เรียนท่านประธาน ที่เคารพค่ะ ดิฉัน สิริลภัส กองตระการ นะคะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต กรุงเทพมหานคร บางกะปิ วังทองหลาง แขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ จากพรรคก้าวไกล วันนี้ขออนุญาตมีส่วนร่วมในการอภิปรายเรื่องของรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้าน ความรุนแรงนะคะ จากที่เพื่อนสมาชิกหลาย ๆ ท่านได้อภิปรายไปแล้วว่าเกณฑ์ของ ความรุนแรงผู้ถูกกระทำก็คือ มีจำนวนของสตรีมากมากกว่าเพศอื่น ๆ อีกหลายเท่าเลยนะคะ จากสถิติ ขออนุญาตขอ Slide ด้วยค่ะ
ตั้งแต่ปี ๒๕๖๒-๒๕๖๔ ผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงที่เป็นเพศหญิงมีมากกว่าเพศชาย เรียงลำดับกันไปเลย ๑๑.๔ เท่า ๙.๕ เท่า แล้วก็ ๙.๓ เท่าตามลำดับ นี่ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก ๆ เลยนะคะ แต่ว่าประเด็นที่ ดิฉันอยากจะนำเสนออีก ๑ ประเด็นที่แตกต่างกันออกไปเนื่องจากการถูกกระทำ ความรุนแรงทางด้านร่างกายแล้วมันยังมีอีกกรณีหนึ่งซึ่งเป็นกรณีถูกคุกคามในลักษณะของ การสะกดรอย ติดตาม หรือว่าการทำให้บุคคลนั้นรู้สึกว่าถูกคุกคาม รู้สึกไม่ปลอดภัย ในกรณีนี้เราถือว่าเป็นความรุนแรงได้หรือไม่ เพราะว่าในความเป็นจริงแล้วความรุนแรง ไม่ควรจะเหมารวมเฉพาะการทำร้ายร่างกายอย่างเดียว แต่ว่าควรรวมไปถึงการทำร้ายจิตใจด้วย ถ้าเกิดว่าในรายงานครั้งถัดไปอยากจะฝากทางท่านประธานไปยังผู้ชี้แจงว่าจะสามารถบรรจุ ข้อมูลกรณีคนที่ถูกคุกคามหรือว่าการสะกดรอย หรือการสร้างความไม่สบายใจที่ถือว่า เป็นความรุนแรงทางจิตใจเข้าไปไว้ในรายงานได้หรือไม่ เพราะว่าตอนนี้ดิฉันเห็นในรายงาน ทั้ง ๒ เล่มก็ยังไม่ได้เห็น ซึ่งในปัจจุบันก็มีผู้เสียหายหลายกรณีเลยเมื่อเขาโดนคุกคาม หรือว่าสะกดรอยแบบนี้บางทีไปแจ้งตำรวจก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการต่อไปได้เพราะให้ เหตุผลเนื่องจากว่าถือว่าเหตุยังไม่เกิด ถ้าท่านบรรจุเรื่องนี้เข้ามาในรายงาน ดิฉันก็เชื่อได้เลย ว่าจะมีตัวเลขที่น่าตกใจมาก ๆ แล้วก็น่าจะเป็นการกระตุ้นให้หน่วยงานรีบหาทางป้องกัน เรื่องของกรณีการถูกสะกดรอยหรือว่าคุกคาม
ต่อไปดิฉันจะขอยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทย อย่างเช่นมี Net Idol ที่ถูกคุกคามจากคนคนเดียวกันเลยแล้วโดนซ้ำ ๆ แบบนี้จนทำให้เขารู้สึกไม่ปลอดภัย หรือใน Slide ถัดไปนี้เกิดขึ้นแบบใกล้ตัวมากก็คือเกิดขึ้นกับดิฉันเองค่ะ เป็นการถูกตามเข้าไปในห้องน้ำ โดยที่อาจจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐอันนี้ขออนุญาตไม่ฟันธง นี่คือกรณีที่เกิดขึ้นกับตัวดิฉันเองเลย เมื่อปี ๒๕๖๔ ซึ่งแจ้งความแล้วก็บอกว่าเหตุยังไม่เกิดไม่สามารถแจ้งความแบบกระทำอนาจารได้ เพราะว่ายังไม่มีหลักฐานอะไร แล้วดิฉันเชื่อเลยว่าตั้งแต่ปี ๒๕๖๔ เรื่อยมาจนถึงตอนนี้ จะมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ เพียงแต่ว่ายังไม่เป็นข่าว เพราะว่าไม่ได้เป็นคนที่อยู่ในแสง หรือแจ้งความไม่ได้ หรือคนที่เป็นผู้เสียหายไม่กล้าที่จะแจ้งความ และยังมีกรณีหลาย ๆ กรณีเลย ที่โดนสะกดรอย ติด GPS เองแล้วก่อให้เกิดความสูญเสียมากมาย อันนี้ดิฉันก็คิดว่าน่าจะ ถูกบรรจุเข้าไปไว้ในรายงานแล้วหรือยัง หรือกรณีถัดไปเรื่องของการ Sexual Harassment ที่ไม่ได้เป็นการ Sexual Harassment ลวนลามด้วยการกระทำแต่ว่าเป็นการเหลื่อมล้ำ ด้วยคำพูด สีหน้าหรือวาจาต่าง ๆ นี่คือการสร้างบาดแผลทางจิตใจเช่นเดียวกัน แล้วดิฉัน ก็ถือว่าน่าจะเป็นการกระทำความรุนแรงเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นก็เลยอยากจะถามไปว่า ตอนนี้เราควรนิยามเรื่องของการกระทำความรุนแรงกันได้ใหม่แล้วหรือยัง
ประเด็นต่อไปคือเรื่องของความรุนแรงในเด็ก ตรงนี้จากสถิติที่มีผู้มาใช้บริการ จริงอยู่ที่ตัวเลขของมันอยู่ที่ ๑,๓๖๒ เคส แต่อยากจะชวนกันมาคิดใหม่ว่ามีหลาย ๆ บทความเลย จากต่างประเทศเขาได้ทำการวิเคราะห์หรือว่าทำการวิจัยออกมาว่าหลายครั้งที่อาชญากร หรือฆาตกรต่อเนื่องเมื่อสืบค้นกลับไปแล้วมีเรื่องของการเลี้ยงดูที่มี Domestic Violate หรือว่าความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นอย่างเช่นจากบทความของสถาบันยุติธรรมแห่งชาติ ของประเทศสหรัฐอเมริกากล่าวว่าเด็กที่ถูกละเลยจะมีความเสี่ยงจะโดนจับในช่วงวัยรุ่น เพิ่มขึ้น ๔.๘ เท่าแล้วมีความเสี่ยงที่จะโดนจับจากการกระทำความผิดด้านความรุนแรง เพิ่มขึ้น ๓.๘ เท่า ขออนุญาตยกตัวอย่าง อย่างทางมหาวิทยาลัย Rashford เองได้มี การกระทำศึกษาจากฆาตกรต่อเนื่อง ๕๐ รายเก็บประวัติการทารุณกรรมที่กลุ่มตัวอย่าง ต้องเจอได้ผลการศึกษาว่าร้อยละ ๓๖ มีประสบการณ์ด้านการทำร้ายร่างกาย ร้อยละ ๒๖ เคยโดนละเมิดล่วงละเมิดทางเพศ และร้อยละ ๕๐ มีประสบการณ์การโดนทำร้ายจิตใจ ร้อยละ ๑๘ โดนปล่อยปละละเลยจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่นี่คือสารตั้งต้น เราจะยอม ปล่อยให้สารตั้งต้นเหล่านี้ในอีก ๑๐ ปีข้างหน้าจะเกิดอาชญากรหรือฆาตกรต่อเนื่อง ในประเทศไทยเกิดขึ้นหรือไม่ ท่านมีวิธีในการป้องกันไม่ให้เกิดแบบนี้ได้อย่างไร
และจาก ๒ ประเด็นที่ผ่านมาดิฉันได้อ่านรายงานมา แล้วก็มีเรื่องของ ยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบันครอบครัวตั้งแต่ปี ๒๕๖๐-๒๕๖๔ ทั้ง ๕ ยุทธศาสตร์ ดิฉัน ก็อยากจะฝากท่านประธานถามไปยังผู้ชี้แจงว่าทั้ง ๕ ยุทธศาสตร์นี้มีการวัดผลหรือประเมิน อย่างไร มีโครงการที่จะทำให้ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์นั้นอย่างไร และมีการวัดผลของโครงการ ในแต่ละโครงการนั้นอย่างไรคะ เพราะดิฉันยังไม่เห็นในรายงานเล่มนี้
ประเด็นที่ ๓ ประเด็นสุดท้าย อยากสอบถามความคืบหน้าเรื่องแนวทาง การดำเนินงานในการคุ้มครองผู้ถูกกระทำ ท่านเขียนไว้ว่าท่านจะจัดทำแล้วก็ขับเคลื่อน ร่างแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนไหนแล้ว ได้ใช้งานจริงแล้วหรือไม่ รวมไปถึงการปรับปรุงที่ท่านบอกว่า จะแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ปรับให้ สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ตอนนี้อยู่ถึงขั้นตอนไหนแล้ว ถ้าท่านบอกว่าตอนนี้ ท่านจะแก้ที่ พ.ร.บ. ฉบับเดิมจากการอภิปรายของท่านณัฐวุฒิ บัวประทุม เรื่องของ พ.ร.บ. นี้ที่มีการบอกว่ามีพระราชกำหนดออกมาย้อนหลัง บอกว่าถ้าท่านยังไม่พร้อม อันนี้เป็น คำวินิจฉัยจากศาลลงไว้ เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ บอกว่าเมื่อกระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีความพร้อมให้ชะลอผลการบังคับใช้ของ พ.ร.บ. ของปี ๒๕๖๒ ไปก่อน ตอนนี้ให้ใช้ของปี ๒๕๕๐ ตอนนี้ผ่านมา ๓-๔ ปีแล้ว ท่านและหน่วยงาน มีความพร้อมแล้วหรือยัง เพราะในแต่ละวันที่ผ่านไปเฉลี่ยแล้วเกิดความรุนแรงเกิดขึ้น ๔๖ รายต่อวัน คูณไว้ว่าง่าย ๆ เลย ๑ ปีจะมี ๑๖,๗๙๐ ราย ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประชาชนมีความกังวลไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงแบบนี้ขึ้นอีก ท่านมีวิธี หรือว่าขั้นตอนไปถึงไหนแล้วก็อยากจะให้ท่านผู้ชี้แจงได้ชี้แจงผ่านท่านประธานมา ไปยังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ
สวัสดีค่ะ ท่านประธาน ที่เคารพคะ ดิฉัน สิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๑๔ จากพรรคก้าวไกล มีเพื่อน ๆ สมาชิกหลายท่านที่ได้อภิปรายในเรื่องของปัญหาการศึกษา หาข้อเท็จจริงไปแล้ว แต่ว่ายังมีอีกประเด็นหนึ่งที่ดิฉันอยากจะใช้พื้นที่และเวลาเล็ก ๆ นี้ แต่ขอให้เป็นพื้นที่และเวลานี้เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ในการส่งเสียงและเป็นกระบอกเสียง ในเรื่องของการเยียวยาเรื่องของสุขภาพจิตของคนที่ประสบภัยในเหตุการณ์สะพานถล่ม ในครั้งนี้นะคะ หลาย ๆ ท่านได้พูดไปแล้วเรื่องของการเยียวยาในด้านต่าง ๆ แต่ว่าดิฉัน คิดว่ายังมีอีกส่วนหนึ่งที่หลายหน่วยงาน หลายฝ่าย หรือว่าสังคมไทยยังมองข้ามไป นั่นก็คือเรื่องของสุขภาพจิต ยังไม่ได้มีการตั้งคำถามเลยว่าครอบครัวผู้สูญเสียได้มีภาวะเครียด ภาวะซึมเศร้าหรือไม่ หรือคนที่อยู่ในเหตุการณ์สะพานถล่มวันนั้นจะมีภาวะเสี่ยง ในการเป็นโรค PTSD หรือไม่ PTSD ก็คือโรค Post-Traumatic Stress Disorder หรือว่า โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ซึ่งโรคนี้หลาย ๆ คนถ้าเผชิญกับภาวะนี้ ไม่สามารถที่จะใช้ชีวิตได้อย่างปกติอีกต่อไป ดิฉันเลยอยากจะขอใช้เวลาเล็ก ๆ และพื้นที่ เล็ก ๆ นี้ในพื้นที่สภานี้ในการที่จะเป็นกระบอกเสียงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงมาเยียวยา นอกเหนือจากเรื่องของการเยียวยาในด้านเงินหรือด้านต่าง ๆ แล้ว การเยียวยา เรื่องสุขภาพจิตก็เป็นเรื่องที่สำคัญ อันนี้คือเรื่องของระยะสั้น ในเรื่องของระยะกลาง และระยะยาวก็อยากจะผลักดันให้สุขภาพกายกับสุขภาพใจได้รับการเข้าถึงและการรักษา ไม่แพ้กัน ก็อยากจะฝากพื้นที่ตรงนี้ในการ Raise ประเด็น Awareness ตรงนี้ไว้ให้ด้วยค่ะ ขอบคุณท่านประธานค่ะ
กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ ดิฉัน นางสาวสิริลภัส กองตระการ ผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต กรุงเทพมหานคร จากพรรคก้าวไกล ก็ได้ฟังจากที่ท่านผู้ชี้แจงหลาย ๆ ท่านได้ชี้แจงไปแล้ว ก็ต้องขอขอบคุณ ที่ได้ชี้แจงให้ได้รับทราบข้อมูล ก็อยากจะฝากไว้ตรงนี้เราเป็นผู้แทนราษฎร เรามาในสภา เพื่อพูดแทนประชาชน หลาย ๆ คำถามหลาย ๆ ปัญหาเราถามแทนประชาชนค่ะ เพราะว่า บางทีประชาชนไม่ได้รู้เรื่องของการดำเนินงานหรือว่าเรื่องของมาตรการอะไรต่าง ๆ ที่ทางหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง อย่างทางที่ผู้ชี้แจง ของทางธนาคารเองออกมาที่บอกว่า SMS ที่ออกมาแล้วบอกว่าแอบอ้างจากธนาคารทั้งหมด ไม่ใช่ของธนาคาร อันนี้ก็บอกตรง ๆ ว่าเพิ่งทราบเหมือนกัน แล้วก็ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ที่เพิ่งทราบข้อมูลนี้ ก็คิดไปถึงแทนคนอื่นด้วยเหมือนกันว่าข้อมูลตรงนี้ได้รับ การประชาสัมพันธ์ที่เพียงพอแล้วหรือยังนะคะ ก็มีเพื่อนสมาชิกผู้แทนหลาย ๆ ท่านได้ ฝากถึงเรื่องการประชาสัมพันธ์ในเรื่องของมาตรการต่าง ๆ ไปแล้วนะคะว่าตรงไหนที่สามารถ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนดูได้โดยที่จะไม่เปิดช่องทางให้มิจฉาชีพได้ใช้เป็นช่องทาง ในการหลอกประชาชนต่อไป อันนี้ก็อยากจะฝากเรื่องของการประชาสัมพันธ์ ที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
มาตรการต่อไปเรื่องของการคิดค่ะ เท่าที่ได้ฟังนะคะอย่างที่ท่านชัยวุฒิ ได้บอกไปว่าตอนนี้เราอยู่ใน Period ของการไล่ตามจับ ดิฉันคิดว่าเราน่าจะลองเปลี่ยน มุมมองกลับมาใหม่ว่าถ้าเราเป็นโจร คิดในแง่ของโจร ถ้าเราเป็นตัวมิจฉาชีพเอง เราจะมี กลเม็ดอะไรใหม่ ๆ มันจะมีกลเม็ดเด็ดพรายอะไรใหม่ ๆ ที่จะเอามาหลอกประชาชน ถ้าคิดแบบนี้ดิฉันเชื่อว่าทุกหน่วยงานทุกองค์กรจะสามารถนำหน้า แล้วหันกลับมาจับ มิจฉาชีพได้โดยการที่จะดีกว่าการที่เดินตามแล้วไล่จับอยู่ตอนนี้นะคะ
อีกอย่างหนึ่ง คือเรื่องของความเสียหายที่หลาย ๆ ท่านได้นำเสนอกันไปแล้ว ยังมีอีก ๑ ประเด็นที่แตกต่างออกไปที่ดิฉันอยากจะนำเสนอก็คือ เรื่องความเสียหาย ขององค์กรที่เกี่ยวข้อง องค์กรที่เกี่ยวข้องที่โดนแอบอ้างนะคะ ขอไป Slide ที่ประมาณ Slide ๑๒ ได้ไหมคะ เพราะว่าจริง ๆ วันนี้เตรียม Slide มาเยอะมาก แต่ว่าหลาย ๆ ท่าน พูดไปแล้วจะขอข้ามไปนะคะ
Slide ที่ ๑๒ มันจะมี การแอบอ้างองค์กรจากหน่วยงานรัฐนะคะ ไปต่ออีก ๑ Slide ค่ะ นี่ค่ะอย่างเช่น กรมที่ดิน เป็นต้น อีก ๑ Slide ค่ะ จากการไฟฟ้าเอง จากกรมพัฒนาการค้าเอง ที่เข้ามาหลอก แล้วเข้ามาสวม นี่คือมิจฉาชีพทั้งนั้นเลยนะคะ มิจฉาชีพเหล่านี้แอบอ้างองค์กรหน่วยงานของรัฐ ในการที่จะมาหลอกลวงประชาชน ถ้าท่านไม่มีมาตรการจัดการพวกนี้ความเชื่อมั่น ขององค์กรหรือหน่วยงานรัฐท่านสร้างมาอย่างยากเย็นมันจะถูกกระทำย่ำยีจากมิจฉาชีพ ที่มาแอบอ้างชื่อของท่าน แล้วลองคิดดูว่าความเชื่อใจกว่าจะสร้างขึ้นมามันยากขนาดไหน แล้วโดนทำลายไปกลับกลุ่มพวกนี้มันจะคุ้มไหม อันนี้ก็คือสิ่งที่หน่วยงานรัฐจะต้องสูญเสีย และมีมูลค่า ลองเทียบกับชีวิตคนดูสิคะ กรณีใน Case ที่ยกตัวอย่างกันมา ๗๐๐ เคส ๖๐๐ เคส นั่นไม่ใช่แค่เฉพาะตัวเลขนะคะ ตัวเลขเหล่านั้นคือชีวิตคน ความเสียหาย ที่มันเกิดขึ้นกับคน ๆ หนึ่ง ขอไป Slide ที่ ๑๐ ค่ะ ย้อนขึ้นไปค่ะ ขึ้นไปอีก ๑ Slide เด็กมัธยมต้นฆ่าตัวตายจากการถูกหลอกโอนเงิน กรณีต่อไปหนุ่มโรงงานฆ่าตัวตาย จากการถูกหลอกจากแก๊งมิจฉาชีพหรือ Call Center นี่คือชีวิต ๑ ชีวิตที่ต้องสูญเสียไป ในครอบครัวเขานะคะ มันคือ ๑ ชีวิตบางทีเป็นโลกทั้งใบของครอบครัวเขาเลยก็ได้ ตรงนี้ เชื่อว่าเพื่อน ๆ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายท่านที่แนะนำเสนอปัญหาแล้วก็มาช่วยกัน หาวิธีทางข้อเสนอแนะต่าง ๆ ในการแก้ไข เพราะเราเห็นว่า ๑ เคส ไม่ใช่แค่เลข ๑ แต่ว่าเป็น ๑ คน ๑ กรณี ๑ ความเสียหายที่มันเกิดขึ้นกับคน ๆ หนึ่ง และคน ๆ นั้น เป็นประชาชนที่เราจะต้องดูแล ก็ฝากไว้แค่นี้ค่ะ ขอบคุณท่านประธานค่ะ
เรียนท่านประธานค่ะ ดิฉัน สิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร บางกะปิ วังทองหลาง จากพรรคก้าวไกลค่ะ วันนี้อยากจะมาอภิปรายประเด็นเรื่องของการเยียวยา สภาพจิตใจกรณีผู้ประสบภัยเหตุการณ์โกดังพลุระเบิดจากมูโนะ จังหวัดนราธิวาส ขอ Slide ขึ้นด้วยค่ะ
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ หลาย ๆ ท่าน หลาย ๆ องค์กรอาจจะยังมองข้ามอยู่จากครั้งที่แล้วกรณีสะพานถล่ม ดิฉันได้อภิปรายไปแล้วแบบแตะ ๆ ประเด็น แต่ว่ายังไม่ได้ลงลึก ครั้งนี้จะขอเวลา ในการอภิปรายแบบลงลึกในเรื่องของการเยียวยาสภาพจิตใจ ก่อนอื่นเลยต้องขอชื่นชม การทำงานของกรมสุขภาพจิตที่ได้จัดส่งทีมช่วยเหลือ เยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤติ หรือว่าทีม MCATT ลงมาประเมินสภาพจิตใจของผู้ประสบภัยโดยเร็วนะคะ ซึ่งการประเมิน ครั้งนี้มันมีเครื่องไม้เครื่องมือ แล้วก็มีกลไกหลาย ๆ อย่างที่จะต้องใช้ประเมิน แล้วก็ใช้เกณฑ์ ชี้วัดว่าผู้ประสบภัยในแต่ละท่านเข้าข่ายหรือเข้าภาวะใดบ้างนะคะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การประเมิน เวชระเบียนเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตจากการกระทำของมนุษย์ แบบประเมินผลกระทบทางจิตใจหลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ๑๐ ข้อ แบบประเมิน ความคิด ความรู้สึก พฤติกรรมที่เกิดขึ้นกับผู้ประสบภาวะวิกฤติหลังได้รับผลกระทบ หรือว่า PTSD Screening Test นะคะ ประเด็นที่อยากจะอภิปรายคือเรื่องแบบนี้เป็นการทำงาน ที่หนัก แล้วก็ต้องใช้เวลาในการประเมินอย่างติดต่อเพื่อที่จะดูว่าเราจะสามารถรักษา ติดตาม แล้วก็ส่งคนคนนั้นให้กลับมาใช้ชีวิตแบบเดิมได้หรือไม่ ปัญหาอยู่ตรงนี้ค่ะท่านประธานคะ ทรัพยากรบุคลากรตอนนี้ของเราไม่เพียงพอนะคะ ข้อมูลที่ดิฉันได้รับมาอัตราส่วนจิตแพทย์ แล้วก็นักจิตวิทยาของเราที่ประเทศไทยตอนนี้มีอยู่เพียงแค่ ๐.๔ และ ๐.๓ ต่อประชากร ๑๐๐,๐๐๐ คน ในขณะที่อันดับ ๑ อยู่ที่ ๑.๗ และ ๑.๔ ต่อประชากร ๑๐๐,๐๐๐ คน Slide ถัดไป เรามาดูข้อมูลเชิงพื้นที่บ้างนะคะ ข้อมูลจากทรัพยากรสาธารณสุขด้านจิตเวช ปี ๒๕๖๔ ในจังหวัดนราธิวาสมีทีมจิตแพทย์จังหวัดทั้งหมด ๕ คน และนักจิตวิทยาทั้งหมด ๒๑ คน คำถามที่อยากจะถามก็คือในสถานการณ์แบบนี้รวมไปถึงสถานการณ์โกดังพลุระเบิด แบบนี้ จิตแพทย์และนักจิตวิทยาเพียงพอที่จะบำบัด แล้วก็เยียวยาผู้ประสบภัยเหล่านี้หรือไม่ นะคะ Slide ถัดไปค่ะ งานที่ต้องทำมีเยอะ คนมีน้อย ทรัพยากรไม่เพียงพอ ข้อมูลนี้อ้างอิง จากแผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ ตัวบุคลากรสุขภาพจิตเองก็ยังวิเคราะห์ว่า องค์กรของตนเองมีจุดอ่อนหลายประเด็น ทั้งการไม่ให้ความสำคัญประเด็นสุขภาพจิตเป็น วาระสำคัญ ขาดบุคลากรทั้งจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักจิตวิทยาชุมชน พยาบาลจิตเวช หรือบุคลากรด่านหน้าต่าง ๆ ที่จะทำการบำบัด เยียวยาเรื่องของสุขภาพใจ บริบทของ จังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นเดียวกัน การเข้าถึง การบำบัด การรักษา หรือว่าการที่จะมีการ ทำงานเชื่อมต่อกับผู้นำทางศาสนาผู้นำทางความคิด หรือผู้นำในชุมชนก็ยังไม่ได้มีการทำงาน ร่วมกันแบบบูรณาการเราจะทราบได้อย่างไรว่าคนคนหนึ่งที่มีบาดแผลทางจิตใจจะสามารถ บำบัด เยียวยาและกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติเหมือนเดิม ข้อเสนอแนะที่ดิฉันอยากจะใช้ พื้นที่ในการที่จะทำให้วาระนี้เป็นวาระสำคัญ และถูกผลักดันขึ้นไปนะคะ มีระยะสั้น ระยะกลาง แล้วก็ระยะยาวค่ะ
ระยะสั้น ก็คือในเชิงพื้นที่ที่เกิดเหตุนะคะเราควรทำงานแบบบูรณาการ ร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่จากกรมสุขภาพจิตกับผู้นำทางศาสนา หรือว่าผู้นำความคิด ในชุมชนนะคะ ถึงเวลาแล้วค่ะตอนนี้ต้องประสานการทำงานร่วมกันเพื่อเยียวยาจิตใจ ผู้ประสบภัยที่เกิดจากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น
ในระยะกลาง เราควรมีแผนแล้วก็มาตรการรองรับกรณีฉุกเฉินแบบนี้ ทั้งภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติ และภัยพิบัติที่เกิดจากการกรทำของมนุษย์ และเราต้อง เพิ่มกำลังคน แล้วก็อาสาสมัครโดยมีการจัดอบรมฝึกให้ชัดเจนนะคะ และในระยะยาวค่ะ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่วาระนี้ควรจะต้องเข้าสู่วาระสำคัญระดับประเทศ เพราะอะไรรู้ไหมคะ บาดแผลทางใจค่ะ อะไรก็ซื้อกลับมาไม่ได้ บาดแผลทางกายบางทียัง รักษาหายได้ แต่บาดแผลทางใจไม่มีใครรู้ได้เลยว่าเมื่อมันเกิดขึ้นครั้งหนึ่งแล้วมันจะติด กับเรา อยู่กับเราไปอีกนานแค่ไหน อยากฝากท่านประธานค่ะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงมาดูและช่วยเหลือในด้านนี้ด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎร ยินดีต้อนรับการกลับมาแล้วก็สวัสดีท่านคณะผู้ชี้แจงด้วยนะคะ ดิฉัน นางสาวสิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเขตบางกะปิ เขตวังทองหลาง แขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ จากพรรคก้าวไกล หลังจากที่ได้อ่านรายงาน ประจำปี ๒๕๖๕ แล้ว จริง ๆ ก็มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมสักเล็กน้อย เพื่อที่จะเป็นแนวทาง ในการทำงานแล้วก็ปรับใช้เพื่อพัฒนา แล้วก็ทำให้องค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้นนะคะ
ประเด็นที่ ๑ เป็นประเด็นเรื่องของเพิ่มเติมการรณรงค์การรู้เท่าทันสื่อ โดยเฉพาะสื่อ Social Media ของผู้สูงวัย ตามที่เพื่อน ๆ สมาชิกได้อภิปรายกันไปแล้ว ขอ Slide ขึ้นด้วยค่ะ
การอ้างอิงจากสำนักงาน สถิติแห่งชาติ Slide ถัดไปเลยค่ะ เราจะมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุตอนนี้เรามีอยู่ร้อยละ ๑๖.๙ ของประชากรในประเทศอยู่ที่ ๑๓.๓ ล้านคน แล้วเรามีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น และอ้างอิงจากนิด้าโพลว่าผู้สูงอายุก็มีสัดส่วนการใช้สื่อ Online ที่มาก โดยเฉพาะใน LINE รองลงมาก็คือ Facebook นั่นเอง อ้างอิงจากข้อมูลวารสารสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์ สุขภาพปีที่ ๕ ฉบับที่ ๓ เรื่องความชุกและความสัมพันธ์ระหว่างการติดสื่อ Social Media กับภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลในผู้สูงอายุที่มารับบริการที่คลินิกตรวจโรคเวชศาสตร์ ครอบครัว โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ข้อมูลนี้พบว่าการติดสื่อ Social Media กับภาวะ ซึมเศร้าและวิตกกังวลในผู้สูงอายุมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ลองเปรียบเทียบกันดูนะคะ ถ้าเราเปรียบเทียบในกลุ่มเป้าหมายที่ทางท่านคณะผู้ชี้แจง แบ่งเป็นเด็ก แบ่งเป็นผู้สูงอายุ แล้วก็แบ่งเป็นภาคประชาชน ในทางเด็กเราก็จะมีผู้ปกครอง ที่คอยกำกับดูแลหรือว่าควบคุมเนื้อหาสื่อในสิ่งที่เด็ก ๆ จะเสพได้ อีกทั้งยังมีการตรวจสอบ ข้อมูลด้วยตัวเอง ใน Length ของเยาวชนเองเขาก็มีการตรวจสอบหรือว่ามีการเข้าถึง แหล่งข้อมูลที่หลากหลาย หรือว่ามีการตรวจสอบหรือว่ามีการ Fact check จากคนที่ใช้สื่อ Social Media ในสังคมนั้นด้วยกันเองด้วย แต่ในทางกลับกันในกลุ่มของผู้สูงอายุไม่ได้มี แหล่งหรือว่ามีช่องทางในการที่จะเข้าไป Check ข้อเท็จจริงอย่างที่คุณรักชนกได้อภิปราย ไปเมื่อสักครู่ก็มีการแชร์ข่าว Fake News เยอะมาก ๆ นะคะ ถ้ามีการเพิ่มโครงการ ในการรณรงค์เรื่องของการรู้เท่าทันสื่อให้กับผู้สูงอายุก็จะดีมาก ๆ เลย เท่าที่เห็นในรายงาน ก็มีโครงการที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุไว้แล้ว แต่ว่าสัดส่วนยังอาจจะมีน้อยอยู่ ก็อาจจะเพิ่มโครงการ ตรงนี้ไปนะคะ แล้วก็อีกอย่างหนึ่งถ้าลองดูในหลาย ๆ บ้านเรื่องของการควบคุม กำกับ ดูแล เนื้อหา เชื่อได้เลยว่าในหลาย ๆ บ้านอาจจะไม่ค่อยมีลูกหลานหรือว่าใครที่จะเข้าไปกำกับดูแล เรื่องของการเสพสื่อของผู้สูงอายุมากนัก
ประเด็นต่อไปนะคะ ก็คือเรื่องของการประเมินผลงาน เป็นข้อเสนอแนะจาก ทางคณะกรรมการเอง ๒ ข้อด้วยกัน เรื่องของการสำรวจการรับรู้ของประชาชน ก็มี เพื่อนสมาชิกได้อภิปรายไปแล้วเรื่องของการวัดค่า KPI หรือว่าประสิทธิภาพในการทำงาน แล้วก็มีเรื่องของการสนับสนุนทุนให้กับผู้ผลิตสื่อที่มีศักยภาพสูง ตรงนี้ดิฉันอยากจะมี ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มการเข้าถึงการรับรู้หรือว่าร่วมรณรงค์ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม มากขึ้น ก็คือการทำงานร่วมกับ Content Creator หรือว่า Influencer ทำแบบนี้เพื่ออะไร เพราะว่าคนเหล่านี้ Influencer เหล่านี้เขาเป็นคนที่ ๑. มีเอกลักษณ์ในการผลิต Content หรือเนื้อหาที่ชัดเจน ๒. เขามีกลุ่มผู้ติดตามที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน เพราะฉะนั้นถ้าเรา สามารถดึง Influencer เข้ามาทำ Content ใด ๆ ต่าง ๆ แล้วดึงกลุ่มคนที่ติดตามเขาเหล่านั้น กลับเข้ามาติดตามผลงานในองค์กรของท่านที่ท่านได้ทำ ก็จะเป็นการสามารถเพิ่มผู้ชมได้ อย่างที่เพื่อน ๆ ได้อภิปรายไปว่าบาง Clip อาจจะมียอด View น้อย แต่ถ้าเกิดเราได้ Influencer เหล่านี้เข้ามาช่วยกระตุ้นสื่อที่พวกท่านผลิตไปก็อาจจะมีการเข้าถึงการเข้าชม มากขึ้น และอีกอย่างหนึ่งคือการลงทุนกับ Influencer อาจจะไม่ต้องใช้งบประมาณที่มีเยอะ ขนาดนั้นก็ได้ เป็นการลงทุนน้อย แต่ว่าการลงทุนนั้นเป็นการลงทุนที่มีประสิทธิภาพนะคะ จากข้อมูลการรายงานก็มีโครงการต่าง ๆ ที่ได้รับการอนุมัติไปต่ำสุดอยู่ที่ ๓๐๐,๐๐๐ บาท สูงสุดอยู่ที่ ๑๔ ล้านบาท หรือว่าเป็นภาพยนตร์ก็อยู่ที่ ๓๐ ล้านบาทเลย อยากให้ลองปรับดูว่า ถ้าเกิดเราสามารถซอยโครงการ อาทิเช่นยกตัวอย่างนะคะ โครงการที่อนุมัติ ๑ ล้านบาทนี่ เราอาจจะซอยมาเป็นโครงการเล็ก ๆ เพื่อสนับสนุน Influencer เป็นสิบโครงการ โครงการ ละ ๑๐๐,๐๐๐ บาทแบบนี้และดึงคนเข้ามามากขึ้นอาจจะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้
ประเด็นที่ ๓ ในรายงานว่าองค์กรมีการทำงานร่วมกันกับสื่อแขนงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อทาง Online หรือว่าสื่อทางช่องทางต่าง ๆ ก็อยากจะฝากตรงนี้เรื่องของ การอบรมแล้วก็รณรงค์ให้สื่อต่าง ๆ มีความรับผิดชอบในการนำเสนอข่าวมากขึ้น เพราะว่า ตอนนี้ก็เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านที่เสพสื่อมาก ๆ ก็จะมีภาวะเรียกว่าเราจะไปป้องกันสภาวะ Headline Stress Disorder หรือว่าความเครียดสะสมจากการเสพข่าวหดหู่มากเกินไป ซึ่งอาการเหล่านี้ถ้าเราปล่อยทิ้งไว้มันอาจจะส่งผลกระทบได้ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความดันโลหิ ตสูง โรควิตกกังวล หรือว่าโรคซึมเศร้า ทั้งหมดนี้ เป็นข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ๓ ประเด็นด้วยกันที่อยากจะฝากทางองค์กรในการที่จะเข้าไป เพิ่มเติมแล้วก็พัฒนาประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ให้สมกับกองทุนที่เรียกว่า สื่อปลอดภัยและสื่อสร้างสรรค์ ซึ่งสื่อนี้อยากจะให้เม็ดเงินที่ลงทุนไปคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ ขอบคุณค่ะ
เรียนท่านประธานค่ะ ดิฉัน นางสาวสิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคก้าวไกล เขตบางกะปิ วังทองหลาง แขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ วันนี้มีเรื่องปรึกษาหารือทั้งหมด ๕ เรื่องด้วยกัน
เรื่องแรก เป็นการเปิดทางลัดบริเวณลาดพร้าว ๑๐๗ จนถึงถนนแฮปปี้แลนด์ เส้นทางนี้เป็นเส้นทางสัญจรเลียบคลองยายเผื่อน ก่อนหน้านี้มีการเปิดลัดมา ประชาชน ใช้สัญจรได้ ตั้งแต่ซอยลาดพร้าว ๑๐๗ มาจนถึงหน้าหมู่บ้านสินธร แต่ต่อมามีการสร้างที่กั้น เพื่อปิดทางไม่ให้ผู้ขับขี่จักรยานยนต์ได้ใช้เส้นทางดังกล่าว
ส่งผลให้ร้านค้าที่เคยเปิด ก็ไม่มีช่องทางการค้าขาย วินมอเตอร์ไซค์ขาดรายได้ แล้วประชาชนต้องอ้อมไปใช้ใน เส้นทางอื่น ที่กั้นนี้ไม่ได้อยู่ในโครงการในแบบการก่อสร้างของสำนักการระบายน้ำ ก็อยากฝากให้สำนักการระบายน้ำได้ลงตรวจสอบด้วยว่าที่กั้นนี้ได้มีการถามหาความเห็น จากประชาชนแล้วหรือยัง แล้วมาจากไหน แล้วก็ทำประชาพิจารณ์ใหม่เพื่อเปิดทาง ใช้เส้นทางลัดนี้คืนให้กับประชาชนด้วย
เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องในวัดบึงทองหลาง ผู้รับเหมามีการสร้างโครงการสถานี ระบายน้ำไว้แต่ไม่ได้เปิดใช้งานเพราะว่าสร้างไม่เสร็จ ตรงนี้ถ้าเกิดว่าเปิดสร้างได้จะสามารถ ช่วยประชาชนได้เพราะว่าจะเป็นการผันน้ำจากคลองวัดบึงมาสู่คลองจั่น แล้วก็ระบายไปที่ คลองแสนแสบได้ ช่วยได้ประมาณ ๔,๐๐๐ คนเลยนะคะ อยากให้สำนักการระบายน้ำ ช่วยเร่งตรวจสอบค่ะว่าทำไมถึงมีการทิ้งงานก่อสร้างนี้ แล้วจะมีแนวทางการจัดการอย่างไร กับผู้รับเหมานี้ด้วยนะคะ
เรื่องที่ ๓ เป็นความล่าช้าของการขอผ้าอ้อมผู้ใหญ่สำหรับประชาชน จากการลงพื้นที่มาได้รับร้องเรียนจากหลายชุมชนเลย บางชุมชน ๓-๔ เดือนเลยนะคะ ขอไปยังไม่ทันได้ใช้ เสียชีวิตก่อนแล้ว ก็อยากจะฝากกรมกิจการผู้สูงอายุและ พม. ทำงาน ร่วมกันกับศูนย์บริการสาธารณสุขก็คือ ๐๓๕ กับ ๐๑๕ ในบริเวณพื้นที่ของดิฉันนะคะ เพิ่มความรวดเร็ว อำนวยความสะดวกให้กับการขอผ้าอ้อมผู้ใหญ่ให้กับประชาชนด้วยค่ะ
เรื่องที่ ๔ ค่ะ เป็นเรื่องของการติดตามโครงการนำสายสื่อสารลงดินนะคะ ได้รับร้องเรียนมามากเลย สายสื่อสารที่พันกันวุ่นวายมาก ๆ นะคะ หรือสายสื่อสารที่ห้อยลงมานี่ ประชาชนเกิดความกังวลใจว่าถ้าเกิดประกายไฟแล้วจะไหม้สายสื่อสารลามไปถึงสายไฟไหม หรือรถใหญ่ที่ขับผ่านมานี้จะสร้างอุบัติเหตุ สร้างความเสียหายให้กับประชาชนไหมนะคะ อยากให้ กสทช. นำโครงการนี้ระบุ วัน เวลาที่ชัดเจนมาเลยค่ะว่าพื้นที่เขตบางกะปิและ วังทองหลางจะมีโครงการนำสายสื่อสารลงดินเริ่มต้นเมื่อไรแล้วจบเมื่อไร แจ้งให้ประชาชน ได้ทราบด้วยค่ะ
เรื่องต่อไปนะคะ เป็นเรื่องขอติดตามโครงการปรับปรุงทางเดินเลียบคลอง อันนี้เป็นคำถามที่ได้มาจากชุมชนริมคลองหัวหมากน้อย แล้วชุมชนมัจฉานะคะ โครงการนี้ อนุมัติแล้ว กทม. อนุมัติแล้ว แต่ว่าหยุดชะงักไป เนื่องจากสถานการณ์โควิด ถ้าเกิดว่า มีการปรับปรุงได้ก็คือเส้นทางสัญจรจะเชื่อมชุมชนได้ แล้วก็เป็นการปรับภูมิทัศน์ทางเดิน เลียบคลองด้วย คำถามที่อยากจะฝากไปก็คือโครงการนี้ถ้าหยุดชะงัก หยุดชะงักเพราะอะไร แล้วถ้าเกิดจะเริ่มทำจะเริ่มทำเมื่อไรนะคะ และอีก ๑ เรื่อง
เรื่องสุดท้ายนะคะ อันนี้ขอฝากไว้เลยเป็นเรื่องด่วนที่เพิ่งเข้ามาเมื่อกลางดึก เมื่อวานเลยนะคะ ขอ ๑ นาที ที่เป็น ๑ นาทีที่อยากจะฝากถึงทุกทั่วพื้นที่ในประเทศไทยเลยค่ะ มาตรฐานการป้องกันหรือว่าควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยนี้อยู่ที่ไหนคะ นี่สะพานที่ ๒ แล้วนะคะ กรณีนี้สะพานข้ามแยกบางกะปิครั้งแรกสะเก็ดไฟร่วงลงสู่ถนน ครั้งนี้แผ่นเหล็ก ร่วงลงมาทับพนักงานบาดเจ็บ ๒ เสียชีวิต ๑ เสียชีวิตแล้ว ๑ นะคะ เมื่อไรจะต้องรอให้มี การสูญเสียแบบนี้เกิดขึ้นอีก ฝากโยธา กทม. แล้วก็หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดผู้รับเหมา ให้เยียวยาด้วย แล้วก็ตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของโครงการก่อสร้างทุกโครงการ ในพื้นที่ประเทศไทยด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ
เรียนท่านประธานค่ะ ดิฉัน สิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจาก กทม. บางกะปิ วังทองหลาง เฉพาะแขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ จากพรรคก้าวไกล วันนี้ขออนุญาตมีส่วนร่วมในการอภิปราย ผลการปฏิบัติงานประจำปี ๒๕๖๕ ของ Thai PBS ก่อนอื่นก็ต้องขอชื่นชมเลยค่ะว่า Thai PBS เป็นสื่อที่วางตัวเป็นกลาง เป็นสื่อสาธารณะที่ยึดโยงกับประชาชน แล้วก็มีการผลิต เนื้อหาที่สร้างสรรค์แล้วก็เป็นประโยชน์ต่อสังคม ถือว่า Thai PBS เป็นสื่อที่มีการพัฒนา แล้วก็ปรับตัวให้ทันยุคทันสมัยอยู่เสมอ จากรายงานผลการปฏิบัติงานในเล่มนี้ค่อนข้าง ครบถ้วนในทุกแง่มุมเลยค่ะ แล้วผลก็ชี้ให้เห็นได้ว่า Thai PBS ได้รับการยอมรับจาก ประชาชนในการทำหน้าที่สื่อสาธารณะ แล้วก็ได้รับความน่าเชื่อถือจากประชาชนมาก เช่นเดียวกันนะคะ ตรงนี้มีในรายงานเรื่องของการรับฟังความเห็นจากสภาผู้ชมและผู้ฟัง รายการที่มีข้อเสนอแนะเชิงเนื้อหา วันนี้ดิฉันก็เลยอยากจะมาอภิปรายเพื่อเพิ่มเติม ข้อเสนอแนะไปเกี่ยวกับการนำเสนอเนื้อหาเรื่องของประเด็นสุขภาพจิต ดิฉันได้เห็นรายการ บ้านพลังใจ ขออนุญาตขึ้น Slide ด้วยค่ะ
ที่ท่านได้บอก Concept ของรายการว่าเพราะบ้านเป็นพลังของใจเรียนรู้ความรู้สึกซึ่งกันและกัน พร้อมรับฟัง คำแนะนำจากนักจิตวิทยาที่จะช่วยกันวิเคราะห์ปัญหา เสนอทางเลือกและทางออกให้กับ ทุกครอบครัว อันนี้ถือว่าเป็นก้าวแรกที่ดีมาก ๆ เลยนะคะ แล้วก็ดิฉันหวังว่าในแผน การจัดทำรายงานประจำปี ๒๕๖๖ เรื่องทิศทางด้านเนื้อหาและช่องทางการสื่อสารที่จะเน้น ข่าวสารและสาระที่ทันสถานการณ์ เน้นการเรียนรู้ แล้วก็สารประโยชน์ สาระบันเทิง เน้นการสื่อสารให้กับคนหลากหลายกลุ่ม ตรงนี้ก็อยากจะชวนกันมาระดมความคิดเห็นว่า ถ้าเราเพิ่มเนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับประเด็นสุขภาพจิตให้อยู่ในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ตอนนี้แนวโน้มคนที่เป็นผู้ป่วยมีภาวะซึมเศร้า ภาวะเครียด หรือว่าเป็นผู้ป่วยที่มีโรคจิตเวชเพิ่มขึ้น จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ จนถึงปี ๒๕๖๔ สัดส่วนของผู้ป่วยทางโรคจิตเวชเพิ่มขึ้นเกือบ ๒ เท่า จาก ๑.๓ ล้านคน เป็น ๒.๓ ล้านคน อันนี้ก็เป็นตัวเลขที่น่าสนใจว่าสังคมเราควรจะหันกลับมามองเรื่องของปัญหา สุขภาพจิตได้แล้วหรือยัง จากศักยภาพการผลิตละครหรือว่า Series ที่ Thai PBS ได้ทำมานี้ ซึ่งก็ได้รับรางวัลมาด้วยนะคะ ดิฉันก็อยากจะฝากในการที่จะให้สื่อที่มีศักยภาพแบบนี้ได้ผลิต ละครหรือ Series ที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจิตให้ประชาชนได้เรียนรู้เพิ่มเติมมากขึ้น ยกตัวอย่างอันนี้เรื่องของ Spin Out จะเป็นเรื่องที่ตัวเอกเป็นนัก Ice Skate ที่ตัวมีโรค Bipolar หรือว่าโลกอารมณ์ ๒ ขั้ว ซึ่งในเรื่องนี้ก็จะเป็นการเล่าอาการของคนที่เป็น Bipolar ได้ชัดเจน ครบถ้วนมาก ๆ หรือว่าเรื่องต่อไป Ted Lasso อันนี้ก็จะเป็น Series ที่พยายามเสนอแง่มุม ของการมองโลกในแง่ดีจนเกินไป การสร้างพลังบวกให้กับตัวเองจนรู้สึกอึดอัด แล้วก็จะ พยายามทำให้มนุษย์แสดงออกแบบมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งดิฉันก็เชื่อว่า Series เรื่องนี้ก็จะทำให้ มนุษย์กลับมาทบทวนว่าเราเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่สามารถมีอารมณ์โกรธ หดหู่ เศร้าเสียใจ และสามารถแสดงออกได้ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งนะคะ เมื่อปี ๒๕๖๔ มีบทวิจารณ์จาก คุณคาลิล พิศสุวรรณ อันนี้ได้ทำการวิจารณ์ Series เรื่องนี้ไว้น่าสนใจมากเลย ขออนุญาต Quote คำพูดท่านมาเลย โดยเฉพาะในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในประเทศซึ่งต้อง จ้องตากับความโหดร้ายเลวทรามของรัฐบาลไม่เว้นวันด้วยแล้ว ไม่ปฏิเสธหรอกว่าชีวิตเรา ก็อยากจะมองโลกในแง่ดีบ้าง แต่หากจะให้ฝืนมองโลกในแง่ดีท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมือง ที่เลวร้ายแบบนี้ สู้ยอมเดินออกจากทุ่งลาเวนเดอร์มาเพื่อปลดปล่อยความโกรธแค้นท่ามกลางเปลวไฟดีกว่า อย่างน้อยก็ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง อันนี้ดีมากเลยนะคะ หรือเรื่องต่อไป It’s Okay to Not Be Okay ก็จะเป็นการนำเสนอความไม่สมบูรณ์แบบของมนุษย์ในแง่ของการโอบรับในสิ่งที่ ตัวเองเป็นทั้งในตัวเองและในเพื่อนมนุษย์ อันนี้ก็จะทำให้ผู้ชมได้ย้อนกลับไปว่าบาดแผล ที่มันเคยเกิดขึ้นทั้งดีและร้ายมันหล่อหลอมให้คนเติบโตมาเป็นอย่างไร หรือว่าจะเป็นรายการ ที่เป็นแบบ Interactive ที่สามารถลงใน Platform ต่าง ๆ ได้ ถัดไปจะเป็นการหาวิธี ผ่อนคลายให้เหมาะสมกับตัวบุคคล ก็ถือว่าอันนี้สามารถ ไปปรับใช้กับ Platform ที่ไม่ใช่ TV สาธารณะก็ได้ อาจจะเป็นสื่อ Online ต่าง ๆ ก็ได้ ตรงนี้ดิฉันก็อยากจะฝากไปถึงผู้บริหาร แล้วก็ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่านนะคะ เรื่องของการตระหนักรู้ ประเด็นเรื่องของสุขภาพจิต เพราะดิฉันเห็นว่า Thai PBS ก็เป็นสื่อสาธารณะที่จะสามารถผลิตละครหรือว่า Series ที่มีเนื้อหาดังกล่าวได้ เพื่อที่จะเป็นการให้ข้อมูล ความรู้ แล้วก็ช่วยกันทำให้สังคมหันมาสนใจ เรื่องของสุขภาพใจกันมากขึ้น อีกทั้งยังจะเป็นการทำให้ Thai PBS เป็นสื่อที่ต่อยอด การเรียนรู้ สร้างความแตกต่างจากจุดแข็งที่ท่านมีอยู่แล้วให้แข็งแรงมากขึ้นค่ะ ขอบคุณค่ะ
ท่านประธานคะ ดิฉัน สิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต กรุงเทพมหานคร ยังมี ๑ ข้อใน Slide อภิปรายอันท้ายของดิฉันที่ได้ถามไปเรื่องของตัวเลขการรายงาน ในหน้า ๒๙๑ ข้อ ๓ เรื่องของการประเมินผลการดำเนินงานด้านการเงิน จากรายงานตัวเลข ของปี ๒๕๖๕ รายงานตัวเลขอยู่ที่ ๔,๒๙๘.๓๒ ล้านบาท แต่ว่าในรายงานของสำนักงาน การตรวจเงินแผ่นดิน ในหน้า ๓๐๕ ระบุไว้ว่ามีรายได้รวม ๔,๓๐๑.๔๒ ล้านบาท ซึ่งตัวเลข ตรงนี้มันค่อนข้างแตกต่างกันอยู่ที่ ๓.๑ ล้านบาท อยากทราบว่ามีเหตุผลทางบัญชีอะไรที่ ตัวเลขมันแตกต่างกันหรือไม่ ขอบคุณค่ะ
เรียนท่านประธาน ที่เคารพ ดิฉัน สิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต กรุงเทพมหานคร บางกะปิ วังทองหลาง แขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ จากพรรคก้าวไกล วันนี้ก็มีประเด็นที่จะขอมา อภิปรายกับ สสส.
ประเด็นแรก คือการตั้งคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความคุ้มค่า ของการใช้เงินลงทุนไปกับ Campaign รณรงค์เรื่องของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ค่ะ ขอ Slide นะคะ
จากสถานการณ์ปัจจุบัน ปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพที่ท่านได้รายงานมาในหน้าที่ ๑๒ ข้อ ๒ เรื่องของการบริโภคเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ ข้อมูลนี้ท่านชี้แจงมาว่าในปี ๒๕๔๔ อยู่ที่ ๓๒.๗ เปอร์เซ็นต์ เรื่อยมาจนถึง ปี ๒๕๖๐ อยู่ที่ ๒๘.๔ เปอร์เซ็นต์ ในระยะเวลา ๑๖ ปีตัวเลขลดลงมาแค่ ๔.๓ เปอร์เซ็นต์ มาถึงปี ๒๕๖๔ เหลือ ๒๘ เปอร์เซ็นต์ ๔ ปีผ่านไปลดลงไปเพียงแค่ ๐.๔ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในรายงานก็ระบุเอาไว้ว่าอยู่ในอัตราค่อนข้างคงที่และลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ว่า เมื่อดูจากตัวเลขในรายงานดิฉันถือว่าอยู่ในตัวเลขที่น้อยมาก เพิ่มเติมจากรายงานอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รายงานในนี้อยู่ที่หน้าที่ ๓๑ ก็ระบุไว้ว่ามีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น จากตัวเลขที่ท่านรายงานมา ตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ จนถึงปี ๒๕๖๒ เฉลี่ยอยู่แล้วประมาณ ๙,๕๖๓ คนต่อปี สอดคล้องกันกับ ตัวเลขการเจ็บป่วยที่มีสาเหตุจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซ้ำร้าย ไปกว่านั้นเทียบกันจากปี ๒๕๕๘ จนถึงปี ๒๕๖๒ กลับกลายเป็นว่าปี ๒๕๖๒ ที่เป็นปีล่าสุด ที่อยู่ในรายงานมีผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลมากที่สุด และจากรายงานในหน้า ถัดไปเรื่องของปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ท่านก็ระบุไว้ในรายงานนะคะว่า ปริมาณการบริโภคลดลง เพราะการออกพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี ๒๕๕๑ และการประกาศใช้พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตปี ๒๕๖๐ แล้วตัวเลขก็กลับมา สูงขึ้นอีกครั้งเมื่อผู้ผลิตและผู้บริโภคปรับตัวได้ อีกทั้งยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี ๒๕๖๔ นี่จะเป็น ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นแล้วหรือยังคะว่าเมื่อภาคธุรกิจกับภาคประชาชนปรับตัวได้แล้ว พฤติกรรมการบริโภคแอลกอฮอล์ของประชาชนก็แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย จากข้อมูลที่ดิฉันนำมาในรายงานเล่มนี้ก็อยากจะเชิญชวนประชาชนที่ชมอยู่ แล้วก็ทุกท่านที่ อยู่ในนี้มาช่วยกันตั้งคำถามว่าตัวเลขที่มันขึ้น ๆ ลง ๆ ของอัตราการเสียชีวิต อัตรา การเจ็บป่วย หรือการบริโภคแอลกอฮอล์ขึ้นลงแบบนี้หรือคงที่แบบนี้เป็นผลงานมาจาก สสส. จริงหรือไม่ และ Campaign ต่าง ๆ ที่ท่านได้รณรงค์มามันคุ้มไหมกับการใช้เงินไปกว่า ๓,๐๐๐ กว่าล้านบาท เพราะว่าตรงนี้ก็อยากจะตั้งคำถามว่าท่านรณรงค์ไปเพื่อที่ปีหน้าก็จะ ได้กองทุนเท่าเดิมหรือเพิ่มเติมมากขึ้น เพราะจำนวนผู้บริโภคก็แทบไม่ได้ลดลงเลยนะคะ นอกจากนี้ยังมี Campaign อีก Campaign หนึ่งนะคะที่ดิฉันรู้สึกว่าเป็นการแปะป้าย ให้กับผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่าคนกลุ่มนั้นเป็นคนบาป เป็นคนไม่ดี Slide ถัดไป คือ Campaign นี้ค่ะ ให้เหล้าเท่ากับแช่ง มีรายงานฉบับสมบูรณ์ของการวิจัยให้เหล้า เท่ากับแช่ง การสร้างสรรค์ การรับรู้ การตอบสนองของสื่อภาพยนตร์รณรงค์งดดื่มสุรา ของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณของเดือนตุลาคม ๒๕๖๓ มีส่วนหนึ่งของผลวิจัยชี้ให้เห็นว่าความคิดเห็นต่อการสร้างสรรค์ภาพยนตร์โฆษณาในช่วง ๑๐ ปีแบ่งเป็น ๒ ระยะด้วยกัน ในระยะแรก คือตั้งแต่ปี ๒๕๕๑-๒๕๕๖ ประชาชนยังคงเห็น ด้วยค่ะ แต่ในระยะหลังตั้งแต่ ปี ๒๕๕๗-๒๕๖๒ ผู้คนส่วนใหญ่มีความคิดเห็นขัดแย้ง และวิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจากการนำเสนอโฆษณาไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเกี่ยวกับ พฤติกรรมการดื่มสุราในปัจจุบัน และการใช้แรงจูงใจด้านความตลกขบขัน หรือว่าการใช้ แรงจูงใจด้านความกลัว ทำให้นักดื่มถูกมองว่าเป็นการดูถูกตัวเองค่ะ ต่อไปนะคะ เรื่องของการรับรู้และการตอบสนองค่ะ แรก ๆ เช่นเดียวกันประชาชนชอบสนใจ เพราะรู้สึก ว่าเป็นประเด็นใหม่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปประชาชนที่เป็นผู้ดื่มเริ่มมีความเข้าใจเกี่ยวกับผลเสีย ของการดื่มสุรา และวงจรของธุรกิจผู้จำหน่ายสุรามากขึ้น ทำให้การนำเสนอเนื้อหาแบบเดิม มันเรียกได้ว่าไม่สามารถสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมหรือว่าเป็นส่วนหนึ่งของชิ้นงานโฆษณา ได้อีก แล้วเรียกง่าย ๆ ประชาชนไม่ซื้อแล้วค่ะ Idea นี้นะคะ นี่อาจจะเป็นการส่งสัญญาณ นะคะว่าตอนนี้ทัศนคติ ความรู้ ความเข้าใจเรื่องของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของประชาชนนี่มันได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว มี Campaign หนึ่งค่ะที่อันนี้ดิฉันก็เห็นว่าพอจะ สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านปัจจุบันนั่นก็คือการรณรงค์ให้ผู้บริโภคดื่มอย่างมี ความรับผิดชอบ ดื่มอย่างมีอารยะ เช่นของโครงการนี้ดื่มไม่ขับ พอจะเป็นไปได้ไหมถ้าจะ รณรงค์เรื่อง Campaign การดื่มไม่ขับ การดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ หรือการดื่มแบบ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น จะช่วยเป็นการรณรงค์ให้การดื่มสอดคล้องกับพฤติกรรม ของประชาชน และผู้บริโภคในปัจจุบันนี้ และดิฉันก็เชื่อว่ายังมีผู้ดื่มอีกหลายท่านเลยนะคะ ที่ใช้การดื่มเป็นศิลปะการใช้ชีวิต การเรียนรู้ศาสตร์และศิลป์เรื่องราว หรือประวัติศาสตร์ ผ่านทางเครื่องดื่มต่าง ๆ จากวิสัยทัศน์ของท่านนะคะที่ท่านบอกว่าอยากจะกระตุ้นให้เกิด การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และความเชื่อดิฉันก็เลยอยากจะสอบถามนะคะว่าท่านจะพอมี แนวทางไหมในการที่จะเปลี่ยนทัศนคตินี้จากการแปะป้ายผู้บริโภคเครื่องดื่มว่าเป็นคนบาป เป็นคนไม่ดีเปลี่ยนมาเป็นการรณรงค์ให้การดื่มดื่มแบบมีความรับผิดชอบ ดื่มแบบมีอารยะ แล้วก็ไม่เบียดเบียนคนอื่น
ทีนี้ก็จะมีอีก ๑ ประเด็นเช่นเดียวกัน ก็คือท่านสามารถร่วมรณรงค์ ในด้านอื่น ๆ เพิ่มขึ้นได้มากกว่านี้หรือไม่ เพราะว่าในสังคมปัจจุบันก็ไม่ได้มีเพียงเฉพาะ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กัญชาก็มี หรือตอนนี้น้ำกระท่อมเองก็มีออกมาเยอะมาก สัดส่วน ในการที่จะรณรงค์จะเพิ่มมากขึ้นได้ไหม ตอนนี้พอมันไม่ได้มีแต่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มันมีกัญชาอันนี้ฝากถามไปถึงท่านประธานกองทุนเลยก็ได้นะคะ พอมันเริ่มมีกัญชา เข้ามาด้วย ทีนี้ประชาชนว้าวุ่นเลยค่ะ เริ่มว้าวุ่นแล้วฝากไว้ด้วยค่ะ
อีก ๑ ประเด็น ก็คือตัวเลขในรายงานค่ะ ตัวเลขในรายงานที่ท่านได้รายงาน มาจากรายงานของท่านกับรายงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่มันไม่เท่ากันอยู่ ดิฉันอยากถามว่าสรุปสุดท้ายแล้วเราต้องยึดตัวเลขไหนคะ เพราะว่ามันมีความแตกต่างกัน มากเหลือเกิน อันนี้ประชาชนก็ฝากถามมาในฐานะที่เป็นคนจ่ายภาษีเช่นเดียวกัน ก็อยากจะ รู้ว่าภาษีที่ท่านใช้ไปคุ้มค่า และเราจะตรวจสอบได้อย่างไร ฝากไว้ด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ
ท่านประธานคะ ดิฉัน นางสาวสิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากกรุงเทพมหานคร บางกะปิ วังทองหลาง พรรคก้าวไกล ขอเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญบุหรี่ไฟฟ้าในสัดส่วน ของพรรคก้าวไกลจำนวน ๘ คนดังนี้นะคะ ๑. นายชยพล สท้อนดี ๒. นายสุภกร ตันติไพบูลย์ธนะ ๓. นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ๔. นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ๕. นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ ๖. นายปรีติ เจริญศิลป์ ๗. นายมาริษ กรัณยวัฒน์ และ ๘. นายอาสา ศาลิคุปต ขอผู้รับรองค่ะ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพค่ะ ดิฉัน นางสาวสิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร บางกะปิ วังทองหลาง พรรคก้าวไกล วันนี้ขออนุญาตอภิปรายเพิ่มเติมในการสนับสนุนญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการปรับปรุงกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง เพื่อป้องกันปัญหาการเรียกรับ ผลประโยชน์และคอร์รัปชัน โดยประเด็นที่ดิฉันอยากจะอภิปรายเพิ่มเติมวันนี้ก็คือเรื่องของ การขอใบอนุญาตต่าง ๆ ค่ะ ขอ Slide แรกนะคะ
เมื่อประชาชนจะเริ่ม ประกอบธุรกิจสถานบันเทิง แน่นอนว่าจะต้องมีการขอใบอนุญาตในการประกอบกิจการ ไม่ว่าจะเป็นใบอนุญาตการตั้งสถานบริการ ใบอนุญาตขายสุราประเภท ๒ ใบอนุญาต ขายยาสูบ ใบอนุญาตการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพกรณีที่มีดนตรีสด หรือใบอนุญาตสถานที่ สถานที่จำหน่ายอาหาร และสถานที่สะสมอาหาร โดยวิธีการและ หลักการเรื่องการขอใบอนุญาตเหล่านี้ก็ดูเหมือนจะทำง่าย ๆ และไม่ซ้ำซ้อน แต่จากการที่ ดิฉันได้มีการพูดคุยกับผู้ประกอบการสถานบันเทิงต่าง ๆ ก็จะพบว่าการขอใบอนุญาตนี้ ไม่จ่ายไม่จบค่ะ ไม่สามารถขอใบอนุญาตได้ หรือว่ากระบวนการการขอใบอนุญาตก็จะยัง ค้างอยู่ ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ถ้าไม่มีค่าน้ำมันหล่อลื่น ไม่พอค่ะ พอไม่มีใบอนุญาตแล้ว พอมีพนักงานเจ้าหน้าที่ในการลงไปพื้นที่ในการสำรวจก็จะต้องเจอจ่ายจบอีกรอบหนึ่ง เพื่อที่จะให้ธุรกิจดำเนินการต่อไปได้ แล้วก็ให้เจ้าหน้าที่ปิดหูปิดตาแล้วก็เดินผ่านร้านของเขา ไปนะคะ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะทางไหน สุดท้ายแล้วผู้ประกอบการ ก็ต้องจ่ายเงินเพื่อให้ประกอบธุรกิจต่อไปได้อยู่ดี ประเด็นอยู่ที่ว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้มันจะไม่มีปัญหาอะไรเลยค่ะ ถ้าเจ้าหน้าที่ประกอบ กิจการงานด้วยความตรงไปตรงมา มีหลักเกณฑ์แล้วก็พิจารณากันด้วยเหตุและผล แต่ว่า เมื่อเรามาดูกันด้วยสถานการณ์ตามจริง พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็ได้มีการให้อำนาจกับพนักงาน เจ้าหน้าที่ในการใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจ ยกตัวอย่างเช่นการขอใบอนุญาตตั้งสถานบริการ ซึ่งตรงนี้เป็นการเปิดช่องทางให้มีการเรียกรับเงินตอบแทนในกรณีที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ปฏิบัติงาน อย่างตรงไปตรงมา
สุดท้ายแล้วเราก็จะเห็นตามที่เพื่อน ๆ หลายท่านได้อภิปรายไปแล้วว่า มีการเก็บส่วย หรือว่ามีการเรียกรับผลประโยชน์ จะมีการอภิปรายในลำดับถัดไปด้วยนะคะ นอกจากนี้กฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน หลักเกณฑ์มีไว้อยู่ดีมาก ๆ เลยว่าจะต้องไม่อยู่ ใกล้ชิดวัด ไม่ติดกับสถานปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา โรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล ไม่อยู่ในย่านที่ประชาชนอยู่อาศัย แต่ท่านประธานเชื่อไหมคะ ในเขตพื้นที่บางกะปิของดิฉัน ก็ได้รับร้องเรียนมา ผู้ที่อยู่คอนโดมิเนียมก็ได้รับร้องเรียนมา บริเวณแฟลตคลองจั่น แฟลต ๑๐ แฟลต ๒ ร้องเรียนมาเลยค่ะว่ามีเสียงดัง เปิดเกินเวลา ตั้งอยู่ในชุมชนนั้นเลย บางบ้านมีเด็กเล็ก บางบ้านมีคนที่ต้องตื่นเช้าไปทำงาน โดนกิจการที่เปิดเกินเวลาแล้วก็ มีเสียงดังแบบนี้โดยที่แจ้งตำรวจไปก็ไม่ได้มีการจัดการอะไร สุดท้ายแล้วมีการโทรศัพท์ กลับมาถามด้วยซ้ำว่าคนที่แจ้งไปคือใคร โอ้โฮ แบบนี้ท้าทายอำนาจมากเลยนะคะ ก็เลยอยากจะตั้งคำถามว่าสรุปแล้วกฎหมายเหล่านี้สามารถใช้บังคับได้กับใครบ้าง ถ้าเกิด มีเงินเจอจ่ายจบแล้วหรือเปล่า ถ้ามีผู้มีอิทธิพลหรือว่ามีการเอื้อผลประโยชน์กันกฎหมายนี้ ยังศักดิ์สิทธิ์อยู่หรือไม่ นอกจากนี้ดิฉันก็มีข้อเสนอแนะจากการที่ดิฉันได้รับเสียงสะท้อน มาจากผู้ประกอบการดังนี้
เรื่องแรก ก็คือการปรับปรุงใบอนุญาตการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้สอดคล้องกับบริบทแล้วก็สถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันนี้มันมีอยู่ ๗ ประเภทด้วยกัน แต่ว่าด้วยหลักการและวิธีการทำงานของมันก็ยังไม่ตอบโจทย์
เรื่องที่ ๒ เรื่องของการปรับปรุงการกำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มใหม่ ที่มาของการกำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่ม อันนี้ย้อนไปถึงสมัย จอมพล ถนอม กิตติขจร เลยนะคะ สมัยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๕๓ เกิดมาเพื่อไม่ให้ข้าราชการได้ดื่ม ในเวลาทำงาน สุดท้ายแล้วผลกระทบนี้มันส่งผลต่อเนื่องมา ๕๑ ปีให้กับประชาชนที่อยากจะ ประกอบสัมมาอาชีพก็ไม่ได้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การมีกฎหมายปกป้องให้กับผู้ประกอบการที่ปฏิเสธการขายเครื่องดื่มให้กับ ลูกค้า เกิดเหตุการณ์แบบนี้หลายรอบ เป็นข่าวมาก็แล้ว สุดท้ายตอนนี้กฎหมายที่คุ้มครอง มีแค่ฐานความผิดด้านทำร้ายร่างกาย ทำลายทรัพย์สิน จริง ๆ แล้วควรจะมีกฎหมายในการ ปกป้องผู้ประกอบการด้วยซ้ำว่าการที่คุณมีสติมึนเมา หรือว่าครองสติไม่ได้มันควรจะ เทียบเท่ากับโทษเมาแล้วขับเลยหรือไม่
เรื่องของการขอใบประกอบอนุญาตก็ควรจะมีทำเป็นแบบ One Stop Service ตอนนี้ที่ได้รับเสียงสะท้อนกลับมาก็คือจะต้องขอใบอนุญาตการขายเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์มี One Stop Service แต่ถ้าเกิดอยากจะขายบุหรี่ อยากจะขายอาหาร อยากจะ มีแสดงดนตรีสด ไม่สามารถทำได้ที่เดียวกันก็ต้องไปแต่ละหน่วยงาน ๆ สุดท้ายแล้วใช้เวลา นานมาก ๆ เลย
เรื่องต่อไปเป็นการพัฒนาการขอใบอนุญาตแบบ Online ให้มีประสิทธิภาพ มากขึ้น ซึ่งตอนนี้ของเราเองก็มี พ.ร.บ. เรื่องการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์แล้วนะคะ แต่ว่ามันยังไม่มีกรอบเวลาในการกำหนดที่ชัดเจน ทางพรรคก้าวไกลเองก็มีนโยบายว่า ให้การขอใบอนุญาตนั้น ๆ เป็นไปอย่างโปร่งใส ด้วยการขอใบอนุญาตแบบ Online กำหนด กรอบเวลาให้ชัดเจนไปเลย เพื่อเป็นการปิดช่องไม่ให้ขั้นตอนต่าง ๆ มันถูกค้างหรือดองไว้ ถ้าไม่มีการจ่ายเงินเพื่อเป็นน้ำมันหล่อลื่น
ประเด็นต่อไป สส. เท่าพิภพได้ทำการอภิปรายไปแล้ว นั่นก็คือเรื่องของการ กระจายอำนาจนั่นเอง และเราควรจะสร้างหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนกว่านี้เพื่อให้พนักงาน เจ้าหน้าที่มีหลักเกณฑ์ที่เป็นรูปธรรมมากกว่าการใช้ดุลยพินิจส่วนตัว ดังนั้นดิฉัน มีความเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญนี้ เพราะจากเสียงสะท้อน ของผู้ประกอบการหลาย ๆ ท่านถูกมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นธุรกิจสีเทา แต่เชื่อไหมคะว่า ผู้ประกอบการหลายท่านอยากจะนำธุรกิจนี้ให้มันถูกต้องและโปร่งใส เพียงแต่ช่องว่างช่องโหว่ของกฎหมายมันบีบบังคับเขาให้เขาต้องจ่ายส่วย ให้เขาต้องจ่าย ใต้โต๊ะเพื่อที่จะดำเนินกิจการของเขาต่อไปได้ ถ้าทำแบบนี้ได้แล้ว แก้ไขกฎหมายให้ทันสมัย มากขึ้น และดิฉันเชื่อเลยว่าจะเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการไม่ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะให้ใคร แล้วก็เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ขับเคลื่อนไปได้ด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ
ท่านประธานคะ ดิฉัน นางสาวสิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล ขอเสนอรายชื่อ กรรมาธิการวิสามัญในสัดส่วนของพรรคก้าวไกล จำนวน ๘ ท่านดังนี้ ๑. นายฉัตร สุภัทรวณิชย์ ๒. นายจรยุทธ จตุรพรประสิทธิ์ ๓. นายเฉลิมพงศ์ แสงดี ๔. นายภัณฑิล น่วมเจิม ๕. นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ๖. นายกัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี ๗. นายนนทเดช บูรณะสิทธิพร และ ๘. นายณชนก รัตนทารส ขอผู้รับรองค่ะ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน สิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ เขตวังทองหลาง แขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ วันนี้ดิฉันอยากจะมา สะท้อนเสียงของตำรวจผ่านเข้ามาสู่สภาของประชาชน ดิฉันได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับ สน. ต่าง ๆ ที่ดูแลในเขตพื้นที่ของดิฉันก็ได้รับข้อมูล แล้วก็ประเด็นที่น่าสนใจมา นั่นก็คือ เรื่องของภาระงานของตำรวจ แล้วก็สวัสดิการค่ะ
ประเด็นแรกเลยที่ สส. รังสิมันต์ได้ทำการอภิปรายไปแล้วนั่นก็คือเรื่องของ งบประมาณในการสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมัน ค่าเสื่อมสภาพโทรศัพท์ หรือค่า Internet เองตอนนี้ตำรวจที่มีเงินเดือนอยู่เพียงน้อยนิด สุดท้ายแล้วในการ ปฏิบัติงานนี้ต้องควักเนื้อเอาเงินเดือนที่น้อยนิดนี้มาจ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ของตัวเอง
ปัญหาต่อไปก็คือ เรื่องของพนักงานสอบสวนที่ไม่เพียงพอ ประชาชน ร้องเรียนเข้ามาเยอะมากเลยว่าทำไมตำรวจถึงไม่ทำงาน ตำรวจถึงไม่ทำงาน รับเรื่องไป ทำไมเรื่องตามต่อไม่ได้ ตรงนี้ต้องขอความเห็นใจให้กับพนักงานสอบสวนด้วย เพราะว่า สุดท้ายแล้วตำรวจอยากจะทำงานบริการให้กับประชาชนที่แท้จริง แต่ว่าจำนวนคน ไม่เพียงพอ ภาระงานก็เยอะ บาง สน. บางพื้นที่มีตำรวจอยู่น้อยถึงแม้ว่าจะมีผู้ช่วยพนักงาน สอบสวน มีเสมียน แต่เมื่อต้องออกพื้นที่ไปสรุปแล้วสุดท้ายภาระงานจบอยู่ที่ตำรวจ เพียงนายเดียว และถึงแม้ว่าจะออกเวรไปแล้วแต่ภาระหน้าที่ของงานตำรวจก็ยังไม่จบ ยังจะต้องมีการ Clear เอกสาร ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นว่า งานเก่าก็ยัง Clear ไม่จบ งานใหม่ก็ทับถมเข้ามาเกิดภาวะงานล้นมือให้กับพนักงานสอบสวน และวัฒนธรรมองค์กรภายใน สน. เองบางทีบางที่ก็มีระบบ ระเบียบที่เคร่งครัด ดิฉันเข้าใจ เลยว่าตำรวจก็อยากจะตอบแทนบริการประชาชนให้ทันท่วงที ให้รวดเร็ว และทันใจ แต่การไปบังคับเจ้าพนักงานให้ทำงานภายใต้สถานการณ์แบบนี้ทำให้พนักงานสอบสวน มีความกดดัน และกดดันยังไม่พอแรงจูงใจในหน้าที่การงาน การเติบโตในอาชีพของเขา แล้วก็ค่าตอบแทนก็ยังไม่ได้รับตามความเหมาะสม ยังไม่นับรวมไปถึงอุปกรณ์สำนักงาน ที่เมื่อสักครู่ท่าน สส. กรุณพลได้ทำการอภิปรายไป เครื่อง Printer หมึก ปากกา หลาย ๆ ท่านอาจจะมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สิ่งเหล่านี้รวม ๆ แล้วในแต่ละเดือนถือว่า เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากเลย ดิฉันเชื่อว่าทุกวงการ มีทั้งคนดีและคนไม่ดี แต่เราจะทิ้งตำรวจ น้ำดีไว้ข้างหลังอย่างนั้นหรือคะ เราจะยอมให้ตำรวจที่อยากจะทำงานเพื่อประชาชนจริง ๆ ไม่มีโอกาสในการเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานของเขา ไม่มีโอกาสเติบโตอย่างนั้นหรือคะ เราจะสร้างขาที่แข็งแรงให้กับตำรวจเหล่านี้ได้หรือยัง เพราะดิฉันเชื่อเลยว่าถ้าตำรวจน้ำดี เหล่านี้มีขาที่แข็งแรง ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปอยู่ภายใต้เงา หรือต้องไปอยู่ภายใต้อิทธิพล หรือต้องไปพึ่งพิงบารมีของใคร จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่นำเสนอมาเป็นญัตติด่วนในวันนี้ ดิฉันก็อยากจะตั้งคำถามว่าเราจะกล้าใช้คำว่า สังคายนา ปฏิรูปตำรวจ ได้แล้วหรือยัง อยากให้ตำรวจมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีไปพร้อม ๆ กันในสายตาประชาชนได้แล้วหรือยัง ถ้าเรา แก้ไขได้ที่โครงสร้างเราจะสามารถสร้างความมั่นใจ เรียกภาพลักษณ์ที่ดี สร้างความสัมพันธ์ ที่ดีให้กับตำรวจและประชาชน เอาความมั่นใจ เอาเกียรติและศักดิ์ศรีนั้นกลับคืนมาค่ะ ก็ต้องขอขอบคุณที่สภาแห่งนี้ได้เสนอญัตตินี้ขึ้นมา เพราะดิฉันก็เชื่อว่าตำรวจชั้นปฏิบัติงาน ในหลาย ๆ ที่ก็ไม่มีโอกาสที่จะส่งเสียงสะท้อนนี้มา ดิฉันขอสนับสนุนญัตติในการที่จะแก้ไข อภิปราย แล้วก็สังคายนา ปฏิรูปตำรวจให้มีความเป็นระบบ ระเบียบมากยิ่งขึ้น ขอบคุณค่ะ
เรียนประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน สิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร จากพรรคก้าวไกล บางกะปิ วังทองหลาง แขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ วันนี้มีเรื่องปรึกษาหารือ ดังนี้
เรื่องแรก ปัญหา ไฟทางเดินริมคลองแสนแสบโดนลักขโมย ประชาชนแจ้งมาว่าไฟริมคลองโดนลักขโมย อยู่หลายจุด แล้วก็มีบางจุดที่ไม่ได้รับการติดตั้ง เช่นใต้สะพาน ทำให้ทางเดินมืดมากแล้วก็ เป็นอันตราย มีการตั้งกลุ่มมั่วสุม ประชาชนไม่กล้าเดินผ่านเส้นทางนี้เพราะกลัวจะถูกฉกชิง วิ่งราวแล้วก็อาชญากรรมอื่น ๆ แล้วก็มีแก๊งจักรยานสีชมพูที่เคยโดนจับไปแล้วครั้งหนึ่งนะคะ ชาวบ้านจับตัวไปส่ง สน. หัวหมาก ไม่รู้ว่าเพราะอะไรออกมาก่อเหตุได้อีก ก็อยากจะฝาก สน. หัวหมากช่วยเร่งจับตัวคนร้ายนะคะ เพราะว่านี่เป็นการทำลายทรัพย์สินของสำนัก การระบายน้ำ แล้วก็สร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนด้วยค่ะ
ปัญหาที่ ๒ เรื่องป้ายรถเมล์ไม่มีไฟ ไม่มีเลขบอกสายรถประจำทาง บางป้าย รถเมล์ไม่จอดป้ายค่ะ แล้วก็ประชาชนกังวลถึงความปลอดภัยขณะรอรถ ประกอบไปด้วย ป้ายรถเมล์บริเวณปากซอยรามคำแหง ๗๗ ป้ายรถเมล์บริเวณถนนเสรีไทย หน้าแฟลต คลองจั่น ๒๘ ป้ายรถเมล์บริเวณหน้า Showroom ฮอนด้า ตรงข้ามซอยรามคำแหง ๔๒ และป้ายรถเมล์หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ฝากสำนักการจราจรและขนส่งกรุงเทพมหานคร ช่วยดูแลด้วยค่ะ
เรื่องต่อไป ก็คือไฟดับหลายจุดในชุมชนลำสาลี ได้ทำเรื่องเกี่ยวกับหนังสือ ไปที่ กฟน. ลาดกระบังแล้ว แต่ก็ยังได้รับแจ้งว่าหลายจุดในชุมชนมีไฟดับอยู่ ฝาก กฟน. ลาดกระบังจัดการด้วยค่ะ
เรื่องที่ ๔ เรื่องการคืนพื้นผิวจราจรถนนรามคำแหงจากหน้าศูนย์ฮอนด้า หัวหมากไปจนถึงซอยรามคำแหง ๑๒๗/๑ ตลอดสายเป็นถนนขรุขระ แล้วก็พื้นถนนไม่ได้ ระดับ ประชาชนเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
เรื่องที่ ๕ บุคคลไร้บ้านในเขตพื้นที่บางกะปิ วังทองหลาง พบอยู่หลายจุดมาก เลยค่ะ ตอนนี้บางคนก็มีหลักแหล่งอยู่ บางคนก็ไม่มี เดินรีดไถเงินจากประชาชน ฝาก พม. เข้าตรวจสอบแล้วก็เร่งแก้ไขด้วยค่ะ
เรื่องต่อไป ในพื้นที่เขตบางกะปิเกิดเหตุนักศึกษาจากช่างกลอุตสาหกรรม โดนยิงหน้าบ้านในบริเวณซอยรามคำแหง ๕๘/๓ ตอนนี้ได้ทราบว่าอยู่ในความรับผิดชอบ ของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ๔ อยากจะฝากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่านช่วยเร่งดำเนินการ ทวงความยุติธรรมให้กับน้องผู้เสียชีวิตด้วย เพราะน้องเป็นที่รักของบ้าน แล้วก็อยากให้ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือว่านักจิตวิทยาลงมาประเมินสภาพจิตใจและเยียวยาด้วยค่ะ
เรื่องสุดท้าย ฝากท่านประธานเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากการหารือไป เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ครั้งที่แล้ว ดิฉันได้รับหนังสือตอบรับจากหน่วยงานเพียงหน่วยงานเดียว นั่นก็คือ รฟม. เรื่องอื่น ๆ ยังไม่มีหน่วยงานไหนได้ทำหนังสือตอบกลับมาเลยค่ะ ขอบคุณค่ะ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน สิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเขตบางกะปิ เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกลค่ะ ดิฉันขออภิปรายสนับสนุนทุกญัตติเลย ที่เพื่อนสมาชิกได้เสนอต่อสภา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหนี้สิน ปัญหาค่าครองชีพ หรือว่าปัญหา ความเหลื่อมล้ำค่ะ วันนี้ดิฉันอยากจะเล่าประสบการณ์จากการที่ดิฉันได้เคยไปสัมผัสพูดคุย กับบุคคล หรือว่าครอบครัวที่ได้เป็นหนี้นะคะ จากการที่ดิฉันเคยเป็นพิธีกรรายการหนึ่ง ที่รูปแบบรายการนั้นนั่นก็คือการนำเงินรางวัลไปใช้หนี้ให้กับผู้เข้าแข่งขันที่มาร่วมในรายการ ท่ามกลางค่าครองชีพที่สูงค่ะ ซ้ำร้ายยังต้องแบกรับภาระความเป็นหนี้ เรื่องราวของชีวิต พวกเขา เมื่อดิฉันฟังแล้วมันทำให้ดิฉันสะท้อนเลยค่ะว่าคนพวกนี้แทบจะไม่ได้ใช้ชีวิตเฉกเช่น มนุษย์คนหนึ่งค่ะ เขาใช้ชีวิตเหมือนเครื่องจักรที่ทำงานทุกวันและแทบจะไม่มีวันหยุดเลย ในวัน ๆ ไม่มีเวลาแม้แต่จะคิดว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร คิดแค่ว่าจะหาเงินมาได้อย่างไร ให้พออยู่พอกินในแต่ละวัน และจะหาเงินเหล่านี้มาใช้หนี้อย่างไรนะคะ ดิฉันอยาก ยกตัวอย่างเรื่องราวของผู้เข้าร่วมรายการให้ทุกท่านได้ฟังแล้วลองจินตนาการดูว่า ถ้าเหตุการณ์เหล่านั้นเป็นญาติผู้ใหญ่ในบ้านท่าน เป็นครอบครัวของท่าน หรือแม้ว่าเป็น ตัวท่านเองท่านจะรู้สึกอย่างไร คุณป้าคนหนึ่งใช้ชีวิตอยู่กับหนี้ก้อนโตนะคะ ต้องทำมาหากิน อาชีพของตัวเองด้วยการขึ้นไปกรีดยาง เกิดเหตุวันหนึ่งค่ะโดนช้างกระทืบม้ามแตก ต้องพา ตัวเองคลานลงมาจากสวนยางรอจนเช้าให้มีคนมาเจอแล้วพาไปรักษา รักษายังไม่ทัน หายขาดเลยค่ะ ยังไม่ทันฟื้นตัวต้องสลัดความกลัวขึ้นไปกรีดยางอีกแล้วเพราะว่ามีหนี้ มาจ่อคออยู่ ผู้ชายคนหนึ่งที่เป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว ๑ วันมี ๒๔ ชั่วโมง ผู้ชายคนนี้ทำงาน ไปแล้ว ๒๑ ชั่วโมง แต่พักไม่ได้ค่ะเพราะว่ามีหนี้มารออยู่ที่หน้าบ้าน ผู้หญิงคนหนึ่งในฐานะ คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ลูกสาวอยากกิน KFC ด้วยความเป็นแม่ปฏิเสธไม่ได้ พาลูกเข้าไปที่ KFC เดินอยู่หน้าเคาน์เตอร์ แต่สุดท้ายต้องกลั้นใจบอกลูกว่าเรารับประทานแค่มันบดได้ไหมคะลูก เพราะว่าแม่ไม่มีเงิน หรืออีก ๑ กรณีที่ดิฉันฟังแล้วยิ่งต้องตั้งคำถามในใจเลยว่า เงินในกระเป๋าของเรา กับเงินในกระเป๋าของพวกเขาเหล่านั้นมันมีคุณค่าเท่ากันหรือไม่ เป็นเรื่องราวของคุณป้าคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่กับหลาน ในทุก ๆ วันคุณป้าต้องคอยดูว่า วัดในบริเวณบ้านนั้นมีการจัดงานบวชที่ไหนบ้างแล้วต้องเข้าไป ไปแย่งเงินโปรยทาน เพื่อที่จะ เอาเศษเงิน ๕ บาท ๑๐ บาทนั้นรวมกันมาเป็นค่ากับข้าวให้ผ่านชีวิตไปได้ในแต่ละวัน นี่มันทำให้เราเกิดคำถามว่า ๑,๐๐๐ บาทของเราในการกินข้าวมื้อดี ๆ หายไปแล้วใน ๑ มื้อ แต่ว่า ๑,๐๐๐ บาทของเขานี่สามารถทำให้เขาอยู่ให้เขากินได้ทั้งเดือน ดิฉันอยากให้ทุกท่าน ลองไปดูเรื่องราว แววตาและความมุ่งมั่นของคนที่มาเข้าร่วมรายการเหล่านี้ว่าเขาพยายาม อย่างสุดจิตสุดใจขนาดไหนที่จะคว้าเงินรางวัลก้อนนั้นมาให้ได้ เพราะว่าเงินรางวัลก้อนนั้น มันเป็นแสงสว่างเดียวที่จะทำให้เขาหลุดออกจากวังวนของการเป็นหนี้ได้ หนี้ทำให้ เด็กหลาย ๆ คนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา หนี้ทำให้พ่อแม่หลาย ๆ คนต้องห่าง ออกจากลูกไปเพื่อที่จะไปหางานทำที่มีรายได้ที่ดีกว่า หนี้ทำให้ผู้สูงอายุที่ทำงานหนักมาทั้ง ชีวิตไม่ได้ใช้ชีวิตสบาย ๆ ในยามบั้นปลาย
เหตุผลก็คือเราไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่ถูกต้องตามกฎหมายได้ นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญเลย หนี้ยังพรากชีวิตคนดี ๆ ที่ตั้งใจทำมาหากินเพียงเพราะว่า เขาไม่สามารถหาทางออกได้หนึ่งในวังวนของคนเป็นหนี้คือการกู้หนี้นอกระบบ เพราะว่า เขาไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่ถูกกฎหมายได้ก็เลยเลือกทางเลือกอื่นที่จะเข้าถึงแหล่งเงินกู้ ได้ไวแต่ต้องแลกมาด้วยความอันตรายที่เสี่ยงถึงชีวิต ความอันตรายของหนี้นอกระบบนี้ คืออะไร นั่นคือการจ่ายดอกรายวัน บางคนกู้มาแล้วต้องจ่ายดอกรายวัน จ่ายไปไม่พอ สุดท้ายแล้วทุกอย่างวนกลับมาอยู่ที่เดิม ต้นก็ยังไม่ได้จ่าย ดอกก็จ่ายไม่ครบ ดอกจ่ายไม่ครบ ต้องไปเข้าหาแหล่งเงินทุนกู้หนี้อื่น ๆ นอกระบบอื่น ๆ เพื่อมาโปะดอกอีก สุดท้ายเป็นหนี้ซ้ำ หนี้ซ้อนทับถมกันไปไม่จบไม่สิ้นเลย ยิ่งในปัจจุบันมี Application หลากหลายเลยที่สามารถ ทำให้ประชาชนเข้าถึงหนี้กู้นอกระบบได้อย่างง่ายดายมากกว่าการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ ที่ถูกกฎหมายอยู่มาก เพราะฉะนั้นมันก็เลยทำให้คนเลือกที่จะเข้าไปกู้ยืมเงินจากหนี้ นอกระบบมากขึ้น ในพื้นที่ของดิฉันเอง เขตบางกะปิ เขตวังทองหลางก็ได้รับเรื่องร้องเรียน มามากเรื่องของเงินกู้นอกระบบโทรศัพท์มาขู่ฆ่า ขู่ทำร้ายร่างกาย ขู่เอาชีวิต ขู่ทำร้าย ครอบครัว จากทั้งหมดมานี้ดิฉันมีข้อเสนอ นั่นก็คืออยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด บริการการเข้าถึง ให้ความรู้ในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของเขาว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง ต้องใช้ เอกสารอะไร เพราะยังมีประชาชนอีกมากเลยที่ไม่มีความรู้ในการที่จะเข้าถึงแหล่งเงินกู้ ที่ถูกกฎหมาย ก็เลยทำให้เขาต้องไปพึ่งหนี้นอกระบบ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะมี มาตรการที่ชัดเจนในการจัดการธุรกิจหนี้นอกระบบเหล่านี้ให้เด็ดขาด ท่านประธานคะ ทุกคนมีรายจ่ายที่ต้องจ่ายท่ามกลางสภาพแวดล้อมตอนนี้ที่ปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้น รายจ่าย ต้องสูงขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อเปิดกระเป๋าเงินออกมา เปิด Application ธนาคาร ออกมามันไม่มีเงิน สุดท้ายแล้วทุกคนก็ต้องกลายเป็นหนี้ แต่ว่าเราจะทำอย่างไรให้คนที่มีหนี้ เหล่านี้เขาเข้าไปเป็นหนี้ได้อย่างถูกต้องอยู่ในระบบแล้วมีภาครัฐที่จัดการได้ ประชาชนไม่ต้อง เอาชีวิตเข้าไปเสี่ยง ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งเลยในฐานะพิธีกรที่เคยทำรายการรูปแบบนี้มา ว่าในช่วงชีวิตของดิฉันที่เหลืออยู่นี้ค่ะ ต่อไปมันควรจะมีรายการที่เป็นรายการต่อยอดให้กับ คนที่ทำมาหากินได้ลืมตาอ้าปาก มากกว่ารายการที่จะเอาความจน หรือว่าความน่าสงสาร ของชีวิตคนมาเป็นความบันเทิงให้กับผู้ชมค่ะ เพราะฉะนั้นดิฉันสนับสนุน ขอให้มี การแก้ปัญหาหนี้สินแบบนี้อย่างยั่งยืน เพื่อให้คนไทยได้ใช้ชีวิตอย่างลืมตาอ้าปากได้ อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีค่ะ ขอบคุณค่ะ
เรียนท่านประธานสภา ดิฉัน สิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากบางกะปิ วังทองหลาง แขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกลค่ะ วันนี้ดิฉันก็อยากจะอภิปรายเสริม เกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาการดูแลเด็ก เยาวชน และความมั่นคงของสถาบันครอบครัว ดิฉันมีข้อสังเกตบางประการดังนี้ว่าการตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญไปนี่สุดท้ายแล้วเราจะแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ ดิฉันเห็นด้วย แต่สุดท้ายแล้วถ้าครอบครัวไม่ได้มีเวลาดูแลหรือเอาใจใส่เด็กที่เกิดมาจริง ๆ ทุกวันนี้ ลาคลอดเกิน ๓ เดือนก็ไม่ได้เงินแล้ว พ่อแม่ลาสลับกันก็ไม่ได้ จะเอาเวลาที่ไหนมาใช้กับลูก อีกอย่างหนึ่งคือการตีความการเลี้ยงดูของพ่อแม่ตอนนี้เราตีความกันถูกแล้วหรือยัง เพราะว่า บริบทของสังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว เราไม่สามารถใช้คำว่า ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อนได้แล้ว เพราะว่าอะไรรู้ไหมคะ สมัยก่อนน้ำร้อนมาจากกาต้มน้ำ เดี๋ยวนี้มาจากเครื่องทำน้ำอุ่นแล้ว มันใช้ไม้บรรทัดวัดกันไม่ได้ แล้วก็อย่าดูถูกคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่นี้ เราอย่าเอาแว่นตาของ ตัวเองไปตัดสินคนอื่น เพราะว่าในยุคสมัยของคนอีกหนึ่ง Generation ก็ถูกเลี้ยงดูมาอีก แบบหนึ่ง ในยุคสมัยนี้คนเราก็ถูกเลี้ยงดูมากับทัศนคติอีกแบบหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ก็มีการปรับตัวมาก ๆ มีการเลี้ยงลูกเชิงจิตวิทยา มีการเข้าถึง ข้อมูลความรู้หลักในการเลี้ยงลูกด้วยจิตวิทยามากมายเลย แล้วพ่อแม่ก็พร้อมที่จะปรับตัว ในการเลี้ยงลูกแบบเชิงใหม่เชิงจิตวิทยา พ่อแม่สมัยใหม่นี้ไม่ได้มองลูกว่าเป็นสมบัติส่วนตัว อีกต่อไปแล้ว แต่เขามองลูกในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีสิทธิ เสรีภาพ ลองเปรียบเทียบกันดูว่า ระหว่าง Gen Y ขึ้นไปกับ Gen C ลงมามีความแตกต่างกันชัดเจนในบางบริบท อย่างตัวดิฉันเอง ดิฉันก็ยอมรับเลยว่ายังมีบางครั้งที่เกิดจากการเลี้ยงดูที่ดิฉันยอมจำนนต่ออำนาจ ไม่กล้าที่จะ ลุกขึ้นมาเรียกร้องหรือบอกความต้องการของตัวเอง แต่ว่าเด็ก Gen C ลงไปแตกต่างกัน เขามีความต้องการและเขาสามารถลุกขึ้นมาเรียกร้องแล้วก็พูดในสิ่งที่เขาต้องการได้ ทีนี้ ขออนุญาตโยงกลับมาในนี้กับหลักการและเหตุผลที่รู้สึกว่าจะไม่ค่อยสอดคล้องกับชื่อญัตติ เท่าไร เป็นเรื่องของสิทธิการชุมนุมซึ่งดิฉันก็มีความเห็นว่าบางทีผู้ใหญ่ยังมีมายาคติที่จะไป แปะป้ายว่าการชุมนุมนั้นเป็นเรื่องของผู้ใหญ่เท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่เลย การชุมนุมนี้ คือการรวมตัวกันของคนที่มีความคิดเห็นและทัศนคติเดียวกันในการที่จะมาใช้พื้นที่พบปะ พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่ควรถูกจำกัดไว้เฉพาะอายุในการแสดงออก และการพูดถึงสิทธิ เสรีภาพของเด็กและเยาวชน ผู้ปกครองหรือพ่อแม่ควรที่จะทำหน้าที่ หรือว่ามีบทบาทการเป็นผู้สนับสนุนที่ดีให้กับลูก อย่างน้อยเป็น Supporter ทางด้านจิตใจ ให้กับลูก สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับพวกเขา ให้พวกเขาสามารถพูดคุย ปรึกษาหรือระบาย สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในใจได้ เช่นเดียวกันเลย รัฐก็ควรจะทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองให้กับเด็ก และเยาวชนเช่นเดียวกัน ไม่ใช่ว่าปิดกั้นหรือใช้อำนาจในการจำกัดสิทธิ เสรีภาพของพวกเขา แต่ควรจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยและมีพื้นที่ให้พวกเขาได้พูดได้แสดงออกในสิ่งที่เขาต้องการ หากรัฐมองด้วยเลนส์ใหม่ มองให้ใจกว้างมากขึ้น ท่านจะเห็นเลยว่าเด็กและเยาวชนเหล่านี้ เขามีศักยภาพและมีคุณภาพแค่ไหน อย่างน้อยท่านต้องสนับสนุนแล้วก็ส่งเสริมศักยภาพของ พวกเขา พูดกันง่าย ๆ เลยต้องขอประทานโทษทุกท่านด้วยพวกเรานี่อยู่กันอีกประมาณ ๑๐-๒๐ ปี เดี๋ยวก็ลาโลกนี้กันไปแล้ว เราส่งต่อบ้านที่ดีให้กับลูกหลานไม่ดีกว่าหรือคะ เราเปิด พื้นที่ให้กับพวกเขาให้เขาได้มีสิทธิ ได้มีเสียงในการที่จะออกแบบบ้าน ออกแบบสังคมที่น่าอยู่ ที่พวกเขาจะต้องใช้ชีวิตไปอีก ๓๐-๔๐ ปีข้างหน้า ดีกว่าจะไปปิดกั้นเขาทุกอย่างแล้วส่งต่อ สิ่งที่มันไม่ดีที่เราจะต้องเผชิญกันอยู่ตอนนี้ นั่นเป็นสิ่งที่จากการที่เราไม่กล้าพูดจากตอนที่เรา เป็นเด็ก แต่เด็กสมัยนี้กล้าพูด เพราะฉะนั้นเปิดพื้นที่ให้เขา อย่าไปจำกัดเขา ให้เขาได้ ออกแบบสิ่งที่เขาอยากอยู่ สังคมที่เขาอยากอยู่ บ้านที่เขาอยากอยู่ได้เอง แล้วให้เขานี่ละค่ะ เป็นคนรุ่นเราที่จะส่งต่อบ้านที่มันน่าอยู่ ส่งต่อสังคมที่มันน่าอยู่ให้กับลูกหลานต่อไป ขอบคุณค่ะ
เรียนท่านประธานค่ะ ดิฉัน สิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต กทม. พรรคก้าวไกล ขอเสนอรายชื่อกรรมาธิการวิสามัญ Entertainment Complex สัดส่วนของพรรคก้าวไกล จำนวน ๑๔ คน ๑. คุณรังสิมันต์ โรม ๒. คุณชิตวัน ชินอนุวัฒน์ ๓. คุณคริษฐ์ ปานเนียม ๔. คุณณัฐพงษ์ พิพัฒน์ไชยศิริ ๕. คุณศุทธสิทธิ์ พจน์ฐศักดิ์ ๖. คุณยอดชาย พึ่งพร ๗. คุณฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ๘. คุณจรยุทธ จตุรพรประสิทธิ์ ๙. คุณรักชนก ศรีนอก ๑๐. คุณนนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ ๑๑. คุณพงศธร ไกรกาญจน์ ๑๒. พลตำรวจตรี สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ๑๓. คุณธันย์ชนน ศรีอัษฎาวุธกุล ๑๔. คุณณัฐกร วิทิตานนท์ ขอผู้รับรองด้วยค่ะ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน สิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากบางกะปิ วังทองหลาง แขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันขอมาอภิปรายสนับสนุนให้รับหลักการ เรื่องของร่างข้อบังคับการประชุมที่เราเรียกกันง่าย ๆ ว่าข้อบังคับสภาก้าวหน้านะคะ อยากให้เพื่อนสมาชิกทุกท่านลองถอดหมวกของการเป็นผู้แทนราษฎร แล้วสวมหมวกของ การเป็นประชาชนธรรมดาคนหนึ่ง ถ้าเกิดว่าเราเป็นประชาชนธรรมดาคนหนึ่งเราอยาก จะได้สภาแบบไหน ซึ่งดิฉันก็ลองไปคิดถึงความคิดเห็นของประชาชนโดยอิงจากความเห็น ส่วนตัวของดิฉันเองว่า ถ้าเกิดว่าเรามีร่างข้อบังคับประชุมใหม่นี้ การเมืองไทยไปได้ไกล แน่นอน เพราะว่าอะไรคะ อย่างที่ท่าน สส. พริษฐ์ได้อภิปรายไปแล้ว ดิฉันก็มีความคิดเห็น ตรงกันในหลาย ๆ ประเด็นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความโปร่งใสในการเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ที่จะให้ประชาชนได้ทราบทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่อสารสนเทศที่ประชาชนเข้าถึงได้ตลอด ประชาชนจะรู้สึกใกล้ชิดกับการเมืองมากขึ้น หรือว่าไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบได้ในการ จัดให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลเรื่องของการปรึกษาหารือต่าง ๆ แล้วก็ได้ทำการติดตามว่า หน่วยงานนั้นได้ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว มันก็จะมีหลาย ๆ กรณีเลยค่ะว่า สส. ได้ปรึกษาหารือ ครั้งที่ ๒ ก็ต้องมาทวงถามเรื่องของการปรึกษาหารือครั้งแรกว่ายังไม่ได้รับการตอบรับจาก หน่วยงานใดเลย มันจะดีกว่าไหมคะ ถ้าเกิดว่าเราสามารถติดตามผลของการดำเนินงาน จากหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่ สส. ได้ทำการปรึกษาหารือไปได้ แล้วประชาชนก็ได้รับทราบ ด้วยนะคะ
เรื่องต่อไป เรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ท่านพริษฐ์ได้บอกไว้ว่า ร่างพระราชบัญญัติที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกิน ๕,๐๐๐ คน เสนอต่อสภาให้ถือเป็นเรื่องด่วน อันนี้ ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะว่าตอนนี้เงื่อนไขมันอาจจะมาก แล้วทำให้ประชาชนรู้สึกว่า มีความท้อใจไม่อยากจะยื่นอะไร เพราะว่ากว่าจะยื่นเข้ามาได้ไม่นับญัตติหรือ พ.ร.บ. อะไร ที่ สส. ได้เข้าไปยื่นเองก็เรียงคิวกันยาวมาก ๆ แล้ว แทบจะไม่มีความหวังในการที่จะให้ ร่าง พ.ร.บ. ของตัวเองได้เข้ามาสู่สภาเลยนะคะ
อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องของการปรับตัว ตอนนี้บริบทของสังคมก็เปลี่ยนไปแล้ว ในข้อบังคับข้อ ๖๙ ที่เราเพิ่มเติมขึ้นมามีการโอบรับไม่ให้เราอภิปรายเสียดสีหรือว่าใส่ร้าย ต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษา เพศสภาพ เพศวิถี สภาพทางกาย หรือสุขภาพ ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือสังคม หรืออาชีพ หรือความคิดเห็น ทางด้านการเมือง ตอนนี้มันคือการต้องปรับตัวแล้วค่ะ เพราะว่าบริบทมันเปลี่ยนไป ท่านประธานคะ ตอนนี้เรามีเทคโนโลยีหลาย ๆ อย่างที่จะเข้ามาช่วยในการทำงานให้กับ ทุก ๆ ท่านให้กับสภาได้มีการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ประชาชนได้เข้าถึง ข้อมูลมากขึ้น คำถามคือทำไมเราถึงไม่ใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นให้มันเป็นประโยชน์
เรื่องต่อไป เรื่องของเจตจำนง ถ้าสภาแห่งนี้มีเจตจำนงอยากให้การเมือง เป็นเรื่องของทุกคน จริง ๆ ก็ควรที่จะให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลแล้วก็ได้ Update ข้อมูล ไปพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นคนทำงาน ไม่ว่าจะเป็น สส. หรือคณะกรรมาธิการเองก็ดี ให้ได้รับรู้ไปพร้อม ๆ กันเลย และอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือดิฉันมานั่งคิดดูแล้วว่าเรื่องนี้ในการที่จะ ทำให้สภาโปร่งใสตรวจสอบได้หรือว่ามีการเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ นี้มันมีส่วนได้ส่วนเสีย อย่างไร ดิฉันยังไม่เห็นส่วนเสียนะคะ ถ้าเกิดว่าจะไม่มีเจตนาที่จะต้องปิดบังอะไร ดิฉันเห็นแต่ มีส่วนได้ ส่วนได้กับใครบ้าง ส่วนได้ส่วนแรกก็คือผู้ทำงานนั่นเอง เราในฐานะ สส. เราก็จะได้ รายงานการทำงานให้กับประชาชนได้ทราบ ให้ประชาชนได้รับรู้ว่าคนที่เขาเลือกเข้ามา ทำงานแทนเขาเป็นผู้แทนราษฎรทำงานคุ้มค่า คุ้มเงินภาษีที่เขาจ่ายมาเป็นเงินเดือนพวกเรา แล้วหรือเปล่า ส่วนได้กับประชาชน ประชาชนก็จะได้ติดตามข้อมูลได้รับทราบข้อมูลไป พร้อม ๆ กัน แล้วเขาก็จะรู้สึกว่าการเมืองนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ท่านประธานคะ ตอนนี้บริบททางการเมืองยุคใหม่มันแตกต่างจากสมัยก่อนแล้ว ประชาชนมีช่องทางในการ เข้าถึงข้อมูลได้มากมายหลากหลาย แล้วทำไมรัฐสภาถึงไม่ยอมที่จะเปิดเผยข้อมูลหรือว่า ทำให้รัฐสภามันโปร่งใส ถ้าเกิดว่าเราอยากจะให้รัฐสภานี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เราก็ควรจะ มีบทบาทในการส่งเสริมให้กับประชาชนได้เข้าถึงข้อมูล ได้ติดตามข่าวสารข้อมูล ทำให้สภา โปร่งใสตรวจสอบได้ ประชาชนมีส่วนร่วม มีการปรับตัว และดิฉันเชื่อว่าถ้าเกิดว่าเราทำได้ ทั้งหมดใน ๔ มิตินี้ รัฐสภาของเราจะไปได้ไกลและพัฒนามากขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น แน่นอนค่ะ ขอบคุณค่ะ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพค่ะ ดิฉัน สิริลภัส กองตระการ สมาชิกผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร บางกะปิ วังทองหลาง แขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ จากพรรคก้าวไกล วันนี้มีเรื่องปรึกษาหารือ เรื่องแรก ขอสไลด์ ขึ้นด้วยค่ะ
การคืนพื้นผิวจราจร ถนนรามคำแหงในเขตบางกะปิ ตอนนี้มันเสียเยอะมากเลย ถ้าเกิดว่าดูจากโครงการที่จะ ดำเนินการคืนพื้นผิวจราจรแล้ว จริง ๆ แล้วต้องเสร็จตั้งแต่วันที่ ๗ แล้วก็วันที่ ๑๕ จุดเริ่มต้น อยู่ที่ศูนย์ฮอนด้า เรื่อยไปถึงสะพานข้ามคลองวัดศรีบุญเรือง แต่ว่าตอนนี้ยังมีปัญหาอยู่เลย ทั้งขาเข้าและขาออก อยากให้ รฟม. ช่วยชี้แจงเหตุล่าช้านะคะ แล้วก็เร่งรัดการคืนพื้นผิว ถนนให้กับประชาชนด้วยนะคะ
เรื่องที่ ๒ เรื่องปัญหายาเสพติดในพื้นที่ สไลด์ถัดไปเลยค่ะ ตอนนี้ได้รับ รายงานมา ดิฉันได้เปิดช่องทางการร้องเรียนแล้วก็ได้ลงพื้นที่ในชุมชน ก็บอกเลยว่าได้ รับเรื่องร้องเรียนมาเยอะมาก เดี๋ยวปัญหาสะพานทางเดินริมคลองเอาไว้ก่อนนะคะ ได้รับมาเยอะมากค่ะ เพราะว่าตอนนี้มีแหล่งซ่องสุมทำให้วัยรุ่นได้จับกลุ่มกันเสพยา แล้วก็ มีเหตุแทงกันตายเพราะว่ายาเสพติดแล้ว ก็ฝากถึงท่านนายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกันค่ะ ถ้าคิดว่าปัญหานี้เป็นปัญหาที่สำคัญนะคะ มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานงานกับ สถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่เพื่อตรวจสอบอย่างเข้มงวดด้วยนะคะ ไม่นับเรื่องของกัญชา กระท่อม ตอนนี้สูบเข้าห้องพักคนอื่นแล้วมีเด็กเล็กอยู่ เขาอยู่กันไม่ได้ค่ะ น้ำกระท่อม ๔ คูณ ๑๐๐ ตอนนี้ได้รับรายงานจากแพทย์มาแล้วว่าเริ่มมีอาการทำให้ไตวาย ไตพังแล้วนะคะ ฝากท่านนายกรัฐมนตรีด้วยค่ะ
เรื่องต่อไป เรื่องปัญหาทางเดินริมคลอง ในพื้นที่บางกะปินี้มีชุมชนที่เป็น ทางเดินริมคลองเยอะนะคะ แต่ว่ามีอาการชำรุดแบบนี้เยอะมาก ในชุมชนมีผู้สูงอายุ มีผู้ป่วย ติดเตียงที่ต้องเดินทางสัญจรในการที่จะไปหาหมอก็ได้รับความลำบาก ฝากสำนักการระบายน้ำ ช่วยให้เจ้าหน้าที่เข้าเร่งตรวจสอบจุดที่ชำรุด แล้วก็ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนต่อไป ขอบคุณมากค่ะ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพค่ะ ดิฉัน สิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร จากบางกะปิ วังทองหลาง แขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ พรรคก้าวไกลค่ะ ดิฉันได้เคยพูดเรื่อง ภาวะของ PTSD ไปแล้วในกรณีที่เคยอภิปรายกรณีสะพานถล่มว่าส่งผลกระทบต่อการ ใช้ชีวิตของประชาชนอย่างไร ในวันนี้ดิฉันอยากจะมาอภิปรายให้ทุกท่านได้เห็นถึงความ อันตรายของภาวะ PTSD ว่าภาวะนี้มีความอันตรายต่อสภาพจิตใจมากขนาดไหน โรค PTSD หรือที่เรียกว่าโรคความผิดปกติทางจิตใจหลังภยันตรายจะเป็นสภาวะการป่วยทางจิตใจ หลังจากที่จะต้องเผชิญกับเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง เหตุการณ์ร้ายแรง ต่าง ๆ ที่ไม่คาดฝัน สถานการณ์อันตรายที่คุกคามชีวิตต่อคนผู้นั้นหรือบุคคลอื่น ๆ หรือต้องตกเป็นผู้เผชิญกับเหตุการณ์เองโดยตรง รวมไปถึงการสูญเสียบุคคลที่รัก จากเหตุการณ์นั้น ๆ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเครียดอย่างมาก เพราะเหตุการณ์นั้น มีความรุนแรงมากพอที่จะทำให้เขาเกิดปัญหาในการยอมรับและการปรับตัว อาการของโรค PTSD อาการเริ่มแรกผู้ป่วยจะมีเหตุการณ์ที่จะฉายภาพนั้นซ้ำ ๆ วน ๆ อยู่ในหัวเหมือนการ เล่นวิดีโอฉายภาพซ้ำนั้นต่อเนื่องกันไปไม่จบไม่สิ้นค่ะ จะทำให้เขาเห็นภาพหลอน ฝันร้าย และเกิดความวิตกกังวลอย่างรุนแรง อาการต่อไปคืออาการ Flash Back ผู้ป่วยเหล่านี้ จะถูกดึงกลับไปให้รู้สึกว่าตัวเองกลับไปอยู่ในสถานการณ์หรือระยะช่วงเวลาเหตุการณ์ ความรุนแรงนั้น ๆ รวมไปถึงการฝันถึงเหตุการณ์นั้น ๆ จนเกิดความตื่นกลัว อาการนี้ จะสามารถส่งผลให้มือสั่น ใจสั่น แล้วก็เกิดความวิตกกังวลได้ ผู้ป่วยจะรู้สึกมองโลกในแง่ลบ ไม่อยากที่จะทำกิจกรรมที่เคยชอบอีกต่อไป ชีวิตหม่นหมอง รู้สึกแปลกแยก ร้ายแรงที่สุด ก็คือมีความคิดที่อยากจะฆ่าตัวตายค่ะ ผู้ป่วยจะพยายามหลีกเลี่ยงเหตุการณ์หรือว่า ปัจจัยต่าง ๆ ที่จะเป็นตัวกระตุ้นที่จะทำให้เขารู้สึกว่าถูกโยงกลับไปในเหตุการณ์นั้นได้อีก ซึ่งปัจจัยนี้เกิดได้หลาย ๆ อย่างเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นคำพูด ชุดคำศัพท์ต่าง ๆ สถานที่ หรือว่ากิจกรรมนะคะ ซึ่งภาวะเหล่านี้ถ้าเราไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องไม่ว่าจะเป็นการ ทำจิตบำบัดหรือว่าการพบแพทย์ เพื่อใช้ยาในการช่วยรับการรักษา ภาวะนี้จะเดินทางไปสู่ การเป็นโรค ซึ่งการเป็นโรค PTSD ส่งผลกระทบอย่างมากเลยนะคะ ไม่ว่าจะส่งผลกระทบ ทางด้านจิตใจ การนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรืออาการ Phobia เป็นต้น หรือพฤติกรรมที่เป็นอันตราย ไม่ว่าจะเป็นการติดสุรา การติดสารเสพติด อาจจะถึง ขั้นทำร้ายตัวเองแล้วก็ทำร้ายคนอื่นได้ด้วยนะคะ ภาวะเหล่านี้มีความน่ากลัวและอันตราย เป็นอย่างมากเลย อย่างที่ดิฉันได้เคยอภิปรายไปแล้วว่าคนที่เป็นโรค PTSD บางคน ไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติอีกต่อไป เพราะฉะนั้นดิฉันเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งเลยค่ะ ที่เราจะต้องมีกฎหมายและมาตรการที่รัดกุมมากกว่านี้นะคะ ซึ่งทางเพื่อนสมาชิกของ พรรคก้าวไกลก็ได้นำเสนอร่าง พ.ร.บ. ต่อสภาไปแล้ว เพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์ ความรุนแรงเหล่านี้ เพราะว่าการเยียวยาสภาพจิตใจนี่คือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แล้วมันจะต้องใช้ระยะเวลาในการรักษา บำบัด ฟื้นฟู สภาพจิตใจในการที่จะส่งคนคืนกลับมา ใช้ชีวิตได้อย่างปกติมาก ๆ แต่เราสามารถตัดวงจรเหล่านี้ได้ด้วยการไม่ต้องให้เกิดเหตุการณ์ ความรุนแรงแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศของเราอีกค่ะ ขอบคุณค่ะ
เรียนท่านประธานสภาค่ะ ดิฉัน สิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร บางกะปิ วังทองหลาง จากพรรคก้าวไกลค่ะ ดิฉันอยากให้เพื่อน ๆ สมาชิกทุกคนได้รับรู้ถึงการต่อสู้ของกลุ่ม ผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานแล้ว ตั้งแต่สมัยที่สังคมนั้นยังไม่มี การยอมรับเรื่องของความหลากหลายทางเพศเลย กลุ่มคนเหล่านี้ได้รับความเกลียดชัง ได้รับ การทำร้ายร่างกายและจิตใจ ถูกกีดกันจากสังคม ไม่ได้รับสิทธิเท่าเทียมเหมือนชายหญิง ทั่วไปตามกฎหมายค่ะ ดิฉันขออ้างถึงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาว่ากว่าสังคมจะตระหนักและ ยอมรับถึงเรื่องของความหลากหลายทางเพศนั้น กลุ่มคนเหล่านี้เขาต้องต่อสู้อะไรกันมาบ้าง
เรื่องแรก เป็นเรื่องของ อลัน แมธิสัน ทัวริง (Alan Mathison Turing) เป็นอัจฉริยะที่เกิดผิดยุคค่ะ เขาเป็น นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะเลยนะคะที่จบการศึกษาเกียรตินิยมอันดับหนึ่งด้านคณิตศาสตร์ ที่ King’s College ซึ่งถือว่าเป็นคนหนึ่งที่ช่วยยุติสงครามโลกครั้งที่ ๒ จากการถอดรหัส Enigma เรื่องราวของเขาได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงมาก ๆ นั่นก็คือ The Imitation Game การที่เขาได้เป็นส่วนหนึ่งในการยุติสงครามโลกครั้งที่ ๒ นี่ถือว่าเป็น คุณูปการอย่างใหญ่หลวงของโลกของเราเลยนะคะ แต่ว่าความไม่เท่าเทียมในโลกในสมัยนั้น ที่ยังมองคนจากเพศสภาพอยู่ ทำให้เขาถูกตีตราว่าเป็นอาชญากร และเขาถูกลงโทษและ ละเมิดสิทธิอย่างร้ายแรงเพียงเพราะว่าเขามีรสนิยมที่ไม่ตรงกับเพศสภาพของตัวเอง เขาถูก บังคับให้ฉีดยาทำให้เป็นหมัน รับเคมีบำบัด ฉีดฮอร์โมนเพื่อรักษาอาการรักเพศเดียวกัน ของเขาที่ในสังคมยุคนั้นอย่ามองว่าเรื่องการรักเพศเดียวกันเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ สุดท้ายแล้ว อลัน แมธิสัน ทัวริง (Alan Mathison Turing) ตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเองด้วย Cyanide เพราะว่าน้อยใจกับโชคชะตาชีวิต
เรื่องต่อมาเป็นเรื่องของซิลเวีย ริเวรา (Sylvia Rivera) และมาร์ชา พี. จอห์นสัน (Marsha P. Johnson) กับเหตุการณ์จลาจลที่เกิดขึ้นที่ผับ Stonewall Inn นำไปสู่การเรียกร้อง ความเท่าเทียมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ มาร์ชา พี. จอห์นสัน (Marsha P. Johnson) หรือว่า มัลคอล์ม ไมเคิลส์ จูเนียร์ (Malcolm Michaels Jr.) เกิดจากครอบครัว African American ชนชั้นใช้แรงงาน เธอแค่ชอบใส่กระโปรงเหมือนเด็กผู้หญิงค่ะ แต่นั่นคือสาเหตุ ที่ทำให้เธอถูกเพื่อนในละแวกบ้านตัวเองนั้นทำร้ายร่างกาย ล่วงละเมิดทางเพศจนทำให้เธอ ไม่กล้าใส่กระโปรงอีก และทำให้เธอคิดว่าการที่เราจะมีความรักระหว่างเพศเดียวกันนั้นเป็น เรื่องที่สามารถเกิดขึ้นเพียงแค่ความฝันได้เท่านั้น ต่อมาซิลเวีย ริเวรา (Sylvia Rivera) หรือว่า เรย์ (Ray) จากการที่พ่อของเธอทิ้งไปตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ และคุณแม่ก็ฆ่าตัวตายเลยทำให้เธอ ต้องมาอาศัยอยู่กับยายที่มีการเลี้ยงดูที่ค่อนข้างเข้มงวด เธอถูกทุบตีเป็นประจำจากยาย เพียงเพราะว่าเธอมีพฤติกรรมที่เหมือนเด็กผู้หญิงค่ะ ทำให้เธอหนีออกจากบ้านมา แล้วก็ ได้มาพบกับมาร์ชา พี. จอห์นสัน (Marsha P. Johnson) ในปี ๑๙๖๓ ที่นิวยอร์ก ในสมัยนั้น กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้รับการยอมรับเลย ถูกมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่อง ผิดบาป ทำให้บ่อยครั้งกลุ่มคนเหล่านี้ถูกตำรวจจับเพียงเพราะแต่งกายไม่ตรงกับเพศสภาพ ตัวเองค่ะ ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๑๙๖๙ ที่ Stonewall Inn ที่เมืองนิวยอร์กเป็น พื้นที่ปลอดภัยของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เนื่องจากในสมัยนั้นอย่างที่บอกไปว่า เขายังไม่มีการยอมรับ ในระหว่างที่กลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นกำลังสังสรรค์กัน อย่างสนุกสนาน มีตำรวจกว่า ๒๐๐ นาย เข้ามาทำการจับกุมทำลายข้าวของในบาร์ รวมไปถึง ใช้อาวุธทำร้ายร่างกาย โดยเจาะจงไปที่กลุ่มคนที่แต่งหญิง นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ กำลังกับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ว่านี่เป็นครั้งแรกที่กลุ่มคนเหล่านี้จะไม่ยอม ถูกกดหัว ถูกลดทอนสิทธิความเป็นมนุษย์ของพวกเขาอีกต่อไป พวกเขาจึงต่อสู้กลับโดยการ ใช้อิฐและหินปาใส่ตำรวจ การจลาจลครั้งนี้ก่อตัวใช้เวลายาวนานถึง ๖ วัน และได้เป็นการจุด ประกายการรวมกลุ่มการต่อสู้เรียกร้องของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ อย่างเช่น กลุ่ม Gay Liberation Front ในการเรียกร้องการยอมรับอัตลักษณ์ของตัวเองทั้งมาร์ช่า พี. จอห์นสัน (Marsha P. Johnson) และซิลเวีย ริเวรา (Sylvia Rivera) ก็ได้เป็นผู้ที่รณรงค์และก่อตั้ง ในหลาย Campaign เลยค่ะ ทั้งการสนับสนุนชาว LGBTQ+ ในการเปิดเผยตัวเอง การจัด Pride Parade ที่ประเทศไทยเราก็จัดเช่นเดียวกันเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ที่ The Stonewall Inn นี่เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้หลาย ๆ คนได้ตระหนักถึงตัว T ใน LGBTQ+ ว่า Transgender เหล่านี้เขาต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นมนุษย์ผ่านการดูถูกเหยียดหยาม และด้อยค่าพวกเขา มามากมายขนาดไหน มาร์ชา พี. จอห์นสัน (Marsha P. Johnson) และซิลเวีย ริเวรา (Sylvia Rivera) ได้ผลักดันเรียกร้องกฎหมายและนโยบายทางการเมืองมากมายเลยค่ะ อย่างเช่น การกดดันสมาคมจิตแพทย์สหรัฐอเมริกา เพื่อบอกว่าการรักเพศเดียวกันนั้น ไม่ใช่โรคค่ะ ถึงแม้ว่าทั้งคู่จะจากไปแล้วแต่ว่าการต่อสู้ของพวกเขาได้ทำให้เราเห็นว่ากลุ่มผู้มี ความหลากหลายทางเพศนั้นผ่านความยากลำบากมามากมายขนาดไหนที่จะทำให้สังคม ยอมรับตัวเอง เขามีที่ยืนของตัวเองและมีสิทธิเท่าเทียมกับเพศอื่น ๆ จนถึงวาระสุดท้าย ของชีวิต ในประเทศไทยขณะเดียวกันเองเราก็มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้มีความหลากหลาย ทางเพศมาอย่างยาวนาน เริ่มตั้งแต่กฎหมายที่สะท้อนไปถึงการไม่ยอมรับของการมีผู้ที่ หลากหลายทางเพศอยู่ อย่างเช่น กฎหมายลงโทษการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกัน อย่างเช่น Sodomy Law เรื่อยมาจนถึงการพยายามปรับตัวเพื่อให้กฎหมายก้าวทันตาม ทัศนคติของคนในสังคมมากขึ้น มีการโอบรับความหลากหลายในทางเพศมากขึ้น อย่างเช่น พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่ถึงแม้ว่าจะยังไม่มี แนวนโยบายในการไปปฏิบัติอย่างชัดเจน แต่ก็ถือว่ากฎหมายของไทยนั้นได้รับการปรับตัวแล้ว หรือว่าในสภาชุดนี้ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมที่เพื่อน ๆ สส. หลายคนได้ร่วมกันอภิปรายกัน อย่างหลากหลาย แล้วก็ร่วมผ่านโหวตระเบียบวาระที่ ๑ ให้ผ่านไปแล้วนะคะ เราได้สะท้อน ให้เห็นแล้วว่าเราพร้อมที่จะทำให้กฎหมายนั้นปรับตัวแล้วก็โอบรับในบริบทของสังคมที่ แตกต่างกันออกไป ในปัจจุบันนี้แนวคิดทัศนคติของเราโอบรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพิ่มมากขึ้น เรามี Series Y ที่สร้างชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก อุตสาหกรรม Series Y ที่สร้าง เม็ดเงินมามากมายให้กับประเทศของเรา เรามี Pride Month มี Parade ที่ต่างชาติเข้ามา ร่วมงานมากมาย ในขณะที่สังคมโอบรับและเดินหน้าไปขณะนี้ กฎหมายของเรายังเดินตาม ไปไม่ทันถึงแม้ว่าเราจะผ่าน พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมมาแล้ว แต่ว่าในประเทศไทยของเรายังมี อีกหลากหลายมิติที่กฎหมายของเราต้องออกมาสะท้อนแล้วค่ะว่าประเทศของเราเปิดรับ และโอบรับความหลากหลายทางเพศนี้ พ.ร.บ. นี้ก็จะเป็นอีก ๑ ฉบับ ที่จะสะท้อนว่า สภาผู้แทนราษฎรในชุดนี้พร้อมที่จะโอบรับความหลากหลายทางเพศ สุดท้ายดิฉันอยากฝาก คำพูดของมาร์ชา พี. จอห์นสัน (Marsha P. Johnson) เป็นวลีของเธอว่า How many years has it taken people to realize that we are all brothers and sisters and human beings in the human race เราจะต้องใช้เวลากี่ปีผู้คนถึงจะเข้าใจว่าเราทุกคน ล้วนเป็นพี่น้องและมนุษย์เหมือนกัน ร่วมเผ่าพันธุ์เดียวกัน ดิฉันอยากให้ พ.ร.บ. ฉบับนี้นะคะ ได้คืนสิทธิความเป็นมนุษย์ให้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศทุกคน และได้ตอบคำถามของ มาร์ช่า พี.จอห์นสัน (Marsha P. Johnson) ว่าถึงแม้ว่ามันอาจจะใช้ระยะเวลาในการต่อสู้ ยาวนานหลายปี แต่การต่อสู้นั้นไม่ได้สูญเปล่าในหลากหลายประเทศทำสำเร็จแล้ว และ ประเทศไทยเองก็กำลังต่อแถวจ่อรอคิวอยู่ที่จะให้ สส. ในสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ทำให้มัน สำเร็จและเกิดขึ้นได้จริงค่ะ ขอบคุณค่ะ
กราบเรียน ท่านประธานสภา ดิฉัน สิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากบางกะปิ วังทองหลางกรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี่ไม่ใช่เหตุการณ์แรก ที่สร้างความสูญเสียและส่งผลกระทบต่อสภาวะทางจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก นักเรียน ครู ที่อยู่ในเหตุการณ์ รวมไปถึงผู้ปกครองด้วยค่ะ เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว และซ้ำแล้วซ้ำเล่า ขอสไลด์แรกเลยนะคะ
เคสแรก เด็กคนนี้ ถูกเพื่อนล้อเลียน ทำร้ายร่างกายจนมีความเก็บกดทนไม่ไหว ขโมยปืนพ่อเพื่อมาก่อเหตุ ล้างแค้น สไลด์ถัดไปเด็กนักเรียนชั้น ม. ๓ ถูกเพื่อนร่วมห้อง Bully เรื่องฐานะของครอบครัว ทนไม่ไหวใช้มีดถางหญ้ามาฟันเพื่อนบาดเจ็บ ๒ คน เรามาดูสถิติการก่ออาชญากรรมที่เกิดจาก เด็กและเยาวชนกันนะคะ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนรวบรวมรายงานสถิติคดี ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ก็พบว่าช่วงวัยที่ก่อคดีมากที่สุดอยู่ที่มัธยมศึกษา คิดเป็น ๕๑.๒ เปอร์เซ็นต์ และรองลงมาคือประถมศึกษาคิดเป็น ๑๗.๕๗ เปอร์เซ็นต์ ดิฉันว่าประเด็น ที่เราควรจะมาพิจารณาทบทวน ๑ ประเด็นปัจจัยสำคัญเลยคือ เรื่องของความรุนแรง ในครอบครัว การที่เด็กเติบโตมาด้วยการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อทำร้ายแม่ หรือว่าแม่ทะเลาะกับพ่อทั้งร่างกายและจิตใจ จะส่งผลทำให้มีการส่งต่อพฤติกรรม ความรุนแรงนี้จากผู้ปกครองสู่ตัวเด็กค่ะ มีบทความและการศึกษาจากต่างประเทศ ดิฉัน อยากยกตัวอย่างให้ทุกท่านได้ดู อย่างเช่นบทความเรื่อง Family to Kill ที่มีการค้นคว้า จากภาควิชาสังคมวิทยาและอาชญากรรมของมหาวิทยาลัยประจำรัฐเคนต์ ก็ได้ให้ข้อมูลทาง สถิติไว้ว่าร้อยละ ๒๖ ของผู้ต้องขังที่มีการกระทำผิดในข้อหาฆาตกรรมเคยมีประสบการณ์ โดนทำร้ายร่างกายจากคนใกล้ชิดในครอบครัวมาก่อน หรือจากการศึกษาของมหาวิทยาลัย วิสคอนซินว่าช่วงวัย ๐-๑๑ ปี คือช่วงอายุที่หากเด็กโดนทำร้ายร่างกายและจิตใจจะส่งผล กระทบอย่างมากในเรื่องของความเสี่ยงต่อการก่ออาชญากรรมและความรุนแรงค่ะ และ บทความล่าสุดเลยจาก The Standard ที่มีการสัมภาษณ์ แพทย์หญิงวิมลรัตน์ วันเพ็ญ ว่าปัจจัย ๔ ส่วนในการก่อเหตุความรุนแรงของผู้เยาว์ คือ
ประเด็นแรก ปัจจัยตัวเด็ก เรื่องของการจัดการอารมณ์ การรับมือกับอารมณ์ ที่แตกต่างกันออกไป ปัจจัยเรื่องของการใช้ความรุนแรงในครอบครัว การใช้ความรุนแรง ทั้งร่างกายและจิตใจด้วยการส่งต่อผ่านคำพูดที่ด้อยค่าในตัวเด็ก การใช้ความรุนแรง ในโรงเรียน และชุมชน และสื่อที่เด็กสามารถเข้าถึงได้ในสังคม Online ในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นดิฉันว่าในทุกมิตินี้เราต้องร่วมกันแก้ปัญหา อันดับแรกคือต้องส่งเสริมการเลี้ยงดู ลูกเชิงจิตวิทยา เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้ใช้เหตุและผล ใช้หลักจิตวิทยาในการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับลูก เสริมสร้างความฉลาดทางด้านอารมณ์ หรือว่าสอนลูกให้สามารถรู้ เท่าทันอารมณ์ แล้วก็สามารถรับมือกับอารมณ์ต่าง ๆ ของเขาได้ ในปัจจุบันนี้มี Page หรือว่า Influencer หลายท่านเลยที่ได้นำเสนอข้อมูลการเลี้ยงลูกเชิงจิตวิทยาดังที่สไลด์ดิฉันได้ขึ้น ให้ดูนะคะ
ประเด็นที่ ๒ คือการช่วยกันสอดส่องดูแล อย่าเห็นว่านั่นเป็นเรื่องของ ภายนอกของเรา เป็นเรื่องของครอบครัวเขาเราไม่สนใจ เพื่อนบ้านและชุมชนจะต้องคอย สอดส่องดูแลและแจ้งเบาะแสให้กับตำรวจในกรณีที่เกิดการใช้ความรุนแรงในครอบครัว รวมไปถึงเราต้องรณรงค์ให้เด็กรู้เท่าทันสื่อใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ด้วยนะคะ รวมไปถึงตัว สื่อมวลชนเองก็ไม่ควรที่จะนำเสนอชื่อหรือวีรกรรมของผู้ก่อเหตุมากจนเกินไป เพราะนั่นจะ ทำให้เด็กรู้สึกว่า โอ้ นี่คือสิ่งที่เท่ห์จังเลย เราอยากจะมีตัวตน เราอยากจะทำแบบนี้บ้างส่งผล กระทบให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ
ข้อเสนอแนะในระยะสั้นที่ดิฉันอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้นำไปพิจารณาและ ดำเนินการต่อไปในระยะสั้น ยกตัวอย่างเหตุการณ์กราดยิงในอเมริกาก็มีแนวทางในการ ประเมินสภาพจิตใจเด็กอย่างทันท่วงที ทันทีเมื่อเกิดเหตุเลยโดยต้องประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ โดยละเอียดเพื่อระบุสาเหตุของ Coma ประเมินว่าเด็กมีภาวะ PTSD ไหม ภาวะเครียด ภาวะกดดัน ภาวะซึมเศร้า เพื่อที่จะบำบัดรักษาได้อย่างถูกต้องนะคะ รวมไปถึงการเฝ้าและ สังเกตพฤติกรรมและการสื่อสารอย่างระมัดระวัง ให้เด็กได้มีโอกาสได้เล่าบอกถึงความรู้สึก ที่เขามีอยู่ และการรณรงค์ให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการบำบัดสภาพจิตใจของเด็กด้วยค่ะ และดิฉันขอเรียกร้องไปยังสื่อมวลชนทุกสำนักนะคะ อย่าเลยค่ะ อย่าไปสัมภาษณ์เด็กว่ารู้สึก อย่างไร ไหนเล่าเหตุการณ์ในวันนั้นให้ฟังหน่อยสิ เพราะนี่จะเป็นการสร้างบาดแผลทางจิตใจ ที่ซ้ำไปซ้ำมาให้กับเด็ก ทำให้เด็กต้องเอาตัวเองพาเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นซ้ำ ๆ เรามา ช่วยกันนำเสนอดีกว่าว่าภาครัฐเยียวยาอย่างไร หรือว่าติดตามการทำงานของภาครัฐดีกว่า ว่าเขาจะเยียวยาให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์นี้อย่างไร
ในระยะกลางเราควรจะต้องประเมินสุขภาพจิตเด็กทั้งก่อนและหลังเปิดเทอม ทำเลยค่ะจริง ๆ ตอนนี้มี Application แล้วชื่อ Application Hero ที่กรมสุขภาพจิตทำงาน ร่วมกับ สพฐ. แต่ดิฉันอยากรณรงค์ให้มีการประชาสัมพันธ์และรณรงค์การใช้มากขึ้น เราจะ ได้เห็นสัญญาณว่าเมื่อเด็กเปิดเทอมมาเขาเจออะไรมาบ้าง หรือปิดเทอมแล้วกลับไปอยู่ที่บ้าน เขาต้องเจออะไรมาบ้าง เมื่อเรามีข้อมูลแล้วเราก็จะสามารถประเมินได้ว่าสถานการณ์ ของเด็กในแต่ละคนนั้นเขาต้องเผชิญกับอะไร รวมไปถึงการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็ก ให้เขาได้มีโอกาสได้พูดคุยบอกเล่าความรู้สึกกับเขา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ครู หรือผู้ปกครอง
ในระยะยาวควรมีการปรับหลักสูตรการศึกษา เช่น การช่วยชีวิตคนขั้นต้น การซ้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน หรือเพิ่มหลักสูตรสุขภาพจิตให้เด็กรู้เท่าทันอารมณ์ และสามารถรับมือกับปัญหานั้นได้ ถ้ากรณีนักจิตวิทยาไม่เพียงพอ ดิฉันก็เคยอภิปรายไปแล้วว่า นักจิตวิทยาของเด็กมีการกระจุกตัวและไม่เพียงพอ เราเพิ่มทักษะเรื่องจิตวิทยาให้กับ ครูแนะแนวได้ไหมคะ ให้ครูแนะแนวมีทักษะเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงเราควรจะต้อง ประเมินสภาพจิตใจของครูในทุก ๆ เทอมด้วย นอกจากนี้เราควรปลูกฝังให้เด็กทั้งผู้ใหญ่เลย สังเกต Red Flag หรือว่าสัญญาณอันตรายที่ผู้ก่อเหตุจะส่งมาให้กับพวกเราได้จับสัญญาณ ดิฉันอยากให้ทุกท่านได้ดูคลิปนี้ค่ะ ขออนุญาตเปิดคลิปค่ะ
ขออนุญาตนิดเดียว นะคะท่านประธานอีกประมาณ ๑ นาที เพื่อที่จะอภิปรายเพิ่มเติมให้เพื่อที่ผู้พิการทางสายตา ที่ได้ฟังการอภิปรายอยู่ได้เข้าใจเพิ่มมากขึ้น นั่นคือคลิปวิดีโอที่เด็กชาย ม. ปลายคนหนึ่ง ได้เขียนข้อความไว้บนโต๊ะแล้วก็มีคนมาโต้ตอบ มีการเขียนข้อความโต้ตอบกัน แต่ว่าทั้งคู่ยัง ไม่เคยเห็นตัวจริงซึ่งกันและกัน โดยฝ่ายชายเองก็พยายามมองหาเจ้าของลายมือนั้นมาตลอด จนวันหนึ่งก่อนที่จะมีการปิดเทอมมีการเขียนสมุดที่ระลึกกัน แล้วก็รูปแบบตัวอักษรนั้นก็ได้ ไปสะดุดตาของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของลายมือ แต่ว่าก่อนที่ทั้งคู่จะได้เริ่มต้นบท สนทนากันอย่างที่จะเห็นหน้า มีเด็กอีกคนหนึ่งเดินเข้ามาพร้อมปืนแล้วก็เสียงกรีดร้องของ นักเรียนเกิดขึ้น ในวิดีโอนี้ได้บอกว่า ในขณะที่คุณกำลังดูเด็กชายที่กำลังตามหาเจ้าของลายมือนั้นอยู่ ในขณะเดียวกันมีตัวละครอีกตัวละครหนึ่ง ซึ่งดิฉันคิดว่าท่านหลาย ๆ ท่านอาจจะมองข้ามไป คือเด็กที่ถือปืนเข้ามาก่อเหตุ เขาอยู่ในทุก ๆ เหตุการณ์ของเด็กผู้ชายที่เป็นตัวละครหลักเลย เขาอ่านหนังสือเรื่องปืน โดนกลั่นแกล้ง Post รูปตัวเองกับปืน ดูวิดีโอเรื่องการใช้ปืนตั้งแต่ต้น จนจบเรื่องราวเลยค่ะ แต่เราไปดูแค่เส้นทางการตามหาเจ้าของลายมือของเด็กผู้ชาย แต่เรา ไม่ได้สังเกตเด็กที่กำลังส่งสัญญาณอันตรายของความรุนแรงเลย นี่เป็นคลิปที่สอนเราได้มาก เลยว่าถ้าเราช่วยกันสอดส่องดูแลหรือจับสัญญาณอันตรายนี้ได้ เราจะมีเปอร์เซ็นต์ในการ ป้องกันเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งดิฉันไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกเลยค่ะ ขอบคุณค่ะ
เรียนท่านประธานสภา ดิฉัน สิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากบางกะปิ วังทองหลาง กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล สืบเนื่องจากที่มีเพื่อนสมาชิกได้ตั้งญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาเรื่องการสร้างคนให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของ ประเทศ ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ดิฉันขอตั้งคำถามแรกเลยนะคะ เกี่ยวกับแนวทางการศึกษานี้ว่าก่อนที่ท่าน อยากจะสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพท่านมีแนวทางในการสร้างปัจจัยในการทำให้ประชาชนเป็น พลเมืองเฉย ๆ ได้แล้วหรือยัง เรามาดูความแตกต่างกันระหว่างคำว่า ประชาชน กับคำว่า พลเมือง อ้างอิงจากสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เรื่องความหมายของคำว่า พลเมือง ได้ให้ ความหมายว่าคำว่า พลเมือง หมายถึงคนที่มีสิทธิและหน้าที่ในฐานะประชาชนของประเทศใด ประเทศหนึ่ง หรือประชาชนที่อยู่ภายใต้ผู้ปกครองเดียวกัน อนึ่งคำว่า พลเมือง มีความหมาย ต่างจากคำว่า ประชาชน ในแง่ที่เน้นสิทธิและหน้าที่มากกว่าคำว่า ประชาชน ทีนี้การที่จะ ทำให้พลเมืองมีความหมายต่างจากคำว่า ประชาชน ได้นั้น รัฐก็จะต้องให้สิทธิของเขากับ ประชาชน และประชาชนก็จะต้องทำหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นการเคารพกฎกติกาของสังคม กฎหมาย หรือว่าการจ่ายภาษี เป็นต้น พลเมืองคือพละ พละคือกำลัง กำลังของเมืองที่จะ ขับเคลื่อนประเทศหรือเมืองให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ดังนั้นดิฉันขอย้อนกลับมาที่คำถามเดิมเลยค่ะ ว่ารัฐจะสร้างปัจจัยในการทำให้ประชาชนกลายเป็นพลเมืองได้อย่างไร เพราะในสถานการณ์ ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจ สังคม ไม่ได้เอื้อเลยที่จะทำให้ประชาชนกลายมาเป็น พลเมือง ประชาชนส่วนใหญ่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่คนหาเช้ากินค่ำนะคะ เป็นคนที่หาเช้าไม่พอที่จะกิน ตอนค่ำด้วยซ้ำ อ้างอิงจากญัตติต่าง ๆ เลยนะคะที่มีเพื่อนสมาชิกได้นำเสนอเข้าสู่สภา เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าครองชีพสูง หนี้นอกระบบ สินค้าการเกษตรตกต่ำ ปัญหาค่าไฟแพง ปัญหาความยากจน สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เราเห็นว่า ประชาชนยังคงจะต้องพยายามเอาตัวรอดจากสภาพเศรษฐกิจ สังคม และบ้านเมืองใน ปัจจุบัน ปัญหาคุณภาพชีวิตเหล่านี้ยังคงต่อแถวจ่อรอให้ทางภาครัฐร่วมกันแก้ไขปัญหานี้อยู่ ดิฉันขอยกตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมแบ่งเป็นเชิงปัจเจก ครอบครัว และสังคม ในเชิง ปัจเจกลองดูตามช่วงวัยนะคะ เด็กที่ไม่ได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ เพราะว่าพ่อแม่ต้องไป ทำงานในที่ที่ห่างไกลเพื่อหารายได้ที่ได้มากขึ้น ทำให้เด็กถูกเลี้ยงดูมาจากปู่ย่าตายาย เกิดช่องว่างระหว่างวัยหรือว่าวิธีการเลี้ยงเด็กในวิถีเก่า ๆ การตี การลงโทษด้วยการดุด่า สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กไม่ได้ถูกเลี้ยงดูเติบโตขึ้นมาเชิงจิตวิทยา ไม่สามารถสร้างความฉลาด ทางอารมณ์ให้กับพวกเขาได้ ในวัยเรียนหรือวัยรุ่นปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เมื่อวานนี้ก็เพิ่งพูดเอง เรื่องของญัตติความรุนแรง เรื่องของการถูก Bully อำนาจนิยม ในโรงเรียน ความเครียดและความกดดันในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของเขา หรือวัยทำงาน ที่เป็นภาวะ Sandwich ที่ต้องดูแลพ่อแม่ที่อยู่ข้างบน หรือถ้าเกิดมีครอบครัวก็ต้องดูแล ครอบครัวของตัวเองด้วย ต้องทำงานหารายได้เพื่อมาเลี้ยงทั้ง ๒ ขานี้ให้เท่ากัน เขาไม่มีเวลา เป็นของตัวเองเลย ทำงานวนไปเป็นซอมบี้ในโลกของทุนนิยมไป หรือวัยสูงอายุ ประเทศเรามีสวัสดิการผู้สูงอายุที่เพียงพอแล้วหรือยังที่จะทำให้ผู้สูงอายุที่มีอยู่ ในปัจจุบันนี้ไม่ต้องรู้สึกว่าเป็นภาระของลูกหลาน สามารถดูแลตัวเองได้ ในเชิงครอบครัว เรื่องของการใช้ความรุนแรงในครอบครัวเราได้เห็นข่าวกันมามากมายที่ผู้ก่อเหตุเติบโต มาจากความรุนแรงในครอบครัว อย่างเช่นเคสเด็กที่ก่อความวุ่นวาย เคสป้าบัวผัน ในข่าว ก็ให้ข้อมูลมาว่าเด็กส่วนหนึ่งเติบโตมาจากการถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัว คนเหล่านี้ล้วน สร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนในสังคม หรือไปดูในเชิงสังคมที่ยังมีความเหลื่อมล้ำ การใช้ช่องว่างทางกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทำให้กฎหมายไม่มีความ ศักดิ์สิทธิ์แล้วค่ะ ประชาชนไม่เชื่อถือในระบบกระบวนการยุติธรรมอีกต่อไป นอกจากนี้ เรื่องของการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ประชาชนได้มีสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ทางด้านการเมือง สามารถพูดได้ แสดงความเห็นได้ โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่ออาชีพหน้าที่การงาน ทำอย่างไร ให้คนที่จะสามารถวิพากษ์วิจารณ์การเมืองได้ไม่ต้องมีราคาที่เขาต้องจ่าย ให้การเมืองเป็น เรื่องที่พูดได้ของทุกคน สร้างบรรยากาศที่ดีในสังคม รัฐสร้างพื้นที่ปลอดภัยเหล่านี้ให้กับ ประชาชนให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมได้แล้วหรือยัง ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลในการมี ส่วนร่วมทางการเมืองที่จะทำให้คำว่า พลเมือง แตกต่างจากคำว่า ประชาชน อ้างอิงจาก งานวิจัยนะคะ ปัจจัยที่ส่งผลการมีส่วนร่วมทางการเมืองพบว่ามีหลายปัจจัยเลย ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการศึกษา รัฐต้องสร้างโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่เท่าเทียมกัน ยิ่งประชาชนมีการ เข้าถึงการศึกษาที่ดีขึ้นก็จะช่วยเพิ่มทักษะการคิด วิเคราะห์ และเพิ่มความเข้าใจใน กระบวนการทางการเมืองของเขาได้ เรื่องเศรษฐกิจ หากปากท้องดี เศรษฐกิจรุ่งเรือง ประชาชนก็มีเวลา มีเงินมากขึ้น มีรายได้มากขึ้น เมื่อมีเวลามากขึ้นเขาก็จะอยากเข้ามามี ส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น แต่ในสังคมในปัจจุบันก็ยังมีความเหลื่อมล้ำก็จะส่งผลกระทบ เช่นเดียวกัน ทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองน้อยลง หรือในสังคมที่จะลดความ หวาดกลัว ยอมรับความแตกต่างในทุกสถานะได้ เป็นสังคมที่รับฟังและเปิดโอกาสให้ ทุกความเห็นต่าง ให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองมากยิ่งขึ้น แต่ในปัจจุบันนี้ ยังมีปัญหาสังคมที่ซับซ้อน เกิดความขัดแย้ง เกิดความไม่เท่าเทียม ทำให้ประชาชนบางส่วน รู้สึกว่าถูกผลักออกไป ไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เพราะฉะนั้นดิฉันย้อนมาที่คำถามอีกครั้งว่า รัฐสร้างปัจจัยเหล่านี้ได้แล้วหรือยัง ให้กับประชาชนที่จะให้เขากลายไปเป็นพลเมือง เพราะ ดิฉันเชื่อเลยว่าถ้าเกิดว่าเขามีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่มีความเหลื่อมล้ำ มีโอกาสทางการศึกษา ที่เท่ากันหรือว่าเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ณ วันหนึ่งถ้ามันมีปัจจัยเหล่านี้ที่เอื้อให้กับเขา เขาจะมีเวลาที่จะเงยหน้าขึ้นมา เงยหน้าขึ้นมาแล้วเห็นว่าประเทศเรา เมืองเรา มันมีปัญหา อย่างไร แล้วเขาก็จะอยากเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น นั่นทำให้คำว่า ประชาชน กลายเป็นคำว่า พลเมือง ก่อนพลเมืองคุณภาพ เอาคำว่า พลเมืองให้ดีก่อนค่ะ ขอบคุณค่ะ
เรียนท่านประธานสภา ดิฉัน สิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร จากเขตบางกะปิ เขตวังทองหลาง พรรคก้าวไกลค่ะ วันนี้มีเรื่องปรึกษาหารือ ๒ เรื่องด้วยกันนะคะ
เรื่องแรก เป็นเรื่องของ มาตรฐานการควบคุมการก่อสร้าง ภายในพื้นที่เขตบางกะปิ เขตวังทองหลางนี้มีการก่อสร้าง เยอะแยะมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสะพานข้ามแยก หรือว่า Sky Walk สิ่งที่ดิฉันกังวล ก็คือเรื่อง ของความปลอดภัย ดิฉันได้เคยหารือไปแล้วเมื่อสมัยประชุมสภาครั้งที่แล้ว แต่ว่าปัญหานี้ กลับมาวนอีกครั้งหนึ่งแล้วค่ะ ประชาชนที่ใช้เส้นทางสัญจรบริเวณหน้าเดอะมอลล์บางกะปิก็ได้แจ้งมาว่าหลายครั้ง ที่ขับผ่านบริเวณ Sky Walk ก็มีการเชื่อมเหล็กและมีสะเก็ดร่วงลงมาสู่ถนนอีกแล้วนะคะ ผู้ร้องหลายท่านกำลังขับรถอยู่ก็เลยไม่สามารถบันทึกภาพหรือว่าวีดีโอส่งมาไว้ได้ แต่ว่า ก็ได้มีการ Comment ใน Post ที่ดิฉันได้ Post ไว้ใน Facebook เมื่อวันที่ ๑๑ ว่ามีสะเก็ดไฟ ร่วงลงมาแล้ว แต่คนงานข้างล่างตะโกนบอกข้างบนก็ยังไม่หยุดทำเลยค่ะ ก่อนหน้านี้เมื่อปีที่แล้ว วันที่ ๗ กรกฎาคมก็ได้มีการ Post ภาพของสะเก็ดไฟที่ร่วงลงมาแล้ว เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ เส้นทาง
ถัดมาในวันที่ ๑๗ สิงหาคม ก็มีเหตุการณ์แผ่นเหล็กร่วงลงทับคนงานเสียชีวิต ดิฉันก็ได้หารือ แล้วก็ตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องของมาตรฐานการควบคุมการก่อสร้างไปแล้ว เช่นเดียวกัน ดิฉันจึงอยากฝากถามไปที่ทางกองควบคุมงาน สำนักการโยธาว่าท่านจะปล่อย ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ไปอีกเมื่อไร หรือว่าต้องให้เกิดเหตุการณ์สูญเสียแบบนี้ เกิดขึ้นอีกคะ ดิฉันรู้สึกว่ามีข่าวทีหนึ่งจัดการทีหนึ่ง หรือว่าร้องไปทีหนึ่งก็จัดการทีหนี่ง ไม่ได้มีมาตรฐานในการควบคุมที่ชัดเจนเลย พอดิฉันให้ทีมงานลงพื้นที่ไป ยกกล้องถ่ายปุ๊บ ก็หยุดทำงาน นี่หรือคะมาตรฐานการควบคุมการก่อสร้าง
อีกเรื่องหนึ่ง เรื่องของการคืนพื้นผิวถนนจราจร ซึ่งดิฉันได้ทำการปรึกษา หารือไปแล้ว ในช่วงเส้นรามคำแหง แต่พบว่ายังมีอีกหลายจุดเลยที่ยังไม่ได้รับการคืน พื้นผิวถนน บริเวณเส้นลำสาลีตรงนี้ประชาชนเดือดร้อนมากเลย จึงอยากให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องช่วยส่งแผนการคืนพื้นผิวถนน แล้วก็หนังสือชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องของสาเหตุ ความล่าช้าในการคืนพื้นผิวถนนมาให้ประชาชนได้รับทราบด้วยค่ะ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ เรื่องเดียวนะคะ ยังมีจุดก่อสร้างอีกหลายจุดที่มีปัญหาเรื่องของการควบคุมการก่อสร้าง การทำงานล่าช้า ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมสะพาน ซ่อมถนน หรือว่าการวางท่อประปา ประชาชน เดือดร้อนมากค่ะ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานใกล้ชิดกับประชาชนและช่วย ประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้มากขึ้นกว่านี้ด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ
เรียนท่านประธานสภาค่ะ ดิฉัน สิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตบางกะปิ เขตวังทองหลาง พรรคก้าวไกลค่ะ ก็ไม่พูดไม่ได้นะคะ ในประเด็นที่ดิฉันติดตามอยู่นั้นก็คือเรื่องของสุขภาพจิต ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณท่านผู้มาชี้แจงและคณะที่ได้มารายงานการสร้างระบบหลักประกัน สุขภาพแห่งชาติ ก็ต้องขอชื่นชมว่าในปี ๒๕๖๕ นี้ก็ได้มีการให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของ การบริการคัดกรองสุขภาพจิต ก็มีการคัดกรองมีแบบแผนมากขึ้น แล้วก็มีการรายงาน การติดตามผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชนที่เข้ามาสู่รายงานด้วย ก็สะท้อนให้เห็นได้ว่า สปสช. นี้ ได้ให้ความสำคัญเรื่องของประเด็นสุขภาพจิตมากขึ้น ขอสไลด์แรกเลยนะคะ
อันนี้ดิฉันอยากจะตั้ง ข้อสังเกตไว้สักเล็กน้อยเลยค่ะ ในหน้า ๑๖๔ เรื่องของการดูแลผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน ในรายงานนี้จะเห็นว่าในแท่งรองสุดท้ายของกรุงเทพมหานครอยู่ที่ ๒๐๓ คน ตัวเลขนี้เราอาจจะ ไม่ได้สะท้อนว่าในกรุงเทพมหานครมีผู้ป่วยที่น้อย แต่อาจจะสะท้อนให้เห็นว่าเราอาจจะ มีความจำกัดในด้านของการเข้าถึงหน่วยบริการหรือเปล่า ตรงนี้ก็ต้องฝากท่านพิจารณา ในการเพิ่มหน่วยบริการปฐมภูมิ ซึ่งดิฉันว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น หรือว่าถ้าท่านมีแนวนโยบาย ในการพัฒนาตรงนี้ก็อยากให้ชี้แจง หรือว่านำใส่ในรายงานในปีถัดไปด้วยก็ได้ เพราะว่าตรงนี้ ก็ถือว่าสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเพิ่มคนทำงาน เพิ่มหน่วยบริการจิตเวชปฐมภูมิ ในศูนย์บริการสาธารณสุขในกรุงเทพมหานคร หรือในต่างจังหวัดเองก็คือเรื่องของการ เพิ่มคนทำงานด้านการดูแลสุขภาพจิตใน รพ.สต.
อีกประเด็นสำคัญหนึ่งก็คือเรื่องของการพิจารณาเรื่องค่าตอบแทนค่ะ ค่าตอบแทนตอนนี้บุคลากรทางการแพทย์ได้น้อยนิดมากเลยค่ะ ถ้าเกิดว่าพิจารณาตรงนี้ได้ อาจจะสร้างแรงจูงใจได้ด้วย รวมไปถึงการเพิ่มสหวิชาชีพที่จะมาเป็นกำลังสนับสนุน แล้วก็ ลดการกระจุกตัวของการบริการตรงนี้ ทำให้บุคลากรนี้มีแรง มีขวัญกำลังใจในการทำงาน เรื่องของการดูแลสุขภาพจิตอีกด้วย
ประเด็นต่อไปดิฉันหวังว่ารายงานในปีถัด ๆ ไปก็จะมีการเพิ่มรายงานที่เป็น มิติของการดูแลสุขภาพจิตที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประเมิน KPI ของสายด่วน สุขภาพจิต หรือว่า KPI ของหน่วยงานที่ให้บริการทางด้านสุขภาพจิต ซึ่งตรงนี้ก็จะทำให้ สปสช. เป็นหลักประกันทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจของประชาชนอย่างครบถ้วน
ดิฉันอยากฝากประเด็นคำถามไปถึงผู้ชี้แจงสักเล็กน้อย ก็อยากให้ตอบคำถาม ประมาณ ๓-๔ ประเด็นด้วยกัน
ประเด็นแรก เรื่องของแนวทางในการจัดสรรงบประมาณ เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ ในการดูแลสุขภาพจิตให้กับประชาชนว่าท่านมีแนวนโยบายที่จะดำเนินการในปีถัด ๆ ไป อย่างไร ที่นอกเหนือจากการเพิ่มบริการคู่สายด่วนสุขภาพจิต หรือว่าท่านจะพิจารณา เพิ่มสิทธิในการเข้าถึง การพบนักจิตวิทยาคลินิก หรือว่าการพบนักจิตบำบัดให้กับผู้ป่วยจิตเวช เพิ่มมากขึ้นได้หรือไม่
ปัญหาต่อไปก็คือ เรื่องของโรงพยาบาลที่หลุดออกจากระบบบริการของ สปสช. ตรงที่มันสร้างปัญหานั้นก็คือ ทำให้ผู้ป่วยทั้งจะต้องเดินทางไปรักษาในโรงพยาบาล ที่ไกลออกไป พอต้องเดินทางไกลก็คือมีภาระเรื่องของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น ผู้ป่วย บางท่านเป็นผู้ป่วยติดเตียงหรือว่าเป็นผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย เราจะทำอย่างไร จะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร แล้ว สปสช. จะมีบทลงโทษสำหรับโรงพยาบาล ที่ไม่ทำตามเงื่อนไขนี้แล้วต้องหลุดออกไปหรือไม่ แล้วอีก ๑ กรณี ในกรณีที่ผู้ป่วย ไม่สามารถเดินทางเองได้ สิทธิประโยชน์ในการที่จะใช้รถพยาบาลในการรับส่งตัวผู้ป่วยนั้น รวมอยู่ในสิทธิประโยชน์ของ สปสช. หรือไม่
แล้วอีกอันหนึ่งที่ดิฉันอยากติดตามอย่างต่อเนื่อง นั่นก็คือการพิจารณา การเพิ่มบัญชียาหลักให้กับผู้ป่วยจิตเวช อันนี้ก็ได้รับข่าวดีมาว่าเรามียาที่จะเข้ามาฉีดให้กับ ผู้ป่วยจิตเวชที่ก่อความรุนแรงแล้ว แต่ว่าผู้ป่วยจิตเวชยังมีอีกหลายคน หลายชนิดที่เป็นผู้ป่วย จิตเวชเฉย ๆ เช่น ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยโรควิตกกังวล Panic หรืออื่น ๆ ที่เขากำลังรออยู่ ให้ทางรัฐหรือว่าคณะกรรมการพิจารณา ได้พิจารณาเพิ่มบัญชียาหลักให้เข้าสู่ทางเลือก ที่ผู้ป่วยเหล่านี้เขาจะสามารถมีทางเลือกในการทานยาได้ เพราะก็ต้องเรียนตามตรงนะคะ ในฐานะที่เป็นผู้ป่วยซึมเศร้าเหมือนกัน หลาย ๆ คนรับประทานยาที่อยู่ในบัญชียาหลักนี้ มี Effect อยู่มากมาย บางคนมีอาการดิ่งมากกว่าเดิม บางคนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและ การทำงาน ก็อยากจะให้ท่านได้พิจารณาถึงเรื่องการเพิ่มบัญชียาหลักด้วย แล้วในคณะกรรมการ ในการพิจารณานี้ ดิฉันอยากให้มีสัดส่วนของผู้ป่วยที่เป็นผู้ป่วยจิตเวช ในการเข้าไปมีส่วนร่วม ในการพิจารณาด้วย ขอบคุณมากค่ะ
เรียนท่านประธาน ที่เคารพค่ะ ดิฉัน สิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากบางกะปิ วังทองหลาง กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกลค่ะ เนื่องด้วยสถานการณ์ปัจจุบันประเทศของเราก็ก้าว เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้วนะคะ ในประเทศไทยของเรามีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุในปัจจุบันนี้ก็ตามเท่าที่เราได้ทราบกันดีอยู่แล้ว ๖๐ ปี ๗๐ ปี ๘๐ ปี จ่าย ๖๐๐ บาท ๗๐๐ บาท ๘๐๐ บาท แล้วถ้ามากกว่านั้นก็คือ ๑,๐๐๐ บาทต่อเดือน จากบทสรุปผู้บริหารในรายงานฉบับนี้ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่างานวิจัยที่ได้อธิบายถึง เรื่องค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของประชาชนอยู่ที่ ๑,๕๐๐ บาทต่อเดือน โดยจะเห็นได้ว่าการจ่าย เบี้ยผู้สูงอายุสูงสุดในปัจจุบันนี้ที่อยู่แค่ ๑,๐๐๐ บาท ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของ ประชาชน ดิฉันเคยได้อภิปรายเรื่องราวของคุณป้าคนหนึ่งในสมัยประชุมสภาครั้งที่แล้ว ไปแล้วว่าท่านต้องขึ้นไปกรีดยางประสบอุบัติเหตุ โดนช้างกระทืบได้รับบาดเจ็บ ในวันนี้ค่ะ ดิฉันอยากเล่าเรื่องราวของคุณลุงมะยมให้ได้ฟังกันค่ะ คุณลุงมะยมได้มาออกรายการ รายการหนึ่งที่ดิฉันได้ทำหน้าที่เป็นพิธีกร เมื่อปี ๒๕๖๓ คุณลุงมะยม ณ ขณะนั้นอายุ ๖๗ ปี แกมีมอเตอร์ไซค์คันเก่า ๆ คันหนึ่ง
แล้วก็ต้องลุยน้ำเข้าป่า ไปหาลูก จากนี่ดูสภาพนะคะ ทุกครั้งที่เข้าไปหาลูกจาก สิ่งเดียวที่จะสามารถเป็นเครื่อง ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของแกได้คือการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอเจ้าป่าเจ้าเขาให้ปกป้องภยันตราย งูเงี้ยวเขี้ยวขอ หรือว่าการเดินเข้าป่าในนั้น แกจะได้ไปหาลูกจากมาได้ แล้วก็กลับออกมาได้ อย่างปลอดภัย สิ่งเดียวที่แกเหลืออยู่ตรงนี้ก็คือมอเตอร์ไซค์คันเก่า ๆ คันหนึ่งที่เป็นเครื่องมือ ทำมาหากิน คุณลุงบอกว่าถ้าโดนยึดไป สุดท้ายก็คงจะต้องเดินไปขายของ ในช่วงเวลาที่ หลาย ๆ ท่านได้ใช้ชีวิตเกษียณ ได้พักผ่อนหลังจากที่ทำงานมาเหน็ดเหนื่อยมาค่อนชีวิตแล้ว ยังมีผู้สูงอายุอีกหลายคนยังคงต้องทำงานแบบคุณลุงมะยมนี้ เพราะว่าชีวิตเราต้องกินต้องใช้ ในเขตพื้นที่เขตบางกะปิ เขตวังทองหลางของดิฉันเองเมื่อได้ลงพื้นที่ไป ดิฉันก็เจอกับพ่อแก่ แม่เฒ่า คุณพ่อ คุณแม่ คุณป้า คุณลุง คุณตา คุณยาย ที่ลูกหลานออกไปทำงานข้างนอก กันหมด ดิฉันได้ไปพูดคุยเรื่องของนโยบายสวัสดิการถ้วนหน้าของผู้สูงอายุ ท่านประธานเชื่อ ไหมคะว่าประโยคที่ดิฉันได้ยินบ่อยมากที่สุดคือ ดีจังเลยลูก ป้าจะได้ไม่รู้สึกว่าเป็นภาระของ ลูกหลานลุงจะได้ไม่รู้สึกว่าเป็นภาระของลูกหลาน ในต่างจังหวัดพ่อแก่แม่เฒ่าหลายคนก็ต้อง อยู่เลี้ยงหลานอยู่ที่บ้าน เพราะว่าลูกก็ต้องออกไปทำงานในที่ไกลใช่ไหมคะ แล้วก็ต้องทิ้ง หลานมาให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง การจ่ายเงิน ๖๐๐-๘๐๐ บาท ที่เป็นเกณฑ์ในปัจจุบันนี้ นี่คือเงิน จำนวนที่เป็นความหวังของครอบครัวเขา เพราะว่ามันจะเป็นค่าข้าวสาร ค่าน้ำมัน ค่าไข่ที่จะ เอามาใช้เลี้ยงชีพในครอบครัวของเขาค่ะ แต่จากข้อมูลข้างต้นที่ดิฉันได้อภิปรายไปแล้วว่า ค่าใช้จ่ายนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นขั้นต่ำมันอยู่ที่หลักพันบาท แต่ทุกวันนี้เราจ่ายอยู่แค่ที่ หลักร้อยบาท ทำให้ผู้สูงอายุหลาย ๆ ท่านยังคงต้องทำงานไม่ได้พักผ่อน จากที่ตัวเองต้อง ทำงานกันมาตลอดชีวิต เพราะว่ายังมีภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้เงินในทุก ๆ วัน การจ่ายเงิน บำนาญพื้นฐานของประชาชนแบบถ้วนหน้าจะทำให้มีความเสมอภาค เท่าเทียม ไม่ต้องมี เงื่อนไขของอายุมาเป็นตัวกำหนด ผู้สูงอายุทุกท่านได้รับบำนาญก็จะได้นำเงินจำนวนนี้ไปใช้ จ่ายตามที่ท่านต้องการ เงินจำนวนนี้จะไปช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับคนวัยทำงานนะคะ เงินจำนวนนี้จะทำให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสใช้จ่ายในสิ่งที่เขาต้องการ ได้คืนความสบายใจให้กับ หลาย ๆ ท่าน ทำให้ตัวเองไม่ต้องรู้สึกว่าเป็นภาระของลูกหลานเงินจำนวนนี้จะเป็นค่าใช้จ่าย ในการเดินทางไปหาหมอ เป็นค่าขนมให้หลานไปโรงเรียน เป็นค่าข้าวสาร ค่าน้ำมัน เป็นค่ากับข้าวที่จะใช้กินในบ้าน จากข้อสรุปในรายงานดิฉันก็ขอให้คณะรัฐมนตรีได้พิจารณา รายงานฉบับนี้และนำไปปรับใช้ เรื่องของการปรับฐานการจ่าย ปี ๒๕๖๘ ๑,๒๐๐ บาท เพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ๒,๐๐๐ บาท ๓,๐๐๐ บาท มีหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ชัดเจน เอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบอกแหล่งที่มาที่ไปของเงินหรือว่าการส่งเสริมการจ้างงานของ ผู้สูงอายุให้อย่างเป็นรูปธรรมค่ะ ในสังคมที่ผู้สูงวัยมีมากยิ่งขึ้น การมีระบบการจ่ายบำนาญ พื้นฐานที่ถ้วนหน้านี้เป็นสิ่งที่รัฐควรจะต้องจัดสรรให้กับประชาชน เพราะว่าภาษีที่พวกเขา เคยได้ทำงานจ่ายให้กับรัฐไปในวันที่พวกเขายังมีกำลังทำอยู่นั้น ควรจะต้องตอบแทนคืนมา ให้กับประชาชน ดิฉันต้องขอขอบคุณคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม แล้วก็คณะอนุ กรรมาธิการทุกท่านด้วยที่ทำรายงานฉบับนี้ออกมาได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์แบบ ได้รวบรวม ข้อมูล ข้อเท็จจริง ระบุแหล่งที่มาของรายได้ทั้งปัจจุบันและอนาคตตามที่ท่านได้ใส่ไว้ใน ตารางนี้ ดิฉันต้องบอกเลยว่ารายงานนี้กึ่งสำเร็จรูปมาก ๆ เลย ถ้ารัฐบาลชุดนี้นำไปปรับใช้ และทำให้เกิดขึ้นได้จริง มันจะสะท้อนให้เห็นเลยว่าท่านใส่ใจในประชาชนวัยผู้สูงอายุจริง ๆ แหล่งที่มาที่ไปของเงินมีไว้หมดแล้วในนี้ การปฏิบัติการในนี้ก็รวมอยู่ไว้หมดแล้ว ดิฉันจึงคิดว่ารายงานฉบับนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง อยากให้ทางคณะรัฐมนตรีนำไปพิจารณา แล้วปรับใช้ให้มันเกิดขึ้นได้จริง เพื่อสร้างสวัสดิการที่ดีให้กับผู้สูงอายุในประเทศของเราค่ะ ขอบคุณค่ะ