ข้อมูลการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ชุดที่ 26

ปีที่ 1

สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง

ครั้งที่ 11 วันพุธที่ 30 สิงหาคม 2566 เวลา 10.45 - 21.43 นาฬิกา

เอกสารต้นฉบับ: บันทึกการประชุมบันทึกการออกเสียงและลงคะแนนรายงานการประชุมสรุปการประชุม

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เรียนท่านสมาชิก ที่เคารพนับถือทุก ๆ ท่านครับ ก่อนที่จะเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ผมจะอนุญาตให้ท่าน สมาชิกได้ปรึกษาหารือตามข้อบังคับ โดยจะเรียงลำดับตามที่ท่านได้แจ้งไว้แล้วนะครับ การหารือนี้จะใช้เวลาคนละ ๓ นาที ขอให้อยู่ในกรอบเวลาที่กำหนดด้วยนะครับ ท่านแรก ขอเชิญคุณธเนศ เครือรัตน์ ๓ นาที แล้วหลังจากนั้นก็เป็นคุณพงศ์พันธ์ ยอดเมืองเจริญ เชิญคุณธเนศครับ

นายธเนศ เครือรัตน์ ศรีสะเกษ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพนะครับ กระผม นายธเนศ เครือรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ เขตเลือกตั้งที่ ๑ พรรคเพื่อไทย วันนี้มีเรื่องที่จะนำมาหารือกับท่านประธานนะครับ ผมได้รับเรื่องร้องเรียน จากพี่น้องชาวจังหวัดศรีสะเกษ เขต ๑ เขตอำเภอเมืองและเขตอำเภอวังหิน ว่ามีเรื่องที่จะ นำมาเรื่องร้องเรียนกับท่านประธานสภาจำนวน ๒ เรื่องต่อไปนี้นะครับ

นายธเนศ เครือรัตน์ ศรีสะเกษ ต้นฉบับ

เรื่องแรก เป็นที่ทราบกันดีว่าจังหวัดศรีสะเกษของเราโดยเฉพาะเขตเทศบาล เมืองศรีสะเกษได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอุทกภัยมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๕ วันที่ประสบอุทกภัย คือวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๕ จนถึงเดือนธันวาคม ๒๕๖๕

นายธเนศ เครือรัตน์ ศรีสะเกษ ต้นฉบับ

นี้เป็นหนังสือร้องเรียนจากประชาชน ปรากฏว่าระยะเวลาผ่านไป ๑ ปี กับ ๒ เดือน ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับเงินชดเชยเลย ก็มีการสำรวจของอำเภอเมืองศรีสะเกษ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดศรีสะเกษ มีการสำรวจไปแล้วจำนวนทั้งหมด ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ ได้ผู้ประสบภัย จำนวน ๔๑๖ ครัวเรือน เป็นเงินงบประมาณ ๗.๑ ล้านบาทเศษ ครั้งที่ ๒ มีผู้ประสบภัย ๗๒๘ ครัวเรือน เป็นเงิน ๘.๖ ล้านบาทเศษ ครั้งที่ ๓ จำนวนทั้งสิ้น ๕๘๑ ครัวเรือนเป็นเงิน ๖.๔ ล้านบาทเศษ รวมทั้งสิ้น ๑,๗๒๕ ครัวเรือน เป็นเงินงบประมาณ ๒๒ ล้านบาทเศษ อันนี้ พี่น้องประชาชนเขารอเงินจำนวนนี้อยู่นะครับ ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ผ่านคณะกรรมการ ก.ช.ภ.อ. ไปเรียบร้อยแล้ว ขอให้ท่านประธานได้โปรดติดตามประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นทางท่านผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดศรีสะเกษ หรืออำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ โดยประสานงานเร่งจ่ายเงินเยียวยา ให้กับผู้ประสบภัยโดยด่วน

นายธเนศ เครือรัตน์ ศรีสะเกษ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ถนน ถนนต่าง ๆ ที่อยู่ในการดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในจังหวัดศรีสะเกษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตอำเภอเมือง เขตอำเภอวังหินได้รับความเสียหาย เป็นอย่างมาก ประชาชนร้องเรียนมาเยอะมากนะครับ เบื้องต้นผมจะนำเสนอ ท่านประธานเพียง ๓ เส้นก่อนเนื่องจากเวลาจำกัด ขอ Slide ที่ ๒ นะครับ ถนนสายบ้านตะดอบ-บ้านหนองเทา ถนนสายบ้านตะดอบ-บ้านนาสูง ถนนเส้นนี้อยู่ห่างจาก ศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ ผมว่าน่าจะประมาณ ๑๐ กว่ากิโลเมตรเท่านั้นเอง แต่ในระยะเวลาประมาณ๑๐ ปีที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปซ่อมแซมบำรุงเลย ซึ่งประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง ถนนสายที่ ๒ ขอ Slide หมายเลข ๓ นะครับ ถนนสายที่ ๒ ถนนสายบ้านเห็นอ้ม ตำบลโพนยาง ไปบ้านขุมคำ ตำบลบุสูง ถนนเส้นนี้ เป็นถนนเชื่อมระหว่างตำบล ระหว่างตำบลโพนยางไปตำบลบุสูง อำเภอวังหิน ประชาชน สัญจรเป็นจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนและร้องเรียนมาที่ผมเป็นจำนวนมาก ขอให้ ท่านประธานได้ช่วยติดตามให้ด้วย ส่วน Slide หมายเลข ๔ Slide ที่ ๔ ถนนทางเข้าหมู่บ้าน ทางเข้าหมู่บ้านบ้านใหม่ไทยเจริญ หมู่ที่ ๑๕ ตำบลธาตุ อำเภอวังหิน อันนี้ก็ได้รับเรื่อง ร้องเรียนมาทาง Page แจ้งข่าวศรีสะเกษด้วย แล้วผมก็ได้รับเรื่องร้องเรียนมาฝาก ท่านประธานได้กรุณาประสานงานติดตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย แล้วผมก็จะขออนุญาต นำเสนอเอกสารให้กับท่านประธานด้วยนะครับ ขอขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปขอเชิญคุณพงศ์พันธ์ครับ

นายพงศ์พันธ์ ยอดเมืองเจริญ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพนะครับ ผม พงศ์พันธ์ ยอดเมืองเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตบางพลัด เขตบางกอกน้อย กทม. ขอแสดงความยินดี จัดตั้งรัฐบาลกันได้แล้วประชาชนก็เป็นฝ่ายค้าน กว่า ๔๐ จังหวัดที่พรรคก้าวไกลชนะมา แล้วก็ขอแสดงความยินดีนะครับ ผมมีประเด็นหารือ ในเขตพื้นที่ซึ่งประชาชนกลุ่มหนึ่งเดือดร้อน ขอ Slide ที่ ๑ นะครับ

นายพงศ์พันธ์ ยอดเมืองเจริญ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

บริเวณที่ท่านเห็น ก็จะเป็นบริเวณพื้นที่ตรงกรอบเหลืองที่มีประชาชนอยู่มากว่า ๑๐๐ ปี บริเวณพื้นที่ประมาณ ๒ ไร่ มีคำกล่าวกันมาว่าโจรปล้น ๑๐ ครั้งไม่เท่ากับไฟไหม้ครั้งเดียว ครั้งนี้ประชาชนในพื้นที่ ดังกล่าวโดนทางรัฐโดยการรถไฟแห่งประเทศไทยไล่ที่ เขาอยู่กันมากว่า ๑๐๐ ปี แล้วก็เมื่อ ประมาณปี ๒๕๖๐ ก็มีประกาศจากทางการรถไฟแห่งประเทศไทยให้ชาวบ้านเคลื่อนย้าย ออกจากพื้นที่ มีการฟ้องร้องคดีแพ่ง มีการฟ้องร้องคดีอาญาเกิดขึ้น ท่านดูในบริเวณพื้นที่ ดังกล่าวรถไฟตัวสถานีอยู่ห่างจากตัวบริเวณพื้นที่พิพาทดังกล่าวกว่าหลายกิโลเมตร ซึ่งตาม กฎหมายห่างแค่ประมาณสัก ๑๐๐ กว่าเมตรก็จะไม่ใช่ที่รถไฟ แล้วก็บริเวณที่เส้นทางรถไฟ เส้นทางสีแดง สีน้ำเงินตรงนั้นนะครับ บริเวณหมุดจะห่างจากเส้นทางรถไฟไม่เกิน ๑๕ วา ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวที่เป็นบริเวณชายธงตัวนี้ก็ห่างจากรถไฟเกินกว่า ๑๕ วา อย่างไรก็ตาม การรถไฟแห่งประเทศไทยก็ได้เอาที่บริเวณดังกล่าวนี้ไปให้ทางตลาดประมูล ซึ่งชาวบ้าน ก็ไม่ทราบเรื่องจนตลาดประมูลได้แล้วก็มาขับไล่ ชาวบ้านออกจากที่ดังกล่าว ในพื้นที่ดังกล่าว เราเรียกว่าบริเวณ ๖๓๘ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวนี้เมื่อประมาณปี ๒๕๑๕ บริเวณขอบของชายธง ดังกล่าวก็สามารถไปออกโฉนดได้ ซึ่งตรงนี้ก็อยากจะฝากท่านประธานลองหารือกับทางการรถไฟแห่งประเทศไทยหน่อยว่า ที่ดังกล่าวนี้มันเป็นที่ของรถไฟจริงหรือเปล่า ซึ่งกรณีนี้ทางชาวบ้านก็ได้ร้องเรียนไปหา หน่วยงานทุก ๆหน่วยงานนะครับ ไม่ว่าจะเป็นผู้สมัครต่าง ๆ นะครับ สส. ต่าง ๆ หรือ ป.ป.ช. เองก็ตาม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับรัฐทุกหน่วยงาน แต่ก็หาใช่ได้ไหม เพราะว่าไม่มีหน่วยงานใดสนใจกับความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวเลย อันนี้ ผมต้องขอความอนุเคราะห์จากท่านประธานจริง ๆ เพื่อจะให้ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย มาคุยกับชาวบ้านหน่อย ให้มาชี้แจงหน่อยว่าการประมูลโปร่งใสหรือไม่ ให้มาชี้แจงว่า แนวทางของรถไฟ ทำไมพื้นที่ชาวบ้านถึงกลายเป็นพื้นที่รถไฟนะครับ ชาวบ้านก็อยู่มากว่า ๑๐๐ ปีท่านจะเห็นนะครับว่าปกตินี่พื้นที่รถไฟจะไม่เป็นชายธงอย่างนี้ ก็ขอความอนุเคราะห์ จากท่านประธานช่วยเรียกทางการรถไฟแห่งประเทศไทยมาหารือกันด้วยนะครับ ขอบคุณ มากครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปขอเชิญคุณนรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล ครับ

นายนรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล สส. พรรคเพื่อไทย เขตอำเภอปักธงชัยและวังน้ำเขียว

นายนรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ

ปัญหาที่ ๑ ท่านประธาน ปัญหาที่ทับซ้อนของเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๒๔ ผมอยากจะขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งประกาศใช้แนวเขตของ ปี ๒๕๔๓ หรือว่า One Map ครับ เพราะว่ามีพี่น้องที่ได้รับความเดือดร้อนถึง ๔ อำเภอ ด้วยกัน เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านได้อย่างรวดเร็วครับ เพราะว่าเวลานี้ผ่านระยะเวลา ในการดำเนินงานมาถึง ๒๓ ปีแล้วครับท่านประธาน

นายนรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ครับเรื่องถนนที่ชำรุดทรุดโทรม ถนนเส้นท่าวังไทร โนนสาวเอ้ ของตำบลวังหมี ทางหลวงหมายเลข ๕๐๖๙ ระยะทางกว่า ๑๖ กิโลเมตรนะครับ ถ้าฝนตก มาถนนเส้นนี้ใช้ไม่ได้เลยนะครับท่านประธานจากรถที่กลายเป็นเรือได้เลย

นายนรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ

ปัญหาอีก ๑ จุดก็คือบริเวณถนนเลียบคลองส่งน้ำของเขื่อนลำพระเพลิง ทางหลวงหมายเลข ๒๔๒๑ ที่ตอนนี้ขาดไฟฟ้าและแสงสว่างหลายจุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่ตำบลตูม ตำบลสุขเกษม ตำบลตะขบ บริเวณบ้านสวนหมาก บ้านสวนหอม บ้านปู่เจ๊ก บุพระเมือง

นายนรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ คือปัญหาเรื่องประปาและภัยแล้ง น้ำประปามีลักษณะขุ่น เหม็น แล้วก็ไม่พอใช้ในหลายพื้นที่ อย่างเช่น ตำบลภูหลวง บ้านหนองกก บ้านคลองน้ำขาว บ้านโคกสำราญ บ้านโคกเหิบ เขาพระยาปราบ ของตำบลตะขบ หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๗ หมู่ที่ ๘ หมู่ที่ ๑๔ หมู่ที่ ๑๖ ตำบลธงชัยเหนือ แล้วก็หมู่ที่ ๑ ของตำบลตะคุ ภัยแล้งในหลายพื้นที่ ทำให้พี่น้องขาดน้ำในการทำการเกษตรนะครับ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ อยากจะขอให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการหาแหล่งน้ำให้กับพี่น้องในการใช้อุปโภคบริโภค และการเกษตร

นายนรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ ปัญหาเรื่องไฟฟ้าไม่พอใช้ในหลายพื้นที่นะครับ อยากจะขอให้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้มีการขยายเขตไฟฟ้าให้มีความเพียงพอต่อความต้องการในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำบลตะคุ ตำบลสุขเกษม ตำบลตะขบ ในอำเภอปักธงชัย ตำบลอุดมทรัพย์ ตำบลระเริง และตำบลวังหมี ในอำเภอวังน้ำเขียวนะครับ

นายนรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ

ปัญหาที่ ๕ คือปัญหาการขาดแคลนเครื่องมือทางการแพทย์ของโรงพยาบาล ปักธงชัยและวังน้ำเขียว ซึ่ง ๒ โรงพยาบาลติดถนน ๓๐๔ มีการจราจรค่อนข้างหนาแน่น มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นหลายครั้งนะครับ แต่ว่าที่โรงพยาบาลยังขาดเครื่องไม้เครื่องมือ อย่างเช่น โรงพยาลปักธงชัยมีหมอกระดูก แต่ก็ไม่สามารถทำการรักษาอะไรได้มาก เนื่องจาก ขาดเครื่องมือที่จำเป็น

นายนรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๖ ก็คือปัญหาเรื่องช้างป่า พบว่าปัญหาช้างป่าเข้ามาทำลายพืชผล ในการเกษตรของหลาย ๆ ตำบลในอำเภอวังน้ำเขียวนะครับ ชาวบ้านต้องอยู่ด้วยความหวาดผวา ซึ่งปัญหานี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครับท่านประธาน

นายนรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๗ ก็คือปัญหาของเกษตรกร ซึ่งตอนนี้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกร มีแนวโน้มที่สูงมากขึ้น สวนทางกันกับราคาพืชผลทางการเกษตร ราคาหมู ราคาวัวที่ตกต่ำ บวกกับปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นก็ยังซ้ำเติมเกษตรกรอีก ถือว่าเป็นปัญหาที่สำคัญระดับประเทศ เพราะว่ามีผลกระทบโดยตรงกับปากท้องแล้วก็ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนครับ ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปขอเชิญคุณสุทธิชัย จรูญเนตร

นายสุทธิชัย จรูญเนตร อุบลราชธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม นายสุทธิชัย จรูญเนตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี พรรคภูมิใจไทย ก่อนอื่นก็ขออนุญาตท่านประธานที่ได้ขอบคุณไปยังพี่น้องเขตเลือกตั้งที่ ๕ อำเภอตระการพืชผล อำเภอกุดข้าวปุ้น ที่มอบความไว้วางใจให้ผมได้มาทำหน้าที่แทนในสภา อันทรงเกียรติแห่งนี้ ผมสัญญาครับว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด โดยยึดเอาผลประโยชน์ของ พี่น้องเป็นสำคัญ ท่านประธานครับ วันนี้ขออนุญาตที่จะได้หารือในความเดือดร้อนของพี่น้อง จำนวน ๒ เรื่องซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

นายสุทธิชัย จรูญเนตร อุบลราชธานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ด้วยผมได้รับเรื่องร้องเรียนผ่านท่าน สส. ญาณีนาถ ท่าน สส. สุขสมรวย จังหวัดอำนาจเจริญ ในความเดือดร้อนของพี่น้องที่ใช้รถใช้ถนนบนทางหลวง หมายเลข ๒๑๓๔ ตอนอำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ ถึงอำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี และตอนอำเภอตระการพืชผลไปอำเภอศรีเมืองใหม่ สายทางนี้ถือว่า เป็นสายทางหลักอีกเส้นทางหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานีที่เชื่อมต่อไปยังหลาย ๆ จังหวัด ในภาคอีสาน และยังเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป. ลาว ไปยังแหล่งท่องเที่ยว ที่สำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี ทำให้มีปริมาณรถที่มาใช้เส้นทางนี้จำนวนมากต่อวัน กรมทางหลวงเคยสำรวจพบว่าวันหนึ่งมีมากกว่า ๘,๐๐๐ คัน แต่ท่านประธานครับ ด้วยปริมาณรถที่มากขนาดนี้สภาพถนนกลับมีเพียงแค่ ๒ ช่องจราจร ไหล่ทางแคบ เพียงข้างละ ๐.๕ เมตร สะพานขนาดใหญ่หลายแห่งชำรุด สภาพพื้นผิวจราจรเป็นหลุมบ่อ จำนวนมากทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งนำมาซึ่งความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ด้วยเหตุดังกล่าวผมจึงขออนุญาตใคร่เรียนท่านประธานสภาไปยังกรมทางหลวง เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างสะพานใหม่ทุกแห่งและขยายช่องทางจราจร จาก ๒ ช่องเป็น ๔ ช่องโดยด่วนด้วยครับ

นายสุทธิชัย จรูญเนตร อุบลราชธานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ เป็นความเดือดร้อนของพี่น้องในชุมชนเมืองตระการพืชผล และผู้ใช้รถใช้ถนนบนทางหลวง หมายเลข ๒๐๕๐ ตอนในเมืองตระการพืชผล ไปอำเภอ เขมราฐ สภาพเส้นทางปัจจุบันเป็น ๔ ช่องจราจร ไม่มีเกาะกลางถนน สภาพผิวจราจร เป็นหลุมเป็นบ่อจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนนี้จะมีน้ำท่วมขังตลอดเวลา ทำให้การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก ผมจึงนำเรียนที่จะขอผ่านท่านประธาน ไปยังกรมทางหลวงอีกครั้ง ขอสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างเกาะกลางถนน และซ่อมแซมผิวจราจรใหม่ ทั้งนี้เพื่อความสะดวกปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน ผมหวัง เป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความอนุเคราะห์งบประมาณเป็นอย่างดี จึงขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ ขอบคุณมากครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปขอเชิญคุณนพดล ทิพยชล ครับ

นายนพดล ทิพยชล นนทบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นพดล ทิพยชล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี เขต ๔ อำเภอปากเกร็ด พรรคก้าวไกล วันนี้ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนเพื่อมาหารือกับท่านประธานในวันนี้ มีอยู่จำนวนทั้งหมด ๖ เคส ครับท่านประธาน ขอ Slide ด้วยครับ

นายนพดล ทิพยชล นนทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องแรก เป็นปัญหาผักตบชวาที่ไหลมา ตอนนี้แทบจะเต็มล้นคลองบางพังแล้วครับท่านประธาน คลองบางพังเป็นคลองที่อยู่ ในตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด คลองนี้ไหลผ่านถึง ๓ ชุมชน ไล่ตั้งแต่หมู่บ้านสหกรณ์ ๓ ผ่านเมืองทองธานี แล้วก็ผ่านสุขาประชาสรรค์ ๒ ก่อนจะไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา ผักตบชวา เป็นอุปสรรคทำให้น้ำไหลไม่สะดวก ตอนนี้เกิดปัญหาอยู่ ๒ ประเด็นครับ ๑. คือน้ำเน่าเสีย ส่งผลรุนแรงต่อพี่น้องประชาชนที่พักอาศัยอยู่ริมคลอง ๒. เมื่อเวลาฝนตก น้ำไม่สามารถ ระบายได้ เกิดน้ำท่วมกับชุมชนที่อยู่ริมคลอง ขอฝากท่านประธานส่งปัญหานี้ให้กับ ทางเทศบาลนครปากเกร็ดนำปัญหานี้แก้ไขให้กับประชาชนด้วยครับท่านประธาน ขอ Slide ถัดไปเลยครับ

นายนพดล ทิพยชล นนทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ เป็นปัญหาทางข้ามถนนที่บริเวณถนนแจ้งวัฒ นะตัดกับ คลองประปา อยู่ในส่วนของตำบลคลองเกลือ ปัญหานี้สังเกตว่าใน Clip Video ผมจัดทำมา มีทั้งฝั่งขาออก แล้วก็ฝั่งขาเข้านนทบุรี สังเกตว่าเนื่องจากตรงบริเวณนี้มีการสร้างถนน ถึง ๓ โครงการ ตั้งแต่รถไฟฟ้า Floodway แล้วก็นำสายไฟลงใต้ดิน ปัญหาคือว่าทางข้าม ทางม้าลายเดิม ผู้ใช้ทางข้ามถนนพอข้ามไปแล้วไม่สามารถเดินทะลุลอดใต้สะพาน ไปอีกฝั่งหนึ่งได้นะครับ พอข้ามทางม้าลายไปแล้วต้องเดินเลาะริมเกาะกลางของถนน ก่อนที่จะข้ามไปอีกฝั่งหนึ่ง พอข้ามไปอีกฝั่งหนึ่งแล้วก็ยังไม่สามารถข้ามถนนได้ ต้องเดินย้อนเกาะกลางกลับมาที่ทางม้าลาย เพื่อข้ามมาอีกฝั่งหนึ่งนะครับ ฝั่งขาออกนนทบุรี ไม่เท่าไรครับท่านประธาน แต่ฝั่งขาเข้ามันจะอยู่ตรงโค้งพอดี สังเกตนะครับ รถโค้งมาปุ๊บ จะเจอทางข้ามเลย เกือบเกิดอุบัติเหตุหลายครั้งแล้วครับท่านประธาน ฝากไปยัง แขวงทางหลวงนนทบุรี สำนักงานทางหลวงที่ ๑๓ ช่วยมาดูแลปัญหานี้ให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยครับ จะตั้งสัญญาณจราจรเพิ่ม หรือว่าสัญญาณแจ้งเตือน เพื่อให้รถชะลอก่อนที่จะมาถึง จุดนี้ให้กับพี่น้องประชาชนด้วยครับท่านประธาน ขอ Slide ถัดไปครับ

นายนพดล ทิพยชล นนทบุรี ต้นฉบับ

ปัญหาต่อมาเป็นปัญหาการจราจรที่ซอยสุขาประชารังสรรค์ ๓ ซอยวัดกู้ ปัญหานี้เป็นปัญหาเรื้อรังมาร่วมทศวรรษแล้วครับ เมื่อก่อน ขสทบ. ตั้งอยู่เกียกกายนี้ พอ ขสทบ. ย้ายไปอยู่ที่ซอยวัดกู้ทำให้ปิดช่องทางการจราจรของพี่น้องประชาชน จาก ๓ ทางเหลือแค่ ๒ ทางนะครับ ที่นั่นมีโรงเรียนถึง ๑๐ โรงเรียนนะครับท่านประธาน เวลาเร่งด่วนเกิดปัญหาจราจรอย่างมากมหาศาลนะครับ ท่านประธานครับ ฝากไปถึงทาง กรมการขนส่งทหารบก แล้วก็กระทรวงกลาโหม ช่วยเปิดทางให้พี่น้องประชาชนสัญจรผ่าน ช่วงเวลาเร่งด่วนจะเกิดคุณูปการให้กับพี่น้องประชาชนเป็นอย่างสูงครับ ขอเวลาอีกนิดเดียว ครับท่านประธาน เหลืออีก ๒ เคสครับ ขอ Slide ถัดไปครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ

นายนพดล ทิพยชล นนทบุรี ต้นฉบับ

ประเด็นต่อมาเป็นประเด็นปัญหา ฝุ่นละอองที่ส่งผลกระทบจากโรงงานปูนที่ซอยสุขาประชารังสรรค์ ๓ เช่นกันครับอยู่ใน ซอยวัดกู้นะครับ ปัญหานี้เกิดจากว่ามีรถปูนวิ่งเข้าออกตลอดทั้งวัน ส่งผลกระทบให้ฝุ่นปูน พอลงไปสู่ท่อระบายน้ำเกิดปัญหาน้ำท่วม แล้วก็ถนนในซอยผุพัง ฝากไปถึงเทศบาลนคร ปากเกร็ดช่วยเร่งแก้ปัญหานี้ให้กับพี่น้องประชาชนด้วยครับ ขอ Slide ถัดไปครับ ปัญหานี้ เป็นปัญหาป้ายรถประจำทาง ที่นั่งชำรุดนะครับ ก็อยู่ที่หมู่บ้านกฤษดานคร ตำบลคลองเกลือ ฝากแขวงทางหลวงนนทบุรีเร่งดำเนินการแก้ไขให้กับพี่น้องประชาชนด้วยครับ ขอ Slide ถัดไปครับเป็นปัญหาสุดท้ายแล้วครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ผมคิดว่าต้องจบ เกินไป ๑ นาทีแล้วเป็น ๔ นาทีแล้วจาก ๓ นาที

นายนพดล ทิพยชล นนทบุรี ต้นฉบับ

ปัญหาสุดท้ายแล้วครับท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ผมขออนุญาต แค่นี้ครับ เกิน ๑ นาทีแล้วเป็น ๔ นาที

นายนพดล ทิพยชล นนทบุรี ต้นฉบับ

ขอบคุณครับท่านประธาน ขออนุญาตส่ง เป็นหนังสือไปแทนนะครับท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ครับ

นายนพดล ทิพยชล นนทบุรี ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปขอเชิญ จ่าอากาศเอก อภิชาติ แก้วโกศล ครับ

จ่าอากาศเอก อภิชาติ แก้วโกศล เพชรบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ผม จ่าอากาศเอก อภิชาติ แก้วโกศล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ขอนำเรื่องปรึกษาหารือ เพื่อหาทางแก้ไขให้เกิดประโยชน์ กับประชาชนครับ

จ่าอากาศเอก อภิชาติ แก้วโกศล เพชรบุรี ต้นฉบับ

เรื่องแรก หน่วยงานกระทรวงศึกษาธิการที่มีระเบียบและหลักเกณฑ์ไว้นั้น ทำให้โรงเรียนมัธยมศึกษา และประถมศึกษาเกิดปัญหาขาดแคลนครู ขาดแคลนบุคลากร ในการบริหารจัดการ ปัจจุบันครูสอนไม่ตรงกับวิชาสาขาที่จบมา เช่น ครูจบภาษาไทย ต้องไปสอนภาษาอังกฤษเป็นต้น ก็ส่งผลให้นักเรียนได้รับความรู้และทักษะที่ไม่ถูกต้อง และยังมีโรงเรียนประถมศึกษาอีกหลายแห่งที่ขาดแคลนเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี ครูต้องปฏิบัติหน้าที่การเงินและบัญชีแทน ก็ส่งผลให้เกิดการผิดพลาดในการทำงานได้ แม้กระทั่งนักการภารโรงก็ยังขาดแคลน นี่คือปัญหาของโรงเรียนรัฐบาล จึงส่งผลกระทบ ไปถึงผู้ปกครองและนักเรียนเช่นกัน ทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนหลาย ๆ ครอบครัว เลือกที่จะไปเรียนโรงเรียนของเอกชนเพราะมีความพร้อมทุกด้าน แต่ผู้ปกครองก็ต้องพบกับ ปัญหาเจอค่าเทอมที่แพงกว่าโรงเรียนรัฐบาล ผมคิดว่ากระทรวงศึกษาธิการต้องให้ ความสำคัญ และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของระเบียบและหลักเกณฑ์ที่ออกมานั้นนะครับ

จ่าอากาศเอก อภิชาติ แก้วโกศล เพชรบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ คณะครูในจังหวัดเพชรบุรีขอฝากขอบคุณท่านชัยยะ อังกินันทน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรี ที่ได้ตั้งงบประมาณเงินอุดหนุนเพื่อทำการจ้าง ครูผู้สอนอัตราจ้างที่ขาดแคลนในขณะนี้ให้กับโรงเรียนมัธยมศึกษาและประถมศึกษา ในจังหวัดเพชรบุรีนะครับ

จ่าอากาศเอก อภิชาติ แก้วโกศล เพชรบุรี ต้นฉบับ

อีกประการหนึ่ง ที่ผ่านมาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรีได้ทำโครงการ เข้าค่ายอบรมเพิ่มทักษะวิชาให้กับนักเรียนที่กำลังจบ ม. ๖ ได้เข้าอบรมหรือติววิชาในการ เตรียมตัวไปสอบเข้าตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ครับ ถือว่า เป็นโครงการที่ดีมาก ๆ เปิดโอกาสให้นักเรียนที่อยากเรียนต่อ หรือนักเรียนที่มีฐานะยากจน แต่ไม่มีเงินไปจ้างครูหรือจ้างผู้ที่มีความรู้ความสามารถมาสอนให้ แต่โครงการดังกล่าว ก็ถูกทักท้วงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าไม่ใช่อำนาจหน้าที่ในการดำเนินการ จึงถูกยกเลิก โครงการไปนะครับ ผมอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยพิจารณาหรือแก้ไขกฎระเบียบ ของท้องถิ่นเพื่อให้การบริหารงานเกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด เพราะการบริหารงาน ของท้องถิ่นนั้นจะเป็น อบต. หรือเทศบาล หรือ อบจ. ก็ดี ต้องพัฒนางานให้ครบทุกด้าน ไม่ว่าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ หรือพัฒนาด้านคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ครบทุกเพศ ทุกวัย ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ ในการพัฒนาท้องถิ่น และดูแลประชาชนให้มีความสุข และจะส่งผลให้ประเทศชาติ เกิดความมั่นคงและก้าวหน้าต่อไปนะครับ ผมก็ขอฝากท่านประธานช่วยติดตามหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องในปัญหาต่าง ๆ ที่กล่าวมาด้วยนะครับ เพราะเป็นความเดือดร้อนของประชาชน โดยตรงนะครับ

จ่าอากาศเอก อภิชาติ แก้วโกศล เพชรบุรี ต้นฉบับ

อีกประการหนึ่งนะครับ ผมขอขอบพระคุณ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ท่านได้ทำดีกับประเทศไทยไว้มากในช่วงที่ดำรงตำแหน่งมานะครับ ขอบพระคุณมากนะครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปขอเชิญคุณเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ครับ

นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล เลย ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ผมมีเรื่องที่จะ ขอหารือท่านประธานเป็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ๓ เรื่องครับ

นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล เลย ต้นฉบับ

เรื่องแรก เป็นปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวบ้านนาอ้อ ตำบลนาอ้อ อำเภอเมือง จังหวัดเลย ซึ่งสืบเนื่องจากถนนเลย-เชียงคาน ช่วงที่ผ่านบ้านนาอ้อ เดิมที เป็นถนน ๔ ช่องจราจรครับ ปรากฏว่าไม่ได้มีการวางแผนในการทำเกาะกลางถนน หรือจุดกลับรถมาก่อน ทางศูนย์ซ่อมทาง ศูนย์สร้างทางขอนแก่นได้นำเอา Barrier คอนกรีตมากั้นตั้งเป็นช่องจราจรและกำหนดเป็นจุดกลับรถ ปรากฏว่าจุดตรงนั้นเกิด อุบัติเหตุบ่อยครั้งครับ เนื่องจากว่าพื้นที่ไหล่ทางไม่เพียงพอสำหรับรัศมีการกลับรถ แล้วก็ไม่มีไฟส่องสว่างช่วงกลางคืน พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนทั้งพี่น้อง ที่อยู่ในพื้นที่ และพี่น้องที่สัญจรไปมา ผมได้รับเรื่องร้องเรียนเรื่องนี้จากทางพี่น้องประชาชน รวมถึงท่านผู้ใหญ่บ้าน ท่านนายกเทศมนตรี ได้เชิญผมแล้วก็ท่านผู้อำนวยการ แขวงการทางเลยที่ ๑ ไปดูที่จุดเกิดเหตุ ท่าน ผอ. แขวงก็ได้ดำเนินการแก้ปัญหาเบื้องต้นไป ก่อนโดยการขยายไหล่ทางเป็นการชั่วคราวครับ แต่ก็ยังมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นอีก จึงมี ความจำเป็นต้องขอความกรุณาท่านประธานทำหนังสือถึงกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ให้เร่งรัดจัดสรรงบประมาณเป็นการเร่งด่วนให้กับแขวงการทางเลยที่ ๑ เพื่อที่จะดำเนินการ ขยายไหล่ทางเป็นการถาวร แล้วก็ติดตั้งไฟส่องสว่างเพื่อบรรเทาปัญหาให้กับพี่น้อง ชาวบ้านนาอ้อครับ

นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล เลย ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ครับท่านประธาน เป็นความเดือดร้อนของพี่น้องชาวบ้านสูบ ตำบลน้ำสวย อำเภอเมือง จังหวัดเลย สืบเนื่องจากถนนทางหลวงหมายเลข ๒๒๔๙ สายบ้านไร่ทาม ไปบ้านสงเปือย ช่วงที่ผ่านบ้านสูบ ซึ่ง ๒ ข้างทางเป็นบ้านเรือนพี่น้องประชาชนหนาแน่น ถนนเป็น ๒ ช่องจราจรสวนกันคับแคบ แล้วก็โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาฝนตกน้ำจะท่วมขัง แล้วก็ทำให้พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อน ทางองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำสวย โดยท่านนายกรังสิทธิ์ก็ได้มีการประสานงานกับทางแขวงการทางเลยที่ ๑ ไปดำเนินการ แต่งบประมาณก็ยังไม่มีครับ จึงขอความกรุณาต่อท่านประธานได้กรุณาประสานไปยัง แขวงการทางเลย กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินการในการจัดสรรงบประมาณ ให้แขวงการทางเลยที่ ๑ ดำเนินการแก้ไขด้วยครับ

นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล เลย ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้ายครับท่านประธาน เป็นความเดือดร้อนของพี่น้องชาวบ้านโป่งเบี้ย ตำบลน้ำหมาน อำเภอเมือง จังหวัดเลย เนื่องจากถนนสายบ้านห้วยลวงไซไปบ้านโป่งเบี้ย ซึ่งเป็นถนนที่ใช้สัญจรไปยังแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดเลยก็คืออ่างเก็บน้ำน้ำหมาน ผิวจราจรชำรุดเสียหายมากครับ จึงขอความกรุณาท่านประธานได้ประสานไปยัง กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งถนนเส้นนี้อยู่ภายใต้การดูแลของ กรมชลประทาน ได้กรุณาจัดสรรงบประมาณให้ดำเนินการปรับปรุงผิว Asphaltic Concrete เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับการดำนวยความสะดวกด้วยครับ กราบขอบพระคุณ ท่านประธานครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปขอเชิญคุณศุภนัฐ มีนชัยนันท์

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๙ บางเขน จตุจักร หลักสี่ พรรคก้าวไกลครับ วันนี้ผมมีเรื่องปรึกษาทั้งหมด ๔ เรื่องนะครับ

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๑. มาตรฐานความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้าง ขอ Slide ด้วยครับ

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ความเสียหายที่ผ่านมา จากสะพานลาดกระบังถล่ม และสะพานหน้าเดอะมอลล์บางกะปิก็ดี หรือในพื้นที่ของผม มีโครงการก่อสร้างปรับปรุงเขื่อนคลองน้ำแก้ว ทางผู้รับเหมาไม่ได้ทำราวกันตก และไม่ติดหลอดไฟ กลางคืนมืดมากทำให้ประชาชนพลัดตกลงไปในเขื่อนได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต ส่วนโครงการสายไฟใต้ดินหน้าศาลอาญามีการเปิดปิดฝาบ่อบ่อย ตอนปิดนั้น ปิดไม่สนิทดีไม่เรียบทำให้มอเตอร์ไซค์ที่ขับผ่านมาเกิดอุบัติเหตุ บาดเจ็บหลาย Case ขอฝากหน่วยงานช่วยกันดูแลยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและช่วยประชาสัมพันธ์ สิทธิของประชาชนที่ได้รับความเสียหายระหว่างการก่อสร้าง ว่าท่านสามารถเรียกร้อง ค่าความเสียหายให้ผู้รับเหมารับผิดชอบได้ครับ

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ข้อที่ ๒ การบรรเทาเหตุไฟไหม้ ปัจจุบันสถานีดับเพลิงในกรุงเทพมหานคร มีทั้งหมด ๔๘ แห่งเท่านั้น อย่างเขตหลักสี่ของผมก็ไม่มีสถานีดับเพลิงเลยครับ การดับเพลิง ควรต้องเข้าถึงจุดเกิดเหตุไม่เกิน ๘ นาที ขอให้พิจารณาเพิ่มสถานีดับเพลิงให้มากขึ้น ที่สำคัญในเขตมีบ้านเรือนอาศัยติดริมคลองจำนวนมาก ทั้งคลองลาดพร้าว คลองน้ำแก้ว คลองถนน คลองบางบัว คลองเปรมประชากร ส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ติดไฟได้ง่าย แต่รถดับเพลิงเข้าไปไม่ถึงเพราะว่าซอยเล็กครับ ก็ขอฝากหน่วยงานช่วยพิจารณาการใช้ เรือดับเพลิงด้วยครับ

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ข้อที่ ๓ ขอพิจารณาในการเพิ่มสายรถเมล์บนถนนทั้งหมด ๗ เส้น ตาม Highlight สีเหลืองครับ ปัจจุบันถนนเสนานิคม ถนนลาดปลาเค้า ถนนผลาสินธุ์ ถนนเทพรักษ์ ถนนเลียบคลองบางเขน ถนนกำแพงเพชร ๖ ไม่มีรถเมล์เลยแม้แต่สายเดียว ส่วนถนนประเสริฐมนูกิจ หรือเกษตร-นวมินทร์ที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ ถนนใหญ่ ๆ นะครับ มีรถเมล์เพียงแค่ ๑ สายเท่านั้น ขอฝากหน่วยงานเพิ่มเติมด้วยครับ

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้ายครับ คือปัญหาจากโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชการ ตำรวจ เขตหลักสี่ครับ ที่ผ่านมามีการทำ EIA อย่างลวก ๆ ประชาชนในพื้นที่ได้ขอคุยกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ แต่ไม่ได้รับการตอบรับ ไม่มีเจ้าหน้าที่ มาพูดคุยใด ๆ ทั้งสิ้น มีแต่บริษัทที่ปรึกษาที่ไร้ซึ่งอำนาจมารับหน้าแทน แต่ไม่สามารถ ตอบข้อซักถามของประชาชนได้ ไม่มีมาตรการป้องกันและการเยียวยาที่ชัดเจนเหมาะสม ขอเรียกร้องให้ทุกโครงการในประเทศไทย โดยเฉพาะโครงการของภาครัฐควรมีการทำ ประชาพิจารณ์อย่างจริงจัง โปร่งใส และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนอย่างรอบด้าน

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ที่สำคัญครับท่านประธาน จากข้อมูลที่ทราบมาโครงการนี้มีการขออนุมัติ จาก ครม. ด้วยงบประมาณกว่า ๔,๐๐๐ ล้านบาท แต่มีการเปลี่ยนวัตถุประสงค์จาก อาคารที่พักสวัสดิการของพี่น้องตำรวจไปเป็นที่พักกองกำลังควบคุมฝูงชน หรือ คฝ. ครับ ผมขอถามไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และท่านนายกรัฐมนตรีว่ามันถูกต้องแล้วหรือไม่ ที่มีการบิดเบือน เอางบบ้านพักสวัสดิการตำรวจไปใช้ผิดวัตถุประสงค์จากที่ ครม. อนุมัติ และเหมาะสมแล้วหรือไม่ที่เราต้องเสียงบประมาณกว่า ๔,๐๐๐ ล้านบาท เพื่อตั้งกองกำลัง ปราบ Mob Standby ๒๔ ชั่วโมงอยู่ใจกลางเมืองที่เขตหลักสี่ครับ ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปขอเชิญคุณกาญจนา จังหวะ ครับ

นางสาวกาญจนา จังหวะ ชัยภูมิ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่านค่ะ ดิฉัน นางสาวกาญจนา จังหวะ จังหวัดชัยภูมิ เขต ๔ พรรคพลังประชารัฐ วันนี้มีข้อหารือกับท่านประธาน ๒ ข้อหารือค่ะ

นางสาวกาญจนา จังหวะ ชัยภูมิ ต้นฉบับ

ข้อหารือที่ ๑ เรื่องการพัฒนาและบูรณาการพื้นที่ในงานบุญประเพณี แห่กระธูปออกพรรษา ที่อำเภอหนองบัวแดง ดิฉันได้รับการนำเสนอความคิดเห็น จากผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และผู้ประกอบการสินค้าเกษตร และ OTOP ในเขตพื้นที่หนองบัวแดงที่ได้เตรียมจัดงานบุญประเพณีแห่กระธูปออกพรรษา ประจำปี ๒๕๖๖ ในวันที่ ๒๓-๒๘ ตุลาคมนี้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวค่ะท่านประธาน ในการอนุรักษ์ที่มีแห่งเดียวในประเทศไทย ที่อำเภอหนองบัวแดงนี้การแสดงถึงอัตลักษณ์ ของพี่น้องชาวอำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ดิฉันก็ขอประชาสัมพันธ์ไปยังอำเภอ ที่ใกล้เคียงและจังหวัดที่ใกล้เคียง เชิญลิ้มรสสัมผัสประเพณีบุญกระธูปในครั้งนี้ด้วย ดิฉันจึงขอหารือท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวง การท่องเที่ยวและกีฬา ผู้ว่าราชการจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด และหน่วยงาน ที่รับผิดชอบช่วยส่งเสริม รับฟังปัญหา และความต้องการด้านท่องเที่ยวซึ่งยังขาด การวิเคราะห์ ขาดการวางแผน และขาดการประชาสัมพันธ์ สนับสนุนงบประมาณ อย่างต่อเนื่อง ถ้าได้รับการบูรณาการอย่างจริงจังจะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชน ในพื้นที่ และรายได้จากการท่องเที่ยวได้มากขึ้นกว่านี้ จึงอยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ลงมาช่วยกันร่วมกันพัฒนางานประเพณีบุญกระธูปออกพรรษาแห่งเดียวในประเทศไทย เป็นที่รู้จักกันมากขึ้นค่ะ

นางสาวกาญจนา จังหวะ ชัยภูมิ ต้นฉบับ

ประเด็นข้อหารือข้อที่ ๒ ปัญหาความเดือดร้อนของพ่อแม่พี่น้องในสายทาง บ้านหนองบัวแดง-บ้านหล่น ค่ะท่านประธานดิฉันได้รับคำร้องเรียนมาจากผู้นำท้องถิ่น ในสภาพปัญหาถนนบ้านโหล่น-บ้านหนองบัวแดง ก่อนอื่นดิฉันต้องขอขอบคุณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิที่อยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ที่ท่านได้ออกสำรวจแล้ว และซ่อมแซมแล้ว แต่พอถึงฤดูการส่งออกสินค้าเกษตร มีรถบรรทุกหนัก ถนนก็กลับมา ทรุดโทรมและเสียหายอีกครั้ง ทำให้พื้นผิวถนนทรุดโทรมเสียหายเป็นหลุมเป็นบ่อ ข้างทาง ก็ไม่มีไฟฟ้า ยิ่งตรงบริเวณทางโค้งก่อนเข้าหมู่บ้านโนนนิคมค่ะท่านประธาน เกิดอุบัติเหตุ บ่อยครั้งมาก ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บอยู่บ่อยครั้ง เป็นระยะเวลา ๒๐ ปีแล้วที่น้ำตา แห่งการสูญเสียในสภาพถนนสายหนองบัวแดง-บ้านโหล่นนี้ ดิฉันจึงขอวิงวอนและขอความเมตตา ขอหารือท่านประธานฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ คณะผู้บริหาร ให้ได้มีการผลักดันงบประมาณ ปรับปรุงหรือสร้างถนนใหม่เพื่อตอบโจทย์ ความต้องการของประชาชน พร้อมขยายช่องทางจราจร ๒ ช่องทาง เป็น ๔ ช่องทาง ดิฉันขอเป็นตัวแทนของพ่อแม่พี่น้องเขต ๔ จังหวัดชัยภูมิ กราบขอบคุณท่านประธาน ขอบคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ขณะนี้มีคณะครูผู้สอนศาสนาในศูนย์การศึกษาอิสลาม ตำบลบองอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เข้ามาเยี่ยมรัฐสภาและเข้ามาฟังการประชุมด้วย ขอต้อนรับนะครับ ต่อไป ขอเชิญคุณวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ ครับ

นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ สระบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสระบุรี พรรคภูมิใจไทย เขตเลือกตั้งที่ ๓ ในวันนี้ผมมีเรื่องที่จะขอปรึกษาหารือ ท่านประธาน ๒ ประเด็นด้วยกันครับท่านประธาน

นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ สระบุรี ต้นฉบับ

เรื่องแรก เป็นเรื่องความเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชนในเขตอำเภอหนองแซง ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างทางรถไฟ ความเร็วสูงเป็นระบบคันดิน ตาม Clip ที่ท่านประธานได้เห็นอยู่นี้จะเห็นว่าอำเภอหนองแซงนั้น ถูกแบ่งด้วยรางรถไฟรางคู่แล้ว แต่ในขณะนี้กำลังจะเกิดรางรถไฟความเร็วสูงที่สร้างด้วย ระบบคันดินสูง ๖ เมตร และจากซ้ายไปขวาเป็นความยาวทั้งสิ้น ๒๔ เมตร ท่านประธาน ลองนึกภาพดูนะครับว่าจะเป็นเขื่อนกั้นคันดินขนาดใหญ่ขนาดไหน พี่น้องชาวอำเภอ หนองแซงไม่ต้องการสร้างเสาตอม่อแบบยกระดับสูง ๑๙ เมตร เหมือนที่อื่น ๆ ครับ ท่านประธาน พวกเราชาวอำเภอหนองแซงมีความต้องการเพียงเสาตอม่อระดับต่ำ สูงประมาณ ๖ เมตรเท่านั้น เพื่อไม่ให้กระทบกับวิถีการดำเนินชีวิตและเศรษฐกิจของพี่น้อง ชาวอำเภอหนองแซง จากภาพท่านประธานจะเห็นว่าขณะนี้รางรถไฟแห่งนี้ได้สร้าง ปัญหาให้กับพี่น้องชาวอำเภอหนองแซงเป็นอย่างมาก และผมคิดว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กำลังจะทำผิดตามพระราชประสงค์ของพระบิดาแห่งการรถไฟไทย ซึ่งก็คือพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์รัชกาลที่ ๕ ซึ่งท่านมีดำริที่ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยสร้างทางรถไฟ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน แต่ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย กำลังจะนำความเดือดร้อนมาให้พี่น้องประชาชนนะครับท่านประธาน

นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ สระบุรี ต้นฉบับ

เรื่องต่อไปครับท่านประธาน เรื่องแรกรถไฟไม่ยอมจอด ส่วนเรื่องนี้รถเมล์ จอดแล้วก็ไม่ยอมไปครับท่านประธาน นั่นก็คือปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ชาวอำเภอหนองแค ซึ่งมีประชากรทั้งอำเภออยู่ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ คน ปัญหานี้ผมได้รับ การร้องเรียนจากพี่น้อง เนื่องจากว่าที่ผ่านมาพี่น้องชาวอำเภอหนองแคจะเดินทางจาก อำเภอหนองแคไปยังตัวอำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี ระยะทางประมาณ ๒๒ กิโลเมตร เมื่อก่อนนั้นไม่ว่าจะเป็นรถหมวดใดก็ตาม หมวด ๒ หรือหมวด ๓ หรือหมวด ๔ ก็ตาม สามารถขึ้นได้ทุกคัน แต่เมื่อขนส่งมีการจัดระเบียบใหม่ ผู้ที่รับสัมปทานสายนี้ก็คือหมวด ๔ สาย ๒๕๙๖ นั้น ได้มีการจัดตารางเวลา ท่านประธานดูตารางเวลาครับ ลำดับที่ ๕ ออก ๙ โมงเช้า ลำดับที่ ๖ ออกอีกที ๑๒.๔๕ นาฬิกา เว้นกัน ๓ ชั่วโมง ๔๕ นาที ถ้าท่านประธานได้ดูใน Clip เมื่อสักครู่จะเห็นนักเรียน นักศึกษารอขึ้นรถ เห็นคุณลุง ที่เตรียมแกงไปเยี่ยมคุณยายที่ป่วยอยู่โรงพยาบาลสระบุรี ผมคิดว่ากว่าจะรถรถเมล์มา แกงบูดพอดีครับท่านประธาน ฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยครับ กราบขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปขอเชิญคุณจิรวัฒน์ ศิริพานิชย์ ครับ

นายจิรวัฒน์ ศิริพานิชย์ มหาสารคาม ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายจิรวัฒน์ ศิริพานิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม เขตเลือกตั้งที่ ๕ พรรคเพื่อไทย วันนี้ผมมีเรื่องมาขอหารือท่านประธานดังนี้ครับ

นายจิรวัฒน์ ศิริพานิชย์ มหาสารคาม ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ผมได้รับการประสานงานจากนายอำนวย สายทอง นายกองค์การ บริหารส่วนตำบลแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ว่าชาวบ้านแพง หมู่ที่ ๙ ได้รับ ความเดือดร้อนในการสัญจร รวมถึงการขนส่งสินค้าการเกษตรในการข้ามห้วยลำบง ซึ่งสะพานเดิมมีสภาพที่คับแคบ จึงอยากจะขอให้ทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้จัดสรรงบประมาณให้กับทางองค์การบริหารส่วนตำบลแพงเพื่อทำการก่อสร้างสะพาน Box Culverts ข้ามห้วงลำบงนี้ด้วยครับ

นายจิรวัฒน์ ศิริพานิชย์ มหาสารคาม ต้นฉบับ

เรื่อง ๒ ได้รับการประสานจากนายมงคุณ กันยาสุด นายกองค์การบริหาร ส่วนตำบลเขื่อน อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ว่าพี่น้องชาวตำบลเขื่อน ทั้ง ๑๑ หมู่บ้าน ประสบกับปัญหาน้ำประปาหมู่บ้านที่ชุมชนได้ใช้ร่วมกันมีปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำ มีสีเหลืองขุ่น มีตะกอน แล้วก็บางครั้งมีสีดำ มีสิ่งแปลกปลอมปนมากับน้ำ ขาดสุขอนามัยที่ดี ต่อการอุปโภคบริโภค จึงอยากจะขอให้ทางการประปาส่วนภูมิภาคได้ช่วยจัดสรร งบประมาณไปดำเนินการช่วยเหลือในการขยายเขตการให้บริการไปยังบ้านเรือนของ พี่น้องชาวตำบลเขื่อนด้วยครับ

นายจิรวัฒน์ ศิริพานิชย์ มหาสารคาม ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ผมได้รับการประสานงานจากท่าน สจ. จำเนียร บุตรโคตร และท่านธวัช แสงแก้วเขียว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแก้งแก อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคามว่าพี่น้องชาวแก้งแกมีความต้องการอยากจะก่อสร้างสะพานคอนกรีต ข้ามห้วยวังเลา เพราะสภาพปัจจุบันเป็นสะพานไม้ที่ทำขึ้นเพื่อใช้สัญจรไปมาชั่วคราว เพื่อที่จะเดินทางจากบ้านแก้งแก-สุขสวัสดิ์ ตำบลแก้งแกไปยังบ้านคุ้มใต้ ตำบลหัวขวาง จึงอยากจะขอให้ทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้จัดสรรงบประมาณในการก่อสร้าง สะพานคอนกรีตให้กับทางองค์การบริหารส่วนตำบลแก้งแกด้วยครับ

นายจิรวัฒน์ ศิริพานิชย์ มหาสารคาม ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ ได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องบ้านหนองบัวเรียน ตำบลยางท่าแจ้ง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ว่าถนนตามคันคลองของชลประทานจากบ้านหนองบัวเรียน ตำบลยางท่าแจ้งไปยังบ้านแก่งโกสุม ตำบลหัวขวาง สภาพเดิมเป็นดินลูกรังซึ่งพี่น้อง ใช้สัญจรไปมาลำบากมากโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน จึงอยากจะขอให้ทางกรมชลประทานได้ จัดสรรงบประมาณในการดำเนินการก่อสร้างเป็นถนนลาดยางให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยครับ

นายจิรวัฒน์ ศิริพานิชย์ มหาสารคาม ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๕ เรื่องสุดท้าย ผมได้รับการประสานจากท่าน สจ. จำเนียร บุตรโคตร ว่าถนนตามคันคลองของชลประทานอีกเช่นเดียวกัน จากแยกบ้านคุยโพธิ์ ตำบลหัวขวาง ไปบ้านเลิงใต้ ตำบลเลิงใต้ สภาพเดิมเป็นถนนลาดยางซึ่งใช้งานมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ผิวจราจรที่ชำรุดเสียหายเป็นอย่างมาก จึงอยากจะขอให้ทางกรมชลประทานได้จัดสรร งบประมาณมาซ่อมสร้างถนนเส้นดังกล่าวให้ดี เพื่อลดอุบัติเหตุและความเสียหายต่อยวดยาน พาหนะอีกด้วยครับ ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปขอเชิญคุณจำลอง ภูนวนทา ครับ

นายจำลอง ภูนวนทา กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎร ผม จำลอง ภูนวนทา กาฬสินธุ์ เขต ๓ พลังประชารัฐครับ ผมมีขอหารือกับ ท่านประธานถึงเรื่องถนนหนทางที่ไม่ได้รับการพัฒนาเป็นระยะเวลายาวนาน พี่น้องประชาชน สัญจรไปมาไม่สะดวก ได้รับการร้องเรียนจากผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๔ ตำบลโคกเครือ ขอ Slide นะครับ

นายจำลอง ภูนวนทา กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ถนนสายพระธาตุพนมจำลองจากอำเภอห้วยเม็กถึงแหล่งท่องเที่ยว หาดดอกเกดต้องการขยายและปรับปรุงซ่อมแซมถนนให้มีคุณภาพไปมาให้สะดวก สมเป็นถนนสัญจรที่ไปสู่แหล่งท่องเที่ยว อย่างน้อยให้มีไหล่ถนนครับ เพื่อป้องกันการเกิด อุบัติเหตุ

นายจำลอง ภูนวนทา กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

ส่วนเรื่องสุดท้ายครับท่านประธาน เรื่องแหล่งน้ำ ได้รับการร้องเรียนจาก นายก อบต.หัวหิน อำเภอห้วยเม็ก เรื่องการก่อสร้างน้ำประปาเพื่อแก้ปัญหาให้กับราษฎร หมู่ที่ ๑ บ้านโคกล่าม และหมู่ที่ ๒ บ้านห้วยมะทอ ได้รับงบประมาณแล้วครับท่านประธาน แต่ว่าติดเรื่องหนังสือ น.ส.ล. หรือว่าหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงที่ให้ประชาชนใช้ เมื่อขออนุมัติก็ช้า ได้รับการอนุมัติช้ามาก จนตอนนี้งบประมาณจะตกไปเมื่อถึงวันที่ ๓๐ เพราะฉะนั้นฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ สทนช. เพื่อให้ความช่วยเหลือ ราษฎรของอำเภอห้วยเม็กต่อไป ท่านประธานครับ ผมได้ไปดูในพื้นที่ด้วยตัวเองเป็นเรื่องที่ น่าสงสารมากครับน้ำขุ่น ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าอำเภอนี้อยู่ติดเขื่อนลำปาวแต่ไม่ได้รับการแก้ไข วิธีแก้ไขที่ดีที่สุดผมขอเสนอฝากไปยังท่านประธาน เพื่อให้กรมชลประทานทำแก้มลิง เพื่อกักเก็บน้ำใช้ฤดูแล้ง ผมมีเรื่องหารือกับท่านประธานแค่นี้ ฝากท่านประธานด้วยครับ ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปขอเชิญคุณอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ครับ

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ผม อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขอหารือกับท่านประธาน เรื่องมาตรการการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย เนื่องจาก ในอุตสาหกรรมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยทำเงินรายได้เข้าประเทศ เกือบหลัก ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท แต่เนื่องจากว่าในสภาพปัจจุบันมีการแข่งขันของ นานาประเทศค่อนข้างเยอะมาก ทำให้ผู้ถ่ายทำมี Location เลือกในที่อื่น เพราะฉะนั้น ในสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศก็ได้ปรึกษาหารือแล้วก็ทำเรื่อง เพื่อเข้าเสนอให้กับรัฐบาล ก็แบ่งเป็น ๒ มาตรการนะครับ มาตรการแรกก็คือมาตรการจูงใจ แล้วอันที่ ๒ ก็คือมาตรการที่ช่วยส่งเสริมอุปสรรค ใน Slide ถัดไปเราจะเห็นรายละเอียดว่า ในตัวมาตรการจูงใจทางสมาคมได้ทำเรื่องขอเสนอไปในรัฐบาลแล้วก็เข้าไปในกรรมการ สบส. เมื่อเดือนธันวาคม ปี ๒๕๖๕ แล้วก็เข้าไปใน ครม. เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี ๒๕๖๖ ซึ่งเนื้อหาประกอบด้วยกัน ๔ เรื่อง ก็คือเรื่องการปรับคืนเงิน Cash Rebate จาก ๑๕-๒๐ เปอร์เซ็นต์ให้เป็น ๒๐-๓๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็เงื่อนไขในการคืนเงินให้กำหนด ค่าใช้จ่ายขั้นต่ำในลักษณะอันเดิมก็คือ ๕๐ ล้านบาท แล้วก็ปรับเพดานการคืนเงินเพิ่มขึ้น จาก ๗๕ ล้านบาทเป็น ๑๕๐ ล้านบาท แล้วก็ขอเงินที่จะใช้ในการคืน Cash Rebate แต่เดิม ให้งบประมาณไว้ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง อันนี้ก็จะของบประมาณเพิ่มเติมเป็น ๙๐๐ ล้านบาท ในเรื่องนี้กรมการท่องเที่ยวก็ได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหา แต่เนื่องจากว่าตัวเลขที่ กรมการท่องเที่ยวทำมันเป็นตัวเลขที่ไปเพิ่มขั้นต่ำของอุตสาหกรรม แต่ว่าไม่ได้ไปเพิ่ม ตัวเงินคืนให้เต็มตามจำนวนที่ได้เสนอไว้ตอนแรก เพราะฉะนั้นในมาตรการการจูงใจอันต่อไป ที่จะต้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีก็คือการปรับอัตราคืนเงินเป็น ๒๐-๓๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็การตั้งกรอบวงเงินงบประมาณในปี ๒๕๖๗ กับปี ๒๕๖๘ เนื่องจากเงื่อนไขรัฐบาล บอกว่าให้ทดลองทำ ๒ ปีก็คือปี ๒๕๖๗ กับปี ๒๕๖๘ ผมอยากติดตามเรื่องการตั้ง เงินงบประมาณในปี ๒๕๖๗ ปี ๒๕๖๘ แล้วก็อีก ๒ อันที่เราคงต้องรีบดำเนินการเป็นไปตาม มติ ครม. ก็คือการปรับหลักเกณฑ์ของตรวจคนเข้าเมือง เรื่องหลักเกณฑ์ของการตรวจคนเข้าเมือง ให้มันครอบคลุม ให้กองถ่ายมีระยะเวลาการขอ Visa ได้นานมากยิ่งขึ้น แล้วอันต่อมา ก็คือเรื่องการติดตามเรื่องการแจ้งการปรับเรื่องคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย ซึ่งเรื่องนี้ได้ผ่านคณะรัฐมนตรีมาแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี ๒๕๖๕ จนถึงปีนี้ผ่านมา ๑ ปีแล้วก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร สุดท้ายก็คือเรื่องเกณฑ์การใช้พื้นที่ในการถ่ายทำ ก็เป็นเรื่องที่ใน ครม. ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการ เรื่องก็ยังไม่มีความก้าวหน้า เพราะฉะนั้นฝากเรียนท่านประธานไปหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขตามมติคณะรัฐมนตรี ด้วยครับ ขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปขอเชิญคุณถนอมพงศ์ หลีกภัย ครับ

นายถนอมพงศ์ หลีกภัย ตรัง ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ถนอมพงศ์ หลีกภัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรครวมไทยสร้างชาติ เขต ๑ จังหวัดตรัง ก่อนอื่นก่อนที่ผมจะปรึกษาหารือท่านประธานก็มีเรื่องอยากจะขอบคุณ พี่น้องชาวจังหวัดตรังในเขต ๑ ที่ให้ฉันทามติและมอบฉันทานุมัติให้ผมมาทำหน้าที่ในสภา อันทรงเกียรตินี้

นายถนอมพงศ์ หลีกภัย ตรัง ต้นฉบับ

เรื่องแรกที่ผมจะหารือกับท่านประธาน คือเรื่องโครงการตึกโรงพยาบาลตรัง ๔๐๐ ล้านบาท เป็นโครงการที่เป็นมหากาพย์ครับ ท่านประธาน ๑๒ ปีผ่านมาแล้ว ๗ ผู้ว่า ผ่านมาแล้ว ๔ ผู้อำนวยการ ผ่านมาแล้ว ๓ ผู้รับเหมาที่คาราคาซังอยู่ ในขณะที่พื้นที่จังหวัดใกล้เคียงของกระผมอย่างเช่นพัทลุง พื้นที่ของ สส. นิติศักดิ์ ธรรมเพชร เสร็จไปแล้วโครงการขึ้นหลังผมอีก นครศรีธรรมราช ปากพนัง พื้นที่ของ สส. พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล พื้นที่ของพี่วิทยา แก้วภราดัย พื้นที่ของพี่ธนกร วังบุญคงชนะ เสร็จไปแล้ว ของผมยังคาราคาซังอยู่ประมาณ ๑๒ ปีแล้วครับท่านประธาน โรงพยาบาลตรังเป็นโรงพยาบาลหน่วยงานของรัฐได้สร้างมาประมาณ ๑๒ ปี ตอนนี้ผมก็ยัง ไม่ทราบเลยว่าโอกาสของคนจังหวัดตรังบ้านผมจะได้ใช้หรือว่าจะเป็นสุสาน การก่อสร้างตึก อาคารผู้ป่วย ๔๐๐ ล้านบาท เป็นตึกอุบัติเหตุฉุกเฉิน ๗ ชั้น แบบ คสล. กระทรวง สาธารณสุขเป็นผู้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการในสมัยนั้น ใน พ.ศ. ๒๕๕๕ ท่านประธานครับ เวลาผ่านไป ๑๒ ปีจนถึง ณ ปัจจุบันนี้ ปี ๒๕๖๖ ทางพี่น้องผมชาวจังหวัดตรังก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะใช้ประโยชน์ส่วนนี้หรือเปล่า ก็อยากฝากท่านประธานสภาไปถึงผู้รับผิดชอบทางกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นคำตอบ สุดท้ายว่าโรงพยาบาลตรัง ๔๐๐ ล้านบาทนี้จะได้ใช้ต่อไปหรือจะเป็นสุสานต่อไป ผมก็หวัง เป็นอย่างยิ่งว่าในนามของพรรครวมไทยสร้างชาติได้ปรึกษาวันนี้เรื่องเดียวก่อนครับ ท่านประธาน เพราะว่าอยากจะฝากท่านประธานสักนิด หารือท่านประธานนะครับว่า ต่อไปในคราวหน้าเราจะเพิ่มเวลาให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มีเวลาสัก ๕ นาที ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านประธานคงจะให้โอกาสพวกกระผมขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมาก ต่อไปขอเชิญคุณศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ ครับ

นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ กาญจนบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี เขต ๔ พรรคเพื่อไทย วันนี้หลายจังหวัดขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และในช่วงปี ๒๕๖๕ ได้มีพระราชทานโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ไขปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจาก พระราชดำริ

นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ กาญจนบุรี ต้นฉบับ

ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ดำเนินการอีก ๑๙ แห่ง อยากให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเร่งรัดดำเนินการ โดยเฉพาะที่ตำบลหนองประดู่ อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับแจ้งจากนายกมงคล ทองยิ้ม ว่าโครงการดังกล่าว ยังไม่มีความคืบหน้าเลย ฝากกรมทรัพยากรน้ำบาดาลช่วยเร่งรัดด้วยครับ

นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ กาญจนบุรี ต้นฉบับ

เรื่องหารือเรื่องที่ ๒ ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในตำบลวังไผ่ อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี ว่ามีโรงงาน Recycle ของบริษัท แบตเตอรี่ซิตี้ จำกัด ส่งกลิ่นเหม็นมีแมลงวันมากมาย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบและแก้ไขโดยด่วนครับ

นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ กาญจนบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ขณะนี้ Motorway สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ใกล้จะเปิดเพื่อให้ ประชาชนได้ใช้ประโยชน์แล้ว ปลายทางคือที่จังหวัดกาญจนบุรียังไม่มีการขยายถนน หรือเพิ่มเส้นทางเพื่อจะรองรับรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้นแต่อย่างใด ผมอยากให้กรมทางหลวง กับจังหวัดกาญจนบุรีเร่งรัดเพื่อตรวจสอบแก้ไขปัญหารถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคตด้วย

นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ กาญจนบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ วันนี้ประชาชนคนไทยได้รับความเดือดร้อนกับสัตว์ ๓ ประเภท ๑. นกพิราบ ๒. ลิง ๓. ช้างป่า โดยเฉพาะช้างป่าพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอเมือง อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอบ่อพลอย และอำเภอหนองปรือ ที่จังหวัดกาญจนบุรี ได้ออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตรของประชาชน ฝากให้กรมอุทยาน แห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เร่งรัดแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยครับ ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปขอเชิญคุณตรัยวรรธน์ อิ่มใจ ครับ

นายตรัยวรรธน์ อิ่มใจ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม ตรัยวรรธน์ อิ่มใจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ เขต ๘ พรรคก้าวไกล กระผมขอนำปัญหาความเดือดร้อนในพื้นที่มาปรึกษาหารือกับท่านประธาน ๔ เรื่อง ขอ Slide ด้วยครับ

นายตรัยวรรธน์ อิ่มใจ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

เรื่องแรก ในซอยถนน ๒๔ แลนด์ บางเสาธง ผมได้รับข้อร้องเรียนจากพ่อแม่พี่น้องที่อยู่อาศัยและที่สัญจรไปมา สภาพถนนชำรุด รถวิ่งสวนกันไม่ได้ ฝนตกน้ำท่วม สัญจรไปมาลำบากมาก ฝากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ช่วยดำเนินการให้ด้วยครับ

นายตรัยวรรธน์ อิ่มใจ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ โครงการก่อสร้างอุโมงค์สายไฟฟ้าใต้ดิน อยู่ในพื้นที่บางบ่อ อยู่บริเวณสามแยกไฟแดงใกล้โรงพยาบาลบางบ่อ โรงเรียนชุมชนบางบ่อ ในช่วงเวลาเร่งด่วน พ่อแม่พี่น้องได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก การจราจรการจราจรติดขัด โครงการนี้ใช้เวลา ๕ ปีเศษแล้ว เหลืออีก ๒ วันที่จะถึงนี้ กระผมขอฝากท่านประธานผ่านไปยังการไฟฟ้า นครหลวงและกระทรวงมหาดไทยได้เร่งรัดโครงการดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็วด้วยครับ

นายตรัยวรรธน์ อิ่มใจ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ปัญหาความเดือดร้อนของพ่อแม่พี่น้องที่มีอาชีพทำการประมง ของชาวคลองด่าน ฝากเรื่องมาดังนี้ครับ ผลกระทบจากกฎหมาย พ่อแม่พี่น้องชาวประมง ต้องจอดเรือ อุปกรณ์ต้องทิ้ง จนเป็นที่มาของนโยบายซื้อเรือคืนจากรัฐบาล ตอนนี้ประมาณ ๓๐-๔๐ ลำที่รอการช่วยเหลือจากรัฐบาล พี่น้องชาวคลองด่านขอใช้ชีวิตดั้งเดิมการทำประมง พื้นบ้านให้กลับมาเหมือนเดิม เพื่อนำมาซึ่งวิถีชีวิตการทำประมงของชาวคลองด่าน และทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อของชาวคลองด่านยังคงอยู่ เพื่อช่วยให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น กระผมขอฝากท่านประธานผ่านไปยังรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้การช่วยเหลือ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโดยการซื้อเรือคืนตามนโยบายอย่างเร่งด่วน แก้ไขบทลงโทษ ทางกฎหมาย พระราชบัญญัติประมงนั้นรุนแรงหนักหนาสาหัสมากครับท่านประธาน

นายตรัยวรรธน์ อิ่มใจ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ พ่อแม่พี่น้องชาวคลองด่านต้องการสะพานสัญจรเลียบคลอง ทาง อบต. คลองด่านมีงบประมาณ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากติดปัญหา กฎกระทรวงฉบับที่ ๖๓/๒๕๓๗ ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. ๒๔๕๖ มาตรา ๑๑๗ วรรคสอง ฝากท่านประธานผ่านไปยังรัฐบาลและกระทรวง คมนาคมช่วยดำเนินการแก้ไขกฎกระทรวงให้สอดคล้องกับปัจจุบันด้วยครับ และท้ายนี้ กระผมก็ต้องขอขอบคุณ ๘ อบต. ๕ เทศบาลของอำเภอบางบ่อ อำเภอบางเสาธง ที่ให้ความร่วมมือช่วยเหลือความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ผ่านมา ขอบคุณมากครับ ท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปขอเชิญคุณวิรัช พิมพะนิตย์ ครับ

นายวิรัช พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ท่านสมาชิก กระผม วิรัช พิมพะนิตย์ สส. จากจังหวัดกาฬสินธุ์ เขต ๑ พรรคเพื่อไทย

นายวิรัช พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ผมได้รับ การร้องเรียนจากเทศบาลห้วยโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ ปัญหาเรื่องขาดน้ำอุปโภค และบริโภคของพี่น้อง ปัจจุบันน้ำบาดาล น้ำประปา ของตำบลห้วยโพธิ์ โดยเฉพาะหมู่ที่ ๕ หมู่ที่ ๖ หมู่ที่ ๑๔ จำนวน ๑,๐๐๐ หลังคาเรือน ไม่มีใช้เลยครับ ขาดทีละ ๒ วัน ๓ วัน ชีวิตความเป็นอยู่เขาทุกข์ทรมานมาก ผมจึงฝากท่านประธานไปถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบ เทศบาลเองก็อยากจะทำ แต่ว่าไม่มีงบประมาณที่จะทำต่อไป

นายวิรัช พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ผมได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งเป็น อาชีพหลักของจังหวัดกาฬสินธุ์และอาชีพหลักของคนทั่วประเทศ วันนี้มันมีโรคที่ท่านเห็น ในจอคือเป็นโรคใบด่างของมันสำปะหลัง ตอนนี้จากการสำรวจดูมีทางฝั่งของเกษตรจังหวัด สำรวจดูทั้งประเทศมี ๖๐๐,๐๐๐ กว่าไร่ แต่ชมรมผู้ประกอบกิจการโรงแป้งมันสำรวจดูมีถึง ๓ ล้านไร่ นี่มันจะไม่เกิดหัวเลยถ้ามีโรคนี้ขึ้นไป มันใช้แมลงหวี่ทองจับจากต้นนั้นแล้วดูดน้ำกิน ดูดน้ำกินแล้วก็ขยายไปอีกต้นหนึ่งซึ่งตอนนี้ไม่มีวิธีแก้ไข ผมจึงกราบเรียนว่าอยากให้ ท่านเกษตรซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับพวกนี้โดยตรงช่วยดูแลเกษตรกรด้วยครับ และถ้าพยายาม ถึง ๓ ล้านไร่เมื่อไร เราสามารถเอามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาวันนั้น เกษตรกรตายทันทีครับ เพราะว่ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้านราคาถูกกว่า มันสำปะหลังในประเทศมากครับ

นายวิรัช พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

ส่วนเรื่องที่ ๓ คือ ปัญหาโครงการก่อสร้างทางระบายน้ำของกรมโยธาธิการ และผังเมือง ของโยธาสนับสนุนเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ วันนี้ท่านประธานดูสิครับ สัญญา ตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ พอหมดปี ๒๕๖๔ แต่ว่าวันนี้ต่อสัญญาถึงปี ๒๕๖๘ เงิน ๑๔๐ กว่าล้านบาท ชาวบ้านต้องลำบากถึง ๗ ปีครับ วันนี้ชาวบ้านบอกว่าลูกคลอดตอนที่เริ่มก่อสร้าง จะเข้า ป. ๑ คลองระบายน้ำยังไม่เสร็จเลยครับ ชาวบ้านเดือดร้อนมากที่สุดครับ กราบฝาก ท่านประธานถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายวิรัช พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

อีกนิดหนึ่งครับท่านประธาน คือมีถนนเส้นคลองส่งน้ำที่มันได้มา ๕ กิโลเมตร มันขาดอีก ๕.๓ กิโลเมตรของกรมทางหลวงชนบท ขอฝากอีกด้วยนะครับ ด้วยความเคารพ ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปขอเชิญคุณณัฐพงษ์ พิพัฒน์ไชยศิริ ครับ

นายณัฐพงษ์ พิพัฒน์ไชยศิริ อุดรธานี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐพงษ์ พิพัฒน์ไชยศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคก้าวไกล วันนี้ มีเรื่องนำเรียนปรึกษาท่านประธานเกี่ยวกับการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกในปี ๒๕๖๙ หรือในอีก ๓ ปีที่จะถึง ขอ Slide ด้วยครับ

นายณัฐพงษ์ พิพัฒน์ไชยศิริ อุดรธานี ต้นฉบับ

ภายใต้งบประมาณ ๒,๕๐๐ ล้านบาท โดยมีหน่วยงานผู้รับผิดชอบ ได้แก่ ๑. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ๒. กระทรวงมหาดไทย และ ๓. สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ที่รู้จักกันในนาม สสปน. โดยประชาชนในพื้นที่ ทีมงาน และตัวผมมีความกังวลในความโปร่งใสและประสิทธิภาพ ในการจัดงานมหกรรมพืชโลกครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้สืบค้นลงไปในหนังสือราชการ รวมถึงบันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๕ ที่ผ่านมาแล้ว มีตัวเลข หลายจุดที่น่าประหลาดใจ น่าตั้งคำถาม และน่ากังวลใจ ยกตัวอย่างเช่นการจัดงานมหกรรม พืชสวนโลกในครั้งนี้จะสามารถสร้างรายได้ได้ถึง ๓๒,๐๐๐ ล้านบาท ภาครัฐจะสามารถจัดเก็บ ภาษีได้เพิ่มมากขึ้นถึง ๗.๗ พันล้านบาท ช่างเป็นตัวเลขที่น่ายินดีนะครับ แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีผู้มาท่องเที่ยว มาจับจ่ายใช้สอยซื้อของทั้งในระยะสั้นและระยะยาวกับ จังหวัดอุดรธานี โดยกรมวิชาการเกษตรได้กล่าวอ้างว่าในงานนี้จะมีผู้เข้าร่วมถึง ๓๖ ล้านคน แบ่งออกเป็น ๗๐ เปอร์เซ็นต์มาจากภายในประเทศ และอีก ๓๐ เปอร์เซ็นต์มาจาก ๔๐ ประเทศทั่วโลก คิดเป็นตัวเลขประมาณ ๑๐,๘๐๐,๐๐๐ คน โดยเฉพาะวิกฤติการณ์โควิด ที่ผ่านมาพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปเยอะครับ ภายใต้กรอบระยะเวลาเพียง ๑๓๔ วันนั้น ก็ต้องฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครับว่าตัวเลขนี้ยังยืนยันว่าจะเกิดขึ้นจริง ได้หรือไม่ และปัจจุบันนี้ได้มีการโฆษณา Promote โครงการนี้ไปถึงไหนแล้ว

นายณัฐพงษ์ พิพัฒน์ไชยศิริ อุดรธานี ต้นฉบับ

ในคำถามข้อที่ ๒ เป็นคำถามที่สำคัญอย่างยิ่งคือการยึดโยงกับพื้นที่ การมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน และภาคประชาชน ประชาชนตัวเล็กตัวน้อยหาเช้ากินค่ำ จะไป สมัครงาน จะมีส่วนร่วมกับเงินตรงนี้ได้อย่างไร โดยกรมวิชาการเกษตรได้ให้ไว้ว่าการจัดงาน ครั้งนี้จะสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพได้ถึง ๘๑,๐๐๐ อัตรา หรือคิดเป็นจำนวนเงินประมาณ ๘.๑ พันล้านบาท ฝากเรียนถามไปทีประชาชนจะไปสมัครงานได้ที่ไหนครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปขอเชิญคุณยศวัฒน์ มาไพศาลสิน ครับ

นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน กาญจนบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม ยศวัฒน์ มาไพศาลสิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี อำเภอท่ามะกา อำเภอพนมทวน พรรคภูมิไทยครับ ท่านประธานครับวันนี้ ผมต้องขออนุญาตท่านประธาน เปิด Clip อีกครั้งหนึ่งของเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ที่ผมได้หารือครับ ขออนุญาตชม Clip ครับ เกี่ยวกับชาวไร่อ้อยทั้งประเทศขอเสียงด้วยครับ Clip เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ที่ผมได้หารือไป ผมต้องให้ดู Clip อีกครั้งหนึ่งครับ เพราะมันเป็นเรื่องจำเป็นแล้วก็เรื่องสำคัญของพี่น้อง ชาวไร่อ้อยทั้งประเทศครับ

นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน กาญจนบุรี ต้นฉบับ

ท่านประธานครับและวันนี้ที่ผม จำเป็นต้องขึ้นมาพูดเรื่องนี้อีกทั้งเป็นการเร่งด่วนก็เพราะว่า เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๘ สิงหาคม เมื่อวัน ๒ วันที่ผ่านมานี้เอง พี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยนำโดยนายกสมาคมชาวไร่อ้อยเขต ๗ คุณกำธร กิตติโชติทรัพย์ พร้อมด้วยอีก ๔ องค์กรทั่วประเทศ นำตัวแทนกว่า ๒,๐๐๐ คน มายื่นหนังสือกับพรรคภูมิใจไทยขอดู Clip ครับ เดี๋ยวจะมีเสียงนะครับ

นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน กาญจนบุรี ต้นฉบับ

ท่านประธาน จากเสียงแล้วก็สิ่งที่ ตัวแทนของชาวไร่อ้อยมายื่นไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้ต้องการย้ายไปกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ว่าเขาไม่ได้รับการดูแลก็คือเรื่องของเงินชดเชย เรื่องของ ๑๒๐ บาท ในเรื่องของ จุดไฟเผาอ้อย และที่ผมจำเป็นต้องขึ้นมาพูดในวันนี้เพราะว่าในวันพรุ่งนี้กระทรวงอุตสาหกรรม ที่เป็นเจ้าภาพก็คือ โดยท่านปลัดกระทรวงเป็นประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย แห่งประเทศไทยจะมีการประชุมชาวไร่ทั้งประเทศไทยบอกว่าไม่รู้ว่าจะเอาเรื่องนี้เข้าสู่ ที่ประชุมหรือเปล่า วันนี้ผมจึงขอฝากท่านประธานไปยังท่านปลัดกระทรวงครับ

นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน กาญจนบุรี ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ คำสุดท้ายผมอยากจะฝากท่านประธาน ไปถึงท่าน ปลัดกระทรวงและผู้ที่เกี่ยวข้องว่าอย่าให้ประเทศเราที่เคยเป็นเมืองหลวงแห่งน้ำตาล กลายเป็นเมืองหลวงแห่งน้ำตาของชาวไร่อ้อยเลยครับ ขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปขอเชิญคุณนิยม วิวรรธนดิฐกุล ครับ

นายนิยม วิวรรธนดิฐกุล แพร่ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพอย่างสูงครับ ผม นิยม วิวรรธนดิฐกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ เขต ๒ ก็ได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนของตำบลห้วยโรง อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ เป็นเรื่องของปัญหาค่าเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะตอนนี้ถนนของกรมทางหลวง หมายเลข ๑๐๑ สายร้องกวาง จังหวัดแพร่ ไปยังจังหวัดน่าน ตอนบ้านห้วยแก๊ต ตำบลห้วยโรง จังหวัดแพร่ จนถึงบ้านห้วยน้ำอุ่น อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ระยะทาง ๑๖.๑๕ กิโลเมตร ระหว่างกิโลเมตรที่ ๓๐๐-๓๑๖ การสร้างถนนเส้นนี้ทำให้จังหวัดแพร่ไปจังหวัดน่านเป็นถนน ๔ เลน ซึ่งมีภูมิทัศน์ที่สวยงาม Bigbike ชอบมาก ทำให้การสัญจรไปมาแพร่-น่าน เป็น ๔ เลน ทั้งหมดแล้วตอนนี้ โดยผิวถนน ก็เป็น Asphalt ๔ ช่องจราจรตามมาตรฐานของทางชั้นพิเศษทำให้การคมนาคมสะดวกขึ้น แต่ปัญหาที่สำคัญก็คือวันนี้พี่น้องประชาชนจำนวนหนึ่งยังไม่ได้รับค่าเวนคืนใด ๆ จากโครงการนี้ทั้งเรื่องของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้ไปประสานงานกับทางหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง แต่ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนนะครับ ซึ่งก็ทราบว่างบประมาณในการเวนคืน เหล่านี้ตั้งไว้แล้วในงบประมาณปี ๒๕๖๖ แต่ทางราชการก็ไม่ได้มีคำตอบให้พี่น้องประชาชน ทำให้พี่น้องประชาชนจำนวนหนึ่งได้ถวายฎีกา ซึ่งวันนี้ผมก็จะฝากเอกสารส่งไปยัง ท่านประธานเพื่อนำไปประสานงานกับทางหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้ดำเนินการและให้มี ความชัดเจนว่าพี่น้องประชาชนจะได้รับเงินค่าเวนคืนเมื่อไร อย่างไร วันนี้ก็เลยขออนุญาต ที่จะนำเอกสารเหล่านี้นำเรียนให้ทางท่านประธานสภาเพื่อไปประสานงานกับหน่วยราชการ ที่เกี่ยวข้อง กราบขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปขอเชิญ ว่าที่ร้อยโท ยุทธการ รัตนมาศ ครับ

ว่าที่ร้อยโท ยุทธการ รัตนมาศ นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ผม ว่าที่ร้อยโท ยุทธการ รัตนมาศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เขตอำเภอชะอวด อำเภอเชียรใหญ่ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผมได้รับหนังสือ สอบถามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างถนนลาดยางในเขต ส.ป.ก. ตำบลวังอ่าง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช หรือเรียกว่าถนนเลียบคลองลานข่อย เขตอำเภอชะอวด จากนายจิรพงศ์ พุทธสวัสดิ์ อบต. หมู่ที่ ๗ นายสมพงศ์ ปานเอียด อบต. หมู่ที่ ๙ และนายไสว สายนาค ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๙ ตำบลวังอ่าง อำเภอชะอวด การขอรับสนับสนุนโครงการก่อสร้างถนนลาดยาง ในเขต ส.ป.ก. ถนนเส้นนี้สำนักงาน ส.ป.ก. โดยท่านเลขาธิการ ส.ป.ก. ก็ได้ส่งหนังสือขอรับ การสนับสนุนโครงการไปยังอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๖ โดยมีนายธีรศักดิ์ หนูนวล แกนนำเกษตรกรได้ประสานพื้นที่แนวเขต ส.ป.ก. ไว้เป็น ที่เรียบร้อยแล้ว โครงการก่อสร้างถนนสายนี้กว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๑๐,๗๗๔ เมตร ในเขต พื้นที่ ส.ป.ก. ผ่านหมู่ที่ ๕ หมู่ที่ ๖ หมู่ที่ ๗ หมู่ที่ ๙ ตำบลวังอ่าง อำเภอชะอวด โดยขอให้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นดำเนินการสำรวจออกแบบและก่อสร้างโดยบรรจุเพิ่มเติม ในแผนบูรณาการร่วมกันภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือ MOU ๙ หน่วยงาน ท่านประธานสภาที่เคารพครับ การก่อสร้างถนนลาดยางในเขต ส.ป.ก. สายนี้เกิดขึ้น จะเป็นถนนคู่ขนานเลียบคลองลานข่อย อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง ในเขตพื้นที่ท่าน สส. นิติศักดิ์ ธรรมเพชร ขออนุญาตเอ่ยนามครับ ซึ่งในพื้นที่อำเภอป่าพะยอมได้มีถนนลาดยาง ๔ ช่องจราจร ระยะทาง ๑๕ กิโลเมตร เดินทางสะดวก มีโรงแรม มีที่พัก มี Homestay รองรับ นักท่องเที่ยวจำนวนมากตลอดทั้งปี แต่ในทางกลับกันท่านประธาน ในเขตพื้นที่ อำเภอชะอวดอยู่คนละฝั่งคลองยังไม่มีถนนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวล่องแก่ง และใช้สัญจร บรรทุกผลผลิตทางการเกษตร เช่น ยางพารา ทุเรียน เงาะ มังคุด และผลผลิตอื่น ๆ ท่านประธานสภาที่เคารพครับ ถนนสายนี้ถ้าก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้วจะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ด้านการท่องเที่ยวและด้านการเกษตรปีละหลายร้อยล้านบาท นักท่องเที่ยวสามารถ มา Shop ชิมผลไม้ตามฤดูกาล และนอกฤดูกาลได้ตลอดทั้งปี ดังนั้นผมจึงขอเรียน ท่านประธานสภาแจ้งไปยังหน่วยงานคือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นติดตามโครงการ ตามที่ท่านเลขาธิการ ส.ป.ก. ได้ส่งหนังสือขอรับการสนับสนุนโครงการก่อสร้างในเขต ส.ป.ก. อย่างเร่งด่วนต่อต่อไป ขอขอบคุณครับท่านประธานครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปขอเชิญคุณ วีรวุธ รักเที่ยง

นายวีรวุธ รักเที่ยง กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎร ผม วีรวุธ รักเที่ยง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหำนคร เขตหนองจอก เขตคลองสามวา จากพรรคก้าวไกล วันนี้ผมมีเรื่องจะปรึกษาหารือกับ ท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงปัญหาของพ่อแม่พี่น้องชาวหนองจอก คลองสามวา ดังนี้

นายวีรวุธ รักเที่ยง กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ปัญหาเรื่องไฟฟ้าส่องสว่างดับในหลายพื้นที่ ในถนนเส้นหลักและถนน เส้นรอง อาทิเช่น ถนนนิมิตใหม่ มิตรไมตรี ไมตรีจิต คลองเก้า คลองสิบ คลองสิบเอ็ด คลองสิบสอง และคลองสิบสี่ ถนนประชาร่วมใจ ประชาสำราญ เชื่อมสัมพันธ์ สกุลดี ถนนผดุงพันธ์ ถนนสังฆสันติสุข และถนนเลียบวารี แล้วก็อย่างเร่งด่วนที่ถนนเชื่อมสัมพันธ์ เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง หลายครั้งเราสูญเสียชีวิตพ่อแม่พี่น้องไป ทีนี้อยู่ในการดูแลของ สำนักการโยธา และถนนเส้นสุวินทวงศ์เป็นเส้นหลักที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ถนนเส้นนี้ อยู่ในการดูแลของกรมทางหลวง ไฟฟ้าดับในหลายช่วงก็อยากให้เร่งแก้ไขโดยด่วน ยังมีไฟฟ้าดับที่ชุมชนเคหะคลองเก้า ทั้งนี้ ทางประธานชุมชนได้แจ้งมาว่าได้ร้องเรียนไป หลายครั้งแล้วไม่ได้รับการดูแล ไฟดับจำนวน ๓๖ ดวง รวมถึงชุมชนบ้านบึงเตยไฟฟ้าดับ มาแล้วเป็นปี จนถึงป่านนี้เพิ่งจะได้รับการดูแลเมื่ออาทิตย์ที่แล้วเองนะครับ ก็อยากจะให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจ เดินทางสำรวจในยามค่ำคืนนะครับ วันนี้พ่อแม่พี่น้อง ต้องอยู่กับความมืดในถนนหลายเส้น ยังมีถนนที่ชำรุดเสียหายที่หนองจอกมีถนนทั้งหมด ๒๐๐ เส้นเป็นระยะทางกว่า ๑๐๐ กิโลเมตร และหลายเส้นทางที่ยังไม่เคยได้รับงบประมาณ ในการดูแลซ่อมแซมถนนหนทางนะครับ ก็ฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลสนับสนุน โดยเฉพาะถนนสกุลดี ซอย ๕ ถนนผดุงพันธ์ ซอย ๒๑ ถนนอยู่วิทยา ซอย ๑๒ ถนนอยู่วิทยา ซอย ๑๓ ด้านท้ายที่จะวิ่งตรงไปที่ถนนคลองสอง แล้วก็ชุมชนก้าวใหม่พัฒนาบึงปรง มีถนนหนทางที่ชำรุดเสียหายจำนวนมาก และนี่คือทั้งหมดของ Hashtag ที่คนพื้นที่ พูดกันว่าหนองจอกบ้านนอกกรุงเทพฯ เขารู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมนะครับ อยากให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยพิจารณานะครับ ยังไม่ต้องไปไกลถึงขั้น Smart City นะครับ ดูแลไฟดูแลถนนพอครับ ขอบคุณมากครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปขอเชิญคุณณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์

นายณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์ น่าน ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ กระผม ณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์ สส. จังหวัดน่าน เขต ๓ พรรคเพื่อไทย วันนี้ขออนุญาตหารือท่านประธาน ๓ เรื่องด้วยกัน

นายณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์ น่าน ต้นฉบับ

เรื่องแรก กระผมได้รับการร้องเรียนมาจากท่านนายกเสาวนีย์ พิชิตถิ่น นายก อบต. ขุนน่าน ให้ช่วยติดตามการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าของ อบต. ขุนน่าน เพื่อดำเนินโครงการปรับปรุงซ่อมแซมถนนสายทางบ้านขุนน่าน บ้านเปียงซ้อ และถนนสายบ้านเปียงซ้อ ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งชำรุดทรุดโทรม เป็นหลุมเป็นบ่อ ทำให้พี่น้องที่สัญจรไปมาได้รับอุบัติเหตุและมีความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ทาง อบต. ได้มีการยื่นคำขอไปตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๖๕ ก็อยากจะขอท่านประธาน ได้มีหนังสือเร่งรัดแล้วก็ติดตามการอนุญาตจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่เช่นนั้นงบประมาณในปี ๒๕๖๖ นี้ก็จะตกไปทำให้ประชาชนเสียโอกาสอีกครั้ง

นายณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์ น่าน ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ผมได้รับการร้องเรียนมาจากพี่น้องอำเภอทุ่งช้าง และพี่น้อง อำเภอเฉลิมพระเกียรติให้ช่วยฝากท่านประธานติดตาม และเร่งรัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ในการขออนุญาตใช้พื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำยาว ป่าน้ำสวด ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดอยภูคา ป่าผาแดง เนื่องจากจังหวัดน่านได้ส่งเรื่องราวคำขอ ของกรมทางหลวงขอใช้พื้นที่เพื่อดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงทางหลวง หมายเลข ๑๐๑ สายตำบลปอน ไปยังเฉลิมพระเกียรติให้กรมป่าไม้พิจารณา ซึ่งตอนนี้ก็ทราบข่าวเบื้องต้นว่า ทางกรมป่าไม้ได้ตรวจสอบแล้ว แล้วก็พิจารณาเห็นชอบคำขอดังกล่าวแล้ว และได้รายงาน ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้พิจารณาอนุมัติ กระผมก็อยากขอท่านประธานได้กรุณามีหนังสือไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ขอท่านรัฐมนตรีช่วยพิจารณาอนุมัติโดยเร่งด่วนด้วยครับ

นายณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์ น่าน ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้ายครับท่านประธาน กระผมได้รับการร้องเรียนมาจากท่านนายก ช่วย นิลคง นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลพระพุทธบาทเชียงคาน อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน ขอให้ช่วยติดตามโครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำของกรมชลประทาน เนื่องจากแม่น้ำลำคลองที่ราษฎรอาศัยใช้น้ำยังไหลผ่านพื้นที่เกษตรกรรมได้ไม่ทั่วถึง พี่น้อง ต้องใช้เครื่องสูบน้ำทดแทนมาจากแหล่งน้ำระยะไกลครับ ทำให้เกษตรกรเกิดต้นทุน ในการเพาะปลูกที่สูงเพิ่มมากขึ้น ต้องประสบภาวะขาดทุนซึ่งโครงการนี้จะเกิดประโยชน์ แก่ราษฎรในพื้นที่บ้านอ้อ แล้วก็บ้านตึ๊ด ตำบลพระพุทธบาท ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม กว่า ๑,๖๐๐ ไร่ ก็ขอท่านประธานได้ช่วยเร่งรัดไปยังกรมชลประทาน กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ได้ช่วยเร่งดำเนินการโครงการนี้อย่างเร่งด่วนด้วยครับ ขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณชลธิชา แจ้งเร็ว ครับ

นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ปทุมธานี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เขต ๓ ขอ Slide ด้วยนะคะ

นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ปทุมธานี ต้นฉบับ

ดิฉันมีปัญหาในพื้นที่มาปรึกษาหารือ กับท่านประธานดังนี้นะคะ

นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ปทุมธานี ต้นฉบับ

เรื่องแรก ปัญหารถมอเตอร์ไซค์ย้อนศรบนถนนพลโยธินจนก่อให้เกิดอุบัติเหตุ หลายครั้งดังที่เห็นในรูป เนื่องจากสะพานกลับรถแต่ละจุดอยู่ห่างไกลกันมาก บางคนต้องขับ ไกลกว่า ๑๐-๑๕ กิโลเมตร เพื่อกลับรถเข้าซอยที่พักซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียงไม่กี่เมตรเท่านั้น ดิฉันจึงขอฝากไปยัง สภ. คลองหลวง และฝากไปยังกระทรวงคมนาคม และกรมทางหลวง เพื่อพิจารณาการสร้างสะพานกลับรถสำหรับมอเตอร์ไซค์ในแหล่งชุมชน เช่น บริเวณ หน้ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ หน้านิคมนวนคร และทางลงสะพานกลับรถบ้านเอื้อ กม. ๔๔

นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ปทุมธานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ปัญหาเรื่องของการทิ้งน้ำเน่าเสียลงคลองที่ไม่ผ่านการบำบัด มีข้อสังเกตว่าน้ำเน่าเสียดังกล่าวถูกปล่อยมาจากตลาดค้าสดขนาดใหญ่ในพื้นที่ชุมชน และอาคารพาณิชย์ที่ถูกดัดแปลงให้เป็นโรงงานขนาดเล็ก แต่ไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียนะคะ เช่น บริเวณสะพานเทพกุญชร ๑ ชุมชนวันครู ใต้สะพานคลองหลวง เป็นต้น ดิฉันจึงขอฝาก ไปยังหน่วยงานท้องถิ่น กรมชลประทาน กรมควบคุมมลพิษให้เข้าตรวจสอบและหาแนวทาง ในการแก้ไขปัญหาต่อไป

นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ปทุมธานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ปัญหาน้ำประปาในท่าโขลง ดิฉันขอชื่นชมทางเทศบาลเมืองท่าโขลง ที่พยายามแก้ไขปัญหาเรื่องของคุณภาพน้ำประปาในพื้นที่นะคะ แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าในระหว่างการดำเนินงานวางท่อประปาใหม่นี้ส่งผลให้บางช่วงน้ำประปามีสี มีกลิ่น เนื่องจากมีสิ่งปนเปื้อนที่เข้าไปในระบบท่อ ดิฉันจึงขอฝากไปยังทางเทศบาลท่าโขลง ให้ช่วยประชาสัมพันธ์ประชาชนเพื่อเตรียมรับมือและจัดเตรียมน้ำประปาสำรองเพื่อบรรเทาทุกข์ ของประชาชนค่ะ

นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ปทุมธานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ ปัญหาเรื่องของการจัดการขยะในพื้นที่คลองสามมีรถเก็บขยะ ของเอกชนในพื้นที่ที่ไม่ได้มาตรฐานนะคะ มีน้ำและเศษขยะร่วงหล่นบนพื้นถนน รถบางคัน ไม่ได้มีการติดแผ่นป้ายทะเบียนนะคะ และปัญหาเรื่องของพื้นที่รกร้างที่ถูกใช้เป็นที่ทิ้งขยะ และบ่อขยะเถื่อนที่ไม่ได้มีการแจ้งขออนุญาตต่อหน่วยงานรัฐ ดิฉันจึงขอฝากไปยังหน่วยงาน ท้องถิ่น และกรมการขนส่งทางบกให้ช่วยตรวจสอบและเร่งหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยหวังเป็นอย่างยิ่งค่ะว่าจะเห็นการกระจายอำนาจที่ให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการออกแบบ มาตรฐานการจัดการขยะในพื้นที่ได้อย่างเต็มที่นะคะ

นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ปทุมธานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๕ ทาง อบต. คลองสาม ต้องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการสัญจร ในพื้นที่จึงจัดตั้งโครงการและงบประมาณสร้างเขื่อนหน้าวัดกลางและสะพานข้ามคลองสาม แต่ติดปัญหาเนื่องจากความล่าช้าของกรมชลประทานในการพิจารณาอนุมัติโครงการ ดิฉันจึงขอฝากไปยังกรมชลประทานให้ช่วยเร่งดำเนินการพิจารณาสั่งการโดยเร็วนะคะ แล้วก็หวังว่าจะเห็นการกระจายอำนาจอีกเช่นเดียวกันที่ให้ท้องถิ่นของเรานั้นมีอำนาจ ในการดำเนินโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในพื้นที่นะคะ

นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ปทุมธานี ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย เพื่อน สส. ปีกแรงงานเพิ่งฝากมาเมื่อสักครู่นะคะ ลูกจ้างบริษัท เอเอ็มซี สปินนิ่ง จำกัด ในอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ประกอบกิจการ ปั่นด้าย นายจ้างได้ค้างจ่ายค่าจ้างตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคมปีนี้นะคะ ทำให้มี ลูกจ้างที่เดือดร้อนประมาณ ๑๕๐ คน โดยต่อมานายจ้างได้ประกาศปิดกิจการเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยไม่ได้จ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แล้วก็ รวมถึงค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับลูกจ้าง เป็นอย่างมาก ดิฉันจึงขอฝากไปยังกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วย ตรวจสอบและเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับลูกจ้างต่อไปอย่างเร่งด่วน ขอบคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณเพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ ครับ

นายเพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ กำแพงเพชร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ กระผม นายเพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกำแพงเพชร เขต ๒ พรรคพลังประชารัฐครับ วันนี้ผมขออนุญาตหารือกับท่านประธาน ๔ เรื่อง ถึงความเดือดร้อนของพ่อแม่พี่น้องประชาชนนะครับ

นายเพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ กำแพงเพชร ต้นฉบับ

เรื่องแรก คือการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปิง หลังอำเภอโกสัมพีนคร ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนในอำเภอโกสัมพีนคร ทั้ง ๒ ฟากฝั่งแม่น้ำปิง ว่าการที่จะเดินทางไปยังตัวอำเภอเอง ไปยังโรงพยาบาลของอำเภอ ไปยังโรงพักของอำเภอ ต้องขับรถไปกว่า ๓๐ กิโลเมตรจึงจะถึงสะพานที่ใกล้ที่สุด จึงขอฝากท่านประธานผ่านไปยัง กรมทางหลวงชนบทให้ช่วยเร่งให้มีการก่อสร้างสะพานเพื่อแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนนะครับ

นายเพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ กำแพงเพชร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ผมได้รับเรื่องร้องเรียนมาจากพี่น้องประชาชน แล้วก็ทางท่านนายก ฐานภัทร อินเลี้ยง เรื่องท่อลอดบริเวณถนนเส้น กพ.๔๐๒๒ หนองสระ-จันทิมา พิกัด กม. ที่ ๘+๙๗๖ ท่อมีขนาดสูงเกิน เวลาน้ำมาเกิดการท่วมขัง พืชผลทางการเกษตรเสียหาย ก็ต้องขอฝากท่านประธานผ่านไปยังกรมทางหลวงชนบทให้มีการทำท่อลอดเหลี่ยมให้มี ความกว้างขึ้น จะแก้ปัญหาทั้งเรื่องน้ำท่วมและน้ำแล้งให้กับพี่น้องตำบลจันทิมา ตำบลโนนพลวง แล้วก็ตำบลช่องลม

นายเพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ กำแพงเพชร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มผู้ใช้น้ำจังหวัดกำแพงเพชร โดยเฉพาะอำเภอเมือง อำเภอโกสัมพีนคร อำเภอพรานกระต่าย อำเภอลานกระบือ อยากจะให้มีการศึกษาระบบน้ำของหนองวัวดำทั้งระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับฝายกั้น แม่น้ำปิง หนองวัวดำที่กำลังจะสร้างขึ้น ก็ต้องขอฝากท่านประธานผ่านไปยังกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ กรมชลประทาน ช่วยดำเนินการให้พี่น้องประชาชนด้วยนะครับ

นายเพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ กำแพงเพชร ต้นฉบับ

ส่วนเรื่องสุดท้าย ผมได้รับการร้องเรียนมาจากท่านนายก สมเดช คมขำ กับพี่น้องประชาชนในเรื่องของอ่างเขาปูน หมู่ที่ ๑๐ บ้านหนองทอง ตำบลถ้ำกระต่ายทอง ในช่วงหน้าน้ำ น้ำก็จะท่วมในเขตเทศบาลพรานกระต่ายตลอด ในช่วงหน้าแล้งเราก็ไม่เคย นำตรงนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์เลย ผมจึงฝากท่านประธานผ่านไปยังกรมทรัพยากรน้ำ ให้มีการทำ Solar Cell ดูดน้ำเพื่อจะแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนใน ๔ หมู่บ้าน ของตำบลถ้ำกระต่ายทอง และเป็นการแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมในเทศบาลพรานกระต่าย ไปในตัวด้วยครับ กราบขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณฤกษ์ อยู่ดี ครับ

นายฤกษ์ อยู่ดี เพชรบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายฤกษ์ อยู่ดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี พรรคภูมิใจไทย วันนี้ ผมมีเรื่องเร่งด่วนของเทศบาลเมืองชะอำจะมาหารือกับท่านประธาน ๒ เรื่องครับ

นายฤกษ์ อยู่ดี เพชรบุรี ต้นฉบับ

สืบเนื่องจากปัญหาน้ำท่วมบริเวณหลังสถานี รถไฟชะอำถึงบ่อบำบัดน้ำเสียในช่วงปีที่ผ่านมา พ.ศ. ๒๕๖๔ จนถึงปัจจุบัน ประชาชน ในเขตเทศบาลเมืองชะอำนั้นได้รับผลกระทบในช่วงฤดูฝน ประชาชนได้รับปัญหาน้ำท่วม ก่อให้เกิดความยากลำบากในการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชน และทำให้ทรัพย์สิน ของประชาชนได้รับความเสียหายในการเกิดปัญหาน้ำท่วมของปีที่ผ่านมา น้ำท่วมเกิดจาก น้ำฝนไม่สามารถระบายออกจากพื้นที่ได้ทันท่วงที สาเหตุเกิดจากมีการถมดินขยายพื้นที่ ของพี่น้องประชาชนจึงทำให้มวลน้ำมาท่วมอยู่บริเวณสถานีรถไฟหมู่บ้านชะอำ ตลาดสด เทศบาลเมืองชะอำ และบริเวณถนนเพชรเกษม สี่แยกชะอำ กินพื้นที่ประมาณ ๓ กิโลเมตร ประกอบกับการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม ถึงหัวหิน ทำให้น้ำท่วมขังไม่สามารถระบายน้ำได้ แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แบบยั่งยืน เทศบาลเมืองชะอำนั้นได้พิจารณาแนวทางการระบายน้ำที่จะใช้ระบายน้ำ และขอให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำโครงการนี้ด้วย จะเป็นพระคุณอย่างสูงยิ่งครับ

นายฤกษ์ อยู่ดี เพชรบุรี ต้นฉบับ

ผมจึงขออนุญาตฝากท่านประธานผ่านไปถึงผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ช่วยเร่งรัดอนุญาตให้เทศบาลเมืองชะอำนั้นได้ใช้พื้นที่เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของ พี่น้องประชาชน โดยขออนุญาตใช้พื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อจัดโครงการ สร้างบล็อกระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก พร้อมถนนเลียบทางรถไฟชะอำบริเวณหลังสถานี รถไฟถึงบ่อบำบัดน้ำเสีย ตามหนังสือเทศบาลเมืองชะอำ ที่ พบ ๕๒๑๐๓/๓๔๔๕ ลงวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๕ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของการรถไฟแห่งประเทศไทย

นายฤกษ์ อยู่ดี เพชรบุรี ต้นฉบับ

ปัญหาที่ ๒ ปัญหาการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ จุดตัดทางรถไฟกับถนน สาย พบ.๑๐๑๐ แยกทางหลวงที่ ๔ ถึงบ้านหนองโรง บริเวณถนนจอมพล ตั้งแต่ถนนเพชรเกษม จนถึงคลองชลประทาน และปัญหาก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟจุดตัดสายใต้ ถนน พบ.๑๐๐๑ แยกทางหลวงที่ ๔ ถึงบ้านทุ่งขาม บริเวณถนนพุหวาย ตั้งแต่ถนนเพชรเกษม จนถึงคลองชลประทานในช่วงที่ผ่านมา ในปี ๒๕๖๐ จนถึงปัจจุบัน ประชาชนได้รับ ความเดือดร้อน ไม่สะดวกกับการสัญจรไปมา เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เนื่องจากมีการก่อสร้าง โครงการดังกล่าว จนถึงปัจจุบันโครงการดังกล่าวยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ถนนมีสภาพขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อ มีฝุ่นละอองจำนวนมาก และช่วงฝนตก มีน้ำท่วมขัง ประชาชนที่อยู่อาศัย บริเวณดังกล่าวได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหา และการก่อสร้างสะพานยกระดับบริเวณ จุดตัดทางรถไฟ และมีการก่อสร้างท่อระบายน้ำทาง Footpath ลอดเส้นทาง ซึ่งอยู่ใน ความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท เทศบาลเมืองชะอำนั้นได้รับเรื่องร้องเรียนจาก พี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้รับประสานกับแขวงทางหลวงชนบทเพชรบุรี ให้แก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ปัจจุบันโครงการดังกล่าวไม่มีการดำเนินการก่อสร้างใด ๆ ทั้งสิ้น ทราบตามประกาศกรมทางหลวงชนบทได้บอกเลิกจ้างสัญญาจ้างกับ บริษัท สยามพันธุ์วัฒนา จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้างโครงการดังกล่าวไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จได้ตามกำหนดเวลา ทั้งนี้ ผมขอความอนุเคราะห์กรมทางหลวงชนบทพิจารณาเร่งรัดดำเนินการจัดการผู้รับจ้างใหม่ เข้ามาดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และช่วงระหว่างที่หาผู้รับจ้างนั้น ขอความอนุเคราะห์ปรับปรุงผิวจราจรชั่วคราว เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถได้รับ ความสะดวกในการสัญจรไปมา จะเป็นพระคุณอย่างสูงยิ่ง กราบขอบคุณท่านประธานครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณสุพัชรี ธรรมเพชร ครับ

นางสุพัชรี ธรรมเพชร พัทลุง ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน สุพัชรี ธรรมเพชร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้ดิฉันขออนุญาต หารือท่านประธานในเรื่องปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ๒ เรื่องด้วยกันนะคะ

นางสุพัชรี ธรรมเพชร พัทลุง ต้นฉบับ

เรื่องแรก ดิฉันขอให้ท่านประธานทำหนังสือถึงสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษาเขตที่ ๑ จังหวัดพัทลุง ส่งผ่านไปยังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐาน เพื่อที่จะอนุญาตให้ทางเทศบาลเมืองพัทลุง โดยท่านวาทิต ไพศาลศิลป์ นายกเทศบาลเมืองพัทลุง ขอใช้พื้นที่อาคารตลาดเพียรยินดี ซึ่งเป็นอาคารที่อยู่ใจกลางเมือง ในจังหวัดพัทลุง เป็นอาคารที่เคยสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน สร้างเศรษฐกิจที่ดีให้กับ พี่น้องในจังหวัดพัทลุง แต่ตอนนี้ค่ะท่านประธาน อาคารหลังนี้มีสภาพที่เสื่อมโทรมมาก เพราะว่าสร้างมามากกว่า ๔๐ กว่าปีแล้วค่ะ ตอนนี้อาคารหลังนี้มีโครงสร้างคอนกรีต เสริมเหล็ก มีการเสื่อมสภาพ หมดอายุของคอนกรีต แล้วก็บางครั้งคอนกรีตตกลงมาจากพื้น ดิฉันก็เลยเกรงว่าถ้าปล่อยไว้นาน ๆ ในระยะยาวจะทำให้เกิดอันตรายกับพี่น้องประชาชน ที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงได้ อาจจะมีการพังทลายลงมาได้ค่ะ ทั้งนี้โดยทางเทศบาล เมืองพัทลุงได้ขออนุญาตทางสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษาเขตที่ ๑ ไว้ เพื่อที่จะ ปรับปรุงอาคารหลังนี้ให้ใหม่ เพื่อที่จะเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน เพื่อที่จะสร้างแหล่ง ท่องเที่ยว แหล่งอาหารที่อร่อย สะอาด แล้วก็สะดวกให้กับพี่น้องประชาชนในจังหวัดพัทลุง ก็เลยอยากจะกราบเรียนท่านประธานได้ทำหนังสือถึงสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อที่จะ อนุญาตให้กับทางเทศบาลเมืองพัทลุง

นางสุพัชรี ธรรมเพชร พัทลุง ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ดิฉันได้รับเรื่องร้องเรียนจากท่านนายกเทศมนตรีสมพงษ์ ปานเพชร นายกเทศมนตรีตำบลปรางหมู่ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ในการของบประมาณในการ ก่อสร้างถนนคอนกรีตสายสายสะพานไทร-บ้านหนองลึก อยู่ที่หมู่ที่ ๒ เชื่อมต่อหมู่ที่ ๓ ตำบลปรางหมู่ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง แล้วก็อีกสายหนึ่งก็คือสายดอนแบก-บ้านพลายทอง เพื่อที่จะทำการก่อสร้างถนนคอนกรีต เชื่อมต่อระหว่างตำบลปรางหมู่ และตำบลพญาขัน ซึ่งทั้ง ๒ สายนี้เป็นถนนที่พี่น้องประชาชนได้มีการสัญจรไปมามาก แล้วก็ช่วงฤดูฝน ถนน ๒ สายนี้ไม่สามารถที่จะสัญจรไปมาได้เพราะเกิดน้ำท่วม ระยะทางก็ไม่ได้มากประมาณ ๑ กิโลเมตร ก็เลยอยากจะกราบเรียนท่านประธานทำหนังสือถึงกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เพื่อที่จะดูแลสร้างถนนให้กับพี่น้องประชาชนด้วยค่ะ ขอกราบขอบพระคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปขอเชิญคุณภคมน

นางสาวภคมน หนุนอนันต์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาค่ะ ดิฉัน ภคมน หนุนอนันต์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้มีความเดือดร้อนของ พี่น้องประชาชนมาปรึกษาหารือท่านประธาน ๖ เรื่อง ดังนี้ค่ะ

นางสาวภคมน หนุนอนันต์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องแรก ขอให้มีการสร้าง สะพานขนาดมาตรฐาน เพื่อระบายน้ำถนนเลียบทะเลสาบ อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวตามภาพเป็นแค่บล็อกซีเมนต์ที่ใช้เพื่อระบายน้ำ บริเวณนี้เป็นบริเวณ รับน้ำจากหลายพื้นที่ในอำเภอปากพะยูน ทำให้ในช่วงฤดูฝนไม่สามารถระบายน้ำลงทะเลได้ทัน ส่งผลให้น้ำท่วมบ้านเรือนและพื้นที่เกษตรกรของพี่น้องประชาชน พื้นที่เกษตรของ พี่น้องประชาชนปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า ๒ ครั้ง พวกเขาเรียกร้องสะพานขนาดมาตรฐานมานาน ๑๐ ปี ฝากกรมทางหลวงชนบทเร่งดำเนินการค่ะ

นางสาวภคมน หนุนอนันต์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ประชาชนในพื้นที่ทะเลน้อยตั้งข้อสังเกตว่ามีการเข้าไปปรับสภาพ พื้นดินเพื่อปลูกต้นยูคาลิปตัส ๑,๐๐๐ ไร่ ในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ทั้งที่ก่อนหน้านี้พบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เรื่องนี้ สื่อนำเสนอไปแล้วนะคะ ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเร่งด่วนค่ะ

นางสาวภคมน หนุนอนันต์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ถนนสายเลียบชลประทานสายใหญ่ฝั่งซ้าย บ้านไร่ ป่าบอนเหนือ ครอบคลุมพื้นที่หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๗ และหมู่ที่ ๑๐ ตำบลป่าบอน จังหวัดพัทลุง ระยะทางประมาณ ๕.๕ กิโลเมตร เป็นหลุมเป็นบ่อ ผู้ใช้ถนนเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ถนนเส้นนี้ไม่ได้รับการซ่อมมานานค่ะ อบต. ป่าบอนไม่สามารถเข้าไปแก้ไขได้ เนื่องจาก เป็นความรับผิดชอบของกรมชลประทาน ฝากกรมชลประทานแก้ไขเร่งด่วนค่ะ

นางสาวภคมน หนุนอนันต์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ สส. เฉลิมพงศ์ แสงดี สส. เขต ๒ จังหวัดภูเก็ต ฝากความเดือดร้อน ของพี่น้องจังหวัดภูเก็ตมาว่าถนนผังเมืองสาย ก ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ประสบปัญหาการจราจรติดขัดเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยโครงการรับเหมาก่อสร้าง ระบบป้องกันน้ำท่วม พื้นที่ชุมชนป่าตองของกรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินการล่าช้า กว่า ๖ ปี ทำให้การสัญจรไปมาลำบากมาก หากไม่มีการแก้ไขจะส่งผลกระทบต่อ การท่องเที่ยว ก็ขอให้กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการพิจารณาเร่งด่วนค่ะ

นางสาวภคมน หนุนอนันต์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๕ ดิฉันได้รับการร้องเรียนจากนายปกรณ์ อารีกุล อดีตผู้สมัคร สส. เขต ๑ นครศรีธรรมราช พรรคก้าวไกล ว่าพื้นที่นครศรีธรรมราชตอนนี้ประสบปัญหา ราคามังคุดตกต่ำ มีเพื่อน สส. หลายคนนำปัญหานี้มาหารือในสภาแล้วแต่ยังไม่มี ความคืบหน้าใด ๆ ค่ะ ขอเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ประสานงานกับไปรษณีย์ไทย กรมการบินพลเรือน การท่าอากาศยาน จัดทำโครงการมังคุดส่งฟรีเพื่อเกษตรกร เหมือนที่เคยดำเนินการในอดีตค่ะ ขอหารือท่านประธานนะคะ ขอให้ดำเนินการให้เร็วที่สุด ขอบคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปขอเชิญคุณบัญชา เดชเจริญศิริกุล ครับ

นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่าน ประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคท้องที่ไทย คนจังหวัดนครสวรรค์นะครับ ท่านประธานครับผมมีประเด็นหารือท่านประธาน ๓ ประเด็น ๓ กระทรวงครับ

นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นแรกเกี่ยวข้องกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผมได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องประชาชน ที่อยู่รอบบึงบอระเพ็ด วันนี้เดือดร้อนถึงปลาที่อยู่ในบึงด้วยนะครับ บึงบอระเพ็ด มีพื้นที่ทั้งหมด ๑๓๐,๐๐๐ กว่าไร่ ตอนนี้เหลือพื้นที่พื้นน้ำเพียง ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ ไร่ เหลือน้ำในบึงแค่ประมาณ ๓-๔ ล้านลูกบาศก์เมตรเองนะครับ ตอนนี้ต้องเร่งสูบน้ำ เข้าบึงบอระเพ็ดเป็นการด่วนเลยนะครับ เพราะว่าพี่น้องประชาชนที่อยู่รอบ ๆ มีความเดือดร้อนมากเลยนะครับ แต่ขาดงบประมาณนะครับ งบประมาณมีบ้าง แต่ว่าไม่สะดวกเลยนะครับ มาเป็นห้วง ๆ เป็นช่วง ๆ แล้วก็หลังจากนี้ ๖๐ วัน พี่น้อง ประชาชนในพื้นที่รอบ ๆ บึงบอระเพ็ดตกลงกันว่าจะไม่ทำข้าวนาปี จะสูบน้ำใช้ เฉพาะอุปโภคบริโภคเท่านั้นนะครับ จึงมีความจำเป็นต้องขอกราบเรียนท่านประธาน ผ่านไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนะครับ ของบประมาณสัก ๔ ล้านบาท เพื่อให้สถานีสูบน้ำ เข้าบึงให้ครบได้อีก ๖๐ วัน เพื่อให้เพิ่มน้ำเข้าไปในบึงบอระเพ็ดอีกประมาณสัก ๑๐ ล้านคิว เพราะว่าเป็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมากจริง ๆ

นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ เกี่ยวกับเรื่องฝนเทียมนะครับ เพราะว่าเท่าที่ทราบมาตั้งแต่ วันที่ ๑ สิงหาคม เครื่องบินเกษตรทั้งหมดทั้งประเทศไปจอดอยู่ที่นครสวรรค์ ๒ อาทิตย์แล้ว หลังจากนั้นเมื่อวันที่ ๑๙ ถึงวันที่ ๓๑ ประเทศก็เริ่มได้ขึ้นบินไปที่จังหวัดสุรินทร์เพื่อทำ ฝนเทียม แล้วหลังจากวันที่ ๑ กันยายนที่จะถึงนี้ก็จะต้องทำการบินทั่วประเทศนะครับ โดยภาคเหนือจัดหน่วยการบินที่เชียงใหม่ ตาก พิษณุโลก ภาคกลาง ที่ลพบุรี กาญจนบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่โคราช แล้วก็สุรินทร์ ภาคตะวันออก ที่ระยอง ภาคใต้ ที่หัวหิน แล้วก็นครศรีธรรมราชครับ สิ่งที่เดือดร้อนคือพืชผลทางการเกษตรที่จะเก็บเกี่ยวภายใน ๒ เดือนนี้ต้องเร่งทำฝนเทียมเป็นการใหญ่นะครับ ไม่อย่างนั้นจะเสียหายเป็นเรื่องที่สำคัญ ของพี่น้องเกษตรกรจริง ๆ ครับ

นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ผ่านกระทรวงมหาดไทยนะครับ จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๔ ที่เพิ่มค่าตอบแทนให้พี่น้อง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ๒,๐๐๐ บาท ผู้ใหญ่บ้าน ๒,๐๐๐ บาท แพทย์ผู้ช่วย ๑,๐๐๐ บาท ไปกระทบกับกรอบเงินเดือนอยู่ ซึ่งทำให้แก้กรอบจะไม่สามารถ เพิ่มเงินเดือนได้ตามที่รัฐบาลประกาศไว้จริง ๆ อย่างเช่นผมตอนลาออกจากกำนันมานี่ เงินเดือน ๑๑,๖๐๐ บาท ถ้าเพิ่ม ๒,๐๐๐ บาท ถ้าไม่ได้แก้กรอบผมจะได้แค่ ๔๐๐ บาท เท่านั้นเอง เพราะไม่อย่างนั้นมันจะเป็นการลักลั่นสำหรับคนใหม่และคนเก่า ก็ฝาก กราบเรียนท่านประธานไปถึงกระทรวงมหาดไทยถึงท่านรัฐมนตรี มท. ๑ ให้ช่วยเร่ง ดำเนินการแก้กรอบของค่าตอบแทนเพื่อจะได้ดำเนินการให้กับพี่น้อง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทั้งประเทศได้สะดวกและถูกต้อง ไม่ลักลั่นกัน กราบขอบพระคุณท่านประธานครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปท่านสุดท้าย คุณธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ครับ

นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธาน ที่เคารพ ดิฉัน ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตลาดกระบัง ยกเว้น แขวงลำปลาทิว พรรคเพื่อไทยค่ะ ดิฉันมีปัญหาของพี่น้องประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการจราจรที่ติดขัดในกรุงเทพมหานครขณะนี้ค่ะ โดยเฉพาะ อย่างยิ่งบนถนนเส้นลาดกระบัง ในขณะนี้ไม่ว่าจะเป็นหน้าศูนย์การค้าโรบินสัน ศูนย์การค้าพาซิโอ มาจนถึงตลาดวัดสังฆราชา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเฉพาะบริเวณพื้นที่มีสะพานยกระดับถล่มเดิม เมื่อ ๒ เดือนที่ผ่านมา จากเดิมที่ติดอยู่แล้วขณะนี้เข้าขั้นวิกฤติและสาหัสทุกวัน เพราะ นอกจากเส้นทางหลักคือถนนลาดกระบังที่ติดขัดอย่างหนัก ยังเป็นสาเหตุให้ถนนฉลองกรุง ถนนทางเข้าออกสนามบินสุวรรณภูมิ ถนนร่มเกล้า มีสภาพติดขัดเรื้อรังตามลำดับ ท่านประธานคะ ทางยกระดับเดิมที่มีกำหนดเสร็จปลายปี ๒๕๖๗ แต่ขณะนี้แนวโน้ม ดูเหมือนว่าจะล่าช้าไปกว่าเดิมมาก ดิฉันจึงขอประสานไปยังกรุงเทพมหานครได้ทำงาน ร่วมกับกระทรวงคมนาคมทำการสำรวจถนนเพื่อที่จะเพิ่มเส้นทางการจราจรทำถนนเพิ่มจาก ซอยลาดกระบัง ๕๔ พื้นที่ตำบลศีรษะจรเข้น้อย อำเภอบางเสาธงจังหวัดสมุทรปราการ ตัดตรงเข้าสู่ถนนสุวรรณภูมิ ๔ เพื่อลดความหนาแน่นของรถที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่พื้นที่ การจราจรลดลงค่ะ เดิมทีเมื่อปี ๒๕๕๖ ผู้ว่าราชกรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน ท่านชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้นได้เคยลงพื้นที่ ไปสำรวจสถานการณ์และสภาพการจราจรที่ติดขัดจริงแล้ว และมีแนวโน้มที่เห็นสมควร ในการที่จะเพิ่มเติมถนนจากซอยลาดกระบัง ๕๔ ไปถึงเส้นสุวรรณภูมิ ๔ เดิมที่ดิฉันได้เคย หารือไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ฉะนั้นวันนี้เป็นโอกาสดีแล้วที่ทั้ง ๒ หน่วยงานจะทำงานร่วมกันเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนค่ะ

นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

อีกส่วนหนึ่งนะคะ ที่ดิฉันขอประสานเพิ่มเติม ก็คือให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ จราจรไปกำกับดูแลเรื่องของระเบียบ จุดจอดรถประจำหน้าห้างพาซิโอ หน้าห้างโรบินสัน ให้จอดในที่ที่จัดไว้ให้เท่านั้น เพราะการจอดรถริมถนนเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การจราจร ติดขัดอย่างเรื้อรัง และการที่เราจะเพิ่มพื้นที่การจอดรถให้กับผู้ที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า รถขนส่งสาธารณะต่าง ๆ มันจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ถาวรที่จะทำให้ ปริมาณรถบนถนนลดน้อยลง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรถไฟฟ้า ๒๐ บาทตลอดสาย ดิฉัน ขอให้รัฐบาลที่จะเข้ามาทำงานในขณะนี้เร่งทำงานด้วยค่ะ ขอบพระคุณมากค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบพระคุณ มากครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

จำนวนสมาชิกที่มาประชุมทั้งหมดที่ลงชื่อไว้เมื่อเลิกประชุม ๔๘๒ คน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เรียนท่านสมาชิก ทุก ๆ ท่านครับ ขณะนี้มีสมาชิกมาลงชื่อเพื่อเข้าประชุมจำนวน ๓๘๐ ท่านแล้วนะครับ ครบองค์ประชุม ผมจึงขอเปิดการประชุมและดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระต่อไปครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๑ กระทู้ถาม ไม่มี

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ท่านสมาชิกครับ ก่อนที่จะพิจารณาเรื่องตามระเบียบวาระ ผมขอปรึกษา หารือกับท่าน โดยนำระเบียบวาระที่ ๗ คือเรื่องอื่น ๆ ซึ่งจะใช้เวลาไม่มากนักเข้ามา เพื่อให้ ท่านสมาชิกได้พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนครับ ถ้าไม่มีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่น ผมขออนุญาตนำเอาเรื่องระเบียบวาระที่ ๗ เรื่องอื่น ๆ เข้ามาหารือขอความเห็นชอบ จากที่ประชุมนี้นะครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๗ เรื่องอื่น ๆ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เนื่องจากได้มีผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติเข้ามาบรรจุระเบียบวาระแล้ว ๒ ท่าน แต่ได้ขอถอนระเบียบวาระเรื่องร่างพระราชบัญญัติทั้งสองนี้ คือ ร่างพระราชบัญญัติ สภาผู้แทนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... ซึ่งนางสาวรุจิภา ภีระ กับประชาชน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน ๑๑,๖๕๐ คน เป็นผู้เสนอ บัดนี้ผู้เสนอขอถอนออกไปก่อน ตามข้อบังคับ ข้อ ๖๑ และขณะเดียวกัน คุณเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม ได้เสนอร่าง พระราชบัญญัติสภาผู้แทนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... เช่นเดียวกัน ก็ขอถอน เข้าใจว่าคงจะเอาไปปรับปรุงให้มีความสมบูรณ์ขึ้น ถ้าไม่มีสมาชิกมีความเห็นเป็นอย่างอื่น ก็ถือว่าที่ประชุมนี้อนุญาตให้ผู้เสนอทั้ง ๒ คณะ ถอนร่างพระราชบัญญัติสภาผู้แทนนิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ออกไปก่อนนะครับ ท่านณัฐวุฒิ บัวประทุม ท่านยกมือจะหารือ เชิญครับ

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลคนจังหวัดอ่างทอง ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตท่านประธานทวนความเข้าใจ แล้วก็เอาให้ชัดในประเด็น เรื่องของการถอนวาระอีกสักนิดหนึ่ง เมื่อสักครู่ท่านประธานเอ่ยถึงการถอนวาระ เรื่องการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสภาผู้แทนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... ซึ่งมีภาคประชาชนเข้าชื่อเข้ามาจำนวน ๑๐,๐๐๐ กว่าชื่อ เป็นผู้เสนอ และท่านก็พูด เลยไปถึงกรณีของท่านเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม ต้องขอประทานโทษที่เอ่ยนามนะครับ เพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทย ที่มีการยกร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เช่นเดียวกัน ทีนี้ผมอ่านจากเอกสารประกอบครับ เอกสารประกอบการประชุมวันนี้นะครับ ท่านประธาน ครั้งที่ ๑๑ และครั้งที่ ๑๒ ในประเด็นที่ท่านพูดถึงนั้นผมจะเห็นเฉพาะเอกสาร ประกอบที่พูดถึงว่า คุณรุจิรา ภีระ เป็นผู้ถอน แต่ว่าไม่มีเอกสารประกอบการถอนที่เอ่ยถึงว่า ท่าน สส. เกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม เป็นผู้ถอนแต่อย่างใด ฉะนั้นประการที่ ๑ ที่ผมต้องนำเรียน ก็คือว่าตกลงท่านเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม ยืนยันต่อที่ประชุมแห่งนี้ได้หรือไม่ว่าท่านได้ ถอนร่างดังกล่าวไปแล้วจริงหรือ มีเอกสารประกอบการพิจารณาที่จะยืนยันคำพูดดังกล่าว ได้หรือไม่ นั่นเป็นประการที่ ๑ ครับท่านประธาน

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ ท่านประธานครับ สั้น ๆ ครับ แต่เดิมผมเข้าใจว่าการถอน ประเด็นระเบียบวาระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกฎหมายที่เข้าสู่สภานั้น จะต้องมีการพิจารณา แล้วถอนในสภา แต่เมื่อสักครู่ท่านประธานได้อ้างถึงข้อบังคับการประชุมในข้อ ๖๑ ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมญัตติ หรือการถอนญัตติที่ประธานสภาสั่งบรรจุระเบียบวาระการประชุม จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของที่ประชุม ซึ่งเมื่อสักครู่ท่านประธานก็ได้ถาม แล้วก็ เท่าที่สดับรับฟังจากการยกมือของเพื่อนสมาชิกก็ไม่มีผู้ใดค้าน ซึ่งผมก็สนับสนุนว่าถ้าเป็น เช่นนั้นจริงก็ถือว่าการถอนสำเร็จแล้ว แต่ผมอยากเรียนถามในประการที่ ๑ กรณี เรื่องร่าง ของท่านเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม แล้วก็ประการที่ ๒ ว่าท่านยืนยันว่าถ้าไม่มีผู้ใดค้านสถานะ ของร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสภานิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยทั้ง ๒ ร่าง ถือว่า เป็นการถอนออกไปก่อนก็จะพ้นวาระการประชุมในสัปดาห์ถัด ๆ ไปใช่หรือไม่ ประการใด ต้องขออนุญาตเรียนถามท่านประธานด้วยความเคารพครับ ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบพระคุณ คุณณัฐวุฒิมากครับ ประเด็นของคุณเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม ขอถอนนั้น คุณเกรียงศักดิ์ ได้ส่งหนังสือมาถึงสภาในวันนี้เองครับ ในวันที่ ๒๙ ถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เนื้อหา สาระว่าขอนำร่างนี้ออกไปก่อนครับ แล้วจะส่งมาในภายหลังก็มีหนังสืออยู่ที่ประธาน คงไม่ต้องไปนำคุณเกรียงศักดิ์ขึ้นมายืนยัน เพราะมีหนังสือมาถึงเมื่อเช้านี้เอง แต่ต้อง ขอประทานโทษด้วยว่าใส่ในระเบียบวาระไม่ทันครับ คุณเกรียงศักดิ์จะขอชี้แจงได้ครับ เชิญครับ

นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม อุดรธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี เขต ๘ พรรคเพื่อไทย ตามที่ท่านประธานได้แจ้งต่อที่ประชุมซึ่งมีหนังสือแจ้งผ่านระเบียบวาระ ไม่ว่าจะเป็นของภาคประชาชนและของผมเอง เนื่องจากว่าเป็นระเบียบวาระที่เกี่ยวโยง ยึดโยงกันทั้ง ๒ ฉบับ เนื่องจากว่าทางพี่น้องภาคประชาชน ๑๑,๐๖๕ รายชื่อ ได้ยื่นถอน เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๖ ผมได้สอบถามในรายละเอียดว่าเนื่องจากว่า มีข้อกฎหมาย บางอย่างซึ่งเป็นเกี่ยวกับการเงิน ดูแล้วยังไม่เรียบร้อยแล้วก็ต้องการที่จะนำข้อหารือต่าง ๆ ไปยังพี่น้องนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศทั้ง ๗๗ สถาบัน แล้วก็ ๑๕๐ สถาบัน เพื่อหากรอบและข้อยุติ ในการที่จะร่างกฎหมายฉบับนี้เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ให้มีความเสมอภาคทุกส่วน แล้วก็เป็นกฎหมายที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสภานิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย แล้วก็ต่อ พี่น้องประชาชนผมก็เข้าใจในรายละเอียดของภาคประชาชน ฉะนั้นก็คงจะเป็นอีกระยะหนึ่ง ที่ทางนิสิตนักศึกษาทุกสถาบันจะได้หารือกัน ก็อาจจะต้องรบกวนท่านประธานในการที่จะ ดำเนินการประชุมปรึกษาหารือทั้ง ๑๕๐ สถาบันทั่วประเทศ แล้วก็ ๗๗ สถาบัน ไม่ว่าจะเป็น จุฬา ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ แล้วก็ตลอดจน ม. ราชภัฏ ๓๘ แห่งทั่วประเทศ แล้วก็ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทุกภูมิภาคนะครับ ทางนิสิตนักศึกษาคงจะมีการหารือกันเพื่อให้ เป็นการสานต่อแล้วก็สืบเนื่องเกิดประโยชน์สูงสุดต่อนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ ขอกราบขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณ คุณเกรียงศักดิ์ครับ ก็เลยทั้ง ๒ พระราชบัญญัติ ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันนั้นขอถอนจากที่ประชุม เมื่อสักครู่ผมได้ถามที่ประชุมแล้วมีผู้ใดขัดข้อง ก็ไม่มีผู้ใดขัดข้องแล้วนะครับ ก็ถือว่าขอถอน ออกไปก่อนครับ แล้วก็คงจะนำเสนอมาในภายหลัง คุณพริษฐ์ได้ยกมือเข้าใจว่าคงจะเป็น การขอเลื่อนระเบียบวาระ ผมขอนิดเดียวครับ ผมจะอนุญาตให้คุณพริษฐ์ต่อนิดเดียว เพราะเป็นเรื่องแจ้งของเรื่องที่วุฒิสภาเขาดำเนินการเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ทราบ ต่อไป หลังจากที่ผมชี้แจงสั้น ๆ แล้วก็จะให้คุณพริษฐ์ได้หารือต่อไปครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๒ เรื่องประธานจะแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบการพิจารณาของ วุฒิสภา

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ด้วยวุฒิสภาได้มีหนังสือแจ้งว่าในการประชุมวุฒิสภาเมื่อวันอังคาร ที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๖ ที่ประชุมได้พิจารณาและลงมติอนุมัติพระราชกำหนด ๒ ฉบับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๑.๑ พระราชกำหนดการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๖๖

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๑.๒ พระราชกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลง ระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๖๖

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ด้วยสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้มีหนังสือแจ้งว่าในการประชุม วุฒิสภา ครั้งที่ ๑๐ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วันจันทร์ที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๖ ที่ ประชุมวุฒิสภาได้พิจารณารับทราบ รายงานประจำปีกองทุนประชารัฐสวัสดิการ เพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ปีงบประมาณ ๒๕๖๔ แล้ว จึงแจ้งมาให้ที่ประชุมรับทราบ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ก่อนที่จะดำเนินการประชุมต่อไป คุณพริษฐ์ได้แจ้งมาว่าอยากจะขอหารือ ขอเชิญคุณพริษฐ์ครับ

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาที่เคารพครับ กระผม พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อจากพรรคก้าวไกลครับ จะขออนุญาตท่านประธานสักเล็กน้อยในการปรึกษาหารือเกี่ยวกับระเบียบวาระการประชุม สภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ ท่านประธานครับ ผมเชื่อว่าท่านประธานก็เห็นว่าที่ผ่านมานั้น ประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นก็เป็นประเด็นที่ถูก พูดถึงในวงกว้างมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการถูกอภิปรายในการประชุมรัฐสภาเมื่อสัปดาห์ ที่ผ่านมาเมื่อมีการพิจารณาบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็น บทสนทนาที่เกิดขึ้นตลอดกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล หรือว่าไม่ว่าจะเป็นเพราะการเคลื่อนไหว จากภาคประชาชนตลอด ๑ สัปดาห์ที่ผ่านมาที่มีการรวบรวมรายชื่อกว่า ๒๐๐,๐๐๐ รายชื่อ เพื่อเสนอให้มีการจัดทำประชามติเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากการติดตาม คำให้สัมภาษณ์ของท่านนายกรัฐมนตรีครับ ผมก็เข้าใจว่าตอนนี้ ครม. นั้นกำลังอยู่ใน กระบวนการของการรวบรวมข้อมูลและความเห็นเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการจัดประชามติ เกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อที่จะพิจารณาและตัดสินใจในเร็ว ๆ นี้ ท่านประธานครับ ด้วยเหตุผลนี้ผมจึงคิดว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีการถกประเด็น ดังกล่าวในพื้นที่ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีตัวแทนจากทุกพรรคการเมือง ซึ่งเสมือนกับตัวแทนของชุดความคิดต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสังคม ดังนั้นท่านประธานผมก็อยากจะ อาศัยข้อบังคับ ข้อ ๕๔ (๒) เพื่อเสนอญัตติที่ตัวแทนของพรรคก้าวไกลได้มีการประสาน ไปกับตัวแทนของพรรคอื่นตั้งแต่เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว เป็นการเสนอญัตติให้เปลี่ยน ระเบียบวาระการประชุม โดยนำญัตติ ๕.๓๓ ซึ่งเป็นญัตติการขอให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเห็นชอบแล้วแจ้งให้ ครม. ดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถาม ความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. ประชามติ มาตรา ๙ (๔) ให้ขึ้นมาพิจารณาเป็นอันดับแรกในการประชุมวันนี้ก่อนที่จะเข้าสู่ ระเบียบวาระที่ท่านประธานได้เตรียมไว้ในส่วนของการรับทราบรายงาน หากมีผู้คัดค้าน ผมจะขอใช้สิทธิในการอธิบายหลักการและเหตุผลเพิ่มเติมกับเพื่อนสมาชิก แต่เบื้องต้น ผมอยากจะให้เพื่อนสมาชิก ท่านประธาน แล้วก็หน่วยงานที่มาชี้แจงนั้นมีความสบายใจ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

คุณพริษฐ์ครับ ขอเสียงรับรองการเสนอญัตติก่อน

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ขอผู้รับรองครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ผู้รับรอง ถูกต้องนะครับ เชิญครับคุณพริษฐ์ วัชรสินธุ

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

หากมีผู้คัดค้านก็จะขอใช้เวลา เพิ่มเติมในการอธิบายหลักการและเหตุผล แต่ว่าหากไม่มีผู้คัดค้าน ผมก็อยากจะให้ ความสบายใจกับท่านประธาน กับเพื่อนสมาชิก กับหน่วยงานที่มาชี้แจงครับว่าถึงแม้สภา เราเดินหน้าในการพิจารณาประเด็นเรื่องญัตติในการจัดทำประชามติเกี่ยวกับการจัดทำ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นจะไม่กระทบต่อระเบียบวาระที่ท่านประธานได้วางแผนไว้มาก่อน หน้านี้นะครับ เพราะว่าเข้าใจจากเอกสารว่าวันนี้มีการเตรียมเรื่องของการรับทราบรายงาน ๒ หน่วยงานที่เดินทางมาที่สภาแล้ว ๑. ก็คือรายงานข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรง ในครอบครัว ๒. ก็คือรายงานประจำปีของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพราะว่า ถึงแม้สภาเดินหน้าตามข้อเสนอที่ผมได้เสนอไว้เมื่อพิจารณาญัตติเกี่ยวกับประชามติเสร็จแล้ว ก็สามารถเดินหน้าต่อในการพิจารณาทั้ง ๒ รายงานที่ท่านประธานเตรียมไว้ได้ ก็จะไม่กระทบต่อการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ครับ ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณ คุณพริษฐ์ครับ คุณอรรถกร ศิริลัทธยากร ยกมือ เชิญครับ

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับ กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม อรรถกร ศิริลัทธยากร สมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา เขตเลือกตั้งที่ ๒ พรรคพลังประชารัฐ ขออนุญาตกราบเรียน ผ่านท่านประธานไปยังเพื่อนสมาชิกว่าผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับการเสนอเปลี่ยน ระเบียบวาระของเพื่อนสมาชิก คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ จากพรรคก้าวไกล ขออนุญาต เอ่ยนามท่านนะครับ ทราบดีว่าท่านมีความประสงค์ดีในการที่จะเสนอเรื่องนี้ขึ้นมา แต่อย่างไรก็ดีครับ ผมมี ความจำเป็นที่จะต้องคัดค้านการเปลี่ยนระเบียบวาระของเพื่อนสมาชิกในวันนี้ โดยที่อยากจะขอให้ ที่ประชุมคงระเบียบวาระตามเดิม โดยขออนุญาตให้เหตุผลสั้น ๆ ต่อท่านประธาน และที่ประชุมได้ไหมครับ ขอบพระคุณครับ

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

ประเด็นแรก ผมเรียนว่าการที่จะเปลี่ยนระเบียบวาระการประชุม แน่นอนว่า ตัวแทนพรรคการเมืองแต่ละพรรคเขาก็จะมาคุยกันก่อน แล้วส่วนใหญ่โดยเฉพาะในช่วงเวลา ๔ ปีครั้งที่แล้วในสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๕ นั้น ถ้าทุกพรรคการเมืองเห็นตรงกันมีเรื่องที่มี ความจำเป็นเร่งด่วนเราก็มักจะคุยกันและยินยอมให้มีการเปลี่ยนระเบียบวาระ ซึ่งเป็นเสียงที่ เห็นชอบของทุกคนในสภา แต่วันนี้เท่าที่ผมได้คุยกันจากเพื่อนสมาชิกไม่ว่าจะเป็น พรรคเพื่อไทยก็ดี ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทยก็ดี ไม่ว่าจะเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา แม้แต่กระทั่งพรรคพลังประชารัฐ เราไม่ได้ปิดกั้น เราไม่ได้ปิดบัง เราไม่ได้ขัดขวาง แต่ท่านประธานที่เคารพครับ ถ้าดูจากระเบียบวาระที่อยู่บนโต๊ะของสมาชิก ทุกท่าน นอกจากเรื่องรับทราบรายงานวันนี้แล้ว ขณะนี้เรามีเรื่องญัตติของสมาชิกที่คั่งค้าง อยู่ในระเบียบวาระการประชุมอีกทั้งหมด ๓๗ เรื่อง ท่านประธานทราบไหมว่าญัตติที่ค้าง อยู่เรื่องแรกเป็นเรื่องของขอให้สภาพิจารณาหาวิธีแก้ปัญหาราคากุ้งตกต่ำ ผมเป็นคนยื่นเอง ผมยื่นตั้งแต่วันแรกที่มีการเปิดประชุมสภา ผมได้พูดคุยกับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้พูดคุยกับผู้เลี้ยงกุ้งที่เป็นสมาชิกใน Shrimp Board ผมมีความจำเป็นที่จะต้องยื่นเรื่องนี้ และยืนยัน และผมเชื่อว่าญัตติของผมมีความชอบธรรม ผมยื่นคนแรก แต่ถ้าวันนี้สภา ให้เปลี่ยนระเบียบวาระนำระเบียบวาระที่ ๕.๓๓ ขึ้นมาก่อน มันจะแซงญัตติของ เพื่อนสมาชิกอีกประมาณ ๓๐ ท่าน แล้วอย่างนั้นเราจะตอบอย่างไร

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ท่านประธานครับ ปัญหาราคาตกต่ำไม่ได้ตกต่ำเฉพาะอาทิตย์นี้ ไม่ได้มาตกต่ำวันนี้ แต่ตกต่ำมาอย่างยาวนาน ดังนั้นเองผมเป็นคนหนึ่ง พรรคพลังประชารัฐ เป็นพรรคที่เชื่อมั่นว่าระบบรัฐสภา รัฐสภาแห่งนี้จะต้องเป็นที่ที่สะท้อนเสียงจากสมาชิก ให้แก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน ผมก็รอครับ ที่ผ่านมาเดือนหนึ่งผมก็รอญัตติของผม หรือแม้แต่กระทั่งเพื่อนสมาชิกพรรคพลังประชารัฐอีก ๒-๓ ท่านที่มีญัตติคั่งค้างอยู่เราก็รอ ดังนั้นเอง ผมจึงไม่เห็นด้วยครับ

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ ผมเชื่อว่าประเด็นนี้จะเป็นประโยชน์ เพราะว่าญัตติของผม ที่พูดถึงเรื่องของการแก้ไขปัญหาราคาตกต่ำ ผมทราบมาว่ามีท่าน สส. สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ท่าน สส. ชนนพัฒฐ์จากจังหวัดสงขลาและจังหวัดกระบี่ และยังมีเพื่อนสมาชิก สส. สรชัด สุจิตต์ จากจังหวัดสุพรรณบุรี ท่านก็คำนึงถึงปัญหาราคาตกต่ำเหมือนกับของผม นอกจากนี้ ท่านประธานครับ ผมเรียนว่าปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาวันนี้ วันพรุ่งนี้ ต้องได้รับการแก้ไข ปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานของรัฐบาลโดยเร่งด่วน

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

สุดท้าย ท่านประธานครับ ผมอยากจะวิงวอนไปยังเพื่อนสมาชิก โดยเฉพาะ ท่านหัวหน้าพรรคก้าวไกลถึงแม้ว่าท่านจะไม่ได้อยู่ที่นี่นะครับ ขออนุญาตเอ่ยนาม ด้วยความเคารพจริง ๆ คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพราะผมเห็นว่าช่วงหลังจากการเลือกตั้ง ครั้งที่ผ่านมาสิ่งแรก ๆ ที่ท่านหัวหน้าพรรคก้าวไกลได้ทำก็คือการลงไปพูดคุยกับบุคคล บุคลากรที่เกี่ยวกับการเลี้ยงกุ้ง มีการกินกุ้ง มีการ Promote มีการบอกว่าจะช่วยเหลือ ดังนั้นเองนี่คือความประสงค์หนึ่งที่ตรงกับผม ต้องการที่จะเห็นสภาแห่งนี้แก้ไขปัญหา ราคากุ้งตกต่ำ ถ้าท่านพอจะทำได้ ถ้าท่านจะกรุณา โทรมาบอกนะครับ บอกว่าวันนี้ ขอเถอะครับ ขอให้ดำรงระเบียบวาระตามเดิม แล้ววันนี้ผมเชื่อนะครับ เท่าที่ผมทราบ ยังมีรายงานอีก ๒ ฉบับ ซึ่งขณะนี้มีผู้ลงชื่อกว่า ๗๐ ชื่อ ก็เชื่อว่าญัตติของผมที่รอมา อย่างยาวนานแสนนานคงจะได้เข้าสู่การพิจารณาและนำไปสู่การแก้ไขในวันพรุ่งนี้ครับ ขอผู้รับรองด้วยครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

มีผู้รับรอง ถูกต้องครับ เนื่องจากว่าคุณพริษฐ์ วัชรสินธุ ได้เสนอให้เลื่อนระเบียบวาระที่ ๕.๓๓ ขึ้นมา พิจารณาก่อน แล้วก็คุณอรรถกร ศิริลัทธยากร เห็นว่าควรจะดำเนินการตามระเบียบวาระ ก็เป็นประเด็นที่ต้องขอมติจากที่ประชุมว่าจะเห็นชอบให้เลื่อนระเบียบวาระหรือให้ ดำเนินการตามระเบียบวาระที่กำหนดไว้ ขอเชิญคุณพริษฐ์ครับ

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ขออนุญาตครับ ในเมื่อมีผู้คัดค้าน ก็จะขออนุญาตใช้พื้นที่ในสภาแห่งนี้อธิบายหลักการและเหตุผลเพิ่มเติมสักเล็กน้อย เผื่อว่า จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่รับฟังอยู่ แล้วก็เพื่อว่าจะโน้มน้าวเพื่อนสมาชิกจาก พรรคการเมืองอื่นที่อาจจะยังไม่ได้แสดงความเห็น หรือว่ามีความเห็นไปในทางใดทางหนึ่ง ในวันนี้ ใช้เวลาไม่นาน กระผม พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกล ก่อนอื่นก็เคารพความเห็นของเพื่อนสมาชิกนะครับ ขออนุญาตเอ่ยนาม คุณอรรถกรจากพรรคพลังประชารัฐ ก็เข้าใจดีว่าท่านเองมีญัตติที่ค้างอยู่ไว้เช่นกัน แล้วผม ก็พร้อมจะเคารพครับ ตามครรลองประชาธิปไตยก็พร้อมจะเคารพหากเสียงข้างมาก ของสภาผู้แทนราษฎรลงมติว่าไม่เห็นชอบการเปลี่ยนระเบียบวาระ ก็น้อมรับผลการตัดสินใจ เช่นนั้น แต่ว่าเพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่รับฟังอยู่ แล้วก็เพื่อนสมาชิกพรรคอื่น จะขออนุญาตอธิบายเหตุผล ๓ ประการสั้น ๆ ที่ทำไมผมถึงเสนอให้มีการเลื่อนวาระ เรื่องการพิจารณาญัตติเกี่ยวกับประชามติรัฐธรรมนูญขึ้นมาในวันนี้ครับ

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เหตุผลประการที่ ๑ ผมคิดว่าเราควรจะมีความชัดเจนโดยเร็วเกี่ยวกับทิศทาง เรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ผมพูดแบบนี้พราะว่าในมุมหนึ่งอย่างที่ผมได้กล่าวไว้ ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่กำลังถูกถกเถียงในสังคมอย่างกว้างขวางเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ กกต. ไม่อนุญาตให้มีการล่ารายชื่อแบบ Online ก็ตาม เราก็เห็น จำนวนประชาชนเข้าชื่อกันแบบลงเอกสารถึง ๒๐๐,๐๐๐ รายชื่อภายในไม่กี่วันนะครับ นับว่าเป็นสถิติที่รวดเร็วกว่าการเข้าชื่อตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แต่แม้จะมีความตื่นตัวสูง ในอีกมุมหนึ่งข่าวร้ายเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ นั่นก็คือว่าถึงแม้ประชาชน ทุกคนอยากเห็นมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่จากวันนี้ถึงวันที่เราจะมีรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่บังคับใช้นั้นอาจจะต้องอาศัยเวลายาวนานอย่างน้อย ๒ ปี ด้วยกรอบระยะเวลา ที่อาจจะต้องใช้เวลาลักษณะนี้ ผมเลยคิดว่าการที่เรามีความชัดเจนเร็วว่าประเทศเรา จะเดินหน้าหรือไม่ อย่างไร เกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่นั้นจึงจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เหตุผลประการที่ ๒ ผมคิดว่าความชัดเจนดังกล่าวที่เรากำลังพูดถึงนั้น ไม่ควรจะเป็นการรอ ครม. หรือว่าคณะรัฐมนตรีแต่เพียงอย่างเดียว เพราะไม่ว่า ครม. จะตัดสินใจเมื่อไร อย่างไร เกี่ยวกับการจัดประชามตินั้น ผมคิดว่าประเด็นดังกล่าวในพื้นที่ ของสภาหรือว่าการถกเถียงประเด็นดังกล่าวในพื้นที่ของสภานั้นยังคงมีความหมาย ผมเชื่อว่า เดี๋ยวสมาชิกจากบางพรรคการเมือง สมาชิกบางท่านอาจจะลุกขึ้นมาให้เหตุผลว่า เราไม่จำเป็นต้องใช้เวลาในสภาแห่งนี้มาถกกันเรื่องนี้ เพราะว่า ครม. นั้นก็ได้ประกาศไปแล้ว ว่าจะหาข้อสรุปเรื่องการจัดประชามติดังกล่าวภายในการประชุม ครม. นัดแรก ๆ แต่ผม อยากจะเรียนด้วยความเคารพว่าไม่ว่า ครม. จะได้ข้อสรุปตามนั้นจริงหรือไม่ ผมคิดว่า การถกเถียงและพิจารณาญัตติดังกล่าวในสภามันมีความจำเป็นในทั้ง ๓ กรณี หากเราไปดู กรณีที่ ๑ หากเป็นกรณีที่ ๑ ที่ ครม. นั้นมีความเสี่ยงว่าจะไม่ได้ข้อสรุปโดยเร็วในการประชุม ครม. นัดแรก ๆ ด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม ผมคิดว่าเหตุผลนั้นหรือสถานการณ์นั้นยิ่งเป็น เหตุผลที่ทำให้เราควรจะใช้กลไกสภาในการเดินคู่ขนาน หากสามารถดำเนินการได้เร็วกว่า ในเมื่อ พ.ร.บ. ประชามติ ปี ๒๕๖๔ ก็มีการเปิดอนุญาตให้สามารถเสนอให้จัดประชามติ ได้ผ่าน ๓ ช่องทาง ช่องทางที่ ๑ ก็คือ ครม. ช่องทางที่ ๒. คือการที่ประชาชนเข้าชื่อ เพื่อเสนอ ครม. และช่องทางที่ ๓ คือการพิจารณาของรัฐสภา เราก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้อง เลือกทางใดทางหนึ่ง แต่สามารถเดินไปได้ ทั้ง ๓ ทาง แต่หากเป็นอีกกรณีหนึ่ง ท่านประธานครับ ในกรณีที่ ๒ ที่ทาง ครม. นั้นเดินหน้าจะให้ข้อสรุปโดยเร็วในการประชุม ครม. นัดแรก ๆ ว่าจะจัดประชามติหรือไม่ อย่างไร ถ้าเป็นเช่นนั้นเรายิ่งต้องถกประเด็นนี้ ในสภาตั้งแต่วันนี้เลยเพราะว่าแม้ทุกพรรคอาจจะเห็นตรงกันว่าเราควรจะมีการจัดประชามติ แต่ปีศาจมันอยู่ในรายละเอียด แล้วรายละเอียดที่มีความสำคัญมาก ที่จะกำหนดชะตากรรม และหน้าตาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ก็คือตัวคำถามที่ถูกถามในการจัดประชามติครั้งนั้น ดังนั้นเรื่องคำถามประชามติจึงเป็นประเด็นที่ทั้งผมเอง พรรคก้าวไกล แล้วก็ภาคประชาชนนั้น มีความกังวลร่วมกัน เพราะฉะนั้นเพื่อไม่ให้ ครม. ตัดสินใจไปด้วยตนเอง ผมเห็นว่าเราควร จะต้องใช้พื้นที่สภาแห่งนี้ อย่างที่ผมบอกไว้ว่าประกอบด้วยตัวแทนของทุกชุดความคิดนั้น มาถกกันก่อนถึงข้อเสนอต่าง ๆ ว่าจะออกแบบคำถามอย่างไร ข้อดี ข้อเสียของแต่ละ ทางเลือกนั้นเป็นอย่างไร

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

มาสู่เหตุผลประการสุดท้ายครับ เหตุผลข้อที่ ๓ ที่ผมเสนอให้มีการพิจารณา ญัตติในวันนี้ เพราะผมคิดว่าการพิจารณาญัตติดังกล่าวนั้นไม่ควรจะเป็นการรบกวนเวลา ของสภามากจนเกินไป และอาจจะ Slide ประกอบสั้น ๆ ๑ Slide ครับ เพราะญัตติที่ผม เสนอให้เราเลื่อนขึ้นมาพิจารณาในวันนี้ ไม่ได้เป็นญัตติที่เสนอคำถามประชามติอะไรใหม่ แต่เป็นญัตติที่เสนอคำถามประชามติเดียวกันกับญัตติที่หลายพรรคการเมืองนั้น ที่นั่งอยู่ใน สภาแห่งนี้เคยลงมติเห็นชอบไปแล้วในสภาชุดที่แล้ว หากเราดูใน Slide ประกอบนะครับ ถ้าเราย้อนไปไม่ถึง ๑ ปีก่อนครับ เราจะเห็นว่าในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ จริงอยู่ครับว่าวันนั้นญัตติดังกล่าวจะถูกเสนอโดยแค่ตัวแทนจาก ๒ พรรคการเมือง ก็คือคุณณัฐพงษ์จากพรรคก้าวไกล และคุณจุลพันธ์จากพรรคเพื่อไทย แต่พอมีการลงมติครับ เราจะเห็นว่าญัตติดังกล่าวนั้นได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ เลยครับจากสภาผู้แทนราษฎร เห็นด้วย ๓๒๔ รายไม่เห็นด้วย ๐ ราย มีงดออกเสียงเพียง ๑ รายก็คือท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ณ เวลานั้นซึ่งถ้าเราไปดูว่าในบรรดา ๓๒๔ สส. ที่โหวตเห็นชอบ ก็จะเห็นว่ามาจากทุกพรรคการเมืองเช่นกัน ๗๙ สส. จากพรรคเพื่อไทย ๕๗ สส. จากพรรคภูมิใจไทย ๖๒ สส. จากพรรคพลังประชารัฐ ๓๓ สส. จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในบรรดา สส. ที่ลงมติเห็นชอบในวันนั้นก็มีหลายท่านครับตามรายชื่อที่ปรากฏ ที่ ณ วันนี้ ก็นั่งอยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเช่นกัน แม้บางคนอาจจะเปลี่ยนพรรคไปบ้าง ดังนั้น เพื่อสรุปครับ แม้สภาชุดนี้อาจจะมีพรรคใหม่บางพรรคเข้ามาบ้าง แต่สำหรับพรรคการเมือง ส่วนใหญ่ หรือ สส. แต่ละคนที่เคยเห็นชอบกันอย่างพร้อมเพรียงเกี่ยวกับคำถามประชามติ ที่เคยถูกเสนอไปแล้ว เมื่อสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว ผมคิดว่าท่านคงใช้เวลาไม่นานมากนัก ในวันนี้เพื่อจะพิจารณาญัตติดังกล่าวและยืนยันจุดยืนเดิมที่ตนเองนั้นได้เคยลงมติไว้ ดังนั้น ด้วยเหตุผล ๓ ประการนี้ครับ ด้วยความเคารพก็จะขอยืนยันในการเสนอญัตติ เพื่อให้มี การเปลี่ยนระเบียบวาระการประชุมแต่ก็พร้อมจะน้อมรับหากเสียงส่วนใหญ่ของ สภาผู้แทนราษฎรเห็นเป็นอื่นใดครับท่านประธาน ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณคุณพริษฐ์ วัชรสินธุ มากครับ เนื่องจากว่ามีผู้รับรองถูกต้องให้ดำเนินการตามระเบียบวาระ ผมจึงต้องขอมติ จากที่ประชุมว่าสมควรจะเลื่อนระเบียบวาระหรือไม่ ก่อนที่จะมีการลงมติ ผมขอเชิญสมาชิก ทุกท่านเข้ามาแสดงตนก่อนครับ

นายรังสิมันต์ โรม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผม รังสิมันต์ โรม ทางนี้ครับท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญครับ ในระหว่างนี้ก็ขอเชิญท่านสมาชิกที่อยู่ข้างนอกเข้ามาในกรณีที่จะต้องลงมติก็จะต้อง ตรวจสอบองค์ประชุมครับ เชิญคุณรังสิมันต์ โรม ครับ

นายรังสิมันต์ โรม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ เรียนด้วย ความเคารพครับ ผม รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในการเสนอญัตตินี้นะครับ ที่เปลี่ยนแปลงระเบียบวาระของคุณพริษฐ์ ต้องเรียนด้วยความ เคารพว่าเราเสนอเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ ทีนี้ในเมื่อท่านอรรถกรได้เสนอญัตติคัดค้าน การเปลี่ยนแปลงญัตติ ถึงแม้จะเน้นย้ำถึงความสำคัญของพรรคก้าวไกลที่เราก็เห็นด้วย ในเรื่องของปัญหาราคากุ้งตกต่ำซึ่งมีมาโดยตลอด แล้วเราก็เริ่มปฏิบัติโดยที่แม้เราจะไม่อยู่ ในสภา ในความเป็นจริงแล้วผมทราบมาว่าในวันพรุ่งนี้เพื่อนสมาชิกจากพรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทยก็จะเอาญัตติในเรื่องของปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำในการที่จะเสนอ เหมือนกัน ซึ่งดูไปดูมาก็คงจะแซงในเรื่องที่ท่านอรรถกรได้เสนอ ดังนั้นพวกเรายินดีอย่างมาก ถ้าสุดท้ายท่านจะหยิบในเรื่องของราคากุ้งมาพิจารณาวันนี้ แล้วรับประกัน ท่านบอกเองว่า ท่านไม่เห็นคัดค้านกับเรื่องของการทำประชามติที่ให้สภามีมติ ดังนั้นถ้าท่านสัญญาว่า วันพรุ่งนี้ท่านจะยอมให้เราเอาเรื่องนี้เข้า แล้วจะลงมติให้ ทางพวกผมก็พร้อมที่จะถอนญัตตินี้ แล้วให้สภาเดินหน้าตามระเบียบวาระและจะเอาเรื่องกุ้งมาก็ได้ แต่วันพรุ่งนี้ต้องมี การพิจารณาในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงวาระและพิจารณาตามญัตติที่ท่านพริษฐ์ ได้เสนอมา ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

นี่เป็นการหารือ เพิ่มเติม เชิญท่านอรรถกรครับ

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ เผอิญท่าน รังสิมันต์ โรม เขาพูดแล้วก็ถามผมพอดีนะครับ กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ อรรถกร ศิริลัทธยากร สส. จังหวัดฉะเชิงเทรา เขตเลือกที่ ๒ พรรคพลังประชารัฐ อย่างแรกผมเรียนต่อท่านประธานครับเมื่อสักครู่นี้ผมได้เสนอญัตติคัดค้านชัดเจนว่า ผมอยากจะให้การประชุมที่ประชุมสภาแห่งนี้ ยืนและคงตามระเบียบวาระเดิม

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ อย่างที่เพื่อนสมาชิกได้สงสัยว่าพรุ่งนี้จะมีเพื่อนสมาชิกเสนอ ญัตติที่เกี่ยวกับราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำผมทราบครับ ผมเรียนท่านประธานและที่ประชุม ผมทราบครับว่าพรุ่งนี้คาดว่าจะมีเพื่อนสมาชิกที่ประสงค์เสนอร่วมกับผม ผมก็ยินดีครับ ผมเชื่อว่าตอนนี้เราก็สามารถที่จะนำเสนอเรื่องสินค้าต่าง ๆ ตกต่ำ แต่ว่าอาจจะจำแนก ในการทำรายงานส่งต่อคณะรัฐมนตรีหรือส่งต่อนายกรัฐมนตรี ก็สามารถทำรายงานแยกเป็น ประเภทได้ อย่างของผมก็เป็นเรื่องกุ้ง อย่างของเพื่อนสมาชิกบางท่านก็เป็นเรื่องมังคุด อย่างสมาชิกบางท่านก็เป็นเรื่องอะไรต่าง ๆ ในพื้นที่ของเขาอันนี้เราน่าจะสามารถทำได้

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

ประเด็นสุดท้ายที่ผมอยากจะชี้แจงท่านประธานว่าพรุ่งนี้ผมคงไม่สามารถ ที่จะให้คำสัญญากับเพื่อนสมาชิกได้ด้วยความเคารพนะครับ ท่านรังสิมันต์ โรม ก็ทราบดีว่า ผมทำงานอย่างไร แต่ว่าด้วยความสัตย์จริงครับ ผมไม่สามารถที่จะให้คำสัญญาได้เพราะว่า ผมไม่สามารถตัดสินใจได้ในเวลานี้ถ้าอยากจะให้เปลี่ยนระเบียบวาระของคุณพริษฐ์ ก็ต้องมาคุยกัน แต่จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ผมก็ไม่สามารถรับรองได้ และ

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

สุดท้ายยังมีสมาชิกอีกหลาย ๆ ท่านที่ยื่นญัตติค้างไว้ เราก็อย่าแซงเลย ขอยืนยันครับว่าให้คงตามระเบียบวาระเดิมครับ ขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ เดี๋ยวเรื่องพรุ่งนี้หรือต่อไปขอให้หารือในภายหลังครับ เดี๋ยว กรุณายกมือและเจ้าที่จะบอกผม และผมจะให้พูด ถ้าพูดเลยเดี๋ยวก็ไม่รู้ว่าใครพูดก่อน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เมื่อสักครู่ยกมือ เดี๋ยวครับ เดี๋ยวขอทางเจ้าหน้าที่ได้บอกว่า คุณชัยชนะ ยกมือประท้วงตั้งนานแล้ว ขอเชิญ คุณชัยชนะก่อนและเดี๋ยวทางนี้จะพูดต่อ ผมจะอนุญาตอีกท่านหนึ่งเป็นท่านสุดท้าย เพราะว่า เราไม่ควรจะเสียเวลาในเรื่องนี้มาก เพราะว่าญัตติทั้ง ๒ ได้มีการรับรองเรียบร้อยแล้ว และได้มีการอภิปรายพอสมควร ผมเชิญคุณชัยชนะ แล้วอีกท่านหนึ่งพูดจะได้ลงมติกัน เชิญครับคุณชัยชนะ

นายชัยชนะ เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม ชัยชนะ เดชเดโช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ จากนครศรีธรรมราช ก่อนอื่นผมต้องขอใช้สิทธิพาดพิงนะครับที่คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ ขออนุญาตที่เอ่ยนามได้อ้างถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำประชามติ แล้วบอกว่าขึ้นแผ่น Slide บอกว่ามีพรรคประชาธิปัตย์วันนั้นสนับสนุนในการแก้ไขทำประชามติ ผมเรียนอย่างนี้ครับ ในวาระสภาสมัยชุดที่ ๒๖ เราต้องมานับ ๑ กันใหม่ วันนี้เรื่องต้องเรียงลำดับไปตาม ระเบียบวาระที่เรากำหนดไว้ ผมเรียนกับท่านประธานที่เคารพว่าผมสนับสนุนญัตติของ คุณอรรถกรว่าให้เป็นไปตามวาระและให้หยิบยกวาระแก้ไขราคากุ้งตกต่ำ ราคาพืชผล ทางการเกษตรมารวมกันทั้งหมด เพราะวันนี้เราต้องแยกแยะครับ ประเทศชาติเรามีปัญหา หลาย ๆ ด้าน แต่ด้านที่เราต้องเร่งควรแก้ไขก็คือปัญหาราคาเกษตรที่ตกต่ำอยู่ ผมเข้าใจดีว่า ท่านพริษฐ์ วัชรสินธุ มีความตั้งใจจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ต้องแยกแยะให้ออกว่าปัญหาอะไร เร่งด่วนหรือไม่เร่งด่วน บางครั้งถ้ายังไม่เข้าใจครับว่าเวลาเกษตรกรต้องซื้อขายของในราคา ที่ตกต่ำเขาบอบช้ำอย่างไร เพราะฉะนั้นผมเองก็สนับสนุนญัตติของคุณอรรถกร และให้ ท่านประธานเดินหน้าถามมติที่ประชุมครับ แต่ถ้าเป็นไปได้ขอความร่วมมือท่านพริษฐ์ เถอะครับ ถอนญัตติไม่ต้องมีการโหวตหรอกครับ ให้เป็นไปตามวาระการประชุม และเราก็รู้ ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการแก้ไขศึกษาเรื่องนี้ครับ ขอบคุณมากครับ ท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เดี๋ยวผมจะขอ อนุญาตอีกท่านหนึ่ง ได้อภิปรายเป็นท่านสุดท้ายนะครับ ก็เชิญคุณมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล เชิญครับ

นางมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรด้วยความเคารพนะคะ ดิฉัน มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคภูมิใจไทย ดิฉันเห็นด้วยสนับสนุนกับท่านอรรถกร พรรคพลังประชารัฐที่จะยังคงเป็นไปตามระเบียบวาระประชุมเหมือนเดิม เพราะว่าเรื่องของ รัฐธรรมนูญบรรจุอยู่ในวาระตามลำดับอยู่แล้ว แต่ในเรื่องด่วนที่สุดในวันนี้คือเรื่องปากท้อง ของพี่น้องประชาชน ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ได้นำเรียนทางสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องของมังคุดมา และท่านสมาชิกสภา ในด้านเกษตรกรโดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราชก็ได้ร่วมอภิปรายมาหลายครั้ง ดิฉันเฝ้ารอ ที่จะทำวาระประชุมเข้ามาร่วมกับท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมา ๒ สัปดาห์ แล้วขณะเวลา นี้พืชผลของเกษตรตกต่ำโดยเฉพาะมังคุด ดิฉันได้เข้าวาระเรื่องมังคุดเอาไว้กำลังจะหมด ในฤดูกาลในกลางเดือนกันยายนนี้ ซึ่งจะไม่ทันกับเหตุการณ์ที่จะเอามาเข้าวาระด่วน ดังนั้น จึงเห็นควรที่จะให้เป็นไปตามวาระเพื่อที่จะได้ร่วมหารือแล้วก็อภิปรายความเดือดร้อนของ พี่น้องประชาชน ประชาชนปากสำคัญนะคะ กองทัพเดินด้วยท้อง ขอท่านประธานสภา ที่เคารพได้ช่วยพิจารณาให้เป็นไปตามวาระเหมือนเดิม ขอบพระคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ผมไม่อนุญาต แล้วครับ

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธาน ผมขอ ใช้สิทธิพาดพิงท่านประธานครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เดี๋ยว ๆ สักครู่ ขอเชิญท่านสมาชิกที่อยู่ข้างนอกเข้ามาในห้องประชุมก่อน

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานระหว่าง แสดงตนผมขอใช้สิทธิพาดพิงครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เดี๋ยวคอยสักครู่ เพราะว่าสมาชิกเข้ามา อยากจะให้สมาชิกได้แสดงตน ในระหว่างแสดงตนผมจะให้คุณปกรณ์วุฒิ ได้พูดสั้น ๆ เดี๋ยวสมาชิกได้แสดงตนเลยครับถ้าเข้ามาในห้องประชุมเราจะได้ขอมติ คุณปกรณ์วุฒิ ขอสั้น ๆ เลยนะครับ

นายเฉลิมชัย กุลาเลิศ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เฉลิมชัย ๐๖๘ แสดงตนครับ

นายปริญญา ฤกษ์หร่าย กำแพงเพชร ต้นฉบับ

๒๒๐ ปริญญา แสดงตนครับ

นายนรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ

๑๘๐ นรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล แสดงตนครับ

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ผมจะได้ใช้สิทธิ พาดพิงไหมท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เดี๋ยวเมื่อสักครู่ ผมอนุญาตนะครับ เดี๋ยวคนที่แสดงตนแล้วก็ค้างไว้ก่อน แล้วก็สำหรับที่ยังมีปัญหา เดี๋ยวเพิ่มเติม ผมจะรอลงมติช้า ๆ หน่อย คุณปกรณ์วุฒิขอสั้น ๆ หน่อยนะครับ

นายสุไลมาน บือแนปีแน ยะลา ต้นฉบับ

๔๕๐ สุไลมาน แสดงตน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เดี๋ยวคุณปกรณ์วุฒิ เขายืนจะพูดสั้น ๆ เชิญคุณปกรณ์วุฒิครับ

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านประธาน ที่เคารพครับ ผม ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมขอใช้สิทธิพาดพิงเนื่องจากว่าเมื่อสักครู่มีเพื่อนสมาชิกที่พูดถึงเรื่อง การประสานงานในการเลื่อนระเบียบวาระในวันนี้ว่าไม่ได้มีการพูดคุยกัน ผมในฐานะ ที่ทางพรรคได้มอบหมายให้เป็น Whip หลักของพรรคนะครับ ผมต้องแจ้งว่าในสัปดาห์ที่แล้ว ผมเดินอยู่ในห้องประชุมนี้แม้เราจะไม่มี Whip อย่างเป็นทางการก็ตาม ผมเดินไปคุยกับ ทุกพรรคการเมืองครับ ผมเดินไปคุยกับคุณอรรถกร ผมเดินไปคุยกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ผมได้คุยกับพรรคเพื่อไทย กับพรรคภูมิใจไทย แม้กระทั่งญัตติเรื่องสินค้าเกษตรตกต่ำ ผมก็ได้รับทราบแล้วว่าจะมีเรื่องนี้เกิดขึ้น ดังนั้นผมคิดว่าการพูดว่าไม่มีการตกลงกันล่วงหน้า แล้วมาทำกันแบบนี้ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ทำให้ผมและพรรคเสียหายเป็นอย่างยิ่งครับ แล้วผมคิดว่าจริง ๆ แล้วเรื่องนี้ท่านประธานมันไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องลงมติกันด้วยซ้ำ ผมก็ถามแบบนี้เลยครับ เรื่องนี้มันจะดำเนินไปได้อย่างราบรื่นถ้าพรรคก้าวไกลรวมกับ พรรคเพื่อไทยทำสิ่งเดียวกันกับที่เราเคยทำเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาตอนสภาสมัย ๒๕ ทุกอย่าง ก็จะเป็นไปได้อย่างราบรื่น ขอบคุณท่านประธานครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ผมไม่อยากให้ พาดพิง เดี๋ยวพาดพิงไปมาเดี๋ยวก็จะยาว ขออนุญาตเลยเพื่อความเรียบร้อย ขอสมาชิก ที่เข้ามาในห้องประชุมนี้กรุณากดบัตรแสดงตนเพื่อเราจะได้ตรวจสอบองค์ประชุมครบ หรือไม่ครับ

นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สุรินทร์ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เดี๋ยวผมไม่อนุญาต ขอให้ผมแจ้งองค์ประชุมก่อนครับ เดี๋ยวครูมานิตย์เดี๋ยวผมค่อยแจ้ง รู้ว่าจะใช้สิทธิพาดพิง

นางสาวประภา เฮงไพบูลย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

ท่านประธานคะ ๒๐๘ ประภา เฮงไพบูลย์ ค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญครับ

นายสุไลมาน บือแนปีแน ยะลา ต้นฉบับ

๔๕๐ สุไลมาน บือแนปีแน แสดงตนครับ

นางสาวผกามาศ เจริญพันธ์ สุรินทร์ ต้นฉบับ

๒๓๑ ผกามาศ เจริญพันธ์ ค่ะ

นายประดิษฐ์ สังขจาย พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

๒๐๖ ประดิษฐ์ แสดงตนครับ

นายสุรทิน พิจารณ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ กระผม สุรทิน พิจารณ์ ๔๔๒. แสดงตนครับ

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ๓๙๓ สมศักดิ์ เทพสุทิน แสดงตนครับ

นางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ตรัง ต้นฉบับ

ท่านประธานคะ สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ๔๒๕ แสดงตนค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

มีผู้แสดงตน เพิ่มเติมไหมครับ

นายนรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ

๑๘๐ นรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล แสดงตนครับ

นายสุทิน คลังแสง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผมสุทิน คลังแสง ๔๓๐ แสดงตนครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ตอนนี้องค์ประชุมครบแล้วเกินแล้ว แต่ว่าจะบันทึกสำหรับคนที่ขอโหวตแสดงตนแสดงว่า ได้เข้าประชุมแล้ว สำหรับคนที่ยังกดแสดงตนไม่ได้ก็เดี๋ยวแจ้งเลยครับ เดี๋ยวผมจะได้ ปิดการแสดงตน

นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สุรินทร์ ต้นฉบับ

ถ้าหมดแล้วผมขอใช้สิทธิพาดพิงครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เดี๋ยวสักครู่ครับ มีผู้ต้องการแสดงตนเพิ่มเติมไหมครับ

นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สุรินทร์ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ผม ครูมานิตย์ ขออนุญาตใช้สิทธิครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เดี๋ยวอีกนิดหนึ่ง ได้ ๆ เดี๋ยวขอจำนวนที่ชัดเจนจะมีผู้ที่แสดงตนที่แจ้งมาก็ไม่สามารถจะกดบัตรได้มีกี่ท่านครับ ตอนนี้ที่กดบัตรได้ ๔๐๒ ท่านก็เกินกว่าองค์ประชุมแล้วนะครับ เดี๋ยวขอเจ้าหน้าที่แจ้งครับ ในระหว่างที่รอแจ้งขอเชิญครูมานิตย์สั้น ๆ นะครับ พาดพิงครับ

นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สุรินทร์ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ผม ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดสุรินทร์ จริง ๆ ก็ไม่อยากให้เสียเวลาของสภาแห่งนี้หรอกครับ เพราะในสภานี้มีทั้งระเบียบในการประชุม มีวาระมีญัตติ แล้วชุดนี้ก็เป็นสภาชุดที่ ๒๖ ชุดที่ ๒๕ ผ่านไปแล้ว จริง ๆ ไม่ยากเลยนะครับ ถ้าพยายามทำความเข้าใจ แล้วเมื่อสักครู่นี้ก็มีน้อง ๆ เพื่อนสมาชิกด้วยกันพาดพิงมาถึงว่า พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลมันคนละเวลา มันคนละเหตุการณ์ วันนี้อย่าไปคิดว่า พรรคเพื่อไทยเขาไม่คิดทำอะไรหรอกครับ เมื่อวานผมประชุมพรรคอยากแจ้งด้วยว่า ท่านนายกรัฐมนตรีบอกว่าการประชุมไม่ช้าหรอกครับ ไม่เกิน ๒ สัปดาห์จะมาคุยกันเรื่องของ การแก้รัฐธรรมนูญที่พี่น้องประชาชนถกเถียงอยู่ แต่เรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน มันสำคัญกว่าการถกเถียงของสาธารณชนทั่วไป เรื่องปากท้องเป็นเรื่องใหญ่ เราเป็นผู้แทน ประเด็นหลักที่เราเข้ามานี้ผมมาดูแลเรื่องปากท้องประชาชนครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ เอาเรื่องที่พาดพิงครับ

นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สุรินทร์ ต้นฉบับ

ฉะนั้นผมอยากฝากท่านประธานนิดหนึ่ง ว่าไม่อยากให้หารือกันซ้ำซาก แล้วเมื่อสักครู่นี้ก็อยากจะบอกน้อง ๆ ว่าอย่ามาพาดพิงถึง พรรคเพื่อไทยเลย พรรคของท่านผู้เจริญท่านจะทำอะไรท่านก็ทำไปเถอะ ขอนิมนต์เถอะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

คุณครูมานิตย์ ขอความกรุณาอย่าไปพาดพิงเขาครับ

นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สุรินทร์ ต้นฉบับ

อย่ามายุ่งกับเขา ขอบพระคุณมากครับ ท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขณะนี้ได้มี ผู้มาแสดงตนทั้งหมด ๔๒๓ คน ครบองค์ประชุมแล้ว เชิญครับ

นายวิทยา แก้วภราดัย แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผม วิทยา ผมใช้สิทธิประท้วงมานานพอสมควร ไม่มีใครหันมาดูครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญครับ คุณวิทยา แก้วภราดัย

นายวิทยา แก้วภราดัย แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ผมขออนุญาตใช้สิทธิพาดพิง เมื่อสักครู่เพื่อนสมาชิกจากพรรคก้าวไกลระบุว่าพรรครวมไทยสร้างชาติ ท่านก็ได้มาหารือแล้ว แล้วก็ตกลงกันเรื่อง ๒ ญัตติ ซึ่งผมเข้าใจว่าอาจจะคลาดเคลื่อนในข้อเท็จจริง ผมได้รับทราบจากน้อง ๆ เพื่อนสมาชิกที่มาหารือนะครับ มาหารือผมตรงนี้บอกว่า มี ๒ ญัตติที่เขาอยากให้เลื่อนขึ้นมา ก็คือ ๑ ญัตติเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เรื่องพืชผลเกษตรกรรมทั้งหมดซึ่งอาจจะรวมกันพิจารณา ผมก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นไม่ขัดข้อง ความเดือดร้อนประชาชนเอามาเลย เขาก็บอกว่าขอพ่วงญัตติที่ ๒ ก็คือเรื่องของการที่จะทำ ประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมบอกว่าผมรับได้เรื่องเดียว ผมก็คนพูดตรง ๆ ครับ ถ้าเรื่องความเดือดร้อนพี่น้องประชาชนผมรับได้ เพราะฉะนั้นความเห็นพวกผมก็ไม่ขัดข้อง ถ้าจะเอาเรื่องความเดือดร้อนพี่น้องประชาชน แต่ถ้าเรื่องแก้รัฐธรรมนูญผมก็ถามกลับว่า ใครเดือดร้อนอยู่ แล้วผมไม่เห็นด้วยเด็ดขาดที่จะเล่นประชามติกันไปถามประชาชน แล้วไม่ถามเรื่องอื่นด้วย

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เรื่องพาดพิง พอแล้วครับ

นายวิทยา แก้วภราดัย แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ก็เรียนเพื่อทราบว่าไม่เคยมี การตกลงว่าจะเหล้าแล้วพ่วงเบียร์

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขณะนี้ได้มีผู้มาแสดงตน ๔๒๓ ถือว่าครบองค์ประชุม ขอปิดการแสดงตนครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไป ก็จะขอถามมตินะครับ ถ้าท่านผู้ใดเห็นว่าควรเปลี่ยนระเบียบวาระการประชุมท่านก็ กดปุ่ม เห็นด้วย ท่านผู้ใดไม่เห็นควรให้เปลี่ยนระเบียบวาระการประชุม คือให้เป็นไปตามระเบียบ วาระเดิมก็กดปุ่ม ไม่เห็นด้วย ท่านผู้ใดเห็นว่าควรงดออกเสียงก็กรุณา กดปุ่มงดออกเสียง มีท่านผู้ใดยังไม่เข้าใจวิธีกด คือถ้าท่านเห็นว่าควรจะเลื่อนก็ กดปุ่มเห็นด้วย ไม่ควรเลื่อน คือให้เป็นไปตามระเบียบวาระเดิม กดปุ่มไม่เห็นด้วย ท่านผู้ใดเห็นว่าควรงดออกเสียงก็ กดปุ่มงดออกเสียง เชิญลงมติได้

นางสาวประภา เฮงไพบูลย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

๒๐๘ ไม่เห็นชอบค่ะ

นายเฉลิมชัย กุลาเลิศ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๐๖๘ เห็นด้วยครับ

นายปริญญา ฤกษ์หร่าย กำแพงเพชร ต้นฉบับ

๒๒๐ ไม่เห็นด้วยครับ

นายสุไลมาน บือแนปีแน ยะลา ต้นฉบับ

๔๕๐ ไม่เห็นด้วยครับ

นายสุเทพ อู่อ้น แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ สุเทพ ๑๒๐ เห็นด้วยครับ

นางสาวผกามาศ เจริญพันธ์ สุรินทร์ ต้นฉบับ

๒๓๑ ผกามาศ เจริญพันธ์ ไม่เห็นด้วยค่ะ

นายนรเสฏฐ์ ศิริโรจนกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ๑๘๐ นรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล ไม่เห็นด้วยครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญครับ

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ๓๙๓ สมศักดิ์ เทพสุทิน ไม่เห็นด้วยครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

บอกหมายเลขด้วยก็ดีครับ เจ้าหน้าที่จะได้กาถูก เชิญครับ

นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ เท่าพิภพ ๑๕๕ เห็นด้วยครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญครับ ท่านสมาชิกท่านใดที่ยังไม่ได้ลงมติบ้างครับ ถ้าไม่มีปิดการลงคะแนนครับ ขอเชิญเจ้าหน้าที่ แสดงผลครับ มีผู้ลงมติ ๔๐๖ ท่าน เห็นด้วย ๑๔๓ ท่าน ไม่เห็นด้วย ๒๖๒ ท่านนะครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เพราะฉะนั้น มติให้ดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระครับ ขอบคุณท่านสมาชิกครับ ประเด็นนี้ผมขอ เติมนิดหน่อยเท่านั้น ผมเห็นด้วยนะครับว่าเราจะเลื่อนหรือไม่เลื่อนระเบียบวาระการประชุม แต่อยากจะให้มีการหารือ แต่ตอนนี้ผมก็เห็นใจว่ายังไม่ได้มี Whip เป็นทางการ เมื่อเรามี Whip เป็นทางการแล้วผมอยากให้สภาของเรานะครับ ทั้งฝ่ายค้านแล้วก็ฝ่ายรัฐบาลได้หารือ เราไม่ต้องเสียเวลาในที่ประชุมถ้าได้หารือตกลงกัน ก็จะเป็นประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชน เป็นประโยชน์ทุกฝ่าย อันนี้ผมขอยืนยันครับ แต่ถ้าเรายังไม่ได้ตกลงกันเสนอที่ประชุมก็ได้ เพราะว่าในที่สุดก็ต้องเอามติของสภา แต่เราอาจจะเสียเวลาแทนที่จะได้พิจารณาดำเนิน ต่อไป เรื่องที่ท่านเสนอไปทั้ง ๒ ฝ่ายก็เป็นประโยชน์มาก ถ้าเผื่อได้มีการหารือกัน แล้วตกลงกันได้สภาก็ได้ดำเนินการไปครับ ขอบคุณครับสมาชิกทุกท่าน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปผมก็ขอดำเนินการประชุมตามระเบียบ วาระต่อไปนะครับ เป็นระเบียบ วาระเพื่อทราบครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๒.๘ รับทราบรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านความรุนแรงในครอบครัว ตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้กระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอเชิญผู้ที่จะมาชี้แจงเข้ามาในห้องประชุมได้ครับ ขออนุญาตครับ ๑. คุณจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและครอบครัว ๒. คุณกุสุมา ก็เนื่องจากผมได้แจ้ง ไปในทุกครั้งแล้วในเรื่องรับทราบอาจจะมีการเลื่อนวาระที่ได้แจ้งไว้ เพราะเนื่องจาก การประสานงานของสภากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนะครับ เพื่อความสะดวกและความพร้อม ไม่ต้องมารอนาน เพราะฉะนั้นก็ขอนำเอาซึ่งอยู่ในระเบียบวาระแล้ว คือในวาระที่ ๒.๘ ไม่มี ผู้ใดขัดข้องก็ถือเป็นไปตามนี้นะครับ ก็ขอให้คุณจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรี ครอบครัว คุณกุสุมา พนอนุอุดมสุข ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสถาบันครอบครัว คุณกฤษฎี บุญสวยขวัญ นักพัฒนาสังคมชำนาญการพิเศษ คุณกรณรงค์ เหรียนระวี นักพัฒนาสังคม ชำนาญการพิเศษ คุณกมลรัตน์ พนาลิกุล นักพัฒนาสังคมปฏิบัติ ขออนุญาตเข้ามา ในห้องประชุมได้นะครับ ท่านผู้มาชี้แจงต้องการชี้ก่อน เชิญครับ

นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพอย่างสูง ดิฉัน นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ขอนำเรียนเกี่ยวกับรายงานข้อมูลสถานการณ์ ด้านความรุนแรงในครอบครัว สำหรับการรายงานตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติ คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ ประจำปี ๒๕๖๓ และประจำปี ๒๕๖๔ ดังนี้

นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ต้นฉบับ

ตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๗ กำหนดให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดทำรายงานประจำปี เสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเพื่อทราบปีละครั้ง ได้แก่ จำนวน การกระทำความรุนแรงในครอบครัว จำนวนคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ จำนวนการละเมิดคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ของพนักงานเจ้าหน้าที่ และศาล และจำนวนการยอมความ ในการนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในการจัดทำรายงานข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงดังกล่าวได้จัดทำรายงานข้อมูล สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว สำหรับการรายงานตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภามาแล้ว ๑๑ ฉบับ สำหรับการนำเสนอรายงานในครั้งนี้ ก็จะเป็นการรายงานนำเสนอข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวของปี ๒๕๖๓ และประจำปี ๒๕๖๔ ซึ่งเป็นฉบับที่ ๑๒ และฉบับที่ ๑๓ โดยมีเนื้อหาสาระอยู่ทั้งหมด ๓ ส่วนนะคะ

นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ต้นฉบับ

ส่วนแรก ก็จะเป็นข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กสตรีและบุคคล ในครอบครัวของปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ ซึ่งเราได้รวบรวมปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมด ๑๖ หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ศูนย์พึ่งได้ กรุงเทพมหานคร สำนักการแพทย์และสำนักอนามัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โรงพยาบาลตำรวจ สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สภาสังคมสงเคราะห์ แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ในพระบรมราชูปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ มูลนิธิปวีณาหงสกุล เพื่อเด็กและสตรี มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิศูนย์พิทักษ์เด็ก มูลนิธิเพื่อนหญิง สำนักงาน ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม ๑๓๐๐ บ้านพักเด็กและครอบครัวของกรมกิจการเด็กและเยาวชน และข้อมูลของ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว แม้ว่าข้อมูลจะมาจากหลายแหล่ง การจัดเก็บก็ตาม ภารกิจของแต่ละหน่วยงาน อาจจะมีความแตกต่างกันบ้างขึ้นอยู่กับฐานข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย ระยะเวลาในการจัดเก็บ และปัจจัยอื่น ๆ แต่ก็แสดงให้เห็นแนวโน้มสถานการณ์ความรุนแรง ในครอบครัวในแต่ละปี ในโอกาสนี้ดิฉันใคร่ขอนำเสนอข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรง ในครอบครัวจาก ๒ หน่วยงานหลัก ได้แก่ หน่วยงานที่ ๑ เป็นข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ในปี ๒๕๖๓ มีผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวที่เข้ารับบริการที่ศูนย์พึ่งได้ ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ๕๖๖ แห่ง จำนวน ๑๖,๖๗๖ ราย เฉลี่ย ๔๖ รายต่อวัน โดยผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงส่วนใหญ่จะเป็นเพศหญิง ๑๕,๐๙๐ ราย ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ก็คือ ๙๐.๔๙ เปอร์เซ็นต์ รองลงมาเป็นเพศชาย ๑,๕๗๕ ราย คิดเป็น ๙.๔๔ เปอร์เซ็นต์ ของเพศทางเลือก ๑๑ ราย คิดเป็น ๐.๐๗ เปอร์เซ็นต์ โดยผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรง มากที่สุดจะอยู่ในช่วงอายุระหว่าง ๑๐ ปี และไม่เกิน ๒๐ ปี ร้อยละ ๓๓ เหตุปัจจัยของ การกระทำความรุนแรงมากที่สุดก็เรื่องเกี่ยวกับสัมพันธภาพในครอบครัว ร้อยละ ๓๖.๙๐ แล้วก็ประเภทความรุนแรงมากที่สุดก็คือความรุนแรงทางร่างกาย ส่วนในปี ๒๕๖๔ มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงที่มาเข้ารับบริการที่ศูนย์พึ่งได้ของกระทรวงสาธารณสุข จำนวน ๑๖,๖๗๒ ราย เฉลี่ย ๔๖ รายต่อวัน โดยผู้ถูกกระทำความรุนแรงก็เป็นเพศหญิง จำนวน ๑๕,๐๕๖ ราย คิดเป็น ๙๐.๓๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็มีเพศชาย ๑,๖๐๕ ราย คิดเป็น ๙.๖๓ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็เป็นเพศทางเลือก ๑๑ ราย ๐.๖๐๗ เปอร์เซ็นต์ โดยลำดับ ผู้ถูกกระทำความรุนแรงก็เช่นเดียวกับปี ๒๕๖๓ คือในส่วนของอายุ ๑๐ ปี ไม่เกิน ๒๐ ปี ร้อยละ ๓๒ ส่วนสาเหตุการทำรุนแรงก็เรื่องของ ปัจจัยในครอบครัว สัมพันธภาพในครอบครัว คิดเป็นร้อยละ ๓๖ ประเภทความรุนแรง ก็ทางร่างกาย ๖๐.๓๓ เปอร์เซ็นต์ ข้อมูลอีกส่วนหนึ่งก็คือข้อมูลของกรมกิจการสตรี และสถาบันครอบครัว ซึ่งเราเก็บจากศูนย์ปฏิบัติการป้องกันการกระทำความรุนแรง ในครอบครัว ซึ่งอยู่ ๗๖ จังหวัด แล้วก็ในกรุงเทพมหานครด้วย โดยในปี ๒๕๖๓ มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ๑,๗๓๒ ราย ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้หญิง ถ้าคิดเป็น เปอร์เซ็นต์ก็ ๘๐.๓๗ เปอร์เซ็นต์เป็นเพศชาย ๑๗.๑๕ เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ระบุเพศ ๒.๔๘ เปอร์เซ็นต์ ส่วนสาเหตุมากที่สุดของการกระทำส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการหึงหวงกัน นอกใจ คิดเป็น ๔๓.๕๐ เปอร์เซ็นต์ โดยสัมพันธภาพสำหรับคนที่ถูกกระทำกับคนกระทำ มากที่สุดคือในเรื่องของสามีภรรยาถึง ๕๔.๔๒ เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้กระทำส่วนใหญ่ก็จะเป็น เพศชายอยู่ใน ๘๒ เปอร์เซ็นต์

นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ต้นฉบับ

สำหรับในปี ๒๕๖๔ มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงทั้งสิ้น ๒,๐๖๕ ราย ส่วนใหญ่ ก็เป็นเพศหญิง จำนวน ๑,๖๒๔ ราย คิดเป็น ๗๘.๖๔ รองลงมาพวกผู้ชาย จำนวน ๓๘๒ ราย คิดเป็น ๑๘.๕๐ เปอร์เซ็นต์ และไม่ได้ระบุเพศอีก ๕๙ ราย คิดเป็น ๒.๘๖ โดยผู้ที่ถูกกระทำ ความรุนแรงมากที่สุดก็เป็นผู้หญิง แล้วก็ผู้ที่กระทำก็เป็นผู้ชาย ๙๑ เปอร์เซ็นต์ สาเหตุ ปัจจัย อันดับ ๑ ก็เป็นเรื่องของสุรา ยาเสพติด ถึงร้อยละ ๔๓.๙๘ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็สัมพันธภาพ ที่ผู้ถูกกระทำความรุนแรงส่วนใหญ่ก็เป็นสามี ภรรยากันอยู่ประมาณ ๕๒.๘๗ เปอร์เซ็นต์ อันนี้คือข้อมูลของปี ๒๕๖๓ กับปี ๒๕๖๔ ทั้งนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เราได้ดำเนินการช่วยเหลือเบื้องต้น ผู้ถูกกระทำความรุนแรงตั้งแต่การรับแจ้งเหตุ การระงับเหตุ การสอบข้อเท็จจริง การให้ความช่วยเหลือ การจัดพบแพทย์ หรือนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ แล้วก็จัดในเรื่องของคุ้มครองให้อยู่ใน ที่ปลอดภัย แล้วก็ในเรื่องของการรักษาพยาบาลเราก็จัดให้ร้องทุกข์ ถ้ามีความต้องการ ร้องทุกข์ แล้วก็การคุ้มครองสวัสดิภาพ อันนี้การดำเนินการของกระทรวง

นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ต้นฉบับ

ส่วนรายงานข้อมูลส่วนที่ ๒ ก็จะเป็นรายงานข้อมูลความรุนแรงในครอบครัว ตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ๒๕๕๐ ก็ได้แก่จำนวนคดีความรุนแรงในครอบครัว จำนวนคำสั่งกำหนดมาตรการ เพื่อบรรเทาทุกข์ จำนวนการละเมิดคำสั่งกำหนดมาตรการ หรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ของ พนักงานเจ้าหน้าที่และศาล และจำนวนการยอมความ โดยข้อมูลที่ได้เรารวบรวมจาก หน่วยงานของกระบวนการยุติธรรม ๓ หน่วย ได้แก่ หน่วยที่ ๑ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีจำนวนคดีการกระทำความรุนแรงในครอบครัว ปี ๒๕๖๓ จำนวน ๒๒๓ คดี มีการร้องทุกข์ ๑๘๕ คดี แล้วก็ไม่ร้องทุกข์ ๓๘ คดี โดยมีการออกคำสั่ง มาตรการ หรือวิธีการบรรเทาทุกข์ ๗ คำสั่ง และมีการยอมความในชั้นสอบสวน ๔๐ คำสั่ง สำหรับปี ๒๕๖๔ มีจำนวนคดีความ รุนแรงในครอบครัว ๘๕ คดี ร้องทุกข์ ๘๔ คดี คิดเป็น ๙๘.๘๒ เปอร์เซ็นต์ ไม่ร้องทุกข์ ๑ คดี แล้วก็มีการออกคำสั่งมาตรการ ๕ คำสั่ง มีการยอมความในชั้นสอบสวน ๑ คำสั่ง ของหน่วยงานที่ ๒ ของกระบวนการยุติธรรมคือ สำนักงานอัยการสูงสุด แสดงจำนวนคดี ตามพระราชบัญญัติเข้าสู่กระบวนการชั้นพนักงานอัยการ ในปี ๒๕๖๓ จำนวน ๑๖๕ คดี ในจำนวนดังกล่าวแบ่งฟ้อง สั่งฟ้อง ๑๕๗ เรื่อง แล้วก็ไม่ฟ้อง ๔ เรื่อง มีการยอมความ ๔ เรื่อง แล้วก็ใช้มาตรการตามสิทธิ ก็คือมาตรการในการคุ้มครอง ๑๓ เรื่อง สำหรับ ปี ๒๕๖๔ มีการแสดงจำนวนของชั้นพนักงานอัยการ ๓๑๔ คดี สั่งฟ้อง ๒๘๒ เรื่อง คิดเป็น ๘๙.๘๑ เปอร์เซ็นต์ ไม่ฟ้อง ๓ เรื่อง ยุติในการดำเนินการในพนักงานอัยการ ๒๓ คดี แล้วก็ใช้ มาตรการสิทธิเพื่อคุ้มครองอยู่ ๖ เรื่อง ส่วนหน่วยงานสุดท้ายของกระบวนการยุติธรรม ที่ในรายงานฉบับนี้ก็จะเป็นสำนักงานศาลยุติธรรม มีคดีฟ้องศาลโดยตรงในปี ๒๕๖๓ จำนวน ๕๓ คดี ศาลยุติธรรมได้มีคำสั่งมาตรการวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ตามมาตรา ๑๐ จำนวน ๑ คำสั่ง สำหรับปี ๒๕๖๔ มีคดีฟ้องโดยตรงจำนวน ๑๖๘ คดี และศาลยุติธรรม ไม่มีคำสั่งในเรื่องกำหนดมาตรการ ตามมาตรา ๑๐ ส่วนที่ ๓ ส่วนสุดท้ายของรายงานนะคะ ก็จะเป็นบทวิเคราะห์ข้อเสนอแนะและมาตรการในเชิงป้องกันแก้ไขปัญหาความรุนแรง ในครอบครัว และแนวทางในการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติดังกล่าวนะคะ ซึ่งเราก็ได้ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง พัฒนาปรับปรุงมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๔ และจนถึงปัจจุบัน เราดำเนินการต่าง ๆ ดังนี้

นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ เรื่องของการเสริมสร้างกลไกเครือข่ายในการดำเนินงานป้องกัน และแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการป้องกัน และแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวระดับชาติ มีการจัดทำบันทึกความร่วมมือ MOU กับหน่วยงานที่ดำเนินการเรื่องของความรุนแรง ๒๗ หน่วย เป็นหน่วยงานภาครัฐ ๑๖ หน่วย องค์กรเอกชน ๑๑ หน่วย มีการแต่งตั้งคณะทำงานบูรณาการแก้ไขปัญหาความรุนแรง มีการเสริมสร้างกลไกในระดับท้องถิ่น คือศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน เพื่อเป็นกลไก ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว มีทั้งหมด ๗,๑๔๙ แห่ง

นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ต้นฉบับ

ส่วนมาตรการที่ ๒ ในเรื่องของการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ ขณะนี้เรามีพนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในเรื่องของความรุนแรงในครอบครัว ๑,๓๐๘ คน เราก็มีการพัฒนาบุคลากรของเราอย่างต่อเนื่อง มีการอบรมให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ก็มีการอบรมให้ความรู้ในเรื่องของความรุนแรงแก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชุดรักษาความปลอดภัย ชรบ. อพม. อาสาสมัครต่าง ๆ แล้วก็ พมจ. ทั่วประเทศ อันนี้เพื่อให้ ในเรื่องของพัฒนาศักยภาพนะคะ

นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ต้นฉบับ

ส่วนที่ ๓ เป็นการปรับปรุงกระบวนงานในเรื่องของความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งมี ๕ ขั้นตอน เรื่องของการรับแจ้งเหตุเรากำหนดขั้นตอนทันทีนะคะ ต้องรับแจ้งเหตุ ก็ต้องออกไประงับเหตุ ไปสอบสวนทันที ขั้นตอนที่ ๒ รับแจ้งเหตุ แล้วก็การช่วยเหลือนะคะ ประสานส่งต่ออย่างรวดเร็ว แล้วก็มีการร้องทุกข์ และการติดตามประเมินผล โดยเฉพาะเรื่อง ของความรุนแรงให้มีการติดตาม ๑ ปี

นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ต้นฉบับ

แล้วก็ประเด็นที่ ๔ ก็คือเรื่องของการปรับปรุงกฎหมาย มีการมอบอำนาจให้ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ให้ออกคำสั่งในมาตรการบรรเทาทุกข์ ก็มีนายอำเภอ ปลัด หัวหน้าประจำ กิ่งอำเภอ เจ้าหน้าที่ หัวหน้าสถานีตำรวจ และพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด แล้วก็ ผู้อำนวยการส่งเสริมสถาบันครอบครัวในส่วนกลางก็สามารถที่จะออกมาตรการ ในเรื่องของการบรรเทาทุกข์ได้ แล้วก็มีการปรับปรุงกฎหมายพระราชบัญญัติความรุนแรง ในครอบครัว

นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ต้นฉบับ

ส่วนประเด็นสุดท้ายที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ก็คือการพัฒนา สร้างทัศนคติความรู้และความเข้าใจเรื่องของความรุนแรง มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ จัดกิจกรรมรณรงค์ทั่วประเทศ ไม่นิ่งเฉย ไม่ทน ไม่ยอมรับกับการกระทำความรุนแรง มีสื่อ ต่าง ๆ เผยแพร่ทางช่องทางต่าง ๆ แล้วเราก็มี Platform FAMILY LINE หรือเพื่อนครอบครัว เป็นช่องทางที่ให้ความรู้ในเรื่องของประเด็นครอบครัว แล้วก็มีห้องให้คำแนะนำปรึกษา ๑๐ ห้อง โดยผู้เชี่ยวชาญ ประเด็นที่ส่วนใหญ่คนมาปรึกษาก็เป็น ๑ ใน ๓ ก็คือเรื่องของ ความรุนแรงในครอบครัว ก็มีคนเข้ามาขอคำแนะนำปรึกษาเราก็มีบริการ นอกจากนี้นะคะ เราก็มีการพัฒนาในเรื่องของการแจ้งเหตุสายด่วน ๑๓๐๐ แล้วนี่เราก็มีปักหมุดหยุดเหตุ หรือ ESS ซึ่งเป็น Application ที่สามารถที่จะช่วยเหลือแล้วก็แจ้งเหตุนะคะ ร่วมมือกับ สถานีตำรวจก็เข้าไปถึงที่เกิดเหตุก็สามารถช่วยเหลือ แล้วก็ป้องกันในเรื่องของความรุนแรง แล้วก็ส่งเสริมให้ประชาชนได้ทำความเข้าใจในเรื่องของความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่อง ของครอบครัวนะคะเป็นเรื่องของสังคม คนที่พบเห็นเหตุการณ์สามารถแจ้งได้นะคะ อันนี้ ก็คือสรุปรายงานฉบับที่ ๑๒ และฉบับที่ ๑๓ ตอนนี้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พร้อมน้อมรับข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของท่านประธานและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ทรงเกียรติทุกท่านนะคะ เพื่อเราจะได้นำไปปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล แล้วก็เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ขอกราบขอบพระคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบพระคุณท่านอธิบดีนะครับ สมาชิก กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ ตอนนี้มีผู้ลงชื่อ เพื่ออภิปราย ๓๓ ท่าน นะครับ เมื่อมีผู้อภิปรายท่านแรกจบแล้วผมจะขอปิดการลงชื่อ เพื่ออภิปรายนะครับ ขอเชิญท่านแรกครับ ท่านรำพูล ตันติวณิชชานนท์ ครับ

นางรำพูล ตันติวณิชชานนท์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางรำพูล ตันติวณิชชานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคไทยสร้างไทย เขต ๙ มีอำเภอนาจะหลวย อำเภอบุณฑริก และอำเภอสิรินธร เฉพาะตำบลโนนก่อ จังหวัดอุบลราชธานี ดิฉันขออภิปรายวาระรับทราบรายงานข้อมูลสถานการณ์ ด้านความรุนแรงในครอบครัวตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำ ด้วยความรุนแรงในครอบครัว พุทธศักราช ๒๕๕๐ ประจำปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ ดิฉัน เห็นว่าสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวของคนไทยในปัจจุบัน เป็นเรื่องที่ใหญ่มากนะคะ เพราะว่ามีระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ไม่เพียงแค่ทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บ แต่ได้นำไปสู่ความสูญเสียถึงแก่ชีวิตนะคะ ท่านประธานที่เคารพ อย่างกรณีล่าสุดเพิ่งเกิดขึ้น สด ๆ ร้อน ๆ เกิดเหตุโศกนาฏกรรมที่จังหวัดสมุทรปราการ เป็นคดีที่สามีใช้อาวุธฆ่าภรรยา ของตนเอง และบุตรชายอีก ๒ คน รวมเป็น ๓ ศพ ซึ่งถือว่าเป็นเหตุอันเศร้าสลดที่เราได้รับ ข่าวนะคะ ดิฉันก็ขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้สูญเสียในเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วยนะคะ จากสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวของประเทศไทย ถ้าดูจากสถิติของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่ท่านผู้ชี้แจงรายงานมานะคะ จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ความรุนแรงของ ครอบครัวมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี เฉพาะปี ๒๕๖๔ ที่ปรากฏในรายงานนะคะ ก็ขอชื่นชม ที่ทำข้อมูลได้รายละเอียดและชัดเจนนะคะ จากการรายงานข้อมูลสถานการณ์ ด้านความรุนแรงในครอบครัวที่ปรากฏในรายงาน มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงมากขึ้นถึง ๑๖,๐๐๐ กว่าราย หรือคิดเฉลี่ย ๔๖ รายต่อวัน คิดว่าเป็นสถิติที่สูง แต่ที่จริงน่าจะมี มากกว่านี้นะคะ เพราะว่าชาวบ้านเวลาเกิดเหตุในครอบครัวจะไม่กล้าไปแจ้งความ จะไม่กล้า บอกใคร ก็จะเก็บเงียบไว้น่าจะมากกว่านี้นะคะ ถือว่าชาวบ้านขาดที่ปรึกษาหารือ ขาดที่พึ่ง จากหน่วยงานของรัฐนะคะ ผู้ถูกกระทำรุนแรงมากที่สุดส่วนมากจะเป็นเพศหญิงนะคะ เป็นสตรี สาเหตุที่สำคัญที่ก่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวมากที่สุด ส่วนมากก็จะเกิดจาก เมาสุรา ยาเสพติด ความหึงหวงที่เกิดขึ้นมา รองลงมาก็จะเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ การว่างงาน ไม่มีรายได้ ครอบครัวยากจน เป็นหนี้เป็นสิน อย่างกรณีการโศกนาฏกรรม ที่จังหวัดสมุทรปราการนะคะ เป็นหนี้เป็นสิน และปัญหาสุขภาพจิต สุขภาพกายที่มาจาก การเจ็บป่วยเรื้อรัง เกิดความเครียด ดิฉันขอกราบเรียนท่านประธานสภาว่าการแก้ปัญหา ความรุนแรงในครอบครัว ไม่ใช่เพียงแค่ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ และผู้กระทำผิด หรือจัดรณรงค์ อบรม สร้างทัศนคติความรู้ความเข้าใจเพื่อยุติความรุนแรง ต่อเด็กและสตรี บุคคลในครอบครัว แต่จะต้องระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานลงมือ แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุโดยเร็ว โดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจซึ่งขณะนี้เป็นปัญหาเรื้อรัง ของประเทศ ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากเศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลไม่มีแผนกระตุ้น เศรษฐกิจให้เฟื่องฟูอย่างต่อเนื่องนำไปสู่ปัญหาประชาชนมีรายได้ลดลง แต่รายจ่ายกลับ พุ่งขึ้นสวนทางกันนะคะ เวลานี้ประชาชนทั่วประเทศเดือดร้อนจากสินค้าทุกชนิดมีราคาแพง ค่าไฟแพง น้ำมันแพง ก๊าซหุงต้มแพง พี่น้องเกษตรกรของดิฉันก็ซื้อปุ๋ยแพงค่ะ แต่ข้าวราดแกงก็ยังแพงขึ้นราคาตลอดค่ะ เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำประชาชนไม่มีรายได้เพียงพอ ต่อการเลี้ยงชีพ ปัญหาสังคม ความรุนแรงในครอบครัวก็ตามมา

นางรำพูล ตันติวณิชชานนท์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ

อีกประเด็นหนึ่ง ดิฉันขอนำเรียนต่อท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้เร่งปราบปรามยาเสพติดที่กำลังแพร่ระบาดไปทุกหย่อมหญ้าในหมู่บ้าน ในชุมชน เดี๋ยวนี้ระบาดเข้าไปในโรงเรียนนะคะ เด็กนักเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนอยู่ตามชายแดน ซึ่งดิฉันมาจากชายแดนนะคะ มีการขายยาเสพติดในโรงเรียน อันนี้ก็คือเรื่องที่น่ากลัวมาก ยาเสพติดเป็นหนึ่งในสาเหตุหลัก ซึ่งเกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ถ้ายัง ปราบไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด สถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรง ในครอบครัวจะมีสถิติเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ถ้าชาวบ้านมีบำนาญประชาชนมาช่วยจุนเจือแบ่งเบา ภาระในครอบครัว เดือนละ ๓,๐๐๐ บาท ก็น่าจะช่วยลดปัญหานี้ลงได้นะคะ

นางรำพูล ตันติวณิชชานนท์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ

สุดท้าย มีเรื่องฝากจากอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อพม. ฝากถึงท่านประธานสภา ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อพม. ก็คือประชาชนที่มีจิตอาสา อยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว เป็นผู้รู้ เข้าใจปัญหาสังคมในพื้นที่เป็นอย่างดี ช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย ตามบทบาทและภารกิจของ พม. คือเด็ก เยาวชน สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ และคนไร้ที่พึ่ง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ขาดบุคลากรตั้งแต่ระดับอำเภอ ตำบล ตอนนี้ในหมู่บ้านมีแล้ว แต่ขาดการเชื่อมต่อระหว่างตำบลไปหาอำเภอ จังหวัดก็มีแล้ว เพราะฉะนั้นทาง อมพ. อยากให้ทางเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบให้มี พม. ประจำอำเภอและตำบล เพื่อจะเชื่อมต่อเรื่องงาน นอกจากนี้ทาง อพม. ขออยู่ ๒ เรื่องฝากดิฉันมาว่าเขาทำงานตลอด แต่ไม่มีค่าตอบแทน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ อพม. ซึ่งทำหน้าที่อยู่ในหมู่บ้านต่าง ๆ ขอ ๑. ต้องการเจ้าหน้าที่ระดับอำเภอและระดับตำบล ๒. ขอค่าตอบแทนให้ อพม. เพื่อจะให้เขามีขวัญกำลังใจได้ทำงานในจิตอาสาเช่นเดียวกับ อสม. อันนี้ดิฉันก็ขอฝาก ท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอกราบขอบพระคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านร่มธรรม ขำนุรักษ์ ครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขออภิปรายให้ความเห็นในวาระรับทราบรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านความรุนแรง ในครอบครัวประจำปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ ท่านประธานครับ บ้านและครอบครัว เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดที่ควรมีทั้งความปลอดภัย มีความรัก มีความเข้าใจ ผมคิดว่าสถาบัน ครอบครัวมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาบุคคลและพัฒนาประเทศ แต่ปัจจุบัน กลับพบว่ายังมีความรุนแรงในเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวที่สูง ทั้งการทำร้าย ร่างกาย จิตใจ และทางเพศ ซึ่งมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้งบนหน้าข่าวต่าง ๆ โดยเป็นเรื่องที่ น่าเศร้าใจและไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่ง โดยจากรายงานนี้พบว่าผู้ถูกกระทำความรุนแรง มากที่สุดส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านความเข้าใจและการเคารพ ทางเพศ นอกจากนี้ครับ ช่วงอายุที่ถูกกระทำความรุนแรงมากที่สุดคือเด็กและเยาวชน ซึ่งสิ่งนี้อาจสร้างปมในจิตใจ และในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเด็ก อาจสร้าง พฤติกรรมเลียนแบบและส่งผลกระทบต่อสังคมต่อไปได้ และจากรายงานนี้ยังพบอีกว่า ความรุนแรงเกิดมากที่สุดระหว่างสามีภรรยา ระหว่างบิดามารดากระทำต่อบุตร และปู่ย่าตายายกระทำกับหลาน สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อความรุนแรงในครอบครัว ก็มีหลากหลายด้าน และสะท้อนปัญหาที่สั่งสมในประเทศนี้ ซึ่งสาเหตุมากที่สุดคือเมาสุรา และยาเสพติด รองลงมาคือสุขภาพกายและสุขภาพจิต และนอกใจ หึงหวง อีกทั้งยังมีปัจจัย อื่น ๆ เช่น สภาพแวดล้อมและปัญหาทางเศรษฐกิจ ดังนั้นครับท่านประธาน การแก้ไขปัญหา เรื่องนี้จึงจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาอื่น ๆ ไปพร้อม ๆ กัน และต้องมีหลายภาคส่วน หลายหน่วยงาน ที่ต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตามครับท่านประธาน ปัญหา ความรุนแรงในครอบครัวมีความละเอียดซับซ้อน เกี่ยวข้องกับบุคคลที่ใกล้ชิดกัน เกี่ยวกับ ความรัก เกี่ยวกับอารมณ์ ความอดทน เกี่ยวกับการแสดงออก และเป็นการกระทำกับคนที่ ใกล้ชิด ผมคิดว่าเราจึงต้องเข้าใจและคำนึงถึงประเด็นนี้ให้ดีครับว่าต้องแก้ไขด้วยความเข้าใจ ทั้งฝ่ายผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ จึงจะออกมาเป็นมาตรการได้ ผมจึงคิดว่า พ.ร.บ. คุ้มครอง ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวมีเป้าหมายที่ดีที่จะแก้ไขปัญหานี้โดยการคุ้มครอง ผู้ถูกกระทำ และเน้นการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด ไม่มุ่งเน้นจะลงโทษผู้กระทำผิด เพียงอย่างเดียว ซึ่งผมมองว่าสิ่งสำคัญคือต้องไม่ตีตราผู้กระทำผิดครับ แต่ต้องเปิดช่อง และเปิดโอกาสให้คนเหล่านั้นได้กลับตัวเพื่อไปรักษาความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว เพื่อสร้างสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็งต่อไปได้ครับท่านประธาน ผมขอขอบคุณ ทางกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ และเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่ได้ดำเนินการจัดทำรายงานนี้ เพื่อให้เรา ได้เห็นสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวในประเทศของเรา พร้อมกับดำเนินการด้วยวิธี ต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหา ท่านประธานครับ จากรายงานนี้ผมจึงมีข้อเสนอแนะ และข้อสนับสนุนผ่านท่านประธานไปยังผู้ชี้แจ้ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการต่อไป ดังนี้

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๑. ด้านการวางแผนคู่รักและครอบครัวนะครับ ผมคิดว่าการแก้ไขปัญหา ความรุนแรงในครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวต้องเริ่มต้นจากการให้ คำแนะนำและความรู้เกี่ยวกับการเตรียมตัววางแผนครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการเตรียม ความพร้อมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สภาพสังคม ให้ความรู้ในวิธีการเลี้ยงดูบุตรหลาน ที่เหมาะสม ให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการป้องกันความรุนแรง การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ในครอบครัว และที่พึ่งช่วยเหลือเมื่อเกิดความรุนแรงขึ้น

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๒. ด้านการสร้างทักษะ ทัศนคติ และความรู้นะครับ ผมขอให้ผลักดัน และส่งเสริมประชาชนให้มีความรู้ ความเคารพและความเข้าใจในความหลากหลายครับ ทั้งความหลากหลายทางเพศ ศาสนา รูปร่าง ลักษณะ ความหลากหลายทางความคิด และวัฒนธรรมเป็นต้น ไปจนถึงควรจะส่งเสริมทักษะการไม่ตัดสิน และการจัดการ ทางอารมณ์ซึ่งควรเน้นไปที่โรงเรียน สถานศึกษา และสื่อต่าง ๆ เป็นหลักครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๓. ท่านประธานครับ ด้านสวัสดิการครอบครัว เด็ก สตรี และเยาวชน ขอให้ มีการสนับสนุนสวัสดิการที่เหมาะสม โดยเฉพาะสวัสดิการสำหรับครอบครัว เด็ก สตรี และเยาวชนที่อยู่ในกลุ่มเปราะบาง ยากจนเพื่อที่จะสร้างความมั่นคงในครอบครัว

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๔. ด้านการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวนะครับ ขอให้มีการทำงาน ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ ประชาสัมพันธ์ช่องทางหน่วยงานกลางที่ประชาชนสามารถปรึกษา เรื่องปัญหาในครอบครัวอย่างทั่วถึง ทั้งการแจ้งเหตุ การคุ้มครอง การบำบัด ฟื้นฟู และเยียวยาเหยื่อผู้ถูกกระทำผิดอย่างจริงจัง พร้อมกับการบำบัดผู้กระทำความรุนแรง อย่างไม่ตีตราเพื่อสร้างโอกาสที่ครอบครัวเหล่านั้นจะกลับมาเข้มแข็งได้ต่อไปอีกครั้งครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๕. ด้านการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีนะครับ ผมขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เน้นย้ำถึงเรื่องการสร้างสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัย โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนและให้ ความสำคัญกับการมีพื้นที่และกิจกรรมสาธารณะที่ให้ผู้คนและครอบครัวได้มามีส่วนร่วม และมาใช้ประโยชน์ด้วยกันนะครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๖. ด้านปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงอื่น ๆ นะครับ ผมขอให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งแก้ไขปัญหาด้านยาเสพติด และด้านปัญหาเศรษฐกิจ เพื่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนที่ดีขึ้นต่อไป และที่สำคัญมากครับคือพื้นที่สื่อควรมี การควบคุมและกำชับการนำเสนอเนื้อหาที่มีความรุนแรงทุกรูปแบบ ทั้งในข่าวหรือในละคร เพื่อไม่ให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบและมองว่าเรื่องนี้คือเรื่องปกติของสังคมครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้ครับท่านประธาน ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและครอบครัว เป็นปัญหาที่ใหญ่ที่รัฐบาลไม่ควรมองข้าม ผมขอเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่กรมกิจการสตรี และสถาบันครอบครัว กระทรวง พม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกท่านในการสร้างบ้าน และสร้างครอบครัวที่ปลอดภัยและมีความสุขเพื่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนเพื่อสังคม ที่ดีและประเทศที่เข้มแข็งต่อไป ผมขอเป็นกำลังใจให้ผู้ที่เคยถูกกระทำความรุนแรง ในทุกรูปแบบและผู้ที่กำลังอยู่ในสถานการณ์อันเลวร้าย และขอให้ท่านส่งเสียงออกมาครับ อย่าเก็บไว้ให้ท่านปรึกษา พูดคุยกับคนที่ท่านพึ่งได้และปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะไม่มีใครควรถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ และความรุนแรงไม่ใช่ทางออกของปัญหา ขอบคุณครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านสิริลภัส กองตระการ ครับ

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธาน ที่เคารพค่ะ ดิฉัน สิริลภัส กองตระการ นะคะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต กรุงเทพมหานคร บางกะปิ วังทองหลาง แขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ จากพรรคก้าวไกล วันนี้ขออนุญาตมีส่วนร่วมในการอภิปรายเรื่องของรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้าน ความรุนแรงนะคะ จากที่เพื่อนสมาชิกหลาย ๆ ท่านได้อภิปรายไปแล้วว่าเกณฑ์ของ ความรุนแรงผู้ถูกกระทำก็คือ มีจำนวนของสตรีมากมากกว่าเพศอื่น ๆ อีกหลายเท่าเลยนะคะ จากสถิติ ขออนุญาตขอ Slide ด้วยค่ะ

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ตั้งแต่ปี ๒๕๖๒-๒๕๖๔ ผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงที่เป็นเพศหญิงมีมากกว่าเพศชาย เรียงลำดับกันไปเลย ๑๑.๔ เท่า ๙.๕ เท่า แล้วก็ ๙.๓ เท่าตามลำดับ นี่ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก ๆ เลยนะคะ แต่ว่าประเด็นที่ ดิฉันอยากจะนำเสนออีก ๑ ประเด็นที่แตกต่างกันออกไปเนื่องจากการถูกกระทำ ความรุนแรงทางด้านร่างกายแล้วมันยังมีอีกกรณีหนึ่งซึ่งเป็นกรณีถูกคุกคามในลักษณะของ การสะกดรอย ติดตาม หรือว่าการทำให้บุคคลนั้นรู้สึกว่าถูกคุกคาม รู้สึกไม่ปลอดภัย ในกรณีนี้เราถือว่าเป็นความรุนแรงได้หรือไม่ เพราะว่าในความเป็นจริงแล้วความรุนแรง ไม่ควรจะเหมารวมเฉพาะการทำร้ายร่างกายอย่างเดียว แต่ว่าควรรวมไปถึงการทำร้ายจิตใจด้วย ถ้าเกิดว่าในรายงานครั้งถัดไปอยากจะฝากทางท่านประธานไปยังผู้ชี้แจงว่าจะสามารถบรรจุ ข้อมูลกรณีคนที่ถูกคุกคามหรือว่าการสะกดรอย หรือการสร้างความไม่สบายใจที่ถือว่า เป็นความรุนแรงทางจิตใจเข้าไปไว้ในรายงานได้หรือไม่ เพราะว่าตอนนี้ดิฉันเห็นในรายงาน ทั้ง ๒ เล่มก็ยังไม่ได้เห็น ซึ่งในปัจจุบันก็มีผู้เสียหายหลายกรณีเลยเมื่อเขาโดนคุกคาม หรือว่าสะกดรอยแบบนี้บางทีไปแจ้งตำรวจก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการต่อไปได้เพราะให้ เหตุผลเนื่องจากว่าถือว่าเหตุยังไม่เกิด ถ้าท่านบรรจุเรื่องนี้เข้ามาในรายงาน ดิฉันก็เชื่อได้เลย ว่าจะมีตัวเลขที่น่าตกใจมาก ๆ แล้วก็น่าจะเป็นการกระตุ้นให้หน่วยงานรีบหาทางป้องกัน เรื่องของกรณีการถูกสะกดรอยหรือว่าคุกคาม

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ต่อไปดิฉันจะขอยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทย อย่างเช่นมี Net Idol ที่ถูกคุกคามจากคนคนเดียวกันเลยแล้วโดนซ้ำ ๆ แบบนี้จนทำให้เขารู้สึกไม่ปลอดภัย หรือใน Slide ถัดไปนี้เกิดขึ้นแบบใกล้ตัวมากก็คือเกิดขึ้นกับดิฉันเองค่ะ เป็นการถูกตามเข้าไปในห้องน้ำ โดยที่อาจจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐอันนี้ขออนุญาตไม่ฟันธง นี่คือกรณีที่เกิดขึ้นกับตัวดิฉันเองเลย เมื่อปี ๒๕๖๔ ซึ่งแจ้งความแล้วก็บอกว่าเหตุยังไม่เกิดไม่สามารถแจ้งความแบบกระทำอนาจารได้ เพราะว่ายังไม่มีหลักฐานอะไร แล้วดิฉันเชื่อเลยว่าตั้งแต่ปี ๒๕๖๔ เรื่อยมาจนถึงตอนนี้ จะมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ เพียงแต่ว่ายังไม่เป็นข่าว เพราะว่าไม่ได้เป็นคนที่อยู่ในแสง หรือแจ้งความไม่ได้ หรือคนที่เป็นผู้เสียหายไม่กล้าที่จะแจ้งความ และยังมีกรณีหลาย ๆ กรณีเลย ที่โดนสะกดรอย ติด GPS เองแล้วก่อให้เกิดความสูญเสียมากมาย อันนี้ดิฉันก็คิดว่าน่าจะ ถูกบรรจุเข้าไปไว้ในรายงานแล้วหรือยัง หรือกรณีถัดไปเรื่องของการ Sexual Harassment ที่ไม่ได้เป็นการ Sexual Harassment ลวนลามด้วยการกระทำแต่ว่าเป็นการเหลื่อมล้ำ ด้วยคำพูด สีหน้าหรือวาจาต่าง ๆ นี่คือการสร้างบาดแผลทางจิตใจเช่นเดียวกัน แล้วดิฉัน ก็ถือว่าน่าจะเป็นการกระทำความรุนแรงเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นก็เลยอยากจะถามไปว่า ตอนนี้เราควรนิยามเรื่องของการกระทำความรุนแรงกันได้ใหม่แล้วหรือยัง

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นต่อไปคือเรื่องของความรุนแรงในเด็ก ตรงนี้จากสถิติที่มีผู้มาใช้บริการ จริงอยู่ที่ตัวเลขของมันอยู่ที่ ๑,๓๖๒ เคส แต่อยากจะชวนกันมาคิดใหม่ว่ามีหลาย ๆ บทความเลย จากต่างประเทศเขาได้ทำการวิเคราะห์หรือว่าทำการวิจัยออกมาว่าหลายครั้งที่อาชญากร หรือฆาตกรต่อเนื่องเมื่อสืบค้นกลับไปแล้วมีเรื่องของการเลี้ยงดูที่มี Domestic Violate หรือว่าความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นอย่างเช่นจากบทความของสถาบันยุติธรรมแห่งชาติ ของประเทศสหรัฐอเมริกากล่าวว่าเด็กที่ถูกละเลยจะมีความเสี่ยงจะโดนจับในช่วงวัยรุ่น เพิ่มขึ้น ๔.๘ เท่าแล้วมีความเสี่ยงที่จะโดนจับจากการกระทำความผิดด้านความรุนแรง เพิ่มขึ้น ๓.๘ เท่า ขออนุญาตยกตัวอย่าง อย่างทางมหาวิทยาลัย Rashford เองได้มี การกระทำศึกษาจากฆาตกรต่อเนื่อง ๕๐ รายเก็บประวัติการทารุณกรรมที่กลุ่มตัวอย่าง ต้องเจอได้ผลการศึกษาว่าร้อยละ ๓๖ มีประสบการณ์ด้านการทำร้ายร่างกาย ร้อยละ ๒๖ เคยโดนละเมิดล่วงละเมิดทางเพศ และร้อยละ ๕๐ มีประสบการณ์การโดนทำร้ายจิตใจ ร้อยละ ๑๘ โดนปล่อยปละละเลยจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่นี่คือสารตั้งต้น เราจะยอม ปล่อยให้สารตั้งต้นเหล่านี้ในอีก ๑๐ ปีข้างหน้าจะเกิดอาชญากรหรือฆาตกรต่อเนื่อง ในประเทศไทยเกิดขึ้นหรือไม่ ท่านมีวิธีในการป้องกันไม่ให้เกิดแบบนี้ได้อย่างไร

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

และจาก ๒ ประเด็นที่ผ่านมาดิฉันได้อ่านรายงานมา แล้วก็มีเรื่องของ ยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบันครอบครัวตั้งแต่ปี ๒๕๖๐-๒๕๖๔ ทั้ง ๕ ยุทธศาสตร์ ดิฉัน ก็อยากจะฝากท่านประธานถามไปยังผู้ชี้แจงว่าทั้ง ๕ ยุทธศาสตร์นี้มีการวัดผลหรือประเมิน อย่างไร มีโครงการที่จะทำให้ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์นั้นอย่างไร และมีการวัดผลของโครงการ ในแต่ละโครงการนั้นอย่างไรคะ เพราะดิฉันยังไม่เห็นในรายงานเล่มนี้

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ ประเด็นสุดท้าย อยากสอบถามความคืบหน้าเรื่องแนวทาง การดำเนินงานในการคุ้มครองผู้ถูกกระทำ ท่านเขียนไว้ว่าท่านจะจัดทำแล้วก็ขับเคลื่อน ร่างแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนไหนแล้ว ได้ใช้งานจริงแล้วหรือไม่ รวมไปถึงการปรับปรุงที่ท่านบอกว่า จะแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ปรับให้ สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ตอนนี้อยู่ถึงขั้นตอนไหนแล้ว ถ้าท่านบอกว่าตอนนี้ ท่านจะแก้ที่ พ.ร.บ. ฉบับเดิมจากการอภิปรายของท่านณัฐวุฒิ บัวประทุม เรื่องของ พ.ร.บ. นี้ที่มีการบอกว่ามีพระราชกำหนดออกมาย้อนหลัง บอกว่าถ้าท่านยังไม่พร้อม อันนี้เป็น คำวินิจฉัยจากศาลลงไว้ เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ บอกว่าเมื่อกระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีความพร้อมให้ชะลอผลการบังคับใช้ของ พ.ร.บ. ของปี ๒๕๖๒ ไปก่อน ตอนนี้ให้ใช้ของปี ๒๕๕๐ ตอนนี้ผ่านมา ๓-๔ ปีแล้ว ท่านและหน่วยงาน มีความพร้อมแล้วหรือยัง เพราะในแต่ละวันที่ผ่านไปเฉลี่ยแล้วเกิดความรุนแรงเกิดขึ้น ๔๖ รายต่อวัน คูณไว้ว่าง่าย ๆ เลย ๑ ปีจะมี ๑๖,๗๙๐ ราย ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประชาชนมีความกังวลไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงแบบนี้ขึ้นอีก ท่านมีวิธี หรือว่าขั้นตอนไปถึงไหนแล้วก็อยากจะให้ท่านผู้ชี้แจงได้ชี้แจงผ่านท่านประธานมา ไปยังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ครับ

นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช เชียงราย ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย เขต ๒ อำเภอแม่จัน อำเภอเวียงชัย อำเภอเวียงเชียงรุ้ง และอำเภอเมือง ๓ ตำบล พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ในเรื่องของการรับทราบรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านความรุนแรงในครอบครัวตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พุทธศักราช ๒๕๕๐ ประจำปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ ของทางกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วันนี้ดิฉันไม่ได้มาอภิปรายเพื่อมาโจมตี หรือว่าติติงในเนื้อหาหรือการบริหารงบประมาณและวัตถุประสงค์ของหน่วยงาน ที่เข้ามาชี้แจง แต่ดิฉันขออนุญาตเข้ามาทำงานร่วมกับท่านและขอเป็นส่วนหนึ่ง หรือแม้กระทั่งเป็นมือเป็นไม้ เพื่อให้หน่วยงานของท่านได้รับมือกับสถานการณ์ความรุนแรง ในครอบครัวที่ตัวเลขมีแนวโน้มที่จะมากขึ้นในทุกปี รวมทั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้น ในแต่ละกรณีก็มีความสลับซับซ้อนที่เพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลที่ทางกรมกิจการสตรี และสถาบันครอบครัวได้ยื่นข้อมูลตัวเลขและเอกสารต่อสภา ตามบทสรุปของทางผู้บริหาร ในปี ๒๕๖๓

นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช เชียงราย ต้นฉบับ

ท่านประธานคะ ข้อมูลจากศูนย์พึ่งได้ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวทั้งหมด ๑๑,๖๗๐ รายต่อปี โดยมีตัวเลข เฉลี่ยตกอยู่ที่ ๔๖ รายต่อวัน แบ่งเป็นเพศหญิง ๑๕,๐๙๐ ราย เพศชาย ๑,๕๗๕ ราย และเพศอื่น ๆ ๑๑ ราย ซึ่งเหยื่อของความรุนแรงส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุ ๑๐-๒๐ ปี จำนวนถึง ๕,๖๑๙ ราย และในส่วนของปี ๒๕๖๔ ข้อมูลจากศูนย์พึ่งได้เช่นเดียวกัน มีเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดในครอบครัวทั้งหมด ๑๖,๖๗๒ รายต่อปี โดยมีตัวเลขเฉลี่ย ตกอยู่ที่ ๔๖ รายต่อวัน แบ่งเป็นเพศหญิง ๑๕,๐๕๖ ราย เพศชาย ๑,๖๐๕ ราย และเพศอื่น ๆ ๑๑ ราย ซึ่งเหยื่อความรุนแรงส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในช่วงอายุ ๑๐-๒๐ ปี จำนวนถึง ๕,๓๗๗ ราย สาเหตุหลัก ๆ ที่เกิดจากความรุนแรงในครอบครัวของปี ๒๕๖๓ สาเหตุเกิดจากการนอกใจ หึงหวง เกิดจากสื่อลามกและเมาสุรา ยาเสพติด ตามลำดับ ส่วนในปี ๒๕๖๔ สาเหตุหลัก ในการเกิดความรุนแรงในครอบครัวเปลี่ยน เปลี่ยนจากการหึงหวง นอกใจ มาเป็นเมาสุรา ยาเสพติดเป็นอันดับแรก การเปลี่ยนแปลงสาเหตุของการเกิดความรุนแรงในครอบครัว จากลำดับแรกในปี ๒๕๖๓ คือการหึงหวง นอกใจ มาเป็นเมาสุรา ยาเสพติด ในปี ๒๕๖๔ เป็นการเปลี่ยนแปลงแต่มีนัยค่ะท่านประธาน ไม่ว่าจะเกิดกับจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ หรือผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด แต่ดิฉันไม่เห็นวิธีการรับมือ ที่ถูกจุดของหน่วยงานของท่านในรายงานเลยว่าท่านจะมีการรับมือการเปลี่ยนแปลง จากสาเหตุนี้อย่างไรในปี ๒๕๖๕ ท่านไม่ได้วางแผนการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อเกิดการบูรณาการร่วมกันในการทำงานเพื่อป้องกันและแก้ไขความรุนแรงไม่ว่าจะเป็น ความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นกับเด็ก เยาวชน ประชาชนคนไทย เพศหญิง เพศชาย หรือเพศทางเลือกอื่น ๆ โดยดิฉันขออนุญาตอ้างอิงจากงานวิจัยและการศึกษาของสถาบัน เพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) ที่ดิฉันได้อ่านเพิ่มเติมมาค่ะท่านประธาน ท่านประธานคะ การศึกษาและวิจัยของสถาบันเพื่อการยุติธรรมนี้เขาได้ศึกษาประเด็น เรื่องความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน โดยสังคมไทยและหน่วยงานหลายหน่วยงานได้ให้ ความสนใจและหาแนวทางแก้ไข แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขให้เป็นรูปธรรม เพราะความรุนแรงส่วนใหญ่เกิดจากสังคมรอบตัว เด็กหรือเยาวชนไม่อาจรับรู้ได้ว่าเหตุการณ์ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ปกติหรือไม่ปกติในสังคม เพราะบริบทของที่อยู่อาศัย ความเชื่อ วัฒนธรรม รวมถึงการอยู่ในสังคมยุคปัจจุบันมันมีความซับซ้อนที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งเทคโนโลยีในการสื่อสารในการเชื่อมต่ออย่างไร้ขอบเขต ทำให้การปกป้อง ป้องกัน ลดความเสี่ยงของเด็กและเยาวชนที่ถูกละเมิด หรือทำร้ายร่างกายทำได้ยากยิ่งขึ้น เราคง ต้องเปลี่ยนมุมมองจากการแก้ไขเชิงรับมาเป็นเชิงรุก โดยเอาหน่วยงานของท่านที่เป็น ผู้บริหารนโยบายและการได้รับงบประมาณค่ะ มามองในมุมมองของผู้ถูกกระทำหรือเหยื่อ ว่าต้องการได้รับการปกป้อง ดูแล แก้ไข ป้องกัน ติดตามอย่างไร รวมถึงแผนงานที่จะทำงาน ร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการพัฒนาด้านสังคม อารมณ์ของเหยื่อ หรือผู้เสียหายที่ต้องการได้รับการเยียวยาหรือฟื้นฟู โดยเฉพาะตัวเลขของเหยื่อ หรือผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวที่เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า ๒๐ ปี ในปี ๒๕๖๓ มีจำนวนถึง ๗,๐๙๘ ราย และในปี ๒๕๖๔ มีจำนวนถึง ๖,๗๓๙ ราย ซึ่งดิฉันเชื่อว่าในสังคม ของเรายังมีเหยื่อหรือผู้ถูกกระทำอีกจำนวนมากที่ยังไม่กล้าออกมาจากฝันอะไรที่เกิดขึ้น วันนี้ดิฉันเองและพรรคเพื่อไทย รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนในทุกจังหวัด ของประเทศไทย ขอเป็นกำลังใจให้เหยื่อหรือผู้ถูกกระทำทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศไหน อายุเท่าไร เพราะคนไทยทุกคนล้วนจะมีสิทธิเสรีภาพ ไม่สมควรที่จะถูกกระทำความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ ท่านประธานคะ ส่วนใหญ่ข้อมูลตัวเลขและรายละเอียด ข้างต้นที่ดิฉันได้เอ่ยไป ที่ทางหน่วยงานได้มอบให้กับทางสภาล้วนแต่เป็นข้อมูลที่น่าสนใจ และน่านำไปวิเคราะห์ต่อ แต่อย่างไรก็ตามตามตัวเลขข้างต้นดิฉันมองไม่เห็นตัวเลขที่ชี้วัด ความสำเร็จในเรื่องนี้ของหน่วยงานท่านเลย เพราะมันไม่ได้ลดจำนวนลงอย่างมีนัย หรือมีตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากการทำงานเชิงรุกของหน่วยงานท่านค่ะ ณ ตอนนี้ ดิฉันเลยมีข้อสงสัยฝากท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ตัวชี้วัดและเป้าหมาย ของท่านในระยะเวลาต่อไปจากนี้ ๓-๕ ปี เป้าหมายตัวเลขของท่านจะเป็นตัวเลขที่เท่าใด เพราะจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวจากระบบฐานข้อมูลที่ทางกรมได้มอบให้ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ จนถึงปี ๒๕๖๔ มีตัวเลขที่ค่อย ๆ ขยับตัวขึ้นในทุกปี นอกจากนี้ดิฉันมี ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะผ่านท่านประธานไปยังกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว รวมถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งหมด ๓ ข้อ

นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช เชียงราย ต้นฉบับ

ข้อแรก www.violence.in.th ที่ท่านได้มอบไว้เป็นข้อมูลในเอกสาร ที่เป็นระบบฐานข้อมูลตัวเลขต่าง ๆ ของท่านดิฉันอยากจะเรียนแจ้งให้ทราบว่าดิฉัน ไม่สามารถเข้าถึงได้ ไม่แน่ใจว่า Website ตัวนี้ปรับปรุงหรือว่าปิด Website ไปแล้วอย่างไร ขอรบกวนให้ท่านได้ช่วยแก้ไขในเรื่องนี้ด้วย เพราะดิฉันเชื่อว่าข้อมูลตัวเลขและรายละเอียด ในระบบฐานข้อมูล Website ของท่านน่าจะเป็นแหล่งข้อมูลชั้นเยี่ยมให้กับนักวิจัยด้านสังคม ทั่วประเทศ

นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช เชียงราย ต้นฉบับ

ข้อที่ ๒ สื่อ Online รวมถึง Application นี้ท่านได้ทำไว้ที่ชื่อว่าอะไร @linefamily อันนี้ดีมาก ดิฉันชื่นชมค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อหรือว่าการช่วยเหลือ ของหน่วยงานอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น Teen Club ที่ให้วัยรุ่นได้พักใจหรือปรึกษาปัญหาส่วนตัว เชื่อมได้ง่าย ปรึกษาได้ง่าย แต่ดิฉันคิดว่าเพื่อนใน LINE ของท่านจำนวน ๑๓,๒๕๒ คน เป็นตัวเลขที่ยังน้อยมาก ๆ กว่าที่ดิฉันคาดหวังไว้นะคะ เราอาจจะลดงบประมาณของสื่อ Offline มาเพิ่มการ Promote ช่องทาง Online ก็น่าจะดีกว่า เพราะตอนนี้ส่วนใหญ่ ก็จะมี Smart Phone อยู่ในมือแล้วเชื่อมแล้วก็ติดต่อกันได้ง่ายกว่า ดิฉันเชื่อว่าถ้ามี การประชาสัมพันธ์ได้ถูกจุด ถูกกลุ่มเป้าหมาย จะมีคนมาใช้ Application ของท่าน ได้มากกว่านี้ค่ะ

นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช เชียงราย ต้นฉบับ

ข้อที่ ๓ กลไกศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนหรือ ศพค. ที่ท่านได้มีการอบรม ทั้ง Online Offline ในแต่ละรุ่น ในแต่ละจังหวัด เพื่อได้ทำหน้าที่ประจำหน่วย ดิฉันอยากให้ มีการพัฒนาพื้นฐานด้านจิตวิทยาด้วย เพราะบุคคลเหล่านี้ทำหน้าที่ลงพื้นที่จริงถึงหน้าบ้าน แต่ถ้าสมมุติว่าเราไม่สามารถออกใบอนุญาตด้านจิตวิทยาได้ ดิฉันอยากขอความร่วมมือ จากหน่วยงานอื่น ๆ เข้ามาเติมเต็มตรงนี้ได้หรือไม่คะ เพราะสังคมตอนนี้เราละเลยจาก การเยียวยาความรู้สึกของเหยื่อค่ะ ไม่ว่าจะเป็นร่างกายหรือจิตใจ หลายท่านมีอาการของ Post-Traumatic Stress Disorder หรือ PTSD คือโรคเครียดที่เกิดจากเหตุการณ์รุนแรง ที่กระทบกระเทือนด้านจิตใจ แม้ว่ากระบวนการยุติธรรมจะจบลงไปแล้ว แต่บาดแผลของ ผู้ถูกกระทำมันยังคงอยู่ ดิฉันหวังว่าข้อเสนอที่ดิฉันได้กล่าวไปอาจจะได้รับเกียรติให้ไปอยู่ใน แผนงานของปี ๒๕๖๗ ที่กำลังจะถึงนี้ของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ในเรื่องของ ความรุนแรงไม่มากก็น้อยค่ะ

นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช เชียงราย ต้นฉบับ

และสุดท้ายนี้ค่ะท่านประธาน ดิฉันและพรรคเพื่อไทยขอเป็นหน่วยสนับสนุน หลักในสังคมให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรงทุกท่านได้กล้าค่ะ กล้าที่จะก้าวผ่านความกลัว กล้าที่จะพูด กล้าที่จะได้ส่งเสียง พวกเราทุกคน ณ สภาแห่งนี้พร้อมที่จะสนับสนุน และจับมือทุกท่านก้าวผ่านความโหดร้ายที่เกิดขึ้น ขอบคุณค่ะท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ เชิญท่านปิยะนุช ยินดีสุข ครับ

นางสาวปิยะนุช ยินดีสุข นครราชสีมา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาวปิยะนุช ยินดีสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๗ พรรคเพื่อไทย ได้แก่อำเภอประทาย อำเภอลำทะเมนชัย อำเภอเมืองยาง และอำเภอ โนนแดงค่ะ วันนี้ดิฉันขออภิปรายรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งต้องบอกก่อนนะคะว่าตอนนี้เรากำลังย้อนยุคค่ะท่านประธาน ไปดูสถานการณ์รายงาน ที่เกิดขึ้นเมื่อ ๒-๓ ปีที่แล้ว ก็คือประจำปี ๒๕๖๓ ประจำปี ๒๕๖๔ ตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งหลังจากที่ดิฉันได้พิจารณาดูรายงานทั้ง ๒ ฉบับนี้ ดิฉันมีความกังวลอยู่หลายอย่างค่ะ ท่านประธาน โดยเฉพาะตัวเลขของสถิติที่เพิ่มขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่องกับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กและสตรี ท่านประธานคะ ในปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่า ไม่ว่าเด็กหรือสตรีมีบทบาทต่อสังคมไทย มีบทบาทในการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างง่าย ๆ ค่ะ ในสภาอันทรงเกียรติแห่งนี้เราจะเห็นได้ว่าสมัยนี้เรามี สส. ผู้หญิง เพิ่มมาหลายท่านเลยค่ะ รวมทั้งตัวของดิฉันเองด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นนะคะว่าปัจจุบันนี้ สังคมไทยได้ให้การยอมรับกับสิทธิและเสรีภาพที่เท่าเทียมกันระหว่างเพศชาย และเพศหญิงมากขึ้นค่ะ แต่ท่านประธานคะ ทำไมทุกวันนี้ข่าวการใช้ความรุนแรง ในครอบครัว โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กถูกทำร้ายกลับมีให้เห็นมากขึ้นอยู่ทุกวัน และมันมี แนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ๆ ไม่มีวันที่จะลดลงเลยนะคะ และที่สำคัญการกระทำมันดูรุนแรง มีวิธีการซับซ้อนมากยิ่งขึ้นด้วยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นใน Case ของพ่อแม่ทำร้ายลูก สามีทำร้าย ร่างกายภรรยา หรือแม้กระทั่งลูกทำร้ายพ่อแม่ตัวเองนะคะ ท่านประธานที่เคารพคะ เมื่อดิฉันได้ดูรายงานข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่รวบรวมจากหน่วยงาน ทั่วประเทศ ในปี ๒๕๖๓ ขอ Slide ด้วยนะคะ

นางสาวปิยะนุช ยินดีสุข นครราชสีมา ต้นฉบับ

เราจะเห็นได้ว่ามีจำนวนของ ผู้ถูกทำร้ายที่เข้ารับบริการที่ศูนย์พึ่งได้อยู่ ๑๖,๖๗๖ ราย หรือคิดเป็นอัตราเฉลี่ยต่อวัน ๔๖ รายเลยค่ะ ซึ่งในนี้เป็นเพศหญิงมากที่สุด ๑๕,๐๙๐ ราย คิดเป็นร้อยละ ๙๐.๔๙ ค่ะ อันดับที่ ๒ เป็นเพศชายและเพศทางเลือก ต่อไปผ่านไป ๑ ปีค่ะ ขอ Slide ถัดไปนะคะ ปี ๒๕๖๔ จะเห็น ๒ Slide นี้ตัวเลขไม่ต่างกันเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขของผู้เข้ารับบริการ หรือค่าเฉลี่ยก็ยัง ๔๖ รายต่อวันเท่าเดิมเป๊ะ ๆ ผู้ที่ถูกกระทำมากที่สุดก็ยังเป็นเพศหญิง เหมือนเดิมเลยนะคะ ยังมีตัวเลขที่เยอะอยู่มาก ๆ ถึงทำให้เราเห็นว่าแม้เราจะมีหน่วยงาน เข้ามาช่วยเหลือแก้ปัญหา แต่ก็ไม่สามารถทำให้ตัวเลขรายงานเหล่านี้ลดลงได้เลยค่ะ ยิ่งไปกว่านั้นดิฉันกลับพบว่าจากตัวเลขที่พวกเราได้เห็นนี่นะคะ ยังมีข้อมูลที่ตกหล่นแล้วก็ ไม่ได้ถูกบันทึกเอาไว้ในฐานข้อมูล หรือเปรียบเสมือนกับกลุ่มคนที่มีชีวิตที่พร่ามัวกับเสียงร้อง ที่ไม่มีใครได้ยินค่ะ ท่านประธานคะ เสียงร้องเหล่านี้คือเสียงของผู้ถูกกระทำที่ไม่กล้าเอ่ย ออกมา ไม่กล้าแสดงตัวตน อับอายค่ะ กลัวจะถูกสังคมประณาม ไม่กล้าแม้แต่จะบอกใคร ไม่กล้าแจ้งหน่วยงาน หรือเข้าไปขอความช่วยเหลือใด ๆ ดิฉันจึงคิดว่ากลุ่มคนเหล่านี้ ควรได้รับการช่วยเหลือและเยียวยาอย่างเร่งด่วนค่ะ ดิฉันจึงอยากฝากคำถามผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าท่านมีวิธีแก้ไขปัญหา เหล่านี้ให้ทั่วถึงได้อย่างไรคะ เพื่อให้เสียงของพวกเขาเหล่านั้นถูกได้ยิน ให้เขาได้กล้าออกมา แจ้งความ เรียกร้องสิทธิความยุติธรรมและให้ชีวิตที่พร่ามัวของพวกเขาได้รับความยุติธรรม และมีชีวิตที่สดใสขึ้นค่ะ จริง ๆ ดิฉันได้ไปสืบค้นแล้วก็พบเจอระบบช่วยเหลือเยียวยา รวมถึง ป้องกันการกระทำความรุนแรงของประเทศอังกฤษ ซึ่งดิฉันจะขอแชร์สักนิดหนึ่ง เขามี องค์กรองค์กรหนึ่งที่ดูแลด้านนี้โดยเฉพาะ เขาเรียกว่า Sexual Asphalt Referral Center หรือ SARC เป็นศูนย์บริการทางแพทย์และนิติเวชที่มีหมอเฉพาะทางด้วย ดูแลแบบ One Stop Service ก็คือครบวงจรเลยเขาจะให้บริการในด้านการรักษาพยาบาล ทั้งทางร่างกายด้านจิตใจและยังมีการติดตามผลการรักษาด้วย รวมไปถึงมีการเก็บหลักฐาน ทางนิติเวชเพื่อใช้ในทางกฎหมายให้ด้วยระบบของเขาง่ายแล้วก็ตรงไปตรงมามาก ดิฉันจะขอยกตัวอย่างง่าย ๆ สมมุติว่าวันนี้นาง A ได้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ นาง A ขอเข้ารับบริการที่ศูนย์ SARC ใกล้บ้านได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง นาง A ก็จะได้รับการตรวจร่างกาย ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ตรวจการตั้งครรภ์ รวมถึงได้รับยารักษาอาการหรือป้องกัน โรคต่าง ๆ ด้วย นอกจากนี้แล้วนาง A จะได้รับการตรวจวินิจฉัยตรวจนิติเวช ซึ่งถ้านาง A อยากจะแจ้งความหน่วยงานนี้เขาติดต่อตำรวจให้เลยค่ะ ดำเนินคดีให้เลยนะคะ แต่ถ้านาง A ไม่ประสงค์จะแจ้งความเขาก็จะเก็บผลการตรวจทางนิติเวชให้เอาไว้นะคะเป็นระยะเวลา ๒ ปี ซึ่งนอกจากนี้แล้วทางศูนย์บริการนี้ยังมีการติดตามผลการรักษาหลังการรับบริการ อีกด้วยโดยผู้ถูกกระทำสามารถเข้ารับบริการได้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายค่ะ ดิฉันจึงอยากฝาก คำถามผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานว่าท่านได้มีกลไกคุ้มครองดูแล รวมถึงการให้ การบำบัดฟื้นฟู เยียวยาผู้ถูกกระทำเหล่านี้เหมือนที่ดิฉันได้กล่าวมาข้างต้นด้วยหรือไม่ และอย่างไร เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวดังมาก ๆ ในจังหวัดนครราชสีมาซึ่งเป็นบ้านของดิฉันเอง มีข่าวรวบหนุ่มคลั่งยาบ้าไล่ตีพ่อแม่ ถือเสียม ค้อน แก้ผ้าวิ่งรอบหมู่บ้านแถมยังไปปีนรูปหล่อย่าโม ที่เป็นที่สักการะของชาวนครราชสีมาด้วย สร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวบ้านมาก ตำรวจรีบ Charge เข้าจับ หวั่นโดนชาวบ้านรุมประชาทัณฑ์ ท่านประธานคะ หลังจากนั้นผู้เป็นแม่ ได้ออกมาบอกว่าลูกชายเขาติดยาเสพติด เมายา เอาไม้ไล่ตีพ่อ แม่ทนไม่ไหวรีบเข้าแจ้งความ กับตำรวจเพื่อดำเนินคดี จากกรณีนี้ดิฉันเห็นว่าปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดเหตุนี้ก็คือยาเสพติด ยิ่งช่วงนี้ระบาดหนักในพื้นที่ของดิฉันซึ่งดิฉันเคยหารือในสภาไปแล้วว่าตอนนี้ราคามัน ๗ บาท แต่ท่านประธานคะล่าสุดไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา ราคามันเหลือเม็ดละ ๕ บาทแล้วค่ะ ถูกกว่า น้ำเปล่าอีกนะคะ ดิฉันจึงอยากให้มีการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ควรที่จะมี การบูรณาการร่วมกันกับทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่ ให้ปราบปรามอย่างจริงจัง เพราะทุกวันนี้ความรุนแรงเหล่านี้ส่วนมากล้วนเกี่ยวข้อง และมีผลพวงมาจากยาเสพติดทั้งสิ้นค่ะ

นางสาวปิยะนุช ยินดีสุข นครราชสีมา ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้ค่ะท่านประธาน ดิฉันขอฝากไปยังพ่อแม่พี่น้องของดิฉันที่ได้รับชม และรับฟังอยู่ค่ะ หากท่านเป็นคนหนึ่งที่ตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่มีความรุนแรงหรือพบเห็น การใช้ความรุนแรงในครอบครัว ท่านสามารถขอความช่วยเหลือจาก ๑๙๑ หรือสายด่วน ๑๓๐๐ ได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านภัสริน รามวงศ์ ครับ

นางสาวภัสริน รามวงศ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉันภัสริน รามวงศ์ ค่ะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชาวบางซื่อ ดุสิต แขวงถนนนครไชยศรี พรรคก้าวไกล และวันนี้ดิฉันขอเป็นผู้แทน เป็นกระบอกเสียง เป็นปากเป็นเสียงให้กับผู้ที่ถูก กระทำความรุนแรง ผู้ซึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคมไทยนี้ และถอดใจเข้าสู่กระบวนการ ยุติธรรมและผู้หญิงพิการค่ะ ก่อนอื่นดิฉันต้องขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งองค์กร มูลนิธิที่ทุ่มเททำงานอย่างหนักทั้งชีวิตในการทุ่มเทกายใจให้กับผู้เปราะบาง ผู้ถูกกระทำ ในความรุนแรงที่จะมีพื้นที่ส่งเสียงบ้างค่ะ และการลงพื้นที่ของดิฉันในเขตบางซื่อ เขตดุสิต ก็มักจะพบกับความรุนแรงในครอบครัว ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ว่าจะเป็นภรรยาถูกบังคับทั้งกายใจจากสามี ลูกสาวผู้พิการ ทางสติปัญญาถูกพ่อแท้ ๆ ของตัวเองข่มขืน ผู้พิการทางการได้ยินถูกพี่ชายและเพื่อนของ พี่ชายข่มขืน แต่ในครอบครัวก็ไม่ไปแจ้งความ เพราะกลัวปัญหา กลัวเรื่องราวต่าง ๆ ครั้นจะ ขอความช่วยเหลือของรัฐแต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะดำเนินการไปถึงไหนเกิดความตะขิดตะขวงใจว่า จะไปดีหรือไม่นะคะ แล้วก็เมื่อดิฉันดูรายงาน ๒ ฉบับนี้ดิฉันเกิดคำถามเหมือนกันว่า ในรายงานนี้หลงลืมกลุ่มคนใครไปหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการทางการได้ยิน ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ผู้พิการทางซ้ำซ้อน แล้วก็ถ้าเมื่อวันหนึ่งเขาตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมสุดท้าย ก็ไม่สามารถเอาผิดต่อผู้กระทำได้ค่ะ เพราะต้องต่อสู้กับโครงสร้างและกระบวนการที่ ไม่เอื้อให้ผู้ถูกกระทำได้รับความยุติธรรมและยังมี Case อีกมากที่เรียกว่า Victim Blaming หรืออคติโทษผู้กระทำ นอกจากนี้การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมผู้ถูกกระทำจะต้องเจอ กับคำถามต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นขายบริการทางเพศมาหรือเปล่า ใจง่ายใช่ไหม แต่งตัว อย่างนี้ละสิ และการที่เด็กถูกข่มขืนกลับโทษเหยื่อว่าสมยอมเองจนผู้ถูกกระทำ ถอดใจจากกระบวนการยุติธรรมและมันก็ไม่เคยมาถึงค่ะ วันนี้เราต้องมาพูดถึงกระบวนการ ยุติธรรมที่มีปัญหาและผู้ถูกกระทำไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมนี้หรือหลุดออกจากระบบ ของความยุติธรรม รายงาน ๒ เล่มนี้ ปี ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๔ ขาดหายมิติถึงผู้พิการ เป็นกลุ่มที่ เปราะบางเสี่ยงต่อความรุนแรงจากมิติทางด้านเพศ อายุ อัตลักษณ์ทับซ้อนอื่น ๆ หรือที่เรียกว่า Intersection Neliarity หากความรุนแรงถูกละเลยไปความพิการลดทอน คุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หญิงผู้พิการและเด็กพิการก็ยังถูกทำให้ไร้อำนาจควบคุมชีวิต และร่างกายของตนเองค่ะ และยังถูกควบคุมตัดสินในเรื่องของวิถีชีวิตของตัวเองโดยพ่อแม่ และสมาชิกครอบครัวและสังคมที่เรียกว่าสังคมชายเป็นใหญ่ โครงสร้างทางวัฒนธรรมเช่นนี้เอง ทำให้กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งตกอยู่ในความรุนแรงในลักษณะที่มีการกดทับซ้อนหรือว่า Double of Pression หญิงพิการไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ตกอยู่ในสภาวะพึ่งพิง ความพิการถูกใช้ ความรุนแรงจากผู้ใกล้ชิด ผู้ดูแล แล้วก็ต้องทนยอมค่ะ เพราะว่าผู้กระทำความรุนแรง หรือผู้ดูแลเป็นคนคนเดียวกัน การอคติต่อผู้พิการว่าผู้พิการไม่มีความสวยงาม ไม่น่าดึงดูดใจ ไม่เป็นที่ต้องการ ขาดความปรารถนา จึงถูกมองข้ามความตัวตนทางเพศกลายเป็นกลุ่มคน ที่ไร้เพศที่ไม่รู้สึกรู้สาต่อการกระทำทางเพศ หญิงพิการยังถูกละเมิดสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ ครอบครัวได้ข้อมูลแล้วก็ตัดสินใจว่าเขาจะต้องทำหมันป้องกันการตั้งครรภ์ให้แก่ผู้ที่มี ความพิการในครอบครัวเพื่อขจัดและหยุดยั้งประชากรที่อ่อนแอและเป็นภาระ หรือกรณีที่ เด็กหรือเยาวชนพิการจะไม่ได้เรียนเพศศึกษาและกีดกันออกจากการเรียนรู้เรื่องเพศทำให้ พวกเขาขาดข้อมูลในการตัดสินใจเกี่ยวกับชีวิตทางเพศของตัวเองไม่สามารถเข้าถึงสุขภาวะ ทางเพศอันเป็นสิทธิพื้นฐานในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง จากทัศนคติและการตีตรากลุ่มเปราะบาง ที่ถูกกระทำ การตีตราผู้มีความพิการว่าไม่สมบูรณ์ผิดปกติและเบียดขับกลุ่มคนเหล่านี้ ออกไปอยู่ในชายขอบสะท้อนออกมาในกฎ ระเบียบ และวิธีการ และรายงาน ๒ เล่มนี้ ที่ไม่เคยพูดถึงเลย กระบวนการยุติธรรมอันไม่ปกตินำมาเหยียบซ้ำเพิ่มความรุนแรงด้วย แล้วก็จากรายงานต่อสถานการณ์ความรุนแรงของเด็กแล้วก็ผู้หญิงพบว่า ๗๑ เปอร์เซ็นต์ ไม่เข้าแจ้งความ ๒๙ เปอร์เซ็นต์ตัดสินใจแจ้งความ แต่ก็ไม่แน่ใจว่า ๒๙ เปอร์เซ็นต์นี้ คดีจะสิ้นสุดเมื่อไร คดีมีความคืบหน้าหรือไม่ ตลอดจนได้รับการเยียวยาหรือเปล่า พบว่า เหยื่อความรุนแรงและการล่วงละเมิดมีความยากลำบากในการเข้าถึงด้วย พบว่า ๕๑ ราย สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเพียงแค่ ๒๙ เปอร์เซ็นต์ ๑๕ รายดำเนินคดีสำเร็จ เพียงแค่ ๔ รายเท่านั้น เหลืออีก ๑๑ รายไม่คืบหน้า และ ๕ รายจากกลุ่มดังกล่าว เป็นหญิงพิการค่ะ เป็นหญิงพิการที่มีการมองเห็นและการได้ยิน และการสื่อความหมาย ไม่สามารถอธิบาย รูปพรรณสัณฐานของผู้กระทำและสถานที่เกิดเหตุได้ กล่าวคือการให้ปากคำแล้วก็ยังมีการใช้ ล่ามภาษามือไม่เพียงพอต่อความต้องการ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ๓๖ รายไม่แจ้งความ ไม่เข้าสู่ กระบวนการยุติธรรม จำนวน ๒ ใน ๓ หรือ ๒๐ จาก ๓๖ รายเป็นเด็ก แล้วก็ผู้หญิงที่มี ความพิการทางการมองเห็น พิการทางการได้ยินด้วย รวมไปถึงการพิการทางการซ้ำซ้อนค่ะ จากรายงานสถิติที่รับสายด่วน ๑๓๐๐ ยังพบว่าเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวมีผู้พิการ มากถึง ๑๔๖ ราย และจากแนวโน้มนั้นตัวเลขอาจจะมากขึ้นกว่านั้นเพราะว่าไม่ไปแจ้งความ แล้วก็จากรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตัวเลขคิดเป็นร้อยละระบุถึงผู้หญิงพิการ พบความรุนแรง เมื่อรายงานปี ๒๕๖๔ รับบริการศูนย์ ๑๖,๖๗๒ ราย เฉลี่ย ๔๖ คนต่อวัน แต่ก็ไม่ได้ระบุว่าในจำนวนนี้มีหญิงพิการไว้ด้วยหรือไม่ เมื่อเรามาดูยุทธศาสตร์ชาติใน ๒ เล่มนี้ ดิฉันขอเสนอว่านโยบายเหล่านี้ควรจะได้รับการทบทวนขนานใหญ่ค่ะ ยุทธศาสตร์แล้วก็ การพัฒนาสถาบันครอบครัว ปี ๒๕๖๐ ถึงปี ๒๕๖๔ ๕ ด้านนี้นะคะ ครอบครัว เศรษฐกิจ พอเพียง ความมั่นคงในครอบครัว การบริการจัดการเสริมความเข้มแข็งให้กับครอบครัว หรือการสร้างเครือข่ายให้กับครอบครัว และการพัฒนากลไกด้านกฎหมาย ปี ๒๕๖๔ ยุทธศาสตร์ทั้ง ๕ นี้มุ่งไปที่ครอบครัวแต่ไม่เน้นสร้างระบบ จริง ๆ แล้วความรุนแรงมันมาจาก ทั้งความยากจน ความพิการ และโครงข่ายที่ไร้ความมั่นคงทางสังคม และยุทธศาสตร์ ที่ส่งเสริมให้ครอบครัวปฏิบัติตามเศรษฐกิจอย่างพอเพียงจะไม่ช่วยลดความรุนแรง ในครอบครัวค่ะ ดิฉันและพรรคก้าวไกลมีจุดยืนอยากจะให้ความรุนแรงนี้หมดไปค่ะ ปัญหาการลดอาชญากรรมและความรุนแรงทางเพศกับกลุ่มผู้เปราะบาง ดิฉันขอเสนอ เรื่องตำรวจหญิงเข้ามาช่วยเป็นกระบวนการ เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความไว้วางใจ ให้กับประชาชนและรัฐในการที่จะทำให้ผู้ที่ถูกกระทำทางเพศสามารถเข้าสู่กระบวนการ ยุติธรรมได้อย่างสบายใจมากยิ่งขึ้น เราเห็นในประเทศอาร์เจนตินา เราเห็นในสาธารณรัฐ ลิทัวเนีย สหราชอาณาจักรมีการเพิ่มสัดส่วนของตำรวจหญิงอย่างชัดเจน นำไปสู่การเมือง แห่งคนเท่ากัน ดิฉันขอต่อเวลาด้วยนะคะ แล้วก็อยากจะพูดในสภานี้ว่าความรุนแรงนี้ เริ่มจากครอบครัวด้วย แล้วก็ไม่อยากให้มีใครมาพูดในประโยคที่ว่าหากเป็นลูกของตัวเอง ก็จะมีการตีให้ตาย ซึ่งกล่าวในสาธารณชนครั้งหนึ่งนะคะ ซึ่งดิฉันอยากจะมองว่าไม่อยากให้ ความรุนแรงเป็นเรื่องขบขัน ไม่จริงจัง เป็นทัศนคติที่เพิกเฉยต่อความรุนแรงไม่สมควรเป็น เรื่องที่ยอมรับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาอันทรงเกียรติที่หลาย ๆ ท่านกล่าวเอาไว้ แล้วก็กฎหมายนะคะ เดี๋ยวเพื่อนสมาชิกของดิฉันคงได้พูดนะคะ มาตรา ๑๕๖๗ วรรคสอง ที่ผู้ปกครองมีสิทธิที่จะทำโทษบุตรตามสมควร อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่พรรคก้าวไกล เราอยากผลักดันสร้างค่านิยมอันใหม่ ปรับทัศนคติอันใหม่ที่จะทำให้สังคมนี้เดินหน้าต่อไปได้ ดิฉันจึงขอฝากเรียนท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากที่ดิฉันได้อภิปรายมาค่ะ การสร้างความเข้าใจ การแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่มีความสลับซับซ้อนจะต้องเข้าถึงปัญหา ด้วยแนวคิดที่เข้าใจอัตลักษณ์ทับซ้อน ในกรณีนี้คือการพิทักษ์สิทธิให้ครอบคลุมถึงผู้มี ความพิการ และการแก้ไขกฎหมายครอบครัวที่ล้าหลัง รวมถึงค่านิยมต่าง ๆ เกี่ยวกับ ครอบครัวที่ต้องทบทวนตามยุคตามสมัย หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็อาจจะต้องจำเป็น ที่จะศึกษาข้อมูลที่เป็นสากล ครอบคลุม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านพลากร พิมพะนิตย์

นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ เขต ๒ อำเภอยางตลาด อำเภอฆ้องชัย พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ จากรายงานที่นำเสนอ ก็ต้องขอขอบคุณหน่วยงานที่มานำเสนอรายงานผลปฏิบัติงานครับท่านประธาน เนื่องจากว่า รายงานที่นำเสนอเป็นปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ ซึ่งไม่เป็นปีปัจจุบัน และอาจไม่ตรงกับ สถานการณ์ปัจจุบันในโลกที่พัฒนาไปเรื่อย เป็นปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่มี การเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดมาในรูปแบบหลากหลาย ขอ Slide ด้วยครับ

นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ จากตัวเลขรายงาน การกระทำความรุนแรงในครอบครัว ปี ๒๕๖๕ พบว่าปัญหายาเสพติดยังมาเป็นอันดับ ๑ คือ ๔๕๖ ราย คิดเป็นร้อยละ ๑๙.๓ อันดับ ๒ เกิดจากการดื่มสุรา อันดับ ๓ เกิดจาก การหึงหวง และสิ่งที่น่าตกใจมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ คือเรื่องของยาเสพติดครับ ท่านประธาน ขอ Slide ถัดไปเลยครับ ภาพที่เห็นคือเหตุเกิดในพื้นที่ของกระผม อำเภอฆ้องชัย เป็นเหตุความรุนแรงที่ลูกเผาบ้านตัวเอง ซึ่งลูกชายกับแม่อยู่ด้วยกัน ๒ คน ลูกชายเสพยาเสพติด คลุ้มคลั่ง สิ่งที่น่าเสียใจก่อนนั่นคือแม่ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อมาระงับเหตุก่อนที่จะเกิดขึ้นแต่ว่าไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือ สุดท้ายลูกจุดไฟ เผาบ้านตัวเอง ไม่เหลืออะไร ลูกต้องติดคุก แม่ต้องอยู่คนเดียว ไม่มีบ้านอยู่ครับท่านประธาน

นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

และผมขอพูดต่อไปเกี่ยวกับ พ.ร.บ. คุ้มครองการป้องกันผู้ถูกกระทำ ความรุนแรงในครอบครัว ปี ๒๕๕๐ มีประเด็นหลายประเด็นที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ถูกกระทำ และผู้กระทำความผิด พ.ร.บ. คุ้มครองผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวยังมีช่องโหว่ เน้นการรักษาความสัมพันธ์มากกว่าคุ้มครองผู้ถูกกระทำ เผยสถิติจากความรุนแรง ในครอบครัว ปี ๒๕๖๔ สูงถึง ๓๗๒ ข่าว ฆ่ากันตายเกินครึ่ง สามีภรรยาเยอะที่สุดครับ ความรุนแรงมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ๙๒ ข่าว ยาเสพติด ๖๔ ข่าว โดยเฉพาะการฆ่ากันตาย มี ๑๙๕ ข่าว โดยความสัมพันธ์แบบสามีภรรยาสูงสุด ๕๗ ข่าว ทั้งนี้การแก้ไขปัญหา ความรุนแรงสังคมต้องเริ่มต้นจากการจับสัญญาณความรุนแรงในคู่รักก่อนทำร้ายร่างกาย กันจริง ๆ เช่น หึงหวง เพิกเฉย ทำให้อับอาย ควบคุม การรุกราน ข่มขู่ พยายามปั่นหัว Blackmail หรือตัดขาด เป็นต้น เพื่อหาทางออกความสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยอย่างสันติ การปรับแก้กฎหมายครอบครัวที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นที่สำคัญ ประการหนึ่ง คือการปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก เรื่องการเคารพสิทธิต่อร่างกายความรักที่ไม่ใช่ เจ้าของชีวิต ท่านประธานครับ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวมีหลายด้าน ที่สำคัญ คือเจตนาหลักของกฎหมายที่ให้น้ำหนักการรักษาความสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกัน เป็นครอบครัวมากกว่าที่จะเน้นการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกระทำ ซึ่งชัดมากในมาตรา ๑๕ มาตรา ๑๕ ระบุว่าไม่ว่าการพิจารณาคดีจะได้ดำเนินไปแล้วเพียงใดก็ให้ศาลพยายาม เปรียบเทียบปรับให้คู่ความได้ยอมความกัน โดยมุ่งถึงความสงบสุขและการอยู่ร่วมกัน ในครอบครัวเป็นสำคัญ ซึ่งข้อความนี้กลายเป็นพิมพ์เขียวของการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มองว่าแม้จะมีการทำร้ายกันในครอบครัว แต่ต้องพยายามรักษาครอบครัวของเขา อยู่ด้วยกันต่อไปให้ได้ ดังนั้นผู้ถูกกระทำเลยไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างที่ควรจะเป็น มีปัญหาคือกฎหมายไม่ได้ออกแบบรองรับ ให้การทำงานแบบบูรณาการ ซึ่งสำคัญมากครับ เพราะปัญหามีความซับซ้อนต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย แต่กฎหมายกำหนดให้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดูแลเพียงหน่วยงานเดียว ความร่วมมือ จากฝ่ายอื่นจึงเป็นแบบกระท่อนกระแท่นครับท่านประธาน อันที่จริงแล้วหัวใจของกฎหมาย คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นของประเทศใด ต้องเน้นว่าผู้ที่ถูกกระทำ ความรุนแรงคือผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานสูงสุด สิทธิที่จะมีอยู่ การมีชีวิตอยู่ อย่างปลอดภัยและมีศักดิ์ศรี จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องคุ้มครองและอำนวยความสะดวก ความยุติธรรมให้กับผู้ถูกละเมิด ท่านประธานครับ เราควรมีการหาทางออกปรับปรุง เพื่อไม่ให้เกิดช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อสังคมที่ดีขึ้น เพื่อสถาบันครอบครัวที่อบอุ่นต่อไป ในอนาคต ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ครับ

นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ธัญ ขอเป็นส่วนหนึ่งในการอภิปรายสถานการณ์ด้านความรุนแรงของครอบครัว ธัญขอยกตัวอย่างปี ๒๕๖๔ ค่ะ ซึ่งรายงานฉบับนี้แบ่งออกเป็น ๓ ส่วนด้วยกันที่พูดถึงข้อมูล ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว

นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ส่วนที่ ๑ สำคัญมากก็คือพูดถึงสถานการณ์ปี ๒๕๖๔ ส่วนที่ ๒ พูดถึงข้อมูล ความรุนแรงในครอบครัว ตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วย ความรุนแรงในครอบครัว ปี ๒๕๕๐ และส่วนสุดท้ายก็คือมีบทวิเคราะห์ พร้อมเสนอแนะ เชิงมาตรการการป้องกันและแก้ไขความรุนแรงในครอบครัว ธัญอยากให้ประชาชนทุกท่าน ทุกเพศ พิจารณาข้อมูล ๓ ส่วนนี้ ข้อมูลส่วนแรกนั้นรวบรวมมาจากองค์กร หน่วยงาน มูลนิธิ ที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความรุนแรงทางเพศของเด็ก สตรี ถึง ๑๔๑ แห่ง รวมถึง การสำรวจในช่วงสถานการณ์โควิด ข้อมูลดังกล่าวมีผู้ถูกกระทำความรุนแรงถึง ๑๖,๐๐๐ กว่าราย เฉลี่ยวันละ ๔๖ ราย

นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

แต่ข้อมูลส่วนที่ ๒ ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีคดีที่เข้าสู่ กระบวนการ ๘๕ คดี มีข้อมูลจากสำนักงานอัยการสูงสุดที่แสดงตามพระราชบัญญัติดังกล่าว เข้าสู่กระบวนการเพียง ๒๙๕ เรื่อง ซึ่งก็มีทั้งสั่งฟ้อง ไม่ฟ้อง และยอมความกัน และมีข้อมูล สำนักงานศาลยุติธรรมที่มีคดีฟ้องศาลโดยตรง ๑๖๘ คดี และมีมาตรการ วิธีการบรรเทาทุกข์ จำนวน ๒๒ คำสั่ง เมื่อรวบรวมข้อมูลดังกล่าว ๒ อัน สถานการณ์ที่เก็บข้อมูลจากเครือข่าย ๑๖,๐๐๐ แต่มีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพียงแค่ ๕๔๘ เรื่อง สะท้อนว่ากฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมนั้นไม่ตอบสนองต่อสถานการณ์ความรุนแรงในปัจจุบันค่ะ

นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ส่วนรายงานส่วนที่ ๓ ที่ท่านได้พูดถึงข้อเสนอแนะ ส่งเสริมกลไกเครือข่าย การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ข้อ ๒ ท่านพูดถึง การเสริมสร้าง พัฒนาศักยภาพพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ ข้อ ๓ ท่านพูดถึง การดำเนินงานปรับปรุงกฎหมายป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ข้อ ๔ สร้างทัศนคติความรู้ความเข้าใจต่อประชาชนเพื่อยุติความรุนแรง แต่ธัญไม่เห็นการพูดถึง ผู้ถูกกระทำความรุนแรงในวรรคใด ๆ เลย อย่างที่เราเข้าใจกันนะคะ การมุ่งเน้นสถาบัน ครอบครัวมากเกินไปก็เท่ากับการผลิตซ้ำและไม่ให้ความสำคัญผู้ถูกกระทำ ซึ่งบางครั้ง การตัดสินใจของพวกเธอยากเหลือเกิน และบางครั้งพวกเราเองก็นำพาพวกเธอกลับไปสู่ ความรุนแรงในครอบครัว ภาพมายาคติของครอบครัวที่อบอุ่นนั้นใช้ได้ไหม และเป็นใจความ สำคัญไหม และเราจะส่งผ่านอุดมการณ์ความคิดบางอย่างที่มองให้สังคมตัดสินความรุนแรง ของคนของผู้ถูกกระทำว่า ถูกหรือผิด เธอควรจะเดินและตัดสินใจอย่างไรนั่นเป็นสิ่งที่สังคม ตัดสินหรือผู้ถูกกระทำต้องตัดสินใจ ธัญได้ติดตามและมีโอกาสพูดคุยกับเครือข่ายภาคประชาสังคม ประเด็นความรุนแรงและกฎหมายที่เกี่ยวข้องนะคะ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำ ความรุนแรงในครอบครัว ปี ๒๕๕๐ ว่ากฎหมายดังกล่าวนั้นล้าหลังให้ความสำคัญกับ ครอบครัวมากกว่า

นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ธัญพูดถึงเรื่องนี้ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือว่าเรามีการแก้ไขแล้วก็ทำงาน เรื่องร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและสถาบันครอบครัวที่ปัจจุบันนั้นก็ยังไม่มี ข้อสรุปและเป็นปัญหา เช่น ย้อนแย้งไหมคะ เมื่อสังคมเรากำลังจะบอกว่าความรุนแรงเป็น เรื่องของสังคม แต่ว่าเราสงวนการร้องทุกข์ให้กับผู้ถูกกระทำเท่านั้น ย้อนแย้งไหมคะ ธัญมีข้อเสนอต่าง ๆ หลายอย่างนะคะถ้าเรามองจากข้อมูลต่างประเทศ เช่น เราให้อำนาจ ของเจ้าหน้าที่มากขึ้นในการตั้งข้อสังเกต เวลาที่ตำรวจไปถึงแล้วผู้หญิงเงียบก็ไม่ใช่ต่างคน ต่างกลับบ้าน เรามีการบัญญัติกฎหมายใด ๆ ไหมที่จะเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ หรือเพิ่ม ตำรวจผู้หญิงให้มีสิทธิที่จะตั้งข้อสันนิษฐานในกรณีที่ผู้หญิงไม่ให้ปากคำ หรือแม้กระทั่งผู้หญิง บอกว่าฉันไม่เอาเรื่อง

นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ อายุความ ๓ เดือนเพียงพอไหมคะท่านกับการตัดสินใจที่ ยากลำบากของผู้หญิง และผู้ถูกกระทำความรุนแรง มาตรการการคุ้มครอง อันนี้ท่านไปดู แล้วไปสอบถามได้เลยมีผู้หญิงที่บอกว่า เขาไม่เห็นทำตามมาตรการเลยค่ะ ตำรวจพูดว่า อย่างไรรู้ไหมคะ น่ารำคาญจังเลย เราทราบกันดีว่าความรุนแรงของผู้หญิงนั้นมีหลายมิติ และปัญหาที่สำคัญคือการตัดสินใจ บ้างก็พร้อมที่จะยุติความสัมพันธ์ บ้างก็ต้องจำทน ให้ผัวตบอยู่แบบนั้น เพราะไม่สามารถที่จะอยู่รอดในเศรษฐกิจ และไม่กล้าเดินออกจาก ความรุนแรงนั้น บ้างก็อับอายที่จะลุกขึ้นมาพูดเรื่องครอบครัว เพราะสังคมก็มองว่า เธอจะเป็นผู้หญิงที่ล้มเหลว และไม่ประสบความสำเร็จชีวิตในครอบครัว ธัญคิดว่าข้อเสนอ ที่ขาดหายไปคือการส่งเสริมผู้หญิงให้เข้มแข็ง และมาตรการกระบวนการยุติธรรมที่ต้อง เอื้อมมือมาสู่พื้นที่ความรุนแรงที่ผู้หญิงไม่กล้าตัดสินใจค่ะ วันนี้ธัญพูดกันตรง ๆ ว่า ยุทธศาสตร์ชาติก็ไม่มี เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมทางเพศ พอเราไม่มียุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง กับความเท่าเทียมทางเพศการยุติความรุนแรงนี้เป็นยุทธศาสตร์ชาติหรือเปล่าคะ SDG หรือการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ทั้งโลกเขาพูดถึง เขาพูดถึงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ แต่วันนี้ ประเทศเราไม่พูดถึงเลยธัญขออนุญาตแบ่งประสบการณ์ ธัญได้มีโอกาสเข้า Class สตรีศึกษา ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ธัญได้พูดคุยกับผู้หญิงท่านหนึ่ง เธอยิ้มแย้มและมีสายตา แรงกล้าในการสู้ชีวิตค่ะ ธัญพยายามที่จะเก็บอาการและพยายามที่จะแสดงตนให้เป็นปกติ และพูดคุยกับเธอ แต่ในใจธัญคิดว่าเธอเข้มแข็งแบบนี้ได้อย่างไร เพราะผู้หญิงที่คุยกับธัญอยู่ เธอถูกสามีราดน้ำมันจุดไฟเผาค่ะ ธัญยืนอยู่กับผู้หญิงที่มีรอยไหม้ทั้งตัวและหน้า และเธอเข้มแข็งมาก ธัญจึงอยากจะบอกว่าวันนี้ความเท่าเทียมทางเพศถึงแม้จะไม่ได้บรรจุ อยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ แต่เป็นสิ่งหนึ่งที่เราทุกคนต้องผลักดัน และต้องยุติความรุนแรงวันนี้ เดี๋ยวนี้ค่ะ ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านนิพนธ์ คนขยัน ครับ

นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นิพนธ์ คนขยัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบึงกาฬ เขตเลือกตั้งที่ ๓ พรรคเพื่อไทย วันนี้ได้รับทราบรายงานความรุนแรงตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครอง ในครอบครัว ปี ๒๕๕๐ ท่านประธานที่เคารพครับ เพื่อน ๆ สมาชิกก็ได้พูดหลายประเด็น ผมจะลงสรุปประเด็นสาเหตุสักประเด็นสองประเด็นครับท่านประธานที่เคารพ

นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ

ประเด็นแรก เมาสุรา ประเด็นที่ ๒ ยาเสพติด วันนี้ผมได้ดูยุทธศาสตร์ ๕ ข้อ ๑. พัฒนาศักยภาพครอบครัว ๒. สร้างหลักประกันความมั่นคงในครอบครัว ๓. บริการ จัดการที่เอื้อต่อความเข้มแข็งในครอบครัว ๔. ส่งเสริมสนับสนุนเครือข่ายทางสังคมในครอบครัว ๕. พัฒนากระบวนการสื่อสังคมเพื่อพัฒนาครอบครัว ล้วนแล้ว ๕ ข้อดีที่สุด แต่ผมคิดว่า ปัญหาที่เกิดนั้นที่ผมยกตัวอย่างเรื่องยาเสพติด ท่านประธานที่เคารพครับ ท่านสมาชิก เพื่อน ๆ ได้พูดแล้ว แต่ขอยกตัวอย่างว่าวันนี้ยาเสพติดเห็นข่าวคราวตลอดที่ลูกทำร้ายพ่อแม่ แต่อยากเรียนว่าองค์ประกอบมาจากยาเสพติดนั้น เช่น จังหวัดบึงกาฬของกระผมที่ทำให้ยาเสพติด ทะลักเข้ามาแล้วเกิดความรุนแรงในครอบครัว เพราะบึงกาฬติดกับแม่น้ำโขงยาว ๑๒๐ เมตร โดยประมาณ เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจต่าง ๆ ได้ดูแลแต่มีการลักลอบนำเข้ามาตลอด จับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง อย่างไรก็ดีท่านประธานที่เคารพชาวบ้านแถวบ้านผมองค์ประกอบที่ว่าการนำเข้า ยาเสพติดชาวบ้านเขาบ่นกันว่ามีเจ้าหน้าที่บางรายมีการรู้เห็นเป็นใจหรือเปล่า ทำให้ยาเสพติด ทะลักเข้ามาแล้วเป็นภัยในชุมชน สังคม ครอบครัวดังที่กราบเรียน ดังนั้นวันนี้ท่านประธาน ที่เคารพครับ ผมเชื่อมั่นว่าทุกคนรักลูก รักหลาน รักครอบครัว ในเมื่อสาเหตุยาเสพติด เป็นปัญหาหนึ่งของความรุนแรงในครอบครัวก็อยากกราบเรียนนะครับ วันนี้ขออนุญาต เรียนว่าเรามีนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยคนที่ ๓๐ คือ ฯพณฯ ท่านนายกเศรษฐา ทวีสิน ขออนุญาตเอ่ยนามท่าน เพราะครั้งหนึ่งท่านลงพื้นที่ท่านบอกว่าถ้าผมมีโอกาสจะกำกับดูแล เรื่องยาเสพติด นั่งหัวโต๊ะ ผมเชื่อมั่นว่าพี่น้องประชาชนที่ฟังทางบ้านและเพื่อนสมาชิก ที่เคารพทุกท่าน คงจะมีปัญหาคล้าย ๆ กันในพื้นที่ ดังนั้นก็ฝากความหวังว่าเมื่อท่าน ได้เป็นนายก ท่านที่เคยดำริไว้ก็ได้โปรดนั่งหัวโต๊ะเถอะครับ

นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ

อันที่ ๒ ฝากไปยังหน่วยงานราชการต่าง ๆ โดยเฉพาะชาวบ้านที่เขาพูดกันว่า บุคคลมีสีร่วมกันหรือเปล่า ฝากนะครับข้าราชการดีขออนุญาตสนับสนุนส่งเสริมให้กำลังใจ แต่ข้าราชการที่ไม่ดีหากินกับความทุกข์ของคนและความรุนแรงในครอบครัวโดยการส่งเสริม การค้ายาเสพติด ข้าราชการบางท่านที่ไม่ดีโปรดเถิด โปรดได้กลับใจมาร่วมกันพัฒนาชาติบ้านเมือง มาร่วมกันพัฒนาส่งเสริมให้ลูกหลานเราห่างไกลยาเสพติด และไม่เกิดความรุนแรงในครอบครัว ท่านประธานครับ วันนี้ปัญหาหนึ่งที่ผมรับทราบจากพื้นที่ก็ฝากไปยังผู้มีอำนาจในกระทรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ครับ เวลาเด็กโดนความรุนแรงบางรายต้องไปอยู่ บ้านพักเด็ก ท่านประธานที่เคารพครับ ผมทราบมาว่าค่าอาหารต่อหัวมื้อหนึ่ง ๑๙ บาท ในภาวะเศรษฐกิจวันนี้ท่านประธานลองคิดครับ ๑๙ บาทต่อมื้อ ๓ มื้อวันหนึ่งรวมแล้ว ๕๗ บาท ผมว่าในภาวะนี้มันน้อยเกินไป ในภาวะจิตใจโดนทรมานอยู่แล้ว ไปอยู่บ้านพักเด็ก แถมได้กินอาหารตามงบประมาณที่มีจำกัด ผมเชื่อมั่นว่าเพื่อนสมาชิกคงเห็นใจตรงนี้เช่นกัน

นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ

อันที่ ๓ ข้าราชการที่ดูแลบุคคลเหล่านี้ที่โดนทารุณกรรมแล้วไปอยู่บ้านพักเด็ก เวลานอกราชการผมทราบข่าวมาว่า ๘ ชั่วโมง ได้ ๒๐๐ บาท เท็จจริงอย่างไรฝากท่านผู้กำกับดูแล กระทรวงนี้ไปดูข้อมูลนี้ให้ด้วย แต่ถ้าเป็นจริงตามนั้นผมว่าน่าจะให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ดูแล บุคคลเหล่านี้ซึ่งเป็นลูกหลานของเรา

นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ

ประการที่ ๔ เห็นว่าคุมงบประมาณเด็กที่เด็กโดนทารุณกรรมไปอยู่บ้านพักเด็ก เวลาไปเรียนหนังสืองบประมาณมีน้อยครับ ก็ฝากให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไปดูตรงนี้ผมเชื่อมั่นว่า เพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่านคงไม่ขัดข้องที่จะไปเติมเต็มในการดูแลลูกหลานของเรา ทั้งที่ทรมานจิตใจมาแล้ว โดนทารุณกรรมมาแล้วก็ให้อยู่แบบมีความสุขบ้าง ท้ายที่สุดนี้ ก็ขอบคุณท่านประธานผ่านไปยังผู้มาชี้แจง มีสิ่งใดที่จะให้ผมและเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่งเสริม แก้ไขให้ดีขึ้นในด้านงบประมาณต่าง ๆ ก็พร้อมท่านประธานครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านปิยชาติ รุจิพรวศิน ครับ

นายปิยชาติ รุจิพรวศิน นครราชสีมา ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ผม ปิยชาติ รุจิพรวศิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนครราชสีมา เขต ๒ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ปัจจุบันแนวโน้มความรุนแรงในครอบครัวสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยมีเหยื่อเป็นกลุ่มเด็ก และสตรีซึ่งบุคคลกลุ่มนี้มีแนวโน้มถูกกระทำความรุนแรงมากที่สุด และที่ยังน่าเป็นห่วง ในขณะนี้ คือจากข้อมูลองค์การสหประชาชาติ ประเทศไทยยังคงติด ๑ ใน ๑๐ ประเทศ ที่มีสถิติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความรุนแรงในครอบครัว ที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดแค่ Physical Assault คือการใช้กำลังทำร้ายร่างกาย แต่ยังรวมถึง Psychological Expressing คือการใช้คำพูดและการบังคับบงการที่ทำให้เกิดผลกระทบ ต่อจิตใจ อารมณ์ รวมถึงความรู้สึกไม่ปลอดภัยในการใช้ชีวิต และแนวโน้มความรุนแรงยังคง เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ สูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันยังคงมีเหยื่อที่เป็นเด็กถูกกระทำ ความรุนแรงจากบุคคลใกล้ชิด หรือผู้ปกครองที่ทำร้ายร่างกาย เมื่อเหยื่อกระทำสิ่งใดโดยผิด หรือโดยพลาดไป และยังเป็นที่น่าตกใจครับ เพราะยังมีบุคคลที่ยังคงมีชุดความคิดที่ว่า การตี หรือใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะในครอบครัว ในโรงเรียน หรือตามสถานที่ ต่าง ๆ ซึ่งการกระทำแบบนี้ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากครับ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต ของเหยื่อผู้ถูกกระทำ ท่านประธานครับ ในประเทศไทยก็มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่ ๑ ฉบับ ซึ่งเป็นกฎหมายที่อนุญาตให้ผู้ปกครองสามารถใช้ความรุนแรงกับลูกได้ ประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๖๗ (๒) บอกว่าผู้ใช้อำนาจปกครองสามารถทำโทษบุตร ได้ตามสมควร เพื่อว่ากล่าวสั่งสอน แต่ในบทบัญญัตินี้ไม่ได้นิยามว่า ตามสมควรคืออะไร แบบไหน จึงจะเรียกว่าสมควร ผมอยากจะขอเสนอแนะผ่านท่านประธาน หากเราพิจารณา ให้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองสามารถทำโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนได้ตามสมควร แต่ทั้งนี้ ต้องไม่ใช่วิธีการเฆี่ยนตี ทำร้ายร่างกายและจิตใจ หรือวิธีอื่นใดในทำนองเดียวกันแบบนี้ จะดีกว่าไหมครับ สิ่งที่ผมเสนอนี้ไม่ใช่เพราะไม่มีกฎหมายอื่นคุ้มครอง และไม่ใช่ว่าเราจะไป ลดทอนอำนาจการปกครองของผู้ปกครอง เราเพียงแค่ต้องการการป้องกันเหตุ และตัดวงจร การส่งต่อความรุนแรงภายในครอบครัวเท่านั้นครับ ท่านประธานครับผมขอยกตัวอย่าง ประเทศที่มีกฎหมายห้ามลงโทษเด็กด้วยการตี ไม่ว่าจะเป็นสวีเดน สกอตแลนด์ และฝรั่งเศส ซึ่งทุกประเทศที่กล่าวมาล้วนเป็นประเทศที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีอันดับต้น ๆ ของโลก และประเทศที่ยกเลิกการทำโทษด้วยการตีเป็นชาติแรกของโลก คือประเทศสวีเดนครับ ประเทศสวีเดนได้มีการออกกฎหมายห้ามลงโทษเด็กด้วยการทำร้ายร่างกายทุกชนิด ตั้งแต่ปี ๒๕๒๒ หรือว่า ๔๔ ปีก่อน โดยกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ห้ามแค่การตีเท่านั้น แต่ยังรวม ไปถึงการหยิก การตบหน้า หรือการดึงผมด้วย ในขณะเดียวกันประเทศสวีเดนเป็น หนึ่งในประเทศที่แทบไม่มีอาชญากรรมและความรุนแรง คุกในประเทศสวีเดนแทบไม่มี ความหมาย นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งหรือไม่ครับท่านประธาน ที่แสดงให้เห็นว่าการเลิกส่งต่อความรุนแรง ส่งผลอย่างมากต่อสังคมภายนอกเช่นกัน ผมขออนุญาตพูดถึง พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนา และคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งตราขึ้นเพื่ออุดช่องว่างจาก พ.ร.บ. คุ้มครอง ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ แต่ก็ได้มีข้อสังเกตคือเวลาผ่านมา ก็นานแล้ว การแก้ไขเพิ่งแก้ไปเพียงไม่กี่มาตรา ไม่ทราบว่าทางหน่วยงานติดอะไรตรงไหนหรือเปล่า อีก ๑ มาตราที่ผมจะขออนุญาตพูดผ่านท่านประธานเพื่อการพิจารณาครับ พ.ร.บ. ส่งเสริม การพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. ๒๕๖๒ มาตรา ๒๓ ที่กล่าวว่า ผู้ใดพบเห็น หรือทราบว่ามีการกระทำความรุนแรงในครอบครัว ให้แจ้งข้อมูลหรือข่าวสารกรณีดังกล่าว ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือแจ้งต่อศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัวโดยตรง เพื่อให้การคุ้มครองสวัสดิภาพ ผมอยากจะขอเสนอผ่านท่านประธาน หากเราสามารถพิจารณาให้เป็น ผู้ใดพบเห็น หรือทราบว่ามีการกระทำความรุนแรงในครอบครัวอันเป็นเหตุก่อให้เกิดอันตรายให้สามารถ เข้าทำการช่วยเหลือได้ตามสมควร และให้แจ้งข้อมูลหรือข่าวสารกรณีดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือแจ้งต่อ ศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัวโดยตรง เพื่อให้การคุ้มครองสวัสดิภาพแบบนี้จะดีกว่าไหมครับ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลผู้พบเห็นได้มีโอกาสช่วยเหลือได้ทันท่วงทีก่อนที่ จะเกิดอันตรายใด ๆ แก่เหยื่อครับ

นายปิยชาติ รุจิพรวศิน นครราชสีมา ต้นฉบับ

สุดท้ายครับ ปัญหาความรุนแรงที่เกิดในครอบครัว ผมมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ ที่เราควรร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการแก้ไขป้องกัน เพราะนี่อาจจะเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้น ที่ก่อปัญหาอาชญากรรม ซึ่งอันที่จริงแล้วเราควรที่จะมีวิธีป้องกัน และการป้องกันเราควร มองในมุมของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ไม่ใช่มองในมุมของคนนอกที่มองเข้าไป ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ ครับ

นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพค่ะ ดิฉัน นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานทราบไหมคะว่าวันนี้ประเทศไทยเรามีเหยื่อที่ถูกทำร้ายร่างกาย และจิตใจมากถึง ๗ คนต่อวัน ในเหยื่อจำนวนเหล่านี้มีเด็กที่ควรจะได้รับการปกป้อง และคุ้มครองให้ปลอดภัยจากความรุนแรงของพ่อแม่และคนในครอบครัว แต่นั่นไม่ใช่ ประเด็นปัญหาที่ดิฉันอยากจะพูดถึงในวันนี้ วันนี้คือมีผู้หญิงและเด็กจำนวนมากที่ต้องตกเป็น เหยื่อของความรุนแรง โดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและไม่มี ทีท่าว่าจะลดลงแต่อย่างใด

นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ใน Slide เป็นการสะท้อน ให้เห็นถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวและออกเป็นกระแสข่าวรายวัน สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ สอดรับกับข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงจากการรายงานของมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาค ทางสังคม ร่วมกับสมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ มีผู้หญิงที่เข้ารับการบำบัดรักษา แจ้งความร้องทุกข์เฉลี่ยมากถึงปีละ ๓๐,๐๐๐ ราย ซึ่งถือเป็นสถิติความรุนแรงของผู้หญิง ที่สูงติด ๑ ใน ๑๐ ของโลก และนี่ไม่ใช่ความน่าภาคภูมิใจแต่อย่างใดนะคะ แต่นี่คือสิ่งที่ สะท้อนให้เห็นถึงระดับของปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขค่ะ

นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

จากข้อมูลรายงานสถานการณ์ความรุนแรงทั้ง ๒ ฉบับ ในปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ ดิฉันจะขอหยิบยกข้อมูลของศูนย์พึ่งได้ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ย้อนหลังไป ๖ ปี เราพบว่ามีเด็กและสตรีที่ต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัว เฉลี่ยปีละ ๑๗,๔๓๗ คน และข้อมูลเหล่านี้น่าตกใจยิ่งขึ้นเมื่อมันสะท้อนว่าเด็กและเยาวชน ได้รับความรุนแรงเพิ่มสูงขึ้น โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ค่ะ

นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเภทและรูปแบบของความรุนแรง มีเพื่อนสมาชิกหลายท่านได้กล่าว ไปแล้วจากข้อมูลที่เรามีก็คือจะแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ คือความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทั้งด้านร่างกายมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ และอีกรูปแบบหนึ่งคือความรุนแรงที่เกิดขึ้น จากความรุนแรงทางเพศอีก ๓๐ เปอร์เซ็นต์ สิ่งเหล่านี้เกิดจากปัจจัยที่มากระตุ้น ไม่ว่า จะเป็นความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว หรือเรื่องของสิ่งกระตุ้นได้แก่สุรา ยาเสพติด รวมถึง สภาพแวดล้อมค่ะ แม้วันนี้เราจะมีกฎหมายหรือหน่วยงานมากมายที่คอยช่วยเหลือรับเรื่อง ร้องทุกข์จากปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเท่าไรก็ตาม แต่ก็เชื่อได้ว่ามีเหยื่ออีกจำนวนมาก ที่ไม่กล้าออกมาพูด หรือยอมรับว่าตนเองเป็นเหยื่อผู้ถูกกระทำความรุนแรงจากคน ในครอบครัว หากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เร่งดำเนินการ สิ่งที่ดิฉันกังวลใจอยู่ ขณะนี้ก็คือสิ่งที่กำลังจะกลายเป็นความน่ากลัวของสังคมก็คือภาวะการยอมทนต่อ ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ค่ะ เพราะว่าปัญหาหลัก ๆ ยังไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหา ความรุนแรงจึงไม่สามารถสะท้อนได้แค่ตัวเลขทางสถิติค่ะ เพราะหากเราเพิกเฉยต่อ ความรุนแรงสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ อย่างแรกค่ะ การมองความรุนแรงเป็นเรื่องของ การปล่อยผ่านและเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ในสังคม เมื่อเรามองว่ามันเป็นเรื่องของการปล่อยผ่าน และสามารถพบเห็นได้ในสังคม เราจะเริ่มมองไม่เห็นว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้น และนั่น จึงนำไปสู่การยอมทนต่อความรุนแรง และสุดท้ายค่ะ ถ้าสังคมมองผ่าน เพิกเฉย และยอมรับมันจะกลายเป็นสถานการณ์ที่ยอมรับว่าความรุนแรงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เพราะเป็น สิ่งที่คุ้นชินในสังคมแห่งนี้ค่ะ จากสภาวะความรุนแรงที่ดิฉันอธิบายไปเมื่อ ๔ ขั้นตอน เมื่อสักครู่นี้ มันเกิดจากทัศนคติค่ะ ซึ่งทัศนคติตรงนี้ละค่ะที่เป็นสิ่งที่หน่วยงานควรเร่งปรับ และแก้ไข เพราะสังคมจะมีทัศนคติว่า ๑. ความรุนแรงกระทำได้หากเกิดจากความรัก เด็กดื้อ ก็ต้องทำโทษ ความรุนแรงกระทำได้เพราะเป็นเรื่องในครอบครัว คนนอกไม่ควรไปยุ่งเกี่ยว การอดทนต่อความรุนแรงสามารถทำได้ เพราะเป็นเรื่องทำให้เสถียรภาพของครอบครัวอยู่ได้ โดยไม่หย่าร้าง ทัศนคติเหล่านี้ละค่ะที่ส่งผลต่อการร้องเรียนและการรับเรื่องร้องเรียนของ หน่วยงานภาครัฐ เป็นเรื่องส่วนตัวเดี๋ยวเขาก็ดีกัน สุดท้ายปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ก็ถูกละเลยโดยคนใกล้ตัวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องค่ะ ดิฉันจึงอยากเสนอไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องดังนี้ ขอเสนอค่ะ อยากฝากไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องค่ะ ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐ สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์และอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๔ ประเด็นดังนี้

นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นแรก ต้องเร่งทำการประชาสัมพันธ์ให้คนในสังคม ปรับเปลี่ยน ทัศนคติที่มีต่อความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะคนในสังคมต้องตระหนักว่าความรุนแรง ในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องที่สังคมต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบร่วมกัน โดยไม่เพิกเฉย

นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ ดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยช่วยกันในการแจ้ง เบาะแสที่จำเป็นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในครอบครัวค่ะ ผ่านการสร้างแรงจูงใจ หรือมาตรการทางสังคม เช่นการยกย่องเชิดชูเกียรติให้กับคนในชุมชน ที่คอยเป็นหูเป็นตาดูแลเรื่องความรุนแรงในครอบครัว

นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประการที่ ๓ การสร้างกระบวนการทางกฎหมายที่ง่ายและสนับสนุนจิตใจ ของผู้ถูกกระทำค่ะ วันนี้ค่ะกระบวนการยุติธรรมนี่มักจะทำให้การบอกเล่าเรื่องราวของเหยื่อ ต้องทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้เหยื่อเหมือนเป็นผู้ถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ขั้นตอนและวิธีการ เหล่านี้ควรลดลงเพื่อเยียวยาจิตใจของเหยื่อ

นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สุดท้ายเพื่อให้ความรุนแรงลดน้อยลง การส่งเสริมอาชีพเพื่อเพิ่มทางเลือก ในอาชีพให้แก่ผู้หญิงในกรณีที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว เพื่อให้ผู้หญิงกลุ่มนี้ สามารถเป็นกำลังหลักในการดูแลครอบครัวได้ด้วยตนเอง เพื่อให้เขาเคารพในศักดิ์ศรีของ ความเป็นมนุษย์ ผ่านกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่สมัยนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เคยเสนอไว้

นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

Slide แผ่นสุดท้ายค่ะท่านประธาน ความรุนแรงที่อ้างว่าทำไปเพราะความรัก เพราะรักถึงตี ความรุนแรงที่อ้างว่าเป็นเรื่องในครอบครัวอย่าไปยุ่งเพราะเป็นเรื่องผัวเมีย ความรุนแรงที่เกิดจากการมองข้ามความรุนแรงเป็นเรื่องปกติธรรมชาติ ความรุนแรงเหล่านี้ ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคม ปัจจุบันเราทุกคนตระหนักได้ว่าไม่ว่าการกระทำความรุนแรง จะกระทำไปด้วยเหตุผลอะไร ความรุนแรงก็คือความรุนแรงค่ะท่านประธาน โดยไม่ต้องมี เหตุผลหรือข้ออ้างใด ๆ และพวกเราทุกคนไม่ควรมองข้ามความรุนแรง ขอบคุณค่ะ ท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ครับ

นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ท่านประธานคะ ดิฉัน ทนายแจม ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๑๑ พรรคก้าวไกล และคุณแม่ลูกสองที่อยากส่งต่อสังคมที่ดีให้กับลูก ๆ และเด็ก ๆ อีกหลายคน ในอนาคต จากรายงานของผู้ชี้แจงที่บอกว่าในปี ๒๕๖๓ ข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรง ในครอบครัวจากหน่วยงานทั่วประเทศมีผู้ได้รับความรุนแรง ๔๖ รายต่อวัน แล้วก็ข้อมูล ความรุนแรงในครอบครัวจำนวน ๑,๗๘๙ เหตุการณ์เป็น Case ที่เป็นความรุนแรงระหว่าง บิดามารดากระทำต่อบุตรมากถึง ๔๗๘ เคส ซึ่งในปี ๒๕๖๔ ก็จะมีจำนวนที่ไม่แตกต่างกัน ถ้าอ้างอิงข้อมูลที่เพื่อนสมาชิกพูดเมื่อสักครู่ก็ประมาณ ๑๗,๐๐๐ กว่า Case เฉลี่ย ๕ ปีที่ผ่านมา นอกจากนั้นยังมีสำนักงานสถิติแห่งชาติ โครงการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๖๕ ที่มีงานวิจัยเด็กว่าเด็กไทยอายุระหว่าง ๑-๑๔ ปี จาก ๒๒,๔๑๖ ตัวอย่าง พบว่า กว่า ๕๓.๘ เปอร์เซ็นต์ได้รับวิธีการอบรมด้วยการลงโทษทางร่างกายหรือจิตใจอย่างรุนแรง ภายในบ้าน เช่น การถูกตีหรือตบใบหน้า ศีรษะ หรือหู ถูกตีแล้วตีอีก ตะโกน ตะคอก ตวาด แผดเสียง หรือว่ากรีดร้องใส่หน้าเด็ก ๆ ซึ่งผลความรุนแรงเหล่านี้ด้วยการทำร้ายร่างกาย ในครอบครัวส่งผลให้เด็กมีปัญหาทางด้านพฤติกรรมและอารมณ์ เด็กไทยจำนวนมากเผชิญกับ ความรุนแรง ความหวาดกลัว และไม่ได้รับความเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยพ่อแม่ และผู้ดูแลของตนเอง ซึ่งควรจะเป็นบุคคลที่พวกเขาควรจะเชื่อมั่นมากที่สุด ควรจะเป็น กลุ่มบุคคลที่จะได้รับความไว้วางใจ ความเชื่อใจจากเขามากที่สุด และพ่อแม่ผู้ดูแลเหล่านี้ ก็ยังขาดความรู้และทักษะในการเลี้ยงดูลูกโดยไม่ใช้ความรุนแรง มีผลการศึกษามากมายเกี่ยวข้อง กับความรุนแรงของเด็กในประเทศไทย ในฉบับหนึ่งเปิดเผยว่า ๗๗.๓ เปอร์เซ็นต์ของเด็กไทย มีประสบการณ์ถูกลงโทษทางกาย หรือกระทำด้วยวิธีที่รุนแรงต่อสภาพจิตใจเพื่อสร้างวินัย ในบ้าน ในโรงเรียน การลงโทษทางกายทำให้เด็กเกิดความสับสนระหว่างความรักและความรุนแรง สำหรับเด็ก ในขณะที่พวกเขากำลังเรียนรู้วิธีการปฏิบัติต่อผู้อื่น ในขณะที่เรากำลังสอนเขาว่า การทำร้ายกันมันไม่ดีนะลูก การตีกันมันไม่ดีนะลูก แต่เราก็ยังตีเขา แล้วก็บอกว่าแม่ตี เพราะรักนะลูกกันอยู่เลย ท่านประธานคะดิฉันเห็นว่าสังคมไทยเราต้องเลิกการ Romanticize ความรุนแรงในนามของความรักก่อนเลยค่ะ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่หลาย ๆ ท่าน พูดไป จากยาเสพติดก็ตาม หึงหวงก็ตาม จากความมึนเมาอะไรก็ตามมันเกิดจากจิตใต้สำนึก จิตใต้สำนึกนี้ถ้าเราได้อ่านศึกษาเกี่ยวกับจิตวิทยาเด็ก มันก็เริ่มก่อร่างสะสมมาตั้งแต่ก่อนที่เรา จะ ๗ ขวบแรกด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นการเลี้ยงลูกในช่วง ๗ ขวบแรกจึงมีความสำคัญมาก ๆ การเลิก Romanticize เราต้องบอกก่อนว่าการตีคือความรุนแรงทุกกรณี การทำร้ายกัน คือความรุนแรง การด่าทอหยาบคายคือความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก ซึ่ง ๐-๑๒ ปีแรกเป็นการสร้างความไว้วางใจระหว่างเด็กกับพ่อแม่และผู้ดูแล การสร้างสายสัมพันธ์ หรือ ๒-๓ ขวบนะคะ ซึ่งมีงานวิจัยบอกว่ากลุ่มอายุที่มีการถูกลงโทษ ทางร่างกายมากพบในช่วง ๒-๔ ปีที่เขาเรียกว่า Terrible Twos ๒-๔ ปีเป็นช่วงเวลาของ การสร้างตัวตนของเด็กเล็ก แต่เรากลับทำร้ายเขาด้วยการตี ด้วยการด่าทอหยาบคายต่าง ๆ ๔-๖ ขวบเป็นการที่เด็กจะริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ เราถูกตีเราจะไปกล้าริเริ่มอะไรใหม่ ๆ ได้คะ แม่ตั้งครรภ์ควรจะมีโอกาสสร้างสุขภาพจิตที่ดี เข้าถึงโภชนาการที่ดีเพื่อสร้างทารกให้แข็งแรง ๖ เดือนแรก เราสร้างสายสัมพันธ์ใน ๖ เดือนแรก แต่เรายังลาคลอดแค่ ๓ เดือนอยู่เลย การเรียนรู้ว่ามีแม่ที่มีอยู่จริงก็เรียนรู้ในช่วงเกิดจนถึง ๗ ขวบเช่นเดียวกัน ทุกสิ่งทุกอย่างในช่วง ๗ ขวบแรกนี้จะหล่อหลอม Behavior หรือว่าหล่อหลอมพฤติกรรมของคนเมื่อเขาเติบโต มาเป็นผู้ใหญ่ แต่เด็กกลุ่มนี้กลับถูกเพิกเฉยถูกละเลยมาตลอด การบ่มเพาะความรุนแรงต่าง ๆ ไม่ว่าเราจะหลีกเลี่ยงความรู้สึกผิดด้วยการบอกว่าเรารักเขา เราฝึกวินัย ด้วยความรักใด ๆ ก็ตาม เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลยว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการบ่มเพาะความเพิกเฉยต่อความรุนแรง การสร้างจิตสำนึกว่าความรุนแรงเป็นเรื่องปกติถ้าทำเพราะความรัก เด็กทำผิดถูกตี การตี เป็นการหยุดพฤติกรรมเด็กได้ไวที่สุด และพ่อแม่เหนื่อยน้อยที่สุดแล้ว ดื้อปุ๊บตีโป้งหยุดเลย แต่เราใช้จิตวิทยาน้อยไป เราใช้ความคิดน้อยไป เด็กไม่กล้าทำอีกเพราะว่าอะไรคะ เพราะเขากลัวถูกตี เรากำลังบ่มเพาะปลูกฝังความกลัวในเด็กในวัยที่เขาไม่ควรจะต้องถูกปกปิด จินตนาการใด ๆ เพราะความกลัว ท่านประธานคะ ได้ดีเพราะถูกตีไม่มีอยู่จริงนะคะ ทำไมเราถึงดูถูกศักยภาพในการประสบความสำเร็จของเราด้วยการบอกว่าขอบคุณไม้เรียวล่ะคะ เราไม่ได้เก่งเพราะเรื่องอื่นหรือคะ อันนี้ดิฉันสงสัยในแนวคิดนี้

นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้ดิฉันอยากฝากท่านประธานไปยังผู้ชี้แจงและหลาย ๆ คนว่า เราต้องไม่ตีเด็ก ประเทศนี้ต้องไม่ตีเด็ก หยุดส่งต่อความรุนแรงในนามของความรัก หันมาใช้ เหตุและผล ใช้จิตวิทยาในการสร้างเด็ก ๆ เหล่านี้เพื่อสร้างสังคมที่ดีให้กับลูกหลานของเรา และเร็ว ๆ นี้พรรคก้าวไกลเราจะมีร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๕๖๗ (๒) ที่เป็นกฎหมายสำคัญในการปกป้องคุ้มครอง สิทธิเด็กตามหลักสากล ฝากเพื่อนสมาชิกทุกท่านและผู้ชี้แจงด้วยนะคะ เรามาช่วยกัน สร้างสังคมของเด็กทุกคนด้วยการผ่านกฎหมายฉบับนี้ด้วยกันค่ะ ขอบคุณท่านประธานค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านสุภาพร สลับศรี ครับ

นางสุภาพร สลับศรี ยโสธร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ และคณะผู้ชี้แจงที่เคารพทุกท่าน ดิฉัน สุภาพร สลับศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑ จังหวัดยโสธร พรรคไทยสร้างไทย ท่านประธานคะ ก่อนอื่นก่อนที่ดิฉันจะลงสาระและรายละเอียดเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ก็ขออนุญาต ชี้แจงเจตจำนงในการลุกขึ้นมาอภิปรายว่าดิฉันเป็น สส. หญิง บทบาทเป็นทั้งลูก เป็นทั้งแม่ แล้วก็เป็นทั้งภรรยา ซึ่งโดยธรรมชาติย่อมใส่ใจปัญหาของครอบครัวอยู่แล้ว อีกทั้งโดยวิชาชีพ ที่ดิฉันเคยทำมาก่อนก็คือการเป็นพยาบาล อายุราชการก็ประมาณ ๒๐ ปีกว่า ๆ ผ่านประสบการณ์ ในการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบทั้งด้านร่างกาย โดยเฉพาะทางด้านจิตใจจากปัญหา ความรุนแรงครอบครัวมาไม่น้อย ดังนั้นดิฉันทราบและตระหนักดีว่าการจะแก้ไขปัญหาเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวนั้นเป็นเรื่องไม่ง่าย แล้วก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และตัวเลขสถิติความจริงที่เกิดขึ้นอาจจะมีมากกว่าในรายงาน ของ ๑๖ หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน สมาคม และมูลนิธิต่าง ๆ ที่มารายงานในครั้งนี้ อย่างแน่นอน และในขณะเดียวกันดิฉันไม่ได้มีเจตนารมณ์มาจับผิดผลการดำเนินงาน ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด แต่ดิฉันขออนุญาตฝากข้อสังเกต แชร์ประสบการณ์ ข้อห่วงใย ข้อบันทึกไว้ และร่วมด้วยช่วยกันทำให้สังคมไทยมีความรัก มีความอบอุ่น สร้างสายใยรักแห่งครอบครัวมากยิ่งขึ้น ท่านประธานคะ ประการแรกที่เราจะแก้ไขปัญหา ความรุนแรงในครอบครัว ดิฉันเชื่อและเห็นด้วยว่าการจะแก้ไขปัญหาความรุนแรง ในครอบครัวได้ดีนั้น อย่างแรกเราควรมีการรณรงค์ให้คนในสังคมเปลี่ยนค่านิยม ความคิด และทัศนคติใหม่ โดยยึดหลักว่าความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไป ถือว่าเป็นเป็นเรื่องของคนในสังคมที่ต้องดูแลแก้ไขร่วมกัน เพราะที่ผ่านมาคนไทยมักจะถูกสอน ให้ยึดหลักที่ว่า เรื่องของครอบครัวเราไม่ควรยุ่ง เรื่องของสามีภรรยาคนนอกไม่ควรยุ่ง ซึ่งจริง ๆ แล้ว หากไม่มีความรุนแรงในครอบครัวก็ไม่มีใครกล้าไปยุ่ง แต่ในโลกทุกวันนี้สถิติบ่งบอกเด็ก สตรี ผู้ได้รับผลกระทบ หรือผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวมากที่สุดจากการที่ได้ยินข่าว ในช่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะพ่อทำร้ายลูก หรือลูกทำร้ายบิดามารดา ซึ่งถือว่าเป็นความรุนแรง ที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ควรจะแบกรับภาระนี้ เราควรที่จะเริ่ม หาทางแก้ไขร่วมกัน ซึ่งวันนี้ดิฉันก็ขอฝากข้อคิดไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบันทึกไว้ หรือปรับปรุงแก้ไข โดยมีรายละเอียดดังนี้

นางสุภาพร สลับศรี ยโสธร ต้นฉบับ

อย่างแรก เราควรที่จะมีการรณรงค์ให้คนไทยตระหนักใส่ใจ เข้าใจปัญหา ความรุนแรงในครอบครัวมากยิ่งขึ้น และจริง ๆ แล้วพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำ ความรุนแรงในครอบครัว ปี ๒๕๕๐ ก็มีประมาณ ๑๑ มาตรา ซึ่งจับประเด็นใหญ่ ๆ ให้ประชาชน เข้าใจกฎหมายแล้วก็เข้าใจสิทธิของผู้ถูกกระทำความรุนแรง รวมถึงช่องทางต่าง ๆ ในการช่วยเหลือ การประชาสัมพันธ์ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์การกระทำความรุนแรงเราสามารถแจ้ง ขอความช่วยเหลือ ขอคำแนะนำได้ที่ไหน เช่นในกรุงเทพฯ เราก็จะมีกรมกิจการสตรี และสถาบันครอบครัว ประสานสถาบันครอบครัว ส่วนภูมิภาคเราก็จะมีสำนักงานพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ แล้วก็มีสายด่วน ๑๓๐๐ หรือสามารถแจ้งที่สถานีตำรวจ โรงพยาบาล ศูนย์พึ่งพิง ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ หรือในชุมชน ในหมู่บ้าน เราอาจจะแจ้งที่ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หรือที่ทำการของท่านกำนัน ซึ่งส่วนนี้ยังไม่มีการประชาสัมพันธ์มากยิ่งขึ้น

นางสุภาพร สลับศรี ยโสธร ต้นฉบับ

ส่วนที่ ๒ ดิฉันคิดว่าเราควรมีกองทุนพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำ ความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อขับเคลื่อนการทำงานตามกระบวนการ ทางกฎหมาย ตามเจตจำนงของกฎหมายก็น่าจะดียิ่งขึ้น

นางสุภาพร สลับศรี ยโสธร ต้นฉบับ

ส่วนที่ ๓ ดิฉันคิดว่าเจ้าหน้าที่ที่ประจำศูนย์ตามจังหวัดต่าง ๆ เพื่อป้องกัน การกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นส่วนมาก ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นนะคะ เป็นพนักงานจ้างเหมาทำสัญญาจ้างเป็นปีต่อปี เงินเดือนค่อนข้างน้อยน่าจะไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาทต่อเดือน ซึ่งความมั่นคงในตำแหน่งหน้าที่ของกรมกิจการสตรีและสถาบัน ครอบครัวจะมีการอบรมต่าง ๆ เกี่ยวกับความเชี่ยวชาญการทำงาน แต่เมื่อสัญญาจ้างหมดไป เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการอบรมมีความเชี่ยวชาญแล้วก็จะไม่ได้ทำงานต่อ ก็จะทำให้สูญเสีย บุคลากรที่มีคุณภาพต่อไป

นางสุภาพร สลับศรี ยโสธร ต้นฉบับ

ข้อสุดท้าย ดิฉันคิดว่าถ้ามีการจัดตั้งศูนย์ในระดับหมู่บ้าน ตำบลทุกตำบล จะเป็นสิ่งที่ดี หรือถ้ามีแล้วหากมีการขับเคลื่อนศูนย์ให้เกิดขบวนการเฝ้าระวังป้องกัน คุ้มครอง และพัฒนาครอบครัวให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยมีงบประมาณสนับสนุน อย่างต่อเนื่องก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี สุดท้ายก็อยากจะฝากถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งภาครัฐ เอกชน หน่วยงานต่าง ๆ ให้ร่วมมือช่วยกันแก้ไขปัญหาเรื่องนี้เพื่อให้สังคมอยู่อย่างมีความสุข ขอบคุณท่านประธานมากค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์

นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม ประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เขต ๗ พรรคก้าวไกล ขอ Slide ด้วยครับ

นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

วันนี้ผมจะมาอภิปรายเรื่องของ รายงานข้อมูลสถานการณ์ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ ประจำปี ๒๕๖๓-๒๕๖๔ วัตถุประสงค์ของ ๒ รายงานฉบับนี้ก็คือการมีนโยบาย เร่งด่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ตามอักษรสีแดงนะครับ อาจจะมองไม่ค่อยชัด นโยบายเร่งด่วนในการป้องกันและแก้ไข ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ย้ำรอบที่ ๒ แต่ในรายงานผมไม่เห็นว่า มีการเปลี่ยนแปลงในการลดความรุนแรงเลย จากสถิติปี ๒๕๕๙-๒๕๖๔ เราจะเห็นว่า มีสถิติ ๒๐,๐๐๐ ๒๑,๐๐๐ ๑๔,๐๐๐ ๑๕,๐๐๐ ๑๖,๐๐๐ ๑๖,๐๐๐ ความเปลี่ยนแปลง ไม่ได้เห็นอย่างเด่นชัด อันนี้ข้อมูลที่ได้มาก็ได้มาจากหลายแหล่ง อย่างเช่นศูนย์พึ่งได้ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานการแพทย์ สำนักอนามัย โรงพยาบาลตำรวจ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม บ้านพักเด็ก Case ต่าง ๆ เหล่านี้รวมกันน่าจะไม่เกิน ๔๕,๐๐๐ เคส ต่อปีที่ท่านรวบรวมสถิติเข้ามา แต่ปัญหาของสถิติตัวนี้ไม่ได้รวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่บ้าน อันนี้จะรวบรวมจากศูนย์พึ่งพิง โรงพยาบาล ศูนย์ช่วยเหลือ ซึ่งเป็นจุดแทบจะสุดท้ายอยู่แล้ว คือความรุนแรงเกิดขึ้นจนเขาทนไม่ได้ ต้องไปขอความช่วยเหลือ ท่านถึงเก็บสถิติตรงนี้มา แต่ท่านละเลยหลาย ๆ จุดไปนะครับ Violence ในบ้านอันนี้ก็สำคัญหลาย ๆ เรื่อง อันนี้คือสถิติที่ท่านได้มาแบ่งตามช่วงอายุ ท่านก็จะเห็นว่าช่วง ๑๐-๒๐ ปีพุ่งโดดมา ๒๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ๑ ใน ๔ และในเด็กต่ำกว่า ๑๐ ปี แท่งกราฟแรก ๑,๓๐๐ เคสเท่านั้น ไม่ถึง ๑๐ เปอร์เซ็นต์เพราะอะไรครับ เพราะเด็กเหล่านี้ไม่สามารถ แจ้งความได้ เด็กเหล่านี้ไม่สามารถบอกใครได้สถิติเหล่านี้ถูกละเลยนะครับ ผมถึงอยากให้ ท่านเก็บสถิติที่ตรงความเป็นจริงให้มากที่สุด เดี๋ยวผมจะมีข้อแนะนำอยู่ด้านหลังนะครับ ปัญหาของตรงนี้สถิติสูงที่สุดอันดับ ๙ และอันดับ ๑๐ ก็คือสามีภรรยา แฟน อันนี้เราจะเห็นว่า มีสถิติสูงสุด ๒ อันรวมกัน ๕๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ก็อย่างว่านะครับ เป็นสถิติที่เกิดความรุนแรง ขนาดหนักแล้ว ท่านถึงเก็บสถิติตรงนี้มา

นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

ตรงนี้ผมจะยกตัวอย่างความรุนแรงที่หลาย ๆ ท่านก็ได้พูดไปแล้ว ความรุนแรง ที่เราเก็บสถิติมาในรายงาน ๒ ฉบับนี้ส่วนมากจะเป็นความรุนแรงทางด้านร่างกาย Physical Abuse แต่เราละเลยสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไปหรือเปล่าความรุนแรงทางด้านอารมณ์หรือจิตใจ Emotional Abuse ข้อ ๒ นะครับ อย่างเช่นการด้อยค่า การด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย การทำร้ายจิตใจ ซึ่งตรงนี้ก็ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ ความรุนแรงทางเพศ หรือ Sexual Abuse ไม่ว่าจะเป็นสามีบังคับภรรยาให้ร่วมหลับนอนก็ถือเป็น Sexual Abuse เหมือนกัน เพราะภรรยาไม่ได้เต็มใจในขณะนั้น การทารุณกรรมทางด้านการเงิน อย่างเช่นการไม่ให้เงิน หรือให้เงินเด็กไปโรงเรียนน้อย อันนี้ก็เป็นการทารุณกรรมอย่างหนึ่งที่เราละเลยไปหรือเปล่า การล่วงละเมิดทางจิตใจอย่าง Spiritual Abuse ซึ่งอันนี้จะเน้นความเชื่อทางด้านศาสนา อันนี้ก็เป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง การบังคับให้มานับถือศาสนา หรือการบังคับไม่ให้ไปปฏิบัติ พิธีกรรมทางศาสนาเป็นความรุนแรงเช่นกัน การสะกดรอย ติด GPS อะไรพวกนี้คือ การ Abuse ทั้งนั้น คือความรุนแรงในครอบครัวเช่นกัน ท่านละเลยสิ่งเหล่านี้หมดเลย

นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

ข้อเสนอแนะของผมอย่างแรกคือเราต้องเก็บสถิติให้ได้ใกล้เคียงความเป็นจริง ให้มากที่สุด เราทำได้อย่างไร เราไปตามสถานีตำรวจทั่วประเทศ ๑,๔๘๒ แห่ง การแจ้งความก็คือ ความรุนแรงในครอบครัวแล้ว รุนแรงถึงขนาดแจ้งความนี่คือรับเป็นสถิติได้เลย โรงพยาบาล ทั่วประเทศนะครับ การที่มารักษาพยาบาล ฟกช้ำดำเขียว เลือดตกยางออกนี่ก็เป็น สอบถามจากหมอพยาบาลได้เพื่อรวบรวมสถิติ การไปถึงชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา เก็บรวบรวม สถิติจากครูอาจารย์ การทำแบบสอบถาม ตัวอย่างสุ่มนะครับ เราโทรศัพท์ไปตามบ้าน สมมุติ เราโทรศัพท์ไปทุกเดือน เดือนละ ๑,๐๐๐ ราย เราก็ดูว่าใน ๑,๐๐๐ รายนี้มีอะไร ที่เข้าข่ายหรือเปล่า เราเก็บสถิติตรงนี้ได้ เราต้องทำงานเชิงรุก ก็โทรศัพท์สอบถามตามบ้าน สมมุติมี ๑,๐๐๐ รายมี Case ที่เข้าข่ายความรุนแรงที่กล่าวมานี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน ด้านจิตใจด้าน Spiritual เราสามารถเก็บรวบรวมสถิติได้ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริง มากที่สุด เพราะความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่การทำร้ายร่างกายเพียงอย่างเดียว

นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

ข้อเสนอแนะต่อไปก็คือท่านอาจจะเปิด Hotline ให้คำปรึกษา ๒๔ ชั่วโมง เพราะหลายเรื่องในครอบครัวไม่สามารถปรึกษาใครได้ ทุกคนก็มีความละอายแก่ใจ การเอาเรื่องในครอบครัวไปขายข้างนอก แต่เขาสะดวกใจที่จะโทร Hotline ปรึกษา ท่านก็ให้คำแนะนำได้ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงในครอบครัว การล่วงละเมิดทางเพศ หรือแม้แต่เด็ก อันนี้ก็เป็นการป้องกัน อันนี้ผมขอยกตัวอย่างที่สหรัฐอเมริกาจะมีการบรรจุ หลักสูตรในเด็กประถมเลยนะครับ การสอนดีที่สุดคือสอนตั้งแต่เด็ก ให้เด็กรู้ว่าอะไรคือ ความรุนแรง อะไรคือการล่วงละเมิดทางเพศ มีการสอน ผมยกตัวอย่างเพื่อนที่อยู่สหรัฐอเมริกา คนไทยไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาประมาณ ๒๐ ปี มีลูก ๑ คน วันดีคืนดีตำรวจมาเคาะหน้าบ้าน ตำรวจถามว่าท่านตีลูกหรือเปล่า แม่คนนั้นตกใจ เป็นคนไทยนะครับ ก็บอกว่าเปล่าไม่ได้ตี ใครไปโทรศัพท์แจ้งหรือ เพื่อนบ้านหรือ อะไรอย่างนี้ ตำรวจบอกว่าไม่ใช่ ลูกของคุณ โทรศัพท์แจ้ง อันนี้อาจจะเป็นการ Surprise ของคุณแม่ที่เพิ่งไปอยู่ที่นั่น แต่จริง ๆ แล้ว เป็นเรื่องปกติมากของที่สหรัฐอเมริกา เขาสอนเด็กตั้งแต่เล็กเลยว่าให้รู้จักร่างกายตนเอง ส่วนไหนเป็นส่วนที่สงวน ไม่ควรให้ใครแตะต้อง ไม่ควรให้ใครถ่ายรูป แตะตรงไหนยอมรับได้ แตะตรงไหนยอมรับไม่ได้ เมื่อเด็กรู้สึกยอมรับไม่ได้ให้ทำอย่างไร ให้พูดอย่างไร ให้ถอย ออกมาอย่างไร แล้วก็ควรสอดส่องดูแลเพื่อน ๆ ด้วย ในกรณีที่เพื่อนบ้านหรือว่าเพื่อนร่วมห้อง มีอะไรที่ผิดปกติ เพื่อนสามารถที่จะให้คำแนะนำกันได้ตั้งแต่เด็กเลย อันนี้จะช่วยให้ลดความรุนแรง ในครอบครัวได้ตั้งแต่ที่บ้านเลยนะครับ ตั้งแต่เด็กเลย เพราะเด็กนี่คืออย่างที่บอกนะครับ ไปแจ้งความก็ไม่ได้ บางครั้งบอกใครก็ไม่ได้ อันนี้ก็จะช่วยให้ลดความรุนแรงในครอบครัวได้ แล้วก็ลดปัญหาล่วงละเมิดทางเพศได้ แล้วก็อย่างน้อยก็คือต้องให้ความรู้คุณครูด้วย คอยสอดส่อง เด็ก ๆ ด้วย เวลาเด็กมาจากบ้านฟกช้ำดำเขียวมา มีโรคซึมเศร้า หรือว่าแต่งตัวไม่เรียบร้อย เสื้อผ้ายับอย่างนี้อาจจะมีปัญหาที่บ้านแล้วให้สอบถามสอดส่องนะครับ อยากจะให้บรรจุ ตรงนี้เป็นหลักสูตรให้กับเด็ก หรือไม่อย่างน้อยปีหนึ่งทาง พม. ก็ไปสอนตามโรงเรียนประถม สักครั้งหนึ่ง ทุกปี ๆ เพื่อให้เด็กได้รับรู้เรื่องเหล่านี้ติดไปจนโตเพื่อการแก้ปัญหาระยะยาว อย่างไรต้องขอขอบคุณ ฝากท่านประธานส่งข้อความถึงทาง พม. ให้ด้วย ขอบคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เพื่อนสมาชิกครับ ตอนนี้อยู่ลำดับที่ ๑๕ จากทั้งหมด ๓๙ ผมอยากขอความร่วมมือ ทุกท่านช่วยกันรักษาเวลาด้วยนะครับ เพราะว่าอีกญัตติหนึ่งเรื่องของพลังงานก็มีผู้เข้าชื่อ จำนวนมาก แล้วถ้าทางสมาชิกประสงค์ที่จะอภิปรายญัตติราคากุ้งตกต่ำ ถ้าเราไปถึงตรงนั้นได้ ก็จะเป็นเรื่องที่ดีต่อสภามากนะครับ เชิญท่านณัฐจิรา อิ่มวิเศษ

นางสาวณัฐจิรา อิ่มวิเศษ นครราชสีมา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน ดอกเตอร์ณัฐจิรา อิ่มวิเศษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๔ พรรคเพื่อไทย จากการที่ดิฉันได้อ่านรายงานพบว่ามีข้อสังเกตและข้อซักถาม ๓ ประการ

นางสาวณัฐจิรา อิ่มวิเศษ นครราชสีมา ต้นฉบับ

ประการแรก กว่า ๑๖ ปีที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง ในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้มีการบังคับใช้ แต่จากสถิติความรุนแรงในครอบครัวที่ผ่านมา พบว่าไม่ได้มีจำนวนลดลงเลยค่ะ เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปีด้วยซ้ำ โดยเฉพาะความรุนแรงที่เกิดกับสตรี จากสถิติที่ผ่านมาพบว่าผู้หญิงเป็นผู้ถูกกระทำอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นทุกปี ในจำนวน ของผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงมีจำนวนหลายร้อยรายถึงขั้นเสียชีวิต โดยผลสำรวจ สถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและสตรีพิการในปี ๒๕๖๔ โดยมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาค ทางสังคม สมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการพบว่าหญิงไทยถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกทำร้าย ร่างกายและจิตใจไม่ต่ำกว่า ๗ วันต่อคน และมีผู้หญิงได้เข้ารับการบำบัดรักษา แจ้งความ ร้องทุกข์ประมาณปีละ ๓๐,๐๐๐ ราย ถือว่าเป็นสถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงที่สูงติด ๑ ใน ๑๐ ของโลก ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สำรวจสถานการณ์ ความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวของประเทศ พบว่าประเภทความรุนแรงสูงสุด คือความรุนแรงทางด้านจิตใจ รองลงมาความรุนแรงทางด้านร่างกาย และในรายงานปี ๒๕๖๔ พบว่าข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่งผู้หญิงเป็นผู้ถูกกระทำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากศูนย์พึ่งได้ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีจำนวนผู้ถูกกระทำรวม ๑๖,๖๗๒ ราย โดยมีผู้หญิง คิดเป็นร้อยละ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ หรือข้อมูลจากศูนย์ช่วยเหลือทางสังคม สำนักงานปลัดกระทรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีผู้ขอรับบริการจากศูนย์ ๒,๓๘๒ ราย ก็เป็นผู้หญิงจำนวนสูงสุดเช่นกัน และข้อมูลจากกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีจำนวนผู้ถูกกระทำก็เป็นผู้หญิง สูงสุดเช่นกัน คิดเป็น ๗๙ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลที่เป็นเศษเสี้ยวของความรุนแรง ของผู้หญิง เพราะยังมีผู้หญิงอีกจำนวนนับไม่ถ้วนที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงที่ยังไม่ได้มี มาตรการที่จะช่วยเหลือ เพื่อที่จะลดจำนวนของผู้ถูกกระทำที่เป็นผู้หญิงให้มีจำนวนลดลง และทำให้ผู้ถูกกระทำกล้าที่จะขอความช่วยเหลือ หรือเข้ารับการปรึกษาจากหน่วยงาน และดิฉันเป็นผู้หญิงคนหนึ่งเห็นอกเห็นใจผู้หญิงด้วยกันว่าความรุนแรงในครอบครัวนั้น มันย่ำยีหัวใจผู้หญิงอย่างมาก ทั้งที่สังคมในปัจจุบันเป็นสังคมเสมอภาคทางด้านเพศ และความเท่าเทียม เพราะฉะนั้นอยากให้ความรุนแรงของผู้หญิงมีจำนวนที่ลดลง

นางสาวณัฐจิรา อิ่มวิเศษ นครราชสีมา ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ จากการเก็บข้อมูลข่าวความรุนแรงในครอบครัวและคู่รัก ทางหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ปี ๒๕๖๓ พบ ๕๙๓ ข่าวจากหนังสือพิมพ์ทั้งหมด ๙ ฉบับ และปี ๒๕๖๔ พบ ๓๗๒ ข่าว จากหนังสือพิมพ์ทั้งหมด ๑๑ ฉบับ ข้อมูลดังกล่าว ปี ๒๕๖๔ พบว่ารูปแบบความรุนแรงในการฆ่ากันในครอบครัวสูงถึง ๑๙๕ คิดเป็น ๕๒.๔ เปอร์เซ็นต์ เมื่อมาดูในรูปแบบความสัมพันธ์พบว่าอันดับ ๑ เป็นฆ่ากันระหว่างสามีภรรยา โดยสามี ฆ่าภรรยา หรือฆ่าผู้เกี่ยวข้อง อันดับ ๒ เป็นฆ่ากันระหว่างคู่รักหรือแฟน โดยฝ่ายชาย เป็นผู้กระทำฝ่ายหญิง คิดเป็น ๖๕ เปอร์เซ็นต์ และสาเหตุของการฆ่านั้นก็เกิดจากการหึงหวง จากสถิติข่าวความรุนแรงในครอบครัวจะเห็นได้ว่าปัญหาความรุนแรงของครอบครัว เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างอำนาจ จากตัวอย่างข่าวในการฆ่าที่ผ่านมาที่มีสามีฆ่าภรรยาและลูก อันนั้นก็คือจากสังคมไทยส่งผลให้ความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นจากผู้ชายเป็นผู้กระทำ อาจจะเนื่องด้วยจากพิษเศรษฐกิจรายจ่ายสูงกว่ารายได้หรือเป็นหนี้ จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ ฆาตกรรมเกิดขึ้น กำลังความรุนแรงของสมาชิกในครอบครัวบางครั้งในแบบเรียนไทย ผู้ชายก็ยังเป็นใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือภาษาพาที วิชาภาษาไทยตามหลักสูตรแกนกลาง การศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๕๑ หรือจากข้อสอบที่เป็นข่าวดังตามตามสื่อ Online นอกจากนี้ยังมีกรอบความเชื่อที่ว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว ส่งผลให้ ผู้ถูกกระทำปกปิดปัญหาไม่ขอความช่วยเหลือ หรือทำให้ผู้คนในสังคมไม่กล้าให้ความช่วยเหลือ ถือว่าเป็นเรื่องของสามีภรรยา อีกทั้งเป็นบรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อความคิด ทำให้ผู้หญิงไม่กล้าที่จะก้าวออก จากความรุนแรงในครอบครัว ทั้งแนวคิดว่าผู้หญิงถูกมองว่าเป็นเพศจำยอม การอดทนเพื่อลูก เพื่อรักษาครอบครัวที่สมบูรณ์และรักษาหน้าตาทางสังคม ในประเด็นนี้ทางหน่วยงานจะมี การดำเนินงานเพื่อที่จะลดการผลิตแบบเก่า ๆ ซ้ำ ๆ และมีแผนงานอย่างไรในการที่จะสร้างพลัง ให้กับผู้ที่ต้องเผชิญความรุนแรงในครอบครัว ให้สามารถหลุดพ้นจากความรุนแรงได้ เพื่อไม่ให้ผู้ถูกกระทำต้องอดทน และเผชิญหน้ากับความรุนแรงโดยลำพัง เพราะมีความจำเป็น อย่างยิ่ง และต้องมีการดำเนินการร่วมกันจากหลาย ๆ หน่วยงานในการที่จะแก้ปัญหา ความรุนแรงในครอบครัวให้ครบทุกมิติ

นางสาวณัฐจิรา อิ่มวิเศษ นครราชสีมา ต้นฉบับ

ประการที่ ๓ เมื่อพิจารณาตามมาตรการทางกฎหมายจะเห็นได้ว่า การออกกฎหมายเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวมีเจตนาหลักที่จะให้ความครอบคลุม ผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรง แต่จากบทบัญญัติในมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครอง ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ระบุว่าไม่ว่าพิจารณาคดีการกระทำ ความรุนแรงในครอบครัวจะได้ดำเนินไปแล้วเพียงใด ให้ศาลพยายามเปรียบเทียบให้คู่ความ ได้ยอมความกัน โดยมุ่งถึงความสงบสุขและการอยู่ด้วยกันของครอบครัวเป็นสำคัญ แม้กระทั่ง มาตรากฎหมายก็ยังให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัว เพราะฉะนั้นดิฉันเองเป็นตัวแทน ของผู้หญิงคนหนึ่งก็ขอให้คุ้มครองสิทธิผู้หญิง หรือความรุนแรงเกี่ยวกับผู้หญิงด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านซาการียา สะอิ

นายซาการียา สะอิ นราธิวาส ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ และสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรทุกท่าน ผม นายซาการียา สะอิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส ประกอบไปด้วยอำเภอระแงะ อำเภอจะแนะ และอำเภอสุคิริน พรรคภูมิใจไทย ก่อนอื่น ผมต้องขอขอบคุณและเป็นกำลังใจให้กับการทำงานของผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ของ พม. ทุกท่าน ตัวผมเองเป็นคน ๓ จังหวัด วันนี้ก็จะพูดถึงความรุนแรงใน ๓ จังหวัดนะครับ เมื่อพูดถึง ๓ จังหวัดแล้วคนส่วนใหญ่มักจะนึกถึง หรือโฟกัสไปถึงความรุนแรงในพื้นที่ แต่ยังมีอีกมุมหนึ่ง ในความรุนแรงที่คนมองข้ามกันก็คือความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งเกิดจากปัญหาหลาย ๆ อย่าง ขอ Slide ที่ ๒ ด้วยครับ

นายซาการียา สะอิ นราธิวาส ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาที่เคารพ ตารางนี้ จะเป็นตารางสถิติความรุนแรงของบุคคลทั่วไป ความรุนแรงในครอบครัว ๓ จังหวัด ชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ ถึงปี ๒๕๖๕ ผมโฟกัสที่จังหวัดนราธิวาส ในปี ๒๕๖๕ มีจำนวน ๖๘ คน อันนี้เป็นระบบฐานข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรี ความรุนแรง ในครอบครัว อันนี้ของนราธิวาสปี ๒๕๖๕ จะมี ๒๘ ราย ซึ่งต่างจากข้อมูลศูนย์ให้คำปรึกษา เสริมพลังสตรีของจังหวัด ในปี ๒๕๖๕ มีจำนวน ๑๔๒ ต่างกันมากครับ จะสังเกตว่าข้อมูล สถิติความรุนแรงที่มาจากทาง พม. เอง กับมาจากทางศูนย์ส่งเสริมพลังสตรีในจังหวัดนราธิวาส ต่างกันเยอะมาก เพราะอะไรครับท่านประธาน เพราะว่าในพื้นที่ ๓ จังหวัดนี้มีความแตกต่าง ในเชิงการใช้กฎหมายครอบครัว ท่านประธานที่เคารพครับ เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความรุนแรง ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาหลาย ๆ อย่าง อย่างเช่นปัญหาการพนัน และปัญหายาเสพติด ตอนเช้าผมเปิดข่าว TV ออกมาเห็นภาพพ่อท่านหนึ่งถีบลูกชาย ผมตกใจมากท่านประธานว่า เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นบ่อย ๆ แต่มาออก TV น้อยมาก ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าความรุนแรงเกิดขึ้น ตลอดเวลา ดังนั้นในพื้นที่ผมเองจึงมีปัญหาทางด้านการพนันและปัญหายาเสพติดเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้เกิดปัญหาความรุนแรงต่อครอบครัว ดังนั้นผมอยากฝากท่านประธานไปสู่หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากพื้นที่ ๓ จังหวัดเป็นพื้นที่พิเศษ มีศูนย์บำบัดที่เป็นในรูปแบบของศาสนาอิสลาม จำนวนน้อยมาก แล้วต้องมีค่าใช้จ่ายในการที่จะเข้าศูนย์บำบัดประมาณ ๓,๐๐๐ บาท ต่อเดือน บางท่านอาจจะคิดว่ามันน้อยมาก แต่ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ผมบอกได้เลยว่า เงินจำนวน ๓,๐๐๐ บาทมันเป็นจำนวนมากครับ ดังนั้นจึงอยากให้ช่วยเพิ่มศูนย์บำบัดปัญหา ยาเสพติดในรูปแบบของศาสนาอิสลามเพิ่มขึ้น ท่านประธานครับ ในศาสนาอิสลามเมื่อแต่งงาน ตามระเบียบของศาสนา การหย่าร้างก็ต้องทำตามระเบียบของศาสนาด้วยกัน หากผู้หญิง ถูกกระทำความรุนแรง พวกเธอต้องไปเรียนต่อผู้นำศาสนาในพื้นที่ และให้สำนักงาน คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในแต่ละจังหวัดช่วยดำเนินการ ซึ่งต้องขอขอบคุณ ทางคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดบางจังหวัด เช่น นราธิวาส ที่ช่วยดำเนินการจัดตั้ง ศูนย์บริการให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรี ให้สามารถได้เข้าใจเข้าถึงผู้หญิงด้วยกัน แล้วสามารถ ที่จะตรวจสอบการทำร้ายร่างกายจากคู่กรณีได้ อย่างไรก็ตามในพื้นที่ ๓ จังหวัดรวมถึง สตูลด้วยนะครับ มีกฎหมายพระราชบัญญัติพิเศษว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลาม พ.ศ. ๒๔๘๕ ผมย้ำนะครับ พ.ศ. ๒๔๘๕ ๘๐ ปีที่แล้วพระราชบัญญัตินี้ใช้มานานมาก พระราชบัญญัติ ว่าด้วยกฎหมายอิสลาม บัญญัติในมาตรา ๓ ในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีแพ่งเกี่ยวด้วยครอบครัว และมรดกอิสลามศาสนิกของศาลชั้นต้น ในจังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา และจังหวัดสตูล ซึ่งอิสลามศาสนิกเป็นทั้งโจทก์ จำเลย หรือเป็นผู้เสนอคำขอในคดีที่ไม่มี ข้อพิพาทให้ใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกบังคับแทนบทบัญญัติแห่งประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการนั้น เว้นแต่บทบัญญัติว่าด้วยอายุความมรดก ทั้งนี้ ไม่ว่ามูลคดีเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันใช้พระราชบัญญัตินี้ พระราชบัญญัติว่าด้วยกฎหมายอิสลาม มาตรา ๔ วรรคหนึ่ง ว่าการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นตามความมาตรา ๓ ให้ดาโต๊ะยุติธรรม ๑ คนนั่งพิจารณาพร้อมกับผู้พิพากษา และในวรรคสองว่าให้ดาโต๊ะยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่ วินิจฉัยข้อขัดกฎหมายอิสลาม และลงลายมือชื่อในคำพิพากษาตามคำวินิจฉัยชี้ขาดนั้นด้วย และวรรคสาม คำวินิจฉัยชี้ขาดของดาโต๊ะยุติธรรมในข้อกฎหมายอิสลามให้เป็นอันเด็ดขาด ในคดีนั้น ดังนั้นผมจึงสรุปได้ว่าปัญหาของ พ.ร.บ. ว่าด้วยกฎหมายอิสลามจำเป็นต้องมี การแก้ไขเพื่อจะให้ทันยุคทันสมัยนะครับท่านประธาน เพราะฉะนั้นปัญหาดังกล่าว ผมจึงรวบรวมมาได้เป็น ๕ ข้อ ดังนี้

นายซาการียา สะอิ นราธิวาส ต้นฉบับ

๑. ปัญหาเรื่องเขตอำนาจของศาล

นายซาการียา สะอิ นราธิวาส ต้นฉบับ

๒. ปัญหาเรื่องของศาสนาคู่ความ

นายซาการียา สะอิ นราธิวาส ต้นฉบับ

๓. ปัญหาเรื่องคดีแพ่งเกี่ยวกับครอบครัวและมรดกอิสลามมีความครอบคลุม แค่ไหน เพียงใด

นายซาการียา สะอิ นราธิวาส ต้นฉบับ

๔. กฎหมายดังกล่าวมีผลในทางปฏิบัติมากน้อยเพียงใด

นายซาการียา สะอิ นราธิวาส ต้นฉบับ

๕. ดาโต๊ะยุติธรรมคนเดียว ไม่ได้เป็นองค์คณะ ไม่ได้เป็นหมู่คณะ

นายซาการียา สะอิ นราธิวาส ต้นฉบับ

เพราะฉะนั้นการพิพากษาอาจจะมีข้อผิดพลาดข้อเสียเปรียบได้ครับท่านประธาน ดังนั้นผมฝากเรียนท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยตั้งคณะกรรมการศึกษา พระราชบัญญัติว่าด้วยกฎหมายอิสลาม เพื่อให้การแก้ไขปัญหาได้ตามยุคตามสมัย ขอบคุณมาก ท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านกัลยพัชร รจิตโรจน์

นางสาวกัลยพัชร รจิตโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธาน ที่เคารพค่ะ ดิฉัน กัลยพัชร รจิตโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ดิฉันขอขอบคุณกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ ที่ได้จัดทำรายงานสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว โดยถึงแม้จะมีเครือข่าย ผู้ให้ความช่วยเหลือและทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่ก็ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ รุนแรงได้มากถึงปีละ ๒๘,๐๐๐ คนค่ะ กระนั้นเองความช่วยเหลือที่อยู่ในรายงานเป็นปรากฏการณ์ความรุนแรงเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากการให้ความช่วยเหลือของเครือข่ายผู้ให้บริการช่วยเหลือส่วนใหญ่อยู่ในที่ตั้ง อยู่ในสำนักงาน อยู่ในสถานบริการสุขภาพ ตัวเลขผู้ถูกกระทำรุนแรงที่สะท้อนในรายงาน เกือบ ๓๐,๐๐๐ คนต่อปี จึงเป็นเพียงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ยังมีเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีความหลากหลายทางเพศอีกจำนวนมากที่ถูกทำร้าย แต่ไม่กล้าที่จะขอเข้ารับการช่วยเหลือ หรือว่าเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือ นอกจากนี้ยังมีผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวอีกกลุ่มหนึ่ง ที่แทบไม่ปรากฏในรายงานเลย นั่นคือความรุนแรงในคู่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยที่อยู่ใน ภาวะพึ่งพิง หรือผู้ป่วยติดเตียงกับผู้ให้การดูแล ณ ขณะนี้เราเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย ผู้ป่วยเรื้อรัง ติดเตียงมีแนวโน้มขาดผู้ดูแลมากขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะสำหรับคนวัยทำงานแบบรุ่นพวกเรา บางครอบครัวอาจมีผู้ป่วย ๑-๒ คน แต่มีผู้ให้การดูแลเพียงคนเดียวเท่านั้น เขาจึงต้องแบกรับ ภาระการดูแลที่หนักหน่วง จำนวนหนึ่งต้องลาออกจากงานมาดูแล พวกเขาอยู่ในสภาวะ เครียด บีบคั้น กดดัน และอาจพลั้งเผลอทำร้ายผู้ป่วย หรือแม้แต่ตั้งใจทำร้ายผู้ป่วยติดเตียง นี่คือความรุนแรงในครอบครัว หรือ Domestic Violence เช่นเดียวกันที่คนมักมองข้าม แน่นอนว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่สามารถเดินทางมาศูนย์ให้ความช่วยเหลือได้ ตัวเลขจึงไม่ปรากฏ ในรายงานความรุนแรงในครอบครัว แม้กระทั่งการกรอกข้อมูลก็ยังไม่เคยมีคำถามว่า ผู้ถูกกระทำรุนแรงเป็นผู้ป่วยติดเตียงหรือไม่ ตามนิยามการทำรุนแรง นอกจากการใช้กำลังแล้ว การทอดทิ้ง โดดเดี่ยว ไม่ใส่ใจก็เป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง ขอให้ท่านตระหนักว่าระหว่างนี้ ที่เรานั่งกันอยู่นี้ในชุมชนของเรายังมีผู้ป่วยติดเตียงถูกทิ้งให้อยู่โดดเดี่ยวในช่วงกลางวัน เสี่ยงที่จะทุกข์ทรมานจากความเหงา จากความเจ็บปวด จากแผลกดทับ จากความน้อยเนื้อต่ำใจ ในความเป็นมนุษย์ แต่ความรุนแรงนี้มิใช่ว่าเป็นความตั้งใจส่วนตัวของผู้ดูแล แต่เป็นความรุนแรง ของสังคมต่างหากที่ไม่จัดสรรระบบการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง และผู้ดูแลอย่างเหมาะสม และเพียงพอ ความทุกข์ทรมานลักษณะนี้ที่ผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงกังวล บางคนถึงขนาดส่งเสียงเรียกร้องสิทธิเร่งการตาย หรือ Euthanasia มาเลยก็มี นอกจากนั้น ยังสะท้อนผ่านสถิติการฆ่าตัวตายที่พุ่งสูงขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง หรือผู้ป่วย ระยะสุดท้าย โดยในปีงบประมาณปีล่าสุดมีผู้สูงอายุฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ ๑,๐๐๐ คน ท่านประธานคะ นี่คือความรุนแรงที่ควรจะถูกบรรจุไว้ในรายงานสถานการณ์ด้วยหรือไม่ เพื่อลดความรุนแรงจากการดูแลผู้ป่วยในภาวะพึ่งพิงดิฉันมีข้อเสนอ ๓ ประการ ดังนี้

นางสาวกัลยพัชร รจิตโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประการที่ ๑ ดิฉันเสนอต่อผู้จัดทำรายงานว่า ควรเฝ้าระวังความรุนแรง ในครอบครัวโดยเพิ่มประเด็นความรุนแรงที่ Caregiver ทำต่อผู้ป่วยติดเตียงด้วย

นางสาวกัลยพัชร รจิตโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ ดิฉันขอเสนอต่อรัฐสภาแห่งนี้ว่า สังคมไทยจะต้องเร่งพัฒนา ระบบสุขภาพชุมชน เพิ่มปริมาณกองทุนดูแลผู้ป่วยระยะยาวและระยะท้ายอย่างจริงจัง ให้ครอบครัวที่มีผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงมีทรัพยากรเพียงพอที่จะดูแลผู้ป่วย เพราะถ้าหาก เราสามารถลดความตึงเครียดของผู้ดูแลได้ก็ย่อมลดความรุนแรงในครอบครัวต่อผู้ป่วยได้ เช่นเดียวกัน

นางสาวกัลยพัชร รจิตโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประการสุดท้าย ดิฉันขอเสนอทั้งต่อรัฐสภาและต่อฝ่ายบริหารให้ช่วยสนับสนุน การกระจายอำนาจและทรัพยากรให้ท้องถิ่นจัดการปัญหาสังคม และความรุนแรงในครอบครัว ได้ด้วยตนเอง เพื่อที่พวกเขาจะได้มีกำลังจ้างนักสังคมสงเคราะห์ หรือนักจิตวิทยาชุมชน ไว้ดูแลพี่น้องในชุมชน ปัจจุบันข้อมูลเรามีนักสังคมสงเคราะห์ทั่วประเทศจำนวน ๒,๘๐๐ คน มีอัตราส่วนเพียงแค่ ๔ คนต่อการดูแลผู้ป่วย ๑๐๐,๐๐๐ คน ไม่เพียงพออย่างยิ่งนะคะ กำลังคนเพียงเท่านี้ไม่อาจให้บริการสังคมสงเคราะห์เชิงรุกได้เลย ไม่สามารถไปเยี่ยมบ้าน เก็บข้อมูลและประสานงานแก้ปัญหาในระดับชุมชนได้เลย เพราะฉะนั้นการกระจายอำนาจ ท้องถิ่นและการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนเท่านั้นที่จะช่วยยุติความรุนแรงในครอบครัวได้ อย่างแท้จริง

นางสาวกัลยพัชร รจิตโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้ดิฉันให้กำลังใจการทำงานของพี่น้องนักสังคมสงเคราะห์ พยาบาล นักจิตวิทยา และผู้ให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำรุนแรงทุกท่าน ดิฉันขอให้ท่านภูมิใจ ในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ของท่าน แล้วก็ไม่ลืมที่จะดูแลร่างกาย จิตใจ และครอบครัว ของท่านเองด้วย ขอฝากไว้เพียงเท่านี้นะคะ ขอบคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ต่อไปท่านวรวงศ์ วรปัญญา เชิญครับ

นายวรวงศ์ วรปัญญา ลพบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายวรวงศ์ วรปัญญา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี เขต ๕ อำเภอท่าหลวง อำเภอลำสนธิ อำเภอชัยบาดาล วันนี้ผมขออนุญาตใช้สภาอันทรงเกียรตินี้มาพูดชี้แจง แล้วก็อยากจะเสนอแนะในส่วนขององค์กรที่รับผิดชอบเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรง ภายในครอบครัว วันนี้สถาบันที่เป็นสถาบันแรกสำหรับน้อง ๆ ที่ได้ลืมตาดูโลก สถาบันแรก คือสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นสถาบันที่มีส่วนสำคัญอย่างมากกับชีวิตน้อง ๆ ในอนาคต รวมถึงบุคลากรต่าง ๆ ที่มีประสบการณ์ มีอายุแล้ว วันนี้ปัญหาความรุนแรงไม่ได้มีเพียงแค่ จากผู้ใหญ่มาสู่น้อง ๆ เยาวชน แต่ว่าเป็นปัญหา ๒ ทางก็คือขาดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ซึ่งหลายครั้งมันเกิดจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป แต่ผมมีความเชื่อว่าถ้าเราได้รับข้อมูลที่เพียงพอ เราสามารถจะทำความเข้าใจซึ่งกันและกันได้ วันนี้ผมขออนุญาตอธิบายปัญหาต่าง ๆ ซึ่งเป็นต้นเหตุที่เป็นจุดเล็ก ๆ ที่กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ภายในครอบครัว ซึ่งทำให้เกิด ความรุนแรงบ้าง ทำให้เกิดความสูญเสียบ้าง ไม่ว่าทางกายก็ดี ทางใจก็ดี

นายวรวงศ์ วรปัญญา ลพบุรี ต้นฉบับ

เรื่องแรก เป็นปัญหาที่พวกเราประชาชนเข้าใจกันดีก็คือปัญหายาเสพติด ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาเราได้เห็นผลกระทบจากยาเสพติดมากมาย ไม่ว่าราคาที่ค่อนข้าง ถูกขึ้น แล้วก็มีปริมาณที่มากขึ้นตามทุกท้องที่ ทำให้ลูก ๆ หลาน ๆ หรือแม้แต่พ่อแม่เอง มีปากเสียงต่อกันในการขอเงินเพื่อที่จะเอาไปซื้อยามาเสพบ้าง ซึ่งเป็นปัญหาที่ผมเชื่อว่า รัฐบาลนี้จะต้องเร่งแก้ไขให้เร็วที่สุด หลายครั้งไปขอเงินของผู้ปกครองบ้าง หรือขอเงิน จากลูก ๆ บ้าง เมื่อไม่ได้เพื่อไปเสพยาแล้วก็ทำให้เกิดความรุนแรงภายในครอบครัว เกิดการทำร้ายกันบ้าง ผมเห็นพื้นที่ของผมเองมีการเผาบ้านบ้าง มีการทำร้ายกัน ซึ่งหลาย ๆ ครั้ง ผู้ที่ถูกกระทำไม่ได้รู้ตัวเลย เคยไปเยี่ยมชุมชนก็คือมีเหตุเพลิงไหม้ ผมก็ถามว่าเกิดอะไรขึ้น เขาก็บอกว่าไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่คิดว่าอาจจะเป็นต้นเหตุมาจากสารเสพติดหรือเปล่า ที่ทำให้เขาได้ก่อวางเพลิงกับบุพการีภายในครอบครัว บางครั้งเสี้ยววินาทีมันก็เปลี่ยนชีวิตคนได้ ไม่ใช่แค่ในทางที่ดีนะครับ ในทางที่ร้ายหรือทำให้เกิดการสูญเสีย อันนี้ก็มีเช่นกันครับ

นายวรวงศ์ วรปัญญา ลพบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ที่ส่งผลกระทบไปยังครอบครัวมาก ๆ คือเรื่องของเศรษฐกิจ เมื่อก่อนลูกหลานเคยส่งเงินให้กับพ่อแม่ได้เดือนละ ๒๐,๐๐๐๐-๓๐,๐๐๐ บาท หรือ ๕,๐๐๐ บาท อะไรก็แล้วแต่ วันนี้เขาสามารถส่งได้น้อยลง ด้วยความเข้าใจหรือไม่เข้าใจของยุคสมัย ที่เปลี่ยนไป หรือภาวะเศรษฐกิจ หลายครั้งถูกต่อว่าจากบุพการีบ้างก็ดี หลาย ๆ ครั้ง น้อง ๆ รุ่นใหม่หรือเยาวชน หรือแม้แต่คนที่เป็นผู้นำครอบครัวก็ยังทำมาหากินอย่างเต็มที่ แต่ภาวะเศรษฐกิจทำให้เขามีรายได้ที่น้อยลง มีรายจ่ายที่มากขึ้น ทำให้ไม่สามารถที่จะดูแล ครอบครัวได้เท่าที่ควร

นายวรวงศ์ วรปัญญา ลพบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ เป็นปัญหาโรคซึมเศร้า ซึ่งผมคิดว่าจุดที่จะแก้ไขปัญหา แล้วก็ รักษาได้ทางใจเลย จุดแรกคือครอบครัว หลายครั้งเราต้องเข้าใจ ด้วยยุคสมัย ด้วยอายุ ที่อาจจะแตกต่างกันออกไป ผมอยากจะเรียนถามไปยังหน่วยงานว่าจะเป็นไปได้ไหมครับ ที่เราจะให้ความรู้เขา ให้ความเข้าใจเขามากขึ้นสำหรับสถาบันครอบครัว ให้เข้าใจน้อง ๆ มากขึ้นว่ายุคสมัยที่เปลี่ยนไปแล้วพ่อแม่ก็จะต้องเรียนรู้ในสิ่งที่เป็นความคิดของน้อง ๆ ในสิ่งที่เป็นความคิดของโลกสมัยใหม่ ใช่ครับ เราเคยได้ยินคำว่าอาบน้ำร้อนมาก่อน สำหรับ ผู้ที่มีประสบการณ์หรือบุพการีต่าง ๆ แต่วันนี้น้อง ๆ หรือคนรุ่นใหม่ก็อาจจะบอกว่า การอาบน้ำเย็นไม่ได้เป็นผลเสีย เพราะฉะนั้นเราต้องเปิดใจ แล้วก็เข้าใจซึ่งกันและกัน ระหว่างยุคสมัยที่แตกต่างกัน ในส่วนของโรคซึมเศร้า ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่เป็นเด็กต่างจังหวัดมาก่อน แล้วก็เคยถูก Bully เมื่อถูก Bully แล้วกลับไปอยู่ที่บ้านก็ไม่กล้าที่จะบอกพ่อแม่ เราจะทำอย่างไรให้พ่อแม่มีเวลา สนใจมากขึ้น คำว่ามีเวลานี่ครับ ไม่ใช่ว่ามีเวลาว่าง แต่คือใส่ใจกับปัญหาเรื่องเล็ก ๆ เหล่านี้ ที่อาจจะเป็นปม เป็นประเด็นปัญหาไปสู่โรคซึมเศร้า หลาย ๆ ครั้งคนอาจจะคิดไปเองด้วยซ้ำว่า ตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ จนกลายเป็นบ่อเกิดจากที่ไม่ได้เป็นคิดว่าตัวเองเป็น จนกลายเป็นว่า เป็นโรคซึมเศร้า พิษเศรษฐกิจยังไม่ได้ส่งผลเพียงแค่ต่อครอบครัวเพศใดเพศหนึ่งนะครับ ผมลงไปในพื้นที่ก็ได้รับคำพูดมากมาย โดยเฉพาะจากผู้นำครอบครัวที่เป็นฝ่ายชาย อันนี้ เป็นเรื่องใหญ่นะครับ หลายครั้งเขาได้พูดกับผมว่าเดือนนี้ทำงานมาไม่เคยได้จับเงินเลย อันนี้ก็อยากจะเรียนแม่บ้านทั้งหลายก็อยากให้ความสำคัญพ่อบ้านด้วย หลายคนมีอาชีพ เป็นแม่บ้านดูแลลูก ดูแลครอบครัว แล้วก็ไม่ให้พ่อบ้านใช้เงินเลย อันนี้เป็นปัญหานะครับ หลายท่านอาจจะรู้สึกขำ แต่เป็นปัญหาใหญ่เพราะว่ามันทำร้ายความรู้สึกของพ่อบ้านที่ตั้งใจ ทำงาน ทำมาหากิน แล้วก็อยากจะเป็นผู้นำครอบครัว แต่ไม่มีโอกาสที่ได้ใช้เงินสำหรับสิ่งที่ เขาอยากจะใช้บ้าง เข้าใจดีว่าเศรษฐกิจแบบนี้ต้องเก็บหอมรอบริบ ต้องเก็บออมเพื่ออนาคต เพื่อใช้ในยามจำเป็น

นายวรวงศ์ วรปัญญา ลพบุรี ต้นฉบับ

สุดท้าย ข้อเสนอแนะข้อเสนอเดียวเลยครับ ผมอยากที่จะทำให้ประเทศ ของพวกเรามีความเข้าใจมากขึ้นโดยผ่านหน่วยงาน เราจะมีวิธีไหม ที่สอนหรือให้คำแนะนำ ให้ข้อมูลต่อสถาบันครอบครัวว่าให้เปิดใจกันมากขึ้น วันนี้ปัญหาความรุนแรงเกิดจาก การทะเลาะเบาะแว้งทั้งนั้น ก็ฝากไปยังหน่วยงานด้วยครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านปวิตรา จิตตกิจ ครับ

นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉัน ปวิตรา จิตตกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตบางกอกใหญ่ ธนบุรี ภาษีเจริญ แขวงศิริราช และแขวงบางเชือกหนัง กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ท่านประธานคะ จากรายงานข้อมูล สถานการณ์ด้านความรุนแรงในครอบครัวตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครอง ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๓ และ พ.ศ. ๒๕๖๔ ทั้ง ๒ ฉบับนี้จะเห็นว่าหนึ่งในประเด็นที่เราควรจะหยิบยกมาพูดกันให้ชัดก็คือประเด็นของ ผู้สูงอายุ เพราะอะไรหรือคะ

นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

จากรายงานของศูนย์ช่วยเหลือ ทางสังคม สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในปี ๒๕๖๓ พบว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ จำนวน ๑๔๑ ราย โดยส่วนใหญ่แล้วถูกทำร้ายร่างกาย และในปี ๒๕๖๔ ก็พบว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น อยู่ที่จำนวน ๒๘๑ ราย ส่วนใหญ่ก็คือถูกทำร้ายร่างกายเช่นเดียวกัน ท่านประธานคะ หากพิจารณาดูจากรายงาน ทั้ง ๒ ฉบับนี้แล้วถึงสาเหตุของความรุนแรงในครอบครัว จะพบว่าส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากปัญหา ทางเศรษฐกิจ ยิ่งซ้ำร้ายในปี ๒๕๖๔ ก็เกิดวิกฤติโรคระบาด COVID-19 เพิ่มเติมเข้ามาอีก อย่างไรคะ เศรษฐกิจก็ไม่ดี COVID-19 ก็มานะคะ ทั้งหมดทั้งมวลนี้สถิติดังกล่าวจะบอกอะไร กับเราคะ สถิติบอกว่าความรุนแรงในผู้สูงอายุจริง ๆ แล้วไม่ได้ลดลงเลยค่ะ แต่ว่ามีแนวโน้ม ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี แล้วก็มีสาเหตุจากความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและปัญหาทางสุขภาพค่ะ ยิ่งไปกว่านั้นแล้วประเทศไทยเราได้เข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบแล้วค่ะ และกำลังจะเตรียมเข้า สู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอดในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า พร้อมแล้วหรือยังคะ แต่สังคมไทย ในปัจจุบันทุกวันนี้ผู้สูงอายุในประเทศไทยหลายคนยังคงต้องทำงานอย่างหนักเลี้ยงตัวเอง ปากกัดตีนถีบในสภาวะที่บีบคั้นทางเศรษฐกิจอย่างนี้ นอกจากนี้แล้วผู้สูงอายุหลายท่าน ก็ยังต้องทำงานเพื่อเลี้ยงหลาน บางคนก็เลี้ยงทั้งลูกและหลาน เจอไปทั้ง ๒ Gen พร้อม ๆ กัน บางส่วนเกิดจากปัญหาท้องไม่พร้อม และบางส่วนก็เกิดจากปัญหาที่พ่อแม่ไม่มีความสามารถ ในการเลี้ยงดูลูกตัวเอง จึงไม่แปลกที่เราจะได้ยินคำว่าแก่ก่อนรวย และสภาวะความตึงเครียด จากการทำมาหากินก็ส่งผลให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวตามมา จากสภาวะเศรษฐกิจ เช่นนี้ยังมีเรื่องร้าย ๆ ที่มากระทบความมั่นคงของผู้สูงอายุอีกนะคะ อย่างข่าวล่าสุดสด ๆ ร้อน ๆ การปรับหลักเกณฑ์ใหม่ในการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุที่จะต้องพิสูจน์ความจนผ่านมุมมองของรัฐ แว่นตาที่จะใช้มองว่าคนไหนรวย คนไหนจน คือแว่นตาของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือคะ ในเมื่อความเป็นจริงแล้วท่านผู้สูงอายุทุกท่านก็ทำงานกันแทบตาย ต้องรับผิดชอบชีวิต คนในครอบครัวอีกตั้งเท่าไรคะ รัฐบาลควรไปตัดสินหรือว่าใครรวยหรือใครจน นอกจากนี้ ผู้สูงอายุยังคงต้องเผชิญกับสภาวะความเจ็บป่วยจากโรคประจำตัว โรคร้ายต่าง ๆ ที่ตามมา พร้อมกับอายุของตัวเอง แต่สิทธิในการเข้าถึงการรับการรักษา สิทธิในการรับการรักษาที่ฟรี และมีคุณภาพ ทั้ง ๆ ที่เสียภาษีไปทุก ๆ ปี ผู้สูงอายุควรจะเอื้อมถึง แต่มันก็ยากเหลือเกินค่ะ และวันนี้หากเราพูดถึงคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ใกล้บ้าน สถานที่ที่มีหน้าที่ในการรักษาขั้นปฐมภูมิ ลดความแออัดของโรงพยาบาลของรัฐ ลดการเดินทาง ลดค่าใช้จ่ายในการไปหาหมอไกล ๆ ปัจจุบันนี้เรามีคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ใกล้บ้านเพียงแค่ ๒๔๑ แห่ง ซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ อยู่ประมาณ ๒๑๓ แห่ง และอีก ๒๘ แห่งที่อยู่ต่างจังหวัด ท่านประธานคะ ทั้ง ๒ ประเด็นนี้ที่ยกตัวอย่างมา พอจะเห็นภาพความเดือดร้อนของผู้สูงอายุไทย ๆ ที่จะนำไปสู่สภาวะความตึงเครียด ในการใช้ชีวิต ความเหนื่อยยากของผู้สูงอายุที่จะเป็นฉนวนไปสู่ความรุนแรงในครอบครัว ได้แล้วหรือยัง ดิฉันขอเสนอผ่านท่านประธานว่าในรายงานทั้ง ๒ ฉบับนี้ยังพูดถึงปัญหา ของผู้สูงวัยน้อยเกินไป ในแง่ของข้อมูลสถิติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบทวิเคราะห์ ข้อเสนอแนะในส่วนที่ ๓ ท้ายรายงานในประเด็นการแก้ปัญหาความรุนแรงของผู้สูงอายุ วันนี้เราควรยกระดับศักดิ์ศรีของผู้สูงอายุผ่านการสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าโดยที่ไม่ต้อง พิสูจน์ความจนความรวยกันได้แล้วหรือยังคะ และวันนี้เราควรผลักดันระบบสาธารณสุขไทย ให้ผู้สูงอายุได้เข้าถึงใกล้บ้านมากขึ้น ไม่ต้องดั้นด้นเสียค่าเดินทางในการไปหาหมอ ให้สิทธิ ในการเข้าถึงได้อย่างถ้วนหน้าอย่างไม่มีเงื่อนไขได้แล้วหรือยัง

นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้ดิฉันหวังว่านายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนา สังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาของผู้สูงอายุที่ต้นตอ และลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้น กับผู้สูงอายุอย่างจริงจัง ดิฉันและพรรคก้าวไกลก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตอันใกล้นี้ จำนวนผู้เสียหายที่จะปรากฏในรายงานทั้ง ๒ ฉบับจะลดลงทุกปี ๆ จากการแก้ปัญหา ของรัฐบาลอย่างจริงจัง ไม่ใช่การลดลงจากการตกสำรวจ หรือมองข้ามปัญหาเหล่านี้ไป ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

มีท่าน Note ขึ้นมาอยากจะหารือ

นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ขออนุญาตครับท่านประธาน ผม ปูอัด ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตจอมทอง ยกเว้นแขวงบางขุนเทียน และเขตบางขุนเทียนเฉพาะแขวงท่าข้าม ท่านประธานครับ เมื่อเช้านี้มีการลงมติในเรื่องของการขอเลื่อนญัตติร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน พอดีว่าในการลงมตินั้น ในรายงานไม่ปรากฏชื่อผมว่าเห็นด้วย ทีนี้ในส่วนนั้น ปฏิเสธไม่ได้ครับ ผมนั่งอยู่ข้างผู้อภิปรายคุณพริษฐ์ วัชรสินธุ ที่ข้าง ๆ เลยก็อยากจะขอให้ ทางสภานั้นจดประชุมว่าผมมีมติที่จะลงเห็นด้วยครับท่านประธาน ขอบคุณมาก ๆ ครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ท่านมีเจตนาที่จะเห็นด้วยนะครับ แต่ไม่ปรากฏว่ามีการกด เพราะฉะนั้นท่านสมาชิก เวลากดบัตรลงคะแนนให้ดูด้วยว่าขึ้นหรือเปล่า บางทีเราก็ไม่ได้ดูว่าตอบสนองหรือยัง อย่างไรวันหลังก็ช่วยดูด้วยเวลากดว่ามันได้หรือยัง ก็บันทึกไว้นะครับ ต่อไปท่านธนาธร โล่ห์สุนทร เชิญครับ

นายธนาธร โล่ห์สุนทร ลำปาง ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ธนาธร โล่ห์สุนทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง พรรคเพื่อไทย วันนี้ ผมก็อยากจะมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านความรุนแรงในครอบครัว สำหรับรายงานตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง ในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ เท่าที่ผมได้อ่านรายงานมาก็จะเห็นว่าแนวโน้มการเกิดเหตุ ในปี ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๔ ก็ดูว่าไม่ได้มีการลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสิ่งที่ผมกังวลอยากจะฝาก ท่านประธานไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็คือ จากข้อมูลตัวเลข ข้อมูลที่อยู่ในระบบก็ค่อนข้างเยอะอยู่แล้ว แต่ผมคิดไปถึงว่าตัว Case ที่ไม่ได้รับรายงานเข้ามาในระบบมีอีกจำนวนเท่าไร ก็อยากจะฝากท่านประธานไปถึงผู้ชี้แจงว่า อยากจะให้ช่วย Track ตัวข้อมูลที่ไม่ได้ลงในระบบ แล้วก็เหมือนกับว่าไม่มีการเก็บข้อมูล เชิงสถิติเช่นในเรื่องการรับรู้ของประชาชนถึงข่าวสาร แล้วก็การที่จะสามารถติดต่อช่วยเหลือ อย่างไร แล้วก็รวมถึงการที่จะนำ Case เข้าไปตามศูนย์ช่วยเหลือต่าง ๆ ว่าได้มีการรับ Case ไปเท่าไร อย่างไร แล้วก็รวมถึงประสิทธิภาพของการสื่อสารให้ผู้ที่ถูกกระทำรับรู้ที่จะนำไป ช่วยเหลือ

นายธนาธร โล่ห์สุนทร ลำปาง ต้นฉบับ

ข้อสังเกตที่ ๒ ที่ผมอยากจะฝากท่านประธานไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ชี้แจงก็คือว่าในรายงานนี้ได้บอกว่ามีสาเหตุปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดความรุนแรง ในครอบครัว เรื่องที่ ๑ ก็คือเรื่องเกี่ยวกับสามีภรรยา เรื่องที่ ๒ ก็คือการหึงหวงนอกใจ ทะเลาะวิวาทกัน ปัญหาทางอารมณ์ ซึมเศร้า แล้วก็รวมถึงปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ เรื่องยาเสพติด แล้วก็รวมถึงเรื่องการดื่มสุราต่าง ๆ ซึ่งในปัญหาใหญ่ ๆ ทั้ง ๕ เรื่องนี้ ผมเห็นว่าลำพังทางกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวคงจะแก้ปัญหาเหล่านี้ หน่วยงานเดียวไม่ได้ ก็อยากจะให้มีการที่จะต้องประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการที่จะแก้ไข สาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวได้ ก็อยากจะฝากท่านประธานนะครับ

นายธนาธร โล่ห์สุนทร ลำปาง ต้นฉบับ

ข้อสังเกตที่ ๓ ผมก็เห็นว่าผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่จากรายงานบอกว่าอยู่ในช่วงวัย ๑๐-๒๐ ปี ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วงในเรื่องนี้ และรวมถึงข้อสุดท้ายที่ผมอยากจะ ตั้งข้อสังเกตก็คือในสถานที่เกิดเหตุมักจะเกิดเหตุในบ้าน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วบ้านควรจะเป็นที่ ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับทุก ๆ คน แต่กลับเป็นจุดที่เกิดเหตุความรุนแรงในครอบครัวเยอะที่สุด ซึ่งผมก็อยากจะฝากข้อเสนอแนะผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าการติดตาม ข้อมูลที่ไม่อยู่ในระบบ และรวมถึงความเป็นจริงว่ามี Case ที่ไม่เข้ารวมอีกเท่าไร อยากจะให้ ทางหน่วยงานช่วยชี้แจงว่าได้มีการติดตามเรื่องนี้หรือไม่ เพราะว่า Case ที่อยู่นอกระบบ ผมก็คิดว่าค่อนข้างเยอะทีเดียวที่เราไม่รู้ รวมถึง Case ที่ไม่มีการดำเนินคดีต่าง ๆ แล้วก็ สิ่งที่ผมอยากจะเสนอผ่านท่านประธานไปก็คือว่าควรจะมีข้อมูลรายจังหวัด รวมถึงการทำ ข้อมูลภาพรวมที่ไม่ซ้ำซ้อนกันของแต่ละหน่วยงาน เพราะว่าการที่มีข้อมูลรายจังหวัด เราจะเห็นภาพรวมมากยิ่งขึ้นว่าภาพรวมสถานการณ์ปัจจุบันเหตุการณ์เป็นไปขนาดไหน และรวมถึงการที่อยากให้มีการรวมข้อมูลกันให้เป็นข้อมูลตรงกลางเพื่อที่จะไม่มีความซ้ำซ้อนกัน รวมถึงที่จะครอบคลุมทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน ซึ่งก็ต้องขอชื่นชมว่าทุก ๆ หน่วยงาน มีความตั้งใจจริง แต่ถ้ามีการรวบรวมข้อมูลให้มาอยู่ตรงกลางก็จะเป็นเรื่องที่ดีนะครับ และอยากจะฝากท่านประธานไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกเรื่องหนึ่งก็คือว่า การเพิ่ม ประสิทธิภาพในการสื่อสาร ในการที่จะให้ประชาชนรับรู้รับทราบประเด็นปัญหาความรุนแรง ในครอบครัวมากขึ้น ให้ทุกคนมีความตื่นตัวในการที่จะช่วยกันเข้าไปช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ รวมถึงที่จะตระหนักรู้ในปัญหาซึ่งก็เป็นเรื่องใหญ่นะครับ แล้วก็อยากจะให้มีมาตรการเชิงรุก ก็คือในการป้องกันตั้งแต่ต้นทาง เพราะว่าเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจ ความเครียดจาก การงานต่าง ๆ ซึ่งก็มักจะนำไปสู่การใช้สารเสพติด และจากนั้นก็จะนำไปสู่ความรุนแรง ก็อยากจะให้ทุกหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องช่วยกันในการที่จะป้องกันการเกิดเหตุอะไรไว้ก่อน ในการที่จะช่วยเหลือตั้งแต่เนิ่น ๆ ไปก็จะเป็นเรื่องที่ดีครับ

นายธนาธร โล่ห์สุนทร ลำปาง ต้นฉบับ

ประการสุดท้าย ผมก็อยากจะขอบคุณกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ในการที่จะทำรายงานฉบับนี้มา ซึ่งพวกเราที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็หวังเป็นอย่างยิ่ง ว่าจะมีความช่วยเหลือหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงทางกรมเองในการที่จะช่วยเหลือพัฒนา สิ่งต่าง ๆ เพื่อให้มีการช่วยเหลือให้ได้มากขึ้น

นายธนาธร โล่ห์สุนทร ลำปาง ต้นฉบับ

ขอฝากเรื่องสุดท้ายก็คือความรวดเร็วในการติดต่อในการขอความช่วยเหลือ การระงับเหตุต่าง ๆ อยากจะให้มีความทันท่วงทีแล้วก็เข้าถึงได้ง่าย ทันต่อเหตุการณ์ ตามมาด้วยการให้คำปรึกษา แล้วก็มีความสะดวกในการที่จะให้ผู้ที่ถูกกระทำไปอยู่ในที่ปลอดภัย ก็จะขอฝากท่านประธานเพียงเท่านี้ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เราได้ตกลงกันไว้ว่าให้ท่านผู้ชี้แจงได้ชี้แจงเป็นช่วงนะครับ เพราะว่าคำถามเยอะมาก เชิญครับ เชิญท่านผู้ชี้แจงครับ

นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพทุกท่าน ในที่สุดก็ต้องขอกราบ ขอบพระคุณท่านสมาชิกทุกท่านที่ได้กรุณาให้ข้อเสนอแนะ และให้ข้อแนะนำ ข้อสังเกตต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง มีหลายประเด็นที่คิดว่าเราก็สามารถที่จะกลับไปดำเนินการได้เลย ดิฉันอยากจะนำเสนอนิดหนึ่งว่าในส่วนของความรุนแรงในครอบครัวที่มีประเด็นอาจจะไม่สามารถ ตอบคำถามได้ทุกท่าน แต่ขออนุญาตพูดในภาพรวมนะคะ

นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ ในเรื่องของความรุนแรงในครอบครัวเรื่องของความรุนแรง เราแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท ประเภทที่ ๑ ความรุนแรงทางร่างกายก็เป็นจำนวนที่มากที่สุด ในทุกสถิติของหน่วยงาน ประเภทที่ ๒ ก็คือความรุนแรงทางเพศ อันนี้ก็มีอยู่เป็นอันดับ ๒ ประเภทที่ ๓ ก็คือความรุนแรงด้านจิตใจที่หลายท่านได้พูดถึง เพราะฉะนั้นเรื่องของ ความรุนแรงในครอบครัวก็จะมีอยู่ เราเก็บข้อมูลทั้ง ๓ ส่วนนี้นะคะ แต่ว่าทุกสถิติที่ไม่ว่าจะเป็น ๑๖ หน่วยงาน เราจะเห็นว่าทางร่างกายมากที่สุด อันนั้นอยู่ในรายละเอียดการนำเสนอ

นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ในเรื่องของการดำเนินงาน ที่หลายท่านพูดถึงเรามีแผนปฏิบัติการ เรื่องของการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งเรามีใน 5P เรื่องของ Policy เรื่องของเชิงนโยบาย แล้วก็เรื่องของการคุ้มครอง ป้องกัน ในเรื่องของการดำเนินคดี ทางกฎหมาย แล้วก็ในเรื่องของ Partnership อันนี้เป็นส่วนสำคัญ เพราะฉะนั้นในการดำเนินงาน เราก็จะเน้นในเรื่องของบูรณาการซึ่งหลายท่านก็ให้ความสำคัญ แล้วก็พูดถึงว่าจะต้องมี บูรณาการของทุกภาคส่วนในการดำเนินงาน เพราะฉะนั้นอันนี้เองคิดว่าการที่เรามี คณะกรรมการจากทุกหน่วยงาน รวมทั้งภาคเอกชนก็สามารถขับเคลื่อนในเชิงนโยบายได้

นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ต้นฉบับ

อีกส่วนหนึ่งเรามี MOU ความร่วมมือกับ ๒๗ หน่วยงาน ทุก ๆ คนเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญของความรุนแรงในครอบครัว เพราะฉะนั้นเราก็อาจจะใช้กลไกในส่วน คณะกรรมการ ซึ่งถ้าพูดถึงกลไกเรื่องของการดำเนินงานเรื่องความรุนแรงในครอบครัวเรามีกลไก ทั้ง ๓ ระดับ ระดับชาติก็มีคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในระดับชาติ แล้วก็มีในระดับจังหวัดเรามีศูนย์ปฏิบัติการป้องกันแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ทุกจังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานครก็อยู่ที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ส่วนในชุมชน เราก็มีศูนย์ปฏิบัติการ มีศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน ที่หลายท่านก็พูดถึงว่าเรามี ๗,๑๔๙ แห่ง เพราะฉะนั้นกลไกทั้ง ๓ ส่วนนี้ก็สามารถที่จะขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ทีนี้มันอาจจะอยู่ในส่วนของความเข้าใจ ส่วนในเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถ้าท่านดู ใน พ.ร.บ. ท่านจะเห็นว่าผู้รักษาการในกฎหมายคือในเรื่องของกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ แต่จริง ๆ แล้วเรื่องของความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องที่ ละเอียดอ่อนและมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นต้องมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าในกระบวนการของกระทรวงสาธารณสุขเอง หรือทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือทางด้าน สังคมที่จะต้องบูรณาการร่วมกัน

นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ต้นฉบับ

อีกส่วนหนึ่งที่คิดว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง คือในเรื่องของความรุนแรงที่บอก เรามีนโยบาย 5P ในเรื่องของกระบวนงานที่สำคัญก็คือเรื่องของการคุ้มครองวัตถุประสงค์ หลักของ พ.ร.บ. คุ้มครองที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ปี ๒๕๕๐ คือในเรื่องของ คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวให้เขาได้รับความปลอดภัยได้รับการช่วยเหลือ ส่วนที่หลายท่านพูดถึงเรื่องของการไกล่เกลี่ย เพราะเราไม่ได้มีธงเลย เจ้าหน้าที่เราไม่ได้มีธงว่า คนที่มีความรุนแรงในครอบครัวจะต้องกลับมาอยู่ครอบครัวเดียวกัน เราให้เขามีการปรับปรุง แก้ไข มีมาตรการ เช่นอาจจะให้ไปในเรื่องของการเลิกสุรา หรือยาเสพติด หรือว่าส่งไป รักษาพยาบาล หรือบางทีในส่วนคุ้มครองก็ห้ามเข้าใกล้ ๕๐ เมตร อะไรลักษณะนี้ คือศาล ก็จะสั่งมาตรการคุ้มครองในกรณีเร่งด่วน เพราะฉะนั้นถ้าเขาไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ เพราะฉะนั้นการหย่าร้างหรือการที่เขาแยกกันเราก็คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ถูกกระทำ แล้วก็ในเรื่องของเด็กด้วย เพราะฉะนั้นก็คงไม่ได้เพื่อการไกล่เกลี่ยให้อยู่ร่วมกันในทุกราย ก็ดูเป็น Case อันนี้ก็อยากจะนำเรียน เพราะฉะนั้นในส่วนของที่ท่านให้ข้อเสนอในรายงานนี้ เราก็จะรับไปปรับปรุง เพราะว่าเรารายงานทุกปี ปี ๒๕๖๕ ก็ใกล้จะมาเสนอนะคะ เพราะฉะนั้นในส่วนสถิติที่เป็นจริง ในส่วนข้อมูลที่มีคนพิการ มีผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง แล้วการวิเคราะห์ข้อมูลที่ชัดเจนโดยเฉพาะเรื่องของแผนปฏิบัติการที่หลายท่านพูดถึงว่า เรื่องของตัวชี้วัด เรามีตัวชี้วัดชัดเจนไหม สามารถวัดผลได้ไหม และความรุนแรงในครอบครัว นำเรียนท่านก็เห็นจากสถิติเพิ่มขึ้นทุกปีจากหลักร้อยจนเป็นหลักพัน จะเห็นว่ามีการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงก่อนของโควิดอาจประมาณ ๑๕๐ รายต่อเดือน ขณะนี้เพิ่มเป็น ๒๐๐ ราย บางเดือนก็ ๒๐๐ รายกว่า อันนี้เห็นเพิ่มสถิติ อีกส่วนหนึ่งการที่เพิ่มนะคะ ซึ่งจริง ๆ เราก็มี เป้าหมายที่ต้องให้ลด แต่ส่วนหนึ่งอย่างหลายท่านท่านพูดว่าความรุนแรงในครอบครัว บางที ข้อมูลที่เราเห็นมันอาจจะไม่ได้ทั้งหมด มีบางส่วนนะคะ แต่ถ้าสถิติเชิงว่ามีคนมาแจ้งมากขึ้น อันนี้ก็คือเหมือนว่ามีการรับรู้ประชาชนเข้าใจ เพราะเราดูจากสถิติเดิมจะไม่ค่อยมีการแจ้งความมาก ก็จะมีในเรื่องของตัวผู้ถูกกระทำมาแจ้งความเอง แต่ว่าเราพยายามรณรงค์เหมือนที่หลายท่านพูด ก็คือปัญหาความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่ปัญหาของครอบครัวอย่างเดียว เป็นปัญหาของทุกคน ในสังคมก็จะมีการสอดส่อง เพราะฉะนั้นจำนวนคนที่เข้ามาแจ้งที่ไม่ใช่ตัวที่ถูกกระทำนี้ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีเพื่อนบ้านที่อาจจะพบเห็นก็มีการเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นเราคิดว่า เราต้องการข้อมูลที่ชัดเจนถูกต้อง อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทางกรมกิจการสตรีและสถาบัน ครอบครัวเราจะรับไปปรับปรุงในส่วนของตัวรายงาน ส่วนในเรื่องของกระบวนการในการทำงาน หลายท่านให้ข้อเสนอแนะ เราก็จะนำไปปรับปรุง

นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ต้นฉบับ

ส่วนที่ ๓ ที่พูดถึงเรื่องของกฎหมาย เรามีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำ ความรุนแรงในครอบครัว ปี ๒๕๕๐ ซึ่งขณะนี้เรามีการประเมินผลสัมฤทธิ์เรียบร้อยแล้ว มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ซึ่งก็เป็นเหมือนที่หลาย ๆ ท่านได้พูดถึงก็คือ มันจะมีประเด็นปัญหาในเชิงปฏิบัติงานอยู่ เช่น มาตรา ๑๐ การต้องร้องทุกข์กล่าวโทษต่าง ๆ หรือมีในหลาย ๆ ส่วนที่อาจจะให้ความสำคัญเรื่องของการเขียนว่าไกล่เกลี่ยลักษณะนี้ ในปัญหาต่าง ๆ เราเห็นปัญหาเราก็มีการประเมินผลสัมฤทธิ์มี ๑๐ ประเด็น ซึ่งรับฟัง ความคิดเห็นก็มีการปรับปรุง โดยขณะนี้เรามีประธาน ท่านศาสตราจารย์พิเศษ ท่านจรัญ ภักดีธนากุล ร่วมกับหน่วยงานทุกหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมเป็นคณะทำงาน เราได้ร่างกฎหมายฉบับนี้ที่ปรับปรุงรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศมาแล้ว เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นกฎหมายที่เราพร้อม รัฐบาลใหม่เราก็สามารถที่จะเสนอในการปรับปรุง และแก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ปี ๒๕๕๐ ก็ฝากท่านสมาชิก ได้สนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ก็จะแก้ปัญหา ซึ่งเราเห็นปัญหาจากที่ท่านได้นำเสนอมาในส่วน ของกฎหมาย อีกส่วนหนึ่งที่ท่านพูดถึง พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบัน ครอบครัว ปี ๒๕๖๒ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ใช้เพราะมีพระราชกำหนดอยู่ ถามว่ากระทรวง พม. ได้มีการเตรียมความพร้อมตรงนี้อย่างไร เราก็ได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องของ อัตรากำลังเจ้าหน้าที่ มีการขอไปที่ทาง ก.พ. แล้วหลายท่านก็พูดว่าพนักงานความรุนแรง ของเราตอนนี้ยังเป็นจ้างเหมาอาจจะไม่มีความมั่นคง เราก็ขอไปเป็นพนักงานราชการ ๒๓๑ อัตรา กำลังอยู่ในส่วนวิเคราะห์ ก็จะมีนักสังคมสงเคราะห์ แต่ละจังหวัดก็มีนิติกร แล้วมีนักจิตวิทยา ถ้าเราสามารถมีบุคลากรที่พร้อมที่จะรองรับ พ.ร.บ. ปี ๒๕๖๒ ก็คือ จังหวัดทุกจังหวัดจะเป็นศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว แล้วศูนย์พัฒนาครอบครัว ในชุมชนก็จะเป็นกลไกสำคัญที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นในส่วนนี้เองเราได้มี การเตรียมตัวในการพัฒนาบุคลากรด้วย และรวมทั้งในเรื่องของกำนันผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้ที่อยู่ ในชุมชน ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนเราก็มีการขยายเป็นศูนย์ช่วยเหลือสังคม ซึ่งเป็นกลไก หน้าที่ในการคุ้มครอง แล้วก็ป้องกันเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ในชั้นนี้ดิฉันใคร่ขอนำ ข้อเสนอแนะของท่านแล้วก็ได้ตอบในบางส่วนของท่าน เพราะฉะนั้นในเรื่องกฎหมายเราก็มี ความก้าวหน้า เรื่องกระบวนงานก็พยายามที่จะให้บูรณาการ หรือขณะนี้เรามีการตั้งทีม สหวิชาชีพในพื้นที่เพื่อจะได้ให้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วก็มีการอบรมแม้แต่ตำรวจ เราก็มีการอบรมพนักงานสอบสวนเพื่อให้มีความเข้าใจในเรื่องของความรุนแรง แล้วก็ ในเรื่องของทัศนคติหรือเจตคติ เรื่องการรณรงค์ความรุนแรงในครอบครัวตอนนี้เรารณรงค์ ในเรื่องของ Respect การให้เกียรติเคารพซึ่งกันและกันไม่ว่าจะเป็นเพศไหน อันนี้ก็จะเป็น ปัญหาหนึ่งที่ในเรื่องของมายาคติ ในเรื่องของความรุนแรงในครอบครัว เพราะฉะนั้นประเด็น ที่คุณธัญวัจน์เสนอเองหรือหลาย ๆ ท่านพูดถึงความเท่าเทียมระหว่างเพศ อันนี้เราตระหนัก ให้ความสำคัญ แล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดคือความรุนแรงในครอบครัวมันก็ต้องเริ่มจากบุคคลในครอบครัว ในเรื่องของการเลี้ยงดูบุตรด้วย ในเรื่องของการที่ให้ทุกพื้นที่เป็นที่ปลอดภัยด้วย เพราะฉะนั้น ดิฉันก็ใคร่ขอได้ตอบคำถามหรือว่าได้สะท้อนในส่วนของที่ทุกท่านได้กรุณาให้ข้อเสนอแนะ ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ขอกราบขอบพระคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านเกียรติคุณ ต้นยาง เชิญครับ

นายเกียรติคุณ ต้นยาง นนทบุรี ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร กระผม นายเกียรติคุณ ต้นยาง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี เขต ๗ อำเภอบางบัวทอง อำเภอไทรน้อย พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขออนุญาตอภิปรายรายงานข้อมูลสถานการณ์ ด้านความรุนแรงในครอบครัว สำหรับรายงานตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครอง ผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ ประจำปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ สิ่งที่ผม จะขออนุญาตอภิปรายต่อท่านประธานผ่านไปถึงผู้ชี้แจงเป็นเรื่องของข้อมูลตัวเลขที่อยู่ใน รายงานทั้ง ๒ เล่มนี้และที่อยู่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. ความรุนแรงในครอบครัว เนื่องจากผมมีประสบการณ์เป็นทนายความมา ๒๐ กว่าปี ทำคดีอาญา คดีแพ่ง โดยเฉพาะ คดีที่มีผู้เสียหายเป็นเด็กอายุไม่เกิน ๑๘ ปี สิ่งที่ผมพบประจักษ์ข้อมูลข้อเท็จจริงกับรายงาน ของท่าน ๒ ฉบับ ๒ เล่มนี้ของปี ๒๕๖๓ กับปี ๒๕๖๔ ผมจะอภิปรายเป็นตัวเลขข้อเท็จจริง ขอ Slide แผ่นแรกด้วยนะครับ

นายเกียรติคุณ ต้นยาง นนทบุรี ต้นฉบับ

Slide แผ่นแรกนี้ผมขออนุญาตชื่นชม ท่านผู้มาชี้แจง ชื่นชมกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ ชื่นชมท่านที่ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่ให้หน้าที่ ท่านมาทำ แล้วก็ชื่นชมมากกว่าหน่วยงานอื่นที่บัดนี้ยังไม่มาเลย หรือหน่วยงานอื่นที่เลื่อนไป ฝากไปถึงด้วยนะครับ ขอ Slide ถัดไปครับ

นายเกียรติคุณ ต้นยาง นนทบุรี ต้นฉบับ

Slide นี้จะสังเกตว่ามีประเภทที่ ๔ ของปี ๒๕๖๓ เรื่องที่ตัวเลขขาดหายไป อยู่ ๒ ช่อง และเรื่องของข้อมูล ปี ๒๕๖๔ ที่ตัวเลขขาดหายไปหลายช่อง ตัวเลขที่ขาดหายไป ฝากท่านผู้ชี้แจงช่วยผมไปดูด้วยว่ามันหายไปไหน ผมเชื่อว่ามีตัวเลขอยู่ ตัวเลขเรื่องของ การถูกละเลย การถูกทอดทิ้งเมื่อปี ๒๕๖๓ มันหายไปไหนครับ ตัวเลขของคนที่ถูกละเลย ทอดทิ้ง คนที่ถูกค้ามนุษย์เมื่อปี ๒๕๖๔ ทั้งช่วง ๒ อายุ ทั้งช่วง ๒ เพศ ทั้งชายและหญิง มันหายไปไหนครับ ไม่ใช่ว่ามันไม่มี ไม่ใช่ว่ามันไม่เกิด แต่ผมเสียใจที่ไม่เห็นตัวเลขนี้ ในรายงานที่เป็นเอกสารราชการ ทำไมผมต้องทวงถาม ๒ ตัวเลขดังกล่าวใน Slide ที่ผ่านมา เพราะ Slide แผ่นนี้มันบอกว่าจำนวนเด็กที่ได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลเพราะถูกทำร้ายร่างกาย มีถึง ๑๘,๒๙๖ ราย และ ๒-๓ ช่องของผมที่ผ่านไปเมื่อ Slide ที่แล้วทำไมไม่มีครับ ยิ่งร้ายไปกว่านั้น คดีที่ตำรวจรับแจ้งความมี ๒,๒๕๓ คดี ร้องทุกข์ ๑,๘๕๑ คดี ไม่ร้องทุกข์ ๔๐๒ คดี ตัวเลข มันหายไปไหนครับ ที่น่าจะเสียใจมากที่สุดเลยก็คือช่องที่ ๓ จำนวนเด็กที่เข้าสู่สถานรับรอง ของ พม. เนื่องจาก ๒ เคสที่ผ่านมาปีหนึ่งแค่ ๔๓๐ คน พวกเขาทั้งหมดใน Slide ที่แล้ว หายไปไหนครับ ตกหล่นไปไหนครับ ถ้าเอา ๒ Slide นี้มาเปรียบเทียบหารเฉลี่ย ท่านอาจจะบอกว่าก็ไปรวมมาหลาย ๆ ปี ใช่ครับ เพราะข้อมูลที่ผมหามาได้ด้วยความลำบากแสนเข็ญมันมีแค่นี้จริง ๆ เพราะข้อมูลท่านเอง ก็ไม่มี ผมต้องไปหามาจากวิชาชีพที่ผมเคยมี ไปหาเพื่อนที่เป็นตำรวจ อัยการ หาเพื่อนที่ทำงาน โดยเฉพาะในจังหวัดนนทบุรีของผม ยุ่งยากมากเลยครับ สับสนมากเลยครับ หากันไม่ค่อยเจอ เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นตัวเลขที่น่ากลัวมากถ้ามันหายไป ผมบอกได้ว่ามันหายไปไหน ขอ Slide ถัดไปด้วยครับ Slide นี้จะเป็นจุดเริ่มต้น จะเป็น Master Key มอบให้ผู้ชี้แจง ไปไขดู เพราะมาตรา ๑๓๓ ทวิ วรรคแรก โดยสรุปเขาบอกว่าพนักงานสอบสวนที่จะสอบปากคำ ของผู้เสียหายต้องสอบกับนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ และอัยการ หรือบุคคลที่เด็กคนนั้น ไว้วางใจ แล้วอย่างไรครับ ในทางปฏิบัติมีไหม แต่ผมต้องชื่นชม พม. จังหวัดนนทบุรีของผม น่ารักทุกคน ดูแลเด็กเป็นอย่างดี สภ. ในนนทบุรีมี ๑๐ กว่า สภ. โรงพักมีสิบ ๆ โรงพัก ต้องเข้าคิวกันนะครับ วันนี้เด็กไปแจ้งความ ไม่รู้อีกกี่วันที่เรียกว่าสหวิชาชีพจะมาร่วมฟัง การสอบสวนได้ ๑ วัน ๒ วัน ๓ วัน บางรายเป็นอาทิตย์ เขาเจ็บปวดจากการถูกกระทำ แล้วต้องมานั่งรอสหวิชาชีพ และไม่รู้ด้วยว่าตำรวจจะพาไปสอบปากคำที่ไหน อัยการหรือเปล่า ที่ พม. จังหวัดหรือเปล่า หรือสถานที่ใด สถานที่ที่เป็นสัปปายะหรือเปล่าที่จะสอบปากคำ ของเด็กผู้เสียหายได้ ตรงนี้ฝากด้วยนะครับ จังหวัดนนทบุรีไม่ได้ไกลจากกรุงเทพฯ เลย แต่เด็กที่เป็นผู้เสียหายถูกกระทำในคดีอาญา ถูกความรุนแรงในครอบครัว เขาต้องรอ สหวิชาชีพอยู่ถึง ๗ วัน มันเจ็บปวดมากเลยนะครับ ขอ Slide ถัดไปด้วยนะครับ นี่คือเด็ก ที่ต้องถูกรอถึง ๗ วัน คือเด็กที่รอนักสังคมสงเคราะห์ที่มีอยู่แค่ ๑,๖๔๐ คน เด็กที่ต้องรอ จิตแพทย์ที่มี ๒๙๕ คน นักจิตวิทยาที่มีอยู่ ๑,๐๓๗ คน และที่เจ็บปวดที่สุดสำหรับเด็ก ที่เป็นผู้หญิงคือต้องรอตำรวจหญิง ๗๖๓ คน ตำรวจหญิง ๑ คน ๑ โรงพักไม่เพียงพอแล้ว ขอ Slide สุดท้ายเลยครับ นี่คือภาพของความเป็นจริงที่เกิดจากการสอบปากคำเด็ก ผู้เสียหาย แม้ภาพนี้จะเป็นอดีตผ่านมาหลายปี แต่ผมยืนยันว่าสภาพนี้ทุกวันนี้ยังเกิดอยู่ ทุกโรงพักในประเทศไทย ตำรวจยังนั่งอยู่ ผู้เสียหายที่เป็นเด็กนั่งอยู่ล้อมรอบเขาด้วยคนที่เขา ไว้วางใจ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ พนักงานอัยการ จะถามเด็กต้องถามผ่านนักสังคม สงเคราะห์ นักจิตวิทยา เพื่อกลั่นกรองแล้วไปถามเด็ก จะถามผ่านทำไมครับ นั่งอยู่ด้วยกันตรงนี้ มาตรา ๑๓๓ ทวิ วรรคแรก ไม่เป็นผลเลยที่ให้ถามผ่าน ก็นั่งล้อมวงกันอยู่อย่างนี้ ฝากท่าน ด้วยนะครับ สงสารเด็กครับ ไปซ้ำเติมเขาอีกทำไม เขาเป็นผู้เสียหายถูกกระทำมาเพียงพอแล้ว จะต้องมานั่งเล่าอะไรอยู่นี้ท่ามกลางผู้คนอะไรก็ไม่รู้ ฝากไว้ด้วยครับ ด้วยความรักนะครับ ขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านธีระชัย แสนแก้ว เชิญครับ

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายธีระชัย แสนแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี เขตเลือกตั้งที่ ๗ พรรคเพื่อไทย ขอเรียนท่านประธานดังนี้ว่าจาการรายงานข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรง ในครอบครัว ปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ ของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นการรายงานตามมาตรา ๑๗ พระราชบัญญัติ คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ท่านประธานครับ จากการรายงานพบว่า ปัจจัยความรุนแรงในครอบครัว ขอ Slide ครับ

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

พบสาเหตุปัจจัยความรุนแรงในครอบครัว เกิดขึ้นมากที่สุดคือการเมาสุราและยาเสพติด จำนวน ๑,๑๕๗ เหตุการณ์ รองลงมาคือปัญหา สุขภาพจิต จำนวน ๔๗๔ เหตุการณ์ และปัญหานอกใจ หึงหวง จำนวน ๓๐๐ กว่า จริง ๆ แล้ว ผมว่ามันมากกว่านั้นนะครับ ท่านอาจจะรายงานตามข้อมูลเท็จจริงที่มารายงานก็ได้ ไม่ว่ากันครับ มันมากกว่านั้นจริง ๆ สังคมปัจจุบันนี้ ท่านประธานครับ จากรายงานส่วนต่าง ๆ ทำให้เห็นว่าปัญหา ความรุนแรงในครอบครัวมันมีเยอะเหลือเกินครับ เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ในครอบครัวนั่นละ ไม่ว่าจะเป็นการนอกใจ หึงหวง ทะเลาะวิวาท ตบตี ใช้อาวุธ การทำร้ายร่างกายจนกระทั่ง ได้รับบาดเจ็บ พูดจาหยาบคายพวกนี้มีหมด ว่าร้าย ดูถูกเหยียดหยาม และยังมีปัจจัยอื่น กระตุ้นรุนแรง เช่น ยาเสพติด การพนัน หย่าร้าง ความเครียด ปัญหาเศรษฐกิจ ฆ่ากันตาย ถูกกดขี่ข่มเหง อันนี้ปัญหาความทุกข์ ความรุนแรงในครอบครัวทั้งนั้น สามีฆ่าภรรยา เพราะความหึงหวง บังคับหลับนอน ทะเลาะวิวาท บันดาลโทสะ ขาดสติทำร้ายร่างกาย จนถึงแก่ชีวิต ภรรยาฆ่าสามี การถูกทำร้ายร่างกายมาเป็นเวลานาน ไม่มีความรับผิดชอบ ต่อค่าใช้จ่ายในครอบครัวคือปัญหาเศรษฐกิจ เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย การคุกคามครอบครัว บังคับขู่เข็ญให้มีเพศสัมพันธ์ พ่อเลี้ยงข่มขืนลูกเลี้ยง เยอะแยะไปหมดครับท่านประธาน ผมก็เกริ่นมาพอสมควรก็เลยเอาประสบการณ์ส่วนนี้มาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งทุกท่านก็ได้เห็น จากสื่อมวลชนอะไรต่าง ๆ ยิ่งทุกวันนี้ผมอยากจะขอกราบเรียน ในที่นี้มันมีประเด็นหลายอย่าง ผมอยากจะขอเรียนกับท่านว่าสถานการณ์ที่มันเกิดขึ้น ความรุนแรงในครอบครัว ปัญหา ยาเสพติด ปัญหายาเสพติดน่าจะเป็นอันดับหนึ่งนะครับ ปัญหาเมาสุรามันอาจจะเมาเบียร์ เมาสุราอาจจะครึกครื้นสนุกสนานเฮฮา นาน ๆ จะมีการทะเลาะเบาะแว้งกันทีหนึ่งในระหว่าง ครอบครัว แต่ปัญหายาเสพติดมันจะทำให้ขาดสติ และมีแนวโน้มสูงขึ้น ป.ป.ส. รายงานนะครับ โลกนี้มีผู้ใช้ยาเสพติด มีผู้ติดยาเสพติด ๒๗๕ ล้านคน คิดเป็น ๕.๕ ของประชากรโลกนี้ อายุ ๑๕-๖๔ ปี และคาดการณ์ว่าในปี ๒๕๗๓ จะมีผู้ใช้ยาเสพติดเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ล้านคน สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยตอนนี้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น นี่คือปัญหาที่เราจะต้อง มาคุยกัน ลูกเด็กเล็กแดงเจอกันไปหมดนะครับ แล้วก็ขายยาง่ายด้วย ขายทาง Online ทาง Twitter ทาง Facebook หน้าตาเฉย ณ วันนี้คล้ายกับขอกันเฉย ๆ เอายาไปแลก เพื่อจะขอมีเพศสัมพันธ์ อันนี้ผมเอาในพื้นที่มาเล่าให้ฟังนะครับ แล้วก็มีเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย ซึ่งการรายงานจาก ป.ป.ส. มีแนวโน้มว่าการติดยาเสพติดและคนขายนิยมขาย ผ่านทาง Online เยอะมากโดยไม่ต้องแอบหลบ ๆ ซ่อน ๆ ก็คือนโยบายตรงจุดนี้ละครับ ซึ่ง ณ วันนี้ผมอยากจะพูดให้กับพี่น้องประชาชนได้รับฟังด้วย มันเป็นประเด็นปัญหาต่าง ๆ น่ากลัวที่สุด ยาบ้าซึ่งเป็นอันดับหนึ่ง ยาเสพติดมีหลายชนิดยาบ้าอันดับหนึ่ง โดยเฉพาะในชนบท เพราะมันหาซื้อง่ายนะครับ ณ วันนี้เม็ดละ ๗ บาท ถามมาเมื่อเช้านี้เม็ดละเท่าไร เม็ดละ ๗ บาท ขอกันเฉย ๆ ก็ได้ มันหาซื้อมาชุมชนและครอบครัวก็มีปัญหา ผมอยากจะขอกราบเรียน อีก ๒ นาทีครับ

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

เรื่องแรก คนในพื้นที่ร้องเรียนมา แม่เป็นครู เขาบอกว่าเขามีลูกชายที่เป็น คนน่ารักและเชื่อฟังพ่อแม่ แต่พอเข้าไปเรียนในโรงเรียน ใน ปวส. ติดยาเสพติดเข้ามา คนที่เคยเคารพนอบน้อมพ่อแม่ในครอบครัวกลายเป็นเด็กก้าวร้าว อะไรไม่ได้ดั่งใจก็ตวาด ร้องตะโกนใส่พ่อแม่ ขาดสติเหมือนปีศาจร้าย พ่อแม่อยู่บ้านไม่ได้ พอติดยาเสพติดเสร็จแล้ว ก็ต้องค้ายาเสพติดอีก เพิ่งถูกจับนะครับตอนนี้ยังอยู่ในคุก คนที่ ๒ ที่ร้องเรียนมาก็เป็นครู เช่นเดียวกัน แม่เป็นครู คนแรกแม่เป็นครู คนที่ ๒ บอกน้องชายติดยาเสพติด ไปทำงาน อยู่โรงงานอ้อย เหตุเกิดขึ้นที่แถวอำเภอกุมภวาปีเขตเลือกตั้งผม เขาเล่าให้ฟังว่ามันมีปัญหามากมาย พอติดยาเสพติด ค่าแรง ๓๐๐ บาท ๓๕๐ บาท ตอนแรก ก็เอาเงินเอาทองมาให้แม่ ให้ยาย ให้อะไร ดูเป็นครอบครัวเป็นปกติสุข แต่ในขณะเดียวกัน พอติดยาเสพติดมันก็เอาไปซื้อยาเสพติดหมด เสร็จแล้วก็ต้องมาบังคับพี่สาว มาเอาเงินกับยาย เพื่อที่จะไปซื้อยาเสพติด นี่คือปัญหาสังคมซึ่งไม่ใช่เฉพาะหน่วยงาน กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ เพราะฉะนั้นกระทรวงนี้ไม่ใช่กระทรวงเดียว มันทั้งกระทรวงมหาดไทย ทุกกระทรวงโดยเฉพาะนโยบายซึ่งพรรคเพื่อไทยที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ณ วันนี้ นโยบาย ในการปราบปรามยาเสพติดจะต้องเกิดขึ้นครับท่านประธาน ต้องเอาให้ราบคาบ ไม่อย่างนั้น สถาบันครอบครัวอยู่ไม่เป็นสุขอย่างแน่นอน มันหวาดระแวงเพราะอะไรรู้ไหม คือหัวไม่ส่าย หางไม่กระดิก เพราะฉะนั้นถ้าเราได้ไปเป็นรัฐบาล ไปเป็นรัฐมนตรีที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไปดูแล เรื่องนี้แล้ว ผมเชื่อมั่นว่าพี่น้องประชาชนอย่างน้อยที่สุดมันก็จะใจชื้นขึ้นมาบ้าง เพราะเรา เคยดำเนินการนโยบายนี้ประสบความสำเร็จมาแล้ว นายกรัฐมนตรีจะต้องนั่งหัวโต๊ะ ในการจัดการดูแลรับผิดชอบคุยกับเพื่อนบ้าน สามเหลี่ยมทองคำคุยกับประเทศไหน อยู่ฝั่งทางโน้นข้ามมาง่ายนิดเดียว เราจะปราบอย่างไร เราจะดูแลอย่างไร เราจะยึดทรัพย์ มันอย่างไรพวกค้ายาบ้าพวกนี้ครับ ผมไม่อยากจะพูดคำหยาบพวกเวรตะไลพวกนี้ มันน่าจะหนีจากประเทศไปได้แล้ว เพราะนี่เป็นบ่อเกิดทำให้สถาบันครอบครัวมันแตกแยก มันเยอะแยะไปหมด ไม่รู้ครับ มันติดมันขาดสติ มันข่มขืนแม้กระทั่งยาย ดูสิครับข่าวคราว รู้กันทุกคน เพราะฉะนั้นผมอยากจะขอกราบเรียนท่านประธาน ท่านไม่ต้องตอบผมก็ได้นะ ผมอยากให้คนฟังที่อยู่ทางบ้านและนโยบายรัฐบาลใหม่ที่จะเข้าไปดำเนินการได้ดำเนินการ และสรุปตัวเลขที่มันชัดเจนอาจจะเป็นตัวเลขปัจจุบันนี้ ต่อไปอาจจะเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้น ๆ ในสถาบันครอบครัวก็ได้ ผมขออนุญาตพูดเท่านี้ครับ ขอกราบขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านปารมี ไวจงเจริญ เชิญครับ

นายปารมี ไวจงเจริญ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ ดิฉันปารมี ไวจงเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันจะขอพูดรายงานข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ในฐานะที่ดิฉันทำงานด้านการศึกษาและเป็นครูคนหนึ่ง จากข้อมูลในรายงานที่กระทรวง พม. ส่งมาปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ โดยเฉพาะปีล่าสุด ปี ๒๕๖๔ นี้ ๔๐ เปอร์เซ็นต์นิด ๆ ของผู้ถูกกระทำความรุนแรงเป็นเด็กและเยาวชน อันนี้แน่นอนเด็กและเยาวชนเหล่านี้ เขาจะต้องมีความสามารถทางการเรียนรู้ หรือผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ลดลงแน่ แต่เท่าที่ ดิฉันอ่านดูในรายงานของทั้ง ๒ ฉบับก็จะเห็นได้ว่ายังไม่มีข้อมูลที่ทำการศึกษาหรือรายงาน เกี่ยวกับเรื่องว่ามีการวัดติดตามผลว่าเด็กเยาวชนเหล่านี้เมื่อถูกบำบัดแล้วกลับคืนสู่สังคม กลับคืนสู่สถานศึกษา ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาหรือความสามารถทางการเรียนรู้เป็นอย่างไรบ้าง อยากจะขอกราบเรียนท่านประธานสภาฝากไปถึงเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในข้อมูลตรงนี้เกี่ยวกับ ผลสัมฤทธิ์การศึกษา แล้วก็ความสามารถทางการรู้มีการติดตามผลอย่างไรบ้าง โดยข้อมูลกว้าง ๆ ของรายงานทั้ง ๒ ฉบับ โดยเฉพาะจากฉบับปีล่าสุดถ้าเราดูกว้าง ๆ ความรุนแรงมีแนวโน้ม คงที่แต่ก็ลดลงไม่มาก ก็จะสะท้อนได้บางอย่างเลยว่าการบริหารจัดการภาครัฐเกี่ยวกับ การจัดการนโยบายด้านนี้ยังขาดการนำไปใช้ การศึกษาจะมีไม่มากพอและขาดรูปธรรม ในการดำเนินการ ดิฉันอยากจะเสนอแนวทางแก้ปัญหาหลาย ๆ ประเด็นที่จะให้ทาง กระทรวง พม. ทำงานในเชิงรุก ระดมทรัพยากรมาทำงานเรื่องนี้ในเชิงรุกให้มากขึ้น และอยากจะให้ทางกระทรวง พม. เสนอแนวทางแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมในระดับชุมชน ระดับโรงเรียน ระดับครอบครัว เพราะว่าสถานที่เหล่านี้จะเป็นพื้นที่ที่เด็กและเยาวชนเข้าไป มีส่วนร่วมมาก อยากให้เพิ่มแนวทางในการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมระดับชุมชนและโรงเรียน ให้มากขึ้น แล้วก็บรรจุลงในรายงานที่จะเสนอต่อสาธารณชนด้วยนะคะ ซึ่งความรุนแรง ในครอบครัวจริง ๆ เรารู้กันดีอยู่แล้วมีผลงานการวิจัยมากมายว่าส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก และเยาวชนมากหลายด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ แล้วก็พัฒนาการทางสังคม ถ้าการเก็บข้อมูลที่ไม่ดีพอมันจะนำไปสู่การคลำทางที่จะแก้ปัญหาได้ยาก ดิฉันอยากจะฝาก ท่านประธานถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้นำเรียนตรงนี้ แล้วความรุนแรงในครอบครัวต่าง ๆ เหล่านี้ที่มันจะส่งผลต่อความสามารถทางการเรียนรู้ ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ดิฉันเชื่อแน่นอนมันเกี่ยวเนื่องเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กไทยต้องหลุดออกจากระบบ การศึกษาเข้าสู่โลกของงานเร็วกว่าเวลาอันควร หรือถ้าเลวร้ายไปกว่านั้นเด็กและเยาวชน เหล่านี้อาจจะต้องเข้าสู่เรือนจำหรือสถานพินิจโดยที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลย เรื่องเหล่านี้ก็ฝาก ท่านผู้เกี่ยวข้องลองดำเนินการเชิงรุกให้มากกว่านี้ ประเด็นทั้งหมดนี้ทางสังคมควรกลับมา ตั้งคำถามว่าเจ้าหน้าที่รัฐและสังคมเราทุก ๆ คนดูแลเด็กและเยาวชนดีแล้วหรือยัง ถ้าเรายัง เพิกเฉยรายงานฉบับนี้จะเป็นเหมือนเอกสารที่ประจานผู้ใหญ่อย่างพวกเราว่าดำเนินการต่าง ๆ โดยแก้ไขได้ไม่สัมฤทธิผล หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ควรจะแค่รายงานผลแต่จะต้องทำงาน อย่างเป็นระบบบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ดิฉันตั้งข้อสงสัยว่า ผลการติดตามเด็กเยาวชนที่ถูกกระทำความรุนแรงเมื่อเข้าสู่สถานศึกษาหรือเข้าสู่โรงเรียน มีความสามารถทางการเรียนรู้มากน้อยแค่ไหนมันไม่มีข้อมูล เพราะฉะนั้นก็อยากให้มี การบูรณาการระหว่างหน่วยงานให้มากขึ้นทั้งกระทรวง พม. และกระทรวงศึกษาธิการ ให้นำทรัพยากรต่าง ๆ มารายงานข้อมูลต่าง ๆ แล้วหาวิธีที่จะยับยั้งความรุนแรง

นายปารมี ไวจงเจริญ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้ดิฉันอยากให้การทำงานบูรณาการกันแล้วก็ก้าวข้ามระบบราชการ ให้เห็นประโยชน์ของเด็กและเยาวชนแล้วก็สังคมเป็นหลัก อยากจะให้ฝากข้อคิดเห็นอีกอย่างหนึ่งว่า ข้อมูลใน ๒ เล่มที่นำเสนอนี้ทางกระทรวง พม. นำเสนอข้อมูลเป็นเชิงปริมาณด้วยกราฟ แล้วก็แผนภูมิ ถ้าเป็นไปได้อยากรบกวนท่านประธานฝากถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้นำเสนอข้อมูล ในเชิงคุณภาพมิติด้านต่าง ๆ ร่วมด้วย อย่างเช่นผลกระทบที่ตามมาในหลาย ๆ ด้านจากความรุนแรง หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นในหน่วยสังคมต่าง ๆ เช่น ความเสียหายต่อระบบการศึกษา ความเสียหายต่อชุมชน ความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ ดิฉันเชื่อว่าถ้าทางเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องประกาศข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ออกมาข้าราชการทุกภาคส่วนจะนำผลการวิจัย ผลการรายงานต่าง ๆ เหล่านี้ไปเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบสังคมให้น่าอยู่ การลดสถานการณ์ ความรุนแรงจะได้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น

นายปารมี ไวจงเจริญ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สุดท้ายความรุนแรงเป็นโรคร้ายแรงชนิดหนึ่งที่เราทุกคนต้องร่วมกันกำจัด ทุกคนต้องไม่เพิกเฉยเพราะแค่ว่ามันยังไม่เกิดขึ้นกับเรา ทุกคนจะต้องมาร่วมกันหาทางแก้ไข ทุกอย่างดิฉันเชื่อว่าแก้ไขได้มีทางออก แก้ไขให้ผ่านพ้นไปได้ ขอบคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านพรรณสิริ กุลนาถศิริ เชิญครับ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉันนางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย พรรคเพื่อไทย ในการรายงานสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำ ด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ ประจำปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ดิฉันขอแสดงความเห็นในส่วนของ สถานการณ์เชิงข้อมูลจากรายงาน และอีก ๑ ประเด็นก็คือการป้องกันและแก้ไขปัญหา เชิงพื้นที่

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ในส่วนแรก ขอชื่นชมกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวที่ขับเคลื่อน การดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นต้นมา ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจว่าจะลด สถานการณ์ความรุนแรง ปัญหาในครอบครัวให้น้อยลง แต่ปรากฏว่าสถานการณ์นั้น ก็ไม่ได้ลดน้อยลงเลย ในเบื้องต้นขอแสดงความเห็นในเรื่องของข้อมูลเอกสาร ซึ่งจะเป็น กระบวนการในเชิงการบริหารจัดการที่จะนำไปสู่การลดสภาพปัญหาได้ อย่างเช่น ในการรายงานข้อมูลจากเอกสารในปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ ดิฉันเห็นว่าเป็นการรายงาน เชิงแยกส่วนจาก ๑๖ หน่วยงานหรือเกือบ ๒๐ หน่วยงาน ถ้าจะได้มีการสังเคราะห์ข้อมูล ให้เป็นภาพรวมจะนำไปสู่การบริหารและภาคปฏิบัติเชิงพื้นที่ ตลอดจนกลไกของการผลิตซ้ำ ของข้อมูลปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องเหล่านี้ก็ควรจะได้มีการรวบรวมข้อมูลให้เป็นระบบ เพื่อจะได้ แก้ปัญหาร่วมกันต่อไป

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ในส่วนของสภาพปัญหาเชิงข้อมูล ในส่วนแรกปี ๒๕๖๔ ดิฉันขอใช้ข้อมูล ของศูนย์พึ่งได้ของกระทรวงสาธารณสุข และศูนย์ช่วยเหลือทางสังคมของกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ ข้อมูลทั้งสองส่วนนี้แม้นจะรวมสถิติแล้วอยู่ที่ตัวเลข ๓๑,๔๘๑ ราย ในภาพรวมจริง ๆ แล้วข้อมูลตรงนี้ก็ยังไม่ครบถ้วน แต่เห็นว่าทั้ง ๒ ส่วนของหน่วยงาน เสนอในเรื่องของปัจจัยการกระตุ้นให้เกิดปัญหาไว้ได้อย่างชัดเจน ปัญหาที่เกิดขึ้นนั่นก็คือ ปัญหาในส่วนของสัมพันธภาพในครอบครัว ปัญหาเกิดขึ้นในบ้านตนเอง ปัญหาเกิดจาก การทะเลาะวิวาท และที่สำคัญยิ่งก็คือการมีพฤติกรรมกระทำรุนแรงซ้ำ ๆ ตรงนี้เป็นปัญหา ที่สำคัญ เราจะร่วมด้วยช่วยกันเพื่อแก้ไขอย่างไรกับการที่ทนต่อความรุนแรงร่างกายจิตใจ คงทับถมมาอยู่ก่อน แล้วท้ายที่สุดก็คือรุนแรงทางร่างกาย ทั้งในส่วนของสามีภรรยา และลูก ๆ ที่เห็นสภาพปัญหารวมทั้งเพื่อนบ้าน เราจะมีกลไกอย่างไรที่เราจะมีเครือข่ายการเฝ้าระวัง อย่างครบระบบ ปัญหาเชิงลึกนั่นก็คือปัญหาสุรา ยาเสพติด และลงลึกว่าปัญหาสุรา ในขณะที่ สังคมเราก็กำลังมีการขับเคลื่อนในเรื่องของนโยบายสุราอะไรพวกนี้ ดิฉันมองว่าเราจะเริ่มต้นจาก การป้องกันอย่างไร กับการออกกฎหมายและความย้อนแย้งในภาคปฏิบัติ อาจจะมีการขับเคลื่อน ขณะนี้พี่น้องประชาชน ชุมชนก็มีเรื่องของสุราท้องถิ่น สุราเสรีเข้ามา และในภาคปฏิบัติ ที่เราจะเฝ้าระวังสังคมก็อยากจะให้ฝ่ายนโยบาย ฝ่ายกฎหมายได้พิจารณาเรื่องนี้ให้ถี่ถ้วน ในเรื่องของเศรษฐกิจก็เชื่อว่าในเรื่องของสวัสดิการจากรัฐอย่างเดียวต่อปัญหาในชุมชนพื้นที่ ไม่เพียงพอ ควรจะได้บูรณาการในเรื่องของการส่งเสริมอาชีพ หรือในเรื่องของการแก้ปัญหา การตกงานและการไม่มีงานทำ ในส่วนของการรายงานสถานการณ์รุนแรงอีกแง่มุมหนึ่ง ที่เสนอในรูปแบบของรายจังหวัดจาก www.violence.in.th ดิฉันมองว่ารายงานสภาพปัญหาตรงนี้ พบว่ากรุงเทพมหานคร ๘๘ รายต่อปี ที่สุโขทัยจังหวัดของดิฉัน ๑๐-๑๒ รายต่อปี ดิฉันขอชื่นชม ไปยังจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดอำนาจเจริญ รายงานตัวเลขว่าสถานการณ์ความรุนแรง เป็น ๐ รายต่อปี ดิฉันอยากจะให้กรมกิจการสตรีและครอบครัวได้ถอดบทเรียนดีเด่นตรงนี้ หรือเป็นปัญหาที่การเข้าถึง LINE Official ว่าเขาเข้าถึงหรือรายงานข้อมูลได้สมบูรณ์ ครบถ้วนหรือไม่ ถ้าเป็นเรื่องที่ดี ๐ รายนี้ยอดเยี่ยมเลยค่ะ ทางจังหวัดควรจะให้รางวัล หรือน่าจะมี Best Practice อะไรที่นำเสนอสังคมต่อไป ในการรายงานข้อมูลในส่วนของ การเข้าถึงการรับบริการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรูปแบบของรายงาน ในเรื่องของกลุ่มอายุ และภาพรวมทั้งหมด อันนี้เป็นข้อมูลที่น่าตกใจ โรงพยาบาลตำรวจบอกว่ากลุ่มอายุ ๑๓-๑๗ ปี เข้าถึงบริการที่จำนวน ๕๔๖ ราย ในส่วนของบ้านพักเด็กและครอบครัว เด็กที่เข้าถึงบริการ มากที่สุด กลุ่มอายุ ๖-๑๗ ปีมีแค่เพียงจำนวน ๑๙๓ ราย และการเข้าถึงกฎหมายอันนี้ ยิ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงมากเลยนะคะ คนไทยเรา สังคมไทยเรากับการเข้าถึงกฎหมาย ในกลุ่มนี้ ถือว่ามากที่สุดกว่าทุกกลุ่มมีแค่เพียง ๓๗ ราย การแจ้งความร้องทุกข์จากหน่วยงานหนึ่ง รายงานมาว่ามีจำนวนเป็น ๑,๐๐๐ ราย แต่ช่วยเหลือเยียวยาได้แค่เพียง ๗ ราย เพราะฉะนั้นโครงสร้างใดบ้างที่จะทำให้พี่น้องประชาชนหรือผู้ถูกกระทำรุนแรงได้เข้าถึง การรับบริการ ดิฉันอยากจะให้ทางกรมกิจการสตรีและครอบครัวได้ใช้ทุนทรัพยากรเดิม ที่มีอยู่ อาทิเช่น LINE Official ในส่วนของ World Wide Web ก็ดี หรือในส่วนของสายด่วน ก็ดี OSCC หมายเลขสายด่วน ๑๙๑ รวมทั้งศูนย์ช่วยเหลือทางสังคม ๑๓๐๐ และโดยเฉพาะ อย่างยิ่ง ESS Help Me ปักหมุดหยุดเหตุ ดิฉันเข้าไปดูแล้วก็ตกใจว่าจะปักหมุดหยุดเหตุ หรือกลัวข้อมูลก่อนว่าถ้ารายงานเท็จคดีอาญาจำคุกเท่านั้นเท่านี้ ดิฉันอยากจะให้มีการสื่อสาร ภาคประชาชนที่สามารถเข้าถึงได้ด้วยความอบอุ่นแล้วก็มีความรู้สึกที่ดีขึ้นจากการกระทำ รุนแรงแล้วค่ะ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ในประเด็นท้ายสุด ดิฉันขอเสนอโครงสร้างเชิงพื้นที่ในเรื่องของการเติบโต การทำงานที่บอกว่า ๗,๐๐๐ กว่าตำบลได้มีการขับเคลื่อนแล้วในศูนย์พัฒนาครอบครัว ในชุมชน ดิฉันขอยกตัวอย่างจังหวัดสุโขทัยมีการทำงานเชิงบูรณาการในส่วนของศูนย์ ศพค. และมีการบูรณาการไปกับระบบดูแลช่วยเหลือผู้เรียน ดิฉันอยากจะให้โครงสร้างนี้เกิด ความเป็นจริงโดยมีการขับเคลื่อนในลักษณะของบันทึกความตกลงความร่วมมือ และมีธรรมนูญ ในการที่จะป้องกันเหตุร้ายที่เกิดขึ้น ดิฉันก็เสนอแนวทางและข้อมูลดังกล่าวเพื่อให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการเพื่อลดปัญหาสภาพความรุนแรงต่อไป ขอบพระคุณมากค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านรวี เล็กอุทัย เชิญครับ

นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพครับ กระผมนายรวี เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต ๓ พรรคเพื่อไทย ขอ Slide ขึ้นด้วยครับ

นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ปัญหาความรุนแรง ในครอบครัวนั้นมีความละเอียดอ่อน ซับซ้อน และมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับบุคคล ที่มีความใกล้ชิดกันในครอบครัว ตามนิยามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำ ด้วยความรุนแรงในครอบครัว พุทธศักราช ๒๕๕๐ ที่กินความหมายเกินไปกว่าคู่สมรส ตามนิตินัย และประเด็นสำคัญที่ท่านผู้ชี้แจงต้องมารายงานให้รัฐสภาของเรารับทราบ ตามมาตรา ๑๗ ในวันนี้ยิ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นประเด็นใหญ่ ที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะจะมีกฎหมายสักกี่ฉบับกันครับที่กำหนดให้ท่านต้องกลับมา รายงานสถานการณ์ให้สภาได้ทราบถึงสถานการณ์และมาตรการในการแก้ไขปัญหา เป็นประจำทุกปี และจากที่ผมได้ศึกษารายงานสถานการณ์ด้านความรุนแรงประจำ ปี ๒๕๖๓-๒๕๖๔ จึงอยากขอร่วมอภิปรายซักถามในครั้งนี้ด้วย จาก Slide ผมมีประเด็น แล้วก็มีตัวเลขเชิงสถิติ ๓ ด้านเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงในครอบครัวของประเทศไทย ที่อยากแสดงให้ดูครับ ใน Slide แรกนี้เป็นสถิติความรุนแรงในครอบครัวในรอบ ๗ ปี ระหว่างปีงบประมาณ ๒๕๕๙-๒๕๖๕ จำนวนทั้งสิ้น ๑๑,๖๑๗ ราย เฉลี่ย ๑,๖๖๐ รายต่อปี หรือเฉลี่ย ๑๓๘ รายต่อเดือน หรือเฉลี่ย ๕ รายต่อวัน ซึ่งจากข้อมูลนี้มาจาก Website ของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ซึ่งพอมาเปรียบเทียบกับในเอกสารแล้วข้อมูล ไม่ตรงกัน ตัวเลขไม่ตรงกัน ผมก็เลยมีคำถามว่าสรุปแล้วเราควรจะต้องใช้ตัวเลขจาก แหล่งข้อมูลไหนกันแน่ถึงจะถูกต้อง แต่อย่างไรดีข้อมูลทั้ง ๒ แหล่งเป็นในทิศทางเดียวกัน ก็คือความรุนแรงนั้นไม่ได้มีแนวโน้มลดลง แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเหมือนกันทั้งคู่ ในขณะที่ ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวเป็นเหมือนที่เพื่อนสมาชิกหลาย ๆ ท่าน ได้อภิปรายไปครับ ยาเสพติด สุรา ความหึงหวง การหย่าร้าง สุขภาพจิต แล้วก็ความตึงเครียด ของเศรษฐกิจ โดยปัญหาหลัก ๆ ปัจจัยหลัก ๆ นั่นก็คือเรื่องของยาเสพติดและสุรา แล้วเมื่อผมลองมาค้นถึงระดับประเทศ ระดับจังหวัด รวมทั้งประเทศมีสถิติผู้ใช้บริการ บ้านพักเด็กและครอบครัวในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ อยู่ถึง ๒๔,๖๕๔ ราย อันดับ ๑ อยู่ที่ภาคกลาง ๗,๐๐๐ กว่าราย แล้วก็มาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก และพอมาค้นในระดับจังหวัดเป็นที่น่าตกใจว่า ๕ อันดับสูงสุดของประเทศที่มีสถิติผู้ใช้บริการ บ้านพักเด็กและครอบครัวนั้นก็คือขอนแก่น ๑,๒๖๐ ราย และมีอุตรดิตถ์จังหวัดของผมเอง อยู่ที่ ๑,๑๐๘ ราย จากสถิติครับท่านประธาน จากการค้นคว้าย้อนหลังพบว่าสถิติการใช้ ความรุนแรงในครอบครัวนั้นไม่ได้มีแนวโน้มที่ลดลง แต่ในอีกมุมหนึ่งครับ ตามหลักการของ Iceberg Model หรือทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง สถิติที่เราเห็นนั้นอาจเป็นเพียงแค่ยอดภูเขาเล็ก ๆ ของยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นผิวน้ำขึ้นมาเท่านั้นเองครับ หรือกล่าวได้ว่าการรายงานสถิติ ดังกล่าวของท่านเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ถูกตรวจพบและมีการรายงานบันทึกไว้เท่านั้น แต่ยังอาจมี ความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นจริงอีกมากที่ไม่สามารถตรวจพบหรือไม่มีการบันทึกเอาไว้ โดยหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นฐานขนาดใหญ่ของภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ใต้ผิวน้ำ ซึ่งเราไม่รู้เลยว่าจะมีขนาดหรือปริมาณอยู่อีกมากน้อยเพียงใด และที่สำคัญเราไม่ได้มีวิธีการ ในการจัดเก็บข้อมูลมากเกินไปกว่าการจัดทำโดยหน่วยงานของรัฐ แต่ในอีกมุมหนึ่งในทางที่ดี ก็อาจเป็นแนวโน้มที่แสดงให้เห็นว่าภาครัฐหรือผู้ถูกกระทำได้ให้ความสำคัญต่อปัญหานี้ ทำให้มีการรับแจ้งและการเข้าถึงกลไกของการดูแลของหน่วยงานของภาครัฐมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นทั้งข้อกังวลและข้อสงสัยของผมว่าจริง ๆ แล้วตัวเลขสถานการณ์ ความรุนแรงในครอบครัว ณ ปัจจุบันนั้นอยู่ที่จุดไหนกันแน่

นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ

สำหรับข้อสังเกตในมาตรการที่รายงานเสนอมา ผมขออภิปรายเพิ่มเติม เพื่อร่วมเสนอแนวคิดและแนวทางในการปรับ และนำเสนอรายงานให้เห็นภาพชัดเจน มากยิ่งขึ้น ท่านประธานครับ ในมุมมองของผมนั้นปัญหาความรุนแรงในครอบครัว มีเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องหลายประการ หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องของโครงสร้างของสังคมไทย ที่ผ่านมา ซึ่งถูกทำให้เชื่อว่าปกติแล้วผู้ชายเป็นใหญ่ในครอบครัว ทำให้โครงสร้าง และบทบาทในครอบครัวจะนำโดยผู้ชายและมักปลูกฝังให้ผู้หญิงต้องอดทน แต่ในประเด็นนี้ จากการศึกษาหลาย ๆ ชิ้นจะพบว่าถ้าผู้หญิงมีการศึกษา มีการเคารพในตัวเอง และผู้หญิง สามารถพึ่งพาตนเองได้ ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจและสถานะทางสังคมจะลดความรู้สึกว่า ต้องอดทนลงได้ และเป็นพื้นฐานสำคัญในการคลี่คลายปัญหานี้ ดังนั้นผมจึงอยากทราบว่า ท่านได้มีมาตรการในการปลูกฝังเรื่องเหล่านี้ให้กับผู้หญิงและเด็กผู้หญิงอย่างไรบ้าง รวมถึง องค์กรที่ทำงานในด้านนี้ได้มีการประสานการทำงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างไร จริง ๆ ผมทราบครับว่านอกจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยังมีอีก หลายหน่วยงานและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่เหมือนว่าการสร้าง ทิศทางเพื่อเห็นภาพรวมของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้นยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร

นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ

ประเด็นถัดไปครับ การไม่มีความตระหนักร่วมกันของคนในสังคม และการขาด การให้การศึกษา เนื่องจากปัญหาสำคัญของความรุนแรงในครอบครัวนั้นมักถูกมองว่า เป็นเรื่องน่าอายไม่ควรนำออกจากครอบครัว หรือคำกล่าวที่ว่าความในอย่านำออก ความนอก อย่านำเข้า แต่ความเชื่อแบบนี้กลับทำให้สังคมไม่ได้ตระหนักถึงความเป็นจริงของความรุนแรง ของปัญหา ผมจึงเห็นว่าควรมีการรณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจังและสร้างกลไกในชุมชนให้เข้ามา มีส่วนร่วมในการให้การศึกษา รวมถึงการรณรงค์ให้สังคมร่วมแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นในทุกระดับ ผมทราบว่าตอนนี้ทางกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้สร้างผู้ไกล่เกลี่ยภาคประชาชน อย่างมากมายตาม พ.ร.บ. ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พุทธศักราช ๒๕๖๒ ที่สามารถไปตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ย ที่ชุมชนได้ น่าจะลองพิจารณาดูว่าความช่วยเหลือนี้จะช่วยเหลือได้ขนาดไหนนะครับ อีก ๒ ประเด็นครับท่านประธาน นั่นก็คือเรื่องของปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ซึ่งต่อไปเราจะมี รัฐบาลใหม่แล้วก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในอนาคตจะช่วยลดปัญหา ความรุนแรงในครอบครัวลงได้

นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ

โดยสรุปสุดท้าย ผมทราบดีว่าเรื่องนี้ไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะสั้น เนื่องจาก มีปัจจัยหลายอย่างที่จะต้องควบคุม แต่เราก็ควรมีการหาทิศทางพร้อมกับกำหนดผลลัพธ์ ที่กำหนดให้ชัดเจนมากกว่านี้ ดังนั้นผมขอความกรุณาท่านผู้ชี้แจงหากเป็นไปได้ช่วยส่งข้อมูล โครงการและงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความรุนแรงตาม พ.ร.บ. คุ้มครอง ผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พุทธศักราช ๒๕๕๐ เพื่อที่สภาแห่งนี้จะได้เห็น และรับทราบว่าจะช่วยท่านปรับแก้ หรือสนับสนุนโครงการ หรือมาตรการอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้เกิดการแก้ไขและป้องกันปัญหาความรุนแรงอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่การรับรู้ข้อมูล ผ่านเพียงตัวเลขเท่านั้นครับ ขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ต่อไปท่านกัณตภณ ดวงอัมพร เชิญครับ

นายกัณตภณ ดวงอัมพร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ และเพื่อนสมาชิกทุกท่าน ผม นายกัณตภณ ดวงอัมพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๖ กรุงเทพมหานคร ตัวแทนของพี่น้องชาวพญาไท ดินแดง ก่อนอื่นผมต้องขอกล่าวขอบคุณ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวก่อนนะครับ รวมถึงกระทรวง พม. ซึ่งตัวผมเองนั้น ได้เคยร่วมงานกับกระทรวง พม. มาในช่วงวิกฤติ COVID-19 ที่ผ่านมา และได้รับการประสานงาน ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อย่างดีมาโดยตลอด ขอ Slide ครับ

นายกัณตภณ ดวงอัมพร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่าในทุกวันมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยความรุนแรงนั้นเกิดขึ้นจากคนที่ตกเป็นเหยื่อก็คือลูกหลาน เด็กเล็ก ผู้หญิง คนแก่ หรือแม้กระทั่งคนพิการ คนเหล่านี้คือผู้สูญเสีย คือเหยื่อ คือคนที่แทบจะไม่มีทางสู้ วันนี้ ผมจะมาอภิปรายถึงปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากยาเสพติด จาก Slide หน้า ๓ สรุปจาก ภาพรวมจะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ถูกกระทำจะเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชายถึง ๑๐ เท่าขึ้นไป จาก Slide นี้หน้าที่ ๖ ข้อที่ ๑-๙ คิดเป็นประมาณ ๔๘ เปอร์เซ็นต์ ผู้ที่กระทำต่อเหยื่อ คือคนในครอบครัว ขอหน้าถัดไปครับ จากตารางนี้ความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นปัจจัยหลัก และปัจจัยรองลงมาก็คือสิ่งกระตุ้น และมีการใช้สารเสพติดถึง ๒,๑๕๙ เคส ปัญหายาเสพติด กับความรุนแรงในครอบครัว เราคงไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่ายาเสพติดนี้เป็นปัญหาระดับชาติ มันเป็นเหมือนระเบิดเวลา ยาเสพติดนี้เป็นเหมือนระเบิดเวลาที่สร้างความรุนแรงในครอบครัว ได้ทุกเมื่อ เมื่อบ้านนั้นมีผู้ใช้ยาเสพติดอยู่ในบ้าน ผมทราบดีครับว่า พม. นั้นเป็นหน่วยงาน ที่ต้องบูรณาการร่วมกับหลายฝ่ายในหลายกรณี หลายครั้งนะครับปัญหาในพื้นที่ที่ผมได้รับ เรื่องร้องเรียนมาจากพี่น้องประชาชนว่ามีเหตุความรุนแรงจากผู้ที่ใช้สารเสพติดที่อยู่ในบ้าน มีทั้งคุณพ่ออยากให้ตำรวจไปจับลูก เพราะลูกติดยาจนขโมยของไปขาย มีทั้งคุณแม่ที่ต้องแอบ ไปแจ้งความอยากให้ตำรวจไปจับลูกไปรักษา ที่ต้องแอบเพราะว่ากลัวลูกจะมาทำร้าย ทุก ๆ ครั้ง ทุก ๆ Case ประชาชนมีความหวัง และหวังว่าจะพึ่งเจ้าหน้าที่ได้ เพื่อจะคืน ความสุข คืนความปกติให้กับครอบครัวนั้น ๆ ครับ ผมมีข้อสังเกตนะครับ ในการส่งตัว ผู้เสพยาเข้ารับการบำบัด หากผู้เสพยาสมัครใจเข้ารับการบำบัดจะเข้าสู่กระบวนการ ขั้นตอนที่ ๑ แต่ในกรณีที่เกิดการปฏิบัติจริงตามหลักแล้วต้องเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย แต่ที่ได้รับข้อร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่มาโดยตลอด คือถ้าเกิดผู้เสพไม่สมัครใจ เข้ารับการบำบัด หลายครั้งเจ้าหน้าที่ไม่สามารถบังคับและไม่นำตัวเข้าสู่ระบบกฎหมาย คนติดยาถือว่าเป็นผู้ป่วย เขาน่าจะได้รับโอกาสในการแก้ไขตัวเองคืนสู่สังคมได้โดยดี ผมขอถามผ่านท่านประธานไปยังผู้ชี้แจงว่าเหตุการณ์ในลักษณะนี้ที่กล่าวมาจะดำเนินการ ในการปฏิบัติจริงอย่างไรถึงจะปลดล็อกความทุกข์นี้จากคนที่มีผู้เสพยาในครอบครัวที่ไม่ยอม ไปรับการรักษา

นายกัณตภณ ดวงอัมพร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ข้อที่ ๒ ในการดำเนินการที่ผ่านมาในลักษณะ Case นี้ทางผู้ชี้แจงทาง พม. มีปัญหาติดขัดตรงไหนเราก็อยากจะทราบเหมือนกันว่าท่านติดขัดตรงไหน เผื่อพวกเราจะใช้ รัฐสภานี้ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับท่านได้ ผมมีข้อสังเกตอีก ๑ ข้อจากรายงานไม่ว่าความรุนแรง จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงในแต่ละปี ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นนะครับ ก็ยังไม่อาจจะชี้วัดได้ว่าแนวการดำเนินการ ของ พม. ซึ่งเป็นหน่วยงานบูรณาการจะสามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากว่าได้ป้องกันความรุนแรง ในครอบครัวได้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ผมจึงอยากจะถามถึงตัวชี้วัดด้วยว่ามีการชี้วัด ในการดำเนินการอย่างไร

นายกัณตภณ ดวงอัมพร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้ ปัญหายาเสพติดทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นปัญหาระดับชาติ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยได้ชูนโยบายปราบยาเสพติดอย่างจริงจัง แต่พอผมเห็นโผรัฐบาล ชุดนี้แล้วผมก็อดห่วงไม่ได้ ผมก็หวังว่าท่านจะจริงจังกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างที่ ท่านได้หาเสียงเอาไว้กับประชาชน ประชาชนรอพวกท่านอยู่ครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านฐิติมา ฉายแสง เชิญครับ

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง จังหวัดฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ขึ้น Slide ด้วยค่ะ

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

ดิฉันขออภิปรายในรายงานข้อมูล สถานการณ์ด้านความรุนแรงในครอบครัวประจำปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ ซึ่งก่อนอื่น ก็ต้องขอให้กำลังใจผู้ที่ถูกกระทำ ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็แล้วแต่ เพศหญิง เพศชาย หรือไม่ระบุ สภาพเพศ ขอให้กำลังใจกับทุกหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทาง พม. ก็ดี ผู้ที่มาชี้แจงก็ดี ขอให้กำลังใจกับมูลนิธิต่าง ๆ ที่เป็นผู้ที่มีส่วนช่วยให้สังคมนี้พยายามจะแก้ไขสังคมนี้ ให้ลุล่วงไป ท่านประธานคะเราพูดกันอยู่เสมอว่าสาเหตุนั้นมาจากหลายอย่างที่เป็นสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะติดการพนัน พ่อแม่ผู้ปกครองต่าง ๆ นานาที่ไปติดการพนัน แล้วก็ทำให้เป็นปัญหา ในครอบครัว ลูกเต้าเห็นอยู่ว่าพ่อติดหนักมาก แม่ติดหนักมาก เมาหัวทิ่ม ดิฉันใช้คำนี้เลยนะคะ เพราะว่าเราจะเห็นเยอะแยะมากในสังคม จะเห็นพ่อหรือแม่ก็ตามที่เป็นสภาพแบบในภาพนี้ สามีหรือภรรยาก็ตามที่ทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันจนกระทั่งลูกได้เห็น เราเห็นปัญหานี้ กันเยอะแยะ จนกระทั่งเมื่อลูกเห็นภาพต่าง ๆ นานาของพ่อแม่ สถานการณ์ของครอบครัว ตัวเขาเองก็เลยเข้าสู่ยาเสพติดจับกลุ่มกัน เล่นเกมแบบไม่หยุดเลย แล้วก็ชอบใช้ความรุนแรง เพราะเห็นว่าพ่อเขาทำแบบนั้น ต่าง ๆ นานานี้เราจะเห็นว่าเพื่อน ๆ สส. ด้วยกันได้พูด เรื่องแบบนี้กันหลายคนเลยทีเดียว หนังสือที่เป็นรายงานข้อมูลสถานการณ์ทั้ง ๒ เล่ม ก็พูดอยู่ว่าสถิติมีอะไรบ้างนะคะ จะเห็นว่าตัวสถิติเหล่านี้มันไม่ได้ลดลง มันกลับจะเพิ่มขึ้นด้วย ในบางปี เพราะฉะนั้นทำให้ดิฉันสงสัยมากมาย ท่านคะดิฉันอยากจะพูดไปถึงว่าดิฉันได้รับเชิญ จากมูลนิธิแห่งหนึ่ง เป็นมูลนิธิที่ชื่อว่ามูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติจากประเทศเกาหลีใต้ เขาก็เชิญให้ดิฉันบอกว่าเนื่องจากเป็นตัวแทนของ สส. ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเขามีแนวทาง มีนโยบาย มีหลักการว่าเขาอยากที่จะไปแก้ปัญหาในสังคม อยากที่จะไปช่วย ให้เด็กต่าง ๆ นานาที่มีปัญหาที่เมื่อสักครู่พูดถึงในภาพ ได้ให้โรงเรียนต่าง ๆ ได้เข้าใจว่า ผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการ ครูแนะแนวต่าง ๆ บุคลากรทางการศึกษาได้เข้าใจว่า เราจะแก้ปัญหาให้เด็กอย่างไรกัน เขาก็เลยจะไปจัดงานที่ฉะเชิงเทรา เขาก็เชิญให้ดิฉันไปพูด อยู่บนเวทีด้วย ดิฉันก็รับเชิญทันทีเมื่อฟังหลักการของเขาว่าหลักสูตรของเขา เขามีโรงเรียนค่ะ โรงเรียนของเขาชื่อว่า Lincoln House School Thailand เป็นการศึกษาทางเลือก เป็นการศึกษานอกโรงเรียน แล้วก็เป็นโรงเรียนประจำอยู่ตรงรังสิตนี้เอง ถัดจาก Makro ไป แล้วก็อยู่ก่อนสนามมวยจะมีโรงเรียนนี้ตั้งขึ้นมา เป็นโรงเรียนที่เป็นมูลนิธิซึ่งไม่ได้หวัง ผลกำไรใด ๆ เลย และปรากฏว่าดิฉันก็ได้รับเชิญไปที่ฉะเชิงเทราก่อนไปฟังเขาเบื้องต้น ในขณะเดียวกันดิฉันก็ไปเยี่ยมเขาที่โรงเรียนดังในภาพ ดิฉันไปเพื่อจะไปรู้ว่าเขาสอนกัน อย่างไร ก็รู้ว่าเขาสอนโดยใช้หลักสูตรว่า Mind Education ซึ่งในภาพจะมีมิสเตอร์ฮักเซิล คิม ซึ่งเป็นผู้ดูแลโรงเรียนนี้อยู่ ดูแลมูลนิธินี้อยู่ได้อธิบาย ได้ให้ดิฉันเข้าใจมากขึ้น ทำให้รู้ว่า เขาใช้หลักสูตรที่ช่วยเด็กนักเรียนที่ประสบปัญหาต่าง ๆ นานา แล้วเข้ามาสู่โรงเรียนนี้อย่างไร เด็กคนนี้ ยกตัวอย่างพ่อแม่ตีกันเพราะแม่เมาเหล้าจัด พ่อจึงตีทำร้ายเพราะพ่อเป็นนักมวย ทำร้ายแม่ พอทำร้ายแม่ปุ๊บ ลูกก็เห็นว่าแม่ถูกทำร้าย ลูกก็ไม่พอใจไม่พูดกับพ่อ ต่าง ๆ นานา เสร็จแล้วลูกก็ไปคบเพื่อนติดยาเสพติด แล้วก็ไปถึงขั้นเข้าสถานพินิจก็ไปเจอแก๊งต่าง ๆ นานา ก็คือไปสู่สภาพที่มันย่ำแย่ เสร็จแล้วเด็กคนนี้ปรากฏว่าอยู่ในกลุ่มของเพื่อนที่ไม่ไหวด้วยกัน แล้วนะคะ เกเรกันหมดแล้ว บังเอิญ Facebook ของ Lincoln House School Thailand มูลนิธินี้มันเด้งขึ้นมาในโทรศัพท์เขา เขาก็เลยติดต่อเข้ามาพอเขาเข้ามาปุ๊บเขาได้ศึกษาถึงโลก ของจิตใจนะคะ กลายเป็นว่าปัญหาต่าง ๆ ในสังคมนี้อยู่ที่จิตใจ ถ้าจิตใจเข้มแข็ง ดังนั้น เราจึงต้องพัฒนาจิตใจให้เข้มแข็ง ดิฉันอยากที่จะฝากถึงหน่วยงานที่มาชี้แจงว่าเราอาจจะต้อง มาดูกันที่จิตใจ ดูกันที่รากเหง้า ดูกันที่ครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยงานเล็ก ๆ หน่วยเล็ก ๆ ของสังคมว่าทำอย่างไรให้ทุกคนมีสภาพจิตใจที่เข้มแข็ง ไม่โอนเอนไปในเรื่องที่ไม่ดี พ่อสอนลูกให้ดี พ่อดูแลแม่ให้ดี แม่สอนลูกให้ดี ลูกมีจิตใจที่เข้มแข็ง ไม่ไปติดยาเสพติดง่าย ๆ ไม่ทำร้ายเพื่อน ไม่ไปเห็นความรุนแรงต่าง ๆ นานา ถ้าหน่วยสังคมเล็ก ๆ นี้ได้ทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีสังคม ก็จะอยู่ได้ดีถูกต้องไหมคะ ท่านประธานที่เคารพคะ พม. เอง ท่านรัฐมนตรีเองก็ได้จัดกิจกรรม Camp Camp ของเยาวชน ๔,๐๐๐ คนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต จัดเพื่อจะพัฒนาศักยภาพ จัดโดยมูลนิธินี้ละค่ะ เพราะฉะนั้น พม. สามารถทำเรื่องนี้ได้ ดิฉันพูดถึงเรื่องเด็กนักเรียน ไม่ได้หมายความว่าการพูดถึงเด็กนักเรียนแล้วมันจะต้องไปอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการ ไม่ใช่ มันสามารถดูแลทั้งประเทศได้เลย พม. ดูแลทุกคนได้หมด ดังนั้นท่านเคยจัด Camp แบบนั้น ทำไมท่านจะตั้งหลักสูตรเกี่ยวกับจิตใจ พัฒนาจิตใจให้กับคนทั้งประเทศได้ ทำสิคะ ลงไป ในท้องถิ่น ลงไปพูดกับทาง อบต. ทางกำนันผู้ใหญ่บ้าน จัดหลักสูตรขึ้นมาพัฒนาจิตใจ ของคนทุกคน ให้ทุกคนนั้นมีความเข้าใจว่าต้องคิดอย่างลึกซึ้ง ต้องคิดอย่างลึก ๆ ต้องชั่งใจ เวลาทำอะไรก็แล้วแต่ ดิฉันหวังว่าทาง พม. จะพอเข้าใจว่าดิฉันพูดถึงอะไร มูลนิธิเยาวชน สัมพันธ์นานาชาติจากเกาหลีใต้ซึ่งไม่หวังผลกำไรเลย แล้วก็มี Lincoln House School Thailand อยู่ตรงรังสิต ไปศึกษาจากเขาสิคะ แล้วเอามาใช้ใน พม. ให้ได้ เพราะท่านคือ หน่วยงานที่สำคัญของสังคมจริง ๆ ค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านแนน บุณย์ธิดา สมชัย เชิญครับ

นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย อุบลราชธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ ดิฉัน แนน บุณย์ธิดา สมชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี พรรคภูมิใจไทย ท่านประธานคะ วันนี้ดิฉันขออนุญาตอภิปรายในรายงานข้อมูลสถานการณ์ ด้านความรุนแรงในครอบครัวของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขออนุญาตเรียกชื่อกระทรวงสั้น ๆ เพราะว่าชื่อกระทรวงท่านยาว ขออนุญาตเรียก พม. นะคะ คืออย่างนี้ค่ะ อันดับแรกเลย เพื่อนสมาชิกหลายท่านทั้งให้กำลังใจแล้วก็ข้อเสนอแนะ ต่อผู้แทนกระทรวงแล้ว แต่ว่าอย่างหนึ่งด้วยขนาดของหน่วยงานนะคะ จากรายงาน ที่ท่านส่งมา ๒ ปีท่านเก็บข้อมูลจากทั้งหมด ๑๕ หน่วยงาน เอาเข้าจริง ๆ เป็นหน่วยงาน โดยตรงที่ท่านกำกับดูแลเพียงแค่ ๓ หน่วยงานเท่านั้น ที่เหลือก็คือเป็นเครือข่าย เป็นพันธมิตร ที่ท่านทำงานร่วมกัน ซึ่งก็เป็นเหตุเข้าใจได้ว่าขนาดของหน่วยงานของท่านมันไม่สอดคล้อง กับปัญหาที่เกิดขึ้น แทบจะพูดได้ว่าการทำงานในแต่ละขวบปีคือการทำงานในเชิงรับล้วน ๆ การทำงานเชิงรุกอาจจะยากด้วยความที่ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนไม่สัมพันธ์กัน แต่สิ่งหนึ่ง จะช่วยงานของท่านได้ถึงแม้เราจะรณรงค์เรื่องนี้มาอย่างยาวนานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นของ ทางฝ่ายปกครองเองหรือผู้บังคับใช้กฎหมายเอง เรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวเลขที่โชว์ในรายงาน แน่นอนค่ะ มันไม่สัมพันธ์กันในโลกแห่งความเป็นจริง และยังมีอีกหลายส่วนในประเทศนี้ ที่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวเป็นเรื่องที่คนนอกอย่ายุ่ง ก็ยังมีอยู่ ยังมีความเข้าใจนี้ เกิดขึ้นอยู่ แต่เหนือสิ่งอื่นใดถ้าทาง พม. เราสามารถให้เป็นข้อมูลหรือให้เป็นความรู้กับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปกครองหรือผู้บังคับใช้กฎหมาย ให้เขาได้สามารถ ให้ข้อมูลต่อ เนื่องจากคนของท่านเองต้องยอมรับว่าคนของท่านไม่พอครอบคลุมให้ ทุกจังหวัด ทุกอำเภอทั่วประเทศ เมื่อคนของท่านไม่พออย่างน้อย ๆ ท่านสามารถให้ข้อมูล และให้ความมั่นใจกับเขาได้ ท่านอย่าลืมนะคะว่าเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว หลาย ๆ พื้นที่เขายังถือว่าเป็นเรื่องน่าอาย เป็นเรื่องที่ไม่สามารถบอกกับคนข้างนอกได้ แม้กระทั่งญาติเอง พี่ป้าน้าอาเองบางเรื่องยังไม่กล้าจะบอกด้วยซ้ำ ถึงแม้เรื่องเกิดกับลูก กับหลานเขา เพียงเพราะว่า ๑. เขาก็ไม่มั่นใจค่ะ ไม่มั่นใจว่าเมื่อเขาแจ้งออกไปแล้ว เมื่อมันเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตแล้วเขาจะได้รับความคุ้มครองมากแค่ไหน จะบอกให้เขา ไปหาข้อมูลว่ามันมีหน่วยงานอะไรบ้างที่ดูแล บางเรื่องคนเราอยู่ในมุมอับ มันสุดวิสัยจริง ๆ ที่เราจะหาทางรับทราบและรับรู้ได้ว่ามีหน่วยงานใดบ้างที่ช่วยเหลือเรา อย่างน้อย ๆ ท่านมี เป็นคู่มือ ท่านมีเป็นข้อมูล บอกกับฝ่ายปกครอง เพราะแน่นอนค่ะ ทุกอำเภอฝ่ายปกครอง ประชุมกันทุกเดือนอยู่แล้ว ให้เขาได้รับทราบข้อมูล ให้เขาได้รับทราบว่าเขาสามารถจะติดต่อ ทางไหนได้บ้าง เพราะถึงแม้ว่าเขาจะทำงานใกล้ชิดกับแต่ละครอบครัวก็จริง เขาก็คนกันเองค่ะ เขาเป็นคนกันเองที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน ที่อยู่ในละแวกบ้านเดียวกัน ซอยเดียวกัน ในชุมชน เดียวกันที่เห็นกันทุกเช้า เห็นกันทุกวัน เมื่อมีปัญหามาบางทีเขาอาจจะไม่กล้าบอกคนใกล้ตัว แต่ถ้าท่านสามารถบอกข้อมูลเขาได้ ให้ข้อมูลเขาเพิ่มเติม ดีกว่าการที่เราทำงานเชิงรับ รอรับ Case รอรับงานจากทางหน่วยงานอื่น ๆ ที่เราเป็นพันธมิตรด้วย แล้วเราก็ค่อยไปรับงาน ต่อจากเขาว่าเขามีปัญหามีอะไรอย่างนี้ สิ่งหนึ่งที่ท่านทำได้ในเมื่อคนไม่พอข้อมูลคือสิ่งสำคัญที่สุด ที่ท่านจะสามารถส่งต่อ แล้วเรื่องที่เป็นปัญหาต่อท่านสามารถทำงานเชิงรุกได้ เชิงรุกในด้านไหน ๑. นอกจากให้ข้อมูลแล้วสิ่งหนึ่งที่เป็นสื่อทำให้คนมองเห็นแล้วกลายเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นสื่อโทรทัศน์ สื่อในโทรศัพท์มือถือของเราค่ะ Social ด้านต่าง ๆ ท่านสามารถ เสนอได้ค่ะ เสนอผ่านทางหน่วยงานที่เขาดูแลและเกี่ยวข้องว่าพฤติกรรมบางอย่างที่เกิดขึ้น หล่อหลอมให้คนในสังคมมองว่านี่คือเรื่องปกติ ขนาดใน TV ในโทรศัพท์มือถือยังออกมา โชว์ได้ ละครยังออกมาตบตีกันได้ ถ้าทาง พม. มีความเห็นลงไปว่าเราควรจะจำกัดขอบเขตว่า สิ่งใดที่ควรจะเสนอออกมาเพื่อหล่อหลอมให้คนในสังคมมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องผิดปกติ เราไม่ควรทำอย่างนี้ เราควรจะมีแนวทางในการโชว์ที่ว่าให้เขาเห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องปกติ เราอย่าให้เป็นเรื่องที่ว่า เห็นในครอบครัวแล้วว่าครอบครัวมีความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นทางวาจา หรือทางร่างกาย แล้วพอไปเปิดดู TV ปุ๊บ ไปเปิดดูสื่อต่าง ๆ ในมือถือเราก็ยังเจอเรื่องราวคล้ายกัน มันหล่อหลอม ให้เด็ก ๆ มองว่านี่เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น บ้านเราก็มี ข้างนอกก็มี แล้วมันเกิดปัญหา อะไรต่อคะ ปัญหาก็คือเขาก็ลามไปถึงที่โรงเรียน ปัญหานี้จริง ๆ มันเชื่อมกันไม่ว่าจะเป็น เรื่องความรุนแรงในครอบครัว หรือการ Bully ในโรงเรียนเพราะเขามองว่าเป็นเรื่องปกติ หลาย ๆ ท่านอภิปรายบอกท่านไปแล้วว่าอย่างไร แต่ก็เข้าใจด้วยความที่ว่า ๑. เจ้าหน้าที่เราน้อย เราใช้การเป็นพันธมิตรเพื่อพูดคุยกับหน่วยงานอื่น ๆ ในการทำ แต่มันก็มีในงานบางส่วน ที่ท่านสามารถทำงานเชิงรุกได้โดยที่ไม่ต้องรอรับ Case จากมูลนิธิที่ต่าง ๆ หรือจาก หน่วยงานต่าง ๆ เพียงอย่างเดียว การให้ข้อมูลคือสิ่งสำคัญที่สุดค่ะ ถึงแม้ในยุคนี้เป็นยุคที่ ประชาชนสามารถหาข้อมูลได้จากหลากหลายจากทุกที่ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่เขาจะมาหาข้อมูล บังเอิญถ้าดิฉันโดนกระทำฉันต้องไปหาอะไร อย่างไร ซึ่งอย่างนี้เมื่อถึงเวลานั้นไม่มีใครเขาคิดถึง จังหวะนั้นแล้วค่ะ เขาคิดถึงแค่ว่าคนรอบตัวเขาคิดอย่างไร คิดเรื่องอะไร พอถัดออกไปปุ๊บ ถ้าจะไปหาผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านก็เป็นญาติกับคนนั้นเป็นญาติกับคนนี้ เรื่องราวก็จะใหญ่โต ไปอีกพูดไม่ได้อีก เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่ทำได้นอกเหนือคือการป้องกัน การป้องกันคือ การให้ข้อมูลค่ะท่าน ให้ข้อมูลและท่านอาจจะชี้นำ ชี้นำด้านไหน ชี้นำในเรื่องของสื่อต่าง ๆ ที่อยู่ในทาง TV ทาง Social ท่านชี้นำเป็นเรื่องข้อมูลชี้นำว่าเราควรจะเป็นแบบนี้ได้ เพราะว่า อย่างที่บอกค่ะท่าน ถ้าท่านทำงานเชิงรับต่อไปตัวเลขก็จะเป็นอย่างนี้ต่อไป มันก็จะไม่มีทางลด จะยาวไปเรื่อย แล้วเราก็จะมาพูดปัญหาแบบนี้ทุกปีเพราะว่าท่านก็ต้องทำรายงานส่งมา ที่สภาทุกปี เพราะฉะนั้นถ้าเป็นไปได้ทำงานเชิงรุกในบางเรื่องที่ไม่ต้องอาศัยคนจำนวนมาก เอาแค่พอที่ท่านจะช่วยแบ่งเบาท่านได้ในส่วนหนึ่งค่ะท่านประธาน ขอบพระคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับท่าน ต่อไปท่านพุธิตา ชัยอนันต์ เชิญครับ

นางสาวพุธิตา ชัยอนันต์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธาน ดิฉัน พุธิตา ชัยอนันต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขต ๔ พรรคก้าวไกล ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณ หน่วยงานทุกหน่วยงานที่ได้ทุ่มเททำงานช่วยเหลือประชาชนผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง สำหรับวันนี้นะคะดิฉันขอให้ความเห็นเพิ่มเติมเพียงสั้น ๆ เล็กน้อยในประเด็นของความรุนแรง ในครอบครัวที่เกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจ และค่านิยมผิด ๆ ในการเลี้ยงดูบุตร ที่ยังมีอยู่ในสังคมไทย ยกตัวอย่างเช่นค่านิยมของการที่คิดว่าการอบรมสั่งสอน การควบคุม อย่างเข้มงวดคือวิธีที่ถูกต้อง การดุด่า สั่งสอน จับจ้อง ควบคุมเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ การดุด่า สั่งสอนว่ากล่าวโดยใช้คำพูดด้านลบ และการข่มขู่จะช่วยให้ได้ผลอย่างรวดเร็ว โดยคิดไม่ถึงเลยว่า สิ่งเหล่านี้ได้สร้างความเจ็บปวด บอบช้ำให้กับจิตใจของเด็ก ๆ มากน้อยเพียงใด การใส่ปุ๋ย ด้านลบจะไม่มีวันผลิดอกออกผลเป็นด้านบวก ปัญหาเด็กติดเกม หลีกหนีสังคม ปัญหา บุคลิกภาพ ปัญหาสุขภาพจิต การเอายาเสพติดเป็นที่พึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลพวงจากการขาด ความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงดูบุตร ดิฉันขอเสนอให้มีการส่งเสริม การเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในการเลี้ยงดูบุตรให้กับสถาบันครอบครัวอย่างจริงจังได้แล้วค่ะ ยกเลิกค่านิยม รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี เปลี่ยนเป็นรักวัวให้ผูกรักลูกต้องปล่อยปละบ้าง ใส่ใจแต่ไม่ควบคุม ใช้การพูดแทนการบังคับ ให้การเคารพซึ่งกันและกันในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง สุดท้ายการมีลูก คือการเสียสละ คือการให้ความรักอย่างไม่มีเงื่อนไข ลูกไม่ได้มีไว้เพื่อให้เกิดมาแล้วต้องมา เลี้ยงดูพ่อแม่ยามแก่เฒ่า หยดหนึ่งค่าน้ำนมกินไม่ต้องทดแทน น้ำนมคือน้ำนมที่มีให้ลูก โดยไม่มีเงื่อนไข ขอบคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด เชิญครับ

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านความรุนแรงในครอบครัว สำหรับการรายงานตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ ประจำปี ๒๕๖๓ แล้วก็ประจำปี ๒๕๖๔ ท่านประธานครับ ผมมีข้อสังเกตต่อรายงาน ของข้อมูลดังกล่าวจะอภิปรายรวบทั้งปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ ถ้าเราสำรวจรายงาน ด้วยสายตาคร่าว ๆ จะเห็นว่าตัวรายงานทั้งปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ ขนาดพอ ๆ กันนะครับ ปี ๒๕๖๓ ก็ประมาณ ๕๔ หน้า ปี ๒๕๖๔ ประมาณ ๕๗ หน้า นั่นก็แปลว่าสถานการณ์ การใช้ความรุนแรงในครอบครัวนั้นมีลักษณะทรง ๆ อาจจะไม่ได้รับการพัฒนาหรือแก้ไข แบบชนิดที่เรียกว่าปรับเปลี่ยนแบบเห็นได้ชัด นอกเหนือจากในสถานะของสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร ต้องขอกราบเรียนท่านประธานว่าผมเป็นอดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นเลขา ๒ สมัยครับ เพราะฉะนั้น พูดชื่อกระทรวงถูกต้องตรงเป๊ะครับ กระทรวงนี้ถ้ารัฐมนตรีว่าการเป็นสุภาพบุรุษก็ต้องเรียกว่า เป็นกระทรวงพ่อพระ ถ้ารัฐมนตรีว่าการเป็นสุภาพสตรีก็ต้องบอกว่าเป็นกระทรวงแม่พระ เพราะว่าเป็นกระทรวงที่มีแต่ให้ ผมเข้าใจถึงความพยายามในการจะทุ่มเททุกสรรพกำลัง บุคลากร งบประมาณ ในการแก้ไขปัญหาเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว แต่ว่า เห็นความตั้งใจนั่นก็ส่วนหนึ่งครับ แต่ถ้าจะไม่ได้ตั้งข้อสังเกตเพื่อนำไปสู่การปรับปรุง หรือยกระดับให้ดีขึ้นนั้นก็อาจจะเป็นการเสียโอกาส ผมมีข้อสังเกตบนพื้นฐานของ ความห่วงใยสัก ๕ ประการด้วยกัน ท่านประธานครับ มีข้อมูลว่าประเทศไทยติด Top 10 ประเทศที่มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัวมากที่สุด ซึ่งก็เป็นสถิติที่ไม่ได้น่าภาคภูมิใจอะไร แม้ว่าเป้าหมายจะมีไว้พุ่งชน สถิติมีไว้ทำลาย แต่เราคงไม่พยายามจะไปเป็นอันดับ ๑ ใน ๕ หรือ ๑ ใน ๓ ของโลก เพราะว่าการที่เราทำงานตลอดมานั้นเราเห็นว่าแนวโน้มหรือ Trend ของการใช้ความรุนแรงในครอบครัวนั้นมันสูงขึ้น มีนักวิชาการบางส่วนบอกจริง ๆ มันก็เป็นการใช้ความรุนแรงในลักษณะแบบเดิม ๆ นั่นละครับ เพียงแต่วันนี้เราเข้าถึง ข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้น เรามีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการใช้ความรุนแรงมากขึ้น เมื่อก่อนเราอาจจะไม่รู้ว่าการ Bully เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ความรุนแรง หรือการกระทำ บางอย่างมันเข้าข่ายการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ดังนั้นเมื่อเรารู้แล้วเราก็ต้องช่วยกัน ในการยกระดับ สร้างเสริมความรู้ความเข้าใจ และจะไม่ยอมให้มีการใช้ความรุนแรง ในครอบครัวมากขึ้น ข้อสังเกตบนพื้นฐานความห่วงใยของผม ๕ ประการคือ

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประการที่ ๑ ผมนั่งอ่านรายงาน ๒ สัปดาห์ พบว่าข้อมูลสถานการณ์ ความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและความรุนแรงในครอบครัวในรายงานประจำปี ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๔ เป็นรายงานที่รวบรวมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๑๖ หน่วยงาน ท่านประธานครับ ผมเห็นว่า ควรจะได้มีการรวบรวมตัวเลขของสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวให้เป็นภาพรวม เป็นหมวดหมู่ ไม่มีการทับซ้อน เพื่อจะได้ทราบถึงสถิติการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ที่ถูกต้อง ที่แท้ True ในรอบปีที่ผ่านมา

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ จากรายชื่อ ๑๖ หน่วยงาน ที่จัดทำสถิติข้อมูลการใช้ความรุนแรง ต่อเด็ก สตรีและความรุนแรงในครอบครัวนั้น พิจารณาแล้วเห็นว่าอาจจะยังไม่ครอบคลุม กับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เช่น ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก เยาวชน สตรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด ต่อเด็ก เยาวชนและสตรี ศูนย์สวัสดิภาพเด็ก เยาวชน สตรี กองบัญชาการตำรวจนครบาล ศูนย์ประชาบดี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มูลนิธิเครือข่าย ครอบครัว มูลนิธิคุ้มครองเด็ก สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ดังนั้นจึงเห็นสมควรว่าควรจะได้มีการสำรวจหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนทั้งหมด ที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมข้อมูลสถิติให้ครบถ้วนถูกต้องยิ่งขึ้น

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประการที่ ๓ จากรายงานข้อมูลสถานการณ์การใช้ความรุนแรงในครอบครัว ปี ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๔ พบว่าสถิติการเกิดความรุนแรงมีจำนวนมากขึ้น เช่น ในปี ๒๕๖๓ มีการใช้ความรุนแรง ๑๖ หน่วยงาน รวบรวมไว้อยู่ที่ ๓๘,๕๐๗ ราย แต่ว่าเป็นคดีที่นำไปสู่ การร้องทุกข์กล่าวโทษได้เพียงแค่ ๑๘๕ ราย และมีการจัดทำคำสั่งกำหนดมาตรการวิธีการ เพื่อบรรเทาทุกข์ได้เพียงแค่ ๗ ราย มีการยอมความในชั้นสอบสวน ๔๐ ราย ซึ่งถือว่า เป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับสถิติที่เกิดขึ้นจริง จึงเห็นว่าควรจะได้มีการวิเคราะห์ ถึงสาเหตุที่ทำให้คดีความรุนแรงในครอบครัวทำไมถึงนำไปสู่การร้องทุกข์กล่าวโทษได้น้อยมาก เกิดจากอะไร

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประการที่ ๔ ความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นั้นตัวเลขจะน้อย จริง ๆ รายงานจัดทำ โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว แต่ว่ากรมกิจการผู้สูงอายุข้อมูลอาจจะน้อยหรือไม่ แต่พอไปดูกราฟจะเห็นว่าผู้ที่ถูกตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงอายุประมาณ ๑๐-๑๕ ปี จะไปฟ้องร้อง ร้องทุกข์กล่าวโทษเป็นคดีมากขึ้น ซึ่งจะเป็นอัตราส่วนที่ผกผันกับอายุที่เพิ่มขึ้น เช่น ถ้าไปถูกใช้ความรุนแรงล่วงละเมิดตอน ๔๐ ปี จะไปร้องทุกข์กล่าวโทษน้อยลง ไป ๖๐ ปี ก็จะน้อยกว่า ๔๐ ปี อย่างนี้เป็นต้น

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประการที่ ๕ การจัดทำรายงานสถานการณ์ด้านความรุนแรงในครอบครัวนั้น ในครั้งต่อไปผมอยากจะขอความกรุณาท่านผู้จัดทำรายงานได้สรุปการจัดทำเป็นรูปแบบ แผนภูมิต่าง ๆ แทนการนำเสนอในรูปแบบของตารางข้อมูลที่เยอะเกินไป เพื่อจะทำให้เกิด การเปรียบเทียบและมีความชัดเจนในการนำเสนอ ท่านประธานครับ ผมทราบดีว่า ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นั้นมีความใส่ใจ มีความตั้งใจ ที่จะรณรงค์ สร้างความรู้ความเข้าใจ ลดการใช้ความรุนแรง แต่ผมฝากเรื่องสำคัญ ประการท้ายก็คือ เรื่องของการเชื่อมโยงบูรณาการจากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชน อย่างเป็นระบบ วันนี้หากเกิดการใช้ความรุนแรงผมอยากจะมีหน่วยงานที่เป็น One Stop Service ที่เรียกว่าถูกล่วงละเมิด ถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัว อย่าตกใจ ไปที่หน่วยงานเดียว ข้อสังเกตที่ผมตั้งไว้ก็คือว่าทำไมเมื่อถูกใช้ความรุนแรง ถูกล่วงละเมิดถึงนำไปสู่การฟ้องร้อง หรือเป็นคดีน้อยลงเรื่อย ๆ ตามกลุ่มอายุที่ถูกใช้ความรุนแรง เพราะอะไรครับ ผู้ที่ได้รับ ความเสียหายอาจจะเกิดความชินหรือท้อ เช่นเมื่อเกิดเหตุไปไหนครับ เกิดเหตุไปตำรวจ ก็จะมีความยากในการพิสูจน์ว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้ความรุนแรง ไปตำรวจ พอนิ่ง ๆ ปุ๊บไปไหนต่อครับ ไปออกรายการโทรทัศน์ พอไปโทรทัศน์ยังนิ่งอยู่ไปไหนต่อครับ ก็จะไปหากลุ่มบุคคล ทนายความ หรือบุคคลที่ปวารณาตัวเองขึ้นมาเป็นผู้ช่วยเหลือเหยื่อ หรือผู้ถูกกระทำเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้ความรุนแรง ดังนั้นผมคิดว่าไม่อยากให้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทุกกรมที่เรามีเครือข่ายทางสังคม ที่เรียกว่า Social Safety Net ไปได้ทุกกรมนะครับ ควรจะเป็นองค์กรแรกหรือกรมแรก ที่ผู้ได้รับผลกระทบไปหา ไม่ใช่ไปทุกที่แล้วไม่ขยับ แล้วไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไข แล้วไปนึกถึง กระทรวง พม. เป็นองค์กรสุดท้าย กราบขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านวิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชิญครับ

นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย จากพรรคเพื่อไทย ในฐานะภรรยาและในฐานะแม่ของลูกสาว ดิฉันมีความเชื่อเป็นอย่างยิ่ง ถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว ครอบครัวที่มั่นคงจะต้องเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยให้กับ ทุกคน จะต้องเป็นพื้นที่ที่เราสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ และต้องเป็นพื้นที่ที่เราสามารถ แบ่งปันความทุกข์และความสุขในครอบครัวได้ เป็นพื้นที่ที่เราอยู่ร่วมกันกับคนอื่น ๆ ครอบครัวเปรียบเสมือนสังคมขนาดเล็ก และเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างสังคมขนาดใหญ่ ในประเทศที่เรียกว่าเป็นประเทศที่มั่นคง การที่ความรุนแรงในครอบครัวมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยจากการรายงานของศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว ในปี ๒๕๖๕ ขอ Slide ขึ้นด้วยนะคะ

นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ

ข้อมูลความรุนแรง ในครอบครัวปี ๒๕๖๕ มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๔ ๗.๘ เปอร์เซ็นต์ ๒,๓๔๗ ราย และปัญหาหลัก ๆ ก็ไม่พ้นปัญหาจากยาเสพติด ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ แล้วก็ปัญหา ทางด้านความมึนเมา ซึ่งดิฉันเรียกว่าตัวเลขตรงนี้มันยังไม่ครบถ้วน ยังมีความรุนแรง ที่ยังซ่อนไว้อยู่ มันยังมีเหยื่อที่เรียกว่ายังไม่ได้ออกมาและไม่สามารถกล้าพูดและแสดงตัว ออกมาอีกเยอะแยะมากมาย และยังมีผู้ที่กระทำผิดและยังไม่ได้รับการดำเนินการอีก เป็นจำนวนมาก สิ่งนี้เป็นเหมือนสิ่งชี้วัดศักยภาพของรัฐในการดูแลประชาชน มันเป็นเหมือน สิ่งชี้วัดถึงความสามารถในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยและมั่นคง การบริหารจัดการ การเข้าถึงทรัพยากรให้กับครอบครัวหรือสังคมขนาดเล็กให้ได้มีโอกาสเติบโต สร้างเป็น รากฐานให้กับสังคมที่ใหญ่ขึ้นจนเป็นระดับประเทศ ขออนุญาตเล่าเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ในสังคมไทยนะคะ เชื่อว่าทุกคนก็คงจะยังจำได้เมื่อต้นปีที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้ง จากเด็กผู้หญิงอายุ ๑๓ ปี ว่าพี่สาวของตนอายุ ๑๗ ปี ย้ำนะคะ อายุวัยแค่ ๑๗ ปีถูกพ่อแท้ ๆ กักขังหน่วงเหนี่ยวและข่มขืนกระทำชำเราในห้องพัก โดยเด็กสาวผู้โชคร้ายคนนี้ได้ให้การกับ ทางตำรวจว่าถูกพ่อแท้ ๆ กระทำชำเราข่มขืนละเมิดทางเพศ ทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจด้วย เป็นระยะเวลาถึง ๖ ปีด้วยกัน ซ้ำร้ายยังถ่าย Clip เก็บไว้ด้วย ยังไม่พอค่ะท่านประธาน เด็กสาวคนนี้ก็ไปขอความช่วยเหลือไปบอกกับคนที่เป็นป้า แต่การได้รับความช่วยเหลือนั้น คุณป้าแท้ ๆ ของเขาเองยังเข้าข้างน้องชายตัวเองผู้ที่เป็นพ่อของเด็กสาวคนนั้น ถ้าเด็กสาว คนนั้นไม่ได้ตัดสินใจอย่างกล้าหาญ ดิฉันในฐานะผู้เป็นแม่ไม่อยากจะคิดเลยว่าฝันร้ายนี้ จะติดตัวเขาและอยู่กับเขาอีกยาวนานขนาดไหน เรายังไม่ได้พูดถึงเลยว่าเขาจะได้รับ การบำบัดจิตใจและเยียวยาสภาพจิตใจ และสามารถกลับคืนสู่สังคมได้เหมือนคนปกติหรือเปล่า

นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ

อีกเรื่องหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ทุกท่านก็คงจะทราบข่าวพอคลั่งฆ่าลูกกับเมียดับ แล้วยิงตัวตายตาม แต่ท้ายที่สุดไม่ตายกลับได้รับบาดเจ็บสาหัส เพราะว่าอะไรค่ะ เพราะว่า เครียดหลังจากที่ไปค้ำประกันรถให้กับเพื่อนบ้าน แต่ท้ายที่สุดเขาไม่ส่งค่างวด กรมบังคับคดี เตรียมยึดบ้าน ยึดทรัพย์ ก็ต้องหาเงินไปเร่ง Clear ท้ายที่สุดเมียก็ต้องถูกแก๊ง Call Center หลอกจากการกู้เงินทาง Application สูญเงินไปกว่า ๑.๗ ล้านบาท อยากจะถามว่า เราจะปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับสังคมได้เรื่อย ๆ จริงหรือคะ มันมีความรุนแรงเกิดขึ้น ในทุกเพศทุกวัย พบได้ว่ามีความรุนแรงในครอบครัวปี ๒๕๖๔ มีผู้เคราะห์ร้าย ๒,๑๗๗ ราย แบ่งเป็นผู้หญิงซึ่งก็ไม่แปลกใจเลย ๘๑ เปอร์เซ็นต์ เพศชาย ๑๙ เปอร์เซ็นต์ และนอกเหนือจากนั้น ก็คือมาจากคนใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นจากในครอบครัวสามีภรรยาคิดเป็น ๔๑ เปอร์เซ็นต์ ดิฉันขอเสนอแนวทางแก้ไขดังนี้ คุณต้องตัดตอนความรุนแรง แล้วก็มีการบริหารจัดการที่ดีกว่านี้

นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ

ต้นตอแรก คือปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง วันนี้พ่อแม่พี่น้องประชาชนมีรายได้น้อย ค่าครองชีพก็สูง หนี้ท่วมตัว นี่คือปัญหาหนึ่งที่สร้างความเครียดและเป็นตัวกดดันที่เพิ่ม ความเครียดให้กับครอบครัวที่จะนำไปสู่ความรุนแรง แต่ดิฉันเชื่อว่ารัฐบาลที่จะเข้ามาเร็ว ๆ นี้ จะมีแผนนโยบายชัดเจนเกี่ยวกับการสร้างรายได้ ลดค่าครองชีพ แล้วก็แก้ไขปัญหาหนี้สิน รัฐจะผันตัวมาเป็นรัฐสนับสนุนเพื่อช่วยให้พี่น้องประชาชนสามารถลืมตาอ้าปาก ทำมาหากินได้ สร้างคุณภาพชีวิตให้กับครอบครัวได้ดีขึ้น จะเป็นตัวลดการกดดันของต้นตอตัวนี้ค่ะ

นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ

ต้นตอที่ ๒ คือปัญหายาเสพติด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาการมึนเมา อาชญากรรม อบายมุขต่าง ๆ ที่ผิดกฎหมาย บอกได้เลยว่าพวกนี้คือเปรียบเสมือนตัวเร่ง เพื่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว อย่างที่เคยพูดเอาไว้เบื้องต้นว่าเรื่องเหล่านี้ควรได้รับ การแก้ไข พรรคเพื่อไทยของเรามีนโยบายจะเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย เราจะมีการบำบัด ให้ผู้เสพเหล่านี้ได้มีการลดการใช้ยาให้น้อยลง แล้วส่งพวกเขากลับคืนสู่สังคมเพื่อให้สามารถ ได้ไปจุนเจือครอบครัว แล้วก็สร้างครอบครัวได้ดีขึ้นค่ะ

นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ

อีกทั้งการจัดการมิจฉาชีพ Call Center เราต้องใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้มีประสิทธิภาพ แล้วจะเอาตัวเร่งตัวนี้ออกจากความรุนแรง และตัดต้นตอปัญหาตัวนี้ได้ค่ะ นอกจากนี้ปัญหาความรุนแรงส่งผลกระทบให้ครอบครัว และส่งผลกระทบให้กับทุกคน ในประเทศไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ทุกครั้งที่เราได้ยินข่าวเรื่องความรุนแรงไม่ว่าจะเกิดขึ้น กับใครก็ตาม มันทำให้เรารู้สึกบั่นทอนจิตใจ และทำให้เรารู้สึกสั่นคลอนในความมั่นใจ ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัยของตัวเราเองหรือครอบครัว มันทำให้รู้สึกสั่นคลอนในความเชื่อมั่น ในสังคม ความรุนแรงในครอบครัวคือการบ่อนทำลายโครงสร้างของสังคม ดิฉัน วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และในฐานะแม่คนหนึ่ง เพื่อให้มั่นใจว่า ลูกหลานของพวกเราทุกคนจะอยู่ในสังคมที่ปลอดภัย ดิฉันจะขอทำหน้าที่ในสภาอย่างเข้มแข็ง เพื่อตรวจสอบการบริหารงานในเรื่องนี้ของรัฐบาลที่จะเข้ามาถึงในเร็ววันนี้อย่างใกล้ชิด ขอบคุณมากค่ะท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านจิรัชยา สัพโส เชิญครับ

นางสาวจิรัชยา สัพโส สกลนคร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวจิรัชยา สัพโส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร พรรคเพื่อไทย วันนี้ ต้องขอขอบคุณท่านคณะกรรมการสำหรับการมารายงานข้อมูลสถิติสถานการณ์ด้านความรุนแรง ในครอบครัว ตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง ในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ ประจำปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ จากการที่ดิฉันได้ศึกษารายงาน ทั้ง ๒ ปีพบว่าปัจจุบันในสังคมไทยพบความรุนแรงมากขึ้นในครอบครัวซึ่งเกิดได้ทุกสังคม และมีความหลากหลาย รวมทั้งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งความรุนแรงดังกล่าวปรากฏขึ้น ในเด็กและสตรีอย่างเห็นได้ชัด อ้างอิงข้อมูลจากสำนักกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่าความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี ๒๕๖๔ มีจำนวนถึง ๒,๑๑๔ เหตุการณ์ ซึ่งในเหตุการณ์จำนวนดังกล่าวมีผู้กระทำ ความรุนแรงในครอบครัวจำนวนทั้งสิ้น ๑,๙๗๘ ราย ส่วนใหญ่ผู้กระทำความรุนแรง เป็นเพศชาย มีจำนวนถึง ๑,๖๑๐ ราย ซึ่งคิดเป็นร้อยละ ๘๑.๔๐ นอกจากนี้ข้อมูลจาก สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ในปี ๒๕๖๑ ก็พบว่าสังคมไทยมีความรุนแรง ในครอบครัวเกิดขึ้นกับเด็กและสตรีสูงถึง ๘๓.๖ เปอร์เซ็นต์ แต่ทว่าหากเราดูจากข้อมูลสถิติ ในปี ๒๕๖๓ สถิติความรุนแรงทั้ง ๑๖ หน่วยงานเลยนะคะ มีอยู่ที่ ๓๘,๕๐๘ ราย แต่คดี ที่นำไปสู่การร้องทุกข์มีเพียง ๑๘๕ ราย ซึ่งนับเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำค่ะ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก นอกจากนี้ยังมีการยกฟ้องอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งการยกฟ้องไม่ได้แปลว่า ไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น แต่เหยื่ออาจจะไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์มากพอที่จะเอาผิด อย่างที่ ผู้ชี้แจงกล่าวถึงความรุนแรงที่เกิดในร่างกายมีมากที่สุดเพราะอะไร เพราะว่ามันมีหลักฐาน เชิงประจักษ์ และความรุนแรงทางด้านจิตใจ ซึ่งความรุนแรงทางด้านจิตใจไม่ว่าจะเป็น การด่าทอ ข่มขู่ต่าง ๆ กลับถูกยกฟ้องอย่างง่ายดาย หรือบางครั้งก็ไม่สามารถเป็นคดีได้ ซึ่งผลกระทบทางจิตใจรักษาได้ยากและใช้เวลานาน เหยื่อหลายคนอาจเกิดโรคความเครียด หลังจากประสบภัยอันตราย หรือที่ทุกคนเรียกกันว่า PTSD ทั้งที่ความเป็นจริงแม้เพียงคำพูด หรือการทำร้ายร่างกายในระดับเล็กน้อยภายในครอบครัวก็ไม่สมควรเกิดขึ้น ซึ่งเราอาจจะเห็นได้ จากตามสื่อต่าง ๆ หรือจากที่เพื่อนสมาชิกหลายคนได้พูดไปว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมาสาเหตุ การเกิดความรุนแรงในครอบครัวมาจากพิษเศรษฐกิจ ซึ่งต่อเนื่องมาจากสถานการณ์ของ การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้หลาย ๆ ครอบครัวขาดรายได้ เกิดความเครียด แล้วก็ อาจจะใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา ซึ่งถ้าเรามองตามหลักความเป็นจริงสรีระของผู้หญิงอ่อนแอกว่าผู้ชายอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าหากครอบครัวที่โดนปลูกฝังให้ฝ่ายชายหรือฝ่ายสามีให้เกียรติฝ่ายหญิงก็จะไม่เกิด เหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ยกตัวอย่างคุณพ่อของดิฉันซึ่งให้เกียรติ ใช้คำว่าเกรงใจภรรยาก็ไม่มี เหตุการณ์ความรุนแรงแบบนี้เกิดขึ้นในครอบครัว แต่บางครอบครัวเมื่อเกิดความเครียด กลับใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา และอีกหนึ่งประการที่สำคัญกับเหตุการณ์การใช้ ความรุนแรงในครอบครัวที่ทำให้หลาย ๆ หน่วยงานไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ เพราะผู้ถูกกระทำอาจไม่ต้องการที่จะเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ต้องการที่จะมีคดีเนื่องจากผู้กระทำผิด เป็นคนในครอบครัว และรวมถึงการฟ้องร้องด้วย ในประเทศไทยมีพระราชบัญญัติคุ้มครอง ผู้ถูกกระทำด้านความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยเน้นให้ผู้กระทำความผิดมีโอกาส กลับตัวเพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีและความมั่นคงในสถาบันครอบครัว และตัวกฎหมายนั้น ให้ศาลพยายามให้คู่ความสามารถยอมความได้ จะเห็นว่ากฎหมายเลือกรักษาความเป็นครอบครัว มากกว่าความปลอดภัยของคน ดิฉันเข้าใจถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะกับเด็กและสตรี วันนี้ไม่ได้ต้องการที่จะเข้ามาต่อว่าหน่วยงานใด ๆ นะคะ แต่ต้องการที่จะเข้ามาให้กำลังใจ ให้หน่วยงานเข้ามาขจัดความรุนแรงของปัญหาในครอบครัว ด้วยการเสนอวิธีการแก้ไข ปัญหาดังนี้

นางสาวจิรัชยา สัพโส สกลนคร ต้นฉบับ

รัฐต้องแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาเชิงโครงสร้างอาจจะไม่ได้ปรากฏชัด เหมือนความรุนแรงในเชิงกายภาพ ซึ่งอาจจะเริ่มจากตัวพ่อแม่ขณะที่อาจจะมีเงื่อนไข บังคับบางอย่างที่ทำให้ครอบครัวตกอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย เช่นข้อจำกัด ในด้านของรายได้ ข้อจำกัดในด้านที่อยู่อาศัย ถูกสังคมกดดัน ซึ่งอาจจะสื่อได้ว่าปัญหา ครอบครัวที่เกิดขึ้นอาจเกี่ยวเนื่องมาจากรัฐขาดระบบการดูแลช่วยเหลือครอบครัวที่อยู่ใน ภาวะยากลำบาก เพราะฉะนั้นดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลชุดใหม่จะจริงจังกับการสร้างระบบ เพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชน คนในครอบครัวมีทักษะที่ดีและสามารถดูแลสนับสนุนครอบครัว ต่อไปได้

นางสาวจิรัชยา สัพโส สกลนคร ต้นฉบับ

สุดท้ายหลายครั้งที่เหยื่อต้องเป็นคนหาทางออกด้วยตัวเอง เพราะผู้กระทำผิด เป็นคนในครอบครัว ผู้เป็นเหยื่อจึงไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจะมีวิธีการแก้ และวิธีหลุดพ้นจาก เหตุการณ์ความรุนแรงอย่างนี้ได้อย่างไร ปัญหาในครอบครัวอาจจะมองว่าเป็นปัญหาส่วนตัว แต่ผลกระทบต่าง ๆ หลังจากนั้นมันจะกลายเป็นปัญหาสังคมในที่สุด ถึงแม้จะมีหลายหน่วยงาน เข้ามาช่วยเหลือ แต่สุดท้ายมักจบลงด้วยการไกล่เกลี่ย และปัญหาความรุนแรงก็ยังเกิดขึ้น ดังเดิม ดิฉันหวังว่าในอนาคตเราจะมีทางออกที่ดีและยั่งยืนต่อทุกฝ่าย ขอบคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ

นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังสังคมใหม่ ท่านประธานครับ สังคมดีไม่มีขายถ้าอยากได้ต้องเริ่มจากครอบครัว จากการที่ผมได้ตรวจ รายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านความรุนแรงในครอบครัว ในปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ มันเป็นข้อมูลที่ล้าหลังไปแล้วครับ ตอนนี้ปี ๒๕๖๖ สถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้นอีก เป็นเท่าตัว พบว่าผู้ที่ถูกใช้ความรุนแรงมากที่สุดคือผู้หญิงและเด็ก โดยสาเหตุส่วนใหญ่ เกิดจากการเมาสุรายาและเสพติด และปัจจุบันก็ไม่มีท่าทีว่าความรุนแรงในครอบครัวนี้ จะลดลงได้ มีแต่เพิ่มขึ้นทุก ๆ วัน ผมได้สรุปปัญหาไว้ ๔ ประการ

นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประการแรก พบว่าปัญหาหลัก ๆ ของผู้ใช้ความรุนแรงมาจากความเครียด เครียดเพราะว่าปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาหนักหนาสาหัสมาก ทั้งปัญหาการเงิน หนี้สินรุมเร้า ตกงานจึงเกิดมีความเครียดและสะสม พอเครียดก็หันไปพึ่ง สิ่งเสพติด เมื่อขาดสติก็นำทุกอย่างไปลงกับคนในครอบครัว ทั้งใช้ความรุนแรงด้วยคำพูด และทำร้ายร่างกาย

นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ ปัญหายาเสพติดนี้ก็เป็นปัญหาอีกปัญหาที่ใหญ่มากในประเทศ ของเรา และทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว ลูกเมายาทำร้ายพ่อแม่ พ่อแม่เมายาข่มขืน ลูกเป็นต้น

นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประการที่ ๓ ทำไมความรุนแรงในครอบครัวนี้จึงเกิดขึ้นกับเพศหญิง เด็ก และเยาวชนได้มากมายขนาดนี้ เป็นเพราะในอดีตจนถึงปัจจุบันมีการปลูกฝังค่านิยม ชายเป็นใหญ่ หญิงเป็นรองหรือไม่ ค่านิยมของคนเราในสังคมปัจจุบันยกถือว่าผู้ชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงเป็นรอง

นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประการที่ ๔ การนอกใจ ผลสำรวจจากทั่วโลกในปี ๒๕๖๖ ประเทศไทย อยู่อันดับที่ ๔ ของประเทศที่มีการนอกใจมากที่สุดในโลก ทำไมถึงเป็นแบบนั้นกับประเทศ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองพุทธ ศีลข้อ ๓ สวดมนต์กันทุกวันไม่นำไปใช้กันเลยหรือครับ นี่เป็นอีก ประการหนึ่งของสาเหตุแห่งความรุนแรงในครอบครัว

นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

จาก ๔ ประการที่ผมได้สรุปสาเหตุที่มีปัญหา แล้วผมอยากจะฝากปัญหาหลัก ๆ ที่กล่าวมาทั้ง ๔ นั้นจึงมีข้อสรุปไว้ ๓ เรื่องคือ ๓ แก้ ๒ ปรับ ๑ ช่วยเหลือ ฝากให้กับรัฐบาล พรรคเพื่อไทยนำไปแก้ด้วยครับ ๓ แก้คือ

นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

๑. แก้ปัญหาเศรษฐกิจเรื่องนี้เป็นหัวใจสำคัญที่ต้องแก้ไขโดยด่วน เมื่อพี่น้อง ประชาชนได้อยู่ดีกินดี มีกินมีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ไม่มีหนี้สิน มีเงินใช้จ่ายจุนเจือครอบครัว ความเครียดลดลง เมื่อไม่มีความเครียดไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสุราหรือยาเสพติด เมื่อไม่เมาก็ไม่ขาดสติ เมื่อมีสติความรุนแรงทางคำพูดและทางการทำร้ายร่างกายก็จะลดน้อยลง

นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

๒. แก้ปัญหายาเสพติด ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่มีมายาวนานและไม่เคย ลดน้อยลงเลย แล้วผลของมันคือส่วนใหญ่จะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกาย ของคนใกล้ชิดนั่นคือครอบครัว ภาครัฐต้องรีบแก้ปัญหาจุดนี้อย่างเร่งด่วน

นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

๓. แก้ปัญหาสุขภาพจิต เรื่องสุขภาพจิตอาจจะดูไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เป็นเรื่อง ที่สำคัญมากควรให้ความสำคัญ และรณรงค์ว่าการไปพบจิตแพทย์นั้นไม่ใช่เรื่องแปลก ทั้งควรทำให้เข้าใจถึงจิตแพทย์รับบำบัดเป็นเรื่องที่ง่ายมากกว่านี้ จากปัญหาความเครียด ที่สะสมส่งผลให้สุภาพจิตย่ำแย่ หลายคนที่เป็นผู้ใช้ความรุนแรงอยู่ในภาวะไม่สามารถ ควบคุมอารมณ์ได้นำไปสู่การใช้ความรุนแรง

นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สำหรับ ๒ ปรับคือ

นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

๑. ปรับ Mindset ปรับชุดความคิดกันใหม่มาปลูกฝังค่านิยมกันใหม่ว่า ทุกคนไม่ว่าเพศใดล้วนเท่าเทียมกันไม่มีใครใหญ่กว่าใคร ให้ความเคารพซึ่งกันและกัน เห็นคุณค่าให้มากขึ้นโดยใช้ Soft Power ในการผลักดันเรื่องนี้ เช่น สื่อโฆษณา ละคร และสื่อ Social ต่าง ๆ

นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

๒. ปรับเปลี่ยนการนำเสนอไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ละคร หรือข่าวสาร ละคร หลังข่าว ส่วนมากมีแต่เรื่องตบตี แย่งผู้ชาย แก้แค้น การใช้ความรุนแรงแฝงอยู่ทั้งนั้น และยังมี ข่าวบันเทิงการนอกใจต่าง ๆ ทำให้ประชาชนได้เสพข่าวมองว่าเป็นเรื่องบันเทิงและปกติ ทั้งที่จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องนอกใจ ไม่ใช่เรื่องบันเทิงและไม่ปกติ เป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การใช้ ความรุนแรง

นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อีกข้อหนึ่งคือช่วยเหลือ ให้ความช่วยเหลือผู้กำลังถูกใช้ความรุนแรง พี่น้อง ประชาชน คนข้างบ้าน พ่อแม่พี่น้อง คนในชุมชน ควรช่วยกันสอดส่อง และให้ความช่วยเหลือ ผู้ถูกใช้ความรุนแรง การใช้ความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องในครอบครัว แต่เป็นการกระทำ ที่ผิดศีลธรรมอันดีของประชาชน ผิดจารีต ผิดต่อกฎหมาย ควรให้ความสำคัญแก้ปัญหา ที่ตรงจุด แก้ที่ต้นเหตุของปัญหาก่อนที่ความรุนแรงในครอบครัวจะเกิดขึ้น ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม เชิญครับ

นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม อุดรธานี ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย เขต ๘ ประกอบด้วยอำเภอหนองวัวซอ ตำบลหนองไฮ อำเภอโนนสะอาด อำเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธานี ท่านประธานครับ รายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านความรุนแรงในครอบครัว สำหรับรายงานตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง ในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ ประจำปี ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๔ ซึ่งดูจากเอกสารรายงานเป็นที่เข้าใจ และเป็นเรื่องที่ทุกท่านในสภาแห่งนี้ห่วงใยในความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งการรายงาน ตามมาตรา ๑๗ จะเห็นว่าลักษณะความรุนแรงที่มีต่อเด็กและสตรี ความรุนแรงในครอบครัว สถาบันครอบครัวเป็นสถาบันหลักที่จะทำให้สังคมอยู่อย่างมีความสุขเป็นจุดเริ่มต้น เราจะเห็นว่าตั้งแต่แรกเกิดเด็กในครรภ์ช่วงระยะ ๖ เดือนก็ยังต้องได้รับการดูแลก่อนที่จะออกมา สำคัญก็คือช่วงอายุ ๑-๓ ปีซึ่งจะมีพัฒนาการตรงนี้ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นถ้าใน ๑-๓ ปีเราดูแลเด็ก ไม่ได้ตามมาตรฐาน เราก็เคยได้ยินจากประเทศญี่ปุ่นบ้าง จากประเทศที่เจริญแล้วเขาก็จะให้ ความสนใจในช่วงอายุวัย ๑-๓ ขวบ แต่จุดเริ่มต้นเป็นที่ทราบกันดีว่าช่วง ๔ ปีเป็นช่วงที่ พัฒนาการของเด็กจะเริ่มมีความคิดสร้างสรรค์แล้วก็จะมีความรู้สึกรับผิดชอบว่าจะต้องทำ อย่างไรดี อันนี้ตามหลักจิตวิทยาแล้วก็ตามหลักการดูแลเด็กปฐมวัย แต่สิ่งสำคัญก็คือสาเหตุ และปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรุนแรงนั้นส่วนมากแล้วก็จะมาจากคนใกล้ชิด คนใกล้ตัว เช่น พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย จะมีปัญหาในการที่ทำให้เกิดความรุนแรงอย่างที่หลายท่านได้ อภิปรายไปว่าเราไม่ทราบว่าความรุนแรงนั้นคนใกล้ตัวจะสามารถสร้างความรุนแรงได้ อย่างคาดไม่ถึง แต่ท่านประธานครับ สิ่งที่เราต้องการก็คือลดความรุนแรงเราจะทำอย่างไร ปัญหาเหล่านี้ผมเข้าใจว่า พม. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่นำเสนอรายงานตรงนี้ ยังจะต้องมีการดูแลมีการบูรณาการ ในการที่จะแก้ไขปัญหา ความรุนแรงในสังคมของเรา เพราะสังคมจะดีได้ต้องเริ่มจากครอบครัวที่ดี พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย คนใกล้ชิดจะต้องเป็นจุดที่จะปลูกฝังให้เขาได้รับสิ่งที่ดี ๆ ในสังคมที่เขาจะก้าวไปข้างหน้า ฉะนั้นเราก็จะเห็นว่าประเภทผู้กระทำผิดและผู้ที่จะมารับผิดชอบนอกจากนี้แล้วก็ยังมีมูลนิธิต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีมูลนิธิต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสมาคมส่งเสริม สถานภาพสตรีในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ มูลนิธิปวีณา หงสกุล เพื่อเด็กและสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง ซึ่งก็มีส่วนที่จะเข้ามาช่วยแก้ไข ปัญหาความรุนแรงในสังคม ในสิ่งที่อยู่มุมมืดที่ไม่สามารถที่จะเข้าไปถึงได้ ก็ต้องอาศัยมูลนิธิ แม้แต่มูลนิธิกระจกเงา เราก็ได้ข่าวว่ามีการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคม ของเราได้ ท่านประธานครับ สำหรับสิ่งที่เราเห็น สิ่งที่เราได้พบเจอ ขอ Slide ครับ

นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม อุดรธานี ต้นฉบับ

ปัญหาความรุนแรงเกิดมาจากอะไรบ้าง

นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม อุดรธานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ยาเสพติด ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ ๓.๕๙ เปอร์เซ็นต์ มี Slide ขึ้นมา ให้ดูหน่อยนะครับ แต่ว่าผมทำให้เป็นสีขาวดำจะได้เห็นว่าขาวดำมันเป็นอย่างไรนะครับ นั่นก็คือสะท้อนในสิ่งที่เกิดขึ้นมันมีขาวและดำ

นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม อุดรธานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ก็คือสุขภาพกาย สุขภาพจิต ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่เราจะต้องดูแลรักษา บางคนป่วยทางจิตไม่สามารถที่จะควบคุมตัวเองได้ เกิดวุฒิภาวะที่ควบคุมสติร่างกายตัวเอง ไม่ได้ก็ก่อความรุนแรงขึ้น แต่มีอยู่ประมาณ ๐.๘๘ เปอร์เซ็นต์ก็ไม่มากเท่าไร ส่วนสื่อลามก พวก Chat พวก Internet พวกนี้ก็สะท้อนให้เด็กที่เข้าไปดูว่าชอบเข้าไปดูแล้วก็เจอ ความรุนแรง แล้วก็ปลูกฝังปลูกจิตสำนึกของตัวเอง ติดเข้ามาแล้วก็มาก่อความรุนแรงได้ อยู่ประมาณ ๓.๔๔ เปอร์เซ็นต์ แต่ที่มากที่สุดท่านประธานครับ ๗๗.๓๒ เปอร์เซ็นต์ จะเกิดจากภาวะเศรษฐกิจล้มเหลว ตกงาน สิ่งเหล่านี้จะทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ แม้แต่ ภาวะที่เกิดโควิดที่ผ่านมา รายได้ตกต่ำ ไม่มีเงินมีทองตามสื่อมวลชนต่าง ๆ ที่เราได้ยิน นั่นละครับ มีการฆ่ายกครัว ฆ่าอะไร ล้วนแต่เป็นความรุนแรงที่พวกเราในฐานะสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรก็ไม่อยากเห็น ไม่อยากเจอ เหมือนท่านประธานก็อยากให้สังคมของเรา เป็นสังคมที่อยู่ในความสงบสุขร่มเย็นมีกินมีใช้ ก็ต้องรอรัฐบาลเพื่อไทยเข้ามาบริหารจัดการ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านจุติ ไกรฤกษ์ เชิญครับ

นายจุติ ไกรฤกษ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบขอบพระคุณท่านประธานครับ ผม จุติ ไกรฤกษ์ พรรครวมไทยสร้างชาติ ก็อยากให้กำลังใจผู้ทำงานทั้งเครือข่าย ทั้งข้าราชการ ทั้งพนักงานราชการ ลูกจ้าง ผมได้บันทึกความเห็นของท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติหลายสิบท่าน ก็เป็นประโยชน์ แต่ผมอยากจะกราบเรียนท่านประธานว่าอยากนำเสนอสถิติที่เป็นภาพกว้าง แล้วก็ไม่ซ้ำกับท่านสมาชิก เรื่องสาเหตุของปัญหาก็พูดกันมาเยอะนะครับ แต่อยากจะให้ มองเห็น อย่าให้เห็นแค่ต้นไม้ เห็นทั้งป่าว่าประเทศไทยมี ๒๗ ล้านครัวเรือน แล้วท่านทราบ หรือไม่ว่าวันนี้เรามีสถิติหย่าร้างของครอบครัว ๑๐ ปี ๑,๓๐๐,๐๐๐ คู่ครับท่านประธาน เฉลี่ยปีละ ๑๓๐,๐๐๐ ครอบครัวที่มีปัญหา เรามีครอบครัวยากจนอีก ๔,๑๐๐,๐๐๐ ครอบครัว ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาครอบครัว ความยากจนมาสู่สุรา สู่ยาเสพติด เรามีเด็กที่เกิดจากพ่อแม่ แล้วพ่อแม่ไม่ได้เลี้ยง ฝากเลี้ยง ๔,๘๐๐,๐๐๐ คน เรามีแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ทั้งเป็นทางการ ไม่เป็นทางการอีกประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ คน ดังนั้นกราบเรียนท่านประธานที่เคารพว่า ครอบครัว ๒๗ ล้านคน ๒๗ ล้านครอบครัวมีปัญหา ๑ ใน ๓ ของประเทศ ฉะนั้นคนที่ทำงาน ผมคิดว่าไล่ทำงานไม่ทันกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราก็มีท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ จากจังหวัดสกลนครบอกว่าโควิดเป็นอีกปัญหาหนึ่งเพราะว่าตกงาน เงินออมหมด ธุรกิจเจ๊ง รายได้ลด ต้องส่งลูก ต้องผ่อนรถ บางคนต้องผ่อนบ้าน เมื่อปัญหาเศรษฐกิจมีก็คือดื่มเหล้า ให้เมาเพื่อลืมความทุกข์ บางคนก็ไปพึ่งยาเสพติด ดังจะเห็นได้จากสาเหตุของความรุนแรง ในครอบครัวนั้น ๔๓.๙๐ เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้นแล้วเราก็มีปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ก็คือ สงครามรัสเซียกับยูเครนซ้ำเติม เราก็ควบคุมราคาน้ำมันไม่ได้ ก๊าซหุงต้มไม่ได้ ราคาปุ๋ยไม่ได้ ก็เป็นพลังกดดันสิ่งที่เกิดขึ้นอยากจะกราบเรียนท่านประธานว่า วันนี้ตามรายงานของท่านอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวว่ามี Application พม. ช่วยเหลือ ๒๔ ชั่วโมง วันนี้มีสมาชิก ๓๐๐,๐๐๐ กว่าคนเป็นสมาชิก ถ้าคิดว่าท่านสมาชิก ผู้ทรงเกียรติทุกจังหวัด ทุกเขตเลือกตั้งทั้ง ๔๐๐ เขตหาพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็ก สุภาพสตรี คนที่เปราะบางที่มีภัยคุกคามนั้นเป็นสมาชิก Application เรามีเด็กเยาวชน ๒๑ ล้านคน ตีเสียว่าอยู่ในโรงเรียน ๑๒ ล้านคน ถ้า ๑๒ ล้านคนเป็นสมาชิก Application อันนี้กดไปปั๊บ ขึ้นจอบนสถานีตำรวจโรงพักทุกแห่งทั่วประเทศ ท่าน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้ให้ตำรวจ ทุกสถานีตำรวจนั้น Load Application นี้แล้วก็บอกว่า ๒๕ นาทีเมื่อแจ้งเหตุแล้วต้องไปให้ถึง อาจจะยกเว้น กทม. เพราะรถติดนะครับ ดังนั้นนี่คือสิ่งหนึ่งที่ใช้เทคโนโลยีมาแก้ปัญหาแทน งบประมาณที่ขาดแคลน ทดแทนกำลังพลที่ขาด ท่านประธานครับ มีท่านสมาชิกพูดถึง เรื่องของจิตแพทย์ คนเป็นโรคจิต ท่านประธานทราบไหมครับว่าประเทศไทยขณะนี้มีแพทย์ ที่อยู่ในระบบจิตแพทย์ไม่เกิน ๑,๐๐๐ ท่าน มีนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ที่ผ่านการฝึกปฏิบัติ ไม่เกิน ๓,๐๐๐ คน แต่ท่านประธานกำลังพูดถึงว่าครอบครัวที่มีปัญหานั้นหลายล้านครอบครัว ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นตามรายงานของท่านอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวบอก นอกจากตรงนี้แล้วท่านก็มีใช้สหวิชาชีพมาช่วย อัยการ จิตแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ แล้วก็มูลนิธิต่าง ๆ ภาคเอกชน ภาคประชาชนมาช่วย แล้วก็มีการอบรมครูสู่ Coach เพื่อทดแทนว่านักจิตวิทยาไม่พอ นักสังคมสงเคราะห์ไม่พอ ก็จะมีครูสู่ Coach ก็คือ ครูทั้งหลาย ทุกโรงเรียนที่ท่านตั้งเป้าไว้ว่า ทุกโรงเรียนจะมีครูประมาณ ๑๐ คน โรงเรียน มีประมาณ ๑๕,๐๐๐ โรงเรียน ก็จะสามารถมีครูที่ฟังเป็น ฟังเป็นนะครับ ได้ยินเสียงความทุกข์ ของนักเรียนอีก ๑๕๐,๐๐๐ คน เราจะมีโรงเรียนสอนผู้ปกครองที่สอนให้พ่อแม่นั้นเลี้ยงดูลูก ให้เป็น เรามีศูนย์แม่เลี้ยงเดี่ยวที่ช่วยให้แม่เลี้ยงเดี่ยวไม่น้อยกว่า ๕๐๐,๐๐๐ คนนั้นมีที่พึ่งพา แต่ทั้งหมดนั้นผมกราบเรียนท่านประธานว่าสภานั้นสนับสนุน เสนอความคิด ฝากภารกิจ ฝากงาน แต่ไม่ให้เงิน สถิติกราบเรียนท่านประธานว่าท่านประธานจะทราบดี เพราะท่าน ก็เคยเป็นผู้ตรวจสอบมาก่อน กระทรวง พม. ที่ดูแลเรื่องสถาบันครอบครัวถูกปรับลด งบประมาณ ๖๙ ล้านบาทบ้าง ๓๐ ล้านบาทบ้าง ๑๐๐ กว่าล้านบาทบ้าง ถูกทุกปี ดังนั้น ความคิดดี ๆ ข้อเสนอดี ๆ แผนงานดี ๆ ที่สภาผู้แทนราษฎรฝากให้ทำนั้นจะไม่เกิดขึ้น ถ้าไม่อนุมัติงบประมาณ เดือนกันยายนนี้จะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าข้อเสนอของท่านสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรทุกท่านที่อยู่ในห้องนี้จะได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจัง ถ้าสนับสนุนให้ พม. ได้รับงบประมาณ ก็ขอฝากว่าทุกคนที่จริงใจอยากให้คนหายทุกข์ อยากให้คนหายโศก ปัญหาทั้งหลายของครอบครัวได้รับการแก้ไข กรุณาสนับสนุนให้คนทำงานได้มีอาวุธครบมือ คือทั้งคนทั้งเงิน กราบขอบพระคุณท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านสุดท้าย ท่านนิคม บุญวิเศษ เชิญครับ

นายนิคม บุญวิเศษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายนิคม บุญวิเศษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กระผมขอรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านความรุนแรงในครอบครัว ตามมาตรา ๑๗ ท่านประธานที่เคารพครับ กระผมได้นั่งฟังการอภิปรายของเพื่อนสมาชิก ทุกท่านอภิปรายผมก็คิดว่าน่าจะครบถ้วน แต่สิ่งหนึ่งที่ผมยังไม่ได้ยินในเรื่องของการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นว่าเราจะแก้ไขอย่างไร ท่านประธานที่เคารพครับ ผมมีเรื่องที่เป็นเรื่องจริงจะเล่าหลังจากที่อภิปรายในช่วงสุดท้าย ผมทราบดีว่าการกระทำรุนแรงมาจากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะยาเสพติด หรือเรื่องเศรษฐกิจ ของครอบครัว เนื่องจากพ่อแม่ต้องดิ้นรนรับจ้างหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว แล้วทิ้งลูกไว้กับ ญาติพี่น้อง ทิ้งลูกไว้กับตายาย ด้วยสังคมเรามันแออัดโดยเฉพาะในเมือง เพราะสถิติที่อ่านนี้ กรุงเทพมหานครในภาคกลางสถิติมากที่สุด นั่นหมายถึงว่าแหล่งที่มันมีคนแออัดนี่ละครับ มันสามารถที่จะเกิดเรื่องนี้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะปัจจุบันนี้คนเราขาดศีลธรรมท่านประธาน ด้านการศึกษาเช่นกัน เราไม่มีวิชาศีลธรรม การยับยั้งชั่งใจต่าง ๆ สมัยนี้มันไม่ค่อยจะมีกันครับ รวมทั้งสื่อลามกอนาจารทั้งหลาย ซึ่งเป็นเครื่องกระตุ้นอารมณ์ทางเพศก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ เกิดเรื่องนี้ขึ้นมา ฉะนั้นกระทรวงที่รับผิดชอบทางด้านนี้ก็ต้องไปดูแล เพราะสื่อนี้มันเข้าถึง ลูกหลาน เข้าถึงเยาวชน เข้าถึงทุกผู้ทุกคนครับ มาในทางโทรศัพท์เราเปิด Slide ดูนะครับ เห็นทุกวันครับท่านประธาน ถ้าเราไม่มีศีลธรรมแล้วมันอาจจะเกิดเรื่องนี้ได้

นายนิคม บุญวิเศษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อีกประการหนึ่งก็คือเรื่องจิตวิปริต หรือบางคนถ้าเราพูดก็คือเรื่องสันดานนะครับ สันดานไม่ดี บางคนติดคุกท่านประธานครับ แม้กระทั่งการฆ่าข่มขืน ฆ่าข่มขืนติดคุก ไม่มีการประหารชีวิตนะครับ ออกมายังมาทำซ้ำ อย่างนี้ละครับมันมีการกระทำซ้ำ หลายเปอร์เซ็นต์ครับ คนเหล่านี้เราจะทำอย่างไร เพราะสังคมเราอยู่ร่วมกัน เราจะแยก คนเหล่านี้ออกห่างจากสังคมได้อย่างไร แล้วพี่น้อง ลุงป้าน้าอา หรือลูกหลานเราจะรู้ว่า คนเหล่านี้อยู่ที่ไหน มันไม่มีสัญลักษณ์ให้ดู มันไม่ได้บอกว่าคนเหล่านี้ชื่ออะไร อยู่ตรงไหน อย่างไรครับ แล้วทำไมเราไม่แยกคนเหล่านี้ออกจากสังคมล่ะครับ เช่น ก็ต้องติดคุก ตลอดชีวิต หรือไม่อย่างนั้นก็เอาไปลงนรก คนเหล่านี้กระทำซ้ำผมคิดว่าไม่ควรจะมีชีวิตอยู่ ถ้าท่านใดมีลูกหลานโดนข่มขืน กระทำชำเรา การติดคุก หรือลงโทษมันยังไม่สาสมนะครับ ผมคิดว่าการประหารชีวิตเป็นเรื่องที่สมควร เพราะผมฟังมาจากน้องคนหนึ่งที่โดนกระทำชำเรา ตั้งแต่เด็ก จนเขาโตเป็นสาวขึ้นมา คนที่ทำคือใครครับ ก็คือพ่อเลี้ยง โดนข่มขืนมาตั้งแต่ อายุ ๗-๘ ขวบ จนมาถึง ๑๐ ขวบ ๑๒ ขวบ ไปบอกแม่ตัวเองว่าตัวเองโดนอย่างนี้แม่ก็ไม่เชื่อ เพราะแม่ก็กลัวสามีตัวเอง และน้องก็กลัวว่าถ้าไปบอกคนอื่น ไปแจ้งความเขาข่มขู่ว่าจะฆ่า สุดท้ายพอน้องโตขึ้นอายุ ๑๕ ปีก็ออกไปอยู่กับเพื่อน เสร็จแล้วด้วยความที่เขาเป็นคนที่มี จิตใจที่เข้มแข็ง อยู่รอดมาถึงทุกวันนี้ก็เลยมาเขียนหนังสือฉบับหนึ่ง เขียนเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง หนังสือเล่มนี้ขายดีด้วย ก็มาเตือนสังคมว่าการอยู่ในครอบครัวที่เป็นลักษณะนี้ผมเชื่อว่า ถ้ารัฐบาลไม่ดูแลความปลอดภัยอย่างไรก็ต้องเป็นอีก ในขณะที่ผมอภิปรายอยู่ผมเชื่อว่า ก็ยังมีลักษณะนี้นะครับ แต่เราจะช่วยกันป้องกันอย่างไรล่ะครับ กฎหมายอย่างไรครับ ท่านประธาน ต้องเอาจริงเอาจังกับคนกลุ่มนี้ ถึงแม้จะติดคุกนานแค่ไหนออกมาก็ยัง ทำเหมือนเดิม ผมคิดว่าคนเหล่านี้ควรได้รับการประหารชีวิต ถึงจะเป็นกฎหมายที่ค่อนข้าง จะรุนแรงก็ตาม แต่มันสมควรครับ ชีวิตก็ต้องแลกด้วยชีวิต เพราะบางคนฆ่าข่มขืน ติดคุกออกมาก็มาทำอีก ฉะนั้นผมคิดว่ารายงานนี้เราเห็นครับ ก็ต้องขอบคุณหน่วยงาน หลาย ๆ หน่วยงาน หลาย ๆ มูลนิธิที่มาช่วยกันดูแล แต่อย่างไรก็ตามความรับผิดชอบ ของรัฐบาลก็ต้องดูว่ารัฐบาลมีหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน ต้นเหตุก็คือการศึกษาท่านประธานครับ เราต้องมีการปรับเรื่องการศึกษา ปฏิรูปการศึกษาครับ ต้องมีวิชาศีลธรรมเข้ามาให้คนรู้ผิดรู้ชอบ กลัวบาป ไม่เช่นนั้นคนโตขึ้นมาไม่รู้ผิดรู้ชอบ ไม่กลัวบาปก็กลับมาทำเหมือนเดิมท่านประธานครับ ผมก็เลยคิดว่าเราควรจะช่วยกัน โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายที่ผมว่านี้ ถ้ากฎหมายไม่แรงคนเหล่านี้ไม่หลาบจำหรอกครับ

นายนิคม บุญวิเศษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อีกประการหนึ่ง ก็คือเรื่องยาเสพติดที่หลายคนได้พูดมานี้ ยาเสพติดยังไม่มีแนวทาง ที่เราจะปราบปรามป้องกันได้ ฉะนั้นขอให้หน่วยงานทุกหน่วยงาน เพราะยาเสพติดเกี่ยวข้อง กับหลายกระทรวง เพราะฉะนั้นหลายกระทรวงต้องบูรณาการช่วยเหลือแล้วก็เอาจริงเอาจัง นายกรัฐมนตรีใหม่ที่มานี้เราฝากความหวังครับ นายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยก็ต้องมา ประกาศสงครามกับยาเสพติดเอาจริงเอาจังครับ ทำให้คนที่ค้ายาเสพติดมันกลัว ยึดทรัพย์ ใครค้ายายึดทรัพย์ให้หมดแล้วก็ติดคุก ไม่เช่นนั้นยาเสพติดก็เต็มบ้านเต็มเมือง สุดท้าย ติดยาเสพติดก็มาทำเหมือนเดิมอีก ผมเอาใจช่วยในหน่วยงานนี้ ในเรื่องการรายงานนั้น ผมคิดว่าท่านรายงานได้ดี แต่ก็อยากให้รายงานที่เราจะไปเสนอรัฐบาลนี้ให้มีการแก้ไขอย่างไร โดยเฉพาะสังคมต้องช่วยกันนะครับ ช่วยกันดูแลลูกหลานของพวกเรา ขอบคุณมากครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ หมดผู้อภิปรายนะครับ เชิญผู้ชี้แจงครับ

นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติที่เคารพทุกท่าน ดิฉัน ในนามของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ ต้องขอกราบขอบพระคุณท่านประธานและสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่านที่มี ความห่วงใยในเรื่องประเด็นของความรุนแรงในครอบครัว แล้วก็ได้ให้ข้อเสนอแนะข้อคิดเห็น ที่เป็นประโยชน์ในหลาย ๆ ประเด็นที่เราสามารถจะไปปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงาน ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ก็จะมีประเด็นที่จะชี้แจงเพิ่มเติมนิดหนึ่งในเรื่องของระบบข้อมูล ซึ่งหลายท่านได้ให้ข้อเสนอแนะ หรือว่าได้ชี้ข้อสังเกตในเรื่องของข้อมูลนะคะ เรามีระบบ Violence ซึ่งท่านปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ท่านพูดถึงระบบ Violence ขณะนี้เราอยู่ระหว่าง การปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เราจะเห็นว่าข้อมูลหลาย ๆ ส่วนบางทีอาจจะมีส่วน ของการซับซ้อนกันอยู่ เพราะตรงนี้ในเรื่องของข้อมูลมีความสำคัญเพื่อเราจะใช้ในการวางแผน การทำงาน

นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ต้นฉบับ

ในส่วนของท่านรวี เล็กอุทัย ท่านได้พูดถึงการจัดทำในเรื่องของการปรับทัศนคติ หรือการอบรมสั่งสอนในครอบครัว ในเรื่องของความเท่าเทียม หรือในเรื่องของ Gender อันนี้เราก็จะนำเรียนว่าในกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เรามีแผนปฏิบัติการจริง ๆ ในระดับประเทศมีอยู่ ๓ แผน แผนปฏิบัติการด้านครอบครัว ๕ ปี แล้วก็แผนปฏิบัติการ ด้านสตรี แล้วก็แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งในยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ก็จะส่งเสริม คือสนับสนุนในเรื่องของการปรับทัศนคติในครอบครัวก็ดี ในการที่เรียกว่า สังคมชายเป็นใหญ่ หรือส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศตั้งแต่ในครอบครัว ในสังคมทั่วไป อันนี้ก็อยู่ในการที่เราจะต้องทำในหลักสูตร ส่งเสริมเรื่องความเท่าเทียม ส่งเสริมในเรื่องของ การเลี้ยงดูบุตรอย่างมีคุณภาพ ส่วนในเรื่องที่ท่านให้ส่งข้อมูลเดี๋ยวทางกรมจะจัดส่งข้อมูล แล้วก็แผนโครงการเรื่องของความรุนแรงไปให้ท่าน

นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ต้นฉบับ

ส่วนท่านกัณตภณ ดวงอัมพร ที่ท่านพูดถึงเรื่องปัญหายาเสพติดและเรื่องของ การมีส่วนร่วม ก็อยากจะนำเรียนว่ากรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และกระทรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทุกส่วนทุกหน่วยงานของกระทรวงเราทำงาน ในรูปของ One Home นะคะ แล้วเราก็มีอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขณะนี้ทั่วประเทศก็เกือบ ๔๐๐,๐๐๐ คน อันนี้ก็จะช่วยในการชี้เป้าเฝ้าระวังในการป้องกันเหตุ แล้วเราก็ไปเสริมความเข้มแข็งให้กับทั้งสถาบันครอบครัวเอง แล้วก็กลไกในชุมชน ศูนย์พัฒนา ครอบครัว และศูนย์ช่วยเหลือสังคม อันนี้ที่คิดว่าจะเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันและแก้ไข ปัญหาความรุนแรง แล้วก็รวมทั้งปัญหายาเสพติด เรามีการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในเรื่องของป้องกันและแก้ไข แล้วถ้าเกิดมีเหตุคลุ้มคลั่งที่ท่านสอบถาม ที่ท่านรัฐมนตรีได้กรุณาพูดถึง Application ESS ปักหมุดหยุดเหตุนะคะ ซึ่งอันนี้ก็สามารถ ที่จะช่วยเหลือผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรง หรือผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือว่ามีการขู่ทำร้าย หรือคลุ้มคลั่งต่าง ๆ อันนี้ก็สามารถที่จะช่วยเหลือได้ทั้งในเชิงของการป้องกันโดยเฉพาะหน้า อันนี้ก็นำเรียนในเรื่องของข้อมูลที่ท่านสอบถามก็ครบถ้วนนะคะ ดิฉันก็ขอกราบขอบพระคุณทุกท่านอีกครั้งหนึ่งท่านประธาน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ทรงเกียรติอีกครั้งหนึ่งนะคะ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวพร้อมน้อมรับข้อสังเกต ข้อเสนอแนะของท่าน เราจะไปปรับปรุงทั้งในส่วนของการจัดทำรายงานสถานการณ์ ความรุนแรงในครอบครัวตามมาตรา ๑๗ ให้มีความสมบูรณ์ ข้อมูลให้ชัดเจน แล้วก็มี การวิเคราะห์ถึงสาเหตุปัญหา หรือว่าวิเคราะห์ในส่วนของแผน มีตัวชี้วัด มีผลลัพธ์เพิ่มเติม ในปีที่จะรายงานฉบับต่อไป

นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ต้นฉบับ

ส่วนที่ ๒ ก็คือปรับปรุงในเรื่องของการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ การช่วยเหลือ การบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การทำงานสหวิชาชีพ

นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ต้นฉบับ

ส่วนสุดท้าย ก็คือในเรื่องของกฎหมายก็จะผลักดัน แล้วก็ปรับปรุงแก้ไข กฎหมายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าถ้าเราสามารถดำเนินการทั้งส่วนการป้องกัน ในการช่วยเหลือ ในการคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรง หรือในเรื่องของทำงานร่วมกัน ในส่วนของภาคีเครือข่ายอย่างเข้มแข็ง ดิฉันก็เชื่อว่าสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ของสังคมไทยก็จะดีขึ้น แล้วก็ทุกคนก็จะมีความตระหนัก และมีความเข้าใจเรื่องของ ความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น แล้วก็จะทำให้ผู้ที่ประชาชนได้รับความปลอดภัย โดยเฉพาะเด็กและสตรีก็จะได้รับความปลอดภัยในชีวิต แล้วก็สามารถที่จะอยู่ในครอบครัว อยู่ในชุมชนได้อย่างมีความสุข ขอกราบขอบพระคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านฐิติมายกมือนะครับ สมาชิกท่านใดต้องการซักถามเพิ่มเติมไหมครับ ตอนนี้ มี ๑ ท่าน ที่ยกมือท่านฐิติมาเป็นรอบสุดท้าย OK ถ้าอย่างนั้นขอเชิญท่านฐิติมาครับ

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง พรรคเพื่อไทย เขต ๑ ฉะเชิงเทรา อยากจะฝากถึงท่านผู้ชี้แจงว่าครั้งหน้า ถ้าเกิดว่าท่านทำรายงาน

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

อันที่ ๑ อย่าได้ทำรายงาน Part สุดท้ายที่เป็นเรื่องของแนวทาง คำแนะนำ อะไรก็แล้วแต่ อย่าทำแบบ Copy แล้วก็ Paste มา ดิฉันอ่านปี ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๔ ดิฉันสงสัยว่า ทำไมเนื้อหาเหมือนกันเลย ทำแค่เพียงว่าให้มันดูย่อหน้าแตกต่างกันเท่านั้นเอง ดิฉันรู้สึก อย่างนั้นจริง ๆ

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

อันที่ ๒ กราฟหรือว่าแผ่นแบบนี้ค่ะ ท่านทำออกมาแล้วเปอร์เซ็นต์ คือท่าน ทำเป็นสัญลักษณ์นะคะ สัญลักษณ์ว่าทำร้ายร่างกายมีภาพแบบนี้ ไอ้โน่นมีภาพแบบนั้น แต่ว่ามันดูไม่ออกเพราะว่าเป็นขาวดำ ท่านควรจะใส่เปอร์เซ็นต์ลงไปท้ายคำว่าทำร้าย ร่างกายด้วย เพราะไม่อย่างนั้นเราจะดูไม่ออกเลยว่าสุดท้ายแล้วมันอยู่ตรงไหนกันแน่ แล้วก็ฝากถึงว่าคิดใหม่ทำใหม่ได้ก็ดี คิดถึงเรื่องจิตใจที่ดิฉันพูดไปว่ามันเป็นเรื่องที่ช่วยได้จริง ๆ ถ้าคนเรามีจิตใจที่ดี เข้าใจ ชั่งใจมันก็จะไม่ไปทำร้ายใครแค่นั้นเอง ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ท่านภัสริน เชิญครับ

นางสาวภัสริน รามวงศ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานค่ะ ดิฉัน ภัสริน รามวงศ์ ผู้แทนชาวบางซื่อ ชาวดุสิต แขวงถนนนครไชยศรี ดิฉันอยากจะขอฝากท่านประธาน ไปยังผู้ชี้แจงด้วยค่ะ ในเรื่องของการล่วงละเมิดทางเพศต่าง ๆ จากการอภิปรายฟังเพื่อนสมาชิก ตั้งแต่เมื่อเช้านี้ที่ผ่านมาเราจะเห็นความรุนแรงที่อยู่ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำจากคุณพ่อคุณแม่ ญาติพี่น้อง หรือว่าเพื่อนร่วมงานคนใกล้ชิดเองก็ตาม สถิติที่เห็นเรายังอยู่ในลำดับที่ ๗ ของโลก ในเรื่องนี้จะมีการแก้ไขอย่างไรบ้าง แล้วก็ในทั่วโลก มีการเพิ่มพนักงานสอบสวนหญิง หรือตำรวจหญิง เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์เลยไหม ไม่ว่ามีนัยสถิติ ที่สำคัญออกมา ไม่ว่าจะเป็นเมืองชัยปุระ ประเทศอินเดียเองก็ตามที่มีคดีล่วงละเมิดทางเพศ หรือความรุนแรงในครอบครัวเยอะมาก การเพิ่มตำรวจหญิงเอง หรือว่าการมีพนักงานสอบสวนหญิง พอเพิ่มแล้วมีจำนวนลดลง อย่างมีนัยสำคัญ ก็อยากฝากท่านประธานผ่านไปยัง พม. ด้วยว่าเรามีแนวทางช่องทางนี้ มาตรการนี้ไหม นอกจากรัฐที่จะต้องจัดการแล้วก็อยากจะฝากเรื่องการเพิ่มตำรวจหญิง ในการจัดการของการล่วงละเมิดทางเพศและความรุนแรงนี้ด้วย ขอฝากท่านประธาน ไปด้วยค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ทางผู้ชี้แจงคงไม่ต้องตอบ นั่นเป็นสิ่งที่ฝากไปนะครับ ขอบคุณสมาชิกทุกท่าน แล้วก็ผู้ชี้แจงนะครับ ที่เราใช้เวลาเต็มที่เลยสำหรับปัญหาที่สำคัญของประเทศนี้ ถือว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านความรุนแรงในครอบครัวตามมาตรา ๑๗ แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวแล้ว

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๒.๗ รับทราบรายงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ ของคณะกรรมการ กำกับกิจการพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

สมาชิกครับ รอบที่แล้วเราใช้ ๓๙ ท่าน แต่ว่าแต่ละท่าน ด้วยความเคารพ Late คนละประมาณนาทีครึ่ง ทำให้เราช้าไปประมาณ ๑ ชั่วโมง ส่วนรายงานที่ ๒ มีผู้ลงชื่อ อภิปรายถึง ๔๐ ท่าน อยากจะขอความเคร่งครัดในการรักษาเวลาด้วยนะครับ เราจะได้ ดำเนินการประชุมได้อย่างกระชับแล้วก็มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะประเด็นที่มีการอภิปรายไปแล้ว ก็ขอให้ไม่ต้องอภิปรายซ้ำมากจนเกินไป แต่ก็เน้นย้ำหรือสรุป ๆ ก็พอนะครับ ขอเชิญผู้ชี้แจง เข้าห้องประชุมนะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

วันนี้เราได้รับเกียรติจาก ท่านคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ท่านกัลย์ แสงเรือง รองเลขาธิการสำนักงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ท่านธิดารัตน์ สุวรรณชัยโฆษิต ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ท่านนฤมิตร สว่างผล ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ท่านปิยวรรณ สุกใส ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับ อัตราค่าบริการพลังงาน ท่านจิตมณี ทัพภะสุต ผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์และสื่อสาร องค์กร และท่านวรนุช เกษมชาญ ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน ถ้าอย่างนั้นขอเชิญ ทางผู้ชี้แจงได้อภิปรายสรุปรายงานฉบับนี้ให้กับทางที่ประชุมได้ฟังเลยครับ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานและท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการ พลังงาน ขอนำเสนอรายงานประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ของคณะกรรมการกำกับกิจการ พลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งเป็นการนำเสนอตามความ ในมาตรา ๔๖ ของพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่กำหนดให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพลังงาน สำนักงานนโยบายพลังงานแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา และเปิดเผยต่อสาธารณชน กกพ. ได้มีการนำเสนอรายงานประจำปี งบประมาณ ๒๕๖๔ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คณะกรรมการนโยบาย พลังงานแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีรับทราบแล้ว สำหรับสาระสำคัญในรายงานประจำปี งบประมาณ ๒๕๖๔ จะขอใช้เวลาสั้น ๆ กล่าวสรุปผลการดำเนินงานของ กกพ. และสำนักงาน กกพ. ตามผลการดำเนินการสำคัญของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าด้วย ดังนี้

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

ในปีงบประมาณ ๒๕๖๔ กกพ. และสำนักงาน กกพ. ได้ดำเนินงานตามแผน การดำเนินงานปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการ ด้านการกำกับกิจการพลังงาน ระยะที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๖๓-๒๕๖๕ ภายใต้วิสัยทัศน์ กำกับกิจการ พลังงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และส่งเสริมการแข่งขันให้เหมาะสม เป็นธรรม โดยมี ผลการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

๑. ส่งเสริมให้มีการบริการด้านพลังงานอย่างเพียงพอและมั่นคง โดยกำกับ การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ตามแผน PDP 2018 และดำเนินนโยบายส่งเสริม การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีโครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงาน แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาภาคประชาชน ทั้งนี้ กกพ. ได้ปรับลดค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้า โครงการ Solar ภาคประชาชน กลุ่มบ้านอยู่อาศัย จากเดิม ๘,๕๐๐ บาท เหลือ ๒,๐๐๐ บาท โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ และโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โครงการนำร่อง โดยมีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการจำนวน ๔๓ ราย ปริมาณพลังงานไฟฟ้าเสนอขาย ๑๔๙.๕ เมกะวัตต์

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

๒. ปกป้องผลประโยชน์ของผู้ใช้พลังงานด้านอัตราค่าบริการและคุณภาพ บริการ โดยออกมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้ารวม ๒๓.๗ ล้านราย คิดเป็น ร้อยละ ๙๗ เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ เพื่อบรรเทาผลกระทบในสถานการณ์ ระบาดของ COVID-19 ได้แก่มาตรการไฟฟรี ๙๐ หน่วย สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัย ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน ๑๕๐ หน่วยต่อเดือน มาตรการส่วนลดค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัย ที่ใช้ไฟฟ้าเกิน ๑๕๐ หน่วยต่อเดือน มาตรการค่าไฟฟรี ๕๐ หน่วย สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้า ในกิจการขนาดเล็กไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ และออกมาตรการยกเว้นการเก็บ อัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด หรือ Minimum Charge ช่วยเหลือภาคธุรกิจทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่ กิจการเฉพาะอย่าง องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร โดยใช้งบประมาณ รวมทั้งสิ้น ๒๘,๕๒๖ ล้านบาท และได้พิจารณาค่า Ft ให้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของต้นทุน ในการจัดหาไฟฟ้าที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้า โดยได้มีการปรับค่า Ft ในงวด เดือนมกราคม-เมษายน ๒๕๖๔ ลงจากงวดก่อนหน้าจำนวน ๒.๘๙ สตางค์ต่อหน่วย และตรึงค่า Ft ประจำเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ๒๕๖๔ และเดือนกันยายน-ธันวาคม ๒๕๖๔ ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตรา ๓.๖๑ บาทต่อหน่วย ตลอดจนได้มีการทบทวนมาตรฐาน คุณภาพบริการให้มีบริการกิจการไฟฟ้าระบบส่งศูนย์ควบคุมเพื่อรองรับความมั่นคง และความเชื่อถือได้

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

๓. ส่งเสริมการแข่งขันในกิจการพลังงาน โดยปรับปรุงกฎ ระเบียบ และข้อกำหนดต่าง ๆ เพื่อเปิดให้มีบริการสถานี LNG และเปิดให้ใช้ระบบโครงข่าย ก๊าซธรรมชาติเพื่อส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติระยะ ๒ เพื่อให้เกิดการแข่งขัน ธุรกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ และได้ออกประกาศว่าด้วยแนวทางปฏิบัติทางธุรกิจ สำหรับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาให้มีมาตรฐานเดียวกัน ตลอดจนหลักเกณฑ์ การสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าสำหรับผู้ได้รับอนุญาตศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

๔. ส่งเสริมการประกอบกิจการพลังงานให้มีประสิทธิภาพ โดยตรวจสอบ สถานประกอบกิจการพลังงานให้มีมาตรฐานวิศวกรรม มาตรฐานสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนด และพัฒนาระบบข้อมูลการตรวจติดตาม รายงานมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมบน Platform Online

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

๕. คุ้มครองผู้ใช้พลังงาน โดยเร่งติดตาม เร่งรัดการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก ตามประกาศหลักเกณฑ์ที่กำหนด อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนแล้ว ๘.๖๕ ล้านราย รวมวงเงิน ๑๗,๐๗๔ ล้านบาท และมีการคืนเงินประกันไปแล้ว ๘.๔๔ ล้านราย หรือเป็นวงเงิน ๑๖,๘๕๐ ล้านบาท

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

๖. การบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงาน กกพ. ได้จัดเก็บเงินนำส่งกองทุน และจัดสรรตามวัตถุประสงค์การใช้จ่ายกองทุนพัฒนาไฟฟ้า มาตรา ๙๗ แห่งพระราชบัญญัติ ประกอบกิจการพลังงาน ปี ๒๕๕๐ ดังนี้

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

๑. ชดเชยและอุดหนุนให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานให้บริการ อย่างทั่วถึงจำนวน ๑๔,๓๘๙ ล้านบาท

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

๒. พัฒนาและฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า โดยปรับปรุงประกาศ หลักเกณฑ์ และคู่มือเพื่อกระจายอำนาจและความรับผิดชอบสู่ระดับ พื้นที่ และส่งเสริมให้มีการดำเนินการโครงการชุมชนในพื้นที่ประกาศการพัฒนาหรือฟื้นฟู พื้นที่รอบโรงไฟฟ้าอย่างยั่งยืน และได้มีการอนุมัติจัดสรรเงินเพื่อดำเนินโครงการชุมชน ในพื้นที่ประกาศ ๕๕ กองทุน ๔,๖๔๐ โครงการ รวมวงเงิน ๑,๙๕๐.๗ ล้านบาท ประกอบด้วย การดำเนินงาน ๖ ด้าน ได้แก่ ด้านการสาธารณสุข เพื่อลดหรือป้องกันปัญหาสุขภาพ ของชุมชน ด้านการศึกษาเพื่อเพิ่มคุณภาพด้านการศึกษาของเยาวชนและครูสอน ในสถานศึกษาของรัฐ ด้านเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มรายได้ของชุมชน ด้านสิ่งแวดล้อม ส่งเสริม สภาพแวดล้อมหรือบำรุงรักษาสภาพแวดล้อมในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ด้านสาธารณูปโภค เพื่อยกระดับการเข้าถึงและครอบคลุมของสาธารณูปโภค และด้าน พลังงานชุมชน เพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของโรงไฟฟ้าและชุมชน

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

๓. ส่งเสริมใช้พลังงานหมุนเวียน เทคโนโลยีประกอบกิจการไฟฟ้าที่มี ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย โดย กกพ. ได้จัดสรรเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อดำเนินการ ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบมุ่งเป้า โดยติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้า จากพลังงานแสงอาทิตย์แบบ Off Grid ให้กับหน่วยงานด้านการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล ระบบส่งไฟฟ้า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในด้านการศึกษาให้เท่าเทียมกับโรงเรียนในเขตเมือง และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีโรงเรียนที่ได้รับประโยชน์ จำนวน ๑๖๖ โรงเรียน หรือคิดเป็นจำนวนครูและนักเรียนที่ได้รับประโยชน์ ๗,๗๖๔ คน

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

๔. ส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วม ทางด้านไฟฟ้า

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

๕. พัฒนาระบบบริหารงานให้มีธรรมาภิบาล เป็นไปตามเกณฑ์ประเมินคุณธรรม และความโปร่งใสในด้านการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐและสำนักงานคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามทุจริตในภาครัฐ และนำระบบบริหารงานด้านคุณภาพมาตรฐาน ISO 9001:2015 มาใช้ในองค์กร ตลอดจนพัฒนาระบบบริหารองค์กร และการให้บริการด้วย Technology Digital อาทิ การให้บริการอนุญาตแบบ Online การพัฒนาระบบข้อมูล ERC Data Sharing Platform เพื่อใช้ในงานการกำกับกิจการพลังงาน สำหรับรายงาน งบการเงินและบัญชี ซึ่งไม่รวมรายได้ของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าประจำปี ๒๕๖๔ สำนักงาน กกพ. มีรายได้จากการดำเนินงาน ๙๔๓.๓๓๒ ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ๕๗๓.๖๕๓ ล้านบาท รายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ ๓๖๙.๖๗๘ ล้านบาท ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. ได้นำรายได้แผ่นดินส่งคลัง จำนวน ๖๐๑.๗๑๐ ล้านบาท ซึ่งรวมเงินงบประมาณ ที่เหลือจ่ายประจำปี ๒๕๖๒-๒๕๖๔ ด้วย

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปเป็นการอภิปรายของสมาชิกท่านแรก ท่านณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ

นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สงขลา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา เขต ๗ อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย ตำบลลำไพลของอำเภอเทพา พรรคภูมิใจไทย ท่านประธานครับ วันนี้ วันพุธที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๔.๐๐ นาฬิกา ที่ผ่านมา สื่อ Online มติชน ขอ Slide เลยครับ

นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สงขลา ต้นฉบับ

ปรากฏว่าสื่อ Online เสนอว่าอย่างไร ท่านประธานครับ ประชาชนเตรียมเฮเศรษฐาลั่นหลังประชุม ครม. นัดแรกจะประกาศ ลดราคาไฟฟ้าและน้ำมันทันที ท่าน กกพ. ท่านเตรียมตัวไว้นะครับ ท่านนายกรัฐมนตรี ประกาศแล้ว เพราะฉะนั้นรายงานประจำปี ๒๕๖๔ ฉบับนี้ไม่ต้องอ่านเยอะครับ ไปอ่าน บทสรุปของท่านเลขาหน้า ๙ วรรคท้าย ท่านก็จะได้ข้อสรุปทั้งหมดชัดเจน ท่านประธานครับ ก่อนผมจะมาที่นี่พี่น้องชาวสวนยางเกี่ยวอะไรครับ บอกว่า สส. ให้ กกพ. มาบริหารการยางหน่อย เพราะบริหารแล้วไฟฟ้าแพง ให้บริหารการยางหน่อย แล้วให้การยางมาบริหาร กกพ. ให้ไฟฟ้ามันถูก นี่คือชาวสวนยางบอกผมมา ท่านประธานครับ ทำไมไฟฟ้ามันแพง ชาวบ้าน ก็ทนไม่ไหว ท่านประธานครับ วันนี้มีการพูดถึงราคาไฟฟ้า ฉะนั้นวันนี้ไฟฟ้าราคาฐานสุด ๔.๗๒ บาทต่อหน่วย นี่ยังไม่รวมภาษี VAT ๗ เปอร์เซ็นต์นะครับ ค่าไฟฟ้า Pure ๒.๗๔ บาท เพราะฉะนั้นส่วนที่เกินมาเป็นการบริการ การผูกขาดเหนือตลาด ทำให้ราคาเหล่านี้ประมาณ ๕ หน่วยเพิ่มขึ้น ข้อที่ ๑ คือต้นทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า ๘๐ สตางค์ ต้องเก็บครับ ต้องมาเก็บจากประชาชนด้วยครับท่านประธาน ข้อที่ ๒ คือต้นทุนระบบจำหน่าย และค้าปลีก ๐.๕๑ สตางค์ ข้อที่ ๓ ต้นทุนสายส่งไฟฟ้า กฟผ. กฟน. กฟภ. ๒๔ สตางค์ ข้อที่ ๔ คืนหนี้ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยภายใน ๓ ปี ๒๒ สตางค์ ข้อที่ ๕ เกี่ยวกับ นโยบายของรัฐ ๒๐ สตางค์ รวมแล้วที่ไม่เกี่ยวกับไฟฟ้าทั้งหมด ๑.๙๗ บาท หรือประมาณ ๒ บาท เพราะฉะนั้นค่าไฟที่มันสูงขึ้น ท่านประธานครับ จริง ๆ แล้วค่าไฟ ๒ บาทกว่า แต่ค่าจิปาถะที่ท่านเห็นอยู่นี่คือเก็บจากประชาชนต่อหน่วย วิธีการแก้ กกพ. เสนอให้ตัด ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก ให้เหลือเฉพาะค่าไฟฟ้าจริง ๆ และค่าดำเนินการที่จำเป็นบางตัว ท่านประธานครับ เพราะฉะนั้นผมขอขอบคุณทาง กกพ. ที่ดูแลการใช้ไฟฟ้าที่ท่านสรุป เมื่อสักครู่ ๒๓.๗๐ ล้านราย ๙๗ เปอร์เซ็นต์ เกือบครบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วอีก ๓ เปอร์เซ็นต์ ที่ท่านไม่ได้ดูแลเขาเจ็บปวด เขาทรมาน เขายากลำบาก ท่านไม่รู้หรอกครับว่าคนต่างจังหวัด ที่ไม่มีไฟฟ้า ๓ เปอร์เซ็นต์นี่มันทรมานอย่างไร ท่านประธานครับ มนุษย์เราเลือกเกิดไม่ได้ เกิดในกรุงเทพฯ ไฟฟ้าก็ไม่มี เกิดต่างจังหวัดไฟฟ้าก็ไม่มี เกิดที่ชายแดนไฟฟ้าก็ไม่มี ๓ เปอร์เซ็นต์นี้ท่านจะทำอย่างไร ผมก็เลยฝาก กกพ. ว่ามันมีข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่ท่านไม่รู้ ผมจะบอกท่าน ท่านประธานครับ บังเอิญผมมีลุงอยู่คนหนึ่งชื่อลุงป้อง บ้านอยู่บ้านคลองแวว หมู่ที่ ๑ ตำบลบาโหย อำเภอสะบ้าย้อย เป็นรอยต่อระหว่าง ๒ ตำบล ถนนทางหลวงชนบทผ่าน แต่ไม่มีไฟฟ้ามาเกือบ ๑๐๐ ปี มีประชาชนที่นี่ ๑๐๐ ราย เด็กที่นี่ไม่เคยเห็นไฟฟ้าในการอ่านหนังสือ ปรากฏว่าผมเองพาไปที่ไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอนุมัติ ๓ ล้านกว่าบาทขยายเขต แต่ติดปัญหา ที่กรมป่าไม้ นี่คือ Case ที่ ๑ ท่านประธานครับ มันมีอีก Case หนึ่งที่บ้านบางหน๊ะ หมู่ที่ ๑๐ ตำบลสำนักแต้ว อำเภอสะเดา ปรากฏว่าที่นี่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้างติดอำเภอสะเดา มีประชากรอยู่ ๒๐๐ คน ประมาณ ๕๐ ครัวเรือน ไม่มีไฟฟ้าใช้ ผมไปนี่เขาดีใจมาก ปรากฏว่า กระบวนการสุดท้ายที่เราไปพูดคุย ไฟฟ้าตั้งงบประมาณแต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะติดเขตอุทยาน ท่านประธานครับ สิ่งเหล่านี้ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้น ผมเองอยากให้ กกพ. ประสาน ๓ การ การที่ ๑ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การที่ ๒ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การที่ ๓ การไฟฟ้านครหลวง ดำเนินการจัดทำแผนให้ครบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ให้กับพี่น้อง ประชาชน ท่านประธานครับ มันมีมรดกบาปท่านอาจจะไม่รู้ มรดกบาปที่พวกท่านไปก่อไว้ โดยที่ประชาชนต้องมาชดใช้ก็คือ ค่า Ft ๑๕๐,๐๐๐ ล้านบาท ท่านประธานครับ ๑๐ ปีที่แล้ว ๐ บาท แต่วันนี้เขาถามว่าทำไมราคาแพง Ft ทำไมราคาต้องแพง Ft ๑๕๐,๐๐๐ ล้านบาท ที่เราต้องชดใช้หนี้ เพราะฉะนั้นรัฐบาล กระทรวงพลังงาน กกพ. คุณจะจัดการอย่างไร สรุปแล้วสาเหตุที่ไฟฟ้าแพงเกินจริงแก้ง่ายครับท่านประธาน และมันมีสาเหตุครับ

นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สงขลา ต้นฉบับ

ข้อที่ ๑ ท่านในฐานะผู้กำกับ กกพ. กพช. ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ไปคำนวณผิดว่าประเทศไทยต้องใช้พลังงานเพิ่ม ก็เลยไปอนุญาตให้กับเอกชนสร้างโรงงาน ไฟฟ้าเพิ่มเป็นภาระกับประเทศ ท่านคำนวณผิด

นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สงขลา ต้นฉบับ

ข้อที่ ๒ ใช้เชื้อเพลิงจากแก๊สธรรมชาติสัดส่วนสูงเกินไป แก๊สธรรมชาติ จากอ่าวไทยที่บ้านผมจะนะ ที่ขนอม เอาจากพม่า และประเทศมาเลเซียของปลอมครับ อ้างว่ามาจากมาเลเซียจริง ๆ ไม่ใช่ครับ ท่อมันไปมาเลเซียแล้ววนกลับมาที่ไทย เพราะฉะนั้น ท่านใช้อัตราส่วนมากเกินไปถึง ๗๐ เปอร์เซ็นต์

นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สงขลา ต้นฉบับ

ข้อที่ ๓ ๓ ก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง ต่างคนต่างทำ ท่านประธานรู้ไหมครับ มันทับซ้อนในเรื่องของสายส่ง เพราะฉะนั้นมันมีค่าต้นทุนเหล่านี้ทำไมไม่ทำเป็นมาตรฐานเดียวกัน

นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สงขลา ต้นฉบับ

ข้อที่ ๔ ท่านอนุญาตให้เอกชนผลิตไฟฟ้ามากเกินไป รัฐธรรมนูญบอกว่า กฟผ. ผลิต ๕๑ เปอร์เซ็นต์ ท่านไปแก้ให้เอกชนผลิตมากกว่าในขณะนี้ นี่คือปัญหา

นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สงขลา ต้นฉบับ

ข้อที่ ๕ มีการส่งเสริมพลังงานทดแทน ไม่จริง ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นลม แสงอาทิตย์ หรืออื่น ๆ เพราะฉะนั้นวิธีแก้อย่างเดียวนโยบายภูมิใจไทยฝากท่านไปด้วย Solar Roof หลังคาแจกให้กับพี่น้องประชาชน จะประหยัด ๔๕๐ บาทต่อหลัง เดี๋ยวผม จะยื่นเอกสารให้ท่าน ขอบคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ ครับ

นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ ชัยภูมิ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพทุกท่าน รวมถึงท่านคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงานที่เข้ามาชี้แจงในวันนี้ กระผม นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดชัยภูมิเขต ๗ พรรคพลังประชารัฐ ท่านประธานครับ วันนี้กระผมขอใช้สิทธิอภิปราย ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งวันนี้ได้เข้ามาชี้แจงรายงานประจำปี งบประมาณ พุทธศักราช ๒๕๖๔ ซึ่งผมได้อ่านรายงานฉบับดังกล่าวและมีข้อสงสัย ๓-๔ ประเด็น ขอ Slide ด้วยครับ

นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ ชัยภูมิ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ตาม พ.ร.บ. ประกอบ กิจการพลังงาน พุทธศักราช ๒๕๕๐ กำหนดให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ประกอบด้วย ประธานกรรมการ ๑ ท่าน และกรรมการอีก ๖ ท่าน เป็นผู้กำหนดวาระต่าง ๆ ซึ่งมีความเกี่ยวข้อง กับปากท้องของพี่น้องประชาชน เช่น ๑. การปรับขึ้นปรับลงค่าไฟฟ้า ๒. เสนอความเห็น ต่อแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ๓. แผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติ ๔. ตรวจสอบการประกอบ กิจการพลังงานให้โปร่งใส ๕. ส่งเสริมให้ประชาชนและสังคมมีความรู้ด้านพลังงาน เป็นต้น ท่านประธานครับ ภาพนี้ผมได้นำมาจากรายงานงบประมาณ ปี ๒๕๖๔ ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพ ของโครงสร้างการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในประเทศไทยตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ จากรูป ที่อยู่ด้านบนจะเห็นว่าสัดส่วนในการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยกว่า ๕๕ เปอร์เซ็นต์ เป็นการผลิตไฟฟ้าโดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ซึ่งแน่นอนอยู่แล้วการผลิตไฟฟ้าด้วย ก๊าซธรรมชาติ ต้นทุนหลักก็คือเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติหรือ LNG เมื่อเราพิจารณาจาก โครงสร้างการผลิตไฟจะเห็นว่าประเทศไทยมีการใช้ก๊าซธรรมชาติหลัก ๆ มาจาก ๓ แหล่ง แหล่งแรกมาจากอ่าวไทย ตามที่อยู่บนหน้าจอฝั่งซ้ายมือที่เขียนว่า Gas Supply Gulf of Thailand แหล่งที่ ๒ จากพม่า ซึ่งจะอยู่ด้านบน แหล่งที่ ๓ มาจากการรับซื้อ LNG หรือ Liquefied Natural Gas หรือก๊าซธรรมชาติเหลว ซึ่งก็จะมีการซื้อในลักษณะเป็น Spot หรือจะมีการซื้อแบบ Long term ทั้งหมดนั้นจะถูกป้อนเข้ามาในระบบ Pool Gas และนำราคาของทุกแหล่งนำมาถัวเฉลี่ย ก่อนที่จะป้อนให้กับบริษัท ปตท. ซึ่ง ปตท. เองเป็นผู้นำก๊าซจาก Pool Gas มาขายให้กับ ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่หรือ IPP ในขณะที่ ปตท. เองก็ได้ใช้ก๊าซจากอ่าวไทยในการประกอบ ธุรกิจ เมื่อพิจารณาจาก Slide ด้านบนเราจะเห็นว่าโครงสร้างค่าไฟของประเทศไทย ประกอบด้วยหลัก ๆ ๔ อย่าง อย่างแรกภาษีมูลค่าเพิ่ม อย่างที่ ๒ ค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ อย่างที่ ๓ ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ Ft อย่างที่ ๔ คือค่าไฟฟ้าฐาน ซึ่งค่าไฟฟ้าผันแปรนี่ละครับ ที่เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจากในรอบ ๒ ปีที่ผ่านมาทางรัฐบาลมีการปรับค่า Ft ขึ้น กว่า ๔ รอบจนทำให้ค่าไฟฟ้ามีการปรับเพิ่มกว่า ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสวนทางกับรายได้ของ พี่น้องประชาชนทั้งประเทศที่ขณะนี้กำลังกุมขมับ จากข้อมูลที่ได้นำเสนอมาก่อนหน้า ทั้งเรื่องต้นทุนในการผลิตไฟ รวมถึงประเด็นเรื่องค่าไฟฟ้า ผมได้นำกราฟราคา LNG หน่วยคือ สกุลเงินดอลลาร์ต่อ MMBtu มา Plot เทียบกับราคาค่าไฟในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา ท่านจะเห็นว่า ราคา LNG มีการปรับขึ้นลงอย่างผันผวน สอดคล้องกับค่าไฟฟ้าที่มีการปรับเพิ่มจาก ๓.๖๑ บาทต่อหน่วย ไปจนถึง ๔.๗๐ บาทต่อหน่วยในปัจจุบัน ทั้งในปัจจุบันราคา LNG ได้ปรับลงจนเหลือแทบจะเท่ากับราคาในช่วงปี ๒๕๖๔ ผมจึงมีคำถามต่อท่านคณะกรรมการ และผู้ชี้แจงทุกท่านว่าเมื่อราคา LNG มีการปรับลดลงมาขนาดนี้เมื่อไร ทางรัฐบาลหรือทาง กกพ. จะพิจารณาปรับค่าไฟให้ลงเทียบเท่ากับปี ๒๕๖๔ ที่ราคา ๓.๖๑ บาทต่อหน่วย

นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ ชัยภูมิ ต้นฉบับ

ประเด็นถัดมาเมื่อพิจารณาเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างบริษัท เชฟรอน และกระทรวงพลังงานในประเด็นเรื่องสัมปทานอ่าวเอราวัณ เราจะเห็นว่าประเด็นความขัดแย้ง ส่งผลให้ ปตท. สผ. ไม่สามารถเข้าแท่นขุดเจาะ ทำให้การผลิตก๊าซเพื่อป้อนโรงไฟฟ้า ต้องหยุดชะงัก และในที่สุดประเทศจึงต้องซื้อก๊าซ LNG ในราคาที่แพงขึ้น เพราะเป็น ช่วงเวลาเดียวกันกับที่ราคาก๊าซ LNG พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แน่นอนครับ เมื่อต้นทุน ในการผลิตไฟฟ้าแพงขึ้นรัฐบาลชุดที่แล้วจึงต้องปรับค่า Ft ขึ้น ทำให้ค่าไฟขึ้นไปถึง ๔.๗๒ บาทต่อหน่วย นี่คือตัวอย่างของการจัดซื้อ LNG ในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมาที่ผม ได้ทำการค้นคว้าข้อมูลก็จะเป็นข่าวเดียวที่ผมพบเจอ ท่านประธานครับ ขนาดการจัดซื้อ อาวุธยุทโธปกรณ์ในมูลค่าหลักร้อยล้านบาทขึ้นไป เรายังมีการตรวจสอบกันอย่างเข้มงวด ผมจึงมีคำถามต่อท่านคณะกรรมการ กกพ. ดังนี้

นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ ชัยภูมิ ต้นฉบับ

๑. ผมอยากฝากถึงท่าน กกพ. ให้เร่งตรวจสอบว่าหน่วยงานหรือบริษัทใด เป็นผู้จำหน่าย LNG ให้กับบริษัท ปตท. ซึ่งประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับพี่น้องประชาชน ทั้งประเทศ เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระเป๋าของพี่น้องโดยตรง

นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ ชัยภูมิ ต้นฉบับ

๒. ผมมองว่าควรนำสัญญาเหล่านี้มาเปิดเผยให้ประชาชนและตัวแทนของ ประชาชนได้ตรวจสอบว่าการจัดซื้อจัดจ้างมีการได้เปรียบ เสียเปรียบอย่างไรบ้าง และมีเงื่อนไข ในการลงนามในสัญญาอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงื่อนไขพิเศษอื่นใดที่ประชาชน ควรทราบหรือไม่ ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านชัชวาล แพทยาไทย ครับ

นายชัชวาล แพทยาไทย ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ สมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่าน กระผม นายชัชวาล แพทยาไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๗ พรรคไทยสร้างไทย ลูกอีสานดินแดนทุ่งกุลาร้องไห้ เกษตรวิสัย ปทุมรัตต์ เมืองสรวง วันนี้กระผมรู้สึกเป็นเกียรติ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นตัวแทน พี่น้องประชาชนร่วมการอภิปรายในรายงานของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานในครั้งนี้ เพราะท่านมีส่วนสำคัญ ต่อวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชน เบื้องต้นหากมองตามวัตถุประสงค์ นี่เป็นหน่วยงานที่จะเข้ามาปกป้องผลประโยชน์ของผู้ใช้ไฟฟ้า ทั้งด้านอัตราค่าบริการและคุณภาพการให้บริการ มันเป็นหน้าที่ที่สำคัญอย่างมากต่อพี่น้อง ประชาชนครับ หน่วยงานหลักที่จะเข้ามามีส่วนต่อการกำหนดทิศทางและความมั่นคง ของราคาไฟฟ้า ท่านประธานครับหากมองในสภาพความเป็นจริง ผมได้มีโอกาสลงพื้นที่ พบปะพี่น้องประชาชนในพื้นที่ มักจะได้ยินคำถามยอดฮิตครับ พี่น้องมักจะถามว่าผู้แทน ราคาข้าว ราคาวัว มันคือถูกแท้ ราคาไฟ ราคาปุ๋ย ค่าน้ำมันคือขึ้นเอา ๆ ปานบั้งไฟแท้ ท่านประธานครับ พี่น้องประชาชนเขาไม่รู้จะพึ่งใครแล้วครับ ทำให้ผมจำเป็นจะต้องลุกขึ้นมา อภิปรายร่วมในวันนี้ ผมมีประเด็นสำคัญที่จะเรียนถามฝากท่านประธานไปยังคณะกรรมการ กำกับกิจการพลังงานอยู่ ๗ ประเด็น ดังต่อไปนี้

นายชัชวาล แพทยาไทย ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

ประเด็นแรก กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานได้มีการวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือที่เรียกว่า PDP เพื่อเป็นแผนหลักในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าของประเทศให้เพียงพอ กับความต้องการใช้ไฟฟ้า มีระยะเวลาตามแผนตั้งแต่ปี ๒๕๖๑-๒๕๘๐ ๒๐ ปีครับ ผมอยากเรียนถามว่าระยะเวลายาวนานขนาดนี้ การจัดทำแผนควรที่จะต้องได้ผลตามกรอบเวลา มีขั้นตอนอย่างไร มีองค์กรหน่วยงานใดหรือใครเป็นผู้เกี่ยวข้องในแต่ละขั้นตอน และที่สำคัญ ผมขออนุญาตขีดเส้นใต้ ๒ เส้นหนา ๆ เลยว่าแผนนี้จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงอย่างไร

นายชัชวาล แพทยาไทย ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ การวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยหรือ PDP หลักการสำคัญในขั้นตอนแรกสุดคือการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า เพื่อให้รัดกุม และเหมาะสมกับสถานการณ์ด้านพลังงานในช่วงนั้น แต่จากที่ผมได้อ่านดูรายงานในแผน และศึกษาค้นคว้าข้อมูล มีการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงมาก มีการเพิ่มเป้าหมาย สัดส่วนกำลังการผลิตส่วนเกินสูงและเพิ่มขึ้นทุกปี ผมจึงเกิดข้อสงสัยว่านี่เป็นการเอื้อต่อ กลุ่มทุนพลังงานหรือไม่ครับ เพราะการดำเนินการดังกล่าวภาครัฐจะได้มีเหตุผลในการอนุมัติ ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชนมากเกินความจำเป็น ตามมา หรือเกินความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงโดยอ้างว่าเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนา กำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือ PDP นั่นเอง

นายชัชวาล แพทยาไทย ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ ตลอดการจัดทำแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ PDP มีการทบทวนบ้างหรือยังครับ ตามหลักของแผนมีระยะเวลาการทบทวนเป็นช่วง ๆ ทันตามกำหนดเวลาหรือไม่ หากทันตามกำหนดเวลาจะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลงกว่านี้ได้หรือไม่ การทบทวนนี้ผมมีมุมมองว่าการดำเนินการตามแผน ควรมีวาระทบทวนทุก ๆ ปีเพื่อจะได้เห็น แนวทางในการลดค่าไฟฟ้าให้แก่พี่น้องประชาชน

นายชัชวาล แพทยาไทย ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๔ ในความเป็นจริงกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยในปัจจุบัน มีขนาดที่เกินต่อความจำเป็นหรือไม่ หากพบว่ามันเกินความจำเป็นทางคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงานมีแนวทางในการจัดการเรื่องดังกล่าวนี้อย่างไร หากท่านตอบว่ามีมาตรการ เหตุใดประชาชนยังต้องทนทุกข์กับราคาไฟที่สูงเช่นนี้อยู่

นายชัชวาล แพทยาไทย ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๕ ปัจจุบันจากการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีอัตรา การผลิตไฟฟ้าน้อยกว่าภาคเอกชน ทำให้การกำหนดราคาส่วนมากจะตกไปอยู่ในมือเอกชน ตามกลไกการตลาด ดังนั้นเราเห็นปัญหาตรงนี้แล้วครับท่านประธาน ทำไมท่านจึงไม่เพิ่ม อัตราการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ผมมองว่า นี่จะทำให้ค่าไฟถูกลงและประชาชนได้ประโยชน์และช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชน

นายชัชวาล แพทยาไทย ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๖ ผมขอนำเรียนฝากท่านประธานไปยังคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงานว่าท่านมีวิธีคิดคำนวณค่าไฟฟ้าและค่าผันแปรหรือค่า Ft อย่างไร ในส่วนของ วิธีคิดคำนวณถูกต้องและสอดคล้องกับหลักวิชาการและหลักสากลหรือไม่ มีการอ้างอิงอะไร มาเป็นเกณฑ์ สุดท้ายแล้วหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบและการคำนวณดังกล่าวต้องมี การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนหรือไม่

นายชัชวาล แพทยาไทย ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

ประเด็นสุดท้าย ค่าตอบแทนที่จะต้องจ่ายให้แก่โรงไฟฟ้าเอกชนในกรณีที่ ไม่ต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าถูกนำมาคิด ถูกนำมาคำนวณเป็นค่า Ft หรือไม่ อย่างไร เพราะคนที่จับตามองเรื่องนี้เขาสงสัยครับ ประชาชนต้องรับภาระในสิ่งที่เขาไม่ได้ก่อหรือไม่

นายชัชวาล แพทยาไทย ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

ท้ายที่สุดคำถามทั้ง ๗ ประเด็น ประชาชนและหลายภาคส่วน หลายหน่วยงาน มีการประโคมข่าวอยู่เรื่อยมา แต่สุดท้ายไม่มีคำตอบใด ๆ จากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในช่วงก่อนการเลือกตั้งมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น หลายพรรคการเมืองได้หยิบยก เอาประเด็นเรื่องค่าไฟฟ้ามารณรงค์ บอกว่าจะลดค่าไฟบ้าง ทั้งจะแก้ไขสัญญาที่ไม่เป็นธรรม หรือมีนโยบายที่จะทลายกลุ่มทุนผูกขาด หลายพรรคที่มีนโยบายดังกล่าวก็กำลังอยู่ในรัฐบาล ที่กำลังจะจัดตั้งขึ้น แต่บางพรรคก็มาจากพรรคของรัฐบาลชุดก่อนที่ล้มเหลวในการบริหาร จัดการเรื่องค่าไฟฟ้า ผมเลยชักไม่มั่นใจว่าปัญหาเรื่องค่าไฟแพงซึ่งเป็นปัญหาที่ประชาชน เดือดร้อนจะได้รับการแก้ไขหรือไม่ นำเรียนท่านประธานด้วยความเคารพ กราบขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านร่มธรรม ขำนุรักษ์ ครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผมขอมี ส่วนร่วมในการอภิปรายให้ความเห็นในวาระรับทราบรายงานประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ท่านประธานครับ ปัจจุบันพลังงานโดยเฉพาะไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม และน้ำมัน ถือเป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชนตั้งแต่ตื่นทำมาหากิน จนหลับนอน แต่ปัจจุบันในประเทศเราก็ยังเผชิญปัญหาด้านพลังงานและไฟฟ้า โดยพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ของผมในจังหวัดพัทลุงได้สะท้อนความเดือดร้อนทั้งค่าไฟฟ้า และราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และผันผวนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งด้วยสถานการณ์ปัจจุบันประชาชนจำเป็นต้องเผชิญอยู่กับ สภาพการณ์เช่นนี้เพราะไม่มีทางเลือกที่มากนัก นอกจากนี้อีก ๑ ปัญหาที่ใหญ่ถือเป็น ขั้นวิกฤติของโลกในยุคปัจจุบัน คือปัญหาภาวะโลกร้อน และสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ที่เกิดมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้โลกของเราร้อนและรวน ยิ่งขึ้น โดยเมื่อดูข้อมูลก็พบว่าภาคการผลิตไฟฟ้าและการใช้พลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด คิดเป็นประมาณ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดภายในประเทศเรา และเมื่อดูข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้พลังงานเพียงอย่างเดียวพบว่า ในปี ๒๕๖๕ สัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาจากการผลิตไฟฟ้าถึง ๓๖ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคขนส่ง ๓๒ เปอร์เซ็นต์ ภาคอุตสาหกรรม ๒๗ เปอร์เซ็นต์ ขณะในระดับโลกประเทศไทยของเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับ ๑๙ ของโลก ผมคิดว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานหรือ กกพ. มีความรับผิดชอบและหน้าที่ ที่สำคัญในการกำกับกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติของไทย เพื่อให้เกิดการบริการ ด้านพลังงานที่เป็นธรรมต่อพี่น้องประชาชนและเป็นธรรมต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งผมขอย้ำว่า นี่ก็เป็นไปตามแนวทางของ กกพ. นะครับ ทั้งวิสัยทัศน์ พันธกิจ รวมถึงเป้าหมายในการกำกับ กิจการพลังงาน ในแผนปฏิบัติงานด้านการกำกับกิจการพลังงานระยะที่ ๔ ปี ๒๕๖๓ ถึงปี ๒๕๖๕ ซึ่งท่านมีวิสัยทัศน์ในการกำกับกิจการพลังงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมการแข่งขันให้เหมาะสมเป็นธรรม โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคง ทางด้านพลังงานของประเทศ ปกป้องผลประโยชน์ของผู้ใช้พลังงานด้านอัตราค่าบริการ ให้มีความเป็นธรรม ส่งเสริมการประกอบกิจการพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริม การใช้พลังงานทดแทนในรูปแบบของพลังงานสะอาด แต่ท่านประธานครับ กระผมเชื่อว่า กกพ. ได้ทำงานอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามจากรายงานนี้และความเป็นจริงที่ปรากฏขึ้น ผมขอตั้งคำถามว่าในระยะที่ผ่านมา กกพ. ประสบความสำเร็จหรือไม่ ทั้งในเรื่องปกป้อง ผลประโยชน์ของผู้ใช้พลังงานด้านอัตราค่าบริการให้มีความเป็นธรรม และการส่งเสริม การใช้พลังงานหมุนเวียนในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย จากรายงานนี้และจากปัญหาด้านพลังงานที่ผมกล่าวไปข้างต้น ผมจึงมีข้อสอบถาม และข้อเสนอแนะผ่านท่านประธานไปยังผู้ชี้แจงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๑. ด้านค่าไฟฟ้า ผมขอสอบถามว่าทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. จะมีแนวทางในการกำกับกิจการพลังงานต่อไปอย่างไร เพื่อปรับอัตราค่าไฟฟ้า ที่เป็นธรรมให้กับประชาชนในระยะยาว ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่ กกพ. ให้ความสำคัญ และผมคิดว่านี่คือความเดือดร้อนของคนไทยทั้งประเทศ โดยผมและพรรคประชาธิปัตย์ เรามีความเห็นว่าจะต้องมีการพิจารณายกเลิกแก้ไขหรือทบทวนค่า Ft หรือค่าไฟฟ้าผันแปร โดยคำนวณจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง อีกทั้งยังควรกำหนดระดับกำลังการผลิตสำรอง ที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันผมอยากทราบว่าการผลิตไฟฟ้าสำรองอยู่ในระดับที่สูงกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์เป็นจริงหรือไม่ ซึ่งหากเป็นจริงผมคิดว่าการสำรองไฟฟ้าขนาดนี้เกินกว่า มาตรฐานและความเหมาะสมที่ควรอยู่ในระดับ ๑๕ เปอร์เซ็นต์ไปค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ยังควรส่งเสริมการแข่งขันและควรกำหนดสัดส่วนกำลังการผลิตระหว่างรัฐกับเอกชน และสัดส่วนการนำเข้าจากต่างประเทศให้มีความเหมาะสม และปรับราคาก๊าซป้อนโรงไฟฟ้า ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและเป็นธรรม

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๒. ด้านพลังงานหมุนเวียน พลังงานทดแทน และพลังงานสะอาด อยากสอบถามว่า ทาง กกพ. จะมีแนวทางในการกำกับกิจการพลังงานต่อไปอย่างไร เพื่อเพิ่มสัดส่วน แหล่งพลังงานเหล่านี้ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งนี่ก็เป็นอีก ๑ ประเด็นที่ กกพ. ให้ความสำคัญ อีกทั้งยังเป็นเป้าหมายใหญ่ในระดับประเทศและระดับโลก เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งจากข้อมูลของ กกพ. ชี้ว่าการผลิตพลังงานไฟฟ้า ในระบบแยกตามเชื้อเพลิงในปี ๒๕๖๕ พบว่าส่วนใหญ่คือก๊าซธรรมชาติ ๕๓ เปอร์เซ็นต์ นำเข้า ๑๖ เปอร์เซ็นต์ โดยมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเพียง ๑๐.๑๔ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยผมคิดว่าเราจะต้องเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า เช่น การสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาเรือน หรือ Solar Rooftop ในระดับครัวเรือน และควรจะมีการสนับสนุนการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากการใช้งาน กลับเข้าสู่ระบบ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน นอกจากนี้ผมเห็นว่าเราควรจะต้อง ส่งเสริมพลังงานลม ระบบแบตเตอรี่สำรองไฟฟ้า ระบบการดักจับคาร์บอนจากการผลิตไฟฟ้า และพลังงาน ซึ่งจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงานและการใช้ไฟฟ้าได้ มหาศาล

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๓. ด้านกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ขอให้ทาง กกพ. พิจารณาจัดสรรเงินทุนกองทุนนี้ เพื่อติดตั้งระบบไฟฟ้าส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ให้โรงเรียน สถานศึกษา สถานพยาบาล และชุมชนที่ขาดแคลนไฟฟ้า หรือพื้นที่ห่างไกล ในจังหวัดพัทลุงและทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงพลังงานเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน โดยผมขอยกตัวอย่างในพื้นที่ของผมในหมู่ที่ ๔ และหมู่ที่ ๙ ตำบลคลองใหญ่ อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง มีชาวบ้านอาศัยกว่า ๓๕ หลังคาเรือน แต่ไม่มีไฟฟ้าใช้

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๔. ผมขอให้ทาง กกพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของทางสภาองค์กรของผู้บริโภคซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนผู้บริโภค ที่มีความเป็นอิสระที่ได้มีข้อเสนอแนะมาตรการเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาไฟฟ้าและพลังงานแพง เพื่อค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมและสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้พลังงานเป็นปัจจัยที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต ผมจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทาง กกพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ดำเนินการต่อไป เพื่อค่าไฟฟ้าและพลังงาน ที่เป็นธรรมต่อพี่น้องประชาชน เพื่อลดค่าใช้จ่ายและผลักดันพลังงานหมุนเวียนเพื่อแก้ไข ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และปัญหาสิ่งแวดล้อม ขอบคุณท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปท่านรำพูล ตันติวณิชชานนท์

นางรำพูล ตันติวณิชชานนท์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางรำพูล ตันติวณิชชานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคไทยสร้างไทย จังหวัดอุบลราชธานี เขต ๙ ซึ่งประกอบด้วย อำเภอนาจะหลวย อำเภอบุณฑริก อำเภอสิรินธร เฉพาะตำบลโนนก่อ ดิฉันจะขออภิปรายวาระรับทราบรายงานประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กกพ. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการ พลังงาน สำนักงาน กกพ. ในฐานะองค์กรกำกับกิจการไฟฟ้าและกิจการก๊าซธรรมชาติของประเทศไทย ตามภารกิจ ที่กำหนดในพระราชบัญญัติกิจการพลังงาน พุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งมีรายละเอียดที่ดิฉัน จะขอนำเรียนท่านประธานดังต่อไปนี้นะคะ อย่างที่ทราบกันดีว่าค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน มีราคาแพงมาก เวลาออกพื้นที่ตามชนบท ตามต่างจังหวัด ต่างอำเภอ ชาวบ้านก็จะบ่น ค่าไฟแพงนะคะ ก็ไม่ทราบว่าจะแก้อย่างไรดิฉันก็จะนำมาเสนอในที่ประชุมว่า หลังจากที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ปรับค่าไฟฟ้าช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม โดยคิดค่าไฟฟ้าและค่าไฟฟ้าผันแปร หรือว่าค่า Ft ในที่อยู่อาศัยและประเภทอื่น ๆ ๙๘.๒๗ สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย เพิ่มขึ้นที่ ๔.๗๒ บาทต่อหน่วย จากล่าสุดมีข่าวว่าจะมีมาตรการลดค่าไฟฟ้า ๔ เดือนสุดท้าย ของปี ๒๕๖๖ ในครั้งนี้ชาวบ้านก็ดีอกดีใจว่าจะได้ลดค่าไฟฟ้า แต่ที่ไหนได้ตามที่ประชาชน เรียกร้องก็ได้ฝันสลาย เพราะว่า กฟภ. ระบุว่าไม่สามารถทำได้เนื่องจากต้องใช้งบประมาณ จำนวนมากจะต้องรอรัฐบาลใหม่ตัดสินใจ ดังนั้นตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไปประชาชนก็ยังต้อง เผชิญหน้ากับค่าไฟแพงต่อไป ดิฉันขอเรียนถามท่านประธานสภาผ่านไปยังคณะกรรมการ กำกับกิจการพลังงานและสำนักงานคณะกรรมการกิจการพลังงานในปัญหาค่าไฟแพง ในประเด็นดังต่อไปนี้

นางรำพูล ตันติวณิชชานนท์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ ในรอบ ๑๐ ปีที่ผ่านมามีปริมาณการใช้ไฟฟ้ามากแค่ไหน และมีกำลังไฟฟ้าเท่าใด เกินความต้องการของประชาชนหรือไม่ อย่างไร ในแต่ละปีโรงไฟฟ้า แต่ละโรงผลิตไฟฟ้าได้จำนวนเท่าใด และมีโรงไฟฟ้าที่ไม่ต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า แต่ได้รับ ค่าตอบแทนตามสัญญาหรือไม่ ถ้าหากมี มีจำนวนกี่โรง แต่ละโรงได้รับค่าตอบแทน เป็นจำนวนเท่าใดต่อปี รวมเป็นเงินที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนตามสัญญาทั้งหมดเท่าใด เพราะเหตุดังกล่าวหรือไม่ที่ทำให้เกิดปัญหาค่าไฟแพงขึ้น

นางรำพูล ตันติวณิชชานนท์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ปริมาณไฟฟ้าที่จะซื้อมีปริมาณไฟฟ้าที่ส่งมอบให้การไฟฟ้า ฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในแต่ละสัญญาจ้าง เงินค่าจ้างและการชำระเงินค่าจ้าง หรือแผน การใช้ไฟฟ้า หรือการสำรองการใช้ไฟฟ้า การจัดซื้อไฟฟ้าในอนาคตมีจำนวนเท่าใด

นางรำพูล ตันติวณิชชานนท์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ มีวิธีและหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนให้แก่เอกชน หรือที่ผลิต ไฟฟ้าอย่างไร ใช้เงินจากงบส่วนใด ขอให้ กฟภ. ชี้แจงข้อมูลอย่างน้อยย้อนหลังไป ๑๐ ปี เพื่อจะได้มาเปรียบเทียบว่าเป็นอย่างไร ในประเด็นคำถามเหล่านี้ดิฉันเชื่อว่าเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้คนไทยต้องเสียค่าไฟฟ้าแพง ดิฉันก็ขอฝากเรียนถามท่านประธานผ่านไปยังผู้รับผิดชอบ ที่มาตอบคำถามในวันนี้ ก็ขอฝากท่านประธาน เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูล เพื่อความเป็นธรรมเท่าเทียมกันในการเสียค่าไฟ ขอกราบขอบพระคุณท่านประธานค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปเชิญท่านพูนศักดิ์ จันทร์จำปี ครับ

นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สวัสดีครับ เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎร ผม พูนศักดิ์ จันทร์จำปี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณท่านเลขาธิการและผู้แทนสำนักงานกำกับกิจการ พลังงานที่ได้เข้าร่วมมารายงานผลการดำเนินงานประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ด้วยตัวท่านเอง ผมขอชื่นชมการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนของตัวพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเห็นได้ชัดในตัวรายงาน ที่ท่านนำเสนอขึ้นถึง ๑๑ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผมคิดว่าเป็นอัตราที่น่าพึงพอใจเมื่อเทียบกับ ประเทศต่าง ๆ ถ้าการเพิ่มขึ้นในอัตรานี้โดยเฉลี่ยคร่าว ๆ ประมาณ ๑ เปอร์เซ็นต์ทุก ๆ ปี เราคงจะสามารถที่จะบรรลุเป้าหมาย ๒๐ เปอร์เซ็นต์ของตัวสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียน ได้ประมาณปี ๒๕๓๗ ซึ่งเป็นปลายปีของแผนพลังงาน AEDP แผนของพลังงานทดแทน แต่เราก็ต้องยอมรับว่าวิธีการที่ทาง กกพ. ผมใช้ชื่อย่อว่า กกพ. แทนสำนักงานกำกับกิจการ พลังงานก็แล้วกันนะครับ ทาง กกพ. ได้มีการนำหลักเกณฑ์หรือวิธีการในการคัดเลือก หรือวิธีการในการดำเนินการสำหรับการจัดการตัวขยะซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในพลังงานหมุนเวียน ด้วยวิธีการเผา เพื่อนำมาผลิตเป็นพลังงาน ซึ่งเทคโนโลยีนี้ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเทคโนโลยี ที่ดีที่สุด ในการกำจัดขยะซึ่งเรียกว่าเป็น Base Available Technology อยู่ ณ ตอนนี้ ซึ่งผมคิดว่าวิธีการนี้ค่อนข้างจะเหมาะสมกับการแก้ปัญหาของขยะล้นเมืองในประเทศไทย ที่มีขยะเทกองกว่า ๒,๐๐๐ กว่าแห่งซึ่งกระจายกันทั่วประเทศ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อมมากมาย การเผาขยะเพื่อผลิตพลังงานจึงเป็นการจัดการขยะที่เหมาะสมที่สุด แต่อย่างไรก็ตามวิธีการดังกล่าว ผมมีข้อสังเกตไว้อยู่ประมาณ ๔ ประการ ดังต่อไปนี้

นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ในข้อแรก การคัดเลือกโครงการต่าง ๆ หรือการให้ใบอนุญาตโครงการจัดการ ตัวพลังงานหมุนเวียนหรือว่าการจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นพลังงานก็ตาม เราใช้หลักเกณฑ์ ของ COP ซึ่งเราเรียกว่าเป็น Code Of Practice ในขณะเดียวกัน Code Of Practice มีความเข้มข้นของการประเมิน โดยการจัดการของสำนักงานของท่านเอง ความเข้มข้น เมื่อเทียบกับ EIA ผมต้องบอกว่าทาง EIA มีความเข้มข้นที่สูงกว่า แต่มลพิษที่เกิดขึ้นจาก เตาเผาขยะ หรือโรงไฟฟ้าขยะที่ท่านพูดมันมีมลพิษไม่ได้ต่างกันเลยกับโรงไฟฟ้าจากชนิดอื่น ดังนั้นผมจึงมีความเห็นว่าอยากจะให้ทาง กกพ. พิจารณาเรื่องของการจัดการประเมิน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มีความเข้มข้นเทียบเท่ากับตัว EIA หรืออย่างน้อยก็ต้องโยกกลับไปให้ ทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. พิจารณา สำหรับตัวโครงการเตาเผาขยะนะครับ ที่ผมพูดเช่นนี้เพราะมีตัวอย่างมาแล้ว ถ้าหากท่าน ลองไป Check ดูมีโรงงานเตาเผาขยะที่มีกำลังการผลิตประมาณ ๙ เมกะวัตต์ ๓ โรงงาน ตั้งเรียงต่อกันเลย แต่ทั้ง ๓ โรงงานที่ว่านี้ใช้ COP รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ดำเนินการเพื่อยื่นต่อ กกพ. เองเหมือนกันเลย เพียงแต่เปลี่ยนแค่ชื่อ นั่นก็หมายถึงว่า มลพิษที่เกิดขึ้นจากโรงงานทั้ง ๓ แหล่งไม่ได้นำมาประกอบกันในการพิจารณา ถ้าพูดง่าย ๆ ท่านมี ๙ เมกะวัตต์ ๓ โรง ๙ คูณ ๓ คือ ๒๗ เมกะวัตต์ แต่ในการพิจารณาผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อม ท่านกลับเอา ๙ บวก ๙ บวก ๙ แต่ก็คือเท่ากับ ๙ นั่นก็คือว่ามลพิษที่ออก ท่านประเมินทีละโรง ๆ ก็เท่ากับว่ามลพิษที่เกิดขึ้นเท่ากับโรงเดียว นี่คือประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ที่ผมอยากจะนำเรียนท่าน

นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ส่วนประเด็นถัดมา เรื่องของความเหมาะสมของ FiT ต่อด้านสิ่งแวดล้อม ผมอยากเสนอว่าตอนนี้ FiT ที่ให้ก็คือค่าเงินเพิ่มพิเศษ Feed-in Tariff ท่านควรพิจารณา ที่จะเพิ่มให้กับโครงการที่ปล่อยมลพิษน้อยกว่า ยกตัวอย่างเช่น ตัว Carbon Emissions ถ้าท่านให้โรงงานที่มีผลิตคาร์บอนน้อยกว่าท่านเพิ่มให้ตัว FiT สูงกว่าก็จะเป็นการเพิ่ม แรงจูงใจให้โครงการต่าง ๆ เร่งรัดในการที่จะลดการผลิตตัวคาร์บอนในการปลดปล่อย ออกไป ซึ่งคล้าย ๆ กับการพิจารณาโดยอาศัยตัวภาพรวม ซึ่งเรียกว่าเป็น Life Cycle Assessment คือการประเมินภาพรวมทั้งหมด ใครผลิตน้อยก็ได้ประโยชน์มาก

นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ถัดมาประเด็นเรื่องของสัญญาโรงไฟฟ้าจากขยะ ซึ่งมีเวลาถึง ๒๐ ปี การตัดสินใจหากดำเนินการโดยไม่รอบคอบจะเป็นภาระต่อคนรุ่นถัดไปอย่างแน่นอน อย่างเช่น เขาอาจจะเผชิญภาระอย่างที่เจอตอนนี้ก็คือค่าไฟสูงขึ้นอย่างที่ไม่ควรจะเป็น ถ้าหากท่านสร้างโรงไฟฟ้าขยะมากเกินไปโดยไม่มีการพิจารณาเครื่องการคุมกำเนิดจะมีผล ต่อปริมาณขยะ ถ้าหากท่านดำเนินการด้วยการลดขยะ ด้วยการนำไป Recycle ซึ่งจะทำให้ ขยะลดลง ๒๐-๓๐ เปอร์เซ็นต์ ท่านก็จะเกิดปัญหาว่าโรงไฟฟ้าจากขยะจะเอาขยะที่ไหนมาเผา สุดท้ายท่านก็ต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน

นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สุดท้ายประเด็นเรื่องของการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือการ Monitor โครงการต่าง ๆ อย่างเช่น โรงไฟฟ้าที่หาดใหญ่ ซึ่งได้มีการปิดตัวลงไป เนื่องมาจากว่าค่า Emission ไม่ผ่านเกณฑ์ ผมอยากฝากให้ทาง กกพ. ช่วยดูแลตรงนี้ให้ด้วย เพราะว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่เป็นค่าเงินเพิ่มพิเศษนั้นก็คือเป็นเงินของพวกเรา เงินของ ประชาชนทั้งนั้น เงินทั้งหมดที่จ่ายให้ไปก็ไม่ควรที่จะส่งให้เกิดผลกระทบหรือมลพิษย้อนกลับ มาถึงเราในฐานะประชาชน ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างให้โครงการต่าง ๆ ผลิตไฟฟ้าให้ได้ดี มีผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อมน้อย

นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

โดยสรุปผมอยากขอให้สำนักงานมีกลไกในการควบคุม กำกับดูแล ด้านสิ่งแวดล้อม มีอัตราเงินเพิ่ม หรือ FiT ที่โปร่งใส สามารถชี้แจงหรือเปิดเผยได้ แล้วก็ สุดท้ายอยากให้ท่านประเมินเรื่องของเตาเผาที่ท่านจะอนุญาตจะต้องไม่มากเกินความจำเป็น ขอบคุณครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญท่านสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ครับ

นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ชัยภูมิ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ พรรคภูมิใจไทย กระผมต้องขอขอบคุณในการจัดสรรเวลาให้กระผมได้มีส่วนในการอภิปรายในรายงาน ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานในวันนี้ครับ ท่านประธานครับ กระผมจะขออภิปรายในประเด็นเรื่องของอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ กำกับกิจการพลังงาน ซึ่งตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้บัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการไว้ในมาตรา ๑๑ จำนวน ๑๘ เรื่อง ซึ่งใน (๖) ได้กำหนดให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานมีหน้าที่ในการตรวจสอบ การประกอบกิจการพลังงานของผู้รับใบอนุญาตให้เป็นไปด้วยความมีคุณภาพและโปร่งใส ท่านประธานครับ ในช่วงเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านมาได้มีการผลิตพลังงานทดแทนที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในประเทศของเรานะครับ ก็คือการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลม ซึ่งเท่าที่ทราบข้อมูล ก็มีขั้นตอน กระบวนการต่าง ๆ ไม่ซับซ้อนอะไร มีขั้นตอนจากการที่ผู้ประกอบการเอกชน ต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการอนุญาตอยู่ ๓-๔ บริษัท ขั้นตอนที่ ๒ ก็ต้องมีการให้ผู้ประกอบการไปทำสัญญาซื้อขายกระแสไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กฟผ. ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ทราบว่ามีการทำสัญญากันในระยะยาว ๑๐ ปี ๒๐ ปี หรือมากกว่านั้น และขั้นตอนต่อมาผู้ประกอบการก็จะนำโครงการต่าง ๆ ไปยื่นกู้เงินกับสถาบันการเงินหรือธนาคาร โครงการหนึ่งมีต้นกังหันลมประมาณ ๓๐ ต้น กู้กันได้ถึง ๕,๐๐๐-๖,๐๐๐ ล้านบาท เฉลี่ยแล้วตกต้นละ ๒๐๐ ล้านบาท แต่ธนาคารก็ให้กู้แบบสบาย ๆ ก็เพราะว่าโครงการนี้ มีรายได้ที่มีความสม่ำเสมอ มีความมั่นคง เพราะว่าเป็นโครงการที่ทำสัญญากับรัฐบาล โดยตรง ท่านประธานครับ ในจังหวัดชัยภูมิมีต้นกังหันลมเยอะมาก ในพื้นที่อำเภอเทพสถิต อำเภอบำเหน็จณรงค์ อำเภอซับใหญ่ มีการก่อสร้างไปแล้วมากกว่า ๑๐๐ ต้น และกำลังจะ ก่อสร้างอีกหลายสิบต้น ซึ่งก่อนการทำการก่อสร้างจะมีขั้นตอนหนึ่งที่เป็นขั้นตอนสำคัญ ในด้านสิ่งแวดล้อมจะต้องมีการทำประชาคมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เขายกมือให้อนุญาตก่อสร้างได้ครับ เพราะว่ากังหันลมจะมีมลพิษทางเสียง แต่ท่านประธานครับในการทำประชาคมทุกครั้งที่ผ่านมา ก็จะได้รับความราบรื่นเรียบร้อยครับ ประชาชนก็จะยกมือให้ก่อสร้างทุกครั้งนะครับ เพราะอะไรรู้ไหมครับ ก็เพราะว่าทุกครั้งที่ทำประชาคมจะมีเจ้าหน้าที่จากบริษัทเอกชน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไปแจ้งต่อที่ประชุมประชาคมว่าหากมีการก่อสร้างกังหันลมแล้วท้องถิ่น ของพวกเขา อบต. ของพวกเขา เทศบาลของพวกเขาจะสามารถจัดเก็บภาษีได้ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ต่อต้น ต่อปี เขาก็เลยยกมือให้ ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติโรงเรือนและที่ดิน แต่ท่านประธานครับ วันนี้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๓ พระราชบัญญัติโรงเรือนและที่ดิน ได้ถูกยกเลิกจากการประกาศใช้บังคับใช้กฎหมายฉบับใหม่ ก็คือพระราชบัญญัติที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง พุทธศักราช ๒๕๖๒ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีช่องว่างทางกฎหมาย ช่องว่าง ก็คือว่ากฎหมายฉบับนี้ได้มีคู่มือการจัดเก็บภาษีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งออกโดย กำหนดโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นไประบุว่ากังหันลมเป็นสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในข่าย ไม่ต้องชำระภาษี ทำให้วันนี้เทศบาล อบต. เขาไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้อีกต่อไปนะครับ ผมนำเรียนว่าในท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่นเขามีรายได้น้อยอยู่แล้ว เขามีความหวังว่าจะได้รับภาษี จากการก่อสร้างกังหันลม แต่วันนี้จัดเก็บไม่ได้แล้วครับ และนำเรียนต่อท่านประธานครับว่า ในขณะนี้มีใบอนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้างกังหันลมในจังหวัดชัยภูมิ ในจังหวัดนครราชสีมา และพื้นที่ใกล้เคียงอีกหลายจังหวัด ซึ่งก็มีการอนุญาตกันในช่วงปลายปีที่ผ่านมา และคนที่ ได้รับใบอนุญาตก็รายเดิม ๆ ครับ ไม่มีรายใหม่ ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้ไม่มีการทำประชาคม เพิ่มเติมแต่อย่างใด ไปใช้มติในประชาคมในการดำเนินการที่เกิดขึ้นก่อนกฎหมายฉบับนี้ จะบังคับใช้ ผมย้ำนะครับว่าที่ประชาชนที่ชาวบ้านเขายกมือให้สร้างกังหันลม เพราะว่า เขารับทราบข้อมูลว่าเมื่อสร้างแล้วเขาจะได้รับภาษีเข้าสู่ท้องถิ่นของเขาประมาณต้นละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท แต่วันนี้เขาเก็บไม่ได้ครับ ในประเด็นนี้ผมขอสอบถามทางท่านคณะกรรมการ กำกับกิจการพลังงานผ่านท่านประธานด้วยความเคารพนะครับ ว่าทางคณะกรรมการ ได้ทราบเรื่องนี้หรือไม่ และเรื่องนี้มติของประชาคมที่ได้ดำเนินการไปซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง ในการก่อสร้างกังหันลมเป็นมติที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และผมขอนำเรียนเป็นข้อมูล เพิ่มเติมนะครับว่าวันนี้ได้มีนายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลได้มาปรึกษา กับผม ได้มาหารือกับผม ได้เตรียมการที่จะนำเรื่องนี้ส่งให้ศาลปกครองได้พิจารณาวินิจฉัย ในประเด็นที่ผมได้นำเรียนไปว่ามติของประชาคมที่พี่น้องประชาชนเขาอนุญาต เขายกมือให้ ก่อสร้างกังหันลมนั้นมันชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ เชิญท่าน กฤช ศิลปชัย ครับ

นายกฤช ศิลปชัย ระยอง ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพครับ กระผม กฤช ศิลปชัย สมาชิกผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง พรรคก้าวไกลครับ วันนี้ผมจะขออภิปราย ในประเด็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ กองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา ๙๗ (๓) เนื่องจากจังหวัดระยองมีโรงไฟฟ้ากว่า ๔๕ โรง ซึ่งส่งผลให้เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของโรงไฟฟ้าอย่างหนักครับ ท่านประธานครับ กองทุนไฟฟ้าตามมาตรา ๙๗ (๓) คือกองทุนเพื่อพัฒนาชุมชน ในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ถ้าเราจำกันได้ว่าในอดีตเวลามี การก่อสร้างโรงไฟฟ้าหรือจะมีการเข้ามาดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้ามักจะมีพี่น้องประชาชน ออกมาคัดค้านต่อต้านกันอยู่เป็นจำนวนมากอยู่เสมอ ๆ ครับ ด้วยเหตุกังวลว่าจะมีผลกระทบ กับสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในชุมชน กระทบต่อคุณภาพชีวิตอันเกิดมาจากการดำเนินกิจการของ โรงไฟฟ้าครับ จากความขัดแย้งดังกล่าวจึงได้มีการจัดตั้งกองทุนไฟฟ้าขึ้นที่เรียกว่ากองทุน ไฟฟ้าตามมาตรา ๙๗ (๓) เพื่อที่จะได้มีงบประมาณมาแก้ไขปัญหาด้วยความรวดเร็ว ไม่ล่าช้า สามารถพัฒนาชุมชนหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าได้ครับ แต่หลังจากการดำเนินการดังกล่าวไปสักระยะหนึ่ง กองทุนพัฒนาไฟฟ้าเริ่มเป็นที่หมายปอง จากหลายฝ่ายมากขึ้น เนื่องจากมีงบประมาณโดยเฉพาะกองทุนประเภท ก ที่มีงบประมาณ ตั้งแต่ ๕๐ ล้านบาท จนถึงหลายร้อยล้านบาทต่อปีครับ มีการออกระเบียบ และประกาศของ กกพ. มากมายเกี่ยวกับการดำเนินงานของกองทุนไฟฟ้า หลายข้อเป็นเรื่องที่ดีครับ เช่น การกำหนดแผนงานในด้านต่าง ๆ เพื่อให้การใช้งบประมาณเป็นรูปธรรมมากขึ้น เห็นผลงาน จับต้องได้มากขึ้น แต่ท่านประธานครับ ระเบียบบางข้อที่ออกมาเรื่อย ๆ บางครั้ง ก็เป็นปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานของกองทุนไฟฟ้าหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งวันนี้ก็จะขออภิปราย เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วก็อาจจะมีข้อเสนอแนะที่พี่น้องประชาชนหรือพี่น้องข้าราชการ ฝากมายังผู้ชี้แจงเพื่อนำไปพิจารณาปรับแก้ระเบียบ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้การดำเนินงานของ กองทุนไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นไปตามเจตนารมณ์มากขึ้นครับ

นายกฤช ศิลปชัย ระยอง ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ก่อนที่จะลงในรายละเอียดในประเด็นต่าง ๆ ผมต้องขอ บอกว่าจากเอกสารในรายงานในเล่มนี้ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกองทุนพัฒนาไฟฟ้าค่อนข้าง ขาดรายละเอียดที่จำเป็นในหลายประเด็นครับ ในรายงานฉบับนี้มีเพียงที่มาของงบประมาณ แล้วก็ภาพรวมว่าใช้งบประมาณไปกับด้านใดบ้าง แต่ไม่มีรายละเอียดให้พวกเราได้รับทราบ เลยว่างบประมาณที่จัดสรรไปตามแผนงานต่าง ๆ มีรายละเอียดอะไรบ้าง เกิดประโยชน์ มากน้อยเพียงใด บรรลุเป้าประสงค์ หรือมีตัวชี้วัดอะไรหรือไม่ และดำเนินการได้สอดคล้อง กับตัวชี้วัดหรือไม่ครับ

นายกฤช ศิลปชัย ระยอง ต้นฉบับ

ท่านประธานครับกลับเข้ามาในประเด็นที่ ๑ เกี่ยวกับเรื่องการกระจายอำนาจ ที่ท่านบอกว่าได้มีการกระจายอำนาจพิจารณาการอนุมัติแผนงานโครงการให้คณะกรรมการ กองทุนรอบโรงไฟฟ้าได้เป็นผู้อนุมัติและส่งให้กับ กกพ. เป็นผู้รับทราบผลการพิจารณา ในเอกสารรายงานฉบับนี้ก็มีเรื่องของการกระจายอำนาจที่เขียนไว้อยู่ครับ แต่ในความเป็นจริง ท่านประธานครับ เมื่อคณะกรรมการได้พิจารณาอนุมัติไปแล้วได้จัดส่งแผนงานโครงการ ให้ กกพ. รับทราบ แต่ก็ปรากฏเหตุการณ์ว่ามีการไม่รับทราบแผนงานหรือโครงการ บางโครงการเกิดขึ้น แล้วก็ได้มีการตัดงบประมาณดังกล่าวออก จึงอยากจะถามว่า เมื่อระเบียบให้คณะกรรมการระดับพื้นที่เป็นผู้อนุมัติ กกพ. มีหน้าที่รับทราบ แต่เหตุใด ถึงมีการไม่รับทราบแผนงานหรือโครงการนั้นด้วยครับ นั่นหมายความว่าการที่ท่านให้อำนาจ คณะกรรมการในการอนุมัตินั้นเป็นการกระจายอำนาจจริงหรือไม่ หรือว่าสุดท้ายการอนุมัติ ก็ยังอยู่ในมือของพวกท่านอยู่ดีครับ

นายกฤช ศิลปชัย ระยอง ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ การคัดเลือกหรือการสรรหาคณะกรรมการผู้แทนภาคประชาชน เนื่องจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า โดยเฉพาะกองทุนประเภท ก ที่มีงบประมาณมาก พอ ๆ หรือเทียบเท่ากับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ แต่ในทางปฏิบัติการเลือกคณะกรรมการ ต่าง ๆ บางครั้งกลับมุบมิบกันเลือกคณะกรรมการ ขาดการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้บุคคลทั่วไป ในพื้นที่ได้รับทราบเท่าที่ควร และส่วนใหญ่ก็เป็นการจัดตั้งคน มีการแจกจ่ายเงิน สิ่งของ เพื่อเป็นสิ่งจูงใจให้เขาเลือกคนคนนั้นมาเป็นตัวแทนภาคประชาชนครับ

นายกฤช ศิลปชัย ระยอง ต้นฉบับ

ต่อไปครับ คุณสมบัติของคณะกรรมการต่าง ๆ ตามระเบียบฉบับนี้ครับ ระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยกองทุนพัฒนาไฟฟ้า หรือฟื้นฟูท้องถิ่น ที่ได้รับผลกระทบ ปี ๒๕๖๓ ก็ได้ไปกำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการใน ข้อ ๑๕ (๒) ก็ดันไปกำหนดเกณฑ์อายุ อายุขั้นต่ำ ๒๐ ปี อันนี้เข้าใจได้ แต่ไปกำหนดเกณฑ์อายุไม่เกิน ๗๐ ปี ผมคิดว่าบางครั้งคนที่จะมาเสนอตัวเป็นผู้แทนก็ไม่ควรไปจำกัดสิทธิ ถ้าเราลองไปดูว่า การรับสมัครเลือกตั้ง ตั้งแต่ระดับ อบต. จนถึง สส. ก็ไม่ได้มีการกำหนดจำกัดอายุขั้นสูงไว้ ดังนั้นขอเสนอให้การเลือกตั้งหรือการสรรหาคณะกรรมการควรมีการประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างทั่วถึง เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ให้มากขึ้น โดยขอให้อาจจะนำหลักเกณฑ์เดียวกันกับการเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาใช้ กับการเลือกคณะกรรมการ โดยเฉพาะกรรมการผู้แทนภาคประชาชน

นายกฤช ศิลปชัย ระยอง ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ ประเด็นเรื่องหน่วยรับงบประมาณหรือหน่วยดำเนินงาน ตามระเบียบของ กกพ. ก็ได้กำหนดวิธีการดำเนินการโครงการให้มีหน่วยดำเนินงาน หรือหน่วยรับงบประมาณ ได้แก่ นิติบุคคล หน่วยงานของรัฐ หรือนิติบุคคลในชุมชน หรือมูลนิธิ แต่ในทางปฏิบัติโครงการส่วนใหญ่ต้องให้หน่วยงานราชการ ส่วนราชการ เป็นผู้ดำเนินงานให้ ท่านทราบหรือไม่ครับว่าแต่ละหน่วยงานราชการก็มีภารกิจของตัวเอง มากอยู่แล้ว ยังต้องมาเป็นหน่วยดำเนินงานให้กองทุนไฟฟ้า ซึ่งบางครั้งทำให้เกิดความล่าช้า โครงการขาดประสิทธิภาพ จึงขอเสนอให้มีการแก้ไขระเบียบตัวนี้ ขอให้สำนักงานกองทุน ในแต่ละพื้นที่อาจจะเพิ่มระเบียบหรือว่ามีข้อกำหนดให้สามารถดำเนินการด้วยตัวเอง โดยใช้กระบวนการการตรวจสอบเช่นเดียวกับโครงการของภาครัฐ

นายกฤช ศิลปชัย ระยอง ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๔ หน่วยงานราชการบางหน่วยงานราชการมีการนำเงินงบประมาณ ของกองทุนไปใช้เพื่อประโยชน์ของราชการตนเอง ทั้ง ๆ ที่กองทุนมีเจตนารมณ์ที่จะให้ งบประมาณตกถึงประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบ แต่ก็มีการนำงบไปใช้ ในการซื้อเครื่องปรับอากาศบ้าง ซื้อรถยนต์ ซื้อคอมพิวเตอร์บ้าง ซึ่งอาจจะไม่ตรงต่อ เจตนารมณ์เสียทีเดียว จึงอาจจะต้องเสนอให้มีการกำหนดกรอบว่าถ้าหน่วยงานราชการ จะเอางบประมาณไปใช้ทำอะไรได้บ้าง

นายกฤช ศิลปชัย ระยอง ต้นฉบับ

สุดท้ายครับท่านประธาน เรื่องความโปร่งใสของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า วันนี้ ถ้าเข้าไปดูใน Website ของกองทุนไฟฟ้าแต่ละกอง เราจะเข้าไปดูหน้าแผนงานโครงการ ไม่สามารถดูได้เลยนะครับ กด Link เข้าไปก็ไม่มีข้อมูลอะไรปรากฏขึ้น ดังนั้นไม่แปลกใจ เลยว่าประชาชนในพื้นที่รู้จักกองทุนไฟฟ้าในมุมแง่ลบมากกว่ามุมภาพบวก ดังนั้นท่านควร เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว โดยเฉพาะแผนงานโครงการให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบ

นายกฤช ศิลปชัย ระยอง ต้นฉบับ

อีกเรื่องคือเรื่องของการแบ่งซื้อแบ่งจ้าง มีหลายโครงการที่เป็นโครงการ จัดซื้อจัดจ้างประเภทเดียวกัน แล้วก็ไปแบ่งซื้อแบ่งจ้างซอยให้ไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท แล้วก็ ไปใช้วิธีการแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งอาจจะส่อถึงการทุจริตได้ครับ

นายกฤช ศิลปชัย ระยอง ต้นฉบับ

สุดท้าย หวังว่าท่านจะนำข้อมูลที่ผมอภิปรายซึ่งเป็นข้อมูลที่ผมรับฟังมาจาก ประชาชนแล้วก็ข้าราชการที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาในการแก้ไขระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้ การดำเนินงานของกองทุนไฟฟ้าตามมาตรา ๙๗ (๓) มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และสามารถ ตรวจสอบได้ครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญท่านพลากร พิมพะนิตย์ ครับ

นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ เขต ๒ อำเภอยางตลาด อำเภอฆ้องชัย พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ กระผมเห็นรายงานของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานปี ๒๕๖๔ กระผมสนใจอยู่เรื่องหนึ่งที่กำลังเป็นประเด็น อยู่ในหลายพื้นที่ รวมถึงจังหวัดกาฬสินธุ์บ้านผมด้วยครับ จากหน้า ๔๐ ของรายงาน วัตถุประสงค์ข้อ ๖ ว่าด้วยการปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้พลังงาน ชุมชนท้องถิ่น ประชาชน และผู้รับใบอนุญาตในการมีส่วนร่วม เข้าถึง ใช้ และจัดการด้านพลังงาน ภายใต้หลักเกณฑ์ ที่ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ข้อ ๖.๑ ปรับปรุงกระบวนการส่งเสริมการมีส่วนร่วม ในการกำกับกิจการพลังงาน โดย กกพ. ออกระเบียบว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็น ทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการ ผลิตไฟฟ้า ให้ผู้ใช้พลังงาน ชุมชนท้องถิ่น ประชาชน และผู้รับใบอนุญาตมีส่วนร่วม ในกระบวนการกิจการพลังงาน ท่านประธานครับ การดำเนินงานนโยบายของรัฐเพื่อแก้ไข ปัญหาขยะมูลฝอยของชุมชนซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ ที่มีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องกับพลังงาน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีขยะมูลฝอยสะสมเป็นจำนวนมาก หรือมีข้อจำกัดในพื้นที่ฝังกลบ ตามแผนแม่บทบริหารจัดการขยะมูลฝอย รวมถึงแผนปฏิบัติงานด้านการจัดการขยะ ของประเทศ ปี ๒๕๕๖-๒๕๗๐ โดยวิธีหนึ่งคือการเผาเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า กระผม เห็นด้วยกับการดำเนินงานเพื่อจะลดปัญหาของขยะ ปัจจุบันนโยบายเรื่องการรับซื้อไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะจากพลังงานเชื้อเพลิงขยะชุมชน จากแผนพัฒนา ฉบับล่าสุด โควตาสำหรับโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ซึ่งดำเนินการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อการกำจัดขยะอย่างยั่งยืน ตัวเลขโควตาอยู่ที่ประมาณ ๔๐๐ เมกะวัตต์ ปริมาณรับซื้อ ไฟฟ้าดังกล่าวเพียงพอต่อการสนับสนุนการกำจัดขยะทั่วประเทศหรือไม่ครับ กกพ. ควรร่วมมือและสนับสนุนกับกระทรวงมหาดไทยในการแก้ปัญหาเรื่องขยะ เพราะท้องถิ่นหลาย ๆ แห่ง ยังประสบปัญหาขยะสะสมและไม่ถูกสุขลักษณะ เกิดปัญหา มากมายทั้งชุมชนรอบข้างระบบนิเวศ ขยะเกิดขึ้นทุกวัน ปฏิเสธไม่ได้ครับว่าพวกเราทุกคน สร้างขยะขึ้นมา ขยะกองเป็นภูเขา ทำลายสิ่งแวดล้อม เกิดน้ำเสีย อากาศเป็นพิษ เชื่อว่า บ่อขยะหลาย ๆ ที่ขยะก็ยังกองเป็นภูเขาและจะเป็นต่อไปหากไม่ทำอะไรเลย อยากจะขอให้ กกพ. ออกนโยบายสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเรื่องชุมชนขยะ ในหลาย ๆ พื้นที่ที่มีแอบเผา ลักลอบเผาขยะ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซ เรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งประเทศไทยเราเองเป็นประเทศที่ประกาศลดคาร์บอน ลดโลกร้อน จะเป็นรูปธรรมไม่ได้เลยหากกองขยะปัจจุบันยังคงเป็นปัญหาเช่นปัจจุบันนี้ครับ ในช่วงของการมองการกำจัดขยะเป็นหลัก ส่วนการพัฒนาพลังงานคือผลพลอยได้ครับ ท่านประธาน ซึ่งมาตรฐานการควบคุมมลพิษ การมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมทั้งมีมาตรการ ด้านสิ่งแวดล้อม COP EIA หรือ EHA ต่าง ๆ ส่วนปัญหาภาพรวมจากที่เห็นทางหน้าข่าว ปัญหาหลัก ๆ คือด้านมวลชนคัดค้าน แต่บางพื้นที่ก็สนับสนุนให้มีการกำจัดขยะอย่างยั่งยืน จริง ๆ หากต้องการอธิบายหรือทำความเข้าใจกันทุกฝ่าย ผมเชื่อว่าโรงไฟฟ้าขยะสามารถ เกิดขึ้นได้ พี่น้องประชาชนสามารถยอมรับได้ แต่ปัจจุบันพี่น้องประชาชนมองภาพโรงไฟฟ้าขยะ เป็นโรงไฟฟ้าปีศาจ มีสาร Dioxin สารก่อมะเร็ง แต่กลับยอมให้มีขยะกองเป็นภูเขา แต่ปัจจุบันครับท่านประธาน เทคโนโลยีสมัยใหม่ดีกว่าเดิมเยอะ มีการออกมาตรการ มาควบคุมตามหลักสากลสามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้ในฐานะที่ กกพ. เป็นแม่งาน ผมอยาก เสนอให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับท้องถิ่น จังหวัด กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงจัดทำแผน ประชาสัมพันธ์ให้กับมวลชน ทำความเข้าใจให้ความรู้เกี่ยวกับการกำจัดขยะเพื่อแก้ไขปัญหา ขยะอย่างยั่งยืน และที่สำคัญคือการดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ให้ชาวบ้านหรือผู้มีส่วนได้เสีย มีส่วนร่วมอย่างจริงใจ จริงจัง เอกสารถูกต้องตามหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือวิธีการแก้ปัญหาและทำความเข้าใจกับมวลชนเรื่องการกำจัดขยะครับ ผมยังเชื่ออีกว่า พี่น้องประชาชนจะได้รับกระบวนการการทำงานที่โปร่งใส ไม่มีนายทุนหนุนหลัง และไม่มี อำนาจรัฐเป็นใบเบิกทาง ท่านประธานครับ ต้องย้อนกลับไปถึงคำสั่ง คสช. ที่ ๔/๒๕๕๙ และ ๙/๒๕๕๙ ครับ ในกรณีนี้มีการยกเว้นผังเมืองให้กับโรงไฟฟ้าขยะเป็นเหมือนประตูวิเศษ ให้กับกลุ่มทุนหลาย ๆ กลุ่มทุน สร้างโรงงานขยะก่อนประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังมีข้อยกเว้นเรื่อง EIA ในกรณีที่โรงไฟฟ้าขยะไม่เกิน ๑๐ เมกะวัตต์ สุดท้ายครับ ท่านประธาน ประชาชนปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีการกำจัดขยะเพื่อนำมาผลิตกระแสไฟฟ้า แต่สิ่งที่ประชาชนเป็นกังวลคือเรื่องของความถูกต้อง สุขภาพอนามัย ขนาดโรงไฟฟ้าที่มี ขนาดใหญ่เกินไป การนำขยะรวมศูนย์ ปัญหามลพิษจากสิ่งแวดล้อม กระผมจึงฝากเรียน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกให้ผลกระทบกับประชาชนไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องให้ประชาชนมาเดินขบวนต่อต้าน ทั้งที่รู้ตระหนักว่าปัญหาขยะคือปัญหาระดับชาติ และเป็นปัญหาเรื่องความมั่นคงของพลังงานก็สำคัญ ก็ต้องฝาก กกพ. เพื่อพิจารณาด้วยครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ครับ

นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

ขอบคุณครับท่านประธาน เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกลครับ ท่านประธานครับ เข้าใจว่า ปตท. นี่อยู่ในกำกับดูแล ของ กกพ. ด้วย วันนี้ผมมีเรื่องปัญหาความเดือดร้อนของคนในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา แล้วก็ สมุทรปราการเกี่ยวกับโครงการของ ปตท. มาปรึกษา แล้วก็อยากจะขอความเห็นจาก กกพ. โครงการที่ว่าคือโครงการวางท่อก๊าซเริ่มจากโรงไฟฟ้าบางปะกงไปยังโรงไฟฟ้านครหลวงใต้ ขอ Slide นะครับหน้าแรก

นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

มูลค่าโครงการ ๑๔,๐๐๐ ล้านบาท เป็นโครงการที่ทำโดย ปตท. ระยะทาง ๕๖ กิโลเมตร โครงการนี้เกิดขึ้นจากมติครม. ที่คุณประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับโรงไฟฟ้า นครหลวงใต้ โดยที่ ครม. คุณประยุทธ์ก็รับทราบมติจากคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ ที่คุณประยุทธ์นั่งเป็นประธานมาอีกต่อหนึ่ง โดยให้ ปตท. เป็นผู้รับเหมาหลักในการวางท่อ แล้วก็ให้ ปตท. เป็นคนทำประชาพิจารณ์ ทำ EIA ด้วย ซึ่งปัจจุบัน EIA ก็ผ่านความเห็นชอบ จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมที่คุณประยุทธ์เป็นประธานแล้วเรียบร้อย คำถามคืออย่างนี้ครับ ท่านประธานว่า ปตท. เป็นผู้รับเหมาของรัฐนี่ทำไมให้ผู้รับเหมาเป็นคนทำ EIA ครับ แล้วผลมันจะเป็นอย่างไร อันนี้ผมก็อยากจะขอความเห็น กกพ. ที่กำกับดูแลกิจการพลังงาน ให้ผู้รับเหมาที่ได้ประโยชน์จากโครงการไปรับฟังความเห็นผลมันจะออกมาเป็นอย่างไรครับ กระบวนการรับฟังความเห็นที่ ปตท. ทำครับ ส่วนใหญ่ก็ลงไปรับฟังกับข้าราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน แล้วก็ถ้าลงไปรับฟังกับประชาชนก็จะเป็น การให้ผู้ใหญ่บ้านเกณฑ์ประชาชนมาเซ็นชื่อ ถ่ายรูปแล้วก็รับเงิน ๓๐๐ บาท กลับบ้าน ทุกเวทีหัวละ ๓๐๐ บาท การประชาพิจารณ์ของ ปตท. ก็เหมือนกับหลอกลวงนั่นละ ให้ประชาชนรู้สึกว่าเขาเห็นความสำคัญของความเห็นเรา ท่านประธานครับ ทราบไหมครับว่า พอ ปตท. มาทำประชาพิจารณ์ เขาให้ประชาชนเลือกด้วยนะครับ มีแบบสอบถามมาให้ ประชาชนเลือกว่าเส้นทางที่จะวางท่ออยากได้เส้นทางไหน ทั้งหมด ๓ เส้นทาง เส้นทางที่ ๑ ท่านประธาน เขาให้เราเรียกว่าเส้นทางไหน สีม่วงคือเส้นทางที่ผ่านถนน Motorway เส้นทางที่ ๒ คือผ่านทางถนนบางนา-ตราด เป็นเส้นทางที่ขนานไปกับเสาไฟฟ้าแรงสูง แล้วก็ เส้นทางที่ ๓ สีเขียวก็คือเป็นเส้นทางที่สุขุมวิทสายเก่า คำถามคืออย่างนี้ครับท่านประธาน มันเหมือนกับว่าเราจะมีอำนาจในการแสดงความเห็น มีอำนาจในการเลือก แต่ไม่ใช่ครับ ท่านประธาน ถ้า ปตท. ลงไปถามชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่บริเวณเส้นทางที่ ๑ เส้นทางสีม่วง มากหน่อยผลมันก็ออกมาเป็นท่อมันต้องไปวางไม่เส้นทางที่ ๒ ก็เส้นทางที่ ๓ ถ้าลงไปฟัง เส้นทางที่ ๒ มากหน่อยผลมันก็จะออกมาเป็นไม่ ๑ ก็ ๓ ไม่ได้ต่างกัน นี่มันหลอกลวงชัด นี่มัน Lock Spec ชัด ๆ และสุดท้ายผลมันก็ออกมาเป็นเส้นทางที่ ๒ ครับ เส้นทาง ถนนบางนา-ตราด เลียบไปกับเสาไฟฟ้าแรงสูง ท่านประธานครับ ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ก็มีประชาชนตั้งคำถามเยอะแยะว่าทำไมมันมีเส้นทางที่ ๔ ไม่ได้ เส้นทางที่ ๔ เป็นเส้นทางที่ไม่กระทบกับใครเลย เส้นทางที่ ๒ ที่บอกนี่ผ่าน ๙๐ หมู่บ้าน ๒๙ ตำบล ๖ อำเภอ แล้วก็ ๒ จังหวัด ประชาชนหลายแสนคนที่จะต้องถูกเวนคืนที่ แล้วก็ต้องเสี่ยง อยู่กับระเบิดเวลาที่ไม่รู้จะระเบิดเมื่อไร เส้นทางที่ ๔ ลงน้ำ ปตท. ก็เคยวางท่อใต้น้ำอยู่แล้ว วางท่อใต้น้ำเป็นอาชีพอยู่แล้ว ทำไมครับ ทำไมไม่มีเส้นทางที่ ๔ ทำไมไม่ลงไปศึกษาเส้นทางนี้ ผมถามเจ้าหน้าที่ ปตท. ก็บอกว่าเอาเคยลงไปศึกษาแล้วครับ มันกระทบสิ่งแวดล้อมมาก คือมันห่วยกว่าเส้นทางอื่นแน่ ๆ มันกระทบสิ่งแวดล้อมหนักเลย ผมก็อยากรู้ว่ากุ้งหอยปูปลา มันสำคัญกว่าชีวิตคนหลายแสนคนอย่างไร ก็ตอบไม่ได้ ขอดูรายงานการวิจัยที่ลงไปทำ ก็ไม่เห็นมี ก็คือยังไม่ได้ทำวิจัยอะไรหรอก ก็คืออยากเอาผ่านเส้นทางที่ ๒ นั่นละ เพราะว่า มันกำไรเยอะที่สุดอย่างไร เลย Lock Spec มาแบบนี้ นี่ผมกล่าวหา ปตท. เลยนะครับว่า ท่าน Lock Spec และกำไรเยอะที่สุด ทำง่ายที่สุดแค่นั้นเองครับ ท่านประธานครับ คือถ้าไม่ Lock Spec นี่ผมอยากให้ท่านเถียงมาว่าทำไมถึงออกมาเป็น เส้นทางที่ ๒ อยากให้ท่านเถียงมา เอาสถิติมาให้ดูครับ เอาสถิติมาดูว่าท่านลงไปทำ แบบสอบถามเท่าไร ลงไปพื้นที่ตรงไหนบ้าง ลงไปทำอย่างไร เถียงมาทำไมต้องจ่ายละ ๓๐๐ บาท เพื่อให้เขามาถ่ายรูป แล้วก็ล่าลายเซ็นกลับบ้านไป เถียงมาว่าทำไมต้องให้ผู้เฒ่าผู้แก่ไปเที่ยว เป็นการจ้างไปเที่ยว ปตท. ลงไปทำ CSR พาคนคนเฒ่าคนแก่ในพื้นที่ไปเที่ยวต่างจังหวัด ทำ CSR เต็มเลยครับ อยู่ดี ๆ ก็กลายเป็นพระเวสสันดรขึ้นมากับคนในพื้นที่แถบนี้เหลือเกิน นี่ผู้รับเหมานะครับท่านประธาน แจกทุนการศึกษา ไปสร้างห้องน้ำให้ ไปซื้อตู้กดน้ำให้ ไปสนับสนุนโรงพัก ทำไมอยู่ดี ๆ ก็มาทำดีกับพวกเราที่อยู่พื้นที่บริเวณนี้เสียอย่างนั้น สรุปเป็นผู้รับเหมาจริงหรือเปล่าครับ แล้วถ้าท่านทำถูกต้องแล้วท่านจะมาสร้างภาพสวยหรู ทำไม ท่านประธานครับ ทำไมผมถึงต้องบอกว่านี่เป็นการทำ EIA หรือว่าการทำประชาพิจารณ์ ที่ไม่เห็นหัวประชาชน เพราะว่าอย่าลืมนะครับ พวกเรากำลังจะต้องนอนอยู่บนระเบิดเวลา ท่อก๊าซนี่ เหตุการณ์เมื่อ ๒ ปีที่แล้วที่จังหวัดสมุทรปราการนี่ละ ท่อก๊าซระเบิดมีคนตาย ๒ คน เป็นอย่างน้อย บาดเจ็บอีกเป็นร้อยคน ท่านทราบไหมว่าวันนี้ ปตท. ยังไม่รู้สาเหตุเลยว่า ทำไมระเบิด ผมถามไปล่าสุดยังสอบสวนอยู่เลยครับ แล้วมาบอกลงมาทำประชาพิจารณ์ มาบอกว่าเราเน้นเรื่องความปลอดภัย เราเพิ่มความหนาท่อเข้าไป เราขุดหลุมลึกลงไป เพื่อที่จะฝังท่อลอด เรามี Station ในการควบคุมแรงดันเพิ่มให้ถี่ขึ้นเพื่อรักษาความปลอดภัย แล้วรู้ได้อย่างไรว่ามันจะปลอดภัย ก็ที่ระเบิดยังไม่รู้เลยเพราะอะไร ถ้ามันไม่ได้ระเบิดจาก ความหนาของท่อ มันไม่ได้ระเบิดจากการฝังลงไปลึก นี่คือความจริงใจ นี่คือธรรมาภิบาล ของ ปตท. หรือครับ ท่านประธานครับ นักวิชาการหลายท่านเขาสันนิษฐานว่าเหตุท่อก๊าซ ระเบิดครั้งที่แล้วมันระเบิดจากการปริของท่อ แล้วพอมันพุ่งขึ้นมาจากดิน แล้วมันไปเจอกับ เสาแรงสูง นักวิชาการบอกว่าพอมันปริแล้วพอมันพุ่งขึ้นไปแล้วไปเจอกับเสาไฟแรงสูงเกิด ประกายไฟเลยระเบิด แต่เส้นทางที่ท่านเลือกอยู่ปัจจุบันนี้เส้นทางที่ท่านกำลังจะลงมาทำ มันขนานเสาไฟฟ้าแรงสูงตลอดสาย แล้วท่านจะให้เรานอนหลับอย่างสงบจิตสงบใจ ได้อย่างไร จะไม่ต้องพะวักพะวงว่ามันจะระเบิดเมื่อไรได้อย่างไร รัศมีการระเบิด ๑ กิโลเมตร ย้ำว่ารัศมี ๑ กิโลเมตรนะครับ แล้วทำกันแบบนี้ให้ผู้รับเหมามาทำ EIA ให้ผู้รับเหมามาทำ ประชาพิจารณ์ ผมว่านี่ไม่ใช่การฟังความเห็นของประชาชนที่ถูกต้องเลย แล้วนี่เป็นเรื่องที่ เร่งด่วนนะครับ เพราะว่าประชาชนยังไม่รู้อีโหน่อีเหน่เลยครับ ผลการทำ EIA เสร็จสิ้นแล้ว กำลังจะวางท่อแล้ว คนในพื้นที่ยังไม่มีใครรู้เรื่องเลย ทำกันแบบนี้ ยังผลิตไฟฟ้าไม่พอใช่ไหม จะต้องผลิตอีกเท่าไรถึงจะพอ ผมฝาก กกพ. เรื่องนี้ด้วยนะครับ แล้วก็อย่างไรเดี๋ยวผมจะขอ ความรู้ท่านส่วนตัวหลังจากที่ท่านลงจากเวที ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านวิรัช พิมพะนิตย์ ครับ

นายวิรัช พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ท่านสมาชิก กระผม วิรัช พิมพะนิตย์ สส. จากจังหวัดกาฬสินธุ์ เขต ๑ อำเภอเมือง ตำบลยอดแกง ตำบลหนองแวง พรรคเพื่อไทย ก็ต้องขอบคุณท่านเลขาธิการ ท่านรองเลขาธิการ และคณะกรรมการกกพ. ทุกท่านนะครับ ผมทราบว่าท่านก็คงลำบากใจในการกำหนดราคาต่าง ๆ แต่จริง ๆ แล้วค่า Ft ประกอบด้วยต้นทุนหลายอย่าง อย่างน้อย ๆ ที่ท่านเพื่อนสมาชิกพูดไป ๖ อย่าง ผมจะไม่พูดให้เสียเวลา แต่จริง ๆ ชาวบ้านไม่ได้รู้ด้วยเลยนะครับ ชาวบ้านถามผม บอกว่าทำไมไฟฟ้าแพง ผมบอกว่าค่า Ft แพง เขาบอกไม่รู้จัก Ft คืออะไรเขารู้จักแต่ Fc เพราะฉะนั้นวันนี้ท่านจะผลักทุกอย่างให้เป็นของประชาชน ผมว่าไม่ถูกครับ ค่าน้ำมัน ค่าผลิต ค่าสร้างโรงไฟฟ้า ค่าอะไรต่าง ๆ ชาวบ้านวันนี้จากเคยใช้ค่าไฟเดือนละ ๓๐๐ บาท ขึ้นเป็น ๘๐๐ บาท ท่านปรับค่า Ft ทุก ๔ เดือน เคยทะลุขึ้นถึง ๕ บาทกว่า ๕.๓๓ บาท ลงมา ๔.๗๒ บาท ผมเห็นท่านเลขาพูดกันก่อนว่าจะลดลงเหลือ ๓.๖๑ บาท ผมดีใจนะครับ เพราะว่าอย่างไรมันไม่ต่ำกว่า ๓ บาทอยู่แล้ว เอาเป็นตายตัวไม่ได้หรือครับ ไม่ต้อง Ft Fc หรอกครับ เอามันตายตัวไปเลย ๓ บาท ชาวบ้านจะได้เสียอย่างภาคภูมิใจ เดี๋ยวนี้ชาวบ้านผม ใช้ตะเกียงอยู่แล้วเพราะค่าไฟแพง โรงเรียนต่าง ๆ ตอนนี้แทบจะไม่ได้สอนหนังสือ เพราะว่าค่าไฟคิดจากหัว ๑,๐๐๐ บาทเศษ ๆ ของนักเรียน บางโรงเรียน มีนักเรียน ๒๐ คน ค่าไฟไม่พอครับ เพราะฉะนั้นวันนี้อย่าผลักภาระให้ประชาชน คนทำโรงไฟฟ้า แม้แต่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยขึ้นกระทรวงพลังงาน การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ขึ้นกระทรวงมหาดไทย ผมก็งงจริง ๆ จะไปขึ้นกระทรวงพลังงานก็ไปขึ้นกระทรวงพลังงาน จะได้คุยกันทีเดียว หรือกระทรวงมหาดไทยอยากจะเอาเก็บไว้ ผมก็บอกว่าวันนี้ผมอยากให้ การไฟฟ้าหรือ กกพ. ช่วยชาวบ้านหน่อยครับ แล้วอีกอย่างหนึ่ง ผมจะบอกให้ว่าวันนี้ ชาวบ้านไม่รู้ว่าค่าไฟมันแพงขึ้น ถูกตัดไฟ เฉลี่ยหมู่บ้านหนึ่ง ๓๐ หม้อ แล้วหม้อหนึ่ง จะต้องจ่ายอีก ๑๐๗ บาท ต้องถ่อสังขารชาวบ้านมาที่การไฟฟ้ามาเสียเงิน ๑๐๗ เขาถึงจะไป ต่อไฟฟ้าคืนให้ พี่น้องประชาชนบางคนคนแก่อยู่บ้าน เงินเดือนคนแก่ ๖๐๐ บาท ขับรถมาเสียต่อหม้อไฟ ๑๐๗ บาทอีก ค่ามอเตอร์ไซค์จ้างรถมาอีก ๗ วันแค่นั้น ถ้า ๗ วันปั๊บ ตัดทันที ชีวิตคนนะครับ ชีวิตคนจนมันไม่เหมือนคนรวยหรอก บางคนบอกว่าเงิน ๑๐๐ บาท เงิน ๑๐๗ บาททำไมถึงหวง แต่คนจนเงิน ๖๐๐ บาทอยู่ได้ทั้งเดือนเลย เพราะฉะนั้นวันนี้ ผมบอกว่าช่วยหน่อยครับ แต่ได้ยินข่าวท่านนายกรัฐมนตรีบอกประชุม ครม. วันแรก จะลดราคาน้ำมัน แล้วก็ไฟค่าแก๊ส ผมก็แอบดีใจ ก็ให้ทำได้

นายวิรัช พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

แล้วอีกเรื่องหนึ่ง คือประเทศเราพูดถึง Solar Farm แสงแดดดีที่สุด ถ้ากังหันลม ก็ได้อยู่ ๓ ที่แค่นั้น อยู่ชัยภูมิ อยู่ใต้ แล้วก็อยู่ร้อยเอ็ด ที่เขาสำรวจดู แต่ว่าแสงแดดนี่ ได้ทั้งหมดครับ ทำไมไม่ส่งเสริมแต่ละหมู่บ้าน แต่ละหลังคาเรือนให้เขาก็ติด Solar Farm หรือกองทุนต่าง ๆ ที่ให้เขามา ให้เขาประหยัดค่าไฟได้อยู่ดี ใบอนุญาตให้แต่เฉพาะนายทุน แล้วนายทุนก็ไม่ทำ เอาไปขาย ตลาดมืดได้ยินข่าว ไม่รู้เท็จจริง เอาไปตระเวนขายใบละ ๓๐ ล้านบาท ใบละ ๑๐ ล้านบาท ผมก็บอกว่าวันนี้เมืองไทยเราให้มีทุกหลังคาเลยครับ ให้มีติดหมู่บ้านจัดสรรที่เปิดขึ้นใหม่ขอร้องให้เขาได้ทำ ท่านประธานที่เคารพครับ ผมเห็นที่ บ้านผม ขออีก Slide หนึ่งที่เป็นของโรงเรียน โรงเรียนที่บ้านผมกองทุนพลังงานไปลงทุนให้ ๑๒ ล้านบาท โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ ปรากฏว่าจากค่าไฟเดือนละ ๓๐๐,๐๐๐ บาท ตอนนี้เขาประหยัดไปได้เดือนละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท เพราะฉะนั้นวันนี้มันมีของที่เรามีอยู่แล้ว แต่ทุกคนก็มัวแต่มองในสิ่งต่าง ๆ ที่อยากจะหาผลประโยชน์ ผมบอกว่าวันนี้ท่านผู้หลักผู้ใหญ่ ของบ้านเมืองควรจะทบทวนชีวิตตัวเองแล้ว ถ้าเป็นภาคอีสานเขาเรียกว่าพูดใต้คาง มันไม่ค่อยถูกเท่าไรครับ ผมก็ฝากท่าน กกพ. หน่อยครับว่าวันนี้ทำทุกอย่างให้มันเป็นจริง

นายวิรัช พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

อีกเรื่องหนึ่ง ขอบคุณนะครับที่ช่วยที่ประชุมพยุงแก๊สขึ้นถังหนึ่ง ๔๒๓ บาท เหมือนเดิม จริง ๆ LPG ผมเคยพูดมี LPG โรงกลั่นกับ LPG แท่นเจาะ LPG โรงกลั่นคือ LPG ที่มีบิวเทนน้อย ทำไมท่านไม่จับมาให้คนได้มีโอกาสใช้ในราคาถูก เพราะวันนี้ ผู้ประกอบการก็จับมา Mix กันอยู่ดี ก็ฝาก กกพ. ว่าช่วยดูแลหน่อยครับ แล้วอีกอย่างหนึ่ง เขาฝากมาว่า LPG หนักที่เกิดจากโรงกลั่นทำไมไม่ให้ส่งขายเมืองนอกบ้าง ตอนนี้อั้น จนเต็มบ้านเต็มเมืองครับ ขอให้ส่งขายเอารายได้เข้าประเทศ เยอะครับ กราบขอบคุณ ท่านประธาน ท่านเลขา ท่านรองเลขา และคณะกรรมการทุกท่านครับ อยากจะให้บ้านเมือง เราได้ใช้ของถูกครับ ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านศุภโชติ ไชยสัจ ครับ

นายศุภโชติ ไชยสัจ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม ศุภโชติ ไชยสัจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมอยากขออภิปรายและสอบถามผลการดำเนินงานของคณะกรรมการกิจการพลังงาน โดยมี ๓-๔ ประเด็นที่ผมอยากจะตั้งคำถามผ่านท่านประธานไปยังผู้ชี้แจงในวันนี้

นายศุภโชติ ไชยสัจ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นแรก เรื่องการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติในการผลิต กระแสไฟฟ้าในปัจจุบัน ที่ทำให้ประชาชนต้องจ่ายแพงเกินไป ทุกท่านครับ ไฟฟ้าที่เราใช้ กันอยู่ทุกวันนี้ผลิตจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติมากถึง ๖๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นราคา ก๊าซธรรมชาติจึงเป็นต้นทุนส่วนใหญ่ของไฟฟ้าในบ้านเรา แต่ต้นทุนราคาก๊าซที่ถูกนำมาใช้ ผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับพวกเรานั้น มาจาก Pool Gas ที่พึ่งพาการนำเข้าแล้วก็มีราคาแพง ในขณะที่แหล่งก๊าซในประเทศที่มีราคาถูก ถูกนำไปเข้าโรงแยกก๊าซเพื่อนำไปใช้ให้กับกลุ่ม ธุรกิจปิโตรเคมีก่อน สรุปได้ง่าย ๆ เลยนะครับ ของถูกให้ภาคธุรกิจก่อน ของแพงให้กับ ประชาชน ย้ำอีกครั้งนะครับ ของถูกให้กับภาคธุรกิจก่อน ของแพงให้กับประชาชน แน่นอนครับว่าโครงสร้างแบบนี้ผู้เสียประโยชน์คือประชาชน ท่านประธานครับ แต่ผม และสังคมกลับมีความหวัง พอได้เห็นหนังสือที่ทาง กกพ. ทำถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พลังงาน เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายนที่ผ่านมา เสนอให้มีการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติใหม่ โดยเสนอให้นำราคาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศมาเฉลี่ยรวมกับ Pool Gas ที่มี ราคาแพง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าลดลงด้วย ผมจึงอยากตั้งคำถามถึง กกพ. ว่า จากวันนั้นถึงวันนี้เกือบ ๔ เดือนแล้วท่านมีการติดตามผลของการทำหนังสือฉบับนี้หรือไม่ กระทรวงพลังงานหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการไปถึงไหนแล้ว เพราะประชาชน เขาสงสัยกันครับว่าหรือเป็นเพราะการที่กลุ่มปิโตรเคมีต้องจ่ายแพงขึ้น เป็นตัวขัดขวาง ให้ข้อเสนอนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้

นายศุภโชติ ไชยสัจ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ครับ เรื่องความโปร่งใสของ กกพ. ในการปฏิบัติหน้าที่ ตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๙ (๗) ที่ให้มีการเผยแพร่มติของ คณะกรรมการใด ๆ ที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งสู่สาธารณะ ท่านประธานครับ การเปิดเผยมติ มันสำคัญเพราะมันช่วยให้เกิดความโปร่งใสและประชาชนสามารถตรวจสอบได้ เช่นประเด็น การให้ใบอนุญาตโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนรอบที่ผ่านมามากกว่า ๕,๐๐๐ เมกะวัตต์ ท่านระบุว่าจะให้ใบอนุญาตตามคะแนนเชิงเทคนิคเพียงอย่างเดียว แต่กฎเกณฑ์ วิธีการ ให้คะแนนท่านก็ไม่ได้แจ้ง มีแต่การใช้ดุลยพินิจเพียงอย่างเดียว คำถามคือความโปร่งใส มันอยู่ที่ไหนครับ นี่ยังไม่รวมกระบวนการคัดเลือกที่ให้เวลาแค่เดือนเดียวในการยื่นเอกสาร ท่านครับ คนเขาตั้งคำถามกันว่าคนที่เตรียมเอกสารทันนี่พวกเขารู้กันอยู่แล้วหรือเปล่าครับ หรือประเด็นราคารับซื้อไฟฟ้าที่เราเรียกว่า Feed-in Tariff จากโรงไฟฟ้าพวกนี้มีสูตรคำนวณ อย่างไร สูงเกินกว่าความเป็นจริงราคาตลาดหรือไม่ เพราะคนที่แบกรับต้นทุนก็คือ พี่น้องประชาชนทุกคน ผมจึงอยากตั้งคำถามผ่านไปยังผู้ชี้แจงนะครับว่าทำไมไม่เปิดเผยมติ หรือเนื้อหากระบวนการต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และยุติธรรมแก่ประชาชน ไม่อย่างนั้นตัว กกพ. เองอาจกำลังละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา ๑๕๗ อยู่ก็เป็นได้

นายศุภโชติ ไชยสัจ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ ครับ เรื่องการเจรจาแก้ไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เพื่อปรับลด ค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้า ทุกท่านครับ ไทยมีจำนวนโรงไฟฟ้าเกินความจำเป็นโดยมีถึง ๘ โรงที่ไม่ได้เดินเครื่องเลยในปี ๒๕๖๔ แต่เรายังต้องจ่ายเงินให้กับโรงไฟฟ้าเหล่านี้ ผ่านค่าความพร้อมจ่ายที่ถูกระบุไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือ PPA ผมเข้าใจนะครับว่า การเข้าไปแก้ไขสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชนเป็นเรื่องที่ยาก แต่ท่านประธานครับ ในทุก ๆ สัญญา จะมีการระบุข้อกำหนดข้อหนึ่งคือเหตุสุดวิสัย หรือ Force Majeure คือการเกิดเหตุที่อยู่ นอกเหนือการควบคุมของคู่สัญญา และเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน ยกตัวอย่างเช่น การแพร่ระบาดของ COVID-19 ควรจะนำมาเป็นเหตุ สุดวิสัยที่สามารถนำไปสู่การแก้ไข ลดค่าความพร้อมจ่ายที่รัฐจะต้องจ่ายให้กับเอกชนได้ เนื่องจากโรงไฟฟ้าที่มีอยู่เกิน ความจำเป็นนี้ถูกสร้างตามแผน PDP ที่ไม่ได้คำนึงถึงการแพร่ระบาดของ COVID-19 นี้เลย เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนผมขอตั้งคำถามว่าท่านเคยมีความคิดหรือความพยายามที่จะเรียก ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาทบทวนแก้ไขสัญญานี้หรือไม่

นายศุภโชติ ไชยสัจ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นสุดท้ายนะครับ เรื่องงบประมาณและความคุ้มค่าในการเดินทาง ไปดูงานต่างประเทศ ผมขอตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับงบในกลุ่มนี้ที่สูงมากกว่าหลายสิบล้านบาท ต่อปี แต่ละปีท่านเดินทางไปประเทศต่าง ๆ มากมายแต่ละประเทศล้วนเป็นประเทศที่มี ความก้าวหน้าทางด้านพลังงานทั้งสิ้น คำถามคือทำไมเราถึงยังไม่มีนโยบายหรือกระบวนการ ต่าง ๆ ที่ทันสมัยเหมือนกับประเทศอื่น ๆ เขา เช่นในขณะที่ประเทศอื่นใช้ระบบ อิเล็กทรอนิกส์ ในการยื่นประมูลโรงไฟฟ้าแต่เรายังต้องยื่นซองกระดาษกันอยู่เลย

นายศุภโชติ ไชยสัจ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้ผมอยากจะฝากท่านประธานผ่านไปยังผู้ชี้แจงว่าถ้าหน่วยงาน ที่ควรจะกำกับกิจการพลังงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ แต่กลับถูกสังคม ตั้งคำถามว่าท่านกำลังถูกกำกับโดยกลุ่มทุนหรือผลประโยชน์อื่นใดที่ไม่ใช่เพื่อประชาชน อยู่หรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วประชาชนจะพึ่งใคร ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านนิพนธ์ คนขยัน ครับ

นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ท่านเลขา ท่านรองเลขา และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานทุกท่านครับ วันนี้ผม นายนิพนธ์ คนขยัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบึงกาฬ เขตเลือกตั้งที่ ๓ เพื่อน ๆ สมาชิก พูดไปบ้างแล้วนะครับ ผมก็คงจะตั้งข้อสังเกตไม่มาก ผมมาอ่านค่านิยมขององค์กร ท่านกล่าวไว้ว่าความน่าเชื่อถือและความแน่วแน่มั่นคง คณะกรรมการกิจการพลังงาน จะกำกับความเป็นธรรมไม่ยึดติดต่อหน่วยงานหรือปัจจัยพิเศษอื่น ๆ และการตัดสินใจ ของผู้กำกับกิจการจะต้องมีความแน่วแน่ มั่นคง ท่านประธานที่เคารพครับ ดังที่ผมเรียน เมื่อสักครู่ว่าเพื่อน ๆ สมาชิกได้นำเรียนไปหลายประเด็นมากมายเกือบครบถ้วนแล้ว ชาวบ้านฝากข้อสังเกตผมขอเรียนผ่านท่านประธานว่าวันนี้ข่าวต่าง ๆ ที่ออกไป จะเป็น TikTok ข่าว อย่างล่าสุด TikTok บอกว่าราคาน้ำมันตลาดโลกได้ลดมาแล้วประมาณ ๒ อาทิตย์ เท็จจริงไม่ทราบ แต่ว่าพอบอกว่าลดน้ำมัน ลดช้าเหลือเกินแต่เขาบอกว่าพอปรับ ราคาน้ำมัน ประกาศปุ๊บขึ้นปั๊บ อันนี้ชาวบ้านเขาว่านะครับ เท็จจริงอย่างไรท่านฝากท่านผู้กำกับ กิจการพลังงานไปตรวจสอบด้วย

นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ

อันที่ ๒ ชาวบ้านเขาว่าทำไมเห็นข่าวบอกว่าน้ำมันเจาะในประเทศไทย แต่บอกว่าต้องส่งไปกลั่นที่ต่างประเทศแล้วนำเข้ามา ทั้ง ๆ ที่เขาบอกว่ากลั่นในไทยนี่ละ แต่ต้อง จ่ายค่าขนส่งไปต่างประเทศทั้งนำเข้าและนำออก มีค่าเสียภาษี ค่าเสี่ยงภัยอะไรต่าง ๆ ตรงนี้ใช่ไหมเป็นเหตุที่ต้องจ่ายค่าน้ำมันแพง ท่านประธานที่เคารพครับ เพื่อน ๆ สมาชิก ทุกท่านคงไม่ต่างกัน วันนี้พี่น้องชาวบ้านที่อยู่ในชนบทเจอค่าไฟฟ้าแพง แก๊สหุงต้มแพงก็สะดุ้ง ดังนั้นวันนี้ฝากกรรมการดังที่ชาวบ้านเข้าใจแม้แต่ตัวผมเองก็ยังเข้าใจเหมือนชาวบ้านเหมือนกัน เพราะประเทศเพื่อนบ้านเรา ใกล้ ๆ บ้านเราติดทางภาคใต้เขาบอกว่าอย่างนี้ท่านประธานที่เคารพ เขาบอกว่าน้ำมันดีเซลลิตรหนึ่ง ณ ปัจจุบันนี้ไม่ถึง ๒๐ บาท เท็จจริงอย่างไรไม่ทราบ แต่หนาหูกันเหลือเกิน เขาบอว่าท่าน สส. ไม่ต้องยาก ไปซื้อจากประเทศเขานำเข้ามาเลย ไม่ต้องผลิต ไม่ต้องกลั่น มาขายก็น่าจะถูกกว่าไม่ถึง ๓๐ กว่าบาทอย่างวันนี้ ดังนั้นฝากท่าน ประธานผ่านไปยังคณะกรรมการกิจการพลังงาน ความทุกข์ของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะพี่น้องภาคเกษตรกรรม ภาคเกษตรกร ทำไร่ทำนาทำสวน ต้องใช้น้ำมันวันนี้ ไม่ได้ใช้ควายเหมือนแต่ก่อนไถนา ใช้รถไถนา ใช้น้ำมัน ดังนั้นหากน้ำมันแพง แก๊สหุงต้มแพง ค่าไฟฟ้าแพง เศรษฐกิจภาคเกษตรตกต่ำก็เดือดร้อนพี่น้องประชาชนครับ หลายท่านบอกว่า วันนี้ข้าวกำลังขึ้นราคา กราบเรียนท่านประธานครับ ในฐานะผมเคยทำนาเป็นเกษตรกร วันนี้ข้าวขึ้นราคา ข้าวอยู่ไหนละครับ อยู่โรงสีหมดแล้วครับ ไม่ได้อยู่เกษตรกรแล้ว เกษตรกร บางรายต้องไปยืมญาติพี่น้องมากินแล้ว นี่คือปัญหาหนักของพี่น้องเกษตรกร ถ้าน้ำมันแพง เมื่อไรพลังงานขึ้นดังที่เห็นครับ ดังนั้นกราบเรียนประธานไปยังคณะกรรมการว่าท่านมีอำนาจ กำกับดูแลดังคำที่นิยามขององค์กรท่านจริงแค่ไหน และที่เหตุมันขึ้นอย่างที่ว่าไม่ต้องผลิต ในประเทศ แต่บอกว่าไม่ต้องกลั่นในประเทศ บอกไปกลั่นต่างประเทศ พูดผิดครับ แต่จริง ๆ กลั่นในประเทศมันจริงหรือเปล่า และถ้ามันจริงทำไมไม่บวกค่าขนส่งนำเข้า ขาออก ทั้งออก ทั้งเข้า ถ้าจริงผมว่าก็แปลกเหมือนกันนะประเทศไทย น้ำมันก็น้ำมันเรา แต่ท้ายที่สุดมาส่งภาระให้กับพี่ น้องทั้งประเทศต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้นถ้วนหน้า แต่คนมีสตางค์ไม่เป็นไรครับ แต่พี่น้องเกษตรกรหาเช้ากินค่ำอย่างที่เพื่อนสมาชิกหลายท่านบอกไว้ว่าต้องโดนปลดหม้อไฟ ช้ำครับ

นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ

ท้ายสุดนี้ฝากท่านประธานไปยังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่า ถ้าท่านช่วยกำกับให้ดีจะเป็นพระคุณกับพี่น้องเกษตรกรพี่น้องคนไทยในชาติทุกคนครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านสุรพันธ์ ไวยากรณ์ ครับ

นายสุรพันธ์ ไวยากรณ์ นนทบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสุรพันธ์ ไวยากรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑ จังหวัดนนทบุรี พรรคก้าวไกล วันนี้ผมได้มีโอกาสอ่านรายงานประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ของคณะกรรมการกำกับกิจการ พลังงาน หรือ กกพ. แต่ด้วยข้อจำกัดของเวลามีหลายประเด็นที่ผมสงสัยและอยากจะอภิปราย สอบถาม แต่จะมีประเด็นสำคัญหลัก ๆ อยู่ ๒ ประเด็นที่อยากจะสอบถามท่านเลขาธิการ

นายสุรพันธ์ ไวยากรณ์ นนทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องแรก เป็นเรื่องของการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า จริง ๆ แล้ว กองทุนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการให้บริการไฟฟ้าไปยังท้องถิ่นชุมชนกระจายความเจริญ และพัฒนาท้องถิ่นไปพร้อมกับการปรับปรุงสภาพแวดล้อมคุณภาพชีวิตของชุมชนที่ได้รับ ผลกระทบจากโรงไฟฟ้านะครับ แล้วก็ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนตามมาตรา ๙๗ (๑) ถึง (๖) แต่ที่ผมตั้งข้อสังเกตตามมาตรา ๙๗ (๔) กองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมการใช้ พลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะ ปี ๒๕๖๔ ที่ท่านเลขาธิการได้ชี้แจงตอนแรกว่าเป็นโครงการ พลังงานหมุนเวียนแบบมุ่งเป้าก็คือติดตั้ง Solar Cell แบบ On Grid และ Off Grid ถ้าดูในตารางปี ๒๕๖๔ กรอบงบประมาณ ๑,๙๒๐ ล้านบาท แต่ว่าโครงการที่ได้รับอนุมัติ ท่านยังไม่ได้ใส่ไว้ เพราะว่าเขียนว่าอยู่ระหว่างดำเนินการ ถ้าอย่างนั้นผมจะย้อนไปในปี ๒๕๖๓ กรอบงบประมาณ ๑,๘๐๐ ล้านบาท โครงการที่เข้าร่วม ๕๙ โครงการ วงเงิน ๓,๒๐๐ ล้านบาท แต่ท่านอนุมัติแค่ ๑๓ โครงการ วงเงินแค่ ๑๓๗ ล้านบาท ๘ เปอร์เซ็นต์ของกรอบ งบประมาณแค่นั้นเองนะครับ ทั้ง ๆ ที่ท่านเขียนในรายงานโครงการนี้ท่านมีแผนที่จะติดตั้ง โรงเรียนตามชนบทห่างไกลนี่ ๑๖๖ แห่ง หมายถึงโรงเรียนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้นะครับ โรงพยาบาลอีก ๗๐ แห่ง ซึ่งมันโครงการที่ดีเพราะว่าตามวัตถุประสงค์ของกองทุนพัฒนา ไฟฟ้า แต่ทำไมตัวเลขอนุมัติมันถึงน้อยขนาดนี้นะครับ เปรียบเทียบกันกับมาตรา ๙๗ (๕) โดย (๕) เป็นเกี่ยวกับเรื่องของการให้ประชาชนมีความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วม ด้านไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นงบศึกษาดูงานแล้วก็ประชาสัมพันธ์ ถ้าตามตารางปี ๒๕๖๔ กรอบวงเงินเท่ากับปี ๒๕๖๓ ก็คือ ๖๐๐ ล้านบาท แต่ปี ๒๕๖๔ ท่านยังเว้นไว้ว่าอยู่ระหว่างดำเนินการนะครับ ย้อนมาดูตัวเลขปี ๒๕๖๓ วงเงินที่ท่านอนุมัติ ๔๗๖ ล้านบาท ๘๐ เปอร์เซ็นต์นะครับ คือผมไม่ได้คาดหวังว่า (๔) จะสูงใกล้เคียงกับ (๓) เพราะว่า (๕) ที่ท่านอนุมัติไปนั้นถือว่าตัวเลขประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ๔๗๖ ล้านบาท แต่ (๔) ที่แจ้งไปก็คือแค่ประมาณ ๘ เปอร์เซ็นต์ จริง ๆ แล้วท่านสามารถที่จะอนุมัติโครงการ พวกนี้ได้อยู่แล้วนะครับ เพราะว่างบประมาณกรอบวงเงินที่ท่านก็วางไว้อย่างสูงอยู่แล้ว ๑,๘๐๐ ล้านบาท แล้วโครงการนี้ผมถามนิดหนึ่งว่า ๕๙ โครงการท่านอนุมัติไป ๑๓ โครงการ แล้วอีก ๔๖ โครงการนี้คืออย่างไรครับ หมายถึงว่าปัดตกไปมาในปีงบประมาณใหม่ หรืออย่างไร อันนี้ท่านต้องช่วยชี้แจงด้วยนะครับ

นายสุรพันธ์ ไวยากรณ์ นนทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามแผน PDP 2018 แต่ปี 2018 ที่ท่านระบุไว้ก็คือเป็น Revise 1 ก็คือปรับปรุงครั้งที่ ๑ ทำไมถึงจะต้อง ปรับปรุงผมจะยกตัวอย่างให้ โครงการที่ ๑.๑ Solar Rooftop ภาคประชาชนในแผน มีการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากประชาชนอยู่ที่หน่วยละ ๒.๒ บาท ย้ำนะครับ หน่วยละ ๒.๒ บาท เป้าหมายท่านกำหนดไว้ ๕๐ เมกะวัตต์ แต่ระยะเวลา ๒ ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ ปี ๒๕๖๒-๒๕๖๔ มีประชาชนเขาคงร่วมโครงการแค่ ๗๐๐ กว่าราย กำลังการผลิต ที่ขายให้การไฟฟ้าแค่ ๔.๓ เมกะวัตต์ แค่นั้นเองยังไม่ถึง ๑๐ เปอร์เซ็นต์เลยนะครับ แน่นอนครับการติดตั้ง Solar Cell ท่านก็ทราบว่ามีอยู่ ๒ แบบ ก็คือติดตั้งแบบ On Grid ใช้ไฟอย่างสมมุติว่า Load ในบ้าน ๕ กิโลวัตต์ก็ติดตั้ง ๕ กิโลวัตต์ใช้ไฟกลางวัน กลางคืน ก็เสียไฟให้การไฟฟ้า หรือแบบที่ ๒ อาจจะติดตั้งเผื่ออนาคตแล้วก็มีแบตเตอรี่ ความคิดที่ ประชาชนจะขายไฟให้กับท่านแทบจะไม่มีเลยครับ เพราะว่าท่านขายไฟให้ประชาชน ๔ บาทกว่า เกือบ ๕ บาท ณ ตอนนี้ โครงการนี้ท่านตั้งเป้าไว้เกินหรือเปล่าครับ ๕๐ เมกะวัตต์ อันนี้ เดี๋ยวท่านช่วยชี้แจงด้วยนะครับ สลับกันในโครงการที่ ๑.๒ โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจ ฐานรากที่ท่านแจ้งไว้เป็นโครงการนำร่อง เป้าหมายในการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชน ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล แล้วก็ก๊าซชีวภาพก็คือ Biomass กับ Biogas นะครับ จริง ๆ แล้ว โครงการนี้ดีมากเพราะว่ามันจะส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานในชุมชน แล้วโรงไฟฟ้าในชุมชน ก็จะสร้างงานสร้างอาชีพด้วย ท่านตั้งเป้าไว้ ๑๕๐ เมกะวัตต์ ที่ท่านรายงานเมื่อสักครู่ ท่านบอกว่าได้ถึง ๑๔๙.๕ เมกะวัตต์ ผู้เข้าร่วมโครงการ ๔๓ ราย จริง ๆ แล้วเกินด้วยซ้ำ เพราะว่าท่านตัดทิ้งไป เพราะว่าโรงไฟฟ้าโรงหนึ่งคิดว่าน่าจะประมาณ ๒-๓ เมกะวัตต์ อยู่แล้วใช่ไหม ทำไมอันนี้มันถึงต่ำล่ะครับ ไม่ขาดก็เกิน ผมกำลังมองดูว่าแผนที่ท่านปรับปรุง อย่างไรฝากท่านเลขาช่วยชี้แจงด้วย เพราะผมคิดว่าโครงการแต่ละโครงการที่จะเกิดขึ้นมาได้ มันจะต้องมีความคิดร่วมกัน ประชาชนฝากความหวังไว้กับท่าน ไม่ว่าจะเป็น กกพ. กพช. กระทรวงพลังงาน เพราะว่าอนาคตของพลังงานและทิศทางของพลังงานในประเทศไทย อยู่ที่พวกท่าน อย่างไรขอบคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เรียนสมาชิกนะครับ ตอนนี้ผ่านไปแล้ว ๑๕ ท่าน ผมจะมีการให้หน่วยงานได้ชี้แจงครึ่งแรก ก่อนนะครับ หลังจากที่สมาชิกลำดับที่ ๒๐ ท่านอดิศร เพียงเกษ ได้อภิปรายแล้ว แล้วถึงจะ ดำเนินการต่อ แล้วก็ตอนนี้คำนวณเวลาแล้วเราน่าจะใช้อีกประมาณ ๓ ชั่วโมง เพราะฉะนั้น เราเอาให้จบเลยนะครับ รายงานฉบับนี้ เชิญครับ

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

ท่านประธานคะ ขอสักคนหนึ่งก่อน ได้ไหมคะ พอดีคุณพ่อเข้า ICU อยู่ค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ไม่ใช่ครับพอดีผมแจ้งล่วงหน้าว่าจะเป็นหลังท่านอดิศร เบอร์ ๒๐ เชิญท่านฐิติมาได้เลยครับ

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

ขอบพระคุณค่ะ ฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานกราบขอบพระคุณนะคะ วันนี้ดิฉัน ขออภิปรายในวาระรายงานประจำปี ๒๕๖๔ ขึ้น Slide เลยนะคะ

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติ หรือ กกพ. คือภารกิจ และอำนาจหน้าที่ของ กกพ. เขาก็เป็นไปตาม พ.ร.บ. ปี ๒๕๕๐ ของประกอบกิจการพลังงาน ไว้ตามมาตรา ๑๐ มีถึง ๑๘ อนุมาตราด้วยกัน ภารกิจที่ใกล้ตัวประชาชนที่สุดก็คือ กำกับกิจการไฟฟ้า กำกับโรงไฟฟ้าให้สามารถบริการให้ได้มีประสิทธิภาพใช่ไหมคะ แล้วก็ มีความมั่นคงในระบบไฟฟ้า ซึ่งก็มีเพื่อนสมาชิกพูดกันไปทำนองนี้เยอะแยะแล้วนะคะ แล้วก็ เป็นเรื่องของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าซึ่งดิฉันก็ขอขอบคุณนะคะที่ได้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ในรอบโรงไฟฟ้าได้อันนั้นดีมาก ทีนี้วันนี้ดิฉันเองอยากพูดถึงเรื่องที่คณะกรรมการ กกพ. และสำนักงานยังไม่ค่อยได้ทำหรือทำน้อยมาก มันคือเรื่องของก๊าซธรรมชาติค่ะ กิจการก๊าซธรรมชาตินี่นะคะ ซึ่งดิฉันคิดว่ามันส่งผลกระทบถึงราคาค่าไฟฟ้า แล้วก็รวมถึง ความเพียงพอของก๊าซธรรมชาติในภาคการขนส่งด้วย แล้วก็ทราบอยู่ว่าท่านยกเว้นว่า มันไม่รวมถึงการประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่งในมาตรา ๕ นี้ทราบอยู่นะคะ แต่ว่ามันก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่การดำเนินงานมันจะส่งผล ขอภาพเลยค่ะ เมื่อ ๒-๓ วันก่อน ท่านประธาน มีผู้ประกอบการขนส่ง Logistics ของจังหวัดฉะเชิงเทราก็มาร้องเรียนกับดิฉัน บอกว่าเรื่องราคาก๊าซ CNG ที่ใช้กับรถยนต์กำลังจะปรับราคาขึ้นจาก ๑๘.๕๙ บาทต่อกิโลกรัม วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๖ นี้จะเพิ่มกิโลละ ๑ บาท ก็จะเป็น ๑๙.๕๙ บาท แล้วก็วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๖ ก็จะเพิ่มอีก ๑ บาท เป็น ๒๐.๕๙ บาทแล้ว ทีนี้ผู้ประกอบการที่ใช้เชื้อเพลิง ชนิดนี้เขาก็ได้รับผลกระทบมาก เราทราบกันอยู่แล้วนะคะว่าเมื่อปี ๒๕๔๘-๒๕๔๙ รัฐบาลพยายามที่จะให้ทุกคนเปลี่ยนจากการใช้เชื้อเพลิงน้ำมันมาเป็นก๊าซธรรมชาติ อันนี้ เราทราบอยู่นะคะ แล้วก็สนับสนุนให้ผู้ใช้รถใช้ก๊าซธรรมชาติให้มาก ซึ่งเป็นก๊าซธรรมชาติ ที่ขุดเจาะได้ในอ่าวไทย ดังนั้นก๊าซธรรมชาติก็เลยเป็นพลังงานหลักของธุรกิจผู้ขนส่งนะคะ ทีนี้ผู้ที่มาร้องเรียนเขาก็ร้องว่าธุรกิจของเขาที่แล้วมามันโดนผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 มาก มันยังไม่ฟื้นตัวเลย ดังนั้นเขาจึงขอให้รัฐบาลอยากจะให้ตรึงราคา ช่วย CNG ให้อยู่ที่ ๑๘.๕๙ บาทเท่าที่ทำได้ไปก่อน ทีนี้ต่อมาดิฉันก็เลยตรวจสอบปัญหาก็พบว่าข้อมูล ที่น่าสนใจก็คือว่าปัจจุบันรัฐบาลยังไม่ได้สนับสนุนให้ประชาชนใช้ CNG ในภาคขนส่งแล้ว เพราะทุกวันนี้กระทรวงพลังงานก็ขอให้ ปตท. ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการพลังงานช่วยชดเชย ราคาก๊าซธรรมชาติแบบเป็นครั้งคราว เป็นการแก้ปัญหาราคาจำหน่าย CNG แบบลูบหน้าปะจมูก ดิฉันรู้สึกอย่างนั้น ดิฉันจึงสงสัยว่าทำไมก๊าซธรรมชาติที่เรารับรู้ว่ามันมีปริมาณมากเลย ในอ่าวไทยซึ่งอาจจะมีไปถึง ๕๐-๖๐ ปีเลยหรือเปล่า สามารถส่งไปช่วยโรงงานผลิตไฟฟ้าก็ได้ ผลิตกระแสไฟฟ้า ไปให้โรงงานปิโตรเคมีแยกก๊าซออกมาเป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรมก็ได้ หรือว่าสามารถทำเป็นผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรม เช่น พลาสติก เส้นใยสังเคราะห์ ไปเป็นเครื่องสำอางอะไรก็ได้ แต่ทำราคาก๊าซจึงต้องแพง ทำไมมันไม่มีเพียงพอหรืออย่างไร อันนี้สงสัยนะคะกรุณาตอบด้วย แล้วถ้ามีพอให้กับภาคขนส่งก็น่าจะให้ประโยชน์กับเขาบ้าง อันนี้เป็นข้อสงสัยที่อยากจะถามจริง ๆ นะคะ แล้วก็จากข้อมูลที่ปริมาณก๊าซธรรมชาติ ในอ่าวไทยตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ มีการเปลี่ยนผ่านผู้ได้รับสัมปทานเจาะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย รายเก่าเป็น ปตท. สผ. ใช่ไหมคะ ทำให้เกิดปัญหาปริมาณก๊าซผลิตก๊าซในแหล่งเอราวัณ G1/61 ขาดหายไป แต่ว่าก็สามารถค่อย ๆ กลับมาผลิตเพิ่มได้อีกในปี ๒๕๖๕ ดิฉันจะคิดว่า เรื่องราคาและปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติ ขณะนี้น่าจะใกล้ภาวะปกติ ซึ่งสอดคล้องกับ การลดลงของค่า Ft ราคาไฟฟ้าปัจจุบันลดลง ดังนั้นทำไมปริมาณของ NGV ในภาคขนส่ง จึงยังไม่เป็นปกติ ราคาขายปลีกทำไมยังมีแนวโน้มขึ้นอยู่ไม่เข้าใจนะคะ สร้างความเดือดร้อน ให้กับผู้ใช้รถยนต์เลยอยากจะได้คำตอบจากท่านคณะกรรมการด้วยนะคะ

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

แล้วก็อีกเรื่องที่สงสัยมากก็คือว่าดิฉันได้รับข้อมูลจากนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง กับการใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติในยานยนต์และภาคขนส่ง ได้ยินมาบางเรื่องว่ารัฐบาล ไม่สนับสนุนแล้วใช่ไหมคะ และทุกวันนี้ก็ไม่มีการตั้งสถานี NGV และ CNG เพิ่มขึ้น ซึ่งทั่วประเทศน่าจะมีสัก ๔๐๐ กว่าแห่งเอง เหมือนอยากให้ผู้ใช้รถประเภทนี้ยอมแพ้ หรือเลิกไปในที่สุดนะคะ ดิฉันเลยสงสัยว่าคณะกรรมการได้เคยประชาสัมพันธ์ให้ ผู้ประกอบการก็ดี ให้ประชาชนก็ดี พี่น้องแท็กซี่หรืออะไรก็แล้วแต่เขารู้บ้างหรือเปล่าว่า ท่านจะไม่สนับสนุนแล้ว และเขามีรถของเขาอยู่อย่างฉะเชิงเทรามี ๑,๐๐๐ กว่าคันที่เขาจะ มาร้องเรียนนะคะ เขารู้เรื่องไหม เขาเดือดร้อนขนาดนี้ และเกิดเขาไปซ่อมเพิ่มเติม เขาไป ลงทุนเพิ่มเติม แล้วท่านก็จะไม่สนใจใยดีกับเขาอีก ทีนี้มันจะเป็นอย่างไร รัฐบาลจะให้ ภาคขนส่งเขาขึ้นราคาค่าขนส่งไหม ถ้าเกิดว่าเขาไม่เป็นแก๊ส แล้วเขาไปเป็นน้ำมัน จากน้ำมัน ตอนนี้ดีเซลของท่านคือ ๓๑ ใช่ไหมคะ แล้วก็จะให้เขาขึ้นราคาค่าขนส่งไหม เพราะว่า จาก ๑๘.๕๙ เดี๋ยวจะเป็น ๒๐ แล้วก็จะให้เขาไปใช้น้ำมัน และเขาก็กลายเป็น ๓๑ ราคา ค่าขนส่งมันก็จะสูงขึ้นใช่ไหมคะ แล้วก็แนวทางการช่วยเหลือภาคขนส่งจะเป็นอย่างไร ขอให้ ตอบให้ถึงสถานการณ์ปัจจุบันด้วยว่าจะเอาอย่างไรดี ขอบพระคุณมากค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านชลธานี เชื้อน้อย ครับ

นายชลธานี เชื้อน้อย ลำปาง ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายชลธานี เชื้อน้อย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขต ๓ พรรคก้าวไกล อำเภอเมือง อำเภอแม่เมาะ และอำเภอแม่ทะ ขอเรียนท่านประธานสภาผ่านไปยังผู้ชี้แจง ในฐานะผู้แทนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในประเด็นของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ผมจะขออธิบายคร่าว ๆ ให้ท่านประธานฟังและพิจารณานะครับ ที่จังหวัดลำปางของเรา เป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เป็นเหมืองถ่านหินลิกไนต์แบบเปิดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ เป็นเมืองแห่งความมั่นคงทางพลังงาน ผลิตกระแสไฟฟ้าให้คนไทยใช้ มีกำลัง การผลิตกว่า ๒,๒๒๐ เมกะวัตต์ แต่คุณภาพชีวิตของพวกเราครับท่านประธาน กลับสวนทาง ชาวแม่เมาะ ชาวลำปาง เสียสละบ้านที่อยู่ ชุมชน วัฒนธรรม รวมทั้งความปกติทางสุขภาพ ให้พี่น้องคนไทยได้ใช้ไฟอย่างสะดวกสบาย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ

นายชลธานี เชื้อน้อย ลำปาง ต้นฉบับ

อีก ๑ ประเด็นก็คือเรื่องของภาคการเกษตรในพื้นที่ที่ประสงค์จะรับเงิน อุดหนุนจากกองทุนนี้ก็มีอุปสรรคอีกประการหนึ่ง คือกรอบเวลาของการพิจารณาโครงการ ที่ต้องทำประชาคมในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม จากนั้นผ่านกองจากหมู่บ้านไปสู่ตำบล ไปสู่อำเภอ ไปสู่จังหวัด จากนั้นเข้า กกพ. เขต ๑ เชียงใหม่ ส่งต่อ กกพ. กลาง จากนั้น โครงการอนุมัติส่งกลับมาที่จังหวัดเพื่อจัดสรรลง ๔๔ หมู่บ้าน ในช่วงเมษายน และพฤษภาคม กว่าจะจัดซื้อจัดจ้างซึ่งก็ไม่ทันช่วงเพาะปลูกของชาวบ้าน การขุดเจาะบาดาลกว่าโครงการ จะอนุมัติ หาผู้รับเหมาก็ไม่ทันภัยแล้งเสียแล้ว อยากให้ท่านพิจารณาแบ่งประเภทโครงการ ในการพิจารณาให้ตอบโจทย์พี่น้องประชาชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบ ผมขอให้ท่านแนะนำว่าใส่มาในรายงานปีต่อ ๆ ไปถึงโครงการต่าง ๆ ที่ได้อนุมัติภายใต้ กองทุนพัฒนาไฟฟ้า และวิงวอนให้ท่านผู้ชี้แจงตรวจสอบย้อนกลับว่าโครงการนั้น มีประสิทธิภาพหรือไม่ เพื่อที่จะเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาปีต่อ ๆ ไป และผมหวังว่า ในรายงานปี ๒๕๖๕ ที่จะเข้าสภาครั้งต่อไปคงมีรายละเอียดประเด็นนี้

นายชลธานี เชื้อน้อย ลำปาง ต้นฉบับ

และอีกประเด็นหนึ่งที่อยากฝากไว้ก็คือการจัดสรรเงินกองทุนลงในแต่ละพื้นที่ เกณฑ์เดิมคือการพิจารณารายหมู่บ้าน ราย อปท. ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน เช่น หมู่บ้าน ก มีประชากรกว่า ๒,๐๐๐ คน หมู่บ้าน ข มีประชากร ๒๐๐ คน เป็น ๑ ต่อ ๑๐ แต่ท่านรู้ไหมครับว่างบประมาณกลับได้รับการจัดสรร ๔,๒๐๐,๐๐๐ บาท เหลื่อมหลักพันหลักหมื่นนะครับ ใกล้เคียงกัน ถามท่านว่ายุติธรรมไหมครับระหว่าง ๒,๐๐๐ คน กับ ๒๐๐ คนที่ได้งบประมาณใกล้เคียงกัน กองทุนนี้มีขึ้นมาเพื่อเยียวยา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต แต่สิ่งสุดท้ายเหล่านี้นะครับตอบโจทย์หรือไม่ อยากฝากการบ้าน ให้ท่านกลับไปคิดครับว่าเป็นไปได้ไหมที่เราจะหารายหัวให้กับชาวบ้านในแต่ละหมู่บ้าน ด้วยเงินกองทุนนี้ชาวบ้านจะขอทำประชาคมเพื่อแยกหมู่บ้าน สร้างความคลางแคลงใจ เพื่อที่จะได้รับเงินอุดหนุนมากขึ้นผมคิดว่ามันวุ่นวาย และอาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ ในระยะยาว การแก้ปัญหานี้จะตอบโจทย์หลาย ๆ อย่าง ขอให้ท่านผู้ชี้แจงช่วยปรับ หลักเกณฑ์ให้เข้าสภาวการณ์ปัจจุบันด้วยครับ

นายชลธานี เชื้อน้อย ลำปาง ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้ผมอยากเรียนท่านประธานสภาผ่านไปยังผู้ชี้แจง การผลิตกระแสไฟฟ้า โดยถ่านหินลิกไนต์ แม้ว่าจะเป็นการผลิตต้นทุนเงินที่ต่ำ แต่ต้องแลกกับต้นทุนชีวิตของ พ่อแม่พี่น้องอำเภอแม่เมาะ พี่น้องจังหวัดลำปาง มีผลงานวิชาการทั้งในและต่างประเทศ ใช้โรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นกรณีศึกษา ในเมื่อพวกเราเสียสละมากถึงขนาดนี้ท่านจะไม่ใยดี ท่านจะไม่เหลียวแลพวกเราอีกหรือครับที่จะต้องเผชิญหน้ากับความไม่เป็นธรรม ในวันที่ ถ่านหินลิกไนต์หมดพวกเราจะอยู่อย่างไรในสภาพแวดล้อมที่ถูกทำลาย การใช้พลังงาน สะอาดต่าง ๆ Solar Cell หรือแม้แต่พลังงานน้ำก็สามารถทำได้ที่นี่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปางท่ามกลางกระแสโลกที่หยุดการใช้ลิกไนต์ไปแล้ว เพราะฉะนั้นการอภิปราย วันนี้จะช่วยเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์แห่งการถูกเอารัดเอาเปรียบว่าพวกเรา ชาวอำเภอแม่เมาะ ชาวอำเภอแม่ทะ ชาวจังหวัดลำปาง ต้องเผชิญกับฝันร้ายซ้ำแล้วซ้ำอีก ขอบคุณครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านทินพล ศรีธเรศ

นายทินพล ศรีธเรศ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ทินพล ศรีธเรศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ เขตเลือกตั้งที่ ๕ พรรคเพื่อไทย เขตเลือกตั้งที่ ๕ ซึ่งมีอำเภอร่องคำ อำเภอกมลาไสย อำเภอดอนจาน อำเภอนามน และอำเภอห้วยผึ้ง ก่อนอื่นต้องขอขอบพระคุณท่านคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานที่มา ชี้แจงรายงานในวันนี้ เห็นด้วยนะครับกับการที่จะต้องส่งเสริมให้มีการนำพลังงานทดแทนมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานใต้พิภพ พลังงานชีวมวล หรือพลังงาน ชีวภาพ หรือว่าพลังงานขยะนะครับ ในอดีตสิ่งแวดล้อมในบ้านเรายังมีสภาพที่ดีอยู่ โครงการพัฒนาต่าง ๆ จึงไม่จำเป็น ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากนัก แต่คำนึงถึงเฉพาะ ความต้องการทางสังคม ความเป็นไปได้ทางวิศวกรรม ความเหมาะสมทางเศรษฐศาสตร์ และอาจจะมุ่งเน้นกำไรสูงสุด ต้นทุนต่ำสุดจนอาจจะละเลยผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมถือว่าเป็นเครื่องมืออีกอย่างหนึ่งที่ประเทศที่พัฒนา แล้วนำมาใช้ การพัฒนาที่ฉลาดและรอบคอบจะต้องผนวกกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เข้าไปด้วยจึงจะเกิดประโยชน์อย่างสูงสุด และด้วยเหตุนี้ประชาชนจึงเริ่มเรียนรู้ต่อผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมที่มากระทบ กับตนเองแล้วก็ลูกหลานในอนาคต ในพื้นที่ของกระผมนะครับจังหวัดกาฬสินธุ์มีปัญหา เกี่ยวกับโครงการที่ส่งเสริมการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้เช่นเดียวกันครับ โดยมี อปท. ในพื้นที่แห่งหนึ่งนะครับ ขออนุญาตเอ่ยนามนะครับ เทศบาลตำบลกมลาไสยได้ดำเนินการ ทำโครงการและขออนุญาตสร้างโรงงานไฟฟ้าขยะ ตอนนี้ถึงขั้นที่รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทยได้ลงนามเห็นชอบนะครับ ท่านประธานครับ เหรียญมี ๒ ด้าน แต่หากว่า ถ้าเรามองเหรียญทั้ง ๒ ด้าน เราก็จะเห็นอะไรที่มากขึ้น รอบคอบขึ้น นอกจากว่าเหรียญนั้น จะถูกกดไว้ เหยียบไว้ มีคนต้องการไม่ให้เห็นอีกด้านหนึ่งของเหรียญนะครับ มีภาคประชาชน ที่เป็นคนในพื้นที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อตั้งโรงไฟฟ้าจากขยะแห่งนี้นะครับ จึงหาทางออก โดยการนำเรื่องมาปรึกษากับคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ให้พิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมที่เขาอาศัยอยู่นะครับ ชาวจังหวัดกาฬสินธุ์บริเวณที่จะมีการก่อสร้างโครงการนี้ได้ออกมาคัดค้าน มี Clip Video ด้วยครับ ขอ Clip Video สักนิดหนึ่งครับ

นายทินพล ศรีธเรศ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

OK ครับจะใช้เวลามากเกินไปสักนิดหนึ่ง ก็ต้องขอขอบพระคุณคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ที่ให้ความเห็นในเรื่องนี้ โดยผลการพิจารณาของกรรมาธิการ ก็คือพื้นที่ ที่ตั้งโครงการนี้เป็นพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำ มีการทำเกษตรกรรม ปลูกทั้งข้าวนาปีนาปรังตลอดปี มีแหล่งน้ำที่ประชาชนในการดำรงชีวิต เป็นตำแหน่งที่ตั้งของโครงการที่ไม่ชัดเจนนะครับ กำหนดไว้กว้าง ๆ มีผลทำให้การกำหนดขอบเขต การศึกษาผลกระทบโครงการไม่ชัดเจน ตามไปด้วยนะครับ แล้วก็ด้านการจราจรขนส่งไม่เหมาะสมซึ่งคาดว่าจะมีรถขยะเข้าออก เป็นจำนวนมากและถนนก็คับแคบจะส่งผลต่อการจราจรของประชาชนอย่างแน่นอน

นายทินพล ศรีธเรศ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

ผลกระทบข้อ ๔ ผลรายงานจากคณะกรรมาธิการทำให้เข้าใจว่าโครงการ มีการจัดการขยะที่ดีนะครับ เจ้าของโครงการให้ข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริง ทำให้ เกิดปัญหาขยะและน้ำเสียไหลมาตามถนน อันนี้คือเป็นข้อท้วงติงจากคณะกรรมาธิการ การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นายทินพล ศรีธเรศ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

ข้อ ๕ การทำ MOU กับ อปท. ที่เกี่ยวข้องไม่ถูกต้อง ไม่สมบูรณ์

นายทินพล ศรีธเรศ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

ข้อ ๖ รายงานการศึกษาวิเคราะห์ไม่ถูกต้องตามขั้นตอน ซึ่งรายงาน การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ฉบับสมบูรณ์เสร็จสิ้นหลังจากมีการจัดเวทีรับฟัง ความคิดเห็น ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เนื่องจากการศึกษาที่ถูกต้องตามหลักวิชาการนั้น รายงานการศึกษาฉบับนี้ต้องแล้วเสร็จสมบูรณ์ก่อน เพื่อใช้เป็นข้อมูลนำเสนอในเวทีรับฟัง ความคิดเห็น และใช้เป็นข้อมูลเสนอต่อ อปท. ที่เข้ามาร่วมทำ MOU ด้วยนะครับ จึงจะมีผล ให้เกิดความเข้าใจต่อโครงการที่คลาดเคลื่อนได้นะครับ

นายทินพล ศรีธเรศ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

ข้อ ๗ การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ไม่มีคุณภาพเพียงพอ ไม่เป็นไป ตามหลักสากลของการรับฟังความคิดเห็น มีเพียงการจัดเวทีระดับอำเภอที่หอประชุมอำเภอ มีภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในชุมชนใกล้เคียงเข้ามาร่วมรับฟัง แต่ไม่มี ประชาชนในหมู่บ้านรอบ ๆ ที่จะไปตั้งโครงการที่จะได้รับผลกระทบไม่ได้เข้าร่วมด้วย แต่อย่างใดนะครับ โครงการขาดการให้ข้อมูลผลกระทบทางเชิงลบ ของโครงการต่อผู้มี ส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ข้อมูลของสาร Dioxin ที่เกิดจากการเผาไหม้ที่มีความร้อนไม่เพียงพอ ในการกำจัดนะครับ โดยสาร Dioxin มีอันตรายต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย มีผลกระทบ ต่อระบบประสาทและพัฒนาการของสมองของเด็ก มีอันตรายต่อระบบการสืบพันธุ์ของมนุษย์ แล้วก็เป็นสารก่อมะเร็งด้วยนะครับ แล้วทางคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ก็มีข้อเสนอให้ด้วย ให้กับส่วนราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

นายทินพล ศรีธเรศ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

ข้อเสนอที่ ๑ ก็คือ ให้ทบทวนโครงการก่อสร้างของโครงการนี้นะครับ แล้วก็ เริ่มดำเนินการขออนุญาตใหม่ แล้วก็ให้ยกเลิกความเห็นโครงการนำเสนอไปสู่กระทรวง มหาดไทยว่าให้ยกเลิกความเห็นชอบโครงการนี้ แล้วก็ให้ทางตำบลกมลาไสยทำโครงการใหม่ ให้ถูกต้อง แล้วก็นำเสนอไปให้กับกระทรวงมหาดไทยใหม่ แล้วก็เริ่มกระบวนการที่จะ ขออนุญาตไม่กี่ครั้งหนึ่ง อันนี้ผมก็กลัวว่าจะมุ่งเน้นในการใช้พลังงานหมุนเวียนมากเกินไป จนเราต้องลืมความสำคัญของวิถีชีวิตของประชาชนไป ซึ่งแน่นอนครับพลังงานหมุนเวียน ก็ยังคงเป็นทางออกของพลังงานที่ยั่งยืนของไทยต่อไป ขอบคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านมานพ คีรีภูวดล ครับ

นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมืองครับ ท่านประธานครับ นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมขออนุญาตอภิปรายรายงาน ของ กกพ. หรือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ท่านประธานครับ คณะกรรมการชุดนี้ เกิดขึ้นมา คลอดออกมาภายใต้ พ.ร.บ. ประกอบกิจการพลังงาน ปี ๒๕๕๐ ในหมวด ๒ ส่วนที่ ๑ มาตรา ๑๐ ซึ่งมีภารกิจที่ชัดเจน คือ ๑๘ ข้อ ๑๘ อนุนี้ครับ ท่านประธานครับ ผมคิดว่าการมีคณะกรรมการชุดนี้ภายใต้ พ.ร.บ. ประกอบกิจการพลังงาน ปี ๒๕๕๐ นี้ มันมีความคาดหวังอยู่ ๒ ประการท่านประธานครับ

นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประการแรก เราคาดหวังว่าคณะกรรมการชุดนี้จะเป็นตัวแทน จะเป็น กรรมการผู้ที่จะปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนในเรื่องของพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำมัน แก๊ส หรือพลังงานอื่น หรือออกแบบแนวทาง พลังงานที่มันเหมาะสมและสมดุลท่านประธานครับ

นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ เราคาดหวังว่ากรรมการชุดนี้ท่านจะกำกับระบบพลังงาน ในประเทศนี้ให้มันมีความสมดุลและเป็นธรรม ทั้ง ๑๘ ข้อ ในหน้าที่ของท่านตามมาตรา ๑๑ ของ พ.ร.บ. นี้ ผมคิดว่ามันมีความคาดหวังแค่ ๒ ข้อนี้ อันนี้คือประเด็นสำคัญ ท่านประธานครับ ทีนี้คำถามที่ประชาชนเขาฝากถามผมจะไม่ลงรายละเอียด เพราะว่าภารกิจที่อยู่ในรายงาน ผมคิดว่ามันเป็นภารกิจปลีกย่อยมันไปทำที่มันไม่ใช่เป็นภารกิจหลัก ประชาชนถามอย่างนี้ ท่านประธานครับ อันนี้ฝากถึงคณะกรรมการทั้ง ๗ รวมถึงองค์กรเลขาธิการ ลำดับการทำงาน ในองค์กรของท่าน ประชาชนถามว่ากำกับพลังงานอย่างไร กำกับอย่างไรครับ ค่าไฟฟ้า แพงขึ้น ๆ อย่างนี้ครับ อันนี้คือประเด็นสำคัญ ถ้าเอาตามมาตรา ๑๐ ใน พ.ร.บ. นี้ ท่านจะต้องรักษา ๒ ความคาดหวังของ พ.ร.บ. นี้ที่พี่น้องประชาชนเขามีจินตนาการว่า ท่านจะต้องทำเรื่องนี้ ทำอย่างไรให้พิทักษ์สิทธิผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนในเรื่องของ พลังงาน ท่านจะเป็นกรรมการในการดูแลว่าใครจะบริหารจัดการพลังงานที่มันสมดุล และเป็นธรรม ๒ ข้อนี้นะครับ คำถามของพี่น้องประชาชนบอกว่า บริหารจัดการอย่างไร ทำไมแพงขึ้น

นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

คำถามที่ ๒ ก็คือว่าสัดส่วนพลังงานสำรอง ทำไมเยอะเกินไป บางข้อมูล บอกว่าเกิน ๔๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ ๓๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ ๕๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ แล้วเรามีความจำเป็น ขนาดไหนที่จะต้องมีการสำรองพลังงานขนาดนี้ อันนี้คำถามของพี่น้องประชาชน และที่สำคัญ ก็คือว่าการที่จะต้องกำกับว่าใครจะเป็นผู้เล่นพลังงานนี้

นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

คำถามของพี่น้องประชาชนในข้อ ๓ ถามว่าทำไมเวลาอนุญาตให้ผู้ประกอบการ ในการผลิตพลังงานเพื่อไปขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ขายให้กับหน่วยงาน ที่รับผิดชอบและมาขายให้ประชาชน ที่ประชาชนจะต้องจ่ายค่าไฟแพง ๆ ทำไมมันซ้ำหน้ากัน ทำไมเป็นเดิม ๆ ทำไมไม่พูดถึงหลักการกระจายอำนาจ ทำไมไม่พูดถึงเรื่องพลังงานทางเลือก ที่ประชาชนบอกว่าเรามีครัวเรือนประมาณ ๒๒ ล้านครัวเรือน ทุกหลังคาเรือนสามารถ ผลิตไฟฟ้าได้ ทำไมนโยบายเหล่านี้มันไม่เกิด อันนี้คือ ๓ ข้อที่ประชาชนเขาถามมาครับ

นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ทีนี้สำคัญที่สุดครับท่านประธาน คำถามก็คือว่า ผมคิดว่าวันนี้มันเป็น การสนทนาธรรม ท่านอาจจะมีความอึดอัด ท่านอาจจะมีความไม่สบายใจ ท่านอาจจะมี ข้อจำกัด พ.ร.บ. ที่ให้อำนาจท่านในมาตรา ๑๐ ในหมวด ๒ ว่าจริง ๆ แล้วกรรมการไม่มี อิสรภาพในการทำงานเลย จริง ๆ แล้วกรรมการมีมีด มีดาบ มีอาวุธ แต่ออกใช้ไม่ได้เลย จริงหรือเปล่าครับ เรื่องนี้ผมคิดว่าต้องมาคุยกันแบบตรงไปตรงมา ต้องมาพูดต่อที่ประชุม สภาแห่งนี้ว่าในบทบาทของผู้แทนราษฎร ในบทบาทของผู้แทนประชาชนว่าที่จะทำหน้าที่ ในการตรวจสอบและเสนอแนะ ช่วยดู การแก้กฎหมายก็แก้ตรงนี้นะครับ ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็น เรื่องความจำเป็น เพราะว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผมคิดว่าความคาดหวังของพี่น้อง ประชาชน ๒ ข้อว่าท่านจะเป็นผู้ปกป้องสิทธิด้านพลังงาน ซึ่งไม่เกิดความเป็นจริงเลย ท่านจะเป็นผู้กำกับระบบพลังงานที่มีความสมดุลและเป็นธรรม ซึ่งปรากฏการณ์ที่ผ่านมา เราก็เห็นว่าใครคือคนที่ได้สิทธิและสร้างพลังงานและขายให้พวกเรา และพวกเราต้องจ่ายเงิน ค่าแพง ๆ ออกมา เพราะฉะนั้นผมต้องคิดว่าท่านต้องมาพูดความเป็นจริงเลยว่าเครื่องมือ ที่มีอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. นี้ มาตรา ๑๐ มันใช้ได้จริงหรือเปล่า ถ้าไม่ได้ก็เสนอมาครับ ผมคิดว่า ต้องคุยกันอย่างนี้ประเทศชาติถึงจะเดินได้ ทีนี้ข้อสงสัยของผมว่าทำไมมันกำกับไม่ได้ มันออกฤทธิ์ไม่ได้จริง ๆ ผมไปดูในมาตรา ๑๗ ในกฎหมาย เขาบอกว่ากรรมการ ดำรงตำแหน่ง ๖ ปี อันนี้มาตามกระบวนการนะครับ ซึ่งกรรมการนี้มาอย่างไร มาตาม มาตรา ๑๔ นะครับ รัฐมนตรีจะต้องแต่งตั้งให้มีคณะกรรมการสรรหา คณะกรรมการสรรหา จะต้องเป็นความเห็นชอบของ ครม. ผมก็กลับไปดูว่ากรรมการกำกับพลังงานชุดนี้ ๗ คน ที่อยู่ในเอกสาร ผมคิดว่าท่านไม่ได้มาโดยปกติตาม พ.ร.บ. ในมาตรา ๑๔ มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๕ ท่านมาตามคำสั่ง คสช. มาตรา ๔๔ ในปี ๒๕๖๒ คือจริง ๆ แล้ว คสช. หมดไปแล้ว ผมคิดว่าท่านก็น่าจะหมดวาระ แต่ถ้ายึดโยงกับประเด็นนี้ หมายความว่าท่านก็ต้องอยู่ ๖ ปี ท่านก็อยู่มา ๔ ปี ก็ได้อีก ๒ ปี เหตุผลเหล่านี้หรือเปล่าครับ ท่านไม่สามารถจะมีอิสรภาพ ในการที่จะกำกับควบคุมทิศทางพลังงานที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติและพี่น้อง ประชาชน เหตุผลนี้หรือเปล่าครับที่ท่านไม่สามารถที่จะใช้เครื่องมือในการกำกับ หรือว่า มีผู้กำกับที่เรามองไม่เห็น ผมคิดว่าจำเป็นจะต้องพูดความจริง ท่านประธานครับ

นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นสุดท้าย ผมก็ได้ยินข่าวมาว่ามีองค์กรอิสระ หรือมีองค์กร หลายองค์กรที่มีค่าตอบแทนหลาย ๆ แสน ผมคิดว่าอันนี้เป็นเหตุผลหรือเปล่าครับ ที่ท่านไม่สามารถที่จะใช้ฤทธิ์เดชตาม พ.ร.บ. นี้เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน เป็นเรื่องผลประโยชน์หรือค่าตอบแทน หรือผลประโยชน์อื่นใดหรือไม่ อันนี้เป็นคำถาม ที่พี่น้องประชาชนฝากถามมาครับ ขอบคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ต่อไปเป็นท่านอดิศรนะครับ แล้วหลังจากท่านอดิศรอภิปรายแล้วก็จะเป็นการชี้แจงรอบที่ ๑ ของทางผู้ชี้แจงครับ เชิญท่านอดิศรครับ

นายอดิศร เพียงเกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ กระผม นายอดิศร เพียงเกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดขอนแก่น ผมเป็นผู้แทนราษฎรแรก ๆ ผมยื่นกระทู้ถามสด ยื่นญัตติถาม เรื่องค่าประกันไฟฟ้า นานแล้วครับ ตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ พูดใหม่เหมือนใหม่ ผมไม่เข้าใจว่า คนจะขอไฟฟ้านี่เอาเงินไปประกัน ๓,๐๐๐ เอาเงินไปประกันราคาน้ำประปา แล้วมีมนุษย์ ตัวไหนที่จะไม่ใช้น้ำประปา ไม่ใช้ค่าไฟแล้วจะเอาเงินประกันคืน ผมสงสัยว่าเงินประกัน ที่ชาวบ้านเอาไปวางไว้นี่ การไฟฟ้าหรือการประปาขอโทษนะครับเอาไปใช้อะไรบ้าง ก็ดีใจ มาอ่านอยู่ที่หน้า ๔๐ กำกับดำเนินการมาตรการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อคุ้มครองผู้ใช้พลังงานตามที่ กกพ. ประกาศ หลักเกณฑ์การคืนหลักประกันการใช้ไฟฟ้า ให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้า คืนไป ๒๔.๐๗ ล้านรายทั่วประเทศ วงเงินกว่า ๓๓,๘๑๐ ล้านบาท ในปี ๒๕๖๔ ก็ดีใจแทนชาวบ้าน ต่อไปไม่ต้องเก็บเงินค่าประกันใช่ไหมครับ แล้วถามว่า เงินที่ชาวบ้านไปวางนี่มันก็ต้องก่อเกิดดอกเบี้ย ด้วยความเคารพผมไม่เชื่อว่าการไฟฟ้า จะเอาดอกเบี้ยของชาวบ้านไปใช้นะครับ วันนี้ผมขอทวงถามให้คืนทั้งเงินประกัน และดอกเบี้ยด้วย ลามไปถึงศาลนะครับท่านประธาน คู่ความนี่เอาเงินไปวางไว้นี่ ขอโทษ อย่าพูดให้ศาลได้ยิน ศาลก็ยังเอาไปเป็นสวัสดิการของศาล มันเป็น Question mark ที่ประชาชนสงสัย เงินของคนอื่นหรือคุณเอาดอกเบี้ยไปใช้นี่ไม่อายเขาหรือครับ ผมว่า ๓๐,๐๐๐ กว่าล้านบาทที่ท่านคืนมานี่ คืนดอกเบี้ยให้เขาด้วยนะครับ เพราะเวลาพวกผม ไม่จ่ายค่าไฟฟ้าทีนี่ตามไป ไม่จ่ายกี่เดือน กี่วันนี่ไปยุ่งยากมาก จึงขอพูดจะมีสิทธิทวงถาม เรื่องดอกเบี้ยหรือเปล่านะครับ ดอกเบี้ย ๓๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท มันหลายสตางค์ ปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕ และย้อนไปตั้งแต่ต้น ๆ เงินพวกนี้เป็นจำนวนเท่าไร ที่ทุกท่านสมาชิก ได้อภิปรายในสภา เขาอยากทราบว่าต้นทุนของน้ำมันจริง ๆ มันเท่าไร ประชาชน ถูกขี่หัวอยู่เท่าไร ก๊าซเราผลิตได้เอง นำเข้าเท่าไร พวกผมอยากรู้ว่า Net ต่อลิตรมันราคาเท่าไร เราจะต้องรับกรรมทางตรงทางอ้อมภาษีอะไรอีกมากมาย ค่า Ft จนป่านนี้ผมก็ยังไม่เข้าใจ ท่านประธาน ผมเข้าใจยาก คิดอะไรก็ไม่รู้ Ft มันเป็นตัวเลขที่ว่าผมไม่ได้เรียนวิศวะนี่ครับ ผมเรียนกฎหมายมา Ft ก็คืออะไร Ft ก็คือ Ft จนป่านนี้ยังสงสัย ท่านครับ รัฐบาลชุดนี้ เขาประกาศชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรีเพิ่งประชุม ประชุม ครม. นัดแรกเตรียมเดินหน้าลด ราคาพลังงาน ๓๐ นาทีผ่านมานี่นะครับประชุมกัน ไม่ทราบว่ากรรมการนี้จะทำตาม นายกคนใหม่ได้หรือเปล่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการหารือร่วมกัน กับนายสุพัฒนพงษ์ว่าบรรยากาศการพูดคุยเป็นด้วยดี โดยได้ฝากไว้สานต่อหลายเรื่อง โดยเฉพาะขั้นตอนในการลดราคาไฟฟ้า ค่าน้ำมันดีเซล ผู้สื่อข่าวถามว่าจะสามารถลดราคา พลังงานได้ตั้งแต่การประชุม ครม. นัดแรกหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่าจะประกาศทันที ขอให้รอนิดหนึ่ง โดยยืนยันทำงานไม่หยุด นอกจากนี้นายสุพัฒนพงษ์ยังฝากดูแลนโยบายอื่น ๆ และส่งไม้ต่อด้วยความราบรื่น จะลดทันทีในการประชุม ครม. แล้ว Net Net ของราคาของท่าน มันจะไปด้วยกันได้ไหมครับ ชาวบ้านไม่มีทางเลือก เข้าปั๊มน้ำมันท่านก็รู้ เท่าไรก็เท่านั้น ต่อรองไม่ได้ ผมสงสัยว่าเงินเดือนพวกท่านนี่เยอะนะ เยอะกว่าผู้แทนเรา เยอะกว่า รองประธาน ค่าประชุมก็เยอะ ก็ไม่ได้อิจฉาตาร้อนครับ แต่ว่าเอาความเป็นจริงว่าภาระ ของประชาชนจะเบากว่านี้จะได้ไหม ผมลุกขึ้นมาพูดประเด็นว่า ๑. ราคาแท้จริงของน้ำมัน ก๊าซมันเป็นเท่าไรต่อลิตร ผลิตในประเทศไทย ต่างประเทศนำเข้าอะไร เอาเปรียบชาวบ้าน กี่ประการในกองทุนต่าง ๆ ที่ท่านเรียกไปนะครับ ก็ขออนุญาตตอบ เพราะว่าหลังจากผมแล้ว ท่านก็ตอบ แล้วก็ดอกเบี้ยของเงินประกันด้วยนะครับ ของตาสีตาสา พ่อใหญ่สี พ่อใหญ่มา แม่ใหญ่จันทาของผม เงิน ๑๐๐-๒๐๐ บาท มีประโยชน์นะครับ ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ บาท มีประโยชน์ ก็ขอให้การไฟฟ้าเป็นที่พึ่งของพี่น้องประชาชน เขาบอกว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือฝ่ายผิดกันแน่ ใครผิดใครถูกเอาน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ฟรี ๆ ไปคิดราคาเป็นค่าไฟฟ้า แบบน้ำมัน น้ำไม่ได้ซื้อนี่ครับ ฝนตกลงมา สร้างเขื่อนทีท่วม ๓-๔ ตำบล แล้วท่านคิดราคา แบบน้ำมัน จริง ไม่จริงอย่างไร ขอให้ชาวบ้านมีความสุขเถอะ เพราะเจ้าหนี้ถาวรของเขา คือไฟฟ้ากับประปา บิลมาแล้ว ไม่ไปว่าก็ถอดหม้อ อาชีพของท่าน แต่ชาวบ้าน เห็นใจเขาเถอะครับผมมาพูดก็ทวงถามครั้งที่ ๓ ทวงถามดอกเบี้ยครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญทางผู้ชี้แจงครับ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานนะครับแล้วก็สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนะครับ ผมขออนุญาตตอบเป็นภาพรวมนะครับว่ามีการดำเนินการอย่างไร แล้วก็ตามกฎหมาย กำหนดให้เราทำอะไรบ้างนะครับ ก็ต้องเรียนในเบื้องต้นว่าทางภาคพลังงานเราแบ่งเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งก็คือทางด้านภาคนโยบาย อีกส่วนหนึ่งก็คือทางด้านกำกับ ภาคนโยบาย จะดูภาพรวมทั้งหมดของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจะสนับสนุน การส่งเสริมอะไรต่าง ๆ ภาคนโยบายจะดูทั้งหมด แต่ภาคกำกับของเราเป็นหลักก็คือว่ากำกับให้เกิดความเป็นธรรม สะท้อนต้นทุน แล้วก็กำกับกิจการพลังงานของเราก็คือจะกำกับในเฉพาะส่วนของไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติที่นำมาผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก อันนี้ก็คือหลัก ๆ ในการกำกับของเรา ในส่วนอื่นทางเราไม่ได้กำกับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำมัน LPG หรือแม้แต่กระทั่งแก๊ส ที่เข้ากับแท็กซี่ต่าง ๆ อันนี้เราไม่ได้ดู เราไม่ได้กำกับ แต่ทางภาคนโยบายจะเป็นคนดู โดยภาพรวมและกำหนดโครงสร้าง ๆ อัตราการคิดราคาตามภาคนโยบาย เพราะฉะนั้น นโยบายจะดูว่าส่วนไหนทางภาครัฐจะเป็นผู้สนับสนุนก็จะมีนโยบายไป ถ้าเรียนกลับมาปุ๊บ องค์กรของเราเองก็ยังเป็นองค์กรอิสระที่อยู่ภายใต้กระทรวงพลังงาน เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมี การดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงพลังงานอยู่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเรื่องของก๊าซธรรมชาติ คือก๊าซธรรมชาติที่นำมาผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก เราก็เลยจะดูเรื่องของการกำกับกิจการ ก๊าซธรรมชาติที่นำมาผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก แต่ก็จะมีบางส่วนที่เราไม่ได้กำกับเช่นกัน เช่น ก๊าซที่เข้าโรงแยกก๊าซของ ปตท. ที่อยู่มาบตาพุด อันนี้ทางเราไม่ได้ดู แต่ทางนโยบาย เขาจะกำหนดโครงสร้างมาแล้วว่าควรจะให้ต้นทุนของแต่ละที่เป็นเท่าไร กับแบบที่ทาง ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ได้กล่าวถึงว่าแล้วเราก็มองเห็นถึงการไม่เท่าเทียมกัน ก็มีหนังสือแจ้งไปที่ทางภาคนโยบาย ก็ติดตามอยู่ไม่ใช่ไม่ติดตาม ติดตามอยู่ว่าทาง ภาคนโยบายจะมีข้อคิดเห็นอย่างไร แต่อันนั้นเป็นส่วนของภาคกำกับไฟฟ้าที่เราต้องการ แต่ว่าภาคนโยบายอาจจะมองในมุมอื่น มุมของประเทศว่าเศรษฐกิจที่ต้องการเอา ก๊าซธรรมชาติไปแยกต่าง ๆ แล้วเกิดประโยชน์อะไรต่าง ๆ เขาอาจจะต้องมองแล้วก็มี เหตุผลอะไรก็มาทบทวนกัน แล้วก็ที่ตามล่าสุดก็คือว่าอาจจะเป็นไปได้เพราะว่ายังไม่มี การประชุมคณะ กบง. ก็เลยยังไม่ได้นำเรื่องนี้เข้ามาพิจารณา อันนั้นก็เป็นข้อเสนอของ ทาง กกพ. ไปทางฝั่งเดียวในเรื่องของกิจการก๊าซธรรมชาติในโครงสร้างราคา

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

ถัดมาก็เป็นเรื่องทางด้านไฟฟ้าก็เช่นเดียวกันครับ ทางด้านไฟฟ้า ปัจจุบันยังเป็นโครงสร้างรวมศูนย์อยู่ ก็คือการไฟฟ้าที่ซื้อไปเข้าระบบ ก็คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิต จะซื้อไฟฟ้าจากที่โรงใหญ่ ๆ ไฟฟ้าแรงสูงเข้ามา การไฟฟ้าภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง ก็เข้ามา แล้วก็มารวมกัน รวมกันปุ๊บการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยก็ส่งขาย การไฟฟ้าภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง เพื่อไปขายให้กับผู้ใช้ไฟที่เป็นผู้ใช้ไฟรายสุดท้าย เพราะฉะนั้นในโครงสร้างการดำเนินการตรงนี้ทั้งหมดเขาก็จะมีแผน ถึงเรียกว่าแผน PDP เป็นแผนแม่บทหลักในการพิจารณาโครงสร้างโดยรวม ไม่ว่านโยบายต่าง ๆ การรับซื้อไฟฟ้า เข้ามาในระบบต่าง ๆ จะเป็นไปตามแผน PDP ทั้งหมด ทาง กกพ. เองก็มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องตามแผน PDP ไม่ว่าจะโรงไฟฟ้าใหญ่ จะเข้าเมื่อไร จะออกเมื่อไร ทุกอย่างกำหนดอยู่ในแผน PDP แล้วก็เรื่องของโรงไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าชุมชนที่ซื้อเข้ามาปุ๊บแล้วทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนต่าง ๆ อันนั้น ก็จะกำหนดอยู่ในแผน PDP ทั้งหมด แต่ว่าถ้าอยู่ในแผน PDP แล้วทาง กกพ. จะเป็นคนดำเนิน ประกาศรับซื้อออกหลักเกณฑ์การรับซื้อให้สอดคล้องตามที่ทางนโยบายกำหนดว่า แต่ละรอบ ๆ จะให้รับซื้อเมื่อไร เวลาเท่าไร แล้วก็ด้วยราคาเท่าไรก็ยังอยู่ในที่ กพช. จะกำหนด คือกำหนดอยู่ในแผน PDP แล้วจะรับซื้อช่วงไหน กพช. จะเป็นตัวกำหนด อีกครั้งหนึ่งว่าในอัตราเท่าไร อย่างไร แล้วทาง กกพ. จะเป็นคนเอาส่วนเหล่านี้เข้ามา จากที่รวมเมื่อสักครู่ก็คือว่ามีไฟ เพราะไฟที่เข้ามาจะราคาไม่เท่ากัน อย่างขยะก็เป็นโครงการ ที่ต้องไปสนับสนุนให้เกิดการเผาขยะต้นทุนอาจจะแพงหน่อย เพราะฉะนั้นราคาทางนโยบาย เขาก็กำหนดมาราคาอาจจะแพงกว่า โรงไฟฟ้าชุมชนก็ต้องมีการเสริมเรื่องของให้เศรษฐกิจ หมุนเวียนก็อาจจะราคาที่แพงกว่าเพราะมีขนาดเล็ก แม้แต่โรงไฟฟ้าเขาเรียกว่า โซลาร์ ภาคประชาชนก็มี Concept ก็คือว่าให้เกิดความเท่าเทียมแล้วก็สนับสนุนให้เกิดการใช้ โซลาร์อะไรต่าง ๆ นี้ก็เป็นไปตามแผน PDP แล้วก็เป็นไปตามที่นโยบายกำหนดทั้งหมด แต่ส่วนของโซลาร์ภาคประชาชนก็มองว่าเขาสนับสนุนให้เกิดการผลิตแล้วใช้เองเป็นหลัก เหลือค่อยนำมาขาย แล้วก็การนำมาขายก็ต้องไม่กระทบกับราคาค่าไฟก็เลยเป็นการกำหนด ที่ออกมาแบบที่ว่า คราวนี้ถามว่าโรงไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนเดิมทีอาจจะไม่ค่อยเป็น ที่นิยมหนัก เพราะว่าราคามันก็ค่อนข้างจะไม่ค่อยสูงนัก แต่ว่าเราก็เปิดให้ประชาชนติดตั้ง ได้เต็มที่ ปัจจุบันหลัง ๆ ก็คือมีคนติดตั้งมากขึ้นแล้ว เพราะว่าราคาค่าไฟมันค่อนข้างจะสูง แล้วก็ตัวพวกแผงโซลาร์อะไรต่าง ๆ ราคาลดลง ปัจจุบันก็มีการขยาย ตอนนี้เข้าใจว่า ไป ๓๐ กว่าเมกะวัตต์แล้ว เพราะ ๑ ราย จะเป็น ๕๐๐ กิโลวัตต์ ถ้า ๓๐ เมกะวัตต์แล้ว ก็หลายพันรายอยู่ ปัจจุบันนี้ก็นิยมแล้วก็มีการขยายโควตาให้กับพวกโซลาร์ภาคประชาชน ไปแล้ว อันนี้คือในส่วนของแผน PDP ที่เราจะต้องเดินตาม ราคารับซื้อ การซื้อไฟฟ้าทั้งหมด ก็เป็นไปตามแผน โดย กกพ. จะเป็นคนออกประกาศกฎเกณฑ์ในการรับซื้อ สุดท้ายได้ไฟ เข้ามารวมกัน รวมทั้งไฟต่างประเทศด้วย แล้วมาขายให้กับประชาชนผู้ใช้ไฟรายสุดท้าย ก็จะเป็นไปตามนโยบายเช่นกัน นโยบายของรัฐบาลกำหนดให้เป็น Uniform Tariff ก็คืออัตราเดียวกันทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าในกรุงเทพฯ หรืออยู่ในต่างจังหวัดที่อยู่ไกล ๆ ก็จะใช้ในอัตราเดียวกัน อันนั้นหมายถึงว่าจะมีการชดเชยกัน ระหว่างผู้ที่ใช้ ผู้ที่มีต้นทุนต่ำที่อยู่ในกรุงเทพฯ เพื่อไปชดเชยให้กับคนที่อยู่ต่างจังหวัด ที่มีต้นทุนการเดินสายที่แพงกว่า แต่อันนี้ก็คือเป็นนโยบาย ซึ่งเราก็ต้องเดินตามนโยบาย เช่นกัน เพราะฉะนั้นไฟฟ้าก็จะมาแล้วก็เป็นไปตามนโยบายทั้งหมดจนถึงอัตราค่าไฟ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

แล้วก็อีกส่วนหนึ่งก็คือในระบบของเราเองไฟฟ้าเข้ามาปุ๊บมันก็จะมี ไฟสาธารณะ ไฟฟรีต่าง ๆ อันนั้นก็อยู่ในนโยบายเช่นกัน เพราะฉะนั้นตั้งแต่ต้นทาง ถึงปลายทางก็จะเป็นไปตามแผน PDP แล้วก็วิธีการคิดค่าไฟก็ต้องสะท้อนกับโครงสร้าง ตามแผน PDP เช่นกัน โดยการคิดค่าไฟ หลัก ๆ เราก็จะนำค่าไฟแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือค่าไฟฐานกับค่า Ft ๒ ส่วน โดยค่าไฟฐานก็จะดำเนินการตามแผน PDP ดูว่าจะมี การก่อสร้างโรงไฟฟ้า สร้างสายส่งเพื่อรองรับโรงไฟฟ้า หรือการรับซื้อต่าง ๆ ที่เข้ามา ก็จะอยู่ในแผน PDP ทั้งหมดเราก็จะทำอันนี้เป็นค่าไฟฐาน ส่วนที่เปลี่ยนแปลงจากค่าไฟฐาน ในรอบ ค่าไฟฐานจะมีประมาณ ๓-๕ ปี จะปรับ ๑ ครั้ง อะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากค่าไฟฐาน อันนี้ก็คือ Ft ที่เราจะกำหนดเข้ามา ถ้าตามหลัก ๆ จะเห็นได้ว่าในอดีตค่าไฟจะไม่ค่อย เปลี่ยนแปลงมากนัก ก็ด้วยโครงสร้างที่เรามีอยู่ก็คือแก๊สจากในอ่าวเข้ามาแล้วก็นำมา ผลิตไฟฟ้า โครงสร้างค่าไฟจะอยู่ประมาณ ๓.๖๐-๓.๗๐ บาท ในช่วงโควิด ช่วงอะไรต่าง ๆ ก็จะลดลงมานิดหน่อย เนื่องจากว่าราคาค่าก๊าซธรรมชาติมีราคาถูกกว่าปกติ เพราะฉะนั้น ในช่วงดังกล่าวทางเราก็มาพิจารณาค่าไฟ ในช่วงถ้าท่านจำได้ค่าไฟจะอยู่ในช่วงโควิดเข้ามา ราคาจะลงมา ลงมาปุ๊บเราก็รู้แล้วว่าหลังโควิดอาจจะมีเชื้อเพลิงที่แพงขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตผลิตน้อยลง เราก็เตรียมอะไรต่าง ๆ ไว้หมดแล้ว แต่ว่ามีเหตุการณ์ที่ใหญ่กว่านั้น โผล่เข้ามา ก็คือในช่วงเปลี่ยนผ่านสัมปทานจากอีกรายหนึ่งไปรายหนึ่ง ช่วงเปลี่ยนผ่าน รู้สึกจะเป็นปี ๒๕๖๕ ประมาณมีนาคม ในการเปลี่ยนผ่านสัมปทานทำให้การผลิตก๊าซธรรมชาติ ในอ่าวไทยลดลง โดยการลดลงเริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๔ เนื่องจากว่ารายเก่าเขาจะออกไป เขาก็เลยไม่มีการขุดเจาะหลุมเพิ่มเติม ทำให้ปริมาณแก๊สนั้นลดลงมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ รอบ Quarter สุดท้ายของปี ๒๕๖๔ ลดลงมา ลดลงมาต่ำสุดจาก ๘๐๐ ลงมาเหลือ ๒๐๐ ในปี ๒๕๖๕ ช่วงมีนาคม ในช่วงนั้นค่าไฟก็จะแพง ต้นทุนจะแพงขึ้นไปสูงมากนะครับ แล้วก็แก๊สที่เหลืออยู่ ๒๐๐ ยังคง ๒๐๐ อยู่ไปเรื่อย ๆ แล้วก็จะขึ้นไปตามเดิมถึง ๘๐๐ เหมือนเดิมประมาณปี ๒๕๖๗ กลางปี เพราะฉะนั้นในช่วงนี้ที่เราอยู่ก็ยังมีค่าก๊าซธรรมชาติ ที่ในอ่าวไทยที่เข้ามาน้อย พอเข้ามาน้อยปุ๊บเราก็ต้องมีนำในส่วนเชื้อเพลิงอื่นเข้ามาแทน ก็คือ LNG ที่เราสั่งจากต่างประเทศเข้ามาทดแทนแก๊สที่หายไป แต่เผอิญเจอจังหวะ ในช่วงที่ขาดแคลนตรงนั้น เป็นช่วงที่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้แก๊สธรรมชาติ LNG มีราคาสูงขึ้น อันนั้นก็เป็นผลกระทบต่อค่าไฟเป็นอย่างมากนะครับ ถ้าดูจากจากข้อมูลต้นทุน ต้นทุนหลัก ๆ มันจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี ๒๕๖๔ แล้ว เพิ่มค่อนข้างสูง ปี ๒๕๖๕ ก็จะสูงขึ้นอีก แต่ว่าด้วยทางนโยบายไม่อยากให้มีผลกระทบต่อประชาชนมากนัก เพราะว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่ ฟื้นจากโควิด ก็ให้ทางด้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยรับในส่วนนั้นไว้ก่อน แต่คราวนี้ รับมาปุ๊บมันก็ถึงประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท เกือบ ๑๕๐,๐๐๐ ล้านบาท ก็ดูแล้ว สภาพไม่น่าจะไหว ก็เลยเริ่มมีการให้คืนการไฟฟ้าออกมา ตอนนี้ก็คืนไปบางส่วนแล้ว แต่ว่า สถานการณ์ก็จะเริ่มดีขึ้นนะครับ เนื่องจากว่าแก๊สจะค่อยฟื้นกลับขึ้นมาแล้ว อันนี้ก็ต้อง เรียนทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนิดหนึ่งว่าปริมาณแก๊สที่หายไปมันไม่ได้หายไปเฉพาะช่วง เปลี่ยนผ่านสัมปทาน แต่ว่ามันหายไปอย่างต่อเนื่อง เกือบ ๓ ปีถึงจะกลับเข้ามาที่เดิม ตรงนี้ ก็เลยทำให้ยอดเงินมันค่อนข้างไปสูง เพราะฉะนั้นก็ต้องเรียนไว้เป็นข้อมูลในส่วนหนึ่งก่อน แล้วก็แบบที่เรียนว่าส่วนที่หายไปเราเติมได้ด้วย LNG และ LNG ตรงนั้นมันมีราคาแพง ปริมาณแก๊สที่หายไปถ้าทดแทนด้วย LNG มันเกือบ ๕ ล้านตัน ซึ่งเท่า ๆ กับ LNG ที่เรามีใช้ อยู่ในปัจจุบัน ในช่วงนั้นเองเราก็พยายามว่าจะทำอย่างไร ก็คือให้เกิดเสถียรภาพทางด้าน พลังงานนะครับ เพราะว่าสถานีแปรสภาพ LNG เราก็ไม่ได้ออกแบบมาให้ใช้เยอะขนาดนั้น ก็มีการเร่งสถานีใหม่ขึ้นมา แล้วช่วงเดียวกันก็เกิดราคาน้ำมันค่อนข้างแพง ราคาน้ำค่าน้ำมัน จะมีราคาถูกกว่า LNG เพราะช่วงนั้น LNG ใช้กับทางด้านยุโรป ทางด้านอะไรเยอะ เราก็มี การสับเปลี่ยนโรงไฟฟ้าหลาย ๆ โรงมาเดินน้ำมันแทน เพื่อบรรเทาราคาเชื้อเพลิงไม่ให้ มันสูงเกินไป ลดการใช้ LNG แต่ก็ต้องเรียนว่าก็ยังคงต้องใช้อยู่ เพราะว่าจำนวนเชื้อเพลิง มันมีจำนวนจำกัด ไม่อย่างนั้นก็จะมีปัญหาต่อความมั่นคงของประเทศนะครับ อันนี้ก็เป็น ภาพกว้าง ๆ ให้เห็นว่าราคาที่มันแพงขึ้นนี่มันแพงขึ้นจากต้นทุนจริง ๆ แต่ก็มีการให้ทาง การไฟฟ้ารับต้นทุนไว้บางส่วน แต่เนื่องจากว่ามันเยอะเกินไปก็ต้องมีการปล่อยคืนการไฟฟ้าบ้าง ในอนาคตนี้ถ้าจะมีการปรับให้การไฟฟ้ารับหรืออย่างไรอันนั้นเดี๋ยวเรามาพิจารณาดูกันได้ แต่ว่าในส่วนของ กกพ. เอง กกพ. มีหน้าที่กำกับให้สะท้อนต้นทุน แต่ทางภาคนโยบายจะมี กำหนดอะไรต่าง ๆ มาที่จะช่วยสนับสนุนอะไรต่าง ๆ อันนี้ก็พร้อมที่จะดำเนินการตาม นโยบาย แต่ว่าก็ต้องมีกระบวนการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามที่ พ.ร.บ. กำหนดครับ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

อีกส่วนหนึ่งครับ ในส่วนของไฟฟ้าที่บอกว่ามีเกิน อันนี้ด้วยข้อเท็จจริง ทางหน่วยงานที่เป็นคนดูแลแผนรวมของประเทศ ทางด้านภาคนโยบายเป็นคนวางแผน และดูรวมทั้งหมด แผน PDP อาจจะมีการปรับอยู่ตลอด อันนี้ถ้าพักนโยบายก็ต้องพิจารณา ดูว่าช่วงไหนมันมีการเปลี่ยนแปลง มีนัยสำคัญต่าง ๆ ก็จะมาปรับแผนเป็นระยะ ๆ ทั้งฉบับ PDP2015 PDP2018 PDP2018 ปรับครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๒ ที่จะมีตามมา อันนั้นก็เป็น ส่วนหนึ่ง คราวนี้ในส่วนของแผน PDP เขาออกแบบไว้สำหรับการใช้ไฟฟ้าในระบบ แต่ปัจจุบันก็เริ่มมีผู้ใช้ไฟฟ้านอกระบบก็คือมีการผลิตไฟฟ้าใช้เอง ไม่ว่าจะเป็นโซลาร์ ที่มันราคาถูกลง มีโรงงานติดมากขึ้น อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีการขยายตัว ขยายตัวปุ๊บ ก็ทำให้ความต้องการไฟฟ้าในระบบลดน้อยลง แล้วก็อีกประเด็นหนึ่งก็คือในช่วงที่เกิดโควิด ก็มีการใช้ไฟฟ้าลดลง เศรษฐกิจไม่ค่อยดีก็มีการลดการใช้ไฟฟ้าลง อันนี้ก็เป็นไปได้ว่าทำให้ กำลังผลิตอาจจะเกินอยู่บางส่วน แต่ต้องเรียนว่าโดยภาพรวมทางนโยบายเขาก็ได้ข้อมูลจาก ทางเราไป ก็จับจองอยู่เหมือนกันว่าจะมีการปรับแผนตามระยะเวลาหรือจังหวะที่เหมาะสม

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

ถัดมาก็จะเรียนว่าในโครงสร้างที่เราคิดค่าไฟตามแผน PDP ก็จะมีการปลด โรงไฟฟ้าอะไรต่าง ๆ ตามระยะเวลาที่กำหนด โดยโรงไฟฟ้าต่าง ๆ เราซื้อในราคาเดียว อันนั้นหมายถึงว่าโรงไฟฟ้าที่ใหม่ ๆ จะถูกสั่งให้เดินเครื่องเยอะหน่อย เพราะเป็นโรงไฟฟ้า ที่มีประสิทธิภาพดีกว่า โรงไฟฟ้าที่เก่าไปหน่อยหนึ่งก็จะถูกสั่งให้เดินเครื่องน้อย ถ้าตาม Load Profile มันก็จะมีเป็นเหมือนกับยอดภูเขา จะเป็น Base Load Intermediate Load แล้วก็ Peak Load Peak Load นี่จะเดินน้อยที่สุด แล้วก็ที่เหลือบางส่วนจะเป็นโรงไฟฟ้า สำหรับไว้ Stand by สำหรับเกิดภาวะฉุกเฉิน เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่กระบี่ ถ้าสังเกตก็คือว่าปกติจะไม่ได้เดินเครื่องเท่าไร จะเดินเครื่องก็ต่อเมื่อมีสภาวะที่แก๊ส ในอ่าวไทยมรสุมเข้าทำให้ส่งแก๊สไม่ได้ โรงไฟฟ้าบางปะกง โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน ก็อาจจะเดินเครื่องน้อยหน่อย จะมีก็ไว้สำหรับ Backup ตอนมีปัญหาจริง ๆ ในส่วนเหล่านี้ ก็จะทำให้มีโรงไฟฟ้าบางโรงเดิน บางโรงไม่ได้เดิน หรือบางโรงอาจจะเดินน้อยเพื่อไปเดิน เฉพาะช่วง Peak Load ในระบบเรานี่เราซื้อด้วยสัญญาระยะยาวมันก็จะเฉลี่ยกันไป แต่ถ้า ในต่างประเทศ Base Load เขาจะราคาถูก ถ้า Peak Load จะราคาแพงมากนะครับ ก็คือถ้าคำนวณตามราคาแล้วทาง Peak Load จะแพงเป็น ๔-๕ เท่าของ Base Load อันนี้ก็อธิบายให้เห็นภาพก่อนว่าโครงสร้างกิจการของเราเป็นซื้อระยะยาว จะไม่เหมือนกับ โครงสร้างในต่างประเทศที่เขาซื้อเฉพาะช่วงที่เดินจริง ๆ แต่ว่าพอเดินปุ๊บราคามันก็จะขึ้นไป ค่อนข้างเยอะนะครับ อันนี้ก็คือเหตุการณ์ที่ทำให้เห็นว่าต้นทุนของเราปรับเพิ่มขึ้น แต่ว่า ถ้านโยบายจะเฉลี่ยให้มีการแบ่งรับหนี้ต่าง ๆ เป็นไปได้ เราก็ยินดีที่จะดำเนินการนะครับ แต่ว่าที่เรามองนี่คือเรามองถึงการสะท้อนต้นทุน แล้วก็มองถึงความสามารถในการดำเนินงาน ของทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยด้วย เพราะว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเอง ก็มีภาระหน้าที่ที่จะต้องลงทุนขยายระบบต่าง ๆ ในอนาคต ก็มองถึงสภาพของการไฟฟ้าอยู่ เช่นกันนะครับ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

ถัดมาเป็นเรื่องของเงินประกัน ต้องเรียนว่าเงินประกันค่าไฟปัจจุบัน เราคืนให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท ๑ และ ๒ แล้วนะครับ คืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ส่วนคนที่ ยังไม่ได้ไปขอคืนก็จะได้รับดอกเบี้ยตามที่การไฟฟ้ากำหนด แต่ถ้าเกิดว่าท่านไปขอคืนก็จะได้ คืนทันทีเช่นกันครับ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

อันนี้ก็คือภาพรวมของโครงสร้างกิจการพลังงาน แล้วก็ปัญหาที่เราแสดง ให้เห็นว่าค่าไฟมันแพงขึ้นจากต้นทุนจริง แต่ว่ามีการให้การไฟฟ้าสนับสนุนไปก่อน แต่ว่า ไม่ได้แพงขึ้นเฉพาะช่วงเปลี่ยนผ่านสัมปทานช่วงนั้นช่วงเดียว คือมันกินเวลาอยู่ประมาณ เกือบ ๓ ปีที่แก๊สหายไปแล้วก็ค่อยเติมเข้ามาครับ ส่วนประเด็นอื่นเพิ่มเติมเดี๋ยวผม ขออนุญาตให้ทางท่านรองเลขาธิการช่วยเสริม แล้วก็ท่านผู้ช่วยเรื่องของกองทุนครับ

นายกัลย์ แสงเรือง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการ พลังงาน ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภานะครับ แล้วก็ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติ ผม กัลย์ แสงเรือง รองเลขาธิการ ขออนุญาตให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากท่านเลขาธิการได้รายงาน ไปแล้วนะครับ

นายกัลย์ แสงเรือง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการ พลังงาน ต้นฉบับ

ในประเด็นแรกที่เกี่ยวข้องกับภารกิจหน้าที่ของสำนักงาน กกพ. จากพรรคก้าวไกล คุณพูนศักดิ์ก็ได้พูดถึงเรื่องของการส่งเสริมพลังงานทดแทน ได้เพิ่มขึ้นในสัดส่วน ๑๑ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็เรียนท่านเพิ่มเติมนะครับว่าจากข้อมูล ณ ปัจจุบันก็ปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น ๑๔ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็ถ้าเราได้รวมถึงการใช้พลังงาน RE หรือพลังงานหมุนเวียนในส่วนที่ไม่ได้จ่ายเข้าระบบ ด้วยนะครับ ก็คือผลิตใช้เองนี่ตัวเลขในปัจจุบันก็ได้เพิ่มขึ้นถึงเกือบ ๑๙ เปอร์เซ็นต์แล้ว อันนี้ก็เป็นตัวเลขที่ Update ให้ท่านทราบนะครับ

นายกัลย์ แสงเรือง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการ พลังงาน ต้นฉบับ

ในส่วนของประเด็นที่ท่านพูดถึงขยะเป็นเรื่องการส่งเสริมแล้วก็ เกณฑ์การ คัดเลือกในการทำรายงานด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเปลี่ยนจาก EIA ในกรณีที่โครงการนั้น มีขนาดกำลังการผลิตเกิน ๑๐ เมกะวัตต์ อันนี้ผมเข้าใจว่าท่านทราบอยู่แล้วนะครับ อย่างที่ท่านสมาชิกจากพรรคเพื่อไทยได้อภิปรายไปว่ามีคำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวข้องใน ๔ กับ ๙ เป็นเรื่องของผังเมือง แล้วก็การให้การส่งเสริมโรงไฟฟ้าจากขยะชุมชนยกเว้นการทำรายงาน EIA ซึ่งในประเด็นนี้ทาง กกพ. เองก็ได้ออก COP หรือรายงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นมารองรับ การทำรายงาน EIA ขึ้นมา ก็คือการกำหนดมาตรการให้มีการดำเนินงานในเรื่องของ การทำรายงานมาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อมครบถ้วนในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียม โครงการ ขั้นตอนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ขั้นตอนการดำเนินงาน และขั้นตอนการรื้อถอน โครงการ อย่างไรก็ตาม COP ไม่ได้ปิดประเด็นทั้งหมดเรามีเงื่อนไขด้วยกัน ๕ ข้อ ถ้าเกิดว่า การทำโรงไฟฟ้าขยะนั้นไม่สามารถที่จะผ่านเงื่อนไขใน ๕ ข้อนั้นได้ ก็จะต้องกลับไปทำรายงาน EIA อยู่ดี แต่อย่างไรก็ตามครับความเหมาะสมในเรื่องของการจะใช้ COP หรือ EIA อันนี้อาจจะเป็นเรื่องของมาตรการทางด้านกฎหมาย ซึ่งอาจจะต้องพิจารณาร่วมกันต่อไปว่า จะเหมาะสมเป็นประการใดต่อไปนะครับ

นายกัลย์ แสงเรือง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการ พลังงาน ต้นฉบับ

สำหรับประเด็นที่ท่านตั้งข้อสังเกตว่าโรงไฟฟ้าอย่างเช่น ๒ หรือ ๓ โรง คือมากกว่า ๑ โครงการด้วยกัน แล้วก็มีขนาดที่ไม่เข้าข่ายต้องทำรายงาน EIA แต่มาวาง ตั้งอยู่ติดกัน ประเด็นนี้เราก็มีข้อห่วงกังวลมาโดยตลอดแล้วเราเองในฐานะหน่วยงานอนุญาต ก็ได้มีการหารือกับทางหน่วยงานที่รับผิดชอบทางด้านสิ่งแวดล้อมคือ สผ. ในเรื่องนี้ โดยเรา ก็ได้มีการกำหนดมาตรการในเบื้องต้นนะครับว่า ๑. โครงการนั้นจะต้องมีการแยก นิติบุคคลอย่างชัดเจนนะครับ ๒. Facility หรือสาธารณูปโภคที่ใช้ในการรองรับผลกระทบ ต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมจะต้องมีการแยกออกมาจากโครงการให้ชัดเจนไม่สามารถ ใช้ร่วมกันได้เพื่อว่าถ้าท่านตั้งแยกโครงการแล้วก็ไม่ทำ EIA ก็จะต้องมีงาน Facility ซึ่งรองรับครบถ้วนในตัวเอง และหากมีการใช้ร่วมกันจะต้องมีข้อกำหนด MOU หรือข้อตกลง ร่วมกันที่จะบอกว่าใครทำหน้าที่ในการรับผิดชอบอะไรในส่วนไหน หากเกิดผลกระทบ ในสิ่งแวดล้อมนั้นเพิ่มขึ้น นอกจากนี้เองในข้อกำหนดที่เราส่งรายงานร่วมกันในการพิจารณา เราก็ยังมีอยู่ด้วยว่าหากมีการพัฒนาโครงการแล้วมีข้อร้องเรียนหรือข้อห่วงกังวลเข้ามา หน่วยงานสามารถที่จะกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมเพื่อให้ทางหน่วยงาน สผ. หรือผู้ชำนาญการ พิจารณาให้ความเห็นเพิ่มเติมหรือ กกพ. ในฐานะหน่วยงานอนุญาตเองก็สามารถที่จะกำหนด เป็นเงื่อนไขเพิ่มเติมให้กับโครงการต่าง ๆ เป็นเงื่อนไขประกอบการอนุญาตได้ด้วยเช่นเดียวกัน อันนี้ก็เป็นประเด็นที่ชี้แจงให้ท่านทำความเข้าใจเพิ่มเติมในเรื่องของโครงการที่ติดตั้งกัน

นายกัลย์ แสงเรือง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการ พลังงาน ต้นฉบับ

ส่วนเรื่องของการรับซื้อในส่วนที่เป็น FiT แล้วก็มีการกำหนดว่าหากมีการทำ เงื่อนไขของโครงการซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมดีกว่าน่าจะมีอัตราการรับซื้อ ซึ่งจูงใจ มากกว่าอันนี้ก็เป็นประเด็นที่จริง ๆ หน่วยงานภาครัฐก็พิจารณาอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน เราขอรับประเด็นในนี้ว่าจะไปคุยกับภาคนโยบายในการกำหนดแนวทางในลักษณะเช่นนี้ไว้ เพิ่มเติมอย่างไรครับก็ต้องขอขอบคุณในโอกาสนี้

นายกัลย์ แสงเรือง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการ พลังงาน ต้นฉบับ

ส่วนในเรื่องของการที่ท่านมีข้อห่วงกังวลว่าการทำโครงการโรงไฟฟ้า ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ได้มีการกำกับดูแลรัดกุมเพียงพออย่างไร อันนี้ก็ต้องเรียนท่านว่า กกพ. เป็นภารกิจหนึ่งในการกำกับดูแลโรงไฟฟ้าไม่ให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปัจจุบัน จากอดีตที่ผ่านมาเราก็ได้มีการปิด โดยมีการออกคำสั่งทางปกครองเพื่อจะพักใช้ เพิกถอน หรือมีการออกคำสั่งให้แก้ไขปรับปรุงไปแล้วในจำนวนทั้งหมด ๑๔ โครงการด้วยกัน แล้วก็รวมถึงตั้งแต่โครงการขยะชีวมวล ก๊าซชีวภาพ หรือแม้กระทั่งโครงการลมเองก็ตาม ซึ่งอันนี้ก็เผยแพร่อยู่บน Website ของสำนักงาน กกพ. ด้วย รายชื่อแล้วก็คำสั่งต่าง ๆ ที่อยู่ในสำนักงาน กกพ. ครับ

นายกัลย์ แสงเรือง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการ พลังงาน ต้นฉบับ

ในอีกส่วนหนึ่งข้อห่วงกังวลของทางพรรคก้าวไกล ของคุณจิรัฏฐ์เกี่ยวกับ เรื่องของท่อส่งก๊าซธรรมชาตินะครับ ผมเข้าใจว่าเป็นท่อส่งก๊าซที่มาจากทางโรงไฟฟ้าบางปะกง ไปยังโรงไฟฟ้าพระนครใต้เกี่ยวกับเรื่องของ ๒ ประเด็นว่าทำไมการจัดทำรายงาน ด้านสิ่งแวดล้อม EIA จึงให้ทางเจ้าของโครงการเป็นผู้จัดทำ อันนี้ก็ต้องเรียนในเบื้องต้นว่า เป็นข้อกำหนดทางกฎหมายของทางนโยบายทางด้านสิ่งแวดล้อมก็คือให้เจ้าของโครงการ เป็นผู้จัดทำ แต่อย่างไรก็ตามการจัดทำนั้นจะต้องมีที่ปรึกษาซึ่งขึ้นทะเบียนกับทาง สผ. หรือหน่วยงานอนุญาตก็จะมีกลไกในการกำกับดูแลตรงนั้นอยู่นะครับ อันนี้ผมคงไม่ได้ ก้าวล่วงไปตอบในส่วนของกฎหมายสิ่งแวดล้อมนะครับ

นายกัลย์ แสงเรือง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการ พลังงาน ต้นฉบับ

ส่วนในกรณีของแนวท่ออีกประเด็นหนึ่งที่ท่านตั้งข้อสังเกตว่ามี ๓ แนวทาง แล้วก็น่าจะมีอีกแนวทางหนึ่งหรือไม่ อันนี้ผมขออนุญาตชี้แจงเป็นหลักการดังนี้นะครับ ในการเลือกแนวท่อก็จะมีอยู่ใน ๒ ขั้นตอนหรือ ๒ ส่วนที่เกี่ยวข้องก็คือ คชก. กับทาง หน่วยงาน กกพ. เอง ตอน คชก. ทาง ปตท. หรือบริษัทจะเป็นผู้เสนอก่อนว่าเขาจะไปศึกษา แล้วเขาจะเลือกอันใดก็จะมี ๒-๓ แนวทางแล้วแต่ขั้นตอนนะครับ ก็จะเสนอให้กับทาง คชก. ได้พยายามพิจารณานะครับ ซึ่งมิติในการพิจารณานั้นก็จะประกอบด้วย ๓ หรือ ๔ มิติ ด้วยกัน สำหรับกรณีของ คชก. เขาก็จะพิจารณาในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ผลกระทบชุมชน แล้วก็ความปลอดภัย ในส่วนของ กกพ. เอง เราก็พิจารณาในลักษณะนั้นเช่นเดียวกัน แต่เราอาจจะบวกในเรื่องของความคุ้มค่าทางด้านการลงทุนทางเศรษฐกิจของโครงการด้วย เพื่อไม่ให้เป็นผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าของโครงการนะครับ ซึ่งอันนี้ในทางขั้นตอนก็ได้ผ่านทาง คชก. ไปแล้วเมื่อเดือนตุลาคม ปี ๒๕๖๕ กกพ. เองก็เหมือนจะผ่าน คชก. แล้วก็ กก.วล. มาแล้วก็ผ่านการพิจารณา กกพ. ด้วยเช่นเดียวกัน สำหรับในรายละเอียดใน ๓ ช่องทาง ก็จะประกอบด้วยช่องทางที่ ๑ คือเส้นทางถนนบางนา-ตราด ถนนสุขุมวิทสายเก่า ซึ่งเลียบทาง ชายทะเล แล้วก็แนวทางที่เป็นแนวสายส่งเดิมนะครับ ผมรับทราบข้อมูลมาว่าอันนี้ได้มี การเลือกแนวทางทางสายส่ง ด้วยเหตุผลว่าการเลือกเดินแนวท่อตามสายส่งจะเป็น การใช้แนวทางที่มีการรอนสิทธิประชาชนไว้แล้วเดิมทำให้มีการไม่ต้องการรอนสิทธิเพิ่มเติม แล้วก็มีการใช้พื้นที่เพิ่มเติมเพียงเล็กน้อย นั่นก็เป็นเหตุผลว่าเราเลือกใช้ทางเดิมที่มีการใช้ ทางพื้นที่โครงข่ายไฟฟ้าไว้แล้วนะครับ อันนี้ก็เป็นเหตุผลหนึ่ง อย่างไรก็ตามหลังจากที่มี การเลือกแนวท่อนี้แล้วเราก็จะได้มีการรับฟังความคิดเห็นแล้วก็ส่งข้อมูลไปปิดประกาศ ตามชุมชนด้วยเพื่อให้มีการอุทธรณ์คัดค้านได้ ซึ่งปัจจุบันนี่ก็มีผู้ที่ส่งข้อมูลกลับมาบ้าง เช่นเดียวกัน เพราะอยู่ในระหว่างการพิจารณาอยู่เช่นเดียวกันกระบวนการก็จะเป็นลักษณะ เช่นนี้นะครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ผมว่าเบื้องต้นชี้แจงเท่านี้ก่อนดีกว่านะครับ แต่ผมขอที่ท่านบอกว่าเรื่องของ ปตท. ทำ EIA แล้วข้อกฎหมายกำหนดให้ผู้รับเหมาต้องทำเองใช่ไหมครับ อย่างไรเดี๋ยวส่งข้อกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องและระเบียบมาให้ผมด้วยนะครับ สมาชิกครับ

นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สงขลา ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผม ณัฏฐ์ชนน ครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ครับท่าน

นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สงขลา ต้นฉบับ

สั้น ๆ ครับท่านประธาน เมื่อสักครู่ ผมฟังทาง กกพ. ชี้แจงนะครับ สรุปง่าย ๆ ท่านไปให้คำนิยามคำว่า Ft ให้พี่น้องประชาชน เข้าใจง่าย ๆ เพราะวันนี้ปัญหาอุปสรรคในเรื่องค่าไฟฟ้าที่เขาสงสัยคือ Ft ท่านต้องอธิบายว่า Ft นี่จริง ๆ แล้วมันเป็นต้นทุนเชื้อเพลิงที่เราต้องไปจ่ายกินเปล่าหรือเปล่า ทำไมท่าน ไม่อธิบายให้ชาวบ้านฟังง่าย ๆ เพราะคนที่เสียผลประโยชน์คือชาวบ้าน เพราะฉะนั้น ฝากท่านประธานไปยังท่านเลขาธิการนี่คือสิ่งที่ประชาชนสงสัย ท่านต้องไปนิยามคำนี้ให้ชาวบ้าน เข้าใจง่าย ๆ ว่าต้นทุนการผลิตนี่แสดงว่าบริษัทเอกชนหรือว่า กฟผ. คุณไม่รับความเสี่ยง ในเรื่องของต้นทุนของพลังงานเลยหรือ ผลักภาระไปให้กับประชาชน นี่คือสิ่งที่ท่านต้องไป คิดเรื่อง Ft ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ในรอบแรกนี่ท่านไม่ติดใจ

นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานนิดเดียวครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญท่านมานพครับ

นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านประธานครับ ผมไม่แน่ใจว่าผู้ชี้แจงอาจจะตอบผมทีหลังก็ได้ หรือว่าที่เมื่อสักครู่นี้ที่ได้ชี้แจงคำถามที่ผมได้ ตั้งก็คือว่าท่านผู้ชี้แจงยังไม่ได้ตอบ

นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นแรก ก็คือว่าที่ประชาชนถามมาว่าภารกิจของท่านคือต้องกำกับ ควบคุมพลังงานใช่ไหมครับไปในทิศทางตาม พ.ร.บ. สิ่งที่ประชาชนถามว่าที่ท่านไม่สามารถ กำกับได้ เช่น ไฟมันขึ้น ๆ ไม่หยุดอย่างนี้ หรือมันมีเรื่องของพลังงานสำรองเกินอย่างนี้ครับ หรือมันมีผู้แข่งขันรายเดียว หรือว่ามีการแข่งขันที่น้อยมากอย่างนี้ครับ ประเด็นสำคัญที่ พี่น้องประชาชนถามมาก็คือว่าสิ่งที่มันเป็นอุปสรรคที่ท่านไม่สามารถกำกับได้มันคือข้อ กฎหมายหรือมันมีเหตุผลอะไร คือว่าถ้าเมื่อสักครู่นี้ท่านไม่ได้ตอบเดี๋ยวก็ท่านต่อไปค่อยชี้แจง ก็ได้ ขอบคุณครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เป็น ๒ คำถามจากรอบแรกนะครับ เชิญผู้ชี้แจงครับ เดี๋ยวสักครู่ครับมีอีกท่านหนึ่ง เชิญครับ

นายบุญแก้ว สมวงศ์ ยโสธร ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผม บุญแก้ว สมวงศ์ ผมต้องขออนุญาตท่านประธานด้วยว่าการชี้แจงนี้ผมอยากให้ท่านสมาชิกเราได้อภิปราย ให้จบแล้วเราค่อยตอบครั้งเดียวได้ไหม เพราะว่าเวลามันก็ดึกแล้วท่านประธานครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เรียนอย่างนี้ครับ แนวทางมันก็ค่อนข้างหลากหลายนะครับ แล้วเรื่องนี้พอมีผู้อภิปรายเยอะ ผมก็เกรงว่าตอนท้ายจะมีการตอบแล้วก็รวบรัด แล้วก็ไม่ได้ตอบคำถามของเพื่อนสมาชิก หลายท่าน แต่อย่างไรก็จะพยายามใช้เวลาให้ได้ประหยัดที่สุดนะครับ ขอบคุณครับ เชิญท่านวิโรจน์ครับ

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ผม วิโรจน์ ลักขณาอดิศร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เมื่อเช้าถ้าท่านประธานจำได้ นอกจากมีรายงานของ กกพ. แล้วก็ยังมีเพื่อนสมาชิกหลายคนก็ห่วงใยถึงราคากุ้ง ที่ตกต่ำนะครับ แล้วก็มีการเสนอญัตติเพื่อแก้ไขปัญหาราคากุ้งที่ตกต่ำด้วย ผมก็เข้าใจว่า ต่อจากนี้เราจะไปกันต่อที่ญัตติเพื่อแก้ไขปัญหาราคากุ้งที่ตกต่ำนะครับ แล้วก็มีประชาชน ถามมาเยอะแล้วก็รอมาก ๆ นะครับ ตกลงวันนี้จะมีการคุยกันเรื่องกุ้งไหมครับ เพราะเมื่อเช้านี้ ก็กุ้งกันทั้งนั้นเลยครับ ประชาชนก็รออยู่ครับ ผมหวังครับ นี่ผมยังไม่กลับนะครับ ผมรอกุ้ง อยู่เหมือนกันนะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ผู้เสนอญัตติยังยืนยันจะเสนอไหมครับ ไม่เป็นไรครับ เดี๋ยวประสานกันหลังนี้ก็ได้ครับ เชิญครับ

นายภราดร ปริศนานันทกุล อ่างทอง ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผม ภราดร ปริศนานันทกุล เมื่อสักครู่นี้ผมได้ไปดูรายชื่อเข้าใจว่าน่าจะเหลืออีกเกือบ ๒๐ คนนะครับ เดี๋ยวลองดูเวลาว่าในอีก ๒๐ ท่านที่เหลือรวมทั้งท่านผู้ชี้แจงด้วยเราจะใช้เวลากันสักเท่าไร ถ้าหากว่าถึงสัก ๓ ทุ่มอย่างนี้ แล้วมาเริ่มเรื่องญัตติที่สำคัญเช่นเลี้ยงกุ้ง ซึ่งเพื่อนสมาชิกผม ท่านวรสิทธิ์ก็เตรียมที่จะอภิปรายอยู่ หากเราเริ่ม ๓ ทุ่มแบบนี้ผมว่าเราทำงานกันหนักเกินไป ก็อาจจะต้องขยับเป็นครั้งหน้า แต่ว่าก็ลองดูเวลาก่อนว่าจะลงตัวที่เวลาไหน ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เอาอย่างนี้ครับ เดี๋ยวเอาเป็นเรื่องชี้แจงก่อนก็แล้วกันนะครับ ผมตั้งใจว่าพอเสร็จจากผู้ชี้แจง แล้วจะมีการพัก ๑๐ นาที ก็ให้ทางตัวแทนพรรคได้มีโอกาสหารือกันว่าเราจะเท่าไร ส่วนสมาชิก ๒๐ ท่านหลังก็มีการทยอยถอนชื่อออกบ้างแล้ว เพราะว่าได้รับคำตอบแล้ว เดี๋ยวตอนพักก็หารือกันนะครับ เชิญผู้ชี้แจงครับ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

ขออนุญาตตอบคำถามเรื่อง Ft จริง ๆ ต้องเรียนว่าเรามีหลักเกณฑ์ การคิดค่า Ft ประกาศอยู่ในราชกิจจานุเบกษา แต่ก็ขออนุญาตนำคร่าว ๆ ก็แล้วกันว่าค่า Ft ส่วนใหญ่แล้วเป็นผลมาจากค่าเชื้อเพลิงเป็นหลัก ก็คือค่าเชื้อเพลิงในช่วงที่ Gap หายไปนี้ ค่าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง เพิ่มขึ้นจากปกติเฉลี่ยค่าเชื้อเพลิงทุกประเภท เฉลี่ยประมาณ ๒ บาทเพิ่มขึ้นไปถึง ๓ บาทกว่า ๆ ๓.๕๐ บาท ในส่วนที่เป็นเชื้อเพลิงอย่างเดียวเพิ่มไป บาทกว่านะครับ แต่ส่วนที่เป็นอย่างอื่นที่เพิ่มเติมเข้าไปมันอยู่ในอัตราที่น้อยมาก แค่ ๗ สตางค์อะไรต่าง ๆ อันนี้คือส่วนที่เพิ่มเข้ามา แต่ต้องเรียนว่าในส่วนของตัวโรงไฟฟ้าเอง อันนี้เราก็ได้กลับมาใช้เชื้อเพลิงอื่น ๆ ประกอบ เข้ามาเพื่อลดค่า Ft ลงได้ระดับหนึ่ง ส่วนที่ว่าการกำกับทำไมเราไม่กำกับให้ได้ตามวัตถุประสงค์ ก็ต้องเรียนแบบที่ผมแจ้งไปเมื่อสักครู่นี้ว่า ถ้าเรากำกับในแง่ของเราไฟฟ้าอย่างเดียว เรากำกับให้สะท้อนต้นทุน แต่เนื่องจากว่า พ.ร.บ. เราบอกว่าการกำกับของเราต้องเป็นไป ตามนโยบายของรัฐด้วย เพราะฉะนั้นภาคนโยบายในเรื่องกิจการพลังงานเขาก็จะมีมุมมอง นโยบายทางด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าชุมชน ไม่ว่าจะเป็นอะไรต่าง ๆ ซึ่งมันเกิดประโยชน์ ในเศรษฐกิจด้านอื่น แต่ในราคาค่าไฟที่อาจจะต้องจ่ายแพงขึ้น ซึ่งถ้านโยบายกำหนดมาแล้ว เราก็คงต้องเดินตามนโยบายไปตามลักษณะที่เป็นอยู่ ขออนุญาตคร่าว ๆ ประมาณนี้ครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ สมาชิกครับ ขอพักการประชุม ๑๐ นาที แล้วก็จะกลับเข้ามาด้วยท่านชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ส่วนเรื่องญัตติก็ขอให้พรรคที่มีโอกาสได้เสนอแล้วก็ตัวแทนพรรค เรายัง ไม่มี Whip นะครับ ก็ลองหารือกันนะครับ ขอพักการประชุม ๑๐ นาทีครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

พักประชุมเวลา ๑๙.๔๐ นาฬิกา

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เริ่มประชุมต่อเวลา ๑๙.๕๖ นาฬิกา

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ตอนนี้เหลือสมาชิกที่เข้าชื่อการอภิปรายทั้งหมด ๑๖ ท่าน ผมขอปิดการเข้าชื่อแล้วนะครับ เชิญท่านชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ครับ

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ผม ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดระยอง อำเภอบ้านค่าย อำเภอปลวกแดง อำเภอวังจันทร์ วันนี้ผมขออภิปรายรับทราบรายงานและขอตั้งคำถาม รวมถึงเสนอแนะแนวทางต่อ กกพ. ในประเด็นเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นจากการคิดค่าไฟฟ้า ในครัวเรือน ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนว่า เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคมที่ผ่านมา มีกรณีเหตุการณ์แปลก ๆ ที่เกิดขึ้นกับการคิดค่าไฟฟ้าจากมิเตอร์จำนวน ๗ หน่วย แต่โดนเรียกเก็บค่าไฟฟ้าสูงถึง ๕,๒๔๙.๖๙ บาท เรื่องนี้สร้างความตกใจให้กับผู้ถูกเรียก เก็บค่าไฟรายดังกล่าว เพราะคำนวณออกมาแล้วเท่ากับค่าไฟหน่วยละ ๗๕๐ บาท ซึ่งเป็นไปได้ อย่างไรที่จะคำนวณออกมาแล้วค่าไฟฟ้าแพงขนาดนี้ พอผู้ที่ได้รับการคิดค่าไฟสูงผิดปกติ ได้ติดต่อไปยังการไฟฟ้าเพื่อแจ้งและขอให้มีการแก้ไขปัญหา ผมขอให้ดูตาม Slide ที่ปรากฏ

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ

จะมีการดำเนินแก้ไขจนแล้วเสร็จ จึงเหลือค่าไฟเพียง ๖๖ บาท ในวันที่ ๒๒ สิงหาคม อันนี้ต้องขอชื่นชมว่าแก้ปัญหาได้ อย่างรวดเร็ว แต่ที่น่าสนใจก็คือในการตอบกลับจากการไฟฟ้าระบุว่าตรวจสอบแล้ว เนื่องจากหน่วยการใช้ไฟฟ้าลดลงจากที่เคยใช้ปกติ Bill จึงออกโดยวิธีเฉลี่ย ทั้งนี้จะ ดำเนินการแก้ไขปรับปรุง Bill รอบจดวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๖ ให้ท่านจากเดิม ๙๕ หน่วย แก้ไขเป็น ๗ หน่วย ตามเลขอ่านจริง ขอขอบคุณท่านที่แจ้งความผิดปกติดังกล่าวให้ทราบ ท่านประธานครับ ท่านผู้ชี้แจงครับ ผมฟังคำตอบจากหน่วยงานผมเกิดคำถามขึ้นทันทีครับว่า เฉลี่ยค่าไฟคืออะไร เฉลี่ยกับใคร แล้วทำไมต้องเฉลี่ย ผมพยายามค้นหาระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเท่าที่หาได้ก็พบว่าจากข้อบังคับของ กฟน. ข้อ ๓๗ และ กฟภ. ข้อ ๓๓ ระบุถึง การเรียกเก็บเงินค่าไฟฟ้ากรณีมิเตอร์ชำรุด หรือแสดงค่าคลาดเคลื่อนโดยเขียนว่าผู้ใช้ไฟฟ้า ต้องยินยอมชำระค่าไฟฟ้าประจำเดือนไปก่อนตามค่าไฟฟ้าเฉลี่ย ๓ เดือนหลังสุดที่ถือว่า เป็นปกติติดต่อกัน ปกตินี่มันอย่างไรผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันนะครับท่านประธาน หรือค่าไฟฟ้าที่คำนวณบนพื้นฐานวิศวกรรมไฟฟ้าโดยอาศัยหลักฐานข้อมูลซึ่งตรวจสอบได้ ในช่วงเวลานั้น ภายหลังจากการตรวจสอบมิเตอร์ และ/หรือ หลักฐานข้อเท็จจริงมีผล แตกต่างจากที่เรียกเก็บไปแล้ว กฟภ. จะเรียกเก็บเพิ่ม หรือจ่ายคืน แล้วแต่กรณี ท่านประธานครับส่วนที่เป็นระเบียบอะไรต่าง ๆ พวกนี้ผมเข้าใจครับว่าเวลาเกิดเหตุการณ์ แบบนี้ขึ้น มันก็ต้องอิงไปหาระเบียบเพื่อทำให้ความซวยตกไปอยู่กับพี่น้องประชาชน โดยหน่วยงานที่ทำไม่ต้องรับผิดอะไร อันนี้มันน่าเศร้านะครับ เพราะไฟฟ้ามันเป็นสินค้า เป็นบริการที่ถ้าเกิดเราไม่จ่ายขึ้นมาผู้ให้บริการเขายกหม้อไฟประชาชนออกกันง่าย ๆ บางทียกผิดยกถูกก็ซวยประชาชนอีก ประชาชนจะไปขอคืนแต่ละทียากเย็น พอเป็น ความผิดพลาดของผู้ให้บริการขึ้นมาประชาชนกลับต้องตามทวงสิทธิของตัวเองต้องปกป้อง สิทธิของตัวเอง นี่ผมไม่รู้นะครับว่ามีกี่บ้านที่โดนเก็บค่าไฟเฉลี่ยแบบนี้ แล้วการไฟฟ้า ก็ไม่แจ้งว่ามีการเฉลี่ยไว้ใน Bill โดนคิดค่าไฟกันแบบไม่เปิดเผย แล้วถ้าประชาชนไม่เอะใจ คืออะไรครับ เสียสิทธิไปเลย แล้วก็เลยจ่ายค่าไฟเกินความเป็นจริงเพราะคิดเฉลี่ยโดยไม่แจ้ง ค่าไฟแพงประชาชนก็แย่แล้วนะครับ นี่ยังต้องมากังวลว่าจะโดนค่าไฟคิดเฉลี่ยเอาเมื่อไร ก็ไม่รู้อีกหรือครับ แล้วถ้าเป็นแบบนี้ประชาชนจะหาเกณฑ์อะไรมาใช้ในการปกป้องสิทธิ ของตัวเองได้บ้าง เพราะประชาชนไม่สามารถคำนวณค่าไฟด้วยตัวเองได้นะครับ อย่างที่เห็น กันทั่วไป บางที บางเดือน ค่าไฟใช้หน่วยเท่าเดิมราคาบางทีก็ถูก บางเดือนก็แพง หน่วยเท่ากันแท้ ๆ เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเรื่อย ๆ อยู่แล้ว ในเหตุการณ์ที่ผมยกมาทั้งหมดนี้ นี่คือเหตุการณ์ของบ้านหลังเดียวที่ร้องผมมานะครับ คำถามก็คือในประเทศไทยมีเหตุแบบนี้ กี่หลังคาเรือน กี่รอบแล้ว ทางผู้ชี้แจงพอจะส่งรายละเอียดมาได้ไหมครับว่าปกติมีการคิดค่าไฟ เฉลี่ยบ่อยแค่ไหน จริง ๆ แล้วเรื่องนี้ก็ต้องโยงไปให้ถึงระดับสูงขึ้นไปอีกเพราะใน พ.ร.บ. ของ กกพ. ปี ๒๕๕๐ มาตรา ๖๖ วรรคสอง ระบุไว้ว่าในกรณีที่อัตราค่าบริการเป็นอัตราที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไป ให้คณะกรรมการเปิดเผยสูตร หรือวิธีการที่ใช้ในการคำนวณอัตราค่าบริการ รวมทั้งข้อมูล ค่าตัวแปรที่ใช้ในการคำนวณอัตราค่าบริการยกเว้นในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่า ตัวแปรดังกล่าวเป็นข้อมูลลับทางการค้าของผู้รับใบอนุญาต เรื่องนี้ผมได้ยินเพื่อนสมาชิก อภิปรายถามไปแล้ว และยังคงไม่ได้รับคำตอบเกี่ยวกับตรงนี้ซึ่งอันนี้เขียนไว้ใน พ.ร.บ. นะครับ ท่านประธานครับในเมื่อ พ.ร.บ. เขียนให้เปิดเผยสูตรคำนวณค่าไฟ แต่เรื่องที่ต้องเปิดเผย กลับหายากเหลือเกินว่าต้องคิดกันอย่างไร หรือต้องให้เจอ Case แบบที่ผมเล่า คือให้ ประชาชนรู้เอาเองว่ามีการคำนวณเป็นการเฉลี่ย ๓ เดือนแบบนี้ แล้วคำถามคือพอเปิดเผย มาแล้ว ถ้ามันไม่สมเหตุสมผลประชาชนพูดอะไรได้บ้างไหมครับ แล้วที่สำคัญตกลงแล้ว วิธีคิดสูตรคำนวณมีกี่สูตรครับ มีสูตรหารเฉลี่ย มีสูตรคูณด้วยไหมครับ มีสูตรยกกำลัง ด้วยไหมครับ เปิดเผยออกมาดีกว่าครับประชาชนจะได้รับทราบทั่วกัน ต้องพิจารณาแล้ว เพราะว่าการไม่เปิดเผยออกมาสังคมเสียประโยชน์ เพราะการชี้แจงเป็นรายบุคคลเงียบ ๆ แบบนี้ก็มีคนอีกจำนวนมากที่ไม่รู้ และผมย้ำอีกครั้งว่า ไฟฟ้าคือสินค้าและบริการที่ประชาชน แทบไม่มีทางเลือกเลย พูดชัดเจน กรุณาตอบเรื่องนี้อย่างชัดเจน เป็นแผนงานและแนวทาง กับสภาแห่งนี้ด้วยนะครับผมขอถามย้ำ

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ

อีกเรื่องที่ผมได้รับการร้องเรียนมาอย่างต่อเนื่อง ก็คือเรื่องที่เกี่ยวกับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค คือเรื่องไฟฟ้าส่องสว่างบนถนนทางหลวงหลายจุดดับมืด แต่หน่วยงานอื่นที่เป็นเจ้าของหม้อแปลงที่ซื้อไปจากการไฟฟ้าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ตัวอย่างแรก คือทางหลวงเส้น ๓๕๗๔ ในจังหวัดระยองที่พาดผ่านจากแยกเกาะกลอย มาจนถึงอำเภอปลวกแดง ถนนเส้นนี้บริเวณผ่านอำเภอบ้านค่ายจนถึงอำเภอปลวกแดง มีไฟส่องสว่างดับหลายจุด เพราะหม้อแปลงไฟฟ้าถูกโจรกรรมจนเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง หนึ่งในผู้ประสบอุบัติเหตุก็คือผมเองนี่ละครับ เพราะมองไม่เห็นสุนัขที่วิ่งผ่านตัดหน้ารถไป ๒ ครั้งในรอบ ๖ เดือน อีกเส้นคือทางหลวงเส้น ๓๔๔ ที่มาจากจังหวัดชลบุรีผ่านเข้า อำเภอวังจันทร์ไปถึงอำเภอแกลง จังหวัดระยอง ถนนเส้นนี้พาดผ่านเขตอุทยาน และเขตชุมชน ไฟส่องสว่างดับอย่างต่อเนื่องยาวนาน เพราะหม้อแปลงและสายไฟ ถูกโจรกรรมเช่นกันจนเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พอรับทราบเองก็ไม่รู้ จะแก้อย่างไร ตอนเรื่องเส้น ๓๕๗๔ ที่กล่าวไปตอนแรกยังดีครับ เกิดอุบัติเหตุผมชนแค่สุนัข เส้นนี้ไม่ใช่ชนสุนัขครับ ชนช้างครับ เพราะเส้นนี้ช้างป่าข้ามถนนอย่างต่อเนื่องและก่อให้เกิด อุบัติเหตุที่อันตรายยิ่งกว่าเดิม อย่างไรเรื่องนี้ผมขอให้ทาง กกพ. ตอบอย่างชัดเจนว่า มีแนวทางหรือไม่ในการทำให้การโจรกรรมที่สั่งไปยังการไฟฟ้าทุกหน่วยเลยให้ดูแลหม้อแปลง และออกแบบหม้อแปลงที่ขโมยไม่ได้เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ในระยะยาว เพราะเรื่องนี้กระทบ กับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศอยู่แล้ว ดังนั้นผมขอย้ำคำถาม ๓ คำถามให้ตอบชัด ๆ นะครับ

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ

๑. การเฉลี่ยค่าไฟฟ้า คืออะไร เฉลี่ยกับใคร ทำไมต้องเฉลี่ย และเฉลี่ยไป เพื่ออะไร

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ

๒. กฎหมายระบุให้เปิดเผยการคิดคำนวณค่าไฟ ทำไมไม่เปิดเผยประชาชน ให้ทราบสักที หรือจะปล่อยให้ประชาชนต้องระวังการโดนอะไรแบบนี้ไม่รู้ไปเรื่อย ๆ

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ

๓. คือเทคโนโลยีป้องกันการโจรกรรมหม้อแปลงไฟโดยการกำกับการ และสั่งงานได้ทั้งหมดกับ กกพ. มีแนวทางในระดับแผนบ้างหรือไม่ อย่างไร ขอให้ตอบตรงนี้ ด้วยนะครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านปรเมษฐ์ จินา ครับ

นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ แล้วก็ผู้เข้าร่วมชี้แจง ท่านเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการ กำกับกิจการพลังงานและคณะ ตอนแรกผมมองไปนึกว่าช่วงที่ท่านประธานพัก มีสมาชิก ของท่านประธานขึ้นไปนั่งข้างบน บังเอิญว่าแต่งตัวเหมือนกันนะครับ ปรเมษฐ์ จินา พรรครวมไทยสร้างชาติ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็ในส่วนของรายงานกิจการเล่มนี้ก็คงจะว่า ไปตามระเบียบในเรื่องของการตรวจสอบการ Audit ในเรื่องของหลักการบัญชี ไม่ว่าจะเป็น ในเรื่องของการแสดงฐานะทางการเงินในส่วนของการแสดงงบดำเนินการ แล้วก็ในเรื่องของ งบกระแสเงินสด แต่ว่าส่วนที่น่าสังเกตส่วนหนึ่ง ก็คือคงจะเป็นเรื่องของการจ้างที่ปรึกษา เนื่องจากว่าอาจจะเป็นเทคนิคชั้นสูง ผมมองว่าในส่วนที่ สส. นำเสนอเข้าไป ถ้าทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้ Lecture แล้วก็นำไปถอดบทเรียน แล้วก็คงจะลดในเรื่องของค่าที่ปรึกษาได้เยอะมากพอสมควร แต่ส่วนหนึ่งในเรื่องของบทบาท หน้าที่ ผมมองว่าในเรื่องของการกำกับแล้วก็คงจะต้องกำหนดด้วย เพราะว่าเมื่อสักครู่ ท่านก็บอกว่าจะดูในเรื่องของนโยบายแล้วก็ในเรื่องของการกำหนดโครงสร้าง ถ้าเป็นไปได้ ก็คงจะต้องเป็นที่พึ่งให้กับพี่น้องประชาชน ส่วนหนึ่งที่จะเสนอแนะเพื่อการพัฒนา นั่นก็คือว่า ปัจจุบันในส่วนที่อยากจะให้เป็นนโยบายระดับชาติ นั่นก็คือในเรื่องของการใช้พลังงานทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ Solar Rooftop ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมองว่าถ้าเราปล่อยให้ เป็นกลไกตามธรรมชาติก็คงจะพัฒนาได้ช้า บางประเทศที่เขาเจริญแล้วรัฐบาลเขาจะอุดหนุน เป็นต้นว่าในเรื่องของให้เงินอุดหนุนหน่วยงานราชการ บ้าน วัด โรงเรียน หรือว่าสถานที่ราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนปัจจุบันเราเห็นว่าท้องถิ่นน่าจะเป็นคำตอบ เพราะฉะนั้นถ้าเราทำ เป็น Low Model ในเรื่องของการที่จะทำเป็น Pilot Project ติดตั้งให้ฟรีในส่วนของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะว่าถ้าเขาเห็นแบบแล้วไปตั้งสัก ๑ แห่งในจังหวัดนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล แล้วก็องค์การบริหารส่วนตำบล ถ้าเขาเห็น ของจริงแล้วเขาสามารถที่จะเปรียบเทียบได้เขาก็ให้ความสนใจ แล้วก็จะเกิดการขยายผล ในที่สุด แล้วอีกส่วนหนึ่งที่อยากจะให้เห็นความสำคัญ เมื่อก่อนผมก็ได้มีการของบของ กองทุนอนุรักษ์พลังงาน แล้วก็ในเรื่องของกองทุนทดแทน มองว่าถ้าเราสามารถที่จะบูรณาการได้ ให้มองเป้าหมายถึงประชาชนเป็นหลัก เราอย่ามากั้นห้องว่าตรงนี้เป็นของกำกับกิจการ พลังงาน อันนี้เป็นของพลังงานทดแทน อันนี้เป็นการอนุรักษ์พลังงาน แต่เรามองว่า ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรบ้างในเรื่องของการที่จะใช้พลังงานทางเลือก ส่วนที่สำคัญที่สุด นอกจากในเรื่องของสถานที่ราชการแล้ว ส่วนที่เราจะทำให้เป็นต้นแบบนอกจากสถานที่ ราชการแล้ว ก็ไปดูในส่วนของสนามกีฬาที่อยู่ในชุมชน แล้วชุมชนเขาไปใช้ทั้งกลางวัน กลางคืน ท่านก็ไปออกแบบกันดูว่าจะใช้ On Grid Off Grid หรือว่าแบบ Hybrid เพื่อให้ เหมาะสมกับพื้นที่ แล้วก็จะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ อีกส่วนหนึ่ง ณ วันนี้เรามีผลไม้ แปลงใหญ่ ในส่วนของพื้นที่ภาคใต้ก็จะมีทุเรียนแปลงใหญ่ เป็นไปได้ถ้าเราสามารถจะผันน้ำ ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ สนับสนุนให้เขาสามารถจะใช้ Solar Cell ในการผันน้ำด้วย พลังงานแสงอาทิตย์ ผันน้ำจากแหล่งกำเนิดน้ำธรรมชาติ แล้วก็เข้าสู่ท่อ Main ไปตามถนน สาธารณะ แล้วชาวบ้านที่จะ Jump จากท่อ Main เข้าไปในส่วนของสวนของตนเองก็ลงทุนเอง เราลงทุนเฉพาะในส่วนของเป็นทางหลัก หรือว่าในส่วนของบางพื้นที่ ณ วันนี้เราเห็น หลายจังหวัดที่เขาเกิดภัยแล้ง หว่านข้าวแล้วต้นกล้าก็เริ่มที่จะเสียหาย ถ้าเรามีแหล่งน้ำธรรมชาติ แล้วเราไปทดลองทำในเรื่องของการผันน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ สูบด้วยพลังงาน แสงอาทิตย์แล้วก็ปล่อยไปตามห้วย หนอง คลอง บึง หรือว่าสระที่มันแห้งในช่วงหน้าแล้ง อาจจะช่วงต่อจากนั้นไป ชาวบ้านก็เอา Motor หรือว่าเอาเครื่องสูบน้ำมาสูบต่อจาก แหล่งกำเนิด ก็จะทำให้มีประโยชน์กับชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง แล้วอีกส่วนหนึ่งก็คือ ถ้าจะอุดหนุนในเรื่องของพลังงานทางเลือกอื่น ๆ เป็นต้นว่าตอนนี้เรามีไฟฟ้าชีวมวล ถ้าพื้นที่ไหนที่เขามีแหล่งกำเนิดวัตถุดิบ เช่นมีสวนยางพารา แล้วปัจจุบันไม้ที่ไม่ได้ขนาด สำหรับการทำ Furniture เช่น ปลายไม้ หรือว่ารากไม้ เขาจะมาสับ ๆ แล้วก็สามารถจะส่ง โรงไฟฟ้าชีวมวล พื้นที่ไหนที่คิดว่าสามารถที่จะป้อนวัตถุดิบได้ตลอดเวลาก็คงจะต้องมี การสนับสนุนเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง อีกส่วนหนึ่งผมมองว่าให้มันเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาตัวอื่นเข้ามาจากการใช้นโยบายพลังงาน ตัวนี้ ก็คือเรื่องของการวิเคราะห์ต้นทุน หา Unit Cost ในส่วนของการใช้ปาล์มน้ำมันมาผลิต พลังงานไฟฟ้า ลองดูว่าต้นทุนมันเป็นอย่างไร แล้วก็เปรียบเทียบ แม้ว่ามันจะเท่ากับดีเซล แต่หนทางอ้อมของเรามันจะช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนปาล์มให้เขาสามารถจะมีราคา ผลผลิตปาล์มที่สูงขึ้น บางครั้งเราต้องชั่งน้ำหนักดูว่าบางทีขาดเหลือกันเศษสตางค์ แต่ว่า เราสามารถที่จะช่วยชาวสวนปาล์มได้ หรือว่าเอายางพารา น้ำยางพารา หรือว่ายางแผ่น ยางพารา มาลองดู มาเผาแล้วก็ผลิตพลังงานไฟฟ้าดูว่าต้นทุนมันเป็นอย่างไร มันได้หลายเด้ง เป็นเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน แล้วก็ชาวบ้านก็คงจะได้ประโยชน์เต็มที่อันนี้ก็อยากจะ เสนอแนะให้กับท่านประธานฝากผ่านไปยังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อได้ออกแบบ ไหน ๆ ตอนนี้เราก็มาดูข้อมูลย้อนหลังในปี ๒๕๖๔ แต่เราเข้ามาเป็น ผู้แทนชุดที่ ๒๖ เป็นไปได้ก็คงจะให้ทางท่านได้นำเรียนรัฐบาลชุดหน้านะครับ ได้ดูแลทบทวน ทั้งระบบในเรื่องของโครงสร้างพลังงานด้วย ในเรื่องของราคาด้วย ในเรื่องของการต่อยอด พลังงานด้วยนะครับ ก็คงจะให้เป็นแนวทางในเรื่องของการทำงาน ที่ผ่านมาก็เป็นเรื่อง ของการกำหนดในอดีต แล้วก็เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในปัจจุบัน แล้วก็สร้างสรรค์ นวัตกรรมในอนาคตครับ ขอบคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ครับ

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ผม วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลครับ ผมคิดว่าไม่ต้องพูดพร่ำทำเพลงนะครับ เพราะว่าค่าไฟที่ขึ้นมาจากหน่วยละ ๓.๗๘ บาท เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๕ ปรับไปปรับมาเรื่อย ๆ ปัจจุบัน ๔.๗๐ บาท ถามประชาชน คนไหนครับ เขาก็บอกว่าแพง แต่สิ่งที่ประชาชนต้องการมากกว่าแพงหรือถูกคือความเป็นธรรม ท่านประธานครับ ลองคิดดูครับ ผมคิดว่าท่านประธานก็เป็น สส. เหมือนกัน ผู้สูงอายุที่เป็น ผู้ป่วยติดเตียงจำเป็นต้องเปิดพัดลมตัวหนึ่งระบายอากาศตลอดเวลา แค่พัดลมตัวเดียว ค่าไฟที่เป็นอยู่นี้เดือนหนึ่ง ๑๐๐-๑๕๐ บาท มันสำคัญตรงไหนครับ มันสำคัญตรงที่ว่า ถ้าไฟฟ้าเป็นสมบัติของคนทั้งชาติที่คนทั้งชาติจำเป็น และถ้าไฟฟ้านี่ถูกบริหารจัดการ เอาประเทศคู่แข่งสำคัญที่แย่งชิงการลงทุนทางตรง คุณจะสู้อินโดนีเซียกับเวียดนามอย่างไร อะไรคือศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทย คุณต้องการปรนเปรอนายทุนถึงกับ ต้องแลกกับศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเชียวหรือ นี่หรือครับ การกำกับกิจการพลังงานที่เพื่อความเป็นธรรมของประชาชนคนไทย ที่ผ่านมาครับ โครงการ อะไรที่ประชาชนจะได้ประโยชน์ทำเหมือนไม่เต็มใจทำ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงาน แสงอาทิตย์บนหลังคาภาคประชาชนตั้งเป้าไว้ ๑๐๐ เมกะวัตต์ กลุ่มบ้านผู้อยู่อาศัยตั้งเป้าไว้ ๕๐ เมกะวัตต์ งามไส้ได้มาแค่ ๓ เมกะวัตต์ กลุ่มสถานศึกษา โรงพยาบาล และน้ำเพื่อการเกษตร ๕๐ เมกะวัตต์ ในรายงานปี ๒๕๖๔ ท่านดู ได้มาแค่ ๑๐ เมกะวัตต์ ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง แถมในรายงานยังไม่พูดถึงกรณีการทุจริต โครงการที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนด้วยนะครับ รับผิดชอบโดยอะไร กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๓ Solar Cell ที่แม่ฮ่องสอน ไม่น่าจะผลิตไฟฟ้า แต่น่าจะตั้งขึ้นมาเพื่อผลิตเงินทอนมากกว่า สร้างไป ๑๒ แห่ง สุดท้าย ถูกปล่อยทิ้งร้างผลาญงบประมาณไป ๔๕.๕๙ ล้านบาท ทำไมไม่รายงานในรายงาน คดีไปถึง ป.ป.ช. ตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว ช่วยตอบด้วย หรืออย่างไรครับพอเห็นว่า กอ.รมน. ภาค ๓ แล้วไม่ตามเรื่องหรือครับ สาเหตุผมว่าที่อยู่แก่ใจอยู่แล้วว่าที่ Solar Rooftop ภาคเอกชน ไม่ประสบความสำเร็จก็คือราคารับซื้อไม่เป็นธรรม ทีนายทุนมี Adder ตอนนี้ไม่มี Adder แล้ว มี FiT แต่ประชาชนนี่คุณซื้อถูกมาก และที่สำคัญที่สุดรัฐบาลที่แล้วเคยประกาศเอาไว้ แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ว่าจะส่งเสริมการซื้อขายไฟฟ้าแบบหักลบ หน่วยไฟฟ้าสุทธิ หรือ Net Metering แต่เอาเข้าจริงไม่ได้ทำเลย พอเอกชนจะซื้อขายไฟฟ้ากันเอง กกพ. ก็ไปคิดค่าเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าหรือที่เรียกว่า Wheeling Charge แพงหูฉี่ ๑.๑๕ บาท คือตั้งราคาเพื่อไม่ให้ทำมากกว่า ทีนายทุนพลังงานหน้าเดิม ๆ นี่ครับช่วงเลือกตั้ง กลับกล้าที่จะประเคนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ทิ้งทวน ๔,๘๕๒ เมกะวัตต์ โอ้โฮ นี่หรือครับกำกับพลังงานเพื่อความเป็นธรรมของประชาชน สุดท้ายครับท่านประธาน ผมอยากย้ำให้ กกพ. ที่นั่งฟังตรงนี้แล้วผมพูดแทนใจประชาชนทั้งประเทศได้ตระหนัก ถึงหน้าที่สำคัญของ กกพ. คือการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนเพื่อให้ประชาชน ได้ใช้พลังงานอย่างเป็นธรรม ถ้า กกพ. ไม่ตระหนักในจุดนี้ สุดท้ายกลุ่มทุนผูกขาด หรือเครือข่ายอุปถัมภ์ของผู้มีอำนาจก็จะเข้ามาฮุบเอาพลังงานของประเทศไปกินรวบ แล้วไปรีดนาทาเร้น กดขี่ รีดไถผลประโยชน์จากประชาชนตามใจชอบ ให้พวกมันร่ำรวย บนคราบน้ำตาของประชาชน และอย่าให้รู้ครับว่าท่านไปแอบกินไวน์กับพวกเขา ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านสรรเพชญ บุญญามณี ถอนนะครับ เชิญท่านเบญจา แสงจันทร์

นางสาวเบญจา แสงจันทร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ดิฉัน เบญจา แสงจันทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลค่ะ ท่านประธานคะ ดิฉันขออภิปรายรับทราบรายงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เนื่องจากเมื่อช่วงเช้าของวันนี้ดิฉันได้รับข้อร้องเรียนจากชาวบ้านตำบลลาดตะเคียน ตำบลหาดนางแก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรีค่ะ ว่าขณะนี้กำลังมีความพยายาม ในการขออนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรมเป็นจำนวน ๓ โรงด้วยกัน ดิฉันขอ Slide ด้วยค่ะ

นางสาวเบญจา แสงจันทร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ซึ่งท่านประธานคะ ในแต่ละโรงมีกำลังการผลิตเป็นกำลังการผลิตโรงละ ๙.๙ เมกะวัตต์ และเมื่อนำมารวมกัน จะเป็น ๒๙.๗ เมกะวัตต์ โดย ๓ โรงนี้ที่เห็นอยู่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ต่อเนื่องและติดกันทั้งหมด อยู่บนที่ดิน ๖๒ ไร่ในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคกบินทร์บุรี ตำบลลาดตะเคียน อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี และถึงแม้ว่าโรงไฟฟ้า ๓ โรงนี้จะเป็นโรงไฟฟ้าจาก เชื้อเพลิง ขยะอุตสาหกรรมทั้งหมดนี้มาจากบริษัทเดียวกัน แล้วก็ทั้ง ๓ บริษัทนี้ ตั้งอยู่บนที่ดินต่อเนื่องกัน ดิฉันขอฝากถามท่านประธานผ่านไปยังท่านผู้ชี้แจงว่า โรงไฟฟ้าทั้ง ๓ โรงนี้ยังถือเป็นโครงการการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ อุตสาหกรรมขนาดเล็กมากได้อยู่หรือไม่ หรือถึงแม้ว่าโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ อุตสาหกรรมทั้ง ๓ โรงนี้จะเป็นโรงไฟฟ้าที่มีขนาดไม่เกิน ๑๐ เมกะวัตต์ แต่แน่นอนว่าพอโรงติดกันและเมื่อมันเดินเครื่องใกล้เคียงกัน เดินเครื่องพร้อมกันกำลัง การผลิตก็จะเกือบ ๓๐ เมกะวัตต์เลยทีเดียว และเนื่องจากว่าโรงไฟฟ้านี้มันตั้งอยู่ในบริเวณ เดียวกัน ดิฉันจึงขอตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทนี้จงใจที่จะยื่นขออนุญาตเพื่อหลีกเลี่ยงการทำ รายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือไม่

นางสาวเบญจา แสงจันทร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

และอีกประเด็นนะคะท่านประธาน เนื่องจากการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้า โรงไฟฟ้าขนาดเล็กมากมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กเข้ามามีส่วน ในการผลิตไฟฟ้า แต่ในกรณีโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรม ไฮเทคกบินทร์บุรีไม่ได้เป็นเช่นนั้น โรงไฟฟ้าทั้ง ๓ โรงนี้จะเห็นว่ามีผู้ถือหุ้นหลักเป็น บริษัทเดียวกันนั่นคือบริษัท เก็ทกรีน พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทนี้เป็นบริษัทย่อยของ บริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยอยู่ก่อนแล้วด้วย ซึ่งพอไปดูใน Slide ที่ ๔ จะเห็นว่า บริษัท เก็ทกรีน พาวเวอร์ จำกัด ยังมีบริษัทลูกอีก ๑๐ บริษัท ซึ่งทำโรงไฟฟ้าใน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี ปราจีนบุรี และนี่จึงถือว่าเป็นการลวงตา หลบกฎเกณฑ์ เลี่ยงความรับผิดชอบ แล้วก็เป็นการดำเนินการอย่างไม่ถูกต้อง โดยมีเจตนาที่จะเลี่ยง การปฏิบัติตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานหรือไม่ ซึ่งในส่วนของการปฏิบัติ ตามระเบียบว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff ในปี ๒๕๖๕-๒๕๗๓ สำหรับขยะอุตสาหกรรมที่มีใจความสำคัญว่า โครงการที่เสนอขายไฟฟ้า ต้องเป็นโรงไฟฟ้าที่ลงทุนก่อสร้างใหม่ และไม่เคยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือไม่เคยได้รับ การตอบรับซื้อจากการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย และไม่มีลักษณะต้องห้าม เช่น เป็นโครงการที่มี สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายที่ยังมี ผลบังคับใช้อยู่ ท่านประธานคะ ถ้าดูจากระเบียบที่ดิฉันได้กล่าวมา บริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (มหาชน) จึงไม่สามารถมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าได้อีกหรือไม่ ดังนั้นการที่ทั้ง ๓ บริษัทได้รับอนุมัติและได้รับอนุญาตจาก กกพ. ให้ก่อตั้งโรงไฟฟ้าจึงเป็น การดำเนินการที่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดระเบียบ ผิดกฎหมาย และยังเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบ ธรรมอีกด้วยหรือไม่

นางสาวเบญจา แสงจันทร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

นอกจากนี้ค่ะท่านประธาน ดิฉันได้ทราบมาในวันนี้ว่าเวทีการรับฟัง ความคิดเห็นประกอบการออกใบอนุญาตกิจการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรมนี้ เป็นกิจการที่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน มีการจัด เวทีนี้ขึ้นในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทางบริษัทที่ปรึกษาและบริษัทเจ้าของโครงการโรงไฟฟ้า ขยะอุตสาหกรรมทั้ง ๓ โครงการ ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และทำการรับฟังความคิดเห็นทั้ง ๓ โครงการในเวลาเดียวกันเลย มีการจัดประชุม แค่ครั้งเดียว แล้วก็ใช้ทั้ง ๓ โครงการ ในการจัดประชุมจัดประชุมวันเดียว ๓ โรงไฟฟ้าไปเลย แล้วก็การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นทางบริษัท เจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วก็เจ้าหน้าที่รัฐ ที่เกี่ยวข้องก็ไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างทั่วถึง ทำให้ ประชาชนในพื้นที่เกือบทั้งหมดไม่ทราบข้อมูล แล้วก็ตั้งใจจัดการประชุมนี้ในวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันที่ประชาชนส่วนใหญ่ ต้องไปทำงานกัน ส่วนสถานที่การจัดประชุม รับฟังความคิดเห็นไปใช้ในโรงแรมที่ไกลออกไปจากพื้นที่บริเวณนิคมอุตสาหกรรม และบริเวณที่ตั้งโรงไฟฟ้ามากว่า ๑๐ กิโลเมตร นี่จึงเป็นการที่แสดงถึงเจตนาในการที่จะ กีดกันและไม่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและทำให้จำนวน ผู้ที่มาร่วมในการแสดงความคิดเห็นในวันนั้นมีจำนวนลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ การกระทำที่ดิฉันได้พูดมาทั้งหมดดิฉันได้อธิบายแล้วว่าทั้งหมดนี้เป็นการดำเนินการ ที่ไม่ชอบธรรมด้วยกฎหมายและไม่ชอบธรรมกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างมากค่ะ ท่านประธานคะ ทุกครั้งที่มีโครงการและมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เกิดขึ้นโครงการเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนและเป็นโครงการที่สร้างผลกำไรอย่างมหาศาลให้กับนายทุน แต่ผลกำไรนี้มันสร้างขึ้นจากคราบน้ำตาของพี่น้องประชาชน แล้วโครงการเหล่านี้ไม่เคยไปสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับพวกเขาเลย ไม่สร้างความมั่นคง ในระบบนิเวศ แล้วไปทำลายสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของพวกเขาอีกด้วย สุดท้ายนี้ ดิฉันจึงอยากจะฝากท่านประธานผ่านไปยังผู้ที่มาชี้แจงในวันนี้ค่ะ ว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก โครงการมากที่สุดอาจจะไม่ใช่ท่านที่เป็นผู้อนุมัติ แต่เป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชน ในพื้นที่ ที่อยู่ ณ ปัจจุบันนี้ ดังนี้ดิฉันจึงขอให้ท่านช่วยพิจารณาอีกครั้ง ให้ยุติการออกใบอนุญาต โรงไฟฟ้าทั้ง ๓ โรงนี้ออกไปก่อน แล้วก็ช่วยกันทบทวนพิจารณาให้รอบคอบ รวมถึงให้ ทางท่านผู้ชี้แจงได้ทบทวนพิจารณารายชื่อของผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากที่ได้รับ การคัดเลือกตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานที่ลงวันที่ ๕ เมษายน ในปีนี้ค่ะ พิจารณาใหม่ให้มีความละเอียดและวางกรอบในเรื่องของการศึกษาความพร้อม ของพื้นที่ ให้เหมาะสมแล้วก็ตรวจสอบการปฏิบัติตามระเบียบของคณะกรรมการกำกับ กิจการให้รอบคอบมากกว่านี้ก่อนด้วยค่ะ ขอบพระคุณมากค่ะท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญท่านณพล เชยคำแหง ครับ

นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ กระผม นายณพล เชยคำแหง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองบัวลำภู เขต ๓ พรรคเพื่อไทย วันนี้ได้รับหน้าที่อภิปรายรายงานผลการปฏิบัติงานและการทำงานประจำปี ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานและสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่เราเรียกชื่อย่อว่า กกพ. อย่างที่เราทราบกันดีว่าสำนักงาน กกพ. นั้นเป็นหน่วยงาน ที่สนับสนุนการทำงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามแผนปฏิบัติงาน ในการที่จะกำกับกิจการ พลังงานด้านการอนุญาตและคุ้มครองผู้บริโภค แล้วก็ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่จะมีผลกระทบ ตามพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. ๒๕๕๐ ผมเข้าใจดีว่าหน่วยงานของท่าน มีความท้าทายมากกับสถานการณ์ที่ผ่านมาในการที่จะขับเคลื่อนพลังงานของประเทศ เป็นอย่างมากภายใต้สถานการณ์วิกฤติของโลกหลาย ๆ เรื่องนะครับ ซึ่งด้วยสภาพ ที่แปรเปลี่ยนนิเวศทางพลังงานยังจะต้องคำนึงถึง

นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ

ประการที่ ๑ ในเรื่องของเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิ ให้เป็น ๐ เพื่อมุ่งไปสู่ Carbon Neutral ในอีก ๓๐-๔๐ ปีข้างหน้า

นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ ยังต้องคำนึงถึงความผันผวนของราคาพลังงานที่นับวันก็จะมี ทิศทางสูงขึ้น แล้วเมื่อสูงขึ้นมันก็มีผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง

นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ

ประการที่ ๓ สิ่งที่ต้องคำนึงมาก ๆ ก็คือเรื่องของปัญหาต้นทุนในภาคธุรกิจ ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวจากสถานการณ์โรคระบาด Coronavirus หรือ COVID-19 อันนี้ก็ทำให้เศรษฐกิจเราต้องชะลอตัวแล้วก็ประสบกับภาวะที่สวนกระแสเรื่องของค่าครองชีพ ที่สูงขึ้นในจำนวนซึ่งผลการดำเนินการกิจการพลังงานของหน่วยงานท่าน ผมก็ต้อง ขอขอบคุณที่ กกพ. ได้มีการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าในช่วงสถานการณ์ที่ผ่านมา ช่วงที่มี โรคระบาดโควิดจะเห็นได้ว่าทาง กกพ. ได้ตรึงค่าใช้ไฟฟ้าในเรื่องของค่า Ft ให้ตรึงไว้อยู่ที่ ๓.๖๑ บาท ต่อหน่วยต่อปี อันนี้ก็ทำให้การใช้ไฟฟ้าของประชาชนเราลดลงในช่วงสถานการณ์ ที่ไม่สู้ดีในตอนนั้นนะครับ แล้วก็ยังอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ต้องขอชื่นชมนะครับ อย่างแรก ก็คือทาง กกพ. ได้กำกับเร่งรัดและติดตามการคืนเงินประกันหรือว่าการประกัน มิเตอร์นั่นละครับ ในราคามีตั้งแต่ ๓๐๐-๖,๐๐๐ บาท อันนี้ก็อยู่กับขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าว่า ขนาดนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งปัจจุบันนี้จากรายงานเห็นว่าในปี ๒๕๖๔ มีจำนวนได้คืนเงินไปแล้ว ๘.๓ ล้านราย เป็นตัวเลขจำนวนเงินอยู่ที่ ๑๕,๓๒๗ ล้านบาท จากผู้มีสิทธิขอเงินคืนประกันมิเตอร์ จากทั้งหมด ๒๔.๗ ล้านราย เป็นวงเงินที่ ๓๓,๐๐๐ ล้านบาท เราก็จะเห็นว่าการเร่งรัด ติดตามคืนเงินประกันให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นเรื่องที่ดีครับ แต่ว่าจากตัวเลขมันแค่ครึ่งเดียวเอง ณ วันนี้ผมไม่ทราบว่าจากปี ๒๕๖๔ มาปี ๒๕๖๕ และปี ๒๕๖๖ จนปัจจุบันแล้ว คืนไปหมดแล้วหรือยังนะครับหากเหลือ ยังเหลืออยู่สักประมาณกี่เปอร์เซ็นต์ เท่าไรนะครับ นอกจากนี้ในการแข่งขันที่เหมาะสมและเป็นธรรมในการจัดหาก๊าซธรรมชาติ เพื่อลดต้นทุน ค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าให้ถูกลงนั้นเป็นการแข่งขันทางธุรกิจ เป็นที่ทราบดีครับว่าเมื่อแก๊สแพง มันก็กระทบกับเศรษฐกิจโดยตรง ความเป็นอยู่ของคนต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติครับ สินค้า บริการทุกอย่างจะถูกลงได้ก็คือต้องก๊าซต้นทางถูกลง ทำอย่างไรเราจะมีราคาก๊าซธรรมชาติ ได้ถูกลงกว่าประเทศเพื่อนบ้านของเรา ตอนนี้เราผลิตได้เยอะนะครับ แต่การขายถึง พี่น้องประชาชนยังรู้สึกว่ายังแพงอยู่

นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ

มีอีก ๑ เรื่องครับ ก็คือที่ กกพ. ควรที่จะส่งเสริมและมีมาตรการการทำงาน อย่างชัดเจนครับ ไม่ใช่แค่เพียงโครงการนำร่อง นั่นก็คือการปฏิบัติให้ทั่วถึงในเรื่องของ โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งอยู่บนหลังคาที่เราเรียกว่า Solar Cell ตอนนี้ ผมว่าได้รับความนิยมอย่างมากจากกลุ่มผู้ที่อยู่อาศัย บ้านเราเป็นเมืองร้อน แดดดีมาก โดยเฉพาะผู้ที่ทำการเกษตรและอยู่ในจุดที่ห่างไกลชุมชน ใช้พลังงานแสงอาทิตย์นี้เปลี่ยนเป็น พลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ในกิจการต่าง ๆ ทางการเกษตรได้อย่างดีมาก อย่างน้อย ๆ ก็ใช้ไฟฟ้านั้น มาปั่นมิเตอร์ ดึงน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ในการเกษตรได้นะครับ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่บ้านผม ก็ใช้กิจกรรมเหล่านี้มาใช้ในการเกษตรได้เป็นอย่างดี วันนี้ถ้าพลังงานในเรื่องของแสงอาทิตย์ แบบนี้มีค่าอุปกรณ์ที่ลดน้อยลงได้จะเป็นพระคุณอย่างยิ่งนะครับ สิ่งที่ต้องการให้มันถูกลง ไม่ว่าจะเป็นวัสดุอุปกรณ์ของการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ควรจะเป็นอะไรที่ราคาจับต้องได้ วันนี้ยังแพงอยู่ แน่นอนครับในประโยชน์ของชาวเกษตรกรที่ทำได้อย่างนี้ เราก็เรียกได้ว่า มีน้ำอยู่ที่ไหน ชีวิตก็ดำรงได้ที่นั่น เป็นผลพวงจากพลังงานแสงอาทิตย์สู่การเกษตร อย่างแท้จริงนะครับ

นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ

ผมอภิปรายมาถึงตรงนี้ครับท่านประธาน ก็อยากจะมีการชื่นชมทาง กกพ. ด้วยนะครับว่าในโครงการไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่มีเป้าหมายจะมีการรับซื้อไฟ ๑๕๐ เมกะวัตต์ จากเชื้อเพลิงชีวมวลและก๊าซชีวภาพจากโรงงานผลิตไฟฟ้าชุมชนนั้น ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาในพื้นที่เศรษฐกิจในชุมชนได้เป็นอย่างดี หากว่ามีโครงการนี้ ได้สัก ๑ โครงการต่อ ๑ อำเภอก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากในเรื่องของการมีพลังงาน ทดแทน

นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ

สุดท้าย ผมขอให้กำลังใจสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในการทำงานให้แก่ประเทศของเราในเรื่องของพลังงาน และขอให้แผนการปฏิบัติงาน ในด้านการกำกับพลังงานของท่านสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีทุกประการนะครับ เพื่อให้ประชาชน ได้ดำรงชีวิตความเป็นอยู่ที่ควบคู่ไปกับพลังงานที่มีคุณค่า ส่งเสริมให้ประชาชนใช้พลังงาน อย่างรู้คุณค่า และเพื่อให้เกิดความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด ขอบคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล(แบบบัญชีรายชื่อ) : เรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ ผมจะขออภิปรายรายงานประจำปีของคณะกรรมการ กำกับกิจการพลังงานและสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน ขอ Slide ครับ

นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ผมอยากจะเริ่มต้น ด้วยการชี้ให้เห็นสาระสำคัญของอำนาจของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน สรุปก็คือ มีอำนาจในการกำกับ ตรวจสอบ แล้วก็ส่งเสริม ที่สำคัญก็คือว่าเสนอความเห็นต่อแผนพัฒนา พลังงาน แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ผมจะพูดในลำดับต่อไปด้วยนะครับ

นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

วัตถุประสงค์ในการมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานก็คือเพื่อให้เป็นไป ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งมีหลายส่วน แต่ผมอยากจะชี้ตรงนี้ก็คือ ในข้อ ๗ ที่บอกว่าส่งเสริมการใช้พลังงานและการใช้ทรัพยากร ในการประกอบกิจการพลังงาน ขีดเส้นใต้นะครับ อย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็แล้วแต่พอเรามาดูปริมาณการใช้ และการผลิตไฟฟ้า แท่งสีน้ำเงินก็คือปริมาณไฟฟ้าที่ใช้จริง แท่งสีส้มก็คือค่าพยากรณ์ การใช้ไฟฟ้า และแท่งสีดำก็คือกำลังการผลิตตามสัญญา ยกตัวอย่างในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ตามรายงานฉบับนี้ ค่าพยากรณ์อยู่ที่ ๓๔,๐๐๐ เมกกะวัตต์ แต่กำลังการผลิตที่รัฐทำสัญญา ซื้อมาอยู่ที่ ๕๓,๐๐๐ เมกกะวัตต์ สัดส่วนความต่างประมาณเกือบ ๒๐ เมกกะวัตต์ สัดส่วนเหล่านี้เป็นเรื่องของการผลิตที่มันล้นเกิน นับตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ จนถึงปี ๒๕๗๐ สัญญาที่ไปผูกมัดซื้อไฟฟ้ามามันเกินกว่าค่าพยากรณ์ความต้องการใช้จริง เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ ๓๕ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าสถิติในระดับสากลที่เขายึดถืออยู่ที่ไม่เกิน ๑๕ เปอร์เซ็นต์

นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ซึ่งมาดูรายละเอียดอีกอันหนึ่งก็คือสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิต ในขณะที่เราผลิตล้นเกินแล้ว ตัวเชื้อเพลิงที่เอามาใช้ผลิตผมคิดว่ามันก็น่ากังวล เพราะว่า ในปี พ.ศ. ๒๕๖๖ ปีนี้ ซึ่งก็ไม่ได้มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับปี ๒๕๖๔ ตามรายงาน เกินกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นก๊าซธรรมชาติและเป็นถ่านหินเสีย ๑๙ เปอร์เซ็นต์ คือเราจะเห็นว่า สัดส่วนส่วนใหญ่ในการผลิตไฟฟ้าเป็นการใช้พลังงานที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษ มลภาวะ ทีนี้ในประเด็นที่ผมอยากจะชี้ตรงนี้ก็คือว่า อันที่ ๑ ก็คือการซื้อไฟฟ้าล้นเกิน การที่รัฐทำ สัญญาผูกมัด ซื้อไฟฟ้ามาล้นเกินมันก่อให้เกิดปัญหาอะไรบ้าง

นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

๑. ถือเป็นภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน เพราะว่าสัญญาที่ไปซื้อไฟฟ้า แล้วก็จ่ายมานี้มันถูกนำมาคิดเป็นค่าไฟฟ้าที่เราต้องจ่ายโดยที่ไม่มีความจำเป็นนะครับ แล้วในทุก ๆ หน่วยของปริมาณไฟฟ้าที่มันล้นเกินถามว่ามันเกิดอะไรขึ้นหรือว่ามันมี ความสำคัญอะไรบ้าง แน่นอนว่าเม็ดเงินที่เราจ่ายไปมันเพิ่มขึ้นโดยที่เราไม่มีความจำเป็น ต้องใช้

นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

๒. ก็คือการสิ้นเปลืองพลังงาน อย่างที่ผมให้ดูก็คือว่าส่วนใหญ่ก็พลังงาน ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม แล้วก็เป็นพลังงานที่ใช้แล้วหมดไปซึ่งมีอยู่จำกัด แม้ว่าเราจะไม่ได้ใช้ แต่โดยนัยพลังงานเหล่านี้ก็จะถูกป้อนเข้าโรงงานตลอดเวลา แล้วเราก็ต้องจ่ายไปด้วย กระแสไฟฟ้าความพิเศษของมันก็คือว่าผลิตมาแล้วเข้าสู่ระบบแล้วก็หายไปกับระบบ มันไม่สามารถเก็บได้เหมือนอย่างน้ำ เหมือนอย่างทรัพยากรอย่างอื่นนะครับ

นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

-๑๔๑/๑ เพราะฉะนั้นการที่เราผลิตล้นเกินมามันหายไปในระบบ มันไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรนะครับ อันนี้ยังไม่นับว่ากระบวนการได้มาซึ่งทรัพยากร ซึ่งพลังงานที่ใช้ในการผลิตหรือกระบวนการ ในการจัดตั้งโรงงานการผลิตนี้จำนวนมากมายที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษ ปัญหาการแย่งชิงน้ำ นอกจากในประเทศไทยเองยังขยายไปสู่การแย่งชิงน้ำใน สปป. ลาว แล้วก็มีหลายแผน ที่จะไปในประเทศพม่าอีกด้วยอย่างนี้นะครับ สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยที่ไม่ได้มีการตรวจสอบกันอย่างจริงจัง

นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

การใช้พลังงานหมุนเวียน อันนี้เป็น Trend ของโลกสมัยใหม่ที่ทุกรัฐต้องการ ที่จะให้เกิดขึ้น ถ้าเราไปดูตัวอย่างของต่างประเทศ ญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายจะเพิ่มให้ได้ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ภายในปี ๒๕๖๓ เยอรมนีเขาประสบความสำเร็จ เขาสามารถที่จะใช้พลังงานหมุนเวียน ในการผลิตไฟฟ้าได้ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ แล้วสหราชอาณาจักรได้ ๔๓ เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ แล้ว ในขณะที่ในปีนี้ของประเทศไทยเรายังอยู่ที่ ๑๖ เปอร์เซ็นต์ แม้ว่า ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานบอกว่าต้องการที่จะเพิ่ม หรือว่ามีแผนที่จะเพิ่ม อย่างไรก็แล้วแต่นะครับ แต่พอเราหันกลับไปดูสัดส่วนการผลิตไฟฟ้ามันก็ยังไปเน้นที่การใช้ Fossil ใช้ก๊าซธรรมชาติเสียส่วนใหญ่ งบประมาณในการสนับสนุนให้เกิดโรงไฟฟ้าที่ผลิตจาก พลังงานสะอาดมันก็ไม่ค่อยได้เกิดขึ้นจริง คำถาม ๒-๓ คำถามที่อยากจะถามก็คือว่า

นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อันที่ ๑ สรุปแล้ว กกพ. ได้กำกับแล้วก็ตรวจสอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า จริงไหม เมื่อสักครู่นี้ท่านพูดถึงตัวแผน PDP การที่ยังปล่อยให้ธุรกิจพลังงานที่ทำลาย สิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลเหนือรัฐอยู่ แล้วก็ควบคุมความมั่นคงของระบบพลังงาน อันนี้ผมคิดว่า มันเป็นปัญหามาก ความมั่นคงทางพลังงานของเราเอาไปฝากไว้ในมือของเอกชนที่เป็น ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ป้อนเข้าสู่ระบบ แล้วก็ใช้เชื้อเพลิงที่ทำลายสิ่งแวดล้อม อันนี้ก็จะเป็น ปัญหานะครับ

นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ข้อ ๒ คือว่า กกพ. จะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาสำคัญก็คือว่าปัญหา การมัดมือชกในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ล้นเกินแล้วก็ยาวนานได้อย่างไร ขอบคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ ครับ

นายณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร ประเวศ ดอกไม้ ทับช้าง พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ วันนี้ผมขอร่วมอภิปรายเพื่อรับทราบรายงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ ของสำนักงาน กกพ. ขอ Slide ด้วยนะครับ ท่านประธานครับ

นายณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

Slide ถัดไป ในส่วนของ สถิติจากรายงานผมเองมีโอกาสได้ไปอ่านในรายงานฉบับนี้ก็ได้ไปเห็นสถิติรายงานที่มีการระบุ เรื่องของผลการดำเนินงานในช่วงปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ซึ่งผมเองได้มีโอกาสที่จะไปดูสนใจ ในตัวของ ๒ ตารางใน Slide ด้านบนนี้ก็คือว่าในตัว Slide ด้านซ้ายมือเป็น Slide ที่ ๑ Slide ทางด้านซ้ายมือมีการระบุในส่วนของสถานะของการผลิตไฟฟ้าที่ กกพ. ได้ดูแลอยู่ ซึ่ง มีการแยกออกเป็นเชื้อเพลิงหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพลังงานขยะ ชีวภาพ ชีวมวล พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ รวมไปถึงเรื่องของพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ ซึ่งก็มีการแยกเป็นส่วนว่ามีการใช้กำลังการผลิตจากเท่าไร เป็นเท่าไรบ้าง ก็จะมีการแบ่ง ออกเป็นที่มีโครงการที่ผูกพันกับรัฐกับส่วนของโครงการที่มีการผลิตแล้วก็จำหน่าย กับลูกค้าโดยตรง ซึ่งส่วนของโครงการที่ผลิตกับรัฐก็เป็นส่วนใหญ่ของในส่วนนี้ ก็คือว่าผลิตไป รวม ๆ กันแล้วก็เกือบ ๆ ๑๐,๐๐๐ เมกะวัตต์ ส่วนตารางทางด้านขวามือ ก็คือส่วนของตาราง ที่เป็นจำนวนใบอนุญาตที่เราได้มีการออกใบอนุญาตในช่วงปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ ซึ่งในส่วนนี้ก็จะเห็นว่ามีการออกใบอนุญาตในส่วนของใบอนุญาตกิจการพลังงานส่วนใหญ่ เป็นเรื่องของกิจการไฟฟ้าเป็นหลักทั้งในปี ๒๕๖๓ แล้วก็ปี ๒๕๖๔ แต่สิ่งที่ในตัวของรายงานฉบับนี้ไม่ได้บอกไว้ก็คือว่าในช่วงปีงบประมาณ ปี ๒๕๖๓-๒๕๖๔ ก็มีคำสั่งที่จะปิดปรับปรุง รวมไปถึงคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตในตัวของโรงงานบางโรงงานด้วย เพียงแต่ว่าไม่ได้มีการระบุไปในรายงานนี้ ซึ่งผมเองได้ไปอ่านเพิ่มเติมใน Website ของสำนักงาน กกพ. ก็พบว่า ๑๔ ลำดับ ก็คือ ๑๔ โรงงานได้มีการออกคำสั่งที่มีการปิด ปรับปรุงหรือพักใช้ใบอนุญาตไป ซึ่งในส่วนนี้อย่างที่ผม Highlight ไปในตัวของคอลัมน์ ที่เขียนว่าปีที่อนุญาต ในส่วนนี้จะเห็นว่าจะมีการ Highlight ในปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ ก็คือเป็นการ Highlight ในตัวของที่มีความเกี่ยวข้องกับปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ของรายงานนี้ ก็คือจะเห็นว่ามีอยู่ ๒ โรงงาน ก็คือโรงงานที่กรุงเทพมหานคร ๑ โรงงาน แล้วก็ที่นครสวรรค์ อีก ๑ โรงงาน ซึ่งทั้งสองโรงงานนี้ก็ได้รับใบอนุญาตในปีงบประมาณนี้ แล้วปัจจุบันก็ยังอยู่ ระหว่างการปฏิบัติตามคำสั่ง ก็คือยังปิดปรับปรุงอยู่ ยังไม่ได้รับอนุญาตให้มีการประกอบ กิจกรรมตามปกติ ในส่วนของคอลัมน์ถัดไปก็จะเป็นเรื่องของปีที่ออกคำสั่ง ก็คือตัวที่ จังหวัดบุรีรัมย์ ๒ แห่ง ที่อุดรธานีแล้วก็ที่นครราชสีมา ทั้ง ๔ แห่งนี้ก็มีการออกคำสั่งให้ถูก ปรับปรุงแล้วก็พักใช้ใบอนุญาตในช่วงปี ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๕ และปี ๒๕๖๕ ด้วย ก็จะเห็นว่า สถานะทั้ง ๔ โรงงานตอนนี้ก็มีการประกอบกิจการตามปกติแล้ว ซึ่งสำหรับในส่วนนี้ ขอยกตัวอย่างใน Slide ถัดไปครับ ในส่วนของ Slide นี้ก็จะเป็นตัวอย่างของตัวโรงงานขยะ ที่มีการสั่งให้ปิดปรับปรุง ซึ่งมาออกใบอนุญาตในปี ๒๕๖๓ ก็คือตัวของโรงงานในกรุงเทพมหานคร ในส่วนนี้เป็นตัวอย่างของโรงงานที่อ่อนนุช ซึ่งในตัวของโรงงานที่อ่อนนุชก็คิดว่าท่านประธาน รวมไปถึงประชาชนทางบ้านก็อาจจะทราบนะครับ อาจจะได้ยินข่าวมาบ้างว่ามีเรื่องของ การร้องเรียน เรื่องของกลิ่นเหม็นต่าง ๆ นานา ซึ่งที่ผ่านมาพี่น้องประชาชนก็มีการร้องเรียน ผ่านไปยังหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงพรรคก้าวไกล แล้วก็ทาง กกพ. ซึ่งก็แน่นอนทาง กกพ. เองก็ออก คำสั่งในการที่จะสั่งให้มีการปิดปรับปรุงโดยการพักใบอนุญาตไปก่อนในช่วงปีที่ผ่านมา ก็คือปี ๒๕๖๕ ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ในตัวของโรงงานนี้เนื่องจากว่าเหตุผล ก็คือเรื่องของการที่ CoP ดำเนินการไม่ครบ แล้วก็ไม่มีเรื่องของระบบในส่วนของการติดตาม ควบคุมมลพิษรายงานมลพิษต่าง ๆ ก็ทำให้มีการออกคำสั่งนี้ขึ้นมา นอกจากนี้ตัวของโรงงานนี้ ก็มีการเกิดขึ้นจากคำสั่ง คสช. ที่ ๔/๒๕๕๙ ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงอยู่ระหว่างการปิดปรับปรุงอยู่ แล้วยังไม่ได้รับการอนุญาตให้ดำเนินกิจการตามปกติ ซึ่งปัจจุบันก็ต้องบอกว่ายังวน Loop อยู่ตรงนี้ครับ สิ่งที่ผมอยากจะฝากท่านประธานถามไปยังทางผู้ชี้แจงก็คือว่าจากการที่ ในคำสั่งของการพักใบอนุญาต เรามีการระบุว่าเรามีการจะพักใบอนุญาตนี้ไปเรื่อย ๆ หากว่า พักไปแล้วไม่ดีขึ้นถึงขั้นจะต้องเพิกถอนใบอนุญาต ดังนั้นในช่วงที่มีการพักใบอนุญาตมาแล้ว เป็นปี ๆ ผมจึงขอสอบถามต่อไปว่าในส่วนนี้เรามีหลักเกณฑ์ว่าจะต้องพักนานเท่าไร ถึงจะนำไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาต หรือว่าหลักเกณฑ์อื่น ๆ เป็นอย่างไร นอกจากนี้ ยังมีตัวเตาเผาใหม่ที่อ่อนนุชรวมไปถึงที่หนองแขมที่จะสร้างขึ้น อันนี้เป็นคนละโรงกัน กับใน Slide ที่ผ่านมา ตัวนี้เป็นเตาเผาขยะอีกตัวหนึ่งที่ยังไม่ได้สร้างในปัจจุบันนี้ แต่ว่า กำลังจะสร้างในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจริง ๆ โครงการนี้ก็ต้องบอกว่าติดหล่มอยู่มาปีสองปีแล้ว เพราะว่ามีปัญหาในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้าง รวมไปถึงการที่ประชาชนในพื้นที่เองก็มี ข้อกังวลใจหลายประการอยู่เหมือนกัน ดังนั้นในส่วนนี้ผมเองก็ไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก็พบว่า ในตัวของเตาเผาขยะที่กรุงเทพมหานครกำลังจะทำขึ้นมา ในตัวนี้จริง ๆ ก็ติดค้างกันอยู่ที่ กกพ. อยากจะให้ทาง กกพ. ให้ความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป หรือว่าติดขัด ตรงไหน อย่างไร เพื่อจะให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่เองก็สบายใจมากขึ้น ดังนั้นก็อาจจะต้อง ขอให้ทางผู้ชี้แจงรับฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่ แล้วก็คำนึงถึงประโยชน์ของสาธารณะ เป็นหลัก ทั้งหมดทั้งมวลครับท่านประธานครับ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็เป็นสิ่งที่ผมเองจะขอฝาก ท่านประธานผ่านไปยังผู้ชี้แจงเพื่อจะให้รายงานฉบับนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น รวมไปถึงปัญหาของ พี่น้องประชาชนได้รับการแก้ไขได้ดียิ่งขึ้นด้วยครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ

นางสาวสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ อุบลราชธานี ต้นฉบับ

ท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน สุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๗ อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ดิฉันขออนุญาตร่วมอภิปรายค่ะ ก่อนอื่นก็ต้องขอบพระคุณทางเพื่อนสมาชิก และขอให้กำลังใจทางคณะผู้ชี้แจง ขณะนี้เวลาก็ล่วงเลยมา ๓ ทุ่มกว่า ๆ แล้ว ก็ขอไม่พูดพร่ำทำเพลง ขออนุญาตเข้าเรื่องเลยค่ะ ดิฉันขอฝากเพียง ๓ เรื่องที่สำคัญที่คิดว่าประชาชนเกือบทั้ง ประเทศคงจะได้รับผลกระทบและคิดเหมือนกับดิฉัน

นางสาวสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ อุบลราชธานี ต้นฉบับ

เรื่องแรก ขอให้ กกพ. กำกับดูแลการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้า ส่วนภูมิภาคอย่างจริงจัง ช่วยทำหน้าที่รักษาสิทธิให้กับประชาชนบ้าง ในปัจจุบันนี้ค่าไฟ แพงมาก ทุกวันนี้เหมือนว่าค่าไฟจะขึ้นตามอุณหภูมิของพระอาทิตย์ขึ้นเอา ๆ อยากจะขึ้น ค่าไฟก็ขึ้นง่าย ๆ ค่ะ คงเพราะรู้ดีว่าต่อให้ไฟแพงอย่างไรประชาชนก็ไม่มีสิทธิที่จะเลือกซื้อไฟ ที่ถูกกว่าได้ เพราะเป็นระบบ Monopoly Market หรือว่าเป็นธุรกิจผูกขาดที่มีระเบียบกันไว้ว่า ไม่ให้ใครมาขายไฟแข่ง แต่ประชาชนยังอุ่นใจว่ายังมี กกพ. คอยกำกับดูแล และ กฟน. กฟภ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่หมายถึงองค์การซึ่งรัฐบาลกลางควบคุมและเป็นเจ้าของ แล้วตอนนี้ เป็นอย่างไร สำนวนในอดีตพูดกันว่าเป็นยุคข้าวยากหมากแพง แต่ปัจจุบันนี้คือยุคที่ค่าไฟ แสนแพงแต่ค่าแรงแสนถูก ตอนนี้พี่น้องประชาชนของดิฉันจะตายกันหมดแล้วค่ะ

นางสาวสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ อุบลราชธานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ต่อเนื่องจากเรื่องที่ดิฉันพูดไปเมื่อสักครู่นะคะ ถึงแม้ว่าค่าไฟจะแพง แต่ประชาชนไม่สามารถที่จะเปลี่ยนใจไปใช้ไฟที่อื่นได้ เพราะการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้า ส่วนภูมิภาคเป็นหน่วยงานรัฐเพียงหน่วยงานเดียวที่สามารถขายไฟฟ้าได้ จึงอยากเสนอให้ กกพ. หารือวิธีการบริหารจัดการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ไม่มีความสามารถในการจ่าย ค่าไฟฟ้าได้ เพราะการบริการไฟฟ้าถือเป็นการบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้แก่พี่น้อง ประชาชน ดิฉันจึงคิดว่าควรจะมีวิธีที่ดีกว่าการยกหม้อไหมคะ ควรที่จะมีวิธีที่ดีกว่าการตัด มิเตอร์ไหมคะ ตัดไฟโดยให้ Outsource มายกหม้อไฟเพียงเพราะการไม่ได้ชำระค่าไฟฟ้า ลองนึกตามดิฉันนะคะ ปัจจุบันแค่ฝนตกไฟดับไม่กี่นาทีพวกเราก็ใช้ชีวิตยากลำบากแล้ว แต่นี่โดนตัดไฟเพราะไม่มีเงินจ่าย กว่าจะหาเงินได้แต่ละบาทนำเงินมาซื้อไฟฟ้าแสงสว่าง ให้ลูกหลานได้ทำการบ้าน อ่านหนังสือ นำเงินมาซื้ออากาศเย็น ๆ พัดลมเย็น ๆ ให้แก่ ผู้สูงอายุอยู่ที่บ้านได้อยู่อย่างสบาย นำเงินมาซื้อลมหายใจให้ผู้ป่วยติดเตียงได้มีชีวิตอยู่ต่อ ไม่อยากจะคิดเลยว่าเขาจะอยู่อย่างไรเมื่อถูกตัดไฟ ดิฉันอยากขอสอบถามการยกหม้อไฟ มีกำหนดเวลาที่แน่นอนหรือไม่ อย่างไรคะ เพราะพี่น้องบางคนชำระเงินสวนทางกับการตัด ไฟ บางคนรับ Bill ปุ๊บจ่ายปั๊บ แต่ไม่ทันค่ะถูกตัดไปเสียแล้ว ซึ่งอาจจะเกิดการแจ้งคำสั่งและการ ชำระไม่ทันกันก็เป็นได้ค่ะ ดิฉันคิดว่ามันควรจะมีหนทางอื่นไหมที่ดีกว่าการตัดไฟ แต่จะเป็น หนทางไหนต้องรบกวนท่าน กกพ. ช่วยพิจารณาด้วยความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจพี่น้อง ประชาชนของดิฉันด้วย ถ้าเลือกได้ทุกคนอยากเลือกใช้ไฟที่มีราคาถูก แต่นี่พวกเขาไม่มีสิทธิ แม้แต่จะเลือก เพราะโดนผูกขาดทั้งด้านราคาและการบริการค่ะ ท่านคิดหรือไม่ว่าจะมีชาวบ้าน พี่น้องประชาชนทยอยกันไปที่ศาลปกครองให้คุ้มครองให้ไม่ถูกตัดไฟ ไม่ถูกตัดสาธารณูปโภค ขั้นพื้นฐานที่พวกเขาพึงจะได้รับจากหน่วยงานของรัฐ โดยที่ กกพ. ต้องดำเนินการกำกับ ดูสาธารณูปโภคพลังงานขั้นพื้นฐานที่รัฐจะต้องจัดสรรให้กับประชาชน อยากให้รู้กันค่ะ ว่าท่านมีสิทธิตัดไฟของพี่น้องประชาชนของดิฉันอย่างที่ทำกันอยู่ขณะนี้หรือไม่ เรื่องนี้ดิฉัน ขอติดตามอย่างใกล้ชิด

นางสาวสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ อุบลราชธานี ต้นฉบับ

ต่อมาเรื่องสุดท้าย มีพี่น้องประชาชนร้องเรียนหาดิฉันมากมายเหลือเกินว่า ที่บ้านไม่มีไฟฟ้าใช้ ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง เพียงเพราะไม่มีเงินสมทบในการปักเสาพาดสายให้สายไฟ มีระยะมากพอมาถึงหน้าบ้าน กกพ. ควรจะช่วยกำกับดูแลให้นโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อ ประชาชนไทยมากกว่านี้ ไม่ใช่ว่าเห็นกำไรสูงสุดของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ พี่น้องของดิฉัน อำเภอศรีเมืองใหม่ อำเภอโขงเจียม อำเภอพิบูลมังสาหาร แจ้งปัญหาความไม่เสถียรค่ะ ไฟฟ้าตกบ่อย ส่วนที่อำเภอสิรินธรยิ่งแล้วใหญ่ไม่ต้องพูดถึงเลย บ้านอยู่ติดถนน ๔ เลน ทางไปช่องเม็ก ถ้าประเทศไทยหาทางออกไม่เจอนะคะ ดิฉันแนะนำให้ไปที่ช่องเม็ก ทางออก ประเทศไทยอยู่ที่ช่องเม็กค่ะ มีความต่างศักย์ไฟฟ้าปล่อยมาให้เพียง ๑๙๐ โวลต์เท่านั้น ทั้งที่มาตรฐานที่พวกเราใช้กันอยู่คือ ๒๒๐-๒๓๐ โวลต์ ส่งผลให้เครื่องใช้ไฟฟ้าของพี่น้อง ประชาชนของดิฉันเสียหายบ่อยมาก ไปแจ้ง กฟภ. ก็ได้รับคำตอบกลับมาว่าต้องเพิ่ม หม้อแปลงไฟ ต้องเพิ่มหม้อแปลงไฟต้องเพิ่มอย่างไรคะ ต้องเสียเพิ่มอีก ๓๐๐,๐๐๐ บาท พี่น้องของดิฉันจะไปหาเงินจากไหนมาเพิ่มคะ ประสาจะจ่ายแต่ละวันมันก็หายากพอแล้วค่ะ ดิฉันจึงอยากจะสอบถามว่านี่คือหน้าที่ของพี่น้องประชาชนของดิฉัน หรือเป็นหน้าที่ที่ทาง หน่วยงานต้องบริการให้ประชาชนคะ พี่น้องประชาชนคนไทยจะต้องถูกกดขี่ ถูกเอาเปรียบ แบบนี้อีกต่อไปใช่ไหมคะ วันนี้ดิฉันขอฝากไปยังหน่วยงาน กกพ. โปรดช่วยเมตตา และช่วย แก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนของดิฉันด้วย ขอบพระคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านบุญแก้ว สมวงศ์

นายบุญแก้ว สมวงศ์ ยโสธร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายบุญแก้ว สมวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยโสธร พรรคเพื่อไทย ผมได้ฟัง รายงานของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ผมเห็นว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน ปัญหาและผลกระทบจากการใช้พลังงาน ปัญหาการขาดแคลนพลังงานในอนาคตอันใกล้ ในประเทศไทยเราใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมในประเทศของเรา พลังงานไฟฟ้าที่นำมาใช้มีทั้งในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ปัญหานี้เราจะแก้ได้ อย่างไร ผมก็อยากฝากผู้กำกับในด้านการพลังงานนะครับ เพราะว่าสิ่งที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ภาวะการขาดแคลนพลังงานของโลกในอนาคตอาจดูเป็นเรื่องใกล้ตัวของเรา แต่ในความเป็นจริง พลังงานต่าง ๆ ที่ได้จากเชื้อเพลิง จากซากดึกดำบรรพ์ ซึ่งเราใช้อยู่ในประเทศของเราระยะเวลา ไม่กี่ปี หากเรายังคงใช้ในปริมาณที่มากอยู่ในขณะนี้ และยังไม่สามารถหาพลังงานทดแทนได้ เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทยกำลังจะหมดไปในอนาคตอันใกล้นี้ ระยะเวลา ประมาณที่เชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์จะหมดไปจากโลก ผมคาดว่าน้ำมันประมาณ ๔๐ ปี ก็จะหมดไป ก๊าซธรรมชาติประมาณ ๕๘ ปีก็จะหมดไปจากโลกของเรา ถ่านหินก็ประมาณ ๒๑๗ ปี แต่เราก็คงอยู่ไม่ถึงหรอกครับ ปัญหาผลกระทบในอนาคต ปัญหาและผลกระทบ จากการใช้พลังงานต่อสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานของคนไทยของเราก่อให้เกิดปัญหา และผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์จากพลังงานเกิดขึ้นจากภาคอุตสาหกรรมมากกว่า ภาคเกษตรกรรม ปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นตามลำดับ โดยสาเหตุหลัก ๆ เกิดจากการเพิ่มของประชากร ที่มากขึ้น ก็อยากให้ทางคณะกรรมการ พิจารณาเรื่องต่อไปในอนาคตเราจะเอาอะไร มาทดแทนพลังงานในประเทศไทยของเราเพื่อจะให้ประชาชนได้ใช้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะ บ้านผมในจังหวัดยโสธร ถ้าฝนตกปั๊บไฟดับปุ๊บ แต่ค่าไฟแพงนะครับท่านประธาน ค่าไฟสูงขึ้น ผมได้ยินทางท่าน สส. สุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ ได้พูดได้อภิปรายเมื่อสักครู่นี้ ขออนุญาต ที่เอ่ยนาม พี่น้องประชาชนเดือดร้อนลืมจ่ายค่าไฟแค่วันเดียวเงิน ๒๕ บาท แล้วก็ไปถอด หม้อเขานะครับท่านประธาน ผมก็อยากฝากท่าน กกพ. ช่วยไปแก้ไขในจุดนี้ด้วย ปัญหา ค่าไฟฟ้า ค่าแก๊ส ค่าน้ำมัน และพลังงานต่าง ๆ ผมได้ยินท่านนายกรัฐมนตรีคนที่ ๓๐ ของประเทศไทยของเรา ท่านเศรษฐา ทวีสิน ว่าผมดีใจแทนพี่น้องประชาชนของคนไทย ทั้งประเทศ ประชุมนัดแรกเตรียมเดินหน้าลดค่าพลังงานให้กับประชาชนทั้งประเทศ เป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย เป็นนโยบายของ สส. ของพรรคเพื่อไทยของเรา และนโยบายของผู้บริหาร รัฐมนตรีของเราทุกท่าน เราจะทำตามนโยบายที่กำหนดไว้ การใช้พลังงานในประเทศไทยนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่เราจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้ทรัพยากรธรรมชาติ ของเราลดลงก็อยากฝากท่านประธานผ่านไปยังคณะกรรมการผู้กำกับดูแลพลังงานช่วยหา แนวทางการแก้ไขให้กับพี่น้องประชาชนของเราด้วย ขอกราบสวัสดีครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านเทียบจุฑา ขาวขำ ครับ

นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน เทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ดิฉันขอร่วมอภิปรายรับทราบรายงานของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และสำนักงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ผ่านไปยังผู้ชี้แจงในวันนี้นะคะ ท่านประธานคะ ดิฉันมี ความสนใจเรื่องกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในรายการที่ปรากฏอยู่ในหน้า ๕๒-๖๓ เกี่ยวกับ กองทุนพัฒนาไฟฟ้าจัดตั้งขึ้นในสำนักงาน กกพ. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนในการสนับสนุน ให้บริการไฟฟ้าไปยังท้องถิ่นต่าง ๆ อย่างทั่วถึง เพื่อให้ประชาชนได้มีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ เป็นการกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่นต่าง ๆ กองทุนนี้ยังมีวัตถุประสงค์ให้ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและใช้เทคโนโลยีในการประกอบ กิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ท่านประธานคะ ดิฉันเห็นว่าในมาตรา ๙๗ (๓) คือการพัฒนา หรือฟื้นฟูสู่ท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นเรื่อง ที่เชื่อมโยงโดยตรงกับท้องถิ่นของดิฉันคือจังหวัดอุดรธานี ในพื้นที่อำเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญมีหลายบ่อ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผลิตแก๊สธรรมชาติ ที่จะต้องบริการหรือให้ใช้ในภาคอีสาน ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุด เขาเรียกว่า โครงการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม ซึ่งตั้งอยู่บนแปลงสัมปทานในพื้นที่อำเภอหนองแสง คลุมไปยังจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดขอนแก่น ในปริมาณ ๒๓๒.๒ ตารางกิโลเมตร ซึ่งเริ่มผลิตแก๊สครั้งแรกในปี ๒๕๔๙ ชนิดของปิโตรเลียมนี้ก็เป็นแก๊สธรรมชาติชนิดเหลว โดยส่งแก๊สไปยังสถานีแก๊สธรรมชาติภูฮ่อม ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ผ่านระบบท่อซึ่งมีความยาวทั้งสิ้น ๖๔ กิโลเมตร แหล่งก๊าซธรรมชาติภูฮ่อมนี้มีปริมาณ การผลิตก๊าซธรรมชาติเฉลี่ย ๙๐ ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และก๊าซธรรมชาติเหลวเฉลี่ย ๒๖๐ บาร์เรลต่อวัน ที่ผ่านมาก็มีการสำรวจ ศึกษา ขุดเจาะหลุมแก๊สเพิ่มอยู่ตลอดเพื่อบริการ ความต้องการการใช้พลังงานในพื้นที่ของภาคอีสาน โดยเฉพาะ ๑๖ จังหวัดภาคอีสาน ที่ผ่านมาในการขุดเจาะบริการพี่น้องภาคอีสาน แล้วในการขุดเจาะนี้ก็จะต้องมีการจ่าย ค่าภาคหลวง ซึ่งเริ่มจ่ายค่าภาคหลวงมาในปี ๒๕๖๐ จนถึงปี ๒๕๖๓ เงินจ่ายค่าภาคหลวง ๓ ปีนี้ได้ประมาณ ๒,๔๐๐ ล้านบาท แบ่งการจัดสรรเป็นรายได้แผ่นดิน ๙๗๐ ล้านบาท แต่จัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีก ๑,๔๕๐ ล้านบาท ดิฉันเห็นว่าในการจัดสรร ค่าภาคหลวงแหล่งแก๊สธรรมชาติอันนี้ ดิฉันดูแล้วว่ายังไม่เป็นธรรมต่อพี่น้องประชาชน จังหวัดอุดรธานี เพราะว่าบ่อหลุมแก๊สนี้อยู่ที่จังหวัดอุดรธานี อำเภอหนองแสง แต่ว่า ผ่านท่อไปที่จังหวัดขอนแก่นเป็นแหล่งกระจายอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น แต่เวลาแบ่งให้ จังหวัดอุดรธานีก็ไม่เท่ากับจังหวัดขอนแก่น อยากจะขอฝากท่านประธานผ่านไปยังผู้ชี้แจงว่า ขอให้ทบทวนกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรค่าภาคหลวง ขอให้ทบทวนนะคะ หากติดขัด ระเบียบข้อปฏิบัติดิฉันคิดว่ามันน่าจะแก้ไขข้อปฏิบัติเสียใหม่ได้นะคะ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ต่อพี่น้องประชาชนในจังหวัดอุดรธานี

นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

และเรื่องที่ ๒ ดิฉันขอฝากแล้วก็ตั้งข้อสังเกตว่าทราบมาว่าพบสารระเหย แล้วก็ขอให้ช่วยเร่งรัดในการตรวจสอบคุณภาพอากาศให้ได้มาตรฐาน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบ กับสิ่งแวดล้อม เป็นการป้องกันปัญหาด้านสุขภาพให้พี่น้องประชาชนจะได้ปลอดภัย แล้วก็ ขณะเดียวกันทั้งมีแก๊สอยู่ในจังหวัดอุดรธานี มีปิโตรเลียมในจังหวัดอุดรธานี พี่น้องประชาชน ก็ยังบ่นว่าในพื้นที่มีปัญหาไฟดับอยู่บ่อย ๆ ไฟไม่พอใช้ในครัวเรือน ไม่พอใช้ในด้านการเกษตร ดิฉันก็เลยต้องบอกว่าขออนุญาตแจ้งในที่นี้นะคะ แจ้งพี่น้องประชาชนคนไทยทุก ๆ ท่านค่ะ ตามที่เพื่อน สส. ได้พูดไปแล้วหลายท่าน เช่น ท่านบุญแก้ว สมวงศ์ ก็พูดไปแล้วว่า ท่านนายกรัฐมนตรีคนที่ ๓๐ และคณะรัฐบาล ถ้าประชุม ครม. นัดแรกจะประกาศทันที ในการลดค่าพลังงานเป็นค่าไฟ ลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน ค่าแก๊สหุงต้มทันทีค่ะ ก็ขอให้พี่น้อง อดใจรออีกสักนิด วันนี้ดิฉันเองก็ขอขอบคุณคณะกรรมการที่มาชี้แจงจนได้เวลาดึกดื่น ๓ ทุ่มกว่าแล้ว ต้องขอบคุณคณะกรรมการทุก ๆ ท่านนะคะ ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ

นางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพค่ะ ดิฉัน นางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ล่วงเลยเวลามานานแล้วนะคะ ดิฉันขออภิปราย แล้วก็เข้าคำถามประเด็นสั้น ๆ ถึงผู้ที่ชี้แจงในวันนี้ ๓-๔ ประเด็น

นางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นแรกค่ะ ท่านประธาน ในวันนี้รัฐบาลมีแนวทางในการส่งเสริมให้ประชาชนใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น เพื่อลดปัญหามลพิษในอากาศก็ดี หรือว่าในภาวะที่ราคาน้ำมันแพงในขณะนี้ คำถามค่ะ ท่านประธาน ขอถามไปยังผู้ที่ชี้แจงว่า กกพ. เองมีแนวทางในการสนับสนุนค่าไฟฟ้าให้กับ ประชาชนที่ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นในสถานีจ่ายไฟฟ้า หรือ Charging Station หรือการ Charge ไฟฟ้าที่บ้าน ในครัวเรือนเองเพื่อให้ประชาชนมีแรงจูงใจมาใช้ยานยนต์ ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น

นางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ในช่วงที่ผ่านมานั้นประชาชนพูดค่อนข้างมากว่าค่าไฟฟ้ามีราคา ค่อนข้างสูง หรือแม้แต่เพื่อนสมาชิกที่ได้มีการอภิปรายก็ได้มีการพูดถึงว่าค่าไฟฟ้านั้นมีราคา ค่อนข้างแพง แพงไปถึงเหมือนพระอาทิตย์ที่ขึ้นสูงขึ้นในทุก ๆ วัน ทั้งนี้เรามาดูเหตุผลกันแล้ว เราก็จะทราบว่า เหตุผลที่แท้จริงของราคาค่าไฟฟ้าที่แพงนั้นมันขึ้นอยู่กับต้นทุนการผลิต แต่ประชาชนยังมีความเข้าใจผิดพลาดว่าราคาค่าไฟฟ้าที่แพงนั้นขึ้นอยู่กับกำลังการผลิต ไฟฟ้าสำรองของประเทศที่สูงเกินหรือเปล่า หรือว่าค่าพร้อมจ่ายที่เราจ่ายเปล่าไปนะคะ คำถามที่ดิฉันอยากถามผู้มาชี้แจงในวันนี้ ก็คือว่า กกพ. จะมีแนวทางในการประชาสัมพันธ์ อย่างไร เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจที่แท้จริงว่าค่าไฟฟ้าที่แพงนั้นเกิดขึ้นจากอะไร

นางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ ท่านประธานเราทราบกันดีว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้านั้นมาจาก ก๊าซธรรมชาติที่มีต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างสูงในสถานการณ์โลก ในประเทศไทยเอง มีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพียงเจ้าเดียว คือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) วันนี้หากประเทศไทย มีการนำเข้าก๊าซเสรี มันจะทำให้เกิดการแข่งขันค่ะท่านประธาน แล้วจะทำให้ต้นทุนการผลิตนั้น ลดลง กกพ. ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราจะเปิดให้มีการนำเข้าก๊าซเสรีเพื่อให้ประชาชนมี พลังงานที่ใช้อย่างถูกลงค่ะ

นางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นสุดท้าย ถ้าเราดูจากงบการเงินของ กกพ. ในหน้า ๗๒ เราจะเห็นว่า ยอดเงินคงเหลือของ กกพ. นั้นมีมากสูงกว่า ๒๐,๐๐๐ ล้านบาท กกพ. เองมีแนวทาง ในการจัดการเงินจำนวนนี้อย่างไรคะท่านประธาน ๒๐,๐๐๐ กว่าล้านบาทนั้น กกพ. จะทิ้งไว้อยู่ในบัญชีเพื่อให้ได้รับดอกเบี้ย หรือว่าจะเอามาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับ ความเดือดร้อน ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ต่อไปเป็นสมาชิกท่านสุดท้าย ท่านอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ครับ

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อรายงานของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน เป็นรายงานประจำปีงบประมาณ พุทธศักราช ๒๕๖๔ ท่านประธานครับ ต่อรายงานฉบับดังกล่าว ผมต้องขอให้กำลังใจกับ กกพ. ที่ได้ทำงานยาก แล้วก็เผชิญกับ ความยากลำบากตลอดหลายปีที่ผ่านมา ที่ต้องให้กำลังใจเพราะอะไรครับ ผมได้ฟังคำชี้แจงรอบแรกก็เห็นถึงความยากลำบาก เพื่อนสมาชิกหลายท่านนั้นได้ตั้งข้อคำถาม มากมาย ถามว่าค่าไฟแพงจริงหรือไม่ ตอบเลยว่าแพง และแพงมาก แต่ด้วยเหตุผลที่ท่าน ได้อรรถาธิบายนั้นพอฟังได้หรือไม่ ผมมีคำวินิจฉัยส่วนตัวว่าก็พอฟังได้ มีหลายท่านลุกขึ้นมา ตำหนินะครับ แต่ผมขออนุญาตมองในมุมกลับไปอีกทางหนึ่งว่าถ้าหากเราไม่มี กกพ. ค่าไฟ มันอาจจะไหลไปไกล อาจจะแพงกว่านี้ก็เป็นได้ คำถามที่เราต้องขบคิดและต้องถกแถลงกัน ต่อก็คือว่าแล้วตกลงค่าไฟประเทศไทยมันแพงเบอร์ไหน แพงที่สุดใน ASEAN หรือไม่ ท่านไม่ต้องตอบว่าแพงเบอร์ ๕ เพราะเบอร์ ๕ ประหยัดไฟ แต่ว่าแพงเบอร์ไหนแปลว่า มันแพงอยู่ในลำดับที่เท่าไรของ ASEAN ผมมีข้อมูลจาก Global Petrol Price ได้ทำรายงาน ปีนี้ละครับ ประเทศใน ASEAN ที่ค่าไฟสูงที่สุดไม่ใช่ประเทศไทย อันดับ ๑ ประเทศสิงคโปร์ ๖.๒๒ บาทต่อหน่วย อันดับ ๒ ก็ยังไม่ใช่ประเทศไทย ประเทศฟิลิปปินส์ครับ ๖.๔ บาทต่อหน่วย อันดับ ๓ ก็ยังไม่ใช่ประเทศไทย ประเทศกัมพูชาครับ ๕.๑๒ บาทต่อหน่วย ประเทศไทย แพงตรงไหน แพงอันดับ ๔ ครับ อยู่ที่ ๔ บาท ๗๐ สตางค์ต่อหน่วย อันนั้นก็ไม่ได้แปลว่า ประเทศไทยแพงที่สุดนะครับ แต่ถามว่าเราสามารถทำได้ดีกว่านี้หรือไม่ ผมต้องตอบว่าทุกคน เอาใจช่วยและอยากให้ท่านทำสำเร็จในการจะลดค่าไฟให้คนไทย เพราะวันนี้เราเดือดร้อนกันทั่ว หน้า มีการอำกันในโลก Social ว่าร้อนอยู่ดี ๆ พอ Bill ค่าไฟมาปั๊บหนาวขึ้นมาทันที เพราะเจอ Bill ค่าไฟเข้าไป บางคนบอกว่าช่วยประหยัดไฟในวันนี้ จะได้ไม่เป็นหนี้ในวันหน้า บางคนบอกว่าค่าไฟแพงมหาโหด ต้องอยู่ในโหมดขยันทำงานเพื่อเก็บเงินมาจ่ายค่าไฟ ท่านประธานครับ ผมตั้งใจฟังท่านเลขาธิการ กกพ. ได้ชี้แจงรอบแรก คำถามที่เพื่อนสมาชิกถาม ซึ่งนำเอาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมาถามนี่ละครับว่าตกลงเอาชัด ๆ ชี้ชัด ๆ ว่า ค่าไฟประเทศไทยที่แพงอันดับ ๔ มันแพงเพราะอะไร ท่านก็ได้กรุณาตอบนะครับ นี่ผมจดมา ตั้งใจฟังท่านเลขาธิการนะครับ อันดับ ๑ ท่านบอกว่ามันมาจากปัญหาการต่อสัมปทานก๊าซ อันดับ ๒ บอกว่าสาเหตุก็คือปริมาณก๊าซในอ่าวไทยลดลงแล้วก็หายไปอย่างมีนัยสำคัญ สาเหตุอันดับ ๓ มาจากปัญหาวิกฤติสถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ต้องทำ ข้อ ๔ ซี่งเป็น Fight บังคับ ไม่ทำก็ไม่ได้ครับ ก็คือต้องนำเข้า LNG ราคาสูงมากจากต่างประเทศ ท่านประธานครับ ฟังมาถึงตรงนี้ก็อยากเอาใจช่วย กกพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ท่าน ไปบริหารจัดการก๊าซ บริหารอย่างไรครับ ที่ท่านทำมาก็ดีแล้วครับ แต่เราเชื่อว่า มันดีกว่านี้ได้อีก ท่านต้องไปบริหารก๊าซอย่างเป็นระบบ สร้างเสถียรภาพด้านราคาไม่ให้ขึ้นแรง ลงแรง หรือหวือหวา เพื่ออะไรครับ เพื่อจะนำไปสู่ความมั่นคงทางพลังงาน ท่านประธานครับ ผมกราบเรียนท่านประธานผ่านไปยัง กกพ. ไปถึงท่านเลขาธิการและคณะที่มาชี้แจงวันนี้ว่า คำชี้แจงฟังได้ครับ แต่บางคนก็บอกอีกว่าบางครั้งเหตุผลกับข้ออ้างมันมีเส้นกั้นบาง ๆ แต่ผม ก็เชื่อว่าทุกปัญหามีทางออก อาจจะไม่ต้องไปถึงช่องเม็กแบบ สส. สุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ ว่าละครับ เพราะเราก็ไม่อยากเป็นมนต์แคน แก่นคูณ ที่ไปคอยน้องที่ช่องเม็ก เพราะไม่รู้ว่า จะได้เจอเมื่อไร แต่ผมเชื่อว่าถ้าท่านแก้ปัญหา ๔-๕ ข้อที่ว่ามานี้ คนไทยจะได้เห็นค่าไฟ ที่ลดลง จากเราแพงเป็นเบอร์ ๔ อันดับ ๔ นี่นะครับ เราอาจจะมาอยู่แพงอันดับท้าย ๆ ของ ASAIN ก็เป็นได้ เพราะต้องยอมรับว่า ๔-๕ สาเหตุนี้มันเกิดขึ้นในช่วง ๔-๕ ปีที่ผ่านมานี้จริง ๆ ท้ายสุดครับ ขอให้กำลังใจ กกพ. อีกครั้งหนึ่ง แล้วก็ขอให้ท่านได้ร่วมมือและสนับสนุน รัฐบาลใหม่ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย โดยการประชุม ครม. นัดแรกจะได้เห็นแล้วครับเรื่องของ การลดค่าไฟ ค่าพลังงานลงในทันที ลำพังรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ทำคนเดียวก็อาจจะสัมฤทธิผลได้ช้า ต้องเอาหน่วยงานภาครัฐ เอา กกพ. มาช่วย เพราะว่าถ้าเราทำไม่สำเร็จนี่นะครับ เงินทองที่พี่น้องทำมาหาได้ หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน เมื่อก่อน หาเช้ากินค่ำครับ วันนี้หาเช้า เย็นมาจ่ายค่าไฟครับ ยังดีว่ามีนโยบาย Digital Wallet ๑๐,๐๐๐ บาทนะครับ และผมถามก่อนมาอภิปรายว่าตกลงค่าไฟที่ติดค้างนี่ ๑๐,๐๐๐ บาท Digital Wallet จ่ายได้หรือไม่ ก็ขอให้กำลังใจและจะรอผลว่าตกลงค่าไฟจะลดลงและการกำกับ กิจการพลังงานของ กกพ. จะดีขึ้นกว่านี้ ที่ท่านทำมาก็ดีที่สุดแล้วครับ แต่เราหวังว่า จะดีได้กว่านี้ กราบขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ผู้ชี้แจงครับ หลายคำถามก็มีโอกาสตอบไปในรอบแรกแล้วนะครับ คงไม่จำเป็นต้องย้ำ ก็เดี๋ยวจะตอบคำถามที่ยังไม่มีการตอบนะครับ เรียนเชิญเลยครับ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับ ท่านประธานครับ ก็ขออนุญาตชี้แจงเป็นประเด็น ๆ ไป ด้วยความรวดเร็วนะครับ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

อันแรก เรื่องของ Bill ค่าไฟ ต้องเรียนว่ากลไกตาม พ.ร.บ. เรามีคณะกรรมการ ผู้ใช้พลังงานประจำเขตคอยดูแลตัวนี้อยู่แล้ว สำหรับท่านใดที่ Bill ค่าไฟไม่ตรง และมีประเด็น คุยกับการไฟฟ้าแล้วมีปัญหาสามารถเอาไปที่คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต เขาจะตั้ง กรรมการขึ้นมาดูแลเกี่ยวกับการไฟฟ้าแล้วเกิดมีปัญหาถ้าไม่สำเร็จก็จะอุทธรณ์มาที่ กกพ. ก็มีขั้นตอนตามกฎหมายดำเนินการได้อยู่ครับ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

ส่วนเรื่องของหลักเกณฑ์ในการคิดค่าไฟตามมาตรา ๖๐ กว่า อันนี้คือ เป็นหลักเกณฑ์การคิดค่าไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นค่า Ft หรืออะไรต่าง ๆ เราจะมีสูตรประกาศ ลงในราชกิจจานุเบกษา แล้วก็มีรายละเอียดต่าง ๆ ส่วนตัวแปรไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าน้ำมัน ค่าอะไรต่าง ๆ เราจะใช้ตัวเลขอยู่ในเรื่องการรับฟังความเห็น จะมีค่าตัวแปรต่าง ๆ ซึ่งก็เป็นไป ตาม พ.ร.บ. ทั้งหมดก็คือมีสูตร มีหลักเกณฑ์ แล้วก็มีตัวแปรต่าง ๆ ตามรอบการคิด Ft แต่ละรอบ แต่เรื่อง Bill ค่าไฟไม่ได้เป็นสูตร เป็นการคำนวณธรรมดา เอาหน่วยคูณกับราคา แล้วก็บวกภาษีบวกอะไรต่าง ๆ เราไม่ได้มีกำหนดเป็นสูตรครับ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

เรื่องของการอุดหนุนพลังงานหมุนเวียน เราก็มีตามมาตรา ๙๗ (๔) ที่เราอุดหนุน พวกโรงเรียน โรงพยาบาล คือจริง ๆ ต้องเรียนว่าที่เราให้โรงเรียน โรงพยาบาล ตามมาตรา ๙๗ (๔) ก็คือว่า ๒ ประเภทนี้เป็นประเภทที่ใช้ไฟค่อนข้างเยอะ และใช้ไฟคุ้มค่า การติด Solar บนหลังคาจะให้ไฟฟ้าตอนกลางวัน โรงพยาบาลจะใช้ไฟ ๒๔ ชั่วโมง โรงเรียนก็ใช้ไฟ เป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นเราก็เลยสนับสนุนการติดโซลาร์ โดยให้เงินกองทุนนี้ไปกับ โรงเรียน โรงพยาบาลของภาครัฐที่อยู่ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลของ กทม. เราก็ให้ โรงพยาบาลของสาธารณสุขต่าง ๆ เราให้มาตามลำดับ ต้องเรียนว่ามาตรา ๙๗ (๔) นี่มีจำนวนจำกัด เพราะฉะนั้นเราก็พยายามทำในสิ่งที่มันเกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าก่อน ก็คือทางโรงเรียน โรงพยาบาล ก็เป็นการ Promote ของเราด้วย เพราะว่าการเอาให้ทุน ไปติดตั้งโซลาร์ ก็จะมีชื่อสำนักงาน กกพ. แล้วก็เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล หรือว่าคนที่ผ่านไป ผ่านมาก็สามารถที่จะดูรายละเอียด เป็นการ Promote ว่ามีการใช้โซลาร์ในโรงเรียน โรงพยาบาล ส่วนใหญ่ทุกหน่วยที่เป็นของรัฐเราพยาบาลทยอยให้กันไปครับ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

ส่วนในเรื่องของการให้โซลาร์ ไม่ว่าจะโซลาร์ ไปติดที่แม่ฮ่องสอน อันนี้เข้าใจว่า ไม่ได้เป็นกองทุนของเรานะครับ น่าจะเป็นกองทุนของคนอื่น ส่วนของเราส่วนใหญ่จะให้ไป เรื่องของโรงเรียนกับโรงพยาบาลเสียเป็นหลัก สำหรับมาตรา ๙๗ (๔) อันอื่นเราไม่ค่อยได้ สนับสนุนเท่าไร เพราะว่ามันเป็นเรื่องของความยั่งยืนด้วย เพราะว่าหลาย ๆ ที่เราเห็นว่า มันไม่มีคนดูแล แต่ละโรงเรียน โรงพยาบาลเราตั้งงบประมาณให้บำรุงรักษาต่าง ๆ เป็นรายปี ให้ด้วย ก็คือติดแล้วก็คงไม่เห็นเป็นซาก ก็คือจะมีการบำรุงรักษาอยู่ตลอดครับ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

ส่วนเรื่องค่า ๘๐ สตางค์ ต้องเรียนว่า ๘๐ สตางค์นี้เป็นค่าก่อสร้าง แล้วก็ เป็นค่าบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า ใน ๘๐ สตางค์นี้มันมีโรงเดินด้วย แล้วก็โรงที่อาจจะเดินน้อย หรือโรงที่เป็น Standby อยู่บางส่วน ซึ่งแบบที่ผมเรียนในรอบแรกโรงพวกนี้มันก็มีการใช้ ไฟฟ้าในช่วงที่เป็น Peak Load ซึ่ง Peak Load ถ้าเราไปอยู่ในระบบ Power Pool มันจะ แพงมาก แต่โรงพวกอยู่ในระบบของเราคือจะราคาเท่าเดิมกับใน Base Load อันนี้เป็นส่วน ของโครงสร้างที่เป็นปัจจุบันอยู่ แล้วก็ส่วนหลาย ๆ โรงแบบที่ผมเรียนยังมีโรงไฟฟ้าน้ำมันเตา อย่างเช่นกระบี่ มันก็มีความจำเป็นที่ต้องใช้เวลา เวลาที่เกิดมีพายุเข้าที่อ่าวไทยไม่สามารถ ที่จะผลิตไฟฟ้าด้วยแก๊สได้ก็จะมีโรงประเภทนี้กระจายอยู่ อย่างโรงกระบี่ โรงที่ราชบุรี ใช้น้ำมันเตา โรงไฟฟ้าบางปะกงที่ใช้น้ำมัน ใช้แก๊ส ใช้น้ำมันเตาด้วย ซึ่งพวกนี้เวลามีปัญหา จำเป็น ๆ ที่เกิดปัญหาเรื่องขาดแคลนแก๊สโรงพวกนี้ก็ได้นำมาใช้เพื่อรักษาความมั่นคง ให้ระบบ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

สำหรับเรื่องของโรงไฟฟ้าขยะ เราก็ได้ตอบไปแล้วในภาคแรก

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

เรื่องของเงินประกันค่าไฟฟ้าปัจจุบันเหลืออยู่ ๑๖,๙๒๘ ล้านบาท ก็ต้องเรียนว่า เงินประกันราคาไฟฟ้านี่เราด้วยความสมัครใจว่าใครอยากจะมารับคืนก็คืนได้ ในส่วนที่ ตกค้างอยู่ก็คือเป็นคนที่ไม่ได้มารับคืน ที่ไม่ประสงค์จะคืน อย่างของผมเองก็อยู่ในกลุ่มนั้นอยู่ ก็คือยังไม่ได้รับคืนก็ปล่อยให้อยู่ที่การไฟฟ้า แล้วก็อาจจะมีบางคนก็คืออาจจะเปลี่ยนชื่อ คนใช้ไฟ มีการขายบ้าน ขายอะไรต่าง ๆ ก็ต้องไปเอาหลักฐานมาประกอบ เพราะว่า ตามกฎหมายเงินตัวนี้มันวางโดยคนที่ขอคนแรกก็ต้องมีการมอบอำนาจมอบอะไรให้ชัดเจน แล้วก็ไปขอคืนที่การไฟฟ้า การไฟฟ้าก็ให้คืนตลอด เก็บเงินตัวนี้ไว้ตลอด แล้วก็มีดอกเบี้ย มีอะไรต่าง ๆ ตาม Rate ที่การไฟฟ้ากำหนด ถ้าเกิดว่าเอาคือช้าก็จะได้ดอกเบี้ยไปตามที่ กำหนด

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

เรื่องของกำลังผลิตเกิน อันนี้ผมต้องขออนุญาตเรียนว่ากำลังผลิตเกินไม่เกิน อันนี้อยู่ที่วิธีคิดและอยู่ที่แผน PDP อยู่ที่เรื่องของความมั่นคง ก็เข้าใจว่าทางกระทรวง พลังงานเองก็มีนโยบายที่จะปรับแผน PDP อยู่แล้ว อันนี้ก็ขออนุญาตให้เป็นส่วนของ กระทรวงพลังงานในการปรับแผนดีกว่า เพราะว่าเวลาปรับแผนเขาจะดูเรื่องความมั่นคง ดูเรื่องของการใช้พลังงานหมุนเวียน ดูเรื่องของภาพรวมโครงข่ายพลังงาน โครงข่ายแก๊สต่าง ๆ ให้เกิดความมั่นคงโดยรวม รวมทั้งเรื่องของปัญหาคุณภาพบริการ ความถี่ไฟฟ้าตกดับต่าง ๆ ด้วย ก็อยากจะเอาตัวนี้ไปรวมอยู่ในการพิจารณาปรับแผนของกระทรวงพลังงาน

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

เรื่องของการตัดไฟ อันนี้ก็ต้องเรียนว่าเราจะขอกำชับไปที่การไฟฟ้า อย่างเรื่อง ผู้ป่วยติดเตียงอะไรต่าง ๆ ก็อาจจะให้มีเวลาหรือมีการแจ้งเตือนล่วงหน้าในเรื่องของการตัดไฟ ถ้ามีประเด็นอะไรเดี๋ยวขออนุญาตไปกำชับการไฟฟ้า เข้าใจว่าปัจจุบันนี้ก็มีการแจ้งเตือน อยู่ระดับหนึ่งก่อนที่จะตัดไฟ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

เรื่องของภาวะขาดแคลนพลังงาน การแจ้งเตือน แล้วก็ราคา ต้องเรียนว่า พลังงานในบ้านเรานับวันทรัพยากรธรรมชาติที่เราใช้อยู่ก็จะหมดลงไปเรื่อย ไม่ว่าจะเป็น แก๊สธรรมชาติอะไรต่าง ๆ เราก็พยายามประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าขอให้สำรวจ หรือขุดเจาะแก๊สต่าง ๆ เข้ามาเพิ่มเติม เพื่อที่จะดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของด้านพลังงาน แล้วก็อีกส่วนหนึ่งก็คงเป็นเรื่องของการนำเข้า LNG ซึ่งในอนาคตก็คงจะต้องมี LNG มากขึ้น แล้วก็ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้ LNG อย่างในเรื่องของโครงข่ายแก๊สธรรมชาติ แล้วก็เรื่องของ Terminal ต่าง ๆ ไว้รองรับการใช้ LNG อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งเพราะว่า แก๊สธรรมชาติน่าจะเป็นเชื้อเพลิงที่ปลดปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุดในจำพวกเชื้อเพลิงหลักอื่น ๆ แต่อีกอันหนึ่งนะครับ อันนี้ก็อยากจะขอให้เป็นเรื่องของการปรับภาพรวมของนโยบาย พลังงาน ซึ่งผมเรียนว่าทุกอย่างมันคงต้องสอดคล้องกัน

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

เรื่องของกองทุนที่เมื่อสักครู่บอกว่ามีการใช้เงินกองทุน มาตรา ๙๗ (๑) อันนี้ ก็คือเรื่องของการที่นำเงิน อย่างที่เรียนมาแล้วว่าการไฟฟ้านครหลวงจะมีผลตอบแทนที่ดีกว่า จะมีกำไรที่ดีกว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเพราะว่าโครงข่ายการไฟฟ้านครหลวงอยู่ในกรุงเทพฯ แล้วก็มีผู้ใช้ไฟค่อนข้างหนาแน่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเดินไฟไปค่อนข้างยาวแล้วก็มีต้นทุน ที่สูงกว่า อันนี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ มาตรา ๙๗ (๑) ดำเนินการก็คือนำเงินตัวนี้ไปสนับสนุน ให้ผู้ที่อยู่ห่างไกลมีไฟฟ้าใช้ แต่เนื่องจากว่าเงินจำนวนนี้มีจำนวนจำกัด เพราะฉะนั้นเขาก็จะให้ได้ในรอบ ๑ ปีก็จะมีเงิน จำนวนจำกัดคอยเฉลี่ยกระจายไป แล้วก็มี (๔) เป็นเรื่องส่งเสริมให้ตระหนักรู้เรื่องพลังงาน หมุนเวียน (๕) ประชาสัมพันธ์ (๓) เป็นเรื่องของกองทุนในพื้นที่ ก็อยากจะเรียนชี้แจงนิดหนึ่งว่า แต่ละวงเล็บก็มีความสำคัญหรือการใช้งานไม่เหมือนกัน

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

อีกอันหนึ่งก็คือเรื่องค่าภาคหลวงหลุมก๊าซ อันนี้ก็ต้องเรียนว่าทาง กกพ. ไม่ได้ดูก๊าซธรรมชาติเรื่องค่าภาคหลวง ส่วนอีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า อันนี้ก็เป็นนโยบายของทางรัฐบาลที่จะมีการสนับสนุนให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ทางเราเองก็ได้สนับสนุนและคุยกับการไฟฟ้าว่าใครที่มียานยนต์ไฟฟ้าที่บ้านอาจจะให้ช่วย เพิ่มมิเตอร์อีก ๑ ตัว เพื่อที่จะ TOU Rate แล้วก็ให้ไปใช้ Charge ไฟในช่วงที่เป็นไฟ Off Peak อันนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนให้ทางบ้านได้ใช้ไฟ แล้วก็ใช้ไฟอยู่ในกลุ่มที่อยู่ในช่วง Off Peak ส่วนในเรื่องของสถานี Charge สาธารณะ ซึ่งในเบื้องต้นเราก็ทราบปัญหาว่า เวลาเอารถไฟฟ้าไปวิ่งระหว่างทางไปต่างจังหวัดไกล ๆ หาสถานี Charge ไม่ได้เพราะว่า มันต้องเป็น Quick Charge และ Quick Charge นี้จะกินไฟค่อนข้างสูงทำให้เกิด Demand Charge สถานีอาจจะไม่ค่อยกำไรเพราะจะมีจำนวนรถน้อย ในระยะแรกเราก็พยายาม ปรับปรุง Rate ก็เหมือนกับต่างประเทศก็คือในระยะแรก ๆ ที่มาของรถ EV เราก็จะให้อัตรา ที่ต่ำกว่าเพื่อเป็นแรงจูงใจให้มีคนใช้รถ EV มากขึ้น แล้วก็สามารถนำไปใช้ที่ต่างจังหวัดได้

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

ส่วนเรื่องประชาสัมพันธ์ค่าไฟก็พยายามประชาสัมพันธ์ทุกรอบ การคิดค่า Ft พยายามชี้แจงทางสื่อ ทางอะไรต่าง ๆ แล้วก็ระยะหลัง ๆ เราก็พยายามที่จะกระจายไป ที่สำนักงานเขตให้ชี้แจงในพื้นที่อะไรต่าง ๆ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แล้วก็มีการ Live สด ออกทาง Facebook เผื่อท่านใดสนใจก็เข้ามารับฟังได้

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

เรื่องก๊าซธรรมชาติที่เมื่อสักครู่มีถาม อันนี้เราตระหนักดีว่าก๊าซธรรมชาติ ในอ่าวไทยนับวันก็จะลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ ก็สอดคล้องกับทางนโยบาย เข้าใจว่าทางนโยบาย ก็คงทราบในเรื่องนี้ดี ถึงจะมีการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติมาก่อนเลยเพื่อให้มีคนซื้อแก๊สมา หลายราย แล้วจะได้มีการเปรียบเทียบซึ่งกันและกันว่าใครซื้อถูกซื้อแพง อันนี้ทาง กกพ. เอง ก็พยายามปรับกฎกติกาให้สอดคล้องกับแนวนโยบายที่มีเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ เปิดไปแล้ว ระยะที่ ๑ มีปัญหาอุปสรรคใดก็มีระยะที่ ๒ ต่าง ๆ ก็มีการปรับปรุงมาตามลำดับ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

ส่วนอีกอันหนึ่งคือยอดเงินคงเหลือ อันนั้นเป็นยอดตัวเลขเฉย ๆ เพราะเข้าใจว่า ในบัญชีมันมีรวมทั้งเงินกองทุน มาตรา ๙๗ (๑) ที่เป็นการโอนถ่ายระหว่างการไฟฟ้าด้วย อันนั้นเป็นตัวเลขที่คิดทางบัญชี ตัวเลขเงินจริง ๆ ไม่เหลือขนาดนั้น แล้วเป็นตัวเลขที่ผมแจ้งไปว่า เหลืออยู่เท่าไร ๔๐๐ กว่าล้านบาท หรือ ๕๐๐ ล้านบาทที่คืนไปที่กระทรวงการคลังแล้ว โดยสรุปก็มีชี้แจงประมาณนี้ครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ สมาชิกท่านใดมีข้อซักถามเพิ่มเติมไหมครับ ยังติดใจประเด็นไหนไหมครับ มี ๑ ท่าน ท่านเลาฟั้ง ๒ ท่าน ทั้งหมด ๓ ท่าน ขอเป็นลักษณะคำถามไม่เป็นอภิปราย เชิญครับ

นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ที่เมื่อสักครู่ท่านได้ อธิบายว่าในส่วนพลังงานที่ผลิตล้นเกินไม่ได้อยู่ในการดูแลของ กกพ. แต่ว่าพอมาเปิดดู ตัว พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน มาตรา ๑๑ (๕) ก็ระบุชัดว่าท่านมีหน้าที่ในการให้ คำแนะนำในการจัดทำแผน PDP ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ ก็แสดงว่าสิ่งเหล่านี้ก็อยู่ในอำนาจ ในการที่จะให้คำแนะนำหรืออำนาจในการตรวจสอบกำกับของท่านอยู่ แต่ว่าอย่างไรก็แล้วแต่ คือผมเข้าใจดีว่าอำนาจของท่านก็อาจจะไม่ได้ไปสั่งการใครได้มาก แต่ทุกคนก็รู้ว่าพลังงาน ที่มันล้นเกินมันสร้างภาระ แล้วในส่วนของท่านจะมีบทบาทเข้าไปทำอย่างไรให้การผลิตไฟฟ้า ที่ล้นเกินปรับเข้ามาให้เข้าที่เข้าทางในทางที่ควรจะเป็นบ้างครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ต่อไปเป็นท่าน ท่านศุภโชติแล้วก็ท่านวิโรจน์ครับ

นายศุภโชติ ไชยสัจ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ผม ศุภโชติ ไชยสัจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อยากจะขอสอบถามอยู่ ๓ ประเด็น

นายศุภโชติ ไชยสัจ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นแรก คือเรื่องของการเผยแพร่มติ ท่านผู้ชี้แจงยังไม่ได้ตอบว่า การเผยแพร่มติต่าง ๆ ทั้งการให้ใบอนุญาตท่านจะทำอย่างไรทั้ง ๆ ที่มีการกำหนดไว้อยู่ใน พ.ร.บ. เรียบร้อยแล้ว

นายศุภโชติ ไชยสัจ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อันที่ ๒ เป็นเรื่องของอัตราค่าไฟ มาตรา ๖๖ บอกไว้อย่างชัดเจนว่าวิธีการคิด เรารู้แค่สูตรการคำนวณของค่า Ft แต่ค่าไฟฟ้าฐานเราไม่มีใครรู้ว่ามีการคิดอย่างไร

นายศุภโชติ ไชยสัจ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ส่วนข้อที่ ๓ เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนที่กำลังฟังอยู่ ท่านผู้ชี้แจงชี้แจงว่า เวลา Peak Load ถ้าเราให้โรงไฟฟ้าเดินเครื่องในระบบแบบ Power Pool ที่ใช้กัน ในยุโรปจะมีราคาแพง อันนี้ผมเห็นด้วยนะครับ แต่ว่าไม่ทุกชั่วโมง ถ้าเทียบกับการที่เรา จะต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่ายทุก ๆ ชั่วโมงมันเปรียบเทียบกันไม่ได้เลยครับ ขอบคุณครับ

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ผม วิโรจน์ จากพรรคก้าวไกล ผมถามสั้น ๆ เลยโรงไฟฟ้าเอกชนที่ท่านบอกว่าไม่ได้เดินเครื่อง เพราะ Standby อะไรก็แล้วแต่ จะด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่รู้นะครับ แต่ค่าพร้อมจ่ายนี่ จ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนเหล่านั้นฟรี ๆ ผมว่าประชาชนควรจะได้รับทราบว่าโรงไฟฟ้า เอกชนที่กินเงินค่าพร้อมจ่ายฟรี ๆ โดยที่ไม่ได้เดินเครื่องปัจจุบันนี้มีกี่โรง แล้วชื่ออะไรบ้าง เขาจะได้ติดตามดูว่าเจ้าของโรงไฟฟ้าเหล่านั้นคือนายทุนชื่ออะไร แล้วผมกำลังรอ e-Mail จากประชาชนฝากถามมาว่า ทาง กกพ. ได้ไปฮังการี สาธารณรัฐเช็ก ภายใต้อุปการคุณ ของนายทุนโรงไฟฟ้าจริงหรือเปล่า ช่วยต่อประชาชนทีครับ ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

มีทั้งหมด ๓ ท่าน เชิญท่านผู้ชี้แจงครับ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

อันแรกเข้าใจว่าเป็นเรื่องของไฟฟ้าล้นเกินที่ทาง สส. ถาม ก็ต้องเรียน ไฟฟ้าล้นเกิน หน้าที่ของ กกพ. ก็คือให้ความเห็นไปที่การปรับแผน PDP ทุกรอบการปรับแผน เราก็จะมีความเห็นประกอบไปอยู่แล้วนะครับ ถัดมาก็คือบางทีเราต้องดูว่านโยบายเขามี ประเด็นด้านอื่นหลาย ๆ เรื่อง อย่างเช่นเรื่องของการเข้าสู่ Carbon Neutral ซึ่งจะต้องมี พลังงานหมุนเวียนมาเสริมในระบบ อันนี้เราก็ให้ความเห็นไปในเชิงในภาพกว้าง อย่างโรงไฟฟ้าชุมชนเศรษฐกิจฐานรากทางนโยบายเขาก็จะมีว่าเอาเงินไปช่วยเหลือชุมชน เศรษฐกิจอะไรต่าง ๆ อันนี้ก็คือความเห็นเราเป็นส่วนหนึ่งในภาพใหญ่เท่านั้นเอง แต่ว่า ในเรื่องของนโยบายเราคงไม่ได้ไปมีอะไรที่เหนือนโยบาย ก็ให้ความเห็นว่ามันจะกระทบ จะมีผลอะไรเท่านั้นเองครับ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน ต้นฉบับ

ถัดมาเรื่อง วิธีคิดค่าไฟฐาน ต้องเรียนว่าตรงนี้เรามีสูตรค่าไฟฐานอยู่ใน ราชกิจจานุเบกษาอยู่แล้วนะครับ แต่ส่วนเรื่องการทำต้องเรียนตรง ๆ ว่าตอนนี้เป็นการทำ ครั้งแรกที่เราทำเองร่วมกับ ๓ การไฟฟ้า ผมก็ขออนุญาตรับความเห็นนี้ไปแล้วกันว่า เดี๋ยวมีตัวเลขหรือมีอะไรต่าง ๆ ที่เผยแพร่ได้ ก็อาจจะเผยแพร่มาตามลำดับ แต่ต้องเรียนว่า เป็นเรื่องที่เราทำเองจริง ๆ เพราะว่าแต่ก่อนในอดีตนั้นมันจะเป็นการจ้างที่ปรึกษา ไม่ว่าจะเป็น ทางบริษัทใหญ่ ๆ อันดับ Big 4 Big 5 เป็นคนทำ แต่ว่างวดนี้เราเป็นคนทำเอง เพราะว่า โครงสร้างกิจการมันเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างเยอะแล้ว ก็ร่วมกับ ๓ ไฟฟ้าทำกันเอง แล้วก็โดยเอาหลักการที่เขามีเอามาใช้ประกอบ เดี๋ยวผมขออนุญาตรับความเห็นไปแล้วกัน แล้วก็ดูว่าจะมีตัวเลขหรือจะมีอะไรที่เปิดเผยออกมาสู่ Public ได้ก็จะขออนุญาตไปเปิดมาครับ เมื่อสักครู่มีอีกคำถามหนึ่งเรื่องที่ฮังการี ต้องเรียนอย่างนี้ว่าเนื่องจากโครงสร้างกิจการแก๊ส เป็นกิจการใหม่ แล้วเราก็ต้องอาศัยว่าต่างประเทศเขาเปิดเสรีกันอย่างไร ตัวนั้นเป็นตัวที่เรา ประสานกับ Regulator ต่างประเทศขอจัดทำ Class เข้าไปศึกษา ไปเรียนจากเขา เราจ่ายเงินของเราเองนะครับ แต่เนื่องจากว่า Class มันเป็น Class ใหญ่ ทางกรรมการเอง ก็มองว่าต้องการเรียนรู้ไปพร้อมกันระหว่างตัวกรรมการแล้วก็ตัวผู้ได้รับอนุญาตรายใหญ่ ๆ ที่ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่ง เราก็เชิญทุกรายไปแล้วก็เรียนรู้ไปพร้อมกับเราว่ามันเป็น อย่างไร แต่ในส่วนของเราเราจ่ายเอง เพราะว่าทั้ง Class มันประมาณ ๓๐ คน คือเรา ไม่สามารถไปเองได้หมด เราก็ไปส่วนหนึ่งที่ไปเรียนรู้จากเขา แล้วก็มีผู้ได้รับอนุญาตรายอื่น เข้าไปเรียนรู้ด้วยกัน เป็นส่วนงบประมาณของเราเองทั้งหมดในส่วนของเรานะครับ แต่ส่วน ของคนอื่นอันนั้นแล้วแต่เขาเขาเป็นคนจ่ายเองครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ผมคิดว่าได้ตอบครบทุกประเด็นแล้ว

นายศุภโชติ ไชยสัจ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เหลืออีกประเด็นหนึ่ง เรื่องการเผยแพร่มติครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

อันนี้จะตอบไหมครับ เรื่องการเผยแพร่มติ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการ พลังงาน ต้นฉบับ

จริง ๆ ผมขออนุญาตเรียนอย่างนี้นะครับว่า ในระเบียบเราถ้าเป็นการอนุญาตโรงไฟฟ้า พอเราอนุญาตปุ๊บประมาณอีก ๑-๒ อาทิตย์มันจะมีชื่อขึ้นอยู่ใน Website เลยว่าเราได้อนุญาตอะไรไปแล้ว ถ้าเข้าไปใน Website มันจะมีรายชื่อผู้ได้รับใบอนุญาต มันจะ Update อยู่ตลอด แต่มันอาจจะ Lag สักประมาณ ๑ หรือ ๒ อาทิตย์ ชื่อมันก็จะไป ลองเข้าไป Search ใน Website มันจะมีรายชื่อผู้ได้รับอนุญาตอยู่ อันนั้นมีนะครับ

นายศุภโชติ ไชยสัจ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สวัสดีครับ ผม ศุภโชติ ไชยสัจ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านครับ ผมคิดว่าพอสมควรแล้วครับ

นายศุภโชติ ไชยสัจ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ได้ครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เดี๋ยวอย่างไรเจอกันหลังบัลลังก์ได้นะครับ พอแล้วครับ ผมว่าเวลาในการอภิปรายเราพอสมควรแล้วนะครับ ขอบคุณทางท่านผู้ชี้แจงนะครับ ถือว่าทางที่ประชุมได้รับทราบรายงานของทาง กกพ. นะครับ สมาชิกครับ ระเบียบวาระที่มีในวันนี้มีเพียงเท่านี้ครับ ส่วนเรื่องญัตติผมเข้าใจว่าจะเป็นการเสนอในวันพรุ่งนี้ใช่ไหมครับ ท่านภราดรจะชี้แจงไหม หรือว่าทางฝ่ายรัฐบาลมีไหมครับ

นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธาน ที่เคารพค่ะ ดิฉัน ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย วันนี้ต้องขอบพระคุณทางผู้ชี้แจงได้ตอบคำถามยืดเยื้อมาจนถึงเวลา ๒๑.๔๒ นาฬิกาแล้ว ตามเวลาที่ปรากฏอยู่ที่หน้าบัลลังก์ ความจริงแล้ววันนี้ท่านสรวงศ์ เทียนทอง ผู้ที่จะเสนอญัตติเรื่องของราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำก็พร้อมอยู่ตรงนี้แล้ว เพียงแต่ว่าดิฉันเห็นว่าญัตตินี้เป็นญัตติที่สำคัญ แล้วก็อยากที่จะให้เพื่อนสมาชิกที่ได้เสนอ ค้างไว้ในระเบียบวาระได้แถลงต่อสภากันอย่างครบถ้วนทุกคน รวมถึงพี่น้องประชาชน ก็จะได้รับฟังญัตตินี้ด้วยความตั้งใจในวันพรุ่งนี้ ดิฉันจึงเห็นว่าวันนี้เราปิดประชุม แล้วก็ค่อยเสนอญัตติต่อในวันพรุ่งนี้จะเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดค่ะ ขอบคุณท่านประธานค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เห็นสมควรด้วยนะครับ สมาชิกครับ วันนี้ระเบียบวาระทุกอย่างก็เสร็จสิ้นด้วยดี ขอบคุณสมาชิกทุกท่านที่ทุ่มเทประชุมนะครับ ขอบคุณเจ้าหน้าที่ แล้วก็ล่ามภาษามือด้วยนะครับ ขอปิดการประชุมครับ