นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์

  • กราบเรียนท่านประธานและท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการ พลังงาน ขอนำเสนอรายงานประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ของคณะกรรมการกำกับกิจการ พลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งเป็นการนำเสนอตามความ ในมาตรา ๔๖ ของพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่กำหนดให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพลังงาน สำนักงานนโยบายพลังงานแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา และเปิดเผยต่อสาธารณชน กกพ. ได้มีการนำเสนอรายงานประจำปี งบประมาณ ๒๕๖๔ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คณะกรรมการนโยบาย พลังงานแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีรับทราบแล้ว สำหรับสาระสำคัญในรายงานประจำปี งบประมาณ ๒๕๖๔ จะขอใช้เวลาสั้น ๆ กล่าวสรุปผลการดำเนินงานของ กกพ. และสำนักงาน กกพ. ตามผลการดำเนินการสำคัญของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าด้วย ดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • ในปีงบประมาณ ๒๕๖๔ กกพ. และสำนักงาน กกพ. ได้ดำเนินงานตามแผน การดำเนินงานปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการ ด้านการกำกับกิจการพลังงาน ระยะที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๖๓-๒๕๖๕ ภายใต้วิสัยทัศน์ กำกับกิจการ พลังงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และส่งเสริมการแข่งขันให้เหมาะสม เป็นธรรม โดยมี ผลการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ส่งเสริมให้มีการบริการด้านพลังงานอย่างเพียงพอและมั่นคง โดยกำกับ การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ตามแผน PDP 2018 และดำเนินนโยบายส่งเสริม การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีโครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงาน แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาภาคประชาชน ทั้งนี้ กกพ. ได้ปรับลดค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้า โครงการ Solar ภาคประชาชน กลุ่มบ้านอยู่อาศัย จากเดิม ๘,๕๐๐ บาท เหลือ ๒,๐๐๐ บาท โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ และโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โครงการนำร่อง โดยมีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการจำนวน ๔๓ ราย ปริมาณพลังงานไฟฟ้าเสนอขาย ๑๔๙.๕ เมกะวัตต์

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ปกป้องผลประโยชน์ของผู้ใช้พลังงานด้านอัตราค่าบริการและคุณภาพ บริการ โดยออกมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้ารวม ๒๓.๗ ล้านราย คิดเป็น ร้อยละ ๙๗ เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ เพื่อบรรเทาผลกระทบในสถานการณ์ ระบาดของ COVID-19 ได้แก่มาตรการไฟฟรี ๙๐ หน่วย สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัย ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน ๑๕๐ หน่วยต่อเดือน มาตรการส่วนลดค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัย ที่ใช้ไฟฟ้าเกิน ๑๕๐ หน่วยต่อเดือน มาตรการค่าไฟฟรี ๕๐ หน่วย สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้า ในกิจการขนาดเล็กไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ และออกมาตรการยกเว้นการเก็บ อัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด หรือ Minimum Charge ช่วยเหลือภาคธุรกิจทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่ กิจการเฉพาะอย่าง องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร โดยใช้งบประมาณ รวมทั้งสิ้น ๒๘,๕๒๖ ล้านบาท และได้พิจารณาค่า Ft ให้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของต้นทุน ในการจัดหาไฟฟ้าที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้า โดยได้มีการปรับค่า Ft ในงวด เดือนมกราคม-เมษายน ๒๕๖๔ ลงจากงวดก่อนหน้าจำนวน ๒.๘๙ สตางค์ต่อหน่วย และตรึงค่า Ft ประจำเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ๒๕๖๔ และเดือนกันยายน-ธันวาคม ๒๕๖๔ ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตรา ๓.๖๑ บาทต่อหน่วย ตลอดจนได้มีการทบทวนมาตรฐาน คุณภาพบริการให้มีบริการกิจการไฟฟ้าระบบส่งศูนย์ควบคุมเพื่อรองรับความมั่นคง และความเชื่อถือได้

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ส่งเสริมการแข่งขันในกิจการพลังงาน โดยปรับปรุงกฎ ระเบียบ และข้อกำหนดต่าง ๆ เพื่อเปิดให้มีบริการสถานี LNG และเปิดให้ใช้ระบบโครงข่าย ก๊าซธรรมชาติเพื่อส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติระยะ ๒ เพื่อให้เกิดการแข่งขัน ธุรกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ และได้ออกประกาศว่าด้วยแนวทางปฏิบัติทางธุรกิจ สำหรับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาให้มีมาตรฐานเดียวกัน ตลอดจนหลักเกณฑ์ การสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าสำหรับผู้ได้รับอนุญาตศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า

    อ่านในการประชุม

  • ๔. ส่งเสริมการประกอบกิจการพลังงานให้มีประสิทธิภาพ โดยตรวจสอบ สถานประกอบกิจการพลังงานให้มีมาตรฐานวิศวกรรม มาตรฐานสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนด และพัฒนาระบบข้อมูลการตรวจติดตาม รายงานมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมบน Platform Online

    อ่านในการประชุม

  • ๕. คุ้มครองผู้ใช้พลังงาน โดยเร่งติดตาม เร่งรัดการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก ตามประกาศหลักเกณฑ์ที่กำหนด อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนแล้ว ๘.๖๕ ล้านราย รวมวงเงิน ๑๗,๐๗๔ ล้านบาท และมีการคืนเงินประกันไปแล้ว ๘.๔๔ ล้านราย หรือเป็นวงเงิน ๑๖,๘๕๐ ล้านบาท

    อ่านในการประชุม

  • ๖. การบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงาน กกพ. ได้จัดเก็บเงินนำส่งกองทุน และจัดสรรตามวัตถุประสงค์การใช้จ่ายกองทุนพัฒนาไฟฟ้า มาตรา ๙๗ แห่งพระราชบัญญัติ ประกอบกิจการพลังงาน ปี ๒๕๕๐ ดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ชดเชยและอุดหนุนให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานให้บริการ อย่างทั่วถึงจำนวน ๑๔,๓๘๙ ล้านบาท

    อ่านในการประชุม

  • ๒. พัฒนาและฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า โดยปรับปรุงประกาศ หลักเกณฑ์ และคู่มือเพื่อกระจายอำนาจและความรับผิดชอบสู่ระดับ พื้นที่ และส่งเสริมให้มีการดำเนินการโครงการชุมชนในพื้นที่ประกาศการพัฒนาหรือฟื้นฟู พื้นที่รอบโรงไฟฟ้าอย่างยั่งยืน และได้มีการอนุมัติจัดสรรเงินเพื่อดำเนินโครงการชุมชน ในพื้นที่ประกาศ ๕๕ กองทุน ๔,๖๔๐ โครงการ รวมวงเงิน ๑,๙๕๐.๗ ล้านบาท ประกอบด้วย การดำเนินงาน ๖ ด้าน ได้แก่ ด้านการสาธารณสุข เพื่อลดหรือป้องกันปัญหาสุขภาพ ของชุมชน ด้านการศึกษาเพื่อเพิ่มคุณภาพด้านการศึกษาของเยาวชนและครูสอน ในสถานศึกษาของรัฐ ด้านเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มรายได้ของชุมชน ด้านสิ่งแวดล้อม ส่งเสริม สภาพแวดล้อมหรือบำรุงรักษาสภาพแวดล้อมในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ด้านสาธารณูปโภค เพื่อยกระดับการเข้าถึงและครอบคลุมของสาธารณูปโภค และด้าน พลังงานชุมชน เพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของโรงไฟฟ้าและชุมชน

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ส่งเสริมใช้พลังงานหมุนเวียน เทคโนโลยีประกอบกิจการไฟฟ้าที่มี ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย โดย กกพ. ได้จัดสรรเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อดำเนินการ ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบมุ่งเป้า โดยติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้า จากพลังงานแสงอาทิตย์แบบ Off Grid ให้กับหน่วยงานด้านการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล ระบบส่งไฟฟ้า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในด้านการศึกษาให้เท่าเทียมกับโรงเรียนในเขตเมือง และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีโรงเรียนที่ได้รับประโยชน์ จำนวน ๑๖๖ โรงเรียน หรือคิดเป็นจำนวนครูและนักเรียนที่ได้รับประโยชน์ ๗,๗๖๔ คน

    อ่านในการประชุม

  • ๔. ส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วม ทางด้านไฟฟ้า

    อ่านในการประชุม

  • ๕. พัฒนาระบบบริหารงานให้มีธรรมาภิบาล เป็นไปตามเกณฑ์ประเมินคุณธรรม และความโปร่งใสในด้านการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐและสำนักงานคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามทุจริตในภาครัฐ และนำระบบบริหารงานด้านคุณภาพมาตรฐาน ISO 9001:2015 มาใช้ในองค์กร ตลอดจนพัฒนาระบบบริหารองค์กร และการให้บริการด้วย Technology Digital อาทิ การให้บริการอนุญาตแบบ Online การพัฒนาระบบข้อมูล ERC Data Sharing Platform เพื่อใช้ในงานการกำกับกิจการพลังงาน สำหรับรายงาน งบการเงินและบัญชี ซึ่งไม่รวมรายได้ของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าประจำปี ๒๕๖๔ สำนักงาน กกพ. มีรายได้จากการดำเนินงาน ๙๔๓.๓๓๒ ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ๕๗๓.๖๕๓ ล้านบาท รายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ ๓๖๙.๖๗๘ ล้านบาท ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. ได้นำรายได้แผ่นดินส่งคลัง จำนวน ๖๐๑.๗๑๐ ล้านบาท ซึ่งรวมเงินงบประมาณ ที่เหลือจ่ายประจำปี ๒๕๖๒-๒๕๖๔ ด้วย

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานนะครับแล้วก็สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนะครับ ผมขออนุญาตตอบเป็นภาพรวมนะครับว่ามีการดำเนินการอย่างไร แล้วก็ตามกฎหมาย กำหนดให้เราทำอะไรบ้างนะครับ ก็ต้องเรียนในเบื้องต้นว่าทางภาคพลังงานเราแบ่งเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งก็คือทางด้านภาคนโยบาย อีกส่วนหนึ่งก็คือทางด้านกำกับ ภาคนโยบาย จะดูภาพรวมทั้งหมดของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจะสนับสนุน การส่งเสริมอะไรต่าง ๆ ภาคนโยบายจะดูทั้งหมด แต่ภาคกำกับของเราเป็นหลักก็คือว่ากำกับให้เกิดความเป็นธรรม สะท้อนต้นทุน แล้วก็กำกับกิจการพลังงานของเราก็คือจะกำกับในเฉพาะส่วนของไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติที่นำมาผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก อันนี้ก็คือหลัก ๆ ในการกำกับของเรา ในส่วนอื่นทางเราไม่ได้กำกับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำมัน LPG หรือแม้แต่กระทั่งแก๊ส ที่เข้ากับแท็กซี่ต่าง ๆ อันนี้เราไม่ได้ดู เราไม่ได้กำกับ แต่ทางภาคนโยบายจะเป็นคนดู โดยภาพรวมและกำหนดโครงสร้าง ๆ อัตราการคิดราคาตามภาคนโยบาย เพราะฉะนั้น นโยบายจะดูว่าส่วนไหนทางภาครัฐจะเป็นผู้สนับสนุนก็จะมีนโยบายไป ถ้าเรียนกลับมาปุ๊บ องค์กรของเราเองก็ยังเป็นองค์กรอิสระที่อยู่ภายใต้กระทรวงพลังงาน เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมี การดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงพลังงานอยู่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเรื่องของก๊าซธรรมชาติ คือก๊าซธรรมชาติที่นำมาผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก เราก็เลยจะดูเรื่องของการกำกับกิจการ ก๊าซธรรมชาติที่นำมาผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก แต่ก็จะมีบางส่วนที่เราไม่ได้กำกับเช่นกัน เช่น ก๊าซที่เข้าโรงแยกก๊าซของ ปตท. ที่อยู่มาบตาพุด อันนี้ทางเราไม่ได้ดู แต่ทางนโยบาย เขาจะกำหนดโครงสร้างมาแล้วว่าควรจะให้ต้นทุนของแต่ละที่เป็นเท่าไร กับแบบที่ทาง ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ได้กล่าวถึงว่าแล้วเราก็มองเห็นถึงการไม่เท่าเทียมกัน ก็มีหนังสือแจ้งไปที่ทางภาคนโยบาย ก็ติดตามอยู่ไม่ใช่ไม่ติดตาม ติดตามอยู่ว่าทาง ภาคนโยบายจะมีข้อคิดเห็นอย่างไร แต่อันนั้นเป็นส่วนของภาคกำกับไฟฟ้าที่เราต้องการ แต่ว่าภาคนโยบายอาจจะมองในมุมอื่น มุมของประเทศว่าเศรษฐกิจที่ต้องการเอา ก๊าซธรรมชาติไปแยกต่าง ๆ แล้วเกิดประโยชน์อะไรต่าง ๆ เขาอาจจะต้องมองแล้วก็มี เหตุผลอะไรก็มาทบทวนกัน แล้วก็ที่ตามล่าสุดก็คือว่าอาจจะเป็นไปได้เพราะว่ายังไม่มี การประชุมคณะ กบง. ก็เลยยังไม่ได้นำเรื่องนี้เข้ามาพิจารณา อันนั้นก็เป็นข้อเสนอของ ทาง กกพ. ไปทางฝั่งเดียวในเรื่องของกิจการก๊าซธรรมชาติในโครงสร้างราคา

    อ่านในการประชุม

  • ถัดมาก็เป็นเรื่องทางด้านไฟฟ้าก็เช่นเดียวกันครับ ทางด้านไฟฟ้า ปัจจุบันยังเป็นโครงสร้างรวมศูนย์อยู่ ก็คือการไฟฟ้าที่ซื้อไปเข้าระบบ ก็คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิต จะซื้อไฟฟ้าจากที่โรงใหญ่ ๆ ไฟฟ้าแรงสูงเข้ามา การไฟฟ้าภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง ก็เข้ามา แล้วก็มารวมกัน รวมกันปุ๊บการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยก็ส่งขาย การไฟฟ้าภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง เพื่อไปขายให้กับผู้ใช้ไฟที่เป็นผู้ใช้ไฟรายสุดท้าย เพราะฉะนั้นในโครงสร้างการดำเนินการตรงนี้ทั้งหมดเขาก็จะมีแผน ถึงเรียกว่าแผน PDP เป็นแผนแม่บทหลักในการพิจารณาโครงสร้างโดยรวม ไม่ว่านโยบายต่าง ๆ การรับซื้อไฟฟ้า เข้ามาในระบบต่าง ๆ จะเป็นไปตามแผน PDP ทั้งหมด ทาง กกพ. เองก็มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องตามแผน PDP ไม่ว่าจะโรงไฟฟ้าใหญ่ จะเข้าเมื่อไร จะออกเมื่อไร ทุกอย่างกำหนดอยู่ในแผน PDP แล้วก็เรื่องของโรงไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าชุมชนที่ซื้อเข้ามาปุ๊บแล้วทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนต่าง ๆ อันนั้น ก็จะกำหนดอยู่ในแผน PDP ทั้งหมด แต่ว่าถ้าอยู่ในแผน PDP แล้วทาง กกพ. จะเป็นคนดำเนิน ประกาศรับซื้อออกหลักเกณฑ์การรับซื้อให้สอดคล้องตามที่ทางนโยบายกำหนดว่า แต่ละรอบ ๆ จะให้รับซื้อเมื่อไร เวลาเท่าไร แล้วก็ด้วยราคาเท่าไรก็ยังอยู่ในที่ กพช. จะกำหนด คือกำหนดอยู่ในแผน PDP แล้วจะรับซื้อช่วงไหน กพช. จะเป็นตัวกำหนด อีกครั้งหนึ่งว่าในอัตราเท่าไร อย่างไร แล้วทาง กกพ. จะเป็นคนเอาส่วนเหล่านี้เข้ามา จากที่รวมเมื่อสักครู่ก็คือว่ามีไฟ เพราะไฟที่เข้ามาจะราคาไม่เท่ากัน อย่างขยะก็เป็นโครงการ ที่ต้องไปสนับสนุนให้เกิดการเผาขยะต้นทุนอาจจะแพงหน่อย เพราะฉะนั้นราคาทางนโยบาย เขาก็กำหนดมาราคาอาจจะแพงกว่า โรงไฟฟ้าชุมชนก็ต้องมีการเสริมเรื่องของให้เศรษฐกิจ หมุนเวียนก็อาจจะราคาที่แพงกว่าเพราะมีขนาดเล็ก แม้แต่โรงไฟฟ้าเขาเรียกว่า โซลาร์ ภาคประชาชนก็มี Concept ก็คือว่าให้เกิดความเท่าเทียมแล้วก็สนับสนุนให้เกิดการใช้ โซลาร์อะไรต่าง ๆ นี้ก็เป็นไปตามแผน PDP แล้วก็เป็นไปตามที่นโยบายกำหนดทั้งหมด แต่ส่วนของโซลาร์ภาคประชาชนก็มองว่าเขาสนับสนุนให้เกิดการผลิตแล้วใช้เองเป็นหลัก เหลือค่อยนำมาขาย แล้วก็การนำมาขายก็ต้องไม่กระทบกับราคาค่าไฟก็เลยเป็นการกำหนด ที่ออกมาแบบที่ว่า คราวนี้ถามว่าโรงไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนเดิมทีอาจจะไม่ค่อยเป็น ที่นิยมหนัก เพราะว่าราคามันก็ค่อนข้างจะไม่ค่อยสูงนัก แต่ว่าเราก็เปิดให้ประชาชนติดตั้ง ได้เต็มที่ ปัจจุบันหลัง ๆ ก็คือมีคนติดตั้งมากขึ้นแล้ว เพราะว่าราคาค่าไฟมันค่อนข้างจะสูง แล้วก็ตัวพวกแผงโซลาร์อะไรต่าง ๆ ราคาลดลง ปัจจุบันก็มีการขยาย ตอนนี้เข้าใจว่า ไป ๓๐ กว่าเมกะวัตต์แล้ว เพราะ ๑ ราย จะเป็น ๕๐๐ กิโลวัตต์ ถ้า ๓๐ เมกะวัตต์แล้ว ก็หลายพันรายอยู่ ปัจจุบันนี้ก็นิยมแล้วก็มีการขยายโควตาให้กับพวกโซลาร์ภาคประชาชน ไปแล้ว อันนี้คือในส่วนของแผน PDP ที่เราจะต้องเดินตาม ราคารับซื้อ การซื้อไฟฟ้าทั้งหมด ก็เป็นไปตามแผน โดย กกพ. จะเป็นคนออกประกาศกฎเกณฑ์ในการรับซื้อ สุดท้ายได้ไฟ เข้ามารวมกัน รวมทั้งไฟต่างประเทศด้วย แล้วมาขายให้กับประชาชนผู้ใช้ไฟรายสุดท้าย ก็จะเป็นไปตามนโยบายเช่นกัน นโยบายของรัฐบาลกำหนดให้เป็น Uniform Tariff ก็คืออัตราเดียวกันทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าในกรุงเทพฯ หรืออยู่ในต่างจังหวัดที่อยู่ไกล ๆ ก็จะใช้ในอัตราเดียวกัน อันนั้นหมายถึงว่าจะมีการชดเชยกัน ระหว่างผู้ที่ใช้ ผู้ที่มีต้นทุนต่ำที่อยู่ในกรุงเทพฯ เพื่อไปชดเชยให้กับคนที่อยู่ต่างจังหวัด ที่มีต้นทุนการเดินสายที่แพงกว่า แต่อันนี้ก็คือเป็นนโยบาย ซึ่งเราก็ต้องเดินตามนโยบาย เช่นกัน เพราะฉะนั้นไฟฟ้าก็จะมาแล้วก็เป็นไปตามนโยบายทั้งหมดจนถึงอัตราค่าไฟ

    อ่านในการประชุม

  • แล้วก็อีกส่วนหนึ่งก็คือในระบบของเราเองไฟฟ้าเข้ามาปุ๊บมันก็จะมี ไฟสาธารณะ ไฟฟรีต่าง ๆ อันนั้นก็อยู่ในนโยบายเช่นกัน เพราะฉะนั้นตั้งแต่ต้นทาง ถึงปลายทางก็จะเป็นไปตามแผน PDP แล้วก็วิธีการคิดค่าไฟก็ต้องสะท้อนกับโครงสร้าง ตามแผน PDP เช่นกัน โดยการคิดค่าไฟ หลัก ๆ เราก็จะนำค่าไฟแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือค่าไฟฐานกับค่า Ft ๒ ส่วน โดยค่าไฟฐานก็จะดำเนินการตามแผน PDP ดูว่าจะมี การก่อสร้างโรงไฟฟ้า สร้างสายส่งเพื่อรองรับโรงไฟฟ้า หรือการรับซื้อต่าง ๆ ที่เข้ามา ก็จะอยู่ในแผน PDP ทั้งหมดเราก็จะทำอันนี้เป็นค่าไฟฐาน ส่วนที่เปลี่ยนแปลงจากค่าไฟฐาน ในรอบ ค่าไฟฐานจะมีประมาณ ๓-๕ ปี จะปรับ ๑ ครั้ง อะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากค่าไฟฐาน อันนี้ก็คือ Ft ที่เราจะกำหนดเข้ามา ถ้าตามหลัก ๆ จะเห็นได้ว่าในอดีตค่าไฟจะไม่ค่อย เปลี่ยนแปลงมากนัก ก็ด้วยโครงสร้างที่เรามีอยู่ก็คือแก๊สจากในอ่าวเข้ามาแล้วก็นำมา ผลิตไฟฟ้า โครงสร้างค่าไฟจะอยู่ประมาณ ๓.๖๐-๓.๗๐ บาท ในช่วงโควิด ช่วงอะไรต่าง ๆ ก็จะลดลงมานิดหน่อย เนื่องจากว่าราคาค่าก๊าซธรรมชาติมีราคาถูกกว่าปกติ เพราะฉะนั้น ในช่วงดังกล่าวทางเราก็มาพิจารณาค่าไฟ ในช่วงถ้าท่านจำได้ค่าไฟจะอยู่ในช่วงโควิดเข้ามา ราคาจะลงมา ลงมาปุ๊บเราก็รู้แล้วว่าหลังโควิดอาจจะมีเชื้อเพลิงที่แพงขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตผลิตน้อยลง เราก็เตรียมอะไรต่าง ๆ ไว้หมดแล้ว แต่ว่ามีเหตุการณ์ที่ใหญ่กว่านั้น โผล่เข้ามา ก็คือในช่วงเปลี่ยนผ่านสัมปทานจากอีกรายหนึ่งไปรายหนึ่ง ช่วงเปลี่ยนผ่าน รู้สึกจะเป็นปี ๒๕๖๕ ประมาณมีนาคม ในการเปลี่ยนผ่านสัมปทานทำให้การผลิตก๊าซธรรมชาติ ในอ่าวไทยลดลง โดยการลดลงเริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๔ เนื่องจากว่ารายเก่าเขาจะออกไป เขาก็เลยไม่มีการขุดเจาะหลุมเพิ่มเติม ทำให้ปริมาณแก๊สนั้นลดลงมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ รอบ Quarter สุดท้ายของปี ๒๕๖๔ ลดลงมา ลดลงมาต่ำสุดจาก ๘๐๐ ลงมาเหลือ ๒๐๐ ในปี ๒๕๖๕ ช่วงมีนาคม ในช่วงนั้นค่าไฟก็จะแพง ต้นทุนจะแพงขึ้นไปสูงมากนะครับ แล้วก็แก๊สที่เหลืออยู่ ๒๐๐ ยังคง ๒๐๐ อยู่ไปเรื่อย ๆ แล้วก็จะขึ้นไปตามเดิมถึง ๘๐๐ เหมือนเดิมประมาณปี ๒๕๖๗ กลางปี เพราะฉะนั้นในช่วงนี้ที่เราอยู่ก็ยังมีค่าก๊าซธรรมชาติ ที่ในอ่าวไทยที่เข้ามาน้อย พอเข้ามาน้อยปุ๊บเราก็ต้องมีนำในส่วนเชื้อเพลิงอื่นเข้ามาแทน ก็คือ LNG ที่เราสั่งจากต่างประเทศเข้ามาทดแทนแก๊สที่หายไป แต่เผอิญเจอจังหวะ ในช่วงที่ขาดแคลนตรงนั้น เป็นช่วงที่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้แก๊สธรรมชาติ LNG มีราคาสูงขึ้น อันนั้นก็เป็นผลกระทบต่อค่าไฟเป็นอย่างมากนะครับ ถ้าดูจากจากข้อมูลต้นทุน ต้นทุนหลัก ๆ มันจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี ๒๕๖๔ แล้ว เพิ่มค่อนข้างสูง ปี ๒๕๖๕ ก็จะสูงขึ้นอีก แต่ว่าด้วยทางนโยบายไม่อยากให้มีผลกระทบต่อประชาชนมากนัก เพราะว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่ ฟื้นจากโควิด ก็ให้ทางด้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยรับในส่วนนั้นไว้ก่อน แต่คราวนี้ รับมาปุ๊บมันก็ถึงประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท เกือบ ๑๕๐,๐๐๐ ล้านบาท ก็ดูแล้ว สภาพไม่น่าจะไหว ก็เลยเริ่มมีการให้คืนการไฟฟ้าออกมา ตอนนี้ก็คืนไปบางส่วนแล้ว แต่ว่า สถานการณ์ก็จะเริ่มดีขึ้นนะครับ เนื่องจากว่าแก๊สจะค่อยฟื้นกลับขึ้นมาแล้ว อันนี้ก็ต้อง เรียนทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนิดหนึ่งว่าปริมาณแก๊สที่หายไปมันไม่ได้หายไปเฉพาะช่วง เปลี่ยนผ่านสัมปทาน แต่ว่ามันหายไปอย่างต่อเนื่อง เกือบ ๓ ปีถึงจะกลับเข้ามาที่เดิม ตรงนี้ ก็เลยทำให้ยอดเงินมันค่อนข้างไปสูง เพราะฉะนั้นก็ต้องเรียนไว้เป็นข้อมูลในส่วนหนึ่งก่อน แล้วก็แบบที่เรียนว่าส่วนที่หายไปเราเติมได้ด้วย LNG และ LNG ตรงนั้นมันมีราคาแพง ปริมาณแก๊สที่หายไปถ้าทดแทนด้วย LNG มันเกือบ ๕ ล้านตัน ซึ่งเท่า ๆ กับ LNG ที่เรามีใช้ อยู่ในปัจจุบัน ในช่วงนั้นเองเราก็พยายามว่าจะทำอย่างไร ก็คือให้เกิดเสถียรภาพทางด้าน พลังงานนะครับ เพราะว่าสถานีแปรสภาพ LNG เราก็ไม่ได้ออกแบบมาให้ใช้เยอะขนาดนั้น ก็มีการเร่งสถานีใหม่ขึ้นมา แล้วช่วงเดียวกันก็เกิดราคาน้ำมันค่อนข้างแพง ราคาน้ำค่าน้ำมัน จะมีราคาถูกกว่า LNG เพราะช่วงนั้น LNG ใช้กับทางด้านยุโรป ทางด้านอะไรเยอะ เราก็มี การสับเปลี่ยนโรงไฟฟ้าหลาย ๆ โรงมาเดินน้ำมันแทน เพื่อบรรเทาราคาเชื้อเพลิงไม่ให้ มันสูงเกินไป ลดการใช้ LNG แต่ก็ต้องเรียนว่าก็ยังคงต้องใช้อยู่ เพราะว่าจำนวนเชื้อเพลิง มันมีจำนวนจำกัด ไม่อย่างนั้นก็จะมีปัญหาต่อความมั่นคงของประเทศนะครับ อันนี้ก็เป็น ภาพกว้าง ๆ ให้เห็นว่าราคาที่มันแพงขึ้นนี่มันแพงขึ้นจากต้นทุนจริง ๆ แต่ก็มีการให้ทาง การไฟฟ้ารับต้นทุนไว้บางส่วน แต่เนื่องจากว่ามันเยอะเกินไปก็ต้องมีการปล่อยคืนการไฟฟ้าบ้าง ในอนาคตนี้ถ้าจะมีการปรับให้การไฟฟ้ารับหรืออย่างไรอันนั้นเดี๋ยวเรามาพิจารณาดูกันได้ แต่ว่าในส่วนของ กกพ. เอง กกพ. มีหน้าที่กำกับให้สะท้อนต้นทุน แต่ทางภาคนโยบายจะมี กำหนดอะไรต่าง ๆ มาที่จะช่วยสนับสนุนอะไรต่าง ๆ อันนี้ก็พร้อมที่จะดำเนินการตาม นโยบาย แต่ว่าก็ต้องมีกระบวนการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามที่ พ.ร.บ. กำหนดครับ

    อ่านในการประชุม

  • อีกส่วนหนึ่งครับ ในส่วนของไฟฟ้าที่บอกว่ามีเกิน อันนี้ด้วยข้อเท็จจริง ทางหน่วยงานที่เป็นคนดูแลแผนรวมของประเทศ ทางด้านภาคนโยบายเป็นคนวางแผน และดูรวมทั้งหมด แผน PDP อาจจะมีการปรับอยู่ตลอด อันนี้ถ้าพักนโยบายก็ต้องพิจารณา ดูว่าช่วงไหนมันมีการเปลี่ยนแปลง มีนัยสำคัญต่าง ๆ ก็จะมาปรับแผนเป็นระยะ ๆ ทั้งฉบับ PDP2015 PDP2018 PDP2018 ปรับครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๒ ที่จะมีตามมา อันนั้นก็เป็น ส่วนหนึ่ง คราวนี้ในส่วนของแผน PDP เขาออกแบบไว้สำหรับการใช้ไฟฟ้าในระบบ แต่ปัจจุบันก็เริ่มมีผู้ใช้ไฟฟ้านอกระบบก็คือมีการผลิตไฟฟ้าใช้เอง ไม่ว่าจะเป็นโซลาร์ ที่มันราคาถูกลง มีโรงงานติดมากขึ้น อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีการขยายตัว ขยายตัวปุ๊บ ก็ทำให้ความต้องการไฟฟ้าในระบบลดน้อยลง แล้วก็อีกประเด็นหนึ่งก็คือในช่วงที่เกิดโควิด ก็มีการใช้ไฟฟ้าลดลง เศรษฐกิจไม่ค่อยดีก็มีการลดการใช้ไฟฟ้าลง อันนี้ก็เป็นไปได้ว่าทำให้ กำลังผลิตอาจจะเกินอยู่บางส่วน แต่ต้องเรียนว่าโดยภาพรวมทางนโยบายเขาก็ได้ข้อมูลจาก ทางเราไป ก็จับจองอยู่เหมือนกันว่าจะมีการปรับแผนตามระยะเวลาหรือจังหวะที่เหมาะสม

    อ่านในการประชุม

  • ถัดมาก็จะเรียนว่าในโครงสร้างที่เราคิดค่าไฟตามแผน PDP ก็จะมีการปลด โรงไฟฟ้าอะไรต่าง ๆ ตามระยะเวลาที่กำหนด โดยโรงไฟฟ้าต่าง ๆ เราซื้อในราคาเดียว อันนั้นหมายถึงว่าโรงไฟฟ้าที่ใหม่ ๆ จะถูกสั่งให้เดินเครื่องเยอะหน่อย เพราะเป็นโรงไฟฟ้า ที่มีประสิทธิภาพดีกว่า โรงไฟฟ้าที่เก่าไปหน่อยหนึ่งก็จะถูกสั่งให้เดินเครื่องน้อย ถ้าตาม Load Profile มันก็จะมีเป็นเหมือนกับยอดภูเขา จะเป็น Base Load Intermediate Load แล้วก็ Peak Load Peak Load นี่จะเดินน้อยที่สุด แล้วก็ที่เหลือบางส่วนจะเป็นโรงไฟฟ้า สำหรับไว้ Stand by สำหรับเกิดภาวะฉุกเฉิน เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่กระบี่ ถ้าสังเกตก็คือว่าปกติจะไม่ได้เดินเครื่องเท่าไร จะเดินเครื่องก็ต่อเมื่อมีสภาวะที่แก๊ส ในอ่าวไทยมรสุมเข้าทำให้ส่งแก๊สไม่ได้ โรงไฟฟ้าบางปะกง โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน ก็อาจจะเดินเครื่องน้อยหน่อย จะมีก็ไว้สำหรับ Backup ตอนมีปัญหาจริง ๆ ในส่วนเหล่านี้ ก็จะทำให้มีโรงไฟฟ้าบางโรงเดิน บางโรงไม่ได้เดิน หรือบางโรงอาจจะเดินน้อยเพื่อไปเดิน เฉพาะช่วง Peak Load ในระบบเรานี่เราซื้อด้วยสัญญาระยะยาวมันก็จะเฉลี่ยกันไป แต่ถ้า ในต่างประเทศ Base Load เขาจะราคาถูก ถ้า Peak Load จะราคาแพงมากนะครับ ก็คือถ้าคำนวณตามราคาแล้วทาง Peak Load จะแพงเป็น ๔-๕ เท่าของ Base Load อันนี้ก็อธิบายให้เห็นภาพก่อนว่าโครงสร้างกิจการของเราเป็นซื้อระยะยาว จะไม่เหมือนกับ โครงสร้างในต่างประเทศที่เขาซื้อเฉพาะช่วงที่เดินจริง ๆ แต่ว่าพอเดินปุ๊บราคามันก็จะขึ้นไป ค่อนข้างเยอะนะครับ อันนี้ก็คือเหตุการณ์ที่ทำให้เห็นว่าต้นทุนของเราปรับเพิ่มขึ้น แต่ว่า ถ้านโยบายจะเฉลี่ยให้มีการแบ่งรับหนี้ต่าง ๆ เป็นไปได้ เราก็ยินดีที่จะดำเนินการนะครับ แต่ว่าที่เรามองนี่คือเรามองถึงการสะท้อนต้นทุน แล้วก็มองถึงความสามารถในการดำเนินงาน ของทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยด้วย เพราะว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเอง ก็มีภาระหน้าที่ที่จะต้องลงทุนขยายระบบต่าง ๆ ในอนาคต ก็มองถึงสภาพของการไฟฟ้าอยู่ เช่นกันนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ถัดมาเป็นเรื่องของเงินประกัน ต้องเรียนว่าเงินประกันค่าไฟปัจจุบัน เราคืนให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท ๑ และ ๒ แล้วนะครับ คืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ส่วนคนที่ ยังไม่ได้ไปขอคืนก็จะได้รับดอกเบี้ยตามที่การไฟฟ้ากำหนด แต่ถ้าเกิดว่าท่านไปขอคืนก็จะได้ คืนทันทีเช่นกันครับ

    อ่านในการประชุม

  • อันนี้ก็คือภาพรวมของโครงสร้างกิจการพลังงาน แล้วก็ปัญหาที่เราแสดง ให้เห็นว่าค่าไฟมันแพงขึ้นจากต้นทุนจริง แต่ว่ามีการให้การไฟฟ้าสนับสนุนไปก่อน แต่ว่า ไม่ได้แพงขึ้นเฉพาะช่วงเปลี่ยนผ่านสัมปทานช่วงนั้นช่วงเดียว คือมันกินเวลาอยู่ประมาณ เกือบ ๓ ปีที่แก๊สหายไปแล้วก็ค่อยเติมเข้ามาครับ ส่วนประเด็นอื่นเพิ่มเติมเดี๋ยวผม ขออนุญาตให้ทางท่านรองเลขาธิการช่วยเสริม แล้วก็ท่านผู้ช่วยเรื่องของกองทุนครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขออนุญาตตอบคำถามเรื่อง Ft จริง ๆ ต้องเรียนว่าเรามีหลักเกณฑ์ การคิดค่า Ft ประกาศอยู่ในราชกิจจานุเบกษา แต่ก็ขออนุญาตนำคร่าว ๆ ก็แล้วกันว่าค่า Ft ส่วนใหญ่แล้วเป็นผลมาจากค่าเชื้อเพลิงเป็นหลัก ก็คือค่าเชื้อเพลิงในช่วงที่ Gap หายไปนี้ ค่าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง เพิ่มขึ้นจากปกติเฉลี่ยค่าเชื้อเพลิงทุกประเภท เฉลี่ยประมาณ ๒ บาทเพิ่มขึ้นไปถึง ๓ บาทกว่า ๆ ๓.๕๐ บาท ในส่วนที่เป็นเชื้อเพลิงอย่างเดียวเพิ่มไป บาทกว่านะครับ แต่ส่วนที่เป็นอย่างอื่นที่เพิ่มเติมเข้าไปมันอยู่ในอัตราที่น้อยมาก แค่ ๗ สตางค์อะไรต่าง ๆ อันนี้คือส่วนที่เพิ่มเข้ามา แต่ต้องเรียนว่าในส่วนของตัวโรงไฟฟ้าเอง อันนี้เราก็ได้กลับมาใช้เชื้อเพลิงอื่น ๆ ประกอบ เข้ามาเพื่อลดค่า Ft ลงได้ระดับหนึ่ง ส่วนที่ว่าการกำกับทำไมเราไม่กำกับให้ได้ตามวัตถุประสงค์ ก็ต้องเรียนแบบที่ผมแจ้งไปเมื่อสักครู่นี้ว่า ถ้าเรากำกับในแง่ของเราไฟฟ้าอย่างเดียว เรากำกับให้สะท้อนต้นทุน แต่เนื่องจากว่า พ.ร.บ. เราบอกว่าการกำกับของเราต้องเป็นไป ตามนโยบายของรัฐด้วย เพราะฉะนั้นภาคนโยบายในเรื่องกิจการพลังงานเขาก็จะมีมุมมอง นโยบายทางด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าชุมชน ไม่ว่าจะเป็นอะไรต่าง ๆ ซึ่งมันเกิดประโยชน์ ในเศรษฐกิจด้านอื่น แต่ในราคาค่าไฟที่อาจจะต้องจ่ายแพงขึ้น ซึ่งถ้านโยบายกำหนดมาแล้ว เราก็คงต้องเดินตามนโยบายไปตามลักษณะที่เป็นอยู่ ขออนุญาตคร่าว ๆ ประมาณนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขอบพระคุณครับ ท่านประธานครับ ก็ขออนุญาตชี้แจงเป็นประเด็น ๆ ไป ด้วยความรวดเร็วนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • อันแรก เรื่องของ Bill ค่าไฟ ต้องเรียนว่ากลไกตาม พ.ร.บ. เรามีคณะกรรมการ ผู้ใช้พลังงานประจำเขตคอยดูแลตัวนี้อยู่แล้ว สำหรับท่านใดที่ Bill ค่าไฟไม่ตรง และมีประเด็น คุยกับการไฟฟ้าแล้วมีปัญหาสามารถเอาไปที่คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต เขาจะตั้ง กรรมการขึ้นมาดูแลเกี่ยวกับการไฟฟ้าแล้วเกิดมีปัญหาถ้าไม่สำเร็จก็จะอุทธรณ์มาที่ กกพ. ก็มีขั้นตอนตามกฎหมายดำเนินการได้อยู่ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนเรื่องของหลักเกณฑ์ในการคิดค่าไฟตามมาตรา ๖๐ กว่า อันนี้คือ เป็นหลักเกณฑ์การคิดค่าไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นค่า Ft หรืออะไรต่าง ๆ เราจะมีสูตรประกาศ ลงในราชกิจจานุเบกษา แล้วก็มีรายละเอียดต่าง ๆ ส่วนตัวแปรไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าน้ำมัน ค่าอะไรต่าง ๆ เราจะใช้ตัวเลขอยู่ในเรื่องการรับฟังความเห็น จะมีค่าตัวแปรต่าง ๆ ซึ่งก็เป็นไป ตาม พ.ร.บ. ทั้งหมดก็คือมีสูตร มีหลักเกณฑ์ แล้วก็มีตัวแปรต่าง ๆ ตามรอบการคิด Ft แต่ละรอบ แต่เรื่อง Bill ค่าไฟไม่ได้เป็นสูตร เป็นการคำนวณธรรมดา เอาหน่วยคูณกับราคา แล้วก็บวกภาษีบวกอะไรต่าง ๆ เราไม่ได้มีกำหนดเป็นสูตรครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องของการอุดหนุนพลังงานหมุนเวียน เราก็มีตามมาตรา ๙๗ (๔) ที่เราอุดหนุน พวกโรงเรียน โรงพยาบาล คือจริง ๆ ต้องเรียนว่าที่เราให้โรงเรียน โรงพยาบาล ตามมาตรา ๙๗ (๔) ก็คือว่า ๒ ประเภทนี้เป็นประเภทที่ใช้ไฟค่อนข้างเยอะ และใช้ไฟคุ้มค่า การติด Solar บนหลังคาจะให้ไฟฟ้าตอนกลางวัน โรงพยาบาลจะใช้ไฟ ๒๔ ชั่วโมง โรงเรียนก็ใช้ไฟ เป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นเราก็เลยสนับสนุนการติดโซลาร์ โดยให้เงินกองทุนนี้ไปกับ โรงเรียน โรงพยาบาลของภาครัฐที่อยู่ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลของ กทม. เราก็ให้ โรงพยาบาลของสาธารณสุขต่าง ๆ เราให้มาตามลำดับ ต้องเรียนว่ามาตรา ๙๗ (๔) นี่มีจำนวนจำกัด เพราะฉะนั้นเราก็พยายามทำในสิ่งที่มันเกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าก่อน ก็คือทางโรงเรียน โรงพยาบาล ก็เป็นการ Promote ของเราด้วย เพราะว่าการเอาให้ทุน ไปติดตั้งโซลาร์ ก็จะมีชื่อสำนักงาน กกพ. แล้วก็เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล หรือว่าคนที่ผ่านไป ผ่านมาก็สามารถที่จะดูรายละเอียด เป็นการ Promote ว่ามีการใช้โซลาร์ในโรงเรียน โรงพยาบาล ส่วนใหญ่ทุกหน่วยที่เป็นของรัฐเราพยาบาลทยอยให้กันไปครับ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนในเรื่องของการให้โซลาร์ ไม่ว่าจะโซลาร์ ไปติดที่แม่ฮ่องสอน อันนี้เข้าใจว่า ไม่ได้เป็นกองทุนของเรานะครับ น่าจะเป็นกองทุนของคนอื่น ส่วนของเราส่วนใหญ่จะให้ไป เรื่องของโรงเรียนกับโรงพยาบาลเสียเป็นหลัก สำหรับมาตรา ๙๗ (๔) อันอื่นเราไม่ค่อยได้ สนับสนุนเท่าไร เพราะว่ามันเป็นเรื่องของความยั่งยืนด้วย เพราะว่าหลาย ๆ ที่เราเห็นว่า มันไม่มีคนดูแล แต่ละโรงเรียน โรงพยาบาลเราตั้งงบประมาณให้บำรุงรักษาต่าง ๆ เป็นรายปี ให้ด้วย ก็คือติดแล้วก็คงไม่เห็นเป็นซาก ก็คือจะมีการบำรุงรักษาอยู่ตลอดครับ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนเรื่องค่า ๘๐ สตางค์ ต้องเรียนว่า ๘๐ สตางค์นี้เป็นค่าก่อสร้าง แล้วก็ เป็นค่าบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า ใน ๘๐ สตางค์นี้มันมีโรงเดินด้วย แล้วก็โรงที่อาจจะเดินน้อย หรือโรงที่เป็น Standby อยู่บางส่วน ซึ่งแบบที่ผมเรียนในรอบแรกโรงพวกนี้มันก็มีการใช้ ไฟฟ้าในช่วงที่เป็น Peak Load ซึ่ง Peak Load ถ้าเราไปอยู่ในระบบ Power Pool มันจะ แพงมาก แต่โรงพวกอยู่ในระบบของเราคือจะราคาเท่าเดิมกับใน Base Load อันนี้เป็นส่วน ของโครงสร้างที่เป็นปัจจุบันอยู่ แล้วก็ส่วนหลาย ๆ โรงแบบที่ผมเรียนยังมีโรงไฟฟ้าน้ำมันเตา อย่างเช่นกระบี่ มันก็มีความจำเป็นที่ต้องใช้เวลา เวลาที่เกิดมีพายุเข้าที่อ่าวไทยไม่สามารถ ที่จะผลิตไฟฟ้าด้วยแก๊สได้ก็จะมีโรงประเภทนี้กระจายอยู่ อย่างโรงกระบี่ โรงที่ราชบุรี ใช้น้ำมันเตา โรงไฟฟ้าบางปะกงที่ใช้น้ำมัน ใช้แก๊ส ใช้น้ำมันเตาด้วย ซึ่งพวกนี้เวลามีปัญหา จำเป็น ๆ ที่เกิดปัญหาเรื่องขาดแคลนแก๊สโรงพวกนี้ก็ได้นำมาใช้เพื่อรักษาความมั่นคง ให้ระบบ

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับเรื่องของโรงไฟฟ้าขยะ เราก็ได้ตอบไปแล้วในภาคแรก

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องของเงินประกันค่าไฟฟ้าปัจจุบันเหลืออยู่ ๑๖,๙๒๘ ล้านบาท ก็ต้องเรียนว่า เงินประกันราคาไฟฟ้านี่เราด้วยความสมัครใจว่าใครอยากจะมารับคืนก็คืนได้ ในส่วนที่ ตกค้างอยู่ก็คือเป็นคนที่ไม่ได้มารับคืน ที่ไม่ประสงค์จะคืน อย่างของผมเองก็อยู่ในกลุ่มนั้นอยู่ ก็คือยังไม่ได้รับคืนก็ปล่อยให้อยู่ที่การไฟฟ้า แล้วก็อาจจะมีบางคนก็คืออาจจะเปลี่ยนชื่อ คนใช้ไฟ มีการขายบ้าน ขายอะไรต่าง ๆ ก็ต้องไปเอาหลักฐานมาประกอบ เพราะว่า ตามกฎหมายเงินตัวนี้มันวางโดยคนที่ขอคนแรกก็ต้องมีการมอบอำนาจมอบอะไรให้ชัดเจน แล้วก็ไปขอคืนที่การไฟฟ้า การไฟฟ้าก็ให้คืนตลอด เก็บเงินตัวนี้ไว้ตลอด แล้วก็มีดอกเบี้ย มีอะไรต่าง ๆ ตาม Rate ที่การไฟฟ้ากำหนด ถ้าเกิดว่าเอาคือช้าก็จะได้ดอกเบี้ยไปตามที่ กำหนด

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องของกำลังผลิตเกิน อันนี้ผมต้องขออนุญาตเรียนว่ากำลังผลิตเกินไม่เกิน อันนี้อยู่ที่วิธีคิดและอยู่ที่แผน PDP อยู่ที่เรื่องของความมั่นคง ก็เข้าใจว่าทางกระทรวง พลังงานเองก็มีนโยบายที่จะปรับแผน PDP อยู่แล้ว อันนี้ก็ขออนุญาตให้เป็นส่วนของ กระทรวงพลังงานในการปรับแผนดีกว่า เพราะว่าเวลาปรับแผนเขาจะดูเรื่องความมั่นคง ดูเรื่องของการใช้พลังงานหมุนเวียน ดูเรื่องของภาพรวมโครงข่ายพลังงาน โครงข่ายแก๊สต่าง ๆ ให้เกิดความมั่นคงโดยรวม รวมทั้งเรื่องของปัญหาคุณภาพบริการ ความถี่ไฟฟ้าตกดับต่าง ๆ ด้วย ก็อยากจะเอาตัวนี้ไปรวมอยู่ในการพิจารณาปรับแผนของกระทรวงพลังงาน

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องของการตัดไฟ อันนี้ก็ต้องเรียนว่าเราจะขอกำชับไปที่การไฟฟ้า อย่างเรื่อง ผู้ป่วยติดเตียงอะไรต่าง ๆ ก็อาจจะให้มีเวลาหรือมีการแจ้งเตือนล่วงหน้าในเรื่องของการตัดไฟ ถ้ามีประเด็นอะไรเดี๋ยวขออนุญาตไปกำชับการไฟฟ้า เข้าใจว่าปัจจุบันนี้ก็มีการแจ้งเตือน อยู่ระดับหนึ่งก่อนที่จะตัดไฟ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องของภาวะขาดแคลนพลังงาน การแจ้งเตือน แล้วก็ราคา ต้องเรียนว่า พลังงานในบ้านเรานับวันทรัพยากรธรรมชาติที่เราใช้อยู่ก็จะหมดลงไปเรื่อย ไม่ว่าจะเป็น แก๊สธรรมชาติอะไรต่าง ๆ เราก็พยายามประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าขอให้สำรวจ หรือขุดเจาะแก๊สต่าง ๆ เข้ามาเพิ่มเติม เพื่อที่จะดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของด้านพลังงาน แล้วก็อีกส่วนหนึ่งก็คงเป็นเรื่องของการนำเข้า LNG ซึ่งในอนาคตก็คงจะต้องมี LNG มากขึ้น แล้วก็ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้ LNG อย่างในเรื่องของโครงข่ายแก๊สธรรมชาติ แล้วก็เรื่องของ Terminal ต่าง ๆ ไว้รองรับการใช้ LNG อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งเพราะว่า แก๊สธรรมชาติน่าจะเป็นเชื้อเพลิงที่ปลดปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุดในจำพวกเชื้อเพลิงหลักอื่น ๆ แต่อีกอันหนึ่งนะครับ อันนี้ก็อยากจะขอให้เป็นเรื่องของการปรับภาพรวมของนโยบาย พลังงาน ซึ่งผมเรียนว่าทุกอย่างมันคงต้องสอดคล้องกัน

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องของกองทุนที่เมื่อสักครู่บอกว่ามีการใช้เงินกองทุน มาตรา ๙๗ (๑) อันนี้ ก็คือเรื่องของการที่นำเงิน อย่างที่เรียนมาแล้วว่าการไฟฟ้านครหลวงจะมีผลตอบแทนที่ดีกว่า จะมีกำไรที่ดีกว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเพราะว่าโครงข่ายการไฟฟ้านครหลวงอยู่ในกรุงเทพฯ แล้วก็มีผู้ใช้ไฟค่อนข้างหนาแน่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเดินไฟไปค่อนข้างยาวแล้วก็มีต้นทุน ที่สูงกว่า อันนี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ มาตรา ๙๗ (๑) ดำเนินการก็คือนำเงินตัวนี้ไปสนับสนุน ให้ผู้ที่อยู่ห่างไกลมีไฟฟ้าใช้ แต่เนื่องจากว่าเงินจำนวนนี้มีจำนวนจำกัด เพราะฉะนั้นเขาก็จะให้ได้ในรอบ ๑ ปีก็จะมีเงิน จำนวนจำกัดคอยเฉลี่ยกระจายไป แล้วก็มี (๔) เป็นเรื่องส่งเสริมให้ตระหนักรู้เรื่องพลังงาน หมุนเวียน (๕) ประชาสัมพันธ์ (๓) เป็นเรื่องของกองทุนในพื้นที่ ก็อยากจะเรียนชี้แจงนิดหนึ่งว่า แต่ละวงเล็บก็มีความสำคัญหรือการใช้งานไม่เหมือนกัน

    อ่านในการประชุม

  • อีกอันหนึ่งก็คือเรื่องค่าภาคหลวงหลุมก๊าซ อันนี้ก็ต้องเรียนว่าทาง กกพ. ไม่ได้ดูก๊าซธรรมชาติเรื่องค่าภาคหลวง ส่วนอีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า อันนี้ก็เป็นนโยบายของทางรัฐบาลที่จะมีการสนับสนุนให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ทางเราเองก็ได้สนับสนุนและคุยกับการไฟฟ้าว่าใครที่มียานยนต์ไฟฟ้าที่บ้านอาจจะให้ช่วย เพิ่มมิเตอร์อีก ๑ ตัว เพื่อที่จะ TOU Rate แล้วก็ให้ไปใช้ Charge ไฟในช่วงที่เป็นไฟ Off Peak อันนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนให้ทางบ้านได้ใช้ไฟ แล้วก็ใช้ไฟอยู่ในกลุ่มที่อยู่ในช่วง Off Peak ส่วนในเรื่องของสถานี Charge สาธารณะ ซึ่งในเบื้องต้นเราก็ทราบปัญหาว่า เวลาเอารถไฟฟ้าไปวิ่งระหว่างทางไปต่างจังหวัดไกล ๆ หาสถานี Charge ไม่ได้เพราะว่า มันต้องเป็น Quick Charge และ Quick Charge นี้จะกินไฟค่อนข้างสูงทำให้เกิด Demand Charge สถานีอาจจะไม่ค่อยกำไรเพราะจะมีจำนวนรถน้อย ในระยะแรกเราก็พยายาม ปรับปรุง Rate ก็เหมือนกับต่างประเทศก็คือในระยะแรก ๆ ที่มาของรถ EV เราก็จะให้อัตรา ที่ต่ำกว่าเพื่อเป็นแรงจูงใจให้มีคนใช้รถ EV มากขึ้น แล้วก็สามารถนำไปใช้ที่ต่างจังหวัดได้

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนเรื่องประชาสัมพันธ์ค่าไฟก็พยายามประชาสัมพันธ์ทุกรอบ การคิดค่า Ft พยายามชี้แจงทางสื่อ ทางอะไรต่าง ๆ แล้วก็ระยะหลัง ๆ เราก็พยายามที่จะกระจายไป ที่สำนักงานเขตให้ชี้แจงในพื้นที่อะไรต่าง ๆ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แล้วก็มีการ Live สด ออกทาง Facebook เผื่อท่านใดสนใจก็เข้ามารับฟังได้

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องก๊าซธรรมชาติที่เมื่อสักครู่มีถาม อันนี้เราตระหนักดีว่าก๊าซธรรมชาติ ในอ่าวไทยนับวันก็จะลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ ก็สอดคล้องกับทางนโยบาย เข้าใจว่าทางนโยบาย ก็คงทราบในเรื่องนี้ดี ถึงจะมีการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติมาก่อนเลยเพื่อให้มีคนซื้อแก๊สมา หลายราย แล้วจะได้มีการเปรียบเทียบซึ่งกันและกันว่าใครซื้อถูกซื้อแพง อันนี้ทาง กกพ. เอง ก็พยายามปรับกฎกติกาให้สอดคล้องกับแนวนโยบายที่มีเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ เปิดไปแล้ว ระยะที่ ๑ มีปัญหาอุปสรรคใดก็มีระยะที่ ๒ ต่าง ๆ ก็มีการปรับปรุงมาตามลำดับ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนอีกอันหนึ่งคือยอดเงินคงเหลือ อันนั้นเป็นยอดตัวเลขเฉย ๆ เพราะเข้าใจว่า ในบัญชีมันมีรวมทั้งเงินกองทุน มาตรา ๙๗ (๑) ที่เป็นการโอนถ่ายระหว่างการไฟฟ้าด้วย อันนั้นเป็นตัวเลขที่คิดทางบัญชี ตัวเลขเงินจริง ๆ ไม่เหลือขนาดนั้น แล้วเป็นตัวเลขที่ผมแจ้งไปว่า เหลืออยู่เท่าไร ๔๐๐ กว่าล้านบาท หรือ ๕๐๐ ล้านบาทที่คืนไปที่กระทรวงการคลังแล้ว โดยสรุปก็มีชี้แจงประมาณนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • อันแรกเข้าใจว่าเป็นเรื่องของไฟฟ้าล้นเกินที่ทาง สส. ถาม ก็ต้องเรียน ไฟฟ้าล้นเกิน หน้าที่ของ กกพ. ก็คือให้ความเห็นไปที่การปรับแผน PDP ทุกรอบการปรับแผน เราก็จะมีความเห็นประกอบไปอยู่แล้วนะครับ ถัดมาก็คือบางทีเราต้องดูว่านโยบายเขามี ประเด็นด้านอื่นหลาย ๆ เรื่อง อย่างเช่นเรื่องของการเข้าสู่ Carbon Neutral ซึ่งจะต้องมี พลังงานหมุนเวียนมาเสริมในระบบ อันนี้เราก็ให้ความเห็นไปในเชิงในภาพกว้าง อย่างโรงไฟฟ้าชุมชนเศรษฐกิจฐานรากทางนโยบายเขาก็จะมีว่าเอาเงินไปช่วยเหลือชุมชน เศรษฐกิจอะไรต่าง ๆ อันนี้ก็คือความเห็นเราเป็นส่วนหนึ่งในภาพใหญ่เท่านั้นเอง แต่ว่า ในเรื่องของนโยบายเราคงไม่ได้ไปมีอะไรที่เหนือนโยบาย ก็ให้ความเห็นว่ามันจะกระทบ จะมีผลอะไรเท่านั้นเองครับ

    อ่านในการประชุม

  • ถัดมาเรื่อง วิธีคิดค่าไฟฐาน ต้องเรียนว่าตรงนี้เรามีสูตรค่าไฟฐานอยู่ใน ราชกิจจานุเบกษาอยู่แล้วนะครับ แต่ส่วนเรื่องการทำต้องเรียนตรง ๆ ว่าตอนนี้เป็นการทำ ครั้งแรกที่เราทำเองร่วมกับ ๓ การไฟฟ้า ผมก็ขออนุญาตรับความเห็นนี้ไปแล้วกันว่า เดี๋ยวมีตัวเลขหรือมีอะไรต่าง ๆ ที่เผยแพร่ได้ ก็อาจจะเผยแพร่มาตามลำดับ แต่ต้องเรียนว่า เป็นเรื่องที่เราทำเองจริง ๆ เพราะว่าแต่ก่อนในอดีตนั้นมันจะเป็นการจ้างที่ปรึกษา ไม่ว่าจะเป็น ทางบริษัทใหญ่ ๆ อันดับ Big 4 Big 5 เป็นคนทำ แต่ว่างวดนี้เราเป็นคนทำเอง เพราะว่า โครงสร้างกิจการมันเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างเยอะแล้ว ก็ร่วมกับ ๓ ไฟฟ้าทำกันเอง แล้วก็โดยเอาหลักการที่เขามีเอามาใช้ประกอบ เดี๋ยวผมขออนุญาตรับความเห็นไปแล้วกัน แล้วก็ดูว่าจะมีตัวเลขหรือจะมีอะไรที่เปิดเผยออกมาสู่ Public ได้ก็จะขออนุญาตไปเปิดมาครับ เมื่อสักครู่มีอีกคำถามหนึ่งเรื่องที่ฮังการี ต้องเรียนอย่างนี้ว่าเนื่องจากโครงสร้างกิจการแก๊ส เป็นกิจการใหม่ แล้วเราก็ต้องอาศัยว่าต่างประเทศเขาเปิดเสรีกันอย่างไร ตัวนั้นเป็นตัวที่เรา ประสานกับ Regulator ต่างประเทศขอจัดทำ Class เข้าไปศึกษา ไปเรียนจากเขา เราจ่ายเงินของเราเองนะครับ แต่เนื่องจากว่า Class มันเป็น Class ใหญ่ ทางกรรมการเอง ก็มองว่าต้องการเรียนรู้ไปพร้อมกันระหว่างตัวกรรมการแล้วก็ตัวผู้ได้รับอนุญาตรายใหญ่ ๆ ที่ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่ง เราก็เชิญทุกรายไปแล้วก็เรียนรู้ไปพร้อมกับเราว่ามันเป็น อย่างไร แต่ในส่วนของเราเราจ่ายเอง เพราะว่าทั้ง Class มันประมาณ ๓๐ คน คือเรา ไม่สามารถไปเองได้หมด เราก็ไปส่วนหนึ่งที่ไปเรียนรู้จากเขา แล้วก็มีผู้ได้รับอนุญาตรายอื่น เข้าไปเรียนรู้ด้วยกัน เป็นส่วนงบประมาณของเราเองทั้งหมดในส่วนของเรานะครับ แต่ส่วน ของคนอื่นอันนั้นแล้วแต่เขาเขาเป็นคนจ่ายเองครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • จริง ๆ ผมขออนุญาตเรียนอย่างนี้นะครับว่า ในระเบียบเราถ้าเป็นการอนุญาตโรงไฟฟ้า พอเราอนุญาตปุ๊บประมาณอีก ๑-๒ อาทิตย์มันจะมีชื่อขึ้นอยู่ใน Website เลยว่าเราได้อนุญาตอะไรไปแล้ว ถ้าเข้าไปใน Website มันจะมีรายชื่อผู้ได้รับใบอนุญาต มันจะ Update อยู่ตลอด แต่มันอาจจะ Lag สักประมาณ ๑ หรือ ๒ อาทิตย์ ชื่อมันก็จะไป ลองเข้าไป Search ใน Website มันจะมีรายชื่อผู้ได้รับอนุญาตอยู่ อันนั้นมีนะครับ

    อ่านในการประชุม