นายรอมฎอน ปันจอร์

  • ขอบคุณท่านประธานครับ เรียนท่านประธานที่เคารพ และเพื่อน ๆ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนะครับ และโดยเฉพาะ อย่างยิ่งท่านรองนายกรัฐมนตรีสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ตั้งกระทู้ถามสด ด้วยวาจาในวาระโอกาสนี้ ผมมีเรื่องที่จะขออนุญาตตั้งกระทู้ถามท่านรองนายกรัฐมนตรี ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และทิศทาง การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล คือผมต้องเกริ่นเท้าความนิดหนึ่งก่อนที่ จะไปสู่คำถามนะครับท่านรองนายกรัฐมนตรีแล้วก็ท่านประธานครับ จากคำแถลงของรัฐบาล ที่สภาแห่งนี้ได้มีการเปิดอภิปรายกันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีการเน้นย้ำคำสำคัญอันหนึ่ง ในนโยบายที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งอาจจะไม่ได้มีการระบุอย่างชัดเจน แต่ก็พบว่ามีการระบุถึงถ้อยคำหรือว่าคำสำคัญอย่างคำว่า นิติธรรมที่เข้มแข็ง ในฐานะที่เป็น พื้นฐานของการสร้างสันติสุข สร้างสันติภาพ และการพัฒนาประเทศ ในคราวนั้นผมก็ตั้ง คำถาม ผมไม่มั่นใจครับว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นจริงจัง มีเจตจำนงในการที่จะแก้ไขปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้ขนาดไหน ก็เลยยึดเอาคำถามนี้ เอาคำนี้นะครับ แล้วก็ตั้งคำถาม ในช่วงตอนท้ายของการอภิปราย โดยตั้งคำถามว่า ครม. ของรัฐบาลเศรษฐาจะมีการต่ออายุ ขยายการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงซึ่งจะหมดลงในวันที่ ๑๙ กันยายน ที่ผ่านมานี้หรือไม่ อันนั้นก็เป็นคำถามที่ผมตั้งเอาไว้คราวที่แล้ว แล้วก็บวกอีกคำถามหนึ่ง ด้วยครับ ก็คือว่าท่านจะยกเลิกกฎอัยการศึกที่ประกาศใช้อย่างต่อเนื่องเกือบ ๒๐ ปีในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ นั่นคือคำถามตั้งต้น ก็เป็นโอกาสดีเลยครับ ในสัปดาห์ถัดมาก็มีการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ ๑๘ กันยายน ก็มีมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งสาธารณชนก็รับรู้รับทราบจากการแถลงของโฆษกรัฐบาล แล้วก็ ตามข่าวสารที่มี ผลสรุปว่ามีการขยายการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เป็นครั้งที่ ๗๓ ทุกท่านครับ นี่คือสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่เป็นการฉุกเฉินที่ต่อกันมาเป็น ครั้งที่ ๗๓ แต่ครั้งนี้แตกต่างไปจากครั้งก่อน ๆ ๗๒ ครั้งก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ เป็นต้นมา ครม. เศรษฐามีการต่ออายุก็จริง แต่ต่ออายุเพียง ๑ เดือนเท่านั้น นั่นหมายความว่าวันแรก ที่จะนับคือตั้งแต่วันที่ ๒๐ กันยายน จนกระทั่งถึงวันที่ ๒๐ ตุลาคม และในขณะเดียวกัน ก็จะมีการลดระดับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ว่านี้ลดลงอีก ๑ อำเภอ คืออำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี ทำให้สถานการณ์ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนนี้ใน ๓๓ อำเภอ มีประมาณ ๑ ใน ๓ คือ ๑๑ อำเภอที่จะมีการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปแล้ว ล่าสุดคืออำเภอกะพ้อ วันเดียวกันนั้นก็มีประกาศให้อำเภอกะพ้อประกาศใช้กฎหมาย ด้านความมั่นคง กฎหมายพิเศษอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งก็เป็นแบบแผนที่เคยใช้ คือยกเลิกประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน แล้วก็ประกาศ พ.ร.บ. ความมั่นคงที่ระบุว่าอำเภอนี้เป็นพื้นที่ปรากฏ เหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ก็มีอายุจนถึงวันที่ ๓๐ กันยายนนี้ แล้วก็มีเนื้อหาสาระอีกอย่างหนึ่งซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับท่านรองนายกรัฐมนตรีด้วย ก็คือว่า ท่านรองนายกรัฐมนตรีสมศักดิ์ก็ได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธาน คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ กบฉ. ทำหน้าที่ในการที่จะกลั่นกรองดูแล ประเด็นนี้ก่อนที่จะเข้าสู่วาระการประชุมของ ครม. นี่คือที่มาของมันนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ปัญหาอยู่ตรงนี้ที่จะนำมาซึ่งคำถามของผม ถอยกลับมาจากสถานการณ์ ล่าสุด ปัญหาของกฎหมายพิเศษครับท่านประธาน กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จริง ๆ แล้วเป็นกฎหมายที่เพิ่มเติมเข้ามาด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง ผมไม่อยากจะเรียก กฎหมายพิเศษเท่าไรแล้วนะครับ ผมอยากจะเรียกมันว่ากฎหมายผิดปกติ แต่เป็นกฎหมาย ผิดปกติที่เป็นตระกูลของมัน มี ๓ ฉบับ เป็น ๓ พี่น้อง เป็นกฎหมายผิดปกติ ๓ พี่น้อง เราไม่อาจจะพิจารณาแยกแยะ พ.ร.ก. ฉุกเฉินได้เท่านั้น เพราะว่ามันสัมพันธ์กับ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร อย่างที่เมื่อสักครู่ได้เกริ่นกล่าวไป คือลดระดับด้านหนึ่ง แต่ก็ไปแปะไว้ในกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง กฎหมาย ๓ พี่น้องนี้มีอะไรบ้าง มีกฎอัยการศึก อันนี้อายุเยอะที่สุด เป็นพี่คนโต อายุตอนนี้ถ้านับรวม ๆ ก็อายุ ๑๐๙ ปีแล้ว ให้อำนาจฝ่ายทหารอย่างสูงสุด เข้มข้นที่สุด เป็นยาแรงที่สุด และเหตุผลในการที่รัฐบาลทักษิณ ในปี ๒๕๔๘ บัญญัติ พ.ร.ก. ฉุกเฉินขึ้นมา ก็เพื่อทดแทนการใช้ ก็คือบัญญัติพี่คนรอง คือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตอนนี้ในกฎอัยการศึกยังมี การประกาศใช้คลุมทั้ง ๓๓ อำเภอใน ๓ จังหวัด แต่ใน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน พี่คนรอง ซึ่งเดี๋ยว เราจะอภิปรายกัน ตั้งคำถามในเรื่องนี้เป็นตัวต้นนะครับ มีการประกาศใช้อยู่ใน ๓ จังหวัด เหลืออีก ๒๒ อำเภอ มีการต่ออายุมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ๑๘ ปีแล้ว มีสัญญาณบวกนิด ๆ จากมติ ครม. คราวที่ผ่านมา ลดจากกรอบเวลา ๓ เดือน เป็น ๑ เดือน แต่ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน พี่คนกลางนี้กลายเป็นปัญหาใหญ่สำคัญและถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด เพราะว่าคือ รากของวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดที่บรรจุอยู่ในข้อบัญญัติ อยู่ในมาตราหนึ่งของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินนี้ที่ทำให้เจ้าหน้าที่พ้นจากการเอาผิดในทางอาญา ทางแพ่ง และในทางวินัย อันนี้ ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ถูกบัญญัติเอาไว้ น้องคนสุดท้องมาในปี ๒๕๕๑ ก็คือพระราชบัญญัติ การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หลังรัฐประหารปี ๒๕๔๙ ก็มีเครื่องมือที่เข้มข้น น้อยกว่า แล้วก็มีเครื่องมือที่เรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างมาตรา ๒๑ หรือว่า เป็นมาตราที่เกี่ยวข้องกับกึ่ง ๆ นิรโทษกรรม แต่หัวใจสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ก็คือ การจัดตั้งหน่วยงานที่เรียกกันในเวลานี้ว่า กอ.รมน. นั่นเอง กองอำนวยการรักษาความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร อิทธิฤทธิ์ของ ๓ พี่น้องนี้มีเยอะแยะเลยครับ ตลอด ๑๘ ปีที่ผ่านมา มีการวิพากษ์วิจารณ์ มีสภาพปัญหาเยอะแยะมากมาย แต่เรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าจะเกี่ยวข้อง กับรัฐบาลก็คือว่าถ้าหากรัฐบาลมุ่งมั่นที่จะสร้างนิติธรรมที่เข้มแข็ง กฎหมายพิเศษ กฎหมาย ผิดปกตินี้ต้องได้รับการทบทวนยกชุดเลยนะครับ ต้องได้รับการทบทวนยกชุด เพราะนี่คือมีความเสี่ยงในการที่จะละเมิดสิทธิมนุษยชน ซ้ำร้ายทำลายความชอบธรรม ของอำนาจรัฐด้วยตัวมันเอง ไม่แปลกที่เรามีเพิ่มเส้น เพิ่มไข่เจียวที่เฉพาะ ๓ จังหวัดชายแดน ภาคใต้ มันไม่แปลกที่จะทำให้ผู้คนที่นั่นรู้สึกว่าพวกเขาอยู่ภายใต้การปกครองแบบอาณานิคม ที่แตกต่างไปจากพื้นที่อื่น ๆ ทั่วทั้งประเทศ วงจรที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอภิสิทธิ์เหนือกลไก ต่าง ๆ เหนือประชาชนมันสะท้อนภาพให้เห็น ผมมีคำถามที่จะขออนุญาตสอบถาม ท่านรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย แล้วท่านก็ต้องดูแลรับผิดชอบ ด้านหนึ่งก็คงมีมิติในด้านความมั่นคงอยู่ด้วย

    อ่านในการประชุม

  • คำถามแรก ผมอยากรู้จริง ๆ ว่าการต่ออายุ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน การประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงแบบนี้คือต่อแค่ ๑ เดือน แล้วก็มี Pattern แบบเดิม คือลดอำเภอบางอำเภอลง ซึ่งก็เป็นข้อเสนอของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ของ กอ.รมน. ให้มีการลด การต่อไปอีก ๑ เดือน ซึ่งต่างไปจากก่อนหน้านี้ก็คือ ๓ เดือน จริง ๆ แล้วมันหมายความว่าอย่างไรครับ ทิศทางของรัฐบาลชุดนี้กำลังจะแก้ไขปัญหาจังหวัด ชายแดนภาคใต้อย่างไร ไปทางไหน ท่านกำลังจะยกเลิกการเพิ่มเส้น เพิ่มไข่เจียว เพิ่มไข่ดาว ในมาตรการพิเศษเหล่านี้ลงหรือไม่ อย่างไร อยากให้ท่านช่วยแจกแจงครับว่ามีทิศทาง จะเป็นอย่างไร เพราะว่ามันจะสัมพันธ์กับประเด็นย่อย ๆ ซึ่งผมขออนุญาตถามไปเลยแล้วกัน ถามแปะไปด้วยเลยครับ นอกจากจะยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ท่านจะยกเลิกกฎอัยการศึกเมื่อไรด้วย เพราะนี่คือพี่คนโตครับ และนี่คือเหตุผล จริง ๆ แล้ว ที่เรามี พ.ร.ก. ฉุกเฉินมา ๑๘ ปี แต่พี่คนโตก็ยังอยู่ ถ้าท่านมุ่งไปสู่การสถาปนานิติธรรม ที่เข้มแข็งจริง ๒ ฉบับนี้ท่านจะเอาอย่างไร

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นต่อมา คือท่านมีแผนเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารภายใต้ กฎหมายพิเศษแบบนี้อย่างไร ผมเข้าใจว่าคงต้องมีแผนแน่ ๆ เหมือนกับว่ากำลังมีแผน บางอย่าง ผมอยากให้ท่านรองนายกรัฐมนตรีช่วยแจกแจงในสภาแห่งนี้ว่ามีแผนในการที่จะ ลดระดับการบังคับใช้กฎหมาย ทั้ง พ.ร.ก. ฉุกเฉินและกฎอัยการศึกอย่างไร มันจะสัมพันธ์กับ ๓-๔ เรื่องนี้คือมาตรการในระดับปฏิบัติ ซึ่งผมก็กังวลว่าทั้งประชาชนในพื้นที่เองก็ไม่รู้ว่า การเปลี่ยนแปลงตรงนี้จะส่งผลต่อชีวิตเขาอย่างไร เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ จะส่งผลอย่างไร ศูนย์ซักถามที่ค่ายอิงคยุทธบริหารที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดน ภาคใต้จะเอาอย่างไร จะยังอยู่ไหม การสังหารนอกกฎหมายซึ่งเป็นปฏิบัติการทางการทหาร ที่ทำกันอยู่ในระยะหลัง ๒-๓ ปีมานีจะยังมีอีกหรือไม่ การตั้งด่านตรวจด้านความมั่นคง ที่กระจายตัวอยู่ใน ๓ จังหวัด และ ๔ อำเภอนี้จะมีอยู่อีกหรือเปล่า ตรงด่านตัวนั้นจะยังมี การตรวจบัตรประชาชนอีกไหม จะมีการตรวจเก็บ DNA ประชาชนต่ออีกหรือไม่ และสุดท้าย อันนี้มีคนฝากถามครับ การเก็บอายัดทรัพย์สินของประชาชนในระหว่าง การควบคุมตัวภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินนี้จะมีการคืนกันเมื่อไร ขอคำถามแรกประมาณนี้ ก่อนครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ขอบพระคุณท่านรอง นายกรัฐมนตรีนะครับ เห็นใจท่านครับ ท่านเพิ่งทำงานได้ ๒-๓ วัน แล้วท่านพยายามตอบ คำถามอย่างดีที่สุดแล้ว ผมอยากจะเรียนท่านอย่างนี้นะครับว่าเรื่องนี้ซับซ้อนแน่ ๆ แล้วท่าน อาจจะได้เจอกับความท้าทายเยอะเลยครับ ผมอยากจะเรียนสอบถามท่านอย่างนี้ คือผมก็ได้ ยินมาว่าจริง ๆ ในที่ประชุม ครม. ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐามีการพูดถึงกฎอัยการศึกด้วย แต่ไม่แน่ใจว่า มติ ครม. ก็ไม่ได้พูดเรื่องนี้ออกมาในที่สาธารณะนะครับ แต่เรื่องนี้น่าสนใจ แสดงว่าท่านนายกรัฐมนตรีน่าจะให้ความสำคัญถึงหัวใจปัญหาที่สำคัญ ผมอยากจะตั้งคำถาม อย่างนี้ในระหว่าง ๓๐ วัน ที่ท่านเดินสายเจอคน พบปะกับผู้คน มีคนฝากมาอย่างนี้ครับ แล้วผมอยากจะเรียนถามท่านเลย การฟังเสียงประชาชน การฟังเสียงตัวแสดงต่าง ๆ สำคัญแน่ ๆ ท่านจะกรุณาฟังเสียงของผู้ได้รับผลกระทบหรือผู้ที่เคยถูกควบคุมตัวภายใต้ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ภายใต้หมาย ฉฉ หรือว่าหมายสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ด้วยได้ หรือไม่ นี่คือคำถามครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขออนุญาตท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขออนุญาตท่านประธานครับ ผม รอมฎอน ปันจอร์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เมื่อสักครู่นี้ไปห้องน้ำมาครับ เสียบบัตรไม่ทันครับท่านประธาน จะขอแสดงตนทางวาจาตรงนี้ครับ เบอร์ ๒๙๗ ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ผม รอมฎอน ปันจอร์ ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธาน ผม รอมฎอน ปันจอร์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขออนุญาตนำเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ขอให้ สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาผลกระทบและข้อเสนอต่อรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีเหตุการณ์โกดังดอกไม้เพลิงระเบิดที่ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ขอผู้รับรองครับ

    อ่านในการประชุม

  • อัสสลามุอะลัยกุม วะเราะมะตุลลอฮิ วะบะเราะกาตุ ขอความสันติมีแด่ท่านประธาน และสมาชิกทุกท่านนะครับ ผม รอมฎอน ปันจอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล แบบบัญชีรายชื่อ ผมขอเรียนด้วยวาจาอีกครั้งหนึ่งนะครับ ผมถือว่าโศกนาฏกรรมที่มูโนะครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่ แล้วก็ดีใจมากครับที่ทางคุณอามินทร์ สส. ในพื้นที่ได้เป็นคนที่กล่าวเปิดนำเสนอญัตตินี้ ร่วมกันกับเรานะครับ ผมอยากจะไปเร็ว ๆ เลยนะครับ เพื่อที่จะกระชับเวลา ขอ Slide ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นของเหตุการณ์ที่มูโนะ ทำให้เราเห็นหลายเรื่องครับ ความมั่นคงปลอดภัยของใคร เป็นประเด็นที่ผมอยากจะตั้งขึ้นมา เพื่อเปิดประเด็นให้สมาชิกเพื่อน ๆ สมาชิกทุกท่านได้พิจารณาถึงผลกระทบของเหตุการณ์นี้ แล้วก็พิจารณาถึงข้อเสนอให้กับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนะครับ หน้าต่อไปครับ ประเด็นอยู่ตรงนี้ครับ เหตุการณ์ระเบิดโกดังพลุไม่ใช่แค่สร้างความเสียหายให้กับชีวิต และทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนในพื้นที่เท่านั้นนะครับ แต่ยังได้เปิดโปง และเผยให้เห็น โฉมหน้าที่แท้จริงของกิจกรรมสีเทาที่ซุกซ่อนอยู่ใต้พรมในเมืองชายแดน และพื้นที่ ความมั่นคงสูงอย่างนี้ด้วย คำถามที่ควรจะต้องคิดใคร่ครวญต่อจากนี้ก็คือว่า รัฐควรให้ ความสำคัญกับความมั่นคงปลอดภัยของใครบ้าง Slide ต่อไปครับ ผมเอาภาพนี้มาเพื่อทำให้ เห็นว่าความปลอดภัย ความมั่นคงในชีวิตของผู้คนในชายแดนใต้ในมูโนะเปราะบางขนาดไหน นี่ก็คืนที่ ๒ ของเธอคนนี้กับลูก ๆ ของเธอทั้ง ๓ คน เธอตั้งที่พักอยู่หน้าบ้านของเธอ ที่ถูกทำลาย เป็นเพียงไม่กี่ครอบครัวในคืนวันนั้นที่ยังอยากจะอยู่ใกล้ ๆ บ้านของตัวเอง คืนนี้ เราจะนอนนอกบ้านกันนะลูก นี่คือสิ่งที่เธอพูดกับลูกของเธอ Slide ถัดไปครับ ผมคงจะ ไม่สรุปย่อแล้ว เมื่อสักครู่ท่านอามินทร์ได้ไล่เลียงให้เห็นถึงสถานการณ์พื้นฐาน ผมอยากจะ ชี้ให้เห็นบางประเด็นครับ ผู้เสียชีวิตที่มีอายุน้อยที่สุดวัย ๘ เดือนเท่านั้น ผมอยากจะเอ่ยชื่อเธอ อมีลีน ดอเลาะ Slide ถัดไปครับ หลุมมันใหญ่มากครับทุกท่าน นี่คือภาพรวม ภาพกว้างของเหตุการณ์ ราบคาบเป็นหน้ากลอง ผมเจอคนหนึ่งในที่เกิดเหตุตอนผมลงพื้นที่เขาบอกว่าเหมือนอยู่ใน ยูเครน เหมือนอยู่ในสงคราม ทุกท่านทราบดีว่าชายแดนใต้อยู่ในเหตุการณ์ความไม่สงบมา ตลอดเกือบ ๒๐ ปี นี่เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นขนาดนี้มาก่อน Slide ถัดไปครับ ซ้ายคือ ก่อน ขวาคือหลัง Slide ถัดไปครับ แผนที่จุดเกิดเหตุ เรามีทั้งจุดเกิดเหตุ อันนี้มาจาก Google map แล้วก็เป็นข้อมูลของเจ้าหน้าที่ แล้วเราก็พบว่ามีโกดังอื่น ๆ อยู่ด้วย Slide ถัดไปด้วยครับ ผมไปเจอประทัด มีใบบอกลักษณะของสินค้า เดินทางจากเมืองจีน เข้าแหลมฉบัง อันนี้จากข้อมูลที่เราพบ แล้วก็เดินทางผ่านเส้นทางต่อเนื่องเข้าสู่พื้นที่ ความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้นับพันกิโลเมตร เราก็จะพบว่าสินค้าเหล่านี้ผ่านเส้นทาง น่าจะผ่านด่านตรวจ น่าจะผ่านหลายช่องทาง จนกระทั่งมาถึงตรงชายแดนมาเลเซีย ก่อนที่จะข้ามแม่น้ำโก-ลกเข้าไปในมาเลเซีย นี่คือบ้านของอมีลีน เมื่อสักครู่คุณอามินทร์บอก ว่าหลักเกณฑ์ที่ควรจะเป็นคือมันต้องมีระยะห่างที่มากกว่านี้ทุกท่านดูเส้นสีเหลืองคือ หลังบ้านของอมีลีน เส้นสีแดงคือโกดังที่ระเบิด อมีลีนกระเด็นออกมาจากบ้านของเธอ Slide ถัดไปครับ คำถามก็คือตำรวจ และเจ้าหน้าที่ไม่รู้ได้อย่างไร ผมเอา Google Earth เลยครับ Google Earth บอกว่าเส้นทางจากจุดที่เป็นโกดังใหญ่โตกับ สภ. มูโนะ ห่าง ๗๐๐ เมตร เดิน ๘ นาที คำถามนี้เกิดขึ้นหลังเกิดเหตุใหญ่เลยครับ ไม่ใช่ว่าเจ้าของโกดัง อยู่ไหนเท่านั้น แต่มีคำถามใหญ่เลยครับว่า เป็นไปได้อย่างไรที่เจ้าหน้าที่จะไม่รู้ อันนี้ก็จะ ชี้ให้เห็นว่าเป็นอย่างนี้ Slide ถัดไปครับด้วยความรวดเร็ว นี่คือจาก Google Map ครับ นี่คือหน้าตาของโกดังที่ว่านั้นเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โกดังนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ จริง ๆ แล้ว รวบรวมเอาบรรดาของที่อยู่ในที่ต่าง ๆ เข้ามาอยู่ในที่เดียวกันเพื่อป้องกันน้ำท่วม Slide ถัดไปครับ ตลาดมูโนะ ต้องขอพูดอย่างตรงไปตรงมา แล้วก็ชี้ให้เห็นว่าลักษณะพื้นฐาน ของมูโนะของตลาดชายแดนนี้ และวิถีชีวิตผู้คนนั้นเชื่อมโยงถึงกัน เป็นตลาดชายแดน เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว แล้วก็ผู้คนที่อยู่ที่นั่นใกล้ชิดแนบสนิทกับ การค้าชายแดน แล้วพูดกันตรง ๆ ก็คือแบบเลี่ยงภาษี แบบหนีภาษีนั่นเอง แต่ของหนีภาษีนั้น มันแทรกตัวอยู่ในทั้งวิถีชีวิตของผู้คน ระบบราชการ เครือข่ายธุรกิจ และผู้มีอิทธิพล ธุรกิจสีเทา ๒ สีที่ผมนิยามก็คือ สีเทาเรียกว่าเทาขาว เทาขาวคือสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ไม่ทำร้าย ไม่ทำลายชีวิตของคน และเทาดำ ซึ่งผมก็พบคำบอกเล่าอย่างกระซิบกระซาบ อย่างระมัดระวังของผู้คนว่าที่มูโนะเองก็มีเทาดำในความหมายที่เป็นพวกยาเสพติด และสิ่งผิดกฎหมายเหล่านั้นด้วย ภัยพิบัติในมูโนะมีเยอะครับ ผมชี้ให้เห็นตัวโกดัง ดอกไม้เพลิงเป็นระเบิดเวลาที่ตั้งอยู่กลางชุมชนได้อย่างไร เจ้าหน้าที่รัฐไม่รู้เห็นได้อย่างไร ปัญหาของการอนุญาต การควบคุม กำกับดูแลตามกรอบกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งเพื่อนสมาชิก ของพรรคก้าวไกลจะอภิปรายหลังจากนี้นะครับว่า เรามีกรอบกฎหมายเยอะแยะมากมาย แต่มันไม่สามารถทำงานที่จะปกป้องชีวิต และสร้างความปลอดภัยให้กับผู้คนอย่างไร ความกังวลใจที่ผมพบในพื้นที่ก็คือ คำถามที่ว่ามันจะจบเหมือนตอนคดีปี ๒๕๕๙ หรือเปล่า ตอนนั้นมีการเปิดแสดงใหญ่โตโดย กอ.รมน. ภาค ๔ ส่วนหน้า บุก ค้น ตรวจสอบ แล้วก็ มีการฟ้องคดี แต่ท้ายที่สุดอัยการไม่ฟ้อง และจะสามารถสาวหาผู้รับผิดชอบได้ครบถ้วน หรือไม่นะครับ นี่คือคำถามที่ผู้คนในพื้นที่ตั้งคำถามกันนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ต่อไปครับ ที่นั่นเงินส่วยครับ เราเรียกกันในภาษามาลายูว่า เดอะริรายกัง รายกังในความหมายนี้เป็นภาษาที่มาจากภาษาไทยครับ เหมือน List รายการ เงินรายการ ที่จะต้องมีการจ่าย ข้อมูลในพื้นที่นี่น่าตกใจมากครับ จริงเท็จเช่นไรผมอยากรบกวน ทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอยากให้รัฐบาลกำชับ ดูแล สร้างความกระจ่างในเรื่องนี้ สินบน ที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า ๒๐ หน่วยงาน ทั้งระดับพื้นที่ ระดับอำเภอ จังหวัด ภาค และหน่วยงานส่วนกลาง กลายเป็นมูโนะนี่ไม่ต่างกับศูนย์ราชการเลยนะครับ เป็นที่รวมของ บรรดาหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่รับประโยชน์จากธุรกิจสีเทาเหล่านี้ มีการตั้งคำถาม มีตั้งประเด็นด้วยนะครับว่า มีส่วยนักการเมืองด้วย ผมพบว่าความอึดอัดของผู้คนหลังจาก เหตุการณ์มี ๒ แบบ นอกจากความอึดอัด อัดอั้นตันใจจากผลกระทบซึ่งหน้าที่พวกเจอแล้ว การเปิดเผยเรื่องราวที่อยู่ใต้พรมเหล่านี้ก็ยากที่จะอธิบายต่อคนนอกอย่างผมนะครับ ทีนี้ประเด็นที่ควรต้องเตรียมเอาไว้ก็คือการฟื้นตัว และปรับตัวของเครือข่ายธุรกิจสีเทา หลังจากเหตุการณ์นี้ ตอนนี้เป็นประเด็นสำคัญมากที่กลายเป็นที่ถกเถียงกันนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ต่อไปครับ การเยียวยาครับ เดี๋ยวจะมีเพื่อนสมาชิกของก้าวไกลอภิปราย เพิ่มเติม แต่ผมพูดนิดหน่อยนะครับตรงเรื่องของการเยียวยาจิตใจที่น่าจะต้องมีการทำงาน ในระยะยาว และท้ายสุดโจทย์ที่สำคัญที่สุดที่นอกเหนือจากการรับมือเฉพาะหน้า ซึ่งเมื่อสักครู่นี้ท่านอามินทร์ได้อภิปรายไปบ้างแล้ว เรื่องใหญ่กว่านี้ก็คือเราจะฟื้นฟูเมืองมูโนะ ขึ้นมาใหม่ได้อย่างไร เมืองในความหมายนี้คือชุมชน ตลาด และวิถีชีวิต มันหมายถึงบ้าน และมันหมายถึงพื้นที่ทำกินด้วย นี่คือโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลน่าจะต้องเตรียมรับมือ ในระยะยาวนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ต่อไปครับ ปัญหาก็คือเราอยู่ในพื้นที่ที่มีความมั่นคงสูงเราพบว่า ความไว้วางใจต่ออำนาจรัฐมีอยู่อย่างจำกัดมากครับ และการละเมิดบรรดากฎหมายปกติ ที่ควรจะต้องทำเพื่อรักษาความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนมันก่อให้เกิดวิกฤติความเชื่อมั่น ต่ออำนาจรัฐด้วย

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายครับ Slide ถัดไปครับ คำถามที่ควรต้องถามคือเป็นความมั่นคง ของใครกันแน่ที่เรามีมาตรการด้านความมั่นคงเยอะแยะมากมาย มีกำลังพลเยอะแยะ มากมาย แต่ท้ายสุดถ้าเป้าหมายคือความปลอดภัย และเหตุใดชีวิตพลเรือน เหตุใดชีวิตของ ผู้คนธรรมดาถึงไม่ได้รับการปกป้องดูแลขนาดนี้ กฎอัยการศึกมาตรการต่าง ๆ จะมีประโยชน์ อะไรถ้าไม่สามารถที่จะคุ้มครองเรื่องพื้นฐานได้จากกฎหมายพื้นฐานที่ควรจะต้องมีการบังคับ ใช้ได้ ทำไมชีวิตของผู้คนถึงมีราคาถูกอย่างนี้ ผมอยากให้เพื่อน ๆ สมาชิกช่วยกันอภิปราย เพื่อเสนอแนะทางออก เสนอแนะให้กับรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นนี้ครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานครับ รอมฎอน ปันจอร์ สส. แบบบัญชีรายชื่อจากพรรคก้าวไกล ก็คงต้องใช้เวลาสักเล็กน้อย เพราะว่าเราก็ดึกแล้ว แต่ว่าวันนี้ก็ถือได้ว่าเป็นการอภิปรายญัตติที่มีหลากหลายแง่มุม มีหลากหลายมิติ ที่น่าสนใจคือเรามีทั้งเพื่อนสมาชิกจากภาคใต้ เรามีเพื่อนสมาชิก จากแทบจะทุกภาค แทบจะทุกพรรคการเมือง สะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่ชายแดนใต้สุด ที่นราธิวาส แล้วก็ย้อนคิดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น หรือว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในหลากหลาย พื้นที่เลยทีเดียว เรามีจุดร่วมเดียวกัน เรามีจุดร่วมที่ว่าเรายังอยู่ในสังคมการเมืองที่ชีวิตของผู้คนธรรมดา สามัญยังไม่ได้ถูกให้ค่ามากพอจากบรรดากฎหมาย เมื่อสักครู่มีเพื่อนสมาชิก List มาให้ดูตั้ง ๗-๘ ฉบับ แต่ว่าการบังคับใช้ภายใต้สังคมอุปถัมภ์นี่มันมีปัญหาอย่างไร ผมคงสรุปสั้น ๆ อย่างนี้นะครับน่าจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งรัฐบาลอาจจะยังรักษาการอยู่ แต่ว่าข้อเสนอที่เป็น ข้อเสนอระยะยาวน่าจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลที่กำลังจะมีขึ้นเร็ว ๆ นี้ด้วยเหมือนกัน การรับมือระยะสั้นที่น่าสนใจมีหลายเรื่องทีเดียวครับ เรื่องที่ผมคิดว่าน่าสนใจที่สุด แล้วก็ เป็นเรื่องที่ในพื้นที่ตอนที่ผมลงพื้นที่ไม่เห็น คือเรื่องการรับมือกับน้ำที่เริ่มเป็นพิษ อันนี้ ผมคิดว่าหน่วยงานที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ แล้วก็ถ้ายังมีเจ้าหน้าที่บางท่านได้ฟังพวกเรา อภิปรายกันหลายชั่วโมงน่าจะมีการดำเนินการให้เร็วที่สุด การรับมือกับที่พักอาศัย การจัดการกับเรื่องระยะสั้นตรงนี้นะครับ ข้อเสนอในระยะกลางก็มีเรื่องที่ต้องเตรียมคิด เรื่องการเยียวยาในด้านจิตใจ การคิดเรื่องการสร้างบ้าน ฟื้นฟู เพราะว่าสิ่งนี้แตกต่างกับที่ ชาวมูโนะเจอ ชาวมูโนะรับมือบ่อยครั้งกับน้ำท่วม การที่น้ำท่วมเมื่อน้ำลดก็จัดการได้ง่าย แต่นี่คือบ้านพังทั้งแถบ ชุมชนพังทั้งแถบ การสร้างและฟื้นชุมชนขึ้นมาใหม่ การฟื้นตลาด ขึ้นมาใหม่เป็นความท้าทายที่ต้องอาศัยแรงจากทั้งภาครัฐ ภาคสังคม อย่างที่มีเพื่อนสมาชิก หลายท่านตั้งข้อสังเกต แล้วก็ทำข้อเสนอเอาไว้ มีเรื่องการจัดการศึกษาในสภาวะที่มี วิกฤติการณ์แบบนี้ด้วย ผมคิดว่าเรื่องระยะยาวที่น่าสนใจมากที่เพื่อนสมาชิกหลายท่านเสนอ ขึ้นมา ผม List มาบางประเด็นที่น่าจะเป็นประโยชน์นะครับ พูดถึงเรื่องการจัดตั้งสถาบัน อิสระ เป็นองค์กรอิสระในการรับมือสาธารณภัย อันนี้ก็เป็นข้อเสนอของเพื่อนสมาชิกที่จะ เป็นอิสระมากพอ และสามารถมีทรัพยากรที่มากพอในการทำงาน การพูดถึงประกันภัย สาธารณภัย ซึ่งในระบบของเรายังไม่มีอยู่ ซึ่งอาจจะต้องมาพูดถึงการบัญญัติกฎหมาย เพิ่มเติมนะครับ การพูดถึงมาตรฐานเยียวยาที่ต้องยืดหยุ่นปรับตัวต่อสภาพความเป็นจริง มากขึ้น มีการพูดถึงระบบติดตามวัตถุอันตราย Tracking ซึ่งก็เป็นเทคโนโลยีที่น่าจะทำให้ รองรับต่อสิทธิของประชาชนในการที่จะรู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับอันตรายจากบรรดา สารเคมี บรรดาอันตรายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นอย่างไร แน่นอนครับ ก็มีเรื่องคดีความ ซึ่งหลายท่านก็ใช้เสียงที่แข็งกร้าวพอสมควรในการผลักดันให้มีการแสวงหาคนผิดมาลงโทษ มีการพูดถึงคณะกรรมการกลางที่เป็นอิสระด้วย ผมทราบว่าองค์กรภาคประชาสังคม ในพื้นที่ มูลนิธิทนายความมุสลิมก็เสนอให้การจัดการคดีนี้เปลี่ยนมือไปสู่ DSI ด้วย ก็มีความกังวลเกิดขึ้นว่าถ้าเจ้าหน้าที่รัฐที่ดำเนินคดีอยู่ ที่ทำงานอยู่ในเวลานี้น่าจะมี ความลำบากใจ ทั้งลำบากใจ แล้วก็ความไม่เป็นอิสระมากพอนี่นะครับ ก็มีข้อเสนอ ในทำนองนี้เกิดขึ้นด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายผมคิดว่าควรต้องพูดถึงเรื่องสินบน เรื่องส่วยที่เป็นเรื่องที่อยู่ใต้พรม ที่เราเห็น ที่เรารู้จัก ที่เราได้ยินจริง ๆ หลังจากที่มีการระเบิดเปิดพรมขึ้นมา สิ่งนี้สัมพันธ์ อย่างยิ่งกับสถานการณ์ความมั่นคงอย่างที่ผมได้อภิปรายเปิดไป ความซับซ้อน ความซ้อนเหลื่อมกันกับมิติด้านความมั่นคงชายแดน กับความมั่นคงของการเมืองว่าด้วยเรื่อง สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง และการพิทักษ์รักษาอำนาจอธิปไตยของรัฐไทย เป็นเรื่องที่ต้องสร้างความกระจ่างระหว่างลักษณะพื้นฐานของเมืองชายแดนอย่างมูโนะ กับการเมืองของความขัดแย้ง สิ่งนี้อาจจะต้องอาศัยรัฐบาล และภาวะการนำที่เอาจริงเอาจัง ต้องการเจตจำนงในทางการเมืองที่มากพอที่จะแก้ไขปัญหาที่ดูซับซ้อนอย่างนี้ ซึ่งก็คาดหวังว่าการทำงานร่วมกันของรัฐบาลใหม่ และสภาผู้แทนราษฎรในอนาคตจะทำให้ เราสามารถคลี่คลายเรื่องนี้ได้ด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน อยู่หน้างานในเวลานี้นะครับ ต้องให้กำลังใจพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยอยู่ในเวลานี้ด้วย เช่นกันนะครับ ผมคิดว่าข้อเสนอที่พวกเราพูดกัน ๒-๓ ชั่วโมงนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาล แล้วก็เจ้าหน้าที่รัฐนะครับ แล้วก็คิดว่าเราน่าจะมีงานที่จะต้องทำร่วมกันหลังจากนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอที่จะต้องทำงานในระยะยาวต่อจากนี้นะครับ และสำหรับวันนี้ก็คง ต้องขอขอบคุณเพื่อนสมาชิกทุกท่านในการที่จะร่วมแลกเปลี่ยนกับเรา และร่วมแลกเปลี่ยน กับญัตตินี้ครับ ขอบพระคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • คนละประเด็นครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานครับ ผม รอมฎอน ปันจอร์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มีประเด็นที่อยากจะปรึกษาหารือ ท่านประธานนิดหน่อยครับ เพราะว่าสืบเนื่องจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ววันเดียวกันนี้นะครับ เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้วมีการยื่นญัตติด่วนให้ทางสภาได้พิจารณาผลกระทบ แล้วก็ข้อเสนอแนะ ต่อรัฐบาลในกรณีเหตุการณ์โกดังดอกไม้เพลิงระเบิดที่นราธิวาสนะครับ แล้วก็ท่านประธาน ในที่ประชุมวันนั้นมีการรับปากคำมั่นว่าจะส่งเรื่องให้ทางคณะรัฐมนตรีในการที่จะพิจารณา ข้อเสนอแนะของสมาชิกสภา แล้วก็ตอนนี้ก็ครบ ๗ วันแล้วนะครับท่านประธานครับ ก็เลยอยากจะขออนุญาตท่านประธานได้ติดตาม ทวงถามถึงคำตอบ หรือว่าข้อตอบสนอง จากทางคณะรัฐมนตรีครับ ผมทราบดีว่าทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ทำหนังสือส่งไปเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม แล้วก็ทราบดีว่าตามข้อบังคับก็อยู่ในกรอบเวลาภายใน ๖๐ วัน แต่ไหน ๆ ท่านประธาน ในที่ประชุมวันนั้นก็ได้กำชับเอาไว้นะครับ ก็อยากจะเรียนถามท่านประธานนะครับ ให้มีการติดตามคำตอบนี้จากคณะรัฐมนตรีครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธาน ท่านผู้ชี้แจง แล้วก็เพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่านครับ ผม รอมฏอน ปันจอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อจากพรรคก้าวไกลครับ ผมขอ Slide ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • วันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ได้มา พบปะและก็ได้สนทนากับทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะผู้ชี้แจง ผมคงมี ประเด็นเพิ่มเติมจากเพื่อนสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเด็น จากมุมมอง จากพื้นที่ ที่อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือปัตตานีนะครับ เพราะว่าที่นั่นถือว่าเป็นพื้นที่ที่ด้านหนึ่ง ก็เป็นพื้นที่ความมั่นคงสูง อีกด้านหนึ่งก็เป็นพื้นที่ที่เปราะบางต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนนะครับ จากหลายฝ่าย ผมขอตั้งประเด็นเอาไว้นะครับ กสม. องค์กรอิสระที่ควรอิสระในสถานการณ์ สิทธิมนุษยชนและสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหตุที่ต้องโยงกับเรื่องสันติภาพ ก็เพราะว่าประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนถือว่าเป็นเสาหลัก เป็นประเด็นพื้นฐานอันหนึ่งของ การสร้างสันติภาพด้วย ผมได้ความรู้เยอะครับจากรายงานทั้ง ๒ ชิ้นของทาง กสม. เอง โดยเฉพาะรายงานประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ผมจะขออนุญาตโฟกัสไล่เรียง ทีละประเด็น ผมมี ๒-๓ ประเด็นไล่เรียงไป เพื่อที่จะเป็นทั้งคำถาม เป็นทั้งข้อสังเกต และอยากจะให้เพื่อนสมาชิกได้พิจารณาตามไปด้วยนะครับ Slide ถัดไป ผมขออนุญาต ตั้งต้นตรงนี้เลยครับ จริง ๆ ในรายงานมีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดน ภาคใต้อยู่ไม่กี่หน้า แต่ถือได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญทั้งนั้นนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรกที่อยากจะตั้งประเด็นไว้เลยคือเรื่องสถานการณ์ความรุนแรงครับ น่าจะเป็นการเกริ่นนำแล้วก็น่าสนใจมากครับ ทาง กสม. ได้หยิบยกเอาฐานข้อมูล ของทั้งศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้และทั้งทาง กอ.รมน. ภาค ๔ ส่วนหน้า ขึ้นมาเทียบเคียงเพื่อให้เห็นว่าทิศทางจริง ๆ แล้วก็มีทิศทางลง แต่ว่าในปี ๒๕๖๕ นี่กระดกขึ้น นิดหน่อย แต่ผมขออนุญาตตั้งข้อสังเกตอย่างนี้นะครับ ฐานข้อมูลทั้ง ๒ ฐานนี้จริง ๆ มีระเบียบวิธีที่แตกต่างกัน และจริง ๆ น่าจะเกี่ยวข้องกับการประเมินสถานการณ์ สิทธิมนุษยชนด้วย เพราะว่าฐานข้อมูลของ กอ.รมน. ภาค ๔ ส่วนหน้าเท่าที่ผมทราบ ไม่รวมปฏิบัติการของฝ่ายเรา ของฝ่ายเราในความหมายนี้คือของฝ่ายรัฐ จึงเป็นไปได้ว่า การพิจารณาภาพรวมของสถานการณ์การละเมิดสิทธิในมิติต่าง ๆ อาจจะพร่องไป ผมอยากตั้งข้อสังเกตอย่างนี้และเสนอต่อทาง กสม. นะครับว่าเวลาที่เราใช้คำว่า การใช้ ความรุนแรง หรือว่าประเมินสถานการณ์ใช้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้นี่ เรามีคำที่เป็นทางการการก่อเหตุรุนแรงที่เป็นถ้อยคำที่เป็นทางการของฝ่ายรัฐ แต่ต้องไม่ลืมนะครับว่าความรุนแรงมันเกิดขึ้นได้จากหลายฝ่ายและน่าจะรวมการละเมิด สิทธิมนุษยชนด้วยเช่นกัน ซึ่งในความหมายนี้ผู้ละเมิดก็อาจจะเป็นทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ และอาจจะเป็นตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐด้วยเช่นกัน ที่น่าสนใจที่ผมขอชมเชยเมื่อเปรียบเทียบ เนื้อหาสาระของตัวรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับข้อมูลจาก แหล่งอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมที่รณรงค์ติดตาม ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กลุ่มด้วยใจ มูลนิธิประสานวัฒนธรรมกลุ่มยาซัด หรือกลุ่มสิทธิมนุษยชนปาตานี ก็จะพบว่ามีเนื้อหา หลายอย่างที่เหมือน ที่มีอยู่ ที่ถูกบรรจุเอาไว้ แล้วก็มีบางอย่างที่หายไปเรื่องหนึ่งที่จะต้อง ขอชมเชยครับ คือการพูดถึงเด็กกำพร้าซึ่งเป็นผลกระทบจากความรุนแรงตลอดเกือบ ๒๐ ปี ถึง ๑,๔๐๐ กว่าคน มีการพูดถึงเหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรม ซึ่งจริง ๆ ในศัพท์เทคนิค ในด้านสิทธิมนุษยชนก็จะใช้ในภาษาอังกฤษอีกอันหนึ่งคือ Extrajudicial killing ซึ่งผม ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีความสอดทับสอดคล้องกับมโนทัศน์วิสามัญฆาตกรรมมากน้อยขนาดไหน เพราะว่าการสังหารนอกกฎหมายนี่ก็จะเป็นอีกความหมายหนึ่งด้วย แต่เอาเถอะก็มีการระบุ เอาไว้ในตัวรายงานชิ้นนี้ด้วย มีการพูดถึงการเสียชีวิตของพลเรือนระหว่างการช่วยราชการ ในเหตุปะทะปิดล้อมในฐานะเป็นคนไปช่วยเจรจาแล้วผิดพลาดแล้วทำให้เกิดการเสียชีวิต มีการพูดถึงประเด็นที่สำคัญมากคือการตรวจเก็บ DNA ในเด็ก แต่ ๒ กรณีหลังนี้ อยากทราบนะครับว่าทาง กสม. ได้มีการติดตามข้อเสนอแนะที่ทาง กสม.ให้กับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใด เราเห็นแต่ว่าในบันทึกรายงานก็มีแต่การนำเสนอว่า ได้มีข้อเสนอแนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง ๆ DNA น่าจะเป็นเรื่องใหญ่ แต่สิ่งที่หายไปครับ ก็เป็นเรื่องการประเมินการบังคับใช้กฎอัยการศึกและข้อเสนอแนะ ผมทราบดีในรายงาน ก็ระบุถึงกฎหมายพิเศษถึงการบังคับใช้และการยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ถือว่าเป็นความคืบหน้าของรัฐบาล แต่สิ่งที่หายไปอย่างน่าเสียดายก็คือไม้แข็งกว่านั้น ก็คือตัวกฎอัยการศึก กฎอัยการศึกที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการควบคุมตัว ๗ วันแรก โดยไม่ตั้งข้อหา อันนี้เป็นความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการซ้อมทรมาน แต่ไม่ได้ถูกพูดถึงเลยอย่างน่าตกใจ ทั้ง ๆ ที่ กฎอัยการศึกประกาศใช้เกือบ ๒๐ ปีแล้วในพื้นที่นี้ อันนี้ผมคิดว่าในรายงานในปีถัดไป หรือว่าการให้ความสำคัญของ กสม. ควรให้ความสำคัญกับไม้แข็งไม้แรงอย่างกฎอัยการศึก ด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • สถานการณ์เด็กในการขัดกันทางอาวุธ Children and Armed Conflict ในรายงานของกลุ่มด้วยใจมีการพูดถึง รายงานประจำปีของ ๒๕๖๕ มีการพูดถึง แต่ผม เข้าใจว่า กสม. อาจเอาออกไปหรือไม่ได้สนใจในประเด็นนี้ เพราะว่าเป็นประเด็นที่สุ่มเสี่ยง และมีความเปราะบางในทางการเมืองอยู่พอสมควร แต่ก็ควรที่จะต้อง Mention ไว้นะครับว่า รายงานที่ทางเลขาธิการสหประชาชาติได้ทำเอาไว้แม้ว่าเคยมีแต่ว่าได้ถูกเอาออกไปบ้างแล้ว การปรับตัวต่อภัยคุกคามสิทธิมนุษยชนของ กอ.รมน. อันนี้เดี๋ยวจะพูดในประเด็นถัดไปนะครับ เรื่องที่น่าสนใจแล้วก็น่าเสียดายมากที่ไม่ได้มีการะบุเอาไว้คือเหตุการณ์ในการชุมนุมมลายูรายอ ของเยาวชนเมื่อพฤษภาคมปีที่แล้วปี ๒๕๖๕ เรื่องนี้มีมิติแง่มุมหลากหลายมากนะครับ แต่ไม่ได้อยู่ในตัวรายงานด้วย น่าเสียดายครับ เพราะว่าจริง ๆ แล้วมันเป็นการสะท้อน เรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาตินะครับ ซึ่งทาง กสม. น่าจะมีการติดตาม มีการ Monitor นะครับ คำถามที่จริง ๆ อยากจะถามทาง กสม. คือเนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ในแง่กิจกรรมก็จะเป็นเรื่องการอบรม ความรู้ต่อเครือข่ายและเจ้าหน้าที่รัฐ คำถามก็คือว่าการริเริ่มเหล่านี้ของ กสม. มันสร้าง ความแตกต่าง สร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้างนะครับ อันนี้ก็อยากจะให้มีการพูดถึง Impact ของมันนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายผมอยากพูดถึงเรื่องปัญหาความเป็นอิสระครับ ในรายงานของทาง กสม. พูดถึงการพยายามจะยกระดับถูกพิจารณาในการยกระดับขึ้นจากเกรด B มาเป็น Tier A ซึ่ง ๑ ในเงื่อนไขสำคัญคือการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ แล้วก็การแก้ไข รัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งไม่ช้าก็เร็วเข้าใจว่าทางสภาแห่งนี้อาจจะได้มีการพิจารณาข้อเสนอนี้จาก ทาง กสม. แต่นั่นเป็นมิติในทางนานาชาตินะครับ ผมอยากจะชี้ให้เห็นอีก ๒ Level อีก ๒ ระดับ ก็คือระดับชาติและระดับพื้นที่ครับ ระดับชาตินี่ผมคิดว่าอาจจะถึงเวลาที่ทาง กสม. อาจจะทบทวนสถานภาพขององค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญอย่าง กสม. นี้ที่เป็น ส่วนหนึ่ง เป็นหน่วยงานที่อยู่ในแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดน ภาคใต้ ซึ่งมีหน่วยงานเจ้าภาพเป็นหน่วยงานความมั่นคงทั้งนั้นเลยนะครับ ทั้ง สมช. ทั้ง กอ.รมน. และ ศอ.บต. ปัญหาก็คือว่าการมีกิจกรรม มีตัวโครงการแค่ใช้งบประมาณแค่ ๑,๐๐๐,๐๐๐ กว่าบาท แต่อยู่ภายใต้การกำหนดตัวชี้วัดของหน่วยงานความมั่นคงเหล่านั้น ก่อให้เกิดคำถามได้ครับว่า กสม. จะมีความเป็นอิสระในการทำงานได้มากน้อยเพียงใด และในระดับพื้นที่ อันนี้ไม่เกี่ยวกับ กสม. โดยตรง แต่ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า การปรับตัวของ กอ.รมน. น่าสนใจครับ มีการจัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมาภายใต้คำสั่งของผู้อำนวยการ กอ.รมน. ภาค ๔ ส่วนหน้า หรือแม่ทัพภาค ๔ นั่นเองนะครับ ทำหน้าที่ในการช่วยเหลือเยียวยา ในการติดตาม กรณีการละเมิดสิทธิต่าง ๆ หลายครั้งมีความสับสนครับ มีความสับสนว่ามีการเรียกกันว่า เป็น กสม. กอ.รมน. กสม. กอ.รมน. กลายเป็นว่าคณะกรรมการอิสระตามรัฐธรรมนูญนี่นะครับ เกิดความสับสนในพื้นที่ครับว่าตกลงแล้วตัวคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทำหน้าที่อะไร กันแน่ เป็นส่วนหนึ่ง เป็นกลไกหนึ่งของ กอ.รมน. ของทหารหรือว่าเป็นองค์กรอิสระนะครับ ผมคิดว่าเรื่องนี้ทาง กสม. ควรจริงจัง ควร Take serious แล้วก็น่าจะมีการสนทนากับ หน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้หลักประกันในการปกป้อง คุ้มครองสิทธิมนุษยชนเพื่อสลายความสับสนที่เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนนะครับ ขอบพระคุณมากครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานและเพื่อน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครับ ผม รอมฎอน ปันจอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกลครับ วันนี้ผมขออนุญาตมีส่วนร่วมในการอภิปรายรายงานที่เกี่ยวข้องกับ ยุทธศาสตร์ชาติด้วยนะครับ ขออนุญาตฉาย Slide เลยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ของผมอาจจะนั่งฟังพร้อมกับ เพื่อน ๆ มาทั้งวันทั้งแผนปฏิรูป ยุทธศาสตร์ชาติอาจจะเหนื่อยล้านะครับ ของผมก็จะเสนอ ประเด็นที่อาจจะแตกต่างเหมือนกับว่ายังไม่มีการอภิปรายในสภาแห่งนี้ในตลอดวันนี้นะครับ ก็คือเป็นเรื่องเกี่ยวกับสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือสันติสุขในความหมายของ ทางการนะครับ แต่พูดถึงชะตากรรมของมัน เมื่ออ่านเอกสารเล่มประมาณ ๓ กิโลกรัมนี้ ซึ่งจริง ๆ แล้วระบุเนื้อหาไม่กี่หน้าครับ แต่ว่าผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมี การอภิปรายกัน ผมเห็นว่ายุทธศาสตร์ชาติเป็นเหมือนความใฝ่ฝันของพลังเสนาอนุรักษ์นิยม ไทยอย่างลม ๆ แล้ง ๆ ที่หลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับความขัดแย้งแบบซึ่งหน้า แล้วก็มุ่งสนใจ แต่การกดปราบความรุนแรง แล้วทำให้เราทึกทักเอาไปว่าภาพของสันติสุขนี่มันจะปรากฏ ขึ้นมาโดยตัวมันเอง

    อ่านในการประชุม

  • ขอ Slide ถัดไปนะครับ ทีนี้ประเด็นอยู่ตรงนี้ครับ เมื่อไปดูว่าเป้าหมายของ ยุทธศาสตร์ชาติต่อเรื่องความขัดแย้งต่อความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้นี่ มีอะไรบ้าง เราเห็นว่าแน่นอนครับ ๒๐ ปี คงหวังให้มีความสงบ มีความสุขร่มเย็น แต่ที่น่าสนใจดูเฉพาะ แค่ปี ๒๕๖๕ ต่ำกว่าค่าเป้าหมายในระดับเสี่ยงเลยทีเดียว สีส้มนะครับ จากตัวชี้วัด หรือว่าค่าเป้าหมาย ๓ ตัว ที่ผมจะขออนุญาตอภิปรายที่นี่แบบกระชับเลย ต่อไปเลยครับ คำถามก็คือตัวแรกดูที่งบ งบต้องลดลง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ งบประมาณด้านความมั่นคง ต้องลดลง ผมเข้าใจว่านี่อาจจะเป็นประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงอยู่ตลอด คนมักจะพูดว่า หากสงบงบไม่มา ตัวชี้วัดอันหนึ่งที่จะชี้ให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำเร็จหรือไม่คือดูที่งบประมาณ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าแม้ว่าในปี ๒๕๖๕ จะผ่านคือตั้ง ๒๗.๗๒ เปอร์เซ็นต์ แต่งบด้านความมั่นคงนี่ไปดูแล้วมันคือยอดเดียวกันกับแผนงาน บูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ผมพบว่าจริง ๆ มีงบ ด้านความมั่นคงอยู่ข้างนอกด้วยนะครับ แต่น่าจะต้องรวมด้วย น่าจะต้องนับด้วย แต่ทำไม ไม่ถูกนับ

    อ่านในการประชุม

  • Slide ถัดไปครับ อันนี้เป็นภาพที่ชี้ให้เห็นว่ามีงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับ จังหวัดชายแดนภาคใต้นอกงบบูรณาการอยู่ไม่น้อยทีเดียว ส้ม ๆ นะครับ และกลายเป็นว่า งบบูรณาการทำให้เห็นว่ามันมีงบที่ซ่อนอยู่ ซุกอยู่ ผมไปดูก็จะเห็นว่ามันมีการขึ้น มีการลง คำถามใหญ่ก็คือว่าตกลงจะนับอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง อะไรที่เราจะประเมิน ความสำเร็จ

    อ่านในการประชุม

  • ถัดไปก็มีตัวอย่างอย่างเช่นงบของ กอ.รมน. นั่นเอง อย่างการกำลังพล และการดำเนินงาน ลดลงราว ๕ เปอร์เซ็นต์ต่อปีต่อเนื่องกัน ลดลงจริง มีงบอื่นด้วย การสนับสนุนการใช้งานเครือข่ายมวลชนเพื่องานด้านความมั่นคง แต่ผมแปลกใจว่า ทำไมไม่นับรวมเอาเงินยอดพวกนี้ งบพวกนี้เข้าไปในการประเมินความสำเร็จของ แผนยุทธศาสตร์ชาติด้วย

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นถัดไป ตัวชี้วัดที่ ๒ ความรุนแรง กลายเป็นว่าความรุนแรงเพิ่มขึ้น เป็นการกระดกขึ้นมาจากเป้าที่ต้องลดร้อยละ ๑๐ ต่อปี ครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ ความสูญเสียต่าง ๆ เพิ่มขึ้นในปี ๒๕๖๕ เป็นสัญญาณที่น่ากังวลทีเดียว แต่เวลารายงาน อภิปรายลงมาถึงสาเหตุน่าสนใจครับ พูดถึงว่าอาจจำเป็นเพราะการผ่อนปรนมาตรการ จำกัดการเดินทางลง ใช่หรือเปล่าว่าเป็นการลดด่านตรวจ ลดอุปสรรคขัดขวางการใช้ชีวิต ของพี่น้องประชาชน ใช่หรือไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง นี่หมายความว่า ถ้าเพิ่มวิสามัญฆาตกรรม การบังคับใช้กฎหมาย การปิดล้อมตรวจค้นจะทำให้สถานการณ์ แย่ลงใช่หรือไม่ ถ้าเป็นการประเมินอย่างนี้ อันนี้ก็เป็นข้อสังเกตที่ต้องตั้งเอาไว้ เพื่อที่จะ ชี้ให้เห็นว่ามันมีข้อจำกัดอย่างไรในกรอบของยุทธศาสตร์ชาติ

    อ่านในการประชุม

  • อันสุดท้ายเป็นเรื่องนักท่องเที่ยวและการลงทุนที่ตามเป้าค่าเป้าหมาย ต้องเพิ่มขึ้น แต่เห็นได้ชัดเลยว่าสถานการณ์แย่ลงในปีที่ ๕ ของยุทธศาสตร์ชาติ ใน ๕ ปีแรก ของยุทธศาสตร์ชาติ เราพบสัญญาณที่ดูท่าจะไปไม่ค่อยไหวแล้ว

    อ่านในการประชุม

  • อันที่จริงแล้วผมอยากจะชี้ให้เห็นว่ากรอบคิดของยุทธศาสตร์ชาติโดยตัวมันเอง แม้กระทั่งเรื่องการสร้างสันติสุข การสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็น อุปสรรคที่ขัดขวาง เป็นอุปสรรคที่จำกัดทางเลือกของฝ่ายบริหาร ของฝ่ายการเมือง ของรัฐบาล ในอนาคตที่จะเกิดขึ้น กลายเป็นจำกัดให้เรามองเห็นแค่ปัจจัยที่เป็นแค่ผิวนอกของ สถานการณ์ความขัดแย้ง เห็นแค่ตัวงบประมาณ เห็นแค่ตัวความรุนแรง แต่ไม่เห็น ตัวรากเหง้าของปัญหา ไม่เห็นว่าจริง ๆ แล้วปัญหาความชอบธรรมของการปกครอง ของอำนาจรัฐเป็นการผูกขาดอำนาจรัฐจากส่วนกลาง กลายเป็นปัญหาพื้นฐานสำคัญ ที่ต้องแสวงหาทางออกทางการเมือง ต้องแก้ไขปรับปรุงโครงสร้างการบริหารปกครอง ที่กระจายอำนาจมากขึ้น ต้องแสวงหาฉันทามติ แสวงหาข้อตกลงสันติภาพผ่านตัวแสดงต่าง ๆ แต่สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะไม่ได้รับความสนใจให้ความสำคัญในยุทธศาสตร์ชาติเลยครับ กลายเป็นว่าตัวยุทธศาสตร์ชาติเองแม้จะวางเป้าหมาย ๒๐ ปีภาคใต้สงบสุข แต่โดยตัวมันเอง ดูทิศทางจาก ๕ ปีแรกแล้ว ดูทิศทางกรอบคิดของมันแล้วน่าจะเป็นอุปสรรค และเราจำเป็น ที่ต้องมีรัฐบาลที่มีความมุ่งมั่นในทางการเมืองอย่างจริงจังในการจะคลี่คลาย แสวงหา ข้อตกลง แสวงหาฉันทามติใหม่ที่จะแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้กรอบของ ยุทธศาสตร์ชาติแบบนี้ดูเหมือนว่าจะสิ้นหวังแล้วละครับ อันนี้ก็ต้องฝากประเด็นเอาไว้ ให้ข้อคิดสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไปครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ ผม รอมฎอน ปันจอร์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกล วันนี้ผมมีเรื่องเดียวครับ เป็นเรื่องที่เรียกได้ว่ายืดเยื้อยาวนาน แล้วก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกระทบกับพี่น้องประชาชน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องด่านครับ ด่านความมั่นคง ด่านที่เป็นสิ่งแปลกปลอม ที่อยู่ในถนน สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนนี้ถ้าเรานับตั้งแต่วันที่ ๔ มกราคมก็เกือบ ๒๐ ปีแล้ว แล้วก็ตลอดเกือบ ๒๐ ปีนั้นใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ ๔ อำเภอของสงขลาก็อยู่ภายใต้ ๓ กฎหมายพิเศษสำคัญ กฎอัยการศึก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ. ความมั่นคง แต่สิ่งที่ปรากฏให้พี่น้องประชาชนเห็นสัมผัสถึงอำนาจรัฐที่คุกคาม และมีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คน ไม่ว่าจะนับถือศาสนาไหน ไม่ว่าจะขับรถสีอะไร และรุ่น อะไรต้องเจอด่านครับ ด่านในจังหวะเวลานี้เรายังไม่รู้ว่าตอนนี้เหลืออยู่จำนวนเท่าไร แต่ถ้า เพื่อนสมาชิกได้เดินทางไปที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะพบว่ามันหนาแน่นมาก การสำรวจ ของสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพเมื่อปี ๒๕๖๑ พบว่ามีด่านตรวจอยู่ในจังหวัดชายแดน ภาคใต้ถึง ๑,๘๘๗ แห่ง หมายความว่าในแต่ละตำบลก็จะมีด่านความมั่นคงอยู่ประมาณ อย่างน้อย ๖.๕ จุด ในแต่ละอำเภอมีประมาณ ๕๐ ในแต่ละจังหวัดเกือบ ๕๐๐ ทั้งหมดนี้ เพื่ออะไรครับ แน่นอนว่าคงด้วยเป็นเหตุผลด้านความมั่นคง เป็นเหตุผลในเรื่อง ความปลอดภัย แต่ก็มีคำถามเกิดขึ้นอยู่ตลอดว่าประสิทธิภาพของมันในการที่จะตรวจจับ ผู้ก่อความไม่สงบหรือแม้กระทั่งผู้กระทำผิดกฎหมาย แม้ว่าจะมีด่านอยู่ใกล้ ๆ จุดเกิดเหตุ ก็ไม่สามารถที่จะป้องกันเหตุได้ กรณีล่าสุดที่เห็นได้ชัดคือกรณีระเบิดที่มูโนะ ด่านตรวจ ของตำรวจเองอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุไม่กี่ร้อยเมตร นี่ยังไม่รวมนะครับ เรื่องความปลอดภัย ก็มีหลายมิติ การเข้าแต่ละด่านทุกคนต้องประเมินว่าจะถูกตรวจขนาดไหน จะต้องมี การถ่ายรูปหรือไม่ จะมีการคุกคามด้วยอะไรหรือไม่ คำถามที่ทุกคนได้ยินเสมอเวลาเข้าด่าน ก็คือว่าคุณเป็นใคร คุณมาจากไหน คุณจะไปไหน ทั้งหมดนี้เป็นความรู้สึกอึดอัดที่ถูกรัฐ สอดส่องอยู่โดยตลอดนะครับ คำถามที่อยากจะเรียนปรึกษาท่านประธานไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยเฉพาะ กอ.รมน. ภาค ๔ ส่วนหน้า ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ สำนักงานตำรวจ แห่งชาติ และกรมการปกครอง ๖๐ เปอร์เซ็นต์นี่เป็นด่าน ชรบ. ซึ่งตั้งทิ้งร้างไม่มีไฟ แล้วก็ ก่อให้เกิดอุบัติเหตุหลายต่อหลายครั้ง เป็นไปได้หรือไม่ที่หน่วยงานจะได้พิจารณารื้อถอนด่าน บางส่วนที่ไม่จำเป็นแล้วก็กระทบต่อชีวิตของผู้คน แล้วก็ตั้งทิ้งร้างเอาไว้กลางถนนโดยไม่มี เหตุจำเป็นออกไปก่อนนะครับ อาจยังจำเป็นที่จะต้องมีบางจุด แต่ก็ทำให้ผู้คนรู้สึก ปลอดภัยจริง ๆ ท่านประธานครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานที่เคารพครับ กระผม รอมฎอน ปันจอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลครับ ผมขอเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ จำนวน ๑๕ ท่าน สมาชิกจากพรรคก้าวไกล จำนวน ๖ ท่าน คนที่ ๑ นายรังสิมันต์ โรม คนที่ ๒ นางจุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม คนที่ ๓ นายมานพ คีรีภูวดล คนที่ ๔ นายรอมฎอน ปันจอร์ คนที่ ๕ นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ คนที่ ๖ นายปิยรัฐ จงเทพ พรรคเพื่อไทย ๓ ท่าน คนแรก พลเอก พิศาล วัฒนวงษ์คีรี คนที่ ๒ นายสุธรรม แสงประทุม คนที่ ๓ นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ จากพรรคภูมิใจไทย จำนวน ๒ ท่าน คนที่ ๑ นางปทิดา ตันติรัตนานนท์ คนที่ ๒ นายชูกัน กุลวงษา จากพรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๑ ท่าน คือนายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๑ ท่าน คือนายวัชระ ยาวอหะซัน และจากพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน ๑ ท่าน คือนายยูนัยดี วาบา และสุดท้าย จากพรรคประชาชาติ จำนวน ๑ ท่าน คือนายซูการ์โน มะทา ขอผู้รับรองด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ ขอความสันติจงประสบแด่ท่านเพื่อนสมาชิกและเพื่อนร่วมสังคมที่รับฟังกันอยู่ทางบ้าน ในเวลานี้นะครับ ผม รอมฎอน ปันจอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขออภิปรายเพื่อสนับสนุนญัตติที่ผมได้ยื่นเอง ที่จะขอให้ สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา ติดตามและส่งเสริมการสร้างสันติภาพ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี ผมควรต้องเกริ่นก่อนว่าอย่างที่ท่านประธานได้กล่าวไป ข้างต้นเมื่อสักครู่ ญัตติของผมเป็น ๑ ใน ๓ ญัตติ ตอนแรกผมเข้าใจว่า ๓ ญัตติ ตอนนี้ มี ๔ ญัตติแล้วที่เสนอเข้ามา คือนอกจากตัวผมเองแล้วก็มีเพื่อนจากพรรคประชาชาติ จากพรรคภูมิใจไทย แล้วล่าสุดก็คือจากพรรคเพื่อไทยด้วย ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ต้อง บอกว่าน่ายินดีก็เพราะว่าจริง ๆ แล้วถ้าเราดูบันทึกการประชุมในสภาสมัยที่แล้ว จริง ๆ มีญัตติทำนองเดียวกันยื่นเข้ามา ๖ ญัตติด้วยกันจากหลากหลายพรรคการเมืองทีเดียว ผมต้องขออนุญาตพูดถึงญัตติแรกเมื่อปี ๒๕๖๓ ของคุณหมอเพชรดาว โต๊ะมีนา จากพรรคภูมิใจไทย จากคุณกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ พรรคประชาชาติในปีเดียวกัน คุณอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ จากพรรคพลังประชารัฐในเวลานั้น คุณชวลิต วิชยสุทธิ์ จากพรรคเพื่อไทย จริง ๆ แล้วก็มีจากพรรคอนาคตใหม่ด้วย จากคุณพรรณิการ์ วานิช ในช่วง ปี ๒๕๖๓ หลังจากที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบไปก็มีเพื่อนสมาชิกของผมคือคุณณัฐวุฒิ บัวประทุม เสนอยื่นเข้ามา ๖ ญัตติด้วยกัน แต่จนแล้วจนรอดสภาในสมัยที่แล้วก็ไม่ได้มีการพิจารณา ตั้งวาระนี้ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้เลย ที่ผมพยายามจะไล่เรียงให้ท่านประธาน และเพื่อนสมาชิกดูถึงประวัติศาสตร์ของการเดินทางของญัตตินี้ในช่วง ๔-๕ ปีที่ผ่านมา เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วข้อเสนอในการตั้งกรรมาธิการวิสามัญเป็นข้อเสนอที่ดำเนิน มาเนิ่นนานเลยจากหลายพรรคการเมืองด้วยกัน จริง ๆ เป็นข้อเสนอที่ดำเนินมีข้อเสนอนี้ อยู่นอกสภาจากประชาชนหลายกลุ่ม จากภาคประชาสังคมทั้งชาวพุทธ ชาวมุสลิมที่เห็นว่า ตัวกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่เป็นกระบวนการทางการเมืองที่รับรู้อยู่อย่างจำกัด เป็นการดำเนินการโดยฝ่ายนโยบาย โดยหน่วยงานความมั่นคง แต่เห็นควรว่ารัฐสภา สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้น่าจะได้มีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพ มีส่วนในการแก้ไขปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านพื้นที่กลาง ผ่านพื้นที่การสนทนาแห่งนี้ซึ่งเป็นที่สถิตของอำนาจ อธิปไตย เป็นที่อยู่ร่วมกันของตัวแทนของประชาชนจากทั้งประเทศ แทนที่การแก้ไขปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้จะจำกัดอยู่ที่มือของหน่วยงานราชการ หน่วยงานความมั่นคง แล้วก็ การดำเนินการเจรจาสันติภาพที่อาจจะไปคุยกันในต่างประเทศแล้วก็รับรู้อยู่อย่างจำกัด ที่ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญก็เพราะว่าเราต้องยอมรับอย่างนี้ ผมมีข้อสังเกตอยู่ ๒-๓ ประการว่า เรื่องที่เรากำลังอยากจะเรียกร้องให้ทางสภามีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญนี้

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องใหญ่ จริง ๆ แล้วเกือบ ๒๐ ปีมานี้มีผู้สูญเสียชีวิตไปแล้ว ๗,๐๐๐ กว่าคน เราใช้งบประมาณไปแล้ว ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาท แต่เรื่องที่ใหญ่กว่านั้นคือโดยตัวเนื้อหาสาระของตัวปัญหาเองมันเกี่ยวข้องกับอำนาจอธิปไตย ของประเทศไทย เกี่ยวข้องกับความชอบธรรมในการปกครองเหนือพื้นที่และดินแดน ของจังหวัดชายแดนภาคใต้เหล่านั้น แล้วก็เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ความเป็นมา เรื่องนี้ เรื่องใหญ่ครับ เป็นเรื่องที่การตัดสินใจสำคัญ ๆ เราอาจจะกระทำได้ระดับหน่วยงานก็ได้ แต่เรื่องนี้มันใหญ่เกินตัวเหล่านั้น และจำเป็นอย่างยิ่งที่ข้อตกลงหรือว่าฉันทามติที่จะเกิดขึ้น ควรต้องมีการปรึกษาหารือกันในสภาแห่งนี้ หลายปีมานี้มีการใช้กลไกสภา มีการตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญอยู่หลายชุดในช่วงแรก ๆ ของความขัดแย้ง ความรุนแรง แต่เมื่อความรุนแรง มันดำเนินอย่างยาวนานก็ทำให้ดูเหมือนว่าเราจะชาชินกับสถานการณ์ความไม่สงบเหล่านั้น แล้วก็ปล่อยมือให้กับหน่วยงานราชการ ให้กับรัฐบาล ให้กับฝ่ายบริหารในการทำงานเหล่านี้ ข้อเท็จจริงตรงนี้ชัดเจนมากขึ้น โดดเด่นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐประหาร ปี ๒๕๕๗ ที่ดูเหมือนว่าจะพยายามกีดกัน พยายามกันไม่ให้รัฐสภาแห่งนี้เข้าไปมีส่วนร่วม ในการให้คำแนะนำ ติดตามและตรวจสอบการดำเนินนโยบายเหล่านี้

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๒ ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญก็เพราะว่าจริง ๆ แล้วโดยในสาระสำคัญ ของมัน มันเชื่อมโยงกันหลายประเด็น ท่านประธานลองพิจารณาจากนโยบายการบริหาร และการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เองที่จริง ๆ แล้วก็มีหลายมิติ หรือแม้กระทั่งแผนงาน บูรณาการขับเคลื่อนจังหวัดชายแดนภาคใต้เองซึ่งเชื่อมโยงหน่วยงานหลากหลายหน่วยงาน ๑๓ กระทรวง ๔๕ หน่วยงาน หรือแม้แต่มิติในการมองก็เชื่อมโยงกับภาระรับผิดชอบของ ฝ่ายนิติบัญญัติที่ซ้อนเหลื่อมกันหลายคณะกรรมาธิการด้วยกัน แน่นอนคงมีคณะกรรมาธิการ ความมั่นคงแห่งรัฐด้วย แต่ต้องไม่ลืมว่ามีทั้งมิติทางศาสนาที่ผู้คนต่างศาสนิกจะอยู่ร่วมกัน ในสังคมพหุวัฒนธรรมที่อาจจะโยงกับเรื่องคณะกรรมาธิการการศาสนา โยงกับเรื่อง คณะกรรมาธิการการศึกษาด้วยเพราะเกี่ยวข้องกับภาษา เกี่ยวข้องกับการศึกษา ในวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย แน่นอนคงต้องเกี่ยวข้องกับคณะกรรมาธิการทหาร คณะกรรมาธิการการตำรวจด้วย และหรือแม้กระทั่งคณะกรรมาธิการการปกครอง และสุดท้ายก็โยงกับมิติในด้านการต่างประเทศด้วย เชื่อมโยงกับขอบข่ายงานของ คณะกรรมาธิการต่างประเทศด้วย นี่คือเหตุผลว่าทำไมสภาแห่งนี้ควรจะต้องมีการจัดตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อติดตาม ศึกษา และสนับสนุนการดำเนินนโยบาย ของรัฐบาลในการพูดคุยเจรจาสันติภาพ

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๓ ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่ารัฐสภาแห่งนี้ทำหน้าที่ได้มากกว่านี้ แม้ว่าที่ผ่านมาการพูดคุยสันติภาพจะเป็นแค่ส่วนหนึ่งของแนวทางการแก้ไขปัญหา ส่วนหนึ่ง หมายความว่าอย่างไรครับ หมายความว่า บรรดาการเจรจาสันติภาพหรือการพูดคุย สันติภาพเป็นหนึ่งในวิธีการที่ดำเนินควบคู่ไปกับมาตรการอื่น ๆ หรือว่าแนวทางอื่นของ ภาครัฐ ทั้งการป้องกันรักษาความสงบ การรักษาความปลอดภัย การสนับสนุนเรื่อง การศึกษา การสนับสนุนเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ปัญหาของมันก็คือว่าแม้จะแตกต่าง หลากหลาย หัวใจสำคัญก็คือการจัดวางความสำคัญที่ดูเหมือนจะไม่ชัดเจนมากนัก นี่คือเหตุผลที่รัฐสภาน่าจะต้องช่วยสะท้อนให้เห็นว่าการสร้างสันติภาพนั้น จุดเน้น จุดสำคัญ จุดคานงัดจริง ๆ อยู่ที่โต๊ะเจรจา อยู่ที่การแสวงหาข้อตกลง

    อ่านในการประชุม

  • ใน Slide ที่ขึ้นโชว์ในเวลานี้ คือผลลัพธ์หนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นหลักสำคัญของกระบวนการสันติภาพ แต่ดูเหมือนว่าจะเป็น ที่รับรู้กันน้อยมากในรัฐสภาแห่งนี้ ในสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ หรือแม้กระทั่งในสังคมไทย จริง ๆ แล้วเอกสารทั้ง ๒ ชิ้นที่อยู่บนจอในเวลานี้คือเอกสารฉันทามติทั่วไปว่าด้วยการพูดคุย สันติภาพในปี ๒๕๕๖ ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หรือเมื่อปีที่แล้วเป็นเอกสารหลักการทั่วไป ว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่มีการลงนามกัน เอกสารทั้ง ๒ ชุดนี้เป็นผลลัพธ์ที่เป็น ผลมาจากการดำเนินงานร่วมกันของหลายฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากรัฐบาลไทย และขบวนการต่อสู้ปาตานีที่เปิดโต๊ะเจรจา แต่จนกระทั่งถึงบัดนี้หลังจากที่เราได้รัฐบาลใหม่ ดูเหมือนว่ากระบวนการเหล่านี้จะชะงัก และจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐสภาจะคอยกระตุ้นเตือน และสนับสนุนตัวกระบวนการนี้ให้เดินหน้าต่อไป และนี่อาจจะเป็นสิ่งที่เป็นนวัตกรรมในทาง การเมืองของกระบวนการสันติภาพด้วยถ้ารัฐสภาแห่งนี้มีคณะกรรมาธิการที่เดินคู่ไปกับ การดำเนินนโยบายของฝ่ายบริหาร เพราะจะเป็นหลักประกันที่ให้ความมั่นใจ ให้ความเชื่อมั่น ต่อประชาชนในพื้นที่ หรือแม้กระทั่งต่อผู้เห็นต่างที่จะสามารถบรรลุข้อตกลงและสร้าง ฉันทามติที่จะอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมไทยนี้ต่อไปได้อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้าง สันติภาพโดยภาพรวมโดยที่แกนกลางของมันคือตัวกระบวนการสันติภาพ เมื่อหลายเดือนก่อน ผมมีโอกาสได้อยู่ในวงคุยที่มีเสียงสะท้อนจากผู้ที่พิการทางขา คือเขาเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในวงด้วย แล้วเขารู้สึกประทับใจมากที่ได้สะท้อนเสียงของเขา เขาพูดถึงเรื่องความปลอดภัย เขาพูดถึง ความปลอดภัยในความหมายที่ปลอดภัยจากความรุนแรง แต่ในขณะเดียวกันก็พูดถึง ความปลอดภัยที่จะได้แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาถึงปัญหาที่เขาเผชิญ ผมคิดว่า อันนี้เป็นข้อคิดที่น่าสนใจ และผมเชื่อว่าในรัฐสภาแห่งนี้ซึ่งเป็นพื้นที่ของการสนทนา พื้นที่ ของการพูดคุย น่าจะเป็นพื้นที่ในการขยายโอกาสในการสร้างสันติภาพ และเน้นย้ำให้รัฐบาล มุ่งมั่นจริงจังทำงานเพื่อตอบสนองต่อความปลอดภัย ความสงบ สันติภาพที่แน่นอน ผ่านมาจากความขัดแย้งกันอย่างสร้างสรรค์ และด้วยเหตุนี้ผมจะขออนุญาตสนับสนุนญัตตินี้ และเรียกร้องให้เพื่อน ๆ สมาชิกช่วยอภิปรายสนับสนุนในการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสันติภาพโดยรวมของประเทศนี้ ขอบพระคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม รอมฎอน ปันจอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ก็ถือว่า ตื่นเต้นมากครับท่านประธาน ถือว่าการอภิปรายของสมาชิกจากหลากหลายพรรคการเมือง ตลอด ๓-๔ ชั่วโมงมานี้เรียกได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์เลยก็ได้ครับ เพราะว่าประเด็นปัญหา เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ร้างจากการอภิปรายในสภาแห่งนี้มาสักระยะใหญ่แล้ว และวันนี้ที่เห็นสมาชิกจากแต่ละฝ่ายลุกขึ้นสนับสนุนญัตตินี้ และเห็นความจำเป็นนี้ ก็ทำให้เห็นว่าการสร้างสันติภาพดูเหมือนจะกลับมามีความหวังอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าคงต้อง วิพากษ์วิจารณ์ตรง ๆ ว่าเราอาจจะเห็นทิศทางของการแก้ไขปัญหา หรือว่าการสร้าง สันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลใหม่พร่าเลือนไปหน่อย ไม่ค่อยชัดเจนเท่าไร แต่ก็ต้องฝากความหวังว่าบทบาทของสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้จะค้ำจุนค้ำยัน แล้วก็สนับสนุน การสร้างสันติภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากฝ่ายบริหารด้วย แล้วก็ฝ่ายผู้เห็นต่างและประชาชน ในพื้นที่มากขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร ก็คงต้องติดตามดู ต้องฝากให้ทั้งท่านประธาน แล้วก็ พี่น้องประชาชนที่ติดตามการทำงานของพวกเราในสภาแห่งนี้ได้ติดตามดูว่าเราจะทำงาน กันอย่างไร และจะเพิ่มการมีส่วนร่วมอย่างที่ท่านสมาชิกเมื่อสักครู่ได้พูดถึงบทบาทที่ควรจะเป็น ของสภาผู้แทนราษฎรในกระบวนการสันติภาพ หนึ่งในเรื่องที่สำคัญคือนอกจากการสร้าง ความเข้าใจต่อประเด็นปัญหา หัวใจสำคัญคือการขยายแล้วก็สร้างการมีส่วนร่วมของ ประชาชนให้มากขึ้น ผมอยากจะรบกวนเวลาของสภาแห่งนี้สักเล็กน้อย เพื่อที่จะประมวล ให้เห็นว่าบทบาทหน้าที่ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญนี้จะทำอะไรบ้าง ดูเหมือนจะกว้างขวาง พอสมควร เป็นหน้าที่อันหนึ่งที่กรรมาธิการที่จะได้รับการแต่งตั้งจากสภานี้ต้องตีกรอบ บทบาทให้ชัดเจน ผมพบว่าตลอด ๓-๔ ชั่วโมงมานี้เราพูดถึงสันติภาพในความหมายที่กว้าง แล้วก็ดูเหมือนจะมีความชัดเจนมากกว่ากรอบคิดแบบสันติสุขที่มุ่งเน้นไปเรื่องของความสงบ หรือว่ามุ่งเน้นเรื่องสันติภาพในเชิงลบที่ต้องการเพียงแต่การลดความรุนแรง แต่สันติภาพในความหมายที่เรากำลังอภิปรายนี้ขอบเขตกว้างไกลไปถึงเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง พูดถึงเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์ พูดถึงกิจการชายแดนที่มีอนาคต เรากำลังพูดถึง การกระจายอำนาจด้วย เหมือนที่หลายท่านได้พูดถึง Decentralization ในความหมาย การคืนอำนาจ การมอบอำนาจให้กับท้องถิ่นในการจัดการตนเอง มีการพูดถึงบทเรียน ของต่างประเทศ ประสบการณ์ของความขัดแย้งที่ได้ข้อตกลงสันติภาพ แล้วก็แปลงข้อตกลง เหล่านั้นสู่การสร้างสันติภาพ การฟื้นฟูความทรงจำผ่านกระบวนการที่พูดถึงความยุติธรรม ในระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการเยียวยาด้วยเงินเท่านั้น ไม่ได้แค่การฟื้นหาความยุติธรรม ในกระบวนการยุติธรรมปกติเท่านั้น แต่หมายถึงการพูดถึงการรักษาความทรงจำ การจัดการ กับความจำทรงจำที่เจ็บปวดของผู้คนไปด้วย เรากำลังพูดถึงบทบาทของรัฐสภาในการปรับปรุง กฎหมายที่มีอยู่ที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างสันติภาพ หรือว่าเป็นข้อจำกัดที่ทำให้เราไม่สามารถ บรรลุถึงข้อตกลงสันติภาพได้ และรวมถึงการบัญญัติกฎหมายใหม่ซึ่งอันนี้ก็จะเป็นหน้าที่ ของเราในอนาคต ซึ่งต้องคาดหวังว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญจะปูพื้นฐานไปสู่การแปลง บรรดาข้อตกลง หรือว่าฉันทามติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนี้มาสู่รูปธรรมได้อย่างไร เมื่อครู่นี้ สมาชิกของสภาแห่งนี้ได้พูดถึง 3D Demilitarization Deliberation แล้วก็ Decentralization ซึ่งก็เป็นภาพรวมที่น่าสนใจนอกเหนือจากการปรับทิศทางไปสู่การปรับปรุงระบบงาน ด้านความมั่นคงแล้ว เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย และกระจายอำนาจไปด้วย ในเวลาเดียวกัน ทั้งหมดนี้คงจะต้องคาดหวังว่ากรรมาธิการวิสามัญจะนำเอาประเด็น ที่เป็นข้อเสนอของเพื่อน ๆ สมาชิกเหล่านี้นั่งลงแล้วก็วางกรอบในการทำงานร่วมกันข้ามฝ่าย ข้ามพรรค เพื่อท้ายที่สุดแล้วจะเพิ่มบทบาทของสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ให้มีส่วนร่วมต่อ การสร้างสันติภาพ และผมเชื่อว่าจะหนุนเสริมการทำงานของรัฐบาลไปด้วยในเวลาเดียวกัน

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้าย ผมขออนุญาตใช้เวลานี้สักเล็กน้อยพูดถึงเดือนตุลาคม เรามีเหตุการณ์ ทางการเมืองเยอะแยะ รวมทั้งเหตุการณ์ตากใบที่จะย้อนกลับมาครบวาระอีกครั้ง ในวันที่ ๒๕ ตุลาคมนี้ และเป็นวันครบรอบที่จะเป็นวันเริ่มต้นการนับถอยหลังอายุความ ของโศกนาฏกรรมนี้ด้วย อันนี้เป็นความท้าทายใหญ่ เมื่อสักครู่นี้สมาชิกหลายท่านพูดถึง ประวัติศาสตร์บาดแผล เราคงได้อภิปรายกันในคณะกรรมาธิการวิสามัญ

    อ่านในการประชุม

  • อีกเรื่องหนึ่ง จริง ๆ แล้วถ้าเราสามารถสร้างกลไกภายในสภาแห่งนี้ ก็สามารถช่วยฝ่ายบริหารในการพินิจพิเคราะห์วิเคราะห์ได้อย่างรอบด้าน คือการพิจารณา การบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ในระหว่างที่เรากำลังประชุมกันอยู่ ๓-๔ ชั่วโมงมานี้ ผมทราบว่า ทางรัฐมนตรีก็ได้มีการพบปะหารือกับ สส. มีการพบปะหารือกับข้าราชการฝ่ายความมั่นคง ในช่วงเวลาเดียวกันที่เรากำลังคุยนี้ เพื่อที่จะพิจารณาการต่อหรือไม่ต่ออายุการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมกำลังนึกจินตนาการขึ้น สมมุติว่าในเวลาต่อมา กลไกของสภามีความเข้มแข็งขึ้น แล้วก็มีการปรับเปลี่ยน ปรับปรุงกฎหมายที่ยึดโยง กับหลักการรัฐสภาเป็นใหญ่ หรือ Parliamentary Supremacy การให้ความสำคัญ กับบทบาทของรัฐสภามากขึ้น เผลอ ๆ ว่าการต่ออายุในแต่ละครั้งที่เป็นเหตุผลด้าน ความมั่นคง แต่ว่ามีการลดการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ขนาดนี้ เราน่าจะได้มีการอภิปรายกันในสภาแห่งนี้ด้วย แล้วก็คาดหวังว่ากรรมาธิการวิสามัญนี้ จะเป็นพื้นฐานของการปูทางไปสู่การสร้างระบบการเมืองที่ประชาชนไว้วางใจได้ และสร้าง ข้อตกลงสันติภาพที่เราจะอยู่ร่วมกันได้ในสังคมไทยแห่งนี้ ขอบพระคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม รอมฎอน ปันจอร์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมขออนุญาตแสดงความคิดเห็น เพิ่มเติมจากบทสนทนาของเพื่อน ๆ สมาชิก ผมนั่งฟังมาหลายท่านแล้วก็ตัดสินใจขออนุญาต ลุกขึ้นแสดงความคิดเห็นด้วยนะครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่จริง ๆ ครับ ฟังจากหลายท่าน ที่อภิปรายมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนสมาชิกก่อนหน้านี้ ผมพบว่าอย่างนี้ครับ ท่านประธาน ผมพบว่าโครงการที่มีขนาดใหญ่ขนาดนี้การเสนอให้มีการพิจารณารายละเอียดนี้ เป็นสิ่งจำเป็น จริง ๆ โดยจุดยืนตั้งแต่เบื้องต้นผมต้องกล่าวก่อนว่าผมสนับสนุนให้มีการตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญในการพิจารณาเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง เพราะว่าถ้าฟังดี ๆ ถ้าท่านพี่น้อง ที่ติดตามการรับฟังการอภิปรายในครั้งนี้ก็จะเห็นว่าเราเต็มไปด้วยความหวัง ความคาดหวังว่า โครงการ Megaproject อย่างนี้จะเปลี่ยนโฉมหน้าของภาคใต้ จะเปลี่ยนโฉมหน้าของ ประเทศไทยไปอีกทางหนึ่งเลย ผมเข้าใจว่าความคาดหวังแบบนี้คงคล้าย ๆ กับการอภิปราย เมื่อปีที่แล้วในเรื่องของคลองไทยด้วย แต่นอกเหนือจากความคาดหวังแล้วยังมี ความหวาดเสียวด้วย มันมีความหวาดเสียวจากประสบการณ์ของการพัฒนาใน โครงการขนาดใหญ่ในลักษณะเช่นนี้ อย่างเมื่อสักครู่เพื่อนสมาชิกได้อภิปรายบทเรียนจาก ภาคตะวันออกไป มีการตั้งข้อสังเกตถึงผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจจะถูกให้ค่าน้อยไป เมื่อพิจารณาจากความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตามเพื่อนสมาชิกหลายท่านก็ได้ อภิปรายไปด้วยว่าแม้ว่าจะมาพิจารณาดูผลการศึกษาความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจเอง ก็อาจจะเจอปัญหา ซ้ำร้ายยังมีมิติมุมมองจากในทางภูมิศาสตร์ ในทางวิทยาศาสตร์ ในทางคณิตศาสตร์ที่น่าสนใจด้วย แต่ผมอยากจะย้ำประเด็นที่ผมสนใจที่อาจจะฉีกไป เพื่อเพิ่มเติม แล้วก็ขออนุญาตฝากให้กับทางคณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะจัดตั้งขึ้นได้พิจารณาด้วย คือมิติในทางการเมืองครับท่านประธาน มิติในทางการเมืองในความหมายที่ว่าโครงการ ขนาดนี้มันเป็นโครงการที่จะชี้ขาดว่าอนาคตของภาคใต้และประเทศนี้จะไปทางไหน เดิมพันมันสูงจริง ๆ ครับ และเพราะเหตุนี้นี่เองจึงจำเป็นที่ว่าต้องมีกระบวนการในทาง การเมืองที่มีส่วนร่วมที่มากพอ รับฟังความคิดเห็นที่มากพอ ปัญหาก็คือเรายังอยู่ในประเทศ ที่การรวมศูนย์อำนาจสูงอยู่มากครับ และการคิด Megaproject ในลักษณะนี้ก็เป็นการคิด จากศูนย์กลางเป็นหลัก ผมไม่แน่ใจว่าเสียงของผู้คนในพื้นที่จะได้รับการรับฟัง และให้คุณค่า ให้น้ำหนักมากขนาดไหน ที่ผมตั้งข้อสังเกตอย่างนี้ก็เพราะเห็นว่ามีบทเรียนครับ มันมีประสบการณ์ที่ผ่านมาว่าโครงการ Megaproject หลายครั้งที่ผ่านมาเสียงของ ผู้คนจริง ๆ อาจจะถูกบังไม่ให้ได้ยินเท่าไรนัก ผมเลยคิดว่าโดยกระบวนการผมเห็นด้วยกับ เพื่อนสมาชิกท่านพงศธรเมื่อสักครู่ว่าตรงกระบวนการมีส่วนร่วมสำคัญมาก ๆ ที่ผม อยากจะย้ำตรงนี้ก็เพราะว่าอะไรรู้ไหมครับ เพราะว่านอกเหนือจากเขตพื้นที่โครงการ ในระยะหลังนี้เรากลับมาดูที่เขตรอยต่อระหว่างชุมพรกับระนอง แต่เมื่อสักครู่นี้ก็มี เพื่อนสมาชิกได้อภิปรายเพื่อสนับสนุนให้มีการพิจารณาการเชื่อมโยงจาก Zone สงขลา แล้วก็จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย แล้วก็ประกบไปกับความคิดเกี่ยวกับการพัฒนา เขตเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยเหมือนกันก็มีหลายท่านพูดถึง ผมก็ขออนุญาต รบกวนชี้แจงเหตุผลอันหนึ่งที่อยากจะให้คณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณา ก็คืออย่าลืมว่า อนาคตเหล่านี้ผู้คนในพื้นที่ก็ควรต้องกำหนดด้วย ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มันมี ความคิดชนิดหนึ่งเป็นมโนทัศน์อันหนึ่งที่พูดถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้คน คือสิทธิความเป็นเจ้าของ คือการกำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่ที่กำหนดจากส่วนกลาง อาจกลายเป็นปัญหาในทางการเมืองได้ถ้าผู้คนในพื้นที่ไม่ได้รับการยอมรับ แล้วผมก็ต้อง เน้นย้ำให้ท่านประธาน และเพื่อนสมาชิกทราบด้วยว่าเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้เอง ก็ยังมีข้อพิพาท มีความขัดแย้งอยู่ และที่สำคัญคือเรามีกระบวนการสันติภาพอยู่ที่พยายาม จะแสวงหาข้อตกลงที่เห็นพ้องต้องกันระหว่างตัวแสดงต่าง ๆ เพราะฉะนั้นการตัดสินใจ จะชี้ว่าพื้นที่จะไปทางซ้าย หรือว่าจะไปทางขวา ในกรณีภาคใต้ตอนบนก็อาจจำเป็นที่จะต้อง พิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ทุกคนรอบข้างโครงการในโครงการเหล่านั้นอย่างจริงจัง ในขณะเดียวกันในพื้นที่เป็นพื้นที่ความขัดแย้งก็ต้องยิ่งระมัดระวังอย่างยิ่งเลยครับ ต้องพิจารณาอย่างยิ่งเลยครับ เพราะว่าอะไรครับ เพราะการพัฒนาเหล่านี้จะงดงาม จะมี ความชอบธรรมในทางการเมืองมาก ถ้าที่มาของมันมาจากการเห็นพ้องต้องกัน มาจาก ข้อตกลง มาจากข้อตกลงสันติภาพ ทั้งหมดนี้ผมก็คงฝากประเด็นมิติในทางการเมือง มิติในทางความชอบธรรมในทางการเมือง ไม่ใช่แค่เรื่องความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่ เรื่องผลกระทบของสิ่งแวดล้อมเท่านั้นที่เราต้องให้ความสำคัญ แต่ยังต้องคิดด้วยว่า กระบวนการและที่มาของมันมีความชอบธรรมในทางการเมืองมากน้อยเพียงใด ก็คงจะฝาก ประเด็นให้ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาไตร่ตรองในรายละเอียดต่อไปครับ ขอบพระคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ ท่านผู้ชี้แจง และเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่อยู่แห่งนี้ แล้วก็สำหรับผู้ที่ติดตามอยู่นะครับ ผม รอมฎอน ปันจอร์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ต้องขอเรียนขอบคุณท่านผู้ชี้แจง ที่ได้เกริ่นอธิบายเนื้อหาสาระของรายงานชิ้นนี้ ต้องบอกเลยครับว่ามองจากมุมของ สภาผู้แทนราษฎรต้องบอกว่าเรารอคอยรายงานฉบับนี้มาเกือบ ๑๐ ปี ต้องบอกอย่างนั้น เพราะว่าเมื่อสักครู่นี้ท่านผู้ชี้แจงบอกว่าจริง ๆ แล้วฉบับนี้เป็นฉบับที่ ๓ ตามพระราชบัญญัติ การบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๕๓ ที่จะต้องมีการพิจารณาให้สภา รับทราบ แต่ว่าฉบับแรกในปี ๒๕๕๕ โอเคครับผ่านสภาผู้แทนราษฎร แต่ฉบับที่ ๒ เข้าใจว่าผ่าน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเป็นผลพวงจากรัฐประหาร ฉะนั้นความชอบธรรมของตัวนโยบาย ที่จะยึดโยงกับผู้แทนของปวงชนมันก็ขาดหายไป ครั้งนี้นับได้ว่าเป็นครั้งสำคัญที่นโยบาย ดับไฟใต้ ถ้าชื่อเล่นที่ผมอยากจะเรียกนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดน ภาคใต้นี้ ผมอยากจะเรียกว่านโยบายดับไฟใต้นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • แต่ที่น่าสนใจครับ ทุกท่านครับ ท่านประธานครับ ที่น่าสนใจคือในนโยบายฉบับนี้มี ๒ อัน ก็คือตัวนโยบายการบริหาร และการพัฒนา แล้วก็มีตัวเล็ก ๆ คล้าย ๆ เหมือนจะอยู่ในภาคผนวกแต่แปะเข้ามาด้วย ก็คือแผนปฏิบัติการด้านการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเมื่อสักครู่นี้ ผู้ชี้แจงบอกว่าเป็นกลไกในการแปลงไปสู่ภาคปฏิบัติ แต่ผมอยากจะเล่าให้ฟัง อยากจะ วิจารณ์ด้วยว่าอันที่จริงแล้วสถานภาพของเอกสารฉบับนี้จริง ๆ มาจากสาแหรก คนละตระกูลกันนะครับ นโยบายที่เราพิจารณานี้มาจากพระราชบัญญัติในปี ๒๕๕๓ ตามมาตรา ๔ ฟังความคิดเห็นประชาชน แต่ถูกลดความสำคัญลงไปในยุค คสช. ตั้งแต่ รัฐประหารเป็นต้นมา เพราะฉะนั้นนโยบายที่ฟังความเห็นของประชาชนที่ทำโดยหน่วยงาน พลเรือนก็ถูกลดระดับไป ในขณะที่อีกตัวหนึ่งคือแผนปฏิบัติการ ซึ่งชื่อเดิมก็เป็นแผนปฏิบัติ การป้องกันและแก้ไขปัญหาความไม่สงบก็เป็นแผนระดับ ๓ ของ คสช. อันนี้คือตัวจริง เพราะกำหนดแผนงบประมาณ ก่อนหน้านี้เท่าที่ผมตรวจสอบ ของจริงที่กำหนดโครงการ และแผนงานต่าง ๆ มันอยู่ในแผนระดับ ๓ นี้เอง แต่ผมเข้าใจว่านี่คือการพยายามจะ ประนีประนอมโดยการรวมทั้ง ๒ อย่างนี้ให้ใกล้กัน แม้ว่าจะไม่ค่อย Smooth เท่าไร ในความเห็นของผมนะครับ ทีนี้อย่างที่ทราบก็คือว่ามันมี ๓ ฉบับในรอบ ๑๐ ปีนี้ถือว่า เป็นนวัตกรรมในทางนโยบายเช่นกันที่จะต้องให้สภารับทราบ แต่ผมเข้าใจว่าในช่วงของ การอภิปรายถกเถียงกันเมื่อ ๑๐ กว่าปีที่แล้วว่าสภาควรจะให้ความเห็นชอบหรือไม่ ก็เป็นประเด็นนะครับ แต่ถึงอย่างไรก็ตามการให้ตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ ได้พิจารณานโยบายในการดับไฟใต้ผมว่าก็เป็นทิศทางในเชิงบวกนะครับ ทีนี้ผมอยากจะย้ำ ให้เห็นว่าข้างในนี้ซ่อนอะไรไว้บ้าง ผมอยากจะ Highlight และชื่นชมความคงเส้นคงวา ของการริเริ่มถ้อยคำเหล่านี้เป็นถ้อยคำที่พูดถึงนโยบายที่ไม่เคยมีมาก่อนในนโยบายเกี่ยวกับ จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากนับย้อนไปตั้งแต่มีการศึกษาในปี ๒๕๐๙ เป็นต้นมา เอกสาร นโยบายเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เคยมีสิ่งนี้มาก่อน เริ่มขึ้นจริง ๆ ในปี ๒๕๕๕ ในนโยบายฉบับแรก และยังคงเส้นคงวาถึงปัจจุบัน อันนี้ต้องขอชื่นชมทาง สมช. คืออะไรครับ คือการปะทะกันโดยตรงกับเรื่องวิธีการของกระบวนการสันติภาพและปัญหาใจกลาง คือเรื่องการจัดสรรอำนาจที่ยังไม่ลงตัว หรือการพูดถึงการเปิดโอกาสให้มีการพูดคุย ถกเถียงกันถึงเรื่องการกระจายอำนาจที่เหมาะสมในพื้นที่ เรื่องนี้เคยเป็นเรื่องต้องห้ามมาก่อน ไม่สามารถพูดถึงได้นะครับ แต่นโยบายของ สมช. ฉบับนี้ตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ เป็นต้นมาก็ยังคงมี ถ้อยความนี้เก็บไว้ ซึ่งต้องขอบอกเลยว่าขอชื่นชมกับการมีถ้อยความนี้เอาไว้ แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็มีปัญหา ผมมี ๓-๔ ประเด็นภายใต้เวลาอันจำกัด ท้ายสุดแล้วผมพบว่านโยบายฉบับนี้ ภาษาดีมาก และมันเป็นภาษาที่อาจจะดีเกินไป เพราะว่ามันดีทุกอย่าง ทั้ง ๖ วัตถุประสงค์ ที่ระบุนี้เป็นภาษาที่ไหลลื่น ความแหลมคม และทิศทาง จุดเน้น จุดเน้นหนัก การเรียงลำดับ ความสำคัญในการวิเคราะห์ปัญหา ในการประเมินสถานการณ์ และการกำหนดวัตถุประสงค์ เลยเบลอ ๆ แบนราบเท่ากันหมด ซึ่งเป็นไปได้ครับ เพราะนี่อาจจะเป็นผลมาจากการต่อรองกัน ของบรรดาความคิดของหน่วยงานด้านความมั่นคงต่าง ๆ จำเป็นต้องทำให้ภาษามันนุ่มนวล อ่อนนุ่ม แต่ด้วยความที่เป็นภาษาที่อ่อนนุ่มนี้เองครับมันเลยไม่เห็นทิศทาง ไม่เห็นจุดเน้น ที่ชัดเจน

    อ่านในการประชุม

  • อันที่ ๒ ที่เห็นได้ชัดคือการระบุบ่งชี้ปัญหาที่กลายเป็นว่ารวมทุกอย่างเข้าไว้ ด้วยกัน เราเลยไม่ทราบกันจริง ๆ ว่าตกลงแล้วปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตกลงแล้ว หัวใจของมันคืออะไร นี่คือปัญหาตั้งแต่ต้นทางของการออกแบบนโยบายเลย

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้าย เรื่องถ้อยคำยุทธศาสตร์ ผมสนใจเรื่องถ้อยคำครับท่านประธาน ผมทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการเมืองของความขัดแย้งและอาศัยนโยบายการบริหาร และการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการวิเคราะห์ด้วย เป็นนโยบายฉบับแรก ครั้งนี้ผมก็พบว่าเรามีคำว่าสันติสุข ๑๓ คำ ไม่มีคำว่าสันติภาพเลย และเมื่อสักครู่ผมสังเกตผมลุ้นอยู่นะครับ ท่านผู้ชี้แจง ท่านรองเลขาธิการ ท่านจงใจที่จะ ไม่เลือกใช้คำใดคำหนึ่ง ท่านพูดถึงนโยบายการพูดคุย แล้วก็เว้นว่างไปโดยที่ไม่ระบุชัดเจนว่า สันติสุขหรือว่าสันติภาพ ท่านประธานครับ ผมอาจจะต้องชี้แจงนิดหนึ่งตรงนี้ว่าสันติสุข เป็นถ้อยคำของ คสช. ๑ เดือนหลังการรัฐประหาร เรื่องแรกที่ท่านผู้นำการก่อรัฐประหาร และคณะทำเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือการเปลี่ยนชื่อกระบวนการ พูดคุยสันติภาพที่มีก่อนหน้านั้นเป็นการพูดคุยสันติสุข อีกนิดหนึ่งท่านครับ ความหมายของผม ก็คือว่าสันติภาพและสันติสุขในความหมายของคณะรัฐประหารในเวลานั้น สันติสุขคือ การพยายามตีกรอบให้การแก้ไขปัญหาเป็นเรื่องภายในประเทศ ระแวดระวังไม่ให้มี การยกระดับ ซึ่งสำหรับผมแล้วมีการวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดหลายปีที่ผ่านมานี้ว่าการตีกรอบ และควบคุมความคิดเช่นนี้อาจจะเป็นอุปสรรคในการสร้างสันติภาพในระยะยาว เพราะว่า เราต้องเปิดให้มีการถกเถียงถึงทางเลือกต่าง ๆ อย่างตรงไปตรงมา ถ้าพื้นที่ของการถกเถียง เหล่านี้หดแคบลง โอกาสในการที่จะหาวิธีการอยู่ด้วยกันโดยสันติวิธีอาจจะน้อยลง ผมคงมีเวลาสรุป ประมาณนี้ แต่ชี้ให้เห็นว่าเรื่องนี้ถ้าให้ผมแก้ไขผมก็อยากจะแก้ไขแค่จุดเดียว ท่านผู้ชี้แจงครับ ผมอยากจะแก้ไขคำว่า สันติสุข เป็นคำว่า สันติภาพ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ผม รอมฎอน ปันจอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล ขออนุญาตซักถามอีกนิดหนึ่งเพื่อความชัดเจน จากท่านผู้ชี้แจงนะครับ เมื่อสักครู่ท่านผู้ชี้แจงได้พยายามอธิบายแล้วก็ตอบคำถามสนทนา กลับมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องหลักเลยครับ คือเรื่องในเล่มนี้มี ๒ เอกสารอยู่ด้วยกันใช่ไหมครับ เมื่อสักครู่ท่านผู้ชี้แจงพยายามจะชี้แจงว่าทั้ง ๒ เอกสารนี้สอดประสานกันเดินคู่กันนะครับ แต่ผมจะขอความกรุณาครับ ขอความชัดเจนอีกนิดหนึ่งผมเห็นความแตกต่างที่เป็นเรื่อง ที่อาจจะเป็นกรอบที่สำคัญมากที่แตกต่างกันของเอกสาร ๒ ชิ้นนี้ ที่ผมถามนี้เพื่อว่า อีกไม่กี่เดือนหลังจากนี้สภาแห่งนี้จะต้องมีการพิจารณาแผนงานบูรณาการขับเคลื่อน การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องงบประมาณนะครับ ผมเลยอยากรู้ว่า อันไหนเป็นหลักกันแน่ จุดที่แตกต่างอยู่ตรงนี้ครับ ผมคงไม่ลงลึกในรายละเอียดนะครับ อยู่ที่หน้า ๑๖ ทุกท่านครับ ท่านผู้ชี้แจงครับ ท่านประธานครับ หน้า ๑๖ นี้คือเรื่องกรอบ แนวคิดของเอกสารนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนในเอกสาร ชิ้นที่ ๒ คือแผนปฏิบัติการอยู่ที่หน้า ๗๐ คำถามของผมก็คือว่าตกลงแล้วกรอบแนวคิดไหน ที่เป็นธง เป็นกรอบคิดหลักที่ สมช. วางเป็นพื้นฐานทั้งในการดำเนินนโยบาย ผมจะเอาอันนั้น เป็นหลัก คือผมเห็นความต่างตรงนี้ครับ ในกรอบแนวคิดของแผนนโยบายการบริหาร มีอยู่ ๔ ประการ สรุปโดยย่อ ข้อ ๑ คือเรื่องน้อมนำพระราชดำริ เรื่องเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ข้อ ๒ ยึดมั่นในหลักการสันติวิธี ยึดมั่นเรื่องหลักนิติธรรม ข้อ ๓ คือเน้นเรื่องการมีส่วนร่วม ข้อ ๔ คือการยอมรับบนพื้นฐานความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทีนี้ในแผนปฏิบัติการ ดันมี ๕ ข้อซึ่งดูเหมือนเป็นคนละเรื่องเลยครับ เป็นกรอบแนวคิดพื้นฐานเหมือนกัน ซึ่งถ้าผม เข้าใจไม่ผิด อันนี้มาจากแผนแม่บทด้านความมั่นคง คืออะไรครับ มีกรอบแนวคิดคือ

    อ่านในการประชุม

  • อันที่ ๑ มุ่งดำเนินการต่อจุดสมดุลหลักของปัญหาและแนวทางปฏิบัติของ กระบวนการในพื้นที่ โดยการลดขีดความสามารถของกระบวนการและแนวร่วมทุกระดับ

    อ่านในการประชุม

  • อันที่ ๒ ป้องกันเหตุรุนแรงที่จะเกิดขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • อันที่ ๓ ระงับยับยั้งการบ่มเพาะเยาวชนเพื่อจัดตั้งมวลชนสนับสนุน

    อ่านในการประชุม

  • อันที่ ๔ ยุติการขยายแนวคิดที่ถูกบิดเบือนจากหลักศาสนาที่ถูกต้อง

    อ่านในการประชุม

  • อันที่ ๕ ให้ความสำคัญกับการขยาย ความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศ

    อ่านในการประชุม

  • คือใน ๔ ข้อแรก กับ ๕ ข้อหลังนี้คำถามผม คืออันนี้ไม่ใช่เป็นเนื้อของ ตัวนโยบายหรือแผนปฏิบัติการนะครับ แต่คำถามผมก็คือว่า สมช. ให้ความสำคัญกับเอกสาร นโยบายและทิศทางของการแก้ไขปัญหาอันไหนกันแน่ ระหว่าง ๔ ข้อแรก กับ ๕ ข้อหลัง อันนี้จะเป็นแผนที่สำหรับการประเมินการทำงานของภาครัฐต่อไปหลังจากนี้ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม รอมฎอน ปันจอร์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขออนุญาตใช้เวลาหารือ ท่านประธานด้วยการใช้โอกาสนี้ในการรำลึกถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากใบ เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ หรือว่าเมื่อ ๑๙ ปีที่แล้ว ผมต้องใช้เวลาตรงนี้เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่าเหตุการณ์นั้น เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญ ผู้คนตายไป ๘๕ คน ผู้คนถูกจับกุมคุมตัว ๑,๓๗๐ กว่าคน มีผู้สูญหายไป ๗ คน ตลอดเกือบ ๒๐ ปีที่ผ่านมาหนึ่งในเรื่องที่เป็นการทวงถามมาตลอดคือการนำคนที่ต้อง รับผิดชอบมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมครับ การสลายการชุมนุมในวันนั้นสร้างปม บาดแผลในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือว่า ปาตานี ทำให้คนกังขาว่าอำนาจรัฐจะมีความชอบธรรมในการปกครองผู้คนอย่างเป็นสุข ได้อย่างไร มีความทรงจำร่วม มีความทรงจำเป็นบาดแผลที่ติดต่อต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ความยุติธรรมยังเป็นเรื่องที่ต้องทวงถามครับ อย่างวันนี้ผมใช้เวลาในที่นี้ไปพร้อม ๆ กับ กิจกรรมที่เกิดขึ้นในอำเภอตากใบ หลายจุดมีวงคุย มีการรำลึกถึงเหตุการณ์นี้ และมีการเริ่ม นับถอยหลังกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพราะว่าถ้านับจากวันนี้เป็นต้นไปเราจะเหลือ เวลาอีก ๑ ปี สำหรับโอกาสที่กระบวนการยุติธรรมไทยจะสามารถอำนวยความยุติธรรม ให้ความเป็นจริง หาคนผิดมาลงโทษ หาคนมารับผิดชอบต่อเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้ นี่คือโอกาสสำคัญที่จะเหลืออยู่ใน ๓๖๐ กว่าวันที่เหลือ วันนี้ผมขออนุญาตให้เพื่อน ๆ จากพรรคก้าวไกลได้ส่งข้อความนี้ร่วมกับพี่น้องประชาชนที่เห็นอกเห็นใจนี้ ไม่ใช่แค่ คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมเชื่อว่าโศกนาฏกรรมแบบนี้คนไทยทั้งประเทศก็ไม่อยาก ให้เห็นนะครับ ผมขอใช้โอกาสนี้ร่วมนับถอยหลังไปด้วยกันกับทุกท่าน ขอบพระคุณครับ ท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานที่เคารพ เรียนท่านผู้เสนอและเพื่อน ๆ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้นะครับ ผม รอมฎอน ปันจอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล แบบบัญชีรายชื่อนะครับ ผมขออนุญาต มีส่วนร่วมในโมเมนต์ หรือว่าในห้วงขณะทางประวัติศาสตร์ของสภาแห่งนี้ ในการที่ สภาของเราแห่งนี้ได้มีโอกาส ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมือง แห่งประเทศไทย พ.ศ. .... วันนี้ผมมีโอกาสได้ฟังเพื่อนสมาชิกหลายท่าน ได้เห็นกับตาว่า เพื่อนสมาชิกหลายท่านนอกจากเนื้อหาสาระที่ได้พูดสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้แล้ว ภาพลักษณ์ก็ไม่ต่างกัน มีความแตกต่างกันในแง่ของการแสดงตัวตนที่หลากหลายผ่านเสื้อผ้า ผ่านหมวก เหมือนคล้าย ๆ ของผมนะครับ แม้กระทั่งท่านประธานเอง ดูเหมือนว่าเรากำลัง ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงทัศนคติบางอย่าง อย่างค่อยเป็นค่อยไป คือการ ยอมรับความหลากหลาย การเคารพ ยอมรับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของผู้คนในประเทศนี้ ท่านประธานครับ นี่คือโมเมนต์ในทางประวัติศาสตร์ที่ผมอยากจะถือโอกาสนี้มีส่วนร่วมด้วย ผมใส่หมวกซอเกาะห์ นี่เขาเรียกว่า หมวกซอเกาะห์ ครับท่านประธาน หลายคนก็สงสัยว่า มันคืออะไร ผมก็ไม่เคยมีโอกาสได้อธิบายนะครับ หมวกซอเกาะห์นี้ก็เป็นหมวกที่ใส่ในชุด ที่เป็นทางการของคนมลายู แม้ว่าผมเองจะพูดภาษามลายูไม่ค่อยได้ แต่ผมรู้สึกว่าการที่ สภาอันทรงเกียรติแห่งนี้ ที่ประชุมที่รวบรวมผู้แทนของปวงชนชาวไทยอยู่ในที่เดียวกันแห่งนี้ วิธีการที่เราจะเคารพความแตกต่างหลากหลายได้คือการแสดงตัวตนของตนเอง แล้วผมว่า นี่น่าจะเป็นหลักคิดเดียวกันกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ คือการยอมรับว่าประเทศนี้มีคน หลายแบบ การยอมรับว่าพวกเราอยู่ด้วยกันโดยที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แล้วผมขอใช้สิทธิ ในที่นี้แสดงตนเองในฐานะที่เป็นคนมลายู เพราะว่าผมก็เห็นด้วยกับเพื่อนสมาชิกบางท่าน นี่คือเรื่องที่คาใจ อึดอัดใจผู้คนจำนวนหลายล้านคนมาในประวัติศาสตร์ของเรานะครับ การที่เรามีช่องให้กรอกว่าเชื้อชาติอะไร สัญชาติอะไร การเลือกที่จะตอบว่าเชื้อชาติไทย เป็นทางเลือกอันจำกัดมาก เพราะพวกเขาเหล่านั้นหรือแม้กระทั่งรวมทั้งผมเองด้วยกังวลว่า เราจะถูกเลือกปฏิบัติ การมีสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการเป็นการ เปลี่ยนโฉมหน้าของสังคมไทยในแง่ที่เป็นไปในทิศทางบวกนะครับ เพื่อนสมาชิกหลายท่าน อภิปรายแล้ว หลายคนพูดถึง Soft Power พูดถึงอำนาจละมุนในการที่จะทำให้ประเทศไทย ได้รับการยอมรับ มีตำแหน่งแห่งที่ในสังคมโลก มีที่มีทางให้กับคนที่ไร้เสียง ในจังหวัด ชายแดนภาคใต้ในพื้นที่ที่ผมจากมานี้ เราเองก็มีชนชาติพันธุ์หลายชาติพันธุ์ แน่นอน คนส่วนใหญ่ในพื้นที่นั้นคือคนมลายู แต่ก็มีคนมานิที่เป็นคนพื้นเมืองการยอมรับตัวตน ที่หลากหลายเหล่านี้ คือก้าวที่สำคัญที่เราจะเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกัน ในสังคมไทย ความคิดเกี่ยวกับความมั่นคง จากเดิมความมั่นคงเท่ากับความเหมือนกัน เรากำลังเคลื่อนย้ายไปสู่ความคิดที่ว่า ความมั่นคงคือความเบ่งบานหลากหลายของผู้คนครับ และผมคิดว่า นี่คือหลักคิดที่ผมพร้อมที่จะสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมือง แห่งประเทศไทย พ.ศ. .... เพื่อให้สภาแห่งนี้ได้มีการพิจารณาต่อไป แล้วก็เชื่อว่าเพื่อน ๆ สมาชิก แล้วก็ผู้ที่นำเสนอจะมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนโฉมหน้าของประเทศนี้ให้เราสามารถ อยู่ร่วมกัน มีความหมายของความมั่นคงในแบบใหม่ มีพื้นที่ให้กับคนที่เคยถูกกดทับ ไร้เสียง ให้มีที่ยืนนะครับ แล้วสำหรับผมถ้าประเทศไทยเปลี่ยน โอกาสที่เราจะสร้างสันติภาพ โอกาส ที่เราจะแสวงหาข้อตกลงฉันทามติที่จะอยู่ร่วมกัน ในพื้นที่ความขัดแย้งอย่างจังหวัดชายแดน ภาคใต้ก็มากขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นจึงขอสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ครับท่านประธาน ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานและเพื่อน ๆ สมาชิกในสภาแห่งนี้นะครับ ผม รอมฎอน ปันจอร์ สส. แบบบัญชีรายชื่อจากพรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอใช้เวลา ๒ นาทีนี้พูด ๓ เรื่อง ขอสไลด์ด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนใน ๒ นาที ท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก เป็นเรื่องของความมั่นคงปลอดภัย จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องที่ค้างคาใจ ของพี่น้องประชาชนมายาวนาน มีกรณีก็คือการตั้งฐานปฏิบัติการ ของทางเจ้าหน้าที่ เป็นฐานปฏิบัติการทางการทหาร เป็นของตำรวจ เป็นของ อส. แล้วแต่นะครับ แต่ว่าอยู่ใน ชุมชนครับ ฐานนี้อยู่ที่เทศบาลตำบลปะลุรู อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ตั้งอยู่ใกล้กับ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเลยครับท่านประธาน แล้วก็เคยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นหลายครั้งเมื่อปีที่แล้วมี เหตุการณ์เกิดขึ้น ชาวบ้านก็อยากจะให้มีการเคลื่อนย้ายฐานนี้ออกเพื่อที่จะให้มีความมั่นคง ปลอดภัยกับพี่น้องประชาชน ตอนนี้ยังไม่ย้ายและเห็นว่ามีการปรับปรุงใหม่ตามภาพเล็ก ชาวบ้านก็เริ่มส่งสัญญาณกังขา อยากปรึกษาท่านประธานไปยัง กอ.รมน. ไปยังสำนักงาน ตำรวจแห่งชาติว่า ตกลงแล้วจะมีการพิจารณาทำให้พี่น้องประชาชนปลอดภัยมากกว่านี้ หรือเปล่า

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ เรื่องความมั่งคั่งครับ เมื่อสักครู่เพื่อน สส. ของเราก็ได้พูดไปแล้ว โคบาลครับ แต่ว่าตัวมาแบบบาง ๆ เลยที่ชายแดนใต้ ตอนนี้เป็นประเด็นมาก พี่น้อง ประชาชนก็กังขาว่าตกลงแล้วจะสร้างความมั่งคั่งให้ใครกันแน่ งบประมาณ ๑,๕๐๐ ล้านบาท แต่ว่าส่งตัวผอม ๆ อมโรคมาไม่ตรงปก เพื่อนของผมทีมงานผมไปที่อำเภอมายอ จังหวัด ปัตตานีเมื่อวานใน ๕๐ ตัวนี้ Tax บัตรประชาชนของสัตว์มีแค่ ๑ ตัวเท่านั้นที่ตรง ๔๙ ตัวนี้ ไม่ตรงเลยนะครับ ก็ฝากทาง ศอ.บต. ฝากทางกรมปศุสัตว์ ซึ่งตอนนี้ก็ปัดกันพัลวันให้ช่วย ตรวจสอบด้วยเรื่องนี้

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้าย เป็นเรื่องความยั่งยืน เป็นเรื่องน้ำท่วมครับ น้ำท่วมยั่งยืนได้อย่างไร เมื่อวานนี้มีน้ำขึ้นมาอีกแล้ว เมื่อเดือนที่แล้วเราเจออุทกภัยใหญ่สุดในรอบกว่า ๗๐ ปี เป็นภัยพิบัติซ้ำซากเราต้องเผชิญกับสถานการณ์นี้อีกครั้งหนึ่งแล้ว แต่การฟื้นฟูเยียวยา ยังไม่ชัดว่าจะมีการซ่อมบ้านเมื่อไร พี่น้องประชาชนตอนนี้บางคนบ้านพังทั้งหลังก็ต้องไป อาศัยบาลาเซาะห์ หรือว่าศาลาละหมาด หรือว่าในที่ต่าง ๆ ตอนนี้ก็เดือดร้อนมากครับ ฝากท่านประธานส่งถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเร่งรัดการฟื้นฟูเยียวยาด้วยท่านประธาน ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานครับ ขอความสันติสุขมีแต่ท่านประธาน มีแต่เพื่อนสมาชิกในสภาแห่งนี้ แล้วทุกท่านที่กำลัง ติดตามอยู่ด้วยนะครับ กระผม รอมฎอน ปันจอร์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แล้วก็ เป็นหนึ่งในผู้เสนอกฎหมายประกบเข้าไปด้วยในครั้งนี้ครับ ผมอยากจะใช้เวลาสั้น ๆ ในการที่ จะกล่าวขมวดกล่าวสรุป แล้วก็ชี้ให้เห็นว่าการยกเลิกคำสั่งของหัวหน้า คสช. ที่ ๑๔/๒๕๕๙ มีประโยชน์ต่อเรา ต่อสังคมไทยอย่างไร และนี่คือความเห็นพ้องที่สภาแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลได้แสดงออกมาจากผู้อภิปรายทั้ง ๑๐ ท่าน ผู้เสนอกฎหมาย ๓ ร่าง ผมอยากจะพูด ๒ เรื่องเพื่อปิดท้ายตรงนี้สั้น ๆ ครับ เรื่องมรดกกับเรื่องความไว้วางใจ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องมรดกนี้มี ๒ แง่มุม เป็นเรื่องมรดกที่เรารับต่อมา ตกทอดมาถึงเรา แล้วก็ เป็นเรื่องที่เราจะต้องส่งต่อไปให้ลูกหลาน ไปให้คนรุ่นหลัง กฎหมายนี้จริง ๆ แล้วมีไม่กี่มาตรา แต่ว่าเป็นมาตราที่สำคัญที่จะวางหมุดหมายของการกำหนดทิศทางของการแก้ไขปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อเรื้อรังมา ๒๐ ปีแล้ว และถ้านับย้อนหลังกลับไปก็เป็น ๑๐๐ ปี มันเป็นมรดกที่เราต้องจัดการโดยใช้อำนาจของสภาผู้แทนราษฎร เพราะว่ามันเป็นคำสั่งของ คณะรัฐประหาร อย่างที่หลายท่านได้อภิปรายไป จริง ๆ แล้วไปดูเนื้อในมันก็จะมีอยู่แค่ ๒-๓ ประเด็นก็คือเรื่องว่าด้วยสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อันนี้คือใช้อำนาจของ ของคณะรัฐประหาร แล้วก็ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายในระดับ พระราชบัญญัติบางมาตรา แต่คำสั่งของ คสช. ก่อนหน้านี้มันมีหลายตัวที่เป็นอำนาจฝ่ายบริหารอันนั้นไม่มีปัญหาเท่าไร อันนี้เราต้องลงแรงกันเยอะหน่อย พูดง่าย ๆ ก็คือเราต้องใช้แรงกันเยอะในการที่จะยกเลิก มรดกของคณะรัฐประหารที่ล้มล้างประชาธิปไตยในประเทศนี้ แล้วก็ตัดความสัมพันธ์หรือว่า ตัดโอกาสความเป็นไปได้ในการที่จะสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาแห่งนี้อยู่ใน จุดของประวัติศาสตร์ในการที่จะรื้อฟื้นกลไก Set Zero กลับไปสู่กลไกที่เคยออกแบบกันมา เมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อนคือสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นมรดกที่เราต้องล้างครับ แต่ผมจะขออนุญาตพูด Highlight เรื่องหนึ่งครับ เรื่องมรดกที่สำคัญเป็นเทคโนโลยีในทาง การเมือง เทคโนโลยีในทางการปกครองที่ประเทศนี้ใช้ออกแบบแล้วก็ตกทอดมาตั้งแต่ สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ผมพูดอย่างนี้ก็เพราะว่าหลายเรื่องที่อยู่ในพระราชบัญญัติ การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ และส่งมอบอำนาจเหล่านั้นให้สภาที่ปรึกษา นี่สำคัญมาก และตกทอดมาจากรัฐประศาสโนบายของรัชกาลที่ ๖ ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีที่แล้ว จริง ๆ ถ้านับปี ๒๕๖๗ เข้าไปก็ ๑๐๑ ปีครับ ปีที่แล้ว ศอ.บต. หรือว่าหลายหน่วยงานก็พยายามจะรำลึกถึง พูดถึงตัวข้อเสนอ ๖ ประการ ของรัชกาลที่ ๖ ที่กำหนดเอาไว้ว่าใครก็ตามจะไปปกครองในดินแดนที่เรียกว่ามณฑลปัตตานีในเวลานั้น ต้องระมัดระวังให้ดี ผมขออนุญาตพูดถึงข้อ ๕ ในรัฐประศาสโนบายนะครับ ข้อ ๕ บอกว่า ข้าราชการที่จะแต่งตั้งออกไปประจำตำแหน่งในมณฑลปัตตานีพึงเลือกเฟ้นแต่คนมีนิสัย ซื่อสัตย์ สุจริต สงบเสงี่ยม เยือกเย็น ไม่ใช่สักแต่ว่าจะส่งไปบรรจุให้ตำแหน่งหรือส่งไปเป็น ทางลงโทษเพราะเลว เมื่อจะส่งไปต้องสั่งสอนชี้แจงให้รู้ลักษณะทางการอันพึงประพฤติ ระมัดระวังโดยหลักที่กล่าวได้ว่าในข้อ ๑ และข้อ ๔ ข้างบนนั้น หมายถึงก่อนหน้านั้นนะครับ ผู้ใหญ่ในท้องที่พึงสอดส่อง ฝึกฝน อบรม กันต่อ ๆ ไปในคุณธรรมเหล่านั้น ไม่ใช่คอยให้ พลาดพลั้งลงไปก่อนแล้วจึงจะว่ากล่าวโทษ ที่ผมต้องหยิบยกตัวบทสำคัญเมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน ขึ้นมาเพื่อชี้ให้เห็นว่ามันมีร่องรอยตกทอดถึงเรา เมื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้น ในปี ๒๔๗๕ ประชาธิปไตยค่อย ๆ เติบโตขึ้น เบ่งบานสะสมประสบการณ์ หลาย ๆ กฎหมาย ที่ให้ความสำคัญของเสียงประชาชน เรามีตัวแทนของประชาชนมาจากการเลือกตั้ง อย่างเช่น ผู้คนในสภาแห่งนี้ ความเป็นตัวแทนของประชาชนก็สำคัญมากขึ้น และนี่คือที่มาของข้อเสนอ ในการอภิปรายในสภาแห่งนี้เมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อน ในช่วงปี ๒๕๕๒ ถกเถียงกันว่าตกลงแล้ว การใช้อำนาจบริหารของ ศอ.บต. ในเวลานั้น ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสมัยสงครามเย็นนะครับ เกิดขึ้นในปี ๒๕๒๔ หนึ่งในเรื่องที่สำคัญที่สุดของการปกครองแบบพิเศษอย่างที่เมื่อสักครู่ ท่านจาตุรนต์ ฉายแสง เพื่อนสมาชิกของผม ท่านประธานกรรมาธิการวิสามัญสันติภาพ ได้กล่าวถึง คือการปกครองพิเศษในความหมายที่ดินแดนเหล่านั้น ผู้คนเหล่านั้นมีความพิเศษ บางอย่างที่ข้าราชการที่จะทำหน้าที่ลงไปทำงานที่นั่นต้องระมัดระวัง อำนาจที่สำคัญที่สุด ของ ศอ.บต. ในช่วง ๒๕๒๔ เป็นต้นมาก่อนที่จะมีการยุบในปี ๒๕๔๕ คือการย้ายข้าราชการ ที่ประพฤติไม่ดีครับ แต่หลังปี ๒๕๕๒ เรามีการยกร่างพระราชบัญญัติการบริหารราชการ จังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๕๓ หนึ่งในเรื่องที่สำคัญคืออำนาจในการให้คำแนะนำนี้ เป็นหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอให้ เลขาธิการครับ ผมขออนุญาตทวนอีกทีหนึ่ง อำนาจที่สำคัญเลยคือการเสนอความเห็นต่อ เลขาธิการ เพื่อประกอบการพิจารณาในการสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายพลเรือนออกไปจาก จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามมาตรา ๑๒ และหากมีกรณีฉุกเฉินหรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ประธานสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเสนอความเห็น ไปก่อนก็ได้ แล้วรายงานให้สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทราบโดยเร็ว อันนี้คือการมอบอำนาจให้ตัวแทนของประชาชน ตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้ง ทางอ้อม ของกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ได้เสนอความเห็น และอำนาจตรงนี้หลังการรัฐประหาร ๒๕๕๗ โดนตัดออกไป ที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้เพื่อชี้ให้เห็น ว่าเรากำลังอยู่ในพัฒนาการ อยู่ในเส้นทางของการออกแบบการบริหาร การจัดการ การปกครอง จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และเราจำเป็นต้องส่งต่อมรดกนี้ครับ เรา Set Zero รอบนี้ และอย่างที่ท่านจาตุรนต์เมื่อสักครู่ได้กล่าวสรุปไปว่าถึงเวลาที่เรา อาจจะต้องช่วยกันออกแบบว่าเราจะปกครองดินแดนและผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างไรให้มีความยุติธรรม ให้มีความเป็นธรรม และสร้างสันติภาพ ยุติความรุนแรง ยุติสงคราม ที่เกิดขึ้นมาต่อเนื่องมาหลายชั่วอายุคน นี่คือภารกิจของเรา และเราเริ่มต้นจากกฎหมาย ฉบับนี้ครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • อีกประเด็นหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญคือเรื่องความไว้วางใจ ผมเพิ่งเรียนรู้จาก การเรียนแล้วก็จากการทำงานในฐานะ สส. ว่าการเมืองคือการไว้วางใจครับ คำสั่งของ คสช. ๑๔/๒๕๕๙ หัวใจของมันเลยคือการไม่ไว้วางใจประชาชนครับ การไม่ไว้วางใจประชาชน สะท้อนออกมาจากหลายเรื่องเลยครับ โดยเฉพาะอำนาจที่เขาตัดออกไปจากสภาที่ปรึกษา อย่างเมื่อสักครู่ที่ผมเล่าถึงอำนาจที่สำคัญที่สุดคือเรื่องการจัดการกับข้าราชการที่ประพฤติตัว ไม่ชอบ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ลดเงื่อนไข ปัญหาตรงนี้เป็นปมสำคัญของ การบริหารปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด ความไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นก็เพราะว่า สายตาจากมุมมองทางการทหารนั้นมองข้าศึกอยู่เสมอ และมักจะมองใครต่อใครที่อาจจะ พูดจาแปลกแปร่งออกไป มีความเห็น มีความคิดที่แปลกแปร่งออกไปเป็นข้าศึกอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้ยังมีอยู่ในปัจจุบันครับ และทั้งหมดนี้สิ่งที่สภาแห่งนี้จะทำได้ก็คือการออกแบบ การปกครองการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้บนฐานของการไว้วางใจและเชื่อมั่นต่อ ประชาชน ทั้งเรื่องมรดกและความไว้วางใจเป็นเรื่องสำคัญที่ผมอยากจะกล่าวสรุปในครั้งนี้ แล้วก็อยากจะให้ท่านประธานแล้วก็เพื่อนสมาชิกได้ใคร่ครวญต่อว่าต่อไปจากนี้เราจะส่งต่อ มรดกที่มอบความไว้วางใจให้กับประชาชนมากกว่านี้ได้อย่างไร ผมเห็นด้วยกับท่านจาตุรนต์ ฉายแสง ว่านี่คือถึงเวลาแล้วที่เราอาจจะต้องช่วยกันออกแบบครับ หนึ่งในหน้าที่ที่ผมแล้วก็ ท่านจาตุรนต์ แล้วก็เพื่อนสมาชิกบางท่านในสภาแห่งนี้กำลังทำอยู่ก็คือในคณะกรรมาธิการ วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ปัตตานี กำลังทำงานอยู่ เรากำลังคิดใคร่ครวญว่าเราจะสามารถ เปลี่ยนหนทาง เปลี่ยนแนวทาง ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปสู่การสร้าง สันติภาพที่ยั่งยืนได้อย่างไร หลายเรื่องเราจำเป็นต้องแตะ และเรื่องที่สำคัญที่สุดคือ การบริหารการปกครองพื้นที่และผู้คนแถบนั้นที่มีความสัมพันธ์ที่ดีอย่างไร จะมีความสัมพันธ์ ที่เหมาะสมอย่างไรกับรัฐส่วนกลาง นี่คือโจทย์ใหญ่ และแน่นอนครับ คิดว่าอีกไม่นาน หลังจากนี้คงได้มีการนำเสนอข้อเสนอเหล่านั้นมาสู่สภาแห่งนี้ การยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ ๑๔/๒๕๕๙ เป็นหมุดหมายสำคัญผมขอย้ำอีกที เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางไกลของการ รื้อโครงสร้างของประเทศนี้ที่จะโอบอุ้ม โอบรับ ความแตกต่างหลากหลายและความขัดแย้ง ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการประชาธิปไตยไทย นี่เป็น ส่วนหนึ่งของชุดกฎหมายที่ผมอยากจะเรียกในที่นี้ว่าเป็นชุดกฎหมายสันติภาพครับ เราอาจจะต้องเริ่มต้นจากการรื้อมรดกเก่า ๆ ที่คิดแบบทหาร ในขณะเดียวกันก็ลดบทบาท ทางการทหาร เพิ่มพื้นที่ทางการเมือง เพิ่มพื้นที่ให้เสียงที่แตกต่างได้มีที่มีทางในระบอบ การเมือง ในสถาบันการเมืองของประเทศนี้ สิ่งเหล่านี้จะเป็นหลักประกันว่ากระบวนการ สันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่จะมีความหมายจริง ๆ ข้อตกลงสันติภาพจะได้รับการถกเถียง อภิปรายกันในสภาแห่งนี้ นอกสภาแห่งนี้ ทำให้เรื่องสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องของประเทศนี้ เป็นชะตากรรมของเรา ไม่ใช่แค่ผู้คนที่บาดเจ็บล้มตายในจังหวัด ชายแดนภาคใต้เท่านั้น เสียงพวกเขาสำคัญก็จริง แต่อนาคตเราต้องร่วมออกแบบครับ ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตจบการสรุปเพียงเท่านี้ แล้วก็ขอให้เพื่อนสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรแห่งนี้ได้ลงความเห็นอย่างเห็นพ้องต้องกัน และแน่นอนครับคงได้มีข้อสังเกต สำคัญ ๆ ที่เก็บเอาไว้จาก ๑๐ ท่านที่เสนอไปก่อนหน้านี้ ในกรรมาธิการวิสามัญคงได้อภิปราย กันต่อครับ ขอบพระคุณครับท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานครับ ผม รอมฎอน ปันจอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลครับ วันนี้ผมมีเรื่องที่จะขอปรึกษาท่านประธานแล้วก็ฝากไปถึงหน่วยงานนะครับ เรื่องมูโนะครับ เรื่องโศกนาฏกรรมที่มูโนะครับ เราผ่านเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ ๒๙ กรกฎาคมปีที่แล้ว ตอนนี้ เข้าสู่เดือนที่ ๗ กำลังเข้าสู่เดือนที่ ๘ เร็ว ๆ นี้นะครับ แผนการฟื้นฟูต่าง ๆ มองจากสายตา ของชาวบ้านที่ผมไปลงพื้นที่มา พบปะพูดคุยกับพวกเขายังไม่ค่อยคืบหน้าเท่าไรครับ ท่านประธาน อาจจะต้องทวงถามครับ แล้วเงินที่จะช่วยเหลือเยียวยาตอนนี้ การจัดการ ไปถึงไหน อย่างไร มีติดขัดเงื่อนไขโน่น นี่ นั่นนะครับ มีบ้านเรือน ๗๖ หลัง ที่พังทั้งหลังที่อยู่ ในบัญชีจะต้องมีการฟื้นฟูและสร้างใหม่ ตอนนี้ยังไม่ได้มีการเริ่มสักหลังหนึ่งเลยครับ ถามไปถามมาเข้าใจว่า ตอนนี้ติดอยู่ที่คณะกรรมการกองทุนช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย ทางราชการในพื้นที่ก็ฝากมาด้วยนะครับว่า อยากให้มีการเร่งประชุมโดยด่วน เพื่อวางกำหนด เงื่อนไข ท่านประธานครับ ต้องเข้าใจว่าสภาพของปัญหามันใหญ่มาก บ้านหลายร้อยหลัง ผู้คนที่เกี่ยวข้องตลาดวายหมดเลยครับ ตลาดชายแดนหายไปหมดเลย บ้านเรือนต้องฟื้นฟูกันใหม่ มันจำเป็นที่จะต้องมีการประชุมหารือ ตอนนี้มันยืดเยื้อมาเข้าสู่เดือนที่ ๗ แล้ว ก็อยากจะฝาก ท่านประธานถึงทางคณะกรรมการกองทุนช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย ให้เร่งประชุม เพื่อกำหนดกรอบที่ชัดเจนที่มีข้อหารือไปนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องสุดท้ายฝากนิดเดียวครับ คงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุย สันติสุขครับท่านประธาน ตอนนี้มีการพูดคุยเป็นครั้งที่ ๗ ระหว่างผู้แทนของรัฐบาลไทย กับขบวนการ BRN เมื่อ ๒ สัปดาห์ที่ผ่านมา กำลังเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อครับ เพราะกำลัง พิจารณาแผนสันติภาพร่วมกัน ที่จะดำเนินการหลังจากนี้ต้องอาศัยความมุ่งมั่นการผลักดัน ของนายกรัฐมนตรี ฝ่ายบริหารต้องจริงจังมากกว่านี้ครับ ผลักดันให้การดำเนินตามแผนนั้น สำเร็จลุล่วงด้วยดีครับท่านประธาน ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม