นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร

  • ขอ Slide ขึ้นด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ กระผม ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร ผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขออภิปรายนะครับ เกี่ยวกับพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ทางเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๖๖ ที่ได้ออกมาบังคับใช้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้ ผมเห็นด้วยกับความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการในการจัดการปัญหาฉ้อโกง การหลอกลวง ประชาชนให้เสียทรัพย์โดยการก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีผ่านช่องทาง Online ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ SMS Social media ไปหน้าถัดไปด้วยนะครับ Slide ครับ ซึ่งคนร้ายก็ จะใช้วิธีการหลอกลวงให้เหยื่อโอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากธนาคารไปยังบัญชีเงินฝาก ธนาคารอีกแห่งหนึ่ง หรือบัญชี e-Wallet ต่อไปเป็นทอด ๆ อย่างรวดเร็วเพื่อวัตถุประสงค์ ก็คือปกปิดอำพรางการกระทำความผิด ตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญของพระราชกำหนดนี้ จากรูปประกอบของ Slide ที่เราจะเห็นรูปม้าทางล่างขวานี้เราจะเห็นม้าหลายแถวนะครับ มีม้าแถวที่ ๑ โอนไปให้ม้าแถวที่ ๒ อีก ๒ ตัว แล้วม้าแถวที่ ๒ โอนต่อไปยังม้าแถวที่ ๓ อีก ๓ ตัว ม้าแถวที่ ๓ ก็โอนต่อไปยังม้าแถวที่ ๔ อีก ๔ ตัว โอนกันเป็นทอด ๆ จนไปถึง ตัวผู้หลอกลวง ผู้ร้าย เขาก็จะโอนเงินเข้าไปรวบรวมที่ผู้ร้ายคนนั้นนะครับ ซึ่งปัญหานี้ ก่อความเดือดร้อนต่อประชาชนเป็นวงกว้างและสร้างความเสียหายปีหนึ่งหลายหมื่นล้านบาท ในยามที่ประชาชนเดือดร้อน หนี้ครัวเรือนของประเทศเราสูงมากกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ของระดับ GDP ปัญหานี้ซ้ำเติมและสร้างความเสียหายต่อประชาชนและระบบเศรษฐกิจ ของประเทศเป็นอย่างมากนะครับ ซึ่ง พ.ร.ก. นี้ได้ออกมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ผ่านมา เกือบ ๕ เดือน เป็นช่วงที่ภาคส่วนต่าง ๆ กำลังเริ่มปฏิบัติตามทำมาตรการต่าง ๆ ให้เป็นรูปเป็นร่าง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพูดถึงเป้าหมายและมาตรการที่ พ.ร.ก. นี้ ได้ให้อำนาจหน้าที่ไว้เพื่อให้การบังคับใช้ในการเอาไปปฏิบัติตามของหน่วยงานต่าง ๆ เป็นไป อย่างมีประสิทธิผล แล้วก็บรรลุเป้าหมายในการป้องกันและปราบปราม ระงับความเสียหาย จากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีนี้ ผมจะขออภิปรายเนื้อหาของ พ.ร.ก. นี้โดยจำแนก ออกเป็น ๔ ส่วนว่ามีมาตรการอะไรบ้าง แล้วจากนั้นจะไปดูตัวเลขสถิติที่ผ่านมาว่า การดำเนินการตาม พ.ร.ก. นี้ได้ผลเช่นไร จากนั้นจะนำเสนอข้อสังเกตและข้อควรปรับปรุง เพื่อให้การบังคับใช้ พ.ร.ก. นี้บรรลุตามเป้าหมาย ส่วนที่ ๑ เป็นเรื่องของการเปิดเผย หรือแลกเปลี่ยนข้อมูล การถูกหลอกลวงให้โอนเงินมันมักจะเกี่ยวข้องกับการโอนเงิน เป็นทอด ๆ ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นนะครับ และมันจะเกี่ยวข้องกับหลายธนาคาร ผ่านบัญชีม้าหลาย ๆ ชื่อ และเกี่ยวข้องกับการลงทะเบียนบัญชี ซึ่งผูกกับเบอร์โทรศัพท์ หรือ SIM โทรศัพท์หลาย ๆ เบอร์ ซึ่ง SIM เหล่านี้ก็มักจะเป็น SIM ม้าใช้ชื่อคนอื่น มาจดทะเบียนด้วยเช่นกันนะครับ ดังนั้นการสืบสวน การติดตามอายัดธุรกรรมนี่ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าไม่มีระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาคธนาคารและผู้ให้บริการ เครือข่ายมือถือที่มีประสิทธิภาพนะครับ ซึ่งพระราชกำหนดนี้ก็ได้ให้สถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจระบบชำระเงิน ต่อไปนี้ขอเรียกอย่างกระชับว่า ธนาคาร นะครับ ตามมาตรา ๔ กำหนดหน้าที่ให้ธนาคารแล้วก็ผู้ให้บริการเครือข่ายต้องเปิดเผยแลกเปลี่ยน ข้อมูลเพื่อไปใช้ในการป้องกันปราบปรามและระงับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเหล่านี้ เท่าที่ทราบความคืบหน้าการดำเนินการของภาคธนาคารก็อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ ที่เรียกว่า Central Fraud Registry หรือ CFR ซึ่งก็ต้องขอชื่นชมในความร่วมมือ ของภาคธนาคารนะครับ แล้วก็ยังต้องขอฝากกราบเรียนท่านประธานผ่านไปยังท่านผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ช่วยติดตามให้ภาคธนาคารพัฒนาระบบนี้ให้ตอบโจทย์ ประชาชนผู้เสียหายตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.ก. ฉบับนี้ด้วยนะครับ ซึ่งส่วนสำคัญ ของเจตนารมณ์ของ พ.ร.ก. ฉบับนี้จะอยู่ในส่วนที่ ๒ ซึ่งพูดถึงการให้ข้อมูลแก่ผู้รับโอน ทุกทอดได้รับทราบและระงับธุรกรรมไว้ได้ทันท่วงที เมื่อธนาคารได้รับข้อมูลธุรกรรม ไม่ว่าจะเป็นจากระบบหรือจากการรับแจ้ง ธนาคารมีหน้าที่ที่จะระงับธุรกรรมชั่วคราว แล้วก็แจ้งธนาคารที่รับโอนถัดไป พร้อมกับแลกเปลี่ยนข้อมูล เปิดเผยข้อมูล เข้าสู่ระบบ เพื่อให้ธนาคารผู้รับโอนทุกทอดได้รับทราบและระงับธุรกรรมดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราว เพื่อตรวจสอบ การทำเช่นนี้จะช่วยหยุดการโอนเงินต่อเป็นทอด ๆ ของบัญชีม้าได้ การโอนเงินเป็นทอด ๆ ของมิจฉาชีพพวกนี้เขาทำเพื่อให้ติดตามเส้นทางการเงินได้ยาก ดังนั้นระบบที่ทำขึ้นต้อง เท่าทัน มีประสิทธิภาพที่จะรองรับเรื่องเหล่านี้ได้ ข้อสังเกตสำหรับ พ.ร.ก. ฉบับนี้ คือจำเป็น ที่จะต้องมีระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เชื่อมต่อกับกระบวนการทำงานของธนาคารได้ อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ยับยั้งการโอนเงินของคนร้ายที่จะโอนต่อไปเป็นทอด ๆ ได้ทั้งหมด ไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถระงับความเสียหายได้ทันท่วงที ขอ Slide หน้าถัดไป ด้วยนะครับ อันนี้เป็นสถิติการอายัดธุรกรรมในเดือนมิถุนายน เท่าที่ผมรวบรวมมาจาก Thaipoliceonline.com มูลค่าความเสียหายในเดือนมิถุนายนได้รับแจ้งประมาณ ๑,๔๐๐ ล้านบาท มีการขออายัดไป ๖๗๘ ล้านบาท แต่อายัดไว้ได้ทัน ๐ บาท หรือแม้จะเป็น ตัวเลขที่ท่านรัฐมนตรีได้นำเสนอว่าหลังจากออกพระราชกำหนดออกมาแล้ว อายัดไปได้ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของความเสียหาย ตัวเลข ๑๐ เปอร์เซ็นต์นั้นก็ยังเป็นตัวเลขที่ห่างไกล จากวัตถุประสงค์ของ พ.ร.ก. ฉบับนี้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่หน่วยงานต่าง ๆ ควรจะต้องร่วมมือกัน พัฒนาทั้งระบบ และพัฒนาทั้งกระบวนการให้เชื่อมโยงบูรณาการกัน เพื่อให้เกิดผลยับยั้ง การทำธุรกรรมเป็นทอด ๆ ได้จริง ผมขอสั้น ๆ นะครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนที่ ๓ ส่วนนี้เป็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมากก็คือ การแจ้งข้อมูลหลักฐาน ขอ Slide หน้าถัดไปหน้าสุดท้ายด้วยนะครับ ปัจจุบันสำนักงาน ตำรวจแห่งชาติมีระบบแจ้งความออนไลน์ ThaipoliceOnline.com รับร้องทุกข์คดีเหล่านี้ เฉลี่ย ๕๒๒ คดีต่อวัน มูลค่าความเสียหายเฉลี่ย ๗๔ ล้านบาทต่อวันนะครับ ซึ่งยังมีคดีค้างอยู่ เป็นหลักแสน การคลี่คลายคดีไม่ได้เป็นไปอย่างรวดเร็วเท่าที่ควรนะครับ ข้อสังเกตและ ข้อเสนอแนะสำหรับมาตรา ๘ และมาตรา ๗ ซึ่งบอกว่าให้สามารถร้องทุกข์ทาง อิเล็กทรอนิกส์ได้ แจ้งข้อมูลหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เราควรนำเรื่องเหล่านี้มาเชื่อม ต่อกันก็คือการร้องเรียนไปยังธนาคารกับการร้องทุกข์กับตำรวจ เป็นไปด้วยกระบวนการ อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ต้องให้ลูกค้าผู้ได้รับความเดือดร้อน แจ้งธนาคารเสร็จแล้วต้องวิ่งไปแจ้ง ตำรวจอีกที แจ้งตำรวจเสร็จแล้วก็ต้องเอาใบแจ้งความกลับมาหาธนาคารอีกที ซึ่งการทำ และเสียเวลาในแต่ละขั้นตอนแบบนี้นะครับวิ่งกลับไปกลับมานี่เงินต่าง ๆ มันโอนทิ้ง หนีหายไปหมดแล้วนะครับ ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตรา ๔ ก็ควรที่จะต้องเอามาใช้ รองรับเรื่องเหล่านี้ด้วย เพื่อให้การร้องทุกข์ การแลกเปลี่ยนข้อมูลเชื่อมโยงกัน ทำให้ระงับ ธุรกรรมที่เป็นธุรกรรมทุจริตได้อย่างรวดเร็วตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย โดยสรุปนะครับ ผมเห็นด้วยกับพระราชกำหนดนี้ และขอให้ท่านรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกำหนดนี้ รวมทั้งหน่วยงานกำกับดูแล ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันการเงิน หน่วยงานที่ กำกับดูแลผู้ให้บริการเครือข่ายช่วยปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้อย่างเต็มที่ เพื่อให้ บรรลุวัตถุประสงค์ของพระราชกำหนดในการระงับการโอนธุรกรรมเป็นทอด ๆ อย่างรวดเร็ว ตามเจตนาของพระราชกำหนดครับ ขอบพระคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขออภิปรายเกี่ยวกับรายงานของผู้ตรวจสอบบัญชีและรายงานการเงินของสำนักงาน กสทช. สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ครับ เนื่องจากท่านผู้ชี้แจงที่มาในวันนี้คือ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจสอบบัญชี ผมจึงมี ๓ ประเด็นคำถามสั้น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงบการเงินและการตรวจสอบบัญชี เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาของสภา ผมจึงขอตรงเข้าประเด็นเลยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๑ ตามหมายเหตุประกอบงบการเงิน หมายเหตุที่ ๓๐ รายได้ การประมูลคลื่นความถี่ที่ระบุรายได้จากการประมูลคลื่นในย่านความถี่ ๒๖๐๐ เมกะเฮิรตซ์ เป็นจำนวนเงิน ๓๗,๔๓๓ ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายแสดงอยู่ในหมายเหตุที่ ๓๘ ค่าใช้จ่าย ในการดำเนินการประมูลคลื่นความถี่ย่าน ๒๖๐๐ เมกะเฮิรตซ์ เป็นจำนวนเงิน ๓๐,๑๗๔ ล้านบาท ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้คิดเป็นสัดส่วนถึง ๘๐.๖ เปอร์เซ็นต์ คำถามคือ ๒ รายการนี้ เป็นรายการของรายรับและเป็นรายการค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกันในการประมูลคลื่นความถี่ ย่าน ๒๖๐๐ เมกะเฮิรตซ์ใช่หรือไม่ และค่าใช้จ่ายตามหมายเหตุที่ ๓๘ ที่มีสัดส่วนถึง ๘๐.๖ เปอร์เซ็นต์ มีรายละเอียดค่าใช้จ่ายของรายการนี้เป็นอย่างไร เป็นปกติหรือไม่ ที่มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการประมูลสูงถึงกว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของรายรับ นี่คือคำถามที่ ๑

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ ตามหมายเหตุที่ ๓๔ ในงบการเงินนะครับ สำนักงาน กสทช. มีรายได้จากกองทุน กทปส. ๔๙๙ ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการส่งสัญญาณ โทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไปผ่านดาวเทียม แต่ทั้งนี้เมื่อเราไปดูงบการเงินของกองทุน กทปส. กลับไม่พบตัวเลขเดียวกันในรายจ่ายของกองทุน กทปส. กล่าวคือตัวเลข ในหมายเหตุที่ ๒๑ และหมายเหตุที่ ๒๓ ในงบการเงินของกองทุน กทปส. ที่เกี่ยวข้องกับ ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมและสนับสนุนตามภารกิจของกองทุน และค่าใช้จ่ายตามแผนจัดการ ให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง ที่เกี่ยวข้องกับกิจการโทรทัศน์นะครับ ของงบ การเงิน กทปส. ไม่ตรงกับรายได้ ๔๙๙ ล้านบาทที่ปรากฏอยู่ในงบการเงินของสำนักงาน กสทช. คำถามคือตัวเลขรายได้ ๔๙๙ ล้านบาทนี้ไปปรากฏอยู่ในงบรายจ่ายของกองทุน กทปส. ที่ตรงไหน อย่างไร ได้โปรดกรุณาให้คำตอบชี้แจงด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๓ ขอสอบถามถึงภาพรวมในการตรวจสอบแบบ Performance Audit ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินว่ามีความคืบหน้าไปมากน้อยเพียงใดสำหรับ การตรวจสอบและประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของสำนักงาน กสทช. มีเพียง ๓ ประเด็นสั้น ๆ นี้นะครับ จึงขอเรียนผ่านท่านประธานไปยังท่านผู้ชี้แจงให้ช่วยชี้แจง และกรุณาตอบคำถามในรายละเอียดของ ๓ ประเด็นดังกล่าวนะครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานครับ กระผม ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขออภิปรายเกี่ยวกับรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินของกองทุนสงเคราะห์ เกษตรกรสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ โดยมีหลัก ๆ ๓ ประเด็น ดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • จากข้อมูลรายงานการเงินและรายงานประจำปีของกองทุน ผมได้เห็น การปรับทิศทางของกองทุน จากที่เคยให้หน่วยราชการกู้มาเป็นการให้สถาบันเกษตรกรกู้ มากขึ้น ซึ่งก็ได้แก่ทั้งสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชน ซึ่งก็ดูเหมือนว่าการปรับทิศทางนี้จะมา ถูกทาง เพราะอย่างน้อยสัดส่วนในการผิดนัดชำระหนี้ก็ลดลง เพราะว่าในส่วนของการให้ สถาบันเกษตรกรกู้โดยคิดดอกเบี้ยต่ำมากที่ระดับ ๑-๒ เปอร์เซ็นต์นั้น เมื่อเทียบกับ แหล่งเงินกู้อื่น ๆ ถือว่าเป็นการกู้ได้ถูกมาก ๆ ซึ่งก็จะช่วยเกษตรกรได้มาก แล้วก็น่าจะเป็น เหตุผลที่ทำให้สถาบันเกษตรกรชำระเงินคืนได้ตรงเวลา ขอ Slide ขึ้นด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • แต่จำนวนสถาบันเกษตรกร ที่ได้รับประโยชน์จากกองทุนในแต่ละปีถ้าเราดูจำนวน ถ้าเรามาดูจำนวนของสถาบัน เกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากกองทุนนี้ในแต่ละปี ถ้าเรามาดูยอดหนี้ค้างชำระ ณ วันที่ ๓๐ กันยายน ปี ๒๕๖๔ เรามีลูกหนี้อยู่ ๒๗ ราย เป็นสถาบันเกษตรกรเพียงแค่ ๑๙ แห่ง นอกนั้นเป็นหน่วยงานราชการหรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอีก ๘ แห่ง ซึ่งเทียบกับ ขนาดของกองทุนที่มีสินทรัพย์สุทธิอยู่ที่ ๖,๗๘๐ ล้านบาท แต่มีองค์กรเกษตรกรได้ประโยชน์ เพียง ๑๙ แห่ง

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นคำถามที่ ๑ ของผมจึงอยากตั้งคำถามไปยังท่านผู้ชี้แจงผ่านไปทาง ท่านประธานว่าทำไมจำนวนสถาบันเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากกองทุนในแต่ละปีนี้ จึงน้อยมาก ๆ เทียบกับขนาดของกองทุน ซึ่งถ้าเรามาดูหนี้ค้างชำระเราก็พอจะเดาได้ เพราะว่าเงินในกองทุนส่วนใหญ่จะไปจมอยู่กับหนี้เก่า ณ วันที่ ๓๐ กันยายน ปี ๒๕๖๔ เรามี หนี้ค้างชำระรวมอยู่ ๓,๑๙๓ ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ค้างชำระของหน่วยงานราชการ หรือรัฐวิสาหกิจถึง ๓,๐๙๕ ล้านบาท หรือคิดเป็น ๙๗ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหนี้ก้อนใหญ่ ๆ ก็จะมี กรมส่งเสริมสหกรณ์ ๑,๖๑๘ ล้านบาท มีกรมปศุสัตว์ ๑,๒๐๔ ล้านบาท แล้วก็มี อ.ต.ก. ๑๕๒ ล้านบาท เป็นต้น

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับประเด็นที่ ๒ จึงอยากจะเรียนท่านประธานผ่านไปถึงท่านผู้ชี้แจงว่า ให้ช่วยอธิบายหน่อยว่ากองทุนมีวิธีการเร่งรัดหนี้สินจากหน่วยงานราชการ หน่วยงาน รัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ที่เป็นหนี้สินเรื้อรัง บางหนี้ก็ติดหนี้มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๔ มาจนถึงปี ๒๕๕๗ เป็นหนี้สินเรื้อรังตั้งแต่โบราณกาล รวมทั้งหนี้สินที่เพิ่งเกิดภายในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกับกรมปศุสัตว์ที่เกิดขึ้นหลังปี ๒๕๕๗ ว่าท่านมีแนวทางในการเร่งรัดหนี้สินเหล่านี้ อย่างไร เพื่อที่จะให้ได้เงินเข้ามาปล่อยให้กับองค์กรการเกษตรมากขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • และประเด็นที่ ๓ เป็นเรื่องของตัวชี้วัดของกองทุนและการประเมินผล การดำเนินงานของกองทุน ซึ่งถ้าเรามาดูตัวชี้วัดไม่ว่าจะเป็นด้านการเงินหรือด้านการตอบสนอง ประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เราจะไม่เห็นตัวชี้วัดที่บ่งชี้ถึงผลสำเร็จในวงกว้าง หรือ Impact ที่ได้รับในวงกว้างจากการดำเนินงานของกองทุน ซึ่งอันนี้ก็จะกลับมาเชื่อมโยง กับประเด็นที่ ๑ ว่าทำไมจำนวนสถาบันการเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากกองทุนถึงมีจำนวน น้อยมาก ตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้สะท้อนลงไปในการประเมินผลการดำเนินการหรือตัวชี้วัดของ กองทุน

    อ่านในการประชุม

  • ผมจึงขอตั้งประเด็นคำถามที่ ๓ ว่าอยากจะให้ท่านลองพิจารณาดูว่าการนำเงิน ของกองทุนไปลง โดยสนับสนุนกับสถาบันเกษตรกรโดยใช้กลไกหลักที่มีอยู่ เช่น ธ.ก.ส. จะได้ ผลประโยชน์ในวงกว้างมากกว่าที่กองทุนดำเนินการอยู่หรือไม่ แล้วก็มีข้อเสนอแนะ เช่น การใช้เงินกองทุนเพื่อไปเป็นหลักประกันเงินกู้ให้กับสถาบันเกษตรกร หรือเพื่อให้เป็น เบี้ยประกันภัยสินเชื่อให้กับเกษตรกรที่กู้ยืมเงินกับ ธ.ก.ส. แล้วประสบภัยพิบัติ ถ้าหากมี การประสบภัยพิบัติเกิดขึ้นเนื่องจากได้ทำประกันไว้แล้ว หนี้ในส่วนนั้นก็ไม่จำเป็นต้อง ชำระคืนเนื่องจากว่าประสบกับภัยพิบัติ หรืออาจจะใช้ปล่อยกู้ดอกเบี้ย ๐ เปอร์เซ็นต์ เพื่อสนับสนุนนโยบายทางด้านการเกษตร เช่น ให้เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรขอตรวจรับ มาตรฐาน GAP : Good Agriculture Practice หรือว่ามาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น ก็มีประเด็นที่อยากจะเรียนท่านประธานผ่านไปยังท่านผู้ชี้แจงให้ช่วยชี้แจงใน ๓ ประเด็น ดังกล่าว ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขออภิปรายเกี่ยวกับรายงานประจำปี งบดุล บัญชีกำไรขาดทุนของ EXIM Bank ณ สิ้นปี ๒๕๖๕ โดยผมมีประเด็นหลัก ๆ อยู่ ๓ ประเด็น เพื่อไม่ให้เสียเวลาก็ขอเข้าประเด็นเลย

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรก ผมจะขอพูดถึงบทบาทของ EXIM Bank ว่า EXIM Bank มียุทธศาสตร์ที่จะ Position ตัวเองอย่างไร จากรายงานกิจการประจำปีของ EXIM Bank มีตัวเลข Highlight ที่ท่านผู้ชี้แจงได้นำเสนอแสดงผลการดำเนินงานไว้ดีมาก มียอดสินเชื่อ คงค้าง ๑๖๘,๓๓๑ ล้านบาท ในขณะที่สัดส่วนหนี้เสียหรือ NPL ๒.๙ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่ำกว่า NPL ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่บางแห่งด้วยซ้ำ ซึ่งก็ต้องขอชื่นชมว่าธนาคาร มีการบริหารความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อได้ดีมาก แต่พอมาดูตัวเลขด้านอื่น เช่น สินเชื่อ คงค้าง สินเชื่อคงค้างส่วนใหญ่ก็คือประมาณ ๑ ใน ๓ ก็จะเห็นว่าอยู่ในหมวดสาธารณูปโภค เหมือนที่ท่านเพื่อนสมาชิกได้กล่าวไป และถ้าเรามาดูจำนวนลูกค้า SMEs มีประมาณ ๔,๐๗๒ ราย ซึ่งค่อนข้างจะน้อยเมื่อเทียบกับจำนวน SMEs ในประเทศไทยที่น่าจะมีมากกว่า ๒ ล้านราย ผมจึงขอตั้งคำถามผ่านไปยังท่านผู้ชี้แจงว่าสินเชื่อคงค้างของลูกค้าที่เป็น SMEs คิดเป็นสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ และสินเชื่อคงค้างที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก นำเข้า มีสัดส่วน กี่เปอร์เซ็นต์ เพราะตัวเลขที่ท่านตอบก็คงจะพอชี้ได้ว่าการดำเนินการของ EXIM Bank ซ้ำซ้อนกับธนาคารพาณิชย์ หรือซ้ำซ้อนกับ SME Bank หรือไม่นะครับ EXIM Bank จะวาง Position ตัวเองอย่างไรให้ไม่ซ้ำซ้อนกับธนาคารพาณิชย์หรือ SME Bank ผมอยากจะขอ ยกตัวอย่างจากเกาหลีใต้ เกาหลีใต้เขาก็มี Korea EXIM Bank ซึ่งในอดีตสักประมาณ ๑๐ ปี ที่แล้ว K Exim Korea Exim Bank เขาให้สินเชื่อแก่อุตสาหกรรมบันเทิง อุตสาหกรรมอาหาร รวมกันประมาณ ๙๑๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ ๓๐,๒๖๐ ล้านบาท เพื่อสนับสนุน Korean Wave ในช่วงนั้นนะครับ ซึ่งมันก็จะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้เกาหลีใต้ประสบ ความสำเร็จในการส่งออกอุตสาหกรรมบันเทิงแล้วก็อาหาร เราจำได้ว่าในยุคนั้น Series เกาหลีเพลง K-pop Dae Jang Geum Gangnam Style Boom มาก ๆ ผมอยากเห็นบทบาทของ EXIM Bank ในเชิงรุกที่จะช่วยส่งออกวัฒนธรรม แล้วก็อุตสาหกรรมบันเทิงของประเทศไทยไปสู่โลกนี้ด้วยเช่นกัน ขอ Slide ถัดไปนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ จะเป็นประเด็นคำถามเกี่ยวข้องกับความเสียหายจาก การปล่อยกู้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทมหาชน STARK พวกเราที่ได้ตามข่าวเรื่องนี้คงจะทราบว่า EXIM Bank ได้มีการปล่อยกู้ที่เกี่ยวข้องกับ STARK หรือบริษัทลูกที่ชื่อบริษัท Phelps Dodge International Thailand เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ก็อยากจะเรียนท่านประธาน ผ่านไปยังท่านผู้ชี้แจงนะครับ สอบถามว่า EXIM Bank มีการปล่อยกู้ร่วมให้กับ STARK เป็นวงเงินเท่าไร และมีการปล่อยกู้ให้กับบริษัทลูกที่เกี่ยวข้องกับ STARK เป็นวงเงินเท่าไร แล้วหลังจากที่ ธปท. ได้มีการสั่งให้การสำรองหนี้สงสัยจะสูญทั้งหมด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว การปล่อยกู้ที่เกี่ยวข้องกับ STARK การสำรองหนี้ในส่วนนี้จะกระทบต่อผลการดำเนินการ ของ EXIM Bank อย่างไร และการดำเนินการฟ้องร้องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มีความคืบหน้า อย่างไรบ้าง ประเด็นถัดไปครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๓ อันนี้จะเป็นการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้าง ในไตรมาสที่ ๑ มีการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อพัฒนาระบบ Core Bank เป็นวงเงินลงทุนที่ค่อนข้าง สูงรวมแล้วประมาณ ๔๙๐ ล้านบาท เป็นการจ้างผู้พัฒนาระบบ วงเงิน ๔๕๐ ล้านบาท และเป็นการจ้างผู้บริหารโครงการ EMO วงเงิน ๔๐ ล้านบาท จึงอยากจะสอบถามว่า ระบบ Core Bank ใหม่นี้ต่างจากระบบ Core Bank เดิมอย่างไร มันจะทำให้การปฏิบัติงาน ของ EXIM Bank มีประสิทธิภาพดีขึ้นกว่าระบบเดิมอย่างไร และปัจจุบันความคืบหน้า ในการดำเนินการในเรื่องนี้คืบหน้าไปถึงไหน และมีอีกรายการหนึ่ง อันนี้เป็นข้อสังเกต เกี่ยวกับรายการจ้างสำนักงานกฎหมายเพื่อดำเนินคดีแล้วก็บังคับคดี จะเห็นเกือบ ๆ ทุกเดือนจะมีการว่าจ้างในลักษณะนี้นะครับ การจ้างสำนักงานกฎหมายวงเงินประมาณ ๑.๔ ถึง ๒.๕ ล้านบาท ในปี ๒๕๖๔ นี้อย่างน้อยก็เห็นมาแล้ว ๖ รายการ ซึ่งถ้าหากจ้าง ด้วยความถี่ประมาณนี้ไปเรื่อย ๆ ตลอดทั้งปีอาจจะต้องใช้งบประมาณในการจ้างสำนักงาน กฎหมายมากกว่า ๒๐ ล้านบาท จึงอยากกราบเรียนท่านประธานสอบถามท่านผู้ชี้แจงว่า เรื่องการฟ้องร้องบังคับคดีนี้ EXIM สามารถจัดการด้วยตัวเองโดยการพิจารณาจ้างพนักงาน ประจำมาทำได้หรือไม่ หรือมีข้อจำกัดอะไรที่สำนักงานกฎหมายภายนอกทำได้ดีกว่าการจ้าง พนักงานประจำ และสุดท้ายก็ต้องขอขอบคุณคณะผู้บริหารของ EXIM Bank ทุกท่าน ที่ให้เกียรติสภามาชี้แจงเรื่องนี้นะครับ แล้วก็ขอเรียนท่านประธานผ่านไปยังท่านดอกเตอร์ รักษ์ กรรมการผู้จัดการฝากคำถามใน ๓ ประเด็นดังกล่าวให้ช่วยชี้แจง ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขออภิปรายเกี่ยวกับรายงานกิจการประจำปีงบดุลบัญชีกำไรขาดทุนของ SME Bank หรือ ธพว. สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ ต้องขอขอบคุณท่านรองกรรมการ ผู้จัดการและท่านผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการของ ธพว. ที่ให้เกียรติประชาชนมาชี้แจง ตอบคำถามต่อผู้แทนของประชาชนที่สภาแห่งนี้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ชื่อก็ชัดเจนว่าเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา SMEs ของประเทศไทย ทางฝ่ายโสตครับ ขอ Slide ขึ้นได้เลยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ผมก็มีประเด็นอยู่สัก ๓-๔ ประเด็นสำหรับวันนี้

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรก ก็คือผลการดำเนินการของ ธพว. ในปี ๒๕๖๕ ยอดสินเชื่อ คงค้างของ ธพว. ในปี ๒๕๖๕ ก็มีอยู่ ๑๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท ๑๐๙,๒๙๖ ล้านบาท ให้บริการกับผู้ประกอบการประมาณ ๘๐,๓๘๙ ราย ยอดเบิกจ่ายในปี ๒๕๖๕ ก็ ๖๘,๘๐๐ ล้านบาท ให้แก่ผู้ประกอบการ ๑๒,๐๐๐ กว่าราย ซึ่งในนี้ถ้าเรามาดูตัวเลข NPL ในปี ๒๕๖๕ ของ ธพว. NPL ก็จะอยู่ที่ ๙.๗๒ เปอร์เซ็นต์ ในปี ๒๕๖๔ NPL สูงกว่านี้อยู่ที่ ๑๓.๕๙ เปอร์เซ็นต์ ถ้าเปรียบเทียบ NPL ตัวเลขนี้กับธนาคารรายอื่นตัวเลขก็อาจจะสูง แต่สำหรับผมไม่ได้ติดใจตัวเลข NPL นี้เลยครับ เพราะมันเข้าใจได้ว่ามันเป็นพันธกิจของ ธพว. ในการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ตัวเลข ๙.๗ เปอร์เซ็นต์ เทียบ NPL สินเชื่อของ SMEs นิติบุคคลทั้งระบบถ้าเราดูที่ฐานข้อมูลของ NCB ที่เป็นนิติบุคคล NPL ก็อยู่ที่ประมาณ ๘-๙ เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นตรงนี้ไม่ได้เป็น ที่ติดใจ แต่ที่ผมติดใจก็คือ NPL ส่วนใหญ่ ๗๓ เปอร์เซ็นต์นั้นเป็น NPL ที่เกิดก่อนปี ๒๕๕๘ จึงมีคำถามไปยังท่านผู้ชี้แจงว่าทำไมจึงมี NPL ที่เกิดก่อนปี ๒๕๕๘ ค้างเป็นสัดส่วนที่สูงถึง ๗๓ เปอร์เซ็นต์ และ ธพว. มีเป้าหมายในการบริหารหนี้ NPL ที่เกิดก่อนปี ๒๕๕๘ นี้อย่างไร อันนี้เป็นคำถามของประเด็นที่ ๑ หน้าถัดไปเลยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ จะขออภิปรายถึงบทบาทในการช่วยเหลือ SMEs ที่เป็นหนี้เสีย โดยผลกระทบจากโควิด ทุกท่านคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็ก ขนาดกลางนั้นสายป่านสั้น ล้มเพราะผลกระทบจากโควิดเป็นจำนวนมาก ถ้าเราดูตัวเลข ทางด้านขวามือนี้ยอดของ SMEs ขนาด Micro แล้วก็ขนาด Small ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็คือ จ่ายหนี้ไม่ไหว ในยอด ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี ๒๕๖๖ รวมกันแล้วทั้ง S M ก็คือเริ่มจ่ายหนี้ ไม่ไหวจากที่เป็น NPL ไปแล้ว แล้วรวมถึงที่อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ รวมกันแล้วมีถึง ๑๒ เปอร์เซ็นต์ อันนี้เป็นตัวเลขจากฐานข้อมูลของ NCB และลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ จากช่วงโควิดก็คือก่อนโควิดเขาสามารถชำระหนี้ได้ปกติ แต่ช่วงโควิดเริ่มมีการผิดนัดชำระหนี้ กลายเป็นหนี้บูด หนี้เน่าในช่วงโควิด จะมีการจัดชั้นด้วยรหัส ๒๑ ซึ่ง ณ สิ้นไตรมาส ๑ ของปี ๒๕๖๖ หนี้ SMEs นิติบุคคล รหัส ๒๑ มียอดอยู่ ๕.๔ หมื่นล้านบาท และที่เป็นบุคคล ธรรมดา รหัส ๒๑ มียอดอยู่ ๓๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ประเด็นคำถามที่ต้องการเรียนถาม ท่านประธานผ่านไปถึงผู้ชี้แจงก็คือในช่วงที่ SMEs นั้นเปราะบางอันเนื่องจากผลกระทบ ของโควิดนั้น ธพว. ได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs ที่เป็นรหัส ๒๑ ได้เป็นจำนวนกี่ราย อย่างไรบ้าง ซึ่งยอด NPL ตกค้างที่ได้อภิปรายไปก่อนหน้านี้เป็นอุปสรรคต่อการช่วยเหลือ SMEs ที่ได้รับผลกระทบหรือไม่ เพราะท่านมียอด NPL ตกค้างตั้งแต่ก่อนปี ๒๕๕๘ สูงถึง เกือบ ๓ ใน ๔ ดังนั้นการปล่อยกู้ในส่วนที่เหลือของท่านก็คงต้องระมัดระวังมากที่จะสร้าง NPL เพิ่ม ทำให้ท่านเลือกที่จะปล่อยสินเชื่อในสินเชื่อที่มีความปลอดภัย แต่มันทำให้ท่านไม่ได้ ช่วยเหลือ SMEs อย่างเพียงพอหรือเปล่า ซึ่งผมมีข้อเสนอแนะว่า ธพว. ควรเร่งจัดการหนี้ NPL ที่ตกค้างก่อนปี ๒๕๕๘ เพื่อให้ ธพว. ปล่อยสินเชื่อแก่ SMEs ได้เป็นจำนวนมากขึ้น ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ได้เป็นวงกว้างมากขึ้น เพราะนี่คือพันธกิจหลักของท่านนะครับ ซึ่งการให้สินเชื่อ SMEs ในลักษณะ Supply Chain Financing นั้นก็อาจจะเป็นทางเลือก ที่ดีที่ท่านควรจะพิจารณาให้สินเชื่อเหล่านี้มากขึ้นในช่วงที่ SMEs ต้องการความช่วยเหลือ ทางด้านสภาพคล่องนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๓ เกี่ยวกับบทบาทของ ธพว. ในการร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการ ถ้าเราดูการลงทุนของ ธพว. ในบริษัทเอกชนที่อนุมัติไปแล้วกว่า ๓๒ บริษัท ธพว. ถือหุ้นเกิน ๒๕ เปอร์เซ็นต์ก็มีอยู่ ๖ บริษัท ที่มีเพื่อนสมาชิกได้อภิปรายไปแล้ว และถ้าเราไปดูบางบริษัท ก็มีบริษัทที่เข้าไป List ในตลาดหลักทรัพย์ SET MAI LiVE Exchange เข้าไปแล้วก็มีนะครับ ซึ่ง ธพว. ก็ยังถือหุ้นอยู่ จึงขอเรียนถามไปยังท่านผู้ชี้แจงว่าเกณฑ์ในการเข้าร่วมลงทุน และเกณฑ์ในการออกจากการร่วมลงทุนเป็นอย่างไร อันนี้เป็นคำถามที่โปรดชี้แจงให้ประชาชน ได้รับทราบด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นสุดท้าย เป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้งบประมาณโครงการระบบ Core Banking ในช่วง ๔ ปีที่ผ่านมานี้นะครับ ในช่วงปี ๒๕๖๒-๒๕๖๓ ก็มีข่าว Press Release ของธนาคารออกมาว่า ธวพ. จะลงทุน ๖๐๐ ล้านบาทพัฒนาระบบ Core Banking จะเปิดบริการทีละส่วนอย่างต่อเนื่องและให้เสร็จสมบูรณ์ภายในปี ๒๕๖๓ แต่ต่อมาในปี ๒๕๖๕ ก็มีการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อเช่าระบบ Core Banking ใช้งบประมาณ ๘๘๘ ล้านบาท เช่า ๕ ปี และต้องจ้างผู้บริหารโครงการอีกประมาณ ๑๒ ล้านบาท รวมกันแล้วก็ ๙๐๐ ล้านบาท จึงอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมท่านถึงต้องเปลี่ยนจากการพัฒนาระบบมาเป็นการเช่าระบบ ๕ ปี ด้วยวงเงินที่สูงถึง ๙๐๐ ล้านบาท มันคุ้มค่าแล้วหรือไม่ครับ ท่านสามารถลองเปรียบเทียบ วงเงินที่ท่านใช้กับ HFI รายอื่นที่ใช้ Core Banking จากบริษัท ซิลเวอร์เลค (ประเทศไทย) จำกัด เหมือนกันก็ได้นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • และอีกคำถามหนึ่ง ก็คือว่าตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ ท่านได้เสียงบประมาณกับ การทำเรื่อง Core Banking System ของท่านไปแล้วเท่าไร ทำไมถึงยังทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ แล้วจะทำเสร็จเมื่อไรครับ อันนี้เป็นคำถามที่จะขอเรียนท่านประธานผ่านไปถึงท่านผู้ชี้แจง ให้ช่วยตอบคำถามเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบด้วย

    อ่านในการประชุม

  • และสุดท้ายผมขอเป็นกำลังใจให้พนักงาน ธพว. ทั้ง ๒,๒๐๐ กว่าท่าน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะทำหน้าที่สำคัญในการช่วยเหลือและพัฒนา SMEs ไทย ให้แข็งแกร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อไป ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขออนุญาตครับ

    อ่านในการประชุม

  • มีคำถามที่เกี่ยวกับ เรื่องเกณฑ์การลงทุนแล้วก็การออกจากการลงทุนที่ท่านยังไม่ได้ตอบ อันนี้รบกวน ช่วยชี้แจงด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขออภิปรายเสนอญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไข รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน

    อ่านในการประชุม

  • ก่อนอื่นผมจะขออ่านญัตติ โดยย่อก่อนนะครับ จากสถิติและข้อมูลที่เปิดเผยโดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้บ่งชี้ว่า ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับที่สูงมากกว่าร้อยละ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์ มวลรวมในประเทศหรือ GDP มาโดยตลอด จากผลกระทบของ COVID-19 ตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ โดยมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อบ้าน สินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ และกองทุน เพื่อการศึกษา รวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต สินเชื่อรถยนต์ ตามลำดับ สาเหตุ มีการปล่อยกู้จำนวนมากที่เกินกำลังของผู้กู้ และปล่อยกู้ด้วยดอกเบี้ยที่สูงเกินราคา ความเสี่ยงจนกลายเป็นหนี้เรื้อรัง ซึ่งเป็นเหตุให้ควรมีการแก้ไขกฎเกณฑ์และบังคับใช้ ให้มีความเป็นธรรมกับผู้กู้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนหลายประเภทสามารถแก้ไขได้ โดยการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามกฎ ระเบียบ ความเปราะบางของกลุ่มครัวเรือนและธุรกิจที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดหนี้เสียเพิ่มสูงขึ้นในระยะต่อไป หากไม่ได้รับการแก้ไขจัดการ อย่างเร่งด่วน อีกทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนยังจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีพ ของประชาชนในวงกว้างหากไม่มีการแก้ไขอย่างยั่งยืน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการ ศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน ดังนั้นกระผมจึงขอเสนอญัตติด่วนดังกล่าว มาเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหา และแนวทางแก้ไข รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งการบังคับใช้ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ขอ Slide ด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ในการอภิปรายกระผมจะขอเริ่มจากภาพใหญ่ของหนี้ครัวเรือนไทยก่อนว่า เป็นอย่างไร เรียนท่านประธานจากข้อมูลสถิติหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยตามนิยามใหม่ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยบ่งชี้ว่าระดับหนี้ครัวเรือนของไทยนั้นอยู่ในระดับที่สูงมากกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ของ GDP มาโดยตลอดตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 มีระดับหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ ๙๔.๒ เปอร์เซ็นต์ และขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในปี ๒๕๖๔ ที่ระดับ ๙๔.๗ เปอร์เซ็นต์ โดยมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อบ้าน สินเชื่อ เพื่อการประกอบอาชีพ สินเชื่อ กยศ. และสินเชื่อส่วนบุคคล เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อรถยนต์ นอกจากนั้นยังมีกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อ ซึ่งมีสัดส่วนมากถึง ร้อยละ ๑๕ เปอร์เซ็นต์ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งตัวเลขที่สูงกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นตัวเลขที่ได้ปรับปรุงแล้ว โดยได้รวมหนี้ ๔ กลุ่มเข้าไป เช่นหนี้ กยศ. หนี้สหกรณ์อื่น ที่ไม่ใช่สหกรณ์ออมทรัพย์ หนี้จากการเคหะแห่งชาติ และนี้จาก Pico Finance ดังนั้น จึงทำให้หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่เราเคยหลงดีใจว่าได้ลดลงมาต่ำกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ มาอยู่ที่ ๘๖.๓ เปอร์เซ็นต์แล้วนั้น จริง ๆ แล้วยังอยู่ที่ ๙๐.๖ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งยังสูงกว่าระดับเกณฑ์ ที่ BIS กำหนดไว้ในเกณฑ์ที่จะอยู่ในระดับที่ยั่งยืนว่าไม่ควรเกินระดับ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ และถ้าหากเรามาดูหนี้ครัวเรือนไทยเทียบกับโลกก็จะพบว่าตั้งแต่เดิมก่อนปี ๒๕๕๕ หนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ได้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็คืออยู่ในระดับต่ำ แต่ต่อมาหลังปี ๒๕๕๕ ได้มีการขยายตัวเร่งขึ้น แบบประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง อย่างประเทศจีน แต่เศรษฐกิจไทยไม่ได้เติบโต เยอะอย่างที่เศรษฐกิจจีนโตในยุคก่อน ก็คือโตถึงปีละ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ๘ เปอร์เซ็นต์ การเร่งตัวในลักษณะนี้จึงเห็นได้ชัดว่า เป็นปัญหาอย่างชัดเจน และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งข้อเท็จจริงอันน่าเศร้าว่ากว่า ๑ ใน ๓ ของคนไทยมีนี้โดยเฉลี่ยต่อคนถึง ๕๒๐,๐๐๐ บาท โดยมูลค่ารวมหนี้สินเฉลี่ยต่อคนเพิ่มขึ้น มากกว่า ๒ เท่าในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา และกว่า ๑ ใน ๕ ของคนไทยกำลังมีหนี้เสีย จึงเห็นได้ชัดครับว่าหนี้ครัวเรือนจากกราฟนี้เร่งตัวแรงหลังมาตรการรถคันแรกออกมา ในปี ๒๕๕๕ และเร่งตัวแรงขึ้นไปอีกหลังโควิดปี ๒๕๖๓ ซึ่งแต่เดิมเราก็เห็นนะครับว่า หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ในระดับต่ำ แล้วก็เร่งตัวมาอย่างก้าวกระโดด ดังนั้นอันนี้เป็นปัญหา ที่จำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืนและเร่งด่วน

    อ่านในการประชุม

  • ต่อไปเรามาดูครับว่าต้นตอของปัญหาหนี้ครัวเรือน ขอ Slide หน้าถัดไป นะครับว่ามาจากอะไร สาเหตุหลัก ๆ ผู้กู้กู้เพราะว่าจำเป็นต้องใช้เงินแต่ไม่มีเงิน จึงจำเป็นต้องไปกู้หนี้ยืมสินมา ซึ่งหนี้ก็มีทั้งหนี้ที่สร้างรายได้ และหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ แต่ที่น่าเศร้าก็คือว่าหนี้ครัวเรือนของไทยส่วนใหญ่นั้นเป็นหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ก็คือเป็นหนี้ ที่กู้มาเพื่อใช้อุปโภคบริโภคแล้วก็หมดไปไม่ได้ช่วยสร้างรายได้ หรือเพิ่มรายได้ให้คุณภาพชีวิต ดีขึ้น แต่กลับทำให้มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากการที่ต้องมาจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ก็ยิ่งทำให้รายได้ ไม่เพียงพอเลี้ยงชีพกลายเป็นวัฏจักรหนี้สินที่ยากจะหลุดพ้น และหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ ก็จะอยู่ในกลุ่มของคนที่รายได้ต่ำ ก็คือมีความสามารถในการชำระหนี้น้อย ปัจจุบันมีคนไทย กว่า ๕.๘ ล้านคน ที่กำลังเป็นหนี้เสีย หรือ ๑ ใน ๕ คน และส่วนใหญ่หนี้ของบุคคลเหล่านี้ ก็จะเป็นหนี้ส่วนบุคคล

    อ่านในการประชุม

  • อีกปัญหาหนึ่งก็คือคนไทยเป็นหนี้เร็วในกลุ่มคนอายุน้อยอายุ ๒๐-๓๕ ปี ซึ่งเป็นวัยที่เพิ่งเริ่มทำงานนั้นกลับมีหนี้ที่ไม่สร้างรายได้เป็นสัดส่วนที่สูงที่สุด และ ๑ ใน ๔ ของบุคคลเหล่านี้ก็กำลังเป็นหนี้เสีย จากข้อมูลที่ได้เรียนท่านประธานไปเบื้องต้นว่า หนี้ครัวเรือนไทยได้มีการเร่งตัวอย่างมากนั้น เราก็เห็นว่าในรัฐบาลที่ผ่านมาได้ดำเนินการ นโยบายพักหนี้ออกมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด เพราะว่าเรา ก็เห็นจากตัวเลขแล้วว่าหนี้ครัวเรือนนั้นก็ได้เร่งตัวเพิ่มมากขึ้นมาตลอด ผลที่ตามมา หนี้ครัวเรือนเรามองเห็นมันเป็นเหมือนภูเขาน้ำแข็งและเป็นเหมือนระเบิดเวลาไปพร้อม ๆ กันครับ ซึ่งเราไม่สามารถมองข้ามปัญหานี้ได้ หนี้ครัวเรือนนั้นทั้งกดดันและฉุดรั้งการขยายตัว ของเศรษฐกิจ เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่ของครัวเรือนจะต้องนำไปชำระหนี้ แทนที่จะนำไป ใช้จ่ายซื้อสินค้า บริการ หรือนำไปลงทุนเพื่อเพิ่มรายได้ในอนาคต ถ้าเรามาดูโครงสร้าง ของลูกหนี้ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งก็แปลว่าอัตราส่วนของหนี้สินต่อรายได้ ของเขานั้นมีอัตราส่วนที่สูงก็คือ DSR หรือ Debt Service Ratio สูงมาก บุคคลเหล่านี้ ไม่มีกำลังในการชำระหนี้ ทำให้เขายิ่งไม่มีเงินออม แล้วก็ไม่สามารถสั่งสมเงินทุน สั่งสมอะไร มาลงทุนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและพาตัวเองให้หลุดพ้นออกจากวงจรหนี้เหล่านี้ได้ ดังนั้นถ้าหากปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืนก็จะยังส่งผลถึงเสถียรภาพของระบบ สถาบันการเงินต่อไปด้วย เนื่องจากว่ารายได้ของสถาบันการเงินนั้น รายได้หลักก็คือรายได้ ของดอกเบี้ย ซึ่งถ้าหากระดับหนี้ครัวเรือนสูงเกิดเป็นหนี้เสียทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ และไม่มีการแก้ไขปัญหานี้สถาบันการเงินก็จะสูญเสียความมั่นคง แล้วก็จะไม่สามารถ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการบริหารความเสี่ยงและจัดสรรเงินทุนให้กับระบบเศรษฐกิจ ของประเทศขับเคลื่อนต่อไปได้ นอกจากนั้นปัญหาหนี้ครัวเรือนยังส่งผลกระทบโดยตรง ต่อการดำรงชีพของประชาชนในวงกว้างถ้าหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เช่นปัญหา ด้านสุขภาพจิต ปัญหาด้านอาชญากรรม จึงจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาถึงสาเหตุปัญหา และแนวทางแก้ไขโดยเร่งด่วน ปัญหาหนี้ครัวเรือนถ้าหากเรามาพิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้ว มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นมานาน การจะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องมีการศึกษาโครงสร้างเหล่านี้อย่างลึกซึ้ง เพื่อให้เข้าใจถึงปัญหาและเข้าใจ ถึงวิธีการแก้ไขปัญหาที่ถูกจุด รวมทั้งจำเป็นต้องมีการทบทวน ปรับปรุงกฎหมาย กฎเกณฑ์ และระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำ ก็คือการปล่อยกู้ กลางน้ำ ก็คือระหว่างการผ่อนชำระหนี้ และปลายน้ำ ก็คือการช่วยเหลือ ลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหา และต้องปรับโครงสร้างหนี้เมื่อเป็นหนี้เสีย เช่นต้องมีมาตรการให้ครบ ๕ ด้าน ก็คือ ๑. ทำให้เจ้าหนี้มีความรับผิดชอบต่อการปล่อยกู้ หรือ Responsible Lending ๒. ต้องมีการสร้างมาตรการที่เป็นแรงจูงใจให้ลูกหนี้จ่ายหนี้และไม่สะสมหนี้ เช่นส่งเสริม มาตรการการดึงดูดให้ลูกหนี้จ่ายหนี้ตรงเวลา เช่นมีการลดดอกเบี้ย ๓. มาตรการดำเนินการ เชิงรุกในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เริ่มมีความเสี่ยงที่จะเข้าไปติดกับดักหนี้ เช่น ลูกหนี้ ที่เป็นลูกหนี้ใช้บัตรกดเงินสด ๔. ก็คือการช่วยปรับโครงสร้างหนี้ก่อนที่จะไปขึ้นศาล เกิดการบังคับคดีนั้น ควรที่จะมีการดูแลปรับโครงสร้างหนี้ เจรจาประนอมหนี้ก่อน และสุดท้ายการปล่อยหนี้ควรจะปล่อยหนี้ตามความเสี่ยงของลูกหนี้

    อ่านในการประชุม

  • ขอสรุปนะครับ ที่ผ่านมามีการปล่อยกู้จำนวนมากที่ปล่อยกู้สูงเกินกำลัง ของผู้กู้ด้วยดอกเบี้ยที่สูงเกินราคาความเสี่ยงทำให้เกิดเป็นหนี้เรื้อรัง ดังนั้นจึงจำเป็นที่ต้อง มีการทบทวนแก้ไขกฎเกณฑ์และบังคับใช้เพื่อกำกับดูแลการปล่อยกู้ให้มีความเป็นธรรม กับผู้กู้มากขึ้น ปัญหาหนี้ครัวเรือนหลายประเภทนั้นสามารถแก้ไขได้โดยการปรับปรุง กฎหมาย กฎเกณฑ์ และบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพตามกฎระเบียบ ด้วยความจำเป็น ดังกล่าว กระผมจึงขอเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไข รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งบังคับใช้เพื่อให้แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างยั่งยืนครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานครับ กระผม ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขออนุญาตสรุปญัตตินะครับ ขอใช้เวลาสั้น ๆ อภิปรายสรุปญัตติ เรื่อง ขอให้ สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหา และแนวทางแก้ไขเพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนและญัตติที่ใกล้เคียงกัน จากที่ เพื่อนสมาชิกกว่า ๔๐ คน ได้อภิปรายมาตั้งแต่เมื่อวานนั้น และย้ำชัดถึงปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่หนักหนาสาหัสขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงเกือบ ๒๐ ปีที่ผ่านมา การแก้ไขที่ฉาบฉวย เช่น การแจกเงิน หรือการพักหนี้ ได้ทำมาครั้งแล้วครั้งเล่า แต่กลับไม่ได้ช่วยให้ปัญหาหนี้สินลดลง เลยครับท่านประธาน ดังนั้นหากปัญหาหนี้สินไม่ได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน ย่อมจะส่งผลเสีย โดยตรงต่อการดำรงชีพของประชาชนเป็นวงกว้างในทุก ๆ กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกษตรกร กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบอาชีพอิสระ กลุ่มพนักงานประจำ กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจ กลุ่มข้าราชการ ทั้งข้าราชการปัจจุบันและข้าราชการเกษียณ ล้วนเป็นทุกข์จากปัญหา หนี้สินทั้งนั้น ในระดับปัจเจกบุคคล ปัญหาคุณภาพชีวิต ปัญหาด้านสุขภาพจิต ปัญหา การก่ออาชญากรรม ทั้งหมดนี้ล้วนก่อให้เกิดปัญหาสังคมที่รุนแรงตามมา ส่วนในระดับ มหภาคนั้น ระดับหนี้ครัวเรือนที่สูง ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน ของประเทศ และกดดันระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยไม่ให้เติบโตได้ตามศักยภาพที่ควร จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาแนวทางและวางแผนการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้คนไทยหลุดพ้น จากกับดักหนี้อย่างยั่งยืนครับท่านประธาน ต้องมีการศึกษาว่าโครงสร้างของปัญหาหนี้ ครัวเรือนเป็นอย่างไร มีอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้หนี้ครัวเรือนเร่งเติบโตมาจนถึงระดับสูงเกิน ๙๐ เปอร์เซ็นต์อย่างนี้ และจะทำอย่างไรในการแก้ปัญหาหนี้ได้ครบ ทั้งวัฏจักรหนี้ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ แล้วก็ปลายน้ำ คือตั้งแต่การปล่อยกู้ของเจ้าหนี้ การผ่อนชำระหนี้ให้ได้ตลอด รอดฝั่งตามกำลังของลูกหนี้ ให้ยอดหนี้ลดลงทุกงวด ๆ ที่ผ่อน รวมถึงการให้ความช่วยเหลือ เชิงรุกกับลูกหนี้ที่มีปัญหาในการผ่อนชำระ รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้เมื่อเป็น หนี้เสียไปแล้ว ท่านประธานที่เคารพครับ ด้วยความหนักหนาสาหัสของปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ กระผมขอเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้มีการศึกษาสาเหตุของ ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างลึกซึ้งในระดับคณะกรรมาธิการวิสามัญ รวมทั้งเสนอแนวทางแก้ไข ที่รวมถึงการปรับปรุงกฎหมาย กฎเกณฑ์ และระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงติดตามการบังคับใช้ ของหน่วยงานต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของ ประเทศไทยเป็นไปอย่างยั่งยืน ขอบคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขออภิปรายเกี่ยวกับรายงานผลการปฏิบัติงาน กสทช. ประจำปี ๒๕๖๕ โดยในวันนี้ผมจะขอ Focus อยู่เรื่องเดียว คือเรื่องการป้องกันปัญหาของแก๊ง Call Center ของ กสทช. เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๘ สิงหาคม ที่ผ่านมา พวกเราคงได้เห็นพาดหัวข่าวที่น่าสลดใจ เกิดเหตุ โศกนาฏกรรมฆ่ายกครัว ๓ ศพ โดยต้นเหตุของเรื่องนี้ก็มาจากเรื่องการโดนแก๊ง Call center หลอกลวง จนทำให้ผู้ก่อเหตุลงมือปลิดชีพภรรยากับลูกของตัวเอง และพยายามฆ่าตัวตาย ตาม ผมต้องขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์นี้อย่างสุดซึ้ง และที่ลุกขึ้นมาพูดอภิปราย ในวันนี้เพราะไม่ต้องการให้มีโศกนาฏกรรมแบบนี้เกิดขึ้นกับประชาชนคนไทยอีก เพื่อนร่วมงานของผู้ก่อเหตุได้ให้การว่าผู้ก่อเหตุจริง ๆ แล้วเขาเป็นคนใจเย็น เหล้าไม่กิน บุหรี่ ไม่สูบ ตั้งใจทำงานเป็นอย่างดีมาตลอด แต่ครอบครัวของเขาต้องมาล่มสลายเพราะโดน ปัญหาแก๊ง Call Center หลอกให้โอนเงิน โดยหลอกให้หลงเชื่อว่าจะได้กู้เงิน อ้างว่า ให้โอนเงินไปตรวจสอบบ้าง ไปจ่ายค่าระบบบ้าง ไปจ่ายค่าธรรมเนียมบ้าง ตอดเหยื่อ ให้โอนไปเรื่อย ๆ จนท้ายที่สุดเขาต้องไปกู้หนี้ยืมสินจากหลายแหล่งรวมเป็นเงินกว่า ๑,๗๐๐,๐๐๐ บาท นี่เป็นแค่ตัวอย่างเดียวของสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ปัญหาแก๊ง Call Center ได้กลายเป็นปัญหาสังคมที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกที ๆ มีข่าวออกมาไม่เว้น แต่ละวัน คนมีชื่อเสียง นักแสดง นักข่าว ชาวบ้าน โดนกันทั่วหน้า เชื่อว่าทุกคนในห้องนี้ น่าจะเคยได้รับโทรศัพท์จากแก๊ง Call Center กันแทบทุกคน ใครโชคร้ายตกเป็นเหยื่อ ก็ไม่เพียงแต่เสียทรัพย์ ติดหนี้ติดสิน ยังอาจเสียสุขภาพจิตจนเสียผู้เสียคน ครอบครัว ต้องพังทลาย ไปจนถึงขนาดสูญเสียชีวิตได้ ท่านประธานครับ ที่เล่ามาทั้งหมดนั้นจะเห็นได้ว่า ปัญหานี้มันรุนแรงขนาดไหน กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องโดยตรง เพราะเป็นผู้คุมกฎ คุมเกณฑ์ คุมช่องทางที่แก๊ง Call Center ใช้ในการเข้าหาเหยื่อ ไม่ว่าจะเป็น SMS หรือโทรศัพท์ แต่ทำไม กสทช. จึงป้องกันปัญหานี้ไม่ได้ กสทช. ควรจะทำได้ดีกว่านี้ใช่หรือไม่ หรือท่านคิดว่าที่เป็นอยู่อย่างนี้ท่านได้ทำสุดความสามารถแล้ว ทั้ง SMS และโทรศัพท์ ไม่ว่า จะเป็นเบอร์โทรศัพท์มือถือหรือเบอร์บ้าน ล้วนเป็นบริการที่ต้องลงทะเบียนทั้งนั้น ถ้าจะสืบ จะสาว มันไล่เบี้ยกันได้หมดว่าใครเป็นคนมาเปิดเบอร์เอาไว้เพื่อทำแก๊ง Call Center มา หลอกเงินคนไทย แต่ทำไมถึงป้องกันไม่ได้ ผมไม่เข้าใจจริง ๆ ครับ ผมได้ไปคุยกับตำรวจ ท้องที่มา เราจะเห็นตำรวจท้องที่หลายแห่งออกมาประชาสัมพันธ์บน Facebook ให้ระวัง เบอร์โทรแก๊ง Call Center มี List เบอร์เป็นร้อย ๆ เบอร์ เบอร์โทรศัพท์เบอร์อะไร SMS จากไหน ตำรวจท่านก็ทราบหมดครับ แล้วก็ต้องขอชื่นชมในความหวังดีของตำรวจที่ท่าน อุตส่าห์ทำ Poster ๑๘ กลโกง มิจฉาชีพหลอกเหยื่อ Online มาประชาสัมพันธ์แจกให้ ประชาชนคนไทยดูแลตัวเอง นี่มันเป็นวิธีการป้องกันที่ได้ผลขนาดไหนครับ เราเห็นข่าว เหยื่อแก๊ง Call center แทบทุกวัน พวกเราก็คงจะทราบกันดีว่ามันได้ผลขนาดไหน ผมจึง อดตั้งคำถามไม่ได้ครับท่านประธานว่าทำไม กสทช. ในฐานะผู้กำกับดูแลผู้ให้บริการเครือข่าย โทรศัพท์ ท่านถึงป้องกันไม่ได้ ยังปล่อยให้คนไทยโดนหลอกแล้วโดนหลอกอีก จากเบอร์ โทรศัพท์เดิม ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ที่ผ่านมา ผมเพิ่งได้อภิปรายสนับสนุน และอนุมัติกฎหมาย พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งในนั้น มาตรา ๔ ได้กำหนดไว้ว่าเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ในการป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการ โทรคมนาคม หรือผู้เกี่ยวข้อง มีหน้าที่ต้องเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลการให้บริการ ที่เกี่ยวข้องระหว่างกัน ผ่านระบบ หรือกระบวนการเปิดเผย หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ กระทรวง DES และสำนักงาน กสทช. เห็นชอบร่วมกัน ขอถามจริง ๆ เถอะครับว่ากฎหมายก็ให้อำนาจหน้าที่แล้วว่าให้แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง ผู้เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันอาชญากรรมแบบนี้ แล้ว กสทช. ได้ทำอะไรลงไปแล้วบ้าง ท่านได้ทำ ระบบฐานข้อมูลเบอร์โทร ฐานข้อมูลเจ้าของเบอร์ที่เป็นแก๊ง Call Center ให้แชร์ข้อมูล ระหว่างกันกับผู้เกี่ยวข้องแล้วหรือไม่ เพราะเหตุใดปัญหาแก๊ง Call Center นี้ถึงยังไม่ดี ขึ้นเลย กสทช. ทำไมไม่จัดการให้มีระบบระงับยับยั้งหมายเลขโทรศัพท์ของแก๊ง Call Center ที่ถูกจับได้แล้วไม่ให้เบอร์นั้นโทรศัพท์ไปหลอกคนอื่นได้อีก

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ผมต้องขอวิงวอนไปถึง กสทช. ให้ท่านช่วยแก้ปัญหาแก๊ง Call Center ให้หมดไปโดยเร็วที่สุด ก่อนที่ปัญหาแก๊ง Call Center นี้จะบ่อนทำลายสังคมไทยไปมากกว่านี้ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม