นายจเด็จ ธรรมธัชอารี

  • กราบเรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่าน กระผม นายแพทย์ จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขออนุญาต กราบเรียนรายงานผลการดำเนินงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้รับการจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น ๑๙๘,๘๙๑.๗๙ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๖.๔๒ ของงบประมาณของประเทศ โดยจำแนกเป็น

    อ่านในการประชุม

  • ๑. งบบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว ๑๕๘,๒๙๔.๔๒ ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราเหมาจ่ายรายหัว ๓,๓๒๙.๒๒ บาท ต่อประชากรผู้มีสิทธิหลักประกัน สุขภาพแห่งชาติ๔๗.๕๔๗ ล้านคน เป็นงบประมาณทางการแพทย์ ๙๙,๙๕๒.๘๓ ล้านบาท และเงินเดือนผู้ให้บริการหน่วยบริการภาครัฐ ๕๘,๓๔๑.๖๐ ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ในการคำนวณเป็นลักษณะเหมาจ่ายรายหัวเป็น ๗ รายการ บริการเหมาจ่ายรายหัว รายการแรก คือรายการผู้ป่วยนอกทั่วไป ได้รับการจัดสรรคิดเป็นต่อผู้มีสิทธิ ๑,๓๐๕.๐๗ บาทต่อผู้มีสิทธิ รายการที่ ๒ คือผู้ป่วยในทั่วไป คิดเป็นบาทต่อผู้มีสิทธิ ๑,๔๖๐.๕๙ บาทต่อผู้มีสิทธิ รายการที่ ๓ บริการกรณีเฉพาะ ๓๙๕.๑๔ บาทต่อผู้มีสิทธิ รายการที่ ๔ ฟื้นฟูสมรรถภาพ ด้านการแพทย์ ๑๘.๗๓ บาทต่อผู้มีสิทธิ รายการที่ ๕ แพทย์แผนไทย ๑๙.๐๐ บาทต่อผู้มีสิทธิ รายการที่ ๖ ค่าบริการทางการแพทย์ที่เบิกจ่ายในลักษณะงบลงทุน ๑๒๘.๖๙ บาทต่อผู้มีสิทธิ และรายการที่ ๗ งบรายจ่ายเพื่อเพิ่มเกณฑ์คุณภาพตามผลงานบริการ ๒ บาทต่อผู้มีสิทธิ รวมทั้งสิ้นคิดเป็นเหมาจ่ายรายหัว ๓,๓๒๙.๒๒ บาทต่อผู้มีสิทธิ

    อ่านในการประชุม

  • ๒. เป็นงบบริการทางการแพทย์นอกเหมาจ่ายรายหัว ๔๐,๕๙๗.๓๗ ล้านบาท โดยมีรายละเอียดเป็น ๑๐ รายการย่อย ได้แก่ รายการที่ ๑ บริการผู้ติดเชื้อ HIV และผู้ป่วยเอดส์ ๓,๗๖๘.๑๑ ล้านบาท รายการที่ ๒ บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ๙,๗๓๑.๓๔ ล้านบาท รายการที่ ๓ บริการควบคุมป้องกันรักษาโรคเรื้อรัง ๑,๑๕๔.๗๘ ล้านบาท รายการที่ ๔ ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัย และพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ๑,๔๙๐.๒๙ ล้านบาท รายการที่ ๕ บริการสาธารณสุขสำหรับ ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ๙๙๐.๑๑ ล้านบาท รายการที่ ๖ บริการสาธารณสุขเพิ่มเติม สำหรับบริการปฐมภูมิ ๓๑๙.๒๘ ล้านบาท รายการที่ ๗ บริการสาธารณสุขร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๒,๗๖๙.๙๓ ล้านบาท รายการที่ ๘ บริการสาธารณสุขสำหรับ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ๘๒๕.๐๘ ล้านบาท รายการที่ ๙ เงินช่วยเหลือเบื้องต้น สำหรับผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ๒๘๓.๐๓ ล้านบาท และรายการที่ ๑๐ บริการสร้างเสริม สุขภาพและป้องกันโรค ๑๙,๒๖๕.๔๒ ล้านบาท รวมงบบริการทางการแพทย์นอกเหมาจ่าย รายหัว ๔๐,๕๙๗.๓๗ ล้านบาท และสำนักงานได้รับงบประมาณแยกจากเหมาจ่ายรายหัว เป็นค่าบริหารจัดการ ๑,๒๘๔.๙๙ ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ ๐.๖๕ เมื่อเทียบกับ งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับงบดุลและรายงานรับจ่ายเงินของกองทุนประจำปี ๒๕๖๔ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีความเห็นว่า งบดังกล่าวมีความถูกต้องตามที่ควร ในสาระสำคัญตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐ ส่วนงบดุลและรายงานการรับจ่ายเงิน ประจำปี ๒๕๖๕ อยู่ระหว่างให้รัฐมนตรีเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอต่อ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อทราบ ผมขออนุญาตที่ประชุมได้นำเสนอการดำเนินงาน การสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพอสังเขปเป็นวิดีทัศน์ประมาณ ๖ นาที ขออนุญาต ท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาและท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่านครับ ก่อนอื่นก็ขอบคุณ ทุกท่านที่ช่วยกรุณาให้ความเห็นต่อร่างรายงานการสร้างหลักประกันประจำปี ๒๕๖๕ นะครับ ผมขออนุญาตเพิ่มเติมในส่วนที่ท่านสมาชิกได้กรุณาอภิปราย เพื่อให้มีความเข้าใจตรงกัน ในบางประเด็นนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ของท่านภูมิพัฒน์ที่บอกว่างบประมาณของเราไม่ได้มีเรื่องการบำบัดยาเสพติด หรือไม่ อย่างไร เรียนท่านว่าของกองทุนหลักประกันสุขภาพจะมีงบยาเสพติดอยู่ในหน้า ๔๐๓ ๑.๔.๔ ส่วนใหญ่ที่เราให้บริการคือให้ Methadone ในกรณีผู้ติดยาเสพติด ต้องเรียนครับว่า งบยาเสพติดไม่ได้อยู่ในกองทุนหลักประกันสุขภาพอย่างเดียว แต่อาจจะอยู่ในหลายหน่วยงาน แต่ว่าในส่วนของเรานี้ เราก็เป็นส่วนในเรื่องของบริการสาธารณสุข ซึ่งปี ๒๕๖๕ ก็มีผู้เข้ารับบริการ ที่ต้องใช้ Methadone นี้ ๙,๖๒๓ คน ๗๐,๐๐๐ กว่าครั้ง นอกจากนั้นเวลาเราพูดถึง ผู้ติดยาเสพติดนี้ จะมีส่วนหนึ่งที่ท่านอาจจะป่วยทางจิตเวชด้วย ซึ่งตรงนี้ก็จะมีอยู่ในเป้าหมาย จิตเวชของเรา ๑๐,๐๐๐ กว่าคนด้วยนะครับ ท่านได้กรุณาให้ความเห็นหรือว่าให้คำแนะนำ ที่จะให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในชุมชน อันนี้ผมคิดว่าเราก็จะรับไปดูนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องล้างไต เรื่องอะไรต่าง ๆ หากมีบริการไม่ทั่วถึง ไม่เพียงพอ อันนี้ เดี๋ยวทาง สปสช. เราก็จะลงไปดู ว่าตรงไหนยังขาดตกบกพร่องอย่างไร

    อ่านในการประชุม

  • ท่านกัลยพัชรที่กรุณาให้คำแนะนำว่า กรณีผู้ป่วยเรื้อรังบางครั้งต้องการ บุคลากรที่อาจจะไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์อย่างเดียว ซึ่งท่านอาจจะใช้คำว่า นักบริบาล ในชุมชน อันนี้จริง ๆ ต่อมาหลังจากปี ๒๕๖๕ เราก็เห็นปัญหานี้นะครับ แล้วก็พยายามที่จะ สนับสนุนให้มีนักบริบาลในชุมชนเพิ่มขึ้น ในปีนี้เราก็จะมีการจัดงบประมาณที่ทำร่วมกับ ชุมชนหรือท้องถิ่น อบต. เทศบาลต่าง ๆ เข้ามาขับเคลื่อนในการที่ให้พื้นที่สามารถที่จะใช้เงิน ส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของท้องถิ่นให้ไปจ้างนักบริบาลชุมชนได้ แล้วเดี๋ยวจะ รับประเด็นที่ท่านให้คำแนะนำเรื่องสุขภาพดี มีรางวัล อันนี้เราก็ได้ยินมาพอสมควรแล้ว แต่ว่าเราก็ยังพยายามจะหาดูว่ามันมีสิทธิประโยชน์ตรงไหน หรือว่ากิจกรรมใดที่เราจะนำ สุขภาพดี มีรางวัล เข้ามาได้

    อ่านในการประชุม

  • กรณีที่ท่านอภิปรายในเรื่องของคนไข้ที่ให้บริการในชุมชน ผมเรียนว่าอันนี้ ทางระบบของ สปสช. เราก็กำลังดูอยู่นะครับว่า การให้บริการผู้ป่วยในวันนี้หากเราจะไปเน้น การให้บริการในโรงพยาบาลหรือเฉพาะบุคลากรการแพทย์อย่างเดียวน่าจะไม่พอ เราอาจจะ ต้องใช้ส่วนที่เราใช้คำว่า มิตรภาพบำบัด เพื่อนช่วยเพื่อน เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นใช้วัดที่จะเข้ามา ดูแลผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง หรือว่าผู้ป่วยระยะท้าย หรือว่าการให้ท้องถิ่นเข้ามาช่วย หรือว่า ใช้ภาคประชาชนเข้ามาร่วมให้บริการตามมาตรา ๓ ดังเช่น กรณีของผู้พิการต่าง ๆ ซึ่งตรงนี้เอง ก็เป็นทิศทางของนโยบายที่จะใช้เงินกองทุน ไม่ว่าจะเป็นตัวงบประมาณกองทุนเอง หรืองบประมาณในส่วนที่เราไปสมทบร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ อันนี้ผมก็คิดว่า ในทิศทางระยะต่อไป เชื่อได้ว่าถ้าเราสามารถผสมผสานการดูแลผู้ป่วยจากตัวผู้ป่วย ช่วยกันเอง ก็เชื่อว่าสถานการณ์แม้เราจะมีความขาดแคลนบุคลากร สถานการณ์การให้บริการ ผู้ป่วยยังไม่น่าจะมีปัญหามากมายเกินกว่าที่เราจะจัดการได้นะครับ ก็ขอบคุณคำแนะนำ ที่ท่านกรุณาให้มานะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านธัญธรที่บอกว่าข้อมูลตัวเลขเรามันเหมือนขาดหายไป ๒ ปี อันนี้ ส่วนใหญ่เวลาข้อมูลตัวเลขพวกนี้เราได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อ GDP หรือว่าค่าใช้จ่ายงบประมาณต่อค่าใช้จ่ายสุขภาพอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ส่วนใหญ่เราจะให้ หน่วยงานภายนอกทำนะครับ ก็ต้องยอมรับว่าบางปีท่านอาจจะทำไม่ทันเวลาที่เรามา แต่ว่าถ้าดูในรายงานประจำปีในปีต่อ ๆ ไปมันก็จะทบกลับมา แล้วที่ท่านเห็นว่าประมาณ ในปี ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๔ ที่มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงขึ้น อันนี้ก็คงเข้าใจกันได้นะครับว่า เป็นสถานการณ์โควิดที่ตรงนั้นเราใช้เงินกู้เข้ามาจำนวนมาก ในการที่จะเพิ่มค่าใช้จ่าย ด้านสุขภาพในช่วงนั้น ก็เลยทำให้ตัวเลขมีการขยับสูงตั้งแต่ปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕ นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องฟื้นฟูนี้ ส่วนหนึ่งก็คงไม่ได้แก้ตัวนะครับว่าคงเป็นการลดลงจากบริการ เรื่องโควิด แต่เท่าที่เราดูก็จะมีบริการบางอย่าง ถ้าเป็นเรื่องของลักษณะที่จำเป็นต้องบริการ ที่ไม่สามารถรอได้อันนี้จะเพิ่มขึ้น อย่างเช่นเรื่องการดูแลผู้ป่วยหลอดเลือดสมองหรือว่ากรณี ใช้เครื่องช่วยฟังหรืออะไร ซึ่งมันไม่จำเป็นต้องใช้การสัมผัสหรือว่าการดูแลใกล้ชิดนี้ก็จะ เพิ่มขึ้น เชื่อว่าเหตุหลัก ๆ คงเป็นโควิดส่วนหนึ่งที่มันต้องถูกให้ Distance ในช่วงนั้นนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องของ IP Anywhere ตอนนี้เราก็กำลังทำอยู่ เรากำลังติดตามผลอยู่ ว่าเกิดผลอย่างไร เรื่องของโควิดในสถานการณ์ปัจจุบันที่ท่านกรุณาบอกว่าพบมากขึ้น แต่ว่า มีลักษณะเหมือนไข้หวัด แล้วก็เกรงว่าบริษัทประกันจะมีการปกป้องไม่ให้ผู้ป่วยต้อง Admit อะไรต่าง ๆ เหล่านี้นะครับ ก็เรียนว่าจริง ๆ ความรุนแรงของโรคนี้มันลดลง ไม่ว่ามันจะใช้ชื่อ อะไรก็แล้วแต่ แล้วการรักษาโรคโควิดในระยะต่อไปนี้ สำหรับมุมมองของเราก็จะถือว่า เราจะรักษาในระดับที่เรียกว่าปฐมภูมิ นั่นหมายความว่าไม่ใช่ทุกคนต้อง Admit หรือว่า ต้องมานอนโรงพยาบาล แต่ก็ไม่อยากให้เห็นเป็นประเด็นว่าในส่วนของ สปสช. ที่ดูแลเราคง ไม่มีเงื่อนไขอะไรนะครับ ถ้าคนไข้นั้นอยู่ในกลุ่มเสี่ยง แล้วก็มีความจำเป็นที่ต้องนอนพัก รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ถึงแม้จะเป็นโควิดเราก็คงสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยบริการ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องโครงการของท้องถิ่นที่มีการกระจุกตัว อันนี้ทาง สปสช. เราก็จะ ลงไปดูอยู่แล้ว เพราะต้องเรียนว่าหลักของงบประมาณที่เราทำร่วมกับท้องถิ่น เราใช้หลักที่ว่า ทำอย่างไรให้ท้องถิ่นมีการตัดสินใจด้วยตัวท่านเอง เราไม่ได้ไปชี้นำหรือพยายามชี้นำ ให้น้อยที่สุดว่าท่านควรจะใช้เงินไปทำอะไร หรือว่าท่านควรจะทำโครงการในลักษณะโน้น ลักษณะนี้ ก็เลยทำให้เห็นว่าบางพื้นที่เงินจะเหลือเยอะ บางพื้นที่เงินก็ไม่พอ ดังนั้นเราก็มีการ แก้ปัญหา โดยการที่ส่วนใดที่เงินเหลือมากเราจะไม่สมทบลงไป เราไม่ได้ใช้วิธีการเลือก โครงการนะครับ เราให้ท้องถิ่นเป็นคนเลือกโครงการ ดังนั้นก็ต้องอดทนนิดหนึ่งครับว่าเรา คงไม่สามารถจะไปบอกท่านได้ว่าต้องทำอะไร แต่ว่าเราจะให้ท่านใช้กลไกของกรรมการ และกลไกของกองทุนในพื้นที่ทำงาน แล้วหากท่านไม่ได้ใช้เงินงบประมาณเราก็จะมีการใช้ หลักเกณฑ์ คือเราก็ไม่สมทบเพิ่ม เราก็เอาเงินที่เหลือนั้นไปให้ท้องถิ่นอื่นที่ใช้งบประมาณ เพิ่มขึ้น อันนี้เราพยายามที่จะกระตุ้นให้ท้องถิ่นที่ใช้งบประมาณร่วมกับเราได้ใช้เงิน อย่างมีประสิทธิภาพ ปีล่าสุดที่ผ่านมาเท่าที่ดูตัวเลขเงินที่เหลือตอนสิ้นปีงบประมาณนี้ ประมาณ ๑,๙๐๐ ล้านบาท ก็ถือว่าลดลงนะครับ แสดงว่าท้องถิ่นมีความเข้าใจมากขึ้น แล้วเราก็คงจะต้องกระตุ้นให้ท้องถิ่นได้ใช้งบประมาณดังกล่าวนี้มากขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านนิพนธ์อยู่บึงกาฬ ท่านก็กรุณาพูดถึงเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือ หรือ รพ.สต. ก็ต้องเรียนว่าทางเราก็ไม่ใช่เป็นหน่วยที่สนับสนุนเครื่องมือโดยตรง แต่เรามีงบประมาณ ในการที่จะชดเชยค่าเครื่องไม้เครื่องมือ เพราะฉะนั้นในกรณีที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือว่าโรงพยาบาลที่มีเครื่องไม้เครื่องมือไม่เพียงพอ เราจะมีงบส่วนหนึ่งของเราจัดลงไปให้

    อ่านในการประชุม

  • ท่านสิริลภัส ซึ่งท่านได้พูดถึงสุขภาพจิต ผมต้องขอบคุณท่านมากที่ท่าน กรุณาพูดในหลายเวที แล้วผมก็ค่อนข้างเห็นด้วยกับท่านนะครับว่าปัญหาสุขภาพจิตนี้ เป็นปัญหาสำคัญที่เป็นผู้ป่วยกลุ่มเดียวที่ไม่มีปากเสียง เนื่องจากท่านมีปัญหาสุขภาพจิต ดังนั้นผมคิดว่าถ้ามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้กรุณาพูดบ่อย ๆ ผมคิดเชื่อว่าสังคมก็จะรับรู้ แล้วก็ให้ความสำคัญมากขึ้นนะครับ ต้องเรียนท่านว่าเราก็เห็นปัญหาแบบเดียวกับท่าน นะครับว่าที่เราจัดงบประมาณไว้ให้จิตเวชในชุมชน ประมาณในหลักหมื่นมันอาจจะไม่พอ ต่อการดูแล ปีนี้เราก็เลยจัดงบประมาณที่จะเน้นการดูแลจิตเวชในชุมชนให้กับผู้ป่วย ๔๕,๐๐๐ คน โดยเป็นผู้ป่วยที่ดูแลในสถานพยาบาล ๑๓,๐๐๐ คน และเป็นผู้ป่วยที่ดูแล ในชุมชน ๓๒,๐๐๐ คน ซึ่งอันนี้เราก็เชื่อว่ากลุ่มผู้ป่วยที่มีความจำเป็นได้รับการดูแลในชุมชน ก็ยังมีจำนวนหนึ่งที่หากเราทำได้ดี ก็เชื่อว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาทางด้านสุขภาพจิต ก็จะเริ่มลดลง อย่างไรก็ตามครั้งหน้าผมจะเพิ่มรายงานเข้าไปนะครับ อย่างที่ท่านแนะนำคือ ผลงานสายด่วนสุขภาพจิตเป็นอย่างไร หรือว่ามีหน่วยงานใดบ้างที่ให้บริการสุขภาพจิต เมื่อ ๒ เดือนก่อนผมก็ได้รับหนังสือจากผู้ป่วยเป็นกลุ่ม ๆ ที่ท่านดูแลกันเอง เราก็ยินดีที่จะ นำผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวเข้ามาเป็นหน่วยบริการตามมาตรา ๓ ท่านมีอยู่ประมาณ ๑๖๕ หน่วย ทั่วประเทศ ก็เชื่อว่าจะเป็นกลไกสำคัญอันหนึ่งนะครับ เพราะว่าผู้ป่วยเองผมยังเชื่อปรัชญา ที่ว่าให้ผู้ป่วยช่วยผู้ป่วยส่วนหนึ่ง ก็จะทำให้ระบบการดูแลรักษาดีขึ้นนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • การเพิ่มสิทธิประโยชน์ในเรื่องของสุขภาพจิต เราก็พยายามดูนะครับว่า มีสิทธิประโยชน์ใด ๆ ที่ควรจะนำเข้ามา อย่างเช่นเรื่องที่ท่านกล่าวถึงเรื่องยาจิตเวช ตอนนี้ เราก็ติดตามดูแล้วนะครับ มีคนเสนอยา ๗ ตัว ปรากฏว่ามีจำนวนหนึ่งที่เข้าสู่กระบวนการ พิจารณาแล้ว และรัฐมนตรีเองก็อยากให้ สปสช. เข้าไปสนับสนุนงบประมาณก่อนเลย ก่อนที่ บัญชียาหลักแห่งชาติจะประกาศ ซึ่งเดี๋ยวเราจะลองทำการบ้านดูนะครับว่าเราสามารถเข้าไป ดูแลได้ก่อนหรือไม่ถ้าเป็นยาดี แต่ก็ต้องเรียนท่านว่ายาบางตัวที่เสนอเข้ามานี้ ผู้เชี่ยวชาญ ก็มีความเห็นเหมือนกันนะครับว่าเป็นยาที่อาจจะไม่ได้ดีกว่ายาเดิมอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ แต่ว่า อย่างไรก็ตามผมจะรับไปติดตามนะครับว่าเป็นอย่างไร

    อ่านในการประชุม

  • แล้วท่านก็ให้ความเห็นในเรื่องของการเดินทางของผู้ป่วย ต้องเรียนว่าจริง ๆ ใน พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติค่าบริการสาธารณสุขตามมาตรา ๓ นี้รวมค่าเดินทาง ด้วยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเดินทางระหว่างโรงพยาบาลอะไรต่าง ๆ เดินทางที่อุบัติเหตุฉุกเฉิน ก็อยู่ สพฉ. ใช่ไหมครับ แต่ว่าถ้าเป็นการส่งต่อภายในระบบของเราก็อยู่ในระบบเรา ถ้าท่าน ติดตามข่าวจะเห็นว่า บางครั้งในตอนนี้มีการรักษาบางอย่างที่เราต้องส่งตัวเข้ามาจากบ้านผู้ป่วย เราก็มีจ่ายค่าเดินทาง เช่น กรณีโรคที่เรียกว่า Rare Disease เราก็มีจ่ายค่าเดินทางให้กับเด็ก ที่มีการเจ็บป่วยและต้องเข้ามารับการบริการในกรุงเทพมหานครอย่างนี้เป็นต้น

    อ่านในการประชุม

  • ท่านปิยชาติได้กล่าวถึงโครงการผ้าอ้อมว่าอาจจะไม่เพียงพอ โดยอัตรา ที่กำหนด ต้องเรียนว่าที่เราออกแบบโครงการผ้าอ้อมให้ไปตัดสินใจกันที่ชุมชน ก็อย่างที่ ผมเรียนนะครับ เราเชื่อในเรื่องของการกระจายอำนาจ เราเชื่อว่าให้ชุมชนเข้มแข็งจะดีกว่า สั่งการจากส่วนกลางลงไป มันไม่ยากเลยครับที่เราจะซื้อผ้าอ้อมทั่วประเทศแล้วก็แจกลงไป แต่เราก็พยายามจะสนับสนุนให้ท้องถิ่นเข้าไปช่วยกัน จุดที่มีปัญหาผมเห็นด้วยกับท่านนะครับ เพราะว่ามันมีกติกาเราอันหนึ่งที่ว่าคนไข้ต้องมาขึ้นทะเบียนก่อนถึงจะซื้อ อันนี้ล่ะครับที่เป็น ปัญหา เดี๋ยวเราจะแก้ เพราะว่าด้วยความที่ก็ต้องเรียนว่าเราก็กลัว พูดง่าย ๆ กลัวท้องถิ่น จะไปซื้อของก่อน หรือว่ามีการไปซื้อไม่ถูกต้อง ก็เลยออกกติกาเสียตึงเลยครับว่าต้องมา ขึ้นทะเบียนก่อน เรื่องนี้ผมลงไปดูพื้นที่เองหลายแห่งก็เป็นปัญหา ฉะนั้นเดี๋ยวตรงนี้อาจจะ ต้องหาทางออกนะครับ ที่ท่านบอกว่าคงต้องยืดหยุ่นหน่อย อันนี้ผมก็เห็นด้วย แล้วก็เรียน ท่านว่างบประมาณของกองทุนสุขภาพระดับตำบลที่จะใช้พวกนี้ เราไม่ได้เป็นปีงบประมาณ ดังนั้นที่พื้นที่ใดไปอ้างกับผู้ป่วยว่าพอดีหมดปีงบประมาณเงินเลยหมด ไม่เป็นความจริงครับ เพราะกองทุนที่เราใส่ลงไปมันจะอยู่ในบัญชีตลอดเวลา ท่านสามารถซื้อได้ตลอดเวลา เดี๋ยวผมจะลงไปซักซ้อมความเข้าใจอีกสักนิดหนึ่ง เพื่อให้มั่นใจนะครับว่ากรณีการซื้อผ้าอ้อม จัดหาผ้าอ้อมนี้ ท่านสามารถทำได้ตลอดเวลา แล้วจำนวนผู้ป่วยผมดูจำนวนก็เพิ่มขึ้นนะครับ อย่างในข้อมูลตอนนี้ประมาณเกือบ ๕๐,๐๐๐ คน แต่อย่างไรก็ตามเห็นด้วยครับว่าอาจจะ ยังไม่เพียงพอ และเรื่องราคาต่าง ๆ ที่เรากำหนดนี้ เราก็ป้องกันว่าแต่ละพื้นที่เวลาไปซื้อ ราคาต่างกันมาก ๆ บางที่ซื้อแพงมาก บางที่ซื้อถูกมาก เวลามีหน่วยตรวจสอบลงไปตรวจ ก็จะมีปัญหาอีกแบบหนึ่ง ก็จะถูกตรวจสอบกันอีกแบบหนึ่ง ซึ่งอันนั้นก็นำมาซึ่งความเสียหาย แล้วก็เกิดปัญหาตามมา เราอาจจะดูกลัวไปนิดหนึ่งนะครับ แต่ผมคิดว่าในเรื่องราคาที่เรา กำหนดไว้เป็นราคาที่เราเชื่อว่าซื้อได้ แล้วก็เป็นบริษัทที่ผลิตในเมืองไทยด้วยนะครับ ส่วนคุณภาพจะดีหรือไม่ดี เดี๋ยวให้ช่วยแนะนำกันมาก็แล้วกันนะครับว่า ถ้ามันไม่ดีอย่างไร เราก็จะได้พูดคุยกับผู้ผลิตอีกครั้งหนึ่งว่า ถ้ามันไม่ดีอย่างไรอาจจะต้องปรับปรุงคุณภาพด้วย

    อ่านในการประชุม

  • ในเรื่องที่ท่านกรุณาให้ข้อแนะนำในเรื่องผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง ผมคิดว่า จำนวนตัวเลขอาจจะไม่ตรงกันทั้งหมด แต่ก็เชื่อว่าทิศทางมันจะเยอะขึ้น ส่วนหนึ่ง เป็นเพราะว่าเราต้องให้ท้องถิ่นหรือชุมชนในพื้นที่ลงไปค้นหาผู้ป่วยด้วย แล้วก็ต้องทำ ที่เรียกว่า Care Plan ก็คือต้องวางแผนการดูแลผู้ป่วย แม้กระทั่งผ้าอ้อมนี้เราไม่ได้แจกเฉย ๆ เราต้องมีการทำ Care Plan คือแผนการดูแลผู้ป่วย เพราะว่าผู้ป่วยส่วนหนึ่งเราเชื่อว่า เขาติดเตียงเขาจะกลับมาติดบ้านได้ คนที่ติดบ้านส่วนหนึ่งจะเข้าไปติดสังคมได้ ซึ่งถ้าเรา ทำได้อย่างนั้นก็คือการประสบความสำเร็จ ผมเคยลงพื้นที่บางครั้งผู้ป่วยที่นอนติดเตียง อยู่ตลอดเวลา เมื่อมีบุคลากรลงไปดูหรือว่ามีอาสาสมัครเข้าไปดู ในท้ายที่สุดท่านลุกนั่งได้ ผมคิดว่าก็เป็นความสำเร็จของระบบเรา ในการที่จะถือว่าได้ช่วยพี่น้องประชาชนนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านเอกราชท่านกรุณาถามในเรื่องของคลินิกชุมชนอบอุ่น ที่มีการตั้งคำถาม เป็นป้ายว่าเงินไปไหนหมด แก้ปัญหาหรือยัง ผมเรียนเบื้องต้นอย่างนี้แล้วกันนะครับว่า สปสช. เราเป็นหน่วยงานที่ใช้เงินของรัฐ ดังนั้นเวลาเราจะใช้เงินนี้เราต้องใช้ตามกติกา และกฎหมาย เราไม่สามารถที่จะจ่ายเงินให้เพียงแค่บอกว่า เราขาดทุนหรืออะไร เราไม่ได้พูด ดังนั้นเราต้องกลับไปดูกติกาเรา ทีนี้กติกาของการจัดสรรงบประมาณให้กับคลินิกมันเป็น ไปตามประกาศที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครท่านกำหนด เนื่องจากว่าเป็นอำนาจของท่าน ตอนปี ๒๕๖๔ คณะกรรมการที่เรียกว่ากรรมการเขต ๑๓ ท่านมีอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์ และแนวทางการบริหารงานของงบประมาณในส่วน ของกรุงเทพมหานคร ดังนั้นตอนนั้นท่านก็กำหนดขึ้นมาครับว่าท่านจะเปลี่ยนระบบใหม่ จากเดิมที่คลินิกดูแลประชากรเอง เป็นลักษณะที่เรียกว่าหน่วยบริการประจำ ให้ทำเป็น ลักษณะเครือข่ายบริการ โดยให้ศูนย์บริการสาธารณสุขเรียกว่าหน่วยบริการประจำ แล้วให้คลินิกเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ งบประมาณที่ท่านจัดนี้ท่านก็บอกว่าท่านจะใช้ ในลักษณะที่เรียกว่าจ่ายเป็นตามรายการที่กำหนดและเป็นลักษณะแต้ม แล้วก็มีวงเงินเพดานไว้ ซึ่งตรงนี้ล่ะครับมันก็จะมีประเด็นว่า ท่านก็กำหนดว่าถ้าบริการแต้มมันไม่ถึงเพดาน ก็เอาเงิน ที่เหลือจ่ายคืนไป แต่ถ้าแต้มมันเกินกว่าเพดาน เงินที่จ่ายก็จะลดทอนลงไป อันนี้ก็เป็นกติกา ที่ทาง สปสช. เราก็ดำเนินการมาตามที่มติของคณะกรรมการดำเนินการมา มันก็เลยเกิด ปรากฏการณ์นะครับว่า ปี ๒๕๖๔ ในส่วนของการเรียกเก็บ ในคลินิกชุมชนอบอุ่นปี ๒๕๖๔ ท่านเรียกเก็บมา ๔๘๗ ล้านบาท อันนี้คลินิกทั้งหมดในปี ๒๕๖๔ เนื่องจากเราบอกว่า มีเพดานครับ เพดานเราตอนนั้นมีเงินอยู่ ๘๙๙ ล้านบาท เราจึงจ่ายไปที่ ๘๙๙ ล้านบาท ท่านเรียกมา ๔๘๗ ล้านบาท เราจ่ายไปที่ ๘๙๙ ล้านบาท แต่ว่า ๑ คะแนนที่กำหนดนี้ เราจ่ายไปที่ ๑.๘๕ นี่คือปี ๒๕๖๔ ตอนนั้นก็จำได้ว่าคลินิกก็ถามกันมาว่าทำไมเงินมันไหล เข้าไปเยอะ ตอนนั้นมันเป็นช่วงโควิดครับ เงินมันก็เข้าไปเป็นจำนวนที่เกินกว่าเรียก ๔๑๒ ล้านบาท ปี ๒๕๖๕ ทางคลินิกก็รวมทั้งหมด ๒๐๐ กว่าแห่ง ท่านก็เบิกจ่ายมา ๙๐๒ ล้านแต้ม ตอนนั้นเราก็คิดเป็นแต้ม เรามีเงินอยู่ ๑,๕๑๘ ล้านบาท เราก็เลยกระจายเงิน เข้าไป ดังนั้นท่านเรียกเก็บมา ๙๐๒ ล้านบาท เราก็จ่ายไปที่ ๑,๕๑๘ ล้านบาท ๑ คะแนน ก็ตีเป็นเงิน ๑.๖๘ บาท ส่วนปี ๒๕๖๖ ที่มีปัญหา เพราะว่าท่านเรียกมาถึง ๑,๒๖๓ ล้านแต้ม เรามีเงินที่จะจ่ายอยู่ ๗๒๔ ล้านบาท หารออกมามันก็เลยเป็น ๐.๕๗ บาท ทีนี้เมื่อเรา เจอปัญหาตรงนี้ ท่านจะเห็นว่ามีข้อเรียกร้องว่าเงิน ๕๓๙ ล้านบาทเราหายไปไหน เมื่อไร จะคืนเราใช่ไหมครับ ทางคณะกรรมการสุขภาพระดับเขต ๑๓ ท่านก็ลงไปตรวจข้อมูล ท่านก็พบว่าเงินที่เรียกเข้ามาในปี ๒๕๖๖ นี้ ๑,๒๖๓ ล้านแต้ม มันมี ๔๖๕ ล้านแต้ม มันเป็น ผลงานของปี ๒๕๖๕ เมื่อสักครู่ที่ผมเรียนนะครับ ปี ๒๕๖๕ เราจ่ายเกินไป ๖๑๖ ล้านแต้ม ท่านก็เลยมีมติว่าให้เอาแต้มที่มันขาดไป ๕๓๙ ล้านแต้มนี้ ไปเอาเงินของปี ๒๕๖๕ ๖๑๖ ล้านแต้มนี้มาหักกลบกัน เพราะถือว่าเป็นเงินในปี ๒๕๖๕ ควรจะเป็นผลงานของปีนั้น ปรากฏว่าทางคลินิกท่านยังไม่ยอมรับ ก็เลยมีมติว่าตรงนี้ขอให้ชะลอไว้ก่อน แล้วให้มี คณะทำงานพิเศษลงไปตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้นตอนนี้เราก็ไม่ได้มีการเรียกหรือว่า มีการทำอะไรกับบัญชีตรงนี้ ก็ขอให้ทีมงานหรือว่ามีคณะทำงานลงไปตรวจดูก่อนว่ากรณีเงิน ที่เราจ่ายไปโดยกติกานี้เราจะดำเนินการอย่างไร

    อ่านในการประชุม

  • เพราะฉะนั้นตั้งแต่ปี ๒๕๖๔ จนถึงปี ๒๕๖๖ เราก็ดูผลงานแต้ม เมื่อเทียบกับ จำนวนเงินที่มีที่จ่ายออกไปนี้มันจะอยู่ที่ ๑.๑๘ บาทต่อคะแนน ตรงนี้ก็เป็นตัวเลขที่ยัง ไม่ตรงกัน แล้วก็มีข้อเรียกร้องที่ไม่ตรงกัน ดังนั้นผมคิดว่าต้องลงไปตรวจสอบครับ เราก็ตั้ง ทางคณะกรรมการสุขภาพเขต ๑๓ ท่านก็ลงไปตรวจสอบ อันนี้ก็คือของเก่า

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนของใหม่ที่มีข้อเสนอมาใหม่ เมื่อวานก็มีการประชุมคณะกรรมการ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เราเรียกว่าเขต ๑๓ ท่านก็เสนอมาว่าตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม เป็นต้นไป ขอให้เปลี่ยนการจัดสรรในลักษณะที่เราได้ออกเป็นประกาศ ที่ผมนำเรียนไปนะครับ ให้เปลี่ยนเป็นระบบที่เรียกว่าเหมาจ่าย คือหมายความว่ามีการให้ตามประชากรที่ดูแลไปก่อน แล้วเวลามีการส่งต่อถึงจะตามจ่ายในลักษณะที่เรียกว่าบริการที่กำหนด ซึ่งอันนี้เราก็จะทำ ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคมนี้เป็นต้นไป แล้วก็คงจะได้ติดตามผลอีกครั้งหนึ่ง คือพูดง่าย ๆ เข้าใจว่า ทุกท่านก็เรียกร้องแบบนั้นอยู่ แล้วเราก็ทำ เพียงแต่ว่าเราก็ดำเนินการตามกฎหมาย คณะกรรมการต้องรับรู้และตัดสินใจในการจัดสรร เพราะเป็นเงินหลวงที่เราจะต้องจัดสรร ตรงนั้น อันนี้ผมขออภัยที่ใช้เวลาเยอะนิดหนึ่ง แล้วก็ล้ำมาถึงในปีนี้ด้วย แต่เข้าใจว่าเป็น เหตุการณ์ต่อเนื่องที่ท่านสมาชิกเป็นห่วงว่างบประมาณจะเพียงพอหรือไม่ จะกระทบต่อ พี่น้องประชาชนหรือไม่ ผมก็ยืนยันนะครับว่างบประมาณไม่ได้ถึงขนาดว่าไม่มี เพียงแต่ว่าเรา ไม่สามารถจ่ายได้ถ้าไม่ถูกต้องตามระเบียบ แล้วก็ยืนยันว่าไม่ได้มีผลกระทบใด ๆ ต่อประชาชน ผมเองได้ลงไปพบคลินิกบางแห่งแล้ว แล้วก็ได้ไปคุยกันอย่างที่ท่านได้กรุณาแนะนำว่า บางคลินิกก็บอกว่ามีค่าใช้จ่ายสูง เราก็ไปแนะนำ แล้วก็แนะนำบริการว่าจะทำอย่างไร จะแก้ปัญหาอย่างไร ทาง สปสช. เราก็จัดทีมลงไปดู มีคลินิกที่ยกป้ายอยู่ประมาณ ๑๐๐ แห่ง เราก็จะลงไปดูทุกแห่ง แล้วขอทราบรายละเอียด อันนี้เป็นส่วนที่ขณะนี้ก็พูดคุยกันพอเข้าใจ แล้วเดี๋ยวจะต้องติดตาม ทุกการออกแบบมีปัญหาได้หมด ผมต้องเรียนท่านสมาชิกว่า มันไม่ใช่มีแบบไหนบอกว่าดีที่สุด แล้วเราจะแก้ปัญหาได้หมดจด แต่ทั้งหลายทั้งปวงนี้เราคง ดูว่าประชาชนได้อะไร

    อ่านในการประชุม

  • ต้องเรียนว่าเมื่อวานนี้มันมีการรายงานต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ แห่งชาตินะครับว่า กรุงเทพมหานครได้งบประมาณมากกว่าพื้นที่ต่างจังหวัดประมาณ ๕ เปอร์เซ็นต์ ร้อยละ ๕ แต่ผลงานบริการน้อยกว่าต่างจังหวัดประมาณร้อยละ ๔๕ มันก็เลย ทำให้เป็นตัวเลขที่มองในมุมประชาชน คือประชาชนอาจจะรู้สึกว่าเขาไม่ได้อะไร ก็เลยทำให้ เวลาเราจะเดินหน้าเดินหลังนี้มันก็จะมีข้อถกเถียงกัน แต่อย่างไรก็ตามผมคิดว่าต้องใช้วิธีการ เอาข้อมูลมาดูแล้วก็พูดคุยกัน ฉะนั้นในส่วนที่เรายังเห็นว่าคลินิกบางส่วนยังมีประเด็นอยู่ ผมก็จะรับไปดูนะครับ ในฐานะที่เป็นเลขาธิการก็รับไป แต่ก็ยืนยันต่อท่านสมาชิกนะครับว่า เราจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย แต่ให้ทุกคนสามารถที่จะดำเนินการได้นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านอนุสรณ์ท่านได้กรุณาพูดถึงเรื่องของบุคคลทุกคน แล้วก็พูดถึงว่า ทำไมเราไม่ทำตามมาตรา ๖๖ ก็ต้องเรียนว่าจริง ๆ เราก็พยายามที่จะทำตามมาตรา ๙๐ และมาตรา ๖๖ แต่ก็ต้องเรียนว่ามีข้อจำกัด ถ้าท่านทราบว่าในช่วง ๒๐ กว่าปีที่แล้ว ระบบหลักประกันสุขภาพนี้เป็นระบบที่ถูกมองว่าเป็นระบบสำหรับคนจน ก็ไม่มีใครอยากจะ มาร่วมบริหารจัดการกับเรา แต่ผมคิดว่าเมื่อเวลาผ่านไปเราก็พยายามที่จะปรับ แล้วก็ พยายามที่จะพูดคุยกับระบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบของประกันสังคม ระบบสวัสดิการ รักษาพยาบาลข้าราชการ ก็ขอบคุณท่านนะครับ คือผมคิดว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญ ที่เป็นความท้าทาย และอาจจะถือว่าเป็นปัญหาอุปสรรคจริง ๆ ต่อระบบหลักประกันของเรา แต่จะแก้ได้หรือไม่อย่างไร ผมคิดว่าคงต้องดูความพร้อมต่าง ๆ แล้วที่ท่านกรุณาแนะนำว่า ยังมีกองของกองเศรษฐกิจ ผมเข้าใจว่าท่านคงทราบที่มาที่ไปของกองนี้นะครับว่าตอนนั้น สปสช. เป็นคนเสนอสำหรับผู้ที่ไม่มีสิทธิ แล้วกลายไปอยู่ในการพิสูจน์สัญชาติไทยต่อ ครม. แต่ว่าด้วยเหตุความมั่นคงหรืออะไรก็แล้วแต่ ก็เลยไปให้ทางกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ช่วย ดำเนินการ ก็ตอนนี้เราก็ทำงานร่วมกัน แล้วก็พยายามจะดูสิทธิประโยชน์ไม่ให้เหลื่อมล้ำกัน แม้เขาจะเป็นคนที่อยู่ระหว่างพิสูจน์สิทธิ ก็คงดูตรงนี้ต่อไป ก็ขอบคุณท่านที่ให้คำแนะนำว่า ไปใช้ความท้าทายจะถูกไหม ควรจะใช้อุปสรรค เดี๋ยวผมจะลองไปปรับดูนะครับ เพราะบางปี เราใช้อุปสรรคก็มีคนบอกทำไมไม่ใช้คำว่า อุปสรรค อย่างนี้นะครับ แต่ผมก็เห็นด้วยว่า ใช้ภาษาทางกฎหมายน่าจะดีกว่านะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนขอบคุณท่านที่ได้พูดถึงคุณหมอสงวนที่เป็นเลขาธิการคนแรก แต่ผม คิดว่าคุณหมอสงวนจะสอนพวกเราเสมอนะครับว่า เวลาเราจะขับเคลื่อนงานอะไร เราต้องใช้ หลักที่เรียกว่าสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา สำนักงานในฐานะที่เป็นหน่วยงานรัฐทำอะไรเองไม่ได้ เรามีหน้าที่ที่จะสร้างข้อมูล แล้วผมขอบคุณมากที่ข้อมูลรายงานประจำปีของ สปสช. แม้จะบอกว่าดีหรือไม่ดี ก็ยังเป็นข้อมูลที่เรามาถกแถลงกัน แล้วถ้าเป็นข้อมูลที่สามารถ จะเป็นประโยชน์กับฝั่งการเมืองหรือว่าท่านสมาชิก ผมคิดว่าท่านเองจะเป็นคนที่ขับเคลื่อน นโยบายที่เป็นกลไกสำคัญของสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ที่คนที่อยู่ใน สปสช. จะรู้ว่า เราจะทำงานใหญ่ไม่ได้ ถ้าเราไม่ร่วมมือกับภาคประชาชนกับภาคพรรคการเมือง ผมขอบคุณ ในข้อเสนอนะครับ แล้วผมเชื่อว่าสิ่งที่ท่านเสนอด้วยความหวังดีผมก็จะรับไปดูนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านปวิตราท่านได้บอกว่าเราอาจจะรายงานยังไม่ตรงไปตรงมา เพราะตัวเลข ยังสับสน อันนี้เดี๋ยวถ้าตัวเลขไหนยังไม่ตรง เดี๋ยวผมอาจจะรับไปดู เพราะว่าบางทีตัวเลข มันอาจจะมีการพูดในรายงาน แต่ต้องเรียนว่ารายงานเรากว่าจะออกเป็นรายงานฉบับที่ ตีพิมพ์นี้ เราก็มีการตรวจสอบนะครับ ส่วนรายงานอื่นที่ออกเป็นสไลด์ PowerPoint ในงานต่าง ๆ นี้มันอาจจะไม่ตรงกันบ้าง อันนี้ผมจะรับไปดู บังเอิญผมตามไม่ทันกับประเด็น ว่ามีตรงไหนที่รายงานไม่ตรงไปตรงมา แต่ถ้ามีตรงไหนที่ไม่ตรงหรืออะไรเราจะดูให้ ยกตัวอย่าง ท่านบอกว่างบกันดาร เสี่ยงภัย ๑,๔๙๐ ล้านบาทนี้ เราได้เท่าเดิมมาหลายปี จริง ๆ เรามี แนวโน้มจะได้งบก้อนนี้ลดลง เพราะว่าพยาบาล ๓,๐๐๐ อัตราที่อยู่ภาคใต้ เราต้องยอมรับ เมื่อเวลาผ่านไปพยาบาลกลุ่มนี้ก็จะลดลง เพราะว่าตอนนั้นถ้าท่านจำได้เมื่อ ๑๐ กว่าปีที่แล้ว เป็นปัญหาเรื่องความมั่นคง ทางกระทรวงสาธารณสุขก็มีการให้เพิ่มพยาบาลที่เข้าเรียนมากขึ้น ในพื้นที่ภาคใต้ พวกนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคใต้ แต่ว่าจำนวนพยาบาลลดลง จำนวนเงินก็จะ ลดลง กับอีกส่วนหนึ่งคือโรงพยาบาลกันดาร เสี่ยงภัยนี้ เราก็พยายามประสานกับกระทรวง สาธารณสุข เพราะเราจัดให้กระทรวงสาธารณสุข ตอนนี้ท่านมีโรงพยาบาลกลุ่มนี้อยู่ ๑๖๘ แห่ง ตราบใดที่จำนวนมันไม่เพิ่ม เงินตัวนี้มันจะเพิ่มยากนิดหนึ่ง แต่ว่าก็รับเป็นประเด็น แล้วก็ขอบคุณท่านมากที่กรุณาให้ความเห็นตรงนี้ แล้วผมขอบคุณแทนโรงพยาบาลที่อยู่พื้นที่ กันดารนะครับว่า อย่างน้อยเราได้มีการพูดคุยกันในสภาแห่งนี้ แล้วผมเชื่อว่าก็จะเป็น ประเด็นสำคัญที่เวลาเราไปขอส่วนเพิ่ม ก็หวังว่าเราได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้นนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ที่ท่านกรุณาพูดถึงผ้าอ้อมผม ได้กล่าวไปแล้วนะครับว่าหลักเราเป็นอย่างไร ทำไมเรายังยืนยันว่าเราอยากจะทำแบบนี้ ผมเชื่อว่าเราอดทนอีกนิดหนึ่งครับ เราเชื่อว่า เมื่อท้องถิ่นเข้มแข็งขึ้นเขาก็จะทำได้ดีขึ้นนะครับ เรื่องผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง เดี๋ยวผมไปดูว่า เป็นอย่างไร แล้วก็กรณีกรุงเทพมหานครเราก็เห็นตรงกันว่ามีคนไม่ลงทะเบียนจำนวนมาก จริง ๆ ที่ท่านบอกว่า ๕ ล้านคน จริง ๆ อยู่ในระบบเราแค่ ๓,๕๐๐,๐๐๐ คนเองนะครับ มันทำให้เป็นปัญหาเราเหมือนกันว่าภาระงานนี้ดูเหมือนจะเยอะ แล้วเมื่อเทียบกับงบประมาณ ที่เราจัดสรรลงไป เพราะว่าลงทะเบียนได้น้อยกว่าที่จำนวนประชากร ตรงนี้ก็ได้มีการพูดคุย กับหน่วยที่เกี่ยวข้อง ท่านจะเห็นว่าผมได้ไปพบท่านผู้ว่าราชการหลายครั้งที่จะมีการรณรงค์ ให้คนที่มาจากต่างจังหวัดกรุณาลงทะเบียน เราจะได้รู้ว่าท่านอยู่ตรงไหน แล้วก็จะได้ ไปให้บริการท่าน อย่างน้อยเมื่อท่านย้ายกลับไปต่างจังหวัดท่านก็เปลี่ยนหน่วยกลับไปได้ ปีละ ๔ ครั้ง แต่แน่นอนครับ บ้านเรานี้ถ้าต้องเดินทางไปหน่วยราชการก็ไม่อยากไปนะครับ ตอนนี้ให้ทำทาง Application ก็ยังไม่ง่ายนัก ก็อาจจะยุ่งยาก เดี๋ยวรับไปนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนท่านกรุณพลท่านกรุณาแนะนำในหลายเรื่องรวม ๆ กันนะครับ ผมคิดว่า หลายเรื่องก็มีประโยชน์ แล้วหลายเรื่องผมคิดว่าเป็นปัญหาจริง แล้วผมว่าตรงนี้ตัวสำนักงาน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเองก็ต้องก็ต้องดูตรงนี้ด้วยว่า อย่างเช่น ความศรัทธาของ โรงพยาบาลใกล้บ้านเป็นอย่างไร จะเห็นว่าโครงการตอนนี้ที่เราทำในเรื่อง ๓๐ บาท รักษาทุกที่ เราไม่เคยบอกว่าเราอยากให้คนไข้ไปรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่เลยนะครับ เราอยากให้ท่าน ไปลงรักษาที่หน่วยบริการใกล้บ้าน ที่เราใช้คำว่า นวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นร้านยา คลินิกพยาบาล ชุมชนอบอุ่น คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกทันตแพทย์ คลินิกคุณหมอที่อยู่ใกล้ ๆ โรงพยาบาล เพราะเราเชื่อครับ เชื่ออย่างท่านเชื่อเลยครับว่าค่าใช้จ่ายที่ทางภาษาอังกฤษเรียกว่า Indirect Cost มันสูงมาก มันสูงจนกระทั่งการที่คนจะตัดสินใจไปโรงพยาบาลครั้งหนึ่ง ก็ถือเป็นภาระสำคัญ แล้วก็ขอบคุณท่านนะครับที่เข้าใจหัวอกคนยากคนจน ที่ผมเชื่อว่า ยังมีอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นได้ แต่ถ้าหากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เราสามารถช่วยคนกลุ่มนี้ได้ ผมก็คิดว่าสมตามวัตถุประสงค์ที่เรามีระบบนี้ขึ้นมา

    อ่านในการประชุม

  • ท่านสุภกรท่านได้กล่าวถึงการยกเลิกสัญญาโรงพยาบาลเอกชน ๙ แห่ง ต้องเรียนนะครับว่า สปสช. เราไม่เคยประสงค์อยากจะยกเลิกใคร ในประวัติศาสตร์ที่ผม ทำงานอยู่ สปสช. ๒๐ ปี เราไม่เคยยกเลิกสัญญาใครก่อนเลยครับ เพราะว่าเรามีหน่วยบริการ ไม่พอเราก็ยอมรับ แต่ถ้ามันมีการทำผิดแล้วเราไม่ยกเลิกตามกฎหมายนี้ เราก็จะมีความผิด เหมือนกัน มันก็เลยเป็นความอีหลักอีเหลื่อเหมือนกัน แล้วคนที่อยู่ในโรงพยาบาลเอกชนนี้ ก็เรียนว่าในทางไม่เป็นทางการนี้เราก็รู้จักกันหมด ผมไม่มีความสบายใจที่จะไปยกเลิก แต่ผมเองก็เรียนกับท่านผู้บริหารทุกคนว่า ถ้าเราไม่ทำตามมติคณะกรรมการ อันนี้ทาง สปสช. ก็อาจจะถูกตรวจสอบได้ว่าทำไมจึงเลือกปฏิบัติ ก็ขอความเห็นใจว่าที่เราทำนี้ ถึงแม้ ที่ท่านบอกว่าเราได้เงินคืนมาหมดแล้ว แต่ต้องเรียนว่ามาตรการที่คณะกรรมการกำหนด ไม่ได้หยุดอยู่แค่ได้เงินคืนมาครับ ต้องมีการแจ้งความคดีอาญา ต้องแจ้งไปที่แพทยสภา เพื่อให้ตรวจสอบจริยธรรม ต้องแจ้งไปที่กรมสนับสนุนบริการให้ตั้งกรรมการสอบ แล้วหาก ท่านใดเป็นคณะกรรมการซึ่งถือเป็นบุคคลของรัฐ จะต้องแจ้ง ป.ป.ช. ด้วย เพราะฉะนั้น มาตรการนี้เป็นมาตรการที่ทำให้ สปสช. หลังจากปี ๒๕๖๒ นี้ ทำงานที่ผมบอกว่าใช้ Guard สูงมาก ตอนนี้จริง ๆ ท่านผ่านมาเกิน ๒ ปีแล้ว โดยระเบียบเรานี้จริง ๆ สามารถพิจารณา การขึ้นทะเบียนท่านได้ ผมเองก็พิจารณาอยู่ ก็ลำบากใจนิดหน่อยตรงที่ว่าถ้าให้การ ขึ้นทะเบียนไป แล้วจะมีคนกล่าวหาผมหรือไม่ว่าทำงานแบบเอื้อประโยชน์ต่อโรงพยาบาล บางแห่ง ก็ให้คนไปดูอยู่นะครับว่ากรณีโรงพยาบาลต่าง ๆ จริง ๆ ไม่ใช่ ๙ แห่งนะครับ ๒๐ กว่าแห่ง ทั้งหมดที่ยกเลิกไปมีส่วนไหนที่จำเป็นต้องมีท่านหรือเข้ามาในระบบ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ผมขอบคุณท่านที่กรุณาเป็นห่วง แล้วก็ให้คำแนะนำที่ดี ผมคิดว่าตรงนี้จะเป็นสัญญาณ แล้วยิ่งท่านได้สามารถอธิบายปรากฏการณ์คุณลุงคนหนึ่ง ที่จะต้องไปรับบริการอย่างเห็นภาพ ผมคิดว่าภาพนี้จะสื่อสารไปว่าความลำบากของ พี่น้องประชาชนเป็นอย่างไร เพียงแต่ว่า สปสช. เราเอง เราเห็นครับ แล้วเราอยากจะทำ แต่บางครั้งด้วยกฎกติกามารยาทเราคงต้องไปดูตรงนั้นด้วย แต่ผมจะรับประเด็นไปนะครับ แล้วก็ขอบคุณท่านมากที่ให้คำแนะนำตรงนี้ พูดง่าย ๆ ก็ถือว่าเป็นจุดตั้งต้นที่ดีในการที่เรา ลองไปดูอีกครั้งหนึ่งว่าจะเป็นอย่างไร ว่าเราสามารถจะสร้างความสมดุลระหว่างกฎหมายกับ สร้างความสมดุลกับพี่น้องประชาชนอย่างไร ให้สังคมรับได้ว่าผู้มีอำนาจไม่ได้ใช้อำนาจ เกินความจำเป็น หรือไม่ได้เอื้อประโยชน์กับใครจนกระทั่งดูหมิ่นเหม่ต่อการทำทุจริต ในหน้าที่ของตนเองนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ได้ครับ ท่านสิรินท่านกรุณาพูดถึงมาตรา ๕๙ ท่านพูดถึงเรื่องของระบบเราไม่ให้เก็บเงิน ส่วนเกิน ผมก็ขอชื่นชมท่านนะครับ แล้วทาง สปสช. เราก็มีปัญหาเรื่องนี้มาตลอด ก็คุยกับ โรงพยาบาลตลอดว่าตามกฎหมายเรามาตรา ๕๙ นี้ ไม่อนุญาตให้ท่านเก็บเกินกว่าที่ คณะกรรมการกำหนด หรือเก็บในส่วนที่ไม่มีสิทธิ แต่ว่าก็ยังเกิดเหตุตรงนี้ที่ท่านยกตัวอย่าง ว่าจำนวนมากขึ้น ผมคิดว่าเราก็พยายามสื่อสารทั้ง ๒ ทาง ทั้งตัวโรงพยาบาล เผอิญท่าน อาสาจะเป็นกลไกกลาง อันนี้ผมขอบคุณมาก ถ้าท่านจะกรุณานะครับ ถ้าเป็นกลไกแล้วเชื่อม กับ สปสช. เราด้วย เพราะเรามีหน้าที่ตามกฎหมายตามมาตรา ๕๙ แล้วจริง ๆ ตอนนี้ ผมก็ถูกกดดันให้ทำตามมาตรา ๖๐ ครับ มาตรา ๖๐ คือว่าถ้าเกิดเหตุการณ์บ่อย ๆ ต้องร้อง ไปที่คณะกรรมการควบคุมลงโทษ ซึ่งอันนี้ถ้าท่านจะกรุณาเชื่อมกับเราอีกสักนิดหนึ่ง แล้วเรา จะได้ทำงานร่วมกัน ผมก็ขอบคุณ เป็นพระคุณมากเลยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านขัตติยาท่านอยากให้เราขยายเรื่องผ้าอนามัย เรื่องข้ามเพศนะครับ ข้ามเพศนี้เรากำลังดูอยู่ เพราะว่าผมก็ไปรับนโยบายมาดู ว่าอยากให้ดูตรงนี้อยู่ เดี๋ยวผมรับไปดู แล้วกรณีคนที่ไม่มีสิทธิหรือว่า ๐.๖ เปอร์เซ็นต์อะไรนี้ ตอนนี้เรามีนโยบายในการให้ผู้ป่วย ต่างประเทศ ประชาชนต่างประเทศท่านเข้า Telemedicine เราได้ โดยที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย ก็เห็นด้วยกับท่านที่ให้ข้อเสนอนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านการณิกท่านให้คำแนะนำในเรื่องผู้ป่วยย้ายโรงพยาบาลไม่ได้ เพราะเตียงเต็ม อันนี้จริง ๆ มันเป็นเรื่องของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง เดี๋ยวไปดูให้นะครับ แล้วเรื่องคลินิก เมื่อสักครู่นี้ผมได้อภิปรายไปแล้วนะครับ แล้วโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ที่บอกว่าวิกฤติ ต้องเรียนว่าเรามีรายการหนึ่งที่เราจ่ายเขาช้า ก็คือรายการที่ไม่มีในรายการของเรา แล้วเรา ก็เลยไม่ได้จ่ายเขา ซึ่งอันนี้เมื่อเช้าผมก็ได้ประชุมกับทางตัวแทนของโรงเรียนแพทย์ทั้งหมดแล้ว ทุกคนก็เข้าใจกันดี แล้วเดี๋ยวจะรีบดูแลให้ แต่ไม่ได้เป็นเพราะว่า สปสช. เราไม่มีเงินนะครับ แต่ว่าอย่างที่เรียนนะครับ ระบบของเราถ้าไม่ได้พิสูจน์ว่ามีรายการอะไรจริง มันก็จะยุ่งยากหน่อย เดี๋ยวรับไปดูนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านภัสรินท่านได้พูดถึงผู้ทุพพลภาพ เข้าใจว่าเป็นประกันสังคม เดี๋ยวผมจะ รับประเด็นไปให้ท่านเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านเกียรติคุณท่านกรุณาให้คำแนะนำในเรื่องของวัคซีนโควิด ผมย้ำนะครับ ว่า สปสช. เรายืนยันตลอดว่า การให้ค่าใช้จ่ายเรื่องความเสียหายจากวัคซีนอะไรต่าง ๆ นี้ เรายืนยันว่าไม่ต้องพิสูจน์ถูก ผิด แต่ที่ท่านบอกว่าอุทธรณ์ทีไรก็ผ่านทุกที ผมเองก็ไม่อยาก จะบอกว่าผมไปเซ็นผ่านทุกครั้งนะครับ แต่ก็ต้องยอมรับว่ากรรมการเรามีหลากหลาย และคณะกรรมการมีความเห็นที่ต่างกัน ผมยืนยันตลอดนะครับว่าเราไม่ได้ต้องการพิสูจน์ว่า ผู้ได้รับความเสียหายนั้นเกิดจากวัคซีน แต่ถ้าท่านไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามันไม่เกี่ยวกับวัคซีน เราก็จ่ายแล้วครับ ฉะนั้นหลักนี้เป็นหลักสำคัญของมาตรา ๔๑ ซึ่งเป็นหลักที่ประเทศชั้นนำ เท่านั้นที่จะมีมาตรานี้ ที่เรียกว่า No Fault Liability ผมขอบคุณท่านมาก ๆ เลยนะครับ ที่ลงมาดูตรงนี้ แล้วก็ขอบคุณที่ท่านกรุณาให้ความเห็นตรงนี้ ส่วนเรื่องกลไกของเราที่ยังติด ตรงไหน ผมเข้าใจว่าตอนนี้ไม่ได้มีอะไรติดแล้ว เพราะเข้าระบบปกติไปแล้ว แต่ว่า ประวัติศาสตร์ที่ท่านได้บันทึกไว้ในตรงนี้ ผมก็ขอบคุณแล้วก็รับไว้นะครับ แล้วก็ยังเชื่อว่า ระบบของเรานี้รองรับการดูแลผู้ป่วย โดยย้ำนะครับ ไม่พิสูจน์ถูก ผิด เป็นการเสียหาย โดยไม่พิสูจน์ถูก ผิด

    อ่านในการประชุม

  • ของท่านอื่นที่ท่านไม่ได้ตั้งคำถาม ผมขออนุญาตไม่ตอบก็แล้วกันนะครับ น่าจะหมดแล้วนะครับ ถ้าไม่หมดอย่างไร เดี๋ยวกรุณาถามอีกทีแล้วกันนะครับ ขอบคุณมากครับ ท่านประธาน

    อ่านในการประชุม