กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ผม เกรียง กัลป์ตินันท์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ก่อนอื่นต้องขอกราบขอบพระคุณท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่นำปัญหาเดือดร้อนของ พี่น้องประชาชนเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ก็เรียนว่าปัญหานี้เกิดขึ้นทั่วประเทศ แต่ใน กทม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งศูนย์กำจัดขยะอ่อนนุช เรื่องกลิ่นเกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน ไม่ได้เกิดขึ้น ในช่วงระยะสั้น ๆ ในวันนี้ ผมได้เชิญเจ้าหน้าที่ทาง กทม. เข้ามาสอบถามว่าในเรื่องกำจัด กลิ่นขยะของโรงขยะอ่อนนุชท่านมีมาตรการอย่างไร ก็ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ของ กทม. ว่า กทม. เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ วันหนึ่งมีขยะประมาณ ๑๐,๐๐๐ ตันต่อวันที่ กทม. จะต้องจัด แล้วก็แยกออกเป็น ๓ ศูนย์ด้วยกัน ส่วนศูนย์บริการบ่อขยะฝังกลบที่อ่อนนุชเป็นขนาดใหญ่ รับผิดชอบขยะวันหนึ่งประมาณ ๔,๐๐๐ ตัน ก็เรียนว่ามีพื้นที่ประมาณ ๕๘๐ ไร่ ในศูนย์ขยะ อ่อนนุชได้วางมาตรการในการแก้ปัญหาระยะต้น ระยะกลาง ระยะปลาย
ผมเรียนว่าในศูนย์ขยะอ่อนนุชของเรา ปัญหาระยะสั้น ได้เพิ่มมาตรการในการ ควบคุมผู้รับจ้างในการกำจัดขยะมูลฝอย และดำเนินกิจกรรมลดผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ได้เพิ่มการล้างทำความสะอาดโรงงานกำจัดขยะมูลฝอย เพิ่มการฉีดพ่นสารจุลินทรีย์ดับ กลิ่นขยะมูลฝอยบริเวณกองขยะมูลฝอย อยู่ระหว่างการปฏิบัติงาน และพยายามลดขยะมูล ฝอยเข้าสู่โรงงาน โรงงานขยะมูลฝอยที่อ่อนนุชปัจจุบันเป็นโรงงานปิด เนื่องจากรองรับขยะ เป็นจำนวนมาก ในบางครั้งปริมาณกำจัดขยะเหลือล้นกองขยะมูลฝอยออกอยู่นอกโรงงาน กทม. พยายามจะเพิ่มโรงงานปิดให้มากยิ่งขึ้น
มาตรการระยะกลาง ในการปรับปรุงโรงงานขยะมูลฝอยทั้งหมดในศูนย์อ่อน นุชให้เป็นระบบปิดโดยมีระบบบำบัดกลิ่น ฝุ่นละออง และพิษต่าง ๆ การปรับปรุงภูมิทัศน์ เพิ่มการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยการปลูกต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เกิดความร่มรื่นสวยงาม และใช้เป็นแนวป้องกันกลิ่นของขยะมูลฝอย ระยะยาว เมื่อโครงการทั้งหมดตามสัญญา พิจารณาดำเนินการเลือกใช้เทคโนโลยีในการกำจัดขยะมูลฝอยสมัยใหม่ที่เหมาะสมให้กับ สภาพสิ่งแวดล้อมที่ชุมชนล้อมรอบในปัจจุบัน และเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ก่อให้เกิดกลิ่น และสามารถนำขยะมูลฝอยมาใช้ให้เกิดประโยชน์ การคัดแยกขยะมูลฝอยและมูลฝอยแห้ง ออกจากกันก่อนเข้ากำจัดขยะภายในโรงงาน เพื่อป้องกันก่อให้เกิดกลิ่นของมูลฝอยและ สามารถนำมูลฝอยมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานภายในศูนย์ กำจัดขยะมูลฝอยให้มีความพร้อมในการป้องกันมลพิษในอากาศ การปรับปรุงพื้นที่ในศูนย์ ขยะมูลฝอยอ่อนนุชให้เป็นพื้นที่สีเขียวให้มากยิ่งขึ้นเพื่อเป็นผนังกันกลิ่นไม่ออกสู่ชุมชน
ส่วนมาตรการในระยะยาว กทม. มีแนวคิดที่จะทำโรงงานขยะมูลฝอย เป็นโรงงานไฟฟ้าโดยใช้เชื้อเพลิงจากขยะมูลฝอย ให้เกิดขึ้นในศูนย์ที่อ่อนนุช แล้วก็จะ พยายามขนถ่ายขยะมูลฝอยออกไปนอกพื้นที่กรุงเทพมหานครให้มากยิ่งขึ้น ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาผ่านไปยังท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สำหรับโรงไฟฟ้า ๘๐๐ ตัน ขณะนี้อยู่ระหว่างปิดโรงงานเพราะคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม นี่ก็เป็น สาเหตุหนึ่งที่ทำให้บ่อขยะอ่อนนุชส่งกลิ่นเหม็นออกไปทางด้านนอก เนื่องจากบ่อขยะบ่อนี้ เป็นบ่อปิด แต่ก็ไม่ได้ปิด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ กรมโรงงานอุตสาหกรรมสั่งหยุดบ่อขยะแห่งนี้ ขยะเป็นจำนวนมากตอนนี้กองอยู่ในอ่อนนุช ทาง กทม. ก็หามาตรการที่จะขนถ่ายขยะ ออกไปด้านนอก ส่วนโรงขยะที่เป็นเตาขยะที่จะผลิตไฟฟ้า ตอนนี้ขออนุญาตยังไม่ได้รับ อนุญาตครับ ติดที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานกำลังพิจารณากันอยู่ และอีกส่วนหนึ่ง โรงงานอุตสาหกรรม ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโรงขยะ ๑,๐๐๐ ตัน โรงขยะ ๓๐๐ ตัน ที่กรุงเทพมหานครจะก่อสร้างใหม่จะสามารถกำจัดขยะ และจะลดกลิ่นเหม็นในบริเวณ ข้างเคียงลง ก่อนที่ผมจะมาตอบกระทู้ในวันนี้ ผมก็ขับรถผ่านไปทางนั้น สิ่งที่ท่านบอกว่า เหม็นออกเป็นระยะหลายกิโลเมตร ก็เป็นไปตามสิ่งที่ท่านได้อภิปรายไว้ในสภาแห่งนี้ และจากการสอบถามทาง กทม. ก็เป็นห่วงเป็นใยเรื่องสุขภาพของพี่น้องประชาชนเช่นกันครับ ขณะนี้กำลังเร่งในการขอใบอนุญาตโรงงานกำจัดขยะมูลฝอย โดยใช้ขยะมูลฝอยเป็นพลังงาน ในการผลิตไฟฟ้า ตอนนี้ติดอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรมกำลังพิจารณา ถ้าผ่านผลการพิจารณาเมื่อไร กทม. จะเร่งก่อสร้าง โรงงานให้เร็วที่สุดครับ ขอบคุณมากครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรตินะครับ จากข้อคำถามที่ท่าน สส. เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร จากข้อสอบถามของท่านว่าอยากทราบว่าสัญญานี้หมดเมื่อไร แล้วก็ ค่าปรับได้มีการปรับกันหรือไม่ อย่างไร ก็เรียนว่าสัญญานี้เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๑ อายุในสัญญา ๙๐๐ วัน สิ้นสุดสัญญาเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๔ ถ้าตามอายุ สัญญานี่หมดอายุสัญญามานานแล้ว ตั้งแต่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๔ แต่เนื่องจากหลังจาก เซ็นสัญญาก่อสร้างแล้ว กทม. ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ เพราะติดขัดพวกระบบ สาธารณูปโภค ประปา ไฟฟ้า ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้จำนวน ๔๔๑ วัน ที่ส่งมอบพื้นที่ กว่าจะ Clear ในเรื่องไฟฟ้า Clear เรื่องประปา Clear เรื่องต่าง ๆ ที่เป็นสิ่งกีดขวาง การก่อสร้างได้นี่เสียเวลาไป ๔๑๑ วัน หลังจากเสียเวลาไป ๔๑๑ วันแล้ว ยังได้รับมาตรการ ผลกระทบจากโควิดอีกจำนวน ๗๐๑ วัน มาตรการโควิดนี่เขาให้ค่าปรับเป็น ๐ ถ้าโดน ค่าปรับ ๘๒๗ วัน ค่าปรับเท่าไรให้เป็น ๐ แต่ทีนี้มันเกิดข้อไม่เข้าใจกันระหว่าง กทม. กับ ผู้ประกอบการอยู่ว่าครั้งแรก ๔๔๑ วัน ซึ่งได้รับจากมาตรการที่เราไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ ให้กับผู้ประกอบการได้ ๔๑๑ วัน ตรงนี้มาตรการของคณะรัฐมนตรีไม่ชัดเจนว่าตรงนี้จะไป หักออกจากมาตรการโควิดหรือไม่ ทาง กทม. ขณะนี้สอบถามไปที่คณะกรรมการวินิจฉัย ปัญหาจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ซึ่งอยู่ที่สำนักงบประมาณ ตอนนี้สอบถามไป ยังไม่มีคำตอบ ข้อขัดแย้งตรงนี้จึงไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจนว่า มาตรการค่าปรับ ผู้รับจ้าง จะต้องโดนปรับจำนวนเงินเท่าไร ถ้ารวมมาตรการค่าปรับทั้งสิ้น อายุสัญญา ๙๐๐ วัน ที่ส่ง มอบพื้นที่ไม่ได้ ๔๑๑ วัน รวมเบ็ดเสร็จในสัญญานี่ถ้ารวมมาตรการโควิดก็จะเป็น ๑,๔๖๗ วัน ถ้านับรวมสัญญาจะหมดเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๖ ค่าปรับ ๐ เปอร์เซ็นต์ แต่นับถึงวันนี้ หมดสัญญาไปแล้ว ๑๐๐ วัน
ทีนี้ในส่วนคำถามที่ ๒ ที่ท่าน สส. ได้ถามไว้ว่างานนี้จะเสร็จเมื่อไร เพราะว่า พี่น้องประชาชนในพื้นที่เดือดร้อนเป็นจำนวนมาก ผมต้องขอกราบขอบพระคุณท่าน สส. ที่เป็นทุกข์เป็นร้อนแทนพี่น้องประชาชน เอาปัญหาเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ในปัญหา ๑๐๐ วันนี่ ผมได้คุยกับทางสำนักการโยธา กทม. ว่าถ้าเราไปรอให้ผู้ประกอบการสร้างเสร็จ ถึงมีคำตอบให้กับพี่น้องประชาชน ท่าน สส. ก็จะไม่ได้ข้อมูลไปตอบกับพี่น้องประชาชนได้ว่า งานจะเสร็จเมื่อไร ในฐานะเป็นผู้กำกับดูแล กทม. ก็เลยเรียนกับทางผู้อำนวยการนี้ไปว่า ให้ทำเรื่องสอบถามผู้ประกอบการ ให้ทำแผนทั้งหมดเป็นแผนคน แผนงาน แผนเครื่องจักร พร้อมกับจำนวนวันที่จะแล้วเสร็จมาให้กับทาง กทม. ทราบ แล้วก็ให้ทาง กทม. ทำเป็น หนังสือแจ้งให้ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรท่านเท่าพิภพได้รับทราบนะครับ ถ้าได้รับ คำตอบจากผู้ประกอบการ วันนี้ก็ยังเรียนท่านมาในเบื้องต้นว่า ผู้รับจ้างก็บอกว่า ทางผู้ประกอบการสั่งให้ผู้รับจ้างทำแผนให้เสร็จภายใน ๑๕ วัน หลังจาก ๑๕ วัน ก็จะแจ้งให้ ท่าน สส. ทราบอีกครั้งหนึ่ง จะได้ประกาศให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ แล้วก็ในเรื่อง มาตรการสิ่งเหล่านี้ก็ได้ฝากทาง กทม. ไว้ว่าต่อไปในเรื่องทำการก่อสร้างที่มีคาบเกี่ยวกับ หน่วยงานอื่น ไม่ว่าจะเป็นประปา ไฟฟ้า ในขณะออกแบบอยากให้ประสานหน่วยงาน แล้วก็ ทำแบบออกมาให้เสร็จพร้อมกัน ประกวดราคาให้เป็นผู้รับจ้างรายเดียวกัน ถ้าเป็นไปได้ งานมันจะรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ก็ได้รับคำตอบจาก กทม. ว่า เมื่อก่อนปี ๒๕๖๐ สัญญา กทม. ไม่ได้ประสาน แต่ในระยะหลังได้แก้ข้อแก้ไขหลายสิ่งหลายอย่าง ทุกวันนี้ กทม. ในการดำเนินการได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วก็จัดเป็นสัญญาจ้างเดียวกัน เพื่อความรวดเร็วก็กราบเรียนมาเพื่อทราบครับ
ขอบคุณครับ ท่าน สส. ที่เป็นห่วงเป็นใยในเรื่องก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคที่มันล่าช้า ทางผมได้คุยกับ ทาง กทม. ไว้เพิ่มเติมว่า ก่อนที่อายุสัญญาจะหมดอยากให้ช่างคุมงานทำหนังสือสั่งการ หรือว่าหนังสือทำข้อตกลงกับผู้ประกอบการว่าก่อนงานที่จะหมดอายุสัญญาอยากให้ทำเรื่อง สอบถาม เรื่องแผนงาน แผนคน อย่างที่ผมเรียนตอบท่านเมื่อสักครู่นี้ ถ้ามีแผนงาน แผนคน จำนวนวัน อะไรเสร็จมาเรียบร้อย ช่างคุมงานตรวจสอบว่าผู้ประกอบการได้ทำตามแผน หรือไม่ อย่างไร ถ้าตรงนี้เพิ่มมาตรการเพิ่มเข้าไปอีกงานก่อสร้างจะเร็วขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่อยากให้มาทำช่วงในการที่จะหมดสัญญา ถ้าเริ่มสัญญาเลยนี่ช่างคุมงานเริ่มทำงานนี่ ก็มีการสั่งการให้ทำรายงานประจำวัน สรุปเป็นรายสัปดาห์ สรุปเป็นรายเดือน ในการทำ รายงานนี่ถ้าทำรายงานพูดถึงอย่างในแผนงาน แผนคน แผนเครื่องจักร ทุกวันที่ทำงาน ผู้ประกอบการได้ทำตามแผนหรือไม่ อย่างไร ถ้าผู้ประกอบการทำตามแผนตลอด ผมคาดว่า งานก่อสร้างทุกโครงการจะต้องแล้วเสร็จตามสัญญา ส่วนใหญ่ก็จะอ้างโน่นอ้างนี่ ก็เนื่องมาจากช่างคุมงานไม่ได้ทำรายงานประจำวันและสรุปเป็นรายสัปดาห์ ก็เรียนเพิ่มเติม แค่นี้ครับ เพื่อทาง กทม. จะได้ปรับปรุงเพิ่มขึ้น แต่เมื่อสักครู่ท่านบอกว่าเป็นความผิดพลาด ของ กทม. หรือไม่ อย่างไร จริง ๆ แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องมาตรการโควิดที่คณะรัฐมนตรีมีมติไว้ ไม่ชัดเจน เรื่องนี้ก็เลยได้คำตอบไม่ชัดเจนจาก กทม. เราจึงไม่ทราบว่าจะต้องปรับเท่าไร อะไร อย่างไร ตอนนี้อยู่ระหว่างสอบถาม ไม่ใช่ความผิดพลาดของ กทม. ขอบคุณมากครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ผม ในฐานะรัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กำกับดูแล กทม. กำกับดูแลกรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย ในฐานะที่ได้รับมอบอำนาจจากท่านนายกรัฐมนตรีให้มาตอบกระทู้ถามในวันนี้
การยกเลิกพื้นที่รับน้ำทั้งหมดทันทีอาจจะมีข้อกังขาต่อประชาชนบางส่วนที่อาศัยในพื้นที่ เพราะเคยเป็นพื้นที่รับน้ำมาอย่างยาวนาน แต่สามารถปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ตามความเติบโตของกรุงเทพมหานครได้ ปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยได้ติดตามความคืบหน้า ของกรุงเทพมหานครเพื่อเร่งดำเนินการ เพื่อให้ธรรมชาติกับประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันได้ ไปพร้อม ๆ กันกับการเติบโตของกรุงเทพมหานคร โดยที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในการพัฒนากรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออก โดยได้ศึกษาและดำเนินการเพื่อรองรับการพัฒนาของเมือง และการขยายตัวของ กรุงเทพมหานคร เช่น การขุดลอกคูคลอง กำจัดวัชพืช เพิ่มความลึกการบริหารจัดการน้ำ อย่างเป็นระบบ และการเพิ่มศักยภาพในการผันน้ำอย่างเหมาะสม เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ หนองจอก คลองสามวา และมีนบุรี เสี่ยงภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุ อุบัติภัย หรือน้ำมาก อย่างเช่น กรณีปี ๒๕๕๔ ซึ่งการยกเลิกทันทีอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนที่เคยอยู่อาศัยในพื้นที่ แต่สามารถดำเนินการเป็นระยะ ๆ ได้ ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการศึกษา พัฒนา และปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ เพื่ออยู่อาศัยในกรุงเทพมหานคร Zone ตะวันออกในการพัฒนาเมืองมากกว่า เขตเกษตรกรรมได้ เพราะในปัจจุบันเขตคลองสามวากลายเป็นเขตที่มีผู้อยู่อาศัยมาก เป็นอันดับ ๑ จาก ๕๐ เขตของกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้กระทรวงมหาดไทยจะได้เร่งรัด และดำเนินการเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนในกรุงเทพมหานคร และต้องไม่ ส่งผลกระทบต่อเขตอื่น ๆ ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดปทุมธานี จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดสมุทรปราการด้วยครับ
ส่วนคำถามที่ ๒ การปรับเปลี่ยนรูปแบบผังเมือง กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานครได้ศึกษาเพิ่มเติมพื้นที่ในการขยายตัวเมือง และปรับปรุงขยายแนว และระบบรับน้ำให้ลดลง แต่ต้องมีศักยภาพในการผันน้ำได้มากกว่าเป็นพื้นที่รับน้ำเหมือนใน อดีตดังนี้ กระทรวงมหาดไทย และ กทม. ได้พิจารณาและศึกษาว่าเมื่อมีการปรับปรุงเส้นทาง ผ่านของน้ำและเพิ่มศักยภาพเพื่อรองรับน้ำได้มากก็จะส่งผลให้มีพื้นที่เพื่อพัฒนา ทางอสังหาริมทรัพย์ หรือธุรกิจทางเขตคลองสามวา เขตมีนบุรี เขตหนองจอกได้เพิ่มขึ้น เช่น การขุดลอกคูคลอง กำจัดผักตบชวา สิ่งปฏิกูลที่ขวางทางน้ำ และการบริหารจัดการน้ำ อย่างเป็นระบบโดยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร ได้ศึกษาและเร่งรัดดำเนินการโดยสามารถลดขนาดพื้นที่ ก. ๑ พื้นที่ ก. ๑ นี้ก็คือพื้นที่ สีเขียวลายตามแผนผัง พื้นที่ ก. ๑ ที่ทำได้แค่เกษตรกรรมในจำนวน ๙๐,๐๐๐ ไร่ ลดลงเหลือ ประมาณ ๓๐,๐๐๐ ไร่ ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถใช้พื้นที่นอกเหนือจากเกษตรกรรม เพียงอย่างเดียวไปใช้ในรูปแบบที่มากขึ้นได้ และจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับที่ดินในพื้นที่ ดังกล่าวได้อีกด้วย และกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาปรับปรุงพื้นที่ ก. ๒ พื้นที่สีเขียวอ่อน ประมาณ ๑๓๖,๐๐๐ ไร่ เป็นพื้นที่รับน้ำให้เหลือ ๙๐,๐๐๐ ไร่ ที่ผ่อนปรนมากกว่าเกษตรกรรม เพียงอย่างเดียวให้สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้มากกว่าเดิม ซึ่งสอดรับต่อแผนพัฒนาเมือง และทำให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวสามารถใช้พื้นที่ได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น
ส่วนความคืบหน้า ณ วันนี้ผมในฐานะกระทรวงมหาดไทยได้ติดตาม กทม. อย่างใกล้ชิด โดย กทม. ได้รายงานการพิจารณาว่าในการดำเนินการไปเกือบจะเสร็จแล้ว โดยคืบหน้าไปกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ วันนี้มาถึงขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของชาว กทม. ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้รับทราบข้อมูลความคิดเห็น เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๖ ที่ผ่านมานี้เอง ขั้นตอนต่อไปคือการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อประกาศใช้ต่อไป คาดว่าประชาชนชาวหนองจอก คลองสามวา และมีนบุรีจะได้มีข่าวดีประมาณปี ๒๕๖๘ ซึ่งจะส่งผลดีต่อพี่น้องประชาชนในกรุงเทพมหานคร Zone ตะวันออก ทั้งการแก้ไข และการป้องกันอุทกภัยในอนาคตของกรุงเทพมหานครอีกด้วยครับ
ขอ Slide ที่ ๑ ด้วยครับ
พื้นที่ สีเขียวลาย ก. ๑ จำนวน ๙,๐๐๐ ไร่ ขอให้ท่านสอบถามดูด้วยนะครับ แล้วพื้นที่สีเขียวอ่อน ๑๓๖,๐๐๐ ไร่ ตรงนี้ในอดีตเป็นพื้นที่รับน้ำ และทางกรุงเทพมหานครมีโครงการที่จะพัฒนา คลองอีก ๘ สายด้วยกัน ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขียวลาย ๙๐,๐๐๐ ไร่ จากเดิมทีคลองรับน้ำทั้ง ๘ สาย กว้างประมาณ ๗ เมตร แต่ไม่เกิน ๑๐ เมตร มีทั้งหมด ๘ สายด้วยกัน กรุงเทพมหานครได้มี การวางผัง และเตรียมการสำรวจออกแบบไว้เรียบร้อยที่จะทำคลองผันน้ำ กว้าง ๓๐ เมตร และกว้าง ๔๐ เมตรในพื้นที่สีเขียวลายกับพื้นที่สีเขียวอ่อน พื้นที่ตรงนี้หลังจากคลองส่งน้ำ ที่เขียนแบบไว้ความกว้าง ๓๐ เมตร รวมถนนทั้ง ๒ ด้าน แล้วก็คลอง ๔๐ เมตร รวมถนน ทั้ง ๒ ด้านเป็นระยะตลอดแนวจนไปลงที่อ่าวไทยเป็นคลองรับน้ำขนาดใหญ่มีถนนทั้ง ๒ ด้าน และพื้นที่สีเขียวลายจากเดิมก่อนที่จะเข้าไปในรายละเอียด ผมขออนุญาตเรียนให้ทราบว่า พื้นที่สีเขียวลายแต่ละสีจะกำหนดวัตถุประสงค์ในการใช้ต่างกันดังนี้ พื้นที่สีเขียวลายสามารถ ทำบ้านเดี่ยวได้ ทำอาคารพาณิชย์ได้ ทำสำนักงานขนาดเล็กได้ ส่วนพื้นที่สีเขียวอ่อน พื้นที่ ๓๖,๐๐๐ ไร่ สามารถทำบ้านเดี่ยวได้ ทำอาคารพาณิชย์ และสำนักงานขนาดเล็กได้ จัดสรรที่ดินเพื่ออยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวได้ ทั้ง ๒ พื้นที่นี้พื้นที่ ๙๐,๐๐๐ ไร่ เราจะลดเป็น พื้นที่สีเขียวลายเหลือ ๓๐,๐๐๐ ไร่ อีก ๖,๐๐๐ ไร่ จะเปลี่ยนเป็นพื้นที่ก็ ก. ๓ คือสีเขียวเข้ม และพื้นที่ ก. ๒ สีเขียวอ่อน ก็จะเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีเขียวเข้ม ๒ พื้นที่รวมกันก็ประมาณ ๑๐๖,๐๐๐ ไร่ ๒ พื้นที่รวมกันที่จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม แล้วต่อไปในพื้นที่สีเขียวเข้ม ก็จะสามารถทำบ้านเดี่ยวได้ ทำบ้านแฝด ทำตึกแถวได้ ทำอาคารพาณิชย์ และสำนักงาน ขนาดใหญ่ได้มากขึ้น จัดสรรที่ดินได้ทุกประเภท หลังจากที่กรุงเทพมหานครสามารถประกาศ เปลี่ยนสีของพื้นที่เสร็จ หลังจากปรับปรุงคลองระบายน้ำพื้นที่สีเขียวลายทั้งหมดอีก ๓๐,๐๐๐ ไร่ จะปรับเป็นสีเขียวเข้มทั้งหมด กราบเรียนท่านสมาชิกครับ
ในฐานะ ที่ผมได้รับมอบอำนาจจากท่านนายกรัฐมนตรีในการกำกับดูแล กทม. กำกับดูแลกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย เมื่อสักครู่ผมก็ได้กราบเรียนท่านไปแล้วว่าพื้นที่หลังจากเปลี่ยนสี เสร็จจะได้ยกเลิกเป็นพื้นที่รับน้ำหลังจากที่ปรับปรุงคลองระบายน้ำ ปรับปรุงสีเขียวอ่อน เป็นสีเขียวเข้ม สีเขียวลายเป็นสีเขียวเข้มเสร็จก็จะยกเลิกพื้นที่เป็นพื้นที่รับน้ำ กราบเรียนว่า ที่ท่านถามในใบสอบถามมาถามว่า เรื่องขอให้พิจารณายกเลิกการกำหนดเขตพื้นที่ เขตหนองจอก เขตมีนบุรี เขตลาดกระบัง เขตคลองสามวา และเขตอื่น ๆ โดยรอบเป็นพื้นที่ รับน้ำส่วนตะวันออกของกรุงเทพมหานคร และพิจารณาทบทวนกับการปรับเปลี่ยนสีผังเมือง นี่ท่านถามมานะครับ ผมตอบตามข้อคำถามของท่าน ท่านถามข้อ ๒ ว่าทบทวน การปรับเปลี่ยนสีผังเมืองในเขตพื้นที่ดังกล่าวเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น ก็กราบเรียนว่า กรุงเทพมหานครได้มีนโยบายปรับเปลี่ยนพื้นที่จากสีเขียวลาย ก. ๑ กับพื้นที่สีเขียวอ่อน ก. ๒ ให้เป็นพื้นที่สีเขียวเข้ม ซึ่งสีเขียวเข้มสามารถพัฒนาในพื้นที่ได้หลากหลายกว่าสี ก. ๑ และ ก. ๒ ผมคิดว่าตอนนี้ตอบได้ตรงคำถามที่ท่านถามแล้ว แต่ส่วนท่านคิดอย่างไร ก็เรื่องของท่าน ขอบคุณมากครับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ ผม เกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะกำกับดูแลกรุงเทพมหานคร มีหน้าที่ในการประสานงานส่งเสริม สนับสนุน ติดตาม ตรวจสอบการปฏิบัติราชการของกรุงเทพมหานคร ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ กรุงเทพมหานคร ปี ๒๕๒๘ และได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดังนี้
ในส่วนของกรณีถังระเบิด ขอตอบเรื่องนี้ก่อนนะครับ ถังดับเพลิงของ กรุงเทพมหานครระเบิดเป็นถังฝึกซ้อม แต่หลังจากการฝึกซ้อมเสร็จเกิดกระแสข่าวว่า ถังไม่มีคุณภาพ ประชาชนส่วนใหญ่เป็นจำนวนมากก็เอาถังดับเพลิงมาส่งคืนให้ กรุงเทพมหานคร โดยที่กรุงเทพมหานครไม่ได้ออกไปเก็บอย่างที่กล่าวไว้ ก็เรียนว่าถังที่ ระเบิดเป็นเพียงถังฝึกซ้อมถังดับเพลิงที่กรุงเทพมหานครซื้อเป็นถังที่ได้มาตรฐาน อุตสาหกรรม แล้วก็ได้ใช้มาอย่างยาวนานและไม่เคยเกิดระเบิดขึ้นที่บ้านของชาวบ้าน ส่วนเรื่องการจัดซื้อในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ กรุงเทพมหานครโดยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดซื้อถังดับเพลิง ชนิดผงเคมีแห้ง จำนวน ๔๑,๐๐๐ ถังเศษ และถังดับเพลิงเคมี สูตรน้ำ จำนวน ๕,๐๐๐ ถังเศษ ให้กับสำนักงานเขตเพื่อนำติดตั้งในชุมชน อาคารสำนักงานเขต และโรงเรียนในสังกัด กทม. ซึ่งได้ส่งมอบถังดับเพลิง สุดท้ายไปเรียบร้อยแล้วเมื่อช่วง เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา โดยไม่มีการจัดสรรงบประมาณ ปี ๒๕๖๓ ครั้งที่ ๒ ในปีงบประมาณ ๒๕๖๖ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้รับงบประมาณเพื่อจัดสรร ถังดับเพลิงยกหิ้ว ชนิดผงเคมีแห้ง จำนวน ๙,๙๗๙ ถัง ถังละ ๑,๓๘๒ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๓,๗๙๖,๐๐๐ บาท เพื่อนำไปติดตั้งในชุมชนที่มีความเสี่ยงจากการประเมินตามหลักวิชาการ ของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสำนักงานเขตร่วมกันประเมิน ขณะนี้อยู่ใน ขั้นตอนการพิจารณาผลการประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในส่วนราคารวมของบริษัท ที่ยื่นเสนอราคาตามเงื่อนไขและราคาต่ำสุด โดยปรากฏตามราคาต่อหน่วย จึงไม่จำเป็น ดำเนินการในขั้นตอนขออนุมัติจัดซื้อ ประกาศของผู้ชนะการประกวดราคาสำนักป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยจึงได้มีหนังสือ คือพอประกวดราคาเสร็จในเงื่อนไขของ กรมบัญชีกลางระบุไว้ในใบเสนอราคา ในตอนท้ายของใบเสนอราคาได้กำหนดไว้ว่า ให้ยึดราคารวมเป็นหลัก หรือราคาต่อหน่วย เขาใช้คำว่า หรือ ไม่ได้ใช้ และ พอกำหนดว่า ใช้ราคารวม หรือราคาต่อหน่วยเป็นหลัก เวลาผู้ประกอบการเขามายื่นซอง มีบางราย ก็ยื่นราคาต่อหน่วย บางคนก็ยื่นราคารวม ทีนี้การพิจารณาราคารวมกับราคาต่อหน่วย พอราคาต่อหน่วยมันถูกกว่า ถ้าคิดต่อเครื่องแล้วถูกกว่า เจ้าหน้าที่เขาก็ยึดเอาราคา ต่อหน่วยว่าจะเสนอจ้างผู้บริหารก็ทักท้วงว่าในแบบฟอร์มของกรมบัญชีกลางมันไม่ขึ้น ราคารวม มันจึงไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ กทม. ก็เลยต้องสอบถามไปยังกระทรวงการคลัง ก็คือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ขณะนี้ กทม. รอการวินิจฉัยจากหน่วยงานดังกล่าว เลยไม่สามารถจัดซื้อได้ แต่อย่างไรก็ดี กทม. ได้จัดสรร งบประมาณปี ๒๕๗๐ ซื้อถังดับเพลิง ๒๗,๖๑๑ ถัง ถังละ ๑,๔๐๐ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๓๘ ล้านบาท คาดว่าจัดซื้อและจัดจ้างแล้วเสร็จเรียบร้อย แจกจ่ายให้ประชาชนแล้วเสร็จ ภายในเดือนพฤษภาคม คือเป็นตัวเลือกเผื่อการเสนอสำนักงบประมาณมาช้า เราก็จะเอา ตัวนี้แจกก่อน ถ้ามาเร็วก็จะได้เร็วกว่าเดือนพฤษภาคม นี่เป็นข้อแรกนะครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยในฐานะหน่วยงานกลางของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยในภาพรวมของประเทศ โดยมีพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ และแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๔ ถึง พ.ศ. ๒๕๗๐ เป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ใช้สำหรับทั่วประเทศ สำหรับกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบ พิเศษ ในเรื่องการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยใช้พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยฉบับเดียวกัน โดยมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ กำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้อำนวยการกรุงเทพมหานคร มีอำนาจหน้าที่ในการจัดแผนการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย กรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ถึง พ.ศ. ๒๕๗๐ โดยจะต้องสอดคล้องกับ แผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับชาติ และจัดทำแผนป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยจากอัคคีภัยกรุงเทพมหานคร ประจำปี ๒๕๖๖ เพื่อให้มีความสอดคล้อง กับลักษณะของพื้นที่กรุงเทพมหานคร และใช้เป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติงานด้าน การป้องกันและระงับเหตุอัคคีภัย ๓ ขั้นตอนดังนี้ ก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ หลังเกิดเหตุ
๑. ก่อนเกิดเหตุ ประเมินความเสี่ยงจากอัคคีภัย โดยประเมินภัยจาก ความล่อแหลม โอกาสหรือความเป็นไปได้ที่เกิดขึ้นกับอัคคีภัย รวมทั้งศึกษาวิธีลดผลกระทบ ต่ออาคารบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้าง
๒. ตรวจสอบ ปรับปรุงข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย และจัดทำแผนเสี่ยงภัย จากอัคคีภัยรวมทั้งข้อมูลพื้นฐานความปลอดภัยเพื่อรองรับผู้อพยพ
๓. สำรวจ ตรวจสอบอาคาร เช่น อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ รวมทั้งอาคาร ที่ก่อสร้างไว้แล้ว หรืออาคารที่จะก่อสร้าง เพื่อให้มีโครงสร้างที่มั่นคง แข็งแรง ให้สามารถ ป้องกันอันตรายจากอัคคีภัย
๔. จัดทำฐานข้อมูลกำลังเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ และยานพาหนะ เพื่อให้สอดคล้องเรียกใช้งานได้ทันทีเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน
๕. พัฒนาระบบเครือข่ายข้อมูลสารสนเทศด้านอัคคีภัยให้สามารถเชื่อมโยง ระหว่างหน่วยงาน
๖. รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมความรู้และความตระหนักแก่ประชาชน นักเรียน นักศึกษา และเยาวชนเกี่ยวกับวิธีการป้องกันและปฏิบัติตนให้ปลอดภัยเมื่อเกิด อัคคีภัยผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งในช่วงเวลาปกติและช่วงเวลาเทศกาล อันได้แก่ ปีใหม่ ตรุษจีน สงกรานต์ ลอยกระทง
๗. จัดทำสรุปบทเรียนศึกษาผลกระทบการเกิดอัคคีภัยครั้งสำคัญ เพื่อให้ ทราบข้อมูล ข้อเท็จจริง สำหรับนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการสาธารณภัย ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ขณะเกิดเหตุ แยกเป็น ๓ ประเภท ประเภทที่ ๒ ขณะเกิดเหตุ กรุงเทพมหานคร จะระดมทรัพยากรสรรพกำลังที่มีอยู่เข้าไประงับเหตุอัคคีภัยที่เกิดขึ้นให้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ประการที่ ๓ หลังเกิดภัย จะมีการฟื้นฟูเยียวยาตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการสงเคราะห์ผู้ประสบภัยสาธารณภัย ปี ๒๕๓๖ และระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วย การสงเคราะห์ผู้ประสบภัย พ.ศ. ๒๕๓๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ปี ๒๕๖๒
ผมจะรับหน้าที่นี้ไปเร่งรัดท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในส่วนที่เราจัดซื้อจัดจ้างไว้แล้ว ซึ่งส่งให้สำนักงบประมาณเป็นผู้พิจารณาว่าเราจะหาวิธีแนวทางแก้ไขปัญหาที่ใบเสนอราคา มีส่วนที่บกพร่องอย่างไร จะทำให้เร็วที่สุดครับ ขอบคุณมากครับ