นายรัฐ คลังแสง

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม รัฐ คลังแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม เขต ๖ อำเภอกันทรวิชัย อำเภอ เชียงยืน และอำเภอชื่นชม พรรคเพื่อไทย กระผมขอร่วมอภิปรายสนับสนุนญัตติขอให้ สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาติดตาม ตรวจสอบ และนำเสนอ แนวทางการแก้ปัญหาภัยแล้ง หรือว่าปัญหา El Nino หลังจากที่ฟังเพื่อนสมาชิกอภิปรายมา ทั้ง ๒ วัน ผนวกกับรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาทั้งของโลกแล้วก็ของไทยเองนะ ก็ปฏิเสธ ไม่ได้ว่าขณะนี้ทั้งโลกของเราและประเทศไทยกำลังเข้าสู่สภาวะปัญหา El Nino นั่นก็คือ ปัญหาภัยแล้งในแถบบ้านเรา ปีนี้ฝนน้อยครับท่านประธาน ตกไม่กี่วันที่ผ่านมา ท่วมครับ แต่ตกก็เป็นการตกที่ไม่ทั่วฟ้า สังเกตจากปริมาณน้ำในเขื่อนก็ได้ครับ เขื่อนลำปาววันนี้ จังหวัดกาฬสินธุ์ ทราบว่ามีปริมาณเต็มความจุที่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนจุฬาภรณ์ที่ชัยภูมิ มีปริมาณน้ำกักเก็บเพียงแค่ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่าฝนตก ไม่ทั่วฟ้า ตกท้ายเขื่อน แต่ไม่ได้ตกเหนือเขื่อน เพราะฉะนั้นสภาพโดยรวมประเทศไทยนั้น ยังอยู่ในสภาวะภัยแล้ง แล้วทราบว่าจะแล้งต่อเนื่องยาวนานถึง ๒-๓ ปี ตั้งแต่ผมจำความได้ เกิดมา ผมทราบว่าประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งมานับครั้งไม่ถ้วน ในความเป็นจริงแล้วประเทศไทยควรจะเป็นประเทศที่เชี่ยวชาญในการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งมากที่สุด ควรจะเก่งที่สุดในโลกแล้วครับ แต่เหตุใดประเทศไทยยังไม่สามารถหลุดพ้นจากปัญหาภัยน้ำท่วม น้ำแล้งนี้ได้ ผมเชื่อว่า เราไม่สามารถคาดหวังผลลัพธ์ใหม่ ๆ จากวิธีการเดิม ๆ ได้ เพราะฉะนั้นผมจึงเสนอว่าภาครัฐ ต้องกล้าคิด คิดใหญ่ แล้วก็กล้าลงทุนในระดับ Megaproject เพื่อเปลี่ยนแปลง มีการบริหาร จัดการน้ำแบบองค์รวมทั้งระบบแล้วก็ทั้งประเทศ

    อ่านในการประชุม

  • ในหลักใหญ่ใจความในการบริหารจัดการ น้ำทั้งประเทศนั้นก็มีอยู่ ๒ หลัก จริง ๆ ผมก็เคยอภิปรายในสภาไปแล้วเมื่อคราวญัตติสินค้า ราคาเกษตรตกต่ำเมื่อ ๒ สัปดาห์ที่แล้ว แต่ว่ายังไม่ได้ลงรายละเอียด วันนี้ขออนุญาต ลงรายละเอียดเพิ่มเติม นั่นก็คือหัวใจแรก ก็คือน้ำต้องมีที่อยู่ นั่นหมายความว่าต้องสร้าง แหล่งน้ำขึ้นมาเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ยามแล้ง น้ำผิวดินก็ต้องสร้างเขื่อน สร้างอ่างเก็บน้ำ สร้างห้วยหนองคลองบึงและแก้มลิงเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามแล้ง แล้วในส่วนน้ำใต้ดินซึ่งเป็น น้ำที่มีปริมาณค่อนข้างคงที่ จากข้อมูลของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ประเทศไทยนั้นมี น้ำใต้ดินอยู่ประมาณ ๔๕,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เราสามารถนำขึ้นมาใช้ได้ในทุกวันนี้ เพียงแค่ ๑๔,๐๐๐-๑๕,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตรหรือเทียบประมาณก็คือประมาณ ๓๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ใช้ในการเกษตร ใช้ในการอุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรม ยังเหลือน้ำใต้ดินอีกกว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสิ่งนี้รัฐบาลและภาครัฐควรจะต้องรีบนำน้ำใต้ดิน ขึ้นมาใช้ ขึ้นมาแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างเร่งด่วน

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนหัวใจที่ ๒ นี่เป็นส่วนหัวใจที่สำคัญ และเป็นส่วนหัวใจที่ภาครัฐ ต้องกล้าลงทุน นั่นก็คือสร้างทางน้ำ คือน้ำต้องมีที่ไป ต้องสร้างทางน้ำใหม่ ๆ ขึ้นมาให้น้ำ มีทางเลือกที่จะไปเพื่อที่จะแก้ปัญหาภัยแล้งและภัยน้ำท่วม จากแผนที่ที่ผมนำมาโชว์ เส้นสีแดงที่ขีดไว้นั่นคือภาพจำลอง ผมลองเชื่อมเป็นระบบคลองกระจายน้ำใหม่ขึ้นมา นั่นคือ ภาครัฐต้องกล้าลงทุนในการสร้างทางน้ำใหม่เชื่อมแม่น้ำสายหลัก ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ ทางภาคอีสานนั้นคือแม่น้ำชี แม่น้ำมูล ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งอยู่ประจำ เส้นสีแดง ผมลองจำลองขึ้นมา ควรจะมีการเชื่อมเส้นทางน้ำระหว่างแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล แล้วก็มี การเชื่อมระหว่างแม่น้ำมูลมาหาแม่น้ำบางปะกงตามเส้นทางหมายเลข ๒ ตัวเลขในแผนที่ โดยปกติแล้วแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลไหลจากจุดเริ่มต้นจากชัยภูมิจะไปแม่น้ำโขงที่อุบลราชธานี ใน ๒ ปีที่ผ่านมา มหาสารคามบ้านผมประสบปัญหาน้ำท่วมเนื่องจากแม่น้ำโขงหนุนสูง ทำให้ที่อุบลราชธานีนั้นน้ำท่วม ทำให้ปลายทางก็คืออุบลราชธานีนั้นไม่สามารถระบายน้ำ ได้ทัน จึงทำให้มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มีปริมาณน้ำชีล้นเข้าท่วมไร่นา ของพี่น้องเกษตรกร เพราะฉะนั้นเมื่อภาครัฐลงทุนสร้างคลองใหม่ขึ้นมา ก็จะสามารถระบาย น้ำจากแม่น้ำชีมายังแม่น้ำมูล และจากมูลสามารถระบายน้ำมาสู่แม่น้ำบางปะกง และเส้นสีน้ำเงินนั้นเป็นทางระบายน้ำสู่ทะเลหรือว่า Floodway เมื่อระบายมาสู่แม่น้ำ บางปะกงแล้ว ก็สร้างคลองระบายน้ำไปลงทะเลเพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือก นี่จะเป็น การแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน และไม่เพียงจะแก้ปัญหาน้ำท่วมเท่านั้น ตัวนี้ยังสามารถ แก้ปัญหาน้ำแล้งได้ด้วย เพราะว่าคลองน้ำที่ขุดใหม่ขึ้นมาผมเสนอให้มีการทำประตูเปิดปิด หัวท้ายไว้ ในเมื่อยามภัยแล้งสามารถผันน้ำจากแม่น้ำสายหลักที่มีปริมาณน้ำมากไปหาแม่น้ำ ที่มีปริมาณน้ำน้อยได้ นอกจากแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งแล้ว คลองที่ขุดใหม่ขึ้นมานี้ยังถือว่า ได้เป็นการเพิ่มพื้นที่ทางชลประทาน แก้ท่วม แก้แล้ง เพิ่มพื้นที่ชลประทานไปด้วยในตัวครับ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้โดยสรุป ในเมื่อเราไม่สามารถแก้ไขความผิดเพี้ยนของสภาพอากาศได้ เราจำเป็นต้องควบคุมผลกระทบ นั่นคือควบคุมธรรมชาติของน้ำ กักเก็บและสร้างเส้นทาง น้ำใหม่เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน กราบขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม รัฐ คลังแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม เขต ๖ อำเภอกันทรวิชัย อำเภอเชียงยืน และอำเภอชื่นชม ขออนุญาตอภิปรายรายงานผลการปฏิบัติงาน ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ในการปราบปรามยาเสพติดประจำปี ๒๕๖๔ รบกวนขอ Slide ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ผมขออนุญาตเกริ่นสักครู่นะครับไปเร็ว ๆ แหล่งต้นน้ำคือในกระบวนการค้ายาเสพติดนั้นก็มาจากประเทศเพื่อนบ้านเราไม่ใกล้ไม่ไกล นั่นก็คือประเทศเมียนมา แล้วสถานการณ์ในการผลิตก็ดูจะมีแนวโน้มที่มากขึ้น เนื่องด้วย เทคโนโลยีที่สูงขึ้น แล้วก็อุตสาหกรรมในการผลิตก็ถือว่ามีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้ปริมาณ การผลิตมีมากขึ้น ในส่วนกระบวนการลักลอบนำเข้าก็ถือว่าได้มีการเปลี่ยนแปลง มีการ Adapt ปรับให้เข้ากับสถานการณ์ ใช้รถ เรือ เครื่องบิน และไปรษณีย์มาเพื่อเลี่ยงการจับกุม ในส่วนกลางน้ำและปลายน้ำก็ไม่ต่างกัน มีการลักลอบขนส่งไปกับสินค้าอุปโภคบริโภค แล้วก็ สินค้าเกษตร มีการจัดรูปขบวนในการลำเลียงสินค้าเพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุม อย่างน้อย ๆ ต้องมีรถ ๓ คัน ๑. รถนำขบวน ๒. รถขนสินค้าที่มียาเสพติด ๓. รถตามขบวน มีช่องทาง ในการขายหลากหลายขึ้น ใช้ Social Media ในการขาย ทำให้ผู้เสพสามารถเข้าถึงช่องทางการขายได้ง่ายขึ้น ทำให้ ราคาถูก เกิดเป็นปัญหาสังคมและอาชญากรรม นี่คือปัญหาหลัก ๆ ที่ผมลงพื้นที่ไปพบเจอ พี่น้องประชาชน เป็นปัญหาหลักรองจากปัญหาเศรษฐกิจ พี่น้องบอกว่าฝากให้รัฐบาลใหม่นี้ ช่วยแก้ปัญหายาเสพติดให้พี่น้องประชาชนด้วย ส่วนมาตรการจากภาครัฐที่ผมได้ดูจาก รายงานผลการปฏิบัติงานของ ป.ป.ส. เท่าที่ดูก็มีอยู่ ๕-๖ มาตรการ ในส่วนมาตรการ ที่เกี่ยวข้องกับ ป.ป.ส. นั้นก็คงจะเป็นมาตรการที่ ๒ ในตัว Highlight สีเขียว นั่นก็คือ การปราบปราม บังคับใช้กฎหมาย สกัดกั้น แล้วก็จับกุม ส่วนมาตรการที่ ๖ นั้นเพิ่มเข้ามาใน กฎหมายตัวใหม่ที่เพิ่งออกมาในปลายปี ๒๕๖๔ นั่นก็คือเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่สามารถ ยึดทรัพย์และอายัดทรัพย์ได้มากขึ้น ได้ตามมูลค่าของกลางที่จับกุมได้ ซึ่งตัวนี้จะเอื้อ ประโยชน์นะครับ ในเมื่อเราดำเนินการจับกุมสินค้ามันทำได้ยากกว่าเดิม เราเปลี่ยนมาจับกุม เส้นทางการเงิน ตัวนี้จะช่วยลดปัญหายาเสพติดได้มากขึ้น ต่อประเด็นในรายงานผล การปฏิบัติงานของ ป.ป.ส. นั้นมีการรายงานจำนวนคดีและปริมาณยาเสพติดที่จับกุมจำนวน มากขึ้น แต่ว่าการจับกุมได้มากขึ้นนั้นสื่อถึงผลการปฏิบัติงานที่ดีขึ้นหรือไม่ อันนี้เป็นประเด็น คำถามที่ผมสงสัย แต่ผมกลับคิดในทางตรงกันข้ามครับ ผมกลับมองว่าประเด็นหรือว่าตัวชี้วัด ในการปฏิบัติงาน มันคือจำนวนผู้ร้ายหรือปริมาณยาเสพติดที่จับกุมไม่ได้ต่างหาก ก็คือ ยาเสพติดที่เล็ดลอดไปยิ่งมีจำนวนมาก นั่นหมายความว่าผลการปฏิบัติงานนั้นไม่เป็น ที่น่าพอใจ แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าสินค้านั้นเล็ดลอดไปน้อย หมายความว่าผลการปฏิบัติการนั้น เป็นที่น่าพึงพอใจ ผมขอเปรียบเทียบในกรณีนี้เพื่อให้เห็นภาพสักเล็กน้อย ตัวหนังสืออาจจะเล็ก มี ๒ กรณี คือ A และ B ตัวสีเขียว ๆ จุดวงกลมนั้นคือจำนวนยาเสพติดที่จับกุมได้ ส่วนสีแดงนั้น คือส่วนที่เล็ดลอดหรือจับกุมไม่ได้ ในกรณี A นั้นจะเห็นได้ชัดเจนว่าการจับกุมนั้นมีจำนวนน้อย ดูประหนึ่งว่าผลงานนั้นไม่เป็นที่น่าพอใจ เพราะจับกุมได้น้อย แต่ในขณะที่ B จะมีการจับกุม ได้มากกว่า แต่ท่านลองดูตัวสีแดงนั่นสิครับ สีแดงนั่นคือปริมาณยาเสพติดที่เล็ดลอดไปได้ นั่นหมายความว่าถึงแม้ว่าในกรณี B มีการจับกุมได้มากขึ้น แต่ว่าปริมาณยาเสพติดที่เล็ดลอดไป หรือกระจายอยู่ในประเทศมันกลับมากกว่าในกรณี A นั่นหมายความว่าสิ่งที่จะเป็นตัวชี้วัด การทำงานของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. จริง ๆ แล้วคือสินค้ายาเสพติดที่เล็ดลอดไปต่างหาก ทีนี้เราจะทำอย่างไรที่สามารถเอาตัวชี้วัดหรือว่าปริมาณนี้มาชี้แจงในรายงานได้ คงเป็นเรื่อง ที่ยาก ผมเลยมีแนวคิดอีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือการสำรวจราคาของราคายาเสพติด ราคาขาย ในท้องตลาดนี่ละครับ ก็เอามาแสดงเสียในรายงาน สำคัญอย่างไรครับ ก็ในเมื่อเรา ไม่สามารถวัดปริมาณที่มันเล็ดลอดไปได้ เราก็มาดูราคาขาย สัมพันธ์อย่างไรกับปริมาณ ก็ตามกลไกราคาตามหลักเศรษฐศาสตร์เลย ง่าย ๆ คืออุปสงค์ Demand และอุปทาน Supply จุดสีแดง ๆ หมายความว่าสินค้ายาเสพติดมีเยอะ มันมีมากส่งผลให้อุปทานมีสูง ทำให้ราคานั้นถูก ในทางกลับกันถ้าจุดสีแดง ๆ มีน้อยหรือสินค้าที่เล็ดลอดไปมีน้อย ทำให้ ราคายาเสพติดนั้นมีราคาแพงนะครับ ง่าย ๆ ในอดีตที่ผ่านมาเราจะเห็นการปฏิบัติจับกุม ยาเสพติดอย่างมีประสิทธิภาพในสมัยพรรคไทยรักไทย สมัยพรรคพลังประชาชน ดูได้ จากอะไร ดูได้จากราคายาเสพติดที่มีราคาสูง ในขณะนั้นยาบ้าราคาหลักร้อย ทุกวันนี้ราคา หลักหน่วย หลักสิบ เพราะฉะนั้นผมจึงเสนอว่ารายงานการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่นี้ควรจะมีการนำราคา ขายยาเสพติดในท้องตลาดมาชี้แจง บอกไปเลยว่าในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทยตรงไหน ราคาเท่าไร ตัวนี้ถึงจะได้เป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจน มีประเด็นอีกเล็กน้อย ในส่วนของการชี้แจง ในรายงานผมเห็นจำนวนของเจ้าหน้าที่พนักงาน ป.ป.ส. ในปี ๒๕๖๔ ในช่วงต้นปี หรือการแต่งตั้งมีจำนวนเจ้าหน้าที่ ๑๔,๐๐๐ กว่าอัตรา แต่ในวันที่ ๒๗ ตุลาคม เจ้าหน้าที่ กลับลดลงไปประมาณครึ่งหนึ่งเหลือ ๗,๐๐๐ กว่าตำแหน่งเท่านั้น ตรงนี้ผมจึงมีคำถามว่า ทำไมในรายงานไม่มีการสรุปรายละเอียดชัดเจนว่าในกรณีที่ยกเลิกแต่ละกรณีนั้นซึ่งเขียนไว้ ว่ามี ๑. พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ ๒. ถูกดำเนินคดี ๓. ไม่ต่ออายุบัตรประจำตัวเกินกว่า ๖ เดือน ๔. ไม่รายงานการปฏิบัติหน้าที่ให้หัวหน้าผู้บังคับบัญชาทราบ ตรงนี้รบกวน ถ้าเป็นไปได้อยากให้ชี้แจงเพื่อที่จะได้วิเคราะห์ประเด็นปัญหาว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. จำนวนลดลงถึงครึ่งต่อครึ่ง สุดท้ายผมขอเสนอแนะต่อ ป.ป.ส. และรัฐบาล ๑. ขอให้ เพิ่มข้อมูลราคาขายยาเสพติดในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศเข้าไปในรายงาน เพื่อเป็นหนึ่ง ในตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงาน ๒. เพื่อแก้ปัญหาเรื่องจำนวนเจ้าพนักงานที่มีจำกัด ควรส่งเสริม และให้ความรู้แก่ภาคประชาชน ผู้นำชุมชน ซึ่งอยู่ใกล้ชิดปัญหาได้ร่วมป้องกันและเฝ้าระวัง ๓. ถ้าเป็นไปได้ก็ตั้งคณะกรรมการในระดับชุมชน ให้ผู้นำชุมชน กำนันผู้ใหญ่บ้านหรือ คนในชุมชน จัดการปัญหายาเสพติดในชุมชน เพราะผู้นำแล้วก็คนในชุมชนจะทราบดีว่า ใครเสพ ใครค้า ใครติด ไม่ติด ขอฝากสภาไว้เพียงเท่านี้ครับ กราบขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม รัฐ คลังแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม เขต ๖ อำเภอกันทรวิชัย อำเภอเชียงยืน และอำเภอชื่นชม ขออนุญาตร่วมอภิปรายรายงานการปฏิบัติงานของ สภาองค์กรของผู้บริโภค ประจำปี ๒๕๖๕ ขอ Slide ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ก่อนอื่นต้องขออนุญาตอธิบายให้พี่น้อง ประชาชนที่ได้รับชมรับฟังอยู่ทางบ้านได้เข้าใจสักนิดหนึ่ง อาจจะสับสนระหว่างสภาองค์กร ของผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. มีความแตกต่างกัน อยู่เล็กน้อย จากที่ผมสืบทราบจากการอ่านรายงาน สภาองค์กรของผู้บริโภคนั้นก็คือ เป็นองค์กรอิสระ เป็นตัวแทนผู้บริโภคภาคประชาชนเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ในขณะที่ สคบ. นั้น เป็นส่วนราชการ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และในส่วนภารกิจของสภาองค์กรของผู้บริโภค เท่าที่ผมอ่านจากรายงานนั้นก็มีหลัก ๆ อยู่คือเชิงรุกและเชิงรับ เชิงรุกนั้นก็คือเป็นการทำงาน เพื่อพัฒนา เสนอแนะ แล้วก็ผลักดันนโยบายต่อส่วนราชการ แล้วก็เป็นการประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ แล้วก็เตือนภัยกับพี่น้องประชาชนผู้บริโภค แล้วก็ เฝ้าระวัง ท้วงติง คัดค้านในประเด็นที่มีแนวโน้มว่าผู้บริโภคนั้นจะถูกลิดรอนสิทธิ ในส่วน เชิงรับ นั่นก็คือเป็นหน่วยงานที่รับเรื่องราวร้องทุกข์ของผู้บริโภค ช่วยพิทักษ์สิทธิแล้วก็ แก้ปัญหา ในส่วนของความครอบคลุมในการปฏิบัติงานนั้น ก็เรียกว่าครอบคลุม ชีวิตประจำวันของผู้บริโภคตั้งแต่ตื่นจนหลับ มีหลาย ๆ ด้าน เท่าที่ดูจากรายงานมีทั้งหมด ๘-๙ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงินและการธนาคาร ซึ่งรายงานก็ได้รายงานว่าด้านนี้เป็นด้าน ที่ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมิจฉาชีพ แก๊ง Call Center เรื่องการหลอกลวงทำธุรกรรม Online เรื่อง SMS ที่เข้ามาหลอกลวงให้ผู้บริโภคนั้นหลงกด แล้วก็หลงเผลอทำธุรกรรม Online แล้วก็ในเรื่องของสัญญาที่ไม่เป็นธรรมของสถาบัน การเงิน จำพวกเงินด่วน เงินเร็วทั้งหลาย พวกนี้มักจะแฝงด้วยสัญญาที่ไม่เป็นธรรม อะไร ที่ด่วนและเร็วมักจะไม่เป็นธรรมเสมอ โฆษณาสินค้าที่เกินจริง ของไม่ตรงปก สินค้าสั่งซื้อ Online ได้มาไม่ตรงปก ของไม่ตรง สั่งซื้อเสื้อ ได้รองเท้า ได้กางเกงบ้าง นี่เป็นปัญหาตั้งแต่ สากกะเบือยันเรือรบ เป็นสิ่งที่องค์กรของผู้บริโภคต้องรับภาระในการช่วยคุ้มครอง พิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค

    อ่านในการประชุม

  • และประเด็นร้อน ประเด็นที่เพิ่งเป็นข่าวเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาครับ นั่นก็คือ การที่รัฐบาลรักษาการได้ลักไก่แก้เกณฑ์การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ จากเดิมซึ่งเป็นระบบทั่วหน้า หมายความว่าผู้สูงอายุ ๖๐ ปีขึ้นไปได้ทุกคน กลับมาเปลี่ยนเกณฑ์เป็นเฉพาะผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ยากจน อันนี้ละครับจะเป็นปัญหา นึกภาพถึงการพิสูจน์สิทธิลงทะเบียนบัตรคนจน ขึ้นมาทันทีเลยครับ ของเดิมยังไม่ได้มีการแก้ไข ผู้ที่เป็นคนจนลงทะเบียนรับสิทธิไม่สามารถ ลงทะเบียนได้ถึง ๔๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ ชาวบ้านในพื้นที่หลายคนก็เรียกร้องสอบถาม ผู้แทนราษฎรมา ทำอย่างไร ฉันเป็นคนจนแต่ฉันลงทะเบียนบัตรคนจนไม่ได้ หลายคน มีปัญหานี้ ในขณะที่ผู้ที่ลงทะเบียนได้ถึง ๗๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ เป็นผู้ที่ไม่ได้ยากจน นี่คือ การพิสูจน์สิทธิ นี่คือปัญหาที่จะเกิดขึ้น จริงอยู่ครับ กฎหมาย ระเบียบบอกว่าผู้ที่ได้รับสิทธิ ก่อนวันที่ ๑๒ สิงหาคม จะยังได้รับสิทธิต่อไป นั่นหมายความว่าผู้ที่แก่ก่อนวันที่ ๑๒ ยังได้รับ สิทธิอยู่ แต่ผู้ที่กำลังจะแก่ล่ะครับ ผู้ที่เป็นว่าที่ผู้สูงอายุ หลังวันที่ ๑๒ นี่ละครับที่จะเป็น ปัญหา เพราะจะต้องมีการพิสูจน์สิทธิว่าจนจริงหรือไม่ สมควรได้รับเบี้ยผู้สูงอายุจริงหรือไม่ นี่เป็นประเด็นที่ผมสืบทราบจาก Facebook ของสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้มีการร้องเรียน ไปยังรัฐบาลรักษาการ กระทรวงมหาดไทย ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบ ให้แก้ระเบียบตัวนี้ หรือท้วงติงการแก้เกณฑ์ตัวนี้ ซึ่งผมเห็นด้วยแล้วก็ชื่นชมในการปฏิบัติหน้าที่ของสภาองค์กร ของผู้บริโภค แล้วก็ฝากไปยังรัฐบาลรักษาการ หรือรัฐบาลที่จะมาเป็นรัฐบาลหลังจากนี้ ช่วยแก้กลับไปเป็นเหมือนเดิมเสียก่อน ให้ผู้สูงอายุได้รับเบี้ยอย่างทั่วหน้าเสียก่อน ให้กระบวนการพิสูจน์สิทธิได้มีการพิสูจน์ได้อย่างถ่องแท้ ได้มีการคัดกรองว่าใครจนจริง ใครรวย ใครไม่จน อันนั้นเราค่อยมาว่ากันนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนของรายงานของสภาองค์กรของผู้บริโภค อันนี้ขอชื่นชม มีการร้องเรียน เข้าไปถึง ๑๔,๐๐๐ กว่าราย ๔,๐๐๐ กว่าเรื่อง แล้วก็สามารถยุติได้ ๑๓,๐๐๐ กว่าเรื่อง ถือเป็นผลสำเร็จอยู่ที่ ๙๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ นี่ต้องขอชื่นชม แต่ผมมีข้อสังเกตอยู่นิดหนึ่ง ภายใต้การปฏิบัติงานในหลาย ๆ ด้าน ๘-๙ ด้านที่ว่ามานั้น มีอยู่ด้านหนึ่งที่เปอร์เซ็นต์ ความสำเร็จนั้นต่ำเหลือเกิน อยู่ที่ประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ตัวหนังสืออาจจะเล็กนะครับ นั่นก็คือด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย ตรงนี้ผมขอฝากเรียนผ่านท่านประธานไปยัง ผู้ชี้แจงนะครับ ช่วยชี้แจงสักนิดหนึ่งว่าเหตุผลตัวนี้ ด้านนี้ทำไมถึงต่ำกว่าด้านอื่น ๆ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายครับ ผมมองว่าการปฏิบัติงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคนั้น เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคโดยแท้จริง เป็นช่องทางที่ผู้บริโภคจะสามารถร้องเรียน ผมจึงอยาก ฝากข้อเสนอแนะสักนิดหนึ่ง ในกระบวนการหรือว่าในช่องทางที่สามารถร้องเรียนได้ที่มีอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ ผมเอาขึ้นมาโชว์ใน Slide สักนิดหนึ่ง เผื่อพี่น้องทางบ้านมีประสบปัญหา ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ขายสินค้าหรือให้บริการต่าง ๆ สามารถร้องเรียนเข้าไปได้ ที่สภาองค์กรของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นทาง Facebook หรือว่า Website จะมีช่องทาง การร้องเรียนอยู่ แล้วก็มีสายด่วนให้โทรศัพท์ไปได้ แต่ผมอยากจะเสนออีกนิดหนึ่ง มันยังมี พี่น้องประชาชนผู้บริโภคอีกหลายท่านหลายส่วน รวมทั้งกระผมเองนะครับ ก่อนจะมาวันนี้ ผมไม่ทราบว่ามีองค์กรนี้อยู่ เพราะฉะนั้นฝากเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึง ให้พี่น้อง ในระดับรากหญ้าได้ทราบช่องทางในการพิทักษ์สิทธิของตัวเอง ฝากขยายองค์กร ให้ครอบคลุมทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ทุกตำบล แล้วก็เพิ่มช่องทางประชาสัมพันธ์ในการรับรู้ สู่ผู้ด้อยโอกาส ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบ Online หรือ Internet ได้ ใช้วิทยุชุมชน ใช้โทรทัศน์ แล้วก็ให้ความรู้และส่งเสริมการสร้างบทบาทแก่ผู้นำชุมชนในการให้ความรู้ แล้วก็ให้ช่องทางแก่พี่น้องประชาชนในการเข้าถึงช่องทางการร้องเรียน ขอฝากสภาไว้ เพียงเท่านี้ครับ กราบขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม รัฐ คลังแสง จากจังหวัดมหาสารคาม เขต ๖ รบกวนขอ Slide ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขออนุญาตปรึกษาหารือท่านประธาน ถึงปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่อำเภอกันทรวิชัย อำเภอเชียงยืน และอำเภอชื่นชม โดยแบ่งเป็น ๓ เรื่องหลัก ๆ ครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ เป็นเรื่องของถนนและสะพาน ภายใต้การดูแลขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น อบต. เทศบาล หรือว่า อบจ. นะครับ ซึ่งขาดแคลน งบประมาณในการดูแล ฝากไปถึงกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นช่วยจัดสรรงบประมาณ ในการซ่อมแซมด้วยครับ ดังมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

    อ่านในการประชุม

  • เส้นที่ ๑ ครับ เป็นถนน อบจ. ระหว่างบ้านน้ำเที่ยงถึงบ้านหนองหว้า ตำบลศรีสุข อำเภอกันทรวิชัย ถัดไปครับ

    อ่านในการประชุม

  • เส้นที่ ๒ เส้นระหว่างบ้านมะกอกถึงบ้านหนองแข้ ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย ซึ่งรับทราบว่าได้มีการจัดสรรงบประมาณแล้ว แต่ยังไม่สามารถหาผู้รับจ้างได้ ฝาก อบจ. มหาสารคามช่วยเร่งรัดดำเนินการด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เส้นที่ ๓ นะครับ เป็นถนน อบจ. ระหว่างบ้านหนองมันปลา ตำบลกู่ทอง ถึงบ้านนาทอง ตำบลนาทอง ระยะทางรวม ๘ กิโลเมตรถัดไปครับ

    อ่านในการประชุม

  • เส้นที่ ๔ ครับ เป็นถนน อบจ. ระหว่างบ้านโนนเสียวถึงบ้านคุยเพ็ก ตำบลเขวาใหญ่ อำเภอกันทรวิชัย ระยะทางรวม ๕ กิโลเมตร

    อ่านในการประชุม

  • เส้นที่ ๕ นะครับ ถนนเทศบาลตำบลโพนทอง ระหว่างบ้านสีดาถึงบ้านโพน ตำบลโพนทอง ระยะทาง ๑.๕ กิโลเมตร

    อ่านในการประชุม

  • เส้นที่ ๖ ครับ เป็นสะพานข้ามลำห้วยกุดจอก บ้านโพน ซึ่งมีอายุกว่า ๓๐ ปี เสี่ยงที่จะเกิดอันตรายกับผู้สัญจรไปมา ฝากเทศบาลตำบลโพนทอง หน่วยงานต้นสังกัด ช่วยจัดสรรงบประมาณด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ถัดไปเป็นเรื่องที่ ๒ ครับ เป็นเรื่องของการขาดแคลนไฟส่องสว่างถนน บนทางหลวงนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เส้นที่ ๑ ทางหลวงแผ่นดินเลขที่ ๒๒๖๘ ช่วงที่ ๑ ระหว่างบ้านนาเจริญ ถึงบ้านนาสมบูรณ์ ช่วงที่ ๒ บริเวณบ้านโนนทัน ตำบลกุดปลาดุก อำเภอชื่นชม

    อ่านในการประชุม

  • เส้นที่ ๒ ทางหลวงชนบท ๔๐๒๕ ระหว่างโรงเรียนชุมชนบ้านกุดปลาดุก ถึงสะพานข้ามลำห้วยอีเฒ่า ขาดแคลนไฟส่องสว่าง

    อ่านในการประชุม

  • เส้นที่ ๓ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๓๒๒ ระหว่างบ้านโคกสูง ตำบล เชียงยืน ถึงบ้านขี ตำบลหนองซอน อำเภอเชียงยืน ขาดแคลนไฟส่องสว่างครับ ฝากกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทช่วยจัดสรรงบประมาณด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องสุดท้าย เป็นเรื่องความต้องการเขื่อนป้องกันตลิ่ง เพื่อป้องกันภัยน้ำท่วม บริเวณชายฝั่งแม่น้ำชี บ้านกุดหัวช้าง ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย ฝากกรมโยธาธิการ และผังเมือง ช่วยจัดสรรงบประมาณดูแลพี่น้องประชาชนด้วยครับ ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติม ผมจะได้นำเรียนเป็นเอกสารส่งท่านประธานอีกครั้งหนึ่งครับ กราบขอบพระคุณอย่างสูงครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม รัฐ คลังแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม เขต ๖ อำเภอกันทรวิชัย อำเภอเชียงยืน และอำเภอชื่นชม จากพรรคเพื่อไทย ขออนุญาตร่วมอภิปรายญัตติปัญหา ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ผมขอ Slide ด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • แต่ผมขอใช้คำว่า ราคาผันผวน นะครับ เพราะอะไรครับ เพราะว่าจากข้อมูลราคาสินค้าเกษตรของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรนั้น เมื่อเปรียบเทียบราคาปัจจุบันกับราคาปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา มีทั้งสินค้าที่ราคาตก และสินค้า ที่ราคาขึ้น สินค้าที่ราคาตกก็จะเป็นในหมวดของยางพารา สินค้าปศุสัตว์ สุกร โค ไก่ กุ้ง ส่วนสินค้าที่ราคาขึ้น ก็จะเป็นสินค้าจำพวกพืชเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นอ้อย มันสำปะหลัง สับปะรด ถั่วเหลือง แล้วก็ข้าวซึ่งเป็นสินค้าสำคัญ ดูประหนึ่งว่าจะดี โดยเฉพาะข้าวนั้น ที่มีราคาสูงขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นไปตามหลักกลไกเศรษฐศาสตร์ง่าย ๆ ครับ เพราะอะไรครับ ก็เพราะผลผลิตมันน้อยลงสืบเนื่องจากปัญหาภัยแล้ง หรือว่าปัญหา El Nino ทำให้ผลผลิตน้อย ราคาจึงดีดสูงขึ้น ดูเหมือนว่าชาวนาควรจะดีใจ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผมลงพื้นที่ชาวนาหลายท่านบ่นกับผมมา ผู้แทนดีใจราคาสูงขึ้น แต่ไม่มีผลผลิต หรือไม่มีข้าว จะขายนี่คือปัญหาสำคัญ ในส่วนของสาเหตุที่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรนั้นผันผวนมีอยู่ ๔-๕ ปัจจัยที่ผมขออนุญาตยกมาเสนอต่อสภา

    อ่านในการประชุม

  • สาเหตุแรกซึ่งเป็นสาเหตุหลัก นั่นก็คือปริมาณผลผลิตที่ไม่แน่นอน สืบเนื่องมาจากระบบชลประทาน ระบบบริหารจัดการน้ำที่ยังไม่เพียงพอ ไม่มีคุณภาพ แล้วก็สภาพอากาศ หรือว่าภัยพิบัติ โดยเฉพาะ El Nino ที่ทั่วโลก และประเทศไทยกำลัง ประสบปัญหาอยู่ ซึ่งรัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญ แล้วก็ต้องเตรียมแผนเพื่อแก้ไข แล้วก็ ในเรื่องของโรคระบาดในพืชและสัตว์

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ ก็คือปริมาณสินค้าที่ไม่สัมพันธ์กับความต้องการของตลาด สินค้าผลิตออกมาล้นเกินตลาดราคาก็ตก สินค้าขาดราคาก็สูงเป็นธรรมดาครับ ตามเศรษฐศาสตร์

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๓ ก็คือตลาดที่รองรับนั้นไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นตลาด ทั้งในประเทศและนอกประเทศ แล้วก็ความสัมพันธ์ทางด้านการค้าระหว่างประเทศนะครับ ซึ่งจะต้องมีการเจรจาเพื่อเพิ่มตลาด เพิ่มช่องทางในการค้าขาย แล้วก็คุณภาพของสินค้า ที่มีผลต่อราคาของสินค้าทางการเกษตร ในส่วนข้อเสนอที่ผมอยากจะเสนอต่อภาครัฐ และเกษตรกร ก็มีหัวใจหลัก ๆ อยู่ ๓ ประเด็นก็คือ ๑. คือลดต้นทุน ๒. ใช้ตลาดนำ ๓. ใช้นวัตกรรมเสริม ในส่วนประเด็นแรกก็คือการลดต้นทุน ผมขอเสนอภาครัฐให้ช่วยเร่ง เพิ่มพื้นที่ทางชลประทานให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำ ใช้หัวใจอยู่ ๒ หลัก ก็คือน้ำ ต้องมีที่อยู่ และน้ำต้องมีที่ไป น้ำต้องมีที่อยู่ หมายความว่า ต้องมีการสร้างแหล่งเก็บ น้ำผิวดินเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ยามแล้งแล้วก็ใช้ในการเกษตร แล้วก็ดึงน้ำใต้ดินหรือน้ำบาดาล นั้นมาใช้ ในข้อมูลของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีการตรวจสอบทราบว่าน้ำใต้ดิน ของประเทศไทยนั้นมีอยู่ปริมาณ ๔๕,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีที่สามารถนำมาใช้ได้ แต่ในปัจจุบันเราสามารถมีศักยภาพนำน้ำเหล่านั้นขึ้นมาใช้ได้เพียง ๑๕,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อปี นั่นหมายความว่าเราใช้ได้เพียงแค่ ๓๐ เปอร์เซ็นต์นะครับ ทำอย่างไรที่เหลืออีก ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ภาครัฐจะสามารถดึงขึ้นมาใช้ แล้วก็ให้พี่น้องเกษตรกรได้ประโยชน์จาก แหล่งน้ำ ส่วนหัวใจที่ ๒ นั้น ก็คือน้ำต้องมีที่ไป ต้องมีการเพิ่มคลอง เพิ่มทางน้ำเป็นเส้นเลือดฝอย เข้าถึงไร่นา เข้าถึงพื้นที่ทางการเกษตรของพี่น้องประชาชน แล้วถ้าเป็นไปได้ เรามี ๑ ตำบล ๑ ผลิตภัณฑ์ เราจะมี ๑ ตำบล ๑ ระบบชลประทานได้หรือไม่ นำน้ำมาใช้พัฒนาในตำบล ของตัวเอง

    อ่านในการประชุม

  • แล้วก็ปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่ง ก็คือการควบคุมต้นทุนการผลิตในด้าน ราคาปุ๋ย แล้วก็ยาป้องกันแมลงศัตรูพืช

    อ่านในการประชุม

  • ในประเด็นที่ ๒ หัวใจที่ผมอยากจะนำเสนอก็คือการใช้ตลาดนำ รัฐต้อง สำรวจความต้องการของตลาด ต้องการสินค้าข้าวเท่าไร อ้อยเท่าไร ต้องการหมู ต้องการวัว เท่าไร แล้วส่งเสริมให้พี่น้องเกษตรกรทำการตลาดตามนั้นให้สัมพันธ์กับตลาดที่รองรับ แล้วจะผลิตอะไรภาครัฐก็ต้องส่งเสริมให้สัมพันธ์กับตลาด พี่น้องเกษตรกรส่วนใหญ่ เพาะปลูกพืชจะเน้นข้าวเสียเป็นหลัก แต่ในความเป็นจริงแล้วข้าวนั้นต้องการน้ำมากกว่า พืชอื่น ๆ ต้องการน้ำต่อไร่ ๑,๒๐๐-๑,๕๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อการเพาะปลูก ในขณะที่ พืชอย่างอื่นต้องการน้ำในปริมาณที่น้อยกว่าถึงครึ่งต่อครึ่ง ตรงนี้รัฐต้องช่วยให้ความรู้กับ พี่น้องประชาชน และขายที่ไหนรัฐต้องเพิ่มช่องทางในการขายสินค้า สนับสนุนให้พี่น้อง เกษตรกรสามารถแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้าและสร้างรายได้ให้มากขึ้น แล้วก็ต้องขยายตลาด ระหว่างประเทศ รองรับปริมาณการผลิตที่มากขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนหัวใจสุดท้ายนั่นก็คือเอานวัตกรรมมาเสริม ภาครัฐต้องเสริมความรู้ และเทคโนโลยีการเกษตรให้พี่น้องเกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิต นำ Drone ทางการเกษตร มาใช้ นำระบบพยากรณ์ที่แม่นยำทางการเกษตรมาใช้ และภาครัฐต้องจัดทำแผนที่สภาพดิน ทั่วประเทศ อันนี้คือหัวใจสำคัญเลยครับ พื้นฐานเริ่มต้นของการเพาะปลูกคือดิน สำรวจ อย่างไร ก็สำรวจค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดินทั่วประเทศ ทำออกมาเป็นแผนที่ ให้ละเอียดถึงระดับตำบล ระดับหมู่บ้าน เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรนำไปใช้ แล้วก็ส่งเสริม ให้เกษตรกรสามารถตรวจสภาพดินได้ด้วยตัวเอง ซึ่งทุกวันนี้อุปกรณ์หรือว่าวัสดุเครื่องมือ ในการตรวจสภาพดิน ตรวจความเป็นกรดเป็นด่างนั้นมีราคาถูกมากแค่หลักสิบเท่านั้น สำคัญอย่างไรครับ ค่า pH ก็คือค่าความเป็นกรดเป็นด่าง ดินที่มีความเหมาะสม ค่า pH ที่เหมาะสมนั้นก็คือค่าระหว่าง ๕.๕-๗.๐ นั่นคือดินที่สภาพเป็นกรดอ่อน ๆ หรือเป็นกลาง สำคัญอย่างไรครับ ดินที่มีสภาพความเป็นกลางนั้นจะมีความสามารถในการดูดซึมแร่ธาตุ ให้พืชนั้นเอาไปใช้ ต่อให้เราใช้ปุ๋ยดีแค่ไหนก็ตาม ปุ๋ยสูตรเทวดาแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าดินเรา ไม่มีการปรับสภาพ pH ที่เหมาะสม ไม่สามารถดูดซึมแร่ธาตุนั้นไปใช้ได้ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้นต้องส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ในการตรวจสภาพดิน และปรับสภาพดิน ให้เหมาะสม หากดินเป็นกรดก็เติมขี้เถ้า เติมปูนขาว เติม Dolomite เข้าไป หรือถ้าเป็นด่าง ก็เติมกำมะถันเข้าไป

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายครับ นอกจากปัจจัยการผลิตพื้นฐานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดิน เรื่องน้ำ เรื่องการตลาดที่ภาครัฐต้องเตรียมไว้ให้เกษตรกร ข้อมูลและองค์ความรู้คือหัวใจ สำคัญ เพราะฉะนั้นแล้วรัฐต้องนำพา ประชาต้องเดินตาม ต้องเพิ่มสื่อ เพิ่มช่องทาง การเข้าถึงข้อมูลของพี่น้องเกษตรกร สร้างการรับรู้เพื่อพัฒนาไปสู่เกษตรกรยุคใหม่ กราบสวัสดีครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม รัฐ คลังแสง จากจังหวัดมหาสารคาม เขต ๖ อำเภอกันทรวิชัย อำเภอเชียงยืน และอำเภอชื่นชม ขออนุญาตปรึกษาหารือท่านประธาน ถึงปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยมีหลัก ๆ อยู่ ๓ ปัญหา

    อ่านในการประชุม

  • ปัญหาที่ ๑ นั่นคือปัญหาขยะมูลฝอย ตกค้าง ในพิกัดมหาวิทยาลัยมหาสารคามและบริเวณชุมชนโดยรอบ ในพื้นที่เทศบาล ตำบลท่าขอนยาง และตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งมีร้านค้า มีชุมชน มีหอพัก มีชุมชนที่เป็นชุมชนขนาดใหญ่ประสบปัญหาขยะมูลฝอยตกค้าง เนื่องจากขาดแคลนรถเก็บขยะ แล้วก็รถที่มีนั้นมีอายุการใช้งานยาวนาน ทำให้ไม่สามารถ ใช้งานได้ จึงขอสนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อรถขยะเพิ่มเติมจากหน่วยงานต้นสังกัด นั่นคือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

    อ่านในการประชุม

  • ปัญหาที่ ๒ เป็นปัญหาถนนพัง พี่น้องไม่สามารถสัญจรไปมาได้สะดวก เส้นที่ ๑ เป็นถนน อบจ. รหัส มค.ถ. ๑-๐๐๖๒ ช่วงที่ ๑ เป็นช่วงระหว่างมหาวิทยาลัย มหาสารคาม ถึงบ้านดอนหน่อง ตำบลข้ามเรียง อำเภอกันทรวิชัย ขอสนับสนุนงบประมาณ เพื่อซ่อมแซมจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เส้นที่ ๒ เป็นถนนรหัสเดียวกันของ อบจ. ช่วงจากบ้านโพนงาม บ้านดอนดู่ทะลุถึงทางหลวง หมายเลข ๒๑๓ บริเวณ ตำบลคันธารราษฎร์ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ขอสนับสนุนงบประมาณจาก กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเช่นกันครับ เส้นที่ ๓ เป็นถนน อบจ. จากบ้านจาน บ้านท่ากระเสริม ตำบลเสือเฒ่า อำเภอเชียงยืน เชื่อมบ้านกุดจอก บ้านหลุบแซง ตำบลหนองกุง อำเภอชื่นชม ขอสนับสนุนงบประมาณจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นครับ

    อ่านในการประชุม

  • ปัญหาที่ ๓ เป็นปัญหาอุบัติเหตุตรงบริเวณแยกอันตราย ขอสัญญาณ ไฟจราจรเพื่อลดอุบัติเหตุจุดที่ ๑ เป็นสามแยกจุดตัด ถนนหลวงหมายเลข ๑๒ กับหมายเลข ๒๓๙๑ บริเวณบ้านกู่ทอง ตำบลกู่ทอง อำเภอเชียงยืน จุดที่ ๒ สามแยกจุดตัดทางหลวง หมายเลข ๒๓๒๒ กับ ๓๐๑๖ เรียนบ้านโคกสูง ตำบลเชียงยืน จุดที่ ๓ เป็นสามแยกจุดตัด ถนนหลวงหมายเลข ๒๑๘๘ และ ๔๐๐๙ บริเวณบ้านนาศรีนวล ตำบลนาศรีนวล อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ขอความกรุณากรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ช่วยจัดไฟจราจรเพื่อลดอุบัติเหตุให้พี่น้องประชาชน ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติมจะขอนำส่งเป็น เอกสารให้ท่านประธานต่อไปครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม รัฐ คลังแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม เขต ๖ อำเภอกันทรวิชัย อำเภอ เชียงยืน และอำเภอชื่นชม จากพรรคเพื่อไทย ขออนุญาตหารือถึงปัญหาความเดือดร้อนของ พี่น้องประชาชนในพื้นที่

    อ่านในการประชุม

  • ปัญหาที่ ๑ เป็นเรื่องของคลองส่งน้ำ เพื่อการเกษตรชำรุด เส้นที่หนึ่งเป็นคลองส่งน้ำดาดคอนกรีตจากบ้านเขวาโดนไปบ้านแสนสุข ตำบลนาสีนวน อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม โดยคลองเส้นนี้องค์การบริหาร ส่วนตำบลนาสีนวนได้รับถ่ายโอนภารกิจมาจากกรมชลประทาน แต่เนื่องจากขาดแคลน งบประมาณไม่สามารถดูแลพื้นที่ได้ทำให้คลองชำรุดทรุดโทรม ดูจากแผนที่คลองเส้นนี้ จะรับน้ำจากบริเวณห้วยเชียงส่ง ดึงน้ำผ่านบ้านเขวาโดนไปสู่ปลายทางคือบ้านแสนสุข โดยเส้นสีน้ำเงินนั้นคือคลองในส่วนที่ยังสามารถใช้การได้ แต่ในจุดบริเวณเส้นสีแดงระยะทาง กว่า ๒ กิโลเมตรไม่สามารถใช้การได้ จึงขอสนับสนุนงบประมาณจากกรมส่งเสริม การปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยสนับสนุนงบประมาณมาให้ อบต. ได้ซ่อมแซมพื้นที่ โดยหาก ซ่อมแซมแล้วพื้นที่ทางการเกษตรที่ได้รับผลประโยชน์มีไม่ต่ำกว่า ๕,๐๐๐ ไร่ มีบ้านหนองอุ่ม บ้านแหย่ง บ้านเขวาโดน และบ้านแสนสุข ส่วนคลองเส้นที่ ๒ เป็นคลองส่งน้ำดาดคอนกรีต พร้อมสถานีสูบน้ำจากลำน้ำชี บริเวณบ้านส้มโฮง ตำบลเขวาใหญ่ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัด มหาสารคาม โดยหน่วยงานนี้หน่วยงานที่รับโอนภารกิจจากกรมชลประทานเช่นกัน ก็คือ องค์การบริหารส่วนตำบลเขาใหญ่ ดูจากแผนที่จะมีสถานีสูบน้ำซึ่งตอนนี้ใช้การไม่ได้ จะสูบน้ำจากลำน้ำชีขึ้นไปหาบ้านส้มโฮง ระยะทางเส้นสีแดงคือส่วนที่ใช้การไม่ได้ระยะทาง ๑.๘ กิโลเมตร ซึ่งถ้าเส้นนี้สามารถซ่อมแซมและใช้การได้จะสามารถส่งน้ำต่อขึ้นไปอย่างเส้น สีน้ำเงินไปหาบ้านเขวาใหญ่ บ้านเขวาน้อย ตำบลเขวาใหญ่ได้นะครับ พื้นที่เกษตรที่จะได้รับ ผลประโยชน์จากการซ่อมแซมก็จะมี บ้านส้มโฮง บ้านเขวาใหญ่ บ้านเขวาน้อย ตำบลเขวาใหญ่ และอีกตำบลข้างเคียง นั่นก็คือตำบลขามเรียง บริเวณบ้านกุดหัวช้าง กราบขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม รัฐ คลังแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม เขต ๖ อำเภอกันทรวิชัย อำเภอเชียงยืนและอำเภอชื่นชม ขออนุญาตร่วมอภิปรายสนับสนุนญัตติ เรื่อง ขอให้ สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบูรณาการร่วมกันระหว่าง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและจังหวัดพื้นที่ในเขตป่าสงวน เพื่อลดขั้นตอน การอนุมัติของอธิบดี ตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ จริง ๆ แล้วยังมีญัตติอีก ๔-๕ ญัตติ ที่เพื่อนสมาชิกได้เสนอประกบมาร่วมกัน แม้ว่าจะต่างกัน ในรายละเอียดบ้าง แต่จุดประสงค์ผมมองแล้วว่าเป็นจุดประสงค์เดียวกัน นั่นก็คือเพื่อลด ความยุ่งยาก แล้วก็กระชับขั้นตอนในการขออนุญาตเขาใช้พื้นที่ป่าไม้ของหน่วยงานราชการ สำหรับจัดบริการสาธารณะและเพื่อพัฒนาพื้นที่เพื่อพี่น้องประชาชน จากที่ฟังเพื่อนสมาชิก ได้เข้าชื่ออภิปรายมาตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่แล้ว แล้วก็จำนวนสมาชิกที่อภิปรายมีไม่ต่ำกว่า ๓๐-๔๐ ท่าน นี่บ่งบอกได้ชัดเจนนะครับว่าเป็นปัญหาที่กระทบทั่วทุกพื้นที่ รวมทั้งพื้นที่ ของกระผมเอง ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต. หรือเทศบาลก็ตาม ในการ เข้าพัฒนาพื้นที่ เพื่อจัดบริการสาธารณะของพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะก่อสร้างถนนหรือว่า ทำการขุดลอกห้วยหนองคลองบึง เพื่อพัฒนาพื้นที่สำหรับพี่น้องประชาชน แต่ว่าต้องติดปัญหา ว่าต้องขออนุญาตในการใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ หรือแม้กระทั่งจะสร้างสำนักงานใหม่ของเทศบาล หรือ อบต. เองก็ตาม พอไปติดพื้นที่ป่าไม้ก็ต้องมีการขออนุญาต ซึ่งใช้ระยะเวลานาน จนกระทั่งเดี๋ยวนี้เป็นระยะเวลาหลายเดือน หลายปี ยังไม่สามารถก่อสร้างได้ หรือว่าจะเป็น ภารกิจของหน่วยงานราชการอื่น เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งในพื้นที่ของกระผมเอง มีอำเภอกันทรวิชัยที่มีลำน้ำชีพาดผ่าน ภารกิจหลักของกรมโยธาธิการและผังเมืองนั่นก็คือ การสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี ปีที่ผ่านมาปี ๒๕๖๕-๒๕๖๖ แม้จะได้งบประมาณ ในการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งมาเรียบร้อยแล้ว ประกาศจัดซื้อจัดจ้าง ได้ผู้รับจ้างเรียบร้อยแล้ว แต่ว่าไม่สามารถเข้าทำงานได้ เพราะว่าไม่สามารถได้รับอนุญาตจากทางกรมป่าไม้ จริงอยู่ครับว่ากระบวนการอาจจะผิดฝาผิดขั้นตอนไปบ้าง ที่จริง ๆ แล้วในส่วนของ กรมโยธาธิการและผังเมืองนั้นจะต้องขออนุญาตจากป่าไม้เสียก่อน แต่จากการสอบถาม จากท่านโยธาธิการจังหวัด ท่านบอกว่าในส่วนการขออนุญาตมีความยุ่งยากกินเวลายาวนาน และไม่ทราบว่าจะได้งบประมาณในส่วนโครงการนั้น ๆ หรือไม่ จึงได้ขออนุมัติไปเสียก่อน แล้วพอได้งบประมาณมา จึงได้ทำเรื่องเพื่อจะขออนุญาต เผลอ ๆ การทำงานที่ยังไม่ได้รับ อนุญาตนี้อาจจะต้องได้คืนงบ เพราะว่าผู้รับเหมาไม่สามารถเข้าทำประโยชน์ได้ ไม่สามารถ เข้าพัฒนาพื้นที่ได้ กลายเป็นว่าพี่น้องคือผู้ที่ต้องเสียผลประโยชน์ ตลิ่งหน้าดินอาจจะต้อง พังลงและถูกพัดพาไปตามกระแสน้ำ แทนที่จะได้มีการอนุรักษ์พื้นที่ของป่าไม้ กลับกลายเป็นว่า เราต้องเสียพื้นที่ไปกับกระแสน้ำเสียเอง

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนของสาเหตุจากที่ฟังเพื่อนสมาชิกหลายท่านได้อภิปรายมา ขอสรุปสั้น ๆ เป็น ๓ สาเหตุหลัก ๆ ก็แล้วกันนะครับ ที่ทำให้ขั้นตอนการขออนุญาตไม่สามารถทำได้ อย่างราบรื่น นั่นก็คือ

    อ่านในการประชุม

  • สาเหตุที่ ๑ เป็นเรื่องของกฎ ระเบียบ ซึ่งมีความสับสน มีกฎหมาย มี พ.ร.บ. หลายตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง แค่อ่านชื่อกฎหมายที่ผมดูมา อ่านมานี้ก็ ๔-๕ ตัวครับ แล้วก็ แล้วแต่กรณี แล้วแต่โครงการด้วย จริง ๆ มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายตัวกว่านั้น

    อ่านในการประชุม

  • สาเหตุที่ ๒ ก็คือเรื่องขั้นตอนครับ ขั้นตอนที่มีความยุ่งยาก มีความซับซ้อน แล้วก็ผูกพันหลายหน่วยงานที่ต้องร่วมกันขออนุญาต ดูได้จาก Flowchart ในเล่มสรุปนี้ มีหลาย Flowchart แบ่งเป็นกรณี ๆ ไป นี่แค่ดูขั้นตอนกระบวนการทำงานก็ไม่สามารถ เข้าใจได้อย่างถ่องแท้ถี่ถ้วนแล้วครับ กินระยะเวลายาวนานกว่าจะสามารถอนุมัติได้

    อ่านในการประชุม

  • สาเหตุที่ ๓ เป็นปัญหาเรื่องคน เมื่อกฎ ระเบียบ มันมีหลายตัว เมื่อขั้นตอน มันยุ่งยาก ก็ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานนั้นเกิดความสับสน ทั้งผู้ขออนุญาตและผู้ให้อนุญาต ไม่สามารถเข้าใจขั้นตอนและปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

    อ่านในการประชุม

  • อย่างไรก็ตามครับท่านประธาน สาเหตุทั้ง ๓ อย่างที่กล่าวมานั่นก็เป็นอุปสรรค ที่สำคัญ แต่อย่างไรก็ตามไม่น่ากลัวเท่าอุปสรรคเรื่องคนครับท่านประธาน คือคนหรือเจ้าหน้าที่ ที่มีความเข้าใจระเบียบเป็นอย่างดี แต่ว่าอาศัยช่องว่างในการประวิงเวลา หรือพูดง่าย ๆ ก็คือมีการเรียกรับผลประโยชน์จากผู้รับเหมาที่ได้รับการว่าจ้างแล้วนะครับ นี่คือส่วนที่ต้อง รีบจัดการ

    อ่านในการประชุม

  • โดยสรุปครับท่านประธาน ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา กระผมจึงขอสนับสนุน ให้มีการส่งเรื่องไปยังคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง หรือจะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา ก็แล้วแต่ สุดแท้แต่มติของที่ประชุม เพื่อแก้ไขระเบียบขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนในการ ขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้ ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของหน่วยงาน ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของ ผู้รับจ้าง ผู้รับเหมา แต่เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเจ้าของพื้นที่ กราบขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม