นายเซีย จำปาทอง

  • กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม เซีย จำปาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนเครือข่ายผู้ใช้แรงงาน วันนี้ข้อ ๒.๔ เกี่ยวกับเรื่องรับทราบรายงานผลการดำเนินงาน ของสำนักงานประกันสังคม ผมมี Slide อยู่ด้วยนะครับ ขอ Slide ด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • อยากจะสอบถามท่านเลขาธิการประกันสังคมซึ่งจะมารายงานในวันนี้ คณะกรรมการประกันสังคมที่ผมจะสอบถามในวันนี้มีอยู่ ๓ ประเด็นครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๑ ซึ่งเกี่ยวข้องกันทั้งหมดทั้งข้อ ๒ และข้อ ๓ ก็คือเกี่ยวกับเรื่อง การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม หลายท่านคงจะทราบแล้วว่าบอร์ดประกันสังคมที่ ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบันมาจากการแต่งตั้งของ คสช. ดังนั้นผมจึงมีข้อสังเกตอยู่ ๒ ประเด็น แล้วก็อีก ๑ ประเด็นเป็นข้อเสนอต่อสำนักงานประกันสังคมนะครับ ประเด็นที่ ๑ ก็คือปัญหาของคณะกรรมการประกันสังคมที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ประเด็นที่ ๒ เรื่องปัญหาและอุปสรรคของการจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการ ประกันสังคม ประเด็นที่ ๓ ก็คือข้อเสนอประเด็นเกี่ยวกับเรื่องการจัดให้มีการเลือกตั้ง คณะกรรมการประกันสังคม จริง ๆ ต้องขอขอบคุณผู้นำแรงงานหลายท่าน อดีตผู้นำแรงงาน หลายท่าน อดีตนักวิชาการ พี่น้ององค์กรพัฒนาเอกชนที่ร่วมผลักดันให้เกิดกองทุน ประกันสังคม ซึ่งเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ณ ขณะนี้ กองทุนประกันสังคม ณ ขณะนี้มีผู้ประกันตนอยู่ทั้งหมด ๒๔,๔๖๕,๖๐๙ คน แยกเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา ๓๓ ๑๑ ล้านกว่าคน แยกเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา ๓๙ ๑,๘๖๕,๐๐๐ กว่าคน ผู้ประกันตน ตามมาตรา ๔๐ ๑๐ ล้านกว่าคน ผู้ประกันตนตามมาตรา ๓๓ เป็นสัญชาติไทยทั้งหมด ๘๘.๙๗ เปอร์เซ็นต์ จำนวน ๑๐ ล้านกว่าคน ในผู้ประกันตนมาตรา ๓๓ ยังมีพี่น้องแรงงาน ข้ามชาติอยู่ ๑,๘๖๕,๗๘๗ คน อยากจะบอกว่าสำนักงานประกันสังคม ณ ขณะนี้จากข้อมูล ที่ได้รับทราบก็คือ ณ วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๖ นี้ สำนักงานกองทุนประกันสังคมมีเงิน ทั้งหมด ๒,๓๔๕,๓๔๗ ล้านบาท ซึ่งเป็นกองทุนที่ใหญ่มากนะครับ แต่เราก็ทราบเหมือนกันว่า กองทุนประกันสังคมนอกจากมีเงินเยอะแล้ว ก็มีพี่น้องประชาชนรวมถึงอดีตผู้นำแรงงานเรา ได้ทวงถามเงินที่รัฐบาลคงค้างจ่ายกับสำนักงานประกันสังคมอยู่อีกประมาณ ๗๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท กองทุนประกันสังคมที่ผ่านมาเราจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคม ๓ ฝ่าย ฝ่ายผู้ประกันตน ฝ่ายนายจ้าง และรัฐ จ่าย ๕ เปอร์เซ็นต์เท่ากันตามกฎหมาย แต่ว่า รัฐไม่ได้จ่าย รัฐจ่ายแค่ ๒.๗๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นี่คือสิ่งที่อยากจะบอกท่านประธานไปถึง เลขาธิการประกันสังคมซึ่งจะมารายงานในวันนี้ ขอสไลด์ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • สิ่งที่เราเจอและอยากเปรียบเทียบ ให้เห็นก็คือว่าเวลาเราได้ Board จากการแต่งตั้ง หรือไม่ว่าคณะใดก็ตามแต่ที่มาจาก การแต่งตั้ง เรื่องการตรวจสอบเป็นไปได้ยากมากครับ การนำเงินไปพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีบริษัทเอกชนประมูลไป เราไม่ทราบว่า ณ ขณะนี้ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว ค่าใช้จ่าย ในการบริหารจัดการอาคารคอมพิวเตอร์และสำนักงานใครรับผิดชอบเรื่องค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าอื่น ๆ อยากสอบถามท่านว่าสามารถที่จะชี้แจงให้เราทราบได้หรือไม่ว่าสิ่งเหล่านี้ ณ ขณะนี้เป็นอย่างไร ดำเนินการถึงไหนแล้ว

    อ่านในการประชุม

  • สไลด์ต่อไปครับ เรื่องการนำเงินไปลงทุนของสำนักงานประกันสังคมก็เช่นกัน เราไม่สามารถทราบข้อมูลได้เลยว่าสำนักงานกองทุนประกันสังคมนำเงินไปลงทุนที่ไหนบ้าง และได้ผลตอบแทน ผลประโยชน์อย่างไร

    อ่านในการประชุม

  • Slide ต่อไปครับ นี่ก็เช่นกันครับ นำเงินไปสร้างโรงอาหารที่กระทรวงแรงงาน ใครได้ประโยชน์ ผู้ประกันตนได้ประโยชน์บ้างหรือไม่ ขออนุญาตนะครับ ขอใช้เวลาเพิ่มเติม อีกเล็กน้อย ก็อยากจะบอกว่าสิ่งเหล่านี้เราไม่สามารถที่จะตรวจสอบได้เลยว่าดำเนินการ อย่างไร และใครได้ประโยชน์บ้าง

    อ่านในการประชุม

  • Slide ต่อไปครับ สิ่งที่เราได้รับทราบก็คือว่าในปีหนึ่ง ๆ สำนักงานประกันสังคม มีรายได้ ยกตัวอย่าง ปี ๒๕๖๔ มีรายได้อยู่ประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท เป็นเงินสมทบ ของผู้ประกันตน ๑๔๘,๐๐๐ กว่าล้านบาท เงินเหล่านี้คณะกรรมการบริหารประกันสังคม สามารถใช้จ่ายได้ ในการบริหารคือกฎหมายประกันสังคมให้สามารถนำไปใช้จ่ายได้ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ตกเป็นเงินประมาณ ๑๔,๐๐๐ กว่าล้านบาท เราเลยอยากทราบว่า เงิน ๑๔,๘๙๖ ล้านบาทท่านเอาไปใช้จ่ายอะไรบ้าง

    อ่านในการประชุม

  • Slide ต่อไปครับ อยากจะบอกท่านว่าสำนักงานประกันสังคมมีคณะกรรมการ ประกันสังคมสามารถใช้เงินกองทุนได้ในแต่ละปี ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ผมอยากบอกรายละเอียดว่า ๑๐ เปอร์เซ็นต์นี้สำนักงานประกันสังคมเอาไปใช้จ่ายอะไรบ้าง มาตรา ๑๘ ของ พ.ร.บ. ประกันสังคมบอกว่าคณะกรรมการที่ปรึกษา คณะกรรมการการแพทย์ คณะกรรมการ อุทธรณ์ อนุกรรมการอาจได้รับเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก และค่าใช้จ่าย อย่างอื่นในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

    อ่านในการประชุม

  • Slide ต่อไปครับ ปี ๒๕๖๓ ตามรายงานที่วางอยู่บนโต๊ะที่ปรากฏ คณะกรรมการประกันสังคมใช้จ่ายเงินไป ปี ๒๕๖๓ ๔,๐๐๐ กว่าล้านบาท ปี ๒๕๖๔ ๕,๕๐๐ กว่าล้านบาท ผมในฐานะที่จ่ายเงินเข้ากองทุนประมาณ ๓๐ กว่าปีก็อยากทราบ เหมือนกัน ผู้ประกันตนก็ฝากมาว่า ๕,๐๐๐ กว่าล้านบาทนี่เอาไปใช้อะไรบ้าง เราในฐานะ ที่เป็นคนจ่ายเงินเข้ากองทุนมีโอกาสที่จะรับทราบไหมครับว่าเงินใช้จ่ายอะไรไปบ้าง ๕,๐๐๐ กว่าล้านบาท เราอยากจะบอกว่าแล้วการเบิกจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวใครเป็นคน ตัดสินใจ มีผู้พิจารณา มีขั้นตอนในการตัดสินใจอย่างไร

    อ่านในการประชุม

  • ต่อไปข้อที่ ๒ คณะกรรมการประกันสังคมชุดปัจจุบันมีนายบุญชอบ ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน แล้วก็คณะกรรมการ มีผู้แทนของฝ่ายนายจ้างและผู้แทน ของผู้ประกันตนที่เป็นคณะกรรมการอยู่ด้วย Board ชุดนี้มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ตามคำสั่งของ คสช. เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๘ หลังจากที่ พลเอก ประยุทธ์ยึดอำนาจ ก็มีคำสั่ง คสช. โละ Board ชุดเก่า แล้วก็แต่งตั้ง Board ชุดใหม่ขึ้นมา ชุดเก่าเขาเลือกตั้งกัน โดยผ่านผู้แทนสหภาพแรงงาน แต่ว่า คสช. ยกเลิก แล้วก็แต่งตั้ง Board ชุดใหม่ รายชื่อดังที่ ปรากฏใน Slide นะครับ ต่อไปเลยครับ เมื่อยกเลิก Board ชุดเก่า แต่งตั้ง Board ชุดใหม่นะครับ ก็มีคำสั่งเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ แต่งตั้ง Board ชุดใหม่ดังรายชื่อที่ปรากฏเมื่อสักครู่ แล้วก็มีคำสั่ง คสช. ที่ ๙/๒๕๖๒ ให้จัดทำระเบียบเกี่ยวกับการเลือกตั้ง Board ประกันสังคม โดยให้จัดทำระเบียบ ภายใน ๒ ปี มีคำสั่งวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ระเบียบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงนามเห็นชอบ ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ๒ ปีเป๊ะเลยครับ เขาให้ทำภายใน ๒ ปีนะครับ สรุปว่า ท่านสามารถที่จะดึงเวลาได้ ๒ ปีพอดีเลยครับ ถ้าให้ ๓ ปีท่านก็คงจะยาวไปกว่านี้ ระเบียบ มีไม่กี่หน้านะครับ ต่อไปครับ

    อ่านในการประชุม

  • ครับผม สั้น ๆ เกือบจบแล้วครับ นี่คือสิ่งที่พวกผมพยายามพูดถึงมาตลอดว่าการเข้าถึงและการตรวจสอบกองทุนประกันสังคม ซึ่งสามารถทำได้ยากมาก ผมก่อนหน้านี้ทำหน้าที่ในการเป็นตัวแทนของคนงาน พยายาม เรียกร้องสิทธิ พยายามพูดถึงสิทธิของประกันสังคมให้เราได้มีสิทธิเข้าไปดูแล ไปตรวจสอบ ไปบริหาร เพราะว่ามันเป็นเงินของพวกเราที่จ่ายเข้าไปนะครับ เราพยายามพูดถึงมาตลอด ผมยกตัวอย่างสั้น ๆ นะครับท่านประธาน วันที่พวกเราได้เข้าไปติดตามสอบถามซึ่งท่านปลัด ก็อยู่ในบางครั้ง แล้วก็ท่านเลขาธิการประกันสังคมก็อยู่ด้วยเช่นกัน มีรายละเอียดนะครับว่า เราไปสอบถามหลายครั้งเช่นกัน ตั้งแต่วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๔ ที่สำนักงานจังหวัดนนทบุรี ๓ กุมภาพันธ์ ไปที่กระทรวงแรงงาน ๖ กรกฎาคม ไปที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนนทบุรี ผมมีโอกาสได้เจอเลขาธิการประกันสังคมนะครับ ซึ่งท่านมา ณ วันนี้ด้วย ก็คือว่าวันที่ ๕ ท่านรับปากกับพวกผมว่าจะเลือกตั้งภายในเดือนมีนาคม ๒๕๖๖ อยู่ด้วยกันเลยครับ ท่านบอกว่าท่านจะเลือกตั้งมีนาคม ๒๕๖๖ แต่ว่าก็ไม่ได้เลือกตั้ง สุดท้ายวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พวกผมไปสอบถามอีกบอกว่าจะเลือกตั้งเดือนมิถุนายน ณ ขณะนี้ยังไม่ปรากฏครับ ดังนั้นแล้วขอสรุปดังนี้ครับ ปัญหาที่ผ่านมากรอบระยะเวลาในการเลือกตั้ง Board ประกันสังคมไม่ชัดเจน ผู้ประกันตนไม่มีสิทธิที่จะเข้าไปทำหน้าที่ในการที่จะบริหารเงิน ของตนเอง ระเบียบกีดกันผู้ประกันตนซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติ ๒,๔๐๐,๐๐๐ กว่าคน แล้วก็ ไม่มีการอำนวยความสะดวก ข้อเสนอนะครับ ๑. ก็คือแก้ไขระเบียบให้ผู้ประกันตนที่เป็น แรงงานข้ามชาติ ซึ่งเขาก็จ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเช่นเดียวกับแรงงานไทยนะครับ ขอให้เขามีสิทธิได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง Board ประกันสังคมด้วยครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ ผม เซีย จำปาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนเครือข่าย ผู้ใช้แรงงาน ก็ต้อขอขอบคุณเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมที่มาชี้แจงข้อมูลให้เราได้ทราบ อยากจะบอกท่านว่าข้อมูลที่ท่านชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องการเลือกตั้ง Board ประกันสังคม ผมไม่รู้ว่ามีความคลาดเคลื่อนหรือไม่ อย่างไร ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ผมไปที่สำนักงาน ประกันสังคมที่นนทบุรี ได้ข้อมูลจากรองโฆษกว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งเดือนมิถุนายน ซึ่งผมเองก็พยายามสอบถาม Timeline ว่าจะมีกำหนดการในการดำเนินการอย่างไรบ้าง ก็ไม่ได้ข้อมูลนะครับ วันนี้ได้ข้อมูลจากท่านเลขาธิการมาชี้แจงเองว่าจะมีการเลือกตั้ง วันที่ ๒๔ ธันวาคม ผมขอสอบถามเพิ่มเติมว่าระยะเวลากำหนดการในการที่จะดำเนินการ จัดการเลือกตั้งเป็นอย่างไรบ้าง ที่ท่านบอกว่าจะนำเสนอคณะกรรมการประกันสังคม ขอทราบรายละเอียดนี้เพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ประกันตนได้ไว้ใจว่าสิ่งที่ผ่านมาหลายครั้ง ที่เราเจอโรคเลื่อนแล้วเลื่อนอีก ครั้งนี้จะไม่มีการเลื่อนอีก

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ เรื่อง Board ประกันสังคมเช่นเดียวกันครับ เพราะว่า Board มีความสำคัญในการที่จะมาบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นเงินการลงทุนหรือว่าส่วนอื่น ๆ เพราะฉะนั้นถ้าพยายามที่จะเลื่อนการเลือกตั้ง Board ประกันสังคมต่อไปในครั้งแล้วครั้งเล่า ผมคิดว่ามันจะทำให้ประกันสังคมได้รับความเสียหาย เงินที่ควรที่จะได้ แล้วก็นำมาลงทุน ให้เกิดประโยชน์ หรือสิทธิต่าง ๆ ของผู้ประกันตนจะหายไป ก็ฝากท่านประธานถาม เลขาประกันสังคมนะครับ ให้ท่านชี้แจงประเด็นเกี่ยวกับโรคเลื่อนด้วยครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ หารือ ท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาที่เคารพ ผม เซีย จำปาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนเครือข่ายผู้ใช้ แรงงาน ผมขอหารือท่านประธานเรื่องวาระการประชุม เนื่องจากมีเรื่องเร่งด่วนที่ประชาชน สอบถามผ่านพรรคก้าวไกลมาเป็นจำนวนมาก กรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงนามในระเบียบกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งส่งผลกระทบและสร้างความสับสนกับพ่อแก่แม่เฒ่าและพี่น้อง ประชาชนเป็นจำนวนมาก ผมมีข้อกังวลอย่างมากในเรื่องดังกล่าว เพราะปัจจุบันพ่อแก่ แม่เฒ่ากว่าจะได้รับเงินบำนาญผู้สูงอายุก็ต้องมีอายุ ๖๐ ปี แล้วก็ได้เพียงแค่เดือนละ ๖๐๐ บาท ๗๐๐ บาท ตามอายุ อย่างมากก็ ๑,๐๐๐ บาท ถามว่าพอใช้หรือไม่ ไม่พอ หรอกครับ ๖๐๐ บาทต่อเดือน น้อยกว่าค่าอาหารของบางคนในแต่ละวันด้วยซ้ำ การปรับเปลี่ยนระเบียบดังกล่าวถือว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเลือดเย็นอย่างมาก ท่านกำลังเปิดช่องให้มีการทำลายระบบสวัสดิการถ้วนหน้า เปลี่ยนไปใช้ระบบอนาถา ต้องพิสูจน์ความจน ใช้การเลือกปฏิบัติทำร้ายพ่อแก่แม่เฒ่าผู้สร้างคุณูปการต่อบ้านเมือง อย่างมากมายมหาศาลเกินกว่าจะพูดหมดในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ผมขอหารือท่านประธาน ขอให้ท่านบรรจุวาระการถามกระทู้ในวาระการประชุมโดยเร็ว แม้ขณะนี้จะเป็นรัฐบาล รักษาการก็ตาม แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้กลับกลายเป็นว่าสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถ ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลได้ จะเชิญรัฐมนตรีมาสอบถามเหตุผลและรายละเอียด ก็ทำไม่ได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่แล้วก็สำคัญมาก และมีผลกระทบกับพี่น้องประชาชน เป็นจำนวนมาก จึงขอให้ท่านประธานบรรจุวาระกระทู้ถามสดในสัปดาห์หน้า ไม่ต้องรอให้มี การตั้งรัฐบาล ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาที่เคารพ ผม เซีย จำปาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วน เครือข่ายผู้ใช้แรงงาน ผมมีเรื่องจะหารือท่านประธาน ๓ เรื่องครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ ลูกจ้างบริษัท แอลฟ่า สปินนิ่ง จำกัด ตั้งอยู่ที่อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ประกอบกิจการสิ่งทอ มีลูกจ้างประมาณ ๒๒๕ คน ลูกจ้างได้รับ ความเดือดร้อนจากนายจ้างลดค่าจ้าง ค้างจ่ายค่าจ้าง ขอ Slide ด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • หักเงินค่าจ้างแล้วไม่จ่ายคืนให้กับ ลูกจ้าง ต่อมาปิดกิจการ เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินอื่น ๆ ที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ลูกจ้างบริษัท เอเอ็มซี สปินนิ่ง จำกัด ตั้งอยู่ที่อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ประกอบกิจการปั่นด้าย มีลูกจ้าง ๑๕๐ คน ลูกจ้างได้รับ ความเดือดร้อนจากนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๖๖ ต่อมานายจ้าง ปิดกิจการเลิกจ้างโดยไม่จ่ายเงินค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินอื่น ๆ ที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกฎหมาย ๒ โรงงานแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้เคียงกันเหมือนเลียนแบบกัน เลิกจ้างและไม่จ่ายเงินค่าชดเชยและเงินอื่น ๆ ที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย ทั้ง ๆ ที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานได้กำหนดไว้ สร้างความเดือดร้อนให้กับลูกจ้างและยัง ส่งผลกระทบกับครอบครัวของลูกจ้างอีกเป็นจำนวนมาก ลูกจ้างทั้ง ๒ แห่งได้ยื่นหนังสือ ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนเงินสงเคราะห์ลูกจ้าง เพียงไม่กี่บาท แต่รัฐยังไม่สามารถติดตามนายจ้างให้นำเงินมาจ่ายให้ลูกจ้างตามสิทธิ ที่ควรได้รับได้ และขณะนี้ทราบว่านายจ้างเริ่มขนทรัพย์สินในโรงงานออกไปขายแล้ว ดังนั้น จึงขอเรียนท่านประธานไปยังนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน คนใหม่เร่งดำเนินการติดตามนายจ้างทั้ง ๒ ราย ให้นำเงินมาจ่ายให้ลูกจ้างอย่างเร่งด่วน หากไม่สามารถติดตามได้ให้รัฐบาลนำเงินมาจ่ายให้ลูกจ้างก่อนแล้วค่อยไปติดตามเอาเงินกับ นายจ้างมาเข้าคงคลังคืน และรัฐต้องดำเนินคดีอาญาอย่างเด็ดขาดกับนายจ้างทั้ง ๒ รายนี้ เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างกับนายจ้างรายอื่น ๆ อีก

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ มีการจ้างงานรูปแบบใหม่ที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในร้านสะดวกซื้อ บริษัทรับลูกจ้างเข้ามาทำงานในตำแหน่งหนึ่ง แล้วให้ลูกจ้างไปทำงานอีกหน้าที่หนึ่ง ลูกจ้าง ไม่ถนัดกับงานนั้น ๆ เมื่อทำงานที่ไม่ถนัดจึงทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ขอ Slide ด้วยนะครับ เช่นเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๖ เกิดอุบัติเหตุกับลูกจ้างรายหนึ่งถึงขั้นเสียชีวิต โดยก่อน หน้านี้นายจ้างประกอบกิจการทำขนมปังแห่งหนึ่ง รับลูกจ้างชื่อนายชาณัฐเข้าทำงาน ในหน้าที่ตรวจรับสินค้า วันหนึ่งนายจ้างสั่งให้ขับรถจักรยานยนต์ไปส่งขนมปัง ต่อมา เกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนขณะไปส่งสินค้า ญาติผู้เสียชีวิตสันนิษฐานว่าเกิดจากความไม่ถนัด ในการขับรถและอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่เหมาะสม และนายจ้างก็ไม่ดูแลเยียวยาครอบครัว ครอบครัวลูกจ้างได้นำเรื่องร้องเรียนต่อสวัสดิการของแรงงานกรุงเทพมหานคร เขต ๑๐ เมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๖๖ ก่อนหน้านี้ก็เคยเกิดเรื่องแบบนี้เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๖ ซึ่งเพิ่มงานให้ลูกจ้าง สุดท้ายลูกจ้างทำงานหนักเหนื่อยและเสียชีวิตหลังร้านสะดวกซื้อ ในเวลาต่อมา จึงขอเรียนท่านประธานไปยังกระทรวงแรงงานช่วยตรวจสอบการจ้างงาน ในลักษณะดังกล่าวและหาแนวทางช่วยเหลือลูกจ้างต่อไป ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม เซีย จำปาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วน เครือข่ายแรงงาน ผมมีเรื่องจะหารือท่านประธาน ๒ เรื่องครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ บริษัท แอลฟ่าสปินนิ่ง จำกัด และบริษัท เอ เอ็น ซี สปินนิ่ง จำกัด ตั้งอยู่อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ

    อ่านในการประชุม

  • ประกอบกิจการเกี่ยวกับ สิ่งทอเลิกจ้างลูกจ้างและไม่จ่ายเงินค่าชดเชยและเงินอื่น ๆ ที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ทั้ง ๒ โรงนี้ทำเหมือนกันเลยครับ ก็คือเลิกจ้างและไม่จ่ายเงินค่าชดเชยให้กับลูกจ้าง สร้างความเดือดร้อนให้กับลูกจ้างและมีผลกระทบกับครอบครัวของลูกจ้างเป็นจำนวนมาก ลูกจ้างทั้ง ๒ แห่งได้เดินทางไปยื่นหนังสือกับผู้ว่าราชการจังหวัด สวัสดิการและคุ้มครอง แรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แต่ว่า ณ ขณะนี้หน่วยงานของรัฐยังไม่สามารถ ที่จะติดตามนายจ้างให้นำเงินมาจ่ายให้ลูกจ้างได้ จึงขอเรียนท่านประธานไปยัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายกรัฐมนตรี ขอให้เร่งดำเนินการแก้ปัญหาให้กับ ลูกจ้างอย่างเร่งด่วนด้วยโดยมีข้อเสนอดังนี้ครับ ขอให้รัฐบาล ติดตามตัวนายจ้างนำเงินมา จ่ายให้ลูกจ้างตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ถ้ารัฐไม่สามารถติดตามนายจ้างได้ ขอให้รัฐ อนุมัติเงินจ่ายให้กับลูกจ้างก่อนแล้วก็ไปติดตามเอากับนายจ้างมาจ่ายคืนให้กับรัฐบาลคืน นะครับ ข้อที่ ๓ ขอให้รัฐบาลดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญากับนายจ้างเพื่อไม่ให้เป็น เยี่ยงอย่างกับนายจ้างบริษัทอื่นอีก

    อ่านในการประชุม

  • ข้อที่ ๒ สืบเนื่องจากเรื่องแรก ก็คือเรื่องเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพของ ประชาชน เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายนที่ผ่านมาลูกจ้างหญิงอายุเฉลี่ยประมาณ ๕๐ ปี ประมาณ ๒๕๐ คนเดือดร้อนจากการถูกเลิกจ้างเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาลหวังจะไปยื่นหนังสือกับ นายกรัฐมนตรี แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตั้งแผงเหล็กสกัดกั้นไม่ให้ลูกจ้างเดินทางไปยื่นหนังสือได้ มีเจ้าหน้าที่ยืนเรียงรายประมาณลูกจ้างเป็นผู้ร้ายประมาณนั้น ทั้งที่พวกเขาเป็น แรงงานหญิงแล้วก็ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก มีลูกจ้างเขาถามผมว่าเราอยู่ภายใต้รัฐบาล พลเรือน หรือรัฐบาลทหารกันแน่ ก็คือเขาถามว่าทำไมเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ไปตามนายจ้าง ที่นายจ้างโกงพวกเขาแล้วมาสกัดกั้นลูกจ้างเพื่ออะไร ผมจึงขอเรียนท่านประธานไปยัง นายกรัฐมนตรีช่วยสั่งการไปยังเจ้าหน้าที่ให้หยุดจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน สร้างบรรยากาศแบบรัฐบาลพลเรือนที่เคารพหลักสิทธิประชาธิปไตย รับฟังปัญหาของลูกจ้าง และเร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของลูกจ้างอย่างเร่งด่วน ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ ผม เซีย จำปาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วน เครือข่ายผู้ใช้แรงงาน ผมต้องขอขอบคุณท่านประธานที่บรรจุระเบียบวาระ เรื่องที่ผม และคณะขอเสนอญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาแก้ไขปัญหาการจ้างงานและเพิ่มทักษะแรงงาน ที่ผ่านมาเราทราบกันเป็นอย่างดีว่า ผู้ใช้แรงงานไม่ได้หมายถึงผู้ที่ทำงานในโรงงานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงลูกจ้างที่ทำงานประจำทุกคน ทั้งพนักงานออฟฟิศ ลูกจ้าง หน่วยงานรัฐ Rider คนทำงานอิสระ รับจ้างในภาคเกษตร เป็นต้น ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรวัยแรงงาน คืออายุตั้งแต่ ๑๕ ปีขึ้นไป จำนวน ๕๘ ล้านกว่าคน แรงงานที่อยู่ในกำลังแรงงาน ๔๐ ล้านคน ผู้มีงานทำ ๓๙ ล้านกว่าคน คนว่างงานประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ กว่าคน และผู้ที่รองานตามฤดูกาลประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ คน

    อ่านในการประชุม

  • นอกจากนี้นอกจากคนที่อยู่ในวัย ทำงานแล้วยังมีแรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศ จำนวน ๑๑๓,๐๐๐ กว่าคน มีรายได้ ที่แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศในปี ๒๕๖๕ และ ๒๕๖๖ ส่งกลับประเทศผ่านระบบ ธนาคารแห่งประเทศไทย มูลค่า ๒๙๙,๐๐๐ กว่าล้านบาท และขณะนี้มีจำนวนแรงงาน ข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ณ มีนาคม ๒๕๖๖ ที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง มีอยู่ ๒,๗๔๓,๖๗๓ คน ท่านประธานครับ แรงงานมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ และเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แม้สิทธิแรงงานจะถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย แต่แรงงานเป็นกลุ่มคนที่ถูกลืม รัฐบาลไม่ได้ให้ความสนใจปล่อยให้ กลุ่มทุนเอาเปรียบมาตลอด แรงงานต้องเผชิญกับปัญหามากมาย เช่นความมั่นคง ในการทำงาน แม้จะมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานแต่รัฐก็ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายคุ้มครอง แรงงานได้ กฎหมายคุ้มครองแรงงาน มาตรา ๑๑/๑ แม้ลูกจ้างจะอยู่ในสถานประกอบการ เดียวกัน แต่ก็มีการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน ที่ผ่านมานายจ้างปิดกิจการเลิกจ้างลูกจ้าง ไม่จ่ายเงินค่าจ้าง ไม่จ่ายเงินค่าชดเชย ไม่จ่ายเงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินอื่น ๆ ที่ลูกจ้างได้รับ สิทธิตามกฎหมายที่ลูกจ้างได้รับ ไม่ได้รับ ปัญหาค่าจ้างไม่เพียงพอ ต่อการดำรงชีพ ค่าจ้างขั้นต่ำถูกกำหนดไม่ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาขององค์การแรงงาน ระหว่างประเทศ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ลูกจ้างต้องทำงานหนักเกินกว่าที่กฎหมาย กำหนดเพื่อได้เงินที่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน นอกจากนั้นยังมีปัญหาการรวมตัว เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง เรามีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ๒๕๑๘ ที่ล้าหลัง ซึ่งไม่สอดคล้อง ต่อสถานการณ์การจ้างงานในยุคปัจจุบัน แค่แรงงานที่คิดจะรวมตัวกันก็ถูกเลิกจ้างแล้วครับ ปัญหาความปลอดภัยในการทำงานในแต่ละปีเราจะเห็นว่ามีแรงงานที่ประสบอันตราย เจ็บป่วยจากการทำงานเพิ่มขึ้น ปัญหาประกันสังคมภายใต้คณะกรรมการ ปัญหา คณะกรรมการสังคมที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ทุกวันนี้ก็ยังอยู่ ปัญหาเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ของรัฐ ปัญหาจำนวนแรงงานขาดแคลน ปัญหารูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนไปตาม สถานการณ์ รูปแบบการจ้างการผลิตสมัยใหม่ และปัญหาการเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน ที่มีศักยภาพมากขึ้น ดังนั้นผมและคณะจึงขอเสนอญัตติด่วนดังกล่าวเพื่อให้ สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาในเรื่องการแก้ไข ปัญหาการจ้างงานและเพิ่มทักษะแรงงาน ท่านประธานครับ ผมขออภิปรายลงรายละเอียด เพิ่มเติมนะครับ ปัญหาการคุ้มครองแรงงานที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการถูกเลิกจ้าง โดยที่นายจ้างลอยแพลูกจ้าง ไม่สนใจที่จะจ่ายเงินค่าจ้าง ไม่สนใจที่จะจ่ายเงินค่าชดเชย หรือเงินแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าทำให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าลูกจ้างจะนำเรื่องไปร้องต่อสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และนำเรื่องไปฟ้องต่อศาล ก็ตามแต่ เมื่อลูกจ้างนำเรื่องไปร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครอง แรงงาน พนักงานตรวจแรงงาน ออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินต่าง ๆ ให้กับลูกจ้าง แต่นายจ้าง ก็ไม่จ่าย ไปฟ้องศาลลูกจ้างก็ชนะคดีได้กระดาษมา ๑ แผ่นว่าให้นายจ้างจ่ายเงินให้กับลูกจ้าง แต่นายจ้างก็ไม่จ่าย รัฐก็ไม่สามารถบังคับที่จะให้นายจ้างจ่ายเงินให้กับลูกจ้างได้ เช่นที่ผ่านมา มีบริษัทที่ปิดกิจการลอยแพช่วงเมื่อต้นปีที่ผ่านมามีบริษัท แอลฟ่า สปินนิ่ง จำกัด บริษัท เอเอ็มซี สปินนิ่ง จำกัดและมีบริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จํากัด ซึ่งประกอบกิจการเกี่ยวกับสิ่งทออยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ แล้วก็จังหวัดนครสวรรค์ มีลูกจ้างรวมกันประมาณ ๒,๐๐๐ คน ณ ขณะนี้ลูกจ้างยังไม่ได้รับการดูแลเยียวยาหรือเงิน ค่าชดเชยแต่อย่างใด ท่านประธานครับ สิ่งที่เจ็บปวดมากกว่านั้นเมื่อลูกจ้างเดินทาง ไปร้องเรียนกับรัฐกลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐบางคนขัดขวาง ข่มขู่ เหมือนซ้ำเติมลูกจ้าง บางครั้ง ถึงกับแจ้งความดำเนินคดี นี่คือสิ่งที่เจ็บปวดกับพี่น้องแรงงาน เขาไม่อยากไปหรอกครับ ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เขาไม่อยากไปหรอกครับกระทรวงแรงงาน แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น กับพวกเขาก็คือนายจ้างลอยแพพวกเขา เขาจำเป็นที่จะต้องไปหารัฐเพื่อให้รัฐดูแลแก้ปัญหา เพราะมันเป็นหน้าที่ของรัฐ สิ่งที่ผมอยากจะบอกต่อไปก็คือว่าปัญหาการรวมตัวสร้างอำนาจ ต่อรอง กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ปี ๒๕๑๘ ล้าหลัง ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน แม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ร่วมก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ แต่มีอนุสัญญา หลายฉบับที่รัฐบาลไทยไม่ให้การรับรอง รวมในนั้นก็มีฉบับที่ ๘๗ และ ๙๘ ว่าด้วยสิทธิ ในการรวมตัวและเจรจาต่อรองอยู่ด้วย ขบวนการแรงงานยื่นข้อเรียกร้องมากกว่า ๓๐ ปี ก็ยังไม่ได้รับการรับรอง ภาพที่ท่านเห็นก็คือเป็น Poster ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม แรงงานก็มาเรียกร้องเกี่ยวกับเรื่องนี้อีก ดังนั้นจึงทำให้สหภาพแรงงานในประเทศไทย มีจำนวนน้อยมาก สหภาพแรงงานในประเทศไทยมีสมาชิกแค่ ๑.๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จึงอยากจะบอกกับท่านประธานว่าปัจจุบันการจัดตั้งสหภาพแรงงานในประเทศไทยค่อนข้าง จะทำได้ยาก แค่คนคิดจะรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงานก็ถูกนายจ้างเลิกจ้างแล้ว อีกปัญหาหนึ่งท่านประธาน ปัญหาเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน แต่ละปีเราจะเห็น จำนวนแรงงานที่ประสบอันตรายและเจ็บป่วยมากขึ้น หลายท่านคงจำได้เมื่อเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา มีน้องคนหนึ่งที่ทำงานอยู่สมุทรปราการ ถูกเตาหลอมระเบิด น้ำร้อนลวก ต้องขึ้น รถสองแถวไปโรงพยาบาลครับ ซึ่งต่อมารักษาแล้วก็ติดเชื้อจนน้องเขาเสียชีวิต สร้างความสูญเสียให้กับครอบครัวของน้องแบบที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลยหากมีการจัดการ เรื่องความปลอดภัยที่ดี แต่เรื่องราวของน้องหลายท่านก็ทราบ เพราะว่ามีคนนำมา Post ลงในสื่อ Social เลยทำให้สังคมได้รับรู้ เมื่อเป็นข่าวจึงมีหน่วยงานหลายหน่วยงาน เข้าไปดูแลช่วยเหลือ แล้วก็มีหลายโรงงานที่เป็นแบบนี้ แต่ผมก็ไม่ทราบว่า ณ ขณะนี้ เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการอย่างไรกับนายจ้างบ้าง ท่านประธานครับ นอกจากนี้ปัญหา อีกมากมายหลายอย่าง เช่น ปัญหาประกันสังคม ภายใต้คณะกรรมการที่มาจากการแต่งตั้ง ของ คสช. เมื่อพูดถึงเรื่องประกันสังคม มีข่าวเล็ก ๆ ที่เป็นข่าวดี หลังจากที่ขบวนการแรงงาน ได้ติดตามทวงถามมาหลายปีก็คือการจะมีการจัดให้มีการเลือกตั้ง Board ประกันสังคม ในวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๖ ผู้ประกันตนท่านใดยังไม่ได้ลงทะเบียนรีบลงทะเบียนนะครับ เดี๋ยวจะหมดสิทธิเลือกตั้ง เขาให้ลงทะเบียนถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคมนี้เท่านั้น หลายท่านอาจจะ ยังไม่ทราบ เพราะสำนักงานประกันสังคมไม่ค่อยได้ประชาสัมพันธ์มากนัก ยังมีปัญหา อีกมากมาย เช่น ปัญหาการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการของรัฐปัญหาแรงงานขาดแคลน ปัญหาแรงงานข้ามชาติ ปัญหารูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์รูปแบบ การผลิตแบบใหม่ ปัญหาคนทำงานบน Platform คนรับงานไปทำที่บ้าน และปัญหา การพัฒนาเพิ่มทักษะฝีมือแรงงานให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น เป็นต้น ท่านประธานครับ สั้น ๆ นะครับ แรงงานมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ และเป็นกำลังหลักในการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย แม้สิทธิด้านแรงงานจะถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย แต่แรงงานเป็นกลุ่มคนที่ถูกลืมครับท่านประธาน รัฐบาลไม่ได้สนใจ ดูแลปล่อยให้กลุ่มทุนเอาเปรียบมาตลอด ที่ผมยกตัวอย่างล้วนเป็นปัญหาเกี่ยวกับ การจ้างงานของแรงงานทั้งสิ้น การเพิ่มทักษะให้แรงงานนี่สำคัญครับ เพราะว่าระบบนี้ กำหนดให้เราต้องแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ในโลกใบนี้ ถ้าประเทศใดล้าหลังก็ยากที่จะ แข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ เนื่องจากปัญหาแรงงานมีจำนวนมาก ผมจึงขอเสนอ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาและแก้ปัญหาพี่น้องแรงงานของเราต่อไป แล้วก็หวัง เป็นอย่างยิ่งว่าสมาชิกทุกท่านจะสนับสนุนญัตตินี้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน แก้ปัญหาของพี่น้องแรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขอบคุณครับ ท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ ผม เซีย จำปาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนเครือข่าย แรงงาน ในฐานะที่เป็นผู้เสนอญัตตินี้ ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณสมาชิกทุกท่านที่ร่วมอภิปราย แล้วก็เห็นถึงความสำคัญในการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อแก้ไขปัญหาการจ้างงานแล้วก็ การเพิ่มทักษะด้านแรงงาน ท่านประธานครับ ผมขอเรียนกับท่านประธานและพี่น้องสมาชิก อีกครั้งว่าผู้ใช้แรงงานไม่ได้หมายถึงคนที่ทำงานในโรงงานเท่านั้น แต่รวมถึงลูกจ้างที่ทำงาน ทุกคน พนักงาน Office ลูกจ้างหน่วยงานของรัฐ พี่น้อง Rider คนทำงานอิสระ แรงงาน ในภาคเกษตร พี่น้องแรงงานหลายส่วนนี้มีปัญหามากมายดังที่หลายท่านได้ร่วมอภิปราย ที่ผ่านมา เช่น ปัญหาความมั่นคงในการทำงาน รัฐไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายคุ้มครอง แรงงาน มาตรา ๑๑/๑ ที่ลูกจ้างทำงานในสถานประกอบการเดียวกัน ทำงานในลักษณะ เดียวกันให้มีค่าจ้างและสวัสดิการเท่ากันได้ นายจ้างปิดกิจการ ลอยแพลูกจ้าง ไม่จ่ายเงิน ค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินอื่น ๆ ที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ในขณะเดียวกันรัฐเอง ก็ไม่สามารถติดตามนายจ้าง บังคับนายจ้างให้นำเงินมาจ่ายให้กับลูกจ้างได้ ปัญหาค่าจ้าง ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ลูกจ้างต้องทำงานอย่างหนักเพื่อให้มีรายได้ที่เพียงพอ ต่อค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน นำไปสู่ปัญหาสุขภาพของพี่น้องแรงงานในอนาคต ปัญหาสิทธิ ในการรวมตัวเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง ขณะนี้แม้แค่ลูกจ้างคิดจะรวมตัวกันก็ถูกเลิกจ้าง ปัญหาความปลอดภัยในการทำงาน ปัญหาพี่น้องที่ทำงานบน Platform ที่รูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ คนทำงานอิสระ ปัญหาแรงงานข้ามชาติก็สำคัญเช่นเดียวกัน ขอให้เรามองถึงว่าเขาเป็น คนที่มาทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตไปได้ มองเขาเหมือนกับพี่น้องแรงงาน เราที่ไปทำงานในต่างประเทศ ถ้าเราเห็นพี่น้องแรงงานเราที่ไปทำงานที่ต่างประเทศโดนกดขี่ โดนเอาเปรียบโดนดูถูก โดนเหยียดหยาม เราก็คงจะมีความรู้สึกที่ไม่ได้แตกต่างกันที่พวกเรา จะไปกระทำกับพี่น้องแรงงานที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยในลักษณะนั้น

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็คือปัญหาประกันสังคมที่บริการช้า และรับยาคุณภาพต่ำ ดังนั้นผมขอประชาสัมพันธ์ถึงผู้ประกันตนทุกท่านอีกครั้ง ขอให้ท่านรีบ ลงทะเบียนเพื่อเตรียมตัวในการเลือกตั้งตัวแทนของท่านเข้าไปบริหารเงินที่พวกท่านได้จ่าย ไปทุก ๆ เดือน ซึ่งจะหมดเขตวันที่ ๓๑ ตุลาคมนี้แล้วครับ สำนักงานประกันสังคมไม่ค่อย ประชาสัมพันธ์ ผมก็ถือโอกาสนี้ประชาสัมพันธ์บอกพี่น้องผู้ประกันตนที่มีสิทธิเลือกตั้ง รีบลงทะเบียน เข้าไปที่ Website ของสำนักงานประกันสังคม แล้วก็เตรียมตัวเลือกตั้ง ในวันที่ ๒๔ ธันวาคมที่จะถึงนี้ ท่านประธานที่เคารพ แรงงานเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อน เศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากแรงงานมีปัญหามากมายและเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง หลายหน่วยงาน ผมจึงขอเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาและหาแนวทาง การแก้ปัญหาให้กับพี่น้องแรงงานต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสมาชิกทุกท่านจะสนับสนุน ญัตตินี้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานให้ดีขึ้นต่อไป ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ไม่ขัดข้องครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม เซีย จำปาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนเครือข่าย ผู้ใช้แรงงาน ผมมีเรื่องหารือกับท่านประธาน ๑ เรื่อง แต่ว่าเรื่องนี้เคยหารือกับท่านประธานแล้ว แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ก็คือเรื่องที่นายจ้างปิดกิจการลอยแพลูกจ้าง บริษัท แอลฟ่า สปินนิ่ง จำกัด บริษัท เอเอ็มซี สปินนิ่ง จำกัด ปิดกิจการลอยแพลูกจ้าง แล้วก็ไม่จ่ายเงินใด ๆ ให้กับลูกจ้างเลย ลูกจ้างทั้ง ๒ แห่งมีความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ได้นำเรื่องร้องเรียนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พนักงานตรวจแรงงานได้ออกคำสั่งให้ นายจ้างจ่ายเงินค่าจ้างค้างจ่าย เงินค่าแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินค่าชดเชย และเงินอื่น ๆ ที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ แต่ว่านายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ไม่มีความคืบหน้า ใด ๆ ว่าจะติดตามนายจ้างให้นำเงินมาจ่ายให้กับลูกจ้างได้ เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายนที่ผ่านมา ลูกจ้างประมาณ ๒๕๐ คน เดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อไปยื่นหนังสือกับนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายสมคิด เชื้อคง ขออนุญาตที่เอ่ยนาม รองเลขาธิการ นายกรัฐมนตรีออกมารับหนังสือ มีการร่วมประชุมกันและรับปากว่าจะติดตามดูแลแก้ปัญหา ให้กับลูกจ้างเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของลูกจ้างอย่างเร่งด่วน ตามข้อเรียกร้องของลูกจ้าง ดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ขอให้รัฐบาลติดตามตัวนายจ้างให้นำเงินมาจ่ายให้ลูกจ้างตามคำสั่ง พนักงานตรวจแรงงาน

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ขอให้รัฐบาลอนุมัติเงินจ่ายค่าชดเชย หรือเงินอื่น ๆ ให้กับลูกจ้างก่อน หากไม่สามารถติดตามตัวนายจ้างได้ แล้วก็ไปติดตามเอาเงินกับนายจ้างมาจ่ายคืนให้กับ รัฐบาลโดยเร็วที่สุด

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ขอให้รัฐบาลดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญากับนายจ้างทั้ง ๒ บริษัท อย่างเด็ดขาด เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างกับนายจ้างรายอื่นอีก ระยะเวลาที่ผ่านมานะครับ ผ่านไปหลายวันแล้วแต่ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ลูกจ้างได้ติดต่อเจ้าหน้าที่ตามเบอร์โทรศัพท์ ที่เจ้าหน้าที่ให้ไว้หลายครั้งก็ไม่มีใครรับสาย ไม่สามารถติดต่อได้ แล้วก็ไม่มีใครติดต่อ กลับด้วยครับ ตอนนี้ลูกจ้างเดือดร้อนมาก จึงขอเรียนท่านประธานไปยังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้ที่รับหนังสือขอให้แจ้งความคืบหน้าให้ลูกจ้างทราบด้วย ว่าขณะนี้มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง หากติดตามตัวนายจ้างมาดำเนินการนำเงินมาจ่าย ให้ลูกจ้างได้ หรือว่าดำเนินคดีกับนายจ้างไม่ได้ ขอให้มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาลูกจ้าง ที่ได้รับความเดือดร้อนด้วยครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาที่เคารพ ผม เซีย จำปาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนเครือข่ายผู้ใช้ แรงงาน ขอสไลด์ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ผมมีเรื่องจะปรึกษาท่านประธานอยู่ ๒ เรื่องนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ ก็คือเรื่องปัญหาข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อ เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ ทะเบียนเลขที่ สบ. ๑๑ ยื่นคำเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อบริษัท ไทยอคริลิค ไฟเบอร์ จำกัด เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ทั้งสองฝ่ายเจรจากันทั้งหมด ๑๔ ครั้ง แต่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ สหภาพแรงงานได้แจ้งข้อพิพาทแรงงาน พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้ไกล่เกลี่ย ข้อพิพาทแรงงาน ซึ่งไม่สามารถตกลงกันได้ แล้วก็สหภาพแรงงานได้แจ้งนัดหยุดงาน ตั้งแต่วันที่ ๑๕ ธันวาคม หลังจากพนักงานประนอมไกล่เกลี่ยแล้ว สหภาพแรงงานแจ้งนัดหยุดงาน พนักงานประนอม ข้อพิพาทแรงงานได้ลงไปไกล่เกลี่ย เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม แต่ก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้ วันนี้จะมีการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ตกลงกันไม่ได้อีกครั้ง ก่อนหน้านี้สถานประกอบการ แห่งนี้เป็นสถานประกอบการที่มีแรงงานสัมพันธ์ดีเด่น ต่อมาทราบว่าบริษัทได้เปลี่ยนแปลง ผู้บริหารเกิดความไม่เข้าใจกันหลายเรื่องนำไปสู่ข้อขัดแย้ง ผมจึงขอเรียนท่านประธานไปยัง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานให้ช่วยไกล่เกลี่ยปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อช่วยเหลือลูกจ้าง ที่เดือดร้อนจากข้อขัดแย้งและสร้างความเข้าใจกันอย่างเร่งด่วน เพื่อมิให้เกิดปัญหากับ ลูกจ้างและนายจ้าง และส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการพัฒนาประเทศในอนาคต

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ เรื่องการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม ปัจจุบันสำนักงาน ประกันสังคมมีผู้ประกันตนทั้งหมด ๒๔ ล้านกว่าคน เป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีเงินกองทุนที่มั่นคงแล้วก็มั่งคั่งถึง ๒.๔ ล้านล้านบาท เป็นเงินที่สะสมจากลูกจ้าง นายจ้าง แล้วก็รัฐบาล ที่ผ่านมารัฐบาลก็มีการค้างจ่ายเงินเข้ากองทุนนี้อยู่หลายหมื่นล้านบาท วันที่ ๒๔ ธันวาคมนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการก่อตั้งกองทุนประกันสังคม ซึ่งจะมี การจัดให้เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ผู้ประกันตนจะได้ใช้สิทธิ ๑ สิทธิ ๑ เสียง เลือกตัวแทน ของลูกจ้างเข้าไปดูแลและเรียกร้องสิทธิที่คนงานทุกคนพึงได้รับ เป็นครั้งแรกในรอบ ๙ ปี ที่จะมีการจัดให้เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ผมจึงขอเชิญชวนผู้ประกันตนที่ลงทะเบียนแล้ว อย่าลืมไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เลือกคนที่ท่านมั่นใจว่าจะเป็นปากเสียงให้ท่านได้ แล้วก็เข้าใจ แล้วก็ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตนให้ดีขึ้นได้ ผมจึงขอเรียนท่านประธานไปยัง นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานสั่งการไปยังสำนักงาน ประกันสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกันตนที่ลงทะเบียนแล้ว ออกไปใช้สิทธิให้มากที่สุด และช่วยกำกับดูแลให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างโปร่งใสบริสุทธิ์ ยุติธรรมตรวจสอบได้ เพื่อให้บอร์ดประกันสังคมเป็นตัวแทนของผู้ประกันตนและของ นายจ้างที่มาทำหน้าที่บริหารกองทุนประกันสังคมให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้ง กองทุนประกันสังคมต่อไป ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาที่เคารพ ผม เซีย จำปาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วน เครือข่ายผู้ใช้แรงงาน ผมมีเรื่องหารือท่านประธานอยู่ ๒ เรื่องครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ เรื่องการประกาศรับรองผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการ ประกันสังคมหรือบอร์ดประกันสังคม ดังที่ทุกท่านได้ทราบแล้วว่าเมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ที่ผ่านมามีการจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ผู้ประกันตนได้ใช้ ๑ สิทธิ ๑ เสียง เลือกตั้งตัวแทนของพวกเขาเข้าไปทำงาน แล้วก็ดูแลสิทธิ ที่พวกเขาพึงได้รับ ขณะนี้การเลือกตั้งผ่านมา ๑ เดือนกับ ๑ วันแล้ว คณะกรรมการที่จัดให้มี การเลือกตั้งยังไม่มีการประกาศรับรองผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดนะครับ ที่ผ่านมาผู้ประกันตน ได้สอบถามมายังผมเป็นจำนวนมากว่า ทำไมยังไม่มีการประกาศรับรองผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง สูงสุด ที่ผ่านมาท่านก็ดำเนินการเลือกตั้งล่าช้า ประชาสัมพันธ์ก็น้อย พวกท่านคิดอะไรอยู่ครับ ท่านอยากให้มีการแต่งตั้งเหมือนในอดีตที่ผ่านมาสมัย คสช. หรือครับ เพราะฉะนั้น ๑ สิทธิ ๑ เสียง ที่พวกเขาใช้สิทธิไป ควรที่จะมีการประกาศรับรองโดยเร็ว จึงขอเรียนท่านประธาน ไปยังนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานช่วยติดตาม ตรวจสอบคณะกรรมการที่จัดให้มีการเลือกตั้ง ว่าเมื่อใดจะมีการประกาศรับรองผู้ที่ได้รับ คะแนนสูงสุด เพื่อเขาจะได้เข้าไปทำงานดูแลสำนักงานประกันสังคมต่อไป

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ เรื่องกระทรวงแรงงานไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้กับลูกจ้างที่ถูก นายจ้างปิดกิจการลอยแพ เมื่อวันที่ ๒๑ และวันที่ ๒๒ ธันวาคม ลูกจ้าง บริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท แอลฟ่า สปินนิ่ง จำกัด บริษัท เอเอ็มซี สปินนิ่ง จำกัด ประมาณ ๒๐๐ คน เดินทางไปยื่นหนังสือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แล้วก็มี ท่านอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐมนตรีมาร่วมประชุมกับลูกจ้าง แล้วก็มีบันทึกร่วมกันไว้ ๒ เรื่องด้วยกัน ๑. ก็คือว่าจะมีการแก้ไขระเบียบกองทุนสงเคราะห์ ลูกจ้างเพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิเพิ่มขึ้น ๒. ก็คือจะเสนอรัฐมนตรีให้ของบกลางมาสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น มาจ่ายให้ลูกจ้างทั้ง ๓ บริษัท ขณะนี้ผ่านมาเดือนกว่าแล้วยังไม่มี ความคืบหน้าใด ๆ จึงขอเรียนท่านประธานไปยัง นายพิพัฒน์ รัชกิจประการรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงแรงงาน เร่งดำเนินการตามที่ตัวแทนของท่านได้สัญญาไว้กับลูกจ้างด้วยครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาที่เคารพ ผม เซีย จำปาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนเครือข่าย ผู้ใช้แรงงาน ผมมีเรื่องจะหารือท่านประธาน ๒ เรื่องครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากสงครามในประเทศอิสราเอล มีลูกจ้าง ได้รับผลกระทบจากสงครามในประเทศอิสราเอลเดินทางกลับประเทศไทยในช่วงที่เกิด สงคราม กระทรวงแรงงาน รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับปากจะดูแลลูกจ้าง ตั้งแต่ วันที่เกิดเหตุจนถึงวันนี้ระยะเวลาผ่านมา ๔ เดือนกว่าแล้ว เงินค่าแท็กซี่ที่เดินทางจาก ที่ทำงานมาสนามบินเพื่อขึ้นเครื่องกลับประเทศไทย กระทรวงแรงงานยังไม่ได้โอนให้กับ ลูกจ้าง ลูกจ้างได้ติดต่อไปที่กระทรวงแรงงานหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า นอกจากนี้ ยังมีเงินเดือนค้างจ่ายและเงินสะสมที่นายจ้างหักเงินรายได้ของลูกจ้างเข้ากองทุนสะสม ในขณะที่ลูกจ้างยังทำงานอยู่ที่ประเทศอิสราเอล ลูกจ้างได้ติดต่อไปที่กระทรวงการต่างประเทศ หลายครั้งก็ไม่มีความคืบหน้าเช่นกัน อยากจะบอกว่าลูกจ้างได้รับผลกระทบจากภัยสงคราม ได้รับความเดือดร้อนอย่างมากแล้ว แต่ว่าพอมาเจอกระบวนการการดำเนินงานภายในประเทศ ยิ่งล่าช้าไปใหญ่นะครับ ก็อยากจะฝากท่านประธานไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เร่งดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาอย่างเร่งด่วน แล้วก็รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เร่งดำเนินการติดตาม ประสานงาน ช่วยเหลือลูกจ้างในกรณีที่มีเงินเดือนค้างจ่ายและ เงินสะสมที่ลูกจ้างยังไม่ได้รับจากนายจ้างที่ประเทศอิสราเอลด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ เรื่องนี้ผมได้หารือต่อที่ประชุมสภาแล้ว ๒ ครั้ง ครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๖๗ ครั้งที่ ๒ วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ก็คือเรื่องลูกจ้างบริษัท บอดี้ แฟชั่น ลูกจ้างบริษัท แอลฟ่า สปินนิ่ง ลูกจ้างบริษัท เอเอ็มซี สปินนิ่ง ที่ได้เดินทางไป ยื่นหนังสือต่อกระทรวงแรงงาน แล้วก็มีตัวแทนของกระทรวงแรงงานซึ่งนำโดยนายอารี ไกรนรา นายมนัส โกศล ที่ปรึกษารัฐมนตรี นายธีระวิทย์ วงศ์เพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ กระทรวงแรงงาน และนายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในวันดังกล่าว มีการประชุมร่วมกันและมีข้อตกลงร่วมกัน จัดทำเป็นบันทึกการประชุมและลงลายมือชื่อกัน เรียบร้อย กระทรวงแรงงานได้ลงบันทึกว่ากระทรวงแรงงานจะเสนอรัฐมนตรีเพื่อขอรับ การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายจ่ายเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น มาจ่ายให้ลูกจ้างทั้ง ๓ บริษัท เพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินตามสิทธิครบถ้วนตามกฎหมายได้เร็ว ที่สุด ขณะนี้ระยะเวลาผ่านมาเกือบ ๒ เดือนแล้วครับ ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ จึงฝาก ท่านประธานไปยังนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ช่วยเร่งดำเนินการด้วยครับ ความคืบหน้าของลูกจ้างแม้แต่วันเดียวลูกจ้างก็เดือดร้อนอย่างมาก ก็ฝากท่านประธานไปถึง รัฐมนตรีทั้ง ๒ ท่านด้วยครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาที่เคารพ ผม เซีย จำปาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนเครือข่ายผู้ใช้ แรงงาน ผมขออภิปรายสนับสนุนญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษา เรื่อง การสร้างคนให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศภายใต้การปกครอง ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ขอสไลด์ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ผมมีความ คิดเห็นต่อญัตตินี้ว่าการจะสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพได้ต้องมี ๒ อย่าง ดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • ๑. สุขภาพกายดี นั่นคือต้องมีปัจจัยพื้นฐานที่ดำรงชีวิตที่เพียงพอต่อการ ดำรงชีพ อย่างน้อยต้องมีปัจจัย ๔ ปัจจัย ๔ มีอาหาร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และปัจจัยอื่น ๆ อีกที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ยกตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายทางสังคม กฐิน ผ้าป่า งานบุญ งานบวช ค่าดูแลบุตร และครอบครัว ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด ค่าโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต แฟ้บ สบู่ ยาสีฟัน นี่คือสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต

    อ่านในการประชุม

  • ๒. สุขภาพใจดี นั่นคือต้องมีเวลาพักผ่อนกับครอบครัว กับเพื่อน ต้องมีเวลา สำหรับการใช้ความคิดสร้างสรรค์และการเรียนรู้

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ผมจะขอพูดถึงปัญหาด้านแรงงาน ที่ผ่านมาแรงงาน มีปัญหาอะไรบ้าง แล้วค่อยพูดถึงแนวทางการแก้ปัญหา หรือพูดถึงแนวทางการสร้างคน ให้มีคุณภาพ ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรวัยแรงงาน ๕๘ ล้านคน โดยเป็นผู้ที่อยู่ใน กำลังแรงงาน ๔๐ ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ ๓๙ ล้านคน คน ๔๐ ล้านคนเป็นกำลังหลัก ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศนี้ วันนี้หากคน ๔๐ ล้านคน ไม่ทำงานพร้อมกัน ตลาดสดจะไม่มีของขาย ห้างสรรพสินค้าจะถูกปิด ขยะจะเต็มบ้านเต็มเมืองไม่มีคนเก็บ โรงงานอุตสาหกรรมจะถูกปิดหมด โรงไฟฟ้าจะถูกปิด เราจะไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีคนส่งของ ส่งอาหารให้พวกเรา ดังนั้นผู้ใช้แรงงานจึงเป็นกำลังหลักที่มีความสำคัญในการพัฒนา เศรษฐกิจของประเทศและโลกใบนี้อย่างยิ่ง ผมอยากเรียนท่านประธานแบบนี้ว่าในอดีต แรงงานทั่วโลกทำงานหนักมาก ทำงาน ๑๖-๑๘ ชั่วโมงต่อวัน สภาพการทำงานที่เลวร้าย ไร้สวัสดิการใด ๆ ตามประวัติศาสตร์ของแรงงานจึงมีการพยายามเรียกร้องต่อสู้ตลอดมา ต่อสู้กับความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ของแรงงาน วันที่ ๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๘๖ เป็นต้นกำเนิดของ วันกรรมกรสากล สหพันธ์แรงงานในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา กำหนดให้วันที่ ๑ พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันนัดหยุดงานครั้งใหญ่ และให้มีการจัดชุมนุมเดินขบวนเพื่อเรียกร้อง ระบบ สาม ๘ นั่นก็คือ ทำงาน ๘ ชั่วโมง พักผ่อน ๘ ชั่วโมง ศึกษาหาความรู้ ๘ ชั่วโมง ท้ายที่สุดจึงมีการกำหนดกรอบการทำงานระบบ สาม ๘ ประเทศไทยในปัจจุบันก็เช่นกันครับ ประเทศไทยแม้จะมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกำหนดการจ้างงานสัปดาห์หนึ่งไม่เกิน ๔๘ ชั่วโมง วันหนึ่งไม่เกิน ๘ ชั่วโมง แต่ในความเป็นจริงนั้นแรงงานไทยทำงานหนักมากครับ ท่านประธานครับ ท่านยังจำข่าวที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ได้หรือไม่ ข่าวที่มี พนักงานที่ทำงานในวงการสื่อทำงานจนเสียชีวิตคาโต๊ะทำงาน และในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๖ มีพนักงานร้านสะดวกซื้อทำงานหนักจนเสียชีวิตอยู่หลังร้าน นี่เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้น ครับท่านประธาน ชีวิตแรงงานไทยทำงานหนัก พักผ่อนน้อย ด้อยสวัสดิการ นอกจากข้อมูล ที่กล่าวมาแล้ว ยังมีข้อมูลยืนยันว่าแรงงานไทยทำงานหนักมาก เช่น ข้อมูลจากบริษัทด้าน การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสภาวะการทำงาน ซึ่งได้เผยแพร่ผลการสำรวจปี ๒๕๖๕ ชี้ว่า กรุงเทพมหานครเป็นเมืองรั้งท้ายโลกด้านสมดุลการใช้ชีวิต เป็นเมืองที่ทำงานหนักอยู่ใน อันดับ ๕ ของโลก แรงงานทำงานหนักมาก ทำงานหนักขนาดนี้เราจะหวังให้พลเมืองไทย พัฒนาตนเองจนกลายเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพได้อย่างไร หากเราไม่มีเวลาให้กับสิ่งอื่นใดใน ชีวิตเลย นอกจากแรงงานอยู่กับการต้องทำงาน ทำงาน ทำงาน ไม่มีใครดิ้นรนอยากทำงานหนัก แต่ว่าสาเหตุที่แรงงานต้องทำงานหนักก็เพราะต้องการเงิน ต้องการรายได้เพื่อนำมาใช้จ่าย ในการดำรงชีวิตภายใต้สภาวะของแพงค่าแรงถูก การทำงานที่มีค่าจ้างขั้นต่ำเพียงวันละ ๓๐๐ บาทต่อวัน มันไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตอย่างแน่นอนครับ แม้ว่าแรงงานจะใช้ชีวิต แบบแร้นแค้นยากลำบากเพียงใดก็ไม่เพียงพอ ในนิยามของคำว่า ค่าจ้างแรงงานเพื่อชีวิต ตามงานวิจัย ปี ๒๕๖๕ ของกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๕ ชี้ว่าค่าจ้าง ขั้นต่ำที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของคนทำงาน ๑ คน และครอบครัวขนาดเล็กท่ามกลาง ภาวะค่าครองชีพเรื่องเงินเฟ้อในประเทศไทยปัจจุบันควรอยู่ที่ ๗๒๓-๗๘๙ บาทต่อวัน ซึ่งห่างจากค่าจ้างขั้นต่ำตอนนี้อย่างมาก และเมื่อแรงงานต้องทำงานหนัก ทำงานมากขึ้น ในแต่ละวันเพื่อให้ได้เงินที่เพียงพอต่อการดำรงชีพขั้นพื้นฐาน แน่นอนว่าปัญหาต่าง ๆ ก็ตามมา เช่น ปัญหาด้านสุขภาพ มีการเจ็บป่วยก่อนวัยอันควร เกิดปัญหาครอบครัว ไม่มีเวลา ให้กับครอบครัว ไม่มีเวลาให้กับลูกหลาน ส่งผลให้เยาวชนเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา เสี่ยงต่อการติดยาติดเป็นปัญหาสังคม หากจะแก้ปัญหานี้ก็ควรแก้ที่ต้นเหตุของปัญหาครับ ควรเกาให้ถูกที่คัน วันนี้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ ๒-๑๖ บาท ถามว่าจะพอเลี้ยงชีพได้อย่างไร ทำไมกระทรวงแรงงานไม่ทำตามนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่หาเสียงไว้ วันละ ๖๐๐ บาทต่อวัน บางคนบอกว่านั่นมันเป็นอำนาจของคณะกรรมการไตรภาคี ผมจึงถามว่า ทำไมคณะกรรมการ ไตรภาคี จึงกำหนดค่าแรงที่มุ่งทำลายชีวิตของคนทำงาน ภาพที่ปรากฏบนสไลด์ นายกฉุน ฉุนแล้วอย่างไรต่อครับ ทำอะไรได้บ้าง ทำได้หรือไม่ทำ หรือแค่การละคร เพราะฉะนั้น ผมอยากให้กรรมาธิการวิสามัญชุดที่จะตั้งขึ้นนี้ตั้งคำถามและหาข้อมูลที่เป็นต้นตอของปัญหา ที่แท้จริงให้ปรากฏ เพื่อนำปัญหานั้นมาแก้ไขต่อไป หากแค่พูดแค่ปลายเหตุเหมือนเกา ไม่ถูกที่คัน คันที่หลังแต่มาเกาที่พุงมันไม่สามารถที่จะหายคันได้ ไม่สามารถแก้ปัญหาของ คนส่วนใหญ่ของประเทศเราได้อย่างแท้จริง สุดท้ายผมขอยืนยันว่าแรงงานเป็นผู้สร้างโลก และแรงงานไทยมีศักยภาพไม่แพ้ชาติใดในโลก โจทย์ของเราจึงขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายบริหารและ ฝ่ายนิติบัญญัติจะสามารถทวงคืนชีวิตที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และปลดล็อกหนทางสู่ความเป็น พลเมืองให้มีคุณภาพได้อย่างไร ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม เซีย จำปาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วน เครือข่ายผู้ใช้แรงงาน ผมมีเรื่องหารือท่านประธานอยู่ ๒ เรื่องครับ ขอสไลด์ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ เป็นเรื่องที่กระทรวง แรงงานไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้กับลูกจ้างที่ถูกนายจ้างเลิกจ้าง ลอยแพตั้งแต่เดือน พฤษภาคม ท่านประธานครับในสไลด์มีข้อตกลงที่ผู้แทนกระทรวงแรงงาน ซึ่งนำโดยนายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานลงนามด้วยครับ ในข้อตกลงบอกว่า กระทรวงแรงงานจะเสนอรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติจัดสรรงบประมาณมาสำรองจ่ายให้กับ ลูกจ้าง ในกรณีที่ลูกจ้างยังไม่ได้รับเงินค่าชดเชยนะครับ มีลูกจ้าง บริษัท บอดี้แฟชั่น จำกัด ลูกจ้าง บริษัท แอลฟา สปินนิง จำกัด บริษัท เอเอ็มซี สปินนิง จำกัด ๓ บริษัทซึ่งถูกนายจ้าง ปิดกิจการลอยแพ ดังนั้นแล้วลายมือที่ลงไว้ก็เป็นตัวแทนของกระทรวงแรงงานที่ทำข้อตกลง กับลูกจ้าง แต่ว่าขณะนี้ผ่านมาตั้งแต่วันที่ ๒๒ ธันวาคม มาถึงวันนี้ก็เกือบร่วม ๒ เดือนแล้วครับ ยังไม่มีการปฏิบัติตามข้อตกลง ดังนั้นแล้วจึงขอเรียนท่านประธานไปยังนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงแรงงาน ช่วยเร่งดำเนินการตามข้อตกลงที่ได้ให้ไว้กับลูกจ้างด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ เรื่องการจำกัดเสรีภาพของพี่น้องแรงงานที่เดือดร้อนจากการ ถูกล่อลวง ไปเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในประเทศสวีเดนและประเทศฟินแลนด์ ท่านประธาน ปัญหาแรงงานเก็บ Berry ชาวไทยที่ถูกล่อลวงไปเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในประเทศสวีเดน และประเทศฟินแลนด์ได้เดินทางมาจากหลายจังหวัดนะครับ รวมตัวกันที่กรุงเทพมหานคร เพื่อมาเรียกร้องต่อสถานทูตและหน่วยงานต่าง ๆ โดยมีกำหนดการจะไปยื่นหนังสือกับ นายกรัฐมนตรี แต่เมื่อสักครู่เห็นท่านนายกรัฐมนตรีมานั่งอยู่ที่นี่นะครับ แต่ว่าถูกเจ้าหน้าที่ ตำรวจขวางกั้นตรงสะพานชมัยมรุเชฐ เมื่อวานนี้ผมได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนพี่น้องแรงงาน ด้วยตัวผมเองนะครับ พบว่าเป็นจริงดั่งที่พี่น้องได้ร้องเรียนมานะครับ ผมมองว่าประชาชน คนจน แรงงานที่มาเรียกร้องปัญหาที่เดือดร้อนกับรัฐบาล เพราะเขาเดือดร้อนจริง ๆ เขาถึง ได้เดินทางมา แม้ว่าเจ้าหน้าที่อาจมุ่งเน้นว่าการดำเนินการเพื่อความปลอดภัยก็ตามแต่ แต่ผลลัพธ์ก็คือภาพของรัฐบาลที่ทอดทิ้งคนรากหญ้าไว้ด้านนอกรั้วเหล็กนะครับ ภาพที่ รัฐบาลหันโล่กระบองใส่ชาวบ้านมือเปล่า เป็นภาพที่ไม่น่าที่จะเกิดขึ้นในรัฐบาลที่มาจาก การเลือกตั้ง ผมจึงขอร้องเรียนไปยังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ช่วยแก้ปัญหา เยียวยาลูกจ้างที่เดือดร้อนจากการถูกล่อลวงไปทำงานในต่างประเทศ และขอให้สั่งการ ให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่เดือดร้อน จากการมาร้องเรียนปัญหาที่ พวกเขาถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ อย่าทำเหมือนรัฐบาลเผด็จการที่ผ่านมา ขอบคุณครับ ท่านประธาน

    อ่านในการประชุม