กราบเรียนท่านประธานครับ กระผม นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ผมขอเสนอรายชื่อกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจต่าง ๆ ของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของรัฐบาล ในสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี จำนวน ๖ ท่าน ดังนี้ ๑. พลตรี มงคล บุตรดาวงษ์ ๒. พลเรือโท ชยุต นาเวศภูติกร ๓. พลอากาศตรี จักรกฤษณ์ ธรรมวิชัย ๔. นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ๕. นายโกวิทย์ ธารณา ๖. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ กระผม ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยครับ วันนี้ผม ขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่มีการนำเข้ามาพิจารณาทั้ง ๒ ฉบับ โดยเฉพาะร่างของ สส. ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ พรรคเพื่อไทยครับ ท่านประธานครับปัญหาเรื่องการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ตลอดจน การจัดการเรื่องการบำรุงรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณูปโภคต่าง ๆ ทั้งไฟฟ้าแสงสว่าง การจัดการขยะ การซ่อมบำรุงถนน ทางระบายน้ำ ต้นไม้ ตลอดจนพื้นที่ส่วนกลางต่าง ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นควบคู่กับการขายโครงการบ้านจัดสรร เป็นปัญหาที่สร้างความทุกข์ร้อนให้ พี่น้องประชาชนในหลายโครงการหลายครอบครัวครับ ผมเห็นว่าการตรากฎหมายเพื่อตั้ง เกณฑ์เพื่อคุ้มครองผู้ซื้อที่ดินจัดสรรมิให้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเลยทอดทิ้ง โดยคำนึงถึงสิทธิของผู้พัฒนาโครงการ รวมไปถึงศักยภาพในการบริหารจัดการขององค์การ บริหารส่วนท้องถิ่นที่อาจต้องเข้ามาบริหารจัดการแทนเป็นเรื่องสำคัญที่ควรได้รับการพูดคุย และสร้างกรอบแนวทางในการดำเนินการที่ชัดเจนครับ ผมขอสไลด์นะครับ
โดยปกติแล้วกรรมสิทธิ์ ในที่ดินส่วนกลางและหน้าที่ในการดูแลสาธารณูปโภคต่าง ๆ ภายใต้โครงการที่มีการ ขออนุญาตจัดสรรจะสามารถอยู่ได้ใน ๓ ลักษณะครับ ครอบคลุมผู้มีส่วนร่วม ๓ กลุ่ม หรือ ๓ Stakeholder ตามแผนภาพ โดยเริ่มต้นเลยก่อนที่จะเริ่มจัดสรรโครงการที่ดิน กรรมสิทธิ์เหล่านี้จะเป็นของผู้พัฒนาโครงการ หรือเจ้าของโครงการ แล้วก็มีการขายที่ดิน จัดสรร หากมีการขายมากเพียงพอในระดับหนึ่งก็จะมีการนัดประชุมเพื่อจัดตั้งนิติบุคคล โครงการ หลังจากการจัดตั้งนิติบุคคลโครงการก็จะมีการโอนถ่ายทรัพย์สินส่วนกลางให้เป็น กรรมสิทธิ์ของนิติบุคคลหรือว่าเป็นของผู้ซื้อเข้ามาร่วมกันบริหารจัดการ กลุ่มผู้ซื้อผู้อยู่อาศัย ที่ร่วมกันบริหารจัดการนี้ก็มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลร่วมกัน แล้วก็ต้องมีการจ่ายเงิน ค่าส่วนกลางและจ้างบริษัทที่เข้ามาบริหารจัดการครับ แต่ท้ายที่สุดแล้วหากไม่สามารถดูแล ร่วมกันได้อาจจะมีการพิจารณายกทรัพย์สินส่วนกลางนี้ให้เป็นสาธารณประโยชน์หรือก็คือให้ มีองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาดูแลแทน แล้วก็เปิดให้เป็นสาธารณะเข้ามาใช้งานได้ หลักคิดจริง ๆ เรียบง่าย มีแค่ ๓ ส่วน เคลื่อนจาก Developer ไปเป็นนิติบุคคลโครงการ แล้วก็ไปเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ที่บริหารโดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ด้วย หลักการปฏิบัติที่ยังไม่มีกรอบกติกาที่ชัดเจน ไม่มีกรอบระยะเวลาที่เร่งรัดการดำเนินการ นำมาซึ่งปัญหาในหลาย ๆ กรณีที่เกิดขึ้นเป็นข้อพิพาทอยู่ในปัจจุบัน ผมขอยกตัวอย่าง อย่างเช่นในกรณีจากการตั้งนิติบุคคลโครงการ บางกรณีโครงการขนาดใหญ่มีอัตราการขายที่ ค่อนข้างช้า ใช้ระยะเวลาในการขายที่ยาวนาน ทำให้การตั้งนิติบุคคลขึ้นมาบริหารอาจจะ เกิดขึ้นได้ล่าช้า ลูกบ้านต่าง ๆ อาจจะบ่นว่าไม่สามารถมีนิติบุคคลเข้ามาดูแลได้สักที ในระหว่างที่เจ้าของโครงการเองอาจจะบริหารจัดการพื้นที่ส่วนกลางได้ไม่ดี มีการใช้ถนน ก่อสร้างร่วมกันกับถนนโครงการ มีปัญหาเรื่องมลพิษต่าง ๆ หรือว่าเสียงจากการก่อสร้าง ต่าง ๆ ลูกบ้านเองหรือว่าผู้ซื้อเองก็อยากจะเร่งรัดให้มีการตั้งนิติบุคคลขึ้นมาเพื่อดูแลกันเอง แล้วออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อมาบังคับใช้กับ Developer พัฒนาโครงการ ให้ปฏิบัติโดยคำนึงถึงสิทธิของผู้อยู่อาศัยด้วย ในทางกลับกันบางกรณีเราก็จะเห็นผู้พัฒนา โครงการที่ต้องการเร่งรัดให้มีการจัดตั้งนิติบุคคลโครงการ เพื่อโอนหน้าที่ในการดูแลพื้นที่ ส่วนกลางให้ผู้ซื้อหรือลูกบ้านเป็นผู้ดูแลเอง แต่ไม่สามารถจัดประชุมได้ครับท่านประธาน อาจจะด้วยที่ลูกบ้านไม่มีความพร้อมในการที่จะรับพื้นที่ส่วนกลางนั้น จึงไม่เข้ามาร่วมประชุม องค์ประกอบในการประชุมไม่เพียงพอ ก็ไม่สามารถจัดประชุมเพื่อตั้งนิติบุคคลได้ หรือในบาง กรณีอาจจะมีการดึงเวลาเพื่อรอให้มีความพร้อมมากขึ้นหรืออยากจะให้ผู้พัฒนาโครงการ เป็นผู้ดูแลทรัพย์สินส่วนกลางไปก่อน อีกกรณีในกรณีที่นิติบุคคลมีการบริหารจัดการแล้ว แต่มีปัญหาก็จะเกิดในกรณีที่มีการเก็บค่าส่วนกลางจากผู้อยู่อาศัยได้ไม่ครบทุกหลัง หรือไม่ ครบทุกแปลง จนเกิดการที่ว่าเงินที่เป็นกองกลางไม่เพียงพอสำหรับการบริหารจัดการหรือว่า การดูแลสาธารณูปโภคต่าง ๆ รวมไปถึงอาจจะเกิดปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่าง ลูกบ้าน ลูกบ้านบางรายจ่ายค่าส่วนกลาง ลูกบ้านบางรายไม่จ่ายค่าส่วนกลาง และเกิดเป็น ข้อพิพาทกันเองระหว่างผู้อยู่อาศัย กรณีเหล่านี้มีความจำเป็นที่จะต้องมีมติเพื่อยกให้เป็น สาธารณประโยชน์ แต่กระบวนการต่าง ๆ ก็ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนที่จะสามารถแก้ปัญหา ให้พี่น้องประชาชนได้ การจะยกให้เป็นสาธารณประโยชน์ เดิมต้องทำโดยผู้จัดสรรที่ดินและมี คณะกรรมการพิจารณามาพิจารณาถึงความเหมาะสมในการยกให้เป็นสาธารณประโยชน์ ดังนั้นในหลายกรณีทำให้หมู่บ้านถูกทิ้งร้าง เพราะว่าไม่สามารถยกเป็นสาธารณประโยชน์ได้ และนำมาซึ่งการขาดการดูแล การเปลี่ยนให้ลูกบ้านสามารถมีมติร่วมกันเพื่อยกให้เป็น สาธารณประโยชน์อาจจะเป็นประโยชน์ในเชิงภาพรวม แต่ในทางกลับกันก็ต้องพิจารณาถึง สิทธิของผู้ที่ไม่เห็นด้วยด้วยว่าหากถูกบังคับให้ยกสาธารณูปโภคต่าง ๆ กลายเป็น สาธารณประโยชน์โดยที่ไม่เห็นด้วย จะมีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด
อีกประเด็นหนึ่ง เรื่องของการยกให้เป็นสาธารณประโยชน์ก็คือเป็นการเพิ่ม ภาระหน้าที่ให้กับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่ต้องเข้ามาจัดการดูแล การเพิ่มภาระหน้าที่ เหล่านี้ เป็นเหตุผลที่ทำให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นหลาย ๆ กรณี ไม่เลือกที่จะรับทรัพย์สิน ส่วนกลางของหมู่บ้านมาเป็นสาธารณประโยชน์ เพราะว่าเป็นการเพิ่มภาระหน้าที่ให้เขา จนเกินไป และเขาอาจจะไม่มีทรัพยากรหรือบุคลากรในการดูแลที่เพียงพอ ดังนั้นหากเรามี การแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีการปลดล็อกให้สามารถยกให้ท้องถิ่นเข้ามาดูแลง่ายขึ้น ก็อาจจะ ต้องมีการพิจารณาถึงการสนับสนุนทั้งงบประมาณหรือบุคลากรต่าง ๆ ทรัพยากรต่าง ๆ เข้ามาดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความสามารถเพียงพอในการบริหารจัดการพื้นที่ ส่วนกลางที่มีมากขึ้นด้วยครับ
ท้ายที่สุด ท่านประธานครับ ผมขอกล่าวโดยสรุปว่าการปรับปรุงกฎหมาย การจัดสรรที่ดินที่เรากำลังพิจารณาอยู่นี้มีความสำคัญไม่น้อย และผมเองก็สนับสนุนเป็น อย่างยิ่งให้มีการรับหลักการทั้ง ๒ ร่าง เพื่อเปิดให้มีการศึกษาและหาข้อสรุปร่วมกันจากทุก ฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อวางกรอบในการปฏิบัติร่วมกันต่อไป และเชื่อว่าการแก้ พระราชบัญญัตินี้จะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และทางออกของหลายปัญหาที่พี่น้อง ประชาชนในหลายหมู่บ้านประสบอยู่ ขอบคุณครับท่านประธาน
ท่านประธานครับ กระผม ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย วันนี้ ผมขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนด การประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... ทั้ง ๕ ร่างของพรรคการเมืองทุกพรรคการเมือง โดยเฉพาะ ร่างของท่าน สส. วิสุทธิ์ ไชยณรุณ ร่างของพรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ พรรคเพื่อไทย เราลงพื้นที่รับฟังเสียงของพี่น้องประชาชนมาตลอด ทั้งประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ เรารับทราบถึงความทุกข์ยากของพี่น้องชาวประมงที่ต้องเผชิญกับปัญหาของการโดน ข้อกฎหมาย การบังคับใช้ข้อกฎหมายที่ไม่เหมาะสม ปฏิบัติได้ยาก แล้วก็มีบทลงโทษ ที่ไม่สมส่วนกับความผิด ชาวประมงถูกดำเนินคดีนับหมื่นรายครับท่านประธาน ในช่วงเวลา ที่ผ่านมามีเรือประมงถูกบังคับให้จอดทิ้งไว้กว่า ๓,๐๐๐ ลำ มีผู้ประกอบการกิจการประมง ต่าง ๆ รวมถึงลูกจ้างต่าง ๆ ถูกลอยแพไม่ได้ประกอบอาชีพ มีครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ กว่า ๕๐,๐๐๐ ครอบครัวครับท่านประธาน สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบถึงห่วงโซ่อุตสาหกรรมทั้งหมดของอุตสาหกรรมประมง ไม่ว่าจะเป็น ตลาดปลา ท่าเรือ ห้องเย็น สถานีน้ำมัน โรงงานน้ำแข็ง แล้วก็อีกหลายธุรกิจครับ มูลค่า ความเสียหายของอุตสาหกรรมประมงที่เกี่ยวข้องทั้งหมด คิดเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจ ของประเทศไทยต่อปีเกินกว่าปีละ ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่เร่งด่วน ที่ทางสภาของเราและทางรัฐบาลต้องรีบแก้ไขครับ ปัญหาทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากอะไรครับ ท่านประธาน ปัญหาเกิดจากการตราพระราชกำหนดขึ้นตั้งแต่สมัยรัฐบาล คสช. พระราชกำหนดนี้ถูกตราขึ้นอย่างเร่งด่วนจากแรงกดดันของประเทศต่างชาติ โดยที่ไม่ได้ มีการคิดให้ถี่ถ้วน มีการไตร่ตรองถึงความเหมาะสม แล้วก็หารือเกี่ยวกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด แต่มีความพยายามที่จะเอาใจคนนอกบ้าน โดยทำให้พี่น้องประมงคนในบ้านของเราเอง ต้องเสียหายแล้วก็ต้องทนทุกข์ทรมานมาเป็นเวลาเกือบ ๑๐ ปีครับท่านประธาน สิ่งเหล่านี้ ทำลายอาชีพ ทำลายธุรกิจ แล้วก็ทำลายเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างชัดเจน พรรคเพื่อไทย เราร่วมงานกับสมาคมประมงแห่งประเทศไทยแล้วก็ตัวแทนจากสมาคมประมงทั้ง ๒๒ จังหวัด เราหารือเกี่ยวกับแนวทางในการแก้ไขปัญหาทั้งหมด นำมาซึ่งการยื่นร่างพระราชบัญญัติ เพื่อแก้ไขพระราชกำหนดการประมงฉบับนี้เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่สมัยประชุมที่แล้ว น่าเสียดายครับ ที่ยังไม่ได้มีการพิจารณาจนสำเร็จลุล่วงจึงจำเป็นจะต้องมีการยื่นเข้ามา อีกครั้งในสมัยประชุมนี้ ตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมาเราประกาศเป็นนโยบายของ พรรคเพื่อไทยว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยเข้ามาบริหารเราจะทำให้ประมงไทยกลับมาเป็นเจ้าสมุทร อีกครั้งหนึ่ง การที่เราจะแก้ไขปัญหาของพี่น้องชาวประมงผมขอย้ำอย่างนี้ว่าเราสามารถ ดำเนินการได้ใน ๒ ระดับครับท่านประธาน ทั้งในส่วนของฝั่งบริหารแล้วก็ส่วนในฝั่งของ นิติบัญญัติ ต้องขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ที่ท่านให้ความสำคัญ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาประมงให้พี่น้องประมงไทยตั้งแต่การประชุม ครม. นัดแรกวันที่ ๑๔ กันยายน ปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐามีดำริให้ตั้งคณะกรรมการ เพื่อฟื้นฟูการประมงทะเลและอุตสาหกรรมการประมงขึ้นมาโดยทันที มีท่านรองนายกรัฐมนตรี ภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธาน และประสานเอาทั้งภาคธุรกิจ ภาคราชการ และรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมกันอยู่ในคณะกรรมการ เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน คณะกรรมการ ชุดนี้ทำงานอย่างต่อเนื่องครับท่านประธาน ในช่วง ๓-๔ เดือนที่รัฐบาลเข้ามาสามารถ แก้ไขกฎหมายในระดับรองที่ไม่ใช่ระดับพระราชบัญญัติไปแล้วถึง ๑๙ ฉบับ กฎหมายเหล่านี้ สามารถแก้ไขปัญหาให้พี่น้องได้ก่อนอย่างเร่งด่วน ผมขอพูดถึงการแก้ปัญหาของคณะกรรมการ ชุดนี้คร่าว ๆ เพื่อให้เห็นภาพของการทำงานในฝั่งบริหาร
ในประเด็นแรกคณะกรรมการชุดนี้มีการปรับปรุงกระบวนการควบคุม ดูแลและบทลงโทษให้มีความเหมาะสมมากขึ้น กล่าวคือโทษต่าง ๆ จำเป็นจะต้องมี การพิจารณาถึงเจตนาในการกระทำความผิดด้วย การพิจารณาโทษทางอาญาอาจจะรุนแรง จนเกินไปในบางทีหากไม่พิจารณาถึงเจตนา ชาวประมงจำนวนไม่น้อยที่อาจจะยังไม่เข้าใจ กฎหมายและไม่ได้มีเจตนาที่จะกระทำความผิด แต่โทษที่เขาได้รับกลับรุนแรงจนเกินไป คณะกรรมการมีการออกประกาศแล้วก็มีการปรับกฎเกณฑ์ให้สามารถมีเบี้ยปรับมาทดแทน โทษอาญาที่เกินกว่าเหตุได้ รวมไปถึงกรณีที่มีการยึดเรือของพี่น้องชาวประมง กรรมการ ออกระเบียบให้สามารถมีการวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อนำเรือเหล่านั้นกลับมา ประกอบอาชีพ ประกอบกิจการต่อได้ ทำให้การต่อเนื่องของการประกอบอาชีพแล้วก็ การจ้างงานต่าง ๆ ยังดำรงอยู่ต่อได้ คณะกรรมการมีการปรับปรุงกระบวนการควบคุม การออกเรือ ทำให้มีการเพิ่มวันทำการประมงได้อีกประมาณ ๒๐-๕๐ วัน ขึ้นอยู่กับพื้นที่ แล้วก็ขึ้นอยู่กับประเภทอุปกรณ์ที่ใช้ การเพิ่มการออกเรือทำให้เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ของอุตสาหกรรมประมงได้ประมาณ ๑๐,๐๐๐ ล้านบาทครับท่านประธาน
แล้วอีกประเด็นหนี่งที่สำคัญมากก็คือการขอเอกสารต่าง ๆ แล้วก็ หนังสือรับรองในการอนุญาตต่าง ๆ มีการปรับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ทำให้สามารถทำได้ง่ายขึ้น แล้วก็สามารถทำได้ที่กรมเจ้าท่า สิ่งเหล่านี้คือการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ทางฝั่งภาคบริหาร สามารถดำเนินการได้เลยครับท่านประธาน แต่การแก้ไขปัญหาให้พี่น้องชาวประมง ไม่สามารถจบได้แค่ในอำนาจของฝั่งบริหาร ในฝั่งของนิติบัญญัติเราเองมีความจำเป็นจะต้องแก้พระราชบัญญัติ เพื่อแก้ไขพระราชกำหนด ประมงที่ค้างคามาตั้งแต่สมัยรัฐบาล คสช. นำมาซึ่งสิ่งที่เรากำลังอภิปรายกันอยู่ในทุกวันนี้ครับ ท่านประธาน ร่างกฎหมายทั้ง ๕ ฉบับ ที่เพื่อนสมาชิกจากพรรคต่าง ๆ เสนอเข้าสู่สภาในวันนี้ เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน แล้วก็เป็นประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องชาวประมงครับ ผมอาจจะ ไม่ได้ลงรายละเอียดรายมาตราของแต่ละร่างนะครับ แต่ขอเน้นย้ำ ๕ หลักการสำคัญ ของร่างพรรคเพื่อไทยที่นำโดยท่าน สส. วิสุทธิ์ ไชยณรุณ
ในประเด็นแรก คือเป็นการเพิ่มเติมเจตนารมณ์ในการคุ้มครองการประกอบ อาชีพประมงให้สอดคล้องกับวิถีชาวประมงของคนไทยครับ
ประเด็นที่ ๒ คือเพิ่มอิสระให้ประมงพื้นบ้านสามารถออกไปทำการประมง นอกพื้นที่เขตทะเลชายฝั่งได้
ประเด็นที่ ๓ มีการเพิ่มให้ชาวประมงสามารถดัดแปลงเครื่องมือในการ ทำประมงได้ โดยมีหน่วยงานรัฐเป็นผู้ควบคุมครับ
ประเด็นที่ ๔ คือการแก้ไขเพิ่มเติมให้การกระทำความผิดต่าง ๆ ไม่มีโทษ ที่เป็นการยึดเรือครับ
ประเด็นที่ ๕ คือการปรับบทลงโทษทางอาญาให้มีเบี้ยปรับที่เหมาะสม ไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดเบี้ยปรับขั้นต่ำ เพราะว่าสามารถพิจารณาเรื่องเจตนาของการ กระทำความผิดประกอบได้
ท้ายที่สุดครับท่านประธาน ผมเห็นว่าเราควรจะรับร่างพระราชบัญญัติ ทั้ง ๕ ฉบับ ที่นำเสนอกันอยู่ในสภาทุกวันนี้ แต่เนื่องด้วยเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเองเพิ่งได้รับหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชกำหนดการประมงนี้ ซึ่งเป็นร่างของ ครม. แล้วก็จัดทำโดยกรมประมง ซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายโดยตรง ผมเห็นว่าร่างนี้มีความจำเป็นแล้วก็อาจจะสามารถเพิ่มเติมหลักการให้ครอบคลุมครบถ้วน ดังนั้นในทางปฏิบัติเราควรจะนำร่างนี้เข้ามาร่วมพิจารณาร่วมกันกับ ๕ ร่าง ที่พรรคการเมือง นำเสนอ เพื่อให้เกิดความครอบคลุมรอบด้าน และเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ อย่างยั่งยืนกับพี่น้องชาวประมงมากที่สุด ขอบคุณครับท่านประธาน
ท่านประธานครับ ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย มีการประสานงาน แล้วครับ ทาง ครม. จะเข้ามารับร่างครับ
กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ กระผม ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย วันนี้ผมขอมีส่วนร่วม ในการอภิปรายเห็นชอบรายงานผลการพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง การศึกษาโครงการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่ง ระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) แล้วผมขอเน้นย้ำใน ๓ ประเด็น เพื่อให้เกิดการศึกษาเรื่องความคุ้มค่าของการลงทุนและการสื่อสารให้เกิดความชัดเจน เพิ่มขึ้นในอนาคต
ประเด็นแรก โครงการ แลนด์บริดจ์เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมที่สำคัญของระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ SEC ครอบคลุมพื้นที่ ๔ จังหวัดครับท่านประธาน คือ จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัด สุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช ๔ จังหวัดนี้เป็นพื้นที่ที่ชาวต่างชาติเข้าใจกันดีว่า เป็น Strategic Location หรือเป็นทำเลที่ตั้งที่มีอิทธิพลมากในเรื่องของการประกอบธุรกิจ ในอนาคต พื้นที่ตรงนี้เชื่อมน่านน้ำ ๒ ฝั่งทั้งอ่าวไทยและอันดามัน สามารถรองรับการขนส่ง ออกได้หลายช่องทาง และเป็นที่น่าสนใจของการตั้งเป็นแหล่งที่ตั้งของพื้นที่เขตเศรษฐกิจ หรือว่าพื้นที่อุตสาหกรรมต่าง ๆ โครงการ SEC ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิด One Port Two Sides หรือว่าการที่เป็นท่าเรือที่มีทางออกทางฝั่งซ้ายและฝั่งขวาในท่าเรือเดียวกัน ดังนั้นพื้นที่ตรงนี้จะสามารถรองรับการขนส่งเข้ามาในพื้นที่เพื่อพัฒนาสินค้าหรือว่าแปรรูป สินค้าและส่งออกไปในเส้นทางอื่นได้อย่างดีครับท่านประธาน สินค้าในบริเวณนี้จะเป็นสินค้า ที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยและพื้นที่ภาคใต้ได้อย่างมาก โครงการ แลนด์บริดจ์เองเป็นโครงการลงทุนเส้นทางรถไฟรางคู่ระหว่างท่าเรือ ๒ ฝั่งเชื่อมต่อกัน จากฝั่งระนองไปที่ฝั่งชุมพร โครงการนี้เพิ่มโอกาสอีกโอกาสหนึ่งให้กับ SEC ก็คือการรองรับ การผ่านสินค้าจาก ๑ ฝั่งไปอีก ๑ ฝั่ง ดังนั้นโครงการนี้จำเป็นจะต้องพิจารณาความคุ้มทุน ร่วมกันกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจทั้งเขตครับท่านประธาน การพิจารณาเงินลงทุน ๑ ล้านล้านบาท จะพิจารณาเพียงแค่มูลค่าการส่งผ่านสินค้าจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่งไม่ได้ พื้นที่เขตเศรษฐกิจนี้ได้รับการประเมินจากสภาพัฒน์ว่าถ้ามีการพัฒนาจนสมบูรณ์แล้ว จะสามารถทำให้การเติบโต GDP ของประเทศไทยจาก ๔ เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นไปได้ถึง ๕.๕ เปอร์เซ็นต์ต่อปี แล้วก็จะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่มากกว่า ๒๘๐,๐๐๐ ตำแหน่ง สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์กับพี่น้องภาคใต้และพี่น้องคนไทยอย่างชัดเจนครับท่านประธาน
ประเด็นที่ ๒ เรื่องความคุ้มทุน เราจำเป็นจะต้องพิจารณาว่าการลงทุน ๑ ล้านล้านบาทนี้ภายใต้รัฐบาลปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงทุน เราไม่ได้ใช้วิธี การลงทุนที่จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดด้วยตัวเอง แต่เปลี่ยนรูปแบบเป็นการร่วมทุน กับภาคเอกชน ต้องขอบคุณนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ที่มีวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้ และมุ่งเน้น ที่จะเดินทางไปตามประเทศต่าง ๆ เพื่อชักจูง เชิญชวนนักลงทุนต่างชาติในกลุ่ม สายการเดินเรือและการบริหารขนส่งชั้นนำระดับโลกจากนานาประเทศเข้ามาร่วมลงทุน ในประเทศไทย เพราะท่านเข้าใจดีครับท่านประธานว่า Key Success Factor ของ การบริหารแลนด์บริดจ์ให้ประสบความสำเร็จ คือต้องบริหารท่าเรือให้มีประสิทธิภาพ ประหยัดเงินลงทุน ประหยัดค่าใช้จ่าย และประหยัดต้นทุนขนส่ง มากไปกว่านั้นเราจำเป็น จะต้องมี Partner ที่เป็นสายเรือขนาดใหญ่ที่มีความแข็งแรง แล้วก็มีเครือข่ายการขนส่งที่มี มูลค่าสูงอยู่แล้ว เพราะถ้าเราได้ Partner หรือว่าพันธมิตรที่ดีก็จะเป็นปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้ เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจและดึงดูดการขนส่งในพื้นที่ให้เกิดขึ้นได้จริง ดังนั้นการคุ้มทุน ของโครงการหรือไม่ เราจะพิจารณาแค่การศึกษาในเบื้องต้น ณ ปัจจุบันไม่ได้ เพราะว่า ชาวต่างชาติหรือว่านักลงทุนต่างชาติ ไม่มีนักลงทุนชาติใดเชื่อการศึกษาของผู้เสนอการลงทุน เพียงด้านเดียว ในทางกลับกันศักยภาพต้นทุนที่ต่างกันของผู้ลงทุนแต่ละราย รวมถึงวิสัยทัศน์ ที่ต่างกันของเอกชนแต่ละรายจะส่งผลต่อการคุ้มทุนของโครงการต่างกันด้วยเช่นกัน ดังนั้น กระบวนการที่เกิดขึ้นระหว่างที่ผ่านมาทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการเชิญชวนและรับฟัง ความคิดเห็นของชาวต่างชาติเท่านั้น เรามีเวลาอีกประมาณเกือบ ๒ ปีครับท่านประธาน เราจะประมูลโครงการนี้ในช่วงปลายปี ๒๕๖๘ ดังนั้นระหว่างนี้ ๒ ปีเป็นระยะเวลาที่รัฐบาลยัง สามารถปรับเปลี่ยนโครงการให้มีความเหมาะสมและสามารถดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามา ร่วมประมูลให้ได้มากที่สุดได้ เพราะเมื่อมีการประมูลที่กว้างขวางและมีการแข่งขันที่สมบูรณ์ ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะเกิดกับพี่น้องคนไทยและพี่น้องภาคใต้อย่างแน่นอนครับ ท่านประธาน
ในประเด็นสุดท้าย เรื่องการแข่งขันกับเส้นทางการเดินเรือของสิงคโปร์ ผมอยากชี้ให้เห็นเป็นข้อสังเกตตามกราฟในภาพอย่างที่เห็นครับท่านประธาน ตัวเลขในกราฟ เป็นสถิติปริมาณตู้สินค้าเปลี่ยนถ่ายที่ท่าเรือสิงคโปร์ ท่าเรือสิงคโปร์ดำเนินธุรกิจมานานแล้ว แล้วก็มีปริมาณสินค้าผ่านทางประมาณ ๓๖-๓๗ ล้านตู้มาต่อเนื่องครับท่านประธาน ในช่วง ปีที่ผ่านมาทางสิงคโปร์มีการประเมินว่าจะมีปริมาณสินค้าผ่านทางมากขึ้น จึงเร่งรัดให้เกิด การทำท่าเรือแห่งใหม่ ชื่อท่าเรือ Tuas ครับ ท่าเรือ Tuas เปิดเฟส ๑ ในปี ๒๐๒๒ แล้วก็ ขยายการรองรับการขนส่งที่ท่าเรือสิงคโปร์สูงขึ้น และก็มีการคาดการณ์ว่าท่าเรือ Tuas นี้ เปิดครบสมบูรณ์ในปี ๒๐๔๐ แล้วจะสามารถรองรับการเติบโตหรือว่าจำนวนตู้เพิ่มขึ้นครับ ท่านประธาน จาก ๓๗ ล้านตู้เป็น ๖๕ ล้านตู้ แลนด์บริดจ์ของประเทศไทยอยู่ตรงไหน แลนด์บริดจ์ ของประเทศไทยในเฟส ๑ ครับท่านประธาน ทั้ง ๒ ท่าเรือรวมกัน เรารองรับ ตู้ขนส่งสินค้านี้ที่ประมาณ ๑๐ ล้านตู้ ๑๐ ล้านตู้ คิดเป็นเพียง ๑ ใน ๓ ของการประเมิน Demand ส่วนเพิ่มที่สิงคโปร์ประเมินไว้ครับท่านประธาน ดังนั้นการเปิดโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อรองรับ ๑๐ ล้านตู้ไม่ใช่การแย่งอุปสงค์ของทางสิงคโปร์ แต่เป็นการเปิดโอกาสทาง เศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศไทยเพื่อรองรับปริมาณความต้องการส่วนเพิ่มที่อาจจะเกิดขึ้นใน พื้นที่ Southeast Asia ของเรา และมากไปกว่านั้นครับท่านประธาน หากเราสามารถทำได้ดี เรายังสามารถขยายโครงการนี้ได้ขึ้นไปอีกถึง ๔๐ ล้านตู้ในปี ๒๕๘๒ เมื่อการดำเนินการ เสร็จสิ้นครบทุกเฟสครับท่านประธาน
ท้ายที่สุดครับท่านประธาน ผมเห็นชอบการศึกษารายงานฉบับนี้ครับ และอาจจำเป็นจะต้องมีการศึกษาเรื่องความคุ้มทุนเพิ่มในอนาคตร่วมกันกับเอกชน ที่จะเข้ามาร่วมประมูลกับเรา แต่ผมก็ขอเน้นย้ำครับว่าการทำงานของรัฐบาลที่นำโดย พรรคเพื่อไทย เรามุ่งสร้างโอกาสทางการค้า สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ เรามองหาโอกาส เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ครับ แล้วก็อยากจะเชิญชวนพี่น้องประชาชนและเพื่อน ๆ ในสภา ทุกท่านให้มุ่งมองโอกาสต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาให้ประเทศมากกว่าที่จะมองแต่ปัญหา ในทุกโอกาสของรัฐบาล ขอบคุณครับ
ท่านประธาน กระผม ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เสนอระยะเวลา ๙๐ วันครับ ขอผู้รับรองด้วยครับ