กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ เขต ๒ อำเภอยางตลาด อำเภอฆ้องชัย พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ จากรายงานที่นำเสนอ ก็ต้องขอขอบคุณหน่วยงานที่มานำเสนอรายงานผลปฏิบัติงานครับท่านประธาน เนื่องจากว่า รายงานที่นำเสนอเป็นปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ ซึ่งไม่เป็นปีปัจจุบัน และอาจไม่ตรงกับ สถานการณ์ปัจจุบันในโลกที่พัฒนาไปเรื่อย เป็นปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่มี การเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดมาในรูปแบบหลากหลาย ขอ Slide ด้วยครับ
ท่านประธานครับ จากตัวเลขรายงาน การกระทำความรุนแรงในครอบครัว ปี ๒๕๖๕ พบว่าปัญหายาเสพติดยังมาเป็นอันดับ ๑ คือ ๔๕๖ ราย คิดเป็นร้อยละ ๑๙.๓ อันดับ ๒ เกิดจากการดื่มสุรา อันดับ ๓ เกิดจาก การหึงหวง และสิ่งที่น่าตกใจมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ คือเรื่องของยาเสพติดครับ ท่านประธาน ขอ Slide ถัดไปเลยครับ ภาพที่เห็นคือเหตุเกิดในพื้นที่ของกระผม อำเภอฆ้องชัย เป็นเหตุความรุนแรงที่ลูกเผาบ้านตัวเอง ซึ่งลูกชายกับแม่อยู่ด้วยกัน ๒ คน ลูกชายเสพยาเสพติด คลุ้มคลั่ง สิ่งที่น่าเสียใจก่อนนั่นคือแม่ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อมาระงับเหตุก่อนที่จะเกิดขึ้นแต่ว่าไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือ สุดท้ายลูกจุดไฟ เผาบ้านตัวเอง ไม่เหลืออะไร ลูกต้องติดคุก แม่ต้องอยู่คนเดียว ไม่มีบ้านอยู่ครับท่านประธาน
และผมขอพูดต่อไปเกี่ยวกับ พ.ร.บ. คุ้มครองการป้องกันผู้ถูกกระทำ ความรุนแรงในครอบครัว ปี ๒๕๕๐ มีประเด็นหลายประเด็นที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ถูกกระทำ และผู้กระทำความผิด พ.ร.บ. คุ้มครองผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวยังมีช่องโหว่ เน้นการรักษาความสัมพันธ์มากกว่าคุ้มครองผู้ถูกกระทำ เผยสถิติจากความรุนแรง ในครอบครัว ปี ๒๕๖๔ สูงถึง ๓๗๒ ข่าว ฆ่ากันตายเกินครึ่ง สามีภรรยาเยอะที่สุดครับ ความรุนแรงมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ๙๒ ข่าว ยาเสพติด ๖๔ ข่าว โดยเฉพาะการฆ่ากันตาย มี ๑๙๕ ข่าว โดยความสัมพันธ์แบบสามีภรรยาสูงสุด ๕๗ ข่าว ทั้งนี้การแก้ไขปัญหา ความรุนแรงสังคมต้องเริ่มต้นจากการจับสัญญาณความรุนแรงในคู่รักก่อนทำร้ายร่างกาย กันจริง ๆ เช่น หึงหวง เพิกเฉย ทำให้อับอาย ควบคุม การรุกราน ข่มขู่ พยายามปั่นหัว Blackmail หรือตัดขาด เป็นต้น เพื่อหาทางออกความสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยอย่างสันติ การปรับแก้กฎหมายครอบครัวที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นที่สำคัญ ประการหนึ่ง คือการปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก เรื่องการเคารพสิทธิต่อร่างกายความรักที่ไม่ใช่ เจ้าของชีวิต ท่านประธานครับ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวมีหลายด้าน ที่สำคัญ คือเจตนาหลักของกฎหมายที่ให้น้ำหนักการรักษาความสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกัน เป็นครอบครัวมากกว่าที่จะเน้นการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกระทำ ซึ่งชัดมากในมาตรา ๑๕ มาตรา ๑๕ ระบุว่าไม่ว่าการพิจารณาคดีจะได้ดำเนินไปแล้วเพียงใดก็ให้ศาลพยายาม เปรียบเทียบปรับให้คู่ความได้ยอมความกัน โดยมุ่งถึงความสงบสุขและการอยู่ร่วมกัน ในครอบครัวเป็นสำคัญ ซึ่งข้อความนี้กลายเป็นพิมพ์เขียวของการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มองว่าแม้จะมีการทำร้ายกันในครอบครัว แต่ต้องพยายามรักษาครอบครัวของเขา อยู่ด้วยกันต่อไปให้ได้ ดังนั้นผู้ถูกกระทำเลยไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างที่ควรจะเป็น มีปัญหาคือกฎหมายไม่ได้ออกแบบรองรับ ให้การทำงานแบบบูรณาการ ซึ่งสำคัญมากครับ เพราะปัญหามีความซับซ้อนต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย แต่กฎหมายกำหนดให้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดูแลเพียงหน่วยงานเดียว ความร่วมมือ จากฝ่ายอื่นจึงเป็นแบบกระท่อนกระแท่นครับท่านประธาน อันที่จริงแล้วหัวใจของกฎหมาย คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นของประเทศใด ต้องเน้นว่าผู้ที่ถูกกระทำ ความรุนแรงคือผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานสูงสุด สิทธิที่จะมีอยู่ การมีชีวิตอยู่ อย่างปลอดภัยและมีศักดิ์ศรี จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องคุ้มครองและอำนวยความสะดวก ความยุติธรรมให้กับผู้ถูกละเมิด ท่านประธานครับ เราควรมีการหาทางออกปรับปรุง เพื่อไม่ให้เกิดช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อสังคมที่ดีขึ้น เพื่อสถาบันครอบครัวที่อบอุ่นต่อไป ในอนาคต ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ เขต ๒ อำเภอยางตลาด อำเภอฆ้องชัย พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ กระผมเห็นรายงานของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานปี ๒๕๖๔ กระผมสนใจอยู่เรื่องหนึ่งที่กำลังเป็นประเด็น อยู่ในหลายพื้นที่ รวมถึงจังหวัดกาฬสินธุ์บ้านผมด้วยครับ จากหน้า ๔๐ ของรายงาน วัตถุประสงค์ข้อ ๖ ว่าด้วยการปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้พลังงาน ชุมชนท้องถิ่น ประชาชน และผู้รับใบอนุญาตในการมีส่วนร่วม เข้าถึง ใช้ และจัดการด้านพลังงาน ภายใต้หลักเกณฑ์ ที่ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ข้อ ๖.๑ ปรับปรุงกระบวนการส่งเสริมการมีส่วนร่วม ในการกำกับกิจการพลังงาน โดย กกพ. ออกระเบียบว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็น ทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการ ผลิตไฟฟ้า ให้ผู้ใช้พลังงาน ชุมชนท้องถิ่น ประชาชน และผู้รับใบอนุญาตมีส่วนร่วม ในกระบวนการกิจการพลังงาน ท่านประธานครับ การดำเนินงานนโยบายของรัฐเพื่อแก้ไข ปัญหาขยะมูลฝอยของชุมชนซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ ที่มีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องกับพลังงาน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีขยะมูลฝอยสะสมเป็นจำนวนมาก หรือมีข้อจำกัดในพื้นที่ฝังกลบ ตามแผนแม่บทบริหารจัดการขยะมูลฝอย รวมถึงแผนปฏิบัติงานด้านการจัดการขยะ ของประเทศ ปี ๒๕๕๖-๒๕๗๐ โดยวิธีหนึ่งคือการเผาเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า กระผม เห็นด้วยกับการดำเนินงานเพื่อจะลดปัญหาของขยะ ปัจจุบันนโยบายเรื่องการรับซื้อไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะจากพลังงานเชื้อเพลิงขยะชุมชน จากแผนพัฒนา ฉบับล่าสุด โควตาสำหรับโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ซึ่งดำเนินการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อการกำจัดขยะอย่างยั่งยืน ตัวเลขโควตาอยู่ที่ประมาณ ๔๐๐ เมกะวัตต์ ปริมาณรับซื้อ ไฟฟ้าดังกล่าวเพียงพอต่อการสนับสนุนการกำจัดขยะทั่วประเทศหรือไม่ครับ กกพ. ควรร่วมมือและสนับสนุนกับกระทรวงมหาดไทยในการแก้ปัญหาเรื่องขยะ เพราะท้องถิ่นหลาย ๆ แห่ง ยังประสบปัญหาขยะสะสมและไม่ถูกสุขลักษณะ เกิดปัญหา มากมายทั้งชุมชนรอบข้างระบบนิเวศ ขยะเกิดขึ้นทุกวัน ปฏิเสธไม่ได้ครับว่าพวกเราทุกคน สร้างขยะขึ้นมา ขยะกองเป็นภูเขา ทำลายสิ่งแวดล้อม เกิดน้ำเสีย อากาศเป็นพิษ เชื่อว่า บ่อขยะหลาย ๆ ที่ขยะก็ยังกองเป็นภูเขาและจะเป็นต่อไปหากไม่ทำอะไรเลย อยากจะขอให้ กกพ. ออกนโยบายสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเรื่องชุมชนขยะ ในหลาย ๆ พื้นที่ที่มีแอบเผา ลักลอบเผาขยะ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซ เรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งประเทศไทยเราเองเป็นประเทศที่ประกาศลดคาร์บอน ลดโลกร้อน จะเป็นรูปธรรมไม่ได้เลยหากกองขยะปัจจุบันยังคงเป็นปัญหาเช่นปัจจุบันนี้ครับ ในช่วงของการมองการกำจัดขยะเป็นหลัก ส่วนการพัฒนาพลังงานคือผลพลอยได้ครับ ท่านประธาน ซึ่งมาตรฐานการควบคุมมลพิษ การมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมทั้งมีมาตรการ ด้านสิ่งแวดล้อม COP EIA หรือ EHA ต่าง ๆ ส่วนปัญหาภาพรวมจากที่เห็นทางหน้าข่าว ปัญหาหลัก ๆ คือด้านมวลชนคัดค้าน แต่บางพื้นที่ก็สนับสนุนให้มีการกำจัดขยะอย่างยั่งยืน จริง ๆ หากต้องการอธิบายหรือทำความเข้าใจกันทุกฝ่าย ผมเชื่อว่าโรงไฟฟ้าขยะสามารถ เกิดขึ้นได้ พี่น้องประชาชนสามารถยอมรับได้ แต่ปัจจุบันพี่น้องประชาชนมองภาพโรงไฟฟ้าขยะ เป็นโรงไฟฟ้าปีศาจ มีสาร Dioxin สารก่อมะเร็ง แต่กลับยอมให้มีขยะกองเป็นภูเขา แต่ปัจจุบันครับท่านประธาน เทคโนโลยีสมัยใหม่ดีกว่าเดิมเยอะ มีการออกมาตรการ มาควบคุมตามหลักสากลสามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้ในฐานะที่ กกพ. เป็นแม่งาน ผมอยาก เสนอให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับท้องถิ่น จังหวัด กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงจัดทำแผน ประชาสัมพันธ์ให้กับมวลชน ทำความเข้าใจให้ความรู้เกี่ยวกับการกำจัดขยะเพื่อแก้ไขปัญหา ขยะอย่างยั่งยืน และที่สำคัญคือการดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ให้ชาวบ้านหรือผู้มีส่วนได้เสีย มีส่วนร่วมอย่างจริงใจ จริงจัง เอกสารถูกต้องตามหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือวิธีการแก้ปัญหาและทำความเข้าใจกับมวลชนเรื่องการกำจัดขยะครับ ผมยังเชื่ออีกว่า พี่น้องประชาชนจะได้รับกระบวนการการทำงานที่โปร่งใส ไม่มีนายทุนหนุนหลัง และไม่มี อำนาจรัฐเป็นใบเบิกทาง ท่านประธานครับ ต้องย้อนกลับไปถึงคำสั่ง คสช. ที่ ๔/๒๕๕๙ และ ๙/๒๕๕๙ ครับ ในกรณีนี้มีการยกเว้นผังเมืองให้กับโรงไฟฟ้าขยะเป็นเหมือนประตูวิเศษ ให้กับกลุ่มทุนหลาย ๆ กลุ่มทุน สร้างโรงงานขยะก่อนประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังมีข้อยกเว้นเรื่อง EIA ในกรณีที่โรงไฟฟ้าขยะไม่เกิน ๑๐ เมกะวัตต์ สุดท้ายครับ ท่านประธาน ประชาชนปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีการกำจัดขยะเพื่อนำมาผลิตกระแสไฟฟ้า แต่สิ่งที่ประชาชนเป็นกังวลคือเรื่องของความถูกต้อง สุขภาพอนามัย ขนาดโรงไฟฟ้าที่มี ขนาดใหญ่เกินไป การนำขยะรวมศูนย์ ปัญหามลพิษจากสิ่งแวดล้อม กระผมจึงฝากเรียน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกให้ผลกระทบกับประชาชนไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องให้ประชาชนมาเดินขบวนต่อต้าน ทั้งที่รู้ตระหนักว่าปัญหาขยะคือปัญหาระดับชาติ และเป็นปัญหาเรื่องความมั่นคงของพลังงานก็สำคัญ ก็ต้องฝาก กกพ. เพื่อพิจารณาด้วยครับ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนเรื่องถนนที่ไม่ได้รับความสะดวกสบายนะครับ
๑. ถนนสายบ้านโคกศรีถึงบ้านขาม ตำบลคลองขาม อำเภอยางตลาด
๒. ถนน กส.๒๔๑๖ บ้านโคกใหญ่ โคกคำ ตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด
๓. ถนนบ้านวังฝั่งแดง หมู่ที่ ๘ เชื่อมบ้านนาเชือก หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๑๑ ตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาด
๔. ถนนบ้านโคกป่าคา ตำบลลำพาน บ้านปอแดง หมู่ที่ ๑ ตำบลนาดีเชื่อมกับ บ้านอุ่มเม่า หมู่ที่ ๑ ตำบลยางตลาด
๕. ถนนสายไร่ภูทองใบ โคกสำเร หมู่ที่ ๕ บ้านโคกแง้ ตำบลเขาพระนอน
๖. ทางหลวงชนบท หมายเลข มค.๓๐๖๔ เชื่อมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔ กม.๒๑๑๖ บ้านหนองเม็ก หมู่ที่ ๔ บ้านหนองบัว หมู่ที่ ๓ ระยะทางประมาณ ๓ กิโลเมตร
๗. ถนนบ้านเหล่า หมู่ที่ ๕ ไปบ้านเชียงงาม หมู่ที่ ๒๒ ตำบลบัวบาน
๘. ถนนอำเภอยางตลาดถึงบ้านยางน้อย หมายเลข กส.๒๐๑๖ เชื่อมทางหลวง แผ่นดิน หมายเลข AH16 ตำบลยางตลาด อำเภอยางตลาด
๙. ถนนคลองชลประทาน ตำบลเหล่ากลาง อำเภอฆ้องชัย คลอง 7R ถึงตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย
๑๐. ถนนบ้านนาสีนวล หมู่ที่ ๓ ตำบลโนนศิลาเลิง อำเภอฆ้องชัย ไปบ้านเสียว หมู่ที่ ๑ ตำบลหัวงัว อำเภอยางตลาด
๑๑. ถนนบ้านโนนเขวา หมู่ที่ ๔ ถึงบ้านหัวโนนเปลือย หมู่ที่ ๕ ตำบล เหล่ากลาง อำเภอฆ้องชัย ปัญหาเรื่องแหล่งน้ำ ปัญหาขาดน้ำเพื่อการเกษตรลำห้วยสีดา ตำบลโนนสูง อำเภอยางตลาด ตำบลหัวนาคำ ตำบลอิตื้อ อำเภอยางตลาด ครอบคลุมพื้นที่ ๕,๗๐๐ ไร่ โดยพี่น้องประชาชนขาดน้ำใช้เพื่อการเกษตร จึงต้องการได้ฝายทดน้ำ เพื่อการเกษตรจะแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้ครับ ปัญหาหนองเลิง บ้านโนนชัย หมู่ที่ ๑ บ้านโคกประสิทธิ์ หมู่ที่ ๓ ตำบลโคกสะอาด น้ำไม่เพียงพอต่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค ปัญหาหนองเลิงไก่โอก ตำบลหัวงัว ตำบลนาดี อำเภอยางตลาด ตำบลโนนศิลาเลิง อำเภอฆ้องชัย มีวัชพืชตื้นเขินไม่ได้รับการดูแลมาหลายสิบปีแล้ว ไม่เพียงพอที่จะเก็บน้ำไว้ใช้ ในฤดูแล้ง ข้อ ๑๕ ปัญหาพนังกั้นลำน้ำชี Slide ขอภาพด้วยครับ
จากเหตุการณ์วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๕ มีมวลน้ำมหาศาลทำให้พนังกั้นลำน้ำชีบริเวณ กม. ที่ ๖ บ้านสะดำศรี ตำบลลำชี อำเภอ ฆ้องชัยพัฒนา จังหวัดกาฬสินธุ์ มีรอยร้าว สุดท้ายพนังกั้นลำน้ำชีขาดในที่สุดส่งผลกระทบ ให้พี่น้องประชาชนหลายพันครัวเรือน พื้นที่การเกษตรกว่า ๒๐,๐๐๐ ไร่ได้รับความเสียหาย เป็นวงกว้าง ปัจจุบันดิน Slide ในจุดที่เคยขาดของพนังกั้นลำน้ำชี แต่ก็ได้รับการแก้ไข จากพี่น้องประชาชน และ อปท. แต่หวั่นเกิดเหตุซ้ำรอย จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหาด้วยครับ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ผมเห็นว่าควรมีกฎหมายบังคับเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี แต่ว่าควรออกเป็น พ.ร.บ. เพราะสภาสามารถเพิ่มเติมเนื้อหาได้ แต่ พ.ร.ก. ฉบับนี้ไม่สามารถ แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ ผมเลยอยากชี้ว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้มีจุดบกพร่องอยู่หลายจุด กระผม มีข้อห่วงใยเกี่ยวกับ พ.ร.ก. ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จะเห็นได้ว่า หลัก ๆ ปัญ หาเกิดขึ้นกับ Call Center หลอกให้กด Link ดูดเงินแบบต่าง ๆ ทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่กฎหมายฉบับนี้ พ.ร.ก. ฉบับนี้ไม่ได้กำหนดบทลงโทษของผู้ก่อการ อย่าง Call Center และผู้เขียน Application หลอกลวงให้กด Link แต่ พ.ร.ก. ฉบับนี้ มุ่งจัดการไปที่ปลายเหตุ คือพฤติกรรมการรับเงินที่เกี่ยวข้องกับความผิด อีกทั้งยังมีข้อกังวล เกี่ยวกับด้านมนุษยชนของประชาชนอีกด้วยที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ
มาตรา ๓ ผมตั้งข้อสังเกตว่าการกระทำความผิดเพื่อฉ้อโกงกรรโชกทรัพย์ หรือรีดเอาทรัพย์ ข้อสังเกต คือเป็นการกระทำผิดที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ถึงจะมีความผิดตาม พ.ร.ก. นี้ แต่ว่าความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาต่าง ๆ เช่น ฐานลักทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ ไม่ได้มาใส่ไว้ใน พ.ร.ก. นี้ ซึ่งหมิ่นเหม่ต่อความผิดฐานลักทรัพย์ หรือฉ้อโกง ในกรณีที่ผู้เสียหายโดนโจรกรรมเงินออกจากบัญชีอาจมีผลต่อการตีความ ข้อกฎหมายของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบคดีทำให้ไม่สามารถเข้าเงื่อนไขของ พ.ร.ก. นี้ ในฐานกระทำความผิดนะครับ
มาตรา ๕ เป็นอำนาจในการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการมากเกินไป หรือไม่ในการแลกข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เหล่านี้ ขาดหลักการตรวจสอบถ่วงดุลจาก ฝ่ายตุลาการหรือองค์กรอิสระตามหลักสิทธิมนุษยชนกฎหมายที่จำกัด สิทธิเสรีภาพต้องมี การตรวจสอบ ถ่วงดุล โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้อำนาจจำกัดสิทธิโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย หรือฝ่ายบริหาร โดยหลักสากลที่สำคัญคือการตรวจสอบโดยศาล ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ควรต้องขออนุมัติหมายศาลก่อนหรือเปล่าครับ เพราะว่าสมัยนี้เราอยู่ในยุคเทคโนโลยี ผมก็เห็นหลายครั้งที่ศาลอนุมัติหมายทาง Online ได้แล้ว ซึ่งด้วยที่ผมแสดงความคิดเห็นมาทั้งหมด พ.ร.ก. เทคโนโลยีฉบับนี้ยังไม่สามารถป้องกันปราบปรามกระทำความผิดครอบคลุม ผู้เสียหายหรือประชาชนทั่วไปที่อาจได้รับผลกระทบตาม พ.ร.ก. ทั้งนี้ทำให้ประชาชน สูญเสียสิทธิเสรีภาพในการทำธุรกรรมของสถาบันการเงิน กระผมจึงไม่อาจเห็นชอบ กับ พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๖๖ ที่ ครม. ชุดนี้เสนอได้ครับ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย จากรายงานของ กสทช. กระผมตั้งข้อสังเกตต่อรายงานการเงินของ กสทช. ซึ่งสำนักงาน กสทช. เป็นหน่วยงานที่มีรายได้สูงมาก โดยรายได้หลัก ๆ มาจากต่อไปนี้ ขอ Slide ด้วยครับ
๑. ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในการใช้ คลื่นความถี่และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการ ๒. รายได้หรือผลประโยชน์อันได้ มาจากการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของ กสทช. รายได้จากทรัพย์สินของสำนักงาน กสทช. เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้เงินอุดหนุนทั่วไป กระผมได้หยิบประเด็นที่ วิพากษ์วิจารณ์ส่วนใหญ่ของ กสทช. นะครับ ที่จะพูดคือ กสทช. เป็นหน่วยงานที่ใช้จ่าย งบประมาณเกินความจำเป็นหรือไม่ ที่เขาบอกว่าใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย จากเงินภาษีของประชาชน มาจ่ายเป็นค่าตอบแทนคณะกรรมการ ซึ่งล่าสุดมีมติรับหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา ค่าตอบแทนค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวกับการทำงานไปปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการและประธาน คณะกรรมการ ซึ่งแสดงให้เห็นโชว์ต่อไปว่าค่าตอบแทนของประธานคณะกรรมการและ กรรมการของคณะ กสทช. เป็นอย่างไร ขอ Slide ต่อไปเลยครับ ค่าตอบแทนเหมาจ่าย รายเดือนของประธาน กสทช. เดิมที ๓๓๕,๘๕๐ บาทต่อเดือน ปัจจุบัน ๓๖๑,๑๖๗ บาท ต่อเดือน สูงกว่านายกรัฐมนตรี ตีเป็นเงินเดือน ๒๖๙,๐๐๐ บาทต่อเดือน ผลประโยชน์อื่น ๖๗,๒๕๐ บาทต่อเดือน ค่าบำเหน็จ ค่าตอบแทน ๒๒,๔๑๗ บาทต่อเดือน ค่าเสียโอกาส ๘๙,๖๖๗ บาทต่อเดือน กรรมการ กสทช. ค่าตอบแทนรายเดือน ๒๘๙,๑๖๗ บาทต่อเดือน เงินเดือน ๒๑๕,๐๐๐ บาทต่อเดือน ผลประโยชน์อื่น ๕๓,๗๕๐ บาทต่อเดือน ค่าบำเหน็จ ค่าตอบแทน ๑๗,๙๑๗ บาทต่อเดือน และค่าเสียโอกาส ๗๑,๖๖๗ บาทต่อเดือน คำพูด ที่ฟังดูแล้วเจ็บปวดที่สุดเรื่องค่าตอบแทนของ กสทช. และพนักงาน กสทช. รวมทั้งค่าใช้จ่าย ต่าง ๆ ของสำนักงาน กสทช. ที่บอกไว้ว่าค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่ได้นำมาจาก ภาษีของพี่น้องประชาชน แต่หักมาจากการเก็บค่าธรรมเนียมของผู้ประกอบการ ในทาง ตรงกันข้ามเงินที่เหลือจากการหักค่าใช้จ่ายของ กสทช. ส่งเป็นรายได้แผ่นดินแต่ละปี ฟังดูกี่ทีก็ไม่สบายใจครับท่านประธาน โดยรายได้ทั้งหมดในแต่ละปีมีมูลค่าเป็นแสนล้าน แต่เมื่อหักรายจ่ายสำหรับดำเนินงานและสมทบกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา และทุน SMART Digital เพื่อเศรษฐกิจและสังคม เหลือนำรายได้ส่งแผ่นดินไม่มาก อาทิเช่น รายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ ๗๐๐ เมกะเฮิรตซ์ ๕๒,๗๕๒ ล้านบาท นำส่งคลัง ๓๑,๓๑๐ ล้านบาท หรือรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ ๒,๖๐๐ เมกะเฮิรตซ์ รายได้ ๓๗,๔๓๓ ล้านบาท นำส่งคลัง ๖,๑๕๕ ล้านบาท ผมจึงมีข้อสังเกตและอยากทราบว่าสัดส่วน การหักรายจ่ายสำหรับการดำเนินงานเพื่อนำส่งคลังมีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้อย่างไรครับ และการสมทบเงินทุนเข้ากองทุนทั้ง ๒ กองทุนมีการกำหนดเพดานการสมทบหรือไม่ อย่างไร และอีกข้อหนึ่งครับ ข้อสังเกตจากหมายเหตุ ข้อ ๔๙ ของสำนักงาน กสทช. มีข้อพิพาท และคดีความที่สำคัญที่สำนักงาน กสทช. ถูกฟ้องในฐานะความผิดเกี่ยวกับการออกคำสั่ง และการดำเนินการประกาศ กสทช. โดยมีคดีที่ถูกฟ้องจำนวนมาก และมีทุนทรัพย์ตามฟ้อง สูงมาก อยากให้ผู้สอบบัญชีได้ให้คำแนะนำสำนักงาน กสทช. ได้มีการจัดทำสรุปแนวทาง การแก้ไขปัญหาเพื่อลดข้อพิพาทและคดีความต่าง ๆ กระผมจึงฝากท่านประธานไปยัง หน่วยงานที่รับผิดชอบศึกษาหาแนวทางในการบริหารจัดการอย่างเหมาะสมต่อไป ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ เขต ๒ อำเภอยางตลาด อำเภอฆ้องชัย พรรคเพื่อไทย ตามที่ได้รับฟังรายงานของสำนักงาน ป.ป.ส. ในวันนี้ได้รับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงหลายเรื่อง หน่วยงาน ป.ป.ส. เป็นหน่วยงานที่สำคัญ ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดซึ่งเป็นปัญหาของสังคม ปัญหาของพี่น้องประชาชนที่ได้รับ ผลกระทบเกี่ยวกับยาเสพติดในประเทศ เหตุใดจึงปราบไม่หมดเสียทีครับ หน่วยงาน ป.ป.ส. เป็นหลักที่ทำหน้าที่ป้องกันปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ปัญหายาเสพติด ปัจจุบันซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนควรนำเข้าสู่วาระแห่งชาติ โดยกระผมมีข้อสังเกต เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. อยู่ ๒ ประการ
ประการที่ ๑ เรื่องการตรวจของกลางเพื่อตรวจสอบเมื่อกระทำความผิด โดยเมื่อจับกุมผู้กระทำความผิดในที่เกิดเหตุมักมีทรัพย์สิน โทรศัพท์ รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ของผู้กระทำความผิดจอดอยู่ในที่เกิดเหตุ โดยเมื่อสันนิฐานว่าสงสัย เป็นของใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาจากการกระทำความผิดที่ยึดไว้ในเหตุ ส่งไปยัง สำนักงาน ป.ป.ส. เพื่อตรวจสอบ ซึ่งปัจจุบันสามารถอายัดที่ดินและบ้านได้ ก่อให้เกิดปัญหา อันนี้คือในมุมมองของผู้บริสุทธิ์นะครับ ก่อให้เกิดปัญหาการติดตามเอาคืนยาก หรืออาจโดน กลั่นแกล้ง หรือเป็นช่องทางหาผลประโยชน์ กว่าจะพิสูจน์ทราบได้ต้องผ่านกระบวนการยื่นศาล เพื่อขอของกลางคืน เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตามกระบวนการขอริบของของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ใช้เวลาเป็นปี ตรงนี้ผมอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. อยากให้ โปรดช่วยพิจารณาปรับปรุงวิธีการยึดทรัพย์ให้เกิดความโปร่งใส รวดเร็ว และเป็นธรรม กับพี่น้องประชาชนด้วยครับ
ประการที่ ๒ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. ที่ผ่านมามักมีการแอบอ้างแสดงตนเข้าเป็น เจ้าหน้าที่เพื่อเข้าจับกุมค้นหายาเสพติดต่อผู้บริสุทธิ์บางคน ซึ่งจริง ๆ แล้วประชาชน ไม่สามารถทราบได้ว่าใครเป็นเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. แต่ก็เห็นข่าวในหลาย ๆ ช่องทางว่า มีการแอบอ้างมิจฉาชีพ แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่พนักงาน ป.ป.ส. เพื่อประทุษร้ายต่อทรัพย์สิน อาชญากรรมอื่น ๆ กับประชาชนผู้บริสุทธิ์ เพื่อให้เกิดความรัดกุมรอบคอบของการทำงาน ของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. และความปลอดภัยของประชาชนเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ของประชาชนควรได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ผมเลยอยากให้หน่วยงานของ ป.ป.ส. หาแนวทางแก้ไขปัญหาใน ๒ ประเด็นนี้ด้วย และสิ่งสำคัญสุดท้ายที่เพื่อนสมาชิกได้พูดไปแล้ว ผมขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าพูดถึงเรื่องสารตั้งต้นนะครับ ปัจจุบันประเทศไทยมีการสั่งนำเข้า สารเคมีมาจำนวน ๑,๑๕๐ ตัน ขอ Slide ด้วยครับ
๑,๑๕๐ ตัน และส่งออกไป ประเทศเมียนมา ๘๑๐ ตัน เหลือใช้เพียง ๓๑๐ ตันในกลุ่มโรงงานชุบโลหะ ซึ่งสารตั้งต้น ๘๑๐ ตันที่เราส่งไปประเทศเมียนมานี่สามารถผลิตยาบ้าได้ ๑๖,๐๐๐ ล้านเม็ดครับ ท่านประธาน โดยเฉพาะสาร Sodium Cyanide ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ ๓ ในการผลิตยา โดยสาร Sodium Cyanide ๑ กิโลกรัม ถ้าเล็ดลอดออกจากโรงงานสามารถผลิตยาบ้าได้ ๒๒,๐๐๐ เม็ด โดยที่ผ่านมามีการควบคุมเพื่อไม่ให้มีการนำไปผลิตยาเสพติดนั้น ผมอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ ป.ป.ส. เป็นเจ้าภาพเพื่อบูรณาการเกี่ยวกับ การกำหนดสารเคมีต่าง ๆ เหล่านี้ว่าทำไมเราใช้แค่ ๓๑๐ ตัน เราถึงต้องสั่งนำเข้า เพื่อไปส่งออกให้ประเทศเพื่อนบ้านเพื่อไปผลิตยา แล้วย้อนกลับเข้ามาประเทศไทย ของเรา สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ผมอยากให้แก้ที่ต้นเหตุ ที่กระผมได้กล่าวมาทั้งหมดก็เพื่อ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับหน่วยงานของท่าน และเกิดประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อป้องกัน ปราบปรามต้นเหตุอีกทางหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติด ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่เป็นรากฐานของสังคมไทย เกษตรกรไทย กับภาระหนี้สินคือของคู่กัน เพราะอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่ต้องใช้ปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางธรรมชาติไม่สามารถกำหนดได้ ปัจจัยเรื่องของสภาพพื้นที่ที่ดินทำกิน ปัจจัยเรื่องของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการเกษตร ปัญหาการตลาด การแปรรูปผลิตภัณฑ์ ปัญหาผลผลิตล้นตลาด ปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดภาระหนี้สินของเกษตรกร อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วันนี้กระผมจึงขอขอบคุณคณะผู้ตรวจสอบบัญชีกองทุนสงเคราะห์ เกษตรกรที่มารับฟังปัญหาต่าง ๆ วันนี้ ซึ่งจริง ๆ แล้วผมคิดว่าควรมาพร้อมกับผลดำเนินงาน ของกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ซึ่งมาให้ผู้แทนราษฎรได้ชี้แนะนำเสนอปัญหาจากพี่น้อง ประชาชนโดยตรงผ่านไปยังคณะกรรมการดำเนินงานต่าง ๆ ซึ่งประเด็นที่ผมเป็นห่วง มีอยู่หลายประเด็น ยกตัวอย่าง เช่น
ประเด็นที่ ๑ เกณฑ์การเข้าถึงกองทุนเกษตรกร ซึ่งจะเป็นองค์กรนิติบุคคล หรือกลุ่มเกษตรกร จึงเป็นปัญหาเกี่ยวกับเกษตรกรรายย่อยที่ไม่สามารถรวมกลุ่มได้ เกษตรกรจึงมีวิธีเข้าถึงกองทุนแตกต่างกันหลายรูปแบบ ยังดีที่ในอดีตในสมัยรัฐบาล ไทยรักไทยได้เคยนำกองทุนหมู่บ้านพักหนี้เกษตรกรยังพอช่วยประทังชีวิตเงินหมุนเวียน ให้เกษตรกรในชนบทพอลืมตาอ้าปากได้บ้าง แต่ปัจจุบันนี้กองทุนเกษตรกรเน้นแก้ไขปัญหา หนี้ในระบบสถาบันการเงินเป็นหลัก โดยที่เกษตรกรรายย่อย กลุ่มที่ไม่มีหลักทรัพย์ ไม่สามารถเข้าถึงกองทุนได้ ก่อให้เกิดหนี้นอกระบบและปัญหาสังคมที่ตามมา กองทุน จะมีนโยบายที่จะช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มนี้อย่างไรครับ
ประเด็นที่ ๒ สิ่งที่น่าเป็นห่วง ขณะนี้ไม่ทราบว่ากองทุนเตรียมแผนรองรับ การใช้เงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรกรณีวิสาหกิจชุมชนหรือไม่ เนื่องจากไม่มีความชัดเจน มีการปรับเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติงานระหว่างปี กรณีวิสาหกิจชุมชนสมาชิกต้องค้ำประกัน เงินกู้ทุกคน หากสมาชิกบางรายไม่เข้าใจรายละเอียดของโครงการและหลักเกณฑ์การใช้ เงินกองทุนเท่าที่ควร ขาดความมั่นใจในการดำเนินโครงการจึงลาออกจากวิสาหกิจชุมชน จะทำให้เกิดปัญหาในการบริหารโครงการไม่สามารถเดินไปตามแผนที่วางไว้หรืออาจทำให้ ต้องทำสัญญากู้ยืมใหม่ ส่งผลกระทบให้การดำเนินโครงการล่าช้าอาจมีผลกระทบต่อ การชำระเงินคืนของกองทุน
ประเด็นที่ ๓ เกษตรกรผู้ห่างไกลกว่าจะเดินทางมาติดต่อกองทุนในแต่ละจังหวัด ใช้เวลาเป็นวัน อัตรากำลังไม่สอดคล้องกับงานที่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น การประชาสัมพันธ์ ไม่ทั่วถึง อย่างที่เพื่อนสมาชิกหลายท่านได้พูดไปแล้วว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของคนในพื้นที่ ทั้งเกษตรกรและผู้นำชุมชนไม่รู้จักกองทุนนี้เลย แม้แต่ตัวผมเองก็เพิ่งรู้จักกองทุนนี้ก่อนวาระ จะเข้าประชุมไม่กี่วัน แล้วจะให้พี่น้องประชาชนเอาความรู้ที่ไหนมากู้กองทุนเกษตรกรนี้
ประการสุดท้าย สิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของเกษตรกรคือเรื่องภัยธรรมชาติ แนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ การรับมือและการช่วยเหลือเกษตรกร ฝนแล้ง น้ำท่วม ภัยพิบัติ ต่าง ๆ นี่จะเป็นสิ่งที่เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรทั้งด้านการเกษตรทำให้การเกษตรไม่สามารถ เกิดผลผลิตและชำระหนี้ได้ตามกำหนด จึงขอกราบเรียนท่านประธานสภาฝากไปยัง หน่วยงานว่ามีวางแผนกรอบนโยบายที่จะช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรต่อไปอย่างไร ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอยางตลาด อำเภอฆ้องชัย พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ เกษตรกรคือกระดูกสันหลังของชาติ ผมยังจำประโยคข้างต้นนี้ได้ตั้งแต่สมัยอยู่ในรั้วโรงเรียน ประโยคดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริง ทางสถิติจวบจนถึงปัจจุบันโดยในช่วง ๓ ทศวรรษที่ผ่านมา แรงงานไทยอยู่ภายใต้เกษตรกร ราวร้อยละ ๓๐ ท่านประธานครับ เกษตรกรใช้ที่ดินไปทั้งประเทศประมาณร้อยละ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ปัจจัยนำเข้าเท่าเดิม ผลผลิตที่ได้กลับมีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังปรากฏ ในส่วนแบ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หากเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ ในภาคเกษตรกรไทยถือว่าเติบโตและล่าช้า และมีแนวโน้มที่จะมีความสำคัญในฐานะ ผู้ส่งออกรายใหญ่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง จากตัวเลขส่วนแบ่งการตลาดไม่ว่าจะเป็นในอดีต ที่คนไทยสามารถพูดได้อย่างภูมิใจว่าเป็น Champ แต่ในปัจจุบันเราค่อย ๆ สูญเสียตำแหน่ง ดังกล่าวให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจัยของเกษตรกรสิ่งแรก คือเรื่องของที่ดิน โดยกว่า ร้อยละ ๕๐ มีที่ดินน้อยกว่า ๑๐ ไร่และในขณะที่เกษตรกรที่มีที่ดินมากกว่า ๒๐ ไร่ คิดเป็น ร้อยละ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ เท่ากับความเหลื่อมล้ำในสิทธิของที่ดิน เนื่องจากเกษตรกรไทย มากกว่าร้อยละ ๔๐ ไม่มีที่ดินทำกิน ผมอยากให้ทบทวนเรื่องของ Zoning ในการทำ การเกษตรเพื่อให้ตอบโจทย์เรื่องคุณภาพสินค้า และมีความเหมาะสมเรื่องอุปสงค์ อุปทาน ลดปัญหาที่รัฐต้องแบกรับเงินส่วนต่างจากการปลูกพืชที่ไม่เหมาะสมกับพื้นที่ และได้สินค้า ที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น ง่ายต่อการทำการตลาดและเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค
ปัจจัยที่ ๒ ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงในภาคเกษตรกรคือการเข้าถึง แหล่งน้ำ รัฐต้องมีแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
ปัจจัยต่อมา เรื่องภัยพิบัติที่นับวันยิ่งมีความถี่ และความรุนแรงของภัยพิบัติ จากสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มที่สูงขึ้น ทั้งปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมต่าง ๆ และสำคัญที่เราพูดมา ในวันนี้ทั้งหมด คือเรื่องสินค้าการเกษตรตกต่ำ หาทางออกให้กับพี่น้องเกษตรกร หนีไม่พ้น เรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงทำให้ขาดทุน เรื่องของการนำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาทุบราคา สินค้าพี่น้องเกษตรกรภายในประเทศไทย มาตรการการส่งออกเรื่องกฎหมาย การส่งออก ทางการค้า การกีดกันทางการค้า ผมเป็น สส. จังหวัดกาฬสินธุ์ที่เขาเรียกว่าไอ้หนุ่มนาข้าว เรื่องจริงยืดอกยอมรับ แต่พอเวลาสาวนาเกลือถามว่าปีนี้ขายข้าวได้ราคาไหม คอตกครับ ขาดทุนทุกปี แทบจะกินข้าวกับเกลือแล้วครับท่านประธาน ปัญหาปุ๋ยแพง น้ำมันแพง ค่าไฟแพง ผลผลิตตกต่ำ หนำซ้ำภัยธรรมชาติที่ยากจะคาดเดา น้ำท่วมเกือบทุกปี ในปกติประเทศไทยจะผลิตข้าวเปลือกได้ ๓๒ ล้านตัน สีเป็นข้าวได้ ๒๐ ล้านตัน แบ่งบริโภค ในประเทศ ๑๐ ล้านตัน เก็บไว้เป็นพันธุ์ Stock ประมาณ ๒ ล้านตัน และส่งออกไป ต่างประเทศ ๘ ล้านตัน ขอ Slide ด้วยครับ
ปัจจัยที่ทำให้ราคาข้าวไทย แข่งขันไม่ได้คุณภาพ ข้าวไทยสู้ประเทศคู่แข่งไม่ได้ ต้องตอบคำถามนี้ก่อนว่าโดยที่ผ่านมา ไทยได้สนใจเรื่องนี้ ไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีผลผลิตต่อไร่ต่ำที่สุดในโลก ประมาณ ๔๖๐ กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่ หลายประเทศพันธุ์ข้าวให้ผลผลิตสูงต่อไร่เกือบ ๑ ตัน และการที่ไทยพยายามจะตั้งราคาข้าว ให้สูงอยู่เรื่อย ๆ นั้นต้องดูว่าคุณภาพของข้าวเป็นเรื่องสำคัญหรือไม่ ดังนั้นสิ่งสำคัญของ การแก้ไขปัญหานี้ คือการปรับปรุงยุทธศาสตร์ใหม่ เร่งผลักดันให้มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ เป้าหมายแรกคือไทยต้องมีข้าวพันธุ์ใหม่ตามที่ตลาดต้องการ และผลผลิตต่อไร่สูง เพื่อให้ชาวไทยแข่งขันในเวทีโลกได้ หากจะแก้ปัญหานี้อย่างถาวรคือจะต้องทำให้ เกษตรกรชาวนาลดต้นทุนการผลิต ทำนาเหมือนเดิมในที่ดินแปลงเดิมแต่ใช้ทุนน้อยลง แล้วได้ผลผลิตจำนวนมากขึ้นในแต่ละคราว แต่วันนี้มันทำได้ยากครับท่านประธาน เพราะน้ำมันแพง ปุ๋ยแพง ยาฉีด ทุกอย่างแพงหมด ฝากเรื่องถึงท่านประธานไปยัง ฝ่ายบริหาร ฝ่ายรัฐบาล ถึงท่านนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ หาทางออกเพื่อพี่น้องชาวเกษตรกรทั่วประเทศด้วยครับ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ขอเสนอญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา ปัญหาของธุรกิจสถานบันเทิง และการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการเรียกรับผลประโยชน์ของ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ท่านประธานที่เคารพครับ ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยพึ่งกลไก การขับเคลื่อนประเทศ กลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่สำคัญของประเทศไทยคือภาคการท่องเที่ยว เมื่อพูดถึงเรื่องธุรกิจท่องเที่ยวหนีไม่พ้น คือเรื่องสถานบริการและสถานบันเทิง รวมไปถึงเรื่องของเครื่องดื่มเป็นของคู่กันกับ สถานบันเทิง ต้องยอมรับครับว่าเรื่องของสถานบริการและสถานบันเทิง หรือธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เกี่ยวข้องกับธุรกิจเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากกฎหมาย จาก พ.ร.บ. ที่เป็นเหมือนกับ ไดโนเสาร์ล้าหลัง จึงทำให้มีช่องทางเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งผมจะขอพูดเป็นบางประเด็น เป็นการยกตัวอย่างเพื่อจะได้มีการเร่งพิจารณาแต่งตั้ง คณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาเรื่องของธุรกิจสถานบริการและสถานบันเทิงตามที่ผมได้เสนอไป ถึงเวลาแล้วครับที่เราจะต้องคืนงาน คืนคน เปลี่ยนส่วยเป็นภาษี ธุรกิจดีไม่มีสีเทาอีกต่อไป ซึ่งจำเป็นที่จะต้องแก้ไขหลายส่วน
ประการแรกที่จะขออนุญาตพูดถึงนั้น คือเรื่องของใบอนุญาตและเรื่อง Zoning ของสถานบริการ ไม่ว่าจะเป็นในกรุงเทพฯ หรือในหัวเมืองใหญ่ หรือแม้กระทั่ง ตามเมืองเล็ก ๆ ต่าง ๆ ดูได้เลยครับท่านประธานว่าสถานบริการเหล่านี้มีกี่แห่งที่ถูกต้อง และมีกี่แห่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นช่องว่างให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเรียกรับผลประโยชน์ ไม่ใช่เฉพาะ เจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น อาจมีหน่วยงานอื่นร่วมกันแสวงหาผลประโยชน์จากตรงนี้ด้วยครับ
ต่อมาเป็นเรื่องของเวลาเปิดปิดที่ไม่มีความชัดเจนของสถานประกอบการ ในแต่ละแห่ง อันนี้ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้สามารถเรียกรับผลประโยชน์ได้ ผมจึงมองว่า พ.ร.บ. ตั้งแต่ปี ๒๕๐๙ เนื้อหาในกฎหมายไม่ทันยุคต่อยุคสมัยปัจจุบันครับ ควรได้รับ การแก้ไขให้สอดคล้องกับบริบทของปัจจุบัน แน่นอนครับคำถามที่จะตามมาหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในธุรกิจของสถานบริการเกี่ยวกับเรื่องของสุรา เรื่องของระยะเวลาที่ขัดแย้งกับสังคมปัจจุบัน ของเรา ควรศึกษากฎหมายอย่างรอบด้านเพื่อจะคืนชีพผู้คน ผู้ให้บริการ ให้ห่วงโซ่ธุรกิจ การท่องเที่ยวที่ได้รับการบาดเจ็บมายาวนาน แต่สิ่งสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้คือปัญหาเกี่ยวกับ การจ่ายและเรียกรับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่อาศัยช่องทางและอำนาจของตน โดยมิชอบ ซึ่งเกิดขึ้นควบคู่กับผู้ประกอบอาชีพธุรกิจด้านสถานบันเทิงทั่วประเทศ การกระทำ ความผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐเกิดจากการใช้อำนาจโดยทุจริต และปัญหาจากบทบัญญัติ แห่งกฎหมายบางฉบับ ที่ให้อำนาจการใช้ดุลยพินิจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐมากจนเกินไป ก่อให้เกิดปัญหาจากบทบัญญัติแห่งกฎหมายบางฉบับที่ให้อำนาจหน้าที่ในดุลยพินิจแก่ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ท่านประธานครับ การกลั่นแกล้งผู้ประกอบการ การเก็บส่วยประจำวัน หรือประจำเดือน ซึ่งมีต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นกว่าปกติ เพื่อตอบสนองความต้องการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องเปิดสถาน บริการเกินเวลา เปิดสถานบริการโดยไม่มีใบอนุญาต เปิดให้เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า ๑๘ ปีเข้าใช้บริการ และแอบแฝงด้วยบริการการค้ายาเสพติด แอบแฝงการค้าบริการทางเพศ จึงทำให้ธุรกิจเหล่านี้เป็นแหล่งมั่วสุมของปัญหาต่าง ๆ และเป็นต้นตอของสังคมไทยที่เป็น ปัญหาในระดับชาติ ดังนั้นจึงผมจึงขอเสนอญัตติดังกล่าว เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาปัญหาของสถานบันเทิง และแก้ไข ปัญหาเกี่ยวกับการเรียกรับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามข้อบังคับการประชุม สภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๔๙ ส่วนเหตุผลและรายละเอียดจะได้แจ้ง ที่ประชุมสภาต่อไปครับ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ขอเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ จำนวน ๑๕ คน ดังนี้ สัดส่วนพรรคก้าวไกล จำนวน ๔ ท่าน ๑. นายนพดล ทิพยชล ๒. นางสาวพุธิตา ชัยอนันต์ ๓. นายปรีติ เจริญศิลป์ ๔. นายธีรัจชัย พันธุมาศ สัดส่วน พรรคเพื่อไทย จำนวน ๕ ท่าน ๑. พลตำรวจโท วิโรจน์ เปาอินทร์ ๒. รองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล ๓. นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ ๔. นายกิตติ สมทรัพย์ ๕. นายนิพนธ์ คนขยัน สัดส่วน พรรคภูมิใจไทย จำนวน ๒ ท่าน ๑. นางสุขสมรวย วันทนียกุล ๒. นายสุทธิชัย จรูญเนตร สัดส่วนของพรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๑ ท่าน คือนายชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์ สัดส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๑ ท่าน คือนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน ๑ ท่าน คือ ว่าที่ร้อยโท ยุทธการ รัตนมาศ สัดส่วนพรรคไทยสร้างไทย จำนวน ๑ ท่าน คือนางรำพูล ตันติวณิชชานนท์ ขอผู้รับรองด้วยครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอยางตลาด อำเภอฆ้องชัย พรรคเพื่อไทยครับ ท่านประธานครับ เรื่องน้ำท่วมเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่สามารถหาวิธีลดความรุนแรงและการบรรเทาผลกระทบ และความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ โดยใช้มาตรการป้องกันและการบริหารจัดการน้ำท่วม ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพยายามเรียนรู้มาตลอดเวลา
ท่านประธานครับ ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาในพื้นที่ของกระผมเกิดน้ำท่วม ไม่ได้เกิดจากภัยธรรมชาติครับท่านประธาน เกิดจากฝีมือของมนุษย์ในการบริหารจัดการน้ำ การคาดคะเน การคาดเดาสถานการณ์น้ำที่มีปริมาณน้ำในเขื่อนเอ่อล้นจึงต้องปล่อยน้ำลงสู่ ไร่นาพี่น้องประชาชน ขอภาพประกอบด้วยครับ
ท่านประธานครับ แนวทางป้องกัน ความเสียหายจากน้ำท่วมและบริหารจัดการน้ำประกอบไปด้วยปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่า จะเป็นเรื่องของการก่อสร้างที่นำมาใช้ลดความรุนแรงของน้ำ เช่น การปรับปรุงลำน้ำ การใช้ อ่างเก็บน้ำ เขื่อน และพนังกั้นน้ำ เป็นต้น นอกจากนั้นมีมาตรการที่ไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง ประกอบ ไปด้วยมาตรการป้องกันความเสียหาย การบรรเทาทุกข์ เช่น การวางผังเมือง การพยากรณ์ การเตือนภัยน้ำท่วม ซึ่งโดยเฉพาะทั่วไปแล้วควรใช้ทั้ง ๒ มาตรการ เพื่อมีประสิทธิภาพ ในการบรรเทาภัยพิบัติที่ดียิ่งขึ้น ท่านประธานครับ ถึงเวลาแล้วที่เราจะจริงจังกับสิ่งที่เราพูด มาในทุก ๆ รัฐบาล พูดซ้ำทุก ๆ ปี เรามีหน่วยงานในการบริหารจัดการน้ำประมาณ ๓๘ หน่วยงาน ถามว่ามีการบูรณาการคุยกันอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการน้ำท่วม น้ำแล้ง มีการบริหารทรัพยากรที่ดีในวันที่ประชาชนเขาเริ่มจะมีความหวังในเรื่องของ การเก็บเกี่ยวผลผลิต ข้าวกำลังตั้งท้อง แต่กลับต้องมานั่งปาดน้ำตารอรับมาม่า กับปลากระป๋องเพื่อบรรเทาทุกข์ทุกปีครับท่านประธาน ประสิทธิภาพและความสำเร็จ ในการบรรเทาความเสียหายจากน้ำท่วมขึ้นอยู่กับปัจจัย ๒ อย่าง คือ การเข้าใจการยอมรับ การเกิดน้ำท่วม และการตอบสนองจากภาครัฐ ภาคประชาชนในการดำเนินการแผนบริหาร จัดการน้ำท่วม ผมจึงอยากเห็นทุกภาคส่วนหันหน้ามาคุยกันเพื่อหาทางออกอย่างเป็น ระบบครับท่านประธาน สิ่งที่ผมอยากนำเสนอคือ
๑. ความสำคัญของเขื่อน พนังกั้นน้ำ เพื่อเป็นการกักเก็บน้ำและชะลอน้ำ
๒. คือการปรับปรุงสภาพลำน้ำทางธรรมชาติทุกสาย จะมีค่าปริมาณความจุ อยู่จำนวนหนึ่งในแต่ละลำน้ำ
๓. เส้นทางน้ำอ้อมเมือง การผันน้ำอ้อมพื้นที่ท่วม มีหน้าที่ ๒ อย่าง ในการบรรเทาน้ำท่วม ได้แก่ การสร้างอ่างเก็บน้ำซึ่งมีลักษณะกว้างและตื้นสำหรับผันน้ำ ลงมาเก็บไว้เมื่อเกิดน้ำท่วมในเขตชุมชน เป็นการลดปริมาณการไหลในลำน้ำสายหลักได้
๔. พื้นที่ชะลอน้ำและแหล่งเก็บกักน้ำท่วม แนวคิดวิธีนี้เป็นการยอมให้ น้ำท่วมในพื้นที่บางส่วนที่มีความสำคัญน้อย เพื่อลดอัตราการไหลของน้ำท่วมลงในแม่น้ำ เพื่อลดการสูญเสียโดยการสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำที่ควบคุมไม่ให้น้ำเข้าท่วมพื้นที่ ต้องป้องกันการสร้างฝายยกระดับเพื่อผันน้ำเข้าพื้นที่เก็บน้ำ
๕. อ่างเก็บน้ำบรรเทาน้ำท่วมครับท่านประธาน ในสภาวะที่เหมาะกับ การสร้างเขื่อนเพื่อเก็บน้ำ สามารถช่วยควบคุมการไหลของน้ำสู่พื้นที่ท้ายน้ำมากเกินไป อ่างเก็บน้ำจะช่วยเก็บน้ำไว้ชั่วคราว ซึ่งมีประโยชน์เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก
๖. การปรับปรุงระบบระบายน้ำ การระบายน้ำไหลนองอยู่ด้านหลังคันดิน หรือพนังกั้นน้ำที่ใช้ป้องกันน้ำท่วมให้ออกจากพื้นที่
๗. ปรับปรุงพื้นที่เพื่อใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำ
๘. พยากรณ์และเตือนภัยน้ำท่วม การพยากรณ์และเตือนภัยน้ำท่วม เป็นการประมาณลำดับขั้นตอนการเกิดน้ำท่วม ปริมาณน้ำช่วงเวลาการเกิดอัตราไหลสูงสุด ซึ่งแต่ละจุดลำน้ำปริมาณน้ำเท่านี้จะมีค่าไม่เท่ากัน และเป็นผลสืบเนื่องจากปริมาณน้ำฝน ในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน
ท้ายสุดครับท่านประธาน ต้องขอฝากท่านประธานไปยังหน่วยงาน ที่รับผิดชอบในเบื้องต้น คือการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้รวดเร็ว และทันท่วงที ส่วนมาตรการในการดูแลระยะยาวของพี่น้องประชาชน ก็ฝากไปถึง ท่านประธานและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ศึกษาหาแนวทางป้องกันในการบริหารจัดการน้ำ อย่างเป็นระบบ ไม่ให้เป็นละครเรื่องเดิมที่ฉายซ้ำทุกปี ขอบคุณท่านประธานครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนเรื่องถนนสัญจรไม่สะดวก เป็นหลุมเป็นบ่อ
๑. ถนนเชื่อมระหว่างบ้านวังฝั่งแดง หมู่ที่ ๘ ตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาด กับบ้านโพธิ์ศรี หมู่ที่ ๑๐ บ้านโพธิ์ชัย หมู่ที่ ๒๓ ตำบลบัวบาน ระยะทาง ๓ กิโลเมตร ๒. ถนนเส้นบ้านกุดสังข์ หมู่ที่ ๔ ตำบลหัวงัว ถึงบ้านหัวงัว หมู่ที่ ๗ ตำบลยางตลาด อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ๓. ถนนบ้านกุดสังข์ หมู่ที่ ๔ ตำบลหัวงัว เชื่อมถนนทางหลวงชนบทหมายเลข กส.๒๐๕๘ ถึงบ้านขวัญเมือง หมู่ที่ ๒ ตำบลยางตลาด อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ๔. ถนนบ้านดอนขีถึงบ้านดงบัง หมู่ที่ ๕ ตำบลอิตื้อ อำเภอยางตลาด ๕. ถนนบ้านหัวนาคำ และบ้านโนนม่วง ตำบลหัวนาคำ อำเภอยางตลาด ๖. ถนนบ้านหนองบัว หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๑๕ และหมู่ที่ ๑๙ ไปสถานฌาปนกิจ บ้านหนองบัว ตำบลคลองขาม อำเภอยางตลาด ชาวบ้าน แจ้งปัญหาขาดไฟฟ้าใช้ ในชีวิตประจำวัน ต้องการขยายเขตพื้นที่ไฟฟ้าระยะทาง ๑ กิโลเมตร
ปัญหาเรื่องแหล่งน้ำครับท่านประธาน ได้รับแจ้งจากพี่น้องประชาชน บ้านหนองบัว หมู่ที่ ๔ บ้านหนองบัวคำ หมู่ที่ ๑๓ และบ้านหนองบัวใหม่ หมู่ที่ ๑๙ ตำบล คลองขาม อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ลำห้วยคำตื้นเขินไม่ได้รับการขุดลอกมากกว่า ๙ ปี ทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร จึงต้องการขุดลอกลำห้วยคำเป็นระยะทาง ๓ กิโลเมตร ๒. บ้านหัวนาคำ หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๒ บ้านหัวนาคำน้อย หมู่ที่ ๑๑ หมู่ที่ ๑๓ บ้านหัวนาคำเหนือ หมู่ที่ ๑๘ บ้านหัวนาคำใหม่ หมู่ที่ ๑๙ ตำบลหัวนาคำ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ชาวบ้านต้องการขุดลอกหนองน้ำสาธารณะหัวนาคำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ อุปโภคบริโภค บ้านกุดสังข์และบ้านลาดสระบัว หมู่ที่ ๓ ตำบลหัวงัว อำเภอยางตลาด กาฬสินธุ์ ไม่ได้รับการขุดลอกเป็นระยะระยะเวลานาน ลำห้วยตื้นเขินและเกิดวัชพืช ขวางทางน้ำครับ กราบขอบคุณครับท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ จากที่เพื่อนสมาชิกได้มีการเสนอญัตติเพื่อขอแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาการจ้างงานและเพิ่มทักษะแรงงาน อย่างที่ทุกท่านทราบ กันดีครับว่าแรงงานถือเป็นกำลังหลักและเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อน และสร้าง การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงเป็นที่มาทำให้ปัญหาการจ้างงาน และเพิ่ม ทักษะแรงงานเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้อง และเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบทั้งในด้านเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ขอ Slide ด้วยครับ
ซึ่งในปัจจุบันจากข้อมูลของสำนักงาน สถิติข้อมูลแห่งชาติประเทศไทยมีประชากรกำลังแรงงานรวมประมาณ ๔๐ ล้านคน ผู้ว่างงานประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ คน ถึงแม้ว่าตัวเลขการว่างงานจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ แต่ในทางกลับกันประเทศไทยยังคงประสบปัญหาการว่างงาน และการจ้างงานแรงงาน ที่ไม่ตรงกับวุฒิการศึกษาหรือสาขาอาชีพที่ต้องการ โดยสาเหตุที่ตัวเลขการว่างงานยังคง อยู่ในระดับที่ต่ำมากนั้นการที่ประชากรไทยหลากหลายกลุ่มอาจไม่ถูกจัดเป็นผู้ว่างงาน แต่ก็ยังมีจำนวนมากที่เป็นแรงงานที่อยู่นอกระบบประกันสังคมเข้าไม่ถึงระบบสวัสดิการต่าง ๆ เนื่องจากไม่ได้ทำงานประจำ ประกอบอาชีพอิสระ หรือเป็นแรงงานที่มีรายได้ไม่แน่นอน
นอกจากนี้อีกส่วนหนึ่งที่เป็นต้นตอสำคัญของปัญหาดังกล่าวคือภาวะ การว่างงานแฝงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเกษตรกร ที่มักจะเกิดปัญหาการว่างงานตามฤดูกาล หรือชั่วโมงแรงงานต่อสัปดาห์ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน แรงงานทั่วไป ซึ่งถึงแม้จะเป็นปัญหาต่าง ๆ มากมายที่เกี่ยวข้องกับการว่างงาน แต่หาก สังเกตการประกาศรับสมัครงานในหลายแหล่งของประเทศไทยจะเห็นได้ว่ามีการจ้างจำนวน มากที่มีความต้องการการจ้างงานในหลากหลายสาขาอาชีพ ผมขออนุญาตยกตัวอย่าง เช่น Website A มีการรับสมัครงานอยู่ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ตำแหน่ง ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว สาขาอาชีพที่เปิดรับจะเป็นสาขาเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการเงินและวิศวกรรม ทำให้เห็นได้ว่า ปัญหาที่แท้จริงเกี่ยวกับการจ้างงานในสังคมไทยคือการที่เราผลิต หรือมีแรงงานไม่ตรงกับ ความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งนี่ถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึกในสังคมไทย ไปจนถึงประสิทธิภาพในการทำงานที่ยังอาจมีขีดความสามารถไม่เพียงพอต่อการแข่งขัน ในตลาดแรงงานบนเวทีโลกเมื่อเปรียบเทียบกับแรงงานคุณภาพจากต่างประเทศ
ทั้งนี้ด้วยปัญหาดังกล่าวทำให้การแก้ไขจำเป็นต้องทำโดยเร่งด่วน และประกอบไปด้วย ๒ ทิศทางหลักคือ พัฒนาศักยภาพแรงงานที่มีอยู่เดิมไปจนถึง การเตรียมความพร้อมสำหรับแรงงานใหม่ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาด ผมจึงอยากขอเสนอ แนวทางการแก้ไขปัญหาดังนี้ครับท่านประธาน
ข้อที่ ๑ เชื่อมโยงการศึกษากับตลาดแรงงานอย่างบูรณาการ สนับสนุนให้เกิด ความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและผู้ประกอบการ ไปจนถึงจัดโครงสร้างหลักสูตร การศึกษาให้สอดคล้อง สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน
ข้อที่ ๒ สนับสนุนให้เกิดการศึกษาที่มีเทคโนโลยี นวัตกรรมที่เป็นศูนย์กลาง เป็นการสร้างรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมูลค่าสูงที่ล้วนแล้วแต่มีความต้องการแรงงาน ทักษะสูงเป็นจำนวนมาก ไปจนถึงผลิตคิดค้นนวัตกรรมของตนเองเพื่อสร้างอาชีพใหม่ สู่การต่อยอดในอนาคตของตนเอง
ข้อที่ ๓ ยกระดับทักษะแรงงานให้สอดรับ Digital Disruption ที่กำลังจะมาถึง สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาขีดความสามารถในการใช้ประโยชน์ และทำงาน ร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่
ข้อที่ ๔ สนับสนุนให้แรงงานเกิดภาวะการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อเป็น การเตรียมความพร้อมของแรงงานในการปรับตัวให้สอดรับต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และตลาดแรงงานในอนาคตอย่างที่ผมได้กล่าวไปครับท่านประธาน ปัญหาที่เกี่ยวข้อง กับการจ้างงานและการพัฒนาทักษะของแรงงานเป็นปัญหาที่สำคัญเร่งด่วน และจำเป็น ต้องได้รับการแก้ไข เพื่อเป็นรากฐานให้ประเทศสามารถเจริญเติบโตได้ต่อไปในอนาคต ผมเชื่อครับว่าแท้จริงแล้วแรงงานของประเทศไทยเป็นแรงงานที่มีความสามารถ และมีประสิทธิภาพมากเพียงพอที่จะแข่งขันกับแรงงานตลาดโลก เพียงแต่ต้องได้รับ การสนับสนุนอย่างเข้าใจและตรงจุด ขอบคุณครับท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ ผมได้ลงชื่อร่วมอภิปรายขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงแบบครบวงจร (Entertainment Complex) เพื่อแก้ปัญหาบ่อนพนันผิดกฎหมายและเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อพูดถึง การเปิดสถานบันเทิงแบบครบวงจรหรือ Entertainment Complex อาจมีส่วนประกอบ ที่สำคัญหลายอย่างด้วยกัน แต่สิ่งหนึ่งนั้นไม่พูดไม่ได้เลยคือเรื่องของกาสิโน ซึ่งกาสิโน ที่ถูกกฎหมายหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ ตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบันการพนันถือเป็นหนึ่งในเรื่อง ที่ถูกซ่อนไว้อยู่ใต้ดินในสังคมไทยมาอย่างยาวนานครับ
ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการพนัน Online หรือบ่อนเถื่อนต่าง ๆ ที่ลักลอบเปิดในประเทศไทยเป็นปัญหาที่ต้องใช้งบประมาณ ในการจับกุมและป้องกันเป็นจำนวนมาก รวมถึงทำให้สูญเสียงบประมาณในการที่ไม่สามารถ สร้างรายได้ให้กับประเทศเลยครับท่านประธาน แม้ในปัจจุบันประเทศไทยจะเป็นประเทศ ที่การพนันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่น่าตกใจจากข้อมูลผลการศึกษาของศูนย์การศึกษา ปัญหาการพนัน มหาวิทยาลัยรังสิตระบุไว้ว่าในแต่ละปีมีคนไทยที่เกี่ยวกับการพนันทุกรูปแบบ กว่า ๓๐ ล้านคน หรือก็เกือบครึ่งหนึ่งของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีเม็ดเงินที่เกี่ยวข้อง กับการพนันสะพัดกว่า ๔๐๐,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี นี่ยังไม่นับรวมถึงมูลค่าของเงินที่ถูก นำออกไปเล่นการพนันอย่างถูกกฎหมายในต่างประเทศหรือจำนวนคนไทยที่ออกไป ต่างประเทศเพื่อเล่นการพนันครับ ความจริงแล้วผมก็ไม่ได้อยากสนับสนุนให้คนเล่น การพนัน แต่มันเป็นเรื่องจำเป็น เพราะแม้เราไม่เปิดโอกาสให้มีกาสิโนอย่างถูกกฎหมาย แต่ประเทศเพื่อนบ้านของเราเขามีกันอยู่แล้วร่วมหลายร้อยแห่ง ดูจากภาพได้เลยครับ ท่านประธาน ตอนนี้บ่อนการพนันกาสิโนได้ล้อมพวกเราไว้หมดแล้วครับ ซึ่งนอกจากนี้ ส่วนของประเทศไทยเองก็ยังคงมีบ่อนการพนันที่เปิดแบบฝ่าฝืนกฎหมาย ทั้งรูปแบบ Online และ Onsite ถ้าเราไม่ออกกฎหมายหรือไม่อนุญาตให้เขาทำกันอยู่ที่เป็นปัจจุบันก็จะเป็น การทำให้เงินนอกระบบถูกเอาไปใช้แบบผิดกฎหมายและถูกเรียกว่า ส่วย หากเราจัดการเปิด ให้มี Entertainment Complex ซึ่งนอกเหนือจากกาสิโนแล้ว ยังเป็นศูนย์รวมสำหรับ ประกอบกิจกรรมเพื่อความบันเทิง ความเพลิดเพลินที่อาจประกอบด้วยกิจกรรมหลายอย่าง เช่น โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ธนาคาร โรงพยาบาล สวนสนุก สนามกีฬา หอประชุม ต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้จะเป็นโอกาสดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ สนับสนุนและส่งเสริม ให้เกิดการลงทุน เกิดการเจริญเติบโตในพื้นที่ใกล้เคียง เพิ่มปริมาณการจ้างงานให้กับพี่น้อง ประชาชน ไปจนถึงเพิ่มรายได้การเก็บภาษีในประเภทกาสิโน เม็ดเงินรายได้เหล่านี้จะถือเป็น การเปลี่ยนส่วยเป็นภาษี และจะสามารถนำมาแก้ไขโครงสร้างประเทศที่บิดเบี้ยวได้ เช่น ดูแลลดภาษีน้ำมัน ดูแลการศึกษาเยาวชน แก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน
ดังนั้นการพิจารณาเรื่องการเปิดสถานบันเทิงครบวงจรหรือ Entertainment Complex ผมมองว่าถือเป็นเรื่องที่ดี นำสิ่งที่ถูกซ่อนไว้ใต้ดินขึ้นมาไว้บนดินเพื่อแก้ไขปัญหา และสร้างประโยชน์จากปัญหานั้น นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการขับเคลื่อนเรื่อง Entertainment Complex เพื่อนำไปสู่การหารายได้ของประเทศ แต่ว่าในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย ท่านนายก ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้เป็นผู้เสนอแนวคิดนี้สู่สาธารณะในช่วงนั้น ผมมองว่าวันนี้ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องทำความเข้าใจ ศึกษา ค้นคว้าข้อดี ข้อเสียเรื่องของการพนันและสถานบันเทิง แบบครบวงจร ผมเชื่อจริง ๆ ครับว่าสิ่งนี้จะเป็นการเปิดประตูสู่โอกาสและสร้างบทบาทใหม่ ให้กับประเทศไทย ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ เขตอำเภอ ยางตลาด อำเภอฆ้องชัย พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ วันนี้ผมมีเรื่องหารือกับท่านประธาน อยู่ ๒ เรื่องครับ
เรื่องแรก ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เรื่องถนน การขุดร่องระบายน้ำ ขอสไลด์ด้วยครับ
ริมถนนทางหลวงหมายเลข ๒๔๑๖ ทางเข้าเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ ช่วงเข้าบ้านหนองกุง หมู่ ๑ ตำบลเขาพระนอน อำเภอยางตลาด มีการขุดร่องระบายน้ำของกรมทางหลวง ทำให้ทางเข้าพื้นที่การเกษตร ของพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหาย ผมเห็นว่าควรสนับสนุนให้ทำแบบถาวรครับ เพื่อป้องกันการพังทลายของดินและลดการกัดเซาะน้ำในฤดูฝน ในเบื้องต้นอยากให้ หน่วยงานที่รับผิดชอบซ่อมแซมความเสียหายเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีทางเข้าพื้นที่ การเกษตรเป็นการชั่วคราวครับ
เรื่องที่ ๒ ด้วยพี่น้องประชาชนบ้านเหล่าแดง หมู่ ๗ ตำบลฆ้องชัยพัฒนา อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวนกว่า ๗๐ ครัวเรือนได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง ขยายถนนทางหลวงหมายเลข ๒๓๖๗ มีทางเดินเท้าและร่องระบายน้ำ เส้นอำเภอฆ้องขัย ถึงจังหวัดมหาสารคาม ขอสไลด์ด้วยครับ บริเวณถนนผ่านบ้านเหล่าแดงของหน่วยงาน แขวงทางหลวงกาฬสินธุ์ ปีงบประมาณ ๒๕๖๖ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๖๖ เนื่องจากการก่อสร้างทางเท้าและร่องระบายน้ำมีความสูง ส่งผลให้ชาวบ้านที่มีบ้านอยู่ติด ถนนทั้งสองฝั่งไม่สามารถนำรถยนต์และพาหนะต่าง ๆ เข้าไปจอดในบริเวณบ้านตนเองได้ ต้องจอดไว้ตามขอบถนน ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินครับท่านประธาน อยากให้ นำความเจริญเพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้พี่น้องประชาชน ไม่ใช่ความเจริญพร้อม ความทุกข์ครับ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนอย่างเร่งด่วน ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ เขตอำเภอ ยางตลาด อำเภอฆ้องชัย พรรคเพื่อไทย มีเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนเรื่องถนนครับ
๑. ถนนเส้นดอนตาปู่ บ้านโนนสูง หมู่ที่ ๙ บ้านนางาม หมู่ที่ ๖ ตำบลโนนสูง อำเภอยางตลาด
๒. ถนนสายสี่แยกกำนันถึงปากทางบ้านตูม ที่ตั้งหมู่ที่ ๑ ตำบลเขาพระนอน
๓. ถนนเข้าบ้านหนองหัวช้าง หมู่ที่ ๖ ตำบลหัวนาคำ อำเภอยางตลาด ผิวจราจรชำรุดระยะทาง ๓๐๐ เมตร
๔. ถนนเส้นบ้านหัวงัว ตำบลยางตลาด หมู่ที่ ๗ หมู่ที่ ๘ เชื่อมไปตำบลอุ่มเม่า อำเภอยางตลาด ระยะทาง ๒ กิโลเมตร
๕. ถนนบ้านโคกสี ไปบ้านหนองบัวหน่วย ไปบ้านขาม ตำบลคลองขาม อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ระยะทาง ๓ กิโลเมตร
๖. ถนนเส้นบ้านห้วยเตย หมู่ที่ ๖ บ้านเตยคำ ตำบลเว่อ อำเภอยางตลาด ระยะทาง ๕๐๐ เมตร
๗. ถนนเชื่อม ๓ ตำบล คือตำบลฆ้องชัยพัฒนา ตำบลเหล่ากลาง ตำบลลำชี เป็นหลุมเป็นบ่อมีน้ำขังสัญจรไปมาลำบาก ระยะทาง ๒ กิโลเมตร
๘. ถนนทางเข้าบ้าน หมู่ที่ ๗ บ้านคำมะยาง ตำบลหนองอิเฒ่า อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ระยะทาง ๕๐๐ เมตร
๙. ถนนเชื่อม ๒ ตำบล ข้างโรงแรมรุ่งอรุณบังกะโล หมู่ที่ ๗ บ้านเหล่าแดง ตำบลฆ้องชัยพัฒนา อำเภอฆ้องชัย ระยะทาง ๒ กิโลเมตร
๑๐. ทางหลวง AH12 กาฬสินธุ์-ขอนแก่น ยาวไปถึงหน้าวัดป่าอัมพวัน ถนนแตกเป็นหลุมเป็นบ่อ ระยะทาง ๗๕๐ เมตร ฝากไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฝากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ช่วยตรวจสอบดูแลด้วยครับ ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ เขตอำเภอ ยางตลาด อำเภอฆ้องชัย พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ น้ำถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ต่อชีวิตทุกคนบนโลก ถือเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิตของมนุษย์ อีกทั้งยังเป็นปัจจัยผลิต ที่สำคัญในภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม ทำให้น้ำเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญกับ มนุษย์ทุกคน ทั้งในด้านการดำรงชีวิตไปจนถึงด้านเศรษฐกิจปากท้อง ซึ่งสิทธิในการเข้าถึง น้ำสะอาดก็ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับ ปัญหาที่เกี่ยวข้อง ประเด็นคือ น้ำไม่สะอาด ท่านประธานครับ ประชาชนนำน้ำไปใช้อุปโภคบริโภค
น้ำประปาในปัจจุบันประกอบด้วย ๒ ประเด็นหลัก คือ ปัญหาด้านปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการ และปัญหา ด้านคุณภาพน้ำที่ไม่เหมาะสมต่อการอุปโภคบริโภค ผมจึงขอยกตัวอย่าง เช่นในพื้นที่ ของกระผมเอง มีพี่น้องประชาชนร้องเรียนมาถึงปัญหาน้ำประปาที่ไม่สะอาด เช่น บ้านสร้างมิ่ง หมู่ที่ ๒ และหมู่ที่ ๑๓ ตำบลโนนสูง อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ได้รับ ความเดือดร้อนเรื่องน้ำประปาไม่พอใช้ในหมู่บ้าน อันเนื่องจากปั๊มน้ำพังและมีจำนวนปั๊ม ไม่เพียงพอในการผลิตน้ำประปาใช้ในหมู่บ้าน ต่อความต้องการของพี่น้องประชาชน กว่า ๘๐๐ หลังคาเรือน ถัดมาเป็นประเด็นที่ ๒ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่พี่น้องประชาชน ในตำบลเขาพระนอน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ต้องทนกับปัญหาน้ำประปาไม่ใส มีสีแดงขุ่น ซึ่งมีสาเหตุมาจากบ่อพักน้ำไม่พอใช้ ตกตะกอนไม่ทัน เพราะมีน้ำขุ่นมาก แต่พี่น้องประชาชนจำเป็นต้องใช้น้ำ จึงต้องเอาน้ำไปให้ชาวบ้านใช้ก่อนโดยที่ไม่ผ่าน การตรวจสอบคุณภาพของน้ำ
อีกประเด็นหนึ่งคือบ้านเสียว หมู่ที่ ๕ หมู่ที่ ๖ ตำบลหัวงัว อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เครื่องผลิตน้ำประปามีอายุการใช้งานกว่า ๓๐ ปี ทำให้เกิดการชำรุดบ่อย และบ้านดอนข่า หมู่ที่ ๖ ตำบลโคกสะอาด อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ น้ำประปา ไม่พอใช้ บ้านฮ่องฮี หมู่ที่ ๑๓ ตำบลยางตลาด อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ น้ำประปา ไม่พอใช้ น้ำประปาไม่สะอาด สิ่งที่มองเห็นจากภาพของปัญหาเหล่านี้ คืออย่างที่ในปัจจุบัน เราพูดกันว่าน้ำประปาดื่มได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วอย่าพูดเลยครับว่าดื่มได้ แค่เอาให้ใช้ได้ ก่อนครับท่านประธาน ประชาชนไม่ได้ใช้น้ำฟรี ต้องจ่ายค่าน้ำ ซื้อมาเพื่อใช้ น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค แต่ไม่มีหน่วยงานที่มารับผิดชอบเกี่ยวกับคุณภาพของน้ำ กับการที่พี่น้องประชาชน จ่ายสตางค์ซื้อน้ำ ได้น้ำไม่สะอาด ไม่มีหน่วยงานไหนมาแก้ปัญหา ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า ปัญหาทั้งหมดเกี่ยวข้องกับน้ำสะอาดถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ควรหยิบยกขึ้นมาสังเกต และตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ เนื่องจากถือเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในทุก ๆ วัน ของพี่น้องประชาชน ดังนั้นเพื่อตอบสนองปัญหาดังกล่าว มีความจำเป็นต้องมีการจัดการ และการแก้ไขอย่างรอบด้าน ผมจึงอยากเสนอและยกตัวอย่างวิธีการแก้ไข ดังนี้
๑. ปรับปรุงและพัฒนาระบบประปาให้มีความทันสมัยและมีความทั่วถึง ในทุกพื้นที่
๒. มีการติดตามและตรวจสอบคุณภาพของน้ำอย่างละเอียดและสม่ำเสมอ ในทุกพื้นที่
๓. จัดให้มีการตรวจสอบ สำรวจ และพัฒนาระบบเจาะน้ำบาดาล เพื่อเป็น การเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนในการนำน้ำสะอาดไปใช้อุปโภคบริโภค
๔. พัฒนาบริหารจัดการแหล่งน้ำ สนับสนุนให้มีการพัฒนาแผนในการบริหาร จัดการทั้งในส่วนของน้ำประปาและน้ำบาดาล เพื่อให้สามารถใช้แหล่งน้ำได้อย่างยั่งยืน ไปจนถึงการสำรวจและควบคุมปริมาณน้ำเพื่อป้องกันการขาดแคลนที่อาจจะเกิดขึ้น ในอนาคต
ท้ายที่สุด ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนและมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องรับการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อนำไปสู่การแก้ไข ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่โดยตรงของภาครัฐ ที่ต้องสนับสนุนและหาทางออกของปัญหาดังกล่าว ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานก่อนอื่นต้องกราบขอบพระคุณท่านประธานที่ได้บรรจุกระทู้ถามแยกเฉพาะนี้ ในเรื่องของความคืบหน้าในการก่อสร้างท่าอากาศยานสารสินธุ์ ที่ตั้งในจังหวัดกาฬสินธุ์ และเป็นพื้นที่เชื่อมโยงกับจังหวัดมหาสารคาม และต้องกราบขอบพระคุณท่านรัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มนพร เจริญศรี เป็นอย่างยิ่งที่ได้สละเวลามาตอบกระทู้เรื่องนี้ครับ
ท่านประธานครับ จังหวัดกาฬสินธุ์เป็นแหล่งกำเนิดของวัฒนธรรมอันล้ำค่า และมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวหลากหลาย ตั้งแต่แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่งดงาม เรามีเขื่อนลำปาว หาดดอกเกด น้ำตกผานางคอย ผาเสวย วนอุทยานภูแฝก และอื่น ๆ อีกมากมายไปจนถึงโบราณคดีสำคัญ เรามีพระธาตุยาคู วัดพุทธนิมิต (ภูค่าว) เรามีพิพิธภัณฑ์ ไดโนเสาร์สิรินธร ทั้งหมดนี้ทำให้กาฬสินธุ์เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว ซึ่งสถานที่เหล่านี้เป็นสถานที่ที่พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ เรายังเป็นจังหวัดที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง เรามีผ้าไหมแพรวาที่พร้อม ส่งออก และเรายังเป็นศูนย์กลางทางการเกษตรและส่งพืชเศรษฐกิจหลายชนิด ตัวอย่างเช่น อ้อย ข้าว มันสำปะหลัง นอกเหนือจากนี้อย่างที่ได้กล่าวไปในตอนต้นครับ เรามีพื้นที่ เชื่อมโยงกับจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งท่าน สส. กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ก็ได้มาฟังในวันนี้นะครับ หากนักท่องเที่ยวได้เข้ามาพื้นที่มหาสารคามเองก็มีแหล่งท่องเที่ยวหลายอย่าง เช่น วัดป่าวังน้ำเย็น พระธาตุนาดูน สะพานไม้แกดำ และอื่น ๆ อีกมากมาย จังหวัดกาฬสินธุ์และ จังหวัดมหาสารคามมีมหาวิทยาลัยไปจนถึงมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม รวมนักศึกษาเกือบ ๒๐๐,๐๐๐ คนครับท่านประธาน แต่ว่าขาดการขนส่งทั้งทางรางและ ทางอากาศ เราต้องใช้รถ นักศึกษานั่งเครื่องบินมาลงที่ขอนแก่นต้องนั่งรถโดยสารมาที่ จังหวัดมหาสารคามและจังหวัดกาฬสินธุ์ครับ
ข้อมูลทั้งหมดนี้ผมจึงอยากขอถามท่านรัฐมนตรีว่า ขณะนี้ความคืบหน้าของ โครงการอยู่ในขั้นตอนใดและได้กำหนดกรอบระยะเวลาของโครงการไว้หรือไม่ อย่างไรครับ ขอทราบรายละเอียดครับ
ใช่ครับท่านประธาน
ท่านประธานครับ ท่านรัฐมนตรี ก็ดูเหมือนจะตอบคำถามผมไปทั้ง ๒ คำถามแล้วครับ เป็นที่ชัดเจนว่าตอนนี้ได้มีการศึกษา โครงการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ท่านรัฐมนตรีได้ตอบชัดเจน เพื่อนสมาชิกก็ได้ยินว่าจะมี การก่อสร้างสนามบินสารสินธุ์ใช่ไหมครับท่านรัฐมนตรี ถ้าอย่างนั้นผมไม่ถามคำถามที่ ๒ และคำถามที่ ๓ แล้วเพราะว่าท่านรัฐมนตรีได้ตอบชัดเจน อันนี้ผมก็ดีใจแทนพี่น้องประชาชน ชาวจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดใกล้เคียง และขอกราบขอบพระคุณ ท่านรัฐมนตรีที่ตอบให้พี่น้องประชาชนได้มีความหวัง ท่านประธานครับ พอดีผมได้เอ่ยพาดพิง ท่านนายแพทย์กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ท่านจะขอใช้สิทธิพาดพิง
กราบขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีครับ สมาชิกใหม่ครับท่านรัฐมนตรี ท่านรัฐมนตรีก็มาเป็นรัฐมนตรีแล้วเลยไม่มีพี่เลี้ยงครับ ท่านรัฐมนตรีครับ อย่างนั้นผมขอถามต่อนะครับ ก็แน่นอนครับว่าโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่นนี้ เป็นโครงการที่มีประชาชนผู้อยู่อาศัยในละแวกใกล้เคียงได้รับผลกระทบจำนวนมาก ในการก่อสร้างอยู่แล้ว ในการศึกษาที่จำเป็นต้องมีการศึกษาผลกระทบให้รอบคอบชัดเจนก่อน แต่ในสุดท้ายผมเองก็เป็นหนึ่งคน ที่มีความหวังที่จะได้เห็นโครงการนี้สำเร็จและเกิดขึ้นจริง เช่นเดียวกับพี่น้องประชาชนในจังหวัดกาฬสินธุ์ และเพื่อนสมาชิกที่อยู่จังหวัดใกล้เคียง และในจังหวัดกาฬสินธุ์ด้วยกัน ผมจึงอยากขอถามรัฐมนตรีในข้อที่ ๒ ว่าจากการศึกษา ผลกระทบต่าง ๆ แนวโน้มความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานสารสินธุ์มีมากน้อย เพียงใด อย่างไร ขอทราบรายละเอียดหลังจากรับฟังความคิดเห็นและมีส่วนร่วมของ ประชาชนแล้ว กระทรวงคมนาคมมีข้อสรุปอย่างไร ขอทราบรายละเอียดด้วยครับ
เห็นเจ้าหน้าที่บอกว่าผมถาม รวบไปแล้วครับท่านประธานในคำถามที่ ๒ เจ้าหน้าที่แจ้งว่าถามได้ ๒ คำถามครับ ขอกราบขอบพระคุณท่านประธานและท่านรัฐมนตรีมนพร เจริญศรี อีกรอบครับที่ได้ตอบ ท่านรัฐมนตรีได้ตอบกระทู้ให้เพื่อนสมาชิกที่อยู่จังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดมหาสารคาม และพี่น้องประชาชนได้อย่างชัดเจน ว่าจะมีการก่อสร้างสนามบินสารสินธุ์ขึ้นในเร็ว ๆ นี้ เป็นการอนุมัติงบประมาณภายในเร็ว ๆ นี้ ก็ต้องขอขอบคุณแทนพี่น้องประชาชนชาวจังหวัด กาฬสินธุ์และจังหวัดมหาสารคามด้วยครับ ขอบคุณครับท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ก่อนที่ผมจะเข้าสู่เนื้อหากระทู้ถามของผมในวันนี้ ขอขอบคุณท่านประธานผ่านไปยัง ท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ท่านภูมิธรรม เวชยชัย ที่ท่านได้ให้เกียรติสละเวลามาตอบกระทู้ในสภาผู้แทนราษฎร ในเรื่องกระทู้ของผมที่เป็นเรื่อง ของความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในวันนี้ครับท่านประธาน ขอสไลด์ด้วยครับ
ชาวนาถือว่าเป็นอาชีพที่เป็นกระดูก สันหลังของชาติและมีความสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสังคมไทยในหลายมิติด้วยกัน ผมขออนุญาต ยกตัวอย่างนะครับท่านประธาน ในด้านเศรษฐกิจประเทศไทยเป็นผู้นำประเทศผู้ส่งออก ข้าวชั้นนำอันดับต้น ๆ ของโลก ในด้านสังคมและวัฒนธรรมเกษตรกรถือเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับ รากเหง้าของคนไทยมาอย่างยาวนาน มีการจัดงานเทศกาลและพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น ประเพณี ทำขวัญข้าว การลงแขกเกี่ยวข้าว ซึ่งสะท้อนถึงมรดกการเกษตรที่ลึกซึ้งและจิตวิญญาณแห่งความ ร่วมมือในสังคมไทย ในด้านถัดมาคือด้านสิ่งแวดล้อม ชาวนาเองก็มีส่วนช่วยในการรักษา สมดุลระบบนิเวศในการจัดการทรัพยากรดินและน้ำ และสุดท้ายในด้านของความมั่นคงทาง อาหาร ก็คือทุกอย่างที่ทราบกันดีครับ ชาวนาเป็นกำลังหลักในการผลิตอาหารเพื่อหล่อเลี้ยง คนทั้งประเทศ ซึ่งมิติต่าง ๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นรากฐานที่สำคัญในการ พัฒนาประเทศทั้งหมดครับท่านประธาน แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ชาวนาได้รับผลกระทบมา โดยตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คือ ปัญหาราคาข้าวเปลือกถูกแต่ข้าวสารราคาแพง เนื่องจากในขณะนี้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้น ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น แต่ราคาข้าวเปลือก ที่เป็นรายได้หลักช่องทางเดียวของพี่น้องประชาชนชาวนาหลายล้านคนในประเทศไม่ได้เพิ่ม ตามมา บางรายถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง ซึ่งซื้อข้าวตั้งราคาไม่เป็นธรรม ในทาง กลับกันราคาข้าวสารและสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ กลับมีราคาแพงขึ้นอย่างต่อเนื่องครับ ท่านประธาน ทำให้ชาวนาที่ต้องจ่ายค่าต้นทุนการผลิต ใช้แรงงานในการทำนากลับเป็น ผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ท่านประธานครับ จากที่ผมได้ลงพื้นที่ ไปสอบถามข้อมูลราคาข้าวกับพี่น้องประชาชนชาวเกษตรกรในพื้นที่ของผม พบว่าราคา ข้าวเปลือกอยู่ที่ ๑๑-๑๒ บาทต่อกิโลกรัม ราคาขายส่งข้าวสาร ข้าวเหนียวใหม่จะอยู่ที่ ประมาณ ๒๘ บาทต่อกิโลกรัม ข้าวเจ้าอยู่ที่ประมาณ ๓๐ บาทต่อกิโลกรัม ราคาขายปลีก ที่ผู้บริโภคซื้อข้าวเหนียวใหม่จะอยู่ประมาณ ๓๒ บาทต่อกิโลกรัม ข้าวเจ้าจะอยู่ที่ประมาณ ๓๕ บาทต่อกิโลกรัม ท่านประธานครับ ส่วนต่างราคาระหว่างข้าวเปลือกและข้าวสารเฉลี่ย ๒๐ บาทต่อกิโลกรัม เยอะมาก ผมทราบว่าในกระบวนการนี้จะทำให้ข้าวเปลือกกลายมาเป็นข้าวสาร จำเป็นต้องมี ต้นทุนในการผลิต แต่นอกเหนือจากส่วนของต้นทุนแล้ว สาเหตุที่ทำให้ส่วนของราคามาก เช่นนี้เกิดเป็นคำถาม ชาวนาบางส่วนถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลางหรือไม่ แล้วอย่างที่ผมได้กล่าวไปครับท่านประธาน ว่านอกเหนือจากนี้ไม่เพียงข้าวสารที่ราคาแพง ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ ก็ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตของพี่น้องชาวเกษตรกร เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ผมขออนุญาตพาไปดูข้อมูลดัชนีผู้บริโภคทั่วไปของประเทศไทย จากภาพ ที่เห็นดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงไตรมาสที่ ๓ ปี ๒๕๖๖ ดัชนีอยู่ที่ระดับ ๑๐๘.๘ จากข้อมูลตรงนี้แสดงให้เห็นถึงราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น เท่ากับภาระและต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการใช้ชีวิตของพี่น้องประชาชนรวมไปถึงชาวนาสูงขึ้น ท่านประธานครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำให้ผมเป็นกังวลใจอย่างมาก เนื่องจากทั้งในประเทศไทย รวมถึงในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์เองมีพี่น้องประชาชนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรอยู่เป็น จำนวนมาก กล่าวคือมีพี่น้องประชาชนจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าวทุกวัน เป็นเหตุให้ผมมาตั้งกระทู้ถามในวันนี้เพื่อพี่น้องประชาชนชาวนาทั้งประเทศ ผมจึงขอ กราบเรียนไปยังท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ท่านภูมิธรรม เวชยชัย ว่าคำถามข้อแรก คือรัฐบาลมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำหรือไม่ อย่างไร ขอทราบรายละเอียดด้วยครับ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาครับ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ อย่างที่ผมได้นำเรียนไปเมื่อสักครู่ว่าส่วนต่างราคาข้าวเปลือก และราคา ขายปลีกข้าวสารที่เฉลี่ยราคาต่างกันกว่า ๒๐ บาทต่อกิโลกรัม ถือว่าเยอะมากตรงนี้ ท่านประธานครับ ผมเลยมีคำถามที่ ๒ ไปถึงท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพาณิชย์ ท่านภูมิธรรม เวชยชัย ว่ารัฐบาลมีมาตรการในการเข้าไปตรวจสอบการซื้อ ข้าวเปลือกและข้าวสารหรือไม่ รวมไปถึงรัฐบาลมีมาตรการในการควบคุมราคาขายข้าวสาร ให้สอดคล้องกับราคาข้าวเปลือกหรือไม่ อย่างไร ขอทราบรายละเอียดด้วยครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ครับท่านประธาน กระทู้นี้ผมยื่นกระทู้วันที่ ๓๑ ตุลาคม ปัจจุบันพี่น้องประชาชนก็ถือว่าได้รับ ราคาที่ดีจากแต่ก่อนเยอะมาก จากต้นปีข้าวเปลือกราคาประมาณกิโลกรัมละ ๗-๘ บาท แต่รัฐบาลเข้ามาบริหารเพียง ๓ เดือนก็สามารถทำให้ขยับขึ้นมาเป็น ๑๑-๑๒ บาทได้ ผมก็ต้องขอบคุณแทนพี่น้องประชาชนครับ และหวังว่ารัฐบาลชุดนี้จะทำให้ราคาข้าวเปลือก ไปสู่ราคาที่พี่น้องประชาชนเกษตรกรชาวนาทั้งประเทศพึงพอใจ อาจจะไปถึง ๒๐ บาทก็ได้ ครับท่านประธาน วันนี้ก็ต้องกราบขอบพระคุณท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพาณิชย์ ท่านภูมิธรรม เวชยชัย ที่ได้มาตอบกระทู้ในวันนี้ครับ ขอบพระคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ ก่อนอื่นก็ต้องกราบขอบพระคุณท่านประธานที่ได้บรรจุกระทู้ถาม แยกเฉพาะในเรื่องการขยายช่องทางจราจรทางหลวงหมายเลข กส. ๒๔๑๖ ทางเข้าเขื่อน ลำปาวที่ตั้งอยู่จังหวัดกาฬสินธุ์ และต้องขอขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง คมนาคมท่านมนพร เจริญศรี เป็นอย่างยิ่งที่สละเวลามาตอบกระทู้เพื่อประโยชน์ของพี่น้อง ประชาชนชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ในวันนี้ครับ
ท่านประธานครับ จากภาพนี่คือ ถนนเส้นทางหลวงหมายเลข กส. ๒๔๑๖ ซึ่งในปัจจุบันทางหลวง กส. ๒๔๑๖ นี้ประชาชนใน พื้นที่นักท่องเที่ยวทั้งจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดใกล้เคียงใช้เป็นประจำ เพราะว่ามีแหล่ง ท่องเที่ยวทั้งเขื่อนลำปาว หาดดอกเกด ตลอดไปจนถึงพิพิธภัณฑ์สิรินธร สะพานเทพสุดา และวัดต่าง ๆอีกทั้งยังเป็นทางขนส่งสินค้าทางการเกษตร ซึ่งมีพืชหลัก อย่างเช่น อ้อย ข้าว มันสำปะหลัง กุ้งก้ามกราม ซึ่งในปัจจุบันมีความคับแคบทำให้การจราจรติดขัดทั้งที่เดิมถนน กส.๒๔๑๖ เป็นถนนที่มีเพียง ๒ ช่องจราจร แต่ว่ามีการปรับปรุงทุกปี แต่ว่าปรับปรุงเพียงแค่ ระยะทางปีละ ๑ กิโลเมตร ซึ่งถนนเส้นนี้มีระยะทางกว่า ๒๐ กิโลเมตร อาจจะต้องใช้เวลาถึง ๒๐ กว่าปีครับท่านประธานกว่าจะเป็นถนน ๔ ช่องจราจรเพื่อประโยชน์พี่น้องประชาชน ท่านประธานครับ ถนนทางหลวงหมายเลข ๑๒ ซึ่งให้เป็น ๔ ช่องจราจรเสร็จแล้วเชื่อมกับ เขื่อนลำปาวจะพบถนนที่มี ๒ ช่องจราจรเดิมที่มีลักษณะเป็นคอขวดและไม่สามารถแก้ ปัญหาอันนี้ได้ หากมีการขยายช่องทางจราจรของถนนทางหลวงหมายเลข กส. ๒๔๑๖ ถึงเขื่อนลำปาวจะทำให้การแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับ ความเดือดร้อนในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์และช่วยให้นักท่องเที่ยวเดินทางสะดวกเพื่อกระตุ้น เศรษฐกิจในท้องถิ่นและสร้างรายได้เพิ่มให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ผมจึงมองเห็นถึง ความสำคัญและมีความประสงค์ที่อยากจะผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อขยายช่องจราจร เป็น ๔ เลน เพื่อพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ จึงขอเรียนถามท่านรัฐมนตรีช่วยว่า การกระทรวงคมนาคม ท่านมนพร เจริญศรี ใน ๒ คำถามในครั้งเดียวเลยนะครับ ท่านประธาน
คำถามที่ ๑ กระทรวงคมนาคมจะสนับสนุนการขยายช่องทางจราจร เส้นทาง หลวงหมายเลข กส. ๒๔๑๖ ถึงเขื่อนลำปาวได้หรือไม่ อย่างไร ขอทราบรายละเอียด
คำถามที่ ๒ กระทรวงคมนาคมมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาการจราจร คับคั่ง โดยการขยายช่องทางจราจรเป็น ๔ ช่องทางจราจรตลอดสายในการเดินทางไป สถานที่ท่องเที่ยวเขื่อนลำปาวได้อย่างไร ขอทราบรายละเอียดด้วยครับ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ครับท่านประธาน เช่นเดิมครับก่อนอื่นก็ต้องกราบขอบพระคุณท่านประธานที่ได้บรรจุกระทู้ ถามแยกเฉพาะนี้และขอกราบขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านมนพร เจริญศรี อีกครั้งครับที่ได้สละเวลามาตอบกระทู้ผมในวันนี้
ในส่วนกระทู้นี้เป็นอีกหนึ่งประเด็น ของปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในจังหวัดกาฬสินธุ์ครับท่านประธาน จากภาพที่เห็นครับท่านประธาน นี่คือภาพมุมสูงของถนนทางหลวงหมายเลข กส.๒๑๑๖ ซึ่งเป็นถนนที่เชื่อมต่อจากแยกอำเภอยางตลาดไปจนถึงแยกหนองแปนครับ เส้นทางหลวง หมายเลข กส. ๒๑๑๖ เป็นอีก ๑ ถนนที่เป็นทางแยกออกมาจากทางหลักถนนทางหลวง หมายเลข ๑๒ ซึ่งเป็นเส้นถนนหมายเลข ๒๑๑๖ มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นเส้นทางสัญจร ที่มาจากจังหวัดขอนแก่น แล้วมาจากจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดร้อยเอ็ด แล้วยัง สามารถเดินทางต่อไปจังหวัดอื่น ๆ ได้ ทำให้มีพี่น้องประชาชนหลายจังหวัดร่วมกันสัญจร โดยใช้เส้นทางนี้จำนวนมากครับ นอกจากทางหลวงเส้นทางนี้ใช้ขนส่งสินค้าทางการเกษตร ยังนำไปสู่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญหลายอย่างทางประวัติศาสตร์ อย่างเช่น พระธาตุยาคูเมือง ฟ้าแดดสูงยาง ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของทางหลวงเส้นนี้ ท่านประธานครับ นอกจากนี้บริเวณสี่แยกยางตลาดซึ่งเป็นทางเข้าถนนหลักหมายเลข ๒๑๑๖ ที่มาจากจังหวัด ขอนแก่นก็เป็นถนน ๖ ช่องจราจรและหมายเลข ๒๑๓ ที่มาจากมหาสารคามก็เป็น ๔ ช่องจราจร เมื่อเข้าสู่ถนนเส้นนี้ก็จะเหลือเพียง ๒ ช่องจราจรทำให้เกิดคอขวด ด้วยเหตุ นี้เองครับท่านประธาน กระผมจึงอยากเป็นตัวแทนพี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่จังหวัด กาฬสินธุ์ รวมถึงพี่น้องประชาชนที่มีโอกาสใช้เส้นทางดังกล่าวในการผลักดันให้มี การพิจารณาขยายช่องทางจราจรทางหลวงหมายเลข กส. ๒๑๑๖ จึงขอเรียนถามท่าน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านมนพร เจริญศรี ใน ๒ คำถามนี้ครับในครั้งเดียว ครับท่าน
คำถามที่ ๑ กระทรวงคมนาคมจะสนับสนุนการขยายช่องทางจราจรเส้นทาง หลวงหมายเลข กส. ๒๑๑๖ แยกอำเภอยางตลาดไปจนถึงตำบลหนองแปนได้หรือไม่ อย่างไร และกระทรวงคมนาคมมีแผนรองรับในการเชื่อมถนนสายรองและถนนสายทางหลวง หมายเลข กส.๒๑๑๖ ให้สอดคล้องกับการสร้างการขนส่งระบบรางในอนาคตหรือไม่ อย่างไร ขอทราบรายละเอียดด้วยครับ
คำถามที่ ๒ หากกระทรวงคมนาคมมีแผนในการสร้างขยายถนนทางหลวง หมายเลข กส. ๒๑๑๖ อยู่แล้วสามารถระบุแผนการสร้างขอบเขตและระยะเวลาของ โครงการได้หรือไม่ อย่างไร ขอทราบรายละเอียดด้วยครับ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ ก็รู้สึกตั้งแต่กระทู้อาทิตย์ที่แล้วอาทิตย์นี้ก็จะมีเรื่องของ EIA มาเกี่ยวข้อง อยู่เป็นประจำ แต่ว่าไม่เป็นอะไรครับท่านประธาน ท่านรัฐมนตรีก็ได้ตอบคำถามได้กระจ่าง ให้กับตัวกระผมและพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ให้มีความหวัง ความฝันรอต่อไป แบบมีความหวังครับท่านประธาน เพราะว่าชัดเจนว่าถนนเส้นล่าสุด ๒๑๑๖ ก็จะมี การจัดสรรงบประมาณในปี ๒๕๖๘ และกระทู้ถามที่แล้วทางเข้าเขื่อนลำปาวก็จะมี การจัดสรรงบประมาณในปี ๒๕๖๗ ก็ขอบคุณแทนพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ครับ ต้องขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านมนพร เจริญศรี ด้วยครับ ขอบพระคุณท่านประธานครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ ก่อนอื่นก็ต้องขอกราบขอบคุณท่านประธานที่บรรจุกระทู้ถามแยกเฉพาะ ในเรื่องนี้ ในเรื่องการก่อสร้างสะพานข้ามอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว ที่ตั้งอยู่จังหวัดกาฬสินธุ์ และต้องขอกราบขอบพระคุณท่านประธานผ่านไปยังท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง คมนาคม ท่านมนพร เจริญศรี เป็นอย่างยิ่งที่ได้สละเวลามาตอบกระทู้ของผมในวันนี้ให้กับ พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ ท่านประธานครับ ในปี พ.ศ ๒๕๖๐ กรมทางหลวง ชนบท ได้มีการดำเนินการสำรวจออกแบบและศึกษาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง สะพานข้ามอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว อีก ๒ จุด ระหว่างตำบลเสาเล้า ตำบลหนองกุงศรี และทางทิศเหนือของตำบลหัวหิน อำเภอห้วยเม็ก ตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาด ตำบล ลำคลอง อำเภอเมือง
จากภาพนี้คือภาพของเขื่อนลำปาว ครับท่านประธาน ซึ่งจะสังเกตได้ว่าเขื่อนลำปาวเป็นเขื่อนที่มีขนาดใหญ่และมีลักษณะ พาดผ่านตั้งแต่ตอนเหนือของจังหวัดกาฬสินธุ์ลงมาถึงตอนกลาง ในปัจจุบันพี่น้องประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อนในการสัญจร เนื่องจากต้องเดินทางจากตำบลลำคลอง อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ ตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาด หรือตำบลหัวหิน อำเภอห้วยเม็ก ไปยังตำบล เสาเล้า อำเภอหนองกุงศรี ผ่านอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาวต้องใช้แพข้ามฟาก ซึ่งสามารถ เดินทางได้ในระดับน้ำลดลงหรือช่วงหน้าแล้งเท่านั้น หรือหากต้องการเดินทางด้วยรถยนต์ ก็จำเป็นต้องขับรถอ้อมเขื่อนลำปาวใช้เวลากว่า ๒ ชั่วโมง ระยะทางประมาณ ๕๐-๖๐ กิโลเมตร ด้วยในปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์มีเขื่อนลำปาวตั้งอยู่ เรามีสะพานเทพสุดาเชื่อมโยง จากฝั่งตะวันออกของเขื่อนไปยังฝั่งตะวันตกของเขื่อน หากมีการก่อสร้างสะพานข้ามอ่างเก็บ น้ำลำปาวแห่งที่ ๒ นี้จนสำเร็จและเป็นจริงได้จะถือเป็นการเชื่อมโยงการเดินทางจากฝั่งเหนือ ของเขื่อนลำปาวไปยังฝั่งใต้ของเขื่อน ซึ่งจะทำให้วิถีชีวิตและการคมนาคมในพื้นที่บริเวณ โดยรอบเขื่อนลำปาวมีความเป็นเอกภาพ และเป็นการย่นระยะทางเพื่อเชื่อมโยงจากจังหวัด กาฬสินธุ์ตอนกลางไปยังจังหวัดอุดรธานี ไปจนถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการสัญจร โดยรถยนต์ ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์เป็นการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนที่ได้รับ ความเดือดร้อนในประเด็นดังกล่าวอยู่ในปัจจุบันครับ นอกจากนี้หลาย ๆ อย่างที่ทุกท่าน ทราบดีว่าเขื่อนลำปาวเองถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันสวยงาม และมีที่ท่องเที่ยวมากมาย เช่น หาดดอกเกด สะพานเทพสุดา และกำลังมีเจดีย์ใหญ่ที่กำลังก่อสร้างขึ้น ซึ่งขนาดเท่า พระปฐมเจดีย์ อยู่ที่วัดป่ามัชณิมวาสครับ ซึ่งเป็นแหล่งที่น่าสนใจในการท่องเที่ยวของ พี่น้องประชาชน ทำให้ผมคิดว่าหากมีการเริ่มต้นโครงการก่อสร้างสะพานข้ามอ่างเก็บน้ำ เขื่อนลำปาว จะไม่เพียงแต่เป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน แล้วยังเป็นการกระตุ้นในการแก้ไขปัญหาในการคมนาคมที่พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ข้าว และอ้อย ได้เดินทางสะดวกขนส่งสะดวกครับ เป็นการประหยัดต้นทุนในการขนส่ง สุดท้ายครับท่านประธาน หากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ผมก็อยากจะเรียนถาม ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านมนพร เจริญศรี ครับ
คำถามที่ ๑ กระทรวงคมนาคมมีมาตรการในการสร้างสะพานข้ามอ่างเก็บน้ำ เขื่อนลำปาวหรือไม่ และความเป็นไปได้ในการสร้างสะพานข้ามอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว มีมากน้อยเพียงใด อย่างไร ขอบคุณครับ
สุดท้ายครับท่านประธาน หากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจริงก็จะช่วยแก้ไขปัญหาและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการ คมนาคมให้กับผู้คนในพื้นที่อย่างมากครับ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวในจังหวัด ยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่นและเพิ่มโอกาสให้กับประชาชนชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ ผมในฐานะ ตัวแทนพี่น้องประชาชนในพื้นที่ จึงอยากเป็นกระบอกเสียงในการผลักดันโครงการดังกล่าว จึงอยากสอบถามท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม คำถามที่ ๒ หากมีแผน ในการก่อสร้างสะพานข้ามอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว กระทรวงคมนาคมสามารถแจ้งแผน การก่อสร้าง ขอบเขตและระยะเวลาในการดำเนินการได้หรือไม่ อย่างไร ขอทราบ รายละเอียดด้วยครับ
ก็ต้องขอฝากท่านประธานผ่านไปถึง ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านมนพร เจริญศรี ก็ต้องขอบพระคุณท่าน เป็นอย่างยิ่งที่ได้มาตอบกระทู้ในวันนี้ ผมในฐานะกระบอกเสียงของพี่น้องประชาชน ชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ ก็ยังคงมีความหวังตามที่ท่านได้ตอบว่า ปี ๒๕๗๒ จะมีการก่อสร้าง ก็อยากหวังเพิ่มอีกนิดว่าขอเป็นปี ๒๕๗๐ เพื่อรองรับในปี ๒๕๗๒ ก็ขอฝากท่านประธาน ผ่านไปยังท่านรัฐมนตรีครับ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย วันนี้ผมมีเรื่องหารือกับท่านประธาน เรื่องการขยายเขตไฟฟ้าและเรื่องไฟฟ้าส่องสว่าง
ข้อที่ ๑ เรื่องถนนสายบ้านหนองบัว หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๑๕ และหมู่ที่ ๑๙ ไปป่าสถานฌาปนกิจหนองบัว ตำบลคลองขาม อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ชาวบ้าน แจ้งปัญหาขาดไฟฟ้าใช้ในชีวิตประจำวันต้องการขยายเขตไฟฟ้า
ข้อที่ ๒ ถนนเส้นบ้านโคกศรี หมู่ที่ ๖ ตำบลคลองขาม อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ชาวบ้านต้องการขยายเขตไฟฟ้าเช่นกัน เพื่อที่อยู่อาศัย
ข้อที่ ๓ ถนนเส้นบ้านหัวนาคำถึงบ้านโนนม่วง ตำบลหัวนาคำ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ชาวบ้านตำบลหัวนาคำ หมู่ที่ ๑๑ หมู่ที่ ๑๒ หมู่ที่ ๑๓ และหมู่ที่ ๑๙ สัญจร ไปมาลำบาก เนื่องจากขาดไฟฟ้าส่องสว่าง ขอไฟส่องสว่างบนถนนระยะทาง ๒ กิโลเมตร
ข้อที่ ๔ ถนน ๕ เส้น ในพื้นที่ตำบลโนนสูง อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ มีการขอขยายเขตระบบจำหน่ายไฟฟ้าเพื่อที่อยู่อาศัย ถนนเส้นโนนสว่าง-คุ้มใต้ หมู่ที่ ๑๑ เส้นบ้านหนองขามเหนือ หมู่ที่ ๑๐ ถนนบ้านดอนเงิน หมู่ที่ ๔ และเส้นบ้านโนนสูง หมู่ที่ ๕ ถนนเส้นบ้านนางาม หมู่ที่ ๖ โดยทั้งหมดที่กล่าวมามีหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือการไฟฟ้า ส่วนภูมิภาค อำเภอยางตลาด และอำเภอห้วยเม็ก กราบขอบพระคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย วันนี้ผมได้ร่วมลงชื่ออภิปรายในญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง ปีงบประมาณให้เหมาะสมแก่ฤดูกาล เพื่อแก้ปัญหาสังคม การลงทุน และขับเคลื่อน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ท่านประธานครับ ในปัจจุบันปีงบประมาณไทยระบุไว้ ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติปีงบประมาณ ๒๕๖๑ กำหนดให้ปีงบประมาณมีระยะเวลา ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ถึง วันที่ ๓๐ กันยายน ของปีถัดไป ขอสไลด์ด้วยครับ
ปีงบประมาณของไทยในอดีต ครับท่านประธาน เดิมที่มีการกำหนดให้เริ่มต้น ๑ เมษายน ปรับเป็น ๑ ตุลาคม ปี ๒๔๘๒ พ.ศ.๒๔๘๔ ปรับเป็น ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๒ ปรับเป็น ๑ ตุลาคม จนถึงปัจจุบัน ท่านประธานครับ จากตรงนี้ทำให้เห็นว่าในอดีตมีการปรับเปลี่ยนปีงบประมาณมาก่อนแล้ว อยู่หลายครั้ง การที่จะมีการศึกษาเปลี่ยนแปลงอีกครั้งคงจะไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร และอาจ ถึงเวลาแล้วที่จะนำเรื่องนี้กลับมาศึกษาอีกครั้งครับท่านประธาน ปัญหาของการเริ่ม ปีงบประมาณในเดือนตุลาคมแบบปัจจุบัน ก็คือปีงบประมาณเริ่มต้น ๑ ตุลาคม ก็จริง แต่งบประมาณดังกล่าวไม่สามารถนำออกมาใช้ได้ทันที เนื่องจากรัฐบาลจะเริ่มเก็บรายได้หรือมีรายได้ภาครัฐในช่วงมีนาคมถึงสิงหาคม ตัวอย่าง ที่ง่ายที่สุดก็คือภาษีบุคคลธรรมดาที่จะมีการยื่นได้ถึงมีนาคมของทุกปี หลังจากนั้น รัฐจะสามารถเริ่มจัดสรรงบประมาณรายจ่ายถึงกันยายน ทำให้ช่วงต้นปีงบประมาณ ในแต่ละปีมีการขาดเงินงบประมาณ ทำให้เงินงบประมาณไปกระจุกตัวอยู่ในช่วงไตรมาสที่ ๓ ถึงไตรมาสที่ ๔ ของปี ด้วยประเด็นดังกล่าวทำให้เรามักพบปัญหาที่ติดขัดการใช้จ่ายงบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหาและบรรเทาสาธารณภัย ไปจนถึงการใช้จ่ายเพื่อลงทุน ในการพัฒนาเศรษฐกิจที่เงินงบประมาณมาช้าและไม่เท่าทัน หรือสอดรับกับสถานการณ์ ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ท่านประธานครับ ผมพาไปดูตัวอย่างของประเทศต่าง ๆ ปีงบประมาณ ที่เริ่ม ๑ มกราคม เช่น ประเทศฝรั่งเศส จีน เยอรมัน เริ่ม ๑ เมษายน เช่น ประเทศญี่ปุ่น ประเทศแคนาดา เริ่ม ๖ เมษายน ประเทศอังกฤษ ๑ กรกฎาคม ออสเตรเลีย และเริ่ม ๑ ตุลาคม คือสหรัฐอเมริกา ท่านประธานครับ เหตุผลที่เริ่ม ๑ มกราคม ของทุกปี เช่น จีน เยอรมัน และฝรั่งเศส เหมือนที่ประเทศไทยเคยใช้ โดยใช้เหตุผลให้สอดคล้องกับรอบปี ในการจัดเก็บภาษีและรอบปีในการจัดทำงบการเงินขององค์กรต่าง ๆ ท่านประธานครับ จากตรงนี้จะเห็นได้เลยว่าในแต่ละปีที่มีปีงบประมาณที่ต่างกันออกไปตามบริบทของ แต่ละประเทศ และเหตุผลของการตั้งปีงบประมาณก็ต่างกันออกไปเช่นกันครับ ด้วยเหตุผลนี้ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาและพิจารณาในประเด็นดังกล่าวว่างบประมาณที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ของประเทศไทยมีความเหมาะสมหรือไม่ และหากไม่เหมาะสมควรเปลี่ยนเป็นอย่างไร ดังนั้น ในญัตตินี้ผมจึงขอสนับสนุนให้นำไปศึกษาให้ครบถ้วน รอบด้าน ถึงข้อดี ข้อเสีย ของการเปลี่ยนแปลงปีงบประมาณ เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตรงจุด และเท่าทันต่อเหตุการณ์ เพื่อประโยชน์ผลสัมฤทธิ์สูงสุดภายใต้งบประมาณที่มีอยู่ ตรงนี้ ขอฝากรัฐบาลด้วยครับ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ วันนี้ผมลงชื่ออภิปรายขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาค่าไฟแพง ท่านประธานครับ นอกจากปัจจัย ๔ เป็นสิ่งสำคัญ ในการดำรงชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชนแล้ว ก็มีไฟฟ้านี่ละครับที่มนุษย์ทุกคนจะขาด ไม่ได้ ขอสไลด์ด้วยครับ
จากสไลด์จะเป็นค่าไฟของ พี่น้องประชาชนที่ต้องการสูงขึ้นเรื่อย ๆ นะครับ ปัจจุบันประเทศไทยในฐานะประเทศ ที่กำลังพัฒนา ทำให้มีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากครัวเรือนและภาคธุรกิจ จากข้อมูลการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จากครัวเรือนและภาคธุรกิจ จากข้อมูลการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแสดงให้เห็น ความต้องการการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้นในระหว่างปี ๒๕๖๓ ถึงปี ๒๕๖๖ ครับท่านประธาน ผมเองก็เป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนที่ได้รับเสียงสะท้อนจากพี่น้องประชาชนมาโดยตลอด เรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ที่มีค่าไฟฟ้าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องครับท่านประธาน ในส่วนนี้เป็นข้อมูลเมื่อเดือนเมษายน ปี ๒๕๖๖ เป็นการเปรียบเทียบอัตราค่าไฟฟ้า ของประเทศในอาเซียนครับ จากข้อมูลพบว่าประเทศไทยมีอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงเป็นอันดับ ๔ ของอาเซียน และอยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง อินโดนีเซีย เวียดนาม เมียนมา มาเลเซีย และลาว ครับท่านประธาน ค่าไฟฟ้าที่ถูกเรียกเก็บกับประชาชน ในแต่ละเดือนประกอบด้วย ๔ ส่วนด้วยกัน คือค่าพลังงานไฟฟ้า ค่าบริการรายเดือน ค่า FT และภาษีมูลค่าเพิ่ม เหล่านี้คือองค์ประกอบสำคัญที่หากคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ ถูกแต่งตั้งไป จำเป็นต้องเข้าไปศึกษาและพิจารณาสาเหตุหลักของการเพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้า และหาวิธีการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา ความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน นี่เป็นข้อมูลจากสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานครับท่านประธาน ที่แสดงถึงสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆ ในช่วงครึ่งปีแรก ปี ๒๕๖๖ จะเห็นได้เลยครับว่าประเทศไทยยังคงพึ่งพาการผลิตไฟฟ้า จากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเป็นหลักถึงร้อยละ ๕๙ และมีการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงาน หมุนเวียนเพียงร้อยละ ๙ ตรงนี้เองครับเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเด็นเรื่องค่าไฟฟ้า ในประเทศไทยที่มีราคาสูงขึ้น นอกเหนือจากค่า FT และค่าบริการต่าง ๆ ยังมีต้นทุนการผลิต ที่มาจากพลังงาน Fossil เช่น น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีราคาผันผวน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะยาวครับท่านประธาน เป็นเหตุให้ผมอยากเสนอว่าควรมี การพิจารณาศึกษา สนับสนุน และส่งเสริม การเพิ่มปริมาณการใช้พลังงานทางเลือก ตัวอย่างเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ในระยะยาวเท่านั้น แต่ยังเป็นการลดการพึ่งพาพลังงาน Fossil ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปสู่อนาคตด้านพลังงานที่ยั่งยืนครับท่านประธาน นอกจากนี้ อีกหนึ่งข้อของผมคือควรมีการพิจารณาศึกษา ปรับปรุง เครือข่ายไฟฟ้า เพื่อลดการสูญเสีย ในการจัดส่งกระจายพลังงาน การปรับปรุงเครือข่ายไฟฟ้าจะช่วยลดต้นทุนในระยะยาว และ เพิ่มความมั่นคงของระบบไฟฟ้าครับท่านประธาน การพัฒนาและส่งเสริมการใช้พลังงาน ทดแทนควบคู่ไปกับการปรับปรุงเครือข่ายไฟฟ้า จะเป็นการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับ ระบบพลังงานที่ยั่งยืนครับท่านประธาน และเป็นการตอบสนองความต้องการของพลังงาน ที่เพิ่มขึ้นของประเทศ ทั้งยังสร้างความมั่นคงทางพลังงานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยตัวผมเองเล็งถึงความสำคัญของประเด็นนี้มากจริง ๆ ครับท่านประธาน เพราะทั้งหมดนี้ คือหน้าที่โดยตรงของรัฐที่จะต้องจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ที่จำเป็น ต่อการดำรงชีวิตของประชาชน รวมถึงต้องไม่เรียกเก็บค่าไฟฟ้าที่เกินสมควรครับ วันนี้ พี่น้องประชาชนต้องทนอยู่กับปัญหานี้มานานมากแล้วครับท่านประธาน แสงสว่าง และพลังงานไม่ควรต้องตกเป็นภาระของใคร และไม่ควรเป็นสิ่งที่มีค่าที่คนมีเงินเท่านั้น ที่จะเข้าถึงได้ครับท่านประธาน เพียงแต่ควรเป็นสิ่งพื้นฐานที่สุดที่ทุกคนพึงได้รับถึงแม้ ภายใต้การนำของรัฐบาลท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน จะมีมาตรการลดค่าไฟให้กับ พี่น้องประชาชนไปแล้ว แต่ผมคิดว่าก็ยังไม่เพียงพอครับ สุดท้ายครับท่านประธาน ผมเชื่อ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการตั้งคณะกรรมการวิสามัญชุดนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการ หาแนวทางการแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพงอย่างเป็นรูปธรรม จนนำไปสู่การปรับปรุงที่ยั่งยืน และสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศได้ครับ ขอบคุณครับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทยครับ วันนี้ตัวกระผมเองได้ร่วมลงชื่ออภิปรายในญัตติด่วน ขอให้สภาผู้แทนราษฎรร่วมกัน ให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน อย่างเป็นรูปธรรม ท่านประธานครับ ก่อนอื่นผมต้องขอแสดงความเสียใจกับเด็กของ ครอบครัวผู้สูญเสียเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคมที่ผ่านมาครับ ตัวผมเองมีความตั้งใจที่จะขอร่วม ลงชื่ออภิปรายในวันนี้ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและในฐานะพ่อครับ ที่ผ่านมาตั้งแต่ อดีตจนถึงปัจจุบันเราเห็นได้เกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงในสถานศึกษาแทบทุกอาทิตย์ ทั้งใน รูปแบบที่ครูกระทำต่อเด็กนักเรียน และเด็กกระทำต่อเด็กครับท่านประธาน ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาร้ายแรงที่แก้กันไม่จบสิ้นในสังคมไทย และเป็นปัญหาที่ต้องได้รับ การแก้ไขอย่างเร่งด่วนเนื่องจากส่งผลกระทบสภาพจิตใจและกายของเด็ก ท่านประธานครับ เพื่อการนี้ผมขอนำเสนอใน ๓ แนวทางในการแก้ไขปัญหาครับ
ในส่วนแรกคือการป้องกัน สถานศึกษาทุกแห่งควรมีการตรวจสอบการพกพา อาวุธเข้าไปในสถานศึกษาอย่างเข้มงวดและรัดกุมมากกว่าเดิมยิ่งขึ้น นอกเหนือจากนี้ สถานศึกษาทั่วประเทศจากสถิติข้อมูล รวมสถานศึกษาทั้งประเทศกว่า ๓๗,๐๐๐ แห่ง ตรงนี้ อาจมีความจำเป็นต้องมีตำรวจเข้าเวรประจำหรือเพิ่มความถี่ในการออกตรวจตราสถานศึกษา ยกตัวอย่างตำรวจที่ไปเฝ้าร้านทองครับ ร้านทองมีเจ้าของเพียงรายเดียวแต่มีตำรวจนั่งเฝ้า ทั้งวัน แต่เด็กนักเรียนทั่วประเทศรวมกันกว่า ๑๒ ล้านคน ผมเห็นควรว่าควรมีตำรวจเฝ้า ประจำโรงเรียนทุกแห่งครับ อีกทั้งยังควรมีการอบรมบุคลากรรักษาความปลอดภัยของโรงเรียน ที่เป็นมาตรฐานสากลให้ดียิ่งขึ้น เพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในเด็กภายในโรงเรียน
ส่วนที่ ๒ คือเหตุการณ์รับมือความรุนแรงประเภทต่าง ๆ แน่นอนครับ หากเราป้องกันแล้วยังเกิดเหตุซ้ำอีกก็ต้องมีการรับมือ รับมือแบบไหนครับ บุคลากรทาง การศึกษาทุกคนควรได้รับการอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อเป็นการปฐมพยาบาล กับเด็ก ให้เด็กมีโอกาสรอดชีวิตมากที่สุด
ในส่วนที่ ๓ ข้อเสนอสุดท้าย การเยียวยาหลังเกิดเหตุ ครอบครัวผู้เสียชีวิต ต้องได้รับการเยียวยาที่เหมาะสมและเป็นธรรม แต่นอกเหนือไปจากนั้นยังมีเรื่องของ การเยียวยาเด็กและเยาวชนที่อยู่ในเหตุการณ์ จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคมที่ผ่านมา เหตุเกิดที่หน้าเสาธง เด็กนักเรียนเป็นผู้เห็นเหตุการณ์จำนวนมาก เราควรเร่งจัดจิตแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปเยียวยาเด็กและเยาวชนกลุ่มนั้นเพื่อไม่ให้เป็นแผลลึกฝังไปในจิตใจของเด็ก และเยาวชนกลุ่มนั้นไปตลอดชีวิต ท่านประธานครับ จากเหตุการณ์ดังกล่าวผมหวังว่าภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงจะถอดบทเรียนความสูญเสียในครั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การป้องกัน รับมือ และเยียวยาที่มีคุณภาพมากขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเช่นนี้อีก
สุดท้ายครับท่านประธาน ผมเองจำเป็นต้องนำเสนอและยอมรับว่าตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบันโรงเรียนเป็นสถานที่แห่งความสุขของใครหลาย ๆ คน และเป็นฝันร้ายของใคร อีกหลาย ๆ คนเช่นกัน การจะแก้ปัญหานี้ให้สำเร็จจำเป็นต้องมีการร่วมมือกันระหว่าง หน่วยงานทางการศึกษา ครู ผู้ปกครอง และชุมชน ไปจนถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และทุกภาคส่วนของสังคมเพื่อจัดการกับปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนทุกรูปแบบเพื่อสร้าง สังคมให้ปลอดภัยและเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเด็กและเยาวชน และเพื่อให้โรงเรียนเป็น สถานที่แห่งความสุข และความทรงจำที่ดีของทุกคน ขอบคุณครับ