เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม วีรนันท์ ฮวดศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล เขตเลือกตั้งที่ ๑ ขอนแก่น วันนี้ผมจะมาอภิปรายเรื่องรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของศาลธรรมนูญนะครับ ก่อนอื่นต้องชื่นชมที่ศาลธรรมนูญมาชี้แจง ส่งทางท่านเลขามาชี้แจงด้วยตัวเองนะครับ ประเด็นที่ผมมีข้อห่วงกังวลฝากผ่านทางท่านประธานไปยังผู้ชี้แจง ก็คือรายงานฉบับนี้ ในหน้า ๕๗ ในเรื่องแผนปฏิบัติราชการ ๕ ปีของศาลธรรมนูญ ก็คือเป้าประสงค์ในหัวข้อที่ ๔ ประชาชนจะมีความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อศาลธรรมนูญ คำถามของผม ก็คือว่าประชาชน จะมีความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างไร อันนี้คือคำถามนะครับ ทีนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นประชาชน เกิดความเคลือบแคลงสงสัยต่อการทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต่อคำวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญ และเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางเรื่องการทำหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นความสงสัยเรื่องความเป็นกลางก็ดีนะครับ รวมถึงเรื่องจำพวกว่าซ้ำร้าย ยังถูกกล่าวหาจากพี่น้องประชาชน หรือว่าจากหลาย ๆ ภาคส่วน ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลรัฐธรรมนูญเองกลายเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองหรือเปล่านะครับ เรื่องความเคลือบแคลงสงสัยมีข้อห่วงกังวลอยู่ ๓ ประเด็น
ประเด็นแรก ก็คือเรื่องที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๕๖๐ ในมาตรา ๒๐๐ เรื่องความยึดโยงของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกับประชาชน
ประเด็นต่อมาเรื่องของการทำคำวินิจฉัย แล้วก็การตรวจสอบดุลยพินิจ เรื่องการทำคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญถือว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันทุกองค์กร คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น หลักการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เลยก็คือ ถือเสียงข้างมากของคณะตุลาการ คำถามอยู่ที่ว่าการตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจของ ท่านตุลาการ แล้วก็เปิดโอกาสในการทำคำวินิจฉัยมีการโต้แย้ง หรือว่าการทำคำวินิจฉัย อย่างไร หรือว่ามีหน่วยงานใดในการตรวจสอบ และประชาชนจะไว้วางใจการตรวจสอบ ดุลยพินิจของท่านตุลาการได้อย่างไร ในเมื่อท่านเป็นองค์กรที่ตรวจสอบหน่วยงานอื่น ๆ แต่ว่าหน่วยงานอื่น ๆ หรือว่าประชาชนมีส่วนร่วมน้อยมากในการตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจ ของทางศาลธรรมนูญ
ประการต่อมา ในเรื่องตามรายงาน ข้อ ๒.๒ หน้าที่และอำนาจของ ศาลรัฐธรรมนูญ ในหัวข้อที่ ๑ การพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยธรรมนูญของร่างกฎหมายก็ดี ของพระราชบัญญัติก็ดี ที่ทางสภาผู้แทนราษฎร หรือว่าทางฝ่ายนิติบัญญัติได้ทำการตราขึ้นมา ทางศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่คอยตรวจสอบเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น ตามมาตรา ๑๓๒ ประกอบมาตรา ๑๔๘ ก็ดี แต่ว่ามันมีคำถามที่สำคัญอยู่ประการหนึ่ง ในเรื่องของท่านเป็นผู้ตรวจสอบองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายรัฐสภาที่มาจากพี่น้องประชาชน แต่ตัวท่านเอง ตัวศาลธรรมนูญ ด้วยความเคารพนะครับท่านประธาน ฝากไปยังผู้ชี้แจงว่า ตัวศาลรัฐธรรมนูญเองที่มามีความยึดโยงกับประชาชนน้อยมาก ผมไม่ได้ติดใจเรื่องของ การตรวจสอบ หรือว่าการถ่วงดุล แต่ที่ผมมีความห่วงกังวล ก็คือว่าการตรวจสอบ ถ่วงดุลฝ่ายนิติบัญญัติ หรือการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายสภา ของศาลธรรมนูญไม่ได้เชื่อมโยง หรือไม่ได้ยึดโยงกับพี่น้องประชาชน แล้วจะตอบคำถามของเป้าวัตถุประสงค์ในข้อ ๔ ได้อย่างไร ให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อศาลรัฐธรรมนูญ
ประการต่อมา ตามรายงานแผนยุทธศาสตร์ในหน้า ๕๘ ของรายงานฉบับนี้ ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์นั้นไม่ได้นำไปสู่เป้าประสงค์ที่ให้ประชาชน มีความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อศาลธรรมนูญเพิ่มขึ้นเลยครับ
ประการสุดท้าย มีข้อเสนอต่อทางผู้มาชี้แจงท่านประธานครับ ในเรื่องที่ ผมอยากเห็นในรายงานฉบับหน้า ในเวลาต่อไปนี้เราจะมีเรื่องของวาระการจัดทำรัฐธรรมนูญ ที่จะถือว่าเป็นวาระหลัก ผมอยากเห็นในเรื่องของข้อเสนอแนะ หรือโครงการวิจัย งานชี้แจงที่มาของตุลาการศาลธรรมนูญจะยึดโยงกับประชาชนได้อย่างไร เรื่องความได้ สัดส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิที่จะเป็นองค์คณะของตุลาการศาลธรรมนูญ หรือเรื่องของโครงการ ทำวิจัย การตรวจสอบดุลยพินิจ หรือคำวินิจฉัยของศาลธรรมนูญว่าจะมีองค์กร หรือว่า หน่วยงานที่ตรวจสอบ หรือว่าการถ่วงดุลของทางศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างไร สุดท้าย เมื่อที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีความยึดโยงกับพี่น้องประชาชนแล้ว เรื่องข้อครหา เรื่องคำวิพากษ์วิจารณ์ การทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ การทำคำวินิจฉัยต่าง ๆ ว่าถูกต้องตามหลักวิชาหรือไม่ หรือว่าข้อครหาอื่น ๆ จะลดลงไปนะครับ และความเชื่อมั่น ศรัทธาต่อศาลรัฐธรรมนูญของพี่น้องประชาชนจะมาเอง ขอบพระคุณครับ
เรียนประธานสภาที่เคารพ ผม วีรนันท์ ฮวดศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขตเลือกตั้งที่ ๑ พรรคก้าวไกล ตัวแทน พี่น้องชาวตำบลในเมือง ตำบลเมืองเก่า ตำบลพระลับ วันนี้นำเรื่องความเดือดร้อนของ พี่น้องประชาชนมาปรึกษาหารือกับท่านประธานดังต่อไปนี้ครับ
เรื่องแรก ปัญหาไฟส่องสว่างเส้นถนนกลางเมือง ตำบลเมืองเก่า ผมได้รับ เรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนที่สัญจรผ่านไปผ่านมาในบริเวณดังกล่าวนะครับว่า ไฟส่องสว่างตรงถนนกลางเมือง ตั้งแต่บริเวณหน้า NCA Express ไปจนถึงหมู่บ้านถาวร บ้านโนนตุ่น และทางต่างระดับไปตัดกับถนนมิตรภาพไม่มีไฟส่องสว่างและเกิดอุบัติเหตุ สำหรับผู้ที่สัญจรผ่านไปผ่านมาเป็นจำนวนมาก และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน เนื่องจากบริเวณดังกล่าวไม่มีสัญญาณไฟส่องสว่างนะครับ
เรื่องที่ ๒ เรื่องเส้นทางสัญจรบริเวณบ้านดอนบม ตำบลเมืองเก่า พี่น้องประชาชนที่สัญจรผ่านไปผ่านมา เนื่องจากบริเวณดังกล่าวไม่มีสัญญาณไฟจราจร พี่น้องหมู่บ้านดังกล่าวขอสัญญาณไฟจราจรกับแขวงการทาง แล้วก็กรมทางหลวงนะครับ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง แล้วก็เป็นจุดที่พี่น้องประชาชนใช้ความเร็ว ในการสัญจรผ่านไปผ่านมา จึงเรียนท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเรียนในเรื่อง ของการติดตั้งสัญญาณไฟจราจร
เรื่องที่ ๓ อีกจุดหนึ่งบริเวณหน้าหมู่บ้านการเคหะ ตำบลเมืองเก่า จังหวัดขอนแก่น บริเวณดังกล่าวเป็นสามแยกไม่มีสัญญาณไฟจราจรและเกิดอุบัติเหตุ บ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นจุดอับทำให้มองไม่เห็นรถที่สัญจรผ่านไปผ่านมา และหมู่บ้านดังกล่าว เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ มีประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงนำเรียนท่านประธานไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการติดตั้งสัญญาณไฟจราจร
ประเด็นสุดท้ายครับท่านประธาน ในเรื่องของถนนชำรุด บริเวณถนน บ้านดอนบม ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากพี่น้องประชาชน ได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วแต่ว่ายังมีอีกหลายจุดที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข จึงนำเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการซ่อมแซมเส้นทางที่เป็นหลุมเป็นบ่อ ทำให้พี่น้องประชาชนสัญจรผ่านไปผ่านมาได้อย่างสะดวก ขอบคุณครับท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม วีรนันท์ ฮวดศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น พรรคก้าวไกล เขตเลือกตั้งที่ ๑ วันนี้ผมมาขออภิปรายสนับสนุนให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาการแก้ไขปัญหาการดูแลเด็ก เยาวชนและความมั่นคงของสถาบันครอบครัวนะครับ เนื่องจากว่าผมขออภิปรายตามหลักการและเหตุผลของทางผู้เสนอญัตติที่ได้เสนอไว้ เนื่องด้วยตลอดระยะเวลากว่า ๓-๔ ปีที่ผ่านมา มีการชุมนุมทางการเมืองนะครับ มีประชาชน ออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพมาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี และดีใจที่มีประชาชนจำนวนมากออกมาใช้เสรีภาพโดยตรง ผ่านการชุมนุม ผ่านการเรียกร้อง ผ่านการใช้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็น แล้วก็เป็นที่เสียใจไปพร้อม ๆ กันว่าผู้ที่ออกมา ชุมนุมเหล่านั้น หลาย ๆ คน หลาย ๆ ครอบครัวกลับมีภาระทางคดี กับมีคดีติดตัวนะครับ มิหนำซ้ำบางคนยังถูกติดตาม ยังถูกข่มขู่ ยังถูกคุกคาม สถิติประชาชนที่ถูกดำเนินคดีตั้งแต่ ปี ๒๕๖๓ จำนวนกว่า ๑,๒๔๙ คดี เป็นจำนวนคนกว่า ๑,๙๒๘ คน โดยมีเยาวชนและเด็กที่มี อายุต่ำกว่า ๑๘ ปีที่ถูกดำเนินคดีกว่า ๒๑๖ คดี ถ้านับเป็นจำนวนคนจำนวนไม่ต่ำกว่า ๒๘๖ คน ในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมและใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ถ้าเราดู ตัวเลขเป็นสถิติที่น่าตกใจ แล้วก็เป็นตัวเลขที่มีนัยสำคัญมากว่าเยาวชนและเด็กที่ถูก ดำเนินคดี แล้วก็มีภาระทางคดีเป็นจำนวนมาก ท่านประธานครับ การชุมนุมได้รับการรับรอง คุ้มครองไว้ตามธรรมนูญ มาตรา ๔๔ ว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธ การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้นะครับ และนอกจากนี้ ยังมีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ให้การรับรองด้วย ท่านประธานครับ ปัจจุบันและที่ผมเป็นทนายความในคดีที่มีเด็กและเยาวชน และผู้ชุมนุม ที่ออกมาชุมนุม ออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถูกดำเนินคดี เพราะว่ารัฐยังเข้าใจในเรื่องของเสรีภาพน้อยอยู่นะครับ ท่านประธานครับ เพราะว่ารัฐเรา โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือว่าเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลควบคุมการชุมนุม ให้ความสำคัญกับความมั่นคงนะครับ ความมั่นคงของรัฐและปัจจุบันนี้ความมั่นคงของรัฐ กำลังล้ำแดนเสรีภาพของประชาชนของเด็กและเยาวชนครับ
เหตุผลอีกเหตุผลหนึ่งที่สนับสนุนให้สภาแห่งนี้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษา เพราะว่าตัวรัฐเอง หน่วยงานของรัฐเองความมั่นคงยังไม่มีความเข้าใจถึง ความสลับซับซ้อนของการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในการชุมนุม หรือว่า ในการแสดงออกต่าง ๆ และไม่ได้มีมาตรการที่ดีเพียงพอในการจัดการ นอกจากการปักธง และปักป้ายว่าผู้ชุมนุมไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือเยาวชนนั้นเป็นภัยต่อความมั่นคง และการจัดการ หรือว่าการดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับผู้ชุมนุมนั้นเพื่อความมั่นคง นอกจากนี้ท่านประธานครับ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนนั้นมีมากมายหลายฉบับ มาตรการที่เกี่ยวกับกฎหมาย มีความละเอียดอ่อน มีความซับซ้อน มีขั้นตอนมากมาย แต่ผมก็เข้าใจได้นะครับท่านประธาน เพื่อความรอบคอบ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเป็นการปกป้องสิทธิเด็กที่ถูก กล่าวหาว่ากระทำความผิดจึงจำเป็นต้องมีรายละเอียดที่มากมายหลายขั้นตอน แต่ท่านประธานครับ ยังมีปัญหาในเรื่องของขั้นตอนกระบวนการทางยุติธรรมสำหรับเยาวชน หรือเด็กที่ซับซ้อนมาก จนกว่าจะถึงขั้นตอนสุดท้ายเป็นภาระทางคดี เป็นภาระทางครอบครัว เป็นภาระทางการเดินทาง บางคดี บางคน บางครอบครัวไม่มีค่าใช้จ่าย หาเช้ากินเช้า หาเช้า กินค่ำ การที่เยาวชนเหล่านี้ถูกดำเนินคดีหรือมีขั้นตอนมากมายในการดำเนินคดีสำหรับเด็ก สุดท้ายแล้วมาตรการคุ้มครองต่าง ๆ จะกลายเป็นภาระทางคดีให้กับเด็กให้กับเยาวชน เหล่านี้ในการต่อสู้คดีผมเข้าใจความหวังดี แล้วก็ความห่วงใย และความปรารถนาของ กระบวนการยุติธรรม แต่ว่าผมก็อยากให้พวกเรามาร่วมกันทบทวนว่ามาตรการต่าง ๆ มันดี และเพียงพอแล้วหรือไม่สำหรับในการดำเนินคดี หรือว่าการดำเนินกระบวนการยุติธรรม สำหรับเด็กและเยาวชน คำถามสำคัญนะครับท่านประธาน เราจะทำอย่างไรให้กระบวนการ ยุติธรรมสำหรับเด็กมีความรวดเร็ว มีความเป็นธรรม เพื่อลดภาระทางคดี ลดค่าใช้จ่าย ทางครอบครัวและทางคดีให้น้อยลง เด็ก เยาวชนคือรากฐานของสังคมนี้ เรามาช่วยกันส่งต่อ ระบบที่ดี ครอบครัวที่เข้าใจ ครอบครัวที่โอบรับเด็กและเยาวชนเหล่านี้ รวมถึงกระบวนการ ยุติธรรมที่โอบรับและอำนวยความยุติธรรมให้กับเด็กและเยาวชน รวมถึงสถาบันครอบครัว ต้องมีองค์ความรู้ มีความเข้าใจในเรื่องสิทธิของเด็กอย่างเข้าใจและเปิดกว้าง เพื่อให้ ครอบครัวเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กที่ต้องการแสดงออก ต้องการใช้เสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ขอบคุณครับท่านประธาน
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม วีรนันท์ ฮวดศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น ขอหารือปัญหาพี่น้องประชาชนในเขต พื้นที่จังหวัดขอนแก่นดังนี้ครับ
เรื่องแรก ถนนประชาสโมสร ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ช่วงจุดตัดรางรถไฟ ชุมชนเทพารักษ์ ๕ พบปัญหาเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนว่า ผิวถนนเป็นคลื่น เป็นหลุม ส่งผลให้การสัญจรไม่สะดวก ผู้ใช้รถใช้ถนนได้รับความเดือดร้อน เป็นจำนวนมาก ซึ่งถนนเส้นนี้เป็นเส้นทางหลัก ผู้ใช้ถนนได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก ซึ่งถนนเส้นนี้เป็นเส้นทางหลักที่พี่น้อง ประชาชนใช้สัญจรผ่านไปผ่านมา จึงขอเรียนผ่านท่านประธานไปยังเทศบาลนครขอนแก่น ให้ช่วยตรวจสอบปัญหาดังกล่าวข้างต้น และเร่งดำเนินการแก้ไขตามอำนาจหน้าที่ด้วยครับ
เรื่องต่อมา จากข้อร้องเรียนของพี่น้องชาวบ้านพระคือ ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ที่พักอาศัยอยู่บริเวณริมห้วยพระคือจากวัดท่าประทาย จนถึงประตูระบายน้ำ D8 เป็นระยะทางกว่า ๓ กิโลเมตร ไม่มีไฟฟ้าใช้ในครัวเรือน ย้ำว่านี่ อำเภอเมือง จำนวนกว่า ๒๐ หลังคาเรือน ซึ่งพี่น้องในพื้นที่ดังกล่าวเคยทำเรื่องร้องเรียน ไปกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นระยะเวลานานแล้ว แต่ยังไม่เคยได้รับการอนุมัติจนมาถึง ปัจจุบัน จึงขอเรียนผ่านท่านประธานไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดขอนแก่น รับเรื่อง ดังกล่าวไปพิจารณาเรื่องการขยายเขตไฟฟ้าตามอำนาจหน้าที่โดยเร็วที่สุด เพื่อให้พี่น้องได้มี ไฟฟ้าส่องสว่างใช้ในครัวเรือน
เรื่องต่อมา ข้อห่วงกังวลเรื่องการเพิ่มจำนวนของสุนัขจรจัดในพื้นที่รับผิดชอบ ของเทศบาลนครขอนแก่น โดยเบื้องต้นได้มีการร่วมมือระหว่างเทศบาลแล้วก็การ ประสานงานกับกลุ่มเครือข่ายของผู้รักสุนัขลงพื้นที่ตรวจสอบและหาทางออก เพื่อให้สุนัข ได้อยู่ในพื้นที่อย่างดีที่สุดแล้ว แต่ว่าในปัจจุบันนี้แม้จะมีการจัดสถานที่รองรับให้กับสุนัข จรจัดแล้ว แต่ปัญหาที่พบเจอในการจัดการดูแลสุนัขที่พบเห็นคือ ๑. เรื่องของการขาด การสนับสนุนด้านการแพทย์ ได้แก่ การฉีดวัคซีน การผ่าตัด การทำหมันซึ่งไม่มีงบประมาณ ในการบริหารจัดการที่เพียงพอ อีกทั้งงบประมาณสำหรับการบริหารจัดการภาพรวมของ สุนัขจรจัดในพื้นที่เป็นศูนย์พักพิงถาวรนี้ยังไม่มีมาตรฐานเพียงพอจึงขอเรียนผ่าน ท่านประธานไปยังเทศบาลนครขอนแก่นและกรมปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่นในการช่วย ตรวจสอบปัญหาดังกล่าวครับ
ประเด็นสุดท้ายครับท่านประธาน เรื่องการพิจารณาจุดกลับรถบริเวณ จุดโฮมโปรและอู้ฟู่อีกครั้งหนึ่งที่ถนนมิตรภาพ เนื่องจากปัจจุบันมีการปิดจุดกลับรถและ พี่น้องที่สัญจรผ่านไปผ่านมาต้องใช้ระยะทางไปกลับกว่า ๓ กิโลเมตรในการกลับรถ จึงเรียนให้แขวงทางหลวงพิจารณาดูอีกครั้งเรื่องของการปิดแล้วก็เปิดจุดกลับรถว่า จะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด แล้วก็เรื่องความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนครับ ขอบคุณครับ ท่านประธานครับ
เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม วีรนันท์ ฮวดศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขต ๑ พรรคก้าวไกล วันนี้ ผมนำปัญหาพี่น้องประชาชนในพื้นที่มาปรึกษาหารือกับประธานดังต่อไปนี้ครับ
เรื่องแรก ที่อยู่อาศัยของพี่น้องริมทางรถไฟจังหวัดขอนแก่น เนื่องจากมี การพัฒนาระบบขนส่งทางราง ทั้งรถไฟความเร็วสูง และรถไฟรางคู่ กระทบต่อที่อยู่อาศัย ของพี่น้องริมทางรถไฟหลายชุมชนในเขตเทศบาลนครขอนแก่นกว่า ๑,๒๐๐ คน ตำบลศิลา ๑๑ ชุมชน จากการพูดคุยพี่น้องประชาชนไม่ได้ขัดขวางการพัฒนา แต่มีความกังวลฝากผม หารือกับท่านประธานถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการหาพื้นที่สำหรับกลุ่มคนที่ต้อง รื้อย้ายออกจากพื้นที่เดิมครับ
เรื่องที่ ๒ การปรับปรุงภูมิทัศน์บึงแก่นนคร บึงแก่นนครเป็นสัญลักษณ์ ที่สำคัญของจังหวัดและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ แต่ในปัจจุบันบึงแก่นนครนั้น มีความเสื่อมโทรมไม่ได้รับการปรับปรุงดูแลอย่างเหมาะสม ทั้งในเรื่องภูมิทัศน์ ลู่วิ่งทางเดิน ที่เป็นหลุมเป็นบ่อ อิฐตัวหนอนที่มีความชำรุดบกพร่อง ห้องน้ำไม่สะอาด ขาดการดูแล แสงสว่างไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ใช้บริการเกิดความไม่ปลอดภัย จึงขอเรียนท่านประธาน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อให้บึงแก่นนครแห่งนี้เป็นสถานที่ ปลอดภัยของผู้คนที่มาใช้บริการ
เรื่องต่อมา น้ำท่วมขังซ้ำซากในบริเวณซอยฉิมพลี ๙/๗ เนื่องจากไม่มี ท่อระบายน้ำ ซึ่งทางพี่น้องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้งและได้รับ การช่วยเหลือแล้ว แต่ปัจจุบันน้ำยังท่วมขังซ้ำซากอยู่ จึงอยากฝากท่านประธาน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องด้วย
ประเด็นต่อมา เรื่องไฟส่องสว่าง จุดแรก บริเวณถนนริมคลองชลประทาน จากบิ๊กซีเลี่ยงเมืองไปสำนักงานชลประทาน เส้น RCM ตั้งแต่กิโลเมตรที่ ๔๑ ถึงกิโลเมตรที่ ๔๕ ระยะทาง ๔ กิโลเมตร เส้นนี้กลางคืนมืดครับท่านประธาน เกิดอุบัติเหตุและอาชญากรรม บ่อยครั้ง จุดที่ ๒ บริเวณถนนเฉลิมพระเกียรติ รอบบึงทุ่งสร้าง ตั้งแต่แปลงปลูกป่าวันต้นไม้ ประจำชาติยาวถึงถนนประชาสโมสร ประชาชนใช้เส้นทางสัญจรจำนวนมาก เกิดอุบัติเหตุ และความไม่ปลอดภัยในชีวิตประจำวันและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน จุดที่ ๓ อุโมงค์ กลับรถใต้สะพานมิตรภาพ บริเวณทางออกบ้านโนนตุ่นไปยังบ้านกุดกว้าง ตำบลเมืองเก่า เข้าตัวเมืองขอนแก่น จุดดังกล่าวเป็นจุดอับที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ฝากท่านประธาน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการในเรื่องไฟส่องสว่างไม่เพียงพอให้กับ พี่น้องประชาชนในบริเวณทั้ง ๓ จุดดังกล่าวด้วย
ประเด็นต่อมา เรื่องถนนชำรุดเป็นหลุมเป็นบ่อที่บริเวณถนนเลี่ยงเมือง เลียบคลองชลประทานไปศูนย์ปฏิบัติธรรม ธรรมรตาวัดตาลเรียง บ้านผือ หมู่ที่ ๒ ตำบลพระลับ อำเภอเมืองขอนแก่น เกิดชำรุดตลอดเส้นทาง ระยะทางกว่า ๑.๒ กิโลเมตร และไม่มีไฟส่องสว่าง ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ฝากท่านประธานไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขให้กับพี่น้องประชาชนด้วยครับ
ประเด็นสุดท้าย เรื่องการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดีหรือสิทธิ ในการประกันตัว เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญครับ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และชอบด้วยกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิ ทางการเมือง ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า เป็นผู้กระทำผิด แต่ในปัจจุบันที่เห็น คุมขังเป็นหลัก ประกันตัวเป็นข้อยกเว้น ซึ่งในขณะนี้ มีผู้ถูกคุมขังในคดีทางการเมืองและคดี ๑๑๒ อยู่หลายคดี อย่างเช่น คุณโสภณ คุณเวหา คุณวารุณี ทั้ง ๓ คนไม่ได้รับการประกันตัวให้ออกมาสู้คดีอย่างเต็มที่ ซึ่งคุณเวหา และคุณวารุณีขณะนี้กำลังอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวดังกล่าว ทราบว่า ขณะนี้คุณวารุณี Admit อยู่ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ฝากท่านประธานส่งเรื่องนี้ ไปยังสำนักงานศาลยุติธรรมที่เป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการประกันตัวโดยตรง และฝาก ท่านประธานส่งเรื่องไปยังกระทรวงยุติธรรมที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องขังให้ทำตาม หลักกติกาสากลด้วย ขอบพระคุณครับ
กราบเรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม วีรนันท์ ฮวดศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขตเลือกตั้งที่ ๑ พรรคก้าวไกล ตัวแทนพี่น้องชาวตำบลในเมือง ตำบลเมืองเก่า ตำบลพระลับ วันนี้ขอร่วม อภิปรายสนับสนุนญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา มาตรการควบคุมฝูงชนและแสวงหาข้อเท็จจริงการสลายการชุมนุม อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ การชุมนุมของเยาวชน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๖๓ ถึง พ.ศ. ๒๕๖๕ ดังต่อไปนี้ ท่านประธานครับ ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ ที่มีการออกมาชุมนุมเรียกร้อง ทางการเมืองของพี่น้องประชาชนหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา นิสิต เยาวชน รวมถึง พี่น้องประชาชน ซึ่งออกมาชุมนุมเรียกร้องตามสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับการรับรองตามธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง แต่ปรากฏว่าในการชุมนุม มีการสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุม มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นได้รับบาดเจ็บจากการถูกกระบองของ คฝ. ฟาด หรือผลกระทบต่อระบบ ทางเดินหายใจหรือผิวหนังจากการที่มีส่วนผสมของสารเคมีในรถฉีดน้ำแรงดันสูง หรือจาก แก๊สน้ำตา รวมถึงการถูกทำร้ายร่างกายจากการสลายการชุมนุม ท่านประธานครับ ผมเห็นหลายเหตุการณ์ต่อหน้าต่อตา ซึ่งจากเหตุการณ์ที่ผมประสบด้วยตัวเองนั้นทำให้รู้สึกว่า การกระทำดังกล่าวของตำรวจควบคุมฝูงชนหรือที่เราเรียกว่า คฝ. นั้นเกินกว่าเหตุ ใช้ความรุนแรงที่เกินกว่าเหตุและไม่เป็นไปตามหลักสากล และขัดกับหลักการตามสิทธิมนุษยชน ที่ให้การรับรองไว้ ทำราวกับว่าผู้ชุมนุมหรือผู้ออกมาใช้สิทธิในการชุมนุมเรียกร้องต่าง ๆ นั้นไม่ใช่เพื่อนมนุษย์ ซึ่งผมมีข้อสังเกตต่อหลายเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของ คฝ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้ครับ
ประการแรก หลักสูตรการฝึกอบรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต่อการฝึกอบรมของชุด คฝ. นั้น หลักสูตรมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด และหลักสูตร ดังกล่าวนั้นได้รับการรับรองจากสากลหรือไม่ อย่างไร
ประการที่ ๒ มีการตรวจสอบและประเมินผลของเจ้าหน้าที่ คฝ. ที่ผ่าน การฝึกอบรมหรือไม่ว่ามีสภาพจิตใจพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมฝูงชนหรือไม่ อย่างไร และมีการ Check คฝ. เพราะว่าในการปฏิบัติหน้าที่จริงนั้น คฝ. มาจากทั่วประเทศ เป็นการสนธิกำลัง ไม่ว่าจากนครบาล จากตำรวจภูธรจังหวัด จากตำรวจภูธรภาค ว่ามีมาตรฐานเดียวกันหรือไม่ในการควบคุมฝูงชน
ประการที่ ๓ อุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมฝูงชน ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีที่ผสม ในน้ำที่ใช้ฉีดหรือว่าใช้สลายผู้ชุมนุม รวมถึงแก๊สน้ำตา หรือแม้กระทั่งกระสุนยาง ได้มี การตรวจสอบคุณภาพหรือไม่ อย่างไร ว่าสิ่งของเหล่านี้นั้นหมดอายุแล้วหรือยัง มีคุณภาพ หรือไม่ เพราะมีผลกระทบโดยตรงต่อร่างกายของผู้ที่เข้าร่วมชุมนุม
ประการต่อมา ในทางปฏิบัติการสลายการชุมนุมในหลายครั้งต่อผู้ร่วมชุมนุมนั้น ไม่ได้เป็นไปตามหลักสากล มีการสลายการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ เช่น ใช้กระสุนยางยิงผู้ชุมนุมในระยะกระชั้นชิดหรือยิงใส่ตัวโดยตรง ดังที่เพื่อนสมาชิกได้อภิปราย ไปแล้ว เท่าที่ผมมีข้อมูล มีผู้สูญเสียดวงตาไม่น้อยกว่า ๓ คน จากการสลายการชุมนุม และมี ผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก หากท่านใดที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลเหล่านี้ได้ทาง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นที่น่าสังเกตว่าตลอดการชุมนุมเรียกร้องของผู้ที่ ออกมาใช้สิทธิชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ จนถึงปี ๒๕๖๕ นั้น มีการดำเนินคดีกับ ผู้ร่วมชุมนุม แกนนำ นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชนเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ หลายคนต้องมีภาระทางคดีจนถึงทุกวันนี้ หลายคนหมดเนื้อหมดตัวกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ในระหว่างการต่อสู้คดี เพื่อที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองว่าตัวเองนั้นใช้สิทธิ และเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง ซึ่งผู้ร่วมชุมนุมมีเพียงแค่การแสดงออกและความคิด ที่เห็นต่างจากฝ่ายรัฐบาลในขณะนั้น แต่รัฐบาลกลับทำกับผู้ร่วมชุมนุมราวกับว่าพวกเขา เหล่านั้นเป็นอาชญากรร้ายแรง ทั้งที่จริงแล้วพี่น้องประชาชนที่ออกมาร่วมชุมนุม ทุกภาคส่วนนั้นมีความปรารถนาดีต่อประเทศ อยากให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย แต่ในทาง ตรงกันข้ามเรายังไม่มีมาตรการใด ๆ เลยที่จะดำเนินคดีหรือควบคุมการใช้อำนาจ หรือให้ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมฝูงชนที่ดำเนินการนอกเหนือกฎหมาย หรือไม่ปฏิบัติตาม ขั้นตอนหลักสากลในการสลายการชุมนุม หรือใช้ความรุนแรงที่เกินกว่าเหตุกับผู้ร่วมชุมนุม นอกจากนี้เรายังไม่เห็นท่าทีจากทางรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะแสวงหาข้อเท็จจริง ในการสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นระหว่างปี ๒๕๖๓ ถึงปี ๒๕๖๕ เลย นอกจากการดำเนินคดี แบบเดินหน้า ดำเนินคดีเอาเป็นเอาตายกับผู้ร่วมชุมนุมทางการเมืองครับ
สุดท้ายนี้ผมขอสนับสนุนญัตตินี้เพื่อทำให้ความจริงปรากฏ สรุปบทเรียน เพื่อทำความเข้าใจ รวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านและเพียงพอที่จะชี้ได้ว่าใครถูก ใครผิด และเป็นข้อมูลที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีที่พึ่งและไว้วางใจ ในการแสวงหาข้อเท็จจริงได้ ผมจึงสนับสนุนในการดำเนินการตั้งคณะกรรมาธิการคณะนี้ ขอบคุณครับ
เรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม วีรนันท์ ฮวดศรี ผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น ขอเสนอรายชื่อกรรมาธิการ ร่างพระราชบัญญัติยกเลิก พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ในสัดส่วน พรรคก้าวไกล ๖ ท่านดังต่อไปนี้ครับ ๑. นายปรีติ เจริญศิลป์ ๒. นายสุภกร ตันติไพบูลย์ธนะ ๓. นายภูริวรรธก์ ใจสำราญ ๔. นายคุณากร มั่นนทีรัย ๕. นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ๖. รองศาสตราจารย์ปกป้อง ศรีสนิท ขอผู้รับรองด้วยครับ
เรียนประธานที่เคารพ ผม วีรนันท์ ฮวดศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขต ๑ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมนำปัญหาของพี่น้อง ประชาชนในเขตพื้นที่เทศบาลนครขอนแก่น ตำบลเมืองเก่า ตำบลพระลับ มาหารือกับ ท่านประธาน ๓ เรื่องดังต่อไปนี้ ขอสไลด์ด้วยครับ
เรื่องแรก เป็นเรื่องถนน อบจ. ขก.๐๐๑ ที่เชื่อมระหว่างทางเลี่ยงเมืองกับถนนเส้นโยธาธิการและผังเมือง ขก.๒๐๕๕ ที่พี่น้อง ชาวบ้านกุดกว้าง แล้วก็ชาวบ้านสะอาด ตำบลเมืองเก่า ใช้สัญจรไปมาเป็นประจำ ถนนเส้นนี้ มีความชำรุดเป็นหลุมเป็นบ่อ ซึ่งพี่น้องประชาชนได้รับอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้งครับ ทราบว่า ทางเทศบาลตำบลเมืองเก่าได้นำปูนซิเมนต์ไปซ่อมแล้ว แต่ก็ยังพังอยู่ครับ ฝากท่านประธาน นำเรียนเรื่องนี้ไปยัง อบจ. จังหวัดขอนแก่นเข้ามาดูแลถนนเส้นนี้ให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยนะครับ
เรื่องที่ ๒ เรื่องคลองระบายน้ำครับ คลองระบายน้ำที่รับน้ำจากบึงทุ่งสร้าง ไปยังหนองเรือเปือย ที่ตำบลพระลับกับตำบลในเมือง ไม่มีพนังกั้นน้ำทำให้ตลิ่งชำรุด กำแพงบ้านเรือนของพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหาย ซ่อมแล้วซ่อมอีกเป็นจำนวน หลายรอบแล้วนะครับ แต่ก็ยังถล่มลงมากับตลิ่ง จึงฝากท่านประธานไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักชลประทานที่ ๖ หรือว่าสำนักโยธาธิการและผังเมือง เข้ามาดูแลปัญหาของพี่น้องประชาชนด้วยนะครับ ซึ่งพี่น้องที่ได้รับปัญหาไม่ว่าจะเป็น ชุมชนธนาคร ชุมชนทุ่งเศรษฐี ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมากครับ
เรื่องที่ ๓ เรื่องของซอยไปรษณีย์ ถนนเหล่านาดี บ้านขามเจริญ ตำบลเมืองเก่า ถนนในซอยเป็นหลุมเป็นบ่อประชาชนไม่สามารถสัญจรไปมาได้อย่างสะดวก มอเตอร์ไซค์ ลื่นล้มอยู่บ่อยครั้ง จึงฝากท่านประธานนำเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เทศบาลตำบล เมืองเก่า ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แก้ไขปัญหาเรื่องถนนเส้นนี้ให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยนะครับ
ประการสุดท้ายครับท่านประธาน สุดท้ายนี้เชิญชวนพ่อแม่พี่น้องเที่ยวงาน วันเกษตรภาคอีสานประจำปี ๒๕๖๗ งานจะเปิดวันศุกร์นี้ วันศุกร์ที่ ๒๖ มกราคม ถึงวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ณ อุทยานเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น เชิญชวนทุกท่านครับ ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม วีรนันท์ ฮวดศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น ตำบลในเมือง ตำบลเมืองเก่า ตำบล พระลับ ผมขอใช้เวลาในสภาแห่งนี้เพื่ออภิปรายสนับสนุนขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจต่าง ๆ ของกองทัพไปอยู่ ในความดูแลของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ท่านประธานครับ รัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๕๒ รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบัน พระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขต และประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย มีเกียรติภูมิ ผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของประชาชน พูดโดย สรุปง่าย ๆ ครับท่านประธาน กองทัพมีหน้าที่ดูแลในเรื่องความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย รักษาผลประโยชน์แห่งชาติและการพัฒนาประเทศ ท่านประธานครับ พอเข้าไปดูในเนื้อหา ในสิ่งที่กองทัพทำจริง ๆ กลับพบว่า กองทัพนั้นถือครองที่ดินเกินกว่าครึ่งก็คือ ๗.๕ ล้านไร่ จาก ๑๒ ล้านไร่ ก็คือถือครองที่ดินของกรมธนารักษ์ อย่างที่ท่าน สส. เบญจา แสงจันทร์ ได้อภิปรายไปแล้วนั้น พบว่ากองทัพได้นำที่ดินที่มีอยู่ไปประกอบธุรกิจเชิงพาณิชย์ ซึ่งอยู่ใน การกำกับดูแลของกองทัพมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสนามมวย สนามม้า ผลิตไฟฟ้า ปั๊มน้ำมัน ตลาดสวัสดิการ โรงแรม และสร้างบ้านขยายกำลังพล ไม่ว่าจะเป็นโครงการธนารักษ์ประชารัฐ สถานีโทรทัศน์มากมาย รวมถึงคลื่นความถี่ต่าง ๆ ซึ่งมีผลประโยชน์มหาศาลครับ ท่านประธาน ประเทศไทยมีสนามกอล์ฟมากเป็นอันดับที่ ๒๐ ของโลก ซึ่งเป็นของกองทัพ มีอยู่ประมาณ ๗๔ แห่ง มีสนามกอล์ฟ ๒ แห่ง และสนามไดรฟ์กอล์ฟ อีกอย่างน้อย ๒ แห่ง ที่อยู่ในจังหวัดขอนแก่นบ้านผมครับท่านประธาน สนามที่หนึ่งเป็นสนามกอล์ฟที่เรียกกันติด ปากว่า สนามกอล์ฟ ร. ๘ หรือว่าชื่อเต็ม ๆ คือ สนามกอล์ฟสีหราชเดโชไชย กรมทหารราบ ที่ ๘ เป็นสนามกอล์ฟขนาด ๙ หลุมครับท่านประธาน สนามกอล์ฟ ร. ๘ นี้อยู่ติดกับสนามบิน นานาชาติขอนแก่นครับท่านประธาน เวลาการท่าอากาศยาน ปัญหาคือจะขอขยาย Runway ขอแล้วขออีก ไม่ได้ครับ หวงครับ หวงบักคักครับท่านประธาน และอีกสนามหนึ่ง คือสนามค่ายมหาศักดิพลเสพ อำเภอชุมแพ เป็นสนามกอล์ฟขนาดเดียวกัน ๙ หลุม ซึ่งสนาม กอล์ฟทั้ง ๒ นี้เป็นที่ราชพัสดุ ให้ทหารเข้าไปใช้ประโยชน์ ถือเป็นที่ดินของรัฐและเข้าทำ ประโยชน์โดยกองทัพ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ท่านประธานครับ คำถามก็คือว่าการที่กองทัพ ดำเนินธุรกิจต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น สนามกอล์ฟแบบชัด ๆ นะครับ ในการดูแลของกองทัพ ด้วยภาษีและที่ดินของประชาชนเช่นนี้มีความเหมาะสมหรือไม่ และไม่ใช่หน้าที่ของกองทัพ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด จากการตรวจสอบพบว่าสนามกอล์ฟดังกล่าวมีการเก็บค่าบริการ ในการใช้สนามกอล์ฟครับท่านประธาน การที่กองทัพนำที่ราชพัสดุก็ดีมาดำเนินธุรกิจ เก็บเงินค่าใช้บริการในการเข้าสนาม มีคนเข้าไปใช้บริการเกือบทุกวัน มีทั้งนายทหาร มีข้าราชการ มีนักกอล์ฟและประชาชนทั่วไปที่เป็นลูกค้าของสนามกอล์ฟแห่งนี้ การที่กองทัพใช้ที่ดินในการทำธุรกิจเช่นนี้ มีการส่งเงิน จ่ายเงินค่าธรรมเนียมกลับคืนให้รัฐ บ้างหรือไม่นะครับ คำถามที่ ๒ คือจ่ายค่าเช่าให้กรมธนารักษ์อย่างสมเหตุสมผลหรือไม่ ท่านประธานครับ การดำเนินธุรกิจของกองทัพ หรือที่หลายๆ ท่านเรียกว่า เสนาพาณิชย์ ไม่มีทั้งความโปร่งใส นี่คือข้อห่วงกังวล ไม่มีความโปร่งใสทั้งกระบวนการการดำเนินการ รายรับ รายจ่าย บุคลากรที่ใช้ จากการที่ผมได้ติดตามงบประมาณของกองทัพที่เพื่อนสมาชิก พรรคก้าวไกลได้ทำหน้าที่ในสภาแห่งนี้ครับ พบว่าได้มีการขอเอกสารไปหลายครั้งหลายหน เกี่ยวกับรายรับรายจ่าย หรือว่าค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของกองทัพที่ได้จากการทำธุรกิจภายใน กองทัพ ตลอดจนถึงทุกวันนี้ยังไม่ได้เอกสาร ยังไม่มีการเปิดเผยครับว่ากองทัพมีรายได้ มากน้อยเพียงใดจากการประกอบธุรกิจ หรือพูดง่าย ๆ ไม่มีความชัดเจนว่า กองทัพมีรายรับ จากการประกอบธุรกิจต่าง ๆ ที่กล่าวมามากน้อยเพียงไรครับ ท่านประธานครับ กองทัพ ในฐานะผู้ที่ใช้ภาษีของประชาชน ประชาชนเสียภาษีให้แล้ว ท่านดำเนินธุรกิจและใช้กำลังพล ของชาติ ใช้ที่ดินของรัฐในการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของกองทัพ ผมจึงอยากจะทราบว่าธุรกิจ เหล่านี้ได้เงินปันผลเท่าไร รายได้กลับคืนรัฐเท่าไร แล้วก็ได้ส่งค่าธรรมเนียมมากน้อยเพียงใด เพราะว่าไม่อย่างนั้นแล้วรัฐจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากการทำธุรกิจของกองทัพ ถ้าไม่ได้ ประโยชน์อะไร ก็ไม่ควรมีธุรกิจของกองทัพนะครับ หรือไม่ก็ถ่ายโอนธุรกิจต่าง ๆ ของกองทัพ ให้อยู่ภายใต้การดูแลของพลเรือน หรือไม่ก็กระทรวงการคลัง เพื่อความโปร่งใสครับ ท่านประธาน การที่กองทัพถือครองธุรกิจต่าง ๆ นี้ ก็ควรให้สำนักงบประมาณและสภา ผู้แทนราษฎรสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ตามกระบวนการงบประมาณเหมือนหน่วยงาน รัฐอื่น ๆ ที่เป็นหน่วยรับงบประมาณ เพราะตามหน้าที่ที่กล่าวมาไม่ใช่หน้าที่ของกองทัพ โดยตรงในการจัดหรือดำเนินการธุรกิจต่าง ๆ ที่กองทัพดำเนินการอยู่ควรให้ประชาชนหรือ ผู้แทนของประชาชน หรือว่าองค์กรต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้พลเรือนเข้าไปตรวจสอบได้นะครับ เพื่อความโปร่งใสและทำให้ทหารมีความน่าเชื่อถือ เป็นรั้วของชาติอย่างที่พวกเราหลาย ๆ ท่านท่องมาตั้งแต่เด็ก ทุกวันนี้พอเรานึกถึงทหาร เรานึกถึงความดำมืด เรานึกถึงดินแดน สนธยา เรานึกถึงความไม่โปร่งใส เรานึกถึงความลับต่าง ๆ มากมายที่ไม่สามารถเข้าไป ตรวจสอบได้ ที่ไม่สามารถก้าวก่ายก้าวเท้าผ่าน หรือว่านำข้อมูลจากภายในกองทัพออกมา เปิดเผยสู่สาธารณะได้ครับ สุดท้ายนี้ท่านประธานครับ ด้วยเหตุผลที่ผมได้อภิปรายมา ทั้งหมดแล้วนั้น ผมจึงขอสนับสนุนให้สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณา ศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจต่าง ๆ ของกองทัพให้ไปอยู่ในความดูแลของรัฐบาล และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ขอบคุณครับท่านประธาน
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม วีรนันท์ ฮวดศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขต ๑ พรรคก้าวไกล ตำบลในเมือง ตำบลเมืองเก่า ตำบลพระลับ ขออภิปรายสนับสนุนให้สภาแห่งนี้ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหา เรื่อง การบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ดังนี้ ท่านประธานครับ ปัญหาการบริหารจัดการขยะนั้น รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ มาตรา ๒๕๐ กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ให้จัดให้มีระบบจัดการและการ กำจัดขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถนำไปใช้ให้เกิด ประโยชน์ด้านอื่น ๆ ได้ แต่ปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละเขตพื้นที่นั้นต่างเจอ ปัญหาในลักษณะเดียวกัน คือจำนวนขยะมูลฝอยในแต่ละชุมชนที่มีจำนวนมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้นเรื่อย ๆ และไม่มีท่าทีว่าจะน้อยลง แต่อย่างใด ปัญหาเหล่านี้นั้นส่งผลกระทบใน มุมกว้าง การบริหารจัดการขยะนั้นจำเป็นที่จะต้องใช้ทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นด้านงบประมาณ บุคลากร เครื่องจักรในการทำลายหรือแปรรูปพื้นที่ในการพักขยะบ่อรับสิ่งปฏิกูล รถเก็บขยะ อุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ ปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการ และเมื่อเป็น เช่นนี้แล้วทำให้ปริมาณขยะตกค้างหลายพันตันต่อวัน และยังสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีท่าที ว่าจะดีขึ้น ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นกับการบริหารจัดการขยะของท้องถิ่น คือ
ข้อที่ ๑ ปัญหาเชิงโครงสร้าง เรื่องแรก หน้าที่การควบคุมและบังคับใช้ กฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้านการจัดการขยะยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะการกำกับ ดูแลการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัด ที่เกี่ยวกับขยะและมาตรการรองรับ ในกรณีที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เรามักจะพบเห็นว่า บ่อขยะนั้นมีการสะสมของขยะจำนวนมากจนน่าตกใจครับ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ววิธีการจัดการ คือ การนำเข้าเตาเผาขยะแบบไม่มีระบบบำบัดมลพิษ แต่ด้วยขยะที่นำเข้าสู่เตาเผานั้นเป็นขยะ รวมที่ไม่มีการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง ทั้งยังมีการสะสมที่เพิ่มขึ้นของขยะอิเล็กทรอนิกส์ จึงจำเป็นต้องจัดการอย่างถูกวิธี ส่งผลให้ปัจจุบันนี้ใช้งบประมาณมากขึ้นในการจัดการขยะ
เรื่องที่ ๒ ข้อจำกัดด้านงบประมาณของท้องถิ่น เรื่องนี้เป็นปัจจัยสำคัญอย่ามาก ที่ต้องเร่งแก้ไข และแม้จะมีการเรียกเก็บค่าบริการขยะจากประชาชน แต่ก็ไม่เพียงพออยู่ดี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังต้องจ่ายเงินจำนวนมหาศาลในการจัดการขยะ รายได้ที่จัดเก็บ และเงินอุดหนุนจากรัฐไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของเงินที่ใช้ในการบริหารจัดการขยะ แล้วอย่างนี้เมื่อไรจะแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการขยะได้สักทีท่านประธานครับ ขอสไลด์ครับ
ท่านประธานครับ การบริหารจัดการขยะ ต้องจัดการขยะทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง แต่ว่าในประเทศไทยมีปัญหา ในทุกขั้นตอนครับท่านประธาน ขอยกตัวอย่างในการจัดการปลายทาง ซึ่งเป็นขั้นตอน ในการกำจัด ก็คือโรงงานกำจัดขยะตามข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในประเทศไทย เรามีโรงงานกำจัดของเสียขยะสิ่งปฏิกูลประเภทโรงงาน ๑๐๑ ๑๐๕ ๑๐๖ อยู่ราว ๆ ๒,๐๐๐ แห่งทั่วประเทศ ซึ่งประเภท ๑๐๕ คือคัดแยกขยะอันไหน Recycle ได้ Recycle ส่วนที่ Recycle ก็เป็นรูปแบบฝังกลบ มีมากอยู่ประมาณ ๖๔ เปอร์เซ็นต์ หลายเทศบาล ก็ใช้วิธีนี้ แต่ปัญหาก็คือว่าโรงงานเหล่านี้ไม่มีที่ดินในการฝังกลบครับท่านประธาน ก็คือไม่รู้จะไปฝังที่ไหน เพราะว่าที่ครึ่งหนึ่ง ที่ราชพัสดุครึ่งหนึ่งกองทัพก็นำไปใช้แล้ว ต่อมา ก็คือประเภทโรงงาน ๑๐๖ คืออันไหน Recycle ก็ Recycle อันไหนที่ Recycle ไม่ได้ก็อัด เป็นแท่งเป็นก้อนนะครับ เป็นก้อนพลังงานเพื่อนำไปเข้าทำเชื้อเพลิง หรือที่เราเรียกว่า RDF ตามภาพสไลด์ที่เห็น ก็คือเป็นก้อนเชื้อเพลิงพลังงาน อันนี้ทางภาคอีสาน ส่วนใหญ่จะใช้กัน แต่วิธีนี้มันมีปัญหาอยู่ตรงที่ว่าไม่ค่อยมีโรงงานรับซื้อก้อนเชื้อเพลิงนี้ ไม่รู้ จะไปขายให้ใคร ส่งขายโรงไฟฟ้าโรงงานไหน หรือว่าทำให้โรงงานต้อง Stock ก้อนขยะ พลังงานนี้ไว้เป็นจำนวนมาก ก็คือว่าแทนที่จะเป็นก้อนพลังงานเชื้อเพลิงที่ผลิตพลังงานไฟฟ้า ให้กับพี่น้องประชาชนใช้ในราคาถูก แต่กลับกลายเป็นก้อนกองขยะที่สะสมแล้วจะมากขึ้น เรื่อย ๆ คำถามของผมคือว่า หรือว่ามีบริษัทไหนผูกขาดด้วยเรื่องพลังงานผลิตไฟฟ้าไว้หรือไม่ มันก็เลยขายก้อนพลังงานนี้ได้ยากหรือแทบจะขายไม่ได้ ต่อมาในเรื่องของขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะอันตรายครับ เทศบาลต่าง ๆ นี้ปกติจะให้ อบจ. ที่จังหวัดขอนแก่นก็เหมือนกัน จะให้ อบจ. เป็นคนกำจัดปีละครั้ง ผมเน้นย้ำกับท่านประธานอีกครั้งหนึ่งว่าปีละครั้งครับ ท่านประธาน ในปริมาณก็แล้วแต่ว่า อบจ. ไหนจะได้โควตาเท่าไร มีงบประมาณเท่าไรในการ บริหารจัดการ และเรื่องโรงงานกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ขยะอันตรายอย่างที่ถูกต้องถูกวิธี มีมาตรฐาน ปัจจุบันในประเทศไทยมีอยู่ไม่กี่ที่นะครับ ที่ทราบมาคร่าว ๆ ก็มีอยู่ประมาณ ๓ ที่ทั่วประเทศ กับขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมหาศาล ปกติคนเปลี่ยนโทรศัพท์หรือว่า คอมพิวเตอร์นี้ไม่รู้กี่ล้านล้านเครื่องต่อปี
เรื่องของขยะในจังหวัดขอนแก่น ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษปริมาณขยะ ที่เกิดขึ้นของขอนแก่นตกวันละ ๑,๘๐๐ ตันต่อวัน ขยะที่ถูกกำจัดไม่ถูกต้องนี้ถึง ๓๖๔ ตัน ต่อวัน ปัจจุบันจังหวัดขอนแก่นมีขยะตกค้างอยู่ประมาณ ๖๑๒,๖๔๐ ตัน ซึ่งถือว่าเป็นอันดับ ต้น ๆ ของประเทศครับท่านประธาน นอกจากนี้ยังมีในส่วนของเทศบาลตำบลเมืองเก่า มีประชากรอยู่ ๓๒,๐๐๐ กว่าคน แต่ว่าปริมาณขยะที่เก็บได้วันหนึ่ง ๓๑ ตัน เฉลี่ยเดือนละ ๙๕๐ ตัน เฉลี่ยต่อปีก็คือตก ๑๑,๐๐๐ ตันต่อปี ทีนี้ขยะ ๑๑,๕๐๐ ตัน หรือว่า ๑๒,๐๐๐ ตัน ต่อปี เราจะเห็นว่าเทศบาลตำบลเมืองเก่า อันนี้เป็นของปี ๒๕๖๖ รวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับ การบริหารจัดการขยะ ๑๗ ล้านบาท เกือบ ๑๘ ล้านบาทนะครับท่านประธาน
ต่อไปในส่วนของเทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลนครขอนแก่นมีประชากร ทั้งประชากรที่อยู่ประจำ ประชากรแฝง ประชากรจร อยู่ประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ ท่าน ก็คือ ขยะที่เกิดขึ้นเฉลี่ย ๑๗๐ ตันต่อวัน กว่า ๓,๕๐๐ ตันต่อเดือน หรือว่า ๖๓,๐๐๐ ตันต่อปี อัตราการเกิดขยะมูลฝอย ๑.๖ กิโลกรัมต่อคน ก็ถือว่าเป็นปริมาณที่มาก ๆ เลยนะครับ ท่านประธานครับ ซึ่งปัจจุบันเทศบาลนครขอนแก่นมีปัญหาด้านบุคลากรการจัดการขยะมูลฝอย ไม่เพียงพอ มีเจ้าหน้าที่ที่จำกัด เปิดรับสมัครเพิ่มก็ไม่ค่อยได้ เพราะติดระเบียบบริหารงาน บุคคลท้องถิ่น จึงไม่สามารถที่จะให้บริการเก็บขนขยะมูลฝอยในพื้นที่ความรับผิดชอบได้ อย่างทั่วถึง แม้ตัวเทศบาลเองจะมีโครงการเทศบาลเล็กในเทศบาลใหญ่ที่เป็นการร่วมมือกัน ระหว่างภาคประชาชนก็ยังไม่เพียงพอครับ สถานที่กำจัดขยะของเทศบาลนครขอนแก่น ตั้งอยู่ที่ตำบลโนนท่อน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถฝังกลบขยะที่เข้า มาใหม่ได้อีกแล้ว จึงให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการขยะมูลฝอยด้วยวิธีแปรรูปขยะ เป็นพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด ทำให้เทศบาลต้องใช้งบประมาณในการกำจัดขยะอยู่ราว ๆ ๔๖๐ บาทต่อตัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
สุดท้ายครับท่านประธาน นอกจากนี้ผมยังมีข้อเสนอ ๖ ข้อเสนอในการ บริหารจัดการ หรือว่าแก้ไขเรื่องปัญหาขยะ ๑. ก็คือให้ อปท. ปัจจุบันมีแนวทาง ที่ชัดเจนจากส่วนกลางในเรื่องการบริหารจัดการขยะ ๒. เรื่องงบอุดหนุนงบประมาณ ที่ไม่เพียงพอกับ อปท. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๓. เราต้องสร้างแรงจูงใจในการแก้ไข ปัญหาที่ต้นทางของประชาชน เพื่อให้เกิดการคัดแยกขยะที่ต้นทางที่บ้านนะครับ เช่นเรา อาจจะให้ ๓ ดาว ๕ ดาว หรือบ้านไหนคัดแยกขยะอาจจะมีส่วนลดในการเก็บค่าบริการขยะ หรือว่ามีมาตรการทางภาษี ๔. รัฐต้องให้การสนับสนุน Cluster ในการจัดการขยะ ลดต้นทุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็น Cluster ในการจัดการขยะ ๕. แก้ไข ระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่จะทำให้โรงงานไฟฟ้าใช้เชื้อเพลิงจากขยะมากขึ้น และ ๖. แก้ระเบียบบริหารงานบุคคลท้องถิ่นที่เป็นข้อจำกัดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ นอกจากนี้จากเหตุผลที่ผมได้อภิปรายมาทั้งหมดนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้และเพื่อนสมาชิกทุก ๆ ท่านที่จะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อ ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหา เรื่องการบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างเร่งด่วน ต้องรีบจัดการก่อนที่จะสายเกินไป ร่วมกันสร้างขยะที่เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า ให้กับสังคมร่วมกันขอบคุณครับท่านประธาน
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม วีรนันท์ ฮวดศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น พรรคก้าวไกล ผมขออภิปรายสนับสนุน ญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในครั้งนี้ ประเทศเราได้ผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองทั้งรุนแรง มาหลายเหตุการณ์ครับ เพื่อนสมาชิกที่อยู่ในที่นี้และพี่น้องประชาชนที่อยู่ทางบ้านทราบกันดีครับว่าตลอดระยะเวลา กว่า ๒๐ ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การรัฐประหาร ปี ๒๕๔๙ หรือเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นจากฝ่ายใดก็ตาม สีเสื้อไหนก็ตาม จนมาถึงเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มเยาวชน คณะราษฎรช่วงปี ๒๕๖๓ ซึ่งถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจนถึงปัจจุบัน ที่ผ่านมาความแตกแยกของ แนวคิดทางการเมืองได้สร้างปมและฝังรากของความขัดแย้งในหมู่ประชาชนและในสังคม อย่างยาวนาน นี่เป็นเรื่องยากและความท้าทายที่จะนำสังคมไปสู่ความสงบสุขและปรองดองกัน ท่านประธานครับ ก็จริงอยู่ที่ว่าการนอนอยู่บ้านเฉย ๆ การไม่ใช้เสรีภาพในการแสดงความ คิดเห็น การไม่ออกไปชุมนุมก็ไม่โดนจับก็ไม่โดนคดี แต่มันก็มีหลายคนที่ทนไม่ได้ที่เห็น สังคมนี้ไม่เป็นธรรม ที่เห็นสังคมนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย ที่เห็นสังคมนี้ไม่มีเสรีภาพในการคิด การพูด การอ่าน การเขียน จึงออกมาเรียกร้องสิทธิเหล่านี้เพื่อคืนความปกติสุข คืนความ เป็นธรรมสู่สังคมนี้ แน่นอนครับว่าตามประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทยมันไม่มีนิยาม ของคำว่า นักโทษการเมือง เราต้องกลับไปดูที่มูลเหตุของการกระทำหรือมูลเหตุของข้ออ้าง ที่อาศัยเป็นหลักแห่งการกล่าวหาในทางอาญาว่าเป็นมูลเหตุจูงใจทางการเมืองหรือไม่ เมื่อมี เหตุจูงใจทางการเมืองนั้นแล้ว นั่นละครับนักโทษคดีการเมือง การดำเนินคดีการเมืองต่าง ๆ โดยรัฐนั้นเป็นการผลักภาระและการสร้างภาระทางคดีให้กับประชาชนผู้ที่ถูกดำเนินคดีครับ การที่ผู้คนออกมาแสดงถึงความคิด ความเชื่อ ความฝัน ถือเป็นสิทธิเป็นเสรีภาพของ ประชาชนที่สามารถกระทำได้ แน่นอนครับว่ามันมีราคาที่ต้องจ่าย แต่ราคาที่ประชาชนต้อง จ่ายนั้นคือเสรีภาพของตนเองครับ คำถามของผมคือว่า โทษกับการกระทำมันได้สัดส่วนกัน หรือไม่ ท่านประธานครับ หากเราลองถอดบทเรียนในระยะสั้น ๓-๔ ปีที่ผ่านมา เราจะเห็น ถึงการใช้กฎหมายปิดปาก ไม่ว่าจะเป็นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ มาตรา ๑๑๖ มาตรา ๒๑๕ มาตรา ๒๑๖ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน แม้กระทั่ง พ.ร.บ. ความสะอาด ก็ถูกหยิบมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อระงับยับยั้งประชาชนที่เข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมือง โจมตีผู้เห็นต่างทางการเมืองเพื่อให้ผู้คนที่ออกมาชุมนุมประท้วงหยุดการเคลื่อนไหว หยุดการ เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ สร้างพันธนาการที่ผูกรั้งด้วยข้อกล่าวหาต่าง ๆ ทำให้ผู้ต้องหาที่ถูก กล่าวหาต่างต้องเผชิญกับอุปสรรคต่าง ๆ มากมายครับท่านประธาน ไม่ว่าจะเป็นด้านหน้าที่ การงาน บางคนถูกเลิกจ้าง ถูกไล่ออก เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง เมื่อถูกเลิกจ้างก็ย่อมส่งผลกระทบในด้านอื่น ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นด้านทรัพย์สิน ชื่อเสียง กระทบไปยังเครือญาติ บางครอบครัวที่ผมประสบพบเจอถึงกับตัดญาติมิตรกันนะครับ ต่อมาความรุนแรงในครอบครัวอันเนื่องมาจากความเห็นทางการเมืองที่ผมกล่าวมาแล้วนั้น ทีนี้มันก็มีข้อเท็จจริงตามมาในภายหลังว่าในหลายคดีศาลก็ได้ยกฟ้องไป แต่ว่าสิ่งที่ ผู้ถูกกล่าวหาหรือว่าจำเลยเหล่านั้นไม่ได้รับกลับคืนมาก็คือความยุติธรรม ท่านประธานครับ ก่อนที่ผมเป็น สส. เมื่อผมเป็นทนายความที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ทำงานร่วมกับ ทนายแจม ท่าน สส. ศศินันท์นี่ละครับ ผมได้ให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหาทางการเมืองมา หลายคดี ผมได้เห็นความทุกข์ที่พวกเขาเหล่านั้นต้องประสบพบเจอความคับแค้นใจ บางคน ต้องเดินทางไกล ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร ก่อนฟ้องบางทีต้องไปรายงานตัว หลายเดือนกับทางอัยการ และค่าเดินทางมันเกินกำลังทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือผู้ถูก กล่าวหาเหล่านั้น ท่านประธานครับ ผู้ต้องหาทางการเมืองแต่ละคนมีต้นทุนชีวิตที่แตกต่าง กันครับ บางคนต้องหาเช้ากินค่ำ ไม่มีเงินเดือนหรือสวัสดิการที่ดีเหมือนกับพวกเราที่อยู่ใน ที่ประชุมแห่งนี้ ผู้ถูกกล่าวหาบางท่านไม่มีทุนทรัพย์ในการดำรงชีวิต การเลี้ยงดูครอบครัว ซ้ำร้ายบางท่านไม่มีเงินจ้างทนาย ไม่มีเงินในการต่อสู้คดี ไม่มีเงินในการประกันตัวก็ติดคุก ไปพลางก่อนครับ เหมือนที่ใช้งบงบประมาณไปพลางก่อนนี่ละครับ แต่สิ่งที่แตกต่างคือ เขาเหล่านั้นติดคุกจริง ๆ ครับท่านประธาน ใช้เสรีภาพของตัวเองจริง ๆ ตัวจริง ๆ ที่ติดคุก ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นก็เป็นคนเหมือนกับพวกเราครับ พวกเขาต่างมีครอบครัว ต่างมีคนรัก ต่างมีคุณพ่อ ต่างมีคุณแม่ ต่างมีคนที่รอคอยอยู่ แต่ว่าบางคนที่ไม่มีญาติมาหาก็เพราะ ข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ผมได้กล่าวมาก่อนหน้านี้ ติดคุกไม่สนุกแน่ ๆ ครับท่านประธาน โดยเฉพาะติดคุกโดยที่ตัวเขาเองไม่ใช่เป็นอาชญากรโดยแท้ ติดคุกเพราะการใช้เสรีภาพใน การพูด ในการคิด ในการเขียน ในการแสดงความคิดเห็น ผมเข้าใจหัวอกของญาติผู้ต้องขัง ดีครับว่าต้องเจออะไรบ้าง เจอแรงกดดันขนาดไหน มีความทุกข์ มีความคับแค้นใจแค่ไหน ในการที่คนรัก คนใกล้ชิดของเขาต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ทั้งที่พวกเขาเหล่านั้นเพียงแค่ ต้องการแสดงความคิดเห็น แสดงออก และต้องการเห็นประเทศที่มันดีขึ้น ท่านประธานครับ อีกปัญหาหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามและผมถือว่าเป็นปัญหาสำคัญครับ ยังมีผู้ต้องขัง ยังมีผู้ต้องหา ทางการเมืองอีกหลายคนที่ยังอยู่ในเรือนจำ พวกเขาถูกตัดสิน ถูกคุมขังเพราะแสดงความ คิดเห็น ความเชื่อ ความคิดทางการเมือง หลายคนที่ปัจจุบันนี้แม้แต่สิทธิในการประกันตัว ต่อสู้คดีเขายังไม่ได้รับเลยครับ ซึ่งสิทธิในการประกันตัวนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานโดยแท้ครับ ไม่นับผลกระทบด้านจิตใจที่พวกเขาได้รับเมื่อถูกพรากเสรีภาพ เพียงเพราะเขามีความ ต้องการที่จะเห็นสังคมดีงามแบบพวกเราครับ ท่านประธานครับ ถึงเวลาแล้วที่พวกเราทุกท่าน ต้องหันหน้าเข้าหากัน พูดคุยกัน หาทางออกร่วมกัน ผ่านกลไกของรัฐสภาแห่งนี้ สังคมไทย ปัจจุบันประชาชนได้ตื่นรู้ ประชาชนได้ตื่นขึ้นมาแล้วครับ เราต้องยุติความขัดแย้งที่สั่งสม มาอย่างยาวนาน คืนความยุติธรรมทั้งทางคดี ทั้งทางมิติของสังคมให้กับทุกฝ่าย ให้กับ ทุกสีเสื้อ ให้กับทุกมุ้งของการชุมนุม ทุกคนมีสิทธิที่จะยึดหลักการแนวคิดของตนเอง ไม่มีใคร ควรต้องถูกดำเนินคดีเพียงเพราะแสดงออกทางความคิดภายใต้สิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญ รองรับไว้ ผมเชื่อว่าทุกคนต่างหวังดีกับบ้านเมือง เพียงแค่เราเห็นไม่ตรงกัน ไม่ได้หมายความ ว่าเราจะต้องเอาพวกเขาเหล่านั้นเข้าคุกเข้าตะราง พวกเขาเหล่านั้นถูกพรากเสรีภาพไปจาก พวกเขา พรากพวกเขาไปจากคนรัก มันถึงเวลาแล้วที่เราต้องยุติสิ่งเหล่านี้ เห็นต่างใช่ว่า จะเป็นอาชญากร เห็นต่างใช่ว่าจะไม่รักชาติบ้านเมือง สุดท้ายเมื่อเราได้ถกเถียงกันเรื่อง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ไม่ว่าจะเป็นจากพรรคการเมืองก็ดี จากภาคประชาชนก็ดี ถกเถียงกัน อย่างจริงจังหาทางออกที่ทุกคนเข้าใจร่วมกันได้ แม้บางท่านไม่เห็นด้วยกับร่างของ พรรคก้าวไกล แม้บางท่านจะไม่เห็นชอบที่จะนิรโทษกรรมผู้ต้องหาคดี ๑๑๒ แต่ขอให้ สภาแห่งนี้ที่เป็นสภาของผู้แทนราษฎรรับฟังความคิดเห็น แลกเปลี่ยนทางความคิดอย่าง จริงจัง เมื่อปัญหามันเกิดขึ้นจากมูลเหตุทางการเมืองก็ควรใช้การเมือง ใช้กลไกของรัฐสภา แห่งนี้คลี่คลายหาทางออกและยุติความขัดแย้งทางการเมือง คืนความยุติธรรมให้แก่ผู้ต้องหา ทางการเมือง เรามาไกลเกินกลับไปนับหนึ่ง ประวัติศาสตร์ที่มันขาดครึ่งเรามาร่วมกันเขียน ผมจึงขอเป็นอีกเสียงหนึ่งที่สนับสนุนให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญนิรโทษกรรมแก่บุคคล ซึ่งได้รับความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งในทางการเมืองนี้ครับ ขอบคุณครับ ท่านประธาน
เรียนประธานที่เคารพ ผม วีรนันท์ ฮวดศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขต ๑ พรรคก้าวไกล ตัวแทนพี่น้อง ตำบลในเมือง ตำบลเมืองเก่า ตำบลพระลับ วันนี้ขออภิปรายสนับสนุนให้สภาแห่งนี้ รับหลักการร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๘/๒๕๖๐ เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๐ พ.ศ. .... และร่างกฎหมายของเพื่อนสมาชิกอีก ๒ ฉบับ ดังนี้ครับ
ท่านประธานครับ เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศเรานั้นเน้นย้ำและพยายาม ให้ความสำคัญกับเรื่องของการกระจายอำนาจมาโดยตลอด เรามีหลายหน่วยงานที่ทำเรื่อง การกระจายอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจหรือ สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ยังมีคณะกรรมาธิการสามัญที่ทำรายงาน ให้คำปรึกษา หรือว่าแก้ไข ปัญหาในส่วนเรื่องของการกระจายอำนาจ นั่นก็คือคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ แต่เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หน่วยงานที่คอยบริการประชาชนอย่างใกล้ชิด และดำเนินนโยบายสาธารณะ เพื่อตอบสนอง ความต้องการของพี่น้องประชาชนในแต่ละท้องถิ่น แต่ละตำบล แต่ละจังหวัด คือองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหาร ส่วนตำบล หรือเทศบาลต่าง ๆ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหล่านี้ ผู้บริหารนั้นมาจาก ฉันทามติของพี่น้องประชาชน มาจากการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชนในแต่ละพื้นที่นะครับ ท่านประธาน แต่ท่านประธานทราบหรือไม่ว่าการดำเนินงานต่าง ๆ ขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นนั้นมีปัญหามากมาย ผมเชื่อว่าเพื่อนสมาชิกในห้องประชุมแห่งนี้ท่านทราบดีครับ เพราะว่าหลายท่านนั้นก็มาจากผู้บริหารท้องถิ่น หรือแม้แต่พี่น้องประชาชนนะครับ ก็ทราบปัญหาของท้องถิ่นดีจากการเข้าไปขอรับบริการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณของท้องถิ่น เรื่องภารกิจของท้องถิ่น เรื่องของไม่มี ความคล่องตัวในการบริหารนโยบายตามที่หาเสียงไว้กับพี่น้องประชาชน รวมถึงเรื่องสำคัญ ก็คือเรื่องของบุคลากร เสียงสะท้อนจากพี่น้องประชาชนที่ผมได้ยินมาบ่อยครั้งเลย คือคน ไม่พอต้องรอ รอแล้วต้องรอคิวไปก่อนนะครับ ซึ่งเป็นเสียงที่สอดคล้องกันกับฝ่ายผู้บริหาร หรือผู้ปฏิบัติงานของท้องถิ่นที่บอกว่าบุคลากรไม่พอนะครับ ไม่เพียงพอกับภารกิจกับภาระ งานที่เพิ่มมากขึ้น ใช่ครับ เรื่องบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นถือเป็นหนึ่งใน หัวใจของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น อย่างที่หลาย ๆ ท่าน อย่างที่เรา ๆ ชอบพูดกันอยู่ เสมอในเรื่องของคน งาน งบ ท่านประธานนครับ วันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่พวกเรา ผู้แทนราษฎรที่ได้ไปรับฟังปัญหาของพี่น้องชาวท้องถิ่นและเห็นปัญหาร่วมกันในเรื่องของ การพัฒนาบุคลากรท้องถิ่นนำร่างพระราชบัญญัติทั้ง ๔ ฉบับ เข้าสภาแห่งนี้ เพื่อให้สภาแห่งนี้ รับหลักการ เหตุผลที่ผมสนับสนุนหลักการของกฎหมายทั้ง ๔ ร่างนั้น
ประการแรก คำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๘/๒๕๖๐ เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๐ นั้น เป็นบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากว่าปัจจุบันนี้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แล้วก็มีบทบัญญัติที่ขัดกับหลักการของการกระจายอำนาจในเรื่องของ การปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างชัดเจน
ประการที่ ๒ หลังจากที่คณะรัฐประหาร คสช. ได้ออกคำสั่งหัวหน้าคณะ รักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๘/๒๕๖๐ เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานส่วน บุคคลท้องถิ่น ลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๐ แล้วนั้น แทนที่จะช่วยแก้ปัญหา แทนที่จะช่วยเรื่องบุคลากรของท้องถิ่นไม่เพียงพอ แต่กลับก่อให้เกิดปัญหาหนักกว่าเดิม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องการบุคลากรที่จำเป็นสำหรับหน่วยงานนั้น ไม่สามารถเปิดสอบ ไม่สามารถเปิดรับบุคลากรเองได้ ก็อย่างที่ว่าคณะรัฐประหารไม่ได้มา จากการเลือกตั้ง จะเข้าใจองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชนได้อย่างไร สุดท้ายนะครับ ผมหวังว่าเพื่อนสมาชิกที่อยู่ในสภาแห่งนี้จะรับหลักการของกฎหมายของ ร่างกฎหมายทั้ง ๔ ฉบับ เพราะถึงเวลาแล้วที่เราจะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ขับเคลื่อน นโยบายโดยการเติมบุคลากรเพื่อตอบสนองพี่น้องประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและ สอดคล้องกับหลักการการกระจายอำนาจอย่างแท้จริงครับท่านประธาน ขอบคุณครับ
ท่านประธานครับ ขออนุญาตหารือ ท่านประธานนิดหนึ่งครับ ก่อนเข้าระเบียบวาระครับท่าน
เนื่องจากเมื่อวานหลังจากที่เพื่อนสมาชิก หลายท่าน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือว่าฝ่ายรัฐบาลได้อภิปรายร่าง พ.ร.บ. จัดสรรที่ดินเสร็จ ทั้งของพรรคเพื่อไทยและของพรรคก้าวไกล แล้วก็หลังจากเสร็จท่านปิดประชุมนะครับ หลังจากที่เดินออกจากห้องประชุมผมได้ยินเสียงเพื่อนสมาชิกหลายท่านบอกว่าที่ท่าน ปิดประชุม เนื่องจากเกรงว่าสมาชิกฝั่งรัฐบาลจะไม่ครบองค์ประชุมนะครับ ซึ่งเสียงซุบซิบ แบบนี้ผมไม่สบายใจ ในฐานะที่ท่านเป็นประธานควบคุมการประชุมก็เลยอยากให้ ท่านประธานชี้แจงสักนิดนะครับ เพราะผมเห็นว่าไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งสำหรับท่านนะครับ ขอให้มีโอกาสได้ชี้แจง ขอบคุณครับ
ขออนุญาตใช้สิทธิพาดพิงนิดหนึ่งครับ ท่านประธาน
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม วีรนันท์ ฮวดศรี ผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขต ๑ พรรคก้าวไกล ตัวแทนพี่น้องตำบลเมืองเก่า ตำบลในเมือง ตำบลพระลับ วันนี้ผมขอร่วมอภิปรายสนับสนุนรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง การพัฒนาระบบบำนาญพื้นฐานประชาชน คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม ดังนี้ครับ ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณคณะกรรมาธิการที่ตั้งใจศึกษาและทำรายงานสรุปเป็นรูปเล่ม ให้พวกเราได้ศึกษาได้อ่าน เล่มนี้นะครับ
ท่านประธานครับ ประเทศไทยเราได้เริ่ม เข้าสู่สังคมสูงวัยมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ และดำเนินมาเรื่อย ๆ ตามรายงานสถิติของทางทะเบียน แสดงให้เห็นว่า ในปี ๒๕๖๕ ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ และในปี ๒๕๗๓ อีก ๖ ปีข้างหน้า เราจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มขั้นหรือว่าสุดยอดนะครับ ระดับเดียวกันกับ ประเทศญี่ปุ่น จากข้อมูลของสไลด์ สำนักงานทะเบียน กรมการปกครอง จังหวัดขอนแก่น บ้านของผม ในปี ๒๕๕๖ ท่านลองดูตามสไลด์นะครับ จะเห็นว่าระดับตัวเลขของผู้สูงอายุนั้น เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอำเภอเมืองกว่า ๗๐,๐๐๐ คน และในเขต ๑ ทั้ง ๓ ตำบล พระลับ เมืองเก่าและในเมือง ๓๐,๐๐๐ กว่าคน ซึ่งถือว่าเป็นครึ่งหนึ่งของอำเภอเมืองแล้ว และก็มี แนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากปัญหาของอัตราเด็กเกิดใหม่ที่ต่ำสวนทางกับจำนวน ผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น แต่ประเทศไทยเราได้เตรียมความพร้อมสำหรับโครงสร้างทางสังคมนี้ ช้ามากครับท่านประธาน ระบบสวัสดิการ เบี้ยผู้สูงอายุในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการจ่ายแบบ ขั้นบันได ๖๐๐-๑,๐๐๐ บาทนั้นน้อยมาก ไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีพ อีกทั้งยังต่ำกว่า เส้นแบ่งความยากจนครับท่านประธาน อีกทั้งยังต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนครับท่านประธาน จากสไลด์ถัดไปเราจะเห็นว่า สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อปี ๒๕๖๕ จังหวัดขอนแก่นมีเส้นแบ่ง ความยากจนของรายได้ หรือว่าเงินขั้นตอนในการดำรงชีพอยู่ที่ ๒,๙๐๓ บาท พูดกลม ๆ ก็คืออยู่ที่ ๓,๐๐๐ บาท หากดูข้อมูลย้อนในปีก่อน ๆ เราจะเห็นตัวเลขที่มันเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ นั่นก็หมายความว่าเงินที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของพี่น้องประชาชนนั้นจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ท่านประธานครับ หากเรามองออกไปข้างนอกสภาผ่านไปยังชุมชนแออัดในเมืองใหญ่ ชุมชน ชนบทตามหัวไร่ปลายนาที่ห่างไกล เราจะเห็นว่าผู้สูงอายุถูกสังคมบีบบังคับให้อยู่กับ ความยากจนและระบบสวัสดิการที่ไม่เพียงพอครับ ผมยกเหตุการณ์และยกตัวอย่างที่ผมไป ลงพื้นที่ ไม่ว่าจะไปพบผู้สูงอายุในชุมชนเมืองของเทศบาลนครขอนแก่น หรือตำบลเมืองเก่า ไม่ว่าจะเป็นบ้านดอนบม บ้านสะอาด บ้านกุดกว้าง หรือตำบลพระลับ และเมื่อวันศุกร์ ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสไปร่วมโครงการเปิดเทอมโรงเรียนผู้สูงอายุในตำบลพระลับ ที่บ้าน พระคือ เจอพ่อแก่แม่เฒ่ากว่า ๑๐๐ ชีวิต ผมได้มีโอกาสพูดคุย ได้รับฟังปัญหาที่พวกเขา ต้องพบเจอจากการที่เขาต้องพึ่งพิงรายได้แล้วจากคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นลูกหลานที่ไป ทำงานยังต่างจังหวัดหรือว่าในหัวเมืองใหญ่ ๆ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ฝากเบิ่งแน่เด้อ เงินผู้เฒ่าสิได้ย้ามใด๋ เป็นปากเป็นเสียงให้ยายแน่เด้อ พอได้เงินไปซื้อกะปิ น้ำปลา ซื้อแนว ใส่บาตรยามมื้อเซ้า นี่ละครับท่านประธาน จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมต้องมาพูดเพื่อสนับสนุน รายงานของคณะกรรมาธิการฉบับที่มานำเสนอต่อสภาในวันนี้ครับ เบี้ยผู้สูงอายุรายเดือน ๖๐๐ ๗๐๐ ๘๐๐ หรือ ๑,๐๐๐ บาทนั้น ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตอย่างแน่นอนครับ หมดเวลาแล้วที่เราต้องมาพิสูจน์ความจน การจัดให้รัฐมีสวัสดิการบำนาญเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ จึงถือเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างเร่งด่วนครับ เรื่องดังกล่าวค่อนข้าง น่าเป็นห่วงครับท่านประธาน จากรายงานฉบับนี้ของคณะอนุกรรมาธิการพบว่าอัตรา การเติบโตของกลุ่มประชากรผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างมีนัยสำคัญ เรามีความจำเป็น ที่จะต้องศึกษาแนวทางเพื่อจัดให้มีการศึกษาเรื่องสิทธิบำนาญถ้วนหน้า เพื่อประคับประคอง ผู้สูงอายุให้ห่างไกลจากวิกฤติความยากจนและปัญหาความเหลื่อมล้ำที่จะตามมา เมื่อพวกเขาเหล่านั้นขาดรายได้หลังจากเกษียณอายุ โดยมุ่งหมายให้ประชาชนได้รับบำนาญ พื้นฐานที่มีลักษณะเป็นบำนาญที่ถ้วนหน้าเท่าเทียมและเป็นสวัสดิการ โดยรัฐเพื่อสร้าง ความมั่นคงทางรายได้ที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตหลังเกษียณนะครับ และอีกอย่างจะเป็น การช่วยลดภาระที่พึ่งพิงลูกหลานวัยทำงานครับ และยังเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทางอ้อมผ่านการจับจ่ายใช้สอยในระบบชุมชน ในระบบหมู่บ้าน ในระบบร้านค้าโชห่วย ครับท่านประธาน หากรัฐบาลกังวลว่าจะหาเงินมาจากไหนมาเป็นบำนาญ ในรายงานฉบับนี้ ก็ได้ทำผลการศึกษานะครับ ก็เขียนบอกถึงแนวทางการจัดสรรงบประมาณ การจัดหารายได้ เพื่อให้ประเทศไทยมีงบประมาณเพียงพอต่อการจัดสรรบำนาญให้กับพี่น้องประชาชน ไม่ว่า จะเป็นระบบการปฏิรูปทางภาษี ส่วนแบ่งรายได้จากสลากกินแบ่งรัฐบาล ส่วนแบ่งการค้า สัมปทาน ค่าใบอนุญาตในกิจการสื่อสาร วิทยุโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม เพราะฉะนั้นแล้ว วันนี้ผมจึงเห็นด้วยอย่างยิ่งกับรายงานของคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคมที่นำเสนอ การจ่ายบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าให้แก่ผู้สูงอายุในกรอบปีงบประมาณ ๒๕๖๘ อยู่ที่ ๑,๒๐๐ บาท ปีงบประมาณ ๒๕๖๙ เพิ่มขึ้นเป็น ๒,๐๐๐ บาท และในปี ๒๕๗๐ เพิ่มขึ้น เป็น ๓,๐๐๐ บาทครับท่านประธาน สังคมเราถึงแม้จะเริ่มต้นให้ความสำคัญกับระบบ สวัสดิการที่ช้ากว่าประเทศอื่น แต่เราก็ได้เริ่มต้นแล้วและแสดงให้เห็นว่าบ้านเรา ผู้แทน สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ ไม่ได้นิ่งนอนใจกับสภาพสังคมของผู้สูงอายุ ขอบคุณครับ ท่านประธาน