กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎร กระผม นายประพัฒน์ ตันสุวรรณนนท์ รองเลขาธิการสำนักงาน ศาลปกครอง รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ขออนุญาตนำเรียน เนื้อหารายงานประจำปีของศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครอง ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ที่ได้นำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร รายงานประจำปีฉบับนี้ก็จะมีทั้งหมด ๖ ส่วน ส่วนแรกเป็นภาพรวมหน่วยงาน ส่วนที่ ๑ เป็นภาพรวมการเปรียบเทียบผลการดำเนินงาน ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓-๒๕๖๕ ส่วนที่ ๒ ผลการดำเนินงานที่สำคัญ ส่วนที่ ๓ การวิเคราะห์ผลการดำเนินงาน ส่วนที่ ๔ รายงานการเงินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ และส่วนที่ ๕ ภาคผนวก โดยแต่ละส่วนมีการสรุปสาระสำคัญไว้ก็คือ จะมีรายละเอียดในแต่ละส่วน โดยจะมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ เราจะสรุปการขับเคลื่อน การดำเนินงานภายใต้แผนแม่บทของศาลปกครอง ซึ่งกำหนดไว้ ๒๐ ปี แต่ในช่วงปี ๒๕๖๕ เป็นแผนแม่บทของศาลปกครองระยะที่ ๑ คือปี ๒๕๖๑-๒๕๖๕ ก็จะมีด้วยกัน ๕ ด้าน ด้านที่ ๑ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการคดีปกครอง ด้านที่ ๒ เป็นเรื่องของ การเสริมสร้างธรรมาภิบาลในสังคม ด้านที่ ๓ การพัฒนาศาลปกครองอัจฉริยะ ด้านที่ ๔ เป็นเรื่องของการพัฒนาระบบการบริหารจัดการองค์กรสู่ความเป็นเลิศ และด้านที่ ๕ เป็นการยกระดับความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม
รายงานฉบับนี้ทางศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครองก็ได้จัดทำขึ้น แล้วก็มีการรับข้อสังเกตของทางท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แล้วก็ท่านวุฒิสมาชิก ที่ให้ข้อสังเกตในรายงานของศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครองในฉบับปีที่ผ่านมา ที่ท่านให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ และทางสำนักงานศาลปกครองก็ได้ปรับ เพิ่มเติมข้อมูลเนื้อหาตามที่ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แล้วก็ท่านวุฒิสมาชิกให้ข้อสังเกต ขออนุญาตนำเรียนภาพรวมของรายงานฉบับนี้เพียงเท่านี้ครับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎร ผม นายประพัฒน์ ตันสุวรรณนนท์ รองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ขออนุญาตเรียนตอบชี้แจงข้อคำถาม ที่ทางท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้สอบถามในที่ประชุม จะขออนุญาตตอบในภาพรวมนะครับ
ประเด็นแรก ที่จะเรียนชี้แจงก็คือเรื่องตัวชี้วัดที่ไม่บรรลุค่าเป้าหมาย ซึ่งปรากฏอยู่ในรายงานประจำปีฉบับนี้มีอยู่ด้วยกัน ๒ ตัวชี้วัด ตัวชี้วัดแรกคือตัวชี้วัดร้อยละ ของคดีที่ดำเนินการบังคับแล้วเสร็จตรงนี้ไม่บรรลุ เนื่องจากว่าเรากำหนดเป้าหมายไว้ที่ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ทำได้ ๕๖.๗๙ สาเหตุมาจากว่าจำนวนคดีที่ดำเนินการบังคับคดีปกครอง แล้วเสร็จในปี ๒๕๖๕ เราคำนวณมาจากจำนวนคดีที่ศาลมีคำบังคับให้เพิกถอนกฎ คำสั่ง และมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทาง หรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา และคำบังคับตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) ถึง (๕) และจำนวนคดีที่มีการบังคับในคดีที่ต้องมีการออกหมายบังคับคดีโดยนำประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ ซึ่งในกรณีการบังคับคดีตาม ป. วิ. แพ่ง ในหลายกรณี ก็ต้องเป็นคดีที่อยู่ระหว่างรอผู้ฟ้องคดีมายื่นเรื่องดำเนินการ หรือที่เราเรียกคดีแจ้งสิทธิ อันนี้เป็นเหตุหนึ่งที่เป็นเหตุปัจจัยภายนอกที่สำนักงานศาลปกครองไม่อาจควบคุมได้ แต่ทาง สำนักงานศาลปกครองพอได้วิเคราะห์สาเหตุนี้ในปีงบประมาณ ๒๕๖๖ ก็ได้มีการปรับปรุง การวัดในตัวชี้วัดดังกล่าว โดยแยกจำนวนคดีที่ดำเนินการบังคับคดีปกครองแล้วเสร็จตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และการดำเนินการบังคับคดีตาม ป. วิ. แพ่งออกจากกัน อย่างชัดเจน แล้วก็เร่งรัดติดตามการดำเนินการบังคับคดีทั้ง ๒ ประเภทอย่างใกล้ชิด โดยที่ผู้บริหารศาลปกครองให้ทางสำนักบังคับคดีปกครอง และสำนักงานศาลปกครอง ในภูมิภาคทุกแห่งวางแผนการปฏิบัติงานร่วมกัน เพื่อวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรค และแนวทาง แก้ไขเพื่อให้สามารถบังคับคดีแล้วเสร็จตามแผนที่กำหนด รวมทั้งรายงานปัญหาอุปสรรค ในการบังคับคดีเสนอต่อผู้บริหารทุก ๖ เดือน นอกจากนั้นก็ยังมีการเพิ่มทักษะให้กับ ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านการบังคับคดี รวมทั้งตอนนี้ก็มีการพัฒนาระบบบังคับคดีทาง อิเล็กทรอนิกส์สำหรับคู่กรณีแล้วก็บุคลากรภายในแล้วเสร็จ ตอนนี้ก็อยู่ระหว่างแก้ไข ระเบียบเพื่อรองรับระบบที่เราได้ปรับปรุงแก้ไข ส่วนตัวชี้วัดอีกตัวหนึ่งที่ไม่บรรลุค่าเป้าหมาย ก็คือตัวชี้วัดจำนวนคดีที่ศาลปกครองพิจารณาแล้วเสร็จ อันนี้ก็ต้องยอมรับว่า ค่าเป้าหมาย ที่เรากำหนดไว้นี้ผมไม่แน่ใจว่าที่เดิมกำหนดไว้ ๑๗,๕๐๐ คดี ในตอนนั้นอาจจะมีจำนวน ตุลาการที่พอสมควรนะครับ แต่ตอนหลังนี้จำนวนตุลาการก็ลดลง แล้วก็ทำให้ดำเนินการ ได้ไม่เป็นไปตามค่าเป้าหมาย แล้วก็มีอีกสาเหตุหนึ่งที่มาจากกระบวนการพิจารณาคดี ที่มีหลายขั้นตอน แล้วใช้ระยะเวลาในการดำเนินการมากนะครับ เดี๋ยวผมคงจะชี้แจงต่อไป ครับว่าจากการที่กระบวนการพิจารณาคดีทางผู้บริหารศาลได้ตระหนักตรงนี้อย่างไรว่าจะมี แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการคดีอย่างไรให้มันรวดเร็วยิ่งขึ้น
อีกสาเหตุหนึ่งก็คือที่เรียนแล้วอัตรากำลังตุลาการศาลปกครองไม่สอดคล้อง กับปริมาณคดี รวมทั้งคดีที่เข้ามาใหม่ในปัจจุบันก็มีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้นด้วยเหตุนี้ ทางศาลปกครอง และสำนักงานศาลปกครองจึงได้มีแนวทางในการยกระดับการอำนวย ความยุติธรรมทางด้านคดีปกครองในด้านต่าง ๆ โดยเรามีแนวทางที่จะเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการคดีปกครอง โดยจะมีในเรื่องของการปรับปรุงกฎหมาย แล้วก็ระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง มีเรื่องของการลดขั้นตอนการพิจารณาคดี และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนิน กระบวนพิจารณาคดี ยกตัวอย่างเช่น ในชั้นอุทธรณ์กับศาลปกครองสูงสุดในคดีที่ไม่มีความ หรือมีข้อกฎหมาย หรือมีข้อเท็จจริงที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนศาลอาจจะสอบถามคู่กรณีว่าจะให้มี การนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกหรือไม่ ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่ง ถ้าคู่กรณีไม่ประสงค์ก็จะทำให้ ระยะเวลาในขั้นตอนนี้ลดลงก็จะทำให้คดีรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ก็ยังมีวิธีการก็คือนำ กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองมาใช้เป็นทางเลือกในการยุติข้อพิพาท ให้เสร็จสิ้นไปจากศาลโดยเร็ว
ในประการต่อไปก็เป็นเรื่องของการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนการดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาคดีปกครองให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการบริหารจัดการคดีค้างสะสม ซึ่งก็มีนโยบายของท่านประธาน ศาลปกครองสูงสุด ท่านศาสตราจารย์พิเศษ ดอกเตอร์วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ท่านมีนโยบาย ในส่วนของการบริหารจัดการคดีค้าง โดยท่านมีการแยกประเภทคดีค้างเก่า และคดีค้างนาน คดีค้างเก่าก็คือคดีที่เข้ามาตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ ลงไป ส่วนคดีค้างนานก็เป็นคดีที่มีตั้งแต่เข้ามา ก็อยู่ในระยะเวลา ๓ ปี ท่านก็มีนโยบายจัดการคดีค้างโดยแยกประเภทคดี แล้วก็กำหนด สัดส่วนให้ท่านตุลาการบริหารจัดการคดี แล้วก็พิจารณาคดีค้างเก่า ค้างนาน รวมถึงคดี ที่เข้าใหม่ให้มีความสมดุล ไม่ใช่ทำแต่คดีเข้าใหม่ ก็ให้ดูคดีค้างเก่าให้เกิดความสมดุล เพราะว่าสาเหตุที่ทำไมต้องทำคดีค้างใหม่ไปด้วย เพราะว่าถ้าไม่ทำเดี๋ยวคดีที่เข้าใหม่ก็จะเป็น คดีค้างนานไปก็ให้เกิดความสมดุล แล้วก็ในปี ๒๕๖๖ ก็ได้มีผลการจัดการคดีที่ลดลงไป เป็นจำนวนมาก ก็คือถ้าเทียบคดีที่เข้าในปี ๒๕๖๖ กับคดีที่แล้วเสร็จในปี ๒๕๖๖ จะมี ผลการพิจารณาพิพากษาคดีก็คือคดีเสร็จมากกว่าคดีเข้า ซึ่งก็จะเป็นผลดีที่จะทำให้คดีค้าง ลดลงคดีสะสมค้างลดลง นอกจากนั้นที่ผมได้นำเรียนแล้วครับว่าท่านมีนโยบายให้ท่านตุลาการ นำระบบไกล่เกลี่ยเข้ามาใช้ในกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อให้ยุติข้อพิพาท ไปโดยเร็ว นอกจากนี้เมื่อกฎหมายกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม ใช้บังคับ ทางศาลปกครองก็ได้มีการปฏิบัติโดยออกประกาศศาลปกครองเรื่องกำหนด ระยะเวลาการดำเนินงานการดำเนินคดีในศาลปกครองทั้งในศาลปกครองชั้นต้น แล้วก็ ศาลปกครองสูงสุด ซึ่งก็ได้มีการประกาศใช้เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๖ เป็นการอนุวัติ และดำเนินการตามกฎหมายกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งก็จะมีการกำหนดกรอบระยะเวลาไว้ใน ๓ ขั้นตอนหลัก ๆ นะครับ
ขั้นตอนแรก ก็คือขั้นตอนของการตรวจคำฟ้อง คำอุทธรณ์ การแสวงหา ข้อเท็จจริง จนถึงวันสิ้นสุดแสวงหาข้อเท็จจริง
ขั้นตอนที่ ๒ ก็เป็นเรื่องขั้นตอนการจัดทำคำแถลงการณ์
ขั้นตอนที่ ๓ ก็เป็นเรื่องขั้นตอนการอ่านการนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก แล้วก็ การอ่านคำพิพากษา ซึ่งมีระยะเวลากำหนดไว้ในแต่ละขั้นตอน ซึ่งก็คงจะมีการติดตาม ประเมินผลต่อไปว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ท่านตุลาการทำได้มากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ ก็ยังมีการบริหารจัดการคดีในเรื่องของการวิเคราะห์ และจัดทำแนวคำวินิจฉัยของ ศาลปกครองให้มีมาตรฐานเดียวกัน อันนี้ก็เป็นการที่จะเรียนตอบปัญหาเรื่องที่ท่านสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรได้ยกประเด็นเรื่องของความลักลั่นและของคำพิพากษา ประเด็นนี้ ก็เป็นข้อห่วงใยของท่านผู้บริหารศาลสืบต่อมาตั้งแต่สมัยท่านประธานชาญชัย แสวงศักดิ์ จนถึงท่านประธานศาลปกครองท่านปัจจุบันคือท่านวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ท่านก็มีการสัมมนา ตุลาการ แล้วก็ให้ความรู้ รวมถึงทำคำวินิจฉัยต้นแบบ แล้วก็รวมถึงการจ่ายสำนวน ให้แก่องค์คณะ เพื่อแก้ปัญหาความลักลั่น นอกจากนี้ก็ยังมีการบันทึกเหตุแห่งการฟ้องคดี ในแต่ละคดี คือเริ่มตั้งแต่ต้นมีการฟ้องเข้ามาก็มีการบันทึกเหตุแห่งการฟ้องคดีไว้ เพื่อให้เห็นว่า คดีที่มีข้อเท็จจริงอย่างเดียวกันควรจะได้รับการพิจารณาโดยองค์คณะที่รับผิดชอบเดียวกัน อะไรแบบนี้เพื่อไม่ให้เกิดคำวินิจฉัยที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องของการพัฒนา สมรรถนะและความเชี่ยวชาญของท่านตุลาการศาลปกครอง แล้วก็บุคลากรของสำนักงาน ศาลปกครอง ซึ่งมีการสัมมนากฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองโดยท่านผู้บริหาร ศาลให้ความสำคัญกับตรงนี้แล้วก็ท่านเป็นวิทยากรในการสัมมนาเอง นอกจากนี้ก็จะมีเรื่อง ของการเร่งรัดการบังคับคดีปกครอง และการพัฒนาการบังคับคดีปกครองด้วยระบบ อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผมได้นำเรียนไว้แล้ว และในประเด็นที่เป็นข้อห่วงใยของท่านสมาชิก ก็เรื่องอัตรากำลังบุคลากรของศาลกับสำนักงานศาลปกครอง ปัจจุบันนี้ในส่วนของตุลาการ ศาลปกครองก็อยู่ระหว่างการสรรหาตุลาการประจำศาลปกครองชั้นต้นรุ่นใหม่ แล้วก็ รุ่นที่ได้มีการสรรหาแล้วก็มีการแต่งตั้ง และตอนนี้ก็อยู่ระหว่างการอบรม ซึ่งจะเสร็จสิ้น การอบรมก็ประมาณต้นปีหน้าแล้วท่านก็จะสามารถที่จะเข้าทำหน้าที่ได้ แต่ในระหว่างนี้ ก็มีการสรรหารุ่นใหม่อยู่ ซึ่งในขั้นตอนการสรรหาก็อยู่ในขั้นตอนของการสอบข้อเขียน ซึ่งมีการสอบข้อเขียนผ่านไปจำนวน ๑๖๑ คน แล้วก็จะมีขั้นตอนต่อไปคือขั้นตอน การสอบสัมภาษณ์ และกว่าจะได้เสร็จสิ้นกระบวนการก็จะประมาณเดือนมีนาคม เดือนเมษายนของปีหน้าก็คงจะเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของการพิจารณาพิพากษาคดี จากคดีที่คั่งค้างอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ในส่วนของแนวทางการบริหารจัดการคดี คดีที่ท่านสมาชิกมีข้อห่วงใย เช่นคดีบริหารงานบุคคล เพราะบางทีความล่าช้าในการพิจารณาคดี ถ้าผู้ฟ้องคดีที่เป็นผู้เดือดร้อนเสียหาย และอายุท่านใกล้เกษียณถ้ามีคำพิพากษาหลังจาก ที่ท่านเกษียณไปแล้วอาจจะเป็นการเยียวยาไม่ทันการณ์ทางผู้บริหารศาลก็ตระหนักถึงเรื่องนี้ ก็มีการเตือน มีระบบเตือน เฝ้าระวังโดยดูจากเกณฑ์อายุของผู้ฟ้องคดีก็คือ ถ้าผู้ฟ้องคดี อายุ ๕๘ ปีก็จะมีสัญลักษณ์สีหนึ่ง แล้วก็จะมีเหมือนเป็นสีกำกับไว้ให้บุคลากรที่เกี่ยวข้อง ได้ตระหนัก แล้วก็ระมัดระวังว่าท่านผู้ฟ้องคดีก็ใกล้เกษียณแล้วอะไรแบบนี้ แล้วก็อาจจะมี แนวทางการพิจารณาคดีแบบเร่งด่วนที่จะเข้ามาช่วยพิจารณาคดีได้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ในส่วนของท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีข้อสังเกตในเรื่องของการบริหารจัดการคดีล่าช้า ผมได้นำเรียนไว้แล้ว แล้วก็ต้องขอบคุณท่านสมาชิกที่เข้าใจวิธีพิจารณาคดีของศาลปกครอง ซึ่งเราใช้วิธีพิจารณาคดีเป็นระบบไต่สวน ซึ่งต้องมีการแสวงหาข้อเท็จจริงให้เพียงพอ แล้วก็ รอบด้านครบถ้วน นอกจากนี้ในส่วนของรายงานประจำปีฉบับนี้ นอกจากที่มีคดีที่น่าสนใจ และเราก็มีการเผยแพร่ในรูปแบบ e-Book ให้กับทางประชาชนหรือผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษา แล้วก็ให้ข้อสังเกตในการดำเนินงานของศาลปกครอง แล้วก็สำนักงานศาลปกครองครับ
ในท้ายสุดนี้ผมอาจจะเรียบเรียง หรืออาจจะตอบคำถามท่านไม่ครอบคลุม ครบทุกประเด็น แต่ก็ขอเรียนว่าจากข้อเสนอแนะ หรือข้อสังเกตที่ท่านให้ไว้ในที่ประชุม แห่งนี้ทางศาลปกครอง แล้วก็ทางสำนักงานศาลปกครองจะรับไปดำเนินการปรับปรุงแก้ไข แล้วก็จะมานำเสนอท่านในรายงานประจำปีฉบับต่อไป ขอบพระคุณครับ