กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม ฉัตร สุภัทรวณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑ หน้าย่าโม พรรคก้าวไกล ตำบลในเมือง ตำบลโพธิ์กลาง ตำบลหนองไผ่ล้อม ผมมีเรื่องขอหารือ ท่านประธาน ๒ เรื่อง ขึ้น Slide เลยครับ
เรื่องแรก เป็นโครงการพัฒนา ลำตะคอง โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง จากภาพที่เห็นเป็นความพยายามที่จะพัฒนา ๒ ข้างทางลำตะคองบริเวณกลางเมืองโคราช แต่ว่าเมื่อเริ่มก่อสร้างไปแล้ว ชมภาพต่อไป ด้วยกันครับ นี่ทำให้ชาวบ้านร้องเรียนกันเข้ามาเยอะมาก การพัฒนานั้นไม่ใช่สิ่งเลวร้าย ในตัวมันเองนะครับ แต่การพัฒนาที่ละเลยสังคมและสิ่งแวดล้อมคือสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ มีการสอบถามเข้ามาเยอะ ๓ ประเด็น ๑. โครงการลักษณะนี้ได้ทำประชาพิจารณ์หรือไม่ ได้รับฟังเสียงของพี่น้องประชาชนที่อยู่ ๒ ข้างทางลำตะคอง โรงเรียนที่อยู่ตรงนั้น ถ้าตรงนี้ เกิดน้ำท่วมขึ้นมานะครับ น้ำท่วมกลางเมืองโคราช แล้วก็จะมีผลกระทบไปถึงโรงพยาบาล มหาราชนครราชสีมา ๒. มีการสอบถามว่าการสร้างโครงการลักษณะนี้ได้ขออนุญาต กรมเจ้าท่าหรือยัง กรมชลประทานอนุญาตหรือยังครับ ๓. พี่น้องประชาชนได้สอบถาม มาว่าได้ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ผลกระทบทางด้านต่าง ๆ เพียงพอหรือยัง ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ให้ข่าวว่าพื้นที่รับน้ำใหม่จะมีมากกว่าเดิม คำถามคือท่านได้ ทำประชาพิจารณ์และประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อลำน้ำอันเป็นหัวใจของ ชาวโคราชหรือยัง หรือท่านแค่ชงเองกินเอง แล้วปล่อยปัญหาให้เป็นเรื่องของชาวบ้านไป ขอกราบเรียนผ่านท่านประธานได้สอบถามไปยังกรมโยธาธิการและผังเมืองครับ
เรื่องที่ ๒ พบเหตุทุจริตกิจกรรมสหกรณ์เพื่อการศึกษา สหกรณ์โรงเรียน เป็นธุรกิจผูกขาดประเภทหนึ่ง แต่เลี่ยงบาลีไปเป็นกิจกรรมสหกรณ์เพื่อการศึกษา ทำให้ มักไม่เปิดเผยผลการดำเนินงาน ไม่มีการจัดประชุมผู้ถือหุ้น ไม่มีการตรวจสอบหรือแบ่งแยก บัญชีกับการเงินอย่างชัดเจน ซึ่งเอื้อต่อการทุจริตเป็นอย่างมากครับ แล้วก็มีการเรียกร้อง ให้ไปตรวจสอบ ๒๔ มิถุนายน มีการเรียกร้องให้เข้ามาตรวจสอบ และวันที่ ๒๖ มิถุนายน ทางทีมงานได้เข้าไปพูดคุย ไปขอข้อมูลกับทางโรงเรียน แต่ทว่าสหกรณ์นี้เป็นการดำเนินงาน โดยบุคลากรภายในโรงเรียนทั้งหมดทำไมต้องใช้เวลาตรวจสอบยาวนาน หาเงินมาคืนได้หรือยัง ไม่ใช่โครงการเจอ จ่าย จบนะครับ มีพลเมืองดีได้รวบรวมข้อมูลส่ง ป.ป.ช. พลเมืองดีท่านนี้ ได้เอื้อเฟื้อข้อมูลอันมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าพฤติกรรมทุจริตมูลค่าหลักล้านจนถึงหลายล้านนี้ ได้เกิดขึ้นจริง นี่คือโรงเรียนหญิงล้วนชื่อดังประจำจังหวัด ท่านลองนึกดูว่าเรามีโรงเรียนกี่แห่ง ในประเทศนี้มีธุรกิจผูกขาดนอกจากการตรวจสอบเช่นนี้อีกกี่แห่ง เราควรปลูกฝังให้เด็ก ๆ เห็นเรื่องทุจริตเป็นเรื่องใกล้ตัวขนาดนี้เลยหรือครับ ขอบพระคุณท่านประธานครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ฉัตร สุภัทรวณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑ นครราชสีมา หน้าย่าโม ตำบล ในเมือง ตำบลโพธิ์กลาง ตำบลหนองไผ่ล้อม วันนี้ผมเป็นตัวแทนในการยื่นญัตติขอเสนอให้ สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการปรับปรุงกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงให้สอดคล้องกับสภาพการณ์จริง ป้องกันการเรียกรับผลประโยชน์ และคอร์รัปชัน ในระยะเวลาที่ผ่านมาผมเชื่อว่าทั้งตัวผมเองแล้วก็เพื่อน ๆ สมาชิกในการลง พื้นที่ตั้งแต่รณรงค์เลือกตั้งจนเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว มีหลายครั้งที่เราได้พบกับ พี่น้อง SMEs ผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ค้าที่เป็นผู้ดำเนินกิจการเกี่ยวกับสถานบันเทิง แล้วเรา ได้รับฟังปัญหาหลากหลายต่าง ๆ นานา แล้วก็เชื่อมโยงไปถึงการเรียกรับผลประโยชน์ อันมิชอบ ผมอยากจะเรียบเรียงแล้วก็อธิบายให้ท่านประธานและสภาแห่งนี้ได้รับทราบ เป็นประเด็นดังต่อไปนี้นะครับ
ประเด็นแรกเกี่ยวเนื่องกับกฎหมายที่นำมาบังคับใช้กิจการสถานบันเทิง ตรงนี้หลัก ๆ เลยนะครับ พ.ร.บ. สถานบันเทิง พ.ศ. ๒๕๐๙ อันนี้เป็นพระเอกเลยครับ แล้วก็กฎกระทรวงต่าง ๆ อีกมากมาย รวมไปถึงคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ ปี ๒๕๕๘ และปี ๒๕๕๙ หลักใหญ่ใจความนั้นปัญหาสำคัญอยู่ที่บทนิยาม แล้วก็การให้คำนิยามของสถานบริการที่มีความไม่ครอบคลุม และยากต่อการตีความเพื่อใช้ บังคับเมื่อเทียบกับประเภทของกิจการสถานบริการในมาตรา ๓ โดยผมจะชี้ให้ชัด คือรูปแบบ สถานบริการ ณ ปัจจุบันตามสภาพการณ์จริงนั้นได้วิวัฒนาการออกมาหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นสถานบริการแบบชั่วคราว ซึ่งได้แก่ ลานเบียร์ คอนเสิร์ต ตลาดไนท์ หรือสถานบริการแบบเคลื่อนที่ก็มีนะครับ แพเธคที่พบเห็นได้ตามจังหวัดกาญจนบุรี รถแห่ หรือเรียกว่า รถดิสโก้เธค เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกันนั้นกฎหมายไม่ได้ครอบคลุมถึงกิจการ เหล่านี้แต่อย่างใด ดังสถานการณ์ปัจจุบันที่แสดงถึงความบกพร่องในการตั้งข้อกล่าวหา และดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับสถานบริการ คือร้านกิจการที่ถูกจับกุมส่วนใหญ่ไม่ใช่ สถานบริการเพราะไม่เข้าองค์ประกอบตามคำนิยามสถานบริการ แต่เจ้าหน้าที่มักทำการ จับกุมและตั้งข้อกล่าวหาตามกฎหมายสถานบริการ เช่น ตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต จากเจ้าหน้าที่ พนักงาน หรือเปิดสถานบริการไม่เป็นไปตามเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวง เป็นต้น
ประเด็นที่ ๒ เกี่ยวเนื่องจากคำนิยามในประเด็นที่ ๑ โดยคำสั่งหัวหน้าคณะ รักษาความสงบแห่งชาติปี ๒๕๕๘ ได้กำหนดคำว่า สถานประกอบการใดที่เปิดให้บริการ ในลักษณะที่คล้ายสถานบริการ แต่ไม่ได้นิยามความหมายไว้เป็นการเฉพาะเฉกเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นปัญหาที่มักจะพบ เนื่องจากสถานบริการในความหมายของ พ.ร.บ. สถานบันเทิง พุทธศักราช ๒๕๐๙ เวลาการเปิดปิดกิจการนั้นจะถูกกำหนดให้ดำเนินการได้ถึงเวลา ๒๔.๐๐ นาฬิกาไปจนถึง ๐๒.๐๐ นาฬิกาเท่านั้น ตามสภาพของข้อบังคับในแต่ละพื้นที่ หรือการ Zoning ครับ หากแต่กิจการใดต้องการหลบเลี่ยงการเป็นสถานบริการตามนิยาม ของกฎหมาย และต้องการให้ตนอยู่ในประเภทของสถานประกอบการใดที่เปิดให้บริการ ในลักษณะที่คล้ายสถานบริการ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติปี ๒๕๕๘ แล้วต่างก็จะพากันปิดกิจการก่อนเวลาที่กำหนด เพราะต้องการเลี่ยงข้อกฎหมายและข้อบังคับของสถานบริการที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ นอกจากนี้แล้วคำว่าสถานประกอบการใดที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายสถานบริการที่ ไม่ได้นิยามความหมายไว้เป็นการเฉพาะมีผลทำให้ตัวผู้ประกอบการเอง หรือแม้กระทั่ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เกิดความรู้ความเข้าใจ ซึ่งยากต่อการ ปฏิบัติงานตามข้อบังคับที่มีความคลุมเครือยิ่งอาจส่งผลให้เกิดการเรียกรับผลประโยชน์ อันมิชอบจากความคลุมเครือนั้นเพื่อต้องการหลีกเลี่ยงกฎหมายผ่านช่องว่างอันนี้นี่เองครับ
ประเด็นที่ ๓ เกี่ยวเนื่องกับปัญหาเรื่องอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ที่ทำในการออกใบอนุญาตครับท่านประธาน ตามมาตรา ๔ วรรคหนึ่ง พ.ร.บ. สถานบริการ พ.ศ. ๒๕๐๙ บัญญัติว่าห้ามมิให้ผู้ใดตั้งสถานบริการ เว้นแต่จะได้รับ ใบอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ โดยคำว่าเจ้าหน้าที่ขีดเส้นใต้ Highlight ไว้นะครับ เป็นความหมาย ตามความหมายของมาตรา ๓ วรรคท้าย จะหมายถึงในกรุงเทพมหานคร หมายความ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในจังหวัดอื่น ๆ หมายถึงผู้ว่าราชการจังหวัด หากจะกล่าวเช่นนี้ ก็จะมีประชาชนจำนวนไม่น้อยมีปัญหาข้อคลางแคลงใจตามมาว่าทั้งอำนาจการออก ใบอนุญาตตามมาตรา ๔ และอำนาจการเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๒๑ สามารถอยู่ที่ คนคนเดียวได้จริงหรือ และเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
ประเด็นที่ ๔ เกี่ยวเนื่องกับอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่หากแต่เป็นปัญหาเรื่อง การทับซ้อนของอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่ การดูแลความสงบเรียบร้อยของพี่น้องประชาชน ในชีวิตประจำวันอย่างเรียบง่าย และได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน แน่นอนครับ หน้าที่ต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นของใครไม่ได้นอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ และในบางพื้นที่ที่อยู่ ค่อนข้างห่างไกล หน้าที่หลัก ๆ ก็คงจะหนีไม่พ้นเจ้าหน้าที่ปกครอง แต่จะเกิดอะไรขึ้น หาก ๒ หน่วยงานนี้อยู่ในพื้นที่หรือเขตอำนาจเดียวกัน จะเป็นอย่างไรหากไม่ได้มีการบูรณาการ หรือการแบ่งสันปันส่วนงาน การกระทำความผิดครั้งหนึ่งจะเกิดฐานถึงความผิด ๒ ครั้ง หรือไม่ หรือจะมีการสอดส่องความสงบเรียบร้อยตลอดเวลาไล่เลี่ยใกล้เคียงกันหรือไม่ อย่างไร ผมจึงอยากแสดงความห่วงใยไปยังพนักงาน เจ้าหน้าที่ทุกคนที่ยังปฏิบัติงาน ยามค่ำคืนอยู่นอกสภาแห่งนี้ครับ นอกจากนี้ SMEs ใหม่ ๆ ลองนึกภาพตามดูนะครับว่า หากประชาชนธรรมดาอย่างเรา ๆ ต้องการเปิดกิจการสถานบันเทิงขึ้นมาสักแห่งหนึ่ง แล้วละก็เราจะต้องทำอะไรบ้าง เราจะต้องเดินทางขึ้นรถเพื่อที่จะไปยังสถานที่ราชการ หลาย ๆ คนก็ประสบปัญหาต้องติดต่อหลากหลายที่เดินทางหลายแห่ง ต้องเดินทางไปไม่ว่า จะเป็นที่ว่าการอำเภอ สรรพสามิต สถานีตำรวจ ตำรวจนครบาล สำนักงานเทศบาลต่าง ๆ มิหนำซ้ำหากต้องเปิดกิจการที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา ๓ (ข) ยังต้องเดินทางไปยังสาธารณสุข จังหวัด เพื่อขอใบรับรองมาตรฐานสถานประกอบการเพิ่มขึ้นอีก หากทั้งหมดนี้สามารถเป็น One Stop Service เพื่อลดภาระให้แก่พี่น้องประชาชน จะไม่เป็นการดีกว่าคหรือครับ และตรงนี้เองอย่างเมื่อสักครู่ที่ผมได้กล่าวว่าหากเราเป็น SMEs ใหม่ เป็นผู้ประกอบการ หน้าใหม่ที่ต้องการจะเริ่มมีกิจการตรงนี้ และกิจการสถานบริการนี้เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับ นโยบายรัฐบาลที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยากจะให้มีการจับจ่ายใช้สอย แล้วก็นักท่องเที่ยว ต่าง ๆ ไม่ว่าจะในประเทศ นอกประเทศก็จะสามารถได้รายได้ตรงนี้เพิ่มเติมขึ้นไปอีก SMEs ใหม่ ๆ นี้จะเริ่มต้นได้อย่างไร แค่เริ่มต้นก็ติดขัดมากมายแล้ว และหากมีการขยายผลจาก ตรงนี้ได้ดี ลองคิดตามดูนะครับว่าในสถานประกอบการเหล่านั้นเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการขาย ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ เครื่องดื่มต่าง ๆ เรามีโอกาส ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น สุราพื้นบ้าน ขยายผลให้สามารถสร้างเม็ดเงินให้กับชุมชน ให้กับจังหวัด ให้กับประเทศได้ด้วยครับ
ประเด็นที่ ๕ การกำหนดเวลาเปิดปิดกิจการของสถานบริการในสถานการณ์ ปัจจุบัน ปัญหาก็อย่างที่ผมพูดทิ้งไว้เมื่อตอนต้น ถึงเวลาเปิดปิดสถานรับบริการที่ค่อนข้าง จะมีปัญหาเลี่ยงบาลีครับ ซึ่งถ้าพิจารณากันจริง ๆ แล้วช่วงเวลาเปิดปิดที่กำหนด ไม่ได้สอดคล้องกับสถานการณ์จริงอีกด้วยนะครับ อย่างที่โคราชบ้านผมประชาชนยังคงได้รับ เหตุเดือดร้อนรำคาญจากมลภาวะทางเสียง สถานบันเทิงไม่ยอมปิดเมื่อครบกำหนดเที่ยงคืน นอนกันไม่ได้ จนร้องเรียนมามากมายครับท่านประธาน ผมมีแนวทางจากนักวิชาการคร่าว ๆ มา ๒ แนวทาง คือ
๑. กำหนดเวลาเปิดปิดให้เหมือนกัน เที่ยงคืนปุ๊บเลิก
๒. กำหนดเวลาเปิดปิดให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในแต่ละท้องถิ่น อย่างสถานบริการที่ไม่อยู่ติดกับชุมชน หรือหากมีนักท่องเที่ยวหนาแน่นอยู่แล้วก็มีการอนุญาต ให้เปิด ซึ่งประเด็นปลีกย่อยคงจะมีการพูดคุยในคณะกรรมาธิการวิสามัญนะครับ แล้วก็ในส่วนนี้เชื่อว่าจะมีเพื่อนสมาชิกได้อภิปรายเพิ่มเติมอีก
ประเด็นที่ ๖ เรื่องปัญหาการกำหนดเขตพื้นที่เพื่ออนุญาตให้ตั้ง สถานประกอบการในท้องที่ หรือการ Zoning พระราชบัญญัติสถานบริการปี ๒๕๐๙ กำหนดอำนาจให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่จะสามารถกำหนดเขต อันมีปริมณฑลจำกัดในท้องที่ใด เพื่อการอนุญาต หรืองดอนุญาตให้ตั้งสถานบริการได้ โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะอนุญาต ได้นั้นจะต้องตั้งอยู่ในท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งสถานบริการตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ดังกล่าวนั้น ด้วยข้อความนี้ครับท่านประธานนอกจากแผนที่หรือที่เรียกว่า Zoning จะดูยาก แล้วดุลยพินิจส่วนใหญ่ยังไปอยู่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ท่านอาจจะ ไม่รู้จักมักคุ้นกับพื้นที่ต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นอย่างดีด้วยตัวของท่านเองนะครับ ท่านอาจจะ ลงพื้นที่แต่ไม่ได้ครอบคลุม อาจจะส่งปัญหาตรงนี้เห็นควรว่าก่อนเสนอร่างพระราชกฤษฎีกา ควรมีคณะกรรมาธิการ คณะกรรมการศึกษาลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างแท้จริง
ประเด็นสุดท้ายประเด็นที่ ๗ เป็นเรื่องปัญหาเรื่องสภาพบังคับครับ ในประเด็นสุดท้ายจะเป็นเรื่องฐานความผิดที่มีความคลุมเครือ มีอัตราโทษที่ต่ำโดยไม่มี ระดับขั้นความผิด เอื้อหรือจูงใจให้คนที่มีต้นทุนเยอะสามารถกระทำผิดเพียงเพื่อจ่ายค่าปรับ ในอัตราที่ต่ำ และถูกระงับใบอนุญาตเพียงชั่วคราว เพื่อที่จะย้ายสถานที่ประกอบการของตน ใหม่ได้ ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย ซึ่งผมเชื่อว่ามิใช่เพียง สส. จากพรรคก้าวไกล แต่จะมีเพื่อน ๆ สส. จากพรรคอื่น ๆ ได้เป็นปากเป็นเสียงพี่น้องประชาชน แล้วก็สะท้อน ปัญหาเพื่อที่จะร่วมกันแก้ไขติดกระดุมเม็ดแรกให้กับการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับ สถานบริการ เพื่อให้มีการผลักดันนโยบายสร้างเศรษฐกิจของเมืองไทยให้ดียิ่งขึ้นไป ขอบคุณท่านประธานครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม ฉัตร สุภัทรวณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑ ในฐานะ ผู้ยื่นญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการปรับปรุง กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงให้สอดคล้องกับสภาพการณ์จริง ป้องกันปัญหา การเรียกรับผลประโยชน์และคอร์รัปชัน ขอใช้เวลาโดยกระชับเพื่อที่จะสรุปครับท่านประธาน ผมได้ฟังเพื่อน ๆ สมาชิกจากพื้นที่ต่าง ๆ จังหวัดต่าง ๆ ได้สะท้อนปัญหาจากพื้นที่ของตน จากภาคของตน แล้วมาประกอบรวมกันเป็นฉากทัศน์ขนาดใหญ่ ซึ่งวันนี้ถ้าพี่น้องประชาชน ที่ทำมาค้าขาย ทำสถานบันเทิงก็คงจะมีความโล่งใจว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ร่วมกัน สะท้อนปัญหา และนี่เป็นการติดกระดุมเม็ดแรกให้กับการแก้ไขกฎหมายที่ล้าหลัง เหลื่อมล้ำ ทับซ้อน เราได้ฟังรายละเอียดจากหลากหลายพื้นที่ กระผมได้รวบรวมแนวความคิด แล้วก็ สิ่งที่เพื่อนสมาชิกได้นำเสนอ ทุกท่านพอจะมีแนวทางใกล้เคียงกันอยู่ ๕ ประการครับ
ประการที่ ๑ มีแนวทางที่อยากจะให้ถ่ายโอนการออกใบอนุญาตสถานบันเทิง เป็นอำนาจท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นกำหนดเวลาปิดสถานบริการได้ และช่วยแก้ปัญหาส่วย ที่สถานบริการโดนไถเงินมาตลอด
ประการที่ ๒ ให้ท้องถิ่นระดับไหนเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย ต้องมีการพิจารณา มีการศึกษาว่าระหว่าง อบจ. หรือเทศบาล และอำนาจของส่วนกลางในการกำหนด หลักเกณฑ์ในการตั้งสถานบริการแต่ละประเภทอย่างละเอียด เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจ
ประการที่ ๓ นำเสนอปัญหาที่ผู้ประกอบการเจอการเรียกรับสินบนจาก เจ้าหน้าที่ จากพื้นที่ของตัวเอง หรือจากการที่ได้รับเรื่องร้องเรียน เช่น เจอการเรียกเงิน จากหน่วยงานใดบ้าง เสียเดือนละกี่บาท ถ้าไม่จ่ายจะถูกกลั่นแกล้งอย่างไร เป็นต้น
ประการที่ ๔ พยายามเชื่อมโยงให้ถึงปัญหาของ พ.ร.บ. สถานบริการมากกว่า การโจมตีเจ้าหน้าที่เพียงอย่างเดียว
ประการที่ ๕ นำเสนอข้อเสนอในการแก้ไข พ.ร.บ. สถานบริการ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสถานบริการ ในประเด็นที่เป็นปัญหาที่เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจ มากเกินไป ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เพื่อน ๆ สมาชิกได้ร่วมกันสะท้อนและมีประเด็นที่สอดคล้อง คล้ายคลึงกัน
ยังมี Comment อีกเล็กน้อยที่ผมตามเก็บประเด็น เป็นความห่วงใยจาก เพื่อน ๆ สมาชิก ขออนุญาตสรุปสั้น ๆ ให้ท่านประธานได้รับทราบครับ เพื่อน ๆ สมาชิก มีความห่วงใยว่าในการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้รัฐจะได้อะไร ประชาชนได้อะไร ผู้ประกอบการ ได้สิ่งไหน ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญจะต้องพยายามคำนึงถึงจุดนี้ด้วย ให้มีการคำนึงถึง การท่องเที่ยว ท่องเที่ยวระดับจังหวัด ระดับเมือง ประโยชน์ที่ได้จากการแก้ไขกฎหมาย สถานบันเทิง ผู้ประกอบการจะได้อะไร นักท่องเที่ยวได้สิ่งไหน มีการแบ่งใบอนุญาต สถานบันเทิงหรือไม่ ร้านเล็ก ร้านกลาง ร้านใหญ่ อาหารกึ่งผับ เพิ่มบทลงโทษหรือมีการ พิจารณาเป็นอย่างใด มีการให้พูดถึงสิทธิของลูกจ้างแรงงานในสถานบันเทิง ปัญหา Guard หน้าร้าน ปัญหา Guard รับจ้างต่าง ๆ อันนี้ทั้งหมดจะรวบรวมเป็นข้อมูลแล้วก็ส่งให้กับ คณะกรรมาธิการวิสามัญ ขอกราบขอบพระคุณท่านประธานครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ฉัตร สุภัทรวณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑ หน้าย่าโม พรรคก้าวไกล วันนี้กระทู้ถามของผมต้องขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีที่ได้เข้ามาเตรียมที่ จะตอบคำถามกระทู้ถามของผม เป็นเรื่องโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข ๖ สายบางปะอิน-นครราชสีมา หรือจากนี้ไปจะขอเรียกว่า Motorway บางปะอิน-นครราชสีมา หรือ Motorway โคราช ที่มาครับ ผมก็เป็นคนโคราชคนหนึ่ง ตั้งแต่จำความได้ต้องเดินทางจากโคราชเข้ากรุงเทพฯ ไปมา คนโคราช คนอีสาน คนที่จะต้อง เดินทางไปมาระหว่างอีสานกับกรุงเทพฯ จะต้องใช้ถนนมิตรภาพ ตั้งแต่เดิมถนนยังสวนกัน ใช้ Lane สวนกันไปมา จนพัฒนามาเรื่อย ๆ โครงการ Motorway บางปะอิน-โคราชเป็น ความหวังตั้งแต่หลายสิบปี มีการพูดถึงกันมานาน แล้วกว่าจะสร้างเราก็รอคอยความหวังที่ จะมีถนนเส้นใหม่ มีทางด่วน จวบจนวันที่ได้เริ่มก่อสร้างเราก็รอคอยว่าเมื่อไรจะเสร็จ แล้วก็ วันนี้คำถามหลักสำคัญ แน่นอนครับ อยากจะสอบถามว่าเมื่อไรจะเสร็จ ที่มาวันนี้ผมได้ สอบถามพี่น้องประชาชนโคราช หรือท่านใดที่อยากจะมีคำถามทำนองเดียวกันนี้เพื่อที่ ผมจะรวบรวมมายื่นต่อสภา แล้วก็กราบเรียนท่านประธานไปยังท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม บางท่านตอบมาว่าตั้งแต่เริ่มสร้างถนน Motorway บางปะอิน ลูก ๆ ยังเล็กอยู่ ทุกวันนี้โตกันหมดแล้วยังไม่รู้ว่าจะได้ใช้ไหม แต่ว่าสิ่งที่ถามกันมาเยอะที่สุด มากที่สุด ก็คือว่าชาตินี้จะได้ใช้ไหม ถนนเส้นนี้เลื่อนแล้ว เลื่อนอยู่ จะเลื่อนต่อไปไหมครับ ผมเองเป็นคนโคราชที่เวลารับทราบว่าจะได้ใช้ก็ดีใจ ตั้งความหวัง ทุกครั้งที่บอกว่าปลายปีนี้ปลายปีนั้นจะได้ใช้แล้วมันก็เลื่อนครับ ทีนี้เรื่องถนนนี้ ก็ขออนุญาตพูดถึงในรัฐบาลก่อน ๆ ได้มีการติดตาม ได้มีการพยายามที่จะสอบถามอย่าง เข้มข้น ขออนุญาตพูดถึงท่าน สส. สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ซึ่งไม่เสียหายอะไร ก็ได้อภิปราย อย่างเข้มข้น ติดตามช่วยคนโคราช ติดตามช่วยคนอีสาน ติดตามความคืบหน้าของโครงการ แต่โครงการที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นว่าคืบหน้าเหมือนกันครับ ประกาศเลื่อนต่อ ทีนี้เราก็ ทราบเหตุผลประกอบกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงบประมาณที่บานปลาย เงื่อนไข การก่อสร้าง สิ่งต่าง ๆ ที่จะเป็นเหตุผลก็ได้แถลงไขออกมา แต่ท่านประธานครับ ในการก่อสร้างนั้นน่าจะมีการได้ศึกษาอย่างดีรอบคอบเนื่องจากเป็นโครงการระดับ Megaproject หลายหมื่นล้านบาท แล้วก็เลื่อนแล้ว เลื่อนไปเรื่อย ๆ มีข้อมูลชุดความคิดที่ ออกมาเรื่อย ๆ ในรอบแรกนี้ผมอยากจะขอถามไปยังท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ประการแรก เมื่อไรจะเสร็จ แล้วที่เสร็จนั้นหมายถึงเสร็จทั้งเส้นนะครับ ไม่ใช่ว่าเปิดได้บางส่วนแล้วก็บอกว่าเสร็จแล้ว นี่คือประการที่ ๑
ประการที่ ๒ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเปิดในบางช่วงให้พี่น้องประชาชนได้ขึ้น ไปใช้ ได้ไปทดสอบ ได้ไปรู้จักถนนที่เป็นทางเลือก ไม่ใช่เพียงแค่ช่วงเทศกาลก็เปิดให้ใช้ หลังเทศกาลก็ปิด มีพี่น้องประชาชนหลายคนบอกว่าถนน Motorway ที่ผ่านแถวบ้าน พอปิดไปแล้ว ต้นไม้ หญ้าก็ขึ้นรก ซึ่งอาจจะส่งผลให้ถนนเสียหายได้ ในการสอบถามครั้งแรก ก็ขอเรียนสอบถาม ๒ ข้อนี้ผ่านท่านประธานไปยังท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขอบพระคุณครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพครับ ฉัตร สุภัทรวณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑ หน้าย่าโม พรรคก้าวไกล ต้องกราบเรียนผ่านท่านประธานไปยังท่านรัฐมนตรีนะครับ ขอบพระคุณ ใน Presentation ที่ได้นำมาเสนอ ผมมีข้อสังเกตนิดหนึ่งว่าข้อมูลชุดที่ท่านนำมาเสนอนั้น จริง ๆ แล้วก็เป็นข้อมูลที่สามารถพบได้ทั่วไปที่พยายามมีการรณรงค์สื่อสารออกมา แล้วก็ หากจำไม่ผิดนะครับ ข้อมูลชุดนี้ได้รับการเสนอครั้งแล้วครั้งเล่า ผมเองอาจจะคาดการณ์ ในเชิงลึกว่าในฐานะผู้บริหารเจ้ากระทรวง ท่านมีกรอบในการทำงานอย่างไร แล้วก็มีตัววัดผล มีตัวชี้วัดที่จะเร่งรัดในฐานะเป็นผู้บริหารระดับสูง ท่านเข้าใจดีครับ อย่างที่ได้เรียน เมื่อสักครู่นี้ว่าเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนอย่างไร แต่ว่าเหตุผลแล้วก็คำอธิบายที่ได้ แถลงออกมานั้น จริง ๆ แล้วเป็นแผนดำเนินงานของราชการ จะเป็นการดีมากหากมี การเร่งรัดแล้วก็ใส่ใจในรายละเอียดในเชิงลึกไปกว่านี้ เพราะว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นลักษณะ การตอบที่ผมเป็นคนโคราชได้ยินครั้งแล้วครั้งเล่า เลื่อนแล้วเลื่อนเล่า มันถึงวน Loop ที่ว่า เลื่อนแล้วเลื่อนอยู่ จะเลื่อนต่อไปไหม ผมได้รับการบอกกล่าวตั้งแต่ว่าโครงการนี้จะเสร็จ ปี ๒๕๖๓ เลื่อนเป็นปี ๒๕๖๔ เป็นปี ๒๕๖๖ นี่เป็นปี ๒๕๖๘ ตรงนี้อยากจะเป็นข้อสังเกต เผื่อผู้บริหารระดับสูง เจ้ากระทรวง จะได้ระแวดระวังแล้วก็ดูแลให้อย่างชัดเจน เพราะฉะนั้น คำถามที่ ๒ จริง ๆ แล้วอยากจะทราบว่ามีกรอบในการทำงาน มีการเร่งรัดในเชิงลึกที่จะ ทำให้โครงการ Motorway บางปะอิน-โคราช เส้นนี้สำเร็จลุล่วงภายในกำหนดการได้อย่างไร ขอบคุณมากครับ
ท่านประธานครับ ขออนุญาต อีกนิดหนึ่ง ยังเหลือเวลาอีกนิดหนึ่ง ฉัตร สุภัทรวณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมา เขต ๑ เมื่อสักครู่นี้กราบเรียนท่านประธานไปยังท่านรัฐมนตรี เป็นคำตอบที่ยอดเยี่ยมมากครับ แต่ทว่าผมอยากจะให้มีการเปิดเผย โปร่งใสอย่างที่ ท่านรัฐมนตรีได้พูดถึงจริง ๆ ในรัฐบาลก่อน สส. สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ของเราก็เคย อภิปรายเรื่องนี้ และเคยให้ข้อคิดเห็นไว้ว่าแต่ละโครงการที่ยังเหลือ จริง ๆ เป็นข้อมูลเก่าแล้ว ๔๐ โครงการเสร็จไปแล้ว ๒๔ โครงการ เหลือ ๑๖ โครงการ เราเคยสอบถามกระทั่งว่า แต่ละสัญญาได้จัดสรรงบประมาณลงไปแต่ละสัญญาหรือไม่ อย่างไร มิเช่นนั้นเราก็จะได้ยิน คำตอบมาเรื่อย ๆ ว่าสัญญา ๔๐ สัญญา เสร็จไปแล้ว ๒๔ สัญญา เหลือ ๑๖ สัญญา ปรากฏว่าบางสัญญาอาจจะมีการข้ามงบประมาณแล้วก็ยังไม่ได้นำงบประมาณไปด้วย เหตุผลต่าง ๆ นานา ด้วยความจำเป็น ด้วยความที่เรามีงบประมาณจำกัดแล้วก็เรียงลำดับ ทีนี้มันส่งผลครับ ส่งผลให้ทาง Motorway บางปะอิน-โคราช ไม่สามารถสร้างได้เสร็จ ครบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เต็มเส้นสักทีหนึ่ง ก็เป็นทั้งข้อสังเกตไปยังท่านรัฐมนตรี อย่างไรก็ดี วันนี้ผมเชื่อว่าพี่น้องชาวโคราช คนอีสานทุกคนที่รอจะใช้ทางหลวง Motorway บางปะอิน-นครราชสีมา เพื่อที่จะเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง ส่งเสริมเศรษฐกิจระบบ Logistics ก็จะได้คำตอบแล้วก็คาดหวังว่านี่จะเป็นครั้งสุดท้ายที่เรารอ ปลายปี ๒๕๖๘ เราจะได้ใช้ทางหลวงเส้นนี้ ก่อนจะถึงปลายปี ๒๕๖๘ ได้รับทราบจากท่านรัฐมนตรีแล้วว่า จะมีการเปิดทดลองใช้และได้ให้ทดลองใช้ถนนจริงก่อนเป็นช่วง ๆ ไป อย่างนี้เป็นต้น ก็ขอกราบขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีผ่านท่านประธานไป ขอบพระคุณมากครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม ฉัตร สุภัทรวณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑ หน้าย่าโม พรรคก้าวไกล วันนี้ผมมีเรื่องมาหารือกับท่านประธานสภาเกี่ยวกับ เรื่องร้านน้ำกระท่อมครับ ในเขตพื้นที่ในตัวเมืองนครราชสีมา เขตอำเภอเมืองที่ผ่านมา หลายเดือนมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องร้านน้ำกระท่อมครับ
ประการแรก ต้องขอขอบพระคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านรองผู้ว่า ราชการจังหวัด ในช่วง ๒-๓ สัปดาห์ที่ผ่านมาท่านได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนที่จะป้องปราม ปัญหาที่เกิดขึ้นตรงนี้ เพราะว่ามีความเดือดร้อนจากพี่น้องประชาชนมากมายร้องเรียน ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ร้องเรียนมาทาง สส. แต่หลังจากที่เราได้ลงพื้นที่และเก็บข้อมูลแล้ว เราจะพบว่าปัญหาร้านน้ำกระท่อมในเขตโคราชนั้นมีอยู่ด้วยกัน ๒ มิติครับ
ในส่วนแรกเป็นส่วนของผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการเองก็พยายาม ที่จะทำร้านด้วยความรอบคอบรัดกุม แต่ก็ถูกเรียกรับผลประโยชน์อื่น ๆ หรือเรียกว่า ส่วย นั่นเอง ถูกเรียกรับส่วยค่อนข้างเยอะพอสมควร
อีกมิติหนึ่ง ก็คือเป็นเรื่องของสังคม เป็นเรื่องของผู้ปกครอง เป็นเรื่องของ ชุมชนที่อยู่แวดล้อม แล้วก็เห็นการดำเนินธุรกิจของร้านน้ำกระท่อม ก็มีความห่วงใยเพราะว่า มีเยาวชน มีนักเรียน มีคนทั่วไปได้มาอุดหนุน ร้านน้ำกระท่อมนี่เมื่อเราดูจริง ๆ แล้ว เขาก็เปิดใบอนุญาตทั่วไปเลย คือเป็นร้านน้ำชา เปิดได้ตลอด ไม่ได้จำกัดผู้ที่จะเข้า แล้วก็ ใบกระท่อมถูกเอาออกจากสารเสพติดแล้ว จึงอยากจะกราบเรียนท่านประธานสภา ผ่านท่านประธานสภาไปยังท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้โปรดใช้อำนาจหน้าที่ กำกับให้เกิดความชัดเจน แล้วก็จะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องร้านน้ำกระท่อมได้ด้วย ขอบพระคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม ฉัตร สุภัทรวณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑ แม่ย่าโม พรรคก้าวไกล ผมขอหารือกับท่านประธานคือเรื่องท่าอากาศยานหนองเต็ง หรือท่าอากาศยานนครราชสีมา ท่าอากาศยานแห่งนี้ได้เปิดรับใช้คนโคราชมา ๒๐ กว่าปี แต่ก็พบปัญหาต่าง ๆ มากมาย มีสายการบินน้อย สายการบินใหญ่สลับสับเปลี่ยนกันมาลง ลงแล้วไม่เกิน ๒-๓ เดือนก็เจ๊งล่าถอยกันไป ๒๐ ปีมานี้ชาวโคราชประสบปัญหาในการ เดินทางทางเครื่องบินมาก เพราะว่าปัจจุบันไม่มีสายการบินใด ๆ อยากจะมาลงเลย ในอดีต ก่อนที่เราจะใช้สนามบินหนองเต็งเราเคยใช้สนามบินของท่าอากาศยานกองบิน ๑ วันนี้ จึงเป็นเหตุให้กระผมเป็นปากเป็นเสียงคนโคราชหารือผ่านท่านประธานไปยังรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงกลาโหมได้โปรดหารือกับกองทัพอากาศพิจารณาใช้สนามบินท่าอากาศยาน กองบิน ๑ ซึ่งจริง ๆ แล้วสนามบินในจังหวัดต่าง ๆ ก็ทราบดีว่ามีหลายจังหวัดใช้สนามบินของ กองบิน ในอดีตโคราชก็ใช้สนามบินท่าอากาศยานกองบิน ๑ จึงอยากจะให้พิจารณาเรื่องนี้ แล้วก็ที่ผ่านมาผู้ว่าราชการจังหวัดหลายท่าน นายกเทศมนตรีหลายคน ตลอดจนสมาคม ต่าง ๆ ในจังหวัดนครราชสีมา ไม่ว่าจะเป็นหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ทุกคนออกมาเรียกร้องครั้งแล้วครั้งเล่า เราอยากจะ ให้เปิดสนามบินที่ท่าอากาศยานกองบิน ๑ เป็นสนามบินพาณิชย์ ซึ่งจะสามารถรองรับ การเดินทางได้ดีกว่าสนามบินหนองเต็งซึ่งอยู่ห่างไปจากตัวเมือง ต้องเดินทางกลับเข้าเมืองมา ๔๐ นาทีถึงเกือบ ๑ ชั่วโมง และขอให้ส่งเรื่องนี้หารือไปยังคณะกรรมาธิการการทหาร เพื่อที่จะสอบถามว่าเหตุผลอันใดที่ไม่พิจารณาเปิดพื้นที่ท่าอากาศยานกองบิน ๑ ขอบคุณ ท่านประธานครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม ฉัตร สุภัทรวณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑ แม่ย่าโม พรรคก้าวไกล ผมขอเป็นปากเป็นเสียงให้พี่น้องชาวโคราชสะท้อนปัญหาสิ่งที่เกิดขึ้น สถานการณ์วิกฤติของปริมาณฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาทั้งในเขตเมือง เขตตัวเมือง แล้วก็เขตทางต่างอำเภอด้วย ขอร่วมอภิปราย พ.ร.บ. อากาศสะอาดในวันนี้ครับ และแน่นอนครับ ผมเห็นด้วยกับร่างต่าง ๆ ที่วันนี้ทุกคนมีความเป็นห่วงเป็นใยคุณภาพชีวิต ของพี่น้องประชาชน และผมก็เช่นเดียวกัน ผมอยากจะสะท้อนปัญหาว่าในโคราชนั้นเราก็ เผชิญค่าฝุ่นควันที่เพิ่มสูงขึ้น ๆ มาเรื่อย ๆ นะครับ ขอสไลด์ด้วยครับ
ตั้งแต่หลังปีใหม่มานี้พี่น้องชาวไทย ทั่วประเทศพร้อมใจกันได้รับฝุ่น PM2.5 กันถ้วนหน้า ชัดเจนมากครับ จนสามารถเห็นได้ตาม หน้าข่าวแทบจะทุกสำนักได้รายงานข่าวค่าฝุ่นพิษ แล้วก็ชัดเจนยิ่งกว่าหน้าข่าว ท่านดู จากสไลด์จะพบว่าแทบทุกสำนักข่าวก็ได้รายงานข่าว แล้วก็มีสภาพภาพถ่ายที่ในเมืองนั้น มีความมัว ซึ่งไม่ใช่ความหนาวเย็น แต่นั่นคือฝุ่นควันพิษ แล้วก็ชัดเจนยิ่งกว่า ดูจากหน้าข่าว คือฝุ่นพิษที่พี่น้องประชาชนได้รับแล้วก็ได้เห็นต่อหน้าต่อตา ทุกวันนี้พี่น้องประชาชนของเรา ต้องเผชิญกับฝุ่นพิษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และแน่นอนโคราชก็เช่นกัน เมื่อวันจันทร์ ที่ผ่านมา วันที่ ๘ มกราคมก็ได้มีการออกข่าวว่าผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อม และควบคุมมลพิษที่ ๑๑ จังหวัดนครราชสีมาเปิดเผยถึงสถานการณ์ฝุ่นมลพิษในอากาศพื้นที่ จังหวัดนครราชสีมาว่าคุณภาพอากาศ ณ สถานีสูบน้ำประตูพลแสน ตรงประตูน้ำนะครับ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ตรวจผ่าน Application Air4Thai พบว่า คุณภาพอากาศอยู่ในระดับสีส้ม มันหมายถึงอะไรครับ มันก็หมายความว่าเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ค่าฝุ่น PM 2.5 ตามข่าว บอกว่า ๓๘.๔ ไมโครกรัมเริ่มขึ้นสูงมาก แล้วก็มีแนวโน้มที่จะขึ้นสูงเรื่อย ๆ ตามข่าวบอกว่า ๓๘.๔ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ดัชนีคุณภาพอากาศตรวจวัดได้ที่ ๑๐๓ AQI Air Quality Index ถ้าดูจากสไลด์นี้นี่คือแนวโน้มและภาพรวม เราไปเก็บข้อมูล นี่คือคุณภาพอากาศใน เขตอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมาช่วงก่อนปีใหม่ดูค่ามีแนวโน้มจะลดลง หลังปีใหม่เริ่มพุ่ง ทะยานขึ้น ๆ แล้วช่วงนี้เป็นช่วงที่ฝนทิ้งช่วง เพราะฉะนั้นฝุ่นควันมีการสะสมแล้วเพิ่มเติม ขึ้นเรื่อย ๆ ทำไมเราจะต้องให้ความสนใจในการผลักดันร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด
ประการแรก มลพิษทางอากาศมันคืออากาศที่มีสิ่งสกปรกมีสารพิษเจือปน อยู่ในอากาศเกินค่ามาตรฐาน จนทำให้คุณภาพอากาศอยู่ในขั้นวิกฤติ มีรูปแบบเป็นไอหมอกพิษ เช่น PM10 PM2.5 รวมไปถึงก๊าซโอโซนโดยมีแหล่งกำเนิดมาจากครัวเรือน การทำอุตสาหกรรม รวมไปจนถึงไฟป่า หรือแม้กระทั่งการจุดเผาทุ่งหรือขจัดเศษซากที่มาจากการทำการเกษตรกรรม นะครับ
ประการที่ ๒ ผมอยากจะนำเสนอต่อท่านประธานก็คือว่าต้นเหตุของมลพิษ ทางอากาศ ผมนำเสนอ ๓ ส่วน ๑. การใช้ชีวิตประจำวัน ๒. โรงงานอุตสาหกรรมและ การคมนาคม กระบวนการผลิตในโรงงาน ๓. ภัยธรรมชาติ ในโคราชเรามีความเป็นเมือง มากยิ่งขึ้น แล้วก็รวมถึงเรามีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ขนาดใหญ่อยู่ตามชานเมือง อยู่ตามจุดที่เป็นสวนอุตสาหกรรม แล้วก็พื้นที่ขนาดใหญ่ของโคราชนั้นยังมีพื้นที่เกษตรกรรม หลากหลายรูปแบบ เพราะฉะนั้นสาเหตุที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ
ประการที่ ๓ ที่เราพูดไปว่าภัยธรรมชาติ มันก็มาจากการเผาทำลายซากจาก การเกษตร การคมนาคมที่เกิดขึ้นในตัวเมือง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนี้กำลังจะมีการทำ อุโมงค์ขุดสร้างทางลอดสี่แยกจราจรขนาดใหญ่ถึง ๒ แห่งกลางเมืองครับ เชื่อว่าจากนี้ไป ฝุ่นควันที่จะเกิดขึ้นในตัวเมืองโคราชมากและมากขึ้นอย่างแน่นอนครับ ผลกระทบของมลพิษ ทางอากาศนั้นแน่นอนส่งผลต่อร่างกาย ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว แล้วก็เป็นต้นทุน ในการใช้ชีวิตนะครับ
ประการที่ ๔ อยากจะขอพูดถึงวิธีการป้องกันตัวเอง ซึ่งมีวิธีมากมายแต่ ๑ ในนั้น คือการสวมหน้ากากอนามัย เราจะต้องสวมหน้ากากกันตลอดเลยจริงหรือครับ เอาอย่างนั้น จริง ๆ หรือครับ
ประการสุดท้าย ที่อยากจะพูดก็คือว่าการรับมือกับมลพิษทางอากาศ นี่ละครับ ร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด แล้วก็ขอพูดสนับสนุนในส่วนของพรรคก้าวไกล อันนี้จะเป็นเรื่องของข่าวที่ว่าเมื่อวานนี้เองมีการเผาในพื้นที่การเกษตร เรามาชมกันครับ เมื่อนำมาเปรียบเทียบแล้วเราจะเห็นว่ามีหลายสิ่งที่เหมือนกัน แต่มีบางประการ ผมขอพูด โดยกระชับ เช่นการบังคับให้จัดทำรายงานของผู้ประกอบการ อันนี้สำคัญมากจะทำให้เรา สามารถรู้ถึง Supply Chain ๒. คือตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์ที่มีมาจากการเผาทั้งใน และนอกประเทศ ๓. ส่งเสริมเป็นอย่างยิ่งใครที่จะเป็นประธานคณะกรรมการระดับจังหวัด สิ่งที่เรามองแตกต่างก็คือว่าการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น นายก อบจ. ครับ ปัจจุบันนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดงานล้นมือเต็มไปหมดเลย แล้วผู้ว่าราชการจังหวัดท่านเองก็มีเทอม ในการที่จะดำรงตำแหน่งอย่างจำกัด ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลง แต่ผู้ที่ยึดโยงกับท้องถิ่น อย่างเช่น นายก อบจ. สามารถกำหนดให้เป็นนโยบาย แล้วผมเชื่อว่าจะเป็นประเด็นหาเสียง ที่ทันสมัยแล้วก็ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตทุกคน สรุปปัญหามลพิษทางอากาศนั้นอันตรายต่อ สุขภาพประชาชน มีแนวโน้มทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง มาตรการรับมือปัญหาทางอากาศ นั้นอ่อนแอ ไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างเคร่งครัด เพราะว่าทุกคนมีสิทธิได้รับอากาศดีเท่ากัน ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม ฉัตร สุภัทรวณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนครราชสีมา เขต ๑ หน้าย่าโม พรรคก้าวไกลครับ ผมขอหารือปัญหาแรก ปีที่แล้วผมได้มีโอกาสถามกระทู้ทั่วไปไปยัง ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เรื่องการเปิดทางด่วน M6 บางปะอิน-นครราชสีมา แล้วก็ประสบผลที่ดี คือว่าปลายปีในวันที่ ๒๗ ธันวาคม เวลา ๒ ทุ่มก็ได้มีการเปิดให้ใช้ บางส่วน แล้วก็ยังเปิดมาให้ใช้จนบัดนี้ แต่ปัญหาที่อยากจะนำเรียนผ่านไปเพื่อได้รับการแก้ไข ก็คือปรากฏว่าชาวบ้าน ๒ ข้างทางอาจจะยังมีความคุ้นชินหรือไม่เข้าใจที่ถูกต้องนัก จึงมีการนำ รถมอเตอร์ไซค์ขึ้นมาใช้วิ่ง รวมไปถึงบางครั้งก็เอาขึ้นมาแข่งกัน ผมได้เห็นรถลาดตระเวน พยายามที่จะจัดการ อย่างไรก็ดีได้รับข้อมูลจากกู้ภัยเมตตา กู้ภัยฮุก ๓๑ ว่ามีอุบัติเหตุถึงขั้น เสียชีวิตหลายราย ขอให้เร่งช่วยกันแก้ไข แล้วก็ประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ โดยทั่วกัน แล้วก็เข้าใจ
ปัญหาที่ ๒ ปัญหาที่อยากจะหารือท่านประธาน คือในเขตเมืองนครราชสีมา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง มีการแพร่ระบาดของยาเสพติด ไม่ว่าจะเป็นน้ำกระท่อม กัญชา ไปยังกลุ่มนักเรียน นักศึกษา สร้างความห่วงใยให้กับผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ ชุมชนทุกคน พูดแล้วพูดอีก แสดงความห่วงใยอยากจะให้ในส่วนของเจ้าหน้าที่ปกครองได้ตรวจตรา เข้มงวด โดยเฉพาะปัญหาร้านน้ำกระท่อม อันนี้คือปัญหายาเสพติดที่แพร่กระจาย ไม่ใช่ เฉพาะตำบลในเมือง แต่เขตอำเภอเมือง โดยเฉพาะตำบลอื่น ๆ ชาวบ้านเขาพูดถึงกันมาก
ปัญหาที่ ๓ การก่อสร้างที่ลำตะคองข้างโรงเรียนอัสสัมชัญกับโรงเรียน เทศบาล ๔ (เพาะชำ) ผมเคยหารือในสภาไปแล้ว หลังจากนั้นก็ปรากฏว่าเป็นเสาตอม่อ คาไว้อย่างไรก็คาไว้อย่างนั้นเป็นพัน ๆ ต้น ไม่ได้ก่อสร้างอะไรเพิ่มเติมเลย จึงขอเรียน ท่านประธานสภาเพื่อให้ปัญหาต่าง ๆ ได้รับการแก้ไข ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม ฉัตร สุภัทรวณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑ แม่ย่าโม พรรคก้าวไกลครับ ในญัตตินี้ สส. พริษฐ์ วัชรสินธุ และผม ฉัตร สุภัทรวณิชย์ เป็น ผู้ยื่นญัตตินะครับ ญัตติเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาและจัดทำข้อเสนอในการส่งเสริมเยาวชนให้เป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมในระบอบ ประชาธิปไตยครับ ท่านประธานครับ คำสำคัญของญัตตินี้อยู่ที่คำว่า การมีส่วนร่วม แล้วก็อยากจะให้การมีส่วนร่วมนี้ได้มีการส่งเสริมเพิ่มเติมให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วม เพิ่มมากขึ้น การที่มีส่วนร่วมเพิ่มมากขึ้นก็จะช่วยส่งเสริมให้การพัฒนาทางด้านต่าง ๆ ซึ่งวันนี้ เราได้รับฟังเพื่อน ๆ สมาชิกจากทุกพรรคได้อภิปรายกันอย่างหลากหลายมิติ ในการที่จะ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมนี้เรามีอีก ๒ หลักที่อยากจะพูดถึงในการยื่นญัตติก็คือ เรื่องของการ เปิดพื้นที่ แล้วก็เรื่องของการสร้างสภาพแวดล้อม
เรื่องของการเปิดพื้นที่มีอยู่ ๓ ประเด็น ที่ได้นำเสนอก็คือว่าในพื้นที่เดียวกันนั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนของเราสามารถมีส่วนร่วมในพื้นที่เดียวกัน กับทุก ๆ คนในสังคมได้ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของเกณฑ์ในการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ส่วนร่วมทางสังคม ส่วนร่วมในโรงเรียน เป็นต้น
๒. ก็คือเรื่องการสร้างพื้นที่พิเศษ สร้างพื้นที่พิเศษนี้จะช่วยในการผลักดัน นโยบายให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมเพิ่มมากยิ่งขึ้นครับ
๓. ก็คือการเปิดพื้นที่สถานศึกษา ซึ่งสถานศึกษาไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนหรือ มหาวิทยาลัย เราส่งเสริมให้เด็กนักเรียน นักศึกษา มีส่วนร่วม ตรงนี้จะเปิดให้เด็กมีทักษะ ทางสังคม ให้มีการพัฒนาการทางด้านต่าง ๆ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ
ทีนี้ในส่วนของการสร้างสภาพแวดล้อมมีอยู่ ๓ ประเด็นที่อยากจะนำเสนอ สรุปก็คือว่า ๑. คือการเพิ่มทักษะ เพิ่มทักษะให้กับเด็กและเยาวชนเพื่อที่จะส่งเสริมการ ทดลองทำจริง ๒. การสร้างความเข้าใจในหมู่ผู้ปกครอง หน่วยงานรัฐ ครูบาอาจารย์ เพื่อที่จะ ให้มีบทบาทในการที่จะสนับสนุน เปรียบเสมือนเป็นพี่เลี้ยง แล้วก็ไม่ครอบงำเด็กและเยาวชน แล้วก็ประการที่ ๓ คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ในช่วง ๓๐ ปี ๒๐ ปี ๑๐ ปีที่ผ่านมา สังเกต ครอบครัวในระดับกลางของสังคม ทุกคนเริ่มที่จะมองหาโรงเรียนทางเลือก ไม่ใช่ว่า ผู้ปกครองนั้นเรียนมาในโรงเรียนที่คิดว่าตัวเองเรียนในโรงเรียนที่ไม่ดี แต่ทุกคนเริ่มหาโอกาส แล้วก็เริ่มที่จะมองหาโรงเรียนทางเลือก โรงเรียนทางเลือกที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียนอินเตอร์หรือโรงเรียนในรูปแบบต่าง ๆ แตกต่างจากโรงเรียนที่เราเคยเรียน โรงเรียนวัด โรงเรียนเอกชนที่เราเคยเรียนมา โรงเรียนเหล่านั้นมักจะมีการมีส่วนร่วมที่มากขึ้น ให้เด็กได้มี ส่วนร่วมในการตัดสินใจ โรงเรียนเหล่านั้นสอนให้เด็กได้ทำงานอย่างเป็นระบบ พร้อม ๆ กับ ให้ความไว้วางใจ ให้พื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ๆ ได้ฝึกฝนการคิด การจินตนาการ แล้วก็มี ส่วนร่วมในการตัดสินใจที่มากขึ้น สูงขึ้นและดีขึ้น ในการนำเสนอญัตติในวันนี้ขอบคุณ เพื่อนสมาชิกทุกท่านที่ได้ร่วมกันอภิปราย และกระผมในฐานะเป็นสมาชิกในคณะกรรมาธิการ การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ก็ขอกราบเรียน ต่อท่านประธานสภาทางคณะกรรมาธิการมีความพร้อมและมีความยินดี หากสภาจะพิจารณา แล้วก็ยกเรื่องนี้ให้ทางคณะกรรมาธิการได้ตั้งเป็นคณะอนุกรรมาธิการเพื่อที่จะจัดทำแล้วก็ รวบรวมข้อเสนอในการส่งเสริมเยาวชนให้เป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานครับ ๐๖๖ ฉัตร สุภัทรวณิชย์ แสดงตนครับ