นายสหัสวัต คุ้มคง

  • กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม สหัสวัต คุ้มคง ผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี พรรคก้าวไกล ขอเรียนปรึกษาหารือ เพื่อนสมาชิกถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในตำบลบ่อวิน จังหวัดชลบุรียาวไป จนถึงตำบลมาบยางพร จังหวัดระยอง จากการสร้างถนนสาย รย. ๓๐๑๓ ถนนสาย รย. ๓๐๑๓ เป็นโครงการที่สร้างเพื่อรองรับโครงการ EEC โดยมีระยะทางทั้งสิ้น ๑๗.๓๒ กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๑ แต่สร้างไม่เสร็จตามสัญญา จึงได้มีการอนุมัติ ขยายระยะเวลาการก่อสร้างเพิ่มไปจนถึงวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๖๖ ที่ผ่านมาครับ ท่านประธานครับ ปัญหาที่เกิดขึ้นจนถึงปัจจุบันวันนี้วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๖ นับเป็น เกือบเวลา ๕ ปี ๔ เดือนที่ยังไม่มีทีท่าว่าการก่อสร้างถนนจะแล้วเสร็จ จนปัจจุบันตอนนี้ พ่อแม่พี่น้องในพื้นที่เรียกถนนเส้นนี้ว่าถนนเจ็ดชั่วโคตร ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้าง ที่กินเวลากว่า ๕ ปีนี้ทำให้คนเกิดปัญหามากมาย พี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณ ริมถนนเส้นนี้มีไม่ต่ำกว่า ๓๐,๐๐๐-๔๐,๐๐๐ คน รวมถึงคนที่สัญจรไปมาอีกนับแสนคน ต่อวัน ปัญหาเส้นนี้มีมากมายครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประการแรก คือถนนเส้นดังกล่าวในยามกลางคืนไม่มีไฟส่องสว่าง การก่อสร้างทำให้เกิดหลุมบ่อมากมาย ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งครับ ความรุนแรงแต่ครั้ง ก็แตกต่างกันไป ตั้งแต่บาดเจ็บเล็กน้อย พิการ แม้กระทั่งเสียชีวิตก็มี มีแม่ที่ท้อง ๗ เดือน ต้องนั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์ผ่านถนนเส้นนี้ทุกวันตกหลุมตกบ่อจนแท้ง มีนักศึกษาที่ขับขี่ จักรยานยนต์เพื่อไปซื้อของมาทำรายงานถูกรถบรรทุกเกี่ยวทับเสียชีวิตครับ ท่านประธานครับ แล้วยังมีปัญหาเศรษฐกิจ พ่อค้าแม่ค้า ชาวบ้านที่อยู่บริเวณนั้นอยู่ริมถนนมากมาย มีทั้ง ชุมชน ตลาด ร้านค้า ร้านอาหารริมทาง ซึ่งต้องเจอกับมลพิษฝุ่นควันฝุ่นตลบอบอวลจนไม่มี ใครกล้าเข้าไปนั่งกินข้าวในร้าน จนเจ๊งกันเป็นแถบ ๆ ครับ ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สุขภาวะของพี่น้องประชาชน เราพบว่ามีประชาชนจำนวนมากไอ จามถึงขนาดเป็นเลือด มีคนเป็นภูมิแพ้จากการสูดดมฝุ่นจากถนนเส้นนี้ แล้วถนนเส้นนี้ยังมีโรงเรียนที่ตั้งอยู่ริมถนน ลูกหลานของประชาชนต้องสูดดมฝุ่นควันมากว่า ๕ ปีจากการก่อสร้างถนนระยะทาง ๑๗ กิโลเมตรที่ไม่เสร็จสักทีครับท่านประธานครับ เรื่องนี้อาจจะเป็นเหมือนปัญหาเล็ก ๆ แต่เป็นปัญหาใหญ่ของประชาชนในพื้นที่มาก ๆ ครับ ผมจึงอยากเรียนปรึกษาหารือ ถึงแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วนต่อที่ประชุมแห่งนี้ เพื่อไม่ให้พี่น้อง ประชาชนหลายหมื่นชีวิตต้องอยู่บนความเสี่ยงทั้งชีวิตทรัพย์สินและสุขภาพ ฝากท่านประธานถึงกรมทางหลวงชนบทผู้เป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้างถนนเส้นนี้ครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม สหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี เขต ๗ พรรคก้าวไกล จากการอ่านรายงาน ของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินของกองทุนประกันสังคม โดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน มีข้อสงสัยครับว่าด้วยส่วนของเงินสมทบค้างรับ เงินสมทบค้างรับคืออะไรหรือครับ เงินสมทบ ค้างรับคือเงินที่จริง ๆ แล้วนายจ้าง ลูกจ้าง หรือรัฐบาลต้องจ่ายให้กับกองทุนประกันสังคม ตามกฎหมาย ข้อสงสัยของผมจะอยู่ในส่วนของเงินสมทบค้างรับกรณีหลายงวด อ้างอิง จากรายงานเล่มนี้หน้า ๓๑ ปรากฏว่าเรามีเงินสมทบค้างรับก็คือส่วนที่ยังเก็บไม่ได้กว่า ๖,๒๔๐ ล้านบาท ซึ่งอันนี้จะไม่ใช่ส่วนของจากรัฐบาล แต่ว่ามีค้างชำระไม่เกิน ๑๒ เดือน ๑,๔๑๑ ล้านบาท ค้างชำระเกิน ๑๒ เดือน แต่ไม่เกิน ๒๔ เดือน ๕๓๒ ล้านบาท ค้างชำระ เกิน ๒๔ เดือน แต่ไม่เกิน ๖๐ เดือน ๑,๑๗๗ ล้านบาท ค้างชำระ ๖๐ เดือนขึ้นไป ๓,๑๑๙ ล้านบาทใช่ไหมครับ อ้างอิงจากตรงนี้ ถ้าในสภาวะวิกฤติการณ์โควิด-๑๙ ที่ผ่านมา เราเข้าใจกันดีว่าผู้ประกอบการหลาย ๆ คน หลาย ๆ เจ้าประสบวิกฤติทางการเงิน จนอาจทำให้มีปัญหาในการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม แต่ว่าในส่วนของการค้างชำระ ๖๐ เดือนขึ้นไปเท่ากับ ๕ ปีขึ้นไป ซึ่งมันเป็นก่อนที่จะมีวิกฤติการณ์โควิด-๑๙ แต่ว่า มันกลับมียอดค้างอยู่ที่ ๓,๑๑๙ ล้านบาท ซึ่งมันเป็นเงินจำนวนมาก สำหรับผู้ประกันตน ที่เป็นเจ้าของกองทุนตัวจริง ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎร เราสามารถอ้างอิงได้เลยครับว่าผู้ประกอบการโดยทั่วไปนี่เรารู้อยู่แล้วว่าการไม่ส่งเงิน สมทบของประกันสังคมมีความผิดตามกฎหมาย ตามพระบัญญัติประกันสังคม มีโทษ ทั้งจำและปรับ คำถามของผมคือทำไมกองทุนประกันสังคมปล่อยให้เกิดยอดเงินสมทบ ค้างชำระที่เกิน ๖๐ เดือนขึ้นไปกว่า ๓,๐๐๐ ล้านบาท ได้มีการบังคับใช้ มีการติดตาม ใช้อำนาจหน้าที่ที่มีตามกฎหมายแล้วหรือยัง แล้วผู้ที่ค้างเงินเหล่านี้คือใคร เป็นบริษัทเล็ก ๆ หรือเป็นนายทุนขนาดใหญ่ ผมว่าเรื่องนี้กองทุนประกันสังคมควรจะมีคำตอบให้กับที่ประชุม ครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานและเพื่อนสมาชิกทุกท่าน ผม สหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี เขต ๗ พรรคก้าวไกล ผมได้อ่าน รายงานผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ปี ๒๕๖๕ แล้ว ผมหงุดหงิดเป็นอย่างมาก

    อ่านในการประชุม

  • โดยเฉพาะในแผนแม่บทที่ ๑๑ คือการพัฒนา ศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต ตามรายงาน ๑๑๐๔๐๑ แผนแม่บทย่อย การพัฒนาและยกระดับ ศักยภาพวัยแรงงาน Slide ถัดไปครับ ประเด็นที่ผมอยากจะพูดคือประเด็นที่อยู่ในแผน แม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้ได้ระบุเป้าหมายไว้ว่า แรงงานมีศักยภาพในการเพิ่ม ผลผลิต มีทักษะอาชีพสูง ตระหนักในความสำคัญที่จะพัฒนาตนเองให้เต็มศักยภาพ แต่หาก เรามาดูรายละเอียดของดัชนีผลผลิตภาพแรงงาน ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี ๒๕๖๐-๒๕๖๕ เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยครับ ว่าเราไม่สามารถพัฒนาได้ตามเป้าเลย ตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ เป็นต้นมา โดยในปี ๒๕๖๐ นั้นการขยายตัวของผลิตภาพแรงงานอยู่ที่ ๔.๗ และลดลงมาเรื่อย ๆ ต่ำที่สุดในปี ๒๕๖๓ คือติดลบถึง ๖.๓ ก็เข้าใจได้ว่าเป็นช่วง COVID-19 แต่จนถึงวันนี้แล้ว ปี ๒๕๖๕ ก็ยังอยู่แค่ ๐.๖๙ ต่ำกว่าในปี ๒๕๖๔ ด้วยซ้ำครับ แถมลากไปต่ำกว่าปี ๒๕๕๗ ด้วยซ้ำครับ และต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ๒.๕ ต่อปีอย่างมากครับ มันเป็นเพราะอะไร และมีอะไรบ้าง เดี๋ยวผมจะพาไปดูเรื่องการพัฒนาฝีมือแรงงานครับ สถิติแรงงานจาก สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานครับ เราจะเห็นเลยครับว่าตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ มีผู้เข้ารับการ ทดสอบฝีมือแรงงานตกลงทุกปี และมีผู้ผ่านเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ต่ำลง ทุกปีเช่นกันครับ ในปี ๒๕๖๑ เรามีผู้เข้ารับการทดสอบ ๗๒,๕๙๓ ราย ผ่านการทดสอบ ๕๖,๖๕๙ ราย คิดเป็นผ่านกว่า ๗๘.๐๕ เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นก็มีผู้เข้ารับการทดสอบระดับ ๓๐,๐๐๐-๔๐,๐๐๐ กว่าคน และผ่านการทดสอบอยู่ ๒๐,๐๐๐ กว่าคน ลดลงมาจาก ๗๘ เปอร์เซ็นต์ มาเป็น ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ๖๙ เปอร์เซ็นต์ ๖๘ เปอร์เซ็นต์ แต่ปี ๒๕๖๕ หนักมากครับ มีผู้เข้ารับการทดสอบ ๓๒,๑๗๓ ราย ผ่านมาตรฐานแค่ ๒๑,๐๘๒ ราย หรือผ่านแค่ ๖๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นครับ มีจำนวนแรงงานที่รับการพัฒนาฝีมือและได้งานทำ ในปี ๒๕๖๒ เรามีผู้ที่จบการฝึก ๑๒๑,๗๓๗ คน ได้งานทำ ๘๓,๒๐๔ คน หรือประมาณ ๖๘.๓๕ เปอร์เซ็นต์ นั่นคือสูงที่สุดแล้ว แต่สำหรับผมมันก็ต่ำอยู่ดีครับ แต่ทีนี้ พอมาดูปี ๒๕๖๕ มีผู้ได้รับการฝึก ๗๙,๙๓๕ คน ได้งานทำ ๔๒,๘๐๖ คน หรือแค่ ๕๓.๕๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง และถ้าเฉลี่ยมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ จะมีผู้ที่ผ่านการฝึกและได้ งานทำอยู่แค่ประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แบบนี้มันล้มเหลวครับ Slide ถัดไปครับ เดี๋ยวผมพาไปดูต้นเหตุนะครับ ถ้าเราไปดูสถิติการส่งเสริมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในสถานประกอบการ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๕ นับตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ เป็นต้นมาจนถึงปี ๒๕๖๒ จะเห็นเลยครับว่ามีผู้จบการฝึกอยู่ในระดับ ๔ ล้านกว่าคน และปี ๒๕๖๒ สูงถึง ๕,๒๒๙,๓๕๐ คน ปี ๒๕๖๓ ในช่วง COVID-19 ก็เข้าใจได้ จะเหลือ ๑๐,๐๐๐ กว่านะครับอันนี้ไม่ว่ากัน แต่พอกลับมาดูปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕ อยู่ที่ระดับ ประมาณ ๒ ล้านกว่าคน นั่นคือไม่ถึงครึ่งของที่เคยฝึกได้ในช่วงก่อน COVID-19 ด้วยซ้ำ ทั้ง ๆ ที่จำนวนสถานประกอบการที่เข้าร่วมมีจำนวนไม่ต่างกัน มันเกิดอะไรขึ้นครับ ถ้าไปดู ตัวเลขของค่าใช้จ่ายก็ลดลงครับ ลดลงไปเป็นพันล้านบาท นั่นแปลว่ารัฐไม่ได้สนับสนุน เพียงพอ ไม่ได้มีการลงทุนเพียงพออย่างชัดเจน คราวนี้มาต่อเรื่องการว่างงานครับ เราจะได้รับรายงานเสมอว่ามีการจ้างงานที่สูงขึ้น แต่มีใส่อยู่ในรายละเอียดแม้ตัวเลข การจ้างงานจะเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเรามาดูตัวเลขจำนวนผู้ว่างงานชัดเจนครับ เมื่อเทียบปี ๒๕๖๕ กับปี ๒๕๖๒ จะเห็นเลยครับว่าปี ๒๕๖๕ มีคนตกงานเยอะกว่าปี ๒๕๖๒ ถึง ๑๕๔,๐๐๐ คน คิดดูว่าตัวเลขการจ้างงานคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้นนะครับ เพราะว่าเราฟื้นจาก COVID-19 มานิดหนึ่งครับ แต่เราก็ยังตกงานมากกว่าปี ๒๕๖๒ เป็นคนอยู่ดีครับ แต่ถ้าเราไปดูข้อมูลตำแหน่งที่ว่างเทียบ กับการบรรจุงาน จะเห็นเลยครับว่าเรามีตำแหน่งงานว่างเพิ่มมากขึ้นทุกปี แต่เราไม่สามารถ บรรจุคนเข้าทำงานได้ มากไปกว่านั้นก่อนหน้านี้ผมพูดถึงการพัฒนาฝีมือแรงงาน และตลาดแรงงาน คราวนี้เรามาดูตัวเลขที่น่าตกใจเพิ่มขึ้น คือช่วงอายุของผู้ว่างงาน จากตารางเราเห็นเลยครับว่าจำนวนผู้ว่างงานที่อยู่ในข่ายสูงที่สุดคือช่วงอายุ ๒๐-๒๔ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ มาจะอยู่ที่ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ กว่าคนมาตลอด แล้วพอปี ๒๕๖๓ จนถึงปัจจุบันกระโดดไปเป็น ๒๐๐,๐๐๐ กว่าคน แล้วในปี ๒๕๖๔ มีถึง ๒๕๐,๐๐๐ คน แล้วถ้าไปดูในช่วงอายุ ๒๕-๒๙ ปีครับ ตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ เป็นต้นมากระโดดจากหลัก ๖๐,๐๐๐ กว่าคน มาเป็น ๑๐๐,๐๐๐ กว่าคน แปลว่าอะไรครับ แปลว่าเด็กที่เป็น First Jobber หรือเด็กจบใหม่ตั้งแต่ช่วงปี ๒๕๕๙ เป็นต้นมาจนถึงปี ๒๕๖๓ นี่ ตกงานกันระนาว หรือบางคนยังไม่เคยได้งานทำด้วยซ้ำครับ แล้วถ้ามาดูอีกสถิติหนึ่ง จำนวนผู้ว่างงานที่หางานทำ จำแนกตามระยะเวลาที่หางานทำ จะเห็นเลยครับว่า ตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ เป็นต้นมามีคนใช้เวลาในการหางานเกิน ๑ ปีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จนปี ๒๕๖๕ คนเป็น ๑๐,๐๐๐ คน ต้องใช้เวลาหางานมากกว่า ๑ ปี เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๒ เป็นเท่าตัว จากทั้งหมดที่ผมอภิปรายมาครับท่านประธาน สรุปได้ง่าย ๆ เลยครับว่า

    อ่านในการประชุม

  • ๑. การพัฒนาฝีมือแรงงานของรัฐบาลที่ผ่านมา ล้มเหลวไม่เป็นไปตาม ยุทธศาสตร์ชาติอย่างสิ้นเชิง

    อ่านในการประชุม

  • ๒. เด็กจบใหม่ตกงานเยอะมากเป็นประวัติการณ์ และใช้เวลาหางานเพิ่ม อย่างมีนัยสำคัญ

    อ่านในการประชุม

  • และที่สำคัญข้อ ๓ ครับ จากที่ผมและเพื่อนสมาชิกหลาย ๆ ท่านได้อภิปรายมา เราจะเห็นเลยครับว่ายุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง และเรายังต้องอยู่กับ ยุทธศาสตร์ชาติที่ไม่ทันยุคสมัย ทำไม่ได้จริงไปอีกจนถึงปี ๒๕๘๐ หรืออีก ๑๕ ปีเลยหรือครับ ท่านประธาน ประชาชนต้องเสียโอกาสต้องไม่มีงานที่มีคุณภาพไปอีกนานแค่ไหนครับ ยุทธศาสตร์ชาติที่มีที่มาจากการรัฐประหาร ประชาชนไม่มีส่วนร่วม แต่กำลังคร่าชีวิต ปิดโอกาสลดทอนสุขภาพคนไทย ทำให้คนตกงานแถมยังล็อกอยู่ติดกับรัฐธรรมนูญ เหมือนโซ่ตรวนที่กักขังโอกาสของประเทศ โอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ถ้าเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งนะครับ เราต้องร่างธรรมนูญใหม่โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อปลดโซ่ตรวนเส้นนี้ต่อไปครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ผมมีอยู่ ๔ ประเด็น ที่ยังติดใจกับข้อชี้แจงนะครับ ประเด็นที่บอกว่าสำหรับแรงงานจบใหม่มีตัวเลข

    อ่านในการประชุม

  • ขออนุญาตครับ ผม สหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๗ จังหวัดชลบุรี พรรคก้าวไกล ก็ ๔ ประเด็นครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรก ที่บอกว่าตัวเลขของคน New Jobber เด็กจบใหม่ที่ตกงาน ลดลงอย่างต่อเนื่อง ผมยืนยันตรงนี้ไม่ได้ลดลงอย่างต่อเนื่องเลยครับ ถ้าดูตัวเลขจะเห็นได้ว่า เพิ่มขึ้น และเพิ่มสูงกว่าช่วง COVID-19 ด้วยซ้ำในปัจจุบันนี้ ข้อมูลตรงนี้ผมเอามาจาก รายงานสถิติแรงงานปี ๒๕๖๕ ของกระทรวงแรงงานเองนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ เรื่องของไม่ตรงกับตลาดแรงงาน ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ก็มีการระบุว่าจะต้องผลิตให้ตรงตลาดมากขึ้น แต่ว่าการบริหารงานผิดพลาดไหมครับ ถ้าจนถึงตอนนี้ยังไม่สามารถตรงกับตลาดแรงงานได้สักที

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๓ เรื่องที่ท่านเลขาสภาพัฒน์ตอบเกี่ยวกับการ Upskill Reskill เห็นได้เลยว่าผู้เข้ารับการอบรมแต่ละอย่างลดลง และงบประมาณก็ต่ำลงด้วย ไม่แน่ใจว่า เพิ่มขึ้นอย่างไรบ้างครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๔ ตอนนี้ชัดเจนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปีใช้มา ๕ ปี เด็กจบใหม่ ตกงานเพิ่มขึ้นทุกปีครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาครับ ผม สหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๗ จังหวัดชลบุรี ผมได้อ่านรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเรียบร้อย ในฐานะที่ผม เป็นคนที่เกิดและเติบโตอยู่ในพื้นที่ EEC เฉพาะในเขตของผมเองก็มีโรงงานตั้งอยู่ไม่ต่ำกว่า ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ โรงงาน มีแรงงานอยู่หลายแสนคน ดังนั้นเรื่องที่ผมอยากจะอภิปราย ในวันนี้ก็กลับมาเรื่องแรงงานครับ ผมอยากจะชวนท่านประธานผ่านไปยังเพื่อนสมาชิก Board EEC และพี่น้องประชาชนมาดูกันว่าปัญหาแรงงานในพื้นที่ EEC ปัจจุบันมีอะไรบ้าง และการดำเนินงานของ EEC ไปถึงไหนแล้ว ผมไปอ่านรายงานการดำเนินงานของ EEC มา ๑๕๐ กว่าหน้าก็ไม่ค่อยเห็นเนื้อหาอะไร ผมเลยไปดูแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกปี ๒๕๖๐-๒๕๖๕ อีกเกือบ ๒๐๐ หน้า ถึงได้เห็นว่า ในบทที่ ๗ มันจะมีตรงส่วนชี้วัด ถึงมีบอกว่าอะไรเป็นตัวชี้วัดบ้าง และหนึ่งในตัวชี้วัดคือ การจ้างงานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และอีกตัวคือกำลังคนเพียงพอ และมีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย คำถามที่ผมถามตรงนี้ครับ ตัวชี้วัดดังกล่าวทำไมไม่มีในรายงานนี้เลย สัมฤทธิผลหรือไม่ แต่ไม่เป็นไรเดี๋ยวผมพาไปดูกัน ผมจะตั้งข้อสังเกตอย่างนี้ว่ามีงานเพิ่มจริงไหม ประเด็นอยู่ตรงนี้ครับ ปัญหาคือเรามีอาชีพ สงวนที่สงวนไว้ให้กับคนไทยโดยเฉพาะงานที่อยู่ในสายการผลิตและกรรมกร โดยเรา ได้ยกเว้นให้กับ MOU ๓ สัญชาติ ซึ่งตรงนี้ผมเข้าใจได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงเราพบว่ามีแรงงานจีน จำนวนมากที่เข้ามาทำงานในพื้นที่นี้ ขอ Clip Video ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ถ้าดูจาก Clip นี้คนที่คลุกคลีกับการทำงาน ในโรงงานก็จะเห็นเลยว่าเป็นแรงงานในส่วนของการผลิตแน่นอนดูจากชุดได้เลย แต่ละวัน ก็ขนไปทำงานแบบนี้ตามใน Clip เป็นรถ Bus รถตู้เยอะแยะแบบนี้เลย ถ้าท่านยังไม่เชื่อผม ไม่เป็นไรครับ ผมจะพาไปดูพื้นที่จริงใน EEC ภาพเหล่านี้เป็นอาคารหอพัก แห่งที่ ๑ ตั้งอยู่ ตำบลมาบยางพร อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง มีจำนวน ๑๘ ตึก ตึกละ ๕ ชั้น ชั้นละ ๓๐ ห้อง มีประชากรจีนประมาณ ๕๐-๖๐ เปอร์เซ็นต์ แห่งที่ ๒ ตำบลบ่อวิน มีจำนวน ๑๘ ตึก ตึกละ ๕ ชั้น ชั้นละ ๓๐ ห้อง มีประชากรจีนประมาณ ๔๐-๕๐ เปอร์เซ็นต์ ถัดไป ตำบลมาบยางพร อำเภอปลวกแดง ๔ ตึก ตึกละ ๔ ชั้น มีประชากรจีนประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ถัดไปตั้งอยู่ที่ตำบลบ่อวิน อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จำนวน ๘ ตึก ตึกละ ๗ ชั้น ชั้นละ ๑๘ ห้อง คาดว่ามีประชากรชาวจีนประมาณ ๘๐-๙๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าตีคร่าว ๆ ประมาณนี้ก็ไม่ต่ำกว่า ๖,๐๐๐ คน อันนี้อย่างต่ำ และผมจะถามว่าถ้าเป็น สายงานอื่นที่ไม่ใช่สายงานกรรมกรหรือการผลิต ถ้าเป็นอาชีพที่ได้รับการยกเว้นตาม พ.ร.บ. EEC จะใช้คนเยอะขนาดนี้หรือครับ โดยส่วนตัวผมไม่ได้มีปัญหากับการใช้แรงงาน ต่างชาติ ผมทำงานกับพี่น้องแรงงานมา ผมเข้าใจดีว่าหลายอาชีพคนไทยเองก็ไม่ได้ทำ แล้วก็ไม่ได้อยากทำ จำเป็นที่ต้องนำเข้าแรงงาน แต่ผมอยากตั้งข้อสังเกตตรงนี้ว่าแรงงาน เหล่านี้เป็นแรงงานถูกกฎหมายหรือไม่ เข้าเมืองมาอย่างถูกต้องหรือไม่ และท้ายที่สุด ผมก็อยากจะถามว่าที่เราพูดกันว่าประเทศจะได้ประโยชน์ ประชาชนในพื้นที่จะได้ประโยชน์ และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นนั้นมันจริงหรือไม่ครับ เหมือนว่าเรากำลังนำเข้าแรงงานที่ผิด กฎหมายจำนวนมากในพื้นที่ EEC นี่คือพื้นที่ไม่เกิน ๑๐ ตารางกิโลเมตร พื้นที่ EEC กว้างใหญ่แค่ไหน และจะมีลักษณะแบบนี้อีกเยอะสักเท่าไร อันนี้เราต้องดูกันให้ดี นี่ยังไม่นับว่ามีทุนจีน มีธุรกิจร้านค้าที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมายอีกจำนวนมาก พ่อค้าแม่ค้า ได้รับผลกระทบเต็มไปหมด แต่ส่วนนี้ผมจะยังไม่พูดถึงตอนนี้นะครับ คราวนี้มาดูกันว่า ตัวเลขการจ้างงานที่ต้องเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจในพื้นที่ต้องดีขึ้น เรามาดูตัวเลขผู้ว่างงานกัน อันนี้ดูแค่ ๒ จังหวัดคือจังหวัดระยองกับจังหวัดชลบุรี อ้างอิงจากรายงานสถานการณ์ แรงงานจากสำนักงานแรงงานจังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง เริ่มกันที่ชลบุรีก่อนเลย ตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ เราพบว่ามีการระบาดของ COVID-19 มีผู้ว่างงานอยู่ที่ ๑.๑๙ เปอร์เซ็นต์ และปี ๒๕๖๔ เพิ่มมากขึ้นเป็น ๑.๒๘ เปอร์เซ็นต์ ปี ๒๕๖๕ เป็น ๑.๒๗ เปอร์เซ็นต์ เยอะกว่าช่วงโควิดอีกนะครับ มาต่อกันที่ระยอง ปี ๒๕๖๓ อยู่ที่ ๑.๐๕ และปี ๒๕๖๔ ตกลงมาที่ ๑.๐๒ แต่ปี ๒๕๖๕ ตัวเลขการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น ๑.๔๔ เปอร์เซ็นต์ เพิ่มสูงกว่า ช่วงโควิดอีกเช่นกัน ในขณะที่ตัวเลขว่างงานเฉลี่ยของทั้งประเทศไทยมีตัวเลขการว่างงาน อยู่ที่ ๑.๑๕ เปอร์เซ็นต์ แปลว่าอะไรครับ แปลว่าเขตพัฒนาพิเศษที่อ้างนักอ้างหนาว่า สร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในประเทศจะเกิดจากการจ้างงานเพิ่มขึ้น แต่ตัวเลขการว่างงาน ในพื้นที่ EEC กลับสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอีก แบบนี้สอบผ่านไหมครับ ที่เห็นผมพูด เรื่องตัวเลขสถิติเยอะ ๆ จริง ๆ แล้วแรงงานไม่ใช่แค่ตัวเลข แรงงานคือคน มีชีวิต มีเลือดเนื้อ และตั้งแต่สถานการณ์โควิดเป็นต้นมาแรงงานกำลังถูกขูดรีดเลือดเนื้อเพิ่มขึ้นด้วยการเปลี่ยน สภาพการจ้างครับ แรงงานจำนวนมหาศาลในพื้นที่ EEC ได้กลายสภาพจากพนักงานประจำ ไปเป็นลูกจ้างรายวัน นั่นหมายความว่าอะไร หมายความว่าเขาได้ค่าแรงไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย สวัสดิการต่าง ๆ ก็ได้รับไม่เต็มที่ บางคนไม่มีสวัสดิการด้วยซ้ำ บางคนถ้าหากเจ็บป่วยขึ้นมา ลางานไป ๒-๓ วันก็เท่ากับขาดรายได้ไป ๒-๓ วัน แล้วแบบนี้พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนตรงไหน นี่ยังไม่นับว่าใน พ.ร.บ. ทั้งในแผนงานมีเรื่องการพัฒนาคุณภาพและพัฒนาสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานอะไรต่าง ๆ เต็มไปหมด แต่ในความเป็นจริงแค่การสร้างถนนแต่ละเส้น ก็สร้างความลำบากให้แก่ประชาชนอย่างมากมายจนมีความเสียหายถึงแก่ชีวิตในพื้นที่ EEC หลายโครงการเหมือนที่ผมได้เคยอภิปรายปรึกษาหารือไปแล้วในสัปดาห์แรก ๆ นะครับ กลับมาที่รายงานเล่มนี้ถ้าจะให้ถามว่า EEC เปรียบเทียบคืออะไร ก็คงเหมือนรายงานเล่มนี้ นอกจากภาพลักษณ์ที่ดูสวยงาม หลักการที่ฟังดูสวยหรู แต่เนื้อหาจริง ๆ ก็กลวงเปล่า ไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ไม่มีประชาชนอยู่ในนั้น มีแต่เนื้อ คำพูดมากมาย แต่ความหมายเท่าเดิม สนับสนุนให้นายทุนใหญ่ ไม่สนใจชีวิตแรงงาน และที่สำคัญไม่มีคุณภาพเลย ผมมีข้อเสนอ ง่าย ๆ ถ้าไม่สามารถทำตามตัวชี้วัดได้ หรือถ้า EEC มีปัญหาขนาดนี้ เรามาแก้ พ.ร.บ. EEC หรือยกร่างใหม่กันไปเลยครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ผม สหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดชลบุรี เขต ๗ พรรคก้าวไกล ในส่วนของการอภิปรายของผมได้ตั้งคำถามไปหลายประเด็น

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ในส่วนของอัตราการว่างงานที่ท่านบอกว่าตัวเลขไม่ตรงกัน ผมใช้รายงาน สถานการณ์แรงงานจังหวัดชลบุรีที่ออกโดยสำนักงานแรงงานจังหวัดชลบุรี ถ้าตัวเลข ไม่ตรงกันเดี๋ยวผมอาจจะนำส่งเอกสารนี้ให้ท่าน เพื่อนำมาช่วยกันตรวจสอบว่าตรงไหน ที่ผิดพลาดนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๒. อยากให้ตรวจสอบในส่วนของระยองด้วย เพราะตอนอภิปรายรายงาน ผมตั้งคำถามอัตราการว่างงานของจังหวัดระยองด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๓. เป็นข้อเสนอ อยากให้ระบุ KPI เรื่องสัดส่วนการจ้างงานและการเติบโต ตรงนี้ให้ชัดเจนครับ ทั้งในอัตราการบรรจุงาน ค่าแรง รายได้ และสวัสดิการที่ได้รับว่า ต้องเพิ่มขึ้น ดีขึ้นอย่างไรบ้างครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๔. เรื่องที่ผมยังคงอยากได้คำตอบ คือการเข้ามาของแรงงานจีนว่าเข้ามา อย่างไร เข้ามาอย่างถูกต้องหรือไม่ เป็นปัญหาใหญ่มาก กระทบกับประชาชนเยอะมากครับ โดยเฉพาะถ้ามีการเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ถ้าผิดกฎหมายเข้ามาได้อย่างไร มีใครเอื้อประโยชน์ หรือไม่ครับ ซึ่งจริง ๆ แล้วชวนไปดูด้วยกันก็ได้ ไปพร้อมท่านฐิติมาด้วยก็ได้ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขออนุญาตท่านประธานครับ ผม สหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี เขต ๗ พรรคก้าวไกล ในประเด็นนี้ผมสอบถาม ท่านเลขาธิการ EEC ไปประเด็นเรื่องแรงงานจีน ผมได้ถาม ๒ รอบ ก็ยังคงไม่ได้คำตอบ จากท่านนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ผมขอบคุณมาก ๆ เลยครับ

    อ่านในการประชุม

  • สวัสดีครับเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม สหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี เขต ๗ พรรคก้าวไกล อยากจะ ปรึกษาหารือเรื่องที่ประชาชนในพื้นที่แสดงความวิตกกังวลเป็นอย่างมากครับ คือเรื่อง การจัดตั้งโรงไฟฟ้าจำนวน ๒ โรงในพื้นที่ตำบลบ่อวิน อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ผมเล่าอย่างนี้ครับว่าการก่อตั้งโรงไฟฟ้า ๒ โรงนี้เป็นการดำเนินการตามแผนพัฒนากำลัง ผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือ PDP ในระยะยาว คำถามผมคืออย่างนี้ครับ ปัจจุบันประเทศไทย มีกำลังสำรองไฟฟ้าที่มากเกินความจำเป็นเกือบ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วทำไมเราต้องสร้าง โรงไฟฟ้าเพิ่ม ทั้งที่ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าจำนวนมากที่แทบไม่ได้ดำเนินการผลิตไฟฟ้าครับ ในพื้นที่เองห่างไปไม่ถึง ๒๐ กิโลเมตร ที่ตำบลมาบยางพร อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ก็มีโรงไฟฟ้าเช่นกัน เรื่องน่าสนใจอยู่ตรงนี้ครับโรงไฟฟ้าดังกล่าวผลิตไฟฟ้าโดยการเผาขยะ อุตสาหกรรม แต่ละโรงมีกำลังผลิตอยู่ที่ ๙.๙ เมกะวัตต์ ถามว่าทำไมต้องโรงละ ๙.๙ เมกะวัตต์ เพราะว่ามีการระบุไว้ในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ ๘/๒๕๕๘ ว่า การจะตั้งโรงไฟฟ้าถ้ามีกำลังไม่ถึง ๑๐ เมกะวัตต์ ไม่ต้องทำ EIA แต่ทำเพียง COP ก็พอ พูดง่าย ๆ ครับที่ต้องตั้ง ๒ โรงก็เพื่อจะหลบการทำ EIA นั่นละครับ ขอ Slide ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • มาดูแผนที่เราจะเห็นเลยนะครับว่าโรงไฟฟ้า ทั้ง ๒ โรงอยู่ชิดติดกัน และโรงไฟฟ้าทั้งสองนี้อยู่ห่างจากบ้านเรือนประชาชนไม่เกิน ๑๐๐ เมตร และติดกับคลองสาธารณะ ชาวบ้านจะได้รับผลกระทบขนาดไหนครับ ลำคลองนี้ ใช้ทั้งการเกษตรและใช้ประโยชน์ของชาวบ้านนะครับ ตัวผมเองและทีมงานเดินเคาะประตูบ้านถามพ่อแม่พี่น้องทุกคนในพื้นที่ในเขตไม่เกิน ๑ ตารางกิโลเมตร กว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ไม่มีใครเห็นด้วยเลย เพราะอะไรครับ เพราะนี่คือ โรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจากการเผาขยะอุตสาหกรรมที่มาตั้งอยู่หลังบ้านชาวบ้าน ใกล้ชุมชน ขนาดนี้ส่งผลกระทบต่อชุมชนในวงกว้างมาก ๆ มีทั้งสารไดออกซิน สารหนู อลูมิเนียม แคดเมียม ตะกั่ว ปรอท ฝุ่นละอองที่อาจก่อมะเร็ง นี่ยังไม่รวมกลิ่นขยะที่อาจจะรบกวน การใช้ชีวิตของประชาชนอีกนะครับ อย่าลืมว่าภายในรัศมีแค่ ๑ กิโลเมตรมีหมู่บ้านอยู่ นับสิบหมู่บ้าน มีชุมชนอีกหลายชุมชน ลองนึกดูนะครับว่าถ้ามีโรงไฟฟ้าเผาขยะแบบนี้ มาตั้งอยู่หลังบ้านท่านประธานหรือเพื่อนสมาชิกจะรู้สึกอย่างไรกัน เราจะยอมให้เรื่องแบบนี้ เกิดขึ้นกับประชาชนต้องยอมรับความเสี่ยง โดยที่ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้อะไรเลยหรือครับ จากเหตุผลที่ผมยกมาอยากจะปรึกษาหารือผ่านท่านประธานไปยังสำนักนโยบายและแผน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติ ให้ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าว ทันที และขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีการทบทวนประกาศ กระทรวง ฉบับที่ ๘/๒๕๕๘ เรื่องการใช้ COP ด้วยครับ เพราะอาจเป็นการเปิดช่องให้ นายทุนไม่ต้องทำ EIA เหมือนกรณีที่ผมได้นำมาปรึกษาหารือนี้ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม สหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี เขต ๗ พรรคก้าวไกล ผมอยากจะเริ่ม อย่างนี้ครับ ก่อนอื่นผมต้องขอส่งกำลังใจให้กับพี่น้องชาวไทยทุกคนในอิสราเอล ขอให้ ทุกท่านปลอดภัย และขอส่งกำลังใจให้คณะทำงานและข้าราชการทุกท่านที่ทำงานอย่างหนัก ในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ครับ และขอบคุณทุกท่านที่สละเวลามาตอบกระทู้ถามในวันนี้ แม้ความตั้งใจจริง ๆ จะเป็นการถามถึงท่านนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ หลายกระทรวง หลายภาคส่วน แต่เมื่อท่านติดภารกิจ และได้ส่งรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงการต่างประเทศมาตอบผมก็ยินดีครับ ก่อนอื่นเลยครับ วันนี้ผมไม่ได้ตั้งใจจะมา โจมตีหรือสอนการทำงานของรัฐบาล เราจะไม่เอาชีวิตของคนกว่า ๓๐,๐๐๐ คน มาเป็น เครื่องมือทางการเมือง ผมเชื่อครับว่าสถานการณ์แบบนี้ทุกคนไม่ได้นิ่งนอนใจและตั้งใจ ทำงานกันอย่างเต็มที่ แต่ที่ผมต้องตั้งกระทู้ถามวันนี้มีอยู่ ๒ เหตุผลครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก เป็นเพราะเราอยากจะให้ทุกคนช่วยกันทำงานให้ประชาชน เพื่อจะช่วยกันอุดช่องโหว่ต่าง ๆ ที่ยังอาจจะมีอยู่ และอีกเหตุผลหนึ่ง ผมอยากจะมา ตั้งคำถามที่พี่น้องประชาชนยังสงสัยเพื่อที่รัฐบาลจะเห็นช่องว่างบางส่วน เพื่อจะพิจารณา พัฒนาประสิทธิภาพในการช่วยเหลือคนไทยที่อยู่ในอิสราเอลให้ได้รับความปลอดภัย ได้อย่างดีที่สุด ๔-๕ วันที่ผ่านมานี้ในช่วงกลางคืน ผมรับโทรศัพท์ตอบข้อความจากพี่น้อง คนไทยในอิสราเอลเยอะมากครับ มีทั้งติดต่อมาขอความช่วยเหลือ ซึ่งผมพยายามติดต่อ ทางกงสุล และหน่วยงานของกระทรวงแรงงานไปแล้ว และบางส่วนก็ติดต่อมา ต้องการ กำลังใจ ต้องการให้ช่วยติดต่อญาติพี่น้อง บางส่วนมาปรึกษาอีกหลายอย่าง ถึงขั้นโทรศัพท์ มาถามผมว่าพี่ได้ยินเสียงระเบิดไหม ในขณะที่เขากำลังวิ่งหาที่หลบภัย แล้วถ่ายทอดเสียง ขีปนาวุธให้ผมฟังร่วม ๕ นาที บางคนบอกผมว่าอย่างเพิ่งพูดนะครับ ถือสายไว้ก่อนอาจมี กองโจรอยู่แถวนี้ ผมทั้งเป็นห่วง ร้อนใจ วิตกกังวล เศร้า และหดหู่เช่นกัน จึงอยากมาปรึกษา กับทุกท่านที่นี่ เข้าเรื่องครับ ผมอยากจะแบ่งผู้ประสบภัยที่เป็นคนไทยเป็นกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • กลุ่มแรก ผู้ที่ถูกจับตัวเป็นตัวประกัน อย่างที่ท่านได้ตอบท่านวัชระพล ไปแล้ว ก็ขอชื่นชมมาตรการการดำเนินงานของรัฐบาลนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • กลุ่มต่อมา กลุ่มผู้บาดเจ็บ มีการส่งผู้บาดเจ็บกลับมาที่ไทยแล้วบางส่วน แต่ส่วนที่ตกค้างอยู่จะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง ทั้งในการส่งตัวกลับ และส่วนที่ ต้องการการรักษาดูแลเร่งด่วนที่ยังอยู่ในพื้นที่

    อ่านในการประชุม

  • กลุ่มต่อมา คือกลุ่มที่ต้องการจะออกจากพื้นที่ แต่โดนส่งไปให้นายจ้างคนใหม่ โดยให้เหตุผลว่าออกจากพื้นที่สีแดงแล้วเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัยแล้ว แล้วถูกให้ทำงานต่อเลย ผมเข้าใจครับว่าการถูกส่งต่อให้นายจ้างใหม่เป็นเรื่องที่ไม่ผิดกฎหมายของประเทศอิสราเอล แต่ปัญหาคือแรงงานไทยเราไม่เคยอยู่ในสถานการณ์สู้รบ สภาพจิตใจไม่ได้พร้อมจะทำงาน แต่โดนให้ทำงาน เราจะสามารถดูแลสภาพจิตใจอะไรได้หรือไม่ และบางคนที่ต้องการจะกลับ แต่ถูกส่งต่อไปโดยไม่สมัครใจจะทำอย่างไร

    อ่านในการประชุม

  • อีกกลุ่มหนึ่ง กลุ่มที่ยังอยู่ในพื้นที่สู้รบแต่ไม่ประสงค์จะกลับประเทศ ประสงค์ เพียงแค่จะอพยพไปพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวจนกว่าเหตุการณ์จะสงบ แต่ก็ยังไม่สามารถ ออกไปได้ ซึ่งกลุ่มนี้มีอยู่จำนวนหนึ่งมากพอสมควรเลย มีกรณีหนึ่งโทรศัพท์มาเล่าให้ผมฟังว่า ต้องการจะไปหลบในที่ปลอดภัยแต่ไปไม่ได้เพราะทางการไทยติดต่อผ่านนายจ้าง ปัญหา ที่เกิดขึ้นคือติดต่อนายจ้างไม่ได้เพราะนายจ้างออกไปรบ นี่ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง

    อ่านในการประชุม

  • อีกกลุ่มหนึ่ง คือกลุ่มที่ยังลังเล ด้วยปัญหาหนี้สินที่ไปกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อไป ทำงานต่างประเทศ รัฐบาลมีแผนจะดูแลเรื่องนี้หรือไม่ อย่างไร

    อ่านในการประชุม

  • อีกประเภทหนึ่งที่น่ากังวลครับท่านประธาน คือจากที่ผมได้รับข้อมูลที่พี่น้อง ประชาชนส่งมาให้จากอิสราเอล คือคนที่โดนเอาเปรียบ โดนฉวยโอกาสในช่วงสงคราม เช่น ฉวยโอกาสเปลี่ยนนายจ้างบ้าง ไปจนถึงเบี้ยวค่าจ้าง ไม่จ่ายค่าจ้างก็มี แล้วก็ติดต่อ นายจ้างเก่าไม่ได้ ไม่มีเงินติดตัวเลย เราจะมีทางช่วยแก้ไขให้พี่น้องเหล่านี้อย่างไรบ้าง

    อ่านในการประชุม

  • นอกจากเรื่องของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ ผมมีคำถามและข้อเสนออื่น ๆ เพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่องนี้อีก

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๑ ผมอยากจะสอบถามไปยังรัฐบาลเรื่องการพาคนไทย กลับประเทศ ผมเข้าใจว่าทางรัฐบาลได้พยายามจะนำเครื่องบินไปรับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่อยากจะสอบถามความเป็นไปได้เพิ่มเติม เช่นถ้าเครื่องบินของกองทัพอากาศไม่เพียงพอ จะมีโอกาสในการเช่าเหมาลำสายการบินพาณิชย์ไปรับคนไทยกลับบ้านไหม เพราะด้วย ตอนนี้จำนวนคนก็กว่า ๕,๐๐๐ คนแล้วที่ยื่นความประสงค์กลับบ้าน แล้วอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น ๖,๐๐๐-๗,๐๐๐ คน จะเป็นไปได้ไหมที่จะเจรจากับทางอิสราเอลให้คิวลงจอดเราเพิ่มขึ้น และอีกปัญหาหนึ่งคือเรื่องการเดินทางในอิสราเอลมายังเทลอาวีฟหรือสนามบิน เพราะแรงงานไทยไม่สามารถเดินทางได้ง่ายเลย ต้องใช้รถของทางการอิสราเอลบ้าง เราจะมี แนวทางอื่นใดที่จะให้แรงงานไทยได้เดินทางสะดวกขึ้นหรือไม่ ในขณะเดียวกันผมทราบข่าว ว่ามีพี่น้องแรงงานรวมตัวกันจ้างรถเหมาพากันหนี ซึ่งก็จ้างได้สำเร็จ ทางการไทยจะสามารถ เจรจาส่งรถหรือหารถของทางเราไปรับได้เพิ่มเติมไหม หรือจะประสานงานอย่างไรกับกลุ่มนี้ และอีกส่วนหนึ่งในเรื่องเดียวกัน กลุ่มคนไทยที่กลับมาก่อนด้วยทุนทรัพย์หรือหนทาง ของตัวเอง หรือแม้กระทั่งหนีนายจ้างออกมา เราจะช่วยพี่น้องแรงงานเหล่านี้ได้กลับไป ทำงานได้หรือไม่ อย่างไร เพราะเหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์สถานการณ์เอาตัวรอดจริง ๆ นอกจากนี้มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะหาทางออกเพิ่มเติมให้กับพี่น้องคนไทยของเรา เช่น นำรถเข้าจากทางอียิปต์ จอร์แดน หรือเลบานอน

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๒ ไปดูตัวเลขแรงงานนำเข้าของอิสราเอลในภาคการเกษตรนั้น เป็นแรงงานไทย นำเข้าจากเราไปกว่า ๙๙ เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าภาคการเกษตร ของอิสราเอลนั้นต้องพึ่งพาเราอย่างมาก จะเป็นไปได้ไหมว่า ไม่ว่าจะเป็นกระทรวง การต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข หรือกระทรวงอะไรก็แล้วแต่ จะขอเข้าไปตั้งค่าย พักคอย ทั้งคอยเดินทางกลับไทย หรือคอยไปทำงานต่อแยกเฉพาะของแรงงานไทยออกมา แล้วรวบรวมคนเพื่อพักคอยส่งกลับ หรือหลบภัยสงครามชั่วคราว โดยมีหมอ ทีมแพทย์ หรือหน่วยงานของไทยเข้าไปดูแลคนของเรา โดยเฉพาะในด้านสภาพจิตใจให้คนไทยรู้สึก ปลอดภัยมากขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๓ ปัจจุบันพื้นที่ปะทะนั้นคาดเดาไม่ได้เลย ก่อนหน้านี้พื้นที่ปะทะ ส่วนใหญ่อยู่ทางใต้ ตอนนี้ก็เริ่มมาทางเหนือแล้วเพราะมีผู้เล่นเพิ่มเติม เช่น กลุ่มฮิซบุลลอฮ์ ในเมือง เช่น เนชัวร์ ไฮฟา ก็เริ่มมีการถูกโจมตีแล้ว และยังมีแรงงานไทยบางส่วนอยู่ตรงนั้น เราจะมีการช่วยเหลืออย่างไรบ้าง

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๔ ผมรับทราบมาว่าทางรัฐบาลมีการตั้ง War Room อยู่ตาม กระทรวงต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีครับ อย่างของกระทรวงแรงงานนี่ดีมาก ๆ เลย เมื่อวาน ผมส่งข้อมูลไปตอนเที่ยงคืนกว่า ก็มีการตอบกลับมาอย่างรวดเร็ว อันนี้ขอชื่นชม แต่ผม อยากจะเสนอว่าในสภาวะฉุกเฉินเช่นนี้แล้วการแยก War Room กันทำงานอาจทำให้ หลายอย่างล่าช้า ไม่ทันต่อสถานการณ์ เช่น ฝั่งกระทรวงกลาโหมก็ทำของตัวเอง กระทรวงแรงงานทำของตัวเอง กระทรวงการต่างประเทศทำของตัวเอง ผมมีความเห็นว่า อยากให้ใช้ War Room กลางจุดเดียวของรัฐบาล จะเป็นทำเนียบรัฐบาลหรือที่ไหนก็ได้ครับ เพื่อให้ประชาชนติดต่อประสานงานและรวบรวมข้อมูลได้อย่างชัดเจน และสื่อสารออกมา ให้พี่น้องประชาชนตรงกัน ไม่ให้เกิดความสับสนในข้อมูลข่าวสาร และการประสานงาน ระหว่างหน่วยงานและกระทรวงต่าง ๆ จะทำได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องประสานงานไปมา หลายหน่วยงาน ตอนนี้พี่น้องประชาชนจะติดต่อหน่วยงานหนึ่งก็ต้องโทรศัพท์เบอร์หนึ่ง เปลี่ยนหน่วยงานก็ต้องหาเบอร์ใหม่ ควรจะต้องมีการเปิดสายด่วน Hotline ต่าง ๆ ได้แล้ว ให้มีเบอร์เดียวเลยติดต่อที่เดียว จะเพิ่มคู่สายเป็น ๑๐๐ คู่สาย ๑๐,๐๐๐ คู่สาย ก็ต้องทำ รวมถึง Platform ต่าง ๆ ก็ต้องทำ ขนาดตอนน้ำท่วม ตอนภัยพิบัติต่าง ๆ เราทำได้ เราทำมาแล้ว ปัญหาตอนนี้ก็เป็นเรื่องร้ายแรงไม่แพ้กันทำไมตอนนี้ยังไม่มีเรื่องนี้อีก เรื่องนี้ เป็นปัญหาใหญ่ ถ้าเราดูตาม Social Media เราจะเห็นเลยว่าพี่น้องที่อิสราเอลสามารถ Post Facebook ได้ Twitter ได้ สามารถติดต่อมาหาผมหรือเพื่อนสมาชิกหลาย ๆ ท่านได้ แต่กลับไม่สามารถติดต่อหน่วยงานรัฐได้ ทำไมครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ก่อนอื่นขอส่งกำลังใจให้กับท่านรัฐมนตรีแล้วก็ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกคนนะครับ เข้าใจว่าช่วงนี้ก็ทำงานหนักอดหลับอดนอนกันจริง ๆ เบื้องต้นผมมีคำถามเพิ่มเติม คือจะสามารถเจรจาร่วมกับประเทศอื่น ๆ ได้หรือไม่ในภูมิภาค ตรงนั้น คือผมคิดว่าถ้าสามารถเจรจาได้ก็อาจจะช่วยในการนำส่งออก นำแรงงานไทย กลับประเทศได้เยอะ แล้วก็เห็นด้วยว่าการเดินทางในประเทศอิสราเอลตอนนี้น่าเป็นห่วง มาก ๆ จะสามารถเจรจาเพิ่มได้หรือไม่ เพราะจำนวนผู้ที่ต้องการอพยพมากจริง ๆ แล้วก็ เรื่องการตั้งศูนย์อพยพของคนไทยเองเป็นไปได้หรือไม่ เพราะว่าเรื่องนี้อาจจะช่วยเราได้มาก จริง ๆ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องปัญหาแรงงาน นอกจากเรื่องปัญหาหนี้สินแล้ว อีกปัญหาหนึ่งคือ การกลับไปทำงาน เพราะมีแรงงานจำนวนหนึ่งหนีงานมา จะ Guarantee การกลับไปทำงาน ได้หรือไม่ รวมถึงอีกเรื่องหนึ่ง จะมีการเพิ่มคู่สายใน Call Center ต่าง ๆ ได้หรือไม่ เพราะว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทางแรงงานไทยสะท้อนมาเยอะมากว่าติดต่อหน่วยงานรัฐลำบากจริง ๆ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ก็ขอบคุณสำหรับการทำงานที่ค่อนข้าง มีประสิทธิภาพของรัฐบาลมาก ๆ นะครับ ผมคิดว่าในสถานการณ์เช่นนี้คือการช่วยเหลือ จับมือกันเพื่อรักษาชีวิต รักษาทรัพย์สิน รักษาคุณภาพชีวิตต่าง ๆ ของพี่น้องชาวไทยของเรา ในอิสราเอล และคิดว่าการที่ผมตั้งข้อเสนอแบบนี้ไม่ใช่เพื่อมาโจมตีกัน แต่เพื่อนำเสนอ แนวทางที่เราอาจจะเห็นว่ามีช่องโหว่

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนเรื่องศูนย์อพยพ ผมคิดว่ายิ่งมีจำนวนแรงงานเกือบ ๓๐,๐๐๐ คน ขนาดนั้น ผมคิดว่าการมีศูนย์อพยพชั่วคราวยิ่งเป็นเรื่องจำเป็น เห็นด้วยครับว่าต้องมีการนำ แรงงานออกจากพื้นที่เสี่ยงก่อน แต่คิดว่าสถานการณ์เช่นนี้ถ้ามีศูนย์อพยพในพื้นที่ปลอดภัย ที่จะสามารถลำเลียงแรงงานพี่น้องชาวไทยของเราไปเร็วที่สุดเพื่อออกจากพื้นที่สู้รบได้เร็ว ที่สุดน่าจะเป็นการดีกับพี่น้องคนไทยมาก ๆ เพราะว่าตอนนี้สิ่งที่พี่น้องคนไทยของเรากังวล คือเรื่องญาติตัวเองจะอยู่ไหน จะยืนยันการตายได้ไหม ยังต้องทำงานกันกลางแจ้ง ทั้ง ๆ ที่ อยู่ในสภาวะเสี่ยง ผมคิดว่าถ้ามีศูนย์อพยพเป็นศูนย์ที่ Guarantee ความปลอดภัยให้กับ แรงงานไทยได้จริง ๆ แล้วสามารถรวมศูนย์ Guarantee ว่าตอนนี้พ่อแม่พี่น้องของคุณ อยู่ที่นี่ได้จริง ๆ และมีการดูแลโดยรัฐบาลไทยไม่ต้องมีกำแพงเรื่องการสื่อสาร ต้องยอมรับว่า แรงงานไทยจำนวนหนึ่งที่ทำงานในอิสราเอลมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร แล้วไปไหนมาไหน ต้องพึ่งพิงล่าม ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจและความวิตกกังวล ของพี่น้องคนไทยครับ ถ้ามีศูนย์อพยพตรงนี้แล้วสามารถช่วยทำให้เขาสบายใจขึ้นมาได้ ผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์กับพี่น้องชาวไทยของเราทุกคนที่อยู่ในอิสราเอลมาก ๆ แล้วก็ยัง ยืนยันครับว่าปัจจุบันความขัดแย้งมันกระจายตัวไปอย่างรวดเร็ว และพื้นที่ปะทะมันกว้างขึ้น เรื่อย ๆ มันไม่ใช่แค่เพียงในฉนวนกาซา ตอนนี้กระจายมาทางเหนือขึ้นมาอีก พื้นที่สีแดง มันไม่ได้มีแค่ฉนวนกาซาแล้วครับ ถ้าสามารถเคลื่อนย้ายแรงงาน เคลื่อนย้ายพี่น้อง ชาวไทยเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ น่าจะเป็นประโยชน์กับพี่น้องชาวไทยของเรามาก ๆ ครับ แล้วก็ขอส่งกำลังใจให้กับทางรัฐบาลและพี่น้องชาวไทยทุกคนครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม สหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี เขต ๗ พรรคก้าวไกล ผมขอใช้เวลาของสภา เพื่ออภิปรายเกี่ยวกับสภาพการจ้างงานและการพัฒนาฝีมือแรงงานครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรกคือเรื่องของสภาพการจ้างงาน อย่างที่ท่านเซีย จำปาทอง และเพื่อนสมาชิกอีกหลาย ๆ ท่านได้พูดไปแล้วในส่วนของพี่น้องแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิตต่าง ๆ แต่ปัจจุบันเรามีแรงงานมากมายหลากหลายรูปแบบ มีแรงงานสมัยใหม่ เกิดขึ้นมากมายครับ ไม่ว่าจะเป็นรายงาน Platform หรือแรงงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ แรงงานที่ผมกล่าวถึงเหล่านี้เป็นแรงงานที่ไม่มีความมั่นคงในการจ้างงานเป็นอย่างมาก เพราะอะไรครับ ปัญหาก็คือรูปแบบของการจ้างงาน ถ้าจะอธิบายง่าย ๆ ในส่วนของแรงงาน Platform หรือที่เรารู้จักกันเป็นหลักคือพี่น้อง Rider เราจะเห็นลักษณะการจ้างงานที่สมัยนี้ ชอบใช้คำสวยหรูคือเรียกพวกเขาว่า Partner คือหุ้นส่วนนั่นละครับ แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนเหล่านี้ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนหรอกครับ มี Rider สักกี่คนเชียวที่ถือหุ้นบริษัทเหล่านี้ครับ ในความเป็นจริงแล้วคนเหล่านี้ก็เป็นลูกจ้างนั่นละครับ และการเป็นลูกจ้างของพี่น้อง Rider เหล่านี้มีสภาพการจ้างงานที่ย่ำแย่เป็นอย่างมากครับ เพราะอะไร เพราะแรงงานเหล่านี้ อยู่บนความเสี่ยงตลอดเวลา บนท้องถนนนี้เสี่ยงมากนะครับ ท่านประธานครับ รวมถึง มีต้นทุนของตัวเองที่ต้องใช้งาน

    อ่านในการประชุม

  • จาก Slide เราจะเห็นเลยครับว่าต้นทุนในการ ประกอบอาชีพของพี่น้อง Rider ของเรามีทั้งเสื้อคลุม กระเป๋า โทรศัพท์ จักรยานยนต์ และอื่น ๆ รวม ๆ เป็นต้นทุนตั้งแต่ ๕๐,๐๐๐-๑๒๐,๐๐๐ บาท นี่เรายังไม่รวมค่าน้ำมัน ประกัน ภาษีรถ และค่าเสื่อมสภาพ คนเหล่านี้เขาไม่มีค่าแรงขั้นต่ำ วันหนึ่งเราไม่มีทางทราบ เลยครับว่าแต่ละคนจะได้ค่าแรงถึงค่าแรงขั้นต่ำหรือไม่ แบบนี้หรือครับที่ถูกเรียกว่า Partner นอกจากพี่น้องชาว Rider ที่เป็นแรงงานในภาคขนส่งแล้วยังมีลูกจ้างอีกประเภทหนึ่ง ในสมัยนี้คือแรงงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในกองถ่าย นักดนตรี กลางคืน นักวาด นักเขียน Graphic Designer ช่างแต่งหน้า คนเหล่านี้เขามีต้นทุน ที่แพงมากที่ต้องแบกรับก็คืออุปกรณ์ที่คนเหล่านี้ใช้ในการประกอบอาชีพ แต่ละอาชีพ ไม่ต่ำกว่า ๕๐,๐๐๐ บาทเป็นอย่างต่ำเลย ไหนจะค่าเสื่อมสภาพใด ๆ ทั้งค่าเครื่องดนตรี ค่าคอมพิวเตอร์ ค่า Software ค่าอุปกรณ์ ค่ากล้อง ห้องซ้อม ห้องอัด ของเหล่านี้เป็นต้นทุน ในการทำงานที่เขาไม่สามารถเบิกกับใครได้เลยครับ และที่สำคัญแรงงานกลุ่มนี้ถูกกดค่าแรง เป็นอย่างมาก ขอ Slide ถัดไปนะครับ ดูราคาของแรงงานสร้างสรรค์เหล่านี้ ค่าจ้างวาดภาพ ๒๐ บาท ๘๐ บาท ๑๐๐ กว่าบาท ค่าบทความ ๑๐๐ คำ ๑๐ บาท ๑,๕๐๐ คำ ๓๐๐ บาท นี่ต่ำมากนะครับ บางท่านอาจจะบอกว่าก็ตัดราคากันเอง ไม่จริงครับ จริง ๆ แล้วนายจ้าง ก็ฉวยโอกาสในการกดราคาคนเหล่านี้ให้ต่ำลงไปอีก แล้วแต่ละคนนะครับทำงานหามรุ่งหามค่ำ ไม่ได้หลับไม่ได้นอนส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้น ระยะยาว และหลาย ๆ คนก็ไม่มี ประกันด้านสุขภาพอะไรเลย เกิดอุบัติเหตุจากการทำงานขึ้นมาก็พึ่งพาใครไม่ได้ ถ้าทำงาน ไม่ได้ก็เท่ากับขาดรายได้อีก นี่คือแค่ส่วนหนึ่งของความลำบากของคนที่เป็นแรงงานอิสระนะครับ ปัญหาหลักคืออะไรครับ ที่ผมพูดมานั้นปัญหาหลัก ๆ คือสภาพการจ้างงาน จริง ๆ แล้วคนเหล่านี้เขาไม่ใช่ Partner ไม่ใช่หุ้นส่วนใด ๆ เลยนี่มันแรงงานชัด ๆ ครับ แต่กลายเป็นว่าแรงงานเหล่านี้ไม่ได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานเลย ทั้งเรื่องชั่วโมงการทำงาน วันหยุด OT ไม่มีความคุ้มครองใด ๆ ไม่มีความมั่นคง ไม่มีหลักประกัน ซึ่งมันเกิดจากช่องโหว่ทางกฎหมายที่กฎหมายของเราไม่ได้ถูกปรับ แก้ไขให้ทันกับสภาพการจ้างงานที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ผมเห็นเลยนะครับว่าเรื่องนี้เราต้อง เปลี่ยนนิยามการจ้างให้ครอบคลุมแรงงานกลุ่มนี้ และกลุ่มอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองอย่างที่ควรจะเป็น และที่สำคัญถ้ารัฐบาลตั้งอกตั้งใจจะผลักดัน Soft Power ของไทยจริง ๆ เรื่องหนึ่งที่ควรจะเข้ามาดูแลเร่งด่วนก็คือเรื่องนี้ เข้ามาดูแล สวัสดิภาพ สวัสดิการของคนงานสร้างสรรค์ เพราะถ้าเขาไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่มีเวลาพักผ่อน ที่เพียงพอ ไม่มีรายได้ที่เหมาะสมจะเอาพลังที่ไหนมาทำงานสร้างสรรค์ จะเอาคุณภาพที่ไหน มาสร้างสรรค์จินตการให้เกิด Soft Power ได้ จริง ๆ เรื่องนี้ถ้าเล่าต่อก็เป็นเรื่องยาว ๆ ได้เลย แต่เนื่องจากเวลาที่มีจำกัดขอไปในเรื่องการพัฒนาฝีมือต่อนะครับ ซึ่งผมเคยอภิปรายเรื่องนี้ ไปแล้วในสภาแห่งนี้แต่จะขอพูดซ้ำแบบเร็ว ๆ ครับ เรื่องการเพิ่มทักษะและพัฒนา ฝีมือแรงงาน ขอ Slide ด้วยนะครับ ผมชวนมาดูสถิติการพัฒนาฝีมือแรงงานสถิติแรงงาน จากสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน เราจะเห็นเลยว่าตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ มามีผู้เข้ารับ การทดสอบฝีมือแรงงานตกลงทุกปี แล้วผู้ผ่านเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ต่ำลงทุกปีเช่นกัน เมื่อปี ๒๕๖๕ มีผู้เข้ารับการทดสอบ ๓๒,๑๗๓ ราย ผ่านมาตรฐานเพียงแค่ ๒๑,๐๐๐ กว่าราย ผ่านเพียงแค่ ๖๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ต่อมาคือจำนวนแรงงานที่ได้รับการพัฒนาฝีมือแรงงาน และได้งานทำในปี ๒๕๖๕ ท่านประธานครับ มีผู้เข้ารับการฝึก ๗๙,๙๓๕ คน แต่ได้งานทำ เพียงแค่ ๔๒,๘๐๖ คน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์แค่ครึ่งเดียวเท่านั้น สิ่งเหล่านี้สะท้อนได้เลยว่า การเพิ่มทักษะแรงงานที่ผ่านมาล้มเหลว นี่ไม่ใช่แค่เรื่องตัวเลขทางสถิติเท่านั้นที่มีปัญหา แต่การพัฒนาฝีมือแรงงานยังมีประเด็นที่สำคัญคือเรื่องการรับรองคุณภาพการฝึกฝีมือ และการทดสอบฝีมือ ปัญหาใหญ่ ๆ คือการฝึกฝีมือ พัฒนาฝีมือแรงงานต่าง ๆ ที่ได้รับ ใบรับรองฝึกพัฒนาฝีมือแรงงานมาแล้ว มีค่าแรงหรือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจริง ๆ หรือไม่ ก็ต้องบอกว่าไม่ใช่ครับ เพราะท้ายที่สุดนายจ้างจำนวนหนึ่งก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับใบรับรอง การฝึกทักษะเหล่านี้ รวมไปถึงบางครั้งการผ่านการฝึกทักษะฝีมือบางสาขาอาชีพได้ใบรับรองมาจริง ก็ไม่ใช่สาขาอาชีพที่ตลาดต้องการ ก็เป็นเป้าหมายที่เราต้องมาศึกษากันต่อว่าจะทำอย่างไร เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ เพื่อทำให้การฝึกทักษะฝีมือแรงงานจะได้ตรงตามตลาดแรงงานได้ และผมขอย้ำอีกเรื่องหนึ่งคือเราไม่มีทางพัฒนาฝีมือแรงงานได้ ถ้าคุณภาพชีวิตของแรงงาน ยังไม่ดี ชั่วโมงเวลาทำงานยังสูง เวลาพักผ่อนยังไม่เพียงพอ รายได้ไม่มั่นคง ต้องพะวง เรื่องพ่อแม่ ลูกหลาน เราจะพัฒนาฝีมือแรงงานได้อย่างไรถ้ารัฐไม่หนุนเรื่องนี้

    อ่านในการประชุม

  • ขอสรุปนะครับ จากที่ผมอภิปรายมาทั้งหมดสะท้อนว่าอะไรนอกจาก ความมั่นคงในการจ้างงานก็ไม่มีแล้ว การพัฒนาฝีมือแรงงานก็ไม่สามารถทำให้เกิดการเพิ่ม รายได้ได้จริง ค่าแรงขั้นต่ำก็ต่ำเตี้ยเรี่ยดินทั้งที่ค่าครองชีพก็สูงขึ้นทุกวัน ๆ ทำให้แรงงานไทย มีคุณภาพชีวิตที่แย่มาก ไหนจะสาธารณูปโภค สวัสดิการก็แย่ นี่ละครับที่ทำให้พี่น้องแรงงาน ของเราต้องเสี่ยงไปทำงานต่างประเทศ ต่างบ้านต่างเมือง ยอมมีชีวิตที่ลำบากเพื่อที่จะ กลับมามีชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งผีน้อยในประเทศเกาหลี แรงงานเก็บเบอร์รี่ในประเทศสวีเดน และประเทศฟินแลนด์ รวมถึงแรงงานไทยในประเทศอิสราเอลที่ยอมเสี่ยงไปอยู่ในประเทศ ที่มีสงคราม เพราะหวังว่าจะมีรายได้ที่ดีกว่า และคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า และท้ายที่สุดเอง รัฐบาลก็ไม่สามารถ Guarantee การดูแลชีวิตพวกเขาได้ มีการกระตุ้นให้คนไทยไปทำงาน ต่างประเทศทุกปีเพื่อหารายได้เข้าประเทศ แต่ขณะเดียวกันก็กลับไม่ให้การคุ้มครองแรงงานไทย อย่างที่ควรจะเป็น ผมขอยืนยันว่าเราต้องมีการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และหาทางแก้ปัญหา ที่ผมและเพื่อนสมาชิกหลาย ๆ ท่านว่ามา เพื่อให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องแรงงานดีกว่านี้ เพื่อแก้ปัญหาของพี่น้องแรงงานที่ต้นตอให้ทุกคนอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีไม่ใช่แค่อยู่ได้ไปวัน ๆ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาครับ ผม สหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี เขต ๗ พรรคก้าวไกล ผมอยากจะเริ่มด้วยคำง่าย ๆ ความจริง ทำไมเราต้องแสวงหาความจริง หลายท่านอาจจะบอกว่าตอนนี้เราผ่าน การเลือกตั้งมาแล้ว เรากำลังจะทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้า เราจะก้าวข้ามความขัดแย้ง เราจะปรองดองสมานฉันท์ จะเอาเรื่องเก่ามาพูดทำไม ผมเรียนอย่างนี้ครับ เคยสงสัยกัน ไหมครับ ทั้งที่เราก็ผ่านความขัดแย้งมาแล้วหลายครั้ง มีฆ่ากันตายกลางเมืองมาแล้วหลายหน ทำไมประเทศเรายังวน Loop ความขัดแย้ง รัฐประหาร ฆ่ากันกลางเมืองอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า มีคณะปรองดองมาแล้วกี่คณะ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ว่าปรองดองมาแล้วกี่ฉบับ ทำไม ยังแก้ปัญหาไม่ได้ สำหรับผมนะครับ เพราะเราไม่เคยมีการแสวงหาความจริง แล้วไม่มี การสร้างกระบวนการรับผิดชอบกันอย่างเป็นรูปธรรม ประเทศไทยของเราผ่านความรุนแรง มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ พฤษภาทมิฬ เหตุการณ์ล้อมปราบฆ่าประชาชนในปี ๒๕๕๓ จนกระทั่งมาถึงเหตุการณ์ปราบปราม เด็กและเยาวชนด้วยความรุนแรงในปี ๒๕๖๓ ถึงปี ๒๕๖๕ เหตุการณ์เหล่านี้มีจุดร่วม หลาย ๆ อย่าง มีผู้เสียหายจำนวนมาก มีคนเจ็บ มีคนตาย มีคนสูญหาย แต่สิ่งหนึ่งที่กลับไม่ค่อยมีใครพูดถึง คือเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นและจบไปโดยที่ไม่เคยมีผู้มีอำนาจคนใดรับผิดชอบเลย ทุกเหตุการณ์ที่ผมกล่าวมาแทบจะไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่มี เจ้าหน้าที่รัฐคนใดต้องติดคุก คนติดคุกเป็นใครบ้างครับ เป็นประชาชนที่เขาออกไปเรียกร้อง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในปี ๒๕๕๓ ผมก็ไปร่วมชุมนุมกับคุณแม่ในการชุมนุมของคนเสื้อแดง เหตุการณ์นั้นก็มีคนสูญเสียมากมาย หลังจากเหตุการณ์นั้นพี่น้อง คนรู้จักผมหลายคน ก็ถูกจับบ้าง ลี้ภัยบ้าง ตอนนั้นในใจผมคิดว่าเรื่องแบบนี้มันคงจะยังไม่จบหรอก และอาจจะ วนกลับมาอีก น่าเศร้าครับ ปรากฏว่าผมคิดถูก เพราะหลังจากการรัฐประหารปี ๒๕๕๗ จนถึงปี ๒๕๖๕ จนถึงปัจจุบัน ก็ยังมีเพื่อนพี่น้องของผมจำนวนมากที่ต้องติดคุก ต้องลี้ภัย หลายท่านในสภาแห่งนี้รวมถึงคณะรัฐมนตรีที่เป็นผู้อาวุโส ก็เคยผ่านเหตุการณ์เหล่านี้มา บ่อยกว่าผมเสียอีก อาจจะเป็นภาพที่ท่านเห็นจนชินตา จนท่านสิ้นหวังหมดหวังไปแล้ว อันนี้ ผมก็ไม่ทราบได้ครับ แต่ผมยังไม่อยากให้ท่านหมดหวัง แล้วเราจะเอาความหวังเหล่านี้ กลับมาได้อย่างไร ก็กลับมาได้โดยการที่ต้องเริ่มต้นจากการค้นหาความจริงนี่ละครับ เราอาจจะคิดว่าประเทศไทยไม่เหมือนที่อื่นในโลก ปัญหานี้มันเฉพาะเจาะจง ที่อื่นไม่เป็น แบบเรา ไม่ใช่ครับ หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกเจอปัญหาแบบนี้ เคยอยู่ในวงจรอุบาทว์ รัฐประหารฆ่ากันตายกลางเมือง แต่ปัจจุบันหลาย ๆ ประเทศก็ก้าวข้ามความขัดแย้งได้ เพราะอะไรครับ ผมจะไปดูกรณีศึกษาของต่างประเทศนะครับ ประเทศรวันดาครับ รวันดา เป็นประเทศที่มีสงครามกลางเมืองเกิดขึ้นตั้งแต่เมษายนถึงกรกฎาคมในปี ๑๙๙๔ เป็นสงครามความขัดแย้งระหว่าง ๒ ชนเผ่า มีคนตาย ประเมินว่าอาจจะถึง ๘๐๐,๐๐๐ คน หลังเหตุการณ์ผ่านไปหลายปีมีกระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้น ในปี ๒๐๐๑ รัฐบาลก็ผ่าน กฎหมายที่เรียกว่า Gacaca Courts หรือศาลกาชาชา โดยศาลกาชาชาทำหน้าที่แสวงหา ความจริงในระดับชุมชน ในระดับหมู่บ้าน เพื่อให้ผู้ก่อเหตุและเหยื่อได้พูดคุยกัน ทำความเข้าใจกัน มีกระบวนการรับผิดชอบ ขอโทษขอโพย มีบทลงโทษต่าง ๆ มีการถูก ยอมรับ มีการถูกประณาม และรัฐบาลกลางเองก็ให้ความสำคัญ มีการสร้างอนุสรณ์สถาน มีการประกาศให้วันครบรอบเหตุการณ์เป็นวันหยุดประจำปี และประธานาธิบดีก็ไปร่วมทุกปี หรือเอามาใกล้บ้านเราหน่อยอย่างเกาหลีใต้ ในเหตุการณ์ ๑๘ พฤษภาคม ปี ๑๙๘๐ หรือที่เรารู้จักกันในนามเหตุการณ์ประท้วงที่กวางจู เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการประท้วง ของประชาชน แรงงาน นิสิต นักศึกษาที่ ออกมาประท้วงอดีตประธานาธิบดีเผด็จการ ช็อน ดู-ฮวัน เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการสังหารประชาชน โดยกองทัพที่สังหารบุคคล ไปประมาณ ๑๖๕ คน และผู้เสียหายอีกกว่าร้อยคน เวลาผ่านไป ๑๕ ปี รัฐบาลเกาหลีใต้ เริ่มมีการจับกุมและนำผู้ก่อการรัฐประหาร และนายพลต่าง ๆ มาดำเนินคดี ในปี ๒๐๒๐ มีการตั้ง Truth Commission หรือคณะกรรมการค้นหาความจริงขึ้น และเริ่ม สืบสวนคดีสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องเพื่อแสวงหาความจริงและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ มีการสร้างอนุสรณ์สถานให้วันดังกล่าวเป็นวันหยุดแห่งชาติที่ประธานาธิบดีจะต้องมา ร่วมงาน และอีกหลาย ๆ ประเทศ กลับมาที่บ้านเรา มีกี่เหตุการณ์แล้วครับ มีเหตุการณ์ไหน เป็นวันหยุดบ้าง มีเหตุการณ์ไหนบ้างที่ผู้นำประเทศจะต้องออกมาแสดงความเสียใจ สร้างความทรงจำต่อไปบ้างไหมครับ เราพูดถึงนิรโทษกรรมกันบ่อยมาก นิรโทษกรรม ได้อย่างไรถ้าเราไม่ค้นหาความจริง เพราะถ้าเราไม่ทราบความจริงจะไม่มีวันเลยที่เราจะรู้ว่า บุคคลเหล่านี้ทำผิดจริงหรือไม่ ถ้าหากไม่ได้ทำผิดเราจะนิรโทษกรรมเขาได้อย่างไร กระบวนการรับผิดนี่สำคัญมากนะครับ อาจจะสำคัญกว่ากระบวนการรับโทษด้วยซ้ำ เพราะการรับผิดเป็นการแสดงความกล้าหาญและรับผิดชอบว่าตนได้กระทำผิดไป มีโอกาส ขอโทษคนอื่นอย่างจริงใจ อย่างสำนึกผิด ไม่ใช่รับโทษไปโดยที่ไม่ได้สำนึกผิด สิ่งที่ผมเสียดายมาก คือหนังสือที่อยู่ในมือผมเล่มนี้ หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่าความจริงเพื่อความยุติธรรม หนังสือเล่มนี้ เป็นอนุสรณ์ของความพยายามในการค้นหาความจริงในเหตุการณ์ปี ๒๕๕๓ ที่จัดทำโดย กลุ่มประชาชนและนักวิชาการ มีรายละเอียดเยอะแยะมากมายว่าใครถูกยิงที่ไหน อย่างไร เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง ภาคประชาชนพยายามมาก ๆ แต่น่าเสียดาย ท้ายสุดหนังสือ เล่มนี้ไม่ได้รับความสนใจจากผู้มีอำนาจเลย ถ้าหากเราสามารถตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ มาศึกษาเรื่องการสลายการชุมนุมได้ ผมก็หวังว่าข้อเท็จจริงจะปรากฏ มีการเยียวยาเหยื่อ มีการปฏิรูปองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีการนิรโทษกรรม และท้ายที่สุดมีการสร้าง กระบวนการที่ทำให้สังคมยอมรับ สรุปครับ เราได้อะไรจากกรณีศึกษาในต่างประเทศบ้าง เราได้รู้แล้วว่าประเทศประเทศหนึ่งจะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ที่ตั้งมั่นได้นั้น จะต้องมีประวัติศาสตร์บาดแผล จะต้องเห็นข้อผิดพลาดในอดีตแล้วต้องจดจำมัน ผมย้ำว่า การเดินไปข้างหน้าต้องเดินทางผ่านความเจ็บปวด ไม่ใช่การลืม เพราะการลืมมันจะทำให้เรา ทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า การลืมมันจะทำให้แต่ละเหตุการณ์มีคำพูดเช่น Unfortunately some people died ออกมา ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่ Some people แต่เป็นคนไทยที่มีชื่อ มีพ่อแม่ มีครอบครัว มีคนที่รักเขา รอเขากลับบ้าน แล้วมันไม่ใช่ซ้ำ Some people แต่มันเป็น Many people died again again and again เราตายกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยที่เราไม่รู้ว่า ใครเป็นคนสั่งฆ่า ใครเป็นคนสั่งยิง เรารู้จักคนตายเหล่านี้ในฐานะวีรชน แต่วีรชนเหล่านี้ จะตายฟรีถ้าประชาธิปไตยของประเทศนี้ไม่ได้ถูกพัฒนาอย่างที่เขาตั้งใจ ผมไม่อยากให้ เหตุการณ์การสูญเสียเยาวชนอย่าง วาฤทธิ์ สมน้อย ที่ถูกยิงเสียชีวิตหน้าบริเวณ สน. ดินแดง เป็นสิ่งที่จะเลือนหายไปกับสายลมอีกเหมือนกับหลาย ๆ คนในอดีต แล้วผมไม่อยากให้เกิด การรัฐประหารซ้ำ ๆ แล้วก็มีการมาพูดว่าถึงตายก็พูดไม่ได้ในสภาแห่งนี้อีกแล้ว การค้นหา ความจริงจะต้องเริ่มขึ้นได้แล้ว และความจริงจะต้องถูกพูดได้ในสภาแห่งนี้ แล้วขออนุญาต เอ่ยนามท่านจำลอง ที่ท่านอภิปรายว่ารุนแรง ไม่รุนแรง เราเถียงกันไม่จบหรอกครับถ้าไม่มี การหาความจริง ซึ่งจะเริ่มได้จากการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ละครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม สหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี เขต ๗ พรรคก้าวไกลครับ ผมขอปรึกษาหารือเรื่องที่เกิดขึ้นในเขตอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรีครับ ผมได้รับ การร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนในเขตอำเภอศรีราชามามากมาย เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดจาก การขาดการจัดการลานตู้ในพื้นที่ ซึ่งเกิดปัญหาหลายประการครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประการแรก จุดที่ตั้งของลานพักสินค้า ตั้งอยู่ในเขตชุมชนที่มีคนอาศัยอยู่จำนวนมาก อย่างต่ำ ๆ ก็มี ๑๐ กว่าจุด ท่านประธานครับ จากรูปที่ผมนำมานี้ชัดเจนครับ ลานตู้อยู่กลางชุมชน นี่เป็นเพียงพื้นที่ ๒ ตำบลเท่านั้น ก็มีลานพักสินค้าอยู่ในเขตชุมชนแล้ว ๖ ลาน เรื่องนี้ส่งผลกระทบอย่างไรบ้างครับ เรื่องแรกเลยก็คงหนีไม่พ้นเรื่องเสียง เรื่องที่ ๒ ก็กลิ่นครับ มีทั้งกลิ่นเหม็น กลิ่นน้ำมันต่าง ๆ รวมถึงเรื่องความร้อนที่เกิดจากตู้ที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ส่งไอร้อนออกมายังบ้านชาวบ้าน

    อ่านในการประชุม

  • ประการต่อมาเวลาการเดินรถที่เดินรถกัน ๒๔ ชั่วโมง ทั้งกลางวัน กลางคืน ส่งเสียงดังรบกวนคนในชุมชนตลอดเวลา ไม่มีการกำหนดเวลาเข้าออก เวลาการห้าม เดินรถเลย ขนาดในชั่วโมงเร่งด่วนก็มีการเดินรถตลอดเวลา ทั้งที่ถนนในชุมชนก็แคบ บางจุด ก็เป็นถนน ๒ เลน ทำให้การจราจรติดขัด อีกประการคือเส้นทางการเดินรถที่มีการเดินรถ ผ่านถนนชุมชน ขอวิดีโอด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ที่ไม่ได้ออกแบบมาให้รถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่ง ทำให้ถนนเกิดเป็นหลุมเป็นบ่อทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย นอกจากนี้ยังผ่านเขตชุมชน ผ่านโรงเรียน ผ่านศูนย์อนามัย ทั้ง ๆ ที่เป็นถนน ๒ เลน ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง รวมทั้ง ไม่มีการควบคุมความเร็วรถ รถบรรทุกบางคันวิ่งด้วยความเร็วสูงผ่านถนนในชุมชน ทำให้ ชาวบ้านลูกเล็กเด็กแดงได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมากนะครับ จากวิดีโอก็จะวิ่งผ่าน เขตโรงเรียนเลยนะครับ วิ่งผ่านชุมชน ซึ่งไม่มีการจัดการเวลา ไม่มีการกำหนดเส้นทาง การเดินรถ สไลด์สุดท้ายเลยครับ นี่คือตัวอย่างอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเฉพาะเขตอำเภอศรีราชา ที่เกิดขึ้น เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเป็นประจำในพื้นที่ศรีราชา คนในครอบครัวของ ผู้ช่วยผมเอง ขับรถจักรยานยนต์อยู่กลางชุมชน แต่ก็ถูกรถ Trailer ชนนะครับ ทำให้ต้อง ผ่าตัดสมอง เป็นอัมพฤกษ์ไปหลายปี จนทุกวันนี้ก็ยังไม่หายดี นี่แค่เคสเดียวนะครับ แล้วมีอีกหลาย ๆ เคสที่เกิดขึ้นทุกวันในเขตอำเภอศรีราชาที่มีปัญหาจากการไม่มีการจัดการ การเดินรถขนาดใหญ่พวกนี้ ทำให้มีคนเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการทุกวัน จึงอยากปรึกษาหารือ ท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน ให้เร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม สหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี เขต ๗ พรรคก้าวไกล

    อ่านในการประชุม

  • ขอยื่นกระทู้ถามท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวง แรงงาน กรณีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ผมอยากจะเริ่มอย่างนี้ครับ ปัญหาของค่าแรงขั้นต่ำเอง เป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน หลังจากปี ๒๕๕๔ ที่เป็นหมุดหมายสำคัญของการขึ้นค่าแรง ขั้นต่ำ หลังจากนั้นมาการขึ้นค่าแรงแต่ละครั้งแทบจะเป็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่สอดคล้อง กับสภาพความเป็นจริง ไม่เหมาะกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นทุกปีครับ ผมอยากจะเสนอให้ดู เรื่องค่าครองชีพตามนี้ครับ จากรายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่องการสำรวจค่าครองชีพ ของแรงงาน ข้อเสนอการยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำและมาตรฐานการดำรงชีวิตที่มีคุณค่าของ คณะทำงานพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาค่าจ้างแรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ปัจจุบัน คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๕ ก็คือเล่มนี้นะครับ ได้ทำ แบบจำลองค่าครองชีพขึ้นมา โดยแบบจำลองแรกที่ผมอยากจะยกมา คือการจำลองค่าครอง ชีพของครัวเรือนที่ไม่มีสมาชิกพึ่งพิง หรือพูดง่าย ๆ คือครัวเรือนที่ทำงานกันทั้งบ้าน ก็จะมี ค่าใช้จ่ายประมาณ ๒๐,๐๐๐-๒๓,๖๐๐ บาทต่อเดือน ตามตารางสไลด์เลยนะครับ การจำลองค่าครองชีพของครัวเรือนที่จะมีสมาชิกพึ่งพิง ๒-๓ คนตามตารางนี้ ก็จะมีค่าครองชีพ อยู่ที่ ๒๘,๐๐๐-๓๒,๐๐๐ บาท ในขณะที่คณะกรรมการค่าจ้างได้ออกประกาศค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ ๑๒) ออกมา ในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๖๖ แบ่งออกเป็น ๑๗ อัตรา ตั้งแต่ ๓๓๐ บาท ถึง ๓๗๐ บาท หรือขึ้นมาจากปี ๒๕๖๕ คือ ๓๒๘-๓๕๔ บาท เฉลี่ยทั่วประเทศก็ขึ้นมาเพียง แค่ ๒.๔ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง พูดง่าย ๆ เฉลี่ยทั่วประเทศขึ้นมาไม่เกินประมาณ ๘ บาท ซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้แค่ ๑ ห่อเท่านั้นเอง หรือถ้าหากให้หนักกว่านั้น ลองไปดู ๓ จังหวัด ชายแดนภาคใต้ขึ้นมาแค่ ๒ บาทครับ ๒ บาทนี้ซื้อไข่สักฟองยังไม่ได้เลยนะครับ ไข่ก็เพิ่งขึ้น เมื่อคืนก็ขึ้นมานะครับ แล้วลองนึกดูว่าถ้าสมมุติมีโรงงานใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีโรงงานขนาด ๑๐๐ คน ต้นทุนแรงงานจะเพิ่มขึ้นมาเพียงแค่วันละ ๒๐๐ บาท ถ้ามีโรงงานขนาด ๑,๐๐๐ คนก็จะ ขึ้นมา ๒,๐๐๐ บาทต่อวัน แต่โรงงานที่มีกำลังผลิตขนาดนั้นจะได้กำไรวันละเท่าไร แบ่งมาให้ ทั้งโรงงานแค่ ๒,๐๐๐ บาทนี้โรงงานจะเจ๊งเลยหรือครับ จากค่าแรงที่เราเห็นแปลว่าแรงงาน ๑ คนจะได้รับค่าแรงประมาณเพียงแค่ ๗,๐๐๐-๙,๐๐๐ บาทเท่านั้นเอง พี่น้องแรงงานของ เราจะต้องควงกี่กะ จะต้องรับกี่ Job ถึงจะมีเงินพอไปใช้จ่าย มากไปกว่านั้นเรากำลังเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ ที่แปลว่าคนวัยแรงงานจะต้องมีภาระเพิ่ม ทั้งต้องเลี้ยงพ่อแม่ เลี้ยงลูกหลาน ยิ่งครอบครัวปัจจุบันที่มีลูกคนสองคน หมายความว่าต้องโดนบีบจากทั้งคนแก่ ทั้งลูกเล็ก จะอยู่อย่างไรครับ ถ้าเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอัตราพึ่งพิงอาจจะไม่ใช่แค่ ๒-๓ คน แต่อาจจะ เป็น ๔-๖ คนด้วยซ้ำ คำถามของผมก็คือ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่สอดคล้องกับภาวะความ เป็นจริงแบบนี้ใช้หลักเกณฑ์วิธีคิดอะไรมาคำนวณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาครับ ก็ขอขอบคุณ ท่านรัฐมนตรีที่ให้เกียรติสภาแห่งนี้ในการมาตอบคำถามเรื่องนี้ ก็อย่างที่ท่านได้ว่ามาต้นตอ ของปัญหาการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ผมคิดว่าปัญหาก็จะมี ๒ ส่วนใหญ่ ๆ ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนแรกคือสูตรตามที่ท่านได้ว่ามาเลย ซึ่งสูตรนี้ ก็เป็นสูตรมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ ซึ่งก็เป็นสูตรที่ใช้ในปัจจุบัน โดยค่าจ้างขั้นต่ำใหม่จะมีค่า เท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันคูณด้วยอัตราการปรับค่าจ้าง ซึ่งเป็นผลรวมของอัตรา เงินเฟ้อกับอัตราการเปลี่ยนแปลงของผลิตภาพแรงงานที่ถูกถ่วงด้วยอัตราสมทบของแรงงาน คือต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด ซึ่งใช้ตัวแปรแล้วก็การคำนวณเป็นค่ารายจังหวัด ก็เมื่อเขียนเป็นสูตรทางคณิตศาสตร์จะได้ดังนี้ ค่าจ้างขั้นต่ำ หมายถึงค่าจ้างปัจจุบัน คูณตามนี้นะครับ โดยที่อัตราสมทบแรงงานมีค่าระบบสัดส่วนผลตอบแทนของแรงงานใน GDP ระดับประเทศคูณกับสัดส่วนของ GDP ภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดนั้น ๆ ประสิทธิภาพ แรงงานคำนวณโดยการนำ GDP ของจังหวัดตามมูลค่าที่แท้จริง โดยหักผลของเงินเฟ้อออก แล้วหารด้วยจำนวนแรงงานในจังหวัดนั้น ๆ อัตราเงินเฟ้ออิงจากการเปลี่ยนแปลงของดัชนี ราคาผู้บริโภคระดับจังหวัด และมีข้อแม้ว่าในการเจรจาที่ปรับเพิ่มลดจากสูตรได้ไม่เกิน ๓ เปอร์เซ็นต์ โดยมีปัจจัยเชิงคุณภาพ ๔ ตัวที่เอามาร่วมพิจารณา คือดัชนีความเชื่อมั่น ผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด ผลการสำรวจค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและดัชนีความเชื่อมั่น ทางธุรกิจครับ ซึ่งปกติแล้วโดยต้องไม่ต่ำกว่าค่าแรงเดิมนะครับ ทีนี้ผมขอใช้ตัวอย่างของ กรุงเทพมหานครอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดิมคือ ๓๕๓ บาท ถ้าเราคำนวณตามสูตรของที่กระทรวง แรงงานใช้ในปัจจุบันก็จะได้ ๓๖๐.๙๑ บาท ก็ปรับตามกรอบเพิ่มลดไม่เกิน ๓ เปอร์เซ็นต์ ช่วงค่าจ้างที่เป็นไปได้ของกรุงเทพมหานครก็จะอยู่ที่ ๓๕๓-๓๗๒ บาทต่อวัน แล้วพอ พิจารณาเสร็จสิ้นก็ได้ออกมาเป็น ๓๖๓ บาท ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่าถ้าท่านตั้งเป้าจะให้ได้ค่าแรง มากที่สุดเพื่อไปถึงค่าแรงเป้าหมาย ๖๐๐ บาทในปี ๒๕๗๐ ทำไมไม่ผลักให้เป็น ๓๗๒ บาท ละครับ แต่กลับเอาค่ากลางของช่วง ๓๕๓-๓๗๒ บาทมาแทนคือ ๓๖๓ บาทนี่ละครับ คราวนี้สูตรนี้มันมีปัญหาอย่างไร ปัญหาคือต้องเข้าใจว่าค่า L หรืออัตราการสมทบของ แรงงานนี้มาจากตัวจำลองทางคณิตศาสตร์ที่คำนวณว่าแรงงานมีส่วนในการผลิตเท่าไร โดยรวมปัจจัยการผลิตทั้งหมด ซึ่งพอคำนวณมาแล้วอย่างกรุงเทพมหานครก็จะได้ ๓๒ เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าอะไร หมายความว่ากำไร ๑๐๐ บาท แรงงานมีส่วน ๓๒ บาท ซึ่งถ้าเอาตัวเลขนี้มาคิดกำไรที่เพิ่มขึ้น ๑๐ ล้านบาท ต้องแบ่งมาที่แรงงาน ๓,๒๐๐,๐๐๐ บาท สำหรับพี่น้องแรงงานเอาตัวเลขตรงนี้ไปใช้เจรจาต่อรองกับนายจ้างได้ แต่ท่านครับ เรากลับเอาอัตราสมทบของแรงงานหรือค่า L นี้มาคูณเพื่อลดผลตอบแทน ที่แรงงานควรจะได้เพิ่มขึ้นตามผลิตภาพแรงงานครับ เราจึงควรเอาค่า L นี้ออกไปจากสูตร การคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนี้ กลับมาดูที่ตัวอย่างของกรุงเทพมหานคร ถ้าเราเอาค่า L ออกไปแล้วคำนวณใหม่ ค่าจ้างขั้นต่ำใหม่จะมีค่าราคาประมาณ ๓๖๓.๔๕ บาทต่อวัน เพิ่มขึ้น จากการคำนวณประมาณ ๒.๕๐ บาท เป็นเงินที่ไม่เยอะหรอกครับ แต่ถ้าเราขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ด้วยสูตรนี้ดั้งเดิมไปเรื่อย ๆ ยังมี L เรื่อย ๆ นี้ตัวเลขที่มันสะสมในเชิงคณิตศาสตร์มันก็จะมาก ขึ้นจนมีขนาดใหญ่ได้ และการคำนวณค่า L เองก็เป็นปัญหา เพราะนำสัดส่วน GDP ภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดไปคูณกับสัดส่วนของผลตอบแทนแรงงานต่อ GDP อีกรอบหนึ่ง หรือพูดง่าย ๆ คือแทนที่แรงงานจะได้รับค่าจ้างจากส่วนการผลิตทั้งหมดเท่าไร ก็ให้เฉพาะ ผลผลิตของภาคอุตสาหกรรมแทนวิธีการคำนวณนี้เป็นการลดทอนผลตอบแทนของแรงงาน ด้วยสัดส่วนของภาคอุตสาหกรรม ทำให้มีค่าต่ำกว่า ๑ ซึ่งควรจะแทนค่าด้วย ๑ เสียด้วยซ้ำ แน่นอนว่าในพื้นที่อุตสาหกรรมอาจจะไม่กระทบมาก แต่หากเป็นจังหวัดเกษตรกรรมหรือ ภาคบริการผลตอบแทนจะน้อยลงมาก ๆ เทียบง่าย ๆ เช่นจังหวัดชลบุรีที่เป็นอุตสาหกรรม ขนาดใหญ่ เทียบกับจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่เป็นเกษตรกรรมก็จะเห็นชัดเจนว่าเกษตรกรรมได้ น้อยกว่ามาก ทีนี้ยิ่งถ้าลองดูตามประกาศของคณะกรรมการค่าจ้างในส่วนคำชี้แจง ข้อ ๓ ก็จะมีระบุไว้ชัดเจนว่าการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ ในส่วนที่น่าสนใจก็คืออัตราค่าจ้างที่ลูกจ้าง ได้รับอยู่ประกอบข้อเท็จจริงอื่น โดยคำนวณถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อมาตรฐาน ค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาสินค้าบริการต่าง ๆ รวมกับสูตรคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยเทียบเคียงกับที่สูตรของหลาย ๆ ประเทศที่อยู่ในประกาศเลย มีประเทศฝรั่งเศส ประเทศ มาเลเซีย ประเทศบราซิล ประเทศคอสตาริกา ซึ่งองค์กรแรงงานระหว่างประเทศนำมาแสดง เป็นกรณีตัวอย่างของสูตรที่ต่างประเทศยอมรับว่าสามารถดูแลคุณภาพชีวิตของลูกจ้างได้ ถ้าจะมาเจาะแต่ละประเทศว่าแต่ละประเทศใช้สูตรอะไร คำนวณออกมาได้อะไรบ้าง เวลาผมคงไม่พอ แต่ลองดูง่าย ๆ ผมลองคำนวณตามสูตรของประเทศเพื่อนบ้านเรา อย่างประเทศมาเลเซีย ซึ่งถ้าแทนค่าด้วยข้อมูลของกรุงเทพมหานครแล้วลองคำนวณดู ค่าจ้างขั้นต่ำก็จะได้อยู่ที่ ๓๖๔.๑๕ บาท ทีนี้ผมก็ลองถามคนน่าจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ไม่ค่อยดี เท่าไรครับ เพราะอายุแค่ปีกว่า ๆ เท่านั้นเอง คือ ChatGPT ครับ AI ที่หลายท่านก็ให้ความ สนใจกัน ผมลองถาม ChatGPT ว่าไปค่าแรงขั้นต่ำคำนวณอย่างไร ChatGPT ก็ให้คำตอบ แบบนี้ครับ สูตรการคำนวณค่าแรงขั้นต่ำ คิดง่าย ๆ เอาอัตราเงินเฟ้อกับผลิตแรงงานมา คำนวณบวกให้กับแรงงานตามหลักที่ควรจะเป็น สูตรของ ChatGPT ดูเป็นธรรมกับแรงงาน มากกว่าสูตรของคณะกรรมการค่าจ้างอีกนะครับ อันนี้ต้องขอบคุณอาจารย์กิริยาจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ช่วยแนะนำมา ขออนุญาตเอ่ยนามครับ ไม่เสียหายครับ

    อ่านในการประชุม

  • อีกส่วนหนึ่งอย่างที่ท่านได้ว่ามาเลยครับ คณะกรรมการไตรภาคี ที่ย้ำนัก ย้ำหนาว่ามีตัวแทนของแรงงานเข้าไปเป็นปากเป็นเสียง อยากจะถามตรงนี้ครับเป็นตัวแทน ของแรงงานจริงหรือเปล่า ถ้าดูสัดส่วนโดยปกติผู้แทนแบบนี้ทั่วโลกมักจะใช้สัดส่วนตัวแทน จากสหภาพแรงงาน มีตัวแทนจากสหภาพแรงงาน แต่ว่าตัวแทนของคณะกรรมการไตรภาคี ที่ท่านบอกว่าเป็นนายจ้าง ๕ คน แรงงาน ๕ คน ผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน ๔ คนนี้ ปัญหาคือประเทศไทย ๗๗ จังหวัด มีสหภาพแรงงานอยู่เพียงแค่ ๔๔ จังหวัด แล้วอีก ๓๓ จังหวัด ที่เหลือเป็นตัวแทนฝ่ายลูกจ้างนี้เป็นใครครับ แล้วไม่ต้องนับคนที่สมัครเป็น คณะกรรมการไตรภาคี คณะกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัดส่วนมากก็หน้าเดิม ๆ ไปดูได้เลยครับ ในสมการนี้อำนาจต่อรองของแรงงานต่ำมาก แล้วมากไปกว่านั้นครับท่าน การประชุมของคณะกรรมการค่าจ้างไม่เคยมีการเปิดเผยบันทึกการประชุมต่อสาธารณชน ถ้าผมเป็นประชาชนคนธรรมดาที่สนใจเรื่องนี้ อยากจะรู้ว่าคณะอนุกรรมการค่าจ้างในจังหวัด ผมคุยเรื่องอะไรกัน ตัวแทนของแรงงานไปปกป้องผลประโยชน์ของแรงงานไหม ผมจะทำ อย่างไรครับ นอกจากนี้แล้วผมอยากรู้มากครับว่าจริง ๆ แล้วคณะกรรมการไตรภาคีที่เป็น กลไกนี้ Work อยู่ไหม เพราะเราต้องยอมรับว่าไม่ว่าจะในทางบวกหรือลบตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา ก็มีการแทรกแซงโดยฝ่ายการเมืองมาโดยตลอด ยกตัวอย่างกรณีประจักษ์นะครับ เช่นสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีมติคณะรัฐมนตรีในวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๒ คว่ำไม่ให้ ๕ จังหวัดขึ้นค่าแรง ทั้ง ๆ ที่ผ่านคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดจนไปถึงคณะกรรมการ ค่าจ้างแล้ว หรือในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์เองที่ชูนโยบาย แล้วก็ใช้นโยบายนำ ทำให้ คณะกรรมการไตรภาคีก็ไม่ได้มีอำนาจขนาดนั้น หรือในรัฐบาลประยุทธ์ที่มีการชูนโยบาย ๔๒๕ บาท แต่ทำไม่ได้ พูดง่าย ๆ ก็คือค่าแรงนั้นเป็นวาระทางการเมืองมาตลอด วันนี้ คณะกรรมการไตรภาคีมีอำนาจจริง ๆ หรือเปล่า นี่เป็นเรื่องที่เราต้องพิจารณา เพื่อให้ แรงงานมีตัวแทนที่เป็นแรงงานจริง ๆ และมีอำนาจต่อรองในการสร้างคุณภาพชีวิต เพื่อแรงงานได้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี และอย่างที่ท่านตั้งข้อสังเกต ถ้าคณะกรรมการไตรภาคีไม่ Work เรายุบทิ้งไหมครับท่าน ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ก็ขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีนะครับ อีกเรื่องหนึ่งครับ จริง ๆ แล้วอย่างที่ท่านว่ามาทางเราก็อยากให้ในรอบหน้าที่มีการพิจารณา ค่าจ้างขั้นต่ำ ได้มีการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำที่จะเป็นประโยชน์กับพี่น้องแรงงานจริง ๆ ทีนี้ จริง ๆ แล้วปัญหาใหญ่ที่สุดของค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นต้นตอของปัญหาเลย คือการทำความ เข้าใจคำว่า ค่าแรงขั้นต่ำ หรือนิยามของคำนี้นั่นละครับ คำนิยามของค่าแรงขั้นต่ำตามนิยาม ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ที่ไทยเป็นสมาชิกอยู่ อ้างอิงจากการประชุม Minimum Wage Fixing เมื่อปี ๑๙๗๐ หรือปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ก็นิยามว่าค่าแรงขั้นต่ำนี้ต้อง คำนึงถึงความต้องการของแรงงานและครอบครัว ค่าแรงมาตรฐานในประเทศ ค่าครองชีพ สวัสดิการทางสังคม และมาตรฐานการใช้ชีวิตของกลุ่มสังคม ย้ำนะครับ แรงงานและ ครอบครัวครับ ซึ่งประเทศเราเคยใช้นิยามแบบนี้ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ แล้วก็พอในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เราก็มาแก้เป็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอัตราค่าจ้างที่เพียงพอสำหรับแรงงาน ทั่วไป แรกเข้าทำงาน ๑ คน ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่มาตรฐานการครองชีพ สภาพเศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งเหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น คำนิยามนี้เองที่เป็นปัญหา เพราะหลักการในการคิดค่าแรงขั้นต่ำของเราไม่ได้คิดบนฐาน เดียวกับ ILO ครับ ในขณะที่ ILO บอกว่าค่าแรง ๑ คนต้องเลี้ยงคนในครอบครัวได้ แต่ค่าจ้างขั้นต่ำของไทยนั้น ปรับให้พอเลี้ยงแรงงานแรกเข้าแค่คนเดียว ซึ่งตามที่ผมได้เสนอแบบจำลองไปก็เห็น แล้วว่าเลี้ยง ๑ คนยังไม่ได้เลยในยุคแบบนี้นะครับ ท่านอาจจะมองว่าเราไม่ต้องยึดติดกับ ค่าแรงขั้นต่ำ นำไปสู่ค่าแรงเป้าหมายหรือค่าแรงตามมาตรฐานฝีมือ ผมอยากจะบอกว่าเรา ไม่ได้ยึดติดค่าจ้างขั้นต่ำครับ แต่ค่าจ้างขั้นต่ำคือค่าจ้างแรกเข้าเพื่อให้แรงงานดำรงชีวิตอยู่ได้ อย่างมีมาตรฐานและสอดคล้องกับค่าครองชีพครับ มิเช่นนั้นแปลว่าเราจะยอมให้คนได้ ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แบบมีชีวิตไม่มีมาตรฐานไปอย่างนั้นหรือครับ หรือคนที่อยู่ได้โดยค่าจ้างขั้นต่ำ จะไม่มีสิทธิที่จะมีครอบครัวอย่างนั้นเลยครับ การเปลี่ยนนิยามของค่าจ้างขั้นต่ำจึงเป็น ทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนที่สุดที่จะยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องแรงงานครับ ก็ในขณะที่ รัฐบาลกำลังรณรงค์ให้คนมีลูก เพราะเราอยู่ในสังคมผู้สูงอายุ ด้วยค่าแรงแบบนี้จะเอาเงิน ที่ไหนไปเลี้ยงลูก จะเอาเงินที่ไหนไปเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ เลี้ยงตัวเองก็แทบไม่รอดแล้วครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม สหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี พรรคก้าวไกลครับ ขอร่วมอภิปรายถึงรายงาน การพิจารณาศึกษาเรื่องการจัดทำข้อเสนอระบบการเลือกตั้งและแนวทางการทำงานของ สภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาการจัดทำ ข้อเสนอระบบการเลือกตั้งและแนวทางการทำงานของสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจาก การเลือกตั้ง ผมขอเริ่มอย่างนี้ครับท่านประธาน เวลาเราพูดถึงรัฐธรรมนูญเรามักจะคุยกันว่า รัฐธรรมนูญนั้นต้องมาจากไหน มีที่มาที่ไปอย่างไร สสร. ต้องมาจากไหน ผมขออธิบายแบบนี้ ตั้งแต่ประชาธิปไตยเบ่งบานในช่วงศตวรรษที่ ๑๘ มีการถกเถียงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในสังคมว่า จะออกกฎเกณฑ์แบบไหน ใครเป็นผู้ออก ลามไปถึงอำนาจในการออกกฎเหล่านี้มาจากใคร แล้วก็ได้มีการแบ่งอำนาจใน ๒ ลักษณะ ลักษณะแรก คืออำนาจที่ถูกสถาปนาและอำนาจ สถาปนา ซึ่ง ๒ คำนี้แตกต่างกัน อำนาจที่ถูกสถาปนา ง่าย ๆ ก็คืออำนาจที่คนในสังคมสมมุติ ร่วมกันว่าจะให้กลุ่มคนเหล่านี้ดำเนินการแบบนี้ อย่างเช่นพวกเราครับ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอำนาจที่ถูกสถาปนานั้นมาจากอำนาจสถาปนาอีกที ซึ่งก็คืออำนาจของประชาชนครับ ทำไมอำนาจจึงเป็นของประชาชน ผมคงไม่ต้องอธิบายเรื่องนี้ยืดยาวครับ ทุกท่านก็น่า จะพอเข้าใจอยู่แล้วว่าประชาชนมีอำนาจจากไหนบ้าง จากการที่เป็นผู้เสียภาษีให้รัฐจาก การเป็นเจ้าของของประเทศ รวมไปถึงอำนาจที่จะต่อรอง รับรอง หรือต่อต้านผู้นำ ดังนั้นการออกแบบรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศก็ย่อมต้องมาจากอำนาจ สถาปนาซึ่งก็คือประชาชน ที่จะสถาปนามอบอำนาจที่มีมาแต่กำเนิดให้กับกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ไปดำเนินการร่างกฎหมายที่สำคัญที่สุดของคนครับ ซึ่งก็คือ สสร. เพื่อกลับมานำเสนอ ให้ทุกคนเห็นชอบอีกครั้งก็ย่อมต้องมาจากประชาชนนั่นละครับ นี่คือเหตุผลว่าทำไม การจะสถาปนาองค์กร สสร. ขึ้นมาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญต้องกลับไปถามประชาชนผู้ถืออำนาจ สถาปนาโดยผ่านการเลือกตั้ง ท่านประธานครับ วันนี้ผมแปลกใจแล้วเศร้าใจเป็นอย่างมาก จนถึงวันนี้แล้วเรายังต้องมาถกเถียงกันอยู่ว่า สสร. จะต้องมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ จะต้อง มาจากการเลือกตั้งกี่เปอร์เซ็นต์ แต่งตั้งกี่เปอร์เซ็นต์ ต้องมีโควตาผู้เชี่ยวชาญมาจาก การแต่งตั้งหรือไม่ เราไม่ต้องถามกันแล้วครับ เรากลับไปดูว่าอำนาจสถาปนาเป็นของใคร แล้วถ้าจะให้ใครมาร่างต้องถามใคร ข้อถกเถียงเหล่านี้ไม่ควรมีอยู่แล้วครับ เราต้องหยุดดูถูก ประชาชน โดยเฉพาะผู้แทนของประชาชนอย่างพวกเราครับ เราต้องหยุดดูถูกประชาชนว่า ไม่มีความรู้มากพอที่จะเลือกคนเป็น สสร. ได้แล้ว หลายคนชอบพูดว่าไม่อยากตีเช็คเปล่า แต่อย่าลืมว่าเจ้าของเช็คคือประชาชน เขาจะใส่อะไรลงไปบ้างก็เรื่องของเขาครับ เป็นเรื่องที่ เจ้าของเช็คเขาคิด ไม่ใช่เรื่องของพวกเราครับ คราวนี้มาต่อกันที่หลักการในการมี สสร. ว่า สสร. ควรจะเป็นอย่างไร มีหน้าตาอย่างไรบ้าง ผมเสนออย่างนี้ครับว่า สสร. ที่จะเกิดขึ้น ควรยึดถือหลัก ๔ ประการ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อแรก สสร. ต้องยึดโยงกับประชาชน และวิธีที่จะยึดโยงกับประชาชน อย่างนั้นง่ายที่สุดคือต้องมาจากการเลือกตั้ง ง่าย ๆ แค่นั้นเลยครับ เหมือนที่ผมได้พูดมา

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๒ ต้องมีความหลากหลาย หมายความว่าต้องเป็นตัวแทนของคน หลากหลายกลุ่ม ทั้งประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ประชาชนที่เป็นผู้มีความหลากหลาย กลุ่มเปราะบางไปจนถึงกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งผมย้ำว่าต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และหากจะถามว่าถ้าเลือกตั้งแล้วจะเป็นตัวแทนของคนทุกกลุ่มได้จริง ๆ หรือ ผมก็อยากจะ แนะนำให้ลองอ่านรายงานของคณะอนุกรรมาธิการชุดนี้ว่ามีรูปแบบการเลือกตั้งมากมาย ที่นับเอาคนที่ไม่เคยถูกนับเข้ามาอยู่ในสมการการเลือกตั้ง มีรูปแบบให้เลือกเยอะเลยครับ ซึ่งผมขอไม่ลงรายละเอียด

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๓ สสร. จะต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนตลอดการ ร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญครับ เพราะเวลาเราพูดถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน เรามักจะนึกถึงการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น แล้วนำเรื่องเข้ามาในรัฐสภาใช่ไหมครับ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นครับ โดยทั่วไปแล้วเวลาที่เรามี สสร. ในประเทศไทยเรามักจะเห็นภาพที่มี สสร. เยอะแยะเต็มไปหมด แต่สุดท้ายอาจมีเวทีรับฟังความคิดเห็นบ้างประปราย ให้ประชาชนได้มาเสนอเรื่องต่าง ๆ แต่สุดท้าย สสร. จะตั้งคณะกรรมการยกร่างขึ้นมา ๑ คณะ ซึ่งทำงานควบคู่ไปกับ สสร. ปกติ โดยให้คณะกรรมการเหล่านี้ไปยกร่างขึ้นมา ซึ่งเป็นตัวคณะกรรมการยกร่างหลาย ๆ ชุด ก็มักจะมีธงอยู่แล้วว่าจะเขียนขึ้นมาแบบไหน เขียนขึ้นมาอย่างไร ท้ายที่สุดการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่เกิดขึ้นอย่างเพียงพอ ข้อเสนอ ของผมคืออย่างนี้ครับท่านประธาน ผมเสนอว่าหากมีการตั้ง สสร. เสร็จสิ้น สสร. อาจจะตั้ง คณะกรรมการขึ้นมาอาจจะหลายคณะหน่อย แบ่งเป็นแต่ละหมวด ตามหมวดของ รัฐธรรมนูญไปเลยก็ได้ ให้คณะกรรมการเหล่านี้ไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ทั้งในพื้นที่ต่าง ๆ และเจาะไปตามหมวดต่าง ๆ โดยเฉพาะในส่วนของคณะกรรมการยกร่างนั้น ก็จะต้องมาจากกรรมการเหล่านี้ แต่ละหมวด แต่ละพื้นที่ทุกคณะเพื่อให้ข้อเสนอของ แต่ละกลุ่มได้รับการสะท้อนอย่างแท้จริง และเป็นการให้ประชาชนมีส่วนร่วมตลอด ระยะเวลาการร่างรัฐธรรมนูญ สุดท้ายครับ สสร. จะต้องมีประสิทธิภาพคือต้องปกป้องสิทธิ และเสรีภาพของเจ้าของอำนาจ สถาปนารัฐธรรมนูญซึ่งก็คือประชาชน ไม่ใช่ทำหน้าที่เป็น นายประชาชนหรือมาจำกัดสิทธิของประชาชนครับ ต้องสะท้อนเสียงความต้องการและ อุดมการณ์อันหลากหลายของคนในสังคมให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ ไม่ปิดกั้นและตีกรอบ เสรีภาพของประชาชน และต้อง Guarantee สิทธิที่พึงมีพึงได้ของประชาชนในทุกด้าน ทั้งชีวิต ทรัพย์สิน สิทธิในการแสดงออกในทุกด้าน สิทธิในการเข้าถึงการศึกษา การรักษาพยาบาล สิทธิในการทำมาหากิน และสิทธิได้รับสวัสดิการที่เหมาะสม ไม่ปิดกั้น จินตนาการของประชาชนด้วยการมีข้อห้ามที่ล้นเกิน ไม่มีการตั้งกรอบมาแต่แรกว่า ตรงไหนได้บ้าง แก้ไม่ได้บ้าง หรือมีองค์กรแปลก ๆ ที่ไม่ได้มีที่มาจากประชาชนมาชี้ว่า ใครจะมีสิทธิทำอะไรหรือไม่มีสิทธิทำอะไร สิทธิใด ๆ ของผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ต้องได้รับการ Guarantee ทั้งสิ้นครับ

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนสุดท้าย ท่านประธานครับ รายงานฉบับนี้เห็นตรงกันกับผมในแง่ที่ว่า สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้ง แล้วผมเห็นว่าไม่ควรจะมีคำถามอีกต่อไปแล้วว่าจะต้องมีการ เลือกตั้งหรือไม่ สิ่งที่รายงานฉบับนี้ให้กับเรา คือเราจะเลือกตั้งอย่างไร ท่านประธานครับ ประเทศไทยของเราไม่เคยมีการเลือกตั้ง สสร. ทางตรงมาก่อน นี่เป็นครั้งแรกที่เราอาจจะมี การเลือกตั้งทางตรงครับ รายงานฉบับนี้ก็เป็นรายงานที่เปิดโลก เปิดมิติจินตนาการให้เรา เห็นว่าเราสามารถจะมีการเลือกตั้งแบบไหนได้บ้าง และจะมีแนวทางอย่างไรบ้าง ผมอยาก จะขอขอบคุณคณะอนุกรรมาธิการชุดนี้ที่ทำรายงานฉบับนี้ออกมาให้เราได้หลุดจาก ข้อถกเถียงสักทีว่า ทำไมเราจะไม่สามารถมีการเลือกตั้ง สสร. ทั้งหมดได้ รายงานฉบับนี้สะท้อนว่าผู้เชี่ยวชาญหรือกลุ่มชายขอบใด ๆ ก็มีพื้นที่ผ่านการเลือกตั้งได้ โดยไม่ต้องใช้ระบบโควตา ระบบแต่งตั้งที่พอแต่งตั้งมาก็มุ่งแต่จะยกร่างแบบที่ตนตั้งธง มาจากบ้านแล้วครับ แล้วผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะได้เห็น สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง และผลการเลือกตั้งนั้นก็สะท้อนความต้องการของประชาชนทุกคน ไม่ถูกปิดกั้นจินตนาการ ใด ๆ เหมือนที่รายงานฉบับนี้ได้ให้กับเราไว้ครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาครับ ผม สหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี เขต ๗ พรรคก้าวไกล ผมขอมีส่วนร่วมในการอภิปราย ญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ผมอยากจะเริ่มอย่างนี้ครับ เราต้องเริ่มจากคำถามว่าทำไมเรา ต้องนิรโทษกรรม คำว่า นิรโทษกรรม ดูจะเป็นเรื่องที่น่ากลัวของใครหลาย ๆ คน เพราะเรื่องนี้ ถูกทำให้เป็นเรื่องของการเมืองเชิงอุดมการณ์เพียงอย่างเดียว แต่จริง ๆ แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่อง ของความยุติธรรมและเป็นเรื่องของความเป็นมนุษย์ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ เป็นต้นมาดูเหมือนว่า การพูดถึงการนิรโทษกรรมนั้นจะเป็นเรื่องต้องห้าม เป็นเรื่องน่าเกลียด น่ากลัว แต่ในความ เป็นจริงการนิรโทษกรรมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาตลอดในสังคมไทย ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลง การปกครองในปี ๒๔๗๕ จนถึงปัจจุบัน มีการนิรโทษกรรมมาแล้ว ๒๒ ครั้ง แต่มีเพียง ๓ ครั้ง ที่เป็นการนิรโทษกรรมให้ประชาชน ส่วนอีก ๑๙ ครั้งเป็นการนิรโทษกรรมให้กับผู้ทำการ รัฐประหาร การนิรโทษกรรมนั้นคืออะไร ผมอยากจะย้ำตรงนี้ การนิรโทษกรรมคือการคืน ความยุติธรรมให้กับผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง ไม่ใช่การลดโทษอาชญากรอย่างที่เรา คิด ๆ กัน สิ่งที่ผมอยากจะชวนคิดคืออย่างนี้ครับ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เรามีผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองทั้งหมดเกือบ ๔,๐๐๐ คน คนเหล่านี้ไม่ใช่อาชญากร ไม่ใช่ โจรมืออาชีพ แต่คนเหล่านี้คือคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ออกมาเรียกร้อง เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมิติชีวิตของพวกเขาเอง ซึ่งรัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิเหล่านี้ เอาไว้ มีคดีที่ไม่สมเหตุสมผลเยอะแยะเลยครับ เช่น คดี พ.ร.ก. ฉุกเฉินที่ควรจะใช้เพื่อยับยั้ง การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ แต่กลับถูกนำมาใช้เป็นคดีการเมืองครับ การออกมาเรียกร้องเหล่านี้ครับกลับถูกมองจากรัฐ โดยเฉพาะรัฐเผด็จการอำนาจนิยม มองว่าเป็นปฏิปักษ์ ก็จับกุม คุมขัง ยัดข้อหา ทำลายชีวิตเขา กดหัวให้เขาไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำ ไม่กล้าเรียกร้องต่อ คดีการเมืองที่ผมพูดนั้นไม่ได้หมายถึงแค่คดี การชุมนุมทางการเมืองครับ แต่เราอาจต้องนำคดีหลาย ๆ คดีเข้ามาพิจารณาใหม่ โดยเฉพาะ อย่างยิ่งตั้งปี ๒๕๔๙ ที่เริ่มเกิดความแตกแยกในสังคมและเกิดการรัฐประหาร หลังการรัฐประหาร ก็เกิดความอยุติธรรมขึ้นมาก เช่นการตั้ง คตส. ขึ้นมาเพื่อพิจารณาคดีอดีตนายกท่านหนึ่ง และหากไปดูรายชื่อของ คตส. เอง คนเหล่านี้ก็ล้วนแต่นับได้ว่าเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงทั้งนั้น นี่เป็นความอยุติธรรมแบบหนึ่ง และแม้แต่ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่หลายต่อหลายคน ถูกจับกุมคุมขัง โดยให้เหตุผลว่าเป็นคดีความด้านความมั่นคง ทั้ง ๆ ที่เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่อง ของการเมืองครับ ในปี ๒๕๕๓ ผู้ชุมนุมจำนวนมากถูกจับกุมหลายต่อหลายคนติดคุกหลายปี จนออกมาแล้วด้วยซ้ำ แต่ก็ยังไม่ได้รับความยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลายต่อหลายคนที่ เสียชีวิตในเหตุการณ์ชุมนุมครับ ปัจจุบันยังไม่ได้ความยุติธรรมเลยครับท่าน ผมเสนอว่า ในวันนี้สังคมเรามีความแตกแยกอย่างรุนแรงเช่นนี้ เพื่อที่ให้สังคมของเราเดินต่อไปได้ การนิรโทษกรรมเป็นเรื่องที่ต้องทำทันทีครับ สำหรับผู้ชุมนุมทางการเมืองคดีเหล่านี้ต้อง ได้รับการปล่อยตัวและยุติการดำเนินคดีอย่างทันทีครับ มากไปกว่านั้นคดีอื่น ๆ ที่เป็นคดี ความมั่นคงต้องนำมาพิจารณาใหม่ว่าเป็นเรื่องความมั่นคงจริงหรือไม่ และจะมีแนวทาง พิจารณาคดีอย่างไร เพื่อให้ทุกคนได้รับความยุติธรรมอย่างถึงที่สุด และสำหรับคนที่เคย ติดคุก มีคดีก็ต้องมีการล้างประวัติอาชญากรรมให้ครับ และที่สำคัญครับต้องได้รับการชดเชย เยียวยาอย่างเหมาะสม ทั้งเวลาและโอกาสที่เขาสูญเสียไปในช่วงที่สูญเสียอิสรภาพครับ นอกจากคนที่สูญเสียอิสรภาพ เพื่อนพี่น้องหลาย ๆ คนต้องพรากจากบ้านต้องลี้ภัยไปอยู่ ต่างประเทศ คนเหล่านี้ก็ต้องได้รับการกลับบ้านอย่างมีศักดิ์ศรีครับ ต้องมีการล้างมลทิน ให้กับเขาครับ หลายคนที่เสียชีวิตไปแล้วแต่ยังมีมลทินติดตัว เช่น นายอำพล ตั้งนพกุล หรือ อากง ที่ติดคุกจากคดี ๑๑๒ จนเสียชีวิต จนถึงป่านนี้แล้วเขาก็ยังไม่ได้รับความยุติธรรม ไม่มี การล้างมลทินใด ๆ ไม่มีการเยียวยา ดังนั้นแค่การล้างโทษผู้ที่อยู่ในคุกก็ยังไม่เพียงพอ นอกจากการนิรโทษกรรมแล้วอีกเรื่องที่ผมอยากจะย้ำคือเรื่องของความยุติธรรม การยกเลิก โทษเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการนิรโทษกรรม เป็นเรื่องเฉพาะหน้าที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน แต่อีกเรื่องที่ผมอยากจะย้ำอีกสักครั้งคือเรื่องของความยุติธรรม แม้หลาย ๆ คนอาจได้รับ อิสรภาพ ได้รับเงินชดเชยแล้ว แต่เราต้องไม่จบแค่นั้น สิ่งเหล่านั้นเป็นก้าวแรกครับ แต่ก้าว ต่อไปคือการคืนความยุติธรรม ความยุติธรรมที่ว่าคืออะไรบ้าง ความยุติธรรมที่ผมหมายถึง คือ การได้รับรู้ความจริงหรือต้องแสวงหาความจริง หรือเราต้องตั้ง Truth Commission หรือคณะกรรมการค้นหาความจริงขึ้นมานั่นละครับ กระบวนการค้นหาความจริงเป็นเรื่อง สำคัญ เพราะทุกครั้งที่ผ่านมาประเทศเราไม่เคยค้นหาความจริง การนิรโทษกรรมทุกครั้งเป็น แค่การล้างโทษ แล้วก็ลืม ๆ กันไป สิ่งที่เราต้องสร้างคือต้องสร้างประวัติศาสตร์บาดแผลครับ ทุกวันนี้เรามีประวัติศาสตร์ชัยชนะว่าเรายิ่งใหญ่กว่าใคร เราเก่งขนาดไหน เรารบชนะมา กี่ครั้ง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าจดจำ แต่เราไม่มีประวัติศาสตร์บาดแผลเลยที่จะบอกว่าเราเคย ผิดพลาดอะไรบ้าง เราเคยรบราฆ่าฟันกันเอง เราเคยมีการสังหารหมู่กลางเมือง เราจะต้อง ไม่เดินกลับไปเส้นทางนั้นอีกครับ ทุกวันนี้ญาติพี่น้องหลายคนของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ ทางการเมืองยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครเป็นคนพรากชีวิตพ่อแม่พี่น้องลูกหลานของเขาไป หลายคน ได้รับเงินชดเชยครับ แต่เงินชดเชยก็เป็นเพียงแค่ช่วยเยียวยาปากท้องเล็กน้อย ไม่ได้ช่วย เยียวยาบาดแผล ไม่ได้ช่วยตอบความจริงว่าคนเหล่านั้นจากเราไปด้วยเหตุอันใด มีตัวอย่างจาก ต่างประเทศหลายที่ที่เรานำมาเป็น Model ได้ แต่ตัวอย่างนั้นจะไม่มีคุณค่าเลยหากเราไม่ นำมาใช้ ประเทศเราอยู่กับการโฆษณาชวนเชื่อมากเกินไป เราต้องการความจริงครับ เรา ต้องการรู้ว่าผู้สูญเสียในเหตุการณ์ปี ๒๕๕๓ ใครต้องรับผิดชอบ การเสียชีวิตของหลายท่านที่ โดนอุ้มหายในต่างประเทศ เช่น คุณวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ สุรชัย แซ่ด่าน หรือเสธแดงที่ถูก ยิงท่ามกลางสื่อมวลชน ผู้เป็นบิดาของท่านผู้เสนอญัตติ ขออภัยที่ต้องพาดพิงครับ คนเหล่านี้ ควรต้องได้รับความยุติธรรมครับ แล้วผมยืนยันว่าความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้ต้องมีความจริง เราพูดกันเสมอครับว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่พร้อมให้อภัยกัน ซึ่งผมเห็นด้วยครับ แต่ผมอยาก เห็นสังคมไทยให้อภัยกันไม่ใช่ในแบบที่เราทำกันอยู่ คือลืม ๆ มันไป แล้วบอกว่าเราก้าวข้าม ความขัดแย้ง แต่จริง ๆ แล้วในใจก็ยังขัดแย้งยังแค้นกันอยู่ การจะก้าวข้ามความขัดแย้ง จริง ๆ ได้ ต้องเริ่มจากเรื่องง่าย ๆ ครับ คือการขอโทษครับ แล้วไม่ใช่การขอโทษส่ง ๆ ขอโทษแล้วจบไปครับ แต่เราต้องขอโทษขอโพยกันอย่างจริงใจและยอมรับผิดอย่างจริงจังว่า ผมขอโทษ ผมผิดไปแล้ว ผมเคยทำเรื่องเหล่านี้ ขอโทษอย่างใจจริงครับ และพร้อมรับผิดตามที่สมควรได้ครับ แบบนี้ กระบวนการให้อภัยถึงจะเริ่มกันได้อย่างจริง ๆ จัง ๆ แล้วเราถึงจะเดินหน้าต่อกันได้ แบบนี้ ถึงจะเป็นความสง่างามของการนิรโทษกรรม ผมสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา เพื่อศึกษาเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม แล้วผมหวังว่าประเทศไทยจะมีการนิรโทษกรรมที่เป็น การนิรโทษกรรมให้กับประชาชนอีกครั้งหนึ่ง โดยเวทีสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ โดยสมาชิก ทุกท่านในห้องนี้ ไม่ใช่แค่การนิรโทษกรรมให้ตัวเองคณะรัฐประหารเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมา ผมอยากเห็นการนิรโทษกรรมเป็นการนิรโทษกรรม ผมคาดหวังว่าเราจะสร้าง Amnesty Bill ขึ้นมาได้จริง ๆ ไม่ใช่ Amnesia Bill หรือความจำเสื่อมลืม ๆ กันไป การให้อภัยต้องมาพร้อม กับการจดจำ การบันทึกลงในประวัติศาสตร์ว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เพื่อให้เราเห็นว่า เราเคยทำผิดพลาดอะไรบ้าง แล้วเราต้องไม่กลับไปทำผิดพลาดซ้ำอีก ไม่ใช่หลงลืมกันไปแล้ว กลับมาทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า นี่ต้องไม่ใช่การล้างไพ่ในกระดานครับ แต่ต้องเป็นการชำระ ประวัติศาสตร์ครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • นายปดิพัทธ์ สันติภาดา (รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง : ขอบคุณครับ เชิญท่านธิษะณา ชุณหะวัณ ครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม สหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี เขต ๗ พรรคก้าวไกล ผมขอมีส่วนร่วม ในการอภิปรายในญัตติ เรื่องการสร้างคนให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศ ในอดีตของเราเรามีการพูดคุยเรื่องนี้กันมาโดยตลอด เรื่องการสร้างคน การสร้างพลเมือง การสร้างประชาชนที่เข้าใจหน้าที่พลเมืองและคำอีกมากมายครับ มีหลากหลายโครงการ ที่พยายามจะสร้างความเป็นพลเมืองแบบที่รัฐต้องการให้เป็นมาตลอด ตั้งแต่สร้างค่านิยม ๑๒ ประการ ให้มีการเรียนการสอนวิชาหน้าที่พลเมือง หรือย้อนกลับไปมีการแต่งเพลง เด็กเอ๋ยเด็กดีออกมา แล้วอีกมากมายหลายเรื่อง แต่ทั้งหมดนี้คือการกระทำซ้ำด้วยวิธีการ แบบเดิม ๆ แล้วคาดหวังผลลัพธ์ใหม่ ๆ ผมว่าตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่เราต้องหยุดคาดหวังว่าการ ทำซ้ำ ๆ นี้จะสร้างผลลัพธ์แบบใหม่ ๆ ได้ แต่ก่อนที่ผมจะพูดเรื่องการสร้างพลเมือง เรามาคุย กันก่อนว่าพลเมืองคืออะไร แนวคิดเรื่องพลเมืองเป็นแนวคิดที่มาคู่กับสังคมประชาธิปไตย อย่างน้อย ๆ ก็ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยกรีก ความเป็นพลเมืองหลายต่อหลายข้อก็ส่งต่อมา จนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในแง่ของสิทธิพลเมือง ก็มีแนวคิดหนึ่งที่ผมอยากจะนำมาเสนอ ในที่นี้แล้วก็ดูจะเข้ากันได้ดีกับหัวข้อนี้ คือแนวคิดเรื่องพลเมืองที่สมบูรณ์ของเพลโต (Plato) แนวคิดนี้มีหลายหัวข้อ แต่มีหัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจ เพลโต (Plato) เสนอว่า พลเมืองที่สมบูรณ์ หมายถึงคนที่รู้วิธีปกครองผู้อื่น และวิธีถูกผู้อื่นปกครองด้วยความยุติธรรม อีกคนคือ อริสโตเติล (Aristotle) ครับ ที่ให้คำจำกัดความข้อหนึ่งไว้อย่างกระชับและน่าสนใจ คือคนที่ เข้ามีส่วนร่วมในชีวิตพลเมืองที่มีทั้งการปกครองและการถูกปกครองสลับกันไป นอกจากนี้ อริสโตเติล (Aristotle) ยังเสนอว่า มนุษย์จะเติมเต็มศักยภาพของชีวิตแต่ละคนได้นั้น ก็ต่อเมื่อเข้าไปร่วมกิจกรรมกับชุมชนการเมือง หรือแปลง่าย ๆ คือ ชุมชนสาธารณะนั่นล่ะครับ แน่นอนครับว่าสังคมประชาธิปไตยในกรีกโบราณเมื่อ ๒๕๐๐ ปีที่แล้วคงจะเทียบเคียงกับ ยุคปัจจุบันไม่ได้ทั้งหมด แต่จากแนวคิดที่ทั้งสองคนนี้กล่าวสะท้อนว่าอะไรครับ สะท้อนว่า พลเมืองที่ดีก็คือพลเมืองที่สามารถทำหน้าที่เป็นได้ทั้งผู้ปกครองและถูกปกครองในสังคม ประชาธิปไตย หรือพูดให้ง่าย ๆ กว่านั้นคือ ผู้ที่ยินดีมีส่วนร่วมในงานทางการเมืองอย่าง สม่ำเสมอนั่นเอง ตัวผมเองไม่ชอบเลยคำว่า พลเมืองดี หรือ Good Citizen เพราะว่าคำว่า ดี ของแต่ละคน ก็แตกต่างกันไป โดยเฉพาะความดีของสังคมไทยที่มักให้คำนิยามโดยผู้ปกครอง ซึ่งอาจจะ ไม่ตรงกับนิยามของคนส่วนใหญ่ในสังคม ในโลกนี้มีการใช้คำว่า Active Citizen หรือแปล เป็นไทยว่า พลเมืองเข้มแข็ง พลเมืองตื่นรู้ ทีนี้ผมขออ้างอิงหลักสูตรฐานสมรรถนะของ กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งให้คำนิยามไว้ว่า การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งหมายถึง การปฏิบัติตน อย่างรับผิดชอบในฐานะพลเมืองไทยและพลเมืองโลก รู้เคารพสิทธิเสรีภาพของตนเองและ ผู้อื่น เคารพในกฎกติกาและกฎหมาย มีส่วนร่วมทางสังคมอย่างมีวิจารณญาณ อยู่ร่วมกับผู้อื่น ท่ามกลางความหลากหลาย เห็นคุณค่าของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีบทบาทในการตัดสินใจ และสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยยึดมั่นในความเท่าเทียมเป็นธรรม ค่านิยม ประชาธิปไตยและสันติวิธี ซึ่งอันนี้เป็นนิยามที่ดีมาก ๆ โดยมีนิยามใกล้เคียงกับนิยามสากลด้วย ทีนี้เราจะสร้างพลเมืองที่เข้มแข็งหรือ Active Citizen ได้อย่างไร เพื่อน ๆ สมาชิกหลาย ๆ ท่าน ก็ได้อภิปรายในมิติเกี่ยวกับเยาวชนเอาไว้แล้ว แล้วตัวญัตติเองก็เน้นไปทางนั้น ซึ่งผมไม่ปฏิเสธ ว่าการปลูกฝังในเยาวชนเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่อย่างที่ผมพูดไว้ตอนต้น การปลูกฝังเยาวชน เป็นสิ่งที่เราทำกันมาซ้ำแล้วช้ำเล่า แล้วคาดหวังผลลัพธ์ใหม่ ๆ ท้ายที่สุดเราต้องตั้งคำถามว่า ที่เรากำลังทำกันอยู่นี้เป็นการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีในการเป็นพลเมือง หรือการพยายาม ครอบงำเยาวชนแล้วจำกัดกรอบความคิดให้เขา สำหรับผมการสร้าง Active Citizen ไม่ได้หยุดอยู่แค่เยาวชน แต่เราสามารถสร้างได้กับคนทุกวัย ผ่านกลไกต่าง ๆ ในทุกมิติ แล้วกลับไปที่อริสโตเติล (Aristotle) ที่ผมยกตัวอย่าง คือต้องสร้างการมีส่วนร่วมในทาง สาธารณะให้กับประชาชนบนหลักการง่าย ๆ คือการยืนยันสิทธิอำนาจของประชาชน การกระจายอำนาจ สร้างการมีส่วนร่วม และการรวมกลุ่มของประชาชน อันดับแรก เราต้อง สร้างจิตสำนึกที่จะสลายความเป็นฉันและสร้างความเป็นเรา เราจะทำอย่างนี้ได้อย่างไร สำหรับผมการสร้างจิตสำนึกต่อส่วนรวมคือต้องทำให้ประชาชนรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของใน พื้นที่ที่เขาอยู่ ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเสียงของเขาไม่ถูกมองข้ามหรือไม่มีความหมาย ทั้งใน ระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ และนั่นคือการกระจายอำนาจ และสิ่งที่เป็นอุปสรรคในการ กระจายอำนาจก็คือระบบราชการ ในฐานะ สส. เขตผมคิดว่าเพื่อนสมาชิกหลายท่านในที่นี้ ก็จะได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องในพื้นที่อยู่เสมอ ๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ระบบราชการทั้งนั้นเลย เช่น ไปร้องเรียนที่นี่แล้วเรื่องไม่คืบ ไปแจ้งศูนย์นั้นศูนย์นี้แล้วเรื่องช้า ในแง่นี้พวกเราที่เป็นผู้ได้รับสิทธิจากประชาชนก็ต้องเข้าไปช่วยดำเนินการ แต่เรื่องนี้สะท้อน อะไรครับ สะท้อนว่าประชาชนของเราเองจริง ๆ แล้วก็เป็น Active Citizen อยู่ระดับหนึ่ง สนใจเรื่องปากท้อง เรื่องการเมือง เรื่องชุมชนที่เขาอยู่ แต่ความไฝ่ในการมีส่วนร่วมนี้กลับถูก กลบหายไปด้วยระบบราชการที่กินเวลายาวนาน เขาต้องมาหาผู้แทนที่เขาคิดว่าจะดำเนินการ แทนได้เร็วกว่าเขา เราจึงต้องมีการกระจายอำนาจ และต้องปฏิรูปให้หน่วยงานราชการ ทำงานแบบ Active มากขึ้น เพราะต่อให้เรามี Active Citizen แต่ถ้าเรายังมี Passive Bureaucrat ประเทศก็เดินยาก ดังนั้นต้องมีการกระจายอำนาจเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในกิจกรรมชุมชนได้มากขึ้น ต้องสร้างการมีส่วนร่วม มีการรวมกลุ่มให้เกิดสำนึกว่าเขาเป็น ส่วนหนึ่ง เขามีตัวตนและสามารถมีส่วนร่วมกำหนดสิ่งต่าง ๆ ได้ในพื้นที่ของเขา หรือถ้า กลับไปที่อริสโตเติล (Aristotle) คือมีส่วนร่วมใน Polis หรือในพื้นที่ทางการปกครองของ ประชาชน นอกจากพื้นที่ เช่น ถิ่นฐานบ้านเกิด ในการเป็นพลเมืองจิตสำนึกอื่น ๆ ก็สำคัญ เช่น จิตสำนึกทางการเมืองที่จะมีส่วนร่วมและตรวจสอบในทางการเมือง ติดตามการทำงานของ หน่วยงานราชการของผู้แทนของเขา หรือมากกว่านั้นคือเปิดกว้างให้มีการรวมกลุ่ม สร้างจิตสำนึกในการรวมกลุ่ม เช่น จิตสำนึกทางชนชั้นที่จะสร้างผ่านการสนับสนุนการตั้ง สหภาพหรือรวมกลุ่มต่าง ๆ ว่าเราทุกคนคือชนชั้นแรงงาน การรวมกลุ่มความหลากหลาย ทางเพศ ใด ๆ ก็ตามที่จะสร้างอำนาจต่อรองให้กับกลุ่มคนเหล่านี้มากขึ้น เหมือนกับที่กลุ่ม คนความหลากหลายทางเพศรวมกลุ่มกันจนสามารถพาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมมาถึง สภาได้ แล้วอีกหลาย ๆ กลุ่ม และที่สำคัญพวกเราพูดกันเสมอว่าเสียงประชาชนคือ เสียงสวรรค์ เราต้องเปิดพื้นที่ เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาต่าง ๆ ของ ประเทศนี้ได้อย่างเสรีในทุกมิติ ทั้งปากท้อง การเมืองและวัฒนธรรม ไม่ได้ถูกจำกัดภายใต้ กรรมการบางชุด คนบางคน หรือผู้มีอำนาจคนใด ไม่ควรมีสิทธิจะบอกว่าประชาชนว่า เรื่องไหนพูดได้ พูดไม่ได้ ดังนั้นเราต้องสนับสนุนการรวมกลุ่มครับ เริ่มตั้งแต่ในระดับชุมชนอย่างกลุ่มปกป้องชุมชนใด ๆ ระดับประเทศ เช่น กลุ่มที่มีการผลักดันกฎหมาย ผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือผลักดัน อะไรต่าง ๆ ที่จะสร้างสำนึกทางชนชั้น เช่น สหภาพแรงงาน องค์การวิชาชีพต่าง ๆ เพื่อจะได้ มีส่วนร่วมในการเจรจาต่อรองกับรัฐและผลักประเทศนี้ไปข้างหน้าด้วยกัน เพื่อสร้าง Civil Society ขึ้นในประเทศเราครับ ให้ประเทศของเราเป็นสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยพลเมือง ดังนั้นผมเสนอว่าเราต้องตั้งกรรมาธิการเพื่อเสนอเรื่องดังกล่าว จึงควรเข้าไปอยู่ใน คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง สื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มในสังคม เกิดการกระจายอำนาจ ไม่ใช่เพียงทำงบปลูกฝังและ ล้างสมองครับ แต่ต้องเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมสาธารณะให้ประชาชนทุกคนมีจิตสำนึก ทางการเมือง มีสำนึกทางชนชั้น มีสำนึกพลเมืองให้เข้าใจว่าประเทศไทยเป็นกรรมสิทธิ์ของ ทุกคน ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่เพียงลำพัง ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาครับ ผม สหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี เขต ๗ พรรคก้าวไกล ขอมีส่วนร่วมในการอภิปราย ในญัตติ เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการพัฒนา พื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษครับ แม้ผมจะเป็นคนชลบุรี ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง แต่ผมเองอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ผมอยากจะขอให้ข้อคิดเห็นเพื่อไม่ให้การศึกษาตกหล่นไป และไม่ให้เขตเศรษฐกิจ พิเศษภาคเหนือทำผิดพลาดซ้ำเหมือนกับที่ EEC ครับ แน่นอนว่าการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่ดีและจำเป็นต่อประเทศ ผมไม่ขัดขวางประเด็นดังกล่าว แต่การที่จะมีเขต เศรษฐกิจพิเศษเพิ่มนั้น สิ่งที่ควรตระหนักให้มากกว่าเม็ดเงินที่จะเข้ามาในประเทศในรูปแบบ GDP คือต้องคิดถึงคนในพื้นที่เป็นสำคัญว่าเขาจะได้ประโยชน์อะไรจากเรื่องนี้บ้าง การคิดถึง คนในพื้นที่มีหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติของคุณภาพชีวิต มิติแรงงาน มิติสิ่งแวดล้อม รวมถึง สิ่งสำคัญคือมิติการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ที่ผมอยากจะเน้นตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ ที่สุดเรื่องหนึ่งในการศึกษาของกรรมาธิการชุดนี้นะครับ ในมิติแรงงานครับ คำถามแรกที่เรา ควรจะตั้งคือเรากำลังสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษในอุตสาหกรรมชนิดใด และเรามีแรงงาน ที่เหมาะสมในด้านนั้นหรือไม่ จากรายงานข้างต้นที่ผมได้อ่านก็พบว่าจะเป็นการส่งเสริม อุตสาหกรรมในภาคเกษตรกรรม Digital ท่องเที่ยว และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ท่านประธาน ครับ เราทราบกันดีว่าภาคเหนือเรามีเกษตรกรรม แต่ถ้าเราจะพัฒนาสิ่งที่เราต้องคำนึงถึง เป็นอันดับต้น ๆ คือเราจะทำอย่างไรให้คนทำงานในภาคเกษตรมีรายได้เพิ่มขึ้น แรงงาน มีความมั่นคงเพิ่มขึ้น มีรายได้ที่ดี ปัจจุบันแรงงานในภาคเกษตรมีรายได้ต่ำมากนะครับ ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำอีกครับ แล้วเรื่องสำคัญที่เราต้องตระหนัก คือแรงงานภาคเกษตรเป็น Seasonal Labor หรือแรงงานตามฤดูกาล เราจะทำอย่างไรให้เขาเหล่านี้มีรายได้ทั้งปี ไม่ต้องขึ้นอยู่กับฤดูกาล สำหรับเกษตรกรเราจะทำอย่างไรให้เขามีราคาผลผลิตที่ดีขึ้น ราคา ต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง และที่สำคัญครับ ไม่เกิดการเปลี่ยนจากเจ้าของกิจการตัวจริงไปเป็น ลูกจ้างรูปแบบใหม่ที่มักหลอกลวงชาวบ้านด้วยคำสวยหรูว่า เกษตรพันธสัญญาหรือ Contract Farming ที่ทุนใหญ่กินรวบทั้งหมด หลอกเกษตรกรว่าเป็นการลงทุนร่วม แต่ต้อง ซื้อวัตถุดิบจากนายทุน ซื้อปุ๋ยจากนายทุน ซื้อยาจากนายทุน แล้วก็ต้องขายให้นายทุนอีก แบบที่นายทุนก็เป็นคนกำหนดมาตรฐานราคา รับซื้อทุกอย่าง เกษตรกรไม่มีอำนาจต่อรอง อะไรเลย นายทุนได้กำไรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ มาใช้เกษตรกรเป็นแรงงานฟรี ๆ บนที่ เกษตรกร รวมทั้งปัญหาพ่อค้าคนกลางต่าง ๆ ผมว่าเรื่องนี้ในกรรมาธิการต้องคุยกัน ให้ละเอียดนะครับ ถ้าแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ ไม่มีวันยกระดับชีวิตคนในภาคเกษตรกรได้เลย ครับ ด้านท่องเที่ยวและบริการผมไม่ห่วงนะครับ งานบริการคนไทยเองไม่แพ้ชาติใดในโลก อยู่แล้ว แต่ที่ต้องมาคิดและให้ความสำคัญ คือคุณภาพชีวิตคนทำงานในภาคบริการ ยกตัวอย่างจังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอันดับต้น ๆ ของประเทศ แต่ในปัจจุบันคุณภาพชีวิตคนทำงานในภาคบริการในจังหวัดเชียงใหม่นั้นแย่มาก รายได้ สวนทางกับค่าครองชีพ แรงงานในภาคบริการจำนวนมากได้รายได้ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ทั้ง ๆ ที่ทำงานหนัก ทำงานในวันหยุด โอทีส่วนมากก็ไม่ได้กันครับ ไม่มีประกันสังคม จำนวนมาก เป็นลูกจ้างรายวัน ไม่ทำงานก็ไม่ได้เงิน ทั้ง ๆ ที่ที่นี่คือเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ นี่คือชีวิตคนที่ ขับเคลื่อนฟันเฟืองเศรษฐกิจสำคัญของประเทศอยู่หรือครับท่านประธาน ผมยืนยัน ถ้าคนทำงานในภาคบริการไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดี เราไม่มีวันพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ได้ครับ หรือหากจะผลักดันให้เป็น Medical Hub นั้น เรื่องนี้เรื่องใหญ่มาก ผมเองไม่กังวล เรื่องฝีมือหรือศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์เรา แต่ที่ผมกังวลคือในวันนี้เรากำลังขาด แคลนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์แทบทุกสาขา เราจะผลักดันให้เกิด Medical Hub ได้เราต้องหาทางรองรับแก้ไขเรื่องพวกนี้นะครับ นี่ยังไม่นับว่าปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์ มีภาระงานจำนวนมากจนทยอยลาออกกันจำนวนมาก ถูกใช้งานหนัก ไม่มีเวลาพักผ่อน ไม่มี คุณภาพชีวิตที่ดี นี่อีกปัญหาหนึ่งที่เราต้องเร่งแก้ไข ถ้าจะสร้างสิ่งที่เรียกว่า Medical Hub ขึ้นมาให้ได้นะครับ และอีกประเด็นหนึ่งในด้านการแพทย์ สิ่งที่เรียกว่าแพทย์อาชีวอนามัย หรือแพทย์ที่ดูแลในเรื่องการเจ็บป่วยจากการทำงาน ซึ่งมีอยู่น้อยมากในประเทศนี้ ยกตัวอย่างใน EEC ก็ไม่ได้มีเป้าว่าจะเป็น Medical Hub แต่ว่าใน EEC มีแพทย์อาชีวอนามัย อยู่ในโรงพยาบาลรัฐ ทางภาคตะวันออกไม่เกิน ๑๐ คน ทั้ง ๆ ที่ต้องดูแลแรงงานทั้ง EEC กว่า ๒ ล้านคน เรื่องนี้ก็ต้องรบกวนให้ศึกษาเพิ่มเติมเข้าไปด้วยนะครับ หากจะไป อุตสาหกรรมอื่น ๆ ก็ต้องไปดูครับว่าเราจะพัฒนาฝีมือแรงงานอย่างไร

    อ่านในการประชุม

  • ๙๐/๑ แล้วจะมีใครมาลงทุนหรือไม่ หลาย ๆ อุตสาหกรรม การที่ต่างชาติเลือกมาลงทุน ทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องค่าแรงถูกนะครับ ค่าแรงถูกเป็นเรื่องเล็กมากเลยครับ แต่เป็นเรื่องของฝีมือแรงงาน โดยเฉพาะฝีมือแรงงานระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับระบบจักรกลอัตโนมัติ AI ต่าง ๆ เรื่องนี้ต้องมี การพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงานอย่างสูง ถ้าหากไทยไม่มีแรงงานในด้านเหล่านี้เพียงพอ ก็ย่อมไม่มีคนมาลงทุน หรือถ้าหากมาลงทุน ก็จะเกิดแบบที่ EEC เลยครับ มาลงทุนแต่ขน แรงงานเข้ามาด้วย ท้ายที่สุดคนไทยและประเทศไทยไม่ได้อะไรเลยนอกจากค่าเช่าครับ แรงงานไทยไม่เกิดการพัฒนา ไม่เกิดการส่งต่อเทคโนโลยี เรื่องนี้ต้องระวังให้มากนะครับ ต้องมีการเร่งพัฒนาฝีมือแรงงานดังกล่าวไว้เพื่ออนาคตทันที

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรืออุตสาหกรรม Digital ที่อยู่ใน แผนการดำเนินงาน แรงงานในส่วนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และ Digital จำนวนมาก ในปัจจุบัน อาจจะดูเหมือนมีรายได้ที่สูง แต่จริง ๆ แล้วคุณภาพชีวิตไม่ได้ดีเลย ปัจจุบัน แรงงานกลุ่มนี้มีสภาพการจ้างงานที่แย่มาก ส่วนมากมักเป็นแรงงานที่เราเรียกว่า แรงงาน อิสระ หรือ Freelance ซึ่งคนก็มักเข้าใจว่าคนเหล่านี้เป็นนายตัวเอง อยากทำงานตอนไหน ก็ทำ แต่ในความเป็นจริง คนเหล่านี้ก็คือคนทำงานคือลูกจ้างนี่ละครับ นายจ้างก็เป็นคน กำหนดอยู่ดีว่า งานต้องเสร็จเมื่อไร กรอบการทำงานเป็นอย่างไรบ้าง แล้วคนทำงาน ในอุตสาหกรรมนี้ทำงานหนักมาก วันหนึ่งทำงานเกิน ๘ ชั่วโมง แน่นอนเป็นอาชีพที่ต้อง ถูกบีบให้ทำงานตลอดเวลา ไม่ทำงานก็ไม่มีกิน ไม่มีสวัสดิการรองรับ ไม่มีกองทุนเลี้ยงชีพ กองทุนรวมประกันกลุ่ม อะไรไม่มีเลยครับ ป่วยขึ้นมาจ่ายค่ารักษาเอง และแน่นอน สิ่งที่ตามมาคือขาดรายได้ นี่ไม่ต้องพูดถึงเรื่องที่ไม่มีเกณฑ์มาตรฐานเรื่องค่าจ้าง ไม่มีสิทธิ ในการรวมตัวต่อรอง หลาย ๆ ประเทศครับ นิยามว่านี่คือทาสสมัยใหม่ เรื่องนี้ถ้าไม่แก้ไข พัฒนาก็ไม่มีวันพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อุตสาหกรรม Digital ได้อย่างยั่งยืนครับ

    อ่านในการประชุม

  • อีกประเด็นคือประเด็นคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้อาจจะเทียบเคียง ได้ยากสักเล็กน้อย เพราะว่าพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของ EEC ที่ผมอยู่กับบริเวณภาคเหนือ ตอนล่างนั้นต่างกัน แต่สิ่งที่ผมอยากให้ตระหนัก คือการเข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจหรือ อุตสาหกรรมใด ๆ ต้องทำให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ก่อนครับ ก่อนที่จะให้โรงงาน อุตสาหกรรม การตัดถนนก็ต้องให้คนพื้นที่ใช้ก่อน ไม่ใช่ว่าอย่างบ้านผมถนน ๒ เลนก็ยังให้ รถบรรทุกมาวิ่งผ่ากลางชุมชนอยู่เลยครับ การแบ่ง Zone ต้องชัดเจน น้ำประปา ไฟฟ้า ให้ประชาชนก่อนครับ ไม่ใช่ให้โรงงานก่อน EEC เป็นอย่างนี้ตลอด บ้านชาวบ้านน้ำไม่ไหล แต่ว่าโรงงานไม่เคยหยุดไหล นี่ยังไม่นับเรื่องคุณภาพน้ำอีกนะครับ และที่สำคัญคือเรื่อง ฝุ่นควัน ที่หลายจังหวัดในพื้นที่ดังกล่าวก็ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว เป็นฤดูกาลครับ เราต้อง ระวังไม่ให้อนาคตจากที่ภาคเหนือตอนล่างมีฝุ่นปีละ ๒-๓ เดือน กลายเป็นฝุ่นทั้งปีทั้งชาติ มาตรการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพอากาศก็ต้องได้รับการศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ มากขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • และสุดท้ายประเด็นที่สำคัญที่สุด ประเด็นหนึ่งคือประเด็นการมีส่วนร่วม ของประชาชน ผมยืนยันครับว่า ผมไม่ได้ถ่วงความเจริญ ผมเห็นด้วยให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจ หลาย ๆ ที่ทั่วประเทศ แต่สิ่งที่เป็นบทเรียนจาก EEC คือ พ.ร.บ. EEC มีลักษณะผูกขาด อำนาจที่สุด ใช้อำนาจทั้งหมดขึ้นอยู่กับบอร์ดไม่กี่คน มีการยกเว้นกฎหมาย ไม่บังคับใช้ กฎหมายหลายฉบับ โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพ และสิ่งแวดล้อม ผมไม่อยากให้พื้นที่อื่นต้องประสบชะตากรรมแบบ EEC ครับ ผมอยากให้พี่น้องในทุกที่มีสิทธิ ตัดสินใจว่าจะสร้างพัฒนาพื้นที่เหล่านั้นอย่างไร จะมีโรงไฟฟ้าไหม จะมีโรงเผาขยะได้ หรือเปล่า เส้นทางไหนรถบรรทุกจะวิ่งได้บ้าง ประชาชนในพื้นที่ต้องมีส่วนร่วมในการออกเสียง และที่สำคัญต้องมีสิทธิได้รับรู้ข้อมูลที่ครบถ้วน มีกระบวนการรับฟังที่โปร่งใส ประชาชน มีสิทธิคัดค้านและสนับสนุน มีคำหนึ่งที่รัฐมักพูดว่าคนในพื้นที่เป็นคนเสียสละ ที่ทำให้ ประเทศเจริญเติบโต ผมไม่อยากเห็นคนต้องเสียสละอีกแล้ว ประเทศนี้ไม่ควรมีใครต้อง เสียสละอีกแล้ว แต่เราต้องพัฒนาไปพร้อมกัน เราต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ก้าวแรก เพื่อจะได้เป็นการพัฒนาร่วมกันในทุกมิติ ผมขอสนับสนุนให้มีการตั้งกรรมาธิการชุดนี้ครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม สหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี เขต ๗ พรรคก้าวไกลครับ ขอปรึกษาหารือกรณีแหล่งโบราณคดีโคกพนมดีที่ไม่ได้รับการบำรุงดูแลรักษาและติดขัด เรื่องงบประมาณครับ

    อ่านในการประชุม

  • แหล่งโบราณโคกพนมดีอยู่ในพื้นที่อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรีแหล่งโบราณคดีนี้ เป็นแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์มีความสำคัญมาก ในเชิงการศึกษา เป็นพื้นที่ก่อนประวัติศาสตร์ ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ ปี ท่านประธานครับ เป็นไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่มีร่องรอยของกลุ่ม Polynesians หรือกลุ่มชนเผ่าริมชายฝั่ง ซึ่งถือว่าหายากมากในไทยครับ ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมที่นี่ร่วมกับคุณภานุพงศ์ คำมูลอามาตย์ อดีตผู้สมัคร สส. ของพรรคก้าวไกล และพบว่าเป็นแหล่งความรู้ที่ดีมาก ทางกรมศิลปากร ได้ทำตัวอาคารจัดแสดงนิทรรศการไว้ดีมาก มีทั้งหลุมขุด แบบจำลองข้าวของเครื่องใช้ และการจำลองวิถีชีวิตของมนุษย์ยุคโบราณก่อนประวัติศาสตร์ ช่วยให้เราเข้าใจที่มาที่ไป ของบริเวณภาคตะวันออกในยุคโบราณได้ดียิ่งขึ้น หากดูในภาพนี้จะเห็นว่าทางกรมศิลปากร ได้จำลองสิ่งต่าง ๆ พร้อมสื่อวีดิทัศน์ต่าง ๆ ไว้อย่างสมบูรณ์ ควรผลักดันให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ให้นักเรียนในพื้นที่ภาคตะวันออกได้มาศึกษาเรียนรู้ทัศนศึกษาความเป็นมาของท้องถิ่นตัวเอง เราสามารถสร้างเป็นเส้นทางประวัติศาสตร์การเรียนรู้ได้ เช่น เรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ ก็มาดูที่นี่โคกพนมดี ถ้ายุคประวัติศาสตร์อาจไปที่เมืองศรีมโหสถ เพื่อเรียนรู้ในยุคทวารวดีต่อ

    อ่านในการประชุม

  • ปัญหาที่เกิดขึ้นคืออย่างนี้ครับท่านประธาน ก่อนหน้านี้กรมศิลปากร ได้ทำการขุดค้นและสร้างอาคารสถานที่ไว้ให้ ๒ อาคาร ภายในพื้นที่ของวัดโคกพนมดี ประกอบด้วยอาคารนิทรรศการ ๑ อาคาร และอาคารอเนกประสงค์อีก ๑ อาคาร ซึ่งก่อนหน้านี้ทางกรมศิลปากรเป็นคนดูแลครับ แต่เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ที่ผ่านมา ก็ส่งมอบ กุญแจอาคารและมอบอำนาจให้กับ อบต. ท่าข้าม เป็นผู้ดูแล ปัญหาอยู่ที่ตรง อบต. ท่าข้าม เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็ก ไม่ได้มีงบประมาณในการดูแลมากเพียงพอ ซึ่งวันนี้ ที่นี่แทบจะถูกทิ้งร้าง ทาง อบต. โดยนายก อบต. คุณนิยม ราชนิยม พยายามให้มีคนเข้าไป ดูแล แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ตอนนี้พื้นที่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เช่นนี้ไม่สามารถเข้าชม ได้อย่างสะดวกนะครับ ถ้าวันนี้ผมจะไปเข้าชมต้องติดต่อไปทาง อบต. ก่อนล่วงหน้า ๑ วัน เพราะไม่มีงบประมาณในการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ตอนผมไปคนที่ดูแลอาคารสถานที่ก็ต้องไป ต่อน้ำต่อไฟให้ผมเข้าเยี่ยมชมครับ ปัญหาหนึ่งอาคารอเนกประสงค์เหล่านี้มีสภาพที่ไม่สมบูรณ์ ไม่พร้อมส่งมอบ ถ้าดูในภาพจะเห็นเลยครับ ประตูพัง หลอดไฟพัง ฝ้าเพดานต่าง ๆ พังหมด แอร์ก็ติดตั้งไม่เสร็จ สถานการณ์ตอนนี้คือ อบต. ก็ยังไม่ได้รับตัวอาคารมาเต็มตัว เนื่องจาก เกิดสภาวะสุญญากาศ ซึ่งก็อาจจะต้องเร่งส่งมอบในเร็ววัน อย่างไรก็ตามกรมศิลปากรก็ควร ต้องไปจัดการสิ่งต่าง ๆ ให้เรียบร้อยก่อนครับ ผมขอปรึกษาหารือท่านประธานผ่านไปยัง กรมศิลปากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครับ ๑. ทางกรมศิลปากรจะสามารถปรับปรุงอาคาร สถานที่ให้เรียบร้อยก่อนที่จะส่งมอบไปทาง อบต. ได้หรือไม่ ๒. จะมีทางไหนที่สนับสนุน งบประมาณให้กับทาง อบต. ไปดูแลเรื่องนี้ได้หรือไม่ ผมเป็นคนที่สนใจประวัติศาสตร์ครับ ท่านประธาน ผมอยากเห็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นถูกให้ความสำคัญมากขึ้น ไม่ใช่มีแต่ ประวัติศาสตร์แห่งชาติ แล้วแหล่งโบราณคดีเก่าแก่เช่นนี้และมีคุณค่าเช่นนี้ ควรถูกให้ ความสำคัญมากกว่านี้ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาครับ ผม สหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี เขต ๗ พรรคก้าวไกล ขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายใน ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาและจัดทำมาตรการ ป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟู และเยียวยากรณีน้ำมันรั่วไหลทางทะเล ผมขอเริ่มอย่างนี้ท่านประธานครับ เรื่องของน้ำมันรั่วไหลทางทะเลนั้นเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ต่อเนื่องไปถึงประเด็นเศรษฐกิจ น้ำมันรั่ว ๑ ครั้งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล มหาศาล ซึ่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจะส่งผลต่อมาถึงจำนวนสัตว์ทะเล สภาพปะการัง คราบน้ำมันบนชายหาด ซึ่งส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจในภาคประมง จับสัตว์ทะเลได้น้อยลง อาหารทะเลก็ขายยาก เพราะคนก็ไม่กล้ากิน กลัวเจอน้ำมัน ไหนจากการท่องเที่ยวที่ส่งผล กระทบครับ ใครจะอยากดูทะเลที่มีคราบน้ำมันครับ นี่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและต้องใช้ ระยะเวลาที่ฟื้นฟูนานมาก ๆ เป็นหลัก ๑๐ ปีกว่าจะกลับมาคืนสภาพเดิมได้ เพราะฉะนั้น นี่เป็นปัญหาที่มีผู้ได้รับผลกระทบเยอะมาก ๆ เป็นปัญหาที่ใหญ่มาก ๆ เอาแค่ไหน Zone บ้านผมที่ภาคตะวันออกเป็นแหล่งอุตสาหกรรม เป็น EEC แถมยังเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวด้วย แต่ก็มีเหตุการณ์น้ำมันรั่วแค่ใน ๑-๒ ปีนี้ก็เป็น ๑๐ ครั้งแล้ว เรื่องแบบนี้ส่งผลกระทบมาก เพราะนี่คือปัญหาของภาคอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ภาคประมง และ ภาคการเกษตร แล้วจนถึงตอนนี้ยังไม่มีใครรับผิดชอบต่อรายได้ของคนกลุ่มนี้ที่ขาดหายไป ในเชิงกระบวนการเพื่อรับมือปัญหาดังกล่าวเองก็มีปัญหาหลายอย่าง ซึ่งหลังจากนี้เพื่อน สมาชิกได้อภิปรายต่อไป แต่ผมจะขอพูดถึงส่วนสำคัญส่วนหนึ่ง ที่สำคัญไม่แพ้ส่วน อื่น ๆ เลย

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก คือเรื่องของการสืบสวนข้อเท็จจริง การสอบสวนข้อเท็จจริงนี้สำคัญ มากนะครับ เพราะเหตุการณ์เหล่านี้เป็นเหตุการณ์ที่กระทบชีวิตของคนจำนวนมาก แต่การ สืบสวนเรื่องนี้กับมีปัญหาที่ไม่น่าจะมีปัญหา ขอตัวอย่างจากคลิปวิดีโอครับ

    อ่านในการประชุม

  • คลิปวิดีโอนี้คือจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่ จังหวัดระยองในปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา ในคลิปที่เห็นคือท่านอภิชาติ ศิริสุนทร ประธาน คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแถลงการดำเนินงานของ หน่วยงานรับผิดชอบจากกรณีหลังจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วในวันสองวันเองครับ ซึ่งก็มีการปล่อยเรือที่ควรจะยึดไว้ออกไปจากประเทศเรา ผมเป็นคนถ่ายวิดีโอนี้ด้วยตัวเอง นะครับ ตอนฟังคำตอบของผู้รับผิดชอบนั้นผมตกใจมากครับ ก็น่าจะได้ยินเสียงอ้าวในคลิป นะครับ จากคลิปท่านอภิชาติได้สอบถามว่าตอนนี้เรืออยู่ที่ไหน ได้ยึดไว้เพื่อทำการตรวจสอบ หรือไม่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้รับผิดชอบได้ปล่อยให้เรือลอยลำออกจากน่านน้ำไปโดยไม่ยึดทำ การตรวจสอบก่อนครับ ทำไมต้องยึด ผมขออธิบายแบบนี้ครับ เหตุการณ์น้ำมันรั่ว ในปี ๒๕๕๕ นั้นเป็นการรั่วจากเรือขนถ่ายน้ำมันจากเรือที่ขนน้ำมันมาขึ้นไปสู่บนบก ทีนี้ พอรั่วแล้ว วิธีง่าย ๆ ที่จะรู้ว่ารั่วกี่ลิตร คือดูว่าเรือขนมาเท่าไร พอขนย้ายจนรั่วสุดท้ายบนบก เหลือเท่าไร บนเรือเหลือเท่าไร หายไปเท่าไร ที่หายไปก็คือที่รั่ว แต่พอเรือไปแล้วเราไม่ สามารถสืบสวนข้อเท็จจริงได้ว่าสุดท้ายจริง ๆ แล้วน้ำมันรั่วไปเท่าไรกันแน่ ได้แต่คาดคะเน รวมถึงกระบวนการสืบสวนว่ารั่วจากไหนกันแน่ รั่วที่เรือ รั่วที่สายส่ง หรือเป็นความผิดของ บนบกก็หายไป เพราะท่านปล่อยเรือออกนอกประเทศไปแล้ว นี่เราปล่อยผู้ต้องสงสัยก่อเหตุ ที่ส่งผลกระทบมหาศาลไปนอกประเทศแบบชัดเจนนะครับ คลิปนี้เป็นวิธีการสืบสวนแบบไหน เรื่องนี้สำคัญมาก แล้วกระบวนการสืบสวนสอบสวนที่ผ่านมาก็มีปัญหาอีกมากมาย เรื่องนี้อยากจะฝากคณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะศึกษาเรื่องนี้ศึกษาอย่างถี่ถ้วนนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • อีกเรื่องหนึ่งคือกระบวนการฟ้องร้องที่ผ่านมา กระบวนการฟ้องร้องนั้น แบ่งเป็น ๓ ส่วน คือการที่หน่วยงานรัฐฟ้อง ซึ่งก็เป็นการฟ้องตามหน้างาน ตามหน้าที่ ที่กระบวนการก็ไม่ค่อยคืบหน้า อีกส่วนหนึ่งคือการฟ้องร้องทางปกครองที่ทางชาวบ้านก็ต้อง รวมตัวกันฟ้องเอง และส่วนสุดท้ายที่ส่วนสำคัญคือกระบวนการฟ้องร้องทางแพ่ง ซึ่งก็ฟ้อง โดยชาวบ้านเช่นกันครับ ปัญหาสำคัญคือเรื่องที่กระทบคนมากมายขนาดนี้เราไม่มีการออก มาตรการเยียวยาหรือไม่มีกฎหมายมารองรับเลยว่าเวลาเกิดเหตุแบบนี้จะมีมาตรการเยียวยา อย่างไรบ้าง และการฟ้องร้องแต่ละครั้งชาวบ้านต้องเป็นคนออกทุนเองทั้งหมด แล้วกว่า กระบวนการจะยุติได้ก็นานมาก เวลาได้รับการเยียวยาก็เป็นแนวทางไกล่เกลี่ย บริษัทก็โยน งบมาก้อนหนึ่งให้ไปทำ CSR ทำมาตรการฟื้นฟูต่าง ๆ ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำบ้าง ชาวบ้านที่อยู่ ตรงนั้นผลกระทบที่เกิดไปแล้ว และไหนผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมชายหาดต่าง ๆ ที่กว่า จะได้รับการฟื้นฟูมันนานนะครับ เราจะมีมาตรการไหนที่จะช่วย ๒ เรื่องนี้ได้ เรื่องแรก คือการฟ้องร้อง แทนที่จะให้ชาวบ้านรวมตัวกันฟ้องร้องเอง รัฐจะมีมาตรการไหนที่จะอำนวย ความสะดวกเรื่องนี้ เช่น ค่าธรรมเนียมการฟ้อง ทนายต่าง ๆ เราจะช่วยได้อย่างไรบ้าง รวมทั้งประเด็นการเยียวยาที่ต้องมีมาตรฐานขั้นต่ำในการชดเชยให้กับผู้ได้รับผลกระทบ ผู้ประกอบการชาวบ้านบริเวณนั้นโดยตรง โดยไม่ต้องฟ้องร้องกันอย่างยาวนานครับ นอกจากนั้นกระบวนการรับผิดที่เราจะต้องมาออกแบบกันว่าจะทำอย่างไรให้บริษัทเหล่านี้ มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ต้องรับผิดชอบมากขึ้นครับ ไม่ใช่แค่พอเกิดเหตุก็มาทำ CSR ที แล้วสิ่งแวดล้อมที่พังไปแล้ว รายได้ที่สูญเสียไปแล้ว สัตว์ทะเลที่สูญเสียไป ปะการัง ที่สูญเสียไป เราทำอย่างไรครับ เป็นในต่างประเทศทำน้ำมันรั่วนี้โดนฟ้องมหาศาล และต้อง รับผิดชอบดูแลฟื้นฟูต่อไปเป็นสิบ ๆ ปี แล้วดูที่ประเทศไทยครับ ภาคตะวันออกของผม บ้านเราไม่ได้มีแค่โรงงานอุตสาหกรรม เรามีแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้จำนวนมาก ถ้าเหตุการณ์แบบน้ำมันรั่วนี้ยังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ไม่มีใครอยากไปเที่ยวทะเลที่มีแต่คราบ น้ำมัน ก็ไม่มีใครอยากกินอาหารทะเลที่มีสิ่งปนเปื้อนสารเคมีต่าง ๆ อยากให้ศึกษาเรื่องนี้ดี ๆ และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม