เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ พรรคภูมิใจไทย กระผมต้องขอขอบคุณในการจัดสรรเวลาให้กระผมได้มีส่วนในการอภิปรายในรายงาน ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานในวันนี้ครับ ท่านประธานครับ กระผมจะขออภิปรายในประเด็นเรื่องของอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ กำกับกิจการพลังงาน ซึ่งตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้บัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการไว้ในมาตรา ๑๑ จำนวน ๑๘ เรื่อง ซึ่งใน (๖) ได้กำหนดให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานมีหน้าที่ในการตรวจสอบ การประกอบกิจการพลังงานของผู้รับใบอนุญาตให้เป็นไปด้วยความมีคุณภาพและโปร่งใส ท่านประธานครับ ในช่วงเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านมาได้มีการผลิตพลังงานทดแทนที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในประเทศของเรานะครับ ก็คือการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลม ซึ่งเท่าที่ทราบข้อมูล ก็มีขั้นตอน กระบวนการต่าง ๆ ไม่ซับซ้อนอะไร มีขั้นตอนจากการที่ผู้ประกอบการเอกชน ต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการอนุญาตอยู่ ๓-๔ บริษัท ขั้นตอนที่ ๒ ก็ต้องมีการให้ผู้ประกอบการไปทำสัญญาซื้อขายกระแสไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กฟผ. ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ทราบว่ามีการทำสัญญากันในระยะยาว ๑๐ ปี ๒๐ ปี หรือมากกว่านั้น และขั้นตอนต่อมาผู้ประกอบการก็จะนำโครงการต่าง ๆ ไปยื่นกู้เงินกับสถาบันการเงินหรือธนาคาร โครงการหนึ่งมีต้นกังหันลมประมาณ ๓๐ ต้น กู้กันได้ถึง ๕,๐๐๐-๖,๐๐๐ ล้านบาท เฉลี่ยแล้วตกต้นละ ๒๐๐ ล้านบาท แต่ธนาคารก็ให้กู้แบบสบาย ๆ ก็เพราะว่าโครงการนี้ มีรายได้ที่มีความสม่ำเสมอ มีความมั่นคง เพราะว่าเป็นโครงการที่ทำสัญญากับรัฐบาล โดยตรง ท่านประธานครับ ในจังหวัดชัยภูมิมีต้นกังหันลมเยอะมาก ในพื้นที่อำเภอเทพสถิต อำเภอบำเหน็จณรงค์ อำเภอซับใหญ่ มีการก่อสร้างไปแล้วมากกว่า ๑๐๐ ต้น และกำลังจะ ก่อสร้างอีกหลายสิบต้น ซึ่งก่อนการทำการก่อสร้างจะมีขั้นตอนหนึ่งที่เป็นขั้นตอนสำคัญ ในด้านสิ่งแวดล้อมจะต้องมีการทำประชาคมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เขายกมือให้อนุญาตก่อสร้างได้ครับ เพราะว่ากังหันลมจะมีมลพิษทางเสียง แต่ท่านประธานครับในการทำประชาคมทุกครั้งที่ผ่านมา ก็จะได้รับความราบรื่นเรียบร้อยครับ ประชาชนก็จะยกมือให้ก่อสร้างทุกครั้งนะครับ เพราะอะไรรู้ไหมครับ ก็เพราะว่าทุกครั้งที่ทำประชาคมจะมีเจ้าหน้าที่จากบริษัทเอกชน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไปแจ้งต่อที่ประชุมประชาคมว่าหากมีการก่อสร้างกังหันลมแล้วท้องถิ่น ของพวกเขา อบต. ของพวกเขา เทศบาลของพวกเขาจะสามารถจัดเก็บภาษีได้ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ต่อต้น ต่อปี เขาก็เลยยกมือให้ ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติโรงเรือนและที่ดิน แต่ท่านประธานครับ วันนี้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๓ พระราชบัญญัติโรงเรือนและที่ดิน ได้ถูกยกเลิกจากการประกาศใช้บังคับใช้กฎหมายฉบับใหม่ ก็คือพระราชบัญญัติที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง พุทธศักราช ๒๕๖๒ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีช่องว่างทางกฎหมาย ช่องว่าง ก็คือว่ากฎหมายฉบับนี้ได้มีคู่มือการจัดเก็บภาษีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งออกโดย กำหนดโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นไประบุว่ากังหันลมเป็นสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในข่าย ไม่ต้องชำระภาษี ทำให้วันนี้เทศบาล อบต. เขาไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้อีกต่อไปนะครับ ผมนำเรียนว่าในท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่นเขามีรายได้น้อยอยู่แล้ว เขามีความหวังว่าจะได้รับภาษี จากการก่อสร้างกังหันลม แต่วันนี้จัดเก็บไม่ได้แล้วครับ และนำเรียนต่อท่านประธานครับว่า ในขณะนี้มีใบอนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้างกังหันลมในจังหวัดชัยภูมิ ในจังหวัดนครราชสีมา และพื้นที่ใกล้เคียงอีกหลายจังหวัด ซึ่งก็มีการอนุญาตกันในช่วงปลายปีที่ผ่านมา และคนที่ ได้รับใบอนุญาตก็รายเดิม ๆ ครับ ไม่มีรายใหม่ ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้ไม่มีการทำประชาคม เพิ่มเติมแต่อย่างใด ไปใช้มติในประชาคมในการดำเนินการที่เกิดขึ้นก่อนกฎหมายฉบับนี้ จะบังคับใช้ ผมย้ำนะครับว่าที่ประชาชนที่ชาวบ้านเขายกมือให้สร้างกังหันลม เพราะว่า เขารับทราบข้อมูลว่าเมื่อสร้างแล้วเขาจะได้รับภาษีเข้าสู่ท้องถิ่นของเขาประมาณต้นละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท แต่วันนี้เขาเก็บไม่ได้ครับ ในประเด็นนี้ผมขอสอบถามทางท่านคณะกรรมการ กำกับกิจการพลังงานผ่านท่านประธานด้วยความเคารพนะครับ ว่าทางคณะกรรมการ ได้ทราบเรื่องนี้หรือไม่ และเรื่องนี้มติของประชาคมที่ได้ดำเนินการไปซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง ในการก่อสร้างกังหันลมเป็นมติที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และผมขอนำเรียนเป็นข้อมูล เพิ่มเติมนะครับว่าวันนี้ได้มีนายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลได้มาปรึกษา กับผม ได้มาหารือกับผม ได้เตรียมการที่จะนำเรื่องนี้ส่งให้ศาลปกครองได้พิจารณาวินิจฉัย ในประเด็นที่ผมได้นำเรียนไปว่ามติของประชาคมที่พี่น้องประชาชนเขาอนุญาต เขายกมือให้ ก่อสร้างกังหันลมนั้นมันชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ขอบพระคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ กระผม นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ พรรคภูมิใจไทย กระผมต้องขอบคุณนะครับ ที่ได้มีส่วนร่วมในการอภิปรายรายงานผลการตรวจสอบ และผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ ผมต้องขอขอบคุณ ท่าน พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ที่ได้เดินทางมาชี้แจงข้อมูลด้วยตัวท่านเอง ในวันนี้นะครับ ท่านประธานครับผมจะขออภิปรายในประเด็นเรื่องกล่าวหาคงค้างสะสม ในสำนักงาน ป.ป.ช. ที่มีมากถึงกว่า ๑๒,๐๐๐ เรื่อง ในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ท่านประธานครับ จากตารางแสดงสถิติเปรียบเทียบผลการดำเนินงานด้านปราบปรามการทุจริตของ ป.ป.ช. ในปีงบประมาณ ๒๕๕๘-๒๕๖๕ จะพบว่ามีเรื่องกล่าวหาสะสมคงค้างสูงถึง ๑๒,๗๙๒ เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องตรวจสอบเบื้องต้น ๙,๒๘๓ เรื่อง และเรื่องไต่สวนข้อเท็จจริงอีก ๓,๕๐๙ เรื่อง ท่านประธานครับ ในปี ๒๕๖๕ มีเรื่องร้องเรียนเข้าสู่ ป.ป.ช. มากถึง ๙,๗๖๒ เรื่อง เป็นเรื่อง ที่ทาง ป.ป.ช. รับไว้พิจารณาเอง ๔,๒๓๔ เรื่อง จากการดำเนินการตามขั้นตอน ตามกระบวนการต่าง ๆ ด้วยความเร่งด่วนของ ป.ป.ช. เองนะครับ แต่ก็ยังพบว่ามีเรื่อง กล่าวหาคงค้างเพิ่มเติมในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ เพิ่มขึ้นอีก ๔๘๐ เรื่อง ทำให้เรื่อง คงค้างสะสมสูงถึง ๑๒,๗๙๒ เรื่อง ตามที่ผมได้กล่าวไปครับ ท่านประธานครับในเรื่อง ร้องเรียนปี ๒๕๖๕ เป็นคำกล่าวหาในหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สูงถึง ๔๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องกล่าวหาในหน่วยงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สัดส่วน ๑๒ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเทียบ ๒ หน่วยงานนี้ครับ สูงถึง ๕๒ เปอร์เซ็นต์ มากกว่าครึ่งหนึ่ง ของจำนวนเรื่องร้องเรียนที่เข้าสู่ ป.ป.ช. ในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ผมไม่ได้กล่าวว่า ๒ หน่วยงานนี้มีการทุจริตมากกว่าหน่วยงานอื่นนะครับ เพียงแต่ว่า ๒ หน่วยงานนี้มีบทบาท หน้าที่ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ใกล้ชิดกับประชาชน ต้องสัมผัสกับประชาชนครับ แน่นอนครับ การทำงานมีทั้งคนชอบ คนชัง การปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายก็มีทั้งคนรัก คนเกลียดครับ ใครชอบ ใครชังก็แอบชื่นชมกันในใจครับ ใครเกลียด ใครชังก็ร้องเรียน ถูกบ้าง ผิดบ้าง กลั่นแกล้งบ้าง ก็ร้องเรียนกันไปก็ถือเป็นความโชคไม่ดีของ ๒ หน่วยงาน ที่มีบทบาทหน้าที่เช่นนี้ ท่านประธานครับ ผมเคยเป็นนายกเทศมนตรีมา ๔ สมัย ๑๖ ปี และรักษาราชการในช่วงการทำรัฐประหารครั้งนี้ผ่านมาอีก ๒ ปี รวม ๑๘ ปี ผมมีคนรู้จัก ที่เป็นผู้บริหารท้องถิ่นหลายร้อยคนครับ ผมอยากนำเรียนว่ามีหลายสิบคนครับ ที่ถูกร้องเรียนเรื่องโรงเรียนอยู่ที่สำนักงาน ป.ป.ช. แล้วก็มีหลายสิบคนครับ ที่เขาเป็น ผู้บริหารท้องถิ่นรุ่นใหม่ที่เขามีความซื่อสัตย์สุจริต แต่ก็ถูกร้องเรียน วันนี้เขาไม่ประสงค์ที่จะ เป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชน เขาไม่เสนอตัวที่จะเป็นผู้บริหารท้องถิ่นอีก เพราะว่า เรื่องร้องเรียนที่มาสู่ ป.ป.ช. ไม่มีความคืบหน้าครับ ๒ ปี ไม่มีข้อมูลอะไรเพิ่มเติมให้กับ พวกเขา ๔ ปีก็ยังเงียบครับ ๖ ปีก็ยังไม่มีการสืบสวน ไต่สวน บางคน ๘ ปีเพิ่งเริ่มครับ บางคน ๑๐ ปีถูกชี้มูลความผิด ทำให้เขาไม่ต้องการที่จะเข้ามายุ่งในการที่จะพัฒนา บ้านเกิดเมืองนอนของเขานะครับ ผมนำเรียนว่าหลายท้องถิ่นที่คนอยากจะเข้ามา เป็นผู้บริหารท้องถิ่น เขาไม่กล้าครับ ทำให้หลายท้องถิ่นมีคนเสนอตัวเป็นผู้บริหารท้องถิ่น ที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม แล้วก็มีหลายท้องถิ่นที่ผู้เสนอตนเป็นผู้บริหาร ท้องถิ่นมีแต่คนวัยชราครับ คนแก่ครับ แต่ผมไม่ได้หมายความว่าคนแก่ หรือคนวัยชรา จะทำงานเป็นผู้บริหารท้องถิ่นไม่ได้ เพราะว่าผู้บริหารท้องถิ่นไม่ต้องยก ไม่ต้องหาม ไม่ต้องแบก สามารถทำได้ครับ แต่คนมีทั้งดีและไม่ดี คนแก่ก็มีทั้งดีและไม่ดีครับ ท้องถิ่นไหนได้ผู้สูงวัยที่เป็นแบบร่มโพธิ์ร่มไทรก็เป็นที่รัก ที่ชื่นชมของพี่น้องประชาชน คนรุ่นใหม่ ท้องถิ่นไหนโชคร้ายได้ผู้บริหารท้องถิ่นคนแก่แบบแก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะ อยู่นาน ก็มีอายุมากแต่ไม่มีประโยชน์ครับ อันนี้ความหมายตามพจนานุกรมนะครับ
ผมยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนเรื่องหนึ่งครับ ในการเลือกตั้งองค์การ บริหารส่วนจังหวัดที่ผ่านมาผมได้รับเชิญไปร่วมงานแสดงความยินดีกับผู้บริหารท่านหนึ่ง ซึ่งอายุท่านมากกว่า ๗๐ ปี ผมไปแผล็บเดียวครับท่านประธาน ในวงสนทนาแผล็บเดียว ผมต้องขอตัวออกมา เพราะว่าได้รับฟังนโยบายของท่านผู้บริหารท่านนั้น หลังจากท่านได้ ดื่มไวน์ไป ๒-๔ แก้วครับ ท่านบอกว่าท่านมีโครงการนั้นโครงการนี้ ผมฟังดูผมก็มี ประสบการณ์เป็นนายกเทศมนตรีมา ๑๘ ปีครับ ผมฟังดูโครงการนั้นโครงการนี้ที่ท่านพูด มันสื่อมันส่อไปทางทุจริตทั้งหมด ผมก็เผลอไปตั้งคำถามที่ไม่เหมาะสมเท่าไร ถามว่า ถ้าทำโครงการนั้นโครงการนี้แล้ว จะไม่ถูกร้องเรียนไป ป.ป.ช. หรือครับ คำตอบกลับมา ตกใจครับ เขาบอกผมว่าเขาไม่เคยกลัว ป.ป.ช. เลยครับ เขาไม่กังวลเลยครับ เพราะอะไร รู้ไหมครับ เขาบอกเขาอายุ ๗๐ กว่าปีแล้ว ป.ป.ช. มีเรื่องตกค้างเป็นหมื่นครับ กว่าจะ พิจารณาแต่ละเรื่องครับ ๘ ปี ๑๐ ปีหยิบมาพิจารณา กว่าพิจารณาเขาก็ ๘๐ กว่าแล้วครับ ถ้าโชคร้ายถูกชี้มูลความผิดเขาก็ยื่นอุทธรณ์ต่อ ถ้าอีกสัก ๑๐ ปี ๙๐ กว่าปี เกือบ ๑๐๐ ปี เขาตายก่อนครับ วันนี้เขาไม่กลัวครับ เพราะฉะนั้นในประเด็นที่อยากจะฝากท่านประธาน ท่านคณะกรรมการครับ ขอเวลานิดเดียวครับ ขอสอบถามทางสำนักงาน ป.ป.ช. ว่า มีนโยบายที่จะเร่งรัดในการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องกล่าวหา ตกค้างสะสมจำนวนกว่า ๑๒,๐๐๐ เรื่องนี้หรือไม่ อย่างไรนะครับ มีการกำหนดเวลาไหมว่าจะใช้เวลาอีกกี่เดือน กี่ปี เพื่อทำให้เรื่องนี้เรียบร้อยครับ ขอบพระคุณมากครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ พรรคภูมิใจไทย กระผมขอนำปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังแจ้งผ่านท่านประธานไปยังกรมส่งเสริม การเกษตรเพื่อหามาตรการแก้ไข ท่านประธานครับประเทศไทยเราส่งออกผลิตภัณฑ์จาก มันสำปะหลังมากที่สุดในโลกต่อเนื่องกันหลายปี เราผลิตหัวมันสำปะหลังได้ประมาณ ๓๐ ล้านตันต่อปี ในปีนี้มีเกษตรกรลงทะเบียนเพาะปลูกมากกว่า ๔๒๐,๐๐๐ ครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูกมากกว่า ๘,๙๐๐,๐๐๐ ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา จากการสำรวจตรวจสอบ ของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้คาดว่าผลผลิตรวมของประเทศปีนี้จะลดลงประมาณ ๒๐-๓๐ เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียงไม่เกิน ๒๔ ล้านตัน สาเหตุสำคัญเกิดจากการแพร่ระบาดของ โรคใบด่างมันสำปะหลังซึ่งเริ่มเข้ามาเมื่อ ๕ ปีที่ผ่านมา แล้วก็ได้ขยายวงกว้างเพิ่มขึ้น แต่เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคมที่ผ่านมากรมส่งเสริมการเกษตรได้รายงานว่ามีพื้นที่เป็นโรคใบด่าง มันสำปะหลังเพียง ๖๑,๐๐๐ ไร่ ตัวเลขนี้น้อยกว่าความเป็นจริงหลายสิบเท่าตัว ที่ผมกล้ากล่าว เช่นนี้ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่าจังหวัดชัยภูมิมีพื้นที่เพาะปลูกมากกว่า ๘๐๐,๐๐๐ ไร่ จากการลงพื้นที่สำรวจของผมพบว่ามีพื้นที่เป็นโรคใบด่างมันสำปะหลังมากถึง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ จังหวัดเดียวเกือบ ๒๐๐,๐๐๐ ไร่ กระผมจึงขอให้กรมส่งเสริมการเกษตร ได้หาแนวทางสำรวจตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วนครอบคลุม เพื่อที่เราจะสามารถแก้ปัญหาได้ ถูกต้อง และขอให้กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดหาท่อนพันธุ์ต้านทานโรคแจกจ่ายให้กับ เกษตรกรให้ได้มากที่สุด ซึ่งในปัจจุบันมี ๓ สายพันธุ์ ก็คือพันธุ์เกษตรศาสตร์ ๕๐ พันธุ์ห้วยบง ๖๐ และพันธุ์ระยอง ๗๒ เพื่อสร้างความยั่งยืนและแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร ผู้ปลูกมันสำปะหลังต่อไปครับ ขอบพระคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ พรรคภูมิใจไทย กระผมต้อง ขอบพระคุณท่านประธานที่ได้บรรจุกระทู้ถาม เรื่องมาตรการดูแลราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตกต่ำ ให้กระผมในวันนี้ ซึ่งถือว่าเป็นวันสุดท้ายในสมัยประชุมนี้ ถ้าไม่ได้เข้าวันนี้ก็น่าจะตกไปนะครับ ต้องขอบพระคุณอย่างสูง ในขณะเดียวกันต้องขอกราบขอบพระคุณท่านนภินทร ศรีสรรพางค์ ที่ได้เดินทางมาตอบกระทู้ถามผมในวันนี้เช่นเดียวกันนะครับ
ท่านประธานครับ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยเรา ประเทศเรามีพื้นที่เพาะปลูกเกือบ ๗ ล้านไร่ มีเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเพาะปลูกข้าวโพด เลี้ยงสัตว์เกือบ ๕๐๐,๐๐๐ ครัวเรือน พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ ภาคะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง กว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์เป็นพื้นที่นอกระบบชลประทาน ต้องอาศัยพึ่งพาน้ำฝน จากธรรมชาติครับ ระยะเวลาในการเพาะปลูกเก็บเกี่ยวประมาณ ๔ เดือน แล้วแต่ชนิด ของสายพันธุ์ ในแต่ละปีเราจะผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ผลผลิตรวมทั้งประเทศประมาณ ๕ ล้านตัน ในแต่ละปีเกษตรกรจะพบเจอกับปัญหาสำคัญอยู่ ๓ ปัญหา
ปัญหาแรก ตามที่ผมได้เรียนไปว่าพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่นอกระบบชลประทาน เป็นเกษตรน้ำฝน ปัญหาที่เจอปัญหาแรกก็คือเรื่องของสภาพภูมิอากาศ ปัญหาที่เกษตรกร จะต้องเสี่ยงกับการที่จะต้องอาศัยปริมาณน้ำฝนจากธรรมชาติ ในบางปีปริมาณฝนมากเกินไป ในบางปีน้อยเกินไปจะส่งผลเสียหายต่อผลผลิตของเกษตรกร แต่ในปัญหานี้ทั้งเกษตรกร ก็ยอมรับนะครับ ยอมรับในโชคชะตา ยอมรับในความโชคร้าย โชคดี ซึ่งแต่ละคน แต่ละพื้นที่ มีไม่เท่ากัน
ปัญหาที่ ๒ คือปัญหาเรื่องของโรคพืช รวมถึงแมลงศัตรูพืช อย่างเช่น ๓-๔ ปี ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะพบเจอกับหนอนกระทู้ ข้าวโพดลายจุดระบาด ทำให้ต้องใช้สารเคมีในการกำจัดในการทำลาย ทำให้ต้นทุนของ เกษตรกรเพิ่มสูงขึ้น
ปัญหาที่ ๓ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่เกษตรกรไม่อยากเจอ แต่ต้องพบเจอทุกปี คือเรื่องของปัญหาราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตกต่ำในช่วงการเก็บเกี่ยว ท่านประธานครับ จากการคาดการณ์การสำรวจทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน ได้คาดการณ์ว่าผลผลิต รวมปีนี้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะอยู่ที่ ๔,๙๕๐,๐๐๐ ตัน ซึ่งจำนวนนี้ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ เพราะปริมาณน้ำฝนค่อนข้างจะเหมาะสมในหลายพื้นที่ และตัวเลขนี้จะถูกนำไปใช้เป็น วัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ภายในประเทศทั้งหมด ที่ผมกล่าวเช่นนี้เพราะว่าตั้งแต่ ปี ๒๕๖๐ ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เรามีความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งหมด มากกว่า ๘ ล้านตันทุกปีครับ มากเกินกว่าที่เกษตรกรจะผลิตได้ในประเทศของเรา เป็นสาเหตุให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ต้องนำวัตถุดิบทดแทนจากต่างประเทศเข้ามาครับ ซึ่งผมจะได้อภิปรายในช่วงต่อไป แต่อย่างไรก็ตามท่านประธานครับ ในปีนี้เกษตรกรก็พบเจอ กับปัญหาเดิม ปัญหาราคาข้าวโพดตกต่ำในช่วงการเก็บเกี่ยว เกษตรกรเริ่มเก็บเกี่ยว เมื่อประมาณ ๒ เดือนที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ครับ ราคาข้าวโพดอยู่ที่ประมาณ ๑๓ บาท ต่อกิโลกรัม ลดลงต่อเนื่องถึงวันนี้อยู่ที่ประมาณ ๑๐ บาทต่อกิโลกรัม ลดลงทุกวันครับ วันนี้ราคาประกาศหน้าโรงงานอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ลดลง ๑๐ สตางค์จากเมื่อวาน คือวันพุธ วันพุธก็ลดลง ๑๐ สตางค์จากวันอังคาร วันอังคารก็ลดลงจากวันจันทร์ ๑๐ สตางค์ วันจันทร์ก็ลดลงจากวันเสาร์ ๑๐ สตางค์ วันอาทิตย์ไม่ลงครับ เพราะว่าเขาหยุดรับซื้อ นั่นหมายความว่า ๔-๕ วันที่ผ่านมาราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลง ๕๐ สตางค์ต่อกิโลกรัม ในปัญหานี้ผมขออนุญาตสอบถามท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ผ่านท่านประธาน ด้วยความเคารพว่าในปัญหานี้ทางกระทรวงพาณิชย์ได้ทราบข้อมูลหรือไม่ และมีแนวทาง ที่จะแก้ไขปัญหานี้หรือไม่ อย่างไร เป็นคำถามแรก ขอบพระคุณครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม สัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ เขต ๓ พรรคภูมิใจไทย ผมต้องขอกราบขอบคุณท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ผ่านท่านประธาน ด้วยความเคารพที่ท่านได้กรุณาตอบคำถามได้ชัดเจน ชัดถ้อยชัดคำ แล้วก็ครอบคลุม ไปถึงคำถามในช่วงที่ ๒ ของผมบางส่วน ผมก็จะขอเพิ่มเติมคำถามในบางประการนะครับ ท่านประธานครับ ปัญหาสำคัญที่ทำให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตกต่ำทุกปีที่ทุกส่วนทุกฝ่าย จะปฏิเสธไม่ได้ก็คือการนำเข้าวัตถุดิบทดแทนอื่น ๆ จากต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยเรา นำเข้าข้าวสาลี Grade อาหารสัตว์ ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศในแถบยุโรป และการนำเข้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน ในประเด็นนี้ผมขออนุญาตท่านประธานให้ ฝ่ายโสตทัศนูปกรณ์กรุณาขึ้น Slide ที่ ๑ ด้วยครับ ขอบคุณครับ
ท่านประธานครับ จากภาพนี้จะแสดงให้ เห็นว่าประเทศเรามีการนำเข้าข้าวสาลีย้อนหลัง ๑๒ ปีหรือมากกว่านั้น แต่ว่าในภาพนี้ เป็นสถิติย้อนหลัง ๑๒ ปี ในแท่งสีฟ้าเป็นการนำเข้าข้าวสาลี ซึ่งผมอยากให้ท่านประธานได้ สังเกตดูนะครับ ในปี ๒๐๑๕ และปี ๒๐๑๖ หรือว่าปี ๒๕๕๘ และปี ๒๕๕๙ เรานำเข้าข้าวสาลี เยอะมากครับ มากกว่า ๓ ล้านตันต่อปี สาเหตุเพราะว่าข้าวสาลีมีราคาต่ำมากในตลาดโลก อยู่ที่ ๕-๖ บาทต่อกิโลกรัม ทำให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์นำเข้าข้าวสาลีมาใช้แทนข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ ปีนั้นเป็นปีหายนะของเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพด เพราะว่าเกษตรกร ก็ขายข้าวโพดได้เพียง ๕-๖ บาทต่อกิโลกรัมเช่นเดียวกัน ทำให้มีหนี้มีสินกันถ้วนหน้า และต่อมาในแท่งสีฟ้า ๕ ปีต่อมา การนำเข้าข้าวสาลี Grade อาหารสัตว์ลดลงอยู่ที่ไม่ถึง ๒ ล้านตัน ต่อปี สาเหตุเกิดจากรัฐบาลในปี ๒๕๖๐ ได้เข้าไปดูแลเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ด้วยการกำหนดข้าวสาลีให้เป็นสินค้าควบคุม ควบคุมอย่างไร กำหนดให้เอกชนที่จะนำเข้า ข้าวสาลีได้ ๑ ส่วนจะต้องซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศก่อน ๓ ส่วน เป็นที่มาของ คำว่า การนำเข้าข้าวสาลีในสัดส่วน ๓ : ๑ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๖๐ ในรัฐบาล คสช. ก็พอมี เรื่องดี ๆ อยู่บ้างไม่แย่ไปเสียทั้งหมดนะครับ ในปีต่อมาปี ๒๕๖๕ การนำเข้าข้าวสาลีลดลง เหลือเพียง ๓๐๐,๐๐๐ ตัน สาเหตุสำคัญก็คือว่าตามที่ท่านรัฐมนตรีได้กรุณากล่าวไป เนื่องจากราคาข้าวสาลีสูงขึ้นเป็น ๒ เท่าตัว ซึ่งเป็นผลกระทบจากสงครามในประเทศยูเครน ผมนำเรียนเพิ่มเติมว่าประเทศรัสเซียกับประเทศยูเครนเพียง ๒ ประเทศ ส่งออกข้าวสาลี Grade อาหารสัตว์มากกว่า ๓๐ เปอร์เซ็นต์ของตลาดโลก และการนำเข้าข้าวสาลีในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณเกือบ ๒ ล้านตัน เข้าสู่ภาวะปกติ สาเหตุเพราะว่าข้าวสาลีในตลาดโลก มีราคาลดลงต่อเนื่อง ณ วันนี้การนำเข้าข้าวสาลีอยู่ที่ประมาณ ๙ บาท ราคาถึงประเทศไทย นะครับ สาเหตุก็เกิดจากผลผลิตในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกค่อนข้างสมบูรณ์ แล้วส่วนหนึ่ง ทางยูเครนก็สามารถส่งออกได้โดยขนส่งไปที่ประเทศโรมาเนีย แล้วลงเรือที่ประเทศโรมาเนีย ซึ่งอยู่ในบริเวณทะเลดำเหมือนกัน แต่ในประเด็นที่ผมต้องการให้ท่านประธานได้สังเกต ในกราฟแท่งสีเหลือง ซึ่งปรากฏให้เห็นใน ๕-๖ ปีย้อนหลัง ซึ่งมีการเพิ่มขึ้นเป็นนัยสำคัญ แท่งสีเหลืองเป็นตัวเลขการนำเข้าข้าวบาร์เลย์ Grade อาหารสัตว์ ผมนำเรียนว่าข้าวบาร์เลย์ เป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตที่สามารถมาทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวสาลีได้ ข้าวบาร์เลย์ มีราคาต่ำกว่าข้าวสาลี ประมาณ ๑๐-๒๐ เปอร์เซ็นต์ และที่สำคัญข้าวบาร์เลย์เป็นสินค้า ที่ยังไม่ควบคุม หมายความว่าเอกชนจะนำเข้าเท่าไรก็ได้ เป็นสิ่งที่ผมกังวลว่าหากมีการนำเข้า ข้าวบาร์เลย์เกรดอาหารสัตว์ต่อเนื่องจะส่งผลกระทบกับราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ อย่างแน่นอน กระผมจึงขอสอบถามประเด็นนี้ไปยังท่านรัฐมนตรีผ่านท่านประธาน ด้วยความเคารพว่า หากมีการนำเข้าข้าวบาร์เลย์ Grade อาหารสัตว์ต่อเนื่องเช่นนี้จะทำให้ ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตกลง มีปัญหาแน่นอนครับ ทางกระทรวงพาณิชย์จะมีการตรวจสอบ และจะมีการกำหนดให้ข้าวบาร์เลย์ Grade อาหารสัตว์เป็นสินค้าควบคุมเหมือนข้าวสาลี ได้หรือไม่ เป็นคำถามที่ ๒
ผมขออนุญาตไปคำถามที่ ๓ สั้น ๆ ครับท่านประธาน เวลาผมยังเหลือ ขออนุญาตท่านประธานครับ ฝ่ายโสตทัศนูปกรณ์ได้ขึ้น Slide ที่ ๒ ด้วยครับ ในภาพนี้ เป็นการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีการนำเข้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านตามข้อตกลงเขตการค้าเสรี ASEAN หรือ AFTA ซึ่งผมอยากให้ท่านประธานดูในแท่งสีส้ม ๕ ปีย้อนหลังเป็นสถิติตัวเลขนำเข้าข้าวโพด เลี้ยงสัตว์จากประเทศพม่า ซึ่งจะเฉลี่ยได้ว่าใน ๕ ปีย้อนหลังประเทศไทยนำเข้าข้าวโพด จากประเทศพม่าสัดส่วนเกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ประมาณปีละ ๑ ล้านตัน ซึ่งเป็นไปตาม หลักเกณฑ์ของกระทรวงพาณิชย์ที่ได้เสนอต่อ ครม. ได้อนุมัติไว้ว่าอนุญาตให้เอกชนนำเข้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน ในช่วงที่เกษตรกรไทยเก็บเกี่ยวผลผลิตภายในประเทศ เสร็จสิ้นแล้ว โดยกำหนดเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ของทุกปี ไปถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ของทุกปี เป็นระยะเวลา ๗ เดือน ซึ่งผมตั้งข้อสังเกตว่าอยากเป็นข้อมูลผ่านไปยังกระทรวง พาณิชย์ ในกรอบเวลา ๗ เดือนที่เอกชนสามารถนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ ในบางปีอาจจะเป็น ข้อมูลในการไปปรับเปลี่ยน ในบางปีที่พื้นที่ในประเทศของเราผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ ค่อนข้างสมบูรณ์ หรือแม้แต่ปีนี้อาจจะมีเกษตรกรบางส่วนไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเวลาปกติ อาจจะเก็บเกี่ยวล่าช้าคาบเกี่ยวไปจนถึงเดือนมกราคมหรือเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ รัฐบาลอนุญาตให้เอกชนนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อทางกระทรวงพาณิชย์ จะนำไปพิจารณาในหลักเกณฑ์อาจจะเลื่อนออกไปหรือกำหนดให้น้อยลง เพื่อให้สอดคล้อง กับปริมาณข้าวโพดที่ผลิตได้ในประเทศแต่ละปี
สุดท้าย ผมขออนุญาตอีกนิดเดียวครับ มีเกษตรกรฝากถามมา เกษตรกรที่ปลูกผัก ปลูกผลไม้ เกษตรกรที่ประกอบอาชีพพืชสวน ได้ฝากถามผมมาซึ่งไม่เกี่ยวกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สอบถามในฐานะที่ท่านรัฐมนตรีได้กรุณามาตอบคำถามในวันนี้ ถามว่ากระทรวงพาณิชย์ มีแนวทางที่จะช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ โดยเฉพาะผลผลิต ที่ออกสู่ท้องตลาดจำนวนมากในช่วงเวลาเดียวกัน ผลผลิตที่เป็นพืชสวนที่เน่าเสียง่าย ทางกระทรวงพาณิชย์มีนโยบายช่วยเหลือหรือไม่ อย่างไร เป็นคำถามสุดท้ายครับ กราบขอบพระคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม สัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ พรรคภูมิใจไทย กระผมขอหารือ ผ่านท่านประธานไปยังท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้ตรวจสอบและ แก้ไขปัญหาให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจาก พระราชดำริจังหวัดชัยภูมิ
ท่านประธานครับ โครงการอ่างเก็บน้ำ ลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดชัยภูมิได้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ คาดว่า จะแล้วเสร็จในปี ๒๕๖๗ มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการประมาณ ๑๘,๐๐๐ ไร่ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้ไปอำเภอหนองบัวระเหวได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมาก ขอให้กระผมได้ติดตามเงินชดเชยค่าเวนคืนที่ดินพร้อมทั้งทรัพย์สินอื่น ๆ จากโครงการนี้ ซึ่งต่อมาผมได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงในเบื้องต้น ปรากฏว่าในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมา ทางรัฐบาลได้มีการจ่ายเงินชดเชยให้กับประชาชนไปแล้วประมาณ ๔,๐๐๐ ไร่ ส่วนที่เหลือ อีก ๑๔,๐๐๐ ไร่ยังไม่ได้รับการชดเชย ซึ่งข้อมูลนี้ผมได้ตรวจสอบเพิ่มเติมได้ทราบมาว่า ในจำนวน ๑๔,๐๐๐ ไร่นี้มีทั้งประชาชนที่บริสุทธิ์ที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง แล้วก็ มีกลุ่มบุคคล กลุ่มนายทุน ที่ฉวยโอกาสไปก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ถมดิน ปลูกต้นไม้ หรือกระทำการอื่น ๆ เพื่อหวังที่จะรับเงินชดเชยจากรัฐบาล กระผมจึงขอให้ท่านรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้ให้ชัดเจน เพื่อที่จะได้หา แนวทางช่วยเหลือประชาชนที่บริสุทธิ์ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำ ในครั้งนี้ต่อไป ขอกราบขอบพระคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ พรรคภูมิใจไทย กระผมขอนำปัญหาของเกษตรกรชาวไร่อ้อยหารือผ่านท่านประธานไปยังสำนักงาน คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ขอความชัดเจนในเรื่องเงินช่วยเหลือการตัดอ้อยสด เข้าโรงงานน้ำตาล ท่านประธานครับ ใน ๓ ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ชาวไร่อ้อยด้วยการจ่ายเงินชดเชยการตัดอ้อยสด ๑๒๐ บาทต่อตัน โดยใช้วงเงินงบประมาณ ประมาณปีละ ๘,๐๐๐ ล้านบาท ทำให้ตัวเลขการตัดอ้อยไฟไหม้ลดลงเป็นที่น่าพึงพอใจ เป็นการบูรณาการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ได้เป็นอย่างดี แต่ท่านประธานครับ ในขณะนี้ได้มีข้อมูลเล็ดลอดออกมาว่าปีนี้รัฐบาลอาจจะไม่จ่ายเงิน ชดเชยการตัดอ้อยสด เพราะว่ารัฐบาลอาจมองว่าเกษตรกรขายอ้อยได้ในราคาสูงแล้ว ซึ่งเกษตรกรมีความกังวลว่า หากรัฐบาลไม่ชดเชยในส่วนนี้แล้วจะมีเกษตรกรบางส่วนจะจุดไฟเผาอ้อยตัวเองก่อนส่งเข้า โรงงาน เพราะว่าต้นทุนในการตัดอ้อยสดกับอ้อยไฟไหม้นั้นมีความแตกต่างกัน ค่าแรงในการ ตัดอ้อยสดจะสูงกว่าค่าแรงในการตัดอ้อยไฟไหม้ประมาณ ๑๒๐ บาท ถึง ๑๕๐ บาทต่อตัน ในขณะที่เกษตรกรนำอ้อยไปขายแล้ว ราคาอ้อยสดกับไฟไหม้จะต่างกันเพียง ๓๐ บาทต่อตัน กระผมจึงขอให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้ออกมาสร้างความชัดเจน ในเรื่องนี้ครับ มิฉะนั้นผมเชื่อว่าจะมีเกษตรกรจุดไฟเผาอ้อยตัวเองแล้วตัดเข้าโรงงานเพิ่มขึ้น อย่างแน่นอน และในส่วนของพ่อค้าที่รับซื้ออ้อยรายย่อยเป็นเงินสด ซื้อจากเกษตรกรที่เขา ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ สอน. เขาไม่สามารถส่งเองได้ พ่อค้าจะสามารถกำหนดได้ว่าเขาจะเพิ่ม ราคาการตัดอ้อยสดให้กับเกษตรกรหรือไม่ จึงขอให้ท่านประธานได้ส่งเรื่องนี้เป็นการเร่งด่วน ให้กับทางสำนักงานกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เพราะว่ายังเหลือเกษตรกรที่ยังไม่ตัด อ้อยอีกไม่น้อยกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ที่ยังอยู่ในไร่ ขอกราบขอบพระคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ พรรคภูมิใจไทย กระผมขอ นำปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนตำบลบ้านเพชร อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ
ได้หารือผ่านท่านประธานไปยัง กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ในเรื่องขอให้เร่งรัดการก่อสร้างเขื่อนป้องกัน ตลิ่งคลองคำปิงครับ ท่านประธานครับ ในปี ๒๕๖๔ ได้เกิดภัยพิบัติธรรมชาติครั้งใหญ่ น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดในอำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิได้สร้างความเสียหายรุนแรง ให้กับทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน แล้วก็ทรัพย์สินของหน่วยงานราชการ ซึ่งในปัจจุบัน ก็ยังเหลือร่องรอยความเสียหายปรากฏให้เห็นจำนวนมาก เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาผมได้รับ การร้องขอจากนายกิตติพงศ์ ธรรมโสภารัตน์ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านเพชร ขอให้ติดตาม การจัดสรรงบประมาณของกรมโยธาธิการและผังเมือง ในการดำเนินการก่อสร้างเขื่อน ป้องกันตลิ่งในอำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ และเรื่องนี้ผมได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูล สภาพความเป็นจริง ได้พบว่าแนวริมคลองสองฝั่งของคลองคำปิงได้มีดินสไลด์พังทลายลงมา หลายจุด ซึ่งเกิดจากการกัดเซาะของกระแสน้ำในช่วงน้ำท่วมตลอดระยะทางประมาณ ๒,๔๐๐ เมตร แนวริมคลองคำปิง และเรื่องนี้ผมได้ตรวจสอบไปยังสำนักงานโยธาธิการและ ผังเมืองจังหวัดชัยภูมิ ได้ทราบว่าโครงการนี้ได้มีการสำรวจออกแบบประมาณการค่าใช้จ่ายไว้ เรียบร้อยแล้ว แต่ยังรอการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาครับ กระผมจึงขอให้ท่านประธานได้แจ้งไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้เร่งดำเนินการจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมคลองคำปิง ให้เร็วที่สุดครับ เพราะว่าหากปล่อยไว้เนิ่นนาน ยังไม่ดำเนินการจะเกิดความเสียหายเพิ่มขึ้น มากขึ้น อย่างแน่นอนครับ ขอบพระคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ พรรคภูมิใจไทย กระผม ขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายในญัตติเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญศึกษาแนวทางบูรณาการร่วมกัน ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจังหวัดในพื้นที่เขตป่าสงวน เพื่อลดขั้นตอนการอนุมัติ ท่านประธานครับ ผมเห็นด้วย อย่างยิ่งที่เราจะนำปัญหานี้มาพูดคุยถกเถียงกัน เพื่อหาแนวทางแก้ไขให้เป็นรูปธรรม ผมเรียนท่านประธานครับว่า ก่อนที่ผมจะมาปฏิบัติหน้าที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กระผมเคยเป็นนายกเทศมนตรีมา ๑๘ ปี ทำให้ผมรู้ว่าปัญหานี้เป็นปัญหาสำคัญ เป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของ ประชาชน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาครับ
ท่านประธานครับ ในประเด็นปัญหาและผลกระทบต่าง ๆ ได้มีเพื่อนสมาชิก ได้อภิปรายในสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงวันนี้ค่อนข้างหลากหลาย ในส่วนกระผมจะขอ อภิปรายในประเด็นข้อกฎหมาย และข้อเสนอแนะของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ท่านประธานครับ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๔ บัญญัติว่า ป่า หมายความว่า ที่ดินรวมตลอดถึง ภูเขา ห้วย หนอง คลอง บึง บาง ลำน้ำ ทะเลสาบ เกาะ และที่ชายทะเลที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมาย ในขณะเดียวกันพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ เช่นเดียวกันนะครับ มาตรา ๔ บัญญัติว่า ป่า หมายความว่า ที่ดิน ที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน จากบทบัญญัตินี้ทำให้ที่ดินทุกแปลงที่ไม่มีบุคคล ไปขึ้นเอกสาร ส.ค. ๑ น.ส. ๓ โฉนดที่ดิน รวมถึงทางสาธารณะ คลองสาธารณะ ถูกตีความ เป็นป่าทั้งประเทศ และในมาตรา ๕๔ บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำการด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือหรือครอบครองป่า เพื่อตนเองและผู้อื่น และบทบัญญัตินี้ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเขาไม่สามารถ ก่อสร้างถนนคอนกรีต ไม่สามารถก่อสร้างถนน Asphaltic คอนกรีต หรือทำฝายชะลอน้ำ ในพื้นที่เขาได้เลยครับ หากจะดำเนินการ ตามที่ผมได้กล่าวไป ต้องขออนุญาตจากกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสียก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ ครับ
ท่านประธานครับ เรื่องนี้เราได้พูดคุยกันมาเป็น ๑๐ ปี จนกระทั่งในเดือน มิถุนายน ๒๕๕๘ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีข้อเสนอแนะไปยังกระทรวง มหาดไทย ตามหนังสือหารือ โดยหนังสือเสนอแนะนะว่าเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้ กฎหมาย และสร้างภาระเกินสมควรให้แก่หน่วยงานของรัฐ และเอกชนที่มีความจำเป็น ต้องเข้าดำเนินการในพื้นที่ใด ๆ ที่ไม่มีสภาพเป็นป่าตามความเป็นจริง แต่ถือเป็นป่า ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ จึงมีข้อเสนอแนะ ให้กรมป่าไม้เร่งดำเนินการ แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า ป่า ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ เพื่อให้มีความหมาย ที่สอดคล้องกับความเป็นจริง และสภาพพื้นที่ความเป็นป่าในปัจจุบันโดยด่วนต่อไป ย้ำท่านประธานครับ ย้ำกันนะครับว่าโดยด่วนต่อไป
ท่านประธานครับ ตามความคิดของกระผมนะครับ หากกรมป่าไม้ กระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องการจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ ทำไมไม่ดำเนินการให้เร็วกว่านี้ ผ่านไปเกือบ ๑๐ ปี ผมอยากทราบว่าอธิบดีเปลี่ยนไปกี่คนแล้วครับ ทำไมถึงไม่ทำ ปลัดกระทรวงเปลี่ยนไปกี่ท่านแล้วครับ ทำไมไม่มาดู รวมถึงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยนไปหลายคนแล้ว ทำไมไม่พิจารณาสั่งการครับ ทั้งที่รู้ว่าปัญหานี้คือปัญหาที่เกิดขึ้น ในการพัฒนาพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท่านประธานครับ ทราบหรือไม่ครับ วันนี้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล รวมถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่เขาขาดโอกาสในการ ที่จะของบประมาณจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ขาดโอกาสที่จะของบประมาณจาก โครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล เพราะอะไรรู้ไหมครับ เพราะหลาย ๆ โครงการ เขาระบุในคำขอ ในแบบฟอร์มครับว่า การจะจัดสรรงบประมาณได้นั้นต้องได้รับหนังสืออนุญาตจากกรมป่าไม้ เสียก่อน แต่พอขอไปครับ ๑ ปีเงียบครับ ๒ ปีเงียบครับ ๓ ปีเงียบครับ ทั้งที่ผังภูมิที่ท่าน สส. อรพรรณ ขออนุญาตเอ่ยนามนะครับ เมื่อสักครู่ที่ท่านได้ขึ้นสไลด์ ระบุชัดเจนครับว่าขั้นตอน การขอนั้นใช้เวลาเพียง ๒-๓ เดือน แต่ในข้อเท็จจริงไม่ใช่ครับ ผมไม่ได้พูดไปเรื่อย ไม่ได้พูดไป ลอย ๆ นะครับ ผมยกตัวอย่างจังหวัดชัยภูมิ จังหวัดเดียวของผม มีเรื่องขออนุญาตใช้พื้นที่ไป ที่กรมป่าไม้ไม่น้อยกว่า ๒,๐๐๐ เรื่อง ๑ ปี ๒ ปี ๓ ปี ไม่มีสัญญาณตอบรับ ไปตรวจสอบดูได้ครับ แล้วเรื่องนี้ผมต้องนำเรียนว่าผมเคยสอบถามท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ในรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ถามในสภาแห่งนี้ คำตอบที่ได้อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แค่นั้นครับ สั้น ๆ ได้ใจความ ผมไม่ทราบนะครับว่าทำไมถึงไม่เร่งแก้ปัญหากัน ทั้งที่ แนวทางแก้ไข ข้อเสนอแนะของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ได้เสนอแนะไว้แล้ว
ท่านประธานครับ ในเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการ กฤษฎีกาก็ยังได้มีข้อเสนอแนะมายังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอีกครั้งนะครับว่า เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหา ได้แจ้งว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น ในขณะที่กรมป่าไม้มีภารกิจในการอนุรักษ์ฟื้นฟู และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ จึงเป็นการสมควรที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะใช้ มาตรการในทางบริหารเพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกัน
ผมยกตัวอย่างสั้น ๆ อีกนิดเดียวครับท่านประธาน ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง หมู่บ้านหลังสัน ตำบลวังตะเฆ่ จังหวัดชัยภูมิ วันนี้ยังมีเด็กนักเรียนเกือบ ๑๐๐ ชีวิต ต้องนั่งรถสามล้อ รถมอเตอร์ไซค์ รถสองแถว ฝ่าโคลน ฝ่าฝุ่นมาเรียนหนังสือทุกวัน ระยะทางกว่า ๑๐ กิโลเมตร ยังมีผู้ป่วย มีผู้สูงอายุ ออกมาใช้บริการที่โรงพยาบาลต้องนั่งรถ ฝ่าโคลน ฝ่าฝุ่นมาทุกวัน ไม่สามารถดำเนินการได้ครับ ทั้งที่องค์การบริหารส่วนตำบลเขามี งบประมาณ แต่ติดขัดตรงที่เขาสร้างไม่ได้ ถ้าสร้างไปเขาก็ผิดกฎหมาย เพราะเป็นข้อเท็จจริง ที่เกิดขึ้น กระผมจึงขอให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้เป็นการเร่งด่วน ไม่ว่าจะมีการ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญหรือไม่ หรือจะดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้เกิด การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ขอบคุณครับ