นางสาวปวิตรา จิตตกิจ

  • ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉัน ปวิตรา จิตตกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตบางกอกใหญ่ ธนบุรี ภาษีเจริญ แขวงศิริราช และแขวงบางเชือกหนัง กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ท่านประธานคะ จากรายงานข้อมูล สถานการณ์ด้านความรุนแรงในครอบครัวตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครอง ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๓ และ พ.ศ. ๒๕๖๔ ทั้ง ๒ ฉบับนี้จะเห็นว่าหนึ่งในประเด็นที่เราควรจะหยิบยกมาพูดกันให้ชัดก็คือประเด็นของ ผู้สูงอายุ เพราะอะไรหรือคะ

    อ่านในการประชุม

  • จากรายงานของศูนย์ช่วยเหลือ ทางสังคม สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในปี ๒๕๖๓ พบว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ จำนวน ๑๔๑ ราย โดยส่วนใหญ่แล้วถูกทำร้ายร่างกาย และในปี ๒๕๖๔ ก็พบว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น อยู่ที่จำนวน ๒๘๑ ราย ส่วนใหญ่ก็คือถูกทำร้ายร่างกายเช่นเดียวกัน ท่านประธานคะ หากพิจารณาดูจากรายงาน ทั้ง ๒ ฉบับนี้แล้วถึงสาเหตุของความรุนแรงในครอบครัว จะพบว่าส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากปัญหา ทางเศรษฐกิจ ยิ่งซ้ำร้ายในปี ๒๕๖๔ ก็เกิดวิกฤติโรคระบาด COVID-19 เพิ่มเติมเข้ามาอีก อย่างไรคะ เศรษฐกิจก็ไม่ดี COVID-19 ก็มานะคะ ทั้งหมดทั้งมวลนี้สถิติดังกล่าวจะบอกอะไร กับเราคะ สถิติบอกว่าความรุนแรงในผู้สูงอายุจริง ๆ แล้วไม่ได้ลดลงเลยค่ะ แต่ว่ามีแนวโน้ม ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี แล้วก็มีสาเหตุจากความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและปัญหาทางสุขภาพค่ะ ยิ่งไปกว่านั้นแล้วประเทศไทยเราได้เข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบแล้วค่ะ และกำลังจะเตรียมเข้า สู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอดในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า พร้อมแล้วหรือยังคะ แต่สังคมไทย ในปัจจุบันทุกวันนี้ผู้สูงอายุในประเทศไทยหลายคนยังคงต้องทำงานอย่างหนักเลี้ยงตัวเอง ปากกัดตีนถีบในสภาวะที่บีบคั้นทางเศรษฐกิจอย่างนี้ นอกจากนี้แล้วผู้สูงอายุหลายท่าน ก็ยังต้องทำงานเพื่อเลี้ยงหลาน บางคนก็เลี้ยงทั้งลูกและหลาน เจอไปทั้ง ๒ Gen พร้อม ๆ กัน บางส่วนเกิดจากปัญหาท้องไม่พร้อม และบางส่วนก็เกิดจากปัญหาที่พ่อแม่ไม่มีความสามารถ ในการเลี้ยงดูลูกตัวเอง จึงไม่แปลกที่เราจะได้ยินคำว่าแก่ก่อนรวย และสภาวะความตึงเครียด จากการทำมาหากินก็ส่งผลให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวตามมา จากสภาวะเศรษฐกิจ เช่นนี้ยังมีเรื่องร้าย ๆ ที่มากระทบความมั่นคงของผู้สูงอายุอีกนะคะ อย่างข่าวล่าสุดสด ๆ ร้อน ๆ การปรับหลักเกณฑ์ใหม่ในการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุที่จะต้องพิสูจน์ความจนผ่านมุมมองของรัฐ แว่นตาที่จะใช้มองว่าคนไหนรวย คนไหนจน คือแว่นตาของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือคะ ในเมื่อความเป็นจริงแล้วท่านผู้สูงอายุทุกท่านก็ทำงานกันแทบตาย ต้องรับผิดชอบชีวิต คนในครอบครัวอีกตั้งเท่าไรคะ รัฐบาลควรไปตัดสินหรือว่าใครรวยหรือใครจน นอกจากนี้ ผู้สูงอายุยังคงต้องเผชิญกับสภาวะความเจ็บป่วยจากโรคประจำตัว โรคร้ายต่าง ๆ ที่ตามมา พร้อมกับอายุของตัวเอง แต่สิทธิในการเข้าถึงการรับการรักษา สิทธิในการรับการรักษาที่ฟรี และมีคุณภาพ ทั้ง ๆ ที่เสียภาษีไปทุก ๆ ปี ผู้สูงอายุควรจะเอื้อมถึง แต่มันก็ยากเหลือเกินค่ะ และวันนี้หากเราพูดถึงคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ใกล้บ้าน สถานที่ที่มีหน้าที่ในการรักษาขั้นปฐมภูมิ ลดความแออัดของโรงพยาบาลของรัฐ ลดการเดินทาง ลดค่าใช้จ่ายในการไปหาหมอไกล ๆ ปัจจุบันนี้เรามีคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ใกล้บ้านเพียงแค่ ๒๔๑ แห่ง ซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ อยู่ประมาณ ๒๑๓ แห่ง และอีก ๒๘ แห่งที่อยู่ต่างจังหวัด ท่านประธานคะ ทั้ง ๒ ประเด็นนี้ที่ยกตัวอย่างมา พอจะเห็นภาพความเดือดร้อนของผู้สูงอายุไทย ๆ ที่จะนำไปสู่สภาวะความตึงเครียด ในการใช้ชีวิต ความเหนื่อยยากของผู้สูงอายุที่จะเป็นฉนวนไปสู่ความรุนแรงในครอบครัว ได้แล้วหรือยัง ดิฉันขอเสนอผ่านท่านประธานว่าในรายงานทั้ง ๒ ฉบับนี้ยังพูดถึงปัญหา ของผู้สูงวัยน้อยเกินไป ในแง่ของข้อมูลสถิติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบทวิเคราะห์ ข้อเสนอแนะในส่วนที่ ๓ ท้ายรายงานในประเด็นการแก้ปัญหาความรุนแรงของผู้สูงอายุ วันนี้เราควรยกระดับศักดิ์ศรีของผู้สูงอายุผ่านการสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าโดยที่ไม่ต้อง พิสูจน์ความจนความรวยกันได้แล้วหรือยังคะ และวันนี้เราควรผลักดันระบบสาธารณสุขไทย ให้ผู้สูงอายุได้เข้าถึงใกล้บ้านมากขึ้น ไม่ต้องดั้นด้นเสียค่าเดินทางในการไปหาหมอ ให้สิทธิ ในการเข้าถึงได้อย่างถ้วนหน้าอย่างไม่มีเงื่อนไขได้แล้วหรือยัง

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ดิฉันหวังว่านายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนา สังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาของผู้สูงอายุที่ต้นตอ และลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้น กับผู้สูงอายุอย่างจริงจัง ดิฉันและพรรคก้าวไกลก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตอันใกล้นี้ จำนวนผู้เสียหายที่จะปรากฏในรายงานทั้ง ๒ ฉบับจะลดลงทุกปี ๆ จากการแก้ปัญหา ของรัฐบาลอย่างจริงจัง ไม่ใช่การลดลงจากการตกสำรวจ หรือมองข้ามปัญหาเหล่านี้ไป ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉัน ปวิตรา จิตตกิจ ค่ะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตบางกอกใหญ่ ธนบุรี ภาษีเจริญ แขวงศิริราช และแขวงบางเชือกหนัง กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกลค่ะ ท่านประธานคะ นาทีนี้ไม่มีประชาชนคนไทยคนไหนไม่รู้จักแก๊ง Call Center ค่ะ แม้กระทั่ง สส. อัยการ และขออนุญาตเอ่ยนามนะคะ ท่าน พลตำรวจโท กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจ Cyber ณ ขณะนั้นค่ะ ท่านก็ได้รับสายแก๊ง Call Center เช่นเดียวกันค่ะ ขอ Slide ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • จากการสำรวจของสวนดุสิต Poll เมื่อปี ๒๕๖๕ มีประชาชนมากถึง ๒๑.๐๒ เปอร์เซ็นต์ ที่ได้รับสายตรงจาก แก๊ง Call Center ค่ะ แล้วก็มีถึง ๓๒.๘๗ เปอร์เซ็นต์ ที่ยืนยันได้ว่าญาติพี่น้อง คนรอบตัว เพื่อนฝูงได้รับการ Attract จากทางแก๊ง Call Center เรียกได้ว่าปัญหาของแก๊ง Call Center นี้ ถือเป็นภัยสังคมที่คุกคามประชาชนชาวไทยแบบถ้วนหน้าไปแล้วค่ะ ขอ Slide ถัดไปค่ะ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ละเลยต่อการปราบปรามแก๊ง Call Center อย่างจริงจังค่ะ กว่าจะเกิด พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ปี ๒๕๖๒ หรือกฎหมาย PDPA เราต้องรอจนถึง วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๕ นั่นหมายถึงใช้เวลาถึง ๓ ปีค่ะ และพระราชกำหนดมาตรการ ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๖๖ ฉบับนี้เช่นกันนะคะ ก็จะใช้ได้ตั้งแต่วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๖ นั่นหมายความว่าเราปล่อยปะละเลยให้แก๊ง Call Center ได้สร้างฐานอิทธิพลหลอกเงินคนไทยไปแล้วมากกว่าหลายหมื่นล้านบาทค่ะ ที่ผ่านมาภาครัฐ พยายามรณรงค์ให้ประชาชนป้องกันตนเองค่ะ แต่ก็ไม่ได้มีความพยายามที่จะปราบปราม แก๊ง Call Center เหล่านี้อย่างจริงจังนะคะ ดิฉันโดยส่วนตัวไม่ใช่ว่าไม่ได้เห็นด้วยกับ การรณรงค์ที่ภาครัฐนำเสนอมานะคะ เพราะแค่ลำพังเพลงอย่าโอน ๆ ที่ภาครัฐพยายามรณรงค์ ให้ประชาชนตระหนักรู้มันยังช่วยอะไรไม่ได้ค่ะ มันเหมือนกับการลอยแพแล้วผลักภาระ ไปให้กับประชาชนต้องดูแลและปกป้องตัวเองจากโจรมิจฉาชีพที่เรียกว่าแก๊ง Call Center นี้ค่ะ ท่านประธานคะหลายท่านได้เห็น Clip ที่แชร์กันมาที่เราด่าทอแก๊ง Call Center แก้เผ็ด สนุกค่ะ ถูกใจ สะใจ แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ได้สนุกและตลกแบบนั้นนะคะ ข้อเท็จจริงก็คือ แก๊ง Call Center เหล่านี้เมื่อเขาถูกด่าค่ะ เขาวางสายแล้วเขาก็ยังจะโทรต่อไป โทรจนกว่า จะได้เหยื่อตัวจริงแล้วก็จะได้ในที่สุด ซึ่งเป้าหมายของโจรเหล่านี้ก็คือผู้สูงวัย ผู้สูงอายุที่ ในวันทำงานลูกหลานออกไปทำงานค่ะ มีโอกาสอย่างสูงมากที่เขาต้องรับสายโดยลำพัง ไม่มีโอกาสที่จะปรึกษาใคร แล้วก็ต้องรับสายโจรไปนะคะ ลูกหลานออกไปทำงานกันหมด และเสียงแรกที่มักจะได้ยินค่ะจะเป็นเสียงที่บันทึกเทปเอาไว้เพื่อให้กดหมายเลขต่าง ๆ แล้วก็ มีผู้สูงอายุประมาณ ๓-๕ เปอร์เซ็นต์ ที่หลงกลกดเลขดังกล่าวพร้อมกับโอนเงินไปนะคะ จากนั้นแก๊ง Call Center ก็จะติดต่อเข้ามา โทรกลับเข้ามาหาเหยื่อโดยอ้างว่าเป็น ตำรวจบ้าง หน่วยงานราชการบ้าง หรือว่าเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากรบ้าง หลาย ๆ Action ก็คือ โทรเข้ามาเพื่อเป็นการข่มขู่หลอกลวง หว่านล้อมผู้สูงอายุให้หลงเชื่อแล้วก็โอนเงินไปค่ะ ที่เจ็บปวดที่สุดค่ะคือการใช้ความรักที่ ปู่ย่าตายาย มีกับลูกหลานของเขามาเป็นอุบาย ในการหลอกลวงให้โอนเงินนะคะ อ้างว่าบัญชีของลูกหลานของท่านพัวพันกับกรณียาเสพติด พัวพันกับสิ่งผิดปกติ กระทำผิดกฎหมายบ้าง หรือว่าต้องเอาเงินนี้ไปชำระค่ามัดจำ ค่าประกันตัว หรือว่าไปใช้จ่าย คือชดใช้ค่าเสียหายต่าง ๆ เหตุผลที่เหยื่อหลงเชื่อนี้ ไม่ใช่ว่าโจรเก่งอย่างเดียว ไม่ใช่แก๊ง Call Center สามารถ หว่านล้อมหรือมีเทคนิคในการหลอกลวงผู้สูงอายุอย่างเดียวค่ะ มันหมายถึงแก๊ง Call Center พวกนี้เขาจะใช้ข้อมูลส่วนตัวที่แท้จริงมาพูดให้ผู้สูงอายุหลงเชื่อค่ะ เขาสามารถ เอาข้อมูลที่เป็นชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ เลขบัตรประจำตัวประชาชนมาพูดได้อย่าง ละเอียดถูกต้อง แล้วมันจะไม่ถูกได้อย่างไรคะท่านประธาน ก็ในเมื่อข้อมูลเหล่านี้มันหลุด ออกมาจากฐานข้อมูลภาครัฐ ในบางกรณีเป็นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐนี่ละค่ะเอาข้อมูลเหล่านี้ไป ขายให้กับแก๊ง Call Center และบางกรณีแก๊ง Call Center ก็ใช้วิธีการส่ง Link ไปทาง LINE หรือส่ง SMS ไปยังเหยื่อหลังจากนั้นก็จะแนะนำให้กรอกข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้เหยื่อ กรอกรหัสผ่านเข้าบัญชีตัวเอง หรือกดยอมรับเพื่อให้โจรเข้าไปควบคุมระยะไกลได้ และหลังจากนั้นเขาก็จะโอนเงินออกจากบัญชีเหยื่อไปจนหมด ถือว่าเป็นเรื่องน่าเศร้ามากนะ คะ ที่พ่อแก่แม่เฒ่า ปู่ย่าตายาย ของเราต้องตกเป็นเหยื่อแก๊ง Call Center เหล่านี้นะคะ เพราะเงินที่ท่านหามา ทำมาด้วยความสุจริตค่ะท่านอาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบอาชีพสุจริต เก็บหอมรอมริบจะใช้ในยามบั้นปลายของชีวิต และหวังว่าจะไม่ได้พึ่งพาลูกหลานมากนัก จะสามารถดูแลตัวเองได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่พ้นเงื้อมมือโจรเหล่านี้ค่ะ นี่ไม่ใช่แค่ การลักทรัพย์ หรือการฉ้อโกงนะคะ มันเป็นการปล้นเวลา ปล้นความสุขของชีวิตคนคนหนึ่งค่ะ ท่านประธานคะแก๊ง Call Center เหล่านี้นอกจากจะเป็นภัยต่อสังคม เป็นภัยต่อผู้สูงอายุ รวมถึงประชาชนผู้รับสายแล้วยังถือเป็นตัวถ่วงความเจริญของภาคธุรกิจอื่น ๆ อีกด้วยที่เขา ประกอบอาชีพด้วยความสุจริตค่ะ ปัจจุบันผู้ประกอบการต่าง ๆ มักจะมี Call Center ไว้บริการ มีการติดต่อ Service After Sale มีการส่ง e-Mail ส่งข้อความไปยังลูกค้าผ่านระบบ แล้วก็ LINE แล้วก็ปรากฏว่ามีประชาชนจำนวนหนึ่งหวาดระแวงพอได้รับสายก็เลยด่ากลับมา ทีนี้เจ้าหน้าที่ ที่ทำงานด้วยความสุจริตก็เสียใจ และยังไม่รวมถึงเทคนิคใหม่ ๆ ที่เข้ามาทำอย่างแนบเนียนค่ะ ในพื้นที่บางกอกใหญ่ ธนบุรี ภาษีเจริญ ศิริราช และบางเชือกหนัง ที่ดิฉันเป็นผู้แทนอยู่นี้ เป็นเขตที่มีผู้สูงอายุอยู่มาก ดิฉันไม่ต้องการเห็นผู้สูงอายุเหล่านี้ตกเป็นเหยื่อของโจรเหล่านี้ต่อไป ดิฉันขอสนับสนุนพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๖๖ ฉบับนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณอย่างเพียงพอ เพื่อให้เกิดการบังคับใช้อย่างจริงจังค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉัน ปวิตรา จิตตกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตบางกอกใหญ่ ธนบุรี ภาษีเจริญ แขวงบางเชือกหนัง และศิริราช กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ท่านประธานคะ อย่างที่ทราบกันดีว่ากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. มีบทบาทสำคัญ ในการส่งเสริมสนับสนุนให้ความช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ และผู้ด้อยโอกาสให้มีความรู้ ความสามารถ มีศักยภาพที่จะพึ่งพาตนเองได้ในการดำรงชีวิต ดิฉันสนับสนุนการดำเนินงาน ของ กสศ. เกี่ยวกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การสร้างความร่วมมือ จากเครือข่ายต่าง ๆ รวมไปจนถึงการจัดการการศึกษาให้กับเด็ก ๆ และเยาวชนให้เข้าถึง การศึกษาตามที่รัฐกำหนดขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • แต่อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นที่รัฐควรจะรีบตัดสินใจ และลงทุน และให้ความสำคัญอย่างมาก คือการให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กในช่วง ปฐมวัยอย่างจริงจัง เนื่องจากเด็กปฐมวัยเป็นกำลังสำคัญในอนาคต และเป็นเหมือน กระดุมเม็ดแรก ถ้าเราได้ให้เขาในสิ่งที่ดี ให้เขาได้รับการศึกษาที่ดีเขาจะต่อยอด ในอนาคต เติบโตเป็นประชากรที่ดีของประเทศ รวมถึงผู้ปกครอง พ่อแม่ของเด็กเหล่านี้ ก็จะได้ไม่ต้องกังวลและสามารถไปทำมาหากิน หาอาชีพได้อย่างปกติสุข

    อ่านในการประชุม

  • จากผลการสำรวจของ กสศ. ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยในปี ๒๕๖๕ พบว่าเด็กปฐมวัยในปี ๒๕๖๕ มีระดับความพร้อมทางด้านการเรียนรู้ต่ำกว่าเด็กปฐมวัย ในปี ๒๕๖๓ และ ปี ๒๕๖๔ ในทุกด้าน และเมื่อพิจารณาจากภาพประกอบก็จะเห็นว่า มาตรการปิดสถานศึกษาในช่วง COVID-19 นั้นส่งผลต่อพัฒนาการ ส่งผลต่อสภาวะถดถอย ทางการเรียนรู้ และทำให้เด็กไทยไม่มีความพร้อมในการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นอีกด้วย เราปฏิเสธไม่ได้ว่าความไม่พร้อมทางการศึกษาของเด็กคนหนึ่งนั้นจะเกิดจากความยากจน เพียงอย่างเดียว แต่อีกประเด็นหนึ่งที่สะท้อนความไม่พร้อมทางการศึกษาของเด็ก ๆ นั่นก็คือ ครอบครัวแหว่งกลางค่ะ ซึ่งเด็กไทยกว่าร้อยละ ๖๕.๗๖ กำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ ครอบครัว แหว่งกลางคืออะไรคะ ก็คือครอบครัวที่พ่อแม่ไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรของตัวเองได้ และต้องส่งบุตร ของตัวเองไปให้กับปู่ย่าตายาย ส่วนตนเองนั้นอาจจะมีเหตุผลต่าง ๆ ที่ต้องไปทำมาหาเลี้ยงตัวเอง หาอาชีพเพื่อให้ได้รายได้ และส่งรายได้กลับไปยังปู่ย่าตายายที่เลี้ยงดูบุตรตัวเอง ปัญหาจาก ครอบครัวแหว่งกลางส่งผลโดยตรงต่อพัฒนาของเด็กปฐมวัยและการเรียนรู้ที่ล่าช้า สอดคล้อง กับการสำรวจของกรมอนามัยในปี ๒๕๖๕ ที่พบว่าปัญหาของเด็กปฐมวัย ร้อยละ ๔๗ ขาดพัฒนาการเกี่ยวกับกล้ามเนื้อมัดเล็ก และสติปัญญา และปัญหาของการใช้ภาษา ร้อยละ ๗๕.๒ และปัญหาในเรื่องของความเข้าใจในการใช้ภาษาร้อยละ ๖๐.๒ ท่านประธานคะ จากที่ดิฉันได้กล่าวไปข้างต้นจะเห็นว่ากลุ่มเด็กปฐมวัยนี้แทบจะเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่จะได้รับ ผลกระทบจากสภาพสังคม โรคระบาด ครอบครัว รวมไปถึงการขาดโอกาสที่เข้าถึงการศึกษา ที่เหมาะสม

    อ่านในการประชุม

  • อย่างไรก็ตาม ดิฉันเห็นด้วยและชื่นชมในการทำงานของ กสศ. ที่ผ่านมา ที่ได้ดำเนินโครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งใช้งบประมาณ ๗๐ ล้านบาท โดยหลักการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติ กสศ. ตามมาตรา ๕ (๑) ที่กล่าวถึงการส่งเสริม สนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กปฐมวัยให้ได้รับ การพัฒนาการทางด้านร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย และดิฉันก็ขอเสนอแนะให้มีการเพิ่มงบประมาณเพื่อขยายผลเพิ่มเติมจากพื้นที่นำร่อง ๑๒ จังหวัด และส่งเสริมให้เกิดกลไกในการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ให้มากกว่า ๑๒ กลไก จากรายงาน กสศ. ประจำปี ๒๕๖๕ เล่มนี้นะคะ ในหน้า ๓๘ กสศ. ผลิดอกออกผล เพราะหากมองผลลัพธ์ตามเป้าประสงค์ที่ ๑ ในรายงานเล่มนี้ จากหน้า ๙๕ จะพบว่าการจัดสรรงบประมาณที่เข้าถึงนั้นจะส่งผลสัมฤทธิ์ต่อการเข้าถึง การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยและวัยเรียนเพิ่มขึ้น โดยยกตัวอย่างจากกลุ่มนักเรียนกลุ่มเสี่ยงที่มีอัตราการเข้าเรียนน้อย มีจำนวนลดลงน้อยกว่า ร้อยละ ๘๕ จาก ๑๘,๓๔๕ คน เหลือเพียง ๑,๐๒๔ คน ในภาคเรียนที่ ๑ ของปีการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๓ ซึ่งก็พบว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ประสบความสำเร็จอย่างมีนัยสำคัญ ท่านประธานคะ ดิฉันว่าถึงเวลาแล้วค่ะ ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลควรจะลงทุนกับงบประมาณ ให้กับการดำเนินงานของ กสศ. จากอดีตที่เคยได้รับการจัดสรรราวร้อยละ ๐.๕-๑.๕ ของงบประมาณการศึกษาทั้งหมดของประเทศ ปรับขึ้นเป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕ ของงบประมาณด้านการศึกษาทั้งหมดของประเทศ ตามที่คณะกรรมการอิสระการปฏิรูป การศึกษาเป็นผู้เสนอ เพื่อเพิ่มเติมโอกาสในการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา ที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย และสำหรับประเทศนี้ พ่อแม่ไม่ควรจะเป็นเงื่อนไขในการพัฒนา เด็กคนหนึ่ง แต่รัฐจะต้องเป็นทั้งพ่อแม่ และเป็นโอกาสที่สามารถโอบอุ้มทำให้พวกเขาเติบโต ตามความปรารถนาได้อย่างมีคุณภาพ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ดิฉันและพรรคก้าวไกลยินดีที่จะร่วมกับขับเคลื่อนกับกองทุน เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพวกเราจะได้เป็น ส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้างพลเมืองไทยสู่พลเมืองโลก จากการให้ความสำคัญเริ่มต้นที่กระดุมเม็ดแรกอย่างเด็กปฐมวัยร่วมกันค่ะ ขอบพระคุณค่ะ ท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานคะ ดิฉัน ปวิตรา จิตตกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตบางกอกใหญ่ เขตธนบุรี เขตภาษีเจริญ แขวงศิริราช แขวงบางเชือกหนัง กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล วันนี้ขอหารือท่านประธาน ๔ เรื่อง

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก พบสายไฟฟ้า สายสื่อสารรกรุงรังห้อยลงมาต่ำก็เกะกะสร้างความไม่ปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชน ผู้สัญจรบริเวณหน้าวัดท่าพระ ซอยจรัญสนิทวงศ์ ๔ และซอยเพชรเกษม ๑๖ เขตบางกอกใหญ่ และในเขตภาษีเจริญ บริเวณ Footpath แนวเส้นรถไฟฟ้าเขตภาษีเจริญ ซอยเพชรเกษม ๔๒ ซอยเพชรเกษม ๓๐ ซอยเพชรเกษม ๒๘ ซอยเพชรเกษม ๒๔ จึงขอฝากท่านประธาน ไปยัง กสทช. พร้อมด้วยการไฟฟ้านครหลวงในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อความปลอดภัย ของพี่น้องประชาชนค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ประชาชนถูกจี้ปล้นบริเวณสถานีรถไฟฟ้าท่าพระ อุโมงค์รถไฟฟ้า แล้วก็ทางเข้าสวนสาธารณะบางกอกใหญ่ ในช่วงซอยเพชรเกษม ๑๐/๒ เขตบางกอกใหญ่ เนื่องจากในยามค่ำคืนไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง แล้วก็ไม่มีกล้องวงจรปิด จากการพูดคุยพบว่า พื้นที่นั้นเป็นพื้นที่อยู่ภายใต้การดูแลของ รฟม. แล้วก็ทำให้สำนักงานเขตไม่สามารถเข้าไป ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้ จึงขอฝากท่านประธานไปยังรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยช่วยประสานงาน กับทางสำนักงานเขต แล้วก็แก้ไขเรื่องปัญหานี้อย่างเร่งด่วนค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ ดิฉันขอใช้โอกาสนี้ในการทวงผ้าอ้อมของประชาชน เนื่องจาก ประชาชนชาวภาษีเจริญแล้วก็อีกหลายเขตในกรุงเทพมหานครยังไม่ได้รับผ้าอ้อมฟรี จากโครงการผ้าอ้อมผู้ใหญ่แผ่นรองซับสำหรับคนไทยทุกสิทธิที่มีภาวะติดบ้านติดเตียง ที่มีปัญหากลั้นขับถ่าย ในพื้นที่ภาษีเจริญมีผู้เข้าร่วมโครงการนี้เกือบ ๑๐๐ คน แต่ปัจจุบันนี้ ได้รับผ้าอ้อมไม่ถึง ๑๐ คน ดิฉันก็ไปพูดคุยกับพี่น้องประชาชนเขาก็แจ้งมาว่า ถ้าใครที่สนใจ จะเข้าร่วมโครงการนี้ต้องลงชื่อให้ทันภายในสิ้นเดือนตุลาคม แล้วก็จะได้รับผ้าอ้อม ภายในกลางปีหน้า ปี ๒๕๖๗ ดิฉันจึงขอสอบถามท่านประธานไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวง สาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าเมื่อไรการจ่ายแจกผ้าอ้อม ให้กับประชาชนที่ลงทะเบียนจะแล้วเสร็จ แล้วราคาก็ไม่ได้ถูก ๆ ผู้ใหญ่ก็ต้องมาจ่ายทุกเดือน และหลักเกณฑ์การแจกจ่ายที่ล่าช้านี้จะทำให้ทันท่วงทีได้หรือไม่ เรื่องแบบนี้มันกลั้นข้ามปี กันไม่ได้ จะมาวางแผนลงทะเบียนกันล่วงหน้าเป็นเดือน ๆ ไม่ได้นะคะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องสุดท้าย ข้อร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนในเขตธนบุรี เกี่ยวกับปัญหา คนเร่ร่อน คนไร้บ้าน และคนเร่ร่อนป่วยที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ขอสอบถามไปยังรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ว่า ปัจจุบันมีวิธีการดูแล คนเร่ร่อน คนไร้บ้าน คนเร่ร่อนป่วยอย่างไรบ้าง อยากให้เร่งแก้ปัญหาเรื่องนี้ค่ะ เพราะว่า อยากให้เขาได้รับสิทธิในการเข้าถึงรัฐสวัสดิการสำหรับกลุ่มบุคคลดังกล่าวด้วยค่ะ ขอบพระคุณท่านประธานค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ปวิตรา จิตตกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตบางกอกใหญ่ เขตธนบุรี เขตภาษีเจริญ แขวงศิริราช และแขวงบางเชือกหนัง กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล วันนี้ ดิฉันขอขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังที่เข้ามาตอบกระทู้ แนวทางการจ่ายเงินชดเชยตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัยให้กับเจ้าหนี้ กรณีบริษัท ประกันภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตจากวิกฤติไวรัสโควิด ๑๙ จากวิกฤติไวรัสโควิด ๑๙ ระบาดที่ผ่านมาในช่วงปี ๒๕๖๓-๒๕๖๕ ในระลอกที่ ๑ และระลอกที่ ๒ การระบาด ยังไม่รุนแรงมากนัก ทำให้บริษัทประกันหลายบริษัทเสนอขายประกันโควิดแบบเจอจ่ายจบ ซึ่งก็มีประชาชนให้ความสนใจและทำการซื้อประกันประเภทนี้เป็นจำนวนมากค่ะ จนเมื่อถึง ระลอกที่ ๓ สายพันธุ์ Delta มีการระบาดขึ้นในปี ๒๕๖๔ ทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น อย่างรวดเร็ว ทำให้มีผู้ต้องการ Claim เงินประกันที่ตนเองซื้อไว้เป็นจำนวนมาก จนหลายบริษัทไม่มีเงินพอที่จะจ่ายสินไหมให้กับประชาชนที่ซื้อประกัน และอย่างไรคะ บริษัทเจอ บริษัทที่ขายประกันก็จบ ยังไม่ทันได้จ่ายเลยนะคะ ถูกกองทุนประกันวินาศภัย เพิกถอนใบอนุญาตในการประกอบกิจการไป ทำให้มูลหนี้ทั้งหมดโอนไปยังกองทุนประกัน วินาศภัยเป็นผู้รับชำระในการชำระหนี้ค่ะ ปัญหาก็คือจำนวนเจ้าหนี้ผู้ที่จะได้รับการพิจารณา ที่จะจ่ายเงินคืนในระยะเวลา ๑ เดือน เมื่อเทียบกับอัตราส่วนเจ้าหนี้ดูแล้วต้องใช้เวลาหลายปี เลยทีเดียวจึงจะสามารถจ่ายหนี้คืนได้ทั้งหมดนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ดิฉันขอนำข้อมูลที่ได้จากผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัยที่ให้ข้อมูลกับทาง สื่อต่าง ๆ มาอ้างอิงนะคะ เจ้าหนี้ที่ยื่นคำร้องเรื่องนี้มีประมาณ ๖๗๕,๐๐๐ ราย มูลค่าหนี้ ประมาณ ๖๕,๐๐๐ ล้านบาท และมีการเริ่มจ่ายเมื่อประมาณเดือนสิงหาคม ปี ๒๕๖๕ Update จนถึงเดือนกันยายน ปี ๒๕๖๖ ปีนี้กองทุนประกันวินาศภัยได้จ่ายไปแล้วทั้งหมด ๗๙,๐๓๕ ราย เมื่อนำมาเทียบกับจำนวนเจ้าหนี้ทั้งหมดที่มีอยู่ ๖๗๕,๐๐๐ ราย กองทุนนั้น สามารถจ่ายได้แค่ ๑๑.๗๑ เปอร์เซ็นต์รายเท่านั้น ยังเหลือเจ้าหนี้อยู่อีกประมาณ ๘๘.๒๙ เปอร์เซ็นต์ราย ดังนั้นความสามารถในการจ่ายหนี้ประมาณ ๖,๐๐๐ รายต่อเดือน เท่านั้นเมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วต่อเดือนอยู่ที่ ๐.๘๙ เปอร์เซ็นต์เอง ดังนั้นทั้งหมดทั้งมวล จะต้องใช้เวลาประมาณ ๘ ปีกว่าจึงจะสามารถชำระครบทั้งหมด

    อ่านในการประชุม

  • ดิฉันขอถามคำถามที่ ๑ กองทุนประกันวินาศภัยจะสามารถชำระหนี้ ได้ทั้งหมดภายในระยะเวลากี่ปี ได้มีการกำหนดกรอบระยะเวลาไว้หรือไม่ และรวมถึง มีแนวทางอย่างไรเพื่อให้กองทุนประกันวินาศภัยสามารถจ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้ต่อเดือน ได้มากขึ้นและใช้เวลาไม่นานจนเกินไป เนื่องจากข้อเท็จจริงเมื่อปี ๒๕๖๖ มีการสนับสนุน งบประมาณเรื่องนี้เพียง ๕,๐๐๐ ล้านบาท ขอทราบรายละเอียดค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ภาพโดยรวมการจ่ายหนี้ ของประกันโควิดถูกให้ความสำคัญน้อยกว่าที่ควรค่ะท่านประธาน เจ้าหนี้ของประกันภัย COVID-19 คงค้างอยู่เกือบประมาณ ๙๐ เปอร์เซ็นต์รายของหนี้ทั้งหมด ดิฉันอดสงสัยไม่ได้ ว่าเจ้าหนี้คือประชาชนผู้เสียหายควรจะได้รับความสำคัญในการรับชำระและเป็นนโยบาย ที่เร่งด่วนมากกว่านี้นะคะ เพราะแม้แต่ว่าค่าน้ำค่าไฟประชาชนคนธรรมดาถ้าไม่จ่ายน้ำไฟ ๒-๓ เดือนก็โดนตัดแล้ว เจ้าหนี้รอไม่ได้ แต่ตอนนี้เจ้าหนี้เป็นประชาชนกลับต้องรอค่ะ หลายคนรอมาแล้ว ๒ ปี แล้วยังต้องรอไปอีกอย่างไร้ความหวัง

    อ่านในการประชุม

  • คำถามที่ ๒ เลยนะคะ สอบถามถึงความรับผิดชอบของ ๔ บริษัทที่ถูกเพิกถอน ใบอนุญาตค่ะ จนถึงปัจจุบันนี้ผู้ถือหุ้นบริษัททั้ง ๔ บริษัทดังกล่าวมีการชดใช้และร่วมมือ กับกองทุนประกันวินาศภัยหรือไม่ อย่างไร และรวมถึงมีแนวทางระเบียบในการป้องกัน จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นซ้ำอีกหรือไม่ ขอทราบรายละเอียดค่ะ ขอบพระคุณค่ะ ท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉัน ปวิตรา จิตตกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตบางกอกใหญ่ เขตธนบุรี เขตภาษีเจริญ แขวงศิริราช และแขวงบางเชือกหนัง กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกลนะคะ วันนี้ต้องขอขอบพระคุณ ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แล้วก็สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เข้ามาตอบกระทู้ถามของดิฉันในเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาสิทธิบัตรทองจำนวนคลินิก พยาบาลชุมชนอบอุ่นในกรุงเทพมหานครและศูนย์ให้บริการทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูที่เพียงพอ ต่อการใช้บริการของประชาชนอย่างครอบคลุม ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาข้อเรียกร้องจากพี่น้อง ประชาชนในพื้นที่มีการพูดถึงสิทธิบัตรทองอย่างมากที่มีข้อจำกัดมากมายในแง่ของการใช้ บริการของโรงพยาบาล เพราะโรงพยาบาลสิทธิถูกยกเลิกจาก สปสช. นอกจากนี้ยังมีปัญหา ระบบการส่งต่อสิทธิที่จำเป็นจะต้องได้รับความเห็นจากหน่วยปฐมภูมิ รวมถึงการวินิจฉัยจาก แพทย์ในการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่น ๆ ซึ่งมีความพร้อมในการให้บริการเฉพาะทางค่ะ และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเรื่องของจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีสถิติทางกรมการแพทย์ เมื่อช่วงต้นปี ๒๕๖๖ นี้ว่าประเทศไทยพบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ปีละ ๑๔๐,๐๐๐ คน หรือคิด เป็นจำนวน ๔๐๐ คนต่อวันซึ่งก็มากอยู่ แล้วก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นด้วยจากพฤติกรรม สุขภาพแล้วก็ปัญหาของฝุ่น PM2.5 ที่กำลังจะเริ่มในช่วงปลายปีของทุก ๆ ปีค่ะ จากสภาพ ปัญหาดังกล่าวดิฉันขอสอบถามค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๑ ปัญหาของสภาวะผู้ใช้บริการสิทธิบัตรทองมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทางกระทรวงสาธารณสุขมีแนวทางและจะดำเนินการแก้ปัญหาเกี่ยวกับสิทธิบัตรทอง ให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีอย่างไร และจะทำอย่างไรกับปัญหาผู้ป่วย ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ แต่ว่าสิทธิในการจะใช้ในโรงพยาบาลในพื้นที่เต็ม ทำให้ต้องไปใช้สิทธิ ไกลบ้านตนเอง เพราะได้รับผลกระทบจาก สปสช. ในการยกเลิกสัญญา ๑๐๘ คลินิกชุมชน อบอุ่นโรงพยาบาลเอกชนในปี ๒๕๖๓ และยกเลิกสิทธิบัตรทองในโรงพยาบาลเอกชนปี ๒๕๖๕ เพราะสาเหตุการทุจริต ท่านจะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร ขอทราบรายละเอียดค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานคะ ดิฉัน ปวิตรา จิตตกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ต้องขออภัยท่านประธาน ด้วยนะคะ เนื่องจากคำถามที่ดิฉันถามไปอาจจะไม่ตรงกับคำตอบที่ท่านได้เตรียมมานะคะ แต่ก็ยังมีความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ จากจำนวนคลินิกชุมชนอบอุ่นในกรุงเทพมหานครพบว่ามีอยู่ จำนวน ๑๙๐ แห่ง ต่อจำนวนประชากรในกรุงเทพมหานคร มีอยู่ประมาณ ๕.๕ ล้านคน แล้วก็ ประชากรแฝงอยู่ประมาณ ๗๐๐,๐๐๐ คน ด้วยปัญหาจำนวนศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูของรัฐ ซึ่งมีตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของรัฐเท่านั้น หรือศูนย์เอกชนที่มีค่าบริการที่ประชาชน ไม่อาจจะเอื้อมถึง ในขณะนี้ผู้ป่วยมีความจำเป็นในการต้องใช้บริการเวชศาสตร์ฟื้นฟู อย่างมากจากสภาวะโรคต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดในสมอง การฟื้นฟูสมรรถภาพภายหลัง การผ่าตัด หรือการกายภาพบำบัดในกลุ่มผู้สูงอายุที่จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกวัน นอกจากนี้ ความพร้อมของการใช้งานของศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูในโรงพยาบาลของรัฐ ในสังกัดศูนย์บริการ สาธารณสุขกรุงเทพมหานครกลับสวนทางกัน ทั้งอาจจะไม่พร้อมใช้งาน อุปกรณ์ไม่พร้อมเพรียง ไม่ทันสมัย ขาดบุคลากรทีมสหวิชาชีพทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู เป็นที่มาของคำถามที่ ๒ ท่านมีแนวทาง ในการเพิ่มจำนวนคลินิกชุมชนอบอุ่นในกรุงเทพมหานครอย่างไร ให้มีจำนวนเหมาะสม ต่อจำนวนประชากรผู้ใช้งานให้ไม่แออัด สามารถให้บริการทางการแพทย์อย่างครอบคลุม เพื่อลดภาระแก่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ และมีแนวทางอย่างไรในการดูแลมาตรฐานของ ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูเพื่อยกระดับการบริการให้กับศูนย์ และส่งเสริมคลินิกชุมชนอบอุ่น และศูนย์บริการในกรุงเทพฯ เพิ่มจำนวนบุคลากรทีมสหวิชาชีพเกี่ยวกับการเวชศาสตร์ฟื้นฟู อย่างไร เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึง ให้การบริการอย่างเท่าเทียม และสร้างโอกาสในการฟื้นฟู สมรรถภาพของผู้ป่วยให้กลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับชีวิตเดิม ขอทราบรายละเอียด ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • พอดีชื่อหน่วยงานมันยาว กระชับสั้น ๆ เลยนะคะ เรื่องเกี่ยวกับการดูแลมาตรฐานศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อที่จะให้ รองรับการเจ็บป่วยของพี่น้องประชาชน รวมถึงการดูแลบุคลากรเกี่ยวกับเวชศาสตร์ฟื้นฟู ทำอย่างไรให้เหมาะสมกับความต้องการของพี่น้องประชาชนค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • มีด้วยค่ะ แล้วก็ในส่วนของ คลินิกชุมชนอบอุ่น แล้วก็เป็นศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูที่ดูแลภายหลังการเจ็บป่วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานค่ะ พอดีเห็นยังมีเวลาเหลืออยู่นิดหนึ่งค่ะ ต้องขอขอบคุณสำหรับคำตอบที่เกี่ยวเนื่องกัน กับบุคลากรที่จะต้องรอทั้งแพทย์และสหวิชาชีพที่เกี่ยวกับเวชศาสตร์ฟื้นฟู ทีนี้อยากให้ ท่านตอบตรง ๆ คืออยากได้คำตอบตรง ๆ ที่เกี่ยวกับการจะทำแนวทางอย่างไรที่ไม่ทำให้ โรงพยาบาลขนาดใหญ่แออัด เพราะว่าการใช้บริการของพี่น้องประชาชนตอนนี้ไป กระจุกตัวอยู่ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ปวิตรา จิตตกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตบางกอกใหญ่ เขตธนบุรี เขตภาษีเจริญ แขวงศิริราชและแขวงบางเชือกหนัง กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ก่อนอื่น การปรึกษาหารือของดิฉันในครั้งที่แล้วยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าแก้ไขปัญหา หรือว่า แจ้งความคืบหน้าค่ะ ขอเรียนฝากท่านประธานช่วยติดตามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ ดิฉันได้รับ ข้อร้องเรียนจากพี่น้องผู้สูงอายุในเขตธนบุรี ตามแนวก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงว่าไม่ได้หลับ ไม่ได้นอนกันเลยทีเดียว ในช่วงเวลา ๕ ทุ่ม ถึงตีห้า เนื่องจากมีการก่อสร้างเสียงดังมาก และฝั่งผู้รับเหมาก็แจ้งว่าจำเป็นต้องก่อสร้างในเวลาเดียวกัน จึงฝากท่านประธานไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยกันหน่อย หาทางออกให้กับผู้สูงอายุแล้วก็เด็กเล็กได้หลับได้นอน ได้ตามเวลาด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ พบสะพานผุพัง ประตูระบายน้ำชำรุด คลองตื้นเขินบริเวณทดน้ำ หลังวัดนาคปรก เขตภาษีเจริญ แล้วก็บริเวณวัดเกาะ บางเชือกหนัง เขตตลิ่งชัน พบสะพาน สัญจรเข้าชุมชนและบ้านเรือนประชาชนแตกร้าว เนื่องด้วยเรือขนส่งอุปกรณ์ก่อสร้าง บ่อดักไขมันของ กทม. ชนจนทำให้เกิดความเสียหายค่ะ นอกจากนี้ผู้รับเหมาก็ยังแจ้งว่า ถ้าไม่พังก็ซ่อมไม่ได้ จึงฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ปัญหา ดังกล่าวด้วย

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายค่ะ ข่าวล่าสุดสด ๆ ร้อน ๆ เรื่องการหลอกลวงกันทาง Online จนถึงความเสียหายแก่ชีวิตของเด็ก และประชาชนในพื้นที่ของดิฉันก็ยังได้รับความเสียหาย ความเดือดร้อน หลายรายถูกแก๊ง Call Center หลอก สูญเงินกว่าหลายแสนบาทแล้ว แล้วก็คดีความไม่มีความคืบหน้า แย่ไปกว่านั้นคดีนี้เกิดขึ้นหลังจากที่มี พ.ร.ก. Cyber ออกมาบังคับใช้ ดิฉันมีเอกสารที่จะฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการ แก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจังด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานเคารพ ดิฉัน ปวิตรา จิตตกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตบางกอกใหญ่ เขตธนบุรี เขตภาษีเจริญ แขวงศิริราช และแขวงบางเชือกหนัง กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันขอขอบพระคุณ ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ให้เกียรติมาตอบกระทู้ถามของดิฉันที่ได้ สอบถามถึงความคืบหน้าในการจัดซื้อถังดับเพลิง และมาตรการป้องกันเหตุเพลิงไหม้ ในกรุงเทพมหานคร

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรกนะคะ จากข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างในหน้า Website ของ กรุงเทพมหานคร

    อ่านในการประชุม

  • จากข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ในหน้า Website ของกรุงเทพมหานคร จะเห็นข้อมูลถึงการประกวดราคาจัดซื้อถังดับเพลิง ยกหิ้ว ชนิดผงเคมีแห้ง ขนาดไม่ต่ำกว่า ๖.๘ กิโลกรัม จำนวน ๔๑,๑๑๓ เครื่อง และเครื่องดับเพลิงยกหิ้ว ชนิดเคมีสูตรน้ำ ขนาดไม่ต่ำกว่า ๖ ลิตร จำนวน ๕,๖๗๐ เครื่อง ด้วยวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ เลขที่โครงการ ๖๓๐๗๗๐๐๑๓๓๖ ซึ่งใน Website ดังกล่าวได้บอกรายละเอียดว่าปัจจุบันนี้อยู่ในสถานะระหว่างดำเนินการค่ะ หากลองดู ในรายละเอียดโครงการดังกล่าวจะพบว่า กทม. ได้ประกาศผู้ชนะการเสนอราคาไปแล้ว โดยผู้ชนะได้ประมูลไปราว ๕๓ ล้านบาท จากงบประมาณที่ตั้งไว้ ๘๓ ล้านบาท ซึ่งถ้าฟังดูแล้ว ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่เราได้ผู้ชนะประมูลและอยู่ในระหว่างการดำเนินการ แต่ว่าใน Website ได้ระบุว่าข้อมูลดังกล่าวเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๓ จาก ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๓ จนถึงทุกวันนี้ เรายังไม่ได้รับทราบความคืบหน้าว่าปัจจุบันนี้ โครงการนี้อยู่ในสถานะใด และปัจจุบันถังดับเพลิงที่จัดซื้อไปอยู่ที่ไหน นอกจากนี้หลังจากที่ กทม. มีนโยบายตรวจสอบถังดับเพลิงในชุมชนต่าง ๆ ให้มีสภาพพร้อมจะใช้งาน เพราะว่า มีข่าวถังดับเพลิงระเบิดเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ข่าวใหญ่นะคะ พบว่า กทม. ได้ตรวจถังทั้งหมดไป ๔๔,๑๖๐ ถัง และก็ใช้งานได้ปกติอยู่ที่ประมาณ ๒๖,๐๐๐ ถัง แล้วก็จัดเก็บเข้ามา ๑๙,๖๕๗ ถัง จากการสำรวจลงพื้นที่พูดคุยกับประธานชุมชน ก็ได้ให้ข้อมูลว่ากรุงเทพมหานครได้มี การตรวจสอบถังดับเพลิงจริง แล้วก็จัดเก็บถังดับเพลิงที่เสื่อมสภาพไปแล้วออกจากชุมชน ทำให้ไม่มีถังดับเพลิงไว้ใช้ในขณะนี้ หากเกิดเหตุก็จะต้องไปหยิบยืมเพื่อนบ้านหรือผู้ที่มี กำลังทรัพย์ที่ซื้อถังดับเพลิงไว้ใช้ส่วนตัว และจากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ กทม. ก็ได้คำตอบว่า ได้ทำการสรุปจำนวนข้อมูลถังดับเพลิงที่ต้องการ และจำนวนชุมชนแออัดไปให้แก่สำนักป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร แต่ก็ยังไม่ทราบว่ากระบวนการต่อจากนี้ ถังดับเพลิงจะได้เมื่อไร และกระบวนการจัดซื้อถึงไหนแล้ว แถมยังโดนประธานชุมชนต่อว่า เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตอีกด้วยว่าถ้าไฟไหม้ขึ้นมาสำนักงานเขตจะช่วยอะไร ทำงานก็ช้า เก็บถังเก่าไป และถังใหม่เมื่อไรจะได้ จึงเป็นที่มาของคำถามแรกว่าปัจจุบันการจัดซื้อจัดจ้าง ถังดับเพลิงของกรุงเทพมหานครที่จัดซื้อโดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร และ/หรือ ซื้อโดยสำนักงานเขตต่าง ๆ ทั้งหมดมีกี่โครงการ และแต่ละโครงการ ดำเนินไปถึงขั้นตอนใด รวมถึงโครงการที่ดิฉันได้กล่าวไปข้างต้น โครงการเลขที่ ๖๓๐๗๗๐๐๑๓๓๖ มีความคืบหน้าอย่างไรบ้างคะ ชุมชนทั้งหมดจะได้รับถังดับเพลิงเมื่อไร ขอทราบรายละเอียดค่ะ ท่านประธาน ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานคะ ดิฉัน ปวิตรา จิตตกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล จากข้อมูลสถานการณ์ ไฟไหม้ของกรุงเทพฯ พบว่าส่วนใหญ่สาเหตุของไฟไหม้เกิดจาก ๒ ประการ

    อ่านในการประชุม

  • ๑. คือเกิดจากไฟไหม้หญ้าและเผากองขยะ

    อ่านในการประชุม

  • ๒. เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งเหตุไฟฟ้าลัดวงจรนั้นมักจะเกิดขึ้นจากบ้านเรือน ประชาชนในชุมชนแออัดหรือกลุ่มอาคารเก่าที่ขาดการดูแลความปลอดภัยเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า ทั้งนี้ชุมชนในกรุงเทพมหานครก็มีความหลากหลายเช่นเดียวกัน ซึ่งหากเป็นชุมชนที่จัดตั้ง ถูกต้องตามระเบียบของกรุงเทพมหานครก็จะได้รับการพิจารณาการจัดสรรถังดับเพลิง หรือประปาหัวแดง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าชุมชนส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานครเป็นชุมชน ที่ไม่ได้จัดตั้งตามระเบียบกรุงเทพมหานคร ทำให้ไม่ได้รับการจัดสรรถังดับเพลิงเหมือนกับ ชุมชนอื่น ๆ ทั่วไป นอกจากนี้ข้อมูลของประชากรในกรุงเทพมหานครก็มีความกระจุกตัว รวมกันอยู่ในชุมชนแออัดชุมชนที่ลักลอบจัดตั้งก่อสร้างกันในที่พิพาทค่ะ แล้วก็ชุมชนอาคารสูง ทั้งเก่าและใหม่ เราจะเห็นได้ว่าจากความหลากหลายของชุมชนเหล่านี้ทำให้โอกาสในการ เข้าถึงถังดับเพลิงที่พร้อมใช้งานนั้นแตกต่างกันออกไป รวมไปจนถึงการตรวจสอบระบบ ความปลอดภัยด้วยแผนเผชิญเหตุไฟไหม้ก็อาจจะยังมีไม่ครอบคลุมให้ทั่วทุกพื้นที่ ในกรุงเทพฯ ซ้ำร้ายไปกว่านั้นกรุงเทพมหานครยังไม่มีระบบเตือนภัยชุมชนเมื่อเกิดเหตุ เพลิงไหม้ เพื่อป้องกันความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และแผนรับมือ ที่เหมาะสมในการรับมือภัยพิบัติเมืองแบบต่าง ๆ ดิฉันขอสอบถามค่ะ ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครมีแผนป้องกันเหตุเพลิงไหม้อย่างไรบ้าง ในพื้นที่ชุมชนแออัด ชุมชน หมู่บ้านจัดสรร ชุมชนชานเมือง เคหะชุมชน ชุมชนอาคารสูง และชุมชนที่ไม่ได้จัดตั้ง ตามระเบียบ รวมถึง กทม. มีมาตรการในการพัฒนาระบบเตือนภัยเมืองอย่างไร ดิฉันขอทราบรายละเอียดค่ะท่านประธาน ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานคะ ดิฉัน ปวิตรา จิตตกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ดิฉันขอนาทีสุดท้ายนะคะ ขอเรียนย้ำท่านประธานอีกครั้งหนึ่ง ตอนนี้พี่น้องประชาชนเดือดร้อนจริง ๆ ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร อยู่กันด้วยความหวาดระแวง ไม่รู้ว่าอัคคีภัยจะเกิดขึ้นเมื่อไร เรายังไม่ได้ ถังดับเพลิงในพื้นที่ตามจุดต่าง ๆ ขอเรียนท่านประธานช่วยให้ความเมตตาด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพค่ะ ดิฉัน ปวิตรา จิตตกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตบางกอกใหญ่ เขตธนบุรี เขตภาษีเจริญ แขวงศิริราชและแขวงบางเชือกหนัง กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกลค่ะ วันนี้ดิฉันมีเรื่องมาหารือท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ เป็นเรื่องที่อยากให้ท่านประธานช่วยติดตามการจัดซื้อ การแจกจ่าย นมสำหรับผู้สูงอายุและเด็กเล็ก เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ร้องเรียนกันมาว่ายังไม่ได้รับเลย มีความล่าช้าเกิดขึ้นในการจัดการดำเนินการโครงการดังกล่าว แล้วตอนนี้ผู้สูงอายุกับเด็กเล็ก กำลังรอดื่มนมจากโครงการของรัฐค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ดิฉันได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่อยู่บริเวณชุมชนริมคลอง บางกอกใหญ่ เขตบางกอกใหญ่ เกี่ยวกับปัญหาความล่าช้าในการจัดสร้างเขื่อนริมคลองค่ะ ทำให้บ้านเรือนของประชาชนทยอยทรุดแล้วนะคะ แล้วก็บางหลังหล่นลงไปในน้ำแล้วค่ะ ฝากท่านประธานเพื่อให้แก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ ขอให้ท่านประธานช่วยแก้ไขปัญหาสายสื่อสารที่พาดต่ำลงมาในพื้นที่ ชุมชนบ่อระเบิด แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย เดิน ๆ ไประแวงเหลือเกินค่ะ จะโดนศีรษะ แล้วค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๔ ประธานชุมชนในพื้นที่ของดิฉัน ฝากร้องเรียนมาถึงปัญหาความล่าช้า ในการส่งมอบเครื่องแบบกรรมการชุมชน ตั้งแต่ที่สภากรุงเทพมหานครมีมติอนุมัติในปี ๒๕๖๕ จนปัจจุบันนี้กรรมการชุมชนก็ยังไม่ได้รับเครื่องแบบดังกล่าวเลยค่ะ จึงฝากท่านประธาน ติดตามโครงการด้วยนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องสุดท้าย ขอให้ท่านประธานช่วยติดตามการก่อสร้างศูนย์บริการ สาธารณสุขที่ ๔๗ เขตภาษีเจริญ ตรงซอยบางแวก ๙๒ แห่งใหม่ที่มีความล่าช้า ปัจจุบัน ยังไม่สามารถเปิดใช้บริการได้เลยค่ะ ในพื้นที่แจ้งว่าติดปัญหาเรื่องการส่งมอบจนในปีนี้ สร้างตั้งแต่ปี ๒๕๖๕ ปีนี้ปี ๒๕๖๗ แล้ว ยังไม่ได้เปิดใช้บริการ ยังไม่ได้ส่งมอบกันเลยค่ะ ปัจจุบันศูนย์ชั่วคราวนี้ก็ล้นแล้วก็แออัดมาก อย่างไรฝากท่านประธานช่วยตรวจสอบโครงการ ดังกล่าวเพื่อพี่น้องประชาชนด้วย ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพค่ะ ดิฉัน ปวิตรา จิตตกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตบางกอกใหญ่ เขตธนบุรี เขตภาษีเจริญ แขวงศิริราช และแขวงบางเชือกหนัง พรรคก้าวไกลค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • วันนี้ต้องขอขอบคุณ ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมนะคะ ที่มาตอบคำถามกระทู้ที่ดิฉันได้เสนอไป ในเรื่องของการขอให้พิจารณาใช้ทางลาดขึ้นเครื่องบินเป็นอุปกรณ์มาตรฐานแทน การใช้บันใดในสนามบินทุกแห่งของดิฉัน แล้วก็ประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนค่ะ จากสภาวการณ์ของประชากรไทยในปีนี้ ที่เฉลี่ยว่าจำนวนผู้สูงอายุถึง ๑๒ ล้านคน พร้อมกับ ผู้ที่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับด้านการเคลื่อนไหวอีกประมาณ ๑ ล้านคน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ทั้ง ๒ กลุ่มนี้เป็นผู้ที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะ โดยสำหรับกระทู้เรื่องนี้จะพุ่งเป้าไปที่เรื่องของ การใช้บริการเครื่องบินและสนามบิน จากภาพตัวอย่างนะคะ การขึ้นเครื่องในสนามบินแบบ Bus Gate แบบนี้ผู้โดยสารจะต้องนั่งรถ Bus ไปที่ตัวเครื่องบินในสนามบิน ลำเลียงผู้โดยสาร ไปจนถึงที่เครื่องบิน แล้วก็ใช้ทางขึ้นบันได เพื่อขึ้นไปยังห้องโดยสาร ซึ่งภาพเหล่านี้ก็เห็นกัน ชินตาเป็นเรื่องปกติใช่ไหมคะ แต่ว่าบางเคสที่ดิฉันได้รับเรื่องร้องเรียนมา และจริง ๆ ดิฉัน ก็ประสบเองด้วยตัว ผู้โดยสารเป็นผู้สูงอายุต้องใช้ Wheelchair เมื่อไปถึงแล้ว นั่งรถ Bus ไป แล้วไปถึงที่หน้าเครื่องก็ต้องให้เจ้าหน้าที่ ๓-๔ ท่านอุ้มขึ้นเครื่องบิน อุ้มผ่านบันไดขึ้นไป ช่วยกันยกหัวท้าย ภาพดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อย ๆ นะคะ ไปยังห้องโดยสาร ซ้ำร้ายเมื่อถึงสถานี ปลายทางก็ต้องรอผู้โดยสารท่านอื่นลงจากเครื่องบินหมดลำก่อน ตัวเองก็ต้องถูกลำเลียงเป็น ลำดับสุดท้ายจากการอุ้มของพนักงานสายการบินหรือลูกเรือ ภาพถัดไปเป็นภาพที่ดิฉันเห็น ด้วยตัวเอง ด้านหน้าเป็นผู้สูงวัยเดินทางมากับครอบครัว มีถุงปัสสาวะอยู่ในมือ ด้านซ้ายต้อง ประคองถุงปัสสาวะ ด้านขวาต้องจับราวบันได ลูกหลานก็ประคองขึ้นเครื่องไป เจ้าหน้าที่ ของสายการบินก็ประคองขึ้นเครื่องไป แล้วต้องคิดอีกนะคะว่า ถ้าเดินทางโดยลำพังจะ ทุลักทุเลขนาดไหนสำหรับการขอความช่วยเหลือคนทั่วไป หรือว่าไหนจะสัมภาระ ของตัวเองที่ติดเครื่องอีก ๗ กิโลกรัม ข้อมูลเหล่านี้สายการบินทราบกันดีในการบริหาร จัดการ แล้วก็ประชาชนส่วนใหญ่ก็จะได้คำตอบจากสายการบินว่า ผู้โดยสารนี้ไม่ได้แจ้งมา ล่วงหน้า ไม่มีทางลาดบริการให้ แล้วก็แก้ไขปัญหาโดยการใช้ลูกเรือ หรือเจ้าหน้าที่ของ สายการบินนั้น ๆ อุ้มขึ้นเครื่องไป ซึ่งผู้โดยสารบางท่านมีน้ำหนักเยอะ อันนี้มีปัญหา อย่างมาก แล้วก็ไปถกเถียงกันที่ด้านหน้าเครื่องบิน ทำให้เกิดการ Delay เสียเวลา เกิด ข้อพิพาทขึ้นด้วย เพราะว่าต่างคนต่างก็มีเหตุผลของตัวเอง แต่หากการพิจารณาเรื่องนี้ดี ๆ อาจจะดูไม่สอดคล้องกับนโยบายการเดินหน้าสู่อารยสถาปัตย์ หรือ Universal Design ที่ทางภาคประชาชนและภาครัฐเริ่มจะขับเคลื่อนด้วยกันมา ตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ ที่ตั้งใจจะ ยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในหน่วยงานราชการ พื้นที่ส่วนกลาง ห้องน้ำไปจนถึง ขนส่ง บริการสาธารณะทุกรูปแบบ รวมถึงสนามบินและเครื่องบินด้วย จากรายงานข่าว ย้อนหลังเกี่ยวกับทางลาดขึ้นเครื่องบินก็พบว่า วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๓ ขออนุญาต เอ่ยนามนะคะ นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้ กรมท่าอากาศยานจัดหางบประมาณ ปี ๒๕๖๓ จำนวน ๗๙.๕ ล้านบาท หรือบันไดตัวละ ๕.๓ ล้านบาท สำหรับท่าอากาศยานละ ๑ เครื่อง ๑ ตัว ตามความเหมาะสม ทั้งหมดจำนวน ๑๕ สนามบิน และขณะที่ปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ก็ดำเนินการเพิ่มอีก ๘ สนามบิน เป็นวงเงินประมาณ ๔๒.๔ ล้านบาท แต่ในความเป็นจริงทุกวันนี้เราเห็นทางลาดแบบนี้ที่ไหนกันบ้างคะ เพียงพอ ต่อความต้องการไหมคะ เราเคยเห็นเขาใช้งานจริงไหมคะ มีก็จริงค่ะ แต่ไม่ได้ถูกนำมาใช้เป็น มาตรฐาน แล้วก็ในการที่ Operate สนามบินแต่ละครั้ง ใน ๑ วันเครื่องบินลงกี่ลำ กี่เที่ยว ถ้ามีแค่ ๑ อันต่อ ๑ สนามบิน มันจะพอใช้งานไหมคะ นอกจากนี้เห็นว่าวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๕ มีข่าวออกมาว่า ไม่มีสายการบินไหนขอใช้บริการ เป็นไปได้อย่างไรคะท่านประธาน มีให้ใช้แต่ไม่ใช้หรือคะ ดิฉันขอชวนตั้งคำถามสั้น ๆ ซึ่งดิฉันก็เข้าใจว่าท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการ ก็เตรียมตัวมาตอบเป็นอย่างดี ดิฉันอยากชวนถามกันสักนิดหนึ่งค่ะ ไม่ว่าเราจะเป็นบุคคลปกติ หรือผู้ที่ถูกจำกัดการเคลื่อนไหว หรือผู้สูงวัย เราอยากจะเดินทางขึ้นเครื่องบินแบบไหนกันคะ เราจะขึ้นแบบสบาย ๆ ไม่ต้องร้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น หรือเราจะไต่ขึ้นเครื่องเกาะไป แล้วก็ให้มีคนมาถามว่า กระเป๋าหนักไหม ช่วยถือหรือเปล่า แล้วก็ขึ้นไปนั่งหอบบนที่นั่ง หรือเปล่าคะ เราอย่าให้เกิดภาพนี้อีกเลย จากข้างต้นดิฉันขอสอบถามท่านประธานผ่านไปยัง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมว่า กระทรวงคมนาคมมีแผนอย่างไรที่จะใช้ทางลาด ขึ้นเครื่องนี้แทนการใช้บันไดในทุกสนามบินให้เป็นมาตรฐาน โดยที่ผู้โดยสารไม่ต้องร้องขอ เป็นพิเศษ เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสารและผู้ให้บริการอย่างสายการบิน และเพื่อให้ สอดคล้องกับหลักการอารยสถาปัตย์ ดิฉันขอทราบรายละเอียด ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ ขอภาพด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • จากภาพการขึ้นเครื่องบิน ปกติเราขึ้นเครื่องบิน เดินผ่านงวงช้างหรือสะพานเทียบ Gate ไปถึงด้านหน้าตัวเครื่องบิน ห้องโดยสาร เราจะเห็นรอยต่อระหว่างเครื่องบินกับตัวสะพานเทียบที่พื้น ถ้าผู้โดยสารที่ใช้ Wheelchair หรือว่ายกกระเป๋ามาเป็นกระเป๋าลากก็ต้องยกขึ้น ผู้โดยสาร Wheelchair จะต้องเปลี่ยนเป็นตัวเล็ก ภาพด้านซ้ายมือนะคะ หลังจากนั้นก็จะต้องยกเข้าไปใน ตัวเครื่องบิน ทีนี้ด้านขวาสุดจะเป็นแผ่นพับทางลาดขึ้นเครื่อง ซึ่งถ้าเรามีแผ่นพับทางลาด ขึ้นเครื่อง เราก็จะไม่ต้องเรียกใช้บริการให้เจ้าหน้าที่สายการบินมาช่วยกันยกขึ้นเครื่อง ที่ผ่านมาเมื่อตอน ปี ๒๕๖๓ มีข้อเรียกร้องจากกลุ่มมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล เคยเข้าพบรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในปี ๒๕๖๓ แล้วก็มีการนำเสนอจัดทำ แผ่นพับทางลาดขึ้นเครื่อง อันนี้เพื่อให้ใช้สำหรับเชื่อมรอยต่อสะพานเทียบเครื่อง เพราะว่า จะได้สะดวกเวลาขน Wheelchair เข้าไป ก็ได้มีการทดลองใช้ในอดีตค่ะ แต่ว่าปัจจุบันนี้ ไปขึ้นเครื่องเองจริง ก็ไม่เคยเห็น ไม่ทราบว่าไปอยู่ที่ไหนแล้ว อันนี้สั้น ๆ ค่ะประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ดิฉันอยากขอถามคำถามที่ ๒ ว่ากระทวงคมนาคมมีแผนจะกำหนดให้ มีการใช้แผ่นพับทางลาดพาดระหว่างทางต่างระดับระหว่างทางเข้าเครื่องนี้ให้กับผู้โดยสาร ผู้สูงอายุ ผู้ขนสัมภาระได้สะดวกตามหลักอารยสถาปัตย์หรือไม่ อย่างไร ขอทราบ รายละเอียดค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานคะ ดิฉัน ปวิตรา จิตตกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันนี้ดิฉันมาเป็นตัวแทนของผู้มีขีดจำกัดทางด้าน การเคลื่อนไหวนะคะ เป็นลูกหลานของผู้สูงอายุ แล้วก็ผู้ที่เคยประสบปัญหาเหล่านี้ในการ เดินทางด้วยตัวเองแล้วก็ครอบครัว ดังนั้นดิฉันขอฝากเรื่องนี้จริง ๆ ว่าการขอให้มี ให้ใช้ เป็นแบบมาตรฐาน โดยที่ไม่ต้องมีการร้องขอจะดีที่สุด แล้วก็อยากฝากท่านประธานไปยัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมค่ะ ขอให้เล็งเห็นปัญหานี้ ช่วยกันแก้ปัญหาอย่างแท้จริง เพราะหากแก้ปัญหานี้ได้ ไม่ใช่ผลงานของดิฉันคนเดียว แล้วก็ไม่ใช่ผลงานของพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่ง แต่เป็นผลงานของพวกเรา ผู้แทนราษฎรที่ประชาชนเลือกเข้ามา ให้แก้ปัญหาของพวกเขา ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพค่ะ ดิฉัน ปวิตรา จิตตกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตบางกอกใหญ่ เขตธนบุรี เขตภาษีเจริญ แขวงศิริราชและแขวางบางเชือกหนัง กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกลค่ะ วันนี้มีเรื่อง มาหารือท่านประธานนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๑ ประชาชน ผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง ชาวบางเชือกหนัง ซอย ๑๓ เขตตลิ่งชัน ประสบปัญหา ทางเข้าออกชุมชนฝั่งริมคลอง มีสภาพชำรุดและอันตรายจนรถเข็น Wheelchair รถมอเตอร์ไซค์ รถเตียงพยาบาล ไม่สามารถเข้าไปรับผู้ป่วยในชุมชนได้ อย่างไรฝาก ท่านประธานช่วยประสานงานทางกรุงเทพมหานครและสำนักงานเขตตลิ่งชันช่วยแก้ปัญหา ให้กับพี่น้องประชาชนด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ รบกวนท่านประธานติดตามโครงการระบบรวมน้ำเสียและ ระบบบำบัดน้ำเสียธนบุรี สัญญาที่ ๓ เขตบางกอกน้อย เขตบางกอกใหญ่ ซึ่งแจ้งว่าจะ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๖ แต่ว่าปัจจุบันนี้ไม่ได้เสร็จจริงตามที่ประกาศไว้ ประชาชนเดือดร้อนทั้งฝุ่น ทั้งควันและทั้งความปลอดภัย แล้วก็เรื่องเสียงด้วยนะคะ ฝากท่านประธานช่วยตรวจสอบโครงการนี้ผ่านไปยังกรุงเทพมหานครด้วยค่ะ ว่าทำไม ยังไม่เสร็จสักที แล้วจะทำอย่างไรต่อไปค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๓ ไฟในถนนเขตภาษีเจริญและเขตบางกอกใหญ่ดับบริเวณ ทางกลับรถ BTS บางหว้า แล้วก็เกาะกลางถนนหน้าซอยเพชรเกษม ๒๑ ไปจนถึง หน้าโรงพยาบาลบางไผ่ รวมถึงสะพานข้ามแยกท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ ล่าสุดเพิ่งเกิด อุบัติเหตุจากความมืด ฝากท่านประธานช่วยติดตามเร่งแก้ไขปัญหาด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นสุดท้าย ตลอดถนนบางแวก เขตภาษีเจริญ เราจะพบเห็นป้ายโฆษณา กีดขวางทางเท้าในคืนวันศุกร์และต้องรอจนถึงวันจันทร์ตามช่วงเวลาราชการ กว่าเจ้าหน้าที่ เทศกิจจะเข้ามาเก็บ ดิฉันและประชาชนพบเห็นภาพนี้ซ้ำ ๆ หลายครั้งแล้วค่ะ อยากฝาก ท่านประธานไปยังกรุงเทพมหานครและสำนักงานเขตภาษีเจริญ ในการแก้ปัญหา ป้ายกองโจรนี้อย่างยั่งยืนและตรงไปตรงมา ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพค่ะ ดิฉัน ปวิตรา จิตตกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตบางกอกใหญ่ ธนบุรี ภาษีเจริญ แขวงศิริราชและแขวงบางเชือกหนัง กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกลค่ะ ท่านประธานคะ ประชาชนชาวกรุงเทพมหานครที่ใช้สิทธิบัตรทองในการรักษาพยาบาล หากเจ็บป่วย ก็จะไปใช้บริการที่คลินิกบัตรทอง หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่าคลินิกชุมชนอบอุ่นค่ะ จึงถือได้ว่าคลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นสถานพยาบาลขั้นปฐมภูมิพื้นฐานเบื้องต้นให้กับ พี่น้องประชาชนที่ใช้สิทธิบัตรทอง แล้วก็สำคัญอย่างมากต่อสุขภาพของคนกรุงเทพมหานคร แต่วันนี้ที่หน้าคลินิกชุมชนอบอุ่นเราจะพบเห็นป้ายสีดำมีตัวหนังสือโต ๆ เลยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • พร้อมข้อความประจาน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ขึ้นว่าบัตรทอง กทม. เงินไปไหนหมด ไม่มีเงินจ่ายคลินิกบัตรทองค่ะ ตามภาพเลยนะคะ ทำให้ประชาชนที่พบเห็นต่างก็ตระหนก ตกใจว่าจะได้รับการรักษาพยาบาลอย่างปกติหรือไม่ เกิดความปั่นป่วนในสังคมค่ะท่านประธาน รวมถึงบางคลินิกถึงกับต้องมีป้ายขอรับเงินบริจาค คนมารับบริการคลินิกชุมชนอบอุ่น ก็ไม่ได้มีสตางค์มากอยู่แล้ว แล้วต้องมานั่งคิดจะเอาเงินที่ไหนไปยอดกล่องบริจาคค่ะ ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปัญหาที่กำลังประสบอยู่นี้ ก็คือ สปสช. ค้างจ่ายเงินคลินิกชุมชนอบอุ่นมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๕ จนทำให้คลินิกหลายแห่ง ขาดสภาพคล่องและประสบกับปัญหาขาดทุน ปัจจุบันคลินิกชุมชนอบอุ่นมีอยู่ทั้งหมด ๒๗๖ แห่ง ในกรุงเทพมหานคร แต่ละแห่งต้องดูแลพี่น้องประชาชนสิทธิบัตรทองประมาณ ๑๐,๐๐๐ กว่าคนต่อแห่ง ซึ่งก็แออัดมาก จำนวน ๑ คลินิก ต่อ ๑๐,๐๐๐ กว่าคน เทียบกับ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล หรือ รพ.สต. ที่อยู่ต่างจังหวัด ดูแลประชาชน จำนวนประมาณ ๓,๐๐๐ คนต่อแห่ง อยู่ ๓ เท่าตัว ถ้าเทียบตามตัวเลขนะคะ ทุกวันนี้ กรุงเทพมหานครประสบกับปัญหาความแออัด ในการรับการรักษาพยาบาลในระดับปฐมภูมิ อยู่แล้ว และถ้ายังไม่แก้ไขปัญหานี้คลินิกชุมชนอบอุ่นจะทยอยปิดตัวไป จะเกิดปัญหา การรักษาพยาบาลของคนกรุงเทพฯ ทำให้ยุ่งยากซับซ้อนขึ้นค่ะ ท่านประธานนึกนะคะว่า คนเจ็บป่วยที่จะต้องพาร่าง พาสังขารตัวเองเดินทางไปไกลยังสถานพยาบาลที่ไกลขึ้นค่ะ โรงพยาบาลขนาดใหญ่ก็จะแออัดมากขึ้น เพราะว่าสถานพยาบาลเล็ก ๆ ปิดตัวไป แพทย์ก็มีเวลาตรวจวินิจฉัยโรคน้อยลง ผู้ป่วยวิกฤติที่รอคอยหมอก็ต้องประสบปัญหา รอคอยมากขึ้น บางท่านเจ็บป่วยร้ายแรงก็จะต้องรักษาเนิ่น ๆ ก็ไม่ได้รับการรักษา ต้องรอคอยให้โรคร้ายลุกลามบานปลายไป นั่นหมายถึงโอกาสรอดชีวิตของพี่น้องประชาชน และผู้เจ็บป่วยก็จะน้อยลงค่ะ ปัญหาเกิดจากการที่กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเขตพื้นที่ สุขภาพที่ ๑๓ มีรูปแบบการเบิกจ่ายเงินที่แตกต่างจากจังหวัดอื่น การเบิกจ่ายตามรายการ ที่มีอยู่ถึง ๔,๐๐๐ รายการ รวมถึงงานธุรการมากมาย เสี่ยงต่อการถูกจับผิด แตกต่างจาก จังหวัดอื่น ๆ ในประเทศนี้มีกรุงเทพมหานครเท่านั้นที่มีความพิเศษ รูปแบบการเบิกจ่าย แบบเหมาจ่ายรายหัวค่ะ แถม สปสช. ก็ยังจ่ายให้คลินิกชุมชนอบอุ่นแค่ร้อยละ ๗๐ จากราคาประเมิน แต่ด้วยระบบของการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการที่มีหลักเกณฑ์ว่าหากปีใด มีผู้มาใช้บริการมากจนเกินวงเงินค่าบริการที่คลินิกชุมชนอบอุ่นจะได้รับนั้น ก็จะถูกลดลง ตามสัดส่วนค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • นั่นหมายความว่าอย่างไรคะ คน กทม. เจ็บป่วยมากขึ้น แต่คลินิกก็ยังถูก ตัดเงินอีก น่าสงสารคนกรุงเทพฯ ในนาทีนี้ค่ะ นโยบายแบบนี้เท่ากับว่า สปสช. กำลังบีบ ให้คนกรุงเทพฯ ที่เจ็บป่วยถูกปฏิเสธการรักษาหรือต้องได้รับการรักษาแบบจำกัดจำเขี่ย ขัดกับหลักการของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างชัดเจน ที่ผ่านมา สปสช. อ้างว่า ต้องใช้รูปแบบการเบิกจ่ายแบบนี้กับเฉพาะกรุงเทพฯ เท่านั้น เนื่องจากว่าเคยมีคลินิกชุมชน บางแห่งทุจริต ดิฉันไม่ได้ปฏิเสธนะคะ แล้วก็ไม่ได้บอกว่าเราไม่ควรแก้ไขปัญหาการทุจริต เราควรแก้ไขปัญหาการทุจริตค่ะ แต่การบังคับให้คลินิกทุกแห่งในกรุงเทพมหานคร ต้องมาอยู่ในระบบการเบิกจ่ายที่เอารัดเอาเปรียบ ด้อยประสิทธิภาพ ไม่มีการดูแลอย่างทั่วถึง จะส่งผลกระทบกับคนที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานคร ซึ่งตอนนี้มีมากถึง ๑๐ ล้านคน เป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่คำนึงถึงประชาชนเหมือนเอาชีวิตของคนกรุงเทพฯ ไปแขวนไว้ -บนเส้นด้าย และเมื่อ ๑๖ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพที่ ๑๓ ก็ได้มีข้อเสนอแนะไปแล้วว่า ให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเบิกจ่ายให้เป็นแบบเหมาจ่ายรายหัว เหมือนที่ต่างจังหวัดเขาทำกัน แทนที่การเบิกจ่ายตามรายการ โดยเสนอให้มีผลบังคับ วันที่ ๑ มีนาคม ที่จะถึงนี้นะคะ แต่ทว่าจนถึงวันนี้แล้วยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเลยค่ะ ปัจจุบัน สปสช. ค้างจ่ายคลินิกชุมชนอบอุ่นทั้งหมดอยู่มากกว่า ๕๘๐ ล้านบาท และถ้าไม่แก้ไข ก็จะพอกพูนหนี้ไปเรื่อย ๆ สิทธิในการรักษาพยาบาลของคนกรุงเทพฯ ก็จะถูกลิดรอน ตกไปเรื่อย ๆ น่าสงสารคนกรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่งนะคะ จึงเป็นที่มาของคำถามที่ ๑ ค่ะ ท่านประธาน เมื่อวานวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ดิฉันทราบมาว่ามีการประชุมเรื่องนี้ในบอร์ด สปสช. ดิฉันจึงขอสอบถามค่ะท่านประธาน ว่าตกลงแล้ววันที่ ๑ มีนาคม ที่จะถึงนี้จะมีการ เปลี่ยนแปลงรูปแบบการเบิกจ่ายเงินของคลินิกชุมชนอบอุ่นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นแบบรายหัวตามที่ผู้อำนวยการเขตสุขภาพที่ ๑๓ ได้เสนอหรือไม่ จะเริ่มเบิกจ่ายได้เมื่อไร และแหล่งงบประมาณมาจากที่ใด เพราะปัจจุบันนี้เงินเหลือจ่ายก็มีอยู่จำกัดมาก แล้วงบประมาณปี ๒๕๖๗ ก็ยังไม่แล้วเสร็จ รวมถึงไม่ได้มีการสำรองเงินไว้สำหรับ การเบิกจ่ายแบบรายหัว ดิฉันขอทราบรายละเอียดค่ะท่านประธาน ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ดิฉัน ปวิตรา จิตตกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ขอบพระคุณท่านรัฐมนตรี สามารถเบิกจ่ายได้เลยใช่ไหมคะ ก็ขอขอบพระคุณที่ท่านยืนยันว่าท่านก็ทราบถึงปัญหานี้ มาตั้งนานแล้ว เพราะว่าเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ท่านรัฐมนตรีสมัยที่ท่านเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ท่านก็ไปรับหนังสือร้องเรียนกับผู้แทนคลินิกชุมชนอบอุ่นด้วยตัวเอง ตามหน้าข่าวนะคะ และขณะนั้นก็ยังให้สัมภาษณ์อีกด้วยว่ากลไกการเบิกจ่ายแบบที่เป็นอยู่นั้น เป็นการทำลายพี่น้องประชาชน เป็นวิธีคิดที่แย่มาก ไม่สมควรเป็นรัฐบาล และควรถูกลงโทษด้วย และ สปสช. ก็ยังคงจัดสรรวงเงินงบประมาณในการเบิกจ่ายให้กับคลินิกชุมชนอบอุ่น น้อยกว่าความเป็นจริงตั้งแต่ปี ๒๕๖๔ จนถึงปี ๒๕๖๖ ที่จริงก็จนถึงวันนี้นะคะ ทำให้คลินิก ชุมชนอบอุ่นถูกปรับลดเงินชดเชยค่าบริการลงอย่างต่อเนื่อง ประสบกับปัญหาขาดทุน และขาดสภาพคล่องที่หนักกว่าเดิมค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ดังนั้นดิฉันขอสอบถามคำถามที่ ๒ เกี่ยวกับปากท้องนะคะ ในฐานะที่ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานบอร์ด สปสช. โดยตำแหน่ง และตนเอง ก็เคยไปรับหนังสือร้องเรียนด้วยตัวเองมา พร้อมกับคำพูดที่ว่าวิธีคิดการเบิกจ่ายแบบนี้ เป็นวิธีแย่มาก มันไม่สมควรเป็นรัฐบาล ดิฉันจึงขอสอบถามค่ะว่าเงินที่ค้างจ่ายคลินิก ชุมชนอบอุ่นในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีอยู่มากกว่า ๕๘๐ ล้านบาท จะจ่ายภายในเดือนไหน ในเดือนมีนาคมนี้จะได้หรือไม่ ขอทราบรายละเอียดค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานค่ะ ปวิตรา จิตตกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ขอบพระคุณ ท่านรัฐมนตรีค่ะ ฝากเรียนท่านประธานไปยังท่านรัฐมนตรีนะคะว่า เมื่อสักครู่ดิฉันนั่งฟังอยู่ค่ะ หนี้ทางบัญชีค่ะ หนี้ทางบัญชีมันกินไม่ได้ค่ะ คลินิกชุมชนอบอุ่นทุกที่ต้องกิน ต้องใช้ค่ะ และจะทยอยปิดตัวลงจากที่เคยมี เคยเห็นมาก่อนนะคะ ดังนั้นดิฉันอยากทราบคำตอบ ถ้าท่านรัฐมนตรีจะกรุณาตอบเป็นเอกสารก็ได้หรือจะแถลงข่าวก็ได้ค่ะ แล้วอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องที่เราพูดกันอยู่ในกระทู้นี้ สถานพยาบาลระดับปฐมภูมินี้คือคลินิกชุมชนอบอุ่น ไม่ใช่คลินิกอบอุ่นค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • คำถามสุดท้าย ปัจจุบันมีข้อเสนอจากเครือข่ายและสมาคมทางการแพทย์ และสาธารณสุข ๕ เครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ แห่งประเทศไทย ชมรมโรงพยาบาลสถาบันกรมการแพทย์ ชมรมโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป สมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ได้จัดตั้ง Provider Board เพื่อบูรณาการการจัดสรรการเบิกจ่ายของเครือข่ายสถานพยาบาลต่าง ๆ ให้มีความเป็นธรรมและรวดเร็ว ปัจจุบันมีความคืบหน้าอย่างไร และมีโครงสร้างการบริหาร เป็นแบบไหน จะดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมได้เมื่อไร ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ปวิตรา จิตตกิจ สมาชิก สภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ฝากสั้น ๆ สุดท้ายค่ะประธาน ดิฉัน ยังติดใจอยู่ค่ะ ๕๘๐ ล้านบาท ที่ค้างจ่ายอยู่จะจ่ายเมื่อไร และดิฉันก็หวังว่าภายใน ๒-๓ วันนี้ จะได้คำตอบค่ะท่านประธาน ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานค่ะ ดิฉัน ปวิตรา จิตตกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ดิฉันอยากเรียนแจ้ง ท่านประธานผ่านไปยังท่านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีค่ะ ดิฉันรอคอยวันนี้มาตั้งแต่ สมัยประชุมที่แล้วค่ะ เนื่องจากดิฉันได้ยื่นกระทู้ถามท่านไปครั้งที่แล้ว แล้วก็ถอนออกมา แล้วก็มายื่นใหม่ เนื่องจากมีการนัดหมายว่าจะมาวันนี้แน่ ๆ แล้วดิฉันก็ได้มีกระทู้ถามสดด้วย รวมถึงกระทู้ทั่วไป ดิฉันก็เตรียมตัวตอบอย่างดี รวมถึงพี่น้องประชาชนที่เฝ้าคอยติดตาม คำถามนี้อยู่ ก็เสียความรู้สึกมากค่ะท่านประธาน ถ้าอย่างไรอยากจะฝากท่านประธาน สะท้อนไปถึงท่านรัฐมนตรีให้ด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานค่ะ ดิฉัน ปวิตรา จิตตกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตบางกอกใหญ่ เขตธนบุรี เขตภาษีเจริญ แขวงศิริราชและแขวงบางเชือกหนัง กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกลค่ะ วันนี้ดิฉัน ขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายรับทราบ รายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ฉบับนี้ ซึ่งดิฉันขออนุญาตใช้คำนี้และขอเรียกรายงานฉบับนี้ สั้น ๆ ว่ารายงานลูบหน้าปะจมูกค่ะ ทำไมต้องใช้คำนี้นะคะ เพราะว่ารายงานฉบับนี้ ไม่ได้รายงานปัญหาสาธารณสุขไทยอย่างจริงจังค่ะ แล้วก็ไม่ได้ทำอย่างตรงไปตรงมา อีกทั้งงบประมาณที่ผ่านมาก็ถูกจัดสรรเป็นเศษเงินมากกว่าการลงทุน เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ ให้กับประชาชนอย่างยั่งยืนค่ะ ดิฉันอยากเชิญชวนท่านประธานผ่านไปยังประชาชนที่ชมอยู่ แล้วก็ผู้ทำรายงานให้ตั้งข้อสังเกตประเด็นเหล่านี้ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรก จะเห็นว่ารายงานผลการดำเนินงานในปี ๒๕๖๕ มีงบประมาณ เพิ่มขึ้นค่ะ อาทิ ในหน้า ๑๐๖ หมวดจำนวนงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปีงบประมาณ ๒๕๖๑-๒๕๖๕ ข้อที่ ๑.๒ ตามภาพนะคะ เงินเดือนของหน่วยบริการภาครัฐ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นทุกปี และปีล่าสุดอยู่ที่ ๕๘,๓๔๑ ล้านบาท แต่ทว่างบประมาณที่มีความจำเป็นและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างการบริการ สาธารณสุข อย่างผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงกลับอยู่ที่ ๙๙๐ ล้านบาท ซึ่งก็มีแนวโน้มลดลง จากปี ๒๕๖๑ เห็นไหมคะ กราฟติดดินเลยนะคะ หรือว่าค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการ ในพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัย และพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้กลับอยู่ที่ ๑,๔๙๐ ล้านบาท ซึ่งก็เท่าเดิมค่ะ ตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ จนถึงปี ๒๕๖๖ ไม่มีการพัฒนา สรุปสั้น ๆ ง่าย ๆ คือ ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ แต่ว่างบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุไม่ได้โตตาม และปัญหา สาธารณสุขในพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัย ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ยังไม่ได้ถูกให้ความสำคัญ ที่จะทำให้ประชาชนได้เข้าถึงสิทธิการรักษาได้อย่างเท่าเทียมกัน

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ รายงานหน้า ๑๙ มีการพูดถึงโครงการขอรับผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับ โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีที่ประชาชนควรจะได้รับอย่างเท่าเทียม แต่ว่า โครงการนี้มีปัญหาอย่างมาก ในเรื่องของการจัดสรรการจัดการอย่างไม่เป็นระบบของ หน่วยงานรัฐด้วยกันเอง ดิฉันก็ไปที่หน้างานมานะคะ เช่น กรุงเทพมหานครเพิ่งได้รับผ้าอ้อม เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทราบไหมคะว่าประชาชนในพื้นที่ดิฉันลงทะเบียนล่วงหน้า เพื่อจะรอรับผ้าอ้อมนี้ล่วงหน้า ๑ ปี เพิ่งจะได้รับค่ะ นั่นหมายความว่ารอจนเสียชีวิต รอจนบางท่านตายจาก และผ้าอ้อมที่ได้รับนี้ก็เป็นการจัดสรรสิทธิจากคนที่เสียชีวิตไปแล้วบ้าง บางคนก็ถอดใจไป ไปรับไม่ไหวค่ะ ให้มาที ๙ Pack ใหญ่ ๆ ซึ่งตอนแรกเจ้าหน้าที่แจ้งว่า จะจัดส่งให้ถึงที่ แต่พอถึงเวลาหน้างานจริงให้เรียกรถไปรับเอง ลำพังผู้สูงอายุที่มีภาวะแบบนี้ ก็มีเงินน้อยอยู่แล้ว ดังนั้นจะต้องหาทางไปรับผ้าอ้อมเองอีก ก็สร้างปัญหาให้เยอะนะคะ ไม่ทราบว่าเรื่องนี้ได้สะท้อนผ่านไปยัง สปสช. บ้างหรือไม่คะ ยังไม่รวมถึง Budget งบประมาณเฉลี่ยที่ให้ซื้อผ้าอ้อมแต่ละชิ้น โครงการนี้อยู่ที่ ๓๐ บาทต่อวันต่อคน ๑ ชิ้นอยู่ที่ ๙.๕๐ บาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ฝากสะท้อนมาค่ะ ผู้ปฏิบัติงานบอกว่าหามาได้ ๙.๕๐ บาท ได้แค่นี้ ก็บุญแล้วค่ะ หาคนประมูลมาทำงานนี้ได้ก็ดีแค่ไหนแล้ว ในท้องตลาดหาไม่ได้แล้วค่ะ ท่านประธานทราบหรือไม่คะว่าข้อมูลของผู้ที่มีความยากลำบาก ในการช่วยเหลือตัวเอง ในการขับถ่ายมีจำนวนประมาณ ๓๖๐,๐๐๐ คน ในประเทศเราส่วนใหญ่เป็นผู้พิการ เป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้หรือรายได้น้อยมากค่ะ แต่ว่าในปี ๒๕๖๖ โครงการดูแลผู้ป่วย ทั่วประเทศของ สปสช. ก็ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยอยู่ที่ ๔๔,๖๖๗ คน และมีฐานข้อมูลผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงผู้มีปัญหาการกลั้นการขับถ่ายอยู่ที่ประมาณ ๕๐,๐๐๐ คน นั่นคือตัวเลขมันไม่ตรงกัน ใช่ไหมคะ มันตกหล่นค่ะ หมายความว่าผู้ป่วยทั่วประเทศยังไม่เข้าถึงสิทธินี้ สิ่งเหล่านี้สะท้อน ว่าการจัดสรรงบประมาณในรายงานฉบับนี้มีปัญหา อีกทั้งการทำงานของหน่วยงานรัฐ ไม่ได้เชื่อมโยงกันจริง ๆ ค่ะ คนเขียนรายงานเป็นอย่าง คนหน้างานก็ไม่เคยคุยกัน ไม่มีโอกาส ได้สะท้อนปัญหา แล้วก็ผ่านมาในรายงานเล่มนี้ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๓ จำนวนคลินิกชุมชนอบอุ่นที่มีไว้ดูแลรักษาผู้ป่วยขั้นปฐมภูมิ ในสภาพความเป็นจริงที่ไม่สอดคล้องกัน กรุงเทพมหานครมีประชากรที่จะใช้บัตรทอง อยู่ประมาณ ๕ ล้านคน แต่ว่าคลินิกชุมชนอบอุ่นมีเพียงแค่ ๒๗๖ แห่ง เฉลี่ยแล้ว ๑ คลินิก ดูแล ๑๘,๐๐๐ คน ท่านประธานดูภาพนะคะ พื้นที่ของคลินิกชุมชนอบอุ่นขนาดนี้จะสามารถ รองรับประชาชน ๑๘,๐๐๐ คนได้อย่างเพียงพอหรือไม่ ดูแลทั่วถึงหรือเปล่า ดิฉันก็เคยได้มี โอกาสตั้งกระทู้ถามท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการเกี่ยวกับเรื่องนี้นะคะว่า ทำอย่างไรถึงจะให้เพียงพอ ท่านตอบมาว่าหมอไม่พอ สร้างคลินิกไปก็ไม่มีประโยชน์ ดิฉันฟังแล้วก็ชวนถอนหายใจค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๔ เป็นเรื่องกลุ่มโรคหายาก หรือภาษาอังกฤษที่เรียกว่า Rare Disease ถูกพูดเพียงแค่ ๗ คำเท่านั้น ในรายงาน ๔๐๐ กว่าหน้าเล่มนี้ ทั้ง ๆ ที่ เมื่อปี ๒๕๖๕ ท่านอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ได้จัดการเสวนาวิชาการเรื่องนี้ ได้ให้ความสำคัญไป แต่ข้อเท็จจริงกลุ่มคนที่ป่วยโรค Rare Disease โรคหายากนี้มีความน่าเศร้า น่าสงสารมากค่ะ เนื่องจากไปหาหมอแล้วก็เบิกค่ารักษาไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่เขาก็มีสิทธิบัตรทอง เหมือนกับประชาชนกว่า ๔๗ ล้านคน แต่ไม่มีสิทธิรักษา เพียงเพราะว่าเขาป่วยเป็นโรคหายาก ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคนี้ก็สูงมาก ปัจจุบัน สปสช. ได้นำร่องเพียง ๒๔ โรค เฉพาะโรค ในกลุ่มพันธุกรรม Metabolic ตั้งแต่ปี ๒๕๖๔ แต่ในความเป็นจริงโรคหายากแบบนี้ มี ๗,๐๐๐ กว่าชนิด และอยู่ในกลุ่ม Non Metabolic ซึ่งสิทธิบัตรทองไม่ได้ครอบคลุม ยังไม่รวมประเด็นยาบางประการที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ หากจะเข้าถึงก็ต้องจ่ายเงินเอง

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นสุดท้าย เรื่องการบรรจุวัคซีนไข้เลือดออกเข้าไปในแผนการเสริมสร้าง ภูมิคุ้มกันของโรคกระทรวงสาธารณสุข ไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่น ทุกคนมีสิทธิเป็นค่ะ เป็นแล้วก็เป็นอีกได้ แข็งแรงหรือว่ามีโรคประจำตัว มีโอกาสเป็นค่ะ ไม่มียารักษาเฉพาะเจาะจง ท่านประธานคงทราบนะคะว่าวัคซีนขณะนี้มีราคาสูงมาก แต่การป้องกันเชิงรุกย่อมดีกว่า การตั้งรับค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • จากประเด็นทั้งหมดที่กล่าวมาสะท้อนถึงสภาพปัญหาระบบสาธารณสุขไทย การสร้างรัฐสวัสดิการที่ล้มเหลวและขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ดิฉันหวังว่ารายงาน ฉบับหน้าเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงว่าระบบสาธารณสุขที่ใช้เงินเป็น และให้ความสำคัญ กับการสร้างระบบสาธารณสุขถ้วนหน้าอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่รายงานให้สภารับทราบค่ะ ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม