สวัสดีครับ เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎร ผม พูนศักดิ์ จันทร์จำปี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณท่านเลขาธิการและผู้แทนสำนักงานกำกับกิจการ พลังงานที่ได้เข้าร่วมมารายงานผลการดำเนินงานประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ด้วยตัวท่านเอง ผมขอชื่นชมการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนของตัวพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเห็นได้ชัดในตัวรายงาน ที่ท่านนำเสนอขึ้นถึง ๑๑ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผมคิดว่าเป็นอัตราที่น่าพึงพอใจเมื่อเทียบกับ ประเทศต่าง ๆ ถ้าการเพิ่มขึ้นในอัตรานี้โดยเฉลี่ยคร่าว ๆ ประมาณ ๑ เปอร์เซ็นต์ทุก ๆ ปี เราคงจะสามารถที่จะบรรลุเป้าหมาย ๒๐ เปอร์เซ็นต์ของตัวสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียน ได้ประมาณปี ๒๕๓๗ ซึ่งเป็นปลายปีของแผนพลังงาน AEDP แผนของพลังงานทดแทน แต่เราก็ต้องยอมรับว่าวิธีการที่ทาง กกพ. ผมใช้ชื่อย่อว่า กกพ. แทนสำนักงานกำกับกิจการ พลังงานก็แล้วกันนะครับ ทาง กกพ. ได้มีการนำหลักเกณฑ์หรือวิธีการในการคัดเลือก หรือวิธีการในการดำเนินการสำหรับการจัดการตัวขยะซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในพลังงานหมุนเวียน ด้วยวิธีการเผา เพื่อนำมาผลิตเป็นพลังงาน ซึ่งเทคโนโลยีนี้ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเทคโนโลยี ที่ดีที่สุด ในการกำจัดขยะซึ่งเรียกว่าเป็น Base Available Technology อยู่ ณ ตอนนี้ ซึ่งผมคิดว่าวิธีการนี้ค่อนข้างจะเหมาะสมกับการแก้ปัญหาของขยะล้นเมืองในประเทศไทย ที่มีขยะเทกองกว่า ๒,๐๐๐ กว่าแห่งซึ่งกระจายกันทั่วประเทศ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อมมากมาย การเผาขยะเพื่อผลิตพลังงานจึงเป็นการจัดการขยะที่เหมาะสมที่สุด แต่อย่างไรก็ตามวิธีการดังกล่าว ผมมีข้อสังเกตไว้อยู่ประมาณ ๔ ประการ ดังต่อไปนี้
ในข้อแรก การคัดเลือกโครงการต่าง ๆ หรือการให้ใบอนุญาตโครงการจัดการ ตัวพลังงานหมุนเวียนหรือว่าการจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นพลังงานก็ตาม เราใช้หลักเกณฑ์ ของ COP ซึ่งเราเรียกว่าเป็น Code Of Practice ในขณะเดียวกัน Code Of Practice มีความเข้มข้นของการประเมิน โดยการจัดการของสำนักงานของท่านเอง ความเข้มข้น เมื่อเทียบกับ EIA ผมต้องบอกว่าทาง EIA มีความเข้มข้นที่สูงกว่า แต่มลพิษที่เกิดขึ้นจาก เตาเผาขยะ หรือโรงไฟฟ้าขยะที่ท่านพูดมันมีมลพิษไม่ได้ต่างกันเลยกับโรงไฟฟ้าจากชนิดอื่น ดังนั้นผมจึงมีความเห็นว่าอยากจะให้ทาง กกพ. พิจารณาเรื่องของการจัดการประเมิน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มีความเข้มข้นเทียบเท่ากับตัว EIA หรืออย่างน้อยก็ต้องโยกกลับไปให้ ทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. พิจารณา สำหรับตัวโครงการเตาเผาขยะนะครับ ที่ผมพูดเช่นนี้เพราะมีตัวอย่างมาแล้ว ถ้าหากท่าน ลองไป Check ดูมีโรงงานเตาเผาขยะที่มีกำลังการผลิตประมาณ ๙ เมกะวัตต์ ๓ โรงงาน ตั้งเรียงต่อกันเลย แต่ทั้ง ๓ โรงงานที่ว่านี้ใช้ COP รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ดำเนินการเพื่อยื่นต่อ กกพ. เองเหมือนกันเลย เพียงแต่เปลี่ยนแค่ชื่อ นั่นก็หมายถึงว่า มลพิษที่เกิดขึ้นจากโรงงานทั้ง ๓ แหล่งไม่ได้นำมาประกอบกันในการพิจารณา ถ้าพูดง่าย ๆ ท่านมี ๙ เมกะวัตต์ ๓ โรง ๙ คูณ ๓ คือ ๒๗ เมกะวัตต์ แต่ในการพิจารณาผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อม ท่านกลับเอา ๙ บวก ๙ บวก ๙ แต่ก็คือเท่ากับ ๙ นั่นก็คือว่ามลพิษที่ออก ท่านประเมินทีละโรง ๆ ก็เท่ากับว่ามลพิษที่เกิดขึ้นเท่ากับโรงเดียว นี่คือประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ที่ผมอยากจะนำเรียนท่าน
ส่วนประเด็นถัดมา เรื่องของความเหมาะสมของ FiT ต่อด้านสิ่งแวดล้อม ผมอยากเสนอว่าตอนนี้ FiT ที่ให้ก็คือค่าเงินเพิ่มพิเศษ Feed-in Tariff ท่านควรพิจารณา ที่จะเพิ่มให้กับโครงการที่ปล่อยมลพิษน้อยกว่า ยกตัวอย่างเช่น ตัว Carbon Emissions ถ้าท่านให้โรงงานที่มีผลิตคาร์บอนน้อยกว่าท่านเพิ่มให้ตัว FiT สูงกว่าก็จะเป็นการเพิ่ม แรงจูงใจให้โครงการต่าง ๆ เร่งรัดในการที่จะลดการผลิตตัวคาร์บอนในการปลดปล่อย ออกไป ซึ่งคล้าย ๆ กับการพิจารณาโดยอาศัยตัวภาพรวม ซึ่งเรียกว่าเป็น Life Cycle Assessment คือการประเมินภาพรวมทั้งหมด ใครผลิตน้อยก็ได้ประโยชน์มาก
ถัดมาประเด็นเรื่องของสัญญาโรงไฟฟ้าจากขยะ ซึ่งมีเวลาถึง ๒๐ ปี การตัดสินใจหากดำเนินการโดยไม่รอบคอบจะเป็นภาระต่อคนรุ่นถัดไปอย่างแน่นอน อย่างเช่น เขาอาจจะเผชิญภาระอย่างที่เจอตอนนี้ก็คือค่าไฟสูงขึ้นอย่างที่ไม่ควรจะเป็น ถ้าหากท่านสร้างโรงไฟฟ้าขยะมากเกินไปโดยไม่มีการพิจารณาเครื่องการคุมกำเนิดจะมีผล ต่อปริมาณขยะ ถ้าหากท่านดำเนินการด้วยการลดขยะ ด้วยการนำไป Recycle ซึ่งจะทำให้ ขยะลดลง ๒๐-๓๐ เปอร์เซ็นต์ ท่านก็จะเกิดปัญหาว่าโรงไฟฟ้าจากขยะจะเอาขยะที่ไหนมาเผา สุดท้ายท่านก็ต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน
สุดท้ายประเด็นเรื่องของการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือการ Monitor โครงการต่าง ๆ อย่างเช่น โรงไฟฟ้าที่หาดใหญ่ ซึ่งได้มีการปิดตัวลงไป เนื่องมาจากว่าค่า Emission ไม่ผ่านเกณฑ์ ผมอยากฝากให้ทาง กกพ. ช่วยดูแลตรงนี้ให้ด้วย เพราะว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่เป็นค่าเงินเพิ่มพิเศษนั้นก็คือเป็นเงินของพวกเรา เงินของ ประชาชนทั้งนั้น เงินทั้งหมดที่จ่ายให้ไปก็ไม่ควรที่จะส่งให้เกิดผลกระทบหรือมลพิษย้อนกลับ มาถึงเราในฐานะประชาชน ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างให้โครงการต่าง ๆ ผลิตไฟฟ้าให้ได้ดี มีผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อมน้อย
โดยสรุปผมอยากขอให้สำนักงานมีกลไกในการควบคุม กำกับดูแล ด้านสิ่งแวดล้อม มีอัตราเงินเพิ่ม หรือ FiT ที่โปร่งใส สามารถชี้แจงหรือเปิดเผยได้ แล้วก็ สุดท้ายอยากให้ท่านประเมินเรื่องของเตาเผาที่ท่านจะอนุญาตจะต้องไม่มากเกินความจำเป็น ขอบคุณครับท่านประธาน
เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎร ผม พูนศักดิ์ จันทร์จำปี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก่อนอื่นผมต้องขอแสดงความเสียใจกับผู้ที่สูญเสียทุกท่าน เหตุการณ์เหล่านี้ ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นนะครับ ผมหวังว่าเหตุการณ์นี้จะเป็นเหตุการณ์สุดท้าย ถึงแม้ว่า เราจะมีกฎหมายมากมายอยู่ในมือ ขอ Slide ครับ
ซึ่งกฎหมายที่เราถืออยู่ในมือ ตอนนี้มีทั้งหมด ๗ พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องกับตัวพลุและดอกไม้เพลิง
อันดับแรก เรื่องเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ควบคุมยุทธภัณฑ์ ซึ่งกระทรวงกลาโหมควบคุม กำกับดูแลอยู่
อันดับที่ ๒ พ.ร.บ. เรื่องอาวุธปืน วัตถุระเบิดและดอกไม้เพลิง อันนี้หน่วยงาน ปกครองเป็นผู้กำกับดูแลเรื่องเกี่ยวกับการนำเข้า จัดเก็บ หรือว่าการค้าดอกไม้เพลิง
อันดับที่ ๓ พ.ร.บ. โรงงาน ซึ่ง พ.ร.บ. โรงงานได้มีการระบุไว้ว่า โรงงาน ที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตวัตถุระเบิด ไม้ขีดไฟ หรือว่าดอกไม้ไฟ จัดเป็นโรงงาน ประเภทที่ ๔๘ (๔) แต่เป็นที่น่าสังเกตนิดหนึ่งว่าตาม พ.ร.บ. โรงงานแล้วโรงงานมีนิยามว่า ท่านต้องมีเครื่องจักร ๕๐ แรงม้าขึ้นไป หรือมีคนงาน ๕๐ คนขึ้นไป แต่ถ้าในกรณีที่ไม่ถือว่า เป็นนิยามว่าโรงงานยังไม่มีกฎหมายใด ๆ มีการพูดถึงไว้ว่าถ้าหากท่านเป็นโรงงานขนาดเล็ก ท่านต้องดำเนินการขออนุญาตในการผลิต ขอ Slide ถัดไปครับ
- ๑ ๕ ๑ /๑
อันดับที่ ๔ เรามี พ.ร.บ. วัตถุอันตราย ซึ่งประกาศไว้ว่า การที่ท่านจะ ครอบครอง จัดเก็บ หรือว่าขนส่งท่านต้องดำเนินการขออนุญาต ซึ่งตัวดอกไม้เพลิงตัวนี้ มีองค์ประกอบของแบเรียมไนเตรต ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดสีเขียวในกรณีที่เกิดเพลิงไหม้ ซึ่งตัวนี้จัดว่าเป็นสารอันตรายลำดับที่ ๒๕๕ ในบัญชีรายชื่อของสารเคมีอันตราย ลำดับ ถัดมานะครับ
อันดับที่ ๕ พ.ร.บ. สาธารณสุข ซึ่งจะประกาศเรื่องเกี่ยวกับกฎกระทรวง เรื่องการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ลำดับที่ ๑๓ (๖) ซึ่งพูดถึงเรื่องการเป็น โกดังเก็บสินค้าหรือว่าสารเคมีอันตราย
อันดับดับที่ ๖ จะเป็นเรื่องของ พ.ร.บ. อาคารในกรณีที่ท่านต้องการ ขออนุญาตในการก่อสร้าง
อันดับที่ ๗ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในการทำงาน และความปลอดภัย เพื่อป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ในสถานประกอบการ ท่านจะเห็นได้ว่าเรามีกฎหมายมากมาย อยู่ในมือเรียบร้อยแล้วนะครับ แต่ถ้าผมย้อนกลับไปวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๗ ได้เกิดเหตุการณ์ โรงงานผลิตพลุระเบิดที่ตำบลบ้านเกาะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เหตุการณ์ครั้งนั้น ก็คร่าชีวิตผู้คนไป ๑๐ กว่ารายเหมือนกัน จนเป็นที่มาที่ทำให้สภาผู้แทนราษฎรชุดนั้น ก็ได้มีการร่วมกันบูรณาการระหว่าง ๕ กระทรวงตามที่ท่านเพื่อนสมาชิกได้อภิปรายไป ออกเป็นกฎหมายมาควบคุมในการจัดเก็บ การขนส่งต่าง ๆ แต่ ๑๙ ปีถัดมาเราก็เจอปัญหา เดิมอีกครั้งหนึ่งที่นราธิวาส ซึ่งก่อนหน้านี้ก็จะมีที่ดอยสะเก็ด ที่ลำพูน ปีนี้ที่แน่ ๆ ผ่านมาครึ่งปีเจอมาแล้ว ๓ อย่าง ปัญหาที่ผมอยากจะเรียนท่านประธานในวันนี้ก็คือว่า การบังคับใช้กฎหมายนี้เป็นกรณี Classic ของประเทศไทยเราเลยนะครับ แต่การแก้ไข เรื่องการบังคับใช้กฎหมายเป็นสิ่งที่ยากมากที่สุด เพราะอะไรครับ เพราะว่าเรามีระบบ อุปถัมภ์ ซึ่งระบบนี้จะเป็นระบบที่คอยกีดขวางการทำงานองคาพยพต่าง ๆ ของการบังคับใช้ กฎหมาย ถ้าไม่มีการแก้ระบบอุปถัมภ์การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพจะไม่เกิดขึ้น เลยในบ้านนี้เมืองนี้
ประเด็นถัดมา เรื่องการขาดการติดตามการตรวจสอบหลังจากการ ขออนุญาตนะครับ เรื่องของการ Testability ในกรณีที่ท่านจะต้องนำเข้า ขนส่ง แล้วก็จัดเก็บ ตัวพลุนะครับ อย่างที่ท่าน สส. ท่านอื่นได้อภิปรายไปเราควรจะต้องนำระบบ IT ระบบในการตรวจสอบเข้ามาจัดการในการควบคุมตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง เพื่อจะให้ รู้ว่าท่านจัดเก็บปริมาณเท่าไรนะครับ
ประเด็นที่ ๒ นอกจากประเด็นกฎหมายแล้วก็คือประเด็นเรื่องของสิทธิ ของประชาชนนะครับ ประชาชนควรต้องรู้ถึงอันตรายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ปกติตอนนี้ หน่วยงานรัฐจะเก็บข้อมูลเข้าไปในลิ้นชัก รู้กันระหว่าง ๒ คน ระหว่างผู้ขออนุญาต และหน่วยงานรัฐที่ดำเนินการออกใบอนุญาตนะครับ สิทธิของประชาชนท่านจะต้องมีสิทธิ ที่จะรู้ว่าที่ตั้งของท่านมีความเสี่ยงอะไรที่จะเกิดขึ้นบ้าง หรือการต่ออายุใบอนุญาตนะครับ ประชาชนท่านต้องมีสิทธิที่จะเข้าไปร่วมทำการตรวจสอบในการต่ออายุใบอนุญาตรายปี ร่วมกับหน่วยงานรัฐด้วยเช่นกัน
อันดับสุดท้ายที่ผมค่อนข้างห่วงกังวลมากที่สุดนะครับ วันนี้ทางกรมควบคุม มลพิษก็ได้ดำเนินการตรวจสอบ แล้วก็มีการแจ้งว่าน้ำในรัศมี ๒๐๐ เมตร ห้ามใช้ในการ อุปโภคบริโภค เนื่องมาจากอะไรครับ เนื่องมาจากว่าสารเคมีที่เป็นองค์ประกอบนั้น มีองค์ประกอบของโลหะหนัก ได้แก่ แบเรียมไนเตรต ซึ่งแบเรียมไนเตรตมันจะเกิดผลทำให้ เกิดการไหลเวียนของโลหิตล้มเหลว ความดันเลือดสูง อาจหมดสติ หรือกล้ามเนื้อเกร็งได้ ดังนั้นท่านต้องรีบดำเนินการตรวจสอบการปนเปื้อนโดยเร็ว นอกจากการปนเปื้อนที่แหล่งน้ำ แล้วการปนเปื้อนที่ผิวดินเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะบริเวณนั้นใกล้กับแหล่งน้ำ และในช่วงฤดู มรสุมการพัดพาของน้ำฝนจะทำให้การกระจายตัวของโลหะหนักพวกนี้แพร่กระจายไป ผม ยังอยากแนะนำว่าควรที่จะทำการตรวจสอบการปนเปื้อนมลพิษที่ผิวดินประกอบไปด้วย แล้ว หลังจากนั้นเราถึงจะรู้ว่าการปนเปื้อนมันซึมลึกขนาดไหน แล้วหลังจากนั้นเราถึงทำการฟื้นฟู แล้วก็บำบัดนะครับ ผมหวังว่าเหตุการณ์นี้คงเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เกิดขึ้นกับประชาชนของประเทศไทยนะครับ ถ้าหากเราทุกคนมีหน้าที่ทำตามหน้าที่ของตัวเองอย่างเคร่งครัด ตัดระบบอุปถัมภ์ออก เอากฎหมายให้มีการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียม สร้างระบบร่วมกันในการ ตรวจสอบ และสุดท้ายต้องเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะครับ ขอบคุณครับท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎร ผม พูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก่อนอื่น ต้องขอขอบคุณทางคณะผู้บริหารกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลที่ให้เกียรติมาชี้แจงด้วยตัวเอง ผมคงจะใช้เวลาไม่นานในการอภิปรายประเด็นเรื่องการจ่ายเงินของตัวกองทุนพัฒนา น้ำบาดาล ขอ Slide ด้วยครับ
ก่อนอื่นเรามาดูเรื่องขอบเขต อำนาจในการใช้จ่ายเงินของตัวกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลนะครับ ซึ่งเป็นระเบียบที่ออกตาม พ.ร.บ. น้ำบาดาล ฉบับที่ ๓ ปี ๒๕๔๖ ในมาตรา ๗ จะระบุไว้ว่าการใช้เงินในกองทุนพัฒนา น้ำบาดาลหรือว่า กพน. จะใช้ทำอะไรได้บ้าง ซึ่งถ้าท่านไล่ดูตาม Slide ตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๔ โดยสรุปก็คือจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการศึกษา การสำรวจ วิจัย วางแผนแม่บท อุดหนุนกิจการ ต่าง ๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการบริหารของกองทุนเท่านั้นเอง แต่ผมอยากจะเน้นก็คือให้ท่าน ดูที่ข้อ ๒ มีการระบุว่าเราจะต้องนำเงินมาช่วยเหลือแล้วก็อุดหนุนกิจการที่เกี่ยวข้องกับ การอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาล คำว่า อนุรักษ์ นั่นก็หมายถึงว่าถ้าหากพื้นที่ใดมีการปนเปื้อน เราต้องดำเนินการฟื้นฟูเพื่อให้แหล่งน้ำบาดาลนั้นกลับมามีสภาพปกติ ซึ่งการมีสภาพปกตินั้น ก็หมายถึงว่าประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำบาดาลนั้นได้ จาก Slide ที่ผ่านมา ท่านก็จะเห็นว่ากองทุนมีวัตถุประสงค์อะไรแล้ว ทีนี้เรามาดูว่าหลังจากที่ผมเอาข้อมูล ในการใช้จ่ายเงินของกองทุนมาแยกออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งผมแยกออกมาได้ประมาณ ๕ กลุ่มด้วยกัน ซึ่งกลุ่มหลัก ๒ ใน ๓ ของเงินในการใช้จ่ายจะใช้ในการศึกษาสำรวจ ด้านธรณีวิทยา แล้วก็พัฒนา แล้วก็แก้ไขปัญหาของการขาดแคลนน้ำบาดาล ซึ่งผมคิดว่า ประเด็นนี้ทุกคนเห็นด้วย เพราะเราเชื่อมั่นว่าการมีแหล่งน้ำบาดาลที่สมบูรณ์แล้วก็พร้อม ที่จะจ่ายให้กับประชาชนนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นและเป็นสิ่งสำคัญ แต่ที่ผม Highlight สีแดงไว้ ก็คือเงินที่ท่านใช้ในการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนและปัญหาดินทรุดตัวมีทั้งหมด ๕ โครงการ ค่าใช้จ่ายไป ๑๔ ล้านบาท จำนวนเปอร์เซ็นต์ท่านสังเกตเห็นไหมครับ เราดำเนินการในเรื่องนี้ เพียงแค่ ๒ เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเงิน ๖๐๐ ล้านบาท หรือ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอันนี้ ผมยังไม่ได้พูดถึงว่าการใช้จ่ายในปี ๒๕๖๔ มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าในปี ๒๕๖๓ ถึง ๒ เท่า จาก ๓๐๐ ล้านบาทขึ้นไปถึง ๖๐๐ ล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าพื้นที่ที่มีการปนเปื้อน จากที่ผมทำการศึกษามาจากรายงานประจำปีของทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาลพบว่ามีพื้นที่ ในการปนเปื้อน ๕ แห่งด้วยกัน แต่เราดำเนินการทำการศึกษาเกี่ยวกับการฟื้นฟูเพียง ๑ แห่ง ยังเหลืออีก ๔ แห่งที่ยังไม่ได้ทำการศึกษา นี่คือเป็น ๑ ใน ๕ แห่งเป็นตัวอย่างน้ำปนเปื้อน ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนที่อำเภอเขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งพื้นที่นี้เป็นอ่างเก็บน้ำ ประชาชนเคยใช้ประโยชน์ในการจับสัตว์น้ำ ในการใช้เป็นแหล่งน้ำในการใช้ในชีวิตประจำวัน ของเขาปัจจุบันพบว่ามีการปนเปื้อน ซึ่งจากการตรวจสอบมีการปนเปื้อนมาตั้งแต่แหล่งน้ำใต้ดิน แหล่งน้ำบาดาล จนกระทั่งไหลต่อมาที่อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ ท่านจะเห็นสีแดง ๆ ซึ่งอันนั้นคือเป็น การปนเปื้อนของโลหะ ซึ่งได้แก่พวกโลหะหนักประเภทเหล็ก ทองแดง แมงกานีส ปัจจุบัน พื้นที่นี้ยังไม่ได้รับการฟื้นฟู พื้นที่นี้จากปี ๒๕๖๔ ที่อยู่ในรายงานจนถึงปัจจุบันนี้ปี ๒๕๖๖ OK นะครับ ผมคาดว่าปัญหาในการดำเนินการก็คงต้องใช้เวลาบ้าง แต่อย่างไรก็ตามผมมีความคิดว่าเราควรจะนำเงินกองทุนไปเยียวยาให้กับผู้เดือดร้อนก่อน ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูพื้นที่ตรงนี้หรือหาสาเหตุต้นทางของมันว่ามีสาเหตุมาจากอะไร ในรายงานปี ๒๕๖๔ พบอีกว่ายังมีพื้นที่ในการปนเปื้อนจากหลุมฝังกลบขยะจากโรงงาน ประกอบกิจการประเภทรับบำบัดกำจัดของเสียซึ่งเป็นการจัดการซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ มีการปนเปื้อนจากโรงงานเพลิงไหม้ที่โรงงานหมิงตี้ ซึ่งท่านทราบคงจะจำกันได้ที่เกิดเพลิงไหม้ จังหวัดสมุทรปราการ โครงการเหล่านี้ยังไม่ได้รับการฟื้นฟูนะครับ
ในปัจจุบันผมคาดว่าจากปี ๒๕๖๔ ปี ๒๕๖๕ ปี ๒๕๖๖ และต่อไปเราจะเจอ ปัญหาเรื่องการปนเปื้อนรุนแรงมากขึ้นจากการจัดการของเสียที่ไม่ถูกต้อง การปนเปื้อน จะส่งผลถึงดิน น้ำใต้ดิน น้ำผิวดิน เป็นห่วงโซ่ต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ การปนเปื้อนจะส่ง ผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก เพราะนี่คือการอย่างที่เพื่อนสมาชิกหลาย ๆ ท่านได้พูดไว้ น้ำคือชีวิต เราขาดน้ำไม่ได้ในแต่ละวัน การที่จะให้เขาต้องไปซื้อน้ำเองซึ่งเขาก็ต้องเสียเงิน แล้วก็สูญเสียลักษณะของการใช้ชีวิตประจำวันของเขาไป ผมจึงเรียกร้องท่านว่าอยากจะให้ ท่านพิจารณานำเงินของกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลมาช่วยในการบำบัดฟื้นฟู จากเดิมซึ่งมีอยู่ ๒ เปอร์เซ็นต์ที่ผมเรียนไป ถ้าเพิ่มได้ ๑๐-๒๐ เปอร์เซ็นต์ในอนาคตจะดีมากนะครับ หลังจากนั้น ท่านอาจจะไปฟ้องร้องกับผู้ที่ก่อให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนเป็นอันดับถัดไป ขอบคุณครับ ท่านประธาน
ท่านประธานครับ ๒๖๖ พูนศักดิ์ แสดงตนครับ
เรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎร ผม พูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก่อนอื่นก็ต้อง ขอขอบคุณท่านที่นำญัตติเรื่องการบริหารจัดการขยะ ซึ่งเป็นปัญหาที่ หมักหมมและ อยู่กับสังคมไทยมาเป็นเวลา ๓๐-๕๐ ปี ได้นำมาศึกษาเพื่อที่เราจะได้เตรียมการที่จะรับมือ แล้วก็แก้ปัญหานี้ในอนาคต ซึ่งปัญหาของการจัดการขยะผมคิดว่าเรามีปัญหามาหลาย รูปแบบ แล้วก็มีการแก้ไขมาเป็นเวลาหลายสิบปี แต่ส่วนใหญ่ตอนนี้เราจะเหมือนเดินย่ำอยู่ กับที่ บางครั้งเราจะรู้สึกว่าเหมือนเราเดินถอยหลังด้วย ผมก็เลยลองวิเคราะห์ถึงปัญหา ที่เกิดขึ้นว่าเกิดขึ้นจากอะไร แล้วเราจะร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาได้อย่างไร ซึ่งในการ จัดการขยะถ้าเรามองดูการจัดการ ๓ ลำดับขั้น เริ่มที่ต้นทาง กลางทาง แล้วก็ปลายทาง ซึ่งต้นทางนี้ก็คือเป็นเรื่องของเกี่ยวกับกระบวนการในการลดการเกิดขยะ กลางทางก็คือ การเก็บขนและรวบรวม สุดท้ายปลายทางก็คือพื้นที่ในการกำจัดหรือบำบัดขยะ ทีนี้ผมจะ ค่อย ๆ ไล่ไปทีละ Step เพื่อที่จะให้ท่านจะได้เข้าใจว่าปัญหาของมันเกิดขึ้นนี้เป็นปัญหา ที่เหมือนกับเป็นมะเร็ง ซึ่งเกิดขึ้นแล้วเรายังไม่ยอมที่จะแก้ไขตัดเนื้อร้ายตรงนี้ออกไป หรือว่า แก้ไขในการให้คีโมกันมันก็จะอยู่กับเราไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งสุดท้ายสิ่งแวดล้อมก็ได้รับไม่ไหว ก็ถ้าคิดเป็นเหมือนคนก็คือต้องตายในที่สุดนะครับ เรากลับไปดูที่ต้นทาง ต้นทางอันดับแรก เรารู้ดีว่าเราต้องลดการเกิดขยะที่ต้นทาง ซึ่งปัญหานี้อย่างที่ท่าน สส. มัลลิกาได้อภิปราย ไปเมื่อสักครู่ เราลดขยะต้นทางส่งเสริมการแยกขยะที่ต้นทางแล้วปรากฏว่าเรายังรวมขยะที่ลด แล้วก็ส่งไปกำจัดที่ปลายทางกันอยู่เหมือนเดิมแล้วเราจะแยกไปทำไม มันสะท้อนให้เห็นว่า รูปแบบในการบริหารจัดการของเรายังขาดรูปแบบในการที่จะบริหารจัดการให้ครบวงจรอยู่ ผมยกตัวอย่างเช่น การลดขยะที่ตัวต้นทาง การแยกขยะอินทรีย์ พอแยกเสร็จแล้วจะไป ดำเนินการจัดการด้วยวิธีการอะไรจะไปหมักปุ๋ย จะไปทำการหมักเพื่อให้ได้แก๊สมีเทนหรือว่า เป็น Biogas เราต้องคิดก่อนแล้วก็ต้องศึกษาว่างบประมาณที่ใช้มีมากน้อยเพียงไร แล้วเราถึง ค่อยดำเนินการเดินระบบตรงนั้น มันต้องผ่านกระบวนการคิด หลาย ๆ รูปแบบ ซึ่งการลดขยะที่ตัวต้นทางนี้มันอาจจะมีกลไก หลาย ๆ อย่างประกอบกันไป ผมยกตัวอย่างในหลาย ๆ ประเทศเขาเริ่มแล้วที่จะมีการนำ ระบบในการบริหารจัดการโดยการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ซึ่งในหลาย ๆ ประเทศ ถึงกับประกาศเป็นกฎหมายขึ้นมาโดยเฉพาะในเขต EU ซึ่งเขาประกาศมาเกือบ ๒๐ ปีแล้ว ประกาศไปในกฎหมายเลยนะครับ การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตหรือผมจะเรียกว่า EPR ย่อมาจาก Extended Producer Responsibility ซึ่งตัวนี้จะช่วยในการลดการเกิดขยะ ที่ต้นทาง และมีการรวบรวมเก็บขนไปสู่ปลายทางอย่างถูกต้อง และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างตัวขยะที่เป็นขยะอันตรายตัวหนึ่ง ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบ สิ่งแวดล้อมมากมาย ก็คือตัวขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งปัจจุบันนี้เรารู้กันดีอยู่ว่า ๒ จังหวัดใหญ่ ๆ ที่รับจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ของบ้านเราก็คือที่จังหวัดกาฬสินธุ์และที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่ง ๒ แหล่งนี้ก็เอาขยะอิเล็กทรอนิกส์นี้ไปทำการคัดแยกที่บ้าน ส่วนที่มีมูลค่าก็ดึงไป ส่วนที่ไม่มีมูลค่าก็ทิ้งไปกับหลุมฝังกลบของขยะชุมชน สายไฟก็เผาทิ้ง พวกนี้ก็ก่อให้เกิด มลพิษที่เกิดขึ้นนะครับ แต่หลักการ EPR ที่ผมกำลังนำเสนอนี้ก็คือว่าเรากำลังจะขยายความ รับผิดชอบของผู้ผลิต ให้ผู้ผลิตคิดว่าเดิมเขาคิดแค่ว่าเขาผลิตของแล้วเขาก็ขาย นั่นคือ ความรับผิดชอบของผู้ผลิตในอดีต ตอนนี้เรากำลังขยายไปว่าต่อไปนี้คุณขายอย่างเดียว ไม่ได้แล้ว พอมีซากเกิดขึ้นคุณต้องคิดด้วยว่าคุณจะเก็บซากตรงนั้นมาจัดการอย่างไร ดังนั้น ในกระบวนการนี้ที่เกิดขึ้นก็คือผู้ผลิตก็จะต้องนำซากที่เกิดขึ้นจากสังคมที่ผ่านการใช้งานมานี้ กลับมาเพื่อนำมา Recycle หรือเพื่อนำมาใช้ใหม่ เอามาซ่อมแซมต่าง ๆ อันนี้คือหลักการ ที่ผมคิดว่าเราคงจะต้องคิดแล้วก็ช่วยกันหาทางในการดำเนินการ ทีนี้มาดูที่ตัวกลางทางบ้าง ตอนนี้ขยะเรายังไม่ได้รับการจัดเก็บถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เดี๋ยวจะมีเพื่อน สส. มาอภิปราย แล้วก็แสดงให้เห็นว่าโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ขยะหลาย ๆ แห่ง หลาย ๆ อปท. มีการทิ้งสู่ ลำรางสาธารณะ มีการทิ้งสู่แหล่งน้ำหรือว่าโดยเฉพาะลุ่มน้ำชั้นหนึ่ง นั่นก็แสดงให้เห็นว่า ขยะเกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้เก็บได้ถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์นะครับ จากข้อมูลของ World Bank ก็เห็นได้ชัดว่าประมาณ ๓ ล้านตันทั่วประเทศยังไม่ได้รับการจัดเก็บและจัดการ ในขณะเดียวกันขยะเราเริ่มมองถึงเรื่องของขยะชุมชน ในขณะเดียวกันก็จะมีขยะของ อุตสาหกรรม มีขยะติดเชื้อ ซึ่งพวกนี้ก็ควรจะต้องได้รับการศึกษาเช่นกันว่าทำไมการลักลอบ ทิ้งของตัวขยะอุตสาหกรรมถึงเกิดขึ้นมากมายจนกระทั่งเป็นภาระขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ในขณะเดียวกันขยะติดเชื้อ Capacity ที่มีอยู่ ณ ตอนนี้เพียงพอหรือไม่ การที่วิ่ง จากทั่วประเทศเพื่อมาจัดการอยู่ที่แห่งเดียว อย่างเช่นที่จังหวัดนครสวรรค์ มีความคุ้มค่า ในเชิงเศรษฐศาสตร์หรือคุ้มค่าในเรื่องของการลดการปล่อยคาร์บอนหรือไม่ พวกนี้เราต้อง นำมาคิดแล้วก็นำมาประมวลร่วมกัน งบประมาณก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง งบประมาณในการ เก็บขนขยะส่วนใหญ่ยังไม่มีการถ่ายโอนให้ไปกับท้องถิ่นอย่างชัดเจน ท้องถิ่นโดยเฉพาะเมือง ท่องเที่ยวจะประสบปัญหามากในเรื่องของการจัดการเก็บขนขยะโดยเฉพาะในช่วงฤดู ท่องเที่ยว ซึ่งพอขยะมีปริมาณมากขึ้นจากช่วงปกติประมาณ ๒ เท่า รถที่มีอยู่ในมือ ไม่เพียงพอ การจัดสรรงบประมาณเราก็ต้องควรที่จะดำเนินการให้สอดคล้องกับบริบทของ แต่ละท้องถิ่นด้วยเช่นกัน มาถึงที่ปลายทางนะครับ ตอนนี้เราพบหลุมฝังกลบหรือว่าเตาเผา ขยะที่ไม่มีระบบบำบัดร่วมกันกว่า ๒,๐๐๐ แห่งทั่วประเทศนะครับ ท่านมองเห็นปัญหาไหมครับ ทำไมเราถึงปล่อยให้เกิดจำนวนหลุมฝังกลบหรือว่าเตาเผาขยะที่ไม่มีโรงบำบัดหลุมฝังกลบ ที่ไม่ได้มาตรฐานถึง ๒,๐๐๐ กว่าแห่งทั่วประเทศได้ อันนี้คือปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเราก็ต้อง มาร่วมกันหาแนวทางหรือว่ามาตรการในการแก้ไขกัน เรายังเจอปัญหามูลฝอยตกค้าง ซึ่งตอนนี้จากข้อมูลปี ๒๕๖๕ นี้มีถึงประมาณ ๑๐ ล้านตัน ในเวลาแค่ ๓ ปีเพิ่มขึ้นถึง ๒ เท่า นี่ก็เป็นอีก ๑ ปัญหาว่านอกจากเรามีระบบในการจัดการ ที่ไม่ดีแล้ว มูลฝอยเดิมเราจะทำอย่างไรกับมัน ซึ่งมีปริมาณที่ตกค้างเป็นจำนวนมากกว่า ๑๐ ล้านตัน เทคโนโลยีก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง หลายท่านพูดกันมากว่าเราจะเลือกเทคโนโลยี อะไรในการจัดการขยะ ยกตัวอย่างเช่นบางคนบอกว่าก็เอาขยะที่เกิดขึ้นไปร่อน แล้วก็ทำเป็น เชื้อเพลิง แล้วก็ส่งเข้าเตาเผา กับอีกอันหนึ่งก็คือว่าทำไมเราไม่เผาตรงเลย อีกอันหนึ่งก็บอก ว่าเตาเผามีมลพิษเยอะก็เอาไปทิ้งที่หลุมฝังกลบเหมือนเดิม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทางสภาเรา ควรที่จะต้องมาร่วมกันศึกษาเพื่อที่จะให้เกิดเป็นแนวทางรูปแบบในการบริหารจัดการ ที่ครบถ้วนถูกต้อง ถูกหลักวิศวกรรม ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ก่อให้เกิด ผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในการบริหารจัดการขยะ และอันดับสุดท้าย พื้นที่ที่มีการปนเปื้อน โดยเฉพาะหลุมฝังกลบเดิม ซึ่งพบว่ามีการปล่อยน้ำชะขยะทิ้งลงสู่ แหล่งน้ำ โดยที่ไม่ได้มีการบำบัด จนก่อให้เกิดผลกระทบต่อดินและน้ำใต้ดินสิ่งเหล่านี้เราจะ ดำเนินการอย่างไรกับมัน งบประมาณที่ใช้มีปริมาณเท่าไร รัฐบาลจะต้องตระหนัก แล้วก็หวัง ว่าในปีงบประมาณหน้าก็คงจะต้องนำเรื่องของการจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมกับพื้นที่ หรือว่าบริเวณที่มีการปนเปื้อนอย่างเหมาะสมแล้วก็ทันที ซึ่งภาพรวมทั้งหมดนี้ผมคิดว่า รัฐสภาคงจะต้องนำประเด็นนี้มาศึกษา เพื่อที่จะหารูปแบบแนวทางในการบริหารจัดการ ก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด ขอบพระคุณมากครับท่านประธาน
เรียนท่านประธาน ผม พูนศักดิ์ จันทร์จำปี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก่อนอื่น ผมต้องขอขอบคุณท่านประธานและเพื่อนสมาชิกทุกท่านที่ร่วมอภิปรายในญัตตินี้ ซึ่งผม ค่อนข้างดีใจที่งานด้านการจัดการขยะไม่ใช่เรื่องขยะ ๆ อีกต่อไป วันนี้เรามีการพูดถึง เรื่องขยะถึงกว่า ๗ ชั่วโมง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทุก ๆ ท่านค่อนข้างจะมีฉันทามติว่าการจัดการ ขยะเป็นประเด็นวิกฤติที่เราต้องแก้ไขทุกระบบ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ในวันนี้ ผมถือว่างานของผมนี้สำเร็จไปแล้ว ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ในการที่จะปรับปรุงหรือว่าพัฒนาการ จัดการขยะของประเทศ ให้เทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว งานอีก ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ที่ผม ทำเสร็จไปแล้วก็คือผมได้ยื่นพระราชบัญญัติการบริหารจัดการขยะและการหมุนเวียน ทรัพยากร ซึ่งได้ยื่นเข้าสู่สภา ในวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ ซึ่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้รวบรวม วิธีการในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในทุกมิติที่ทุก ๆ ท่านได้กล่าวถึงในวันนี้ไว้เรียบร้อยแล้ว งานอีก ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ที่ผมคิดว่าเราจะต้องมาช่วยกัน ในฐานะที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรก็คือว่าเราจะต้องรับรองกฎหมายฉบับนี้เพื่อนำไปบังคับใช้โดยเร็วที่สุด งานอีก ๕๐ เปอร์เซ็นต์หลังจากนี้ ก็คือว่าเราจะทำอย่างไรว่ากฎหมายเมื่อออกมาแล้วจะมี การบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ถ้าหากดำเนินการได้ตามนั้น ผมเชื่อว่า การกำจัดขยะที่หลาย ๆ ท่านพูดกันถึงทุกวันนี้ ๒,๐๐๐ กว่าแห่ง มันจะกลายเป็นศูนย์ได้ ภายในระยะเวลาไม่เกิน ๖ ปี และนอกจากนี้อัตราการ Recycle จะสามารถทำให้เพิ่มสูงขึ้น ถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ได้ ผมเชื่อมั่นว่าสามารถทำได้ภายในเวลาไม่เกิน ๖ ปีเช่นกัน นอกจาก การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญแล้ว ผมคาดหวังว่าทางสภาชุดนี้จะร่วมมือซึ่งกันและกัน ในการแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อทำให้การจัดการขยะของบ้านเรามีการพัฒนา มีการแก้ไข อย่างทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้ผมขออนุญาตเพิ่มสไลด์อีกนิดหนึ่งนะครับ เพราะหลังจากที่ผมได้ฟังหลาย ๆ ท่านพูดในวันนี้แล้วผมก็เริ่มรู้สึกว่าการบริหารจัดการขยะ มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน และเป็นเรื่องของในแต่ละพื้นที่ เราไม่สามารถที่จะเอา Model จากประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือว่าเมืองใดเมืองหนึ่งมาใช้ได้โดยทันที เราจะต้องเอา บริบทของประเทศเรา หรือว่าจังหวัดของเรา ในเขตของเราเอามาเป็นตัวตั้งก่อน แล้วถึงค่อย มาคัดเลือกวิธีในการจัดการ ซึ่งจากสไลด์ที่ให้เห็นนะครับ ผมยกตัวอย่างสมมุติว่ามีจังหวัด หนึ่งมีปริมาณขยะ ๘๕๐ ตันต่อวัน ตอนนี้เขามีเตาเผาขยะอยู่แล้ว ๗๐๐ ตันต่อวัน ดังนั้น เพื่อที่จะครอบคลุมปริมาณขยะเขาต้องมีการเพิ่มเตาเผา ซึ่งการเพิ่มเตาเผาเขาอาจจะเพิ่มที่ ๒๕๐ ตันต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณที่เหมาะสมที่จะทำให้เรียกว่ามีความคุ้มค่าต่อการดำเนินการ แต่มีอีกทางเลือกหนึ่ง ถ้าเกิดสมมุติว่าในอนาคตเราเริ่มเดินระบบในการคัดแยกขยะ ทำ Recycle เรื่องมีประสิทธิภาพประสิทธิผล ผมไม่ต้องพูดถึง ๖๐ เปอร์เซ็นต์ อย่างที่ ประเทศเยอรมนีเขาทำได้ ณ ตอนนี้ ผมเอาแค่ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ เท่ากับว่าขยะเราจะหายไป ๑๗๐ ตันต่อวัน เมื่อถึงวันนั้นขยะที่เราเกิดขึ้นมันจะไม่พอเผาแล้วครับ ซึ่งกรณีนี้ก็เกิดขึ้นกับ หลาย ๆ ประเทศที่เรายกเป็นตัวอย่าง เมื่อไม่พอเผาท่านจะทำอย่างไรครับ ท่านก็ต้องไป นำเข้าขยะมาจากที่อื่น หรือไม่ท่านก็เร่งประชาชนให้กลับมาสู่กระบวนการเดิม คือเร่ง การเกิดขยะให้มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งวิธีนี้ไม่ใช่เป็นวิธีที่ถูกต้องนะครับ เพราะเรากำลังพยายาม ที่จะสนับสนุนให้เกิดการลดการเกิดขยะที่ตัวต้นทาง อันนี้ผมก็เลยอยากจะขอฝากไว้นะครับ แล้วเดี๋ยวเราคงได้มีการพูดคุยหารือกันต่อตอนที่มีการตั้งคณะ ซึ่งไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมาธิการวิสามัญหรือว่าเป็นคณะอนุกรรมาธิการในการศึกษาเรื่องนี้ ขอบพระคุณ ท่านประธานครับ
เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎร ผม พูนศักดิ์ จันทร์จำปี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมมี ๒ ประเด็นที่จะนำมาปรึกษาหารือกับท่านประธานนะครับ
เรื่องแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยว ปัจจุบันนี้เราควรใช้จังหวะเวลาที่ นักท่องเที่ยวยังเข้ามาไม่มากเตรียมความพร้อมพื้นที่ท่องเที่ยวของเราให้มีความปลอดภัย มีความสะอาดและรักษาสิ่งแวดล้อม ขอสไลด์ครับ
ผมยกตัวอย่างแหล่งท่องเที่ยว ในเขตอุทยานแห่งชาติที่อ่าวมาหยา หาดนพรัตน์ธารา จังหวัดกระบี่ รูปที่ท่านเห็นซ้ายมือ จะมีการขึงสลิงในการที่จะขึ้นบริเวณหาดไม่แข็งแรง ซึ่งการขึงสลิงที่ไม่แข็งแรงอาจจะเกิด อุบัติเหตุให้กับนักท่องเที่ยวได้ ในขณะเดียวกันรายได้ของหาดนพรัตน์ธาราเก็บเงินได้ มากกว่า ๗๐๐ ล้านบาทต่อปี มูลค่าสูงกว่าปั๊มน้ำมันหลาย ๆ แห่งรวมกันเสียอีก แต่ท่านลอง ดูรูปขวามือ ห้องน้ำท่านจะพบว่ามีแต่คราบไคลต่าง ๆ หนำซ้ำยังมีการชำรุดไม่สามารถ ใช้งานได้อีกด้วย ผมหวังว่าเขตอุทยานต่าง ๆ จะใช้จังหวะช่วงเวลานี้ไปตรวจสอบแหล่งท่องเที่ยว ต่าง ๆ ที่อยู่ในมือของท่านว่ามีความปลอดภัย มีความสะอาด และรักษาสิ่งแวดล้อมหรือไม่ อย่างไร
ประเด็นที่ ๒ เราทราบกันดีว่ารัฐสภาของเรานี้เป็นแหล่งที่ใช้ทรัพยากร มากที่สุด ในขณะที่เราเป็นผู้นำประเทศในการชี้นำความคิดให้กับราษฎรเช่นกัน ผมอยาก จะถือโอกาสนี้เราลองมาตระหนักดีว่าเราควรจะลดการเกิดขยะที่แหล่งกำเนิดได้อย่างไร ยกตัวอย่าง เช่น เรามีขยะพลาสติกใช้แล้วทิ้งมากมายในแต่ละวัน ขวดน้ำพลาสติก กล่องอาหารในช่วงเบรก ท่านประธานอาจจะสั่งงดการใช้ขวดน้ำพลาสติกก็ได้ด้วยการใช้แก้วน้ำ แทนหรืออาจจะแจกกระบอกน้ำให้กับสมาชิกทุกท่านในการประชุมแต่ละครั้ง ซึ่งผมได้เริ่มทดลองทำมาแล้วในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการบริหารจัดการขยะ แบบบูรณาการ เรางดการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งอย่างสิ้นเชิง ซึ่งก็หวังว่าคณะประชุม อื่น ๆ จะดำเนินการตามบ้าง จริง ๆ ก็ไม่ได้มีแค่ตัวขยะพลาสติก เรามีเศษอาหาร เรามี กระดาษ เรามีไฟฟ้าที่ใช้กันอย่างสิ้นเปลืองด้วย เป็นต้น
และข้อสุดท้าย ผมอยากจะขอเรียนท่านประธานว่าตอนนี้มีผู้ร้องมากกว่า หาจุดเติมน้ำดื่มด้วยวิธีการใช้กระบอกนี้ยากเหลือเกิน อยากฝากท่านประธานด้วยครับ ขอบคุณมากครับ