสร้างภาพ ขายฝันว่าจะยกระดับนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หรืออุตสาหกรรมไฮเทคขั้นสูง เป็นการสร้างภาพขายฝันเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมขนส่ง หลอกเราว่า จะเชื่อมโยงการเดินทางทั้งอากาศ ทั้งทางบก ทางน้ำแบบไร้รอยต่อภายใต้โครงการเรือธง ๕ โครงการ Megaproject อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบินที่เวนคืน ไล่ฟ้อง ไล่ยึด ขับไล่ชาวบ้านออกจากที่ดินไปแล้วค่ะ แต่วันนี้ยังไม่มีการลงหลักตอกเสาเข็ม แต่อย่างใด ส่งมอบพื้นที่ก็ไม่เรียบร้อย จนถึงตอนนี้ก็พยายามที่จะแก้สัญญาร่วมลงทุน หลายแสนล้านบาท ที่ก็ถูกจับตาอยู่ค่ะว่า เป็นการเอื้อประโยชน์แก่เอกชนกลุ่มใดหรือไม่ และนี่เป็นการชัดเจนแล้วว่าโอกาสที่เราจะได้ใช้รถไฟความเร็วสูงในปี ๒๕๖๗ แทบจะไม่มี โอกาสอยู่อีกแล้วค่ะ แล้วก็จะยืดออกไปไม่มีกำหนดระยะเวลาว่าเราจะได้ใช้เมื่อไร แล้วเรา ถอดบทเรียนเรื่องนี้กันอย่างไร ดังนั้นโครงการแบบนี้เรายังจะเห็นด้วยให้จะย้ายไปไว้ใน ๔ ภูมิภาคของประเทศไทยอีกหรือไม่ ก็คงต้องศึกษาเพิ่มเติมค่ะ ไม่ว่าจะเป็นโครงการอื่น ๆ อย่างโครงการสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินแห่งภาคตะวันออก โครงการนี้เซ็นสัญญา ไปแล้วเช่นกันค่ะ แต่ก็เป็นข้อกังขาในการประมูลและจัดซื้อจัดจ้างว่าเอื้อประโยชน์ให้กับ กองทัพเรือมากที่สุดอีกแห่งหนึ่งหรือไม่ แล้วก็ไม่ว่าจะเป็นโครงการท่าเรือแหลมฉบัง โครงการท่าเรือมาบตาพุด ที่ก็เซ็นสัญญากับวงการพลังงานยักษ์ใหญ่ไปแล้วเช่นกัน แต่สุดท้ายโครงการนี้ก็ยังล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดเช่นกัน โครงการศูนย์ซ่อม ท่าอากาศยาน MRO อู่ตะเภา โครงการนี้ในขณะที่เรากำลังเผชิญความท้าทายในการที่จะ แข่งขันกับศูนย์ซ่อมท่าอากาศยานในระดับภูมิภาคอีกหลายแห่ง แต่ยังมีความจำเป็นต้องนำ กลับมาปัดฝุ่นเพื่อดำเนินโครงการ มากน้อยเพียงใดก็ไม่มีการศึกษาเพิ่มเติมค่ะ แต่จะลงมือ เผาผลาญทรัพยากรมหาศาลลงไปแน่นอนแล้วในปีนี้ ท่านประธานคะ EEC จึงเป็นแค่ ความฝันเฟื่องของรัฐบาลที่ขายฝันว่าจะสร้างเศรษฐกิจ สร้างความมั่งคั่งหลายแสนล้านบาท แต่ผ่านไป ๖ ปีแล้วยังไปไม่ถึงไหน ๕ โครงการเรือธงที่ดิฉันได้กล่าวไปก็ไม่มีอะไรที่จับต้อง ได้เลยค่ะ แล้วซ้ำร้ายก็เกิดผลกระทบสร้างปัญหามากมายให้กับคนในพื้นที่ ผ่านมา ๖ ปี ยังไม่มีทางออก ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนให้กับพี่น้องประชาชนที่ถูกขับไล่ ถูกทำลายอาชีพ ปัญหาน้ำกินน้ำใช้ก็ยังตอบไม่ได้ ปัญหากากขยะอุตสาหกรรมสารเคมี ปัญหาสาธารณูปโภค ขั้นพื้นฐาน ที่ก็ไม่มีการวางแผนให้สอดคล้องกับปัญหาการขยายตัวของเมืองเลยค่ะ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ปัญหาแรงงานและการกระจายตัวของรายได้ การทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน ทำลายสิ่งแวดล้อม แล้วก็ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ในพื้นถิ่น สิ่งเหล่านี้คือบทเรียนและความล้มเหลวจากการบริหารแบบรวมศูนย์ ที่นำไปสู่ ความผิดพลาดนี้ ท่านประธานคะ การวางแผนนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ผิดพลาด ล้มเหลว ลัดขั้นตอน ทางกฎหมายจำนวนมาก ให้อำนาจการตัดสินใจอยู่บนฐานของคนกลุ่มเล็ก ๆ แค่กลุ่มเดียว ที่เกาะเกี่ยวด้วยผลประโยชน์มหาศาลของประเทศ ในตลอดเส้นทางของการพัฒนา ประเทศไทย ได้ทิ้งร่องรอยของความเหลื่อมล้ำ แล้วก็แทรกซึมอยู่ในทุกอณูของพื้นที่ค่ะ ด้วยนโยบาย เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ผิดพลาด มุ่งเน้นขับเน้นแต่การเจริญเติบโตของตัวเลขทาง GDP โดยไม่ให้ความสำคัญกับความมั่นคงของชีวิตของพี่น้องประชาชนเลย ดิฉันคิดว่านี่คือ บทเรียนที่ล้มเหลว ล้าหลังและไม่ยั่งยืนค่ะ ที่เราจะต้องสรุปบทเรียนก่อนที่จะย้ายเอาความ ผิดพลาดเหล่านี้ไปไว้ที่ ๔ ภูมิภาคของประเทศไทย ท่านประธานคะ ๙ ปีของเขตเศรษฐกิจ พิเศษชายแดนที่ใช้งบประมาณในการลงทุนไปอย่างมหาศาล แต่ยังไม่คืบหน้าไปถึงไหน มีใครในที่นี้ทราบบ้างคะว่า มีเขตเศรษฐกิจพิเศษทั่วประเทศถึง ๑๐ แห่ง ที่รัฐบาลไทย ประกาศไปแล้ว และวันนี้ไม่มีนักลงทุนแม้แต่รายเดียวเข้าไปร่วมประมูล สุดท้ายถูกทิ้งร้าง และไปไม่ถึงฝั่งฝันเช่นกันค่ะ ไม่ว่าจะเป็นที่อำเภอแม่สอดที่เพื่อนสมาชิกได้พูดไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดตราดซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของท่าน สส. ศักดินัยเพื่อนสมาชิก จากพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดสระแก้ว จังหวัดมุกดาหาร เพื่อนสมาชิกท่านรัชต์พงศ์ ที่นั่งอยู่ข้าง ๆ ดิฉันก็ได้พูดถึงการที่รัฐลงทุนทั้งถนน สนามบิน สะพาน แล้วก็สาธารณูปโภค ขั้นพื้นฐานไป แต่ว่าถูกทิ้งรกร้างว่างเปล่า แล้วก็กลายเป็นเพียงแค่ทุ่งเลี้ยงสัตว์เพียงเท่านั้น ในปัจจุบัน ดิฉันคิดว่าในทุก ๆ รัฐบาลทำความเข้าใจเรื่องการศึกษา เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ น้อยมาก เราไม่มีแม้แต่งานวิจัย ไม่มีบทความ ไม่มีการเรียนรู้หรือไม่มีความรู้อะไรกับ เขตเศรษฐกิจพิเศษเลยค่ะ แต่เราใช้วิธีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนำไปก่อน ปัญหาที่ ตามมาคือพื้นที่ที่จะวางแผนเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษก็เกิดพื้นที่ในการแย่งชิงพื้นที่กัน แย่งชิง พื้นที่สาธารณะโดยอาศัยความพิเศษของตัวกฎหมายเพื่อเรียกคืนพื้นที่สาธารณะมา ในเรื่อง ของการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจึงไม่มีระบบถ่วงดุล ไม่มีการตรวจสอบ ไม่สามารถตั้ง คำถามต่อสาธารณะได้ และหวังให้มันเป็นแค่เขตเศรษฐกิจชิ้นโบว์แดงเท่านั้น แต่ว่ามัน ไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำและกระจายรายได้สู่ภูมิภาคได้ สุดท้ายค่ะ ๑๐ ปีที่ผ่านมา เราเห็นแล้วว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษ ๑๐ แห่งล้มเหลวไม่เป็นท่า ท่านประธานค่ะดิฉันขอใช้ เวลาอีก ๑ นาทีสุดท้ายค่ะ เราต้องบอกว่าวันนี้ไทยเราตกขบวนประวัติศาสตร์เสมอค่ะ วนเวียนอยู่กับการทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ วนเวียนอยู่กับการสร้าง สร้างฐานการผลิต ในโลกอุตสาหกรรมแบบเก่าที่คลั่งไคล้อยู่กับการลงทุนแค่ Megaproject ถ้าไปดูตัวอย่าง ในหลาย ๆ ประเทศค่ะท่านประธาน เราจะเห็นว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษของเขาสร้าง เขตเศรษฐกิจพิเศษที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สร้างการท่องเที่ยวชุมชน โดยไม่ต้อง กลับไปพึ่งพาอุตสาหกรรมในรูปแบบแบบเก่าเลยนะคะ ดังนั้นดิฉันก็อยากจะฝาก ท่านประธานค่ะว่า การที่ทุกภูมิภาคของประเทศไทยจะลงทุนในการที่จะพัฒนาเพื่อให้เรา มีเศรษฐกิจที่เติบโตทัดเทียมนานาอารยประเทศ แต่ดิฉันคิดว่าการพัฒนามันไม่ควรจะวัดกัน ด้วยตึกสูง ๆ ไม่ควรจะวัดกันด้วยห้างสรรพสินค้าใหญ่โต ไม่ควรจะวัดกันด้วยนิคม อุตสาหกรรมมากมาย แต่ว่าเราต้องคำนึงถึงความมั่นคงของชีวิตของพี่น้องประชาชนด้วย มองถึงความมั่นคงของการกระจายรายได้ กระจายเศรษฐกิจ แล้วก็กระจายชีวิตความเป็นอยู่ ให้กับประชาชนได้อย่างเสมอภาค ทัดเทียมกัน และด้วยเหตุผลที่ดิฉันได้บอกมาทั้งหมดค่ะ ท่านประธาน ดิฉันจึงสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อศึกษา ความเป็นไปได้ของการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคเหนืออย่างจริงจัง ก่อนที่เราจะลงมือ พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ควรเริ่มต้นจากการศึกษาก่อนว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษคืออะไร แล้วพื้นที่ไหนบ้างที่ควรลงทุนในการพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยไม่ต้องพิเศษสำหรับ แค่นายทุนเท่านั้น แต่ต้องพิเศษจริง ๆ สำหรับพี่น้องประชาชนทุกคนอย่างแท้จริงค่ะ ขอบคุณค่ะท่านประธาน
เรียนท่านประธานค่ะ เบญจา แสงจันทร์ ๑๙๙ แสดงตนค่ะ
๒๙๘ เห็นชอบค่ะ