นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน พรรณสิริ กุลนาถศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย เขต ๑ พรรคเพื่อไทย

    อ่านในการประชุม

  • ดิฉันขอเรียนเสนอปัญหา ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่อำเภอศรีสำโรง ในพื้นที่อำเภอเมืองสุโขทัย เพื่อเร่งรัดไปยังกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ขอให้ดำเนินการติดตั้งระบบไฟฟ้า ส่องสว่างเพื่อลดอุบัติเหตุและความสูญเสียทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนจำนวน ๒ พื้นที่

    อ่านในการประชุม

  • พื้นที่ที่ ๑ บริเวณถนนทางหลวงหมายเลข ๑๑๙๕ กิโลเมตรที่ ๑๔ ถึงกิโลเมตรที่ ๑๖ บริเวณหมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๖ ตำบลวังทอง อำเภอศรีสำโรง เป็นช่วงที่มี บ้านเรือนพี่น้องประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น กลางคืนรถวิ่งสัญจรไปมา ทั้งรถในพื้นที่ และรถวิ่งทางไกล เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง การนี้ท่านประดิษฐ์ พละทรัพย์ นายกองค์การ บริหารส่วนตำบลวังทองได้ขอความอนุเคราะห์มา การติดตั้งระบบไฟฟ้าส่องสว่างครั้งนี้จะใช้ งบประมาณราว ๒.๖ ล้านบาท ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กงบประมาณก็ไม่มี เพียงพอค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ในพื้นที่ที่ ๒ บริเวณถนนทางหลวงหมายเลข ๑๓๐๙ กิโลเมตรที่ ๐-๑๒+๕๖๙ บริเวณหมู่ที่ ๗ หมู่ที่ ๘ ตำบลวังใหญ่ อำเภอศรีสำโรง ซึ่งเชื่อมต่อกับจุดตัด ถนนทางหลวงหมายเลข ๑๓๔๗ กิโลเมตรที่ ๐-๕+๒๘๔ ตำบลบ้านกล้วย อำเภอเมืองสุโขทัย ริมถนนบริเวณนี้ประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น รถวิ่งผ่านจำนวนมาก เป็นเส้นทาง ที่ลัดสั้น ตัดจากตัวเมืองทางทิศตะวันตกไปยังอำเภอศรีสำโรงแล้วไปยังอำเภอสวรรคโลก การนี้ท่านแสนศักดิ์ อ่องคล้าย ท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังใหญ่ ได้แจ้งว่า เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง การใช้งบประมาณพื้นที่แห่งนี้จะอยู่ในราว ๒.๘ ล้านบาท ท้องถิ่น มีงบประมาณไม่เพียงพอ จึงขอเร่งรัดไปยังกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม พิจารณาให้ แขวงทางหลวงสุโขทัยได้ดำเนินการให้พี่น้องประชาชนโดยด่วนค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน พรรณสิริ กุลนาถศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ในวาระ การรายงานกองทุนการออมแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๖๕ ดิฉันขอชื่นชมคณะกรรมการบริหาร กองทุน ตลอดจนคณะผู้รายงานในวันนี้ค่ะ นับตั้งแต่เริ่มมีกองทุนตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ การทำงาน มีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการรายงานในวันนี้ เมื่อเทียบกับคราวก่อนซึ่งเป็น การรายงานเมื่อปี ๒๕๕๘ กับปี ๒๕๕๙ ก็เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่น่าชื่นใจและเป็น ประโยชน์กับประชาชนมาก ขอเรียนไปในเรื่องของเอกสารนิดหนึ่งค่ะ มีเพื่อนสมาชิก หลายท่านก็อยากจะอภิปรายให้ความเห็น เสนอแนะที่เป็นประโยชน์อย่างกว้างขวาง แต่ปรากฏว่าหลายท่านก็บอกว่าตัวอักษรมันเล็กมากเลย คงจะเป็นระบบการออมด้วย หรือเปล่า โดยเฉพาะในส่วนของแผนงานปี ๒๕๖๖ ถือว่าจะเป็นความก้าวหน้าและเป็นภาพ อนาคตที่พวกเรามีข้อสังเกตแล้วก็สนใจที่จะศึกษาอยู่มาก การรายงาน หรือว่าการให้ข้อมูล เชิงบุคลากร ถ้าให้ข้อมูลอย่างกะทัดรัดแล้วก็สนใจน่าอ่าน จะทำให้เราสนใจในตัวบุคลากร มากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามคณะกรรมการบริหารทุกท่าน เราเชื่อมั่นว่าเต็มไปด้วยศักยภาพ และมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงาน ในส่วนนี้ดิฉันเองพยายามหาข้อมูลจากหน่วยงานปฏิบัติ ในพื้นที่ ตลอดจนการพบปะพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อจะได้แสดงความเห็นต่อ ท่านประธานไปยังคณะกรรมการ ดิฉันขอเสนอความเห็นใน ๒ ส่วน

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนที่ ๑ ก็คือเรื่องของหลักการ และเงื่อนไข และส่วนที่ ๒ ก็คือเรื่องของการดำเนินงานและสมาชิก ดิฉันเห็นความสำคัญ ของการออมที่ถูกกำหนดว่าเป็นวาระแห่งชาติ ดิฉันคิดว่าเรื่องนี้จะต้องเป็นที่รับรู้รับทราบ อย่างกว้างขวางแล้วก็มีการเติบโต และมีความสนใจของประชาชนทุกภาคส่วนที่จะได้ร่วมคิด ร่วมทำ ทั้งผู้ที่เข้าเกณฑ์ในการออม หรือผู้ที่เป็นเครือญาติ หรือสมาชิก ในขณะเดียวกัน การกำหนดเป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้เกิดมีบำนาญในยามชราเพื่อเป็นหลักประกัน ให้ประชาชนในระยะยาว รองรับสังคมผู้สูงวัย อันนี้คือประเด็นสำคัญซึ่งเราก็เข้าสู่สังคม ผู้สูงวัย แล้วก็ร้อยละกว่า ๒๘ ที่ประเทศไทยมีผู้สูงวัย ในวัยเกษียณก็จะได้มีความมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของภาวะเศรษฐกิจผันผวน ครอบครัวมีขนาดเล็กลง ทุกคนจึงควร วางแผนการออม ท่านประธานคะ ในกลุ่มเป้าหมายเรื่องของแรงงานนอกระบบ ผู้ทำงาน อิสระ เกษตรกร ผู้รับจ้าง นักเรียน นักศึกษา ในภาพรวมทั้งหมดขณะนี้มีสมาชิกอยู่ที่ ประมาณ ๒.๕๑๖ ล้านคน ก็ถือได้ว่าแค่เพียงร้อยละ ๑๒ ของผู้ประกอบอาชีพอิสระ เพราะฉะนั้นจำนวนสมาชิกที่กำหนดเป้าหมายไว้ว่าในปี ๒๕๖๙ จะเพิ่มขึ้นอีก ก็ไม่ทราบว่า กลไกต่าง ๆ จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายหรือไม่ ดิฉันขอแสดงความเห็นไปในส่วนของ -หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเรื่องการออมและเงินสะสม แต่เดิมกำหนดเงินสะสมที่ ๕๐ บาทต่ำสุด

    อ่านในการประชุม

  • - - แล้วก็สูงสุด ๑๓,๒๐๐ บาท แล้วได้ปรับเป็น ๓๐,๐๐๐ บาท แล้วก็จะอยู่ในเรื่องของ กฎกระทรวงกำหนดอัตราการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบที่กำลังจะปรับเปลี่ยน ในส่วนของ เงินสะสมจาก ๓๐,๐๐๐ ในกรณี ๕๐,๐๐๐ บาท ดิฉันไม่ทราบว่าจะมีความแตกต่าง หรือมีความเป็นไปได้อย่างไร โดยมีฐานคิดอย่างไร ในกรณีที่เสนอไว้ที่ตัวเลข ๕๐,๐๐๐ บาท มีความเป็นไปได้ไหมคะ

    อ่านในการประชุม

  • ในเรื่องของเงินสมทบ แต่เดิมที่บอกว่าสมทบร้อยละ ๕๐ สำหรับอายุ ๑๕-๓๐ ปี แล้วก็ให้ไม่เกิน ๖๐๐ บาท แล้วก็ไม่เกิน ๙๖๐ บาท ไม่เกิน ๑,๒๐๐ บาท ก็จะปรับเปลี่ยนเป็น ๑,๘๐๐ บาท ถ้าจะให้สอดคล้องกับเงินสะสม ถ้าจะปรับอัตราเป็น ๒,๔๐๐ บาทต่อปี โดยมีอัตราเท่ากัน ไม่ทราบว่าจะมีเหตุผลหรือเงื่อนไขอะไรบ้างคะ เพราะดิฉันมองว่าถ้าเพิ่มอัตราขึ้นก็น่าจะเป็นประโยชน์ที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • ในเรื่องการฝาก ฝากเมื่อไรก็ได้ โดยฝากไม่เกินเดือนละ ๑ ครั้ง ดิฉันคิดว่า ในเรื่องของการบริหารการดำเนินงานการฝากหลาย ๆ ครั้ง เป็นไปได้ไหมคะ มีความเข้าใจกัน ในเชิงพื้นที่ว่าเดือนหนึ่งก็ให้ฝากครั้งเดียว ถ้าเราจะจัดระบบบริการให้กว้างขวางยิ่งขึ้น น่าจะเป็นประโยชน์แล้วก็เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกองทุน

    อ่านในการประชุม

  • เงื่อนไขของการถอน การถอนก่อนอายุ ๖๐ ปี จะได้รับเฉพาะเงินออม ไม่มีเงินสมทบ มีข้อเสนอว่าจากพื้นที่จังหวัดสุโขทัย ถ้ามีความจำเป็นอย่างสำคัญยิ่ง ควรจะมี มาตรการหรือแนวทางช่วยเหลืออย่างไรที่จะได้ให้มีเงินสมทบร่วมอยู่บ้าง ตลอดจนในกรณีที่ ลาออกก่อนอายุ ๖๐ ปี ถ้ามีความจำเป็นควรจะพิจารณาหรือว่าให้เกิดประโยชน์กับประชาชน ผู้เข้าโครงการค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ในด้านการดำเนินงานแล้วก็สมาชิก ดิฉันขอเสนอแนะว่าก็ขอให้ทบทวน ปรับปรุงแก้ไขจุดอ่อนให้สอดคล้องกับรัฐบาลดิจิทัล โดยเฉพาะเรื่องของการประชาสัมพันธ์ ที่จะสร้างการรับรู้อย่างกว้างขวาง เพื่อให้มีทั้งในเรื่องของการวางแผนทางการเงิน แล้วก็ กิจกรรมอะไรต่าง ๆ ตรงนี้น่าจะเข้าถึงประชาชนให้ได้มากกว่านี้ คิดว่าควรจะต้องเร่ง ปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อสร้างแรงจูงใจ แล้วก็หากลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมใหม่ ๆ โดยทำ ความตกลงหรือความร่วมมือ หรืออาจจะควบรวมกับหน่วยงานทางการเงินที่เขาอาจจะมี การบริหารและลดภาระบางภารกิจเราก็ได้

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนการดำเนินงานเชิงพื้นที่ ดิฉันขอชื่นชมไปที่ กอช. ระดับหมู่บ้าน ซึ่งทราบว่ายังมีไม่ครบถ้วน ในกรณีพื้นที่ระดับหมู่บ้านจังหวัดสุโขทัยก็เสนอมาว่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชน ซึ่งควบรวมไปในส่วนของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง อันนี้ จะร่วมด้วยช่วยกันเป็นอย่างดี แล้วก็มีเงินสนับสนุนเพียงจังหวัดละ ๔๐,๐๐๐ บาทต่อจังหวัด ต่อปี ดิฉันก็ถือว่าเป็นการบริหารที่ประหยัดสุด ประโยชน์สูง อันนี้ก็ไม่รู้ว่าจะชื่นชมหรือว่า จะเป็นความลำบากของพื้นที่ในการทำงาน

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนของการเพิ่มสมาชิก ดิฉันมองว่าขณะนี้มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ แล้วก็มี ปัญหาเรื่องคู่แข่งกองทุนการออมหรือกองทุนสงเคราะห์อื่น ๆ ก็อยากจะให้ทาง กอช. ได้ทบทวน แล้วก็เปรียบเทียบผลประโยชน์ตอบแทนเพื่อเป็นแรงจูงใจให้มีสมาชิกมากขึ้น อย่างไรก็ตามนวัตกรรมใหม่ ๆ สวัสดิการใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น CSR ที่ไปทำในที่ต่าง ๆ ดิฉันก็เห็นสมควรว่าควรจะย้อนกลับไปที่กลุ่มสมาชิก โดยเฉพาะผู้สูงอายุควรจะได้รับ การดูแลในเรื่องของพลังกาย พลังใจ ตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ ให้ครอบคลุมแล้วก็ทั่วถึง เป็นประโยชน์แล้วมีความสุขมากที่สุด ก็ขอชื่นชมแล้วก็ให้กำลังใจคณะกรรมการทุกท่าน ณ ที่นี้ ขอบคุณมากค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉันนางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย พรรคเพื่อไทย ในการรายงานสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำ ด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ ประจำปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔

    อ่านในการประชุม

  • ดิฉันขอแสดงความเห็นในส่วนของ สถานการณ์เชิงข้อมูลจากรายงาน และอีก ๑ ประเด็นก็คือการป้องกันและแก้ไขปัญหา เชิงพื้นที่

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนแรก ขอชื่นชมกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวที่ขับเคลื่อน การดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นต้นมา ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจว่าจะลด สถานการณ์ความรุนแรง ปัญหาในครอบครัวให้น้อยลง แต่ปรากฏว่าสถานการณ์นั้น ก็ไม่ได้ลดน้อยลงเลย ในเบื้องต้นขอแสดงความเห็นในเรื่องของข้อมูลเอกสาร ซึ่งจะเป็น กระบวนการในเชิงการบริหารจัดการที่จะนำไปสู่การลดสภาพปัญหาได้ อย่างเช่น ในการรายงานข้อมูลจากเอกสารในปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ ดิฉันเห็นว่าเป็นการรายงาน เชิงแยกส่วนจาก ๑๖ หน่วยงานหรือเกือบ ๒๐ หน่วยงาน ถ้าจะได้มีการสังเคราะห์ข้อมูล ให้เป็นภาพรวมจะนำไปสู่การบริหารและภาคปฏิบัติเชิงพื้นที่ ตลอดจนกลไกของการผลิตซ้ำ ของข้อมูลปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องเหล่านี้ก็ควรจะได้มีการรวบรวมข้อมูลให้เป็นระบบ เพื่อจะได้ แก้ปัญหาร่วมกันต่อไป

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนของสภาพปัญหาเชิงข้อมูล ในส่วนแรกปี ๒๕๖๔ ดิฉันขอใช้ข้อมูล ของศูนย์พึ่งได้ของกระทรวงสาธารณสุข และศูนย์ช่วยเหลือทางสังคมของกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ ข้อมูลทั้งสองส่วนนี้แม้นจะรวมสถิติแล้วอยู่ที่ตัวเลข ๓๑,๔๘๑ ราย ในภาพรวมจริง ๆ แล้วข้อมูลตรงนี้ก็ยังไม่ครบถ้วน แต่เห็นว่าทั้ง ๒ ส่วนของหน่วยงาน เสนอในเรื่องของปัจจัยการกระตุ้นให้เกิดปัญหาไว้ได้อย่างชัดเจน ปัญหาที่เกิดขึ้นนั่นก็คือ ปัญหาในส่วนของสัมพันธภาพในครอบครัว ปัญหาเกิดขึ้นในบ้านตนเอง ปัญหาเกิดจาก การทะเลาะวิวาท และที่สำคัญยิ่งก็คือการมีพฤติกรรมกระทำรุนแรงซ้ำ ๆ ตรงนี้เป็นปัญหา ที่สำคัญ เราจะร่วมด้วยช่วยกันเพื่อแก้ไขอย่างไรกับการที่ทนต่อความรุนแรงร่างกายจิตใจ คงทับถมมาอยู่ก่อน แล้วท้ายที่สุดก็คือรุนแรงทางร่างกาย ทั้งในส่วนของสามีภรรยา และลูก ๆ ที่เห็นสภาพปัญหารวมทั้งเพื่อนบ้าน เราจะมีกลไกอย่างไรที่เราจะมีเครือข่ายการเฝ้าระวัง อย่างครบระบบ ปัญหาเชิงลึกนั่นก็คือปัญหาสุรา ยาเสพติด และลงลึกว่าปัญหาสุรา ในขณะที่ สังคมเราก็กำลังมีการขับเคลื่อนในเรื่องของนโยบายสุราอะไรพวกนี้ ดิฉันมองว่าเราจะเริ่มต้นจาก การป้องกันอย่างไร กับการออกกฎหมายและความย้อนแย้งในภาคปฏิบัติ อาจจะมีการขับเคลื่อน ขณะนี้พี่น้องประชาชน ชุมชนก็มีเรื่องของสุราท้องถิ่น สุราเสรีเข้ามา และในภาคปฏิบัติ ที่เราจะเฝ้าระวังสังคมก็อยากจะให้ฝ่ายนโยบาย ฝ่ายกฎหมายได้พิจารณาเรื่องนี้ให้ถี่ถ้วน ในเรื่องของเศรษฐกิจก็เชื่อว่าในเรื่องของสวัสดิการจากรัฐอย่างเดียวต่อปัญหาในชุมชนพื้นที่ ไม่เพียงพอ ควรจะได้บูรณาการในเรื่องของการส่งเสริมอาชีพ หรือในเรื่องของการแก้ปัญหา การตกงานและการไม่มีงานทำ ในส่วนของการรายงานสถานการณ์รุนแรงอีกแง่มุมหนึ่ง ที่เสนอในรูปแบบของรายจังหวัดจาก www.violence.in.th ดิฉันมองว่ารายงานสภาพปัญหาตรงนี้ พบว่ากรุงเทพมหานคร ๘๘ รายต่อปี ที่สุโขทัยจังหวัดของดิฉัน ๑๐-๑๒ รายต่อปี ดิฉันขอชื่นชม ไปยังจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดอำนาจเจริญ รายงานตัวเลขว่าสถานการณ์ความรุนแรง เป็น ๐ รายต่อปี ดิฉันอยากจะให้กรมกิจการสตรีและครอบครัวได้ถอดบทเรียนดีเด่นตรงนี้ หรือเป็นปัญหาที่การเข้าถึง LINE Official ว่าเขาเข้าถึงหรือรายงานข้อมูลได้สมบูรณ์ ครบถ้วนหรือไม่ ถ้าเป็นเรื่องที่ดี ๐ รายนี้ยอดเยี่ยมเลยค่ะ ทางจังหวัดควรจะให้รางวัล หรือน่าจะมี Best Practice อะไรที่นำเสนอสังคมต่อไป ในการรายงานข้อมูลในส่วนของ การเข้าถึงการรับบริการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรูปแบบของรายงาน ในเรื่องของกลุ่มอายุ และภาพรวมทั้งหมด อันนี้เป็นข้อมูลที่น่าตกใจ โรงพยาบาลตำรวจบอกว่ากลุ่มอายุ ๑๓-๑๗ ปี เข้าถึงบริการที่จำนวน ๕๔๖ ราย ในส่วนของบ้านพักเด็กและครอบครัว เด็กที่เข้าถึงบริการ มากที่สุด กลุ่มอายุ ๖-๑๗ ปีมีแค่เพียงจำนวน ๑๙๓ ราย และการเข้าถึงกฎหมายอันนี้ ยิ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงมากเลยนะคะ คนไทยเรา สังคมไทยเรากับการเข้าถึงกฎหมาย ในกลุ่มนี้ ถือว่ามากที่สุดกว่าทุกกลุ่มมีแค่เพียง ๓๗ ราย การแจ้งความร้องทุกข์จากหน่วยงานหนึ่ง รายงานมาว่ามีจำนวนเป็น ๑,๐๐๐ ราย แต่ช่วยเหลือเยียวยาได้แค่เพียง ๗ ราย เพราะฉะนั้นโครงสร้างใดบ้างที่จะทำให้พี่น้องประชาชนหรือผู้ถูกกระทำรุนแรงได้เข้าถึง การรับบริการ ดิฉันอยากจะให้ทางกรมกิจการสตรีและครอบครัวได้ใช้ทุนทรัพยากรเดิม ที่มีอยู่ อาทิเช่น LINE Official ในส่วนของ World Wide Web ก็ดี หรือในส่วนของสายด่วน ก็ดี OSCC หมายเลขสายด่วน ๑๙๑ รวมทั้งศูนย์ช่วยเหลือทางสังคม ๑๓๐๐ และโดยเฉพาะ อย่างยิ่ง ESS Help Me ปักหมุดหยุดเหตุ ดิฉันเข้าไปดูแล้วก็ตกใจว่าจะปักหมุดหยุดเหตุ หรือกลัวข้อมูลก่อนว่าถ้ารายงานเท็จคดีอาญาจำคุกเท่านั้นเท่านี้ ดิฉันอยากจะให้มีการสื่อสาร ภาคประชาชนที่สามารถเข้าถึงได้ด้วยความอบอุ่นแล้วก็มีความรู้สึกที่ดีขึ้นจากการกระทำ รุนแรงแล้วค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ในประเด็นท้ายสุด ดิฉันขอเสนอโครงสร้างเชิงพื้นที่ในเรื่องของการเติบโต การทำงานที่บอกว่า ๗,๐๐๐ กว่าตำบลได้มีการขับเคลื่อนแล้วในศูนย์พัฒนาครอบครัว ในชุมชน ดิฉันขอยกตัวอย่างจังหวัดสุโขทัยมีการทำงานเชิงบูรณาการในส่วนของศูนย์ ศพค. และมีการบูรณาการไปกับระบบดูแลช่วยเหลือผู้เรียน ดิฉันอยากจะให้โครงสร้างนี้เกิด ความเป็นจริงโดยมีการขับเคลื่อนในลักษณะของบันทึกความตกลงความร่วมมือ และมีธรรมนูญ ในการที่จะป้องกันเหตุร้ายที่เกิดขึ้น ดิฉันก็เสนอแนวทางและข้อมูลดังกล่าวเพื่อให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการเพื่อลดปัญหาสภาพความรุนแรงต่อไป ขอบพระคุณมากค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย พรรคเพื่อไทยค่ะ ในวาระการรายงานความคืบหน้าโครงการในส่วนของการดำเนินการตามแผนการปฏิรูป ประเทศ ครั้งท้ายที่สุดค่ะ ครั้งที่ ๑๘ เดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ๒๕๖๕ ค่ะ ในเบื้องต้น ดิฉันขอแสดงความชื่นชมนะคะ วันนี้ท่านอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และท่านเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กรุณามานำเสนอข้อมูล ด้วยตัวเองค่ะ และขอชื่นชมการดำเนินงานและการขับเคลื่อนแผนปฏิรูปประเทศ ที่คณะกรรมการปฏิรูปได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนวาระ ๕ ปี พอที่จะเห็นผลสัมฤทธิ์ของ โครงการเป็นที่ต่อเนื่องอย่างตลอดมาค่ะ ในส่วนของการอภิปรายตรงนี้นะคะ ดิฉันขอเสนอ เป็น ๒ ส่วนค่ะ ส่วนแรกในเรื่องของหลักการและในเรื่องผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินโครงการ ต่าง ๆ และในส่วนที่ ๒ ดิฉันขอแสดงความเห็นในเรื่องของโครงการและกิจกรรมเชิงพื้นที่ ในบางประเด็นของการปฏิรูปค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพคะ ในหลักการของการขับเคลื่อนการปฏิรูปภายใต้ แผนยุทธศาสตร์นี้ได้กำหนดเป็นเบื้องต้นไว้ว่าเป้าหมายสำคัญนั้นจะต้องเป็นเป้าหมาย เชิงธรรมาภิบาลและเชิงการบูรณาการ หลักธรรมาภิบาลมีความเป็นสากลไม่ว่าจะเป็นนิติธรรม คุณธรรม หลักการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยของเราหลักความคุ้มค่า ดังนั้น การทำแผนปฏิรูปดิฉันมองว่าในระยะ ๒ ระยะ ๓ ต่อไป ถ้ามีการขับเคลื่อนต้องนึกถึง ความคุ้มค่าในเรื่องของประสิทธิผลที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งเรื่องของการบูรณาการที่เพื่อนสมาชิก หลายท่านได้อภิปรายไปว่าไม่ได้บูรณาการจริง ได้หยิบคว้าผลงานของหน่วยงานต่าง ๆ ไม่เชื่อมโยงกันเท่าที่ควร ดิฉันยังเห็นเป็นทิศทางที่ควรจะพัฒนาในเรื่องนี้ได้นั่นก็คือขอเน้น ในเรื่องของธรรมาภิบาลและในเรื่องของการบูรณาการค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ในเรื่องของผลสัมฤทธิ์ ความวาดหวังที่สูงสุดในประเด็นปฏิรูปทั้ง ๑๓ ประเด็น ท้ายสุดของแต่ละประเด็นในรายงานฉบับนี้ระบุว่าสามารถบรรลุในมาตรา ๒๕๘ และมาตรา ๒๕๗ ใน ๓ ประเด็น ในระดับประเทศชาติที่บอกว่าความรักสามัคคี ความปรองดอง ก็อยากจะ เรียนว่ามีตัวชี้วัดอะไรที่จะเห็นผลสัมฤทธิ์ในด้านนี้อย่างจริงจัง ตลอดจนบอกว่าการปฏิรูปนั้น ขอให้ผูกโยงในเรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คำว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดีงามค่ะ ในเรื่องขององค์ความรู้ที่พอเพียง และในเรื่องของคุณธรรมที่ควรจะมี แต่ความเข้าใจ ที่บิดเบี้ยวไปว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมุ่งเน้นไปทางภาคการเกษตร เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้ เราคงต้องขยายผลและทำความเข้าใจอย่างชัดเจนว่าแผนปฏิรูปนี้สามารถเคลื่อนได้ภายใต้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแท้จริงหรือไม่

    อ่านในการประชุม

  • ในผลสัมฤทธิ์ประการที่ ๒ ในระดับสังคม การสร้างสังคมมีสุข การสร้าง ความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ จากการรายงานพบว่าร้อยละ ๑๐ ของประชากร ในประเทศไทยถือครองทรัพย์สินถึงร้อยละ ๗๗ ดังนั้นในประเด็นนี้สามารถที่จะสะท้อน เรื่องของความเสมอภาคหรือลดความเหลื่อมล้ำได้มากน้อยแค่ไหน

    อ่านในการประชุม

  • ในประเด็นผลสัมฤทธิ์ที่ ๓ พูดถึงความสัมฤทธิ์ของประชาชนในระดับว่า ประชาชนอยู่ดีมีสุขอย่างมีส่วนร่วม ดัชนีชี้วัดการมีความสุขของประชาชน World Happiness Report ได้รายงานไว้ว่าอัตราร้อยละของการมีความสุขของคนไทยลดลง โดยเฉพาะในปี ๒๕๓๙ คนไทยมีความสุขในระดับสูง แต่ต่อมาอีก ๑๐ ปีและจนกระทั่ง ถึงปี ๒๕๖๓ ระดับความสุขของคนไทยกลับลดลงไปอยู่ที่อันดับที่ ๕๔ ในการประเมินผล ระดับนานาชาติค่ะ ดังนั้นในโอกาสต่อไปวาระ ๒ และวาระ ๓ ของการขับเคลื่อนแผนปฏิรูป ดิฉันมั่นใจว่าตัวชี้วัดเชิงประสิทธิผลที่จะยึดโยงว่าประโยชน์สูงสุดและประหยัดสุด น่าจะเกิดขึ้นได้ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ในกรณีรายประเด็นโครงการและกิจกรรมจากประเด็นปฏิรูป ๑๓ ประเด็น ดิฉันขอเคลื่อนไปที่ประเด็นด้านการเมืองค่ะ ในประเด็นด้านการเมือง เห็นภาพความสำเร็จ ที่น่าชื่นใจ โดยยึดโยงกับสถาบันพระปกเกล้าและคณะกรรมการการเลือกตั้ง ดิฉัน ขอสนับสนุนให้การขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัตินโยบายสาธารณะได้ขับเคลื่อนได้สำเร็จ โดยเร็ว จากรายงานในส่วนท้ายบอกว่ายังอยู่ในขั้นที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีลงนาม เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะมองว่าจะนำไปสู่การกระจายอำนาจ ที่แท้จริงในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ซึ่งปรากฏให้เห็นเชิงพื้นที่เช่น องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ถ้าจะขับเคลื่อนนโยบายหรือแผนพัฒนาประจำปี แผนพัฒนา ๕ ปี ๔ ปี จะต้อง ใช้กระบวนการภาคประชาสังคมในการมีส่วนร่วม นั่นก็คือการเมืองที่แฝงฝังไปในมิติ ของการพัฒนาในทุกด้าน เห็นความสำคัญที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ จังหวัดสุโขทัย ได้ขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมทางการเมืองไปยังสภานักเรียน ตรงนี้ขอให้ทำต่อ ด้วยความชื่นชมเป็นอย่างยิ่งค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ในประเด็นปฏิรูปด้านที่ ๒ ที่จะกล่าวถึงในครั้งนี้ก็คือเรื่องของกระบวนการ ยุติธรรม ได้ระบุในเรื่องของผลสัมฤทธิ์ไว้ว่ากระบวนการยุติธรรมทำอย่างไรจะถึงในระบบ ของกองทุนยุติธรรมได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งก็ขอชื่นชมไปยังกระทรวงยุติธรรมนะคะ ที่ผ่านมานี้ สามารถที่จะทำให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในคดีความได้รับการช่วยเหลือ ถึงร้อยละ ๙๗ ตลอดจนการมีตำรวจที่มาเชื่อมโยงกับในส่วนของทนายความ มีทนายความ ทุกสถานีตำรวจ ดิฉันขอชื่นชมเป็นอย่างยิ่งค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ในด้านเศรษฐกิจไม่บูรณาการกับด้านที่ ๑๓ คือวัฒนธรรม ประเพณี และเรื่องท่องเที่ยว ดิฉันอยากจะเห็นภาพการบูรณาการในระดับของการขับเคลื่อน ในประเด็นยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับวิสาหกิจชุมชนและการพัฒนาเชิงพื้นที่ ที่จะทำให้เกิดกระบวนการ PDCA ดังที่เป็นเป้าหมายของผลสัมฤทธิ์ว่าทำอะไรแล้วก็ขอให้ ถึงประสิทธิผลที่เกิดขึ้นจริง ๆ กับเศรษฐกิจ แล้วก็รายได้ของพี่น้องประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • ในด้านต่อไปค่ะ ด้านสังคมและด้านการศึกษา ดิฉันเห็นสมควรว่าในภาค สังคม ในเรื่องของกองทุนการออมคงต้องทบทวนอย่างหนัก แต่ในเรื่องของการศึกษาก็คือ ความเสมอภาคทางการศึกษา เห็นสมควรที่จะได้ต่อยอดต่อไป โดยเฉพาะโครงข่ายของ การเฝ้าระวังการดูแลผู้ด้อยโอกาสต่าง ๆ ทั้งนี้เป็นกระบวนการขับเคลื่อนในรูปแบบของ สมัชชาการศึกษา ดิฉันเห็นว่าเป็นข้อดีที่ควรจะได้สานต่อต่อไป ก็เรียนนำเสนอเป็นแนวทาง สำหรับการบูรณาการการขับเคลื่อนแผนปฏิรูปต่อไป ขอบคุณมากค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ดิฉันเห็นด้วยกับญัตติในการแก้ไขปัญหาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ และต้นทุนสูง ทั้ง ๑๑ ฉบับ ด้วยกันค่ะ และในประเด็นปัญหาที่ดิฉันจะกล่าวต่อไปนี้เป็นการเน้นย้ำ ว่ามีความเดือดร้อนของเกษตรกรจริง ๆ ค่ะ นั่นก็คือปัญหาชาวไร่อ้อย ในกรณีที่ต้นทุนสูง และรายได้ต่ำ เกิดจากการตัดอ้อยสด และปัญหาที่ตามมาอีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของ ดินเสื่อมค่ะ ขอ Slide ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพคะ อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลที่ไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ อันดับ ๔ ของโลกค่ะ รองจากบราซิล อินเดีย และสหภาพยุโรป ปลูกใน ๔๗ จังหวัด เกือบทุกภูมิภาค พื้นที่ ๑๑.๓๘ ล้านไร่ เราได้อ้อย ๑๑๓.๐๒ ล้านตัน สามารถส่งโรงงานได้ ๙๓.๙๔ ล้านตัน ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ ๑,๐๐๐ บาทต่อตัน มีเงินหมุนเวียนในภาคอุตสาหกรรม ให้กับประเทศไทยเราถึง ๑๒๐,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี ท่านประธานคะ ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาวของชาวไร่อ้อยที่เดือดร้อนมาก โดยในปี ๒๕๖๔ รัฐบาลได้มีโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้ตัดอ้อยสดคุณภาพดี แทนการเผาอ้อย รวมทั้งให้ชาวเกษตรกรได้ช่วยกันเฝ้าระวังไฟไหม้ด้วย เพื่อลดฝุ่นละออง ขนาดเล็ก PM2.5 ชาวไร่อ้อยเต็มใจค่ะ เพื่อช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมคุณภาพ ชีวิตที่ดีค่ะ ความแตกต่างของการตัดอ้อยสดกับอ้อยไฟไหม้ หรืออ้อยที่ถูกไฟเผานี้ จะมีค่าใช้จ่ายที่ต่างกัน ๑๒๐ บาทต่อตัน นั่นคือการตัดอ้อยสดจะมีค่าแรงในเรื่องของ การริดใบอ้อย และ/หรือการใช้เครื่องมือเครื่องจักรในการตัดอ้อยท่อนเพื่อส่งโรงงาน ถ้าเป็น อ้อยที่มีการเผาไหม้การตัดจะรวดเร็ว และค่าใช้จ่ายจะถูกกว่า การนี้คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ที่จะสนับสนุนเกษตรกรที่ ๑๒๐ บาทต่อตัน ก็คือ ๑,๒๐๐ บาทต่อไร่ ท่านประธานคะ ในรอบปีที่มีการปลูกไปแล้ว ปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕ วงเงิน ๘,๓๑๙.๗๔ ล้านบาท ได้มีการจ่ายให้ชาวไร่ ประมาณร้อยละ ๘๐ ยังไม่ครบค่ะ และในขณะเดียวกันในรอบปีที่ ๒ ก็คือปี ๒๕๖๕ และสิ้นสุดไปเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๖๖ ชาวไร่อ้อยยังไม่ได้สักบาทเดียวค่ะ จากข้อตกลงเงื่อนไขเดิม ๒ ช่วงปีที่มีการปลูก ขณะนี้ ก็จะเข้ารอบที่ ๓ เกษตรกรก็เริ่มลงการปลูกอ้อยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

    อ่านในการประชุม

  • จากปัญหาดังกล่าวนี้เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม สหสมาคมชาวไร่อ้อย ๕ จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร สิงห์บุรี อุตรดิตถ์ สุโขทัย ซึ่งมี ๒ สหสมาคม และพื้นที่สุโขทัยปลูกอ้อย ๓๑๑,๐๐๐ ไร่ ผลผลิต ๒.๗ ล้านตัน พี่น้องสหสมาคมขอพบท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี และสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดพื้นที่เกษตรไร่อ้อย ๑๔ ท่านด้วยกันค่ะ เพื่อขอความช่วยเหลือ เร่งรัดติดตามเงินดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามมติของคณะรัฐมนตรี และในขณะเดียวกันจากการพบปะพูดคุยหารือทำให้ทราบว่าการที่อ้อยมีไฟไหม้ เพิ่มขึ้นนั้น เนื่องด้วยปริมาณการปลูกตามนโยบายของกระทรวงที่ส่งเสริมให้มีการผลิต มากขึ้น จากร้อยละ ๒๗.๒๘ เป็นร้อยละ ๓๒.๗๙ นั้น นั่นก็คือปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • และอีกส่วนหนึ่ง ก็คือในปีที่ผ่านมาฝนตกหนักทำให้ใบอ้อยมีปริมาณมาก การตัดก็ยุ่งยากมากยิ่งขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • อีกปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการพบปะพูดคุย ก็คือการปลูกอ้อยจะทำให้ ดินเป็นกรดค่ะ ในกรณีที่มีการเผาไหม้ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติก็ดี หรือเกิดจากการเผาไหม้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ ในอดีตที่ผ่านมาการเผาจะทำให้เกิดเถ้าที่มีคุณสมบัติเป็น Base นะคะ จากการปลูกอ้อยที่เป็นดินกรดจะทำให้เกิดสมดุลธรรมชาติ ดินจะเกิดความเป็นกลาง และในปีต่อไปก็จะสามารถปลูกอ้อยได้ผลผลิตที่ดี ในกรณีดังกล่าวนี้ชาวไร่อ้อยยังรวมตัวกัน กับอีก ๓๗ สหสมาคมมาพบท่านนายกรัฐมนตรี แล้วก็รัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ๒,๐๐๐ กว่าท่านที่เดินทางมาด้วยความทุกข์ใจ เพื่อให้เร่งรัดการจ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าว และดิฉันคิดว่าการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยจะมีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในประเด็น ที่ควรจะช่วยเหลือนั้น ดิฉันขอเสนอ ๕ ประเด็นดังนี้ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ในประเด็นที่ ๑ ในส่วนของรัฐบาล และกระทรวงอุตสาหกรรมขอให้ เร่งจ่ายเงินสนับสนุนตามโครงการตัดอ้อยสดคุณภาพดีรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งตัดไปแล้ว ๑๒๐ บาทต่อตันโดยเร็วค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ในประเด็นที่ ๒ ขอให้กำหนดแนวทางสนับสนุนการตัดอ้อยสดในปี ๒๕๖๖-๒๕๖๗ ซึ่งขณะนี้ลงปลูกกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งการสนับสนุนอาจจะมีแนวทางในเรื่องของ การเพิ่มเครื่องมือ เครื่องจักรก็ได้ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ในประเด็นที่ ๓ ขอให้เร่งแก้ปัญหาดินเสื่อม หรือดินกรดดังได้กล่าวมาแล้ว และขอให้แก้ปัญหาในเรื่องของการขาดน้ำ ขณะนี้ในภาคเหนือตอนล่าง เช่น จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดอุตรดิตถ์ ก็เกิดในเรื่องของความแห้งแล้ง น้ำไม่เพียงพอ อ้อยก็แคระแกร็น ขอให้มีมาตรการในเบื้องต้น เช่น การทำฝนเทียม หรือในเรื่องของ การชลประทาน

    อ่านในการประชุม

  • ในประเด็นที่ ๔ ดิฉันขอเสนอว่าให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมมือกับ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศึกษาสายพันธุ์อ้อยที่เหมาะสมต่อดิน น้ำ อากาศ แล้วก็ความทนทานต่อวัชพืช เพื่อพัฒนาผลผลิตต่อไร่ในแต่ละภาค ซึ่งขณะนี้ พบว่าผลผลิตต่อไร่สูงสุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถัดมาก็คือภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือผลผลิตน้อยที่สุด อยู่ที่ประมาณ ๘.๙ ตันต่อไร่

    อ่านในการประชุม

  • ในประเด็นท้ายสุด ขอให้พิจารณาเพิ่มแหล่งเงินทุนเข้ากองทุนอ้อย และน้ำตาล เพื่อช่วยเกษตรกรชาวไร่อ้อยอย่างเหมาะสมต่อไป ก็ขอเสนอ ๕ ประเด็น เพื่อผลักดันไปสู่การช่วยเหลือชาวไร่อ้อยอย่างแท้จริงค่ะ ขอบพระคุณมากค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพค่ะ ดิฉัน นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย พรรคเพื่อไทย ในวาระรายงานประจำปี ๒๕๖๕ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ดิฉันมีข้อคิดเห็น ใน ๒ ส่วน ส่วนแรก ในเรื่องของผลงานเชิงนวัตกรรม และในส่วนที่ ๒ เรื่องของงบประมาณ และการประเมินผล ก่อนอื่นก็ชื่นชมในส่วน การบริหารของ สสส. ที่สร้างศักยภาพแล้วก็ผลงานอย่างต่อเนื่องตลอดมา แต่อย่างไรก็ตาม ในรายงานนั้นได้ให้สถานการณ์ข้อมูลไว้ว่าขณะนี้คนไทยมีสัดส่วนผู้ดื่มแอลกอฮอล์คงที่ และลดลงเล็กน้อย เสียชีวิตบนท้องถนนลดลงค่ะ มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอก็ลดลงอีกค่ะ การบริโภคผักและผลไม้ลดลง และที่สำคัญยิ่งร้อยละของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร จากโรคไม่ติดต่อ NCDs สูงกว่าค่าเฉลี่ยขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ ๗๑ แต่ของคนไทยอยู่ที่ร้อยละ ๗๔ ในประเด็นปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเดิม ๆ ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ สุรา พฤติกรรมการบริโภค กิจกรรมทางกาย การเรียนรู้สุขภาวะดูจะดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมต่าง ๆ ที่มีขึ้น สถิติของโรคภัยไข้เจ็บของคนไทยก็ยังสูงอยู่ เป็นปัญหาในด้าน งบประมาณของสาธารณสุขอยู่มาก ขอ Slide นะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ในเรื่องนี้ก็ขอฝากการทำงานที่เกิดขึ้น อย่างต่อเนื่อง และตั้งอกตั้งใจของ สสส. เป็นประเด็นโจทย์วิจัยไปสัก ๑ โจทย์ ทำอย่างไร เราจึงจะค้นหาสาเหตุปัจจัยเชิงลึก หรือการปรับกระบวนการทำงานอย่างไร ที่จะได้ ประโยชน์สูง ประหยัดที่สุด ท่านก็ลดอัตรากำลังการทำงาน เหนื่อยน้อยลง ใช้งบประมาณ น้อยลง แต่ได้ผลสัมฤทธิ์ที่สูงขึ้น ดิฉันคิดว่าจะนำไปสู่การเสริมสร้างสุขภาวะที่ให้ประโยชน์ กับประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ แล้วก็บรรลุเป้าหมายมากยิ่งขึ้นค่ะ อย่างไรก็ตาม ความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องตลอดมาของ สสส. โดยเฉพาะในปี ๒๕๖๕ ที่มีประเด็นสำคัญว่า ต้องการมุ่งเน้นการสานพลัง สร้างนวัตกรรม สื่อสารสุข ในปีนี้มีคำว่า สร้างนวัตกรรม เพิ่มมาจากปีก่อน ๆ ๔-๕ ปีดิฉันติดตามงานของ สสส. มาตลอด ดิฉันขอสะท้อนไปที่ผลงาน เด่น ๕ เรื่อง ผลงานเด่นทั้ง ๕ เรื่องนั้น

    อ่านในการประชุม

  • ในเรื่องแรก สารเสพติด ที่เรามุ่งมองไปที่ปัญหาของบุหรี่แล้วก็สุรา ดิฉัน ก็อยากจะเสริมเติมเต็มไปในส่วนของ Amphetamine ในเรื่องของยาบ้าและสิ่งเสพติดอื่น ๆ ว่ากระบวนการของ สสส. จะช่วยผลักดันให้สังคมปลอดในเรื่องนี้มากขึ้นได้อย่างไร

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนที่ ๒ เรื่องเด่นเรื่องที่ ๒ ในเรื่องของทักษะเด็กปฐมวัย อันนี้ก็คิดว่า ควรจะบูรณาการในเรื่องขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในเรื่องของกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะหานวัตกรรม ที่จะลดภาระงานของท่านลงไปค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนที่ ๓ ทราบว่าเป็นนวัตกรรมฟื้นฟูจิตใจที่ท่านไปร่วมกับกรมสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิตค่อนข้างที่จะทำงานแล้วก็บรรลุวัตถุประสงค์ได้ดีอยู่แล้ว และ สปสช. เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณเพิ่มอีก ๕๐ บาท ตรงนี้ก็คิดว่าเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทาง สสส. เข้าไปเชื่อมโยงและบูรณาการได้ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ในเรื่องของการสร้างทางม้าลายให้ปลอดภัย คิดว่าควรจะบูรณาการกับกองทุน เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ซึ่งก็มีทั้งงบประมาณ แล้วก็กำลังในการทำงานอยู่ เพื่อลดภาระงานบางส่วนที่ซ้ำซ้อนกันค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ที่สำคัญยิ่งนวัตกรรมจากผลงานเด่น จาก Slide ที่ ๒ ผลงานเด่นในประการที่ ๕ การสร้างสังคมสุขภาวะปลอดภัย เท่าเทียม และเป็นสุข ในประเด็นที่ ๕ ดิฉันชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง ที่ท่านได้ใช้โครงสร้างกลไกเชิงพื้นที่ในรูปแบบของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับ อำเภอ พชอ. ซึ่งเริ่มทำงานตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ ตอนนี้ทำได้ครบ ๘๗๘ อำเภอ ดำเนินโครงการถึง ๓,๑๓๒ โครงการ ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันโรคระบาดการส่งเสริมคุณภาพชีวิต ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ยากไร้ ดิฉันขอชื่นชมไปในส่วนของการจัดการสิ่งแวดล้อมในเรื่องของการจัดการ ขยะ ดิฉันเห็นโครงสร้างนี้ที่จังหวัดสุโขทัยทำได้ดีมากทุกอำเภอค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนของอาหารปลอดภัย การเกษตร และเรื่องของชีวภาพ จากเป้าหมาย ที่บอกว่าคนไทยยังบริโภคในเรื่องของผัก ผลไม้ลดลง ก็คิดว่าทาง พชอ. ถ้าได้โจทย์ที่ชัดตรง ก็คงจะไปขับเคลื่อนการทำงานให้ สสส. ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะ พชอ. ดูแลผู้คนถึง ๑๐ กว่าล้านคนค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ในด้านผลงานตามเป้าประสงค์ ทั้ง ๖ ประเด็นใน Slide ที่ ๓ ทุกเป้าประสงค์ ดีมากค่ะ มีกิจกรรมและโครงการเกิดขึ้นมากมาย แต่ดิฉันก็มีข้อสังเกตในเป้าประสงค์แรกค่ะ ในเรื่องของปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ โดยเฉพาะในเรื่องของกิจกรรมทางกาย เรื่องของ โรคติดต่อ โรคไม่ติดต่อ พฤติกรรมเนือยนิ่งที่ปรากฏในเอกสารหน้า ๑๕๙-๑๖๒ รวมทั้ง แผนอาหารเพื่อสุขภาวะลดหวาน มัน เค็ม ไม่ว่าเราจะใช้กระบวนการภาษีกับเรื่องของ น้ำตาลและในเรื่องของเกลือโซเดียม ดิฉันก็ขอฝากว่าขอให้ระมัดระวังการที่จะไปมี ผลกระทบต่อผู้ประกอบการในเรื่องของอ้อยและผลิตภัณฑ์ในเรื่องของน้ำตาล แต่จากเอกสารของ สสส. ก็ชื่นใจว่าไปควบคุมที่ในเรื่องของการผลิต ในเรื่องของอาหาร ในเรื่องของผู้ประกอบการ ๔ ปี สามารถลดภาวะโรคอ้วน แล้วก็รับประทานเค็มมากเกินไป ได้หรือร้อยละ ๓๕ ตรงนี้ก็ขอชื่นชมนวัตกรรมตรงนี้เป็นอย่างยิ่งค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนของงบประมาณและการประเมินผล พบว่าการบริหารงบประมาณ อยู่ที่การสนับสนุนโครงการ ๓,๖๐๔.๑๖ ล้านบาท ร้อยละ ๙๐.๓๑ และในส่วนของการ บริหารสำนักงานอยู่ที่ร้อยละ ๙.๖๙ มีการกระจายงบประมาณไปยังโครงการใหม่ ถึง ๒,๔๔๒ โครงการ เป็นโครงการเดิมแค่เพียง ๕๒๔ โครงการ ก็ขอเรียนไปยัง สสส. ว่าโครงการเดิมที่ทำไปแล้วนั้นยังคงวัตถุประสงค์เดิม ยังมีประสิทธิภาพอยู่หรือไม่ ไม่อยากจะให้ทอดทิ้งกับผลผลิตที่ได้ลงงบประมาณไปแล้วค่ะ ก็ขอชื่นชมในส่วนที่มี การบริหารอย่างบูรณาการมากขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • อีก ๑ ประเด็น ขอชื่นชมไปในส่วนข้อคำนึงถึง สสส. ที่ระบุไว้ว่าก็ห่วง ผู้ประกอบการในกรณีเรื่องของยาสูบ ในเรื่องของสุราที่มีกฎหมายใหม่ ๆ มาเยอะแยะ มากมาย อย่างไรก็ตามฝาก สสส. เป็นสื่อกลางสำหรับการออกกฎหมายและภาคปฏิบัติ ที่จะทำให้ประชาชนสามารถที่จะยังคงสภาวะหรือใช้กระบวนทางกฎหมาย โดยไม่ผิดระเบียบ ไม่ผิดกติกา ไม่ผิดกฎหลักการทั้งหลาย ก็ขอเรียนด้วยความชื่นชมเป็นเบื้องต้นและคิดว่า ในปีต่อไปจะเห็นผลงานดี ๆ ของ สสส. อีกต่อไป ขอบคุณมากค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน พรรณสิริ กุลนาถศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ในเบื้องต้นรายงานของผู้สอบบัญชีรายงานการเงินกองทุนจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ ถึงวันสิ้นสุด ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ ดิฉันขอชื่นชมท่านอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง และคณะที่บริหารได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งนี้จากรายงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งได้ตรวจความถูกต้องของการเงินภาครัฐและการบัญชีก็ให้ความเห็นว่าเป็นไปด้วยความ สมบูรณ์เรียบร้อย ทั้งการแสดงฐานะทางการเงิน การแสดงผลของระบบการจัดการ งบจัดซื้อ งบทรัพย์สิน ตลอดจนการใช้ฐานข้อมูลจากกองทุนที่มีการประเมินความเสี่ยง และการประเมินภายในตามระบบขององค์กรอย่างดีเยี่ยม ขอชื่นชมเป็นอย่างยิ่งค่ะ การจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ดิฉันเห็นประโยชน์อย่างสำคัญยิ่ง โดยได้มีโอกาสเห็นผลงานดี ๆ ที่จังหวัดสุโขทัย ณ บริเวณสถานีขนส่งเฉลิมพระเกียรติ ขอ Slide นะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ณ สถานีขนส่งเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสุโขทัย ซึ่งในขณะนั้นดิฉันดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย ก็ได้รับทราบโครงการนี้ โครงการนี้จัดสรรพื้นที่ที่ดิน พื้นที่ตาบอด พื้นที่แห้งแล้ง พื้นที่สีส้ม พื้นที่สีเหลือง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ควรจะต้องได้รับการพัฒนาเป็นอย่างยิ่ง มีความแออัดหนาแน่น ของประชาชนพอสมควร ในคราวนั้นมีการดำเนินการขับเคลื่อนเกือบ ๑๐ ปีกว่าจะบรรลุ วัตถุประสงค์ แล้วก็เกิดความแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย อย่างไรก็ตามความร่วมมือของพี่น้อง ประชาชนในการเข้าโครงการมีมากกว่า ๑๐๐ รายที่จะเข้าโครงการ ที่ดิน ๙๐ กว่าแปลง รวมทั้งการจัดการส่งผลสัมฤทธิ์ต่อพื้นที่โดยรอบ ทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้นแก้ปัญหาพื้นที่ตาบอด และในสมัยเก่าก่อนนั้น กรมโยธาธิการและผังเมืองก็ยังกรุณาจัดสรรในส่วนของสาธารณูปโภค ในเรื่องของถนนหนทาง ได้ถนนหนทางเพิ่มไปอีกประมาณ ๒.๘ กิโลเมตร บริเวณพื้นที่ ขณะนี้ขอเรียนว่าหลังจากมีการจัดมอบโฉนดแล้ว พี่น้อง ๔๕ รายมีความสุขมากค่ะ มีคนมาหาซื้อที่ดิน ตลอดจนยกระดับพื้นที่ ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็น เจ้าของพื้นที่ก็คือองค์การบริหารส่วนตำบลปากแคว โดยท่านนายกวีระศักดิ์ แสงทอง และพื้นที่ในส่วนของเทศบาลเมืองสุโขทัยธานีก็ได้ร่วมมือกันหลังจากที่มีการจัดสรรที่ดิน เป็นแปลงสวยงามแล้วก็มีการลงพื้นที่เป็นพืชพันธุ์ไม้ เป็นบ้านจัดสรร ตลอดจนในช่วง สุดสัปดาห์ เสาร์ อาทิตย์ก็จะเป็นตลาด เป็นถนนวัฒนธรรม เพิ่มนักท่องเที่ยวทั้งจังหวัด สุโขทัย อำเภอเมือง แล้วก็นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาอย่างมากมาย ดิฉันขอชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง และโครงการนี้จังหวัดสุโขทัย โดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดและคณะ เขาสนใจ ที่จะให้ประชาชนมีการตื่นตัวมาก ก็เลยมีโครงการระยะ ๒ ซึ่งเป็นอีกช่วงหนึ่งที่อยู่ใกล้เคียง กับบริเวณเดิม ขณะนี้มีพี่น้องประชาชนร่วมเข้าโครงการแสดงเจตนามาเกือบ ๒๐๐ ราย ด้วยกัน และพื้นที่ก็กว้างมากกว่าที่เดิม เพราะพื้นที่ตรงนี้สถานีขนส่งจะเชื่อมคลองแม่รำพัน ไปยังอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • อีกส่วนหนึ่งหลังจากที่เห็นว่าโครงการนี้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี จึงมีการขยายโครงการพื้นที่ ๒ โดยใช้นวัตกรรมพื้นที่และบูรณาการอย่างมีส่วนร่วม กับประชาชนในชุมชนและท้องถิ่น ก็เลยเปิดพื้นที่เป็นโครงการที่ ๒ หลังจากมีโครงการที่ ๑ ระยะที่ ๑ มอบโฉนดกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อปี ๒๕๖๒ และโครงการที่ ๑ ระยะที่ ๒ เตรียมพื้นที่เกือบมีความพร้อมอยู่ในราวประมาณร้อยละ ๕๐ ก็เตรียมเปิดโครงการที่ ๓ อยู่ด้านหลังเทศบาล ๒ โรงเรียนในสังกัดของเทศบาลเมืองสุโขทัย ขอนำเรียนเพื่อเป็นข้อมูล ว่าโครงการนี้ดีเยี่ยมค่ะ แต่อย่างไรก็ตามมีข้อคิดเห็นในเชิงพื้นที่ว่าการจัดการในเรื่องของ กองทุนกู้ยืมนั้นมีจำนวนเม็ดเงินและงบประมาณค่อนข้างน้อย แต่ละปีก็อาจจะได้ไม่กี่แห่ง ในพื้นที่ประเทศไทย ในส่วนของดอกเบี้ยกู้ยืมมีดอกเบี้ยด้วยในระหว่างรัฐต่อรัฐจะลดอัตรา ดอกเบี้ยลงบ้างได้ไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤติการขายที่ดิน การปันส่วนที่ดินของ ประชาชนที่เข้าโครงการเป็นกองกลาง เพื่อนำเงินส่งคืนกองทุนนั้นก็อาจจะล่าช้าและยังมี ในส่วนของดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีกด้วยก็จะเป็นภาระค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนที่ ๒ ขยายวงเงินในการกู้ยืม แล้วก็ขยายเวลาให้ด้วยจะดีไหมคะ เพื่อให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด แล้วก็ในส่วนของประชาชนก็มีความอบอุ่นใจมากขึ้น อันนี้ ก็เป็นข้อคิดเห็นจากพื้นที่ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนข้อคิดเห็นในเชิงระบบของกองทุน ดิฉันขอเรียนเสนอไปว่าปัญหาของ ความไม่ราบรื่นเรียบร้อยย่อมเกิดขึ้นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขององค์กรเดียวหรือหลายองค์กร โดยเฉพาะเรื่องของกฎหมายควรจะได้มีการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของกองทุน ทั้งในส่วนของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กองช่าง ปกติกองช่างในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเขาจะมี ภาระงานอยู่เยอะมาก เพราะฉะนั้นในส่วนของกองช่าง กรมโยธาธิการและผังเมือง และในส่วนอื่น ๆ สำนักงานที่ดิน ในเรื่องของการวางแผนผังโยธาและผังเมืองควรจะมี ระยะเวลาและเตรียมการอย่างไร เมื่อ ๕ ปีนี้แผนผังเมืองนี้ก็จะหมดอายุการใช้งาน ๔ ปีครึ่ง ก็ต้องเตรียมในการที่จะตรวจสอบ และเตรียมที่จะประกาศผังเมืองใหม่ได้แล้วค่ะ ก็คิดว่า โครงการนี้มีประโยชน์มาก และในส่วนของการประชาสัมพันธ์โครงการดิฉันเชื่อมั่นว่า ณ วันนี้สิ่งที่ดิฉันได้มุ่งหวังตั้งใจแล้วก็ประทับใจในโครงการที่กองทุนได้ดำเนินการ ดิฉันมั่นใจ ว่าพี่น้องประชาชนทั่วประเทศคงจะเห็นประโยชน์ และระดมพลังทั้งบุคลากรในพื้นที่ บุคลากรจากส่วนราชการร่วมด้วยช่วยกันเพื่อพัฒนาพื้นที่ แล้วก็จัดรูปที่ดินให้เกิดขึ้นอีก หลาย ๆ ที่ในประเทศไทย อันจะเป็นการส่งเสริมให้มีเศรษฐกิจแล้วก็รายได้ที่ดีของพี่น้อง ประชาชนบนความสุขที่ยั่งยืนต่อไป ขอบพระคุณมากค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉันพรรณสิริ กุลนาถศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ในวาระของการอภิปรายเพื่อขอให้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาผลประโยชน์ของ การมีกฎหมายควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าให้เหมาะสมกับปัจจุบัน และในญัตติของการพิจารณา เพื่อศึกษาผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพจากบุหรี่ไฟฟ้า ดิฉันเห็นด้วยอย่างยิ่ง ควรที่จะมีคณะกรรมาธิการคณะนี้เพื่อศึกษาอย่างให้ครบถ้วน รอบคอบ รอบด้าน โดยมี ข้อคิดเห็น ใน ๓ ประเด็น

    อ่านในการประชุม

  • ในประเด็นแรกในเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้ มีหลายฉบับไม่สอดคล้องกัน แล้วนำไปสู่การปฏิบัติที่ไม่เป็นไปในทางเดียวกัน ดังเช่น การนำเข้า มีประกาศของกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๕๗ ให้กรมศุลกากรตรวจจับ หากผู้ใด นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าหรือน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าจะต้องรับผิดชอบในเรื่องของการติดตาม พ.ร.บ. การส่งออกและนำเข้าในราชอาณาจักร ซึ่งสินค้า พ.ศ. ๒๕๒๒ ตามมาตรา ๒๐ มีโทษจำคุก ไม่เกิน ๑๐ ปี และปรับเป็น ๕ เท่าของสินค้า

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนของการขาย ก็เป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง โดยคำสั่งของคณะกรรมการ คุ้มครองผู้บริโภคที่ ๙/๒๕๕๓ ก็ระบุว่าห้ามขาย ห้ามให้บริการบารากุ บารากุไฟฟ้า บุหรี่ ไฟฟ้า และน้ำยาเติมของทั้ง ๒ ชนิด โดยระบุว่าพบสารเคมีอันตราย รวมทั้งการสูบอาจทำให้ เกิดโรคติดต่อ โดยมีโทษ ๕ ปี หรือปรับไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนของผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าก็มีโทษ ๑๐ ปี ปรับไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนของการครอบครอง เป็นกฎหมายที่ยืดหยุ่นลงมา หากพบผู้ใดครอบครอง บุหรี่ไฟฟ้า ตำรวจสามารถใช้มาตรา ๒๔๖ ว่าด้วยผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพา เอาไปเสีย ก็ให้อยู่ในดุลยพินิจของตำรวจ โดยเบื้องต้นมีโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี ปรับ ๔ เท่า

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนในการสูบก็ไปใช้กฎหมาย พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. ๒๕๖๐ ดังนั้นการที่จะได้ทบทวนกฎหมาย และให้กฎหมายไปในทิศทางเดียวกันและง่ายต่อการปฏิบัติ จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่คณะกรรมาธิการจะได้พิจารณาศึกษาให้รอบคอบต่อไป

    อ่านในการประชุม

  • ในด้านที่ ๒ ดิฉันขอความเห็นไปยังคณะกรรมาธิการที่จะเกิดขึ้นนี้ในด้าน สถานการณ์และผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้า ในงานวิจัยของ สวรส. สถาบันวิจัยระบบ สาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าเยาวชนแล้วก็ประชาชนเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่าย เพราะมีอุปกรณ์ที่สะดวก หลายรส มีช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลาย ดังนั้นอัตราการสูบ บุหรี่ไฟฟ้าจึงเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนของผลกระทบต่อร่างกาย มีสาร Propylene Glycol และ Glycerine และสารปรุงรสปรุงกลิ่น รวมทั้งยังพบว่ามีโลหะหนักประกอบอยู่ด้วย ส่งผลต่อระบบหายใจ และก่อมะเร็ง ที่สำคัญที่สุดก็คือสารนิโคตินในกรณีของบุหรี่ไฟฟ้าจะมีไอระเหยที่มีอนุภาค ที่เล็กลงละเอียดอ่อนสามารถเข้าไปในปอดและอยู่ในวงจรของกระแสเลือดในร่างกาย ได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นคงจะหลีกเลี่ยงไม่พ้นว่าสารนิโคตินนี้ส่งผลต่อร่างกายอย่างหนักหน่วง แม้นว่าข้อค้นพบของบุหรี่ไฟฟ้าจากการเผาไหม้น้ำมันดิน หรือ Tar หรือคาร์บอนมอนอกไซด์ จะน้อยลงก็ตาม คุ้มกันหรือไม่ อยากจะให้ศึกษาวิเคราะห์โดยละเอียด บุหรี่ไฟฟ้าไม่สามารถ ช่วยเลิกบุหรี่ได้จริง และไม่สามารถทำให้อัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยลดลง อันนี้ก็คือเป็น ประเด็นที่ยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ ควรจะได้วิเคราะห์ต่อไปให้ถี่ถ้วน รวมทั้งในภาคของเศรษฐกิจ ในขณะนี้รัฐไม่สามารถที่จะจัดเก็บภาษี เพราะช่องทางการลักลอบและการจำหน่ายเยอะแยะ มากมายในกรณีของบุหรี่ไฟฟ้า

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนในประเด็นที่ ๓ ดิฉันขอเสนอให้ได้ศึกษาด้านผลกระทบของตลาด บุหรี่ไฟฟ้ากับยาสูบไทย ภาคียาสูบทั้ง Virginia Turkish Burley สุโขทัยของดิฉันฝากให้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาช่วยหามุมมองว่าจะมีแผนรองรับผลกระทบจากอัตราของบุหรี่ไฟฟ้า หรือการรณรงค์ของบุหรี่ไฟฟ้าและรองรับชาวไร่ยาสูบอย่างไร ซึ่งขณะนี้ชาวไร่ยาสูบก็มีปัญหาที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างมากมาย ในส่วนที่เกษตรกร ชาวไร่ยาสูบเองมีอาชีพทำมาหากิน ในส่วนของรายได้ต่อปีก็ประมาณปีละ ๑,๐๐๐ ล้านบาท สามารถเก็บภาษีส่งรัฐได้ในปี ๒๕๖๕ ถึง ๓๙,๐๐๐ ล้านบาท เพราะฉะนั้นตรงนี้ขอให้เปิด มุมมอง และคำนึงถึงความรอบคอบรอบด้าน โดยปัจจุบันชาวไร่ยาสูบก็มีความต้องการ ความช่วยเหลือ ๓-๔ ประเด็น ดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรก ปัจจัยด้านการผลิตที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นราคาปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และเงินช่วยเหลือชดเชยที่ไม่เคยจะคงเส้นคงวาเลยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๒ เสนอให้ตั้งกองทุนเพื่อชาวไร่ยาสูบ เพราะขณะนี้ยาสูบอยู่ที่ กระทรวงการคลัง แต่ก็ไม่ได้มีความชำนาญในภาคของการเกษตรกรรม อย่างไรกองทุนนี้ น่าจะดูแลช่วยเหลือพี่น้องชาวไร่ยาสูบได้บ้าง โดยมีข้อเสนอว่าสมควรที่จะจัดส่วนแบ่งภาษี ที่ส่งกรมสรรพสามิตเข้ากองทุนดูแลช่วยเหลือชาวยาสูบ

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๓ เป็นปัญหาคาราคาซังมานานมากในเรื่องของการควบคุม ส่วนประกอบของบุหรี่ที่ให้งด Mental และสารปรุงรส ในกรณีเช่นนี้องค์การอนามัยโลก รวมทั้งในภาคพื้นประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ชะลอในเรื่องของกฎหมายนี้ไปก่อน ขอความชัดเจนโดยเร็วด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • อย่างไรก็ตามจากแนวโน้มที่เราได้มาร่วมกันอภิปรายนี้ การเปิดตลาดบุหรี่ การควบคุมบุหรี่ไทยก็ขอให้คำนึงถึงวิถีชีวิตของพี่น้องเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ รวมทั้ง ควรเปิดทางในเรื่องของการปลูกพืชทดแทนให้กับพี่น้องชาวยาสูบอย่างจริงใจ และจริงจัง ด้วยค่ะ สำคัญยิ่งในกระบวนการทางกฎหมายก็ขอให้เกิดการใช้กฎหมายที่ควบคุม การสูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเหมาะสมครบถ้วน อบด้าน จึงเห็นสมควรยิ่งที่ควรจะตั้ง คณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาเรื่องนี้ ขอบคุณมากค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน พรรณสิริ กุลนาถศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ในเบื้องต้นดิฉันขอขอบคุณเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพี่น้องทั่วไทยที่ส่งกำลังใจ ให้ชาวจังหวัดสุโขทัยที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมซ้ำซาก และหนักมากในช่วง ๔-๕ วัน ที่ผ่านมา และขณะนี้น้ำก็ยังแช่ขังอยู่อีกหลายพื้นที่ และดิฉันเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งในญัตติ ปัญหาเรื่องด่วนภัยพิบัติน้ำท่วมในวันนี้ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานคะ จังหวัดสุโขทัย อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำยมค่ะ ลุ่มน้ำยมในส่วนของจังหวัดสุโขทัยมีระยะทาง ๑๗๐ กิโลเมตร จากความยาวทั้งหมด ๗๓๕ กิโลเมตร พอมาถึงพื้นที่จังหวัดสุโขทัย โดยเฉพาะในส่วนของ อำเภอเมือง เป็นพื้นที่ที่เรียกว่าคอขวดและเป็นแอ่งกระทะ น้ำจากทุกสารทิศไม่ว่าจะเป็น ตอนเหนือหรือทางทิศตะวันตกห้วยแม่มอก และด้านล่างของจังหวัดก็หลั่งไหลมา ในแอ่งกระทะนี้ทุกข์ระทมมาอย่างยาวนานค่ะ ท่านประธานคะ พื้นที่ลุ่มน้ำยมไม่มีเขื่อน หรือแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ ฤดูฝนน้ำหลากน้ำไหลลงมาแล้วก็ไหลผ่านไปไม่สามารถ กักเก็บได้ ในช่วงฤดูแล้งก็แล้งซ้ำซากแล้งสุดขีด นี่คือการบริหารที่มีความเหลื่อมล้ำทำให้เกิด ปัญหาอย่างหนักในบางพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดสุโขทัย ในกลุ่มลุ่มน้ำยมในพื้นที่นี้มีเพียงประตู ระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ ที่อำเภอสวรรคโลก เป็นที่พึ่งแห่งเดียวใช้มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ ในการระบายน้ำไปยังแม่น้ำยมฝั่งซ้าย แม่น้ำยมฝั่งขวา แต่สถานการณ์ปัจจุบันไม่มีศักยภาพ เพียงพอที่จะดูแล ป้องกัน แล้วก็แก้ไขปัญหาได้ วิกฤติน้ำท่วมในครั้งนี้ ๔-๕ วันที่ผ่านมา นั่นก็คือ พื้นที่ในส่วนของหมู่ที่ ๑ ตำบลปากแคว เมืองสุโขทัยน้ำกัดเซาะตลิ่งพังความยาวกว่า ๑๐๐ เมตร ถนนทรุด น้ำเชี่ยวกรากท่วมบ้านเรือนเสียหายกว่า ๓๐๐ ครัวเรือน สะพานวังใหญ่ อำเภอ ศรีสำโรง น้ำกัดเซาะดาดคอนกรีตบริเวณคอสะพาน น้ำผุดท่วมข้ามถนนไปยังพื้นที่เรือกสวน ไร่นาพี่น้องประชาชน ในส่วนของตำบลวังทองและตำบลวังใหญ่เสียหายมากกว่า ๓๐๐ ครัวเรือน ในพื้นที่ตำบลยางซ้าย อำเภอเมืองสุโขทัย ซึ่งตรงนี้เป็นแอ่งกระทะที่ใหญ่ที่สุด น้ำได้ไหลหลากอ้อมไปจากบริเวณปากแคว วังทอง วังใหญ่ ไหลลงไปที่คันดินของตำบลยางซ้าย พังทลายเกิดความเสียหายและเป็นทุกข์อย่างยิ่งให้กับพี่น้องประชาชนมากกว่า ๒๐๐ ครัวเรือน รวมทั้งพบสภาพปัญหาว่าสะพานพระร่วง เทศบาลเมืองสุโขทัยเก่า ชำรุด รวมทั้งสะพานพระแม่ย่า วัดศรีเศวตวนาราม ตำบลยางซ้าย ตอม่อมีปัญหาแตกร้าวค่ะ ท่านประธานคะ ความเสียหายในครั้งนี้ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรม ๖๕ ตำบล ๓๑๗ หมู่บ้าน ๔,๓๒๒ ครัวเรือน พี่น้องประชาชน ๘,๙๐๒ คน รวมทั้งพื้นที่เกษตรกรรม ๑๒๖,๗๓๔ ไร่ เป็นข้าวมากกว่าร้อยละ ๖๐ ข้าวโพด พืชไร่ พืชสวน ไร่นาเสียหายเป็นจำนวนมาก ความเสียหาย ทั้งสิ้นทั้งปวงคาดว่าไม่ต่ำกว่า ๑.๔ ล้านล้านบาท ในครั้งนี้ค่ะ อย่างไรก็ตามความทุกข์ระทม ตรงนี้ชาวสุโขทัยได้ร่วมด้วยช่วยกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนในการช่วยตัวเอง ในเบื้องต้น และดิฉันขอเสนอการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ ใน ๓-๔ ประเด็นดังต่อไปนี้

    อ่านในการประชุม

  • ในประเด็นแรก ขอให้กรมโยธาธิการและผังเมือง แขวงการทาง กรมทางหลวง ชนบท และกระทรวงมหาดไทยได้เร่งดำเนินการ ประการแรก ตรวจสอบสภาพความแข็งแรง ของพนังกั้นน้ำบริเวณเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี ซึ่งสูงราว ๓ เมตร มีความปลอดภัยแข็งแรง มากน้อยแค่ไหน และชาวสุโขทัยส่วนใหญ่บอกว่าไม่เอาอีกแล้ว ถ้าสูงกว่านี้บดบังภูมิทัศน์ เมืองของจังหวัดสุโขทัย ซึ่งมองดูแล้วเป็นความมหัศจรรย์ประติมากรรมที่น่าหดหู่ใจ เป็นอย่างยิ่ง

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ ขอให้เร่งแก้ไขปัญหาสะพานพระร่วง สะพานพระแม่ย่า สะพานโตโยต้า สะพานวังทอง สะพานวังใหญ่ และสะพานศรีสำโรง เพื่อให้อยู่ในสภาพ ปัจจุบันที่มีความปลอดภัยต่อพี่น้องประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๓ เร่งรัดให้สร้างตลิ่งบริเวณตำบลปากแคว หมู่ที่ ๑ และหมู่ที่ ๗ ระยะทางประมาณ ๑,๗๐๐ เมตร บรรจุไว้ในแผนแล้ว รวมทั้งตลิ่งแม่น้ำยมตลอดสาย

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๔ ขอเร่งรัดโครงการปากพระโมเดล ซึ่งเป็นพื้นที่แอ่งกระทะ ในบริเวณอำเภอเมืองสุโขทัย พี่น้องประชาชนมีความพร้อมเชิงพื้นที่แต่ขาดการดำเนินการ อย่างต่อเนื่องของกรมชลประทาน รวมทั้งอ่างเก็บน้ำหนองเสาเถียรที่ตำบลไกรใน รวมทั้ง ขอให้เปิดเส้นทางจราจรผันน้ำแหล่งน้ำคูคลองให้สมบูรณ์ครบถ้วนค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ในการแก้ปัญหาระยะยาวนั้น ดิฉันขอเสนอใน ๔ ประเด็น ดังต่อไปนี้เพื่อ ไปยังกรมชลประทาน ตลอดจนในส่วนของ สทนช. จะได้บรรจุเข้าแผนงานและโครงการ ต่อไป

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๑ ขอให้เร่งรัดโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำแม่น้ำยมฝั่งขวา จากประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ถึงแก้มลิงทุ่งทะเลหลวงค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ ขอให้เร่งดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำ ๒ แห่ง ซึ่งอยู่ใน ระหว่างสำรวจแต่ได้ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็คือ ประตูระบายน้ำบ้านเวียงเชียงชื่น ตำบลแม่สำ และประตูระบายน้ำบ้านหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๓ ขอเสนอให้กรมชลประทานได้ติดตามการบริหารจัดการน้ำ จากเขื่อนภูมิพล สู่กำแพงเพชร เข้าสู่ท่อทองแดง สู่อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๔ ขอให้กรมชลประทานเร่งรัดสำรวจออกแบบก่อสร้างแหล่งน้ำ ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็นอ่างเก็บน้ำ ประตูระบายน้ำ ฝายในพื้นที่ ลุ่มน้ำยม ตลอดจนในพื้นที่ต้นน้ำ อำเภอปง อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา เพื่อเพิ่มพื้นที่ น้ำต้นทุนให้ประชาชนและเกษตรกรต่อไป จึงขอเสนอแนวทางดังกล่าวนี้เพื่อให้ทุกภาคส่วน ได้เร่งรัดแก้ไขปัญหานะคะ เพื่อความอยู่ดีมีสุขที่ดีขึ้นกว่าเดิมให้กับพี่น้องประชาชน ขอบพระคุณมากค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน พรรณสิริ กุลนาถศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ในวาระรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ปี ๒๕๖๕ นั้น ดิฉันขอนำเสนอความคิดเห็นสัก ๓ ประเด็น แต่ในเบื้องต้นก็ชื่นชมคณะกรรมการ การเลือกตั้งที่ร่วมภารกิจขับเคลื่อนกฎหมายหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง แล้วก็กฎหมายที่ว่าด้วยกระบวนการการเลือกตั้ง

    อ่านในการประชุม

  • ใน ๓ ประเด็นที่จะนำเสนอนั้น

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรก ผลงานตามยุทธศาสตร์ด้านการใช้สิทธิเลือกตั้งขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ตามเอกสารรายงานในหน้า ๗๐ ได้สรุปผลการใช้สิทธิเลือกตั้ง ของประชาชนในการเลือกตั้งส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่ามีประชาชนมาใช้สิทธิ เลือกตั้งท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบลและสมาชิกสภาตำบลมากที่สุด น่าชื่นชมยิ่ง คือร้อยละ ๗๔.๙๐ และร้อยละ ๗๔.๘๖ ตามลำดับ รวมทั้งในพื้นที่แห่งนี้ยังมีบัตรเสีย น้อยที่สุด น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี ในส่วนของประชาชนที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง แล้วก็น้อยนะคะ น้อยมาก นั่นก็คือการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล คือมีเพียงร้อยละ ๒๙.๕๒ พบว่าเทศบาล เมืองพัทยาและเทศบาลนครมีบัตรเสียมากที่สุดอีกด้วย คือร้อยละ ๔.๘๘ และร้อยละ ๔.๑๐ ตามลำดับ ดิฉันขอเรียนเสนอท่านประธานไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าควรได้ วิเคราะห์หาสาเหตุว่าทำไมในส่วนของเทศบาล ทั้งผู้บริหารแล้วก็สมาชิกจึงได้รับความสนใจ น้อยมาก อาจจะด้วยเหตุหลายประการ เช่น ในเรื่องของกลไกในการจัดการเลือกตั้ง การสร้างความรู้ความเข้าใจของหน่วยจัดการเลือกตั้ง ซึ่งก็คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่และ กกต. จังหวัด อาจเป็นไปได้ว่าการทำหน้าที่ของสมาชิกสภาเทศบาลไม่ได้ยึดโยง ประโยชน์กับประชาชนเท่าที่ควร หรืออาจจะเป็นประเด็นในเชิงกฎหมายที่ได้ระบุอำนาจ หน้าที่ไว้อย่างไรประชาชนจึงให้ความสำคัญน้อย ดิฉันเชื่อว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อ กระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ตลอดจนคณะกรรมการการกระจาย อำนาจระดับประเทศ ที่จะได้ตัดสินเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ต่อไป

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ ดิฉันให้ความสำคัญกับการพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นสถาบัน การเมือง ทั้งนี้ ตามเอกสารหน้า ๗๔ ทาง กกต. กำหนดเป้าหมายภารกิจไว้ว่าเพื่อพัฒนา พรรคการเมืองให้เป็นสถาบันการเมืองของประชาชน คำนี้ยอดเยี่ยมมากเลยค่ะ โดยที่จะต้อง เป็นการพัฒนาที่ประชาชนมีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน รวมทั้งมีกระบวนการขับเคลื่อน สมาชิกมีส่วนร่วมของพรรคการเมือง ในกรอบนี้ท่านกำหนดงบประมาณไว้ที่ ๔๒ ล้านบาท กำหนดให้มีการประชุม กำหนดให้มีกิจกรรม อาจจะเรื่องของ Primary vote บ้าง อะไรบ้าง ดิฉันขอเสนอแนะตรงนี้ ๒ ประการ

    อ่านในการประชุม

  • ประการแรก เพื่อที่จะทำให้สถาบันการเมืองของประเทศไทย พรรคการเมือง ทั้ง ๘๖ พรรค สู่การเป็นสถาบันของประชาชน นอกจากกิจกรรมที่ดำเนินเชิงปริมาณที่ท่าน ตรวจวัดไว้ อยากจะเสนอให้วัดข้อมูลเชิงคุณภาพด้วย อาจจะเป็นไปได้ว่ากำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัดที่ชัดเจน มีหลักการประเมินที่เชื่อถือได้

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๒ เผยแพร่ต่อสาธารณะว่า ๘๖ พรรคการเมืองใดคุณภาพ ยอดเยี่ยม พรรคการเมืองใดที่อาจจะไม่ผ่านเกณฑ์ควรได้ปรับปรุงพัฒนา หรืออาจจะต้องมี การยุบพรรคบ้างก็ได้ค่ะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ดิฉันมองว่าจะเป็นความเชื่อมั่นและเป็นศักยภาพ ของพรรคการเมืองไทยที่สามารถสร้างศักดิ์ศรีและความเชื่อมั่นได้ในเวทีโลก

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๓ เรื่องการส่งเสริมประชาธิปไตยกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง กกต. ส่วนกลางได้มีการตั้งศูนย์ส่งเสริมประชาธิปไตย ในปีที่ผ่านมาท่านรายงานข้อมูลว่า มีผู้สนใจเยี่ยมชมกิจการของศูนย์จำนวน ๒๑ คณะ และมีผู้เข้ารับคำปรึกษาหารือตลอดจน เข้าเยี่ยมชมรวมกันแล้วได้จำนวนแค่เพียง ๑,๕๕๙ คน ดิฉันมองว่ายังน้อยไปที่ประชาชน จะได้เข้าถึงท่าน จึงขอเสนอ ๒ ประการ

    อ่านในการประชุม

  • ประการแรก เสนอให้ยกระดับศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยระดับตำบล หรือศูนย์ ศส.ปชต. เพื่อช่วยงานท่าน ศูนย์นี้อยู่ในศูนย์ กศน. ตำบล ซึ่งปัจจุบันก็คือ ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ตำบล ก็ฝากมาจากพื้นที่ว่าภารกิจของ กศน. ก็มีภารกิจหลักในเรื่อง ของศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง ในเรื่องของศูนย์ดิจิทัลชุมชน และในเรื่องภาระงานหลักเขาอีก ก็อยากจะให้พิจารณากรอบงาน ตลอดจนอัตรากำลัง และการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ที่ช่วยท่านในงานนี้ด้วย

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๒ ดิฉันขอเสนอให้ กกต. สร้างการมีส่วนร่วม โดยร่วมมือกับ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการในขณะนี้มีการส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียน ในรูปแบบของสภานักเรียนอย่างจริงจัง ดิฉันเคยเป็นข้าราชการในสังกัดของ กระทรวงศึกษาธิการมาก่อน ดิฉันมองว่าตรงนี้จะได้สร้างรากฐานให้เกิดความเป็นพลเมือง ประชาธิปไตยตั้งแต่ในสถานศึกษา มีต้นแบบดี ๆ หลายแห่งหลายจังหวัด เช่น ที่จังหวัดสุโขทัย ของดิฉัน หลายโรงเรียนเลยทำได้ดีเยี่ยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งขอยกตัวอย่าง โรงเรียนสตรี ประจำจังหวัด ก็คือโรงเรียนอุดมดรุณีจังหวัดสุโขทัย มีการวางรากฐานระบบธรรมาภิบาล ในห้องเรียน ๑๐ กว่าปีมาแล้วค่ะ มีระบบสภานักเรียน มีกลุ่มสนใจการเรียนรู้ด้านรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ ซึ่งครู อาจารย์ส่งเสริมศักยภาพการเรียนรู้อย่างดีเยี่ยม ได้นำนักเรียน มาศึกษาเรียนรู้ที่สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ ซึ่งก็ต้องขอชื่นชมว่าทางท่านเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎรและคณะก็ให้การต้อนรับและอำนวยการอย่างดี ดิฉันจึงขอฝาก กกต. ให้ได้ส่งเสริมและสนับสนุนต่อยอดระบบสภานักเรียน เพื่อให้เด็กได้เติบโตเป็นพลเมือง ขับเคลื่อนสังคมประชาธิปไตยของไทยอย่างเต็มศักยภาพ แล้วก็เติบโตเป็นประชาชนที่จะ สามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ร่วมสังกัดพรรคการเมือง การใช้สิทธิเลือกตั้ง ตลอดจนการเข้าเสนอชื่อในเรื่องของกฎหมายฉบับต่าง ๆ ได้อย่างสมเหตุสมผล ก็ขอฝากทาง กกต. แล้วก็ขอชื่นชมในภาพรวมเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งดิฉันเองก็เคยทำงานร่วมกับท่านในเชิงพื้นที่ นั่นก็คือมีหน่วยเลือกตั้ง ในโอกาสที่ดิฉันเคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารองค์การบริหาร ส่วนจังหวัดสุโขทัย ก็เป็นหน่วยจัดเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดควบคู่กับท่าน รวมทั้งในโอกาส ที่ดิฉันเองก็เป็นผู้สมัครรับการเลือกตั้งด้วย ก็เห็นทิศทางของ กกต. ที่ขับเคลื่อนเพื่อให้เกิด ความสมานสามัคคี และลดปัญหาการร้องเรียนกันให้เหลือน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย ก็ขอเป็น กำลังใจและชื่นชม กกต. มา ณ โอกาสนี้ด้วยค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน พรรณสิริ กุลนาถศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ดิฉัน ขอเรียนเสนอความเดือดร้อนของพี่น้องชาวไร่ยาสูบไปยังคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาศึกษาร่วมกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและจริงใจให้กับพี่น้องยาสูบ ๕ ประเด็น ขอ Slide ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ในประเด็นที่ ๑ ด้านภาษี จากการปรับ โครงสร้างภาษี เมื่อปี ๒๕๖๐ ส่งผลให้บุหรี่เถื่อน บุหรี่นอกทะลักเข้ามาในประเทศไทย การยาสูบแห่งประเทศไทยลดโควตาการซื้อใบยา ตลอดจนบุหรี่เถื่อนโตขึ้นถึงร้อยละ ๒๓ พี่น้องยาสูบ ๓๐,๐๐๐ กว่าครัวเรือนเดือดร้อนมาก ขอเสนอให้ทบทวนเรื่องการจัดเก็บภาษีค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ในประเด็นที่ ๒ ด้านปัจจัยการผลิต ค่าปุ๋ย ค่าวัสดุปลูกแพงขึ้น ๑๐ บาทต่อ กิโลกรัมใบยาสูบ แต่รัฐช่วยเหลือเพียงแค่ ๗.๑๐ บาท ในปี ๒๕๖๕ จ่าย ๒ ครั้ง แล้วก็ ล่าช้ามาก ขอให้สนับสนุนต่อเนื่องและจ่ายให้เร็วขึ้นค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ในประเด็นที่ ๓ ด้านกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ ขณะนี้มีกฎหมาย ที่เกี่ยวข้อง ประการที่ ๑ ก็คือร่างกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า แต่มีนัยแฝงในเรื่องของ การส่งเสริมมากกว่าการควบคุม ประการที่ ๒ ร่างกฎกระทรวงการ Ban สารปรุงรส และเมนทอล โดยกระทรวงสาธารณสุข ขอให้ความเป็นธรรมกับพี่น้องประชาชนชาวยาสูบ ทบทวนให้รอบคอบ รวมทั้งมาตรการการควบคุมบุหรี่ สุรา และการรณรงค์ ต่อต้าน ซึ่งมีความย้อนแย้งกันในภาคปฏิบัติค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ในประเด็นที่ ๔ การตั้งกองทุนช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบ เนื่องจากชาวไร่ ไม่มีหน่วยงานดูแลกำกับโดยตรง ขอให้แบ่งส่วนภาษีที่เก็บจากยาสูบมาเป็นส่วนหนึ่ง ของกองทุนช่วยเหลือชาวยาสูบค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ในประเด็นที่ ๕ การปลูกพืชทดแทน ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความจริงจัง และจริงใจกับชาวไร่ยาสูบ จะให้ปลูกพืชทดแทนก็ไม่ว่า แต่ขอให้มีราคาไม่น้อยกว่า การปลูกยาสูบ ตลอดจนมีการชี้แนะ แนะนำ ในเรื่องการเพาะปลูก การผลิต แล้วก็ การจำหน่าย

    อ่านในการประชุม

  • ทั้งหมดนี้ก็ขอเสนอเพื่อให้เกิดความเข้าใจในข้อมูลเชิงลึก โดยสมาคม ชาวไร่ยาสูบเบอร์เล่ย์ จังหวัดสุโขทัย นายประเสริฐ สงวนทรัพย์ ตลอดจนคณะผู้แทน Turkish Virginia ได้ร่วมปรึกษาแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ขอให้เชิญกระทรวงการคลัง ด้านภาษี ขอให้เชิญกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงยุติธรรม ด้านบุหรี่เถื่อน บุหรี่ไฟฟ้า สารปรุงรส แล้วก็เมนทอล ตลอดจนการยาสูบแห่งประเทศไทย และกระทรวงเกษตรสหกรณ์ในเรื่องของ การปลูกพืชทดแทน และการตั้งกองทุนยาสูบค่ะ ขอเรียนท่านประธานขอให้ดำเนินการครั้งนี้ อย่างจริงจังและจริงใจ โดยคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือยาสูบให้รอดพ้นจากปัญหาวิกฤติต่าง ๆ เสียทีค่ะ ขอบพระคุณมากค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน พรรณสิริ กุลนาถศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย พรรคเพื่อไทย ดิฉันขอเสนอ ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนกรณีสัตว์สงวนก่อความรำคาญและโรคร้าย ไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเร่งรัดให้ช่วยเหลือในการควบคุม การขยายพันธุ์และลดปริมาณด้วยการแก้ไขกฎหมาย ๒ กรณีค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • กรณีที่ ๑ จากเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี โดยนางพัฒสอน ดอนพิมพา ท่านนายกนะคะ ว่ามีนกเอี้ยงนับแสนตัวเกาะสายไฟ หลังคาบ้านเรือน ในตลาด ชุมชน ขับถ่ายสกปรก กลิ่นเหม็น ทัศนะอุจาด ก่อความรำคาญ แล้วก็โรคร้าย ไล่หลายวิธีก็ไม่ไป จนที่สุดได้ใช้คลื่น Ultrasonic และแสงเลเซอร์ ไปแผล็บเดียวเดี๋ยวก็กลับมาใหม่ โดยสัตว์นี้อยู่ใน พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ และกฎกระทรวงที่ห้ามเลี้ยงดู ห้ามคุ้มครอง ห้ามกระทำการค้าต่อสัตว์ และซากสัตว์

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนในกรณีที่ ๒ เป็นสัตว์ในวงตัวเงินตัวทอง ประกอบไปด้วยตัวตะกวด ตุ๊ดตู่ เห่าช้าง แล้วก็ตัวเหี้ย ดัง Slide นะคะ ขณะนี้มีจำนวนมากมายที่อาศัยอยู่ชายป่า พงหญ้า แอ่งน้ำชื้นในสวนสาธารณะ ตลอดจนบุกเข้าชุมชนเมืองแล้วค่ะ ออกมาจับเป็ด ไก่ ลูกสุนัข เป็นอาหาร เกิดความหวาดกลัวแล้วก็อันตราย สัตว์นี้อยู่ใน พ.ร.บ. คุ้มครองสัตว์ป่า แก้ไข พ.ศ. ๒๕๖๒ ห้ามล่า ห้ามค้า ห้ามกระทำต่อตัวและซากสัตว์เช่นเดียวกัน ทั้ง ๒ กรณี ก็ขอเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๑ ให้ทบทวนและแก้ไขกฎหมาย กำหนดห้วงเวลาในการจับ กำจัด หรือเพื่อควบคุม แล้วก็ลดปริมาณตามสมควร

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ ก็คือหาวิธีควบคุมสายพันธุ์และประชากรสัตว์ โดยใช้วงจร ห่วงโซ่อาหารจะได้ไหม ตลอดจนหาวิธีทำให้สัตว์เหล่านี้เป็นหมัน ขอเรียนไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ขอบคุณมากค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน พรรณสิริ กุลนาถศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย พรรคเพื่อไทย ขอนำเรียน ปัญหาท่อประปาแตก น้ำไม่พอใช้ เพื่อเร่งรัดไปยังการประปาส่วนภูมิภาค เขต ๑๐ แก้ปัญหา โดยด่วนค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ทั้งนี้ดิฉันได้รับแจ้งเรื่องจาก นายสุพร จังกียา และประชาชนหลายครัวเรือนในพื้นที่หมู่ ๒ ตำบลบ้านกล้วย อำเภอเมือง จังหวัด สุโขทัย ซึ่งเป็นที่ตั้งของพื้นที่โรงเรียนสุโขทัยวิทยาคม วิทยาลัยสารพัดช่าง วิทยาลัยเทคนิค เป็นพื้นที่ของวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนเทศกาลตลาดบ้าน ๆ ตำบลบ้านกล้วย และที่สำคัญยิ่งพื้นที่แห่งนี้อยู่ห่างจากอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยเพียงแค่ ๗ กิโลเมตร ปัญหาก็คือน้ำประปาไหล ๆ หยุด ๆ ไม่เพียงพอต่อการบริโภคและอุปโภคของประชาชน สาเหตุของปัญหาที่พบก็คือท่อประปาเก่าแล้วก็มีขนาดเล็ก รั่วซึมหลายจุด หนักที่สุดก็คือ บริเวณวัดกำแพงงาม ใต้กำแพงนั้นมีรอยรั่วขนาดใหญ่ทำให้น้ำไหลเจิ่งนองถูกทิ้งเสียเปล่า นานกว่า ๓ เดือนแล้ว ได้รับคำตอบจากการประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดสุโขทัยว่าได้ทดลอง แก้ปัญหาหลายวิธี เช่น ได้ส่งน้ำช้า ๆ ในเวลากลางคืนเพื่อไม่ให้น้ำเจิ่งนอง และในช่วงกลางวัน ก็ส่งน้ำไปมากขึ้น การแก้ปัญหาหลายวิธีก็ยังแก้ไม่ได้ น้ำคงยังไหลรั่วทิ้งเปล่า และประชาชน ก็ไม่เพียงพอต่อการใช้ ทั้งนี้การประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดสุโขทัยได้เสนอไปยังการประปา ส่วนภูมิภาค เขต ๑๐ ๒ โครงการดังนี้ โครงการที่ ๑ ขอให้เปลี่ยนท่อขนาดเล็กและเก่าชำรุด ๔ จุด งบประมาณราว ๑.๗ ล้านบาท และโครงการที่ ๒ ขอให้ปรับเปลี่ยนเส้นทางการวางท่อ ใต้กำแพงของวัดกำแพงงาม และเปลี่ยนท่อขนาดเล็กที่เก่าชำรุดให้เป็นท่อขนาดใหญ่ขึ้น งบประมาณโครงการนี้ราว ๑.๒ ล้านบาท จึงขอเร่งรัดไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ การประปาส่วนภูมิภาค เขต ๑๐ รัฐวิสาหกิจในกำกับของกระทรวงมหาดไทยเร่งแก้ปัญหา ให้กับพี่น้องประชาชนโดยด่วน ขอบคุณมากค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน พรรณสิริ กุลนาถศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย พรรคเพื่อไทยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ดิฉันขอเร่งรัดพัฒนาไปยังกระทรวง คมนาคมจากความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ในการใช้ถนนเส้นทางสู่เมืองมรดกโลก ถนนทางหลวงหมายเลข ๑๒ ระยะทาง ๑๒ กิโลเมตร จากเทศบาลเมืองสุโขทัยธานีไปยัง อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ๒ ประการค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ประการแรก ขอให้ขยายถนนเป็น ๘ ช่องจราจร ด้วยการจราจรหนาแน่นมาก ถนนต่ำแล้วก็คับแคบ พี่น้องคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติได้หลั่งไหลมายังจังหวัดสุโขทัย ใช้ถนนเส้นนี้ ทั้งนี้ในปี ๒๕๖๔ แขวงทางหลวงสุโขทัยได้รับงบประมาณกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ตอนล่าง ๑ จำนวน ๕๐ ล้านบาท ประกาศหาผู้รับจ้างถึง ๓ ครั้ง ไม่มีผู้ยื่นเสนอราคา ต้องยกเลิกโครงการไปอย่างน่าเสียดาย จึงขอเสนอให้ทบทวนโครงการใหม่พร้อมปรับกลไก ในการบริหารจัดการไม่ให้เกิดปัญหาดังที่ผ่านมา

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๒ ปัญหาอุบัติเหตุและไฟฟ้าไม่ส่องสว่างค่ะ ดิฉันได้รับแจ้งจาก ประชาชนด้วย Page Review สุโขทัยว่า บริเวณจุดกลับรถหน้าโรงพยาบาลสุโขทัยเกิดอุบัติเหตุ บ่อยครั้ง เพราะการจราจรหนาแน่นมาก มีสถานศึกษาขนาดใหญ่ถึง ๔ แห่งด้วยกัน ถนนแคบ เป็นช่วงรอยต่อของ ๔ ช่องจราจรไปยัง ๘ ช่องจราจร ผู้ขับขี่ก็มักจะเร่งความเร็ว พบว่ามีสถิติ อุบัติเหตุเฉลี่ยถึง ๑๐-๑๕ ครั้งต่อเดือนในปีที่ผ่านมา และไฟฟ้าไม่ส่องสว่างราว ๑๐๐ กว่าต้น ติด ๆ ดับ ๆ เบื้องต้นดิฉันขอบคุณแขวงทางหลวงสุโขทัยที่ไปแก้ปัญหาไฟฟ้าไม่ส่องสว่าง ได้เรียบร้อยแล้วรวมทั้งสร้างทางม้าลายให้ แต่การแก้ปัญหาก็ยังไม่แล้วเสร็จค่ะ จึงขอเสนอ ให้ติดตั้งไฟจราจรให้บริเวณหน้าโรงพยาบาลสุโขทัย ตลอดจนขอเร่งรัดไปยังกระทรวงคมนาคม ในการที่จะขยายถนนตลอดเส้นทาง ๘ ช่องจราจร เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและเพิ่ม ศักยภาพของถนนท่องเที่ยวสู่เมืองมรดกโลกจังหวัดสุโขทัยด้วย ขอบพระคุณมากค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย พรรคเพื่อไทย ดิฉันขอเสนอญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาการจัดการ ขยะและสิ่งแวดล้อมในเมืองท่องเที่ยว โดยมีสาระสำคัญของญัตติ ดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • ปัญหาขยะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับชุมชน ระดับประเทศ และ ระดับโลก การกำจัดขยะต้นทางที่ไม่ถูกวิธี การนำขยะไปเทกองรวมกันในพื้นที่สาธารณะ แหล่งน้ำ ป่าไม้ ชุมชนพื้นที่เมือง ส่งผลให้เกิดการสะสมและเกิดมลภาวะ เกิดมลพิษมากมาย ที่เรากำลังประสบปัญหาขยะล้นบ่อ แล้วขยะฝังกลบก็ล้นเมือง ทั้งนี้การลอบปล่อยของเสียลง สู่พื้นที่สาธารณะก็เป็นปัญหาที่สำคัญที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวไทยกำลังฟื้นตัว อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปริมาณและขยะเพิ่มขึ้น การรณรงค์ส่งเสริมในเรื่องของการทิ้งขยะให้ถูกวิธีอาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเพียงพอ รัฐบาลจึงควรกำหนดมาตรการและแนวทางที่ชัดเจน ตลอดจนการใช้กฎหมายอย่างครอบคลุม แล้วก็เคร่งครัดต่อไป ในเรื่องของการจัดการขยะแล้วก็สิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามพบว่า ภาคการท่องเที่ยวไทยมีการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่คำนึงถึงการท่องเที่ยว ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขอสไลด์แรกค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนที่เป็น แบบอย่างได้หลากหลายรูปแบบที่ควรจะนำมาศึกษาวิเคราะห์และขยายผลให้ครอบคลุม ทั่วถึงทุกภูมิภาคของไทย ทั้งนี้ในการเสนอญัตติครั้งนี้ ดิฉันได้เสนอตามข้อบังคับ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ ๔๙ โดยจะขอเสนอ ข้อมูลรายละเอียดใน ๕ ประเด็น แล้วก็ ๕ ข้อคิดเห็น ดังนี้ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ในด้านเป้าหมายการท่องเที่ยว แล้วในด้านสถานการณ์ของขยะและ สิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน และในประเด็นของนโยบายการท่องเที่ยวกับการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี การบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมในเมืองท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วม และในประเด็นที่ ๕ ก็คือรูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง ๕ ข้อคิดเห็นในการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการต่อไปค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๑ ในปี ๒๕๖๗ รัฐบาลเราก็มีนโยบายที่จะสร้างรายได้และ เศรษฐกิจที่ดีในด้านของการท่องเที่ยวที่ ๓.๕ ล้านล้านบาท รายได้จากการท่องเที่ยว ภายในประเทศ ๑ ล้านล้านบาท และชาวต่างชาติ ๒.๕ ล้านล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจาก ปี ๒๕๖๖ ที่รายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ตัวเลข ๑.๒ ล้านล้านบาท ในด้านจำนวน นักท่องเที่ยวค่ะ การเพิ่มนักท่องเที่ยวคนไทย เที่ยวไทยนับว่ามีประโยชน์แล้วก็มีคุณค่าเป็น อย่างยิ่ง มาตรการและการสร้างแรงจูงใจ เช่น มาตรการทางภาษี มาตรการในการเปิดแหล่ง ท่องเที่ยวในโอกาสพิเศษต่าง ๆ ให้กับผู้สูงอายุให้กับเด็กแล้วก็เยาวชนนับเป็นนโยบายที่ดี ของประเทศเรา เป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จะเพิ่มที่จำนวน ๔๐ ล้านคน โดยท่านสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ก็ได้แถลงว่า ๓ สัปดาห์แรกของปีนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศไทยถึง ๒ ล้านคน อันดับหนึ่งคือ ประเทศมาเลเซีย ประเทศรัสเซีย ประเทศเกาหลีใต้ และประเทศอินเดียตามลำดับภายใต้ นโยบาย Free Visa และมาตรการทางภาษี มาตรการด่านศุลกากร ทั้งนี้จำนวนนักท่องเที่ยว ต่างชาติก็ได้เพิ่มขึ้นตามนโยบาย คาดว่าน่าจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ ๑๒ ล้านคน ดังนั้น การเตรียมตัวเพื่อเป็นเจ้าบ้านที่ดีและการสร้างเมืองน่าเที่ยวจึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง โดยเฉพาะการจัดการเชิงขยะแล้วก็สิ่งแวดล้อม

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ สถานการณ์ขยะในปัจจุบันที่บอกว่าขยะล้นเมือง ปี ๒๕๖๔ เรามีขยะอยู่ที่ ๒๔.๙๘ ล้านตัน ในปี ๒๕๖๕ เพิ่มขึ้นเป็น ๒๕.๗๐ ล้านตัน คือเพิ่มถึงร้อยละ ๓ การผลิตขยะสะสมที่เกิดขึ้น ๗๐,๔๑๑ ตันต่อวัน พบว่าเป็นขยะจากเศษอาหาร ขยะพลาสติก เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่าง ๆ จะมีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วเราแต่ละ คนผลิตขยะถึง ๑.๐๗ กิโลกรัม ต่อคนทุกวัน ขยะจากแหล่งท่องเที่ยวพบว่าทางทะเล มีปริมาณขยะมากที่สุด โดยเป็นขยะจากบนบกที่พัดหลงส่งลงไปในทะเลถึงร้อยละ ๘๐ ขยะในแหล่งท่องเที่ยวด้านอุทยานแห่งชาติ ในปี ๒๕๖๕ มีปริมาณถึง ๑,๔๖๒.๕๓ ตัน โดยพบว่าเป็นขยะทั่วไปปริมาณมากที่สุด ขยะอินทรีย์ ขยะ Recycle และขยะอันตราย ถึงร้อยละ ๐.๑๓ กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ภายใต้วินัยของการท่องเที่ยว การจัดการขยะ ที่ไม่ถูกต้อง การใช้สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่สลายได้ยากนับเป็นปัญหาอย่างยิ่งของสังคมไทย แล้วก็สังคมโลกในปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลเองคงจะต้องมุ่งมองในความสัมพันธ์ต่างประเทศก็ดี โดยเฉพาะมาตรการภาคอุตสาหกรรมของสหภาพยุโรป กระบวนการผลิต หรือ แปรรูปสินค้า ภาคอุตสาหกรรมใดที่ไม่ผ่านกระบวนการลดโลกร้อน ลดปริมาณคาร์บอน ก็จะถูกคัดแยกออกไปไม่นำเข้าสู่ประเทศ มาตรการเหล่านี้คงส่งผลกระทบถึงประเทศไทย ด้วย โดยเฉพาะการท่องเที่ยวของไทย ทั้งนี้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมของไทยคงจะต้อง ติดตามแล้วก็ศึกษากฎระเบียบมาตรฐานการจัดการเชิงระบบเพื่อให้ไม่มีปัญหาและ ผลกระทบต่อไป ในด้านสิ่งแวดล้อมที่มีพิษ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของอันดับ PM2.5 เราก็ถือว่า เป็นสิ่งแวดล้อมด้านหนึ่งของท่องเที่ยวที่เกิดจากหลายสถานการณ์ มลภาวะอากาศเสีย น้ำเสีย เขม่าควันดำ การปล่อยของเสีย สารประกอบไฮโดรคาร์บอน ก๊าซพิษทั้งหลาย ตลอดจนในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศล้วนเกิดจากปัญหา เริ่มต้นด้านขยะและของเสียต่าง ๆ ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๓ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมกับการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนที่ควรจะ สร้างความตระหนักให้อย่างครอบคลุมแล้วก็ทั่วถึง นโยบายระดับสากลว่าด้วยการท่องเที่ยว อย่างยั่งยืนโดยองค์การท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติได้กำหนดแนวทางไว้ ๑๗ ประการ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงขีดความสามารถของธรรมชาติ การควบคุมปริมาณและ จำนวนท่องเที่ยวในแต่ละห้วงเวลากับการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติทางทะเล ที่พบว่ามีปริมาณขยะมาก การสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวอย่างมีคุณค่าให้คำนึงถึง ภูมิปัญญาในพื้นที่ การใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก การท่องเที่ยวที่สมดุลทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม แล้วก็สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้อนุสัญญาแห่งสหประชาชาติก็ได้ควบคุมในเรื่องของ การปล่อยของเสียแล้วก็ไอระเหยของก๊าซคาร์บอน ซึ่งสามารถที่จะมีการปลูกพืชเพื่อทดแทน คาร์บอนเครดิตได้

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับไทยของเราภายใต้อนุสัญญาแห่งสหประชาชาติเราได้ตอบรับนโยบาย เพื่อการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี การกำจัดปัญหามลพิษ โดยเฉพาะในเรื่องของด้านการท่องเที่ยว การจัดการขยะและคัดแยกขยะในแหล่งท่องเที่ยวโดยมีชุมชนเป็นฐาน เช่น การฝึกให้เด็ก และเยาวชนรักสิ่งแวดล้อม รักนิเวศทางทะเล ทางป่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรจะแฝงฝังไว้ใน ระบบการเรียนรู้และการจัดการในเด็ก เยาวชน และบุคคลทุกเพศทุกวัย การท่องเที่ยว สีเขียวค่ะ Green Tourism ๗ องค์ประกอบของสีเขียวล้วนนำไปสู่การจัดการขยะแล้วก็ สิ่งแวดล้อมที่ดีที่เราควรจะได้สร้างหลักสูตรหรือเทคนิค กระบวนการ วิธีการอย่างแพร่หลาย ต่อไป ขอชื่นชมไปยังการจัดการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่ดี ๆ ในหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานในส่วนของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานภาคเอกชน ภาคประชาชนที่ดำเนินการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๔ การบริหารจัดการ ขยะและการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีของ เมืองไทยเราก็มีให้ชื่นชมอย่างมากมาย โดยเฉพาะความเชื่อมโยงของการจัดการซึ่งดิฉันจะ มองเป็น ๒ ส่วน

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนแรก การจัดการขยะโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้มแข็งสู่จังหวัด สะอาด ในฐานะที่ดิฉันเคยเป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การบริหารส่วน จังหวัดสุโขทัย ๓ พี่น้องท้องถิ่นเราร่วมมือร่วมใจกันในการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ การจัดการขยะทั้งเรื่องของการสร้างเตาเผา บ่อกลบ แล้วก็ในเรื่องของการขนย้ายขยะ ๓ พี่น้องท้องถิ่นต้องบูรณาการกันแล้วจัดการอย่างมีส่วนร่วม นำไปสู่ทุกพื้นที่ของจังหวัดเป็น จังหวัดสะอาด อันนี้ก็เป็นการต่อยอดในแต่ละภาคส่วนในพื้นที่ จากการที่บอกว่าองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นเข้มแข็งสู่จังหวัดสะอาด อย่างไรก็ตามการจัดการขยะไม่ว่าจะเป็นขยะ มูลฝอยหรือปัญหาขยะมลพิษก็ยังมีระเบียบและกฎหมายหลายประการที่ยังเป็นปัญหาแล้วก็ อุปสรรคที่ควรจะได้ปรับปรุงและแก้ไขโดยกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมน่าจะเป็นเจ้าภาพหลักในเรื่องนี้

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนที่ ๒ ในความเชื่อมโยง ดิฉันมองว่าการจัดการขยะและการจัดการ สิ่งแวดล้อมที่ดีจะก่อให้เกิดเมืองน่าอยู่ เมืองน่าเที่ยว เมืองน่าอยู่ เมืองน่าเที่ยว ดิฉันหมาย มองไปถึงตัวแหล่งท่องเที่ยว สถานประกอบการ พื้นที่อำนวยการ พื้นที่สาธารณะ ตลาด ถนน แล้วก็องค์ประกอบที่อยู่ในชุมชน ในท้องถิ่น ในบริบทของการท่องเที่ยว รวมทั้ง กิจกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งเทศกาลต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ควรจะมีบริบทของความสัมพันธ์อันดี และเชื่อมโยงไปสู่การจัดการร่วมกันอย่างเป็นระบบค่ะ ทั้งนี้เมืองน่าอยู่ก็จะเป็นเรื่องของ เจ้าบ้านที่ดี แล้วก็เมืองน่าเที่ยวยินดีต้อนรับผู้มาเยือนด้วยสิ่งแวดล้อมที่ดี น่าอยู่ น่าเที่ยว

    อ่านในการประชุม

  • อย่างไรก็ตาม ในประเด็นที่ ๕ รูปแบบการจัดการท่องเที่ยวที่ดีในประเทศไทย มีหลายพื้นที่ การเรียนรู้ร่วมกันเพื่อจะให้เติบโตโดยที่ไม่ต้องนับหนึ่งใหม่ นั่นก็คือการศึกษา ต้นแบบที่มีความพร้อม อาทิเช่น ที่จังหวัดเพชรบุรีชุมชนบ้านถ้ำเสือ แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ เชิงขุนเขา การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถเป็นต้นแบบได้ค่ะ จังหวัดนครปฐม สวนส้มโอแหล่งท่องเที่ยวเกษตรอินทรีย์ ที่ชวนพายเรือลุยสวนเก็บส้มสดใหม่ พร้อมมี รูปแบบการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กแล้วก็เยาวชน ก็ขอชื่นชม ณ ที่นี้ค่ะ จังหวัดตราดเกาะ Low Carbon แห่งแรกของประเทศไทยภายใต้ Green Destination TOP 100 ขององค์การ พัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับจังหวัดสุโขทัย ตำบลเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย เราได้รับการคัดเลือกให้เป็น Green Destination TOP 100 ในแต่ละ ๑ ปี ก็เลือกไว้ ๑๐๐ แห่ง เพราะฉะนั้นตรงนี้ค่ะดิฉันมองว่าจะเป็นรูปแบบที่ดีที่จะทำให้เกิด การท่องเที่ยวแบบ Low Carbon ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยได้ในหลาย ๆ พื้นที่อย่างหลากหลาย

    อ่านในการประชุม

  • ในประเด็นท้ายสุดของข้อเสนอแนะ อย่างไรก็ตามปริมาณนักท่องเที่ยว ที่เพิ่มขึ้น กระแสของการสร้างเศรษฐกิจและรายได้กับการควบคู่กันไปกับการจัดการขยะ และสิ่งแวดล้อมที่ดีเราทำได้ร่วมกัน โดยดิฉันมีข้อเสนอแนะสำหรับคณะกรรมาธิการที่จะ พิจารณาศึกษาใน ๕ ประการ

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๑ ขอให้ศึกษาระเบียบกฎหมายแผนนโยบายที่เกี่ยวข้องของ ต่างประเทศของประเทศไทยที่เชื่อมโยงกัน เพื่อกำหนดมาตรการและแนวทางที่ชัดเจน ตลอดจนการใช้กฎหมายอย่างครอบคลุม เพื่อการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมในเมือง ท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๒ การบริหารจัดการเชิงระบบ โดยเฉพาะแผนงบประมาณแบบ บูรณาการด้านการท่องเที่ยวมีงบประมาณอยู่ที่ ๗,๓๙๔.๓ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๓.๔๔ โดยกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาเป็นเจ้าภาพหลัก ดิฉันว่าสามารถบูรณาการกันได้ทั้งใน ส่วนกลาง ในส่วนภูมิภาค และในพื้นที่ปฏิบัติการก็จะเป็นประโยชน์มากค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๓ ขอให้ศึกษาการขยายผลเชิงพื้นที่ที่เป็นต้นแบบการจัดการ สิ่งแวดล้อม การจัดการขยะที่ดีเด่น ซึ่งมีทั้งในส่วนของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยการท่องเที่ยวชุมชนและในหลาย ๆ ภาคส่วน โดยเฉพาะ ภาคส่วนที่มีภาคประชาชนและเอกชนเป็นแกนหลักทำได้ดีมากในหลายพื้นที่ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๔ ขอให้พิจารณาศึกษากิจกรรมต้นแบบและรูปแบบการท่องเที่ยว ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีมากมายเช่นเดียวกันค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ประการท้ายที่สุดนี้สำคัญมากเลยค่ะ เพื่อให้การท่องเที่ยวไทย การจัดการ สิ่งแวดล้อมที่ดีของเมืองไทยของเราแข่งขันได้ในเวทีโลก เรื่องของตัวชี้วัด เรื่องของการสร้าง มาตรฐาน แล้วก็เมืองท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานตัวชี้วัดในระดับสากล ดิฉันเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ จะเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน และมั่นใจว่าเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎร จะเห็นด้วยกับดิฉัน และเพื่อนที่เสนอญัตติในครั้งนี้ที่จะร่วมกันพิจารณาศึกษา การจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมที่ดีในเมืองท่องเที่ยว เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป ขอบคุณมากค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน พรรณสิริ กุลนาถศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย พรรคเพื่อไทย ดิฉัน ได้เป็นผู้ร่วมเสนอญัตตินะคะ โดยเน้นประเด็นการพิจารณาศึกษาด้านกำจัดขยะ และสิ่งแวดล้อมในเมืองท่องเที่ยว ในเบื้องต้นดิฉันขอบคุณเพื่อนสมาชิกพรรคเพื่อไทยค่ะ ที่เราเห็นประเด็นปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ และเราร่วมเสนอญัตติด้วยกัน โดยประเด็นที่ เห็นพ้องต้องกันนี้เพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ร่วมแสดงความเห็นเป็นจำนวนมาก ถึง ๕๖ ท่านด้วยกัน รวมทั้งผู้เสนอญัตติอีก ๕ ท่าน รวมเป็น ๖๑ ท่าน ถือว่ามีปริมาณ มากมายเป็นประวัติการณ์ทีเดียว รวมทั้งในวันนี้เป็นวันท้ายสุดของสัปดาห์ ที่มีการเปิดสภา เพื่ออภิปรายแล้วก็แสดงความเห็นร่วมกัน นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อพี่น้องประชาชน และกระบวนการจัดการบริหาร เพื่อให้เกิดการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะด้วย สถานการณ์ปัญหาของขยะที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ที่ส่งผลกระทบทั้งต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพของพี่น้องประชาชน น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่งค่ะ ในส่วนของการอภิปรายแสดง ความคิดเห็นในมิติต่าง ๆ อย่างมากมาย โดยเฉพาะขอชื่นชมไปยังในส่วนของสำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้วยที่บูรณาการทั้ง ๕ ญัตติ แล้วก็วิเคราะห์ข้อมูล ประเด็นเชิงลึกได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ทำให้การอภิปรายในครั้งนี้มีความสมบูรณ์แบบ ที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาได้ทั้งในระดับนโยบาย และหลายท่านได้ให้ ความเห็นในด้านของการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ได้มีส่วนในการ รับผิดชอบและดำเนินการด้วยตนเองมากขึ้น ทั้งนี้รวมทั้งในการกระจายด้านงบประมาณ การบริหารอย่างบูรณาการในเชิงพื้นที่ รวมทั้งการมีส่วนร่วมของภาครัฐแล้วก็เอกชน ทั้งในส่วนของการจัดการต้นทาง ระหว่างทาง และท้ายที่สุดในเรื่องของขยะหมุนเวียน หรือการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นแล้วก็ลดปัญหาสภาพแวดล้อมให้น้อยลง ทั้งหมดนี้ดิฉันเห็นว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะนำไปสู่การพิจารณาในขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ ดิฉันก็ไม่ติดขัดอะไรทั้งในกรณีที่จะตั้งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญหรือในกรณีที่เราจะส่งไป ในคณะกรรมาธิการสามัญคณะต่าง ๆ อย่างไรก็ตามในส่วนของประเด็นการท่องเที่ยวในด้าน ของการแก้ปัญหาขยะแล้วก็เรื่องของสิ่งแวดล้อมนี้ ดังที่ดิฉันได้เสนอไปแล้ว ดิฉันขอฝาก ในเรื่องของ ๕ ข้อคิดเห็นเสนอแนะที่จะบูรณาการเข้าไปในการพิจารณาศึกษา และท้ายที่สุด ก็หวังว่าพี่น้องประชาชนจะได้รับประโยชน์ในเรื่องของการจัดการตรงนี้ และเห็นเป็นประเด็น พ้องต้องกัน ก็ขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งในทุกภาคส่วน ก็ขอบคุณมากค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน พรรณสิริ กุลนาถศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย พรรคเพื่อไทย ดิฉันขอเสนอ ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนกรณีอุบัติเหตุทางหลวงหมายเลข ๑๐๑ ไปยังกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคมค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานคะ ถนนทางหลวง หมายเลข ๑๐๑เป็นเส้นทางพาดผ่านกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ จากจังหวัด กำแพงเพชรไปยังจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดอุตรดิตถ์ ระยะทาง ๑๘๐ กิโลเมตร เป็นเส้นทาง ที่สำคัญและขนส่งสินค้า ในช่วงจังหวัดสุโขทัยตอนควบคุม ๐๓๐๓ ท่าช้างไปยังอำเภอ สวรรคโลก บริเวณหมู่ที่ ๔ เชื่อมหมู่ที่ ๑๔ บ้านหนองกระดี่ ตำบลเกาะตาเลี้ยง อำเภอ ศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย ระหว่างกิโลเมตรที่ ๙๔+๗๘๔ ถึงกิโลเมตรที่ ๙๕+๖๔๓ ความยาว ประมาณ ๑ กิโลเมตร เป็นช่องทาง ๒ ช่องทางจราจรมีสภาพชำรุดทรุดโทรมเป็นหลุมเป็นบ่อ ถนนโค้งคับแคบเกิดอันตรายบ่อยครั้ง ทั้งนี้ นายมิน โพธิ์แก้ว นายกองค์การบริหารส่วน ตำบลเกาะตาเลี้ยงแจ้งว่ามีอุบัติเหตุไม่น้อยกว่า ๕ ครั้งต่อเดือน จากการใช้รถใช้ถนน ยานพาหนะ ทั้งจักรยานยนต์ รถยนต์นั่ง รถบรรทุก ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตแล้วก็ ทรัพย์สินของประชาชนค่ะ ในเบื้องต้นแขวงทางหลวงสุโขทัยได้จัดทำแผนงานโครงการ ขอขยายช่องทางจราจรจาก ๒ ช่องทางเป็น ๔ ช่องทางจราจร พร้อมสัญญาณไฟจราจร และระบบไฟฟ้าส่องสว่างไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ใช้วงเงินงบประมาณราว ๔๕ ล้านบาท ในการนี้ดิฉันขอเร่งรัดไปยังกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ได้เร่งรัดดำเนินการเพื่อ พิจารณาอนุมัติ แล้วก็แจ้งไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ให้ดำเนินการเพื่อความปลอดภัยของพี่น้อง ประชาชนให้แล้วเสร็จโดยเร็วค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน พรรณสิริ กุลนาถศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย พรรคเพื่อไทยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ดิฉันขอเสนอญัตติให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งนี้โดยมีเป้าประสงค์ให้เกิดการพัฒนาและกระจายการเติบโต ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมไปยังกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดตาก จังหวัดสุโขทัย จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ ทั้งนี้ เนื่องมาจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ๒๕๖๔ ได้กำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษไว้ ๔ ภูมิภาค โดยมีคณะกรรมการนโยบายการพัฒนา เขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้กำหนดแนวทางสิทธิประโยชน์ และการส่งเสริมการลงทุนภูมิภาคละ ๑ พื้นที่ โดยภูมิภาคละ ๔ จังหวัดเท่านั้นที่เข้าโครงการ ในส่วนของภาคเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูนและจังหวัดลำปาง ในลักษณะของ Creative LANNA เกือบ ๒ ปีมาแล้วค่ะก็ยังไม่ปรากฏความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรม ตลอดจนได้มี อำนาจของคณะกรรมการบริหารกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการให้ขับเคลื่อน ๑๘ กลุ่มจังหวัด ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็ยังไม่พบแนวดำเนินการที่ชัดเจนค่ะ ดิฉันจึงขอเสนอพื้นที่นำร่อง ที่มีศักยภาพ มีความพร้อมในระดับหนึ่งนะคะ นั่นก็คือกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ เนื่องด้วยกลุ่มจังหวัดนี้ได้ร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจในลักษณะของระเบียงเศรษฐกิจร่วมกันมา ตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ โดยมีภาคเอกชนประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรม หอการค้า สภาท่องเที่ยว โดยมี มหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นภาควิชาการให้ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนรัฐบาล แล้วก็ในส่วนของ ภูมิภาคก็สนับสนุนเป็นครั้งคราว ยังไม่มีความชัดเจน แต่มีความก้าวหน้าเชิงพื้นที่ในระดับ หนึ่งที่น่าพอใจ อีกทั้ง ๕ จังหวัดกลุ่มภาคเหนือตอนล่าง ๑ ได้สร้างความสัมพันธ์อันดี กับประเทศเพื่อนบ้านคือ เมียนมาและ สปป. ลาว เป็นผู้นำก่อตั้งระเบียงเศรษฐกิจ ๓ ประเทศที่ชื่อว่า LIMEC ร่วมกันในปี ๒๕๕๘ บังเกิดผลที่น่าพึงพอใจหลายประการ ท่ามกลางปัญหาและอุปสรรคมากมายค่ะ อีกทั้งมีข้อเสนอเชิงพื้นที่อีกหลายประการ เช่น ขอให้มีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาภาคเกษตรและอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว อีกทั้งขอให้มีระบบอำนวยการด้านการค้า การลงทุนที่ชายแดน ในด้านการ ต่างประเทศ และที่สำคัญยิ่งก็คือในเรื่องของระเบียบและกฎหมายต่าง ๆ ค่ะ ดิฉันจึงเสนอ เพื่อให้ตั้งกรรมาธิการเพื่อพิจารณาหาแนวทางการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ อย่างเหมาะสมในทุกมิติของการพัฒนา เพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้มาต่อยอด การดำเนินการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว อีกทั้งที่รัฐบาลจะได้ส่งเสริม สิทธิประโยชน์และการลงทุน ตลอดจนต่อยอดการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศ เพื่อนบ้านต่อไป โดยมุ่งหวังว่าน่าจะมีกฎหมายสักฉบับหนึ่งที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่าง เป็นระบบ อีกทั้งจะเป็นต้นแบบของการพัฒนาทุกกลุ่มจังหวัดทั้ง ๑๘ กลุ่มต่อไปค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานคะ ดิฉันขอเสนอข้อมูลเพื่อนำไปสู่การอภิปรายร่วมกัน ๕ ประเด็นค่ะ ในประเด็นที่ ๑ จะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ตอนล่าง ๑ ในประเด็นที่ ๒ เครือข่ายการคมนาคมและ Logistics ประเด็นที่ ๓ คือเครือข่ายความเชื่อมโยงของเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน ประเด็นที่ ๔ การขับเคลื่อน ระเบียงเศรษฐกิจ ๓ ประเทศ กลุ่ม LIMEC และประเด็นที่ ๕ จะเป็นข้อเสนอการพัฒนา เชิงพื้นที่ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑

    อ่านในการประชุม

  • ในประเด็นที่ ๑ นี้กลุ่มภาคเหนือตอนล่าง ๑ ประกอบด้วย ๕ จังหวัดด้วยกัน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว มีประชากรรวมกัน ๓.๓๒ ล้านคน มีพื้นที่ราว ๕๔,๓๐๐ ตารางกิโลเมตร พื้นที่ป่าไม้ร้อยละ ๔๙.๓๕ เป็นพื้นที่เกษตรกรรมร้อยละ ๓๑.๘๙ เรามีแหล่งท่องเที่ยวรวมกัน ถึง ๓๕๓ แห่งด้วยกัน จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ อยู่ที่ ๘.๘๙ ล้านคนต่อปี ในกลุ่มจังหวัดของเรามีเป้าหมายในการพัฒนาร่วมกันคือจะเร่งรัด พัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ในการเติบโตทางเศรษฐกิจและ รายได้นั้นเรามุ่งเน้นในเรื่องของการเกษตรกรรม การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว โดย ๕ จังหวัดมีศักยภาพเชิงพื้นที่ที่โดดเด่นค่ะ จังหวัดอุตรดิตถ์เป็นเมืองชายแดนที่มีด่านภูดู่ เชื่อมโยงกับ สปป. ลาว เป็นพื้นที่ที่มีสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้าน สินค้าเกษตรกรรม ผลไม้ ทุเรียน สับปะรด ลองกอง มะม่วงหิมพานต์ที่ขึ้นชื่อ จังหวัดตากค่ะ เขตเศรษฐกิจพิเศษ ชายแดนที่มีมูลค่าการค้าการลงทุนอยู่มากพอสมควร ด่านแม่สอดตลอดจนแหล่งท่องเที่ยว ทางธรรมชาติที่น่าสนใจ สำหรับจังหวัดสุโขทัยเป็นเมือง ๓ มรดกโลก ไม่ว่าจะเป็นเมือง ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม เมืองมรดกโลกในเรื่องของศิลาจารึก และมรดกโลกในเรื่องของ เทศกาลโลกเมืองสร้างสรรค์ Creative and Folk Art จาก UNESCO ตลอดจนมี ศิลปหัตถกรรมในเรื่องของเครื่องทอ เครื่องเงิน เครื่องทอง สังคโลก สินค้าเกษตร ผลไม้ ใบตอง ซึ่งส่งไปยังยุโรปและในส่วนของภาคพื้นเอเชียมากมาย จังหวัดพิษณุโลกสำคัญมากค่ะ เป็นศูนย์การค้า การลงทุน การขนส่งสินค้า การท่องเที่ยว ศูนย์การศึกษาของภาคเหนือ ตอนล่าง และที่สำคัญยิ่งเป็นศูนย์การประชุมและนิทรรศการที่จะนำมาซึ่งเศรษฐกิจ แล้วรายได้ให้กับภาคเหนือตอนล่างหนึ่ง ตลอดจนทั้งภูมิภาคของภาคเหนือค่ะ นั่นคือ ในลักษณะของการประชุมแบบ MICE จังหวัดเพชรบูรณ์ได้รับการคัดเลือกจาก UNESCO ในปีที่ผ่านมาอย่างน่าภาคภูมิใจ นั่นคือมรดกโลกศรีเทพ มีสินค้าเกษตร การท่องเที่ยว ทางธรรมชาติ และแหล่งที่น่ารื่นรมย์หลายพื้นที่ด้วยกัน รวมทั้งเป้าหมายเชิงพื้นที่กับการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ ด้าน Logistics อีกทั้งความพร้อมด้านวัตถุดิบของกลุ่มจังหวัด ภาคเหนือตอนล่าง ในการที่จะร่วมกันขับเคลื่อนเชิงนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต มูลค่าวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ทิศทางของการผลิต Ethanol พลังงานไฟฟ้า ชีวมวล ตลอดจนพลาสติกชีวภาพในอนาคตค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับประเด็นที่ ๒ ดิฉันจะขอกล่าวถึงเรื่องของการคมนาคมและ Logistics เป็นเส้นทางที่พาดผ่านกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ที่สำคัญหลายเส้นทาง เส้นทางแรก เส้นทางเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ North-South Economic Corridor ข้ามผ่านจีน ลาว ไทย ระยะทาง ๑,๘๐๐ กิโลเมตร และผ่านพื้นที่ในประเทศไทยถึง ๑๓ จังหวัดด้วยกัน ผ่านกลุ่ม จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ ที่จังหวัดสุโขทัย จังหวัดพิษณุโลก รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งค่ะ เส้นทางที่ ๒ เส้นทางเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก East-West Economic Corridor เมียนมา ไทย ลาว เวียดนาม ระยะทาง ๑,๔๕๐ กิโลเมตร ผ่านประเทศไทย ๗ จังหวัดด้วยกันค่ะ คือ จังหวัดตาก จังหวัดสุโขทัย จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ แล้วก็อีกส่วนหนึ่งเส้นทางใหม่ระเบียงเศรษฐกิจเชียงใหม่และเวียงจันทน์ CV Economic Corridor จังหวัดเชียงใหม่ไปยัง สปป. ลาว ระยะทาง ๓๘๕ กิโลเมตร ผ่านประเทศไทยเรา ๕ จังหวัด คือ จังหวัดลำพูน จังหวัดลำปาง จังหวัดแพร่ จังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดใกล้เคียง สำหรับโครงข่ายทางถนนที่มีความพร้อมในระดับหนึ่ง เช่น ถนน R2 ที่พาดผ่านเมียนมา R3E ไทย ลาว แล้วก็จีนตอนใต้ R3W เมียนมา ไทย จีนตอนใต้ ในด้าน โครงข่าย Logistics สี่แยกอินโดจีนจุดตัดของทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๑๑ และหมายเลข ๑๒ ถนนเลี่ยงเมืองจังหวัดพิษณุโลกมีมูลค่าของการค้าการขนส่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง อันดับที่ ๖ โครงข่ายทางรางก็มีความพร้อมในระดับหนึ่งซึ่งจะต้องขอรับการส่งเสริมต่อไป โครงข่ายทางอากาศมีสนามบินสำหรับการเดินทางและการพาณิชย์ ๕ แห่ง มีเส้นทาง คมนาคมเชื่อมในพื้นที่ของกลุ่มจังหวัดทางหลวง หมายเลข ๑๐๑ จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัด สุโขทัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ยังต้องปรับปรุงอีกมาก ทางหลวง หมายเลข ๑๐๒ ของจังหวัด สุโขทัย จังหวัดอุตรดิตถ์ และทางหลวงหมายเลข ๑๒ ผ่านจังหวัดตาก จังหวัดสุโขทัย จังหวัด พิษณุโลก ซึ่งถือว่าค่อนข้างดีค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับประเด็นที่ ๓ ดิฉันขอฉายภาพให้เห็นเครือข่ายความเชื่อมโยง ทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ดิฉันขอเสนอ ๓ กลุ่มเศรษฐกิจที่สำคัญ กลุ่มที่ ๑ กลุ่มความร่วมมือที่เรียกว่า ระเบียงเศรษฐกิจ ๓ ประเทศ ระเบียงเศรษฐกิจ ๓ ประเทศ หรือกล่าวได้ว่า Luangprabang Indochina Mawlamyine Economic Corridor ประกอบด้วย สปป. ลาว ในส่วนของ ๒ แขวง ได้แก่ แขวงหลวงพระบางและแขวงไชยะบุรี ในส่วนของอินโดจีน-ไชน่า นั่นคือประเทศไทย ๕ กลุ่ม จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ และในส่วนของเมาะลำไย หรือเมียนมาก็หมายถึงรัฐมอญ ก็มีเมืองเมาะลำไย และในส่วนของรัฐกะเหรี่ยงเมียวดีค่ะ ทั้งหมดนี้เกิดความร่วมมือ จากภาคเหนือตอนล่าง ๑ เป็นแกนนำทั้งสิ้น ทำให้เกิดความร่วมมือร่วมกันในการเชื่อม การค้า การลงทุนและเครือข่ายพันธมิตรทางการค้าที่ร่วมตกลงกันตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ โดย สปป. ลาว จาก ๒ แหล่งพื้นที่นั้นแขวงหลวงพระบางมีเมืองมรดกโลก มีรถไฟ ความเร็วสูง มีสนามบินนานาชาติ แขวงไชยะบุรี ด่านภูดู่ที่เชื่อมกับจังหวัดอุตรดิตถ์ มายังจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดน่าน แล้วก็พะเยา ก็มีมูลค่าการค้าการลงทุนด่านนี้ถึง ๒,๓๗๐ ล้านบาท ในปี ๒๕๖๕ ทั้งประชากรและความร่วมมือร่วมใจเชิงพื้นที่ ถือว่าขณะนี้ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ ได้เปิดพื้นที่ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในลักษณะ ของ LIMEC อย่างมีศักยภาพค่ะ อีกประเทศหนึ่งก็คือในส่วนของเมียนมา มีรัฐมอญ เมาะ ลำไย หรือรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งมีการท่องเที่ยวสินค้าเกษตร เมืองชายแดนแม่สอด มีมูลค่าการค้า การลงทุนอยู่ที่ ๒.๒๔ แสนล้านบาท ในปี ๒๕๖๕ นี่คือกรอบของความร่วมมือระเบียง เศรษฐกิจ ๓ ประเทศ ที่เป็นพื้นที่ที่สำคัญโดยมีภาคเหนือตอนล่าง ๑ ของเราเป็นแกนนำ กรอบความร่วมมือที่ ๒ ว่าด้วยเศรษฐกิจ ๓ ลุ่มน้ำหรือ ACMECS แม่น้ำอิรวดี เจ้าพระยา แม่น้ำโขง ๕ ประเทศด้วยกัน นั่นก็คือเมียนมา ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม เรามีข้อตกลง ความร่วมมือในภาคเกษตรกรรมในภาคการท่องเที่ยวที่เรียกว่า Five Countries One Destination หรือ Single ViSA การเชื่อมโยงการคมนาคมโครงสร้างพื้นฐาน การยกระดับ ทางหลวงหมายเลข ๑๒ และการสร้างสะพานเชื่อมน้ำโขง ในส่วน สปป. ลาว แล้วก็ East-West Economic Corridor ที่เชื่อมกัน จนเกิดปฏิญญากรุงฮานอยว่าด้วยการพัฒนา เศรษฐกิจของภูมิภาคควบคู่กับการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม SDGs อีก ๑ พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจกลุ่มอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง GMS Greater Mekong Subregion ๖ ประเทศ โดยเพิ่มในส่วนของจีนตอนใต้อีก ๑ พื้นที่ นี่คือกรอบความร่วมมือ ทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่พาดผ่านกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่างอย่างน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

    อ่านในการประชุม

  • ในประเด็นที่ ๔ ดิฉันขอเสนอความสัมพันธ์อันดีเยี่ยมที่เกิดขึ้นในส่วนของ กลุ่มระเบียงเศรษฐกิจ ๓ ประเภท หรือ LIMEC ซึ่งเรามีเป้าหมายร่วมกันว่าเชื่อมการค้า การลงทุน และเครือข่ายพันธมิตรทางการค้าค่ะ การเติบโตเริ่มขับเคลื่อนในประเทศไทย ๕ จังหวัด ๕ เวที ในเวทีแรกก็คือที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เรามีเป้าหมายสำคัญว่า ภูดู่ประตู มิตรภาพและโอกาส เกิดรูปแบบเวทีของความร่วมมือ มีการทำข้อตกลงความร่วมมือ ๓ ประเทศ มีเวทีเสวนาวิชาการ การสัมมนาภาคท่องเที่ยว ประสบการณ์ตรงกับการตลาด MICE ขอภาคเหนือตอนล่าง ๑ การเปิดตลาดคู่ค้า Saller Buyer การพบผู้ประกอบการ โดยมุ่งเน้นภาคเกษตรกรรม แล้วก็อุตสาหกรรม ซึ่งในครั้งนั้นดิฉันดำรงตำแหน่ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย ก็ได้ดำเนินการขับเคลื่อนโดยมีภาคเอกชนเป็นแกนนำ เกิดความสัมพันธ์อันดีต่อกัน เปิดเวทีได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจในปี ๒๕๕๘ เวทีที่ ๒ ก็เป็นเวที ที่ขับเคลื่อนมาอย่างจังหวัดสุโขทัย ในเป้าหมายและหลักการว่ามรดกโลกประตูสู่ การท่องเที่ยวและโอกาส เวทีที่ ๒ นี้ในปี ๒๕๕๙ สามารถเชื่อมโยงเพื่อการเดินทาง ๓ ประเทศ เชื่อมการท่องเที่ยว การค้า การศึกษาและเชื่อมไปยังจังหวัดพิษณุโลกในเรื่องของ Logistics มีภาครัฐเข้ามาร่วมมือในลักษณะของมหาชนหลายโครงการหลายกิจกรรมด้วยกัน และในครั้งนั้นดิฉันได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยไปประชุมว่าด้วยเรื่องของ UNESCO มรดกโลกในอาเซียน ๒๒ แห่งที่ประเทศเวียดนาม และเราก็มีข้อตกลงปฏิญญาร่วมกันว่า สุโขทัยจะเป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวมรดกโลกในอาเซียน ซึ่ง ณ วันนี้เราจะต้องบวก อีก ๑ พื้นที่ นั่นก็คือพื้นที่ของจังหวัดเพชรบูรณ์ มรดกโลกศรีเทพ ในเวทีที่ ๓ ของการ ขับเคลื่อน LIMEC

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานที่เคารพค่ะ ในส่วนของพรรคเพื่อไทยได้มีความเห็นร่วมกันว่าดิฉันจะเสนอเป็นภาพรวมส่วนใหญ่ แล้วเพื่อนสมาชิกจะได้อภิปรายร่วม ดิฉันเลยขอเวลาไว้ ๒๕ นาที กราบเรียนท่านประธานค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ขอบพระคุณค่ะ เวทีที่ ๓ ที่จังหวัด เพชรบูรณ์ในปี ๒๕๖๐ The 3rd Gateway of LIMEC ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์เชิง สิ่งแวดล้อมและการอยู่ดีกินดีของประเทศมิตรเพื่อนบ้าน ๓ ประเทศด้วยกันค่ะ เวทีที่ ๔ ที่จังหวัดพิษณุโลก LIMEC Connectivity ว่าด้วยเรื่องของการกำหนดกลยุทธ์และแผนงาน หลักระเบียงเศรษฐกิจ LIMEC ที่เกิดขึ้นในภาคการศึกษาและ Logistics ของประเทศไทย เวทีที่ ๕ LIMEC Borderless ว่าด้วยเรื่องของการไร้พรหมแดน เป็นการประชุมที่จังหวัดตาก มีการขับเคลื่อนของ Digital Platform LIMEC Mart ว่าด้วยเรื่องของระบบสินค้าและบริการ Business VISA และ LIMEC Pass ว่าด้วยการค้าขายและการเจรจาสินค้าที่สำคัญ ก้าวแห่ง ความสำคัญและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับกลุ่ม LIMEC ก็คือเมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๑ คณะประชุม ครม. สัญจรที่จังหวัดเพชรบูรณ์มีการขับเคลื่อน โดยมีมติของ ครม. ให้ LIMEC เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการพัฒนา กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจ ๓ ประเทศ และเชื่อมโยงไปยังกลุ่ม ACMECS ในการนี้ได้มอบหมายให้กระทรวง การต่างประเทศเป็นผู้รับผิดชอบ ก้าวต่อไปที่ส่งผลที่เกิดขึ้นจากการประชุม ๕ ปี ๕ เวที LIMEC ก็มีการไปประชุมที่เมาะลำไย รัฐมอญ ตลอดจนที่แขวงหลวงพระบางของ สปป. ลาว และที่แขวงไชยะบุรี มูลค่าของความร่วมมือในการประชุม LIMEC นั้นมีมูลค่าเกิดขึ้นอยู่ที่ลาว ๒,๘๐๐ ล้านบาท จำนวนคู่ค้าที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน ๘๕ คู่ค้า และที่จังหวัดเพชรบูรณ์มีมูลค่า ของคู่ค้าที่ตกลงในเวทีสูงถึง ๕๒๐ ล้านบาท

    อ่านในการประชุม

  • ในประเด็นท้ายสุดที่ดิฉันจะได้แสดงความเห็นในจุดตรงนี้ ดิฉันเห็นว่าพื้นที่ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่า ๑ แม้นว่าขณะนี้ยังไม่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นพื้นที่ระเบียง เศรษฐกิจพิเศษ แต่พื้นที่มีศักยภาพและความพร้อมในเรื่องของบุคลากร ในเรื่องของการทำ ภารกิจร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งภายในจังหวัดเองและในส่วนของการสร้างความสัมพันธ์อันดี กับประเทศเพื่อนบ้าน ดิฉันจึงเห็นว่าสมควรที่รัฐบาลหรือทุกภาคส่วนจะได้ร่วมลงทุนกับ พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ๑

    อ่านในการประชุม

  • อย่างไรก็ดีพื้นที่เองกับความตั้งอกตั้งใจตลอดจนภาคการวิจัยของ มหาวิทยาลัยนเรศวร เรามีเป้าหมายร่วมกันว่าขอรับการสนับสนุนในเรื่องของโครงสร้าง พื้นฐาน การพัฒนาการศึกษา การเกษตรกรรม ศูนย์การแพทย์ Medical Hub ศูนย์การ ประชุมและนิทรรศการ ตลอดจนการบริการเชิงการท่องเที่ยวและการพัฒนานวัตกรรมของ ผู้ประกอบการ SMEs แล้วก็ Soft Power ตลอดจนในเรื่องของพื้นที่ความสัมพันธ์อันดี ความเชื่อมโยงของเครือข่ายระบบขนส่งทางราง ความเชื่อมโยงไปยังเมียนมาและ สปป. ลาว ตลอดจนการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติพิษณุโลก ท่าอากาศยานเพชรบูรณ์ให้เต็ม ศักยภาพค่ะ ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมการเกษตรเพิ่มมูลค่าและศูนย์รวบรวม และกระจายสินค้าก็เป็นเรื่องที่ควรได้รับการส่งเสริมและสนับสนุน โดยคาดว่าน่าจะมี ศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลกค่ะ การส่งเสริม One Stop Service กับการค้าชายแดน ที่ด่านแม่สอดและด่านภูดู่ สำหรับด่านภูดู่ขณะนี้ซบเซาไปมาก ยังไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ในส่วนของศูนย์กลางการท่องเที่ยวเมืองประวัติศาสตร์วัฒนธรรมสุโขทัยควรได้รับ การส่งเสริมแล้วก็พัฒนา และเมืองท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ตลอดจนประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ของจังหวัดเพชรบูรณ์ก็เช่นเดียวกัน ที่สุดของข้อเสนอเชิงพื้นที่และงานวิจัยทั้งปวง อยากได้ขอให้มีในเรื่องของระเบียบแล้วก็กฎหมาย โดยเฉพาะการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติ เขตพัฒนาพิเศษ ซึ่งขณะนี้ทางภาคเหนือได้ร่างไว้ จำนวน ๘ หมวด ๖๓ มาตรา เพื่อนำไปสู่ กฎหมายที่ประกาศบังคับใช้ต่อไปค่ะ อันนี้ก็คือข้อเสนอเชิงพื้นที่ท่านประธานสภาที่เคารพ จากการที่ภาคเหนือตอนล่าง ๑ เป็นผู้นำการขับเคลื่อนตลอดมา ภายใต้ขีดจำกัดหลาย ประการแล้วก็ปัญหาอุปสรรคมากมาย ดิฉันและคณะจึงนำเสนอเพื่อให้ตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาหาแนวทางที่เหมาะสมยิ่งขึ้นเพื่อส่งเสริมและจัดตั้งให้เป็นเขต เศรษฐกิจพิเศษที่มีประสิทธิภาพ เพื่อกระจายความเจริญเติบโตทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ให้กับประชาชน ตลอดจนเป็นชุดข้อมูลต้นแบบ กับกลุ่มจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป ขอบพระคุณ มากค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพค่ะ ดิฉัน พรรณสิริ กุลนาถศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย พรรคเพื่อไทย จากที่ดิฉัน และคณะได้เสนอเพื่อขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา การพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเพื่อนสมาชิก ก็ได้เสนอญัตติร่วมในประเด็นของการพิจารณาศึกษาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ Northern Economic Corridor : NEC Creative LANNA จากประเด็นร่วมกันในครั้งนี้ ดิฉันขอแสดงความชื่นชมเป็นอย่างยิ่งเลยค่ะ ทั้งผู้เสนอญัตติและผู้ร่วมอภิปรายเป็นจำนวนมาก นับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งกับการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ เพื่อให้เกิดการกระจาย เศรษฐกิจและรายได้ทั่วถึงทุกภูมิภาค ในประเด็นของภาพรวมนี้ ดิฉันขออภิปรายและ แสดงความเห็นว่าเพื่อนสมาชิกได้สรุปออกมาเป็น ๓ ส่วนค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนที่ ๑ เป็นลักษณะของโครงการที่รัฐบาลได้ประกาศเป็นนโยบายแล้วก็ ขับเคลื่อนไปแล้ว ซึ่งประกอบไปด้วยโครงการใหญ่ ๒ โครงการ คือ EEC กับ SEC ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนที่ ๒ เป็นลักษณะของระเบียงเศรษฐกิจที่มาจากระเบียบสำนัก นายกรัฐมนตรี ซึ่งว่าด้วยกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ๒๕๖๔ ที่มุ่งหมายไปที่ ทุกภูมิภาค ๔ ภูมิภาคทั่วประเทศไทย แต่หยิบจับขึ้นมาในส่วนของภูมิภาคละ ๔ จังหวัดค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนที่ ๓ ซึ่งดิฉันเองได้ตั้งญัตติตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ ก็คือการขับเคลื่อน ระเบียงเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของภาคพื้นที่ของประชาชนที่เกิดขึ้นจากพื้นที่ แล้วก็จะขับเคลื่อนไปสู่นโยบายต่าง ๆ ทั้ง ๓ ส่วนนี้ ดิฉันมองว่าสามารถผสมผสานกลมกลืน และเป็นการถอดบทเรียนเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันได้ทั้งใน ๓ ส่วน ในส่วนที่ ๑ โครงการ ขนาดใหญ่ ๒ โครงการที่รัฐบาลประกาศไปแล้ว และขับเคลื่อนอย่างเต็มศักยภาพ ในเรื่อง ของ EEC ภายใต้แผนงานงบประมาณแบบบูรณาการ ซึ่งยังคงมีบรรจุอยู่ในงบประมาณ ปี ๒๕๖๗ ดิฉันเห็นเป็นสำคัญมากว่าขณะนี้มีการขับเคลื่อนแล้ว รวมทั้งมีพระราชบัญญัติที่ประกาศใช้เมื่อปี ๒๕๖๕ เป็นที่เรียบร้อย อย่างไรก็ตามก็ขอชื่นชม ไปยังสำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่ได้ถอดบทเรียนทำให้เพื่อน สมาชิกได้นำมาใช้เป็นข้อมูลในการอภิปราย ซึ่งแสดงความจริงใจว่า ทุกสิ่งที่ทำนั้นย่อมมี ปัญหาและอุปสรรคเสมอ แต่เห็นเป็นเพียงปัญหาส่วนน้อย ที่คิดว่าจะสามารถขับเคลื่อน แล้วก็แก้ปัญหาไปได้ ในส่วนของ SEC แลนด์บริดจ์ ที่ท่านวิสุทธิ์ ไชยณรุณ เป็นประธาน กรรมาธิการ พิจารณาศึกษาในเรื่องของโครงสร้างการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียง เศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงกับการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งการศึกษาในครั้งนี้ แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าปลายเดือนนี้จะนำมาสู่สภาในวาระของการพิจารณา ลงความเห็นร่วมกัน ดิฉันเชื่อว่าภายใต้นโยบายของรัฐบาล โดยท่านนายกรัฐมนตรี ท่านเศรษฐา ทวีสิน ที่มีนโยบายกระจายการร่วมลงทุนในวงเงิน ๑ ล้านล้านบาท เป็นหลักคิด ที่ยอดเยี่ยมที่สุดสำหรับการขับเคลื่อน SEC นั่นคือส่วนของโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐบาล ขับเคลื่อนแล้ว รวมทั้งยังมีอีกหลายพื้นที่ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษด่านแม่สอดหรือใด ๆ ก็ตาม ดิฉันมองว่า นี่คือส่วนหนึ่งที่เป็นวัตถุดิบที่เป็นต้นทุนที่จะทำให้การพิจารณาศึกษา ในครั้งนี้เป็นไปด้วยความรอบคอบรอบด้าน แล้วก็ขับเคลื่อนในทุกมิติค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนที่ ๒ เขตเศรษฐกิจพิเศษ ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ๒๕๖๔ ได้กำหนดพื้นที่ที่จะทำการศึกษา พิจารณา ถ้ามองในแง่ของ Creative LANNA ก็คือจังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน และจังหวัดลำปาง ในขณะเดียวกันในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ร่วมรัฐสภาเดียวกัน เราก็ไม่ลืมว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่รัฐบาล ได้ประกาศไว้แล้วตั้งแต่ปี ๒๕๖๕ เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ในส่วนของภาคกลาง ก็คือ จังหวัดอยุธยา จังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี และภาคใต้ จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช อันนี้ก็เกิดขึ้น จากระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ๔ ภาค นี่คืออีกหนึ่งรูปแบบค่ะ ที่เห็นว่าจะควรได้ศึกษาควบคู่ กันไป โดยเฉพาะในส่วนของภาคเหนือ ๔ จังหวัดดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ส่วนที่ดิฉันเห็น เป็นสำคัญที่สุดในรูปแบบที่ ๓ ก็คือเขตเศรษฐกิจพิเศษเชิงพื้นที่ที่มีการขับเคลื่อนในลักษณะ ของการจัดการตนเอง เป็นกลุ่มจังหวัดจัดการตนเองและสามารถที่จะรวมกลุ่มกัน ในลักษณะของระเบียงเศรษฐกิจ แต่ว่าก็ยังมีปัญหาและอุปสรรคมากมาย ซึ่งนั่นก็คือพื้นที่ ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ ซึ่งยังเต็มศักยภาพในฐานะที่สามารถเป็นแกนนำ ในการก่อตั้งระเบียงเศรษฐกิจ ๓ ประเทศ เมียนมา ไทย ลาว ที่กล่าวได้ว่าเป็น Luangpragang Indochina Mawlamyine Economic Corridor ตรงนี้ ดิฉันมองว่า เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์เป็นอีกหนึ่งชุดความรู้ที่เกิดขึ้นจากภาคพื้นที่ที่ทำมา ๑๐ กว่าปีแล้ว โดยมีภาควิชาการของมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นเพื่อนร่วมคณะในการขับเคลื่อนอย่างสำคัญ ผ่านการร่วมเรียนรู้เชิงพื้นที่ และเกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ให้เห็นผลเป็นที่น่าพึงพอใจ และเกิดข้อเสนอเชิงพื้นที่มาในระดับหนึ่ง ดังที่ได้เรียนเสนอแล้ว และที่สำคัญค่ะ ฐานข้อมูล เชิงวิชาการหรือฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ ขอให้เพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกภาคส่วนที่ มองว่าเม็ดเงินรัฐบาลมีคุณค่า การที่ประชาชนจะได้ประโยชน์มากที่สุดนั้นจะต้องเกิดจาก การร่วมคิดร่วมทำ และร่วมกันที่จะขับเคลื่อนให้รอบคอบรอบด้าน มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยดอกเตอร์บุญทรัพย์ พานิชยการ คณบดีคณะโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชนได้ทำไว้ หลายประเด็นด้วยกัน เช่น การขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคเหนือตอนล่าง ๑ ในลักษณะ ของโครงข่ายและระบบขนส่งทางราง ผลการจัดทำแผนที่นำทางการพัฒนาแต่ละจังหวัด และมีข้อเสนอทางการวิจัยอีก ๑ เรื่อง นั่นก็คือเรื่องของการพัฒนาแผนที่นำทางสำหรับ การขนส่งที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นี่คือฐานข้อมูลที่มีอยู่ที่บอกว่ากลุ่มจังหวัด ภาคเหนือตอนล่าง ๑ นั้นเราเต็มศักยภาพ แต่ยังมีปัญหาอีกมากมาย ดิฉันจึงมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการที่เพื่อนสมาชิกได้สรุป แล้วก็ร่วมกันอภิปราย ในประเด็นที่คณะกรรมาธิการวิสามัญจะได้นำไปพิจารณาศึกษา ๕ ประเด็นค่ะ ทั้งในเชิง การบริหารหลักการ และในเชิงสาระสำคัญ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๑ ในเรื่องของระเบียบและกฎหมาย ก็ขอให้เป็นไปโดยความชอบ ที่มีภาคประชาชนมีส่วนร่วม

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ ในรายละเอียดของกลไกและความร่วมมือให้เกิดขึ้น อย่างแท้จริงในทุกมิติของภาคส่วนการพัฒนา ทั้งภายในกลุ่มจังหวัดหรือภายในพื้นที่ของ ระเบียงเศรษฐกิจ รวมทั้งในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๓ มิติของการพัฒนานั้นไม่ใช่มีแต่ภาครัฐนำอย่างเดียว ภาคเอกชน ภาควิชาการและภาคประชาชน สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาก็คงจะพอเอามาใช้ได้

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๔ ต้นทุนที่มีอยู่แล้ว ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือตอนล่าง ๑ ก็ขอให้เป็นการถอดบทเรียน LIMEC และภาคส่วนต่าง ๆ ให้เป็นทุนที่ต่อยอดต่อไป

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๕ ขอให้รวบรวมผลงานข้อมูลเชิงการวิจัย และประสบการณ์ตรง ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ แล้วก็ต่อยอดให้เป็นระบบ และท้ายที่สุดอย่างไรก็ตาม เราก็ควรจะมี กฎหมายสักฉบับหนึ่งจะขับเคลื่อนไปสู่ พ.ร.บ. หรือรูปลักษณ์ของกฎหมายใด ๆ ก็ตาม ดิฉัน ก็คิดว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญคณะนี้ก็คงจะได้ประเด็นข้อมูลจากเพื่อนสมาชิกที่ได้นำเสนอ ในครั้งนี้ ตลอดจน ๆ ห้วงเวลาที่มีการพิจารณาศึกษา ก็คงจะรอบคอบและรอบด้านมากที่สุด ก็ขอชื่นชมและขอบคุณทุกท่าน และมั่นใจว่าเพื่อนสมาชิกก็คงจะลงมติที่จะให้ตั้งกรรมาธิการ วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาในครั้งนี้ ขอบพระคุณมากค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน พรรณสิริ กุลนาถศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย พรรคเพื่อไทย ดิฉัน ขอเสนอปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน กรณีตลิ่งพังทลายไปยังกรมโยธาธิการและ ผังเมือง กระทรวงมหาดไทย

    อ่านในการประชุม

  • ทั้งนี้จากวิกฤติแม่น้ำยมบริเวณจังหวัด สุโขทัย ลำน้ำแคบแบบคอขวด ไม่มีระบบกักเก็บน้ำตอนบน น้ำท่วมซ้ำซาก ถูกกัดเซาะตลิ่ง พังทลายเสียหายต่อทรัพย์สิน แล้วก็ชีวิตของประชาชน ล่าสุดน้ำท่วมหนักเมื่อต้นเดือน ตุลาคมที่ผ่านมาสูญเสียกว่า ๕๐๐ ล้านบาท ตลิ่งพังทลายเดือดร้อนมาก ๒ พื้นที่ พื้นที่แรก บริเวณ หมู่ที่ ๖ ตำบลวังใหญ่ อำเภอศรีสำโรง ความยาว ๙๐ เมตร ความเดือดร้อน ประชาชนที่ตำบลวังใหญ่ ตำบลวังทอง จำนวน ๑๕ หมู่บ้าน ๔๕๐ ครัวเรือน พื้นที่ เกษตรกรรม ๓,๙๗๐ ไร่ ในพื้นที่ที่ ๒ เป็นบริเวณหมู่ที่ ๑ เชื่อมหมู่ที่ ๗ ตำบลปากแคว อำเภอเมืองสุโขทัย ความยาวถึง ๑,๗๐๐ เมตร ประชาชนตำบลปากแคว ตำบลบ้านกล้วย จำนวน ๙ หมู่บ้าน ๒๗๐ ครัวเรือน พื้นที่เกษตรกรรม ๒,๓๘๐ ไร่ เสียหายมาก ในเบื้องต้น ดิฉันขอขอบคุณไปยังสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสุโขทัย ได้สำรวจความเสียหาย และออกแบบพร้อมก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งไว้แล้ว ๆ และขอบพระคุณไปยังท่าน นายกรัฐมนตรี ท่านเศรษฐา ทวีสิน ได้เยี่ยมกำลังใจให้ประชาชน เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ในการนี้ดิฉันขอให้กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้เร่งรัดดำเนินการแก้ไข ปัญหาตลิ่งพังทลายทั้ง ๒ พื้นที่ดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็วก่อนที่จะถึงฤดูน้ำหลากที่จะถึง ในปลายปีนี้ เพื่อให้ชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน ไม่เสียหายไปมากกว่านี้ ขอบพระคุณมากค่ะ

    อ่านในการประชุม