นางจินตนา จันทร์บำรุง

  • กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพอย่างสูง ดิฉัน นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ขอนำเรียนเกี่ยวกับรายงานข้อมูลสถานการณ์ ด้านความรุนแรงในครอบครัว สำหรับการรายงานตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติ คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ ประจำปี ๒๕๖๓ และประจำปี ๒๕๖๔ ดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • ตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๗ กำหนดให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดทำรายงานประจำปี เสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเพื่อทราบปีละครั้ง ได้แก่ จำนวน การกระทำความรุนแรงในครอบครัว จำนวนคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ จำนวนการละเมิดคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ของพนักงานเจ้าหน้าที่ และศาล และจำนวนการยอมความ ในการนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในการจัดทำรายงานข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงดังกล่าวได้จัดทำรายงานข้อมูล สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว สำหรับการรายงานตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภามาแล้ว ๑๑ ฉบับ สำหรับการนำเสนอรายงานในครั้งนี้ ก็จะเป็นการรายงานนำเสนอข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวของปี ๒๕๖๓ และประจำปี ๒๕๖๔ ซึ่งเป็นฉบับที่ ๑๒ และฉบับที่ ๑๓ โดยมีเนื้อหาสาระอยู่ทั้งหมด ๓ ส่วนนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนแรก ก็จะเป็นข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กสตรีและบุคคล ในครอบครัวของปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ ซึ่งเราได้รวบรวมปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมด ๑๖ หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ศูนย์พึ่งได้ กรุงเทพมหานคร สำนักการแพทย์และสำนักอนามัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โรงพยาบาลตำรวจ สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สภาสังคมสงเคราะห์ แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ในพระบรมราชูปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ มูลนิธิปวีณาหงสกุล เพื่อเด็กและสตรี มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิศูนย์พิทักษ์เด็ก มูลนิธิเพื่อนหญิง สำนักงาน ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม ๑๓๐๐ บ้านพักเด็กและครอบครัวของกรมกิจการเด็กและเยาวชน และข้อมูลของ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว แม้ว่าข้อมูลจะมาจากหลายแหล่ง การจัดเก็บก็ตาม ภารกิจของแต่ละหน่วยงาน อาจจะมีความแตกต่างกันบ้างขึ้นอยู่กับฐานข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย ระยะเวลาในการจัดเก็บ และปัจจัยอื่น ๆ แต่ก็แสดงให้เห็นแนวโน้มสถานการณ์ความรุนแรง ในครอบครัวในแต่ละปี ในโอกาสนี้ดิฉันใคร่ขอนำเสนอข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรง ในครอบครัวจาก ๒ หน่วยงานหลัก ได้แก่ หน่วยงานที่ ๑ เป็นข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ในปี ๒๕๖๓ มีผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวที่เข้ารับบริการที่ศูนย์พึ่งได้ ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ๕๖๖ แห่ง จำนวน ๑๖,๖๗๖ ราย เฉลี่ย ๔๖ รายต่อวัน โดยผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงส่วนใหญ่จะเป็นเพศหญิง ๑๕,๐๙๐ ราย ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ก็คือ ๙๐.๔๙ เปอร์เซ็นต์ รองลงมาเป็นเพศชาย ๑,๕๗๕ ราย คิดเป็น ๙.๔๔ เปอร์เซ็นต์ ของเพศทางเลือก ๑๑ ราย คิดเป็น ๐.๐๗ เปอร์เซ็นต์ โดยผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรง มากที่สุดจะอยู่ในช่วงอายุระหว่าง ๑๐ ปี และไม่เกิน ๒๐ ปี ร้อยละ ๓๓ เหตุปัจจัยของ การกระทำความรุนแรงมากที่สุดก็เรื่องเกี่ยวกับสัมพันธภาพในครอบครัว ร้อยละ ๓๖.๙๐ แล้วก็ประเภทความรุนแรงมากที่สุดก็คือความรุนแรงทางร่างกาย ส่วนในปี ๒๕๖๔ มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงที่มาเข้ารับบริการที่ศูนย์พึ่งได้ของกระทรวงสาธารณสุข จำนวน ๑๖,๖๗๒ ราย เฉลี่ย ๔๖ รายต่อวัน โดยผู้ถูกกระทำความรุนแรงก็เป็นเพศหญิง จำนวน ๑๕,๐๕๖ ราย คิดเป็น ๙๐.๓๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็มีเพศชาย ๑,๖๐๕ ราย คิดเป็น ๙.๖๓ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็เป็นเพศทางเลือก ๑๑ ราย ๐.๖๐๗ เปอร์เซ็นต์ โดยลำดับ ผู้ถูกกระทำความรุนแรงก็เช่นเดียวกับปี ๒๕๖๓ คือในส่วนของอายุ ๑๐ ปี ไม่เกิน ๒๐ ปี ร้อยละ ๓๒ ส่วนสาเหตุการทำรุนแรงก็เรื่องของ ปัจจัยในครอบครัว สัมพันธภาพในครอบครัว คิดเป็นร้อยละ ๓๖ ประเภทความรุนแรง ก็ทางร่างกาย ๖๐.๓๓ เปอร์เซ็นต์ ข้อมูลอีกส่วนหนึ่งก็คือข้อมูลของกรมกิจการสตรี และสถาบันครอบครัว ซึ่งเราเก็บจากศูนย์ปฏิบัติการป้องกันการกระทำความรุนแรง ในครอบครัว ซึ่งอยู่ ๗๖ จังหวัด แล้วก็ในกรุงเทพมหานครด้วย โดยในปี ๒๕๖๓ มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ๑,๗๓๒ ราย ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้หญิง ถ้าคิดเป็น เปอร์เซ็นต์ก็ ๘๐.๓๗ เปอร์เซ็นต์เป็นเพศชาย ๑๗.๑๕ เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ระบุเพศ ๒.๔๘ เปอร์เซ็นต์ ส่วนสาเหตุมากที่สุดของการกระทำส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการหึงหวงกัน นอกใจ คิดเป็น ๔๓.๕๐ เปอร์เซ็นต์ โดยสัมพันธภาพสำหรับคนที่ถูกกระทำกับคนกระทำ มากที่สุดคือในเรื่องของสามีภรรยาถึง ๕๔.๔๒ เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้กระทำส่วนใหญ่ก็จะเป็น เพศชายอยู่ใน ๘๒ เปอร์เซ็นต์

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับในปี ๒๕๖๔ มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงทั้งสิ้น ๒,๐๖๕ ราย ส่วนใหญ่ ก็เป็นเพศหญิง จำนวน ๑,๖๒๔ ราย คิดเป็น ๗๘.๖๔ รองลงมาพวกผู้ชาย จำนวน ๓๘๒ ราย คิดเป็น ๑๘.๕๐ เปอร์เซ็นต์ และไม่ได้ระบุเพศอีก ๕๙ ราย คิดเป็น ๒.๘๖ โดยผู้ที่ถูกกระทำ ความรุนแรงมากที่สุดก็เป็นผู้หญิง แล้วก็ผู้ที่กระทำก็เป็นผู้ชาย ๙๑ เปอร์เซ็นต์ สาเหตุ ปัจจัย อันดับ ๑ ก็เป็นเรื่องของสุรา ยาเสพติด ถึงร้อยละ ๔๓.๙๘ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็สัมพันธภาพ ที่ผู้ถูกกระทำความรุนแรงส่วนใหญ่ก็เป็นสามี ภรรยากันอยู่ประมาณ ๕๒.๘๗ เปอร์เซ็นต์ อันนี้คือข้อมูลของปี ๒๕๖๓ กับปี ๒๕๖๔ ทั้งนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เราได้ดำเนินการช่วยเหลือเบื้องต้น ผู้ถูกกระทำความรุนแรงตั้งแต่การรับแจ้งเหตุ การระงับเหตุ การสอบข้อเท็จจริง การให้ความช่วยเหลือ การจัดพบแพทย์ หรือนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ แล้วก็จัดในเรื่องของคุ้มครองให้อยู่ใน ที่ปลอดภัย แล้วก็ในเรื่องของการรักษาพยาบาลเราก็จัดให้ร้องทุกข์ ถ้ามีความต้องการ ร้องทุกข์ แล้วก็การคุ้มครองสวัสดิภาพ อันนี้การดำเนินการของกระทรวง

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนรายงานข้อมูลส่วนที่ ๒ ก็จะเป็นรายงานข้อมูลความรุนแรงในครอบครัว ตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ๒๕๕๐ ก็ได้แก่จำนวนคดีความรุนแรงในครอบครัว จำนวนคำสั่งกำหนดมาตรการ เพื่อบรรเทาทุกข์ จำนวนการละเมิดคำสั่งกำหนดมาตรการ หรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ของ พนักงานเจ้าหน้าที่และศาล และจำนวนการยอมความ โดยข้อมูลที่ได้เรารวบรวมจาก หน่วยงานของกระบวนการยุติธรรม ๓ หน่วย ได้แก่ หน่วยที่ ๑ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีจำนวนคดีการกระทำความรุนแรงในครอบครัว ปี ๒๕๖๓ จำนวน ๒๒๓ คดี มีการร้องทุกข์ ๑๘๕ คดี แล้วก็ไม่ร้องทุกข์ ๓๘ คดี โดยมีการออกคำสั่ง มาตรการ หรือวิธีการบรรเทาทุกข์ ๗ คำสั่ง และมีการยอมความในชั้นสอบสวน ๔๐ คำสั่ง สำหรับปี ๒๕๖๔ มีจำนวนคดีความ รุนแรงในครอบครัว ๘๕ คดี ร้องทุกข์ ๘๔ คดี คิดเป็น ๙๘.๘๒ เปอร์เซ็นต์ ไม่ร้องทุกข์ ๑ คดี แล้วก็มีการออกคำสั่งมาตรการ ๕ คำสั่ง มีการยอมความในชั้นสอบสวน ๑ คำสั่ง ของหน่วยงานที่ ๒ ของกระบวนการยุติธรรมคือ สำนักงานอัยการสูงสุด แสดงจำนวนคดี ตามพระราชบัญญัติเข้าสู่กระบวนการชั้นพนักงานอัยการ ในปี ๒๕๖๓ จำนวน ๑๖๕ คดี ในจำนวนดังกล่าวแบ่งฟ้อง สั่งฟ้อง ๑๕๗ เรื่อง แล้วก็ไม่ฟ้อง ๔ เรื่อง มีการยอมความ ๔ เรื่อง แล้วก็ใช้มาตรการตามสิทธิ ก็คือมาตรการในการคุ้มครอง ๑๓ เรื่อง สำหรับ ปี ๒๕๖๔ มีการแสดงจำนวนของชั้นพนักงานอัยการ ๓๑๔ คดี สั่งฟ้อง ๒๘๒ เรื่อง คิดเป็น ๘๙.๘๑ เปอร์เซ็นต์ ไม่ฟ้อง ๓ เรื่อง ยุติในการดำเนินการในพนักงานอัยการ ๒๓ คดี แล้วก็ใช้ มาตรการสิทธิเพื่อคุ้มครองอยู่ ๖ เรื่อง ส่วนหน่วยงานสุดท้ายของกระบวนการยุติธรรม ที่ในรายงานฉบับนี้ก็จะเป็นสำนักงานศาลยุติธรรม มีคดีฟ้องศาลโดยตรงในปี ๒๕๖๓ จำนวน ๕๓ คดี ศาลยุติธรรมได้มีคำสั่งมาตรการวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ตามมาตรา ๑๐ จำนวน ๑ คำสั่ง สำหรับปี ๒๕๖๔ มีคดีฟ้องโดยตรงจำนวน ๑๖๘ คดี และศาลยุติธรรม ไม่มีคำสั่งในเรื่องกำหนดมาตรการ ตามมาตรา ๑๐ ส่วนที่ ๓ ส่วนสุดท้ายของรายงานนะคะ ก็จะเป็นบทวิเคราะห์ข้อเสนอแนะและมาตรการในเชิงป้องกันแก้ไขปัญหาความรุนแรง ในครอบครัว และแนวทางในการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติดังกล่าวนะคะ ซึ่งเราก็ได้ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง พัฒนาปรับปรุงมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๔ และจนถึงปัจจุบัน เราดำเนินการต่าง ๆ ดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ เรื่องของการเสริมสร้างกลไกเครือข่ายในการดำเนินงานป้องกัน และแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการป้องกัน และแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวระดับชาติ มีการจัดทำบันทึกความร่วมมือ MOU กับหน่วยงานที่ดำเนินการเรื่องของความรุนแรง ๒๗ หน่วย เป็นหน่วยงานภาครัฐ ๑๖ หน่วย องค์กรเอกชน ๑๑ หน่วย มีการแต่งตั้งคณะทำงานบูรณาการแก้ไขปัญหาความรุนแรง มีการเสริมสร้างกลไกในระดับท้องถิ่น คือศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน เพื่อเป็นกลไก ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว มีทั้งหมด ๗,๑๔๙ แห่ง

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนมาตรการที่ ๒ ในเรื่องของการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ ขณะนี้เรามีพนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในเรื่องของความรุนแรงในครอบครัว ๑,๓๐๘ คน เราก็มีการพัฒนาบุคลากรของเราอย่างต่อเนื่อง มีการอบรมให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ก็มีการอบรมให้ความรู้ในเรื่องของความรุนแรงแก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชุดรักษาความปลอดภัย ชรบ. อพม. อาสาสมัครต่าง ๆ แล้วก็ พมจ. ทั่วประเทศ อันนี้เพื่อให้ ในเรื่องของพัฒนาศักยภาพนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนที่ ๓ เป็นการปรับปรุงกระบวนงานในเรื่องของความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งมี ๕ ขั้นตอน เรื่องของการรับแจ้งเหตุเรากำหนดขั้นตอนทันทีนะคะ ต้องรับแจ้งเหตุ ก็ต้องออกไประงับเหตุ ไปสอบสวนทันที ขั้นตอนที่ ๒ รับแจ้งเหตุ แล้วก็การช่วยเหลือนะคะ ประสานส่งต่ออย่างรวดเร็ว แล้วก็มีการร้องทุกข์ และการติดตามประเมินผล โดยเฉพาะเรื่อง ของความรุนแรงให้มีการติดตาม ๑ ปี

    อ่านในการประชุม

  • แล้วก็ประเด็นที่ ๔ ก็คือเรื่องของการปรับปรุงกฎหมาย มีการมอบอำนาจให้ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ให้ออกคำสั่งในมาตรการบรรเทาทุกข์ ก็มีนายอำเภอ ปลัด หัวหน้าประจำ กิ่งอำเภอ เจ้าหน้าที่ หัวหน้าสถานีตำรวจ และพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด แล้วก็ ผู้อำนวยการส่งเสริมสถาบันครอบครัวในส่วนกลางก็สามารถที่จะออกมาตรการ ในเรื่องของการบรรเทาทุกข์ได้ แล้วก็มีการปรับปรุงกฎหมายพระราชบัญญัติความรุนแรง ในครอบครัว

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนประเด็นสุดท้ายที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ก็คือการพัฒนา สร้างทัศนคติความรู้และความเข้าใจเรื่องของความรุนแรง มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ จัดกิจกรรมรณรงค์ทั่วประเทศ ไม่นิ่งเฉย ไม่ทน ไม่ยอมรับกับการกระทำความรุนแรง มีสื่อ ต่าง ๆ เผยแพร่ทางช่องทางต่าง ๆ แล้วเราก็มี Platform FAMILY LINE หรือเพื่อนครอบครัว เป็นช่องทางที่ให้ความรู้ในเรื่องของประเด็นครอบครัว แล้วก็มีห้องให้คำแนะนำปรึกษา ๑๐ ห้อง โดยผู้เชี่ยวชาญ ประเด็นที่ส่วนใหญ่คนมาปรึกษาก็เป็น ๑ ใน ๓ ก็คือเรื่องของ ความรุนแรงในครอบครัว ก็มีคนเข้ามาขอคำแนะนำปรึกษาเราก็มีบริการ นอกจากนี้นะคะ เราก็มีการพัฒนาในเรื่องของการแจ้งเหตุสายด่วน ๑๓๐๐ แล้วนี่เราก็มีปักหมุดหยุดเหตุ หรือ ESS ซึ่งเป็น Application ที่สามารถที่จะช่วยเหลือแล้วก็แจ้งเหตุนะคะ ร่วมมือกับ สถานีตำรวจก็เข้าไปถึงที่เกิดเหตุก็สามารถช่วยเหลือ แล้วก็ป้องกันในเรื่องของความรุนแรง แล้วก็ส่งเสริมให้ประชาชนได้ทำความเข้าใจในเรื่องของความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่อง ของครอบครัวนะคะเป็นเรื่องของสังคม คนที่พบเห็นเหตุการณ์สามารถแจ้งได้นะคะ อันนี้ ก็คือสรุปรายงานฉบับที่ ๑๒ และฉบับที่ ๑๓ ตอนนี้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พร้อมน้อมรับข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของท่านประธานและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ทรงเกียรติทุกท่านนะคะ เพื่อเราจะได้นำไปปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล แล้วก็เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ขอกราบขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพทุกท่าน ในที่สุดก็ต้องขอกราบ ขอบพระคุณท่านสมาชิกทุกท่านที่ได้กรุณาให้ข้อเสนอแนะ และให้ข้อแนะนำ ข้อสังเกตต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง มีหลายประเด็นที่คิดว่าเราก็สามารถที่จะกลับไปดำเนินการได้เลย ดิฉันอยากจะนำเสนอนิดหนึ่งว่าในส่วนของความรุนแรงในครอบครัวที่มีประเด็นอาจจะไม่สามารถ ตอบคำถามได้ทุกท่าน แต่ขออนุญาตพูดในภาพรวมนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๑ ในเรื่องของความรุนแรงในครอบครัวเรื่องของความรุนแรง เราแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท ประเภทที่ ๑ ความรุนแรงทางร่างกายก็เป็นจำนวนที่มากที่สุด ในทุกสถิติของหน่วยงาน ประเภทที่ ๒ ก็คือความรุนแรงทางเพศ อันนี้ก็มีอยู่เป็นอันดับ ๒ ประเภทที่ ๓ ก็คือความรุนแรงด้านจิตใจที่หลายท่านได้พูดถึง เพราะฉะนั้นเรื่องของ ความรุนแรงในครอบครัวก็จะมีอยู่ เราเก็บข้อมูลทั้ง ๓ ส่วนนี้นะคะ แต่ว่าทุกสถิติที่ไม่ว่าจะเป็น ๑๖ หน่วยงาน เราจะเห็นว่าทางร่างกายมากที่สุด อันนั้นอยู่ในรายละเอียดการนำเสนอ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ ในเรื่องของการดำเนินงาน ที่หลายท่านพูดถึงเรามีแผนปฏิบัติการ เรื่องของการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งเรามีใน 5P เรื่องของ Policy เรื่องของเชิงนโยบาย แล้วก็เรื่องของการคุ้มครอง ป้องกัน ในเรื่องของการดำเนินคดี ทางกฎหมาย แล้วก็ในเรื่องของ Partnership อันนี้เป็นส่วนสำคัญ เพราะฉะนั้นในการดำเนินงาน เราก็จะเน้นในเรื่องของบูรณาการซึ่งหลายท่านก็ให้ความสำคัญ แล้วก็พูดถึงว่าจะต้องมี บูรณาการของทุกภาคส่วนในการดำเนินงาน เพราะฉะนั้นอันนี้เองคิดว่าการที่เรามี คณะกรรมการจากทุกหน่วยงาน รวมทั้งภาคเอกชนก็สามารถขับเคลื่อนในเชิงนโยบายได้

    อ่านในการประชุม

  • อีกส่วนหนึ่งเรามี MOU ความร่วมมือกับ ๒๗ หน่วยงาน ทุก ๆ คนเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญของความรุนแรงในครอบครัว เพราะฉะนั้นเราก็อาจจะใช้กลไกในส่วน คณะกรรมการ ซึ่งถ้าพูดถึงกลไกเรื่องของการดำเนินงานเรื่องความรุนแรงในครอบครัวเรามีกลไก ทั้ง ๓ ระดับ ระดับชาติก็มีคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในระดับชาติ แล้วก็มีในระดับจังหวัดเรามีศูนย์ปฏิบัติการป้องกันแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ทุกจังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานครก็อยู่ที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ส่วนในชุมชน เราก็มีศูนย์ปฏิบัติการ มีศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน ที่หลายท่านก็พูดถึงว่าเรามี ๗,๑๔๙ แห่ง เพราะฉะนั้นกลไกทั้ง ๓ ส่วนนี้ก็สามารถที่จะขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ทีนี้มันอาจจะอยู่ในส่วนของความเข้าใจ ส่วนในเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถ้าท่านดู ใน พ.ร.บ. ท่านจะเห็นว่าผู้รักษาการในกฎหมายคือในเรื่องของกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ แต่จริง ๆ แล้วเรื่องของความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องที่ ละเอียดอ่อนและมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นต้องมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าในกระบวนการของกระทรวงสาธารณสุขเอง หรือทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือทางด้าน สังคมที่จะต้องบูรณาการร่วมกัน

    อ่านในการประชุม

  • อีกส่วนหนึ่งที่คิดว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง คือในเรื่องของความรุนแรงที่บอก เรามีนโยบาย 5P ในเรื่องของกระบวนงานที่สำคัญก็คือเรื่องของการคุ้มครองวัตถุประสงค์ หลักของ พ.ร.บ. คุ้มครองที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ปี ๒๕๕๐ คือในเรื่องของ คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวให้เขาได้รับความปลอดภัยได้รับการช่วยเหลือ ส่วนที่หลายท่านพูดถึงเรื่องของการไกล่เกลี่ย เพราะเราไม่ได้มีธงเลย เจ้าหน้าที่เราไม่ได้มีธงว่า คนที่มีความรุนแรงในครอบครัวจะต้องกลับมาอยู่ครอบครัวเดียวกัน เราให้เขามีการปรับปรุง แก้ไข มีมาตรการ เช่นอาจจะให้ไปในเรื่องของการเลิกสุรา หรือยาเสพติด หรือว่าส่งไป รักษาพยาบาล หรือบางทีในส่วนคุ้มครองก็ห้ามเข้าใกล้ ๕๐ เมตร อะไรลักษณะนี้ คือศาล ก็จะสั่งมาตรการคุ้มครองในกรณีเร่งด่วน เพราะฉะนั้นถ้าเขาไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ เพราะฉะนั้นการหย่าร้างหรือการที่เขาแยกกันเราก็คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ถูกกระทำ แล้วก็ในเรื่องของเด็กด้วย เพราะฉะนั้นก็คงไม่ได้เพื่อการไกล่เกลี่ยให้อยู่ร่วมกันในทุกราย ก็ดูเป็น Case อันนี้ก็อยากจะนำเรียน เพราะฉะนั้นในส่วนของที่ท่านให้ข้อเสนอในรายงานนี้ เราก็จะรับไปปรับปรุง เพราะว่าเรารายงานทุกปี ปี ๒๕๖๕ ก็ใกล้จะมาเสนอนะคะ เพราะฉะนั้นในส่วนสถิติที่เป็นจริง ในส่วนข้อมูลที่มีคนพิการ มีผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง แล้วการวิเคราะห์ข้อมูลที่ชัดเจนโดยเฉพาะเรื่องของแผนปฏิบัติการที่หลายท่านพูดถึงว่า เรื่องของตัวชี้วัด เรามีตัวชี้วัดชัดเจนไหม สามารถวัดผลได้ไหม และความรุนแรงในครอบครัว นำเรียนท่านก็เห็นจากสถิติเพิ่มขึ้นทุกปีจากหลักร้อยจนเป็นหลักพัน จะเห็นว่ามีการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงก่อนของโควิดอาจประมาณ ๑๕๐ รายต่อเดือน ขณะนี้เพิ่มเป็น ๒๐๐ ราย บางเดือนก็ ๒๐๐ รายกว่า อันนี้เห็นเพิ่มสถิติ อีกส่วนหนึ่งการที่เพิ่มนะคะ ซึ่งจริง ๆ เราก็มี เป้าหมายที่ต้องให้ลด แต่ส่วนหนึ่งอย่างหลายท่านท่านพูดว่าความรุนแรงในครอบครัว บางที ข้อมูลที่เราเห็นมันอาจจะไม่ได้ทั้งหมด มีบางส่วนนะคะ แต่ถ้าสถิติเชิงว่ามีคนมาแจ้งมากขึ้น อันนี้ก็คือเหมือนว่ามีการรับรู้ประชาชนเข้าใจ เพราะเราดูจากสถิติเดิมจะไม่ค่อยมีการแจ้งความมาก ก็จะมีในเรื่องของตัวผู้ถูกกระทำมาแจ้งความเอง แต่ว่าเราพยายามรณรงค์เหมือนที่หลายท่านพูด ก็คือปัญหาความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่ปัญหาของครอบครัวอย่างเดียว เป็นปัญหาของทุกคน ในสังคมก็จะมีการสอดส่อง เพราะฉะนั้นจำนวนคนที่เข้ามาแจ้งที่ไม่ใช่ตัวที่ถูกกระทำนี้ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีเพื่อนบ้านที่อาจจะพบเห็นก็มีการเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นเราคิดว่า เราต้องการข้อมูลที่ชัดเจนถูกต้อง อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทางกรมกิจการสตรีและสถาบัน ครอบครัวเราจะรับไปปรับปรุงในส่วนของตัวรายงาน ส่วนในเรื่องของกระบวนการในการทำงาน หลายท่านให้ข้อเสนอแนะ เราก็จะนำไปปรับปรุง

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนที่ ๓ ที่พูดถึงเรื่องของกฎหมาย เรามีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำ ความรุนแรงในครอบครัว ปี ๒๕๕๐ ซึ่งขณะนี้เรามีการประเมินผลสัมฤทธิ์เรียบร้อยแล้ว มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ซึ่งก็เป็นเหมือนที่หลาย ๆ ท่านได้พูดถึงก็คือ มันจะมีประเด็นปัญหาในเชิงปฏิบัติงานอยู่ เช่น มาตรา ๑๐ การต้องร้องทุกข์กล่าวโทษต่าง ๆ หรือมีในหลาย ๆ ส่วนที่อาจจะให้ความสำคัญเรื่องของการเขียนว่าไกล่เกลี่ยลักษณะนี้ ในปัญหาต่าง ๆ เราเห็นปัญหาเราก็มีการประเมินผลสัมฤทธิ์มี ๑๐ ประเด็น ซึ่งรับฟัง ความคิดเห็นก็มีการปรับปรุง โดยขณะนี้เรามีประธาน ท่านศาสตราจารย์พิเศษ ท่านจรัญ ภักดีธนากุล ร่วมกับหน่วยงานทุกหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมเป็นคณะทำงาน เราได้ร่างกฎหมายฉบับนี้ที่ปรับปรุงรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศมาแล้ว เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นกฎหมายที่เราพร้อม รัฐบาลใหม่เราก็สามารถที่จะเสนอในการปรับปรุง และแก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ปี ๒๕๕๐ ก็ฝากท่านสมาชิก ได้สนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ก็จะแก้ปัญหา ซึ่งเราเห็นปัญหาจากที่ท่านได้นำเสนอมาในส่วน ของกฎหมาย อีกส่วนหนึ่งที่ท่านพูดถึง พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบัน ครอบครัว ปี ๒๕๖๒ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ใช้เพราะมีพระราชกำหนดอยู่ ถามว่ากระทรวง พม. ได้มีการเตรียมความพร้อมตรงนี้อย่างไร เราก็ได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องของ อัตรากำลังเจ้าหน้าที่ มีการขอไปที่ทาง ก.พ. แล้วหลายท่านก็พูดว่าพนักงานความรุนแรง ของเราตอนนี้ยังเป็นจ้างเหมาอาจจะไม่มีความมั่นคง เราก็ขอไปเป็นพนักงานราชการ ๒๓๑ อัตรา กำลังอยู่ในส่วนวิเคราะห์ ก็จะมีนักสังคมสงเคราะห์ แต่ละจังหวัดก็มีนิติกร แล้วมีนักจิตวิทยา ถ้าเราสามารถมีบุคลากรที่พร้อมที่จะรองรับ พ.ร.บ. ปี ๒๕๖๒ ก็คือ จังหวัดทุกจังหวัดจะเป็นศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว แล้วศูนย์พัฒนาครอบครัว ในชุมชนก็จะเป็นกลไกสำคัญที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นในส่วนนี้เองเราได้มี การเตรียมตัวในการพัฒนาบุคลากรด้วย และรวมทั้งในเรื่องของกำนันผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้ที่อยู่ ในชุมชน ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนเราก็มีการขยายเป็นศูนย์ช่วยเหลือสังคม ซึ่งเป็นกลไก หน้าที่ในการคุ้มครอง แล้วก็ป้องกันเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ในชั้นนี้ดิฉันใคร่ขอนำ ข้อเสนอแนะของท่านแล้วก็ได้ตอบในบางส่วนของท่าน เพราะฉะนั้นในเรื่องกฎหมายเราก็มี ความก้าวหน้า เรื่องกระบวนงานก็พยายามที่จะให้บูรณาการ หรือขณะนี้เรามีการตั้งทีม สหวิชาชีพในพื้นที่เพื่อจะได้ให้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วก็มีการอบรมแม้แต่ตำรวจ เราก็มีการอบรมพนักงานสอบสวนเพื่อให้มีความเข้าใจในเรื่องของความรุนแรง แล้วก็ ในเรื่องของทัศนคติหรือเจตคติ เรื่องการรณรงค์ความรุนแรงในครอบครัวตอนนี้เรารณรงค์ ในเรื่องของ Respect การให้เกียรติเคารพซึ่งกันและกันไม่ว่าจะเป็นเพศไหน อันนี้ก็จะเป็น ปัญหาหนึ่งที่ในเรื่องของมายาคติ ในเรื่องของความรุนแรงในครอบครัว เพราะฉะนั้นประเด็น ที่คุณธัญวัจน์เสนอเองหรือหลาย ๆ ท่านพูดถึงความเท่าเทียมระหว่างเพศ อันนี้เราตระหนัก ให้ความสำคัญ แล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดคือความรุนแรงในครอบครัวมันก็ต้องเริ่มจากบุคคลในครอบครัว ในเรื่องของการเลี้ยงดูบุตรด้วย ในเรื่องของการที่ให้ทุกพื้นที่เป็นที่ปลอดภัยด้วย เพราะฉะนั้น ดิฉันก็ใคร่ขอได้ตอบคำถามหรือว่าได้สะท้อนในส่วนของที่ทุกท่านได้กรุณาให้ข้อเสนอแนะ ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ขอกราบขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติที่เคารพทุกท่าน ดิฉัน ในนามของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ ต้องขอกราบขอบพระคุณท่านประธานและสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่านที่มี ความห่วงใยในเรื่องประเด็นของความรุนแรงในครอบครัว แล้วก็ได้ให้ข้อเสนอแนะข้อคิดเห็น ที่เป็นประโยชน์ในหลาย ๆ ประเด็นที่เราสามารถจะไปปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงาน ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ก็จะมีประเด็นที่จะชี้แจงเพิ่มเติมนิดหนึ่งในเรื่องของระบบข้อมูล ซึ่งหลายท่านได้ให้ข้อเสนอแนะ หรือว่าได้ชี้ข้อสังเกตในเรื่องของข้อมูลนะคะ เรามีระบบ Violence ซึ่งท่านปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ท่านพูดถึงระบบ Violence ขณะนี้เราอยู่ระหว่าง การปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เราจะเห็นว่าข้อมูลหลาย ๆ ส่วนบางทีอาจจะมีส่วน ของการซับซ้อนกันอยู่ เพราะตรงนี้ในเรื่องของข้อมูลมีความสำคัญเพื่อเราจะใช้ในการวางแผน การทำงาน

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนของท่านรวี เล็กอุทัย ท่านได้พูดถึงการจัดทำในเรื่องของการปรับทัศนคติ หรือการอบรมสั่งสอนในครอบครัว ในเรื่องของความเท่าเทียม หรือในเรื่องของ Gender อันนี้เราก็จะนำเรียนว่าในกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เรามีแผนปฏิบัติการจริง ๆ ในระดับประเทศมีอยู่ ๓ แผน แผนปฏิบัติการด้านครอบครัว ๕ ปี แล้วก็แผนปฏิบัติการ ด้านสตรี แล้วก็แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งในยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ก็จะส่งเสริม คือสนับสนุนในเรื่องของการปรับทัศนคติในครอบครัวก็ดี ในการที่เรียกว่า สังคมชายเป็นใหญ่ หรือส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศตั้งแต่ในครอบครัว ในสังคมทั่วไป อันนี้ก็อยู่ในการที่เราจะต้องทำในหลักสูตร ส่งเสริมเรื่องความเท่าเทียม ส่งเสริมในเรื่องของ การเลี้ยงดูบุตรอย่างมีคุณภาพ ส่วนในเรื่องที่ท่านให้ส่งข้อมูลเดี๋ยวทางกรมจะจัดส่งข้อมูล แล้วก็แผนโครงการเรื่องของความรุนแรงไปให้ท่าน

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนท่านกัณตภณ ดวงอัมพร ที่ท่านพูดถึงเรื่องปัญหายาเสพติดและเรื่องของ การมีส่วนร่วม ก็อยากจะนำเรียนว่ากรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และกระทรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทุกส่วนทุกหน่วยงานของกระทรวงเราทำงาน ในรูปของ One Home นะคะ แล้วเราก็มีอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขณะนี้ทั่วประเทศก็เกือบ ๔๐๐,๐๐๐ คน อันนี้ก็จะช่วยในการชี้เป้าเฝ้าระวังในการป้องกันเหตุ แล้วเราก็ไปเสริมความเข้มแข็งให้กับทั้งสถาบันครอบครัวเอง แล้วก็กลไกในชุมชน ศูนย์พัฒนา ครอบครัว และศูนย์ช่วยเหลือสังคม อันนี้ที่คิดว่าจะเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันและแก้ไข ปัญหาความรุนแรง แล้วก็รวมทั้งปัญหายาเสพติด เรามีการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในเรื่องของป้องกันและแก้ไข แล้วถ้าเกิดมีเหตุคลุ้มคลั่งที่ท่านสอบถาม ที่ท่านรัฐมนตรีได้กรุณาพูดถึง Application ESS ปักหมุดหยุดเหตุนะคะ ซึ่งอันนี้ก็สามารถ ที่จะช่วยเหลือผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรง หรือผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือว่ามีการขู่ทำร้าย หรือคลุ้มคลั่งต่าง ๆ อันนี้ก็สามารถที่จะช่วยเหลือได้ทั้งในเชิงของการป้องกันโดยเฉพาะหน้า อันนี้ก็นำเรียนในเรื่องของข้อมูลที่ท่านสอบถามก็ครบถ้วนนะคะ ดิฉันก็ขอกราบขอบพระคุณทุกท่านอีกครั้งหนึ่งท่านประธาน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ทรงเกียรติอีกครั้งหนึ่งนะคะ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวพร้อมน้อมรับข้อสังเกต ข้อเสนอแนะของท่าน เราจะไปปรับปรุงทั้งในส่วนของการจัดทำรายงานสถานการณ์ ความรุนแรงในครอบครัวตามมาตรา ๑๗ ให้มีความสมบูรณ์ ข้อมูลให้ชัดเจน แล้วก็มี การวิเคราะห์ถึงสาเหตุปัญหา หรือว่าวิเคราะห์ในส่วนของแผน มีตัวชี้วัด มีผลลัพธ์เพิ่มเติม ในปีที่จะรายงานฉบับต่อไป

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนที่ ๒ ก็คือปรับปรุงในเรื่องของการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ การช่วยเหลือ การบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การทำงานสหวิชาชีพ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนสุดท้าย ก็คือในเรื่องของกฎหมายก็จะผลักดัน แล้วก็ปรับปรุงแก้ไข กฎหมายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าถ้าเราสามารถดำเนินการทั้งส่วนการป้องกัน ในการช่วยเหลือ ในการคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรง หรือในเรื่องของทำงานร่วมกัน ในส่วนของภาคีเครือข่ายอย่างเข้มแข็ง ดิฉันก็เชื่อว่าสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ของสังคมไทยก็จะดีขึ้น แล้วก็ทุกคนก็จะมีความตระหนัก และมีความเข้าใจเรื่องของ ความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น แล้วก็จะทำให้ผู้ที่ประชาชนได้รับความปลอดภัย โดยเฉพาะเด็กและสตรีก็จะได้รับความปลอดภัยในชีวิต แล้วก็สามารถที่จะอยู่ในครอบครัว อยู่ในชุมชนได้อย่างมีความสุข ขอกราบขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม