ข้อมูลการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ชุดที่ 26

ปีที่ 1

สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง

ครั้งที่ 24 วันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม 2566 เวลา 10.37 - 18.59 นาฬิกา

เอกสารต้นฉบับ: บันทึกการประชุมบันทึกการออกเสียงและลงคะแนนรายงานการประชุมสรุปการประชุม

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ท่านสมาชิก ทุกท่านครับ ก่อนจะเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมในวันนี้ผมจะอนุญาตให้ท่านสมาชิก ได้ปรึกษาหารือในเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนตามข้อบังคับ ข้อ ๒๔ โดยให้สมาชิก ปรึกษาหารือท่านละ ๒ นาที ผมจะเชิญท่านสมาชิกตามลำดับรายชื่อที่ยื่นไว้แล้วนะครับ ท่านแรกขอเชิญคุณธเนศ เครือรัตน์ ครับ

นายธเนศ เครือรัตน์ ศรีสะเกษ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายธเนศ เครือรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ เขตเลือกตั้งที่ ๑ พรรคเพื่อไทย วันนี้มีเรื่องที่นำมาหารือท่านประธานผ่านไปยังท่านนายกรัฐมนตรี ดังนี้

นายธเนศ เครือรัตน์ ศรีสะเกษ ต้นฉบับ

จังหวัดศรีสะเกษเป็นจังหวัดที่มีพรมแดน ติดต่อกับประเทศกัมพูชา มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ คือปราสาทพระวิหาร ปราสาทพระวิหาร ถูกปิดมาแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ จนถึงปัจจุบันประมาณ ๑๕ ปี ในอดีตเราเคยมีปัญหา เรื่องพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยกับกัมพูชาจนนำไปสู่การสู้รบในที่สุดที่บริเวณชายแดน จังหวัดศรีสะเกษ แต่ในปัจจุบันนี้สถานการณ์ได้คลี่คลายแล้วประชาชนไปมาหาสู่กันโดยสะดวก มีความสัมพันธ์ที่ดี ท่านประธานจะเห็นได้ว่าท่านนายกรัฐมนตรี ท่านเศรษฐา ทวีสิน และคณะได้เดินทางไปเยือนประเทศกัมพูชาเป็นประเทศแรกในภูมิภาค ASEAN ซึ่งเป็นสิ่งชี้บอกว่าเรามีความสัมพันธ์ที่แนบแน่น ผมถึงอยากให้ท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรประสานงานไปที่ท่านนายกรัฐมนตรีให้เร่งเจรจากับประเทศกัมพูชา เพื่อเปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปเยี่ยมชมตัวปราสาทพระวิหารจากทางด้านจังหวัดศรีสะเกษ ปราสาทพระวิหารได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกตั้งแต่วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ตัวปราสาท พระวิหารนั้นถูกศาลโลกพิพากษาไปแล้วว่าเป็นของประเทศกัมพูชา แต่บันไดทางขึ้นอยู่บริเวณ ชายแดนจังหวัดศรีสะเกษ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ถึงแม้ว่ากัมพูชาจะได้ทำถนน ขึ้นไปที่ตัวปราสาทพระวิหารจากทางด้านฝั่งของกัมพูชา แต่ก็ไม่ได้รับความสะดวกเพราะว่า ระยะทางไกล แล้วที่สำคัญที่สุดก็คือไม่สวยงามเท่าที่ขึ้นจากทางด้านฝั่งของอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ กระผมได้นำเรื่องนี้เรียนท่านนายกรัฐมนตรีไปด้วยวาจาไปแล้วว่า ทางจังหวัดศรีสะเกษ ไม่ว่าจะเป็นท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ทุกคนมีความต้องการเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ทางรัฐบาลเร่งเจรจากับประเทศกัมพูชา ให้เปิดทางขึ้นเขาพระวิหารทางด้านฝั่งของจังหวัดศรีสะเกษ ในอดีตเคยมีนักท่องเที่ยว ขึ้นไปเยี่ยมชมปราสาทพระวิหารถึงปีละ ๗๐๐,๐๐๐ คน สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ให้กับจังหวัดศรีสะเกษเป็นอย่างยิ่ง กระผมจึงอยากขอให้ท่านประธานเร่งรัดไป ที่ท่านนายกรัฐมนตรีให้เจรจากับประเทศกัมพูชาโดยด่วนด้วยครับ ขอกราบขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอเชิญคุณฉัตร สุภัทรวณิชย์ ครับ

นายฉัตร สุภัทรวณิชย์ นครราชสีมา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม ฉัตร สุภัทรวณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑ หน้าย่าโม พรรคก้าวไกล วันนี้ผมมีเรื่องมาหารือกับท่านประธานสภาเกี่ยวกับ เรื่องร้านน้ำกระท่อมครับ ในเขตพื้นที่ในตัวเมืองนครราชสีมา เขตอำเภอเมืองที่ผ่านมา หลายเดือนมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องร้านน้ำกระท่อมครับ

นายฉัตร สุภัทรวณิชย์ นครราชสีมา ต้นฉบับ

ประการแรก ต้องขอขอบพระคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านรองผู้ว่า ราชการจังหวัด ในช่วง ๒-๓ สัปดาห์ที่ผ่านมาท่านได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนที่จะป้องปราม ปัญหาที่เกิดขึ้นตรงนี้ เพราะว่ามีความเดือดร้อนจากพี่น้องประชาชนมากมายร้องเรียน ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ร้องเรียนมาทาง สส. แต่หลังจากที่เราได้ลงพื้นที่และเก็บข้อมูลแล้ว เราจะพบว่าปัญหาร้านน้ำกระท่อมในเขตโคราชนั้นมีอยู่ด้วยกัน ๒ มิติครับ

นายฉัตร สุภัทรวณิชย์ นครราชสีมา ต้นฉบับ

ในส่วนแรกเป็นส่วนของผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการเองก็พยายาม ที่จะทำร้านด้วยความรอบคอบรัดกุม แต่ก็ถูกเรียกรับผลประโยชน์อื่น ๆ หรือเรียกว่า ส่วย นั่นเอง ถูกเรียกรับส่วยค่อนข้างเยอะพอสมควร

นายฉัตร สุภัทรวณิชย์ นครราชสีมา ต้นฉบับ

อีกมิติหนึ่ง ก็คือเป็นเรื่องของสังคม เป็นเรื่องของผู้ปกครอง เป็นเรื่องของ ชุมชนที่อยู่แวดล้อม แล้วก็เห็นการดำเนินธุรกิจของร้านน้ำกระท่อม ก็มีความห่วงใยเพราะว่า มีเยาวชน มีนักเรียน มีคนทั่วไปได้มาอุดหนุน ร้านน้ำกระท่อมนี่เมื่อเราดูจริง ๆ แล้ว เขาก็เปิดใบอนุญาตทั่วไปเลย คือเป็นร้านน้ำชา เปิดได้ตลอด ไม่ได้จำกัดผู้ที่จะเข้า แล้วก็ ใบกระท่อมถูกเอาออกจากสารเสพติดแล้ว จึงอยากจะกราบเรียนท่านประธานสภา ผ่านท่านประธานสภาไปยังท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้โปรดใช้อำนาจหน้าที่ กำกับให้เกิดความชัดเจน แล้วก็จะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องร้านน้ำกระท่อมได้ด้วย ขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอเชิญ คุณสรัสนันท์ อรรณนพพร ครับ

นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร ขอนแก่น ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉัน นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขต ๙ พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันขอนำความเดือดร้อนของพี่น้องทั้งหมด ๓ เรื่องดังนี้ค่ะ

นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร ขอนแก่น ต้นฉบับ

เรื่องแรก ดิฉันได้รับคำร้องเรียนจากนายชัยวัฒน์ ดอกไม้งาม นายกองค์การ บริหารส่วนตำบลคอนฉิม อำเภอแวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากประชาชน บ้านดงบัง บ้านดอนโจด บ้านโคกสว่าง ตำบลคอนฉิม ขาดแคลนไฟฟ้าเพื่อการเกษตร และการดำรงชีวิตประจำวัน จึงอยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สาขาพล ช่วยจัดสรรงบประมาณอย่างพอเพียงในการขอขยายเขตไฟฟ้าเพื่อบรรเทา ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ค่ะ

นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร ขอนแก่น ต้นฉบับ

อีกปัญหาใหญ่จากตำบลคอนฉิม อำเภอแวงใหญ่ คือน้ำอุปโภคที่ไม่สะอาด และมีสภาพน้ำขุ่น เนื่องจากหนองประจำบ้านเป็นน้ำดิบมีผลกระทบอย่างน้อย ๆ ๒๐๓ หลังคาเรือน จึงใคร่ขอการจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอเข้าพื้นที่

นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร ขอนแก่น ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ พื้นที่ชาวไร่ชาวนาบริเวณโดยรอบโครงการขุดลอกแก้มลิง บึงละหานนา คือบ้านทุ่งมน บ้านโนนทองหลาง ตำบลละหานนา บ้านรวง บ้านลาด บ้านโนนไท ตำบลท่าวัด อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น รวมไปถึงพี่น้องอำเภอ แก้งสนามนาง จังหวัดนครราชสีมา ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติน้ำท่วมทุก ๆ ปี ในฤดูน้ำหลาก สาเหตุหลักสืบเนื่องจากโครงการแก้มลิงบึงละหานนามีคันถนน ที่มีระดับสูงล้อมบึงและมีประตูกั้นน้ำระหว่างบึงกับห้วยนา ในฤดูน้ำหลากไม่สามารถ ระบายน้ำจากนาสู่บึงได้เพราะมีการเปิดปิดประตูน้ำที่ไม่สอดคล้องกับปริมาณน้ำ จึงเกิดความเสียหายทุกปี บวกกับคันถนนที่กั้นบึงมีระดับสูงกว่าพื้นที่นาและลำห้วยนา น้ำจึงไม่สามารถผ่านได้ ที่ผ่านมามีการแก้ไขปัญหาโดยการสูบน้ำออกจากนาเท่านั้น เพื่อบรรเทาตามสภาพสถานการณ์ การแก้ไขปัญหาอย่างถาวรมีความจำเป็นต้องสร้าง ทางระบายน้ำ Bypass จากห้วยนาลงลำชี บึงละหาน จึงฝากไปถึงกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อเร่งพิจารณาทำโครงการนี้เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวค่ะ ขอบคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญคุณกัณวีร์ สืบแสง ครับ

นายกัณวีร์ สืบแสง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายกัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ท่านประธานครับ วันนี้ขออนุญาตหารือท่านประธานในเรื่องที่ไม่สู้ดีครับ เมื่อวานนี้ผมได้รับ รายงานประสานจากทางตัวแทนญาติและครอบครัวผู้เสียหายผ่านทีมประสานงานช่วยเหลือ เหยื่อค้ามนุษย์ภาคประชาชนนะครับว่ามีคนไทยจำนวนมากกว่า ๑๐๐ กว่าคน ถูกค้ามนุษย์ อยู่ในประเทศเพื่อนบ้านของเรา บอกพิกัดเรียบร้อยแล้วนะครับ แต่ว่าวันนี้ผมจะยังไม่บอก ว่าพิกัดอยู่ที่ใด เพราะว่าผมมีหนังสืออันนี้ทีหลังจากการหารือจะเอาไปนำเรียนท่านประธาน ได้รับการประสานมาว่าจำนวน ๑๑๖ คน เป็นชาย ๖๕ คน เป็นหญิง ๔๖ คน ถูกหลอกลวง ไปค้ามนุษย์ผ่าน Social media เข้าข่ายการค้ามนุษย์ ทำงานก็ไม่ตรงต่อข้อตกลง มีการยึดโทรศัพท์ ทำร้ายร่างกาย บังคับบริการทางเพศ ถ่าย Video ลามก ต้มตุ๋น Online ทำร้ายร่างกาย เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ครับท่านประธาน แต่ว่าไม่สามารถที่จะยอมรับได้ อีกต่อไป จำเป็นต้องมีการทำงานของทางรัฐบาลไทยอย่างเร่งด่วนในเรื่องนี้ จริง ๆ แล้ว ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจของจีนเทานั่นเองที่เพื่อนสมาชิกเคยอภิปรายในครั้งก่อน แต่ครั้งนี้ เราไม่สามารถยอมรับได้ เรายอมเห็นครับ ถ้าเรามองนี่เรามองในภาพกว้างว่าตอนนี้ธุรกิจจีนเทา รอบประเทศเราตั้งแต่บริเวณภาคเหนือของเรา ตั้งแต่เชียงรายลงมาถึงอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ของเรา มีธุรกิจจีนเทาอยู่รอบประเทศเรา แล้วทำให้มีการตกลงของบางอย่างเกิดขึ้น ทำให้คนไทย หลาย ๆ คน ไม่ใช่คนไทยอย่างเดียวคนหลายประเทศถูกค้ามนุษย์มาอยู่ในพื้นที่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นจำเป็นเร่งด่วนที่ทางการไทยต้องหาทางช่วยเหลือพี่น้องของคนไทยออกมาจาก การค้ามนุษย์ครั้งนี้ ก็อยากจะขอเรียนอย่างนี้ครับว่า ในอาทิตย์ที่ผ่านมา ในเดือนที่ผ่านมานี้ ทางท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ร่วมกับ ครม. ได้ไปเยือนจังหวัดเชียงราย แล้วก็ มีการพูดคุยว่าจะมีการทำสะพานข้ามแม่น้ำโขงไป ก็อยากให้พิจารณาให้ดีตรงนี้ว่าเราไม่ควร ที่จะยอมรับในการที่จะไปทำธุรกิจการฟอกเงินให้กับทางธุรกิจจีนเทาอันนี้ แต่อย่างไรก็ตาม อันนั้นเป็นภาพใหญ่ แต่ภาพเล็กก็ขอให้ทางรัฐบาลไทย ทางท่านนายกรัฐมนตรี ท่านรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านความมั่นคง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ช่วยพิจารณาเรื่องนี้เป็นการด่วนสำหรับ ๑๑๖ คน ขอบคุณท่านประธานครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญคุณเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ ครับ

นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังสังคมใหม่ ท่านประธานครับ ผมได้รับฝากเรื่องจากสมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล ฝากเรื่องไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทั้ง ๓ สมาคมนี้เขาอยากจะขอให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแยกสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นออกจาก กระทรวงมหาดไทยไปตั้งเป็นกระทรวงองค์กรส่งเสริมปกครองท้องถิ่น จะเป็นวาระ ที่การกระจายอำนาจให้เต็มตัว เพราะว่าสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเขามีความพร้อม อยู่แล้ว ท้องถิ่นทั้งประเทศมีอยู่ ๗,๐๐๐ กว่าแห่ง ไม่จำเป็นจะต้องไปสร้างสำนักงานใหม่ เพียงแต่แยกส่วนยกเอากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นออกจากกระทรวงมหาดไทย มาตั้งเป็นกระทรวงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น บุคลากร เงิน อุปกรณ์ วัสดุ อะไรทุกอย่างมันมีพร้อมอยู่แล้ว พร้อมที่จะตั้งเป็นกระทรวงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อจะได้การกระจายอำนาจให้เต็มร้อย ทุกวันนี้ภาระที่กระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น มันยังไม่ได้ถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์เลยครับท่านประธาน มันจำเป็นจะต้องแยกจากสำนักงาน ส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นออกจากกระทรวงมหาดไทย ก็ขอแจ้งให้กับท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทยด้วยครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณชยพล สท้อนดี ครับ

นายชยพล สท้อนดี กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม ชยพล สท้อนดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตหลักสี่ เขตจตุจักร พรรคก้าวไกล วันนี้ ผมมีเรื่องที่อยากจะหารือทั้งหมด ๘ เรื่องนะครับ

นายชยพล สท้อนดี กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

โดยในเรื่องที่ ๑ คือเรื่องของรถมอเตอร์ไซค์ขับขี่บนทางเท้า โดยเฉพาะ บริเวณศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ และแถวถนนพหลโยธินตลอดแนวถนนเลย ในเขตจตุจักร

นายชยพล สท้อนดี กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ คือขยะตันในท่อน้ำของเคหะแจ้งวัฒนะตันมาหลายปีมากแล้ว เป็นขยะที่ล้นขึ้นมาจนกระทั่งต้นไม้นี่สามารถงอกขึ้นมาจากกองขยะและเศษดินที่ตัน อยู่ข้างในท่อน้ำ ผมร้องเรียนมาหลายปีแล้วไม่มีความคืบหน้าอะไรใด ๆ ทั้งสิ้นเลยนะครับ

นายชยพล สท้อนดี กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ คืองบประมาณปรับปรุงอาคารชมรมผู้สูงอายุในเคหะทุ่งสองห้อง คืออยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบการใช้งบประมาณในการปรับปรุงอาคาร ที่เคยเป็นอาคารชมรมผู้สูงอายุมาก่อน เพื่อวัตถุประสงค์ของการใช้เป็นสาธารณประโยชน์ เพราะว่ามีการร้องเรียนเข้ามาว่าการเคหะช่วงนี้หลาย ๆ เขตมักจะชอบใช้งบประมาณ ในการปรับปรุงสถานที่ แต่ว่าเพื่อที่จะเอาไปใช้ปล่อยเช่าให้กับเอกชนต่อทีหนึ่ง ก็อยากจะ บอกว่าอย่าทำพฤติกรรมอะไรที่มันน่าสงสัยและน่าตั้งคำถามแบบนั้นเลยนะครับ เดี๋ยวเรา จะต้องตั้งคำถามกันอีกยาว ให้เราทำเพื่อสาธารณประโยชน์กันที่ตรงนี้ดีกว่า

นายชยพล สท้อนดี กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ ระเบียบการจอดรถในซอยแคบในหมู่บ้านปูนซิเมนต์เขตจตุจักร มีการจอดรถขวางทางเยอะมาก ในซอยแคบจนกระทั่งรถพยาบาลไม่สามารถเข้าออกได้ อยากให้เน้นย้ำเรื่องของกฎจราจรภายในหมู่บ้านที่มีซอยแคบด้วย

นายชยพล สท้อนดี กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๕ เรื่องของรถไฟฟ้าสายสีแดง รถไฟฟ้าสายสีแดงที่เพิ่งสร้างเสร็จมา เมื่อไม่กี่ปีมานี้หลายสถานีลิฟต์และบันไดเลื่อนใช้งานไม่ได้แล้ว คิดว่าน่าจะต้องดูเรื่อง Maintenance กันดี ๆ หน่อยนะครับ

นายชยพล สท้อนดี กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ต่อมาเรื่องที่ ๖ คือการกำชับทำรายงาน EIA นะครับ คอนโดมิเนียมสร้างใหม่ เยอะมากในช่วงนี้ทั้งเขตหลักสี่และเขตจตุจักร แล้วก็มีผลมีเรื่องร้องเรียนถึงผลกระทบ ที่ตามมาของ Site งานก่อสร้างเหล่านี้ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกำชับดูแล เรื่องของ EIA ของทุกโครงการที่เกิดขึ้นใหม่ด้วยนะครับ

นายชยพล สท้อนดี กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๗ คือไฟส่องสว่างไม่ติดแล้วก็น้ำขังบนสะพานที่ข้ามถนนวิภาวดีรังสิต ที่จะมาเชื่อมระหว่างฝั่งถนนรัชดาภิเษกและถนนประชาชื่น สะพานที่ข้ามมาไฟไม่ติด ไม่พอ มืดมิดสนิทใจต้องหวังพึ่งแสงดวงจันทร์ไม่พอ ยังมีน้ำขังไว้เป็นกับดักสำหรับคนที่ขับรถ ข้ามมาในเวลามืด ๆ วันที่ฝนตกด้วย

นายชยพล สท้อนดี กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้ายนะครับ คือปัญหายาเสพติดระบาดในชุมชน และเป็นชุมชน ที่อยู่ใกล้ชิดกับหน่วยงานราชการด้วย ก็ไม่แน่ใจว่ามีความเชื่อมโยงอะไรหรือเปล่า แต่ว่าส่วนใหญ่ที่ร้องเรียนเข้ามาจะเป็นชุมชนที่อยู่ติดหรืออยู่ด้านหลังของหน่วยงานราชการ ก็อยากจะให้กำชับกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกเรื่องเลยนะครับ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้งหมดว่าปัญหาตรงนี้ ขอฝากหารือกับท่านประธานครับ ขอบคุณมากครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอเชิญคุณพรชัย ศรีสุริยันโยธิน ครับ

นายพรชัย ศรีสุริยันโยธิน บุรีรัมย์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม พรชัย ศรีสุริยันโยธิน พรรคภูมิใจไทย จังหวัดบุรีรัมย์ เขตเลือกตั้งที่ ๗ ท่านประธานครับ ผมมีเรื่องที่จะหารือกับท่านประธานถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในการใช้ถนนสัญจร

นายพรชัย ศรีสุริยันโยธิน บุรีรัมย์ ต้นฉบับ

ถนนหมายเลข ๒๑๖๖ ของกรมทางหลวง เชื่อม ๒ จังหวัด เริ่มตั้งแต่บ้านโนนศรีคูณ ตำบลหนองหงส์ถึงอำเภอหนองกี่ แล้วก็เลยไปถึง พี่น้องอำเภอเสิงสางกับอำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ท่านประธานที่เคารพครับ ผมได้รับการร้องขอจากผู้นำชุมชนทั้งท้องที่และท้องถิ่นให้ลงไปสำรวจ ถนนเส้นนี้เป็นถนน ๒ เส้น ๒ ช่องจราจร สร้างมานานหลายสิบปีแล้วท่านประธานครับ ไม่ทราบว่าทั้ง ๒ หน่วยงาน ระหว่างกรมทางหลวงกับการไฟฟ้าได้คุยกันหรือเปล่า พี่น้องบ้านผมร้องเรียนว่า ถนนก็แคบอยู่แล้วประมาณ ๙ เมตร แต่ไฟฟ้าก็ไปสร้างไปปักเสาไฟฟ้าล้ำเข้ามาในเขต ของทางหลวง กราบเรียนท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ประสานเรื่องนี้ด้วย งบประมาณมีอยู่แล้ว ผมหารือกับท่านแขวงการทางท่านณรงค์ศักดิ์ นันทคำภิรา มีงบประมาณ ตั้งแต่สมัยท่านศักดิ์สยาม ชิดชอบ ตั้งไว้ประมาณ ๑๘๘ ล้านบาท ถนนเสียหายมาก อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเร่งดำเนินการด้วย ผมลงไปตรวจพร้อมกับท่านนายอำเภอ ท่านผู้กำกับการ ท่าน สจ. หลายครั้งก็ยังไม่ได้ดำเนินการ ขอบคุณแทนชาวจังหวัดบุรีรัมย์ เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ผ้าไหมสวย รวยวัฒนธรรม ขอบคุณครับท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญคุณวิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ ครับ

นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย พรรคเพื่อไทย ดิฉันขอหารือกับท่านประธานเป็นเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนจังหวัดเชียงราย

นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ คือขอติดตั้งไฟส่องสว่างช่วงที่เป็นจุดเสี่ยง จุดกลับรถเป็นทางแยก ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรบนเส้นทางถนนพหลโยธิน ทางหลวงหมายเลข ๑ ในช่วงเขตพื้นที่ ของอำเภอพานไปบ้านแม่เย็น อบต. ม่วงคำ ไปหน้าโรงพยาบาลพาน หน้าวัดชัยมงคล ตลอดจนไปถึง อบต. ธารทอง เพราะตลอดเส้นทางนี้มีจุดกลับรถเถื่อน ไม่มีเกาะกลางถนน ไม่มีสัญญาณไฟจราจรทำให้เกิดอุบัติเหตุในท้องถนนบ่อยมาก เป็นถนนสายหลักด้วย มีรถทัวร์ รถบรรทุก รถใหญ่วิ่งด้วยความเร็วสูง จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลด้วย

นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ปัญหาความเดือดร้อนในเรื่องของภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ของ พี่น้องชาวตำบลสันมะเค็ด อำเภอพานและพื้นที่ใกล้เคียง ฝากผลักดันดูแลโครงการฟื้นฟู แหล่งน้ำหนองกุ่ม พร้อมระบบกระจายน้ำผันน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผันน้ำ จากหนองกุ่มนี้ไปใช้ในการเกษตรและการประมง หนองกุ่มเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่กักเก็บน้ำไว้ ใช้ในการทำการเกษตรและรองรับน้ำในฤดูฝน ซึ่งเรื่องนี้ทางพื้นที่ได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงาน ทรัพยากรน้ำที่ ๑ ของลำปางไว้แล้วด้วยค่ะ

นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ เป็นเรื่องปัญหาจากพี่น้องเกษตรกรที่เป็นชาวนา อันนี้เรื่องใหญ่ เพราะตอนนี้เหล่าโรงสีมีการเล่นกับความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกร โดยรวมกลุ่มกัน เพื่อตั้งราคาข้าวที่ตัวเองพอใจ บังคับให้ชาวนาขายข้าวในราคาถูก ในพื้นที่ดิฉันได้รับรายงานมาว่า วันแรกเปิดมาที่ ๑๓ บาท วันที่ ๒ เหลือแค่ ๑๒.๘๐ บาท วันที่ ๓ วันที่ ๔ วันที่ ๕ จนปัจจุบันนี้ราคาต่ำมาเหลือที่ ๑๐ บาทแล้ว การกระทำแบบนี้เป็นการทำนาบนหลังคน ขูดเลือดขูดเนื้อกันแบบเอาให้ตายเลย อย่างนี้พี่น้องประชาชนชาวนาจะลืมตาอ้าปาก ได้อย่างไร ก็ต้องไปกู้หนี้กันเป็นวงจรซ้ำกันไป ซึ่งดิฉันจะไม่ยอมให้เป็นแบบนี้อีกต่อไป ฝากประธานเรื่องราคาข้าวด้วย แล้วก็ฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยลงพื้นที่ตรวจสอบ และรายงานกลับมาให้ทางดิฉันทราบด้วย แล้วตัวดิฉันเองทำงานประกบคู่ตรวจสอบ ไปอีกทางหนึ่ง ขอบคุณค่ะท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญคุณวีรวุธ รักเที่ยง ครับ

นายวีรวุธ รักเที่ยง กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม วีรวุธ รักเที่ยง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก เขตคลองสามวา จากพรรคก้าวไกล วันนี้ผมมีเรื่องจะปรึกษาหารือกับท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ๓ เรื่อง

นายวีรวุธ รักเที่ยง กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ เป็นเรื่องของถนน ปัจจุบันหนองจอกเรามีประชากรที่ย้ายถิ่นฐาน จากกลางเมืองเข้ามาอยู่ที่หนองจอกปริมาณมาก แต่ว่าถนนหนทางยังชำรุดทรุดโทรม อยู่จำนวนมาก ถึง ๑๐๐ กว่าเส้นทาง ดังนั้นผมอยากจะฝากประธานผ่านไปยังกระทรวงมหาดไทย ช่วยพิจารณาเพิ่มเติมงบประมาณในการจัดการซ่อมแซมถนนอยู่วิทยา ซอย ๑๓ และอยู่วิทยา ซอย ๑๖ ถนนอยู่วิทยา ซอย ๑๒ ถนนสุวินทวงศ์ ซอย ๕๑ และสุดท้าย ที่ถนนสุวินทวงศ์ ซอย ๙๘ ด้านท้ายเป็นโรงเรียนผลลีรุ่งเรือง มีนักศึกษา มีนักเรียน ที่ใช้เส้นทางนี้เป็นจำนวนมาก แต่ว่าถนนทรุดโทรมมากครับ

นายวีรวุธ รักเที่ยง กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องไฟฟ้าส่องสว่าง ก็มีถนนมิตรไมตรี ต้องการไฟฟ้าส่องสว่าง ต้องการเพิ่มเติมที่บึงแตงโมและบึงเขมร ก็ฝากท่านประธานผ่านไปยังการไฟฟ้านะครับ

นายวีรวุธ รักเที่ยง กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้ายเรื่องที่ ๓ เรื่องน้ำท่วม จากฝนตกที่ผ่านมาน้ำท่วม เป็นบริเวณกว้างในเขตหนองจอก ในกรุงเทพมหานครเราเป็นเขตเดียวต้องรับน้ำที่คลองสิบสาม คลองสิบสี่ บึงฝรั่ง เกาะกลางหมู่ที่ ๙ แล้วก็ถนนผดุงพันธ์และถนนสังฆสันติสุข เรียนท่านประธานอย่างนี้ครับ ผมได้ตรวจสอบแล้วว่าน้ำที่มาขังอยู่บริเวณนี้มาจากที่ใด ผมวิ่งไปที่รังสิตเหนือและรังสิตใต้ คลองระพีพัฒน์ ทางด้านเหนือไม่มีน้ำท่วมขัง เป็นการผันน้ำมาเพื่อให้กรุงเทพมหานครไม่ท่วมแต่ชาวหนองจอกต้องรับน้ำ พยายาม จะผันน้ำออกไปที่ฉะเชิงเทราผ่านไปยังท่าไข่ บางขนาก พระองค์เจ้าไชยานุชิต ผันน้ำ โดยไม่สัมพัทธ์กันทำให้น้ำท่วมขังอยู่ที่คลองสิบสี่ปริมาณมาก โดยปัจจุบันนี้ยังไม่มี การประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังไม่มีวี่แววว่าจะเข้าไปดูแล และเยียวยาอย่างไร ดังนั้นพ่อแม่พี่น้องชาวหนองจอก ท่านผู้นำชุมชนนายทวี แก่นดำ ได้ฝากมาถึงรัฐบาล ฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เขาไม่อยากจะเป็นพื้นที่รับน้ำอีกต่อไปแล้ว รบกวนท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญคุณเกรียงไกร กิตติธเนศวร ครับ

นายเกรียงไกร กิตติธเนศวร นครนายก ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายเกรียงไกร กิตติธเนศวร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครนายก เขต ๒ พรรคเพื่อไทย วันนี้ผมขอปรึกษาหารือกับท่านประธานถึงความเดือดร้อน ของพี่น้องชาวจังหวัดนครนายก ทั้งอำเภอองครักษ์และอำเภอบ้านนา จำนวน ๓ ประเด็นด้วยกัน

นายเกรียงไกร กิตติธเนศวร นครนายก ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ ปัญหาผักตบชวา และวัชพืชจำนวนมากและหนาแน่น ทั้งในแม่น้ำในและแม่น้ำนอก จากตำบลโพธิ์แทน ถึงตำบลบางปลากด ระยะทางกว่า ๑๐ กิโลเมตร จากภาพที่ท่านประธานเห็นสีเขียว ๆ ไม่ใช่ทุ่งหญ้านะครับ เป็นวัชพืชผักตบชวาอยู่ในแม่น้ำจำนวนมาก โดยไม่มีหน่วยงานใดเลย เข้ามากำจัดวัชพืชเหล่านี้ให้หมดไป จึงก่อปัญหาต่าง ๆ มากมายดังต่อไปนี้ ปัญหาที่ ๑ ทำให้ เกิดน้ำเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น ไม่สามารถใช้น้ำในการซักผ้าหรืออุปโภคบริโภคได้เลย ปัญหาที่ ๒ ทำให้เกิดการชะลอตัวในการระบายน้ำทำให้เกิดน้ำท่วมขังบ้านเรือนตลอด ๒ ฝั่งคลองในปัจจุบันนี้ และปัญหาที่ ๓ ไม่สามารถใช้แม่น้ำสายนี้ในการคมนาคมทางน้ำ ได้เหมือนเช่นเคย จากปัญหาต่าง ๆ ที่ผมกล่าวมานั้นดังไปถึงรายการบรรจงชงข่าว ช่องเวิร์คพอยท์ ๒๓ ได้ช่วยสะท้อนปัญหาของพี่น้องประชาชนในตำบลโพธิ์แทน อำเภอองค์รักษ์แห่งนี้ ถึงความเดือดร้อนเกี่ยวกับผักตบชวาและวัชพืชจำนวนมากนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชนได้ทราบ ผมจึงขอฝากท่านประธานถึงหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นชลประทานนครนายก หรือโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก ให้ช่วยเร่งรัดกำจัดวัชพืชโดยด่วนครับ

นายเกรียงไกร กิตติธเนศวร นครนายก ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ปัญหาสะพานข้ามแม่น้ำชำรุดทรุดโทรม หมู่ที่ ๑ และหมู่ที่ ๗ ตำบลโพธิ์แทน มีความยาว ๔๒ เมตร มีสภาพคับแคบและประชาชนไม่สามารถใช้ได้ อย่างสะดวกสบาย ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัดนครนายกช่วยจัดสรรงบประมาณ แก้ไขปัญหานี้ให้เป็นคอนกรีตเพื่อความสะดวกและปลอดภัยด้วยครับ

นายเกรียงไกร กิตติธเนศวร นครนายก ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ ประเด็นสุดท้าย ปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมเป็นวงกว้างในจังหวัด นครนายก ทั้งอำเภอบ้านนาและอำเภอองครักษ์ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน หลายครัวเรือน เนื่องจากอำเภอองครักษ์เป็นพื้นที่รับน้ำจากการบริหารจัดการน้ำไม่ให้เข้าสู่ กรุงเทพมหานคร จึงผันน้ำเข้าสู่คลองสิบสี่ คลองสิบห้า คลองสิบหก สู่คลองสิบเจ็ด และลงสู่แม่น้ำบางปะกงออกสู่อ่าวไทย แต่การระบายน้ำที่ผ่านมาสู่แม่น้ำบางปะกงนั้น มีการชะลอตัวอย่างมาก ประกอบกับระดับน้ำทะเลหนุนสูงทำให้มวลน้ำยังคงอยู่ที่อำเภอ องครักษ์ สร้างความเดือดร้อนให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก ผมจึงขอฝาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเร่งผันน้ำออกจากพื้นที่และเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยในครั้งนี้ อย่างทั่วถึงทุกครัวเรือนด้วยครับ ขอฝากท่านประธานประสานหน่วยงานเกี่ยวข้อง ทั้ง ๓ ปัญหาทั้ง ๓ ประเด็นนี้ด้วยครับ ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอเชิญคุณนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ ครับ

นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขต ๙ พรรคพลังประชารัฐ วันนี้ผมมีเรื่องขอหารือท่านประธานอยู่ ๒ เรื่องนะครับ

นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

เรื่องแรก ขอหารือไปยังกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม เพื่อขอเร่งรัดซ่อมแซมสะพานวังสะแกงซึ่งข้ามลำน้ำปิง บนสายทางที่ ๓๐๓ ตัด ๑๐๘ ซึ่งได้เกิดการทรุดพังลงจำนวน ๓ ช่วง ๖๐ เมตร ซึ่งจริง ๆ แล้วสะพานตรงนี้ ได้รับงบประมาณมาแล้ว กำลังจะสรรหาบริษัทที่เข้าซ่อมแซมจำนวน ๔๐ ล้านบาท แต่ได้เกิดพังทลายเสียก่อนนะครับ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเร่งรัดเข้าไป เนื่องจากว่าตรงนี้เป็นสะพานที่ข้ามระหว่างจังหวัด จากตำบลข่วงเปา อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ไปอำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน จึงขอหารือท่านประธานผ่านไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งรัดด้วยนะครับ เนื่องจากเป็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ระหว่างจังหวัดด้วย

นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ กระผมขอหารือไปยังกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรณีของการพังทลายของทางคันดินริมแม่น้ำแม่แจ่มซึ่งได้เกิดการทรุดตัวแล้วพังทลายลง ทำให้น้ำป่าไหลหลากได้เข้าท่วมไร่นาของประชาชนเป็นจำนวนทั้งหมดประมาณ ๒,๐๐๐ กว่าไร่ ซึ่งเบื้องต้นผมได้ประสานกรมชลประทานไปแล้ว จึงขอเร่งรัด กรมชลประทานได้เร่งรีบเข้าไป เนื่องจากพื้นที่ตามที่เห็นดังภาพพี่น้องประชาชน จะทำเกษตรกรรมไม่ได้เลยหลังจากน้ำลดแล้ว จึงขอฝากท่านประธานหารือไปยัง กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งจัดสรรงบประมาณเข้าแก้ไขปัญหาตรงนี้ ให้พี่น้องประชาชนด้วยครับ ขอกราบขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญคุณสรวีย์ ศุภปณิตา ครับ

นายสรวีย์ ศุภปณิตา ปทุมธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ กระผม นายสรวีย์ ศุภปณิตา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เขต ๑ อำเภอสามโคก อำเภอลาดหลุมแก้ว และอีก ๓ ตำบลของอำเภอเมืองคือ ตำบลบางหลวง ตำบลบางเดื่อ และตำบลบ้านฉาง กระผมมีเรื่องปรึกษาหารือคือมีโครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จะปักเสาไฟฟ้าพาดสาย

นายสรวีย์ ศุภปณิตา ปทุมธานี ต้นฉบับ

ภาพ Slide คือเส้นสีส้มหรือสีแดงนี้ เป็นเส้นทางเดิมที่กำหนดไว้แล้ว และประชาชนได้ทำประชาพิจารณ์เป็นที่พอใจแล้วครับ ต่อมาทางการไฟฟ้าได้เปลี่ยนแนวเส้นทางเป็นเส้นสีขาว ทำให้ระยะทางเพิ่มมากขึ้นยาวขึ้น กินพื้นที่ประชาชน สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนมากยิ่งขึ้นครับ แล้วเส้นสีส้ม อีกอันหนึ่งคือสาย B มีลักษณะเดียวกันคือเส้นสีส้มสาย B ยาวประมาณ ๑๒ กิโลเมตร แต่เส้นสีขาวยาวประมาณ ๑๕ กิโลเมตรกว่า เส้น ๑๒ กิโลเมตรนี่ผ่านประชาพิจารณ์มาแล้ว ประชาชนเห็นชอบแล้ว ต่อมาการได้เปลี่ยนเป็นเส้นแนวสีขาวซึ่งระยะทางระยะยาวกว่าเดิม กินพื้นที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนจำนวนมาก แล้วประชาชนส่วนใหญ่มีวิถีชีวิต เป็นชาวนาเกษตรกรยากจน แล้วก็เส้นทางใหม่ต้องผ่านโรงไฟฟ้า โรงงานแปรรูปน้ำมันเชื้อเพลิง มีคลังเก็บน้ำมันถึง ๕ ล้านลิตร มีความไวไฟสูงเสี่ยงกับการเกิดเพลิงไหม้ และนำสื่อฟ้าผ่าด้วยครับ วิถีชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรยากจนต้องเสียพื้นที่ประกอบอาชีพมากเพิ่มขึ้น การขยายเส้นทางครั้งนี้ทำให้ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินในการขยายเส้นทาง มากยิ่งขึ้น และประชาชนได้รับค่าตอบแทนตามสัดส่วนที่พื้นที่เพิ่มขึ้นโดยงบประมาณ ต้องเสียเพิ่มไปโดยไม่จำเป็น จึงขอปรึกษามายังท่านประธานสภาผ่านไปยังการไฟฟ้าว่า ขอทบทวนพิจารณาใช้ไปยังเส้นทางเดิมซึ่งประหยัดงบประมาณและประชาชนพึงพอใจด้วยครับ

นายสรวีย์ ศุภปณิตา ปทุมธานี ต้นฉบับ

เรื่องต่อมาครับ ขอท้วงติงการทำงานของตำรวจผ่านท่านประธานผ่านไปยัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พี่น้องประชาชนร้องเรียนมาว่ามีมิจฉาชีพหลอกลวง ให้ไปเปิดบัญชีม้า แล้วหลังจากนั้นอีกไม่นานประชาชนเหล่านั้นถูกหมายเรียกหมายจับ ให้ไปดำเนินคดีหลายท้องที่หลายจังหวัดซึ่งประชาชนเหล่านั้นไม่รู้เรื่อง แล้วตำรวจ ก็สรุปสำนวนโดยไม่สอบสวนให้สิ้นกระแสความสั่งฟ้องไป ประชาชนต้องไปแก้คดียังท้องที่ ต่าง ๆ หลายจังหวัด หลายอำเภอ แล้วก็ทำให้เดือดร้อน บางคนที่ไม่มีเงินประกันต้องจำคุก แต่บางคนมีเงินประกันก็ต้องไปแก้คดีด้วยความลำบาก ตำรวจควรจะสืบสวน ให้สิ้นกระแสความเพื่อนำคนร้ายจอมบงการอยู่เบื้องหลังมาลงโทษครับ ตรวจสอบกระแส การเงินไปยังบัญชีสุดท้ายก็จะสันนิษฐานได้ว่าจอมบงการที่อยู่เบื้องหลังคือใคร สามารถ ยึดทรัพย์มาชดใช้ผู้เสียหายได้ ให้ประชาชนและเยาวชนบางคนที่ถูกหลอกลวงเป็นบัญชีแพะ มาเป็นพยานในการสืบสวนสอบสวนจับคนร้ายตัวจริงมาลงโทษครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

สรุปได้เลยครับ

นายสรวีย์ ศุภปณิตา ปทุมธานี ต้นฉบับ

อย่าปล่อยให้คนผิดลอยนวลครับ ท่านประธานครับ ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณวชิราภรณ์ กาญจนะ ครับ

นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี พรรครวมไทยสร้างชาติ วันนี้ดิฉันขออนุญาตหารือท่านประธานและฝากไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องให้เร่งจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการดังนี้

นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

เรื่องแรก ปรับปรุง ซ่อมแซมหรือขยายขนาดสะพานดังต่อไปนี้ เนื่องจาก มีการใช้งานมาเป็นเวลานานมีสภาพชำรุดทรุดโทรม เป็นเหตุให้ชาวบ้านสัญจรไปมา เป็นไปด้วยความยากลำบากและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุคือ

นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

๑. สะพานข้ามแม่น้ำตาปี เชื่อมต่อหมู่ที่ ๖ ตำบลคลองฉนวน กับหมู่ที่ ๕ ตำบลสินปุน

นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

๒. สะพานบ้านหมาก เชื่อมต่อระหว่างเทศบาลเมืองนาสาร กับหมู่ที่ ๔ ตำบลลำพูน

นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

๓. สะพานข้ามคลองลำพูน เชื่อมต่อหมู่ที่ ๑ กับหมู่ที่ ๗ ตำบลลำพูน

นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

๔. สะพานข้ามคลองหนองฉนวน เชื่อมต่อหมู่ที่ ๕ กับหมู่ที่ ๙ ตำบลเวียงสระ

นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

๕. สะพานข้ามแม่น้ำตาปี เชื่อมต่อหมู่ที่ ๔ ตำบลท่าชี กับหมู่ที่ ๓ ตำบลอรัญคามวารี

นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

๖. สะพานข้ามคลองโคกเหรียง เชื่อมต่อหมู่ที่ ๓ ตำบลควนศรี กับหมู่ที่ ๒ ตำบลคลองปราบ

นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

๗. สะพานเขาต่อเคียนซา เชื่อมต่อหมู่ที่ ๒ ตำบลเขาต่อ กับหมู่ที่ ๑ ตำบลเคียนซา

นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

๘. สะพานข้ามแม่น้ำตาปี เชื่อมต่อหมู่ที่ ๕ ตำบลพ่วงพรมคร กับหมู่ที่ ๕ ตำบลควนศรี

นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย แก้ไขปัญหาตลิ่งริมแม่น้ำลำคลองทรุดตัวพังทลายเข้าพื้นที่ ทำกินของชาวบ้าน บ้านเรือนของชาวบ้านจนได้รับความเสียหาย พี่น้องประชาชนในพื้นที่ ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ได้แก่

นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

๑. ตลิ่งแม่น้ำตาปีทรุดตัวพังทลายในพื้นที่หมู่ที่ ๕ ตำบลควนศรี

นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

๒. ตลิ่งริมแม่น้ำตาปีทรุดตัวพังทลายในพื้นที่หมู่ที่ ๖ ตำบลคลองฉนวน

นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

๓. ตลิ่งริมคลองตาลทรุดตัวพังทลายในพื้นที่หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๕ หมู่ที่ ๗ หมู่ที่ ๘ หมู่ที่ ๙ ตำบลเวียงสระ และหมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๗ หมู่ที่ ๑๓ หมู่ที่ ๑๕ หมู่ที่ ๑๗ ตำบลบ้านส้อง

นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

๔. ตลิ่งริมคลองฉวางทรุดตัวพังทลายในพื้นที่หมู่ที่ ๑ กับหมู่ที่ ๔ ตำบลท่าชี

นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

๕. ตลิ่งริมคลองฉวางทรุดตัวพังทลายในพื้นที่หมู่ที่ ๔ ตำบลลำพูน กราบขอบพระคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญคุณพนิดา มงคลสวัสดิ์ ครับ

นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

เรียนประธานที่เคารพ ดิฉัน พนิดา มงคลสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ เขต ๑ พรรคก้าวไกล วันนี้พี่น้องประชาชนฝากให้ดิฉันนำเรียนปัญหาต่อท่านประธานถึงความล่าช้าในการเปิด ให้บริการของตลาดท้ายบ้าน

นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

ตลาดแห่งนี้เริ่มก่อสร้างขึ้น เมื่อปี ๒๕๕๘ และมีพิธีเปิดอย่างยิ่งใหญ่ไปเมื่อวันที่ ๓ มีนาคมที่ผ่านมา โดยมีรองนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น คุณประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานเปิดงาน แม้พี่น้องประชาชน จะตั้งคำถามกันเป็นวงกว้างถึงความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณ มองว่าขาดการมีส่วนร่วม ในการออกความเห็นของโครงการนี้ แต่เมื่อสร้างมาแล้วก็หวังว่าจะได้ใช้ประโยชน์จาก โครงการนี้ไม่มากก็น้อย เพราะว่าเนื่องจากหลายปีที่ผ่านมาพี่น้องประชาชน พ่อค้าแม่ขาย ต้องประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจอย่างแสนสาหัส ค้าขายไม่ได้กำไร กำลังซื้อลดลง ตลาดปากน้ำที่เคยคึกคักทุกวันนี้ซบเซาลงอย่างมาก จึงมองว่าโครงการนี้ที่โฆษณาไว้ว่า จะเป็นตลาดเชิงท่องเที่ยว ทุ่มงบประมาณไปกว่า ๘๐๐ ล้านบาท บนเนื้อที่ประมาณ ๒๕ ไร่ ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเป็น Landmark ใหม่แห่งเมืองปากน้ำ จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ ในพื้นที่นี้ได้นะคะ พ่อค้าแม่ขายก็คาดหวังว่าจะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วม เอาของไปขายในตลาดนี้เพราะว่าเป็นโครงการของท้องถิ่นตัวเอง แต่ผ่านมาจนแล้วจนรอดสร้างมา ๘ ปี รอมาแล้ว ๗ เดือนก็ยังไม่มีการเปิดให้ใช้บริการ กลายเป็นตลาดงง ๆ ใครขับรถผ่านไปผ่านมาก็งงค่ะ สภานี่ไม่แน่ใจว่าสร้างเสร็จหรือยังนะคะ แต่บอกว่าดำเนินการเสร็จแล้วผ่านการตรวจรับตามขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว ดิฉันก็ไม่มั่นใจค่ะ เพราะว่านี่คือภาพปัจจุบันจึงขอนำเรียนผ่านท่านประธานไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการให้เร่งดำเนินการ เปิดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ให้พี่น้องประชาชนได้เข้ามาใช้ประโยชน์เพื่อให้เงินภาษีทุกบาท ทุกสตางค์สร้างประโยชน์สูงสุดให้กับพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง ขอบพระคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญคุณผกามาศ เจริญพันธ์ ครับ

นางสาวผกามาศ เจริญพันธ์ สุรินทร์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน นางสาวผกามาศ เจริญพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์ เขต ๓ พรรคภูมิใจไทย วันนี้ดิฉันมีข้อหารือท่านประธาน ๓ เรื่องค่ะ

นางสาวผกามาศ เจริญพันธ์ สุรินทร์ ต้นฉบับ

เรื่องแรก คือเรื่องปัญหาถนนชำรุด ทำให้พี่น้องประชาชนสัญจรลำบาก อันเป็นเหตุที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน โดยจุดที่ ๑ อยู่ที่ถนน สร.ถ. ๑๐๑๐๑ บ้านหัวแรต หมู่ที่ ๑๐ ถึงบ้านหนองแสงหมู่ที่ ๓ ตำบลบัวโคก อำเภอท่าตูม เป็นถนน ๒ ช่องจราจร ยาว ๑.๘ กิโลเมตร ซึ่งถนน ๒ เส้นนี้สร้างมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๑๐ ปี และขาดการบำรุงซ่อมแซมทำให้ผิวถนนร่อน ซึ่งถนนเส้นนี้ตั้งอยู่กลางชุมชนค่ะ จุดที่ ๒ คือถนนจากบ้านหนองทิดลา หมู่ที่ ๖ ไปบ้านสะทืด หมู่ที่ ๗ ตำบลหนองระฆัง อำเภอสนม เป็นถนน ๒ ช่องจราจร ความยาว ๑.๕ กิโลเมตร ซึ่งถนนมีหลุมลึก และชาวบ้าน ต้องแก้ปัญหาด้วยการเอาคอนกรีตมาซ่อมแซมเองจนถนนนั้นมีชื่อเล่นว่า ถนนขนมครก ค่ะ

นางสาวผกามาศ เจริญพันธ์ สุรินทร์ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องปัญหาของน้ำท่วมขังถนนทางหลวงหมายเลข ๔๐๑๗ กิโลเมตร ๑๙ บ้านม่วง ตำบลผือ อำเภอจอมพระ โดยจุดที่ท่วมประจำมีความยาวประมาณ ๓๐๐ เมตร เนื่องจากการก่อสร้างชิดเขตชุมชนและไม่ได้สร้างร่องระบายน้ำ อีกทั้งถนน ไม่เป็นหลังเต่าจึงทำให้น้ำฝนที่ตกลงมาไม่มีร่องระบาย ประชาชนที่ไม่คุ้นชินเส้นทาง อาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้เนื่องจากเส้นทางนี้เป็นเส้นทางตรงหากวิ่งโดยไม่ได้ลดความเร็ว อาจจะเจอน้ำท่วมในจุดนี้และทำให้รถพลิกคว่ำได้ อีกทั้งเมื่อน้ำท่วมขังเป็นประจำในจุดเดิม จะทำให้ถนนชำรุดเร็วขึ้น

นางสาวผกามาศ เจริญพันธ์ สุรินทร์ ต้นฉบับ

ประเด็นสุดท้าย คือเรื่องน้ำประปาที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยตำบลเมืองลีง อำเภอจอมพระ เป็นตำบลใหญ่ ซึ่งประกอบด้วย ๑๘ หมู่บ้าน ปัจจุบันนั้นมีอยู่ ๕ หมู่บ้านที่ยังไม่มีระบบประปามาตรฐาน โดยจะเห็นจากในภาพนะคะว่าน้ำที่พี่น้องประชาชนใช้อยู่ทุกวันนั้นมีความขุ่น โดยทั้ง ๕ หมู่บ้านนั้นคือ ๑. บ้านเมืองลีง หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๓ บ้านหนองกุง หมู่ที่ ๗ บ้านทุ่งนาค หมู่ที่ ๘ บ้านดงเค็ง หมู่ที่ ๑๘ บ้านหนูอุดม ดิฉันจึงอยากเรียน ผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการแก้ไขด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญคุณประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ครับ

นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันพรรคก้าวไกล ขอหารือท่านประธาน

นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

๑. โรงพยาบาลกระบี่ขาดบุคลากรเครื่องมือ อาคารจอดรถ ตึกผู้ป่วย โรงพยาบาลตรัง อาคารผู้ป่วยนอกสร้างไม่เสร็จ ประชาชนลำบากมาก ฝากรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุขด้วยครับ

นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

๒. เรื่องยาเสพติดจังหวัดกระบี่ เมื่อมีการจับกุม เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง แจ้งว่าตำรวจทำสำนวนอ่อน ลดจำนวนของกลางยาบ้าลง เอื้อผู้ต้องหา ต้องแก้ไขด้วยครับ

นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

๓. โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำกรมชลประทาน ที่อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ กระทบพื้นที่ทำกิน สวนผลไม้ สวนยาง ทำลายต้นน้ำลำธาร

นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

๔. เรื่องปัญหาการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน ของรัฐมนตรีอนุทิน ทำให้เกิดระบบนายทุนคนรวยได้ก่อน ซึ่งกรมที่ดินเคยร่วมกับข้าราชการออกโฉนด โดยมิชอบมาแล้วที่อำเภอเกาะลันตา คือที่เกาะนุ้ยนอก จังหวัดกระบี่ เร่งแก้ไขด้วย

นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

๕. แผนงานสร้างสะพานข้ามเกาะกลาง ตำบลคลองประสงค์ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ผ่าน อบต. ผ่านจังหวัดมาแล้ว กระทรวงคมนาคมเร่งทำด้วยครับ ชาวบ้าน เดือดร้อนมาก

นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

๖. การสร้างเขื่อนโครงสร้างแข็งบนชายหาด กรมโยธาธิการและผังเมือง ทำลายชายหาดมาแล้วทั่วประเทศไทย ทำลายแหล่งท่องเที่ยวย่อยยับ เช่นที่หาดมหาราช หาดทรายแก้ว และที่อื่น ๆ มาแล้ว ต้องหยุดโครงการนี้ครับ ข้าราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษ DSI ข่มขู่ สส. ในสภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเร่งสอบสวน เร่งงานวินัยด้วย เคยร้องเรียนไปแล้วแต่ว่าเงียบหายไป

นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

๗. กระทรวงอุตสาหกรรมให้สัมปทานเอกชน ระเบิดเหมืองหินหลายพื้นที่ เช่น ที่กระบี่ สงขลา พัทลุง เชียงใหม่ ทำลายถิ่นที่อยู่ประชาชน ทำลายสัตว์ป่า ทำลาย แหล่งต้นน้ำ แหล่งโบราณคดี โบราณวัตถุ รัฐมนตรีเร่งแก้ไขด้วยครับ

นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

๘. การอนุญาตเลี้ยงหอยในทะเล ที่อ่าวบ้านดอน สุราษฎร์ธานีขยายพื้นที่ กว่าเดิมครับ ไม่ทราบว่ามีนอกมีในหรือไม่ กระทบประมงพื้นบ้านหลายอำเภอ เช่น ที่บ้านควนลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งแก้ไขด้วยครับ

นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

๙. เรื่องตำรวจข่มขู่ละเมิดสิทธิ แอบถ่ายบัตรประชาชนสมาชิกพรรคก้าวไกล ที่ร่วมกิจกรรมตามกฎหมาย ที่ กกต. รับรอง เช่น ที่จังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา จังหวัด จันทบุรี ฝากท่านนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจัดการเรื่องนี้ด้วย ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญคุณธนพัฒน์ ศรีชนะ ครับ

นายธนพัฒน์ ศรีชนะ ยโสธร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายธนพัฒน์ ศรีชนะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยโสธร เขต ๓ พรรคภูมิใจไทย กระผม ขอหารือท่านประธานเกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนของพ่อแม่พี่น้องจังหวัดยโสธร มีอยู่ ๓ เรื่องดังนี้ ขอ Slide ด้วยนะครับ

นายธนพัฒน์ ศรีชนะ ยโสธร ต้นฉบับ

สนามบินเลิงนกทาตั้งอยู่ที่ทางหลวง หมายเลข ๒๑๒ ตำบลโคกสำราญ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธรมีพื้นที่ ๖๔๐ ไร่ สร้างขึ้นโดยทหารอเมริกันในสมัยสงครามเวียดนาม เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี ๒๕๐๖ ใช้เวลาก่อสร้าง ๓ ปีจนแล้วเสร็จ เพื่อให้เครื่องบินที่เสียได้ลงจอดและใช้ประโยชน์ ในการลำเลียงยุทธภัณฑ์สงคราม หลังจากนั้นไม่มีการพัฒนาและใช้งานต่อ หากมีการพัฒนา สนามบินเลิงนกทาโดยสถาบันการบินพลเรือนยกขึ้นเป็นท่าอากาศยานเลิงนกทา จะสามารถ ช่วยให้จังหวัดยโสธร จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดมุกดาหาร สามารถได้รับผลประโยชน์ อย่างสูงสุดจากท่าอากาศยานแห่งนี้ อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าในการลงทุนครับ

นายธนพัฒน์ ศรีชนะ ยโสธร ต้นฉบับ

๒. ทางหลวงหมายเลข ๒๑๓๖ ซึ่งตัดผ่านอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ไปอำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด รวมระยะทาง ๖๒ กิโลเมตร ปัญหาที่พบคือเป็นถนน ๒ ช่องทางจราจรมีไหล่ทางค่อนข้างแคบ ส่งผลให้การสัญจรค่อนข้างลำบาก และเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง จึงอยากขยายให้เป็น ๔ ช่องทางจราจรเพื่อให้พ่อแม่พี่น้อง สัญจรไปมาสะดวกมากยิ่งขึ้นครับ

นายธนพัฒน์ ศรีชนะ ยโสธร ต้นฉบับ

๓. ทางหลวงหมายเลข ๒๑๑๖ พบปัญหาคือการประปาส่วนภูมิภาคเลิงนกทา ไป อบต. สามแยก และถนนบ้านกุดโจด ตำบลสวาท อำเภอเลิงนกทา ไปบ้านกุดแห่ ตำบลกุดแห่ อำเภอเลิงนกทา ปัญหาที่พบคือไม่มีไฟส่องสว่างบริเวณถนนในช่วงเวลา กลางคืน ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน

นายธนพัฒน์ ศรีชนะ ยโสธร ต้นฉบับ

สุดท้าย กระผมฝากท่านประธานไปยังกระทรวงคมนาคมให้เร่งผลักดัน งบประมาณสู่พ่อแม่พี่น้องจังหวัดยโสธร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในลำดับต่อไป ขอขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณฐิติมา ฉายแสง

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ วันนี้ขอนำเรื่องเดือดร้อนมาหารือต่อท่านประธานนะคะ

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ท่านประธานคะ ดิฉันได้รับเรื่องร้องทุกข์จากคุณสุรพล พลอยน้ำเพ็ชร นายก อบต. เกาะไร่ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ว่าประชาชน ชาวหมู่ที่ ๕ ตำบลเกาะไร่ ได้ร้องของบประมาณในการก่อสร้างโดมอเนกประสงค์ สนามหน้าโรงเรียนสุเหร่าเกาะไร่ เนื่องจากลูกหลานของเขาต้องตากแดดตากฝน เวลาเข้าแถวแล้วก็ทำกิจกรรมทางการศึกษา หากได้โดมอเนกประสงค์นี้จะทำให้มีประโยชน์ ทั้งทางด้านศาสนาด้วย จึงขอให้ท่านประธานส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยจัดสรร งบประมาณค่ะ

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ถนนคันกั้นน้ำคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต บริเวณหมู่ที่ ๑๓ ถึงหมู่ที่ ๑ ตำบลคลองหลวงแพ่ง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ระยะทางประมาณ ๗ กิโลเมตร ซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักงานชลประทานที่ ๑๑ เกิดชำรุดเสียหายอย่างมาก ประชาชนร้องเรียนไปทางชลประทานก็ได้แต่มาซ่อมแซม แก้ไขเพียงเล็กน้อยอยู่เป็นประจำ แล้วก็มักจะอ้างว่าไม่มีงบประมาณ แต่ว่าเนื่องจากเส้นทางนี้ประชาชนใช้สัญจรจำนวนมากเลย เกิดความเดือดร้อนมาทุก ๆ ปีเลย จึงอยากให้ท่านประธานช่วยประสานไปยัง สำนักงานชลประทานให้ทำการแก้ไข ซ่อมแซม ปรับปรุงให้ดีถาวรหรือโอนถ่ายภารกิจนี้ ให้กับทางกรมทางหลวงชนบทก็อาจจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแก้ไข

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

หารือเรื่องที่ ๓ ขณะนี้ราคาปลากะพงตกต่ำมาก ผู้เลี้ยงปลากะพง มาร้องกับดิฉันบอกว่ากำลังเผชิญปัญหากับปลากะพงราคาเหลือแค่เพียง ๗๕ บาท ต่อกิโลกรัม ในขณะที่ทุนของเขาคือ ๙๐ บาทต่อกิโลกรัม ปลากะพงจากมาเลเซียมาตีตลาด ของไทยอย่างหนัก ราคาต่ำกว่าของเรา ๒๐ บาทต่อกิโลกรัมตลอดเลย เพราะฉะนั้น อยากจะให้ท่านประธานช่วยส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ผู้เลี้ยงปลากะพงโดยด่วนด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณการณิก จันทดา ครับ

นางสาวการณิก จันทดา เชียงใหม่ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน การณิก จันทดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขต ๒ พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันขอปรึกษาหารือผ่านท่านประธานด้วยกัน ๔ เรื่องค่ะ

นางสาวการณิก จันทดา เชียงใหม่ ต้นฉบับ

เรื่องแรก ดิฉันได้รับร้องเรียนจากชุมชนบ้านแมกไม้ หมู่ที่ ๘ ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี ซึ่งเป็นความเดือดร้อนจากเส้นทางที่ใช้สัญจรในชีวิตประจำวัน ถนนเป็นหลุม เป็นบ่อ มีน้ำขังทุกครั้งที่ฝนตก ชุมชนนี้มีประชาชนอาศัยอยู่จำนวนมาก ท้องถิ่นได้จัดทำ โครงการขอรับเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ จึงอยากฝากไปยังกระทรวงมหาดไทยหรือหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องพิจารณาบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวแมกไม้ด้วยค่ะ

นางสาวการณิก จันทดา เชียงใหม่ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน ปัญหาฝนตกทีไรน้ำท่วมขัง เป็นบริเวณกว้าง ก่อความเสียหายแก่บ้านเรือน กระทบหลายหมู่บ้านในพื้นที่ตำบลไชยสถาน อำเภอสารภี ดิฉันได้ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นพบว่าสภาพพื้นที่เป็นพื้นที่รับน้ำ ที่ระบายมาจากตำบลต่าง ๆ ของอำเภอเมืองเชียงใหม่ พอระบายน้ำมาจากตัวเมืองเชียงใหม่ เข้าสู่ตำบลไชยสถานมันก็เกิดปัญหาเรื้อรังเพราะด้วยข้อจำกัดของขนาดลำเหมืองเดิม ซึ่งไม่รองรับกับปริมาณน้ำจำนวนมาก จึงเห็นว่าควรมีการปรับปรุงพัฒนาลำเหมือง ให้มีศักยภาพในการรองรับและระบายน้ำ ดิฉันจึงอยากจะฝากไปยัง กนช. และ สทนช. สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี พิจารณาแก้ไขปัญหาค่ะ

นางสาวการณิก จันทดา เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ดิฉันอยากจะฝากท่านประธานไปยังกระทรวงคมนาคมพิจารณาแก้ไขปัญหา ๒ เรื่องสุดท้าย

นางสาวการณิก จันทดา เชียงใหม่ ต้นฉบับ

เรื่องแรก ขยายเขตและติดตั้งไฟส่องสว่างถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๑๘๙ หลักกิโลเมตรที่ ๕+๐๑๔ จนถึงหลักกิโลเมตรที่ ๔+๑๑๘๙ เส้นทางป่าแดด-ช่างเพี้ยน เพราะถนนมืดสนิทเกิดอุบัติเหตุถึงขั้นเสียชีวิตบ่อยครั้งค่ะ

นางสาวการณิก จันทดา เชียงใหม่ ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย พื้นผิวถนนชำรุดเสียหายหนักมากซ่อมแล้ว ซ่อมอีก ซ่อมต่อไป แก้ไขไม่ได้มานานหลายปี เกิดอุบัติเหตุประชาชนได้รับความเดือดร้อนบริเวณเส้นทาง ถนนคันคลองสายใหญ่ฝั่งซ้ายของฝายชลขันธ์พินิจ ตำบลดอนแก้ว ตำบลหนองช้างคืน ซึ่งเชื่อมไปโยงถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๓๐

นางสาวการณิก จันทดา เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ทั้ง ๔ เรื่องนี้ดิฉันอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้กล่าวถึงได้โปรดรับทราบ ถึงปัญหาและพิจารณาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนอย่างเร่งด่วน ขอบคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญคุณสฤษดิ์ บุตรเนียร ครับ

นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายสฤษดิ์ บุตรเนียร สส. นักพัฒนาแก้ปัญหาปากท้องประชาชน อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เขต ๓ พรรคภูมิใจไทย

นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

วันนี้ผมมีเรื่องปรึกษาหารือจากปัญหา ความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ จากนายประภา ลานวงษา สมาชิกองค์การ บริหารส่วนตำบลบ้านนา หมู่ที่ ๑๑ อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ได้พบว่าประชาชน ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำอุปโภคบริโภค วันนี้น้ำขาดแคลน เนื่องจากแหล่งน้ำดิบ ซึ่งต้นทุนในการที่จะมาพัฒนาน้ำที่มีอยู่ก็เป็นน้ำที่ไม่ค่อยสะอาด ได้เพียงแต่อุปโภค ใช้ในครัวเรือนเท่านั้น ยังไม่สามารถจะนำมาเป็นน้ำดื่มได้ และน้ำที่มองเห็นอยู่ในภาพ Slide นี้ ก็เป็นน้ำที่เป็นของชาวบ้านซึ่งได้ให้มาในการที่จะเอามาใช้ในหมู่บ้านนั้น แต่ก็ยังขาด น้ำประปา ดังนั้นวันนี้ผมจึงขอนำเรียนท่านประธานสภาที่เคารพผ่านไปยังหน่วยงาน ที่รับผิดชอบได้ประสานงานครับ และอีกทั้งในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายนของทุก ๆ ปี น้ำที่จะมาใช้นั้นก็ขาดแคลน จำเป็นที่องค์การบริหารส่วนตำบลที่ต้องนำน้ำนั้น ไปให้กับชาวบ้านเป็นประจำครับ

นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ได้รับคำร้องเรียนมาจากท่านนายกภัทริน ภู่มณี นายกองค์การ บริหารส่วนตำบลวังท่าช้าง อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ในเรื่องของ อบต. นั้น มีหน้าที่ในการจัดบริการสาธารณะประโยชน์น้ำอุปโภคบริโภคอยู่แล้ว แต่เนื่องจากปัญหา มันอยู่ที่ว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาลนั้นได้พยายามที่จะไปขุดเจาะน้ำโดยทั่วไป แต่ปัญหา มันอยู่ที่สำนักงานของ ส.ป.ก. ขั้นตอนในการที่จะให้อนุญาตนั้นซับซ้อนยุ่งยาก และใช้เวลา ๑-๒ ปีในการอนุญาตให้ขุดเจาะได้ และแม้แต่ให้ขุดเจาะแล้วบางครั้งบริเวณที่ไปขุดเจาะ ไม่เจอน้ำก็ต้องเริ่มต้นใหม่ ดังนั้นจึงกราบเรียนไปยังท่านประธานสภาที่เคารพได้โปรดเร่งรัด ให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ส.ป.ก. นี่ ได้ลดระยะเวลาการทำงานให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์กับประชาชนต่อไปครับ ขอบคุณมากครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอเชิญ คุณคุณากร มั่นนทีรัย ครับ

นายคุณากร มั่นนทีรัย นนทบุรี ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาที่เคารพ ผม คุณากร มั่นนทีรัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตอำเภอบางใหญ่ คนบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี พรรคก้าวไกล ขอปรึกษาหารือดังนี้ครับ

นายคุณากร มั่นนทีรัย นนทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องแรก เป็นบริเวณปากซอยวัดพระเงิน ปากซอยกันตนา ตำบลบางม่วง และสี่แยกตลาดชุมพล พื้นที่ตำบลบางใหญ่มีปัญหาการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วน ปัจจุบัน มีจำนวนประชากรและมีหมู่บ้านจัดสรรเพิ่มมากขึ้นจึงทำให้ถนนเพียงแค่ ๒ เลนนั้น ไม่สามารถสอดคล้องระบายรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้นได้ ส่งผลให้จราจรติดขัดเป็นอย่างมาก จึงขอปรึกษาหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีอำนาจว่าสามารถขอขยายไหล่ทางได้หรือไม่

นายคุณากร มั่นนทีรัย นนทบุรี ต้นฉบับ

ปัญหาที่ ๒ มีรถจอดแช่กีดขวางการจราจรและช่องทางเดินรถถูกกีดขวาง หน้าตลาดบางใหญ่ซิตี้ ส่งผลให้การจราจรบริเวณดังกล่าวมีรถติดสะสมหลายกิโลเมตร โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน ฝากปรึกษาท่านประธานไปยังหน่วยงานจราจรท้องถิ่น สามารถเข้ามาแก้ปัญหาได้หรือไม่นะครับ

นายคุณากร มั่นนทีรัย นนทบุรี ต้นฉบับ

ปัญหาที่ ๓ ถนนเป็นหลุมบ่อหรือผิวถนนแตกไม่เรียบ หน้าหมู่บ้านพฤกษา ๔๕ จนถึงหมู่บ้านพฤกษา ๓๓ ตำบลบางแม่นาง มีการร้องเรียนจากประชาชนอย่างต่อเนื่อง แต่อำนาจหน้าที่ในการดูแลเป็นของ อบจ. นนทบุรี ทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถเข้าไปซ่อมแซม ดูแลได้ จะเป็นการดีกว่าหรือไม่หากมอบอำนาจให้ท้องถิ่นที่มีความพร้อมเข้าไปซ่อมแซมดูแล รับผิดชอบ ปัญหาอาจได้รับการแก้ไขได้อย่างรวดเร็วและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน มากที่สุดนะครับ

นายคุณากร มั่นนทีรัย นนทบุรี ต้นฉบับ

ปัญหาที่ ๔ ถนนเส้น นบ.๑๐๐๙ บริเวณตำบลบางแม่นาง ถนนทั้งเส้น เป็นการดูแลรับผิดชอบโดยแขวงทางหลวงชนบท มีปัญหาฝาท่อระบายน้ำชำรุด ไม่เป็นระนาบ เรื่องนี้ส่งผลต่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน อยากให้ ท้องถิ่นและแขวงทางหลวงชนบทเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบในพื้นที่มีการประสานงานกัน เพื่อหาทางออกในการดูแลบำรุงซ่อมแซมให้เกิดประโยชน์กับประชาชนต่อไปนะครับ ขอ Slide ด้วยนะครับ

นายคุณากร มั่นนทีรัย นนทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย ปัญหาการทำรางระบายน้ำ ของหน่วยงานทางหลวงชนบทในพื้นที่เขตตำบลบางใหญ่ ผมขอตั้งข้อสังเกตว่าการสร้าง รางระบายน้ำนี้สามารถระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ ถ้าดูตามภาพมีการทำ รางน้ำแบบตัว Y แต่ระบายน้ำผ่านท่อ PVC อีกทีหนึ่งที่เป็นหลุม จึงสงสัยว่าการก่อสร้าง แบบนี้เป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่

นายคุณากร มั่นนทีรัย นนทบุรี ต้นฉบับ

ทั้ง ๕ ปัญหานี้ฝากท่านประธานสภาไปยังแขวงทางหลวงชนบท องค์การ บริหารส่วนจังหวัดนนทบุรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบและแก้ไขด้วยครับ ผม คุณากร มั่นนทีรัย ทนายไวท์ คนบางใหญ่ ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอเชิญคุณชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์ ครับ

นายชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์ ราชบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดราชบุรี เขต ๕ พรรคพลังประชารัฐ ขออนุญาตเรียนชี้แจงในเรื่องปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร ซึ่งผมได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ณ รัฐสภาแห่งนี้ในเรื่องของปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพง ด้วยจังหวัดราชบุรี จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นศูนย์กลาง ของพืชสวนคุณภาพส่งออกที่มีความสำคัญในระดับต้น ๆ ของประเทศ โดยกลุ่มเกษตรกร ผู้ปลูกมะพร้าว มะนาว ฝรั่ง ชมพู่ องุ่น และอื่น ๆ ที่จะต้องใช้ปุ๋ยเคมีสูตรเฉพาะของมัน ในการเร่งดอก เร่งลูก เพื่อให้มีผลผลิตให้ทันต่อความต้องการของท้องตลาด จากข้อมูล ที่ได้รับจากเกษตรกรทราบว่าเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมานั้นกระทรวงพาณิชย์ได้ลดราคา ปุ๋ยเคมีลง ๘ เปอร์เซ็นต์ แต่การลดราคาครั้งนั้นเป็นการลดราคาเฉพาะปุ๋ยเคมีที่ใช้สำหรับ พืชไร่เท่านั้น โดยไม่ได้พิจารณาลดราคาให้กับปุ๋ยเคมีที่ใช้สำหรับพืชสวน ซึ่งในความเป็นจริง ปุ๋ยที่ใช้สำหรับพืชสวนนั้นใช้มากกว่าพืชไร่ เนื่องจากพืชไร่จะใส่ปุ๋ยในปีละ ๑-๒ ครั้ง ส่วนปุ๋ยที่ใส่ในพืชสวนนั้นจะต้องใส่กันทุก ๆ เดือน แต่กระทรวงพาณิชย์กลับลดราคา ให้กับเฉพาะปุ๋ยที่ใช้กับพืชไร่เท่านั้น ทำให้พี่น้องเกษตรกรผู้ผลิตพืชสวนต้องใช้ต้นทุนที่สูง มาโดยตลอดด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ จึงขออนุญาตกราบเรียนผ่านท่านประธาน ไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบได้โปรดพิจารณาดำเนินการลดราคาปุ๋ยเคมีที่ใช้สำหรับพืชสวนลง ด้วยวิธีการลดราคา ขอให้ลดราคาให้ทั่วถึงในท้องตลาดของร้านค้าทั่ว ๆ ไป จึงขออนุญาต กราบเรียนมาด้วยความเคารพครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณยอดชาย พึ่งพร ครับ

นายยอดชาย พึ่งพร ชลบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม ยอดชาย พึ่งพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สส. พัทยา ผู้แทนเมืองท่องเที่ยว จังหวัดชลบุรี วันนี้ผมมี ๒ ประเด็นที่จะมาหารือกับท่านประธานนะครับ

นายยอดชาย พึ่งพร ชลบุรี ต้นฉบับ

ประเด็นแรก เนื่องด้วยมีพี่น้องประชาชน จำนวนหลายรายได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาสุนัขจรจัดในเขตเมืองพัทยา ทำร้ายไล่กัด นักท่องเที่ยวจนได้รับบาดเจ็บหลายราย แหล่งที่อยู่อาศัยของสุนัขจรจัดที่มีหลัก ๑๐ ตัว ถึง ๑๐๐ ตัว จะอยู่ที่บริเวณเทพประสิทธิ์ ซอย ๗ แล้วก็เทพประสิทธิ์ ซอย ๑๓ ถนนเทพประสิทธิ์ แล้วก็บริเวณสวนสุขภาพเขาพระตำหนัก ซึ่งมีนักท่องเที่ยวไปออกกำลังกาย มากมาย จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการปัญหาสุนัขจรจัดแบบเชิงรุก เป็นรูปธรรมและยั่งยืนมากกว่าการไปตั้งโต๊ะตามชุมชนแล้วให้พี่น้องประชาชนนำสุนัข มาทำหมัน เพราะนั่นไม่ใช่สุนัขจรจัด แต่นั่นคือสุนัขที่มีเจ้าของครับ

นายยอดชาย พึ่งพร ชลบุรี ต้นฉบับ

ประเด็นสุดท้าย ปัญหาสายสื่อสารตลอดแนวเสาไฟฟ้าชำรุด ขาด ห้อย พันกันยุ่งเหยิง สลับขั้ว กลัวจะระเบิดเหลือเกินนะครับ กลายเป็นสถาปัตยกรรมที่อวดสายตา นักท่องเที่ยวมายาวนานหลายปี ซ้ำร้ายไปกว่านั้นสายสื่อสารดังกล่าวที่ห้อยขาดลงมานั้น สร้างความอันตรายให้กับพี่น้องประชาชนผู้ใช้ทาง รวมไปถึงทางเดินเท้าในการซ่อมแซม ปรับปรุงของเจ้าของสายสื่อสารก็ทำกันแบบขอเสร็จไปที ไม่สนเศษซากสายเก่าที่พัน ๆ กอง ๆ ไว้ตรงนั้นเพราะไม่มีใครกำกับดูแล ถ้าประชาชนตรงนั้นไม่ได้เห็นสถาปัตยกรรมนี้ หนักไปกว่านั้น เปลี่ยนสายสื่อสารเส้นใหม่แต่ไม่เก็บสายสื่อสารเส้นเก่า เพราะไม่รู้ว่าสายไหนเป็นของตัวเอง เพราะความสะเพร่า ตลอดแนวทำให้สายเสียดสีกันจนเกิดไฟไหม้ลามไปถึงบ้านเรือน ประชาชนก็มีมาแล้วบริเวณปากซอยเขาน้อย ถนนสุขุมวิท ดีที่ไม่มีผู้เสียชีวิตนะครับ จึงอยากเรียนให้ผู้เกี่ยวข้องเร่งปรับปรุงแก้ไขสายสื่อสารให้อยู่ในสภาพปกติ จึงเรียนมา ยังท่านประธานฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขด้วย ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ท่านสมาชิกครับ ขณะนี้มีนักศึกษาปริญญาโทและคณาจารย์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต มาฟังการประชุมซึ่งอยู่ชั้นบน สภาผู้แทนราษฎร ขอต้อนรับทุกท่านครับ ต่อไปขอเชิญผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดอกเตอร์วรวิทย์ บารู ครับ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวิทย์ บารู ปัตตานี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม วรวิทย์ บารู สมาชิกผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี เขต ๑ วันนี้ขอหารือเรื่องการสร้างถนน สาย ๔๒ และถนนสาย ๔๑๐ ที่แยกตะลุโบะ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวิทย์ บารู ปัตตานี ต้นฉบับ

เพราะว่าถนนเส้นนี้ได้รับ การจัดสรรงบประมาณแล้ว แต่สิ่งที่จำเป็นต้องพูดเนื่องจากว่าถนนเส้นนี้มันเคยเปลี่ยน จากรูปแบบเดิม แล้วก็สร้างความยากลำบากแก่คนสัญจรไปมามาก เป็นเวลา ๑๐ กว่าปี ที่ถนนสายนี้เกิดขึ้นแล้วก็มันเป็นมุมอับ ซึ่งหลาย ๆ อย่างที่เกิดอุบัติเหตุ แล้วก็เกิด การฆาตกรรมก็เคยเกิดขึ้นแล้วที่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นที่พูดก็กลัว เพราะว่าสิ่งที่มีการจัดสรร ให้กับทางจังหวัดปัตตานีมักจะถูกโยกย้ายไปที่อื่นเสมอ ที่ตรงนี้ก็เนื่องจากว่าการโยกย้าย เช่นเดียวกันงบประมาณที่ได้รับอนุมัติ เพราะฉะนั้นจึงอยากจะเรียนท่านประธานว่า เมื่อได้มีการจัดสรรตรงนี้ แล้วก็ความยากลำบากของพี่น้องไม่ใช่เฉพาะแต่จังหวัดปัตตานี ผู้ใช้สัญจรไปมา เป็นถนนที่มุดเข้าใต้สะพาน แล้วมันเป็นนวัตกรรมที่แปลกมาก แล้วก็ที่สร้าง ตรงนี้ผมเข้าใจว่าผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแขวงการทางก็พยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้ แล้วก็มีแบบอะไรเสร็จเรียบร้อยแล้วดังที่เห็นใน Slide นะครับ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวิทย์ บารู ปัตตานี ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ที่อยากจะเรียนตรงนี้ก็คือผมได้รับเชิญให้ไปดูระบบชลประทาน ของพี่น้องผู้ทำงานในเขตตำบลตุยง ตำบลปะกาฮะรัง ซึ่งดูเหมือนว่ามันล่มไปเสียแล้ว ผมอยากที่จะให้กรมชลประทานช่วยดูแลสร้างเสร็จแล้ว ไม่ใช่สร้างเป็นเครื่องประดับ เฉย ๆ นะครับ ผู้คนหลายคนที่ต้องการทำนาในบางจุดบางพื้นที่ก็ไม่สามารถที่จะทำได้ อันเนื่องมาจากว่าระบบมันล่มไปแล้วไม่มีการแก้ไข และไม่มีการซ่อมแซมอะไรต่าง ๆ เลย ทำให้เกษตรกรที่เขาทำเป็นอาชีพเสริมก็ทำไม่ได้ด้วยเช่นเดียวกัน ขอฝากผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยครับ ขอขอบคุณครับ ท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญคุณศักดินัย นุ่มหนู ครับ

นายศักดินัย นุ่มหนู ตราด ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ศักดินัย นุ่มหนู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตราด พรรคก้าวไกล ผมขอหารือปัญหา ของพี่น้องชาวตราด เป็นความเดือดร้อนและเป็นความต้องการของพี่น้องชาวตราด ใน ๓ เรื่องครับท่านประธาน

นายศักดินัย นุ่มหนู ตราด ต้นฉบับ

เรื่องแรก ขอให้มีการพัฒนายกระดับ ด่านการค้าชายแดน ๒ แห่ง อันนี้ก็เป็นด่านบ้านท่าเส้น ซึ่งเป็นภาพในอดีตที่เคยมีการค้าขาย กันมาก่อนนะครับ ภาพถัดไปนี่นะครับ ในอดีตที่มีการค้าขายเปิดให้คนทั้ง ๒ ประเทศนี้ ไปมาหาสู่กัน ค้าขายด้วยกันทางเป็นแบบนี้ครับ ซึ่งปัจจุบันนี้ทางได้รับการพัฒนาเป็นถนน ๔ เลน แต่ว่าไม่ได้เปิดด่านให้มีการค้าขายสำหรับด้านชายแดนบ้านท่าเส้น สภาพเป็นอย่างนี้ ท่านประธานครับ แล้วก็ด่านที่ ๒ ด่านบ้านมะม่วงที่อำเภอบ่อไร่ ทั้ง ๒ ด่านนี้ต้องการ ให้มีการยกระดับเพื่อการค้า การลงทุนของพี่น้องที่อยู่จังหวัดชายแดน แล้วก็ให้มีการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะไฟฟ้าที่เขามีความต้องการจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับหน่วยที่อยู่ หน้าด่านนะครับ

นายศักดินัย นุ่มหนู ตราด ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ก็ขอให้รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมเร่งก่อสร้างสะพาน ข้ามเกาะช้าง อันนี้เป็นภาพในช่วงเทศกาลหลาย ๆ ท่านที่ไปเที่ยวที่เกาะช้างก็จะทราบดีว่า รถติดที่จะต้องรอขึ้นเรือ จึงมีความจำเป็นทั้งในเรื่องของการสนับสนุนเรื่องการท่องเที่ยว ทั้งในเรื่องของการช่วยเหลือในกรณีเกิดเหตุ เกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ครับ รถติดยาวมาก นี่ก็เป็นภาพที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลของแต่ละครั้ง อันนี้ก็ขอให้ทางกระทรวงคมนาคม ได้เร่งในการที่จะทำโครงการก่อสร้างสะพานข้ามเกาะช้างครับ

นายศักดินัย นุ่มหนู ตราด ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย ขอให้มีการเร่งรัดโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำที่ห้วยสะตอ ปีนี้พี่น้องชาวตำบลสะตอเจอกับภาวะน้ำท่วมมาแล้ว ๓ รอบ แล้วก็เป็นอย่างนี้มาตลอดทุกปี เพราะฉะนั้นการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยสะตอมีความสำคัญในเรื่องของการที่จะช่วยป้องกัน น้ำท่วมและป้องกันน้ำแล้งที่จะเอาไว้ใช้ในฤดูของการที่ต้องใช้น้ำเพื่อการเกษตร ทั้ง ๓ เรื่องนี้ฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยครับ ขอขอบคุณมากครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญคุณสมศักดิ์ บุญประชม ครับ

นายสมศักดิ์ บุญประชม อุบลราชธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม สมศักดิ์ บุญประชม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑๐ อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทยรวมพลัง มีเรื่องหารือท่านประธาน ๒ เรื่องครับ

นายสมศักดิ์ บุญประชม อุบลราชธานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ เรื่องถนนสาย ๒๒๑๔ จาก กม. ๑-๔๗ ถนนสายนี้เป็นถนน ๒ ช่องจราจรที่ถือว่าเป็นถนนสายหลัก เพราะมีรถสัญจรไปมาจำนวนมาก โดยวิ่งผ่านอำเภอทุ่งศรีอุดม อำเภอน้ำขุ่น อำเภอน้ำยืน และอำเภอเดชอุดม มีรถบรรทุกโดยสารและรถยนต์ของพี่น้องประชาชน แต่บางช่วง ของถนนระหว่างบ้านโชคสมบูรณ์ บ้านตาโม กม. ๔๓-๔๖ ยังมีการชำรุดเนื่องจากน้ำท่วมขัง ในช่วงถนนฝนตกหนักทำให้น้ำไหลเข้าบ้านเรือนของพี่น้องประชาชน จึงส่งผลกระทบ ต่อพี่น้องประชาชน รวมถึงทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนบ่อยครั้งครับ และยังมีอีกสายหนึ่ง ถนนสาย ๒๑๗๑ ช่วง กม. ๔๑-๔๓ เป็นถนนคอขวดจาก ๔ ช่องจราจรเป็น ๒ ช่องจราจร จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ผมจึงฝากท่านประธานไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยจัด งบประมาณไปทำถนนจาก ๒ ช่องจราจร ให้เป็น ๔ ช่องจราจรให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยครับ

นายสมศักดิ์ บุญประชม อุบลราชธานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ คือเรื่องน้ำประปาของอำเภอน้ำขุ่นและอำเภอทุ่งศรีอุดม ทั้ง ๒ อำเภอนี้ปัจจุบันยังไม่มีน้ำประปาส่วนภูมิภาคใช้ดำรงชีพ ทำให้ช่วงหน้าแล้ง ขาดน้ำประปาใช้ในครัวเรือน รวมถึงหน่วยงานของทางราชการทั้ง ๒ หน่วยงานด้วยครับ ผมจึงฝากท่านประธานไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือการประปาส่วนภูมิภาค ช่วยไปออกแบบและจัดงบประมาณไปทำน้ำประปาที่สะอาดให้กับพี่น้องประชาชน ทั้ง ๒ อำเภอนี้ ปีนี้ฝนตกไม่ทั่วฟ้า แต่การพัฒนาอยากให้มันทั่วถึงพี่น้องประชาชนคนอีสาน ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญคุณชิตวัน ชินอนุวัฒน์

นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย จากพรรคก้าวไกล ขอ Slide ด้วยครับ

นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ

วันนี้ผมขอหารือในที่ประชุม สภาผู้แทนราษฎร ประเด็นที่ดินทำกินของประชาชนในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย โดยขอนำเสนอปัญหาในพื้นที่ทั้งหมด ๔ ตำบล ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งต่อ ไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องนะครับ

นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ

พื้นที่แรก ตำบลบ้านดู่ เมื่อมีการกำหนดเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์เกิดกรณี ข้อพิพาทในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างพื้นที่ในเขตป่ากับชุมชนที่อาศัยกันมาก่อนประกาศ ทำให้ประชาชนที่อยู่อาศัยมาก่อนกลายเป็นผู้บุกรุก ถูกบังคับให้อพยพโยกย้ายออกจากพื้นที่ ถูกจำกัดสิทธิในการพัฒนาและถูกฟ้องร้องดำเนินคดี

นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ

พื้นที่ต่อมาคือพื้นที่ตำบลห้วยชมภู ลักษณะเป็นภูมิประเทศที่เป็นภูเขา สลับซับซ้อน ไม่สามารถก่อสร้างหรือปรับปรุงถนนได้ ขยายเขตไฟฟ้าได้ เนื่องจากเป็นเขต พื้นที่ป่า และประชาชนประสบปัญหาเอกสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยด้วยพื้นที่ยังเป็น ส.ป.ก. สำหรับทำการเกษตรกรรมเท่านั้น

นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ

พื้นที่ต่อไป เป็นพื้นที่ตำบลแม่ยาว ประชาชนในพื้นที่ต้องการเปลี่ยน กรรมสิทธิ์จาก ส.ป.ก. เป็น นส. ๓ ก หรือโฉนดที่ดินให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้อง ในการทำเกษตรรุกล้ำพื้นที่ป่า หรืออยู่อาศัยในเขตป่า ต้องการให้ภาครัฐกำหนดขอบเขต ที่ชัดเจนเพื่อแจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ทราบและดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ

พื้นที่สุดท้าย ตำบลสันทราย บ้านร่องก๊อ หมู่ที่ ๕ มีพื้นที่ ๒๘ ไร่ ยังเป็นที่ดิน สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกันมากกว่า ๘๐ ปี ครอบคลุมประชากร ๖๐ ครัวเรือน ซึ่งประชาชนไม่มีเอกสิทธิ์ในที่ดินทำกินของตัวเอง ได้เพียงแต่อยู่อาศัย และทำการเกษตรเท่านั้น โดยพื้นที่บริเวณรอบได้รับโฉนดหมดแล้ว

นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ

ท้ายนี้ครับท่านประธาน แม้เศรษฐกิจจะดีขึ้นแต่ปัญหาที่ดินทำกินยังไม่ได้รับ การแก้ไขอย่างเท่าเทียม ประชาชนก็ยังอยู่ในภาวะรวยกระจุกจนกระจายต่อไปขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอเชิญคุณทรงยศ รามสูต ครับ

นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ เพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ผม ทรงยศ รามสูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย เมื่อ ๒ อาทิตย์ก่อนมีประธานกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรของอำเภอเมือง ในเขต ตำบลบ่อสวก ตำบลนาซาว และตำบลเรือง มาปรึกษาหารือเกี่ยวกับปัญหาเรื่องราคาสุกร หรือหมูราคาตกต่ำ เมื่อ ๒-๓ ปีก่อนราคาหมูดีมากภาคเอกชนเข้าไปส่งเสริม ปัจจุบัน ราคาหมูตกต่ำอย่างที่เคยเสนอเข้าสู่สภา เขาก็มาปรึกษาหารือโดยเฉพาะปัจจุบันมีหมูข้ามเขต จากต่างจังหวัดเข้ามามาส่งตามเขตต่าง ๆ เฉลี่ยเดือนละ ๒,๖๐๐ ตัว แถมให้เครดิตอีก เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการในพื้นที่ก็มีปัญหา แถมลูกหมูที่เคยขายได้ตัวละประมาณ ๑,๐๐๐-๑,๒๐๐ บาท ก็ถูกตัดราคาจากหมูข้ามเขตประมาณ ๘๐๐-๙๐๐ บาท ก็เลยมาหารือว่า จะเป็นไปได้ไหมเรามีอาสาปศุสัตว์ ซึ่งที่ผ่านมาปีหนึ่งเก็บข้อมูลทีหนึ่งทำอะไรไม่ได้ ให้เก็บข้อมูลสักเดือนละครั้งแล้วก็ส่งข้อมูลทาง LINE เพื่อจะให้ผู้เลี้ยงหมูเขาแจ้งว่าในรอบ ๔ เดือนที่หมูเขาจะออกมาเขาจะขึ้นเขียงเท่าไร แล้วก็จะขายลูกหมูเท่าไร เพื่อจะได้วางแผน ในการออกใบอนุญาต เพราะเวลาจะขออนุญาตหมูข้ามเขตต้องขอใบ ร. ๔ จากปศุสัตว์ จะได้ Control ได้ว่าควรจะเอาหมูนำเข้าเท่าไร ขนาดไหน เพียงไร ผมเข้าใจอยู่ว่า เป็นการค้าเสรี แต่อย่างน้อยถ้าสมมุติว่าเราชะลอบางเรื่องได้เพื่อบริหารจัดการ ผู้ประกอบการ ผู้เลี้ยงหมูจากที่เขาขาดทุนมากจากค่าอาหารที่แพงและราคาหมูตกต่ำ จากขาดทุนมาก ก็จะลดน้อยลง อย่างน้อยผ่านไปสัก ๒-๓ รอบอุปสงค์และอุปทานใกล้เคียงกัน ผมก็เรียน ฝากเรื่องนี้ไปยังท่านประธานผ่านไปทางปศุสัตว์ให้ดูแลผู้เลี้ยงหมูในเขตพื้นที่จังหวัดน่าน จะได้ดูแลต่อไป ก็ฝากขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญคุณภคมน หนุนอนันต์ ครับ

นางสาวภคมน หนุนอนันต์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาค่ะ ดิฉัน ภคมน หนุนอนันต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล วันนี้มีเรื่องความเดือดร้อน และความกังวลใจของพี่น้องประชาชนที่อาศัยบริเวณด่านศุลกากรสะเดา จังหวัดสงขลา ปัญหามี ๒ ข้อ และ ๑ ข้อเสนอ ที่อยากปรึกษาหารือท่านประธานผ่านไปยังรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลังและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังนะคะ

นางสาวภคมน หนุนอนันต์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ปัญหาข้อแรก ประชาชน ในพื้นที่ด่านศุลกากรสะเดามีความกังวลเรื่องการสร้างด่านใหม่ว่าจะทำให้เศรษฐกิจ ความคึกคักและความเป็นเมืองในพื้นที่ด่านศุลกากรเดิมซบเซาลง เนื่องจากจะมีการย้าย ไปศุลกากรใหม่ พรรคก้าวไกลมีข้อเสนอให้ทำการเปิดทั้ง ๒ ด่าน แต่ให้แยกกิจกรรม ทางเศรษฐกิจระหว่างการขนคนและขนของโดยยังคงให้ด่านศุลกากรสะเดาเดิมเป็นด่าน ในการเดินทางเข้าออกของพี่น้องประชาชนทั้ง ๒ ประเทศ

นางสาวภคมน หนุนอนันต์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ส่วนด่านศุลกากรใหม่ให้เป็นพื้นที่นำเข้าส่งออกสินค้าระหว่างพรมแดน ไทย-มาเลเซีย แบบนี้จะได้ประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย ประชาชนในเมืองสะเดาเดิมก็จะมี ความคึกคักทางเศรษฐกิจ และแก้ปัญหารถติดในการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนที่ปัจจุบัน กระจุกตัวอยู่ที่ด่านศุลกากรเดียว

นางสาวภคมน หนุนอนันต์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ปัญหาข้อที่ ๒ ประชาชนด่านศุลกากรสะเดาและรอบด่านศุลกากร ทั่วประเทศสะท้อนมาถึงความกังวลเรื่องค่าเหยียบแผ่นดิน ๓๐๐ บาทของชาวต่างชาติ ที่จะเดินทางข้ามพรมแดน มีการบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน แต่ปัจจุบันมีการละเว้นไว้ แต่ยังไม่ยกเลิก และจะไปเก็บอีกครั้งในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๗ ประชาชนสะท้อนมาว่า เขามีความกังวล เมื่อนโยบายนี้บังคับใช้จะทำให้เศรษฐกิจการค้าในพื้นที่ลดความคึกคักลง เพราะเป็นภาษีที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คน หลายครั้งคนมาเลเซียข้ามแดน มาในประเทศไทยเพื่อทำกิจกรรม ท่องเที่ยว ซื้อหาอาหารการกินและกลับ และมีการเข้าออกหลายครั้งต่อวัน หากมีการเก็บภาษีนี้จะเป็นการลดการเดินทาง เราเสนอ ให้ท่านเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน Tourist Tax เฉพาะนักท่องเที่ยวทางอากาศ ก็ฝากไว้ค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ท่านสมาชิกครับ ขณะนี้มีครู บุคลากร และนักเรียนโรงเรียนประสาทวิทยาคาร อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ มาเข้าฟังการประชุมอยู่ชั้นบน สภาผู้แทนราษฎรขอต้อนรับทุกท่านครับ ต่อไปขอเชิญ คุณจตุพร กมลพันธ์ทิพย์ ครับ

นายจตุพร กมลพันธ์ทิพย์ ราชบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายจตุพร กมลพันธ์ทิพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดราชบุรี เขต ๓ อำเภอโพธาราม อำเภอจอมบึง พรรคพลังประชารัฐ วันนี้ผมมีเรื่องเรื่องหารือผ่านไปยัง หน่วยงานที่รับผิดชอบ ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากท่านผู้นำและพี่น้องประชาชน อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ดังนี้

นายจตุพร กมลพันธ์ทิพย์ ราชบุรี ต้นฉบับ

แม่น้ำลำภาชีมีแหล่งต้นน้ำมาจากเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งไหลผ่านตำบลท่าเคย ตำบลป่าหวาย ในเขตอำเภอสวนผึ้ง และผ่านตำบลด่านทับตะโก ตำบลแก้มอ้น อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ไหลไปลงแม่น้ำแควน้อยที่ตำบลหนองไผ่ อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี มีความยาวประมาณ ๕๐-๖๐ กิโลเมตร มีความกว้างโดยเฉลี่ย ๖๐-๗๐ เมตร ในบางช่วงมีการกัดเซาะตลิ่งพัง ทำให้ในบริเวณนั้นมีความกว้างถึง ๑๐๐ เมตร โดยทุกปี ในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมฝนตกชุกน้ำป่าไหลอย่างรุนแรงและกัดเซาะริมตลิ่ง พังทลาย ทำให้ที่ดินทำกินซึ่งเป็นไร่ สวน พื้นที่เลี้ยงสัตว์ และบ้านเรือนของพี่น้องประชาชน ได้รับความเสียหาย ถนนบางสายถูกน้ำท่วมตัดขาดไม่สามารถสัญจรผ่านไปได้ ซึ่งบางครอบครัวต้องอพยพไปหาที่อยู่และที่ทำกินใหม่ พอถึงฤดูแล้งก็มีความแห้งแล้ง เป็นอย่างมาก ไม่มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค เนื่องจากน้ำได้ไหลผ่านไปลงแม่น้ำแควน้อย เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงกราบเรียนผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนโดยการสำรวจออกแบบทำฝายกักเก็บน้ำไว้ใช้เป็นระยะ ๆ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง พร้อมทั้งสร้างแนวเขื่อนกั้นตลิ่งบริเวณที่มีกระแสน้ำกัดเซาะ เป็นประจำ จึงกราบเรียนมาด้วยความเคารพ ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญคุณวันนิวัติ สมบูรณ์ ครับ

นายวันนิวัติ สมบูรณ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม วันนิวัติ สมบูรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขต ๑๐ พรรคเพื่อไทย วันนี้ขออนุญาตหารือท่านประธาน ๓ เรื่อง ในเรื่องของไฟฟ้าขยายเขตครับ

นายวันนิวัติ สมบูรณ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ผมได้รับการประสานจาก ท่านผู้ใหญ่บ้านบ้านห้วยแร่ แล้วก็ท่าน ส.อบต. บ้านห้วยแร่ หมู่ที่ ๗ ตำบลวังม่วง อำเภอเปือยน้อย เรื่องขอไฟฟ้าขยายเขตใน ๓ เส้นทาง ดังนี้

นายวันนิวัติ สมบูรณ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ

เส้นทางที่ ๑ เป็นเส้นทางหลังศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านห้วยแร่ ระยะทาง ๑.๔ กิโลเมตร

นายวันนิวัติ สมบูรณ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ

เส้นทางที่ ๒ เป็นเส้นบ้านห้วยแร่ทางด้านดอนปู่ตาไปยังบ้านวังม่วง ๑.๘ กิโลเมตร

นายวันนิวัติ สมบูรณ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ

เส้นทางที่ ๓ เป็นบ้านห้วยแร่ไปทางบ้านปอแดง ๒ กิโลเมตร

นายวันนิวัติ สมบูรณ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ไฟฟ้าขยายเขตที่อำเภอเปือยน้อยเช่นเดียวกัน แต่เป็น ที่บ้านโสกนาค ตำบลวังม่วง ประเด็นเรื่องนี้ก็คือมีผู้แทนของพี่น้องประชาชน ผู้แทน ที่จะไปขอไฟฟ้าให้ ว่ากันง่าย ๆ ผู้นำนะครับ ก็คือรวบรวมชาวบ้านแล้วก็ไปขอไฟฟ้า แต่ว่าทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอ้างว่ามีงบประมาณไม่เพียงพอ อาจจะเป็น ปลายปีงบประมาณ ก็ทำให้การจัดสรรค่อนข้างลำบาก ไม่สามารถให้อนุมัติได้ ก็เลยต้องให้ พี่น้องเรี่ยไรเงินตัวเองกว่า ๒ ล้านบาท เป็นไปได้ในปีงบประมาณถัดไปอยากให้จัดสรร งบประมาณให้เพียงพอกับความต้องการ เพื่ออำนวยความสะดวกแล้วก็แก้ไขปัญหา ให้พี่น้องครับ

นายวันนิวัติ สมบูรณ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ท่านประธานครับ ไฟฟ้าขยายเขตเหมือนกัน ที่เขตอำเภอโนนศิลา ๓ เส้นทางครับ เส้นทางที่ ๑ หมู่ที่ ๒ ตำบลโนนแดง ไปยังที่ว่าการอำเภอโนนศิลา เส้นทางที่ ๒ บ้านหนองน้ำขุ่นเหนือ หมู่ที่ ๘ ไปยังตำบลวังหิน อำเภอหนองสองห้อง และเส้นทางที่ ๓ บ้านห้วยแคนไปดอนปู่ตา บ้านหัน ทั้ง ๓ เส้นทางนี้ก็มีบ้านเรียงรายกัน ตามทางเกือบ ๑๐๐ หลังคาเรือน ท่านประธานครับ ไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน อยากขอความกรุณาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้จัดสรรงบประมาณ ดูแลให้ทั่วถึงด้วยครับ ขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญคุณยูนัยดี วาบา ครับ

นายยูนัยดี วาบา ปัตตานี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายยูนัยดี วาบา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี เขตเลือกตั้งที่ ๔ พรรคประชาธิปัตย์ ขอหารือปัญหาของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ดังนี้ครับ

นายยูนัยดี วาบา ปัตตานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ประเด็นเรื่องที่ดินทับซ้อนป่าไม้แก่น ชาวบ้านได้รับผลกระทบใน ๒ อำเภอ คืออำเภอไม้แก่นและอำเภอสายบุรี ในเขตเทศบาล เมืองตะลุบัน ซึ่งมีชุมชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นมาตั้งแต่เดิมแล้ว ไม่สามารถออกโฉนด เพื่อขอบ้านเลขที่ทำให้ชาวบ้านเสียโอกาสครับท่านประธาน ชาวบ้านได้ร้องเรียนไปยัง ท่าน สว. อับดุลฮาลิม มินซาร์ และได้มีคณะ สว. ลงไปดูพื้นที่แล้วครับ ทราบว่าล่าสุด เรื่องจะอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สคทช. ป่าไม้แก่น ประกาศกฎกระทรวงเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ ตามรูปนะครับท่านประธาน ขณะนี้ชาวบ้าน ร้องขอให้ท่านประธานช่วยตาม สคทช. และปลดล็อกด้วยมติ ครม. ด้วยครับ

นายยูนัยดี วาบา ปัตตานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ประเด็นเรื่องที่ดินบ้านบาละแต ตำบลลางา อำเภอมายอ จังหวัด ปัตตานี ได้รับการร้องเรียนจากนายมะการี วาแม็ง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๔ ตำบลลางา ว่าที่ดิน ประมาณ ๕,๐๐๐ ไร่ มีประชากรประมาณ ๔,๐๐๐ กว่ารายได้รับผลกระทบ เนื่องจาก สปก. ไปประกาศเขตทับที่ชาวบ้านที่มี ส.ค. ๑ และอาศัยมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ชาวบ้านได้ติดต่อ ขอออกโฉนดไม่ได้ หน่วยงานแนะนำให้ชาวบ้านไปร้องต่อศาลเป็นราย ๆ ไป ชาวบ้าน ไม่มีความสามารถครับ ฝากท่านประธานประสานไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ท่านธรรมนัส พรหมเผ่า ด้วยครับ

นายยูนัยดี วาบา ปัตตานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ เรื่องของผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง เมื่อคดีจบแล้ว แต่ประวัติ ยังติดในระบบจะทำงานนอกพื้นที่หรือข้ามฝั่งไปมาเลเซียไม่สามารถเดินทางได้ เมื่อจบคดีแล้ว ก็สมควรคืนสถานะให้กับบุคคลเหล่านี้ด้วยครับ และบางคนถูกจับไปยังศูนย์ซักถาม พอไม่มีอะไรปล่อยตัวออกมาเขาเสียเวลาทำมาหากินและไม่จ่ายค่าเยียวยา ชาวบ้าน ร้องเรียนมาฝากถาม กอ.รมน. หรือท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมดูแลด้วยครับ

นายยูนัยดี วาบา ปัตตานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ เรื่องสุดท้าย ขอเวลาอีกนิดนะครับ ในฐานะเป็นครูมาก่อนเด็ก ๆ ในพื้นที่ ๓ จังหวัด มักจะถามและดูปืนใหญ่พญาตานีซึ่งตั้งอยู่ที่หน้ากระทรวงกลาโหม คนปัตตานีอยากดูอยากชมต้องมากรุงเทพฯ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนมาได้ จึงฝากไปยังกระทรวง ทบทวนเอามาสร้างพิพิธภัณฑ์ทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ไปไว้ที่ปัตตานีและดึงดูดนักท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ด้วยครับ ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณวิชัย สุดสวาสดิ์ ครับ

นายวิชัย สุดสวาสดิ์ ชุมพร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม วิชัย สุดสวาสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร พรรครวมไทยสร้างชาติ วันนี้ ผมขอหารือท่านประธานนะครับ

นายวิชัย สุดสวาสดิ์ ชุมพร ต้นฉบับ

เรื่องแรก ได้รับเรื่องร้องเรียนจากท่านบุญชวน กายสะอาด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลครน ท่าน อบต. อุดม มหารัตน์ ในเรื่องของ พี่น้องประชาชนใช้ถนนเส้นสายเขาล้าน-หาดพริก ถนน ชพ.ถ. ๑๐๐๒๒ เป็นถนนชำรุด เสียหาย ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพรได้ทำเรื่องขอรับงบประมาณจาก กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมา ๒ ปีแล้วยังไม่ได้รับงบประมาณ ฝากท่านประธาน ถึงกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นด้วยให้มาแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนโดยด่วนนะครับ

นายวิชัย สุดสวาสดิ์ ชุมพร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากท่านนายกธวัชชัย ซื่อสัตย์ นายกองค์การ บริหารส่วนตำบลปากแพรก และผู้ใหญ่กิติศักดิ์ ส่งข่าว เรื่องพี่น้องประชาชนในหมู่ที่ ๑ ไม่มีน้ำประปาใช้ โดยเฉพาะเป็นน้ำประปาส่วนภูมิภาคเดินท่อใช้มาหลายปีแล้วครับ แต่ก็ไม่เปิดให้พี่น้องประชาชนใช้มา ๕-๖ เดือนที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นก็ขอนำเรียน ท่านประธานฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการประปาส่วนภูมิภาคได้เข้าไปดูแล พี่น้องประชาชนในเขตหมู่ที่ ๑ ตำบลปากแพรกด้วยนะครับ

นายวิชัย สุดสวาสดิ์ ชุมพร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ท่านประธานครับ ในเรื่องของถนนเส้นจราจรเป็นถนนทางหลวง หมายเลข ๔๑ เดินทางจากกรุงเทพฯ ผ่านจังหวัดชุมพร โดยเฉพาะในเรื่องเส้นทาง ของจังหวัดชุมพร สี่แยกไฟแดง ๓-๔ ไฟแดงในเขตจังหวัดชุมพรเป็นเรื่องที่เดือดร้อน ของพี่น้องประชาชนมาตลอด รถติดสะสมอย่างมากโดยเฉพาะในหน้าที่ผลไม้ พืชทางการเกษตรออกสู่ตลาดทำให้พี่น้องประชาชนเดือดร้อน แยกเขาปีบ แยกหลังสวน สามแยกวังตะกอ สามแยกทางเข้าอำเภอสวี แล้วก็สี่แยกท่าแซะ เพราะฉะนั้นแล้วอยากให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง ได้สำรวจออกแบบ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนโดยเร่งด่วน เพราะเป็นเส้นทางเดียวที่ใช้สัญจรไปมา ระหว่างพี่น้องประชาชนขึ้นลงกรุงเทพฯ ไปภาคใต้ และติดขัดในช่วงของจังหวัดชุมพร โดยตลอดมา

นายวิชัย สุดสวาสดิ์ ชุมพร ต้นฉบับ

อีกเรื่องหนึ่งเรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องของถนนเลียบชายฝั่ง ถนนทางหลวงชนบท เลียบชายฝั่งของจังหวัดชุมพรตอนนี้เกิดฟันหลออยู่ในช่วงของตำบลทุ่งคา แล้วก็ตำบล หาดทรายรี เพราะฉะนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงคมนาคมออกไปสำรวจ เห็นว่าเป็นเรื่องของติดป่าชายเลนด้วย เพราะฉะนั้นหลายหน่วยงานต้องมาบูรณาการร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน จังหวัดชุมพรน้ำท่วมบ่อย แล้วก็เส้นทางที่สำรองไม่มี เลยจะต้องใช้เส้นทางนี้เป็นเส้นทางสำรอง ฝากท่านประธานถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมทางหลวงชนบทแล้วก็กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย ช่วยกัน ดูแลด้วยนะครับ ขอบคุณมากครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญคุณธีระชัย แสนแก้ว ครับ

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายธีระชัย แสนแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย กระผม ใคร่ขอหารือเกี่ยวกับเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อย ด้วยกระผมในฐานะ ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานีได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องชาวไร่อ้อยทั้งประเทศ ๓๗ สถาบัน ซึ่งปลูกอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลจำนวนไม่น้อยกว่า ๓๐๐,๐๐๐ ราย ได้รอคอยเงินช่วยเหลือ จากรัฐบาลในการตัดอ้อยสดตันละ ๑๒๐ บาทของฤดูการผลิต ๒๕๖๕/๒๕๖๖ ได้ล่วงเลยระยะเวลานานแล้ว และได้ทำการปิดหีบไปตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๖๖ ชาวไร่อ้อย ได้ติดตามทวงถามในส่วนของราชการที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้รับการร้องเรียนและได้นำปรึกษาในสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้มาแล้วหลายครั้ง และหลายจังหวัดไม่ต่ำกว่า ๑๐ ครั้ง ตลอดจนได้รับหนังสือแล้วก็ได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมชี้แจงถึงความเดือดร้อน เพราะชาวไร่อ้อยได้จ่ายค่าจ้าง และตัดอ้อยสดให้กับแรงงานตัดอ้อยไปแล้วโดยคิดว่าจะได้รับเงิน ๑๒๐ บาทจากรัฐบาล ตามนโยบายของรัฐบาล หลังปิดหีบอ้อยทำให้ชาวไร่อ้อยบางรายมีหนี้สินถูกทวงถาม และได้นำเสนอความเดือดร้อนไปยังผู้แทนราษฎร ผมในฐานะประธานชมรมสถาบัน ชาวไร่อ้อยภาคอีสาน ๒๐ สถาบัน ในฐานะเป็นผู้แทนราษฎรได้นำความเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชน มาสอบถามในสภาแห่งนี้เพื่อผ่านไปยังรัฐมนตรีและรัฐบาล โดยเฉพาะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมผู้มีหน้าที่รับผิดชอบและเร่งรัดดำเนินการเรื่องนี้โดยเร่งด่วน และอีกไม่นานจะถึงฤดูการเปิดหีบใหม่แล้ว ซึ่งชาวไร่อ้อยทั้งประเทศมีความกังวล เป็นอย่างมากกับเงินช่วยเหลือการผลิตของปีการผลิตเก่าซึ่งยังไม่ได้รับ ประกอบกับนโยบาย ของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม ปี ๒๕๖๖/๒๕๖๗ ยังไม่มีความชัดเจนว่ายังจะมีการช่วยเหลือการตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ต่อไปหรือไม่ กระผมขอฝากท่านประธานไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมให้เร่งรัดดำเนินการ ในเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จโดยด่วน ซึ่งท่านได้เคยรับปากไว้กับพี่น้องชาวไร่อ้อยทั้งประเทศแล้ว แล้วจะได้ดำเนินการ ๑๒๐ บาทให้แล้วเสร็จของปีที่ผ่านมา ในแนวทางปฏิบัติ ในการให้ความช่วยเหลือของพี่น้องชาวไร่อ้อยปี ๒๕๖๖/๒๕๖๗ ซึ่งจะมาถึงนี้ ในขณะนี้ ชาวไร่อ้อยทั้งประเทศรอคอยความหวังอย่างเป็นกังวล ก็ขอให้ท่านได้สั่งการข้าราชการ ประจำซึ่งเหนือกว่าข้าราชการการเมืองเป็นอย่างมาก จนทำให้นโยบายของอุตสาหกรรมอ้อย และน้ำตาลทรายถูกกำหนดโดยข้าราชการประจำ ซึ่งไม่ฟังความเห็นของโรงงานน้ำตาล และชาวไร่อ้อย และนำไปสู่การสนับสนุนของรัฐมนตรีอยู่แล้วเรื่องนี้ ซึ่งชาวไร่อ้อยผู้ปลูกอ้อย และโรงงานน้ำตาลคอยความหวังจากรัฐมนตรีและรัฐบาลชุดนี้อยู่ ขอกราบขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญคุณประมวล พงศ์ถาวราเดช ครับ

นายประมวล พงศ์ถาวราเดช ประจวบคีรีขันธ์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายประมวล พงศ์ถาวราเดช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เขต ๓ พรรคประชาธิปัตย์

นายประมวล พงศ์ถาวราเดช ประจวบคีรีขันธ์ ต้นฉบับ

เรื่องแรก ผมได้รับทราบปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน จากท่านนายกเทศมนตรีตำบลร่อนทอง นายปรีดา ภาสวัชรโยธิน เมื่อฝนตกทำให้มีปัญหา น้ำท่วมขังทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากทางหลวงหมายเลข ๓๑๖๙ บางสะพาน-ชายทะเล ขวางทางน้ำ ระหว่างกิโลเมตรที่ ๐+๗๐๐ ถึง ๑+๕๐๐ ปากทาง เข้าโรงแรมโอเคมินิเทล และระหว่างกิโลเมตร ๑+๕๐๐ ถึง ๒+๗๒๐ หน้าโรงเรียน บ้านดอนสำนัก ซึ่งมีท่อลอดของกรมทางหลวง ๘๐ เซนติเมตรและ ๑ เมตรตามลำดับ จึงขอให้กรมทางหลวงพัฒนาสะพานและระบบระบายน้ำให้กว้างขึ้น และทำท่อระบายน้ำ พร้อม Footpath ๒ ข้างทางและไฟส่องสว่าง เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขังและความปลอดภัย ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่อไป

นายประมวล พงศ์ถาวราเดช ประจวบคีรีขันธ์ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ขอให้กรมทางหลวงพัฒนาระบบระบายน้ำทางหลวงหมายเลข ๓๓๗๔ จากวัดคลองน้ำเค็มสี่แยกโจ๊ย และทางหลวงหมายเลข ๓๔๙๗ จากสามแยก บางสะพานน้อย-บางสะพานน้อย ระหว่างตลาดนัดทุ่งนาทองและศาลเจ้าเพื่อแก้ไขปัญหา การระบายน้ำของพี่น้องประชาชน

นายประมวล พงศ์ถาวราเดช ประจวบคีรีขันธ์ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ขอให้กรมทางหลวงทำการพัฒนาทางหลวงหมายเลข ๓๓๗๔ บางสะพาน-หนองหัดไทย ผ่านย่านชุมชนเป็นถนน ๔ ช่องจราจรที่มีเกาะกลางติดตั้ง ไฟส่องสว่าง จากหมู่บ้านวรา-สะพานบ้านหินกอง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้อง ประชาชนที่สัญจรไปมาในถนนสายดังกล่าว

นายประมวล พงศ์ถาวราเดช ประจวบคีรีขันธ์ ต้นฉบับ

ทั้ง ๓ เรื่องขึ้นกับกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม จึงอยากเรียน ให้กรมทางหลวงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมดำเนินการแก้ไขปัญหาให้พี่น้อง ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่ต่อไปครับ ขอบพระคุณมากครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญคุณวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ ครับ

นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สตูล ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ผม วรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล พรรคภูมิใจไทย ผมมีเรื่องอยากจะหารือ ท่านประธาน ๓ เรื่องครับ

นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สตูล ต้นฉบับ

เรื่องแรก เป็นเรื่องที่ผมได้รับการร้องเรียนจากตัวแทนกลุ่มโรงเรียนตาดีกา จังหวัดสตูลซึ่งมีมากกว่า ๒๐๐ โรง แล้วก็มีเด็กเรียนอยู่มากกว่า ๑๓,๐๐๐ คน ได้ร้องเรียน มาว่ามีปัญหาเรื่องของเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวัน ก่อนหน้านี้ก็มีมติ ครม. มาแล้วว่าจะมี การอุดหนุนอาหารกลางวันให้กับโรงเรียนตาดีกาตั้งแต่ปี ๒๕๖๖ จนถึง ๒๕๗๐ แต่ปรากฏว่า ในปีนี้ปี ๒๕๖๗ พ.ร.บ. งบประมาณมันล่าช้าและคิดว่าน่าจะเสร็จประมาณเดือนเมษายน เลยทำให้เงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันขาดช่วงไป จึงอยากจะเรียนหารือกับท่านประธาน ไปยังกระทรวงศึกษาธิการ อยากจะให้หาวิธีการแก้ปัญหาให้กับครูโรงเรียนตาดีกาในพื้นที่ จังหวัดสตูลแล้วก็ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ด้วย

นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สตูล ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องที่พี่น้องตำบลแหลมสน อำเภอละงู จังหวัดสตูล ได้ร้องขอ เข้ามาก็คืออยากจะให้มีการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างบนถนนทางหลวงชนบท ซึ่งเป็นถนน ที่เชื่อมต่อระหว่างตำบลกำแพงและตำบลแหลมสน อำเภอละงู จังหวัดสตูล ซึ่งของเดิม บางจุดมันมีอยู่แล้ว แต่ว่าบางจุดไม่มี ก็อยากจะฝากท่านประธานผ่านไปยังท่านอธิบดี กรมทางหลวงชนบท เพราะว่าถนนเส้นนี้เป็นถนนเส้นที่ค่อนข้างจะมีความเปลี่ยว แล้วก็ ไม่ค่อยมีบ้านคนเป็นจุดที่ค่อนข้างอันตราย

นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สตูล ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ เรื่องสุดท้าย เป็นเสียงจากพี่น้องชาวใต้ที่เลี้ยงนกกรงหัวจุก เมื่อวานก็มีหลายท่านที่เดินทางมายังสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้เพื่อมาแสดงความคิดเห็น แล้วก็แสดงถึงเจตจำนงอยากที่จะให้มีการปลดนกกรงหัวจุกออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง เพราะว่าสำหรับพี่น้องชาวใต้มันไม่ใช่แค่ความชอบ มันไม่ใช่แค่การเลี้ยงสัตว์ แต่มันเป็น ประเพณี เป็นวิถีชีวิตไปแล้ว และที่สำคัญที่สุดมันสร้างรายได้ให้กับคนที่เกี่ยวข้องได้ด้วย ขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปจะเป็น ท่านสุดท้ายครับ หลังจากนั้นก็เป็นกระทู้ถามสด ขอให้ผู้ถามกระทู้และรัฐมนตรีตอบ ได้เตรียมด้วยครับ ท่านสุดท้ายขอเชิญคุณเทียบจุฑา ขาวขำ ครับ

นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางเทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ดิฉัน ขอนำความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในเขตอำเภอบ้านผือ อำเภอน้ำโสม และอำเภอนายูง มาเรียนกับท่านประธานดังนี้

นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ได้รับการร้องเรียนจากนายก อบต. ตำบลเมืองพาน และ สจ. อรวรรณว่า บ้านเมืองพาน ตำบลเมืองพาน ขาดน้ำอุปโภคบริโภค คือบ้านกาลึม บ้านไผ่ บ้านดอนขี้เหล็ก มี ๖๘๔ ครอบครัวเขาขาดน้ำ เขาอยากได้บ่อน้ำบาดาลเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ได้ทำเรื่องไปถึงสำนักงานทรัพยากรน้ำเขต ๑๐ อุดรธานีแล้วยังเงียบไป จึงขอฝาก ท่านประธานผ่านไปยังกรมทรัพยากรน้ำบาดาลและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ดิฉันได้รับการร้องเรียนจากนายกเทศมนตรีตำบลนางัว อำเภอน้ำโสม และ สจ. อัมพร นนทพันธุ์ ว่าถนนทางหลวง ๒๓๔๘ สายบ้านผือ-ปากมั่ง ช่วงตอนสามแยก ห้วยผาแดง-บ้านสันติสุข และดิฉันก็ได้รับการร้องเรียนจาก สจ. เข็มทอง ว่าถนนสาย ๒๓๔๘ บ้านนาแค-บ้านวังแข้-บ้านโนนศิลา หลักกิโลเมตร ๕๗ ถึงกิโลเมตร ๖๙ ตำบลนาแค อำเภอนายูง ปัจจุบันนี้ถนนคับแคบแล้วก็ชำรุดเสียหายมากเป็นหลุมเป็นบ่อเนื่องจาก เกิดอุทกภัยทำให้ถนนเสียหายจึงขอให้กรมทางหลวงได้ขยายถนนเป็น ๔ ช่องจราจร แล้วก็ ขอไฟฟ้าส่องสว่างให้กับพี่น้องประชาชนได้เดินทางสัญจรไปมาได้สะดวกนะคะ

นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

ดิฉันได้รับการร้องเรียนจากนายก อบต. ของอำเภอบ้านผือ ว่าถนน ในความรับผิดชอบของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ถนนบ้านดอนตาล-บ้านนาไฮ ตำบลโนนทอง ถนนบ้านศรีวิราช ตำบลโสมเยี่ยม และบ้านทุ่งทอง-บ้านก้อง อำเภอนายูง แล้วถนนเหล่านี้จะนำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยว ของจังหวัดอุดรธานี และขณะเดียวกันก็อยากจะกราบเรียนท่านประธานว่าจังหวัดอุดรธานี ได้รับเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกในวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๙ จนถึงวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๗๐ แต่ขณะเดียวกันถนนหนทางที่จะให้นักท่องเที่ยวได้สัญจรไปมาได้สะดวก ไม่ค่อยดีค่ะ ขาดการบูรณาการมาหลายปีแล้ว ๗-๘ ปีก็ว่าได้ชำรุดเสียหายเป็นอย่างมาก จึงขอฝากท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม แล้วก็ส่งไปขอความอนุเคราะห์ไปยังกรมส่งเสริม การปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้ดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยค่ะ กราบขอบพระคุณค่ะ

นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

จำนวนสมาชิกที่มาประชุมทั้งหมดที่ลงชื่อไว้เมื่อเลิกประชุม ๔๗๓ คน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เรียนสมาชิก ทุกท่านครับ ขณะนี้มีผู้มาลงชื่อเข้าประชุม ๓๓๐ ท่านแล้ว ครบองค์ประชุมครับ ผมขอเปิดการประชุมดำเนินการประชุมต่อไปครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เรียนท่านสมาชิกทุกท่านครับ ก่อนที่จะมีการถามกระทู้ในห้องประชุมนี้ อยากจะเรียนให้ทราบว่าได้มีการพิจารณากระทู้ถามแยกเฉพาะซึ่งจะไปดำเนินการถามตอบ ในห้องกระทู้ถามแยกเฉพาะ บริเวณชั้น ๑ ซึ่งจะดำเนินการควบคู่ไปกับการพิจารณา กระทู้ถามสดด้วยวาจาและกระทู้ถามทั่วไป เรียนมาเพื่อทราบนะครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

อยากจะเรียนตามข้อบังคับว่า กระทู้สดด้วยวาจานั้นให้สมาชิกผู้ถาม ถามได้ ๓ ครั้ง ในเวลา ๑๕ นาที และท่านรัฐมนตรีก็จะตอบในเวลา ๑๕ นาทีเช่นเดียวกัน และข้อบังคับยังได้เพิ่มเติมว่าในกรณีที่มีกระทู้ถามสดไม่ครบ ๓ กระทู้ ก็อนุญาตให้ถามตอบ กระทู้ถามสดด้วยวาจานั้นเพิ่มเวลาได้ตามสมควร ซึ่งวันนี้กระทู้ถามสดอีก ๒ กระทู้ ทางรัฐบาล และรัฐมนตรีขัดข้อง ผมจึงอนุญาตให้กระทู้ถามนี้ใช้เวลาเพิ่มเติมได้ตามสมควรนะครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๑ กระทู้ถาม

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๑.๑ กระทู้ถามสดด้วยวาจา

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๑. นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม

นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ นราธิวาส ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๕ นราธิวาส ประกอบด้วยอำเภอบาเจาะ อำเภอรือเสาะ และศรีสาคร พรรคประชาชาติ ท่านประธานครับ อาศัยข้อบังคับ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อ ๑๕๖ ผมขออนุญาตท่านประธานถามกระทู้สดด้วยวาจา เกี่ยวกับประเด็นที่เป็นที่สนใจของพี่น้องประชาชน นั่นก็คือในวันนี้ประเด็นที่ผมอยากถาม ในฐานะที่อยู่ฝ่ายนิติบัญญัติถามไปยังฝ่ายบริหารเกี่ยวกับปัญหาหนี้ กยศ. ครับ หนี้ กยศ. ถือว่าเป็นประเด็นปัญหาที่ได้รับความสนใจจากลูกหนี้ กยศ. เป็นจำนวนมาก สภาของเรา ได้ผ่านกฎหมายพระราชบัญญัติกองทุนกู้ยืมให้การศึกษา ล่าสุดก็คือฉบับที่ ๒ ฉบับปี ๒๕๖๖ มีการแก้ไข พ.ร.บ. กยศ. ฉบับเดิมนั่นก็คือสภาสมัยชุดที่ ๒๕ จนกระทั่งได้มีการประกาศใช้ แล้วก็ประกาศใช้ประกาศราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๖ ประเด็นปัญหา ตอนนี้ที่เกิดขึ้น ถ้าไปดูตาม พ.ร.บ. กยศ. ฉบับที่มีการแก้ไขสาระสำคัญที่เป็นประเด็นปัญหา คำถามที่ลูกหนี้ กยศ. ต้องการคำตอบที่ชัดเจนก็คือสาระสำคัญในมาตรา ๑๘ ของ พ.ร.บ. กยศ. ที่มีการแก้ไขในมาตรา ๔๔ สาระสำคัญก็คือเป็นที่น่ายินดีว่ามีการปรับลด อัตราดอกเบี้ยจากเดิมร้อยละ ๗.๕ เหลือร้อยละ ๑ เบี้ยปรับก็เหลือ ๐.๕ แต่ประเด็นสำคัญ ช่วงรอยต่อครับท่านประธาน กฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๖ กยศ. ต้องมีการออกประกาศระเบียบประกอบการปรับโครงสร้างหนี้และแปลงหนี้ใหม่ภายใต้ พ.ร.บ. ที่มีการแก้ไข แต่ช่วงนั้นผมเข้าใจว่าสภาเราไม่มี มีการยุบสภา มีการเลือกตั้งใหม่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ช่วงที่ พ.ร.บ. ฉบับนี้ใช้บังคับ ๒๐ มีนาคมเป็นช่วงที่มีการหาเสียง เป็นรัฐบาลรักษาการ สำคัญที่สุดก็คือระเบียบยังไม่ออกมา ระเบียบประกอบ พ.ร.บ. กยศ. นั่นหมายความว่า กยศ. ต้องร่างระเบียบกฎเกณฑ์ในการที่จะเรียกลูกหนี้ให้มีการมาแปลงหนี้ใหม่ ปรับโครงสร้างหนี้ในอัตราดอกเบี้ยใหม่ ปัญหาก็คือเมื่อมีการตั้งรัฐบาลขึ้นมาแล้ว ชุดใหม่มาแล้ว มีฝ่ายบริหารมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมทราบข่าวว่า ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๖ ในฐานะที่ดูแล กรมบังคับคดี ได้เรียกทางกรมบังคับคดีพร้อมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพพร้อมกับ กองทุนกู้ยืม กยศ. มาสอบถาม ให้เร่งออกระเบียบ หลักเกณฑ์ กฎเกณฑ์ในการปรับดอกเบี้ย แปลงหนี้ใหม่ ปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ให้เป็นไปตามกฎหมาย เพราะมันบังคับใช้แล้ว จะใช้ดอกเบี้ยอัตราเดิมไม่ได้แล้ว แล้วก็ทางรัฐมนตรีประกาศว่าวันที่ ๑ พฤศจิกายน จะมีการปรับใหม่ โดยออกระเบียบให้เสร็จภายในวันที่ ๑ พฤศจิกายน คำถามแรกถามว่า นี่ใกล้สิ้นเดือนแล้วนะครับ วันที่ ๑ พฤศจิกายน ระเบียบ กฎเกณฑ์ที่จะใช้ไปถึงไหนแล้วครับ และวันที่ ๑ พฤศจิกายน จะทันไหม คำถามแรกครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงยุติธรรมครับ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานที่เคารพครับ ผม พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก่อนจะตอบคำถามข้อแรก เพื่อให้เพื่อนสมาชิกแล้วก็ทางพี่น้องประชาชนได้เข้าใจ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม กยศ. ฉบับที่ ๒ ได้เปลี่ยนโครงสร้างและสาระสำคัญ ในการแก้ปัญหาลูกหนี้หลายประการ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต้นฉบับ

ประการที่ได้รับคำถามข้อแรกก็คือว่า มาตรา ๔๔ เดิม เราคิดดอกเบี้ย ตามกฎหมายไม่เกินร้อยละ ๗.๕ ต่อปี คิดเบี้ยปรับไม่เกินร้อยละ ๑๘ เปอร์เซ็นต์ต่อปี รวมกัน ก็คือ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ต่อปี แก้ไขใหม่เป็นคิดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ ๑ ต่อปี ไม่เกินร้อยละ ๑ ที่สภาเราอภิปรายคือ ๐ ก็ได้ถึง ๑ คิดเบี้ยปรับไม่เกินร้อยละ ๐.๕ ต่อปี รวมกันไม่เกิน ๑.๕ ต่อปี สาระสำคัญที่เป็นนวัตกรรมแก้ปัญหามากก็คือการคิดเงินที่ส่งไปนี่เดิมเงินที่ส่งไป จะต้องไปหักเป็นเบี้ยปรับ ๑๘ เปอร์เซ็นต์ หักเป็นดอกเบี้ยจึงมาหักเงินต้น แต่ปรากฏว่า สาระที่แก้ใหม่ก็คือ เงินที่ไปหักต้องไปหักเงินต้นก่อนแล้วจึงจะมาเป็นดอกเบี้ย แล้วเป็นเบี้ยปรับ แล้วก็จะหักได้ ถ้าใจดำที่สุดก็ร้อยละ ๑.๕ ต่อปี กฎหมายดังกล่าวได้มีผลต่อกรมบังคับคดี แล้วกันนะครับ ในส่วนของกระทรวงยุติธรรมก็คือเขาเขียนให้ไปใช้ถึงกรมบังคับคดีด้วย ก็คือในการลดหย่อนหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ การเปลี่ยนหนี้ หรือการชำระหนี้กองทุน แม้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว หรืออยู่ระหว่างบังคับคดีก็ใช้ด้วย คือสรุปว่าหนี้ กยศ. ทั้งหมด ต้องมาใช้ด้วยถ้ายังใช้ไม่หมด

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ คือมาตรา ๑๙ ที่ไปแก้ไขมาตรา ๔๔ เพิ่มมาตรา ๔๔/๑ ก็คือ ในการชำระ ในอดีตคือเราชำระไปแล้ว ก็ให้ไปคิดใหม่ให้เป็นชำระหักเงินต้น แล้วมา หักดอกเบี้ยและประโยชน์อื่นใดคือเบี้ยปรับ แล้วอีกมาตราหนึ่งคือมาตรา ๒๗ มาเขียนว่า ให้นำบังคับใช้แก่ผู้กู้และผู้ค้ำก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ก็คือมีบทเฉพาะกาลให้ย้อนไป ที่สำคัญที่ท่าน สส. กมลศักดิ์สอบถามก็คือ ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หรือหลักเกณฑ์ วิธีการที่เป็นเงื่อนไขของกฎหมายใหม่ที่เป็นคุณ กฎหมายเขียนว่า ต้อง ไม่ใช่ เพื่อจะ ต้องนำไปใช้กับผู้ค้ำ ผู้กู้ แม้จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดและอยู่ในชั้นบังคับคดีได้ อันนี้ก็คือ สาระสำคัญ ขณะนี้เราพบว่ามี กยศ. อยากให้ขึ้นภาพด้วยครับ Slide ที่พูดไปเมื่อสักครู่

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต้นฉบับ

วันนี้ เราพบว่าคนกู้ยืม กยศ. มีทั้งหมด ๖,๗๐๐,๐๐๐ คน ข้อมูลที่ได้เมื่อก่อนจะเข้าที่ประชุม มีผู้กู้ ๓.๙ ล้านราย มีผู้ค้ำอยู่ ๒.๘ ล้านราย ในกฎหมายดังกล่าวนี้นับแต่วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๖ ทุกคนใน ๖,๗๐๐,๐๐๐ ราย จะต้องได้รับความเป็นธรรมและปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งนี้การที่กระทรวงการคลัง หรือคณะกรรมการ กยศ. ไม่ออกระเบียบกฎเกณฑ์ เรามีรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุด คือรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕ วรรคสอง เขาบอกว่า สิทธิหรือเสรีภาพใดที่รัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ หรือให้เป็นไปตาม หลักเกณฑ์วิธีการที่กฎหมายบัญญัติแม้ไม่มีกฎหมายตราขึ้นใช้บังคับบุคคลและชุมชน สามารถใช้สิทธิเสรีภาพตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญได้ นี่คือประเด็นที่เป็นปัญหาว่า วันนี้เป็นเวลา ๘ เดือนยังไม่ได้ออกกฎเกณฑ์มา อยากให้ดู Slide ให้ดูว่าวิธีคิดที่อยู่ ในชั้นบังคับคดี ขอไป Slide ที่ ๒ ครับ อันที่ ๒ หนี้นี้ผมให้ดูตัวอย่างหนึ่งในกรมบังคับคดี ผู้กู้กู้ไป ๒๖๐,๐๐๐ บาทเศษ วันนี้จ่ายไปแล้ว ๗๑๐,๐๐๐ บาทเศษ เกินกว่า ๓ เท่าตัว แต่ยังเหลือหนี้อยู่จากคำพิพากษาอยู่ ๑๕๐,๐๐๐ บาท ถ้าเป็นกฎหมายใหม่ ถ้ามีผลใช้บังคับ คนนี้ไม่ต้องใช้หนี้แล้ว นี่คือประเด็นปัญหาที่อยากจะกราบเรียนว่า ทำไมกรมบังคับคดีที่ต้องมารับ เพราะขณะนี้มีเรื่องที่อยู่ในกรมบังคับคดี ๒๐๐,๐๐๐ กว่าเรื่อง แล้วเราได้ตั้งเรื่อง ที่ทำการอายัดทรัพย์ ทำการยึดทรัพย์ อยู่ ๔๖๐,๐๐๐ เรื่อง เป็นเงิน ๖,๖๓๓ ล้านบาทเศษ หนี้คือเงินของผู้ที่เรียนหนังสือ ผู้ค้ำ ดังนั้นเมื่อกรมบังคับคดีความจริงไม่ต้องรอคณะกรรมการ กยศ. เพราะกฎหมายมันมีผลบังคับในวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๖ แล้ว การที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือแม้แต่กรมบังคับคดีไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนั้น เพราะกรมบังคับคดีทำอย่างอื่นไม่ได้ เนื่องจากว่าตัวอย่างเมื่อสักครู่ที่มีเงินของลูกหนี้รายหนึ่งที่ส่งไป ๗๐๐,๐๐๐ กว่าบาท ทั้งที่มีหนี้อยู่ ๒๖๐,๐๐๐ กว่าบาท อย่างกรณีดังกล่าวนั้น ถ้าตามกฎหมายลูกหนี้คนดังกล่าว ไม่ต้องใช้หนี้แล้ว เราจำเป็นต้องเอาหลักเกณฑ์และการคิดเงินจากคณะกรรมการ กยศ. มา ซึ่งก็อาจจะเป็นคำถามต่อว่าหลังจากที่ผมไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญกระทบต่อคน ๒.๙ ล้านคนก็ว่าได้ แล้วก็ครอบครัวอีกจำนวนมาก และได้รับผลกระทบ เพราะตั้งใจเรียน เพราะขยันเรียน เพราะต้องการเป็นอนาคตของชาติที่ดี กลับต้องเป็นหนี้ และหนี้ดังกล่าวบางคนอาจจะบอกไม่มีวินัยการเงินการคลัง แต่จริง ๆ ที่อยู่ภายใต้หนี้ก็คือการคิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่ไม่เป็นธรรม เราถึงได้แก้กฎหมายไปครับ คำถามข้อแรกขอตอบตรงนี้ครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอเชิญ คุณกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ได้ถามเป็นครั้งที่ ๒ ท่านมีเวลาอีก ๒๖ นาที ๑๕ วินาทีครับ เชิญครับ

นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ นราธิวาส ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านรัฐมนตรีที่ได้ช่วยกรุณา ตอบประเด็นสำคัญเกี่ยวกับปัญหาหนี้ กยศ. ซึ่งเรากำลังรอประกาศเงื่อนไข หลักเกณฑ์ ตามกฎหมายฉบับใหม่ ผมเชื่อว่าทาง กยศ. จะได้มีการออกประกาศ ระเบียบ กฎเกณฑ์ ทันในวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ เพื่อเป็นประโยชน์กับลูกหนี้ ท่านประธานครับ ในระหว่างที่เรารอประกาศระเบียบของ กยศ. ผมได้รับการร้องเรียนหรือว่าลูกหนี้ กยศ. ที่อยู่ในพื้นที่โดยเฉพาะที่บ้านนราธิวาส และผมเชื่อว่าในพื้นที่อื่น ๆ ก็คงมีปัญหา ลักษณะเดียวกัน ก็คือในระหว่างที่รอประกาศกฎหมายใหม่ก็ใช้บังคับแล้ว ระหว่าง รอประกาศของ กยศ. เพื่อจะให้ไปปรับโครงสร้างลูกหนี้เขาก็รออยู่ แต่ปรากฏว่ามีข้อเท็จจริง บางข้อเท็จจริงที่ผมทราบแล้วก็เข้ามาหาผมโดยตรง แล้วก็สมาชิกพรรคประชาชาติ อีกหลายท่านก็ได้เล่ามาว่ามีลูกหนี้ที่มีการบังคับคดีในระหว่างนี้ ผมเข้าใจว่านโยบาย ของท่านรัฐมนตรีเป็นไปตามกฎหมาย แต่ระดับปฏิบัติงานในพื้นที่โดยเฉพาะสำนักงาน ทนายความที่รับจ้างจาก กยศ. ยังไม่ได้ชะลอการบังคับคดี ยังไม่ได้ชะลอในส่วนของการยึดทรัพย์ แล้วก็มีการประกาศขายทอดตลาด บางรายที่ถึง Due ประกาศขายทอดตลาด คือตอนนี้ การประกาศขายทอดตลาดเขาจะประกาศแต่ละครั้ง ๖ ครั้ง แล้วก็ในระหว่างที่รอประกาศ กำหนดของ กยศ. มันก็ถึง Due เวลาที่ประกาศขายทอดตลาดของกรมบังคับคดี จะประกาศขายที่เขายึดที่ดินไว้แล้ว แต่ถ้าดูตามกฎหมายใหม่ต้องไปปรับโครงสร้างก่อน ต้องไปแปลงหนี้ก่อน จะบังคับคดีไม่ได้ เพราะฉะนั้นลูกหนี้ที่เจอผลกระทบลักษณะอย่างนี้ ที่เจอข้อเท็จจริงที่มีการบังคับคดีโดยไม่ได้รอประกาศหรือยังไม่ทันได้แปลงหนี้ใหม่ ปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ที่ดินกำลังจะถูกขายทอดตลาดเขาจะต้องทำอย่างไรครับ ขอเรียนถามท่านรัฐมนตรีผ่านท่านประธานเป็นคำถามที่ ๒ ครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญท่านรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงยุติธรรมตอบครับ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต้นฉบับ

กราบเรียนประธานที่เคารพและขอบคุณมากครับ คือกฎหมายเก่าถูกยกเลิก ประกาศ กฎเกณฑ์ก็ต้องถูกยกเลิก เพราะมีกฎหมายใหม่แล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๖ ให้มีผลวันที่ ๒๐ ดังนั้นการใช้กฎหมายเดิมหรือประกาศเดิมมาใช้กับ ลูกหนี้หรือใช้กับประชาชน ก็คือเป็นการใช้ที่ส่อไปในทางที่อาจจะไม่ชอบ เพราะมัน ถูกยกเลิกไปแล้ว แล้วก็รัฐธรรมนูญก็รองรับว่าถ้าถูกยกเลิกให้ไปออกประกาศหรือกฎเกณฑ์ หรือกฎหมายลูก ไม่ไปออก เขาก็บอกให้ใช้รัฐธรรมนูญนี่ รัฐธรรมนูญมันเขียนเป็นกฎหมาย อยู่แล้ว เพราะกฎหมายเขาเขียนโดยเฉพาะคนที่ไปใช้ เดิมเราไปจ่ายเป็นเบี้ยปรับ กับเงินดอกเบี้ยมันไม่ถึงเงินต้นเสียที เขาก็ให้เอาเงินก็นำไปใช้เป็นเงินต้น ซึ่งผมเชื่อว่าในจำนวน ที่อยู่ชั้นบังคับคดีอาจจะจำนวนมาก อาจจะส่งเหลือไม่เท่าไร หรืออาจจะหลุดไปเลยก็ได้ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาพอผมได้เข้าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ท่านผู้จัดการ กยศ. กับคนที่เกี่ยวข้องมา แล้วก็ได้ทำงานร่วมกับกรมบังคับคดี เพราะกรมบังคับคดี ต้องหยุดบังคับคดี คือกฎหมายเราเขียนว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด กฎหมาย กฎ หรือการกระทำใดจะขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ ถ้าขัดแย้งเขาบอกให้กฎหมาย หรือการกระทำ รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ คือการกระทำการไปยึดทรัพย์ถือว่ามิชอบ ดังนั้นเมื่อเจ้าหน้าที่ กรมบังคับคดีก็ได้เข้าใจแล้ว ได้รู้เรื่อง ได้คุยกัน แล้วผมก็ทราบว่า กยศ. จะมีการประชุม ในวันที่ ๓๑ ตุลาคมแบบที่ท่านกมลศักดิ์ได้พูด แล้ว กยศ. ก็เตรียม กรณีที่อยู่ชั้นบังคับคดี ๒๐๐,๐๐๐ รายก็จะเตรียมงดบังคับคดี งดการขายทอดตลาดไว้ แต่ลูกหนี้คงจะต้อง ไปปรับโครงสร้างหนี้ว่า ลูกหนี้เมื่อปรับโครงสร้างหนี้แล้ว กยศ. อ้างว่าตอนนี้ไปให้หน่วยงานหนึ่ง ไปคิดตัวเลข คิดโปรแกรมที่จะหักเงินอย่างไร แล้ว กยศ. ก็บอกว่า หลังจากประชุม Board ซึ่งปลัดกระทรวงการคลังคนใหม่จะต้องนั่งเป็นประธาน Board เมื่อวานผมได้โทรหาปลัด บอกขอให้มาชี้แจงหน่อย ท่านปลัดก็ได้กรุณาบอกว่าเดี๋ยวจะให้ผู้จัดการ กยศ. มา แล้วผมได้ถาม ก็จะให้ลูกหนี้สามารถปรับโครงสร้างหนี้ ก็คือจะเปิด Website เข้าไปทุกวัน แล้วก็ที่สำคัญก็คือในชั้นบังคับคดีที่ท่านกมลศักดิ์ถาม ไม่ว่าจะเป็นการยึดทรัพย์ การขาย ทอดตลาด หรือทรัพย์ทั้งหมดต้องหยุดบังคับคดี เพราะเป็นไปตามกฎหมาย กฎหมาย ที่ออกมากรมบังคับคดีตอนแรกจะหนักใจ เพราะเมื่อมีคำพิพากษาจะต้องปฏิบัติ ตามคำพิพากษา แต่เมื่อกฎหมายเราถือสถานะใหญ่กว่าคำพิพากษา เพราะเรามีรัฐธรรมนูญ รองรับ เดิมนั้นถ้า กยศ. ยังไม่ทำมา กรมบังคับคดีเพื่อจะให้เป็นการป้องกันตนเอง ก็จะรวบรวมข้อเท็จจริงเสนอศาลว่าจะหยุดบังคับคดี แต่ขณะนี้ทางกระทรวงการคลัง โดยคณะกรรมการ กยศ. ได้ประสานมาว่า ในวันที่ ๓๑ ตุลาคมนี้ ก็เหลืออีกไม่กี่วัน จะทำหนังสือมาที่กรมบังคับคดีจะขอให้หยุดการบังคับคดี อันนี้คือสิ่งที่อยากจะเรียน ให้ทราบครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญคุณกมลศักดิ์ ถามเป็นครั้งที่ ๓ ท่านยังมีเวลาอีก ๒๓ นาที ๕๓ วินาที เชิญครับ

นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ นราธิวาส ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ก่อนที่จะถาม คำถามที่ ๓ ผมขออนุญาตต่อเนื่องกับประเด็นคำตอบของท่านรัฐมนตรีในคำถามที่ ๒ ข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ผมได้รับจากพื้นที่ ถ้าไม่ถูกต้องอย่างไรท่านรัฐมนตรีก็สามารถชี้แจงได้นะครับ เท่าที่ผมทราบตอนนี้ในส่วนของลูกหนี้ที่ถูกบังคับคดีหรือที่ถูกยึดที่ดินพูดง่าย ๆ ภาษาบ้านเรา ก็คือถูกยึดบ้าน ยึดที่ดินในระหว่างนี้ ผมก็เคยไปประสานงานสอบถามกรมบังคับคดีในพื้นที่ บอกว่าถ้าระเบียบกฎเกณฑ์ยังไม่ออก กฎหมายใหม่มันใช้บังคับแล้วจะไปยึดเขา ได้อย่างไร ก็ได้รับการชี้แจงกับเจ้าหน้าที่บังคับคดีว่ากรณีที่มีการขายทอดตลาดแล้ว ในระหว่างนี้ หากถึงเวลาที่มีการประกาศขาย สมมุติว่าวันข้างหน้าวันที่ ๒๕ จะมี การขายทอดตลาดที่ดิน เขาบอกว่าให้ลูกหนี้ไปติดต่อของดการบังคับคดีได้ ผมไม่แน่ใจ ท่านรัฐมนตรีสามารถชี้แจงได้นะครับ ผมได้รับข้อมูลมาอย่างนั้น ก็คือลูกหนี้เดินไปหา บังคับคดีจังหวัด สมมุติว่าผมอยู่นราธิวาสเดินไปหาเจ้าพนักงานบังคับคดีที่นราธิวาส บอกให้งดการบังคับคดีก่อน ยังไม่ต้องขายที่ดินก่อน เพราะว่าเราจะไปปรับโครงสร้างหนี้ ในส่วนที่มีการบังคับคดี หรือในส่วนที่มีการพิพากษา เป็นคำพิพากษาไปแล้ว ให้รอไปแปลง หนี้ใหม่ ผมไม่แน่ใจว่าอย่างนี้เป็นกระบวนการขั้นตอนที่กรมบังคับคดีมีนโยบายทั่วประเทศ หรือเปล่า

นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ นราธิวาส ต้นฉบับ

อีกส่วนหนึ่งก็คือว่าในส่วนของเจ้าหนี้ กยศ. ผมมองว่าเจ้าหนี้เอง อำนาจในการบังคับคดีมีอยู่ ๒ อย่าง ๑. ก็คือเจ้าหนี้ขอให้งดก็เป็นอำนาจของเจ้าหนี้ นั่นก็คือ กยศ. ๒. ลูกหนี้ไปขอให้งด ผมมองว่าการให้งดบังคับคดีโดยง่ายที่สุดในระหว่างนี้ ที่กรมบังคับคดีมีข้อมูลว่าจะขายที่ดินของลูกหนี้ กยศ. กี่ราย ๆ ตอนนี้มันมีประกาศอยู่แล้ว กยศ. สามารถแจ้งไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีในแต่ละพื้นที่ให้งดการขายทอดตลาดไปก่อน ในช่วงนี้ แล้วก็ในส่วนของลูกหนี้ก็สามารถที่จะไปยื่นความจำนงได้ นี่คือทางออกที่ผมมองว่า ทาง กยศ. สามารถดำเนินการในเบื้องต้นก่อนเลย แล้วก็ข้อเท็จจริงเท่าที่ผมทราบในพื้นที่ ก็เป็นลักษณะอย่างนี้ ไม่ทราบถูกต้องอย่างไรเดี๋ยวให้ท่านรัฐมนตรีชี้แจงได้นะครับ

นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ นราธิวาส ต้นฉบับ

ทีนี้มาถึงประเด็นคำถามสุดท้าย ตอนนี้เรารอประกาศ ทุกคนลูกหนี้กำลังรอ ประกาศเงื่อนไขของ กยศ. นะครับว่าจะออกมาอย่างไร สิ่งที่เขาตั้งความหวัง ดอกเบี้ย เขาจะได้ลดลง คดีที่ฟ้องไปแล้วเมื่อประกาศออกมาเขาก็จะต้องไปคิดคำนวณใหม่ ก็จะเป็นประโยชน์กับเขา ดอกเบี้ย เบี้ยปรับลดลงเยอะเลยครับ เขาดีใจในส่วนของลูกหนี้ แต่ว่าอย่างไรก็แล้วแต่ก็ต้องชื่นชมลูกหนี้ที่ชำระหนี้เต็มจำนวน แต่ลูกหนี้ที่มีปัญหา ไม่มีงานทำลักษณะเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นประโยชน์กับเขา สิ่งที่เขาตั้งคำถามในพื้นที่กระผมเอง และเพื่อนสมาชิกของพรรคเองเขาตั้งคำถามว่า หลังจากประกาศออกมาแล้ว เขาถูกฟ้องแล้ว ศาลพิพากษาแล้ว หรือว่าบางคนถูกบังคับคดีแล้ว ถูกยึดทรัพย์แล้ว พอมีประกาศปั๊บ เขาต้องเดินไปนับ ๑ ที่ไหน ตรงไหน อย่างไร ที่จะทำเรื่องปรับโครงสร้างหนี้ หรือแปลงหนี้ใหม่เพื่อให้ปรับลดดอกเบี้ย แล้วก็ไปเข้าเงื่อนไขการผ่อนชำระหนี้ที่มีอยู่ เป็นคำถามที่ ๓ ครับ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ผมขอขยายให้ชัดเจนนะครับ ที่ผ่านมาเรามีบังคับคดีทุกจังหวัด และในกรุงเทพฯ แต่อยากจะเรียนว่าหลังจากผมชี้แจง แล้วก็กรมบังคับคดีก็คือตอนนี้ การงดบังคับคดีเราได้ให้ทางกรมบังคับคดีได้ชี้แจงไปยังกรมบังคับคดีทุกจังหวัดว่า ตอนนี้ให้มีการงดบังคับคดี การงดบังคับคดีรวมถึงเรื่องยึดทรัพย์ การอายัดทรัพย์ และการขายทอดตลาด เพราะว่าที่สำคัญก็คือที่ผ่านมาอาจจะมีการประสานงานกับทาง กยศ. ไม่ชัดเจน กยศ. ได้ทำหนังสือมาให้กรมบังคับคดี แต่ต้องเข้าใจว่าโดยปกติกฎหมายฉบับนี้ เป็นกฎหมายแรกที่มีนวัตกรรมการแก้หนี้ ซึ่งต่อไปจะต้องไปสู่การแก้หนี้ทั้งหมด ก็คือเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ให้กวาดไปถึงเก่าทั้งหมดสำหรับคนที่ยังส่งไม่หมดยังมีบัญชีอยู่ จะได้รับประโยชน์หมด และผู้ค้ำประกัน ๒,๘๐๐,๐๐๐ ครบหมด ทีนี้มันมีประเด็นที่มีปัญหา ที่ต้องขอความกรุณาลูกหนี้ เนื่องจากว่ากรณีที่ของดบังคับคดีไว้โดยปกติกฎหมายไปเขียนว่า จะต้องให้ลูกหนี้ยินยอมด้วย อันนี้พอเข้าใจนะครับ คือจริง ๆ ลูกหนี้ได้ประโยชน์ แต่กฎหมายก็ยังเขียนแตะไว้หน่อยก็ต้องให้ลูกหนี้ยินยอม ดังนั้นกรมบังคับคดีก็จะเปิดรับ แล้วก็ที่สำคัญจะมี Website ที่เข้าใจง่ายก็ให้เป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้นปัญหาทั้งหมด ที่พูดมาไม่ว่าจะเป็นการยึดทรัพย์ การอายัดทรัพย์สิน การขายทอดตลาดจะหยุดไว้ก่อน รอให้ กยศ. มาคิดเงินที่ผมบอกนะครับ วันนี้จำนวนเงิน ๖,๖๓๓ ล้านบาทของลูกหนี้ เฉพาะในส่วนที่มีการอายัดทรัพย์ ยึดทรัพย์ พอไปคิดใหม่บางครั้งลูกหนี้อาจจะไม่ต้องจ่ายเลย อย่างตัวอย่างที่ผมยกให้ดูเมื่อสักครู่ กู้ ๒๐๐,๐๐๐ กว่าบาท จ่ายไป ๗๐๐,๐๐๐ บาทแล้ว อย่างนี้ไม่ต้องจ่าย แต่เงินใช้จ่ายเกินไปสัก ๕๐๐,๐๐๐ บาทไม่ได้รับคืนนะครับ กฎหมายไม่ได้เขียนเยียวยาถึงขนาดนั้น กฎหมายเขียนเฉพาะบัญชีที่เหลืออยู่ ไม่ทราบว่า หมดคำถามหรือยัง ถ้ายังไม่หมดอาจจะขยายต่อก็ได้ เชิญครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

คุณกมลศักดิ์ คงหมดประเด็นนะครับ หรือถ้ามีประเด็นก็เชิญสั้น ๆ นะครับ

นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ นราธิวาส ต้นฉบับ

ขออนุญาตท่านประธานครับ ทราบว่าเวลาผมยังเหลืออีกนิดหนึ่งครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ท่านยังมีเวลา ๑๙ นาที แต่ว่าก็อนุญาตให้ถามได้ ๓ ครั้ง แต่ผมถือว่าวันนี้อนุญาตให้ท่านถามสั้น ๆ ได้อีก ๑ ประเด็นก็ได้ครับ

นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ นราธิวาส ต้นฉบับ

ท้ายสุดก็คือว่าอนาคตนะครับ เพื่อความกระจ่างของลูกหนี้ เมื่อประกาศระเบียบ กฎเกณฑ์ของ กยศ. ผมฝากท่านรัฐมนตรี ให้ไปถึงทางกองทุน กยศ. ว่า การสื่อสาร การประชาสัมพันธ์เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่ผ่านมา ผมว่าจริง ๆ ก็เป็นนโยบายอยู่แล้วหลักเกณฑ์ในเรื่องของกฎหมาย แต่ขาดการสื่อสาร ไปยังลูกหนี้ โดยเฉพาะพี่น้องในชนบทเขาไม่ทราบเลย บางคนเขายังไม่รู้เลยด้วยซ้ำ ถ้าเราไม่ประชาสัมพันธ์ว่าตอนนี้ลูกหลานเขาเป็นหนี้ พ่อแม่เครียดลูกจบการศึกษาแล้วเป็นหนี้ เครียดเพราะว่าดอกเบี้ยเยอะมากในก่อนหน้านี้ เขาไม่รู้ว่าตอนนี้มีกฎหมายใหม่ เขาไม่รู้ว่าตอนนี้ลูกหลานเขาได้ประโยชน์แล้วนะครับ เพราะขาดคนสื่อสารไปถึงเขา โดยเฉพาะพี่น้องในพื้นที่ที่อยู่บ้านนอกนะครับ แต่อยากส่งเสียลูกหลานให้ได้รับการศึกษา เพราะฉะนั้นกฎหมายนี้เป็นประโยชน์กับลูกหนี้เป็นจำนวนมากนะครับ สำคัญที่สุด การสื่อสารให้เขาได้รู้ ให้เขาได้เข้าใจมันก็จะสลายความตึงเครียด บางคนไม่ใช่อะไรครับ พ่อแม่มาหาผมกินข้าวไม่ลง กลัว บางทีไม่เข้าใจถึงขนาดว่ากลัวลูกติดคุกด้วยซ้ำ เป็นหนี้ กยศ. นี่คือการขาดการสื่อสาร ผมก็เลยอยากฝากท่านรัฐมนตรีไปยังกองทุน กยศ. ว่า กระบวนการต่าง ๆ หลังจากนี้ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ เป็นกฎหมายใหม่ เป็นระเบียบกฎเกณฑ์ใหม่ และเป็นประโยชน์จะสลายความตึงเครียดที่สุมอยู่ในอกพ่อแม่นี่นะครับอยากให้ กยศ. ประชาสัมพันธ์ ประชาสัมพันธ์ด้วยวิธีไหนก็แล้วแต่นะครับ ทั้งสื่อ Social หรือว่า ทางวิธีอื่น ๆ ผมว่าตรงนี้จะเป็นประโยชน์ด้านจิตใจ แล้วก็เป็นประโยชน์กับลูกหนี้ กยศ. ที่ยังไม่มีงานทำซึ่งมีอีกเป็นจำนวนมาก ขอบคุณครับท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญท่าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมครับ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต้นฉบับ

ขอบคุณ ท่านประธานครับ ขอบคุณท่านกมลศักดิ์ ผมขอเรียนชี้แจงสรุปอีกครั้งหนึ่งนะครับ วันนี้กระบวนการบังคับคดีเกี่ยวกับ กยศ. จะหยุดการบังคับทั้งหมดจนกว่า กยศ. จะปรับปรุงยอดหนี้ กฎหมายมี แต่ว่าเราต้องให้เขาปรับปรุงยอดหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย ตามกฎหมายใหม่จึงจะไม่ทำให้มีผลกระทบใด ๆ และในอนาคตก็อยากจะเรียนว่า กยศ. ก็ใจกว้าง ท่านบอกว่าสำหรับลำดับการชำระหนี้ที่บอกว่าเงินที่ส่งไปทั้งหมด กยศ. ตอนนี้ยังไม่คิดดอกเบี้ยกับเบี้ยปรับ จะคิดยอดเงินทั้งหมดที่ส่งไปไปตัดเป็นเงินต้น ซึ่งต่อไปนี้เงินทั้งหมดก็มาคิดเร็ว ๆ ขณะที่ยังไม่ออกระเบียบ คราวนี้ปัญหาที่มีมาก็อยากจะ เรียนว่าผมยังส่งสัญญาณว่าต้องหยุดไกล่เกลี่ยหนี้ กยศ. ถ้าไปไกล่เกลี่ยหนี้ กยศ. ก็จะไปซ้ำเติม เพราะกระทรวงยุติธรรมได้ทำตัวเลข ตัวเลขที่ไกล่เกลี่ยหนี้ กยศ. ถ้ายังไม่ได้คิดตัวเลขใหม่เราพบว่าคดีที่ไกล่เกลี่ยพอไปไกล่เกลี่ยมีสัดส่วนดอกเบี้ย กับเบี้ยปรับถึง ๘๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ ลูกหนี้กู้ไป ๑๐๐ บาททำให้ลูกหนี้ต้องจ่าย ๑๘๐ กว่าบาท อันนี้ไม่ใช่เป็นการไกล่เกลี่ยแล้วเป็นการบังคับ แล้วการไกล่เกลี่ยลักษณะนี้น่าจะเป็น การผิดกฎหมาย การไกล่เกลี่ยในอนาคตที่จะเกิดขึ้นโดยกระทรวงยุติธรรมจะต้อง ยึดกฎหมายก็ทำตัวเลขมา อย่างน้อยในกฎหมายนี้ให้ยกเลิกเลยยังได้ แต่ว่าให้เขาได้จ่าย ตามความเป็นจริง แล้วก็ในชั้นบังคับคดีที่เห็นว่าเมื่อตัดแต่ละรายแล้ว ตอนนี้ที่ไม่ตัด แต่ละรายเลยที่ส่งไปแล้วพบว่าเงินที่อยู่ในชั้นบังคับคดีสูงกว่าเงินต้นไป ๗๕ เปอร์เซ็นต์ คือ ๑๐๐ บาทก็เป็น ๑๗๕ บาทที่อยู่ในบังคับคดี แต่เราพบว่าถ้าเอาเงินที่ส่งไปแล้ว และที่ กยศ. เอามาดู ไปตัดเงินต้น ลูกหนี้หรือผู้ค้ำนี้หลุดไปแล้ว ลูกหนี้ก็จะรู้ว่ามีอนาคต ไม่เช่นนั้นเขาก็จะไม่มีอนาคตส่งเท่าไรก็ไม่หมด แล้วก็การไกล่เกลี่ยผมก็ยังมองว่า ถ้าไกล่เกลี่ยว่า ๓ ปี เหลือหนี้ ๒๐๐,๐๐๐ บาท ส่งเดือนละ ๑,๐๐๐ บาท แล้วไปบังคับให้ส่ง ก้อนสุดท้ายหมดอย่างนี้ ค้างเก่ามา ๑๕ ปีเขายังส่งไม่ได้ เราจึงต้องใช้ พ.ร.บ. กยศ. อย่างมีหลักนิติธรรม นี่คือหลักนิติธรรม หลักนิติธรรมก็คือกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด หรือมีศักดิ์สูงสุด กฎหมาย กฎ ระเบียบที่ไปขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย อันนั้นไม่ใช่หลักนิติธรรม วันนี้กระทรวงยุติธรรมทำง่าย ๆ คือทำให้กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุด มีความศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ก็คือกฎ ระเบียบที่ไปขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ อย่างเช่น ระเบียบ กยศ. เขาบอกให้ยกเลิกไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๒๐ ยังเอาระเบียบเก่ามาใช้ ซึ่งก็คุยกับ กยศ. เข้าใจ คุยกับทางคณะกรรมการเข้าใจแล้วก็ขอให้ดูผล แล้วอันนี้ ก็เป็นหนึ่งในการให้ความเป็นธรรมกับประชาชน แล้วที่สำคัญไม่ควรให้ประชาชนเดินมาหา ขอความเป็นธรรม ความเป็นธรรมต้องพุ่งเข้าไปหาประชาชน เราต้องไปบอกเขา ผมไปภาคใต้ครั้งนี้ก็ยังบอกกรมบังคับคดีมี ๑,๐๐๐ กว่าคนคุณต้องไปบอกสิทธิเขา ไม่ใช่ให้เขาวิ่งมาหา เพราะค่ารถเข้ามาแต่ละทีเขาต้องรวบรวมเงิน บางทีทำงานเกือบเดือน ถึงจะเดินทางมาหาข้าราชการได้ อันนี้ก็อยากจะเรียนให้ทราบครับ ขอบพระคุณมากครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมครับ กระทู้ถามสดด้วยวาจาต่อไป

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๒. นายปิยรัฐ จงเทพ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ด้วยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือแจ้งมาว่ากระทู้ถามเรื่องนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มอบให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย คุณทรงศักดิ์ ทองศรี เป็นผู้ตอบ แต่เนื่องจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ติดภารกิจสำคัญไม่สามารถมาตอบกระทู้ถามได้ จึงขอเลื่อนการตอบกระทู้ถามนี้ออกไปก่อน เชิญคุณปิยรัฐจะมีการหารือ แต่ว่าอย่าไปลึกถึงคำถามนะครับ

นายปิยรัฐ จงเทพ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาครับ ผม ปิยรัฐ จงเทพ ผู้แทนราษฎร เขตพระโขนง เขตบางนา พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญก็เลยทำเรื่องถามกระทู้สดนี้ถึงท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งแน่นอนครับ ตามข้อบังคับการประชุมสภา ท่านนายกรัฐมนตรีก็ควรที่จะมาตอบคำถามเรื่องนี้ในสภา ผู้แทนราษฎรแห่งนี้ในทุกวันพฤหัสบดี ซึ่งเรามีเรื่องนี้ต้องหารือกันในทุกวันพฤหัสบดี เรื่องนี้เข้าใจตรงกัน แต่แล้วทำไมท่านนายกรัฐมนตรีเลี่ยงที่จะมาตอบคำถามเรื่องนี้ โดยเฉพาะเป็นปัญหาสำคัญที่พี่น้องประชาชนให้ความสนใจ และไม่ใช่ครั้งนี้ครั้งแรก ท่านนายกรัฐมนตรีเลื่อนมาแล้วหลายรอบครับท่านประธาน และมันทำให้เสียโควตา การตั้งกระทู้ถามนี้กับทางสภาผู้แทนราษฎร จึงอยากจะเรียนปรึกษาหารือท่านประธานสภา ว่าครั้งหน้า ครั้งถัดไปท่านนายกรัฐมนตรีจะมาได้หรือไม่ หรือท่านประธานได้มีการทำหนังสือ ถึงท่านนายกรัฐมนตรีเพื่อท้วงติงเรื่องนี้หรือไม่ ที่สำคัญคือท่านนายกรัฐมนตรีต้องชี้แจง เหตุผลด้วยว่าทำไมวันนี้ถึงต้องเลื่อนและมาไม่ได้ แล้วดูสิครับมอบรองนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีมอบรัฐมนตรีว่าการ รัฐมนตรีว่าการมอบรัฐมนตรีช่วยว่าการ ยังไม่มีใคร มาตอบเลยครับ แบ่งกันเป็นแชร์ลูกโซ่แบบนี้หรือครับ หรืออย่างไรครับ ฉะนั้นต้องขอให้ มีคำตอบเรื่องนี้ แล้วก็ฝากท่านประธานทำหนังสือถามด้วยครับ

นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประท้วงค่ะ ท่านประธานคะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เดี๋ยวครับ คุณปิยรัฐครับ มีผู้ประท้วง เดี๋ยวรอสักครู่ เชิญครับ

นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ดิฉันขอประท้วงผู้ที่กำลังถามกระทู้ถามอยู่มีการพาดพิง ถึงท่านนายกรัฐมนตรี ทราบก็ทราบ ข่าวก็ออกอยู่ทุกสื่อว่าตอนนี้ท่านเดินทางไปดูงาน ที่ต่างประเทศ แล้วก็มอบหมายมาแล้ว ไม่ทราบว่าจะพาดพิงทำอะไรคะ ขอบพระคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ

นายปิยรัฐ จงเทพ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ขออนุญาต ใช้สิทธิพาดพิงเช่นเดียวกันครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

คงทราบตามที่ ผู้ประท้วงนะครับ

นายปิยรัฐ จงเทพ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

คือผมกำลังบอกว่าเรื่องกระทู้ถามนี่ กระทู้ถามสดทุกวันพฤหัสบดีท่านนายกรัฐมนตรีก็ต้องมาทุกสัปดาห์ อันนี้เข้าใจว่า ท่านอาจจะไม่สะดวกบางสัปดาห์ แต่ไม่ใช่ว่ามอบหมายคนที่มาไม่ได้อยู่แล้วอย่างนี้ อันนี้ก็ไม่ใช่ มอบหมายถึงขนาดรัฐมนตรีช่วยว่าการยังมาไม่ได้ ผมว่าอันนี้ไม่ใช่ปกติแล้วครับ หรือมีส่วนได้เสียอย่างไรกับเรื่องที่ผมจะตั้งกระทู้ถามหรือเปล่าต้องถามกันอย่างนี้ละครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณคุณปิยรัฐ อันนี้ก็คงทราบตามผู้ที่ได้ประท้วงแล้วว่าท่านนายกรัฐมนตรีไม่อยู่ ไปต่างประเทศก็สุดวิสัย เชิญคุณวิโรจน์ครับ

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ผม วิโรจน์ครับ ผมขออนุญาตหารือท่านประธานสักนิดหนึ่งครับ ผมคิดว่าผมอยากจะรบกวน ท่านประธานทำหนังสือถึงท่านนายกรัฐมนตรีโดยตรงครับ ผมเข้าใจดีว่าท่านนายกรัฐมนตรี ติดภารกิจไปต่างประเทศ แต่การมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการมาตอบผมคิดว่ามันเป็นหน้าที่ และผมคิดว่าการให้เกียรติสภาเป็นการให้เกียรติทั้งฝ่ายรัฐบาล แล้วก็ฝ่ายค้านด้วยนะครับ แล้วก็ผมคิดว่าทางคณะรัฐมนตรีก็ทราบดีเพราะหลายท่านก็เป็น สส. ก็ทราบดีว่า วันพฤหัสบดีจะมีการตั้งกระทู้ถาม ทั้งกระทู้ถามทั่วไป กระทู้ถามแยกเฉพาะ และโดยเฉพาะ อย่างยิ่งกระทู้ถามสดครับ ดังนั้นถ้าไม่จำเป็นรัฐมนตรีว่าการจะต้อง Standby แล้วก็รอรับ การมอบหมายจากท่านนายกรัฐมนตรีอันนี้ผมเข้าใจ แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมาผมคิดว่าสภาแห่งนี้ ได้รับความร่วมมือจากคณะรัฐมนตรีน้อยเกินไปอย่างมาก และที่สำคัญที่สุดครับ จริง ๆ นอกจากเรื่องตำรวจ ยังมีเรื่องของโรงงานแวกซ์ กาเบ็จ ที่ราชบุรี อย่างนี้เราก็ไม่รู้ จะถามทำไมถ้าเกิดเราตั้งกระทู้ถามสดแล้วรัฐมนตรีว่าการไม่มาตอบมันก็จะเสียหายกับ ประชาชน ประชาชนเขาก็ต้องการคำตอบ เพราะสมาชิกสภาแทนราษฎรก็คือถามแทน ประชาชนครับ

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อีกเรื่องหนึ่งครับท่านประธาน ผมคิดว่าไหน ๆ จะทำหนังสือถึง ท่านนายกรัฐมนตรีแล้ว นี่จะปิดสมัยประชุมแล้วครับ สภาแห่งนี้ยังไม่ได้ทำหน้าที่ ผ่านกฎหมายสักฉบับครับ ผมได้ยินเสียงมาว่าอยากจะให้กฎหมายฉบับแรกเสนอมาโดย ครม. ซึ่งมันไม่จำเป็นครับ สภาผู้แทนราษฎรคือสภาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถ้าเกิด ครม. ไม่พร้อม ไม่ต้องรอครับ กฎหมายจากภาคประชาชน กฎหมายของเพื่อนสมาชิกที่เข้าชื่อ ลงชื่อกันแล้ว จะผ่านสภาผู้แทนราษฎรเต็มไปหมดครับ ผมว่าถ้าเกิด ครม. ไม่พร้อม สภาเราพร้อม ประชาชนพร้อมพิจารณากฎหมาย ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านประธานจะทำหนังสือ อย่างจริงจังถึงท่านนายกรัฐมนตรี อย่างน้อย ๆ สัปดาห์หน้า ผมอยากเห็น ครม. มาอย่างพร้อมเพรียงกันครับ ขอบพระคุณครับท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ผมก็ต้องดำเนินไปตามข้อบังคับ แล้วก็ท่านฝากเป็นข้อสังเกตไว้ แต่ว่าคราวนี้โดยเฉพาะ ของท่านนายกรัฐมนตรีท่านไม่อยู่จริง ๆ อันนี้เมื่อท่านอยู่ แล้วก็ท่านเกิดไม่ได้มาอันนั้น เดี๋ยวก็จะดำเนินการทำข้อเสนอแนะ แต่ว่าข้อบังคับนั้นท่านนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการก็สามารถจะมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการที่เกี่ยวข้องมาตอบได้ ผมอยากจะมีคำแนะนำเพิ่มเติม แล้วก็หารือเพิ่มเติมว่าในกรณีที่ท่านจะถามกระทู้ถามสดก็ดี กระทู้ถามทั่วไปก็ดี ขอให้ท่านถามตรงไปที่กระทรวงและงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ถ้าท่านถาม ไปถึงนายกรัฐมนตรี ท่านนายกรัฐมนตรีก็ต้องมอบให้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง แล้วกว่า รัฐมนตรีว่าการจะได้รับ แล้วจะมอบให้ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการก็ใช้เวลา ถ้าท่านถามโดยตรง ไปที่งานโดยตรง เพราะผมสังเกตว่าในครั้งที่ผ่าน ๆ มาเรามักจะถามท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งเมื่อไม่ตรงท่านก็ไม่สามารถจะตอบได้ดีกว่ารัฐมนตรีเจ้ากระทรวง หรือผู้เกี่ยวข้อง ถ้าเผื่อท่านถามตรง การกี่รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจะได้มีเวลาแล้วก็ไม่ต้องรอว่านายกรัฐมนตรี จะมอบหมายให้ตอนไหน อันนั้นเป็นการลังเล ผมแนะนำเพื่อให้การถามและตอบ มีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ท่านมีสิทธิที่จะถามรัฐมนตรีท่านใดก็ได้ตามข้อบังคับครับ ท่านวิโรจน์ยังมีอะไร เชิญครับ

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ สั้น ๆ ขอบคุณสำหรับคำแนะนำของท่านประธาน แต่อย่างไรก็ตามกระทู้ถามสดเราไม่สามารถ บอกเรื่องราวที่จะถามกับทางท่านรัฐมนตรีหรือท่านนายกรัฐมนตรีไว้ได้ก่อน ทางที่ดีที่สุด ผมวิงวอนท่านประธานทำเป็นหนังสือถึงท่านนายกรัฐมนตรีว่าวันพฤหัสบดีอยากให้ทาง คณะรัฐมนตรี Standby เอาไว้ การที่รู้อยู่แก่ใจว่าวันพฤหัสบดีจะมีกระทู้ถามสด แล้วปรากฏว่าก็ไปทำนัดหมายซ้อน มันมองเจตนาเป็นอย่างอื่นไม่ได้ยกเว้นว่าหนีการตอบ กระทู้ถามครับ แล้วผมคิดว่า ครม. เองก็คงต้องติดตามข่าวสารบ้านเมืองอยู่แล้ว คงจะคาดการณ์ได้ว่าข่าวสารบ้านเมืองประการใดที่เป็นเรื่องสำคัญในมุมมองของ พี่น้องประชาชน แล้วก็ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลจะตั้งกระทู้ถามสดถามทางท่านรัฐมนตรี หรือท่านนายกรัฐมนตรี อย่างกรณีของท่านทวี สอดส่อง ก็ต้องชื่นชมนะครับ วันนี้ที่ท่าน ก็กรุณามาตอบ แล้วให้เกียรติสภาในการตอบกระทู้ถามสด ผมก็หวังว่าจะมีรัฐมนตรีแบบท่านทวี มาให้ความร่วมมือกับสภาอยู่เต็มไปหมด ผมว่าสมัยประชุมนี้สื่อสอบตกแน่นอน ผมก็หวังไว้ เป็นอย่างยิ่งว่าสัปดาห์สุดท้ายแล้วก็สมัยประชุมหน้า กฎหมายก็อยากจะให้ผ่าน กระทู้ถามสด กระทู้ถามทั่วไป กระทู้ถามแยกเฉพาะ ก็อยากเห็นรัฐมนตรีให้ความร่วมมือ แล้วก็ให้เกียรติสภาทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมก็ได้ให้ข้อสังเกตทำนองนี้ แต่ในสัปดาห์ที่ผ่านมากระทู้ถามสด ถ้าผมจำไม่ผิดก็คือว่ารัฐมนตรี ฝ่ายรัฐบาลได้ตอบทั้ง ๓ กระทู้ มีวันนี้ที่ไม่ได้มาตอบ ๒ กระทู้ ก็ฝากเป็นข้อสังเกตไปยังรัฐมนตรีวราวุธไปยังรัฐบาลด้วยนะครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๓. นายสมบัติ ยะสินธุ์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ด้วยสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีหนังสือแจ้งว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมติดภารกิจ ที่สำคัญ จึงขอเลื่อนการตอบกระทู้ถามนี้ออกไปก่อน ถ้าหากว่าคุณสมบัติ ยะสินธุ์ ยังมีความประสงค์จะตั้งเป็นกระทู้ถามสดด้วยวาจาอยู่ ขอให้เสนอใหม่ในการประชุมถัดไป เชิญครับ

นายสมบัติ ยะสินธุ์ แม่ฮ่องสอน ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพครับ กระผม นายสมบัติ ยะสินธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแม่ฮ่องสอน เขต ๒ พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อสักครู่เพื่อนสมาชิกได้ท้วงติงคณะรัฐมนตรีว่าวันพฤหัสบดีเราทราบอยู่แล้วนะครับว่า กระทู้ถามสดเราจะบอกใครไม่ได้อยู่แล้วว่าเรื่องอะไร และกระทรวงไหน ผมก็คิดว่า ทางคณะรัฐมนตรีก็ควรจะต้องให้เกียรติสภาในการที่จะต้องรอดูว่าวันพฤหัสบดีจะมีสมาชิก ท่านใดที่จะหารือว่าเรื่องอะไร ผมคิดว่ามันต้อง Standby เพื่อให้เกียรติกับสภานะครับ อย่างผมนี่ก็ถามตรงครับท่านประธาน ถามตรงไปทางท่านรัฐมนตรีกระทรวง ซึ่งเป็น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ถามตรง ไม่ได้ถามนายกรัฐมนตรี แต่ก็ยังไม่ได้รับ ท่านรัฐมนตรีติดภารกิจนะครับ ผมก็คิดว่าผมยังยืนยันที่จะฝากให้ ท่านประธานถึงคณะรัฐมนตรีว่า สัปดาห์นี้ท่านเลื่อน สัปดาห์หน้าผมขอฝากให้ท่านว่า ขอให้มาตอบ ผมยังจะใช้สิทธิตรงนี้ยื่นในสัปดาห์หน้านะครับ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีปัญหา อย่างมาก คือปัญหาเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตป่า ซึ่งผมเชื่อว่ามีหลาย ๆ จังหวัด มีปัญหาเหมือนกันหมด ที่รัฐบาลทุกรัฐบาลจะแก้ปัญหาเรื่องนี้พยายามออกนโยบาย ออกมติ ครม. ต่าง ๆ เพื่อจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขสักที ผมคิดว่ายิ่งออก มติ ครม. เท่าไรก็ยิ่งมีปัญหาขนาดนั้น เพราะแก้ปัญหาไม่ได้ แต่กลับเป็นอุปสรรคให้กับ หน่วยงานราชการหรือว่าโดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะพัฒนา ๆ ไม่ได้เลยนะครับ เช่นมติ ครม. วันที่ ๒๓ มิถุนายน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านสมบัติครับ อนุญาตให้หารือได้แต่ว่าขออนุญาตไม่เป็นการอภิปราย ขอช่วยสรุปด้วยครับ ส่วนเรื่องความเห็นของท่านทั้งเรื่องการยืนยันกระทู้ แล้วก็หนังสือที่ไปถึงคณะรัฐมนตรี เราจะดำเนินการให้ ขอใช้เวลาสุดท้ายนะครับ

นายสมบัติ ยะสินธุ์ แม่ฮ่องสอน ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผมกำลังจะสรุปว่า เหมือนมติ ครม. วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๓ ยิ่งออกมาก็ยังทำให้ปัญหามากขึ้น ผมก็ฝากว่า ซึ่งเป็นปัญหาอย่างนี้ อาทิตย์หน้าผมก็ยังจะใช้สิทธิในการยื่นอยู่ ขอบคุณท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ กระทู้ถามสดด้วยวาจา วาระที่ ๑.๑ ก็ดำเนินการตามนี้นะครับ ทำหนังสือ ถึงคณะรัฐมนตรี แล้วก็ทางรัฐมนตรีก็รับทราบความคิดเห็นของทางสภาไปแล้วนะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๑.๒ กระทู้ถามทั่วไป

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๑. เรื่อง ปัญหาการก่อสร้างรถไฟทางคู่โครงการสายกรุงเทพ-หัวหิน ช่วงจังหวัดราชบุรีล่าช้า นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม นายกรัฐมนตรี

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ด้วยสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม มีหนังสือแจ้งว่ากระทู้ถามเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายต่อให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทน แต่เนื่องจากวันนี้ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมท่านสุรพงษ์ ปิยะโชติ มีภารกิจสำคัญ จึงขอเลื่อนการตอบกระทู้ถามออกไปเป็นวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๖ ครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๒. เรื่อง ปัญหาการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพเพื่อแก้ไขปัญหา ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างยั่งยืน นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม นายกรัฐมนตรี

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ด้วยสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีหนังสือแจ้งว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นผู้ตอบกระทู้ถามเรื่องนี้แทนนั้น เนื่องจากวันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ติดภารกิจสำคัญ จึงขอเลื่อนการตอบกระทู้ถาม ออกไปเป็นวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๖ เช่นเดียวกันครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๓. เรื่อง การแก้ไขปัญหาเด็ก เยาวชน หรือบุคคลใด มีพฤติการณ์ ขายสินค้าหรือบริการบริเวณถนนหรือสี่แยกจราจรอันส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพ และความปลอดภัยของทั้งผู้ขายและประชาชนโดยทั่วไป นายณัฐวุฒิ บัวประทุม เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม นายกรัฐมนตรี

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ด้วยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีหนังสือแจ้งว่ากระทู้ถามเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ท่านวราวุธ ศิลปอาชา เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทน ซึ่งให้เกียรติสภาในวันนี้ ขอบคุณมากครับ ขอเชิญท่านณัฐวุฒิ บัวประทุม ใช้สิทธิถามเลยครับ

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทอง ก่อนที่ผมจะเข้าสู่ประเด็นเรื่องของคำถามที่เกี่ยวข้องในกระทู้ถาม ที่ผมได้เตรียมมา อย่างไรก็ตามผมก็คงต้องขอให้สภาอย่างนี้บันทึกไว้ครับว่า สิ่งที่ท่านประธานก่อนหน้านี้ได้ติงหรือแนะนำการทำหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่า ทำไมเราไม่ถามรัฐมนตรีให้ถูกคน แทนที่จะถามนายกรัฐมนตรีนั้นไม่ตรงกับสิ่งที่ผมตั้งใจ จะสื่อสารครับ ท่านประธานครับ คำถามที่ผมตั้งใจจะถามนั้น ผมตั้งใจจะถามนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ไม่รู้นะครับว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมไม่มีความเกี่ยวข้อง ท่านนั่งเป็นหัวหน้า ใน Board คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ท่านนั่งเป็นประธานคณะกรรมการใน Board การควบคุมการขอทานตาม พ.ร.บ. ควบคุมการขอทาน แต่อย่าลืมว่าคนที่นั่งเป็นประธาน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งวันนี้ท่านรัฐมนตรีเองก็มีภารกิจ ในการที่ต้องพบอุปทูตต่างประเทศพูดคุยกันถึงเรื่องการค้ามนุษย์ คือนายกรัฐมนตรี ผมไม่ต้องพูดหรอกครับว่าเป็นนายกรัฐมนตรีชื่อใด ไม่ได้พาดพิงใคร แต่พูดถึงว่าความจำเป็น ที่ต้องถามนายกรัฐมนตรีเพราะท่านนั่งเป็นประธาน Board คณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์แห่งชาติ ผมถามถูกคน ไม่ผิดคนแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม การที่ท่านมอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มาตอบแทนนั้น ก็ต้องขอบพระคุณท่านด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ และทราบว่าท่านเตรียมประเด็นต่าง ๆ เพื่อจะมาตอบในวันนี้เป็นอย่างดีครับ

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ประเด็นที่ผมตั้งใจจะถามนั้นเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้อง บ้านท่านประธานที่จังหวัดพิษณุโลกผมเองก็เชื่อว่ามี จังหวัดสุพรรณบุรีของท่านรัฐมนตรีว่าการ ผมเองก็ส่งคนไปดู บางประเด็นที่ผมตั้งใจอย่างเฉพาะเจาะจงไม่พบ แต่ประเด็นโดยทั่วไปก็มี สี่แยกบ้านรอ จังหวัดอ่างทอง ท่านรัฐมนตรีแอบยิ้มนะครับ เราก็ส่งคนไปดูกันเหมือนกัน สี่แยกบ้านรอ จังหวัดอ่างทองที่สี่แยกบ้านผม ผมก็ส่งคนไปดูก็มีครับ มันมีหลายประเด็น ที่เกี่ยวเนื่องกันตั้งแต่การขายพวงมาลัย ตั้งแต่การขายดอกไม้ ตั้งแต่การขายขนม ตั้งแต่การขายกล้วยแขก บางครั้งก็มีการมาเช็ดระจกรถ หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ประเด็น ที่ผมเน้นที่สุดก็คือประเด็นเรื่องของการขายนมเปรี้ยวซึ่งเกิดขึ้นตามบริเวณถนนหรือสี่แยก การขายนมเปรี้ยวไม่ได้เกิดมาดั้งเดิมเหมือนกรณีที่ยมราช ซึ่งผมเองก็ผ่านกระบวนการมีส่วน ในการแก้ไขแล้วก็รู้ว่ามันไม่ง่าย แต่การขายนมเปรี้ยวที่เกิดขึ้นนั้นเพิ่งเกิดขึ้นหลังสถานการณ์ โควิดครับ ขอ Slide ด้วยนะครับ

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์ กับประเด็นเรื่องของความยากจน ประเด็นเรื่องของการที่เด็ก ๆ จะต้องไปโรงเรียน ประเด็นเรื่องความปลอดภัย ประเด็นเรื่องความปลอดภัยอื่น ๆ ของผู้ใช้ถนนต่าง ๆ ซึ่งต้องนำเรียนว่าเป็นประเด็นคำถามที่กระอักกระอ่วนมากและสร้างความยากลำบากให้ผม ในการที่จะมาถามในวันนี้ ท่านประธานครับ มันมีเส้นแบ่งความเป็นเด็ก ความเป็นผู้ใหญ่ มันเกี่ยวข้องกับประเด็นการขายสินค้าหรือบริการบริเวณที่เกี่ยวข้องในสี่แยกต่าง ๆ มันเกี่ยวข้องกับประเด็นว่าการกระทำที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่เด็กทำโดยตนเองหรือมีบุคคลอื่น เป็นผู้จ้างวานหรือให้เด็กเป็นคนกระทำ มันเกี่ยวข้องกับประเด็นที่เราถูกตั้งคำถาม เรื่องของการใช้แรงงานเด็ก นานาอารยะประเทศเขาก็จับตาดูว่าสถานะของประเทศไทยนั้น อยู่ใน Tier ที่ไหน สุพรรณบุรีไม่มีเลยในเมืองในสี่แยกต่าง ๆ ที่ขายนมเปรี้ยว แต่จังหวัดอ่างทอง เมื่อ ๒ สัปดาห์ที่แล้ว ก็แปลกนะครับ คนของสำนักงานคุ้มครองและประกันภัยจังหวัด ที่เรียกว่า คปภ. ไปเจอแล้วก็ส่งเรื่องให้ทางพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดอ่างทอง คุณวาสนา ทองจันทร์ ท่านก็ส่งเจ้าหน้าที่ไปดู วันนี้ก็กำลังประชุม ที่จะมีการแก้ไขปัญหา ไปเจอว่าเด็กคนนั้นเป็นเด็กผู้ชายอายุ ๑๗ ปี อยู่กับยายตามลำพัง แล้วมันยากมากที่เขาต้องมีส่วนในการดูแลครอบครัวและอาศัยจังหวะในช่วงปิดเทอม มาขายของเพื่อจุนเจือครอบครัว มันไม่ง่ายกับคำถามเหล่านี้ แต่สิ่งที่ผมจำเป็นต้องชี้ให้ท่านเห็น ก็คือว่า ท่านเห็นไหมครับว่ากรณีเด็กขายนมเปรี้ยวที่จำนวนมากนั้นเขาเป็นเด็ก เยาวชน มี ๔ คำถามย่อย ๆ คือ ๑. เด็ก เยาวชน สามารถทำงานได้หรือไม่ ๒. คือเด็ก เยาวชน สามารถขายสินค้า บริการบริเวณถนนหรือสี่แยกจราจรต่าง ๆ ได้หรือไม่ ๓. ก็คือว่ากรณี เด็ก ๆ เยาวชนซึ่งเราเป็นจำนวนมาก รูปที่ผมเบลอไว้ก็จังหวัด ป ในภาคกลางใส่เครื่องแบบ นักเรียนมาขายได้หรือไม่ แล้วตกลงว่าสิ่งที่เขามาขายเป็นการมาโดยสมัครใจโดยตนเอง หรือมีบริษัท หรือตัวแทนจำหน่ายที่อยู่ในระดับภูมิภาค ในระดับจังหวัด เป็นการใช้ จ้างวาน หรือบังคับให้เขามาเป็นผู้กระทำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่ส่งผลต่อประเด็นเรื่องของ แรงงาน ใน Slide ที่ ๓ ที่ผมจะชี้ให้เห็นว่าเรามีสัดส่วนของแรงงานที่เข้าสู่วัยแรงงาน ที่เรียกว่าแรงงานเด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี และแรงงานเยาวชนอายุ ๑๕-๑๘ ปี จำนวน เป็น ๑๐๐,๐๐๐ คน ท่านรัฐมนตรีมีลูก ผมเองก็มีลูกเล็ก ในวัยของความเด็กสิ่งที่เรา อยากให้ลูกเราก็ได้รับก็คือการเข้าศึกษา แต่ท่านเห็นไหมครับเด็กจำนวนไม่น้อยในประเทศไทย คุณเซีย จำปาทอง ทำประเด็นเรื่องแรงงานก็ทราบ เขาต้องเข้าสู่การทำงานที่เร็ว ทั้งมีงานทำหรือตกงาน บางครั้งเป็นเรื่องการรอตามฤดูกาลต่าง ๆ สิ่งที่ถูกตั้งคำถาม ในระหว่างประเทศก็คือว่า เราจะไปตอบประเด็นเรื่องแรงงานเด็กในฐานะเรื่องของ การค้ามนุษย์ได้อย่างไร ทราบครับว่ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีความพยายามในการแก้ไขปัญหา เช่น การจัดประชุมคณะกรรมการควบคุมการขอทาน ในต้นปีที่ผ่านมามีการประชุม ๑ ครั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ก็ทราบครับ ท่านปลัดกระทรวง พม. กับผมก็คุ้นเคย ผมให้ความเคารพท่านเป็นอย่างยิ่ง ทราบครับ มีความพยายามบอกว่าไม่ให้เด็กขายตามถนน จะเอามาขายในบริเวณที่มีการกำหนดเป็นจุด เช่น กทม. มีการตกลงกันไว้ว่าจะมีทั้งหมด ๗๒ แห่งใน ๔๖ พื้นที่ต่าง ๆ เป็นต้น ทราบครับ มีความพยายามจะบังคับใช้กฎหมาย แต่ท่านประธานลองดูใน Slide ที่ ๕ ที่พูดถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. ควบคุมการจราจรทางบก ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องของ การคุ้มครองแรงงาน พ.ร.บ. รักษาความสะอาด พ.ร.บ. ควบคุมการขอทาน ถูกบ้าง ผิดฝาผิดตัวบ้าง มีส่วนในการถูกแสวงประโยชน์หรือไม่ผมไม่ทราบ สิ่งที่ผมได้เรียนถามท่าน Slide ท่านต้องตามให้ทันนิดหนึ่ง ไป Slide ที่ ๕ ท่านครับ ราคาเท่าไรไม่ใช่ราคานมเปรี้ยวที่ขายไป ในราคา ๑๐๐ บาท แล้วเด็ก ๆ จะได้ ๒๐ บาทนี่คือข้อตกลงการขาย แต่ราคาเท่าไร คือการที่เด็ก ๆ ผู้หญิงบางคนไปยืนขายของ ขายนมเปรี้ยว แล้วถูกเจ้าของรถไม่ต้องหรูก็ได้ โตโยต้าแบบผมก็ได้ มาจอดแล้วถามว่าหนูตัวหนูว่าราคาเท่าไร หนูมี LINE ไหม หนูมีเบอร์ โทรศัพท์ไหม ป๋าขอได้ไหม อาขอได้ไหม พี่ขอได้ไหม หนูไม่ต้องมาขายของหรอก ฉะนั้น สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญก็เลยเป็นคำถามประการที่ ๑ ที่อาจจะต้องรบกวนท่านรัฐมนตรี ในการตอบคำถาม

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

คำถามที่ ๑ รัฐบาลทราบถึงปัญหาและมีนโยบายการบังคับใช้กฎหมาย กับผู้กระทำ ผมไม่ได้พูดถึงผู้ที่ไปขายซึ่งเขามีความยากลำบากพอสมควรทีเดียว แต่มีการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำที่ใช้ จ้างวาน หรือบังคับให้เด็ก หรือเยาวชน หรือแม้กระทั่งบุคคลอื่น ๆ ไปขายของบริเวณถนน บริเวณสี่แยกจราจรหรือไม่ แบบใด ประการใด ท่านได้พยายามดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้ไปมากน้อยขนาดใด เอาคำถามที่ ๑ ก่อน เดี๋ยวป้องกันมาพูดกันในประเด็นคำถามที่ ๒ ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านณัฐวุฒิครับ เรียนเชิญรัฐมนตรีครับ

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านประธานครับ ผม วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขอบคุณท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคก้าวไกล ท่านณัฐวุฒิ บัวประทุม ที่ได้ยกประเด็นที่เรียกว่ากระทบกับ ทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งนับวันก็จะมีน้อยลงเพราะว่าอัตราเด็กเกิดใหม่ นับวันก็จะน้อยลง ๆ ปีนี้มีแค่ ๔๐๐,๐๐๐ กว่ารายเท่านั้นเอง ทำให้ประเทศไทยวันนี้ มีแรงงาน แล้วก็กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แบบไปแล้ว ต้องเรียนว่าปัญหา ที่ท่านณัฐวุฒิได้กล่าวมา ทราบดีว่าท่านณัฐวุฒินั้นทำเกี่ยวกับประเด็นเรื่องเด็กและปัญหา ของเรื่องเยาวชนมาเนิ่นนานพอสมควร ซึ่งก็คงทราบว่าทางกระทรวงนั้นเรารับทราบ ถึงปัญหาที่มีขึ้นในขณะนี้ แล้วก็มีการดำเนินการมาตรการในหลาย ๆ ส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนของกรมกิจการเด็กและเยาวชน เป็นหน่วยงานเชิงนโยบายและผมได้กำชับให้ทำงาน ในเชิงรุก ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานในสังกัดใดไปดูการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการจ้างวาน หรือว่าจะเป็นการบังคับก็แล้วแต่ ซึ่งตามที่ท่านสมาชิกได้กล่าวไปเมื่อสักครู่ว่ามีกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายบนพื้นที่การจราจรอยู่ ๒ อันด้วยกัน กฎหมายแรกจะเป็นเกี่ยวกับ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก ปี ๒๕๔๖ และกฎหมายฉบับที่ ๒ ก็จะเกี่ยวกับพระราชบัญญัติ การจราจรทางบก ปี ๒๕๒๒ ซึ่งแน่นอนการซื้อขาย การทำกิจกรรมใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรี่ยไร แจกจ่าย หรืออะไรก็แล้วแต่บนเส้นทางการเดินรถล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ โดยเรียกว่า กีดขวางการจราจรจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุ แล้วก็โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นภัยกับเยาวชน หรือเด็กนั้นห้ามทำโดยเด็ดขาด ในส่วนของ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก ปี ๒๕๔๖ นั้นก็มีหลายมาตรา ไม่ว่าจะเป็นมาตรา ๒๖ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองแรงงานเด็กไม่ว่าจะเป็นใน (๕) พูดถึงเกี่ยวกับการบังคับขู่เข็ญ แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ (๖) แทนที่จะเป็นบังคับ จะเป็นการใช้ จ้าง หรือวานเด็กจะให้ได้มาซึ่งค่าตอบแทนหรือไม่ก็แล้วแต่ รวมไปถึงมาตรา ๗๘ ที่พูดถึงการระวางโทษจำคุก นอกจากนั้นเองในมาตรา ๒๙ ได้พูดถึงว่าการที่จะมีผู้ใดพบเห็น เด็กที่ตกอยู่ในสภาพที่จำเป็นที่จะต้องได้รับการสงเคราะห์หรือคุ้มครองนั้นควรที่จะต้องมาแจ้ง ไม่ว่าจะผ่านทางช่องทางของ ๑๓๐๐ Hotline ของกระทรวง พม. หรือว่า Application คุ้มครองเด็ก เพื่อที่พนักงานนั้นจะสามารถเข้าไปช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นสหวิชาชีพ หรือว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้เข้าไปบริหารจัดการได้โดยเร็ว ซึ่งในระยะสั้นเมื่อสักครู่ อย่างที่ท่านสมาชิกได้กล่าวมากรณีเรื่องขายนมเปรี้ยวบริเวณถนนหรือสี่แยกจราจรนั้น เรียนว่าต้องขอบคุณท่านสมาชิกนะครับ เพราะพอผมรู้ว่ามีกระทู้ถามนี้เข้ามา ด้วยความที่ผมเอง เพิ่งได้เข้ามาทำงานนั้นก็ได้กำชับไปดูที่จังหวัดสุพรรณบุรี ก็ต้องขอขอบคุณท่านสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ท่านสรชัด สุจิตต์ จากพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ได้เร่งประสานงาน กับทาง พมจ. แล้วเข้าไปแก้ปัญหา ต้องขอบคุณท่านสมาชิกจริง ๆ ท่านณัฐวุฒิที่ถามขึ้นมา เพราะว่าทำให้ผมนั้นสามารถกลับไปดูที่บ้านตัวเองได้เช่นกันนะครับ ในระยะสั้นในพื้นที่อื่น ท่านประธานครับ ทางกรมกรมกิจการเด็กและเยาวชนก็ได้มีการประสานงานกับทุก ๆ หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้อง บริษัทนมเปรี้ยว ๒-๓ บริษัทได้เชิญเข้ามาพูดคุย ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น บางบริษัทนั้นบอกว่าไม่จำเป็นที่จะต้องประชุมเพราะว่าบริษัทนั้น มีแนวทางการกระจายขายโดยที่ไม่ใช่เด็กอยู่แล้ว ซึ่งเป็นบริษัทที่เก่าแก่คู่กับประเทศไทยมา อันนั้นเราก็เข้าใจได้ โดยที่ผ่านมานั้นทางกระทรวงได้มีการจัดหาพื้นที่ให้กับเด็กและเยาวชน เรียกว่าหารายได้เป็นการขายนั้น ได้ไปประมาณ ๓๓ จังหวัด ๑๒๗ แห่ง เมื่อปีที่แล้ว เมื่อวันอังคารที่ ๘ พฤศจิกายนก็ได้มีผู้แทนของบริษัทนมเปรี้ยวรายใหญ่ได้เข้ามารายงาน ถึงความคืบหน้า แล้วก็ได้มีการทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังตัวแทนการขาย ของบริษัทตนเอง แล้วก็ขอให้ย้ำว่าขอให้ยกเลิกการใช้เด็กและเยาวชนนั้นเป็นช่องทาง ในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งอันนี้ก็จะเขียนอยู่ในเงื่อนไขเลยว่าถ้าหากฝ่าฝืนแล้วบริษัท ทาง Headquarter ได้พบเห็นนั้นก็จะมีมาตรการลงโทษในการลดปริมาณสินค้า หรืออาจจะ ยกเลิกการเป็นตัวแทนการขายของผู้ที่ฝ่าฝืนในแต่ละจังหวัด ซึ่งนอกจากนั้นเองทางเจ้าหน้าที่ แล้วก็เครือข่ายของภาครัฐ ทาง พมจ. ทางสหวิชาชีพ รวมถึงภาคเอกชน แล้วก็ภาคประชาสังคมนั้น ได้เข้าไปร่วมกันคอย Monitor แล้วก็รณรงค์สร้างความเข้าใจกับผู้ปกครอง แล้วก็ให้รู้ เรื่องกฎหมายว่าการที่จะใช้เด็กใช้เยาวชนหาประโยชน์ต่าง ๆ เหล่านั้นมันมีกฎหมายคุ้มครองอยู่ ทำได้หรือไม่ได้อย่างไรเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กถูกบังคับใช้แรงงานหรือว่าถูกแสวงหา ประโยชน์โดยมิชอบทุกรูปแบบนะครับ ซึ่งทางตำรวจแล้วก็ฝ่ายปกครองถ้าท่านใดพบเห็น เด็กหรือเยาวชนที่มีพฤติการณ์หรือว่าไปขายสินค้าที่มีกฎหมายเหล่านั้นก็ขอให้แจ้งต่อ เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจ ซึ่งจริง ๆ แล้วในส่วนของกระทรวง พม. เองนั้นเราทำหน้าที่ คอย Monitor แต่การบังคับใช้กฎหมายผมเชื่อว่าท่าน สส. สมาชิกทราบดีว่าต้องทำงาน ร่วมกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งอันนี้ก็มีกฎหมายที่บังคับไว้อีกเช่นกันว่าจะต้อง แจ้งต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือผู้มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตามมาตรา ๒๔

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ ต้นฉบับ

ส่วนในระยะยาว เราเสนอให้มีการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก โดยปรับให้มีเงื่อนไขให้เหมาะสมตามสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการว่าจ้างเด็กนั้น แม้แต่จะเป็นพ่อแม่ก็ไม่ควร หรือแม้แต่จะต้องมีการหาประโยชน์ใด ๆ จากเด็กนั้น พ่อแม่เองจะต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วยในการเฝ้าดูแล้วก็กำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้สังคม ในชุมชนนั้นมีส่วนร่วมเข้ามาพิจารณาด้วยเช่นกัน เพราะว่าท้ายที่สุดแล้วจำนวนเด็ก ในประเทศไทยนั้นมีปริมาณน้อยลงทุกวัน ๆ เป็นสิ่งที่หายากมากขึ้น ท่านสมาชิกทราบดีอยู่แล้วว่า จำนวนเด็กเรามีอยู่น้อย ดังนั้นแรงงานจากนี้ไปมันก็จะน้อยลง ๆ นะครับ ก็เป็นหนึ่ง ในสิ่งที่ทาง กระทรวง พม. เองเราเร่งจะสร้างความเข้มแข็งในสถาบันครอบครัวเพื่อที่จะได้ เพิ่มปริมาณเด็กเกิดใหม่ในสังคมไทย ในส่วนของคำถามข้อ ๑ หวังว่าจะสามารถตอบคำถาม ข้อสังเกตของท่านสมาชิกได้ครับ ท่านประธานครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอขอบคุณรัฐมนตรีครับ แล้วก็ในการถามกระทู้เรื่องเด็กแล้วก็มีเด็กมานั่งดูจริง ๆ เป็นนักเรียน จากชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ แล้วก็ครูของโรงเรียนแสงประทีปวิทยามูลนิธิอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ยินดีต้อนรับนะครับ ขอเชิญท่านณัฐวุฒิใช้สิทธิถามในรอบที่ ๒ ครับ

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับ กำลังจะถาม ท่านประธานทักเรื่องเด็กเลยตกใจ เสียดายว่าเมื่อวานนี้สภาไม่ยอมให้ตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญแก้ไขปัญหาการลง Generate Code หรือรหัส G ให้กับเด็กที่ไม่มีสถานะ ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ควรเป็นเจ้าภาพด้วยซ้ำ

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตไปเลย สิ่งที่ท่านรัฐมนตรีตอบนั้นตรง แล้วก็มันมีหลายเงื่อนไขที่จะเกิดขึ้นถัดไปจากการทำงานของท่าน ซึ่งผมมั่นใจว่า ด้วยความเคารพนะครับ ข้าราชการเจ้าหน้าที่กระทรวงส่ง Signal มาเยอะว่าทำงาน กับรัฐมนตรีสบายใจ แล้วแม้กระทั่งการลดใช้แก้วพลาสติกก็เป็นสิ่งที่ถูกใจข้าราชการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ไม่น้อยทีเดียวครับ

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ผมถามต่อแบบนี้ครับท่านประธาน ท่านพูดถึง พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กนี่ตรงใจที่สุด เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วที่เรียกว่า ๑ ทศวรรษ หลังการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก ปี ๒๕๔๖ ก็คือปี ๒๕๕๖ คณะกรรมการยกร่างการแก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก ที่เรียกว่า Majestic Group ที่นั่งประชุมกันอยู่ที่ตึก สยช. เดิม แยกมักกะสัน ยกร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กเสร็จแล้วครับ มีการทำงานกันต่อเนื่อง มีการจัดเวทีกันมา ๑๐ ปี นั่นปี ๒๕๕๖ แต่นี่ปี ๒๕๖๖ ฉะนั้นวันนี้มีเด็ก ๆ มานั่งฟังอยู่ เราต้องตอบรายงาน CRC Committee ที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า อยากให้ท่านส่งร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เสร็จแล้ว ประเดิมสภาเราจังเลยครับ ประเดิมสภาในการเปิดประชุมสมัยหน้าเลยครับ สมัยที่ ๒ ปีที่ ๑ เอา พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กมาพิจารณาเป็นฉบับแรกเลย เพราะมันแก้เสร็จแล้วครับ อย่างไรก็ตาม การแก้เสร็จแล้วยังมีบางประเด็นที่ผมคิดว่ายังจำเป็นต้องมาสู่คำถามที่ ๒ ของผมครับ

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

คำถามที่ ๒ จะเน้นไปถึงประเด็นเรื่องของการป้องกัน ความจริงเวลาเรา พูดถึงการแก้ไขปัญหานี่นะครับ ก็ต้องให้ความเป็นธรรมอย่างที่ท่านรัฐมนตรีท่านตอบจริง ๆ ประเด็นก็คือว่า ๗๗ จังหวัดวันนี้มันยังมีการขายอยู่ แล้วเราจะไปลด จะไปบอก จะไปแนะนำ จะไปช่วยเหลือจัดระบบในการขายอย่างไร ยังมีตัวแทนจัดจำหน่ายที่ยังกระทำ การฝ่าฝืน ตามเอกสารที่ท่านพูดถึงคือเอกสารลงวันที่ ๘ พฤศจิกายน ปี ๒๕๖๕ มีหนังสือเวียนจากอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอยู่ในมือผม แต่หนังสือเวียนออกช้า ประชุม ๘ พฤศจิกายน หนังสือเวียนออก ๒๖ มกราคม ปี ๒๕๖๖ ก็บอกว่าบางจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทองคนใหม่เป็นคนสุพรรณบุรีท่านก็คงทราบแล้วว่าเอกสารแบบนี้ จะดำเนินการแบบใด อย่างไรต่อ แต่มันต้องลดลงอย่างมีนัยสำคัญซึ่งอาจจะยังไม่เกิดทั้งหมด แต่ที่ผมบอกว่าต้องให้ความเป็นธรรม เพราะว่ามีบางบริษัทจริง ๆ ที่เขาใช้ตัวแทนจำหน่าย ที่ไปถึงบ้าน ขี่จักรยานไป บริษัทนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดำเนินการขายนมเปรี้ยวที่ปรากฏ ตามสี่แยก แต่ก็ยังมีบางบริษัทจะรู้โดยบริษัทหรือไม่ อย่างไร ยังกระทำอยู่ และอย่างที่ ผมเรียนว่ามันส่งผลต่อสวัสดิภาพหรือความปลอดภัยของเด็ก

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สิ่งที่เป็นประเด็นที่ผมต้องชี้ครับ เพราะเรื่องมันใหญ่กว่าแค่การไปขาย นมเปรี้ยว แต่มันคือบทสะท้อนความยากจน ท่านเห็นไหมครับว่าข้อมูลจากธนาคารโลก ข้อมูลจากสภาพัฒน์เอง เรามีผู้ว่างงานเป็นจำนวนมากแล้วมีเด็กอยู่ในครอบครัว ของผู้ว่างงาน ในขณะที่เส้นแบ่งความร่ำรวยในประเทศ ๕๐ กว่าตระกูลที่มีความร่ำรวยนั้น กลับมีทรัพย์สินถึง ๕ ล้านล้านบาท ทีมเลขานุการผมถามแล้วถามอีกว่ามันถึงขนาด ๕ ล้านล้านบาทเลยหรือ เขากลัวจดผิด เขียนผิดว่าตัวเลขมันมโหฬารมหาศาลขนาดนั้น ตรงนี้ที่เขาเรียกแบบนี้ครับว่า ความยากจนทับซ้อน และในบรรดาความยากจนทับซ้อนนี่ ที่มันทำให้น้องที่ออกไปขายของอยู่ ณ วันนี้ที่สี่แยกบ้านรอ จังหวัดอ่างทอง เขาถึงหยุดขายไม่ได้ คำถามก็คือว่า ระบบคุ้มครองเด็กที่ท่านกำลังพูดถึง ระบบคุ้มครองเด็ก Child Protection International System มันหายไปไหน มันไม่จำเป็นต้องรอวงเวียนชีวิต มันไม่จำเป็นต้องรอ ให้มีคนมาแจ้งกันเป็นรายกรณี มันไม่จำเป็นต้องรอให้มีเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า ซึ่งควรจะเกิดเป็นอย่างยิ่ง แต่วันนี้ระบบที่อยู่ตามชุมชนผ่าน อพม. ซึ่งมีการตั้งไว้เป็นจำนวนมาก ผ่านผู้นำท้องถิ่น ผ่านข้าราชการ ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผ่านภาคประชาสังคม ที่จะแจ้งเหตุเพื่อนำไปสู่การคุ้มครองเด็กมันหายไปไหน ท่านประธานลองอ่านประโยคนี้สิครับ ประโยคของเด็กคนหนึ่งที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อสื่อหนึ่ง เราอยู่ในประเทศเดียวกันไหมครับ เขาถามง่าย ๆ เลยนะครับ ถ้าไฟแดงนานกว่านี้แล้วหนูจะจนน้อยลงบ้างไหม ผมถึงบอกว่า ค่าอาหารสภาเรานี่ต่อหัว สส. วันละ ๑,๐๐๐ บาท เมื่อเช้าเพื่อนสมาชิกผมบอกคุณณัฐวุฒิ กินมื้อละจานหนึ่งหรือ ผมบอกผมทานเท่านั้น นี่เป็นคำถามเมื่อเช้าจริง ๆ นะครับ ผมบอกผมทานเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันค่าอาหารเรามื้อละ ๑,๐๐๐ บาท มันเท่ากับว่า เขาอยู่ได้ทั้ง ไม่รู้จะพูดอย่างไร สิ่งที่จำเป็นต้องถามก็คือว่า เอาละวันนี้มีเด็กที่ต้องออกมาขาย ของจริงตามสี่แยก จะขายดอกไม้ ขายพวงมาลัย ขายนมเปรี้ยว เช็ดกระจก หรือใด ๆ ก็แล้วแต่ แต่ในเมื่อท่านรัฐมนตรีมีเจตจำนง ข้าราชการพร้อมให้ความร่วมมือท่านเต็มที่ สภามีเจตจำนงเช่นเดียวกัน เพื่อนสมาชิกทุกท่านมีเจตจำนงเช่นเดียวกัน ผมถามเลยแล้วกัน ในข้อที่ ๒ ครับ

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

คำถามในข้อที่ ๒ ว่า ถ้าเช่นนั้นรัฐบาลเองจะมีนโยบาย มีแผนให้เห็น เป็นรูปธรรมนิดหนึ่ง มีแนวทาง มีมาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาไม่ให้เด็ก ๆ เยาวชนเหล่านี้ไปขายสินค้าหรือบริการต่าง ๆ บริเวณสี่แยกหรือท้องถนน ไม่ปลอดภัย อันตราย สุ่มเสี่ยงต่อการถูกแสวงประโยชน์ และจริง ๆ มีผู้ได้ประโยชน์จากการที่เขา ไปทำแล้วด้วยซ้ำ จะป้องกันหรือจะช่วยเหลือระบบคุ้มครองเด็กให้มันลดน้อยถอยลงที่สุด ได้อย่างไร เราพูดด้วยหัวใจเดียวกันเรื่องเด็กเป็นเรื่องที่รอไม่ได้แม้แต่วันเดียวครับ Mascot นี้ผมติดไว้หลังโต๊ะทำงานตอนทำ NGO เรื่องสิทธิ เด็กที่เรียกว่า His name is today เด็กรอไม่ได้แม้แต่วันเดียว ขอถามท่านรัฐมนตรีครับ และผมไม่ถามเพิ่มมั่นใจว่าท่านรัฐมนตรี ตั้งใจทำให้สำเร็จตลอดสมัยของท่านครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านรัฐมนตรีครับ

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์ ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านประธานครับ ต้องขอบคุณท่านสมาชิก ท่านให้ความสำคัญกับเรื่องเด็กจริง แล้วก็มีความรู้จริงเกี่ยวกับเรื่องประเด็นเรื่องเด็ก

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์ ต้นฉบับ

ต้องเรียนว่าในส่วนของกระทรวง พม. ในระยะสั้นสิ่งที่เราวางแผนไว้แน่นอน ท่านสมาชิกทราบอยู่แล้วครับท่านประธาน ไม่ว่าจะเป็นศูนย์คุ้มครองเด็กระดับตำบล เรามี Plan ที่จะจัดตั้งศูนย์นี้เพื่อคัดกรองเด็กที่ประสบปัญหา มีการช่วยเหลือเด็กผ่านระบบ สารสนเทศที่ท่านสมาชิกกล่าวเมื่อสักครู่ เรื่อง Child Protection Information System ซึ่งปัจจุบันได้รับรายงานว่ามีศูนย์นี้อยู่ประมาณ ๕,๐๐๐ กว่าแห่ง อยู่ใน ๗๖ จังหวัด ที่ผ่านมาได้มีการคัดกรองเด็กกลุ่มเสี่ยงไปตั้งแต่ปี ๒๕๖๑-๒๕๖๖ คัดกรองไปแล้วเกือบ ๒๖๐,๐๐๐ ราย แล้วก็ในปีงบประมาณ ๒๕๖๘ นั้น จะมีการจัดตั้งศูนย์ให้ครบประมาณเกือบ ๗,๘๐๐ แห่ง ซึ่งต้องเรียนว่าศูนย์เหล่านี้ที่มีทั่วประเทศถ้าหากว่าทำงานแล้วประสิทธิภาพดีหรือไม่ดี อย่างไร ผมเชื่อว่าท่านสมาชิกจะมีเครือข่ายแล้วก็ช่วยกันจับตามองถ้าไม่ดีผมจะรีบกลับมา ปรับปรุง ถ้าดีอยากจะให้ทำงานอะไรเพิ่มเราก็ยินดีที่จะนำมาแก้ไข

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์ ต้นฉบับ

ในส่วนที่ ๒ เราจะจัดให้มีสวัสดิการสำหรับเด็กและเยาวชน ครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินสงเคราะห์สำหรับเด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจน รวมถึงเงินอุดหนุน ช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูสำหรับครอบครัวอุปถัมภ์ที่รับเด็กเลี้ยงดูเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ให้กับหัวหน้าครอบครัว รวมถึงการจัดหาครอบครัวอุปถัมภ์หรือครอบครัวบุญธรรม ที่เหมาะสม แล้วก็จัดบริการสวัสดิการให้กับเด็กในสถานรองรับเด็ก ยกตัวอย่างเช่น ค่าอาหาร ที่เมื่อสักครู่ที่ท่านสมาชิกได้กล่าวถึง ตอนที่เข้ามารับตำแหน่งได้เห็นค่าอาหาร ต่อวัน ก็ค่อนข้างตกใจ ก็ได้มีการตั้งข้อสังเกตขอให้ท่านอธิบดีตั้งข้อสังเกตไปภายใน ปีงบประมาณ ๒๕๖๗ ซึ่งขณะนี้เดี๋ยววันอังคารก็จะให้ข่าวอีกครั้งหนึ่ง ทราบมาว่าในเบื้องต้น ตอนนี้ได้รับค่าอาหารเพิ่มขึ้นหัวละประมาณ ๓-๔ บาทต่อคนแล้วในระยะสั้น ส่วนในระยะยาว ผมกำลังให้ทางกระทรวงนั้นตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาครับ เพราะว่าการจะของบประมาณ เพิ่มอาหารให้กับเด็กนั้นคงจะต้องมีผลการศึกษาว่าเด็กอายุ ๐-๖ ขวบ ต้องทานอาหาร ลักษณะใด ปริมาณเท่าไร มีสารอาหารเท่าไร ๖-๑๒ ปี พอมาเป็นเด็กโตหรือว่า ๑๒-๑๘ ปีนั้น ปริมาณต้องเพิ่มขึ้น สารอาหารควรจะเป็นอย่างไร เมื่อมีผลการศึกษาเหล่านั้นแล้ว ทางกระทรวงก็จะทำเอกสารขอไปยังทางสำนักงบประมาณ เพื่อของบประมาณเกี่ยวกับ เรื่องค่าอาหารให้กับเด็กที่อยู่ในการดูแลของกระทรวง พม. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนม และสารอาหารต่าง ๆ ซึ่งต้องเรียนว่าปัจจุบันนั้นเรามีสถานรับรองเด็กอยู่ประมาณ ๑๐๘ แห่ง ทั่วประเทศ เราก็จะเร่งพัฒนาคุณภาพศูนย์ดูแลเด็กและครอบครัวเหล่านี้

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์ ต้นฉบับ

ส่วนตัวอย่างการทำงานเชิงรุกที่เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหานั้น ต้องเรียนว่า ยกตัวอย่างเช่นที่มหากาพย์เลย ที่ชุมชนโค้งรถไฟซึ่งท่านสมาชิกทราบดี ผมเองต้องเรียนตรง ๆ ว่า ไม่เคยทราบเรื่องนี้ เมื่อวานนี้ได้ไปเห็นครั้งแรกก็ได้เห็นถึงปัญหาหลายอย่าง แล้วก็ดีใจครับ ที่หลายหน่วยงานเข้ามาบูรณาการทำงานร่วมกัน ทราบมาว่าตั้งแต่วันที่ ๘ กันยายนปีที่แล้ว ปี ๒๕๖๕ ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเป็นการจัดการป้องกัน แล้วก็ไปดูในชุมชน แล้วก็เห็นว่ามันมี Case ที่ต้องอยู่ในเกณฑ์สุ่มเสี่ยงอยู่ประมาณ ๑๒ ครอบครัวด้วยกัน พอถัดจากนั้นมาเดือนพฤศจิกายนก็ได้มีการจัดตั้ง Case Manager หรือว่าผู้จัดการรายกรณี เพื่อเข้าไปทำความรู้จักแล้วก็ไปหาวิธีแก้ไขให้กับทั้ง ๑๒ ครอบครัวนี้ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ก็ได้มีการจัดประชุมทั้ง Case Manager อีกเมื่อเดือนมกราคม แล้วก็ติดตามผลการแก้ไข การลงพื้นที่พูดคุยแล้วมีแนวทางอย่างไรบ้าง ซึ่งพอมาถึงในเดือนกุมภาพันธ์เรามีการเปิด ศูนย์ช่วยเหลือสังคม ชุมชนโค้งรถไฟยมราช มีการทำ One Stop Service ให้กับหลาย ๆ หน่วยงาน ซึ่งพอมาถึงเดือนมีนาคมทางกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการร่วมกับทาง กรมกิจการผู้สูงอายุก็ได้มีการลงพื้นที่สำรวจครัวเรือนอีกประมาณ ๑๑๔ ครัวเรือน มีทะเบียนบ้านอยู่ประมาณแค่ไม่ถึงครึ่ง ๕๒ ครัวเรือนเท่านั้นเอง แล้วก็ไม่มีทะเบียนบ้านอีก ๖๐ กว่าครัวเรือน แล้วก็พบว่าในชุมชนนั้นปัญหาหนี้ล้านแปดจริง ๆ ครับท่านประธาน ไม่ว่าจะเป็นหนี้สิน รายได้ไม่พอ ที่อยู่ไม่มั่นคง ทุนการศึกษา พ่อแม่ไม่สามารถเลี้ยงดูลูกได้ การจ้างงาน พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว สุรา ยาเสพติดต่าง ๆ ปัญหาเยอะจริง ๆ จากนั้นมาเราก็มี การบูรณาการกับหน่วยงานหลาย ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งทางกรุงเทพมหานครเอง ซึ่งเมื่ออาทิตย์ที่แล้วทางท่านผู้ว่าชัชชาติก็ได้ให้เกียรติมาพบปะกับพวกเราที่กระทรวง พม. และตอนนี้ก็ได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวง พม. และกรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ไขปัญหาหลาย ๆ อย่างตามที่ได้กล่าวมานะครับ

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์ ต้นฉบับ

ส่วนในระยะยาว ทางกระทรวง พม. นั้น เราเสนอให้มีการกำหนดมาตรการ กลไกการทำงานด้านเด็กและเยาวชนทั้งในระดับชาติ แล้วก็ระดับจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ คณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด แต่ว่าโดยส่วนตัวแล้ว ต้องเรียนว่าพอคณะกรรมการเยอะ ๆ บางครั้งงานมันก็ไม่ค่อยเดิน ส่วนตัวผม ผมเป็นนักปฏิบัติ แล้วก็ดีใจที่มีท่านสมาชิกที่มีความตื่นตัวเช่นนี้ แล้วก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะสามารถ ประสานงาน ทำงานด้วยกันเพื่อประโยชน์ของเยาวชนของไทยในอนาคต รวมถึงการยกร่าง แผนปฏิบัติการด้านการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ปี ๒๕๖๖-๒๕๗๐ ไม่ว่าจะเป็นสาระ เรื่องการทำให้ครอบครัวมีความเข้มแข็งมากขึ้น สามารถดูแลสวัสดิภาพของเด็ก รวมไปถึง ข้อที่ท้าทายที่จะส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงดูเด็กได้ เพราะว่าทางกระทรวง พม. เราเชื่อครับว่า ถ้าหากสถาบันครอบครัวมีความเข้มแข็ง เด็กและเยาวชนจะเติบโตขึ้นมาเป็นทรัพยากร ที่สำคัญของสังคมไทย แล้วก็จะไม่เกิดเหตุสลดอย่างที่เราเห็นในหลาย ๆ ครั้งที่เกิดขึ้นมา ในอดีตที่ผ่านมา

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์ ต้นฉบับ

ประเด็นต่อมา เกี่ยวกับเรื่องแผนปฏิบัติการ เราจะให้เด็กและครอบครัว และชุมชนนั้นมีส่วนร่วมในการที่คุ้มครองเด็ก มีบทบาทในการเป็นผู้นำกับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ในกระทรวง พม. เอง ผมได้ขอให้ทุกหน่วยงานจัดกิจกรรมเพื่อให้ครอบครัวนั้น มีปฏิสัมพันธ์ พ่อแม่ลูกมีกิจกรรมทำด้วยกันให้มากขึ้น รวมถึงในส่วนของด้านที่ ๓ ระบบคุ้มครองเด็กให้มีความพร้อมในการทำงานเชิงรุก แล้วก็ป้องกันและมีกลไกตอบสนอง อย่างรวดเร็ว ซึ่งในขณะนี้เองทางกระทรวง พม. ผมเองได้มีการจัดตั้งเขาเรียกว่า ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน หรือว่าเรียกอักษรย่อว่า ศรส. จะเป็นศูนย์ที่รับเรื่อง หลาย ๆ เรื่อง โดยที่ ๑๓๐๐ Hotline ของกระทรวง พม. นั้นจะเป็น Subset หรือส่วนหนึ่ง ของศูนย์นี้ จะรับทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องผู้สูงอายุ เรื่องเด็ก เรื่องคนพิการ แล้วก็ จะเร่งทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีการเรียกว่าทำงานกันอย่างรวดเร็ว แต่ว่าปัญหาต่าง ๆ นั้น ต้องเรียนว่าอย่างเมื่อวานที่ผมได้มีโอกาสไปที่ชุมชนโค้งรถไฟยมราช เห็นเลยว่าไม่ว่าจะเป็นกระทรวง พม. ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร หน่วยงานของทหาร ทางกระทรวงศึกษาธิการ กศน. นั้น ต้องมาบูรณาการทำงานร่วมกัน เพราะถ้าหากว่า ทำกระทรวง พม. กระทรวงเดียวคงจะไม่สามารถทำได้ ยังมีอีกหลายประเด็น อย่างที่ท่านสมาชิกได้กล่าวเมื่อสักครู่ปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งบ่ายนี้ท่านทูตการค้ามนุษย์ ก็จะมาพบกับผมเองเช่นกัน การใช้แรงงานเด็กอย่างไม่เป็นธรรม ต่าง ๆ เหล่านี้ ท่านประธานครับ ท่านสมาชิก ท่านณัฐวุฒินั้นมีความรู้แล้วก็มีประสบการณ์อย่างมากมาย จากการที่ทำงานมา หวังเป็นอย่างยิ่งว่าร่าง พ.ร.บ. ใหม่ที่เรากำลังคุยกันอยู่นี้อยากจะได้ ข้อเสนอแนะจากท่านณัฐวุฒิด้วยเช่นกัน เพราะว่าเวลาเด็ก ๆ เขาเติบโตขึ้นมา เขาไม่รู้จักว่า ฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล เขารู้จักแค่ว่ามีผู้ใหญ่จะมาดูแลเขาหรือไม่ ดังนั้นวันนี้ผมคิดว่า เป็นนิมิตหมายที่ดี ถ้าหากว่าเราจะได้รับคำเสนอแนะ ข้อเสนอแนะจากท่านณัฐวุฒิ เพื่อที่จะให้ พ.ร.บ. นี้สมบูรณ์ที่สุด แล้วก็เร่งเสนอกับสภาในสมัยประชุมหน้า ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านรัฐมนตรี ขอบคุณสำหรับผู้ถามด้วย เป็นอันสิ้นสุดของกระทู้ถามที่ ๑.๒.๓ แล้วก็ถ้าวันนี้ท่านรัฐมนตรีแล้วก็ท่านณัฐวุฒิมีเวลา เรียนเชิญ ชั้น ๙ ที่ห้องสมุด เรามีกิจกรรม ตุลาเริงร่าพาลูกมาห้องสมุด ที่จะให้ลูกหลานของบุคลากรเจ้าหน้าที่ Staff ทุกคน ของสภาแห่งนี้ช่วงปิดเทอมก็ไปใช้เวลาด้วยกันที่ห้องสมุดได้ เรียนเชิญนะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๔. เรื่อง ปัญหาน้ำแห้งจนเรือโดยสารข้ามฟาก ท่าน้ำเจดีย์-ตลาดปากน้ำ ต้องหยุดให้บริการ นายบุญเลิศ แสงพันธุ์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

โดยสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ได้มีหนังสือแจ้งว่ากระทู้ถามเรื่องนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงคมนาคม ท่านมนพร เจริญศรี เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทน ท่านรัฐมนตรีเข้าประจำที่แล้ว ขอเชิญท่านบุญเลิศ แสงพันธุ์ ถามกระทู้ได้ครับ

นายบุญเลิศ แสงพันธุ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพนะครับ ผม นายบุญเลิศ แสงพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๗ จังหวัด สมุทรปราการ พรรคก้าวไกล วันนี้ต้องกล่าวคำขอบคุณก่อนที่รัฐมนตรีได้ส่งผู้มาตอบแทน หนังสือเล่มนี้ผมได้เสนอไปเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคมที่ผ่านมา จนได้มาถึงวันนี้ วันที่ ๑๙ ตุลาคม แล้วก็ได้มีกระทู้ถามขึ้นมา แล้ววันที่ ๔ ตุลาคมที่ผ่านมาก็ได้ปรึกษาหารือ กับสภาแห่งนี้ไปในส่วนของปัญหานี้ ขอภาพด้วยครับ

นายบุญเลิศ แสงพันธุ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

ผมขอกล่าวในตัวแทนของ คนพระสมุทรเจดีย์แล้วกันนะครับ เนื่องจากปัญหานี้ผู้ใช้สัญจรทางเรือแล้วก็คนในพื้นที่ หรือแม้แต่คนในสมุทรปราการต้องมาคอยดูตารางน้ำว่าน้ำแห้งไหม เรือจะหยุดวิ่งไหม อันนี้อีกอันหนึ่งครับ อันนี้คือน้ำขึ้น ตอนนี้คนที่สัญจรและคนที่ใช้การเดินทางต้องมาดูตาราง น้ำทั้ง ๒ อัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำลงหรือน้ำขึ้น น้ำลงก็ไม่สามารถสัญจรทางเรือได้ น้ำขึ้นก็น้ำท่วมถนน อันนี้คือเป็นปัญหาสำคัญในอำเภอพระสมุทรเจดีย์ เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ บางพื้นที่ของ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ในการใช้ท่าเรือข้ามฟาก ท่านจะเห็นลูกศรที่เราได้ทำไว้ ด้านบน จะเป็นของท่าเรือที่กำลังปรับปรุง ซึ่งมีการสร้าง ๑๐ กว่าปีแล้ว แล้วก็ปรับปรุง ๒ ครั้ง ก็ยังไม่ได้ถูกใช้งานต่อ ก็เลยมีการขยับออกมาในส่วนของท่าเรือปัจจุบันที่ใช้อยู่ในด้านของ พระสมุทรเจดีย์ ด้านบนนะครับอันนี้จะเป็นท่าเรือที่ใช้งานอยู่แล้วก็ข้ามไปฝั่งปากน้ำ ท่านเห็นไหมครับในรูประยะไม่ได้ไกลกันมากเลย แต่ถามว่าทำไมประชาชนต้องสัญจรทางเรือ เพราะมันใกล้ครับ มันใกล้กับเมืองมาก ข้ามไปก็ถึงปากน้ำแล้ว ข้ามไปก็ไปถึงโรงเรียน ประจำจังหวัด แล้วก็สามารถต่อรถไฟฟ้า BTS ได้ไปยังใจกลางเมืองของกรุงเทพมหานคร

นายบุญเลิศ แสงพันธุ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

ในพื้นที่พระสมุทรเจดีย์เป็นแหล่งเศรษฐกิจท่องเที่ยว แล้วก็มีประชากร ๑๕๓,๐๐๐ คนในพื้นที่ดังกล่าว แต่ผมเชื่อครับ ประชากรพวกนี้ไม่ได้ใช้ท่าเรือเจดีย์ทั้งหมด มีการสัญจรทางอื่น อันนี้คือภาพที่เราเห็นมันแห้งอย่างนี้เลย แทบจะเตะบอลกันได้เลย ถ้าสามารถลงไปเตะบอลได้ แห้งขนาดนี้ปัญหาที่เกิดขึ้น ผมก็ขอเป็นผู้แทนคนสุดท้าย ในการพูดเรื่องนี้แล้วกัน เพราะผมเชื่อว่าผู้แทนก่อนหน้านี้ก็มีการพูดเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ปัญหานี้มันไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นนานแล้ว พอมีปัญหาทีเราก็มาพูดกันที ว่าทำไมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถทำอะไรได้ ไม่สามารถลอกสันดอนออก เพื่อให้เรือสัญจรได้ อันนี้จะเป็นในส่วนของด้านหน้าก่อนแม่น้ำที่จะเข้าไป ที่ท่านเห็นอยู่นี้ ตอนนี้เป็นน้ำทะเลไปแล้วเพราะว่าถูกกัดเซาะจากทะเล เห็นไหมครับ ภาพนี้มีสะพาน ๒ สะพาน ก็คือสะพานภูมิพล ๒ แล้วก็สะพานกาญจนาภิเษก สุขสวัสดิ์-บางพลี ที่เราได้ใช้อยู่ แล้วก็ที่เห็นอยู่สะพานที่เกิดขึ้นไม่ได้ไกลมากเลย ไม่ได้ไกลจากท่าเรือเจดีย์เลยนะครับ สิ่งที่เห็นอยู่นั่นคือจากภาพ แต่การเดินทางระหว่างท่าเรือเจดีย์ไปถึงสะพานต่าง ๆ มันใช้เวลามากครับ รถติดอย่างน้อยชั่วโมงครึ่ง หรือแม้แต่ผมเองออกจากบ้านมา กว่าจะขึ้นสะพานชั่วโมงนิด ๆ เลยครับ อันนี้คือปัญหาที่เกิดขึ้นนะครับ อย่างไรก็ตาม ในอำเภอพระสมุทรเจดีย์มีประชากรหนาแน่น ในเมื่อท่าเรือน้ำแห้ง จากปกติที่เขาข้ามเรือ แค่ ๖ บาทเอง เขาต้องนั่งแท็กซี่ ๒๐๐ กว่าบาท ค่าแรงขั้นต่ำก็แทบจะหมดแล้ว ๑ วัน เด็กนักเรียนถ้าเกิดขึ้นเรือไม่ทันทำอย่างไรครับ อาจจะต้องหยุดเรียนเลย นี่คือปัญหา เรื่องใหญ่ ผมขออนุญาตถามท่านรัฐมนตรีนะครับว่า ปัญหานี้ที่เกิดขึ้นเรามีแนวทางแก้ไข อย่างไรครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านรัฐมนตรีใช้สิทธิตอบในรอบที่ ๑ ครับ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม วันนี้ดิฉันได้รับมอบหมายจากท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพราะว่าท่านติดภารกิจในการเดินทางไปต่างประเทศร่วมกับคณะของท่านนายกรัฐมนตรี ในการเยือนประเทศจีนแล้วก็ประเทศอิหร่าน วันนี้ต้องขอขอบคุณคำถามจากท่านสมาชิก จังหวัดสมุทรปราการ ในประเด็นคำถามแรกดิฉันจะฉาย Slide ให้ดูซึ่งจะเห็นภาพ ของปัจจุบันก่อนนะคะ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

จากแผนผัง บริเวณท่าเรือพระสมุทรเจดีย์ หรือว่าตลาดน้ำ อำเภอเมืองสมุทรปราการ เป็นแหล่ง เศรษฐกิจเมืองท่องเที่ยวที่มีศักยภาพซึ่งมีประชากรจำนวน ๑๕๓,๐๗๕ คน โดยมีท่าเรือ พระสมุทรเจดีย์ตั้งอยู่บริเวณร่องน้ำซึ่งอยู่ในพื้นที่ของเกาะพระสมุทรเจดีย์ และเป็นที่ตั้ง ของพิพิธภัณฑ์ป้อมผีเสื้อสมุทร และมีเส้นทางเดินเรือรอบเกาะเพื่อข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ไปยังท่าเรือวิบูลย์ศรี ตั้งอยู่บริเวณปากน้ำจังหวัดสมุทรปราการ ในปัจจุบันมีผู้ใช้สัญจรไปมา แต่ละวัน วันละประมาณ ๗๐๐ คน อีกทั้งยังเป็นเส้นทางเดินทางจากจังหวัดสมุทรปราการ ไปยังกรุงเทพมหานครส่วนใต้ รวมถึงจากกรุงเทพมหานครส่วนใต้ไปเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อเดินทางสู่กรุงเทพมหานครชั้นในได้อย่างรวดเร็วตามที่ท่านสมาชิกได้นำเสนอนะคะ จาก Slide สภาพปัญหาของน้ำแห้งจนเรือโดยสารข้ามฟากระหว่างอำเภอพระสมุทรเจดีย์ ตลาดน้ำ สืบเนื่องมาจากเป็นการสะสมของดินตะกอนในร่องน้ำตามธรรมชาติซึ่งมีอยู่ทุกปี แล้วก็ทุกฤดูกาล ซึ่งบางช่วงเป็นเวลาแล้วก็เป็นฤดูที่มีน้ำน้อยทำให้เรือโดยสารที่จะให้บริการ พี่น้องประชาชนไม่สามารถเดินเรือได้ นอกจากนั้นทางหน่วยงานกรมเจ้าท่าซึ่งเป็นหน่วยงาน ที่มีภารกิจในการดูแลรักษาร่องน้ำเส้นทางเดินเรือก็ได้ดำเนินการขุดลอกดินตะกอนออก ในเส้นทางเดินเรือระหว่างท่าเรือพระสมุทรเจดีย์ ตลาดน้ำของอำเภอเมืองสมุทรปราการ เมื่อปี ๒๕๖๓ เราได้จัดสรรงบประมาณลงไป เป็นการขุดลอกร่องน้ำขนาดกว้าง ก้นร่อง ๕ เมตร ความลึก ๑ เมตร ซึ่งวัดจากระดับน้ำต่ำสุด ความยาว ๑.๕ กิโลเมตร ซึ่งเป็นช่วงของท่าเทียบเรือ ใช้ระยะเวลา ก้นร่อง ๕ เมตร ความลึก ๑ เมตร จากระดับน้ำลดต่ำสุดความยาว ๑.๕ กิโลเมตร แล้วก็ดำเนินการขุดลอกใน ๓๐ วัน สำหรับการขุดลอกดินตะกอนนะคะท่านสมาชิก ซึ่งร่องน้ำดังกล่าวกรมเจ้าท่าจะดำเนินการขุดลอกร่องน้ำอีก ขณะนี้ได้บรรจุอยู่ในแผน การขอรับงบประมาณในปี ๒๕๖๘ อีกประมาณ ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งในแต่ละปีกรมเจ้าท่า ก็ได้รับงบประมาณเพียงน้อยนิดนะคะ ร่องน้ำแต่ละร่องน้ำก็มีดินตกตะกอนเป็นจำนวนมาก แต่เราก็ไม่ละเลยปัญหาที่พี่น้องชาวพระสมุทรเจดีย์ได้รับทราบ แล้วก็ได้ประสบปัญหาดังกล่าว Slide ต่อมาค่ะ สำหรับข้อเสนอของท่านสมาชิกเรื่องของการปรับปรุงร่องน้ำ เราก็มี การสร้างเขื่อนกั้นดินให้ถาวร และเราจะมีการสร้างท่าเรือรองแห่งใหม่ ซึ่งขณะนี้ กระทรวงคมนาคม โดยกรมเจ้าท่าจะดำเนินการศึกษาผลกระทบให้รอบด้าน ทั้งในเรื่องของ อัตราการตกตะกอน ทิศทางการไหลของกระแสน้ำ ความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจ และความเหมาะสมที่ดิฉัน Mark ไว้ตรงช่องสีแดงเห็นไหมคะ นั่นละค่ะคือรูปแบบ ที่เราจะต้องเร่งศึกษาจากปัญหาที่มีผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน แล้วเราก็ยังจะศึกษา รูปแบบทางด้านวิศวกรรม ตลอดจนผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เพื่อให้การแก้ไข ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นไปอย่างยั่งยืน และนอกจากนั้น ก็ยังจะสนับสนุนการสร้างท่าเรือรองแห่งใหม่ เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางของพี่น้อง ประชาชนต่อไปค่ะ นี่คือคำถามแรกที่ท่านสมาชิกได้ถาม ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านสมาชิกใช้สิทธิถามในรอบ ๒ ครับ เรียนเชิญท่านบุญเลิศครับ

นายบุญเลิศ แสงพันธุ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

ขอบคุณนะครับ รัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สิ่งที่ท่านตอบถือว่าเป็นสิ่งที่น่าดีใจมากเลยนะครับ เพราะว่า สิ่งที่เราได้เสนอแนะไปท่านวางแผน มีแผนการที่จะแก้ไขตามที่เสนอไปเลย ไม่ว่าจะเป็น ระยะสั้น ระยะกลาง แล้วก็ระยะในอนาคต แต่ผมอยากจะสอบถามในส่วนอันที่ ๒ ที่ว่าจะมีการศึกษา พอดีมันยังไม่ได้ลงกรอบเวลาไว้ว่าประมาณช่วงระยะเวลาไหนครับ แล้วก็เสร็จประมาณเมื่อไร ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านรัฐมนตรีครับ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

ในคำถามที่ ๒ จากที่ท่านสมาชิกได้นำเสนอปัญหา แน่นอนการศึกษา เรื่องของผลกระทบสิ่งแวดล้อมเราจะดำเนินการในระยะเวลาของกรอบงบประมาณปี ๒๕๖๗ แล้วดูความเป็นไปได้นั่นก็คือนำมาซึ่งการผลักดันงบประมาณในปี ๒๕๖๘ ขณะนี้ อยู่ในระหว่างการเสนอเพื่อพิจารณางบประมาณต่อ ครม. ขณะนี้งบประมาณบางส่วน ได้ผ่านมติของ ครม. ไปเรียบร้อยแล้วก็คงจะให้ท่านสมาชิกได้ช่วยผลักดันโครงการขุดลอก ร่องลำน้ำสำคัญ ๆ ของกรมเจ้าท่า แล้วก็หน่วยงานอื่น ๆ ของกระทรวงคมนาคมเพื่อจะช่วย แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนต่อไปค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านบุญเลิศยังมีประเด็นซักถามเพิ่มเติมไหมครับ ยังพอมีเวลาเป็นครั้งสุดท้ายนะครับ เชิญครับ

นายบุญเลิศ แสงพันธุ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

ขอบคุณรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงคมนาคมนะครับ ก็ถือว่าเป็นคำตอบที่น่ายินดี แล้วก็ดีใจแทนพ่อแม่พี่น้อง คนพระสมุทรเจดีย์ แล้วก็ผู้ที่จะมาใช้ท่าเรือตรงนี้ ในส่วนที่ผลักดันก็ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่ลงไว้ว่าการขุดลอกจะเริ่มดำเนินการในปี ๒๕๖๘ ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าดีใจนะครับ เพราะว่าก่อนหน้านี้ไม่มีแผนดำเนินการใด ๆ เลยกับปัญหาเรื่องนี้ แล้วก็ผมขอเพิ่มเติม นิดหนึ่งครับตรงนี้จากพ่อแม่พี่น้องประชาชนมาอันนี้เราไม่ได้ตั้งคำถาม ก็คือเขามีการเสนอ ในการสร้างสะพานระยะสั้นแล้วแต่ว่าจุดไหนใด ๆ ก็แล้วแต่ เพราะว่าจากเส้นเลียบคลอง สรรพสามิตก็เป็นเขตติดต่อของ ๓ สมุทร และสามารถวิ่งต่อไปบางปูได้ ออกจังหวัดชลบุรีได้ ส่วนในด้านวงกลมพ่อแม่พี่น้องประชาชนเขาเสนอมาว่าเราสามารถทำเขื่อนได้ไหม ทำเขื่อนเนื่องจากอาจจะแก้ปัญหาในส่วนของน้ำขึ้นน้ำลงได้ด้วย แล้วก็ด้านบนเขื่อน อาจจะทำเป็นถนนในการสัญจรได้ด้วย ก็ขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงคมนาคมมากครับ ขอบคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ไม่ได้เป็นลักษณะของคำถามนะครับ รัฐมนตรีจะตอบหรือไม่ก็ได้นะครับ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพค่ะ ดิฉันกราบเรียนท่านประธานไปยังท่านสมาชิก ขออนุญาต แนะนำนะคะว่า เวลาท่านสมาชิกได้ถามกระทู้ถามทั่วไปในคำถามของท่านสมาชิก พอท่านสมาชิกได้เขียนด้วยกระดาษแล้วก็ยื่นกระทู้ถามทั่วไป แต่พอท่านสมาชิกมาถาม อาจจะไม่ครบประเด็น ในประเด็นดังกล่าวดิฉันขออนุญาตเสริมจากคำถามกระทู้ถามทั่วไป ในคำถามที่ ๒ แต่ว่าท่านอาจารย์ตื่นเต้นเลยลืมถาม ก็ขออนุญาตตอบอย่างนี้นะคะว่า คำถามที่ ๒ ที่ท่านได้ตั้งคำถามและเขียนมาในกระดาษยื่นต่อท่านประธานท่านถามว่า กระทรวงคมนาคมควรจะเพิ่มเส้นทางเชื่อมต่อ ๒ ฝั่งแม่น้ำโดยอาจจะมีสายที่ขึ้นทางด่วน เพื่อความรวดเร็ว หรือรถเมล์สายที่ไปตามเส้นทางปกติเพื่อเพิ่มโอกาสให้คนในพื้นที่ใกล้เคียง สามารถใช้งานได้ด้วยหรือไม่ ซึ่งประเด็นคำถามนี้ดิฉันจะขอตอบไปในคราวเดียวกัน แล้วก็ได้ให้พี่น้องประชาชนทางบ้านได้ทราบถึงความใส่ใจของกระทรวงคมนาคมที่มีต่อพี่น้อง ประชาชนว่า ปัจจุบัน ขสมก. โดยกระทรวงคมนาคมเรามีเส้นทางรถเมล์บริเวณดังกล่าวนี้ ๙ เส้นทาง แบ่งออกเป็นฝั่งท่าน้ำเจดีย์ ๒ เส้นทาง คือสาย ๒๐ และสาย ต ๑๐๖ ซึ่งฝั่งตลาดปากน้ำจำนวน ๗ เส้นทาง คือสาย ๒๕ สาย ๑๐๒ สาย ๑๔๒ สาย ๑๔๕ สาย ๕๐๘ สาย ๕๑๑ แล้วก็สาย ๕๓๖ ซึ่งไม่สามารถเชื่อมต่อ ๒ ฝั่งแม่น้ำโดยตรง จากท่าน้ำเจดีย์ไปยังตลาดปากน้ำ ในกรณีนี้หากประชาชนมีความสนใจที่จะเดินทางข้าม ๒ ฝั่งแม่น้ำ จากท่าน้ำเจดีย์ไปยังตลาดปากน้ำจะต้องเดินทางด้วยรถเมล์สาย ๒๐ หรือขึ้นรถตู้ สาย ต ๑๐๖ ไปที่ท่าน้ำเจดีย์ เพื่อไปต่อรถเมล์สาย ๑๔๒ ที่ป้ายถนนสุขสวัสดิ์ ดังแผนที่ ตรงกิโลเมตรที่ ๙ ใต้ทางด่วน แล้วเดินทางต่อไปยังตลาดปากน้ำรวมระยะทางทั้งสิ้น ๔๕ กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาเดินทางถึง ๒ ชั่วโมง แล้วก็มีค่าใช้จ่ายเดินทางประมาณ ๔๕ บาท ซึ่งจะทำให้พี่น้องประชาชนไม่ได้รับความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง ดังนั้น กระทรวงคมนาคมในฐานะที่หน่วยงานกำกับดูแลการบริหารจัดการด้านขนส่งมวลชน ทั้งทางบกแล้วก็ ขสมก. เราได้เปลี่ยนแปลงเส้นทางเดินรถให้กับพี่น้องประชาชนในจำนวนเวลา แล้วก็จำนวนเที่ยวของการเดินรถเมล์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยยึดหลักยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคม คือสะดวก ปลอดภัย แล้วก็ตรงเวลา ในราคาสมเหตุสมผลโดยให้ ขสมก. เดินรถตัดช่วงของรถเมล์สาย ๒๐ ที่ทางด่วนพิเศษ หมายเลข ๙ ตรงด่านทุ่งครุไปลงทางด่วนตรงด่านช้าง ๓ เศียร แล้วก็ต่อเนื่องไปจนถึงสุขุมวิท ไปถึงจุดหมายปลายทางที่ตลาดปากน้ำ ระยะทาง ๑๗ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางเพียง ๓๐ นาที และมีค่าใช้จ่ายเพียง ๒๕ บาท นั่นก็คือจะส่งผลให้พี่น้องประชาชนได้รับความสะดวกสบาย ลดระยะเวลาการเดินทางจาก ๑๘ กิโลเมตร ลดลงเหลือเพียง ๑ ชั่วโมง ๓๐ นาที และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางลงคือประหยัดเงินไป ๒๐ บาท ซึ่งกระทรวงคมนาคม โดย ขสมก. จึงเสนอทางเลือกนี้ในการเดินทางให้พี่น้องประชาชนสามารถเชื่อมต่อ ทั้ง ๒ ฝั่งแม่น้ำ และเป็นรถเมล์สายหนึ่งที่ขึ้นทางด่วนได้รวดเร็ว และจะประหยัดให้พี่น้อง ประชาชนโดยทั่วไป พี่น้องก็จะสามารถเลือกเส้นทางนี้เป็นอีกเส้นทางหนึ่ง กราบเรียน ท่านประธานไปถึงท่านสมาชิกได้บอกกล่าวพี่น้องประชาชนด้วยนะคะว่า วิสัยทัศน์ ของ ขสมก. คือรถเมล์เป็นของคนทุกคน เป็นของพี่น้องประชาชนทุกคนค่ะ ท่านประธานที่เคารพ ดิฉันขอยืนยันอีกครั้งว่าปัญหาของพี่น้องประชาชน ของคนทุกคน ของคนทุกกลุ่มรัฐบาล ของท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง คมนาคม เราจะไม่ละเลย เราจะเอาปัญหาของพี่น้องประชาชนมาแก้ไข และตอบสนอง ทุกปัญหาของพี่น้องอย่างเท่าเทียมกันค่ะ ต้องขอถือโอกาสขอบคุณท่านประธานไปยัง ท่านสมาชิกที่ท่านได้ใส่ใจปัญหาของพี่น้องประชาชนในทุกมิติที่พี่น้องประชาชนมอบ ความไว้วางใจให้ท่าน ขอขอบพระคุณอีกครั้งค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ เป็นการถามและตอบกระทู้ถามที่ประชาชนได้ประโยชน์มาก กราบขอบคุณท่านรัฐมนตรีแล้วก็ท่านผู้ถามด้วยนะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๕. เรื่อง ขอให้พิจารณายกเลิกการกำหนดให้เขตพื้นที่เขตหนองจอก เขตมีนบุรี เขตลาดกระบัง เขตคลองสามวา และเขตอื่น ๆ โดยรอบเป็นพื้นที่รับน้ำ โซนตะวันออกของกรุงเทพมหานคร และพิจารณาทบทวนการปรับเปลี่ยนสีผังเมือง ในเขตพื้นที่ดังกล่าวเพื่อการพัฒนาที่ดีขึ้น นายธีรัจชัย พันธุมาศ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม ท่านนายกรัฐมนตรี

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ด้วยสำนักงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือแจ้งว่ากระทู้ถาม เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทนนั้น ในการนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายเกรียง กัลป์ตินันท์ เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอเชิญท่านธีรัจชัย พันธุมาศ และขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการ ที่ให้เกียรติสภาวันนี้ ขอเชิญท่านธีรัจชัยถามครับ

นายธีรัจชัย พันธุมาศ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ผม ธีรัจชัย พันธุมาศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก เขตมีนบุรี เขตลาดกระบัง พรรคก้าวไกล ขออนุญาตตั้งกระทู้ถาม ถามท่านนายกรัฐมนตรี ผ่านท่านประธาน

นายธีรัจชัย พันธุมาศ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

สืบเนื่องจากผมยืนยันว่าจะตั้งกระทู้ถาม ถามท่านนายกรัฐมนตรี แต่วันนี้เนื่องจากท่านนายกรัฐมนตรีมอบหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการ เหตุที่ผมถาม ท่านนายกรัฐมนตรีเนื่องจากว่าสิ่งที่ผมถามมีอยู่ ๒ ประเด็น

นายธีรัจชัย พันธุมาศ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ คือการบริหารจัดการน้ำเพื่อไม่ให้เขตหนองจอก เขตมีนบุรี เขตลาดกระบัง และเขตคลองสามวาเป็นที่รองรับน้ำ ซึ่งมีไม่น้อยกว่า ๓๑ ปี

นายธีรัจชัย พันธุมาศ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ เรื่องการปรับผังเมืองเพื่อจะทำให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ ไม่เป็นพลเมืองที่ถูกให้ต้องรองรับน้ำอยู่ตลอดเวลา

นายธีรัจชัย พันธุมาศ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้กุมกลไกทั้งหมด ไม่ว่าในส่วนของ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำกับดูแล ในส่วนของกรมโยธาธิการและผังเมืองหรืออื่น ๆ รวมถึงกรุงเทพมหานคร แต่ผู้ที่มาตอบ คือท่านรัฐมนตรีว่าการกำกับเฉพาะกรุงเทพมหานคร และในส่วนสำนักบำบัดน้ำเสีย ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าท่านนั้นจะสามารถตอบได้ทุกเรื่องหรือไม่ และจะทำนโยบายเพื่อเปลี่ยน ตามคำถามนี้ได้หรือไม่ผมไม่แน่ใจ แต่อย่างไรก็ตามท่านมาก็ขอขอบคุณที่ท่านได้มา ผมจะถามท่านนายกรัฐมนตรีแล้วกัน

นายธีรัจชัย พันธุมาศ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ในส่วนของพื้นที่เขตหนองจอก เขตมีนบุรี เขตลาดกระบัง เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ ตะวันออกเป็นพื้นที่รับน้ำมาทั้งหมดไม่น้อยกว่า ๓๑ ปี คือตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ นั่นหมายความว่าแนวคิดในการพัฒนาในการบริหารจัดการน้ำของกรุงเทพมหานครนั้น ให้กรุงเทพฯ ตะวันออกนั้นเป็นที่รับน้ำมาตลอด ขอดูภาพด้วยนะครับ

นายธีรัจชัย พันธุมาศ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ในส่วนของการป้องกันน้ำท่วม ทุกปี ๗ ปีเราเสียเงิน ๖๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท และเส้นทางต่าง ๆ ในการบริหารจัดการน้ำ ไม่เคยครอบคลุม

นายธีรัจชัย พันธุมาศ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ในส่วนผังเมือง เราถูกเป็นที่รับน้ำตลอดตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ ดูพื้นที่ขวามือ คือกรุงเทพฯ ตะวันออก เราให้กรุงเทพฯ เป็นเขียวทแยงและเขียว

นายธีรัจชัย พันธุมาศ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ถัดมาในร่างผังเมืองปัจจุบันปี ๒๕๖๖ ก็ยังเป็นเขียวและมีเขียวทแยง นั่นคือเป็นเกษตรกรรมและอนุรักษ์ และเป็นที่รับน้ำเหมือนเดิม นั่นหมายความว่าร่างผังเมือง นั้นก็คือจะให้กรุงเทพมหานครตะวันออกก็เป็นที่รับน้ำเหมือนเดิม นั่นหมายความว่า พี่น้องชาวหนองจอก มีนบุรี ลาดกระบัง คลองสามวาก็จะต้องรับน้ำท่วมประมาณปีละ ๒-๕ เดือนอยู่ตลอด นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ท่านประธานที่เคารพครับ ในส่วนของ การรับน้ำตรงนี้ผมเชื่อว่ามันไม่เป็นธรรม ในส่วนผังเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นมันไม่มี การมีส่วนร่วมของประชาชน ผมไปประชุมในการทำผังเมืองของกรุงเทพมหานครบอกว่า ให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่ไปแล้วก็เหมือนกับเป็นตรา Stamp ให้รับฟัง แค่ประมาณไม่ถึงชั่วโมงแล้วก็เอามาเล่าให้ฟัง กลุ่มของคนที่จัดทำผังเมืองมาเล่าให้ฟัง แล้วก็ บอกว่ารับฟังแล้ว ตาม พ.ร.บ. ผังเมืองในส่วนของมาตรา ๙ เขาบอกว่า จัดให้มีการรับฟัง ความคิดเห็นหรือปรึกษาหารือ และมีส่วนร่วมกับประชาชน แต่ผังเมืองที่จะทำปัจจุบันนั้น ก็เหมือนเดิมไม่ได้ฟังเป็นแค่พิธีกรรมเท่านั้นเอง แล้วผมเชื่อว่าชาวหนองจอกนั้นก็จะต้อง รับน้ำแบบนี้อีกต่อไป

นายธีรัจชัย พันธุมาศ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ในส่วนของทิศทางการทำผังเมืองปัจจุบันนั้นออกมาในเชิงที่จะตั้งตึกสูง กรุงเทพมหานครนั้นเป็นพื้นที่ที่มีข้างใต้เป็นเลน เป็นพื้นที่เหมือนช็อกโกแล็ต เมื่อตึกสูงมาก ๆ มันจะทรุดทุกปี ๑-๒ เซนติเมตร เราเอาดินเอาอะไรมาใส่ไว้เยอะ สร้างตึกสูงมาก ๆ มันไม่ได้ เอื้อต่อประชาชนเลย แต่มันเอื้อต่อกลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์เท่านั้นที่จะได้ประโยชน์จาก การจัดการเรื่องนี้ นั่นหมายความว่าจะต้องทรุดลงเรื่อย ๆ เราสูงกว่าน้ำทะเลประมาณ ๑.๕ เมตร อีกหน่อยก็จะลดลงไปเรื่อย ๆ นี่คือแนวจัดทำผังเมืองไม่ได้คำนึงถึงการที่ให้ อยู่ดีกินดี หรือจะทำให้คนกรุงเทพฯ ตะวันออกนั้นไปได้เลยนะครับ ท่านประธานครับ ในส่วนของผังเมืองนั้นคือกรอบความคิดชี้นำในการที่จะทำให้พัฒนาด้านกายภาพ ทั้งระดับประเทศ และระดับทั่วไปในส่วนตรงนี้ แต่เรานั้นไม่เคยทำเลยนะครับ ผมก็เลย อยากจะเรียนคำถามแรกท่านรัฐมนตรีช่วยตอบด้วยว่าท่านจะมีแนวทางอย่างไรที่จะทำให้ กรุงเทพมหานครไม่เป็นที่รับน้ำต่อไป และไม่ต้องมาท่วมทุก ๒ เดือน คำถามแรกครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านธีรัจชัยครับ ขอเชิญท่านรัฐมนตรีครับ

นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ผม ในฐานะรัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กำกับดูแล กทม. กำกับดูแลกรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย ในฐานะที่ได้รับมอบอำนาจจากท่านนายกรัฐมนตรีให้มาตอบกระทู้ถามในวันนี้

นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ

การยกเลิกพื้นที่รับน้ำทั้งหมดทันทีอาจจะมีข้อกังขาต่อประชาชนบางส่วนที่อาศัยในพื้นที่ เพราะเคยเป็นพื้นที่รับน้ำมาอย่างยาวนาน แต่สามารถปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ตามความเติบโตของกรุงเทพมหานครได้ ปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยได้ติดตามความคืบหน้า ของกรุงเทพมหานครเพื่อเร่งดำเนินการ เพื่อให้ธรรมชาติกับประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันได้ ไปพร้อม ๆ กันกับการเติบโตของกรุงเทพมหานคร โดยที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในการพัฒนากรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออก โดยได้ศึกษาและดำเนินการเพื่อรองรับการพัฒนาของเมือง และการขยายตัวของ กรุงเทพมหานคร เช่น การขุดลอกคูคลอง กำจัดวัชพืช เพิ่มความลึกการบริหารจัดการน้ำ อย่างเป็นระบบ และการเพิ่มศักยภาพในการผันน้ำอย่างเหมาะสม เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ หนองจอก คลองสามวา และมีนบุรี เสี่ยงภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุ อุบัติภัย หรือน้ำมาก อย่างเช่น กรณีปี ๒๕๕๔ ซึ่งการยกเลิกทันทีอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนที่เคยอยู่อาศัยในพื้นที่ แต่สามารถดำเนินการเป็นระยะ ๆ ได้ ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการศึกษา พัฒนา และปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ เพื่ออยู่อาศัยในกรุงเทพมหานคร Zone ตะวันออกในการพัฒนาเมืองมากกว่า เขตเกษตรกรรมได้ เพราะในปัจจุบันเขตคลองสามวากลายเป็นเขตที่มีผู้อยู่อาศัยมาก เป็นอันดับ ๑ จาก ๕๐ เขตของกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้กระทรวงมหาดไทยจะได้เร่งรัด และดำเนินการเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนในกรุงเทพมหานคร และต้องไม่ ส่งผลกระทบต่อเขตอื่น ๆ ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดปทุมธานี จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดสมุทรปราการด้วยครับ

นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ

ส่วนคำถามที่ ๒ การปรับเปลี่ยนรูปแบบผังเมือง กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานครได้ศึกษาเพิ่มเติมพื้นที่ในการขยายตัวเมือง และปรับปรุงขยายแนว และระบบรับน้ำให้ลดลง แต่ต้องมีศักยภาพในการผันน้ำได้มากกว่าเป็นพื้นที่รับน้ำเหมือนใน อดีตดังนี้ กระทรวงมหาดไทย และ กทม. ได้พิจารณาและศึกษาว่าเมื่อมีการปรับปรุงเส้นทาง ผ่านของน้ำและเพิ่มศักยภาพเพื่อรองรับน้ำได้มากก็จะส่งผลให้มีพื้นที่เพื่อพัฒนา ทางอสังหาริมทรัพย์ หรือธุรกิจทางเขตคลองสามวา เขตมีนบุรี เขตหนองจอกได้เพิ่มขึ้น เช่น การขุดลอกคูคลอง กำจัดผักตบชวา สิ่งปฏิกูลที่ขวางทางน้ำ และการบริหารจัดการน้ำ อย่างเป็นระบบโดยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร ได้ศึกษาและเร่งรัดดำเนินการโดยสามารถลดขนาดพื้นที่ ก. ๑ พื้นที่ ก. ๑ นี้ก็คือพื้นที่ สีเขียวลายตามแผนผัง พื้นที่ ก. ๑ ที่ทำได้แค่เกษตรกรรมในจำนวน ๙๐,๐๐๐ ไร่ ลดลงเหลือ ประมาณ ๓๐,๐๐๐ ไร่ ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถใช้พื้นที่นอกเหนือจากเกษตรกรรม เพียงอย่างเดียวไปใช้ในรูปแบบที่มากขึ้นได้ และจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับที่ดินในพื้นที่ ดังกล่าวได้อีกด้วย และกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาปรับปรุงพื้นที่ ก. ๒ พื้นที่สีเขียวอ่อน ประมาณ ๑๓๖,๐๐๐ ไร่ เป็นพื้นที่รับน้ำให้เหลือ ๙๐,๐๐๐ ไร่ ที่ผ่อนปรนมากกว่าเกษตรกรรม เพียงอย่างเดียวให้สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้มากกว่าเดิม ซึ่งสอดรับต่อแผนพัฒนาเมือง และทำให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวสามารถใช้พื้นที่ได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น

นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ

ส่วนความคืบหน้า ณ วันนี้ผมในฐานะกระทรวงมหาดไทยได้ติดตาม กทม. อย่างใกล้ชิด โดย กทม. ได้รายงานการพิจารณาว่าในการดำเนินการไปเกือบจะเสร็จแล้ว โดยคืบหน้าไปกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ วันนี้มาถึงขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของชาว กทม. ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้รับทราบข้อมูลความคิดเห็น เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๖ ที่ผ่านมานี้เอง ขั้นตอนต่อไปคือการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อประกาศใช้ต่อไป คาดว่าประชาชนชาวหนองจอก คลองสามวา และมีนบุรีจะได้มีข่าวดีประมาณปี ๒๕๖๘ ซึ่งจะส่งผลดีต่อพี่น้องประชาชนในกรุงเทพมหานคร Zone ตะวันออก ทั้งการแก้ไข และการป้องกันอุทกภัยในอนาคตของกรุงเทพมหานครอีกด้วยครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านรัฐมนตรีตอบในรอบที่ ๑ แล้วนะครับ ขอเชิญท่านธีรัจชัยใช้สิทธิในรอบที่ ๒ ครับ

นายธีรัจชัย พันธุมาศ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ผม ธีรัจชัย พันธุมาศ หลังจากที่ได้ฟังท่านรัฐมนตรีแล้วรู้สึกว่าค่อนข้างจะผิดหวัง ท่านรัฐมนตรีเขียนมาก็เหมือนกับการเขียนบทที่ข้าราชการประจำเขียนให้มา ผมถามในเรื่อง ของผังเมืองจะเปลี่ยนได้ไหม แล้วก็ในส่วนของน้ำจะไม่ให้เป็นที่รองรับน้ำ ท่านตอบอยากให้ เป็นรองรับน้ำแบบเดิม เพียงแต่ลดพื้นที่ให้สีเขียวลายน้อยลง สีเขียวเพิ่มขึ้น เท่ากับท่านไม่ได้ เห็นหัวของชาวหนองจอก มีนบุรี ลาดกระบังเลยใช่ไหมครับ นั่นก็คือว่าต้องการให้รองรับน้ำ ต่อไป และบอกว่า กทม. กำลังทำผังเมืองเพื่อจะจัดการน้ำให้ ผมเป็นคนไปฟังที่ กทม. เขา จัดรับฟังความคิดเห็น เขาไม่ได้รับฟังความคิดเห็นประชาชน เขาทำผังขึ้นมาให้รองรับน้ำใหม่ ต่อไป และแผนของเขาก็คือทำผังเมืองให้เข้าไปอยู่ในส่วนกลางอย่างเดียว กระจายเข้าไป เอื้อต่อกลุ่มทุนเท่านั้น พี่น้องชาวหนองจอก มีนบุรี ลาดกระบังนั้นก็ต้องรับน้ำอีกต่อไป ๒-๖ เดือน ท่านจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร ๓๑ ปีแล้วตอนนี้ให้ทำต่ออีก ๒๐ ปีใช่ไหมครับ ท่านตอบเหมือนไม่ได้ตอบเลย เหมือนว่าจำเป็นคุณจะต้องรองรับน้ำตลอดไป และน้ำท่วม ตลอดไปใช่ไหม ผมเชื่อว่าท่านไม่มีอำนาจอะไร แต่ผมอยากถามท่านนายกรัฐมนตรีมากกว่า ในฐานะในส่วนของผู้บริหารคณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรน้ำแห่งชาติ แต่ท่านนายกรัฐมนตรี ไม่มา ท่านก็ตอบได้ว่า กทม. เขารายงานมาอย่างนี้ แต่ผมไปเอง กทม. ไม่ได้ฟังความเห็น ประชาชนตามมาตรา ๙ ของ พ.ร.บ. ผังเมือง ท่านจะตอบอย่างไร ท่านประธานครับ เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำของประชาชน ซึ่งเป็นพี่น้องในกรุงเทพมหานคร ด้วยกัน ประชาชนในศูนย์กลางนั้นจะสามารถอยู่ปลอดภัยเพราะมีคันกั้นน้ำ ระบบของ กรุงเทพมหานครเป็นระบบเขาเรียกปิดกั้นแล้วก็สูบน้ำออก มีที่ระบายน้ำออกมาแล้วมาทิ้ง แถบตะวันออกตรงนี้ แล้วบอกว่าเอาพื้นที่เป็นสีเขียว เมื่อสักครู่ท่านรัฐมนตรีบอกสีเขียว แต่ไม่เคยส่งเสริมเรื่องการเกษตรเลย ท่านจะทำอย่างไรท่านมาตอบแบบนี้ ตอบทิ้ง ตอบขว้างแบบนี้ไม่ได้นะครับ ผมอยากให้ท่านนายกรัฐมนตรีมาตอบด้วยตัวเองดีกว่าว่าท่าน จะแก้ไหม จะให้ออกจากการรับน้ำไหม ประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศเนเธอร์แลนด์ กรุงอัมสเตอร์ดัมเขาแบ่งเป็นบล็อก เป็น Zone ในบล็อกหนึ่งประมาณ ๒๐-๓๐ กิโลเมตร เขาเอาสาธารณูปโภค สาธารณูปการ โรงเรียนดี ๆ โรงพยาบาลดี ๆ สถานที่ราชการไปอยู่ เขาอยู่ใกล้ ๆ กัน การคมนาคมเชื่อมกัน เกษตรก็มีขึ้นมา แล้วก็แต่ละ Block ก็เชื่อมโยงต่อกัน เขาอยู่กับน้ำได้ ระบายน้ำได้ เมืองเขาต่ำกว่าน้ำทะเลด้วย แต่ของกรุงเทพฯ ไม่เคยคิด มีแต่บอกว่าจะมีข่าวดี หนองจอกจะมีข่าวดีได้อย่างไรน้ำท่วม ๒-๖ เดือนมันไม่มีข่าวดีได้เลย ผมจะถามท่านอีกทีหนึ่ง ท่านมีอะไรตอบเพิ่มอีกไหมว่าท่านจะให้เขตหนองจอก เขตมีนบุรี เขตลาดกระบังนั้นไม่ได้เป็นพื้นที่รับน้ำ ท่านมีความคิดดีกว่าที่ตอบแบบเอารายงาน ที่ข้าราชการประจำเขียนให้มาได้หรือไม่ หรือท่านจะรายงานต่อท่านนายกรัฐมนตรีให้ท่านมา ตอบเองได้ไหม เพราะว่าการทำผังเมืองตอนนี้เขาทำแบบไม่ได้เห็นหัวประชาชน ไม่มีประชาชนอยู่ในสมการเลยผมไปในทุกขั้นตอน หลายขั้นตอนแล้วไม่ได้อยู่เลย และต้องการจะปล่อยให้เป็นที่รับน้ำเหมือนเดิม และเอื้อต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ เหมือนเดิม หลักสูตร NEXT Real ที่ท่านนายกรัฐมนตรีมีส่วนร่วมในการก่อตั้งเป็นศูนย์รวม ของการอบรมคล้าย วปอ. เป็นที่รวบรวมของนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาอบรมด้วยกัน แล้วก็แสวงหาผลประโยชน์ ตอนนี้คนบริหารประเทศคือท่านนายกรัฐมนตรี เป็นคนของ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ผู้ว่า กทม. เคยอยู่บริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ รองผู้ว่า กทม. เคยอยู่บริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ที่ปรึกษาผู้ว่า กทม. อยู่บริษัท อสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ แล้วผลของการทำผังเมืองที่จะออกตอนนี้เป็นผังเมืองที่ค่อนข้าง ที่จะเอื้อต่อบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ จะให้ผมคิดอย่างไรว่าเป็นอะไรบ้าง ในเมื่อองค์ประกอบของคนมีอำนาจเหนือของการทำผังเมือง การระบายน้ำคนที่อยู่ อสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ทั้งนั้นเลย ท่านรัฐมนตรีท่านจะตอบเพิ่มได้อย่างไร ผมจะถามว่า จะมีทางให้คนกรุงเทพฯ ตะวันออก เขตหนองจอก เขตมีนบุรี เขตลาดกระบัง เขตคลองสามวา ทั้งหมดพ้นจากการเป็นที่รองรับน้ำ ๒-๖ เดือนได้หรือไม่ อย่างไร มีแผนดีกว่านี้ไหม ที่พูดอย่างนี้นะครับ ขออีกคำถามครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านรัฐมนตรีครับ

นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ

ขอ Slide ที่ ๑ ด้วยครับ

นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ

พื้นที่ สีเขียวลาย ก. ๑ จำนวน ๙,๐๐๐ ไร่ ขอให้ท่านสอบถามดูด้วยนะครับ แล้วพื้นที่สีเขียวอ่อน ๑๓๖,๐๐๐ ไร่ ตรงนี้ในอดีตเป็นพื้นที่รับน้ำ และทางกรุงเทพมหานครมีโครงการที่จะพัฒนา คลองอีก ๘ สายด้วยกัน ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขียวลาย ๙๐,๐๐๐ ไร่ จากเดิมทีคลองรับน้ำทั้ง ๘ สาย กว้างประมาณ ๗ เมตร แต่ไม่เกิน ๑๐ เมตร มีทั้งหมด ๘ สายด้วยกัน กรุงเทพมหานครได้มี การวางผัง และเตรียมการสำรวจออกแบบไว้เรียบร้อยที่จะทำคลองผันน้ำ กว้าง ๓๐ เมตร และกว้าง ๔๐ เมตรในพื้นที่สีเขียวลายกับพื้นที่สีเขียวอ่อน พื้นที่ตรงนี้หลังจากคลองส่งน้ำ ที่เขียนแบบไว้ความกว้าง ๓๐ เมตร รวมถนนทั้ง ๒ ด้าน แล้วก็คลอง ๔๐ เมตร รวมถนน ทั้ง ๒ ด้านเป็นระยะตลอดแนวจนไปลงที่อ่าวไทยเป็นคลองรับน้ำขนาดใหญ่มีถนนทั้ง ๒ ด้าน และพื้นที่สีเขียวลายจากเดิมก่อนที่จะเข้าไปในรายละเอียด ผมขออนุญาตเรียนให้ทราบว่า พื้นที่สีเขียวลายแต่ละสีจะกำหนดวัตถุประสงค์ในการใช้ต่างกันดังนี้ พื้นที่สีเขียวลายสามารถ ทำบ้านเดี่ยวได้ ทำอาคารพาณิชย์ได้ ทำสำนักงานขนาดเล็กได้ ส่วนพื้นที่สีเขียวอ่อน พื้นที่ ๓๖,๐๐๐ ไร่ สามารถทำบ้านเดี่ยวได้ ทำอาคารพาณิชย์ และสำนักงานขนาดเล็กได้ จัดสรรที่ดินเพื่ออยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวได้ ทั้ง ๒ พื้นที่นี้พื้นที่ ๙๐,๐๐๐ ไร่ เราจะลดเป็น พื้นที่สีเขียวลายเหลือ ๓๐,๐๐๐ ไร่ อีก ๖,๐๐๐ ไร่ จะเปลี่ยนเป็นพื้นที่ก็ ก. ๓ คือสีเขียวเข้ม และพื้นที่ ก. ๒ สีเขียวอ่อน ก็จะเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีเขียวเข้ม ๒ พื้นที่รวมกันก็ประมาณ ๑๐๖,๐๐๐ ไร่ ๒ พื้นที่รวมกันที่จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม แล้วต่อไปในพื้นที่สีเขียวเข้ม ก็จะสามารถทำบ้านเดี่ยวได้ ทำบ้านแฝด ทำตึกแถวได้ ทำอาคารพาณิชย์ และสำนักงาน ขนาดใหญ่ได้มากขึ้น จัดสรรที่ดินได้ทุกประเภท หลังจากที่กรุงเทพมหานครสามารถประกาศ เปลี่ยนสีของพื้นที่เสร็จ หลังจากปรับปรุงคลองระบายน้ำพื้นที่สีเขียวลายทั้งหมดอีก ๓๐,๐๐๐ ไร่ จะปรับเป็นสีเขียวเข้มทั้งหมด กราบเรียนท่านสมาชิกครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ

นายธีรัจชัย พันธุมาศ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ยังพอมีเวลานะครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

มีครับ แต่ต้องขอเป็นประเด็นใหม่แล้วครับ เพราะว่าทั้งคำถามแล้วก็คำตอบใกล้เคียงกันมากทั้ง ๒ รอบ

นายธีรัจชัย พันธุมาศ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ก็เข้าใจท่านประธานครับ เพราะผมถามกุหลาบตอบชบานะครับ ท่านอาจจะตอบคลาดเคลื่อนที่ผมถามนิดหนึ่ง เพราะว่าผมไม่ได้ถามถึงสี ผมถามว่าเมื่อไรจะให้เขตหนองจอก เขตมีนบุรี เขตลาดกระบัง ไม่เป็นที่รับน้ำ จัดผังเมืองใหม่ได้หรือไม่ ท่านก็ไม่ตอบ ท่านตอบแต่เรื่องว่าจะทำคลอง กี่คลองมันก็อยู่ในกรอบแนวความคิดเดิม ท่านไม่ได้ใช้ความคิดอื่นเลย ผมถามนิดหนึ่งว่า ในส่วนของการที่จะทำแบบนี้ท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ท่านผู้ว่า กทม. ซึ่งเคยอยู่บริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ท่านควบคุมการทำผังเมืองใหม่ ไหมครับ เพื่อจะไม่ให้แผนที่ออกมาทำผังเมืองเอื้อต่อธุรกิจการสร้างอาคารสูง และปล่อยให้ ชาวกรุงเทพฯ ตะวันออกจะต้องเป็นที่รับน้ำเหมือนเดิม คำตอบของท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงมหาดไทยนั่นคือให้เป็นที่รับน้ำเหมือนเดิม จะจัดคลองเพิ่มขึ้นเท่านั้นเอง ไม่ได้ แก้ไขปัญหาอะไรเลยนะครับ และการเจริญก็คือส่วนกลางเหมือนเดิม ส่วนตะวันออก ตะวันตกนั้นให้เป็นพื้นที่รับน้ำตามยถากรรมเหมือนเดิม ท่านตอบแบบนี้ ท่านคิดจะเลิก การทำผังเมืองแบบนี้หรือไม่ ท่านบอกปี ๒๕๖๘ จะประกาศ ท่านจะเลิกหรือไม่ และให้ ประชาชนมีส่วนร่วมจริง ๆ หรือไม่ ผมถามแค่นี้ครับ ท่านจะตอบนายกรัฐมนตรีก็ได้นะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านธีรัจชัยครับ ยังไม่มีผู้ประท้วง แต่ว่ามีการพาดพิงท่านนายกรัฐมนตรีหลายครั้ง รวมถึง ท่านผู้ว่าด้วย อันนี้ก็เป็นสิทธิของทางรัฐมนตรีจะตอบหรือไม่ก็ได้นะครับ แต่ก็ถือว่า ยังอยู่ในประเด็น ผมเลยยังไม่ได้เตือนนะครับ

นายธีรัจชัย พันธุมาศ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ด้วยความเคารพท่านประธานครับ พอดีวันนี้ผมเตรียมมาถามท่านนายกรัฐมนตรี ถึงอยากจะถามท่านนายกรัฐมนตรี ถ้าท่านนายกรัฐมนตรีมาผมจะถามลึกกว่านี้ แต่ว่าพอดีท่านรัฐมนตรีมาตอบแทน ท่านรัฐมนตรีก็ไม่ได้ดูภาพรวมเหมือนท่านนายกรัฐมนตรีด้วยซ้ำ ถ้านายกรัฐมนตรีมาตอบ ผมจะถามลึกกว่านี้ด้วยซ้ำนะครับ แต่ว่าจำเป็นต้องถาม เพราะว่าผมต้องการถาม ท่านนายกรัฐมนตรีก็ต้องเอ่ยนิดหนึ่งครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญท่านรัฐมนตรีครับ

นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ

ในฐานะ ที่ผมได้รับมอบอำนาจจากท่านนายกรัฐมนตรีในการกำกับดูแล กทม. กำกับดูแลกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย เมื่อสักครู่ผมก็ได้กราบเรียนท่านไปแล้วว่าพื้นที่หลังจากเปลี่ยนสี เสร็จจะได้ยกเลิกเป็นพื้นที่รับน้ำหลังจากที่ปรับปรุงคลองระบายน้ำ ปรับปรุงสีเขียวอ่อน เป็นสีเขียวเข้ม สีเขียวลายเป็นสีเขียวเข้มเสร็จก็จะยกเลิกพื้นที่เป็นพื้นที่รับน้ำ กราบเรียนว่า ที่ท่านถามในใบสอบถามมาถามว่า เรื่องขอให้พิจารณายกเลิกการกำหนดเขตพื้นที่ เขตหนองจอก เขตมีนบุรี เขตลาดกระบัง เขตคลองสามวา และเขตอื่น ๆ โดยรอบเป็นพื้นที่ รับน้ำส่วนตะวันออกของกรุงเทพมหานคร และพิจารณาทบทวนกับการปรับเปลี่ยนสีผังเมือง นี่ท่านถามมานะครับ ผมตอบตามข้อคำถามของท่าน ท่านถามข้อ ๒ ว่าทบทวน การปรับเปลี่ยนสีผังเมืองในเขตพื้นที่ดังกล่าวเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น ก็กราบเรียนว่า กรุงเทพมหานครได้มีนโยบายปรับเปลี่ยนพื้นที่จากสีเขียวลาย ก. ๑ กับพื้นที่สีเขียวอ่อน ก. ๒ ให้เป็นพื้นที่สีเขียวเข้ม ซึ่งสีเขียวเข้มสามารถพัฒนาในพื้นที่ได้หลากหลายกว่าสี ก. ๑ และ ก. ๒ ผมคิดว่าตอนนี้ตอบได้ตรงคำถามที่ท่านถามแล้ว แต่ส่วนท่านคิดอย่างไร ก็เรื่องของท่าน ขอบคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ทั้งผู้ถามแล้วก็ผู้ตอบได้ใช้สิทธิครบ ๓ รอบแล้ว ขอบคุณทางท่านผู้ถาม ท่านธีรัจชัย แล้วก็รัฐมนตรีที่ให้เกียรติสภากรุณาตอบกระทู้ถามในวันนี้ครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ผมขอเข้าสู่ระเบียบวาระที่ ๑.๓ กระทู้ถามแยกเฉพาะ ได้ดำเนินการ ถามและตอบที่ห้องกระทู้ถามแยกเฉพาะที่ชั้น ๑ เสร็จสิ้นแล้ว และพี่น้องประชาชนสามารถ ติดตามการบันทึกเทปย้อนหลังของกระทู้ถามแยกเฉพาะได้หลังจากปิดประชุมสภาในวันนี้

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เริ่มเลยนะครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๑.๓ กระทู้ถามแยกเฉพาะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๑. เรื่อง การศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างสนามบินพัทลุง จังหวัดพัทลุง นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ก่อนดำเนินการถามและตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะขอชี้แจงให้ที่ประชุม ทราบนะครับ ๑. การถามตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะแต่ละกระทู้ให้ถามตอบได้เรื่องละไม่เกิน ๒ ครั้ง และต้องถามตอบให้แล้วเสร็จภายใน ๒๐ นาที ตามข้อบังคับการประชุม ๒. กระทู้ถามแยกเฉพาะที่ได้มีการอนุญาตให้ประชาชนได้เข้าร่วมรับฟัง ขอความร่วมมือ จากผู้ที่ได้รับอนุญาตปฏิบัติตามระเบียบที่ประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ๒๕๖๒ ข้อ ๔ และข้อ ๕

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

สำหรับการพิจารณากระทู้ถามแยกเฉพาะในวันนี้เพื่อประโยชน์ในการถามตอบ กระทู้ถามตามขั้นตอนและท่านรัฐมนตรี และผมขอสลับลำดับการถามตอบกระทู้ถาม แยกเฉพาะดังนี้

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ลำดับที่ ๑ กระทู้ถามแยกเฉพาะ ๐๑๔ ของท่านร่มธรรม ขำนุรักษ์

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ลำดับที่ ๒ กระทู้ถามแยกเฉพาะ ๐๒๕ ของท่านปวิตรา จิตตกิจ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ลำดับที่ ๓ กระทู้ถามแยกเฉพาะ ๐๒๙ ของท่านเฉลิมพงศ์ แสงดี

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ท่านรัฐมนตรีมาพร้อมแล้วนะครับ ท่านร่มธรรมเชิญครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผมรู้สึกยินดี และเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาตั้งกระทู้ถามแยกเฉพาะเรื่องการศึกษาความเป็นไปได้ ในการก่อสร้างสนามบินพัทลุง เพราะสนามบินถือเป็นความฝันเป็นความต้องการของพี่น้อง ประชาชนในพื้นที่ที่เฝ้ารอมาหลายปี และจะเป็นโอกาสที่สำคัญของพี่น้องคนพัทลุง ในวันข้างหน้าครับ ผมจึงขอขอบคุณท่านประธานครับที่ได้บรรจุกระทู้ถามของผม แล้วก็ขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านมนพร เจริญศรี เป็นอย่างยิ่ง ที่ได้สละเวลาและให้เกียรติผมและสภามาตอบกระทู้ถามในวันนี้นะครับ ซึ่งรายละเอียดของ กระทู้ถามก็ได้ปรากฏตามเอกสารที่ทางสภาได้เผยแพร่รับทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผมขออนุญาตใช้เวลาตรงนี้ให้เหตุผลประกอบกระทู้ถามเป็นลำดับต่อไป

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ จังหวัดพัทลุงเป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์ และมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์โดยเรามีประชากรประมาณ ๕๒๐,๐๐๐ คน ประชาชน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตรทั้งปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และทำการประมง ผลผลิตหลายชนิด ขนส่งไปขายต่างจังหวัด บางชนิดสามารถขายต่างประเทศได้ จึงต้องการระบบขนส่งที่ดี และได้มาตรฐานเพื่อขนส่งสินค้าได้สะดวก มากไปกว่านั้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาการท่องเที่ยว ก็ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญที่สร้างรายได้สร้างอาชีพและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัด โดยเรามีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเทือกเขาบรรทัด เมฆหมอก ป่าไม้ และน้ำตกที่อุดมสมบูรณ์ทางทิศตะวันตกของจังหวัด เรามีชุมชนและทุ่งนา ตอนกลางของจังหวัดและมีทะเลสาบแบบ Lagoon และพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยที่สวยงาม ตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของจังหวัด ท่านประธานครับ นอกจากนี้จังหวัดพัทลุงยังมีวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมและอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นมโนราห์ที่เป็นมรดกโลก ทางวัฒนธรรม เรามีควายน้ำทะเลน้อยที่เป็นมรดกทางการเกษตร เรามีข้าวสังข์หยด สาคูต้น และกุ้งก้ามกราม ๓ น้ำ ที่นักท่องเที่ยวในประเทศและนอกประเทศต้องการเข้ามาสัมผัส ท่านประธานครับ จากที่เคยถูกเรียกว่าเป็นเมืองทางผ่านไม่มีอะไรน่าสนใจเลย วันนี้นักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนทำให้พัทลุง ได้รับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเมืองรองลำดับต้น ๆ ของประเทศ โดยจากในปี ๒๕๖๒ ข้อมูลจาก กรมการท่องเที่ยวบอกว่ามีนักท่องเที่ยวผู้มาเยี่ยมเยือนพัทลุงราว ๑,๖๐๐,๐๐๐ คน และสถิติย้อนหลัง ๑๐ ปีพบว่ามีอัตราการเติบโตที่ ๑๕.๕๙ เปอร์เซ็นต์ต่อปี แล้วก็มีรายได้ ด้านการท่องเที่ยวในปี ๒๕๖๒ รายได้จากนักท่องเที่ยวคนไทยเฉลี่ย ๓,๐๐๐ ล้านบาท จากชาวต่างชาติ ๑๑๘ ล้านบาท อย่างไรก็ตามท่านประธานครับ ปัจจุบันการเดินทาง ไปยังจังหวัดพัทลุงยังยากลำบาก ซึ่งจะต้องเดินทางมาทางถนน หรือทางราง หรืออาจจะต้อง เดินทางมาโดยทางอากาศที่จะต้องบินมาลงในจังหวัดใกล้เคียงและต่อรถมายังพัทลุงอีกที ซึ่งจะเห็นได้ว่าใช้เวลาในการเดินทางมาจังหวัดพัทลุงนี่ค่อนข้างนานและไม่สะดวกนะครับ จึงสรุปได้ว่าการคมนาคมที่ยังไม่เอื้ออำนวยทำให้พัทลุงเสียเปรียบในด้านขีดความสามารถ และทำให้การท่องเที่ยวพัทลุงยังขยายตัวไม่ได้เต็มที่ครับ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะพัฒนา และส่งเสริมด้านการคมนาคม ปัจจุบันพี่น้องประชาชนมีความต้องการอยากให้มีการสร้าง สนามบินพัทลุงซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่อำนวยความสะดวกทั้งในด้านการเดินทาง การสัญจร การขนส่งสินค้า เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวการลงทุนและการสร้างรายได้ จึงได้ฝากให้ผมมาถาม และมาผลักดันโครงการนี้ จึงขอสอบถามท่านรัฐมนตรีผ่านท่านประธานว่ากระทรวงคมนาคม ได้มีการศึกษาถึงความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการดำเนินการก่อสร้างสนามบินพัทลุง ไว้หรือไม่ และอย่างไรครับ โดยขอทราบรายละเอียดด้วยครับ ขอบคุณท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ทางท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงคมนาคม ท่านมนพร เจริญศรี เป็นผู้ตอบแทน แล้วก็ในการนี้เพื่อประโยชน์ ในการตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะได้อนุญาตให้ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมสนับสนุน ข้อมูลในการตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะ ท่านที่ ๑ ท่านปัญญา ชูพานิชย์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม สวัสดีครับ ท่านที่ ๒ ท่านเกียรติชัย ชัยเรืองยศ รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม สวัสดีครับ เชิญท่านรัฐมนตรี คำถามแรกครับ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

ท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม วันนี้ดิฉันได้รับมอบหมาย จากท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ในการมาตอบกระทู้ถามแทนท่าน เนื่องจากท่านเดินทาง ไปร่วมกับคณะของท่านนายกรัฐมนตรีในการเยือนที่ประเทศจีนแล้วก็เยือนที่อิหร่านในวันนี้ จากคำถามของท่านสมาชิกในเรื่องของการศึกษาความเป็นไปได้ถึงความเหมาะสม ในการดำเนินการก่อสร้างสนามบินพัทลุง จังหวัดพัทลุงไว้หรือไม่ อย่างไร

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

ดิฉัน ขอนำเรียนว่าโดยกระทรวงคมนาคมได้มีการจัดทำแผนงานทำการขับเคลื่อนการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานในภาพรวมของจังหวัดพัทลุงมาอย่างต่อเนื่องทุกรูปแบบของการขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของถนน ทางราง ทางน้ำ แล้วก็ทางอากาศ รวมทั้งหน่วยงานราชการ แล้วก็หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในสังกัดของกระทรวงคมนาคม จากคำถามของท่านสมาชิก พูดถึงการศึกษาและความเหมาะสมในการดำเนินการก่อสร้างสนามบินพัทลุงนั้นดิฉัน ขอนำเสนอในภาพรวมของโครงสร้างพื้นฐานจากกระทู้ถามของท่านสมาชิกในครั้งก่อนเรื่อง ของโครงสร้างพื้นฐานโดยภาพรวม แต่ในครั้งนี้ท่านสมาชิกได้โฟกัสไปในเรื่องของการก่อสร้าง สนามบิน ดิฉันขอนำเรียนอย่างนี้ว่าปัจจุบันในพื้นที่ของภาคใต้มีท่าอากาศยานทั้งสิ้น ๑๓ แห่ง จากท่าอากาศยานทั้งหมด ๓๙ แห่ง แบ่งตามหน่วยงานผู้ที่รับผิดชอบในพื้นที่ของท่าอากาศยาน ดังนี้ค่ะ ท่าอากาศยานของกรมท่าอากาศยาน ๑๐ แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานหัวหิน ท่าอากาศยานชุมพร ท่าอากาศยานระนอง ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ท่าอากาศยาน สุราษฎร์ธานี ท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานตรัง ท่าอากาศยานปัตตานี ท่าอากาศยาน นราธิวาส และท่าอากาศยานเบตง ส่วนท่าอากาศยานที่เป็นของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) มีอยู่ ๒ แห่ง นั่นก็คือท่าอากาศยานภูเก็ตและท่าอากาศยานหาดใหญ่ ส่วนท่าอากาศยานของเอกชนของบางกอกแอร์เวย์ มีจำนวน ๑ แห่ง คือท่าอากาศยานสมุย

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

ขออนุญาตนำเรียนข้อมูลโดยภาพรวมของจังหวัดพัทลุงนะคะ พัทลุงมีพื้นที่ ทั้งสิ้น ๓,๔๒๔ ตารางกิโลเมตร มีประชากร ๕๐๐,๐๐๐ กว่าคน ในปี ๒๕๖๒ มีพื้นที่ติดกับ จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดตรัง จังหวัดสตูล และจังหวัดสงขลา มีมูลค่าผลิตภัณฑ์ GDP ต่อหัวในปี ๒๕๖๔ ๘๑,๕๒๙ บาทต่อปี ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบมูลค่าแล้วกับรายได้ต่อหัว ของภาคใต้เทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของทั้งประเทศโดยผลิตภัณฑ์ภาคใต้ต่อหัวนี่มีมูลค่า ๑๓๑,๘๐๗ บาท นั่นก็หมายถึงว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวมีมูลค่าอยู่ที่ ๒๓๑,๙๘๖ บาท ถ้าเราได้มีสนามบินไปลงที่พัทลุงแล้วมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวคาดว่า รายได้ต่อหัวของพี่น้องประชาชนในจังหวัดพัทลุงจะเพิ่มมากขึ้นค่ะ กลับมาดูจังหวัดพัทลุง เป็นจังหวัดที่มีการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและท่องเที่ยวเป็นอันดับต้น ๆ ซึ่งกระทรวง คมนาคมและรัฐบาลได้เล็งเห็นโอกาสในการขยายท่าอากาศยานและรองรับนักท่องเที่ยว ทั้งคนไทยและต่างประเทศซึ่งเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและมี Lagoon ที่สวยงามดังที่ท่าน สมาชิกได้นำเสนอนะคะ กระทรวงคมนาคมโดยกรมท่าอากาศยานจึงดำเนินการศึกษา ความเป็นไปได้ของโครงการเมื่อเดือนกันยายน ปี ๒๕๖๓ แล้วก็มาแล้วเสร็จในปี ๒๕๖๔ โดยมีการศึกษาในด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อมในการพัฒนาท่าอากาศยาน โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่ตั้งสนามบินที่ตำบลควนมะพร้าว อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง โดยใช้พื้นที่อยู่ที่ ๑,๔๙๖ ไร่ มีระยะห่างจากตัวเมืองเพียงแค่ ๑๐ กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้ ผลของการศึกษานี่ได้สำเร็จเรียบร้อยแล้วรอเพียงการจัดคำขอเพื่อตั้งงบประมาณ ในการก่อสร้างต่อไป โดยมีวงเงินทั้งสิ้น ๒,๒๘๒ ล้านบาทค่ะท่านประธาน จากรายงานของ การศึกษาความเป็นไปได้ของสนามบินพัทลุงเราคาดการณ์ว่าในปี ๒๕๖๙ จะมีผู้โดยสาร จำนวน ๒๑๔,๑๒๙ คนต่อปี แล้วในปี ๒๕๙๙ คาดว่าผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นมีจำนวนถึง ๖๑๗,๗๙๖ คนต่อปี ส่วนจำนวนเที่ยวบินรายงานการศึกษาประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยว เพิ่มขึ้นนั้นในปี ๒๕๖๙ เราคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนถึง ๑,๔๐๐ เที่ยวบินโดยรวมทั้งปีนะคะ แล้วในปี ๒๕๙๙ จะมีเที่ยวบินเพิ่มขึ้นประมาณ ๔,๐๓๘ เที่ยวบิน นี่คือภาพรวมของ การศึกษาความเป็นไปได้ค่ะท่านประธาน จากข้อมูลแล้วก็ความคาดการณ์ที่จะมีผู้โดยสาร ในเที่ยวบินนั้นเราแบ่งองค์ประกอบสำคัญของพื้นที่ใช้สอยอยู่ ๒ ส่วนนั่นก็คือพื้นที่ในเขต ทำการบินเรียกว่า Airside และพื้นที่นอกเขตทำการบินก็คือ Landside ดังที่ท่านประธาน ท่านสมาชิก เห็นในภาพว่าพื้นที่ที่อยู่ใน Airside ประกอบไปด้วยลานจอดท่าอากาศยาน จำนวน ๔ หลุมจอด ขนาดความกว้าง ๑๓๕ เมตร ความยาว ๑๗๔ เมตร รับเครื่องบินจอด พร้อมกันถึง ๔ ลำค่ะ ส่วนทางวิ่ง Runway จำนวน ๑ ทางวิ่ง ขนาดกว้าง ๔๕ เมตร ความยาว ๒,๕๐๐ เมตร จะรองรับเครื่องบินขนาดความจุประมาณ ๑๘๐ ที่นั่ง หรือว่า Airbus 320 Boeing 737

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

ส่วนในภาพ ๓ ก็จะเป็นเรื่องของสาธารณูปโภคภายในสนามบินก็จะมีอาคาร ดับเพลิง แล้วก็อาคารกู้ภัยหอบังคับการบินค่ะท่านประธาน ส่วนนอกเขตทำการบิน ก็คือ Landside ก็จะประกอบไปด้วยอาคารผู้โดยสารจำนวน ๑ อาคารที่จะรองรับผู้โดยสาร ในชั่วโมงเร่งด่วนได้ถึง ๕๔๐ คนต่อ ๑ ชั่วโมง นอกจากนั้นก็เป็นอาคารประกอบอื่น ๆ ทั้งอาคารสนามบิน อาคารสนับสนุน ลานจอดรถ แล้วก็บ้านพักเจ้าหน้าที่ค่ะ นอกจากนั้น เราได้มีความใส่ใจแล้วก็นำเอาวัฒนธรรมที่สวยสดงดงามของหนังตะลุงหรือว่ามโนราห์เข้ามา ในการนำศิลปะการแสดงของหนังตะลุงและมโนราห์แล้วก็นำยอยักษ์ซึ่งเป็นอุปกรณ์จับปลา ที่ส่อถึงความเป็นประมงพื้นบ้านมาเป็นแนวคิดในการออกแบบ License ของอาคารผู้โดยสาร ส่งเสริมเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของจังหวัดพัทลุงค่ะ ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวทั้งไทย แล้วก็ต่างชาติประทับใจในความสวยสดงดงามและความโดดเด่นของจังหวัดพัทลุงค่ะ ท่านประธาน ดิฉันขอนำเสนอในคำถามแรกของท่านสมาชิกค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ก่อนตอบคำถามผมก็สงสัย ๑,๔๐๐ กว่าไร่นี่มันเท่ากับดอนเมืองไหม หรือว่าเท่ากับ เชียงรายไหม

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

เชียงราย ๒,๐๐๐ ไร่

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชียงราย ๒,๐๐๐ ไร่ คือ ๒,๐๐๐ ไร่ตอนนี้ก็ยังไม่ค่อยพอแล้วต้องขยาย อันนี้เราเวนคืน ไปหรือยังครับ ของพัทลุงนี่ยังไม่มีงบใช่ไหม

นายปัญญา ชูพานิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่ง และจราจร ต้นฉบับ

เป็นที่ราชพัสดุ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เป็นที่ราชพัสดุ ยังมีเพิ่มอีกไหมหรือหมดแล้ว สมมุติว่า ๑,๔๐๐ ไร่นี่ถ้าเกิดว่าหมดแล้วใช่ไหม

นายเกียรติชัย ชัยเรืองยศ รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน ต้นฉบับ

๑,๔๐๐ ไร่ มากกว่านั้นต้องเวนคืน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เวนคืน เพราะว่าภาคใต้ถ้าเกิดว่าหมดแล้วหมดเลย อย่างภูเก็ตนี้ก็ลำบากแล้วใช่ไหม ถ้าอย่างนั้นเวนคืนบางส่วนให้มันถึง ๒,๐๐๐ ผมฝากนะครับ เพราะว่าจริง ๆ แล้วพัทลุงนี่ ถ้าเกิดมีคลองไทยเกิดขึ้นสนามบินพัทลุงนี่จะใหญ่กว่าสุวรรณภูมิ อยู่แนวคลองไทยก็เป็น หมื่นไร่ เป็นหมื่นไร่เหมือนสุวรรณภูมินี่นะครับ ก็อันนี้ทำอย่างนี้ไปก่อน แล้วก็ถ้าเกิดปีไหน ไม่รู้ถ้ามันเกิดคลองไทยแล้วก็พัทลุงจะเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคนี้ใหญ่กว่าสิงคโปร์ เพราะฉะนั้นถ้าคลองไทยเกิดก็ให้มี ๒ สนามบินไปเลยนะ เชิญครับ คำถามที่ ๒ ครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผมขอขอบคุณสำหรับ การตอบกระทู้ถามของท่านรัฐมนตรี แล้วก็ขอบคุณสำหรับคำแนะนำเพิ่มเติมจากท่านประธาน ด้วยนะครับ ซึ่งจากคำตอบผมคิดว่าคงทำให้พี่น้องประชาชนดีใจว่าได้มีการศึกษาในเรื่องของ ความเป็นไปได้ และจากที่ท่านรัฐมนตรีได้ชี้แจงก็พบว่ามีความเหมาะสมทั้งด้านจำนวน นักท่องเที่ยว ผู้โดยสาร มีการศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์ และทราบว่ามีสถานที่ก่อสร้าง ที่เหมาะสมแล้วนะครับ ผมจึงขออนุญาตพูดแทนพี่น้องคนพัทลุงว่าเรามีความต้องการ ด้านสนามบินจริง ๆ ทั้งเพื่อด้านการสัญจร ด้านการค้า และการท่องเที่ยวนะครับ พี่น้อง ประชาชนเห็นโอกาสแล้วก็เห็นศักยภาพว่าจังหวัดของเราสามารถพัฒนาทางด้านการเป็น เมืองที่ผลิตอาหารปลอดภัย การเป็นเมืองของผู้ประกอบการยุคใหม่ และการลงทุนต่าง ๆ ที่ตามมาอีกมากมายที่ท่านประธานได้กล่าวไปสักครู่นะครับ และที่สำคัญพัทลุงมีศักยภาพ ที่เป็นศูนย์กลางในระดับประเทศและในระดับโลกทางด้านวัฒนธรรม แหล่งสินค้าและบริการ และแหล่งท่องเที่ยวได้นะครับ โดยสนามบินพัทลุงจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของจังหวัด จากที่เป็นเมืองทางผ่านในอดีตและเป็นเมืองรองในปัจจุบันอาจจะไปสู่การเป็นเมืองหลัก ในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ด้านการค้า ด้านการลงทุนได้ในอนาคตนะครับ ซึ่งไม่นานมานี้ก็ทราบว่าทางจังหวัดเองก็ได้ตั้งคณะทำงานทั้งส่วนราชการ ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนข้อมูลประกอบการเจรจาเร่งรัดการก่อสร้างสนามบินระหว่าง จังหวัดพัทลุงกับกรมท่าอากาศยาน กรมการข้าว และกรมวิชาการเกษตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจากคำตอบของท่านรัฐมนตรีเมื่อสักครู่นี้ผมคิดว่าจะสร้างความมั่นใจว่าเรื่องสนามบิน พัทลุงจะมีการเดินหน้าและรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้นะครับ ซึ่งจะเป็นความหวังว่า โครงการนี้จากที่เป็นความฝันจะเป็นจริงได้เสียทีนะครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

ขอสอบถามเป็นคำถามที่ ๒ ว่ากระทรวงคมนาคมได้มีการสนับสนุนงบประมาณ สำหรับการดำเนินการก่อสร้างสนามบินพัทลุงหรือไม่นะครับ โดยขอทราบรายละเอียดด้วย ขอบคุณท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญท่านรัฐมนตรี คำถามที่ ๒ ครับ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพค่ะ ดิฉัน มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในคำถามที่ ๒ สำหรับการดำเนินการก่อสร้างสนามบินพัทลุง จังหวัดพัทลุง เรื่องของ การสนับสนุนงบประมาณอย่างไร ด้วยกรมท่าอาศยานจะมีการขอรับการสนับสนุน งบประมาณช่วงแรกก่อนในการจ้างออกแบบ แล้วก็งานก่อสร้างทางวิ่ง ทางขับ แล้วก็ ลานจอดเครื่องบิน รวมทั้งองค์ประกอบอื่น ๆ และอาคารที่พักผู้โดยสารโดยได้ศึกษารายงาน ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในครั้งแรกเราจะขอในวงเงินงบประมาณ ๗๗ ล้านบาทก่อนค่ะ เมื่อโครงการดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้วกรมท่าอากาศยานถึงจะดำเนินการขอรับการจัดสรร งบประมาณการก่อสร้างท่าอากาศยานพัทลุงต่อไป นี่คือครั้งแรก ดิฉันขอยืนยันว่า ถึงแม้ว่าจะต้องใช้งบประมาณถึง ๒,๐๐๐ กว่าล้านบาท ดิฉันเชื่อมั่นว่ากระทรวงคมนาคม เรามีแผนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางอากาศ ทางบก ทางราง แล้วก็ทางน้ำ ซึ่งภาพรวมของโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศ จังหวัดพัทลุงจะไม่เป็น จังหวัดที่เป็นเมืองรองอีกต่อไป แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลเองก็มีการส่งเสริมการท่องเที่ยว ไม่เพียงแต่จังหวัดที่เป็นเมืองหลัก เมืองรองมากมายในภาคใต้ที่มีความสวยงามเป็นที่ชื่นชอบ ของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะความมี Lagoon สวย ๆ ความมีวัฒนธรรมอันโดดเด่น วิถีชีวิต ความน่ารักของคนจังหวัดพัทลุงนั่นก็คือจะเป็นสิ่งจูงใจให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย แล้วก็ชาวต่างประเทศเข้าไปเดินทางท่องเที่ยว ส่วนของนโยบายของกระทรวงคมนาคม อะไรก็ตามที่เป็นแผนเราจะไม่คิดเพียงแค่เป็นแผน ประกอบกับมองดูความสำคัญจัดลำดับ ความสำคัญของแต่ละจังหวัดทั้งเมืองหลักและเมืองรองค่ะ จึงขออนุญาตนำเรียน ต่อท่านประธานไปยังท่านสมาชิกว่านโยบายของท่านนายกเศรษฐา ทวีสิน ณ วันนี้ก็คือ การกระจายรายได้ไปสู่หัวเมืองในภูมิภาคให้มากที่สุด แล้วเอาความเจริญเหล่านั้นไปถึงมือ พี่น้องประชาชนของคนทุกคน ของคนทุกกลุ่ม และของคนทุกจังหวัดค่ะ ขอบคุณค่ะท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ถามเพิ่มเติมนิดหน่อยไหม หรือไม่ ผมถามท่านผู้ร่วมให้ข้อมูลสงขลานี้พื้นที่เท่าไรครับ พื้นที่สนามบินสงขลาประมาณ

นายเกียรติชัย ชัยเรืองยศ รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน ต้นฉบับ

ไม่เกิน ๒,๐๐๐ ไร่

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ไม่เกิน ๒,๐๐๐ ไร่นะครับ ก็ถ้าเกิดว่าลองวางแผนที่จะขยายพื้นที่ไว้ ถ้าจะเวนคืนเพิ่มอะไร อย่างนี้นะครับ ลองดูว่าพัทลุงมันอยู่ตรงกลางพอดี อนาคตก็มีอนาคตนะครับ ท่านร่มธรรม ก็คงยังไม่ทันอายุมากนะ คงได้เห็นนะ ก็ขอบคุณท่านรัฐมนตรีนะครับ ขอบคุณท่านผู้ให้ข้อมูล แล้วก็ท่านร่มธรรม ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๒. เรื่อง แนวทางในการแก้ไขปัญหาสิทธิบัตรทอง จำนวนคลินิก พยาบาลชุมชนอบอุ่นในกรุงเทพมหานครและศูนย์ให้บริการทางการเวชศาสตร์ฟื้นฟู ที่เพียงพอต่อการใช้บริการของประชาชนอย่างครอบคลุม นางสาวปวิตรา จิตตกิจ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถามถาม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ด้วยสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขได้มีหนังสือแจ้งว่ารัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุขติดภารกิจสำคัญจึงมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ท่านสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทนนะครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ในการนี้เพื่อประโยชน์ในการตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะ ผมได้อนุญาตให้ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมสนับสนุนข้อมูลในการตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะดังนี้ ๑. คุณน้ำเพชร ตั้งยิ่งยง ผู้อำนวยการเขตสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต ๑๓ กรุงเทพมหานคร เชิญครับ ท่านน้ำเพชร แล้วก็ท่านภัทรา อังสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบัน สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ พร้อมแล้วนะครับ แล้วก็มีผู้เข้ารับฟังการตอบกระทู้ถามครั้งนี้นะครับ ได้อนุญาตให้คุณพลวริศปกรณ์ สุทธิคีรี ท่านที่ ๑ ท่านที่ ๒ ท่านณภัทร ศิริจรัสตระกูล เชิญท่านปวิตรา จิตตกิจ เชิญครับ

นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉัน ปวิตรา จิตตกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตบางกอกใหญ่ เขตธนบุรี เขตภาษีเจริญ แขวงศิริราช และแขวงบางเชือกหนัง กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกลนะคะ วันนี้ต้องขอขอบพระคุณ ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แล้วก็สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เข้ามาตอบกระทู้ถามของดิฉันในเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาสิทธิบัตรทองจำนวนคลินิก พยาบาลชุมชนอบอุ่นในกรุงเทพมหานครและศูนย์ให้บริการทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูที่เพียงพอ ต่อการใช้บริการของประชาชนอย่างครอบคลุม ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาข้อเรียกร้องจากพี่น้อง ประชาชนในพื้นที่มีการพูดถึงสิทธิบัตรทองอย่างมากที่มีข้อจำกัดมากมายในแง่ของการใช้ บริการของโรงพยาบาล เพราะโรงพยาบาลสิทธิถูกยกเลิกจาก สปสช. นอกจากนี้ยังมีปัญหา ระบบการส่งต่อสิทธิที่จำเป็นจะต้องได้รับความเห็นจากหน่วยปฐมภูมิ รวมถึงการวินิจฉัยจาก แพทย์ในการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่น ๆ ซึ่งมีความพร้อมในการให้บริการเฉพาะทางค่ะ และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเรื่องของจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีสถิติทางกรมการแพทย์ เมื่อช่วงต้นปี ๒๕๖๖ นี้ว่าประเทศไทยพบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ปีละ ๑๔๐,๐๐๐ คน หรือคิด เป็นจำนวน ๔๐๐ คนต่อวันซึ่งก็มากอยู่ แล้วก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นด้วยจากพฤติกรรม สุขภาพแล้วก็ปัญหาของฝุ่น PM2.5 ที่กำลังจะเริ่มในช่วงปลายปีของทุก ๆ ปีค่ะ จากสภาพ ปัญหาดังกล่าวดิฉันขอสอบถามค่ะ

นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ ปัญหาของสภาวะผู้ใช้บริการสิทธิบัตรทองมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทางกระทรวงสาธารณสุขมีแนวทางและจะดำเนินการแก้ปัญหาเกี่ยวกับสิทธิบัตรทอง ให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีอย่างไร และจะทำอย่างไรกับปัญหาผู้ป่วย ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ แต่ว่าสิทธิในการจะใช้ในโรงพยาบาลในพื้นที่เต็ม ทำให้ต้องไปใช้สิทธิ ไกลบ้านตนเอง เพราะได้รับผลกระทบจาก สปสช. ในการยกเลิกสัญญา ๑๐๘ คลินิกชุมชน อบอุ่นโรงพยาบาลเอกชนในปี ๒๕๖๓ และยกเลิกสิทธิบัตรทองในโรงพยาบาลเอกชนปี ๒๕๖๕ เพราะสาเหตุการทุจริต ท่านจะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร ขอทราบรายละเอียดค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

คำถามที่ ๑ เชิญท่านรัฐมนตรีตอบครับ

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธาน และท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร นางสาวปวิตรา จิตตกิจ สส. พรรคก้าวไกล ต้องขอบคุณท่าน สส. ที่ให้การเอาใจใส่ในประเด็นปัญหาเรื่องสุขภาพ เรื่องการเข้าถึงสุขอนามัย เข้าถึงหมอของพี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่ของตน และของ กรุงเทพมหานคร รวมไปถึงการรักษาพยาบาลที่บอกว่าบัตรทองทั่วประเทศมีปัญหา มีข้อจำกัดของพี่น้องประชาชนที่จะไปรับการรักษาอย่างไร โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีปัญหาเรื่องทุจริตของคลินิกที่เป็นสมาชิกของ สปสช. และมีความไม่ชอบมาพากล อย่างที่ว่าก็เลยมีความจำเป็นที่จะต้องตัดออกไป แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้นนะครับ ก็เปิดโอกาส ให้คลินิกใหม่ ๆ ของเอกชนเข้ามาเพื่ออำนวยความสะดวก แต่ว่าในเรื่องของความสะดวก ของบัตรทองนั้น ข้อจำกัดตัวบัตรต้องบอกว่าทางรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ขยาย ครอบคลุมไปเกือบทุกสาขาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งก็ดี รักษาโรคหัวใจอะไรต่าง ๆ ก็ครอบคลุมน่าจะเกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว พัฒนามาจากสมัยก่อนอย่างมากมายมหาศาล แต่เท่าที่ท่าน สส. ได้พูดถึงนั้นก็คงเป็นเรื่องของความสะดวกเสียมากกว่าว่าพี่น้องที่ใช้บัตรทอง จะเข้าหา หรือเข้าดูแลรักษาได้อย่างไร ไปพบแพทย์ได้อย่างไร จริง ๆ แล้วบัตรทองนั้น ก็ต้องบอกว่าเดี๋ยวนี้กระทรวงการสาธารณสุขได้พัฒนาไปจนสามารถที่จะใช้บัตรประชาชน ใบเดียวที่จะไปใช้สิทธิได้ในทุกแห่งทั่วประเทศไม่มีข้อจำกัดนะครับ ต่อให้เราขอใช้สิทธิ ที่จังหวัดทางภาคอีสานหรือภาคใต้ที่ไหนก็แล้วแต่ ถ้าเรามาอยู่กรุงเทพฯ แล้วเราเจ็บไข้ได้ป่วย ก็จะไปที่โรงพยาบาล หรือไปที่ชุมชนอบอุ่นที่ไหนก็แล้วแต่ก็สามารถใช้บัตรประชาชน ใบเดียวไปในกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน หรือเจ็บไข้ได้ป่วยเมื่อออกไปต่างบ้านต่างเมืองอย่างนั้น ใช้บัตรประชาชนใบเดียว แต่ว่าการที่ไปพบแพทย์แล้วในบางครั้งก็จะมีปัญหาบ้าง เช่นข้อมูล ของการรักษาพยาบาลของคนนั้น ๆ ก็จะมีกฎหมายบังคับอยู่ในเรื่องข้อมูลข่าวสาร ของส่วนตัว ขณะนี้เองจริง ๆ แล้วทางกระทรวงสาธารณสุขก็กำลังแก้ไขอยู่เพื่อที่จะให้เข้าถึง ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ก็สามารถที่จะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ใช้บัตรทองเหล่านี้ ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่บอกว่าไม่สามารถที่จะเพิ่มสถานพยาบาลต่าง ๆ เหล่านี้ ให้ครอบคลุมใกล้บ้านของเรา หรืออยู่ในชุมชนกรุงเทพมหานครให้ครอบคลุมทุกชุมชน เพราะขณะนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขกำลังเร่งรัดเหล่านี้อยู่ แต่ว่าในอดีตที่ผ่านมานี้ แพทยสภาเองได้จำกัดในเรื่องของผู้ที่จะเข้าศึกษาเพื่อเป็นแพทย์ เพราะฉะนั้นก็เลยทำให้ ขณะนี้จริง ๆ ก็ต้องเรียนว่าแพทย์ไม่เพียงพอ กำลังเข้าสู่วิกฤตินะครับ ต่อให้เราจะสร้าง ศูนย์ชุมชนอบอุ่น หรือ รพ.สต. ได้สักกี่แห่งก็ตาม ก็จะมีแพทย์ที่ไม่เพียงพอที่ไปประจำ ยกตัวอย่างเช่น รพ.สต. ทั่วประเทศมีประมาณ ๙,๐๐๐ แห่ง ซึ่งต้องบอกว่ายังไม่มีแพทย์เลย สักแห่งเดียว สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาของพี่น้องประชาชน ก็มีแต่พยาบาลที่จะไปดูแลเท่านั้นเอง ซึ่งประสิทธิภาพก็ไม่ได้แข็งแรงเท่ากับมีแพทย์ไปประจำอยู่ ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข กำลังเร่งรัดที่จะสร้างแพทย์ให้พอเพียงกับประชากรของประเทศไทยอยู่ โดยมีแนวคิด เป็นนโยบาย ขณะนี้กำลังประชุมกระทรวงกันอยู่ทุกอาทิตย์ว่าเราจะเพิ่มแพทย์ให้ได้ รพ.สต. ละ ๓ ท่าน ส่วนถ้าเป็นกรุงเทพมหานคร เช่น สถานพยาบาลอบอุ่นที่ได้พูดถึงนั้น ก็มีค่าเทียบเท่ากับ รพ.สต. เพราะฉะนั้นถ้าหากเราสามารถที่จะเพิ่มตามสัดส่วนให้เท่ากับ รพ.สต. ต่าง ๆ ของแต่ละจังหวัด กรุงเทพมหานครก็ควรจะมีสถานพยาบาลชุมชนอบอุ่น ถึงเกือบ ๑,๐๐๐ แห่ง ซึ่งอันนี้ก็มีเพียง ๑๐๐ กว่าแห่งเท่านั้นเอง ก็ยังต้องถือว่าไม่เพียงพอ ทางกระทรวงสาธารณสุขเริ่มที่จะเชิญมหาวิทยาลัยที่ผลิตแพทย์ต่าง ๆ เหล่านี้มาประชุมว่า เราจะเพิ่มได้อย่างไร ๙,๐๐๐ กว่า รพ.สต. นั้นจะต้องใช้แพทย์ถึงประมาณ ๓๐,๐๐๐ คน ซึ่งขณะนี้ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่ว่ามีความจำเป็นในการที่จะดูแลพี่น้องประชาชน ตามที่ท่าน สส. ห่วงใยได้ ก็กำลังเร่งดำเนินการอยู่ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านรัฐมนตรีครับ เชิญคำถามที่ ๒ ครับ

นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ท่านประธานคะ ดิฉัน ปวิตรา จิตตกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ต้องขออภัยท่านประธาน ด้วยนะคะ เนื่องจากคำถามที่ดิฉันถามไปอาจจะไม่ตรงกับคำตอบที่ท่านได้เตรียมมานะคะ แต่ก็ยังมีความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน

นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ จากจำนวนคลินิกชุมชนอบอุ่นในกรุงเทพมหานครพบว่ามีอยู่ จำนวน ๑๙๐ แห่ง ต่อจำนวนประชากรในกรุงเทพมหานคร มีอยู่ประมาณ ๕.๕ ล้านคน แล้วก็ ประชากรแฝงอยู่ประมาณ ๗๐๐,๐๐๐ คน ด้วยปัญหาจำนวนศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูของรัฐ ซึ่งมีตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของรัฐเท่านั้น หรือศูนย์เอกชนที่มีค่าบริการที่ประชาชน ไม่อาจจะเอื้อมถึง ในขณะนี้ผู้ป่วยมีความจำเป็นในการต้องใช้บริการเวชศาสตร์ฟื้นฟู อย่างมากจากสภาวะโรคต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดในสมอง การฟื้นฟูสมรรถภาพภายหลัง การผ่าตัด หรือการกายภาพบำบัดในกลุ่มผู้สูงอายุที่จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกวัน นอกจากนี้ ความพร้อมของการใช้งานของศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูในโรงพยาบาลของรัฐ ในสังกัดศูนย์บริการ สาธารณสุขกรุงเทพมหานครกลับสวนทางกัน ทั้งอาจจะไม่พร้อมใช้งาน อุปกรณ์ไม่พร้อมเพรียง ไม่ทันสมัย ขาดบุคลากรทีมสหวิชาชีพทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู เป็นที่มาของคำถามที่ ๒ ท่านมีแนวทาง ในการเพิ่มจำนวนคลินิกชุมชนอบอุ่นในกรุงเทพมหานครอย่างไร ให้มีจำนวนเหมาะสม ต่อจำนวนประชากรผู้ใช้งานให้ไม่แออัด สามารถให้บริการทางการแพทย์อย่างครอบคลุม เพื่อลดภาระแก่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ และมีแนวทางอย่างไรในการดูแลมาตรฐานของ ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูเพื่อยกระดับการบริการให้กับศูนย์ และส่งเสริมคลินิกชุมชนอบอุ่น และศูนย์บริการในกรุงเทพฯ เพิ่มจำนวนบุคลากรทีมสหวิชาชีพเกี่ยวกับการเวชศาสตร์ฟื้นฟู อย่างไร เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึง ให้การบริการอย่างเท่าเทียม และสร้างโอกาสในการฟื้นฟู สมรรถภาพของผู้ป่วยให้กลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับชีวิตเดิม ขอทราบรายละเอียด ขอบคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เอาใหม่ ยาวไปครับ คือเอาคำถามสั้น ๆ ท่านจะได้ตอบชัด ๆ เพราะว่าคำถามยาวไป ไม่รู้จะตอบตรงไหน

นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

พอดีชื่อหน่วยงานมันยาว กระชับสั้น ๆ เลยนะคะ เรื่องเกี่ยวกับการดูแลมาตรฐานศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อที่จะให้ รองรับการเจ็บป่วยของพี่น้องประชาชน รวมถึงการดูแลบุคลากรเกี่ยวกับเวชศาสตร์ฟื้นฟู ทำอย่างไรให้เหมาะสมกับความต้องการของพี่น้องประชาชนค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

จะเพิ่มศูนย์อีกได้ไหม แล้วศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูนี้คืออบอุ่นด้วยใช่ไหม

นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

มีด้วยค่ะ แล้วก็ในส่วนของ คลินิกชุมชนอบอุ่น แล้วก็เป็นศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูที่ดูแลภายหลังการเจ็บป่วยค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญท่านรัฐมนตรีครับ

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้นฉบับ

ขอบคุณ ท่านประธานครับ ในกรณีของสถานพยาบาลชุมชนอบอุ่นนั้นผมได้ตอบไปเมื่อสักครู่แล้วว่า กรุงเทพมหานครนั้นควรจะมีเกือบ ๑,๐๐๐ แห่ง แต่ก็มีแค่ ๑๐๐ กว่าแห่งเท่านั้นเอง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าไม่เพียงพอ เหตุที่ไม่เพียงพอที่ไม่สามารถที่จะขยายเพิ่มเติมได้ให้เกิด ความเพียงพอนั้นเนื่องจากว่าเราขาดแคลนแพทย์อยู่ในขั้นวิกฤติ เพราะฉะนั้นถึงเราจะมีเงินที่จะไป สร้างสถานพยาบาลชุมชนอบอุ่น ในเรื่องของการหาแพทย์ที่จะเข้าไปเพิ่มเติมนั้นก็ยังขาดแคลนอยู่ ที่ได้เรียนไปแล้วว่าก็กำลังที่จะเพิ่มแพทย์ให้เพียงพอ การผลิตแพทย์แต่ละคนต้องใช้เวลาถึง ๖ ปี แล้วคนหนึ่งก็จะมีต้นทุนประมาณ ๔-๕ ล้านบาท ซึ่งเงินไม่ใช่เรื่องใหญ่ สถานที่ก็ไม่ใช่ เรื่องใหญ่ เพราะฉะนั้นผมเองมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ได้เข้าทำงาน มาประมาณ ๒ เดือนเศษ ตั้งแต่วันแรกที่ประชุมคณะผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข ผมก็ได้หยิบประเด็นนี้ขึ้นมาที่จะให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหลักในการที่จะผลักดันการผลิต แพทย์ประมาณ ๒๗,๐๐๐ คนให้ได้โดยเร็วที่สุด ได้พูดมาเป็นเวลา ๗-๘ ครั้งใน ๒ เดือนที่ผ่านมา จนกระทั่งไม่ว่าแพทยสภาก็ดี หรือกระทรวง ตอนนี้เริ่มจะทำแผนแล้วที่จะให้ได้แพทย์นะครับ เพราะฉะนั้นเรื่องสถานพยาบาลชุมชนอบอุ่นก็คงจะได้แก้ปัญหา ในขณะเดียวกันเราก็กำลัง คิดถึงเรื่องแพทย์ที่เกษียณก็จะเชิญเขามาเป็นแพทย์ในชุมชนอบอุ่น หรือใน รพ.สต. เหล่านี้ อีกประเด็นหนึ่งก็คือเรื่องศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เวชศาสตร์ฟื้นฟูนี้อยากจะเรียนท่านประธานว่า หมายถึงผู้ที่จะต้องทำกายภาพบำบัด เช่น ประสบอุบัติเหตุก็ดี หรือว่าเส้นเลือดในสมองมีปัญหา อะไรต่าง ๆ ก็ใช้คำสั้น ๆ ว่าเป็นอัมพฤกษ์ หรืออัมพาต เพราะฉะนั้นเวชศาสตร์ฟื้นฟูนั้น มีความจำเป็น ดังนั้นทางกระทรวงสาธารณสุขก็ได้พูดแล้วว่าเรื่องการผลิตผู้เชี่ยวชาญ ผลิตอะไรในช่วงสมัยก่อนก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ แต่ว่าต่อไปนี้เราจะให้ความสำคัญในเรื่องของ ผู้เชี่ยวชาญในการที่จะฝึกเวชศาสตร์ฟื้นฟูตัวนี้ แต่ที่สำคัญที่สุดที่ขณะนี้เราจะแก้ไขและทำให้ ทันต่อผู้เจ็บป่วยเหล่านี้ ก็คือในแต่ละโรงพยาบาลใหญ่ ๆ โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลอำเภอ ส่วนใหญ่ก็จะมีเวชศาสตร์ฟื้นฟูอย่างนี้เกือบทั้งสิ้น เราก็เลยจะเน้นไปทางฝึกอบรมผู้ดูแลผู้ป่วย ให้มีความรู้ในเรื่องของการที่จะฝึกผู้ที่มีปัญหาเรื่องทุพพลภาพเหล่านี้ให้สามารถฝึกเดินได้ ฝึกในด้านต่าง ๆ กายภาพบำบัดเหล่านี้ได้ กำลังเร่งรัดที่จะฝึกให้พอ โดยเฉพาะผู้ช่วยนั้น มีความสำคัญที่จะฝึก เมื่อฝึกแล้วเขาก็สามารถที่จะไปทำการฟื้นฟูบำบัดที่บ้านได้ แต่แน่นอนที่สุด เท่าที่ผมสังเกตเห็นก่อนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขนั้น ผู้ที่เกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดเหตุใหม่ ๆ นี้ก็ช่วยเหลืออะไรตัวเองไม่ได้เลย ก็จำเป็นที่จะต้องอยู่ที่โรงพยาบาล แล้วทุกวันก็จะมาฝึกกายภาพบำบัดเหล่านี้ แต่หลังจากฝึกสักเดือนสองเดือน อาทิตย์สองอาทิตย์ พอเริ่มขยับได้ก็จะฝึกตัวผู้ช่วยเพื่อให้เขาได้ไปดูแลบำบัดในที่พักของตนเองได้ในระดับหนึ่ง ก็ขอเรียนว่ากระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการอยู่ครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญครับ

นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานค่ะ พอดีเห็นยังมีเวลาเหลืออยู่นิดหนึ่งค่ะ ต้องขอขอบคุณสำหรับคำตอบที่เกี่ยวเนื่องกัน กับบุคลากรที่จะต้องรอทั้งแพทย์และสหวิชาชีพที่เกี่ยวกับเวชศาสตร์ฟื้นฟู ทีนี้อยากให้ ท่านตอบตรง ๆ คืออยากได้คำตอบตรง ๆ ที่เกี่ยวกับการจะทำแนวทางอย่างไรที่ไม่ทำให้ โรงพยาบาลขนาดใหญ่แออัด เพราะว่าการใช้บริการของพี่น้องประชาชนตอนนี้ไป กระจุกตัวอยู่ค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ทำอย่างไรจะกระจายโรงพยาบาลไปหน่อย มันแออัดนะครับ

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้นฉบับ

คือจริง ๆ เรื่องนี้ก็ขอให้ท่านผู้แทนสนับสนุนในนโยบายที่ผมได้พูดถึงนะครับ ต่อให้จะมีโรงพยาบาล ทุกหมู่บ้าน อันนี้ผมได้พูดในที่ประชุมผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุขไปแล้วว่า ต่อให้มี โรงพยาบาลในทุกหมู่บ้าน ถ้าขาดแพทย์ก็ไปรักษาพยาบาล ณ ที่ตรงนั้นไม่ได้ แล้วที่สำคัญที่สุด ที่ผมได้ต่อสู้เรื่องนี้มาก็คงจะขอเรียนว่าพี่น้องประชาชนในชนบท หรืออยู่บ้านไกล ๆ จากโรงพยาบาล เมื่อพ่อแม่หรือผู้ที่เขาเคารพรักเจ็บไข้ได้ป่วยที่จะไปโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาลอำเภอ หรือโรงพยาบาลจังหวัด เขาก็จะต้องออกจากบ้านประมาณตีสี่ ตีห้า แล้วไม่ใช่ว่าทุกบ้าน ทุกครอบครัวจะมีรถวิ่งไป เขาจะต้องเหมารถสองแถว เหมาอะไรไป ที่โรงพยาบาลอำเภอ หรือไปที่โรงพยาบาลจังหวัด ไปขอบัตรคิว กว่าจะรักษาได้กลับถึงบ้าน ก็บ่ายสาม ท่านทราบไหมว่าค่าเช่ารถ ค่าเหมารถ ในครั้งหนึ่งก็ประมาณ ๓,๐๐๐ บาท เพราะว่ามันต้องเช่าทั้งวัน แล้วตามที่ผมได้พูดถึงว่า รพ.สต. ซึ่งอยู่ในตำบลของตนเองนั้น ถ้ามีแพทย์เขาก็ไม่ต้องทำอย่างนั้น เพราะว่าอยู่ใกล้บ้านแล้ว แล้วมีแพทย์ รพ.สต. สัก ๓ คน แล้วที่เมื่อสักครู่ผมได้พูดถึงว่าการผลิตแพทย์ประมาณ ๒๗,๐๐๐ คน หรือ ๓๐,๐๐๐ คน ให้ครอบคลุมทุก รพ.สต. แพทย์คนหนึ่งก็จะใช้เงินเฉลี่ยประมาณ ๔ ล้านบาท ก็แค่ ๑๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท ๖ ปีที่เราจะผลิตแพทย์ได้ แต่ท่านทราบไหมครับว่าการที่พี่น้อง ประชาชนต้องเหมารถไป ๓,๐๐๐ บาทที่จะไปหาหมอแล้วก็รักษาด้วยบัตรทองนั้น ค่าใช้จ่าย ของการเช่ารถทั่วประเทศของคนเจ็บไข้ได้ป่วยในหมู่บ้าน ตำบล ปีหนึ่งคำนวณแล้วประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท แพงกว่าที่เราจะผลิตแพทย์ตั้ง ๒ เท่า ผมได้พูดกับแพทยสภา ได้พูดกับผู้บริหารของกระทรวงแล้วว่าอันนี้จะ Save ลดต้นทุนการดำรงชีพของพี่น้อง ประชาชนได้ด้วย แล้วก็ในเรื่องของสุขอนามัยที่เป็นนโยบายของรัฐบาลนี้ก็กำลังเร่งรัดในตัวนี้อยู่ แล้วก็จะทำให้ได้ในเร็ว ๆ นี้ แล้วก็บางส่วนก็อาจจะต้องพึ่งงบประมาณ พึ่งอะไรต่าง ๆ ก็ขอให้ท่าน สส. สนับสนุนงบประมาณที่จะไปผลิตแพทย์ตัวนี้ด้วย ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านรัฐมนตรี ท่านผู้ให้ข้อมูล ท่าน สส. นะครับ ขอบคุณมากครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๓. เรื่อง ขอให้ขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึงเวลา ๐๔.๐๐ นาฬิกา เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว นายเฉลิมพงศ์ แสงดี เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ด้วยสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือแจ้งว่ารัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล ติดภารกิจราชการสำคัญ จึงมอบหมายให้ ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายทรงศักดิ์ ทองศรี เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขออนุญาตให้ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนข้อมูลในการตอบ กระทู้ถามแยกเฉพาะ คือนายแผน สุขแสวง ผู้อำนวยการส่วนการรักษาความสงบเรียบร้อย ๓ สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และอนุญาต ให้ผู้เข้าร่วมรับฟัง ๒ ท่าน คือ ๑. นางสาวอมรรัตน์ เวชปาน ๒. นายปรีชาวุฒิ กี่สิ้น เชิญท่านเฉลิมพงศ์ แสงดี ถามท่านรัฐมนตรีครับ

นายเฉลิมพงศ์ แสงดี ภูเก็ต ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายเฉลิมพงศ์ แสงดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๒ พรรคก้าวไกล วันนี้ ต้องขอขอบคุณท่านประธานที่ได้บรรจุกระทู้ถามแยกเฉพาะของผมในวาระการประชุมวันนี้ และต้องขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่กรุณามาตอบกระทู้ถาม ในวันนี้ เรื่องของสถานบันเทิงก็คือหาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต มีสถานบันเทิงอยู่ก็คือ Bangla Walking Street ซึ่งเป็นสถานบันเทิงชื่อดังระดับโลก และตำบลป่าตองก็มีชายหาด ที่มีชื่อเสียง นักท่องเที่ยวทั่วโลก และมีกิจกรรมสันทนาการทั้งกลางวันและกลางคืน โดยเฉพาะตอนกลางคืน มีสถานประกอบการธุรกิจสถานบันเทิงจำนวนมาก กระตุ้น การท่องเที่ยว สร้างงานสร้างรายได้ได้เป็นอย่างดี แต่ปัจจุบันการท่องเที่ยวซบเซาตั้งแต่ ช่วง COVID-19 เป็นต้นมา ส่งผลให้ผู้ประกอบการสถานท่องเที่ยวและภาพรวมของ การท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต อันนี้คือสถานการณ์ที่ต้องเผชิญและสูญเสียโอกาสในการเปิดปิด และช่วงตอนนี้ Zoning ปิดได้เพียงแค่ ๐๒.๐๐ นาฬิกา แล้วก็ไม่สอดคล้องกับกฎหมาย ที่ล้าหลัง แต่หนำซ้ำผู้ประกอบการสถานบันเทิงก็กลับถูกรีดไถจากเจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่ม

นายเฉลิมพงศ์ แสงดี ภูเก็ต ต้นฉบับ

นอกจากปัจจัยภายนอกที่ผมกล่าวไปแล้ว ยังมีปัจจัยภายในที่เหมือนเส้นผมบังภูเขา นั่นก็คือสถานบันเทิงถูกบังคับให้ปิดเร็วเกินไป กล่าวคือปัจจุบันสถานบันเทิงหาดป่าตองถูกปิดในเวลา ๐๒.๐๐ นาฬิกา แต่พฤติกรรม นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ช่วงเย็นนักท่องเที่ยวก็จะอยู่บนชายหาดแล้วก็กลับไปอาบน้ำ ที่โรงแรม กว่าจะเดินทางมาทานอาหารค่ำก็อยู่ระหว่างเวลา ๓ ทุ่ม จนถึง ๕ ทุ่ม เสร็จจากนั้น พอไปเที่ยวสถานบันเทิงใช้เวลาเดินทาง ๓๐ นาที มาเที่ยวสถานบันเทิงก็ใช้เวลา เหลือแค่น้อยนิด เพียงแค่ ๒ ชั่วโมง สถานบันเทิงก็ปิดแล้ว เขาต้องบินข้ามน้ำข้ามทะเลมา เพื่อพักผ่อนแล้วก็มาผ่อนคลายอิริยาบท แต่ถูกจำกัดเวลาในการท่องเที่ยว แต่เวลาที่เหมาะสม ที่จะต้องเปิดก็คือ ๐๔.๐๐ นาฬิกา ก็คือจากผลงานการวิจัยของผมเอง สถานบันเทิง ขนาดเล็กถ้าได้เปิดจนถึง ๐๔.๐๐ นาฬิกา ก็จะทำรายได้ ๓๐,๐๐๐- ๓๐๐,๐๐๐ บาทต่อวัน สถานบันเทิงขนาดกลางจะมีรายได้ประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ บาท ถึง ๒ ล้านบาทต่อวัน ส่วนสถานบันเทิงขนาดใหญ่จะมีรายได้ประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ บาท ถึง ๔ ล้านบาทต่อวัน ถ้าขยายเวลาไปถึง ๐๔.๐๐ นาฬิกา สถานบริการต่าง ๆ จะมีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการ ๒๐,๐๐๐ คนต่อวัน พูดให้เห็นภาพก็คือรายได้ร้อยละ ๗๐ เกิดมาจากการใช้จ่าย ของนักท่องเที่ยว ดังนั้นเราปิดสถานบันเทิงเร็วเกินไปในแต่ละคืนทำให้เราสูญเสียโอกาส ทางเศรษฐกิจ ขาดรายได้เข้าประเทศจำนวนมากต่อเดือนและต่อปี

นายเฉลิมพงศ์ แสงดี ภูเก็ต ต้นฉบับ

คำถามแรก ที่จะถามท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการนะครับ สถานการณ์เช่นนี้ ผมจึงขอเรียนถามท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่รัฐบาล จะสามารถเพิ่มพื้นที่ Zoning สถานบันเทิง หาดป่าตอง นอกจากถนนบางลาไปยังบริเวณอื่น ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ และสามารถขยายเวลาเปิดปิดสถานบันเทิงได้จนถึง ๐๔.๐๐ นาฬิกา เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ได้หรือไม่

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญท่านรัฐมนตรีครับ

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม นายทรงศักดิ์ ทองศรี ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้มาตอบ กระทู้ถามท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ขออนุญาตเอ่ยนามครับ ท่านเฉลิมพงศ์ แสงดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดภูเก็ต ซึ่งท่านให้ความกรุณาถามเรื่องที่ เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะเรื่องของการท่องเที่ยวในเมืองท่องเที่ยวอย่างจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีตัวเลขของนักท่องเที่ยวมาค่อนข้างมาก แล้วก็สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับรายได้ ของประเทศไทยค่อนข้างสูง แต่ก็เข้าใจตรงกันว่านักท่องเที่ยวเวลามาเที่ยวบ้านเรา เวลามันจะแตกต่างกัน ของเขาเวลามาถึงเมืองไทยจะเป็นเวลาเหมือนกลางวัน กลางคืน เป็นกลางวัน กลางวันเป็นกลางคืน อันนี้ก็เป็นเรี่องที่สอดคล้องแนวความคิดเรื่องของ การส่งเสริมการท่องเที่ยวทุกประเทศในโลกเขาจะเอาเรื่องการท่องเที่ยวนำหมด นำเศรษฐกิจ อย่างอื่นนะครับ ถ้ามีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวมาก รายได้ของประเทศก็จะสูงขึ้น อันนี้ก็ต้องขอบคุณท่านสมาชิกที่ให้ความห่วงใย โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตที่ผมกราบเรียนว่า เป็นจังหวัดที่สร้างรายได้ให้กับต่างประเทศค่อนข้างสูงมาก สำหรับเรื่องที่ท่านให้ความกรุณา เสนอแนะ และสอบถามในเรื่องของ Zoning แหล่งท่องเที่ยว แล้วก็เรื่องของเวลาด้วย เป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกัน สถานบริการสถานบันเทิงเขาต้องกำหนดเป็น Zoning แล้วเขาก็มีเวลา ทั้งหมดนี้เป็นไปตามกฎหมายทุกประการ คนที่เป็นรัฐมนตรีเองก็ไม่สามารถที่จะไป กำหนดเวลาได้เอง มันมีที่มาที่ไป โดยเฉพาะเดี๋ยวนี้การกระทำอะไรที่กระทบกับประชาชน จะต้องมีขั้นตอนทางกฎหมายที่ต้องไปรับฟังเสียงพี่น้องประชาชน อันนี้เบื้องต้นก่อนครับ

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ

สำหรับจังหวัดภูเก็ต ผมเรียนว่าเดิมได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตพื้นที่ เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการในท้องที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อปี ๒๕๔๖ เรียกว่า Zoning นะครับ โดยกำหนดเขตเพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการไว้ ๒ บริเวณ เรียกเป็นบริเวณ ๆ ไปนะครับ บริเวณที่ ๑ ในอำเภอเมืองภูเก็ต บริเวณที่ ๒ อำเภอกะทู้ และต่อมาคณะรัฐมนตรี ได้มีการประชุมและมีมติ เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘ มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย พิจารณาทบทวน และปรับปรุงการกำหนดเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ ให้เหมาะสม สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการ มีหนังสือแจ้งการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวไปยังจังหวัดทุกจังหวัดแล้ว รวมทั้งจังหวัดภูเก็ตด้วย ให้พิจารณาทบทวนและปรับปรุงการกำหนดพื้นที่เพื่อการอนุญาต ให้ตั้งสถานบริการให้เหมาะสม สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน จังหวัดภูเก็ตเองก็ได้ ขอการแก้ไขปรับปรุงพื้นที่เพื่อการขออนุญาตให้ตั้งสถานบริการ และกระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องจนมีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาต ให้ตั้งสถานบริการในท้องที่จังหวัดภูเก็ต ปี ๒๕๖๓ ซึ่งมีการกำหนดเขตเพื่อการอนุญาต ให้ตั้งสถานบริการเพิ่มเติมอีกจากเคยเป็น ๒ บริเวณ เป็น ๑๐ บริเวณด้วยกัน บริเวณที่ ๑ อยู่ในเขตพื้นที่ของตำบลกะรน อำเภอเมืองภูเก็ต พื้นที่บริเวณที่ ๒ อยู่ที่ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต พื้นที่ที่ ๓ อยู่ในพื้นที่ของตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต เช่นเดียวกัน แต่ว่าเป็นคนละจุดนะครับ พื้นที่ที่ ๔ อยู่ในตำบลฉลอง อำเภอเมืองภูเก็ต พื้นที่ที่ ๕ ถึงพื้นที่ที่ ๑๐ อยู่ในตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ ข้อที่ท่านได้นำเสนอในที่ประชุมวันนี้เพื่อเป็นแนวทาง ในการพัฒนาเรื่องพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเรื่องของสถานบันเทิงสถานบริการนี่นะครับ ผมเรียนท่านว่าที่บริเวณหาดป่าตอง ถนนบางลา น่าจะอยู่ในบริเวณพื้นที่ของบริเวณที่ ๗ ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ ผมดูจากพื้นที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาครอบคลุมหมดแล้ว อันนี้ผมเรียนเบื้องต้นท่านประธานและท่านสมาชิกด้วยว่าตรงที่ท่านห่วงใยมันอยู่ในพื้นที่ ที่กำหนดเป็น Zoning ไปแล้ว ครอบคลุมจากเดิมที่เคยมีไว้เมื่อปี ๒๕๔๖ แต่ว่าวันนี้จังหวัด ภูเก็ตเองก็เสนอแก้ไขตามมติ ครม. มา แล้วก็เพิ่มเป็น ๑๐ บริเวณ อันนี้ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด อยู่ในพื้นที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาเรียบร้อย อันนี้ก็ฝากท่านด้วยนะครับ แต่ถ้าท่านเห็นว่า ยังมีพื้นที่อื่น ๆ ที่เห็นว่าจะต้องมาปรับปรุงกำหนดเพื่อการขออนุญาตในการตั้งสถานบริการ เพิ่มเติม ผมเรียนว่ามันต้องเป็นไปตามกฎหมายในการนำเสนอ แต่ว่าอำนาจในการกำหนด เขตปริมณฑลจำกัดท้องที่ในการอนุญาตหรืองดการอนุญาตในสถานที่บริการเป็นอำนาจของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ ปี ๒๕๐๙ โดยมีแนวทางและขั้นตอนในการดำเนินการ ในการแก้ไขพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตเพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการดังนี้นะครับ เดี๋ยวท่านกรุณาเผื่อท่านฟังแล้วท่านจะได้มีแนวทางไปเพื่อที่จะชี้แจงให้พี่น้องประชาชน ได้ทราบนะครับ โดยการให้จังหวัดพิจารณากำหนดเขตพื้นที่อนุญาตให้ตั้งสถานบริการ โดยให้นำมาตรา ๕ และมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ ๒๕๐๙ มาเป็นหลัก ในการพิจารณา โดยจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมให้ครอบคลุมจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทุกฝ่าย ไม่ว่าประชาชน ครู อาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ ผู้นำศาสนา นักธุรกิจ ไม่ใช่เพียงแต่รับฟังความคิดเห็นจาก ผู้ประกอบการสถานบริการเท่านั้นนะครับ รวมถึงจัดให้ทำรายงานการประชุมเพื่อรับฟัง ความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งระดับอำเภอ ระดับจังหวัด แล้วก็ภาพถ่ายประกอบทุกครั้ง ที่มีการดำเนินการนะครับ

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ

๒. ให้จังหวัดตั้งคณะกรรมการของจังหวัดประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงาน ราชการที่เกี่ยวข้องตรวจสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ตามที่ต้องการที่จะกำหนดเป็นเขต เพื่อการอนุญาตตั้งสถานบริการโดยดูสภาพทั้งเวลากลางวันและกลางคืนของเขตพื้นที่ เพื่ออนุญาตตั้งสถานบริการและนอกเขตพื้นที่การอนุญาตด้วยที่อยู่ใกล้เคียงที่ได้รับ ผลกระทบเพื่อตรวจสอบให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้างต้น และจัดให้มีการทำข้อมูล การตรวจสอบพื้นที่ และให้บันทึกภาพถ่ายที่ตั้งของพื้นที่ของการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ ทั้งกลางวันและกลางคืนทุกครั้งที่ดำเนินการ อันนี้ก็เป็นแนวทางนะครับ เมื่อ ๒ แนวทาง ทำเรียบร้อยแล้วก็เรียนว่าต้องดำเนินการตามกฎหมาย กระทรวงเองไม่ได้ขัดข้องนะครับ ทั้งเรื่องของสถานที่และเรื่องของเวลานะครับ เรื่องของเวลาจริง ๆ แล้วนี่มันมีกฎหมาย ซึ่งกำหนดเรื่องสถานบริการ สถานบันเทิงอยู่แล้วว่าแต่ละอย่างเปิดได้เวลาเท่าไรนะครับ ถ้าเราจะขยายเวลาออกไปมันก็ต้องเป็นแนวเดียวกันในการดำเนินการให้เป็นไป ตามกฎหมายเรื่องของเวลาที่บอกท่านเสนอเองว่าน่าจะเป็นการเปิดไปให้ถึงตีสี่ อะไรประมาณอย่างนี้นะครับ ผมว่าจะเอาเวลาเท่าไรนี่เรากำหนดไม่ได้โดยตรงมันต้องไป รับฟังเสียงประชาชนเป็นไปตามกฎหมายขั้นตอนในการที่จะขอขยายเวลาแล้วก็นำข้อมูลทั้งหลาย โดยจังหวัดเสนอมาที่กระทรวงมหาดไทย กรมการปกครองก็จะรวบรวมข้อมูลทั้งหลาย ให้รัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ซึ่งรักษาการตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ในการดำเนินการกำหนด เรื่องของเวลา แต่ผมเรียนท่านประธานหรือท่านสมาชิกว่าเรื่องนี้ความจริงท่านได้สบายใจ เพราะท่านนายกรัฐมนตรีท่านได้ให้แนวทางแล้วมีหนังสือสั่งการให้ท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทยและรองนายกรัฐมนตรีด้วยไปดำเนินการจัดประชุมส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้องในการกำหนดทิศทางในการที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยเฉพาะเรื่อง สถานบริการ สถานบันเทิงทั้งหลาย ในเรื่องของเวลา เรื่องของ Zoning ให้เกิดความเรียบร้อย และให้ตรงกับแนวทางของการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยเฉพาะจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวมามาก ๆ อย่างจังหวัดภูเก็ต ผมเรียนว่าอันนี้ไม่ได้มีการนิ่งนอนใจตกลงกันว่าประมาณสักวันที่ ๒๕ เป็นแผนแล้วจะมีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนะครับ มีการกำหนดประเด็นว่า กำหนดพื้นที่ที่ท่องเที่ยวที่สมควรขยายเวลาปิดเปิดสถานบริการ เวลาที่เหมาะสมที่ขยาย เวลาเปิดสถานบริการ แล้วก็รายละเอียดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการที่ทำให้งานเรื่องของ การส่งเสริมการท่องเที่ยวลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย มีการเชิญหน่วยงานหลายหน่วยงาน ด้วยกัน ขออนุญาตนะครับ เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงการพัฒนา สังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวง การท่องเที่ยวและกีฬา แล้วก็กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปราบยาเสพติด ก็ประชุมเพื่อกำหนดแนวทางที่ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ได้กรุณาให้ข้อเสนอแนะแนวทางในการที่จะทำให้จังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวมาได้สมประโยชน์ สมประสงค์ในการเดินทางมาสู่ประเทศไทยบ้านเรานะครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ถามสั้น ๆ ท่านรัฐมนตรีจะได้เอาเวลาของท่านไปช่วยตอบของท่าน ท่านตอบละเอียดนะครับ ถามสั้น ๆ แล้วก็จะได้ตอบคำถามครั้งที่ ๒ เชิญครับ

นายเฉลิมพงศ์ แสงดี ภูเก็ต ต้นฉบับ

จากคำถามแรกผมหมายถึงบริบทในพื้นที่ แต่ก็เดี๋ยวต้องขอท่านประธานว่าอาจจะต้องนอกรอบกับท่านรัฐมนตรี เพราะว่าอธิบายถึง บริบทในพื้นที่แต่ละพื้นที่ในจังหวัดเดียวกัน แต่บางบริบทบางพื้นที่มันก็ไม่เหมือนกันนะครับ ก็ไปคำถามที่ ๒ ท่านประธานครับ ทราบว่ารัฐบาลเองก็มีแนวทางที่จะขยายเวลาเปิดปิด อยู่แล้วนะครับ สถานบันเทิงในภาพรวมทั้งประเทศอยู่แล้ว แต่ผมคิดว่าปัญหาอย่างหนึ่งก็คือ คำนิยามของสถานประกอบการตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๐๙ และตาม กฎกระทรวงกำหนดเวลาเปิดปิดสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๔๗ ผมลองอ่านตามตัวอักษรให้ฟัง สถานประกอบการประเภทที่ ๑ ระบุว่าสถานเต้นรำ รำวง หรือรองเง็ง เป็นปกติธุระประเภท ที่มีและประเภทที่ไม่มีผู้บริการ อันนี้มันเป็นถ้อยคำที่เขียนมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๙ ผมคิดว่า มันล้าสมัยแล้วครับมันไม่สอดคล้องกับยุคสมัย จึงสอบถามท่านรัฐมนตรีว่ามีแนวทางที่จะปรับ คำนิยามสถานประกอบการแต่ละประเภทหรือไม่ รวมทั้งแนวทางการขอใบอนุญาต สถานประกอบการแต่ละประเภทจะมีแนวทางในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ท่านรัฐมนตรี เชิญครับ

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ

ท่านประธาน ผม ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ผมเรียนจริง ๆ แล้วความเห็น ของแต่ละท่านนี่ก็ถือเป็นประโยชน์นะครับ วันนี้ท่านนายกรัฐมนตรีท่านได้มีข้อสั่งการไปแล้ว ที่จะให้กระทรวงมหาดไทยนี่เป็นเจ้าภาพหลักในการเชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตามเฉพาะที่ กราบเรียนเบื้องต้นว่าเรื่องที่ท่านเสนอมานี่ก็อาจจะเป็นประเด็นหนึ่งในการหารือในการประชุม เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้นนะครับ อะไรที่เป็นข้อกังวลข้อห่วงใยอะไรทั้งหลายนี่ก็เอาไป ปรับปรุงได้ เพราะว่ากฎหมายที่ผ่านมาก็อาจจะมีข้อความอะไรในอดีตที่ผ่านมานะครับ อย่างเช่น รองเง็งผมยังไม่รู้เลยมันอย่างไรนะครับ มันก็เป็นเรื่องอดีต แต่ว่ามันเป็นสถานบริการ สถานบันเทิง ซึ่งต้องไปอยู่ภายใต้กฎหมายที่กำหนด เพราะว่าสถานเหล่านี้มันกระทบกับ ประชาชนด้วย กระทบกับเศรษฐกิจประชาชน บางทีมุมมองเราก็บอกว่าอยากให้มันทำแบบนี้ แต่อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่ามันไม่ถูก เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะต้องทำก็ต้องไปรับฟังเสียงพี่น้องประชาชน ตามขั้นตอนของกฎหมาย อันนี้ผมเรียนนะครับ มันมีกฎหมายรองรับชัดเจนกฎหมายว่าด้วย สถานบริการ การทำอะไรต้องว่าตามกฎหมายทุกประการก่อน กฎหมายที่ผ่านมาผมก็เรียนว่า มีโอกาสได้ดูก็ยังมีข้อด้อยน้อยมากที่ผ่านมา ผมเชื่อมั่นว่าผู้ประกอบการสถานบันเทิงเอง หลายคนเขาเข้าใจวิธีการเหล่านี้อยู่แล้ว แล้วก็ทางกระทรวงมหาดไทยเองก็จะมีเจ้าหน้าที่ ลงไปเวลาขอใบอนุญาต ขอตั้งสถานบริการก็จะมีพี่เลี้ยงลงไปช่วยดูแนะนำในสิ่งที่ถูกต้อง เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาผมเข้าใจว่าติดเรื่องเวลากับติดเรื่อง Zoning ๒ อย่างเท่านั้นเองนะครับ ถ้าเรามีโอกาสได้ไปดูเรื่องบริบทเรื่องการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงไปให้มันตรงจุดที่สุดว่า ตรงไหน อะไร อย่างไร

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ

๒. เรื่องของเวลานี่ก็เป็นเรื่องที่คือถ้าส่วนตัวผมนี่ผมมองว่าทำไมถ้าเป็น Zoning แล้ว ทำไมไม่กำหนดให้มัน ๒๔ ชั่วโมงไปเลย ให้มันรันทั้งวันไปเลยเป็นเรื่อง ผู้ประกอบการเองไม่ใช่ว่าไปเปิดตี่สี่ปิดแล้วอีก ๒ ชั่วโมงไปไหน ทำไมไม่ไปเลยให้หมด อันนี้ ก็เป็นเรื่องที่คณะกรรมการที่จะมีการประชุมที่ท่านรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเป็นเจ้าภาพในการบริหารตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ดำเนินการเพื่อให้มันเร็วที่สุด เพราะวันนี้รัฐบาลเองก็มุ่งเน้นเรื่องของการจัดหารายได้ จากการท่องเที่ยวเป็นประโยชน์กับประเทศของเราต่อไปนะครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

กทม. ก็ตีสี่แล้วนะ และนี่อย่างที่ท่านรัฐมนตรีได้บอกเดี๋ยวเอาข้อมูลจากท่านรัฐมนตรีนะครับ หลักการ Zoning แล้วก็หลักการที่จะกำหนดเวลาใช่ไหมครับ ต้องไปทำการบ้านที่จังหวัด ใช่ไหมครับ ไปดูที่ Zoning แล้วก็ไปทำการบ้านกับผู้ว่าราชการจังหวัดและท้องถิ่น ทำประชาคม เพราะว่ามันมีคนเดือดร้อนกับคนได้ประโยชน์นะครับ ถ้าเกิดว่าไปสอบถามทำประชาคม อะไรเสร็จแล้วนี่ถ้าไม่มีการขัดข้องก็น่าจะทำได้ ผมคิดว่าภูเก็ตคงเป็นแห่งที่ ๒ ที่จะสามารถ กำหนดเวลาที่เหมือน กทม. ได้ เพราะฉะนั้นก็เดี๋ยวเอาข้อมูลจากท่านรัฐมนตรีไปแล้วก็ไปทำ การบ้านที่จังหวัดใช่ไหมครับ

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ

ขออนุญาต

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญท่านรัฐมนตรีครับ

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ

ขออนุญาต ท่านประธานนิดเดียว พอดีเรื่องของการปรับปรุงเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวผมเรียนท่านประธาน กับท่านสมาชิกว่าเราคงจะต้องเน้นไปจังหวัดที่เป็นจังหวัดที่มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวจริง ๆ การดำเนินการขยายกิจการทั้งหลายนี่ไม่น่าจะเป็นเรื่องของการที่จะไปให้บริการกับนักเที่ยวนะ น่าจะเป็นการให้บริการกับนักท่องเที่ยวมากกว่า เพราะฉะนั้นแต่ละจังหวัดที่จะเข้าแนวทาง ในการที่จะขยายหรือกำหนด Zoning เพิ่มเติมน่าจะเป็นจังหวัดที่ต้องมีการกำหนดว่า เป็นจังหวัดเพื่อการท่องเที่ยวจริง ๆ อันนี้เบื้องต้นผมกราบเรียนท่านประธานเพียงเท่านี้ก่อน ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

นิดหนึ่งครับ

นายเฉลิมพงศ์ แสงดี ภูเก็ต ต้นฉบับ

ขออนุญาตท่านประธานนิดเดียวครับ ก็คือจังหวัดภูเก็ตก็ต้องขึ้นชื่อเรื่องเมืองท่องเที่ยวระดับโลกอยู่แล้วนะครับ แล้วก็พื้นที่ Zoning อย่างนี้เราก็ได้ทำตามที่ท่านรัฐมนตรีได้แนะนำมาแล้วก่อนหน้านี้ประมาณ ๓๐ ปี ในการจัดพื้นที่ Zoning แต่ในเรื่องของเวลาซึ่งเราบริการให้แก่นักท่องเที่ยวอย่างเดียว เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งนั้น น้อยมากที่จะเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เข้าไปใช้ ในบริการในสถานที่ท่องเที่ยวใน Walking Street แถวถนนบางลา ก็อยากจะฝาก ท่านรัฐมนตรีก็ช่วยทำการบ้านแล้วช่วยลงพื้นที่ แล้วก็มันติดล็อกในข้อของกฎ ระเบียบ ของกระทรวงมหาดไทยนี่เองที่ไม่สามารถ Boost เศรษฐกิจหรือว่าเราขยายเวลาออกไปได้ ก็ต้องแก้ไขในเรื่องกฎระเบียบของกระทรวงมหาดไทยนี่ครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ให้ไปคุยกับผู้ว่าราชการก่อนนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตว่า Zoning นี้ควรจะเปิดเวลาเท่าไร อย่างนี้ไปทำการบ้านมาก่อนแล้วมาบอกท่านรัฐมนตรี เดี๋ยวเอาข้อมูลไปแล้วคุยนอกรอบนะ OK ขอบคุณท่านรัฐมนตรี ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๔. เรื่อง ปัญหาช้างป่าที่ส่งผลกระทบกับประชาชนในจังหวัดระยอง นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ท่านรัฐมนตรีไปต่างประเทศไปธุระสำคัญ เลื่อนไปวันพฤหัสบดีที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๖

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๕. เรื่อง การจัดสรรงบประมาณเพื่อการจัดการศึกษาแก่โรงเรียน พระปริยัติธรรมและปัญหาความล่าช้าในการดำเนินงานของงบประมาณกลาง เพื่อเป็น ค่าตอบแทนรายเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่การศึกษาพระปริยัติธรรม นางสาวปวิตรา จิตตกิจ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เลื่อนไปวันพฤหัสบดีที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๖

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๖. เรื่อง การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของ ทะเลสาบพัทลุง นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เลื่อนไปวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๖

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

สำหรับวันนี้ก็จบการพิจารณากระทู้ถามแยกเฉพาะ ขอปิดการประชุมครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๒ เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เรียนท่านสมาชิกครับ สำหรับการพิจารณารับทราบรายงานของหน่วยงาน ตามระเบียบวาระที่ ๒.๑ เนื่องจากสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติขอเลื่อนเข้าชี้แจง ต่อที่ประชุมออกไปก่อน ดังนั้นการพิจารณาในวันนี้จะเป็นการพิจารณาตามระเบียบวาระที่ ๒.๒

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๒.๒ รับทราบรายงานประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ศาลปกครอง และสำนักงานศาลปกครอง

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ด้วยเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองได้เสนอรายงานประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ของศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครองต่อสภาผู้แทนราษฎรทราบตามมาตรา ๙๓ ประกอบมาตรา ๙๐ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ รายละเอียดได้ปรากฏตามเอกสารที่จัดเตรียมให้กับสมาชิกแล้วนะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ตอนนี้มีสมาชิกที่มีประเด็นติดใจจะซักถามทั้งหมด ๕ ท่าน ที่ลงชื่อตอนนี้นะครับ ฝ่ายค้าน ๑ ท่าน แล้วก็ฝ่ายรัฐบาล ๔ ท่าน เพราะฉะนั้นในการนี้จะขออนุญาตให้ผู้แทน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมชี้แจงข้อเท็จจริงต่อที่ประชุม ตามข้อบังคับ ข้อ ๓๑ ขอเชิญ ผู้มีรายชื่อดังต่อไปนี้เข้าร่วมชี้แจงในที่ประชุม ท่านแรก ท่านประพัฒน์ ตันสุวรรณนนท์ รองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ท่านที่ ๒ ท่านจำนงค์ ถาวรวิสิทธิ์ รองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ท่านที่ ๓ ท่านชำนาญ ทิพยชนวงศ์ ที่ปรึกษาสำนักงานศาลปกครอง ท่านที่ ๔ ท่านจิตติมา ยอดพริ้ง ที่ปรึกษาสำนักงานศาลปกครอง ท่านที่ ๕ ท่านทศพล ทองเทือก ผู้อำนวยการสำนักงาน วิทยาการสารสนเทศ และท่านสุดท้าย ท่านรณกร ปิยะชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบาย และแผน รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานบริหารยุทธศาสตร์ ในการนี้ จะขออนุญาตให้ทางท่านผู้ชี้แจงได้กล่าวภาพรวม แล้วก็ Brief สาระสำคัญของรายงาน ที่รายงานต่อสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นจะเป็นการอภิปรายของทางสมาชิก เรียนเชิญ ท่านรักษาการเลขาธิการครับ

นายประพัฒน์ ตันสุวรรณนนท์ รองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎร กระผม นายประพัฒน์ ตันสุวรรณนนท์ รองเลขาธิการสำนักงาน ศาลปกครอง รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ขออนุญาตนำเรียน เนื้อหารายงานประจำปีของศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครอง ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ที่ได้นำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร รายงานประจำปีฉบับนี้ก็จะมีทั้งหมด ๖ ส่วน ส่วนแรกเป็นภาพรวมหน่วยงาน ส่วนที่ ๑ เป็นภาพรวมการเปรียบเทียบผลการดำเนินงาน ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓-๒๕๖๕ ส่วนที่ ๒ ผลการดำเนินงานที่สำคัญ ส่วนที่ ๓ การวิเคราะห์ผลการดำเนินงาน ส่วนที่ ๔ รายงานการเงินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ และส่วนที่ ๕ ภาคผนวก โดยแต่ละส่วนมีการสรุปสาระสำคัญไว้ก็คือ จะมีรายละเอียดในแต่ละส่วน โดยจะมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ เราจะสรุปการขับเคลื่อน การดำเนินงานภายใต้แผนแม่บทของศาลปกครอง ซึ่งกำหนดไว้ ๒๐ ปี แต่ในช่วงปี ๒๕๖๕ เป็นแผนแม่บทของศาลปกครองระยะที่ ๑ คือปี ๒๕๖๑-๒๕๖๕ ก็จะมีด้วยกัน ๕ ด้าน ด้านที่ ๑ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการคดีปกครอง ด้านที่ ๒ เป็นเรื่องของ การเสริมสร้างธรรมาภิบาลในสังคม ด้านที่ ๓ การพัฒนาศาลปกครองอัจฉริยะ ด้านที่ ๔ เป็นเรื่องของการพัฒนาระบบการบริหารจัดการองค์กรสู่ความเป็นเลิศ และด้านที่ ๕ เป็นการยกระดับความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม

นายประพัฒน์ ตันสุวรรณนนท์ รองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ต้นฉบับ

รายงานฉบับนี้ทางศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครองก็ได้จัดทำขึ้น แล้วก็มีการรับข้อสังเกตของทางท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แล้วก็ท่านวุฒิสมาชิก ที่ให้ข้อสังเกตในรายงานของศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครองในฉบับปีที่ผ่านมา ที่ท่านให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ และทางสำนักงานศาลปกครองก็ได้ปรับ เพิ่มเติมข้อมูลเนื้อหาตามที่ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แล้วก็ท่านวุฒิสมาชิกให้ข้อสังเกต ขออนุญาตนำเรียนภาพรวมของรายงานฉบับนี้เพียงเท่านี้ครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปจะเป็นการอภิปรายซักถามของทางท่านสมาชิก ฝ่ายค้าน ๒ ท่าน ฝ่ายรัฐบาล ๔ ท่าน ขอเริ่มจากทางฝ่ายค้านก่อน ท่านแรก ท่านเอกราช อุดมอำนวย เรียนเชิญครับ

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

กราบเรียนประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม จอจาน เอกราช อุดมอำนวย ผู้แทนคนดอนเมือง พรรคก้าวไกล ขอบพระคุณที่ท่านประธานได้เปิดโอกาสให้สมาชิกได้อภิปรายเกี่ยวกับรายงานประจำปี งบประมาณ ๒๕๖๕ ของศาลปกครอง และขอบคุณท่านผู้ชี้แจงที่ได้ให้เกียรติสภาแห่งนี้ มารับฟังผู้แทนของปวงชนชาวไทยในการเป็นกระจกสะท้อนสำหรับการปฏิบัติงาน จากรายงานที่ท่านได้เสนอต่อสภา ผลการดำเนินงานของศาลปกครองนะครับท่านประธาน เขามีค่าเป้าหมายเป็นเชิงตัววัดเชิงปริมาณ ๑๗,๕๐๐ คดี แต่ว่ามีการพิจารณาคดีที่แล้วเสร็จ ประมาณ ๑๓,๐๗๘ คดี แต่ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพของศาลปกครองจากแผนงานพื้นฐานมีปัญหา ที่สุดคือร้อยละคดีที่บังคับเสร็จแล้ว คือศาลปกครองเขาตั้งเป้าตัวเองไว้ร้อยละ ๘๐ แต่ว่า ผลการปฏิบัติราชการได้จริงแค่ร้อยละ ๕๗.๗๙ ซึ่งเข้าใจว่าคณะผู้ดูแลศาลปกครอง ก็คงเข้าใจในประเด็นที่ผมได้อภิปรายไป แต่ว่าก่อนอื่นขอชื่นชมเรื่องของระบบการฟ้อง Online แล้วก็ระบบการให้คำปรึกษา Online ผมคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ถูกร้อง ผู้ถูกฟ้อง ประหยัดทรัพยากรอย่างมาก และตัวผมเองก็เคยพาพี่น้องประชาชนเดินทางไปฟ้อง ไปร้องเรียนศาลปกครองที่แจ้งวัฒนะก็มีระบบคิว มีระบบการให้บริการที่เป็นระเบียบ แล้วก็ เจ้าหน้าที่ให้บริการดีมากเลย มีห้องให้คำชี้แนะ ซึ่งคิดว่าตรงนี้ควรจะเป็นมาตรฐาน ที่ศาลยุติธรรมอื่น ๆ จะได้นำไปปรับใช้ต่อไปในการให้บริการประชาชน ท่านประธานครับ ปัญหาที่ผมอยากจะสะท้อน จริง ๆ อาจจะเกี่ยวเนื่องกับสภาแห่งนี้ด้วยเรื่องปัญหาของ การออกระเบียบตัวหนึ่ง ผมแคลงใจมากครับ สภาชุดที่ ๒๕ ได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติ การจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๑๔) พุทธศักราช ๒๕๖๔ ราชกิจจานุเบกษาก็ได้ประกาศระเบียบตัวหนึ่งของคณะกรรมการบริหารศาลปกครอง หรือว่าตัวย่อ ก็คือ ก.บ.ศป. ตามความหมายนิยามของพระราชบัญญัติจัดตั้งได้ออกว่าด้วยเงินค่าตอบแทนพิเศษ ของข้าราชการศาลปกครอง พ.ศ. ๒๕๖๔ อาศัยตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พูดให้ประชาชนเข้าใจง่าย ๆ ก็คือว่า ในปี ๒๕๖๔ สภาแห่งนี้ ได้ผ่านกฎหมายฉบับหนึ่ง แก้ไขไม่กี่มาตราครับ แก้ไขในมาตราที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเงิน ค่าตอบแทน เพิ่มค่าตอบแทนพิเศษให้กับพนักงาน ข้าราชการ ตุลาการของศาลปกครอง ในคราวนั้นศาสตราจารย์อานนท์ มาเม้า หนึ่งในกรรมาธิการเสียงข้างน้อยได้คัดค้านเรื่องของ การบัญญัติถ้อยคำการคัดค้านไว้ว่า การบัญญัติดังกล่าวไม่ควรร่างเนื้อหาที่กว้างจนเกินไป เนื่องจากว่ารายงานการจัดทำร่างกฎหมายและต้นร่างที่สภามีมติรับหลักการในวาระ ๑ เห็นชอบให้แก้กฎหมายจ่ายค่าตอบแทนพิเศษแก่บุคลากรศาลปกครอง ๒ กรณีเท่านั้น ก็คือ กรณีพื้นที่เสี่ยงภัยพิเศษ และภารกิจที่ต้องปฏิบัติงานเร่งด่วน หรือเหนื่อยยากกว่าปกติ แต่เนื้อหา เนื้อความที่ได้ผ่านสภาไปไม่ได้มีการนำ ๒ วัตถุประสงค์นี้ไปเป็นเงื่อนไขนะครับ สุดท้ายเราเห็นระเบียบตัวนี้ที่ศาลปกครองได้ออกมาก็คือกฎหมายที่ให้อำนาจในการ ออกระเบียบ ก็จะทำให้เห็นว่าศาลปกครองสามารถไปออกระเบียบจ่ายเงินค่าตอบแทน พิเศษโดยไม่เกี่ยวอันใดกับภารกิจที่เร่งด่วน หรือว่าเหนื่อยยากกว่าปกติ หรือเป็นเพียงแค่ ผ่านการทดลองงานก็ได้รับเงินดังกล่าวแล้ว หรือว่าผ่านการประเมินเงินเดือนตามรอบวง อยู่ในเกณฑ์ดีก็ได้รับแล้ว สรุปการจ่ายเงินเพื่อปฏิบัติงานในงานประจำเป็นกรณีทั่วไป ไม่ใช่เพื่อพื้นที่พิเศษหรือการปฏิบัติงานพิเศษตามที่กรรมาธิการเสียงข้างน้อยได้เคย ตั้งข้อสังเกตไว้ในสมัยนั้น เพราะฉะนั้นเท่าที่ดูผู้ที่คัดค้านเคยตั้งข้อสังเกตไว้ในตอนนั้น ก็จะบอกว่าการบัญญัติกฎหมายจะต้องมีความชัดเจน แล้วก็จะต้องไม่ไกลกว่าคำขอที่ได้พูด ไปกับสภาแห่งนี้ ซึ่งร่างกฎหมายก็ออกมาแบบไม่ตรงไปตรงมาหรอกครับ แต่ว่าก็ไม่ผิดจาก ที่กรรมาธิการได้เคยทักท้วงเอาไว้ สุดท้ายพอไปออกระเบียบแบบนี้คณะกรรมการ บริหารศาลปกครองก็ยิ้มเลยมันออกไปลักษณะที่กว้างจนเกินไป ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เงินค่าตอบแทนพิเศษที่คณะทำงานได้รับไปจะได้อย่างคุ้มค่าสมความตั้งใจที่จะได้ทำ แบบนั้นจริง ๆ ท่านประธานครับ นอกจากเรื่องของระเบียบที่ผมได้กล่าวถึงแล้วผมก็มาดู กระบวนการของศาลปกครอง ซึ่งท่านได้รายงานปัญหาและอุปสรรคของแนวทางแก้ไขเอาไว้ด้วย เพราะว่าท่านก็ทราบดีอยู่ว่าปัญหาสำคัญก็คือการพิจารณาคดีที่ล่าช้าเกินกว่าเป้าหมาย ที่ท่านอยากจะสะสางคดีต่าง ๆ แล้วก็เรื่องของแนวทางว่าจะทำอย่างไรต่อไปนี้คดีที่เข้าสู่ การพิจารณาจะได้มีการพิจารณาที่ไวมากยิ่งขึ้น ผมก็เข้าใจในฐานะที่เป็นนักกฎหมายว่า บางเรื่องก็ต้องรอ ทั้งเรื่องของการเปิดโอกาสให้ผู้ชี้แจงได้แสวงหาพยานหลักฐานใช้ระบบไต่สวนเข้ามา แต่ว่า ในเรื่องของการขีดเส้นระยะเวลาเอาไว้ก็จะเป็นกรอบจำกัดที่ไม่ให้เป็นช่องว่างที่มาก จนเกินไปที่จะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบหรือเสียเปรียบ ซึ่งตรงนี้ผมเข้าใจว่า คณะตุลาการน่าจะมีประสบการณ์ในการหาค่าเฉลี่ยที่เหมาะสมในการที่จะหาเอกสาร พยานหลักฐานชี้แจงต่อคณะตุลาการได้ไวมากขึ้น และนำไปสู่การพิจารณาที่สามารถ ลงความเห็นอะไรต่าง ๆ ได้ไวมากขึ้น เพราะฉะนั้นมาตรฐานที่ท่านทำไว้ดีอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็น เรื่องของการให้บริการประชาชนในสำนักงาน แต่ผมเห็นที่กรุงเทพฯ ยังไม่ได้มีโอกาส ไปตามต่างจังหวัด เพราะว่าเข้าใจว่าท่านก็มีที่นั่นด้วย แต่ว่าหวังว่า Model ที่ท่านได้ใช้ ที่กรุงเทพฯ จะไปเป็นมาตรฐานที่จะได้ดูแลประชาชนต่อไป ฝากนะครับว่าอย่าให้กฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือว่าอะไรมาเป็นอุปสรรคในการขัดขวางในการพิจารณาคดีแบบ Online ผมคิดว่าเป็นเครื่องมือที่ประหยัดเวลาในการที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมากขึ้นที่บางที พี่น้องประชาชนจะร้องเรื่องสิ่งแวดล้อม การที่จะต้องเดินทางไปยังศาลหรือว่าการรวมตัวกัน ก็จะมีความยากลำบาก ก็ไม่รบกวนสภาแห่งนี้ฝากไว้เพียงเท่านี้ ขอบพระคุณท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปเชิญท่านธีระชัย แสนแก้ว ถ้าท่านธีระชัยยังไม่พร้อมขอเป็น ท่านนิพนธ์ คนขยัน ได้ไหมครับ เชิญครับท่านนิพนธ์

นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นิพนธ์ คนขยัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบึงกาฬ เขตเลือกตั้งที่ ๓ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ วันนี้รับทราบรายงานประจำปีงบประมาณของศาลปกครองและสำนักงาน ศาลปกครอง ปี ๒๕๖๕ ขออ่านพันธกิจมี ๕ พันธกิจ แต่ผมจะอ่านพันธกิจแรก

นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ

พิพากษาคดีและบังคับคดีด้วยความถูกต้อง เป็นธรรม รวดเร็ว และเกิด สัมฤทธิผลทุกภาคส่วนในสังคม เข้าถึงการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองได้โดยง่าย และทั่วถึง ท่านประธานครับ ท่านได้นำปัญหาและแนวทางแก้ปัญหา ผมอ่านแล้วเข้าใจแล้ว แต่อยากฝากขอบคุณผ่านท่านประธานไปยังผู้มาชี้แจงวันนี้ วันนี้ศาลปกครองเป็นที่พึ่ง ของหลายคน ท่านได้ตัดสินคดีความให้กับพี่น้องประชาชน โดยตัวบุคคลก็ดี มองแล้วว่า บางครั้งผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกตัดสินนี้คิดว่าไม่เป็นธรรมเลยไปร้องศาลปกครอง ผมถึงมองว่าเป็นที่พึ่ง มีหลายคดีพี่น้องบึงกาฬ หรือพี่น้องทั่วประเทศที่ไปร้องศาลปกครองแล้วศาลปกครองมีการไต่สวน สอบสวนเรียบร้อยตัดสินออกมาเขาก็ชื่นชม ดังนั้นขอเป็นกำลังใจและขอชื่นชมในการทำงาน ดังที่ผมกราบเรียนว่าศาลนี้เป็นอีกศาลหนึ่งที่ให้ความหวังกับผู้ที่คิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ในการตัดสินคดี ดังนั้นวันนี้ปัญหาต่าง ๆ อุปสรรคที่ท่านได้เสนอมานั้น โดยเฉพาะ การดำเนินคดีล่าช้า อันนี้ก็เข้าใจครับ หน่วยงานท่านอาจจะติดขัดเรื่องบุคลากร ติดขัด เรื่องการไต่สวนสอบสวนต่าง ๆ มันมากมาย ก็เห็นใจ เข้าใจ แต่ผมเชื่อว่าเป็นที่พึ่ง ของประชาชน ผมและเพื่อนสมาชิกคิดว่าน่าจะให้การสนับสนุนสิ่งที่ท่านติดขัด ในเรื่องบุคลากรหรือว่างบประมาณ เพราะอย่างที่ผมกราบเรียนท่านประธานผ่านไปยัง ท่านผู้มาชี้แจงครับว่าเป็นที่พึ่งจริง ๆ ดังนั้นวันนี้ไม่มีสิ่งอื่นใด นอกจากจะให้กำลังใจ และขอบคุณในการทำงานของท่าน

นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ

สุดท้ายฝากเรื่องพันธกิจที่ว่านี่ ขออ่านอีกครั้งหนึ่งครับท่านประธาน พิพากษาคดีและบังคับคดีด้วยความถูกต้อง เป็นธรรม รวดเร็ว และเกิดสัมฤทธิผล ทุกภาคส่วนในสังคม เข้าถึงอำนวยความยุติธรรมทางปกครองได้โดยง่าย และทั่วถึง พอใจมากครับคำนี้ ก็ฝากท่านว่าให้ผดุงคำนี้ไว้ตลอดไป ขอบคุณครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปเชิญท่านธิษะณา ชุณหะวัณ ครับ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ธิษะณา ชุณหะวัณ สส. แบบแบ่งเขต กรุงเทพมหานคร เขต ๒ หรือเขตปทุมวัน เขตสาทร และเขตราชเทวี ขออนุญาต Slide ขึ้นค่ะฝ่ายโสต

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

สำหรับรายงาน ศาลปกครองในวันนี้ดิฉันมีประเด็นข้อกังวลเพิ่มเติมบางส่วน ซึ่งเนื้อหาก็ไม่ยาวนักที่จะขอ นำเรียนผ่านท่านประธานไปยังประธานศาลปกครองและเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง เพื่อให้มีการปรับปรุงแก้ไขข้อกังวลดังกล่าวในกระบวนการการทำงานของศาลปกครอง ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและราบรื่นมากยิ่งขึ้นค่ะท่านประธาน ซึ่งในจุดนี้ดิฉันก็ต้อง ขอชื่นชมก่อนเป็นอันดับแรกว่ากระบวนการทำงานของศาลปกครองที่เรียกว่าการดำเนินการ ผ่านมาเป็นอย่างดี แล้วก็มีเพียงบางจุดเท่านั้นที่มีข้อบกพร่อง แล้วก็ถ้าแก้ไขได้ก็จะได้รับ ความเป็นประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนะคะ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

สำหรับประเด็นแรก ดิฉันจะขออภิปรายถึงกรอบระยะเวลาของการพิจารณา คดีของศาลปกครอง ในปัจจุบันนี้มี พ.ร.บ. กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๖๕ และประกาศกำหนดระยะเวลาการดำเนินการคดีในศาลปกครองออกมา บังคับใช้แล้ว แต่ดิฉันยังตรวจสอบว่ามีคดีบางส่วนที่ยังค้างคา และใช้ระยะเวลา ในการดำเนินคดีที่ยาวนานอยู่ ซึ่งเป็นคดีที่ดิฉันให้ความกังวล โดยการตรวจสอบจากรายงาน มีการระบุว่าหากย้อนกลับไปในคดีที่มีการยื่นฟ้องระหว่างปี ๒๕๕๖-๒๕๖๐ ยังคงมีคดี ที่ค้างคาอยู่ในการพิจารณารวมทั้งหมดแล้วถึง ๔๒๐ กว่าคดี อย่างไรก็ตามรายงานดังกล่าว กลับไม่มีข้อมูลของตัวเลขจำนวนคดีที่คงค้างว่าเป็นคดีประเภทใดบ้าง ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ใดบ้าง และล่าช้ามาแล้วกี่ปี แต่ละปีมีตัวเลขเท่าใด ที่ดิฉันเห็นเป็นเพียงตัวเลขของคดีที่พิจารณา แล้วเสร็จแยกตามประเภทเท่านั้น

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ก็คือความยุติธรรมที่ล้าช้า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่ดิฉันคิดว่า ศาลปกครองควรต้องเปิดเผยในรายงาน เพื่อที่จะได้มีการตรวจสอบสาเหตุของความล่าช้า ในการพิจารณาคดีว่ามีนัยสำคัญแต่ละประเด็นหรือไม่ อย่างไร ดิฉันมีความกังวลและห่วงใย ต่อข้อพิพาทของประชาชนต่อหน่วยงานรัฐที่มีการพิจารณาในศาลปกครอง หลายคดีเป็นคดี ที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชน หลายคนเป็นชาวบ้านตาสีตาสา หากใช้เวลา ในการพิจารณาคดีที่ยาวนานจนเกินไปอาจทำให้ทรัพยากรของประชาชนที่มาฟ้องร้องคดี ก็อาจจะหมดไปได้ แล้วก็ไม่ได้รับการคุ้มครอง หรืออำนวยความยุติธรรมได้อย่างที่ควร จะเป็นทั้งที่ยังเป็นช่องว่างที่เปิดให้คู่ความฝ่ายตรงข้าม ซึ่งมักเป็นหน่วยงานรัฐหรือกลุ่มทุน ขนาดใหญ่ใช้โอกาสนี้ในการที่จะเป็นภาระที่ต่อสู้คดีที่ยาวนาน กดดัน และแสวงหาผลประโยชน์ โดยที่ยังไม่มีคำสั่งของศาล ดิฉันจึงอยากให้ศาลปกครองมีการปรับปรุงแก้ไขในข้อกังวล เหล่านี้ และรวมถึงรายงานและวิเคราะห์สาเหตุ และนัยของคดีที่มีความล่าช้า เพื่อให้ ศาลปกครองสามารถเป็นที่น่าเชื่อถือของประชาชนได้อย่างไร้ข้อกังขาค่ะท่านประธาน เพราะความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรมค่ะ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นต่อมาคือประเด็นเรื่องกลไกของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ประเด็น ที่ควรปรับปรุงในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างที่ทุกท่านน่าจะได้ทราบกัน อยู่แล้วว่าศาลปกครองมีลักษณะของระบบไต่สวน ซึ่งแตกต่างจากศาลยุติธรรมหรือศาลแพ่ง ที่เป็นระบบฟ้องร้อง หรือระบบร้องเรียน ซึ่งผู้พิพากษา ตุลาการจะมีบทบาทในการสืบสวน และหาข้อเท็จจริงในคดี แต่ในขณะเดียวกันผู้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองก็ไม่จำเป็นที่จะต้อง มีทนายความ ซึ่งเห็นได้ชัดถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้ศาลปกครอง ต้องเข้าไปชดเชยความสามารถในการสืบ และพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยกลไกการพิจารณาคดี เพราะคู่พิพาทในหลายครั้งจะไม่ใช่บุคคลทั่วไปที่มีฐานะเท่าเทียมกัน แต่จะเป็นประชาชน คนธรรมดากับหน่วยงานของรัฐ หรือประชาชนกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ หรือกลุ่มทุนผูกขาด แต่ในความเป็นจริงอย่างที่ดิฉันกล่าวไว้ข้างต้นยังคงมีคดีที่ค้างคาและใช้เวลาในการพิจารณา ในศาลปกครองที่ยาวนานในหลายคดี เมื่อมีคำพิพากษาแล้วก็ไม่ทันท่วงทีต่อความเสียหาย ที่เกิดขึ้น ในกรณีนี้ดิฉันจึงอยากเสนอให้ศาลปกครองมีการศึกษาและจัดหามาตรการพิเศษ บางอย่าง เพื่อใช้ในการพิจารณาคดีด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยเฉพาะ เพื่อเป็น การสร้างความเท่าเทียม และโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม และได้ทันท่วงที ดิฉันขอยกตัวอย่างศาลปกครองในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีการใช้มาตรการ ต่าง ๆ เพื่อความรวดเร็วและป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้น อย่างเช่น การปรับลดองค์คณะ และการยกเว้นขั้นตอนของตุลาการผู้แถลงคดี การกำหนดให้มีหน่วยงานภายในสำหรับ การวิเคราะห์คำฟ้องโดยเฉพาะ การนำกรอบระยะเวลาแบบสั้นมาใช้ในการพิจารณาคดีสิทธิ เสรีภาพโดยเฉพาะ รวมถึงจำแนกแยกโจทก์ที่มีรายได้น้อย และจัดหามาตรการช่วยเหลือ ให้แก่โจทก์ที่มีรายได้น้อยค่ะ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

โดยสรุปแล้วดิฉันจึงขอนำเรียนไปยังท่านประธานและเลขาธิการสำนักงาน ศาลปกครองว่าดิฉันอยากให้ศาลปกครองปรับปรุงกลไกในการอำนวยความยุติธรรมเชิงรุก มากยิ่งขึ้นหรือระบบไต่สวนนั่นเองโดยเฉพาะคดีที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง หรือมีความสามารถในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงทางคดีที่จำกัด

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นสุดท้าย คือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นก่อนหน้านี้เช่นเดียวกัน ดิฉันขออนุญาตหยิบยกตัวอย่างคดีจำนวน ๒ คดี แต่ว่าก็ยังมีคดีอีกจำนวนมาก คือคดีเพิกถอนสิทธิเหมืองหินปูนดงมะไฟ ที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ดงมะไฟเป็นผู้ฟ้องร้อง และคดีเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างแอชตัน อโศก สำหรับรายละเอียดนั้นดิฉันขออนุญาต ไม่อภิปรายเพราะคงทราบกันดีอยู่แล้วนะคะ แต่จุดที่ดิฉันอยากชี้ให้ท่านประธานเห็นก็คือ ทั้ง ๒ คดีมีจุดร่วมเหมือนกันจุดหนึ่งคือในระหว่างการพิจารณาคดีศาลปกครองได้มีคำสั่ง ยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนจะมีคำพิพากษา ซึ่งส่งผลให้แม้ท้ายที่สุดแล้ว ฝ่ายผู้ฟ้องร้องคดีจะได้รับชัยชนะ แต่ในกรณีนี้ชาวบ้านดงมะไฟและชาวบ้านย่านอโศก ก็ส่งผลให้เกิดความเสียหายบางอย่างที่ยากจะเยียวยา และอาจต่อเนื่องกลายเป็นปัญหา คาราคาซังได้ เช่น กรณีดงมะไฟก็มีภูเขาถูกระเบิดเพื่อทำเหมืองไปแล้วเป็นบางส่วน ซึ่งก็ได้ละเมิดไปแล้วนะคะ ส่วนในกรณีของแอชตัน อโศก ก็ต้องพบกับปัญหาการรื้อถอน และการจัดหามาตรการเยียวยาผู้เช่าซื้อล่วงหน้า ซึ่งทั้ง ๒ ส่วนเป็นความเสียหายที่เยียวยา ในภายหลังได้ยาก และอาจได้ไม่คุ้มเสีย หากศาลปกครองอาจพิจารณามีคำสั่งคุ้มครอง ชั่วคราวตั้งแต่แรก ดังนั้นดิฉันจึงอยากนำเรียนท่านประธานไปยังศาลปกครองขอให้ท่าน ทบทวนและให้ความสำคัญกับการกำหนดหลักเกณฑ์ และแนวทางการพิจารณาในการมีคำสั่ง คุ้มครองชั่วคราวอย่างรัดกุม โดยเฉพาะคดีที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบยาวนาน และการเยียวยา ภายหลังได้ยาก ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบที่รุนแรง และภาระในการติดตามมาตรการ เยียวยาเรามีบทเรียนจากหลายคดีที่ดิฉันได้ยกตัวอย่างไปแล้ว ๒ คดีล่วงหน้า ดิฉันขอเรียนย้ำว่า เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น และยังมีคดีที่เกิดขึ้นและสร้างความเสียหาย ดิฉันจึงอยากรบกวน ท่านประธานศาลปกครองให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพราะมีประชาชนมากมาย เหลือเกินที่ยังไม่ได้รับความยุติธรรมอย่างที่ควร กราบขอบพระคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านธีระชัย แสนแก้ว ครับ

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายธีระชัย แสนแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย กระผมใคร่ขออนุญาตท่านประธานที่จะร่วมอภิปรายในรายงานประจำปีของศาลปกครอง และสำนักงานศาลปกครอง ๒ ประเด็นดังนี้

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

ศาลปกครองเป็นองค์กรตุลาการที่มีบทบาทสำคัญยิ่งของประเทศไทย และที่สำคัญมากต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนทุกคน ที่กระผมกล่าวเช่นนี้ ก็เพราะว่าไม่ว่าจะเกี่ยวกับเรื่องการกระทำของการปกครองหรือคำสั่งทางปกครอง การปฏิบัติตามนโยบายภารกิจโครงการ หรือแม้กระทั่งสาธารณูปโภคพื้นฐานของรัฐบาล และหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ เพื่อบริการดูแลพี่น้องประชาชนหากมีคดีหรือพิพาทขึ้นทั้งหมด ล้วนเกี่ยวข้องกับศาลปกครองทั้งสิ้น เพราะศาลปกครองเป็นศูนย์อำนวยการยุติธรรมให้กับ พี่น้องประชาชน ท่านประธานครับ ศาลปกครองมีพันธกิจที่อำนวยความยุติธรรม ทางการปกครองกับพี่น้องประชาชนโดยต้องพิพากษาคดี รวมทั้งการบังคับคดีด้วยความถูกต้อง เป็นธรรม รวดเร็ว และศาลปกครองจะต้องวางหลักปฏิบัติราชการให้เกิดขึ้น เพื่อที่จะเป็น บรรทัดฐานให้กับอำนาจการปกครองของหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ที่ใช้อำนาจรัฐ เพื่อบริการดูแล พี่น้องประชาชน แต่ท่านประธานที่เคารพจากรายงานหน้า ๑๖ ส่วนที่ ๒ ผลการดำเนินงาน ที่สำคัญเรื่องการดำเนินงานด้านการพิจารณาพิพากษาคดีปกครองประจำปี ๒๕๖๕ ศาลปกครองมีคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบ ๔๐,๑๗๖ คดี โดยเป็นคดีที่ยกมาจากปี ๒๕๖๔ จำนวน ๒๖,๘๘๙ คดี และเป็นคดีใหม่ปี ๒๕๖๕ จำนวน ๑๓,๒๘๗ คดี ศาลปกครองพิจารณา พิพากษาแล้วเสร็จจำนวน ๑๓,๐๗๘ คดี คิดเป็นร้อยละ ๓๒.๕๕ ทำให้คดีอยู่ในระหว่าง การพิจารณาจำนวน ๒๗,๐๙๘ คดี คิดเป็นร้อยละ ๖๗.๔๕ นี่คือในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ครับ ท่านประธาน ทีนี้ผมขอเอามาเปรียบเทียบกับปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ปี ๒๕๖๔ ศาลปกครอง มีคดีอยู่ในความรับผิดชอบ ๓๗,๗๐๑ คดี โดยเป็นคดีที่ยกมาจากปี ๒๕๖๓ จำนวน ๒๖,๓๑๐ คดี และเป็นคดีใหม่ในปี ๒๕๖๔ จำนวน ๑๑,๓๙๗ คดีศาลปกครองพิจารณา พิพากษาคดีแล้วเสร็จ จำนวน ๑๐,๙๑๕ คดี คิดเป็นร้อยละ ๒๘ ทำให้มีคดีอยู่ในระหว่าง การพิจารณา ๒๖,๘๘๕ คดี คิดเป็นร้อยละ ๗๑.๓๑ เปอร์เซ็นต์ ท่านประธานที่เคารพครับ จากการเปรียบเทียบคดีของศาลปกครองในจำนวนคดีที่พิจารณาคดีแล้วเสร็จระหว่าง ปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕ แม้ว่าปี ๒๕๖๕ ศาลปกครองจะมีคดีอยู่ในระหว่างความรับผิดชอบ มากกว่าปี ๒๕๖๔ ถึง ๒,๔๗๕ คดี แต่ในปี ๒๕๖๕ ศาลปกครองสามารถพิจารณาคดีเสร็จแล้ว ได้มากกว่าปี ๒๕๖๔ ถึง ๒,๑๖๓ คดี เรื่องนี้กระผมขอชื่นชมไปยังศาลปกครองนะครับ ว่าท่านสามารถบริหารจัดการคดีได้ดีกว่าปี ๒๕๖๔ และทำให้คดีที่คั่งค้างไปยังปี ๒๕๖๖ ลดน้อยไปกว่า ๒,๐๐๐ คดี ในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดีต่อพี่น้องประชาชน เพราะเมื่อพิจารณา พิพากษาคดีแล้วเสร็จไวขึ้นการเยียวยาและการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนจะได้ เพิ่มมากขึ้นถึง ๒,๑๖๓ คดี

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ศาลปกครองได้วิเคราะห์ถึงผลสัมฤทธิ์ประโยชน์ที่ได้จากการใช้ จ่ายงบประมาณปี ๒๕๖๕ ไว้ในหน้า ๘๘-๙๐ ในเล่มนี้ ปรากฏว่าแผนพื้นฐานจำนวนทั้งสิ้น ๖ ตัวชี้วัด มี ๒ ตัวชี้วัดไม่บรรลุเป้าหมาย คือพูดง่าย ๆ ว่าตกตัวชี้วัดครับท่านประธาน ตัวชี้วัดที่ ๓ ร้อยละของคดีดำเนินการบังคับคดีแล้วเสร็จกำหนดค่าป้าหมายไว้ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ศาลปกครองดำเนินได้เพียง ๕๖.๗๙ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ได้ต่ำกว่า เป้าหมาย ๒๓ เปอร์เซ็นต์ และตัวชี้วัดที่ ๖ จำนวนที่ศาลปกครองพิจารณาแล้วเสร็จ กำหนดเป้าหมายไว้ ๑๗,๕๐๐ คดี แต่ศาลปกครองดำเนินได้เพียง ๑๓,๐๗๘ คดีเท่านั้น ทำให้ต่ำกว่าเป้าหมาย ๔,๔๒๒ คดี ท่านประธานที่เคารพครับ กระผมถือว่า ๒ ตัวชี้วัดนี้ ทั้งเรื่องจำนวนคดีศาลปกครองพิจารณาที่พิจารณาแล้วเสร็จ และเริ่มดำเนินการบังคับคดี แล้วเสร็จถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการอำนวยความยุติธรรมให้แก่พี่น้องประชาชน นี่เปรียบเสมือนปลายทาง และผลลัพธ์ที่พี่น้องประชาชนเฝ้ารอดูว่าท่านจะตัดสินไปใน แนวทาง ทิศทางใด และพี่น้องประชาชนเฝ้ารออยู่ว่าท่านจะสร้างความยุติธรรมให้แก่ พวกเขาได้อย่างไร กระผมขออนุญาตยกตัวอย่างเพื่อที่จะให้พี่น้องประชาชนมองเห็นภาพ ง่าย ๆ ดังเช่นตัวชี้วัดที่ ๖ จำนวนคดีที่ศาลปกครองได้พิจารณาไม่แล้วเสร็จมีจำนวนมากถึง ๔,๔๒๒ คดี สมมุติว่ามีพี่น้องประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือมีคำสั่งที่ศาลปกครอง ไม่มีความชอบธรรมจากหน่วยงานของรัฐหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง จำนวน ๔,๔๒๒ คน เท่ากับว่าพี่น้องประชาชน จำนวน ๔,๔๒๒ คนนี้ยังต้องรอคอยการพิจารณาพิพากษาคดี จากศาลปกครอง แต่ในขณะที่ความเสียหายเกิดขึ้นและความไม่ยุติธรรมได้เกิดขึ้นกับ พี่น้องประชาชนทั้งหมดนี้มาตั้งแต่วันที่หน่วยงานของรัฐนั้นได้กระทำโดยมิชอบ หรือมีคำสั่ง ทางปกครองที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพ ผลเสียที่เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนจะมากมาย อย่างสาหัสจะได้รับการเยียวยาแก้ไขปัญหาได้อย่างไร ท่านประธานที่เคารพครับ ถ้าหากในปี ต่อ ๆ ไปศาลปกครองสามารถดำเนินการได้ตามตัวชี้วัดบรรลุเป้าหมายที่ท่านกำหนดไว้ได้ กระผมเชื่อว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองให้แก่พี่น้อง ประชาชนได้อย่างมาก สุดท้ายกระผมขออนุญาตฝากความคาดหวังให้พี่น้องประชาชน คนไทยทุกคนถึงศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครอง ตลอดระยะเวลา ๒๑ ปีที่ผ่านมา ได้จัดตั้งศาลปกครองขึ้นท่านก็ได้ทำประโยชน์มากมาย กระผมขอให้ศาลปกครองยกระดับ การทำงานเพิ่มให้มากขึ้นกว่านี้ และมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ มีความเป็นธรรม รวดเร็ว ส่งเสริมเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในด้านสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายปกครอง เพื่อให้ท่าน เป็นหลักที่พึ่งให้กับประชาชน ผม นายธีระชัย แสนแก้ว ขอเป็นกำลังใจให้กับคณะทุกท่าน ที่ได้มาชี้แจงในวันนี้ ขอกราบขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านฐากร ตันฑสิทธิ์ ครับ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ก่อนอื่นต้องขออนุญาตท่านประธานชื่นชมทางศาลปกครองเป็นอย่างยิ่ง ผมได้อ่านรายงาน ประจำปีของท่านก็รู้สึกดีใจว่าการทำงานของท่านเป็นที่พึ่งของพี่น้องประชาชนได้ในหลาย ๆ เรื่อง เพราะว่ากระบวนการในการพิจารณาของศาลปกครองก็แตกต่างจากกระบวนการ พิจารณาของศาลยุติธรรมที่เกิดขึ้น แต่คำถามที่ผมอยากจะนำเรียนสั้น ๆ อยากจะถามทาง ศาลปกครองในวันนี้ว่าคดีที่ฟ้องที่ศาลปกครอง แล้วก็คดีที่ฟ้องที่ศาลยุติธรรมในกรณีที่เป็น คดีแพ่ง ผมเข้าใจว่ามีคณะกรรมการข้อยุติระหว่างศาลปกครอง แล้วก็ศาลยุติธรรมในการที่จะ พิจารณาว่าจะเป็นศาลไหนในการที่จะรับพิจารณาคดีดังกล่าวนี้ น่าจะเข้าใจอย่างนี้นะครับ แต่ประเด็นต่อไปคือที่ผมข้องใจในขณะนี้ก็คือประเด็นในกรณีที่หลายหน่วยงานในขณะนี้ ก็คือฟ้องต่อศาลปกครองแล้วอีกคดีหนึ่งยื่นฟ้องต่อศาลอาญาทุจริตกลาง กรณีอย่างนี้ ท่านพิจารณาคดีอย่างไร ศาลอาญาทุจริตกลางก็ยังเดินหน้าในการพิจารณาคดีเรื่องดังกล่าว นี้ต่อไป ในขณะเดียวกันศาลปกครองก็ยังเดินหน้าในการพิจารณาคดีดังกล่าว ผลการตัดสิน ออกมาถ้าเกิดว่าแตกต่างกันเมื่อไรผมเรียนท่านว่าคดีหนึ่งขาของจำเลยอยู่ในคุก อีกคดีหนึ่ง เป็นคดีรับผิดชอบทางด้านปกครอง ผมไม่ทราบว่าคดีในกรณีลักษณะอย่างนี้มันมีข้อยุติ ร่วมกันไหมว่าจะทำอย่างไร มันมีหลายกรณีในขณะนี้ ผมเรียนอย่างนี้ว่ากรณีเกิดขึ้นอยากให้ ท่านดูว่ากรณีของสำนักงาน กสทช. ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ฟ้องที่ศาลปกครองท่านก็มีหลายคดี ในขณะเดียวกันในกลุ่มเดียวกันยื่นฟ้องต่อศาลอาญาทุจริตกลางอีกครับ ผมก็ยังไม่รู้ว่า คดีรับไว้ที่ศาลปกครอง และคดีรับไว้ที่ศาลอาญาทุจริตกลาง หลายคดีที่ทำกันอยู่ในขณะนี้ คดีไหนที่จะถูกการพักเพื่อที่จะรอศาลใดศาลหนึ่งพิจารณาก่อน อันนี้เป็นคำถาม ที่ผมอยากจะทราบจริง ๆ ว่าเราจะทำอย่างไรในกรณีอย่างนี้ แต่ถ้าเป็นคดีแพ่งกับคดี ของศาลปกครองผมเข้าใจว่ามีคณะกรรมการในการทำงานหาข้อยุติร่วมกันในเรื่องนี้ ฝากท่านถามข้อมูลในเรื่องนี้จริง ๆ ครับ ก็ขอกราบขอบพระคุณท่านว่าสิ่งที่ท่านทำมาในส่วน ที่เกี่ยวกับผลงานต่าง ๆ ของท่านไม่ว่าจะเป็นเรื่องคดี Hopewell ต่าง ๆ ที่ท่านได้ดำเนินการ ในเรื่องดังกล่าวทำให้ผลประโยชน์ของประเทศชาติได้กลับคืนมาต่าง ๆ ในขณะนี้ก็ต้องขอ ชื่นชมในการทำงานของท่าน แต่ส่วนที่ผมขออนุญาตถามท่านว่าเราจะทำในเรื่องพวกนี้ อย่างไรว่าคดีต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นแล้วไปคาบเกี่ยวกับคดีอาญาที่ยื่นฟ้องอยู่เราจะดำเนินการ ในเรื่องนี้อย่างไร จะหาข้อยุติอย่างไรว่าจะพักคดีหนึ่งไว้ หรือจะชะลออีกคดีหนึ่งไว้ รอเพื่อที่จะฟังการพิจารณาของคดีดังกล่าวนั้นต่อไปหรือไม่ ก็ขออนุญาตฝากท่านประธาน ไปถึงทางศาลปกครอง ขอกราบขอบพระคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับ เชิญท่านณพล เชยคำแหง ครับ

นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ กระผม นายณพล เชยคำแหง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดหนองบัวลำภู นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน เขต ๓ พรรคเพื่อไทย วันนี้ผมได้อ่าน รายงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ ของศาลปกครองฉบับนี้ที่ได้รายงานวิเคราะห์ ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีปกครอง รายงานสรุปแนวทางการปฏิบัติงานทางราชการ รายงาน คำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดและคำพิพากษา และคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่น่าสนใจ มาก ๆ ท่านประธานครับ

นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ

ผมเชื่อว่ารายงานฉบับนี้ แล้วก็ จากการทำงานของกลุ่มคณะผู้บริหารศาลปกครองที่ได้เข้ามารายงานในสภาแห่งนี้จะเป็น ประโยชน์อย่างยิ่ง แล้วก็จะเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมมาก ๆ ถ้าเทียบกับงบประมาณภาษี ของประชาชนที่ได้ใช้กับหน่วยงานของท่าน ซึ่งจะเห็นว่าเป็นประโยชน์ หน่วยงานปฏิบัติงาน ได้อย่างถูกต้องตามแนวทางที่จะต้องปฏิบัติราชการที่ดีของบ้านเมืองของเรา ก่อนอื่นผมต้อง ขออธิบายถึงหน้าที่ของศาลปกครองให้ประชาชนที่อยู่ทางบ้านได้รับทราบ แล้วก็รู้จัก กับศาลปกครองสักเล็กน้อยนะครับ ศาลปกครองคือศาลที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาความอาญาคดีปกครอง พุทธศักราช ๒๕๔๒ มีอำนาจหน้าที่ ในการพิจารณาพิพากษาคดีปกครอง แล้วก็เป็นคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน ขอย้ำนะครับ ศาลปกครองมีหน้าที่ว่าความคดีพิพาทระหว่าง หน่วยงานของรัฐ และบุคคลของรัฐกับเอกชน หรือคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันเองอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางการปกครอง การละเว้น การปฏิบัติหน้าที่ การปฏิบัติหน้าที่ที่ล่าช้าเกินสมควร การกระทำละเมิดข้อพิพาทอันเกี่ยวกับ สัญญาทางการปกครอง ภารกิจของศาลปกครอง ซึ่งในรายงานฉบับนี้ก็ได้เขียนรายละเอียด ไว้ครบถ้วนแล้ว อันนี้ก็ตอกย้ำให้หลายท่านได้เข้าใจว่าหน้าที่ของศาลปกครองเป็นการ พิจารณาคดีอะไร จากหนังสือรายงานฉบับนี้ได้พูดถึงเป้าประสงค์หลัก ซึ่งมีกำหนดไว้ถึง ๒๐ ปี แล้วแบ่งเป็นแผนแม่บทเอาไว้เป็น ๔ ระยะด้วยกัน ระยะละ ๕ ปี ซึ่งในวันนี้ ในรายงานฉบับนี้จะเป็นของระยะที่ ๑ นะครับ

นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ

จากระยะที่ ๑ เรามีเป้าประสงค์หลักที่พูดถึงทุกภาคส่วนในสังคมจะต้องให้ ความเชื่อมั่นในระดับสูงต่อการอำนวยความยุติธรรมของศาลปกครอง อันนี้คือเป้าประสงค์ หลักระยะ ๒๐ ปี ข้อที่ ๑

นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ

ข้อที่ ๒ ก็คือเป็นการดำเนินงานของการอำนวยความยุติธรรมทางการปกครอง ไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด

นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ จากเป้าประสงค์หลักนี้ก็จะส่งผลมาถึงแผนปฏิบัติงาน ในระยะสั้นคือระยะแรก ปี ๒๕๖๑-๒๕๖๕ ใน ๓ ปีที่ผ่านมาของรายงานเล่มนี้ ผมเห็นว่า แผนการปฏิบัติงานที่ผ่านมาอุ่นใจมากว่าองค์กรของท่านได้ปฏิบัติงานในด้านการปกครอง กฎหมาย ยุติธรรมกับประชาชน โดยแบ่งแผนการปฏิบัติงานไว้ ๕ ด้าน ดังนี้ ด้านที่ ๑ ก็คือ การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคดีปกครอง ด้านที่ ๒ ก็คือการเสริมสร้าง ธรรมาภิบาลในสังคม ด้านที่ ๓ ก็คือการพัฒนาศาลปกครองอัจฉริยะ หรือเรียกว่า Smart Admincourt ด้านที่ ๔ ก็คือการพัฒนาระบบการบริหารจัดการองค์กรสู่ความเป็นเลิศ และด้านที่ ๕ ก็คือการยกระดับความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศด้วยงานวิจัยและพัฒนา นวัตกรรมของศาลปกครอง แล้วถ้าเกิดว่าจะเปรียบเทียบงบประมาณรายจ่ายประจำปี ใน ๓ ปีย้อนหลัง ปี ๒๕๖๓ ถึงปี ๒๕๖๕ ก็จะพบว่างบประมาณมีการเพิ่มขึ้น ๒.๒๘ เปอร์เซ็นต์ โดยมีการใช้จ่ายตามแผนแม่บทการปฏิบัติงานทั้ง ๕ ด้าน ดังนี้

นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ

ด้านที่ ๑ จะเห็นว่าในด้านการดำเนินงานการพิพากษาคดีปกครองที่แล้วเสร็จ ไปแล้วทั้งหมด ๑๖๗,๓๒๕ คดี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ ๘๖ ของคดีทั้งหมดที่มีอยู่ในช่วง ๑-๓ ปีที่ผ่านมา เป็นไปตามตัวแม่บทการเพิ่มการคุ้มครองประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ และทั่วถึง มีการพัฒนาระบบความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและเป็นธรรม ต่อการบังคับคดี ดังที่มีการพูดถึงตัวเลขรายละเอียดของคดีต่าง ๆ ที่ผ่านมาในเรื่องของ ประสิทธิภาพของศาลปกครองมาแล้วโดยผู้อภิปรายหลายท่านที่กล่าวมาผมไม่ขอพูดซ้ำ

นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ

ด้านที่ ๒ ก็คือการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในสังคม ก็จะพบว่าหน่วยงาน ของท่านได้มีการเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกด้านข้อพิพาทระหว่างคดี การเข้าสู่ระบบของคดี ไม่ว่าจะเป็นการเสริมสร้างองค์ความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ผ่านสื่อ Digital ในรูปแบบ Online อันนี้ ต้องน่าชื่นชมมากนะครับ อย่างที่หลายท่านได้บอกแล้วว่าการเข้าถึงประชาชนในสมัยปัจจุบันนี้ ต้องมีระบบ Online หรือการสร้างเสริมองค์ความรู้ให้กับนักเรียนก่อนที่จะเข้าสู่ระบบ การเรียนในชั้นอุดมศึกษา ซึ่งตรงนี้ผมขอเสนอแนะนิดหนึ่งว่าอยากให้ท่านปฏิบัติ ให้ครอบคลุมให้กับบุคคลทั่วไปด้วย อยากให้มีการใช้สื่อช่องทางต่าง ๆ ที่ไม่ต้องมุ่งเน้น เฉพาะนักเรียน ประชาชนเรานี่ละครับก็อยากให้ท่านได้สื่อถึงกลุ่มเขาด้วยให้เขาสามารถ ได้เรียนรู้ และอาจจะต้องเป็นสื่อกลางให้เข้าถึงแบบเชิงรุก เช่น จะเป็นช่องทาง การประชาสัมพันธ์ด้านองค์กรความรู้ทางโลก Online อย่างนี้เป็นต้น

นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ

ด้านที่ ๓ ที่บอกว่าการพัฒนาศาลปกครองอัจฉริยะ หรือ Smart Admincourt อันนี้ก็เป็นแผนปฏิบัติงานที่ต้องน่าชื่นชมมาก ผมอ่านแล้วก็รู้สึกประทับใจว่าในการปกครอง อัจฉริยะอย่างนี้ เช่น การให้คำปรึกษา แนะนำการฟ้องคดี หรือศูนย์บริการประชาชน แบบเบ็ดเสร็จแล้วก็เป็นจุดเดียวอันนี้ชื่นชมครับ แล้วก็เป็นข้อมูลให้สามารถเข้าถึงได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ทำให้ประชาชนได้สอบถามความคิดเห็น แล้วก็ปรึกษา ๆ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผ่านระบบ Online ได้

นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ

ด้านที่ ๔ อันนี้ก็คือการพัฒนาระบบบริหารการจัดการสู่องค์กรแห่งความเป็นเลิศ ก็คือการยกระดับการบริหารด้านทรัพยากรบุคคลสู่ความเป็นเลิศนั่นเอง จัดการภายใต้สู่ มาตรฐานสากล โดยเพื่อให้เท่าทันกับประเทศที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ มุ่งเน้น ให้เทคโนโลยีได้เท่าทันต่อองค์กร จัดทำแผนพัฒนารายบุคคลของบุคลากรของสำนักงาน ศาลปกครองครับ

นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ

ด้านที่ ๕ ก็คือการยกระดับความร่วมมือกับต่างประเทศ แล้วก็งานวิจัย นวัตกรรม ตรงนี้องค์กรของท่านก็สามารถขยายและยกระดับความร่วมมือทางศาล ทางวิชาการให้กับความรู้ให้เป็นที่ยอมรับของต่างประเทศอย่างชัดเจนนะครับ

นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ

สุดท้ายผมขอให้กำลังใจและขอขอบคุณการดำเนินงานของหน่วยงาน ของท่านที่จะเห็นว่าภารกิจทั้ง ๕ ด้านนั้นทำให้สถิติของคดีศาลปกครองสูงสุดได้มี ประสิทธิภาพมากขึ้น จะเห็นว่าการปฏิบัติงานได้เป็นไปตามรูปแบบกระบวนการของการ ดำเนินงาน ซึ่งตรงไปตามแผนปฏิบัติงานของศาลปกครองดังวิสัยทัศน์ที่เขียนไว้ ในรายงานฉบับนี้ หรือ Motto ที่ว่าอำนวยความยุติธรรมทางการปกครองด้วยความเป็นธรรม รวดเร็ว ทันสมัย เพื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลในสังคม และเป็นศาลแห่งความเป็นเลิศ โดยมี Motto สั้น ๆ ว่า เป็นธรรม รวดเร็ว ทันสมัย ขอบคุณครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ จะเป็นสมาชิก ๒ ท่านสุดท้าย ท่านแรกท่านวิทยา แก้วภราดัย ต่อด้วย ท่านเทียบจุฑา ขาวขำ ครับ

นายวิทยา แก้วภราดัย แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ เรียนท่านผู้มา ชี้แจงด้วยผมคงใช้เวลาสภาไม่ยืดยาวนะครับ ได้ดูเอกสาร ๒๑ ปีศาลปกครอง รายงาน ประจำปี ๒๕๖๕ ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในคนที่เป็นคณะกรรมาธิการที่พิจารณาเรื่องการจัดตั้ง ศาลปกครองและวิธีการพิจารณาในศาลปกครอง รวมทั้งเป็นประธานในการแก้ครั้งสุดท้าย เมื่อปี ๒๕๕๔ ผมได้อ่านสารของท่านชาญชัย แสวงศักดิ์ ประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งท่านได้ให้ไว้เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๔ ได้ตีพิมพ์ในวารสารเล่มนี้นะครับ ผมคิดว่ามี ๒ เรื่องที่น่าสนใจแล้วก็เป็นใจกลางของศาลปกครองจริง ๆ ซึ่งท่านมองทะลุปัญหาจริง ๆ แล้วผมก็กำลังจะหาแนวทางว่าจากการที่ประธานศาลปกครองสูงสุดท่านมองทะลุปัญหา ในศาลปกครองแล้ววันนี้เราแก้กันหรือยัง แก้อย่างไร

นายวิทยา แก้วภราดัย แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ ครับ ๒๑ ปีของศาลปกครองที่เพื่อนสมาชิกเกือบทุกท่านพูด ก็คือคดีที่ค้าง ซึ่งท่านประธานศาลปกครองท่านก็มองออก แต่ผมในฐานะคนที่ร่วมกัน ทำกฎหมายฉบับนี้มาตั้งแต่เริ่มต้นได้ติดตามการทำงานของศาลปกครอง ผมคิดว่าเป็นตัวเลข ที่ไม่แปลก ๒๑ ปี มีคดีเข้าศาลปกครองรวมทั้งศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุด ท่านประธานเชื่อไหมครับ ทั้งหมด ๑๘๑,๐๕๓ คดี ๒๑ ปี ๑๘๐,๐๐๐ กว่าคดี และที่สำคัญ ก็คือมีคดีค้างอยู่ ๒๗,๔๐๐ คดี ถามว่าเยอะไหม เยอะครับ แต่เป็นวิสัยทัศน์ของผู้นำ ในองค์กรท่านมองออกครับ คราวนี้เรื่องที่ ๒ ที่ท่านมองออกก็คือปัญหาความลักลั่น ในการวินิจฉัยคดีปกครองที่มีลักษณะเดียวกัน บางครั้งคำวินิจฉัยของศาลปกครองชั้นต้น ในคดีลักษณะเดียวกันแต่คำพิพากษาออกไปคนละทางกัน บางครั้งในคดีประเภทเดียวกัน ทำนองเดียวกันในศาลปกครองสูงสุดออกไปคนละแนวกัน ซึ่งอันนี้ผมถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ในแนวทางการวินิจฉัย ท่านประธานท่านก็มองออกครับว่าท่านมีแนวทางการแก้ไขปัญหา ก็คือคดีประเภทเดียวกัน แน่นอนครับคดีประเภทเดียวกันมันก็ไม่เหมือนกันทุกตัวอักษร ไม่เหมือนกันทุกพฤติกรรมหรอกครับมันมีความแตกต่าง แต่แนวทางวินิจฉัยถ้ามันกระโดด กันมากจะทำให้ความรู้สึกประชาชนเกิดความไม่แน่ใจว่าทำไมศาลไปคนละทางกัน ผิดกับศาลอาญาเขาจะเอาบรรทัดฐานของศาลฎีกาเป็นแนวในการศึกษาวางเรียงทั้งหมด เพราะฉะนั้นท่านประธานศาลปกครองสูงสุดท่านก็ตั้งแนวทางไว้ครับว่า คดีที่มีเหตุการณ์ การฟ้องคดีทำนองเดียวกันควรต้องเข้าองค์คณะใด ปัญหาที่ผมจะพูดผมคิดว่าผมก็ต้องการ แนวทางของท่านผู้มาชี้แจงว่าเราจะมีแนวทางอะไรบ้าง

นายวิทยา แก้วภราดัย แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

๑. ปัญหาคดีที่ค้างคาที่ผมบอกว่าไม่แปลกใจครับ ท่านลองเปิดดูอัตรากำลัง ทั้งหมด อัตรากำลังบุคลากรของศาลปกครองรวมทั้งสิ้น ณ วันนี้ปี ๒๕๖๕ ซึ่งกว่าจะถึงวันนี้ ผมคิดว่าเราสะสมอัตรากำลังมาทีละปีใน ๒๑ ปี ได้อัตรากำลังบุคลากรในศาลปกครองทั้งสิ้น ๓,๓๙๔ คน มีแค่นี้ครับ แบกรับคดีอยู่ ๑๘๐,๐๐๐ กว่าคดี และที่สำคัญมีตุลาการ ศาลปกครองชั้นต้น ๒๐๐ ท่าน มีตุลาการศาลปกครองสูงสุด ๕๙ ท่าน รวมทั้งหมด ที่เป็นตุลาการจริง ๆ ๒๕๙ ท่าน ทำ ๑๘๐,๐๐๐ กว่าคดี ซึ่งผมก็คิดว่าในสายตาที่ผม เป็นนักกฎหมายเหมือนกัน ผมก็ว่าเป็นเรื่องที่พอใจ มหัศจรรย์ แต่ความต้องการ ของประชาชนเขาต้องการมากกว่านั้นจริง ๆ ดังที่เพื่อนสมาชิกได้พูดถึง ประเด็นปัญหา ก็คือมีแนวทางอย่างไรว่าวันนี้นอกจากจะทำหน้าที่ตุลาการแล้วศาลปกครองเป็นผู้ไต่สวน เป็นผู้อำนวยความสะดวกกับประชาชนที่มาร้องกับศาลปกครองทั้งหมดแทบจะไม่ต้องใช้ทนาย เราใช้ข้าราชการฝ่ายปกครองไปทำหน้าที่รับมืออย่างนี้ในศาล มีทั้งหมดแค่ ๒,๓๘๒ คน ที่ต้องเตรียมทุกอย่างก่อนที่เข้ากระบวนการของศาลจะเป็นคนวินิจฉัย เมื่อตัวเลขข้าราชการ ทั้งศาลปกครองมีขนาดนี้ ผมคิดว่าจะต่อว่าว่าคดีค้างผมก็ต่อว่าไม่ลง แต่ก็ให้กำลังใจครับ แต่อยากทราบแนวทางของท่านผู้มาชี้แจงก็หมดว่าหลังจากท่านประธานศาลปกครองสูงสุด ให้นโยบายแนวทางไว้แล้ววันนี้เราเตรียมการในการปรับอัตรากำลังบุคลากรอย่างไรบ้าง เพราะตุลาการศาลปกครองไม่ใช่เรื่องที่หาง่าย ศาลยุติธรรม อายุ ๒๕ ปีก็จบเนติบัณฑิต ผ่านประสบการณ์กฎหมาย ๒ ปีสอบเป็นตุลาการได้ แต่ศาลปกครองมาตรฐานสูงขึ้นไปกว่า คนที่มาสอบศาลปกครองไม่ใช่ว่าจบกฎหมายได้เนติบัณฑิตแล้วจะได้ อายุ ๒๕ ปีเป็นได้ อายุต้องไปไกลกว่านั้น แล้วถ้าจะโอนมาจากหน่วยงานอื่นมาสอบศาลปกครองนี่ ต้องระดับอธิบดี รองอธิบดีลงไปถึงจะหาบุคลากรอย่างนั้นได้ เพราะฉะนั้นผมอยากทราบ แนวทางว่าเราจะแก้ปัญหาบุคลากรได้อย่างไร มีแนวทางอะไรเพื่อรองรับกับปริมาณคดี ที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ๆ

นายวิทยา แก้วภราดัย แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ในเรื่องผลคดีที่ต่างกันในแต่ละศาล ซึ่งท่านประธาน ศาลปกครองสูงสุดท่านก็มีแนวทางแล้ว วันนี้เราปรับปรุงไปถึงไหนแล้วว่าคดีประเภทนี้ พิพาทกันเรื่องที่ดินระหว่างรัฐกับชาวบ้าน พิพาทระหว่างวัดกับชาวบ้าน หรือพิพาทกับ ศาลปกครองกับชาวบ้านที่มีลักษณะคดีใกล้เคียงกัน เราแบ่งกลุ่มคดีเพื่อขึ้นไปยังคณะใด คณะหนึ่ง แต่ละคณะดำเนินการไปถึงไหนแล้วครับ

นายวิทยา แก้วภราดัย แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สุดท้ายก็คิดว่าแนวทางที่ท่านประธานศาลปกครองสูงสุดได้ให้ไว้ ผมคิดว่าท่านเข้าใจปัญหาทั้งหมด แล้วก็ถ้าทะลุปัญหานี้ได้ทั้งหมด ทั้งบุคลากร แล้วก็ แนวทางในคำวินิจฉัยที่ไม่แตกต่างกันมากนักศาลปกครองเราก็จะเป็นหลักประกันให้กับ ความเป็นธรรมกับประชาชนในการที่จะยืนรับมือกับอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรมครับ ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับ เชิญท่านสุดท้ายท่านเทียบจุฑา ขาวขำ ครับ

นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน เทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ดิฉันขอร่วมอภิปรายรายงานประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ของศาลปกครอง และสำนักงานศาลปกครอง หลักยุติธรรมก็ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมหมายถึง กลไก กระบวนการหรือขั้นตอนที่รัฐใช้กฎหมาย เป็นเครื่องมือในการควบคุมและจัดการข้อพิพาทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน ในสังคมนี้ เพื่อสร้างให้เกิดความยุติธรรมทางสังคม รวมถึงการให้ความคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพี่น้องประชาชนด้วย ดังนั้นศาลปกครองก็มีพันธกิจในการ อำนวยความยุติธรรมทางการปกครองให้กับพี่น้องประชาชน การพิจารณาพิพากษาคดีรวมการบังคับคดีจะต้องทำด้วยความถูกต้อง เป็นธรรม แล้วก็ รวดเร็ว ศาลปกครองของจังหวัดอุดรธานีเปิดทำการเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๓ ก็มีเขตปฏิบัติหน้าที่ มีจังหวัดที่อยู่ในอำนาจการปกครอง หรือทำหน้าที่หลายจังหวัด ในภาคอีสาน มีจังหวัดอุดรธานี จังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย และจังหวัดหนองบัวลำภู ทราบว่าจะมีจังหวัดบึงกาฬ จังหวัดสกลนครด้วย ดังนั้นศาลปกครองของจังหวัดอุดรธานี มีเขตควบคุมหลายจังหวัดก็ถือว่าเป็นเขตพื้นที่ขนาดใหญ่ที่มีจำนวนประชากรหลายล้านคน ดิฉันดูรายงานในหน้า ๕๓-๕๙ จากสถิติคดีรับข้าวของศาลปกครองชั้นต้นมีคดีอยู่ระหว่าง การพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้น ณ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๕ มีมากถึง ๑๕,๗๔๘ คดี ส่วนศาลปกครองจังหวัดอุดรธานี ในระหว่างปี ๒๕๖๑ ถึงปี ๒๕๖๕ มีคดีรับเข้าจำนวน ๕๐๐ คดี ท่านประธานที่เคารพคะ หากเราพิจารณาผิวเผินว่าใน ๕ ปีนี้มีคดีรวม ๕๐๐ คดี คิดเฉลี่ย แต่ละปีก็ปีละ ๑๐๐ คดี แต่ดิฉันว่าคงไม่ใช่ และดูให้ลึก ๆ จะพบว่าคดีทางศาลปกครองเข้าสู่ กระบวนการพิจารณาในศาลปกครองของจังหวัดอุดรธานีมีจำนวนมากเพิ่มขึ้นเหมือนก้าวกระโดด เพิ่มขึ้นทุกปี ๆ ซึ่งเป็นนัยที่สำคัญ มีแนวโน้มว่าในอนาคตนี้คงจะมีคดีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดูตัวอย่างเพียง ๕ คดี ในปี ๒๕๖๒ มีคดีเพิ่มขึ้น ๒๓ คดี ปี ๒๕๖๓ คดีเพิ่มขึ้น ๖๕ คดี ปี ๒๕๖๔ มีคดีเพิ่มขึ้นอีก ๑๙๗ คดี ในปี ๒๕๖๕ มีคดีเพิ่มขึ้น ๒๑๐ คดี ดังนั้นจะเห็นว่า ตัวเลขสถิติของจำนวนคดีทางศาลปกครองในจังหวัดอุดรธานี ดิฉันคิดว่ามีตัวเลขเพิ่มสูงขึ้น ทุก ๆ ปี ในประเด็นนี้ดิฉันเป็นห่วงเป็นอย่างมาก ดิฉันคิดว่าอาจจะเป็นปัญหาในเรื่องของ การบริหารจัดการ ความล่าช้า หรือการอำนวยความยุติธรรมให้แก่พี่น้องประชาชน ดิฉันก็ค่อนข้างจะเป็นห่วง เพราะว่าการพิจารณาของศาลปกครองใช้เวลานาน มีหลายขั้นตอนเป็นระบบไต่สวนในการพิจารณาคดี ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงคงจะต้อง ใช้เวลานานเพื่อสืบค้นหาพยาน ซึ่งดิฉันเองก็เป็นห่วงในเรื่องของระยะเวลาการดำเนินงาน ของการพิจารณาคดี แล้วดิฉันก็อยากจะกลับมาถามท่านประธานผ่านไปยังคณะผู้ชี้แจงว่า ในจังหวัดอุดรธานีมีเขตรับผิดชอบเยอะ แต่ได้อ่านในรายงานทราบว่าจะมีการก่อสร้าง เพิ่มขึ้นอีกศาลปกครองหนึ่งที่จังหวัดสกลนคร ทราบว่าตั้งงบประมาณไว้ปี ๒๕๖๖ แต่ไม่ได้รับ งบประมาณจัดสรร ไม่ทราบว่าเกิดเหตุอะไรขึ้นถึงไม่ได้รับ เพราะดูสถิติของคดีแล้วก็เยอะ ดิฉันอยากเรียนถามท่านประธานผ่านไปยังคณะผู้ชี้แจงว่าศาลปกครองของจังหวัดสกลนคร จะได้มีโอกาสได้ก่อสร้างทันในปี ๒๕๖๗ หรือไม่

นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

ท่านประธานคะอีกประเด็นหนึ่ง ดิฉันดูจากรายงานหน้า ๑๖ เรื่องผลการดำเนินงานของศาลปกครองในปีงบประมาณ ๒,๕๖๕ พบว่าศาลปกครองมีคดี ความรับผิดชอบถึง ๔๐,๐๐๐ กว่าคดี แต่ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาแล้วเสร็จเพียง ๑๓,๐๐๐ กว่าคดีเท่านั้นเอง เท่ากับว่ายังมีคงค้างพิจารณาอยู่ต้องยกไปพิจารณาในปี ๒๕๖๖ ถึง ๒๗,๐๐๐ กว่าคดี ก็เท่ากับว่าศาลปกครองนี้ยังมีคดีคงค้างมากกว่าเป็น ๒ เท่าของคดี ที่พิจารณาแล้วเสร็จ ดิฉันก็มีความคิดและมีความคาดหวังว่าศาลปกครองคงจะหาแนวทาง ในการบริหารคดีต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ให้ทันต่อการเยียวยา และแก้ปัญหา ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนนะคะ ดิฉันขอเป็นกำลังใจ และขอขอบพระคุณ ทุก ๆ ท่านที่มาร่วมชี้แจงในวันนี้ค่ะ กราบขอบพระคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ในส่วนของสมาชิกก็ได้อภิปรายครบถ้วนแล้วต่อไปเป็นการชี้แจง แล้วก็ ตอบคำถามจากทางฝ่ายผู้ชี้แจง เรียนเชิญครับ

นายประพัฒน์ ตันสุวรรณนนท์ รองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎร ผม นายประพัฒน์ ตันสุวรรณนนท์ รองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ขออนุญาตเรียนตอบชี้แจงข้อคำถาม ที่ทางท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้สอบถามในที่ประชุม จะขออนุญาตตอบในภาพรวมนะครับ

นายประพัฒน์ ตันสุวรรณนนท์ รองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ต้นฉบับ

ประเด็นแรก ที่จะเรียนชี้แจงก็คือเรื่องตัวชี้วัดที่ไม่บรรลุค่าเป้าหมาย ซึ่งปรากฏอยู่ในรายงานประจำปีฉบับนี้มีอยู่ด้วยกัน ๒ ตัวชี้วัด ตัวชี้วัดแรกคือตัวชี้วัดร้อยละ ของคดีที่ดำเนินการบังคับแล้วเสร็จตรงนี้ไม่บรรลุ เนื่องจากว่าเรากำหนดเป้าหมายไว้ที่ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ทำได้ ๕๖.๗๙ สาเหตุมาจากว่าจำนวนคดีที่ดำเนินการบังคับคดีปกครอง แล้วเสร็จในปี ๒๕๖๕ เราคำนวณมาจากจำนวนคดีที่ศาลมีคำบังคับให้เพิกถอนกฎ คำสั่ง และมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทาง หรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา และคำบังคับตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) ถึง (๕) และจำนวนคดีที่มีการบังคับในคดีที่ต้องมีการออกหมายบังคับคดีโดยนำประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ ซึ่งในกรณีการบังคับคดีตาม ป. วิ. แพ่ง ในหลายกรณี ก็ต้องเป็นคดีที่อยู่ระหว่างรอผู้ฟ้องคดีมายื่นเรื่องดำเนินการ หรือที่เราเรียกคดีแจ้งสิทธิ อันนี้เป็นเหตุหนึ่งที่เป็นเหตุปัจจัยภายนอกที่สำนักงานศาลปกครองไม่อาจควบคุมได้ แต่ทาง สำนักงานศาลปกครองพอได้วิเคราะห์สาเหตุนี้ในปีงบประมาณ ๒๕๖๖ ก็ได้มีการปรับปรุง การวัดในตัวชี้วัดดังกล่าว โดยแยกจำนวนคดีที่ดำเนินการบังคับคดีปกครองแล้วเสร็จตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และการดำเนินการบังคับคดีตาม ป. วิ. แพ่งออกจากกัน อย่างชัดเจน แล้วก็เร่งรัดติดตามการดำเนินการบังคับคดีทั้ง ๒ ประเภทอย่างใกล้ชิด โดยที่ผู้บริหารศาลปกครองให้ทางสำนักบังคับคดีปกครอง และสำนักงานศาลปกครอง ในภูมิภาคทุกแห่งวางแผนการปฏิบัติงานร่วมกัน เพื่อวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรค และแนวทาง แก้ไขเพื่อให้สามารถบังคับคดีแล้วเสร็จตามแผนที่กำหนด รวมทั้งรายงานปัญหาอุปสรรค ในการบังคับคดีเสนอต่อผู้บริหารทุก ๖ เดือน นอกจากนั้นก็ยังมีการเพิ่มทักษะให้กับ ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านการบังคับคดี รวมทั้งตอนนี้ก็มีการพัฒนาระบบบังคับคดีทาง อิเล็กทรอนิกส์สำหรับคู่กรณีแล้วก็บุคลากรภายในแล้วเสร็จ ตอนนี้ก็อยู่ระหว่างแก้ไข ระเบียบเพื่อรองรับระบบที่เราได้ปรับปรุงแก้ไข ส่วนตัวชี้วัดอีกตัวหนึ่งที่ไม่บรรลุค่าเป้าหมาย ก็คือตัวชี้วัดจำนวนคดีที่ศาลปกครองพิจารณาแล้วเสร็จ อันนี้ก็ต้องยอมรับว่า ค่าเป้าหมาย ที่เรากำหนดไว้นี้ผมไม่แน่ใจว่าที่เดิมกำหนดไว้ ๑๗,๕๐๐ คดี ในตอนนั้นอาจจะมีจำนวน ตุลาการที่พอสมควรนะครับ แต่ตอนหลังนี้จำนวนตุลาการก็ลดลง แล้วก็ทำให้ดำเนินการ ได้ไม่เป็นไปตามค่าเป้าหมาย แล้วก็มีอีกสาเหตุหนึ่งที่มาจากกระบวนการพิจารณาคดี ที่มีหลายขั้นตอน แล้วใช้ระยะเวลาในการดำเนินการมากนะครับ เดี๋ยวผมคงจะชี้แจงต่อไป ครับว่าจากการที่กระบวนการพิจารณาคดีทางผู้บริหารศาลได้ตระหนักตรงนี้อย่างไรว่าจะมี แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการคดีอย่างไรให้มันรวดเร็วยิ่งขึ้น

นายประพัฒน์ ตันสุวรรณนนท์ รองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ต้นฉบับ

อีกสาเหตุหนึ่งก็คือที่เรียนแล้วอัตรากำลังตุลาการศาลปกครองไม่สอดคล้อง กับปริมาณคดี รวมทั้งคดีที่เข้ามาใหม่ในปัจจุบันก็มีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้นด้วยเหตุนี้ ทางศาลปกครอง และสำนักงานศาลปกครองจึงได้มีแนวทางในการยกระดับการอำนวย ความยุติธรรมทางด้านคดีปกครองในด้านต่าง ๆ โดยเรามีแนวทางที่จะเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการคดีปกครอง โดยจะมีในเรื่องของการปรับปรุงกฎหมาย แล้วก็ระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง มีเรื่องของการลดขั้นตอนการพิจารณาคดี และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนิน กระบวนพิจารณาคดี ยกตัวอย่างเช่น ในชั้นอุทธรณ์กับศาลปกครองสูงสุดในคดีที่ไม่มีความ หรือมีข้อกฎหมาย หรือมีข้อเท็จจริงที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนศาลอาจจะสอบถามคู่กรณีว่าจะให้มี การนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกหรือไม่ ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่ง ถ้าคู่กรณีไม่ประสงค์ก็จะทำให้ ระยะเวลาในขั้นตอนนี้ลดลงก็จะทำให้คดีรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ก็ยังมีวิธีการก็คือนำ กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองมาใช้เป็นทางเลือกในการยุติข้อพิพาท ให้เสร็จสิ้นไปจากศาลโดยเร็ว

นายประพัฒน์ ตันสุวรรณนนท์ รองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ต้นฉบับ

ในประการต่อไปก็เป็นเรื่องของการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนการดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาคดีปกครองให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการบริหารจัดการคดีค้างสะสม ซึ่งก็มีนโยบายของท่านประธาน ศาลปกครองสูงสุด ท่านศาสตราจารย์พิเศษ ดอกเตอร์วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ท่านมีนโยบาย ในส่วนของการบริหารจัดการคดีค้าง โดยท่านมีการแยกประเภทคดีค้างเก่า และคดีค้างนาน คดีค้างเก่าก็คือคดีที่เข้ามาตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ ลงไป ส่วนคดีค้างนานก็เป็นคดีที่มีตั้งแต่เข้ามา ก็อยู่ในระยะเวลา ๓ ปี ท่านก็มีนโยบายจัดการคดีค้างโดยแยกประเภทคดี แล้วก็กำหนด สัดส่วนให้ท่านตุลาการบริหารจัดการคดี แล้วก็พิจารณาคดีค้างเก่า ค้างนาน รวมถึงคดี ที่เข้าใหม่ให้มีความสมดุล ไม่ใช่ทำแต่คดีเข้าใหม่ ก็ให้ดูคดีค้างเก่าให้เกิดความสมดุล เพราะว่าสาเหตุที่ทำไมต้องทำคดีค้างใหม่ไปด้วย เพราะว่าถ้าไม่ทำเดี๋ยวคดีที่เข้าใหม่ก็จะเป็น คดีค้างนานไปก็ให้เกิดความสมดุล แล้วก็ในปี ๒๕๖๖ ก็ได้มีผลการจัดการคดีที่ลดลงไป เป็นจำนวนมาก ก็คือถ้าเทียบคดีที่เข้าในปี ๒๕๖๖ กับคดีที่แล้วเสร็จในปี ๒๕๖๖ จะมี ผลการพิจารณาพิพากษาคดีก็คือคดีเสร็จมากกว่าคดีเข้า ซึ่งก็จะเป็นผลดีที่จะทำให้คดีค้าง ลดลงคดีสะสมค้างลดลง นอกจากนั้นที่ผมได้นำเรียนแล้วครับว่าท่านมีนโยบายให้ท่านตุลาการ นำระบบไกล่เกลี่ยเข้ามาใช้ในกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อให้ยุติข้อพิพาท ไปโดยเร็ว นอกจากนี้เมื่อกฎหมายกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม ใช้บังคับ ทางศาลปกครองก็ได้มีการปฏิบัติโดยออกประกาศศาลปกครองเรื่องกำหนด ระยะเวลาการดำเนินงานการดำเนินคดีในศาลปกครองทั้งในศาลปกครองชั้นต้น แล้วก็ ศาลปกครองสูงสุด ซึ่งก็ได้มีการประกาศใช้เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๖ เป็นการอนุวัติ และดำเนินการตามกฎหมายกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งก็จะมีการกำหนดกรอบระยะเวลาไว้ใน ๓ ขั้นตอนหลัก ๆ นะครับ

นายประพัฒน์ ตันสุวรรณนนท์ รองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ต้นฉบับ

ขั้นตอนแรก ก็คือขั้นตอนของการตรวจคำฟ้อง คำอุทธรณ์ การแสวงหา ข้อเท็จจริง จนถึงวันสิ้นสุดแสวงหาข้อเท็จจริง

นายประพัฒน์ ตันสุวรรณนนท์ รองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ต้นฉบับ

ขั้นตอนที่ ๒ ก็เป็นเรื่องขั้นตอนการจัดทำคำแถลงการณ์

นายประพัฒน์ ตันสุวรรณนนท์ รองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ต้นฉบับ

ขั้นตอนที่ ๓ ก็เป็นเรื่องขั้นตอนการอ่านการนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก แล้วก็ การอ่านคำพิพากษา ซึ่งมีระยะเวลากำหนดไว้ในแต่ละขั้นตอน ซึ่งก็คงจะมีการติดตาม ประเมินผลต่อไปว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ท่านตุลาการทำได้มากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ ก็ยังมีการบริหารจัดการคดีในเรื่องของการวิเคราะห์ และจัดทำแนวคำวินิจฉัยของ ศาลปกครองให้มีมาตรฐานเดียวกัน อันนี้ก็เป็นการที่จะเรียนตอบปัญหาเรื่องที่ท่านสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรได้ยกประเด็นเรื่องของความลักลั่นและของคำพิพากษา ประเด็นนี้ ก็เป็นข้อห่วงใยของท่านผู้บริหารศาลสืบต่อมาตั้งแต่สมัยท่านประธานชาญชัย แสวงศักดิ์ จนถึงท่านประธานศาลปกครองท่านปัจจุบันคือท่านวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ท่านก็มีการสัมมนา ตุลาการ แล้วก็ให้ความรู้ รวมถึงทำคำวินิจฉัยต้นแบบ แล้วก็รวมถึงการจ่ายสำนวน ให้แก่องค์คณะ เพื่อแก้ปัญหาความลักลั่น นอกจากนี้ก็ยังมีการบันทึกเหตุแห่งการฟ้องคดี ในแต่ละคดี คือเริ่มตั้งแต่ต้นมีการฟ้องเข้ามาก็มีการบันทึกเหตุแห่งการฟ้องคดีไว้ เพื่อให้เห็นว่า คดีที่มีข้อเท็จจริงอย่างเดียวกันควรจะได้รับการพิจารณาโดยองค์คณะที่รับผิดชอบเดียวกัน อะไรแบบนี้เพื่อไม่ให้เกิดคำวินิจฉัยที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องของการพัฒนา สมรรถนะและความเชี่ยวชาญของท่านตุลาการศาลปกครอง แล้วก็บุคลากรของสำนักงาน ศาลปกครอง ซึ่งมีการสัมมนากฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองโดยท่านผู้บริหาร ศาลให้ความสำคัญกับตรงนี้แล้วก็ท่านเป็นวิทยากรในการสัมมนาเอง นอกจากนี้ก็จะมีเรื่อง ของการเร่งรัดการบังคับคดีปกครอง และการพัฒนาการบังคับคดีปกครองด้วยระบบ อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผมได้นำเรียนไว้แล้ว และในประเด็นที่เป็นข้อห่วงใยของท่านสมาชิก ก็เรื่องอัตรากำลังบุคลากรของศาลกับสำนักงานศาลปกครอง ปัจจุบันนี้ในส่วนของตุลาการ ศาลปกครองก็อยู่ระหว่างการสรรหาตุลาการประจำศาลปกครองชั้นต้นรุ่นใหม่ แล้วก็ รุ่นที่ได้มีการสรรหาแล้วก็มีการแต่งตั้ง และตอนนี้ก็อยู่ระหว่างการอบรม ซึ่งจะเสร็จสิ้น การอบรมก็ประมาณต้นปีหน้าแล้วท่านก็จะสามารถที่จะเข้าทำหน้าที่ได้ แต่ในระหว่างนี้ ก็มีการสรรหารุ่นใหม่อยู่ ซึ่งในขั้นตอนการสรรหาก็อยู่ในขั้นตอนของการสอบข้อเขียน ซึ่งมีการสอบข้อเขียนผ่านไปจำนวน ๑๖๑ คน แล้วก็จะมีขั้นตอนต่อไปคือขั้นตอน การสอบสัมภาษณ์ และกว่าจะได้เสร็จสิ้นกระบวนการก็จะประมาณเดือนมีนาคม เดือนเมษายนของปีหน้าก็คงจะเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของการพิจารณาพิพากษาคดี จากคดีที่คั่งค้างอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ในส่วนของแนวทางการบริหารจัดการคดี คดีที่ท่านสมาชิกมีข้อห่วงใย เช่นคดีบริหารงานบุคคล เพราะบางทีความล่าช้าในการพิจารณาคดี ถ้าผู้ฟ้องคดีที่เป็นผู้เดือดร้อนเสียหาย และอายุท่านใกล้เกษียณถ้ามีคำพิพากษาหลังจาก ที่ท่านเกษียณไปแล้วอาจจะเป็นการเยียวยาไม่ทันการณ์ทางผู้บริหารศาลก็ตระหนักถึงเรื่องนี้ ก็มีการเตือน มีระบบเตือน เฝ้าระวังโดยดูจากเกณฑ์อายุของผู้ฟ้องคดีก็คือ ถ้าผู้ฟ้องคดี อายุ ๕๘ ปีก็จะมีสัญลักษณ์สีหนึ่ง แล้วก็จะมีเหมือนเป็นสีกำกับไว้ให้บุคลากรที่เกี่ยวข้อง ได้ตระหนัก แล้วก็ระมัดระวังว่าท่านผู้ฟ้องคดีก็ใกล้เกษียณแล้วอะไรแบบนี้ แล้วก็อาจจะมี แนวทางการพิจารณาคดีแบบเร่งด่วนที่จะเข้ามาช่วยพิจารณาคดีได้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ในส่วนของท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีข้อสังเกตในเรื่องของการบริหารจัดการคดีล่าช้า ผมได้นำเรียนไว้แล้ว แล้วก็ต้องขอบคุณท่านสมาชิกที่เข้าใจวิธีพิจารณาคดีของศาลปกครอง ซึ่งเราใช้วิธีพิจารณาคดีเป็นระบบไต่สวน ซึ่งต้องมีการแสวงหาข้อเท็จจริงให้เพียงพอ แล้วก็ รอบด้านครบถ้วน นอกจากนี้ในส่วนของรายงานประจำปีฉบับนี้ นอกจากที่มีคดีที่น่าสนใจ และเราก็มีการเผยแพร่ในรูปแบบ e-Book ให้กับทางประชาชนหรือผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษา แล้วก็ให้ข้อสังเกตในการดำเนินงานของศาลปกครอง แล้วก็สำนักงานศาลปกครองครับ

นายประพัฒน์ ตันสุวรรณนนท์ รองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ต้นฉบับ

ในท้ายสุดนี้ผมอาจจะเรียบเรียง หรืออาจจะตอบคำถามท่านไม่ครอบคลุม ครบทุกประเด็น แต่ก็ขอเรียนว่าจากข้อเสนอแนะ หรือข้อสังเกตที่ท่านให้ไว้ในที่ประชุม แห่งนี้ทางศาลปกครอง แล้วก็ทางสำนักงานศาลปกครองจะรับไปดำเนินการปรับปรุงแก้ไข แล้วก็จะมานำเสนอท่านในรายงานประจำปีฉบับต่อไป ขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ถือว่าที่ประชุมรับทราบรายงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ ของศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครองแล้ว ขอบคุณหน่วยงานชี้แจง ขอบคุณครับ ต่อไประเบียบวาระที่ ๓

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๓ รับรองรายงานการประชุม ไม่มี

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๔ เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ไม่มี

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๕ เรื่องที่ค้างพิจารณา

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๕.๔ ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาการแก้ไขปัญหาการจ้างงานและเพิ่มทักษะแรงงาน (นายวิทยา แก้วภราดัย กับคณะ เป็นผู้เสนอ) แต่เนื่องจากว่ามีญัตติทำนองเดียวกันอีก ๒ ฉบับ คือ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๑. ญัตติ เรื่อง ขอให้คณะกรรมาธิการการแรงงานพิจารณาการจัดตั้ง สภาแรงงานจังหวัดสำหรับลูกจ้างและนายจ้างภายในจังหวัด (นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง เป็นผู้เสนอ)

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๒. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา แก้ไขปัญหาการจ้างงานและเพิ่มทักษะแรงงาน (นายเซีย จำปาทอง เป็นผู้เสนอ)

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

กระผมเห็นว่าเป็นเรื่องทำนองเดียวกัน สามารถรวมระเบียบวาระการประชุม เพื่อนำมาพิจารณาพร้อมกันได้ ตามข้อบังคับข้อ ๕๕ (๒) ซึ่งจะมีท่านสมาชิกท่านใด เห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ ถ้าไม่มีเห็นเป็นอย่างอื่น ถือว่าที่ประชุมเห็นชอบให้รวมญัตติ ทั้ง ๓ ญัตติเข้าด้วยกันนะครับ ขอเชิญผู้เสนอแถลงเหตุผลตามลำดับ ทั้ง ๓ ท่าน ท่านแรก ท่านวิทยา แก้วภราดัย เชิญครับ

นายวิทยา แก้วภราดัย แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม วิทยา แก้วภราดัย ผมและคณะได้ยื่นญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาการจ้างงานและเพิ่มทักษะ แรงงาน หลักการ เพื่อให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้น แก้ไขปัญหาเรื่องการจ้างงานและการเพิ่มทักษะแรงงาน

นายวิทยา แก้วภราดัย แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยเรา อัตราการเกิดของประชากรเริ่มจะนิ่ง เกือบจะไม่เพิ่มเลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้น ก็คืออัตรากำลังคนที่อยู่ในภาคการใช้แรงงานทั้งหมดก็จะคงอยู่ประมาณที่ ๔๐ ล้านคน แล้วก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่าใน ๔๐.๓ ล้านคน มีอัตรากำลังคนที่ไม่มีงานทำ หรือเรียกว่า คนตกงานอยู่ในอัตราที่ต่ำมากคือ ๑.๑ เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นปัญหาคนว่างงานในประเทศไทย มันไม่ค่อยจะเกิดมากนัก เพียงแต่ว่ามันมีแรงงานบางประเภทที่ซุกอยู่ และไม่ได้รับ การพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้นไป สิ่งที่ผมจะกราบเรียนต่อท่านประธานสภาให้เห็นถึงความจำเป็น ผมคิดว่าถ้าจะมองง่าย ๆ เราแบ่งเป็น ๒ เรื่องแล้วกันครับ

นายวิทยา แก้วภราดัย แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ก็คือแรงงานคนไทย แรงงานคนไทยวันนี้อัตราการว่างงานถือว่า อยู่ในอัตราต่ำ แต่สิ่งที่เราจำเป็นแน่นอนเรายังขาดแคลนอัตรากำลังคนที่เข้ามาในระบบ แรงงานได้น้อยมาก มีประชาชนส่วนหนึ่งที่เขาไม่สามารถหางานทำในทักษะตัวเองได้ ก็ต้องไปทำงานต่างประเทศดังปรากฏเป็นข่าวอยู่ แล้ววันนี้รัฐบาลก็ยังต้องอพยพ ๕,๐๐๐-๖,๐๐๐ คนกลับมาประเทศไทย เพราะว่าคนเหล่านั้นยอมเข้าไปอยู่ในจุดที่เสี่ยงภัย กับอันตรายเพื่อที่จะได้มีงานทำ แต่สิ่งที่เราต้องทดแทนก็คือข้อเท็จจริงที่ว่ามีอัตรากำลัง ที่ต้องการแรงงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้น และเราไม่มีอัตราที่จะเข้าไปทำงานได้ การหาคนงานยากขึ้นทำให้แรงงานเริ่มจะมีปัญหามากขึ้น ในทิศทางตรงกันข้าม ก็คือผู้ประกอบการเริ่มที่จะใช้เทคโนโลยีและระบบต่าง ๆ เข้ามาทดแทนแรงงาน เห็นได้วันนี้ครับ ท่านประธานในภาคตะวันออก EEC โรงงานเปิดขึ้นมากมาย อัตรากำลังคนที่มีทักษะจริง ๆ ต้องการมากมาย ระดับอาชีวะของเราไม่สามารถที่จะผลิตป้อนได้ทัน ในประเทศไทยค่าแรง ที่สูงมีอยู่ ๓ จังหวัดไล่ ๆ กัน ๑. จังหวัดชลบุรี ๒. จังหวัดระยอง และ ๓. จังหวัดภูเก็ต อัตราค่าแรงค่อนข้างที่จะสูงกว่าค่าแรงที่กำหนดไว้ เหตุผลเพราะว่าจังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรีเป็นพื้นที่ที่ประกอบธุรกิจในเรื่องอุตสาหกรรมภายใต้โครงสร้าง EEC ส่วนจังหวัดภูเก็ตเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องหา แนวทางในการแก้ปัญหาก็คือการเพิ่มทักษะให้กับแรงงานที่มีอยู่ปัจจุบัน เพื่อเพิ่มเข้าไปสู่งาน ไม่ต้องถูกทดแทนด้วยแรงงานเครื่องจักรกล ดีที่สุดต้องเป็นความร่วมมือกันระหว่าง กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วันนี้เราจำเป็นต้องเปิด โรงเรียนสำหรับเพิ่มทักษะคนที่จะเป็นแรงงาน รัฐก็ต้องลงทุนเหมือนกับส่งเด็กเข้าเรียนใหม่ ต้องมีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาเพื่อสร้างระดับอาชีวะ ระดับเทคนิคเข้าไปทำงาน ในอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นมาใหม่ และไม่กี่วันเผลอ ๆ พรุ่งนี้เราจะพูดกันเรื่อง Southern Seaboard ซึ่งหมายถึงเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมาอีก เราก็จำเป็นต้องมีแรงงานที่มีทักษะ เพิ่มสูงขึ้น แต่ถ้าไม่เตรียมการครับท่านประธานแน่นอนระยะยาวที่เกิดขึ้นแน่ ๆ ก็คือการใช้ เทคโนโลยีและเครื่องจักรกลเข้ามาทดแทนแรงงาน แล้วก็จะส่งปัญหาสะท้อนไปทั่ว นี่ปัญหา เรื่องแรกครับ

นายวิทยา แก้วภราดัย แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ปัญหาเรื่องที่ ๒ เรื่องการจ้างงานที่เป็นธรรม ผมคิดว่าเพื่อนสมาชิกหลายคน ที่อยู่ในเขตการจ้างงานก็คงจะทราบดีนะครับว่าปัญหาการจ้างงานเป็นอย่างไร แต่ปัญหา หลักที่ ๒ ซึ่งเราทราบกันดีก็คือหลังจากที่รายงานประเทศไทยอยู่ในภาวะขาดแคลน ท่านประธานเชื่อไหมครับว่าวันนี้เรามีแรงงานต่างชาติอยู่ในประเทศไทย ผมเข้าใจว่าไม่ต่ำกว่า ๓ ล้านคน มีทั้งแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีทั้งแรงงานที่รัฐไม่รู้ ปัญหาก็คือ ประเทศไทยเราขาดแคลนแรงงานนะครับ เราจำเป็นต้องการแรงงานจากต่างประเทศเข้ามา ทดแทนงานบางประการที่มีทักษะเฉพาะ และเขาสามารถทำได้ทันที แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ปัญหาของกระบวนการการทำให้คนเหล่านั้นได้ทำงานกันอย่างถูกต้อง คนต่างด้าว คนต่างชาติ เพื่อนบ้านที่อพยพเข้ามาทำงานในประเทศเรา ๓-๔ ล้านคน กระบวนการในการ รับรองมันยุ่งยากครับ ถ้าเราไม่สามารถพัฒนาในการรับรองคนเหล่านี้ให้ถูกต้องมันก็จะเกิด แรงงานเถื่อน เกิดแรงงานเถื่อนก็เกิดกระบวนการในการรีดไถแรงงานเถื่อนเป็นกระบวนการ ซับซ้อนไปสู่ขบวนการทุจริตคอร์รัปชัน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ต้องรับการศึกษาจริงจังครับว่าแรงงานที่เข้ามาจากต่างประเทศ หรือแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยเราจะใช้กระทรวงแรงงานในการรับมือ กับการขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง ควบคุมอัตรากำลังได้ แล้วก็สามารถเคลื่อนไหวอัตรากำลัง แรงงานเหล่านี้ตามสภาพความเป็นจริงของฤดูกาล แรงงานต่างชาติไม่ได้มาทำอุตสาหกรรม อย่างเดียวครับ แรงงานต่างชาติอยู่ในสวน อยู่ในภาคการเกษตรจำนวนมาก ภาคเกษตร บางประการต้องมีการเคลื่อนแรงงานตามฤดูกาล ยกตัวอย่างง่าย ๆ ครับท่านประธาน จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี เก็บเงาะ เก็บทุเรียนหมดเมื่อไรสิ่งที่ต้องถ่ายเทแรงงาน ก็คือลงไปทางใต้เพื่อใช้แรงงานเหล่านี้ขยับไปทางใต้เพื่อเก็บเงาะ เก็บทุเรียนในการที่จะส่งออก ต่างประเทศ แต่ปัญหาการขยับแรงงานจากภาคตะวันออกไปภาคใต้เป็นเรื่องยุ่ง และที่จำเป็นก็คือมันสูญเสียค่าใช้จ่ายเบี้ยบ้ายรายทางเยอะมาก ผมจึงคิดว่าเราจำเป็นต้องทำ ๒ เรื่องพร้อมกัน คือพัฒนาฝีมือแรงงานคนไทยเตรียมพบกับการพัฒนาประเทศ เตรียมพบ กับ EEC เตรียมพบกับ Southern Seaboard ถ้าเราไม่เตรียมการภาคเอกชนเขาจะ เตรียมการโดยวิธีการของการชดเชยแรงงานเหล่านั้นด้วยเครื่องจักรกล และเรียก มนุษย์หุ่นยนต์เข้ามาแทนแน่ แต่ถ้าเราเตรียมการครับเราสามารถเอาลูกหลานของเราในภาค อาชีวศึกษาเข้าไปรองรับ หรือภาคประชาชนที่ไม่ได้มีการเข้าสู่ระบบการศึกษา สามารถ เข้าเรียนในหลักสูตรที่เราจะสร้างขึ้นมา และส่งเขาเตรียมพร้อมเข้าไปรองรับกับงาน ที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้น เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเรื่องนี้จำเป็นต้องได้รับการศึกษาจริงจัง แล้วก็ โดยเฉพาะเรื่องแรงงานต่างด้าวก็ต้องอำนวยความสะดวกจริงจังในการที่จะรับแรงงาน ต่างด้าวเข้ามาบริการประเทศไทยโดยไม่ต้องเสียค่าโสหุ้ย เบี้ยบ้ายรายทางมากจนทำให้ เกิดแรงงานเถื่อนขึ้นมา ทั้ง ๒ เรื่องถ้าเรามีโอกาสตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาผมคิดว่า พวกเราในสภาผู้แทนราษฎรที่มีประสบการณ์เยอะ ๆ คงระดมนักวิชาการเข้ามา และช่วยกัน หาแนวทางออกได้ แต่ถ้าเกิดสภามีมติไม่พร้อมจริง ๆ ผมคิดว่าสิ่งแรกที่คณะกรรมาธิการ การแรงงานควรจะทำคือพิจารณา ๒ เรื่องนี้ ๑. คือพัฒนาฝีมือแรงงานไทยรับมือ กับการพัฒนาประเทศ ๒. ฝึกแรงงานไทยให้เตรียมพร้อม และที่สำคัญแก้ไขปัญหาคนต่างด้าว ที่มาเป็นแรงงานในประเทศไทยให้บรรลุผลเสียที ขอขอบพระคุณท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ผู้เสนอญัตติ เชิญครับ

นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กระบี่ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ เพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติครับ ผม สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกระบี่ พรรคภูมิใจไทย ผมกับคณะเพื่อน สส. ในพรรคภูมิใจไทยได้เสนอญัตติ เรื่อง ขอให้คณะกรรมาธิการการแรงงานพิจารณาการจัดตั้งสภาแรงงานจังหวัดสำหรับ ลูกจ้างและนายจ้างภายในจังหวัดทั่วประเทศ

นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กระบี่ ต้นฉบับ

โดยหลักการ คือข้อเสนอญัตติเรื่องนี้ด้วยเหตุผลขออนุญาตแถลง ต่อท่านประธานในที่ประชุมนะครับว่า ในสภาพปัจจุบันนั้นปัญหาที่เกี่ยวกับการใช้แรงงาน ทั่วประเทศ เป็นสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างมากมายและมีความหลากหลายควบคุมสภาพ การจ้างและการทำงานทั้งหมด ซึ่งเกิดขึ้นกับฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง รวมถึงผู้ทำงานในกลุ่ม อาชีพและทุกภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบอาชีพด้านการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การบริการ การคมนาคม และการประกอบอาชีพอื่น ๆ และเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับการใช้แรงงาน ในทุกจังหวัด โดยจะมีสภาพปัญหาต่าง ๆ มากมาย เช่น ปัญหาเกี่ยวกับการผิดสัญญาจ้าง แรงงาน การเอารัดเอาเปรียบการใช้แรงงาน การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม การขาดการรวมกลุ่ม การสร้างอำนาจต่อรอง และการไม่มีตัวแทนหรือองค์กรฝ่ายนายจ้าง และลูกจ้างที่ชัดเจน ในการเป็นตัวแทนในการเรียกร้องเจรจาต่อรอง และการแก้ไขปัญหาในด้านแรงงาน รวมทั้ง การเรียกร้องสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการทำงานที่ครอบคลุมทุกอาชีพ นอกจากนั้น ยังมีปัญหาแรงงานที่ผิดกฎหมาย แรงงานต่างชาติ ๔ ชาติ และแรงงานต่างชาติ นอกเหนือจาก ๔ ชาติด้วย และแรงงานไทยในประเทศ

นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กระบี่ ต้นฉบับ

ผมขอแถลงเหตุผลประกอบนะครับว่า ในปัจจุบันประเทศไทยเรานั้น มีไตรภาคี มีไตรภาคีก็คือมีฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง แล้วก็ในส่วนของข้าราชการแรงงาน ที่เราเรียกกันว่า ๕ เสือ ๕ เสือในจังหวัดทุกจังหวัดในประเทศไทยก็จะมีกรมแรงงาน แรงงานจังหวัด สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานอะไรต่าง ๆ คือ ๕ เสือ เมื่อมีปัญหาในเรื่องของ แรงงานในวันนี้ก็จะให้ไตรภาคีเข้าไปดำเนินการแก้ปัญหา แต่สิ่งที่ผมเสนอในเรื่องของ การให้มีสภาแรงงานจังหวัดนั้นด้วยเหตุผลอย่างนี้ เนื่องจากว่าแรงงานอยู่ในตลาดที่กฎหมาย คุ้มครองในวันนี้ประมาณ ๓๘ ล้านคนเศษ และใน ๑๘ ล้านคนเศษก็คือเป็นคนที่กฎหมาย แรงงานรับรอง เช่นในเรื่องของการประกันคุ้มครองสวัสดิการสามารถที่จะซื้อประกัน ในส่วนของกองทุนประกันสังคมได้ แต่ ๒๐ ล้านคนไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะดำเนินการซื้อ ประกันสังคมได้ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เป็นช่องว่างส่วนหนึ่งจากที่ท่านวิทยา แก้วภราดัย ได้พูดในเรื่องของการยกระดับเพิ่ม Skill ยกระดับเพิ่มทักษะในเรื่องของแรงงานให้มีคุณภาพ อันนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ แล้วก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ประเทศไทยเราต้องเตรียมการ เนื่องจากว่า เราต้องการขยายในภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น EEC ก็ดี ในส่วนของ Landbridge ก็ดี ในโครงการใหญ่ ๆ ทุกภูมิภาคที่กำลังเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นการเติบโต ทางด้านเศรษฐกิจเรื่องแรงงานเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ เลยในการยกระดับมาตรฐาน แล้วก็ ดูว่าการพัฒนาของประเทศนั้นจะไปในทิศทางใดไปรอดหรือไม่รอด วันนี้ในเรื่องของแรงงาน ในส่วนที่ไม่อยู่ในกฎหมายแรงงาน และเรากำลังจะมีการยกร่างพระราชบัญญัติส่งเสริม แรงงานอิสระก็เพื่อที่จะให้กลุ่ม เช่น กลุ่มที่รับงานไปทำที่บ้าน อย่างประเภทเสื้อผ้า เย็บเฉพาะปกไปอยู่ที่บ้าน เย็บเฉพาะกระเป๋า อันนี้ไม่ควบคุมได้ในส่วนของกฎหมายแรงงาน รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง Grab Rider ที่ส่งอาหาร แม่ค้า พ่อค้า ขับรถแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์ ตามปากซอย อีกหลายส่วนที่ทุกอาชีพใช้แรงงานก็ล้วนแต่เป็นกลุ่มบุคลากรในเรื่องของ การใช้แรงงานทั้งสิ้น แต่กฎหมายไม่สามารถเข้าไปควบคุมถึง เพราะฉะนั้นกลุ่มแรงงาน ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานฐานราก เราจะต้องให้ความสำคัญเขานะครับ ในกรณีแรงงานเด็ก ๑๕ ปี ขึ้นไป แต่ในขณะเดียวกันต่ำกว่า ๑๕ ปีลงมาไปใช้แรงงานมันก็มีกฎหมายควบคุมว่า คุณไม่สามารถที่จะไปใช้แรงงานเด็กได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย กีฬา เหมือนนักมวย อย่างนี้ก็มีกฎหมายบังคับว่าอายุตั้งแต่กี่ขวบขึ้นไปถึงจะสามารถที่จะไปชกมวย เพื่อที่จะ มีการแข่งขันในเรื่องของงานประเพณีต่าง ๆ ได้ เพราะฉะนั้นในเรื่องของสภาแรงงานจังหวัด มันคล้าย ๆ กับสภาเกษตรจังหวัด เพราะฉะนั้นบางเรื่องเราเอาไตรภาคีไปแก้ปัญหา ผมยกตัวอย่าง เช่น ในกรณีปัญหาชายแดนของภาคต่าง ๆ ที่เป็นจังหวัดชายขอบ ชายแดน ต่างประเทศมันก็จะมีแรงงานลักลอบหนีเข้ามา แรงงานในเรื่องของมีส่วนเกี่ยวข้องกับ เรื่องยาเสพติด แรงงานในเรื่องที่เข้ามาแล้วติดโรคระบาดเข้ามาด้วย เพราะฉะนั้นหน่วยงาน ๕ เสือของกระทรวงแรงงานไม่สามารถที่จะไปดูแลตรงนี้ได้ และไตรภาคีในส่วนของจังหวัด นั้น ๆ ก็ไม่มีกำลังในเรื่องของการที่จะไปประสานที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้ เพราะฉะนั้นการตั้ง สภาแรงงานจังหวัดจึงมีเหตุจำเป็นในการร่างโครงสร้างของแรงงาน เช่น จะต้องให้ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และตัวแทนแรงงานซึ่งไม่ได้อยู่ในกฎหมาย พ.ร.บ. แรงงาน เข้ามาเป็นคณะกรรมการของสภาแรงงาน มันคล้าย ๆ กับในเรื่องของสภาแรงงานที่มีตัวแทน ทุกภาคส่วนมาอยู่ในส่วนของจังหวัดเพื่อเป็นพี่เลี้ยงในกรณีมันมีปัญหา เช่น ในกรณีหนีคดี เข้ามาอย่างนี้ครับ ในกรณีมียาเสพติดค้าขายช่องทางในเรื่องของแรงงาน อีกหลายเรื่อง ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ถ้าเรามีสภาแรงงานเป็นตัวแทนของแต่ละภาคส่วนนั้นเราก็จะเสนอปัญหา เข้าไปสู่ในส่วนของสภาแรงงานจังหวัดให้เขาไปกลั่นกรอง ให้เขาไปทบทวน ให้เขาไป แก้ปัญหา และเสนอมาในส่วนของจังหวัดที่เรามีหน่วยต่าง ๆ เข้าไป เพราะฉะนั้น การออกแบบการที่จะไปศึกษาตั้งคณะกรรมาธิการในเรื่องของโครงสร้างในการจัดตั้ง สภาแรงงานจังหวัดนั้นเป็นสิ่งที่ดี หรือไม่ดีอย่างไรนั้นผมคิดว่าเป็นหัวข้อที่น่าสนใจ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดแล้วมันไม่ดีเราก็มีข้อกำหนด ข้อกฎหมาย อะไรที่ไปอุดช่องโหว่ในเรื่อง ของสิ่งไม่ดี อะไรที่มันเป็นจุดแข็ง อะไรเป็นจุดเด่น อะไรเป็นจุดดี เราก็จะให้ในส่วนของ สภาแรงงานจังหวัดในระบอบประชาธิปไตย ในทางการเมืองของท้องถิ่น ในตัวแทนของ ทุกภาคส่วนไม่ใช่ในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง เพราะฉะนั้นเรื่องของแรงงานในส่วนของ ลูกจ้างที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับใน พ.ร.บ. แรงงานนั้นมีมาก มีมากกว่าที่อยู่ภายใต้บังคับ ด้วยซ้ำไปนะครับ เพราะฉะนั้นผมเห็นด้วยในเรื่องของการจัดตั้งเรื่องนี้ แล้วก็ต้องฝากเรื่อง ไปในเรื่องของการเพิ่มเติมในเรื่องของการยกร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริม สนับสนุนแรงงานอิสระ แล้วก็ต้องเอาแรงงานเหล่านี้ ณ วันนี้มีตัวเลขอยู่แล้ว ๒๐ ล้านกว่าคน ๒๐ ล้านกว่าคน บวกกับ ๑๘ ล้านคน ท่านประธานครับ วันนี้ ๑๘ ล้านคนที่จ่ายค่าเบี้ยประกันสังคม กองทุนเงินประกันสังคมมากที่สุดเป็นกองทุนเดียวในประเทศไทย มีค่าถึง ๒.๔ ล้านล้านบาท เกือบเท่างบประมาณประเทศ ถ้าเราเอาอีก ๒๐ ล้านคนที่อยู่นอกกรอบ นอกระบบที่เขา อยากจะซื้อ เช่น คนขับแท็กซี่ พ่อค้า แม่ค้าในตลาดสด หาบเร่ แผงลอย วินมอเตอร์ไซค์ เราเก็บรายละเอียดทุกอาชีพ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ก็เป็นอาชีพสุจริต เพราะฉะนั้นการที่เขา ใช้แรงงานแล้วก็หาเช้ากินค่ำ แรงงานที่เอาไปทำที่บ้านเยอะแยะไปหมด วันนี้ที่มีตัวเลข อยู่แล้ว ๒๐ ล้านคน ๒๐ ล้านคนบวก ๑๘ ล้านคน ในขณะที่ ๑๘ ล้านคนมีเงินกองทุนถึง ๒.๔ ล้านล้านบาท ถ้าเอา ๒๐ ล้านคนเข้าไปด้วย ผมคิดว่ากองทุนก้อนนี้จะโตกว่า ในงบประมาณของประเทศด้วยซ้ำไป ในขณะนี้กองทุนเหล่านี้ก็มีการนำสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ ไปลงทุน ไปซื้อหุ้นในบริษัทมหาชน บางแห่งก็ไปซื้อและบริหารขาดทุน บางแห่งก็กำไร สรุปง่าย ๆ ว่าปีหนึ่งกำไร ๖,๐๐๐ ล้านบาท แต่ใน ๖,๐๐๐ ล้านบาทนี้ก็ยังมีส่วนขาดทุน เราก็จะต้องไปแก้ปัญหาว่าการที่นำเงินกองทุนไปบริหารขาดทุนแล้วนั้นใครรับผิดชอบ ใครจะต้องป้องกันแก้ไข เพื่อที่จะให้เงินของพี่น้องประชาชนในภาคแรงงานนั้นเอาไปลงทุน แล้วจะต้องกำไร สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นรายละเอียดอีกมากมาย ผมคิดว่าเพื่อนสมาชิกถ้าดูให้ดี ก็ฝากเพื่อนสมาชิกด้วยว่าในส่วนของสภาแรงงานจังหวัดคล้าย ๆ กับสภาเกษตรจังหวัด และเราไปอุดช่องว่างช่องโหว่ และให้โอกาสกับพี่น้องภาคแรงงานในท้องถิ่นในต่างจังหวัด เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาในภาพรวมก็เป็นสิ่งที่ดียิ่งนะครับ ก็ฝากท่านประธาน ไปยังส่วนของเพื่อนสมาชิก แล้วก็ส่วนนี้ถ้าหากว่าเข้าไปอยู่ในคณะกรรมาธิการการแรงงาน ก็ยินดีในเรื่องของการที่จะนำเข้าสู่วาระให้เพื่อนคณะกรรมาธิการได้พิจารณาต่อไป ขอบคุณท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านเซีย จำปาทอง ผู้เสนอญัตติท่านสุดท้ายนะครับ เชิญครับ

นายเซีย จำปาทอง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาที่เคารพ ผม เซีย จำปาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วน เครือข่ายผู้ใช้แรงงาน ผมต้องขอขอบคุณท่านประธานที่บรรจุระเบียบวาระ เรื่องที่ผม และคณะขอเสนอญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาแก้ไขปัญหาการจ้างงานและเพิ่มทักษะแรงงาน ที่ผ่านมาเราทราบกันเป็นอย่างดีว่า ผู้ใช้แรงงานไม่ได้หมายถึงผู้ที่ทำงานในโรงงานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงลูกจ้างที่ทำงานประจำทุกคน ทั้งพนักงานออฟฟิศ ลูกจ้าง หน่วยงานรัฐ Rider คนทำงานอิสระ รับจ้างในภาคเกษตร เป็นต้น ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรวัยแรงงาน คืออายุตั้งแต่ ๑๕ ปีขึ้นไป จำนวน ๕๘ ล้านกว่าคน แรงงานที่อยู่ในกำลังแรงงาน ๔๐ ล้านคน ผู้มีงานทำ ๓๙ ล้านกว่าคน คนว่างงานประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ กว่าคน และผู้ที่รองานตามฤดูกาลประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ คน

นายเซีย จำปาทอง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

นอกจากนี้นอกจากคนที่อยู่ในวัย ทำงานแล้วยังมีแรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศ จำนวน ๑๑๓,๐๐๐ กว่าคน มีรายได้ ที่แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศในปี ๒๕๖๕ และ ๒๕๖๖ ส่งกลับประเทศผ่านระบบ ธนาคารแห่งประเทศไทย มูลค่า ๒๙๙,๐๐๐ กว่าล้านบาท และขณะนี้มีจำนวนแรงงาน ข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ณ มีนาคม ๒๕๖๖ ที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง มีอยู่ ๒,๗๔๓,๖๗๓ คน ท่านประธานครับ แรงงานมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ และเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แม้สิทธิแรงงานจะถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย แต่แรงงานเป็นกลุ่มคนที่ถูกลืม รัฐบาลไม่ได้ให้ความสนใจปล่อยให้ กลุ่มทุนเอาเปรียบมาตลอด แรงงานต้องเผชิญกับปัญหามากมาย เช่นความมั่นคง ในการทำงาน แม้จะมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานแต่รัฐก็ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายคุ้มครอง แรงงานได้ กฎหมายคุ้มครองแรงงาน มาตรา ๑๑/๑ แม้ลูกจ้างจะอยู่ในสถานประกอบการ เดียวกัน แต่ก็มีการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน ที่ผ่านมานายจ้างปิดกิจการเลิกจ้างลูกจ้าง ไม่จ่ายเงินค่าจ้าง ไม่จ่ายเงินค่าชดเชย ไม่จ่ายเงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินอื่น ๆ ที่ลูกจ้างได้รับ สิทธิตามกฎหมายที่ลูกจ้างได้รับ ไม่ได้รับ ปัญหาค่าจ้างไม่เพียงพอ ต่อการดำรงชีพ ค่าจ้างขั้นต่ำถูกกำหนดไม่ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาขององค์การแรงงาน ระหว่างประเทศ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ลูกจ้างต้องทำงานหนักเกินกว่าที่กฎหมาย กำหนดเพื่อได้เงินที่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน นอกจากนั้นยังมีปัญหาการรวมตัว เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง เรามีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ๒๕๑๘ ที่ล้าหลัง ซึ่งไม่สอดคล้อง ต่อสถานการณ์การจ้างงานในยุคปัจจุบัน แค่แรงงานที่คิดจะรวมตัวกันก็ถูกเลิกจ้างแล้วครับ ปัญหาความปลอดภัยในการทำงานในแต่ละปีเราจะเห็นว่ามีแรงงานที่ประสบอันตราย เจ็บป่วยจากการทำงานเพิ่มขึ้น ปัญหาประกันสังคมภายใต้คณะกรรมการ ปัญหา คณะกรรมการสังคมที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ทุกวันนี้ก็ยังอยู่ ปัญหาเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ของรัฐ ปัญหาจำนวนแรงงานขาดแคลน ปัญหารูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนไปตาม สถานการณ์ รูปแบบการจ้างการผลิตสมัยใหม่ และปัญหาการเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน ที่มีศักยภาพมากขึ้น ดังนั้นผมและคณะจึงขอเสนอญัตติด่วนดังกล่าวเพื่อให้ สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาในเรื่องการแก้ไข ปัญหาการจ้างงานและเพิ่มทักษะแรงงาน ท่านประธานครับ ผมขออภิปรายลงรายละเอียด เพิ่มเติมนะครับ ปัญหาการคุ้มครองแรงงานที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการถูกเลิกจ้าง โดยที่นายจ้างลอยแพลูกจ้าง ไม่สนใจที่จะจ่ายเงินค่าจ้าง ไม่สนใจที่จะจ่ายเงินค่าชดเชย หรือเงินแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าทำให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าลูกจ้างจะนำเรื่องไปร้องต่อสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และนำเรื่องไปฟ้องต่อศาล ก็ตามแต่ เมื่อลูกจ้างนำเรื่องไปร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครอง แรงงาน พนักงานตรวจแรงงาน ออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินต่าง ๆ ให้กับลูกจ้าง แต่นายจ้าง ก็ไม่จ่าย ไปฟ้องศาลลูกจ้างก็ชนะคดีได้กระดาษมา ๑ แผ่นว่าให้นายจ้างจ่ายเงินให้กับลูกจ้าง แต่นายจ้างก็ไม่จ่าย รัฐก็ไม่สามารถบังคับที่จะให้นายจ้างจ่ายเงินให้กับลูกจ้างได้ เช่นที่ผ่านมา มีบริษัทที่ปิดกิจการลอยแพช่วงเมื่อต้นปีที่ผ่านมามีบริษัท แอลฟ่า สปินนิ่ง จำกัด บริษัท เอเอ็มซี สปินนิ่ง จำกัดและมีบริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จํากัด ซึ่งประกอบกิจการเกี่ยวกับสิ่งทออยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ แล้วก็จังหวัดนครสวรรค์ มีลูกจ้างรวมกันประมาณ ๒,๐๐๐ คน ณ ขณะนี้ลูกจ้างยังไม่ได้รับการดูแลเยียวยาหรือเงิน ค่าชดเชยแต่อย่างใด ท่านประธานครับ สิ่งที่เจ็บปวดมากกว่านั้นเมื่อลูกจ้างเดินทาง ไปร้องเรียนกับรัฐกลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐบางคนขัดขวาง ข่มขู่ เหมือนซ้ำเติมลูกจ้าง บางครั้ง ถึงกับแจ้งความดำเนินคดี นี่คือสิ่งที่เจ็บปวดกับพี่น้องแรงงาน เขาไม่อยากไปหรอกครับ ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เขาไม่อยากไปหรอกครับกระทรวงแรงงาน แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น กับพวกเขาก็คือนายจ้างลอยแพพวกเขา เขาจำเป็นที่จะต้องไปหารัฐเพื่อให้รัฐดูแลแก้ปัญหา เพราะมันเป็นหน้าที่ของรัฐ สิ่งที่ผมอยากจะบอกต่อไปก็คือว่าปัญหาการรวมตัวสร้างอำนาจ ต่อรอง กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ปี ๒๕๑๘ ล้าหลัง ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน แม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ร่วมก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ แต่มีอนุสัญญา หลายฉบับที่รัฐบาลไทยไม่ให้การรับรอง รวมในนั้นก็มีฉบับที่ ๘๗ และ ๙๘ ว่าด้วยสิทธิ ในการรวมตัวและเจรจาต่อรองอยู่ด้วย ขบวนการแรงงานยื่นข้อเรียกร้องมากกว่า ๓๐ ปี ก็ยังไม่ได้รับการรับรอง ภาพที่ท่านเห็นก็คือเป็น Poster ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม แรงงานก็มาเรียกร้องเกี่ยวกับเรื่องนี้อีก ดังนั้นจึงทำให้สหภาพแรงงานในประเทศไทย มีจำนวนน้อยมาก สหภาพแรงงานในประเทศไทยมีสมาชิกแค่ ๑.๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จึงอยากจะบอกกับท่านประธานว่าปัจจุบันการจัดตั้งสหภาพแรงงานในประเทศไทยค่อนข้าง จะทำได้ยาก แค่คนคิดจะรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงานก็ถูกนายจ้างเลิกจ้างแล้ว อีกปัญหาหนึ่งท่านประธาน ปัญหาเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน แต่ละปีเราจะเห็น จำนวนแรงงานที่ประสบอันตรายและเจ็บป่วยมากขึ้น หลายท่านคงจำได้เมื่อเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา มีน้องคนหนึ่งที่ทำงานอยู่สมุทรปราการ ถูกเตาหลอมระเบิด น้ำร้อนลวก ต้องขึ้น รถสองแถวไปโรงพยาบาลครับ ซึ่งต่อมารักษาแล้วก็ติดเชื้อจนน้องเขาเสียชีวิต สร้างความสูญเสียให้กับครอบครัวของน้องแบบที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลยหากมีการจัดการ เรื่องความปลอดภัยที่ดี แต่เรื่องราวของน้องหลายท่านก็ทราบ เพราะว่ามีคนนำมา Post ลงในสื่อ Social เลยทำให้สังคมได้รับรู้ เมื่อเป็นข่าวจึงมีหน่วยงานหลายหน่วยงาน เข้าไปดูแลช่วยเหลือ แล้วก็มีหลายโรงงานที่เป็นแบบนี้ แต่ผมก็ไม่ทราบว่า ณ ขณะนี้ เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการอย่างไรกับนายจ้างบ้าง ท่านประธานครับ นอกจากนี้ปัญหา อีกมากมายหลายอย่าง เช่น ปัญหาประกันสังคม ภายใต้คณะกรรมการที่มาจากการแต่งตั้ง ของ คสช. เมื่อพูดถึงเรื่องประกันสังคม มีข่าวเล็ก ๆ ที่เป็นข่าวดี หลังจากที่ขบวนการแรงงาน ได้ติดตามทวงถามมาหลายปีก็คือการจะมีการจัดให้มีการเลือกตั้ง Board ประกันสังคม ในวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๖ ผู้ประกันตนท่านใดยังไม่ได้ลงทะเบียนรีบลงทะเบียนนะครับ เดี๋ยวจะหมดสิทธิเลือกตั้ง เขาให้ลงทะเบียนถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคมนี้เท่านั้น หลายท่านอาจจะ ยังไม่ทราบ เพราะสำนักงานประกันสังคมไม่ค่อยได้ประชาสัมพันธ์มากนัก ยังมีปัญหา อีกมากมาย เช่น ปัญหาการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการของรัฐปัญหาแรงงานขาดแคลน ปัญหาแรงงานข้ามชาติ ปัญหารูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์รูปแบบ การผลิตแบบใหม่ ปัญหาคนทำงานบน Platform คนรับงานไปทำที่บ้าน และปัญหา การพัฒนาเพิ่มทักษะฝีมือแรงงานให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น เป็นต้น ท่านประธานครับ สั้น ๆ นะครับ แรงงานมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ และเป็นกำลังหลักในการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย แม้สิทธิด้านแรงงานจะถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย แต่แรงงานเป็นกลุ่มคนที่ถูกลืมครับท่านประธาน รัฐบาลไม่ได้สนใจ ดูแลปล่อยให้กลุ่มทุนเอาเปรียบมาตลอด ที่ผมยกตัวอย่างล้วนเป็นปัญหาเกี่ยวกับ การจ้างงานของแรงงานทั้งสิ้น การเพิ่มทักษะให้แรงงานนี่สำคัญครับ เพราะว่าระบบนี้ กำหนดให้เราต้องแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ในโลกใบนี้ ถ้าประเทศใดล้าหลังก็ยากที่จะ แข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ เนื่องจากปัญหาแรงงานมีจำนวนมาก ผมจึงขอเสนอ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาและแก้ปัญหาพี่น้องแรงงานของเราต่อไป แล้วก็หวัง เป็นอย่างยิ่งว่าสมาชิกทุกท่านจะสนับสนุนญัตตินี้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน แก้ปัญหาของพี่น้องแรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขอบคุณครับ ท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านสมาชิกที่จะอภิปรายนะครับ มีผู้มาลงชื่ออยู่ ๑๔ ท่าน ๓ ท่านแรก ท่านสุเทพ อู่อ้น ท่านภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ ท่านนนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ เชิญท่านสุเทพ อู่อ้น ครับ

นายสุเทพ อู่อ้น แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสุเทพ อู่อ้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่อนาคตใหม่มาสู่ก้าวไกล เครือข่าย แรงงาน วันนี้ต้องขอขอบคุณผู้ที่มีความคิดที่ดีกับแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นท่านวิทยา แก้วภราดัย จากพรรครวมไทยสร้างชาติ และท่านเซีย จำปาทอง จากพรรคก้าวไกล ท่านสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง จากพรรคภูมิใจไทย ผมรู้สึกดีมากกับการที่มีการเสนอญัตติเพื่อที่จะพูดคุยเรื่องของ การจ้างงาน ผมเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสมัยที่ ๒ ก็รู้สึกดีที่มีแนวร่วมที่จะมีการพูดคุย เรื่องของปัญหาคนใช้แรงงานมากขึ้น ประเด็นที่อยากจะมีการพูดคุยนั่นก็คือเรื่องของการจ้างงาน เห็นได้ชัดเจนว่าทั้ง ๓ ท่าน พยายามสื่อสารกับสภาว่าเกิดปัญหาของการจ้างงานที่ไม่มั่นคง ใช่ครับ ขณะนี้เป็นปัญหาที่ประเทศไทยเราต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะขณะนี้คนส่วนใหญ่ ของประเทศคือคนใช้แรงงาน ซึ่งประกอบไปด้วยแรงงานที่กำหนดด้วยระบบประกันสังคม ก็คือมาตรา ๓๓ มีอยู่ประมาณ ๑๐ กว่าล้านคน และแรงงานที่เรียกว่านอกระบบอีกประมาณ ๒๔ ล้านคน รวม ๆ แล้ว ๓๐ กว่าล้านคนที่เป็นสันหลังของประเทศชาติ รวมทั้งพี่น้องแรงงาน ข้ามชาติที่มาทำงานในประเทศไทย ๒-๓ ล้านคน เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่สภาผู้แทนราษฎร ท่านประธานที่อนุมัติให้มีการอภิปรายเรื่องนี้ ผมถือว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สภาเราได้เห็นถึง ความมั่นคงของคนทั้งประเทศและคนใช้แรงงาน หลายท่านพูดถึงแรงงานไม่ว่าจะเป็น แรงงานในระบบ ซึ่งขณะนี้มีกฎหมายที่จ้างงานไม่ให้เกิดความมั่นคง ใช้ฉ้อฉลของกฎหมายจ้าง แบบมีการกำหนดระยะเวลาจ้าง Sub contract หนักเข้าไปอีกตอนนี้กำหนดระยะเวลา ๓ เดือน ๖ เดือน ๑๑ เดือน เพื่อจ้างแล้วก็ยกเลิกสัญญาจ้าง แล้วก็จ้างต่อ เขาเรียกว่า การจ้าง Sub contract ที่มีการคุกคามการจ้างงานมายาวนาน ผมเป็นหนึ่งในการจ้างแบบ Sub contract เมื่อปี ๒๕๓๐ แต่ระบบนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นการจ้างที่ผมบอกไป เมื่อสักครู่ไม่มีการจ้างระยะยาว พอเข้ามาสู่กระบวนการจ้าง เรื่องของประกันสังคม ก็ยังไม่ถ้วนหน้าทั่วถึง เรื่องเหล่านี้ต้องหยิบขึ้นมาพูดคุยตั้งคณะกรรมการวิสามัญ หรือที่กำลัง จะบอกว่าส่งไปคณะกรรมาธิการสามัญก็ช่าง อย่างไรแล้วเรื่องเหล่านี้ต้องมีการแก้ไข

นายสุเทพ อู่อ้น แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ขออีกเรื่องหนึ่งคุยในเรื่องของทักษะการทำงาน ต้องยอมรับว่าวันนี้ ในการส่งเสริมการเรียนรู้ตั้งแต่ระบบการเรียนรู้ในมัธยมศึกษา ประถมศึกษา อาชีวะศึกษา ไม่สอดคล้องกับงานที่เกิดขึ้นกับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม คนส่วนใหญ่ในประเทศ ส่งเสริมให้เรียนสายสามัญ แต่ผลเป็นจริงคนที่เรียนสายสามัญก้าวเข้าไปสู่โรงงาน จึงทำให้ ทักษะการทำงานนั้นไม่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ผลต่อเนื่องก็คือเรื่องของค่าจ้าง ที่จะได้รับไม่เป็นไปตามที่กำหนด เรื่องของความก้าวหน้าในการทำงานก็ไม่ได้เป็นไป ตามที่กำหนด เนื่องจากมีความรู้ที่ไม่ตรงกับอุตสาหกรรม สิ่งเหล่านั้นต้องมีการแก้ไข ผมได้มีโอกาสเป็นผู้นำแรงงานเข้าไปร่วมผลักดันมาหลายปีแต่ยังไม่มีการแก้ไขเรื่องระบบ ของการศึกษาให้สอดคล้องกับ อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย เรื่องเหล่านี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องศึกษาอย่างจริงจังในเรื่องของการจัดเตรียมบุคลากร เตรียมชนชั้นแรงงานที่จะเข้าไปป้อนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน โดยเฉพาะกรมพัฒนาฝีมือแรงงานก็ยังไม่มีแผนที่จะจัดเตรียมความพร้อม ซึ่งถ้าดูจาก ตัวเลขที่คณะกรรมาธิการการแรงงานสมัยที่ผ่านมาลงไปตรวจสอบก็จะอบรมใน Course ที่เรียกว่า Course ปกติ อบรมทำคุ้กกี้ อบรมการทำงานเบื้องต้น นั่นมันไม่สอดคล้องก็ต้อง มีการพัฒนา สำหรับอีกญัตติหนึ่งที่มีการเสนอเกี่ยวกับเรื่องของการจัดตั้งสภาจังหวัด คืออย่างนี้นะครับท่านประธาน ปัจจุบันนี้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์เราให้มีการตั้งสหภาพ แรงงานได้ แต่การตั้งสหภาพแรงงานปัจจุบันนี้รวมตัวได้เพียง ๑.๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และสำคัญยิ่งกว่านั้นประเทศไทยเข้าร่วมในการที่จะรับรองอนุสัญญา ILO 87 และ ILO 98 ILO 87 ว่าด้วยเรื่องสิทธิการรวมตัว ILO 98 ว่าด้วยเรื่องของการเจรจาต่อรอง ถ้าประเทศไทย เรารับอนุสัญญา ๒ ฉบับนี้นั่นคือสิ่งที่ควรจะเป็น เพราะจะเป็นการรวมตัวกันของแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานในระบบ อยู่ในบริษัทห้างร้านไม่ว่าจะเป็นแรงงานนอกระบบ มอเตอร์ไซค์วิน แท็กซี่ หาบเร่ แผงลอย พ่อค้าแม่ขาย ชาวไร่ชาวนา เกษตรกร รวมทั้ง งาน Platform ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น Rider คนที่ทำงานในร้านอาหารหรือแม้กระทั่งคนที่ ออกแบบ Design งานอิสระ งานสร้างสรรค์ แพทย์ พยาบาล ตำรวจ ทหาร นั่นคือช่องทาง ที่ควรจะเป็น และควรจะต้องเกิดขึ้นเพื่อให้เกิดการรวมตัวล้อกับรัฐธรรมนูญที่ส่งเสริมให้ ประชาชนรวมตัวเป็นสมาคม เป็นสหภาพแรงงาน เป็นสหกรณ์ แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่ได้เกิดขึ้น อย่างชัดเจน ดังนั้นสภาวันนี้ต้องเห็นด้วย และอยากเรียกร้องให้เห็นด้วยกับการที่จะมาศึกษา แบบจริงจังกับการแก้ไขการจ้างงานให้มั่นคง รวมทั้งในระบบราชการด้วย ที่มีการจ้าง แบบเหมาช่วง เหมาบริการ เอาเปรียบการจ้างงาน สิ่งเหล่านี้ควรต้องรีบแก้ไข มิฉะนั้น คนในประเทศไม่มั่นคง ประเทศจะมั่นคงได้อย่างไรครับท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ เชิญครับ

นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ นครพนม ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ผมขออภิปรายญัตติปัญหาการจ้างงานแรงงานทั้งคนไทยและต่างชาติ ซึ่งผมได้รับทราบปัญหา แล้วก็ผู้ประกอบการ บริษัท ห้างร้าน โรงงาน ลูกจ้าง แรงงาน ทั้งคนไทย คนต่างชาติเดือดร้อนกันไปทั่วเป็นเพราะพระราชบัญญัติแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็น กฎ ระเบียบ กฎหมายใช้ได้ดีเฉพาะบางจังหวัด บางที่ แต่ถ้าเป็นจังหวัดห่างไกล จังหวัด ในชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีแรงงานทั้งคนไทยและคนต่างชาติ ทำให้เกิด ช่องว่างให้หน่วยงานราชการต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ไปรีดไถ ไปเก็บส่วย ต้องส่งส่วยให้ ๔-๕ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหลายครั้งเจ้าหน้าที่ก็ไปเก็บเงินเพิ่มเติม โดยเฉพาะ พี่น้องเกษตรกรจ้างแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาทำการเกษตร ซึ่งไม่สามารถ ทำได้เหมือนในพระราชบัญญัติที่กำหนด เพราะค่าใช้จ่ายในการขอ Visa ใบอนุญาตทำงาน เอกสารต่าง ๆ เยอะมาก ต้องติดต่อหลายหน่วยงานทำให้เกิดปัญหา ผมเองจึงได้ร้องเรียน ไปที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้ช่วยพี่น้องเกษตรกร พี่น้องประชาชนของเรา ได้ช่วยแรงงาน ต่างชาติที่เขาได้เข้ามาช่วยในการทำการเกษตร ได้ขออนุมัติการทำงานให้อย่างรวดเร็ว ค่าอากรต่าง ๆ ให้ถูกที่สุด เพื่อพี่น้องเกษตรกรจะได้มีกำไรและไม่ต้องไปจ่ายส่วย นั่นคือสิ่งที่สภาผู้แทนราษฎรของเราได้พิจารณากฎหมายออกไป และนำไปปฏิบัติในพื้นที่ ห่างไกลในหมู่บ้าน ในอำเภอต่าง ๆ ไม่ได้ ส่วนสถานประกอบการหรือหน่วยงานต่าง ๆ ของภาคเอกชน การขออนุมัติ ขออนุญาตต่าง ๆ เผื่อใบอนุมัติ ใบอนุญาตต่าง ๆ จะออกมาให้กับผู้ประกอบการได้ใช้เวลา ๒-๓ เดือน และโรงงานต้องใช้เวลาถึง ๒-๓ ปี หรือขอใบอนุญาตกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เครื่องหมายการค้า Logo สัญลักษณ์ ผลิตภัณฑ์ใช้เวลา ๑-๒ ปี นักธุรกิจทั่วไปไปพูดกันและนินทาหน่วยงานราชการของเรา เขาบอกว่า ประเทศอื่น ๆ เขาลงทุน เขาประกอบการไปจนร่ำรวย ส่วนประเทศไทยของเรา ใบอนุญาต ใบอนุมัติต่าง ๆ ยังไม่ออก นั่นคือเป็นปัญหา ก็ฝากท่านประธานถึงรัฐบาล ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งเป็นนโยบายอยู่แล้วต้องอนุมัติรวดเร็วภายใน ๒๔ ชั่วโมง ภายใน ๑ วัน เหมือนประเทศต่าง ๆ เขาทำกัน อย่างเช่น การขอ อย. ใบอนุญาต อาหารและยา หรือใบอนุญาตสุขภาพ ซึ่งนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุขท่านก็ได้ไปดำเนินการเพื่อให้ผู้ประกอบการได้ลดต้นทุน มีค่าใช้จ่ายน้อย อนุมัติอย่างรวดเร็ว นั่นคือเราต้องมีการอนุมัติให้เร็ว ถ้าไปอนุมัติ ๖ เดือน ปีสองปี ผู้ประกอบการโรงงาน นายจ้างเขามีค่าใช้จ่ายมากมาย จะจ้างลูกจ้างเพิ่มเติมก็จ้างไม่ได้ เพราะใบอนุญาต ใบอนุมัติต่าง ๆ ยังไม่ออก ถ้าไปเทียบกับหลาย ๆ ประเทศ ท่านประธาน ฟังแล้วจะตกใจ ผมยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจน ขอใบอนุญาต อย. หรือเรียกว่า FDA ของประเทศสหรัฐอเมริกา ผมส่ง e-Mail ไปวันนี้ตอนบ่ายพรุ่งนี้เช้า ๙ โมงเช้าอนุมัติ ไม่ต้องไปยื่นเรื่องอะไรมากมาย เพียงแต่แจ้งเลขที่โรงงาน แจ้ง อย. FDA ของไทยเลขที่เท่าไร แค่นั้น นั่นคือประเทศเขาทำงานอย่างรวดเร็ว วันเดียวอนุมัติสินค้าที่เราส่งไปที่ท่าเรือ ประเทศสหรัฐอเมริกาศุลกากรเขาก็อนุญาตให้สินค้าออกได้ทันที แต่ประเทศไทยของเรา ใช้เวลายาวนาน ของกินของใช้ก็เน่าก่อน โรงงานเขาจะเจริญเติบโตก็ไม่ได้ เพราะทุกเรื่อง ใช้เวลาในการอนุมัติเป็นการเสียต้นทุนสูงมาก แรงงานต่าง ๆ แทนที่จะได้งานดี ๆ กิจการ เขาร่ำรวยก็ต้องมาเสียเวลาในการยื่นเรื่อง นั่นคือฝากท่านประธาน หลาย ๆ หน่วยงาน ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับนายจ้าง ลูกจ้าง ถ้าช่วยกันปฏิรูป ช่วยกันดำเนินการให้รวดเร็ว อาจจะมีใบอนุญาตที่เป็นการชั่วคราวก่อนแล้วก็เป็นใบอนุญาตตัวจริง แล้วก็ ให้ผู้ประกอบการ ลูกจ้างต่าง ๆ ได้ทำงานไปก่อน ส่วนใบอนุญาตตัวจริงค่อยออกทีหลัง และใช้ระบบ Online แบบสมัยใหม่ในการยื่นเรื่อง ยื่นเอกสารต่าง ๆ ซึ่งต่างประเทศ เขามีมานมนานครับท่านประธาน การขอ Passport ขอ Visa เขาไม่ต้องเดินทางไปเอง เขาส่งทางไปรษณีย์ก็ได้ นั่นคือประเทศไทยของเราต้องไปด้วยตัวเอง ไปแล้วขั้นตอนเยอะ ต้องเอาใบโน่นใบนี่สารพัด หลายครั้งเจ้าหน้าที่บอกต้องไปเอาเอกสารมาเพิ่ม นั่นคือ เป็นปัญหาทำให้ต้นทุนมากขึ้น ก็ฝากท่านประธานว่าทำอย่างไรเราออกกฎ ระเบียบ พระราชบัญญัติที่ใช้กับสถานประกอบการ ใช้กับลูกจ้างแรงงานที่ไม่เป็นช่องว่างให้เจ้าหน้าที่ ไปรีดไถ ไปเก็บส่วย ไปเพิ่มต้นทุนให้กับลูกจ้างแรงงานและผู้ประกอบการ กราบขอบพระคุณครับ ท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านนนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ เชิญครับ

นายนนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ นนทบุรี ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านประธานครับ เรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม นนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดนนทบุรี อำเภอบางบัวทอง อำเภอไทรน้อย ตามที่ท่านสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรได้ยื่นญัตติขอให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาการแก้ไขปัญหา การจ้างงานและการเพิ่มทักษะแรงงานของท่านวิทยา แก้วภราดัย แล้วก็ท่านเซีย จำปาทอง แล้วก็พี่สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง เป็นผู้เสนอ ก็ขอบคุณนะครับ ผมเห็นด้วยกับญัตตินี้ แต่ผมมีอีกมุมหนึ่งที่อยากจะสะท้อนปัญหาที่เป็นปัญหาของพี่น้องแรงงานนอกจากในเรื่อง ของการปรับโครงสร้างการจ้างงาน รวมถึงการจัดสวัสดิการที่ทำให้แรงงานมีรายได้เพียงพอ ในการดูแลครอบครัวตัวเองได้จริงให้เหมาะสมกับยุคปัจจุบัน แต่สิ่งหนึ่งไม่ว่านโยบาย จะเพิ่มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหรือเพิ่มทักษะ ท่านประธานทราบหรือไม่ว่าปัญหาใหญ่ที่ทำให้ แรงงานด้อยคุณภาพ และขาดสมาธิการทำงานในปัจจุบันมันคือในเรื่องของการพนัน Online ที่รุกชีวิตของพี่น้องแรงงาน และลามจนเป็นหนี้เงินกู้นอกระบบ ท่านประธานทราบดีว่า รายได้ที่ไม่เพียงพอไม่สามารถคาดหวังอนาคตได้ ทำให้การเล่นการพนันของพี่น้องแรงงาน เป็นความหวังของกลุ่มนี้เชื่อว่าชีวิตจะไม่มีทางดีขึ้นได้นอกจากถูกหวยหรือได้เงิน จากการชนะพนันที่เรียกว่า Jackpot นักวิชาการและหน่วยงานต่าง ๆ เคยให้ความเห็นว่า ถ้าจะแก้ไขต้องแก้ที่โครงสร้างของรายได้แรงงาน ต้องได้ค่าจ้างที่สอดคล้องกับคุณภาพ ของชีวิต แล้วก็มีความเครียดน้อยลง ไม่ต้องหวังลม ๆ แล้ง ๆ ไม่ต้องออกจากบ้าน ไม่ต้องติดกับดักรายได้ด้วยการพนันและเล่นหวย แต่สำหรับผมต่อให้จะเป็นนโยบาย ๑ ครอบครัว ๑ ซอฟต์พาวเวอร์ หรือเป้าหมายการสร้างงาน ๒๐ ล้านตำแหน่ง หรือการปรับค่าแรง ๖๐๐ บาทในปี ๒๕๗๐ มันก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้แรงงานมีประสิทธิภาพ ท่านประธานครับทุกวันนี้ลองเปิดโทรศัพท์ขึ้นมาหวย Online Slot Baccarat แทงบอล ลอง Search ดูได้เข้าถึงแบบง่าย ๆ เต็มไปหมด แถมยังมีกลุ่ม LINE บริการตลอด ๒๔ ชั่วโมง ขณะนี้เขาเข้าถึงอย่างรวดเร็วแค่ไม่กี่วินาทีโอนเงินเข้าไปเล่นได้เลยครับ ฝากรัฐมนตรี DE ช่วยเร่งทลายตรงนี้ให้กับพี่น้องแรงงานนะครับ พี่น้องแรงงานบางคน พัฒนาการจากผู้ใช้บริการจนปัจจุบันนำมาสู่ผู้ให้บริการโดยการหารายได้เสริมด้วยการแชร์ หน้า Page Website พนันจนหลายท่านติดลมบนร่ำรวย หลายท่านติดคุกติดตะราง สูญเสียครอบครัวเยอะแยะไปหมด พี่น้องแรงงานบางคนไม่รู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหา ไม่เคยจดว่าตัวเองเสียเงินเสียทองไปเท่าไรกับการพนัน บางคนมีหนี้สินล้นพ้นตัว ส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวต่อเพื่อนร่วมงาน ความเครียดจากการพนันทำให้ เสียสุขภาพ เสียสมาธิในการทำงาน หากนายจ้างเองเห็นหรือจับได้ว่ามีพฤติกรรมที่เข้าข่าย จะมีผลกระทบต่องานถึงขั้นถูกจ้างให้ออกจากงาน เห็นไหมครับว่าปัญหามันใหญ่ขนาดนี้ สำหรับพี่น้องแรงงาน การพนัน Online กำลังรุกคืบเข้าสู่สังคมแรงงาน ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เดี๋ยวนี้ Website พนันกับ Website เงินกู้ หรือว่าจะเป็นพวกเครือข่ายแก๊ง Call Center มิจฉาชีพ Online จะเป็นห่วงโซ่เดียวกันแทบจะทั้งหมดในประเทศไทย ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมห่วงโซ่นี้ถึงตัดไม่ขาดสักที หนำซ้ำยังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย เมื่อรัฐบาลเพิกเฉยกับปัญหานี้จนทำให้ผมคิดไปว่ามันไม่ได้สร้างความเสียหายต่อนโยบาย ของรัฐบาลใช่หรือไม่ สุดท้ายผมขออนุญาตสรุปข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ในเรื่องของการปรับโครงสร้างการจ้างงาน รวมถึงจัดสวัสดิการให้แรงงานมีรายได้เพียงพอ ดูแลตนเองและครอบครัว ใช้คำว่าได้จริงนะครับท่านประธาน

นายนนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ นนทบุรี ต้นฉบับ

๒. รณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้เท่าทันพนัน Online หรือการ หลอกลวงอื่น ๆ ที่นำมาสู่การสูญเสียทรัพย์ของพี่น้องแรงงาน

นายนนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ นนทบุรี ต้นฉบับ

๓. ปราบปรามให้สิ้นซาก หรือหากปราบปรามไม่ได้ก็ทำให้มันเป็น สิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อนำเงินเข้าประเทศของเรา ไม่ใช่ไปอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งนะครับ อันนี้ขออนุญาต Slide จะสรุปอะไรให้ฟัง

นายนนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ นนทบุรี ต้นฉบับ

อันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งนะครับ พอดีผมแอบเข้าไปเป็นลูกค้ามา ต้องบอกตรง ๆ เพื่อเข้าไปล้วงข้อมูล อันนี้จะเป็น Website สำหรับแทงหวย ท่านประธานเห็นไหมเมื่อก่อนใช้บัญชีม้า ตอนนี้วิวัฒนาการมันไม่ใช่บัญชีม้า เป็นรายบุคคลแล้วเขาเรียกทำเป็นบริษัทม้าเข้ามาแล้ว เห็นไหมครับทุก Account ที่โอน เข้าไปจะอยู่ในรูปแบบนิติบุคคล อย่างไรฝากเรื่องนี้ฝากรัฐบาล ฝากรัฐมนตรีว่าการกระทรวง DE แล้วก็หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแล เพราะว่านอกจากบัญชีม้าแล้วยังจะมีบริษัทม้า อีกครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ อีก ๓ ท่านนะครับ ท่านพลากร พิมพะนิตย์ ท่านสหัสวัต คุ้มคง ท่านขัตติยา สวัสดิผล เชิญท่านพลากร พิมพะนิตย์ ครับ

นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ จากที่เพื่อนสมาชิกได้มีการเสนอญัตติเพื่อขอแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาการจ้างงานและเพิ่มทักษะแรงงาน อย่างที่ทุกท่านทราบ กันดีครับว่าแรงงานถือเป็นกำลังหลักและเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อน และสร้าง การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงเป็นที่มาทำให้ปัญหาการจ้างงาน และเพิ่ม ทักษะแรงงานเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้อง และเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบทั้งในด้านเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ขอ Slide ด้วยครับ

นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

ซึ่งในปัจจุบันจากข้อมูลของสำนักงาน สถิติข้อมูลแห่งชาติประเทศไทยมีประชากรกำลังแรงงานรวมประมาณ ๔๐ ล้านคน ผู้ว่างงานประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ คน ถึงแม้ว่าตัวเลขการว่างงานจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ แต่ในทางกลับกันประเทศไทยยังคงประสบปัญหาการว่างงาน และการจ้างงานแรงงาน ที่ไม่ตรงกับวุฒิการศึกษาหรือสาขาอาชีพที่ต้องการ โดยสาเหตุที่ตัวเลขการว่างงานยังคง อยู่ในระดับที่ต่ำมากนั้นการที่ประชากรไทยหลากหลายกลุ่มอาจไม่ถูกจัดเป็นผู้ว่างงาน แต่ก็ยังมีจำนวนมากที่เป็นแรงงานที่อยู่นอกระบบประกันสังคมเข้าไม่ถึงระบบสวัสดิการต่าง ๆ เนื่องจากไม่ได้ทำงานประจำ ประกอบอาชีพอิสระ หรือเป็นแรงงานที่มีรายได้ไม่แน่นอน

นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

นอกจากนี้อีกส่วนหนึ่งที่เป็นต้นตอสำคัญของปัญหาดังกล่าวคือภาวะ การว่างงานแฝงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเกษตรกร ที่มักจะเกิดปัญหาการว่างงานตามฤดูกาล หรือชั่วโมงแรงงานต่อสัปดาห์ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน แรงงานทั่วไป ซึ่งถึงแม้จะเป็นปัญหาต่าง ๆ มากมายที่เกี่ยวข้องกับการว่างงาน แต่หาก สังเกตการประกาศรับสมัครงานในหลายแหล่งของประเทศไทยจะเห็นได้ว่ามีการจ้างจำนวน มากที่มีความต้องการการจ้างงานในหลากหลายสาขาอาชีพ ผมขออนุญาตยกตัวอย่าง เช่น Website A มีการรับสมัครงานอยู่ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ตำแหน่ง ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว สาขาอาชีพที่เปิดรับจะเป็นสาขาเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการเงินและวิศวกรรม ทำให้เห็นได้ว่า ปัญหาที่แท้จริงเกี่ยวกับการจ้างงานในสังคมไทยคือการที่เราผลิต หรือมีแรงงานไม่ตรงกับ ความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งนี่ถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึกในสังคมไทย ไปจนถึงประสิทธิภาพในการทำงานที่ยังอาจมีขีดความสามารถไม่เพียงพอต่อการแข่งขัน ในตลาดแรงงานบนเวทีโลกเมื่อเปรียบเทียบกับแรงงานคุณภาพจากต่างประเทศ

นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

ทั้งนี้ด้วยปัญหาดังกล่าวทำให้การแก้ไขจำเป็นต้องทำโดยเร่งด่วน และประกอบไปด้วย ๒ ทิศทางหลักคือ พัฒนาศักยภาพแรงงานที่มีอยู่เดิมไปจนถึง การเตรียมความพร้อมสำหรับแรงงานใหม่ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาด ผมจึงอยากขอเสนอ แนวทางการแก้ไขปัญหาดังนี้ครับท่านประธาน

นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

ข้อที่ ๑ เชื่อมโยงการศึกษากับตลาดแรงงานอย่างบูรณาการ สนับสนุนให้เกิด ความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและผู้ประกอบการ ไปจนถึงจัดโครงสร้างหลักสูตร การศึกษาให้สอดคล้อง สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน

นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

ข้อที่ ๒ สนับสนุนให้เกิดการศึกษาที่มีเทคโนโลยี นวัตกรรมที่เป็นศูนย์กลาง เป็นการสร้างรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมูลค่าสูงที่ล้วนแล้วแต่มีความต้องการแรงงาน ทักษะสูงเป็นจำนวนมาก ไปจนถึงผลิตคิดค้นนวัตกรรมของตนเองเพื่อสร้างอาชีพใหม่ สู่การต่อยอดในอนาคตของตนเอง

นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

ข้อที่ ๓ ยกระดับทักษะแรงงานให้สอดรับ Digital Disruption ที่กำลังจะมาถึง สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาขีดความสามารถในการใช้ประโยชน์ และทำงาน ร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่

นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

ข้อที่ ๔ สนับสนุนให้แรงงานเกิดภาวะการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อเป็น การเตรียมความพร้อมของแรงงานในการปรับตัวให้สอดรับต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และตลาดแรงงานในอนาคตอย่างที่ผมได้กล่าวไปครับท่านประธาน ปัญหาที่เกี่ยวข้อง กับการจ้างงานและการพัฒนาทักษะของแรงงานเป็นปัญหาที่สำคัญเร่งด่วน และจำเป็น ต้องได้รับการแก้ไข เพื่อเป็นรากฐานให้ประเทศสามารถเจริญเติบโตได้ต่อไปในอนาคต ผมเชื่อครับว่าแท้จริงแล้วแรงงานของประเทศไทยเป็นแรงงานที่มีความสามารถ และมีประสิทธิภาพมากเพียงพอที่จะแข่งขันกับแรงงานตลาดโลก เพียงแต่ต้องได้รับ การสนับสนุนอย่างเข้าใจและตรงจุด ขอบคุณครับท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านสหัสวัต คุ้มคง เชิญครับ

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม สหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี เขต ๗ พรรคก้าวไกล ผมขอใช้เวลาของสภา เพื่ออภิปรายเกี่ยวกับสภาพการจ้างงานและการพัฒนาฝีมือแรงงานครับ

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

เรื่องแรกคือเรื่องของสภาพการจ้างงาน อย่างที่ท่านเซีย จำปาทอง และเพื่อนสมาชิกอีกหลาย ๆ ท่านได้พูดไปแล้วในส่วนของพี่น้องแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิตต่าง ๆ แต่ปัจจุบันเรามีแรงงานมากมายหลากหลายรูปแบบ มีแรงงานสมัยใหม่ เกิดขึ้นมากมายครับ ไม่ว่าจะเป็นรายงาน Platform หรือแรงงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ แรงงานที่ผมกล่าวถึงเหล่านี้เป็นแรงงานที่ไม่มีความมั่นคงในการจ้างงานเป็นอย่างมาก เพราะอะไรครับ ปัญหาก็คือรูปแบบของการจ้างงาน ถ้าจะอธิบายง่าย ๆ ในส่วนของแรงงาน Platform หรือที่เรารู้จักกันเป็นหลักคือพี่น้อง Rider เราจะเห็นลักษณะการจ้างงานที่สมัยนี้ ชอบใช้คำสวยหรูคือเรียกพวกเขาว่า Partner คือหุ้นส่วนนั่นละครับ แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนเหล่านี้ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนหรอกครับ มี Rider สักกี่คนเชียวที่ถือหุ้นบริษัทเหล่านี้ครับ ในความเป็นจริงแล้วคนเหล่านี้ก็เป็นลูกจ้างนั่นละครับ และการเป็นลูกจ้างของพี่น้อง Rider เหล่านี้มีสภาพการจ้างงานที่ย่ำแย่เป็นอย่างมากครับ เพราะอะไร เพราะแรงงานเหล่านี้ อยู่บนความเสี่ยงตลอดเวลา บนท้องถนนนี้เสี่ยงมากนะครับ ท่านประธานครับ รวมถึง มีต้นทุนของตัวเองที่ต้องใช้งาน

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

จาก Slide เราจะเห็นเลยครับว่าต้นทุนในการ ประกอบอาชีพของพี่น้อง Rider ของเรามีทั้งเสื้อคลุม กระเป๋า โทรศัพท์ จักรยานยนต์ และอื่น ๆ รวม ๆ เป็นต้นทุนตั้งแต่ ๕๐,๐๐๐-๑๒๐,๐๐๐ บาท นี่เรายังไม่รวมค่าน้ำมัน ประกัน ภาษีรถ และค่าเสื่อมสภาพ คนเหล่านี้เขาไม่มีค่าแรงขั้นต่ำ วันหนึ่งเราไม่มีทางทราบ เลยครับว่าแต่ละคนจะได้ค่าแรงถึงค่าแรงขั้นต่ำหรือไม่ แบบนี้หรือครับที่ถูกเรียกว่า Partner นอกจากพี่น้องชาว Rider ที่เป็นแรงงานในภาคขนส่งแล้วยังมีลูกจ้างอีกประเภทหนึ่ง ในสมัยนี้คือแรงงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในกองถ่าย นักดนตรี กลางคืน นักวาด นักเขียน Graphic Designer ช่างแต่งหน้า คนเหล่านี้เขามีต้นทุน ที่แพงมากที่ต้องแบกรับก็คืออุปกรณ์ที่คนเหล่านี้ใช้ในการประกอบอาชีพ แต่ละอาชีพ ไม่ต่ำกว่า ๕๐,๐๐๐ บาทเป็นอย่างต่ำเลย ไหนจะค่าเสื่อมสภาพใด ๆ ทั้งค่าเครื่องดนตรี ค่าคอมพิวเตอร์ ค่า Software ค่าอุปกรณ์ ค่ากล้อง ห้องซ้อม ห้องอัด ของเหล่านี้เป็นต้นทุน ในการทำงานที่เขาไม่สามารถเบิกกับใครได้เลยครับ และที่สำคัญแรงงานกลุ่มนี้ถูกกดค่าแรง เป็นอย่างมาก ขอ Slide ถัดไปนะครับ ดูราคาของแรงงานสร้างสรรค์เหล่านี้ ค่าจ้างวาดภาพ ๒๐ บาท ๘๐ บาท ๑๐๐ กว่าบาท ค่าบทความ ๑๐๐ คำ ๑๐ บาท ๑,๕๐๐ คำ ๓๐๐ บาท นี่ต่ำมากนะครับ บางท่านอาจจะบอกว่าก็ตัดราคากันเอง ไม่จริงครับ จริง ๆ แล้วนายจ้าง ก็ฉวยโอกาสในการกดราคาคนเหล่านี้ให้ต่ำลงไปอีก แล้วแต่ละคนนะครับทำงานหามรุ่งหามค่ำ ไม่ได้หลับไม่ได้นอนส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้น ระยะยาว และหลาย ๆ คนก็ไม่มี ประกันด้านสุขภาพอะไรเลย เกิดอุบัติเหตุจากการทำงานขึ้นมาก็พึ่งพาใครไม่ได้ ถ้าทำงาน ไม่ได้ก็เท่ากับขาดรายได้อีก นี่คือแค่ส่วนหนึ่งของความลำบากของคนที่เป็นแรงงานอิสระนะครับ ปัญหาหลักคืออะไรครับ ที่ผมพูดมานั้นปัญหาหลัก ๆ คือสภาพการจ้างงาน จริง ๆ แล้วคนเหล่านี้เขาไม่ใช่ Partner ไม่ใช่หุ้นส่วนใด ๆ เลยนี่มันแรงงานชัด ๆ ครับ แต่กลายเป็นว่าแรงงานเหล่านี้ไม่ได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานเลย ทั้งเรื่องชั่วโมงการทำงาน วันหยุด OT ไม่มีความคุ้มครองใด ๆ ไม่มีความมั่นคง ไม่มีหลักประกัน ซึ่งมันเกิดจากช่องโหว่ทางกฎหมายที่กฎหมายของเราไม่ได้ถูกปรับ แก้ไขให้ทันกับสภาพการจ้างงานที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ผมเห็นเลยนะครับว่าเรื่องนี้เราต้อง เปลี่ยนนิยามการจ้างให้ครอบคลุมแรงงานกลุ่มนี้ และกลุ่มอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองอย่างที่ควรจะเป็น และที่สำคัญถ้ารัฐบาลตั้งอกตั้งใจจะผลักดัน Soft Power ของไทยจริง ๆ เรื่องหนึ่งที่ควรจะเข้ามาดูแลเร่งด่วนก็คือเรื่องนี้ เข้ามาดูแล สวัสดิภาพ สวัสดิการของคนงานสร้างสรรค์ เพราะถ้าเขาไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่มีเวลาพักผ่อน ที่เพียงพอ ไม่มีรายได้ที่เหมาะสมจะเอาพลังที่ไหนมาทำงานสร้างสรรค์ จะเอาคุณภาพที่ไหน มาสร้างสรรค์จินตการให้เกิด Soft Power ได้ จริง ๆ เรื่องนี้ถ้าเล่าต่อก็เป็นเรื่องยาว ๆ ได้เลย แต่เนื่องจากเวลาที่มีจำกัดขอไปในเรื่องการพัฒนาฝีมือต่อนะครับ ซึ่งผมเคยอภิปรายเรื่องนี้ ไปแล้วในสภาแห่งนี้แต่จะขอพูดซ้ำแบบเร็ว ๆ ครับ เรื่องการเพิ่มทักษะและพัฒนา ฝีมือแรงงาน ขอ Slide ด้วยนะครับ ผมชวนมาดูสถิติการพัฒนาฝีมือแรงงานสถิติแรงงาน จากสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน เราจะเห็นเลยว่าตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ มามีผู้เข้ารับ การทดสอบฝีมือแรงงานตกลงทุกปี แล้วผู้ผ่านเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ต่ำลงทุกปีเช่นกัน เมื่อปี ๒๕๖๕ มีผู้เข้ารับการทดสอบ ๓๒,๑๗๓ ราย ผ่านมาตรฐานเพียงแค่ ๒๑,๐๐๐ กว่าราย ผ่านเพียงแค่ ๖๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ต่อมาคือจำนวนแรงงานที่ได้รับการพัฒนาฝีมือแรงงาน และได้งานทำในปี ๒๕๖๕ ท่านประธานครับ มีผู้เข้ารับการฝึก ๗๙,๙๓๕ คน แต่ได้งานทำ เพียงแค่ ๔๒,๘๐๖ คน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์แค่ครึ่งเดียวเท่านั้น สิ่งเหล่านี้สะท้อนได้เลยว่า การเพิ่มทักษะแรงงานที่ผ่านมาล้มเหลว นี่ไม่ใช่แค่เรื่องตัวเลขทางสถิติเท่านั้นที่มีปัญหา แต่การพัฒนาฝีมือแรงงานยังมีประเด็นที่สำคัญคือเรื่องการรับรองคุณภาพการฝึกฝีมือ และการทดสอบฝีมือ ปัญหาใหญ่ ๆ คือการฝึกฝีมือ พัฒนาฝีมือแรงงานต่าง ๆ ที่ได้รับ ใบรับรองฝึกพัฒนาฝีมือแรงงานมาแล้ว มีค่าแรงหรือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจริง ๆ หรือไม่ ก็ต้องบอกว่าไม่ใช่ครับ เพราะท้ายที่สุดนายจ้างจำนวนหนึ่งก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับใบรับรอง การฝึกทักษะเหล่านี้ รวมไปถึงบางครั้งการผ่านการฝึกทักษะฝีมือบางสาขาอาชีพได้ใบรับรองมาจริง ก็ไม่ใช่สาขาอาชีพที่ตลาดต้องการ ก็เป็นเป้าหมายที่เราต้องมาศึกษากันต่อว่าจะทำอย่างไร เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ เพื่อทำให้การฝึกทักษะฝีมือแรงงานจะได้ตรงตามตลาดแรงงานได้ และผมขอย้ำอีกเรื่องหนึ่งคือเราไม่มีทางพัฒนาฝีมือแรงงานได้ ถ้าคุณภาพชีวิตของแรงงาน ยังไม่ดี ชั่วโมงเวลาทำงานยังสูง เวลาพักผ่อนยังไม่เพียงพอ รายได้ไม่มั่นคง ต้องพะวง เรื่องพ่อแม่ ลูกหลาน เราจะพัฒนาฝีมือแรงงานได้อย่างไรถ้ารัฐไม่หนุนเรื่องนี้

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

ขอสรุปนะครับ จากที่ผมอภิปรายมาทั้งหมดสะท้อนว่าอะไรนอกจาก ความมั่นคงในการจ้างงานก็ไม่มีแล้ว การพัฒนาฝีมือแรงงานก็ไม่สามารถทำให้เกิดการเพิ่ม รายได้ได้จริง ค่าแรงขั้นต่ำก็ต่ำเตี้ยเรี่ยดินทั้งที่ค่าครองชีพก็สูงขึ้นทุกวัน ๆ ทำให้แรงงานไทย มีคุณภาพชีวิตที่แย่มาก ไหนจะสาธารณูปโภค สวัสดิการก็แย่ นี่ละครับที่ทำให้พี่น้องแรงงาน ของเราต้องเสี่ยงไปทำงานต่างประเทศ ต่างบ้านต่างเมือง ยอมมีชีวิตที่ลำบากเพื่อที่จะ กลับมามีชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งผีน้อยในประเทศเกาหลี แรงงานเก็บเบอร์รี่ในประเทศสวีเดน และประเทศฟินแลนด์ รวมถึงแรงงานไทยในประเทศอิสราเอลที่ยอมเสี่ยงไปอยู่ในประเทศ ที่มีสงคราม เพราะหวังว่าจะมีรายได้ที่ดีกว่า และคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า และท้ายที่สุดเอง รัฐบาลก็ไม่สามารถ Guarantee การดูแลชีวิตพวกเขาได้ มีการกระตุ้นให้คนไทยไปทำงาน ต่างประเทศทุกปีเพื่อหารายได้เข้าประเทศ แต่ขณะเดียวกันก็กลับไม่ให้การคุ้มครองแรงงานไทย อย่างที่ควรจะเป็น ผมขอยืนยันว่าเราต้องมีการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และหาทางแก้ปัญหา ที่ผมและเพื่อนสมาชิกหลาย ๆ ท่านว่ามา เพื่อให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องแรงงานดีกว่านี้ เพื่อแก้ปัญหาของพี่น้องแรงงานที่ต้นตอให้ทุกคนอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีไม่ใช่แค่อยู่ได้ไปวัน ๆ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขออนุญาตปิดรับรายชื่อผู้อภิปราย ต่อไปท่านขัตติยา สวัสดิผล เชิญครับ

นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ดิฉันจะขออภิปรายถึงการแก้ไขปัญหาการจ้างงานและการเพิ่มทักษะ แรงงาน โดยดิฉันจะขอพูดถึงสถานการณ์ในปัจจุบันก่อนว่าตอนนี้เรากำลังเผชิญกับอะไรอยู่ ท่านประธานคะ ณ ปัจจุบันเราต่างรู้ดีว่าเรากำลังอยู่ในสังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นเราจึงต้อง เตรียมรับมือกับผลกระทบที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ที่จะเกิดขึ้นกับตลาดแรงงานไทย ตามตัวเลข ของสำนักงานสถิติแห่งชาติได้รายงานเอาไว้ว่าจากจำนวนประชากร ๕๘ ล้านคน มีจำนวน คนว่างงานอยู่ ๔.๒ แสนคน โดย ๕๘ ล้านคน คือตัวเลขของกำลังแรงงานที่มีอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นวัยทำงานได้ และ ๔.๒ แสนคนคือตัวเลขของคนที่ไม่มีงานทำจาก ๔.๒ แสนคน ใน ๕๘ ล้านคนคิดเป็น ๐.๗ เปอร์เซ็นต์ อันนี้คือตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ คำถามของดิฉันคือตัวเลขคนว่างงาน ๐.๗ เปอร์เซ็นต์จากสำนักงานสถิติแห่งชาตินี้ เชื่อถือได้หรือไม่ ที่ดิฉันต้องตั้งคำถามเพราะว่าการให้คำนิยามของคำว่าผู้มีงานทำ ของสำนักงานสถิติแห่งชาตินั้นอาจไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันสักเท่าไร เนื่องจาก เขาให้คำนิยามว่าผู้มีงานทำคือการมีงานทำเพียง ๑ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ก็ถือว่าเป็นผู้มีงานทำแล้ว ซึ่งดิฉันคิดว่าการให้คำนิยามแบบนี้ มันอาจทำให้เราไม่สามารถที่จะมองเห็นปัญหาที่แท้จริงได้ ในเรื่องของคนว่างงาน ท่านประธานคะ มันเป็นเรื่องตลกที่น่าเศร้าที่สภาของเราจะต้อง มาพูดถึงปัญหาคนว่างงานกับปัญหาตลาดขาดแรงงานไปพร้อม ๆ กัน ปัญหาเหล่านี้เกิดจากอะไร อย่างแรกเลยดิฉันคิดว่าปัญหาเกิดจากความไม่สอดคล้องกันระหว่างทักษะงานที่ตลาดต้องการ กับทักษะงานที่แรงงานมีอยู่ ณ ตอนนี้ ดิฉันขอยกตัวอย่างง่าย ๆ เมื่อสักครู่นี้ท่านพลากร พิมพะนิตย์ ก็ได้อภิปรายไปแล้วว่ามีตัวเลขคนว่างงานเยอะมากเลยแต่ทำไมใน Website จัดหางาน ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น JobsDB หรืออะไรเอย ดิฉันขออนุญาตที่ต้องเอ่ยนามนะคะ ยังมีงาน ต่าง ๆ มากมายรอให้คนสมัคร Post บางตำแหน่งอยู่เป็นเดือน ๆ ตำแหน่งก็ยังว่างอยู่ นั่นแสดง อะไร นั่นแสดงให้เห็นว่าในขณะที่คนกำลังตกงาน มันก็มีงานอีกประเภทใหญ่ ๆ เลย ที่รอเราอยู่แต่หาคนทำงานไม่ได้ในประเทศไทยใช่หรือไม่ ท่านประธานคะ เมื่อเราดูให้ละเอียด เราจะเห็นว่ากลุ่มแรงงานที่ประเทศไทยเรายังหาคนทำงานไม่ได้ คือกลุ่มงานที่เรียกว่า STEM S มาจาก Sciences T มาจาก Technology E มาจาก Engineering M มาจาก Mathematics วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ นอกจากนั้นในขณะที่เรากำลังไปสู่โลก ยุคใหม่ ตลาดแรงงานเราต้องการแรงงานสมัยใหม่ แต่แรงงานไทยกลับไม่ถูก Reskill หรือ Upskill เพื่อที่จะให้ไปเสริมกับตลาดสมัยใหม่ได้อย่างเพียงพอ มันจึงเกิดปัญหา คนว่างงานขึ้น ที่ดิฉันพูดถึงคำว่าตลาดสมัยใหม่ ตลาดสมัยใหม่คืออะไร ตลาดสมัยใหม่คือ ตลาดที่นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้าในยุค Digital เช่น การเข้ามาของ AI หรือการใช้ ChatGPT เทคโนโลยีเหล่านี้ย่อมจะเป็นภัยคุกคาม ต่อตลาดการจ้างงานของแรงงานทักษะต่ำ ดังนั้นการ Upskill ของแรงงานจึงมีความสำคัญ เพราะมันจะเป็นการเปลี่ยนภัยคุกคามอันนี้ให้กลายมาเป็นเครื่องมือในการทำงานได้ ดังนั้น เราต้องสร้างผู้ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ให้เป็น เพื่อให้เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นเครื่องมือให้กับเรา ในบริบทของสังคมไทยการ Reskill และการ Upskill ไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควร ทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการไม่ได้เอื้อให้คนไปฝึกทักษะเพิ่มเติม แต่อย่างใดเมื่อเทียบ กับประเทศสิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์เขามีการตั้งกองทุนขึ้นมาแล้วให้เครดิตเป็นจำนวน ๕๐๐ เหรียญกับคนที่มีอายุ ๒๕ ปีขึ้นไป เพื่อไปเรียน เพื่อไป Reskill เพื่อไป Upskill ให้เกิด โอกาสต่าง ๆ สำหรับเศรษฐกิจอนาคต แล้วก็มีการจ่ายเงินชดเชยที่ต้องเสียเวลา เพื่อไปฝึกทักษะเหล่านี้ แล้วเขาก็มีการจัดทำ Platform ให้ข้อมูลงานในอนาคต รวมถึง ให้คำปรึกษาเรื่องการฝึกทักษะเพื่อเปลี่ยนอาชีพ ที่ผ่านมาประเทศไทยเราเคยมีแนวคิดแบบนี้ พรรคเพื่อไทยเคยมีนโยบายชื่อว่า กองทุนคนเปลี่ยนงาน คือให้พนักงานบริษัทที่มีแนวโน้ม ที่จะถูกเลิกจ้าง จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสามารถที่จะพัฒนาทักษะใหม่ได้ สร้างงานใหม่ได้ สร้างธุรกิจใหม่ได้ร่วมกันกับภาคเอกชน กำหนดสายอาชีพ เป้าหมายที่จำเป็น ของตลาดแรงงานในอนาคต อีกปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นคือการไม่ Matching กันระหว่างคนกับงาน คนจบมาทำงานไม่ตรงกับสายที่เรียน ๗๐ เปอร์เซ็นต์ คือจำนวนของคนที่ทำงานไม่ตรงกับ สายที่เรียนมา ๔๔ เปอร์เซ็นต์คือจำนวนของเด็กจบใหม่ทั้งประเทศที่ทำงานไม่ตรงสาย เพราะว่าเราไปเน้นสายการเรียนที่สถาบันการศึกษาต้องการ แต่ไม่ใช่สิ่งที่ตลาดแรงงานกำลัง ขาดแคลนอยู่ รวมถึงจริตแล้วก็ค่านิยมของคนไทยในเรื่องการศึกษาที่เราไปเน้นสายสามัญ มากกว่าสายอาชีพ ทั้ง ๆ ที่กลุ่มสายอาชีพคือกลุ่มแรงงานที่มีความสำคัญมาก คนจบปริญญา จึงเกิดการว่างงานเยอะมาก ดิฉันคิดว่าปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้หากว่ารัฐวางทิศทาง ด้านทรัพยากรบุคคลอย่างเพียงพอ โดยกำหนดอุตสาหกรรมหลักของประเทศว่าคืออะไร ดิฉันจึงมีข้อเสนอว่ารัฐจะต้องนำเข้าองค์ความรู้ให้กับแรงงาน รัฐควรจะต้องสร้างแรงจูงใจ ในการเรียนรู้ให้กับประชาชน ทำให้ประชาชนรู้ว่าเรียนไปแล้วได้อะไร และในระหว่างทาง ก็จะต้องมีสิ่งตอบแทนให้เขา เช่น เงินหรือสิทธิในการลาโดยได้รับเงินเดือนเท่าเดิม รัฐกับประชาชนต้องมองเป้าหมายแล้วก็มีความเข้าใจร่วมกันว่าทักษะที่ตลาดต้องการ กับทักษะที่แรงงานมีคืออะไร และรัฐต้องทำหน้าที่ในการอำนวยความสะดวก เพื่อที่จะ Matching แรงงานเข้าสู่ตลาดและเป็นเจ้าภาพในการสร้าง Platform การเรียนรู้ ด้วยการทำงานอย่างบูรณาการระหว่างรัฐ เอกชน และสถานศึกษา ท่านประธานคะ สิ่งที่ดิฉันอยากฝากคือประเทศไทยจะต้องรีบวางโครงสร้างด้านทรัพยากรมนุษย์ อย่างเช่น ในอดีตที่ญี่ปุ่นได้ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างว่าเขาเตรียมคนเข้าสู่อุตสาหกรรมหนักคือยานยนต์ ที่เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ และผลักดันคนให้ศึกษาด้านนี้โดยเฉพาะ เพื่อที่จะมา เสริมอุตสาหกรรมหลักที่เขาได้กำหนดทิศทางเอาไว้ ดังนั้นประเทศไทยควรวางโครงสร้าง ด้านทรัพยากรมนุษย์ เพื่อพัฒนาแรงงานให้เหมาะสมกับเป้าหมายของประเทศตามที่รัฐบาล วางแผนไว้ และจะต้องวางศักยภาพแรงงานให้มากกว่าปัจจุบันเพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลง ในอนาคต ขอบพระคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ อีก ๓ ท่านนะครับ ท่านกัณตภณ ดวงอัมพร ท่านสฤษดิ์ บุตรเนียร ท่านเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร เชิญท่านกัณตภณ ดวงอัมพร ครับ

นายกัณตภณ ดวงอัมพร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

สวัสดีครับ ขอ Slide ครับ

นายกัณตภณ ดวงอัมพร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม นายกัณตภณ ดวงอัมพร แรมโบ้ก้าวไกล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขต เขตพญาไท เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ผมขอนำเสนอข้อมูล กราบเรียนท่านประธานเพื่อพิจารณาประกอบ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาการจ้างงานและเพิ่มทักษะแรงงานครับ จากข้อมูล ของกองวิจัยและพัฒนา สำนักงานประกันสังคม ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๖ นั้น มีผู้ประกันตนอยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา ๓๓ อยู่ทั้งสิ้น ๑๑,๖๖๕,๑๖๒ คน นี่เป็นเพียง ตัวเลขที่ลูกจ้างอยู่ในระบบประกันสังคมที่จะใช้ตัวเลขนี้มาอ้างอิงได้ ยังไม่รวมกับกลุ่มลูกจ้าง ที่เป็นสัญญารายเดือนต่อเดือน ลูกจ้างเหมาบริการในหน่วยงานภาครัฐ ลูกจ้างรายวัน และลูกจ้างอื่น ๆ ที่นายจ้างจะสรรหาบุคคลเข้ามาทำงาน นั่นหมายความว่ายังมีลูกจ้าง อีกจำนวนมากที่พวกเรามองไม่เห็น การจ้างงานที่เกิดขึ้นผมขอนำเรียนในส่วนของลูกจ้าง ที่เจอปัญหาอยู่ในปัจจุบันนี้ แน่นอนว่าเป็นปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรมของแต่ละบริษัทที่กระทำ ต่อลูกจ้าง อาทิเช่น สัญญาที่เขียนไว้ถึงความผูกมัดยึดโยงไม่ให้ไปทำกับบริษัทคู่แข่งหากหมด สัญญาหรือลาออก การไม่จ่ายเงินค่าล่วงเวลาหรือ OT ในการทำงาน การทำงานเกินระยะเวลา ที่กำหนดโดยไม่จ่ายตามที่กฎหมายกำหนดไว้ สภาวะแวดล้อมการทำงานที่ไม่เอื้อต่อการทำงาน สัญญาการจ้าง ลักษณะงานที่ไม่ตรงปกกัน หรือแม้กระทั่งเนื้องานมีเป็นล้านจ้างงานเพียง ๑๕,๐๐๐ บาท นี่เป็นเหตุผลเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่รวมยิบย่อยที่เกิดกับลูกจ้างจริง ๆ ผมขออนุญาตนำเสนอ Slide ข้อมูลภาคเอกชนที่ได้มีการทำข้อมูลเชิงสถิติของอัตราเงินเดือน แต่ละตำแหน่งจาก Manpower Group Thailand Salary Guide ตัวอย่าง CEO ในบริษัท มีเงินเดือนขั้นต่ำอยู่ ๒๙๐,๐๐๐ บาท จนไปถึง ๑ ล้านบาท มีอัตราค่าเฉลี่ยอยู่ที่ ๖๔๕,๐๐๐ บาท ตัวเลขนี้ไม่ใช่น้อยเลยครับ คราวนี้เรามาดูที่ตัวเลขของพนักงานเริ่มต้นแบบเด็กจบใหม่เลยครับ ขออนุญาตนำเสนอในสายงานกลุ่มที่ต้องดูแลลูกค้าหรือที่เรียกกันว่า Customer Service เงินเดือนขั้นต่ำ ๑๕,๒๐๐ บาทไปถึง ๑๘,๔๐๐ บาท เฉลี่ยแล้วอยู่ประมาณ ๑๖,๘๐๐ บาท แต่ท่านรู้ไหมคนกลุ่มนี้ต้องเจอปัญหาอะไรบ้างในการทำงาน สัญญาจ้างที่เขาต้องเจอ พนักงาน จะต้องทำงาน ๖ วันต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ ๐๘.๓๐ นาฬิกา ถึง ๑๗.๓๐ นาฬิกา พัก ๑ ชั่วโมง เท่ากับว่าพวกเขาต้องทำงาน ๔๘ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดไว้ แต่ว่า เมื่อทำงานจริง ๆ พวกเขาต้องทำงานเกินเวลาทุกวัน เพราะความคาดหวังของนายจ้าง และ KPI ที่ค้ำคอพวกเขาอยู่ แถมพวกเขาเหล่านี้ไม่รับ OT เพราะนายจ้างให้เหตุผลว่า Clear งานไม่เสร็จก็ต้อง Clear ให้เสร็จก่อนที่จะกลับบ้าน การถูกบังคับให้ทำงานนอกเวลา แบบไม่เต็มใจมีอยู่หลายหลากที่หลาย ๆ บริษัทเผลอ ๆ จ้างงานเหมาราชการก็โดนแบบนี้ ด้วยแต่ลูกจ้างไม่กล้าที่จะออกมาพูดหรือร้องเรียนกับบริษัทต่าง ๆ ด้วยเหตุผลที่ว่าหากเขา ร้องเรียนไปแล้วสถานะในการทำงานของพวกเขาจะเป็นอย่างไร สัญญาจะถูกฉีกไหม หลายคนเลยต้องจำใจที่จะทำงานนอกเวลา ท่านประธานครับ นี่คือลักษณะงานที่ผมจะ ยกตัวอย่างสำหรับอัตราเงินเดือน ๑๕,๐๐๐ บาท ผมจะอ่านคร่าว ๆ ให้ท่านประธานฟัง ๑. บริการลูกค้าในการปรับใช้นโยบายธุรกิจและกฎ ระเบียบขั้นตอนและโปรแกรม รวมถึง กระบวนการตรวจสอบคำสั่งซื้อ ซึ่งอาจควบคุมหลายแผนกหรือหลายธุรกิจ ๒. ติดต่อกับ ลูกค้า ฝ่ายขาย ฝ่ายการตลาด เพื่อให้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับโปรแกรมผลิตภัณฑ์ราคา การเรียก เก็บเงิน สถานะของบัญชี รวมไปถึงคุณภาพ หรือคำถามเกี่ยวกับการจัดส่ง ๓. รับสายโทรศัพท์ประมาณ ๒๐๐ สายต่อวัน จากฝ่ายขาย ฝ่ายบัญชี ฝ่ายภาคสนาม และลูกค้า ท่านครับนี่ไม่รวมกับคุณสมบัติของผู้สมัครที่ต้องทำงาน ผมคิดว่าเขากำลังมองหา พนักงานที่กำลังจะไปสู้รบกับลูกค้า คุ้มไหมครับกับอัตราเงินเดือนเท่านี้กับสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ลูกจ้างต้องพบเจอจากสัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรม ไม่เหมาะกับการทำงาน มีหลายท่านที่ต้องเข้ารับการรักษาสุขภาพจิต ทั้งโรคซึมเศร้า หรือไบโพลาร์ ซึ่งนายจ้าง ไม่ได้ Care ลูกจ้างในส่วนนี้เลย ท่านประธานครับ เคยได้ยินคำนี้ไหม หากเราตายไปบริษัท ก็หาคนอื่นมาแทนเราได้ เจ็บจี๊ดนะครับฟังคำนี้เหมือนลูกจ้างเป็นเครื่องจักรเพื่อปล้นเงิน ให้กับนายจ้างหรือเจ้าของบริษัท ไม่ได้ Care ความตายของลูกจ้างเลย และเป็นแบบนี้ ค่อนข้างเยอะครับ ด้วยเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดผมคงไม่สามารถที่จะยกเหตุผลอื่นอีกมากมาย ที่ลูกจ้างโดนกระทำมาพูดในสภาแห่งนี้ได้ ท่านครับ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มีมากมาย ทั้ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. ๒๕๔๐ แต่ท่านครับกฎหมายที่ผู้ถูกกระทำไม่กล้าที่จะพูด ที่จะร้องเรียน ไม่กล้าที่จะ ออกมาปกป้องสิทธิของตัวเองมันแย่มากนะครับ ความกลัวของลูกจ้าง เพราะนายจ้าง ไม่มีสามัญสำนึกในการปกครองลูกจ้างมองเขาเป็นเพียงเครื่องจักรผลิตเงินให้พวกเขา นี่ละครับเป็นปัญหาที่พวกเขาจะต้องเผชิญ ดังนั้นที่กล่าวมาทั้งหมดผมเห็นควรว่าการจัดตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาการจ้างงานและเพิ่มทักษะแรงงาน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นสิ่งที่เห็นด้วยครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ต่อไปท่านสฤษดิ์ บุตรเนียร เชิญครับ

นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายสฤษดิ์ บุตรเนียร สส. นักพัฒนาแก้ปัญหาปากท้องประชาชน อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เขต ๓ พรรคภูมิใจไทย วันนี้ผมขอมีส่วนร่วมในการอภิปราย ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแก้ไขปัญหาการจ้างงาน และเพิ่มทักษะแรงงาน ปัจจุบันเรารู้ว่าภาคแรงงานเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อน การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย แม้แต่การจ้างงานจะมีส่วนดีอยู่บ้าง ดีขึ้นไป เรื่อย ๆ แต่ขณะเดียวกันแรงงานที่ขาดในด้านความสามารถก็ยังมีการขาดแคลน เป็นจำนวนมาก ในปัจจุบันปี ๒๕๖๕ เรามีประชากรถึง ๖๖ ล้านคน วันนี้เรามีผู้สูงวัยถึง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ประชากรผู้สูงอายุ ๑๓-๑๔ ล้านคน เราทำแล้วปัจจุบันนี้และในอนาคตต่อไป ผู้สูงวัยก็จะมีอายุยืนยาวโดยเฉลี่ยก็เกือบ ๘๐ ปี เราจะเห็นว่าภายหลังการเกษียณแล้ว ในระบบธุรกิจ หรือระบบราชการ ๒๐-๒๕ ปีที่ผู้สูงวัยจะต้องดำรงชีพต่อไปในอนาคต วันนี้ผมถึงอยากจะเน้นไปในเรื่องของแรงงานผู้สูงอายุที่จะต้องต่อสู้กันกับการเปลี่ยนแปลง ระบบโครงสร้างของสังคม ซึ่งวัยแรงงานลดลง การเกิดน้อยลง คุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย ซึ่งจะมีอายุยืนยาวขึ้นไปขาดเงินออม การพึ่งพาลูกหลานก็มีจำนวนน้อยลง ผู้สูงอายุ ในฐานะเป็นพลังของสังคมมุ่งใช้ประโยชน์จากศักยภาพของผู้สูงวัยตามความพร้อม ในการทำงานและกิจกรรมเป็นสิ่งที่เราจะทำให้สังคมของผู้สูงวัยมีกิจกรรม และดำเนินชีวิต โดยที่ไม่ต้องพึ่งบุตรหลานและภาครัฐน้อยลง เป็นการที่จะขับเคลื่อนพัฒนาประเทศชาติ อีกแบบหนึ่ง ดังนั้นผมจึงถือว่าผู้สูงวัยควรที่จะต้องทำงานตามศักยภาพความสามารถของตน ดังนั้นผมเองในฐานะ สส. ของจังหวัดปราจีนบุรี มีความห่วงใยกับผู้สูงอายุ มีความคิดริเริ่ม ในการที่จะดูแล สนับสนุนให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพที่ดี ได้ร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน และมีอาชีพ ซึ่งสามารถที่จะดำรงอยู่ได้ตามศักยภาพ ปัจจุบันหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ก็ให้ความสำคัญในการจัดการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากการจัดการเรียนรู้ มีความจำเป็น อำนวยความสะดวก อำนวยประโยชน์ให้กับผู้สูงอายุอย่างยิ่ง เพราะเป็น การจัดการเรียนรู้เพื่อเตรียมตัวให้ผู้สูงอายุนั้นจัดการชีวิตของตนในบั้นปลายที่จะยืนยาวนาน มาก ๒๐-๒๕ ปีโดยเฉลี่ย ช่วยกระตุ้นให้ผู้สูงอายุที่มีความรู้ให้ทันสมัย สามารถรับทราบ ข้อมูลจากสังคมปัจจุบัน ปรับตัว และดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขตามศักยภาพ ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ ยังมีการดูแลให้ความรู้ และผู้สูงอายุมีประสบการณ์ อย่างมาก จากการเพิ่มขึ้นทุกปีของผู้สูงอายุ ๖๐ ปีขึ้นไปบ่งบอกให้เห็นว่ามีความจำเป็น ต้องมีการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพของประชากรกลุ่มนี้ให้มีกาย จิตใจ สังคม และมีการร่วมมือ ความมั่นคง เพื่อเตรียมความพร้อมเราจะต้องเตรียมเปลี่ยนคำว่าภาระให้เป็นพลัง เพราะผู้สูงอายุเหล่านี้ยังมีศักยภาพในการที่จะพัฒนาตนเอง ดังนั้นการส่งเสริม สนับสนุน การเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับผู้สูงอายุโดยการนำกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้สูงอายุนั้น นำความรู้ความสามารถเป็นการเพิ่มที่ผมกำลังทำอยู่ในจังหวัดปราจีนบุรีนั้น ดังนั้น การส่งเสริมในภาคส่วนเหล่านี้ให้นำการศึกษาให้มีบทบาทของหน่วยงานต่าง ๆ ผมถึงให้ ความสำคัญอยู่ว่ากระทรวงต่าง ๆ มีบทบาทที่นำมาอยู่แล้ว ไม่ว่ากระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงมหาดไทย ผมต้องขอขอบคุณกระทรวงมหาดไทย ฯพณฯ อนุทิน ชาญวีรกูล ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือสอบถามไปยังจังหวัดปราจีนบุรี จากการอภิปรายของผม นายสฤษดิ์ บุตรเนียร เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ได้ให้ความสนใจ ในแนวความคิดการพัฒนาชีวิตของผู้สูงวัยในชนบท เรื่องโครงการจัดธนาคารเวลา กองทุน ผู้สูงอายุและชมรมผู้สูงอายุ เพื่อลดภาระของภาครัฐ และให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี อีกครั้งหนึ่ง ที่ผมกำลังจะจัดการอบรมก็ต้องขอขอบพระคุณท่านโสภณ ซารัมย์ ซึ่งท่านเป็น ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาประจำสภา ให้โอกาสกระผมได้จัดการอบรมสัมมนา โครงการแนวความคิดส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อเพิ่มศักยภาพของประชาชนอย่างยั่งยืน ผมอยากจะเรียนให้ทางกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะวันนี้ผมเห็นภาคส่วนต่าง ๆ ที่ได้ร่วมมือกัน โดยเฉพาะการที่ส่งเสริมภาคีดังภาคเอกชนหรือภาครัฐ ขอ Slide ในเรื่องของ ทฤษฎีสามเหลี่ยม Triangle Model ที่ผมพยายามเสนอให้กับภาครัฐบาลได้ส่งเสริม ทุกภาคส่วนเครือข่ายได้มาร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ชุมชน สังคม โดยเฉพาะ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นได้เข้ามาร่วมกันจัดการบริหาร นำทรัพยากรที่มีอยู่แล้วมาร่วมกัน เพราะผมมองว่าปัจจุบันนี้ทรัพยากรที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นอาคาร สถานที่ ผมขอ Slide ที่มีอยู่ ที่จัดอบรมสัมมนาใน Slide ที่ ๕ เป็นอาคาร สถานที่ ซึ่งได้รับการอุปถัมภ์จากองค์การ บริหารส่วนจังหวัดเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ เห็นไหมครับที่เหลือใช้ เรายังมีทรัพยากร อีกมากมายที่เหลือใช้เอามา Renovate เอามาพัฒนา ได้รับการอุปถัมภ์จากการไฟฟ้าที่ให้ กองทุนมาพัฒนา ดังนั้นเราเห็นว่าถ้าหากว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับภาคเครือข่าย ไม่ว่าจะ ภาคเอกชน ภาคประชาชนมาพัฒนา มาเร่งการพัฒนาเพื่อให้นำความรู้ความสามารถมาช่วย ดูแลผู้สูงอายุให้ใช้ศักยภาพตนเองที่มีอยู่ก่อให้เกิดประโยชน์มันจะเป็นการให้ผู้สูงวัยนั้น ได้ดูแลตนเอง เพิ่มศักยภาพ เพิ่มทักษะ สามารถเลี้ยงตัวเองได้ในภาวะปัจจุบัน อีกทั้งภาครัฐ ก็จะได้นำสิ่งปลูกสร้างอาคารไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ยุบตัวไป หรือมาใช้ประโยชน์ เพื่อจะเป็นศูนย์กลางอเนกประสงค์ให้ผู้สูงวัยได้มาร่วมกันทำกิจกรรมที่ดี และสังคม ภาคประชาชนจะเข้มแข็ง ผมเชื่อว่าถ้า ๘๐,๐๐๐ หมู่บ้านเข้มแข็งประเทศไทยก็เข้มแข็ง ขอกราบขอบคุณมากครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับ ต่อไปท่านเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร เชิญครับ

นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต กรุงเทพมหานคร เขตธนบุรี เขตคลองสาน แขวงบางปะกอก พรรคก้าวไกล ผมขอร่วมอภิปรายสนับสนุนในญัตติ แล้วก็อยากจะฝากให้เพื่อนที่จะเป็นกรรมาธิการ หรือว่าถ้าเราไม่ตั้งให้คณะกรรมาธิการสามัญ ได้รับข้อเสนอของผมไปพิจารณาด้วย ผมมี ๒ เรื่องด้วยกันที่อยากจะเล่าให้ท่านประธานฟัง แล้วก็เพื่อนสมาชิกฟังครับ

นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องแรก จริง ๆ ทั้ง ๒ เรื่องมันก็เป็นเรื่องเดียวกัน มันเป็นเรื่องของ การที่ทำไมคนเราต้องตกงาน ทำไมคนเราได้ค่าแรงถูกอย่างที่เพื่อนสมาชิกทุกท่านได้พูดไป มันเป็นปัญหา Classic ตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๒ ที่ประเทศอังกฤษ ก็คือ เกิดชนชั้น Bourgeoisie ชนชั้น Bourgeoisie หรือชนชั้นกระฎุมพีขึ้นมา แล้วก็กดขี่กับไพร่ ที่หลุดออกจากที่ดิน หรือ Serve เก่าก็เป็นอย่างนี้ดำเนินอย่างนี้ตลอดมา แม้กระทั่งประเทศไทย ที่ห่างไปครึ่งโลกก็รับวัฒนธรรมนี้มาด้วย และดูเหมือนจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง และยิ่งแย่ลง เรื่อย ๆ ด้วยซ้ำ การจ้างงานครับท่านประธานมันอยู่เหนือกฎแห่งกาลเวลาหรือกฎอะไรทั้งปวง จริง ๆ ครับ ถ้ายกตัวอย่างในเขตผมเขตคลองสานมีชุมชนหนึ่งชื่อ ๒๐๐ ห้อง แถว ๆ ถนนเจริญรัถ ที่นี่มีช่างทำเครื่องหนังมากมาย ทั้งกระเป๋า รองเท้าที่สมาชิกหลาย ๆ ท่านอาจจะสวมใส่ กระเป๋า Brand Name บางอันที่ขายในห้างก็ล้วนแล้วมาจากชุมชนในเขตพื้นที่ผมครับ และเชื่อไหมครับท่านประธานช่วงโควิดมา ก่อนโควิดผมจำได้ตอนผมเป็นสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกผมไปเดินทุกบ้านครับบางบ้านทำพื้นรองเท้า อีก ๑ คูหาก็ทำส้นรองเท้า ทำอย่างนี้ไปเป็นกิจการขนาดเล็กเป็นช่างฝีมือ แต่โควิดมาทุกคนหายไปครับ หลายคน ก็กลับบ้านไปเลย แรงงานฝีมือเหล่านี้กลับบ้านไปเลย ไม่มาเลย แล้วผมถามว่าคนที่อยู่ เป็นอย่างไรบ้างพี่ต้องรวยขึ้นแน่เลย เพราะว่าแรงงานฝีมือขาดแคลน เขากลับบอกว่า หลังจากโควิดความมั่นคงในชีวิต เงินเก็บเขาหมดแล้ว ตอนนี้คือแรงงานทุกคนบ้านนั้นบ้านนี้ กลายเป็นศัตรูกันในชุมชน เพราะว่าทุกคนต่างแย่งงานกัน พร้อมที่จะกดค่าแรงเพื่อ ห้ำหั่นกันเอง แล้วก็นายทุนที่อยู่บนยอดภูเขาน้ำแข็งที่รับเงินทุกอย่างก็หัวเราะเยาะแรงงานเหล่านี้ มิหนำซ้ำยังบอกว่านี่ฉันช่วยพวกแกนะ นี่คือความอยุติธรรมที่มันอยู่เหนือกฎ Supply Demand ท่านประธาน ผมเข้าไปร่วมกับ สส. พรรคก้าวไกลปีกแรงงานพยายามจะจัดตั้ง สหภาพแรงงานคนทำเครื่องหนัง ผมก็หวังว่า ๔ ปีนี้ผมจะทำสำเร็จให้ได้ในสมัยนี้นะครับ

นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องที่น่าตลกมากที่เรายังคุยเรื่องนี้กันอยู่ทั้งที่มหันตภัย ในเรื่องการจ้างงาน แรงงานหลาย ๆ อย่างจะเกิดขึ้นภายใน ๒๐ ปีนี้ การเข้ามาของ AI แล้วก็ Automation โลกที่ใช้หุ่นยนต์ โลกที่ใช้ AI คิด กำลังจะเข้ามาครับ ท่านประธาน รู้ไหมสิ่งที่ผมอภิปรายหลาย ๆ ครั้งในสภานี้ข้อมูลผมถามมาจาก ChatGPT แล้วน่ากลัวมาก ChatGPT ตอนนี้คือเด็ก ๑ ขวบสามารถหาข้อมูล สามารถเขียน สามารถทำ e-Mail ภาษาอังกฤษ หรือแม้กระทั่งร่าง Resolution หรือขอมติที่ผมเอาไปใช้ในการประชุมสภา ASEAN แล้วได้คำชมจากทุกประเทศเลย ทุกคนในที่นี้จะตกงานภายใน ๒๐ ปีครับ ถามว่ารัฐบาลต้องทำอย่างไรครับ ถามว่าตอนนี้รัฐบาลต้องทำอย่างไรครับง่าย ๆ ครับ เราต้องเพิ่มเพิ่มความเข้มแข็งในการต่อรองให้กับแรงงานและพวกเรา ทุกคนในที่นี้ เป็นแรงงานครับ ถ้าได้เงินเดือนจากใคร ผมก็เป็นแรงงานครับ ท่านเลขาธิการสภาก็เป็นแรงงาน เจ้าหน้าที่สภา ข้าราชการ ก็เป็นแรงงานครับ เราจะมั่นใจได้อย่างไรครับว่าอีก ๒๐ ปีต่อไป เราจะมีชีวิตอยู่ได้ รัฐสวัสดิการคือคำตอบครับท่านประธาน ผมจะเฉลยให้ เราต้องเริ่มทำ ตั้งแต่วันนี้ครับ ถ้าเรามีรัฐสวัสดิการได้ดี ผมหรือคนในเขตพื้นที่ผมที่เขาทำงานเขาจะมี อำนาจในการต่อรองกับนายจ้างเขามากขึ้นครับ เขาจะไม่กลัวที่เขาจะต้องถูกไล่ออกหรือเขา จะเปลี่ยนงานเพื่อไปหางานที่ดีขึ้น เขาจะมีความมั่นคงในชีวิตขึ้น กล้าต่อรองกับนายจ้าง มากขึ้นครับ แล้ววันหนึ่งถ้าเราไม่เริ่มตั้งแต่วันนี้ เราไม่เลิกคิดถึง UBI เงินเดือนถ้วนหน้า เราไม่เลิกคิดถึงรัฐสวัสดิการที่ทุกอย่างมันฟรีจริง ๆ ครับ Means of production หรือผลิตภาพทั้งหมดในวันหนึ่งมันจะตกเป็นของนายทุน นายทุนเขาสามารถตั้งโรงงาน เพื่อสร้างหุ่นยนต์ มาปั๊มหุ่นยนต์ได้ หรือเขาสามารถใช้ AI ในการเขียนโปรแกรมเพื่อมา Clone AI ให้ทำทุกอย่างได้ ตอบผมหน่อยครับ วันนั้นทุกคนอยู่ที่ไหน เราจะไม่มีที่อยู่ เราจะไม่มีงานทำ อย่าหางานเลยครับ เพราะไม่มีงานอยู่แล้ว ดังนั้นคำตอบคือรัฐในฐานะประเทศไทย เราจะจัดสรรอย่างไร ทรัพยากรหรือผลิตภาพที่ตอนนี้อยู่กับนายทุน เราจะทำให้นายทุน จ่ายภาษีเพิ่มขึ้นไหม เพื่อมาทำรัฐสวัสดิการให้ทุกคนไหม ลดความเหลื่อมล้ำไหม หรือเราปล่อยอย่างนี้ แล้วก็มีแค่ชื่อประเทศไทย แต่คนที่เป็นเจ้าของจริง ๆ ก็คือเจ้าสัว นี่คือความเกี่ยวข้องกับการจ้างงาน หรือกฎหมาย หรือนักการเมืองหลาย ๆ พรรคที่เคย รับเงินนายทุน หรือรับอยู่ แล้วออกนโยบายเพื่อเอื้อนายทุน สุดท้ายจุดจบที่ผมอยากชี้ให้เห็น ภายใน ๒๐ ปี ประเทศไทยจะเป็นอย่างนี้ หรือไม่ก็ทั้งโลกจะเป็นอย่างนี้ครับ อย่างไร สิ่งที่ผมอภิปรายไปไม่ใช่ความเพ้อฝัน แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง อยากชวนทุกคนมาคิดอย่างผม และช่วยกันแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นทั้งปัจจุบันและอนาคต เพิ่มความเข้มแข็งให้พี่น้องแรงงาน เพราะทุกคนคือสหายของพวกเรา ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ อีก ๓ ท่าน ท่านแรก ท่านศรีโสภา โกฏคำลือ ท่านชวาล พลเมืองดี ท่านนิพนธ์ คนขยัน เชิญท่านศรีโสภา โกฏคำลือ ครับ

นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ดิฉัน นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ เขต ๑๐ อำเภอฮอด อำเภอดอยเต่า อำเภออมก๋อย และอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ทุกภาคส่วนของสังคมไทยเราถกเถียงกันมา ยาวนานเกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำว่าประเทศไทยควรกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่เท่าไร และค่าแรงในระดับใดจึงเหมาะสม โดยช่วยให้ลูกจ้างสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ และเป็นอัตรา ที่นายจ้างแบกรับไหว ไม่สูงเกินจนต้องเลิกจ้างแรงงาน ลดขนาดกิจการ หรือหันไปใช้ แรงงานผิดกฎหมายจากต่างชาติ

นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

อย่างไรก็ตามค่ะ ท่านประธาน เชื่อไหมคะว่ามีวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เรื่องแรงงานขั้นต่ำนั้นหมดความหมายไปโดยทันทีนั่น ก็คือการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยเฉพาะการเสริมทักษะเดิม เพิ่มทักษะใหม่ หรือที่เรียกกัน เป็นภาษาอังกฤษเรียกว่า Upskill Reskill ท่านประธานคะ เรื่องของการ Upskill Reskill ถูกพูดถึงอย่างกว้างในระดับโลก ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวขึ้นอย่างมีบทบาทเหนือมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของปัญญาประดิษฐ์หรือว่า AI ที่ว่ากันว่าจะเข้ามาทดแทนมนุษย์ และทำให้คนตกงานเป็นอีกจำนวนมากในอนาคต เนื่องจาก AI สามารถทำงานได้เท่าเทียม กับมนุษย์ และอาจจะได้ดีกว่ามนุษย์ด้วยซ้ำ นั่นทำให้หลายประเทศในทั่วโลกมีวิสัยทัศน์ ที่จะมี Upskill Reskill แรงงานของตนเพื่อให้สอดคล้องกับโลกที่หมุนไปข้างหน้าไวขึ้นทุกที แต่ถึงอย่างนั้นค่ะท่านประธาน เรื่องของการ Upskill Reskill กลับไม่เป็นที่น่าสนใจ ในประเทศที่กำลังพัฒนาหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย เนื่องจากคนจำนวนมาก ยังติดอยู่กับกรอบความคิดที่ว่าแรงงานไทยเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ไม่สามารถพัฒนาทักษะขึ้น ในระดับที่สูงได้ มายาคติเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยติดกับดักค่าแรงขั้นต่ำมาตลอด นักเศรษฐศาสตร์ อาจารย์ นักวิชาการบางคนคิดแต่ว่าต้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้คนงานพวกเขา จึงมีเงินพอไปเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เลี้ยงครอบครัว แต่ดิฉันคนหนึ่งค่ะท่านประธานไม่เชื่อว่าคนไทยจะเป็นได้แค่นั้น ดิฉันเชื่อว่าคนไทยเก่งกว่านั้น และเป็นได้ดีกว่านั้นหากได้รับการเพิ่มทักษะเดิม เสริมทักษะใหม่อย่างทั่วถึง ดิฉันขอยกตัวอย่างระดับโลกมาประกอบเพื่อความเข้าใจค่ะท่านประธาน ถ้าท่านประธาน ใช้โทรศัพท์ iPhone และทุกคนในห้องนี้ก็น่าจะรู้ว่าบริษัทที่ผลิตนั้นคือ Apple เป็นผู้ผลิต Smartphone อย่างก้องโลก ท่านประธานคะ ดิฉันเพิ่งซื้อ Apple Phone 15 Pro Max รุ่นใหม่ล่าสุดขึ้นมา ลองพลิกดูใต้กล่องใกล้ ๆ กับ Barcode จะเห็นข้อความชัดเจนที่เรียกว่า Assembled In China คำถามคือ ทำไมบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อันดับ ๑ ของโลกนั้น อย่าง Apple จึงเลือกผลิตหรือประกอบสินค้าที่ประเทศจีน เป็นเพราะค่าแรงถูกใช่หรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่เลยค่ะท่านประธาน Tim Cook CEO ของบริษัท Apple เคยเฉลยไว้ว่า สาเหตุที่ Apple ยังรักษาฐานผลิตไว้ที่ประเทศจีน ทั้ง ๆ ที่ต้นทุนค่าแรงไม่ได้ถูก เหมือนเมื่อหลายสิบปีก่อนแล้ว แต่เป็นเพราะคนจีนมีทักษะฝีมือที่ดีมากและคนทักษะเหล่านั้น มากระจุกตัวอยู่ที่เดียวกัน จึงสามารถทำให้ผลิตได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ การมีแรงงานทักษะสูงเป็นจำนวนมากเช่นนี้คือสาเหตุที่บริษัทชั้นนำของโลก เช่น Apple และ Tesla ไม่ยอมย้ายโรงงานออกจากประเทศจีนทั้ง ๆ ที่ต้นทุนค่าแรงสูงขึ้น ๆ เยอะกว่าเดิมค่ะ ท่านประธานคะ ที่ดิฉันกล่าวมาทั้งหมดนี้ท่านพอจะเห็นภาพแล้วว่าประเทศไทยยังขาดอะไรไป ใช่แล้วค่ะท่านประธานในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมจะก้าวหน้าขึ้นไปแข่งระดับโลก รวมถึงดึงดูด FDI หรือเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในประเทศได้มาก ๆ นั้น เราต้องช่วยกัน Upskill and Reskill ของแรงงานไทยให้มากที่สุด หากทำสำเร็จเรื่องของค่าแรงขั้นต่ำ ก็จะไม่เป็นประเด็นอีกต่อไปเพราะคนไทยได้รับค่าจ้างสูงกว่านั้นหลายเท่า และสามารถ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมิใช่ทำงานเพียงหาเงินประทังชีวิตอย่างที่เป็นตลอดมา นอกจากนี้ค่ะ ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตในอัตราที่สูง อย่างที่เคยมีมาในอดีตได้อีกครั้ง ท่านประธานคะ เวลาพูดเช่นนี้มักมีคนจะแย้งเสมอว่า มันเป็นไปไม่ได้หรอกแรงงานหญิงของไทยก็มีแต่สาวฉันทนาทอผ้าอยู่ในโรงงาน แรงงานชาย ก็ทำได้แค่แบกหาม ตัดกล้วย ตัดอ้อย เป็น รปภ. จะไปเขียน Code เขียนโปรแกรมได้อย่างไร ดิฉัน ขอตั้งคำถามกลับไปเลยค่ะว่าเราเคยพยายามพัฒนาฝีมือแรงงานจริงจังและเต็มรูปแบบ ในประเทศนี้แล้วหรือยัง ดิฉันขอตอบแทนให้ได้เลยค่ะว่าเรื่องเช่นนั้นมันไม่เคยเกิดขึ้น ยกตัวอย่างในอำเภอดอยเต่าเขตพื้นที่ของดิฉัน นักศึกษาที่ได้จบการศึกษาระดับ ปวช. ปวส. หรือแม้กระทั่งปริญญาตรียังประสบปัญหาว่างงานอยู่เป็นจำนวนมาก คนที่ได้ทำงาน ในท้องถิ่นเช่นการสอบคัดเลือกลูกจ้างหน่วยราชการก็ได้รับเพียงค่าจ้างเดือนละ ๙,๐๐๐ บาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ในขณะที่ชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่งซึ่งได้รับการศึกษาน้อยกว่า ก็ยังมีปัญหายากแค้น บางคนรับจ้างหักข้าวโพดเป็นรายวันพอฝนตกต้องหยุดงานไม่มีจะกิน บางคนรับงานรับจ้างทั่วไปพอเศรษฐกิจไม่ดีก็ไม่มีใครจ้างพวกเขาก็ไม่มีเงินใช้ ดังนั้นค่ะ ท่านประธาน หากเราส่งเสริมเปิดกว้างให้แรงงานเข้าถึง เพิ่มทักษะเดิม เสริมทักษะใหม่ อย่างจริงจังทั่วถึงและเต็มรูปแบบย่อมเป็นไปตามแรงงานไทยจะได้มีความสามารถ ตรงความต้องการของตลาด เด็กจบใหม่ในอำเภอดอยเต่าของบ้านดิฉันจะสามารถ เป็นวิศวกรในโรงงานผลิต Ship เพื่อให้ Smartphone ในราคาเครื่องละครึ่งแสน คนงาน ในไร่ข้าวโพดในอำเภอดอยเต่าสามารถพัฒนาฝีมือในการทำงานโรงงานแปรรูปสินค้าการเกษตร ที่ต้องใช้ทักษะสูงเพื่อมีรายได้ทุกวัน ไม่ว่าฝนจะตก แดดจะออก พายุจะเข้าพวกเขา และครอบครัวจะมีกินมีใช้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีไม่น้อยหน้ากว่าคนพื้นที่ไหน ๆ ค่ะ

นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดที่สุดค่ะท่านประธาน กลุ่มสตรีแม่บ้าน อำเภอดอยเต่า ซึ่งประกอบอาชีพผ้าทอที่เรียกว่าผ้าซิ่นตีนจกน้ำท่วม สินค้า OTOP ๕ ดาว ภูมิปัญญา ชาวบ้านในท้องถิ่นของเราเป็นผ้าฝ้าย เป็นผ้าไหมลวดลายโบราณ เอกลักษณ์เฉพาะตัว ของอำเภอฮอดและอำเภอดอยเต่า เสริมสร้างให้ชาวบ้านหรือประชาชนในพื้นที่ตลอดมา หากแม่อุ๊ยหรือลูก ๆ หลาน ๆ ของพวกเขาได้นำเทคโนโลยี ก็สามารถนำผลิตภัณฑ์ของเขา ไปขายบน e-Commerce ขยายฐานลูกค้าจากหลักล้านให้เป็นหลักพันล้านคน โดยมีรัฐบาล ที่มีวิสัยทัศน์คอยสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือ ด้วยเหตุผลนี้ดิฉันจึงขอสนับสนุน ให้มีการส่งเสริมการ Upskill Reskill แรงงานไทยอย่างจริงจัง ทั่วถึง และเป็นระบบ เพื่อประโยชน์ของเศรษฐกิจไทยและคนไทยทั้งประเทศ ขอบคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านชวาล พลเมืองดี เชิญครับ

นายชวาล พลเมืองดี ชลบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ชวาล พลเมืองดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี เขต ๓ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ปัญหาการจ้างงานและการเพิ่มทักษะได้สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยของเราต้องการ การเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน ตอนนี้เราอยู่ในยุคที่ทั่วโลกกำลังผ่านเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมใหม่ ๆ โดยที่เขากำลังทิ้งระยะห่างจากประเทศไทยออกไปเรื่อย ๆ ซึ่งปัญหา ที่ทำให้เราไม่สามารถตาม Trend โลกได้ทันไม่ใช่เรื่องอะไรเลย นอกเสียจากเรื่องของ วิสัยทัศน์ ความสามารถของผู้นำและผู้มีอำนาจที่ไม่สามารถพาประเทศขึ้นไปอยู่ในขบวน เดียวกันกับทั่วโลกได้ และเนื่องจากขณะนี้สภาวะสังคมและรัฐไทยมีค่านิยมที่ไม่ได้ตอบสนอง ความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งขยายความได้ว่าโดยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันค่านิยม ของสังคมและรัฐไทยมักจะส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เพื่อใช้ใบปริญญาเป็นใบผ่านทางไปสู่อาชีพข้าราชการ ประกอบกับรัฐไทยมีระบบราชการ ที่ใหญ่โตเกินความจำเป็น มีหลาย ๆ หน่วยงานที่ทำงานซ้ำซ้อนกัน จึงดึงดูดให้นักศึกษาเหล่านี้ เข้าไปสู่ระบบอุดมศึกษาได้เป็นจำนวนมาก และในช่วงสภาวะเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา มีสภาวะตกต่ำ หลาย ๆ ธุรกิจในไทยเน้นรับจ้างการผลิต ต้องจ้างแรงงานที่ไม่มีทักษะ ค่าแรงถูก เมื่อค่าแรงถูกคนไทยจำนวนมากต้องหันไปหาใบปริญญา เพื่อหวังว่าจะได้ เงินเดือนที่สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดสภาวะการว่างงานอย่างรุนแรงของเด็กจบใหม่

นายชวาล พลเมืองดี ชลบุรี ต้นฉบับ

โดยจากข้อมูลของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติพบว่าผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนหรือเด็กจบใหม่จำนวน ๓๘๐,๐๐๐ คน ๔๙.๓ เปอร์เซ็นต์เป็นคนที่จบในระดับอุดมศึกษา ในขณะที่ระดับอาชีวศึกษา ทั้ง ปวส. และ ปวช. มีเพียง ๗ เปอร์เซ็นต์ และ ๒.๙ เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดแรงงานไทยไม่ได้ต้องการคนจบปริญญามากมายขนาดนั้นจึงเกิดคำถามที่ว่าทำไม การศึกษาไทยไม่สามารถตอบโจทย์ตลาดแรงงานได้ แล้วก็พบคำตอบ ๓ ข้อหลัก ๆ ดังนี้ ๑. สถาบันการศึกษามีรายได้ส่วนใหญ่จากรัฐ จึงทำให้ไม่ต้องผูกพันและรับผิดชอบ กับการมีงานทำของผู้ที่จบการศึกษาไป ๒. การอุดหนุนงบประมาณของรัฐไทยแก่สถานศึกษา ส่งอิทธิพลให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนตามความพร้อม และความต้องการของรัฐ มากกว่าความต้องการของตลาดแรงงาน ๓. ผู้เรียนไม่มีข้อมูลมากพอในการประกอบการ ตัดสินใจที่จะเข้าเรียนในสาขาหรือสถานศึกษาใด เมื่อเราไปดูนโยบายที่ต่างประเทศ ซึ่งอาจจะนำมาปรับใช้ในบริบทปัญหาดังกล่าวได้ ยกตัวอย่างที่สหรัฐอเมริกา เขาสร้าง หลักประกันแก่นักเรียน นักศึกษาว่าหากจบการศึกษาไปแล้วมีงานทำตอนไหนสามารถจ่าย ค่าศึกษาเล่าเรียนย้อนหลังได้ นี่จะยิ่งทำให้มหาวิทยาลัยตื่นตัวและใส่ใจกับการพัฒนา หลักสูตรให้สามารถตอบสนองกับความต้องการของตลาดแรงงานและอีกข้อเสนอหนึ่ง จาก TDRI แต่ละสถานศึกษาควรเปิดเผยข้อมูลค่าเฉลี่ยฐานเงินเดือนของนักศึกษาจบใหม่ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเข้ารับการศึกษาของผู้เรียน ในขณะเดียวกัน นอกจาก Heavy Industry หรืออุตสาหกรรมหนักแล้ว เรายังมีอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่รัฐไทย จำเป็นต้องสนับสนุนให้เกิดการเติบโตให้ได้ เช่น อุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่พึ่งพา Soft Power เพราะถือว่าเป็นพื้นที่ที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจกันเป็นอย่างมาก รวมไปถึง ส่งเสริมสนับสนุนให้กับการศึกษาวิชาชีพเฉพาะหรืออาชีวศึกษา เพื่อยกระดับศักยภาพ ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเป็นทางเลือกที่น่าสนใจให้กับนักเรียน นักศึกษาได้เข้าไป ศึกษาต่อ แต่ในปัจจุบันเรามีกระทรวงการอุดมศึกษาที่แยกออกมาบริหารงานโดยเฉพาะ แต่หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบการศึกษาด้านอาชีวศึกษากลับเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัด กระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น งบประมาณในแต่ละปีต่างกันลิบลับ แล้วรัฐไทยก็ละเลย การเข้ามาพัฒนาอาชีวศึกษา จนทำให้อาชีวศึกษามีลักษณะเป็นเหมือนลูกเมียน้อยไปแล้ว การละเลยของรัฐที่ได้กล่าวมาทำให้อาชีวศึกษาไทยประสบปัญหาในด้านต่าง ๆ ซึ่งส่งผลให้ อาชีวศึกษาไทยไม่สามารถยกระดับศักยภาพแรงงานในตลาดได้อย่างเต็มที่ ประกอบกับ Trend อุตสาหกรรมโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ตลาดแรงงานต้องการ ทักษะจำเป็นต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากทักษะวิชาชีพเฉพาะแล้ว ตลาดแรงงานต้องการทักษะ ภาษาต่างประเทศ ทักษะ Digital ทักษะ STEM และทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ บวกกับ ทักษะ Soft Skill ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้ดียิ่งขึ้น แต่เมื่อย้อนกลับมาดู การศึกษาในระดับอาชีวศึกษากลับพบปัญหาหลาย ๆ ประการที่ทำให้ไม่สามารถยกระดับ ศักยภาพของนักศึกษาที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานได้ เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ด้านคุณภาพของแต่ละสถานศึกษาที่ยังขาดเครื่องไม้เครื่องมือ เทคโนโลยี ครุภัณฑ์ที่จำเป็น สำหรับอุตสาหกรรมใหม่ ๆ บุคลากรที่ก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ขาดทักษะ ที่จำเป็นในโลกยุคสมัยใหม่ เช่น ทักษะ Coaching ทักษะ Facilitator รวมถึงหลักสูตร ที่ล้าหลัง ซึ่งหลาย ๆ ประเทศเขาให้สถานศึกษาออกแบบและปรับปรุงหลักสูตรการอบรม ร่วมกันกับนายจ้างกันแล้ว เพื่อให้ตรงกับความต้องการของนายจ้างมากที่สุด และเพื่อจะ สร้างทักษะที่ใช้ได้จริง และหลายสถานศึกษาในไทยก็มีแล้วแต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก นอกจากระบบที่เป็นกระบวนการขั้นปฐมภูมิในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การศึกษา นอกระบบหรือ Lifelong Leaning ก็เป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่สามารถยกระดับศักยภาพ ทรัพยากรมนุษย์ในประเทศ ที่สามารถเป็นจุดแข็งในการแข่งขันของตลาดแรงงานไทย กับต่างประเทศได้โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านเรา ซึ่งในปัจจุบันเรามีพื้นที่หลักสูตร Reskill Upskill มากมายหลายแห่ง ทั้งในรูปแบบของ University Degree Credit Bank Thai MOOC Workshop หรือหลักสูตรระยะสั้น Coverage Training หรือแม้แต่กระทั่ง Boot Camp แต่พี่น้องประชาชนก็ยังประสบปัญหาในการเข้าถึง Reskill Upskill อยู่ดีด้วย เหตุผลปัจจัยหลายอย่าง ทั้งเรื่องที่ไม่มีเวลาเพราะต้องทำงานตามระยะเวลาที่กฎหมาย กำหนดคือ ๔๘ ชั่วโมงหรือ ๖ วันต่อสัปดาห์ จะเอาเวลาที่ไหนไปพัฒนาตัวเองกัน หรือเรื่อง ทุนทรัพย์ที่มีไม่มากพอ ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ ผมขอ Slide สุดท้าย ยกตัวอย่าง นโยบายที่สิงคโปร์ เขามีโครงการที่น่าสนใจคือ Skill Future ที่จะให้คูปองเป็นเงิน ๕๐๐ เหรียญแก่ประชาชนอายุ ๒๕ ปีขึ้นไปในการไปเรียน Course ต่าง ๆ เพื่อพัฒนา ตัวเองหรือ Skill Future Top Up ที่จะให้เงินเพิ่ม ๕๐๐ เหรียญเพื่อเรียน Course ที่ได้รับรองจาก Skill Future และโครงการ Additional Skill Future Credit ที่จะให้เงิน เพิ่มอีก ๕๐๐ เหรียญแก่ประชาชนอายุ ๔๐-๖๐ ปีเพื่อเรียน Course ที่เขากำหนด หรือที่ประเทศอังกฤษเขามีโครงการ LifeTime Skill Guarantee ที่รัฐบาลจะช่วย ให้ประชาชนมีทักษะที่ต้องการในทุกช่วงทุกวัยของชีวิต ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทย จะต้องนำมาปรับใช้เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่ารัฐไทยให้ความสำคัญกับ Lifelong Learning จริง ๆ ไม่ใช่เป็นเพียงนโยบายที่ใช้เพื่อการหาเสียง ขอบคุณมากครับท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านนิพนธ์ คนขยัน เชิญครับ

นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นิพนธ์ คนขยัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบึงกาฬ เขตเลือกตั้งที่ ๓ พรรคเพื่อไทย ขอร่วมอภิปรายญัตติเรื่องให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา แก้ปัญหาการจ้างงานและเพิ่มทักษะ ท่านประธานที่เคารพครับ เพื่อน ๆ สมาชิกได้พูดถึง เรื่องอนาคตทักษะฝีมือแรงงานมากแล้ว วันนี้ผมขออนุญาตเอาเรื่องแรงงานตัวจริงเลยครับ ท่านประธานครับ ผมขายแรงงานตั้งแต่อายุ ๑๕ ปี มารับจ้างที่กรุงเทพมหานคร เดือนละ ๕๐๐ บาทสมัยนั้น แล้วก็ถูกหลอกไปขายแรงงานที่ประเทศสิงคโปร์มาแล้ว ดังนั้น สิ่งที่จะสะท้อนให้เห็นวันนี้ว่ารัฐต้องจัดการ ๑. ประกันสังคม วันนี้เวลาผู้ใช้แรงงานมีปัญหา ใช้ประกันสังคม เจ้าหน้าที่ประกันสังคมบางท่านไม่ค่อยอำนวยความสะดวก ให้กับเจ้าของประกันสังคมคือผู้ใช้แรงงานที่จ่ายประกันสังคม นี่ปัญหาที่ ๑ รัฐต้องแก้ไขครับ

นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เวลาคนงาน นายจ้างไม่จ่าย ค่าจ้าง คนงานโดน เวลาทำงานอุบัติเหตุหรืออะไรก็แล้วแต่ สิทธิคุ้มครองสวัสดิการ และคุ้มครองแรงงาน เวลาไปติดต่อสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในเขตพื้นที่ โดยเฉพาะ คนอีสานบ้านผมมารับจ้างทำงานต่างจังหวัดและในกรุงเทพมหานครเขาจะมองว่าคนอีสาน ว่าเด็กบ้านนอก ดังนั้นการบริการต่าง ๆ สวัสดิการบางท่านไม่ใส่ใจ ต่อไปนี้ฝากท่านประธาน ถึงสวัสดิการสังคมทั่วประเทศ หากพี่น้องผู้ใช้แรงงานไปร้องใช้สิทธิตามอำนาจหน้าที่ของเขา ต้องดูแลตามอำนาจหน้าที่ สำหรับสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานที่ดีขอบคุณชมเชย สำหรับท่านไม่ดี ปรับปรุงแก้ไขใหม่เสีย เพราะอะไรครับ แรงงานวันนี้เป็นบุคคลที่ทำงาน ให้ครอบครัว ทำงานให้ชาติบ้านเมือง ทำไมถึงว่าชาติบ้านเมืองครับ เช่นไปทำงาน ต่างประเทศลงทุนแค่แรงงาน ในอดีตมีการโกงแรงงานมากมายบริษัทต้มคนไทยที่ไปทำงาน ต่างประเทศ วันนี้เห็นไหมเพื่อนแรงงานเราไปอิสราเอลโดนภัยสงคราม ผมเคยไปดูมาครั้งหนึ่ง คนไทยโดนยิงที่อิสราเอลเคยไปมาแล้ว ดังนั้นวันนี้รัฐต้องใส่ใจ กระทรวงแรงงาน รัฐบาล ต้องเตรียมฝึกวิทยายุทธ์ทั้งหลายที่เพื่อน ๆ พูดมาแล้วให้ดีเยี่ยม แต่สำคัญต้องดูแลพี่น้อง ผู้ใช้แรงงานให้ได้รับสิทธิตามกฎหมายแรงงาน ก็เรียนครั้งนี้ว่าข้าราชการที่ผมเอ่ยมา ประกันสังคมพี่น้องผู้ใช้แรงงานใช้ประจำ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานก็ใช้ประจำ โดยเฉพาะนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง พ.ร.บ. เขาเขียนไว้ชัดเจนว่า เมื่อนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง ลูกจ้างไปร้องทุกข์ต่อสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เขาจะสอบสวน สอบสวนเสร็จแจ้งไปยัง บริษัทที่จ้าง ครั้งแรก ๑๕ วัน ไม่มา ครั้งที่ ๒ ๑๕ วัน ไม่มา ครั้งที่ ๓ ๑๕ วัน ไม่มา สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีเงินกองทุนผู้ใช้แรงงาน ฝากถึงสวัสดิการและคุ้มครอง แรงงานเอาเงินกองทุนมาจ่ายให้เขาไปเลย แล้วท่านก็ไปบี้เอากับบริษัท ผมเคยถามอาจารย์ ผมคนหนึ่งสอนผมเป็นสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เอ่ยนามท่านไม่เสียหาย อาจารย์ บรรพต สารบัญ ท่านบอกว่าใช้เงินกองทุนได้เลยแต่เจ้าหน้าที่บางคนไม่ใช้ เพราะถ้าใช้ไป แล้วต้องไปตามเก็บมาให้ได้จากนายจ้างคนนั้น สิ่งสำคัญที่ช้ำในอดีตมีบางบริษัท มีสวัสดิการ และคุ้มครองแรงงานบางคนบางท่านไปซูเอี๋ยกับบริษัท แทนที่จะจ่าย ๓๐,๐๐๐ บาท สมมุติค่าจ้าง เอาไปไหมล่ะ ๑๕,๐๐๐ บาท นี่คือประเทศไทย ต่อไปนี้จะไม่ได้ยินคำว่า ๑๕,๐๐๐ บาท ต่อไป ๓๐,๐๐๐ บาท ต้องจ่าย ๓๐,๐๐๐ บาท ตามสิทธิเขา ข้าราชการมีสิทธิอะไรมาต่อรอง ช่วยนายจ้าง มันต้องช่วยคนงานซึ่งเขาหาเช้ากินค่ำ รับจ้างแบกหน้าแบกตามาทำงาน จากครอบครัวมาทำงานรับจ้าง วันนี้ผมเชื่อมั่นในรัฐบาลว่าเชื่อมั่นในรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงแรงงานว่าต่อไปนี้ประเทศไทยเรานั้นจะต้องเห็นความสุขตามกฎหมายและอำนาจ หน้าที่ จะไม่เห็นผู้ใช้แรงงานนั้นโดนกดขี่กดย่ำต่อไป หวังว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เพราะท่านพูดเสมอว่าพรรคเพื่อไทยหัวใจคือประชาชน วันนี้คนจน มารับจ้างโดนเอารัดเอาเปรียบผมเชื่อมั่นว่า Slogan คำนี้กินใจ ถ้ากินใจแล้วไม่ทำ มันจะกินใจใครไม่รู้ต่อไป ฝากท่านประธานถึงรัฐบาล ฝากท่านประธานถึงข้าราชการ กระทรวงแรงงาน ข้าราชการสำนักงานประกันสังคม ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบ ให้เป็นกลาง เป็นธรรม ไม่ต้องเข้าข้างนายจ้างหรือลูกจ้าง ให้ตัดสินตามกระบวนการ ความถูกต้องครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ อีก ๓ ท่านนะครับ ท่านแรก ท่านประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ท่านที่ ๒ ท่านธีระชัย แสนแก้ว ท่านที่ ๓ ท่านวีรภัทร คันธะ เชิญท่านประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ครับ

นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดปทุมธานี เขต ๗ อำเภอลำลูกกา อำเภอธัญบุรี และอำเภอหนองเสือ วันนี้ผมขอร่วมอภิปรายญัตติ การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขปัญหาแรงงาน สิ่งที่ทำให้ผมสนใจปัญหาแรงงาน ก็คือเมื่อไปเทียบกับประเทศที่มีสหภาพแรงงานอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาต่างกันอย่างมาก ผมขอยกตัวอย่างที่ผมอยู่ที่นิวยอร์ก พนักงานโรงแรมไม่ว่าจะเป็นแม่บ้าน Reception หรือ รปภ. สวัสดิการรักษาพยาบาลของเขาครอบคลุมไปถึงสามี ภรรยา และบุตร นอกจากนี้ ยังมีค่าทำฟันด้วยถึงสามี ภรรยา และบุตร แล้วก็ยังมีบำนาญให้หลังเกษียณ อายุ ๖๕ ปี จะได้รับเงินบำนาญ ๑,๕๐๐ เหรียญ ถึง ๒,๔๐๐ เหรียญแล้วแต่อายุการทำงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ในเมืองไทยยังไม่มี ไม่ใช่แค่นั้นนะครับ ยังมีวงเงินสินเชื่อให้กู้ซื้อบ้านด้วย อันนี้ คือพนักงานโรงแรมที่นิวยอร์ก สิ่งที่เขาแตกต่างจากไทยก็คือว่าเขามีสหภาพแรงงาน ที่เข้มแข็ง เป็นสหภาพแรงงานคนทำงานโรงแรม ซึ่งรวมทั้งนิวยอร์ก นิวเจอร์ซีอยู่ด้วยกันนะครับ สมาชิกตอนนี้น่าจะเกือบ ๑๐๐,๐๐๐ คน เขาจึงมีอำนาจต่อรองกับนายจ้างเพื่อจะเรียก สวัสดิการเหล่านี้ให้กับแรงงานของเขา เพราะฉะนั้นสิ่งนี้เป็นสิ่งที่คนไทยอาจจะไม่เคย จินตนาการถึงสวัสดิการเหล่านี้สำหรับแรงงานทั่ว ๆ ไปอย่างเช่นพนักงาน รปภ. แต่เมื่อเรามาดูเมืองไทยนะครับ ในเมืองไทยปัจจุบันนี้แรงงานของไทยอยู่ร่วมสหภาพ เพียง ๑.๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อีกเกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ไม่ได้อยู่ในสหภาพเลย แล้วเราก็รู้ว่า เมื่อเราพูดถึงนิยามของแรงงานหมายถึงทุก ๆ คนที่รับเงินเดือน ไม่ใช่เฉพาะพนักงานโรงงาน ทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนขับแท็กซี่ Rider ก็เป็นแรงงาน ได้รับจ้างเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นหมอ พยาบาลก็เป็นแรงงานเช่นกัน เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้ก็ควรจะมีสหภาพของตัวเอง เพื่อมีอำนาจในการต่อรอง ปัญหาของประเทศไทยก็คือว่าเรายังไม่ได้ลงนามในอนุสัญญา ILO 87 และ ILO 98 ซึ่งให้สิทธิในการรวมตัวแล้วก็เจรจาต่อรอง

นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

ผมมีเรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องเล่าที่ได้ยิน ได้ฟังมาจากเพื่อนในวงการ เคยมีกลุ่มแรงงานกลุ่มหนึ่งจะไปจดจัดตั้งสหภาพของบริษัท เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ระหว่างที่นั่งรอก็นั่งรอประมาณ ๑ ชั่วโมง แล้วเจ้าหน้าที่ก็ออกมาบอกว่าคุณจัดตั้งไม่ได้ เพราะคุณไม่ได้เป็นพนักงานแล้ว คุณเพิ่งถูกไล่ออกไปเมื่อ ๑๐ นาทีที่ผ่านมา ถูกไล่ออก กลางอากาศ ทำให้เราเห็นปัญหาของการจัดตั้งสหภาพ ถ้าบริษัทนั้นไม่เอาด้วย คุณมีสิทธิ ถูกไล่ออก และอย่าง Case นี้ก็ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า แต่บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งนั้น ก็ยังไม่มีสหภาพ แล้วก็ไม่มีใครกล้าตั้งด้วยนะครับ ท่านอาจจะลองถามเจ้าหน้าที่ให้ผมก็ได้ว่า เป็นจริงหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมสนับสนุนอยากให้รัฐไทยของเราร่วมลงนามในอนุสัญญา ILO 87 และ ILO 98

นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

ปัญหาอื่น ๆ ที่เราเห็นนะครับ ค่าแรงไม่เป็นธรรม งานที่มีความเสี่ยงสูง อุปกรณ์ป้องกันไม่เพียงพอ ปัญหาการทำงานเกินเวลา ผมสนใจปัญหาของแรงงาน จนผมต้องไปเรียน Course แรงงานก้าวหน้า แล้วก็ด้วยความสนใจมากก็เลยได้รับเลือก เป็นประธานรุ่น ๑ ด้วยนะครับ ทำให้ผมได้รู้จักกับเพื่อน ๆ ที่ทำแรงงานในหลาย ๆ ภาคส่วน อย่างเช่น กลุ่มแรงงานสร้างสรรค์ก็บ่นอยู่เสมอนะครับว่าทำงานไม่เป็นเวลา หลายครั้ง ทำงาน ๑๖ ชั่วโมงต่อวัน ต่อเนื่องกันหลาย ๆ วัน เวลาถ่ายทำภาพยนตร์ ละคร ถ่ายกัน ๑๖ ชั่วโมงต่อวัน อันนี้ก็คือปัญหาการทำงานเกินเวลาแล้วก็นายจ้างก็ไม่ได้ให้ค่าตอบแทน ที่สมเหตุสมผล

นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

อีกปัญหาหนึ่งก็คืออาชีพหมอ พยาบาลทำงานกันหนักเช่นกัน โดยเฉพาะ หมอหลาย ๆ คนนี่ คนปกติทำงานกัน ๘ ชั่วโมงต่อวัน แต่หมอไทยเฉลี่ยทำงานกัน ๑๖ ชั่วโมงต่อวัน ท่านทราบกันหรือเปล่าครับว่าหมอไทยทำงานหนักขนาดนั้น แล้วเวลา พักผ่อนเพียง ๓-๔ ชั่วโมง ตรงนี้เวลามารักษาเรานี่ เราจะเชื่อได้อย่างไรครับว่าหมอ จะมีประสิทธิภาพเต็มร้อยในการรักษาแล้วก็หลาย Case วินิจฉัยผิดพลาดนะครับ แต่เราไม่รู้ อันนี้คือเพื่อนหมอบอกกันมาเองผมไม่ได้พูดเอง ท่านสามารถที่จะติดต่อได้ หมอหลาย ๆ ท่าน ก็จะพูดเหมือน ๆ กันตรงนี้นะครับ

นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย ก่อนที่จะจบผมก็จะฝากทุกท่านให้ไปช่วยกันลงทะเบียน เพื่อเลือกตั้ง Board ประกันสังคม Board ประกันสังคมคือคนที่จะบริหารเงินประกันสังคม ให้กับพวกเรา เงินจำนวนมหาศาลหลาย ๆ ล้านล้านบาท ถ้าท่านเคยจ่ายเงินประกันสังคม ท่านควรจะไปเลือกตั้ง อันนี้เป็นครั้งแรกที่เรามีโอกาสเลือกตั้ง Board ประกันสังคมด้วยตัวเอง เป็นประวัติศาสตร์ของไทยอย่าลืมไปเลือกตั้งกันแล้วก็ท่านสามารถลงทะเบียน แล้วก็เลือกจุดเลือกตั้งได้ จังหวัดหนึ่งอาจจะมีแค่ ๑ หรือ ๒ จุด เดินทางกันไกลหน่อย แต่ถ้าจะมีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์ของเราที่จะเลือกตั้ง Board ที่ท่านเลือกมาเอง ขอบคุณมากครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไป ท่านธีระชัย แสนแก้ว เชิญครับ

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายธีระชัย แสนแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย กระผม ขอกราบเรียนท่านประธานว่าขออนุญาตในการที่จะอภิปรายเรื่องแรงงานที่มีเพื่อนสมาชิก ได้ยื่นญัตติในวันนี้ ขอสนับสนุนญัตติของเพื่อนสมาชิกทุกท่าน เพราะผมถือว่าแรงงาน เป็นผู้ค้ำจุนโลก ในโลกนี้ถ้าไม่มีแรงงานพวกเราก็คงจะลำบากพอสมควร ชนชั้นใช้แรงงาน มีทั้งคนทำความสะอาด ชงกาแฟ หรืออาหารที่พวกเราได้รับประทานอยู่ทุกวันนี้ ก็ชนชั้นใช้แรงงานที่อยู่ในสภาผู้แทนราษฎร หลาย ๆ ท่านก็อภิปรายไปแล้ว กระผมอยากจะ ขอกราบเรียนกับท่านทั้งหลายว่าจะอภิปรายกับเรื่องแรงงาน ที่เกี่ยวข้องกับประเทศอิสราเอล ที่ไม่มีความสงบ ณ วันนี้ ท่านประธานครับเกี่ยวข้องกับแรงงานในตอนนี้ไม่มีข่าวไหน ที่จะได้รับความสนใจกับพี่น้องแรงงานที่ไปทำงานในประเทศอิสราเอล ที่ถูกกลุ่มฮามาสโจมตี ถูกยิง ถูกฆ่า และถูกจับเป็นตัวประกัน ท่านประธานครับ ณ วันนี้ตายแล้ว ๒๙ ท่าน อุดรธานี ตายไปแล้ว ๙ คน ถูกจับทั้งหมด ๑๗ คน และอุดรธานีถูกจับเป็นตัวประกัน ๕ คน และบาดเจ็บอีกมากมายครับท่าน ขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการในการนำแรงงานที่ต้องการ จะกลับสู่ภูมิลำเนาก็ทยอยกันมา ๑,๐๐๐ กว่าคนแล้วคาดว่าลงทะเบียนไปแล้วประมาณ ๗,๐๐๐-๘,๐๐๐ รายครับ

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

กระผมอยากจะขอกราบเรียน ท่านประธานครับ มีคำถามหลายคนว่าทำไมพี่น้องแรงงานไทยจึงมุ่งหน้าไปอิสราเอลทั้ง ๆ ที่ ประเทศนี้มีสงครามอยู่ตลอดเวลา ภูมิภาคนี้มีการรบราฆ่าฟันนับ ๑,๐๐๐ ปีแล้ว ท่านประธานดูประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สงครามครูเสด จนถึงวันนี้สงครามก็ยังไม่ยุติ และมีแนวโน้มจะมีปัญหาสงครามในประเทศนี้จะยุติลงได้เลย ทั้งสาเหตุความขัดแย้ง ทั้งทางการเมือง ความขัดแย้งทางความเชื่อ ความขัดแย้งทางด้านศาสนา ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดี ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องแรงงานไทยในอิสราเอลไม่ได้มีชีวิตที่สะดวกสบายเลยครับ อากาศก็ร้อน แห้งแล้ง ทะเลทราย แล้วยังต้องไปเผชิญกับสังคมที่ไม่คุ้นเคยใหม่ ๆ อีกด้วย ทำไมพี่น้องแรงงานไทยต้องไปอิสราเอลมากกว่า ๓๐,๐๐๐ คน และอยู่ในแรงงานประมาณ ๕,๐๐๐ คน ทำงานอยู่ในพื้นที่เสี่ยง อยู่ในพื้นที่สงครามความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล- ปาเลสไตน์ รวมทั้งกลุ่มหัวรุนแรงอีกหลายกลุ่ม คำตอบแรกท่านประธานครับ คือความยากจน ความยากจนเป็นสิ่งที่น่ากลัว ไม่มีเงินชีวิตของคนเราจะอยู่ไม่ได้ หรือถึงอยู่ได้ก็อยู่อย่างยากลำบาก ก็ต้องขวนขวาย ก็ต้องหาโอกาสในการที่จะเข้าถึงการศึกษา ทรัพยากรต่าง ๆ ก็ไม่มี เมื่อต้นทุนชีวิต ของพี่น้องประชาชนไม่เท่ากันละครับ ก็ต้องดิ้นรน ต้องไปหาเงิน หารายได้เพื่อหาเลี้ยงปาก เลี้ยงท้อง และครอบครัว กลัวแค่ไหนก็ต้องไม่กลัว ก็ต้องเดินทางไป อย่างพี่น้อง ชาวจังหวัดอุดรธานี ๔,๐๐๐ กว่าคน เลือกที่จะไปต่อสู้ดิ้นรนที่ประเทศอิสราเอล กระผม ได้พูดคุยกับพี่น้องชาวอำเภอกุมภวาปี อำเภอประจักษ์ศิลปาคม และในหลายอำเภอ อำเภอหนองหานด้วยทางโทรศัพท์ ที่เขาได้เดินทางมา เขาต้องการจะปลดหนี้ปลดสิน เพราะว่าเงินเดือนที่เขาไปทำนั้น เขาไปใช้แรงงานเก็บผักอิสราเอล เอาเงินส่งมาเดือนละ ๓๐,๐๐๐ บาท พอทำงานครบสัญญา ๕ ปี ก็ปลดหนี้ลดสิน กลับมาสร้างบ้าน ซื้อรถยนต์ให้ครอบครัว แล้วก็เป็นสุข ส่งลูกส่งเต้าไปเรียนหนังสือ แล้วก็มาต่อทุน เพราะเขามีโอกาสอย่างนั้นครับ ๑ เดือนมีรายได้มากกว่าไทยถึง ๔ เดือน แล้วอีกอย่างหนึ่ง ที่แสดงถึงการพัฒนาทางเทคโนโลยี อิสราเอลมีการทำเทคโนโลยีอย่างสูงมาก โดยใช้การเกษตรกรรมตั้งแต่กระบวนการปลูกพืชฤดูการผลิตของทางด้านการเกษตร และการใช้เทคโนโลยีเก็บเกี่ยวการผลิตทางด้านการเกษตร ซึ่งเราเห็นว่าอิสราเอลแห้งแล้ง พื้นดินทะเลทรายมีทรัพยากรน้ำ น้ำใต้ผิวดินก็น้อย และอิสราเอลก็มีน้ำหยดทีละหยด บริเวณรากของพืชผักต่าง ๆ ก็คือพัฒนาทางเทคโนโลยีชั้นสูงครับท่านประธาน เพื่อให้พืชผัก เจริญงอกงาม ถ้าเป็นไปได้ก็ไปดูงานอิสราเอลก็ได้ ท่านประธานครับ ข้อมูลจากกระทรวง แรงงานระบุว่าแรงงานไทยทำภาคเกษตรในอิสราเอลจนครบสัญญาจ้าง ๕ ปี ๓ เดือน พี่น้องแรงงานจะได้รายได้ ๓ ล้านบาทต่อคน นี่คือแรงงาน ดึงดูดให้คนไทยเข้าไปทำงาน ในอิสราเอลครับ จำนวนเงิน ๓ ล้านบาท ภายใน ๕ ปี ๓ เดือน ก็แปลว่าพี่น้องแรงงานไทย จะต้องทำงานอย่างมีความสุขทุกท่าน จากการรายงาน BBC บอกว่าแรงงานไทยในอิสราเอล มักถูกเอาเปรียบเหมือนกัน ละเมิดสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน แรงงานหลายคนรับจ้าง ไม่เป็นไปตามสัญญาก็คือนายจ้างนั่นละ สภาพการทำงานไม่ตรงกับสัญญา และสภาพชีวิต ความเป็นอยู่ก็ไม่ได้ถูกสุขอนามัยเหมือนที่เราคิด จากเหตุการณ์ความรุนแรงในอิสราเอล และชีวิตความเป็นอยู่ยากลำบากของพี่น้องคนไทยที่กระผมได้กล่าวมานั้น กระผมจึงอยากจะ ขอเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหากับพี่น้องชาวแรงงานที่ต้องเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ต่อคณะกรรมาธิการสามัญ คณะกรรมาธิการแรงงานหรือรัฐบาลเพื่อให้ได้นำไปบริหารจัดการ ที่เกี่ยวกับแรงงานในประเทศที่ส่งออกไปต่างประเทศ

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

ประการที่ ๑ การเคลื่อนย้ายแรงงานไปทำงานต่างประเทศควรเพิ่มทักษะ อีกสักหน่อยมันจะได้รอบรู้ การเคลื่อนย้ายแรงงานไปทำงานต่างประเทศที่มีรายได้ อยู่ระดับสูงกว่าการทำงานในไทย สร้างรายได้แก่ตัวเองและส่งเงินกลับมาให้ครอบครัวใช้จ่าย เมื่อการจับจ่ายใช้สอย เศรษฐกิจก็หมุนเวียนในระบบ รัฐบาลก็ได้ภาษีมูลค่าเพิ่ม กระผม ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีนโยบายในการส่งเสริมดูแลคุ้มครองสวัสดิการ สวัสดิภาพ และชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานไทยในต่างประเทศทุกประเทศ โดยต้องให้เป็นไปตาม ตัวบทกฎหมายและอยู่ในระบบทั้งหมด และให้เจ้าหน้าที่ของรัฐช่วยดูแลเรื่องสัญญาจ้าง ของพี่น้องแรงงาน เพื่อป้องกันสัญญาทาสครับ

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ ภารกิจของกระทรวงแรงงานจะต้องเป็นเจ้าภาพหลัก ทั้งในด้านการส่งเสริม คุ้มครอง และพัฒนาแรงงาน การพิจารณามิติเชิงปริมาณ อันได้แก่ ต้องสรุปจำนวนแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศทุกประเทศอย่างชัดเจน การคำนึงถึงกระบวนการการส่งแรงงานไปต่างประเทศ เพราะเราคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของเขาด้วย เพราะเขาไปทำงาน นำเงินรายได้เข้าประเทศ เพื่อนสมาชิกก็ได้กล่าวไปแล้วบอกว่า ปีละ ๒๐๐,๐๐๐-๓๐๐,๐๐๐ ล้านบาทครับท่านประธาน

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

ประการที่ ๓ รัฐต้องสร้างกลไกให้แรงงานมีความเสี่ยงน้อยที่สุดและลดภาระหนี้ ที่เป็นต้นทุนในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศครับท่านประธาน ชี้ให้พี่น้องแรงงานเห็นว่า ไปทำงานต่างประเทศจะได้รับผลที่คุ้มค่า และไม่เสียเปรียบและไม่ขาดทุน

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

ประการที่ ๔ รัฐต้องขยายช่องทางและโอกาสในการเดินทางไปทำงาน ต่างประเทศผ่านสำนักงานจัดหางานจังหวัดต่าง ๆ และพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กว่าที่เป็นอยู่ เพื่อลดโอกาสและความเสี่ยงให้พี่น้องแรงงานถูกหลอกครับ ไปเสียนา มาเสียเมีย บางครั้งกลับมาเสียทั้งเมีย เสียทั้งนา อันนี้เป็นคำพูดที่พูดมาตลอดระยะเวลา บางครั้งถูกต้มว่าจะไปซาอุดีอาระเบีย แต่ขึ้นเครื่องบินไปซาอุดรครับ จากการรับสมัครงาน ของภาคเอกชน รวมทั้งต้องเพิ่มจัดคนงานแบบรัฐต่อรัฐ ระหว่างรัฐต่อรัฐ ให้รัฐต่อรัฐจัดการ ภาคเอกชนบางทีก็เอาหัวคิวสูง แล้วไม่ได้รับความเป็นธรรมให้มากขึ้น กว่าจะใช้หนี้ใช้สิน ทำงาน ๕ ปี ใช้หนี้ ๒ ปี ให้พี่น้องแรงงานได้ประโยชน์สูงสุด

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

ประการที่ ๕ รัฐต้องช่วยเหลือในการเตรียมความพร้อมให้พี่น้องแรงงาน ก่อนเดินทาง ต้องมีการอบรมเชิงปฏิบัติให้เข้าใจถึงลักษณะวัฒนธรรมและวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ รู้ภาษาพื้นเมือง ก็มีอยู่บ้าง มีการอบรมก่อนไปอยู่แล้ว แต่ให้เข้มข้นมากกว่านี้

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

สุดท้าย ต้องสนับสนุนรวมกลุ่มแรงงานไทยในต่างประเทศ สร้างเครือข่าย ให้มีความเข้มแข็ง เหมือนไปประเทศไทยนี่ละ เพื่อให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน หากเกิดปัญหาเฉพาะหน้าขึ้น พี่น้องแรงงานจะได้ช่วยเหลือแชร์ข้อมูลต่าง ๆ เหมือนที่ เราได้เห็นอยู่ใน TV นี่ละครับ ช่วยเหลือกันแบบนั้น แบบยายแกงที่อยู่หนองบัวลำภู ยายแจ๋มที่อยู่หนองบัวลำภู ก่อนแม่เขากำลังจะตาย แม่เขาก่อนสิ้นลมหายใจบอกว่า ช่วยพี่น้องแรงงานก่อนเถอะ เราต้องยกย่องสรรเสริญเขา

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

สุดท้ายผมขอแสดงความเสียใจกับพี่น้องแรงงานที่ได้สูญเสียชีวิตทุกท่าน ขอไว้อาลัย ไว้ทุกข์ด้วย โดยเฉพาะพี่น้องชาวจังหวัดอุดรธานีตายไป ๙ ศพแล้วครับ ศพจะมาถึงในวันพรุ่งนี้เพียง ๒ ศพ นอกนั้นก็ต้องพิสูจน์ทราบอะไรต่าง ๆ อีกเยอะแยะ กระผมถึงขอกราบเรียนกับท่านประธานมาแต่เพียงเท่านี้ ขอกราบขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ต่อไปท่านวีรภัทร คันธะ เชิญครับ

นายวีรภัทร คันธะ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพครับ กระผม นายวีรภัทร คันธะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ อำเภอพระประแดง ยกเว้นตำบลบางจาก พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับจากญัตติเรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาการจ้างงานเพิ่มทักษะแรงงาน และตั้งสภา แรงงานจังหวัด ผมขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายดังนี้ สภาพปัญหาการจ้างงานในปัจจุบัน เราพบว่ามีการกดขี่แรงงานในเรื่องของค่าจ้าง โดยอ้างเรื่องของทักษะการทำงาน เพื่อกดค่าจ้างของแรงงาน อย่างไรก็ตามค่าจ้างของเราขึ้นมาแล้วเป็น ๑๐ ปี ตั้งแต่ เกิดรัฐประหารขึ้นในปี ๒๕๕๗ จนทำให้แรงงานของเราต้องเดินทางออกไปทำงาน ที่ต่างประเทศ ที่มีค่าจ้างแพงกว่าภายในประเทศ อย่างเช่นเกาหลีหรืออิสราเอล จากการกดค่าจ้างแรงงานทำให้คนที่เป็นแรงงานที่ทำงานตามโรงงานหรือใช้ร่างกาย อย่างกรรมกรไม่สามารถที่จะเลื่อนชั้นทางสังคมได้ เพราะติดตรงที่ไม่มีปัจจัยมากพอที่จะ ขยับฐานะหรือสร้างชีวิตตัวเองให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น แม้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์เคยหาเสียงแต่ไม่ได้ทำตามนโยบายที่ตัวเองหาเสียงไว้ ๔๐๐ บาท สภาพการจ้างงานในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตประจำวัน ถ้าวันนี้ค่าข้าวอย่างต่ำ ๕๐ บาท เราลองคูณ ๓ ดู เราต้องทานข้าว ๓ มื้อ มันราคาเท่ากับเท่าไร คนคนหนึ่งอาจจะ กินข้าววันละ ๑๕๐ บาทกับค่าจ้าง ๓๐๐ กว่าบาทต่อวัน ชีวิตเขาจะดีขึ้นได้อย่างไรครับ แล้วไหนจะค่าเดินทาง ค่าเช่าบ้าน ค่าไฟ ค่าน้ำ แล้วคิดในสภาพของแรงงานที่ไม่ได้จบ ปริญญาตรีดูครับ ทุกวันนี้เราอยู่ได้หรือเปล่า การที่เราไปเรียกร้องให้เขาไป Upskill Reskill นั่นก็แปลว่าเราต้องใช้เงินในการที่จะต้องเดินทางไปโรงเรียน ไปเรียนทักษะต่าง ๆ หากว่ารัฐบาลสนับสนุนเรื่อง Upskill Reskill นี่ผมไม่มีปัญหาอะไรในเรื่องนี้เลย เป็นเรื่องที่ดี เป็นการลงทุนที่รัฐควรสนับสนุน ไม่ใช่ให้ประชาชนไปลงทุนเอง ชีวิตของแรงงานทั่วโลก เขาต้องการการเพิ่มค่าจ้างและลดเวลาการทำงาน เพื่อให้เขาได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีเวลาไปทำงานอย่างอื่นมากขึ้น ไปใช้เวลาอยู่กับครอบครัวของเขา หรือนอนหลับพักผ่อน หรือเราต้องรอให้เขานัดหยุดงานกันทั้งประเทศก่อนที่เราจะตระหนักในเรื่องนี้ ไม่ใช่บอก ให้เขาไปทำงานอย่างหนักเพื่อจะได้มีเงินเยอะ ๆ ท่านทราบหรือไม่ครับว่าการทำงานอย่างหนัก มีผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย กลายเป็นว่าได้เงินมาเท่าไรก็ต้องเอาไปรักษาตัวเท่านั้น ถูกต้อง แล้วหรือครับ ผมขอยืนบนหลักความเป็นธรรมในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่อยากเห็นเพื่อนมนุษย์ ด้วยกันที่เขามีโอกาสน้อยกว่าผม มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่านี้ มีศักดิ์ศรีในฐานะแรงงานคนหนึ่ง ผมไม่อยากเห็นแรงงานไทยต้องจากบ้าน จากครอบครัวไปไกล เพื่อไปทำงานในต่างประเทศ ไม่อยากให้เขาต้องเอาเงินและเวลาที่น้อยนิดของเขาไปเสริมทักษะที่ต้องลงทุนโดยรัฐ ไม่สนับสนุน และไม่ Guarantee ว่าเมื่อเขาเสริมทักษะแล้วค่าจ้างเขาจะเพิ่มขึ้น ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ อีก ๓ ท่านสุดท้าย ท่านนพพล เหลืองทองนารา ท่านศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ท่านพนิดา มงคลสวัสดิ์ เชิญท่านนพพล เหลืองทองนารา ครับ

นายนพพล เหลืองทองนารา พิษณุโลก ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ กราบเรียนท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ผม นพพล เหลืองทองนารา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคเพื่อไทย คนพรหมพิราม ท่านครับ ความพิการเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตนั้นไม่สามารถที่จะดำเนินไปเหมือนกับผู้คนปกติได้ ฉะนั้น จริง ๆ แล้วคนพิการก็ต้องดำรงชีวิตอยู่เหมือนกับคนปกติ เพราะฉะนั้นในเรื่องของการจ้างแรงงาน ในฐานะที่วันนี้ผมก็ใส่ที่ยึดขามาด้วย เพราะครั้งหนึ่งในชีวิตผมก็เคยเป็นคนพิการชั่วคราว แค่ผมเป็นคนพิการชั่วคราวนี่ผมรู้ซึ้งเลยครับว่าชีวิตของคนพิการนั้นเป็นอย่างไร ลำบาก ขนาดไหน น่าสงสารขนาดไหน แล้วจริง ๆ ช่วงที่ผมเป็นคนพิการนี่นะครับ ผมเองก็เคย ไปไต่ถาม ไปนั่งคุยกับคนพิการ เขาก็บอกว่าเขาไม่เคยอยากที่จะเป็นภาระของใคร ไม่อยาก ที่จะเป็นภาระสังคม เพียงแต่ว่าขอให้สังคมได้ให้โอกาสกับเขา โดยเฉพาะในเรื่องของ การประกอบสัมมาอาชีพ วันนี้เห็นหลาย ๆ ท่านพูดถึงเรื่องแรงงาน แต่ว่าผมเองก็ขอพูดถึง เรื่องแรงงานในส่วนของคนพิการ ตามมาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๕ ที่เกี่ยวกับ เรื่องของแรงงาน กฎหมายแรงงาน ในการจ้างงานของผู้พิการ ในการที่มีอัตราส่วน ไม่ว่าจะหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนก็ตาม ถ้ามีลูกจ้างตั้งแต่ ๑๐๐ คนขึ้นไปจะต้องมี การจ้างแรงงานคนพิการ ๑ คน ถ้าเศษ ๕๐ คนก็ให้อีก ๑ คน ทั้งรัฐ ทั้งเอกชน แต่ถ้าเกิดว่า ไม่พร้อมหรือไม่สะดวกที่จะให้คนพิการได้ไปทำงานก็ต้องเสียเงินตามมาตรา ๓๔ หรือไม่ในมาตรา ๓๕ ก็คือจัดสัมปทานให้เขาได้ขายของให้เขาอะไรพวกนี้นะครับ แต่ว่าไป ๆ มา ๆ แล้วผมเองอยากจะขอเรียกร้องไปถึงทั้งหน่วยงานของรัฐแล้วก็เอกชน โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐ รัฐควรจะต้องเป็นคนนำในเรื่องของการให้คนพิการได้เข้าสู่ การมีงานทำ ตัวเลขสภาพของคนพิการเมื่อสิ้นเดือนมิถุนายน ๒๕๖๖ มีตัวเลขของคนพิการ ทั้งหมด ๒ ล้านกว่าคน และในจำนวน ๒ ล้านกว่าคนนั้น ไม่น่าเชื่อว่าเป็นคนที่อยู่ในวัยแรงงาน ๘๕๙,๐๐๐ กว่าคนเศษ นั่นก็คือถ้าเปรียบเทียบกันแล้วก็ตกอยู่ราว ๆ ๓๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ แต่ว่าท่านเชื่อไหมครับว่า มีคนพิการได้เข้าทำงานจริง ๆ ได้มีงานทำจริง ๆ เพียง ๓๐๐,๐๐๐ กว่าคนเท่านั้น หรือว่า ประมาณ ๑ ใน ๓ อยู่ในวัยแรงงานของคนพิการ แล้วอีก ๖๐๐,๐๐๐ อันนี้พูดถึงเฉพาะ คนที่อยู่ในวัยทำงานไม่ได้คิดถึงตัวเลขของคนพิการทั้งหมด ถ้าคิดถึงตัวเลขของคนพิการทั้งหมด ๒,๒๘๑,๐๐๐ กว่าคนแล้วมีงานทำอยู่เพียง ๓๐๐,๐๐๐ คน นั่นแสดงว่าอีก ๑,๙๐๐,๐๐๐ คน ไม่ได้ประกอบอาชีพก็เป็นภาระกับสังคม ซึ่งคนเหล่านั้นเขาอึดอัดมาก เพราะฉะนั้นในส่วน มาตรา ๓๓ กับมาตรา ๓๕ เขาเองเขาอยากได้ตรงนั้นมากกว่า คือโอกาสที่เขาทำงาน มาตรา ๓๔ จริงอยู่ว่าแม้ว่าไม่ว่าสถานประกอบการหรือว่ารัฐก็ตามไม่สามารถที่จ้างแรงงาน ที่เป็นคนพิการได้ก็ให้นำเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ ก็ตกแล้ว ปีหนึ่งต่อคนนี่ก็ประมาณปีหนึ่ง ๑๑๙,๘๕๑ บาท ซึ่งเขาเองเขาบอกเขาไม่อยากได้ เขาอยากได้ในส่วนของการที่ให้โอกาสเขาในการทำงานเสียมากกว่า ท่านครับหน่วยงาน ของรัฐผมขออนุญาตที่จะพูดถึงตัวเลขนะครับ จริง ๆ แล้วการจ้างงานที่รัฐจะต้องมีการ จ้างงานกับผู้พิการทั้งหมดมีความต้องการ เพราะว่าข้าราชการภาครัฐมีอยู่ ณ ปัจจุบันยังขาด ความต้องการอยู่อีกตั้ง ๑๔,๐๐๐ กว่าราย เพราะว่าในนี้ได้บอกตัวเลขไว้ว่าข้าราชการ ทั้งหมดในส่วนของภาครัฐ ๑,๗๐๐,๐๐๐ กว่าคน เพราะฉะนั้น ๑,๗๐๐,๐๐๐ กว่าคน แล้วก็ มีการจ้างผู้พิการเพียง ๓,๐๐๐ กว่าคน เพราะฉะนั้นยังเหลืออีก ๑๔,๔๐๐ กว่าคน รัฐควร จะต้องเป็นตัวนำ ถ้าองค์กรของรัฐเองยังจ้างผู้พิการตามกฎหมายแรงงานมาตรา ๓๓ กับ มาตรา ๓๕ เพียงเท่านี้เอกชนเขาเห็นเป็นแบบอย่างอย่างนี้แล้ว เป็นไปไม่ได้หรอกครับ ที่เอกชนเขาจะจ้างแรงงานเต็ม ๆ ตามที่เขาจะต้องจ้าง เพราะฉะนั้นผมขอเรียกร้องถึงทาง กระทรวงแรงงานให้ช่วยเป็นคนนำในเรื่องของการให้คนพิการนั้นได้มีงานทำ และอีกอย่างหนึ่งในเรื่องของกองทุนที่ให้คนพิการได้กู้ยืมไปประกอบสัมมาอาชีพ ถ้ากู้เป็น รายบุคคลก็คือไม่เกินร้อยละ ๖๐,๐๐๐ บาท แต่ถ้าจะเอาเกิน ๖๐,๐๐๐ บาทก็จะต้องมี การพิจารณากันเป็นราย ๆ ไป แต่ไม่เกิน ๑๒๐,๐๐๐ บาท ส่วนการกู้เป็นกลุ่มนั้น ให้ ๑ ล้านบาท ท่านครับ ในคุณสมบัติหรือแม้แต่ผมได้คุยกับคนพิการที่มายื่นหนังสือเมื่อเช้านี้ ที่มาจากจังหวัดสระแก้ว ซึ่งท่านเป็นประธานนะครับ ผมก็ถามในเรื่องตัวนี้เหมือนกัน เพราะว่าในสมัยที่แล้วผมเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม ผมเอง หลังจากที่ประสบอุบัติเหตุเป็นคนพิการชั่วคราวผมก็เอาใจใส่ในเรื่องนี้ เพราะผมสงสารเขามาก ผลปรากฏว่าตอนที่มาคุยกันเขาก็เล่าให้ฟังว่าตอนที่แรกเริ่มโครงการนี้ในการให้กู้ยืมเงิน มีการคุยกันกับข้าราชการ กับผู้บริหารระดับสูงในเรื่องคุณสมบัติ ทั้งคุณสมบัติ แล้วก็ในเรื่อง ของคนค้ำทั้งหลาย เขาบอกว่าตอนที่คุยกันก่อนที่จะออกกฎหมายไม่มีปัญหาเลย เอาแค่ว่า ขอให้คนที่น่าเชื่อถือได้เท่านั้น แต่ว่าพอถึงเวลาจริง ๆ เชื่อไหมครับโดยเฉพาะคนค้ำ บางจังหวัดดันเขียนไปในนั้นว่าแล้วแต่ดุลยพินิจ พอแล้วแต่ดุลพินิจปุ๊บบางจังหวัด ก็เอาข้าราชการมาเป็นคนค้ำ ถามใจพวกเรากันเองเถอะครับ คนดี ๆ พวกเรายังแทบจะ ไม่อยากค้ำให้กันเลย แล้วนี่คนพิการใครจะไปอยากค้ำ เพราะฉะนั้นผมเองอยากจะเรียกร้อง ขอให้ทางกระทรวง หรือว่าเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนรับผิดชอบได้ช่วยดูแลในส่วนของกองทุน ที่จะให้กับผู้พิการเหล่านี้ด้วย ท่านครับ คนพิการน่าสงสาร คนพิการเขาเองอยากจะพึ่งพาตัวเอง เพราะฉะนั้นแล้วผมขอขอวิงวอนแทนผู้พิการเหล่านั้นให้รัฐได้เอาใจใส่ แต่ว่าผมขอเถอะนะครับ สำหรับคนดี ๆ ที่มีครบ ๓๒ อย่าพยายามประพฤติตน หรือว่าไปทำอะไรประมาททำให้ตัวเอง หรือว่าคนอื่นรอบข้างได้มีความพิการ อาจจะพิการทางใจอะไรทำนองนั้น ก็ขอให้ มีความเป็นคนที่ครบ ๓๒ ทั้งใจทั้งกาย กราบขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านศุภณัฐ มีนชัยนันท์ เชิญครับ

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร บางเขน จตุจักร หลักสี่ จากพรรคก้าวไกล ผมขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายญัตติแต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา การแก้ไขปัญหาการจ้างงาน การเพิ่มทักษะแรงงาน และการจัดตั้งสภาแรงงานจังหวัด เฉกเช่นเดียวกับเพื่อนสมาชิกที่อภิปรายไป ส่วนตัวผมสนับสนุนทั้งการเพิ่มสิทธิให้กับ พี่น้องแรงงาน และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครับ เพราะปัจจุบันนี้ค่าครองชีพสูงมาก รายได้ไม่พอ กับรายจ่าย แต่ในขณะเดียวกันผมก็ไม่ได้อยากให้แรงงานเหล่านี้หยุดอยู่แค่ค่าแรงขั้นต่ำ

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ผมอยากให้แรงงานเหล่านี้ มีรายได้มากกว่านี้ เรียกเงินได้มากกว่านี้ การที่มีแรงงานจำนวนมาก และยังคงได้รับ ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ คือความล้มเหลวของรัฐบาลในการยกระดับแรงงานครับ ในมิติของตลาด แรงงานเสรี ฝั่งนายจ้างเองก็อยากได้แรงงานที่มีคุณภาพ สามารถสร้างเงิน สร้างกำไรให้กับเขาได้ คงไม่มีใครอยากเสียแรงงานเหล่านี้ไป และในขณะเดียวกันในฝั่งของแรงงานเอง ถ้าเกิดมีทักษะที่ดี ตอบโจทย์ สามารถสร้างเงิน สร้างรายได้ สร้างกำไรให้ธุรกิจได้ แรงงานเหล่านี้ จะสามารถต่อรองและเรียกร้องค่าจ้างที่สูงขึ้นได้ ถ้านายจ้างไม่จ้างแรงงานก็สามารถ มีทางเลือกอื่นไปทำงานที่อื่น หรือแม้กระทั่งไปทำงานที่ต่างประเทศได้ เพราะฉะนั้นคำถาม จริง ๆ แล้ววันนี้ก็คือเราจะพัฒนาฝีมือแรงงาน และสร้างแรงงานที่มีคุณภาพ และเป็น ที่ต้องการของตลาด จนมีอำนาจต่อรอง อำนาจในการเรียกร้องเงินเดือนที่สูงขึ้นได้ ด้วยตนเอง โดยที่ไม่ต้องถูกบีบค่าจ้างได้อย่างไร คำตอบคือการศึกษา การเตรียมตัว และการสร้างคนคนหนึ่งเพื่อที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน สิ่งที่เราลงทั้งเงินและลงทั้งเวลาไปมากที่สุด คือการศึกษา บางคนเราใช้เวลาฝึกฝนและเวลาเรียน ๑๐-๒๐ ปี เสียเงินเป็นล้าน แต่กลับจบมา ไม่สามารถตอบโจทย์กับตลาดได้ หางานไม่ได้ หรือหาได้แต่รายได้ก็ไม่พอ หรือเรียกค่าตัวไม่ได้ สิ่งที่เราต้องโทษไม่ใช่โทษแค่กระทรวงแรงงานนะครับ ต้องโทษทั้งกระทรวงศึกษา และกระทรวง อว. ด้วยเช่นเดียวกัน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง ทั้งการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทั้งโลกาภิวัตน์ Globalization ทั้งเทคโนโลยี Disruption หรือการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีรวมถึง AI ChatGPT แต่ปัญหาของเราคือระบบ การศึกษาที่ไม่สามารถปรับตัวให้ก้าวหน้าได้ทันกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นและการเปลี่ยนแปลง เหล่านี้ได้ เราไม่ได้ปรับปรุงระบบการศึกษาและหลักสูตรการศึกษามานาน ปัญหาก็เลย ถูกสะท้อนด้วยอัตราการว่างงานของคนจบใหม่ที่สูงขึ้น แม้กระทั่งผลคะแนนของ PISA ปี ๒๐๑๘ ที่วัดความสามารถด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ แล้วก็ความสามารถในการอ่าน ประเทศไทย เราอยู่อันดับที่ ๖๖ จาก ๗๘ ประเทศที่มีการสอบวัด การศึกษาที่ไม่ตรงปกและไม่เท่าทันโลกยุคใหม่ ทำให้ไม่สามารถสร้างแรงงานและเยาวชนที่มีทักษะตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม ในปัจจุบันได้ รวมถึงไม่สามารถรองรับการพัฒนาและการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ในอนาคตได้ เป็นหนึ่งในอุปสรรคที่ทำให้ไทยไม่น่าดึงดูดเพียงพอในการลงทุนสำหรับหลาย ๆ บริษัท ที่จะเข้ามาลงทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเทคโนโลยีและด้านวิศวกรรม สิ่งเหล่านี้ ต้องแก้ปัญหาด้วยการปฏิรูปการศึกษาครับ จากกราฟมี ๖ สิ่งที่ผมอยากนำเสนอ เพื่อแทรก เข้าไปในโครงสร้างของการศึกษาเดิม

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ เรื่องของ 21st Century Skills นั่นก็คือทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ คือเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถในการเข้าใจเทคโนโลยีความคิดวิเคราะห์ ในการแก้ปัญหาการสื่อสารความเป็นผู้นำ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะชีวิต ทั้งเรื่องของ การเงินเบื้องต้น บัญชีเบื้องต้น กฎหมายเบื้องต้น สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ทุกคนต้องเจอในอนาคตทั้งนั้นครับ

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ คือการทำ Career Trial ก็คือการให้เราได้ลอง ให้ผู้เรียน ได้ลองเรียนรู้และสัมผัสกับอาชีพที่หลากหลายขึ้นจริงในระหว่างที่เราเรียนศึกษาอยู่ในช่วง มัธยมนี้เพื่อค้นหาตัวเอง ดูว่าตัวเองจะเลือกแนวทาง หรืออาชีพไหนในอนาคต หรือจะไป ทั้งสายสามัญ หรือจะไปในสายของอาชีวะ

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ คือการฝึกงานในช่วงมหาวิทยาลัยและช่วงอาชีวะนี้ต้องฝึกจริง ๆ จบมาแล้วคุณต้องมีทักษะพร้อมทำงาน ไม่ใช่แค่ถ่ายเอกสาร ไม่ใช่การเสิร์ฟกาแฟ เชื่อไหมครับท่านประธานในกระทรวงของประเทศไทย เด็กนักศึกษาที่เข้าไปฝึกงาน ณ เวลานี้ ให้เขาเสิร์ฟกาแฟอยู่เลยครับ นี่ในกระทรวงของประเทศไทยนะครับ ไม่ใช่ที่ไหนไกล

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ คือการทำ Skill Mapping Skill Mapping คืออะไร คือการ Match Demand ของตลาดกับทักษะของแรงงานให้ตรงกัน นี่คือการปรับหลักสูตร ในการเอาความต้องการของตลาด ความต้องการจริงของธุรกิจในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มาปรับ และ Match เข้าหลักสูตรเพื่อที่รู้ว่าอาชีพไหนเราต้องการคนแบบไหนเข้าไปอยู่ในระบบ วิชาไหน ทักษะไหนสำคัญและต้องใช้จริงในอนาคตคุณก็เรียน อันไหนที่ไม่ใช้คุณก็ตัดทิ้ง

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๕ คือเรื่องของ Lifelong Learning หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่เพื่อนสมาชิกเคยได้พูดไปแล้ว

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๖ คือการสร้างเรื่องของ Grit แล้วก็ Growth Mindset การสร้าง Grit Mindset คืออะไร คือการสร้างให้เราเชื่อว่าเราเป็นได้ทุกอย่างเป็นไปได้ถ้าเราไม่ยอมแพ้ ถ้าเรามีความเพียร มีความพยายามมากพอ ส่วน Growth Mindset คือความคิดที่เชื่อว่า ทุกอย่างเป็นไปได้แล้วเราต้องมีความคิดที่อยากจะเติบโตไปได้ไกลกว่านี้แล้วพร้อมที่จะ เรียนรู้มากกว่านี้ครับ Mindset เหล่านี้จะเป็นตัวหล่อหลอมเพื่อสร้างแรงงานที่มีการพัฒนา ตัวเองตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้คือเรื่องสำคัญของระบบการศึกษายุคใหม่เพื่อปรับตัว และสร้างแรงงานใหม่ ๆ ให้ตอบโจทย์และเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงและบริบท ของโลกยุคใหม่

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้ก่อนจบการอภิปรายผมมีเรื่องด่วนเรื่องหนึ่งที่อยากจะฝาก เพื่อนสมาชิกในสภาแห่งนี้ช่วยกันติดตามด้วยครับ คือเรื่องของการเข้าถึงเงินกู้ยืม กยศ. ครับ ผมติดตามเรื่องนี้เมื่อสักพักแล้วและเพิ่งได้รับหนังสือชี้แจงกลับมาจากผู้จัดการกองทุน กยศ. ลงวันที่ ๑๗ ตุลาคม หรือ ๒ วันที่ผ่านมา มีผู้ขอกู้ยืมทั้งหมด ๗๗๐,๐๐๐ คน และได้รับอนุมัติแล้ว ๙๗ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๗๕๐,๐๐๐ คน แต่รู้ไหมที่อนุมัติแล้ว และมีการโอนเงินจริง ๆ จาก กยศ. มีเพียงแค่ ๖๘ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๕๒๐,๐๐๐ คนเท่านั้น แปลว่าอีก ๒๓๐,๐๐๐ คน กำลังรอเงินอยู่ และทั้งที่เปิดเทอมก็เปิดไปเรียบร้อยแล้ว และค่าเทอมต้องจ่ายแล้ว คนเหล่านี้ต้องกู้ยืมเงินจากที่อื่นมาก่อนเป็นหนี้นอกระบบเพื่อจ่ายในระหว่างที่กำลังรอเงิน จาก กยศ. นี่ละครับ หลายครั้งจะทำให้เกิดปัญหาการตกหล่นทางการศึกษา ก็คือการเข้าไม่ถึงเงินทุน ในการที่จะเข้าไปเรียน ในการที่จะเข้ามหาวิทยาลัยในการจ่ายค่าการศึกษา ทำให้เสียโอกาส ในการพัฒนาตนเอง และสุดท้ายก็จะตามมาด้วยรายได้ที่น้อยลงครับ เรื่องนี้ใหญ่มาก

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ผมก็อยากจะขอฝากท่านประธานไปยังรัฐบาล แล้วก็ขอฝากเพื่อนสมาชิก ทุกคนในการช่วยติดตามเรื่องนี้และเร่งหน่วยงานให้รีบจัดการแทนพวกเราโดยด่วน ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับ เรียนเชิญผู้อภิปรายท่านสุดท้าย ท่านพนิดา มงคลสวัสดิ์ ครับ

นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

เรียนประธานที่เคารพ ดิฉัน พนิดา มงคลสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ เขต ๑ พรรคก้าวไกล อย่างที่ทุกท่านทราบกันดีแรงงานคือหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ในท่ามกลาง เศรษฐกิจที่ผันผวนแบบในปัจจุบันแรงงานทุกอาชีพกว่า ๓๙ ล้านคนทั่วประเทศ กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายและความไม่เป็นธรรมหลายประการ ทั้งค่าแรง ที่ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ สภาวะเศรษฐกิจถดถอย สถานภาพการจ้างงานที่ไม่มั่นคง การกำหนดค่าตอบแทนที่ต่ำกว่ามาตรฐาน การทำงานเกินเวลาโดยไม่มีค่าชดเชย ความเสี่ยง ในการถูกเลิกจ้าง หรือยุติการทำงานเนื่องจากถูกทดแทนด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI สภาพแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและร่างกาย รวมถึงเหตุสุดวิสัยต่าง ๆ อย่างโรคระบาด หรือการเกิดภัยพิบัติ เช่นโควิด ขณะที่แรงงานไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยง มากมายเหล่านี้เราเห็นว่ากลไกของรัฐยังไม่สามารถคุ้มครอง หรือเยียวยาความเสี่ยงของ พี่น้องแรงงานไทยทุกคนได้ค่ะ ส่งผลให้คนทำงานมีภาระ มีข้อจำกัด และมีความเสี่ยงสูง ทั้งการทำงานและการดำรงชีวิต ซ้ำยังขาดการสนับสนุนการอบรมทักษะแรงงานเพื่อให้ แรงงานไทยมีประสิทธิภาพและปรับตัวให้เท่าทันกับโลกปัจจุบันค่ะท่านประธาน ทั้งนี้ ในการดำเนินการเพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะแรงงานมันมีความท้าทายหลายมิติ ทั้งการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ความเหลื่อมล้ำ ในระบบการศึกษา โอกาสและความเท่าเทียมในการเข้าถึงงาน ดิฉันจึงจำเป็นต้องมีส่วนร่วม ในการอภิปรายสนับสนุนญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาการจ้างงานและเพิ่มทักษะของแรงงานนะคะ เพราะดิฉัน มองว่านี่คือปัญหาที่เร่งด่วนของสังคมไทย รัฐต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทบทวน วางนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน ส่งเสริมการจ้างงาน เพิ่มทักษะผลิตคนที่มีคุณภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานเพื่อสร้างรายได้ที่เหมาะสม รวมถึงพัฒนา ส่งเสริมทักษะที่จำเป็นกับแรงงานในอนาคตอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดปัญหาการว่างงาน จากการขาดทักษะที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน และเป็นการวางแผนพัฒนาทักษะแรงงาน ให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคตค่ะ ในช่วงเวลาที่ผ่านมานะคะ ดิฉันมองเห็นว่าหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานเริ่มมีการวางมาตรการเพื่อรองรับการพัฒนา ทักษะแรงงานไปบ้างแล้ว อย่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเองก็ได้มีการเพิ่มทักษะ เพิ่มหลักสูตร ให้พี่น้องประชาชนได้สามารถเข้าไปศึกษากันได้ ทั้ง Onsite และ Online เน้นหนัก ไปที่หลักสูตรการฝึกอบรม หากแต่ปัญหาหนึ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญทำให้เราไม่สามารถเติมทักษะใหม่ให้กับแรงงานไทย ได้อย่างเต็มที่ สิ่งนั้นคือต้นทุนทางเวลา พี่น้องแรงงานที่จำเป็นจะต้องเพิ่มทักษะนี้ส่วนมาก ทำงานหนักแต่มีรายได้น้อย โดยครึ่งหนึ่งจะต้องทำงานเกินเวลา หากจะต้องไปเพิ่มทักษะ จำเป็นจะต้องลดเวลาทำงานลงทำให้เห็นได้ชัดว่าต้นทุนการเพิ่มทักษะทางแรงงานรัฐจะต้อง สนับสนุนไม่ใช่แค่ค่าเล่าเรียนเท่านั้น แต่จำเป็นจะต้องสนับสนุนการสูญเสียรายได้ ที่เป็นต้นทุนสำคัญสำหรับผู้มีรายได้น้อยด้วยค่ะ จากผลสำรวจของ World Economic Forum พบว่า ๓๘ เปอร์เซ็นต์ของแรงงานไทยที่ต้องใช้เวลา Upskill อย่างน้อย ๓ เดือน จึงจะสามารถปรับตัวเข้าสู่ทักษะใหม่ที่จะไปใช้กับงานในอนาคตได้ อย่างหลักสูตรการพัฒนา ฝีมือแรงงานเอง ฝึกอบรม ๓-๘ เดือนเลยกว่าจะเพิ่มทักษะแล้วมีผล แรงงานต้องลงทุน ยอมเสียรายได้ขนาดใหญ่ ถ้าจะให้พูดถึงพี่น้องแรงงานในสมุทรปราการของดิฉันเองที่ดิฉัน ได้เคยสัมผัส ดิฉันพบว่าเช้าต้องตื่นตีห้า ๖ โมงไปทำงาน เย็นเลิกงานกลับบ้าน ๑-๒ ทุ่มแล้ว ทำงานไป ๖ วันต่อสัปดาห์ จะเอาเวลาที่ไหนมาเพิ่มทักษะให้ตัวเอง เวลานอนยังไม่พอเลย นี่ยังไม่รวมถึงต้องเร่งทำ OT เพื่อได้ค่าล่วงเวลามาให้พอกินพอใช้ ส่งลูกไปเรียนอีก ไหนจะแรงงานหลายวันที่รับค่าตอบแทนแบบหาเช้ากินค่ำอีก นี่คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่แรงงาน จะหาเวลามาฝึกทักษะเพิ่มเติม หากรัฐมองว่าการเพิ่มทักษะให้แรงงานเป็นสิ่งสำคัญ เป็นสิ่งเร่งด่วน และเป็นสิ่งจำเป็น เราจำเป็นจะต้องไปมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน และปิดช่องโหว่ด้านต้นทุนเวลานี้ค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการชดเชยรายได้ หรือกำหนดให้ เป็นนโยบายกฎหมายให้ผู้ประกอบการจัดสรรเวลาเพื่อพัฒนาทักษะแรงงานเพิ่มเติม

นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้ค่ะท่านประธาน ดิฉันคาดหวังว่าคณะกรรมาธิการชุดนี้จะเป็นกลไก สำคัญกลไกหนึ่งที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานไทยเพื่อพัฒนาทักษะแรงงานไทยให้เท่าทัน กับโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว เพิ่มอัตราจ้างงานให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็เพิ่มผลิตภาพ ที่สูงขึ้นด้วย เพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจทั้งระบบ และลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม วันนี้ดิฉันยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เพื่อน ๆ สมาชิกเห็นปัญหานี้ร่วมกันว่าการขาดทักษะของแรงงานไทย เป็นปัญหาสำคัญ ดิฉันอยากฝากคณะกรรมาธิการชุดนี้ด้วยนะคะว่าจะไม่มองข้ามต้นทุน ทางเวลาที่รัฐจำเป็นต้องเป็นเจ้าภาพในการเข้าไปลงทุนแล้วไม่ผลักภาระให้แรงงานไทย ต้องขวนขวายหาความรู้กันตามยถากรรมของตัวเอง ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ สมาชิกที่ได้ลงชื่ออภิปรายก็ได้อภิปรายจนครบถ้วนแล้ว แล้วก็ตามข้อ ๗๕ ผู้เสนอญัตติสามารถจะสรุปได้อีกครั้งหนึ่ง ตอนนี้มีผู้แสดงความจำนงคือท่านเซีย จำปาทอง ท่านเดียว ขอเชิญท่านเซียเลยครับ

นายเซีย จำปาทอง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ผม เซีย จำปาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนเครือข่าย แรงงาน ในฐานะที่เป็นผู้เสนอญัตตินี้ ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณสมาชิกทุกท่านที่ร่วมอภิปราย แล้วก็เห็นถึงความสำคัญในการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อแก้ไขปัญหาการจ้างงานแล้วก็ การเพิ่มทักษะด้านแรงงาน ท่านประธานครับ ผมขอเรียนกับท่านประธานและพี่น้องสมาชิก อีกครั้งว่าผู้ใช้แรงงานไม่ได้หมายถึงคนที่ทำงานในโรงงานเท่านั้น แต่รวมถึงลูกจ้างที่ทำงาน ทุกคน พนักงาน Office ลูกจ้างหน่วยงานของรัฐ พี่น้อง Rider คนทำงานอิสระ แรงงาน ในภาคเกษตร พี่น้องแรงงานหลายส่วนนี้มีปัญหามากมายดังที่หลายท่านได้ร่วมอภิปราย ที่ผ่านมา เช่น ปัญหาความมั่นคงในการทำงาน รัฐไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายคุ้มครอง แรงงาน มาตรา ๑๑/๑ ที่ลูกจ้างทำงานในสถานประกอบการเดียวกัน ทำงานในลักษณะ เดียวกันให้มีค่าจ้างและสวัสดิการเท่ากันได้ นายจ้างปิดกิจการ ลอยแพลูกจ้าง ไม่จ่ายเงิน ค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินอื่น ๆ ที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ในขณะเดียวกันรัฐเอง ก็ไม่สามารถติดตามนายจ้าง บังคับนายจ้างให้นำเงินมาจ่ายให้กับลูกจ้างได้ ปัญหาค่าจ้าง ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ลูกจ้างต้องทำงานอย่างหนักเพื่อให้มีรายได้ที่เพียงพอ ต่อค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน นำไปสู่ปัญหาสุขภาพของพี่น้องแรงงานในอนาคต ปัญหาสิทธิ ในการรวมตัวเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง ขณะนี้แม้แค่ลูกจ้างคิดจะรวมตัวกันก็ถูกเลิกจ้าง ปัญหาความปลอดภัยในการทำงาน ปัญหาพี่น้องที่ทำงานบน Platform ที่รูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ คนทำงานอิสระ ปัญหาแรงงานข้ามชาติก็สำคัญเช่นเดียวกัน ขอให้เรามองถึงว่าเขาเป็น คนที่มาทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตไปได้ มองเขาเหมือนกับพี่น้องแรงงาน เราที่ไปทำงานในต่างประเทศ ถ้าเราเห็นพี่น้องแรงงานเราที่ไปทำงานที่ต่างประเทศโดนกดขี่ โดนเอาเปรียบโดนดูถูก โดนเหยียดหยาม เราก็คงจะมีความรู้สึกที่ไม่ได้แตกต่างกันที่พวกเรา จะไปกระทำกับพี่น้องแรงงานที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยในลักษณะนั้น

นายเซีย จำปาทอง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็คือปัญหาประกันสังคมที่บริการช้า และรับยาคุณภาพต่ำ ดังนั้นผมขอประชาสัมพันธ์ถึงผู้ประกันตนทุกท่านอีกครั้ง ขอให้ท่านรีบ ลงทะเบียนเพื่อเตรียมตัวในการเลือกตั้งตัวแทนของท่านเข้าไปบริหารเงินที่พวกท่านได้จ่าย ไปทุก ๆ เดือน ซึ่งจะหมดเขตวันที่ ๓๑ ตุลาคมนี้แล้วครับ สำนักงานประกันสังคมไม่ค่อย ประชาสัมพันธ์ ผมก็ถือโอกาสนี้ประชาสัมพันธ์บอกพี่น้องผู้ประกันตนที่มีสิทธิเลือกตั้ง รีบลงทะเบียน เข้าไปที่ Website ของสำนักงานประกันสังคม แล้วก็เตรียมตัวเลือกตั้ง ในวันที่ ๒๔ ธันวาคมที่จะถึงนี้ ท่านประธานที่เคารพ แรงงานเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อน เศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากแรงงานมีปัญหามากมายและเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง หลายหน่วยงาน ผมจึงขอเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาและหาแนวทาง การแก้ปัญหาให้กับพี่น้องแรงงานต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสมาชิกทุกท่านจะสนับสนุน ญัตตินี้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานให้ดีขึ้นต่อไป ขอบคุณครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ เนื่องจากญัตตินี้ผู้เสนอได้เสนอมาเพื่อให้ขอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณานะครับ แต่ทีนี้ในการอภิปรายของสมาชิกนี่มีความเห็นแล้วก็จะได้ประสานทาง Whip ว่าจะให้เป็นการเสนอความเห็นการอภิปรายนี้ให้กับคณะกรรมาธิการการแรงงาน พิจารณา ผู้เสนอญัตติจะขัดข้องหรือไม่ครับ

นายเซีย จำปาทอง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ไม่ขัดข้องครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านเซียไม่ขัดข้องนะครับ อีก ๓ ท่าน ที่เหลือขัดข้องไหมครับ คิดว่าเห็นในแนวทางเดียวกัน เป็นการประสานร่วมจากทาง Whip นะครับ ถ้าอย่างนั้นผมจะขอใช้อำนาจตามข้อบังคับ ข้อ ๘๘ ในการถามมติว่าจะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ ถ้าไม่มีสมาชิกท่านใด เห็นเป็นอย่างอื่นถือว่าที่ประชุมลงมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมาธิการการแรงงาน พิจารณาครับ ขอเชิญสมาชิกกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการครับ มีท่านใดจะเสนอไหมครับ เชิญครับ

นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ผม ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ขอเสนอระยะเวลา ๙๐ วัน ขอผู้รับรอง ด้วยครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ผู้รับรองถูกต้องครับ เป็นอันส่งเรื่องไปที่คณะกรรมาธิการการพลังงานด้วยเวลาพิจารณา ๙๐ วัน

นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ คณะกรรมาธิการการแรงงาน หรือเปล่าครับ เมื่อสักครู่ผมได้ยินว่าเป็นคณะกรรมาธิการการพลังงาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

คณะกรรมาธิการการแรงงานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๕.๕ ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน (นายอนุชา บูรพาชัยศรี กับคณะ เป็นผู้เสนอ) และเนื่องจากมีญัตติทำนองเดียวกันอีก ๓ ฉบับ คือ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ญัตติที่ ๑ ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพสูง (นายวิทยา แก้วภราดัย กับคณะ เป็นผู้เสนอ)

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ญัตติที่ ๒ ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไข รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน (นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร เป็นผู้เสนอ)

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ญัตติที่ ๓ ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาค่าครองชีพสูงในเมืองใหญ่ (นายเอกราช อุดมอำนวย เป็นผู้เสนอ) แต่ยังไม่ได้ถูกบรรจุในระเบียบวาระ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เรื่องดังกล่าวทั้ง ๔ เรื่องเป็นเรื่องทำนองเดียวกัน สามารถรวมระเบียบวาระ การประชุมเพื่อนำมาพิจารณาพร้อมกันได้ ตามข้อบังคับ ข้อ ๕๕ มีสมาชิกท่านใด เห็นเป็นอย่างอื่นไหมครับ ถ้าไม่มีถือว่าที่ประชุมเห็นชอบนะครับ ผมขอดำเนินการตามนี้ครับ สำหรับญัตติของสมาชิกที่เสนอเป็นหนังสือและยังไม่ได้บรรจุเป็นระเบียบวาระ จะให้เจ้าหน้าที่ แจกให้กับท่านสมาชิกเพื่อประกอบการพิจารณา ขอเชิญเจ้าหน้าที่แจกเอกสารได้ครับ ลำดับการเสนอแล้วก็แถลงเหตุผลเป็นดังนี้ ท่านแรกจะเป็นท่านอนุชา บูรพชัยศรี ท่านที่ ๒ ท่านวิทยา แก้วภราดัย ท่านที่ ๓ ท่านชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร ท่านที่ ๔ ท่านเอกราช อุดมอำนวย ตอนนี้จะมีสมาชิกที่ลงชื่ออภิปรายเป็นฝ่ายค้าน ๗ ท่าน แล้วก็ฝ่ายรัฐบาล ๑๕ ท่านยังสามารถ มาลงชื่อได้ ถ้าเราอภิปรายไม่จบในวันนี้ก็ยังสามารถไปต่อในการประชุมครั้งหน้าได้ครับ ผมขอเชิญผู้เสนอญัตติ เสนอญัตติพร้อมแถลงเหตุผล ขอเชิญท่านอนุชา บูรพชัยศรี ครับ

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม อนุชา บูรพชัยศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครวมไทยสร้างชาติ แบบบัญชีรายชื่อจากกรุงเทพมหานครครับ วันนี้ผมได้มีการเสนอญัตติให้กับที่สภาแห่งนี้ ได้พิจารณาเป็นเรื่องของการที่ให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของ สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ ผมขออนุญาตที่จะอ่านคร่าว ๆ แบบไว ๆ ในเรื่องของหลักการ และเหตุผล คือทั้งนี้เนื่องจากในปัจจุบันประชาชนมีรายได้อาจจะไม่เพียงพอกับรายจ่าย ซึ่งจำเป็นต้องมีการสร้างหนี้เพื่อให้การใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยในปัจจุบัน หนี้ครัวเรือนไทยมีการขยายตัว แล้วก็คาดการณ์ว่ายอดหนี้ก็อาจจะมีการพุ่งสูงขึ้น ในปี ๒๕๖๖ จนถึงปี ๒๕๖๗ ในปีหน้า พร้อมทั้งมีปัจจัยที่จะทำให้หนี้สินครัวเรือนสูงขึ้น เช่น สงครามที่เกิดขึ้นในปัจจุบันในหลายภูมิภาค รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ธนาคารกลางจากประเทศต่าง ๆ รวมถึงการที่มีปรากฏการณ์ธรรมชาติมากมายที่เกิดขึ้น แล้วก็ค่าครองชีพที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอันจะกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ของประชาชนจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องของ หนี้สินครัวเรือนในปัจจุบันอย่างเร่งด่วน ก่อนอื่นผมขอเริ่มต้นที่จะพูดถึงภาพรวมของ หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งในปัจจุบันนี้หนี้ครัวเรือนส่งผลให้เศรษฐกิจ ภายในประเทศอาจจะไม่เติบโตเท่าที่ควร เนื่องจากครัวเรือนต้องนำรายได้ไปชำระหนี้ ที่ก่อเกิดมาแล้ว จำกัดกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้การจับจ่ายใช้สอยไม่เป็นไปตามที่คาดเอาไว้ ทั้งนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบการเงินการคลัง ของประเทศ รวมถึงในปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของไทยก็มีการเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แล้วก็สูงเป็นอันดับต้น ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น โดยหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นหนี้ ที่อาจจะสร้างรายได้ไม่เต็มที่แล้วก็เสี่ยงที่จะทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ในเรื่องของตัวเลขของประเทศไทย หนี้ครัวเรือนในปัจจุบันต้องบอกว่า เราติด Top 20 ของโลกเลยในปี ๒๐๒๓ นี้ ถ้าจะเทียบแล้วเราอยู่อันดับที่ ๘ ของโลกเลย ในปัจจุบันจากตัวเลขล่าสุด เป็นรองแค่เพียงสวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา เกาหลีใต้ ฮ่องกง นิวซีแลนด์ แล้วก็เนเธอร์แลนด์ ถ้ามองถึงในส่วนของ Asia เราอยู่ในอันดับ ๓ เลยทีเดียวรองจากทางด้านเกาหลีใต้ ฮ่องกง แล้วก็มาประเทศไทย เพราะฉะนั้นสถานการณ์ หนี้ครัวเรือนของไทยก็เป็นที่น่ากังวลเนื่องจากเหตุผลสำคัญ ๆ ๒ เรื่อง

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องแรก ก็คือหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ของไทยเป็นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ นั่นหมายถึงว่าหนี้ที่กู้มาแล้วประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้นำไปให้เกิดดอกเกิดผล สร้างรายได้ สร้างประสิทธิภาพสร้างประสิทธิผล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ใช้แล้ว ก็หมดไป ไม่ช่วยสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นหรือทำให้ชีวิตดีขึ้นในอนาคต แล้วหนี้ส่วนใหญ่ ก็เป็นหนี้แบบเรียกว่าเป็น Short Term หรือว่าเป็นหนี้ระยะผ่อนสั้น ๆ แต่ดอกเบี้ยค่อนข้าง ที่จะสูงเลยทีเดียว ทำให้มีภาระผ่อนต่อเดือนที่สูง โดยจะแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ที่พัฒนาแล้ว แม้จะมี สัดส่วนยอดหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่สูง แต่ว่าส่วนใหญ่หรือหนี้เกือบทั้งหมดนี้เป็นหนี้สินเชื่อ เพื่อที่อยู่อาศัยที่สามารถจะไปสร้างรายได้หรือสร้างความมั่นคงได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การนำไปขายในอนาคตหรือการนำไปให้เช่า

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ ปัญหาก็คือเรื่องของหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มผู้กู้ ที่มีปัญหาด้านความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งปัจจุบันคนไทยกว่าเกือบ ๖ ล้านคนเลยทีเดียว กำลังมีหนี้เสียหรือว่า NPL ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล กลุ่มที่น่าระวังก็คือกลุ่มวัย เริ่มทำงานตั้งแต่อายุประมาณ ๒๐-๓๕ ปี มีสัดส่วนการใช้สินเชื่อที่อาจจะไม่ก่อให้เกิดรายได้ เป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดและมีสัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียสูงที่สุดถึงเกือบ ๒๕ เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ของจำนวนผู้กู้ทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรหรือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยก็จะเป็นกลุ่ม ที่มีอัตราเสี่ยงพอสมควร เพราะฉะนั้นสาเหตุทั้งหมดนี้ทั้ง ๒ เรื่องก็อาจจะต้องมีการดำเนินการ ที่จะต้องแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้ปัญหานั้นลุกลามไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ปัญหาสุขภาพจิตของลูกหนี้ แน่นอนครับ ใครที่เป็นหนี้อาจจะนอนไม่หลับ เพราะถึงแม้ว่า ท่านกำลังหลับอยู่ดอกเบี้ยมันก็ยังเดินอยู่ ๆ ดี ปัญหาสังคมที่อาจจะเกิด ถูกกดดัน จากภาระหนี้ต่าง ๆ ทำให้ไม่สามารถที่จะมีการคิดในเรื่องของที่เป็นบวก Creative Thinking เรื่องสิ่งต่าง ๆ ที่เราต้องการ Create Idea ดี ๆ เข้ามาไม่สามารถดำเนินการได้เลย อาจจะ เริ่มให้ก่ออาชญากรรมได้ในอนาคต จนทำให้มีชีวิตและทรัพย์สินของคนในสังคมที่อาจจะ ต้องไม่ปลอดภัยตามไปด้วย นอกจากนี้ปัญหาหนี้จะยิ่งรุนแรงขึ้นเมื่อไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ซึ่งแน่นอนค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพก็จะต้องสูงขึ้น ก็ต้องมีความระมัดระวัง ซึ่งสวนทาง กับรายได้ของครัวเรือนที่ต้องลดลงตามจำนวนคนทำงานที่หารายได้ได้

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ในส่วนของข้อมูลในปัจจุบันที่ได้จากทางด้าน สศค. ก็คือตอนนี้หนี้สิน ของประเทศไทยเองก็อยู่ในลำดับที่เรียกว่ามีมูลค่าประมาณเกือบ ๑๖ ล้านล้านบาท ถ้าคิดเป็นสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ก็จะอยู่ที่ ๙๐.๖ เปอร์เซ็นต์ และหากพิจารณา การก่อหนี้ครัวเรือนรายวัตถุประสงค์ก็จะพบว่าครัวเรือนมีการก่อหนี้เพื่ออสังหาริมทรัพย์ และอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้น ในส่วนของความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน ภาพรวมก็ลดลง โดยหนี้ NPL หรือหนี้ที่เสียในปัจจุบันมีมูลค่าถึง ๑.๔๔ แสนล้านบาท หรือมีสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ ๒.๖๘ เปอร์เซ็นต์ ถ้าถามว่าแล้วกู้ไปทำอะไร ส่วนใหญ่ตัวเลขก็คือถ้าเราคิดหนี้สินครัวเรือนรวมทั้งหมดเป็น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ นำไป ซื้ออสังหาริมทรัพย์ประมาณอยู่ที่ ๓๓.๕ เปอร์เซ็นต์ ไปซื้อยานยนต์อยู่ที่ ๑๑.๓ เปอร์เซ็นต์ ไปประกอบธุรกิจ ๑๘.๒ เปอร์เซ็นต์ เป็นสินเชื่อบุคคล ๑๙ เปอร์เซ็นต์ เป็นสินเชื่อบุคคล ที่ไม่มีหลักประกัน ๔.๙ เปอร์เซ็นต์ เป็นสินเชื่อบัตรเครดิต ๒.๘ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็เป็นสินเชื่ออื่น ๆ อีกประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่ผมได้อภิปรายในเบื้องต้นนี้ก็อยากจะเรียนว่าข้อมูล ที่ทางด้านธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่งจะนำเข้ามาเพิ่มเติมแล้วก็เข้ามาในการที่จะดู เรื่องของหนี้สินครัวเรือนของไทยด้วย ก็มีการเพิ่มเติมจากทางด้านกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา กยศ. แล้ว จำนวน ๔๘๓,๐๐๐ ล้านบาท จากการเคหะแห่งชาติอีกประมาณ ๑๑,๐๐๐ ล้านบาท จาก Pico Finance อีกจำนวน ๖,๐๐๐ ล้านบาท แล้วก็สหกรณ์อื่น ๆ ที่นอกเหนือจาก สหกรณ์ออมทรัพย์อีกจำนวนประมาณ ๒๖๕,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งก็จะทำให้เห็นภาระ หนี้ครัวเรือนได้ดียิ่งขึ้นจากการที่นำ ๔ หนี้ทั้งหมดนี้มารวมกัน

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ต่อมา แนวทางการแก้ไข ต้องบอกว่ารัฐบาลชุดที่แล้วก็ได้มีการดำเนินการ มาหลายส่วนเลยทีเดียว มีการแบ่งหนี้ออกเป็น ๘ กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหา หนี้กองทุนการกู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือว่า กยศ. มีการออกกฎหมายไปเรียบร้อย ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน มีการลดดอกเบี้ยในส่วนของดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ มีการกำหนด การไกล่เกลี่ย การปรับโครงสร้างหนี้ของประเทศให้เป็นวาระของชาติ มีการแก้ไขปัญหา หนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ มีการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการ โดยเฉพาะ ข้าราชการครูแล้วก็ข้าราชการตำรวจ มีการปรับลดและทบทวนโครงสร้างและเพดานอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม การออกมาตรการคุ้มครองสิทธิของลูกหนี้ มีการแก้ไขปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล รวมถึงการแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อยแล้วก็ SMEs แล้วสุดท้ายคือการปรับปรุงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เอื้อแก่การแก้ไขปัญหาหนี้สิน นั่นคือของรัฐบาลชุดที่แล้วของท่าน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างไรก็ตามการลดลง ของหนี้สินครัวเรือนไทยเป็นเพียงการลดลงในส่วนของสัดส่วนต่อ GDP เท่านั้น แต่มูลหนี้ ก็ยังมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันภายใต้การนำของท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ในตอนนี้ก็มีนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลอย่างเช่นเรื่องของการพักหนี้ เกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรหรือว่า ธ.ก.ส. หรือว่าในส่วนของการที่จะมีธนาคารออมสินเข้ามาดูแล ซึ่งแน่นอนก็จะต้องมีการใช้เงิน ในส่วนของรัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือด้วยในบางส่วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพักหนี้ หรือว่าการที่จะมีการลดต้นหรือลดดอกอะไรก็ตามในอนาคต นอกเหนือจากนั้นก็จะเป็น การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลดน้ำมันดีเซล ในอนาคตก็จะมีเรื่องของการลดน้ำมันเบนซิน แล้วก็เรื่องของการตรึงราคาก๊าซหุงต้มต่าง ๆ มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าได้มีการประกาศไปแล้วโดยกระทรวงพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปรับลดอัตราให้เหลืออัตรา ๔.๑ บาทต่อหน่วยก็ตาม นอกจากนี้ ก็จะมีการดำเนินมาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ อีกมากมายที่เคยดำเนินการมาในอดีต นอกเหนือจากนั้นก็คงต้องดำเนินการในการที่จะช่วยเหลือเรื่องที่จะให้ประชาชนได้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของการจัดการหนี้สินหรือที่เรียกกันภาษาอังกฤษที่เขาบอกว่า เป็น Financial Literacy หรือการสร้างความตระหนักรู้ทางการเงิน สิ่งต่าง ๆ ที่ผม ได้อภิปรายมาทั้งหมดนี้ต้องบอกว่ามีหลายส่วนที่ดำเนินการไปแล้วในรัฐบาลชุดที่แล้ว รัฐบาลชุดปัจจุบันก็กำลังออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อที่จะมาช่วยเหลือหนี้สินของพี่น้อง ประชาชน แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญก็คือว่ายังคงต้องมีการพิจารณาข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน การที่จะมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาแก้ไขปัญหาหนี้สินจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ต่อการดำเนินการที่จะแก้ไขในอนาคตอันใกล้ที่จะถึงนี้ แต่อย่างไรก็ตามในตอนที่ผมได้เสนอ ญัตตินี้เข้ามาสภาแห่งนี้ยังมิได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาแห่งนี้ แต่ในปัจจุบันมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาแล้ว มีประธาน มีกรรมาธิการเรียบร้อยแล้ว เขาเรียกว่าเป็นคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ เพราะฉะนั้นผมก็ยินดีถ้าหากว่า จะนำญัตติของผมเข้าไปเพื่อที่จะให้ทางด้านคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ ได้พิจารณา โดยอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาอีกคณะหนึ่ง เพื่อที่จะลดค่าใช้จ่ายของสภาแห่งนี้ แล้วก็ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าญัตติของผมจะเป็นการเริ่มต้น ในการที่จะทำให้สภาแห่งนี้ได้มีโอกาสได้นำเสนอ ได้พิจารณา ได้ศึกษาสิ่งที่จะสามารถ ส่งให้กับทางรัฐบาลเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนได้ แล้วก็เนื่องจากว่า มีผู้ที่ร่วมที่จะเสนอการอภิปรายเพื่อที่จะเห็นชอบหรือไม่ อย่างไรกับญัตติของผม ผมก็อยากขอสละสิทธิในการที่จะอภิปรายสรุปญัตติเพื่อที่ในอนาคตจะไปนำเสนอ รายละเอียดทั้งหมดให้กับทางด้านคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติถ้าสภานี้ เห็นชอบด้วย ขอบพระคุณท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับ สมาชิกครับ มีเพื่อนสมาชิกเสนอญัตติอีก ๑ ท่าน แต่ว่าเอกสารเพิ่งมาถึงผม เป็น ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแก้ไขปัญหา ค่าครองชีพสูง (นางปทิดา ตันติรัตนานนท์ เป็นผู้เสนอ) ก็จะถูกบรรจุเข้ามาพิจารณาพร้อมกัน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ส่วนลำดับจะเป็นตามนี้ เนื่องจากท่านชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร ติดภารกิจ จะขอสลับเป็นลำดับที่ ๒ ท่านวิทยา แก้วภราดัย ลำดับที่ ๓ ท่านเอกราช อุดมอำนวย ท่านที่ ๔ ท่านปทิดา ตันติรัตนานนท์ และท่านชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร เป็นผู้เสนอญัตติ ท่านสุดท้าย เรียนเชิญท่านวิทยาครับ

นายวิทยา แก้วภราดัย แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผม วิทยา แก้วภราดัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรครวมไทยสร้างชาติ เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๖ เมื่อ ๒ เดือนที่แล้วผมกับเพื่อนสมาชิกอีก ๓ ท่านคือ คุณจุติ ไกรฤกษ์ คุณสุชาติ ชมกลิ่น คุณธนกร วังบุญคงชนะ ได้ร่วมกันเสนอญัตติด่วนเมื่อ ๒ เดือนที่แล้วนะครับ เป็นเรื่องของ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรเราตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแก้ไขปัญหาราคาสินค้าตกต่ำ ราคาค่าครองชีพสูง สาเหตุที่ยืนในวันนั้นเพราะในสถานการณ์วันนั้นจริง ๆ แล้วสภาเรา ยังไม่มีคณะกรรมาธิการอย่างที่เพื่อนสมาชิกได้กล่าวไว้

นายวิทยา แก้วภราดัย แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ขณะนั้นก็เกิดภาวะธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาได้ปรับ อัตราดอกเบี้ยและราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มถีบตัวสูงขึ้น ประกอบกับช่วงเดือนสิงหาคม ค่อนข้างจะแน่ชัดครับว่าจะเกิดภัยแล้ง หรือสถานการณ์ที่เรียกว่า El Nino เกิดขึ้น ในประเทศไทยซึ่งเราประเมิน ณ วันนั้นว่าจะมีการเกิดภัยแล้งอย่างรุนแรง แต่เวลา ๒ เดือน ที่ผ่านมาหลายสิ่งหลายอย่างก็เปลี่ยน แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนคือแนวโน้มราคาน้ำมันที่มีโอกาสสูงขึ้น ก็เกิดวิกฤติสงครามในตะวันออกกลางที่เราค่อนข้างจะกังวลกันทั่วโลก จะส่งผลต่อ ราคาน้ำมัน เพราะฉะนั้นมาถึงวันนี้ปรากฏว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ก็เริ่มเปลี่ยนไป ราคาน้ำมัน ที่เราประเมินวันนั้นว่าจะพุ่งสูงขึ้น แต่ก็ปรากฏว่ากระทรวงพลังงานได้ออกมาเริ่มมีมาตรการ ในการช่วยเหลือภาคเกษตรกรผู้ใช้น้ำมันดีเซล ในการตรึงราคาน้ำมันดีเซลในราคาที่ค่อนข้าง จะเหมาะสมไม่เกิน ๓๐ บาท แล้วก็มีแนวโน้มที่เป็นการแถลงนโยบายว่าจะช่วยราคา น้ำมันเบนซิน ๙๑ ที่ประชาชนทั่วไปใช้กับรถอยู่ในราคาที่เหมาะสม ข้อกังวลนั้นก็ค่อนข้าง จะคลายไประดับหนึ่ง แต่เรากำลังประเมินสถานการณ์ในขณะนี้ว่าสงครามตะวันออกกลาง จะลามไปไกลหรือเปล่า ถ้าลุกลามไปมากก็ยากที่จะประเมินได้ครับว่าราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้นไป ขนาดไหน ขณะเดียวกันหลังจากยื่นญัตติเสร็จแล้วก็ปรากฏว่ามันมีมรสุมเข้ามาหลายระลอก ท่านประธานครับ ผมเข้าใจว่าบ้านท่านประธานเองก็จะโดนน้ำท่วมไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่เรา ประเมินว่าจะแล้งจัด แล้วก็ลักษณะของพายุก็ยังไม่จบครับ วันนี้ประกาศฉบับที่ ๘ ของกรมอุตุนิยมวิทยาก็พยากรณ์ว่ายังมีพายุบางส่วนพัดผ่านประเทศไทย แล้วก็ลืมลงไปทาง ภาคใต้เรื่อย ๆ ด้วยตามสถานการณ์ ณ วันนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเป็นความกังวลของพี่น้อง ประชาชนโดยทั่วไปก็คือค่าครองชีพ เมื่อสักครู่ญัตติที่ยื่นไปครั้งแรกก็เนื่องจากหนี้สิน ของภาคประชาชน ภาคครัวเรือนมีมาก มากจนทำให้ผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ลดลง แล้วก็ราคาค่าสินค้าต่าง ๆ มันก็ขึ้นโดยธรรมชาติ ตามอัตราดัชนีราคาผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ในทุกปี เพราะฉะนั้นสิ่งที่ประชาชนฝากความหวังกับพวกผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่นั่งอยู่ตรงนี้ รวมทั้งผู้ยื่นญัตติด้วยครับ ก็คือมีใครช่วยคิดให้เขาหน่อยได้ไหมครับว่าจะทำอย่างไร ให้ค่าครองชีพเขาไม่สูงขึ้น ค่าใช้จ่าย ค่าสินค้าอุปโภคบริโภคตรึงราคากันไว้ได้ดีที่สุด เพราะฉะนั้นความคิดเราวันนี้ก็จำเป็นต้องมีคณะหนึ่งซึ่งเป็นผู้แทนเราในสภาต้องช่วยกัน ระดมคิด เพราะปัญหาทั้งหมดไม่ใช่ปัญหาของ สส. คนใดคนหนึ่ง ผู้แทนคนใดคนหนึ่ง แต่มันหมายถึงปัญหาของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศที่เขาอยากให้พวกเราเข้าไปดูแล เพราะฉะนั้นถ้าพวกเราระดมความคิดให้ความสนใจกับเรื่องนี้อย่างน้อยก็เป็นหลักประกัน เบื้องต้นในการที่จะเสนอแนะให้กับรัฐบาลดำเนินมาตรการในการที่จะลดค่าครองชีพ ให้กับประชาชน ผมก็เลยขอยื่นเสนอญัตติดังกล่าวนี้ให้กับเพื่อนสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎร ได้เป็นผู้พิจารณา แล้วก็มีความเห็นจะตั้งคณะกรรมาธิการหรือส่งคณะกรรมาธิการสามัญ ประจำสภาพวกผมก็ไม่ขัดข้องครับ ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านเอกราช อุดมอำนวย ครับ

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ ผม เอกราช อุดมอำนวย ผู้แทนคนดอนเมือง พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับญัตติที่เพื่อนสมาชิกได้เสนอ และตัวผมเองได้ยื่นญัตติเพื่อให้สภาแห่งนี้ พิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาปัญหาค่าครองชีพ อยากจะให้ทางทีมสื่อ ได้ขึ้น Slide ที่ผมเตรียมมาจะเห็นภาพชัดเจนไปพร้อมกัน

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ค่าครองชีพแพง ค่าแรงถูก เมื่อเทียบกับต่างประเทศ รายได้เฉลี่ยของประเทศไทย อยู่ที่ ๑๙,๖๓๘.๑๑ บาท ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ๕๐,๐๐๐ Up ๗๐,๐๐๐ บ้าง ๑๐๐,๐๐๐ บ้าง ซึ่งค่าครองชีพเฉลี่ยเมื่อรวมกับรายจ่ายที่เกิดขึ้นก็ทำให้เหลือเก็บต่อเดือนน้อยมาก เรียกได้ว่า ติดลบ นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นจริงโดยเฉพาะคนที่อยู่ในเมืองหลวงในฐานะผู้แทนของ คนกรุงเทพฯ ผู้แทนของคนดอนเมืองก็อยากจะบอกว่าค่าครองชีพมันแพงจริง ๆ ไปดู Slide ที่ ๒ จะเห็นว่าค่าใช้จ่ายในครัวเรือนที่เฉลี่ยในเมืองต่าง ๆ นอกจากกรุงเทพมหานครแล้วนี่ ก็จะสูงสุด ๕ อันดับ ก็จะเห็นว่าที่นนทบุรี ภูเก็ต ปทุมธานี ชลบุรี ก็มีค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนที่สูง ๓๐,๐๐๐ กว่าบาท ที่สำรวจโดยภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ต่ำสุด ๕ อันดับ ก็คือเรียกว่าค่าครองชีพที่อาจจะไม่แพงมากอยู่ที่เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา ศรีสะเกษ และสุโขทัย ไปดู Slide ถัดไป ท่านประธานครับค่าครองชีพต่าง ๆ ผมเอาให้ดู สินค้าโภคภัณฑ์ก็จะเห็นว่าอย่างที่ท่านวิทยา ขออภัยที่เอ่ยนามได้บอกว่าราคาตอนที่ยื่นญัตติ ฉบับนี้ก็ได้สูง แต่ว่าตอนนี้ก็ปรับลดลงมาผมก็ได้เปรียบเทียบให้ดูนะครับว่าในช่วงปี ๒๕๖๕ เปรียบเทียบกับปีปัจจุบันอย่างหมูสามชั้นราคาก็ลดลงต่อกิโลกรัม อกไก่ สันในวัว ราคาต่อกิโลกรัมก็ลดลง ส่วนไข่ไก่ราคาก็สูงขึ้นอยู่ แก๊สโซฮอล์ แก๊สหุงต้มก็ยังคงสูงขึ้นอยู่ ทั้งหมดนี้ที่ให้ท่านประธานได้เห็นเพื่อให้เห็นว่าปัจจัยในการดำรงชีพของคนที่อยู่นี่ เมื่อเทียบ กับประเทศอื่น ๆ รายได้กับรายจ่ายมันไม่สัมพันธ์กัน ผมก็เลยยื่นญัตตินี้ขึ้นมาเพื่ออยากจะให้ สภาแห่งนี้ได้พิจารณาแนวทางที่จะหาข้อสรุป ถอดบทเรียนต่าง ๆ เพื่อจะเป็นแนวทาง ให้กับพี่น้องประชาชนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาในการลดค่าครองชีพ ในสถานการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุซึ่งจะเป็นสถานการณ์ ที่ทำให้เกิดวิกฤติมากขึ้น เพราะว่าองค์การสหประชาชาติก็คาดการณ์ไว้จนถึงปี ๒๕๙๓ ว่า ทวีป Asia หรือว่าประชากรสูงวัยที่อายุตั้งแต่ ๖๕ ปีขึ้นไปมากที่สุดในโลก โดยประเทศไทย มีสัดส่วนสูงวัยเฉลี่ยต่อประชากรเทียบกับช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ๑๗.๒ เปอร์เซ็นต์เป็นอันดับ ๕ ใน Asia ตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ รองจากเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน และมาเก๊า เพราะฉะนั้นเมื่อสังคมผู้สูงวัยมากขึ้น เส้นแบ่งความยากจนของเราที่ตอนนี้อยู่ที่ ๓,๐๐๐ บาท ถ้าหากว่ารัฐบาลมีนโยบายที่จะสามารถทำให้ผู้สูงอายุได้รับเงินเบี้ยบำนาญ หรืออะไรก็แล้วแต่ สุดแท้แต่ที่จะเรียกนี่ ขยับตัวสูงขึ้นก็จะทำให้ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ผู้สูงอายุ ที่ยากจน คนที่เป็นคนจนเมือง ก็สามารถที่มี ค่าเฉลี่ยรายได้ที่เพิ่มขึ้นแล้วก็ความยากจน ก็น้อยลง อย่างน้อยก็ใช้ประคับประคองได้ ท่านประธานครับในเรื่องของการใช้ชีวิต ในกรุงเทพมหานคร ๑ คนเปรียบเทียบแล้วกันในการที่ออกไปทำงาน มีตั้งแต่ค่าเรือ ค่าเดินทาง ค่ารถไฟฟ้า ไปจนถึงที่ทำงานลงมากินข้าวกลางวัน ทานข้าวกล่องต่อมื้อตอนนี้ก็ ๕๐ บาท ตัก ๒ อย่าง ๖๐-๗๐ บาทแล้ว ก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่ง ๕๐ บาทขึ้นไปแล้วนะครับ เพราะฉะนั้นเมื่อเปรียบเทียบแล้วการอยู่ที่มีชีวิตอยู่ในเมืองหลวงนี่ค่อนข้างลำบาก แต่จะทำ อย่างไรถึงจะลดปัจจัยค่าครองชีพของพี่น้องประชาชนได้ อย่างค่าเดินทางถ้าเป็นคนที่อาศัย รถไฟฟ้า ๒๐ บาทแค่ ๒ เส้น แต่สายสีเขียวที่คนใช้เยอะ ๆ ก็ไปไม่ถึง ก็ยังมีค่าใช้จ่ายที่แพงอยู่ หรือแม้กระทั่งด้านที่อยู่อาศัย ค่าเช่าก็เฉลี่ยอยู่ที่ ๕,๐๐๐-๘,๐๐๐ บาทแล้ว ในการเช่า ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครหรือจะมีคอนโดมิเนียมดี ๆ ที่เป็นห้องชุด อาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ตอนนี้เฉลี่ยต่อตารางเมตรก็ค่อนข้างสูงทีเดียว เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเขาจะต้องไปอยู่ เมืองที่ออกไปไกลขึ้นก็ต้องไปเสียค่าเดินทางมากขึ้น ทั้งหมดนี้ที่ผมพูดเพื่อให้เห็นภาพ สะท้อนของชีวิตของคนกรุง คนเมือง อย่างคนพี่น้องในเขตดอนเมืองก็มีความยากลำบาก แต่โชคดีหน่อยว่ามีรถไฟฟ้าสายสีแดงก็นั่งรถมา แต่สุดท้ายค่าครองชีพต่าง ๆ ที่แวดล้อมเขา ทั้งหมดก็สูงขึ้น ในขณะที่รายได้ของประเทศไทยรายได้ขั้นต่ำก็เท่าเดิมมาโดยตลอด ทั้งหมดนี้ ผมถึงเห็นว่าคณะกรรมาธิการซึ่งเรามีอยู่แล้วในคณะหนึ่ง ก็คือเรื่องของการแก้ไขปัญหา หนี้สินน่าจะรับข้อเสนอในการตั้งไปศึกษาเพื่อแก้ปัญหาเป็นรายสินค้าหรือว่าเป็นอะไร Segment ก็ได้ เพื่อที่จะเป็นแนวทางในการที่จะลดค่าครองชีพให้กับผู้สูงอายุ ลดค่าครองชีพ ให้กับคนจนเมือง ลดค่าครองชีพให้กับพี่น้องที่อยู่ในเมืองใหญ่ ๆ ที่เขาไม่สามารถที่จะดูแลได้ ต้องอาศัยข้อมูลที่ศึกษามาอย่างรอบด้าน และหาทางออกที่ทำให้พี่น้องประชาชนมีชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น จึงขอสนับสนุนจากเพื่อนสมาชิก หากเห็นว่าควรจะตั้งหรือจะเห็นว่า ส่งต่อก็สุดแท้แต่ขอที่ประชุมช่วยกันพิจารณา ขอบพระคุณท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับ เชิญท่านปทิดา ตันติรัตนานนท์

นางปทิดา ตันติรัตนานนท์ สุรินทร์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ปทิดา ตันติรัตนานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์ เขตเลือกตั้งที่ ๘ พรรคภูมิใจไทย ท่านประธานคะ ดิฉันขออนุญาตนำเสนอถึงญัตติที่ท่านวิทยา แก้วภราดัย กับคณะได้เสนอต่อสภา ดิฉันได้ขอเสนอญัตติร่วม เพราะเห็นว่าปัญหา ค่าครองชีพสูงเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตของพี่น้องประชาชน ดิฉันขอนำเสนอปัญหา ค่าครองชีพในมุมมองของการศึกษา เนื่องจากในช่วงระยะวิกฤติของ COVID-19 ที่ผ่านมา พี่น้องประชาชนได้ประสบความยากลำบากในการครองชีพ

นางปทิดา ตันติรัตนานนท์ สุรินทร์ ต้นฉบับ

ด้วยค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ระดับรายได้ไม่สูงขึ้นสอดคล้องกับค่าครองชีพ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในด้านการเรียน การศึกษาของบุตรหลาน ทำให้ครอบครัวสูญเสีย ความสามารถในการส่งเสียบุตรหลานให้เล่าเรียนต่อในชั้นสูงขึ้น เช่น มัธยมศึกษา หรืออุดมศึกษา เป็นความเสียหายต่ออนาคตของชาติ และเป็นวิกฤติต่อประเทศที่ไม่เคย เกิดขึ้นมาก่อนค่ะ ทั้งนี้ปรากฏว่ายังไม่มีคณะกรรมาธิการใดของสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาแก้ไขปัญหาอันสำคัญนี้ ฝ่ายนิติบัญญัติจึงควรเข้าไปมีบทบาทในการแสวงหา ทางออกแก้ไขให้แก่ประเทศต่อไป ดิฉันจึงขอเสนอญัตติดังกล่าวมาเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาค่าครองชีพสูงตามข้อบังคับ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๔๙ ส่วนเหตุผลดิฉันจะขอนำเสนอ ต่อท่านประธาน

นางปทิดา ตันติรัตนานนท์ สุรินทร์ ต้นฉบับ

ในปัจจุบันนี้ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของไทยเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก จากผลสำรวจ ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าในปีที่แล้วค่าใช้จ่ายครัวเรือนเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ปีละ ๒๒,๓๗๒ บาทต่อเดือน ในขณะที่เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วค่าใช้จ่ายครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่เพียง ๑๘,๗๖๖ บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นถึง ๑๙.๒๑ เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่รายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น ไม่ทันรายจ่าย คือครัวเรือนไทยเรามีรายได้เฉลี่ยในปีที่แล้วอยู่ที่ ๒๘,๐๖๓ บาท เพิ่มจาก ปี ๒๕๕๕ ที่ ๒๔,๗๔๖ บาท คิดเป็นเพียง ๑๓.๔ เปอร์เซ็นต์ ช่องว่างการเติบโตของรายจ่าย และรายได้มีมากถึง ๕.๘ เปอร์เซ็นต์ ทำให้ครัวเรือนไทยมีความเปราะบางมากขึ้น มีเงินเก็บ น้อยลง หนี้สินครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น และจากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติดังกล่าว พบว่าสินค้าที่มีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นสินค้าด้านอาหารและเครื่องดื่ม ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ราคาสูงขึ้น ๒๓.๘ เปอร์เซ็นต์และ ๒๒.๘ เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ เมื่อราคาอาหาร เพิ่มสูงขึ้นทำให้กระทบต่อครัวเรือนของไทย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายด้านอาหารต่อรายได้ในระดับสูง ยิ่งเดือดร้อนมากขึ้นไปอีก แม้รัฐบาลที่ผ่านมาอาจมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาลดค่าครองชีพ ของประชาชนไปบ้างแล้ว แต่โครงสร้างหลักของราคาสินค้าจำเป็นคืออาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ ของการดำรงชีพก็ยังไม่ถูกแก้ไข ตลาดการผลิตอาหารตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเริ่มถูกผนวก ควบรวม ผู้ผลิตผู้ค้าส่งมีคู่แข่งน้อยรายลง และผู้ค้าปลีกก็ได้รับผลกระทบจากการขาด การแข่งขันของผู้ค้ารายใหญ่ ซึ่งไม่ได้รับการกำกับดูแลโดยกฎหมาย นอกจากนี้ต้นทุนการผลิตสินค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคที่รัฐกำกับ อย่างราคาน้ำมัน ค่ากระแสไฟฟ้า และค่าขนส่งก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ผลิตสินค้าอ้างว่าไม่สามารถแบกรับต้นทุนผลิตได้ จึงขอขึ้นราคาในทุกมิติ และเมื่อ ได้ขึ้นราคาแล้วก็ยากที่จะลงได้ แม้ว่าค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้าจะลงไปแล้วก็ตาม ท่านประธานคะ ดิฉันเชื่อว่าทุกท่านในสภาแห่งนี้หากไปเดินที่ตลาด เดินตาม Supermarket จับจ่ายซื้อของ ด้วยตัวเอง หรือแม้แต่เปิด Application มือถือของท่านเลือกซื้อสินค้า ก็จะเห็นว่าสินค้า ต่าง ๆ แพงขึ้นโดยตลอด พี่น้องประชาชนต้องรอวันลดราคาหรือมี Promotion แย่งกันกด แล้วก็แย่งกันใช้ และที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งคือเมื่อค่าครองชีพสูงขึ้นจนพี่น้องประชาชนแบกรับ ไม่ไหวแล้วนั้น ส่งผลกระทบรุนแรงต่ออนาคตของชาติ คือ เด็กและเยาวชนที่ต้อง ขาดการศึกษา เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งการอุปการะเลี้ยงดู และค่าใช้จ่ายทางด้านการศึกษาไม่ไหวอีกต่อไปเป็นเรื่องร้ายแรง ทำให้ศักยภาพของพี่น้อง ประชาชนและประเทศชาติในระยะยาวเสียหาย ท่านประธานและเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ในปี ๒๕๖๕ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือ กสศ. ได้ทำรายงาน สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประเด็นที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง เกี่ยวพันกับปัญหารายได้และค่าครองชีพ คือในตอนนี้เรามีนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษที่พ่อแม่ ผู้ปกครองมีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า ๑,๐๔๔ บาท ท่านประธานคะ ย้ำว่า ๑,๐๔๔ บาทค่ะ มีจำนวนอยู่ถึง ๑,๓๐๗,๑๕๒ คน หมายความว่าเรามีเด็ก ๆ นับล้านที่มีความเสี่ยง และเปราะบางในการดำรงชีพและกำลังจะขาดโอกาสที่จะได้เรียนต่อ เพราะเมื่อพ่อแม่ ผู้ปกครองต้องดิ้นรนหารายได้เพื่อการดำรงชีพในชีวิตประจำวัน เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เลี้ยงครอบครัวให้รอดไปวัน ๆ ก็ไม่มีการเก็บสะสมเงินเพื่อการศึกษาของบุตรหลานในระยะยาว หรือแม้กระทั่งจะจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษาให้กับบุตรหลานได้ ท่านประธาน ที่เคารพคะ การสนับสนุนการศึกษาของภาครัฐในปัจจุบันให้แก่ประชาชน เช่น ทุนสนับสนุน ค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือ หรือสื่อการเรียนการสอน ค่าชุดนักเรียน ไม่ได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายส่วนอื่น ระหว่างการเรียน ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าอาหารกลางวัน รวมถึงราคาสินค้าที่เกี่ยวข้อง กับการศึกษาก็เพิ่มสูงขึ้นตามค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อ ไม่สอดคล้องกับงบประมาณ ที่รัฐตั้งไว้เพื่ออุดหนุนนักเรียนเช่นเดียวกัน จากรายงานของสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาค ทางการศึกษา วสศ. ในปีพ.ศ. ๒๕๖๔ พบว่าในการเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น รัฐอุดหนุน เงินเพื่อการศึกษาต่อนักเรียน ๑ คนอยู่ที่คนละ ๖,๑๕๘ บาทต่อปี แต่พ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องจ่ายจริง ถึง ๑๗,๘๓๑ บาทต่อปี โดยค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุดคือค่าเล่าเรียน ที่ถึงแม้ว่า รัฐจะอุดหนุนค่าจัดการการเรียนการสอนต่อคนอยู่ที่คนละ ๓,๕๐๐ บาทต่อปี และให้ยกเว้น ค่าเทอมจนจบมัธยมศึกษาตอนต้นก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติจริง ๆ ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนเพิ่มขึ้นมาในโรงเรียนโดยไม่อาจปฏิเสธได้ค่ะ จากการสำรวจ ในปี ๒๕๖๓ ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เราจะพบว่ามีนักเรียน เพียง ๖๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้ศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ ปวช. และน้อยยิ่งไปกว่านั้นมีเพียง ๒๘ เปอร์เซ็นต์ที่ได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ด้วยปัจจัย ทางเศรษฐกิจของครอบครัวและยิ่งเมื่อสถานการณ์ Covid-19 เข้ามาทำให้รายได้ครัวเรือน ตกต่ำลงและค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก อัตราการเรียนต่อของเด็กและเยาวชนไทย ก็ยิ่งลดน้อยลง เด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษากลางคัน ทั้งในช่วงรอยต่อระหว่าง ประถมศึกษากับมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนต้นถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๕๖๓-๒๕๖๕ มีมากถึง ๑.๒ ล้านคน ผลกระทบของค่าครองชีพ ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทบต่อระบบการศึกษาในครัวเรือนที่เปราะบาง ทำให้การพัฒนา คุณภาพทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญอย่างยิ่งคือเด็กและเยาวชนที่เราห่วงใย อันจะเป็นอนาคต ของประเทศชาติในวันข้างหน้า เกิดปัญหาและกระเทือนต่อศักยภาพของประเทศไทย ในระยะยาว ท่านประธานที่เคารพ ดิฉันเชื่อว่าท่านสมาชิกสภาจำนวนมากมีบุตรหลาน ของตัวเองและเรื่องการศึกษาของบุตรหลานก็เป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ เหมือนกับพี่น้องประชาชนที่ต้องเผชิญสภาพความยากลำบากจากค่าครองชีพที่สูง อยู่ในขณะนี้ ในหมู่พ่อแม่มีคำกล่าวโดยทั่วไปว่าไม่มีกินก็ได้ แต่ขอให้ได้ส่งลูกเรียนค่ะ ดังนั้น การที่ต้องให้บุตรหลานออกจากระบบการศึกษา จึงเป็นเรื่องเหลือทนที่พ่อแม่แทบทุกคน ต้องกัดฟันทำใจไม่อยากให้เกิดขึ้นค่ะ ท่านประธานและเพื่อนสมาชิกที่เคารพ ดิฉัน ขออ้างอิงถึงชื่อท่านนะคะ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยกล่าวไว้ว่าถ้าเราไม่สามารถเจียดเงินมา เพื่อการศึกษา ก็ไม่น่าจะเจียดเงินไปสำหรับเรื่องอื่นได้ เพราะฉะนั้นดิฉันจึงมองว่าการใช้เงิน เพื่อการศึกษาจะดีกว่าหรือไม่ ที่เราสามารถลดค่าใช้จ่ายทั้งด้านการศึกษาและด้านอื่น ๆ ของพี่น้องประชาชนไปพร้อมกัน เพื่อให้พี่น้องประชาชนแต่ละครอบครัวมีเงินในกระเป๋า เพิ่มมากขึ้น สามารถลงทุนในอนาคตของครอบครัวคือลูกหลานของตัวเองได้มากขึ้น โดยไม่เดือดร้อนต่อคุณภาพชีวิต ให้ประชาชนคนไทยมีทางเลือกในการครองชีพ และให้ลูกหลานไทยได้มีการศึกษาโดยไม่ต้องหลุดออกจากระบบ ดิฉันเชื่อว่าสภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่ในการแสวงหาทางออก ทางแก้ไขปัญหาให้กับประเทศ ดิฉันจึงขอเสนอ ให้สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาค่าครองชีพสูง เพราะเรามองว่าปัญหาค่าครองชีพสูงไม่ได้กระทบเฉพาะตัวพ่อแม่แต่ไปถึงเด็ก ๆ ด้วย เราเชื่อว่าวันนี้ถ้าเราตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญแล้วเราจะนำเสนอไปถึงรัฐบาล เพื่อจะให้ ทางรัฐบาลนำไปปฏิบัติต่อไป กราบขอบคุณค่ะท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ เชิญท่านสุดท้ายนะครับ ท่านชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร ครับ

นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขออภิปรายเสนอญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไข รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน

นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ก่อนอื่นผมจะขออ่านญัตติ โดยย่อก่อนนะครับ จากสถิติและข้อมูลที่เปิดเผยโดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้บ่งชี้ว่า ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับที่สูงมากกว่าร้อยละ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์ มวลรวมในประเทศหรือ GDP มาโดยตลอด จากผลกระทบของ COVID-19 ตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ โดยมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อบ้าน สินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ และกองทุน เพื่อการศึกษา รวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต สินเชื่อรถยนต์ ตามลำดับ สาเหตุ มีการปล่อยกู้จำนวนมากที่เกินกำลังของผู้กู้ และปล่อยกู้ด้วยดอกเบี้ยที่สูงเกินราคา ความเสี่ยงจนกลายเป็นหนี้เรื้อรัง ซึ่งเป็นเหตุให้ควรมีการแก้ไขกฎเกณฑ์และบังคับใช้ ให้มีความเป็นธรรมกับผู้กู้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนหลายประเภทสามารถแก้ไขได้ โดยการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามกฎ ระเบียบ ความเปราะบางของกลุ่มครัวเรือนและธุรกิจที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดหนี้เสียเพิ่มสูงขึ้นในระยะต่อไป หากไม่ได้รับการแก้ไขจัดการ อย่างเร่งด่วน อีกทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนยังจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีพ ของประชาชนในวงกว้างหากไม่มีการแก้ไขอย่างยั่งยืน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการ ศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน ดังนั้นกระผมจึงขอเสนอญัตติด่วนดังกล่าว มาเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหา และแนวทางแก้ไข รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งการบังคับใช้ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ขอ Slide ด้วยนะครับ

นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ในการอภิปรายกระผมจะขอเริ่มจากภาพใหญ่ของหนี้ครัวเรือนไทยก่อนว่า เป็นอย่างไร เรียนท่านประธานจากข้อมูลสถิติหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยตามนิยามใหม่ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยบ่งชี้ว่าระดับหนี้ครัวเรือนของไทยนั้นอยู่ในระดับที่สูงมากกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ของ GDP มาโดยตลอดตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 มีระดับหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ ๙๔.๒ เปอร์เซ็นต์ และขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในปี ๒๕๖๔ ที่ระดับ ๙๔.๗ เปอร์เซ็นต์ โดยมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อบ้าน สินเชื่อ เพื่อการประกอบอาชีพ สินเชื่อ กยศ. และสินเชื่อส่วนบุคคล เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อรถยนต์ นอกจากนั้นยังมีกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อ ซึ่งมีสัดส่วนมากถึง ร้อยละ ๑๕ เปอร์เซ็นต์ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งตัวเลขที่สูงกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นตัวเลขที่ได้ปรับปรุงแล้ว โดยได้รวมหนี้ ๔ กลุ่มเข้าไป เช่นหนี้ กยศ. หนี้สหกรณ์อื่น ที่ไม่ใช่สหกรณ์ออมทรัพย์ หนี้จากการเคหะแห่งชาติ และนี้จาก Pico Finance ดังนั้น จึงทำให้หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่เราเคยหลงดีใจว่าได้ลดลงมาต่ำกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ มาอยู่ที่ ๘๖.๓ เปอร์เซ็นต์แล้วนั้น จริง ๆ แล้วยังอยู่ที่ ๙๐.๖ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งยังสูงกว่าระดับเกณฑ์ ที่ BIS กำหนดไว้ในเกณฑ์ที่จะอยู่ในระดับที่ยั่งยืนว่าไม่ควรเกินระดับ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ และถ้าหากเรามาดูหนี้ครัวเรือนไทยเทียบกับโลกก็จะพบว่าตั้งแต่เดิมก่อนปี ๒๕๕๕ หนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ได้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็คืออยู่ในระดับต่ำ แต่ต่อมาหลังปี ๒๕๕๕ ได้มีการขยายตัวเร่งขึ้น แบบประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง อย่างประเทศจีน แต่เศรษฐกิจไทยไม่ได้เติบโต เยอะอย่างที่เศรษฐกิจจีนโตในยุคก่อน ก็คือโตถึงปีละ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ๘ เปอร์เซ็นต์ การเร่งตัวในลักษณะนี้จึงเห็นได้ชัดว่า เป็นปัญหาอย่างชัดเจน และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งข้อเท็จจริงอันน่าเศร้าว่ากว่า ๑ ใน ๓ ของคนไทยมีนี้โดยเฉลี่ยต่อคนถึง ๕๒๐,๐๐๐ บาท โดยมูลค่ารวมหนี้สินเฉลี่ยต่อคนเพิ่มขึ้น มากกว่า ๒ เท่าในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา และกว่า ๑ ใน ๕ ของคนไทยกำลังมีหนี้เสีย จึงเห็นได้ชัดครับว่าหนี้ครัวเรือนจากกราฟนี้เร่งตัวแรงหลังมาตรการรถคันแรกออกมา ในปี ๒๕๕๕ และเร่งตัวแรงขึ้นไปอีกหลังโควิดปี ๒๕๖๓ ซึ่งแต่เดิมเราก็เห็นนะครับว่า หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ในระดับต่ำ แล้วก็เร่งตัวมาอย่างก้าวกระโดด ดังนั้นอันนี้เป็นปัญหา ที่จำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืนและเร่งด่วน

นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ต่อไปเรามาดูครับว่าต้นตอของปัญหาหนี้ครัวเรือน ขอ Slide หน้าถัดไป นะครับว่ามาจากอะไร สาเหตุหลัก ๆ ผู้กู้กู้เพราะว่าจำเป็นต้องใช้เงินแต่ไม่มีเงิน จึงจำเป็นต้องไปกู้หนี้ยืมสินมา ซึ่งหนี้ก็มีทั้งหนี้ที่สร้างรายได้ และหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ แต่ที่น่าเศร้าก็คือว่าหนี้ครัวเรือนของไทยส่วนใหญ่นั้นเป็นหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ก็คือเป็นหนี้ ที่กู้มาเพื่อใช้อุปโภคบริโภคแล้วก็หมดไปไม่ได้ช่วยสร้างรายได้ หรือเพิ่มรายได้ให้คุณภาพชีวิต ดีขึ้น แต่กลับทำให้มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากการที่ต้องมาจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ก็ยิ่งทำให้รายได้ ไม่เพียงพอเลี้ยงชีพกลายเป็นวัฏจักรหนี้สินที่ยากจะหลุดพ้น และหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ ก็จะอยู่ในกลุ่มของคนที่รายได้ต่ำ ก็คือมีความสามารถในการชำระหนี้น้อย ปัจจุบันมีคนไทย กว่า ๕.๘ ล้านคน ที่กำลังเป็นหนี้เสีย หรือ ๑ ใน ๕ คน และส่วนใหญ่หนี้ของบุคคลเหล่านี้ ก็จะเป็นหนี้ส่วนบุคคล

นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อีกปัญหาหนึ่งก็คือคนไทยเป็นหนี้เร็วในกลุ่มคนอายุน้อยอายุ ๒๐-๓๕ ปี ซึ่งเป็นวัยที่เพิ่งเริ่มทำงานนั้นกลับมีหนี้ที่ไม่สร้างรายได้เป็นสัดส่วนที่สูงที่สุด และ ๑ ใน ๔ ของบุคคลเหล่านี้ก็กำลังเป็นหนี้เสีย จากข้อมูลที่ได้เรียนท่านประธานไปเบื้องต้นว่า หนี้ครัวเรือนไทยได้มีการเร่งตัวอย่างมากนั้น เราก็เห็นว่าในรัฐบาลที่ผ่านมาได้ดำเนินการ นโยบายพักหนี้ออกมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด เพราะว่าเรา ก็เห็นจากตัวเลขแล้วว่าหนี้ครัวเรือนนั้นก็ได้เร่งตัวเพิ่มมากขึ้นมาตลอด ผลที่ตามมา หนี้ครัวเรือนเรามองเห็นมันเป็นเหมือนภูเขาน้ำแข็งและเป็นเหมือนระเบิดเวลาไปพร้อม ๆ กันครับ ซึ่งเราไม่สามารถมองข้ามปัญหานี้ได้ หนี้ครัวเรือนนั้นทั้งกดดันและฉุดรั้งการขยายตัว ของเศรษฐกิจ เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่ของครัวเรือนจะต้องนำไปชำระหนี้ แทนที่จะนำไป ใช้จ่ายซื้อสินค้า บริการ หรือนำไปลงทุนเพื่อเพิ่มรายได้ในอนาคต ถ้าเรามาดูโครงสร้าง ของลูกหนี้ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งก็แปลว่าอัตราส่วนของหนี้สินต่อรายได้ ของเขานั้นมีอัตราส่วนที่สูงก็คือ DSR หรือ Debt Service Ratio สูงมาก บุคคลเหล่านี้ ไม่มีกำลังในการชำระหนี้ ทำให้เขายิ่งไม่มีเงินออม แล้วก็ไม่สามารถสั่งสมเงินทุน สั่งสมอะไร มาลงทุนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและพาตัวเองให้หลุดพ้นออกจากวงจรหนี้เหล่านี้ได้ ดังนั้นถ้าหากปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืนก็จะยังส่งผลถึงเสถียรภาพของระบบ สถาบันการเงินต่อไปด้วย เนื่องจากว่ารายได้ของสถาบันการเงินนั้น รายได้หลักก็คือรายได้ ของดอกเบี้ย ซึ่งถ้าหากระดับหนี้ครัวเรือนสูงเกิดเป็นหนี้เสียทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ และไม่มีการแก้ไขปัญหานี้สถาบันการเงินก็จะสูญเสียความมั่นคง แล้วก็จะไม่สามารถ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการบริหารความเสี่ยงและจัดสรรเงินทุนให้กับระบบเศรษฐกิจ ของประเทศขับเคลื่อนต่อไปได้ นอกจากนั้นปัญหาหนี้ครัวเรือนยังส่งผลกระทบโดยตรง ต่อการดำรงชีพของประชาชนในวงกว้างถ้าหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เช่นปัญหา ด้านสุขภาพจิต ปัญหาด้านอาชญากรรม จึงจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาถึงสาเหตุปัญหา และแนวทางแก้ไขโดยเร่งด่วน ปัญหาหนี้ครัวเรือนถ้าหากเรามาพิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้ว มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นมานาน การจะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องมีการศึกษาโครงสร้างเหล่านี้อย่างลึกซึ้ง เพื่อให้เข้าใจถึงปัญหาและเข้าใจ ถึงวิธีการแก้ไขปัญหาที่ถูกจุด รวมทั้งจำเป็นต้องมีการทบทวน ปรับปรุงกฎหมาย กฎเกณฑ์ และระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำ ก็คือการปล่อยกู้ กลางน้ำ ก็คือระหว่างการผ่อนชำระหนี้ และปลายน้ำ ก็คือการช่วยเหลือ ลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหา และต้องปรับโครงสร้างหนี้เมื่อเป็นหนี้เสีย เช่นต้องมีมาตรการให้ครบ ๕ ด้าน ก็คือ ๑. ทำให้เจ้าหนี้มีความรับผิดชอบต่อการปล่อยกู้ หรือ Responsible Lending ๒. ต้องมีการสร้างมาตรการที่เป็นแรงจูงใจให้ลูกหนี้จ่ายหนี้และไม่สะสมหนี้ เช่นส่งเสริม มาตรการการดึงดูดให้ลูกหนี้จ่ายหนี้ตรงเวลา เช่นมีการลดดอกเบี้ย ๓. มาตรการดำเนินการ เชิงรุกในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เริ่มมีความเสี่ยงที่จะเข้าไปติดกับดักหนี้ เช่น ลูกหนี้ ที่เป็นลูกหนี้ใช้บัตรกดเงินสด ๔. ก็คือการช่วยปรับโครงสร้างหนี้ก่อนที่จะไปขึ้นศาล เกิดการบังคับคดีนั้น ควรที่จะมีการดูแลปรับโครงสร้างหนี้ เจรจาประนอมหนี้ก่อน และสุดท้ายการปล่อยหนี้ควรจะปล่อยหนี้ตามความเสี่ยงของลูกหนี้

นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ขอสรุปนะครับ ที่ผ่านมามีการปล่อยกู้จำนวนมากที่ปล่อยกู้สูงเกินกำลัง ของผู้กู้ด้วยดอกเบี้ยที่สูงเกินราคาความเสี่ยงทำให้เกิดเป็นหนี้เรื้อรัง ดังนั้นจึงจำเป็นที่ต้อง มีการทบทวนแก้ไขกฎเกณฑ์และบังคับใช้เพื่อกำกับดูแลการปล่อยกู้ให้มีความเป็นธรรม กับผู้กู้มากขึ้น ปัญหาหนี้ครัวเรือนหลายประเภทนั้นสามารถแก้ไขได้โดยการปรับปรุง กฎหมาย กฎเกณฑ์ และบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพตามกฎระเบียบ ด้วยความจำเป็น ดังกล่าว กระผมจึงขอเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไข รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งบังคับใช้เพื่อให้แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างยั่งยืนครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปจะเป็นการอภิปรายของสมาชิกที่ต้องการอภิปรายและเข้าชื่อไว้นะครับ ตอนนี้มีผู้เข้าชื่อทั้งหมด ๓๐ ท่าน เป็นฝ่ายค้าน ๑๔ ท่าน แล้วก็เป็นฝ่ายรัฐบาล ๑๖ ท่าน ทีนี้จากการหารือของ Whip ๒ ฝ่ายเพื่อให้เราเลิกได้ราว ๆ ไม่เกิน ๑ ทุ่มก็จะให้มีการ อภิปราย ช่วงแรกฝ่ายละ ๕ ท่านครับ เริ่มจากท่านศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ แล้วก็ฝ่ายรัฐบาล คือท่านนิพนธ์ คนขยัน สรุปแล้วก็จะดำเนินการตามนี้ แล้วเราต่อกันในการประชุมครั้งต่อไป เชิญท่านศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ครับ

นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ท่านประธานคะ ดิฉัน ทนายแจม ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๑๑ พรรคก้าวไกล วันนี้จะมาขอร่วมอภิปรายสนับสนุนการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนของท่านอนุชา แล้วก็ตั้งคณะกรรมการวิสามัญ เพื่อศึกษาและแนวทางการแก้ไขการปรับปรุงกฎหมายเพื่อการแก้ไขหนี้สินครัวเรือน อย่างยั่งยืนของท่านชัยวัฒน์ แล้วก็ญัตติของท่านเอกราช อุดมอำนวย แล้วก็ของท่านวิทยา แก้วภราดัย ท่านประธานที่เคารพคะ วันนี้ดิฉันอยากจะนำเสนอขอ Slide ด้วยนะคะ

นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ปัญหาหนี้สินครัวเรือน เป็นปัญหาใหญ่ของหลายครอบครัวมาก ๆ และวิกฤตินี้เองทำให้หลาย ๆ คนไม่อยาก มีลูก เพราะอะไร เพราะว่าการเลี้ยงลูก ๑ คน ต้องใช้จำนวนเงินมหาศาลมาก ๆ ในขณะที่ เด็กเกิดใหม่เราลดลงโดยเฉลี่ย ๒๘๐,๐๐๐ ราย และสำนักงานสถิติแห่งชาติประเมินเอาไว้ว่า ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูก ๑ คน เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณเดือนละ ๒๗,๓๕๒ บาทต่อเดือน ในขณะที่เรามีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ ๑๕,๐๐๐ บาทต่อเดือนเท่านั้น เพราะฉะนั้นดิฉัน เห็นว่าพ่อแม่ที่มีรายได้ขั้นต่ำและมีหนี้สินครัวเรือนสูง ค่าครองชีพสูงเป็นวิกฤติที่พ่อแม่ ที่จะเลี่ยงเผชิญไม่ได้เมื่อต้องเลี้ยงลูกเพื่อให้อยู่รอด เพื่อให้อยู่ดีกินดีในมุมของผู้เป็นพ่อ เป็นแม่แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เรากังวลมาก ๆ เพราะว่าการที่เรามีค่าแรงขั้นต่ำที่น้อย การที่เรามีหนี้สินครัวเรือนที่สูง และค่าครองชีพที่สูง หมายถึงโอกาสในการเสริมสร้าง พัฒนาการของเขาก็จะหายไปด้วย เหมือนที่ท่านสมาชิกได้พูดไปเมื่อสักครู่ การที่พ่อแม่ ต้องทำงานหนักเพื่อจ่ายหนี้ใช้จ่ายภายในครัวเรือนทำให้โอกาสในการเข้าถึงโภชนาการที่ดี ของเด็ก ๆ ลดลง และส่งผลต่ออารมณ์ของเด็ก เมื่อผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองต้องมีภาวะ ความเครียด พ่อแม่เราต้องดิ้นรนกันเองมาก ๆ เพราะว่าเราต้องพยายามหาเงินหาทอง นอกจากจะต้องเสียค่าอาหารการกินของลูกเราแล้วและเสียค่าเรียนเสริมพัฒนาการนั่นนี่ หรือว่าซื้ออุปกรณ์ ซื้อของเล่นเสริมพัฒนาการด้วยตัวเอง เพราะว่ารัฐไม่ได้ Support และตลกร้ายก็คือว่าต่อให้ของเล่นมีเสริมพัฒนาการมีเยอะขนาดไหน ไม่ต้องใช้ทุนทรัพย์ เลยก็ได้แต่ต้องใช้เวลา ซึ่งเรื่องเวลาก็เป็นเรื่องที่สำคัญเหมือนกันเพราะว่าปัจจุบัน เราลาคลอดได้แค่ ๓ เดือนเท่านั้น เพราะฉะนั้นการที่เราจะมีในเรื่องของเบี้ยเด็กเล็กก็ตาม แล้วก็เรื่องลาคลอด ๑๘๐ วันก็ตาม จะชดเชยแล้วก็เพิ่มโอกาสในการเสริมสร้างพัฒนาการ ด้านอารมณ์และการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว มีงานวิจัยบอกมากมายว่า เด็กที่ได้กินนมแม่ในช่วง ๖ เดือนแรกจะมีพัฒนาการที่ดี ซึ่งประเทศไทยเรามีสถิติการให้นมลูก ด้วยนมแม่ ๑๒ เปอร์เซ็นต์ จากภาพจะเห็นว่าประเทศอื่นมีหลายเปอร์เซ็นต์มาก ๆ สามารถ ให้นมแม่ได้เกินขั้นต่ำคือ ๖ เดือน ในประเทศไทยแค่ ๑๒ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เด็กไทย กินนมแม่น้อยต่ำมาก ๆ ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยของการคลอดแล้วก็ต้องรีบกลับไปทำงาน หรือคลอดแล้วไม่มีน้ำนม ทำให้ต้องใช้นมผงเป็นตัวแรกทันทีหลังคลอด แล้วก็การที่เราจะให้นมแม่ จะช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดความเสี่ยงในเรื่องของนมผงด้วย นมผงกลายเป็นค่าใช้จ่าย ที่ทั้งจำเป็นและไม่จำเป็นของคนเป็นแม่ ซึ่งถ้าใครที่เลี้ยงลูกจะรู้ดีว่าแค่มีลูก ๑ คน ค่าใช้จ่าย ในเรื่องของนมผงก็ ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ บาทแล้ว ยังไม่รวม Pampers เดือนหนึ่ง ก็ ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ บาทเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการที่เราจะให้สิทธิแม่ได้กลับไปเลี้ยงลูก ในแบบที่ได้รับค่าชดเชย จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในเรื่องของนมผงไปได้มาก ๆ แล้วก็ค่าใช้จ่าย เรื่องนมผงเขาบอกว่าประมาณปีหนึ่ง ๔๘,๐๐๐ บาทต่อปี นอกจากนั้นยังช่วยลดความเสี่ยง เรื่องมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่เหมือนที่คุณหมอชลน่านได้พูดเอาไว้ด้วยนะคะ เพราะฉะนั้นถ้าเราจะสนับสนุนให้คนมีลูกมากขึ้น เราก็ต้องมีการสนับสนุนให้มีการลาคลอด ๑๘๐ วันด้วยนะคะ แล้วยิ่งถ้าพ่อแม่สามารถแบ่งวันลาคลอดกันได้ก็จะช่วยลดปัจจัย ความเสี่ยงในการเป็นซึมเศร้าหลังคลอดด้วย ไม่ต้องรู้สึกว่าแบกภาระไว้คนเดียว แล้วนี่เป็น การจ่ายค่าเวลาที่ดีที่สุดถ้าจะทำได้ อันนี้เป็นเรื่องของสูตรนมแม่ ๑ ชั่วโมงทันทีหลังคลอด แล้วก็ ๖ เดือนต้องได้นมแม่อย่างน้อย ๆ ๖ เดือน แล้วหลังจากนั้นก็กินนมแม่เสริมร่วมกับ อาหารปกติ ซึ่งอันนี้ที่ทำให้แม่ ๆ หลายคนไม่สามารถให้นมแม่ได้ถึง ๖ เดือน หรือบางคน ก็มีน้ำนมไม่พอ เหตุเพราะเรื่องข้อแรกเลย เรื่องการที่จะต้องให้น้ำนมใน ๑ ชั่วโมงแรก หลังคลอดยังไม่ได้กำหนดเป็นข้อบังคับของกระทรวงสาธารณสุข อันนี้อยากฝากกระทรวง สาธารณสุขด้วยนะคะ แล้วก็ประเทศที่ให้ความสำคัญกับเด็กมีแนวโน้มว่าประเทศนั้น จะเป็นประเทศที่เจริญก้าวหน้า มีคุณภาพแรงงานที่ดี อาชญากรลดลง เพราะฉะนั้น เราจะต้องเอาใจใส่ตั้งแต่พัฒนาการ กระบวนการแรกของการเติบโต กระบวนการพัฒนา เด็กเล็กให้เติบโตอย่างดีและมีความพร้อมในการพัฒนาการด้านอื่น ๆ ได้อย่างดีที่สุด เมื่อสังคมเริ่มตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำและการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว พวกเขาจะไม่เห็นด้วยกับกระบวนการตีตราความยากจนสิ่งที่เกิดมา สิ่งที่เกิดตามขึ้นมาก็คือ การปฏิเสธความช่วยเหลือจากรัฐบาล การมีลูกจึงเหมือนการใช้เงินออมก้อนใหญ่ และเป็นการลงทุนมหาศาลเพราะต้องสู้กับเศรษฐกิจที่แย่ลง เงินเดือนที่ไม่สูง และการจ่าย หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และมองว่าการเลี้ยงเด็กอีกคนนั้นเป็นเรื่องที่เกินกำลังเกินไป เร็ว ๆ นี้ พรรคก้าวไกลของเราในปีกแรงงาน เราได้นำเสนอร่างไปเกี่ยวกับเรื่องการลาคลอด ๑๘๐ วัน เกี่ยวกับเรื่องห้องให้นม ต่าง ๆ เราก็รอท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน จะพิจารณา รับรองด้วย อันนี้ฝากไว้ด้วย Slide ถัดไป สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยในปัจจุบัน สูงอันดับ ๗ ของโลก และสูงพอ ๆ กับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเนเธอร์แลนด์ นี่เป็นปัจจัย หลักสำคัญที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูก และพฤติกรรมการกู้ไม่ได้เป็นแค่ปัญหาระดับ รัฐบาล หลายคนมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เหมือนที่ท่านผู้เสนอญัตติหลายท่านได้พูดออกไป ว่ามีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวนมาก หนี้บ้าน หนี้รถ หนี้การศึกษา และสารพัดค่าใช้จ่าย ต่าง ๆ กว่าสังคมไทยจะเป็นคนไทยไร้จนในปี ๒๕๗๐ เด็กที่เกิดมาแล้วก็อาจจะพลาดโอกาส ที่ดีในการที่เขาจะได้พัฒนาตัวเองก็เป็นได้ ข้อเสนอเสนอแนะจึงไม่ได้เป็นแค่ในการแก้ปัญหา เรื่องการไม่ยอมมีลูกอย่างเดียว หรือแก้ไขปัญหาในเรื่องของหนี้สินอย่างเดียว แต่ก็อยากให้ การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญครั้งนี้ได้ตระหนักแล้วก็นึกถึงครอบครัวของคนที่มีลูกด้วย เพราะว่าใน ๑ วันที่เราเดินช้าลงและละเลย เราอาจจะสูญเสียอัจฉริยะตัวน้อยที่กำลังเติบโต และจะเก่งกว่าพวกเราอย่างแน่นอนในอนาคต ขอบคุณค่ะท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านนิพนธ์ คนขยัน ครับ

นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม นิพนธ์ คนขยัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบึงกาฬ เขตเลือกตั้งที่ ๓ พรรคเพื่อไทย ต้องขอบคุณเพื่อนสมาชิกที่ได้ยื่นญัตติหนี้สินครัวเรือนและค่าครองชีพสูง วันนี้ขอร่วม อภิปราย การที่มีรายได้น้อย มีหนี้สิน ท่านประธานครับ บึงกาฬบ้านผมโดยเฉพาะคนอีสาน ทำเกษตรกรรม ทำไร่ ทำนา ทำสวน วันนี้บึงกาฬยางพารา ๑ ล้านกว่าไร่ ทำไมถึงมีหนี้สิน ครัวเรือนมาก เพราะมันมีรายได้น้อยครับท่านประธาน ทำไมรายได้ถึงน้อย สินค้าเกษตร ไม่เป็นราคา วันนี้ราคาเกษตรเริ่มดีครับท่านประธาน ยางพาราบึงกาฬ ๑ ล้านกว่าไร่ Start ณ วันนี้ ๓๑ บาท แต่ก่อน ๕ กิโลกรัม ๑๐๐ บาท ๖ กิโลกรัม ๑๐๐ บาท วันนี้ กิโลกรัมละ ๓๑ บาท ถ้ายางพาราเป็นอย่างนี้ สูงขึ้นเรื่อย ๆ พี่น้องเกษตรกรที่ทำสวน ยางพาราทั้งประเทศก็จะมีรายได้มากขึ้น ท่านประธานครับ คนจนนี่เป็นผู้ยิ่งใหญ่ ยืมดอกเบี้ยแพง ท่านผู้เสนอญัตติบอกว่าทำไมจึงมีหนี้ ก็กู้ยืม ใช่ครับ ปฏิเสธไม่ได้ ต้องยืม เพราะไม่มี ต้องยืมครับ ครอบครัวต้องเลี้ยงดูลูก การศึกษา ทุกสิ่งทุกอย่าง ท้ายที่สุดก็ต้อง ไปยืมหนี้ในระบบ นอกระบบ ในอดีตบึงกาฬนะครับ ขออนุญาตเอ่ยนาม สมัยท่านนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยางพารากิโลกรัมละ ๘๐ บาท ๙๐ บาท ท่านประธานครับ ไม่มีหนี้เลย ได้เงินมาก แต่ช่วงหลังมานี่ยางพาราราคาถูก ข้าวราคาถูก สินค้าเกษตรต่าง ๆ ราคาถูก ชาวบ้านก็ต้อง เป็นหนี้ ดังนั้นวันนี้ผมเชื่อมั่นว่าหากรัฐบาลทำให้สินค้าเกษตรทุกตัว ขยับขึ้นเรื่อย ๆ อย่างยางพาราวันนี้ขอบคุณ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีครับ ขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ ๓๑ บาท Up แล้ว ชาวบึงกาฬว่า ๓ กิโลกรัม ๑๐๐ บาท ฟ้อนครับ ท่านประธาน ดังนั้นข้าววันนี้ขยับเริ่มต้นดีเหลืออื่น ๆ ถ้าภาคเกษตรทุกตัวขยับ อะไรจะขยับ ต่อครับ ร้านค้าขายเครื่องอุปโภคบริโภค การเกษตรต่าง ๆ ก่อสร้างวัสดุเป็นวัฏจักร ไปด้วยกันหมด ในอดีตยางพาราราคาแพง ท่านประธานครับ ไปซื้อของได้จองคิวครับ แต่วันนี้พอราคาเกษตรตกต่ำ ร้านค้าต่าง ๆ เงียบเหงาไปหมด ฉะนั้นวันนี้ผมเชื่อมั่นว่า หากหนี้สินทุกครัวเรือนจะหมดไปต้องแก้ปัญหาภาคเกษตร และจะหมุนไปครบทุกวงจร ดังที่ผมกราบเรียน ค่าครองชีพสูงวันนี้ทำไมถึงสูงเพราะช่วงที่ผ่านมาก็ว่ารัสเซียกับยูเครนรบกัน ยกตัวอย่างปุ๋ย กระสอบละ ๑,๐๐๐ กว่าบาท แต่วันนี้ราคาลงมาแล้วพอสมควร ถ้าปุ๋ยราคาถูก สินค้าเกษตรราคาแพง หนี้สินหมดแน่ครับท่านประธานไม่ต้องห่วง แต่ยังโชคดี ไม่ได้ชมรัฐบาล ไม่ได้ชมนายกรัฐมนตรี ถ้าโครงการบัตรดิจิทัล ๑๐,๐๐๐ บาทออกไปนี่ ประชาชนบอกว่าเอามากระตุ้นเสียหน่อย ก็ฝากรัฐบาล ฝากท่านนายกรัฐมนตรีครับ เขารอกระตุ้นเศรษฐกิจ ๑๐,๐๐๐ บาท สำหรับคนจนนี่มีความสำคัญ แต่คนรวยไม่ต้องเอา ก็ไม่เป็นไรครับ ขอบคุณ เพราะคนไทยทุกคนอายุ ๑๖ ปีขึ้นไป มีสิทธิรับตรงนี้ ท่านไม่รับก็ได้ อันนี้ก็ฝากท่านนายกรัฐมนตรี เอาเลยครับ ชาวบ้านเห็นพ้องแล้วว่าเอามากระตุ้นหน่อยเถอะ เงินดิจิทัล ๑๐,๐๐๐ บาท นะครับ

นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ

อันที่ ๒ วันนี้เศรษฐกิจแย่ กำลังจะเริ่มดี พักหนี้ครับ ดีมากพักหนี้ ๓ ปี แต่ไม่ดีเท่าไรพักน้อยไปหน่อย ชาวบ้านบอกว่าท่าน สส. ๓๐๐,๐๐๐ บาทนี่มันน้อยไป ขยับหน่อยเป็น ๕๐๐,๐๐๐ บาทได้ไหม ก็ฝากไปถึงท่านนายกรัฐมนตรี ท่านเศรษฐา ทวีสิน และกองทุนหมู่บ้านก็บอกว่าฉันก็เป็นหนี้เหมือนกัน ก็อยากจะพักบ้าง อันนี้ก็แล้วแต่ ท่านรัฐบาลครับ ถ้าเป็นไปได้พักหมดทุกหนี้นะครับ ทั้งกองทุนหมู่บ้าน ทั้งหนี้ต่าง ๆ ที่มีอยู่ อย่างวันนี้ชาวบ้านเรียกร้องว่า ท่าน สส. ๓๐๐,๐๐๐ บาทมันต่ำเกิน เอาสัก ๕๐๐,๐๐๐ บาทได้ไหม ก็อย่างที่ผมเรียนครับว่า แล้วแต่รัฐบาลจะเมตตาครับ แล้วแต่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี จะกรุณา ๑. พักหนี้ปั๊บสินค้าภาคเกษตรเป็นราคารับรองไม่มีหนี้ โดยเฉพาะวันนี้น้ำ ก็เป็นปัจจัยหลัก El Nino กำลังจะมา เตรียมป้องกันมีน้ำ ภาคเกษตรราคาดี หน้าแล้ง มีน้ำทำไร่ทำนาปรัง หรือพืชต่าง ๆ ได้รดน้ำ ต้นไม้ก็จะสวยงาม ก็ฝากควบคู่ครับ ต่างต้องการแก้ปัญหาหนี้สินก็ต้องมีน้ำครับ อย่างฝายแกนดินซีเมนต์นี่เห็นด้วยครับ เป็นการกระตุ้นระยะสั้นสร้างให้พี่น้องได้เตรียมรับ El Nino ส่วนประตูน้ำปิดเปิดทั่วประเทศ ที่มีห้วย หนอง มีลำห้วยก็ว่ากันไปตามพื้นที่ สส. ทุกท่านที่มีความจำเป็นเร่งด่วนก็ฝาก ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฝากท่านนายกรัฐมนตรี ท่านเศรษฐา ทวีสิน ด้วยว่า วันนี้หากจะแก้ปัญหาของพี่น้องคนในชาติ แก้ปัญหาการเกษตรก่อน เพราะ ๔๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ เป็นคนภาคเกษตรครับ หากภาคเกษตรเป็นราคา ทุกอย่างจะไปได้หมด ร้านค้าร้านขาย เสื้อผ้าอาภรณ์ แม้แต่ของสวย ๆ ผู้หญิงจะได้ซื้อลิปสติกมาทาแต่ง ไปได้หมดฉะนั้นวันนี้ เห็นด้วยกับญัตตินี้ในการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนสูง ค่าครองชีพสูง ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ เชิญท่านองค์การ ชัยบุตร ครับ

นายองค์การ ชัยบุตร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานครับ กระผม องค์การ ชัยบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกล ต้องขอขอบคุณเจ้าของญัตติทั้ง ๔ ท่านที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของหนี้สินในครอบครัว ผมอยากจะเท้าความไปถึงสมัยที่แล้วรัฐบาลท่านประยุทธ์เข้ามา และ สส. ก็เข้ามา ก็มาเจอ วิกฤติโควิด ปัญหาก็ประเดประดังเข้ามา ปัญหาต่าง ๆ ประกอบกับเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่กำลัง ถดถอย ปัญหาหนี้สินภายในก็รุมเร้าเข้ามา ตัวผมเองก็อยู่ในคณะกรรมาธิการหนี้สินสมัยนั้น ก็ได้เจอปัญหาหลายอย่าง หนี้จาก กยศ. หนี้สินจากภาคเกษตร หนี้สินจากคนรุ่นใหม่ New Normal หนี้จากบัตรเครดิตต่าง ๆ ประเดประดังเข้ามาท่านประธาน ตัวเลข ก็ทวีคูณขึ้นดังที่หลาย ๆ ท่านได้กล่าวมาแล้ว ผมอยากจะกล่าวต่อไปว่าถ้ากระบวนการ และโครงสร้างมันชัดเจนในเรื่องปรับโครงสร้างต่าง ๆ โดยรัฐก็แล้วแต่ โดยผู้มีอำนาจ ก็แล้วแต่ กระบวนการจัดการหนี้ที่เป็นระบบผมว่าประเทศไทยสามารถทำได้โดยรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นหนี้ กยศ. เมื่อวานนี้ กยศ. เข้าคณะกรรมาธิการ ท่านประธานทราบไหมว่า คนที่ยืม กยศ. ตั้งแต่สมัยแรกเริ่มปี ๒๕๒๙ เดี๋ยวนี้ กยศ. พวกนั้นยังไม่หมดนะครับ รุ่นแรก ที่กู้ยืมอายุก็ปาเข้าไป ๔๔-๔๕ ปี แล้วปรับ Rate ใหม่ตาม พ.ร.บ. กยศ. ใหม่ กลุ่มคนเหล่านี้ จะมีหนี้สินอยู่จนถึงอายุ ๖๕ ปีถึงจะหมดหนี้ เฉพาะ กยศ. ยังไม่รวมหนี้อื่น แล้วหนี้ตัวต่อมา ก็คือคนรุ่นใหม่อายุประมาณ ๓๐-๓๕ ปีที่กู้ กยศ. มาแล้ว เริ่มมีบ้าน มีรถ มีอะไร กู้เพิ่ม เขาเรียกว่าเป็นหนี้เร็ว หนี้สูง แล้วหนี้นาน ปัญหาค่าใช้จ่ายในการศึกษาของบุตรและธิดา หรือค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพในครอบครัวก็เพิ่มมากขึ้น เพราะว่า ๑. วัตถุต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ปัจจัยต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นแต่รายได้ที่ท่านได้กล่าวมาแล้วไม่เพิ่มขึ้น ไม่กระเตื้องขึ้นเลย อย่างราคาสินค้าต่าง ๆ ของเกษตรกรไม่เคยขึ้นเลย ๔ ปีที่แล้วอย่างไรก็อย่างนั้นยังดีหน่อย ที่เห็นราคามัน ราคายางเริ่มกระเตื้องอย่างที่หลาย ๆ ท่านได้กล่าวมา ผมเองก็เป็นห่วง ในส่วนหนี้สินเกษตรกรส่วนหนึ่งที่หมักหมมมานาน ทุกคนไม่น้อยกว่า ๑ สัญญา ตั้งแต่คนรุ่นใหม่ถึงคนรุ่นเก่า คนรุ่นเก่าปาเข้าไปอย่างผมไม่ต่ำกว่า ๓ สัญญา พูดตรงไปตรงมาผมก็มีหนี้ เพราะมีภาระ คนรุ่นใหม่เขาก็มีอย่างน้อย ๑ สัญญา หนี้บัตรเครดิตคือตัวปัญหาหนึ่งที่ฉุดรั้งคนรุ่นใหม่ ท่านอาจจะมีค่าตอบแทนต่อเดือน ๒๐,๐๐๐-๓๐,๐๐๐ บาท หรือ ๔๐,๐๐๐ บาท แต่หนี้ตัวใหม่ที่ก่อเข้ามาที่เรายังไม่เข้า ในสารบบคือหนี้การพนัน Online หนี้ตัวนี้เป็นโดยไม่รู้ตัว ๑. เป็นจากคนในสำนักงานชวน หรือชักชวนไปลงเล่นลองดูเพราะมันได้กลับมาเร็ว ทำไปทำมาติดโงหัวไม่ขึ้น มีคนข้าง ๆ บ้านผมทำงานอยู่กรุงเทพฯ เงินเดือนเกือบ ๔๐,๐๐๐ บาท เคยเป็นลูกที่ดีของครอบครัว ณ วันนี้เป็นหนี้การพนัน Online ประมาณ ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท เขาหักหมดไม่เหลือเลย เดือดร้อนถึงพ่อแม่ที่อยู่บ้านนอก จากที่เคยส่งให้พ่อให้แม่เดือนละ ๑๐,๐๐๐ กว่าบาทเดี๋ยวนี้ ไม่เหลือ นี่คืออีกสาเหตุหนึ่งที่รุมเร้าเข้ามาทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ ที่มีการศึกษาและไม่มี การศึกษา จะว่าเขาไม่มีกระบวนการ หรือการจัดสรรลำดับเรื่องหนี้ วินัยทางการเงินไม่ดี ผมก็ไม่รู้ ไม่แน่ใจเพราะว่าเขาอาจจะมีการศึกษาดีกว่าผมด้วยซ้ำไป ฉะนั้นแล้วญัตตินี้ ถ้ารัฐบาลคิดจะทำจริง ๆ อย่าว่าแต่พักหนี้เลย พักหนี้ยังมีปัญหาไส้ในเลย ผมเองไม่ต้องพูด รัฐบาลก็รู้อยู่ ทำโครงสร้างทำกฎหมายให้มันเป็นธรรม การจัดการหนี้ก็มีระบบ มันมี Rate อยู่ มันมีอะไรที่ต้องทำอยู่ แต่รัฐบาลจะกล้าหยิบมาแค่นั้นละ ถ้าทำไม่ได้ เอานโยบายรัฐสวัสดิการ ของก้าวไกลไปทำ ด้วยรัฐสวัสดิการเอาเงินให้เขาไปเป็นเดือน ๆ ไป พอได้มีอยู่มีกิน อย่าให้เขาไปกู้เพิ่ม นโยบายนี้เป็นสิ่งสำคัญถ้ารัฐบาลเอาของเราไปเรายินดีที่จะให้ นี่คือความจำเป็น ผมอยู่ในคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติสมัยที่ ๒ แล้ว โดยเฉพาะคณะกรรมาธิการนี้ไม่มีใครอยากไปเป็น หลายคนไม่เอา เพราะว่ามันแก้ปัญหาใหญ่ ของประเทศ รัฐบาลเพิ่งมีมติเมื่อวานว่าความเหลื่อมล้ำความยากจนเข้ามากว้างมาก ไม่รู้จะเอา ขอบเขตตรงไหนมาวิเคราะห์แล้วก็ญัตติที่เรากำลังคุยกันอยู่นี่ อภิปรายอยู่นี่เที่ยวที่แล้ว ก็ตั้งอนุกรรมาธิการศึกษา รัฐบาลเที่ยวที่แล้วผมก็ตั้งอนุกรรมาธิการศึกษาก็เข้าสภา รัฐบาลก็ว่า จะส่งให้ ครม. ดำเนินการต่อ ก็ไม่รู้ว่า ไม่เห็นหน้าเห็นหลังไปถึงไหน อย่างไร ไม่เห็นเป็นรูปธรรม พูดอย่างนั้น ข้อมูลเก่ายังมีท่านประธาน แต่ข้อมูลใหม่มาก็เพิ่มกันไม่มากเท่าไร เพราะว่า มันเพิ่งปี ๒๕๖๕-๒๕๖๖ ผ่านมาไม่กี่เดือน ฉะนั้นแล้วญัตตินี้สำคัญมากทั้งฝ่ายรัฐบาล ทั้งฝ่ายค้าน ถ้าเห็นร่วมกันท่านจะตั้งหรือไม่ตั้งผมก็ไม่มีปัญหาเพราะว่าผมอยู่ในคณะกรรมาธิการแก้ไข ปัญหาหนี้สินแห่งชาติก็เริ่มเข้ามาเพราะว่าหนี้ข้าราชการ หนี้ต่าง ๆ เริ่มเข้ามาหาพวก คณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติแล้วครับท่านประธาน ขอบคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ขอบคุณเชิญท่านธีระชัย แสนแก้ว ครับ

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายธีระชัย แสนแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ผมใคร่ขออนุญาตท่านประธานเพื่อที่จะอภิปรายเกี่ยวกับเรื่องหนี้ จริง ๆ ไม่อยากได้ยินเลย คำว่า หนี้ เพราะว่ามันอดที่จะเป็นความทุกข์ในใจของตัวเองไม่ได้ ก็มีความจำเป็นที่จะพูด เรื่องหนี้ เพราะว่าเพื่อนสมาชิกได้กรุณายื่นญัตติ ๓-๔ ท่านก็ได้พูดเรื่องหนี้ไปแล้ว ท่านประธานที่เคารพครับ ปฏิเสธไม่ได้ว่ายุคเศรษฐกิจถดถอยเช่นนี้ ยุคข้าวยากหมากแพง ซึ่งมันแพงมายาวนานติดต่อกัน ๑๐ ปีแล้ว พี่น้องประชาชนมีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย หรือพูดอีกอย่างหนึ่งชักหน้าไม่ถึงหลัง ทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องก่อหนี้เพื่อชดเชย ส่วนที่ขาดหายไป แม้กระทั่งพวกเราเองก็แล้วแต่ ก็ยกตัวอย่างผมนี่ละ และเพื่อนสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรก็เป็นหนี้เช่นเดียวกัน ถ้าไม่เชื่อก็ไปดูรายงาน ป.ป.ช. ก็ได้นะครับ การเป็นหนี้ ของประเทศนี้มันเป็นหนี้ตั้งแต่หัวยันท้ายเลย ประเทศไทยยังเป็นหนี้สิบ ๆ ล้านเลย เพราะฉะนั้นอย่าไปตกอกตกใจเลย เพราะจะต้องมีคนแก้หนี้ให้อยู่แล้ว มีคนสร้างหนี้ก็ต้องมี คนแก้หนี้เราก็แก้กันไป ปัจจุบันนี้ผมอยากจะขอกราบเรียนกับท่านประธานว่าจากการคิด ตัวเลข ๘๐๐,๐๐๐ บัญชี ครึ่งหนึ่ง ๔๐๐,๐๐๐ บัญชี มันเป็น Gen เกิดมาเป็น Gen ตั้งแต่ Gen Y Gen X Gen Z เป็นหนี้หมด พอดูตัวเลขตกใจเลย จากข้อมูลบริษัทเครดิต แห่งชาติหรือ Credit Bureau Gen Y มีหนี้รวมถึง ๔,๐๐๐,๐๐๐ ล้านบาท เป็นหนี้เสีย NPL ถึง ๒๗๐,๐๐๐ ล้านบาท รองลงมาก็คือกลุ่ม Gen X มีหนี้ ๓.๗ ล้านล้านบาท โดยมีหนี้เสียอยู่ ๒๘๐,๐๐๐ ล้านบาท ขณะนี้ Baby Boomer มีหนี้ คงค้าง ๑.๒ ล้านล้านบาท NPL อีก ๘๔,๐๐๐ ล้านบาท Gen Z มีหนี้อีกเยอะแยะไปหมดครับ ผมอยากจะขอกราบเรียนกับท่านประธานว่ารายได้ไม่พอกับรายจ่ายเกิดจากความเปราะบาง ยังหลงเหลืออยู่ในวิกฤตโควิดที่ผ่านมา แม้พวกเราผู้บริโภคส่วนใหญ่จะมีมุมมองต่อความฟื้น จะดีขึ้นในระยะข้างหน้าตามการฟื้นของเศรษฐกิจ แต่ข้อเท็จจริงพบว่าการฟื้นของรายได้ เป็นไปอย่างช้า ๆ ยังไม่สามารถกลับไปเท่าเดิมได้ เพราะวิกฤติเศรษฐกิจในระยะเวลา อันใกล้นี้กล่าวอย่างง่าย ๆ ว่าที่เราคาดหวังว่าจะกลับมาเหมือนเดิมก่อนวิกฤติโควิด มันก็ไม่ง่ายครับ แล้วยังต้องเผชิญกับรายจ่ายที่ต้องเพิ่มขึ้นทำให้ปัญหารายได้โตไม่ทัน กับรายจ่าย ปัญหาการออมก็ยังอยู่ในท่ามกลางระบบเงินเฟ้อสูง และดอกเบี้ยก็สูง ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ แต่ดอกเบี้ยเงินกู้สูงครับ โดยเฉพาะกลุ่มพี่น้องประชาชนมีรายได้น้อย ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มลดลงไปอย่างช้า ๆ หนี้ครัวเรือนและหนี้นอกระบบ เป็นความเสี่ยงสำคัญของครัวเรือนไทย โดยพบว่าก่อนวิกฤติโควิดพี่น้องประชาชนเป็นหนี้ มากถึงร้อยละ ๖๓ และยังเป็นหนี้นอกระบบอีกร้อยละ ๓๑ สัดส่วนนี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น แต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจกลุ่มหนี้นอกระบบยังมีแนวโน้มที่จะกู้เพิ่มมากขึ้น ท่านประธานครับ แล้วยังพบว่าลูกหนี้จำนวนมากในระบบมีแนวโน้มจะเข้าสู่วงจรนอกระบบมากขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่าวัตถุประสงค์ในการกู้เงินตั้งแต่วิกฤติโควิดส่วนใหญ่เป็นเงินเพื่อใช้จ่ายค่าอาหาร เรื่องนี้กู้มาก็เป็นค่าอาหาร ไม่มีรายได้มา กู้มาก็ค่าอาหาร ไม่มีรายได้ที่จะเสริมขึ้นมา ลูกหนี้กลุ่มนี้ระยะเวลาอีก ๖ เดือนข้างหน้ามีแนวโน้มที่จะกู้เพิ่ม กู้ไปทำอะไรครับ กู้มาใช้หนี้ ก้อนเดิม ที่เรากู้มาซื้อของอุปโภคบริโภค ก็คือเขามีนี้ก้อนหนึ่งแล้ว พอถึงกำหนดชำระ ไม่มีเงินมาชำระ จึงต้องหันไปกู้เงินอีกก้อนหนึ่งมาปิดบัญชีเดิม มันวนเวียนอย่างนี้ มันเป็นวัฏจักร ถ้ากู้ธนาคารไม่ได้ ก็ต้องกู้นอกระบบเอามาใช้หนี้อันเก่า และอันใหม่ก็ไปเรื่อย ๆ หนี้ครัวเรือนจึงมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นครับ ท่านประธานครับ เกี่ยวกับเรื่องทักษะ และความสามารถทางการเงินกับการเป็นหนี้ครัวเรือน ทาง SCB EIC ได้วิเคราะห์ถึงทักษะ และความสามารถทางการเงินมีองค์ประกอบ ๑. ความรู้ทางการเงิน พฤติกรรมทางการเงิน และทัศนคติทางการเงิน เรื่องนี้พบว่าลูกหนี้ส่วนใหญ่มีคะแนนทัศนคติไม่ค่อยดีมากนัก โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นหนี้นอกระบบแม้ส่วนมากจะมีความรู้ทางการเงินที่ดี แต่ลูกหนี้กลุ่มนี้ อาจจะมีความจำเป็นฉุกเฉินเฉพาะหน้า เช่นเจ็บป่วยฉุกเฉินเข้าโรงพยาบาลกู้หนี้ยืมสิน แม้กระทั่งกู้นอกระบบดอกเบี้ยร้อยละ ๒๐ ต่อเดือน เล่นการพนันโน่นนี่นั่นอะไรต่าง ๆ เยอะแยะไปหมดก็แล้วแต่ เรื่องหนี้มันพูดได้เยอะทั้งวันทั้งคืนก็ได้ เพื่อรักษาชีวิต และคนในครอบครัว เรื่องอย่างนี้ก็ต้องเอาตัวรอดในภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือน ภาครัฐมีความจำเป็นต้องช่วยเหลือทางด้านนโยบายและความรู้ทักษะทางด้านการเงิน อย่างทุกมิติ โดยเฉพาะทัศนคติการเงินสร้างความเข้าใจและปัญหาเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ เพื่อให้พี่น้องประชาชนหยุดจากวงจรนอกระบบอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจาก พี่น้องประชาชนมีจำนวนมากที่ยังพึ่งพิงหนี้นอกระบบครับ พึ่งพิงนายทุน ภาคธุรกิจ ก็มีความจำเป็น ต้องติดตามกฎ ระเบียบนโยบายแก้หนี้ครัวเรือนและภาครัฐอย่างใกล้ชิด เนื่องจากภาครัฐโดยเฉพาะรัฐบาลชุดนี้นำโดยท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน มีนโยบาย ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างจริงจังมากขึ้นกว่ารัฐบาลชุดก่อน ๆ อีกทั้งภาคธุรกิจ ควรเตรียมความพร้อมไว้ตลอดเวลา หากเกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนมีความรุนแรงมากขึ้น ภาคครัวเรือนต้องผ่อนชำระหนี้ให้มากกว่ารายจ่ายขั้นต่ำนะครับ ปลูกฝังวินัยการออมเพื่อรองรับวิกฤติเกิดขึ้นและควรเพิ่มปรับทักษะให้สอดคล้อง กับหลังวิกฤติโควิดเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางกระแสรายได้ ถึงแม้ว่าสถานการณ์เกี่ยวกับ หนี้สินครัวเรือน ปัญหาหนี้นอกระบบ และปัญหาค่าครองชีพจะเกิดขึ้นกับสังคมไทย และพี่น้องประชาชนอย่างยาวนานก็ตาม หลายยุคหลายสมัยทำให้เกิดปัญหาความยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาความยากเย็นแสนเข็ญกับพี่น้องประชาชน และยังทำให้ ประเทศไทยเราขาดความพร้อมในการที่จะเติบโตอย่างเต็มศักยภาพแต่ภายใต้การบริหาร แผ่นดินและการทำงานไม่รู้จักเหน็ดไม่รู้จักเหนื่อยของรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาลมีนายกรัฐมนตรี ท่านเศรษฐา ทวีสิน เป็นรัฐบาลของประชาชน และเพื่อประชาชน ภายหลังจากการแถลงนโยบายชุดนี้เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายนที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ใช้ระยะเวลา ๑ เดือน ๑ สัปดาห์เท่านั้น รัฐบาลชุดนี้ก็มีผลงานในการแก้ไขปัญหา หนี้ครัวเรือน ปัญหาค่าครองชีพ เริ่มต้นสามารถจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่นลดราคาน้ำมัน ลดราคาแก๊สหุงต้ม ลดค่าไฟ ลดค่ารถไฟฟ้า ๒๐ บาทตลอดสายครับ แล้วยังมีนโยบายดี ๆ และกำลังจะคลอดออกมาเพื่อดูแลแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนอีกมากมายหลายนโยบาย กระผมขอให้พี่น้องประชาชนจงเชื่อมั่นรัฐบาล มีนโยบายสำคัญในการแก้ปัญหาปากท้อง ของพี่น้องประชาชนอย่างเอาจริงเอาจัง ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เราจะแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน สร้างความพร้อม วางรากฐาน สร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับพี่น้องประชาชนตั้งแต่วันนี้ จนถึงอนาคต รวมทั้งพวกเราฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งกำลังจะต้องเร่งออกกฎหมายที่ทันสมัย และปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัย ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชน ผมขอขอบพระคุณท่านประธานที่ให้โอกาสผม ผมขอให้พี่น้องประชาชนจงเชื่อมั่นรัฐบาล และสภาผู้แทนราษฎรของเราต้องอยู่ให้ครบ ๔ ปี และจะอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ ในสภา ชุดของเรานี้ ใช้ความมุ่งมั่นตั้งใจและทุ่มเทสรรพกำลังด้วยการพัฒนาช่วยกันทั้งฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล และสังคมตลอดจนคุณภาพชีวิตให้พี่น้องประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี และมีรายได้เพิ่มขึ้น ขอขอบพระคุณครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ เรียนเชิญท่านรัชนก สุขประเสริฐ ครับ

นางสาวรัชนก สุขประเสริฐ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

กราบเรียนประธานสภา ดิฉัน นางสาวรัชนก สุขประเสริฐ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ เขต ๒ พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันขอร่วมอภิปรายสนับสนุนญัตติพิจารณาการศึกษาการแก้ไขปัญหา หนี้สินครัวเรือนค่ะ ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศมีหนี้สิน ทั้งในระบบและนอกระบบกันเป็นจำนวนมาก สาเหตุของการเป็นหนี้มาจากหลายปัจจัย ยกตัวอย่างเช่น ค่าครองชีพ ค่าเล่าเรียนบุตร เป็นต้น เมื่อรายได้ไม่พอกับรายจ่ายก็จำเป็น ที่จะต้องกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ดิฉันเข้าใจและรับรู้ถึงความรู้สึก ของคนเป็นหนี้ดีค่ะท่านประธาน เพราะดิฉันก็เติบโตมาท่ามกลางความยากจน มารดา เป็นหนี้เช่นเดียวกัน คนเป็นหนี้มันเครียด มันท้อ และมันก็เหนื่อยมากค่ะ ยิ่งบ้านไหน มีลูกด้วยแล้วยิ่งเป็นปัญหาใหญ่เลยค่ะ เพราะบางบ้านคนเป็นพ่อเป็นแม่วันนี้ลืมตาตื่นขึ้นมา ยังไม่รู้เลยว่าจะเอาเงินจากตรงไหนให้ลูกไปโรงเรียน แต่เจ้าหนี้มายืนรอที่หน้าบ้านแล้วค่ะ วันนี้คนเป็นพ่อเป็นแม่ทุกคนอยากให้ลูกได้มีอนาคตดี ๆ บางครั้งอยากจะซื้อชุดนักเรียนใหม่ ๆ ให้ลูกสักชุดหนึ่ง ยังคิดแล้วคิดอีกเลยค่ะ เพราะว่ามีหนี้สินภาระรายจ่ายรออยู่ ครอบครัว เขามีทางเลือกไม่มากนัก บางคนก็มีโอกาสได้ใช้หนี้ในระบบ การกู้ยืมหนี้ในระบบ ก็จะแตกต่างจากหนี้นอกระบบ หลายครอบครัวไม่มีทางเลือก ต้องเลือกการกู้หนี้นอกระบบ การกู้หนี้นอกระบบปัญหาที่ตามมาคือดอกเบี้ยมหาโหด แล้วปัจจุบันการกู้หนี้นอกระบบ ขยายตัวเป็นที่กว้างขวางมากค่ะท่านประธาน มีการเข้าถึงได้อย่างแพร่หลายและง่ายดายมาก อย่างเช่นหน้าบ้านดิฉันมีนามบัตรของเงินกู้นอกระบบโปรยแทบทุกวัน ขนาดมี รปภ. ชัดเจน ก็ยังมีการแอบแฝงเข้าไปโปรยได้ทุกที่ค่ะ เมื่อการเป็นหนี้มันเป็นความทุกข์ของแต่ละครอบครัว ก็เลยส่งผลทำให้กระทบต่อภาคส่วนอื่น ๆ เช่น การมีบุตรน้อยลง เพราะว่าลำพังตัวเอง ยังเอาตัวไม่รอดเลยค่ะ ถ้ามีบุตรด้วยอีกก็จะเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายแล้วยิ่งเป็นการเพิ่ม หนี้สินด้วยค่ะ

นางสาวรัชนก สุขประเสริฐ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

การแก้ไขปัญหาหนี้สินดิฉันจึงเห็นว่าเราควรต้องเร่งศึกษาข้อมูล และรีบพิจารณาการแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างเร่งด่วนค่ะท่านประธาน เพราะว่าปัญหา ของหนี้สินนี้ส่งผลกระทบต่อประเทศชาติและส่งผลกระทบต่อหลาย ๆ ครอบครัว จากข่าว เราจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมามีการฆ่าตัวตายจากหนี้สินแล้วก็มากกว่าการฆ่าตัวตายก็คือ การฆ่าบุตร หรือการฆ่ายกครัวไปด้วย เพื่อไม่ให้เป็นภาระของคนข้างหลัง ดิฉันจึงขอให้ ท่านประธานและเพื่อนสมาชิกทุกท่านร่วมกันสนับสนุนญัตตินี้เพื่อลดปัญหาการตายของ เพื่อนร่วมประเทศด้วยกัน อย่าให้มีใครต้องฆ่าตัวตายเพราะเรื่องปัญหาหนี้สินอีกเลย ปัญหานี้ดิฉันเชื่อว่ารัฐบาลจะเร่งดำเนินการและสามารถช่วยกันแก้ไขปัญหานี้ได้ อย่างแน่นอน ดิฉันขอฝากความหวังแล้วก็ฝากปัญหานี้ให้กับพวกเราสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรช่วยกันเร่งรัดแล้วก็เร่งแก้ไขให้กับพี่น้องประชาชนด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านพิมพกาญจน์ พลสมัคร ครับ

นางพิมพกาญจน์ พลสมัคร อุบลราชธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉันพิมพกาญจน์ พลสมัคร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี เขต ๓ พรรคเพื่อไทยรวมพลัง วันนี้ดิฉันขอร่วมอภิปรายสนับสนุนในญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน ขอบคุณทั้ง ๔ ท่าน ที่ยื่นญัตติที่มองเห็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ท่านประธานคะด้วยความห่วงใย พี่น้องประชาชนจริง ๆ ค่ะ เพราะปัญหาหนี้สินครัวเรือนถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ในระดับต้น ๆ ของประเทศไทยในขณะนี้ค่ะ จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลเครดิตบูโร กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าคนเป็นหนี้สูงถึงร้อยละ ๓๗ หรือ ๑ ใน ๓ ของประชากรของประเทศไทยทั้งหมด โดยจากปี ๒๕๖๐ ถึง พ.ศ. ๒๕๖๕ สัดส่วนคนไทยที่มีหนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก ๓๐ เปอร์เซ็นต์ใน พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็น ๓๗ เปอร์เซ็นต์ ใน พ.ศ. ๒๕๖๕ กล่าวได้ว่าใน ๕ ปีที่ผ่านมา ภาระหนี้สินของคนไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลุ่มมียอดหนี้สูงเกิน ๑ ล้านบาทมีถึงร้อยละ ๑๔ กลุ่มมียอดนี้ระหว่าง ๑๐๐,๐๐๐ บาท ถึง ๑ ล้านบาท ร้อยละ ๔๓ กลุ่มมียอดหนี้ ระหว่าง ๑๐,๐๐๐-๑๐๐,๐๐๐ บาท ร้อยละ ๓๓ และส่วนที่เหลือที่น้อยกว่าคือร้อยละ ๑๐ โดยส่วนมากคนหนึ่งมีหนี้มากกว่า ๑ บัญชีขึ้นไปค่ะท่านประธาน คนที่มีหนี้ ๑ บัญชี คิดเป็นอัตราร้อยละ ๓๕ ของคนที่เป็นหนี้ทั้งหมด คนที่มีหนี้ ๒ บัญชีคิดเป็นร้อยละ ๒๐ คนทีมีหนี้ ๓ บัญชี คิดเป็นร้อยละ ๑๓ และคนมีหนี้ ๔ บัญชีคิดเป็นร้อยละ ๓๒ ประเภท ที่เป็นหนี้ หนี้ของคนไทยอาจแบ่งได้ ๒ ประเภทค่ะท่านประธาน

นางพิมพกาญจน์ พลสมัคร อุบลราชธานี ต้นฉบับ

ประเภทที่ ๑ ก็คือหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ ไม่ก่อเกิดรายได้ แล้วก็เป็นหนี้ ที่สร้างรายได้ หนี้ที่ไม่สร้างรายได้ก็คือหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนมากเป็นหนี้ของคน ที่มีรายได้น้อย และรายได้ไม่เพียงพอต่อการจับจ่ายใช้สอย และการอุปโภคบริโภค หนี้ชนิดนี้ มีมากถึง ๒ ใน ๓ ของบัญชีหนี้ครัวเรือนไทยทั้งหมด ส่วนมากอยู่ในรูปแบบของสินเชื่อ ส่วนบุคคลแล้วก็บัตรเครดิต

นางพิมพกาญจน์ พลสมัคร อุบลราชธานี ต้นฉบับ

ประเภทที่ ๒ ก็คือหนี้ที่สร้างรายได้คือเพื่อการอาชีพ เพื่อการศึกษา หนี้บ้าน หรือหนี้เครื่องมือเพื่อประกอบอาชีพ เป็นที่น่าสังเกต หนี้ธุรกิจ หนี้บ้านรวมเป็นอัตราร้อยละ ๘ ของหนี้ทั้งหมดเท่านั้นนะคะ หากมองในแง่นี้ปัญหาเร่งด่วนน่าจะเป็นการแก้ปัญหา แก้ปัญหานี้ของคนที่มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นหนี้ที่ไม่ได้สร้างรายได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตามหนี้ ที่สร้างรายได้ก็ควรจะมีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังต่อเนื่อง เพราะหนี้ทั้ง ๒ ประเภท โดยรวมแล้วมีแนวโน้มที่จะเพิ่มรุนแรงขึ้นในอนาคตซึ่งเป็นความเดือดร้อน ของพี่น้อง ซึ่งเป็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนชาวไทย การเป็นหนี้สัดส่วนสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ประมาณ ๓๙ เปอร์เซ็นต์ บัตรเครดิต ๒๙ เปอร์เซ็นต์ มอเตอร์ไซค์ ๒ เปอร์เซ็นต์ รถยนต์ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ บ้าน ๔ เปอร์เซ็นต์ ธุรกิจ ๔ เปอร์เซ็นต์ การเกษตร ๑๒ เปอร์เซ็นต์ ข้อเสนอนะคะท่านประธาน เนื่องจากหนี้ครัวเรือนไทย เพิ่มมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น นอกจากนี้หนี้ของคนไทยก็มีหลายประเภท แต่ละประเภทมีลักษณะที่ต่างกัน ดังนั้นเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนจึงต้อง มองเป็นเรื่องด่วนควรมีการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ครอบคลุม ต่อเนื่อง และยั่งยืน ประเด็นหลัง ยั่งยืนก็หมายความว่าควรให้คนไทยหลุดจากวงจรหนี้ และไม่กลับมาเป็นหนี้อีก โดยเฉพาะหนี้ที่ไม่ได้สร้างรายได้ ดังนั้นการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อพิจารณา แก้ไขเรื่องนี้เป็นการเฉพาะจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น และดิฉันเห็นด้วยค่ะท่านประธาน กราบขอบพระคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านสุเทพ อู่อ้น

นายสุเทพ อู่อ้น แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสุเทพ อู่อ้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เครือข่ายแรงงาน ต้องขอขอบคุณผู้นำเสนอญัตติทั้ง ๔ ท่าน เป็นอย่างยิ่งที่มองเห็นปัญหาของ การมีหนี้ของพี่น้องประชาชน การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เรา เคยท่องกันมาโดยตลอด และอย่างไรในชีวิต ในครัวเรือนมีแต่หนี้เพิ่มขึ้น ดังนั้นเอง ผมในฐานะคนใช้แรงงาน อยากจะร่วมอภิปรายและนำเสนอ จะเห็นได้ชัดเจนว่า หลายท่านพูดถึงหนี้สินของชาวเกษตรที่เกิดขึ้น

นายสุเทพ อู่อ้น แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

๑. การเกิดหนี้สินของเกษตรและเกิดมายาวนาน ดังนั้นทางที่จะแก้ไขให้กับพี่ น้องเกษตรกร ถามว่าวันนี้ที่ดินเป็นของใคร คนส่วนใหญ่เราต้องกระจายที่ดินให้กับ พี่น้องประชาชน นั่นก็คือสิ่งที่จะเป็นจุดเริ่มต้น

นายสุเทพ อู่อ้น แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

๒. การที่จะต้องมีเงินสนับสนุนในการที่จะสร้างอาชีพให้กับเกษตรกร และมีตลาดรองรับ จะเห็นได้ชัดเจนว่าขณะนี้มีชาวเกษตรกรที่อายุมากกว่า ๗๐ ปี ยังมีหนี้สิน ดังนั้นควรที่จะนำเสนอพิจารณาในการที่จะลดหนี้ลง นั่นหมายความว่า มีหนี้สินเดิมอยู่แล้ว ก็ลดลงถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าหนี้ที่มีอยู่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ลดให้เหลือ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ให้กับผู้สูงอายุ ๗๐ ปีขึ้นไป เพื่อเขาเหล่านั้นจะได้มีโอกาสใช้หนี้ และได้ใช้ชีวิตบั้นปลายในการที่จะอยู่ในประเทศไทย ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เราใช้วิธีการพักชำระหนี้ การพักชำระหนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการเพิ่มหนี้ การพักชำระหนี้ดอกเบี้ยยังมีการเดิน และเดินอย่างตลอด จึงทำให้ประชาชนต้องพบกับการที่จะกลับมาส่งและหนี้ที่เพิ่มพูนขึ้นอีก งอกขึ้นอีก นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการต่าง ๆ ของการพักชำระหนี้ และสิ่งที่สำคัญ ก็อยากจะให้มีการดำเนินการกับปัญหาเหล่านี้ที่ปลูกฝังมายาวนานให้กับพี่น้อง ซึ่งเรื่องของการแก้ไขปัญหาของทางเกษตรกรพักชำระหนี้ ถ้าใครมีที่ดินมาร่วมกับโครงการ ปลูกพืชยั่งยืน และปลูกพืชเพื่อที่จะใช้กิน ใช้อาศัย การปลูกพืชยั่งยืนมีโอกาสที่จะนำ พืชยั่งยืนมาขาย และนำมาชำระหนี้ได้ด้วยซ้ำไป

นายสุเทพ อู่อ้น แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

๓. เรื่องหลังคาบ้าน ควรที่จะนำหลังคาบ้านมาเป็นรายได้ ทำ Solar Cell เพื่อที่จะนำ Solar Cell พลังงานไฟฟ้ากลับขายให้รัฐบาล มีเรื่องของเงินกลับเข้ามา ในครอบครัว นี่คือสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น อันนี้ก็ขออนุญาตนำเสนอในส่วนของภาคเกษตร

นายสุเทพ อู่อ้น แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สิ่งที่สำคัญเรื่องของแรงงาน จะเห็นได้ว่าพอภาคเกษตรไม่มีที่ทำมาหากิน ก็ย้ายมาทำงานในเมืองหลวง ในย่านอุตสาหกรรม ก็จะพบกับปัญหาบ้านเช่า ข้าวซื้อ รถผ่อน ลูกเรียน พ่อแม่ก็ต้องเลี้ยงดู พอมาทำงานเกิดวิกฤติอะไรต่าง ๆ ภาระเรื่องของรายรับที่น้อยอยู่ หลายท่านทราบดีว่าการทำงานปัจจุบันรายได้ขั้นต่ำไม่เพียงพอกับรายจ่าย จึงเป็นภาระที่เกิดขึ้น ก็มีการกู้ยืมหนี้สินต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น OK คนที่อยู่ในระบบก็อาจจะมีการสร้างเรื่องของ การทำบัตรเครดิตต่าง ๆ เพื่อที่จะนำเงินเหล่านั้นมาหมุนเวียน มาใช้ในการซื้ออาหารกิน มาใช้ในการเดินทาง การเติมน้ำมันอะไรต่าง ๆ เพราะระบบเรื่องของการขนส่งที่ไม่สามารถ ที่จะรองรับในการเดินทางไปทำงานของพี่น้องแรงงานได้ แต่หนักกว่านั้นอีกมาดูเรื่องของ พี่น้องแรงงานนอกระบบ ซึ่งไม่มีระบบเรื่องของการที่จะมีแหล่งเงินกู้ ต้องกู้นอกระบบ อย่างน้องที่สมุทรปราการได้แจ้งให้ทราบ ก็เป็นภาระ เขาเรียกว่าดอกมหาโหด ที่เกิดขึ้นก็จะเป็น การสร้างภาระให้กับพี่น้องแรงงานนอกระบบ ไม่ว่ามอเตอร์ไซค์วิน แท็กซี่ หาบเร่ แผงลอย หรือแม้แต่ปัจจุบันงานใน Platform ต่าง ๆ ซึ่งเรื่องเหล่านี้มันต้องแก้ไขในเรื่องโครงสร้าง เรื่องของระบบต่าง ๆ ที่จะให้เขาเหล่านั้น สามารถที่จะหาแหล่งทุน เข้าหาแหล่งทุนในการกู้จากในระบบจากธนาคารได้ สิ่งเหล่านี้ เห็นพูดกันมานาน เมื่อสักครู่ท่านองค์การก็ได้พูดถึงเรื่องงานวิจัยต่าง ๆ วิเคราะห์ต่าง ๆ ท้ายที่สุดก็ไม่ได้ถูกปฏิบัติดังนั้นผมเองก็อยากเห็นการตั้งคณะกรรมการวิสามัญ หรือแม้ว่าจะ ส่งต่อไปให้คณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ ความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ แต่สำคัญว่ารัฐบาลจะจริงจังขนาดไหนกับการแก้ไขปัญหา เมื่อสักครู่ได้ฟังท่านสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎร ทางฝากรัฐบาลยืนยันนักหนาว่าจะแก้ไขปัญหาหนี้สิน ผมก็อยากเห็น เพราะสิ่งเหล่านี้มันถูกกดทับมานาน พี่น้องผม ปู่ย่าตายาย และหลาย ๆ ท่านเมื่อก่อน มีที่ของตัวเอง วันนี้ตกเป็นของนายทุนหมดแล้ว อยากได้พื้นที่เหล่านั้นกลับคืนสู่มา พี่น้อง พวกผมที่ทำงานอยู่ในโรงงาน ที่ทำงานอยู่แรงงานนอกระบบที่ว่านี้มีหนี้สินที่ไม่สามารถที่จะ ใช้ได้แล้ว อยากเห็นครับ อยากเห็นจริง ๆ คนไทยมีอยู่ มีกิน หมดหนี้หมดสิน คนไทยมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านเกษม อุประ ครับ

นายเกษม อุประ สกลนคร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม เกษม อุประ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร พรรคเพื่อไทย ขออภิปรายในญัตติ การแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนและการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพสูง โดยผมจะขอกราบเรียน ชี้แจงใน ๒ ประเด็น

นายเกษม อุประ สกลนคร ต้นฉบับ

ประเด็นแรกก็คือเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนและประเด็นที่ ๒ นั่นก็คือแก้ไขปัญหาค่าครองชีพที่สูง การเป็นหนี้ถือว่าเป็นทุกข์ การเป็นหนี้ทุกคนไม่อยากจะ เป็นหนี้ แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจ ภาวะสถานการณ์ต่าง ๆ บังคับให้เป็นหนี้ และโดยเฉพาะ อย่างยิ่งหนี้สินครัวเรือนที่สูงขึ้น เกิดจากครอบครัว เกิดจากความเหลื่อมล้ำในการบริหาร ของรัฐบาล ซึ่งผมอยากจะขอเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน เพราะว่าการที่จะ ให้ประหยัดอย่างเดียว ผมว่าไม่ใช่ทางออก เพราะปัญหาส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาหนี้สิน ที่เรามีหนี้สินมาก ๆ แล้ว นั่นก็คือต้องกล้าในการลงทุน ต้องกล้าในการตัดสินใจในการที่จะ แก้ไขปัญหา เพราะฉะนั้นผมจึงอยากจะเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ของพี่น้องประชาชน โดยผมขอสนับสนุนนโยบายถุงเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทยที่ได้เสนอไป เพราะว่าปัญหาเรื่องถุงเงินนี้หลายท่านก็เป็นห่วง หนักอกหนักใจกลัวว่าจะเป็นการสร้าง ภาระปัญหาหนี้สินมากขึ้น ผมอยากจะเรียนว่าถ้าเราสอนลูกเราให้ประหยัดอย่างเดียว แต่ความจำเป็นสถานการณ์ปัจจุบันเขามีบ้านมีรถ ลูกเราก็อยากจะได้ เราจะต้องสอนให้ ลูกเรารู้จักการหาเงิน เพราะฉะนั้นการแจกเงินที่บอกว่าการแจกเงินผมไม่อยากจะใช้ คำว่า แจก นี่คือการลงทุน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นการกระชากเศรษฐกิจ ที่รถเศรษฐกิจประเทศไทยเรากำลังตกหล่มอยู่ เราอัดเม็ดเงินลงไปคนละ ๑๐,๐๐๐ บาท โดยให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ ๑๖ ปีขึ้นไปจำนวน ๕๖ ล้านคน ถือว่าเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ เมื่อเราลงทุนไปแล้ว หลายคนก็ถามว่าทำไมไม่ให้เป็นเงินสด ถ้าเราให้เป็นเงินสด การติดตามการที่จะได้ภาษีคืนมานั้นมันยากลำบาก เพราะนักเศรษฐศาสตร์เขาบอกว่า เงินที่จะเอาลงไปนี่นะครับ มันจะหมุนเวียนอยู่ประมาณ ๗ รอบ สมมุติว่าลงเงินไป ๑๐๐ บาท ๑๐๐ บาท ๗ รอบ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ๗ เปอร์เซ็นต์ ๗ คูณ ๗ ๔๙ เราได้คืนมาแล้ว ๔๙ บาท และในขณะเดียวกันเรามีภาษีจากการประกอบการ จากกำไรอีก ๓๐ เปอร์เซ็นต์ รวมแล้วเราได้เงินคืนมา ๕๐ กว่าบาท เราลงทุนไปจำนวน ๕๖๐,๐๐๐ ล้านบาท พอหมุนไป ๗ รอบ เราได้เงินคืนมาแล้ว ๒๙๐,๐๐๐ ล้านบาท เหลืออีก ๒๗๐,๐๐๐ ล้านบาท ทีนี้เมื่อเงิน ลงไปในพื้นที่ เมื่อประชาชนมีกำลังซื้อก็จะมีการซื้อจับจ่ายใช้สอย หมุนเวียนกันไป เมื่อหมุนเวียนกันไปสินค้าในโกดัง สินค้าในโรงงานหมดก็จะต้องมีการผลิต ก็เรียกคนงาน เรียกลูกหลานเรากลับเข้าไปทำงานในโรงงาน ก็เกิดการหมุนเวียนมีรายได้ เก็บภาษี เผลอ ๆ เงิน ๕๖๐,๐๐๐ ล้านบาทนี่เราอาจจะได้กำไรด้วยซ้ำไป และเป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ให้ประเทศหลุดพ้นจากภาวะยากลำบากนี้ไปได้ ในประเด็นนอกจากค่าแรงค่าอะไรแล้ว เรายังได้เรื่องการขนส่งเรื่องอะไรต่าง ๆ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เราต้องกล้า ถ้าเราไม่กล้าในการลงทุนครั้งนี้ ประเทศเราก็จะติดหล่มอยู่แบบนี้

นายเกษม อุประ สกลนคร ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ที่ผมอยากจะเรียนว่าค่าครองชีพที่สูงขึ้น เราติดมานานหลายปี อย่างในปีที่แล้ว ๒ ปีก่อนค่าปุ๋ยจากกระสอบหนึ่ง ๘๐๐ บาท มันพุ่งไปเป็นกระสอบละ ๑,๗๐๐ บาท แต่ในขณะเดียวกันราคาพืชผลทางด้านการเกษตรตกต่ำ มันไม่คุ้มกับต้นทุน เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเรื่องราคาพืชผล เกี่ยวกับค่าครองชีพ เราจะต้องดู จัดทั้งระบบ คือดูว่าต้นทุนในปัจจัยการผลิตกับราคาสินค้ามันสมดุลกันหรือไม่ เพราะฉะนั้น จะต้องไปควบคุมตรงนี้เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน ดูราคาให้มันคุ้มกัน ตอนนี้ราคาข้าวก็เริ่มกระเตื้องขึ้นมา ผมต้องขอขอบคุณทางรัฐบาล ขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐาที่ได้แก้ไขปัญหาลดค่าครองชีพให้ ลดราคาน้ำมัน ลดค่าไฟฟ้า ลดค่าแก๊ส แล้วก็ยังลดราคาค่าโดยสาร ซึ่งเป็นแนวทางการที่จะลดต้นทุน ลดไม่ให้ค่าครองชีพสูงขึ้น เพื่อให้ เครื่องจักร เพื่อให้ประเทศไทยเรามันเดินไปข้างหน้า เมื่อมีเงินดิจิทัลลงไป มีค่าครองชีพที่ถูกลงมา เราประชาชนก็จะลืมตาอ้าปากได้ มีความรู้สึก มีความสุข มีชีวิตที่สดใส ถ้าหากว่าเรามัวแต่กลัวเป็นหนี้ ที่ผ่านมาเราเป็นหนี้หลายอย่าง เป็นเป็นหนี้ ที่ไม่ก่อเกิดรายได้ แต่การเป็นหนี้การลงทุนครั้งนี้เป็นหนี้ที่ทำให้ก่อเกิดรายได้ ทำให้เศรษฐกิจ มันหมุนไป ผมคิดว่าการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะมาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ผมอยากจะ ฝากเรื่องที่ผมกราบเรียนในวันนี้ด้วย กราบขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านธิษะณา ชุณหะวัณ ครับ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ธิษะณา ชุณหะวัณ สส. แบบแบ่งเขตกรุงเทพมหานคร เขต ๒ หรือเขตปทุมวัน เขตสาทร และเขตราชเทวี ขออนุญาตเอา Slide ขึ้นค่ะ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

วันนี้ดิฉันมาอภิปราย สนับสนุนญัตติของเพื่อนสมาชิก เรื่อง การขอเสนอญัตติด่วนให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน โดยที่คุณอนุชา บูรพชัยศรี เป็นผู้เสนอญัตติ และคุณเอกราช อุดมอำนวย หนึ่งในสมาชิกพรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอญัตติ ขณะนี้ยังมีแนวคิดแล้วและทัศนคติที่ดูแคลนและโทษประชาชน อย่างเช่น ถ้าประชาชนโง่เราจะตายกันหมด ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ก็ยังไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหา เรื่องหนี้สินได้ขณะตลอด ๙ ปีที่ผ่านมา ทัศนคติแบบโทษประชาชนส่งผลต่อทิศทาง การศึกษาหรือแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน ที่ผ่านมามีงานการศึกษาออกมาโทษ คนรุ่นใหม่ว่าเป็นหนี้จากการซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ Smartphone หรืออุปกรณ์ IT ซึ่งดิฉัน ต้องเรียนท่านประธานว่าในความเป็นจริงแล้วอุปกรณ์เหล่านี้หากสำรวจลึกลงไป จะกลายเป็นว่าจำเป็นต้องมีไว้ใช้งานไม่ใช่ของมันต้องมีค่ะ มีลักษณะเหน็บแนมว่า ไม่ประหยัดก็เป็นไปได้ แต่งานวิจัยเหล่านั้นกลับไปโทษคนรุ่นใหม่แทนที่จะสำรวจให้ลึกไปอีก ว่าที่ต้องซื้อเพราะผู้ว่าจ้างไม่ได้จัดเตรียมเครื่องมือต่าง ๆ ให้ทำงานไว้ให้พร้อมใช้งาน ใช่หรือไม่ หรือให้มีการทำงานเกินเวลาจนต้องกลับไปทำงานที่บ้าน หรือจัดหาเครื่องมือ ทำงานส่วนตัวมาไว้ใช้ ใช่หรือไม่เป็นต้นค่ะ ผลการศึกษาเหล่านี้ย่อม Misleading นำไปสู่การไม่ได้แก้ไขปัญหาอะไรเลยและไปโทษ คนรุ่นใหม่ว่าไม่รู้จักประหยัดทั้ง ๆ ที่เป็นเครื่องมือทำมาหากิน ถ้าไม่มีก็อาจจะโดนไล่ออก จากงานง่าย ๆ จึงจำเป็นต้องซื้อ และจึงเป็นหนี้ให้กับตัวเองที่ต้องทำงานต่อไป ด้วยเหตุนี้ ดิฉันจึงต้องเน้นย้ำไปกับท่านประธาน เพราะทัศนคติแบบนี้จะส่งผลซ้ำเติมต่อปัญหาหนี้สิน ปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชนโดยตรง ดิฉันจึงไม่ต้องการให้ผู้มีทัศนคติดังกล่าวมา แก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน ปัญหาหนี้สินครัวเรือนไม่ใช่แค่กลุ่มหนึ่งรอดและที่เหลือจะรอด ทั้งหมด ปัญหาหนี้สินครัวเรือนของพี่น้องประชาชนไทยเป็นปัญหาที่น่ากังวลอย่างยิ่ง ถ้าหาก กล่าวถึงปัญหาแบบโทษประชาชนว่าเป็นเพราะพฤติกรรมที่ชอบฟุ่มเฟือย หรือก่อหนี้เกินตัว ไม่รู้จักประหยัดของประชาชนเอง เพราะหนี้เป็นปัญหาระดับประเทศแต่ไม่ใช่ปัญหา พฤติกรรมส่วนบุคคล และสุดท้ายคือการแก้ไขปัญหาไม่ได้ โดยในปี ๒๕๖๖ หนี้สินครัวเรือน ขยายตัวถึงร้อยละ ๑๑.๕ จาก ๕๐๑,๗๑๑ บาทต่อครัวเรือน เพิ่มเป็น ๕๕๙,๔๐๘ บาท ต่อครัวเรือน ในขณะที่รายได้ของพี่น้องแรงงานคือค่าแรงขั้นต่ำ โดยสำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์แจ้งว่าค่าแรงงานขั้นต่ำขยับได้เพียงแค่ ๘-๒๒ บาทต่อวัน อยู่ในช่วง ๓๒๘-๓๕๔ บาทต่อวัน เฉลี่ยอยู่ที่ ๓๓๗ บาทต่อวันหรือเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ ๕ เท่านั้น เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๕ ภายหลังจากการไม่มีปรับขึ้นมาตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๕ เป็นเวลานานเกือบ ๓ ปีค่ะท่านประธานในช่วงสถานการณ์ Covid-19 ขณะที่เงินเดือน ปริญญาตรียังเริ่มต้นอยู่ที่ ๑๕,๐๐๐ บาท มาเป็นเวลากว่าทศวรรษและยังไม่มีการปรับ เพิ่มขึ้นตามการปรับเงินเดือนปริญญาตรีในระดับมหภาค GDP ในปี ๒๕๖๒-๒๕๖๕ ขยายตัวเพียงร้อยละ ๒.๑ หรือลบ ๖.๑ และ ๑.๕ และตามเฉลี่ย ๔ ปี GDP โตเพียงเฉลี่ย ร้อยละ ๐.๐๒๕ เปอร์เซ็นต์ หรือแทบจะไม่ได้โตเลย เห็นได้ว่าไม่ว่าจะมองจากรายได้ ตัวไหนของประชาชนก็มีรายได้เพิ่มขึ้นน้อยกว่าปัญหาหนี้สินที่เพิ่มขึ้น และ GDP ที่โต เพียงร้อยละ ๒ ในปีที่ไม่ติดลบก็ไม่เพียงพอจะทำให้คนที่ไม่ได้อยู่บนยอด Pyramid ได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตของ GDP ได้ เพราะเมื่อขายสินค้าได้ บริษัท ห้างร้าน โรงงานย่อมได้เค้กส่วนเติบโตเพิ่มขึ้นไปก่อน แต่เกิดจากการทุ่มเทแรงกายแรงใจจากแรงงาน เมื่อก่อนสิ้นปีค่อยมาดูว่าที่เหลือจะแบ่งให้พนักงานแรงงานหรือไม่เท่าใด และการโต เพียงเล็กน้อยเหล่านี้ย่อมยากที่พนักงานแรงงานทั่วประเทศจะได้รับอานิสงส์ อาจจะมีเพียง บางบริษัทที่เป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับทั้งประเทศที่จะปันผลให้กับพนักงานได้โบนัส ในหลาย ๆ เดือน จึงเห็นได้ชัดว่าเป็นปัญหาระดับประเทศที่ไม่ควรจะโทษแต่ประชาชน แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องค้นหาสาเหตุเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาให้ได้ค่ะ วันนี้ดิฉัน จึงมาอภิปรายประเด็นสำคัญ คือปัญหาหนี้สินครัวเรือนและปัญหาปากท้องของ พี่น้องประชาชน ปัญหาและปัจจัยที่ทำให้หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น ดิฉันขออนุญาตเสนอ ญัตติด่วนในเลขรับ ๓๒/๒๕๖๖ ดังกล่าว อ้างอิงถึงผลสำรวจของดอกเตอร์ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปี ๒๕๖๖ ว่าประชาชน มีรายได้ไม่พอกับรายจ่ายในชีวิตประจำวัน โดยหนี้ครัวเรือนขยายตัวถึงร้อยละ ๑๑.๕ คิดเป็นมูลค่าหนี้กว่า ๕๕๙,๔๐๘ บาทต่อครัวเรือน และจะพุ่งสูงสุดในปี ๒๕๖๗ ทั้งจาก ปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ เช่นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารกลาง ของสหรัฐอเมริกา สงครามการค้า ปรากฏการณ์ธรรมชาติ EL Nino และค่าครองชีพ ที่มีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทะลุเพดาน ดิฉันยังเห็นว่าไม่เพียงพอ แต่ต้องเพิ่มการศึกษา ปัญหาเชิงลึกของหนี้สินครัวเรือนแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ แรงงานนอกภาคเกษตร และในภาคเกษตรด้วย ซึ่งถือเป็นประชากรและเป็นแรงงานส่วนใหญ่ในประเทศเรา ช่องทาง และแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนค่ะ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๑. ทัศนคติของผู้มีอำนาจในคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาหนี้สิน ต้องเป็นทัศนคติที่ดีต่อประชาชน ไม่ดูแคลนกล่าวโทษประชาชน ท่านต้องไม่เป็น ผู้ที่มีทัศนคติบิดเบี้ยวที่มักยกตัวอย่างคนบนยอด Pyramid แล้วทำไมคนส่วนใหญ่ ถึงไม่รอด ต้องไม่ใช่เอาแต่รักษา Hedge ของนายทุนผูกขาด และเข้าข้างนายทุนไว้ก่อน เพื่อความจงรักภักดีต่อนายทุนก็เพื่อผลประโยชน์แห่งตนเพียงอย่างเดียว เพราะสุดท้าย ทำแบบนั้นแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนไม่ได้

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๒. การสร้างการเติบโตของ GDP บนพื้นฐานของการกระจายรายได้ ที่เหมาะสม การสร้าง Soft Power ให้ลงไปถึงบุคคลหรือครอบครัว การ Upgrade Update ใบคุณวุฒิความรู้ต่าง ๆ ใบปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก เพื่อให้เสริมมีทักษะ สอดคล้องกับสถานการณ์ในเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน ทั้งนี้ระดับปริญญามากกว่าปริญญาตรี จะเป็นตัวเร่งอัตราการเติบโตได้ดี การส่งเสริมให้นายจ้างหรือผู้ว่าจ้างลงทุนซื้ออุปกรณ์ เครื่องมือที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ให้แก่แรงงานเช่น Software การพัฒนาทักษะ ของแรงงานที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงาน ไม่ใช่ผลักภาระให้กับแรงงานแต่เพียงผู้เดียวกัน สัญญาการจัดซื้อจัดจ้างจากภาครัฐ เช่นการจ้างที่ปรึกษา ควรจ้างระดับบุคคลไว้ด้วย เพื่อไม่ให้ผู้ทำงานได้รับรายได้เฉลี่ยรวมระยะเวลาไม่มีงานชั่วคราวต่ำจนเกินไปค่ะ เพราะจะไปเพิ่มมูลค่าโครงการเข้าไป ผู้ว่าจ้างองค์กรก็จัดสรรรายได้เท่าเดิมหรืออาจจะ น้อยลงค่ะ เพราะเห็นว่าคล่องขึ้นใช้เวลาทำลดลง แทนที่จะเพิ่มรายได้เพราะชำนาญขึ้น เหล่านี้เป็นวิธีเอาเปรียบคนทำงานหรือแรงงานทั้งสิ้น ถามว่าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ได้อย่างไร เป็นเพราะตลาดผูกขาด หรือที่เราเรียกกันภาษาอังกฤษว่า Monopolisation นั่นเองค่ะ งานเฉพาะทางภาครัฐไม่สามารถไปทำในภาคเอกชนได้ และภาครัฐก็จัดสรรแต่ กับเส้นสาย หรือองค์กรเหตุการณ์เช่นนี้จึงเกิดขึ้นกับแรงงานผู้ทำงานค่ะ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

การส่งเสริมธุรกิจขนาดย่อยหรือที่เรียกว่า SMEs ซึ่งเป็นแหล่งรายได้การจ้างงาน ที่อาจจะรองรับการจ้างงานที่นอกเหนือจากการจ้างงานของกิจการขนาดกลางและขนาดใหญ่ เพราะในช่วง ๙ ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงส่งเสริมธุรกิจขนาดใหญ่แต่อย่างเดียว หรือแค่นายทุนผูกขาด ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นานมากเกินไปแล้วค่ะ เวลานี้จึงควรหันกลับมาให้สนับสนุนธุรกิจรายย่อย หรือ SMEs ที่ไม่ใช่ธุรกิจขนาดใหญ่ได้แล้ว เพราะเป็นแหล่งจ้างงานมากกว่าร้อยละ ๘๐-๙๐ ของแรงงาน หรือผู้ที่ต้องการทำงาน การปรับปรุงพิจารณายอดการชำระรวมทั้งปี หรือมากกว่าของลูกหนี้เปรียบเทียบกับมูลค่าหนี้ เช่นเป็นหนี้ ๑๐๐,๐๐๐ บาท อัตรา ดอกเบี้ย ๒๐ เปอร์เซ็นต์ต่อปี ลูกหนี้จ่ายไปแล้ว ๑๒ เดือน รวมกันเป็น ๑๒๐,๐๐๐ บาท แต่มูลค่าหนี้ยังคงอยู่ที่ ๑๐๐,๐๐๐ บาท หรืออาจลดลงไปเล็กน้อยย่อมผิดปกติ รัฐบาล สามารถปรับปรุงโครงสร้าง รัฐบาลสามารถปรับปรุงโครงสร้างเหล่านี้โดยผ่านธนาคารของรัฐ โดยผู้บริหารธนาคารของรัฐจะต้องไม่เป็นเครือข่ายของสถาบันการเงินที่โหดเหล่านี้ค่ะ เพราะรายได้ที่แรงงานจะเอามาจ่ายหนี้สินอาจจะมาจากแหล่งรายได้อื่นที่ไม่มีความแน่นอน ปะปนอยู่ด้วยค่ะท่านประธานทำให้ผู้จ่ายชำระไม่ตรงวัน หรืออาจตรงวันก็ได้ไม่เต็มก้อน ต้องไปหารายได้จากที่อื่นมาโปะ ทำให้ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ตรงวันและบรรดาสถาบันการเงินโหด คิดค่าปรับ ค่าติดตามทวงถาม และอื่น ๆ ทำให้มูลค่าหนี้ไม่ลดลง ติดหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อัตราดอกเบี้ยคิดเป็นรายปี แต่จ่ายคืนเป็นรายเดือน คิดค่าปรับ ค่าติดตามทวงถาม เป็นรายวัน ทำให้หนี้สินครัวเรือนไม่ลดลงแม้แต่น้อยค่ะท่านประธาน

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

สุดท้ายค่ะ ระยะห่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเงินกู้มากกว่าประเทศอื่น ๆ เมื่อเปรียบเทียบที่มีนักวิชาการพูดว่าช่วงนี้เป็นดอกเบี้ยขาขึ้น นั่นคือดอกเบี้ยเงินกู้ ในขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝาก หากไม่ยอมขึ้นตามย่อมไม่ส่งเสริมการออม หรือเศรษฐกิจพอเพียง ไม่มีภูมิคุ้มกันใด ๆ เลยค่ะ ขอบพระคุณมากค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปเป็นสมาชิกท่านสุดท้ายของการประชุมในวันนี้นะครับ ท่านฐิติมา ฉายแสง ครับ

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง จังหวัดฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทยค่ะ ท่านประธานคะ ดิฉันเห็นด้วยกับญัตติที่ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา การแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน แล้วก็ค่าครองชีพที่สูง ท่านประธานที่เคารพคะ ขอภาพ ด้วยนะคะ

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

ท่านประธานคะ ในปี ๒๕๖๖ นี้ หนี้ครัวเรือนไทยขยายตัว ๑๑.๕ เปอร์เซ็นต์ มูลค่าประมาณ ๕๕๙,๔๐๘ บาทต่อครัวเรือน จากผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยนี้ก็บอกว่าหนี้ครัวเรือนของเรามันสูงมาก แบบนี้ และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีกในปี ๒๕๖๗ การอภิปรายในวันนี้เด็กญัตติเรื่องเกี่ยวกับ หนี้สินครัวเรือนนี้ ดิฉันคิดว่าท่าน สส. หลายท่านก็มีข้อห่วงใยที่แตกต่างกัน ส่วนดิฉันเอง มีข้อห่วงใยดังต่อไปนี้ค่ะ

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

ในปี ๒๕๖๗ เป็นที่ทราบกันดีว่าจะเกิดปรากฏการณ์ El Nino แล้วก็ เกิดภัยแล้ง และอาจจะแล้งนานถึง ๓ ปี ดังนั้นปัจจัยเรื่องน้ำแล้งจะเป็นเรื่องสำคัญ มากทีเดียวที่จะส่งผลกระทบในทุกภาคส่วนเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ เรามาดูกันว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากขาดแคลนน้ำจะทำให้ หนี้สินมากขึ้นอย่างไร ภาคการเกษตรท่านดูนะคะถ้าเกิดขาดแคลนน้ำ อุณหภูมิสูงขึ้น อากาศแปรปรวนส่งผลว่าพืชผลผลิตลดลง ปศุสัตว์ลดลงแน่นอน สัตว์กินอาหารได้น้อยโตช้า เป็นปัญหา เป็นโรคง่าย ประมงผลผลิตลดลงเลี้ยงกันไม่ได้เลยปริมาณการจับสัตว์น้ำต่าง ๆ นานามีผลหมด น้ำใต้ดินอาจจะถูกใช้มากขึ้น อาจจะเกิดแผ่นดินทรุด ภาคอุตสาหกรรม ต้นทุนค่าเสียโอกาสเพราะว่าผลผลิตมันลดลงถูกไหมคะไม่สามารถส่งสินค้าได้ตามสัญญา ต้นทุนการผลิต กำไรก็ลดลง ต้นทุนพลังงานสูงขึ้นแรงงานกลางแจ้ง ทำงานไม่ได้ สินค้า เน่าเสียได้ง่าย คุณภาพสินค้าลดลง การบริการ ปัญหาแย่งในเขตท่องเที่ยวเพราะมันไม่มีน้ำ แย่งน้ำกัน อากาศร้อนนักท่องเที่ยวก็อาจจะลดลง ต้นทุนพลังงานก็อาจจะเพิ่มขึ้น พื้นที่ปะการังสำคัญมากลดลง ขาดความสวยงามนักท่องเที่ยวไม่มา แรงงานในภาคบริการ เจ็บป่วยมากขึ้นได้ แล้วเราก็รู้ว่าทั้ง ๓ ภาคส่วนนี้มันสัมพันธ์กันแน่ ๆ เดือดร้อนแน่ ๆ เลย ถ้าเราไม่มีน้ำขาดน้ำไป การขาดน้ำจึงทำให้มีสิทธิที่จะมีหนี้สินเพิ่มขึ้นเพราะทำงานไม่ได้ ดิฉันขออนุญาตหยิบยกตัวอย่างค่ะท่านประธาน โดยที่จะเน้นให้เห็นภาพว่าภาคการเกษตร นั้นจะก่อให้เกิดหนี้สินเพิ่มมากขึ้นอย่างไร ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมค่ะ ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ต่อให้มีปุ๋ยราคาที่ลดลง ต่อให้มีเมล็ดพันธุ์พืชได้ฟรี ด้วยซ้ำท่านประธาน ต่อให้มีปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ลดลง หรือพักหนี้เกษตรกร แต่ถ้าไม่มีน้ำ ท่านประธานพูดตรง ๆ เสร็จแน่ เกษตรกรรมไม่มีน้ำ หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นแน่นอน ท่านดูภาพต่อไปนะคะ นาแล้ง ทำนาไม่ได้ ๖๔ ล้านไร่ ผลิตผลลดลง ชาวนาไม่สามารถ ทำนาได้ ชีวิตทั้งชีวิตทำมาตลอด เสร็จแล้วไม่สามารถทำนาอะไรจะเกิดขึ้น ประมงเพาะเลี้ยงขาดน้ำ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ปลาตามบ่อต่าง ๆ ๑๓๘,๒๕๐ กระชัง ๑,๕๒๐,๐๗๓ บ่อจะอยู่กันอย่างไรคะท่านประธาน ทั้ง ๒ ประการ ไม่ว่าจะเป็นนาแล้ง หรือว่าประมง ถ้าขาดน้ำ เขาเช่าที่ เขาต้องเสียค่าเช่าที่ แต่ไม่มีผลผลิต นี่คือปัญหาของพี่น้อง เกษตรกร ไม้ผล ไม้ยืนต้นแห้งตาย ไม่ว่าจะลำไยที่ภาคเหนือ ทุเรียนภาคใต้ หรือว่า ภาคตะวันออก มะม่วง มังคุดต่าง ๆ นานา เสียหายหมด จะเอารายได้ที่ไหน นี่คือหนี้สิน จะต้องเพิ่มขึ้น ท่านประธานคะ วัวไม่มีหญ้าจะกิน ไม่มีน้ำ หมู ไก่ โดยเฉพาะไก่ ถ้าขาดน้ำแทบจะวันเดียวก็ตายแล้วท่านประธาน เพราะฉะนั้นการที่พี่น้องประชาชนของเรา ที่เป็นเกษตรกรไม่มีน้ำทำการเกษตรเป็นเรื่องที่หนักมาก แล้วมาดูที่คนเครียดไหมคะ ถ้าไม่มีน้ำทำนาไม่ได้ ทำงานไม่ได้ ถ้าผู้นำของครอบครัวล้มป่วยเพราะเครียด ครอบครัว จะอยู่กันอย่างไร ไม่มีรายได้ แล้วพอเครียดท่านนอนติดเตียงทำงานไม่ได้เป็นภาระ ของครอบครัวไหม เป็น อากาศร้อนจัดออกไปทำงานไม่ได้ เป็นลมแดด Heatstroke ที่เรารู้กันอยู่ อาจถึงขั้นเสียชีวิต เสียหายไหมครอบครัวนี้ เป็นไปได้ การบุกรุกของน้ำเค็ม อาจจะกระทบไปถึงการทำน้ำประปา แล้วก็กระทบไปถึงผู้ที่เป็นโรคไต ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น แน่นอน ราคาอาหารสูงขึ้นแน่นอน ของหายากขึ้น ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น มลพิษทางอากาศ PM2.5 เกิดขึ้น เพราะว่ามันแล้ง เราพบประสบเจอพวกนี้ ขาดสารอาหาร เพราะว่าหาไม่ได้ ไม่มีเงินจะซื้อ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดิฉันพูดมาทั้งหมดนั้นอยากจะสรุปว่า อยากจะขอสนับสนุน ว่าญัตตินี้เป็นญัตติที่ต้องรีบดำเนินการ รีบช่วยเหลือ แก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน แก้ปัญหา ค่าครองชีพ แต่ขอฝากคณะกรรมาธิการชุดนี้ว่าขอให้นำประเด็นภัยแล้งนั้นเป็นประเด็น สำคัญด้วยเพราะมันส่งผลกระทบ ประเทศเราเป็นประเทศเกษตรกรรม อุตสาหกรรมก็โดน และขอให้นำเรื่องภัยแล้งนั้นมาเป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะทำให้หนี้สินครัวเรือนมันอาจจะ สูงมากขึ้นนั้นไปพิจารณาด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ตอนนี้สมาชิกทั้ง ๑๐ ท่านก็ได้อภิปรายแล้ว ก็เหลือสมาชิกที่ลงชื่อ และจะอภิปรายต่อในวันพรุ่งนี้อีก ๒๐ ท่าน สมาชิกมีอะไรไหมครับ เมื่อสักครู่นี้ ยกมือหรือเปล่า

นายวรวงศ์ วรปัญญา ลพบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานครับ ตอนแรกคิดว่า จะต้องเสนอในเรื่องของญัตติในการเลื่อน แต่เห็นท่านประธานได้สรุปเรียบร้อยแล้วครับ ก็อาจจะมีการสื่อสารผิดพลาดเล็กน้อย ขออภัยด้วยครับ ขอบคุณท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ไม่เป็นไรครับ ก็ตามที่ตกลงของ Whip นะครับ เราก็จะต่อกับเรื่องของญัตติแก้ไขปัญหา หนี้สินครัวเรือนอีก ๒๐ ท่าน แล้วก็จะมีญัตติที่รอเข้าพรุ่งนี้อีกราว ๆ ๔ ญัตติด้วยกัน คืนนี้ พักผ่อนเต็มที่ครับ พรุ่งนี้พบกัน สวัสดีครับ ปิดการประชุมครับ