นางสาวธัญธารีย์ สันตพันธุ์

  • เรียนท่านประธานที่เคารพ และเพื่อนสมาชิกทุกท่าน ดิฉัน ธัญธารีย์ สันตพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัด อุบลราชธานี เขต ๖ พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันขอร่วมอภิปรายวาระรับทราบรายงาน ของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ ท่านประธานที่เคารพ กองทุนพัฒนาน้ำบาดาลมีเพื่อเป็นแหล่งทุนสำหรับ ใช้จ่ายในการศึกษา วิจัย และอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาล และสิ่งแวดล้อมให้กับหน่วยงาน ภาครัฐและเอกชน จึงเป็นกองทุนที่มีความสำคัญที่จะช่วยให้ประชาชนในทุกพื้นที่สามารถ เข้าถึงทรัพยากรน้ำที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตามเมื่อดิฉันได้ศึกษารายงานการเงิน ของกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล ดิฉันพบว่ามีข้อน่าสงสัยบางประการในการใช้งบประมาณ ของกองทุนนี้ โดยดิฉันขอสรุปข้อสังเกตและนำเสนอต่อท่านประธานดังนี้ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • กองทุนมีผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ขาดทุนถึง ๑,๐๘๒ ล้านบาท จากที่เคยมีกำไร ๕๕๙ ล้านบาทในปีงบประมาณ ๒๕๖๓ โดยเป็นผลมาจากการที่กองทุน มีรายได้เพิ่มเพียง ๑.๕ เปอร์เซ็นต์ แต่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ ๓.๕ เท่า เมื่อเทียบกับ ปีก่อนค่ะ ดิฉันมีประเด็นสงสัยในหมวดค่าใช้จ่ายจากการอุดหนุนและบริจาค โดยในปี ๒๕๖๔ กองทุนมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อยู่ที่ ๕๙๖ ล้านบาท หรือสูงกว่าปี ๒๕๖๓ ถึง ๑๐๒ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อดูในรายละเอียดดิฉันพบว่ากองทุนมีจำนวนโครงการที่ได้รับการอุดหนุนหรือบริจาค ในปี ๒๕๖๔ จำนวน ๗๐ โครงการ เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๓ เพียง ๑๕ โครงการ หรือ ๒๗ เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น แต่ใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นถึง ๓๐๑ ล้านบาท ทั้งที่ลักษณะของโครงการที่ได้รับอุดหนุน จากกองทุนในปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ มีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือเป็นโครงการเพื่อการศึกษา หรือสำรวจเป็นส่วนใหญ่ค่ะ ดิฉันขอตั้งข้อสังเกตและมีคำถามดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • กองทุนมีระเบียบหรือกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาทุนหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนในแต่ละโครงการอย่างไร ในแต่ละโครงการท่านมีการวัดผลสัมฤทธิ์อย่างไร มีการนำผลสัมฤทธิ์ที่ได้เข้าไปช่วยเหลือพี่น้องในแต่ละพื้นที่ของโครงการมากน้อยเพียงใด และขอเสนอผ่านท่านประธานไปยังผู้มาชี้แจงให้ช่วยขยายพื้นที่โครงการศึกษาสำรวจไปยัง พื้นที่ในจังหวัดอื่น ๆ เพื่อหาแนวทางในการนำแหล่งน้ำบาดาลมาใช้ประโยชน์ให้เกิด ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเป็นการเตรียมรับมือกับภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้และจะทวีคูณ มากยิ่งขึ้นในอนาคต ซึ่งจะมีผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้น้ำในชีวิตประจำวันและการทำเกษตร ของเกษตรกรในขณะนี้ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • อย่างที่ได้เรียนท่านประธานไปข้างต้นกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลมีความสำคัญ อย่างมาก ดิฉันอยากให้ใช้เงินกองทุนดังกล่าวเป็นไปอย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์และเป็นไป อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดได้อย่างทั่วถึง จึงขอเรียนความเห็นข้อสังเกตและส่งคำถามผ่านท่านประธานไปยังผู้บริหารกองทุนพัฒนา น้ำบาดาล เพื่อให้ประชาชนในทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงทรัพยากรน้ำที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียม ตามที่กฎหมายบัญญัติต่อไปค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ธัญธารีย์ สันตพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี เขตพื้นที่อำเภอ เขมราฐ อำเภอนาตาล อำเภอโพธิ์ไทร พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ตามที่เพื่อนสมาชิก ได้เสนอญัตติ เรื่อง สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและแก้ไขปัญหา การครอบครองและถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ส.ป.ก. และที่ดินเขตทับซ้อนกับที่ป่าสงวนแห่งชาติ ของประชาชน และได้มีเพื่อนสมาชิกได้ร่วมอภิปรายเพื่อชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นและเร่งด่วน ของญัตติดังกล่าวนั้น ดิฉันเห็นด้วยและสนับสนุนเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเสนอญัตตินี้ค่ะ เพราะปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงและยังคงมีข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐ กับประชาชนเป็นจำนวนมากที่ยังไม่สามารถหาทางออกและแก้ไขปัญหาได้ และจากการที่ ดิฉันได้ลงพื้นที่อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อไปรับฟังปัญหาที่ประชาชนแจ้งมา ก็ยิ่งทำให้ได้รับทราบข้อเท็จจริงว่าข้อพิพาทเรื่องที่ดินดังกล่าวระหว่างหน่วยงานรัฐ กับประชาชนมีสาเหตุมาจากความไม่ชัดเจนของระเบียบข้อบังคับหลายเรื่อง จึงทำให้ หน่วยงานของรัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงส่งผลให้มีความจำเป็นที่จะต้องตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อมาศึกษาและหาทางแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยดิฉันจะขอยกตัวอย่างปัญหาจากพื้นที่เขต ๖ อุบลราชธานี เรื่องเขตทับซ้อนกับที่ อุทยานแห่งชาติ ในพื้นที่บ้านสะเอิงทอง อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อชี้ให้เห็นว่า ปัญหาเรื่องการครอบครองและถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นปัญหาที่ประชาชนได้รับ ความเดือดร้อน และกำลังรอการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม โดยขอยกตัวอย่าง ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นดังต่อไปนี้ วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ดิฉันได้รับแจ้งจากประชาชน บ้านสะเอิงทอง ตำบลสำโรง อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี ให้ไปรับฟังปัญหาเรื่องที่ดิน บริเวณเขตป่า โดยมีตัวแทนของประชาชนและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ลงพื้นที่ ร่วมกัน การไปรับฟังปัญหาและลงพื้นที่จริงในครั้งนี้ ได้รับแจ้งจากประชาชนในพื้นที่ว่า ขณะนี้มีปัญหาเรื่องแนวเขตป่าที่ภาครัฐกำหนด โดยประชาชนแจ้งว่าแต่เดิมได้มาอาศัยอยู่ บริเวณนี้เป็นเวลานานแล้ว มีการลงหลักปักฐานสร้างที่อยู่อาศัยจนกลายเป็นที่ชุมชน และมีการใช้พื้นที่ดังกล่าวในการเกษตร ซึ่งการอยู่อาศัยและการทำเกษตรบริเวณนี้ภาครัฐ ก็อนุญาตและให้ดำเนินการได้ไม่ติดขัดอะไร แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องของระเบียบ ข้อบังคับ รวมทั้งนโยบายเกี่ยวกับที่ดิน ในเขตป่าหลายครั้ง และการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งก็สลับไปมาไม่มีความต่อเนื่อง ทำให้ ปัจจุบันมีการกำหนดแนวเขตป่าใหม่ ซึ่งเมื่อได้กำหนดเขตป่าใหม่พบว่าเขตที่อยู่อาศัย และบริเวณพื้นที่ทำเกษตรของประชาชนบางส่วนของบ้านสะเอิงทองกลายเป็นเขตป่า แต่บริเวณที่มีลานหินที่ยื่นออกมากลับเป็นพื้นที่ที่ภาครัฐกันแนวเขตให้ประชาชนใช้ ในการอยู่อาศัยและทำการเกษตรได้ ซึ่งไม่สอดคล้องกับความจริงที่เกิดขึ้น เนื่องจาก การลงพื้นที่ในครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติผาแต้มติดตามไปด้วย จึงได้มีการพูดคุย และสอบถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ก็ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่าปัญหาดังกล่าวมีสาเหตุ มาจากการเปลี่ยนแปลงระเบียบ ข้อบังคับเรื่องเขตป่า โดยเจ้าหน้าที่ก็เข้าใจถึงปัญหา รวมทั้ง ประชาชนในพื้นที่และเจ้าหน้าที่ของรัฐเองก็ไม่ได้มีข้อพิพาทระหว่างกัน แต่ความที่ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้จึงให้ดิฉันเข้าไปร่วมรับฟังปัญหา เพื่อที่จะนำไปแจ้ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบต่อไป จากปัญหาเรื่องที่ดินเขตป่าที่กล่าวมา ดิฉันเชื่อว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเฉพาะที่บ้านสะเอิงทอง แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ และในแต่ละพื้นที่ก็มีรายละเอียดของปัญหาที่แตกต่างกันออกไป ดิฉันจึงมีความเห็น และขอเสนอต่อสภาว่าขอให้คณะรัฐมนตรีมีมติเพิกถอนแนวเขตป่าที่ไม่มีสภาพป่าไม้จริง คืนให้กับกรมที่ดินเพื่อลดขั้นตอนการตรวจสอบแนวเขตพิสูจน์สิทธิการครอบครอง เพื่อให้ กรมที่ดินสามารถออกเอกสารสิทธิให้กับประชาชนตามระเบียบของกรมที่ดินได้อย่างรวดเร็ว และขอสนับสนุนญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา และแก้ไขปัญหาการครอบครองและถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ส.ป.ก. และที่ดินเขตทับซ้อนกับ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติของประชาชนตามที่เพื่อนสมาชิกได้เสนอมา เพื่อใช้กลไกทางรัฐสภา ในการหาทางออกและแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนที่กำลังได้รับความเดือดร้อน ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ธัญธารีย์ สันตพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี เขต ๖ พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันขอร่วมอภิปรายเรื่องการบิดเบือนทางการบัญชีจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้ลงทุน จากเหตุการณ์ที่ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้บิดเบือน ผลการดำเนินงาน ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ลงทุนทำให้เกิดความไม่มั่นใจในการลงทุน ทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ ซึ่งตัวดิฉันคิดว่างบการเงินมีความสำคัญที่จะช่วยให้ผู้อ่าน สามารถเข้าใจถึงฐานะการเงิน และความสามารถในการดำเนินงานของบริษัทผ่านตัวเลข จากงบการเงิน ซึ่งประกอบไปด้วยงบแสดงฐานะทางการเงิน งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสด โดยผู้ใช้งบการเงินต่างมีจุดประสงค์ที่จะใช้งบการเงินแตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่าง เช่น นักลงทุนใช้งบการเงินในการวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการ ลงทุน เจ้าหนี้ใช้งบการเงินในการตัดสินใจด้านการปล่อยสินเชื่อ กรมสรรพากรใช้งบการเงิน ตรวจสอบและเรียกเก็บภาษีเป็นต้น ปัจจุบันบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย จัดได้ว่าเป็นบริษัทที่มีความโปร่งใส และมีความน่าเชื่อถือเป็นอย่างมาก เพราะมีหน่วยงานที่กำกับดูแลกิจการให้เป็นไปตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด รวมทั้ง มีการตรวจสอบจากบริษัทตรวจสอบบัญชีชั้นนำ ซึ่งทำให้ข้อมูลต่าง ๆ ของบริษัทที่นำเสนอ ต่อสาธารณะ โดยเฉพาะงบการเงินของบริษัทได้รับความเชื่อถือ และมีความมั่นใจ ในความถูกต้องในการจัดทำ ส่งผลให้ผู้ใช้งบการเงินในด้านต่าง ๆ มีความเชื่อถือ และมั่นใจ ในการใช้งบการเงินของบริษัทที่แสดงออกมานั้นเป็นส่วนประกอบในการตัดสินใจในการ ลงทุนในบริษัทนั้น ๆ แต่จะพบว่าตั้งแต่ต้นปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมามีเหตุการณ์ซึ่งผลส่งผลกระทบ ต่อความโปร่งใสของงบการเงินของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่สำคัญหลายกรณี และเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือ และความโปร่งใสของบริษัท ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นอย่างมาก ก็คือกรณีการบิดเบือนข้อมูลทางการบัญชี ของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่ ติดอันดับ SET100 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นไทย ๑๐๐ อันดับแรก ก่อนที่จะมีการนำออกดัชนีไปในวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๖ โดยการทุจริตในการบิดเบือน ข้อมูลทางการบัญชีในครั้งนี้มีการสร้างยอดขายปลอม และสร้างธุรกรรมอำพรางเพื่อสร้าง ยอดขายปลอมย้อนหลังไปหลายปี ทำให้นักลงทุนในหุ้นของบริษัท รวมทั้งนักลงทุนในหุ้นกู้ และเจ้าหนี้ต่าง ๆ ที่ปล่อยสินเชื่อให้กับ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีความเชื่อมั่นในการเติบโต และมั่นใจในฐานะการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัท จึงตัดสินใจที่จะ ลงทุนและปล่อยกู้ให้กับบริษัท แต่เมื่อการเปิดเผยถึงงบการเงินที่ถูกต้องออกมา จากเดิมที่ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีฐานะการเงินที่ดีและมีกำไรกลับพบว่า ขาดทุนอย่างมาก ไม่ได้เป็นไปตามสิ่งที่บริษัทเคยนำเสนอ จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลว่าบริษัท ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กลับมีการบิดเบือนข้อมูลทางการบัญชีจนสร้าง ความเสียหายเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาด โดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเกิดเป็นข้อสงสัยที่ตามมาว่างบการเงินบริษัทที่จดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์จะมีความโปร่งใสมากน้อยเพียงใด เพราะขนาดบริษัทซึ่งเคยติดอันดับ SET100 ยังมีการทุจริตในการบิดเบือนข้อมูลทางการบัญชีได้ แล้วบริษัทอื่น ๆ ในตลาด หลักทรัพย์จะมีโอกาสที่จะกระทำการทุจริตอีกหรือไม่ ดังนั้นเพื่อเป็นการหาแนวทางในการ ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์บิดเบือนข้อมูลทางการบัญชีของบริษัทที่จดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์ไม่ให้เกิดขึ้นอีก และเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุน ดิฉันขอเสนอ ต่อท่านประธาน ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลในตลาดหลักทรัพย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานงานกัน เพื่อร่วมกันถอดบทเรียนจากการบิดเบือนข้อมูล ทางการบัญชีจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายที่มาจากการยื่นงบการเงินที่มีนัยสำคัญ อันทำให้ ผู้ลงทุน เจ้าหนี้ และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้รับความเสียหาย พร้อมหาแนวทางการป้องกัน การทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ธัญธารีย์ สันตพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี เขต ๖ พรรคเพื่อไทย ขอหารือปัญหาในเขตอำเภอเขมราฐ อำเภอนาตาล อำเภอโพธิ์ไทร ผ่านท่านประธานไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน ๑ เรื่อง ขอ Slide ด้วยนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • โรงพยาบาลนาตาลเป็น โรงพยาบาลชุมชนขนาด ๓๐ เตียง มีอาคารผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในอย่างละ ๑ อาคาร มีบุคลากรทางการแพทย์รวมผู้อำนวยการโรงพยาบาลจำนวน ๖ คน รับผิดชอบดูแลผู้ป่วย ในเขตพื้นที่อำเภอนาตาลและบริเวณใกล้เคียง ตรวจรักษาโรคทั่วไป ยกเว้นการผ่าตัด ด้านการดำเนินงาน ได้รับแจ้งว่าปัจจุบันจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ยังสอดคล้องกับ ปริมาณผู้ป่วยที่มารับบริการต่อวัน แต่สำหรับผู้ป่วยในที่ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ได้รับแจ้งว่ามีจำนวนเกินกว่าจำนวนเตียงประมาณ ๑๐-๓๐ คนต่อวัน ทำให้ต้องวางเตียง ใกล้ชิดกันเพียง ๕๐ เซนติเมตร ส่งผลให้ห้องพักผู้ป่วยมีสภาพแออัด อากาศไม่ถ่ายเท ร้อนอบอ้าว และเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ จากการพูดคุยกับผู้อำนวยการโรงพยาบาล ได้รับแจ้งว่าแนวโน้มผู้ป่วย อัตราครองเตียง รวมทั้งระยะเวลานอนโรงพยาบาล มีแนวโน้ม เพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด ข้อมูลจากปี ๒๕๖๒-๒๕๖๖ พบว่าจำนวนผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นมาจาก ๒,๗๐๔ คน มาเป็น ๔,๖๑๕ คน คิดเป็นจำนวนร้อยละ ๗๐.๖๗ และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา ดังกล่าว โรงพยาบาลจึงมีความประสงค์ที่จะขออนุมัติงบประมาณในการก่อสร้างอาคาร ผู้ป่วยในขนาด ๓๐ เตียง จำนวน ๑ อาคาร ท่านประธานคะ จากการที่ได้รับทราบปัญหา โรงพยาบาลนาตาลที่เกิดขึ้น ดิฉันเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญต่อการพัฒนางานด้านสาธารณสุข ท้องถิ่น จึงขอนำปัญหาดังกล่าวนำเรียนผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้ได้รับทราบ และได้กรุณาอนุมัติงบประมาณ ในการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยในแห่งที่ ๒ ให้กับโรงพยาบาลนาตาล เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ต่อไปด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ธัญธารีย์ สันตพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี เขต ๖ พรรคเพื่อไทย ขอหารือปัญหาในพื้นที่อำเภอเขมราฐ อำเภอนาตาล อำเภอโพธิ์ไทร ผ่านท่านประธานไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน ๔ เรื่องค่ะ ขอสไลด์ด้วยนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ ขอติดตาม ความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ ๖ เนื่องจากได้รับทราบ ว่าโครงการดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการเจรจาสัดส่วนค่าก่อสร้างของแต่ละประเทศ เพื่อเป็น การติดตามความคืบหน้าของโครงการ จึงขอสอบถามไปยังกระทรวงคมนาคมและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องว่าขั้นตอนถัดไปมีแผนจะดำเนินการอย่างไรบ้าง

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ขอให้กรมทางหลวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กรุณาติดตั้ง สัญญาณไฟจราจรบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๐๕๐ บริเวณสามแยกเมืองใหม่ ตำบลเขมราฐ อำเภอเขมราฐ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นถนนเส้นหลักที่ประชาชนใช้สัญจร เข้ามาในตัวอำเภอ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาล โรงเรียน สถานีตำรวจ หน่วยงานราชการ และธนาคารหลายแห่ง ทำให้มีรถสัญจรไปมาเป็นจำนวนมากตลอดทั้งวัน ทำให้ประชาชน มีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับอุบัติเหตุจากการใช้รถใช้ถนน

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ ขอให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรุณาดำเนินการ ปราบปรามและแก้ไขยาเสพติดในพื้นที่อำเภอเขมราฐ อำเภอนาตาล อำเภอโพธิ์ไทร เนื่องจากได้รับแจ้งจากประชาชนในพื้นที่ว่าขณะนี้มีการแพร่ระบาดของยาเสพติดเป็น จำนวนมากแถบชนบท ประชาชนจึงต้องการให้เข้ามาดำเนินการปราบปรามและนำตัวผู้เสพ ไปบำบัด

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๔ ขอให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา หาแนวทางในการช่วยลดภาระของข้าราชการในพื้นที่อำเภอเขมราฐ อำเภอนาตาล อำเภอโพธิ์ไทร ที่ต้องเดินทางไปติดต่อธนาคารกรุงไทยที่ต่างอำเภอ เนื่องจากทั้ง ๓ อำเภอ ไม่มีสาขาของธนาคารกรุงไทย ทำให้ข้าราชการต้องการที่จะทำธุรกรรมการเงินต้องเดินทาง ไปใช้บริการที่สาขาต่างอำเภอที่มีระยะทางไกล ส่งผลให้มีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ธัญธารีย์ สันตพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๖ จังหวัดอุบลราชธานี ขอเสนอ รายชื่อกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... ในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย จำนวน ๖ ท่าน ดังนี้ ๑. นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ ๒. นายภาณุ พรวัฒนา ๓. นายรวี เล็กอุทัย ๔. นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี ๕. นายชนินทร์ ทองธรรมชาติ ๖. รองศาสตราจารย์ศันสนีย์ เอื้อพันธ์วิริยะกุล ขอผู้รับรองค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ธัญธารีย์ สันตพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี เขต ๖ พรรคเพื่อไทย วันนี้ขอร่วมอภิปรายญัตติปัญหาค่าไฟฟ้าแพงค่ะ ท่านประธานคะ ไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภค ที่ใช้ในการดำรงชีวิต ตลอดจนเป็นสิ่งที่ใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีการพูดถึงปัญหาค่าไฟแพงมาโดยตลอด อย่างช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ค่าไฟฟ้าแพงอย่างมาก ทำให้เห็นรูปบิลค่าไฟฟ้าแพงปรากฏตามสื่อต่าง ๆ ที่ถูกนำมาถกเถียงกันอย่างแพร่หลาย

    อ่านในการประชุม

  • โดยปัจจัยที่มีการกล่าวถึงว่า มีส่วนสำคัญที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงเป็นอย่างมาก ก็คือค่า FT ค่า FT หรือที่เรียกว่าค่าไฟฟ้าผันแปร เป็นการลอยค่าของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ราคาเชื้อเพลิงอัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ที่ผ่านมาตั้งแต่ เดือนกันยายน ๒๕๖๕ ค่า FT ปรับเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ข้อมูลจาก Website คณะกรรมการ กำกับกิจการพลังงานพบว่าเดือนกันยายนถึงธันวาคม ๒๕๖๕ ค่า FT อยู่ที่ ๙๓ บาท ๔๓ สตางค์ เดือนมกราคมถึงเมษายน ๒๕๖๖ ค่า FT อยู่ที่ ๙๓ บาท ๔๓ สตางค์ เดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม ๒๕๖๖ ค่า FT อยู่ที่ ๙๑ บาท ๑๙ สตางค์ เดือนกันยายน ถึงธันวาคม ๒๕๖๖ ค่า FT อยู่ที่ ๒๐ บาท ๔๘ สตางค์ จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าค่า FT อยู่ในอัตราที่สูงเกือบ ๑ ปี โดยเริ่มมาลดลงในเดือนกันยายน ๒๕๖๖ ตามมาตรการ ลดค่าไฟฟ้าของรัฐบาล และเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๗ ก็ได้มีการประกาศค่า FT ล่าสุด พบว่าเดือนมกราคมถึงเมษายน ๒๕๖๗ ค่า FT อยู่ที่ ๓๙ บาท ๗๒ สตางค์ ปรับเพิ่มขึ้น จำนวน ๑๙ บาท ๒๔ สตางค์ หรือคิดเป็นร้อยละ ๙๓.๙๔ นอกจากนั้นเมื่อพิจารณาย้อนหลัง ค่า FT ในช่วงเดือนมกราคม ๒๕๖๓ ถึงธันวาคม ๒๕๖๔ พบว่าค่า FT ติดลบมาโดยตลอด ตามข้อมูลดังต่อไปนี้ เดือนมกราคมถึงเมษายน ๒๕๖๓ ค่า FT ติดลบอยู่ที่ ๑๑ บาท ๖๐ สตางค์ เดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม ๒๕๖๓ ค่า FT ติดลบอยู่ที่ ๑๑ บาท ๖๐ สตางค์ เดือนกันยายนถึงธันวาคม ๒๕๖๓ ค่า FT ติดลบอยู่ที่ ๑๒ บาท ๔๓ สตางค์ เดือนมกราคม ถึงเมษายน ๒๕๖๔ ค่า FT ติดลบอยู่ที่ ๑๕ บาท ๓๒ สตางค์ เดือนพฤษภาคม ถึงสิงหาคม ๒๕๖๔ ค่า FT ติดลบอยู่ที่ ๑๕ บาท ๓๒ สตางค์ เดือนกันยายนถึงธันวาคม ๒๕๖๔ ค่า FT ติดลบอยู่ที่ ๑๕ บาท ๓๒ สตางค์ เมื่อได้อ่านคำอธิบายของ กกพ. ก็ได้รับทราบว่า กกพ. ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจ ของประเทศมีความไม่แน่นอน จึงตรึงค่า FT เพื่อช่วยเหลือ ทำให้เห็นว่าค่า FT มีการปรับเปลี่ยนเพื่อช่วยลดผลกระทบต่อประชาชนได้ ซึ่งดิฉันก็มีความเห็นว่าในขณะนี้ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศก็ยังมีความไม่แน่นอน และประชาชนก็ยังประสบกับภาวะ ค่าครองชีพที่สูงอยู่หลายด้าน ทำให้การปรับขึ้นของค่า FT ที่จะเป็นการสร้างภาระ และผลกระทบให้กับประชาชน จึงยังไม่ควรปรับเพิ่มขึ้นตามที่ประกาศไปค่ะ และเพื่อเป็นการ หาแนวทางในการแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพงดังกล่าว ดิฉันจึงมีข้อเสนอต่อสภาในการแก้ไข ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงดังต่อไปนี้

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ขอให้รัฐบาลพิจารณาขยายมาตรการลดค่าไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการศึกษาถึงแนวทาง ในการปรับลดค่าไฟฟ้า โดยพิจารณาจากองค์ประกอบของค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บทั้ง ๔ ส่วน ซึ่งประกอบไปด้วย ๑. ค่าไฟฟ้าฐาน ๒. ค่า FT ๓. ค่าบริการรายเดือน และ ๔. ภาษีมูลค่าเพิ่ม ว่ามีส่วนใดบ้างที่สามารถปรับปรุงแก้ เพื่อให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ขอให้ กกพ. ปรับเปลี่ยนระยะเวลาในการพิจารณาค่า FT ให้สอดคล้อง กับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากราคาพลังงานและอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญ ในการกำหนดค่า FT มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้ระยะเวลา ๔ เดือนที่จะต้อง มีการพิจารณากำหนดค่า FT อาจไม่สอดคล้องต่อความเป็นจริงที่เกิดขึ้นได้ ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ธัญธารีย์ สันตพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี เขต ๖ พรรคเพื่อไทย ขอหารือปัญหาในเขตพื้นที่อำเภอเขมราฐ อำเภอนาตาล อำเภอโพธิ์ไทร ผ่านท่านประธาน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน ๒ เรื่อง ดังต่อไปนี้ ขอสไลด์ด้วยนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ ขอปรึกษาหารือ ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีต่อสภาอย่างเร่งด่วน โดยขอนำเรียนปัญหา ผ่านท่านประธานไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้กรุณาดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่จังหวัด อุบลราชธานีด้วยค่ะ เนื่องจากตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา จังหวัด อุบลราชธานีกำลังประสบปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีแดงหลายพื้นที่และ ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง นอกจากนั้นแม้วันจันทร์ที่ผ่านมาจะมีฝนตกลงมาในช่วงเช้าบ้าง ก็ยังไม่สามารถช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นลงได้ ส่งผลให้ประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับผลกระทบจากการใช้ชีวิตในช่วงนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้ป่วยโรคหอบหืดและผู้สูงอายุ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ขอนำเรียนผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่กำกับดูแลอาคาร สถานที่ในอุทยานอุบลราชธานีสามพันโบก ให้ดำเนินการซ่อมแซมศาลาที่พักที่ชำรุดเสียหาย เนื่องจากศาลาดังกล่าวมีสภาพชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก โดยฝ้าได้พังลงมานานแล้ว แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปดำเนินการซ่อมแซมหรือแก้ไข ทำให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว ไม่กล้าใช้งานเพราะอาจเกิดอันตรายได้ ส่งผลให้ศาลาดังกล่าวถูกปล่อยทิ้งร้างไว้โดยไม่เกิด ประโยชน์ ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ธัญธารีย์ สันตพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี เขต ๖ พรรคเพื่อไทย ขอหารือปัญหาในเขตพื้นที่อำเภอเขมราฐ อำเภอนาตาล อำเภอโพธิ์ไทร ผ่านท่านประธาน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน ๑ เรื่องค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานคะ ตามที่รัฐบาล ได้มีความตั้งใจที่จะทำให้ราคาสินค้ามีราคาเพิ่มสูงขึ้น และจากการติดตามราคาสินค้าเกษตรหลัก จากกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ก็พบว่าสินค้าเกษตรหลายรายการ เช่น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ยางแผ่นดิบชั้น ๓ ก็ล้วนมีราคาที่ปรับขึ้น ส่งผลให้พี่น้องเกษตรกรที่ทำการเกษตร ดังกล่าวมีรายได้จากการขายสินค้าเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามจากการที่ดิฉันได้ลงพื้นที่ พูดคุยกับเกษตรกร รวมถึงการติดตามจากข่าวสารในช่องทางต่าง ๆ ก็ได้ทราบว่าวัว ซึ่งเป็นอีก ๑ รายการสินค้าเกษตรที่สำคัญของพี่น้องเกษตรกร ขณะนี้ราคาวัวมีราคาที่ลดลง เป็นอย่างมาก และจากการสอบถามเกษตรกรที่เลี้ยงวัว ก็ได้ทราบว่าราคาวัวได้ลดลง อย่างต่อเนื่อง จากเดิมขายได้ ๓๐,๐๐๐ บาท ปัจจุบันขายได้ไม่เกิน ๑๕,๐๐๐ บาท หรือจะเป็นวัวที่มีท้อง จากเดิมขายได้ ๖๐,๐๐๐ บาท ณ ปัจจุบันขายได้ไม่เกิน ๒๕,๐๐๐ บาท ส่งผลให้เกษตรกรที่เลี้ยงวัวยิ่งเลี้ยงยิ่งขาดทุน เพราะราคาขายไม่คุ้มค่ากับที่ต้องลงทุนและ ลงแรงไปค่ะ นอกจากนั้นจากการติดตามข่าวสารดิฉันก็ได้เห็นว่ามีเพื่อนสมาชิกได้นำเสนอปัญหา ราคาวัวตกต่ำต่อสภาหลายครั้ง จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าพี่น้องเกษตรกรในหลายพื้นที่ กำลังประสบปัญหาราคาวัวตกต่ำ ดังนั้นเพื่อช่วยเป็นอีกหนึ่งเสียงสะท้อนปัญหาของพี่น้อง เกษตรกรที่เลี้ยงวัวและช่วยหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดิฉันจึงขอใช้ช่องทางหารือ ต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำเรียนปัญหาราคาวัวตกต่ำที่เกิดขึ้น ผ่านท่านประธานไปยังรัฐบาลและ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้รับทราบ เพื่อพิจารณาหาแนวทางในการช่วยเหลือและแก้ไขต่อไป ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ธัญธารีย์ สันตพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี เขต ๖ พรรคเพื่อไทย วันนี้ต้องขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านทรงศักดิ์ ทองศรี ที่ได้กรุณามาตอบกระทู้แยกเฉพาะในวันนี้ ขอบพระคุณนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ดิฉันของตั้งกระทู้ถาม เนื่องจาก ถนนเส้นบ้านพะลาน-ปากแซง ตำบลพะลาน อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี ระยะทาง ๑.๗ กิโลเมตร ซึ่งเป็นเส้นทางที่เชื่อมไปยังถนนยุทธศาสตร์ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๑๑๒ และถนน อบ.๔๐๑๗ ซึ่งปัจจุบันถนนดังกล่าวมีสภาพชำรุดทรุดโทรม มีผิวจราจรเป็นหลุมเป็นบ่อ ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่พื้นที่ดังกล่าว ๓ หมู่บ้าน ได้รับผลกระทบ รวมถึงโรงเรียน ๓ แห่ง ซึ่งมีนักเรียนประมาณทั้งสิ้น ๑,๕๗๗ คน ทำให้บรรดานักเรียนและผู้ปกครอง ครู ได้รับ ความเดือดร้อนในการสัญจรไปมา เนื่องจากถนนเส้นนี้เป็นถนนเส้นหลักในการสัญจร ระหว่างโรงเรียนและบ้าน รวมถึงการสัญจรเข้าไปตัวอำเภอ โรงพยาบาล และหน่วยงาน ราชการต่าง ๆ ดังนั้นหากมีการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากถนนชำรุดทรุดโทรม เป็นหลุมเป็นบ่อ จะเป็นการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว และเป็นการช่วยลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ จึงขอเรียน ถามว่ากระทรวงมหาดไทยมีนโยบายหรือแผนงานในการปรับปรุงและซ่อมแซมถนนเส้น บ้านพะลาน-ปากแซง ตำบลพะลาน อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี ที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรม อย่างไรบ้าง ขอทราบรายละเอียด ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ขอบคุณท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการ ที่แนะนำค่ะ เดี๋ยวจะเข้าไปแจ้งประชาชนและทางหน่วยงานให้ทราบค่ะ ทีนี้ดิฉันขอฝาก กระทู้ถามแยกเฉพาะเพิ่มเติมนะคะ ซึ่งจะเป็นส่วนของถนนเหมือนกันค่ะ ซึ่งเป็นปัญหาของ ถนนหมายเลข อบ.ถ.๖๑-๐๐๙ ซึ่งเป็นในพื้นที่บ้านแก้งเหนือ ซึ่งมีระยะทาง ๒.๕ กิโลเมตร แล้วเส้นที่ ๒ ก็จะเป็นในส่วนของถนนหมายเลข อบ.ถ.๒๐๐๐-๒๔ ในพื้นที่บ้านสำโรง ระยะทาง ๒.๕ กิโลเมตรเช่นกันค่ะ ซึ่งตัวดิฉันก็อยากขอฝาก ๒ เส้นทางนี้ ก็คือเนื่องด้วย เกินศักยภาพขององค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งตัวดิฉันก็จะขอยื่นเอกสารต่อท่านรัฐมนตรี ภายหลังนะคะ แล้วก็จะมีการถอนกระทู้นี้ เนื่องจากว่าด้วยข้อเงื่อนไขเวลาไม่เพียงพอ ดิฉันต้องโอน ก็เลยขอฝากท่านในกระทู้นี้ เพราะเห็นว่าเป็นกระทรวงเดียวกัน ก็เลยขอฝากค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม