เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๙ บางเขน จตุจักร หลักสี่ พรรคก้าวไกลครับ วันนี้ผมมีเรื่องปรึกษาทั้งหมด ๔ เรื่องนะครับ
๑. มาตรฐานความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้าง ขอ Slide ด้วยครับ
ความเสียหายที่ผ่านมา จากสะพานลาดกระบังถล่ม และสะพานหน้าเดอะมอลล์บางกะปิก็ดี หรือในพื้นที่ของผม มีโครงการก่อสร้างปรับปรุงเขื่อนคลองน้ำแก้ว ทางผู้รับเหมาไม่ได้ทำราวกันตก และไม่ติดหลอดไฟ กลางคืนมืดมากทำให้ประชาชนพลัดตกลงไปในเขื่อนได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต ส่วนโครงการสายไฟใต้ดินหน้าศาลอาญามีการเปิดปิดฝาบ่อบ่อย ตอนปิดนั้น ปิดไม่สนิทดีไม่เรียบทำให้มอเตอร์ไซค์ที่ขับผ่านมาเกิดอุบัติเหตุ บาดเจ็บหลาย Case ขอฝากหน่วยงานช่วยกันดูแลยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและช่วยประชาสัมพันธ์ สิทธิของประชาชนที่ได้รับความเสียหายระหว่างการก่อสร้าง ว่าท่านสามารถเรียกร้อง ค่าความเสียหายให้ผู้รับเหมารับผิดชอบได้ครับ
ข้อที่ ๒ การบรรเทาเหตุไฟไหม้ ปัจจุบันสถานีดับเพลิงในกรุงเทพมหานคร มีทั้งหมด ๔๘ แห่งเท่านั้น อย่างเขตหลักสี่ของผมก็ไม่มีสถานีดับเพลิงเลยครับ การดับเพลิง ควรต้องเข้าถึงจุดเกิดเหตุไม่เกิน ๘ นาที ขอให้พิจารณาเพิ่มสถานีดับเพลิงให้มากขึ้น ที่สำคัญในเขตมีบ้านเรือนอาศัยติดริมคลองจำนวนมาก ทั้งคลองลาดพร้าว คลองน้ำแก้ว คลองถนน คลองบางบัว คลองเปรมประชากร ส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ติดไฟได้ง่าย แต่รถดับเพลิงเข้าไปไม่ถึงเพราะว่าซอยเล็กครับ ก็ขอฝากหน่วยงานช่วยพิจารณาการใช้ เรือดับเพลิงด้วยครับ
ข้อที่ ๓ ขอพิจารณาในการเพิ่มสายรถเมล์บนถนนทั้งหมด ๗ เส้น ตาม Highlight สีเหลืองครับ ปัจจุบันถนนเสนานิคม ถนนลาดปลาเค้า ถนนผลาสินธุ์ ถนนเทพรักษ์ ถนนเลียบคลองบางเขน ถนนกำแพงเพชร ๖ ไม่มีรถเมล์เลยแม้แต่สายเดียว ส่วนถนนประเสริฐมนูกิจ หรือเกษตร-นวมินทร์ที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ ถนนใหญ่ ๆ นะครับ มีรถเมล์เพียงแค่ ๑ สายเท่านั้น ขอฝากหน่วยงานเพิ่มเติมด้วยครับ
เรื่องสุดท้ายครับ คือปัญหาจากโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชการ ตำรวจ เขตหลักสี่ครับ ที่ผ่านมามีการทำ EIA อย่างลวก ๆ ประชาชนในพื้นที่ได้ขอคุยกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ แต่ไม่ได้รับการตอบรับ ไม่มีเจ้าหน้าที่ มาพูดคุยใด ๆ ทั้งสิ้น มีแต่บริษัทที่ปรึกษาที่ไร้ซึ่งอำนาจมารับหน้าแทน แต่ไม่สามารถ ตอบข้อซักถามของประชาชนได้ ไม่มีมาตรการป้องกันและการเยียวยาที่ชัดเจนเหมาะสม ขอเรียกร้องให้ทุกโครงการในประเทศไทย โดยเฉพาะโครงการของภาครัฐควรมีการทำ ประชาพิจารณ์อย่างจริงจัง โปร่งใส และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนอย่างรอบด้าน
ที่สำคัญครับท่านประธาน จากข้อมูลที่ทราบมาโครงการนี้มีการขออนุมัติ จาก ครม. ด้วยงบประมาณกว่า ๔,๐๐๐ ล้านบาท แต่มีการเปลี่ยนวัตถุประสงค์จาก อาคารที่พักสวัสดิการของพี่น้องตำรวจไปเป็นที่พักกองกำลังควบคุมฝูงชน หรือ คฝ. ครับ ผมขอถามไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และท่านนายกรัฐมนตรีว่ามันถูกต้องแล้วหรือไม่ ที่มีการบิดเบือน เอางบบ้านพักสวัสดิการตำรวจไปใช้ผิดวัตถุประสงค์จากที่ ครม. อนุมัติ และเหมาะสมแล้วหรือไม่ที่เราต้องเสียงบประมาณกว่า ๔,๐๐๐ ล้านบาท เพื่อตั้งกองกำลัง ปราบ Mob Standby ๒๔ ชั่วโมงอยู่ใจกลางเมืองที่เขตหลักสี่ครับ ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๙ บางเขน จตุจักร หลักสี่ จากพรรคก้าวไกล จากเหตุการณ์สะพานถล่มของโครงการสะพาน ยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง ผมขออธิบาย Background ของโครงการนี้คร่าว ๆ เพื่อประโยชน์ของเพื่อนสมาชิกและพี่น้องประชาชนทางบ้าน สำหรับท่านที่อาจจะยังเข้าใจ ไม่ครบถ้วนนะครับ โครงการสะพานยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง เจ้าของโครงการคือ กรุงเทพมหานคร เป็นสะพานรูปแบบ Segmental Box Girder Box Girder คืออะไรครับ คือรูปแบบ Design แบบกล่อง Segmental แปลว่ามาจากชิ้น ๆ เป็นช่วง ๆ มันคือ สะพานคอนกรีตที่เป็นช่วง ๆ รูปแบบกล่องนำมาอัดร่วมกันร้อยด้วยลวด รูปแบบนี้ เป็นโครงการรูปแบบที่สร้างอย่างสากลทั่วไปในการสร้างสะพานที่เราจะเห็นอยู่ตาม กรุงเทพมหานครทั่วไป ทั้งสะพานข้ามแยกต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งรถไฟฟ้าก็ใช้กลุ่มเทคโนโลยี วิธีการสร้างคล้ายคลึงกันมาก ส่วนของสะพานมี ๒ ส่วนครับ เสากับคาน ง่าย ๆ ครับ เสาแนวตั้ง คานแนวนอน วิธีการสร้างมีหลายท่านอาจจะพูดถึงว่าเป็นสาเหตุของปัญหา หรือเปล่า จาก TOR เดิมของกรุงเทพมหานครกำหนดไว้ว่าวิธีการก่อสร้างแบบนี้ให้ใช้วิธีการ เทหล่อกับที่ซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิม วิธีนี้ก็คือเราต้องตั้งนั่งร้านที่พื้นขึ้นไปแล้วก็หล่อสะพาน ไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นวิธีที่ช้า ซึ่งอาจจะเหมาะกับการทำถนนที่ตัดใหม่โดยที่ไม่มีพี่น้องประชาชน สัญจร แต่บริเวณดังกล่าวมีการจราจรติดขัดเกิดความล่าช้า แล้วยิ่งต้องมาช้าจากโควิดด้วย จึงทำให้มีการเปลี่ยนรูปแบบเป็นรูปแบบ Segmental Box Girder โดยการใช้ Launching Truss หรือบางท่านอาจจะเรียกว่า Girder Launcher Girder Launcher คืออะไรครับ คือโครงเหล็กที่ตั้งลอยอยู่บนเหนือสะพาน ถ้าพูดง่าย ๆ มันก็คือนั่งร้านลอยฟ้านี่เองครับ Concept ของเขาคือการดึงช่วงสะพานกับตัว Box Girder ที่เป็นกล่อง ๆ ขึ้นไปทีละชิ้น ๆ แล้วร้อยด้วยลวด เมื่อร้อยเสร็จปุ๊บเราก็จะอัดแรงทำให้แต่ละชิ้นชิดกันแล้วอยู่เป็นสะพานได้ วิธีการนี้ก็ต้องบอกว่าใช้กันทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับพื้นที่ถนนที่มีพื้นที่น้อย จำเป็นต้องปิดถนนได้น้อยที่สุด แล้วก็โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการข้ามแยกต่าง ๆ ข้ามสะพานต่าง ๆ ซึ่งผมคิดว่าการแก้ไขวิธีการก่อสร้างอาจจะไม่ใช่ปัญหาหลัก แต่ต้องสังเกต ว่าทำไม TOR ออกมาประมูลอย่างหนึ่ง แล้วต้องมาแก้แบบอีกแบบหนึ่ง ทั้งที่วิธีนี้ เป็นการก่อสร้างที่ใช้กันทั่วกรุงเทพมหานครอยู่แล้ว วิธีใหม่แบบใช้ Launching Truss ตัวนี้ เป็นวิธีการที่สร้างอยู่แล้ว และทางกรุงเทพมหานครผู้ออกแบบเองก็ควรต้องทราบอยู่แล้ว แต่กลับให้มีการประมูลโดยใช้วิธีแบบเทหล่อกับที่ หมายความว่าอาจจะมีเรื่องของมูลค่า ของโครงการที่แตกต่างกันหรือไม่ หรืออาจจะมีความง่ายสำหรับการที่เราจะสามารถจ้าง Sub ไปตัดงานบางส่วนกินเปอร์เซ็นต์แล้วจบงานกัน ทีนี้ถ้าเกิดมามองเรื่องของสาเหตุว่า น่าจะเกิดจากอะไร ปกติแล้วสาเหตุการถล่มของการก่อสร้างแยกง่าย ๆ มีอยู่ ๓ ประเภท ๑. ก็คือระหว่างการก่อสร้าง ๒. คือมาจากเครื่องจักร ๓. คือมาจากสิ่งแวดล้อมภายนอก อาทิแผ่นดินไหวหรือน้ำท่วม ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าเราควรตัดทิ้งนะครับ ถ้าเกิดมองในส่วนของ ระหว่างการก่อสร้างอาจจะแยกได้ ๒ ส่วน ๑. มาจากช่วงเสาก็คือแนวตั้ง หรือว่า ๒. มาจาก ระหว่างการสร้างคานคือแนวนอน ระหว่างช่วงการที่สร้างเสานี่ผมคิดว่าเราน่าจะตัดทฤษฎีนี้ ออกจากภาพ Video ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามหน้าข่าว คิดว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องของการสร้างเสา แต่อาจจะเป็นเรื่องของระหว่างการสร้างคานด้วยตัว Launching Truss นี้เอง จาก Video เราจะเห็นว่าคานร่วงลงมาเกือบทั้ง Slab แปลว่าต้องอยู่ในขั้นตอนที่เตรียมใกล้จะเสร็จแล้ว เนื่องจากว่าต้องมีลวดอยู่ภายใน เพราะฉะนั้นอาจจะเป็นไปได้ตามที่ สส. สุรเชษฐ์กล่าวไว้คือ ด้วยทฤษฎี Wet Joint นั่นเอง อีกส่วนหนึ่งที่ผมคิดว่ายังไม่มีใครพูดก็คือเรื่องของ ปัญหาที่มาจากอุปกรณ์ ก็คือตัวเครื่องจักรมีการตรวจสอบหรือไม่ เครื่องจักรเก่าหรือไม่ ตัว Launching Truss มีการดัดแปลงหรือไม่ มีการตรวจ Check สภาพหรือเปล่า ทั้ง ๓ Scenario นี้ผู้รับเหมาต้องเป็นผู้รับผิดชอบแน่นอน แต่เหตุการณ์แบบนี้ไม่มีใคร อยากให้เกิดขึ้น ไม่ควรที่จะปล่อยให้เป็นการวัวหายล้อมคอกนะครับ ผมอยากเสนอท่านว่า สภาแห่งนี้เราควรมาสร้างมาตรฐานระหว่างการก่อสร้างกันให้มากและปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยที่ว่าหนึ่งในนั้นก็คือการ Update ขั้นตอนการก่อสร้าง Online ทุกเดือน และมีเจ้าหน้าที่ ที่มีความรู้ มีประสบการณ์มากพอ มี Qualification ที่ชัดเจนในการที่จะเข้าควบคุมงาน อย่างตลอดเวลา ในส่วนของอุปกรณ์เราต้องมีกฎหมายและมาตรการในการตรวจสอบ คุณภาพที่ชัดเจนและดีกว่านี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องตรวจสอบว่าอุปกรณ์นี้ มีการดัดแปลงมาแล้วหรือไม่
สำหรับพี่น้องผู้เสียหายและญาติผู้เสียชีวิตเราควรชดเชยอย่างเร่งด่วน และมีมูลค่าที่เหมาะสม และสำหรับพี่น้องผู้ใช้แรงงานท่านจะสังเกตได้ตามหน้าข่าวว่าทุกคน ไม่มีใครที่จะใส่ Safety เลย ไม่มี Safety Helmet ไม่มีเสื้อ ไม่มีถุงมือ ไม่มีรองเท้า สิ่งเหล่านี้ต้องเป็นสิ่งที่ต้องถูกบังคับลงไปในกฎหมายเพื่อความปลอดภัยและเป็นสากล ของผู้ใช้แรงงาน ของเจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมของโครงการก่อสร้าง
ท้ายนี้ผมอยากเรียกร้องไปยังกรุงเทพมหานคร สำนักการโยธา วิศวกรรมสถาน แห่งประเทศไทย ให้รีบตรวจสอบสาเหตุของปัญหาเหล่านี้และวางมาตรการในการป้องกัน การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ในอนาคต เพื่อสวัสดิการของประชาชนและสวัสดิภาพของผู้ใช้ แรงงานในโครงการก่อสร้างครับ ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต ๙ จากพรรคก้าวไกล ผมอยากจะฝากคำถามผ่านไปยังท่านประธานสภาไปยังตัวแทน จากสำนักงานประกันสังคม ทั้งหมด ๕ ข้อนะครับ
ข้อแรกคือในช่วง ๑-๒ ปีที่ผ่านมาทางประกันสังคมได้มีการลงทุน ในหุ้นหลายตัว แต่มีหุ้นตัวหนึ่งที่พวกท่านได้เลือกลงทุนอย่างจำเพาะเจาะจง และลงทุน ด้วยเงินจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งก็คือหุ้น BCP หรือหุ้นบางจาก คอร์ปอเรชั่น ขออนุญาตเอ่ยชื่อนะครับ ปัจจุบันประกันสังคมถือหุ้น BCP กว่า ๒๐๖ ล้านหุ้น มูลค่า ณ วันนี้ราว ๆ ๗,๖๐๐ ล้านบาท เมื่อเทียบกับหุ้นบางตัวที่พวกท่านได้ลงทุนก่อนหน้านี้ หุ้นเหล่านั้นมี Market Cap ที่ใหญ่กว่า มี Growth ที่มากกว่า งบการเงินก็แข็งแกร่งกว่า และมีศักยภาพในการทำกำไรอย่างต่อเนื่องทุกปีได้อย่างชัดเจน จากข้อมูลล่าสุด BCP ไม่ได้อยู่ใน SET50 และย้อนไปเมื่อ ๑๐ ปี ตลอด ๑๐ ปีที่ผ่านมา ราคา ของ BCP อยู่ในช่วง ๒๘ บาท ถึง ๓๘ บาท มาโดยตลอดไม่ได้โดดเด่นกว่าหุ้นตัวอื่น ๆ อย่าง มีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับหุ้นตัวอื่นแล้ว ผมเลยถามว่าท่านใช้หลักเกณฑ์อะไร ในการลงทุนในหุ้นตัวนี้ รวมถึงที่ผ่านมาหุ้นตัวอื่น ๆ ท่านมีหลักเกณฑ์อะไรในการลงทุน ในหุ้นตัวอื่น ๆ
ข้อ ๒ จากรายงานเรามีการใช้เงินกว่า ๑๒๐,๐๐๐ ล้านบาท ในการจ้างบริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนเพื่อบริหารเงินกองทุน จำนวน ๗ ราย เป็นเงินกองทุนประเภทตรา สารหนี้ ๕ กอง แล้วก็กองทุนประเภทตราสา รทุน อีก ๕ กองทุน รวม ๑๐ กองทุน กองละ ๑๒,๐๐๐ บาท เท่า ๆ กันทุกกอง
คำถามคือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเหล่านี้มีผลงานในการสร้าง การตอบแทนได้เท่ากันหรืออย่างไร หรือมีความเสี่ยงเท่ากันหรือ ท่านถึงตัดสินใจลงทุน ผ่านบริษัทหลักทรัพย์เหล่านี้ทั้ง ๗ ราย ๑๐ กองเท่า ๆ กัน กองละ ๑๒,๐๐๐ บาท ทำไมท่านต้องเกลี่ยให้มันเท่า ๆ กัน
ข้อ ๓ กองทุนมูลค่าหลักล้านล้านบาท ก็คือกองทุนประกันสังคมของเรา เป็นเงินที่มาจากผู้ประกันตนทั้งมาตรา ๓๓ มาตรา ๓๙ มาตรา ๔๐ การที่ท่านจะมา เป็นผู้บริหารเงินกองทุนได้นั้นท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ผมจึงขอถามไปถึง ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจในการลงทุนในนามกองทุนประกันสังคมว่าแต่ละท่านมีที่มา อย่างไร มีความเชี่ยวชาญ ชำนาญด้านการเงิน การคลัง การลงทุนขนาดไหนถึงจะมาบริหาร เงินกองทุนที่มีมูลค่า และมีขนาดใหญ่ขนาดนี้
ข้อ ๔ ผลตอบแทนจากการบริหารเงินกองทุนของพวกท่าน ถ้าเกิดเทียบกัน อาจจะเรียกได้ว่าต่ำกว่าการบริหารเงินกองทุนทั่ว ๆ ไปที่มีอยู่ในตลาดเสียด้วยซ้ำ ทุกการทำงานเราต้องมีการวัดผลงาน วัดคุณภาพ วัดประสิทธิภาพของผู้บริหารได้ ถามว่า ที่ผ่านมามีการวัดหรือไม่ ใช้เกณฑ์อะไรในการวัดผลงาน มีเป้าหมายอย่างไรได้เมื่อเทียบกับกองอื่น ๆ ถ้ามีการเทียบกับกองอื่น ๆ หรือไม่อย่างไร และถ้าเกิดว่าผลงานของท่านต่ำกว่าเกณฑ์ ผู้บริหารจะรับผิดชอบอย่างไร
ข้อสุดท้าย เรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society มีผู้เกษียณ มากขึ้น และมีผู้ประกันตนเข้ามาสู่ในระบบน้อยลง แปลว่ามีความจำเป็นต้องใช้ เงินประกันสังคมมากขึ้น แต่กลับมีรายได้ที่มาจากการสมทบน้อยลง เราเรียกได้ว่า สถานการณ์นี้คือเตี้ยอุ้มค่อม ผมขอสอบถามไปถึงวิสัยทัศน์ของผู้บริหารสำนักงาน ประกันสังคม และกองทุนประกันสังคมว่าทางประกันสังคม และกองทุนประกันสังคม มีวิธีจัดการกับสถานการณ์นี้อย่างไร มีแนวทางอย่างไรที่จะทำให้เงินกองทุนประกันสังคม มีรายได้มากขึ้น มีรายจ่ายน้อยลง บริหารจัดการตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้กองทุน อยู่ได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ขอบพระคุณครับ
ขออภัยท่านประธานครับ ขออภัยท่านเลขาธิการครับ ขออภัยครับ
ท่านประธานครับ ผม ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานครครับ ขออนุญาตใช้สิทธิพาดพิง นิดหนึ่ง คำถามข้อ ๔ ของผม ผมไม่ได้ถามถึงผลงานนะครับ ผมถามว่าท่านมีเกณฑ์อะไร ในการวัดผลงาน และถามว่าถ้าเกิดท่านทำงานต่ำกว่าผลงานท่านจะรับผิดชอบอย่างไรนะครับ
ขออนุญาตนะครับท่าน ขออนุญาตครับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานครนะครับ ฝากท่านประธานผ่านไปถึงท่านเลขานะครับ ผมถามในข้อ ๒ ที่ท่านบอกว่ากองทุนกองละ ๑๒,๐๐๐ ล้านบาทที่ลงทุนไปทั้งหมด ๑๐ กองเท่า ๆ กัน เพื่อความเป็นธรรมอันนี้ผม ไม่เห็นด้วยนะครับ ถ้าอย่างนั้นถ้าเกิดท่านจะบอกว่าเพื่อความเป็นธรรม และท่านให้ เท่า ๆ กันก็ไม่ต่างอะไรกับการฮั้วนะครับ ถูกไหมครับ มันไม่ต่างอะไรกับการฮั้วประมูล ถ้าเกิดทุกบริษัทได้เท่ากันหมด อันนี้คือเรื่องแรกนะครับ
เรื่องที่ ๒ ที่ท่านบอกว่าท่านใช้เกณฑ์ในการที่ดูว่าบริษัทที่ท่านลงทุนไป หรือกองทุน คนที่ท่านจ้างเพื่อลงทุนนี่ต้องกำไรเท่านั้นนะครับ ง่าย ๆ เลยครับ ถ้าเกิดท่านลงทุน ผ่าน Government Bond หรือพันธบัตรรัฐบาลก็ไม่ขาดทุนครับ ถ้าท่านใช้เกณฑ์แค่นี้ มันไม่มีประโยชน์ครับ ถ้าเกิดใช้เกณฑ์แค่ว่าเราจะกำไรเฉย ๆ อย่างนั้นทุกอันท่านก็ไม่ต้อง ลงทุนอะไรทั้งสิ้น ท่านลงทุนผ่าน Government Bond ซื้อพันธบัตรทิ้งไว้ อย่างไรในรัฐบาล ไม่โกงเราอยู่แล้วครับ เรามีกำไรแน่นอนนะครับ ขอบพระคุณครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพครับ กระผม นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๙ บางเขน จตุจักร หลักสี่ พรรคก้าวไกล ผมอ่านรายงาน EEC ฉบับนี้แล้วรู้สึกว่ารายงานกำลังเสนอแต่ข้อดีของ EEC ทั้งที่จริงแล้วมันไม่ได้ดีเสมอไป เจ้าหน้าที่ขอ Slide ด้วยนะครับ
จากหน้า ๑๐ ของรายงาน วิสัยทัศน์ของ EEC คือต้องการการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคตะวันออก ยกระดับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แต่ผมไม่แน่ใจว่าวิสัยทัศน์กับสิ่งที่เกิดขึ้นมันไปด้วยกันได้จริงหรือไม่ วันนี้ผมมีปัญหาผลกระทบจาก EEC ๔ ข้อ และอีก ๔ คำถามที่อยากจะฝากผ่านท่านประธาน ไปยังผู้ชี้แจงนะครับ
ข้อ ๑ ผลกระทบต่อระบบนิเวศทางการเกษตร อาทิ การปล่อยปัญหาน้ำเสีย สภาวะน้ำเป็นกรด การรั่วไหลของสารเคมี ปัญหาการแย่งน้ำจากภาคเกษตร หรือปัญหาดินทรุด ซึ่งผลกระทบต่อสมรรถภาพในการรับมือภัยธรรมชาติทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง ทั้งหมดนี้ ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิต ผลิตภาพ และคุณภาพของเกษตรกร ภาคเกษตร และภาคประมงในพื้นที่เป็นอย่างมาก
ข้อ ๒ ผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจ รายได้ และแรงงาน จากปริมาณ และคุณภาพที่แย่ลงทางด้านเกษตรและประมงประชาชนรายได้ลดลง หนี้สินเพิ่มมากขึ้น เกิดปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่ อัตราว่างงานมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศดังที่เพื่อน สส. สหัสวัตจากพรรคก้าวไกล จังหวัดชลบุรี ได้กล่าวไว้ และมีหลายครอบครัวตกงาน หรือต้องเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ แต่ไม่มีทักษะที่เพียงพอ ภาครัฐไม่ได้ สนับสนุนการย้ายสาขาอาชีพ การ Reskill การ Upskill มากพอ การเปลี่ยนเกษตรกร ไปเป็นแรงงานในโรงงานทำให้รายได้ของพวกเขาสูงขึ้นจริงหรือครับ หรือมันเป็นเพียง แรงงานทักษะต่ำให้นายทุนจ้างด้วยราคาถูก ต้นทุนต่ำ
ข้อ ๓ ยิ่งไปกว่านั้นผลกระทบที่ใหญ่กว่าคือผลกระทบต่อ Food Security หรือความมั่นคงทางอาหาร ท่านประธานทราบไหมว่าชื่อที่มาอำเภอแปดริ้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา ในพื้นที่ EEC มาจากอะไร ชื่ออำเภอแปดริ้วมาจากความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ เพราะขนาด ของปลาที่ชาวบ้านจับได้ในพื้นที่ตัวมันใหญ่มากสามารถแล่เป็นบั้งหรือเป็นริ้วได้มากถึง ๘ ริ้ว จึงเป็นที่มาของชื่ออำเภอแปดริ้ว และเหนือกว่านั้นครับ ท่านทราบหรือไม่ว่าข้าวหอมมะลิ ๑๐๕ ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุด หอมที่สุด ทำรายได้สูง เน้นส่งออกไปยังต่างประเทศ จริง ๆ แล้ว มีต้นกำเนิดมาจากจังหวัดฉะเชิงเทราในพื้นที่ EEC นี่คือความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ EEC แต่ทาง EEC เห็นมูลค่าของสิ่งเหล่านี้แล้วพยายามจะพัฒนาผลักดันต่อหรือไม่ ปัจจุบันทั่วโลก ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหารเป็นอย่างมาก UN ได้นำเสนอตัวเลขความไม่มั่นคง ทางอาหารว่า ประชากรโลกกว่า ๒,๔๐๐ ล้านคนไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างต่อเนื่อง และ ๗๘๓ ล้านคนกำลังเผชิญกับความหิวโหย แม้กระทั่ง World Bank ก็ยังสนับสนุนวงเงิน ด้านการเงินเกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหารมากกว่า ๓๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ หรือราว ๆ ๑ ล้านล้านบาท ยิ่งไปกว่านั้น ท่านประธานคงได้ยินคำว่าครัวไทยสู่ครัวโลกบ่อย ๆ ใช่ไหมครับ แม้แต่งาน APEC ในปี ๒๕๖๕ ประเทศไทยเราก็ประกาศตัวว่าเราจะเป็นครัวโลก เราจะเป็น ครัวให้กับประชากรในภูมิภาค APEC ขนาดกระทรวงพาณิชย์เองยังตั้งเป้าเป็นผู้ส่งออก อาหารให้ติด ๑ ใน ๕ ของโลกเลย เราจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าความมั่นคงทางอาหารเป็น Trend ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วไทยควรจะได้เปรียบในเรื่องเหล่านี้ แต่การดัน EEC โดยไม่สนผลกระทบ ใด ๆ ต่อสิ่งแวดล้อม ต่อภาคเกษตร ต่อประมง ต่อเศรษฐกิจ ต่อแรงงาน กลับดูย้อนแย้ง กับวิสัยทัศน์ของ EEC และนโยบายยุทธศาสตร์ของภาครัฐเป็นอย่างมาก
ข้อ ๔ ปัญหาด้านการประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ที่ไม่ชัดเจน เนื่องจากประกาศ พ.ร.บ. EEC อนุญาตให้กับที่ดินประเภท ม. ที่กำหนดไว้เป็นผังสีส้มสามารถทำอาคาร ขนาดใหญ่พิเศษในพื้นที่ที่มีเขตทางกว้างกว่า ๑๖ เมตร อย่างเช่นถนนสุขุมวิท จังหวัดระยองได้ แต่ประกาศเทศบัญญัติเมืองมาบตาพุด จังหวัดระยอง ไม่อนุญาต และเจ้าหน้าที่ยังคงอ้างอิง เทศบัญญัตินี้อยู่ ทำให้ราคาที่ดินในกระจุกสีส้มที่ผมวงไว้นั้นไม่เพิ่มขึ้น และเปิดโอกาสให้กับ นายทุนได้ไปช้อนซื้อที่ดินในราคาถูกได้ นี่คือปัญหาด้านการประชาสัมพันธ์หรือเป็นการจงใจ ไม่ประชาสัมพันธ์กันแน่ ผมอยากให้ผู้ชี้แจงที่มาวันนี้ประกาศ ณ ตรงนี้เลยว่าเราต้องยึดหลัก ของ พ.ร.บ. EEC เป็นหลัก เพื่อให้ที่ดินของพี่น้องชาวมาบตาพุดที่ฟังอยู่ทางบ้าน ณ ตอนนี้ เวลานี้มูลค่าเพิ่มขึ้นทันทีครับ
สุดท้ายนี้ผมขอฝากอีก ๔ คำถามไปยังผู้ชี้แจงนะครับ
ข้อ ๑ ท่านทราบหรือไม่ว่า ๑๖๔ หน้าที่อยู่ในรายงานนี้ไม่มีการพูดถึง ผลกระทบต่อภาคเกษตร แรงงาน หรือสิ่งแวดล้อมเลยแม้แต่ ๑ คำ
ข้อ ๒ ความเสียหายจากผลกระทบของ EEC มีมูลค่าทั้งหมดเท่าไร
ข้อ ๓ ครม. ได้มีมติเห็นชอบแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ EEC ปี ๒๕๖๖-๒๕๗๐ ที่ต้องการยกระดับรายได้ให้เกษตรกรเทียบเท่ากับภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ถามว่าแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการทำแผนตัวนี้คืออะไร และปีนี้ ปี ๒๕๖๖ ท่านได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง
ข้อ ๔ ในรายงานระบุว่ามีการลงทุนกว่า ๑.๙ ล้านล้านบาท ในช่วง ปี ๒๕๖๑-๒๕๖๕ สรุปแล้วเงินเหล่านี้ไปอยู่ในมือใคร ท่านเอาเงินไปซื้อเครื่องจักร จากประเทศไหน จ้างแรงงานด้วยฐานเงินเดือนเฉลี่ยที่เท่าไร ความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ลดลง หรือไม่
สุดท้ายนี้ผมคิดว่าเราควรทราบความจริงว่าใครได้ผลประโยชน์สูงสุดจาก EEC กันแน่ รัฐ นายทุน หรือประชาชน ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ กระผม นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๙ เขตบางเขน เขตจตุจักร เขตหลักสี่ จากพรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอหารือเรื่องของ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพมหานคร (จตุจักร) หรือหมอชิต ๒ ซึ่งมีทั้งหมด ๗ ปัญหาย่อย ด้วยกันครับท่านประธาน
๑. คือเรื่องปัญหาของชานชาลาที่คุณภาพไม่ดี ไม่มี Air Condition ประชาชนนั่งรอรถด้วยอากาศร้อน ๆ สูดลมควัน PM2.5 ทุกวัน แล้วก็ทางเดินไม่มี Universal Design มี Step เยอะมากครับ
๒. คือเรื่องของบันไดเลื่อนที่มีทั้งหมด ๕ จุด แล้วก็พังทั้งหมดทั้ง ๕ จุด ท่านประธานครับ ลิฟต์ก็ไม่มีครับ ประชาชนต้องแบกกระเป๋าขึ้นลงกลับบ้านกัน อย่างทุลักทุเลมากครับ
๓. คือเรื่องของแสงสว่างน้อยครับ มืดไม่ปลอดภัยแล้วก็มีพื้นที่ทิ้งร้าง จำนวนมากครับ
๔. ก็คือเรื่องของป้ายบอกทางที่ไม่ชัดเจน คนเดินหลง ทั้งที่จุดขึ้นรถเมล์ อยู่ในสถานีแท้ ๆ แต่กลับหากันไม่ถูกครับ
๕. คือเรื่องของทางการเชื่อมต่อที่แย่ครับ หมอชิต ๒ เป็นสถานีที่ไม่ติดกับ สถานี BTS ผิดหลักการการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ก็เลยทำให้เกิดวินเถื่อนเกิดขึ้นครับ ในการโก่งราคา จากหมอชิต ๒ ไปยัง BTS จตุจักร ซึ่งห่างแค่ ๖ กิโลเมตร ปกติควรคิดแค่ ๖๐ บาท แต่กลับเรียกถึง ๒๐๐ บาทครับ แล้วก็แท็กซี่ก็ไม่กด Meter นั่งไปมีนบุรี โดนเรียกเก็บครั้งละ ๑,๐๐๐ บาทครับ
๖. คือเรื่องของจุดดับเพลิงน้อยครับ ในส่วนของชานชาลามีทั้งหมด ๑๕ จุด แต่ใช้งานได้ปกติแค่ ๔ จุด อีก ๑๑ จุด ไม่ถังหายก็อุปกรณ์หาย
๗. คือห้องปฐมพยาบาลแล้วก็ห้องให้นมบุตร ไม่เปิดให้บริการครับ ท่านประธาน การส่งเสริมการเดินทางระหว่างเมืองหลวงและต่างจังหวัดเป็นสิ่งที่รัฐควรทำ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ สร้างความเท่าเทียม แล้วก็ลดความเหลื่อมล้ำ ที่สำคัญระบบ ขนส่งมวลชนสาธารณะที่ปลอดภัยเข้าถึงง่ายและราคาต่ำคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องจัดหาให้ เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตของประชาชน ผมขอฝากไปยัง บขส. แล้วก็ กระทรวงคมนาคมให้เร่งจัดการด้วยครับ ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ กระผม นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๙ บางเขน จตุจักร หลักสี่ พรรคก้าวไกลครับ วันนี้ผมขอมีส่วนร่วมในการอภิปราย ญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาการจัดตั้งเมืองหลวงแห่งที่ ๒ ของประเทศไทยหรือการสร้าง แนวป้องกันกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ประสบปัญหากำลังจะจมบาดาล แน่นอนว่า ถ้าเราบอกว่าอีก ๑๐ ปีข้างหน้ากรุงเทพฯ และปริมณฑลจะจมน้ำ อันนี้คงไม่ใช่เรื่องจริง แม้ว่าในอดีตมีการพูดกันมานานว่ากรุงเทพฯ จมน้ำ แต่ต้องบอกอย่างนี้ว่าในอดีตมีการสูบ น้ำบาดาลขึ้นมาใช้ แต่ว่าปัจจุบันนี้เราเลิกสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้แล้ว เพราะฉะนั้นการทรุดตัว จะค่อนข้างเป็นไปได้ช้า ในขณะที่น้ำทะเลหนุนสูงขึ้นก็จริง แต่ต้องบอกว่าในอนาคตท่วม แน่นอน เพราะว่าด้วยระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นปีละ ๒ เซนติเมตร ในขณะที่กรุงเทพฯ อยู่สูงกว่า ระดับน้ำทะเลแค่ ๑.๕ เมตรเท่านั้น จากการทำ Prediction Model ขอ Slide ด้วยนะครับ
จากการทำ Prediction Model เราก็จะรู้ได้ว่าประมาณ ๓๐-๗๐ ปีข้างหน้าอย่างไรก็ท่วม และจังหวัดสำคัญที่ท่วม สมุทรปราการ สมุทรสาคร กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา แล้วก็อาจจะตามมาด้วยนนทบุรี แล้วก็ปทุมธานี
ส่วนเรื่องข้อเสนอเรื่องของการย้ายเมืองหลวง อันนี้ผมคิดว่าเราตัดทิ้งไปได้เลย เพราะว่ากรุงเทพฯ ณ เวลานี้คือจุดศูนย์กลางของประเทศไทย การย้ายเมืองและทิ้งทุกอย่าง แล้วไปเริ่มต้นใหม่คงเป็นไปไม่ได้ นี่ไม่ใช่สมัยอยุธยาที่เราโดนเผาเมืองจนต้องหนีเมือง มาตั้งเมืองใหม่กัน เราอยู่ในยุคที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เราสามารถหาทางในการรับมือกับน้ำท่วมได้ ข้อเสนอที่บอกว่าเราจะตั้งเมืองหลวงแห่งที่ ๒ อันนี้ก็ไม่จำเป็น ก็ในเมื่อเราไม่เสียกรุงเทพฯ อยู่แล้ว แล้วคุณจะไปตั้งเมืองหลวงแห่งที่ ๒ เพิ่มทำไม ถ้าเมืองหลวงเป็นเพียงแค่เมืองที่ไว้สำหรับจัดเก็บเอกสาร ไม่ได้เป็นเมือง ที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงแซงหน้าเมืองอื่น ๆ ไม่ได้เป็นเมืองที่มีขนาด GDP ใหญ่คับประเทศขนาดนี้ หรือไม่ได้เป็นเมืองที่จะแทบจะเป็นตัวอย่างของประเทศไทย การที่เราตั้งญัตติแบบนี้มันสะท้อนถึงว่าที่ผ่านมางบประมาณของประเทศเรานั้น ลงแต่เมืองหลวง นี่คือข้อบ่งชี้ว่าปัญหาจริง ๆ แล้วคือการกระจุกตัวของความเจริญที่อยู่แค่ เมืองหลวงแค่กรุงเทพฯ เท่านั้น ซึ่งกรุงเทพมหานครมีขนาด GDP ประมาณ ๑ ใน ๓ ของเมืองไทย นี่คือความเสี่ยงของประเทศครับ ถ้าเกิดถึงแม้ว่าวันนี้ทำไมเราไม่ได้พูดถึง น้ำท่วม แต่เราไปพูดถึงสงครามหรือแผ่นดินไหวที่กรุงเทพฯ ถ้าโดนกรุงเทพฯ ขึ้นมา ก็คือจบทั้งประเทศอยู่ดี เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องแก้ปัญหาคือการกระจายความเจริญ ทำให้เมืองรองต่าง ๆ เกิดขึ้นทั่วประเทศ Model ที่ผมจะเสนอก็คือการพยายามสร้าง Ecosystem ขึ้นมาใหม่ในเมืองต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นเรื่องของการ Set Up New CBD Zone ต่าง ๆ ในเมืองต่าง ๆ การวางผังเมืองที่ไม่แออัด สร้างเมืองใหม่ สร้าง Infrastructure ใหม่ ระบบคมนาคมใหม่ การสร้างพื้นที่สีเขียว รวมถึงการใช้ BOI ในการดึงนักลงทุนไปลงทุน ในต่างจังหวัดให้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่เหลื่อมล้ำมากก็ต้องให้สิทธิ BOI มาก เพื่อให้น่าสนใจในการลงทุน
ประเด็นต่อมาคือปัญหาเรื่องของการป้องกันน้ำท่วมและการจัดการน้ำ ของกรุงเทพมหานคร อย่างที่เราทราบกันดีมีน้ำอยู่ ๓ น้ำ น้ำเหนือ น้ำฝน น้ำทะเลหนุน น้ำเหนือลงมาน้ำทะเลหนุนสูงก็ระบายไม่ได้ น้ำฝนตกลงมาหนักน้ำทะเลหนุนสูงมันก็ระบาย ได้ช้า เกิดน้ำท่วมจนเกิดวลี Hit ที่ว่า น้ำรอระบาย ที่ใช้แทนคำว่า น้ำท่วม ซึ่งจริง ๆ ก็คือ อันเดียวกัน ต้องบอกว่านี่คือปัญหาเร่งด่วนของกรุงเทพฯ ที่คนพูดกัน เพราะศักยภาพ ในการระบายน้ำของกรุงเทพมหานครในแต่ละวันนี้มีแค่ ๒,๖๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เท่านั้น ในขณะที่น้ำฝนตกลงมานั้นมันเกินศักยภาพของกรุงเทพมหานคร และแน่นอน มีน้ำทะเลหนุนสูงขึ้นมาก็เป็นปัจจัยในการระบายที่มันยากขึ้น เพราะฉะนั้นแนวทาง ในการแก้ไขต้องบอกว่ามีทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ระยะสั้นแน่นอน จากประสิทธิภาพของระบบราชการในการระบายน้ำ ก็ทั้งเรื่องของการขยายประตูระบายน้ำ การขยายขนาดท่อระบายน้ำ การเพิ่มอัตราแรงสูงของเครื่องสูบน้ำ การติด Sensor ในท่อระบายน้ำต่าง ๆ การเพิ่มระบบการพัฒนา การพยากรณ์อากาศ การลอกท่อ การขยาย แม่น้ำ
เรื่องที่ ๒ คือเรื่องของการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพราะกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียว แค่ ๓ ตารางเมตรต่อประชากร ๑ คน หรือประมาณแค่ ๒ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ในขณะที่ ทั่วโลกเฉลี่ยแล้วที่แนะนำก็คือ ๙ ตารางเมตรต่อประชากร ๑ คน
ส่วนที่ ๓ ก็คือการแก้ไขปัญหาผังเมือง ทุกวันนี้ปัญหาผังเมืองเราไม่ได้มี การแก้ไขผังเมืองประมาณ ๑๐ ปีแล้ว ตั้งแต่ล่าสุดก็คือปี ๒๕๕๖ ผังเมืองส่วนใหญ่แล้ว จะถูกบีบให้อยู่กับกรุงเทพฯ ชั้นใน แล้วก็อย่างยิ่งก็คือเราสามารถ Predict ได้ด้วยซ้ำว่า เมืองจะโตไปในทิศทางไหน เพราะผังเมืองไม่ได้ให้เมืองทางด้านของตะวันออกและตะวันตก ได้เจริญ
ส่วนสุดท้ายนั่นคือเรื่องของการแก้ปัญหาระยะสั้นคือการจัดการเรื่องของ พื้นที่หน่วงน้ำ ท่านประธานอาจจะทราบอยู่แล้วก็คือ กทม. มีนโยบายในการสร้างบ่อ หน่วงน้ำแถมกับการให้โบนัส FAR เพิ่มก็คือการให้พื้นที่ในการสร้างโครงการ เพิ่มมากยิ่งขึ้นโดยการแลกกับบ่อหน่วงน้ำ ปัญหาก็คือถ้าเกิดผมยกตัวอย่าง อย่างเช่นพื้นที่ ทองหล่อที่มี FAR เท่ากับ ๗ ก็คือมีพื้นที่ทั้งหมด ๒ ไร่ หรือ ๓,๒๐๐ ตารางเมตร สามารถ ที่จะสร้างอาคารได้ถึง ๒๒,๐๐๐ ตารางเมตร และถ้าเกิดคุณสร้างบ่อหน่วงน้ำเพียงแค่ ๒๕๖ ลูกบาศก์เมตร ลงทุนเพียงแค่ ๓ ล้านบาท คุณสามารถขอ FAR Bonus เพิ่มได้ถึง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ เท่ากับว่าคุณสามารถมีพื้นที่ ในการขายเพิ่มได้อีกกว่า ๔,๐๐๐ ตารางเมตร สามารถทำกำไรได้กว่า ๑๐๐ ล้านบาท นี่คือปัญหา คำถามก็คือว่าเรามีนโยบาย Policy ในการให้สร้างบ่อหน่วงน้ำกับ FAR เพื่อช่วยเหลือนายทุนหรือจริง ๆ แล้วเพื่อแก้ปัญหาการจัดการน้ำท่วม
ในส่วนของแผนระยะกลาง ผมแนะนำว่าเราควรต้องศึกษาของเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนที่เกิดโควิดนี่ละครับ เรื่องของ Small City หรือเมืองฟองน้ำ เมืองฟองน้ำ ของอู่ฮั่นในขณะที่เขามีฝนตกมหาศาลแต่เขาสามารถจัดการได้ ตรงนี้ต้องฝากรัฐบาลไปดูว่า ขอใช้ระบบ Green Space ทั้งเรื่องของ Green Space ต่าง ๆ ทั้งเรื่องของ Rain Garden ทั้งเรื่องของการปลูกหญ้าแฝกก็ดี หรือการเปลี่ยนผิวถนนต่าง ๆ ที่เป็น Road Asphalt น้ำฝนสามารถซึมผ่าน Asphalt ไปได้ลงไปอยู่ข้างล่างเพื่อกักเก็บน้ำ เพื่อรอระบาย ในตอนหลังได้
สุดท้ายในเรื่องของแผนระยะยาว อย่างที่ผมแจ้งไปว่าอย่างไรเสียกรุงเทพฯ เราทิ้งไม่ได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการสร้างระบบการป้องกันน้ำอย่างไรก็ต้องเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นผมอยากฝากรัฐบาลลองไปศึกษาดูในเรื่องของอย่างเช่น ที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ที่ประเทศรัสเซียหรือที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ก็ดี แต่มิติที่เราต้องสนใจเพิ่มเติมก็คือมิติของ สิ่งแวดล้อม เรื่องของการประมง เรื่องของการขนส่งทางเรือ อย่างเช่นที่คลองเตย ก็มีท่าเรือคลองเตยอยู่ ถ้าเราไปสร้างแนวป้องกันน้ำทั้งหมดแล้วท่าเรือคลองเตย จะทำอย่างไรต่อ อันนี้ผมก็ต้องฝากท่านประธานไปด้วย อย่างไรก็ดีผมเห็นด้วยกับการที่เรา ควรจะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญในการศึกษาเรื่องนี้ต่อ แต่ถ้าเกิดเราไม่ได้ตั้งก็ฝากรัฐบาล ไปจัดการเรื่องนี้ต่อครับ ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร บางเขน จตุจักร หลักสี่ จากพรรคก้าวไกล ผมขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายญัตติแต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา การแก้ไขปัญหาการจ้างงาน การเพิ่มทักษะแรงงาน และการจัดตั้งสภาแรงงานจังหวัด เฉกเช่นเดียวกับเพื่อนสมาชิกที่อภิปรายไป ส่วนตัวผมสนับสนุนทั้งการเพิ่มสิทธิให้กับ พี่น้องแรงงาน และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครับ เพราะปัจจุบันนี้ค่าครองชีพสูงมาก รายได้ไม่พอ กับรายจ่าย แต่ในขณะเดียวกันผมก็ไม่ได้อยากให้แรงงานเหล่านี้หยุดอยู่แค่ค่าแรงขั้นต่ำ
ผมอยากให้แรงงานเหล่านี้ มีรายได้มากกว่านี้ เรียกเงินได้มากกว่านี้ การที่มีแรงงานจำนวนมาก และยังคงได้รับ ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ คือความล้มเหลวของรัฐบาลในการยกระดับแรงงานครับ ในมิติของตลาด แรงงานเสรี ฝั่งนายจ้างเองก็อยากได้แรงงานที่มีคุณภาพ สามารถสร้างเงิน สร้างกำไรให้กับเขาได้ คงไม่มีใครอยากเสียแรงงานเหล่านี้ไป และในขณะเดียวกันในฝั่งของแรงงานเอง ถ้าเกิดมีทักษะที่ดี ตอบโจทย์ สามารถสร้างเงิน สร้างรายได้ สร้างกำไรให้ธุรกิจได้ แรงงานเหล่านี้ จะสามารถต่อรองและเรียกร้องค่าจ้างที่สูงขึ้นได้ ถ้านายจ้างไม่จ้างแรงงานก็สามารถ มีทางเลือกอื่นไปทำงานที่อื่น หรือแม้กระทั่งไปทำงานที่ต่างประเทศได้ เพราะฉะนั้นคำถาม จริง ๆ แล้ววันนี้ก็คือเราจะพัฒนาฝีมือแรงงาน และสร้างแรงงานที่มีคุณภาพ และเป็น ที่ต้องการของตลาด จนมีอำนาจต่อรอง อำนาจในการเรียกร้องเงินเดือนที่สูงขึ้นได้ ด้วยตนเอง โดยที่ไม่ต้องถูกบีบค่าจ้างได้อย่างไร คำตอบคือการศึกษา การเตรียมตัว และการสร้างคนคนหนึ่งเพื่อที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน สิ่งที่เราลงทั้งเงินและลงทั้งเวลาไปมากที่สุด คือการศึกษา บางคนเราใช้เวลาฝึกฝนและเวลาเรียน ๑๐-๒๐ ปี เสียเงินเป็นล้าน แต่กลับจบมา ไม่สามารถตอบโจทย์กับตลาดได้ หางานไม่ได้ หรือหาได้แต่รายได้ก็ไม่พอ หรือเรียกค่าตัวไม่ได้ สิ่งที่เราต้องโทษไม่ใช่โทษแค่กระทรวงแรงงานนะครับ ต้องโทษทั้งกระทรวงศึกษา และกระทรวง อว. ด้วยเช่นเดียวกัน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง ทั้งการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทั้งโลกาภิวัตน์ Globalization ทั้งเทคโนโลยี Disruption หรือการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีรวมถึง AI ChatGPT แต่ปัญหาของเราคือระบบ การศึกษาที่ไม่สามารถปรับตัวให้ก้าวหน้าได้ทันกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นและการเปลี่ยนแปลง เหล่านี้ได้ เราไม่ได้ปรับปรุงระบบการศึกษาและหลักสูตรการศึกษามานาน ปัญหาก็เลย ถูกสะท้อนด้วยอัตราการว่างงานของคนจบใหม่ที่สูงขึ้น แม้กระทั่งผลคะแนนของ PISA ปี ๒๐๑๘ ที่วัดความสามารถด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ แล้วก็ความสามารถในการอ่าน ประเทศไทย เราอยู่อันดับที่ ๖๖ จาก ๗๘ ประเทศที่มีการสอบวัด การศึกษาที่ไม่ตรงปกและไม่เท่าทันโลกยุคใหม่ ทำให้ไม่สามารถสร้างแรงงานและเยาวชนที่มีทักษะตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม ในปัจจุบันได้ รวมถึงไม่สามารถรองรับการพัฒนาและการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ในอนาคตได้ เป็นหนึ่งในอุปสรรคที่ทำให้ไทยไม่น่าดึงดูดเพียงพอในการลงทุนสำหรับหลาย ๆ บริษัท ที่จะเข้ามาลงทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเทคโนโลยีและด้านวิศวกรรม สิ่งเหล่านี้ ต้องแก้ปัญหาด้วยการปฏิรูปการศึกษาครับ จากกราฟมี ๖ สิ่งที่ผมอยากนำเสนอ เพื่อแทรก เข้าไปในโครงสร้างของการศึกษาเดิม
เรื่องที่ ๑ เรื่องของ 21st Century Skills นั่นก็คือทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ คือเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถในการเข้าใจเทคโนโลยีความคิดวิเคราะห์ ในการแก้ปัญหาการสื่อสารความเป็นผู้นำ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะชีวิต ทั้งเรื่องของ การเงินเบื้องต้น บัญชีเบื้องต้น กฎหมายเบื้องต้น สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ทุกคนต้องเจอในอนาคตทั้งนั้นครับ
เรื่องที่ ๒ คือการทำ Career Trial ก็คือการให้เราได้ลอง ให้ผู้เรียน ได้ลองเรียนรู้และสัมผัสกับอาชีพที่หลากหลายขึ้นจริงในระหว่างที่เราเรียนศึกษาอยู่ในช่วง มัธยมนี้เพื่อค้นหาตัวเอง ดูว่าตัวเองจะเลือกแนวทาง หรืออาชีพไหนในอนาคต หรือจะไป ทั้งสายสามัญ หรือจะไปในสายของอาชีวะ
เรื่องที่ ๓ คือการฝึกงานในช่วงมหาวิทยาลัยและช่วงอาชีวะนี้ต้องฝึกจริง ๆ จบมาแล้วคุณต้องมีทักษะพร้อมทำงาน ไม่ใช่แค่ถ่ายเอกสาร ไม่ใช่การเสิร์ฟกาแฟ เชื่อไหมครับท่านประธานในกระทรวงของประเทศไทย เด็กนักศึกษาที่เข้าไปฝึกงาน ณ เวลานี้ ให้เขาเสิร์ฟกาแฟอยู่เลยครับ นี่ในกระทรวงของประเทศไทยนะครับ ไม่ใช่ที่ไหนไกล
เรื่องที่ ๔ คือการทำ Skill Mapping Skill Mapping คืออะไร คือการ Match Demand ของตลาดกับทักษะของแรงงานให้ตรงกัน นี่คือการปรับหลักสูตร ในการเอาความต้องการของตลาด ความต้องการจริงของธุรกิจในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มาปรับ และ Match เข้าหลักสูตรเพื่อที่รู้ว่าอาชีพไหนเราต้องการคนแบบไหนเข้าไปอยู่ในระบบ วิชาไหน ทักษะไหนสำคัญและต้องใช้จริงในอนาคตคุณก็เรียน อันไหนที่ไม่ใช้คุณก็ตัดทิ้ง
เรื่องที่ ๕ คือเรื่องของ Lifelong Learning หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่เพื่อนสมาชิกเคยได้พูดไปแล้ว
เรื่องที่ ๖ คือการสร้างเรื่องของ Grit แล้วก็ Growth Mindset การสร้าง Grit Mindset คืออะไร คือการสร้างให้เราเชื่อว่าเราเป็นได้ทุกอย่างเป็นไปได้ถ้าเราไม่ยอมแพ้ ถ้าเรามีความเพียร มีความพยายามมากพอ ส่วน Growth Mindset คือความคิดที่เชื่อว่า ทุกอย่างเป็นไปได้แล้วเราต้องมีความคิดที่อยากจะเติบโตไปได้ไกลกว่านี้แล้วพร้อมที่จะ เรียนรู้มากกว่านี้ครับ Mindset เหล่านี้จะเป็นตัวหล่อหลอมเพื่อสร้างแรงงานที่มีการพัฒนา ตัวเองตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้คือเรื่องสำคัญของระบบการศึกษายุคใหม่เพื่อปรับตัว และสร้างแรงงานใหม่ ๆ ให้ตอบโจทย์และเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงและบริบท ของโลกยุคใหม่
สุดท้ายนี้ก่อนจบการอภิปรายผมมีเรื่องด่วนเรื่องหนึ่งที่อยากจะฝาก เพื่อนสมาชิกในสภาแห่งนี้ช่วยกันติดตามด้วยครับ คือเรื่องของการเข้าถึงเงินกู้ยืม กยศ. ครับ ผมติดตามเรื่องนี้เมื่อสักพักแล้วและเพิ่งได้รับหนังสือชี้แจงกลับมาจากผู้จัดการกองทุน กยศ. ลงวันที่ ๑๗ ตุลาคม หรือ ๒ วันที่ผ่านมา มีผู้ขอกู้ยืมทั้งหมด ๗๗๐,๐๐๐ คน และได้รับอนุมัติแล้ว ๙๗ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๗๕๐,๐๐๐ คน แต่รู้ไหมที่อนุมัติแล้ว และมีการโอนเงินจริง ๆ จาก กยศ. มีเพียงแค่ ๖๘ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๕๒๐,๐๐๐ คนเท่านั้น แปลว่าอีก ๒๓๐,๐๐๐ คน กำลังรอเงินอยู่ และทั้งที่เปิดเทอมก็เปิดไปเรียบร้อยแล้ว และค่าเทอมต้องจ่ายแล้ว คนเหล่านี้ต้องกู้ยืมเงินจากที่อื่นมาก่อนเป็นหนี้นอกระบบเพื่อจ่ายในระหว่างที่กำลังรอเงิน จาก กยศ. นี่ละครับ หลายครั้งจะทำให้เกิดปัญหาการตกหล่นทางการศึกษา ก็คือการเข้าไม่ถึงเงินทุน ในการที่จะเข้าไปเรียน ในการที่จะเข้ามหาวิทยาลัยในการจ่ายค่าการศึกษา ทำให้เสียโอกาส ในการพัฒนาตนเอง และสุดท้ายก็จะตามมาด้วยรายได้ที่น้อยลงครับ เรื่องนี้ใหญ่มาก
ผมก็อยากจะขอฝากท่านประธานไปยังรัฐบาล แล้วก็ขอฝากเพื่อนสมาชิก ทุกคนในการช่วยติดตามเรื่องนี้และเร่งหน่วยงานให้รีบจัดการแทนพวกเราโดยด่วน ขอบพระคุณครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๙ เขตบางเขน เขตจตุจักร เขตหลักสี่ จากพรรคก้าวไกลครับ
ต้องบอกว่าการขนส่งทางเรือนั้น เป็นวิธีการขนส่งที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด แล้วก็ครองสัดส่วนการขนส่งมากกว่ากับ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของการขนส่งสินค้าของโลก เนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการขนส่งในรูปแบบ อื่น ๆ เส้นทางเดินเรือที่เป็นเส้นทางหลัก ๆ ก็คือการข้ามทวีปครับท่านประธาน จากฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ในธุรกิจขนส่งนั้นเวลาย่อมมีมูลค่า แล้วก็การประหยัด ต้นทุนได้มากก็ยิ่งดี คลองหรือช่องแคบจึงกลายมาเป็นทางลัดของหลาย ๆ เส้นทาง การเกิดของคลองสุเอซอียิปต์ คือการที่เราไม่ต้องไปอ้อมที่แหลมกู๊ดโฮปที่แอฟริกาใต้เสี่ยง โดนโจรสลัดปล้น แล้วก็ใช้เวลาในการแล่นเรือนาน ช่วยลดเวลาได้ถึง ๙ วัน แล้วก็มีตู้ Container ๒๐ ฟุตผ่านกว่า ๓๕ ล้านตู้ต่อปี รวมถึงช่องแคบมะละกาเองก็มีตู้ Container ผ่านกว่า ๕๔ ล้านตู้ต่อปี แน่นอนรายได้จากการเก็บค่าผ่านทาง รวมถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกมากมายจึงมีรายได้มหาศาล นี่เป็นแนวคิดที่ว่าไทยเราที่ได้เปรียบเรื่องของภูมิศาสตร์ สามารถที่จะสร้างทางผ่านหรือทางลัดเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดของช่องแคบมะละกา ของอินโดนีเซีย ของมาเลเซีย ของสิงคโปร์ ที่เขาแชร์ร่วมกันได้ เราจึงมีความคิดทั้งเรื่อง ของการขุดคลองไทย จนมาถึงการเป็น Landbridge ถามว่า Landbridge คืออะไร Landbridge คือการเปลี่ยนแนวคิดจากการขุดคลองไทยที่ใช้งบประมาณ ๓-๔ ล้านล้านบาท ทำลายธรรมชาติ รวมถึงมีประเด็นเรื่องของการแบ่งแยกดินแดน เปลี่ยนมาเป็นทางลัด ทางบกเพื่อช่วยลดเรื่องของระยะเวลา ซึ่งจะทำให้การเดินเรือสั้นลงได้ถึง ๔ วัน โดยใช้เงิน ลงทุนกว่า ๑ ล้านล้านบาท โครงการนี้ประกอบด้วยท่าเรือ ๒ ฝั่ง ฝั่งตะวันออกที่แหลมริ่ว จังหวัดชุมพร กว่า ๓๕๐,๐๐๐ ล้านบาท ฝั่งตะวันตกที่แหลมอ่าวอ่าง จังหวัดระนอง อีก ๓๓๐,๐๐๐ ล้านบาท พร้อมระบบยกตู้ Container ขึ้นลงอีก ๑๔๐,๐๐๐ ล้านบาท และเชื่อมท่าเรือ ๒ ฝั่ง กว่า ๙๐ กว่ากิโลเมตร ด้วยรถไฟทางคู่และ Motorway กว่าอีก ๒๒๐,๐๐๐ ล้านบาท ด้วยเงินกว่า ๑ ล้านล้านบาทนี่ละครับ เลยเกิดคำถามขึ้นในหัวผมครับ
๑. ด้วยเส้นทางที่ยาวกว่า ๙๐ กว่ากิโลเมตร กว้างกว่า ๑๖๐ เมตร ใช้ที่ดิน เกือบ ๆ ๙,๐๐๐ ไร่ แน่นอนต้องกระทบกับที่อยู่อาศัย ต้องมีคนโดนเวนคืนที่ดิน และหลายท่าน คงได้ต่ำกว่าราคาตลาด รัฐจะดูแลคนเหล่านี้อย่างไรครับ
๒. คือรายได้ที่เสียไปจากเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่เพื่อนสมาชิกอภิปราย เรื่องของ Carbon Credit ก็ดี เรื่องของการท่องเที่ยวก็ดี บริเวณท่าเรือชุมพร ท่าเรือระนอง ก็ดี รวมแล้วควรจะบวกเข้าไปในต้นทุนที่เราต้องเสียด้วยครับ
๓. คือเรื่องของการคมนาคม การเชื่อมโยงพื้นที่ เนื่องจาก Landbridge ตัดทั้งประเทศนะครับ เพราะฉะนั้นการขึ้นลงระหว่างเหนือ Landbridge กับใต้ Landbridge จะทำอย่างไร
๔. รัฐอ้างว่าจะมีการจ้างงานถึง ๒๘๐,๐๐๐ ตำแหน่ง ไปเอาตัวเลข มาจากไหนครับ จ้างงานคนในพื้นที่หรือนอกพื้นที่ เป็นคนไทยหรือคนต่างชาติ ระยะเวลา ที่จ้างนั้นจะอยู่ระยะสั้นหรือระยะยาว อย่าลืมนะครับว่าการก่อสร้างมันสร้างระยะสั้น ไม่กี่ปีก็จบ แล้วคนงานเหล่านี้จะไปอย่างไรต่อครับ จะตกงานหรือครับ แล้วการสร้างท่าเรือ จริง ๆ แล้วก็ไม่ได้ใช้คนงานเยอะขนาดนั้น ส่วนใหญ่เป็นการใช้เครื่องจักรเสียมากกว่า อัตราการจ้างขนาดนี้ตัวเลขมาจากไหน
๕. คือโครงการนั้นจะต่อยอดในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ สร้างเศรษฐกิจใหม่ ในพื้นที่ได้จริงหรือครับ
๖. คือรัฐอ้างว่า Landbridge จะช่วยเพิ่ม GDP ได้ถึง ๑.๕ เปอร์เซ็นต์ จาก ๔ เปอร์เซ็นต์ ไปเป็น ๕.๕ เปอร์เซ็นต์ แลกกับการลงทุน ๑ ล้านล้านบาท คิดอย่างไร ตัวเลขนี้มาจากไหน
๗. คือปัญหาเรื่องของภาระทางการคลัง ณ เวลานี้หนี้สาธารณะเราอยู่ที่ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าบวกกับ Digital Wallet กว่า ๕๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาทของรัฐบาลเข้าไป ก็จะอยู่ที่ ๖๕ เปอร์เซ็นต์ บวก Landbridge อีก ๑ ล้านล้านบาทเข้าไป จะอยู่ที่ ๗๕ เปอร์เซ็นต์ สูงกว่าสมัยต้มยำกุ้ง เราจะไม่เหลือพื้นที่การคลังหรือ Physical space ไว้ สำหรับรับความเสี่ยงในการลงทุนในการแก้ไขปัญหาอื่น ๆ ได้อีกเลยนะครับ แล้วข้อมูล จากแบงก์ชาติครับ รายได้ในการจ่ายดอกเบี้ย ณ ตอนนี้อยู่ที่ ๙ เปอร์เซ็นต์ ถ้าบวกอีก ๑.๖ ล้านล้านบาทเข้าไปของ Digital และ Landbridge รายได้จ่ายดอกเบี้ยจะอยู่ที่เกินกว่า ๑๒ เปอร์เซ็นต์แน่นอน หมายความว่ามีงบประมาณ ๑๐๐ บาท จ่ายดอกเบี้ยแล้ว ๑๒ บาท เหลือเงินไว้ใช้จริงแค่ ๘๘ บาทเท่านั้น ซึ่งถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือผลกระทบ ต่อ Credit Rating สถานการณ์นี้เป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างเสี่ยงสำหรับเศรษฐกิจไทย ถ้าเกิดเครดิตลดลง นักลงทุนหนี เงินทุนไหลออกนะครับท่านประธาน แล้วถ้าเกิดรัฐจะใช้ ระบบ PPP มอบสัมปทานให้เขา เราจะเป็นแบบลาว แบบพม่า แบบศรีลังกา ที่จีนไปลงทุน หรือไม่
๘. คือเราจะคืนทุนเมื่อไร จากรายงานบอกว่า ๔๐-๔๙ ปี ตัวเลขที่สำคัญคือ เรื่องของรายรับ คำถามง่าย ๆ เลยครับ เราจะสามารถแย่งลูกค้าจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ที่ใช้บริการอยู่แล้วย้ายมาอยู่ที่ไทยได้จริงหรือครับ อย่าลืมนะครับว่าเขาคืนทุนกันหมดแล้ว เขาสามารถ Dump ราคาแข่งกับไทยได้ แล้วเขามีอุตสาหกรรมทั้งเรื่องของท่อส่งแก๊ส มีเรื่อง ของท่อส่งน้ำมัน มีเรื่องของโรงกลั่นน้ำมันอยู่ในนั้นอีก มีจุดกระจายสินค้าอีก ในประเทศ อื่น ๆ เขามี Ecosystem ที่ครบ Loop ซึ่งของเราไม่ได้อยู่ในนโยบายนี้ ไม่อยู่ในแผนนี้ เราจะแข่งกับเขาได้หรือครับ จะมีตู้ Container กว่า ๒๐ ล้านทียู หรือ ๒๐ ล้านตู้ ผ่าน Landbridge จริง ๆ ได้หรือ ผมคิดว่าเราควรไป Deal กับเขาก่อนไหมครับ Deal กับบริษัทเดินเรือ บริษัท Logistics ให้เขาร่วมลงทุนกับเรา หรือมาเซ็นสัญญากับเราว่าถ้าเรา สร้างโครงการนี้เขามาทำกับเรา Sure เขาย้ายมาผ่านเรา Sure เพื่อเป็นการ Secure contract ไว้ก่อน เป็นการ Guarantee contract ไว้ก่อนว่าเราจะได้รายได้ Sure ดีกว่าไหมครับ
สุดท้ายครับท่านประธาน คือผมคิดว่าความซับซ้อนของโครงการ มีความจำเป็นที่เราจะต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษา รวมถึงเรื่องของ ความขัดแย้งในเรื่องของรายงานระหว่างสภาพัฒน์กับ สนข. ก็ดีที่ออกมาแล้วไม่ตรงกัน แต่อย่างไรก็ดีผมอยากจะฝากทางกรรมาธิการวิสามัญทุกท่านด้วยว่าจุดยืนของกรรมาธิการ คือมีความเป็นกลางนะครับท่านประธาน เราไม่ควรจะมีธงว่าจะเห็นด้วยอยู่แล้ว หรือไม่ เห็นด้วยอยู่แล้วกับสิ่งที่รัฐบาลจะทำ และเราไม่ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อเป็นเพียงตรายาง ประทับสร้างความชอบธรรม ให้กับรัฐบาลที่จะทำโครงการที่ยังไม่มีการศึกษาออกมาอย่างถ่องแท้แน่นอนไว้ก่อน หน้าที่ ของคณะกรรมาธิการคือหาคำตอบให้กับประชาชนครับท่านประธานว่าจริง ๆ แล้ว Landbridge ที่เราจะสร้างนี่มันคุ้มค่ากับการลงทุนจริง ๆ หรือไม่ และมันมีโครงการอื่น ที่ดีกว่านี้ให้กับพี่น้องชาวภาคใต้และพี่น้องคนไทยทั้งประเทศหรือไม่นะครับท่านประธาน ขอบพระคุณครับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ กระผม นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๙ บางเขน จตุจักร หลักสี่ จากพรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ของผมเป็นประเด็น ที่เกี่ยวโยงกับเรื่องของมาตรฐานในการควบคุมฝูงชน เนื่องจากว่าในเขตของผมเองนั้นก็คือ เขตหลักสี่ที่แขวงตลาดบางเขน มีเรื่องของสโมสรตำรวจที่ซอยวิภาวดีรังสิต ๖๒ มีเรื่องของ การฝึกซ้อมในการควบคุมฝูงชน แล้วก็สร้างปัญหา สร้างผลกระทบให้กับประชาชนในพื้นที่ ร้องเรียนมาหลายรอบแล้วครับ มีการฝึกยิงปืน มีการฝึกซ้อมสลายชุมนุม และมีการยิงแก๊สน้ำตา สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไรครับ เสียงจากการยิงปืนดังมาก ๆ แล้วก็รบกวนพี่น้องประชาชนอย่างมาก
เรื่องที่ ๒ แก๊สน้ำตา ทั้งควัน หรือแม้กระทั่งตัวกระบอกแก๊สเองก็เคย ตกไปอยู่ที่บ้านของพี่น้องประชาชนหลังข้าง ๆ ในบริเวณข้างเคียงกันครับ แล้วก็เป็นปัญหา ที่มีอยู่หลายปีแล้ว แต่ก็ไม่มีหน่วยงานไหนที่ออกมารับผิดชอบหรือจัดการเรื่องนี้ให้เด็ดขาด มันทำให้ผมต้องตั้งคำถามถึงมาตรฐานในการจัดการของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในเรื่องของ การฝึกซ้อม รวมถึงการสลายการชุมนุมว่าขนาดตัวท่านตอนที่ท่านฝึกอยู่ในบริเวณอาณาเขต ของท่านเองนั้นท่านยังจัดการดูแลได้ไม่ดีพอ กระทบกับพี่น้องประชาชนหลายคน และท่าน จะมาทำหน้าที่ตรงนี้ได้อย่างไร
เรื่องที่ ๓ ท่านประธานครับ คือเรื่องของเขตผมมีเรื่องของการสร้างอาคาร ที่พักตำรวจ ในตอนแรกก็แจ้งพี่น้องประชาชนแล้วก็แจ้งกับทางตำรวจว่าจะเป็นการสร้าง อาคารที่พักที่อยู่อาศัยให้กับพี่น้องชาวตำรวจทุกท่านที่อยู่ในเขต แต่ไป ๆ มา ๆ ถูกเปลี่ยน ไปเป็นที่พักอาศัยให้กับตำรวจควบคุมฝูงชน มูลค่า ๖,๐๐๐ ล้านบาท ๖ ตึก นี่คือที่พักอาศัย สำหรับหน่วยงานเฉพาะตำรวจควบคุมฝูงชนเท่านั้น พร้อมกับครอบครัวของพวกเขา ท่านประธานครับ งบประมาณขณะนี้ใช้เพื่อกิจการเหล่านี้หรือครับ ที่สำคัญผมได้ ปรึกษาหารือเรื่องนี้ไปในสภาเกือบ ๒ เดือนแล้ว ถ้าเกิดตามมาตรฐานของสภา ตามระเบียบ ๓๐ วันหน่วยงานควรจะตอบกลับมา สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ๒ เดือนแล้วไม่มีหน่วยงานตอบกลับมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ตอบกลับมาครับ แล้วเรื่องนี้ผมมีการส่งหนังสือไปส่วนตัวอีกด้วย ส่งหนังสือแยกของผมต่างหาก ก็ไม่ได้รับการตอบกลับมา หน่วยงานแจ้งว่าไม่แน่ใจว่า ต้องส่งไปที่หน่วยงานไหนบ้าง มีการโยนเรื่องไปโยนเรื่องมา นี่หรือครับหน่วยงานที่มา ควบคุมฝูงชนแล้วมีโอกาสทำให้พี่น้องประชาชนได้รับบาดเจ็บได้รับการเสียชีวิตแบบนี้ เราฝากความหวังกับหน่วยงานแบบนี้ที่ไร้มาตรฐานแบบนี้หรือครับ เรื่องเดือดร้อนนี้อย่างไร ผมก็ต้องขอฝาก คือตัวผมเองนั้นเห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญในการพิจารณา เรื่องนี้ แล้วก็ขอฝากเรื่องนี้ให้กับทางคณะกรรมาธิการเข้าไปตรวจสอบแทนพี่น้องชาวหลักสี่ ทุกคนครับ ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๙ บางเขน จตุจักร หลักสี่ จากพรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ การจัดการน้ำประปาในประเทศไทย มี ๒ หน่วยงานหลัก ๆ คือการประปานครหลวงที่ดูแลกรุงเทพมหานคร นนทบุรี แล้วก็ สมุทรปราการ แล้วก็การประปาส่วนภูมิภาคที่ดูแลจังหวัดอื่น ๆ ท่านประธานอยู่พิษณุโลก น่าจะทราบดีว่าคนต่างจังหวัดจริง ๆ แล้วนั้นจ่ายค่าน้ำประปาไม่เท่ากับคนกรุงเทพฯ คนต่างจังหวัดจ่ายค่าน้ำประปาแพงกว่าคนกรุงเทพฯ โดยเฉลี่ย ๒ เท่า ทั้งที่น้ำประปา คือปัจจัยพื้นฐาน ควรมีค่าใช้จ่ายที่เท่ากันทั้งประเทศแต่ราคากลับไม่เท่ากัน ๑ ในสาเหตุ ของน้ำประปาเบาแล้วก็ราคาแพง สรุปง่าย ๆ ในรูปนี้ครับ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรื่องของ การคอร์รัปชัน คือการใช้ท่อประปา Spec ต่ำที่แตกง่าย ไม่ตรงกับที่รัฐกำหนดให้ ปกติการตรวจสอบงานก่อสร้างที่ดีควรตรวจสอบระหว่างการก่อสร้างตอนรับงาน แล้วก็ ตอนที่ Operate ให้บริการ เพื่อที่เราจะได้ Check ได้ว่าคุณภาพท่อมันมีปัญหาหรือไม่ แต่ปัญหาก็คือเจ้าหน้าที่ไม่ตรวจสอบให้ดี ท่านประธานรู้ไหมครับว่าการตรวจสอบท่อประปา จะมีเอกสารทั้งหมด ๒ ใบด้วยกัน คือใบกำกับพัสดุ เรียกว่าใบสีส้ม และใบรับรองคุณภาพ เรียกว่าใบสีฟ้า ตั้งแต่ตอนวางท่อยันตรวจรับท่อต้องมีเอกสาร ๒ ใบนี้โชว์ แต่ปัญหาคือมันมี การขายใบสีส้มและใบสีฟ้าครับท่านประธาน Rate ก็ประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าท่อ หมายความว่าท่านสามารถใช้ท่อที่ Spec ต่ำกว่าแล้วบวกกับ ๒ ใบนี้เข้าไป เสร็จปุ๊บท่านก็ไป บอกว่านี่ละคือท่อที่ตรงกับ Spec ของรัฐบาล ถ้าซื้อท่อมา ๕๐ เปอร์เซ็นต์ บวกใบนี้เข้าไป ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ก็ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนจริงที่ท่านต้องจ่าย เจ้าหน้าที่เองก็รู้เห็นเป็นใจ ไม่ใช่ไม่รู้ แต่ประเด็นคืออะไร ก็ไปเรียกรับเงินเขาอย่างไรครับ ไปเรียกรับเงินเขาก็ต้องไปช่วย เขาลดต้นทุน ก็เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ปิดตาข้างหนึ่งครับ เรื่องพวกนี้เกิดเยอะมาก ภาคเหนือ ภาคใต้ เต็มไปหมด ไม่เชื่อลองไปรื้อท่อมาดูได้ครับ ไปรื้อท่อที่ฝังกันนี่ละ รื้อขึ้นมา ดูมาสุ่มตรวจกันดู ไม่นับงานของกรมชลประทาน กรมนี้มีหน้าที่ส่งน้ำดิบ อันนี้หนักกว่า ถ้าเกิดไปดูไกล ๆ บนภูเขา เจ้าหน้าที่ตอนไปตรวจงาน ปกติให้ไป ๑๐ วัน สิ่งที่เกิดขึ้น คืออะไรครับ ไปมันวันเดียว แต่เอาเสื้อไป ๑๐ ตัว ไปถึงเปลี่ยนเสื้อถ่ายรูป ๆ เปลี่ยนมัน ๑๐ ตัวในวันเดียวกัน ที่เหลืออีก ๙ วันคือโดดกลับมาอยู่บ้าน เพราะว่าไปแล้วมันกันดาร ก็เลยไปวันเดียว ลองไปดูภาพเก่า ๆ ที่เจ้าหน้าที่เอามาดูได้ ภาพตรวจงาน สิวบางเม็ด ยังไม่หายเลยครับ อยู่มันที่เดิม ที่สำคัญทำไมท่อน้ำประปาแตกบ่อย สาเหตุนี้อย่างที่ ผมแจ้งไป ทำให้ท่อประปาแตกบ่อย ก็เลยเป็นปัญหาที่ว่าค่าน้ำประปาแพงขึ้น เพราะมัน เกิดการสูญเสียน้ำ ซ่อมท่อซ้ำซาก ต้นทุนลดไม่ได้ การประปาลดต้นทุนไม่ได้ ก็มาขายน้ำแพง เหมือนเดิมให้พี่น้องประชาชน ไม่พอครับ แรงดันน้ำก็เบา น้ำก็ไม่สะอาดประชาชนลำบาก ค่าใช้จ่ายสูง ซื้อเครื่องปั๊มน้ำ ซื้อเครื่องกรองน้ำ ซื้อแท็งก์เก็บน้ำ ตลาดเครื่องกรองน้ำ ในประเทศไทยขนาดเป็นหมื่นล้านบาทนะครับ ตลาดน้ำดื่ม น้ำขวด ขนาดของมันประมาณ ๔๐,๐๐๐ กว่าล้านบาทได้ นี่คือค่าใช้จ่ายที่คนไทยต้องเสียฟรี ๆ ในทุก ๆ ปีกับเรื่องพวกนี้ บริษัทขายปั๊มน้ำให้รัฐโกยรายได้ปี ๆ หนึ่งหลายพันล้านบาท ไม่พอครับ จัดงานเลี้ยง และให้เจ้าหน้าที่รัฐไปด้วย งานเลี้ยงใหญ่โตเลย ผมเคยไปอยู่ครั้งหนึ่ง ไม่แปลกที่ว่า การจัดการแก้ปัญหาน้ำประปามันถึงได้ช้าขนาดนี้ จริง ๆ ในมือผมมีอีกเรื่องหนึ่งด้วย เป็นเรื่องร้องเรียนการคอร์รัปชันของการประปาส่วนภูมิภาคที่มีการเซ็นสัญญาล่าสุดเลย ๑๒,๐๐๐ ล้านบาท จ้างให้เอกชนผลิตน้ำ แต่เซ็นสัญญาอย่างผิดระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง เรื่องนี้ส่ง ป.ป.ช. เรียบร้อยแล้วครับ แล้วก็ร้องที่คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย แต่ด้วยเวลาที่จำกัด ผมขอเน้นไปที่เรื่องของปัญหาโครงสร้างพื้นฐานอย่างที่แจ้งไปก่อน อย่างไรก็ดี ผมฝากนะครับ เห็นบอกว่าจะส่งไปที่คณะกรรมาธิการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ อย่างไรก็ฝากทางคณะกรรมาธิการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ แล้วฝากรัฐบาล ไปตรวจสอบด้วยครับ ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๙ บางเขน จตุจักร หลักสี่ พรรคก้าวไกลครับ ขอปรึกษาหารือถึงปัญหาเรื่องของถนนกำแพงเพชร ๖ หรือ Local Road ที่อยู่ภายใต้การดูแลของการรถไฟหรือ รฟท. ครับ
ถนนกำแพงเพชร ๖ เป็นถนน สำคัญผ่านหลายเขตในกรุงเทพมหานครยาวไปจนถึงปทุมธานี แต่ปัจจุบันถนนกำแพงเพชร ๖ ชำรุดหนักมากครับ เป็นหลุม เป็นบ่อ พังเป็นเกลียวคลื่น ซึ่งเกิดจากการสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ของผู้รับจ้าง แม้จะอยู่ในช่วงประกันผลงานของผู้รับจ้างก็ตาม แต่การรถไฟกลับไม่กระตือรือร้น เร่งรัดให้ผู้รับเหมามาแก้ไขเสียที มิหนำซ้ำยังปล่อยให้สายไฟโดนขโมยกว่า ๒๐ รอบ ระยะทางยาวประมาณ ๕ กิโลเมตร ทำให้ถนนไม่มีไฟฟ้าส่องสว่างจนประชาชนเกิดอุบัติเหตุ เสียชีวิต นอกจากจะไม่ดูแลทรัพย์สินของตัวเองแล้ว ยังทำให้ประชาชนเดือดร้อนอีกต่างหาก เพื่อน สส. ของผมอย่าง สส. จอจาน เอกราช เขตดอนเมือง หรือ สส. กู๊ดดี้ ชยพล เขตหลักสี่ อภิปรายหลายครั้งแต่กลับไม่ได้รับการแก้ไข ไม่รวมถึงถนนเทอดดำริของ สส. กานต์ ภัสริน เขตบางซื่อ และถนนกำแพงเพชร ๑ จนไปถึงกำแพงเพชร ๗ ที่อยู่ในการดูแลของการรถไฟ แต่กลับถูกปล่อยให้ทรุดโทรม พังเกือบทั้งเส้น ไฟดับ สายไฟโดนขโมยครับ นี่แสดงถึง ความไร้ศักยภาพของการรถไฟในการปกป้องรักษาทรัพย์สินเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ผมอยากเสนอให้การรถไฟนัดประชุมกับทางกรุงเทพมหานครโอนถนนของตัวเองทั้งหมด พร้อมสัญญาประกันผลงานและงบประมาณในการซ่อมแซมไปให้กรุงเทพมหานครจัดการ แทนครับ
อีกเรื่องที่ไม่พูดไม่ได้ครับท่านประธาน คือความศักดิ์สิทธิ์ของการปรึกษาหารือ สมัยประชุมรอบที่แล้วเราอภิปรายกันไปกว่า ๒,๓๐๐ เรื่อง หน่วยงานตอบกลับมาแค่ ๓๐๐ เรื่องเท่านั้น นี่เป็นการไม่ให้เกียรติสภาและ สส. ทุกคนที่อยู่ที่นี่ ทั้ง สส. รัฐบาลและ พรรคฝ่ายค้าน เราจะเสียเวลาปรึกษาหารือกันทำไมถ้าหน่วยงานใหม่จัดการแก้ไข ไม่ตอบ ข้อหารือของพวกเรา ผมฝากท่านประธานจริง ๆ ครับ ช่วยกันหามาตรฐาน มาตรการในการ ให้ฝ่ายบริหารและหน่วยงานต่าง ๆ ให้เกียรติ สส. และตัวแทนประชาชนให้มากกว่านี้ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ กระผม นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๙ บางเขน จตุจักร หลักสี่ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ผมไม่เข้าใจ ผมอยากรู้ครับ ทำไมทุกวันอังคารรัฐมนตรีไปประชุม ครม. ได้ แต่วันพฤหัสบดีมาตอบในสภาไม่ได้ ท่านมนพรเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมอยู่กันตรงนี้ แต่ก็ไม่อนุญาตให้ท่านตอบ ทั้งที่ท่านก็อยู่ในสภาแล้ว เรื่องที่ผมถามเป็นเรื่องใหญ่ของกระทรวงคมนาคมนะครับ ท่านประธาน กระทบกับประชาชนหลายล้านคน มันไม่สำคัญ มันไม่เร่งด่วนหรือครับ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมมีถึง ๓ คนแต่ไม่ตอบผม ๓ คนเลยครับ แต่จริง ๆ ต้องบอก อย่างนี้ครับว่าเรื่องนี้ไม่ว่าใครก็แล้วแต่ ๑ ใน ๓ ท่านต้องตอบได้นะครับ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ ของกระทรวงคมนาคมที่ประชาชนหลายล้านคนกระทบอยู่ ทีเรื่องหมอชิต ๒ เป็นเรื่องของ ท่านรัฐมนตรีสุรพงษ์ ท่านสุริยะก็ไปตอบ ทีเรื่องแลนด์บริดจ์เป็นของท่านสุริยะในฐานะ ผู้กำกับ สนข. ท่านมนพรก็เอามาตอบได้ครับ แต่เรื่องที่ผมถามกลับไม่มีใครจะตอบครับ เรื่องระบบขนส่งมวลชนท่านสุริยะก็ดูแลภาพรวมของทั้งประเทศ ท่านสุรพงษ์ดูแลขนส่ง ทางบก ท่านมนพรดูแล ขสมก. แต่ไม่มีใครตอบทั้ง ๓ ท่านเลย ผมอยากรู้ครับว่าทำไม ถึงไม่ตอบกัน แล้วโควตากระทู้ถามสดฝ่ายค้านเรามีกันแค่อาทิตย์ละ ๒ ครั้ง ท่านเล่นไม่ตอบ อันหนึ่งก็คือหายไปแล้ว ๕๐ เปอร์เซ็นต์ สัปดาห์หน้าผมก็ต้องไปแย่งเพื่อนสมาชิกคนอื่นอีก กระทบเพื่อนสมาชิกไม่พอครับ ความเสียหายของประชาชนกลับไม่ได้รับการแก้ไขครับ ท่านประธาน ผมฝากตรงนี้ครับ ขอบคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๙ ท่านประธานครับ
เรื่องแรก ขออภัยท่านรัฐมนตรีครับ ผมไม่ได้นั่งในกรรมาธิการคมนาคมนะครับ ต้องขออภัยด้วย อันนี้ท่านเข้าใจผิดครับ
และเรื่องที่ ๒ คืออย่างนี้ครับท่านประธาน ท่านสุรพงษ์กำกับกรมขนส่ง ทางบกก็จริง แต่ท่านมนพรก็ดูแล ขสมก. ซึ่งเป็นผู้บริหารรถเมล์ครับ แล้วเรื่องที่ผมถาม คือเรื่องรถเมล์กับหมอชิต ๒ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับรถไฟฟ้าครับ เพราะฉะนั้นท่านมนพรจริง ๆ ในสัดส่วนที่เกี่ยวกับรถเมล์มันต้อง Link กันกับกรมขนส่งทางบก แต่กระทรวงคมนาคมใช้วิธี ที่ฉลาดครับ รัฐมนตรีท่านหนึ่งดูขนส่งทางบก อีกท่านหนึ่งดู ขสมก. เดี๋ยวรอบหน้ามาพอผม จะถาม ขสมก. เกี่ยวกับรถเมล์ท่านโยนไปที่ท่านรัฐมนตรีมนพรที่ก็คงไม่มาสัปดาห์หน้า มันก็ เป็นอย่างนี้ล่ะครับท่านประธาน เราถามว่าเราจะแก้ปัญหาอย่างไร ผมงงครับ หรือท่านสุริยะ ต้องมาตอบ ผมคิดว่าท่านสุริยะต้องมาตอบในกรณีแบบนี้ เพราะจะได้ครอบคลุมทั้ง กระทรวงเลยครับ จะได้ไม่ต้องโยนกันไปโยนกันมาครับ ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๙ เขตบางเขน เขตจตุจักร เขตหลักสี่ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมมีเรื่องปรึกษาหารือทั้งหมด ๔ เรื่องครับท่านประธาน
เรื่องที่ ๑ คือเรื่องของถนน รัชดาภิเษกหน้าศาลอาญา หรือที่รู้จักกันดีก็คือ โค้ง ๑๐๐ ศพครับ ด้วยปัญหาจากหลัก วิศวกรรมที่ออกแบบมาได้ไม่ดีครับ ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และปัจจุบัน ผิวถนนลื่นมาก และที่สำคัญกว่านั้นคือหน้าฝนกำลังจะมาถึงแล้วครับ ก็ฝากจริง ๆ เพราะเรื่องนี้ อันตรายมาก อาจจะเกิดอุบัติเหตุเป็นหลายสิบศพได้ ถ้าเกิดมีการติดตั้งเส้นชะลอ ความเร็วผมต้องชี้แจงว่าตรงนี้อาจจะไม่เพียงพอนะครับ อย่างไรผมฝากสำนักการโยธา กรุงเทพมหานครด้วยครับ
เรื่องที่ ๒ คือสวนรัชวิภาที่อยู่ใต้ทางยกระดับรัชวิภา มีปัญหาเรื่องของไฟเสีย อันดับมืดเป็นจำนวนมาก อาจเป็นที่มั่วสุมได้ ไม่ปลอดภัยต่อประชาชน ผมฝากสำนักงาน ระบายน้ำกรุงเทพมหานครแล้วก็กรมทางหลวงด้วยครับ
เรื่องที่ ๓ คือสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงครับท่านประธาน มีปัญหาย่อยทั้งหมด ๓ เรื่องครับ
เรื่องที่ ๑ ก็คือปัญหาเรื่องของลิฟต์เสีย หลายสถานีที่มีลิฟต์เสียของ สายสีแดง อย่างสถานีจตุจักรก็เสียตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี ๒๕๖๖ ยังไม่ซ่อมครับ ก็สร้าง ความเดือดร้อนให้กับผู้สูงอายุ ผู้พิการ แล้วก็ผู้โดยสารจำนวนมาก หรือแม้กระทั่งเรื่องของ บันไดเลื่อนชำรุด ที่สถานีจตุจักรครับ ไม่ใช่กรุงเทพมหานคร-จตุจักร-หมอชิต นะครับ แต่เป็นจตุจักรสายสีแดง แล้วก็สถานีบางเขนชำรุดบ่อย ก็ต้องฝากการรถไฟจัดการด้วยครับ
เรื่องที่ ๒ คือเรื่องของ Sky Walk เป็นทางเชื่อมนะครับ ปัญหาจากตรงทาง เชื่อมที่ยังไม่มีการเปิดใช้ระหว่างสถานีหลักสี่ไปถึงโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สร้างเสร็จแล้วแต่ยัง ไม่มีการเปิดใช้ ผมไม่แน่ใจว่าเรากำลังมารอให้ใครเปิดงานอยู่หรือเปล่าล่ะครับ อย่างไรตรงนี้ ต้องฝากท่านประธานครับ
และเรื่องสุดท้ายครับ ผมฝากท่านประธานไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว แล้วก็เห็น ท่านนายกรัฐมนตรีมาในสัปดาห์นี้ ก็ฝากไปถึงท่านนายกรัฐมนตรีด้วยเลย เรื่องของประสิทธิภาพ ของหน่วยงานในการตอบข้อปรึกษาหารือของ สส. เราในสภานี้นะครับ อย่างไรผมฝาก ท่านประธานด้วยครับ ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ กระผม นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๙ เขตบางเขน เขตจตุจักร เขตหลักสี่ พรรคก้าวไกลครับ ผมขอถามกระทู้ถามสด ด้วยวาจาถึงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยมีท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง คมนาคม ท่านสุรพงษ์ ปิยะโชติ มาตอบนะครับ
เรื่องที่ ๑ เกี่ยวกับเลขสายรถเมล์ครับท่านประธาน รถเมล์สำหรับผมคือขนส่ง มวลชนสาธารณะที่สำคัญ เพราะเป็นระบบขนส่งมวลชนที่มีต้นทุนที่ต่ำที่สุด และทำให้คน เข้าถึงระบบขนส่งมวลชนสาธารณะได้มากที่สุดครับ แต่รัฐบาลที่ผ่าน ๆ มาไม่ได้ให้ ความสำคัญกับรถเมล์มากพอ จนเกิดปัญหาจำนวนมาก และที่สำคัญหลังจากมีการปฏิรูป รถเมล์แล้วปัญหาที่บ่นกันมากที่สุดอันดับ ๑ ณ เวลานี้ คือปัญหาเลขสายรถเมล์ครับ ท่านประธาน เรื่องที่ไม่เป็นเรื่องกลับถูกให้มาเป็นเรื่องได้ เนื่องจากกรมการขนส่งทางบก มีการไปปรับเลขสายรถเมล์ออกมาเป็นเลขสายรถเมล์แบบใหม่ครับ เขาเรียกกันว่าแบบ X-XX หรือว่ามีขีดกลางครับ เช่น สาย ๔-๒๘๓ ๓-๒๖ E ๒-๒๑ E ซึ่งที่มาของรูปแบบ X-XX นี้คือรัฐคิดขึ้นมาเองครับ โดยการแบ่งกรุงเทพมหานครออกเป็น ๔ Zone ครับ เลขหน้าคือเลข Zone Zone ที่ ๑ ทิศเหนือก็ใช้ ๑-XX Zone ที่ ๒ ทิศตะวันตก ใช้ ๒-XX Zone ที่ ๓ ทิศตะวันออก ๓-XX และ Zone ที่ ๔ ทิศใต้ ใช้ ๔-XX ฟังปกติก็ดูเหมือนว่าจะมี Logic นะครับท่านประธาน แต่เดี๋ยวดูเส้นทางนะครับ บางเขน-วิภาวดี-หัวลำโพง สายเก่าคือ สาย ๒๙ สายใหม่คือ ๑-๑ ครับ Zone ที่ ๑ ทิศเหนือ ผมถามว่าหัวลำโพงอยู่ทิศเหนือหรือครับ มีนบุรี-จตุจักร สายเก่า ๒๖ สายใหม่ ๑-๓๖ Zone ที่ ๑ เลขทิศเหนือ ผมถามว่าทิศเหนือ ผมถามว่ามีนบุรีอยู่ทิศเหนือตั้งแต่เมื่อไรครับ แฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ สาย ๘ เรารู้จักกันดีครับ ๒-๓๘ Zone ๒ ทิศตะวันตก แฮปปี้แลนด์อยู่ทิศตะวันตกหรือครับท่านประธาน หมอชิต-ท่าเรือราชวงศ์ สาย ๒๐๔ เปลี่ยนไปเป็นสาย ๒-๕๒ โซนทิศตะวันตกครับ เหมือนเดิมครับ หมอชิตไปอยู่ทิศตะวันตก บางขุนเทียน-แฮปปี้แลนด์ (ทางด่วน) สาย ๑๗๓ กลายร่างไปเป็นสาย ๔-๒๗ E ครับ E คือมาจาก Express ครับ มาจากขึ้นทางด่วน ใช้ Zone ๔ ทิศใต้ครับ ผมถามว่า แฮปปี้แลนด์ไปอยู่ทิศใต้แล้วหรือครับท่านประธาน เมื่อสักครู่ยังให้ไปอยู่ทิศตะวันตกอยู่เลย ผมอยากรู้ว่าใครเป็นเจ้าของ Idea นี้ ความจริงคือรถเมล์ต้องบอกว่าเขาไม่ได้วิ่งกันแค่อยู่ใน Zone ของตัวเองนะครับท่านประธาน แต่เขาวิ่งกันข้าม Zone แต่ละสายเขาวิ่งกันที ๒๐-๕๐ กิโลเมตร แล้วที่ผมงงก็คือคนกรุงเทพมหานครเราไม่ได้แบ่ง Zone กันแบบนี้ ท่านประธาน กรุงเทพฯ-เหนือ กรุงเทพฯ-ใต้ กรุงเทพฯ-ตะวันออก กรุงเทพฯ-ฝั่งธนบุรี เราไม่ได้แบ่งกันที่แบบที่กรมขนส่งทางบกแบ่ง เขตมีนบุรีอยู่ทิศตะวันออกครับ ไม่ใช่อยู่ ทิศเหนือ เขตลาดกระบังอยู่ทิศตะวันออก ไม่ใช่อยู่ทิศตะวันตก Zone ๒ อย่างที่พวกท่าน แบ่งกัน ที่สำคัญครับ เลขสายใหม่นี้คนส่วนใหญ่เขาจำกันไม่ได้ครับ ผู้สูงอายุบ่นกันเยอะ เขางงครับ แล้วเขาไม่กล้าขึ้นรถเมล์ ผ่านแล้วผ่านอีกเขาก็ไม่กล้าขึ้นเพราะเขางง ไม่ใช่สายที่ เขาใช้อยู่เป็นประจำ และ Highlight อยู่ตรงนี้ครับท่านประธาน กรมขนส่งทางบกเคยทำ ประชาพิจารณ์แล้วเลขสายใหม่แต่ไม่ผ่านนะครับ ผมย้ำว่าไม่ผ่าน ประชาชนเขาไม่เอา แต่กรมขนส่งทางบกดื้อ ไม่ฟัง จะเปลี่ยนโดยที่ไม่สนใจเสียงของประชาชน เข้า Concept คนคิดไม่ได้นั่งคนนั่งไม่ได้คิด เมื่อเดือนที่แล้วผมทำ Poll ใน Twitter ครับ คนตอบ ๑๐,๐๐๐ คน ๙๑ คน บอกว่าไม่เห็นด้วยกับสายใหม่ครับ และปัจจุบัน ขสมก. กับไทยสมายล์เขา Boycott เขาทนกับกรมการขนส่งทางบกไม่ไหวครับ เขาเอาเลขเก่าขึ้นเลยครับท่านประธาน ขึ้นชนกับ เลขใหม่เลย เช่น ๕๙ คือเลขเดิม แล้วก็ให้วงเล็ก ๆ ครับ ๑-๘ เลขใหม่ครับ เพราะเลขใหม่ ของกรมขนส่งทางบกประชาชนเขางง เขาไม่ขึ้นครับ ล่าสุดสัปดาห์ที่แล้วครับท่านประธาน มีข่าวใหม่ หลังจากที่กระทู้ผมโดนเท วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ วันที่ ๒ ออกข่าวเลยครับ ไม่ใช่ ออกข่าวว่าผมโดนเทกระทู้นะครับ ออกข่าวว่าท่านรัฐมนตรีแก้ปัญหาสายรถเมล์แล้วครับ พาดหัวข่าวเลยครับ ไม่เลิก สุริยะเคาะเดินหน้าเปลี่ยนใส่รถเมล์ใหม่ ให้ตัดขีดกลางออก พร้อมใส่วงเล็บเลขสายเดิม คือพูดง่าย ๆ ตัดขีดกลางออก X-XX กลายเป็น XX/ เช่น ๑-๘ กลายไปเป็น ๑๘ แล้วเลข ๕๙ ที่เป็นสายเดิมของเขาก็ไปใส่เป็นวงเล็บครับ นี่คือผมเรียกกัน ว่า Version ท่านสุริยะครับ แต่ปัญหาคือมันจะไปซ้ำกับของเก่า ๑๘ ใหม่ที่มาจาก ๑-๘ ของท่านจะไปซ้ำกับ ๑๘ เดิมที่ประชาชนเขาใช้กันอยู่ที่ตลาดท่าอิฐไปอนุสาวรีย์เขาใช้กันมา ๓๐ ปี มันยิ่งงงกว่าเดิมครับ ต้องบอกว่าการแก้ปัญหาแบบนี้แสดงให้เห็นว่าผู้บริหาร ในกระทรวงคมนาคมไม่เคยนั่งรถเมล์ครับท่านประธาน แล้วที่แย่กว่านั้นก็คือท่านไม่เคยไป คลุกคลี ไม่เคยไปสอบถามประชาชนเลย ผมเรียกว่าเลขสายของท่าน Version ท่านสุริยะ ที่กำลังออกมาตอนนี้ อันนี้หนักที่สุดแล้วครับ ยิ่งแก้ยิ่งสับสน แล้วผมย้ำว่าไม่มีประโยชน์ครับ เพราะว่าเลขสายของ Zone รถเมล์มันใช้จริงไม่ได้ เพราะรถเมล์เขาวิ่งกันข้ามโซนครับ ท่านประธานครับ
เพราะฉะนั้นเข้าสู่คำถามที่ ๑ ผมถามท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการคมนาคม ท่านสุรพงษ์นะครับ ง่าย ๆ ในฐานะคนกำกับกรมขนส่งทางบกโดยตรง ท่านทราบหรือไม่ว่า เลขสายใหม่ทั้งแบบ X-XX ที่กรมคิดขึ้นมา แล้วแบบ XXX ที่ออกแบบโดยท่านสุริยะ ประชาชนเขาไม่เอา และมันไม่ตอบโจทย์ และถ้าเกิดท่านทราบท่านจะยกเลิก แบบใหม่ และแบบ Version ท่านสุริยะแล้วกลับไปใช้แบบดั้งเดิมหรือไม่ ขอบคุณครับ
ขอบคุณท่านรัฐมนตรีที่ชี้แจง แต่ผมชี้แจงท่านรัฐมนตรีอย่างนี้ครับว่า อันแรกแผนที่ที่ท่านเอามาใช้ที่เมื่อสักครู่ เป็น ๑ ๒ ๓ ๔ อันนี้กรมขนส่งทางบกวางยาท่านครับ ถ้าเกิดท่านเห็นนะครับ เลข ๒ เขาเขียนว่า Zone ตะวันตก แต่ ๒ สีเขียวอยู่ขวามือของกรุงเทพมหานคร มันจะเป็นตะวันตกได้อย่างไรครับ มันเขียนผิด แล้วมันผิดกันมาหลายปีแล้วครับ และกรมขนส่งทางบกยังไม่แก้เลยครับ ๑. ไปเขียนว่า Zone ทิศเหนือ จริง ๆ มันต้องเป็นทิศตะวันตก ๒. มันอยู่ขวามือมันคือ ทิศเหนือ แต่กรมขนส่งทางบกทำผิด แล้วก็มายัดในสไลด์ท่านรัฐมนตรี มั่วครับ
เรื่องที่ ๒ รถเมล์เขาวิ่งกันไปแล้วกลับมัน Two Way เพราะสุดท้ายแล้วเลข Zone ของท่าน ท่านเริ่มตะวันออกแต่ท่านไปจบตะวันตก และท่านก็กลับไปกลับมาอย่างนี้ เพราะฉะนั้นตัวเลขนี้มันไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับประชาชน อันนี้ผมแนะนำเปลี่ยน เถอะครับ คือท่านบอกว่ามันมีการแก้ไขเรื่องของเลขสาย เลขเดิม คือแน่นอนมันมีการเปลี่ยน บางส่วนในเรื่องของเส้นทางบางอย่าง แต่ถ้าเกิดมันแก้ไขเล็กน้อยท่านก็ใช้เลขเดิมได้ครับ และถ้าเกิดมันแก้ไขเยอะท่านก็ค่อยไปใช้เลขใหม่ครับ ส่วนสุดท้าย คือเรื่องที่บอกว่า Operator PR อย่างไร อันนี้ผมต้องบอกอย่างนี้ว่ามันไม่ใช่หน้าที่ Operator แล้วหรือเปล่า มันหน้าที่กรมขนส่งทางบกหรือเปล่า เพราะท่านเป็นคนไป Rerouting ทั้งหมดเอง ท่านเป็น คนแก้ไขเลขทั้งหมดเอง อันนี้ผมฝากท่านรัฐมนตรีจริง ๆ ว่าเรามาช่วยกันแก้เถอะครับ เอาประชาชนเป็นที่ตั้งนะครับ
เรื่องที่ ๓ ต้องบอกว่าหลังจากการปฏิรูปรถเมล์ เปลี่ยนจาก ขสมก. เป็นกรมขนส่งทางบก แต่ผมต้องถามจริง ๆ แล้วว่ากรมขนส่งทางบกมีศักยภาพหรือครับ ในอดีตกรมขนส่งทางบกคือมีหน้าที่รับตรวจสภาพรถ แต่ตอนนี้มารับภารกิจหลักคือ ออกใบอนุญาต วางเส้นทางเดินรถ วางข้อกำหนด วางกฎระเบียบต่าง ๆ ในการคัดสรร ผู้เดินรถ ควบคุมตรวจสอบต่าง ๆ นานา เรียกได้ว่าเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของรถเมล์ไทย สำหรับผมนะครับ รถเมล์ที่สะดวก สะอาด เข้าถึงง่ายและราคาจับต้องได้คือสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ประชาชนควรได้รับจากรัฐบาลครับ แน่นอนครับอย่างที่ท่านรัฐมนตรีบอกปฏิรูปรถเมล์ ๒๖๙ เส้นทาง และจะทำเพิ่มอีก ๗๗ เส้นทาง รวมกันเป็น ๓๔๖ เส้นทางนะครับ แต่ปัจจุบันนี้รู้ไหมครับมันวิ่งกันจริง ๆ แค่ ๑๕๓ เส้นทาง แล้วมีอีก ๑๙๓ เส้นทางที่ไม่ได้วิ่ง แค่กรุงเทพมหานครตะวันออกแทบไม่มีรถเมล์ อย่างท่าน สส. ธีรัจชัย พันธุมาศ เขตมีนบุรี เขตหนองจอก เขตลาดกระบังก็มีรถเมล์วิ่งแค่ ๗ สาย และท่านก็พยายามผลักดันมาโดยตลอดนะครับ ต้องบอกว่ารถเมล์นี้ทั้งเก่าและรอนานกัน เป็นชั่วโมง และผมยังไม่เห็นเลยครับว่า รัฐบาลจะมีแผนในการจัดการอย่างไร อย่างเป็น รูปธรรม ส่วนปริมณฑลครับ อย่างที่ทราบกันดี แทบไม่มีรถเมล์อยู่แล้ว และต่างจังหวัด หนักกว่าหลายเท่านะครับ สส. ที่นั่งกันอยู่ตรงนี้แทบไม่มีรถเมล์ในจังหวัดเขา แต่ถ้าเกิด ต่างจังหวัดเข้าใจว่าจังหวัดใหญ่ ๆ อย่างจังหวัดเชียงใหม่ โคราช จังหวัดขอนแก่นก็พอมีบ้าง หรือจังหวัดนครพนมของท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมนพร ก็อาจจะพอมีบ้าง แต่ก็เรียกว่าน้อยอยู่ครับ ก็ต้องบอกว่าหลังจากการปฏิรูป ผมก็เข้าใจว่ารถเมล์จะดีขึ้น แต่ประชาชนหลายล้านคนกลับเจอปัญหาจำนวนรอบไม่ได้ตามที่กำหนดในสัญญา ผู้ประกอบการมีรถไม่เพียงพอ ซึ่งถ้าเกิดตาม พ.ร.บ. การขนส่งทางบก มาตรา ๓๑ และ มาตรา ๔๖ ต้องมีการปรับและมีการริบใบอนุญาต แต่ไม่มีการบังคับใช้นะครับ ไม่รู้ว่า กรมล้อฟรีหรือว่าอย่างไร แล้วอย่างเส้น ๑-๑ หรือสาย ๒๙ เดิม บางเขน-วิภาวดี-หัวลำโพง ในสัมปทานชี้แจงว่าจะมีการวิ่งทั้งหมด ๑๗๔ รอบ ขาไป ๘๗ ขากลับ ๘๗ ความถี่ทุก ๑๐-๑๕ นาที ถ้าวันนี้ไปนั่งอยู่ที่ป้ายรถเมล์ ๑๐-๑๕ นาทีไม่มีจริงนะครับ และไม่รู้ว่า กรมขนส่งทางบกได้ตรวจหรือเปล่า อย่างเส้นสาย ๓-๕๕ พระราม ๗ คลองเตยนะครับ กำหนดขั้นต่ำ ๒๐ แต่วิ่งจริง ๆ แค่ ๒ ครับ ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามีการตรวจสอบหรือไม่ สายหลายสายมีการลดรอบวิ่ง และที่สำคัญคือประชาชนเดือดร้อนครับ และท่านยัง ไม่จัดการนะครับ ส่วนบางสายที่มองจากดาวอังคารอย่างไรก็รู้ครับว่า ขาดทุนแน่นอนและรัฐ ควรต้อง Subsidize หรืออุดหนุนเพื่อให้มันเกิดให้ได้ ก็ยังไม่มีครับ ไม่มี Policy ในการ สนับสนุน ไม่มีการอุดหนุน วันนี้ท่านต้องเข้าใจก่อนว่า รถเมล์คือระบบขนส่งมวลชน ที่มันสำคัญ เพราะฉะนั้นรถเมล์สามารถที่จะทำให้ตัวเองเป็น Feeder วิ่งถนนรอง วิ่งเส้น เลือดฝอยเพื่อดันคนเข้ามาสู่ระบบรางได้ แต่ปัจจุบันนี้ต้องบอกว่าหลายสถานีรถไฟฟ้าก็ไม่มี รถเมล์เหมือนกันครับ ประชาชนหลายคนกัดฟันครับ ผ่อนรถเดือนเป็น ๑๐,๐๐๐ บาท บางคนถูกบีบให้ไปเช่าคอนโดเดือน ๑๐,๐๐๐ บาท ๒๐,๐๐๐ บาท เพื่อให้อยู่ใกล้ ๆ กับสถานีรถไฟฟ้า เพราะรถเมล์ของเรามันแย่จริง ๆ ครับ และทุกวันนี้ผมเห็นแต่ข่าวครับ รัฐมนตรี ท่านรัฐบาลทั้งหลายสนใจแต่จะอุดหนุนแต่รถไฟฟ้าครับ จะให้เงินชดเชยขนาดไหน ท่านก็เต็มที่จริง ๆ ครับ แต่กับรถเมล์ไม่เห็นมีพูดถึงเลยครับ มีหรือครับจะชดเชยรถเมล์ จะอุดหนุนรถเมล์ ไม่มีครับ แค่จะหารถใหม่สภาพดี ๆ ยังไม่หากันเลยครับ จะเพิ่มจำนวนรถ ก็ไม่มีครับ ทุกวันนี้บางคันรอกันเป็นชั่วโมงนะครับ ถ้าเปรียบเทียบเงินลงทุนรถไฟฟ้า ๑ สาย ลงทุนรถเมล์ได้ทั้งกรุงเทพมหานครนะครับท่านประธาน ซื้อใหม่ยกชุด เผลอ ๆ ทั้งประเทศ แต่ไม่ทำครับ ไม่ลงทุนครับ ผมไม่เข้าใจ ท่านมองคนใช้รถเมล์เป็นพลเมืองชั้นสองหรืออย่างไร ถึงไม่สนใจ สนใจแต่รถไฟฟ้า และการแบ่งงานของรัฐมนตรี ท่านสุริยะ ขออนุญาต เอ่ยนามนะครับ ท่านให้ท่านสุรพงษ์ดูแลกรมขนส่งทางบก คุมกำเนิดรถเมล์ แต่ท่านให้ ท่านมนพรไปดูแล ขสมก. ท่านจะแยกกันทำไมครับ มันเป็นงานเดียวกัน ให้คนเดียวดูแล ไปเลยครับ ถ้าท่านสุรพงษ์อยากดูแลก็รับไปเลย ดูแลคนเดียวรับจบครับ และที่สำคัญครับ บอร์ด ขสมก. ไม่มีมาถึง ๑๓ เดือนแล้ว โดนดองนะครับ ไม่ได้เกิดครับ ไม่สามารถตัดสินใจ อะไรได้เลยครับ สั่งรถใหม่ก็ไม่ได้ รถเก่าสภาพเดิมก็ทำไม่ไหวแล้วครับ โดนตัดแขนตัดขาอยู่ แบบนี้ น่าสงสารครับ แต่ที่น่าสงสารกว่าคือใครครับ ประชาชนครับ เขาทนไม่ไหวแล้ว กับรถเมล์ไทยแบบนี้ เมื่อไรจะสะดวกสบาย เมื่อไรจะครอบคลุมสักทีครับ เพราะฉะนั้นผมขอ เรียกร้องเลย ให้รัฐบาลจัดการช่วยผลักดันรถเมล์โดยด่วน เพราะฉะนั้นท่านประธานครับ คำถามข้อที่ ๒ ของผม ท่านรัฐมนตรีจะแก้ไขปัญหารถเมล์ขาดแคลนวิ่งไม่ครบรอบอย่างไร และถนนที่ยังไม่มีรถเมล์ในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดที่ไม่มีรถเมล์ ท่านมีแนวทางทำให้ เกิดรถเมล์อย่างไร และผมขอถามท่าน อยากให้ท่านประกาศเลยครับ เป็นของขวัญให้กับ ประชาชนเลยครับ ท่านนายกรัฐมนตรีอยู่ตรงนี้ด้วย อยากให้ท่านรับรู้เหมือนกันครับ ภายใน ปี ๒๕๖๗ จะมีจังหวัดไหนบ้างที่อยู่ในแผนของรัฐบาล ที่จะผลักดันให้เกิดรถเมล์เพิ่ม เป็นครั้งแรกของจังหวัดเขา ท่านอยู่กันตรงนี้ ท่านปรึกษากันเลยครับ ขอบคุณครับ
มีครับ ท่านประธานครับ เรื่องแรก ต้องขอบคุณท่านรัฐมนตรีเรื่องของหมายเลขนะครับ แต่เรื่องที่ ๒ ที่ท่านบอกว่าให้ อำนาจท้องถิ่นดูแลครับ คือท่านให้อำนาจดีครับ แต่ท่านต้องให้เงินด้วยครับ ท่านต้องให้เงิน เขาด้วย ไม่อย่างนั้นรถเมล์ไม่เกิด เพราะท่านไม่อุดหนุนเขาครับ ท่านไม่อุดหนุนท้องถิ่นครับ เพราะฉะนั้นมาเรื่องของคำถามที่ ๓ ก็ต้องบอกว่าตั้งแต่รัฐบาลแถลงนโยบายมานี่ ผมยัง ไม่เห็นภาพรวมของขนส่งมวลชนในการบูรณาการใช้โหมดหลาย ๆ โหมดร่วมกันนะครับ แล้วก็ที่สำคัญคือพันธกิจของกระทรวงนี้ท่านก็ทราบอยู่แล้ว รถ ราง เรือ ต้องให้เชื่อมโยงกัน ให้ได้จริง ๆ ทั้งการทำระบบตั๋วร่วม คือการให้ใช้ตั๋วใบเดียว EMV หรืออะไร ๆ ก็แล้วแต่ ทำให้สามารถใช้ได้ทั้งหมด รถ ราง เรือ และเรื่องของระบบค่าโดยสารร่วม คือขึ้นรถ ราง เรือ ตลอดทั้ง Trip เปลี่ยนกี่รอบ กี่โหมดก็ได้ แต่รวมกันแล้วไม่เกินเท่านั้นเท่านี้บาท ล่าสุด มีการพูดถึง พ.ร.บ. ตั๋วร่วม แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะรวม รถ ราง เรือ ได้จริงหรือไม่นะครับ ก็ต้องบอกว่าคำถามที่ ๓ แต่เข้าใจว่าท่านรัฐมนตรีเวลาหมดแล้ว ผมถามไปก็ได้ครับว่า ท่านรัฐมนตรีจะจัดการเรื่องของระบบตั๋วร่วม รถ ราง เรือ โดยการใช้บัตรโดยสารใบเดียว ได้อย่างไรนะครับ แล้วก็ค่าโดยสารร่วม รถ ราง เรือ ตลอดเส้นทางนี่เปลี่ยนกี่รอบ ค่าใช้จ่าย เท่าเดิม ตัว Maximum ราคาที่ท่านคิดไว้อยู่ที่เท่าไร แล้วก่อนที่ผมจะให้เวลาท่านตอบสัก ๑ นาทีที่เหลือนะครับ ผมขอฝากท่านอีก ๒ เรื่องแล้วกันครับ อันนี้ฝากไว้เฉย ๆ ครับ คือเรื่องของรถบรรทุกน้ำหนักเกินแล้ววิ่งผิดเวลา ถ้ากรมขนส่งทางบกไม่มีความสามารถ ในการจัดการโอนอำนาจให้ตำรวจเลยครับ ขอบคุณครับ อย่างนั้นผมขออนุญาตโอนเวลา ของผมให้ท่านรัฐมนตรีสัก ๑ นาทีกว่า ๆ ท่านประธานครับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ กระผม นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๙ บางเขน จตุจักร หลักสี่ พรรคก้าวไกลครับ
ผมต้องชี้แจงว่าตัวผมเอง เป็นอีก ๑ คนที่อยู่ในกรรมาธิการชุดนี้แล้วก็ตัดสินใจลาออก เพราะว่ารายงานที่ไม่สมบูรณ์ คืออย่างนี้ครับ ส่วนตัวผมเคารพรักกรรมาธิการทุกท่าน เรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทั้งท่านประธานวิสุทธิ์เอง ทั้งคุณหมอศรีญาดา ทั้งพี่อิ่ม พี่เอ ทั้งพี่เจมส์ ทั้งครูมานิตย์ก็ไม่มี ปัญหาอะไรกันเลยครับท่านประธาน แต่ต้องตัดสินใจอภิปรายไม่เห็นด้วยกับรายงานฉบับนี้ โดยมี ๔ ประเด็นที่ต้องแจ้งให้ทราบตรงกัน
ประเด็นที่ ๑ ไม่มีใครคิดขัดขวางความเจริญของภาคใต้ และส่วนตัวผมยังไม่เคย พูดสักครั้งว่าผมคัดค้านโครงการ ถ้ามีโครงการแลนด์บริดจ์หรือโครงการนโยบายอื่น ๆ ที่ทำ ให้คนใต้รวยได้ผมยินดีและยินดีสนับสนุน แต่ตอนนี้ที่ต้องการคือพิสูจน์ความจริงที่มาของ ตัวเลขของรายงานฉบับนี้ที่ท่านจะเอาเข้ามาผ่านสภาชุดนี้ และสุดท้ายก็ส่งต่อไปให้รัฐบาล ผมต้องการแค่ความถูกต้องเท่านั้นครับ
ประเด็นที่ ๒ หน้าที่และเป้าหมายของกรรมาธิการชุดนี้ครับ พิจารณาศึกษา โครงการแลนด์บริดจ์ทั้งรูปแบบโครงการ รูปแบบการลงทุน จะลงทุนแบบไหน อย่างไร ความคุ้มค่า กำไรขาดทุนเท่าไร เหตุผลที่ต้องทำแลนด์บริดจ์เพราะอะไร ใครได้ประโยชน์ โอกาส อุตสาหกรรมใหม่ ๆ ของภาคใต้คืออะไร แลนด์บริดจ์จะพลิกชีวิตคนใต้ได้จริง หรือเปล่า ผลกระทบต่อประชาชน ต่อธรรมชาติ ความมั่นคง และแนวทางแก้ไขคืออะไร แต่ตัวรายงานที่กรรมาธิการส่งสภากลับรวบรัดการศึกษาและไม่มีการค้นหาความจริง ให้รอบด้าน ผมคิดว่ามันไม่ตอบโจทย์กับภารกิจที่เราได้รับจากสภาแห่งนี้เพื่อทำหน้าที่ หาคำตอบให้กับพี่น้องประชาชนครับ
ประเด็นที่ ๓ ผมขอเรียกรายงานฉบับนี้ว่า รายงานแห่งความย้อนแย้ง ตัดแปะ และใช้ไม่ได้จริง ดูหน้า ฉ ครับ ผลการศึกษา ขีดเส้นใต้ ย้ำนะครับ นี่คือผลการศึกษา ของกรรมาธิการแล้ว หน้าต่อไปหน้า ฉ ครับ จุดแข็งของโครงการ ดูข้อที่ ๓ สีม่วงครับ หลีกเลี่ยงปัญหาติดขัดการเดินเรือในช่องแคบ แต่ความจริงกรรมาธิการท่านใดไปพิสูจน์ว่า ช่องแคบมันติดขัด เราเห็นกับตาแล้วหรือครับ เอกชนคนเดินเรือเขาก็พูดกับท่านแล้วว่า มันไม่ได้แออัด มันไม่ได้คับแคบ ที่มันตันจริง ๆ มันคือท่าเรือสิงคโปร์ มันไม่ใช่ตัวช่องแคบ และท่านก็ไม่ไปพิสูจน์ แล้วทุกวันนี้ท่าเรือสิงคโปร์เขาก็มีแผนขยายท่าเรือเพื่อรองรับเรือเพิ่ม ถ้ามันแคบจนมันไปไม่ได้เขาจะลงทุนเพิ่มทำไมครับ ถ้าง่ายที่สุดส่งคนไป Live สดครับ ท่านประธานครับ เอาให้จบตรงนี้เลยครับ ส่งคนไป Live สดจะได้จบ ๆ ครับ จะได้รู้จริงว่า มันแออัด ไม่แออัดครับ เถียงกันอยู่แบบนี้แล้วมาใส่ในรายงาน ดูข้อที่ ๒ อาจจะสามารถ ลดระยะเวลาและต้นทุน ประหยัดต้นทุนได้ แต่ไปต่อครับ ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม สีเขียวครับ แปลว่ายังไม่แน่ใจว่าลดระยะเวลาและต้นทุนได้จริงหรือไม่ แต่หน้าเดียวกัน ข้อ ๔ ครับ เพราะสามารถลดระยะเวลาเดินทางและประหยัดค่าใช้จ่ายได้ นี่มันรายงานแห่งความย้อนแย้ง หน้าเดียวกัน ข้อ ๒ ข้อ ๔ ก็ย้อนกันเองแล้วครับ ต่อไปหน้า ๒๓ หน้า ๒๔ ผลการศึกษา ย้ำนะครับว่านี่คือผลการศึกษา แต่ดูสีเขียวครับ สนข. สนข. สนข. ครับ นี่ก็อบปี้ นี่ท่าน พิจารณาหรือก็อบปี้ครับ หมดนี้ถ้าท่านประธานดูนะครับ ทุกหน้า Reference อย่างดี สนข. หมดเลยครับ หน้า ๓๐ หน้า ๓๑ รูปแบบการลงทุน ท่านบอกต้อง ๕๐ ปี จังหวัดระนองต้อง ๓ เฟส ต้องรองรับตู้ให้ได้ ๒๐ ล้านตู้ จังหวัดชุมพรก็ ๒๐ ล้านตู้ สีเขียวเหมือนกันครับ สนข. มาหมดเลย ก๊อบปี้อย่างเดียว ท่านทำแบบมีวิชาการ คือท่านมี Reference ครับ แต่ศึกษา ไม่เป็นตามหลัก เพราะท่านต้องเป็นกลาง ศึกษารอบด้าน ศึกษาของทุกฝ่าย แต่ท่านไม่ค้นหา ความจริงท่าน Copy Paste สนข. หมดเลยครับ กรรมาธิการมีหน้าที่เพื่อหาความจริงให้กับ ประชาชน ผมถามว่าผมขอไว้ตั้งแต่วันแรก Breakdown Excel เราอยากเห็นว่ารายได้ของที่มา จำนวนเรือมีเท่าไร ค่าก่อสร้างเท่าไร ๑ ล้านล้านบาทที่ สนข. บอกมันจริงหรือเท็จ โชว์มาหน่อย ตั้งแต่วันแรกผมขอยันวันสุดท้ายผมก็ไม่ได้คำตอบครับท่านประธาน หน้า ๓๔ ต่อครับ มาอีกแล้ว ลดระยะเวลาได้ ๕ วันครับ เมื่อสักครู่ ฉ ยังบอกเลยว่าอาจจะย่นระยะเวลาได้ให้ ไปศึกษา แต่ตอนนี้มาบอกลดเวลา ๕ วันครับ ต่อไปหน้า ๖๑ บอกว่าจะลดเวลาจาก ๙ วัน เหลือ ๕ วัน ถ้าคำนวณเลขออกนี่คือ ๔ วันครับ สรุปเมื่อสักครู่บอก ๕ วัน ตอนนี้บอก ๔ วัน ก่อนหน้าบอกไปศึกษาเพิ่มเติม สรุปย้อนไปย้อนมาครับท่านประธาน สรุปว่าท่านจะเอา อย่างไรครับ และช่องแคบก็เหมือนเดิม เขียนว่าช่องแคบแออัดก็ไม่ได้พิสูจน์ครับ จำนวน คนจ้างงาน ๒๘๐,๐๐๐ คน นี่ไม่รู้เอาตัวเลขมาจากไหน จะจ้างงาน Full Time Part Time จ้างเขาเงินเดือนเท่าไร ไม่มีใครครับ ใครก็มโนขึ้นมาได้ครับ วันนี้ผมบอก ๓๐๐,๐๐๐ ตำแหน่ง ก็ทำได้ครับ ต่อไปหน้า ๒๒ จำนวนตู้ อันนี้ก็มาจาก สนข. เหมือนกันครับ จำนวนตู้และ หน้าต่อมา หน้า ๓๕ เอาจำนวนตู้ไปทำอะไร มาคำนวณครับ NPV Net Present Value ๒๕๐,๐๐๐ ล้านบาท BEC Ratio ๑.๓ EIRR ๑๗ เปอร์เซ็นต์ FIRR ๘ เปอร์เซ็นต์ Payback Period ๒๔ ปี GDP บอกอีกว่าจะโตจาก ๔ เปอร์เซ็นต์ ไป ๕.๕ เปอร์เซ็นต์ ท่านประธาน GDP รายไตรมาสท่านมีปัญญาคำนวณล่วงหน้าขนาดนั้นเลยครับว่าจะ ๔ เปอร์เซ็นต์ ไปเอา ตัวเลขมาจากไหน แล้วค่าเสียโอกาส Opportunity Cost ทั้งรายได้เรื่องจากการท่องเที่ยว ที่หายไป อาชีพประมงทั้งหลายที่เขาต้องเสียไป สิ่งแวดล้อม รายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต ไม่เคยถูกเข้ามาคำนวณในโครงการนี้แม้แต่ครั้งเดียว ทั้งที่ผมบอกท่านตั้งแต่วันแรกแล้วว่า ให้คำนวณแต่ก็ไม่คำนวณครับ ต่อไปหน้า ๗๖ สรุป มาเขียนในสรุป โครงการนี้จะเป็น แม่เหล็กที่จะดึงดูดการลงทุน และท่านใช้ตัวหนามากเลยนะครับ กะให้คนเห็นชัด ๆ ต่อไป หน้า ๗๘ นี่หน้าเดียวกันครับ ท่านเขียน แม่เหล็ก ๒ รอบเลยครับ ย้ำ ๆ ชัด ๆ ครับ แต่พอไปดู หน้า ๗๙ ท่านแนะนำ ครม. ให้ไปศึกษาความเป็นไปได้ของปริมาณตู้ที่จะผ่านโครงการ และต่อครับ ทบทวนข้อมูลต้นทุนขนส่ง แล้วท่านไปเขียนไปได้อย่างไรครับว่าจะเป็นแม่เหล็ก ท่านไปเอาตัวเลขมาจากไหนครับ EIRR เท่านั้น เท่านี้ FIRR GDP จะโต ๑.๕ เปอร์เซ็นต์ แต่ท่านมาถามว่าจำนวนตู้ให้ไปตรวจสอบก่อน ข้อมูลต้นทุนขนส่งให้ไปตรวจสอบใหม่ ตัวเลข พวกนี้ต้องใช้หมดในการ Forecast Demand นี่คือ Factor หลัก ๆ เลย จำนวนตู้มันบอก ได้หมดเลยครับ กำไร ขาดทุน ระยะเวลาคืนทุนเท่าไร แต่ท่านไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจริง ๆ มันคือ เท่าไร แล้วก็ไปห้อยท้าย ๆ ครับว่าให้ไปศึกษาความเป็นไปได้ของจำนวนตู้และทบทวนข้อมูล ต้นทุน ไปแอบ ๆ อยู่แค่นั้น มีอยู่แค่นั้นทั้งหมด ๑๕๐ หน้ามีอยู่แค่นี้ครับ แล้วถ้าท่าน สส. ท่านอื่นสงสัย อยากทราบอื่น ๆ ก็ดูที่หน้า ๕๒-๕๗ ได้ครับ มีเอกชนทั้งหลายเขาเขียนมา หมดแล้วครับว่ามันคืออะไร ตัวเลขมันไม่น่าใช่ ซึ่งกรรมาธิการควรจะพิจารณาศึกษาและ พิสูจน์ความเป็นจริงครับ แต่เราไม่ได้ทำเลยตลอด ๙๐ วัน ไม่ได้ถามครับ
ประเด็นสุดท้ายครับท่านประธาน คนถามเยอะครับ ทำไมต้องรู้ว่ากำไร ขาดทุนเท่าไร เราไม่ได้จ่ายเงินนี่ ต่างชาติเขาลงทุนศึกษาเอง ไม่ดีเดี๋ยวเขาก็ไม่เอา เราจะเอา ไปทำไม อย่างนั้นต้องถามกลับตั้งแต่วันแรกครับ แล้วจะตั้งกรรมาธิการมาศึกษาทำไมครับ ถ้าจะ Copy Paste สนข. ถ้าไม่อยากรู้อะไรเลยจะตั้งกรรมาธิการมาทำไม แต่ตอบคำถาม ว่าทำไมเราจำเป็นต้องรู้ เพราะแลนด์บริดจ์คือการลงทุนร่วม คำว่า ร่วม ขีดเส้นใต้นะครับ สัมปทานที่ดิน สิทธิรอบท่าเรือ เดี๋ยวท่านก็ต้องให้ครับ แนวรถไฟ สิทธิของตัวท่าเรือ ถ้าเกิด มีท่อน้ำมัน มีโรงกลั่นน้ำมันเดี๋ยวท่านก็ต้องให้ครับ ถมทะเลเสียรายได้ท่านก็ต้องคำนวณครับ ค่าเวนคืนท่านก็ไม่นับหรอกครับ ค่าชดเชยชาวบ้านที่เสียรายได้ก็ไม่คำนวณหรอกครับ ไม่ใช่ พูดลอย ๆ นะครับว่าเราไม่ลงทุน เราไม่มีต้นทุน เราไม่ลงเงิน ไม่จริงครับ เราลงทั้งเงิน ลงทั้งที่ดิน ให้ทั้งสัมปทานครับท่านประธาน Deal ธุรกิจจะชวนใครมาลงทุนก็แล้วแต่เพื่อแลกกับ สัมปทานเราจำเป็นต้องรู้ต้นทุน รายได้ ค่าเสียโอกาส ค่าเสียหายของโครงการว่ามันเท่าไร เพราะจะเจรจาร่วมทุนมันต้องมีการต่อรองครับ นักธุรกิจทุกคนต้องมีการต่อรอง ถ้าตัวเลข ในมือท่านมั่วจะมีการต่อรองได้อย่างไร มันไม่มีหลักฐานครับ ท่านรู้ไหม EEC ทุกวันนี้ ออกข่าวลงทุนกันหมื่นล้านเพื่อแลกกับสิทธิ BOI ลงทุนจริง ๆ ถึงหมื่นล้านหรือเปล่า BOI เคยไปตรวจหรือเปล่าครับว่าลงทุนจริง ๆ เท่าไร เราเล่นประกาศข่าวเสร็จ ให้สิทธิเสร็จ จบครับ และท่านนายกรัฐมนตรีต้องบอกว่าเป็น Salesman ที่เก่ง ท่านตั้งใจหาคนมาร่วม ลงทุน อันนี้ดีครับ แต่ท่านไปบอกทุกคนว่ากำไร ๆ แต่เอาจริง ๆ ถ้าเกิดต่างชาติไปศึกษามาแล้ว บอกว่าขาดทุน เขาจะมองท่านนายกรัฐมนตรีอย่างไร และตอนนี้ก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าไพ่ในมือของ ตัวเราเองมันเลขอะไรด้วยซ้ำ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าควรต่อรองราคาที่เท่าไร ไม่รู้ว่าอะไรคุ้มหรืออะไร ไม่คุ้ม ถ้าเขาขอที่ดินรอบท่าเรือ ๒ กิโลเมตร ท่านให้เขาทันไหม ถ้าขอ ๓ กิโลเมตรละครับ ขอ ๔ กิโลเมตรละครับ ขอ ๕ กิโลเมตรละครับ ขอ ๖๐ ปี ๗๐ ปี ๘๐ ปี ท่านไม่รู้อะไรเลย ท่านไม่รู้จริง ๆ ครับ ท่านไม่รู้ด้วยซ้ำ เราจะถอยได้ถึงเมื่อไร นักลงทุนเขาต้องรู้ครับ เรารู้แล้วว่า เราอยากได้เงินจากนักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนเขาก็รู้ครับว่าเราอยากได้เงินจากเขา เพราะฉะนั้นเขาต่อรองขอสัมปทานเยอะอยู่แล้ว แล้วยิ่งถ้าเราไม่มีตัวเลขในมือเขาต่อ อย่างเดียว เราไปไม่รอดแน่นอนเสียเปรียบตั้งแต่เริ่มออก Start แล้วครับ เพราะเอาข้อมูลไม่จริง มาอยู่ในรายงานแบบนี้ ไม่พิสูจน์ความจริง ความไม่รู้คือความเสี่ยงของการลงทุนที่ตกอยู่ กับประเทศไทย ผมคิดว่าเอารายงานกลับไปทำใหม่ดีกว่าไหมครับ ศึกษาให้มันสมบูรณ์ก่อน แล้วค่อยเอากลับเข้ามาก็ไม่สาย ถ้าข้อมูลตรงไหนพิสูจน์ไม่ได้ ตัดออกก่อนเถอะครับ อย่ามาใส่ กันหลอก ๆ เลย ไม่มีประโยชน์ ตัวรายงานออกไปแบบนี้ เสียชื่อกรรมาธิการ เสียชื่อสภา แห่งนี้ เสียชื่อประเทศไทยครับขอบคุณครับ