นายทรงศักดิ์ ทองศรี

  • ท่านประธาน ที่เคารพครับ กระผม นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้รับ มอบหมายจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้มาตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะ ของท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ขออนุญาตเอ่ยนาม ท่านอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ท่านเป็น ผู้แทนราษฎรของจังหวัดราชบุรี ในนามของพรรครวมไทยสร้างชาติ ต่อกรณีข้อห่วงใย เป็นคำถามแยกเฉพาะนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านได้กรุณา ถามเรื่องการแบ่งเขตในสารบบให้ชัดเจนระหว่างตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอโพธาราม กับตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เรื่องนี้ผมขออนุญาตกราบเรียน ท่านประธานอย่างนี้ว่าจากการตรวจสอบประวัติการจัดตั้งตำบลดอนกระเบื้อง พบว่า เดิมตำบลดอนกระเบื้องอยู่ในเขตปกครองของอำเภอโพธาราม ต่อมาในปี ๒๔๘๙ มีการแบ่งโอนพื้นที่บางส่วนเฉพาะพื้นที่หมู่ที่ ๑ ถึงหมู่ที่ ๖ ของตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอโพธาราม มาขึ้นกับตำบลหนองอ้อในเขตปกครองของอำเภอบ้านโป่ง และต่อมา ในปี ๒๔๙๒ มีการแบ่งเขตพื้นที่ของตำบลหนองอ้อเพื่อจัดตั้งขึ้นเป็นตำบลใหม่ ในเขตปกครองของอำเภอบ้านโป่งโดยตั้งชื่อว่าตำบลดอนกระเบื้อง ซึ่งเป็นชื่อเดียวกันกับ ตำบลดอนกระเบื้องในเขตปกครองของอำเภอโพธารามจนถึงปัจจุบัน เป็นผลให้พื้นที่ ทางทิศเหนือของตำบลดอนกระเบื้อง ของอำเภอโพธาราม กับพื้นที่ทางทิศใต้ของ ตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอบ้านโป่ง เป็นพื้นที่ที่มีแนวเขตติดต่อกันตามรูปที่เห็นนะครับ ต่อมาปี ๒๕๑๗ มีการจัดตั้งตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอบ้านโป่ง เฉพาะนอกเขตสุขาภิบาล กระจับเป็นสภาตำบลดอนกระเบื้อง และยกฐานะจากสภาตำบลดอนกระเบื้องเป็น องค์การบริหารส่วนตำบลดอนกระเบื้องในปี ๒๕๓๘ จึงทำให้มีองค์การบริหารส่วนตำบล ดอนกระเบื้องทั้งในพื้นที่เขตปกครองของอำเภอบ้านโป่งและอำเภอโพธารามในขณะเดียวกัน ทำให้มันมีชื่อตรงกันในเรื่องของตำบลนะครับ สำหรับข้อเสนอแนะกรณีการกำหนดหรือพื้นที่ เขตการปกครองระหว่างตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอบ้านโป่ง กับตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอโพธาราม ให้เกิดความชัดเจนนั้น ที่ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอแนะมา จากการตรวจสอบประกาศของกระทรวงมหาดไทย เรื่องการกำหนดเขตตำบลในท้องที่ อำเภอโพธารามของตำบลดอนกระเบื้อง และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการกำหนด เขตตำบลในท้องที่อำเภอบ้านโป่ง ของตำบลดอนกระเบื้อง พบว่ามีการบรรยายพิกัดกำหนด แนวเขตของตำบลดอนกระเบื้องคลาดเคลื่อนนะครับ โดยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ลงวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ มีจำนวนตำบลทั้งสิ้น ๑๙ ตำบล ซึ่งกำหนดเขตตำบลดอนกระเบื้องมีจำนวน ๕ หมู่บ้าน โดยระบุอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับตำบลดอนกระเบื้องและตำบลสวนกล้วย อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งตามข้อเท็จจริงทิศเหนือของตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอโพธาราม มีอาณาเขตติดต่อเฉพาะตำบลดอนกระเบื้องของอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรีเท่านั้น เวลาบรรยายแนวเขตคลุมข้างบนไปด้วย ความจริงมันเป็นเขตติดต่อกันในแนวเขตของแต่ละ ตำบลนะครับ แล้วยังมีประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องกำหนดแนวเขตตำบลในท้องที่ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๒ อันนี้อีกฉบับหนึ่ง มีจำนวนตำบล ทั้งสิ้น ๑๕ ตำบล ซึ่งกำหนดเขตตำบลดอนกระเบื้องมีจำนวน ๘ หมู่บ้าน ระบุอาณาเขต ทิศใต้ติดต่อกับตำบลบ้านเลือก ตำบลหนองโพ อำเภอโพธาราม หมายความว่าทิศใต้ ของจังหวัดราชบุรี ซึ่งตามข้อเท็จจริงทิศใต้ของตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอบ้านโป่ง ต้องมีอาณาเขตติดต่อเฉพาะ ตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอโพธารามเท่านั้น หมายถึง เส้นตรงกลางนะครับ ดอนกระเบื้องข้างบนก็ติดต่อดอนกระเบื้องข้างล่างเท่านั้น เวลาจะกำหนดเขียนบรรยายแนวเขตมันคลุมมาข้างล่างทำให้พื้นที่ทั้งหลายเหมือนว่า มันติดต่อกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการประกาศกระทรวงมหาดไทยทั้ง ๒ ฉบับดังกล่าวระบุ อาณาเขตติดต่อของตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอบ้านโป่งและอำเภอโพธารามคลาดเคลื่อน เชื่อว่าเกิดจากการคัดลอกจากแนวเขตเดิมของตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอโพธาราม ก่อนที่มี การแบ่งแยกพื้นที่ไปรวมกับตำบลหนองอ้อ และตั้งเป็นตำบลดอนกระเบื้องของอำเภอบ้านโป่ง ในปัจจุบันนะครับ ซึ่งคำบรรยายแนวเขตที่คลาดเคลื่อนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ดังกล่าวนี้เป็นผลให้พื้นที่ตำบลดอนกระเบื้องทั้ง ๒ แห่งทับซ้อนกัน และอาจเป็นเหตุ ให้การตรวจสอบในสารบบจะพบแต่คำว่าตำบลดอนกระเบื้อง ในเขตปกครองของ อำเภอโพธารามเท่านั้น ตามที่ท่านสมาชิกได้กล่าวถึงว่าเกิดปัญหาของการส่งเอกสาร การที่จะเดินทาง การติดต่อราชการเกิดความคลาดเคลื่อน แต่อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบ ในสาระบบกรณีการปักหมุด Google Maps ของตำบลดอนกระเบื้องหรือองค์การบริหาร ส่วนตำบลดอนกระเบื้อง เนื่องจากมีชื่อเดียวกันจึงต้องระบุรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น องค์การบริหารส่วนตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอโพธารามหรือองค์การบริหารส่วนตำบล ดอนกระเบื้อง อำเภอบ้านโป่ง ก็จะสามารถปักหมุดหรือสืบค้นข้อมูลตำบลดอนกระเบื้อง หรือองค์การบริหารส่วนตำบลดอนกระเบื้องทั้ง ๒ แห่งได้อย่างปกติ เพียงแต่ว่าเวลาคนที่กด Search ข้อมูลต้องระบุข้อมูลให้ครบว่าอยู่ในอำเภออะไร เป็นอำเภอบ้านโป่ง หรืออำเภอโพธารามนะครับ สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผมขออนุญาต ตอบรวมเลย ท่านประธานครับ สามารถดำเนินการได้ ๒ แนวทางด้วยกัน

    อ่านในการประชุม

  • แนวทางที่ ๑ การแก้ไขแนวเขตการปกครอง เรื่องนี้โดยการแก้ไขประกาศ กระทรวงมหาดไทยในการกำหนดเขตตำบลดอนกระเบื้องในท้องที่อำเภอโพธาราม และในท้องที่อำเภอบ้านโป่ง กรณีเรื่องคำบรรยายแนวเขตไม่ชัดเจนหรือแนวเขตเหลื่อมล้ำ ทับซ้อนกับท้องที่ข้างเคียงแล้วแต่กรณี โดยการบรรยายแนวเขตติดต่อและพิกัดให้ถูกต้อง ชัดเจนและตรงกับความเป็นจริงในปัจจุบัน สำหรับขั้นตอนวิธีการแก้ไขต้องตั้งคณะทำงาน ระดับตำบลของอำเภอ และตรวจสอบแนวเขตระหว่างตำบล จัดการประชุมหารือระหว่าง ตำบลเพื่อแก้ไขแนวเขต แล้วรายงานให้คณะกรรมการพิจารณาหาข้อยุติแนวเขต การปกครองของจังหวัดพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนส่งให้กระทรวงมหาดไทยในการแก้ไข ประกาศต่อไป อันนี้เป็นแนวทางในการแก้ไขแนวเขตนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • อีกแนวทางหนึ่งก็เป็นการขอเปลี่ยนชื่อ โดยอาศัยหลักเกณฑ์การขอเปลี่ยนชื่อ จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน หรือสถานที่ราชการอื่นในกรณีที่มีการจัดตั้งหรือการแยก หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ แล้วปรากฏว่าชื่อนั้นไปเหมือนหรือพ้องกับชื่อที่มีอยู่เดิม หรือชื่อเดิม ไปตรงพ้องกับชื่อส่วนราชการอื่นที่อยู่ในเขตติดต่อเดียวกัน เหมือนในกรณีที่กำลังหารืออยู่นี้ เราก็สามารถขอเปลี่ยนแปลงชื่อได้ จะต้องดำเนินการการประชาคมราษฎรในหมู่บ้านก่อน ได้รับความเห็นชอบจากประชาคมราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๑๐ ของประชากร ในหมู่บ้าน ตำบล รวมถึงต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการหมู่บ้านเสียก่อนนะครับ แล้วก็สภาตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล สภาเทศบาล นายอำเภอ และผู้ว่าราชการ จังหวัด แล้วก็นำเรื่องเข้าสู่กระทรวงมหาดไทยในการพิจารณาขอเปลี่ยนชื่อต่อไปนะครับ เบื้องต้นขออนุญาตตอบเพียงเท่านี้ก่อนครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ก็จะรับข้อเสนอแนะไปในขั้นตอนการดำเนินการให้เกิดความชัดเจน มากยิ่งขึ้น ในเรื่องของ ๒ ตำบลซึ่งมีชื่อเหมือนกันอย่างนี้ก็เป็นประเด็น ผมเข้าใจว่า มันเป็นเรื่องของการเดินทาง เรื่องงบประมาณ เรื่องความเข้าใจของพื้นที่อาจจะมีปัญหา กันบ้าง แต่ผมเรียนอย่างนี้ว่าหลังจากการประชุมแล้วเดี๋ยวทางกรมการปกครองก็จะทำ หนังสือแจ้งไปทางจังหวัดเพื่อดำเนินการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดที่เป็นไปตามข้อเสนอ แนวทางในการแก้ปัญหาว่าด้วยเรื่องกำหนดแนวเขตให้เกิดความชัดเจน แล้วก็แนวทาง เรื่องของการเปลี่ยนแปลงชื่อตามที่ท่านสมาชิกได้ให้ความเห็นมา ผมจะเรียนท่านประธานว่า จะพยายามติดตามประเด็นนี้ให้เร็วที่สุดนะครับ เพราะเข้าใจว่ามันเป็นปัญหาจริง ๆ แล้วก็ไม่ได้มีเฉพาะแต่ที่ราชบุรีอย่างเดียว ยังมีอีกหลายจังหวัดที่มีชื่อค่อนข้างจะพ้องกัน อย่างนี้ แล้วเป็นปัญหาเรื่องของการติดตามข้อมูลทั้งหลาย ยิ่งโลกปัจจุบันนี้ใช้สื่อทาง อิเล็กทรอนิกส์กันมาก คนจะเดินทางเวลากดไปแล้วมันไปอีกที่ ทำให้การเดินทาง อาจจะไม่สะดวก แล้วก็การดำเนินการทำงานของราชการเองมีข้อบกพร่อง ข้อผิดพลาด มาด้วย ก็จะรับไปดำเนินการต่อไปนะครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม นายทรงศักดิ์ ทองศรี ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้มาตอบ กระทู้ถามท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ขออนุญาตเอ่ยนามครับ ท่านเฉลิมพงศ์ แสงดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดภูเก็ต ซึ่งท่านให้ความกรุณาถามเรื่องที่ เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะเรื่องของการท่องเที่ยวในเมืองท่องเที่ยวอย่างจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีตัวเลขของนักท่องเที่ยวมาค่อนข้างมาก แล้วก็สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับรายได้ ของประเทศไทยค่อนข้างสูง แต่ก็เข้าใจตรงกันว่านักท่องเที่ยวเวลามาเที่ยวบ้านเรา เวลามันจะแตกต่างกัน ของเขาเวลามาถึงเมืองไทยจะเป็นเวลาเหมือนกลางวัน กลางคืน เป็นกลางวัน กลางวันเป็นกลางคืน อันนี้ก็เป็นเรี่องที่สอดคล้องแนวความคิดเรื่องของ การส่งเสริมการท่องเที่ยวทุกประเทศในโลกเขาจะเอาเรื่องการท่องเที่ยวนำหมด นำเศรษฐกิจ อย่างอื่นนะครับ ถ้ามีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวมาก รายได้ของประเทศก็จะสูงขึ้น อันนี้ก็ต้องขอบคุณท่านสมาชิกที่ให้ความห่วงใย โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตที่ผมกราบเรียนว่า เป็นจังหวัดที่สร้างรายได้ให้กับต่างประเทศค่อนข้างสูงมาก สำหรับเรื่องที่ท่านให้ความกรุณา เสนอแนะ และสอบถามในเรื่องของ Zoning แหล่งท่องเที่ยว แล้วก็เรื่องของเวลาด้วย เป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกัน สถานบริการสถานบันเทิงเขาต้องกำหนดเป็น Zoning แล้วเขาก็มีเวลา ทั้งหมดนี้เป็นไปตามกฎหมายทุกประการ คนที่เป็นรัฐมนตรีเองก็ไม่สามารถที่จะไป กำหนดเวลาได้เอง มันมีที่มาที่ไป โดยเฉพาะเดี๋ยวนี้การกระทำอะไรที่กระทบกับประชาชน จะต้องมีขั้นตอนทางกฎหมายที่ต้องไปรับฟังเสียงพี่น้องประชาชน อันนี้เบื้องต้นก่อนครับ

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับจังหวัดภูเก็ต ผมเรียนว่าเดิมได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตพื้นที่ เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการในท้องที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อปี ๒๕๔๖ เรียกว่า Zoning นะครับ โดยกำหนดเขตเพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการไว้ ๒ บริเวณ เรียกเป็นบริเวณ ๆ ไปนะครับ บริเวณที่ ๑ ในอำเภอเมืองภูเก็ต บริเวณที่ ๒ อำเภอกะทู้ และต่อมาคณะรัฐมนตรี ได้มีการประชุมและมีมติ เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘ มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย พิจารณาทบทวน และปรับปรุงการกำหนดเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ ให้เหมาะสม สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการ มีหนังสือแจ้งการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวไปยังจังหวัดทุกจังหวัดแล้ว รวมทั้งจังหวัดภูเก็ตด้วย ให้พิจารณาทบทวนและปรับปรุงการกำหนดพื้นที่เพื่อการอนุญาต ให้ตั้งสถานบริการให้เหมาะสม สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน จังหวัดภูเก็ตเองก็ได้ ขอการแก้ไขปรับปรุงพื้นที่เพื่อการขออนุญาตให้ตั้งสถานบริการ และกระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องจนมีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาต ให้ตั้งสถานบริการในท้องที่จังหวัดภูเก็ต ปี ๒๕๖๓ ซึ่งมีการกำหนดเขตเพื่อการอนุญาต ให้ตั้งสถานบริการเพิ่มเติมอีกจากเคยเป็น ๒ บริเวณ เป็น ๑๐ บริเวณด้วยกัน บริเวณที่ ๑ อยู่ในเขตพื้นที่ของตำบลกะรน อำเภอเมืองภูเก็ต พื้นที่บริเวณที่ ๒ อยู่ที่ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต พื้นที่ที่ ๓ อยู่ในพื้นที่ของตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต เช่นเดียวกัน แต่ว่าเป็นคนละจุดนะครับ พื้นที่ที่ ๔ อยู่ในตำบลฉลอง อำเภอเมืองภูเก็ต พื้นที่ที่ ๕ ถึงพื้นที่ที่ ๑๐ อยู่ในตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ ข้อที่ท่านได้นำเสนอในที่ประชุมวันนี้เพื่อเป็นแนวทาง ในการพัฒนาเรื่องพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเรื่องของสถานบันเทิงสถานบริการนี่นะครับ ผมเรียนท่านว่าที่บริเวณหาดป่าตอง ถนนบางลา น่าจะอยู่ในบริเวณพื้นที่ของบริเวณที่ ๗ ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ ผมดูจากพื้นที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาครอบคลุมหมดแล้ว อันนี้ผมเรียนเบื้องต้นท่านประธานและท่านสมาชิกด้วยว่าตรงที่ท่านห่วงใยมันอยู่ในพื้นที่ ที่กำหนดเป็น Zoning ไปแล้ว ครอบคลุมจากเดิมที่เคยมีไว้เมื่อปี ๒๕๔๖ แต่ว่าวันนี้จังหวัด ภูเก็ตเองก็เสนอแก้ไขตามมติ ครม. มา แล้วก็เพิ่มเป็น ๑๐ บริเวณ อันนี้ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด อยู่ในพื้นที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาเรียบร้อย อันนี้ก็ฝากท่านด้วยนะครับ แต่ถ้าท่านเห็นว่า ยังมีพื้นที่อื่น ๆ ที่เห็นว่าจะต้องมาปรับปรุงกำหนดเพื่อการขออนุญาตในการตั้งสถานบริการ เพิ่มเติม ผมเรียนว่ามันต้องเป็นไปตามกฎหมายในการนำเสนอ แต่ว่าอำนาจในการกำหนด เขตปริมณฑลจำกัดท้องที่ในการอนุญาตหรืองดการอนุญาตในสถานที่บริการเป็นอำนาจของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ ปี ๒๕๐๙ โดยมีแนวทางและขั้นตอนในการดำเนินการ ในการแก้ไขพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตเพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการดังนี้นะครับ เดี๋ยวท่านกรุณาเผื่อท่านฟังแล้วท่านจะได้มีแนวทางไปเพื่อที่จะชี้แจงให้พี่น้องประชาชน ได้ทราบนะครับ โดยการให้จังหวัดพิจารณากำหนดเขตพื้นที่อนุญาตให้ตั้งสถานบริการ โดยให้นำมาตรา ๕ และมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ ๒๕๐๙ มาเป็นหลัก ในการพิจารณา โดยจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมให้ครอบคลุมจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทุกฝ่าย ไม่ว่าประชาชน ครู อาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ ผู้นำศาสนา นักธุรกิจ ไม่ใช่เพียงแต่รับฟังความคิดเห็นจาก ผู้ประกอบการสถานบริการเท่านั้นนะครับ รวมถึงจัดให้ทำรายงานการประชุมเพื่อรับฟัง ความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งระดับอำเภอ ระดับจังหวัด แล้วก็ภาพถ่ายประกอบทุกครั้ง ที่มีการดำเนินการนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ให้จังหวัดตั้งคณะกรรมการของจังหวัดประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงาน ราชการที่เกี่ยวข้องตรวจสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ตามที่ต้องการที่จะกำหนดเป็นเขต เพื่อการอนุญาตตั้งสถานบริการโดยดูสภาพทั้งเวลากลางวันและกลางคืนของเขตพื้นที่ เพื่ออนุญาตตั้งสถานบริการและนอกเขตพื้นที่การอนุญาตด้วยที่อยู่ใกล้เคียงที่ได้รับ ผลกระทบเพื่อตรวจสอบให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้างต้น และจัดให้มีการทำข้อมูล การตรวจสอบพื้นที่ และให้บันทึกภาพถ่ายที่ตั้งของพื้นที่ของการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ ทั้งกลางวันและกลางคืนทุกครั้งที่ดำเนินการ อันนี้ก็เป็นแนวทางนะครับ เมื่อ ๒ แนวทาง ทำเรียบร้อยแล้วก็เรียนว่าต้องดำเนินการตามกฎหมาย กระทรวงเองไม่ได้ขัดข้องนะครับ ทั้งเรื่องของสถานที่และเรื่องของเวลานะครับ เรื่องของเวลาจริง ๆ แล้วนี่มันมีกฎหมาย ซึ่งกำหนดเรื่องสถานบริการ สถานบันเทิงอยู่แล้วว่าแต่ละอย่างเปิดได้เวลาเท่าไรนะครับ ถ้าเราจะขยายเวลาออกไปมันก็ต้องเป็นแนวเดียวกันในการดำเนินการให้เป็นไป ตามกฎหมายเรื่องของเวลาที่บอกท่านเสนอเองว่าน่าจะเป็นการเปิดไปให้ถึงตีสี่ อะไรประมาณอย่างนี้นะครับ ผมว่าจะเอาเวลาเท่าไรนี่เรากำหนดไม่ได้โดยตรงมันต้องไป รับฟังเสียงประชาชนเป็นไปตามกฎหมายขั้นตอนในการที่จะขอขยายเวลาแล้วก็นำข้อมูลทั้งหลาย โดยจังหวัดเสนอมาที่กระทรวงมหาดไทย กรมการปกครองก็จะรวบรวมข้อมูลทั้งหลาย ให้รัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ซึ่งรักษาการตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ในการดำเนินการกำหนด เรื่องของเวลา แต่ผมเรียนท่านประธานหรือท่านสมาชิกว่าเรื่องนี้ความจริงท่านได้สบายใจ เพราะท่านนายกรัฐมนตรีท่านได้ให้แนวทางแล้วมีหนังสือสั่งการให้ท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทยและรองนายกรัฐมนตรีด้วยไปดำเนินการจัดประชุมส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้องในการกำหนดทิศทางในการที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยเฉพาะเรื่อง สถานบริการ สถานบันเทิงทั้งหลาย ในเรื่องของเวลา เรื่องของ Zoning ให้เกิดความเรียบร้อย และให้ตรงกับแนวทางของการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยเฉพาะจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวมามาก ๆ อย่างจังหวัดภูเก็ต ผมเรียนว่าอันนี้ไม่ได้มีการนิ่งนอนใจตกลงกันว่าประมาณสักวันที่ ๒๕ เป็นแผนแล้วจะมีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนะครับ มีการกำหนดประเด็นว่า กำหนดพื้นที่ที่ท่องเที่ยวที่สมควรขยายเวลาปิดเปิดสถานบริการ เวลาที่เหมาะสมที่ขยาย เวลาเปิดสถานบริการ แล้วก็รายละเอียดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการที่ทำให้งานเรื่องของ การส่งเสริมการท่องเที่ยวลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย มีการเชิญหน่วยงานหลายหน่วยงาน ด้วยกัน ขออนุญาตนะครับ เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงการพัฒนา สังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวง การท่องเที่ยวและกีฬา แล้วก็กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปราบยาเสพติด ก็ประชุมเพื่อกำหนดแนวทางที่ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ได้กรุณาให้ข้อเสนอแนะแนวทางในการที่จะทำให้จังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวมาได้สมประโยชน์ สมประสงค์ในการเดินทางมาสู่ประเทศไทยบ้านเรานะครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธาน ผม ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ผมเรียนจริง ๆ แล้วความเห็น ของแต่ละท่านนี่ก็ถือเป็นประโยชน์นะครับ วันนี้ท่านนายกรัฐมนตรีท่านได้มีข้อสั่งการไปแล้ว ที่จะให้กระทรวงมหาดไทยนี่เป็นเจ้าภาพหลักในการเชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตามเฉพาะที่ กราบเรียนเบื้องต้นว่าเรื่องที่ท่านเสนอมานี่ก็อาจจะเป็นประเด็นหนึ่งในการหารือในการประชุม เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้นนะครับ อะไรที่เป็นข้อกังวลข้อห่วงใยอะไรทั้งหลายนี่ก็เอาไป ปรับปรุงได้ เพราะว่ากฎหมายที่ผ่านมาก็อาจจะมีข้อความอะไรในอดีตที่ผ่านมานะครับ อย่างเช่น รองเง็งผมยังไม่รู้เลยมันอย่างไรนะครับ มันก็เป็นเรื่องอดีต แต่ว่ามันเป็นสถานบริการ สถานบันเทิง ซึ่งต้องไปอยู่ภายใต้กฎหมายที่กำหนด เพราะว่าสถานเหล่านี้มันกระทบกับ ประชาชนด้วย กระทบกับเศรษฐกิจประชาชน บางทีมุมมองเราก็บอกว่าอยากให้มันทำแบบนี้ แต่อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่ามันไม่ถูก เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะต้องทำก็ต้องไปรับฟังเสียงพี่น้องประชาชน ตามขั้นตอนของกฎหมาย อันนี้ผมเรียนนะครับ มันมีกฎหมายรองรับชัดเจนกฎหมายว่าด้วย สถานบริการ การทำอะไรต้องว่าตามกฎหมายทุกประการก่อน กฎหมายที่ผ่านมาผมก็เรียนว่า มีโอกาสได้ดูก็ยังมีข้อด้อยน้อยมากที่ผ่านมา ผมเชื่อมั่นว่าผู้ประกอบการสถานบันเทิงเอง หลายคนเขาเข้าใจวิธีการเหล่านี้อยู่แล้ว แล้วก็ทางกระทรวงมหาดไทยเองก็จะมีเจ้าหน้าที่ ลงไปเวลาขอใบอนุญาต ขอตั้งสถานบริการก็จะมีพี่เลี้ยงลงไปช่วยดูแนะนำในสิ่งที่ถูกต้อง เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาผมเข้าใจว่าติดเรื่องเวลากับติดเรื่อง Zoning ๒ อย่างเท่านั้นเองนะครับ ถ้าเรามีโอกาสได้ไปดูเรื่องบริบทเรื่องการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงไปให้มันตรงจุดที่สุดว่า ตรงไหน อะไร อย่างไร

    อ่านในการประชุม

  • ๒. เรื่องของเวลานี่ก็เป็นเรื่องที่คือถ้าส่วนตัวผมนี่ผมมองว่าทำไมถ้าเป็น Zoning แล้ว ทำไมไม่กำหนดให้มัน ๒๔ ชั่วโมงไปเลย ให้มันรันทั้งวันไปเลยเป็นเรื่อง ผู้ประกอบการเองไม่ใช่ว่าไปเปิดตี่สี่ปิดแล้วอีก ๒ ชั่วโมงไปไหน ทำไมไม่ไปเลยให้หมด อันนี้ ก็เป็นเรื่องที่คณะกรรมการที่จะมีการประชุมที่ท่านรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเป็นเจ้าภาพในการบริหารตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ดำเนินการเพื่อให้มันเร็วที่สุด เพราะวันนี้รัฐบาลเองก็มุ่งเน้นเรื่องของการจัดหารายได้ จากการท่องเที่ยวเป็นประโยชน์กับประเทศของเราต่อไปนะครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขออนุญาต

    อ่านในการประชุม

  • ขออนุญาต ท่านประธานนิดเดียว พอดีเรื่องของการปรับปรุงเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวผมเรียนท่านประธาน กับท่านสมาชิกว่าเราคงจะต้องเน้นไปจังหวัดที่เป็นจังหวัดที่มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวจริง ๆ การดำเนินการขยายกิจการทั้งหลายนี่ไม่น่าจะเป็นเรื่องของการที่จะไปให้บริการกับนักเที่ยวนะ น่าจะเป็นการให้บริการกับนักท่องเที่ยวมากกว่า เพราะฉะนั้นแต่ละจังหวัดที่จะเข้าแนวทาง ในการที่จะขยายหรือกำหนด Zoning เพิ่มเติมน่าจะเป็นจังหวัดที่ต้องมีการกำหนดว่า เป็นจังหวัดเพื่อการท่องเที่ยวจริง ๆ อันนี้เบื้องต้นผมกราบเรียนท่านประธานเพียงเท่านี้ก่อน ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ กระผม นายทรงศักดิ์ ทองศรี ในฐานะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จะทำหน้าที่ตอบกระทู้ถามของท่านสมาชิก ผู้ทรงเกียรติ ต้องขออนุญาตเอ่ยนามท่าน ท่านอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ ท่านเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย จังหวัดกาญจนบุรี ก่อนอื่นนั้นผมต้องกราบ ขอบพระคุณท่านแทนพี่น้องชาวกาญจนบุรีด้วยที่ท่านได้มีความห่วงใยพี่น้องในความเป็นอยู่ โดยเฉพาะเรื่องของน้ำซึ่งถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต แต่เรื่องน้ำวันนี้เป็น เรื่องน้ำที่มีผลกระทบกับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ชุมชนของกาญจนบุรี

    อ่านในการประชุม

  • ผมขอ อนุญาตกราบเรียนท่านประธานถึงท่านสมาชิกอีกครั้งครับว่าสำหรับชุมชนเมืองกาญจนบุรี ในเขตเทศบาลเมืองกาญจนบุรีนั้น ไม่ว่าจะเป็นเทศบาลตำบลท่ามะขาม เทศบาลเมือง ปากแพรก อำเภอเมืองกาญจนบุรี และเทศบาลตำบลท่าล้อ อำเภอท่าม่วง ตั้งอยู่บนบริเวณ จุดบรรจบของแม่น้ำแควใหญ่กับแม่น้ำแควน้อย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำแม่กลอง โดยตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของเขื่อนแม่กลอง ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ปัจจุบันมีพื้นที่ชุมชน กาญจนบุรีทางฝั่งทิศเหนือของแม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำแควใหญ่ประสบปัญหาน้ำท่วมใน ฤดูฝนเป็นประจำทุกปี ตามที่ท่านสมาชิกได้พูดถึงได้กล่าวถึง แล้วก็เป็นพื้นที่น้ำท่วมที่เรียกว่า ซ้ำซาก ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ตามแนวถนนแสงชูโต ถนนพัฒนาการทางรถไฟ ถนนเลี่ยงเมือง และพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณทุ่งท่าล้อ โดยมีสาเหตุของน้ำท่วมเกิดจากปริมาณน้ำไหลหลาก ที่ไหลมาจากเขาพัง เขาใหญ่ แล้วก็เขาหัวล้านทางด้านทิศเหนือของพื้นที่ ซึ่งปริมาณน้ำ ไหลหลากดังกล่าวนี้มีแนวการระบายน้ำลงไปสู่แม่น้ำแควใหญ่ทางด้านทิศใต้ และบางส่วน ระบายลงไปถึงทางทุ่งท่าล้อทางทิศตะวันออก โดยแนวการระบายน้ำลงไปในแม่น้ำแควใหญ่ ตัดผ่านถนนเมืองกาญจนบุรี แต่ไม่มีทางระบายน้ำเป็นสายหลัก และมีทางรถไฟและทางถนน แสงชูโตขวางแนวเป็นอุปสรรคของการระบายน้ำตามธรรมชาติ จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง ตามแนวถนนชูโตและถนนพัฒนาการ ซึ่งเป็นแนวเลียบทางรถไฟตลอดแนว ส่วนแนวการระบายน้ำไปทางทุ่งท่าล้อ มีห้วยน้ำใสเป็น ทางระบายน้ำสายหลัก ระบายน้ำผ่านถนนทางเลี่ยงเมือง ๒ ครั้ง หมายความว่ามีสิ่งกีดขวาง การระบายน้ำที่เป็นถนนเลี่ยงเมืองขวางทางน้ำ ๒ ครั้ง ในการระบายน้ำก่อนลงไปสู่ ทุ่งน้ำท่าล้อทางทิศตะวันออก โดยมีพื้นที่ที่ไม่สามารถระบายน้ำลงในแม่น้ำแม่กลองเป็นพื้นที่ ลุ่มต่ำด้วย อันนี้ผมเรียนท่านประธานเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่เป็นความห่วงใยของท่านสมาชิก ซึ่งท่านเป็นผู้แทนราษฎรที่ได้รับการเลือกตั้งจากพี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่ของท่านด้วย ผมเรียนท่านประธานว่าจากปัญหาดังกล่าวนี้ กระทรวงมหาดไทยโดยกรมโยธาธิการและ ผังเมืองจึงได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายการละเอียดระบบการป้องกัน น้ำท่วม ในพื้นที่ชุมชนเมืองกาญจนบุรีตั้งแต่ปี ๒๕๖๔ เป็นแผนภายใต้โครงการพัฒนา กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง ๑ ซึ่งผลการศึกษาในโครงการดังกล่าวได้เสนอโครงการย่อย เพื่อแก้ไขบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขตพื้นที่ชุมชนเมืองกาญจนบุรีอย่างเป็นระบบ มีทั้งหมด ๑๑ โครงการ โดยแนวคิดหลักในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมประกอบไปด้วยการก่อสร้าง ท่อระบายน้ำสายหลักเพื่อระบายน้ำลงสู่แม่น้ำแควใหญ่ การปรับปรุงอาคารระบายน้ำหลัก คลองระบายน้ำสายหลักให้เพียงพอกับการระบายน้ำไหลหลากแบบมีคุณภาพ ซึ่งบางส่วน เราจะเข้าสู่คลองน้ำชลประทาน รวมทั้งการก่อสร้างท่อระบายน้ำและสถานีสูบน้ำเพื่อผันน้ำ จากทุ่งท่าล้อไประบายน้ำลงแม่น้ำแม่กลอง โดยโครงการที่เสนอแนะจากการสำรวจออกแบบ เราจะต้องดำเนินการในพื้นที่ซึ่งหลายหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น กรมทางหลวง การรถไฟแห่งประเทศไทย และกรมชลประทาน ซึ่งจะต้องดำเนินการเป็นแบบบูรณาการร่วมกันในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของการดำเนินการ เหล่านี้ในเขตพื้นที่เมืองอย่างต่อเนื่อง ป้องกันน้ำขัง ซึ่งผมเรียนท่านประธานถึงท่านสมาชิก ว่าความจริงในระดับจังหวัดเองเคยมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ในการแก้ไขปัญหา น้ำท่วมอย่างเป็นระบบ ซึ่งขออนุญาตเอ่ยนามท่าน เมื่อก่อนท่านเป็นนายกองค์การบริหาร ส่วนจังหวัด คือท่านสุรพงษ์ ปิยะโชติ ซึ่งวันนี้ท่านดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงคมนาคม เป็นประธานในการศึกษาในการเตรียมความพร้อมในการที่จะดำเนินการ เพื่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างเป็นระบบนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการตั้งกระทู้ของท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติที่ได้ ถามขึ้นมาเป็นประเด็นที่ข้อที่ ๑ นั้น ผมขออนุญาตเรียนท่านประธานไปถึงท่านสมาชิกด้วย ว่ากระทรวงมหาดไทยเอง โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองมีการจัดสรรงบประมาณในการ แก้ไขปัญหาน้ำท่วมทั่วประเทศ ซึ่งหากมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีงบประมาณไม่เพียงพอ อันนี้ ก็สามารถที่จะขอรับการสนับสนุนงบประมาณได้ โดยส่งรายละเอียดและข้อปัญหาต่าง ๆ ผ่านผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หมายความว่าพื้นที่ของปัญหานี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขต พื้นที่ของ อปท. กรมโยธาธิการและผังเมืองเองจะดำเนินการอย่างไรนั้นต้องมีคำขอจากพื้นที่ ในการที่จะให้เขาใช้พื้นที่ ในการที่จะดำเนินการในโครงการเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ในพื้นที่ตามโครงการที่เคยมีการศึกษาไว้แล้ว ซึ่งผมเรียนท่านประธานและสมาชิกว่า หลายหน่วยงานด้วยกันที่เกี่ยวข้องที่ต้องให้ความเห็นชอบในการลงไปในพื้นที่ในการ ดำเนินการเพื่อจัดสรรงบประมาณ แล้วก็ลงไปทำโครงการตามที่ออกแบบไว้ที่สำรวจไว้ใน ๑๑ โครงการต่อไป ในเบื้องต้นขออนุญาตตอบเพียงเท่านี้ก่อนครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธาน ที่เคารพครับ ผม นายทรงศักดิ์ ทองศรี ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นผู้ตอบกระทู้ของท่านสมาชิก สำหรับคำถามในข้อที่ ๒ ผมเรียนอย่างนี้ว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ขอเรียนให้ทราบว่าโครงการ ๓ โครงการ ที่เป็นโครงการที่คิดว่าจะเป็นโครงการที่จะสามารถที่จะดำเนินการได้ แล้วก็สามารถที่จะ บรรเทาความเดือดร้อนเรื่องปัญหาน้ำท่วมได้

    อ่านในการประชุม

  • เราได้มี การตั้งงบประมาณไว้เบื้องต้นในการที่จะดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งในปี ๒๕๖๗ ก็คืองบประมาณที่เรากำลังพิจารณาอยู่ในขณะนี้ เรามีการตั้งชื่อโครงการไว้ว่า โครงการ พัฒนาพื้นที่ชุมชนตามผังเมืองรวมของเมืองกาญจนบุรี อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัด กาญจนบุรี ในวงเงินประมาณ ๒๐๐ ล้านบาทเศษ เป็นการก่อสร้างองค์ประกอบโครงการที่มี ความจำเป็นเร่งด่วนบางส่วนของโครงการตามที่มีการศึกษา เป็นระบบระบายน้ำห้วยนาล่าง ความจริงผมมีภาพประกอบเป็นหมายเลข ๔ ตามผลการศึกษาโดยดำเนินการในเขตเทศบาล เมืองกาญจนบุรี ประกอบด้วยโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำใต้ผิวทางจราจรและท่อระบายน้ำ ท่อลอดถนนและทางรถไฟ แล้วก็อาคารชลศาสตร์ นั่นก็เป็นโครงการที่ ๑

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับในปีงบประมาณ ๒๕๖๘ ซึ่งในขณะนี้ทุกหน่วยงานก็เตรียมทำ โครงการส่งเพื่อนำไปสู่การพิจารณางบประมาณในปีถัดไป เราก็ตั้งใจว่าแผนที่เราศึกษาไว้แล้ว ทั้งหมด ๑๑ โครงการ ถ้าเราได้มีโอกาสได้ทำในส่วนที่คิดว่าเป็นการบรรเทา แล้วก็ดำเนินการ ตามแผนให้เกิดความรวดเร็วก็สามารถที่จะแบ่งเบาความทุกข์ของพี่น้องประชาชนได้ สำหรับงบประมาณปี ๒๕๖๘ โดยใช้ชื่อโครงการพัฒนาพื้นที่ชุมชนตามผังเมืองรวม กาญจนบุรี อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ระยะที่ ๒ ในวงเงินงบประมาณ ๒๖๕ ล้านบาทเศษ เป็นการก่อสร้างองค์ประกอบทั้งหมดของโครงการระบบระบายน้ำ บริเวณโค้งทางรถไฟ อันนี้ก็หมายเลข ๒ ด้วย และโครงการระบบระบายน้ำบ้านเขาใหญ่ถึง บ้านพุร่างนิมิต อันนี้หมายเลข ๓ ที่เราจะทำ ตามผลการศึกษาโดยดำเนินการในเขตเทศบาล เมืองกาญจนบุรี เทศบาลเมืองปากแพรก และเทศบาลตำบลท่ามะขาม ประกอบด้วยงาน การก่อสร้างท่อระบายน้ำใต้ผิวทางจราจรท่อระบายน้ำท่อลอดถนนแล้วก็ทางรถไฟ หมายถึง ท่อลอดทางรถไฟ แล้วก็อาคารชลศาสตร์ ซึ่งผมเรียนท่านประธาน ท่านสมาชิกว่าสำหรับ โครงการทั้ง ๒ ข้างต้นนี้จะครอบคลุม ๒ โครงการตามที่ท่านได้มีโอกาสได้ถามกระทู้เป็น หนังสือมาก่อน เป็นโครงการระบายน้ำท่วมถนนพัฒนาการและโครงการพัฒนาพื้นที่ชุมชน เทศบาลเมืองกาญจนบุรี บริเวณถนนพัฒนาการ อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี สำหรับโครงการน้ำท่วมบริเวณห้างสรรพสินค้า Robinson Lifestyle กาญจนบุรีนั้น เป็นส่วนหนึ่งของโครงการปรับปรุงระบบระบายน้ำถนนเลี่ยงเมืองตามผลการศึกษาด้วย ตามหมายเลข ๗ แต่เนื่องจากว่าโครงการดังกล่าวนั้นเป็นโครงการที่อยู่ในพื้นที่ของกรมทางหลวง อันนี้ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองได้มีการออกแบบแล้วก็ส่งแบบที่ออกแบบแล้วเป็นแบบ เบื้องต้นที่จะให้ทางกรมทางหลวงนำไปใช้ประกอบในการออกแบบเพิ่มเติมในการก่อสร้าง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมต่อไป ขอบคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติครับ กระผม นายทรงศักดิ์ ทองศรี ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะทำหน้าที่ในการตอบกระทู้ถาม ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ซึ่งท่านได้ให้ความกรุณาถามเป็นกระทู้ แล้วก็ต้องขออนุญาต เอ่ยนามท่าน ท่านว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ท่านเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดภูเก็ต ท่านได้กรุณาถามในเรื่องการดำเนินการตามนโยบายที่ได้หาเสียง ไว้กับประชาชน เป็นกระทู้ถามที่ ๐๘๔ ผมเรียนท่านประธาน ครั้งแรกก็ยังนึกสงสัยอยู่ ว่าที่ท่านถามกระทู้นี้ไปถามเรื่องที่กำลังเป็นข่าวอยู่ เรื่องของการก่อสร้างในพื้นที่ป่าชายเลน แล้วก็เป็นโครงการซึ่งยังทำค้างไว้อยู่ แล้วก็มีประเด็นปัญหาเรื่องความเห็นไม่ตรงกัน หลายหน่วยงานด้วยกัน สำหรับในเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี ผมเรียนท่านประธานและท่านสมาชิกไว้ก่อนนะครับว่าการบริหารราชการแผ่นดินต้องเป็นไป ตามรัฐธรรมนูญ ๑๖๒ รัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินได้นั้นต้องแถลงนโยบายต่อ รัฐสภาเสียก่อน หมายความว่า การบริหารราชการแผ่นดินนั้นต้องเป็นไปตามคำแถลง นโยบายที่กระทำไว้ต่อรัฐสภา แล้วก็เรียนท่านประธานว่าสำหรับรัฐบาลนี้มีพรรคการเมือง หลายพรรคด้วยกันเป็นพรรคร่วมรัฐบาล การที่จะเอานโยบายของพรรคการเมืองหนึ่งที่เคย ไปพูดไว้ในช่วงการเลือกตั้งนั้นเป็นเรื่องช่วงนั้น แต่เวลาที่จะมาบริหารประเทศแล้วก็ต้องเป็น แนวนโยบายร่วมกันของหลายพรรคการเมืองที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน อันนี้เป็น เบื้องต้นที่ผมต้องขออนุญาตกราบเรียนท่านประธาน เพราะว่าท่านได้พูดถึงเรื่องของมีการ ไปหาเสียงอะไรประมาณนั้น ผมก็ไม่ทราบนะครับ ผมไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่ว่าเราก็จะพูด ในเรื่องของการบริหารตามนโยบายของรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา สำหรับเรื่องที่ท่าน มีความกังวล แล้วก็เห็นเป็นแนวทางว่ามันควรจะเป็นอย่างที่ท่านได้พูดถึงเรื่องของการ เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดแบบโดยตรง แล้วพูดถึงเรื่องที่จะมีจังหวัดนำร่องอะไรหรือไม่ อย่างไรนั้น ผมขออนุญาตกราบเรียนท่านประธานในส่วนที่เป็นกระทรวงมหาดไทย ซึ่งผม รับผิดชอบมีท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยด้วย คือท่านอนุทิน ชาญวีรกูล ขออนุญาตเอ่ยนามท่าน สำหรับกระทรวงมหาดไทยนี้ตามกระแสข่าวที่ได้พูดถึง เรื่องการเลือกตั้งอะไรต่าง ๆ ที่เป็น เรื่องของการกระจายอำนาจด้วยนั้น เราก็ไม่ได้มีการนิ่งนอนใจ มีการประชุมเสนอแนะ แนวทางเป็นประเด็นต่าง ๆ ว่าเราจะมีการดำเนินการเรื่องของการส่งเสริมการปกครอง ท้องถิ่นแบบกระจายอำนาจ เรื่องของการเลือกตั้งผู้ว่าโดยตรงนี้ก็มีการเชิญหลายหน่วยงาน มาประชุมหารือร่วมกัน เพราะว่าเรื่องการปรับเปลี่ยน เรื่องการบริหารราชการ ไม่ว่าจะเป็น ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค หรือส่วนท้องถิ่นมันเป็นเรื่องใหญ่ แล้วก็ได้เชิญผู้คนมาร่วมกัน ศึกษาวิเคราะห์ประเด็นปัญหาการศึกษามากมาย จนในที่สุดมีประเด็นที่คุยกันแล้วก็พบว่า ยังมีข้อกังวล แล้วก็มีข้อสังเกตหลายประการ ในแนวทางที่จะดำเนินการตามที่เป็นไปตาม กระแสดังกล่าวนั้น เช่น ควรมีการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่นเพื่อเป็นพื้นฐานในการสร้างความ เข้มแข็งให้กับประเทศก่อน โดยให้มีการเปลี่ยนแปลงบทบาทของชุมชนท้องถิ่นจากผู้รับ ผู้ปฏิบัติไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง อันนี้เป็นข้อกังวลที่มีการพูดคุยกันในการประชุม เสวนากันนะครับ สำหรับเรื่องการกระจายอำนาจเป็นเรื่องที่จำเป็น แต่อาจยังไม่เพียงพอ โดยยังคงต้องมีการปรับโครงสร้างเชิงระบบ การจัดความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างราชการ ส่วนกลางกับราชการบริหารส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปตามหลักการรวมอำนาจกับการกระจาย อำนาจไปด้วย ๓. ระบบการบริหารราชการแผ่นดินมีการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ราชการ ส่วนกลางมากจนเกินไป โดยยังไม่มีการถ่ายโอนภารกิจให้แก่ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น เท่าที่ควร และเมื่อมีการยุบเลิกราชการบริหารส่วนภูมิภาคแล้วจะทำให้ราชการบริหาร ส่วนกลางมีอำนาจใหญ่ขึ้น โดยจะมีเพียงหน่วยงานสาขาในระดับจังหวัดแทน ซึ่งจะทำให้ เกิดการขาดแคลนกลไกการเชื่อมโยงการบูรณาการระหว่างราชการส่วนกลางกับราชการ ส่วนท้องถิ่น อันนี้เป็นข้อกังวลที่มีการประชุมหารือกัน ๔. รัฐบาลจะขาดกลไกในการ ยกระดับองค์กรปกครองท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งและสามารถให้บริการสาธารณะแทน ราชการส่วนกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ๕. อาจต้องมีการยกเลิกหรือแก้ไขปรับปรุง หรือ การจัดระเบียบกฎหมายขึ้นอีกหลายฉบับ ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ ประกอบกับต้องมีการกำหนดหน้าที่และอำนาจหน้าที่ที่สอดคล้องแล้วก็เหมาะสมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น กระบวนการจัดทำและเสนอของบประมาณ อำนาจในการจัดเก็บภาษีประเภทต่าง ๆ อันนี้เป็นข้อที่มีการประชุมหารือกันเบื้องต้นในช่วง ที่มีกระแสในแนวทางว่ามีหลายผู้คนอาจจะมีความต้องการว่าน่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าโดยตรง ที่มาจากประชาชน กระทรวงมหาดไทยเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ก็มีการหารือกันกำหนดแนวทาง ว่าอะไรที่เป็นไปได้ อะไรที่เป็นไปไม่ได้ อันนี้เป็นแนวทางในการที่จะดำเนินการเพื่อให้เป็น ประโยชน์กับพี่น้องประชาชน อันนี้เป็นกรอบหนึ่งที่เราดำเนินการอยู่นะครับ ทั้งนี้ การกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งจำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายและ การบริหารราชการแผ่นดินทั้งระบบด้วย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน จะต้องมี การศึกษาและดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยต้องคำนึงถึงความพร้อมและเจตนารมณ์ของ ประชาชนเป็นสำคัญ รวมถึงต้องมีการรับฟังความคิดเห็นแล้วก็ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาควิชาการ แล้วก็สิ่งสำคัญ คือประชาชนซึ่งอาจจะต้องมีการจัดทำประชามติรับฟังเสียงจากประชาชนตามมาตรา ๑๖๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ รวมทั้งต้องมีการรับฟัง ความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการตรากฎหมายตามมาตรา ๗๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งด้วย อันนี้ผมเรียนท่านประธานในเบื้องต้นก่อนว่า จากสิ่งที่ท่านได้ถามมานั้น กระทรวงมหาดไทยเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจก็ดำเนินการไป แต่ผม เรียนเบื้องต้นก่อนว่าเป็นเรื่องที่มีประเด็นที่ต้องทำให้เกิดความรอบคอบ เพื่อให้การ ดำเนินการนั้นยึดประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นหลักในการดำเนินการต่อไป ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธาน ที่เคารพครับ ผม นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จะเป็น ผู้ตอบกระทู้ของท่าน ผมเรียนท่านประธานนะครับว่าท่านสมาชิกท่านก็กังวลเยอะ คำถาม ก็เป็นเรื่องที่ท่านก็ทราบดีอยู่แล้วว่าในเบื้องต้นรัฐบาลก็แถลงนโยบายในเรื่องของการกำหนด เรื่องของผู้ว่าราชการจังหวัดว่ายังไม่ได้กำหนดเป็นแนวทางเรื่องของการเลือกตั้งแบบ ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง เป็นเรื่องของการเป็นแบบผู้ว่าแบบ CEO ซึ่งในขณะนี้โดย กระทรวงมหาดไทยก็ได้มีแผนดำเนินการเตรียมรองรับ ความจริงเรื่องนี้เป็นเรื่องมีอยู่แล้ว เรื่องการบริหารงานเชิงพื้นที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด ได้มีการตรากฎหมายสำคัญ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายและเป้าหมายการพัฒนาจังหวัด คือมีพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๖๕ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๕ โดยมาตรา ๗ แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ มีหลักการบริหาร เชิงพื้นที่ที่สำคัญ คือการพัฒนาแบบองค์รวมเพื่อให้เกิดการพัฒนาขึ้นในทุกด้านพร้อมกัน แบบยั่งยืน ทั้งในระยะสั้นแล้วก็ระยะยาว ครอบคลุมในมิติคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำและความสงบเรียบร้อย ด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในพื้นที่ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ประชาสังคม ภาคประชาชน ผ่านกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดที่มาจากปัญหาและความต้องการของพื้นที่นะครับ ซึ่งได้ร่วมกันคิดร่วมกันทำและร่วมกันให้ความเห็นตั้งแต่ระดับแผนพัฒนาหมู่บ้าน ชุมชน อำเภอ ท้องถิ่น จนนำไปสู่การจัดทำแผนจังหวัดภายใต้กลไกการประสานแบบ เรียกว่า One Plan ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำแผน แล้วก็ประสานแผนพัฒนาพื้นที่ ในระดับอำเภอและระดับตำบลตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๖๒ อันนี้คือแผนที่กระทรวงมหาดไทยเตรียม ให้เกิดความคล่องตัวในการที่จะตัดสินใจในการที่จะดำเนินการให้มันสามารถลุล่วงไปได้ ที่ระดับจังหวัด โดยเราอาจจะยังไม่ถึงกับการมีการเลือกตั้งผู้ว่าโดยตรง อันนี้เป็นเรื่องที่ กำหนดในแนวทาง ซึ่งความจริงแล้วเมื่อการประชุม ครม. ที่ผ่านมาที่จังหวัดหนองบัวลำภู ก็มีการนำเรื่องนี้เข้าสู่การประชุม กำหนดแนวทางของผู้ว่าราชการจังหวัดให้สามารถที่จะ ทำงานให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น ไม่ว่าเรื่องของงบประมาณทุกส่วน หน่วยงานต้องผ่าน แผนพัฒนาจังหวัด เรื่องการดูเรื่องความดีความชอบของหัวหน้าส่วนราชการทุกส่วนที่อยู่ ในจังหวัด ซึ่งแนวทางอย่างนั้นก็จะทำให้จังหวัดมีความคล่องตัวแล้วก็สามารถที่จะบริหาร จัดการเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดแล้วก็เร็วมากยิ่งขึ้นนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนเรื่องงบประมาณก็เป็นเรื่องที่ต้องสอดคล้องกับแผนการพัฒนาจังหวัด ไม่ใช่ว่าหน่วยงานแต่ละหน่วยงานต่างคนต่างทำ อันนี้ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้จังหวัดนั้น สามารถที่จะบริหารราชการพื้นที่ได้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น แต่ว่าปัญหาที่ท่านได้พูดถึง เรื่องของการพิจารณาอนุญาตอะไรต่าง ๆ อันนั้นเป็นเรื่องที่ต้องคุยกัน เพราะว่าบางเรื่อง มันมีกฎหมายมีข้อจำกัดอะไรมากมายที่ต้องให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม อาจจะมอบอำนาจ ไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ทุกเรื่องที่สามารถทำได้ที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย หรือกฎหมายให้ทำได้ อันนั้นเป็นเรื่องที่เราสามารถทำให้พื้นที่ทั้งหลายสามารถที่จะบูรณาการกันแล้วก็กำหนด แนวทางในการทำงานร่วมกันได้เร็วมากยิ่งขึ้น อันนี้เป็นแนวทางหนึ่งที่กระทรวงมหาดไทยเอง ก็ดำเนินการอยู่ในช่วงที่ยังไม่ผ่านไปถึงการที่จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าโดยตรง อันนี้ผมเรียนว่า เรายังไม่มี ไม่ใช่ว่าไม่มีเลย แต่ว่าเป็นแนวทางที่ต้องศึกษากันเพื่อให้เกิดความรอบคอบ เสียก่อนในการที่ทำให้สิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงนั้นมันต้องมาจากความต้องการของพี่น้อง ประชาชน โดยเฉพาะที่ผมเรียนเบื้องต้นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มันกำหนดหลายเรื่องว่าการจะ ทำอะไรนั้นมันก็ต้องฟังเสียงประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ว่าใครก็คิดเองได้ จะทำอะไรเองก็ได้ ไม่ใช่นะครับ เพราะว่าบ้านเมืองมันมีกฎหมายในการใช้บังคับกันอยู่นะครับ มีหลายคำถาม ผมฟัง ๆ อยู่ปัญหาเรื่องบุคลากรในท้องถิ่นที่ขาดแคลนที่ว่าไม่พอ อันนี้ก็เกิดจากปัญหาเรื่อง ของคำสั่ง คสช. ที่ ๘/๒๕๖๐ เป็นคำสั่งซึ่งกำหนดให้ท้องถิ่นทั้งหลายต้องมาหาวิธีการที่ ส่วนกลาง โดยเฉพาะที่ ก มี ก. กลาง ก. อบจ. ก. อบต. ก. เทศบาล แล้วก็ที่ ก.สถ. กำหนดให้เป็นผู้ดำเนินการในการจัดหาเรื่องการสอบแข่งขันในภาพรวม ซึ่งในขณะนี้ผมก็ เรียนให้ทราบว่าทางส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นก็ได้มหาวิทยาลัยในการที่จะจัดสอบ ในตำแหน่งที่ว่าง ๆ ทั้งหลายในการดำเนินการเพื่อที่จะให้ท้องถิ่นมีบุคลากรในการที่จะ ดำเนินการให้สอดรับกับการทำงานในพื้นที่ แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่ผมต้องกราบเรียนท่านประธาน ถึงท่านสมาชิกด้วยนะครับว่าในขณะนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น ก็คือว่าท้องถิ่นเองมีรายจ่าย ประจำมาก ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ ว่าบาง อปท. ในพื้นที่อีสานมีงบประมาณในภาพรวม ประมาณสัก ๕๐ ล้านบาท เป็นงบลงทุนเพียง ๕ ล้านบาทเอง ที่เหลือเป็นงบรายจ่ายประจำ ไป ๔๕ ล้านบาทเศษ อันนั้นเป็นข้อกังวล ข้อคิดอย่างหนึ่งว่าเรื่องของการกำหนดทิศทางใน การที่จะกำหนดให้ท้องถิ่นทั้งหลายมีบุคลากรในการทำงานมันต้องให้สมดุลกับงานที่เขาต้อง รับผิดชอบด้วย บางทีบางครั้งเราเปิดตำแหน่งอัตราลงไปมาก ๆ ทางท้องถิ่นเองก็ไปหาบุคคล เข้ามาทำงานก็ไปเป็นรายจ่ายประจำเสียส่วนใหญ่ รายจ่ายเพื่อการลงทุนเองเหลือจำกัด อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราต้องพึงระวังในการที่กำหนดทิศทางเรื่องของบุคลากรในการทำงาน ในแต่ละพื้นที่ให้มันสอดรับกันด้วยเรื่องของรายได้ที่มีขึ้นในแต่ละท้องถิ่นต่อไป ขอบคุณ ท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่านครับ กระผม นายทรงศักดิ์ ทองศรี ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จะทำหน้าที่เป็นผู้ตอบ กระทู้ถามของท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ขออนุญาตเอ่ยนามท่านนะครับ ท่านวีรภัทร คันธะ ท่านเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกล จังหวัดสมุทรปราการ แล้วก็เป็นผู้แทน ในพื้นที่ของอำเภอพระประแดงด้วย ท่านประธานครับ ก่อนอื่นผมต้องขออนุญาตเรียน ท่านประธานเป็นข้อมูลเบื้องต้นว่าประเพณีสงกรานต์ไทยนี้เป็นประเพณีขึ้นปีใหม่ด้วย ที่ได้จัดมีการเฉลิมฉลองในช่วงกลางเดือนเมษายนทั่วประเทศ เป็นประเพณีที่สืบทอดจากรุ่น สู่รุ่นโดยคนไทย แล้วก็ชุมชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นประเพณีอันงดงามและมีความหมาย สะท้อนถึงคุณค่าของความกตัญญูกตเวทีของคนไทยต่อบรรพบุรุษ มีความเอื้ออาทรและ ความปรารถนาดีต่อผู้อื่นและจิตวิญญาณแห่งความสามัคคี ถือเป็นวันครอบครัว เป็นวันที่ คนไทยได้พบปะญาติพี่น้อง ปู่ย่าตายาย ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญา ทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติในองค์การ UNESCO แล้วอันนี้ผมเรียนเบื้องต้น ก่อนแล้วก็ในช่วงที่มีการจัดประเพณีสงกรานต์แต่ละปี ๆ อย่างปีที่ผ่านมานี้ ปี ๒๕๖๖ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้มีการจัดทำข้อมูลสำรวจของผู้คนในการเดินทาง ในช่วง สงกรานต์ปี ๒๕๖๖ มีคนเดินทางประมาณ ๔.๓๑ ล้านคน/ครั้ง เป็นคนไทย ๓.๓ ล้านคน/ครั้ง เป็นชาวต่างชาติ ๙.๙ แสนคน/ครั้ง แล้วก็มีรายได้หมุนเวียนที่เป็นตัวเลขที่กระทรวง การท่องเที่ยวและกีฬาบันทึกเอาไว้คือ ๒๔,๖๗๑ ล้านบาทเศษ ก็เป็นข้อมูลหนึ่งที่เราก็มองว่า เทศกาลประเพณีสงกรานต์ก็เป็น Soft Power หนึ่งของประเทศไทยที่เป็นประเพณี ซึ่งสืบ ทอดต่อเนื่องกันมา แล้วก็เป็นที่สนใจของผู้คนทั้งโลก สำหรับประเพณีสงกรานต์พระประแดง นี้เดิมเขาเรียกว่าสงกรานต์ปากลัด เป็นประเพณีเก่าแก่ที่มีศิลปวัฒนธรรมสืบทอดกันมา อย่างยาวนาน ซึ่งแตกต่างจากประเพณีสงกรานต์อื่น คือมีการจัดงานสงกรานต์พระประแดง ช้ากว่าวันสงกรานต์ของพื้นที่อื่น ๆ ปกติจะจัดวันที่ ๑๓-๑๕ เมษายนของทุกปี แต่ที่สงกรานต์ พระประแดงนี้จัดวันอาทิตย์ถัดมา คือประมาณสัก ๑๐ วัน อย่างปีที่ผ่านมานี้ก็จัดในช่วงวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๖ แต่ว่าในปีนี้ผมได้มีโอกาสได้รับทราบข้อมูลจากนายกเทศมนตรีเทศบาล เมืองพระประแดงว่าจะกำหนดจัดในวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๗ ที่นี่เป็นเทศกาลของ ทั้งคนไทยแล้วก็เป็นคนเชื้อสายมอญที่เรียกว่าชาวไทยรามัญ อาศัยอยู่ในเมืองนครเขื่อนขันธ์ หรือเมืองพระประแดงนี่ละครับ แล้วก็ต่อเนื่องกันมากกว่า ๒๐๐ ปี แล้วหลายคนก็มาพักพิง อยู่ที่นี่จนกลายเป็นคนที่นี่ เขาเรียกว่าอยู่ที่ปากลัด กิจกรรมหลักของงานคือการจัดขบวนแห่ นางสงกรานต์นี้ หมายถึงว่างานสงกรานต์ที่จัดที่ปีที่ผ่านมานะครับ ขบวนแห่รถบุปผชาติ แห่นก แห่ปลา ประกวดนางสงกรานต์ แล้วก็มีประกวดหนุ่มลอยชาย ด้วยนะครับ ก็เป็นประเพณีซึ่งผสมผสานกันของวิถีชีวิตชาวมอญ ที่เรียกว่าชาวไทยเชื้อสาย รามัญ แล้วก็ภายในงานจะมีการจัดเดินขบวนการแห่รถนางสงกรานต์ พิธีสงฆ์พระพุทธรูป รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ มีการกวนกาละแม กวนข้าวทิพย์ สาธิตการเล่นสะบ้ากิจกรรมอื่น ๆ มากมาย อันนี้เป็นเรื่องที่จะทำอย่างต่อเนื่องมา แต่ที่เรียนท่านประธานว่า ที่ท่านสมาชิกได้มี ความกังวล แล้วก็มีความห่วงใยก็คือว่าปีที่ผ่านมาเป็นปีที่มีการจัดสงกรานต์ เนื่องจากว่า ที่ผ่านมามีเรื่องของโควิด-๑๙ ไม่ได้จัด ปีที่แล้วก็จัดมีผู้คนมาเยอะกว่าทุกปีที่ผ่านมา มีตัวเลข ของคนที่มาร่วมงานที่บันทึกไว้ประมาณ ๕๐,๐๐๐ คน โดยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มา เป็นหมู่คณะนี้ประมาณ ๑,๐๐๐ คน อันนี้คือเป็นเรื่องที่จะเห็นตัวเลขของนักท่องเที่ยวที่มา ที่พระประแดง ถ้าบอกถึงเรื่องการท่องเที่ยวก็ดีใจนะครับ เพราะว่ามันสะท้อนให้เห็นถึงว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผู้คนมา แล้วก็เฉพาะคนไทยเองก็สนใจที่จะมาท่องเที่ยว แล้วก็ ใช้เงินในการที่ใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป

    อ่านในการประชุม

  • จากประเด็นคำถามของท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติที่เกี่ยวกับเรื่องของการจัด งานประเพณี ผมดูจากคลิป ฟังข้อมูลท่านทั้งหลายที่ท่านได้พูดถึงนี้ ก็มีประเด็นอยู่หลาย ประเด็นด้วยกัน โดยเฉพาะในเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ดำเนินการอย่างเคร่งครัดในการ ควบคุมการเล่นน้ำให้อยู่ในกรอบเวลา ทราบว่าเมื่อก่อนนี้มีกำหนดประกาศว่าประมาณ ๑๘.๐๐ นาฬิกา ต้องเลิกแล้ว ก่อให้เกิดปัญหาต่อประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ ปัญหาเรื่อง ทรัพย์สินมีอะไรบ้าง ผมว่าเป็นข้อมูลนะครับ แต่ผมเรียนท่านประธานว่าผมมีโอกาสได้สดับ รับฟังผู้คนที่ไปเที่ยวงานสงกรานต์นี้ ซึ่งมีตัวเลขที่โชว์มาประมาณ ๕๐,๐๐๐ กว่าคน ส่วนใหญ่คนในพื้นเขารู้สึกว่าอาจจะมีผลกระทบบ้าง แต่ว่าไม่ได้มีความต้องการที่จะให้มี การเลิกการจัดงานประเพณีสงกรานต์ที่จัดขึ้นเป็นทุกปี ๆ อันนี้ผมเรียนท่านประธานถึง ท่านสมาชิกว่าการจัดงานอะไรที่มีผู้คนจำนวนมามากอย่างนี้ การที่จะกำกับควบคุมให้เป็น ไปตามความพึงพอใจของทุกคนนี้เป็นไปได้ยาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นที่จังหวัดสมุทรปราการนี้มัน เป็นพื้นที่ที่จัดงานแล้วก็ยังมีเส้นทางคมนาคมที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างด้วย อย่างปีที่ผ่านมานี้ มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงบนถนนสุขสวัสดิ์ อันนี้ทำให้พื้นที่ผิวจราจรมันหายไป เคยมี หลายช่องทางจราจรก็จะเหลือแค่ ๒ ช่อง ทั้งไปทั้งกลับ แล้วก็ถนนสุขสวัสดิ์เองก็มีเส้นทาง ที่จุดแยก จุดกลับรถมาก ผมมีโอกาสเดินไปสำรวจดูซอกซอยมาก เวลามีรถเข้าออก ซอยถนนใหญ่ผ่านไปจะเกิดปัญหาเรื่องของการที่เรียกว่าการจราจรที่อาจจะมีปัญหา อันนี้ ก็เป็นประเด็นหนึ่งนะครับ สำหรับงานประเพณีสงกรานต์พระประแดงเป็นงานสุดท้ายของปี ที่บอกว่าที่อื่นจัดหมดไปแล้ว เราก็มาจัดหลังจากที่อื่นประมาณสัก ๑๐ วัน ก็จะมีผู้คน หลั่งไหลมาเที่ยวสงกรานต์เป็นจำนวนมาก อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาที่ท่านได้ กล่าวถึง ฉะนั้นเพื่อป้องกันการแก้ปัญหาเหล่านี้ ผมเรียนท่านประธานและท่านสมาชิกว่าได้มี การบูรณาการกันเพื่อเตรียมความพร้อมในการที่จัดงานขึ้น ก็จะมีขึ้นในวันที่ ๒๑ เมษายน ที่จะถึงนี้ ก็ประมาณสัก ๓ เดือน ก็มีการบูรณาการทั้งจังหวัด ทั้งสถานีตำรวจภูธรจังหวัด มีสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด อำเภอ เทศบาล แล้วก็ประชาชนที่เกี่ยวข้อง การจัดงานบูรณาการกันว่าเราจะมีแนวทางอย่างไรในการที่จะป้องกันไม่ให้มีปัญหาเหมือน ที่ผ่านมา ก็กำหนดแนวทางไว้เบื้องต้น ไม่ว่าเรื่องการให้เทศบาลเมืองพระประแดงติดป้าย ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบเกี่ยวกับเส้นทางจราจรที่ปิดในช่วงเวลาเล่นน้ำ สงกรานต์ก่อนการจัดงานอย่างน้อย ๑๐ วัน แล้วก็ให้สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสมุทรปราการ และสำนักงานประชาสัมพันธ์ จังหวัดสมุทรปราการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางสื่อสังคม ไม่ว่าจะเป็น Online เพื่อให้ ประชาชนหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางดังกล่าวและวางแผนการเดินทาง นั่นประการที่ ๑

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๒ ประสานงานรถติดจอ LED โฆษณาประชาสัมพันธ์ติดป้ายเตือน ป้ายประกาศการจัดงานสงกรานต์พระประแดง โดยแสดงพื้นที่ที่มีการจัดงาน เส้นทางควร หลีกเลี่ยงและนำเส้นทางหรือทางเบี่ยงอื่น รวมถึงช่องทางการร้องเรียนร้องทุกข์ ตำรวจ รับแจ้งเหตุ ศูนย์ดำรงธรรม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อให้ประชาชน ทราบโดยทั่วกัน อันนี้เป็นข้อมูลที่มีการพูดคุยกันในระดับจังหวัดที่จะเตรียมความพร้อม ในการจัดงาน แล้วก็เอาข้อมูลเดิมที่เคยมีปัญหาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีที่ผ่านมาว่ามีปัญหา อะไร โดยเฉพาะเรื่องของการตั้งจุดตรวจ จุดคัดกรองให้มากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา แล้วก็ ประสานงานเจ้าหน้าที่ตำรวจ เทศกิจ อปพร. กองอาสารักษาดินแดน และเจ้าหน้าที่จาก หน่วยงานต่าง ๆ ให้มากขึ้น บังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การควบคุม การดื่มและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ ปี ๒๕๕๑ โดยเน้นย้ำถึงเรื่องการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวัด สถานที่ราชการ สถานที่น้ำมันเชื้อเพลิง แล้วก็ห้ามจำหน่ายเกินกว่าเวลาที่กำหนด แล้วก็ห้าม จำหน่ายให้แก่เยาวชนที่อายุต่ำกว่า ๒๐ ปีบริบูรณ์ แล้วก็เป็นการป้องปรามการกระทำ ความผิดต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เช่นการทะเลาะวิวาท ทำให้เกิดทรัพย์สิน เสียหาย อันนี้เป็นแนวทางเบื้องต้น เพราะว่าปัญหามีอยู่แล้วในปี ๒๕๖๖ แต่ว่าในปี ๒๕๖๗ ซึ่งจะมีการจัดงานขึ้น อันนี้เรียนยืนยันนะครับ สอบถามทางรัฐบาลแล้วว่าไม่ได้ยกเลิก ยังยืนยันการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ของเมืองพระประแดงต่อ เพราะเป็นเรื่องของประเพณี สืบสานกันมาชั่วลูกชั่วหลาน แล้วก็เห็นว่าเป็นเทศกาลซึ่งสามารถที่จะทำให้ผู้คนครอบครัวได้ มีโอกาสมาร่วมกันอย่างมีความสุข ในเบื้องต้นก็ขอกราบเรียนท่านประธานเพิ่มเติมตรงนี้ก่อน ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ ต้องขออนุญาตตอบเพิ่มเติมนะครับ เพราะว่าได้มีการพูดคุยกัน เตรียมความพร้อมในการที่จะกำหนดมาตรการอะไรที่เป็นการป้องกันไม่ให้มีผลกระทบ ตามที่ท่านสมาชิกได้มีข้อกังวลและข้อห่วงใยนะครับ ก็ต้องเรียบกราบขออภัยท่านประธาน และท่านสมาชิกด้วยนะครับ ความจริงผมไม่ได้หมายความว่าจะให้ท่านยกเลิกเรื่อง การจัดงานเทศกาลสงกรานต์ แต่ว่าดูจาก Comment ที่ท่านได้โชว์มาว่าควรจะเลิกได้ไหม แต่ผมเชื่อมั่นว่าท่านเป็นคนที่นั่น ท่านจะมีความเข้าใจดี แต่ว่าท่านมีความห่วงใยว่า การจัดงานนี้ให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ผมเรียนเพิ่มเติมนะครับ เพราะการเล่น สงกรานต์ที่ผ่านมาเวลานี้มันล่วงเลยไปเยอะ บางทีมาตรการในการกำหนดมันไม่มีกรอบเวลา ที่มีความชัดเจนนะครับ ทางทีมบูรณาการทางจังหวัด แล้วก็เทศบาลก็มีการกำหนด หลักเกณฑ์เพิ่มเติมเบื้องต้น แล้วก็กำชับการดำเนินการให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ให้ได้ มากที่สุด แม้ว่าเรื่องของการกำหนดให้มีการหยุดเล่นน้ำในวันสงกรานต์พระประแดง เวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา อันนี้เป็นเรื่องที่มีข้อมูลที่มีผู้คนก็เสนอมาอยู่แล้วนะครับ แล้วก็มี การประชาสัมพันธ์ผ่านทั้ง Offline Online ร่วมกับสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาให้ รับทราบทั่วกัน ให้รู้เป็นข้อมูลเบื้องต้นก่อน เพราะว่าคนที่มาเล่นน้ำสงกรานต์จริง ๆ ในส่วน ที่จัดในเขตเทศบาลนี้ไม่ค่อยได้มีปัญหาอะไร ที่มีรถติด มีเกิดปัญหาเรื่องการจราจร เรื่องอะไรหลาย ๆ อย่าง ส่วนใหญ่จะเป็นผู้คนที่มาจากพื้นที่อื่น แล้วก็หวังจะมาเล่น สงกรานต์ที่นี่ เพราะเป็นวันสงกรานต์ที่จัดขึ้นหลังจากที่อื่นจัดแล้ว เรื่องของการจราจร ก็มีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ร่วมกับเทศกิจ อปพร. กองอาสารักษาดินแดน เจ้าหน้าที่มูลนิธิ ต่าง ๆ ชมรมอำนวยความสะดวกด้านการจราจรในพื้นที่การจัดงาน เช่น ในเส้นทางรอบพื้นที่ด้วย รวมถึงการจัดช่องทางการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ใกล้เคียง อย่างต่อเนื่อง มีการตั้งกรวยยาง จุดตัด จุดกลับรถ อันนี้ก็ทำอยู่แล้ว แต่ว่าอาจต้องไปดูให้มัน ครอบคลุมพื้นที่ให้มากที่สุดนะครับ มีการกำหนดประกาศข้อบังคับเจ้าพนักงานมิให้รถที่มีการบรรทุกถังน้ำและผู้โดยสาร ที่นั่งท้ายกระบะเข้ามาในพื้นที่ โดยมีการตั้งจุดคัดกรองพื้นที่รอยต่อในเขตพระประแดง บนถนนสุขสวัสดิ์ อันนี้ก็เป็นแนวทางที่ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประชุมหารือร่วมกันว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นที่ผ่านมานี้เพราะอะไร แต่ก็เรียนท่านประธานหรือท่านสมาชิกว่าก็ต้องเห็นใจ เหมือนกัน เพราะว่าพี่น้องประชาชนอยากมาเล่นน้ำที่นี่ เพราะว่าเป็นพื้นที่ที่มีเขาเรียกว่า มีตำนานมีความดั้งเดิมของชุมชนทั้งชาวไทยเชื้อสายรามัญอย่างต่อเนื่องมา ก็อยากจะมาร่วม งานสงกรานต์ที่นี่ แล้วก็ส่วนเรื่องการเดินทางนั้นจะมีการเพิ่มเที่ยวการเดินรถโดยสาร สาธารณะให้บริการประชาชนในวันสงกรานต์พระประแดง รวมถึงงานประเพณีเทศกาล ต่าง ๆ ด้วย มีเรื่องของการจัดรถของ ขสมก. จัดเที่ยวเพิ่ม มีการระบายรถพื้นที่และขอความ ร่วมมือจากผู้ประการรถโดยสารต่าง ๆ ให้ช่วยกันแบบบูรณาการกัน เพื่อให้ประชาชน สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรถสองแถวประจำทาง รถมอเตอร์ไซค์ รับจ้าง เรือข้ามฟาก เรือแพขนานยนต์ต่าง ๆ เหล่านี้ก็ต้องมาพูดคุยกันเพื่ออำนวยความ สะดวกในการเดินทางของประชาชนนี้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ผมเรียนเน้นย้ำว่าก็ได้เห็น ความกังวลใจของท่านสมาชิก ก็จะกลับไปกำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง เทศกิจ เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกหน่วยงานช่วยบูรณาการกันในการทำงาน ดูแลความสงบเรียบร้อย แล้วก็ อำนวยความสะดวกด้านการจราจรและการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้ดี ที่สุดและทันท่วงทีด้วยนะครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ขออนุญาต พอดีมีกระทู้ต่อจากกระทู้ที่ผมตอบมา เป็นกระทู้ที่ ๐๗๗ เป็นกระทู้ซึ่งท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขออนุญาตเอ่ยนามท่าน ท่านภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ ท่านเป็นผู้แทนพรรคเพื่อไทย จังหวัดนครพนม ได้ทำถามเรื่องแนวทางการพัฒนา สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างเร่งด่วน ผมต้องขออนุญาตท่านประธานว่าพอดี ภารกิจลงนัดไว้แล้วนะครับ แล้วก็ได้ประสานงานกับท่านผู้ถามกระทู้แล้วนะครับ ท่านก็ไม่ ขัดข้อง แล้วก็จะขอเลื่อนการตอบไปในวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๗ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม นายทรงศักดิ์ ทองศรี ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตอบกระทู้ถามท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ต้องขออนุญาตเอ่ยนาม ท่านธีรัจชัย พันธุมาศ ท่านเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล กรุงเทพมหานคร ท่านประธานครับก่อนอื่นต้องกราบขอบพระคุณท่านสมาชิก อย่างสูงยิ่งที่ได้ให้ความกรุณาให้ความสำคัญเรื่องการจัดทำผังเมือง ซึ่งถือว่าเป็นงานสำคัญ ในการกำหนดทิศทางของการพัฒนา ผมดูจากที่ท่านได้พูดถึงเบื้องต้นว่ามีตัวอย่างหลาย ประเทศซึ่งเป็นแบบอย่างของการจัดทำผังเมืองที่มีความสำเร็จ แล้วก็เป็นประโยชน์กับพี่น้อง ประชาชน ผมก็ชื่นชมท่านนะครับ แล้วก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับคนที่ไปต่างประเทศหลายท่าน ด้วยกัน ท่านก็แนะนำว่าการจัดทำผังเมืองต้องแบบนั้นแบบนี้ เขาทำเป็นบล็อกบ้าง เป็นล็อกบ้าง ในแต่ละจุดอาจจะมีครัวเรือนพื้นที่แน่นอน ใครอยู่ตรงไหนรู้หมดเลย อันนั้น เป็นเรื่องของต่างประเทศ สำหรับประเทศไทยเราผมเรียนท่านประธาน ท่านสมาชิกครับว่า การดำเนินการอะไรก็แล้วแต่มันก็ต้องว่าไปตามกฎหมาย เรื่องของผังเมืองเรามี พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งได้มีการประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒ แล้วก็มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ เป็นต้นมา ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ จากพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. ๒๕๑๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยกำหนดประเภทของผังเมืองเป็น ๒ กลุ่ม ๕ ประเภท ดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ผังนโยบายการใช้ประโยชน์พื้นที่ ได้แก่ ผังนโยบายระดับประเทศ ผังนโยบายระดับภาค แล้วก็ผังนโยบายระดับจังหวัด

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ผังกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ได้แก่ ผังเมืองรวม ผังเมืองเฉพาะ ซึ่งจากผังทั้ง ๒ กลุ่ม ได้กำหนดองค์ประกอบของผังให้ครอบคลุมประเด็นการพัฒนาเชิงพื้นที่ ด้านต่าง ๆ ครบถ้วน รวมถึงการกำหนดให้มีองค์กรปกครองท้องถิ่น เป็นผู้มีอำนาจในการวาง และจัดทำผัง ซึ่งถือว่าเป็นการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นมีหน้าที่ในการวางและจัดทำ ผังเมืองอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับประเด็นที่ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติได้ถามกระทู้นะครับ ผมขออนุญาต ตอบดังนี้ การวางและการจัดทำผังเมือง และจัดทำเป็นองค์ประกอบครอบคลุมทุกด้าน ซึ่งรวมถึงระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะ ซึ่งในกระบวนการ วางผังที่เกี่ยวข้องกับการประสานหน่วยงานที่ดำเนินการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ได้แก่ แผนงานโครงการของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำร่างผังเมือง มีการประชุม คณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวม รวมถึงในเขตจังหวัดเพื่อรับนโยบายและแผนระดับ จังหวัดนะครับ ที่ท่านได้กล่าวถึงเป็นเรื่องของกรุงเทพมหานคร ก็เป็นงานของสำนักผังเมืองที่ได้ดำเนินการ เป็นไปตามกฎหมาย การประชุมคณะอนุกรรมการผังเมืองซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ ข้อเสนอแนะแนวทางแผนงานโครงการเพื่อประกอบการวางผัง มีการประชุมคณะ อนุกรรมการผังเมืองและคณะกรรมการผังเมือง ซึ่งมีผู้แทนจากกระทรวงต่าง ๆ ให้ความเห็น รวมทั้งได้กำหนดนโยบาย มาตรการและวิธีการเพื่อการปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ของผังเมืองรวม เช่น ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานนำไปใช้ประโยชน์เป็น แนวทางในการจัดทำเพื่อพัฒนาแผนงานพื้นที่งบประมาณเพื่อพัฒนาตามแผนงานต่าง ๆ ผ่านสำนักงานงบประมาณ โดยมีผังเมืองรวมเป็นหลักในการดำเนินการ ทั้งนี้ยังมีธรรมนูญว่า ด้วยการผังเมืองที่เป็นหลักการพื้นฐานที่ผู้เกี่ยวข้องกับการผังเมืองพึงปฏิบัติ โดยมีบัญญัติ การผังเมือง พ.ศ. ๒๕๑๒ ซึ่งบัญญัติว่า เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วมีผลผูกพัน หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องที่จะต้องดำเนินการต่อไปตามหน้าที่และ อำนาจของตน ในหมวดหลักการเชิงนโยบายในการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐพึงจัดทำ แผนงานให้สอดคล้องกับผังเมืองทุกระดับต่อไป อันนี้ผมเรียนท่านประธานนะครับว่า การจัดทำผังเมืองของประเทศไทยเรา เราก็ต้องทำตามกฎหมายที่มีบทบัญญัติไว้ให้พึงปฏิบัติ พึงดำเนินการไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ อันนี้ผมเรียนเบื้องต้นนะครับท่านประธานว่า เราคงจะเอาเพียงตัวอย่างของบางประเทศมากล่าวถึงมันก็เป็นเรื่องที่ดีครับ แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้น การดำเนินการ การจัดทำผังเมืองวางผังเมืองต้องว่าตามกฎหมายของประเทศไทย ซึ่งเราได้มี กฎหมายซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ผ่านวุฒิสมาชิก โปรดเกล้าฯ ลงมา แล้วก็ประกาศใช้เป็นกฎหมาย แล้วก็ทุกหน่วยงานราชการต้องบังคับใช้ด้วยกัน เบื้องต้น ขออนุญาตตอบเพียงเท่านั้นก่อน ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ พอดีผมต้องขออนุญาตค่อย ๆ ตอบนะครับ เป็นประเด็น ๆ ไป ที่ท่านกรุณาให้เป็นคำถามและเป็นข้อสังเกต แล้วก็ได้พูดถึงเรื่องของการเอื้อประโยชน์กับ กลุ่มทุนอะไรต่าง ๆ เหล่านั้นนะครับ ผมเรียนท่านประธานอย่างนี้ครับว่า การจัดทำวางผังและการจัดทำผังเมืองทุกระดับได้มี การรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือและการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการผังเมืองกำหนด ตามมาตรา ๙ แห่งพระบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. ๒๕๖๒ อันนี้ต้องเรียนยืนยัน เพราะว่าผมต้องพูดผ่านท่านประธานถึงท่านสมาชิกว่า มันมีกฎหมายบัญญัติบังคับไว้แล้ว เจ้าหน้าที่ส่วนราชการทั้งหลายจะทำอะไรที่นอกเหนือกว่า ที่กฎหมายกำหนดคงไม่ได้ละครับ เดี๋ยวนี้การตรวจสอบ ติดตาม ค่อนข้างจะเข้มงวดและ เคร่งครัด มีข้าราชการหลายคนอาจจะโดนเรื่องของการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ มากมาย แต่วันนี้ผมมั่นใจเชื่อมั่นนะครับว่า เมื่อมี กฎหมายบัญญัติไว้แล้วทุกคนก็คงต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ในการวางและ การจัดทำผังเมืองรวมทั้งในการดำเนินการมันมี ๘ ขั้นตอนด้วยกันนะครับ ประชาชนและ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ตั้งแต่ขั้นตอนที่ ๑-๕ ซึ่งเป็นขั้นตอนในการ จัดทำร่างเป็นร่างผังเมืองนะครับ ไม่ใช่ผังเมือง เป็นการจัดทำร่างผังเมืองรวม ได้แก่ การประชุมสนทนากลุ่มย่อย เพื่อรับฟังปัญหาและความต้องการของพื้นที่ รวมถึงการจัดทำ แนวคิดการพัฒนาของพื้นที่ อันนี้เป็นขั้นตอนที่ ๑ การประชุมรับฟังความคิดเห็นของ ประชาชนต่อร่างผังเมืองรวม ซึ่งสามารถยื่นข้อคิดเห็นเพื่อขอแก้ไขปรับปรุงผังรวม ทั้งเผยแพร่สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ปิดประกาศ ๑๕ วันทาง Website ของกรมโยธาธิการและผังเมือง อันนี้เป็นขั้นตอนที่ ๓ การปิดประกาศพร้อมข้อกำหนด ๙๐ วัน เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำร้องขอแก้ไขปรับปรุงกำหนด ประกอบแผนผัง อันนี้ขั้นตอนที่ ๕ แล้วนอกจากนี้ยังจัดให้มีการประชุมการมีส่วนร่วมเพิ่มเติมจากที่กฎหมายกำหนดเพิ่มเติม เช่น ในกรณีที่มีการร้องขอจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เช่น สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า คณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน เขาเรียกว่า กรอ. นะครับ การร่วมลงพื้นที่ชี้แจงรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวข้องกับผังเมือง มีการชี้แจงใช้ข้อบังคับผังเมืองภายหลังการประกาศใช้บังคับกฎหมายภายในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นต้น อันนี้คือหมายความว่าก็พยายามทำให้ครอบคลุมให้ประชาชนมีความเข้าใจในเรื่อง ของการทำผังเมือง สำหรับช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชนกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้เปิดให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวข้องกับผังเมือง โดยมีช่องทางต่าง ๆ ในระบบ Online เช่น Website ของกรมโยธาธิการและผังเมือง Line Official Account DPT Information สำหรับกรณีผังเมืองรวมที่ปิดประกาศให้ ประชาชนแสดงความคิดเห็นหรือร้องขอแก้ไขตามกฎหมายกำหนด สามารถยื่นข้อแสดง ความคิดเห็นผ่านระบบ Online Website ของกรม รวมทั้งการรับทราบผลการดำเนินการ ผ่านระบบ Online อันนี้หมายความว่าประชาชนเองก็มีช่องทางในการเข้าไปดำเนินการ ในเรื่องของการแสดงความคิดเห็นมากมาย และนอกจากนี้ภายหลังจากที่ผังเมืองรวมได้มี การบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว หากผู้มีส่วนได้เสียสามารถจะขอแก้ไขผังเมืองรวมเฉพาะ บริเวณหรือเฉพาะส่วนหนึ่งส่วนใดให้เหมาะสมกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ไปได้ หรือเพื่อประโยชน์ของสาธารณะก็สามารถเสนอขอแก้ไขต่อเจ้าพนักงานตาม มาตรา ๓๕ ได้ อันนี้ผมเรียนท่านประธาน ท่านสมาชิกนะครับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องที่ ทำแล้วแก้ไขไม่ได้ ถ้าสิ่งที่ทำนั้นมีเหตุมีผลแล้วก็เป็นสิ่งที่ประชาชนได้ประโยชน์แล้วก็เป็น เรื่องที่คนส่วนใหญ่ คนส่วนรวมมีความเห็นตรงกันในช่วงที่มีการสอบถามความคิดเห็น มีการ ประชุมกำหนดแนวทางในการวางผังก็สามารถที่จะทำได้ อันนี้เป็นเรื่องที่กราบเรียน ท่านประธานในประเด็นการทำผังนั้น ผมเรียนยืนยันว่าคงไม่มีใครสามารถที่จะไปกำหนด แนวทางที่จะไปเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนได้นะครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ ผมขออนุญาตตอบให้ตรงคำถาม เมื่อสักครู่บอกว่าอะไร ผมฟัง ไม่ทันโทษนะครับ คือผมเรียนท่านประธานอย่างนี้ครับว่า การจัดทำผังเมืองมันเป็นเรื่องต้อง ไปรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่จัดทำผังเมือง มีกระบวนการ มีขั้นตอน ในอนาคตถ้าหากผังเมืองมีปัญหา มันก็มีกระบวนการทางกฎหมายให้แก้ได้ตามมาตรา ๓๕ อันนี้ผมเรียนท่านประธาน ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรตินะครับว่า บริบทของการจัดทำรูปแบบ ของการทำผังเพื่อการพัฒนาในแต่ละพื้นที่ บางทีมันมีการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงไปจาก เดิมที่อาจจะต้องมีการแก้ไขผังเมือง อันนี้เป็นเรื่องที่ทางกระทรวงมหาดไทยเองก็เล็งเห็น ความสำคัญนะครับ วันนี้การแก้ไขผังเมืองก็ไม่ได้แก้ยากเหมือนเมื่อก่อน เมื่อก่อนก็อาจจะ ต้องใช้เป็นประกาศกฎกระทรวง เดี๋ยวนี้เป็นประกาศกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะง่ายขึ้น เรายอมรับความจริงว่าในการทำผังเมืองบางทีบางครั้งมันก็ไม่ตรงทั้งหมด แต่มันตรง ในขณะนั้น ๆ ที่มีการจัดทำผังเมือง แต่วันนี้บางพื้นที่ที่จัดทำผังเมืองไปแล้วมันอาจจะมี การเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งต้องมีการแก้ไขอันนี้ผมต้องยอมรับ แล้วก็วิธีการจัดทำผังเมือง บางครั้งถามว่าน่าจะไปเอาข้อมูลความต้องการของประชาชนมาก่อน แล้วก็มาจัดทำผัง อันนั้นก็เป็นแนวคิดที่คิดว่ามันน่าจะเป็นประโยชน์นะครับ แต่บางครั้งนี้ก็ได้มีโอกาส ไปดูเหมือนกันนะครับว่า บางทีการจัดทำผังเมืองพอเราไปสอบถามความคิดเห็นประชาชน บางทีเขาไม่มีตัวอย่างเลย ไม่มีแนวเลย เพราะฉะนั้นทางกรมเองก็ต้องกำหนดทิศทาง แนวทางที่ความน่าจะเป็นว่าการจัดทำผังเมืองดังกล่าวนี้ควรจะมีรูปแบบอย่างไร ในบริบท ของความต้องการของพื้นที่ต่าง ๆ เป็นเหมือนตัวอย่าง เป็นเหมือนร่างผังเพื่อให้ประชาชนได้ มีโอกาสได้วิพากษ์วิจารณ์ แล้วก็แสดงความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การทำผังเมืองที่ถูกต้องและ เป็นความต้องการของประชาชน อันนี้ผมเรียนยืนยันว่าการจัดทำผังทุกครั้ง มันต้องมาจาก ความต้องการของประชาชนโดยส่วนใหญ่นะครับ แต่ว่าการจัดทำผังนั้นแน่นอนครับ มันก็ต้องมีคนที่ชอบและคนที่ไม่ชอบมันควบคู่กันไป อาจจะไม่ถูกใจบางคนบางท่านนะครับ อาจจะถูกใจบางคนที่เกี่ยวข้องและได้ประโยชน์ในพื้นที่ แต่ว่ามันก็เป็น เรื่องของการรับฟัง ความคิดเห็นในภาพรวมของการจัดทำผังนะครับ สำหรับประเด็นในกรุงเทพมหานคร ผมเรียนอย่างนี้ว่าที่ท่านได้พูดถึงว่าผัง กทม. มีรูปแบบสำเร็จรูปไม่เป็นไปตามมาตรา ๑๙ ใช่หรือไม่ อันนี้ผมเรียนว่ากรุงเทพมหานครเองต้องเอาผังมาเสนอกรม เพื่อให้มีการพิจารณาตาม พระราชบัญญัติการผังเมืองที่กำหนด ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมืองจะต้องให้ความคิดเห็น เสนอเป็นขั้นตอนต่อไปในการพิจารณา อันนี้ไม่ใช่ว่าทำแล้วก็จบเลย มีขั้นตอนในการ ดำเนินการให้มันสอดคล้องกับกฎหมายที่เรามีอยู่ในปัจจุบันให้มันตรงตามความต้องการ แล้วก็เป็นประโยชน์กับประชาชนสูงสุดนะครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม นายทรงศักดิ์ ทองศรี ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้มา ตอบกระทู้ถามท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรตินะครับ ขออนุญาตเอ่ยนามท่าน ท่านอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ท่านเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรครวมไทยสร้างชาติ จังหวัดราชบุรี ก่อนอื่นนั้นผมต้องขอบคุณท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติอย่างสูงยิ่งครับ ที่ให้ความสำคัญกับ ปัญหาของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย แล้วก็งานของ กรมโยธาธิการและผังเมือง ผมเรียนท่านประธานอย่างนี้ครับว่า ความจริงกรมโยธาธิการและ ผังเมืองมีภารกิจหลายด้านด้วยกัน ทั้งเรื่องของการจัดวางผังเมือง เรื่องของการจัดรูปที่ดิน เรื่องของการทำเขื่อนป้องกันการกัดเซาะของน้ำ แล้วก็เรื่องของการพัฒนาเมือง ในส่วน ที่ท่านได้กรุณาถามก็เป็นส่วนของงานพัฒนาเมือง เรื่องการป้องกันการท่วมของน้ำ ซึ่งประเด็นปัญหาที่ท่านให้ความกรุณาถามนั้นเป็นพื้นที่ชุมชนเทศบาลเมืองบ้านโป่งและ เป็นชุมชนต่อเนื่องตั้งอยู่ในพื้นที่รองรับน้ำหลากของพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง และมีลักษณะเป็น พื้นที่ราบลุ่ม แล้วก็อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมถึงของลุ่มน้ำแม่กลอง ช่วงเวลาที่มีฝนตกหนักมาก ในพื้นที่ตอนบนใต้เขื่อนแม่กลองมีปัญหาน้ำก็จะท่วม ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วม พื้นที่ชุมชนริมแม่น้ำได้ แล้วก็สาเหตุส่วนใหญ่ที่เป็นปัญหาคือว่าเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ในกรณีที่มี ฝนตกหนักก็จะเกิดการระบายน้ำไม่ทัน เพราะเนื่องจากว่าตัวท่อระบายน้ำของเดิมเป็น ท่อเก่า แล้วก็มีขนาดเล็ก แล้วก็ไม่มีประสิทธิภาพในการระบายน้ำได้เพียงพอในช่วง ฝนตกหนัก อันนี้เป็นประเด็นปัญหาที่ได้ทราบมานะครับ เพราะฉะนั้นผมเรียนท่านประธาน เรียนท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติที่กรุณาถาม วันนี้ถือว่าโชคดีถามคำถามเดียวนะครับ เรื่องนี้ ก็เป็นเรื่องที่กรมโยธาธิการและผังเมืองเองก็ไม่นิ่งนอนใจ ได้มีการศึกษาความเหมาะสม แล้วก็สำรวจออกแบบรายละเอียดระบบป้องกันน้ำท่วม และระบบระบายน้ำเพื่อบรรเทา ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเทศบาลเมืองบ้านโป่ง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี มีการศึกษา แล้วเสร็จ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๔ โดยมีราคาก่อสร้างรวมทั้งสิ้นทั้งโครงการที่มีการศึกษา ประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านบาท มีองค์ประกอบหลัก เรื่องของการเสริมคันป้องกันน้ำท่วม ในภาพจะเป็นพื้นที่สีแดงนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • มีโครงการ ปรับปรุงโครงข่ายท่อระบายน้ำ อันนี้เป็นสีม่วงนะครับ เป็นโครงข่ายเพื่อการระบายน้ำ ทั้งหมด แล้วก็มีอาคารสูบน้ำ เพราะว่าพื้นที่ของเทศบาลเมืองบ้านโป่งมันเป็นที่ราบลุ่มต่ำ เวลาจะระบายน้ำออกไปจะต้องมีอาคารสูบน้ำประกอบในการที่จะดึงน้ำลงสู่แม่น้ำแม่กลอง แล้วก็มีความคาดหมายว่าในอนาคตจะสามารถรองรับการขยายตัวของเมืองได้ มีพื้นที่ ทั้งในตัวเทศบาลเมืองบ้านโป่ง แล้วก็ตำบลใกล้เคียงนะครับ ประโยชน์ที่ได้รับประมาณ ๕.๙๘ ตารางกิโลเมตร แล้วก็มีครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ประมาณ ๑๐,๒๖๙ ครัวเรือน ในส่วนของโครงการตามที่ท่านให้ความกรุณาถามกระทู้ถามกรมโยธาธิการและผังเมือง เราได้มีการเสนอโครงการของบประมาณจัดสรรในปี ๒๕๖๗ ก็คือสภากำลังพิจารณาอยู่ใน ขณะนี้นะครับ อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณ แล้วก็เมื่อสภา ให้ความเห็นชอบก็สามารถดำเนินการได้ ในระยะที่ ๑ กรอบวงเงิน ๒๒๐ ล้านบาท อันนี้ ท่านสามารถติดตามดูในเล่มขาวคาดแดง ก็มั่นใจว่าเมื่อได้รับการพิจารณาจากสภาเรียบร้อยแล้ว ก็จะสามารถที่จะดำเนินการตามโครงการต่อไป ก็เป็นการก่อสร้างท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ เป็นกรอบสีฟ้า เป็นอุโมงค์ที่ท่านให้ความกรุณาถามถึง เรายังไม่ทำทั้งหมดนะครับ แต่ว่า ตอนนี้มันก็สามารถที่จะระบายน้ำออกจากชุมชนได้ แล้วก็มีอาคารประกอบเรื่องการสูบน้ำ เป็นการวางท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ ขนาด ๒.๑ เมตร จนถึงขนาด ๒.๔ เมตร ในถนนทรงพล มีความยาวประมาณ ๒.๑ กิโลเมตร ก่อสร้างโดยวิธีการขุดวางท่อแล้วก็วิธีการดันท่อลอด ผ่านช่องทางที่มีความจำเป็นที่เราไม่ต้องมีการขุดลอก เป็นการวางท่อลอดดันออกไปนะครับ ก็เป็นโครงการซึ่งสามารถที่จะทำแล้วก็แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนได้ อันนี้ยืนยันว่าแน่นอน แต่ว่าโดยโครงการภาพรวม ถ้าจะทำให้ครบทั้งหมด ก็ต้องประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งโครงการส่วนที่เหลือเราก็จะดำเนินการในการที่จะของบประมาณในปีถัดไป ไปเรื่อย ๆ นะครับ เพราะว่างบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้าง ผมเรียนท่านประธาน ท่านสมาชิกว่า ก็เป็นจำนวนงบประมาณที่ค่อนข้างสูง แต่ว่าจะทำเป็นเฟส ๆ ไปนะครับ เฟส ๑ เฟส ๒ เฟส ๓ สำหรับเฟสที่ ๑ มันก็จะได้พื้นที่และประโยชน์ประมาณ ๒.๔ ตารางกิโลเมตร แล้วก็ ครัวเรือนได้รับประโยชน์ประมาณ ๓,๐๑๒ ครัวเรือน เบื้องต้นขออนุญาตกราบเรียน ท่านประธาน ท่านสมาชิกครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ขออนุญาตตอบเพิ่มเติม ความจริงในช่วงแรกนั้นกรมโยธาธิการและ ผังเมืองก็ได้มีการศึกษาครอบคลุมในพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมอยู่แล้วนะครับ ที่เรียน เบื้องต้นว่า เป็นโครงการรวม ๆ ทั้งสิ้นประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านบาท เป็นโครงการรวม แล้วก็ มีพื้นที่ที่รับประโยชน์เป็น ๕.๙๘ ตารางกิโลเมตร ก็ ๑๐,๐๐๐ กว่าครัวเรือนด้วยกัน ครอบคลุมผลการศึกษา อันนี้ผมเรียนยืนยันนะครับ เพราะว่าในกรณีที่กรมโยธาธิการและ ผังเมืองไปศึกษา ก็จะดูโดยภาพรวมทั้งหมดว่าถ้าทำแล้วมันมีปัญหาในอนาคตหรือไม่อย่างไร แต่ส่วนใหญ่ก็จะพยายามทำให้มันครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้น เวลาที่ กรมโยธาธิการและผังเมืองไปดำเนินการโครงการอะไรแล้ว ท้องถิ่นต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่การ ก่อสร้าง หลังจากการก่อสร้างเสร็จแล้ว จะต้องรับไปดูแลต่อไป อันนี้ก็เป็นประเด็นหนึ่ง ในการที่ทำโครงการแต่ละที่แต่ละแห่ง ส่วนใหญ่ทำแล้วบางทีตอนขอโครงการเขาก็จะรับไป ดูแล แต่พอได้โครงการไปแล้วก็ไม่ยอมรับการไปดูแล ก็จะเป็นภาระของกรมโยธาธิการ และผังเมือง ในการบริหารจัดการเรื่องของโครงการที่ทำขึ้นนะครับ ส่วนเรื่องของสะพาน ผมก็จะรับนะครับ ก็เป็นงานที่อยู่ในแผนงานโครงการพัฒนาเมือง ความจริงการก่อสร้าง สะพาน วันนี้ภารกิจของกรมโยธาธิการและผังเมืองจะไม่ค่อยได้ทำแล้ว ถ้าเป็นสะพานที่ใช้ ในการสัญจรไปมาของรถอะไรประมาณนี้ ก็จะไม่ทำแล้ว แต่เป็นสะพานที่ใช้คนเดินเชื่อมกัน แล้วก็เป็นประโยชน์ เดี๋ยวผมจะกำชับทางกรมให้ดำเนินการไปสำรวจดู เตรียมความพร้อม ในการขอตั้งงบประมาณต่อไป ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ ผม นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมาตอบกระทู้ถามของท่านสมาชิก ผู้ทรงเกียรติ ท่านรังสรรค์ มณีรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย จังหวัดลำพูน ก่อนอื่นผมก็ต้องขอบคุณท่านเหมือนเช่นเคยนะครับ ที่ท่านมีความกรุณาติดตามงานของ กระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นกรมซึ่งได้ทำหน้าที่ หลายอย่างนะครับ โดยเฉพาะเรื่องของการดำเนินการโครงการตามที่กำหนดไว้ในผังเมือง ประเด็นที่ท่านให้ความกรุณาท่านถามเป็นเรื่องของการก่อสร้างทางเลี่ยงเมือง ซึ่งได้จัดทำขึ้น ที่จังหวัดลำพูน เป็นโครงการทำถนนตามโครงการผังเมือง แล้วก็เป็นโครงการซึ่งเป็นการ ร้องขอจาก อปท. พื้นที่ต่าง ๆ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเพิ่มการจราจรที่มีอยู่แล้ว ทำให้เกิดปัญหาการติดขัดของรถว่าไม่สามารถรองรับการจราจรได้อย่างเต็มรูปแบบ แล้วก็ เลยขอโครงการมาที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ในการก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองตามที่ ท่านสมาชิกได้พูดถึงนะครับ สาย ค.๑ และ ค.๓ แล้วก็ระบบเชื่อมต่อสาย ค.๒ และ ก.๑ จังหวัดลำพูน แล้วก็ได้มีการก่อสร้างไปเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ระยะที่ ๑ ปีงบประมาณ ๒๕๕๖ ระยะทางประมาณ ๒.๙ กิโลเมตร วงเงิน ๘๐ กว่าล้านนะครับ ระยะที่ ๒ ก็ปี ๒๕๕๗ ๑๐ กิโลเมตรเศษ ก็ ๔๐๐ กว่าล้านบาท ระยะที่ ๓ มีเรื่องของการทำเรื่องระบบ ความปลอดภัย เรื่องของระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ที่ใช้ในการให้ประชาชนเดินทางด้วยความ ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ประเด็นมีอยู่อย่างนี้นะครับ ผมดูในคลิปก็เข้าใจนะครับว่า มันมีปัญหา เรื่องของการชำรุดบกพร่อง เรื่องของการก่อสร้าง ประเด็นอยู่ที่ว่าถ้าในกรณีที่มีความ เสียหาย ซึ่งปกติของเส้นทางคมนาคม ที่ไหนมันก็ต้องมีเสียอยู่แล้วนะครับ มันมีเสียก็มี การซ่อม หลายกรมก็มีงานก่อสร้าง งานซ่อมบำรุง ไม่ว่าจะเป็นกรมทางหลวง กรมทางหลวง ชนบท หรือกรมโยธาธิการและผังเมืองเอง ก็เหมือนกันนะครับ แต่ว่าถ้าเกิดการชำรุด ในช่วงที่อยู่ในช่วงของการประกันสัญญาก็เป็นหน้าที่ของผู้รับจ้างที่ต้องดำเนินการ อันนี้เป็น เรื่องที่ผมต้องกราบเรียนท่านประธาน ท่านสมาชิกว่า มันเป็นเรื่องปกติของการทำโครงสร้าง พื้นฐาน โดยเฉพาะเรื่องของถนน เรื่องของความเสียหายมันก็เป็นไปได้ แต่ว่าหน้าที่ของ กรมเองก็ต้องไปดูแลเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยนะครับว่า เส้นทางดังกล่าวนี้เมื่อมัน เสียหายแล้ว เราต้องทำอย่างไร แต่ผมเรียนท่านประธานว่าความจริงแล้ว ตอนที่ขอโครงการ ท้องถิ่นเขาจะต้องเป็นคนขอมา แล้วก็เมื่อทำโครงการแล้ว ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองเอง ก็จะมอบภารกิจให้ไปกับท้องถิ่นในการรับผิดชอบต่อไป ในช่วงที่งานเสร็จแล้วนะครับ แต่ประเด็นปัญหาก็คือว่า หลังจากที่กรมทำเสร็จแล้ว ปรากฏว่าทั้งเทศบาลเมืองลำพูน แล้วก็ องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนเองก็ไม่รับนะครับ ไม่รับเส้นทางเลี่ยงเมืองดังกล่าวนี้ไปดูแล มันก็จะเป็นปัญหาในการที่ว่า ใครที่อยู่ในพื้นที่ใกล้ที่สุด ในการที่รับผิดชอบในการดูแล แต่ว่า ภาระการรับผิดชอบคงไม่พ้นกรมโยธาธิการและผังเมือง อันนี้ผมเรียนนะครับว่า ถ้ายังไม่มี การรับมอบ กรมเองก็ต้องรับผิดชอบในการดูแลให้เกิดความเรียบร้อย จนในที่สุดมีการได้ดู พื้นที่ที่มีความเสียหาย ความจริงทั้งสายไม่ได้เสียหายทั้งหมดนะครับ ผมไม่ทราบว่าคลิปที่เอา มาดูมาโชว์ ผมไม่ทราบว่ามันตอนไหนตรงไหน แต่ว่าจากการสำรวจก็มีส่วนที่มีความเสียหาย ในเส้นทางที่เริ่มต้นจาก ค.๑ ไปถึง ค.๓ อยู่ในช่วงตรงกลาง ประมาณสัก ๑.๕ กิโลเมตร ซึ่งกรมเองก็ได้ตั้งงบประมาณไปประมาณ ๑๙ ล้านบาทเศษในการซ่อมบำรุง ซึ่งในขณะนี้ ได้ตัวผู้รับจ้างแล้ว อยู่ในระหว่างการซ่อมบำรุง ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จนะครับ แล้วก็เราก็จะ พยายามเร่งรัดที่จะให้การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้เร็วที่สุดนะครับ อันนี้ ผมเรียนท่านประธาน ท่านสมาชิกนะครับว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจ ก็ติดตามดูแล้วก็สดับรับฟังดู ก็เร่งรัดนะครับ ได้สอบถามไปทางจังหวัดดูแลกรมโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดให้เร่งรัดการ ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขซ่อมบำรุงให้มันอยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ปกติต่อไปครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ ผมต้องขออนุญาตตอบคำถามข้อที่ ๒ เพิ่มเติม ความจริงงานที่ กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการก่อสร้างแต่ละอย่าง แต่ละเรื่องแต่ละที่ ส่วนใหญ่ก็เป็น เรื่องของความต้องการของท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นงานเขื่อน งานถนน งานพัฒนาเมือง และงาน จัดรูปที่ดิน ทำเสร็จแล้วส่วนใหญ่ก็ต้องโอนให้ท้องถิ่นรับผิดชอบดำเนินการต่อไป เราจะทำ เรื่องของการวางผังวางแนวกำหนดทิศทางในการพัฒนารูปแบบของการตั้งงบประมาณ ลงไป อันนี้ผมเรียนเบื้องต้นก่อนนะครับ กรมเองอยากโอนให้ตั้งแต่ต้น แต่ว่าที่ทราบมา คือทั้ง อบจ. เองก็ไม่ยอมรับ ก็อ้างว่าไม่มีงบประมาณ ไม่มีบุคลากร ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ ไม่มีเครื่องจักร ไม่มีความเชี่ยวชาญ แม้เทศบาลเมืองลำพูนเองก็เช่นเดียวกันนะครับ อันนี้ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ต้องเรียนท่านประธานและสมาชิก แต่ว่าความรับผิดชอบของ การก่อสร้างก็ยังเป็นงานที่กรมโยธาธิการและผังเมืองต้องรับผิดชอบเหมือนเดิม เรื่องของการ ซ่อมบำรุง การดูแลความเรียบร้อย ท่านประธานทราบไหมครับว่า แม้แต่เรื่องของไฟ แสงสว่างที่ติดตั้งอยู่ในเส้นทางดังกล่าวนี้ ปกติถ้าโอนแล้ว ก็เป็นเรื่องของท้องถิ่นต้องไป เจรจากับทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในการที่จะใช้ไฟสาธารณะแบบไม่ต้องเสียงบประมาณ ทุกวันนี้กรมโยธาธิการและผังเมืองต้องชำระเงินค่ากระแสไฟฟ้า แสงสว่างเรื่องความ ปลอดภัย เดือนหนึ่งประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ กว่าบาท ต้องรับผิดชอบนะครับ อันนี้เรียน เบื้องต้นก่อน แต่ว่าเรื่องของเส้นทางคมนาคม เราก็ต้องรับผิดชอบในการดูแลให้เกิดความ เรียบร้อยนะครับ แต่ทราบว่าในขณะนี้กรมทางหลวงชนบทก็มีแนวทางในการที่จะรับโอน ไม่ได้เฉพาะแต่เรื่องของหน่วยงานราชการ ของท้องถิ่นเองก็เหมือนกันนะครับ อย่างเช่น ในชนบท ถ้าจะเป็นโครงข่ายชนบทเกิดขึ้นใหม่ ก็สามารถทำเรื่องขอโอนไปให้ กรมทางหลวงชนบทไปดำเนินการพัฒนาเป็นเส้นทางคมนาคมที่เป็นโครงข่ายมาตรฐาน ต่อไปได้ ส่วนเรื่องเส้นทางเลี่ยงเมืองดังกล่าวนี้ กรมได้ทำเรื่องถึงกรมทางหลวงชนบท เรียบร้อยแล้วนะครับ แต่อยู่ขั้นตอนในการที่จะตกลงกัน แต่ว่าทางกรมโยธาธิการและ ผังเมืองยินดีที่จะโอนให้กรมทางหลวงชนบท แต่ว่าผู้รับโอนจะรับโอนไหม นั่นเป็นประเด็น ผมมีโอกาสได้ไปติดตาม โทรสอบถามไปก่อนเบื้องต้น เขาบอกว่าเขายินดีจะรับโอน อันนี้เป็น การเจรจาภายในนะครับว่าเส้นทางอย่างนี้รับโอนได้ไหม แต่ว่าเมื่อรับโอนแล้วกรมเองก็ต้อง รับผิดชอบในการที่จะไปทำให้เส้นทางดังกล่าว ซึ่งเป็นถนนที่เป็น ๔ ช่องจราจรทำด้วย Asphaltic ให้มันมีความมั่นคงแข็งแรงต่อไป แล้วก็สามารถที่จะบริการประชาชนได้อย่างดี ในอนาคตข้างหน้าต่อไปนะครับ กราบขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานขอนิดเดียวนะครับ พอดีให้เกิดความเข้าใจตรงกัน

    อ่านในการประชุม

  • ก็ขอบคุณท่านสมาชิกนะครับที่เรื่องของงานทำเขื่อน งานเขื่อนเป็นภารกิจของ กรมโยธาธิการและผังเมืองอยู่แล้ว แต่ว่าการจะลงไปทำในพื้นที่ได้จะต้องมีเจ้าภาพ คือท้องถิ่นต้องเสนอขอมา แล้วก็ต้องมีการประชาคมชาวบ้านด้วยนะครับว่า เป็นความ ต้องการของประชาชน แล้วก็ท้องถิ่นก็เสนอขอมา แล้วก็บางพื้นที่ที่มันล่าช้า เพราะว่ามัน ไปติดเรื่องของพื้นที่ป่า ริมตลิ่งนิดเดียวต้องไปขอ พ.ร.บ. ป่าไม้ ปี ๒๔๘๔ ว่ามันเป็นพื้นที่ป่า ซึ่งมันใช้เวลาค่อนข้างนานนะครับ อย่างไรก็ฝากท่านสมาชิกมาหาแนวทางในการแก้ไข กฎหมายไปด้วย พ.ร.บ. ป่าไม้ ปี ๒๔๘๔ ให้หน่วยงานทุกหน่วยงานสามารถลงไปทำได้อย่าง แบบรวดเร็ว โดยไม่ติดปัญหาเรื่องนี้ต่อไป ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธาน ที่เคารพครับ กระผม นายทรงศักดิ์ ทองศรี ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้เป็นผู้ชี้แจงตอบกระทู้ถาม ของท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ขออนุญาตเอ่ยนาม ท่านธัญธารีย์ สันตพันธุ์ ท่านเป็นสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรของพรรคเพื่อไทย จังหวัดอุบลราชธานี

    อ่านในการประชุม

  • ในเรื่องที่ถาม เรื่อง การแก้ไขปัญหาถนนชำรุดและเป็นหลุมเป็นบ่อในพื้นที่บ้านพะลาน-ปากแซง ตำบลพะลาน อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี ก่อนอื่นนั้นผมต้องกราบขอบพระคุณท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ อย่างสูงยิ่งครับ ที่ท่านกรุณาให้ความสำคัญกับปัญหาเรื่องของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะ เรื่องของเส้นทางคมนาคม ซึ่งถือว่าเป็นเส้นทางหลักที่ประชาชนใช้ในการเดินทาง ไปมาหาสู่กันถึง ๓ หมู่บ้าน แล้วก็มีประชากรที่ใช้ประโยชน์ ๖๑๔ ครัวเรือน โรงเรียน ๓ แห่ง มีจำนวนเด็กนักเรียนที่ใช้ทั้งสิ้น ๑,๕๗๗ คน มี ๓ โรงเรียนด้วยกัน อันนี้ผมเรียนด้วยความชื่นชม ท่านเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอยู่ในงานที่ถือว่าเป็นงานสำคัญในการดูแลประชาชน ในเรื่องของเส้นทางคมนาคม ท่านได้กรุณาถามมาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แล้วก็ เป็นกระทรวงซึ่งมีหน้าที่ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุข อำนวยความเป็นธรรมของสังคม ส่งเสริม พัฒนาการเมืองการปกครอง การพัฒนาการบริหารราชการส่วนภูมิภาค การปกครองท้องที่ รวมถึงการกำกับ ดูแล สนับสนุนและส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในเรื่อง ของการปฏิบัติงานเพื่อการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน นี่เป็นภารกิจสำคัญของ กระทรวงมหาดไทย

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปัจจุบันส่วนกลาง ได้มีการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีอิสระในการปกครองตนเอง ตามเจตนารมณ์ของ ประชาชน ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลัก ในการจัดทำบริการสาธารณะให้แก่ประชาชน โดยกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ในการกำกับ ดูแลและส่งเสริมสนับสนุนการปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ถูกต้องเป็นไป ตามกฎหมายเท่านั้น อันนี้ผมเรียนท่านประธาน ท่านสมาชิกนะครับว่า อปท. เป็นนิติบุคคล เป็นไปตามหลักการกระจายอำนาจ ให้ประชาชนมีอำนาจในการบริหารตนเอง มีการเลือกตั้ง ตัวแทนที่มาจากประชาชนเป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน้าที่ต่าง ๆ ก็มีหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติที่มีการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการก่อสร้างบำรุงรักษาถนน เพื่อประโยชน์สาธารณะแก่ประชาชน แต่ว่าการดำเนินการทั้งหลายต้องเป็นไปตาม ความต้องการของพี่น้องประชาชน อันนี้เป็นหัวใจสำคัญนะครับ แล้วก็ผ่านความเห็นชอบ ของสภา ซึ่งเป็นสภาท้องถิ่น แต่ว่าโครงการทั้งหลายนี้มันต้องมีการบรรจุเป็นแผนงาน โครงการ แล้วถ้าเป็นโครงการเร่งด่วนก็สามารถแก้ไขได้นะครับ เวลามีแผนแล้วเราสามารถ แก้ไขให้มีการปรับปรุงแผนได้ แต่ว่าเป็นอำนาจของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วก็ต้องผ่านความชอบของสภาท้องถิ่นเสียก่อน อันนี้เป็นหลักการของ อปท. จะเป็น อบจ. จะเป็นเทศบาล จะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล เหมือนกันนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับถนนในเส้นพะลาน-ปากแซง ตำบลพะลาน อำเภอนาตาล จังหวัด อุบลราชธานี ที่ท่านให้ความกรุณาถามเป็นกระทู้ถามแยกเฉพาะ แล้วก็เป็นข้อกังวลห่วงใย มีระยะทางประมาณ ๑.๗ กิโลเมตร เป็นเส้นสายทางที่เชื่อมไปยังถนนของทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๒๑๑๒ เขมราฐ-โขงเจียม และถนน อบ.๔๐๑๗ สายทางดังกล่าวเป็นเส้นถนนที่อยู่ ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลพะลาน เมื่อสักครู่เรามีรูปขึ้นอยู่นะครับ เป็นเส้นถนนที่ก็ตรงตามที่ท่านสมาชิกได้มีข้อซักถามมาเป็นความห่วงใย ถนนมีความชำรุด เป็นหลุมเป็นบ่อ แล้วการไปมาของประชาชนไม่สะดวก ก็เข้าใจว่าคงเป็นถนนที่สร้างไว้ นานแล้ว โครงสร้างพื้นฐานเดิมอาจจะมีความไม่ค่อยแข็งแรง อาจจะมีรถวิ่งสัญจรไปมา จำนวนมาก แล้วประกอบกับว่าในช่วงฤดูฝนอาจจะมีน้ำท่วมขัง ทำให้ฐานรากของถนนเกิด การชำรุด เกิดความเสียหาย แต่ก็ทราบว่าถนนสายดังกล่าวได้มีการบรรจุไว้ในแผนท้องถิ่น ตั้งแต่ปี ๒๕๖๖-๒๕๗๐ แล้ว เป็นการบรรจุตามแผนของการดำเนินการของท้องถิ่น คือ อปท. เพื่อดำเนินการในการที่จัดหางบประมาณในการดำเนินการ ซึ่งผมกราบเรียน ท่านประธานนะครับว่า ถนนดังกล่าวนี้ยังไม่เคยของบประมาณมาที่กรมส่งเสริมการปกครอง ท้องถิ่นเลย เป็นการขอเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ซึ่งโครงการการพัฒนาท้องถิ่นเอง ส่วนหนึ่ง ก็เป็นเรื่องที่ท้องถิ่นจะต้องตั้งงบประมาณตามกฎหมาย เรื่องของการทำเป็นข้อบัญญัติ งบประมาณของท้องถิ่นเอง ถ้าไม่มีก็อาจจะต้องขอไปที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นการ ขอการสนับสนุน เป็นการอุดหนุนมาจากท้องถิ่นที่ใหญ่กว่านะครับ ถ้ามีงบประมาณไม่พอ ขอที่จังหวัดไม่ได้ เราก็สามารถที่จะขอมาที่กระทรวงมหาดไทย เขาเรียกว่าเป็นการอุดหนุน เฉพาะกิจ ซึ่งการดำเนินการอุดหนุนเฉพาะกิจนั้นจะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เรื่องของการอยู่ในแผน บรรจุแผนของท้องถิ่นเอง แล้วก็การจัดทำเรื่องของรูปแบบรายการ ที่เรียกว่า ปร.๔ ปร.๕ ขอจัดทำงบประมาณ ไปลงในระบบโซลา อันนี้ผมว่าผู้บริหารท้องถิ่นเอง ก็จะเข้าใจวิธีการทำงบประมาณ เพียงแต่ว่าโครงการดังกล่าวนี้ยังไม่เคยขอมาเลย อันนี้ผมต้อง กราบเรียนท่านประธาน ท่านสมาชิกด้วยว่า ก็เข้าใจตรงกันนะครับว่าเป็นปัญหาของประชาชน แต่ว่าท้องถิ่นเองก็ต้องจัดลำดับความสำคัญ ถ้าคิดว่าถนนเส้นนี้เป็นถนนที่มีความสำคัญ จำเป็นต้องใช้ถึง ๓ โรงเรียน เป็นเรื่องงานเร่งด่วน ก็ต้องดำเนินการขอไปตามกรอบเวลา ที่กำหนด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ อบจ. หรือแม้แต่จังหวัดเองก็สามารถที่จะขอได้ เป็นงบจังหวัด แต่ว่าต้องมีการทำคำขอ แต่ว่าใน ๓ ปีที่ผ่านมา ผมขออนุญาตกราบเรียน ท่านประธานถึงท่านสมาชิกว่ากระทรวงมหาดไทยเอง ก็มีการจัดสรรโครงการต่าง ๆ ที่ทาง อปท. ดังกล่าวได้ขอมาย้อนหลัง ๓ ปี อย่างปีงบประมาณ ๒๕๖๕ จำนวน ๑ โครงการ งบประมาณ ๖,๗๙๑,๐๐๐ บาท โครงการในปี ๒๕๖๖ ก็ขอมา ๒ โครงการ ให้ ๒ โครงการ เป็นงบประมาณ ๗,๓๗๘,๐๐๐ บาท ในปีงบประมาณ ๒๕๖๗ ซึ่งอยู่ในร่างกำลังพิจารณาอยู่ ในขณะนี้ก็ขอมา ๑ โครงการ เป็นโครงการ ๔,๗๘๒,๐๐๐ บาท ขอมาก็ให้ตลอด เพียงแต่ว่า โครงการดังกล่าวนี้ทางผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองไม่ได้ขอมา อันนี้ก็ต้อง ฝากท่านประธานถึงท่านสมาชิกนะครับว่า ถ้าเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนก็กรุณาเสนอ โครงการมาด้วยนะครับ เพื่อเราจะได้มีโอกาสได้นำเสนอโครงการ เพื่อให้สำนักงบประมาณ จัดสรรงบประมาณต่อไป ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ ผมขออนุญาตตอบเพิ่มเติมนะครับ ก็เข้าใจว่าท่านสมาชิกจะถาม เป็นคำถามที่ ๒ ต่อไป แต่ว่าต้องกราบขอบพระคุณที่ท่านได้ฝากกระทู้อื่น ๆ แล้วท่านก็ได้มี แนวทางว่ากระทู้ที่จะถามต่อไป ท่านจะถอนนะครับ แล้วก็ฝากให้ผมรับ เดี๋ยวผมจะรับไป เพราะว่าเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับเรื่องเส้นทางดังกล่าวนี้นะครับ ผมเรียนท่านประธานและท่านสมาชิก นะครับว่าก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ความจริง อบต. องค์การบริหารส่วนตำบลพะลาน ได้มีการซ่อมบำรุงรักษาเบื้องต้นไปแล้ว ความจริงเรามีภาพประกอบอยู่นะครับ บางส่วน ก็ใช้เป็น Asphaltic เข้าไปซ่อมที่เป็นหลุมเป็นบ่อเป็นการใช้ชั่วคราว เพื่อให้ลดการเกิดอุบัติเหตุ ที่จะเกิดขึ้นได้ โดยไม่เป็นหลุมเป็นบ่อ แต่ว่าในขณะเดียวกันผมก็เรียนท่านประธานว่าพอเห็น กระทู้แล้วก็ไม่ได้นิ่งนอนใจนะครับ ก็หารือแจ้งไปทางจังหวัดอุบลราชธานีให้ช่วยไป ประสานงาน อปท. ดังกล่าวนี้ให้ดำเนินการเสนอโครงการติดตามไปที่ อบจ. แล้วก็ดูว่า งบประมาณของจังหวัดเอง ในกรณีที่มีการใช้งบประมาณ ซึ่งปีนี้งบจังหวัดก็จะเป็นปี ๒๕๖๗ ซึ่งเราพิจารณาอยู่ ถ้าเกิดมันมีงบประมาณเหลือจ่ายอะไร ก็ขอให้เอาโครงการนี้ไปดูเป็น เรื่องเร่งด่วนด้วย แล้วก็ประสานงานไปที่องค์การบริหารส่วนตำบลพะลานให้เสนอโครงการ ขอเงินอุดหนุนเฉพาะกิจในปี ๒๕๖๘ ด้วยตามกรอบเวลาที่กำหนด ตามหลักเกณฑ์ที่ต้องทำ ซึ่งผมเรียนเบื้องต้นนะครับว่าทางผู้บริหารท้องถิ่นเอง ปลัดท้องถิ่นเองเขาจะเข้าใจในวิธีการ ของบประมาณ เพียงแต่ว่าต้องจัดลำดับความสำคัญเบื้องต้นว่า ถ้าเป็นเรื่องที่สำคัญ ก็ต้องขอมาต้น ๆ แต่ว่าเราก็จะดูให้นะครับ เพราะว่าเป็นเรื่องที่ท่านสมาชิกได้ให้ความกรุณา ให้ความสำคัญ แล้วก็ถามเป็นกระทู้ในห้องกระทู้ถามแยกเฉพาะต่อไป ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม