ข้อมูลการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ชุดที่ 26

ปีที่ 1

สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง

ครั้งที่ 12 เป็นพิเศษ วันศุกร์ที่ 26 มกราคม 2567 เวลา 10.39 - 18.43 นาฬิกา

เอกสารต้นฉบับ: บันทึกการประชุมบันทึกการออกเสียงและลงคะแนนรายงานการประชุม

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ท่านสมาชิก ทุกท่านครับ ก่อนที่จะเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมในวันนี้ ผมจะอนุญาตให้ท่านสมาชิก นำความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในแต่ละพื้นที่มาหารือตามข้อบังคับ ข้อ ๒๔ โดยจะให้เวลาหารือคนละ ๒ นาที เรียงตามลำดับรายชื่อที่ส่งมาแล้วนะครับ ท่านแรกขอเชิญ คุณสุรทิน พิจารณ์ ครับ

นายสุรทิน พิจารณ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ กระผม สุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ แบบบัญชีรายชื่อ ท่านประธานครับ ๓ เรื่อง ที่พี่น้องฝากมาครับ

นายสุรทิน พิจารณ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องแรก ถนนยกระดับคนเดิน ถนนคนเดินยกระดับที่สถานีคูคตไปถึง วัดโพสพผลเจริญ ระยะทาง ๗๐๐ เมตร เพื่อบรรเทาการจราจรทั้งเช้า ทั้งเย็น ท่านประธานครับ อันนี้กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม เป็นผู้รับผิดชอบ

นายสุรทิน พิจารณ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ขอแยกอำเภอเพื่อตั้งอำเภอใหม่ของจังหวัดยโสธร เป็นอำเภอที่ ๑๐ แยกจากอำเภอคำเขื่อนแก้ว มีตำบลทุ่งมน ตำบลย่อ ตำบลโพนทัน ตำบลดงเจริญ ตำบล สงเปือย ตำบลขุดกุ่ม และตำบลหนองคูของอำเภอเมือง จังหวัดยโสธร เพื่อเป็นการพัฒนา พี่น้องชุมชนเหล่านี้อยากตั้งอำเภอใหม่ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบ

นายสุรทิน พิจารณ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ขอให้ทำถนนยกระดับ ตั้งแต่คลองหนึ่งไปถึงคลองสิบหก ถนนรังสิต-ลำลูกกา ท่านประธานที่เคารพ เพราะถนนเส้นนี้รถติดบรรลัย รถติดมาก ทั้งเช้า ทั้งเย็น บางทีติด ๓ ชั่วโมงเสียเวลามาก ผู้รับผิดชอบคือกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ท่านประธานครับ เรื่องทุกเรื่องที่ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติได้หารือต่อท่านประธาน ปรากฏว่า บางเรื่องนี้ช้ามาก บางเรื่องที่ผมกราบเรียนท่านประธานนี้เป็นเรื่องที่หารือมาตั้งแต่สภาสมัย ชุดที่ ๒๕ ท่านประธานครับ ๔ ปีที่แล้ว ตั้งแต่เช่าที่ประชุมอยู่ที่ทีโอทีด้วยซ้ำ ปรากฏว่า ปัจจุบันก็ยังเหมือนเดิม ยังไม่ได้ขยับเขยื้อนไปไหน อยากกราบเรียนท่านประธานช่วยเร่งรัด ทั้งฝ่ายสภาแล้วก็ฝ่ายข้าราชการประจำด้วยครับ ขอบคุณท่านประธานครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปขอเชิญคุณปิยรัฐ จงเทพ ครับ

นายปิยรัฐ จงเทพ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ผม ปิยรัฐ จงเทพ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตพระโขนง เขตบางนา พรรคก้าวไกล วันนี้มี เรื่องหารือท่านประธานเพียง ๑ เรื่อง เรื่องคล้าย ๆ กับท่านพูดเมื่อสักครู่นี้ ก็คือ

นายปิยรัฐ จงเทพ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องแรก เรื่องตลาดนัดสัญจรบางนากลับมาอีกแล้วครับท่านประธาน รอบนี้หายไป ๒ เดือนกลับมาอีกแล้ว แต่ครั้งนี้รู้สึกว่าจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง พอสมควร แต่ก็ยังติดขัดเรื่องข้อกฎหมายหรือไม่ ผมสงสัย จึงได้ทำหนังสือไปถึงทาง สน. บางนา รวมถึงสำนักงานเขตบางนาในฐานะเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นตาม พ.ร.บ. สาธารณสุข และข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานครว่าด้วยเรื่องตลาด ทำไปถึงตั้งแต่วันที่ ๑๙ วันศุกร์ ที่ผ่านมา วันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๗ สน. บางนาใช้เวลา ๔ วันตอบหนังสือกลับมาถึง มาตรการในการดูแลควบคุมตามกฎหมาย แต่สำนักงานเขตบางนาไม่ตอบหนังสือกลับมา ใช้เวลา ๗ วัน จนวันนี้ตลาดเปิดไปเมื่อวันที่ ๒๕ เมื่อวานนี้ ก็จัดได้ปกติ วันนี้ก็อีก ๑ วัน และจะจัดไปอีกถึงวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ผมเกรงว่าจะเกิดปัญหาเหมือนเดิม มีการละเล่น การพนันหรือมีการลักลอบการกระทำผิดกฎหมายอีก จึงเป็นห่วงเรื่องนี้ แต่ทำไมเจ้าหน้าที่ จึงไม่ตอบหนังสือกลับมาว่ามีการอนุญาตหรือไม่ ถ้าอนุญาตผมจะได้สบายใจ ถ้าไม่อนุญาต อย่างไรก็จะได้ว่ากันไป เพราะฉะนั้นผมถามเรื่องนี้ไป ครั้งก่อนก็มีการปรึกษาหารือ ท่านประธานเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๖ สภาใช้เวลา ๒๗ วันในการทำหนังสือไปถึง สำนักงาน แต่ปรากฏว่า ๙๘ วันแล้วครับ ผมยังไม่ได้รับคำตอบจากทางหน่วยงานผ่าน สภาผู้แทนราษฎร ในขณะเดียวกันผมถามเรื่องอื่น ๆ เช่นเดียวกันครับ เรื่องรถบรรทุก เรื่องอะไรไปเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๖๖ จนวันนี้ผมยังไม่ได้คำตอบเลย ผมไม่รู้ว่ามันล่าช้า อยู่ที่ไหน ไม่รู้ว่าล่าช้าอยู่ที่สภาของเราหรือว่าไปล่าช้าอยู่ที่กระบวนการของหน่วยงาน ราชการ จึงเรียนผ่านท่านประธานสภาฝากให้กำชับไปที่หน่วยงานต้นสังกัดหรือแม้กระทั่ง ผู้บริหารสูงสุดของฝ่ายบริหาร คือนายกรัฐมนตรี ช่วยกำชับหน่วยงานภายใต้กระทรวงต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ด้วยในการตอบคำถามหรือข้อปรึกษาหารือของสภาผู้แทนราษฎร ให้กับสภาผู้แทนราษฎรครับ ขอบคุณมากครับท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เรื่องนี้ขอให้ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรรับไปพิจารณาดำเนินการ และอย่างที่ผมได้พูดเมื่อวาน เรื่องหารือนี้ขอให้เรามีการประเมินเดือนละ ๑ ครั้ง แจ้งให้สมาชิกทราบว่าหน่วยงานใด ที่ทำหนังสือไปแล้วกี่วัน สถานภาพเป็นอย่างไร ได้ตอบสมาชิกหรือยัง ไปดำเนินการหรือยัง อยู่ระหว่างดำเนินการ ให้เป็นช่อง ๆ อย่างนี้ แล้วก็ถ้ามันยาวเกินไปก็จัดทำเป็นเอกสารแจก ให้สมาชิก แล้วก็ทางรัฐบาลได้ทราบ หรือผม หรือรองประธานจะแจ้งให้ที่ประชุมทราบ นะครับ ผมก็อยากจะเห็นความคืบหน้าของการปรึกษาหารืออย่างมีความหมาย ถ้ายังไม่ทำ ก็ต้องมีเหตุว่ายังไม่ทำเพราะอะไร แต่อย่างน้อยคำตอบต้องมี ขอบคุณมากครับ ให้ฝ่ายเลขา ดำเนินการตามนี้ด้วยครับ ต่อไปขอเชิญคุณภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ ครับ

นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ นครพนม ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ พรรคเพื่อไทย จังหวัดนครพนม กระผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชน ตลอดจนพี่น้องข้าราชการ และพี่ ๆ เพื่อน ๆ สส. ซึ่งได้รับเรื่องร้องเรียนกันมาทั่วประเทศ ถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เพราะยาบ้า ยาเสพติด กัญชา กระท่อมระบาดหนัก ในหมู่บ้าน ลูกหลานนักเรียน คนในหมู่บ้านติดยาเสพติด ยาบ้ามากยิ่งขึ้น เยาวชนมั่วสุมก่อ คดีทำร้ายร่างกายข่มขืน เด็กเล็กอายุ ๖ ปี ๙ ปี โดนคนติดยาบ้าเอาขวานทุบหัวตาย เป็นข่าว ในทีวีทุกวัน แม้กระทั่งครูเข้าเวรโดนคนติดยาบ้าจะเข้าไปข่มขืนทำร้ายร่างกาย ลูกหลานใน หมู่บ้านเป็นบ้ากันไปหมดเมายาบ้า เสียสติ ถอดเสื้อถือมีดปลายแหลมเดินในหมู่บ้าน พี่น้อง ประชาชนหวาดกลัว ไม่มีความปลอดภัย กระผมและเพื่อน ๆ สส. จึงขอให้รัฐบาลได้ประกาศ เป็นวาระแห่งชาติปราบยาบ้า ยาเสพติดให้จริงจัง ยึดทรัพย์เด็ดขาดกับพ่อค้ายาเสพติด ยาบ้า เพราะว่าพี่น้องประชาชนเราทนไม่ไหวแล้ว ขอให้ทำงานรวดเร็วกว่านี้ ขอให้รัฐบาล นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีทุกท่านได้ทำงานแบบบูรณาการ ได้ลงพื้นที่เข้าไปถึงในหมู่บ้านรับฟัง ปัญหาความเดือดร้อน เป็นกำลังใจให้ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น ข้าราชการ ประชาชน เพราะทุกคน อยู่ด้วยความหวาดกลัว ไม่มีความปลอดภัย ไม่ทราบว่าผู้ค้ายาบ้า ผู้เสพจะมาฆ่าและทำร้าย ร่างกายเมื่อไร คณะรัฐมนตรีหลายท่านไม่มีเวลาเข้าถึงในหมู่บ้าน ไม่เข้าถึงประชาชนจะไม่ รับทราบปัญหา ถึงความเดือดร้อนที่พี่น้องประชาชนเป็นทุกข์มากที่สุด และยาบ้าระบาดมาก จึงขอให้รัฐบาลได้ปราบยาบ้า ยาเสพติดอย่างเร่งด่วน กราบขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ประเด็นนี้ ประเด็นสำคัญพูดกันหลายครั้งแล้ว ก็หวังว่าเสียงสะท้อนนี้คงจะไปถึงรัฐบาล เพื่อดำเนินการนะครับ ต่อไปขอเชิญคุณชลธิชา แจ้งเร็ว ครับ

นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ปทุมธานี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานค่ะ ดิฉัน นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันมีเรื่องปัญหา ของพ่อแม่พี่น้องในพื้นที่มาปรึกษาหารือกับท่านประธาน ๓ เรื่องด้วยกัน ขอสไลด์ด้วยนะคะ

นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ปทุมธานี ต้นฉบับ

เรื่องแรกค่ะ คือถนนคลองแอล ๒ และคลองแอล ๓ ซึ่งมีสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างหนักนะคะ มีบ่อหลุมผิวทางเดินเท้า ของถนนเส้นนี้มาโดยตลอด แล้วก็ที่สำคัญในปัจจุบันนี้ก็ยังมีปัญหาเรื่องของไฟทาง ที่ให้ความสว่างที่ไม่เพียงพอ ซึ่งยิ่งสร้างความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหลายครั้งในพื้นที่ ดิฉันจึงขอฝากทางท่านประธานไปยังทาง อบต. คลองสามให้ช่วยดำเนินการซ่อมแซมอย่างมี คุณภาพ ให้สามารถใช้งานได้อย่างปกตินะคะ แล้วก็ที่สำคัญค่ะ คือการจัดให้มีแสงสว่าง ที่เพียงพอในช่วงเวลากลางคืนด้วยค่ะ

นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ปทุมธานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ คือปัญหาเรื่องของน้ำประปาในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองท่าโขลง ซึ่งปัญหาเรื่องนี้ดิฉันได้เคยอภิปรายในที่ประชุมสภาของเรามาแล้วหลายครั้ง ในการ ปรึกษาหารือครั้งแรก ดิฉันก็ได้พูดถึงปัญหาเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตาม จนถึงวันนี้น้ำประปาใน พื้นที่ของเขตเทศบาลเมืองท่าโขลงก็ยังคงไม่มีคุณภาพ ดังที่เห็นได้จากรูปภาพและจากสไลด์ ด้านบน ยังมีสีดำซึ่งแม้จะใช้ในการซักล้างก็ยังไม่สามารถที่จะทำได้ ประชาชนในพื้นที่เคยได้ ร้องเรียนไปทางเทศบาลแล้วหลายครั้ง แต่ว่าปัญหานี้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง จึงเกิดคำถามว่าได้มีการตรวจสอบคุณภาพของน้ำประปาก่อนส่งให้ประชาชนใช้หรือไม่ อย่างไร ดิฉันจึงขอฝากให้ท่านประธานช่วยเร่งติดตามเรื่องนี้จากทางเทศบาลด้วยค่ะ และขอ หนังสือชี้แจงจากหน่วยงานรับผิดชอบค่ะ

นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ปทุมธานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ คือปัญหาเรื่องของการลักลอบเผาขยะ โดยเฉพาะในพื้นที่รกร้าง ในเขตทั้งเทศบาลเมืองท่าโขลง และทาง อบต. คลองสาม โดยเฉพาะในช่วงบริเวณกลางคืน เช่น บริเวณหลังหมู่บ้านอินนิซิโอ ๒ หรือซอยคลองสาม ๑ และซอยคลองสาม ๒ ซึ่งการ ลักลอบ เผาขยะดังกล่าวนี้ก็ส่งผลทั้งในเรื่องของมลพิษ มลภาวะทางอากาศในหลาย ๆ ประเด็น แล้วก็ที่สำคัญคือส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพ่อแม่พี่น้องในพื้นที่ ดิฉันจึงขอฝาก ทางท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทางเทศบาล แล้วก็ทาง อบต. คลองสามให้ช่วย เร่งติดตามเรื่องดังกล่าวด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณศิรสิทธิ์ สงนุ้ย ครับ

นายศิรสิทธิ์ สงนุ้ย สมุทรสาคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม ศิรสิทธิ์ สงนุ้ย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรสาคร เขต ๓ พรรคก้าวไกล ขอนำเรียนปัญหาของพี่น้องประชาชนฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน ๓ เรื่องครับ ขอสไลด์ด้วยครับ

นายศิรสิทธิ์ สงนุ้ย สมุทรสาคร ต้นฉบับ

เรื่องแรก เรื่องของสัญญาณไฟจราจร ชำรุด ตำบลสวนส้ม อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร สี่แยกไฟแดงนี้กลายเป็นแยกวัดใจ ตั้งแต่ผมได้เป็น สส. มาก็ได้รับเรื่องร้องเรียนจุดนี้หลายครั้งหลายครา ติด ๆ ดับ ๆ บ้าง เปิดบ้าง ปิดบ้าง และเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง ผมจึงขอฝากท่านประธานไปยังกระทรวง คมนาคมในการสนับสนุนงบประมาณให้กับแขวงทางหลวงชนบทสมุทรสาคร ให้เร่งซ่อมแซม โดยด่วน รวมถึงไฟส่องสว่างเส้นหลักสองและเส้นเกษตรพัฒนาที่ผมได้เคยประสานงานกันไป

นายศิรสิทธิ์ สงนุ้ย สมุทรสาคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ น้ำท่วมขังถนน ๓๗๕ ตำบลชัยมงคล หรือโค้งอ่างน้ำ เนื่องจากจุดนี้ น้ำท่วมตลอด ไม่ใช่หน้าฝนก็ท่วม น้ำทะเลหนุนก็ท่วม ท่วมซ้ำซากทุกปี ผมขอฝาก ท่านประธานไปยังกระทรวงคมนาคมในการสนับสนุนงบประมาณให้กับแขวงทางหลวง นครปฐม ในการสำรวจและดำเนินการแก้ไขโดยด่วน

นายศิรสิทธิ์ สงนุ้ย สมุทรสาคร ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้ายครับ ผมขอฝากท่านประธานไปยังกรมปศุสัตว์ เรื่องโคบาล ชายแดนใต้ ให้ช่วยตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้นและช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอเชิญ คุณพิพิธ รัตนรักษ์ ครับ

นายพิพิธ รัตนรักษ์ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพิพิธ รัตนรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๒ จังหวัดสุราษฎร์ธานี พรรครวมไทยสร้างชาติ ด้วยความเคารพท่านประธานสภา กระผมขอหารือท่านประธานสภา สัก ๑ เรื่องครับ

นายพิพิธ รัตนรักษ์ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

ประเด็นปัญหาอยู่ที่ว่าเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องเขต ๒ ของจังหวัด สุราษฎร์ธานี ซึ่งประกอบด้วย อำเภอเกาะสมุย อำเภอเกาะพะงัน ตำบลเกาะเต่า อำเภอ ดอนสัก และอำเภอกาญจนดิษฐ์ เรื่องความเดือดร้อนเป็นความต้องการของพี่น้องประชาชน เรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเขต พื้นที่ ๒ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ต้องยอมรับว่าปัจจุบันนี้ ขณะนี้ได้มีนักท่องเที่ยวเดินทาง เข้ามามากมายเป็นช่วงเทศกาลการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวได้เข้ามาท่องเที่ยวในเขตพื้นที่ ๒ แต่ปัญหามีอยู่ว่าเราขาดแคลนเรื่องความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน เรื่องกล้องวงจรปิด ในพื้นที่ กล้องวงจรปิดในพื้นที่มีจำนวนน้อยไม่เพียงพอกับพื้นที่ของเขตเมืองท่องเที่ยว กระผมใคร่ขอความอนุเคราะห์ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา เจ้าหน้าที่ที่ดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนหน่วยงาน ต่าง ๆ กระผมขอฝากไปทางท่านประธานสภาไปยังรัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องของประเด็นหลัก ในเรื่องของนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยว ทำอย่างไรจะให้เกิดความไว้วางใจ ทำอย่างไรจะให้ นักท่องเที่ยวมาเที่ยวแล้วเกิดความประทับใจ เราทำอย่างไร เราเป็นเจ้าของบ้านที่ดีให้กับ นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือนครับ ท่านประธานครับ กระผมขอฝากเมืองท่องเที่ยว ๓ เกาะในอ่าวไทย ไม่ว่าจะเป็นเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า ในอ่าวไทย กระผมขอฝาก อ่าวไทยไว้ในอ้อมอกอ้อมใจของพี่น้องคนไทยทุกท่านด้วยครับ ขอบคุณมากครับ ท่านประธาน ด้วยความเคารพครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณกรวีร์ ปริศนานันทกุล ครับ

นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล อ่างทอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับท่านประธานครับ กรวีร์ ปริศนานันทกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคภูมิใจไทย จากจังหวัดอ่างทองครับ มีเรื่องหารือใน ๓ ประเด็นหลัก ๆ เป็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในจังหวัดอ่างทอง

นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล อ่างทอง ต้นฉบับ

ประเด็นแรก เรื่องของทางการประปาส่วนภูมิภาค ผมได้รับคำร้องเรียน จากพี่น้องในเขตเทศบาลแสวงหา เรื่องของการใช้น้ำประปาที่คุณภาพน้ำนั้นค่อนข้างต่ำ ก็ได้มีการหารือกับทางการประปาส่วนภูมิภาคที่จังหวัดอ่างทอง ทราบว่าแหล่งน้ำนั้นใช้ แหล่งน้ำจากบ่อบาดาลทำให้การผลิตน้ำที่มีคุณภาพทำได้ยาก ทางผู้จัดการได้ขอใช้แหล่งน้ำ จากจังหวัดติดต่อกันก็คือจังหวัดสิงห์บุรี ก็ฝากไปยังการประปาส่วนภูมิภาคได้กรุณา สนับสนุนงบประมาณในการขยายท่อ เพื่อที่จะปรับปรุงคุณภาพของน้ำในเขตเทศบาล แสวงหา จุดที่ ๒ ก็คือในเขตเทศบาลของตำบลจรเข้ร้องก็เช่นเดียวกันครับ ทางเทศบาล เกษไชโยนั้นตั้งใจที่จะถ่ายโอนการบริหารจัดการประปาไปให้กับทางการประปาส่วนภูมิภาค แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ได้รับการถ่ายโอน ฝากติดตามไปยังการประปาส่วนภูมิภาคด้วย

นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล อ่างทอง ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ เรื่องของถนนหนทาง ทางหลวงชนบทครับ ไฟทาง ได้รับ การประสานงานมาจากท่านสุชาติ คงประสงค์ นายกเทศมนตรีตำบลสามโก้ ถึงถนนทาง หลวงชนบทเส้น ๔๐๓๐ บริเวณหลังอำเภอสามโก้ยังไม่มีไฟทาง ยามค่ำคืนพี่น้องประชาชน สัญจรไปมาด้วยความยากลำบาก อีกจุดหนึ่งบริเวณแยกบ้านยางห้าร้อย ที่ตำบลบ้านพรานจุดนี้ เป็นถนน ๒ เส้นติดต่อกัน ระหว่างทางหลวงชนบทเส้น ๔๐๐๙ และทางหลวงแผ่นดินเส้น ๔๐๒๔ เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ผมได้หารือกันในสภาชุดที่แล้วนะครับ แต่ยังไม่ได้ มีการปรับปรุงเรื่องของการอำนวยความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชน ก็ฝากกับ ท่านประธานย้ำไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล อ่างทอง ต้นฉบับ

ประเด็นสุดท้าย เรื่องของฝุ่นควัน PM2.5 ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา จังหวัดอ่างทองบ้านผม แม้จะเป็นจังหวัดเล็ก ๆ แต่ก็มีปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง ของประเทศไทย สร้างความตื่นตระหนก สร้างความกังวลใจให้กับพี่น้องประชาชนในจังหวัด อ่างทองอย่างมาก รัฐบาลชุดนี้ รัฐสภาแห่งนี้กำลังพิจารณา พ.ร.บ. เรื่องของอากาศสะอาดแต่ ในช่วงเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า อยากจะฝากท่านประธานไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเร่งรัดในการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้มีอากาศที่บริสุทธิ์ในช่วงนี้ด้วยครับ ขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอเชิญ คุณชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง ครับ

นายชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง ขอนแก่น ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม ชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหน้ามน คนจังหวัดขอนแก่น เขต ๓ พรรคก้าวไกล ขออนุญาตนำเรียนปัญหาในพื้นที่

นายชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง ขอนแก่น ต้นฉบับ

เรื่องแรก ถนนสายโยธาธิการทางเข้าบ้านโสกเสี้ยวแสนสุข ตำบลห้วยโจด อำเภอกระนวน ถนนชำรุดเสียหายระยะทางยาว เกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง จึงขออนุญาตนำ เรียนฝากท่านประธานไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยโจดให้ดำเนินการแก้ไขด้วยครับ

นายชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง ขอนแก่น ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ครับท่านประธาน มาจาก โรงพยาบาลเขาสวนกวาง อำเภอเขาสวนกวาง ปัจจุบันโรงพยาบาลแห่งนี้มีขนาด ๔๐ เตียง ณ ปัจจุบันนี้ระดับความสูงของถนนมิตรภาพด้านหน้าโรงพยาบาลมีความสูงกว่าพื้น ของอาคารรักษาผู้ป่วย ฤดูฝนน้ำก็จะไหลท่วมเข้ามาภายในเขตพื้นที่ของโรงพยาบาล ประกอบกับ อาคารรักษา ณ ปัจจุบันนี้ทั้งเก่าทั้งทรุดโทรม อีกทั้งยังมีพื้นที่ในการใช้สอยไม่เพียงพอ จึงขออนุญาตนำเรียนฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทางกระทรวง สาธารณสุขพิจารณาอาคารหลังใหม่ให้ด้วยนะครับ

นายชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง ขอนแก่น ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ท่านประธานครับ ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากท่านผู้อำนวยการ โรงเรียนบ้านโคกกลางวิทยา ตำบลห้วยยาง อำเภอกระนวน ว่าอาคารเรียนมีผนังทรุดตัว เสาปูนแตกร้าว ฝ้าเพดานถล่ม เกรงจะเป็นอันตรายกับเด็กนักเรียน ๑๓๐ ชีวิต จึงขออนุญาตนำเรียนฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สพฐ. หรือกระทรวงศึกษาธิการได้หาแนวทางแก้ไขเรื่องนี้ให้ด้วยครับ

นายชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง ขอนแก่น ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย เมื่อวานนี้มีกลุ่มพี่น้องผู้ใช้แรงงานได้มายื่นหนังสือต่อกรรมาธิการ การคมนาคมว่าไม่ได้เงินค่าจ้างในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู ทั้ง ๆ ที่ ๒ สายนี้เปิดให้บริการตั้งแต่กลางปีที่แล้ว แล้วมูลค่าความเสียหายรวมกันกว่า ๒๐๐ ล้านบาท เบื้องต้นทางคณะกรรมาธิการอาสาที่จะเป็นตัวกลางในการเรียกบริษัทคู่กรณี เข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ย แต่ทางกลุ่มพี่น้องผู้ใช้แรงงานอยากจะฝากไปถึงรัฐบาลและหน่วยงาน ภาครัฐให้ช่วยกันตรวจสอบหน่อยครับว่าบริษัทนี้ได้สิทธิรับเหมาในโครงการอื่น ๆ ของรัฐอีก หรือไม่ เกรงจะเกิดปัญหาแบบเดียวกันไหน ๆ ทั้งเหนื่อยจากการทำงานมาแล้ว เวลาจะได้ สตางค์ก็อยากได้สตางค์ตรงตามเวลาครับรายชื่อบริษัทและรายละเอียดผมจะส่งให้กับ ท่านประธานอีกครั้งหนึ่ง จึงขออนุญาตนำเรียนผ่านท่านประธานไปยังทุกหน่วยงานของ ภาครัฐที่มีการโครงการก่อสร้าง ให้พิจารณาตรวจสอบในเรื่องนี้ด้วยครับ ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอเชิญคุณสมศักดิ์ บุญประชม ครับ

นายสมศักดิ์ บุญประชม อุบลราชธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสมศักดิ์ บุญประชม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑๐ จังหวัดอุบลราชธานี พรรคเพื่อไทรวมพลัง มีเรื่องหารือท่านประธาน ๓ เรื่องครับ

นายสมศักดิ์ บุญประชม อุบลราชธานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ มีอาคารเรียนของโรงเรียนน้ำยืนวิทยา ตั้งอยู่ที่ตำบลสีวิเชียร อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาอุบลราชธานี ซึ่งมีนักเรียนจำนวน ๑,๘๔๒ คน มีอาคารเรียนหลังหนึ่งก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗

นายสมศักดิ์ บุญประชม อุบลราชธานี ต้นฉบับ

ตัวอาคารเรียนเป็นคอนกรีต แต่พื้น อาคารเรียนเป็นพื้นไม้ทั้งหมด ชำรุดผุพังหมดแล้วครับ ทุกวันนี้เด็กนักเรียนต้องมาใช้ อาคารเรียนหลังเก่าที่ชำรุดเรียนหนังสือ กระผมจึงอยากฝากท่านประธานไปถึงหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องช่วยจัดงบประมาณไปทำอาคารเรียนหลังใหม่ให้กับนักเรียนด้วยครับ

นายสมศักดิ์ บุญประชม อุบลราชธานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ มีการร้องเรียนจาก นายพระลานชัย พวงบุตร นายก อบต. บุเปือย นายคมสันต์ ตัดโท ผู้ใหญ่บ้านบ้านบุเปือย หมู่ที่ ๑๐ และนายสุวิทย์ ทาจิตร ผู้ใหญ่บ้าน บ้านน้ำซับ หมู่ที่ ๒ เรื่องถนนทางหลวงหมายเลข ๒๑๗๑ ช่วง กม.ที่ ๓๙ หรือชาวบ้าน เรียกกันว่าสี่แยกบ้านบุเปือย ถนนสายนี้เป็น ๔ ช่องจราจร บางวันมีตลาดนัดชุมชนมีรถบรรทุก เข้าออกเป็นจำนวนมากทำให้อุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ส่งผลให้พี่น้องประชาชนเกิดความเสียหาย ไม่ว่าทางทรัพย์สินหรือบางครั้งถึงกับชีวิต กระผมจึงอยากฝากท่านประธานไปถึงหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องช่วยจัดสรรงบประมาณให้ด้วย จะได้เปลี่ยนจากสี่แยกบุเปือยเป็นสี่แยกปลอดภัย ให้กับพี่น้องประชาชนด้วยครับ

นายสมศักดิ์ บุญประชม อุบลราชธานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ นายประสงค์ วิวาสุขุ นายก อบต. ทุ่งเทิง อำเภอเดชอุดม จังหวัด อุบลราชธานี ร้องเรียนมายังกระผมว่าได้ของบประมาณไปยังกรมส่งเสริมปกครอง ท้องถิ่น ในการขุดลอกหนองน้ำทุ่งเทิงเพื่อพัฒนาหนองน้ำทุ่งเทิงให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี หนองน้ำทุ่งเทิงมี ๒ หมู่บ้านที่ใช้ร่วมกันคือ บ้านทุ่งเทิง หมู่ที่ ๑ และบ้านหนองบอน หมู่ที่ ๖ หนองน้ำทุ่งเทิงมีเนื้อที่ ๘๔ ไร่ พี่น้องประชาชนได้มีน้ำใช้ในการเกษตรในช่วงเก็บเกี่ยวข้าว เช่นจะได้ปลูกฟักทอง ข้าวโพด กะหล่ำปลี เป็นต้น และอีกอย่างหนองน้ำทุ่งเทิงยังเป็น สถานที่จัดประเพณีลอยกระทงของพี่น้องชาวตำบลทุ่งเทิงของทุกปี กระผมจึงอยากฝาก ท่านประธานไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยจัดงบประมาณให้ อบต. ทุ่งเทิง เพื่อได้พัฒนา หนองน้ำทุ่งเทิงให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนได้ใช้น้ำด้วยครับ ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอเชิญคุณรอมฎอน ปันจอร์ ครับ

นายรอมฎอน ปันจอร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานและเพื่อน ๆ สมาชิกในสภาแห่งนี้นะครับ ผม รอมฎอน ปันจอร์ สส. แบบบัญชีรายชื่อจากพรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอใช้เวลา ๒ นาทีนี้พูด ๓ เรื่อง ขอสไลด์ด้วยนะครับ

นายรอมฎอน ปันจอร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนใน ๒ นาที ท่านประธานครับ

นายรอมฎอน ปันจอร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องแรก เป็นเรื่องของความมั่นคงปลอดภัย จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องที่ค้างคาใจ ของพี่น้องประชาชนมายาวนาน มีกรณีก็คือการตั้งฐานปฏิบัติการ ของทางเจ้าหน้าที่ เป็นฐานปฏิบัติการทางการทหาร เป็นของตำรวจ เป็นของ อส. แล้วแต่นะครับ แต่ว่าอยู่ใน ชุมชนครับ ฐานนี้อยู่ที่เทศบาลตำบลปะลุรู อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ตั้งอยู่ใกล้กับ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเลยครับท่านประธาน แล้วก็เคยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นหลายครั้งเมื่อปีที่แล้วมี เหตุการณ์เกิดขึ้น ชาวบ้านก็อยากจะให้มีการเคลื่อนย้ายฐานนี้ออกเพื่อที่จะให้มีความมั่นคง ปลอดภัยกับพี่น้องประชาชน ตอนนี้ยังไม่ย้ายและเห็นว่ามีการปรับปรุงใหม่ตามภาพเล็ก ชาวบ้านก็เริ่มส่งสัญญาณกังขา อยากปรึกษาท่านประธานไปยัง กอ.รมน. ไปยังสำนักงาน ตำรวจแห่งชาติว่า ตกลงแล้วจะมีการพิจารณาทำให้พี่น้องประชาชนปลอดภัยมากกว่านี้ หรือเปล่า

นายรอมฎอน ปันจอร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ เรื่องความมั่งคั่งครับ เมื่อสักครู่เพื่อน สส. ของเราก็ได้พูดไปแล้ว โคบาลครับ แต่ว่าตัวมาแบบบาง ๆ เลยที่ชายแดนใต้ ตอนนี้เป็นประเด็นมาก พี่น้อง ประชาชนก็กังขาว่าตกลงแล้วจะสร้างความมั่งคั่งให้ใครกันแน่ งบประมาณ ๑,๕๐๐ ล้านบาท แต่ว่าส่งตัวผอม ๆ อมโรคมาไม่ตรงปก เพื่อนของผมทีมงานผมไปที่อำเภอมายอ จังหวัด ปัตตานีเมื่อวานใน ๕๐ ตัวนี้ Tax บัตรประชาชนของสัตว์มีแค่ ๑ ตัวเท่านั้นที่ตรง ๔๙ ตัวนี้ ไม่ตรงเลยนะครับ ก็ฝากทาง ศอ.บต. ฝากทางกรมปศุสัตว์ ซึ่งตอนนี้ก็ปัดกันพัลวันให้ช่วย ตรวจสอบด้วยเรื่องนี้

นายรอมฎอน ปันจอร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สุดท้าย เป็นเรื่องความยั่งยืน เป็นเรื่องน้ำท่วมครับ น้ำท่วมยั่งยืนได้อย่างไร เมื่อวานนี้มีน้ำขึ้นมาอีกแล้ว เมื่อเดือนที่แล้วเราเจออุทกภัยใหญ่สุดในรอบกว่า ๗๐ ปี เป็นภัยพิบัติซ้ำซากเราต้องเผชิญกับสถานการณ์นี้อีกครั้งหนึ่งแล้ว แต่การฟื้นฟูเยียวยา ยังไม่ชัดว่าจะมีการซ่อมบ้านเมื่อไร พี่น้องประชาชนตอนนี้บางคนบ้านพังทั้งหลังก็ต้องไป อาศัยบาลาเซาะห์ หรือว่าศาลาละหมาด หรือว่าในที่ต่าง ๆ ตอนนี้ก็เดือดร้อนมากครับ ฝากท่านประธานส่งถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเร่งรัดการฟื้นฟูเยียวยาด้วยท่านประธาน ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณองอาจ ฉัตรชัยพลรัตน์ ครับ

นายองอาจ ฉัตรชัยพลรัตน์ ขอนแก่น ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ องอาจ ฉัตรชัยพลรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขต ๑๑ พรรคภูมิใจไทยครับ

นายองอาจ ฉัตรชัยพลรัตน์ ขอนแก่น ต้นฉบับ

เรื่องแรก ขออนุญาตเกี่ยวกับ เรื่อง โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง ของบ้านวังเวิน หมู่ที่ ๘ ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอชนบท เป็นของกรมเจ้าท่า บริเวณดังกล่าว เสียหายจากแม่น้ำชีกัดเซาะสะสมมานาน ตอนนี้ใกล้ถึงบ้านเรือนของพี่น้องประชาชนแล้วครับ

นายองอาจ ฉัตรชัยพลรัตน์ ขอนแก่น ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ก็คือโครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก บนถนนคันทำนบดิน ที่อ่างเก็บน้ำหนองกองแก้ว ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอชนบท โครงการนี้มีความสำคัญต่อ ๒ ตำบลเป็นอย่างยิ่งครับ ต้องขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นกับรองผู้ว่าราชการจังหวัด กรมชลประทาน กำนันผู้ใหญ่บ้านที่ไปรับทราบปัญหาถึงพื้นที่

นายองอาจ ฉัตรชัยพลรัตน์ ขอนแก่น ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ คือเรื่องโครงการก่อสร้างถนน ๔ เลน เรื่องนี้ต้องขออนุญาตแสดง ความยินดีด้วยนะครับ เพราะว่าปัจจุบันคณะกรรมการการกระจายอำนาจมีมติโอนคืนให้กับ ต้นสังกัดเดิม คือกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคมแล้วครับ จึงขอความกรุณากระทรวง คมนาคมให้ความอนุเคราะห์ก่อสร้างถนน ๔ เลนด้วย ถนนเส้นนี้สำคัญต่อพี่น้อง ชาวอำเภอบ้านไผ่มาก เนื่องจากอำเภอบ้านไผ่กำลังจะเป็นศูนย์กลางของการขนส่งของ ภาคอีสาน

นายองอาจ ฉัตรชัยพลรัตน์ ขอนแก่น ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ ก็คือเรื่องของน้ำท่วมขังอุโมงค์ทางลอดของอำเภอบ้านไผ่ กับอำเภอบ้านแฮด มีทั้งหมด ๖ จุดปัญหาเดียวกัน ๖ จุด ก่อให้เกิดอันตรายเป็นอย่างยิ่ง

นายองอาจ ฉัตรชัยพลรัตน์ ขอนแก่น ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๕ คือเรื่องที่สำคัญมากครับท่านประธาน เรื่องโครงการก่อสร้างสนาม กีฬาของอำเภอบ้านไผ่ กรมพลศึกษาลงพื้นที่ทุกปี แล้วก็บรรจุอยู่ในแผนทุกปี เด็ก ๆ มีความหวังทุกปี แต่ว่าถูกตัดทุกปีเช่นเดียวกัน ท่านประธานครับ วันนี้เด็ก ๆ มาจากอำเภอ บ้านไผ่ มาตามหาความฝันของพวกเขา นั่งอยู่ข้างบนครับท่านประธาน เขาอยากจะทราบว่า เมื่อไรความฝันของเขาจะเป็นจริงสักที และที่สำคัญก็คือสิ่งที่อยากจะบอกกับท่านประธาน ผ่านไปถึงผู้ที่มีอำนาจว่าเด็ก ๆ ทุกคนรอความฝัน แล้วก็รอความหวังเป็นอย่างมาก เหนือสิ่งอื่นใด ก็คือเมื่อวานนี้ทีมฟุตบอลทีมชาติไทยเสมอกับซาอุดีอาระเบีย ต้องขอคารวะ แล้วยิ่งกว่านั้น ก็คือนักฟุตบอลยอดเยี่ยม คือนายสรานนท์ อนุอินทร์ เป็นเด็กบ้านไผ่ครับ แล้วก็เป็นเด็ก บ้านไผ่ที่มาจากบ้านไผ่เมืองกีฬาครับท่านประธาน แต่ไม่น่าเชื่ออำเภอบ้านไผ่ไม่มีสนามกีฬาครับ ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

สภาผู้แทนราษฎร ขอต้อนรับคณะครูและนักเรียนโรงเรียนบ้านไผ่ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่นครับ ซึ่งก็มา นั่งฟังการประชุมอยู่ข้างบนครับ ต่อไปขอเชิญคุณพงศ์พันธ์ ยอดเมืองเจริญ ครับ

นายพงศ์พันธ์ ยอดเมืองเจริญ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานครับ พงศ์พันธ์ ยอดเมืองเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตบางพลัด เขตบางกอกน้อยครับ ผมมี เรื่องมาหารือท่านประธานเรื่องเดียว ก็จะเป็นเรื่องการนำที่วัดไปใช้ประโยชน์เพื่อจะสร้าง ศูนย์อนามัย ศูนย์สาธารณสุขให้คนที่มีรายได้น้อย เนื่องจากตอนนี้ศูนย์อนามัยของเขต ๓๑ ค่อนข้างเต็มมาก มีผู้บำบัดยาเสพติดไปเต็มเลยนะครับ แล้วก็ขนาดศูนย์ค่อนข้างเล็ก ก็เลยมี ความจำเป็นที่จะต้องสร้าง ซึ่งสถานที่นี้คือวัดวิมุตยาราม ทางเจ้าอาวาสท่านก็อยากจะให้ ที่วัดมาสร้างศูนย์นะครับ เราคุยเรื่องนี้มานานแล้ว ครั้งนี้ผมได้มีโอกาสมาปรึกษา ท่านประธานก็จะเป็นเรื่องที่ดีเลยนะครับ ปัญหาของมันก็คือว่าตั้งแต่มีการตั้งกฎใหม่ หลักเกณฑ์ใหม่ของทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ก็ทำให้เก็บอัตราค่าเช่า หรือระเบียบ ซึ่งบังคับใช้ทั่วประเทศนี้ก็ได้เปลี่ยนไป ซึ่งในเขตบางพลัด เขตบางกอกน้อยเอง ทุกท่านคงรู้จักโรงพยาบาลศิริราชนะครับ โรงพยาบาลศิริราชก็จะเต็มมาก แล้วก็ โรงพยาบาลวชิรพยาบาลก็จะเต็มมากเลย แล้วผู้มีรายได้น้อยก็จะไม่เข้าถึง ซึ่งก็จะเป็นปัญหา ที่เรื้อรังมากสำหรับชุมชน ผมก็ขอกราบเรียนท่านประธานในการตั้งคณะประชุมเพื่อหาทาง ออกในเรื่องนี้ ซึ่งก็ผมอยากให้ท่านประธานส่งตัวแทนของท่านประธาน เป็นประธาน แล้วก็ ขอเชิญตัวแทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตัวแทนจากมหาเถรสมาคม แล้วก็ เจ้าอาวาสของทางวัดวิมุตยาราม แล้วก็กรรมการวัด ผู้แทนจากกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการเขตบางพลัด ตัวแทนประชาชน แล้วก็ภาคธุรกิจที่พร้อมจะสนับสนุน เพื่อก่อตั้งศูนย์อนามัยนี้ แล้วก็ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายการเงิน แล้วก็สุดท้าย ผม สส. เขตก็จะเป็นเลขา แล้วก็คอยจัดประชุมเพื่อให้ได้วัตถุประสงค์ ก็ต้องขอเกริ่นเอาไว้ว่า การเปลี่ยนระเบียบของสำนักงานพระพุทธศสานาแห่งชาตินี้ทำให้ระบบดีขึ้น แต่เป็น การบังคับใช้ทั่วประเทศ เพราะฉะนั้นปัญหาในบางจุดเราอาจจะต้องมาเจรจากันว่าจะหาทาง ออกกันอย่างไร ผมก็ขอกราบเรียนท่านประธานจริง ๆ ว่าอยากจะให้ตั้งคณะเพื่อมาประชุม กันให้ได้นะครับ อย่างไรเดี๋ยวผมจะส่งเอกสารไปทีหลัง ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

คุณพงศ์พันธ์ มาพบเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้วย เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ครับ

นายพงศ์พันธ์ ยอดเมืองเจริญ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณญาณีนาถ เข็มนาค ครับ

นางญาณีนาถ เข็มนาค อำนาจเจริญ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน ญาณีนาถ เข็มนาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอำนาจเจริญ เขต ๒ พรรคภูมิใจไทย ท่านประธานสภาที่เคารพคะ ดิฉันมีเรื่องหารือท่านประธาน สืบเนื่องจาก ดิฉันลงพื้นที่ได้รับเป็นฟังปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในการสัญจรไปมา

นางญาณีนาถ เข็มนาค อำนาจเจริญ ต้นฉบับ

ประเด็นแรก ขอให้กรมทางหลวงปรับปรุงขยายไหล่ทางถนนทางหลวง หมายเลข ๒๑๓๔ ช่วงระหว่างบ้านเปือยหัวดง อำเภอลืออำนาจ ไปบ้านดอนขวัญ อำเภอ พนา จังหวัดอำนาจเจริญ ปัจจุบันถนนเป็น ๒ ช่องจราจร ไหล่ทางและสะพานแคบ รถเล็ก ไม่สามารถวิ่งบนไหล่ทางได้ จึงต้องมาวิ่งในช่องจราจร ทำให้ที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ถนนสายนี้มีปริมาณจราจร ๖,๔๐๐ คันต่อวัน ซึ่งเส้นทางสายนี้เป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงระหว่างอำเภอลืออำนาจไปอำเภอพนา จังหวัด อำนาจเจริญ และยังเชื่อมโยงไปยังอำเภอตระการพืชผล อำเภอศรีเมืองใหม่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นเส้นทางที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี อีกทั้งยังเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าพืชผลทางการเกษตร จึงอยากให้ กรมทางหลวงดำเนินการปรับปรุงสายทางในช่วงดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

นางญาณีนาถ เข็มนาค อำนาจเจริญ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ขอให้กรมทางหลวงบูรณะปรับปรุงถนนทางหลวง หมายเลข ๒๒๕๒ จากอำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ ไปอำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัด อุบลราชธานี ระยะทาง ๑๔ กิโลเมตร ปัจจุบันเป็นถนนขนาด ๒ ช่องจราจรเหมือนกันค่ะ ท่านประธาน ผิวทางชำรุดเสียหายเป็นจำนวนมาก ไหล่ทางแคบ การสัญจรไปมาลำบาก เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งเส้นทางสายนี้เป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงระหว่างอำเภอเป็นสถานที่ ราชการและขนส่งสินค้าทางการเกษตรอีกเช่นกัน ในพื้นที่มีปริมาณการจราจร ประมาณ ๕,๐๐๐ คันต่อวัน จึงอยากให้กรมทางหลวงทำการบูรณะปรับปรุงผิวจราจรและขยาย ไหล่ทางให้กว้างขึ้น จึงเรียนท่านประธานผ่านไปยังกระทรวงคมนาคมได้จัดสรรงบประมาณ อย่างเร่งด่วนเพื่อปรับปรุงก่อสร้างถนนทั้ง ๒ เส้นดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยของพี่น้อง ประชาชน กราบขอบพระคุณค่ะท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอเชิญ คุณภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ ครับ

นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดเชียงใหม่ เขตอำเภอหางดงและอำเภอสันป่าตอง

นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ประเด็นแรก ที่ผมอยากจะปรึกษาหารือท่านประธานในวันนี้ คือปัญหา น้ำประปาไม่ได้คุณภาพ ในพื้นที่หมู่บ้านหนองสะเรียม ตำบลยุหว่า อำเภอสันป่าตองนะครับ ปัญหานี้เป็นปัญหาที่เรื้อรังมาเป็นเวลานาน มีทั้งสี มีทั้งกลิ่น เพราะฉะนั้นผมขอฝาก ท่านประธานประสานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมส่งหน่วยงานที่มีความรู้มี ความเชี่ยวชาญ ให้ความรู้กับคณะกรรมการประปาหมู่บ้านของตำบลหนองสะเรียม และเทศบาลตำบลยุหว่าด้วยนะครับ

นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

อีกประเด็นหนึ่ง ประเด็นหนองสะเรียมที่เดิมนะครับ นอกจากเรื่องของ น้ำประปาแล้ว ปัจจุบันยังมีการก่อสร้างพัฒนาชุมชน มีการสกัดพื้นผิวถนนที่ทิ้งไว้ตั้งแต่ เดือนตุลาคมถึงปัจจุบันเลยครับ ปัญหาฝุ่นคลุ้งเต็มไปหมด ประชาชนได้รับความเดือดร้อน อย่างหนักขอให้ท่านประธานประสานกรมโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ให้เร่ง แก้ไขปัญหานี้ และขอส่งปฏิทินแผนดำเนินการให้กับผม เพื่อที่จะไปประชาสัมพันธ์ต่อให้กับ ประชาชนในพื้นที่ด้วยนะครับ

นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

แล้วก็ปัญหาต่อไปที่อำเภอหางดง กับโรงพยาบาลประจำอำเภอครับ อำเภอ หางดง ที่มีประชากรเกือบ ๑๐๐,๐๐๐ คน แต่ปัจจุบันเรื่องของโรงพยาบาลขาดแคลน อุปกรณ์เป็นอย่างมาก ในปีที่ผ่านมาประชาชนและพระภิกษุสงฆ์ต้องทอดผ้าป่าเพื่อจะหาเงิน ในการจัดหาอุปกรณ์ห้อง ICU เพราะฉะนั้นผมขอฝากท่านประธานถามไปยังกระทรวง สาธารณสุขถึงแผนการในการก่อสร้างโรงพยาบาลหางดงแห่งใหม่ว่าจะมีในงบประมาณ ปี ๒๕๖๘ นี้เลยหรือไม่ เพราะอะไรนะครับ

นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ประเด็นสุดท้าย เรื่องการขอความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการไปยัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่องของการดูแลความปลอดภัยแล้วก็ติดตั้งกล่องแดงทุกโรงเรียน ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ แต่ว่าปัญหาคืออะไร ปัจจุบันเจ้าหน้าที่สายตรวจได้ค่าราคา น้ำมันผลัดละ ๗๐๐ บาทต่อผลัด ๑ ผลัด มีรถมอเตอร์ไซค์สายตรวจ ๓ คัน เพราะฉะนั้นถาม ว่าพอไหมครับ ไม่พอหรอกครับ เพราะว่ายังมีเรื่องของการที่จะต้องไปอารักขาต้องไปนำทาง VIP อีกต่างหาก เพราะฉะนั้นค่าน้ำมันเข้าเนื้อเต็ม ๆ เพราะฉะนั้นขอฝากท่านประธานไปยัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติถึงการจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับความเป็นจริงด้วย ผมขอฝากท่านประธานไว้ ๓ ประเด็น ๑ ประเด็นในอำเภอสันป่าตอง ๑ ประเด็นในอำเภอ หางดง และ ๑ ประเด็นกับปัญหาที่ประสบพบเจอทั่วประเทศ ขอบคุณท่านประธานครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอเชิญ คุณทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย ครับ

นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย นครสวรรค์ ต้นฉบับ

กราบเรียนประธานสภา ที่เคารพ ผม นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ เขต ๒ พรรคเพื่อไทย ผมได้ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยที่โรงพยาบาลพยุหะคีรี ได้พบปะพูดคุยกับ แพทย์หญิงศิริพรรณ ชมพูภู่ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพยุหะคีรี ถึงปัญหาความหนาแน่น ของผู้ป่วยที่ได้เข้ามารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลพยุหะคีรี

นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย นครสวรรค์ ต้นฉบับ

โรงพยาบาลพยุหะคีรี เป็นโรงพยาบาลชุมชน ขนาด ๓๐ เตียง แต่ปัจจุบันเปิดให้บริการจริง ๔๒ เตียง ถือว่า อัตราการครองเตียง ปี ๒๕๖๖ ถึง ๑๑๖ เปอร์เซ็นต์ จำนวนผู้ป่วยในเฉลี่ย ๓๔ คนต่อวัน จำนวนผู้ป่วยนอกเฉลี่ย ๓๕๒ คนต่อวัน ประชากรตามสิทธิรักษาพยาบาล ๔๑,๔๓๐ คน สิทธิบัตรทอง หรือบัตร ๓๐ บาทรักษาทุกโรค บัตรประกันสังคม ๗,๙๐๓ คน ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ๕,๓๐๐ คน ประชากรที่ขึ้นทะเบียนสิทธิต่างด้าว ๒,๔๖๓ คน ปี ๒๕๖๖ อุบัติเหตุโรคทั่วไป ๑๙,๙๔๔ คน บุคลากรทั้งหมดมี ๑๕๘ คน เป็นโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ติดถนนสายเอเชีย ตำบลพยุหะคีรี อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ และเป็นโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ถือว่าเป็นโรงพยาบาล ประตูสู่ภาคเหนือ จำนวนประชาชนที่มาใช้บริการเป็นจำนวนมาก ยิ่งเวลาปีใหม่ สงกรานต์ ตรุษจีนหรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ จำนวนรถที่สัญจรไปมามีจำนวนมากและเกิดอุบัติเหตุ บ่อยครั้ง การให้บริการสถานที่ห้องพยาบาล เครื่องมือทางการแพทย์ที่ให้บริการช่วยเหลือ ประชาชนผู้ประสบภัยไม่เพียงพอ ทำให้โรงพยาบาลได้รับข้อร้องเรียนจากประชาชน ที่เข้ามารับบริการบ่อยครั้ง ทำให้เสียชื่อกระทรวงสาธารณสุข ผมจึงเห็นว่ากระทรวง สาธารณสุขควรจัดสรรงบประมาณก่อสร้างอาคารผู้ป่วยและเครื่องมือทางการแพทย์ที่พร้อม ให้บริการพี่น้องประชาชนทั้งที่อยู่ในพื้นที่และพี่น้องประชาชนที่สัญจรไปมาบนท้องถนน กราบขอบพระคุณท่านประธานสภาที่เคารพครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณศักดินัย นุ่มหนู ครับ

นายศักดินัย นุ่มหนู ตราด ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ศักดินัย นุ่มหนู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตราด พรรคก้าวไกล ขอหารือประเด็นเรื่องน้ำ ซึ่งสำคัญกับพี่น้องเกษตรกรชาวจังหวัดตราดใน ๓ พื้นที่ ก็ขอให้หน่วยงานของกรมชลประทาน ได้เข้าไปดำเนินการในพื้นที่ดังต่อไปนี้

นายศักดินัย นุ่มหนู ตราด ต้นฉบับ

พื้นที่แรก เป็นพื้นที่ของพี่น้องเกษตรกร ตำบลคลองใหญ่ อำเภอแหลมงอบ ท่านประธานครับ ที่อำเภอแหลมงอบนี้ก็มีแผนงาน โครงการที่จะได้สร้างอ่างเก็บน้ำที่เราเรียกว่า อ่างเก็บน้ำวังตาสังข์ เพียงแต่ว่าวันนี้โครงการนี้ ยังไม่ได้มีการเริ่ม คาดว่าน่าจะปี ๒๕๖๙ หรือปี ๒๕๗๐ ถึงจะได้มีการก่อสร้าง ดังนั้นเพื่อให้ มีน้ำที่เพียงพอต่อพี่น้องเกษตรกรที่จะได้ใช้ที่ตำบลคลองใหญ่ อำเภอแหลมงอบ ชาวบ้าน ก็อยากให้มีการสร้างฝายกั้นน้ำตามลำคลองที่มีความยาวเกือบ ๑๐ กิโลเมตร เป็นการสร้าง ฝายชะลอน้ำให้ชาวบ้านนั้นได้มีน้ำใช้ แล้วก็จากในภาพนี้ก็จะเป็นฝายกั้นน้ำ ๒ ห้องเขาตะพง ที่มีความทรุดโทรมอย่างมาก ก็อยากให้หน่วยงานได้เข้าไปพัฒนาปรับปรุงแก้ไขด้วยครับ

นายศักดินัย นุ่มหนู ตราด ต้นฉบับ

พื้นที่ที่ ๒ ก็เป็นพื้นที่ของฝายบ้านแตง ที่ตำบลชำราก อำเภอเมืองมีความ ชำรุดทรุดโทรม ภารกิจของฝายนี้ก็เพื่อที่จะได้กั้นน้ำเค็มแล้วก็เก็บน้ำจืด แต่ว่าปัจจุบันนี้ ทรุดโทรมมาก เพราะว่าสร้างมาแล้วก็จะเกือบ ๒๕ ปีแล้วครับ ปัจจุบันนี้ไม่สามารถที่จะ ป้องกันน้ำเค็มได้ ทำให้น้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ทางการเกษตรของพี่น้องเกษตรกร ที่ตำบลชำราก ก็ขอให้หน่วยงานชลประทานได้เข้าไปปรับปรุงหรือว่าจะต้องมีการสร้าง ขึ้นใหม่ ก็ได้ เร่งรัดเข้าไปดูให้ด้วยครับ

นายศักดินัย นุ่มหนู ตราด ต้นฉบับ

สุดท้ายในพื้นที่ของตำบลอ่าวใหญ่แล้วก็ตำบลห้วงน้ำขาวในอำเภอเมือง คือ ๒ ตำบลนี้เป็นพื้นที่ที่มีการผลิตทุเรียนเป็นจำนวนมาก แล้วก็เป็นทุเรียนที่มีคุณภาพดี มีชื่อเสียงและส่งออกก่อนของประเทศไทย เพียงแต่ว่า ๒ พื้นที่นี้ยังขาดแหล่งน้ำหลัก ก็อยาก ที่จะให้ทางชลประทานได้เข้าไปวางระบบน้ำให้กับทั้ง ๒ ตำบลนี้ เพื่อที่จะได้มีรายได้แล้วก็ สร้างผลผลิตที่มีคุณภาพให้กับประเทศนี้ต่อไปครับ ขอขอบคุณมากครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอเชิญคุณประดิษฐ์ สังขจาย ครับ

นายประดิษฐ์ สังขจาย พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม ประดิษฐ์ สังขจาย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เขต ๕ อำเภอเสนา อำเภอบางซ้าย อำเภอผักไห่ อำเภอลาดบัวหลวง พรรคภูมิใจไทย น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก สิ่งเหล่านี้คือความหวังของพ่อแม่พี่น้องประชาชนที่มีต่อ ผู้แทนราษฎร วันนี้กระผมจะขอหารือท่านประธานเกี่ยวกับทางหลวงชนบท อย.๓๐๐๖ สาย แยกทางหลวงหมายเลข ๓๔๐ กม.ที่ ๕๕+๙๐๐ หรือถนนลาดบัวหลวง-ไม้ตรา เป็นทางหลวง ชนบทในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาครอบคลุมพื้นที่อำเภอลาดบัวหลวงและอำเภอบาง ไทร เริ่มต้นจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๔๐ เลียบไปตามคลองพระยาบันลือฝั่งเหนือ ผ่านตำบลหลักชัยตำบลลาดบัวหลวง ตำบลพระยาบันลือ ตำบลสิงหนาท อำเภอลาดบัวหลวง และตำบลไม้ตรา อำเภอบางไทร สิ้นสุดสายทางบริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๑๑๑ ระยะทางประมาณ ๒๑ กิโลเมตร กระผมขอหารือท่านประธานผ่านไปยังกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคมให้ช่วยจัดสรร งบประมาณในการก่อสร้างถนนสายนี้ให้เสร็จตลอดสายทาง พร้อมทั้งติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง ที่ผ่านมาได้รับงบประมาณในการก่อสร้างถนนสายนี้ปีละประมาณ ๑-๒ กิโลเมตร บางปี ก็ไม่ได้รับงบประมาณเลย ซึ่งทำให้ต้องรอระยะเวลาอีกหลายปีกว่าถนนเส้นนี้จะเสร็จ สมบูรณ์ตลอดทั้งสายทาง เกรงว่าถ้าได้รับงบประมาณมาแบบนี้กว่าจะรองบประมาณ ก่อสร้างถนนเส้นนี้ให้เสร็จครบทั้งสายทาง ถนนที่ก่อสร้างไปแล้วปีก่อน ๆ ก็จะพังเสียหายอีก หวังว่ากรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคมจะช่วยพิจารณาจัดสรรงบประมาณในการ ก่อสร้างถนนสายนี้ให้เสร็จตลอดสายทางครับ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและลด อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เนื่องจากถนนสายนี้เป็นถนนสายสำคัญของพ่อแม่พี่น้อง ชาวอำเภอลาดบัวหลวงและพื้นที่ใกล้เคียงใช้สัญจรไปมาเป็นจำนวนมาก กราบขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอเชิญ คุณจุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม ครับ

นางจุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม เชียงราย ต้นฉบับ

กราบเรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน จุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย อำเภอแม่สาย อำเภอ แม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่จัน ๔ ตำบล พรรคก้าวไกลค่ะ วันนี้ดิฉันมีเรื่องจะปรึกษาหารือ ท่านประธาน ๓ เรื่อง เป็นปัญหาความเดือดร้อนของพ่อแม่พี่น้องในพื้นที่นะคะ

นางจุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม เชียงราย ต้นฉบับ

เรื่องแรก คือดิฉันขออนุญาต ติดตามการพิจารณาการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้ถาวรของกรมป่าไม้ที่มีความล่าช้าถึง ๔ ปี ที่ผ่านมาที่ชาวบ้านจะขออนุญาตใช้พื้นที่นี้เป็นแหล่งน้ำทางการเกษตร กรณีบ้านสันทรายนาปง หมู่ที่ ๘ ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีการดำเนินเรื่องตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ จนถึงปัจจุบัน ล่าสุดปี ๒๕๖๓ อธิบดีกรมป่าไม้ได้พิจารณาแล้ว แล้วก็มีการตรวจสอบว่าอยู่ ในเกณฑ์ที่สามารถอนุญาตได้ แต่ยังไม่มีหนังสือแจ้งไปยังพื้นที่ ขอนำเรียนท่านประธานได้ ประสานงานไปยังกรมป่าไม้ให้พิจารณาอนุญาตโดยเร็วขึ้นนะคะ

นางจุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม เชียงราย ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ดิฉันขออนุญาตติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาสัญญาณไฟ จราจรที่แยกแม่คำหลักเจ็ดไปไร่ชาฉุยฟง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้ อบต. ศรีค้ำ อำเภอแม่จัน ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเป็นพื้นที่เป็นจุดกลับรถร่วม แล้วก็มี เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งมาก ๆ แล้วทางประชาชนเองได้มีการประชุมประชาคมยื่นหนังสือ ขอตั้งสัญญาณไฟจราจรต่อแขวงทางการเชียงรายที่ ๑ แล้ว ตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ และจนถึง ปัจจุบันก็ยังไม่เห็นความคืบหน้าใด ๆ ดิฉันขอนำเรียนท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งในการติดตั้งสัญญาณไฟจราจรโดยด่วนด้วยนะคะ

นางจุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม เชียงราย ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ เป็นปัญหาความเดือดร้อนที่ดิฉันได้รับมาจากคุณครู และ ผอ. โรงเรียนบ้านขี้เหล็กดอยดินแดง ตำบลจอมสวรรค์ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ซึ่งประสบ กับปัญหารถรับส่งนักเรียนและอาคารเรียนที่ไม่เหมาะสมต่อการให้บริการทางการศึกษา ปรากฏดังภาพเป็นรถรับส่งนักเรียนที่ทรุดโทรม ที่ไม่ให้ความปลอดภัยกับนักเรียนในการ เดินทางมาโรงเรียนได้เลย ประกอบกับอาคารเรียนที่ทรุดโทรมที่ก่อสร้างมาเป็นระยะเวลา ยาวนานแล้ว ดิฉันขอหารือท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดให้มีงบประมาณ ในการสนับสนุนด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอเชิญคุณรัชนี พลซื่อ ครับ

นางรัชนี พลซื่อ ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางรัชนี พลซื่อ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๓ พรรคพลังประชารัฐ

นางรัชนี พลซื่อ ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

วันนี้ดิฉันขอหารือท่านประธานผ่านไปยัง กรมทางหลวงเพื่อขอให้ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรจุดสี่แยกบ้านสนามเป้า ตำบลโนนชัยศรี อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ด้วยดิฉันได้รับการหารือจาก สจ. สุราช แวงอุ้ย ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น รวมทั้งพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่สัญจรไปมาบริเวณสี่แยกบ้านสนามเป้า หน้าเทศบาลตำบลโนนชัยศรี อำเภอโพนทอง ว่าเกิดอุบัติเหตุมาแล้วบ่อยครั้ง สูญเสียชีวิต และทรัพย์สินมาแล้วจำนวนมาก สี่แยกบ้านสนามเป้าเป็นเส้นตัดระหว่างถนนทางหลวง แผ่นดินสายอำเภอโพนทองไปอำเภอเสลภูมิ และถนนทางหลวงชนบทสาย ๔๐๓๕ จากบ้านหนองดงไปบ้านหนองขี้ม้าข้ามสี่แยก บ้านสนามเป้าผ่านไปตำบลสว่าง ออกสู่อำเภอเมยวดี อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด มีรถสัญจรไปมาเป็นจำนวนมาก รถที่วิ่งมาจากอำเภอโพนทองจะลงเนินจากอำเภอโพนทอง โดยใช้ความเร็วสูง แล้วขณะเดียวกันรถที่วิ่งมาจากบ้านหนองดง บ้านหนองขี้ม้า อำเภอโพนทอง ใกล้จุดสี่แยกนั้นด้านขวามือก็จะต้นยางนาขนาดใหญ่ ด้านซ้ายมือก็จะมีรั้วโรงเรียน บ้านหนองขี่ม้าบดบัง อาจจะทำให้มองไม่เห็นรถที่วิ่งบนถนนทางหลวงแผ่นดินสายดังกล่าว จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และเมื่อไม่นานมานี้ก็เกิดอุบัติเหตุจึงมีความเห็นร่วมกันว่า ควรที่จะมีการติดตั้งสัญญาณไฟเขียวไฟแดงที่สี่แยกดังกล่าว ดิฉันจึงขอหารือท่านประธาน ผ่านไปยังกรมทางหลวงเพื่อให้รีบดำเนินการติดตั้งไฟสัญญาณจราจรจุดสี่แยกบ้านสนามเป้า โดยด่วน กราบขอบพระคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอเชิญ คุณกาญจน์ ตั้งปอง ครับ

นายกาญจน์ ตั้งปอง ตรัง ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา กระผม นายกาญจน์ ตั้งปอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง เขต ๔ พรรคประชาธิปัตย์ ขออนุญาตหารือท่านประธานใน ๓ หัวข้อหลัก ๆ ดังนี้

นายกาญจน์ ตั้งปอง ตรัง ต้นฉบับ

๑. เรื่องไฟส่องสว่างถนนตรัง-กันตัง ทล.๔๐๓ ระยะทาง ๒๑ กิโลเมตร ถนนสายนี้สร้างแล้วเสร็จกว่า ๒๐ ปี และยังเป็นเส้นทางหลักของคนทั้งอำเภอกันตังในการ มุ่งหน้าเข้าสู่ตัวเมืองตรัง แต่น่าแปลกใจมากครับท่านประธาน ที่ไฟส่องสว่างยังมีเพียงในช่วง บ้านคนไม่ตลอดทั้งเส้นทาง จึงอยากวิงวอนไปยังกรมทางหลวงประสานของบประมาณ ในการติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างเพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงที่เกิดอันตรายในต่อไปครับ

นายกาญจน์ ตั้งปอง ตรัง ต้นฉบับ

๒. ขอประสานงบประมาณในการจัดทำโครงการก่อสร้างถนนทางหลวง หมายเลข ๔๐๔๖ สายตรัง-ควนกุน ระยะทาง ๒๒.๕ กิโลเมตร ได้มีการสำรวจไว้แล้วแต่ยัง ขาดงบประมาณ วันนี้มาเป็นตัวแทนของพ่อแม่พี่น้องชาวอำเภอสิเกา รวมถึงพี่น้องชาว จังหวัดตรังมาบอกถึงความหวังที่อยากจะให้ถนนเส้นนี้เป็นถนน ๔ เลนพร้อมไฟส่องสว่าง เพราะถนนเส้นนี้เป็นหัวใจหลักในการสัญจรของพ่อแม่พี่น้องชาวอำเภอสิเกา รวมไปถึง นักท่องเที่ยวในการเดินทางเชื่อมต่อจังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง จังหวัดพัทลุง จังหวัดสตูล นี่ยังไม่นับช่วงเทศกาลที่จะมีปริมาณรถที่หนาแน่น เนื่องจากเป็นเส้นทางหลักในการมุ่งหน้าสู่ แหล่งท่องเที่ยวทางทะเล อันได้แก่ ท่าเรือปากเมงรถจะติดยาวเป็นกิโลเมตร จึงอยากวิงวอน ไปยังกรมทางหลวงช่วยจัดทำโครงการนี้เพื่อเป็นของขวัญให้กับพี่น้องชาวอำเภอสิเกา รวมถึง ชาวจังหวัดตรังด้วยครับ

นายกาญจน์ ตั้งปอง ตรัง ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านเขาพลู อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลบางสัก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ได้รับแจ้งจาก นายโชติ มลยงค์ นายกองค์การบริหาร ส่วนตำบลบางสักถึงโครงการนี้ว่า ได้มีการสำรวจปรับปรุงอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ เนื่องจากอ่างเก็บน้ำ แห่งนี้เป็นหัวใจหลักในการจ่ายน้ำให้กับพี่น้องชาวตำบลบางสัก ตำบลนาเกลือ และบางส่วน ของตำบลเกาะลิบง ช่วยให้ชาวบ้านจำนวนกว่าพันหลังคาเรือนได้มีน้ำใช้อย่างยั่งยืน ถ้าโครงการนี้แล้วเสร็จครับท่านประธาน แต่โครงการนี้เกิดความล่าช้า จึงอยากเรียน ผ่านท่านประธานไปยังกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยประสานผลักดัน งบประมาณให้แล้วเสร็จ เพื่อให้พี่น้องได้ใช้น้ำอย่างยั่งยืนตลอดปี ขอบคุณมากครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญคุณจีรเดช ศรีวิราช ครับ

นายจีรเดช ศรีวิราช พะเยา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพกระผม นายจีรเดช ศรีวิราช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพะเยา เขต ๓ พรรคพลังประชารัฐ ขออนุญาตหารือท่านประธานผ่านไปยังกระทรวงมหาดไทยถึงระเบียบกฎหมายที่เป็นปัญหา อุปสรรคของกีฬาไก่ชน

นายจีรเดช ศรีวิราช พะเยา ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผมมัน สส. บ้านนอกลูก ชาวบ้านหลานชาวนาเติบโตมาในสังคมชนบทได้เห็นพี่น้องเกษตรกรเมื่อว่างเว้นจากการทำ นาไร่ก็จะหาเวลาผ่อนคลายนำไก่มาประลองสร้างความสุขสนุกสนานเฮฮาตามภาษาชาวบ้าน กีฬาไก่ชนได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จะเห็นได้จากสถิติตัวเลขที่รวบรวมไว้ว่าปัจจุบันมี ผู้เกี่ยวข้องกับไก่ชนราว ๓ ล้านคน คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท มีการส่งออกปีละหลายร้อยล้าน เห็นตัวเลขขนาดนี้ทำไมภาครัฐไม่ผลักดันเป็นสัตว์เศรษฐกิจ หรือยังติดภาพลบเดิม ๆ มองเป็นการพนันบ้าง ทรมานสัตว์บ้าง แล้วที่เรามนุษย์มาชกมาตีออกทีวีทุกวันถ่ายทอดกันไปทั่วโลก ค่าตั๋วเป็นแสนเป็นล้าน มันต่างกันตรงไหน ทำไมไม่ช่วยสนับสนุนให้เกมกีฬา ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมเหมือน มวยไทย ทำไมต้องไปจำกัดเอาระเบียบข้อบังคับกันหลายเรื่อง ทั้งบังคับเรื่องเวลาให้ตีได้แค่ ๗ โมงเช้าถึง ๑ ทุ่มเฉพาะวันเสาร์หรืออาทิตย์เดือนละ ๒ ครั้งเท่านั้น นี่คือปัญหาของ กฎหมายที่ล้าหลังที่ออกมาใช้โดยไม่แก้ไขมากว่า ๖๐ ปี ทำให้เจ้าหน้าที่บางคนหา ผลประโยชน์จากช่องว่างทางกฎหมาย รัฐบาลควรสนับสนุนไก่ชนให้ดีมีมาตรฐาน เพื่อให้ ชาวบ้านมาเพิ่มมูลค่า ยิ่งตีดี ตีเก่งยิ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับไก่ ท่านทราบไหมว่าราคาไก่ชน ในวันนี้มีราคาตั้งแต่หลักพันยันหลักล้านบาท นี่คือความฝันของเกษตรกรชาวรากหญ้า ท่านประธานครับ กีฬาไก่ชนมีประวัติศาสตร์คู่สังคมไทยมาหลาย ๑๐๐ ปี ดังที่โจษจันจารึก บันทึกไว้ในพงศาวดารไก่เหลืองหางขาวของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นอกจากนี้ก็ยังมี ไก่ประดู่หางดำของสมเด็จพะเอกาทศรถ ไก่เทาทองหางขาวของสมเด็จพระเจ้าตากสิน มหาราช เป็นต้น

นายจีรเดช ศรีวิราช พะเยา ต้นฉบับ

สุดท้ายขอฝากท่านประธานผ่านไปยังรัฐบาล หากคิดว่า Soft Power คือการนำ วัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ไก่ชนไทยนี่ละ คือ ๑ ใน Soft Power ตัวจริงของจริง ขอให้กระทรวงมหาดไทยได้โปรดทบทวนแก้ไขระเบียบกฎหมายอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้าง โอกาส สร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงไก่ชน ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง ครับ

นายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง สงขลา ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ขออนุญาตขึ้นสไลด์เลยนะครับ

นายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง สงขลา ต้นฉบับ

กระผมขอหารือถึงความเดือดร้อน ที่เกิดขึ้นในพื้นที่

นายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง สงขลา ต้นฉบับ

ปัญหาแรก ผมได้รับแจ้งปัญหาจาก นายชอบ บิณกาญจน์ นายกเทศมนตรี เมืองทุ่งตำเสา ถึงปัญหาของถนนเพชรเกษม ช่วงสามแยกหูแร่ มีพื้นถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ เกิดน้ำท่วมขังตามไหล่ทางทั้ง ๒ ฝั่งถนน อีกทั้งถนนดังกล่าวมีชุมชนอยู่หนาแน่น มีร้านขาย สินค้าจำนวนมาก ยังเป็นเส้นทางหลักที่ใช้เดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยว นั่นคือน้ำตก โตนงาช้าง ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว ผมขอแจ้งปัญหาไปยังหน่วยงานรับผิดชอบ อย่างหมวดการทางรัตภูมิที่ ๒ สังกัดกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ให้เข้ามาดูแลเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วนครับท่านประธาน

นายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง สงขลา ต้นฉบับ

ปัญหาที่ ๒ เป็นปัญหาเรื่องกระแสไฟฟ้าที่ตกบ่อย อยู่ภายใต้การดูแลของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหาดใหญ่ อยู่ในเขตพื้นที่ของตำบลคูเต่าและตำบลคลองแหบางส่วน ปัญหานี้ร้องเรียนถึงความเดือดร้อนมาอย่างยาวนานครับท่านประธาน ส่งผลทำให้ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก เพราะพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ชุมชน มีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่นและมีโครงการบ้าน ผมจึงขอแจ้งปัญหาผ่านสภาแห่งนี้ไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาสำรวจและแก้ไขอย่างจริงจัง

นายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง สงขลา ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้ายครับท่านประธาน ยังคงเป็นเรื่องไฟฟ้าที่ได้รับความเดือดร้อน และร้องเรียนผ่านนายณัฐวุฒิ จิตรพงศ์ ซึ่งเป็นคณะทำงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ อุบัติเหตุได้ เกิดขึ้นบ่อยในช่วงเวลากลางคืน เป็นผลมาจากสภาพของถนนสายคลองแห-คูเต่า ที่ใช้สัญจร หลักถนนแคบ ไร้ไฟส่องแสงสว่าง ถนนเส้นนี้อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การบริหาร ส่วนจังหวัดสงขลา แต่เนื่องจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลามีงบที่มีอยู่อย่างจำกัด ผมจึงขอนำปัญหามาสะท้อนผ่านสภาแห่งนี้ ไปยังสำนักงบประมาณเพื่อสนับสนุน งบประมาณผ่านองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ลงมาแก้ไขปัญหาให้เกิดความปลอดภัย แก่พี่น้องประชาชน กราบขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ ครับ

นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ นราธิวาส ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ และเพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ผม สัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนราธิวาส เขต ๓ พรรคพลังประชารัฐ วันนี้ผมมีปรึกษาหารือท่านประธาน รวม ๒ เรื่อง ดังนี้

นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ นราธิวาส ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ผมได้รับเรื่องร้องเรียนถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลแว้ง อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ซึ่งปัจจุบัน โรงพยาบาลแว้ง มีขนาด ๖๐ เตียง มีผู้ป่วยนอกมาใช้บริการเฉลี่ยวันละ ๕๐๐-๖๐๐ คนต่อวัน ประกอบกับโรงพยาบาลมีห้องอุบัติเหตุและห้องฉุกเฉินรวมอยู่ในตึกเดียวกัน ซึ่งสามารถ รองรับผู้ป่วยหนักได้เพียง ๒ ราย และด้วยขนาดห้องผู้ป่วยนอกที่เล็กคับแคบจนไม่สามารถ รองรับผู้ป่วยนอกที่เพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ ปี ผมขอเสนอท่านประธานสภาผ่านไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณสำหรับอาคารผู้ป่วยนอกให้กับโรงพยาบาลแว้งเป็น การเร่งด่วนต่อไป

นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ นราธิวาส ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ขอเสนอพิจารณายกเลิกใบ ตม.๖ สำหรับด่านที่ติดพรมแดน ในพื้นที่ภาคใต้ อาทิ ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก ด่านศุลกากรบูเก๊ะตา ด่านศุลกากรเบตง ด่านศุลกากรสตูล และด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ เช่นเดียวกับด่านศุลกากรสะเดาตามมติ คณะรัฐมนตรีที่ผ่านมา สำหรับข้อมูลอย่างด่านสุไหงโก-ลก มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวมาเลเซียเดินทางเข้าออกด่านเฉลี่ยวันละ ๖,๐๐๐-๗,๐๐๐ คนต่อวัน และหากเป็นเทศกาลสำคัญจะมีผู้เดินทางเข้าออกเฉลี่ยวันละ ๑๐,๐๐๐-๑๑,๐๐๐ คนต่อวัน ถือเป็นตัวเลขที่สูงและส่งผลดีต่อประเทศ การยกเลิกใบ ตม.๖ ของด่านสะเดาที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากพี่น้องทั้งประชาชนชาวไทยและชาวมาเลเซียรวดเร็ว ในการเข้าออกด่าน ทั้งนี้เพื่อความเสมอภาคเท่าเทียมกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ ลดขั้นตอน ความยุ่งยากของนักท่องเที่ยวมาเลเซีย ถือเป็นประโยชน์ต่อประเทศเป็นอย่างยิ่งนะครับ ผมจึงขอเรียนปรึกษาหารือท่านประธานสภาผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา ดำเนินการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้เพื่อความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ ต่อไป ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

สภาผู้แทนราษฎร ขอต้อนรับคณะครูและสภานักเรียนโรงเรียนเลยอนุกูลวิทยา อำเภอเมือง จังหวัดเลย ซึ่งกำลังนั่งฟังการประชุมของเราอยู่ชั้นบนนะครับ ต่อไปขอเชิญคุณยูนัยดี วาบา

นายยูนัยดี วาบา ปัตตานี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ และสมาชิก ผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ผม นายยูนัยดี วาบา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี เขตเลือกตั้งที่ ๔ ประกอบด้วย อำเภอสายบุรี อำเภอกะพ้อ อำเภอไม้แก่น อำเภอปานาเระ ท่านประธานครับ วันนี้ผมขอหารือท่านประธาน ๑ เรื่อง คือเรื่องขวัญกำลังใจของครูโรงเรียน เอกชนในระบบ ในเรื่องสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของครูโรงเรียนเอกชนในระบบ คุณครู โรงเรียนเอกชนต้องได้รับการบรรจุจากโรงเรียน มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบร้อยละ ๓ และทางโรงเรียนต้องจ่ายร้อยละ ๓ ให้กับกองทุน คุณครูจะได้รับวงเงินค่ารักษาพยาบาล ๑๕๐,๐๐๐ บาทต่อปี ปัญหาคืออย่างนี้ครับท่านประธาน วงเงินนี้ไม่พอสำหรับการรักษา พยาบาล ครูหลายคนเข้ารักษาตัว รอการผ่าตัด วงเงินไม่พอจะต้องตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุด ในชีวิต คือครูต้องลาออกจากการเป็นครูเพื่อใช้สิทธิบัตรทอง ท่านประธานเคยเป็นครูมาก่อน ผมเองก็เคยเป็นครู ฟังแล้วรู้สึกเจ็บปวดมากครับท่านประธาน ผมจึงขอเรียนท่านประธานว่า ให้ช่วยขยายวงเงินในการรักษาพยาบาลให้กับคุณครูโรงเรียนเอกชน ประสานไปยังรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับพี่น้องคุณครู โดยเฉพาะคุณครูโรงเรียน เอกชนสอนศาสนาอิสลาม รายได้ก็ไม่มาก วันนี้ทุกคนทำหน้าที่เพื่อแก้ปัญหาพี่น้องใน ๓ จังหวัด ขอบคุณท่านประธานครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณสุภาพร สลับศรี ครับ

นางสุภาพร สลับศรี ยโสธร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ท่านสมาชิก ผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ดิฉัน สุภาพร สลับศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยโสธร พรรคไทยสร้างไทย เขต ๑ ที่ประกอบไปด้วยอำเภอเมือง อำเภอทรายมูล ตำบลกระจาย อำเภอศรีฐาน และตำบลทุ่งมน วันนี้ขอหารือต่อท่านประธานสภาผ่านไปยังรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๒ เรื่อง โดยมีรายละเอียดดังนี้

นางสุภาพร สลับศรี ยโสธร ต้นฉบับ

เรื่องแรก เป็นเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องชาวอำเภอทรายมูลทั้ง ๕ ตำบล โดยท่านเลิศศักดิ์ มูลสาร สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร ท่านนายกเทศมนตรี ตำบลนาเวียง ท่านอานันท์ ทองเฟื่อง ขออภัยที่เอ่ยนามไม่เสียหาย ได้ร้องเรียนผ่านตัวดิฉัน ถึงความเดือดร้อน ในเรื่องการย้ายบุคลากรของกรมที่ดินและเอกสารทั้งหมดจากสำนักงาน ที่ดินอำเภอทรายมูลไปรวมศูนย์ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดยโสธร ซึ่งสร้างความลำบากนะครับ เดือดร้อนให้กับชาวอำเภอทรายมูลทั้งอำเภอเป็นอย่างมากที่จะต้องทำธุรกรรมเกี่ยวกับที่ดิน ทั้งหมด ซึ่งจำเป็นต้องเดินทางมาใช้บริการที่สำนักงานที่ดินจังหวัดยโสธร ท่านประธานคะ ถ้ามองอย่างเผิน ๆ เหมือนจะระยะทางจากตัวอำเภอทรายมูลห่างจากตัวจังหวัดยโสธรแค่ ๑๘ กิโลเมตรเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงแล้วไม่ใช่ เพราะ ๓ ตำบลจาก ๕ ตำบล ของอำเภอทราย มูลนั้นล้วนอยู่ห่างไกลจากตัวจังหวัดยโสธรเกิน ๓๐ กิโลเมตรทั้งสิ้น

นางสุภาพร สลับศรี ยโสธร ต้นฉบับ

ตำบลนาเวียง ตำบลดู่ลาด ตำบลดงมะไฟ ระยะทางไปกลับในการเดินทางแต่ละครั้งประมาณ ๗๐-๙๐ กิโลเมตรต่อวัน ส่งผลให้ราษฎร ทั้ง ๓ ตำบลนี้ต้องทำธุรกรรมเกี่ยวกับที่ดินเกิดความเดือดร้อนอย่างมาก บางเรื่องน่าจะใช้ เวลาในการดำเนินการไม่เกิน ๓ ชั่วโมง ก็ต้องเสียระยะเวลาในการเดินทางสูญเสียรายได้ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และการทำธุรกรรมที่ดินในจังหวัดมีพี่น้องประชาชนไปใช้บริการจำนวนมาก และตอนนี้ สภาพสำนักงานที่ดินอำเภอทรายมูลก็ยังคงสภาพการใช้งานได้ดีก็ถูกปล่อยรกร้าง อย่างน่าเสียหาย ฝากรัฐบาล แล้วก็กรมที่ดิน แล้วก็หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดเมตตาทบทวน คืนความเป็นสำนักงานที่ดินแก่อำเภอทรายมูลด้วยนะคะ

นางสุภาพร สลับศรี ยโสธร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ อีกนิดหนึ่ง เป็นความเดือดร้อนของพี่น้องชาวตำบลนาเวียง ซึ่งปัญหาการออกเอกสารสิทธิที่ดินทั้ง ส.ค.๑ น.ส.๑ และ ส.ป.ก. ซึ่งมีปัญหาทั้งประเทศยัง หาข้อยุติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่จบ ยังคาราคาซังเกินกว่า ๒๐ ปี จึงระหว่างรัฐบาลและ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้พี่น้องที่รอคอยอย่างมีความหวังให้ได้รับโฉนดที่ดิน ขอบคุณท่านประธานมากค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอเชิญคุณสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส ครับ

นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส ปัตตานี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๕ จังหวัดปัตตานี อำเภอมายอและอำเภอยะหริ่ง ผมมี ๒ ประเด็นด้วยกันที่จะหารือกับท่านประธานครับ

นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส ปัตตานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ จากการที่กระผมได้เคย หารือมาแล้วประมาณวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๖ กรณีวิกฤติอ่าวปัตตานีนั้นได้มีหนังสือตอบ กลับจากสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ ๙ สำนักงานกรมเจ้าท่าภูมิภาคปัตตานี ได้อนุญาตให้ทาง อบต. แหลมโพธิ์ดำเนินการขุดลอกบริเวณร่องน้ำตะโละสะมิแล ตำบล แหลมโพธิ์ได้นั้น แต่ปัญหาคือทาง อบต. แหลมโพธิ์ไม่มีงบประมาณเพียงพอ

นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส ปัตตานี ต้นฉบับ

และอีกอย่างหนึ่งที่ผมเคยหารือเหมือนครับ นอกจากนี้กระผมยังได้เคยหารือ ไปเรื่องของบประมาณเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาวิธีการเปิดอ่าวปัตตานีที่แหลมตาชี ซึ่งบริเวณนี้ส่งผลกระทบต่อระบบไหลเวียนกระแสน้ำเค็ม จึงเกิดภาวะความเค็มของน้ำลดลง ทำให้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมากครับท่านประธาน อีกทั้งมีประชาชนใน พื้นที่รอบอ่าวปัตตานีร้องขอให้ติดตามสอบถามไปยังกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาตื้นเขินของอ่าวปัตตานีอย่างเป็นระบบ ซึ่งสำนักงาน ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ ๙ มีหนังสือตอบกลับมาว่าเคยเสนอโครงการนี้แล้ว โดยเสนอผ่านทางคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดปัตตานีเพื่อเสนอโครงการไปยัง คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ แต่ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแต่อย่างใด จึงฝาก ให้นำเรื่องนี้ไปทบทวนเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนของ พี่น้องอีกสักครั้งหนึ่งครับท่านประธาน

นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส ปัตตานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ขอฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานกรมทางหลวงและสำนักงาน ทางหลวงที่ ๑๘ ให้ดำเนินการจัดสรรงบประมาณซ่อมแซมพื้นผิวจราจร หมายเลข ๔๒ นราธิวาส-ปัตตานี ช่วงระหว่างบางปู หลักกิโลเมตร ๑๑๕-๑๑๓ ซึ่งผิวถนนมีลักษณะเป็นร่อง และมีน้ำท่วมขังที่เกิดฝนตกส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งในรอบปีที่ผ่านมาครับท่านประธาน ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอเชิญ คุณบุญแก้ว สมวงศ์ ครับ

นายบุญแก้ว สมวงศ์ ยโสธร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายบุญแก้ว สมวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยโสธร พรรคเพื่อไทยครับ ขอหารือ ท่านประธานปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่ของจังหวัดยโสธร มีอยู่ ๓ เรื่อง

นายบุญแก้ว สมวงศ์ ยโสธร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ขอขยายเขตไฟฟ้าเพื่อการเกษตร ในปัจจุบันพี่น้องประชาชน ขยายบ้านเรือนออกไปตามท้องไร่ท้องนา ขยายตามท้องไร่ท้องนา ดังนั้นปัญหาไฟฟ้า จึงตามมา การขยายเขตไฟฟ้าให้พี่น้องประชาชนจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ปัจจุบันนี้การขอขยาย เขตไฟฟ้าขั้นตอนมากมายซับซ้อน ผมจึงขอหารือท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องขอให้การไฟฟ้าลดขั้นตอน และที่สำคัญการไฟฟ้าต้องอำนวยความสะดวกให้กับ พี่น้องประชาชน

นายบุญแก้ว สมวงศ์ ยโสธร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ผมขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี ท่านเศรษฐา ทวีสิน และ คณะรัฐมนตรีได้มีนโยบายเปลี่ยน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ให้เป็นโฉนดเพื่อการเกษตรและยังมีพ่อแม่ พี่น้องประชาชนมากมายที่ยังรอความหวัง ขอให้รัฐบาลพิจารณาในกรณีที่พี่น้องประชาชน ที่มี ส.ค.๑ ได้ออกรังวัดไว้แล้วตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ที่ดินหัวไร่ปลายนา เขตป่าเสื่อมโทรม ทำเลเลี้ยงสัตว์ให้เป็นโฉนดที่ดินเพื่อให้พี่น้องประชาชนด้วยครับ

นายบุญแก้ว สมวงศ์ ยโสธร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ปัญหาภัยแล้งของพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดยโสธร เพราะว่า ตอนนี้จังหวัดยโสธรกำลังเริ่มฤดูแล้งเข้ามาแล้วนะครับ พี่น้องกำลังจะทำการเกษตร ก็อยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบช่วยไปจัดสรรงบประมาณเพื่อจะนำเอางบประมาณไปใช้ ให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้ทำการเกษตรต่อไปครับ ขอกราบขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอเชิญคุณวิรัช พิมพะนิตย์ ครับ

นายวิรัช พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ท่านสมาชิก ผู้ทรงเกียรติ กระผม วิรัช พิมพะนิตย์ สส. เขต ๑ พรรคเพื่อไทย จังหวัดกาฬสินธุ์ ท่านประธานที่เคารพครับ วันนี้ผมมีเรื่องมาหารือท่านประธาน คือทางเข้าจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นทางของกรมทางหลวง ขอสไลด์ด้วยนะครับ

นายวิรัช พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

เป็นทางเข้าจังหวัดกาฬสินธุ์ตามรูปครับ ส่วนขวามือก็จะเป็นทางไป East West Corridor คือทางไปจังหวัดมุกดาหาร เป็นทางที่ตัดใหม่ เสร็จเมื่อปี ๒๕๖๔ ทางเข้าเมืองกาฬสินธุ์ตามรูปปัจจุบันเหลืออยู่เลนเดียว แล้วก็ตรงทางเขามี Global House ซึ่งเวลารถออกจาก Global House มันก็ทำให้รถที่มาจากจังหวัดขอนแก่น มาจากกรุงเทพมหานครเหลืออยู่ครึ่งเลนแล้วต้องจอดกัน ส่วนทางออกก็ต้องลอดใต้ใกล้ ทางโค้งก็เหลืออยู่เลนเดียว ปัญหามันเกิดคือถ้ามีรถเทรลเลอร์หรือรถใหญ่ไปเสียอยู่ทางเข้า หรือทางออก ก็ปรากฏว่าจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นอัมพาต ทางออกมันจะเหลืออยู่เลนเดียว เพราะฉะนั้นผมกราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ถึงกรมทางหลวง ท่านอธิบดีสราวุธ ก็ได้มี โอกาสคุยกับผมบอกว่าจะจัดงบเพื่อขยายถนนตรงนี้ให้เป็น ๒ เลน ระยะทางประมาณ ๖๐๐ เมตร ซึ่งมันใช้เงินอยู่ประมาณ ๓๐ ล้านบาท ผมก็คอยมา ๒ ปี ผมถามว่าทำไมไม่รีบ ทำให้ผม ท่านก็บอกว่ามันติดสัญญาอันเก่าต้องให้พ้นเงินค้ำประกัน ๒ ปีก่อน ผมจึงบอกว่า วันนี้ความจำเป็นมันคอยไม่ได้ ขอทางเส้นนี้ให้พี่น้องหน่อยครับ ท่านประธานครับนิดเดียว

นายวิรัช พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ คือตู้กินเงินของทางสนามบิน ที่ AOT ตั้งตู้แล้วให้เราไปแตะ บัตรโดยสาร ยังไม่มีคำตอบที่ผมหารือนะครับ นี่ครับตู้กินเงิน แล้วเก็บจากค่าตั๋วโดยสารของ ประชาชนคนละ ๓๕ บาท เพราะฉะนั้นฝากท่านประธานช่วยหารือว่าเอาสัญญามาดูหน่อย เอาเปรียบประชาชนมากไปแล้วครับ ขอบพระคุณครับท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณวชิราภรณ์ กาญจนะ ครับ

นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี พรรครวมไทยสร้างชาติค่ะ วันนี้ดิฉันขออนุญาตหารือท่านประธานและฝากไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องให้เร่งจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการดังนี้

นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

๑. เพิ่มช่องจราจรจาก ๒ ช่องเป็น ๔ ช่อง ถนนทางหลวงหมายเลข ๔๐๐๙ ตั้งแต่หน้าวิทยาลัยการอาชีพเวียงสระไปจนถึงสามแยกห้วยมะนาว เนื่องจากบริเวณดังกล่าว เป็นย่านชุมชน มีสถานที่ราชการสำคัญและสถานศึกษาอยู่หลายแห่ง ได้แก่ ศาลจังหวัด เวียงสระ สำนักงานอัยการจังหวัดเวียงสระ โรงเรียนบ้านห้วยมะนาว ขนส่งจังหวัด สุราษฎร์ธานี สาขาอำเภอเวียงสระ และวิทยาลัยการอาชีพเวียงสระ เป็นต้น ปัจจุบันถนนมี สภาพแคบไม่เพียงพอต่อปริมาณการจราจรและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

๒. ปรับปรุงสี่แยกช่องช้าง ตำบลพรุพี อำเภอบ้านนาสาร ให้มีเกาะกลางถนน พร้อมติดตั้งสัญญาณไฟจราจร อีกทั้งจุดกลับรถและจุดชะลอรถ ซึ่งบริเวณสี่แยกดังกล่าว ตอนนี้ไม่มีเกาะกลางและถนนเส้นนี้เป็นถนนสายหลักที่เชื่อมระหว่างอำเภอเวียงสระกับ อำเภอบ้านนาสาร ชาวบ้านสัญจรไปมาเป็นจำนวนมากและขับขี่ด้วยความเร็ว ทำให้เป็น จุดเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

๓. ติดตั้งไฟส่องสว่างริมทาง ถนนทางหลวงหมายเลข ๔๒๒๙ สายช่องช้าง- นาสาร ผ่านตำบลพรุพี ตำบลเพิ่มพูนทรัพย์ ตำบลลำภู และเทศบาลเมืองนาสาร ระยะทาง ๒๐ กิโลเมตร ตั้งแต่ กม.๐ ถึง กม.๒๐ เนื่องจากถนนดังกล่าวเป็นถนนสายหลัก แต่มีไฟ ส่องสว่างริมทางไม่พอ ทำให้การขับขี่ในเวลากลางคืนลำบาก สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ

นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย แก้ไขปัญหาคันทางพังทลาย ถนนทางหลวงหมายเลข ๔๐๑๕ สายห้วยปริก-บ้านส้อง บริเวณโค้งก่อนถึงบ้านพรุกะแซง หมู่ที่ ๑๒ ตำบลบ้านส้อง อำเภอ เวียงสระ เนื่องจากที่ผ่านมาฝนตกหนัก น้ำกัดเซาะริมถนน คันทางบริเวณจุดดังกล่าว เป็นพื้นที่สูงและลาดเอียง ทำให้คันทางพังทลายได้รับความเสียหาย หากปล่อยทิ้งไว้เกรงว่า ถนนชำรุดจนไม่สามารถสัญจรไปมาได้อย่างปลอดภัย กราบขอบพระคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอเชิญคุณนิกร โสมกลาง ครับ

นายนิกร โสมกลาง นครราชสีมา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายนิกร โสมกลาง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๘ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ วันนี้ผมจะขออนุญาตหารือความเดือดร้อนของพี่น้อง ประชาชนเขตอำเภอพิมาย อำเภอชุมพวง ๓ เรื่อง

นายนิกร โสมกลาง นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ผมได้รับแจ้งจากเทศบาลตำบลชุมพวง บริเวณพื้นที่บ้านตาทุ่ง หมู่ที่ ๑๑ ตำบลชุมพวง อำเภอชุมพวง ที่ผ่านมาน้ำในลำน้ำมาศมีระดับสูงขึ้น เพราะฝนตก อย่างต่อเนื่องในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา ทำให้น้ำกัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำไปเยอะมาก ตอนนี้ กินพื้นเกือบจะถึงตัวบ้านของพี่น้องที่อยู่ติดล้ำน้ำแล้วครับ รั้วของบ้านบางหลังก็ล้มไปกับ แม่น้ำแล้ว ผมอยากจะฝากท่านประธานไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ช่วยลงไปสำรวจช่วยซ่อมแซมเขื่อนป้องกันตลิ่งลำน้ำมาศเป็นการด่วนครับ เพราะว่า ถ้าหากทิ้งไว้อีกสักปีหนึ่งเกรงว่าบ้านเรือนของพี่น้องจะหายไปด้วยครับ

นายนิกร โสมกลาง นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ เขตอำเภอพิมาย พบว่าน้ำกินน้ำใช้ยังไม่เพียงพออีกหลายหมู่บ้าน ผมอยากจะขอให้ท่านประธานฝากไปยังกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ช่วยลงไปสำรวจและจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างประปาผิวดิน ที่บ้านดงน้อย หมู่ที่ ๒ ตำบลกระชอน และบ้านกล้วย หมู่ที่ ๗ ตำบลดงใหญ่ อำเภอพิมาย ด้วยครับ อบต. ทั้งสองที่เคยของบประมาณไปที่กรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่นแล้วก็ยังได้รับ การจัดสรรทรัพยากรสักทีครับ

นายนิกร โสมกลาง นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย พี่น้องบ้านทองหลาง หมู่ที่ ๑๒ ตำบลสัมฤทธิ์ อำเภอพิมาย ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากสะพานชำรุดเสียหาย การสัญจรไปมาก็ลำบาก เนื่องจากมี น้ำหลากทุกปี เป็นสะพานที่พี่น้องตำบลในเมืองและตำบลสัมฤทธิ์ใช้ในการเดินทางข้าม ตำบลกันเป็นประจำ แต่ทั้ง อบต. สัมฤทธิ์ และ อบต. ในเมืองไม่มีงบประมาณเพียงพอ จึงอยากจะขอท่านประธานผ่านไปยังกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม ช่วยลงสำรวจ และจัดสรรงบประมาณก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กบ้านทองหลาง หมู่ที่ ๑๒ ตำบลในเมืองเชื่อมตำบลสัมฤทธิ์ด้วยครับ ขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอเชิญ คุณสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ครับ

นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ชัยภูมิ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ พรรคภูมิใจไทย กระผมขอนำปัญหาของเกษตรกรชาวไร่อ้อยหารือผ่านท่านประธานไปยังสำนักงาน คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ขอความชัดเจนในเรื่องเงินช่วยเหลือการตัดอ้อยสด เข้าโรงงานน้ำตาล ท่านประธานครับ ใน ๓ ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ชาวไร่อ้อยด้วยการจ่ายเงินชดเชยการตัดอ้อยสด ๑๒๐ บาทต่อตัน โดยใช้วงเงินงบประมาณ ประมาณปีละ ๘,๐๐๐ ล้านบาท ทำให้ตัวเลขการตัดอ้อยไฟไหม้ลดลงเป็นที่น่าพึงพอใจ เป็นการบูรณาการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ได้เป็นอย่างดี แต่ท่านประธานครับ ในขณะนี้ได้มีข้อมูลเล็ดลอดออกมาว่าปีนี้รัฐบาลอาจจะไม่จ่ายเงิน ชดเชยการตัดอ้อยสด เพราะว่ารัฐบาลอาจมองว่าเกษตรกรขายอ้อยได้ในราคาสูงแล้ว ซึ่งเกษตรกรมีความกังวลว่า หากรัฐบาลไม่ชดเชยในส่วนนี้แล้วจะมีเกษตรกรบางส่วนจะจุดไฟเผาอ้อยตัวเองก่อนส่งเข้า โรงงาน เพราะว่าต้นทุนในการตัดอ้อยสดกับอ้อยไฟไหม้นั้นมีความแตกต่างกัน ค่าแรงในการ ตัดอ้อยสดจะสูงกว่าค่าแรงในการตัดอ้อยไฟไหม้ประมาณ ๑๒๐ บาท ถึง ๑๕๐ บาทต่อตัน ในขณะที่เกษตรกรนำอ้อยไปขายแล้ว ราคาอ้อยสดกับไฟไหม้จะต่างกันเพียง ๓๐ บาทต่อตัน กระผมจึงขอให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้ออกมาสร้างความชัดเจน ในเรื่องนี้ครับ มิฉะนั้นผมเชื่อว่าจะมีเกษตรกรจุดไฟเผาอ้อยตัวเองแล้วตัดเข้าโรงงานเพิ่มขึ้น อย่างแน่นอน และในส่วนของพ่อค้าที่รับซื้ออ้อยรายย่อยเป็นเงินสด ซื้อจากเกษตรกรที่เขา ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ สอน. เขาไม่สามารถส่งเองได้ พ่อค้าจะสามารถกำหนดได้ว่าเขาจะเพิ่ม ราคาการตัดอ้อยสดให้กับเกษตรกรหรือไม่ จึงขอให้ท่านประธานได้ส่งเรื่องนี้เป็นการเร่งด่วน ให้กับทางสำนักงานกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เพราะว่ายังเหลือเกษตรกรที่ยังไม่ตัด อ้อยอีกไม่น้อยกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ที่ยังอยู่ในไร่ ขอกราบขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

สภาผู้แทนราษฎร ขอต้อนรับคณะสภานักเรียน และครูที่ปรึกษาสภานักเรียน โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งกำลังนั่งฟังอยู่ชั้นบนครับ ต่อไป ขอเชิญคุณสุรเกียรติ เทียนทอง ครับ

นายสุรเกียรติ เทียนทอง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม สุรเกียรติ เทียนทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย วันนี้ผมขอหารือกับท่านประธานใน ๒ ประเด็นครับ

นายสุรเกียรติ เทียนทอง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ ขอให้เร่งรัด คืนผิวจราจรบนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าศูนย์ราชการถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อเป็นการลด ความแออัดของการใช้รถใช้ถนน และบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ใช้รถใช้ถนนในบริเวณ ดังกล่าว ด้วยปัจจุบันครับท่านประธาน รถไฟฟ้าสายสีชมพูได้ทำการก่อสร้างเสร็จแล้ว แล้วก็ เปิดให้พี่น้องประชาชนได้ใช้แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา แต่การคืนผิว จราจรบางส่วนยังคืนไม่แล้วเสร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณหน้าศูนย์ราชการ ช่วงเกาะกลาง แล้วก็จุดกลับรถบางจุดก็ยังเป็นหลุมเป็นบ่อ ไม่เรียบร้อยครับท่านประธาน เป็นสาเหตุให้ การจราจรติดขัดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วนอย่างที่เราเห็นกัน และในขณะนี้ ทราบว่าการไฟฟ้านครหลวงเองก็มีการวางท่อร้อยสายเคเบิลใต้ดินในบริเวณริมถนน แจ้งวัฒนะเพิ่มขึ้นอีก ทำให้เสียช่องทางจราจรไปอีก ๑ ช่องทาง จึงเป็นเหตุให้การจราจร ที่ติดอยู่แล้วติดมากยิ่งขึ้นครับ ก็ขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง กรุงเทพมหานครช่วยดำเนินการเร่งรัดการก่อสร้าง แล้วก็คืนผิวถนนให้ด้วยครับ

นายสุรเกียรติ เทียนทอง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนริมคลอง เปรมประชากร ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับชุมชนสวนผักในเขตจตุจักร ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจาก ไม่มีไฟฟ้าส่องสว่างในยามค่ำคืน และบริเวณดังกล่าวนี้รั้วกั้นเหล็กบริเวณถนนกับ ลำคลองนี้ก็ชำรุดเสียหายมานานแล้วครับ ยังไม่ได้รับการซ่อมแซม ทำให้เกิดอุบัติเหตุ มีรถจักรยานยนต์ตกลงไปในคลองอยู่บ่อยครั้ง ก็ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตจตุจักร สำนักงานระบายน้ำ ช่วยดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้ให้ด้วยครับ ขอบพระคุณท่านประธานครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอเชิญ คุณเฉลิมชัย กุลาเลิศ ครับ

นายเฉลิมชัย กุลาเลิศ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม เฉลิมชัย กุลาเลิศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ห้วยขวาง วังทองหลาง วันนี้อยากจะมาหารือท่านประธานในประเด็นในเรื่องของโรคไข้เลือดออก หลายคนคงทราบอยู่แล้วนะครับว่า โรคไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่นของประเทศไทย มีอัตราการติดเชื้อที่สูง แล้วก็มีคนเสียชีวิตเป็นจำนวนมากในทุก ๆ ปี

นายเฉลิมชัย กุลาเลิศ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

โดยสถิติของกรมควบคุมโรคจะ พบว่าในปีต่อไปจะมีโอกาสการติดเชื้อไข้เลือดออกเพิ่มสูงขึ้น อันเนื่องมาจากภูมิอากาศ ที่เปลี่ยนไป พอภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป เช่นอากาศร้อนขึ้นจะทำให้วงจรการฟักตัวของยุงสั้นลง ทำให้โอกาสในการติดเชื้อมากยิ่งขึ้น แต่ประเด็นสำคัญก็คือเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี ๒๕๖๖ ได้มีการอนุมัติวัคซีน Qdenga ซึ่งเป็นวัคซีนใหม่ ซึ่งตัววัคซีนนี้จะมีประโยชน์กว่าวัคซีนรุ่นเก่า ๆ ผมขอเท้าความก่อนว่าวัคซีนรุ่นเก่ายังเป็น ข้อถกเถียงกันว่าการฉีดจะได้ประโยชน์หรือไม่ เพราะว่าถ้าฉีดในคนที่ยังไม่เคยติดเชื้อ การติดเชื้อซ้ำสองจะมีโอกาสที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น แต่วัคซีนรุ่นใหม่มีข้อพิสูจน์อย่างชัดเจนจาก งานวิจัยหลาย ๆ ประเทศ แล้วก็การใช้จริงพบว่าไม่เพิ่มอัตราการป่วยรุนแรง ถึงแม้ว่าจะ ไม่เคยติดก็ตาม ดังนั้นแล้วจึงอยากจะให้กระทรวงสาธารณสุขได้ช่วยประชาสัมพันธ์ในเรื่อง ของวัคซีนใหม่ในเรื่องไข้เลือดออก และในอนาคตอาจจะเพิ่มขยายไปเป็นการฉีดวัคซีน ในกลุ่มเสี่ยง และยิ่งกว่านั้นถ้าเราสามารถทำ Mass Fascination หรือว่าการฉีดวัคซีนให้กับ ทุกคนทั่วประเทศแผนการในอนาคตจะช่วยลดอัตราการเกิดโรคไข้เลือดออกอันจะนำมา ซึ่งเตียงว่างมากขึ้น ซึ่งจะสามารถนำไปรักษาคนไข้โรคอื่น ๆ ได้ รวมถึงลดภาระค่าใช้จ่าย สาธารณสุขในระยะยาว ฝากท่านประธานไปยังกระทรวงสาธารณสุขด้วยครับ ขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ครับ

นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ผม ฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต อำเภอถลางและตำบลกะทู้ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมมีเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องชาวภูเก็ตมาปรึกษาหารือ ท่านประธานดังนี้ครับ

นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ตั้งแต่รัฐบาลใช้นโยบาย Free Visa ส่งผลให้ปัจจุบันเริ่มมี ชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรมหยาบคายเดินทางเข้ามาในจังหวัดภูเก็ตมากขึ้น มีการก่อความ เดือดร้อนรำคาญ เช่น ก่อกวนผู้ประกอบการต่าง ๆ โดยเปิดประตูเข้าไปในร้านแล้วก็ตะโกน ในร้านค้า ขับขี่รถในลักษณะก่อความรำคาญ เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ชนแล้วหนีก็มี ไปจนถึง การก่ออาชญากรรมตั้งแต่รับประทานอาหารแล้วไม่จ่าย ไปจนถึงการกระทำแบบอุกอาจ ถึงขั้นทุบกระจกห้องทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตที่ศาลากลาง การทำร้ายร่างกาย ไปจนถึงการปล้นทรัพย์ รวมถึงการแย่งอาชีพคนไทยด้วยกัน ที่มีการติดป้ายโฆษณาต่าง ๆ ตามเสาไฟฟ้า ในสื่อ Online ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นช่างเสริมสวย ขับรถแท็กซี่ เป็น Guide นำเที่ยว จำหน่ายสินค้าผิดกฎหมาย ล่าสุดเปิดบ่อนการพนันกลางเมืองภูเก็ตครับ มีบริการ รถรับส่งพร้อม ที่โฆษณามี ๓ แห่ง จับไปได้แล้ว ๑ แห่ง ฝากให้รัฐบาลกำชับให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องมีมาตรการเด็ดขาดในการดำเนินการทางกฎหมายอย่างจริงจัง เข้มงวดและ ทบทวนมาตรการ Free Visa เนื่องจากมีแต่คนต่างชาติไร้คุณภาพแฝงเข้ามาในนาม นักท่องเที่ยวมาก่อความเดือดร้อนวุ่นวายในจังหวัดภูเก็ต ทั้งนี้เพราะพี่น้องชาวภูเก็ตต้องการ นักท่องเที่ยวคุณภาพครับ

นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ปัจจุบันมีประชาชนมาใช้บริการ ณ สำนักงานที่ดินอำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ตเพิ่มมากขึ้น จนอาคารเดิมเริ่มมีสภาพคับแคบรองรับไม่เพียงพอ ไม่มีที่จอดรถ ไม่มีที่นั่ง ฝากให้ทางกรมที่ดินพิจารณาขยายหรือย้ายไปยังที่ที่มีความกว้างขวางมากขึ้น เพื่อให้สะดวกต่อผู้ปฏิบัติหน้าที่และประชาชนผู้มาใช้บริการด้วยครับ ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ ครับ

นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ พิษณุโลก ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เขต ๔ พรรคเพื่อไทยค่ะ

นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ พิษณุโลก ต้นฉบับ

วันนี้ดิฉันขอเสนอปัญหา ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ค่ะ ขอเรียนผ่านท่านประธานสภาไปถึง กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม เพื่อปรับปรุงถนนและขยายถนนหมายเลข พล.๒๐๔๓ แยกทางหลวงหมายเลข ๑๒ ถึงบ้านสนามคลีในจุดตำบลบ้านไร่ อำเภอ บางกระทุ่ม กิโลเมตรที่ ๓๓-๓๖ ถนนเส้นนี้เป็นถนนด้านหลังมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งคู่ขนาน กับคลองชลประทาน ตามสไลด์นะคะ ซึ่งถนนดังกล่าวนี้มีพี่น้องประชาชนใช้ ไม่ว่าจะเป็น ตำบลงิ้วงาม ตำบลท่าโพธิ์ ตำบลวัดพริก เขตอำเภอเมือง และตำบลบ้านไร่ ตำบลสนามคลี ตำบลโคกสลุด เขตอำเภอบางกระทุ่ม ถนนเส้นนี้ไปจนถึงจังหวัดพิจิตร เพราะฉะนั้นแล้วก็ เส้นทางนี้มีรถสัญจรจำนวนมาก แต่ว่าช่องการจราจรค่อนข้างคับแคบและไม่มีไฟฟ้า ส่องสว่าง ในช่วงกลางคืนมืดสนิทค่ะ แล้วก็มีความคดเคี้ยวมาก ซึ่งจุดนี้จะเป็นจุดของ ประตูน้ำ ซึ่งเป็นประตูน้ำวัดใหม่ราษฎร์ทรงธรรม มีสะพานข้าม มีทางแยก ซึ่งทำให้เกิด อุบัติเหตุบ่อยครั้ง ท่านประธานคะ ในปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นมากกว่า ๒๐ ครั้ง มีผู้เสียชีวิตในจุดนี้มากกว่า ๕ รายค่ะ ดิฉันจึงขอเร่งรัดให้ทางกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคมพิจารณาให้แขวงทางหลวงชนบทพิษณุโลกได้อนุมัติงบประมาณปรับปรุง และขยายถนนพร้อมติดตั้งระบบไฟฟ้าส่องสว่าง รวมทั้งป้ายจราจร Guard Rail ป้องกัน ในช่วงของทางโค้งในพื้นที่ดังกล่าวให้กับพี่น้องประชาชนโดยเร็ว เพื่อลดอุบัติเหตุและความ สูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน ขอบคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอเชิญคุณ กัลยพัชร รจิตโรจน์ ครับ

นางสาวกัลยพัชร รจิตโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพค่ะ ดิฉัน กัลยพัชร รจิตโรจน์ สมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลค่ะ ท่านประธานคะ นี่ก็จะครบ ๑ เดือนแล้วหลังจากที่พี่น้องในจังหวัดชายแดนใต้ได้รับผล กระทบจากน้ำท่วมที่หนักที่สุดครั้งหนึ่งในรอบ ๑๐ ปี จากการที่คุณพิธาและคุณรอมฎอนได้ลง พื้นที่มาพบว่าเฉพาะแค่จังหวัดนราธิวาสมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด ๑๔ คน

นางสาวกัลยพัชร รจิตโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

และมีครัวเรือนได้รับ ผลกระทบทั้งหมด ๗๐,๐๐๐ ครัวเรือน ในมุมมองของสาธารณสุข รพ.สต. ได้รับผลกระทบ ไม่น้อยกว่า ๑๐ แห่ง อุปกรณ์และเครื่องไม้เครื่องมือครุภัณฑ์ของ รพ.สต. เสียหายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือการแพทย์ รวมไปถึงประวัติสุขภาพ ของผู้ป่วยด้วยค่ะ นี่คือภาพจากตอนที่คุณพิธากับคุณรอมฎอนไปลงพื้นที่ รพ.สต. นาโอน ครุภัณฑ์ทางการแพทย์เสียหาย แล้วจากในภาพก็เห็นชัดเจนว่าคอมพิวเตอร์มีอยู่แค่ ๓-๔ เครื่องเท่านั้น ดิฉันไม่อยากจะคิดเลยว่าโรงพยาบาลจะสามารถดูแลผู้ป่วย มีประสิทธิภาพได้อย่างไร เราจะพัฒนาระบบการแพทย์ปฐมภูมิได้อย่างไร ในเมื่อเราต้องใช้ คอมพิวเตอร์ในการใช้ทำ Telemedicine และ Telepharmacy เป้าหมายของการ ปรึกษาหารือในวันนี้ ดิฉันต้องการสื่อไปถึงรัฐบาล สื่อไปถึงกระทรวงสาธารณสุข หาก รพ.สต. ยังขึ้นสังกัดอยู่กับท่าน สื่อไปถึงกระทรวงมหาดไทย ในกรณีที่ รพ.สต. สังกัดกรมส่งเสริม การปกครองท้องถิ่น ว่าท่านได้มีการช่วยเหลือเร่งด่วนแล้วหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นงบฉุกเฉิน ในการสรรหาเวชภัณฑ์ ครุภัณฑ์ การชดเชยเยียวยา การซ่อมแซมอาคาร การให้ รพ.สต. กลับมาใช้งานได้เหมือนเดิมอย่างเร็วที่สุด เพราะก่อนที่ รพ.สต. จะดูแลประชาชนได้อย่างดี รพ.สต. ก็ต้องการ Maintenance ให้อยู่ในสภาพที่ดีก่อน ขอเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ อาสาสมัครหน่วยงานท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ ฟื้นคืนจากภาวะน้ำท่วมโดยไวค่ะ ขอบคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปท่านสุดท้าย คุณธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ครับ

นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านประธานค่ะ ดิฉัน ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทยค่ะ ท่านประธานคะ ขอหารือความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ดิฉันได้รับเรื่องมานะคะ

นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ขอให้ทางกรุงเทพมหานคร สำนักการโยธาเขตลาดกระบัง เข้าซ่อมแซมไหล่ทางบนสะพานข้ามถนน Motorway บริเวณสถาบันพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบังค่ะ เพราะว่าพื้นที่ตรงนั้นค่อนข้างที่จะมีพื้นที่ยุบตัว แล้วก็สภาพ การจราจรมีรถวิ่งผ่านเป็นประจำ แล้วก็ไหล่ทางยกระดับขึ้นไป ถ้าเกิดเอียงหล่นลงมาแล้ว อาจจะลงมาทับรถที่เดินทางอยู่ด้านล่างเป็นอันตรายได้ ฉะนั้นแล้วจึงขอให้เร่งเข้าดำเนินการ ก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุขึ้นค่ะ

นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ขอให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือว่าเจ้าหน้าที่กรมการปกครอง ได้เข้าตรวจตราสถานบันเทิงต่าง ๆ ที่เปิดอยู่ใกล้สถาบันหรือสถานศึกษาทั่วกรุงเทพมหานคร เพราะว่าในปัจจุบันนี้ไม่ได้มาตรฐานในการที่จะเก็บเสียง ทำให้เวลาที่เปิดเพลงเสียงดัง ๆ ในยามค่ำคืน พี่น้องที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบไม่สามารถที่จะพักผ่อนได้เลย แต่ถ้าหากว่า สถานบันเทิงนั้นได้มีมาตรการในการสร้างพื้นที่ที่เก็บเสียง มีเครื่องมือที่สมบูรณ์แล้ว ก็จะสามารถทำให้เปิดกิจการได้อย่างถูกต้องด้วย ขอกำชับเจ้าหน้าที่ให้ดูแลอย่างใกล้ชิดค่ะ

นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ขอให้ทางกรุงเทพมหานครได้ตรวจสอบกล้อง CCTV ที่ติดอยู่ตาม รถไฟฟ้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น BTS ที่อยู่ในความดูแลว่ามีบริเวณที่ครอบคลุมแล้วก็ทั่วถึง หรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนในยามที่เกิดอุบัติเหตุอย่างที่เราไม่คาดฝันค่ะ

นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องต่อไป ขอให้ทางการไฟฟ้าเข้าตรวจสอบไฟฟ้าส่องสว่างในทางกลับรถ ใต้สะพานคลอง ๑ คลอง ๒ คลอง ๓ บริเวณถนนกรุงเทพกรีฑาตัดใหม่ ในพื้นที่เขตลาดกระบัง ด้วยค่ะ ขอบพระคุณท่านประธานค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ก่อนจะดำเนินการประชุมต่อไป ทางพรรคก้าวไกลขอหารือเรื่องขอเปลี่ยนแปลงกรรมาธิการ วิสามัญที่ตั้งไปเมื่อวานนี้ ถ้าพร้อมเชิญได้ครับ หารือก่อนนะครับ

นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ก่อนไปหารือเรื่องกรรมาธิการวิสามัญที่เปลี่ยนแปลงไป ขออนุญาตลุกขึ้นหารือท่านประธาน สักเล็กน้อยครับ ขอใช้เวลาของสภาในการหารือเกี่ยวกับเรื่องคณะกรรมการประสานงาน หรือวิปทั้ง ๒ ฝ่ายครับท่านประธาน ขอบคุณท่านประธานครับ ผม ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล จากชาวเขตบางขุนเทียน เขตบางบอน โดยธรรมเนียมปฏิบัติแล้วในการดำเนินงานของวิปทั้ง ๒ ฝ่าย สมัยที่ผ่านมาเราได้มีการแบ่ง จัดสรรปันส่วนกันเรียบร้อย ในเรื่องของห้องที่จะใช้ดำเนินการพูดคุย ขณะนี้วิปฝ่ายค้านนำ โดยพรรคก้าวไกล แล้วก็มีเพื่อนสมาชิกพรรคฝ่ายค้านไม่มีห้องในการทำงาน รวมเสียงกัน แต่ละครั้งต้องไปใช้ห้องพยาบาลหรือแม้กระทั่งแอบใช้หลังบัลลังก์กันตรงนี้ครับ โดยมี การประสานผ่านไปถึงท่านประธานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผ่านเจ้าหน้าที่ แล้วก็ได้รับ การตอบกลับมา ยังไม่ได้รับการประสานงาน เพราะฉะนั้นผมคิดว่าในห้องหลังบัลลังก์ ในธรรมเนียมปฏิบัติที่แบ่งกันมาห้องฝั่งนี้ก็จะเป็นห้องของฝ่ายรัฐบาล ห้องฝั่งนี้ก็เป็นห้อง ของวิปฝ่ายค้าน แต่ปัจจุบันห้องฝั่งนี้เป็นห้องของวิปรัฐบาล ห้องฝั่งนี้เป็นห้องของพรรค ร่วมรัฐบาล ก็เลยเกิดข้อสงสัยว่าถ้าเกิดร่วมห้องกันไม่ได้นี้จะร่วมรัฐบาลกันต่อได้อย่างไร เพราะฉะนั้นอยากให้ท่านประธานได้มีดำริในที่ประชุมแห่งนี้ให้ชัดเจนว่าพื้นที่สำหรับ ฝ่ายค้านในการทำงาน และธรรมเนียมปฏิบัติก็คงต้องดำเนินการต่อไปในห้องของวิป ประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้านในฝั่งทางด้านขวามือของผมตรงนี้ ฝากท่านประธานช่วย ดำเนินการ แล้วผมขอใช้เวลาในสภาแห่งนี้ เนื่องจากว่ามีการประสานไปหลาย ๆ ช่องทาง ไม่ว่าจะประสานผ่านเจ้าหน้าที่ แล้วก็ประสานไปถึงท่านประธาน จนถึงวันนี้ยังไม่ได้รับ การติดต่อกลับ และยังไม่ได้รับการดำเนินการใด ๆ มีเพียงการตอบผ่านเจ้าหน้าที่มาว่า ลุงเดินไม่ไหวขอใช้ห้องนี้ได้ไหม ผมคิดว่าประเทศไทยจะเดินต่อไปลำบากครับ ถ้าเกิดเกรงใจ ลุงบางคน ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เดี๋ยวรับไป พิจารณาแก้ไขนะครับ เชิญครับ

นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ขออนุญาตนิดเดียวครับ ผมมีความกังวลจริง ๆ ถ้าเกิดท่านประธานตอบว่าเดี๋ยวรับไป ดำเนินการแก้ไข ซึ่งท่านประธานสามารถดำเนินการสั่งการได้เลย เพราะเป็นความชอบธรรม ว่าทั้ง ๒ ฝั่งมันต้องมีการดำเนินงาน ไม่อย่างนั้นในวิปฝ่ายค้าน ถ้าเกิดหาห้องพยาบาลพูดคุย ไม่ได้หรือแอบไปหาพื้นที่พูดคุยไม่ได้ ตกใจขึ้นมานับองค์ประชุมทุกชั่วโมงครับท่านประธาน เพราะเราไม่รู้ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ไม่มีพื้นที่สำหรับการทำงานของเราเลย

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ผมรับไป ดำเนินการ แล้วก็ดูของจริงก็เห็นด้วยที่ว่าทั้ง ๒ วิปหารือใกล้ ๆ กับห้องประชุมว่าจะมีกรณี ต่าง ๆ ที่คุณณัฐชาพูดถึง ไม่เป็นอะไรครับ เดี๋ยวไปดูของจริงนะครับ ที่จะขอเปลี่ยนแปลง กรรมาธิการยังใช่ไหม เชิญครับ

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านประธานครับ เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ ผม ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลครับ ต้องขออนุญาตท่านประธาน จริง ๆ แล้วต้องขออภัยที่ประชุมด้วยนะครับ ต้องขอมีการเปลี่ยนแปลงชื่อคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนภารกิจของกองทัพ ไปอยู่ในความดูแลของ หน่วยงานอื่น หรือย้ายไปในสถานที่อื่นที่เหมาะสม ในสัดส่วนของพรรคก้าวไกล ๑ ท่าน เปลี่ยนจาก นาวาโท กิตติพงษ์ ปิยะวรรณโณ เป็น นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ขอผู้รับรอง ด้วยครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ไม่มีความเห็น เป็นอย่างอื่นนะครับ ก็ถือว่าเปลี่ยนแปลงกรรมาธิการวิสามัญตามที่คุณปกรณ์วุฒิเสนอ นะครับ สภาผู้แทนราษฎรขอต้อนรับนักเรียนชั้นมัธยมต้น นักวิจัยประจำโครงการ นักศึกษา พี่เลี้ยงมหาวิทยาลัยฮันกุ๊กภาษาและกิจการต่างประเทศและผู้ประสานงานจากสถาบัน ปัญญาภิวัฒน์ ซึ่งกำลังนั่งฟังอยู่ชั้นบนครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

จำนวนสมาชิกที่มาประชุมทั้งหมดที่ลงชื่อไว้เมื่อเลิกประชุม ๔๓๔ คน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ท่านสมาชิกครับ ขณะนี้มีสมาชิกมาลงชื่อเข้าประชุม ๒๘๓ ท่านแล้ว ครบองค์ประชุมครับ ผมขอเปิด การประชุมและดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระต่อไปนะครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๒ เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ ไม่มี

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๓ รับรองรายงานการประชุม ไม่มี

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๔ เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ไม่มี

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๕ เรื่องที่ค้างพิจารณา

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๕.๗ ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหา เรื่อง การบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น (นางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช และนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง เป็นผู้เสนอ)

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

และเนื่องจากญัตติทำนองเดียวกันนั้นยังมีอีก ๔ ฉบับ คือ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๑. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการแก้ไข ปัญหาการจัดการขยะชุมชน (นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี เป็นผู้เสนอ)

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๒. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา แนวทางจัดการขยะสิ่งแวดล้อมในเมืองท่องเที่ยว (นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ เป็นผู้เสนอ)

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๓. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา การแก้ไขปัญหาการกำจัดขยะในประเทศไทยอย่างบูรณาการ (นายวิทยา แก้วภราดัย กับคณะ เป็นผู้เสนอ)

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๔. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (นายสฤษดิ์ บุตรเนียร เป็นผู้เสนอ)

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ซึ่งผมเห็นว่าเรื่องต่างหาก ๕ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในทำนองเดียวกัน จึงจะขอ นำไปพิจารณาไปพร้อมกันเลยนะครับ ตามข้อบังคับ ข้อ ๕๕ (๒) และ (๔) จะมีท่านสมาชิก ท่านใดขัดข้องไหมครับ ถ้าไม่มีท่านสมาชิกท่านใดขัดข้องขอดำเนินการไปตามนี้นะครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ผมขอเชิญผู้เสนอได้แถลงเหตุผลตามลำดับนะครับ ขอเชิญคุณมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช และคุณสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง เชิญครับ

นางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช ลพบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ เพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่าน มัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๓ จังหวัดลพบุรี พรรคภูมิใจไทย และนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๓ จังหวัดกระบี่ พรรคภูมิใจไทย ได้ร่วมกันเสนอ ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหาแนวทาง การแก้ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปัจจุบันประเทศไทย กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาการจัดการขยะ โดยจากสถิติที่ผ่านมามีปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นปีละ ๒๒ ล้านตัน ตามอัตราการขยายตัวของจำนวนประชากร โดยปัญหาดังกล่าวกลายเป็นปัญหา สำคัญในท้องถิ่น ซึ่งในแต่ละพื้นที่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ ประกอบไปด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา โดยองค์กรเหล่านี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย ทำหน้าที่ เป็นหน่วยงานบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติ การจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปัจจุบันมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ จำนวน ๗,๘๕๒ แห่ง มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการขยะในพื้นที่เพื่อให้เป็นไปตาม พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งจากการสำรวจที่ผ่านมาพบว่าแต่ละแห่งมีวิธีการจัดการที่หลากหลาย เช่น การจัดทำ เตาเผาขยะ การจัดทำบ่อขยะชุมชน การฝังกลบ การจัดตั้งโรงงานกำจัดขยะ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเหล่านี้กำลังประสบปัญหาในด้านต่าง ๆ ซึ่งส่งผลให้การจัดเก็บและทำลาย ขยะไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ปัญหาการเก็บไม่หมด มูลฝอยตกค้าง วิธีกำจัดขยะมูลฝอยอย่าง ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ การไม่มีที่ดินสำหรับการกำจัดขยะหรือการฝังกลบ ปัญหาพื้นที่ ฝังกลบที่ถูกหลักสุขาภิบาลที่มีอยู่ในปัจจุบันมีพื้นที่จำกัด ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากปัญหาระหว่าง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับประชาชนในพื้นที่ การบริหารจัดการที่ไม่มีการวางแผน อย่างชัดเจน ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งมาจากการขาดแคลนการสนับสนุนจากส่วนกลาง ได้แก่ การสนับสนุนด้านงบประมาณ บุคลากร และองค์ความรู้ที่จะนำมาใช้ในเรื่องของการบริหาร จัดการขยะในท้องถิ่นที่ยังไม่ทั่วถึง รวมทั้งกฎระเบียบที่ออกโดยราชการส่วนกลางที่มีความ ยุ่งยากซับซ้อน เช่น ระเบียบที่เกี่ยวกับการสร้างเตาเผาขยะ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ การรักษาความสะอาด แม้ว่าที่ผ่านมาภาคท้องถิ่นในหลาย ๆ จังหวัดเริ่มออกมาตื่นตัวให้ ความสำคัญกับปัญหาขยะล้นเมืองในท้องถิ่นเป็นภารกิจเร่งด่วน พยายามประสานความ ร่วมมือจากทุกภาคส่วน อย่างเช่น หน่วยราชการในระดับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษาในทุกระดับและประชาชนจากทุกภาคส่วน ซึ่งช่วยกันสนับสนุนและจัดหาความรู้ ทางวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในการจัดการกับปัญหาขยะล้นเมืองแล้วก็ตาม แต่ปัญหา การจัดสรรงบประมาณจากส่วนกลางมีจำกัด ยังคงนับว่าเป็นอุปสรรคต่อการจัดการขยะ มูลฝอยของภาคปกครองท้องถิ่น โดยเฉพาะในเรื่องการลงทุนงบประมาณ พัฒนาระบบกำจัด ขยะอย่างมีประสิทธิภาพ และอาจจะต้องมีการจ้างมืออาชีพเฉพาะด้านเพื่อดำเนินการ โครงการที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะ เช่น การสร้างเตาเผาขยะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องใช้งบ ลงทุนก่อสร้างอย่างสูง เห็นได้ว่าปัญหาการบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นเป็นปัญหาส่งผลต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก เห็นควรให้หน่วยงานราชการส่วนกลางและท้องถิ่นได้ร่วมมือกันแก้ไขอย่างจริงจังและเป็น รูปธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่ รวมทั้งร่วมกันขจัดปัญหาอุปสรรคที่ก่อให้เกิดการบริหารจัดการ ที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างมาตรฐานในการบริหารจัดการขยะต่อไป ดังนั้นจึงขอเสนอ ญัตติดังกล่าวมาเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา หาแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๔๙ ส่วนเหตุผลและรายละเอียด จะได้ชี้แจงต่อไปนะคะ

นางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช ลพบุรี ต้นฉบับ

ท่านประธานคะ ขยะในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๕ พอที่จะสรุปได้เป็นตัวเลขจากกรมควบคุมมลพิษมีจำนวนมากถึง ๒๕.๗ ล้านตัน ทีนี้เขาบอกว่าขยะที่มันสามารถจำแนกได้ คือมันสามารถ ที่จะเอากลับมาใช้ประโยชน์ได้ มี ๘.๘๐ ล้านตัน ขยะที่ถูกกำจัดถูกต้อง มี ๙.๘๐ ล้านตัน ขยะที่ถูกกำจัดไม่ถูกต้อง มี ๗.๑๐ ล้านตัน และขยะตกค้าง มี ๙.๙๑ ล้านตัน เห็นได้ว่า ขยะตกค้างมีจำนวนมากที่สุดในบรรดาขยะทุกประเภท และใน ๑ วัน ค่าเฉลี่ยที่คนเรา ทิ้งขยะ ในตัวเลขเป็น ๑.๒ กิโลกรัมต่อคน แต่ว่าล่าสุดนี้ลดลงเหลือ ๑.๐๗ กิโลกรัม ต่อคน ขยะตามเมืองต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร จังหวัดเชียงใหม่หรือว่าจังหวัด ชลบุรี ก็ทำตัวเลขมาให้ดู เพราะว่าอย่างกรุงเทพมหานคร มีขยะเกิดขึ้น ๑ วัน ๑๒,๘๙๐ ตัน แล้วก็กำจัดแบบถูกต้องแค่ ๙,๐๕๐ ตันต่อวัน เอามาใช้ประโยชน์ได้ เอามา Recycle ได้ ๓,๘๔๐ ตันต่อวัน มาดูรู้จังหวัดเชียงใหม่บ้าง จังหวัดเชียงใหม่ขยะที่เกิดขึ้น ๑,๔๔๕ ตัน เอามาใช้ประโยชน์ได้แค่ ๓๕๙ ตัน ส่วนที่กำจัดแบบถูกต้องได้ ๘๑๐ ตันต่อวัน ทีนี้ขยะ ที่ตกค้างมีถึง ๔๕๐ ตัน จังหวัดชลบุรีขยะตกค้าง ๔๗๐.๕๕ ตัน จะเห็นได้ว่าปริมาณขยะที่มี จำนวนมากไม่ว่าเราจะกำจัดแบบถูกต้องแล้วก็ไม่ถูกต้อง หรือว่าจะเอากลับมาใช้ได้อีก หรือว่าจะเป็นขยะตกค้าง เราจะเห็นว่าขยะตกค้างมีเป็นจำนวนมาก สิ่งที่เราจะต้องทำต่อไป ก็คือว่าขยะที่มันเป็นปัญหาที่มันกำจัดไม่ได้เราจะทำอย่างไรให้มันหมดไป ปัญหาดังกล่าว ก็เลยเป็นปัญหาสำคัญในท้องถิ่นทุกพื้นที่ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้ง กรุงเทพมหานคร แล้วก็เมืองพัทยาที่เขามีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบ แล้วก็อยู่ภายใต้การ ควบคุมและกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย แต่ยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกค่ะ ท่านประธาน เช่น กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง กระทรวงพลังงาน มีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานมาช่วยดูแลการแปรรูป ขยะให้เป็นพลังงานไฟฟ้า แล้วก็สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานมากำหนด หลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนด้วย สาเหตุของปัญหา มาจากไหน

นางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช ลพบุรี ต้นฉบับ

ประการที่ ๑ คือด้านงบประมาณ เนื่องจากว่างบประมาณมีจำนวนจำกัด ต้องบอกว่าน้อยมาก แล้วก็ไม่เพียงพอ ยกตัวอย่างเวลาท้องถิ่นของบประมาณไปที่กรมส่งเสริม การปกครองท้องถิ่น ไปขอเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ล่าสุดสอบถามมาขอไปพันกว่าคัน อนุมัติมา ๓๐๐ กว่าคัน ซึ่งมันต่างกันมาก

นางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช ลพบุรี ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ ไม่มีที่ดินในการจัดเก็บขยะ หรือถึงมีบางครั้งจัดการพื้นที่ไม่ได้ เช่น พื้นที่นั้นอาจจะไม่มีพื้นที่สาธารณะ หรือว่าประชาคมกันแล้วก็ไม่ผ่าน เพราะว่าไม่มี ประชาชนตำบลไหนที่อยากให้บ่อขยะอยู่ในตำบลของตัวเอง อันนี้เราต้องมาสร้างความเข้าใจ แล้วก็มาหาวิธีที่จะเจอกันครึ่งทาง เพราะว่าจริง ๆ ทุกคนเวลาเอาถังขยะไปตั้งหน้าบ้าน บอกไม่เอา ไปโน่น ไปโน่น ไปโน่น แต่เวลาตัวเองจะทิ้งขยะก็มีขยะที่บ้านทุกหลังคาเรือน

นางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช ลพบุรี ต้นฉบับ

ประการที่ ๓ ก็เป็นการเก็บ แล้วก็ขนขยะไปไม่หมด เพราะอะไรคะ ส่วนหนึ่ง อย่างที่บอก ก็คือไม่มีรถเก็บขยะที่เพียงพอ

นางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช ลพบุรี ต้นฉบับ

ประการที่ ๔ ก็คือขาดบุคลากรและองค์ความรู้ที่จะนำมาบริหารจัดการขยะ ในท้องถิ่น เรารณรงค์บอกว่าให้แยกขยะ แต่เวลารถขยะมาเก็บ ท่านประธานจะต้องเห็น ก็เก็บรวมไปหมดเลย ชาวบ้านเขาถามว่าแล้วจะให้แยกทำไม

นางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช ลพบุรี ต้นฉบับ

ประการที่ ๕ ปัญหาระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับประชาชนในพื้นที่ และการมีระเบียบข้อบังคับกฎหมายที่ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นทำงานได้อย่าง ลำบากแล้วก็ไม่เป็นอิสระ

นางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช ลพบุรี ต้นฉบับ

จากปัญหาบางประการที่ได้กล่าวมาการบริหารจัดการขยะขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นก็เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ในหลาย ๆ ด้านของ ประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก รวมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ อีกทั้งการกำจัดขยะ ของประเทศเรา เราต้องยอมรับความจริงในส่วนของการคัดแยกขยะ เราทำได้เพียงแค่ ลูบหน้าปะจมูก และสุดท้ายก็จะมีผลให้ระบบที่ทำไปนั้นมันล้มเหลว จึงควรกลับมามอง ในส่วนของความเป็นจริงว่าขยะที่มีอยู่ในบ้านเราที่เป็นขยะพลาสติกมันมีอยู่ประมาณ ๑๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ แล้วก็ในส่วนที่มันเป็นน้ำที่มันอยู่ในเนื้อขยะหรือบางครั้งนี้เราเรียกว่า ขยะเปียก ส่วนนี้มันเป็นส่วนที่ก่อมลพิษ ไม่ว่าจะเป็นน้ำผิวดิน แล้วก็น้ำใต้ดิน ซึ่งมีปริมาณมากถึง ๕๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ แล้วถ้าหากปล่อยไปก็จะเป็นผลเสียและจุดนี้เองก็เป็นจุดที่ทำให้ระบบ เตาเผาขยะต่าง ๆ มันมีปัญหา เพราะว่ามันเปียกมันมีความชื้น ส่วนขยะที่สามารถย่อยสลาย ได้ก็จะเป็นส่วนที่สามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้ไม่ว่าเอาปริมาณเป็นปุ๋ยอินทรีย์ หรือเป็นสาร ปรับปรุงดินให้เกษตรกรได้ใช้ทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ก็อยากจะให้ ทุกภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องได้มองเห็นถึงการแก้ไขที่ยั่งยืนต่อไป ท่านประธานและเพื่อน สมาชิกเห็นหรือยังคะว่า ถึงเวลาหรือยังที่เราจะต้องให้หน่วยงานราชการส่วนกลางและ ท้องถิ่น รวมทั้งพี่น้องประชาชนนั้นได้มาร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง แล้วก็เป็น รูปธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่ รวมทั้งร่วมกันขจัดปัญหาอุปสรรคเพื่อสร้างมาตรฐานในการ บริหารจัดการปัญหาขยะต่อไป ดังนั้นจึงขอเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาการบริหารจัดการขยะขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น หรือจะมอบให้คณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาต่อไป ขอขอบคุณ ท่านประธานที่นำญัตตินี้เข้าสู่วาระการประชุม ขอบพระคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณพูนศักดิ์ จันทร์จำปี ครับ

นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎร ผม พูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก่อนอื่นก็ต้อง ขอขอบคุณท่านที่นำญัตติเรื่องการบริหารจัดการขยะ ซึ่งเป็นปัญหาที่ หมักหมมและ อยู่กับสังคมไทยมาเป็นเวลา ๓๐-๕๐ ปี ได้นำมาศึกษาเพื่อที่เราจะได้เตรียมการที่จะรับมือ แล้วก็แก้ปัญหานี้ในอนาคต ซึ่งปัญหาของการจัดการขยะผมคิดว่าเรามีปัญหามาหลาย รูปแบบ แล้วก็มีการแก้ไขมาเป็นเวลาหลายสิบปี แต่ส่วนใหญ่ตอนนี้เราจะเหมือนเดินย่ำอยู่ กับที่ บางครั้งเราจะรู้สึกว่าเหมือนเราเดินถอยหลังด้วย ผมก็เลยลองวิเคราะห์ถึงปัญหา ที่เกิดขึ้นว่าเกิดขึ้นจากอะไร แล้วเราจะร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาได้อย่างไร ซึ่งในการ จัดการขยะถ้าเรามองดูการจัดการ ๓ ลำดับขั้น เริ่มที่ต้นทาง กลางทาง แล้วก็ปลายทาง ซึ่งต้นทางนี้ก็คือเป็นเรื่องของเกี่ยวกับกระบวนการในการลดการเกิดขยะ กลางทางก็คือ การเก็บขนและรวบรวม สุดท้ายปลายทางก็คือพื้นที่ในการกำจัดหรือบำบัดขยะ ทีนี้ผมจะ ค่อย ๆ ไล่ไปทีละ Step เพื่อที่จะให้ท่านจะได้เข้าใจว่าปัญหาของมันเกิดขึ้นนี้เป็นปัญหา ที่เหมือนกับเป็นมะเร็ง ซึ่งเกิดขึ้นแล้วเรายังไม่ยอมที่จะแก้ไขตัดเนื้อร้ายตรงนี้ออกไป หรือว่า แก้ไขในการให้คีโมกันมันก็จะอยู่กับเราไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งสุดท้ายสิ่งแวดล้อมก็ได้รับไม่ไหว ก็ถ้าคิดเป็นเหมือนคนก็คือต้องตายในที่สุดนะครับ เรากลับไปดูที่ต้นทาง ต้นทางอันดับแรก เรารู้ดีว่าเราต้องลดการเกิดขยะที่ต้นทาง ซึ่งปัญหานี้อย่างที่ท่าน สส. มัลลิกาได้อภิปราย ไปเมื่อสักครู่ เราลดขยะต้นทางส่งเสริมการแยกขยะที่ต้นทางแล้วปรากฏว่าเรายังรวมขยะที่ลด แล้วก็ส่งไปกำจัดที่ปลายทางกันอยู่เหมือนเดิมแล้วเราจะแยกไปทำไม มันสะท้อนให้เห็นว่า รูปแบบในการบริหารจัดการของเรายังขาดรูปแบบในการที่จะบริหารจัดการให้ครบวงจรอยู่ ผมยกตัวอย่างเช่น การลดขยะที่ตัวต้นทาง การแยกขยะอินทรีย์ พอแยกเสร็จแล้วจะไป ดำเนินการจัดการด้วยวิธีการอะไรจะไปหมักปุ๋ย จะไปทำการหมักเพื่อให้ได้แก๊สมีเทนหรือว่า เป็น Biogas เราต้องคิดก่อนแล้วก็ต้องศึกษาว่างบประมาณที่ใช้มีมากน้อยเพียงไร แล้วเราถึง ค่อยดำเนินการเดินระบบตรงนั้น มันต้องผ่านกระบวนการคิด หลาย ๆ รูปแบบ ซึ่งการลดขยะที่ตัวต้นทางนี้มันอาจจะมีกลไก หลาย ๆ อย่างประกอบกันไป ผมยกตัวอย่างในหลาย ๆ ประเทศเขาเริ่มแล้วที่จะมีการนำ ระบบในการบริหารจัดการโดยการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ซึ่งในหลาย ๆ ประเทศ ถึงกับประกาศเป็นกฎหมายขึ้นมาโดยเฉพาะในเขต EU ซึ่งเขาประกาศมาเกือบ ๒๐ ปีแล้ว ประกาศไปในกฎหมายเลยนะครับ การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตหรือผมจะเรียกว่า EPR ย่อมาจาก Extended Producer Responsibility ซึ่งตัวนี้จะช่วยในการลดการเกิดขยะ ที่ต้นทาง และมีการรวบรวมเก็บขนไปสู่ปลายทางอย่างถูกต้อง และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างตัวขยะที่เป็นขยะอันตรายตัวหนึ่ง ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบ สิ่งแวดล้อมมากมาย ก็คือตัวขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งปัจจุบันนี้เรารู้กันดีอยู่ว่า ๒ จังหวัดใหญ่ ๆ ที่รับจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ของบ้านเราก็คือที่จังหวัดกาฬสินธุ์และที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่ง ๒ แหล่งนี้ก็เอาขยะอิเล็กทรอนิกส์นี้ไปทำการคัดแยกที่บ้าน ส่วนที่มีมูลค่าก็ดึงไป ส่วนที่ไม่มีมูลค่าก็ทิ้งไปกับหลุมฝังกลบของขยะชุมชน สายไฟก็เผาทิ้ง พวกนี้ก็ก่อให้เกิด มลพิษที่เกิดขึ้นนะครับ แต่หลักการ EPR ที่ผมกำลังนำเสนอนี้ก็คือว่าเรากำลังจะขยายความ รับผิดชอบของผู้ผลิต ให้ผู้ผลิตคิดว่าเดิมเขาคิดแค่ว่าเขาผลิตของแล้วเขาก็ขาย นั่นคือ ความรับผิดชอบของผู้ผลิตในอดีต ตอนนี้เรากำลังขยายไปว่าต่อไปนี้คุณขายอย่างเดียว ไม่ได้แล้ว พอมีซากเกิดขึ้นคุณต้องคิดด้วยว่าคุณจะเก็บซากตรงนั้นมาจัดการอย่างไร ดังนั้น ในกระบวนการนี้ที่เกิดขึ้นก็คือผู้ผลิตก็จะต้องนำซากที่เกิดขึ้นจากสังคมที่ผ่านการใช้งานมานี้ กลับมาเพื่อนำมา Recycle หรือเพื่อนำมาใช้ใหม่ เอามาซ่อมแซมต่าง ๆ อันนี้คือหลักการ ที่ผมคิดว่าเราคงจะต้องคิดแล้วก็ช่วยกันหาทางในการดำเนินการ ทีนี้มาดูที่ตัวกลางทางบ้าง ตอนนี้ขยะเรายังไม่ได้รับการจัดเก็บถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เดี๋ยวจะมีเพื่อน สส. มาอภิปราย แล้วก็แสดงให้เห็นว่าโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ขยะหลาย ๆ แห่ง หลาย ๆ อปท. มีการทิ้งสู่ ลำรางสาธารณะ มีการทิ้งสู่แหล่งน้ำหรือว่าโดยเฉพาะลุ่มน้ำชั้นหนึ่ง นั่นก็แสดงให้เห็นว่า ขยะเกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้เก็บได้ถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์นะครับ จากข้อมูลของ World Bank ก็เห็นได้ชัดว่าประมาณ ๓ ล้านตันทั่วประเทศยังไม่ได้รับการจัดเก็บและจัดการ ในขณะเดียวกันขยะเราเริ่มมองถึงเรื่องของขยะชุมชน ในขณะเดียวกันก็จะมีขยะของ อุตสาหกรรม มีขยะติดเชื้อ ซึ่งพวกนี้ก็ควรจะต้องได้รับการศึกษาเช่นกันว่าทำไมการลักลอบ ทิ้งของตัวขยะอุตสาหกรรมถึงเกิดขึ้นมากมายจนกระทั่งเป็นภาระขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ในขณะเดียวกันขยะติดเชื้อ Capacity ที่มีอยู่ ณ ตอนนี้เพียงพอหรือไม่ การที่วิ่ง จากทั่วประเทศเพื่อมาจัดการอยู่ที่แห่งเดียว อย่างเช่นที่จังหวัดนครสวรรค์ มีความคุ้มค่า ในเชิงเศรษฐศาสตร์หรือคุ้มค่าในเรื่องของการลดการปล่อยคาร์บอนหรือไม่ พวกนี้เราต้อง นำมาคิดแล้วก็นำมาประมวลร่วมกัน งบประมาณก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง งบประมาณในการ เก็บขนขยะส่วนใหญ่ยังไม่มีการถ่ายโอนให้ไปกับท้องถิ่นอย่างชัดเจน ท้องถิ่นโดยเฉพาะเมือง ท่องเที่ยวจะประสบปัญหามากในเรื่องของการจัดการเก็บขนขยะโดยเฉพาะในช่วงฤดู ท่องเที่ยว ซึ่งพอขยะมีปริมาณมากขึ้นจากช่วงปกติประมาณ ๒ เท่า รถที่มีอยู่ในมือ ไม่เพียงพอ การจัดสรรงบประมาณเราก็ต้องควรที่จะดำเนินการให้สอดคล้องกับบริบทของ แต่ละท้องถิ่นด้วยเช่นกัน มาถึงที่ปลายทางนะครับ ตอนนี้เราพบหลุมฝังกลบหรือว่าเตาเผา ขยะที่ไม่มีระบบบำบัดร่วมกันกว่า ๒,๐๐๐ แห่งทั่วประเทศนะครับ ท่านมองเห็นปัญหาไหมครับ ทำไมเราถึงปล่อยให้เกิดจำนวนหลุมฝังกลบหรือว่าเตาเผาขยะที่ไม่มีโรงบำบัดหลุมฝังกลบ ที่ไม่ได้มาตรฐานถึง ๒,๐๐๐ กว่าแห่งทั่วประเทศได้ อันนี้คือปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเราก็ต้อง มาร่วมกันหาแนวทางหรือว่ามาตรการในการแก้ไขกัน เรายังเจอปัญหามูลฝอยตกค้าง ซึ่งตอนนี้จากข้อมูลปี ๒๕๖๕ นี้มีถึงประมาณ ๑๐ ล้านตัน ในเวลาแค่ ๓ ปีเพิ่มขึ้นถึง ๒ เท่า นี่ก็เป็นอีก ๑ ปัญหาว่านอกจากเรามีระบบในการจัดการ ที่ไม่ดีแล้ว มูลฝอยเดิมเราจะทำอย่างไรกับมัน ซึ่งมีปริมาณที่ตกค้างเป็นจำนวนมากกว่า ๑๐ ล้านตัน เทคโนโลยีก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง หลายท่านพูดกันมากว่าเราจะเลือกเทคโนโลยี อะไรในการจัดการขยะ ยกตัวอย่างเช่นบางคนบอกว่าก็เอาขยะที่เกิดขึ้นไปร่อน แล้วก็ทำเป็น เชื้อเพลิง แล้วก็ส่งเข้าเตาเผา กับอีกอันหนึ่งก็คือว่าทำไมเราไม่เผาตรงเลย อีกอันหนึ่งก็บอก ว่าเตาเผามีมลพิษเยอะก็เอาไปทิ้งที่หลุมฝังกลบเหมือนเดิม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทางสภาเรา ควรที่จะต้องมาร่วมกันศึกษาเพื่อที่จะให้เกิดเป็นแนวทางรูปแบบในการบริหารจัดการ ที่ครบถ้วนถูกต้อง ถูกหลักวิศวกรรม ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ก่อให้เกิด ผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในการบริหารจัดการขยะ และอันดับสุดท้าย พื้นที่ที่มีการปนเปื้อน โดยเฉพาะหลุมฝังกลบเดิม ซึ่งพบว่ามีการปล่อยน้ำชะขยะทิ้งลงสู่ แหล่งน้ำ โดยที่ไม่ได้มีการบำบัด จนก่อให้เกิดผลกระทบต่อดินและน้ำใต้ดินสิ่งเหล่านี้เราจะ ดำเนินการอย่างไรกับมัน งบประมาณที่ใช้มีปริมาณเท่าไร รัฐบาลจะต้องตระหนัก แล้วก็หวัง ว่าในปีงบประมาณหน้าก็คงจะต้องนำเรื่องของการจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมกับพื้นที่ หรือว่าบริเวณที่มีการปนเปื้อนอย่างเหมาะสมแล้วก็ทันที ซึ่งภาพรวมทั้งหมดนี้ผมคิดว่า รัฐสภาคงจะต้องนำประเด็นนี้มาศึกษา เพื่อที่จะหารูปแบบแนวทางในการบริหารจัดการ ก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด ขอบพระคุณมากครับท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณพรรณสิริ กุลนาถศิริ ครับ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย พรรคเพื่อไทย ดิฉันขอเสนอญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาการจัดการ ขยะและสิ่งแวดล้อมในเมืองท่องเที่ยว โดยมีสาระสำคัญของญัตติ ดังนี้

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ปัญหาขยะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับชุมชน ระดับประเทศ และ ระดับโลก การกำจัดขยะต้นทางที่ไม่ถูกวิธี การนำขยะไปเทกองรวมกันในพื้นที่สาธารณะ แหล่งน้ำ ป่าไม้ ชุมชนพื้นที่เมือง ส่งผลให้เกิดการสะสมและเกิดมลภาวะ เกิดมลพิษมากมาย ที่เรากำลังประสบปัญหาขยะล้นบ่อ แล้วขยะฝังกลบก็ล้นเมือง ทั้งนี้การลอบปล่อยของเสียลง สู่พื้นที่สาธารณะก็เป็นปัญหาที่สำคัญที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวไทยกำลังฟื้นตัว อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปริมาณและขยะเพิ่มขึ้น การรณรงค์ส่งเสริมในเรื่องของการทิ้งขยะให้ถูกวิธีอาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเพียงพอ รัฐบาลจึงควรกำหนดมาตรการและแนวทางที่ชัดเจน ตลอดจนการใช้กฎหมายอย่างครอบคลุม แล้วก็เคร่งครัดต่อไป ในเรื่องของการจัดการขยะแล้วก็สิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามพบว่า ภาคการท่องเที่ยวไทยมีการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่คำนึงถึงการท่องเที่ยว ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขอสไลด์แรกค่ะ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

เรื่องการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนที่เป็น แบบอย่างได้หลากหลายรูปแบบที่ควรจะนำมาศึกษาวิเคราะห์และขยายผลให้ครอบคลุม ทั่วถึงทุกภูมิภาคของไทย ทั้งนี้ในการเสนอญัตติครั้งนี้ ดิฉันได้เสนอตามข้อบังคับ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ ๔๙ โดยจะขอเสนอ ข้อมูลรายละเอียดใน ๕ ประเด็น แล้วก็ ๕ ข้อคิดเห็น ดังนี้ค่ะ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ในด้านเป้าหมายการท่องเที่ยว แล้วในด้านสถานการณ์ของขยะและ สิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน และในประเด็นของนโยบายการท่องเที่ยวกับการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี การบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมในเมืองท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วม และในประเด็นที่ ๕ ก็คือรูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง ๕ ข้อคิดเห็นในการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการต่อไปค่ะ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ ในปี ๒๕๖๗ รัฐบาลเราก็มีนโยบายที่จะสร้างรายได้และ เศรษฐกิจที่ดีในด้านของการท่องเที่ยวที่ ๓.๕ ล้านล้านบาท รายได้จากการท่องเที่ยว ภายในประเทศ ๑ ล้านล้านบาท และชาวต่างชาติ ๒.๕ ล้านล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจาก ปี ๒๕๖๖ ที่รายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ตัวเลข ๑.๒ ล้านล้านบาท ในด้านจำนวน นักท่องเที่ยวค่ะ การเพิ่มนักท่องเที่ยวคนไทย เที่ยวไทยนับว่ามีประโยชน์แล้วก็มีคุณค่าเป็น อย่างยิ่ง มาตรการและการสร้างแรงจูงใจ เช่น มาตรการทางภาษี มาตรการในการเปิดแหล่ง ท่องเที่ยวในโอกาสพิเศษต่าง ๆ ให้กับผู้สูงอายุให้กับเด็กแล้วก็เยาวชนนับเป็นนโยบายที่ดี ของประเทศเรา เป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จะเพิ่มที่จำนวน ๔๐ ล้านคน โดยท่านสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ก็ได้แถลงว่า ๓ สัปดาห์แรกของปีนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศไทยถึง ๒ ล้านคน อันดับหนึ่งคือ ประเทศมาเลเซีย ประเทศรัสเซีย ประเทศเกาหลีใต้ และประเทศอินเดียตามลำดับภายใต้ นโยบาย Free Visa และมาตรการทางภาษี มาตรการด่านศุลกากร ทั้งนี้จำนวนนักท่องเที่ยว ต่างชาติก็ได้เพิ่มขึ้นตามนโยบาย คาดว่าน่าจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ ๑๒ ล้านคน ดังนั้น การเตรียมตัวเพื่อเป็นเจ้าบ้านที่ดีและการสร้างเมืองน่าเที่ยวจึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง โดยเฉพาะการจัดการเชิงขยะแล้วก็สิ่งแวดล้อม

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ สถานการณ์ขยะในปัจจุบันที่บอกว่าขยะล้นเมือง ปี ๒๕๖๔ เรามีขยะอยู่ที่ ๒๔.๙๘ ล้านตัน ในปี ๒๕๖๕ เพิ่มขึ้นเป็น ๒๕.๗๐ ล้านตัน คือเพิ่มถึงร้อยละ ๓ การผลิตขยะสะสมที่เกิดขึ้น ๗๐,๔๑๑ ตันต่อวัน พบว่าเป็นขยะจากเศษอาหาร ขยะพลาสติก เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่าง ๆ จะมีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วเราแต่ละ คนผลิตขยะถึง ๑.๐๗ กิโลกรัม ต่อคนทุกวัน ขยะจากแหล่งท่องเที่ยวพบว่าทางทะเล มีปริมาณขยะมากที่สุด โดยเป็นขยะจากบนบกที่พัดหลงส่งลงไปในทะเลถึงร้อยละ ๘๐ ขยะในแหล่งท่องเที่ยวด้านอุทยานแห่งชาติ ในปี ๒๕๖๕ มีปริมาณถึง ๑,๔๖๒.๕๓ ตัน โดยพบว่าเป็นขยะทั่วไปปริมาณมากที่สุด ขยะอินทรีย์ ขยะ Recycle และขยะอันตราย ถึงร้อยละ ๐.๑๓ กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ภายใต้วินัยของการท่องเที่ยว การจัดการขยะ ที่ไม่ถูกต้อง การใช้สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่สลายได้ยากนับเป็นปัญหาอย่างยิ่งของสังคมไทย แล้วก็สังคมโลกในปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลเองคงจะต้องมุ่งมองในความสัมพันธ์ต่างประเทศก็ดี โดยเฉพาะมาตรการภาคอุตสาหกรรมของสหภาพยุโรป กระบวนการผลิต หรือ แปรรูปสินค้า ภาคอุตสาหกรรมใดที่ไม่ผ่านกระบวนการลดโลกร้อน ลดปริมาณคาร์บอน ก็จะถูกคัดแยกออกไปไม่นำเข้าสู่ประเทศ มาตรการเหล่านี้คงส่งผลกระทบถึงประเทศไทย ด้วย โดยเฉพาะการท่องเที่ยวของไทย ทั้งนี้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมของไทยคงจะต้อง ติดตามแล้วก็ศึกษากฎระเบียบมาตรฐานการจัดการเชิงระบบเพื่อให้ไม่มีปัญหาและ ผลกระทบต่อไป ในด้านสิ่งแวดล้อมที่มีพิษ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของอันดับ PM2.5 เราก็ถือว่า เป็นสิ่งแวดล้อมด้านหนึ่งของท่องเที่ยวที่เกิดจากหลายสถานการณ์ มลภาวะอากาศเสีย น้ำเสีย เขม่าควันดำ การปล่อยของเสีย สารประกอบไฮโดรคาร์บอน ก๊าซพิษทั้งหลาย ตลอดจนในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศล้วนเกิดจากปัญหา เริ่มต้นด้านขยะและของเสียต่าง ๆ ค่ะ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมกับการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนที่ควรจะ สร้างความตระหนักให้อย่างครอบคลุมแล้วก็ทั่วถึง นโยบายระดับสากลว่าด้วยการท่องเที่ยว อย่างยั่งยืนโดยองค์การท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติได้กำหนดแนวทางไว้ ๑๗ ประการ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงขีดความสามารถของธรรมชาติ การควบคุมปริมาณและ จำนวนท่องเที่ยวในแต่ละห้วงเวลากับการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติทางทะเล ที่พบว่ามีปริมาณขยะมาก การสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวอย่างมีคุณค่าให้คำนึงถึง ภูมิปัญญาในพื้นที่ การใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก การท่องเที่ยวที่สมดุลทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม แล้วก็สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้อนุสัญญาแห่งสหประชาชาติก็ได้ควบคุมในเรื่องของ การปล่อยของเสียแล้วก็ไอระเหยของก๊าซคาร์บอน ซึ่งสามารถที่จะมีการปลูกพืชเพื่อทดแทน คาร์บอนเครดิตได้

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

สำหรับไทยของเราภายใต้อนุสัญญาแห่งสหประชาชาติเราได้ตอบรับนโยบาย เพื่อการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี การกำจัดปัญหามลพิษ โดยเฉพาะในเรื่องของด้านการท่องเที่ยว การจัดการขยะและคัดแยกขยะในแหล่งท่องเที่ยวโดยมีชุมชนเป็นฐาน เช่น การฝึกให้เด็ก และเยาวชนรักสิ่งแวดล้อม รักนิเวศทางทะเล ทางป่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรจะแฝงฝังไว้ใน ระบบการเรียนรู้และการจัดการในเด็ก เยาวชน และบุคคลทุกเพศทุกวัย การท่องเที่ยว สีเขียวค่ะ Green Tourism ๗ องค์ประกอบของสีเขียวล้วนนำไปสู่การจัดการขยะแล้วก็ สิ่งแวดล้อมที่ดีที่เราควรจะได้สร้างหลักสูตรหรือเทคนิค กระบวนการ วิธีการอย่างแพร่หลาย ต่อไป ขอชื่นชมไปยังการจัดการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่ดี ๆ ในหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานในส่วนของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานภาคเอกชน ภาคประชาชนที่ดำเนินการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพค่ะ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๔ การบริหารจัดการ ขยะและการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีของ เมืองไทยเราก็มีให้ชื่นชมอย่างมากมาย โดยเฉพาะความเชื่อมโยงของการจัดการซึ่งดิฉันจะ มองเป็น ๒ ส่วน

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ในส่วนแรก การจัดการขยะโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้มแข็งสู่จังหวัด สะอาด ในฐานะที่ดิฉันเคยเป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การบริหารส่วน จังหวัดสุโขทัย ๓ พี่น้องท้องถิ่นเราร่วมมือร่วมใจกันในการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ การจัดการขยะทั้งเรื่องของการสร้างเตาเผา บ่อกลบ แล้วก็ในเรื่องของการขนย้ายขยะ ๓ พี่น้องท้องถิ่นต้องบูรณาการกันแล้วจัดการอย่างมีส่วนร่วม นำไปสู่ทุกพื้นที่ของจังหวัดเป็น จังหวัดสะอาด อันนี้ก็เป็นการต่อยอดในแต่ละภาคส่วนในพื้นที่ จากการที่บอกว่าองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นเข้มแข็งสู่จังหวัดสะอาด อย่างไรก็ตามการจัดการขยะไม่ว่าจะเป็นขยะ มูลฝอยหรือปัญหาขยะมลพิษก็ยังมีระเบียบและกฎหมายหลายประการที่ยังเป็นปัญหาแล้วก็ อุปสรรคที่ควรจะได้ปรับปรุงและแก้ไขโดยกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมน่าจะเป็นเจ้าภาพหลักในเรื่องนี้

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ส่วนที่ ๒ ในความเชื่อมโยง ดิฉันมองว่าการจัดการขยะและการจัดการ สิ่งแวดล้อมที่ดีจะก่อให้เกิดเมืองน่าอยู่ เมืองน่าเที่ยว เมืองน่าอยู่ เมืองน่าเที่ยว ดิฉันหมาย มองไปถึงตัวแหล่งท่องเที่ยว สถานประกอบการ พื้นที่อำนวยการ พื้นที่สาธารณะ ตลาด ถนน แล้วก็องค์ประกอบที่อยู่ในชุมชน ในท้องถิ่น ในบริบทของการท่องเที่ยว รวมทั้ง กิจกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งเทศกาลต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ควรจะมีบริบทของความสัมพันธ์อันดี และเชื่อมโยงไปสู่การจัดการร่วมกันอย่างเป็นระบบค่ะ ทั้งนี้เมืองน่าอยู่ก็จะเป็นเรื่องของ เจ้าบ้านที่ดี แล้วก็เมืองน่าเที่ยวยินดีต้อนรับผู้มาเยือนด้วยสิ่งแวดล้อมที่ดี น่าอยู่ น่าเที่ยว

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นที่ ๕ รูปแบบการจัดการท่องเที่ยวที่ดีในประเทศไทย มีหลายพื้นที่ การเรียนรู้ร่วมกันเพื่อจะให้เติบโตโดยที่ไม่ต้องนับหนึ่งใหม่ นั่นก็คือการศึกษา ต้นแบบที่มีความพร้อม อาทิเช่น ที่จังหวัดเพชรบุรีชุมชนบ้านถ้ำเสือ แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ เชิงขุนเขา การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถเป็นต้นแบบได้ค่ะ จังหวัดนครปฐม สวนส้มโอแหล่งท่องเที่ยวเกษตรอินทรีย์ ที่ชวนพายเรือลุยสวนเก็บส้มสดใหม่ พร้อมมี รูปแบบการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กแล้วก็เยาวชน ก็ขอชื่นชม ณ ที่นี้ค่ะ จังหวัดตราดเกาะ Low Carbon แห่งแรกของประเทศไทยภายใต้ Green Destination TOP 100 ขององค์การ พัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับจังหวัดสุโขทัย ตำบลเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย เราได้รับการคัดเลือกให้เป็น Green Destination TOP 100 ในแต่ละ ๑ ปี ก็เลือกไว้ ๑๐๐ แห่ง เพราะฉะนั้นตรงนี้ค่ะดิฉันมองว่าจะเป็นรูปแบบที่ดีที่จะทำให้เกิด การท่องเที่ยวแบบ Low Carbon ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยได้ในหลาย ๆ พื้นที่อย่างหลากหลาย

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ในประเด็นท้ายสุดของข้อเสนอแนะ อย่างไรก็ตามปริมาณนักท่องเที่ยว ที่เพิ่มขึ้น กระแสของการสร้างเศรษฐกิจและรายได้กับการควบคู่กันไปกับการจัดการขยะ และสิ่งแวดล้อมที่ดีเราทำได้ร่วมกัน โดยดิฉันมีข้อเสนอแนะสำหรับคณะกรรมาธิการที่จะ พิจารณาศึกษาใน ๕ ประการ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ประการที่ ๑ ขอให้ศึกษาระเบียบกฎหมายแผนนโยบายที่เกี่ยวข้องของ ต่างประเทศของประเทศไทยที่เชื่อมโยงกัน เพื่อกำหนดมาตรการและแนวทางที่ชัดเจน ตลอดจนการใช้กฎหมายอย่างครอบคลุม เพื่อการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมในเมือง ท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพค่ะ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ การบริหารจัดการเชิงระบบ โดยเฉพาะแผนงบประมาณแบบ บูรณาการด้านการท่องเที่ยวมีงบประมาณอยู่ที่ ๗,๓๙๔.๓ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๓.๔๔ โดยกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาเป็นเจ้าภาพหลัก ดิฉันว่าสามารถบูรณาการกันได้ทั้งใน ส่วนกลาง ในส่วนภูมิภาค และในพื้นที่ปฏิบัติการก็จะเป็นประโยชน์มากค่ะ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ประการที่ ๓ ขอให้ศึกษาการขยายผลเชิงพื้นที่ที่เป็นต้นแบบการจัดการ สิ่งแวดล้อม การจัดการขยะที่ดีเด่น ซึ่งมีทั้งในส่วนของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยการท่องเที่ยวชุมชนและในหลาย ๆ ภาคส่วน โดยเฉพาะ ภาคส่วนที่มีภาคประชาชนและเอกชนเป็นแกนหลักทำได้ดีมากในหลายพื้นที่ค่ะ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ประการที่ ๔ ขอให้พิจารณาศึกษากิจกรรมต้นแบบและรูปแบบการท่องเที่ยว ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีมากมายเช่นเดียวกันค่ะ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ประการท้ายที่สุดนี้สำคัญมากเลยค่ะ เพื่อให้การท่องเที่ยวไทย การจัดการ สิ่งแวดล้อมที่ดีของเมืองไทยของเราแข่งขันได้ในเวทีโลก เรื่องของตัวชี้วัด เรื่องของการสร้าง มาตรฐาน แล้วก็เมืองท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานตัวชี้วัดในระดับสากล ดิฉันเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ จะเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน และมั่นใจว่าเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎร จะเห็นด้วยกับดิฉัน และเพื่อนที่เสนอญัตติในครั้งนี้ที่จะร่วมกันพิจารณาศึกษา การจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมที่ดีในเมืองท่องเที่ยว เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป ขอบคุณมากค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

สภาผู้แทนราษฎร ขอต้อนรับกลุ่มนักศึกษาเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยรามคำแหง ๑๘๗ ท่าน ซึ่งกำลังนั่งฟังการประชุมอยู่ชั้นบนนะครับ ต่อไปขอเชิญคุณวิทยา แก้วภราดัย เชิญครับ

นายวิทยา แก้วภราดัย แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม วิทยา แก้วภราดัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรครวมไทยสร้างชาติ ผมและคณะ มีคุณจุติ ไกรฤกษ์ คุณศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ได้ร่วมกันยื่นญัตติไว้ รายละเอียดปรากฏตาม ญัตติที่ได้ยื่นแล้วก็แจกจ่ายให้กับเพื่อนสมาชิก ญัตตินี้เป็นญัตติทำนองเดียวกับเพื่อนที่ได้ อภิปรายไปแล้วทั้ง ๓ ท่าน เป็นการขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาการกำจัดขยะในประเทศอย่างบูรณาการ ที่จริงปัญหาเรื่อง ขยะเรามีการพูดกันในสภานี้มาทุกยุคทุกสมัย มันเริ่มเกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นมา ๒๐ กว่าปี ช่วงหลัง แต่ถ้าย้อนไปรุ่นเก่า ๆ รุ่นท่านประธาน เราไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องขยะมูลฝอย ความเป็นเมืองมันยังไม่หนาแน่น ความเป็นชนบทมาก เพราะฉะนั้นการกำจัดขยะกำจัดตาม วิถีชนบท คนวันนี้คงนึกไม่ถึงว่าที่ดินแดง สามแยก สี่แยกดินแดงเราขณะนี้ ซึ่งขึ้นเป็นแฟลต ขึ้นเป็นหมู่บ้านเต็มไปหมด เมื่อ ๔๐ ปีที่แล้วคือที่กองขยะดี ๆ ของคนกรุงเทพมหานคร แล้วทั้งหมดมันก็เริ่มขยายตัวออกไปต่างจังหวัด เมื่อ ๓๐-๔๐ ปีที่แล้วครับ บ้านท่านประธาน บ้านผมไม่มีกองขยะ ทุกคนกำจัดขยะเองด้วยระบบในครัวเรือน แต่ช่วงหลังจากที่เราเริ่ม กระจายอำนาจ ความเป็นเมืองเริ่มขยายขึ้นมา กรุงเทพมหานครก็กลายเป็นเมืองที่ใหญ่ขึ้น ๆ กองขยะก็เริ่มมีปัญหา กรุงเทพมหานครก็เริ่มขนย้ายขยะออกไปไกลขึ้นเรื่อย ๆ จนสุดท้าย บางพื้นที่เราไปทิ้งถึงจังหวัดนครปฐม แล้วก็มีหลาย ๆ จุดเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันทุกจังหวัด ของประเทศไทยก็จะมีที่ทิ้งขยะ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นของท้องถิ่น ถ้าเทศบาลขนาดใหญ่ก็จะมี ที่ทิ้งขยะของเทศบาล ถ้าเมืองขนาดใหญ่อาจจะมีที่ทิ้งขยะขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่หลังจากที่เราสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในระดับตำบลขึ้นมา เราสร้าง อบต. ขึ้นมา ทุก อบต. ก็เริ่มมีการจัดเก็บขยะของตัวเอง และมีที่กองขยะของตัวเอง วันนี้ท่านประธานครับ ค่อนประเทศที่เป็นที่ทิ้งขยะระดับจังหวัด มีปัญหาหมดครับท่านประธาน บางจังหวัดที่เป็นท้องถิ่นดูแลเองก็ขยับขยายไม่ทัน กำลัง ท้องถิ่นไม่สามารถที่จะรับมือได้อยู่มา ๑๐ กว่าปีที่แล้วก็เกิดวิวัฒนาการในการกำจัดขยะ จนบางกระทรวงถือเป็นคำขวัญว่า ขยะคือทองคำ คือคิดถึงการเอาขยะมากำจัด แล้วก็สร้าง เป็นพลังงาน แล้วก็ต่อเนื่องมาจนถึงการขออนุญาตตั้งโรงเผาขยะเพื่อแปลงเป็นพลังงาน ไฟฟ้า ขยะเลยถูกตีค่าเป็นทองคำ ตื่นตระหนกกันในตลาดหลักทรัพย์ไปหมดครับ ๑๐ กว่าปี ที่ผ่านมาท่านประธานจะได้ยินข่าวที่โน่นก็อยากตั้งโรงไฟฟ้าขยะ ที่นี่อยากตั้งโรงไฟฟ้าขยะ แต่ปัญหาขยะก็ยังไม่จบครับ เพราะฉะนั้นเป็นปัญหาที่ถูกซุกไว้แล้วก็ไม่มีทางที่จะแก้ไข เราจะปล่อยให้ อบจ. ปล่อยให้เทศบาล ปล่อย อบต. รับมือแต่ลำพังไม่ไหวหรอกครับ จะปล่อยให้กระทรวงอุตสาหกรรมลงไปดูแล จะปล่อยให้มหาดไทยเป็นคนเซ็นใบอนุญาต เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ จะปล่อยอยู่อย่างนี้มันคงไปได้ยากครับท่านประธาน บางจังหวัด อย่างจังหวัดบ้านผมจังหวัดนครศรีธรรมราชมีกองขยะทิ้งไว้ ๒ ล้านตัน เป็นกองขยะมหึมา แล้วก็ยังไปไม่ถูกว่าจะไปทางไหน มีการประมูลทิ้งไว้ เสร็จแล้วการประมูลทิ้งไว้ก็ไม่สามารถ ส่งมอบพื้นที่ได้ รวมทั้งโรงขยะคนที่ประมูลได้ก็ไม่รู้อยู่ตรงไหน จริง ๆ เป็นเรื่องที่ต้องให้ หลาย ๆ หน่วยงานมาร่วมบูรณาการ ตั้งแต่กระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นเจ้าภาพในการดูแล ท้องถิ่นทั้งหมด ตั้งแต่กระทรวงอุตสาหกรรมที่จะดูแลเรื่องการแปรรูป การสร้างเขต อุตสาหกรรมขึ้นในกองขยะ ตั้งแต่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสุดท้าย กระทรวงพลังงาน ซึ่งจะต้องเป็นคนเอาพลังงานจากการเผาขยะนี้ไปใช้ในการบริหาร เพราะฉะนั้นผมคิดว่าจะมอบหมายให้ใครคนใดคนหนึ่งดูแลคงยากแล้ว มีทางเดียว ต้องหาทางบูรณาการ ถ้าวันนี้เราไม่ตั้งกรรมาธิการขึ้นมาว่านะครับ ซึ่งผมก็เห็นใจครับ วันนี้สภาผู้แทนราษฎร เราตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาหลายคณะ จนไล่ประชุมกันไม่ทัน แต่ถ้าจะส่งให้ คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคณะเดียวมันก็ไม่จบครับ ท่านประธาน ส่งให้คณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ คณะเดียวก็คงไปไม่รอดครับ จะส่งคณะกรรมาธิการ การอุตสาหกรรมคณะเดียวก็ไม่ได้ครับ หรือจะส่งคณะกรรมาธิการการพลังงานอย่างเดียว ก็คงยาก เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของพวกเราในสภาต้องช่วยกันคิด ถ้าไม่ตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญขึ้นมาเราจะกระจายความรับผิดชอบเรื่องขยะในประเทศนี้ให้กับคณะกรรมาธิการ ชุดใดบ้างในการช่วยกันดูแล เพราะอย่างที่ผมเรียนท่านประธานครับ จะใช้ท้องถิ่นรับมือ มันโครงการต้องลงทุนในการกำจัดขยะเยอะมาก ใช้งบประมาณมหาศาล หลาย ๆ จังหวัด ขนาด อบต. ไม่มีกำลังกำจัดขยะเลย ก็ต้องขนจาก อบต. มาทิ้งไว้กับที่เทศบาลใหญ่ ๆ และเทศบาลก็คิดสตางค์เขา แล้วเทศบาลก็ล้น ระดับจังหวัดก็อย่างนี้เหมือนกันครับ ทุกอำเภอก็ขนมาเทกองไว้ในจังหวัด จังหวัดนครศรีธรรมราชขนมาจาก ๒๓ อำเภอ มาเทกอง อยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช แล้วก็ล้นเป็นปัญหา คราวนี้ไม่ว่าที่ไหน ถามเพื่อน ๆ เราทุกคน อย่างใกล้ ๆ หาดใหญ่ ตั้งโรงงานขยะกัน ๒ รอบ ๓ รอบ วันนี้ยัง ไม่จบ จังหวัดไหนก็ตาม ท่านชี้มาได้เลย ผมก็เลยเป็นปัญหาครับว่า นอกจากแก้ปัญหาขยะ แก้ปัญหากับคำว่า ขยะทองคำ เป็นทองคำ จนสร้างโรงงานไฟฟ้าขยะ ออกใบอนุญาตไปสรุป ดูให้ได้ครับว่าทั้งหมดทั้งประเทศนี้ออกใบอนุญาตสร้างโรงงานไฟฟ้าขยะไปกี่โรงแล้ว แล้วมัน เสร็จจริง ๆ กี่โรง หรือเอาไปปั่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ได้ใบอนุญาตโรงงานขยะ ก็หมายความว่าตลาดหลักทรัพย์ก็รับบริษัทตัวเองเข้าตลาดหลักทรัพย์ ก็ขายหุ้น ขายหุ้น เสร็จก็เลิกกันไป ใบอนุญาตที่ค้างอยู่ทั้งหมดเท่าไร ผมก็คิดว่ามันต้องระดมคิดครับ ท่านประธาน คือถ้าไม่ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ด้วยความเกรงใจว่ามันล้นสภาแล้ว ส่งคณะกรรมาธิการต่าง ๆ ก็อาจจะต้องแนบท้ายเลยไปว่าอย่างน้อยคณะกรรมาธิการ ๔ คณะที่จะต้องทำงานร่วมกัน แล้วก็หาทางออกให้กับประเทศ ผมก็เลยขอเสนอญัตตินี้ เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการ และไม่ติดใจที่จะตั้งคณะกรรมาธิการนะครับ ส่งให้คณะกรรมาธิการ ก็ได้ ที่มีอยู่ ๓๐ กว่าคณะนี้ เลือกคณะที่เขาต้องเข้ามาดูแล และเป็นการทำงานแบบบูรณาการ ร่วมกันระดับสภา โดยไม่ต้องผ่านไปทางรัฐบาล สภาได้แนวทางที่บูรณาการโดยความคิด ของ สส. ของเราเองแล้ว อย่างนี้ค่อยสรุปส่งสภาครับ ส่งกับรัฐบาลอีกทีครับ ก็เลยขออนุญาต ท่านประธานสภารายงานปัญหาเรื่องขยะที่เกิดขึ้นเหมือน ๆ กับเพื่อนสมาชิกทั้งหมด และหาแนวทางในการใช้กระบวนการของสภาเราในการแก้ปัญหา เพื่อสรุปให้รัฐบาลเข้าไป บูรณาการกับหน่วยงานทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหานี้ ขอขอบคุณครับ ท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญคุณสฤษดิ์ บุตรเนียร นะครับ

นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม สฤษดิ์ บุตรเนียร สส. นักพัฒนาแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอนาดี เขต ๓ จังหวัดปราจีนบุรี พรรคภูมิใจไทยครับ วันนี้ผมขอมีส่วนร่วมในการ อภิปรายญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา หาแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท่านประธานที่เคารพครับ ขยะนับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญระดับโลกจนมันน่าจะกำหนดเป็น วาระแห่งชาติได้แล้วครับ เพราะอย่างที่ท่านผู้อภิปรายต่าง ๆ ทั้ง ๔ ท่านได้อภิปรายมา ก็พูดถึงหลักการและเหตุผลการแก้ไข หรือสรุปให้อย่างรอบคอบอยู่แล้ว ผมจึงอยากจะสรุป ปัญหาให้สั้น ๆ เพื่อกระชับ ๆ และจะได้ให้โอกาสกับผู้อื่นจะได้อภิปรายในการแก้ปัญหา ผมเชื่อเหลือเกินว่า จากความสำคัญหรือปัญหาของขยะนี้มันก็มาพร้อมกับความเจริญ มนุษย์ เป็นผู้ที่สร้างขยะกันขึ้นมา ที่ขึ้นมาก็เพราะว่าเราเป็นวัตถุนิยม เราอยู่ในสังคมโลกที่ ขณะเดียวกันนโยบายของประเทศชาติก็ผลักดันอุตสาหกรรม มีการท่องเที่ยวส่งเสริม ล้วนแล้วแต่สร้างโอกาส แต่ขณะเดียวกันอุปสรรคปัญหามันก็ตามมาพร้อมกันกับโอกาส และวิถีความเจริญของบ้านเมืองนั่นละครับ ฉะนั้นปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายมันเพิ่มขึ้นทุกปี ทุกปี ยิ่งพูดกันเท่าไรมันก็ยิ่ง เพิ่มขึ้น ผมไม่เห็นมันลดลงสักทีเลย ดังนั้นก็เช่นเดียวกัน วันนี้ผมถึงพยายามที่จะพูดอยู่ใน ระดับแคบ ๆ เพื่อที่จะปฏิบัติได้ขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในการกำกับการดูแล ของกระทรวงมหาดไทย เช่น ที่จะแก้ปัญหาอย่างไร ผมวันนี้ก็อยากจะสรุปคร่าว ๆ ถึงประเด็นที่เป็นสาเหตุและปัญหาที่จะต้องมาร่วมมือกันในการแก้ปัญหาที่จะให้มันยั่งยืน และมีความเป็นไปได้ ดังนั้นวันนี้ก็เช่นเดียวกัน ผมอยากจะสรุปปัญหาแล้วก็วางกฎเกณฑ์ กติกาไว้อย่างไรบ้าง ดังนั้นจึงขอเสนอญัตติเรื่องการแก้ไขกำจัดปัญหาขยะขององค์การ บริหารส่วนตำบลเพื่อให้ท่านประธานและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอาจจะตั้งเป็น คณะกรรมาธิการวิสามัญ หรือจะส่งไปให้คณะกรรมาธิการใด ๆ ก็ได้ แต่อยากให้ศึกษากัน อย่างจริงจัง หาแนวทาง ขยะที่ว่าจริง ๆ มันก็มีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นขยะทั่วไป ขยะพลาสติก ที่หนัก ๆ ก็คือขยะพลาสติกครับ อย่างที่บอกว่ามีอยู่ถึง ๑๒ เปอร์เซ็นต์ของ ประเทศ มีขยะเปียก ขยะที่ Recycle ขยะอันตราย ขยะพิษ วันนี้ผมอยากจะพูดในแค่ขยะ ทั่วไป เน้นไปที่ขยะพลาสติก เน้นไปที่ขยะเปียก ซึ่งเราสามารถที่จะนำมาแล้วจะแก้ไขปัญหา ที่เรากำลังจะทำได้ครับ ที่มาของขยะอย่างที่บอกมันมาพร้อมกับความเจริญของบ้านเมือง การแข่งขัน การอุปโภคบริโภคอยู่ที่การดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เราบรรจงแต่ง Packaging หรือว่าผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อดึงดูดผู้บริโภคหรือผู้ซื้อ ก็ยิ่งมีขยะมากขึ้น อย่าว่า ตรงไหนเลยครับ แค่ในรัฐสภา แค่กล่องอาหารมหึมาแต่ละวัน ๆ กระดาษผมไม่แน่ใจว่าแค่ใน สภาหรือว่างบประมาณกำลังอภิปรายกระดาษเป็นสิบ ๆ ตัน น่าเสียดายงบประมาณแผ่นดิน เหลือเกิน กระดาษใช้หน้าเดียวแล้วก็โยนทิ้ง โยนทิ้ง ผมอยากจะขอเขาด้วยซ้ำไป ผมอยาก เอาไปขาย เอาไปช่วยกองทุนที่บ้านผม เพราะเห็นใช้กันอย่างสุรุ่ยสุร่าย ด้วยพฤติกรรมที่เรา ก็เป็นการเลียนแบบกันที่ใช้กันอย่างสุรุ่ยสุร่าย ไม่ว่ารัฐบาลจะออกนโยบายอะไรออกมา ไม่ว่า Zero Waste หรือขยะที่บอกว่าเมื่อปีที่แล้วห้างสรรพสินค้าทุกที่ก็พยายามที่จะรณรงค์ ไม่ให้ใช้ สุดท้ายก็เหมือนไฟไหม้ฟางนั่นละครับ แล้วก็กลับไปเหมือนเดิมอีก ก็นำขยะมาอีก นะครับ วันนี้ก็อยากจะมาพูดทั้งเรื่องขยะพลาสติก ขยะเปียก แล้วจะเน้นไปที่จุดต้นทาง แห่งผู้ที่ก่อขยะ ถ้าเป็นโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ อย่างผมเห็นว่าเขาก็คงจับปัญหาแบบหนึ่ง ส่วนใหญ่ขยะพวกนั้นก็จะมีผู้ไปรับซื้อ มีการประมูลเอามาคัดแยก แล้วเอามาคัดแยก แต่ปัญหาของโรงงานใหญ่ ๆ ที่ออกมาก็คือเอาไปทิ้งนะครับ ชุมชนเดือดร้อน ขยะเป็นพิษ ส่งกลิ่นเหม็น แต่ของดี ๆ เขาก็คัดเอาไปขายกันหมดแล้ว ดังนั้นวันนี้ผมเห็นนโยบายของ ภาครัฐ ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งนำโดยท่านอนุทิน ชาญวีรกูล ซึ่งออกเมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๖๗ ก็อยากจะนำเสนอขึ้นมา ผมขอนำสไลด์ที่กระทรวงมหาดไทยมานำเสนอ แล้วก็เร่งเร้าขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ผมขอสไลด์หน่อยครับ

นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

อีกอันครับของกระทรวงมหาดไทย อันนี้เป็นรายละเอียดซึ่งผมจะอภิปรายนำต่อไปครับ กระทรวงมหาดไทยก็มีนโยบายใน วันที่ ๓ ที่บอกว่า ๖๐ วันที่จะ Kick Off กันแล้วเมื่อวันที่ ๓ ใน ๒๐ วันแรกนี้คงจะมีการตั้ง คณะกรรมการ ส่วนอีก ๒๐ วันก็คงจะมีการดำเนินการ แล้วก็จะเสร็จสิ้นภายในวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ เรื่องของ Recycle Waste Bank ที่จะร่วมมือกัน มีการบูรณาการจากหน่วยงาน ต่าง ๆ อันนี้ผมเชื่อว่าเป็นโครงการที่ดี แต่โครงการที่ดีอย่างไรมันก็เป็นแค่นโยบาย แต่ความสำเร็จมันต้องอยู่ที่การร่วมมือกันครับ ร่วมมือว่าจะทำอย่างไร จะรณรงค์ จริง ๆ ผมนำเสนอเรื่องของ Model Triangle Model ทฤษฎีสามเหลี่ยมบอกว่าภาครัฐหรือ กระทรวงต่าง ๆ ไม่ว่ากระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข จริง ๆ องค์ประกอบองคาพยพในสังคมของเรามีความพร้อมมาก ๆ แต่ขาดอย่างเดียวก็คือมีแต่ คนพูด คนที่จะทำนั้นขาดความจริงใจที่จะทำ คนที่คือภาคประชาชน ผมบอกภาครัฐกระทรวงต่าง ๆ องค์กรร่วมมือกันเยอะแยะไปหมด แต่ภาคสังคมคือ ผู้ที่สร้างขยะ องค์กร บริษัท แต่คนที่ปฏิบัติจริง ๆ แล้วจะต้องผลักดันครับ ผลักดันให้ ภาคเอกชนมามีส่วนร่วม โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น ทุกวันนี้ในตำบลทุกตำบลใน หมู่บ้านหนึ่งมีประชากรประมาณ ๗๕๐ คน มีการประชุมหมู่บ้านทุกเดือน เราแบ่งออกเป็นคุ้ม ๆ คุ้มหนึ่งประมาณ ๕๐ หลังคาเรือน ไม่เกิน ๑๐๐ คน ถ้ามีการให้ความรู้ ความอ่าน แล้วทำให้ การศึกษาสร้างจิตสำนึกที่ดี เพราะสังคมบ้านช่องเรือนชานนั้นก็เป็นของประชาชนทุกคน ขอสไลด์ต่อไปเลยครับ ผมจะอธิบายตามสไลด์ เห็นไหมครับ การกำจัดขยะหมู่บ้านเรามี อสม. มี อพม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีชมรมผู้สูงอายุ แล้ววันนี้เราเป็นสังคมผู้สูงอายุทุกหมู่บ้าน มีผู้สูงอายุตั้ง ๑๐๐ คน ตอนนี้ในเขตเลือกตั้งที่ผมดูแลอยู่นี่หลาย ๆ ตำบลเรามีชมรมผู้สูงอายุ เรามีการจัดตั้ง เราต้องปลุกจิตสำนึกให้เขาแยกขยะที่ต้นทาง ให้ประหยัดการใช้ขยะ จริง ๆ หลักการวิชาการมีบอกหมด Reuse Reduce ลดก่อน อย่างเช่น วันนี้ผมก็ผลักดันว่า ทำอย่างไรเราจะใช้กระบอกน้ำนะครับ อันนี้ก็ลดขวดพลาสติกลง เราลดลงได้ไหมไปใช้ขวด นะครับ ถ้าทุกคนร่วมกันอย่างในรัฐสภาห้องอาหารก็เช่นเดียวกัน น้ำแต่ละแก้ว เรายัง Refill ได้เลย น้ำส้ม น้ำผลไม้ แต่น้ำขวดพลาสติกถ้าเรา Refill บ้างล่ะ เราลดไปวันหนึ่งสัก ๑,๐๐๐ ขวด ใช้บ้างครับ เราไม่ได้หมายความว่าไม่ให้ใช้ เราประหยัดครับ ดังนั้นผมเชื่อ เหลือเกินว่าถ้าคนละไม้คนละมือเราทำ เราปฏิบัติ เราลงมือปฏิบัติกัน โดยเฉพาะผมทุกวันนี้ ห้องพักผมอยู่ชั้น ๖ ห้อง ๖๒๔ ก็จะขอรับบริจาคสิ่งของเหลือใช้ ของไม่ได้ใช้หรือของอะไร ที่เหลือใช้ หรือแม้แต่กระดาษผมเสียดายผมอยากได้ ผมก็เลยขอผ่านน้อง ๆ สมาชิกทุกคนว่า เอาไปกองทิ้งไว้ที่ห้องนั้นก็ได้ ผมจะเอาไปให้เด็กนักศึกษาทำงาน ทำงานแล้วปริ้นกระดาษ มันก็ได้ประหยัดนะครับ ขึ้นสไลด์ไปเรื่อย ๆ ทางโสตครับ เดี๋ยวผมก็อธิบายไปตามสไลด์ อีกอันหนึ่งจากนโยบายของกระทรวงมหาดไทยโดยท่านอนุทิน ชาญวีรกูล ต้องการให้หน่วยงาน ต่าง ๆ อบต. ทั้งหมด ๗,๗๗๔ แห่ง ตั้งธนาคารขยะ ทำธนาคารขยะให้เสร็จสิ้นภายใน ๖๐ วัน ผมขอเสริมอีกได้ไหม เรามีธนาคารใบไม้อันนี้ก็ของเทศบาล ที่ทำอัดพลาสติกเอา มาแล้วเพื่อส่งให้กับโรงงาน อันนี้ก็เป็นกระบวนการหนึ่ง นี่ผมกำลังทำธนาคารใบไม้ควบคู่กัน ไปกับธนาคารขยะเอาใบไม้ไปผสมมูลสัตว์ อันนี้ก็เป็นการลดโลกร้อนอีกมุมมองหนึ่งที่จะให้ ชาวบ้านมาร่วมมือรณรงค์กัน อันนี้คือลงมือปฏิบัติจริง ๆ ทั้งนั้น ก็อยากจะฝากเป็นตัวอย่างดี ๆ โดยเฉพาะที่เขตเลือกตั้งในอำเภอกบินทร์บุรีเรามีกองทุนครับ กองทุนผู้สูงวัยเห็นไหมครับ ผมทำแล้วถ้าหากกระทรวงมหาดไทยสนใจโครงการนี้ เราเอาขยะ อันนี้ก็เหมือนกันครับ ถ้าน้อง ๆ หรือท่านสมาชิกหรือทุกคนได้ยินเสียงผม เก็บของเก่า ของไม่ใช้ ของเหลือใช้ เอามา ให้ผม ผมจะเอาไปขายเข้ากองทุนตำบลต่าง ๆ ที่จะช่วยผู้สูงวัย วันนี้ผมพยายามที่จะสอนให้ ชาวบ้านเลี้ยงปลา ยืนอยู่บนขาตัวเอง เราไม่ยึดเงินเป็นตัวตั้ง แต่เราจะร่วมพลังร่วมใจกันหมด ถ้าท่านเอามารวมผมตอนนี้ผมมีหลายกองทุนผู้สูงวัยในชนบท เรามีเป็นสิบ ๆ กองทุนแล้ว กองทุนหนึ่งมีเงินตั้งแต่หลักหมื่น หลักแสน หรือหลาย ๆ แสน แล้วก็เอามาช่วยผู้สูงอายุ เห็นไหมครับว่านี่คือการทำงานแบบบูรณาการไม่ใช่หลักการบนเพียงแต่นโยบายมานั่ง ประชุมกัน ถ้าหากว่าวันนี้การนำอภิปรายของผมมันอาจจะไม่ตรงประเด็นนักกับเรื่องการ บริหารจัดการขยะ แต่ผมกำลังจะพูดว่าเรากำลังจะเอาขยะมาเป็นประโยชน์ มาสอดคล้อง กับกระทรวงมหาดไทยที่มีขยะตาม อบต. ทั้งหมด ๗,๗๐๐ กว่าแห่งนี้ร่วมกันเสริมสร้างไปกับ ธนาคารใบไม้ซึ่งเป็นธรรมชาติให้มาอย่างสะอาด แต่ลองไปผสมไหมครับ แค่เป็นปุ๋ยก็เป็นปุ๋ย สะอาด สุดท้ายมันก็แก้ปัญหาเรื่องของลดโลกร้อนได้ก็เช่นเดียวกัน

นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

สุดท้ายในการนำอภิปรายของผมคงจะสร้างจิตสำนึกให้คนหันมาร่วมกัน ร่วมจับมือเราเถอะครับ อย่าไปคิดให้คนอื่นร่วมมือ จะให้คนอื่นทำ ถ้าเราทำจากคนละนิด คนละหน่อย วันนี้เม็ดทรายแต่ละเม็ดถ้าเรามาบรรจงเรียงกันไป มันก็จะเป็นเม็ดทรายเต็ม ชายหาด หรือขยะมันจะค่อย ๆ ลดลงไปทีละนิด ๆ จากวันหนึ่งโดยเฉลี่ยของคนที่สร้างขยะ วันละ ๑ กิโลกรัมอาจจะลดไปเหลือ ๘ ขีด แล้วขยะที่เหลือใช้ถ้านำมาให้ถูกที่ถูกทางเอามา ให้ที่ชั้น ๖ ห้อง ๖๒๔ ผมก็จะเอาไปให้กองทุนผู้สูงอายุ สร้างกองทุนให้เข้มแข็งในสังคม ผู้สูงอายุ แล้วทำให้ขยะลดลงอย่างเต็มที่ครับ ขอกราบขอบพระคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ผู้เสนอญัตติทั้ง ๕ ฉบับ ก็ได้เสนอหลักการและเหตุผลแล้วนะครับ ต่อไปจะเป็น การอภิปรายของเพื่อนสมาชิกครับ ตอนนี้มีสมาชิกที่เข้าชื่อฝ่ายค้าน ๓๐ ท่าน ฝ่ายรัฐบาล ๑๓ ท่าน ก็คิดว่าวันนี้คงใช้เวลาเต็มกับเรื่องญัตตินี้เลยนะครับ เชิญท่านแรกที่ลงชื่อนะครับ เชิญท่านพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ครับ

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมกลับมาแล้วครับท่านประธาน อาจจะเป็นเวลานานถึง ๖ เดือนที่ผมไม่ได้มีโอกาสเข้ามาอภิปรายปัญหาของพี่น้องประชาชน ในสภาแห่งนี้ จนกระทั่งแม้กระทั่งบัตรเสียบก็ยังไม่ได้ทำ แต่โชคดีที่มีบัตรสำรองให้มีโอกาส ได้มาพูดถึงปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ผมได้ลงไปในช่วงที่ได้รับการหยุด การปฏิบัติหน้าที่นะครับ

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง เกี่ยวกับญัตติการบริหารจัดการขยะชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและพื้นที่เมือง ท่องเที่ยว สถานที่ ๒ สถานที่เมื่อเดือน ตุลาคม ที่ผมได้มีโอกาสลงไปในระหว่างที่ถูกหยุด ปฏิบัติหน้าที่ นั่นก็คือบ่อขยะตำบลแพรกษาใหม่ จังหวัดสมุทรปราการ สถานที่ ๒ ก็คือบ่อขยะ เทศบาลนครจังหวัดภูเก็ต ๒ สถานที่นี้ให้ความรู้ผมมากครับท่านประธาน มีความแตกต่างกัน พอสมควร เมืองอย่างจังหวัดสมุทรปราการเป็นเมืองอุตสาหกรรม มีโรงงานอุตสาหกรรมเยอะ มีพี่น้องแรงงานเยอะ พอไปทางจังหวัดภูเก็ตก็เป็นเมืองท่องเที่ยวซึ่งก็มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ข้อมูลที่ผมได้มาตรงนี้อยากจะขอสรุปให้ท่านประธานได้รับทราบสั้น ๆ ในเวลา ๕ นาที ที่เหลือ หน้าแรกเป็นสรุปสำหรับผู้บริหารสำหรับสถานการณ์ผลกระทบและงบประมาณ จัดการขยะของจังหวัดสมุทรปราการ ภาพที่ท่านประธานเห็นอยู่ทางฝั่งซ้ายสุดของจอ นั่นคือบ่อขยะครับ ถ้าท่านประธานมองลงไปที่ช่องซ้ายนิดหนึ่งก็จะเห็นมอเตอร์ไซค์อยู่ มอเตอร์ไซค์นั้นก็พอจะบอกได้ครับว่ากองขยะแห่งนี้สูงอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าตึก ๕ ชั้น ถึง ๑๐ ชั้น ผลกระทบที่มันเกิดขึ้นก็อย่างนี้ ปริมาณขยะรายวัน ๒,๘๓๐ ตันจากจังหวัดสมุทรปราการ สามารถจัดการขยะได้อย่างถูกต้องตามสุขลักษณะ ตามมาตรฐาน ๓๐๐ ตัน แต่มีขยะที่ถูก จัดการได้ไม่ถูกต้องถึง ๒,๐๐๐ กว่าตัน ผลกระทบคืออะไรครับท่านประธาน ผลกระทบ ก็คือผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องชาวสมุทรปราการที่มี สส. จังหวัดสมุทรปราการ อยู่ข้าง ๆ ผมทุกวันนี้พยายามที่จะช่วยเหลืออยู่ เพราะข้าง ๆ ไปทางซ้ายนิดเดียว นั่นคือ โรงเรียนเด็กเล็ก ถ้าจำไม่ผิดก็จะเป็น อบต. ที่อยู่ในพื้นที่แถวนั้น สิ่งที่มันเกิดขึ้นก็คือ ผลกระทบในเรื่องของความอันตรายในการเสี่ยงอัคคีภัยที่เกิดขึ้น ไม่ต่างจากบ้านของ ท่านประธานที่จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ ๒๖ ที่ผ่านมา ไฟไหม้กองขยะมหึมา ๕๐ ตัน สูงเท่าตึก ๕ ชั้น อันนี้คือปัญหาที่มันเกิดขึ้น พอกลับไปดูที่สไลด์อีกครั้งหนึ่ง งบประมาณ เราเพิ่งผ่านเรื่องงบประมาณไป ดูเฉพาะจังหวัดสมุทรปราการอย่างเดียวกับท่านประธาน GDP จังหวัดสมุทรปราการ ๖๐๐,๐๐๐ ล้านบาท งบประมาณที่อยู่ที่ อปท. ทั้งหมด ๔๙ แห่งอยู่ ๑,๖๐๐ ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนอยู่แค่ ๐.๒๕ เปอร์เซ็นต์ของ GDP ของจังหวัด สมุทรปราการ อันนี้คือปัญหาที่มันเกิดขึ้นเฉพาะเจาะจงในจังหวัด ๑ จังหวัด ไปดูภาพที่ ๒ ของจังหวัดภูเก็ตว่าต่างกันอย่างไร ภาพที่ท่านประธานเห็นที่จังหวัดภูเก็ต ก็คือผมลงพื้นที่ กับ สส. จังหวัดภูเก็ต เมื่อเดือนตุลาคมตอนโดนหยุดปฏิบัติหน้าที่ เลยขอบตรงนั้นไปนิดเดียว จะเป็นชายทะเลครับ ถ้าเราไม่สามารถบริหารจัดการได้ต้องการที่จะให้นักท่องเที่ยวกลับมา ในจังหวัดภูเก็ตเยอะ ๆ หลังโควิด-๑๙ แต่ขยะที่มันอยู่ในระดับ Emergency อย่างที่เห็นนี้ สักวันหนึ่งจะลงไปในทะเล แล้วฝรั่งก็จะเรียกจังหวัดภูเก็ตว่า Garbage Paradise หรือที่เรียกว่าเป็นสรวงสวรรค์ที่เต็ม ไปด้วยขยะสถานการณ์มันเป็นอย่างนี้ ๘๗๑ ตันต่อวัน คือขยะที่มีต่อจังหวัดภูเก็ต ความสามารถในการเผาขยะอยู่ที่ ๗๐๐ ตัน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือผลกระทบต่อการท่องเที่ยว อย่างชัดเจน GDP ของจังหวัดภูเก็ตที่ ๒๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท งบประมาณของ อบท. ทั้ง ๑๐ กว่าแห่ง ทั้งจังหวัดภูเก็ตรวมกัน ๖๐๐ กว่าล้านบาท คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ๐.๓๑ เปอร์เซ็นต์ นี่คือภาพจุลภาคที่เห็นได้ในท้องถิ่นที่ทำให้ผมกลับมาแล้วรู้สึกสนใจเรื่องนี้ เป็นพิเศษว่าถ้าเป็นในระดับชาติ ถ้ามีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เกิดขึ้นควรที่จะจับประเด็นในระดับประเทศอย่างไร ซึ่งก็คือการรวมข้อมูลมาให้ท่านประธาน เห็นในหน้าต่อไปครับ การจัดการขยะครับท่านประธาน มองเป็นจุด ๆ ไม่ได้ ต้องมองเป็นโซ่ มูลค่าตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทางของการบริหารจัดการขยะ ภาพทางต้นทาง ถ้าเราไม่สามารถลดขยะต้นทางได้คุณเลิกคิดเรื่องกลางทาง ปลายทาง ตำน้ำพริกละลาย แม่น้ำ ต้นทางเห็นได้เลยตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ ปี ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๔ ปี ๖๔๖๕ ขยะในประเทศไทย ทั้งหมด ๖๓ ล้านตัน แบ่งเป็นขยะมูลฝอยบ้าง เป็นกากของเสียอุตสาหกรรมบ้าง เป็นของ เสียอันตรายต่อชุมชนบ้าง เป็นมูลฝอยติดเชื้อบ้าง แต่หลังจากที่เราผ่านภาวะวิกฤติโควิด-๑๙ มาเมื่อเศรษฐกิจต้องการกระตุ้น นักท่องเที่ยวต้องการที่จะกระตุ้นให้มา จำนวนขยะก็จะต้อง เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ พอเรามาดูที่กลางทาง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เราสามารถบริหารจัดการได้ดีสัก ขนาดไหน ๘๕ เปอร์เซ็นต์ สีน้ำเงินครับท่านประธาน บอกว่าขยะที่ได้รับการจัดการ แปลว่า อีก ๑๒ เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้รับการจัดการ แล้วก็ลงไปในรายละเอียด ๘๘ เปอร์เซ็นต์ที่บอกว่า ได้รับการจัดการนั้นก็ไม่รู้ว่าได้รับการจัดการแบบได้มาตรฐานหรือไม่ได้มาตรฐานด้วยซ้ำไป พอมาดูที่ปลายทางครับ บริหารจัดการกันอย่างไร จำนวนหลุมขยะก็ดี จำนวนเตาเผาก็ดี ปริมาณขยะมูลฝอยตกค้างก็ดี ก็จะเป็นอย่างที่ท่านประธานเห็นเลยครับว่าประเทศไทยมี หลุมขยะอยู่ทั้งหมด ๑,๙๔๑ หลุม ได้มาตรฐานเพียงแค่ ๗๒ หลุม ท่านประธานฟังไม่ผิดนะครับ พี่น้องประชาชนฟังไม่ผิดครับ จำนวนขยะเกือบ ๒,๐๐๐ หลุมถูกอยู่แค่ ๗๐ กว่าหลุม ที่เหลือนี้ไม่ได้รับมาตรฐานเลย จำนวนเตาเผา ๑๐๕ เตา ถูกมาตรฐานมีระบบบำบัดอยู่แค่ ๑๑ เตา อีก ๙๐ เตา ไม่ถูกต้อง ถ้าใช้เวลาไม่ถึง ๑ นาที ก็พอที่จะเห็นได้แล้วครับว่าปัญหา ของประเทศไทยตั้งแต่ต้นทาง กลางทางและปลายทางมีปัญหาอย่างไร

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ต่อไปสุดท้าย ผมอยากจะใช้เวลาที่เหลือในการนำข้อเสนอครับว่า ๕ ข้อเสนอ ในการวางกรอบในการทำงานของคณะกรรมการวิสามัญที่ควรจะต้องตั้งขึ้นมีอะไรบ้าง ถ้าคิดดี ๆ ตามกรอบเลยนะครับ กรอบวิธีคิดก็คือตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง แล้วก็ปลายทาง สามารถเป็นวาระการประชุมของคณะกรรมาธิการที่จะตั้งนี้ได้เลยทีเดียว

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ข้อที่ ๑ คือการลดขยะต้นทางโดยการส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือที่เรียกว่า Circular Economy วันนี้ข่าวไทยรัฐลงที่เศรษฐกิจนะครับ บอกว่ามีบริษัท ทุนใหญ่สามารถที่จะลงทุนอีก ๔๐,๐๐๐ ล้านบาท ในพลาสติกรักษ์โลกบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน ที่ใช้ซ้ำ Recycle ได้ ดีครับ พรรคก้าวไกลพร้อมที่จะสนับสนุนบริษัททุนใหญ่แบบนี้ แต่เรา จะทำอย่างไรให้ระบบนิเวศของเศรษฐกิจทำให้ SMEs ทำให้พี่น้องประชาชนสามารถเข้าถึง Circular Economy หรือเศรษฐกิจที่สร้างขึ้นมาเพื่อที่จะให้กลับสู่รูปเดิมและนำมาใช้ซ้ำได้

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ข้อที่ ๒ คือการออกพระราชบัญญัติการบริหารจัดการขยะและการหมุนเวียน ทรัพยากร ตรงนี้จะทำให้ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบกับขยะที่เกิดขึ้นจากการผลิตและการใช้ซ้ำด้วย ตรงนี้ก็เป็นกฎหมายที่พรรคก้าวไกลเรากำลังพยายามที่จะนำเสนออยู่ในส่วนระหว่างกลางทาง คือการโอนอำนาจให้หน่วยงานอย่างส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการขยะ ไม่ได้จำเป็นที่ จะต้องอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย ไม่ได้จำเป็นที่จะต้องอยู่ที่กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สุดท้ายครับท่านประธาน ปลายทาง เพิ่มเติมงบประมาณในการจัดการ บริหารจัดการขยะ มาชวนสภาแห่งนี้คิดเลขกัน เมื่อสักครู่นี้ให้เห็นว่ามีหลุมขยะอยู่ประมาณ ๒,๐๐๐ แห่ง ถ้าเราใช้งบประมาณตามที่ สส. พูนศักดิ์ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการกำจัดขยะ บอกว่าใช้อยู่ ๒๐ ล้านบาทต่อบ่อ ๒,๐๐๐ คูณด้วย ๒๐ เท่ากับ ๔๐,๐๐๐ ล้านบาท งบประมาณปีนี้ผมไปดูมาแล้วครับ การจัดการขยะกับ Circular Economy รวมกันแค่ ๑,๘๐๐ ล้านบาท ต้องเพิ่มอีกอย่างน้อย ๒๐ เท่าถึงจะแก้ไขปัญหาขยะในประเทศไทยได้

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ข้อสุดท้าย คือการออกมาตรการด้านกองทุนฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อน แล้วก็ สำหรับผู้ที่ได้รับบำบัดผลจากการกำจัดขยะ ถ้าเราสามารถวางแผนได้แบบนี้ก็จะสามารถ ที่จะลดจำนวนขยะ ป้องกันปัญหาก่อนที่จะเกิด บริหารจัดการตอนที่มันเกิดแล้ว และสามารถจัดการผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเรื่องการกำจัดขยะที่ไม่ประสิทธิภาพ ในประเทศไทย ก็จะสามารถที่จะลดจำนวนขยะป้องกันปัญหาก่อนที่จะเกิด บริหารจัดการ ตอนที่มันเกิดแล้วและสามารถจัดการผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเรื่องการจัดการขยะ ที่ไม่ได้ประสิทธิภาพในประเทศไทย ขอบพระคุณมากครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านอรรถพล ไตรศรี ครับ

นายอรรถพล ไตรศรี พังงา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายอรรถพล ไตรศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพังงา เขต ๑ พรรคภูมิใจไทย อย่างที่ หลาย ๆ ท่านเสนอญัตติจากเหตุผลทั้งหมด ขยะที่เพิ่มขึ้นทุกวันนี้มาจากมนุษย์เป็นผู้สร้าง ทั้งหมด แล้วก็ผมจะพูดในประเด็นของเมืองท่องเที่ยว โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา จังหวัดกระบี่ ก็ต้องยอมรับว่าจังหวัดภูเก็ตเตาเผาขยะไฟฟ้ามีมานานแล้ว ๒๐ กว่าปี แต่การบริหารจัดการก็ยังเกิดปัญหาเกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และงบประมาณ หลาย ๆ เรื่อง แล้วก็จังหวัดกระบี่ก็มีแล้วนะครับ โรงไฟฟ้าเตาเผาขยะ แต่จังหวัดพังงาผมขอ เจาะลึกไปนิดหนึ่งว่าจังหวัดพังงาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ไม่มีเตาเผาขยะ ทุกวันนี้มีนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดพังงามาก แล้วก็เพิ่มปริมาณ เกี่ยวกับขยะมากมาย โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมานักท่องเที่ยวได้เข้ามาจังหวัดพังงาประมาณ ๒,๖๐๐,๐๐๐ คน และจากข้อมูลทั้งหมดมีขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยแล้ว ๑ กิโลกรัม ๑ คนต่อวัน และขยะมูลฝอยต่าง ๆ ก็กระจายไปทั่วทั้งจังหวัด ปัญหาต่าง ๆ นั้น ณ วันนี้ผมเองกับทีมงาน ผู้บริหารจังหวัดก็ดี พยายามที่จะหาคิดวิธีการว่าจะต้องมีเตาเผาขยะขึ้นที่จังหวัดพังงาให้ได้ ศูนย์กำจัดขยะของเทศบาลเมืองพังงา ซึ่งตั้งมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ เนื้อที่ประมาณ ๗๑ ไร่ ใช้วิธีการในการฝังกลบโดยตามแบบถูกสุขลักษณะสุขาภิบาล ปัจจุบันมีหน่วยงานนำขยะ เข้าไปร่วมในการกำจัดอยู่ที่ศูนย์นี้ประมาณ ๑๙ แห่ง มีทั้งอำเภอตะกั่วป่า อำเภอทับปุด อำเภอเมือง แล้วก็อำเภอตะกั่วทุ่ง ไม่มีที่เผา ไม่มีเตาเผา ตอนนี้เราก็ได้ทำการศึกษาวิจัย แล้วก็ของบประมาณ โดยเทศบาลเมืองก็พยายามทำทุกวิธีการ ก็ยังไม่ได้งบประมาณ ยังมีกฎหมายบ้านเมืองหลายฉบับที่ติดขัดอยู่ แล้วก็ไปดูอีกพื้นที่หนึ่งของอำเภอเกาะยาว ซึ่งเป็นอำเภอที่อยู่กลางทะเล การกำจัดเกี่ยวกับขยะนี้เป็นปัญหามากมายนะครับตอนนี้ ประชาชนในพื้นที่ ๑๔,๐๐๐ กว่าคน แล้วก็นักท่องเที่ยวที่เข้าไปเที่ยวเกาะยาวประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ คนต่อวัน ทำให้เกิดขยะมูลฝอยเกิดขึ้นอย่างมากมายและรวดเร็วด้วย ในขณะนี้ มีความจำเป็นจะต้องตั้งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยที่ตำบลพรุใน หมู่ที่ ๒ เนื้อที่ประมาณ ๑๑ ไร่ ซึ่งมีการวิเคราะห์แล้วตั้งงบประมาณไว้แล้วทั้งหมด ๑๘๗ ล้านบาท แต่ก็ยังไม่ได้รับการดูแล เหลียวแล ทั้ง ๆ ที่เป็นสิ่งที่เร่งด่วน อย่างเร่งด่วนของประชากรที่เพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ขยะก็เพิ่มขึ้น แต่เราก็ยังขาดงบประมาณการบริหารจัดการ ตอนนี้เรื่องอยู่ที่จังหวัด และอีกจุดหนึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวของเขาหลัก อันนี้ก็ถือว่าอำเภอตะกั่วป่า อำเภอ ท้ายเหมือง อำเภอคุระบุรี เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกจุดหนึ่งซึ่งจำเป็นต้องมีเตาเผาขยะ ณ วันนี้ เทศบาลตำบลลำแก่นเขามีพื้นที่สำหรับ ๑๔๐ กว่าไร่ แล้วก็อยู่ในพื้นที่สีม่วงสามารถตั้ง โรงงานกำจัดขยะแล้วเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ด้วย ตอนนี้ทางเทศบาลก็พยายามจะผลักดัน โครงการให้กับจังหวัดแต่เกิดการล่าช้า ทั้งเรื่องกฎหมาย เรื่องระเบียบเรื่องการเวนคืน เรื่องผังเมือง หลาย ๆ เรื่องที่ผมประสบมาทั้งหมด พยายามเข้าไปพูดคุยกับคนในพื้นที่ ทุกคนก็ยอมรับว่าพื้นที่เหมาะสมที่สุดคือตำบลลำแก่น ถ้าจะใช้วิธีการทั้งหมดที่นำเรียนต่อ สภาแห่งนี้ว่าท้องถิ่นเราพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการสร้างเตาเผา แต่ติดขัดเรื่อง กฎหมาย กฎกระทรวง ผังเมืองและความล่าช้าของระบบราชการ ทำให้ไม่สามารถกำจัดขยะ มูลฝอยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วงนี้ก็อยู่ในระหว่างศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ขยะมูลฝอยผลิตเป็นพลังไฟฟ้าของตำบลลำแก่น จึงทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ของจังหวัดพังงาไม่สามารถบริหารจัดการขยะมูลฝอยได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงนำมาสู่ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม มลพิษทางน้ำ มลพิษทางอากาศแหล่งแพร่พันธุ์ของสัตว์ พาหะนำโรค เชื้อโรคต่าง ๆ สร้างความเสียหายแก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เกิดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเป็น อย่างมาก ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ผมก็อยากสนับสนุนญัตติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาเกี่ยวกับแก้ไขปัญหาเรื่องบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการและกำจัดขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อสุขอนามัยของประชาชน จากเหตุผลทั้งหมดประเด็นหลัก อยู่ที่กฎระเบียบ กฎกระทรวง แล้วก็หลาย ๆ กระทรวงที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการ เรื่องขยะให้เป็นรูปธรรมอย่างที่หลาย ๆ ท่านได้บอกกล่าวมาแล้วในสถานที่แห่งนี้นะครับว่า ถ้าหากเรายังปล่อยให้งบประมาณก็ดี หรือว่ากฎระเบียบต่าง ๆ ก็ดีที่ยังมีปัญหา ไม่มีการแก้ไข ไม่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา จะทำให้ปัญหาซึ่งจะเกิดขึ้นอยู่ทุกวันของกองขยะนี้ จะเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ถ้าไม่มีการดูแลในจุดนี้ ผมก็เชื่อว่าการสร้างมลภาวะเกี่ยวกับขยะก็จะมี ปัญหาต่อไป จึงอยากให้คณะกรรมการซึ่งจะดูแลเรื่องเกี่ยวกับขยะมูลฝอยทั้งหมดนี้ของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำการด้วยความจริงใจ จริงจัง แล้วก็รวดเร็ว พร้อมกับรัฐบาล ต้องสนับสนุนงบประมาณให้กับการกำจัดขยะอย่างเป็นรูปธรรมและเร่งด่วนด้วยครับ ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วปัญหาก็จะต้องเกิดขึ้นต่อไป ก็อยากนำเรียนให้ท่านประธานได้รับทราบ ณ สถานที่แห่งนี้ด้วยครับ ขอบคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านสมชาติ เตชถาวรเจริญ ครับ

ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาที่เคารพ ผม ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๑ จากพรรคก้าวไกล ผมขออภิปรายสนับสนุนญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา หาแนวทางการแก้ไขปัญหา เรื่อง การบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต่อจากที่คุณพิธาได้อภิปรายไว้เมื่อสักครู่นะครับ ขอสไลด์แผ่นที่ ๑ ครับ

ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ

ภาพที่ท่านประธานเห็นอยู่คือ จุดพักขยะตำบลป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ผมขอถามว่าพวกเราเห็นอะไรในภาพนี้บ้างครับ เราเห็นกองขยะทุกประเภทมากองสุมรวมกันโดยที่ไม่มีการคัดแยกขยะแม้แต่ชิ้นเดียว สิ่งที่ควรจะเป็นคืออะไรครับ ก็คือแนวทางในการจัดการขยะที่เราจะต้องลดขยะต้นทาง เริ่มจากการแยกขยะเป็นถุงขยะคนละสี เอาแบบที่หยาบที่สุดครับท่านประธาน ๑. ขยะอินทรีย์ เพื่อใช้เลี้ยงหมูหรือทำปุ๋ย ๒. ขยะ Recycle และ ๓. ขยะส่งเข้าเตาเผาเพื่อผลิตกระแส ไฟฟ้า นอกจากนี้แล้วเรายังเห็นอะไรอีกครับท่านประธานในสไลด์แผ่นนี้ เราเห็นขยะกองอยู่ ริมทะเลมีเพียงแนวต้นไม้ ๑ แนวกั้นระหว่างกองขยะที่สุมกองพะเนินกับทะเลที่สวยงาม ท่านประธานคิดว่ามันเหมาะสมแล้วหรือไม่กับจังหวัดภูเก็ตที่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวระดับโลก สิ่งที่ควรจะเป็นก็คือการวางถัง Container ตามภาพมุมซ้ายด้านบนท่านประธานนะครับ เผื่อให้ชาวบ้านในชุมชนได้ทิ้งขยะที่แยกแล้วสำหรับส่งเข้าเตาเผาขยะ โดยเอาขยะเข้าไปอยู่ ในถัง Container ดังกล่าว แล้วนำรถบรรทุกตามภาพด้านขวามุมล่าง นำถัง Container ที่สะอาดลูกใหม่มาวาง พร้อมยกถังเดิมที่มีขยะไปยังเตาเผา หลังจากนั้นก็ทำความสะอาดถัง Container ลูกนั้นเพื่อนำไปสลับกับถังขยะตรงจุดพักขยะแห่งอื่นต่อไป ประโยชน์ของถัง Container คืออะไรครับท่านประธาน ประโยชน์ของถัง Container ก็คือความเป็นระเบียบ เรียบร้อยและความรวดเร็วในการขนย้ายขยะไปยังเตาเผา เมื่อเรายกถัง Container ใส่ รถบรรทุกแล้วเราต้องใช้เวลากว่า ๓ ชั่วโมงครึ่งต่อรอบของการขนขยะในการนำขยะจาก ตำบลป่าตองไปสู่เตาเผาที่อยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต การที่รถบรรทุกต้องใช้เวลา เดินทางมากขึ้นเท่าไรมันคือต้นทุนในการบริหารจัดการขยะ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าแรงงาน รวมถึงค่าเสื่อมและค่าสึกหรอของรถบรรทุก ทำให้เทศบาลและผู้รับเหมาต้องใช้ เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก และลงทุนเพื่อซื้อรถขยะเป็นจำนวนหลายคันด้วยกัน และในที่สุด แล้วต้นทุนต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะถูกผ่องถ่ายไปยังประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อการขนถ่าย ขยะไปยังเตาเผาต้องใช้เวลานาน การใช้รถเก็บขนเป็นคันเดียวกันตั้งแต่จุดเก็บไปยังเตาเผา ขยะอาจจะไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสมอีกต่อไป เราสามารถแก้ไขได้ด้วยการตั้งสถานีขนถ่ายขยะหรือ Transfer Station แล้วใช้รถพ่วงขน ขยะหรือรถอัดท้ายที่จะทำให้สามารถรองรับขยะได้ถึง ๔-๕ ตันต่อ ๑ คันรถ รถพ่วงจะรับ ขยะจากรถอัดท้ายจะใช้เวลาจากสถานีขนถ่ายหรือ Transfer Station ไปยังเตาเผาขยะใช้ เวลาเพียงแค่ ๑ ชั่วโมงเท่านั้นเองครับ ลดปัญหาการขาดแคลนรอบรถเก็บขยะจาก ๓ ชั่วโมง ครึ่งเหลือเพียง ๑ ชั่วโมงต่อรอบการเก็บขยะจากสถานีขนถ่ายไปยังเตาเผาขยะ ข้อเท็จจริง ของการจัดการขยะในจังหวัดภูเก็ต มาดูกันครับ ๗๔๒ ตันต่อวันคือปริมาณขยะที่เกิดขึ้นบน เกาะภูเก็ตในปี ๒๕๖๕ และ ๘๗๑ ตันต่อวันในปี ๒๕๖๖ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๗๔ ตันต่อวัน คือขยะที่เราได้นำไป Recycle ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในสามผมย้ำนะครับ เพียงหนึ่งในสามของ ค่าเฉลี่ยการ Recycle ขยะทั้งประเทศที่ ๓๑ เปอร์เซ็นต์ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ หรือ ๖๘๘ ตันต่อวันคือขยะที่เกิดขึ้นนำไปเข้าเตาเผาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ๗๐๐ ตันต่อวันคือขีด ความสามารถของเตาเผา ซึ่งปัจจุบันขยะมีเกินขีดความสามารถของเตาเผาไปเยอะมากครับ ทำให้จังหวัดภูเก็ตต้องของบประมาณ ๓๕ ล้านบาท จากคณะรัฐมนตรีเผื่อรื้อหลุมฝังกลบ ขยะมูลฝอยเก่าเพื่อนำมาใช้ฝังกลบขยะส่วนเกินที่มันเข้าเตาเผาไม่ได้ ๕๐๐ ตันต่อวันคือ โครงการขยายกำลังเตาเผาขยะของโรงเตาเผาขยะที่บริเวณ ณ จุดเดิม เราต้องหาขยะ มาป้อนให้ได้ถึงกว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๓๕๐ ตันต่อวันเพื่อให้เตาเผาขยะสามารถ เดินเครื่องทั้งระบบได้ ๖๐๐ ตันต่อวันคือปริมาณขยะที่เหลือเพื่อนำไปเผาทั้งหมดโดยไม่ต้อง ใช้วิธีการฝังกลบขยะ หากเราสามารถรณรงค์ให้ประชาชนแยกขยะอินทรีย์ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ เพื่อไปทำปุ๋ยและเพิ่มอัตราการ Recycle อีก ๑๐ เปอร์เซ็นต์ให้เท่ากับค่าเฉลี่ยของประเทศ เทศบาลตำบลกะรน งดการเก็บขยะจากโรงแรม โดยให้โรงแรมนำไปทิ้งที่เตาเผาเอง เนื่องจากต้นทุนการขนย้ายขยะที่สูงขึ้น เทศบาลเมืองป่าตองเพิ่มอัตราการเก็บค่าเก็บขยะขึ้น หลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ฉะนั้นแล้วผมมีข้อเสนอแนะในการจัดการขยะของ จังหวัดภูเก็ตดังต่อไปนี้ครับท่านประธาน

ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ

ข้อที่ ๑ ควรมีการคัดแยกขยะต้นทาง ควรรณรงค์ให้ประชาชนแยกขยะ อินทรีย์ ๑๐ เปอร์เซ็นต์เพื่อไปทำปุ๋ย และเพิ่มอัตราการ Recycle อีก ๑๐ เปอร์เซ็นต์ โดยให้ แยกถุงขยะเป็นคนละสี ทำให้ลดการใช้หลุมฝังกลบซึ่งเป็นวิธีการกำจัดขยะที่ควรหลีกเลี่ยง

ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ

ข้อที่ ๒ ท้องถิ่นควรบริหารจัดการขยะ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เพื่อการกำจัดขยะ เป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม ทั้งนี้ทั้งนั้นมีข้อควรระวังก็คือการเร่งสร้างเตาเผาขยะเพียง อย่างเดียวจะยิ่งสร้างจิตสำนึกในการผลิตขยะให้มากขึ้นเพื่อให้เตาเผาสามารถเดินระบบได้ ซึ่งจะสวนทางกับหลักการจัดการขยะที่ต้องพยายามลดปริมาณการเกิดขยะ

ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ

ข้อที่ ๓ หากมีการก่อสร้างโครงการใหม่ที่จะสร้างขึ้นในจังหวัดภูเก็ต ผมเห็น ว่าควรจะไปสร้างที่จุดอื่นที่จะช่วยร่นระยะเวลาในการขนถ่ายขยะได้ และจะเป็นการลด ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการขยะ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านปรเมษฐ์ จินา ครับ

นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎร แล้วก็สมาชิกที่เคารพรักทุกท่าน ปรเมษฐ์ จินา พรรครวมไทยสร้างชาติ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็ขอสนับสนุนในการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาในญัตตินี้ เนื่องจากว่าเพื่อน ๆ สมาชิกของเราหลายคนได้นำเรียนไปแล้ว ก็ขออนุญาตในส่วนของ การที่จะร่วม Jam ตรงนี้ด้วยนะครับ

นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

ประเด็นแรกก็คงจะเป็นเรื่องของสถานการณ์ แล้วก็นิยามในส่วนของขยะ จริง ๆ แล้วถ้าเรานำสิ่งที่มันมีอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันมาจัดแบ่งกลุ่มขยะ มันก็จะจำได้ง่าย ยกตัวอย่างในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขที่เขาจำแนกคนเป็นกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง แล้วก็ กลุ่มป่วย โดยใช้สัญญาณจราจร ยกตัวอย่างว่าถ้าเป็นกลุ่มปกติก็เป็นสีเขียว ถ้ากลุ่มเสี่ยง ก็เป็นสีเหลือง แล้วก็ถ้าเป็นกลุ่มที่ป่วยแล้วก็เป็นสีแดง อันนี้ก็เช่นกัน ขยะถ้าเราจะให้ประชาชนในประเทศของเราจำได้ง่ายเราก็คงจะต้องมีการแบ่ง ขยะคล้าย ๆ กับปฐมบทของสัญญาณจราจร เช่นยกตัวอย่างว่าถ้าเป็นถังขยะสีเขียวเราก็จะ เป็นในส่วนของขยะอินทรีย์หรือว่าขยะที่ย่อยสลายได้นะครับ สีเหลืองก็เป็นขยะ Recycle ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือว่านำไปแปรรูป นำไปจำหน่ายเป็นธนาคารขยะอะไรพวกนี้ได้ ในส่วนของสีแดง ก็คือในส่วนของขยะอันตราย ซึ่งแน่นอนว่าในส่วนของการดำเนินงานของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเขาก็ได้มีการจัดแยกขยะเป็นสี ๆ เพื่อความชัดเจนนะครับ ส่วนขยะที่ไม่เข้าเกณฑ์ใน ๓ สีไฟจราจรก็เป็นในส่วนของถังสีน้ำเงิน นั่นก็คือขยะทั่วไป อันนี้เป็นต้นว่าในเรื่องของการแยกสีถังขยะเพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ แล้วก็ง่ายต่อการที่จะ แยกนะครับ ทีนี้ปัจจุบันในส่วนที่จะมีเพิ่มเติมมา ยกตัวอย่างเมื่อ ๒-๓ ปีที่ผ่านมา เราก็จะเห็นความสำคัญของขยะอีกตัวหนึ่ง ในนั่นก็คือในเรื่องของขยะติดเชื้อในสถานการณ์ โควิด-๑๙ ซึ่งในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเขาก็ได้มีการจัดระบบตรงนี้ ยกตัวอย่างใน ส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ถ้าเป็นขยะติดเชื้อเขาก็จะให้ทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตำบลหรือว่าสถานีอนามัยเดิม มีการจัดสรรงบประมาณให้เป็นจุดพักขยะติดเชื้อ หลังจากนั้น แล้วก็ให้ทางโรงพยาบาลประจำอำเภอ หรือเรียกว่าโรงพยาบาลชุมชนมาดำเนินการในการ รวบรวมแล้วก็ส่งไปกำจัด แน่นอนว่าในส่วนของการกำจัดก็จะมีลักษณะพิเศษของกระทรวง สาธารณสุข เนื่องจากว่าถ้าไปเผาแบบเตาเผาขยะทั่วไปมันก็จะมีสปอร์ของเชื้อโรคบางอย่าง เช่น บาดทะยักแบบนี้มันสามารถที่จะยังอยู่ได้ มันมีความทนความร้อนสูง เขาก็ต้องจัดการ ในวิธีพิเศษ เรื่องนี้นำเรียนให้เห็นสถานการณ์

นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

แล้วก็ขยะตัวต่อไปก็คงจะเป็นขยะที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือในส่วนของขยะ อิเล็กทรอนิกส์ ณ วันนี้เราได้เห็นคณะกรรมาธิการชุดต่าง ๆ ที่จะพยายามทำให้ประเทศไทย เป็นเมืองอัจฉริยะ Thailand ในส่วนของการที่จะทำเรื่องของ SMART Education ในเรื่องของ Smart Farmer หรือว่าในส่วนของใช้ขยะต่าง ๆ ที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์นี้มันจะ เพิ่มมากขึ้น เราต้องการที่จะมีมิเตอร์วัดน้ำ มิเตอร์ไฟฟ้าสามารถที่จะ Control ได้ด้วยระบบ IT จากบ้าน อย่าว่าในเรื่องของการรดน้ำในแปลงเกษตร อันนี้คือยกตัวอย่างในส่วนของขยะที่จะเพิ่มขึ้น และอาจจะมีอีกขยะหนึ่งที่เอาพวกเรากำลังปวดหัวอยู่มาก นั่นก็คือขยะสังคมนะครับ ท่านก็ จะเห็นว่าในปัจจุบันมีมิจฉาชีพหรือว่าคนที่เป็นผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตเวชจากการที่เขา ติดยาเสพติด อันนี้ก็เป็นปัญหาอีกส่วนหนึ่งซึ่งก็คงจะเป็นวาระที่ให้พวกเราได้ตั้งญัตติขึ้นมา ในส่วนของการแก้ปัญหายาเสพติดอย่างครบวงจรในโอกาสต่อไปนะครับ

นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

สำหรับในวันนี้เป็นเรื่องของการจัดการขยะ ปัญหาที่เกิดขึ้นหลายท่านก็คงจะ พูดมาแล้ว ยกตัวอย่างในส่วนของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เราก็จะเคยได้ยินข่าวในเรื่องของ การจัดการขยะที่เกาะสมุยที่เกิดขึ้นแล้วก็คั่งค้างอยู่ วันก่อนผมเคยเป็นคณะกรรมการที่จะไป พิจารณาผู้ที่จะมาประมูลขยะจากเกาะสมุยขึ้นมาจัดการบนพื้นที่แผ่นดินใหญ่ ก็คือใน ตัวเมือง ๓๐๐ ล้านบาท ซึ่งก็เป็นงบประมาณที่เยอะมากพอสมควรในแต่ละครั้ง เพราะฉะนั้น ในส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นมันจะสวนทาง ยกตัวอย่างเมื่อสักครู่นี้ทางท่านผู้แทนจากจังหวัด สุโขทัยบอกว่าเรามีการรณรงค์ที่จะให้คนมาเที่ยวประเทศไทยมากยิ่งขึ้น เป็น ๓๗ ล้านคน หรือว่า ๔๐ ล้านคนต่อปี แน่นอนว่าเมื่อคนเข้ามาเยอะ ปัญหาการใช้หรือว่าปัญหาขยะก็จะ ตามมาเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีข้อมูลเมื่อสักครู่นี้ว่าวันหนึ่งเราสร้างขยะให้กับพื้นที่ ๑.๐๗ กิโลกรัมต่อคนต่อวัน อันนี้ก็เป็นสิ่งที่จะสวนทาง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมีมาตรการ ในเรื่องของการจัดการตรงนี้ แล้วก็วิธีจัดการขยะ ของผมอาจจะมองก้าวข้ามก่อนที่จะเป็นปัญหา เนื่องจากว่าในพื้นที่ที่ผม เป็นตัวแทน สส. เขต เป็นพื้นที่อำเภอพระแสง อำเภอชัยบุรี อำเภอพนม แล้วก็อำเภอเคียนซา ก็อยู่ห่างจากอำเภอเมือง แล้วก็พื้นที่ท่องเที่ยวก็ไม่มีสักเท่าไร แต่ว่าก่อนที่ปัญหาจะเข้าไปใน พื้นที่ของผมในเรื่องของการจัดการขยะก็คงจะมีส่วนร่วมตรงนี้อีกสักเล็กน้อย เพื่อที่จะ ป้องกันไม่ให้ขยะเป็นปัญหาในเขตพื้นที่ที่ผมเป็นตัวแทนอยู่ แล้วก็ในส่วนของปัญหาอื่น ๆ ก็จะมีเยอะแยะมากมาย เพราะว่าส่วนที่เอาขยะไปทิ้งได้หรือว่าส่วนที่ไปฝังกลบนั้น อาจจะ เป็นพื้นที่ที่ไม่ค่อยมีคนอยู่ แล้วก็เป็นพื้นที่ที่ไม่ค่อยมีราคา ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่ว่างเปล่า หรือพื้นที่ที่เป็นหลุมฝังศพหรือว่าเป็นพื้นที่เผาศพสมัยก่อนก็จะไม่มีคนไปอยู่ แล้วก็เริ่มที่จะ เอาขยะไปทิ้งตั้งแต่น้อย ๆ ก่อน แล้วหลังจากนั้นก็อาจจะเป็นการฝังกลบ ทีนี้พอพื้นที่ที่ไม่มี ราคาตรงนั้นมันก็จะเป็นปัญหาในส่วนของพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ผมคงจะใช้เวลาเท่ากับ คุณพิธา เพราะว่าใช้เวลาเกินไปประมาณ ๑ นาที ๕๑ วินาที ก็คงจะใช้เวลาเท่า ๆ กัน ในส่วนของพื้นที่เมื่ออยู่ในพื้นที่ที่น้ำท่วมซ้ำซาก แน่นอนว่าทั้งกลิ่น แล้วก็ทั้งเวลาน้ำท่วม ก่อนที่จะถึงฤดูกาลพื้นที่ที่ฝนตกผิดปกติก็จะทำให้เกิดปัญหาขยะกระจายไปทั้งสองฝั่งคลอง ก็จะเป็นปัญหาอีกส่วนหนึ่ง ทีนี้แนวทางจากเพื่อน ๆ ที่ได้นำเสนอก็คงจะเริ่มตั้งแต่ในเรื่อง ของการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง แน่นอนว่าพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่ง ก็คงจะต้องจัดการในเรื่องของการแนะนำให้ประชาชนมีจิตสำนึก แล้วก็สร้างความตระหนัก ในการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ทั้งขยะเปียก ตอนนี้ก็มีหลายรูปแบบ เช่น การเลี้ยงไส้เดือน พันธุ์แอฟริกาที่มันสามารถจะแปลงเศษอาหาร เศษหญ้าไปเป็นมูลปุ๋ยใส้เดือน แล้วก็นำมา ปลูกพืชได้ อันนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง แล้วก็ในส่วนของการที่จะกำหนดเป็นหลักสูตรจัดการ ขยะในโรงเรียน อันนี้ก็จะเกิดความยั่งยืน แล้วก็สนับสนุนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทุกแห่งจัดตั้งธนาคารขยะเพื่อจัดตั้งเป็นกองทุน แล้วก็สร้างแรงจูงใจให้กับคนที่จะมาร่วมกัน จัดการขยะด้วย แล้วที่สำคัญที่สุดก็คือในเรื่องของการบูรณาการ แน่นอนว่าขยะเรามีหลาย หน่วยงานที่รับผิดชอบ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย ต่อไปก็คงจะเป็น DES เข้ามาอีกกระทรวงหนึ่ง ให้ทุกกระทรวงร่วมกันบูรณาการ แล้วก็ แก้ปัญหาในพื้นที่อย่างเป็นระบบ ขอบคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านนิตยา มีศรี ครับ

นางสาวนิตยา มีศรี สมุทรปราการ ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นิตยา มีศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ เขต ๕ พรรคก้าวไกล ท่านประธานคะ ดิฉันขอร่วมอภิปรายในญัตติการจัดการขยะนี้ด้วยนะคะ ถ้าพูดถึงจังหวัด สมุทรปราการแล้วไม่ได้มีดีแค่ปลาสลิดของดีอำเภอบางบ่อ หรือหอชมเมืองอันสวยงาม แต่มีอีกอย่างหนึ่งค่ะท่านประธาน ถ้าพูดถึงจังหวัดสมุทรปราการก็ต้องแวบเข้ามาในความคิด ของใครหลาย ๆ คนเลย

นางสาวนิตยา มีศรี สมุทรปราการ ต้นฉบับ

นั่นก็คือภูเขาขยะลูกใหญ่ที่ตั้ง ตระหง่านเป็นหน้าเป็นตาให้กับชาวจังหวัดสมุทรปราการ ภูเขาขยะแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบล แพรกษาใหม่ ชาวจังหวัดสมุทรปราการทราบกันดีค่ะท่านประธาน ว่าบ่อขยะแพรกษาใหม่ แห่งนี้เป็นที่ลือชื่อว่าเป็นภูเขาขยะลูกใหญ่ในจังหวัดสมุทรปราการ มีความสูงกว่า ๓๕-๔๐ เมตร บนเนื้อที่กว่า ๓๐๐ ไร่ บ่อขยะแห่งนี้เกิดขึ้นมามากกว่า ๓๐ ปีแล้ว แล้วก็กว่า ๓๐ ปีที่ชาวบ้านต้องทนอยู่กับกองขยะกองโตแห่งนี้จนชาวบ้านบริเวณโดยรอบตัดพ้อกับดิฉัน ว่าจะทำอะไรได้บ้างกับบ่อขยะแห่งนี้ บ่อขยะแห่งนี้เป็นที่รองรับขยะจากทั่วทั้งจังหวัด สมุทรปราการ ปริมาณขยะโดยเฉลี่ยอยู่ที่ ๒,๕๐๐ ตันต่อวัน ซึ่งตามสถิติแล้วจังหวัด สมุทรปราการเป็นจังหวัดที่มีขยะมูลฝอยมากเป็นอันดับ ๒ ของประเทศเลย นี่ยังไม่รวมขยะ อุตสาหกรรม ขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือขยะมีพิษต่าง ๆ ที่ส่งมาทิ้งยังบ่อขยะแพรกษาใหม่ แห่งนี้ด้วยนะคะ บ่อขยะแพรกษาใหม่แห่งนี้รับขยะเข้ามาประมาณ ๒,๕๐๐ ตันต่อวัน ถูกนำไปกำจัดโดย เตาเผาขยะ หรือเตาเผาเชื้อเพลิงขยะ ในระบบ RDF ได้เพียง ๕๐๐ ตันต่อวันเท่านั้น จะเห็นได้ว่าตัวเลขรับเข้ากับตัวเลขกำจัดออกไม่สมดุลกันเลย เมื่อตัวเมื่อตัวเลขไม่สมดุลกัน แบบนี้เกิดอะไรขึ้นคะท่านประธาน ก็เกิดกองขยะกองโต ๆ แบบนี้ที่เราเห็นกันนี้ บ่อขยะ ที่แพรกษาใหม่แห่งนี้ส่งผลกระทบมากมายให้กับชุมชนโดยรอบ พี่น้องประชาชนโดยรอบ ได้รับผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ทุกวันนี้บ่อขยะที่แพรกษาใหม่ อยู่ท่ามกลางชุมชน ท่ามกลางโครงการหมู่บ้านจัดสรรกว่า ๒๐ โครงการ พี่น้องประชาชน ในชุมชนโดยรอบต้องอดทนต่อกลิ่นบ่อขยะแพรกษาใหม่แห่งนี้ทุกวัน ยิ่งฝนตกกลิ่นก็จะทวี ความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งในวันธรรมดาก็จะเหม็นมากพออยู่แล้ว แต่ก็จะเหม็นมากขึ้นไปอีก และกลิ่นบ่อขยะแพรกษาใหม่แห่งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ชุมชนโดยรอบนะคะ พี่น้องใน ตำบลใกล้เคียงอย่างตำบลบางพลีใหญ่ ตำบลบางปลาก็ได้รับกลิ่นเหม็นจากบ่อขยะแห่งนี้ เช่นกัน หรือกระทั่งตำบลราชาเทวะที่อยู่ห่างออกไปจากบ่อขยะนี้กว่า ๑๐ กิโลเมตรก็ยัง ได้รับผลกระทบจากกลิ่นบ่อขยะนี้เลย เรื่องกลิ่นบ่อขยะแพรกษาใหม่แห่งนี้มีพี่น้องประชาชน ร้องเรียนมาเป็นระยะเวลายาวนานแล้ว และปัจจุบันก็ยังมีการร้องเรียนมาอยู่เรื่อย ๆ อยากให้มีมาตรการแก้ไข เช่น การติดตั้งท่อรวบรวมแก๊ส การฝังกลบ การปิดคลุมหลุมฝัง กลบด้วยพลาสติก แต่บริษัทเจ้าของบ่อขยะแพรกษาใหม่แห่งนี้กับเพิกเฉยไม่ยอมลงทุน ทั้งที่มาตรการนี้สามารถควบคุมผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งสิ่งแวดล้อมและพี่น้องประชาชน ได้เป็นอย่างดี วันดีคืนดีอย่างเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคมที่ผ่านมาก็เกิดไฟไหม้ขึ้นที่บ่อขยะ แพรกษาใหม่แห่งนี้ใช้ระยะเวลาอยู่หลายชั่วโมงเลยถึงจะสามารถควบคุมเพลิงได้ แต่การไหม้ ของบ่อขยะแห่งนี้จะไม่จบแค่การควบคุมเพลิง แต่ควันที่จะหมดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลยที่จะ ทำให้หมดไป และนี่ไม่ใช่แค่ครั้งแรกและครั้งเดียวที่เกิดไฟไหม้ขึ้นกับบ่อขยะแพรกษาใหม่ แห่งนี้ ถ้าย้อนไปเมื่อเดือนมกราคมเมื่อปีที่แล้วก็เกิดไฟไหม้ที่บ่อขยะแห่งนี้เช่นกัน ถึงขนาด ต้องระดมทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกันดับไฟ และอีกนับครั้งไม่ถ้วนกับการเกิดไฟไหม้กับ บ่อขยะแพรกษาใหม่แห่งนี้ ท่านประธานคะ การเผาไหม้ขยะในลักษณะแบบนี้ไม่ถือเป็น การกำจัดขยะ กลับกันการเผาไหม้อุณหภูมิต่ำกลุ่มควันที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดเป็นมลพิษทาง อากาศ ฝุ่นพิษและสารก่อมะเร็งหรือสาร Dioxin เกิดขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมากต่อ พี่น้องประชาชน ไม่แปลกเลยที่พี่น้องประชาชนบริเวณโดยรอบนั้นส่วนมากจะประสบปัญหา เกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจ หรือแม้กระทั่งโรคเกี่ยวกับปอด หรือเกี่ยวกับโรคผิวหนังด้วย

นางสาวนิตยา มีศรี สมุทรปราการ ต้นฉบับ

อีกผลกระทบหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้เลยคือสิ่งแวดล้อม อาจจะเป็นภาพมุมสูง ของบ่อขยะที่แพรกษาใหม่ ซึ่งบ่อขยะแพรกษาใหม่แห่งนี้ถ้ามองจากภาพมุมสูงภาพนี้บริเวณ ทางด้านขวามือที่มีเส้นขีดขาว ๆ จะเป็นคลองสาธารณะ แต่ปัจจุบันนี้มีขยะจากกองขยะนี้ สไลด์ทับคลองสาธารณะนี้ไปเรียบร้อยแล้วค่ะ ไม่ใช่แค่เพิ่งสไลด์นะคะ สไลด์มานานแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขเสียที อย่างเมื่อปี ๒๕๖๕ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้เข้ามา ตรวจสอบคุณภาพน้ำ น้ำชะขยะ น้ำผิวดิน น้ำบาดาลจากบ่อสังเกตน้ำใต้ดินบริเวณรอบ ๆ บ่อขยะแห่งนี้ในระดับความลึกลงไปน้อยกว่า ๖๐ เมตร ปรากฏว่าพบสารหนูและแมงกานีส ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานเป็นอย่างมาก หรือแม้กระทั่งพี่น้องประชาชนจะใช้น้ำในคลอง สาธารณะบริเวณโดยรอบทำการเกษตรก็ยังไม่สามารถทำได้เลย และปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ อีกมากมายที่เกิดจากบ่อขยะแห่งนี้ ดิฉันขอเรียนต่อ ท่านประธาน ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้จากบ่อขยะไม่ว่าจะเป็นบ่อขยะแพรกษาใหม่แห่งนี้ หรือบ่อขยะที่ไหนก็ตามหากจะแก้ที่ต้นทางก็ต้องแก้ที่การจัดการขยะนี่ละค่ะ ฝากเพื่อน สมาชิกทุกท่านร่วมช่วยกันผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาที่ต้นทาง ร่วมกันสนับสนุนญัตตินี้ให้ ได้เข้าสู่กระบวนการศึกษาและหาแนวทางแก้ไขต่อไป อย่างน้อยก็ช่วยกันคืนอากาศดี ๆ ให้กับพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบหรือคืนความสนุกสนานให้กับเด็ก ๆ ในการได้ ออกมาเล่นนอกบ้านกันบ้าง ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านแนน บุณย์ธิดา สมชัย ครับ

นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย อุบลราชธานี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ แนน บุณย์ธิดา สมชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี พรรคภูมิใจไทย วันนี้ ดิฉันขออนุญาตอภิปรายในญัตติ เรื่อง ปัญหาการกำจัดขยะมูลฝอยต่าง ๆ ซึ่งจริง ๆ หลาย ท่านพูด ไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่นเองหรือว่าเป็นระดับประเทศเอง แต่วันนี้สไลด์ที่ดิฉัน เตรียมมาก็คือทางฝ่ายโสตสามารถขึ้นเรื่อย ๆ ได้เลยเพราะว่ามันเป็นแค่รูปประกอบในพื้นที่ ในเขตดูแลรับผิดชอบของดิฉันคือที่อำเภอพิบูลมังสาหาร

นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย อุบลราชธานี ต้นฉบับ

ปัญหาจริง ๆ เพื่อนสมาชิก หลายท่านได้พูดกันไปแล้วในเรื่องขยะมูลฝอยในแต่ละสถานที่บางพื้นที่เป็นบ่อขยะ บางพื้นที่ คงไม่สามารถจะเรียกบ่อขยะได้ คงจะเรียกเป็นสถานที่กำจัดมูลฝอย ซึ่งหลายท่านโดยเฉพาะ เจ้าของญัตติคือท่านมัลลิกาเองนี้ก็ได้ว่าการแยกขยะอะไรก็ตามแต่ ถึงแม้เราจะแยกจาก ที่บ้านมาแล้วก็ตามแต่ เมื่อรถขยะมารับแล้วนำไปทิ้ง สุดท้ายแล้วเราไม่ทราบเลยว่า มันมากองรวมกันอยู่เป็นแบบนี้ ในหลาย ๆ ที่ที่ท่านสมาชิกได้ขึ้นรูปมาแล้วรอบหนึ่ง แต่มีอยู่ หน่วยเล็ก ๆ หน่วยหนึ่ง จริง ๆ คือเป็นการช่วยการย่อยขยะ คือแยกขยะได้ดี ก็คือว่ากลุ่ม ชาวซาเล้งต่าง ๆ พูดง่าย ๆ ไม่ว่าจะขับซาเล้งไปตามหน้าหมู่บ้านต่าง ๆ หรือตามบ้านเรือน หรือแม้กระทั่งเขาก็มา Check ตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มซาเล้งเองหรือว่ากลุ่มพี่น้องที่เป็น พนักงานเก็บขยะก็ได้ช่วยแยกขยะให้ เพราะฉะนั้นส่วนหนึ่งนอกเหนือจากงบประมาณ ที่อยากให้ทางรัฐบาลได้ดูแลว่าเราจะแก้ปัญหาอย่างไรกับบ่อขยะต่าง ๆ ตามอำเภอใหญ่ ๆ ที่เขามีสถานที่เป็นบ่อขยะนี้ดูแลอย่างไรบ้าง สิ่งหนึ่งที่น่าจะนำเสนอคือว่าในต่างประเทศ หลาย ๆ ประเทศนี้เขาจะมีจุดรับซื้อขยะ เป็นแยกชิ้นค่ะ ไม่ว่าจะเป็นขวดแก้ว หรือว่า ขวดพลาสติกต่าง ๆ พูดง่าย ๆ คือให้ตามชุมชนหรือตามบ้านเรือนนี้เขาสามารถได้หาเงินจาก ขยะที่เขาผลิตเองในบ้านของเขา ซึ่งหลายท่านก็ขึ้นข้อมูลว่าวัน ๆ หนึ่งเราผลิตขยะไปก็คือ ประมาณ ๑-๑.๕ กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งบางอย่างในชิ้นนั้นเราสามารถนำไป Recycle ไปขยาย ต่อได้ ไปขายต่อ ได้เพียงแต่ว่าในหลาย ๆ ที่ไม่มีที่รับซื้อ เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งนอกเหนือจาก งบประมาณในการที่จะอุดหนุนกับ อปท. ทั้งหลายแล้วนั้นน่าจะมาช่วยส่งเสริมให้ประชาชน ได้แยกขยะ ซึ่งเขาจะได้มีกำลังใจในการแยกขยะต่อไป เพื่ออะไรคะ ๑. พนักงานเก็บขยะ เขาจะได้เก็บได้ ๒. เขาสามารถนำขยะพวกนี้มาขายนำเงินเข้ามาสู่ครอบครัวได้จากขยะ ที่เขาผลิตเองนะคะท่านประธาน อันนี้ก็คืออีกทางหนึ่ง

นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย อุบลราชธานี ต้นฉบับ

ประเด็นต่อมา ในหลาย ๆ สถานที่กำจัดขยะเป็นปัญหาลักลั่น เพราะว่า อย่างเช่นรูปที่โชว์เมื่อสักครู่ ชื่อของสถานที่แห่งนั้นเขาบอกว่าเป็นสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย ของเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร แต่เจ้าของสถานที่จริง ๆ คือเจ้าของพื้นที่จริง ๆ เป็นของ เทศบาลตำบลโพธิ์ไทร อำเภอพิบูลมังสาหาร เพราะฉะนั้นเวลามีปัญหาอะไรโดยรอบกับ สถานที่บ่อขยะนี้จะเป็นอีกเทศบาลหนึ่งดูแล แต่ปัญหาตรงกลางก็ต้องให้อีกเทศบาลหนึ่ง ดูแล เพราะฉะนั้นงบประมาณก็คือลักลั่นกัน ไม่ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรก็ตามแต่ นอกเหนือจากเรื่องขยะมูลฝอย นอกเหนือจากเรื่องการกำจัด นอกเหนือจากเรื่องของกลิ่น แล้วนั้นก็ต้องอย่าลืมนะคะ ในหลาย ๆ บ่อขยะนี้เราก็จะมีสุนัขจรจัด มีอะไรเยอะแยะ มากมาย ซึ่งก็ทำความเดือดร้อนให้กับพี่น้องชาวบ้านที่มีบ้านเรือนอาศัยอยู่บริเวณนั้น ซึ่งแน่นอนค่ะ กว่าเราจะขอความร่วมมือไปยังปศุสัตว์เพื่อให้เขามาเรื่องทำหมันบริเวณนั้น ก็ตามแต่ก็จะมีปัญหาเรื่องชาวบ้านที่จะโดนสุนัขเหล่านั้นวิ่งไล่กวดไล่กัดกันตลอดเวลาในช่วง บริเวณที่เป็นบ่อขยะก็ตามแต่ เพราะฉะนั้นดิฉันมั่นใจว่าหลังจากนี้ค่ะ จริง ๆ ก่อนหน้านี้ตั้งแต่เจ้าของญัตติไล่ลงมาจนถึง เพื่อน ๆ ทุกคนนี้ก็อธิบายตรงกันว่าปัญหาใหญ่สุดก็คือเรื่องงบประมาณในการดูแล แล้วก็ การให้ความรู้ความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นพวกเราเองทุกคนที่เป็นผู้ผลิตขยะในแต่ละวันในการใช้ ในครัวเรือนเราหรือว่าที่ทำงานหรืออะไรก็ตามแต่ รวมถึงผู้ที่นำขยะไปทิ้ง เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งอย่างที่บอกตั้งแต่ตอนเริ่มแรกชาวบ้านมีขยะเกิดขึ้น แต่เขาทราบค่ะว่าเดี๋ยวมีคนเอา ขวดไปขายได้ มีที่รับซื้อมีอะไรอย่างนี้ แต่ไม่คุ้มหรอกค่ะ ถ้าอาทิตย์หนึ่งเขาจะมีขวดพลาสติก ขวดแก้วแค่ ๕ ขวด ๑๐ ขวด แล้วเขาต้องนั่งรถไปไกล ๆ ไปซื้อ แต่ถ้าท่านสามารถทำเป็น เหมือนธนาคารชุมชนในแต่ละ Zone ว่าเป็นการรับซื้อรวม ทำเป็นเครดิตให้เขาสามารถไป แลกซื้อของในชุมชนได้ นี่ก็เป็นการช่วยลดขยะอีกทางหนึ่งนอกเหนือจากที่เป็นขยะทั่วไป ที่ต้องกำจัดอย่างเดียว เพราะฉะนั้นปัญหาตัวนี้คือเราจะไปแก้เรื่องว่าในประเด็นของการกำจัด อย่างเดียวคงไม่ได้ เราต้องให้ความรู้กับชาวบ้าน แล้วก็ให้ทางเลือก ให้ทางออกของเขา ในการที่เขาจะจัดทำอย่างไร จะคิดอย่างไรว่าแยกขยะไปแล้วจะมีผลแบบไหน ไม่อย่างนั้นเรา ก็จะเห็นว่ามีถังขยะ ๓ แบบ ๓ สี อยู่ในทุกสถานที่ราชการ อยู่ในสถานที่เอกชนไม่ว่าจะเป็น ห้างร้านต่าง ๆ แต่สุดท้ายแล้วไปรวมไปกองอยู่ที่เดียวกัน ดิฉันอยากจะให้ทางรัฐบาล นอกจากสนับสนุนงบประมาณให้กับท้องถิ่นในการดูแลเรื่องขยะแล้ว อยากให้สนับสนุนใน เรื่องของเป็นแรงจูงใจให้พี่น้องได้นำขยะมาเพิ่มมูลค่าเป็นรายได้ให้กับครอบครัวด้วยค่ะ ท่านประธาน ขอบพระคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านมานพ คีรีภูวดล ครับ

นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ขอบคุณครับท่านประธาน เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ท่านประธานครับ ทำไมผมต้องมาพูดถึง เรื่องของการจัดการขยะ พื้นที่สูงของผมก็เจอปัญหาครับ ผมอยากจะบอกท่านประธาน อย่างนี้ว่าปัญหาขยะเป็นปัญหาไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย เป็นปัญหาทั่วโลก แต่ที่สำคัญ ก็คือว่าประเทศที่มีการบริหารจัดการที่ดีกว่าเรา รัฐสภาแห่งนี้ก็เคยไปดูงาน ส่วนใหญ่จะอยู่ ทางยุโรปครับท่านประธาน แล้วก็มีหลายประเทศในทวีปเอเชีย ประเทศที่การบริหารจัดการ ขยะที่แย่กว่าเราก็มี ทั้งหมดนี้ผมคิดว่าหัวใจสำคัญก็คือว่าการจัดการขยะนี้จัดการได้ ขอให้มี เครื่องมือมีความจริงใจและจริงจังครับ สิ่งที่ผมอยากจะอธิบายต่อไปเป็นสิ่งที่ผมคิดว่า จะสอดคล้องกับประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล คุณพิธาได้อภิปรายนะครับ กรณีเรื่องของต้นน้ำ ซึ่งของผมนี้เป็นเรื่องต้นน้ำของต้นน้ำจริง ๆ ครับ ผมอยากจะบอกความจริง อย่างนี้ครับ เมื่อผมเป็น สส. สมัยที่ ๒๕ ผมเดินทางไปที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ พี่น้อง ชุมชนที่ดอยอ่างขาง ตำบลแม่สูน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่สูงแล้วก็เป็นพื้นที่ ชุมชนท่องเที่ยว

นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ปัญหาของเขาก็เจอขยะครับ ขยะที่เกิดขึ้นในพื้นที่สูงอันนี้เป็นกรณีตัวอย่างที่ผมยกมา ส่วนใหญ่ก็จะเป็นลักษณะคล้าย ๆ กัน เกิดจากกิจกรรมการท่องเที่ยว ผมไม่แน่ใจว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่อยู่ตรงนี้เคยไป เที่ยวไหม อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ไปเพิ่มขยะในพื้นที่ก็ได้ ปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นเกิดจาก ภายนอกเป็นส่วนใหญ่ ภายในชุมชนก็จะมีเปอร์เซ็นต์น้อยกว่า สิ่งที่ชุมชนต้องการครับ สิ่งที่ชุมชนพยายามทำคือไม่ใช่ปฏิเสธนักท่องเที่ยวครับ เขาก็ต้องการการท่องเที่ยว เขามีความตั้งใจที่จะบริหารจัดการขยะของเขาเองนะครับ ปัญหาที่เราเจอมีอยู่ ๒-๓ ประเด็น

นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นแรก ก็คือว่าพื้นที่ทั้งหมดอยู่ในพื้นที่เขตป่าลุ่มน้ำชั้น ๑ ลุ่มน้ำชั้น ๒ การขอพื้นที่เพื่อที่จะเป็นสถานีเก็บขยะรวบรวมขยะนี้ดำเนินการไม่ได้ครับท่านประธาน เพราะว่าอยู่ในอำนาจการดูแลของกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะขอประมาณสัก ๑ ไร่ ๒ ไร่เพื่อที่จะเป็นพื้นที่ในการรวบรวมเก็บขยะนะครับ ทำไมต้อง รวบรวมครับท่านประธาน จากจุดจัดการขยะในพื้นที่นี้ จากชุมชนไปถึงที่รวบรวมในระดับ ตำบลต้องใช้ระยะทางประมาณ ๔๐ กิโลเมตร ไม่ใช่ทางแบบทางเรียบเหมือนทั่วไป ต้องขึ้น เขาลงห้วยและเกิดความอันตราย เพราะฉะนั้นก็คือหลายท่านบอกว่าให้เทศบาล ให้ อบต. ทำอย่างนี้ ผมถามนิดหนึ่งคือว่าเทศบาล อบต. ทั้งประเทศนี้ตั้งอยู่ในเขตป่ากี่ อบต. ตั้งอยู่ใน เขตของที่ดินของรัฐเท่าไร เวลาจะดำเนินการอะไรในประเด็นแรกที่ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคได้อภิปรายคือ ต้องบริหารจัดการต้นน้ำ ๑ ๒ ๓ ๔ ประเด็นสำคัญก็คือว่า แม้แต่จะขอใช้พื้นที่จะบริหาร จัดการแบบพื้นฐานก็ยังเป็นปัญหา เพราะฉะนั้นคือเวลาคิดเรื่องระบบบริหารจัดการขยะนี้ ผมคิดว่ามันไม่ใช่เป็นแค่เรื่องความรู้และเทคนิคครับ มันมีปัญหาโครงสร้างในการบริหาร จัดการ อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ครับท่านประธาน ผมอยู่ที่จอมทอง ดอยอินทนนท์ก็เจอปัญหา มีปีหนึ่งคือเจอขยะวันละ ๒๘ ตัน เอาไปจัดการอย่างไรครับ เทศบาลมีรถคันเดียว นักท่องเที่ยวก็มาเยอะ อุทยานก็มีรถ ๒-๓ คัน เพราะฉะนั้นในประเด็นนี้ผมพยายามจะชี้ว่า ถ้าจะให้ต้นทางต้นน้ำจัดการปัญหาเรื่องนี้ จะต้องเคลียร์ปัญหาเรื่องของพืชที่การใช้ในการ บริหารจัดการขยะแค่เป็นสถานีเก็บ พื้นที่ตำบลบ้านหลวงใช้เวลาประมาณ ๕-๖ ปี ในการ ขอใช้พื้นที่ เพราะฉะนั้นมันมีความทับซ้อนในแง่ของอำนาจการบริหารจัดการ เราพูดเรื่องขยะ ที่มันเยอะในพื้นที่ในชุมชนได้ครับท่านประธาน แต่เวลาจัดการมันไปเกี่ยวข้องกับอำนาจอื่น มากมาย เพราะฉะนั้นการบริหารจัดการขยะไม่ใช่แค่เรื่องความรู้และเทคนิค แต่มันเป็นเรื่อง ของกลไกโครงสร้างอำนาจที่จะต้องให้เครื่องมือกับคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดครับ

นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นสุดท้าย สิ่งที่ผมอยากจะพูดถึงเรื่องการบริหารจัดการขยะนี้ ผมมี ประสบการณ์ทำงานขยะกับเครือข่ายชุมชน แล้วก็หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ เหล่านี้ ผมเจอคนที่เกี่ยวข้องกับขยะในระดับพื้นที่ ซาเล้งคนเก็บขยะ แล้วก็ผู้ประกอบการระดับ เล็ก ๆ ที่รับซื้อขยะ คนเหล่านี้ผมต้องยกย่องครับ เป็นคนที่รักษาโลก เป็นคนที่คัดแยกขยะ รู้จักความรู้เยอะกว่านักวิชาการและพวกเราอีกหลายคน เขาจะรู้ว่าตัวไหนมันไป Reuse ตัวไหนมา Recycle เหล็กอย่างไร คัดออกมาเรียบร้อย แล้วก็ส่งแยกแยะ แล้วก็ทำเป็นสร้าง มูลค่า อันนี้คิดเบื้องต้นนะครับ

นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ปัญหาที่ผมเจอครับท่านประธาน ผมมีโอกาสได้คุยกับรัฐมนตรีคนก่อน กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้รับการสนับสนุนอะไรเลย และที่สำคัญก็คือโรงที่ซื้อขยะ เก็บขยะต่าง ๆ เหล่านี้เก็บภาษีเท่ากับร้านทองครับ โรงเรือนเหล่านี้ ถ้าจะส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม ตั้งแต่ต้น ผมคิดว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องเทคนิค เรื่องความรู้ เรื่องทักษะ มันต้องปลดล็อก สร้างแรงจูงใจตรงนี้ ถ้าหากว่าเราสนับสนุนให้ความรู้เกี่ยวกับซาเล้ง สนับสนุนเรื่องรถ เรื่องความปลอดภัย ขยะอันตรายเป็นอย่างไร ต้องแยกแยะอย่างไร ต้องจัดการอย่างไร แต่ว่าพูดถึงว่าทุกอาชีพมีประโยชน์ต่อประชาชนแล้วก็สังคม แต่ว่าบางทีในอีกมุมมองหนึ่ง ผู้ประกอบการต่าง ๆ เหล่านี้ว่าเขาได้รับการลดหย่อนภาษีในฐานะคนที่มีส่วนร่วมในการ จัดการขยะ ท่านประธานลองนึกภาพนะครับว่าผู้ประกอบการทั้งหมดในประเทศไทยจะมี ความภูมิใจและจะมีส่วนร่วมในกระบวนการตั้งแต่ต้นทางได้อย่างไร อันนี้เป็นเรื่องที่ผมคิดว่า กรรมาธิการจะต้องคิดเรื่องนี้ให้มาก ๆ วันนี้เราบอกว่าขยะมีกี่ประเภท ตอบได้หมดเลยครับ ขยะที่ย่อยสลายได้ ขยะที่เป็นพลาสติก ขยะที่จะต้องไป Reuse Recycle ขยะอันตราย ขยะมีพิษ มีหมดเลยครับ แต่ละถังมีสีหมดเลยนะครับ สีนี้ทิ้งอะไร ๆ แต่รัฐสภาเรายังมีปัญหา อยู่ครับ ทิ้งไม่ตรงตามหลักวิชาการ อันนี้ก็เป็นปัญหา เพราะฉะนั้นประเด็นที่ผมอยากจะพูด ถึงเรื่องนี้ ผมคิดว่าการคิดถึงเรื่องของกฎหมายและกระบวนการกระจายอำนาจในการ ตัดสินใจบางอย่าง ทำไมผมต้องพูดอย่างนี้ครับ ต่างประเทศบางประเทศสามารถที่จะ แยกขยะต้นทางได้ เพราะเขามีมาตรการและกระบวนการแรงจูงใจ วันจันทร์เก็บขยะสด วันพุธเก็บขยะนี้ วันศุกร์เก็บขยะนี้ คนที่ไม่ทำตามนี้ก็โดนปรับ คนที่ทำแล้วก็มีกระบวนการ ที่ถูกต้องได้แรงจูงใจลดภาษี ได้รับการสนับสนุน มาตรการแบบนี้ต่างหากที่จะนำไปสู่ กระบวนการจัดการ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมอยากจะฝาก ผมคิดว่าเรื่องความรู้มันเต็ม มหาวิทยาลัยแล้ว เรื่องความรู้มันเต็มกับหน่วยงานหมดแล้ว อบรมแล้วอบรมอีก สัมมนาแล้ว สัมมนาอีก แต่สิ่งที่มันทำไม่ได้ก็คือเวลาทำจริง ๆ กฎหมายขัดแย้งกันเลย ขอบคุณ ท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปเป็นท่านอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ครับ

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต ๔ พรรครวมไทยสร้างชาติ ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตอภิปราย สนับสนุนญัตติของเพื่อนสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ท่านวิทยา แก้วภราดัย ท่านจุติ ไกรฤกษ์ และท่านศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ที่ได้ร่วมกันเสนอญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาการกำจัดขยะในประเทศ อย่างบูรณาการ ท่านประธานครับ วันนี้ต้องยอมรับว่าขยะเป็นปัญหาจริง ๆ ทั้งขยะมูลฝอย ในครัวเรือนก็ดี ขยะเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรมก็ดี ผมเองได้มีโอกาสไปดูโรงงานขยะ จะขออนุญาตพูดถึงขยะมูลฝอยในครัวเรือนให้กับท่านประธาน และเพื่อนสมาชิก รวมถึง พี่น้องประชาชนที่กำลังติดตามรับฟังการถ่ายทอดสดของสภาผู้แทนราษฎรในขณะนี้ว่า การกำจัดขยะชุมชนแล้วก็การกำจัดขยะเคมีหรือกากอุตสาหกรรมมันแตกต่างกัน อย่างสิ้นเชิง ตอนนี้การกำจัดขยะชุมชนก็มีปัญหามากนะครับ ตอนนี้แต่ละชุมชนนี้บ่อฝังกลบ ท่านประธานไปดูได้เลยครับ ตอนนี้บ่อฝังกลบเต็ม ผมว่าเยอะมาก บางที่กองเป็นภูเขาเลย เพราะอะไรครับ เพราะว่าตอนนี้ปัญหาในการกำจัดกากของเรา เราใช้ระบบการฝังกลบ พอเราใช้ระบบการฝังกลบก็มีการกองเก็บ ปัญหามันก็มาหลายเรื่องครับ อย่างเช่นเรื่องของ การคัดแยกขยะ เมื่อสักครู่นี้เพื่อนสมาชิกได้พูดถึงคนเก็บขยะ หรือซาเล้งที่มาเก็บขยะ ท่านบอกว่าคนเหล่านี้มีการคัดแยกขยะ แต่ผมก็ไปฟังมาจากหน่วยราชการ นี่ก็เป็นอีก มุมมองหนึ่งว่า บางหน่วยงานพอมีการคัดแยกขยะแบ่งเป็นถุง ๆ เสร็จ พอเก็บมาปุ๊บเจอ ซาเล้ง ซาเล้งก็มาฉีกถุงที่มีการคัดแยก สุดท้ายขยะก็ปนกัน แต่สิ่งที่ซาเล้งเก็บเอาไปได้ก็มี การคัดแยกเพื่อเอาไปขาย อันนี้เป็นแก้ว อันนี้เป็นโลหะ อันนี้เป็นพลาสติก ก็เอาไปชั่งกิโล ขายนะครับ ถูกต้องครับ ซาเล้งที่เก็บขยะมีการคัดแยกขยะ แต่ก่อนที่จะได้มาซึ่งขยะนี้ หน่วยราชการก็บอกว่าซาเล้งเหล่านี้ไปฉีกถุงที่ไปเก็บมา จากที่มีการคัดแยกเป็นถุงเป็นสี ๆ ตามสีถังขยะ สุดท้ายเมื่อซาเล้งไปฉีกถุง ถุงขยะก็ปนกันหมด อันนี้ก็เป็นข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ก็ฝากเพื่อนสมาชิกได้ลองไปตรวจสอบดูว่าจริงเท็จอย่างไร ก็ไม่ได้ปรักปรำซาเล้งนะครับ แต่ว่าพูดถึงว่าทุกอาชีพมีประโยชน์ต่อประชาชนแล้วก็สังคม แต่ว่าบางทีในอีกมุมมองหนึ่ง ก็ต้องมองในหลาย ๆ มุมนะครับ ผมเองเมื่อสัปดาห์ที่แล้วไปดูศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยชุมชน ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ก็ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาว่า ถ้าเรา มีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางเลย ปัญหาหรือต้นทุนในการกำจัดขยะจะลดลง ในเมื่อขยะ เมื่อเอามามีการคัดแยก ตรงไหนเอาไปผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ก็ไม่ต้องมาคัดแยกอีกครับ ท่านประธาน สามารถส่งเข้า แต่ทุกวันนี้กระบวนการในการผลิตหรือโรงไฟฟ้าที่มาจากขยะ ต้องมีการคัดแยกขยะก่อน เพราะว่าขยะมามันมีถังขยะที่เป็นอินทรีย์ เศษอาหาร เป็น Organic ซึ่งทำให้เกิดการเน่าเหม็น เศษขยะที่เป็นโลหะเป็นแก้วก็ปนมานะครับ แล้วก็ เศษขยะที่ไม่สามารถที่จะเผาได้ มันก็ปนกันมา ก็ต้องมีการคัดแยก ซึ่งตรงนี้ถามว่าขยะเข้าไป ในโรงงานไฟฟ้าที่จะผลิต มันก็เหลือแค่ครึ่งเดียว ก็เรียนกับท่านประธานครับว่าการคัดแยก ขยะตั้งแต่ต้นทางเป็นสิ่งที่สำคัญ ในเรื่องของขยะชุมชนซึ่งจะต้องให้กระทรวงมหาดไทย ไปรณรงค์นะครับ ในพื้นที่ผมที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ก็มีชุมชนอยู่ชุมชนหนึ่ง ก็คือชุมชนบ้านรางพลับ ตำบลกรับใหญ่ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรีได้แชมป์ครับ ได้รางวัลถ้วยพระราชทาน คือมีกากอาหารหรือเศษอาหารมาก็เอาไปทำ ไม่ต้องเอามาทิ้ง ไม่ทำให้เกิดกลิ่น ไม่เกิดการเน่าเสีย ไปทำเป็นปุ๋ย ตอนนี้ได้รางวัลพระราชทาน อันนี้คือสิ่งที่ ผมคิดว่ากระทรวงมหาดไทยมาถูกทางแล้ว แต่ว่าจะทำอย่างไรให้มันขยายไปทุก ๆ ชุมชน ซึ่งจะได้ไม่เป็นปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นการคัดแยกขยะนี้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ ฉะนั้นเมื่อซาเล้งในอีกมุมมองหนึ่ง มีปัญหาในมุมมองของเจ้าหน้าที่ของรัฐ สิ่งที่สำคัญอย่างที่ เพื่อนสมาชิกบอกคือ ทำอย่างไรไปส่งเสริมเขา ไปให้ความรู้กับเขา ไปสนับสนุนอุปกรณ์ให้เขา ในเรื่องของซาเล้ง การคัดแยกขยะเพื่อให้ขยะนั้นมีการคัดแยกอย่างถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง ปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็คืออะไรครับท่านประธาน พอมาถึงตรงต้นทาง พอปลายทางจะเข้า โรงไฟฟ้า กลางทางคือรถขนขยะ มันก็ไปรวมกันอยู่ในรถขนขยะ พอถึงเวลามา Dump ลงมา ขยะที่คัดแยกมาตั้งแต่บ้านเรือนมันก็มาปนกันบนรถเก็บขยะอีก อันนี้คือเป็นปัญหาว่าหน่วย ราชการบางที่รถขนขยะก็ไม่ได้มีการแบ่งแยกประเภท ก็มีปัญหาเรื่องการปะปน เมื่อคัดแยก มาจากบ้านเรือนมันก็มีค่าเท่ากัน สุดท้ายมันก็มารวมกันบนรถขนขยะ ก็เลยเรียน ท่านประธานว่าสิ่งที่สำคัญคือการให้กระทรวงมหาดไทยมาส่งเสริมเรื่องของการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ครัวเรือน

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ

ส่วนที่ ๒ เอามาผลิตกระแสไฟฟ้า อันนี้คือสิ่งที่สำคัญ เพราะวันนี้การกำจัด ขยะโดยชุมชน โดยการไปฝังกลบนี่มันล้าสมัยไปแล้วนะครับ ตอนนี้ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญคือ ทางกระทรวงพลังงานจะต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการให้ ใบอนุญาตเขาในการที่จะสร้างโรงไฟฟ้าที่มาจากขยะชุมชน แล้วปัจจุบันนี้มันมีเทคโนโลยี ที่ไม่เป็นมลพิษกับชุมชน แล้วก็ถ้ามีการดัดแปลงได้ อย่างเมื่อวานที่ผมอภิปรายในช่วงของ การแก้ปัญหาราคาไฟฟ้าแพง ตอนช่วงปิดญัตติผมเสนอครับ ตรงไหนที่มีโรงไฟฟ้ารอบชุมชน นั้นให้ใช้ไฟฟ้าราคาถูก ถูกเลยครับ ฉะนั้นพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบก็จะได้ใช้ไฟฟ้า ราคาถูก แต่ว่าไม่ใช่เป็นผลกระทบทางด้านมลพิษนะครับ มลพิษนี่ต้องไม่ให้เกิดขึ้น แต่ผลกระทบในเรื่องของอุณหภูมิ การเปลี่ยนแปลงสภาวะทางอากาศนี้ต้องชดเชยให้เขา เรื่องของค่าไฟฟ้า ก็ฝากเรื่องของการนำขยะมาผลิตกระแสไฟฟ้า ฝากให้ทางกระทรวง มหาดไทยแล้วก็กระทรวงพลังงานสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ใบอนุญาต ในการทำโรงไฟฟ้าจากขยะในชุมชน

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ

อีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะฝากครับท่านประธาน ก็คือขยะเคมี ตอนนี้มีปัญหามาก ก็คือกระทรวงอุตสาหกรรม ผมเองตอนนี้เป็นประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร กำลังให้คณะทำงานของคณะกรรมาธิการยกร่าง พ.ร.บ. โรงงาน ตอนนี้ ท่านประธานทราบไหมครับ โรงงานเอากากของเสียไปทิ้ง ที่เป็นอันตรายต่อชุมชน แล้วก็ สิ่งแวดล้อม แล้วก็พี่น้องประชาชนโทษปรับครับ ไม่มีโทษอาญา ตอนนี้ผมเองได้ตั้ง คณะทำงานยกร่างขึ้นมาแก้กฎหมาย พ.ร.บ. โรงงานอุตสาหกรรม ในการที่จะเพิ่มโทษให้เป็น โทษอาญาให้กับผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่มีจิตสำนึกต่อประเทศชาติ แล้วก็ ประชาชน เอาโทษอาญามาลงโทษ จับเข้าคุกครับ พวกผู้ประกอบการที่เอากากอุตสาหกรรม มาทิ้งเรี่ยราดแล้วก็เป็นภัย ตอนนี้เมื่อล่าสุดนี้ก็ไปปิดโรงงานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทางคณะกรรมาธิการไปตรวจราชการแล้วก็ไปดู มีท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัด มีอธิบดี กรมโรงงานอุตสาหกรรมและคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรมไป ตอนนี้ปิดไปแล้วโรงงาน ที่จังหวัดราชบุรีตอนนี้ก็มีปัญหาอยู่ ตอนนี้ลามไปทั่วครับท่านประธาน จังหวัดระยอง จังหวัด เพชรบูรณ์ ตอนนี้ไปจังหวัดปราจีนบุรีหลายพื้นที่เลย ตอนนี้แพร่กระจายไปมาก เพราะฉะนั้น การกำจัดขยะเคมีที่ถูกต้องก็เดี๋ยวทางคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรมจะทำคู่ขนานไปกับ ทางรัฐบาล ก็คือกระทรวงอุตสาหกรรมในการยกร่าง พ.ร.บ. ตรงนี้ขึ้นมา ในญัตติตรงนี้ เห็นด้วยที่ทางท่านวิทยา แก้วภราดัย และคณะ จะได้ยื่นญัตติในการตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญศึกษาแก้ไขปัญหาการกำจัดขยะในประเทศไทยอย่างบูรณาการในทุก ๆ ประเภท แต่ตอนนี้เมื่อสักครู่นี้ท่านวิทยาบอกว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญตอนนี้เยอะ ทางวิปรัฐบาล ก็เลยมีมติส่งให้คณะกรรมาธิการสามัญที่มีอยู่ไปดำเนินการศึกษาแล้วส่งผลการศึกษาให้ รัฐบาลไปดำเนินการ ก็ขอฝากข้อมูลตรงนี้ให้กับคณะกรรมาธิการสามัญที่รับเรื่องนี้ ไปดำเนินการนำข้อมูลของผมไปพิจารณาดำเนินการ ส่งเรื่องให้กับรัฐบาลได้แก้ไขปัญหา ให้กับพี่น้องประชาชนด้วยครับ ขอบคุณท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ สมาชิกครับ ตอนนี้มีผู้ลงชื่อรวมเบ็ดเสร็จแล้วทั้งฝ่ายค้านอยู่ที่ ๓๘ แล้วก็ ฝ่ายรัฐบาล ๑๖ เพราะฉะนั้นหลังจากนี้จะเปลี่ยนเป็นการเรียกฝ่ายค้าน ๒ แล้วก็รัฐบาล ๑ เพื่อเป็นสัดส่วนตามข้อบังคับครับ ขอเชิญท่านปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ ตามด้วย ท่านทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ ครับ

นางปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ นนทบุรี ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๒ จังหวัดนนทบุรี พรรคก้าวไกล ดิฉันขอร่วมอภิปรายสนับสนุนในญัตติการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนด้วยค่ะ

นางปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ นนทบุรี ต้นฉบับ

เนื่องจากปัญหาการจัดการ ขยะเป็นปัญหาที่ประชาชนร้องเรียนมากที่สุดค่ะท่านประธาน บางชุมชนมาจัดเก็บ ๒ วันต่อ ๑ สัปดาห์ บางชุมชนเกินสัปดาห์แล้วก็ยังไม่มาจัดเก็บเลยค่ะ ปัญหาการจัดเก็บขยะที่ล่าช้า ถังขยะไม่เพียงพอต่อปริมาณขยะ และบาง อปท. ก็มักจะบ่นว่ารถไม่พอ จำนวนคนที่จะมา เก็บขยะก็ไม่เพียงพอ ดิฉันก็สงสัยว่าทำไมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงไม่สนใจปัญหาของ พี่น้องประชาชน ดิฉันจึงเข้าไปหารือกับทาง อปท. ในพื้นที่ พบปัญหาที่ทาง อปท. ได้ฝาก ดิฉันมาหารือแก้ไขปัญหาสภาด้วยค่ะท่านประธาน

นางปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ นนทบุรี ต้นฉบับ

ปัญหาเรื่องแรก เรื่องงบประมาณรายหัวที่ได้รับไม่สอดคล้องกับจำนวน ประชากรในพื้นที่ อย่างเช่น ในพื้นที่ของดิฉันตำบลสวนใหญ่ ตลาดขวัญ บางกร่าง บางศรีเมือง และบางรักน้อย มีจำนวนประชากรรวม ๑๖๐,๐๐๐ กว่าคน ตามข้อมูลจากกรมการปกครอง ณ เดือนธันวาคม ๒๕๖๖ แต่ในความเป็นจริงนั้นจำนวนประชากรแฝง จากการขยายตัว ของชุมชนเมืองมีหมู่บ้านเกิดขึ้นใหม่ทุก ๆ ปี ซึ่งจากสำนักงานสถิติจังหวัดนนทบุรีข้อมูลล่าสุด เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๖๐ ภาพรวมใน ๕ ตำบลดังกล่าวอยู่ที่จำนวนประชากร ๓๐๐,๐๐๐- ๔๐๐,๐๐๐ คน ดังนั้นงบประมาณที่ได้ตั้งไว้รายหัวสำหรับประชากรในพื้นที่กับความเป็นจริง ไม่สอดคล้องกัน ส่งผลให้การบริหารจัดการขยะมีปัญหา เพราะงบประมาณไม่เพียงพอ จนกลายเป็นขยะล้นเมืองดังที่เราเห็นอยู่กันทุกวันนี้ค่ะ ดิฉันเห็นว่าเราควรร่วมช่วยกันแก้ไข ปัญหาอย่างเร่งด่วน

นางปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ นนทบุรี ต้นฉบับ

ปัญหาเรื่องที่ ๒ เรื่องข้อกฎหมายจากการที่มีการกำหนดกรอบอัตรากำลัง ที่แตกต่างกัน ตามระเบียบของคณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งดูอย่างไรก็ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ยกตัวอย่างเทศบาลเมืองบางกร่าง ตามแผน อัตรากำลัง ๓ ปี ปี ๒๕๖๔-๒๕๖๖ ไม่รองรับกับการเติบโตของเมือง จากหมู่บ้านใหม่ที่กำลัง เกิดขึ้นอีก ๖-๗ โครงการ และการขยายตัวของประชากรตามที่กล่าวไปข้างต้น ทำให้เริ่ม มีปัญหาตกค้างเป็นจำนวนมาก

นางปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ นนทบุรี ต้นฉบับ

ปัญหาเรื่องสุดท้าย เรื่องปัญหาการขาดแคลนพนักงานจัดเก็บขยะ เนื่องจาก เป็นอาชีพที่มีอันตรายต่อสุขภาพและมีค่าตอบแทนที่น้อย ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพใน ปัจจุบัน อีกทั้งสวัสดิการที่ได้รับก็ไม่คุ้มค่ากับอาชีพที่มีความเสี่ยงแบบนี้ ตัวอย่างเช่น ประกาศของเทศบาลนครนนทบุรี ตามปีงบประมาณ ๒๕๖๖ จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่กระทรวงมหาดไทย จะแก้ไขระเบียบให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน อีกทั้ง อปท. ที่ต้องการจ้างผู้พ้นโทษเพื่อให้มีโอกาสได้มีอาชีพและได้กลับตัวเป็นคนดีของสังคม ก็ไม่สามารถจัดทำได้ เนื่องจากติดระเบียบข้อบังคับตามประกาศคณะกรรมการพนักงาน เทศบาล ท้ายนี้ดิฉันขอสนับสนุนญัตตินี้ให้เพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ร่วมกันแก้ไข ปัญหาขยะ จัดการขยะแบบองค์รวมไม่ละเลยส่วนหนึ่งส่วนใด เพื่อประโยชน์และความสุขของ พี่น้องประชาชน ขอบคุณค่ะท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านทวิวงศ์ครับ

นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พรรคก้าวไกล จากชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและบางบาลครับ ผมขอใช้โอกาสนี้ร่วมอภิปรายถึงปัญหา และข้อเสนอแนะในการจัดการขยะในพื้นที่มรดกโลกและเมืองท่องเที่ยวครับ ในฐานะคนที่เกิด และโตในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเมืองมรดกโลกที่เราภูมิใจนักภูมิใจหนา ก็เห็นได้ชัดครับว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาที่สำคัญ ปลายปีที่แล้วจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเรามีงานเทศกาลใหญ่ ประจำปีที่ใช้งบประมาณมหาศาล แต่เชื่อหรือไม่ครับท่านประธาน การจัดการขยะนั้น ถูกหลงลืมไปเสียหมด ขอภาพประกอบด้วยครับ

นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ภาพนี้เห็น ไหมครับว่าคือภาพขยะเกลื่อนเมืองมรดกโลกที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาบ้านผมครับ กลายเป็นภาพชินตาที่ไม่ควรชินหลังจากการจบงานเทศกาลทุกปีครับ พี่น้องประชาชน ต่างบ่นและร้องเรียนมาว่าภายในงานนั้นจุดทิ้งขยะน้อยมากจนเหมือนไม่มีครับ และที่สำคัญ คือไม่มีการคัดแยกขยะ เมื่อสิ้นสุดงานสิ่งที่หลงเหลือไว้แทนที่จะเป็นความประทับใจกลับ กลายเป็นกองขยะหลากหลายรูปแบบที่คัดแยกได้ยากเย็นเหลือเกิน หากท่านประธานได้มี โอกาสไปเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาบ้านผม สิ่งที่ท่านจะประทับใจอย่างแรกอาจไม่ใช่ โบราณสถานที่ทรงคุณค่า แต่เป็นเศษขยะและกองสิ่งปฏิกูลที่เรียงรายและกลาดเกลื่อน ไปทั่วลานจอดรถบัส ลานจอดรถยนต์ ริมถนน และทางเดินโดยรอบพื้นที่มรดกโลก ในภาพนี้ จุดที่ ๗ คือศาลหลักเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ตอนนี้กำลังดังเลยนะครับ แล้วดูขยะสิครับ ภาพนี้ถ่ายเมื่อวาน สมกับเป็นศาลหลักเมืองหรือไม่ครับ หากว่าการจัดการขยะของเมืองมรดกโลก เมืองท่องเที่ยว แล้วทุกเมืองในประเทศไทย ยังคงเป็นแบบนี้ พวกเราจะมีแต่เพียงมรดกบาปสุดสกปรกที่ทิ้งไว้ให้ลูกหลานเราต้องมา ตามล้างตามเช็ด ก็ลองดูภาพที่อาสาสมัครไปเก็บขยะมาสิครับ แต่การจัดการและบริหารขยะ ทั้งหมดนั้น ต้องย้ำว่าเราจะผลักภาระและโยนมรดกบาปนี้ไปให้เพียงแต่องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นเพียงอย่างเดียวไม่ได้ครับท่านประธาน เพราะการสร้างวัฒนธรรมการคัดแยก ขยะที่ต้นทาง สร้างการอำนวยความสะดวกต่อการทิ้งและเอื้อให้ประชาชนสามารถมีวินัยได้ เป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐบาลที่ต้องฝากท่านประธานไปถึงนะครับ ผมขอขยายความเพิ่มเติม ไปถึงปัญหาขยะที่กระจายตัวอยู่ทั่วเมืองท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกที่ชาวต่างชาตินั้นใฝ่ฝัน อยากจะมาเยือน แต่สิ่งที่เขาเหล่านั้นต้องพบ คือขยะพลาสติกขยะที่ย่อยสลายได้ยาก มากมาย แบบนี้เราเป็นเจ้าบ้านเราไม่รู้สึกเขินอายบ้างหรือครับ กลับมายกตัวอย่างที่เมือง ท่องเที่ยวอย่างเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาและพื้นที่ใจกลางมรดกโลกที่มีโบราณสถาน ที่ทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมไทยตั้งอยู่ สถานที่แห่งนี้ที่มีขยะจากหลากหลายแหล่งกำเนิด มารวมตัวกัน ประกอบไปด้วย ๔ ส่วนด้วยกัน

นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

ส่วนที่ ๑ คือขยะจากสถานศึกษา สถานศึกษาโดยรอบพื้นที่มรดกโลกคงไม่มี เวลาเพียงพอให้กับวิชาที่เกี่ยวข้องกับการคัดแยกขยะ ทำให้น้อง ๆ นักเรียนอาจไม่เข้าใจว่า ขยะแบบไหนต้องทิ้งแบบใด

นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

ส่วนที่ ๒ คือขยะจากการท่องเที่ยว ปัจจุบันมีกลุ่มคนทำธุรกิจท่องเที่ยว จำนวนมากที่ไม่คิดถึงส่วนรวม นำขยะที่อยู่บนรถทัวร์บ้าง รถนำเที่ยวบ้าง หรือรถส่วนตัวบ้าง ทิ้งลงที่ตัวเองจอด ว่าง่าย ๆ คือจอดตรงไหนก็เขวี้ยงทิ้งตรงนั้น

นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

ส่วนที่ ๓ คือขยะจากร้านหาบเร่แผงลอย เมื่อไม่มีกฎระเบียบที่เข้มงวด ไม่มี ผังเมืองเพื่อคนเท่ากันและไม่มีระบบการจัดการคัดแยกขยะ ร้านค้าเหล่านี้ก็ทำได้เพียง จอดตรงไหน ขายตรงไหน ก็ทิ้งตรงนั้นอีกแล้วครับ แต่ขยะที่น่าจับตาคือขยะอินทรีย์ที่เป็น เศษอาหารและน้ำมันจากการประกอบอาหาร ซึ่งมักจะเทลงท่อและส่งผลระยะยาว ไม่ใช่เพียงแค่บนพื้นผิว แต่เมื่อไหลลงไปสู่ท่อระบายน้ำไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาจะกลายเป็น ปัญหาใหญ่ในอนาคต

นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

ขยะส่วนสุดท้ายส่วนที่ ๔ ขยะจัดงานเทศกาล เท่าที่ทราบและมีข้อมูล แล้วอยากจะยกกรณีศึกษามาเป็นตัวอย่าง คือที่ถนนคนเดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทีนี้มีจุด ทิ้งขยะและจุดแยกขยะที่เห็นได้ชัดเจนจำนวนเพียงพอ และมีถังขยะมากกว่า ๓ ประเภท พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่คอยอำนวยความสะดวก คอยบอกว่าขยะแบบไหนทิ้งแบบใด ทำให้ต้องนึกย้อนไปถึงประเทศญี่ปุ่นที่ว่าเมื่อมีเทศกาลของเมืองเมื่อไร จุดคัดแยกขยะในงาน ก็พร้อมจะสร้างความประทับใจให้แก่ผู้มาเยือนเสมอ ท่านประธานครับ ผมและพรรคก้าวไกล เรามาพร้อมกับข้อเสนอแนะเสมอ ทางรอดเดียวที่เราเหลืออยู่ คือการคัดแยกขยะที่ต้นทาง แม้จะบอกว่าการสร้างวินัยในการคัดแยกขยะนั้นยาก ที่จริงแล้วต้องบอกว่าเราไม่จริงจัง ต่างหาก ผมขอเสนอให้หลักสูตรการเรียนที่บางวิชานั้นไม่ทันต่อยุคต่อสมัยแล้ว เปลี่ยนมา เป็นหลักสูตรการคัดแยกขยะเป็นวิชาขั้นพื้นฐานที่สามารถนำมาทดแทนได้ทันที เช่น ที่ประเทศญี่ปุ่นที่ไม่เพียงแต่หลักสูตรด้านการคัดแยกขยะ แต่ยังมีสื่อการเรียนการสอน มากมาย ป้ายสัญลักษณ์ที่ออกแบบมาอย่างดีน่าสนใจ บอกประเภทขยะที่ชัดเจนและ ตัวอย่างดี ๆ จากผู้ใหญ่ จนเกิดเป็นวินัยและวัฒนธรรมในชีวิตประจำวัน เราจะให้พี่น้องเรา คัดแยกขยะได้อย่างไร หากว่าในเมืองของเรายังมีถังขยะอยู่เพียงสีเดียว เราจะให้พี่น้องเรา คัดแยกขยะได้อย่างไร หากเรายังไม่มีตารางเก็บขยะที่แบ่งตามประเภทขยะ เราจะให้พี่น้อง เราคัดแยกขยะได้อย่างไร หากเรายังไม่มีภาษีการเก็บขยะที่เป็นธรรม เราจะให้พี่น้องคัดแยก ขยะได้อย่างไรครับ หากเรายังมีแต่รถขยะที่ล้าสมัยเก็บได้น้อยและมีแต่น้ำขยะที่ไหลเรี่ยราด ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วเมือง อีกอย่างที่สำคัญ แล้วเราจะให้พี่น้องเราคัดแยกขยะได้อย่างไรครับ ท่านประธาน หากว่าเรายังมีแต่บ่อขยะที่เอื้อแต่กลุ่มทุนใหญ่กลายเป็นที่เรียกรับผลประโยชน์ จากภูเขาขยะ ทั้งหมดที่ผมกล่าวมานั้นแสดงให้เห็นแล้วว่าวัฒนธรรมการคัดแยกขยะที่ต้นทางสามารถสร้าง ได้โดยรัฐบาล ผมจึงขอเห็นด้วยกับญัตตินี้และส่งต่อแก่คณะกรรมาธิการเพื่อแก้ปัญหาขยะ เกลื่อนเมืองมรดกโลก โดยมีประโยชน์สูงสุดของพี่น้องชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและ ชาวไทยทุกคนเป็นหมุดหมายสำคัญ ขอบคุณท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านรวี เล็กอุทัย ครับ

นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม นาย รวี เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต ๓ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับจากการที่มีเพื่อนสมาชิกหลายท่านได้ลงชื่อเสนอญัตติและอภิปราย เกี่ยวกับการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะภายในประเทศไทยของเรานั้น ทำให้เราเห็น ถึงความสำคัญและควรตระหนักถึงปัญหาของเรื่องนี้ และผมก็เป็นคนหนึ่งที่เห็นด้วย ว่าเรา ทุกคนควรต้องให้ความสำคัญกับการจัดการขยะ เพราะปัญหาของเรื่องนี้นั้นเกี่ยวข้องและมี จุดเริ่มต้นมาจากพวกเราทุกคน ดังนั้นปัญหาหรือผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งที่พวก เราทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบ จากการที่ผมได้ศึกษาข้อมูลของสถานการณ์ขยะ ของประเทศไทยต้องเรียนตรง ๆ ครับท่านประธานว่าเป็นสิ่งที่น่าตกใจและน่ากังวลเป็น อย่างมาก อะไรนั้นเดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังครับ ขอสไลด์ครับ

นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ จากข้อมูลของกรมควบคุม มลพิษในปี ๒๕๖๕ เรามีปริมาณขยะมูลฝอยกว่า ๒๕.๗ ล้านตัน หรือ ๗๐,๐๐๐ ตันต่อวัน หากถัวเฉลี่ยคิดเป็นต่อคนนะครับ คน ๑ คนจะก่อให้เกิดขยะ ๑.๐๗ กิโลกรัมต่อวัน และจาก แนวโน้มหากมีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากยิ่งขึ้น ผลที่ตามมาปริมาณขยะก็ย่อมจะเพิ่มมากขึ้น ตามไปด้วยเช่นกัน ต่อมาสถิติที่ผมอยากจะแสดงให้ทุกท่านได้เห็น นั่นก็คือสัดส่วนของ การจัดการขยะ โดยส่วนแรกนั่นคือการจัดการกันเองโดยครัวเรือนและชุมชนคิดเป็น ๗ เปอร์เซ็นต์หรือ ๑.๗ ล้านตัน และมีการคัดแยกใช้ประโยชน์จากกระบวนการซาเล้ง หรือเจ้าของขยะนำไปขาย ราว ๑๕ เปอร์เซ็นต์หรือ ๔ ล้านตัน โดยทั้ง ๒ ส่วนนี้จะคิดเป็น สัดส่วน ๒๒ เปอร์เซ็นต์ของปริมาณขยะทั้งหมด

นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ

ถัดมาคือส่วนที่ใหญ่ที่สุด ๗๘ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๒๐ ล้านตันนั้น จะถูกจัดการ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือเอกชนที่ได้รับมอบหมายในการคัดแยกหรือกำจัดขยะ ซึ่งในส่วนของ ๒๐ ล้านตันนี้จะถูกแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน นั่นก็คือส่วนที่ ๑ การคัดแยก และนำไปใช้ประโยชน์ ๑๙ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๔.๘ ล้านตัน ส่วนที่ ๒ เป็นขยะที่ต้องดำเนินการ กำจัด ๕๙ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๑๕.๒ ล้านตัน ท่านประธานครับ เมื่อเราพิจารณาไปในส่วนที่ ๒ หรือในส่วนของขยะที่ต้องดำเนินการกำจัดนี้กลับพบว่ามีที่ดำเนินการกำจัดอย่างถูกต้อง โดยการฝังกลบก็ดี หรือนำไปเผาผลิตเป็นพลังงานและการทำปุ๋ยหมักก็ดี เพียง ๙.๘ ล้านตัน หรือคิดเป็น ๓๘ เปอร์เซ็นต์ของปริมาณขยะทั้งหมดเท่านั้น ในขณะที่มีการกำจัดที่ไม่ถูกต้อง โดยวิธีการเทกอง เผากลางแจ้ง และเผาในเตาขนาดเล็กปริมาณกว่า ๕.๔ ล้านตัน หรือ ๒๑ เปอร์เซ็นต์ของปริมาณขยะทั้งหมด และในข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ ถึงปี ๒๕๖๕ จะพบว่ามีการกำจัดที่ไม่ถูกต้องอยู่ในช่วง ๒๘-๓๓ เปอร์เซ็นต์ของปริมาณขยะ ทั้งหมดในประเทศ ทีนี้เราลองมาพูดถึงเรื่องของสถานที่กำจัดขยะกันบ้าง จะพบว่าประเทศ ไทยเรามีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่เปิดดำเนินการอยู่รวม ๒,๐๗๔ แห่ง โดยในจำนวน ดังกล่าวนี้ดำเนินการโดย อปท. ๑,๙๙๐ แห่ง หรือคิดเป็น ๙๖ เปอร์เซ็นต์ แต่ในจำนวนนี้ กลับพบว่ามีการดำเนินการกำจัดอย่างถูกต้องเพียงแค่ ๘๑ แห่งเท่านั้น ที่เหลืออีกกว่า ๑,๙๐๙ แห่ง กลับมีการดำเนินการอย่างไม่ถูกต้อง ขณะที่ในส่วนความรับผิดชอบของ ภาคเอกชนที่ได้รับมอบหมายในการดำเนินการจัดการขยะหรือกำจัดขยะรวม ๘๔ แห่ง ก็มี การจัดการได้อย่างถูกต้องเพียงแค่ ๓๐ แห่ง หรือ ๓๖ เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่อีก ๕๔ แห่งนั้นมี การกำจัดที่ไม่ถูกต้อง นั่นหมายความว่าทั้งประเทศเรามีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยภายใต้ การกำกับดูแลของ อปท. และเอกชนที่มีการกำจัดอย่างถูกวิธีเพียงแค่ ๑๑๑ แห่งเท่านั้น ในขณะที่อีก ๑,๙๖๓ แห่ง ยังมีการกำจัดขยะมูลฝอยที่ผิดวิธีอยู่ เมื่อมาถึงจุดนี้ครับท่านประธาน เราจะพบว่าปริมาณขยะที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะถูกจัดเก็บ โดยกลไกของการจัดทำบริการสาธารณะซึ่งมีผู้รับผิดชอบหลัก ก็คือองค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น แต่จากสถิติทั้งหมดที่ผมได้นำเสนอไป กลับเป็นสิ่งที่เราต้องกังวลว่าการจัดการขยะ ที่ไม่ถูกต้องนั้นยังมีอยู่ในสัดส่วนที่มากเหลือเกิน ยิ่งไปกว่านั้นต้องอย่าลืมว่าเมื่อเทียบสัดส่วน ของจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศที่มีอยู่ ๗,๘๕๐ แห่ง กลับมีสถานที่ กำจัดขยะที่ดำเนินการโดย อปท. อยู่เพียงแค่ ๑,๙๙๐ แห่งเท่านั้น นั่นแสดงให้เห็นว่ายังมี อปท. อีกจำนวนมากที่น่าจะยังขาดสถานที่กำจัดขยะอยู่ ณ ปัจจุบัน ท่านประธานครับ ที่ผมเป็นกังวลอีกเรื่อง นั่นก็คือเมื่อพิจารณาไปในส่วนของสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย ๒,๐๗๔ แห่งนั้น โดยถ้าแบ่งตามกรรมสิทธิ์จะพบว่ามีสถานที่กำจัดขยะที่อยู่ในเขตป่า หรือป่าสงวน รวมกว่า ๔๒๗ แห่ง หรือเป็น ๒๑ เปอร์เซ็นต์ของสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย ที่เปิดดำเนินการอยู่ แต่เมื่อย้อนกลับไปดูจะพบว่ามีสถานที่กำจัดขยะที่ดำเนินการ อย่างถูกต้องที่ผมได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่ามีรวมกันแล้วอยู่เพียงแค่ ๑๑๑ แห่งเท่านั้น ดังนั้น ผมจึงกังวลถึงผลกระทบที่จะมีต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะผลกระทบที่จะมีต่อพื้นที่ป่าต้นน้ำ ยิ่งไปกว่านั้นในจำนวน ๑๑๑ แห่ง ที่ดำเนินการจะกำจัดขยะอย่างถูกต้องนี้ทั้งประเทศ ของเรามีเพียงกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดภูเก็ต จังหวัดยะลา จังหวัด สมุทรสงคราม และจังหวัดสมุทรสาครเพียง ๖ จังหวัดเท่านั้นที่สามารถจัดการได้อย่าง ถูกต้องทั้งหมด และมีอีกหลายจังหวัดที่ไม่มีการกำจัดขยะที่ถูกต้องเลย ยกตัวอย่างเช่น ในจังหวัดอุตรดิตถ์ของผมเองครับท่านประธาน ทั้งจังหวัดเรามีสถานที่กำจัดขยะที่ดำเนินการ ถูกต้องอยู่เพียงแค่แห่งเดียวเท่านั้นจากทั้งหมด ๓๙ แห่ง

นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ

โดยสรุปครับท่านประธาน ผมเห็นถึงความสำคัญของญัตติการจัดการขยะ ของเพื่อนสมาชิกทุกท่าน ทั้งในเรื่องของการจัดการขยะในชุมชน การจัดทำบริการสาธารณะ โดย อปท. ผลกระทบที่จะมีต่อสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยว เพราะจากข้อมูลที่ผมอภิปรายไป ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าขยะซึ่งเราทุกคนมีส่วนที่ทำให้เกิดขึ้นนี้ได้ส่งผลกระทบไปยังมิติ ต่าง ๆ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ดังนั้นผมจึงเห็นด้วยที่เราจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง ของการศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาของเรื่องนี้อย่างจริงจัง และทำให้มันมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมด้วย สุดท้ายนี้ผมขอฝากความหวังและกำลังใจ ในการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะนี้ไปถึงคณะทำงานและภาครัฐที่มีส่วนกำกับดูแล โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย รวมไปถึงภาคประชาชนหรือตัวพวกเราเองที่ต้องตื่นตัวและ เห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาของเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น อย่าปล่อยให้ถึงวันที่เรื่องของขยะ กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ฉุดรั้งความเจริญของประเทศไทยของเราไว้เลยครับ ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านภูริวรรธก์ ใจสำราญ ตามด้วยท่านศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ครับ

นายภูริวรรธก์ ใจสำราญ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม ภูริวรรธก์ ใจสำราญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตบางเขน เขตสายไหม เขตลาดพร้าว พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ท่านเคยพบกับเหตุการณ์ที่ทำให้ท่านขมคอ ไหมครับ เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา แล้วก่อนหน้านี้ทางผมและคณะต้องลงไปดูโรงขยะท่าแร้ง- สายไหม มีการร้องเรียนติดอันดับ เพราะว่าชาวบ้านเจอปัญหาแบบนี้มาเป็น ๑๐ ปีแล้ว

นายภูริวรรธก์ ใจสำราญ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

หลายครั้งที่เราแบกเอา ปัญหาปรึกษาไปที่สำนักงานเขต แล้วก็จนกระทั่งมาปรึกษาในสภา ตั้งกระทู้ถามตอบสุดท้าย ปัญหาด้านกลิ่นหรืออุบัติเหตุจากการขนถ่ายนั้นก็ยังวนเวียนอยู่ที่จุดเดิมตลอดนะครับ ท่านประธานครับ สถานที่กำจัดและขนถ่ายขยะมูลฝอยแห่งนี้รับเอาขยะจากเขตรอบด้านถึง ๑๖ เขต ตั้งแต่กรุงเทพมหานครตอนกลางไปจนถึงกรุงเทพมหานครเหนือ ท่านลองนึกภาพดู ว่าเอาขยะกว่า ๒,๓๐๐ ตันต่อวัน ยิ่งในช่วงหนึ่งที่โรงขยะอ่อนนุชปิดไป ๑ โรง ก็ทำให้ขยะ มหาศาลต้องถูกส่งมาที่บริเวณแห่งนี้ เมื่อจำนวนขยะมากเกินกว่าจำนวนที่เราลดก็เกิดขยะ ตกค้างส่งกลิ่นเหม็นต่อเนื่อง ดีหน่อยที่ทุกวันนี้แนวโน้มของจำนวนขยะลดลงมา แต่กลิ่นก็ยัง ไม่หมดไป พอมันไม่มีการแก้ไข เราก็เลยอยากรู้ว่าใครมาดูแล ก็เลยกลับมาดูสัญญาที่ทำไว้ กับผู้ประกอบการจ้างเหมาเอกชน มี ๒ กิจกรรมที่ต้องไปดูครับ โครงการหนึ่งคือโครงการ จ้างเหมาเอกชน ขนและฝังกลบ มีมูลค่ากว่า ๑,๐๔๒ ล้านบาท สัญญา ๔ ปี อีกโครงการหนึ่งเป็นจ้างเหมาเอกชนขนถ่ายมูลฝอยระบบใหม่คัดแยกและกำจัด มีมูลค่ากว่า ๔,๗๔๑ ล้านบาท สัญญา ๒๐ ปี โรงแรกกำลังจะหมดอายุปีหน้า แต่ว่าเงินงบประมาณนั้น กำลังจะหมดลงแล้ว ส่วนโรงที่ ๒ นั้นเพิ่งทำสัญญาไปปี ๒๕๖๕ และกว่าจะหมด ปี ๒๕๘๕ อีก ๒๐ ปีครับท่านประธานที่ชาวบ้านอาจจะต้องทนนะครับ และเมื่อเราขึ้นไปดูโรงขยะทั้ง ๒ โรงแบบนี้ถึงเข้าใจว่าขมคอเป็นอย่างไร ขนาดใส่หน้ากากยังเอาไม่อยู่ ทั้ง ๒ โรงมันเปิดโล่ง ท่านลองดูบานเกล็ดต่าง ๆ กลิ่นออกไปได้หมด ในขณะที่เรายืนอยู่นั้นก็มองไปรอบ ๆ เห็นบ้านเรือนก็เข้าใจหัวอกของชาวบ้านโดยรอบว่าจะต้องทนกลิ่นและดมกลิ่นทุกวันเหล่านี้ เป็นอย่างไร ถามว่าข้อกำหนด TOR เป็นอย่างไร มีหลายภารกิจที่ถูกระบุไว้ว่าการทำ โรงขนถ่ายให้อยู่ในมาตรฐานสากลที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะสิ่งแวดล้อมทั้งจากตัวอาคารแล้วก็ ตัวระบบขนส่ง แต่โรงขยะแห่งนี้ผู้ประกอบการยังบกพร่องอยู่หลายอย่าง จนมีการร้องเรียน จำนวนมากแล้วก็ไม่มีการดำเนินการใด ๆ กลับไปดูเงินทุนมีหรือเปล่าที่จะทำ เราก็ลองไปดู Website ของบริษัท เขาบอกว่าเขามีมาตรฐานในการทำโรงงาน ธุรกิจเจริญเติบโตได้ดี ชำระทุนจดทะเบียนจำนวนมากได้ด้วย แต่ก็ไม่มีการปรับปรุงศูนย์แห่งนี้ให้สมบูรณ์แต่อย่างใด หากท่านจะทำ CSR หรือการคืนกำไรสู่สังคมนั้นก็ควรที่จะเริ่มจากจุดนี้ ทำระบบปิดแบบ ที่โรงงานอื่นเขาทำได้ จะมีตัวอย่างบางโรงงานให้ดูนะครับ สไลด์ต่อไปจะเป็นระบบปิดเป็น ระบบปิด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ขอเพียงเท่านี้กลิ่นก็จะลดลงไปได้ ท่านประธานครับ ยังดีหน่อย ที่โรงงานแห่งนี้อาจจะขนถ่ายขยะออกไปให้หมดในแต่ละวัน แต่ถ้าคุณขับรถอยู่บนทางด่วน แล้วมองลงมาจากทางด่วนก็จะเห็นขยะกองโต มองจากด้านบนลงมาจะเห็นขยะกองพะเนิน เทินทึก โดยเฉพาะรอบของสถานีขยะแห่งนี้เรียงรายไปด้วยโรงรับซื้อขยะของเอกชน ขยะจำนวนมากถูกกองรวมกันอยู่อย่างมากมายแล้วก็ไม่ได้จัดการให้จบ จริงอยู่ที่ผังเมืองเปิด โอกาสให้มีการประกอบกิจการเหล่านี้ แต่ขั้นตอนก็คือว่าผู้ประกอบการต้องขออนุญาตจาก สำนักงานเขต แต่เชื่อเถอะครับว่าส่วนใหญ่แล้วถ้าเราลงไปดูนั้นไม่ได้ขออนุญาตอย่างถูกต้อง แล้วก็ผิดกันทั้งหมด สะท้อนให้เห็นถึงภาพของการควบคุมแล้วก็การปล่อยปละละเลย โรงขยะแห่งนี้ไม่ได้สร้างปัญหาอยู่ที่บริเวณจุดเดียว แต่ว่าถนนที่ใช้เป็นทางหลักในการขนถ่าย ก็เช่นกัน ซึ่งเราก็จะพบว่ามีการปล่อยน้ำบดขยะจากถังลงมาบนพื้น คงมีคำถามว่าระบบหรือ อุปกรณ์เสียหายหรือไม่ จากที่ผมกับคณะได้ไปสำรวจดูตัวถัง วัสดุก็ยากแก่การผุ แต่ที่เกิดขึ้น ก็คือการปล่อยน้ำขยะออกมาบนถนนโดยเจ้าหน้าที่ขนขยะ ขั้นตอนจริง ๆ แล้วรถขยะเหล่านี้ ต้องมาในจุดที่กำหนดให้ปล่อยน้ำครับ แต่ว่าระยะเวลาในการปล่อยถ่ายน้ำนั้นใช้เวลาเป็น ๑๐ นาที พนักงานขนขยะเหล่านี้จึงปล่อยน้ำขยะออกมาระหว่างที่เดินทางมาที่โรงขยะแห่งนี้ รวมถึงการล้างล้อรถออกจากสถานีขนถ่ายก็ไม่ได้รอจนให้น้ำมันสะเด็ดแห้ง น้ำขยะก็หยดบน ถนนโดยทั้งขามาและขากลับ การล้างพื้นมีความจำเป็น แต่ว่าการฉีดน้ำปกติทั่วไปไม่ได้ช่วย อะไร ต้องใช้แบบแรงดันสูง ซึ่งรถฉีดน้ำแรงดันสูงนั้นก็ไม่ได้มีเยอะมากในแต่ละเขต โดยเฉพาะพื้นถนนที่เป็นแอสฟัลต์น้ำขยะจะเข้าไปในช่องอากาศของพื้นถนน ทำให้เกิด การขังหมักหมม ส่งกลิ่นเหม็น และที่สำคัญคือถนนลื่น มอเตอร์ไซค์เกิดอุบัติเหตุจำนวนมาก ในจุดนี้ มีการออกมาแจ้งกับภาครัฐว่าถ้าล้มแล้วก็สามารถเข้าโรงพยาบาลรัฐได้ รัฐดูแล ค่ารักษาตั้งแต่ต้นจนจบ แต่นั่นไม่ใช่การแก้ปัญหา การแก้ปัญหาก็คือไปจัดการที่ต้นตอ หยุดการปล่อยน้ำขยะลงบนถนนของรถ เราเข้าใจดีครับว่าพี่ ๆ เหนื่อยกันมากกับการกำจัด แต่ละวัน เพราะว่าเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอด้วย รวมถึงเขาต้องอยู่ในสภาวะแวดล้อมของกลิ่น และสารต่าง ๆ Lysate ต่าง ๆ ในการระเหยก็มีผลกระทบต่อร่างกายอยู่แล้ว การจัดการระบบ โรงขยะที่ถูกต้อง รวมถึงการรับผิดชอบน้ำจากรถขยะก็สามารถลดปัญหาต่าง ๆ ให้กับตัวเขาเอง ดีต่อตัวเองและดีต่อรอบด้านด้วย ในอนาคตทราบว่าจะมีงบประมาณในการทำโครงการ กำจัดมูลฝอยระบบเตาเผา ซึ่งอยู่ในระหว่างการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งยังไม่ได้ แล้วก็อาจจะลำบาก ด้วย เพราะว่าผู้ประมูลนั้นต้องลงทุนเองทั้งระบบ ทั้ง Build Operate แล้วก็ Transfer สิ่งที่ต้องคำนึงต่อมาก็คือเรื่องของการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าที่ได้รับจากการเผา เพราะโรงงาน แบบนี้นี้คือแบบ Waste to Energy ที่ต้องคำนึงถึงมากไปกว่านั้นก็คือเรื่องของมวลสารต่าง ๆ ที่เข้าสู่ระบบแล้วก็ออกจากระบบ เช่น เถ้าวัสดุที่ต้องคัดแยก ปริมาณก๊าซที่ระบายออกมา จากปล่องของโรงเตาเผาเหล่านั้น เพราะขณะที่ผ่านมายังถูกปล่อยปละละเลยขนาดนี้ แต่ถ้ามีเตาเผานั้นต้องมีมาตรการมากขึ้นแล้วมันจะถูกละเลยขนาดไหน สุดท้ายประชาชน มีส่วนร่วมในการดูแลหรือเปล่า ผมเชื่อว่าการประเมินผลต่อสิ่งแวดล้อมหรือ IEE นั้นมีเฉพาะ ช่วงแรกครับ และหลังจากนั้นทุก ๒ ปีถัดมาก็เป็นการเขียนรายงานในแบบทิศทางที่ต้องการ ท่านประธานครับ ทุกวันนี้เรามีกฎหมายหลายฉบับ ตั้งแต่ผังเมืองที่ผมพูดไป พ.ร.บ. สาธารณสุข พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม พ.ร.บ. รักษาความสะอาด ประกาศกฎกระทรวงข้อบัญญัติ กรุงเทพมหานคร รวมแล้ว ๔๐ ฉบับ สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจการดูแล การบังคับกฎหมาย ของหลายหน่วยงาน จะเอาผิดด้านใดด้านหนึ่งก็ต้องวิ่งไปหน่วยหนึ่งครับ เพราะฉะนั้นอันนี้ จะเป็นการซ้ำซ้อน ท่านประธานครับ สุดท้ายแล้วนี่คือเหตุผลว่าทำไมการจัดการจะต้องเริ่ม จากท้องถิ่นการเข้าใจสภาพปัญหาบวกกับมาตรฐานสากลที่มาจากส่วนกลาง สามารถที่จะ แก้ปัญหาเหล่านี้ได้ การมีกฎหมายเกี่ยวกับขยะถึง ๔๐ ฉบับนั้นก็ควรจะต้องเอามาพิจารณา ว่ามันไปคนละทางกันหรือเปล่า หรือสามารถนำมาจัดการใหม่ได้ให้ไปในทิศทางเดียวกัน ลดความซ้ำซ้อนของหน่วยงานแก้ปัญหาได้เร็วขึ้นมีการตรวจสอบได้ดีขึ้น งบประมาณ ในการจัดได้อย่างเหมาะสม ผมจึงขอสนับสนุนหลักการในญัตตินี้ครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านศศินันท์ครับ

นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายแจมค่ะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๑๑ พรรคก้าวไกลค่ะ ปัญหา เดียวกันค่ะ อยู่เขตสายไหมส่งต่อกันเลยนะคะ ท่านประธานคะ อยากขออภิปรายร่วม ในญัตตินี้ค่ะ เพราะว่าถ้าเราพูดถึงความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่เขตสายไหมแล้ว ถ้าไม่พูดตอนนี้ไม่รู้จะพูดตอนไหนค่ะ ท่านประธานคะ ประชาชนของดิฉันที่ใช้ถนนเส้น สุขาภิบาล ๕ กำลังใช้ชีวิตที่แขวนอยู่บนเส้นด้าย ขออนุญาตเปิดคลิปวิดีโอด้วยนะคะ

นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เพราะว่าการใช้รถใช้ ถนนนอกจากจะต้องระวังอุบัติเหตุจากรถแล้ว ยังคงต้องระวังเรื่องของน้ำขยะที่ไหลออกมา จากรถขยะด้วยค่ะ นี่คือภาพที่บริเวณถนนสุขาภิบาล ๕ ภาพนี้ไม่ได้เกิดขึ้นวันเว้นวัน แต่เกิดขึ้นทุกวัน หลาย ๆ ครั้งแค่ไปยืนอยู่แป๊บเดียวล้มคัน ๒ คัน ๓ คัน เป็นอย่างนี้ทุกวัน ได้รับเรื่องร้องเรียนทุกวันเหมือนกันค่ะ สาเหตุก็จะเป็นเหมือนที่พี่โบ้ภูริวรรธก์เมื่อสักครู่นี้พูด สส. จากเขตสายไหมเหมือนกันได้แจ้งว่าเกิดจากการที่มีการปล่อยน้ำขยะลงบนท้องถนน และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ต้องประสบอุบัติเหตุเพราะน้ำขยะ เจ็บตัวไม่พอ รถก็พัง แล้วไปถามหา ความรับผิดชอบก็เหมือนที่ท่านภูริวรรธก์บอกเมื่อสักครู่นี้เลยว่าทางรัฐก็จะบอกว่ามี สวัสดิการรักษาพยาบาล แต่การแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุยังไม่เกิดขึ้น ดิฉันก็เลยอยากขอเสนอ ไปว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องขยะ การจัดการขยะที่ดีนี้ก็จะช่วยลดอุบัติเหตุด้วย ซึ่งเราเป็น ประเทศที่มีอุบัติเหตุทางท้องถนนอันดับหนึ่งของโลกค่ะ บนถนนที่ใช้ร่วมกันเราจะต้องลด ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุให้น้อยที่สุด เพราะว่าใคร ๆ ก็อยากจะถึงบ้านถึงโรงเรียน และถึงที่ทำงานโดยสวัสดิภาพ ถึงแม้เราจะเห็นความพยายามในการฉีดล้างถนน อย่างที่ เมื่อสักครู่นี้ได้ฟังเลยว่าสุดท้ายมันก็ไม่ได้แก้ปัญหาที่ตรงจุดเสียทีเดียว นอกจากเรื่องปัญหา เรื่องรถขยะเรื่องน้ำขยะ ยังมีปัญหาเรื่องของการต้องจัดการขยะที่ต้นทาง ที่เขตสายไหมดิฉัน ลงพื้นที่กับทีมงานหลายครั้งเราจะพบว่ามีถังขยะวางอยู่ แต่เขตเรามีความพิเศษ เราไม่ได้วางแบบเขียว แดง เหลือง แต่ชุมชนนี้แดงทั้งชุมชน ดิฉันก็สงสัยว่าทำไมถึงเป็นสีแดง ชุมชนนี้มีขยะอันตรายหรือเปล่า ปรากฏว่าไม่ค่ะ เขตให้สีแดงมา เลยกลายเป็นว่าชุมชนนี้ สีแดงหมดเลย อีกชุมชนหนึ่งก็สีเขียวหมดเลย อีกชุมชนหนึ่งก็สีเหลืองหมดเลย เราจะมีถัง ขยะหลายสีไปทำไม ถ้าเราไม่ได้แยกการทิ้งขยะอย่างถูกต้องค่ะ โดยเฉพาะในชุมชนที่มีเด็กเล็ก อันนี้อันตรายเพราะว่ากลิ่นขยะต่าง ๆ มันก็ไม่เป็นผลดีกับการเจริญเติบโตของเด็ก ถ้าพูดถึงการแยกขยะที่ต้นทางเมื่อสักครู่เพื่อนสมาชิก สส. ทวิวงศ์ ก็ได้แจ้งไปแล้วว่า การแก้ไขปัญหาขยะการจัดการขยะที่ต้นทางสำคัญ เราต้องเริ่มตั้งแต่การสร้างวินัยในการ คัดแยกขยะแล้วก็ต้องเริ่มที่เด็กเล็ก

นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องการจัดการขยะเราไม่พูดถึงเรื่องการใช้ EF ในการสอน ในการอยู่ใน หลักสูตรการศึกษาของเด็กไม่ได้ เพราะว่าการเลี้ยงเด็กหรือว่าการออกแบบหลักสูตร การศึกษาโดยใช้ Executive Function หรือว่า EF นี้ จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะ การปฏิบัติ การกำกับตัวเอง การควบคุมตัวเอง เรียนรู้ว่าเรื่องไหนผิด เรื่องไหนถูก เพราะฉะนั้นถ้าเราจะสอนเรื่องการคัดแยกขยะ สอนเรื่องวินัยในการจัดการขยะเราต้องเริ่ม ตั้งแต่ที่บ้าน เริ่มตั้งแต่เด็กเล็ก ตั้งแต่อนุบาล ที่ประเทศไต้หวันแต่ก่อนเขาใช้ชื่อว่าเป็นเกาะ แห่งขยะ เกาะแห่งขยะหมายความว่าอย่างไร แต่ก่อนประเทศไต้หวันทั้งเกาะมีขยะเต็มไป หมดเลยค่ะ แต่ปัจจุบันประเทศไต้หวันสะอาดมาก เขามีวิธีการจัดการอย่างไร อันดับต้นเขา มีการบรรจุเรื่องเกี่ยวกับ Waste Management หรือว่าการจัดการขยะไปในเด็กตั้งแต่ อนุบาลค่ะ กิจกรรมเขาไม่ต้องใช้อะไรมาก เอาขยะมาแยก สอนเด็กแยกขยะ นอกจากนั้นยัง มีในเรื่องของถุงขยะด้วยว่าของประเทศไต้หวันนี้อาจจะไม่ได้มีค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะ แต่ใช้วิธีการโดยการที่เราจะต้องไปซื้อถุง ซึ่งถุงขยะของรัฐซื้อได้ตามเซเว่นอีเลฟเว่น ซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อได้ ซึ่งในถุงจะมี Bar Code ที่เอาไว้ยิงด้วย ยิงเพื่อเก็บข้อมูลว่า แต่ละบ้านนี้มีการจัดการขยะอย่างไร หรือว่าอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญก็คือว่าเขาใช้วิธีว่า ถ้าไม่แยกขยะ รถขยะไม่เก็บ ต้องมีการแยกขยะ ต้องมีการแยกสี แล้วก็จะไม่มีการวางขยะ เอาไว้ที่หน้าบ้าน จะใช้วิธีว่าจะมีรถขยะวิ่งมา วิ่งมาก็จะมีเสียงเพลงเหมือนเสียงเพลง รถไอติมอะไรอย่างนี้ แต่ทุกคนจะรู้ว่าเสียงเพลงนี้มาทุกคนจะต้องวิ่งเอาถุงขยะเพื่อมาทิ้งที่รถ คันนี้ เป็นการจัดการขยะที่ดูไม่ได้ยาก ไม่ได้ใช้งบประมาณเยอะ แต่แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไต้หวันเป็นที่ที่ใช้การจัดการขยะได้ดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

นอกจากนั้นอย่างรัฐฟลอริด้าก็จะมีในเรื่องของการจัดการขยะได้เด็กตั้งแต่ อนุบาลเช่นกัน มีการตั้งเขาเรียกว่า Garden Of The Development อันนี้เราจะนึกถึงสมัย เราเด็ก ๆ ก็คือเรื่อง ตาวิเศษนะ คล้าย ๆ แบบนั้น เป็นเหมือนแบบเด็ก ๆ มาช่วยกันปกป้อง ทรัพยากรต่าง ๆ แล้วก็มีการบรรจุตั้งแต่อนุบาล อนุบาลก็จะมีการสอน Basic ของการ Recycle เลยนะคะ มีการบอกว่าทำไมถึงต้อง Recycle Recycle ดีอย่างไร แล้วมันจะช่วย โลกอย่างไรบ้าง ไม่ได้แค่อนุบาล สอนต่อค่ะ คือ ป.๑ ถึง ป.๖ จะมีบรรจุในหลักสูตรทั้งหมด ป.๑ ก็เริ่ม Identify เริ่มรู้แล้วว่าเราจะแยกขยะอย่างไร ขยะมีกี่ชนิด เริ่มจะบอกได้ว่าการ Recycle มันมีขั้นตอนอย่างไร เพื่อให้เด็กมีจิตสำนึกร่วมกัน Garde 2 ก็ยังคงอยู่ในเรื่องขยะ จริง ๆ แล้วมีถึง ป.๖ เลย เริ่มมีการสอนในเรื่องของจิตสำนึก ขยะมีการแยกที่มันละเอียด มากขึ้นเพื่อให้เด็กเห็นว่าการจัดการขยะในสำคัญ แต่มาดูของประเทศไทยค่ะ ประเทศไทย ก็เลยไปดูว่าปฐมวัยมีหลักสูตรการศึกษาแบบไหน มีเรื่องของการเรียนรู้เรื่องร่างกาย การเจริญเติบโต สุขภาพจิต มีความสุข คุณธรรมจริยธรรม เรียนรู้เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจ พอเพียง เรียนรู้เรื่องอยู่ร่วมกับผู้อื่นยังมีความสุข ปฏิบัติตนเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เรียนรู้เรื่องการใช้ภาษา อย่างเหมาะสม ความสามารถในแนวคิด คือเราเรียนเรื่องเยอะมาก แต่เรื่องเกี่ยวกับ การจัดการขยะ เรื่องเกี่ยวกับวินัยจราจร เรื่องเกี่ยวกับการเรียนรู้กับเพื่อนผู้อื่น เรื่องเกี่ยวกับ การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่ได้ถูกบรรจุในหลักสูตรของเด็กปฐมวัย เพราะฉะนั้นดิฉัน จึงเห็นด้วยกับเพื่อนสมาชิกที่บอกว่าเหตุผลที่จำเป็นจะต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพราะว่าเรื่องการจัดการขยะไม่ได้เป็นเรื่องของแค่คณะกรรมาธิการใดคณะกรรมาธิการหนึ่ง ไม่ได้เป็นเรื่องของแค่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง แต่ต้องเป็นการบูรณาการอย่างถูกต้อง กระทรวงศึกษาธิการ อปท. กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงหลาย ๆ กระทรวงจะต้องมา ดูแลเรื่องนี้ร่วมกัน ทำอย่างเป็นระบบแล้วถึงจะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องขยะได้อย่างถูกต้อง ขอบคุณท่านประธานค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ครับ

นายกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ มหาสารคาม ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายแพทย์กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัด มหาสารคาม เขต ๑ พรรคเพื่อไทย วันนี้ขออภิปรายสนับสนุนญัตติการศึกษาพิจารณาเรื่อง ของการแก้ไขปัญหาขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท่านประธานครับ วันนี้ผมมี ความสุขที่ได้เห็นสมาชิกทั้งฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาลได้เห็นความเดือดร้อนและปัญหาของขยะ เป็นจำนวนมาก และทุกท่านที่เสนอมาก็เป็นประโยชน์ทั้งสิ้น ขยะเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่อง วาระแห่งชาติ และในสังคมปัจจุบันมีการผลิตขยะเยอะขึ้นเรื่อย ๆ เพราะอะไรครับ เพราะ โลกปัจจุบันคนกินข้าวนอกบ้านเยอะขึ้น มีการซื้ออาหารนอกบ้านเยอะขึ้น มีการ Packaging ต่าง ๆ เยอะขึ้น มีการซื้อสินค้า Online ต่าง ๆ เยอะขึ้น ในสภาพสังคมปัจจุบันนี้จะเป็น สังคมที่ทำให้เกิดปัญหาขยะเยอะขึ้นนะครับ ผมขอพูดถึงจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งผมเป็น สส. จังหวัดมหาสารคาม

นายกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ มหาสารคาม ต้นฉบับ

จังหวัดมหาสารคามนี้มีขยะ ๕๖๘ ตันต่อวัน ในรูปนี้สมัยผมเป็นนายกเทศมนตรี มีภูเขาขยะครับท่านประธาน ปัญหาของ จังหวัดมหาสารคามตอนนั้นภูเขาขยะเกิดความเดือดร้อนมาก ซึ่งเดือดร้อนอะไรบ้าง เดือดร้อนของกลิ่นเหม็นมาก แล้วทำให้โรงเรียนนี้ต้องย้ายไปถึง ๑ ครั้ง แมลงวัน ได้รับ การร้องเรียนจากพี่น้องรอบบ่อขยะเป็นจำนวนมาก แล้วก็มีขยะเกลื่อนปลิวไป ขยะติดล้อไป ที่ถนนซึ่งทำให้ประชาชนก็ได้รับความเดือดร้อนอุบัติเหตุจากการถนนลื่น แล้วก็มีอุบัติเหตุ เกิดขึ้น นอกจากนั้นแล้วภูมิทัศน์ต่าง ๆ เสียหาย เพราะว่าใครอยู่ใกล้บ่อขยะเห็นเลยว่าเป็น ภูเขา แล้วเข้าไปข้างในนี้ส่วนใหญ่ก็คือว่าการจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขนาดเทศบาลผมนี้ แต่ก่อนนี้ถือว่าเป็นเทศบาลที่จัดการขยะได้รางวัล ได้ต้นแบบ เราก็ยังถือว่า เรายังมีปัญหาจากการที่ฝังกลบไม่ทัน ฝังกลบไม่ทันครับท่านประธาน ขยะมาทุกวัน แต่เทศบาลฝังกลบให้ถูกวิธีการจัดการนี้บางครั้งมีปัญหา แล้วมีปัญหาทำอย่างไร ก็ต้อง กองขยะไว้เพราะว่าขยะมันมาทุกวัน เราจะหยุดการทิ้งขยะก็ไม่ได้ หยุดการเก็บขยะก็ไม่ได้ เราก็ไปกองไว้ อันนี้เป็นรูปที่เรียกว่า Clear แล้ว บางที่ถนนนี้เต็มไปด้วยขยะ นี่คือข้อจำกัด ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจากที่ท่านสมาชิกได้อภิปรายไป อปท. มีบ่อขยะถึงเกือบ ๒,๐๐๐ ที่ มีถูกต้องไม่ถึง ๑๐๐ ที่ ซึ่งนี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นจริง แล้วเราก็ต้องมาช่วยกันแก้ไข ว่าเราจะทำอย่างไรให้ปัญหาของบ่อขยะนี้ให้เกิดการแก้ไขอย่างเร่งด่วน แล้วก็ถูกต้อง จังหวัด มหาสารคามนี้มีกลุ่มเรียกว่าเป็น Cluster อยู่ ๕ Cluster ซึ่ง Cluster ของจังหวัดมหาสารคาม ก็ถือว่าเป็น Cluster ที่มีปัญหา แล้วก็อยู่ที่ตำบลหนองปลิง ตำบลหนองปลิงนี้ถือว่าเป็น ตำบลที่ได้รับการเดือดร้อนจากการที่มีบ่อขยะไปเกิดขึ้นที่นั้น ๑. คือโรงเรียนเขาย้ายไป ๒. หลังจากที่มีบ่อขยะมาแล้ว Pollution เรื่องขยะ เรื่องกลิ่น เรื่องแมลงวัน รวมถึงเรื่องของ น้ำชะขยะในช่วงหน้าฝน แล้วก็น้ำชะขยะนี้ก็จะไปตามทุ่งนา แล้วก็ไปตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้เกิดปัญหาของไร่นาที่เขาทำมาหากิน นอกจากที่จังหวัดมหาสารคามแล้ว ยังมีเทศบาล ของในเขตอำเภอบรบือและอำเภอใกล้เคียง ของท่าน สส. สรรพภัญญู ศิริไปล์ ก็เกิดปัญหา เช่นเดียวกัน ภูเขาขยะแล้วก็เรื่องของกลิ่นเรื่องของ Pollution ต่าง ๆ ท่าน สส. สรรพภัญญู ก็ฝากผมว่าในบ่อขยะของอำเภอบรบืออยู่โคกหัวแป เป็นพื้นที่ของป่าสงวนแห่งชาติด้วย ซึ่งเป็นปัญหาที่เทศบาลแล้วก็องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเจอในทุกที่ทั่วประเทศก็ไม่รู้จะทำ อย่างไร ก็คือเอาไปวางไว้ก่อน แล้วบางทีฝังกลบไม่ทัน ก็ต้องไป Open Dump ก็คือไปวาง ทิ้งไว้ ซึ่งการแก้ปัญหาขยะนี้เราต้องถือว่าเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งแก้ตรงไหนครับ ๑. ตั้งแต่ต้นน้ำ ก็คือการลดขยะ การคัดแยกขยะ ซึ่งเพื่อนสมาชิกได้อภิปรายเรื่องของการให้เด็กเยาวชนและ ให้สังคม ชุมชนได้ตระหนัก แล้วก็ช่วยกันแก้ปัญหาเพื่อจะลดขยะขึ้นมาได้ เขาบอกว่าขยะ จริง ๆ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าเราคัดแยกดี ๆ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ สามารถคัดแยกและนำไปใช้ ประโยชน์ได้ นี่คือสิ่งที่เราจะต้องช่วยกันในการที่จะสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้กับประเทศไทย ในการที่จะลดขยะและรับผิดชอบต่อขยะร่วมกัน ผมเชื่อว่าประเทศที่เจริญ ไม่ว่าจะเป็น ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลี หรือประเทศไต้หวัน หรืออะไรต่าง ๆ เขาก็ผ่านพ้นเรื่องของ ภูเขาขยะกันมา แล้วก็จัดการขยะในการที่ลดขยะให้ได้ในการสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้กับ ประชาชนคนไทย เพื่อจะลดขยะลง แล้วก็การคัดแยกขยะที่ถูกต้อง ส่วนกลางน้ำ เรื่องของ การเก็บขน การที่เอาขยะไปที่โรงกำจัดขยะ ซึ่งปลายทางก็คือการกำจัด ซึ่งตอนนี้ประเทศไทย ส่วนใหญ่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเขาก็ฝังกลบทั้งนั้น แต่ฝังกลบของเขานี้ส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีคุณภาพ แล้วงบประมาณที่ไม่เพียงพอ แล้วก็ลำบากในการที่จะจัดการขยะในระบบขยะใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณ เรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ท่านประธานครับ เรื่องของในบ่อขยะนี้ก็มีปัญหา อีกเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขยะล้นบ่อเข้ามาไม่ทันก็เทกองไว้ ปัญหาเรื่องกลิ่น เรื่องอะไรต่าง ๆ ก็จะตามมา

นายกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ มหาสารคาม ต้นฉบับ

อันที่ ๒ บ่อบำบัดนะครับ บ่อบำบัดน้ำเสียนี้บางทีก็ Fail เพราะว่าขยะ มาเยอะ น้ำชะขยะเยอะ แล้วก็ไปท่อรวบรวมน้ำเสียที่อยู่ข้าง ๆ นี้บางทีก็เรียกว่าถูกถม ด้วยขยะ ฉะนั้นการแก้ไขปัญหาของการจัดการขยะตอนนี้มีสิ่งเดียวที่น่าจะเกิดผลสัมฤทธิ์ ก็คือการจัดการโดยการนำไปใช้เป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งตอนนี้ถ้าเรามีพลังงานไฟฟ้า ไปเผาแล้ว ใช้เป็นพลังงานไฟฟ้าจะเกิดผลดี ๑. คือเอกชนนี้ก็จะมีรายได้จากไฟฟ้า แล้วก็การจัดการขยะ ๒. รายได้จากท้องถิ่น ท้องถิ่นก็ได้ประโยชน์ เพราะค่าการกำจัดเราลดลงเพราะว่าการที่ เราฝังกลบนี้ ๖๐๐-๘๐๐ บาทต่อตัน ถ้าให้เอกชนมาทำนี้เราอาจจะเหลือแค่ ๓๐๐-๔๐๐ บาท ต่อตัน ประชาชนได้ประโยชน์ เพราะว่าแต่ก่อนนี้เรียกว่าเป็นภูเขาขยะประชาชนแถวนั้นที่ขาย ไม่ได้แล้ว ต้องขออนุญาตนิดหนึ่งว่าเรื่องของขยะนี้ถ้าเราไม่รีบจัดการเรื่องของปัญหา ประเทศไทยจะไม่สามารถแก้ไขได้ แต่เอกชนที่จะมาทำอันนี้จะต้องมีมาตรฐานสูง โดยเป็น ระบบปิด แล้วมี TOR ที่สูง ๑. ก็คือเรื่องของมลพิษในการที่จะเอาแก๊สที่ออกจากโรงเผาขยะ ให้มีปริมาณสารพิษที่น้อยกว่าปริมาณที่กำหนดไว้ แล้วก็ TOR ที่เหมาะสมก็คือค่าใช้จ่ายของ ท้องถิ่นที่จ่ายสนับสนุนนี้จะต้องเหมาะสมด้วย แล้ววันนี้ก็ขออภิปรายสนับสนุนการจัดการ ปัญหาขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หวังว่าตั้งแต่ต้นน้ำ การลดขยะ การสร้าง วัฒนธรรมใหม่ให้กับพี่น้องประชาชน และการจัดการขยะในการกำจัดโดยการใช้เป็นพลังงาน ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ปัญหาขยะของเราลดไปในที่สุดครับ ขอบคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านอิทธิพล ชลธราศิริ ตามด้วยท่านการณิก จันทดา หลังจาก ๒ ท่านนี้ อภิปรายเสร็จ ผมขอปิดการลงชื่ออภิปรายนะครับ เชิญท่านอิทธิพลครับ

นายอิทธิพล ชลธราศิริ ขอนแก่น ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม อิทธิพล ชลธราศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น พรรคก้าวไกล ผมขอมีส่วนร่วม ในการอภิปรายสนับสนุนให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทาง การแก้ปัญหาการบริหารจัดการขยะชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปัญหาขยะไม่ได้ เป็นเพียงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวข้องกับปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสาธารณสุข จากสถิติโดยกรมควบคุมมลพิษ ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยมากถึง ๒๕ ล้านตันต่อปี หากเทียบกับจำนวนประชากรคนไทยทั้งสิ้น ๖๙,๘๐๐,๐๐๐ คน นั่นเท่ากับ ว่าคนไทย ๑ คนสามารถสร้างขยะได้ถึง ๓๖๐ กิโลกรัมต่อปี ขอสไลด์ด้วยนะครับ

นายอิทธิพล ชลธราศิริ ขอนแก่น ต้นฉบับ

จำนวนปริมาณขยะที่มหาศาลนี้ หากมีการจัดการที่ไม่ดีพอก็อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แล้วก็สุขภาพของพี่น้อง ประชาชน การจัดการขยะของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการกำจัดขยะ ส่วนใหญ่ยังทำไม่ถูกวิธี รวมทั้งขั้นตอนและวิธีการกำจัดขยะที่ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ที่กฎหมายกำหนด หากดูข้อมูลค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะจากกรมส่งเสริมการปกครอง ท้องถิ่น พบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ กทม. มีค่าจัดการขยะทั้งหมดปีหนึ่ง ๒๐,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี จัดเก็บค่าจัดการขยะจากประชาชนผู้ประกอบการได้ ๒,๘๐๐ ล้านบาท ต่อปี นั่นหมายความว่าแต่ละปีรัฐบาลจะต้องมีเงินอุดหนุนเข้าไปกว่า ๑๗,๒๐๐ ล้านบาท ซึ่งหากระบบการจัดการขยะที่ดีตัวเลขนี้ก็อาจจะลดลงได้ ผมขอยกตัวอย่างปัญหาการจัดการ ขยะในเขตพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ที่จังหวัดขอนแก่นมีโรงไฟฟ้าขยะชุมชนจังหวัด ขอนแก่น เดิมมีการทำ MOU ร่วมกับเทศบาลนครขอนแก่นเพื่อกำจัดขยะในส่วนของพื้นที่ เทศบาลของนครขอนแก่นเท่านั้นครับ แต่ปัจจุบันมีกว่า ๒๙ อปท. นำขยะมากำจัดที่นี่ กำลังในการกำจัดขยะของโรงไฟฟ้าขยะ แห่งนี้ คือไม่เกิน ๔๐๐ ตันต่อวัน แต่ปริมาณขยะกว่า ๑,๘๐๐ ตันต่อวันของจังหวัดขอนแก่น ทั้งหมด ถ้าโรงไฟฟ้าขยะกำจัดได้ ๔๐๐ ตันต่อวัน แล้วส่วนที่เหลือไปไหน ผมขอยกตัวอย่าง จากที่บ้านผมอยู่ที่ตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น มีปริมาณขยะเดือนหนึ่งกว่า ๒,๐๐๐ ตัน ได้รับโควตาในการกำจัดขยะที่โรงไฟฟ้าขยะแห่งนี้ ๑,๒๐๐ ตันต่อเดือน แล้วอีก ๘๐๐ ตันต่อเดือนก็ต้องบรรทุกไปกำจัดที่โรงไฟฟ้าขยะจังหวัดสระบุรีบ้าง หรือบางทีก็เอา รวมไว้บนรถขนขยะ หรือแม้แต่ปล่อยไว้ตามถังขยะตามบ้านเรือนพี่น้องประชาชนเพื่อที่จะ รอเก็บให้มันได้โควตาของเดือนถัดไป สุดท้ายก็เป็นการสร้างปัญหา สร้างความเดือดร้อน ให้กับพี่น้องประชาชน

นายอิทธิพล ชลธราศิริ ขอนแก่น ต้นฉบับ

จากที่กล่าวมาข้างต้นผมจึงแสดงให้เห็นว่างบประมาณในการบริหารจัดการ ขยะที่ไม่เพียงพอนำมาสู่ประสิทธิภาพการจัดการขยะ แม้จะมีเจ้าหน้าที่และหน่วยงานต่าง ๆ ที่คอยให้บริการจัดการเก็บขยะ แต่ด้วยปริมาณขยะที่มีจำนวนมากทำให้ขยะบางส่วนไม่ได้ เข้าสู่กระบวนการการกำจัด ทำให้ขยะตกค้างตามที่พักอาศัยแหล่งชุมชน ท่อระบายน้ำ บางส่วนไหลลงแม่น้ำลำคลองหรือลักลอบทิ้งตามบริเวณริมถนน ซึ่งปัญหาขยะตกค้าง นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้วยังเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ ในต่างประเทศรัฐบาล จะให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อแก้ปัญหาขยะ ทั้งการกำหนด เป้าหมาย การลดปริมาณขยะในครัวเรือน ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ การส่งเสริม การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งแนวทางในการแก้ปัญหาการจัดการขยะอย่างยั่งยืนคือ การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและแผนดำเนินการที่ชัดเจนของภาครัฐ การบังคับใช้กฎหมาย การให้ประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบการจัดการขยะ เพราะกระบวนการกำจัดขยะที่ถูกต้องจะส่งผลดีเชิงเศรษฐกิจ ช่วยส่งเสริมและรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งทำให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนโดยรวมดีขึ้นได้ เพื่อให้รัฐ มีมาตรการที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาการจัดการขยะ ผมมีข้อเสนอแนะ ๓ ป ที่รัฐบาลจะต้อง ทำ ป ที่ ๑ ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายด้วยการให้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น เทศบาล อบต. กทม. เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการขยะ และมีการออก ข้อบัญญัติท้องถิ่นเกี่ยวกับการคัดแยกขยะในครัวเรือนก่อนที่จะส่งมอบให้กับท้องถิ่น ป ที่ ๒ คือการปรับเพิ่มงบประมาณในการพัฒนากลไก การลด คัดแยกกำจัดขยะ และกระจาย อำนาจให้ท้องถิ่น รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณในการสร้างแรงจูงใจในการลดปริมาณขยะ ในครัวเรือนและชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนากลไกการคัดแยกกำจัดขยะ เพื่อนำไปเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกในการกำจัดขยะสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีจุดคัดแยกขยะประจำชุมชน พัฒนาจุดบริการ One Stop Service ในการซื้อและ คัดแยกในแต่ละชุมชน ควรมีการกำหนดวันในการทิ้งขยะและประกาศให้เป็นมาตรฐาน เดียวกันทั่วประเทศ ชุมชนควรเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะ โดยมี อสม. เป็นคนกลาง ในการดำเนินงาน สร้างองค์ความรู้และมีบทบาทในการจัดการขยะในชุมชน ส่งเสริม การสื่อสารด้านการจัดการขยะ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีบทบาทในการสื่อสาร เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะให้กับประชาชน เช่น การคัดแยกขยะ ป สุดท้ายคือเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในการลงทุนและการหารายได้จากการจัดเก็บภาษี และค่าธรรมเนียม เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีสูงเข้ามาลงทุน ในการทำธุรกิจกำจัดขยะให้มากขึ้น ส่งเสริมมาตรการทางภาษี เช่น จัดเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขอนิดหนึ่งครับ จากบริษัทผู้ผลิตโดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ที่ทำ จากพลาสติกครับ ให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการหารายได้จากการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับขยะมูลฝอยและ เพิ่มอัตราค่าจัดเก็บขยะจากร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านอาหารให้เพียงพอ ต่อค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะในแต่ละปี ท่านประธานครับ ถ้าขยะถูกคัดแยก ขยะเป็นได้ ทั้งพลังงาน ปุ๋ย ไฟฟ้า และอื่น ๆ และขยะก็สามารถเป็นมลพิษที่ร้ายแรง มลพิษบนบก ในน้ำ ในอากาศ ในสัตว์ ในพืชและในตัวเราครับ สุดท้ายขยะจะเป็นอะไร จุดเริ่มต้นอยู่ที่ถังขยะ หน้าบ้านเราทุกคน ขอบพระคุณครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านการณิกครับ

นางสาวการณิก จันทดา เชียงใหม่ ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน การณิก จันทดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พรรคก้าวไกล พื้นที่เขตเลือกตั้ง เขต ๒ วันนี้ดิฉันขอร่วมอภิปรายสนับสนุนขอให้ทางสภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะชุมชน ดิฉันมีข้อสังเกต แล้วก็ มีข้อเสนอแนะประมาณ ๒-๓ ประการ

นางสาวการณิก จันทดา เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ข้อเสนอแนะแรก เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา วันที่ ๒๓ มกราคม ดิฉัน ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม Kick Off อำเภอสารภี ไม่เผา เราทำปุ๋ย ซึ่งเป็นกิจกรรมนำร่อง ภายใต้โครงการส่งเสริมการผลิตปุ๋ยหมักที่ได้จากใบยางนา ที่ทางเทศบาลตำบลสารภี เขาได้ทำมาอย่างต่อเนื่องค่ะ ดิฉันได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าหน้าที่กองสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อมของเทศบาลตำบลสารภีที่เขารับผิดชอบโครงการนี้ ร่วมกับอาจารย์จาก มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ได้มาสาธิตวิธีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบไม่พลิกกับกองนะคะ บอกก่อนว่า ความพิเศษของอำเภอสารภีนี้จะมีถนนที่ชื่อว่าถนนหมายเลข ๑๐๖ เชื่อมระหว่างจังหวัด เชียงใหม่แล้วก็จังหวัดลำพูน ๒ ข้างทางของถนนจะมีต้นยางนาสูงใหญ่ สูงหลายเมตรกิ่งก้าน ใหญ่โต ยิ่งในช่วงฤดูผลัดใบ ใบจากต้นยางนาก็จะร่วงหล่น เจ้าหน้าที่จากท้องถิ่น เทศบาล อบต. นี้เขาจะต้องมาเก็บกวาดกองรวมกัน แล้วก็จัดหาคนมาขนขยะตรงนี้ไป ทีนี้ทางผู้บริหารของเทศบาลตำบลสารภีเขาก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาการเผาเศษ กิ่งไม้ที่จะก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 เขาก็ได้ Idea นำร่อง โดยการเอาใบยางนามาทำเป็นปุ๋ยหมัก วิธีทำก็ง่าย ๆ นำใบไม้หรือว่าใบยางนา ๔ ส่วน ผสมเข้ากับมูลสัตว์ ๑ ส่วน จะเป็นมูลอะไร ก็ได้ ไก่ วัว ควาย หมู ได้หมดเลยนะคะ หมักรดน้ำจนครบ ๖๐ วัน จากนั้นก็นำไปบด พอนำไปบด ก็จะได้เป็นปุ๋ยหมักจากใบยางนาถือว่าเป็นการสร้างมูลค่าให้กับกองใบไม้ นอกจากนี้ชาวบ้านก็ได้รับปุ๋ยหมักจากใบยางนาไปใช้ได้ ถือว่าเป็น Idea นำร่องที่เป็น ประโยชน์อย่างยิ่ง ดิฉันขอชื่นชมแล้วโครงการดี ๆ อย่างนี้ที่นอกจากจะช่วยลดการจัดการ ใบไม้แล้ว ยังช่วยลดภาระการขนกิ่งไม้ ใบไม้ไปทิ้งอีกค่ะ พื้นที่อื่น ๆ ก็สามารถกระทำได้ เช่นเดียวกันค่ะ

นางสาวการณิก จันทดา เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ข้อเสนอแนะถัดมา เรื่องการบริหารจัดการรอบของรถเก็บขยะที่ทางองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นต้องอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในพื้นที่ ดิฉันขออนุญาต ยกตัวอย่างเทศบาลตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่ ต้องขอชื่นชมคณะผู้บริหารที่เขา ได้จัดรอบรถเก็บขยะ ขอยกตัวอย่าง หมู่ที่ ๒ บ้านโรงวัว เขาก็กำหนดให้ทุกวันจันทร์ วันพฤหัสบดีมีรอบเก็บขยะครัวเรือน ก็จะเป็นขยะทั่วไป ขยะเปียก โดยจะมีการบังคับให้ใช้ ถุงที่ทางเทศบาลกำหนดไว้ ก็จะมีค่าบริการในการจัดเก็บ ๕ บาท ๑๐ บาท แล้วแต่ถุง แล้วแต่พื้นที่ ส่วนรอบทุกวันอังคารเขาก็จะเพิ่มเป็นรอบเก็บขยะกิ่งไม้ ใบไม้โดยอนุโลม ให้สามารถใช้ถุงอื่นได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ถุงของเทศบาลค่ะ เพราะว่าบางท้องถิ่นถ้าเกิดว่า ไม่ใช่ถุงที่มีสัญลักษณ์เขาก็จะไม่เก็บถุงนั้นไป ทำให้ถ้าเป็นขยะเปียกก็ส่งกลิ่นเหม็นเน่า ถ้าเป็นขยะใบไม้มันก็ค่อย ๆ แห้งเฉา ก็ไม่สามารถกำจัดได้ สุดท้ายก็มีการลักลอบเผา ทีละเล็กทีละน้อยแบบนี้ ต้องขอชื่นชมทางเทศบาลตำบลหนองหอยที่เขาเพิ่มการจัดเก็บ รอบรถนี้ขึ้น ดิฉันจึงเล็งเห็นว่าการที่ท้องถิ่นเพิ่มรอบรถเก็บขยะ เพื่อจัดเก็บขยะประเภท กิ่งไม้ใบไม้ หรือแม้กระทั่งขยะชิ้นใหญ่โตที่ย่อยสลายไม่ได้ อย่างเช่นตู้เสื้อผ้าพลาสติก ฟูกนอน ขยะที่กำจัดไม่ได้ ถ้าทางเทศบาลสามารถช่วยลดภาระตรงนี้ได้ ก็จะช่วยลดการก่อ มลพิษทางสิ่งแวดล้อมได้เช่นเดียวกันค่ะ

นางสาวการณิก จันทดา เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ข้อเสนอแนะสุดท้าย ดิฉันได้มีโอกาสพูดคุยกับทางนายกสมาคมส่งเสริม การท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ เขาก็ได้มีการเสนอหาทางออกในการกำจัดขยะเพื่อเพิ่มมูลค่าขยะครัวเรือน ทางสมาคมเขา บอกว่าเขาพร้อมที่จะจัดอบรมการคัดแยกขยะให้ประชาชนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยเขาจะ สามารถช่วยเพิ่มความเข้าใจในการแยกขยะอย่างถูกวิธีเพื่อลดปัญหาขยะ Recycle ยกตัวอย่าง ขวดน้ำ ทราบไหมคะว่าขวดน้ำทั่วไปถ้ามีฉลากก็จะขายได้ราคาหนึ่ง แต่ถ้าเกิด เราแกะฉลากออก แกะฝา เอาหลอดออก มูลค่าที่เป็นขวดเพียว ๆ แบบนี้ก็จะส่งผลให้ขายได้ ราคาสูงขึ้นค่ะ ส่วนเศษอาหารหรือว่าขยะกำพร้า ขยะที่ใช้ประโยชน์ต่อไม่ได้ ก็คือพวกฉลาก หลอด ฝา พวกพลาสติกต่าง ๆ ทางสมาคมท่องเที่ยวเองเขาก็ได้ประสานไปยังโรงงานผลิต เชื้อเพลิงจากขยะหรือว่าโรงงาน RDF ให้รับช่วงต่อไป ขยะส่วนนี้ก็จะถูกนำไปทำเป็น พลังงานเชื้อเพลิงต่อไป ดังนั้นดิฉันจึงเล็งเห็นว่าอยากให้หลาย ๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐและ ภาคเอกชนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการกำจัดขยะที่ถูกวิธี ส่งเสริมให้เด็กเยาวชนและ ประชาชนเห็นความสำคัญของการคัดแยกขยะก่อนที่จะมีการทิ้งขยะต่อไป เล็งเห็นถึงคุณค่า มูลค่าของขยะให้เป็นรูปธรรม ซึ่งจะสอดคล้องกับโครงการ Kick Off ขับเคลื่อนธนาคารขยะ ที่ทางกระทรวงมหาดไทยเพิ่งรณรงค์ไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ก็อยากจะฝากว่าการทิ้งขยะ มันไม่ได้อยู่ที่ประชาชนอย่างเดียว การอำนวยความสะดวกของประชาชนในการทิ้งขยะ ก็อยู่ที่ภาครัฐจะเป็นผู้กำหนดให้ค่ะ ขอบคุณมากค่ะท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับคณะผู้เข้าร่วมกิจกรรม School Parliament ประจำปี ๒๕๖๗ จำนวน ๑๒๐ ท่าน ยินดีต้อนรับครับ ต่อไปเชิญท่านเทียบจุฑา ขาวขำ ครับ

นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน เทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ดิฉันขอร่วมอภิปรายสนับสนุนญัตติของเพื่อนสมาชิกทั้ง ๕ ฉบับ ที่ขอให้ สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่อง การบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท่านประธานคะ จะเห็นว่าขยะนี้ มีความสำคัญมาก ถึงแม้จะมีกลิ่นเหม็นไม่ค่อยดี แต่ก็มีความสำคัญ ส่งผลกระทบ หลาย ๆ อย่างต่อการบริหารจัดการแล้วก็สุขภาพของร่างกาย ท่านประธานทราบไหมว่า ประเทศไทยเรานี้มีขยะต่อวัน ๗๘,๐๐๐ ตันต่อวัน เยอะเหลือเกิน เป็นปัญหาใหญ่ของ ประเทศ นับว่าจะทวีคูณขึ้นมาทุกวัน ๆ จนจะล้นเมืองแล้ว โดยเฉพาะปัญหาขยะตกค้าง มีมากในสิ่งแวดล้อมทั่ว ๆ ไป จากรายงานของกรมควบคุมมลพิษได้ระบุไว้ในปี ๒๕๖๕ ว่ามีขยะทั้งหมด ๒๕.๗ ล้านตัน และมีขยะที่ไม่ได้รับการจัดการให้ถูกต้องมีปริมาณถึง ๗.๑ ล้านตัน ก็คือประมาณร้อยละ ๒๗ จากปริมาณขยะทั้งหมดของปี ๒๕๖๕ ขยะนี้มันก็ เป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ละคนก็บอกมันเหม็น มันทำบรรยากาศเสีย มันเกิดมลภาวะ มลพิษ ต่าง ๆ แล้วก็ถ้ามันหมักหมมกันนาน ๆ ก็จะเป็นแหล่งรวมเชื้อโรค ถ้าดูแลไม่ดี เก็บขยะไม่ดี หมักหมมนาน ๆ น้ำมันก็รั่วไหลในบ้าน ในถนนเหมือนที่ท่านสมาชิกหลาย ๆ ท่านได้พูดไป ลงแม่น้ำลำคลองจนเป็นขยะในน้ำ น้ำเน่า ลงไปในทะเลก็ทำให้น้ำทะเลเสียหาย เกิดปัญหา สะสมของไมโครพลาสติก มันก็จะเกิดขึ้นในอาหารทะเลที่เรารับประทานอยู่ทุก ๆ วัน อันนี้ดิฉันก็ได้ไปดูผลสำรวจ ของกรมควบคุมมลพิษเกี่ยวกับสถานที่กำจัดขยะ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ แต่เขาได้สำรวจเพียง ๗,๗๗๗ แห่ง ก็พบว่า ๓๒๘ แห่ง เป็นสถานที่กำจัดทั้งหมด นำขยะมา ใช้ได้ ๓๐๐ กว่าแห่ง ที่เหลืออีก ๗๐๐ กว่าแห่งมีปัญหาในการจัดการขยะ ในรายงานของ กรมควบคุมมลพิษยังพบอีกว่าขยะที่ถูกกำจัดถูกต้องเกิดจากสถานที่เหล่านี้ คือหมายถึง สถานที่ดีตามหลักวิชาการเพียง ๒๖ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพราะฉะนั้นดิฉันคิดว่าขยะที่ยังเหลือ อีก ๗๔ เปอร์เซ็นต์ของประเทศถูกกำจัดหรือจัดการโดยวิธีที่ยังไม่ถูกต้อง ขอสไลด์นะคะ

นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

เช่น เอาไปเทกองไว้ หรือว่าเผากลางแจ้ง ไม่ได้เผาอยู่ในเตา ไม่มีระบบการจัดการ นี่คือการจัดการผิดหลักการ มันก็ทำอากาศเสียเป็น มลพิษ พอเผาแล้วเกิดมลพิษ เป็นพิษผสมไปกับอากาศไม่ดีอีก ก็จะเกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 เกิดเป็นสารพิษที่พี่น้องประชาชนเราจะต้องสูดดมหายใจเข้าสู่ปอด ทำให้ร่างกายของเรามี โรคร้ายเข้ามาแทรกแซง ระบบทางเดินหายใจก็แย่ จะมีโรคปอดเข้ามาอีก แล้วได้ดูรายงาน ทราบว่าอากาศเป็นพิษคร่าชีวิตพี่น้องประชาชนก่อนวัยอันควร ปีหนึ่ง ๒๘,๐๐๐ กว่าคนถึง ๓๒,๐๐๐ กว่าคน ก็เกิดจากปัญหาอุปสรรคหลาย ๆ อย่างจากการกำจัดขยะขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นเกือบทั้งหมด ปัญหาสำคัญที่สุดก็คือปัญหาการขาดแคลนงบประมาณ จัดงบประมาณให้ท้องถิ่นเขาน้อยในการทำสถานที่จัดการขยะ ถ้าจะให้เขาทำให้ดีต้อง สนับสนุนงบประมาณเขาให้มาก จะได้จัดสถานที่กำจัดขยะให้ถูกต้อง เพราะมันมีค่าใช้จ่ายสูง

นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

ปัญหาข้อที่ ๒ คือเรื่องสถานที่การกำจัดขยะ เพราะว่าบางชุมชนนี้จะต่อต้าน เกี่ยวกับเรื่องสถานที่ เพราะมันส่งกลิ่นเหม็น แล้วก็อากาศก็ไม่ค่อยดี ส่งผลกระทบให้กับ ร่างกาย ต่อครอบครัวพี่น้องประชาชน แล้วก็ขณะเดียวกันพอแหล่งสถานที่นี้ไปอยู่ใกล้กับ ชุมชน ชุมชนก็ไม่ชอบอีก เพราะว่ามันส่งกลิ่นเหม็น มันไม่ดี มลภาวะไม่ค่อยดี คนที่จะมารับ สัมปทานขยะนี้ก็มีน้อย เพราะปัญหาจุดคุ้มทุนของการลงทุนระบบการทำขยะ เนื่องจาก การเผาขยะมันมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ต้องหาขยะที่ดี ที่เขาสามารถปรับเปลี่ยนเป็นพลังงานได้ เป็นไฟฟ้าได้หรือนำมาขายได้ เพราะฉะนั้นการลงทุนของเอกชนก็มีน้อย ดิฉันขอยกตัวอย่าง ของพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ปัญหาการจัดการขยะของจังหวัดอุดรธานีก็มีปัญหามาก จากข้อมูล ของสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ ๙ จังหวัดอุดรธานีพบว่า การจัดการขยะมูล ฝอยชุมชนในปี ๒๕๖๖ ของจังหวัดอุดรธานี วันหนึ่งมี ๑,๕๘๓ ตัน แต่ว่าจัดเก็บได้แค่ ๑๕๒ แห่ง ๒ แห่งถูกหลักทางวิชาการ อีก ๖๒ แห่งนี้ไม่ถูก เพราะฉะนั้นในจังหวัดอุดรธานีมี ปริมาณขยะสูงมากที่กำจัดไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการของหลักการที่กำหนดในเรื่องของ วิชาการการกำจัดขยะ ดิฉันขอเพิ่มอีกประเด็นหนึ่งค่ะท่านประธาน ขอเวลานิดเดียวค่ะ จากงานวิจัยของท่านศุภกร ฮั่นตระกูล ท่านให้ข้อมูลว่าปัญหาการแก้ขยะปัจจุบันนี้ที่เกิดปัญหาก็มาจากเรื่องทาง กฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยเป็นต้นเหตุ เขาว่าอย่างนั้นนะคะ เกิดปัญหา บริหารจัดการขยะของประเทศไทยมี ๓ สาเหตุ ๑. ปัญหาเกี่ยวกับการที่ไม่มีกฎหมายเป็น การเฉพาะในการจัดการขยะ การบังคับใช้ในปัจจุบันไม่เข้มงวด ไม่มีกฎหมายที่บังคับ ให้แยกขยะ ทำให้การบังคับกฎหมายขาดประสิทธิภาพในการจัดการขยะในภาพรวม ๒. ปัญหาในเรื่องของการจัดการขยะมีหลายหน่วยงาน มันต้องมาบูรณาการจัดการขยะให้ไป ทิศทางเดียวกัน ๓. ปัญหาขาดการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน เพราะว่าเนื่องจาก หน่วยงานของรัฐมีหลายหน่วยงาน ในเรื่องการจะสื่อสารให้ความรู้ความเข้าใจกับ พี่น้องประชาชน ให้พี่น้องประชาชนรับรู้ข้อมูลดิฉันว่าเข้าถึงน้อย ดังนั้นดิฉันจึงขอเสนอให้ คณะกรรมาธิการที่จะทำการศึกษาถึงการมีกฎหมายกลาง ให้มีกฎหมายกลางมาบังคับใช้ ในการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ แล้วก็ศึกษาประเด็นในการส่งเสริมให้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นมีภารกิจในการจัดการขยะ แยกขยะให้ได้มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศค่ะ ท่านประธาน ขอบพระคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านสกล สุนทรวาณิชย์กิจ ครับ

นายสกล สุนทรวาณิชย์กิจ ปทุมธานี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม สกล สุนทรวาณิชย์กิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เขต ๔ พื้นที่เทศบาล นครรังสิต เทศบาลเมืองคลองหลวงและตำบลสวนพริกไทย อำเภอเมือง จากพรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ก่อนที่ผมจะเริ่มอภิปรายสนับสนุนญัตติและเสนอแนะแนวทางใน การบริหารจัดการขยะในท้องถิ่นหรือชุมชน ผมอยากจะเริ่มต้นด้วยการแสดงข้อมูลประกอบ โดยนำพื้นที่จังหวัดปทุมธานีมาเป็นกรณีศึกษาครับ อย่างที่ทุกท่านทราบจังหวัดปทุมธานี ถือเป็นจังหวัดที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วจากสังคมชนบทสู่สังคมเมืองด้วยการ เปลี่ยนแปลงการผลิตจากภาคเกษตรกรรมเป็นภาคอุตสาหกรรม ทำให้จังหวัดปทุมธานีเป็น ปลายทางแห่งหนึ่งที่ทุกคนจากทุกภูมิภาคต้องเข้ามาหางานทำ อีกทั้งยังเป็นที่ทั้งของ สถาบันการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ทำให้มีเยาวชนเข้ามาศึกษาในจังหวัด ปทุมธานีจำนวนมาก ขอสไลด์ขึ้นด้วยนะครับ

นายสกล สุนทรวาณิชย์กิจ ปทุมธานี ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ขออนุญาตหยุด เวลาได้ไหมครับท่านประธาน ขอปรึกษาหารือครับ ไม่แน่ใจว่าสไลด์มีปัญหาหรือเปล่าครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ทางเจ้าหน้าที่ลองตรวจสอบ

นายสกล สุนทรวาณิชย์กิจ ปทุมธานี ต้นฉบับ

ขอบคุณครับท่านประธาน ท่านประธานครับ กราฟนี้แสดงให้เห็นแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น ต่อวัน ซึ่งทุกท่านก็อาจจะคิดว่าแนวโน้มเพิ่มขึ้นนี้ก็ถูกต้องแล้ว เพราะประชากรในพื้นที่ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน ถ้าท่านคิดเช่นนี้ก็ไม่ผิดครับ แต่ถ้าท่านลองมองดูข้อมูลให้ลึกกว่านี้ ท่านก็จะพบว่าชุดข้อมูลในปี ๒๕๖๕ เทียบกับปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ แสดงให้เห็นว่า ประชากรคนหนึ่งมีความสามารถในการสร้างขยะเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม สังเกตได้จาก แท่งสีน้ำเงินนะครับ ซึ่งแทนจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่แท่งสีส้ม แทนปริมาณขยะมูลฝอยต่อวัน พุ่งสูงขึ้นไม่สอดคล้องกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นนะครับ ซึ่งหากเราลองเจาะลึกไปในรายละเอียด โดยจำแนกตามรูปแบบการจัดการขยะออกเป็น ๓ รูปแบบ ได้แก่ การนำกลับมาใช้ประโยชน์ การถูกกำจัดอย่างถูกต้อง และการกำจัด อย่างไม่ถูกต้อง เราก็จะเห็นได้ว่าหนึ่งในประเด็นที่ควรตั้งคำถามคือ เหตุใดสัดส่วนของขยะ มูลฝอยที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ ถึงปี ๒๕๖๕ มีสัดส่วนสูงไม่น้อยกว่า ร้อยละ ๕๐ หรือครึ่งต่อครึ่ง โดยอยากให้ทุกท่านสังเกตสัดส่วนระหว่างสีเขียวกับสีแดงในแต่ละปีอันนี้สไลด์แรกจะเป็น ของปี ๒๕๖๑ สัดส่วนของขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้องอยู่ที่ร้อยละ ๕๐ ต่อมา ปี ๒๕๖๒ เป็นร้อยละ ๕๑ ปี ๒๕๖๓ จะเป็นร้อยละ ๗๙ ปี ๒๕๖๔ ลดลงมาเป็นร้อยละ ๖๒ แล้วก็ปี ๒๕๖๕ เป็นร้อยละ ๕๑ โดยปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สัดส่วนของขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัด อย่างไม่ถูกต้องเป็นเช่นนี้มีปัจจัยมาจากสถานที่กำจัดที่ไม่เป็นไปตามแนวทางหรือข้อกำหนด ของกรมควบคุมมลพิษ หรืออีกปัจจัยหนึ่งอย่างที่ทุกท่านทราบดีมาจากกระบวนการคัดแยก ขยะต้นทาง นับตั้งแต่ครัวเรือนที่ไม่มีการทำ ท่านประธานครับ ผมอยากให้ท่านและเพื่อน สมาชิกจำตัวเลขขยะมูลฝอย ๑,๙๕๐ ตันต่อวัน ของจังหวัดปทุมธานีเอาไว้ และอยากให้ท่าน ได้ลองดูข้อมูลต่อไปนี้ ผมเชื่อว่าทุกท่านจะต้องตั้งคำถามว่าเหตุใดปริมาณขยะถึงได้สวนทาง กับจำนวนสถานที่กำจัดขยะเป็นอย่างมาก ทุกท่านครับ จะลองเปรียบเทียบอย่างง่ายโดยใช้ ชุดข้อมูลในปี ๒๕๖๑ และปี ๒๕๖๕ โดยเอาสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ถูกต้องและสถานที่ กำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้องก็ได้นะครับ ท่านจะพบว่าจำนวนสถานีกำจัดขยะนั้นลดลงจาก ๔ แห่ง เหลือ ๒ แห่ง ซึ่งสวนทางกับปริมาณขยะมูลฝอยที่เพิ่มสูงขึ้น ต่อไปนี้ก็จะเป็นสถานี กำจัดขยะในจังหวัดปทุมธานี สถานีที่ ๑ ก็มีสถานีขนถ่ายขยะมูลฝอยเทศบาลเมืองลาดสวาย สถานีขนถ่ายขยะมูลฝอยฝั่งตะวันออกเทศบาลนครรังสิต บ่อขยะองค์การบริหารส่วนตำบล ลำไทร และมีบ่อขยะองค์การบริหารส่วนตำบลคลองสามที่บริเวณบริษัทที่โชว์ในสไลด์นะครับ ทุกท่านครับ ผมจึงไม่แปลกใจจริง ๆ ที่เราจะได้เห็นปริมาณขยะมูลฝอยตกค้างในปี ๒๕๖๕ ของจังหวัดปทุมธานีสูงถึง ๑๓๑,๗๖๐ ตัน ซึ่งสูงกว่าในปี ๒๕๖๓ หรือช่วงผ่อนปรนมาตรการ โควิด-๑๙ ถึง ๑๐๐,๐๐๐ ตัน ข้อมูลที่ผมกล่าวมานี้ยังไม่รวมปริมาณขยะมูลฝอยที่ไม่ได้เข้าสู่ ระบบ ซึ่งจะสามารถเห็นได้ตามพื้นที่รกร้าง ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแค่ต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนโดยรอบเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งมั่วสุมที่เสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรมดังคลิปวิดีโอ ที่อยู่ด้านขวาของสไลด์ จากคลิปก็จะเป็นชายผู้หนึ่งก็กำลังเผาบางสิ่งบางอย่างอยู่ เราก็ลงไปดู ปรากฏว่ามันเป็นสายไฟด้วยนะครับ สายไฟที่สัปดาห์ก่อนเราคุยกันว่าลักตัดสายไฟนี่ละครับ เขาก็มาหาที่ตามนี้มาเผากัน สุดท้ายผมอยากจะแชร์ประสบการณ์ขณะที่ได้ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศญี่ปุ่นถึงรูปแบบหรือวิธีการกำจัดขยะทั้งในครัวเรือนและชุมชนดังนี้ เทศบาลจะ กำหนดประเภทของขยะ เช่น ขยะทั่วไปเผาได้ ขยะเปียก ขยะกระดาษ กระป๋อง ขวดแก้ว ขวด PET และขยะใหญ่ หรือแล้วแต่ละเทศบาลจะกำหนด โดยเจ้าหน้าที่จะเข้าจัดเวรเก็บแต่ละ ประเภทเดือนละครั้งบ้าง หรือเดือนละ ๒ ครั้งบ้าง ยกเว้นขยะที่เผาได้เป็นขยะครัวเรือน ที่เกิดขึ้นบ่อยก็จะจัดตารางเวรเข้าเก็บแต่ละพื้นที่ สัปดาห์ละ ๒ ครั้ง ในแต่ละชุมชนหมู่บ้าน ก็เวียนเปลี่ยนไปไม่ซ้ำวันกัน ทุกบ้านจะเอาขยะออกมาทิ้งที่ห้องทิ้งขยะของชุมชนที่สร้างขึ้น เฉพาะ มิดชิด นกกาก็เข้ามาคุ้ยขยะไม่ได้ ขอเพิ่มเติมอีกนิดหนึ่งนะครับ ส่วนใครที่ทิ้งขยะผิด ประเภททางเทศบาลก็จะไม่เก็บไป และขยะใหญ่ต้องเสียค่าทิ้ง ถ้าลักลอบทิ้งก็ถือว่าผิด กฎหมายนะครับ รถที่มาเก็บขยะจะเก็บขยะประเภทเดียวและไปทิ้งที่เฉพาะประเภทนำไป กำจัดต่อ ส่วนประชาชนเองก็ให้ความร่วมมือดี อีกทั้งยังมีการปลูกฝังการแยกขยะตั้งแต่ระดับปฐมวัยเลย ให้รู้วิธีการแยกขยะที่ถูกต้อง ท่านประธานครับ ผมเชื่อว่าประเทศไทยเราก็ทำได้ ถ้าเราวาง ระบบให้ดี ผลักดันประเด็นนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ จัดสรรที่กำจัดขยะที่ถูกต้องเพียงพอ ขยะยิ่งสะสมนานเท่าไร ก็ต้องกำจัดมันนานขึ้นเท่านั้น เรามาหาวิธีการลดขยะสะสมในวันนี้ เพื่อลูกหลานของเราในอีก ๑๐ ปี ๒๐ ปีข้างหน้า ผมขอสนับสนุนญัตตินี้ ขอบคุณนะครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ อีก ๔ ท่านจะได้เตรียมตัวนะครับ ท่านแรก ท่านร่มธรรม ขำนุรักษ์ ท่านที่ ๒ ท่านปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ท่านที่ ๓ ท่านปิยชาติ รุจิพรวศิน ท่านที่ ๔ ท่านเจษฎา ดนตรีเสนาะ เชิญท่านร่มธรรม ขำนุรักษ์ ครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขออภิปรายสนับสนุนญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาการจัดการขยะชุมชนของท่านพูนศักดิ์ จันทร์จำปี ท่านประธานครับ ปัญหา ขยะถือเป็นปัญหาใหญ่ในระดับประเทศและระดับโลกที่เราต้องเร่งแก้ไข แต่เมื่อเราพิจารณา ถึงการแก้ไขปัญหาขยะ ผมคิดว่าเราต้องคำนึงถึงการบริหารจัดการ ๓ ส่วนก็คือปัญหา การจัดการตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ไปจนถึงปลายทางของขยะอย่างเป็นระบบและไม่สามารถ แก้ไขปัญหาแบบแยกส่วนได้ท่านครับประธาน ขออนุญาตขึ้นสไลด์ด้วยนะครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

ส่วนแรก คือต้นทาง นั่นก็คือปัญหา การผลิต การใช้และการสร้างขยะที่เพิ่มมากขึ้น มากเกินความจำเป็นและไม่มีการควบคุม โดยในปัจจุบันนี้มีการใช้แล้วก็สร้างขยะแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือที่เราเรียกว่า Single-Use มากขึ้น โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นปัญหาคือบรรจุภัณฑ์ Packaging หรือวัสดุพลาสติกที่ใช้ ครั้งเดียวทิ้ง ที่มักจะไม่ถูกนำไป Recycle เช่น ถุงพลาสติก กล่องโฟม แก้วพลาสติก หรือหลอด เป็นต้น จากสถิติขยะมูลฝอยของกรมควบคุมมลพิษ ในปี ๒๕๖๕ ประเทศไทย มีขยะมูลฝอย ๒๕.๗ ล้านตัน และมีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉลี่ยแล้วคนไทย เราสร้างขยะประมาณ ๑ กิโลกรัมต่อคนต่อวัน พอมาดูประเภทขยะ อันดับ ๑ ก็เป็นขยะอาหาร ซึ่งมีอยู่มากกว่า ๙.๖๘ ล้านตัน หรือคิดเป็นประมาณ ๓๘ เปอร์เซ็นต์ สำหรับขยะที่มากที่สุด เป็นปริมาณอันดับ ๒ ก็คือขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ที่มีอยู่มากกว่า ๒.๘๓ ล้านตัน ในปี ๒๕๖๕ ผมคิดว่าตรงนี้เราต้องมีมาตรการลดการสร้างขยะตั้งแต่ต้นทาง ต้องควบคุม และลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่มากเกินความจำเป็น โดยเฉพาะวัสดุแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือว่า ยากต่อการ Recycle โดยต้องสนับสนุนวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือย่อยสลายได้ ตามธรรมชาติ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

ส่วนที่ ๒ คือกลางทาง นั่นก็คือปัญหาการทิ้ง ทั้งการทิ้งไม่ถูกที่ ไม่มีการคัด แยกขยะที่เป็นระบบ แล้วก็ไม่มีการจัดเก็บขยะที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งขยะทุกประเภท ทั้งขยะอาหาร ขยะพลาสติก ขยะอันตราย ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะติดเชื้อ ส่วนใหญ่แล้ว ทุกประเภทถูกทิ้งรวมกันมาหมดในถังเดียว ในที่เดียวกัน ทีนี้ขยะทุกประเภทก็เลยปนเปื้อน กันไปหมด ทำให้ยากต่อการจัดการ แต่ที่สำคัญขยะบางส่วนไม่ได้ทิ้งลงถัง ไม่เข้าสู่ระบบ การจัดเก็บด้วยซ้ำไป เช่น ขยะบางส่วนมีการนำไปเททิ้งข้างทางเป็นกองขยะ มีการเผาขยะ หรือทิ้งไปในสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นขยะที่ยากต่อการ Recycle นำไปใช้ประโยชน์ ต่อไม่ได้หรือว่าขายไม่ได้ ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในอากาศ บนบกและใน แหล่งน้ำ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชนและสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ ท่านประธานครับ เรามีสถิติที่น่าสลดใจในเรื่องนี้ คือเราติด ๑ ใน ๑๐ อันดับประเทศที่มีขยะ ทะเลมากที่สุดในโลก สะท้อนให้เห็นแล้วจากหลาย ๆ สิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องสัตว์ทะเล หายากที่ต้องตายเพราะมีขยะพลาสติกมากมาย ไม่กี่วันมานี้เราได้เห็นภาพเต่ามะเฟือง ที่จังหวัดพังงา เป็นสัตว์ทะเลหายากครับ ต้องตายเกยตื้น แล้วก็พบว่ามีเชือกอวนถูกพัน รอบตัวทั้งหมด ที่น่าเศร้าไปกว่านั้นผ่าชันสูตรออกมาพบไข่เต่า ๑๓๖ ฟอง ตายทั้งกลม ตายทั้งแม่เต่ามะเฟือง แล้วก็ไข่ที่อยู่ในท้องด้วย เป็นเรื่องที่น่าเศร้านะครับ ในส่วนนี้ผมคิดว่าเราต้องมีมาตรการการคัดแยกขยะจากครัวเรือนและสถานที่ต่าง ๆ ควรมี การจัดเก็บและการทิ้งขยะอย่างเป็นระบบ ผมขอยกตัวอย่างใน กทม. ครับท่านประธาน ได้มีโครงการที่น่าสนใจ ก็คือโครงการไม่เทรวม ที่ให้มีการแยกขยะ เริ่มเป็น ๒ ประเภทง่าย ๆ ก่อนก็คือขยะแห้งและขยะเปียก ขยะแห้งก็คือขยะทั่วไป เช่น กระดาษ ขวดพลาสติก กระป๋อง กล่องข้าว ด้านขยะเปียก ก็คือขยะจำพวกอาหารหรือขยะอินทรีย์ เมื่อเราแยกขยะ ๒ ประเภทนี้ออกจากกันแล้ว การจัดการที่ปลายทางก็ทำได้ง่ายขึ้น นี่เป็นตัวอย่างที่ดีที่ผมคิดว่า เราน่าจะมีการนำไปปรับใช้ไปทดลองในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ อีกตัวอย่างหนึ่งครับ ก็คือตัวอย่างที่จังหวัดภูเก็ตมีกลุ่มที่เรียกว่า BABA WASTE ที่พยายามรณรงค์ให้มีการแยก ขยะใส่ถุงสีตามประเภทขยะต่าง ๆ เมื่อทิ้งรวมกันแล้ว อาจจะรวมในคันเดียวกันเลยก็ได้ ใช่ไหมครับ แต่เจ้าหน้าที่ก็สามารถไปแยกขยะที่ปลายทางได้ง่ายขึ้น นำไปจัดการได้เป็น ระบบ วิธีนี้หลายประเทศก็ทำครับท่านประธาน ผมว่าเราสามารถนำมาปรับใช้ได้นะครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

ส่วนที่ ๓ ของการจัดการขยะ ส่วนสุดท้ายก็คือปลายทางของขยะ ปัญหาการจัดการขยะ ซึ่งเป็นคำถามที่สำคัญว่าขยะ ๒๕.๗ ล้านตันที่เราสร้างมา ในปี ๒๐๖๕ ไปไหนบ้าง จาก ๒๕.๗ ล้านตัน จำนวน ๒๐ ล้านตัน หรือ ๗๘ เปอร์เซ็นต์ ถูกเก็บขนไปจัดการโดยท้องถิ่นและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เหลืออีก ๕.๗ ล้านตัน หรือ ๒๒ เปอร์เซ็นต์มีการจัดการเอง คัดแยกนำไปขาย Recycle ตั้งแต่ที่บ้านหรือสถานที่ ต่าง ๆ มาดูในส่วนของที่ถูกจัดเก็บไป ๒๐ ล้านตัน มีการคัดแยกนำไปใช้ประโยชน์ต่อหรือที่ เราเรียกว่า Recycle นี้เพียง ๔.๘ ล้านตัน หรือ ๑๙ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เหลืออีก ๑๕ ล้านตัน หรือ ๕๙ เปอร์เซ็นต์ก็ถูกนำไปกำจัด โดยจาก ๑๕ ล้านตันที่เหลือนี้ไปสู่ แหล่งกำจัดที่มีอยู่ประมาณ ๒,๐๐๐ แห่งทั่วประเทศ ส่วนแรกดีหน่อย ๙.๘ ล้านตัน ถูกกำจัดอย่างถูกต้องด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การฝังกลบ ไปเตาเผาผลิตพลังงาน ระบบหมักปุ๋ย แล้วก็ไปผลิตเชื้อเพลิง เป็นต้น แต่อีกส่วนสุดท้ายที่น่ากังวลก็มีอีก ๕.๔ ล้านตันนี้ถูกกำจัด แบบไม่ถูกต้องในสถานที่กำจัดแบบไม่ถูกต้อง ซึ่งมีอยู่มากกว่า ๑,๙๐๐ แห่งทั่วประเทศ วิธีก็คือนำไปเทกองรวมกัน นำไปเผาและวิธีอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตใช้เวลาสั้น ๆ ได้ยกตัวอย่างในจังหวัดพัทลุงเพียงแห่งเดียว ก็คือปัญหาขยะที่สถานีขนถ่ายขยะของเทศบาลตำบลท่ามะเดื่อ อำเภอบางแก้ว จังหวัด พัทลุงที่ผมได้ลงไปดูพื้นที่กับท่านนายกเทศมนตรี แล้วก็เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันขยะ ที่สถานีขนถ่ายขยะแห่งนี้มีพื้นที่ ๑๔ ท้องถิ่น ใน ๖ อำเภอ ผมขออนุญาตเวลาอีกเล็กน้อย ครับท่านประธาน ท้องถิ่น ๑๔ ท้องถิ่นใน ๖ อำเภอ เอาขยะมาส่งที่สถานีขนถ่ายแห่งนี้ ที่เทศบาลท่ามะเดื่อ แล้วเทศบาลท่ามะเดื่อก็จะส่งต่อไปยังศูนย์กำจัดในเทศบาลเมืองพัทลุง อีกที ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการขนส่งแล้วก็นำไปทิ้งค่อนข้างสูง แล้วก็มีขยะที่สถานี มาที่สถานีแห่งนี้ ๒๕ ตันต่อวัน มีตกค้างประมาณ ๑๐ วันต่อตัน รวมแล้วขณะนี้มีขยะตกค้าง ที่สถานีของเทศบาลท่ามะเดื่อ ๒๐,๐๐๐ ตัน เยอะมาก ทางเทศบาลต้องการงบประมาณแล้ว ก็เครื่องมืออุปกรณ์ในการบริหารจัดการ และต้องการให้กรมควบคุมมลพิษได้เปลี่ยน วัตถุประสงค์จากสถานีขนถ่ายขยะให้เป็นศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเพื่อบริหารจัดการต้นทางได้ ในระดับที่ดีขึ้นไม่ต้องขนที่อื่น ท่านประธานครับ จากที่ผมพูดมาทั้งหมดนี้จะเห็น ได้ว่าปัญหาขยะต้องมีการบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง คือเราต้องพยายามไม่ให้เกิดขยะ มีขยะให้ได้น้อยที่สุด กลางทางก็คือการทิ้ง แล้วก็การคัดแยกให้มีประสิทธิภาพ ไปจนถึง ปลายทางต้องมีการจัดการอย่างถูกวิธีโดยทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน เอกชน ผู้ผลิต และภาครัฐต้องมีส่วนร่วม ผมจึงขอสนับสนุนให้สภาแห่งนี้ได้ตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อมา ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะชุมชน โดยขอให้นำข้อเสนอแนะของผมไปประกอบ การพิจารณาด้วยครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช เชิญครับ

นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช เชียงราย ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย เขต ๒ อำเภอ แม่จัน อำเภอเวียงชัย อำเภอเวียงเชียงรุ้ง และอำเภอเมือง ๓ ตำบล พรรคเพื่อไทยค่ะ ท่านประธานคะ เรื่องขยะเราก็พูดกันมาไม่ต่ำกว่า ๓๐ ปีแล้ว ตั้งแต่ที่ดิฉันจำความได้ ดิฉันได้ฟังการอภิปรายจากการพูด จากการศึกษางานวิจัย จากบทความอย่างหลากหลายค่ะ แต่สภาพปัญหาวันนี้ก็ยังเหมือนเดิม และประเทศไทยมีขยะเกิดขึ้น ๒๕.๗ ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นกว่า ๗๐,๐๐๐ ตันต่อวัน โดยดิฉันมองว่าการบริหารจัดการในเรื่องปัญหาขยะ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะมีการบริหารจัดการที่ไม่ได้ดีเพียงพอ และถ้าเราเปรียบเทียบ พื้นที่ที่มีการจัดการขยะอย่างเยี่ยมยอดอย่างต่างประเทศแล้วก็จะเห็นได้ว่าการบริหารจัดการ ขยะจะเริ่มต้นตั้งแต่ครัวเรือนและชุมชน รวมถึงวิธีการลงโทษของผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม กฎระเบียบของชุมชน นั่นก็คือการปฏิเสธไม่รับขยะจากชุมชนหรือครัวเรือน และครัวเรือน จะต้องมีการแยกขยะ ไม่ว่าจะเป็นขยะเปียก ขยะแห้ง เศษไขมันหรือขยะอันตราย และการ จัดการเรื่องของขยะวันนี้เราต้องมีการแบ่งแยก Zone แล้วว่า Zone ไหนที่เป็นพื้นที่ เกษตรกรรม Zone ไหนที่เป็นพื้นที่เมือง Zone ไหนที่เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม จะต้องมี การจัดการขยะที่แตกต่างกันไป การแก้ไขปัญหาในเรื่องของขยะ หากใช้การแก้ไขปัญหา อย่างในยุคปัจจุบันเพียงด้านเดียวก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาในเรื่องของขยะได้อย่างยั่งยืน ดิฉันขอยกตัวอย่างการบริหารจัดการขยะ อย่างจังหวัดเชียงรายบ้านเกิดของดิฉันเอง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นขยะจากเกษตรกรรมหรือครัวเรือน จะไม่ค่อยเห็นขยะจากอุตสาหกรรมหนัก แต่ในทางกลับกันใน Zone ของทางจังหวัดอื่น ๆ ที่มีทั้งอุตสาหกรรมหนัก รวมถึงขยะจาก ครัวเรือน อาจจะต้องมีการบริหารจัดการขยะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีความแตกต่างกัน ไปตามบริบทของแต่ละพื้นที่ และอย่างในเขตบริเวณของกรุงเทพมหานคร ก็มีนักลงทุนที่เขา เข้ามาทำ Waste to Energy คือการเอาขยะไปเผาไหม้เพื่อให้เกิดพลังงาน ซึ่งปัจจุบันนี้ โรงงานขยะที่ทำกัน ที่หนองแขมหรืออ่อนนุชก็สามารถแก้ไขปัญหาได้บางส่วน แต่เนื่องจากว่า ขยะที่นำไปเผาไหม้ก็จะมีบางส่วนที่เป็นขยะเปียก ซึ่งจะต้องมีการจัดการกำจัดน้ำ และน้ำเสีย เหล่านั้นก็จะกลายเป็นปัญหา หากเรากำจัดขยะไม่ดีก็จะเกิดการเน่าเหม็นเกิดขึ้นได้ ดังนั้น เทคโนโลยีสมัยใหม่ของการบริหารจัดการเรื่องของขยะก็อาจจะมีต้นทุนที่สูงเพิ่มมากขึ้น ไปด้วย ท่านประธานคะ การลดขยะของครัวเรือนตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทางนั้นก็เป็น เรื่องที่จำเป็นเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นการศึกษาเรื่องของการบริหารจัดการขยะ ไม่ว่าจะ เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือในส่วนของท้องถิ่นเอง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้ง การศึกษาหรือการป้องกันการ Prevention ตั้งแต่ครัวเรือนก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ประชาชนในครัวเรือนจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องให้ความร่วมมือเพื่อ Reduce หรือว่าลดปัญหานี้ให้น้อยลง ท่านประธานคะ พวกเรายังจำเรื่องของ 3R ได้ไหมคะ Reduce Reuse Recycle และ 3R นี้ จะเป็นสิ่งสำคัญในการเป็นแกนที่จะนำมาแก้ไขปัญหาเรื่องของ ขยะในภาพรวม แต่ถ้าหากว่า 3R ที่กล่าวมาข้างต้นยังไม่เพียงพอ เราก็ต้องคิดนำเอาขยะไป ทำเป็นพลังงานเพิ่มเติมขึ้นมา หรือที่เรียกว่า Waste to Energy อย่างที่ดิฉันได้กล่าวมา เบื้องต้น แต่ทุกอย่างมันก็อาจจะติดตรงที่ว่าท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่น อปท. แต่ละที่มีรายได้ ที่ไม่เท่าเทียมกันค่ะ พื้นที่ไหนจัดเก็บรายได้ดีก็จะมีการกำจัดขยะได้ดีไปด้วย แต่ส่วนพื้นที่ไหน ท้องถิ่นยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้หรือมีงบประมาณที่ไม่เพียงพอ ไม่ได้รับการจัดสรร งบประมาณจากส่วนกลางเข้ามา ก็อาจจะไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้อย่าง สมบูรณ์แบบ ซึ่งอาจจะต้องมีการร่วมมือกันระหว่างท้องถิ่นกับท้องถิ่น ต้องมีการทำ MOU ร่วม และท้องถิ่นต้องจับมือกันให้แข็งแรง เพื่อที่จะช่วยเหลือกันแล้วก็ผลักดันให้การแก้ไขปัญหานี้ เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ที่ดิฉันได้ยินปัญหามาอย่างช้านาน ปัญหา อีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่าขยะค่ะ ขยะเป็นสิ่งที่ประชาชนไม่ต้องการ ดังนั้นเราก็ต้องหารือกัน อปท. ไหนที่มีพื้นที่หรือมีบริเวณที่ไว้รองรับขยะก็จะมีปัญหากับชุมชนเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเกิดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ หรือแม้กระทั่งเศษขยะที่ตกหล่นระหว่างการขนส่ง ซึ่งมันรบกวนจิตใจและสุขภาพจิตของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งอาจจะมีการประท้วงกันเกิดขึ้น และหน้าที่สำคัญของทางภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือจะต้องมีการวางระบบ การจัดทำ Zoning ให้อย่างชัดเจน เพื่อประกาศให้รู้ว่าเขตนี้เป็นเขตทิ้งขยะ ซึ่งหากไม่จัด Zoning ไม่มีความชัดเจน หรือมีการจัด Zoning ที่ใกล้กับครัวเรือน บ้านเรือนของประชาชน มากเกินไป ปัญหาก็ยังจะไม่จบค่ะท่านประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะต้องวางแผนใน ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อความเป็นอยู่ของประชาชนและการท่องเที่ยวในพื้นที่ อีกทั้งเราอย่าลืมในเรื่องของ 3P Polluter Pays Principle เราต้องกลับมาดูกันแล้วว่า คนที่ก่อให้เกิดขยะหรือมลพิษส่วนใหญ่ไม่ค่อยรับผิดชอบ โดยเฉพาะผู้ผลิตรายใหญ่ที่อาจจะ ปล่อยสารเคมีหรือว่าของเน่าเสียปนเปื้อนลงไปในแม่น้ำ ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนของไมโครพลาสติก ที่มากับขยะ พอปลาได้กินเข้าไป มนุษย์จับปลากินต่อ ก็อาจจะส่งผลให้กระทบต่อด้าน สุขภาพของประชาชนที่อยู่บริเวณพื้นที่โดยรอบ การที่ผู้ผลิตไม่ค่อยรับผิดชอบเพราะ เนื่องจากต้องการลดภาระของตัวเอง ดังนั้นจึงอาจจะต้องมีกระบวนการ หรือกฎหมาย หรือนโยบายที่ออกมาเพื่อป้องกันไม่ให้ปล่อยของเสียเหล่านี้ออกมาสู่ชุมชนหรือสังคม อาจจะต้องมีการติดตั้งระบบคัดกรองตั้งแต่อยู่ในกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมเลยด้วยซ้ำ ไป รวมถึงต้องคิดค่าปรับหากมีการรั่วไหลหรือซึมเปื้อนจากผู้ผลิตหรือโรงงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะ เป็นการปรับเงินหรือการ Ban สินค้าที่เกิดจากผู้ผลิตนั้น ๆ เพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่ผู้ผลิต รายใหญ่รายอื่น ๆ

นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช เชียงราย ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้ดิฉันก็อยากจะขอฝากกรรมาธิการทุกท่าน รวมถึงกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงอื่น ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาศึกษาญัตติในเรื่องของขยะนี้ ได้นำเอามุมมองหรือ ข้อคิดเห็นที่ดิฉันได้กล่าวมาเบื้องต้นนำไปเป็นหนึ่งในการดำเนินการพิจารณาและศึกษา ในเรื่องของการบริหารจัดการขยะชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและพื้นที่เมือง ท่องเที่ยวด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับ ต่อไปท่านปิยชาติ รุจิพรวศิน เชิญครับ

นายปิยชาติ รุจิพรวศิน นครราชสีมา ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ผม ปิยชาติ รุจิพรวศิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๒ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ปริมาณขยะที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นปัญหาที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญ ซึ่งทุกวัน จะมีปริมาณขยะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประเทศไทยและจังหวัดนครราชสีมาด้วยครับ

นายปิยชาติ รุจิพรวศิน นครราชสีมา ต้นฉบับ

โดยเฉพาะในพื้นที่โคราช เขต ๒ ที่ตำบลหนองบัวศาลา ซึ่งเป็น ๑ ใน ๒ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยของอำเภอเมืองนครราชสีมา ในแต่ละวันต้องกำจัดขยะมูลฝอย จาก ๓๔ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชนในพื้นที่ ใกล้เคียง รวมปริมาณเฉลี่ย ๕๕๐ ตัน แบ่งเป็นขยะในเขตเทศบาล ๒๒๐ ตัน นอกเขตเทศบาล ๓๒๐ ตัน แต่ระบบสามารถกำจัดได้เพียงวันละ ๑๐๐ ตันเท่านั้น โดยนำไปใช้ระบบผลิต ปุ๋ยอินทรีย์และกระแสไฟฟ้า จำนวน ๒๕,๐๐๐ หน่วยต่อเดือน คงเหลือขยะสะสมตกค้าง ๔๕๐ ตัน ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็เท่ากับช้างขนาดใหญ่ ๗๕ ตัว ซึ่งเป็นจำนวนที่เยอะ มาก ๆ ท่านประธานครับ ช่วงแรก ๆ ก็มีการมอบหมายให้บริษัทเอกชนขนย้ายขยะส่วนเกิน ๓๐๐ ตันไปกำจัดที่โรงงานในจังหวัดใกล้เคียง แต่ล่าสุดปัจจุบันนี้ไม่ได้นำไปทิ้งแล้ว เพราะ เหตุผลคือยังตกลงกับบริษัทเอกชนไม่ได้ ผมเองก็ไม่ทราบว่าสาเหตุใดที่ทำให้การตกลงกันนี้ ไม่สำเร็จ แต่หากมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาการจัดการ ขยะชุมชน ผมจะส่งเรื่องนี้เข้าไปหาทางแก้ไขปัญหาให้พี่น้องชาวโคราชและตำบล หนองบัวศาลา ท่านประธานครับ ปริมาณขยะสะสมตกค้างกว่าหลายแสนตัน บ่อฝังกลบ แทบจะไม่มีพื้นที่รองรับและเกิดภาวะวิกฤต นี่ก็เป็นเวลากว่า ๒๐ ปี แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พยายามแก้ไขเยียวยา แต่ปัญหาที่เกิดจากศูนย์กำจัดขยะแห่งนี้ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากความเจริญเติบโตของเมือง อัตราการสร้างขยะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่มีการจัด กิจกรรมหรือเทศกาลสำคัญต่าง ๆ ในพื้นที่ ขยะทั้งหมดจะถูกขนมาทิ้งไว้ที่บ่อขยะแห่งนี้ ด้วยปริมาณขยะเพิ่มขึ้นได้สร้างปัญหาทั้งน้ำเสียและกลิ่นเหม็นแสบจมูก หากฝนตกหนัก จะมีน้ำจากกองขยะไหลลงสระน้ำธรรมชาติ ทำให้สิ่งมีชีวิตในน้ำเสียชีวิต และช่วงฤดูหนาว กระแสลมจะพัดกลิ่นเหม็นฟุ้งกระจาย และขณะนี้ลูกบ้านหลายรายได้ล้มป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ส่งผลกระทบต่อ คุณภาพชีวิตของชาวบ้าน หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๕ หมู่ที่ ๖ หมู่ที่ ๙ และหมู่ที่ ๑๐ ของตำบล หนองบัวศาลา รวมกว่า ๒,๐๐๐ ครัวเรือนครับ ท่านประธานครับ ผมเห็นเพื่อนสมาชิก ได้เสนอแนะวิธีการจัดการขยะที่น่าสนใจกันหลายท่าน และคงเป็นเรื่องดีหากได้มีการนำข้อดี ต่าง ๆ มาปรับใช้ในท้องถิ่นของเรา รวมถึงที่จังหวัดนครราชสีมา แต่ท่านประธานครับ ยังมีพี่น้องอีก ๑ กลุ่มอาชีพ ที่พวกเขาก็อยู่ใกล้กับขยะเหล่านี้ทุกวันเช่นกัน ผมจึงอยากจะ ขอเสนอแนะเพิ่มเติมในส่วนของบุคลากร ผู้ซึ่งทำหน้าที่เสียสละในการเก็บขยะหรือแยกขยะ ให้พวกเราว่าเรามีการดูแลพวกเขาดีพอกันแล้วหรือยัง ทั้งในเรื่องของค่าครองชีพ ทั้งในเรื่อง ของสวัสดิการ อุปกรณ์ป้องกันขณะที่พวกเขากำลังทำงาน จากข้อมูลอาชีพคนเก็บขยะ เงินเดือนของพวกเขาเริ่มต้นที่ ๙,๐๐๐ บาท บวกเงินสนับสนุนค่าครองชีพอีก ๑,๐๐๐ บาท บวกกับค่าเสี่ยงภัยต่อสุขภาพอีกประมาณ ๑,๕๐๐ บาท ใช่ครับ ค่าเสี่ยงภัย ๑,๕๐๐ บาท สำหรับพนักงานจัดเก็บขยะมูลฝอยซึ่งมีความเสี่ยงจากการติดเชื้อในขณะทำงาน และจาก ข้อมูลที่ผมได้กล่าวข้างต้นว่าขยะสร้างมลพิษให้แก่ประชาชน ส่งผลกระทบมากมายต่อ สุขภาพกาย ในขณะเดียวกันผู้ที่ทำอาชีพเก็บขยะหรือคัดแยกขยะเหล่านั้นจะต้องอยู่ใกล้ชิด ต่อความเสี่ยง ไม่ว่าจะโรคติดต่อหรืออะไรใด ๆ ก็ตามซึ่งไม่คุ้มเลยที่พวกเขาได้รับ ค่าตอบแทนเพียงเท่านี้ ท่านประธานครับ จากข้อมูลของเว็บไซต์ Naver ระบุว่าพนักงานเก็บ ขยะในประเทศเกาหลีใต้มีเงินเดือนอยู่ที่ ๘๘๐,๐๐๐-๑,๑๐๐,๐๐๐ บาทต่อปี หรือประมาณ เดือนละ ๘๗,๐๐๐ บาท ในขณะที่ค่าครองชีพโดยเฉลี่ยของประเทศเกาหลีนั้นอยู่ที่ประมาณ เดือนละ ๓๘,๑๖๙ บาท พอลองเปรียบเทียบกับประเทศไทยแล้ว พนักงานเก็บขยะของไทย จะต้องทำงานเกือบ ๑๐ เดือนถึงจะได้เงินเดือนเทียบเท่ากับพนักงานเก็บขยะของประเทศ เกาหลีใต้ที่ทำงานแค่เดือนเดียว เป็นอัตราส่วนที่ฟังแล้วน่าตกใจและหดหู่อย่างบอกไม่ถูก ท่านประธานครับ ทั้งหมดที่ผมกล่าวมานี้เพราะอยากให้มีการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ทั้งใน เรื่องการจัดการขยะ การร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชนและประชาชน รวมถึงด้าน บุคลากรด้วย เพราะหากเรามีการจัดการขยะที่เป็นระบบนอกจากจะทำให้ประเทศเรา บ้านเมืองเรา จังหวัดที่ทุกท่านอยู่อาศัย รวมถึงจังหวัดนครราชสีมาให้ประชาชนชาวโคราชได้ ห่างไกลจากมลพิษ ทั้งนี้ยังจะเป็นการร่นเวลาให้เจ้าหน้าที่ที่ต้องทำการแยกขยะหรือ พนักงานเก็บขยะ ให้พวกเขาได้มีเวลาเสี่ยงภัยน้อยลงเพื่อที่พวกเขาจะได้กลับไปเจอหน้า ครอบครัวได้เร็วขึ้น ได้กลับไปเจอคนที่เขารัก และกลับไปอยู่กับคนที่เขารักได้นานขึ้นครับ ผมจึงขอสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหา การจัดการขยะชุมชน เพื่อมาร่วมกันหาทางจัดการเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ต่อไปท่านเจษฎา ดนตรีเสนาะ เชิญครับ

นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ ปทุมธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผมเจษฎา ดนตรีเสนาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เขต ๒ พรรคก้าวไกล คนปทุมลุ่มน้ำเจ้าพระยาครับ ขอสไลด์ด้วยครับ

นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ ปทุมธานี ต้นฉบับ

วันนี้ผมขอร่วมอภิปรายญัตติ เรื่อง การบริหารจัดการขยะชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและพื้นที่ท่องเที่ยว สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้ก็คือเป็นเรื่องของขยะเหมือนกันครับ แต่เป็นขยะที่อยู่ในน้ำหรืออยู่ใต้น้ำ ซึ่งขยะที่อยู่ในน้ำหรือใต้น้ำเป็นสิ่งที่ถูกละเลยมาตลอดครับท่านประธาน เพราะว่าอะไรครับ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่มันมีจำนวนมากเหลือเกินที่อยู่ในแม่น้ำลำคลองของ บ้านเราทุกสาย เส้นทางของแม่น้ำสำคัญ ประเทศไทยของเรามีแม่น้ำสำคัญหลายสาย ทั่วประเทศ เพราะฉะนั้นแม่น้ำเหล่านี้ก็เป็นแหล่งที่ขยะจะลงไป ด้วยอาจจะเกิดจากจิตสำนึก ของประชาชนส่วนหนึ่ง หรือว่าเกิดจากอะไรก็แล้วแต่ หรือว่าเกิดจากอุทกภัย หรือว่าเกิด จากภัยพิบัติต่าง ๆ ที่ทำให้ขยะมันลงไปอยู่ในแม่น้ำ มันก็มีขั้นตอนขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นว่าเขาจะมีการดักเก็บเป็นช่วง ๆ ที่ดักเก็บได้ก็ถูกเก็บขึ้นบกไปตลอดระยะทาง แต่ถ้าอันไหนที่มันจมน้ำหรือว่าอยู่ใต้น้ำหรือว่ามองไม่เห็นหรือไม่ถูกดักเก็บนี้มันก็จะไหลลง มาเรื่อย ๆ จากเหนือลงมาถึงปากอ่าว จนสุดท้ายก็ไปอยู่ในทะเล ท่านจะเห็นว่าตามสไลด์นี้ มันมีทั้งคลองใหญ่ แม่น้ำขนาดใหญ่ คลองมีขนาดใหญ่ คลองขนาดเล็ก คลองซอย ทุกคลอง มีขยะหมดครับท่าน อันนี้คือสถิติขยะปากแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงปี ๒๕๖๐ ถึง ๒๕๖๔ โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ท่านเห็นว่าสถิติมันลดลงใช่ไหมครับ มันก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ประเด็นก็คือมันเป็นสถิติ ของขยะที่อยู่บนน้ำที่เราสามารถจัดเก็บได้ ในส่วนที่ผมเอามาเป็น ๕ แม่น้ำที่อยู่ทางปากอ่าว ก็จะขอเน้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก อันนี้คือขยะที่อยู่บนบก อันนี้ผมคิดว่าน่าจะมี ตัวตะแกรงที่คอยกั้นขยะอยู่หรือว่าเป็นตัวสายยางที่ใช้กั้นขยะเพื่อที่จะให้เจ้าหน้าที่คอย จัดเก็บได้ง่าย เพราะว่าถ้าไม่มีการกั้นหรือว่าไม่มีการจัดเก็บนี้ก็จะไม่มีการกรองของขยะ ลักษณะนี้ ขยะก็จะลอยกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยท่านสังเกตว่าขยะ จะอยู่กับผักตบชวาหรือว่าวัชพืช ซึ่ง ๒ อันนี้ เมื่อรวมกันก็ทำให้เกิดการจัดเก็บยาก แล้วก็เสีย งบประมาณต่อปีหนึ่งเป็นมหาศาลเพื่อใช้ในการจัดเก็บ อันนี้ก็คือขยะในลำคลอง ซึ่งจัดเก็บ ยากมากกว่าขยะอยู่บนบกหลายเท่า ต้องใช้เจ้าหน้าที่ ต้องใช้อุปกรณ์และบุคลากร เราจัดเก็บอย่างไรมันก็ไม่มีทางหมด อันนี้น้ำที่เกิดจากสีดำน่าจะเกิดจากในกรุงเทพมหานคร ไม่มีการไหลเวียนน้ำเพียงพอ พอไม่มีการไหลเวียนขยะที่ถูกเก็บก็ต้องใช้เรือเอาเจ้าหน้าที่ลงไป แล้วก็ค่อยตัก ตัก ตัก แต่ขยะที่อยู่ใต้น้ำก็ยังไม่ถูกเก็บครับ หากท่านจะเก็บขยะใต้น้ำ ต้องใช้งบประมาณ บุคลากร เครื่องมือจำนวนมากครับท่านประธาน เพราะว่าคลองใน กรุงเทพมหานครนี้สามารถทำได้ เพราะว่าเรามีประตูระบายน้ำทั้งด้านต้นคลองและ ด้านปลายคลอง เราก็ปิดสูบน้ำออกหรือว่าระบายน้ำออก ให้คลองมาเหลือน้ำก้น ๆ คลอง แล้วก็ใช้บุคลากรบวกเครื่องมือลงไปเก็บ ด้านซ้ายมือก็คือเป็นขยะ ขยะนี้ภาพอาจจะไกล แต่ในนั้นก็จะมีทั้งถุงพลาสติก ขวดแก้ว ขวดพลาสติก กระป๋อง โลหะ ขยะพลาสติกอื่น ๆ ที่นอน เฟอร์นิเจอร์ มีหมดทุกอย่างครับท่านประธาน เพียงแต่ว่ามันจัดเก็บยาก ที่เราเห็น ในภาพนี้คือเป็นคลองขนาดเล็กที่เราจะเก็บได้ แต่ถ้าเป็นในแม่น้ำเจ้าพระยาละครับ ในคลอง ขนาดใหญ่ละครับ เราจะทำอย่างไร อันนี้ก็คือเลนที่เราลอกขึ้นมาไว้ข้างตลิ่งครับ แต่เลนที่อยู่ ข้างตลิ่งที่เราลอกขึ้นมาก็ยังมีเศษขยะ เศษวัชพืช เศษไม้ ทุกอย่างอยู่ครบ ไม่ได้ถูกกำจัด ไปไหน มันก็ถูกถมอยู่ริมคลองนั่นละครับ แล้วถ้าฝนตกหนัก ๆ หรือมีภาวะน้ำท่วมมันก็จะชะ ทุกอย่างที่เราลอกขึ้นมากลับลงไปในคลองเหมือนเดิม อันนี้เมื่อวันลอยกระทงผมก็ออก พายเรือเก็บขยะเท่าที่เก็บได้ มันก็เก็บได้เฉพาะบนที่อยู่บนน้ำเท่านั้น ใต้น้ำเราก็เก็บไม่ได้ อยู่ดี ซึ่งถ้ามันหล่นลงไปใต้แม่น้ำ ขวามือสุดของสไลด์ก็จะมีทั้งตะปู ทั้งเข็ม เข็มหมุด เข็ม อะไรต่าง ๆ ที่มันแหลมคมก็จะลงไปอยู่ในใต้แม่น้ำ อันนี้เป็นกิจกรรมที่จัดเก็บในคลองหนึ่ง ซึ่งคลองหนึ่งก็เป็นคลองย่อยของคลองรังสิต ซึ่งมีขนาดใหญ่ อันนี้ก็คือเป็นตัวกักเก็บที่เขาจะให้ ขยะลอยมาแล้วเราก็เก็บ เราก็ทำกิจกรรมกันขึ้นมา สิ่งที่ผมจะบอกก็คือขยะที่อยู่บนบก ว่าจัดการยากแล้วมีปริมาณมากแล้ว ขยะที่อยู่ใต้น้ำมีปริมาณมหาศาลไม่แพ้กัน แต่ไม่ค่อยได้ ถูกเก็บ เพราะว่าในแม่น้ำขนาดใหญ่หรือในคลองขนาดใหญ่การจัดเก็บมันแทบจะเป็นไป ไม่ได้เลยครับท่านประธาน เพราะว่าเราไม่มีอุปกรณ์หรือเครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่ดี เพราะฉะนั้นการป้องกันไม่ให้ขยะลงไปในน้ำก็คงจะต้องเริ่มจากต้นทางในการจัดการขยะให้ น้อยที่สุดที่จะลงไปในคลองได้ อันนี้เป็นแนวทางในการจัดการ โดยผมก็ขอเสนอประมาณนี้ ก็คือ ๑. แนวทางการบริหารจัดการขยะของภาครัฐ โดยภาครัฐก็ต้องมีแนวนโยบายที่ชัดเจน ว่าจะจัดการขยะอย่างไร จะแยกอย่างไร เพื่อนสมาชิกหลายท่านก็ได้เสนอไปแล้ว ซึ่งก็เป็น ข้อเสนอที่ดีทั้งนั้น แต่เพียงแต่ว่าต้องเป็นนโยบายระดับรัฐบาลครับ ๒. การบริหารจัดการ จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ๓. กฎหมาย เกี่ยวกับชนิดของพลาสติกที่ใช้บรรจุภัณฑ์ ซึ่งบรรจุภัณฑ์พลาสติกในบ้านเรา ปัจจุบันมันมี หลายแบบ ทั้ง PET ทั้ง HDPE พลาสติกผสม Foil ซึ่งการมีพลาสติกหลายชนิดนี้มันทำให้ การจัดการยาก รวมทั้งการนำกลับมาใช้มันก็ยากด้วย ข้อสุดท้าย ส่งเสริมการแยกขยะแล้วก็ ระบบการจัดเก็บที่ดี ก็อย่างที่เพื่อนสมาชิกหลายท่านที่ได้อภิปรายไป เริ่มต้นจากต้นทางครับ การจัดการทุกอย่างจะง่าย ผมขอสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ ขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านสุรเกียรติ เทียนทอง เชิญครับ

นายสุรเกียรติ เทียนทอง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม สุรเกียรติ เทียนทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ ปัจจุบันการจัดการขยะของหน่วยงานภาครัฐแล้วก็เอกชนโดยส่วนใหญ่ ยังมีมาตรการและกระบวนการกำจัดขยะที่ยังไม่ถูกต้อง ไม่ถูกวิธี แล้วก็ไม่ถูกขั้นตอน แล้วก็ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด การแก้ปัญหาขยะที่ต้นทาง การกำจัดขยะก็ดี ที่ไม่ถูกต้องส่งผลให้เกิดการสะสมของขยะ ขยะสารเคมีที่เป็นอันตราย ขยะพลาสติก กล่องโฟม เศษอาหารต่าง ๆ กระจายอยู่เต็มพื้นที่บ่อขยะที่เราเห็นกัน พื้นที่ฝังกลบเองก็ดี ลามไปจนถึงทุกวันนี้แม่น้ำลำคลอง ชายหาดก็มี พื้นที่ป่า พื้นที่ทะเล แล้วก็ชุมชนต่าง ๆ แล้วก็วันนี้เริ่มลามไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่เราพูดกันในวันนี้ ที่ผ่านมาครับท่านประธาน นโยบายของหลายรัฐบาลได้มีการวางแผนเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่สังคมที่เราเรียกว่า สังคมปลอดขยะ เรารู้จักกันดีในชื่อว่า Zero Waste Society ที่ยึดหลัก 3R โดยมี การจัดการขยะแบบผสมผสาน เน้นการลดขยะ คัดแยกขยะ การใช้ประโยชน์จากกองขยะ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่ปัจจุบันคำถามก็คือว่าสิ่งเหล่านี้มีอยู่จริงไหม ในสถานการณ์ ปัจจุบัน มีปริมาณขยะสูงขึ้นต่อเนื่อง ที่เรารู้ ๆ กันอยู่ เพื่อน ๆ สมาชิกทุกคนก็อภิปรายไป แล้วว่าขณะนี้ปริมาณขยะสูงขึ้นถึงปีละเกือบ ๒๖ ล้านตันต่อปี มีปริมาณขยะตกค้างถึง ๙.๙ ล้านตันต่อปี ขยะเหล่านี้เพิ่มขึ้นมาจากสาเหตุอะไรครับท่านประธาน สาเหตุของปัญหา มลพิษจากกองขยะมาจาก ๓ สาเหตุหลัก ๆ

นายสุรเกียรติ เทียนทอง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สาเหตุที่ ๑ การกำจัดขยะไม่ถูกวิธี ไม่ถูกสุขอนามัย ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน โดยในปี ๒๕๖๕ มีสถานที่กำจัดขยะอยู่ ๒,๐๗๔ แห่ง แต่กลับพบว่ามีสถานที่กำจัดขยะแบบ ถูกต้อง มีเพียงแค่ ๑๑๑ แห่ง คิดเป็นแค่ ๕.๔ เปอร์เซ็นต์ สถานที่กำจัดขยะที่ไม่ถูกต้องครับ ท่านประธาน ๑,๙๖๓ แห่ง คิดเป็น ๙๔.๖ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีสถานีขนถ่ายขยะเพียงแค่ ๓๓ แห่ง พอเห็นสัดส่วนแบบนี้ก็น่าตกใจครับท่านประธาน ในปี ๒๕๖๕ มีขยะชุมชนอย่างที่ ผมกล่าวไปแล้วมีถึง ๒๕.๗ ล้านตัน มีขยะที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เพียงแค่ ๘.๘ ล้านตัน ในขณะที่ขยะที่กำจัดอย่างถูกต้องแค่ ๙.๘ ล้านตัน ขยะที่กำจัดไม่ถูกต้องสูงถึง ๗.๑ ล้านตัน

นายสุรเกียรติ เทียนทอง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สาเหตุที่ ๒ ท่านประธานครับ เราคงต้องมาดูที่เนื้อหากฎหมายที่ล้าหลังและ ไม่มีการแก้ไขให้รองรับกับปัญหาขยะในปัจจุบัน ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับ การแก้ปัญหาขยะหลายฉบับ อาทิเช่น กฎหมายตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๓๔/๑ ครับท่านประธาน ให้การรวบรวมเก็บและขนส่งขยะ รวมทั้งการหาประโยชน์จากขยะเป็นหน้าที่และอำนาจของ ราชการส่วนท้องถิ่น แต่ข้อเท็จจริงเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามี อบต. บางแห่ง ผมขอย้ำว่าบางแห่ง กลับผลักภาระหน้าที่ในการจัดการขยะให้เป็นของประชาชน แล้วก็คนในชุมชน ซึ่งเป็น การปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพตามที่กฎหมายได้ให้อำนาจท่านไว้

นายสุรเกียรติ เทียนทอง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สาเหตุที่ ๓ ท่านประธานครับ เรื่องเกี่ยวกับงบประมาณ งบประมาณในการ กำจัดขยะที่ไม่เพียงพอ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ให้ข้อมูลเกี่ยวกับงบประมาณ และด้านการจัดการขยะว่ามีค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะถึงปีละ ๑๓,๐๐๐ ล้านบาท กรุงเทพมหานครใช้งบประมาณถึง ๗,๐๐๐ ล้านบาท รวมกันแล้วก็ ๒๐,๐๐๐ ล้านบาท แต่องค์กรปกครองท้องถิ่นจัดเก็บรายได้จากขยะได้เพียงแค่ ๒,๓๐๐ ล้านบาท กรุงเทพมหานครจัดเก็บได้เพียงแค่ ๕๐๐ ล้านบาท ดังนั้นเราต้องใช้งบประมาณถึง ๑๗,๒๐๐ ล้านบาทต่อปีในการจัดการขยะ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ครับท่านประธาน สาเหตุหลัก ๆ นี้น่าจะเกิดจากการบริหารจัดการ ซึ่งในส่วนนี้เราคงต้องมา นั่งดูกันในเชิงลึก ท่านประธานครับ ๕ ปีที่ผ่านมาพฤติกรรมการใช้ชีวิตของพี่น้องประชาชน ได้เปลี่ยนไปมากครับ มีการซื้ออาหารแบบ Delivery การสั่งอาหาร แล้วก็ซื้อสินค้า Online มากขึ้น เราจะเห็นได้ชัด ๆ เลยในจำนวน Rider ขนส่งสินค้าและอาหารที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ส่งผลให้อะไรครับ ส่งผลให้ขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์แล้วก็สินค้านี้เพิ่มขึ้นสูง อย่างมากด้วย ยิ่งไปกว่านั้นแนวโน้มในปัจจุบันการใช้รถจากพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย ก็เริ่มมีความนิยมสูงขึ้นทุกวัน ๆ ในอีกไม่เกิน ๑๐ ปี รถยนต์ก็จะกลายเป็นสินค้า อิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างหนึ่ง แล้วแบตเตอรี่ละครับท่านประธาน ที่หมดอายุ ในการใช้งานแล้ว ก็จะกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างหนึ่ง ซึ่งต้องการการจัดการอย่างมี มาตรฐาน การเพิ่มปริมาณของขยะพลาสติกแล้วก็ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มากขึ้นเรื่อย ๆ อาจ กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่จะส่งผลต่อพี่น้องประชาชนและสิ่งแวดล้อมในอนาคตอันใกล้นี้ครับ ท่านประธาน หากเราไม่มีแผน แล้วไม่มีมาตรการรองรับอย่างทันท่วงทีกับปัญหานี้ อย่างครอบคลุม จากปัญหาและข้อสังเกตที่ผมได้กล่าวมาข้างต้น ผมจึงขอสนับสนุนญัตติ ดังกล่าวเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรช่วยกันพิจารณาศึกษาหาแนวทาง แก้ไขเรื่องการบริหาร จัดการขยะ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ อีก ๓ ท่านนะครับ ท่านแรก ท่านประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ท่านที่ ๒ ท่านชุติมา คชพันธ์ ท่านที่ ๓ ท่านศิรสิทธิ์ เลิศด้วยลาภ เชิญท่านประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ครับ

นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม ประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคก้าวไกล จังหวัดปทุมธานี เขต ๗ อำเภอลำลูกกา อำเภอธัญบุรีและอำเภอหนองเสือ วันนี้ผมขอมี ส่วนร่วมอภิปรายสนับสนุนญัตติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ปัญหาการบริหารจัดการ ขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท่านประธานครับ ประเทศไทยเราหลาย ๆ ท่านพูดไปแล้ว ผลิตขยะวันหนึ่ง ๗๘,๐๐๐ ตัน หรือ ๒๘.๕ ล้านตันต่อปี เฉพาะ กทม. เองก็ ๑๐,๐๐๐ ตัน เข้าไปแล้ว กทม. น่าจะผลิตเยอะที่สุด เพราะมีอุตสาหกรรมและมีประชาชนอยู่หนาแน่น ส่วนจังหวัดปทุมธานีของผมก็วันละ ๑,๘๐๐ ตัน บ่อขยะกว่า ๒,๐๐๐ แห่งทั่วประเทศ หลาย ๆ ท่านก็พูดไปอีกแล้วว่ามีแค่ ๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีการจัดการขยะอย่างถูกต้อง มาตรฐาน ๕ เปอร์เซ็นต์ก็ไม่ถึง ๑๐๐ แห่ง จาก ๒,๐๐๐ แห่ง นอกจากนี้ประเทศไทยเรายังติด ๑ ใน ๑๐ ประเทศ ที่ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก จริง ๆ แล้วเราอยู่ อันดับที่ ๕ เลย มีขยะพลาสติกในทะเล ถึง ๒๒.๘ ล้านกิโลกรัม เมื่อประมาณ ปี ๒๕๕๗ เดือนสิงหาคม กรมควบคุมมลพิษก็ได้ผลักดันให้การกำจัดขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ แต่ทุกวันนี้เรายังมาพูดถึงปัญหาขยะกันทุกปี ๆ อันนี้วาระแห่งชาติจริงหรือครับ ผมอยากจะ รู้ว่ามันชาตินี้หรือชาติหน้าครับ ปัญหาขยะจังหวัดปทุมธานีครับท่าน จังหวัดปทุมธานีเองมี ขยะมูลฝอยตกค้างสูงสุด ๑ ใน ๖ ของประเทศไทย ครัวเรือนของเราก็ทิ้งขยะมูลฝอย โดยไม่คัดแยก อปท. หลายแห่งก็นำขยะไปกำจัดทิ้งแบบเทกองไม่ได้ถูกสุขลักษณะหรือ ถูกหลักอนามัยเลย ขยะมูลฝอยจึงมีเกลื่อนเมือง แล้วก็ยังมีเศษสวะตามแม่น้ำลำคลอง อย่างที่ สส. เจษฎา ดนตรีเสนาะ ได้พูดไปแล้ว นอกจากนี้ อปท. บางแห่งนี้ก็ยังเก็บขยะแค่ เดือนละครั้งเท่านั้น ส่งกลิ่นเหม็นนะครับ บางพื้นที่รถขยะเข้าไม่ถึง ประชาชนทำอย่างไรครับ ก็รวบรวมกันแล้วก็เผา อาทิตย์ ๑ เผาทีหนึ่ง ๒ อาทิตย์เผาทีหนึ่ง ก็เกิดเป็นมลภาวะมลพิษ ต่อไป ตรงนี้ขยะในเลียบ Motorway หรือ Motorway ถนนกาญจนาภิเษก ตรงคลองห้านี้ มีคนทิ้งเกลื่อนเช่นกันนะครับ ระยะทางประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ เมตร ขยะกองเต็มไปหมดเลย แล้วก็ยังมีการเผากิ่งไม้ ใบไม้อีก แล้วผมก็ได้รับแจ้งจาก อบต. บึงคำพร้อย มีการเผาเฟอร์นิเจอร์ โรงงานเฟอร์นิเจอร์ วัสดุสิ้นเปลืองที่ใช้ไม่หมดไปเขาก็นำมาเผา อันนี้ผมก็ได้วิ่งไปดูรอบหนึ่งแล้ว นอกจากนี้ ยังมี อบต. บางแห่งก็นำขยะไปเผาเองในที่โล่ง อันนี้เดี๋ยวจะต้องตามดูจะต้องตามจับให้ได้ว่า จริงหรือเปล่า เพิ่งได้รับแจ้งมาเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว นี่คือปัญหาของจังหวัดปทุมธานีทุกวันนี้ แล้วทางแก้ของจังหวัดปทุมธานีคืออะไร ปัจจุบันนี้เทศบาลเก็บขยะเอง แล้วก็รณรงค์ ให้พ่อค้าแม่ค้า หรือครัวเรือนทำถังขยะเปียก ก็คือให้ขุดแล้วก็ให้ฝังลงดินทำเป็นปุ๋ย ซึ่งบ้านทาวเฮาส์ ส่วนใหญ่ก็ไม่มีพื้นที่ทำแบบนั้น หรือก็ช่วยได้แค่เล็กน้อยเท่านั้น ที่เหลือ นำไปไหนครับ นำไปบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาก็ขนไปทิ้งที่นั่น ก็สร้างปัญหาให้กับ ทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาต่อไป เนื่องจากว่าจังหวัดปทุมธานีของเรานี้ประชาชนส่วนมาก ก็ไม่ยอมให้สร้างบ่อขยะ หรือไม่ยอมให้สร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะ เพราะปัญหาเรื่อง มลพิษนี้ละครับ ประชาชนไม่มั่นใจไม่เชื่อใจว่าเราจะทำได้ถูกมาตรฐาน ก็เลยทำให้ไม่มีใคร อยากจะให้ทำบ่อขยะที่นั่น เราลองมาดูที่ต่างประเทศบ้าง สหรัฐอเมริกามีการให้คัดแยกขยะ ในครัวเรือนทุกระดับ ตั้งแต่บ้านครัวเรือน ร้านค้า ร้านอาหาร โรงงานต่าง ๆ คนเก็บขยะ สามารถที่จะออกใบสั่งปรับได้ถ้าไปเก็บที่บ้านแล้วเจอว่าแยกขยะผิดประเภท ครั้งแรกปรับ ๔๐ เหรียญ ครั้งต่อไป ๘๐ เหรียญ ครั้งที่ ๓ ๑๕๐ เหรียญ โทษก็จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ท่านเคย ได้ยินคำนี้ไหมครับ One Man's Trash Is Another Man's Treasure ก็คือคนหนึ่งมองว่า เป็นขยะ แต่อีกคนหนึ่งมองว่าเป็นขุมทรัพย์ อันนี้เกิดจากอะไร เกิดจากการที่เราเอาขยะที่ คนมองว่าไม่มีค่านำมาแยกออกมา แยกให้มันมีค่าขึ้นมา เมื่อมันมีมูลค่าสามารถนำไป Recycle ต่อ นำไปขายต่อได้ ไม่อย่างนั้นเราคงไม่มีโรงงานขายของเก่ารับซื้อของเก่าเต็มไปหมด อันนี้ก็อยากจะให้ดูประเทศเยอรมนีเป็นประเทศที่เรียกว่าเป็นอันดับหนึ่งของโลกเลยก็ว่าได้ ในเรื่องการแยกขยะ ประเทศเยอรมนีก็ ๗๐ เปอร์เซ็นต์เขาแยกขยะได้ ทำให้ลดขยะได้ ประมาณ ๑ ล้านตันต่อปี แล้วตั้งแต่มีกฎหมาย ตั้งแต่ปี ๑๙๙๑ หรือ ๓๓ ปีที่แล้ว จะให้ ผู้ผลิตจะต้อง Recycle Packaging ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น Packaging ชั้นแรกที่ห่อหุ้ม สินค้า ชั้นที่ ๒ ที่ทำให้สินค้าดูสวยงาม ชั้นที่ ๓ ที่ Packaging เพื่อการจัดส่ง ก็จะต้องมี การ Recycle ทั้ง ๓ ชั้น ผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้บริโภคก็ต้องรับผิดชอบในขั้นตอนของตัวเอง แล้วก็ นอกจากนี้มีการใช้ถังขยะมากกว่า ๖ สีนะครับ ประเทศเยอรมนี เขาใช้ถังขยะมากกว่า ๖ สี แบ่งเป็นอะไรนะครับ อย่างเช่น สีเหลืองเป็นขยะพลาสติกอลูมิเนียม กระป๋อง สีน้ำเงินเป็น กระดาษ สีเขียวเป็นเศษอาหาร สีดำเป็นขยะทั่วไป สีขาวเป็นขวดแก้วใส สีน้ำตาลเป็น ขวดแก้วสีน้ำตาล มีการแยกย่อยมาก ๆ ถ้าเกิดทิ้งขยะผิดประเภทก็ถูกปรับหลักร้อยยูโร เหมือนกัน ประเทศเยอรมนีใช้วิธีไหนในการให้คนแยกขยะทั้งรณรงค์ จูงใจ ทั้งให้จ่ายค่า มัดจำขวด ขวดหนึ่ง ๕ บาท ๑๐ บาท เพราะฉะนั้นคนก็จะนำขวดไปคืนถึง ๙๘ เปอร์เซ็นต์ จะไม่ทิ้งเกลื่อนกลาด แล้วก็สมมุติว่าเราไม่เราคืนขวดเองก็จะมีคนมาเก็บไปคืนเพราะว่าได้ เงิน นอกจากนี้ก็ยังมีวัน Sperrmull ของประเทศเยอรมนี วัน Sperrmull คืออะไร คือคน ที่มีเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่ใช้แล้วก็นำไปทิ้งนอกบ้าน ปีหนึ่งมี ๔ หน นำไปทิ้งนอกบ้าน แล้วเพื่อน บ้านเดินมาเจอเฟอร์นิเจอร์นี้ยังใช้งานได้อยู่ก็เอากลับไปใช้ก็เป็นการ Recycle แบบหนึ่ง ไม่ต้องทำให้ขยะเต็มไปหมดอย่างนี้ เพราะบางชิ้นขยะยังใช้ได้อยู่เฟอร์นิเจอร์ แต่ว่ามันเกะกะ บ้านเขาก็จะเอามาทิ้งกัน นอกจากนี้นโยบายภาครัฐก็ยังส่งเสริมทั้ง Startup โดยเน้น การแยกขยะ ถ้าเกิดเป็น Startup ก็จะส่งเสริมเต็มที่เลย แนวทางการแก้ไขของปทุมธานี ตอนนี้ที่ผมเห็นก็อยากให้มีการสร้างโรงผลิตไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย ถ้าเป็นไปได้มันก็จะ ช่วยลดมลพิษในอากาศได้ เราจะไม่ใช้วิธีฝังกลบอีกต่อไปหรือว่าเทกองหรือว่าเผาตามที่โล่ง หรือจะใช้ต้นแบบแบบประเทศญี่ปุ่น รอบโรงเผาขยะก็จะมีที่ออกกำลังกายด้วย มีเครื่องวัด คุณภาพอากาศโดยรอบ ก็จะรู้ว่าอากาศไม่เป็นพิษแน่นอน นอกจากนี้เราก็ควรจะรณรงค์ ปลุกจิตสำนึกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เยาว์วัยเลยนะครับ ให้คนไม่ทิ้งขยะลงคลอง ให้คนรู้จักการคัดแยกขยะนะครับ สอนกันตั้งแต่ประถม เหมือนที่ ทนายแจมได้กล่าวไปนะครับ แล้วผมก็ยังแนะนำนะครับท่าน ให้ส่งเจ้าหน้าที่ไปดูงาน ที่ประเทศเยอรมนีเลยครับ ส่งเจ้าหน้าที่ของเราทำให้เป็นวาระแห่งชาติจริง ๆ ครับ ให้มันจบ ที่ชาตินี้ ไม่ใช่ชาติหน้า แล้วก็เน้นด้านการให้ทุนนักศึกษาไปเรียนเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ การจัดการขยะนะครับ แล้วสิ่งเหล่านี้จาก Trash จะเป็น Treasure นะครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไป ท่านชุติมา คชพันธ์ เชิญครับ

นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ สมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากภาคใต้จังหวัด พัทลุง ท่านประธานคะ เวลาที่เราพูดกันถึงขยะ ทุกวันนี้ดิฉันกังวลทุกครั้งเลยเวลาที่เห็น กองขยะ เวลาที่เห็นรถขยะผ่านไปมา คือแต่ละครั้งเราจะเห็นรถอัดแน่นไปด้วยขยะ ตลอดเวลาเลย แต่ว่าปลายทางของมันพอเราไปดูกองขยะตอนนี้กลายเป็นกองภูเขา เกือบทุกที่เลยค่ะ คำถามของดิฉันก็คือว่าเราจะอยู่กันอย่างไรในโลกใบนี้ ต่อไปถ้ายังเป็น แบบนี้อยู่ขยะล้นเมืองเป็นภูเขาแบบนี้ เราคงอยู่กันแบบนี้ต่อไปไม่ได้แล้วถ้าเราไม่ทำอะไร สักอย่าง

นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ดิฉันเห็นปริมาณขยะ ทั่วประเทศ ก็พบว่าทั่วประเทศตอนนี้ปริมาณขยะมีอยู่ประมาณ ๒๔ ล้านตัน ๓๗ เปอร์เซ็นต์ เป็นขยะมูลฝอยที่กำจัดอย่างถูกต้อง แต่ว่าอีก ๓๑ เปอร์เซ็นต์ คือกำจัดไม่ถูกต้องนะคะ และ ๓๗ เปอร์เซ็นต์นั้นเป็นขยะที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อีก ทีนี้พอไปดูในภาคใต้ ของดิฉัน ในภาคใต้ ๑๒ เปอร์เซ็นต์ เป็นปริมาณขยะจากภาคใต้ ถ้าเราเทียบจากทั่วประเทศ แต่ที่น่ากังวลก็คือว่า มีอยู่ ๒๑๙ แห่ง เป็นการกำจัดขยะมูลฝอยอย่างไม่ถูกต้องนะคะ แล้วส่วนใหญ่ก็ใช้วิธีการเทกอง มีฝังกลบบ้างเป็นบางที่ และขยะส่วนใหญ่ ๖๔ เปอร์เซ็นต์ คืออาหาร เป็นเศษอาหารซึ่งสามารถที่จะไปทำปุ๋ยหรือแปรรูปเป็นอย่างอื่นได้อีก ทีนี้พอดิฉัน ไปดู ดิฉันเคยไปดูกองขยะที่หนึ่ง โดยเฉพาะของจังหวัดพัทลุง ปรากฏว่าในกองขยะที่เห็นว่า เป็นกองใหญ่มาก ๆ เลย เป็นภูเขาเลยค่ะ และที่น่ากังวลอันนี้ไม่เฉพาะจังหวัดพัทลุง จังหวัด อื่น ๆ ก็เป็น ก็คือว่าที่น่ากังวลคืออาจจะมีน้ำไหลซึมลงสู่พื้นดินแล้วก็ปนเปื้อนน้ำใต้ดินได้ อันนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวลไม่ใช่เรื่องเล็ก อย่าคิดว่าเรามีที่กำจัดแล้วเรามีบ่อแล้ว แต่ที่น่ากังวล ก็คือว่าดิฉันเคยรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนบางครั้งน้ำที่มาจากใต้ดินนี้ลงแม่น้ำลำคลอง อีกที่หนึ่งที่ดิฉันกังวลมาก คือเราได้ยินกันบ่อย ๆ จะมีเรื่องร้องเรียนจากประชาชนบ่อยมากเลย ก็คือประชาชนจะบอกว่าเดือดร้อนจากน้ำเน่าเสีย กลิ่นเหม็น นี่คือตัวอย่างจากจังหวัดตรัง ขยะล้นออกมา แล้วก็มีการร้องเรียนว่าบ่อขยะเมืองตรังกระทบต่อสุขภาพชาวบ้าน หรือเรา อาจจะเคยได้ข่าวว่าไฟไหม้บ่อขยะหาดใหญ่นะคะ ทีนี้สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ถามว่าคุณภาพชีวิตที่ดี ของประชาชนอยู่ที่ไหน ประชาชนจะต้องทนอยู่แบบนี้หรือคะ จะอยู่แบบนี้ไปถึงเมื่อไร ถ้าเราไปดูบ่อขยะ ดิฉันจะให้ดูตัวอย่างบ่อขยะของเทศบาลเมืองพัทลุง ของคลองทรายขาว จังหวัดพัทลุงเช่นกัน ของนาปะขอ ในอำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุงเช่นกัน นี่คือภาพรวม เราจะเห็นเลยว่าส่วนใหญ่จะเป็นแบบวางเทกองไว้แบบนั้น คือดิฉันไม่อยากจะโทษองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น ดิฉันมองว่ามันเป็นสิ่งที่เราต้องวางแผนร่วมกัน คือท้องถิ่นก็มีข้อจำกัด เป็นเรื่องที่รัฐเองจะต้องช่วยกัน เราต้องร่วมมือกันแล้ว เราจะปล่อยให้ท้องถิ่นโดดเดี่ยว แล้วเขาแก้ปัญหาอย่างเดียวไม่ได้ นั่นคือเหตุผลที่ดิฉันอภิปรายในวันนี้ ดิฉันอยากจะให้รัฐทำ หน้าที่อย่างจริงจังในการช่วยกันดูแลประชาชน แล้วก็ช่วยท้องถิ่น อีกที่หนึ่งที่ดิฉันกังวล มาก ๆ เลย นี่คือตัวอย่างของจังหวัดนครศรีธรรมราช คือบ่อขยะเทศบาลเมืองปากพนัง ต่อวันจะมีปริมาณ ๔๖ ตัน ในพื้นที่ ๒๘ ไร่ แต่นี่คือภาพเมื่อไม่กี่ที่ผ่านมานี้เองค่ะ น้ำเน่าเสีย สารพิษจากบ่อขยะนี้เริ่มออกมานอกบริเวณ ถ้าท่านเห็นในรูปนี้ออกมาที่ถนนนี้แล้ว นี่คือ ภาพที่ทีมงานดิฉันไปเจอถึงที่เลย แล้วที่น่ากังวลคือบริเวณนั้นมีหนองน้ำอยู่บริเวณใกล้เคียง แล้วมากไปกว่านั้นอีก ที่ดิฉันกังวลมากกว่านั้นก็คือ แค่ ๗ นาทีเท่านั้น หรือ ๒ กิโลเมตรกว่า ๆ เท่านั้น นั่นคือทะเลอ่าวไทย ที่เราเรียกกันว่าสะพานตัว T นั่นเป็นที่ทำประมงชายฝั่ง เป็นที่ ที่ประชาชนไปซื้อปลา มีปลาสด มีอาหารทะเลสด ๆ กันอยู่ที่นั่น และเป็นที่พักผ่อนของ ประชาชน ดิฉันกังวลมากเลยว่าวันหนึ่งข้างหน้านี้ถ้าน้ำใต้ดินหรือน้ำจากบ่อขยะไปถึงทะเล อ่าวไทย ดิฉันไม่อยากจะนึกภาพเลยว่าจะเป็นอย่างไร และอย่าคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ถ้าเรา ละเลยกันอยู่ แล้วเราคิดว่ามันเป็นอยู่แบบนี้ไม่มีใครทำอะไร วันหนึ่งถึงทะเลแน่นอนนะคะ อันนี้อันตรายมาก ๆ ดิฉันกังวลมาก

นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อีกอันหนึ่งที่ทำให้ดิฉันกังวลมากเลย ก็คือว่าดิฉันไปเจอว่ามีการแจ้งเตือน จากกรมควบคุมมลพิษเมื่อประมาณปี ๒๕๖๕ กรมควบคุมมลพิษบอกว่ามีสถานที่กำจัด ขยะมูลฝอยที่เสี่ยงต่อการเกิดเหตุอุทกภัยใน ๑๖ จังหวัด คือ ๒ จังหวัดภาคตะวันตก และ ๑๔ จังหวัดภาคใต้ รวมทั้งหมด ๑๑๙ แห่ง นั่นแปลว่าเสี่ยงน้ำท่วม ก็จะเกิดการชะล้าง สารพิษจากบ่อขยะออกนอกบริเวณ ภาคใต้ของดิฉันฝนตกตลอดทั้งปี ตอนนี้ก็น้ำท่วมจังหวัด พัทลุงอยู่ ดิฉันก็เป็นห่วงพี่น้องชาวพัทลุงมาก ๆ เลย คือบ่อขยะนี้ถ้าเมื่อไรก็ตามที่น้ำท่วมสูง มากกว่านี้มันเป็นไปได้หมดเลย อะไรเกิดขึ้นได้ ด้วยสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ท่านนึกภาพสิคะ ถ้าน้ำท่วมบ่อขยะมันจะเกิดอะไรขึ้น เพราะฉะนั้นเราต้องคิดวางแผนแล้ว อย่าวัวหายล้อมคอก อย่ารอให้เกิดก่อนแล้วมาแก้กัน ตอนนั้นไม่ทันแล้ว มันคงวุ่นกัน ไปทั้งเมืองนะคะ ดิฉันเลยอยากจะให้เรามานั่งคิดกัน ดิฉันเสนอคร่าว ๆ แต่ดิฉันคิดว่า เราคงต้องมีคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อวางแผนกันโดยเฉพาะ ดิฉันขอเสนอก่อนก็คือ ว่าต้องมีการบริหารจัดการร่วมกันทั้งระบบ ทั้งประชาชนแล้วก็ภาครัฐ ประชาชนเอง เราก็ต้องจัดการขยะด้วยหลัก 3R นะคะ Reduce Reuse Recycle ดังภาพถัดไปนะคะ ภาครัฐเองเราก็ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น อาจจะมี Application ต่าง ๆ จูงใจให้ ประชาชนคัดแยกขยะ แล้วก็มีการ Monitor การจัดเก็บขยะในชุมชนหรือใช้หุ่นยนต์ มาวิเคราะห์ในการคัดแยกขยะก็ได้ ดีกว่าภาพตอนต้นดิฉันให้เห็นไปว่าต้องเอาคนไปขนไป คัดแยก อันนั้นก็ไม่ดีกับสุขภาพประชาชน หรือแม้กระทั่งคนงานที่เขาต้องคัดแยกขยะ เขาก็คือคนเหมือนกัน คงไม่มีใครที่จะต้องเอาชีวิตไปเสี่ยงแบบนั้นนะคะ

นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ต่อมาปัญหาขยะที่นานาชาติตื่นตัว ดิฉันอยากจะให้เห็นว่าประเทศฟินแลนด์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศฝรั่งเศสเขาแก้ปัญหากันไปไกลแล้วค่ะ อย่างประเทศฝรั่งเศสตอนนี้เขาห้ามใช้แล้ว เขาออกกฎหมายห้ามใช้อุปกรณ์ที่เป็นพลาสติก ทั้งจอบ มีด ช้อนส้อม จาน เขาห้ามตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ แล้ว คำถามคือประเทศไทยเราจะ อย่างไรต่อ ถึงเวลาที่เราต้องจริงจังกับเรื่องขยะแล้ว เราจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงาน ใดหน่วยงานหนึ่งไม่ได้อีกแล้ว ดิฉันให้ดูอีกตัวอย่างหนึ่ง คือของประเทศญี่ปุ่น เราจะเห็นว่า ของประเทศญี่ปุ่นเริ่มตั้งแต่ในครัวเรือน ใช้หลัก 3R เข้ามา แล้วก็หลังจากนั้นขยะที่ เผาไหม้ได้ก็ไปเตาเผา ในขยะที่เผาไหม้ไม่ได้ก็มีเตาเผาอีกประเภทหนึ่ง ขยะขนาดใหญ่ก็มี โรงบดขยะขนาดใหญ่ อันไหนที่กลับมาใช้ซ้ำได้ก็นำกลับมาใช้ซ้ำ และในประเทศญี่ปุ่นเอง สามารถได้พลังงานความร้อน ได้ไฟฟ้าจากการเผา เขาทำกันมานานแล้วในกรุงโตเกียว กำจัดขยะจาก ๒๓ เขตของโตเกียว ในส่วนของฝังกลบก็ทำไปอย่างเป็นระบบ ในเรื่องของ ถมทะเลอันนี้เห็นชัดมาก ๆ ถ้าใครเคยไปสนามบินคันไซ จะเห็นว่าสนามบินคันไซคือเกิดจาก การรวมกันของขยะจนสามารถสร้างเป็นสนามบินได้ นั่นคือตัวอย่างที่ดีมากที่ประเทศญี่ปุ่น เขาบริหารจัดการขยะได้อย่างดี คำถามคือประเทศไทยเราขยะล้นขนาดนี้เราได้คิดอะไรแบบ นั้นบ้างหรือไม่ที่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ หรือประเทศญี่ปุ่นเองเขาได้แร่เหล็ก ได้อลูมิเนียม ต่าง ๆ นานา มาใช้ประโยชน์ได้ เพราะฉะนั้นดิฉันสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญขึ้นมา เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการขยะขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วก็สนับสนุน พ.ร.บ. การจัดการขยะของพรรคก้าวไกล ที่กำลังจะเข้า เร็ว ๆ นี้ ดิฉันคิดว่าถึงเวลาจริงจังแล้วที่เราจะต้องร่วมมือกันระหว่างภาคประชาชน รัฐบาล แล้วก็องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชนของเรามีคุณภาพชีวิตที่ดี ต่อไป ขอบคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไป ท่านศิรสิทธิ์ เลิศด้วยลาภ เชิญครับ

นายศิรสิทธิ์ เลิศด้วยลาภ นครราชสีมา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ศิรสิทธิ์ เลิศด้วยลาภ สมาชิกสภาผู้แทนจากอำเภอปากช่อง พรรคเพื่อไทย ขอบคุณ ทางพรรคเพื่อไทยที่ให้ผมเป็นผู้แทนราษฎรและเป็นผู้ที่จะอภิปรายแสดงความคิดเห็น และเป็นการอภิปรายแสดงความคิดเห็นในการที่จะสนับสนุนให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขเรื่องการบริหารจัดการขยะ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท่านประธานครับ เนื่องจากว่าการบริหารจัดการขยะนี้ เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเนื่องจากประชากรของประเทศได้เพิ่มมากขึ้น มากขึ้น และใน ขณะเดียวกันมีพัฒนาสังคม พัฒนาเศรษฐกิจ และพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ตอบสนองกับความต้องการอุปโภคบริโภคของพี่น้องประชาชนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ เกิดผลกระทบกับชุมชน นั่นก็คือเรื่องขยะมูลฝอย

นายศิรสิทธิ์ เลิศด้วยลาภ นครราชสีมา ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ จากข้อมูล ปี ๒๕๖๕ ประเทศไทยเรานั้นมีขยะเพิ่มขึ้นถึง ๒๕.๗๐ ล้านตัน ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่พี่น้อง ประชาชนได้รับผลกระทบต่อการดำรงชีวิตในท้องถิ่น ท่านประธานครับ เพื่อนสมาชิกหลายท่าน หลายจังหวัด ได้อภิปรายปัญหาหลายเรื่อง ผมขออนุญาตนะครับ มีเวลาจำกัด ขออภิปรายเฉพาะเขตอำเภอปากช่อง อำเภอปากช่องนั้นเป็นเมืองหน้าด่านอำเภอแรก สู่อีสาน มีมรดกโลก อากาศดีอันดับ ๗ ของโลก ด้วยความสมบูรณ์ของธรรมชาติจึงมีผู้คน ที่มาเที่ยวอำเภอปากช่องจำนวนมาก สถิติในปี ๒๕๖๖ มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเขาใหญ่ ๑,๖๗๘,๓๑๔ คน ท่านประธานครับ มีนักท่องเที่ยวเยอะ ขยะก็เยอะตามตัว รวมถึงมีการจัดมหกรรมดนตรีหลายต่อหลายรายการด้วยกัน ผมยกตัวอย่างเช่น งาน Big Mountain คนจัดเป็นคนที่อื่น จัดเสร็จก็เอาเงินไปใช้ที่อื่น แต่พี่น้องประชาชน ชาวอำเภอปากช่องต้องรับภาระขยะที่ตกค้างจำนวนมาก ผมขอกล่าวถึงวิธีกำจัดขยะของคน อำเภอปากช่องครับ อำเภอปากช่องมีการกำจัดขยะด้วยวิธีฝังกลบ พื้นที่ที่ฝังกลบเป็นที่ ราชพัสดุทหารใช้ดูแล เนื้อที่ทั้งหมด ๖๐ ไร่ ใกล้บ้านโนนป่าติ้ว ใกล้บ้านเขาเสด็จ ตำบลหนองสาหร่าย ตรงข้ามกับบ้านท่างอย ตำบลจันทึก อยู่ไม่ไกลจากเทศบาลเมืองปากช่อง รั้วติดกันกับวิทยาลัยเทคนิคปากช่อง เป็นที่ทิ้งขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น อบต. เทศบาล โรงแรม โรงเรียน Resort ทิ้งหรือกลบตรงนี้มา ๓๐ ปี ทิ้งขยะ วันละ ๑๘๐ ตันต่อวัน แต่ท่านประธานเชื่อไหมว่า การกำจัดขยะนั้นกำจัดได้วันละ ๕๐-๖๐ ตันต่อวันเท่านั้น จึงมีขยะตกค้าง ๔๐๐,๐๐๐ ตันในขณะนี้ ขยะตกค้างมากขนาดนี้จึงเกิด ปัญหามากมาย ผมขอยกตัวอย่างที่สำคัญ ๆ ที่มีผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนชาวปากช่อง เช่น ปัญหาในวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๓ เกิดพายุฝนตกหนักในเขตอำเภอปากช่อง น้ำฝนได้ ชะล้างสิ่งโสโครก สิ่งปฏิกูล และสารเคมีต่าง ๆ ไหลลงสู่บ้านโนนป่าติ้ว บ้านเขาเสด็จ บ้านท่างอย และบ้านใกล้เคียงที่มีบริเวณอยู่ใกล้กองขยะนี้ ชาวบ้านอยู่ในละแวกนี้ป่วยไป หลายสิบราย ผิวหนังเป็นแผลพุพอง อีกตัวอย่างหนึ่งครับ คือตัวอย่างวันที่ ๒๑ มีนาคม ถึงวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา ไฟได้เกิดไหม้กองขยะมหึมากองนี้ ๔ วัน ไฟลุก ๘๐ ชั่วโมง ควันไฟพวยพุ่งสร้างมลพิษทางอากาศ พี่น้องประชาชนใกล้เคียงนั้นเจ็บป่วยด้วย โรคทางเดินหายใจ ท่านประธานครับ ทั้งหลายทั้งมวลนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่พี่น้องประชาชนคน ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาได้ประสบพบเจอ ดังนั้นพี่น้องประชาชนชาวอำเภอปากช่อง เรียกร้องว่าให้ทหารนั้นคืนที่ดินที่ครอบครองดูแลอยู่นั้นให้กับราชพัสดุคืน เพื่อให้องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นได้มาดูแลกำจัดขยะ ให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดความปลอดภัยต่อชีวิต ของพี่น้องประชาชนชาวอำเภอปากช่องครับ หากแม้ว่าที่ตรงนี้ไม่ได้เป็นที่ฝังกลบขยะแล้ว อยากจะให้พี่น้องประชาชนได้รับที่ราชพัสดุที่จะให้เทศบาลเช่านั้นจัดเป็นที่สาธารณะ จัดเป็น ที่จัดงานให้กับพี่น้องประชาชนคนปากช่อง วันนี้ผมต้องขอกราบขอบพระคุณอย่างสูงที่ให้ผม นั้นได้มีโอกาสอภิปราย และขอสนับสนุนในการที่จะให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาหาแนวทางในการแก้ไข เรื่องการบริหารจัดการขยะขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นในครั้งนี้ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ต่อไปนะครับ ท่านแอนศิริ วลัยกนก เชิญครับ

นางสาวแอนศิริ วลัยกนก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาวแอนศิริ วลัยกนก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตทุ่งครุ เขตราษฎร์บูรณะ แขวงราษฎร์บูรณะ พรรคก้าวไกล ดิฉันจะขออภิปราย การบริหารจัดการขยะ

นางสาวแอนศิริ วลัยกนก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ปัญหาการจัดการจัดเก็บ ขยะมูลฝอยในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเกิดขึ้นมานานพร้อมกับการขยายตัวของชุมชน เมืองและจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น วิธีการดำเนินชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงต่อพฤติกรรม และการผลิตและผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสถานการณ์โควิด-๑๙ ที่ผ่านมา ที่ผู้คนนิยมการสั่งอาหาร Online มากขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจ การค้าขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ จากการขาย หน้าร้านเป็นการขาย Online ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนและส่งผลให้ปริมาณขยะมูลฝอยชุมชน ขยะบรรจุภัณฑ์ ขยะพลาสติกเพิ่มมากขึ้น จากพฤติกรรมการผลิตและการบริโภคที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ขยะมูลฝอยประเภทบรรจุภัณฑ์หรือพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีขยะมูลฝอยที่มีองค์ประกอบที่กำจัดยากขึ้น เช่น หน้ากากอนามัย ผ้าอ้อมที่ใช้แล้ว เมื่อเราพูดถึงการกำจัดขยะมูลฝอย พบว่าประชาชนยังขาดความเข้าใจและความตระหนัก ในการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยอย่างถูกวิธี จึงทำให้มีปริมาณขยะมูลฝอยเข้าสู่สถานที่ กำจัดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้การจัดการขยะมูลฝอยไม่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับขาด กฎหมายและกฎระเบียบที่จะรองรับการบริหารจัดการขยะมูลฝอย ทำให้การจัดเก็บ ขยะมูลฝอยเป็นภาระของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ขยะมูลฝอยของประเทศไทย ปี ๒๕๖๕ มีจำนวนประมาณ ๒๖ ล้านตัน ขยะที่จัดเก็บถูกต้อง มีเพียงแค่ ๙.๘ ล้านตัน และขยะที่กำจัดไม่ถูกต้องมี ๗.๑ ล้านตัน จากการประกอบด้วยขยะมูลฝอยทั้งหมด ๒ ประเภท อันได้แก่ขยะอาหารและขยะพลาสติกที่มีเป็นจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นระบบ การคัดแยกขยะมูลฝอยยังไม่มีประสิทธิภาพ และอีกสิ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลย ก็คือ การลักลอบทิ้งขยะ เนื่องจากการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ดิฉันอยากจะยกตัวอย่าง การลักลอบทิ้งขยะในพื้นที่เขตทุ่งครุและเขตราษฎร์บูรณะ ในพื้นที่ของดิฉัน ทำให้ถนนทั้ง ๒ ข้างทาง ไม่ว่าจะเป็นถนนพุทธบูชาหรือถนนประชาอุทิศ ได้มีการนำขยะมูลฝอยไปทิ้ง เป็นจำนวนมากและพื้นที่ใต้ทางด่วนก็เช่นกัน มีขยะทุกประเภทที่ไปทิ้งอยู่ใต้ขยะเป็นชิ้นใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นตู้เย็นเก่า ฟูกที่นอนเก่า พลาสติกและโฟม และเหตุการณ์ที่ดิฉันไม่อยาก จะคาดคิด ก็คือวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๖ ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้กองขยะที่บริเวณใต้ทางด่วน โชคดีที่มีการเข้าควบคุมเพลิงไฟไว้อย่างรวดเร็ว ไม่ได้เกิดความเสียหายกับตัวสะพานและ คนที่พักอาศัยอยู่แถวนั้น และที่จะต้องพูดถึงคือการทิ้งขยะในพื้นที่เอกชนที่นำขยะ การก่อสร้างหรือขยะมูลฝอยต่าง ๆ มาทิ้งในพื้นที่ของคนอื่น ซึ่งแม้กระทั่งการนำขยะมาทิ้ง ในพื้นที่ของตัวเอง ล้วนแต่สร้างปัญหาให้เกิดกับพี่น้องที่อาศัยอยู่โดยรอบ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องกลิ่น ฝุ่นและสิ่งรบกวน ทำให้ประชาชนเกิดการเดือดร้อน สร้างปัญหาให้เกิดทางด้าน สุขภาพกายและสุขภาพจิต ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ จริงอยู่อาจจะทิ้งในที่ไม่ใช่ พื้นที่ของตัวเอง แต่อาจจะส่งผลกระทบในพื้นที่ของคนที่อาศัยอยู่โดยรอบ ปัญหาการลักลอบ ทิ้งขยะในพื้นที่ต่าง ๆ เกิดขึ้นโดยตลอดเวลา และสาเหตุเกิดจากการจัดเก็บขยะที่ไม่มี ประสิทธิภาพ ดิฉันจึงเห็นว่าควรมีการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไข ปัญหาการจัดเก็บขยะตามที่ผู้เสนอญัตตินี้ด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล เชิญครับ

นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ผม ฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต อำเภอถลางและอำเภอกะทู้ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายขอสนับสนุนการตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหา เรื่อง การบริหารจัดการขยะขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นครับ อย่างที่ทุก ๆ ท่านทราบดีว่าจังหวัดภูเก็ตมีชายทะเล ขยะในจังหวัด ภูเก็ตมันไม่มีเฉพาะแต่ในชุมชนเท่านั้น แต่รวมถึงขยะชายฝั่งและขยะในทะเลที่หลาย ๆ ครั้ง จะมีเศษขยะล่องลอยอยู่ในทะเล ใต้ทะเลก็มีนะครับ แต่การจัดการปัญหาเหล่านี้ก็ยังไม่ได้รับ การเก็บขยะที่ดี ที่มีคุณภาพ ในหน้ามรสุมมันจะมีขยะที่มาจากต่างประเทศ ทุก ๆ ครั้ง ในหลาย ๆ ปี จนมีชาวบ้านมีกลุ่ม NGO กลุ่มหนึ่งชื่อ เพจขยะมรสุม ได้มาช่วยการจัดการ เก็บขยะจนสร้างจิตสำนึกให้กับคนจังหวัดภูเก็ตโดยทั่วไป เรื่องเหล่านี้เราต้องช่วยกันสร้าง จิตสำนึกในการทิ้งขยะลงสู่ทะเลด้วยนะครับ และที่สำคัญในพื้นที่ทับซ้อนต่าง ๆ อุทยาน แห่งชาติเป็นคนเก็บค่าเข้าชมสถานที่ในอุทยาน แต่ อบต. มีหน้าที่ไปเก็บขยะ สิ่งเหล่านี้ น่าจะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มี ส่วนร่วมในการจัดเก็บรายได้ให้มากขึ้น มีงบประมาณต่าง ๆ ในการดูแลพื้นที่ในการจัดเก็บ ขยะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และขณะเดียวกันร้านค้าต่าง ๆ ควรมีการเก็บภาษี การเก็บภาษี ที่สำคัญ ปัญหาที่สำคัญคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่กล้าจะขึ้นค่าเก็บขยะ เนื่องจากกลัว จะกระทบฐานเสียงบ้าง กลัวจะกระทบปัญหาต่าง ๆ บ้าง ผมจึงมีข้อเสนอดังนี้ครับ การเก็บ ภาษี VAT ต่าง ๆ จากร้านค้าในพื้นที่ที่ส่วนมากมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร แบ่ง VAT เหล่านั้นให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มาจัดเก็บขยะโดยการคิดค่าบริการ รายหัวตามสิทธิประกันสังคม หรือสิทธิ ๓๐ บาทในแต่ละพื้นที่ เพื่อดูจำนวนประชากร ที่แท้จริงในพื้นที่ต่าง ๆ เพราะจังหวัดภูเก็ตอย่างที่ทุกท่านทราบดีว่ามีจำนวนประชากรใน ทะเบียนบ้านจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ กว่าราย แต่ประชากรที่อยู่อาศัยจริงเป็นหลักล้าน ดังนั้น ข้อเสนอของผมที่ฝากไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหา เรื่อง การจัดการบริหารขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรจะไปทบทวนข้อกฎหมาย ต่าง ๆ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีแนวทางในการจัดเก็บขยะที่มีประสิทธิภาพ ลดข้อกฎหมายระหว่างหน่วยงานรัฐที่เกิดการกระทบกระทั่งกันบ้าง และที่สำคัญช่วยรณรงค์ ให้ทุกคนใส่ใจในสิ่งแวดล้อม ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ต่อไปท่านพชร จันทรรวงทอง เชิญครับ

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพชร จันทรรวงทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑๓ พรรคเพื่อไทย ในวันนี้กระผมขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายเพื่อให้มีการศึกษาและหาแนวทาง ในการแก้ไขปัญหาการบริหารการจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท่านประธานครับ ปัญหาขยะมูลฝอยถือเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะมีทวีความรุนแรง เพิ่มขึ้นทุกปีเป็นผลมาจาก ๔ ปัจจัย ดังนี้

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

ปัจจัยที่ ๑ การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ ปริมาณขยะเพิ่มขึ้น โดยจากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม พบว่าในปี ๒๕๖๕ ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ มีปริมาณทั้งหมด ๒๕.๗ ล้านตัน หรือประมาณ ๗๐,๐๐๐ ตันต่อวัน แล้วเมื่อเปรียบเทียบ กับจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร์ ในปี ๒๕๖๕ ของกรมการปกครอง พบว่ามีปริมาณ ขยะมูลฝอยเฉลี่ยเท่ากับ ๑.๐๗ กิโลกรัมต่อคนต่อวัน

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

ปัจจัยที่ ๒ การเติบโตของเมือง มักเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้มีการผลิตทรัพยากร และขยะที่เพิ่มมากขึ้น

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

ปัจจัยที่ ๓ รูปแบบวิถีชีวิตของคนในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ทั้งการผลิตและบริโภค ส่งผลให้มีการ Shopping Online ที่มากขึ้น ก่อให้เกิดวัสดุบรรจุภัณฑ์ แบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเป็นจำนวนมาก

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

ปัจจัยที่ ๔ ประชาชนยังขาดการตระหนักและขาดความรับผิดชอบในการลด และคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะลดขยะได้ตั้งแต่ต้นทาง โดยข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ตามในสไลด์จะเห็นได้ว่ากราฟเส้น

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

สีส้มคือปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั้งหมดในประเทศ ซึ่งในปี ๒๕๖๕ มีปริมาณเท่ากับ ๒๕.๗ ล้านตัน กราฟเส้นสีฟ้าคือปริมาณขยะมูลฝอยที่มีการกำจัดขยะ อย่างไม่ถูกต้องในปี ๒๕๖๕ จะเห็นได้ว่ามีเท่ากับ ๗.๑ ล้านตัน จากข้อมูลดังกล่าวพบว่ามี ปริมาณของขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้องคิดเป็นร้อยละ ๒๘ ของปริมาณขยะ มูลฝอยทั้งหมด ซึ่งขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้องก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และสังคมอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการก่อให้เกิดมลพิษ การทำลายระบบชีวภาพ อีกทั้งยัง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขอนามัยของพี่น้องประชาชน หากเรามาพูดในมุมของการจัดการ ขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปัจจุบัน จะพบว่าปัญหาของการจัดการขยะมูลฝอย ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะประกอบไปด้วย ๖ อย่าง แต่ในส่วนนี้กระผมจะขอพูดถึง แค่หัวข้อของปัญหา จะไม่ขอลงรายละเอียด เนื่องจากเพื่อนสมาชิกท่าน สส. รวี เล็กอุทัย ก็ได้อภิปรายไว้ค่อนข้างละเอียดครบถ้วน

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

ปัญหาที่ ๑ การเพิ่มขึ้นของขยะที่มากขึ้นทุกวัน

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

ปัญหาที่ ๒ คือวิธีการกำจัดขยะในปัจจุบันไม่ได้ทำให้ขยะหมดไป ส่งผลให้ ขยะสะสมเพิ่มมากขึ้น

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

ปัญหาที่ ๓ สถานที่ฝังกลบขยะมูลฝอยของ อปท. ท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังขาด ประสิทธิภาพในการดำเนินงาน

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

ปัญหาที่ ๔ การขาดแคลนทักษะและบุคลากรที่เชี่ยวชาญในการจัดการระบบ กำจัดขยะที่ถูกต้อง

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

ปัญหาที่ ๕ ข้อจำกัดด้านการจัดหาพื้นที่กำจัดขยะ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับ การยอมรับและการต่อต้านของพี่น้องประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียง

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

ปัญหาที่ ๖ งบประมาณที่ไม่เพียงพอในการจัดการขยะมูลฝอย

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

ด้วยเหตุนี้ผมจึงขอเสนอแนวทางการจัดการขยะ ซึ่งในปัจจุบันก็มีอยู่หลายวิธี ดังเช่นที่เพื่อนสมาชิกหลายท่านได้อภิปราย แต่ผมจะขออนุญาตยกตัวอย่างองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารการจัดการขยะที่ดีเยี่ยม โดยปัจจุบันมีหน่วยงานมาศึกษาดูงาน กว่า ๗๙ หน่วยงาน ซึ่งนั่นก็คือเทศบาลเมืองสีคิ้ว โดยในอดีตผมเคยเป็นสมาชิกสภาเทศบาล เมืองสีคิ้ว เคยทำงานร่วมกับทางเทศบาล โดยที่ผ่านมาทางเทศบาลสีคิ้วได้มีการนำนวัตกรรม มาใช้ในการกำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจรและมีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก ซึ่งระบบกำจัด ขยะที่ทางเทศบาลสีคิ้วใช้อยู่ปัจจุบัน คือเทคโนโลยีการฝังกลบขยะมูลฝอยแบบกึ่งใช้อากาศ หรือ Semi-Aerobic Landfill โดยที่เทศบาลสีคิ้วถือเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่มีการนำ ระบบนี้มาใช้อันเกิดจากความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นการปรับปรุงสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยแบบเทกองของประเทศไทยให้เป็นรูปแบบ ที่ถูกต้อง ถูกหลักสุขาภิบาล เหมาะกับสภาพพื้นที่ สามารถย่อยสลายขยะมูลฝอยได้เร็วขึ้น ลดกลิ่นเหม็นรบกวนและได้รับการยอมรับจากองค์กรอนามัยโลกว่าเป็นเทคโนโลยีที่สามารถ ลดก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าระบบกลบทั่วไปถึง ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ระบบกลบฝังขยะแบบ กึ่งใช้อากาศถือเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดขยะ โดยอาศัยหลักการถ่ายเท อากาศที่เกิดขึ้นจากความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิภายในบ่อกลบฝังขยะและภายนอก บ่อกลบขยะ โดยพบว่าภายในบ่อกลบฝังขยะจะเกิดปฏิกิริยาการย่อยสลายจุลินทรีย์ที่มี อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณอยู่ที่ ๕๐-๗๐ องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าอุณหภูมิภายนอกบ่อ ส่งผลให้ ขยะ อากาศและก๊าซที่ร้อนกว่าที่อยู่ภายในบ่อฝังกลบขยะจะลอยตัวขึ้น และทำให้อากาศ ภายนอกที่มีออกซิเจนและอุณหภูมิที่ต่ำกว่าไหลเข้ามาในบ่อกลบฝังขยะ โดยวิธีนี้จะมี การติดตั้งท่อรวบรวมและระบายน้ำชะขยะที่เจาะรูพรุน แล้วมีขนาดใหญ่กว่าท่อรวบรวมปกติ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการไหลกลับของน้ำ โดยจะทำให้อากาศและออกซิเจนจากภายนอก สามารถไหลเข้ามาแทนที่ก๊าซที่มีอุณหภูมิสูงกว่าที่อยู่ภายในบ่อซึ่งจะระบายออกได้

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

นอกจากนี้เทคโนโลยีฝังกลบขยะมูลฝอยแบบกึ่งใช้อากาศยังสามารถยืดอายุ การใช้บ่อกลบฝังและใช้งบประมาณในการดำเนินการที่ไม่สูงมาก อีกทั้งการดูแลระบบยังทำ ได้ง่ายและเหมาะสมกับท้องถิ่นในประเทศไทย ซึ่งผมก็ได้คุยกับท่านนายกเทศมนตรีเทศบาล เมืองสีคิ้ว ท่านนายกเทศมนตรีปรีชา จันทรรวงทอง ยินดีนะครับ เพื่อนสมาชิกทุกคนหากใครจะ มาศึกษาดูงานระบบการจัดการขยะแบบ Semi-Aerobic Landfill และการบริหารงาน หรือการบูรณาการกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการจัดการบริหารเรื่องขยะของเทศบาลสีคิ้ว ท่านประธานครับ สุดท้ายนี้กระผมขอฝากไว้ว่าขยะที่ถูกจัดการอย่างเหมาะสมเปรียบเสมือน กุญแจที่จะเปิดสู่ประตูที่สะอาดและยั่งยืน ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ อีก ๓ ท่านนะครับ ท่านแรก ท่านปรีติ เจริญศิลป์ ท่านที่ ๒ ท่านชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ท่านที่ ๓ ท่านอานันท์ ปรีดาสุทธิจิตต์ นะครับ เชิญท่านปรีติ เจริญศิลป์ ครับ

นายปรีติ เจริญศิลป์ นนทบุรี ต้นฉบับ

สวัสดีครับท่านประธานที่เคารพ ผม ปรีติ เจริญศิลป์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี วันนี้ผมมาขออภิปราย เห็นด้วยกับญัตติการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อการบริหารจัดการขยะขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น ผมเองเป็น สส. เขตครับ ได้รับการร้องเรียนมาจำนวนมากเกี่ยวกับเรื่อง การบริหารจัดการขยะของท้องถิ่น อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาส่วนนี้มันน่าจะเป็นการแก้ ที่ระบบมากกว่าไปโทษใครครับ ผมจะมาแชร์ปัญหาที่พบในท้องถิ่นของผมให้ฟังครับ ขอสไลด์ครับ

นายปรีติ เจริญศิลป์ นนทบุรี ต้นฉบับ

ข้อแรก ผมลองสำรวจเรื่องเกี่ยวกับ ค่าบริหารจัดการขยะในแต่ละพื้นที่ราคาก็จะไม่เท่ากัน อย่างบ้านทั่วไปในท้องถิ่นของผม ๑๑ อปท. ก็จะมีราคาการจัดเก็บขยะต่อหลังอยู่ที่ ๒๕ บาท ถึง ๔๐ บาทต่อเดือนต่อหลัง โดยที่หมู่บ้านจัดสรรเองก็มีราคาที่สูงกว่า ซึ่งผมได้ลองสืบทราบสอบถามมา หมู่บ้านจัดสรร จะใช้บริษัทเอกชนในการจัดเก็บขยะ ซึ่งจะมีราคาที่สูงกว่าเท่าตัวแน่นอน ในอดีตผมเคยลอง ให้ทีมงานไปสืบข้อมูลมา ปรากฏว่าการจัดเก็บขยะของหมู่บ้านจัดสรรกับบ้านทั่วไปผู้จัดเก็บ กลับกลายเป็นรายเดียวกัน นั่นหมายความว่าท้องถิ่นหรือบริษัทเอกชนเขาก็ใช้รถเก็บขยะคัน เดียวกัน บริษัทเดียวกัน แต่ราคาก็ยังไม่เท่ากันครับ อย่างบางแห่งที่มี อปท. จัดเก็บค่าจัดเก็บ ขยะ ๔๐ บาทต่อเดือน เช่น เกาะเกร็ด เป็นพื้นที่เกาะที่ต้องมีการเคลื่อนย้ายขยะด้วยเรือ ซึ่งงบประมาณเขาก็มีไม่เพียงพอ จึงต้องไปพึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใหญ่กว่า เช่น เทศบาลปากเกร็ดมาช่วย บนเกาะเกร็ดมีจำนวนหลังคาเรือนประมาณ ๑,๕๐๐ หลังคา เรือน แต่มีผู้ที่จ่ายค่าจัดเก็บขยะต่อเดือนเพียง ๔๐๐ หลัง สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าหลังที่ไม่จ่าย เกิดอะไรขึ้น เพราะปัญหาทางด้านเศรษฐกิจนั่นเอง จากส่วนนี้ส่งผลต่อมลพิษในเรื่องขยะ เป็นจำนวนมาก ซึ่งเขาจะต้องเอาขยะที่ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของเขาไม่ได้เก็บ ไปทิ้งในถังรวม ทำให้เกิดขยะล้น ปัญหาหนึ่งที่พบที่ได้รับการร้องเรียนคือความถี่ในการ จัดเก็บขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งก็ไม่เท่ากัน บางที่สัปดาห์ละ ๒ ครั้ง มาตรฐาน บางที่สัปดาห์ละ ๑ ครั้ง บางที่ ๒ สัปดาห์ ๑ ครั้ง อันนี้ไม่ทราบว่ามาตรฐาน มาจากไหน หรืออย่างไร

นายปรีติ เจริญศิลป์ นนทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องร้องเรียนอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องเกี่ยวกับถังขยะมีไม่เพียงพอ ซึ่งผมเข้าใจ ว่าท้องถิ่นจะมีการแจกถังขยะให้กับบ้านเรือนแต่ละแห่งที่มีการชำระค่าขยะ แต่บางแห่ง ก็ไม่ได้รับเพราะเขาเป็นชุมชนที่รถขยะเข้าไม่ถึง จะมีถังรวมที่ให้ทุกคนเดินออกมาเพื่อมาทิ้ง ซึ่งบางทีก็ถังล้น เพราะว่าการจัดเก็บขยะยังไม่เป็นระบบเพียงพอ

นายปรีติ เจริญศิลป์ นนทบุรี ต้นฉบับ

ปัญหาสำคัญอีกอันหนึ่ง คือมีการแอบทิ้งขยะในพื้นที่สาธารณะ ที่ผมพบภาพ ด้านซ้ายที่เป็นขยะเป็นซากหัวหมูที่มีการเอามาทิ้งในพื้นที่ตำบลบางพลับ อำเภอปากเกร็ด ส่วนภาพขวาเป็นการทิ้งในพื้นที่ทางหลวง ใต้ทางกลับรถ ในตำบลคลองข่อย อำเภอ ปากเกร็ด ผมลองมาดูในเรื่องของกฎหมาย ภาพซ้ายเมื่อมีการทิ้งขยะในถนนทางหลวงก็จะมี ป้ายประกาศเตือนว่า การทิ้งขยะนี้ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ. ทางหลวง มีโทษปรับและจำคุก ๓ ปี ปรับไม่เกิน ๖๐,๐๐๐ บาท มีป้ายเตือนครับ แต่ปรากฏว่าขยะก็ยังทิ้งในจุดที่ติดป้ายนี้ จนเกือบจะมาทับป้ายเรียบร้อยแล้วครับ แต่ส่วนภาพด้านขวาเป็นพื้นที่ของเอกชนที่เขาติด ป้ายบอกห้ามทิ้งขยะ แล้วเขาสาปแช่งครับ สะอาดมาก ไม่มีใครกล้ามาทิ้งขยะครับ นี่คือสิ่งที่ อยากจะเป็นข้อเสนอของผมต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ ๔ ข้อดังนี้

นายปรีติ เจริญศิลป์ นนทบุรี ต้นฉบับ

ข้อแรก อยากให้มีการรณรงค์ปลูกฝังจิตสำนึกของประชาชนตั้งแต่เด็กเลย เหมือนอย่างต่างประเทศ ถ้าท่านไปที่ประเทศญี่ปุ่นท่านเห็นแน่นอนว่าประเทศ ที่สะอาดมาก ถังขยะก็แทบไม่มี คุณสร้างขยะ คุณต้องเก็บขยะของคุณเข้ากระเป๋าเพื่อไปทิ้ง ที่บ้านครับ

นายปรีติ เจริญศิลป์ นนทบุรี ต้นฉบับ

ข้อที่ ๒ ผมอยากให้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรืออำเภอ หรือส่วนภาครัฐ จัดหาสถานที่ทิ้งขยะขนาดใหญ่ในราคาถูกเพื่อไม่ให้มีการไปลักลอบทิ้งในที่สาธารณะ

นายปรีติ เจริญศิลป์ นนทบุรี ต้นฉบับ

ข้อที่ ๓ อยากให้ลองศึกษาดูว่าการบริหารจัดการจัดเก็บขยะมันควรจะเป็น สวัสดิการที่รัฐต้องทำให้ประชาชน หรือประชาชนต้องจ่ายเงินให้รัฐกันแน่ถึงจะแก้ปัญหาได้

นายปรีติ เจริญศิลป์ นนทบุรี ต้นฉบับ

ข้อที่ ๔ เราควรมีแรงจูงใจให้กับประชาชน เรียกว่าเป็น Incentive ให้กับ ประชาชนที่คัดแยกขยะ เช่น มีการลดค่าจัดเก็บขยะให้เขาถ้าเขามีการคัดแยกครับ เพื่อให้ ผู้จัดเก็บขยะเหล่านี้นำขยะที่คัดแยก ขยะที่มีมูลค่าไปขายได้ครับ

นายปรีติ เจริญศิลป์ นนทบุรี ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้ก็ยังเห็นด้วยที่จะต้องตั้งกรรมาธิการวิสามัญการบริหารจัดการขยะ ของท้องถิ่น เพื่อให้ประเทศไทยเราดีกว่านี้ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านชุติพงศ์ พิภพภิญโญ เชิญครับ

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดระยอง อำเภอบ้านค่าย อำเภอปลวกแดง อำเภอวังจันทร์ วันนี้ขอร่วมอภิปรายสนับสนุนญัตติ การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการ ขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เพื่อนสมาชิกได้เสนอเข้ามาพิจารณาในวันนี้ ท่านประธานครับ ผมขอเริ่มต้นการอภิปรายเรื่องราวด้วยการพูดถึงผู้ชาย ๑ ท่าน ขอสไลด์ ด้วยนะครับ

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ

คนที่อยู่ในภาพคือทนายประเสริฐ รักเผ่า รุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยบูรพาของผม ซึ่งได้เสียสละชีวิตจากการคัดค้านบ่อขยะรวม แบบครบวงจรขององค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่าบ่อขยะทับมา เนื่องจากมีความกังวลว่าบ่อขยะดังกล่าวจะสร้างมลพิษต่อพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ โดยรอบ ท่านประธานครับ ทนายประเสริฐ รักเผ่า ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๒ ต่อมาหลังจากนั้นไม่นานมีกลุ่มนักศึกษาของมหาวิทยาลัยบูรพา ชื่อกลุ่มลูกชาวบ้านร่วมกับ เพื่อนนักศึกษาจากอีกหลายมหาวิทยาลัย นักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน ร่วมกันจัดเวที คัดค้านบ่อขยะทับมาที่วัดเขาโบสถ์ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ ภาพที่ท่านประธานเห็นอยู่ ในขณะนี้ ๑ ในนั้นคือผมเมื่อ ๑๔ ปีก่อน และในนั้นมีคุณปกรณ์ อารีกุล และคุณธิวัชร์ ดำแก้ว อดีตผู้สมัคร สส. พรรคก้าวไกลยืนอยู่ตรงนั้น วันนั้นพวกผมจำได้ว่าชาวบ้านมาร่วม หลายร้อยคน พวกเขาต่างกังวลถึงปัญหามลพิษ มลภาวะที่จะเกิดขึ้นจากบ่อขยะ แม้สุดท้าย เสียงทัดทานคัดค้านของพวกเราและชาวบ้านทับมา อำเภอเมือง จังหวัดระยอง และหนองตะพาน อำเภอบ้านค่ายในวันนั้นจะดังไม่มากพอที่จะหยุดโครงการดังกล่าว จนสุดท้ายแล้วโครงการนี้ได้ก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ท่านประธานทราบไหมครับ ข้อห่วงใย ที่ชาวบ้านกังวลเมื่อ ๑๔ ปีก่อน วันนี้ปัญหาเหล่านั้นเกิดขึ้นทุกอย่าง ทั้งกลิ่นเหม็น น้ำเสีย ปัญหาเรื่องขยะล้นบ่อที่ฝังกลบเป็นภูเขาขยะในอนาคต เรื่องพวกนี้เกิดขึ้นทุกอย่างครับ มันก็เหมือนภารกิจที่ผ่านมา ๑๔ ปี แล้วยังไม่จบ เพราะทุกวันนี้ผู้แทนเจ้าของพื้นที่ คือ สส. กมนทรรศน์ จากตำบลทับมา และผมในฐานะผู้รับผิดชอบตำบลหนองตะพานก็ต้องรับ เรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่แทบทุกวัน คือการที่ขยะไม่มีคนมาเก็บนะครับ ท่านประธาน นึกภาพถังขยะที่ไม่มีคนเก็บ จานชามไม่มีคนล้าง มีของบูดเน่าอยู่ใกล้ตัว มันเหม็นทนไม่ไหวขนาดไหน ชาวทับมาและชาวหนองตะพานต้องทนอยู่กับเรื่องแบบนี้ หนีไปไหนไม่ได้เพราะบ้านเขาอยู่นั้น ทุก ๆ วันมานับสิบปีมันจะเกินทนขนาดไหนครับ การจัดการที่ไม่ดีขนาดนี้จะทำให้ชาวบ้านต้องย้ายบ้านหนีเลยหรืออย่างไร ท่านประธานครับ เมื่อเดือนที่แล้วผมได้มีโอกาสลงพื้นที่บ่อขยะดังกล่าวร่วมกับคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็พบว่าการบริหารจัดการขยะในบ่อขยะทับมา ในปัจจุบันมีปริมาณขยะจากทั่วสารทิศในจังหวัดระยอง ประมาณวันละ ๑,๐๐๐ ตัน มีการจัดการแบบเผาได้โดยประมาณที่ ๕๐๐ ตัน แบบ RDF ที่เหลือจัดการด้วยการฝังกลบ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเรื่องกลิ่น เพราะมีการเปิดปากฝาบ่อไว้กว้างมาก มีปัญหาน้ำเสียที่มาจาก การคัดแยกขยะของโรงคัดแยกขยะเอกชนโดยรอบไหลลงสู่ลำรางสาธารณะ ซึ่งบ่อขยะของ อบจ. ก็สามารถปฏิเสธได้ครับว่าเป็นการคัดแยกขยะโดยเอกชน แต่ว่าอย่าง นั้นมันก็กำปั้นทุบดินไปนะครับ เพราะว่ามีบ่อขยะรวมครบวงจร สร้างไว้แห่งเดียว แล้วปิดไว้ ทุกบ่อขยะที่มีของ อปท. โดยรอบ อย่างไรเขาก็ต้องมาคัดแยกขยะที่นี่ครับ เขาจะไปคัดแยก ที่ไหนยิ่งไกลยิ่งส่งง่าย ก็เลยเกิดปัญหาผลกระทบ ในการลงมติครั้งนั้นผมได้ลงพื้นที่ร่วมกัน และทาง สส. พูนศักดิ์ จันทร์จำปี ๑ ในกรรมาธิการที่ดินได้เสนอแก้ไขวิธีการแก้ปัญหาไปแล้ว ว่าให้การลดการเปิดปากบ่อ เปิดเป็นตารางหมากรุกและดูดกลิ่น ดูดก๊าซมีเทนไปเผาเพื่อลด ปัญหาของกลิ่นออกไป และผมได้เสนอให้มีการจัดทำ Zoning รับเรื่องร้องเรียนจาก ประชาชนเพื่อจะได้ทราบว่าจะทำการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่ต้องทนกับกลิ่นทุกวันได้ อย่างไร ผมก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเรื่องที่เสนอไปจะได้รับการรับผิดชอบและนำไปปรับใช้เพื่อ เยียวยาและแก้ปัญหากลิ่นโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ท่านประธานครับ ผมมีความจำเป็นต้อง กล่าวถึงการที่ อบจ. ระยอง ได้มีการดำเนินการรวบอำนาจไปทำเอง รวมศูนย์การจัดการ ทั้งหมดไว้ที่บ่อขยะแห่งเดียวจนจัดการไม่ไหว จริงอยู่ที่โครงการบ่อขยะเป็นโครงการที่ไม่มี ใครอยากเอาไปไว้หน้าบ้านตัวเอง แต่การจัดการก็ต้องเริ่มด้วยความจริงใจ โปร่งใส ไม่หมกเม็ด ไม่ใช่ทำแบบ ๑๔ ปีก่อนที่บอกว่าทำแล้วดีไม่มีปัญหา แต่พอมาวันนี้ปัญหาเกิด ภาคประชาชนเขาจะเสื่อมความเชื่อมั่นต่อภาครัฐ ต่อภาคการเมือง ต่อภาคราชการขนาดไหน ๑๐ กว่าปีแล้ว ที่บ่อขยะทับมาเป็นเครื่องยืนยันชัดเจนว่าการรับปากของรัฐที่บอกว่าทำได้ ไม่มีปัญหาคือคำที่ทำไม่ได้จริง ผมเชื่อว่าหลักการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการขยะ เป็นหลักการที่ถูกต้อง แต่ต้องทำอย่างครอบคลุมรอบด้าน มีคำสั่งและทิศทางในการเพิ่ม ปริมาณของสิ่งที่จำเป็น ทั้งผู้ปฏิบัติงาน ทรัพยากรลดขยะ ต้องเพิ่มการจัดการคัดแยกขยะ ที่ต้นทางในระดับนโยบาย รวมทั้งท้องถิ่นก็ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้ามามี ส่วนร่วมในการบริหารจัดการให้ชาวบ้านได้ร่วมตรวจสอบมลพิษ มลภาวะที่จะเกิดขึ้นจาก การมีบ่อขยะในพื้นที่ มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างไม่เลือกปฏิบัติ ใช้งบไม่ถูกวิธี ไม่ใช่ ใช้งบไปทีว่าได้ใช้แล้วแต่ไม่เกิดการแก้ปัญหาเลย และที่สำคัญในจังหวัดระยองวันนี้ยังมีอีก หลายพื้นที่ที่มีโครงการอีกหลายโครงการทั้งของภาครัฐ ท้องถิ่น และเอกชนในเรื่องขยะ เพราะล่าสุดทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยองเองก็มีความตั้งใจจะเพิ่มโรงไฟฟ้าพลังงาน ขยะเพื่อเผาขยะให้ได้มากขึ้น ซึ่งยังเกิดคำถามจากประชาชนว่า เราจะจัดการกับขยะได้จริง ด้วยการเผาหรือไม่ และผลกระทบจะเป็นอย่างไร ก็อยากจะให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตอบคำถาม สร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนให้เต็มที่ ให้ดีที่สุด เพื่อให้ครั้งนี้เมื่อเกิดการแก้ไข ปัญหาจะไม่นำไปสู่ปัญหาครั้งต่อไป และโรงไฟฟ้าจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างตรงจุดหรือไม่ เรื่องนี้ต้องประชาสัมพันธ์และสร้างการมีส่วนร่วมให้มากกว่าเดิม อย่าให้เหมือน ๑๔ ปีที่ผ่านมา รวมถึงที่ตำบลปลวกแดง อำเภอปลวกแดง ที่กำลังจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ อุตสาหกรรม และมีการจัดเวทีที่กีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชนอยู่ ณ เวลานี้ จนเกิด ความกังวลเรื่องอิทธิพลต่าง ๆ ในพื้นที่ของผู้คัดค้าน เรื่องเหล่านี้สะท้อนว่ารัฐไทยไม่เคย เปลี่ยนไปจาก ๑๔ ปีก่อนที่ผมเริ่มเข้ามาในเวทีการต่อสู้เพื่อประชาชนเลย ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลนี้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะให้ความสำคัญกับชีวิตและเสียงของพี่น้องประชาชน ให้สิทธิเขาได้พูดและปกป้องพวกเขา อย่าให้ประชาชนต้องมาตายจากการที่เขาเพียงแค่ ลุกขึ้นมาพูดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากบ่อขยะ อย่าให้ใครต้องมาถูกยิงตายแบบทนายประเสริฐ รักเผ่า อีกต่อไปเลยครับท่านประธาน ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านอนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์

นายอนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ ชลบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม อนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี เขต ๕ พรรคเพื่อไทย วันนี้ ผมต้องขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายญัตติการจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท่านประธานครับ ปัจจุบันนี้ขยะนั้นเมืองไทยก็ถือว่าเป็นวิกฤติการณ์ที่มีขยะเพิ่มขึ้น อย่างมากมาย จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ ปี ๒๕๕๑ ถึงปี ๒๕๕๖ นั้นมีขยะเพิ่มขึ้นถึง ๗๔,๐๐๐ กว่าตัน ต่อวัน ปัญหาเหล่านี้พี่น้องประชาชนก็ได้รับความเดือดร้อนกันอย่างมากมาย โดยเฉพาะ ท่านที่อภิปรายหลาย ๆ ท่านนั้นได้ทราบถึงปัญหาแล้วอภิปรายปัญหาก็คล้าย ๆ กัน ผมอยากจะนำเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ จังหวัดชลบุรีอดีตนั้นคงเป็นจังหวัดที่นำร่อง เคยจัดการศูนย์ขยะรวมของจังหวัดชลบุรี เมื่อปี ๒๕๔๓ องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรีนั้น เป็นหน่วยงานหลักที่เป็นแม่ข่ายหาพื้นที่ จ้างบริษัทที่ปรึกษา หาพื้นที่เพื่อจัดการขยะ ก็มีการตกผลึกว่าได้พื้นที่ที่อำเภอหนองใหญ่ โดยการจัดทำประชาพิจารณ์ ท่านประธานครับ ขยะนั้นไปอยู่บ้านใครไม่มีใครยอมรับ การทำประชาพิจารณ์ช่วงนั้นผมยังเป็นสมาชิกสภาจังหวัด หรือ สจ. ก็นำพี่น้องประชาชนไป รับฟังความคิดเห็น พอเข้าถึงพื้นที่เท่านั้นครับ มีทั้งไข่เน่า มีทั้งอะไรต่าง ๆ ไม่สามารถ จัดประชุมได้ ก็ต้องกลับมา คณะที่ปรึกษาก็ต้องกลับมาปรึกษาแล้วหาแนวทางใหม่ ทำอย่างไร ที่จะให้ก่อเกิดบ่อขยะรวมทั้งจังหวัดชลบุรีได้ ก็เล็งเห็นไปที่ศูนย์กำจัดขยะของบางแสน ที่ตั้งอยู่ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรีได้ทำเรื่อง ของบประมาณไปยังกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สมัยนั้นผมจำได้ท่านดอกเตอร์ อาทิตย์ อุไรรัตน์ ขออนุญาตเอ่ยนามครับ ท่านรัฐมนตรี ได้อุดหนุนงบประมาณหรือเงินมา จำนวน ๗๐๐ ล้านบาท องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรีได้มาทำ MOU กับกระทรวง คือกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีออก ๘๐ เปอร์เซ็นต์ องค์การบริหารส่วนจังหวัด ชลบุรีนั้นออก ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ก็ได้ทำบ่อขยะตรงนี้ ซื้อที่เพิ่มขึ้นจำนวน ๕๑๐ กว่าไร่ ปัญหา ก็ยังเกิดอีกมากมาย จังหวัดชลบุรีมีพื้นที่ประมาณ ๔,๓๖๓ ตารางกิโลเมตร มีทั้งหมด ๑๑ อำเภอ มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๙๙ แห่ง มีประชากร ๑,๕๐๐,๐๐๐ กว่าคน

นายอนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ ชลบุรี ต้นฉบับ

มีประชากรแฝงอีกเท่าตัวหนึ่ง ขยะคนหนึ่งเฉลี่ยแล้ว ๑.๑๔ กิโลกรัมที่จะต้องทิ้ง จังหวัดชลบุรีมีขยะวันหนึ่ง ๓,๑๐๐ กว่า ตันต่อวัน มีขยะที่นำกลับมาใช้ได้เพียง ๒๕๐ ตัน มีขยะที่ฝังกลบที่ถูกต้อง ๒๓๗ ตัน มีขยะที่ ฝังไม่ถูกต้อง ๔๘๗ ตัน ตลอดจนยังมีขยะตกค้างอีก ๔๗๐ กว่าตัน ปัญหาอย่างนี้คือการเพิ่ม ของทางด้านเศรษฐกิจทางนโยบายของรัฐบาลก็ดี ถ้ามีการเพิ่มก็ต้องมีปัญหาเรื่องขยะลงมาสู่ ในพื้นที่ของอำเภอหรือจังหวัดของเรา ขอบเขตของบ่อขยะหรือศูนย์กำจัดขยะรวมของ จังหวัดชลบุรีนั้นมีอาคารคัดแยกขยะ มีอาคารทำปุ๋ยหมัก มีอาคาร Recycle มีเตาเผาขยะ ติดเชื้อ มีถังขยะที่เก็บแก๊สชีวภาพ ศักยภาพของศูนย์รวมขยะของจังหวัดชลบุรีสามารถกำจัด ขยะได้วันหนึ่งถึง ๓๐๐-๔๐๐ ตันต่อวัน ผลิตปุ๋ยชีวภาพได้ ๔๐ ตันต่อวัน ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ๙๐๐ เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็นำขยะทุกที่มาทิ้ง เพียงแต่ การบริหารการจัดการ อบจ. นั้นเก็บเพียงตันละ ๖๐ บาท ถึง ๑๐๐ บาท ปัญหาที่ประสบ คือเนื่องจากรถบรรทุกขยะที่วิ่งผ่านจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปบ่อขยะ ท่านเคยเห็นไหม รถสมัยโบราณเป็นรถเก่า ๆ ไม่สามารถเก็บกลิ่น เก็บเสียง น้ำไหลไปตลอดทาง วิ่งไปถึงไหน คนทานข้าวไม่ได้ครับ ก็เกิดปัญหาในการร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนมาโดยตลอด ปัญหา การขาดคุณภาพของพี่น้องประชาชนในการคัดขยะ หลาย ๆ พื้นที่ได้อภิปรายแล้วว่าปัญหา หลักคือการคัดขยะออกจากชุมชน ถามว่าขยะที่ Recycle หรือจะไปเผาที่ศูนย์กำจัดขยะ ที่จังหวัดชลบุรี รถเก็บขยะบรรทุกไม้ บรรทุกหิน บรรทุกดิน บรรทุกทราย บรรทุกไปทุกอย่าง ไปถึง Dump ลงไปครับ สายพานขาด ปัญหากว่าจะจัดตั้งหรือหางบมาซ่อมแซมมันช้า ก็ต้อง หยุดชะงักไป วันหนึ่งมีขยะ ๓,๐๐๐ กว่าตัน ลองทบไปเรื่อย ๆ ปัญหาอีกหลายเรื่อง คือเรื่อง ต้องให้หน่วยภาครัฐมาให้ความรู้กับพี่น้องประชาชน แล้วก็อุดหนุนเงินมาแก้ไข แล้วก็ปัญหาเรื่องกฎหมาย ที่จริงแล้วศูนย์กำจัดขยะตรงนี้ ผมว่าทุกที่ในประเทศไทยต้องแก้กฎหมายให้เอกชนมาดำเนินการถึงจะประสบความสำเร็จ ถ้ายังให้หน่วยราชการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำเอง ผมว่ายังไม่สามารถที่จะ เดินหน้า โดยเฉพาะบ่อกำจัดขยะของศูนย์รวมของจังหวัดชลบุรีทุกวันนี้ยังหยุด ยังไม่ สามารถดำเนินการเปิดได้ ยังติดภารกิจอีกหลาย ๆ อย่างครับ ผมขอสนับสนุนญัตติของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเรื่องกำจัดขยะ ขอขอบพระคุณครับท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปอีก ๓ ท่านนะครับ ท่านแรก ท่านบุญเลิศ แสงพันธุ์ ท่านที่ ๒ ท่านวีรนันท์ ฮวดศรี ท่านที่ ๓ ท่านเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม เชิญท่านบุญเลิศ แสงพันธุ์ ครับ

นายบุญเลิศ แสงพันธุ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม นายบุญเลิศ แสงพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๗ จังหวัดสมุทรปราการ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ และอำเภอพระประแดง เฉพาะตำบลบางจาก พรรคก้าวไกล วันนี้ ผมขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหา เรื่อง การบริหารจัดการขยะขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น จากเพื่อน ๆ สมาชิกหลายท่านได้มีการนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ มากมาย ผมจึงขอเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนถึงปัญหาการบริหารจัดการขยะในอำเภอพระสมุทรเจดีย์ เขต ๗ ของผม ท่านประธานครับ ท่านทราบไหมครับ ใน ๑ วันของอำเภอพระสมุทรเจดีย์ มีขยะมากกว่า ๒๐๐ ตันต่อวันในการจัดเก็บ อันนี้แค่ไหนอำเภอเดียวของจังหวัด สมุทรปราการ ซึ่งในปัจจุบันปัญหาส่วนใหญ่ในการจัดเก็บขยะมีหลายปัจจัย เช่น บุคลากร ที่ไม่เพียงพอ เพราะว่าในการจัดเก็บเนื่องจากค่าตอบแทนที่น้อยเกินไป หาบุคลากรได้ยาก ปัญหาอีก ๑ อย่าง จังหวัดสมุทรปราการที่ท่านรู้ดี มีบ่อขยะเพียงที่เดี่ยว ซึ่งอยู่ในตำบล แพรกษาใหม่ โดยระยะทางขนย้ายค่อนข้างไกล ทำให้ใช้เวลาในการเดินทางนาน แล้วก็มี ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นนะครับ ขอสไลด์ด้วยนะครับ

นายบุญเลิศ แสงพันธุ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ เขตอำเภอ พระสมุทรเจดีย์บ้านผมติดอยู่กับทะเลนะครับ มีพื้นที่ติดอยู่กับทะเล มีปัญหาเรื้อรังที่ไม่ได้ รับการแก้ไข นั่นก็คือปัญหาน้ำท่วมจากน้ำทะเลหนุนสูง ผมก็พูดในสภานี้หลายครั้ง ในการปรึกษาหารือ เมื่อน้ำทะเลหนุนน้ำก็ท่วม ท่วมถนน ท่วมบ้านเรือน ท่วมรถ ท่วมโอกาส ด้วยนะครับ พ่อค้าแม่ค้าในการขายของก็ขายของไม่ได้ แต่สิ่งที่ตามมากับน้ำครับ แต่ไม่ได้ลงตามน้ำ นั่นก็คือขยะทะเล ที่ทำให้ประชาชนมีความเดือดร้อน ต้นทางเกิดมาจาก ขยะบนบกที่ไม่ได้มีการจัดการที่ดี ตามภาพเลยครับท่านประธาน ด้วยตัวผมเองแล้วก็ทีมงาน ได้มีการลงพื้นที่ อันนี้ก็จะเป็นภาพในส่วนของโรงเรียนที่ขยะขึ้นมา เราก็ต้องมีขยะที่ตกค้าง ไม่ว่าจะเป็นทางโรงเรียน ชุมชน ใต้ถุนบ้านเรือน หรือสถานที่ราชการต่าง ๆ ขยะที่ตามมา กับน้ำ แล้วพอลงก็ขยะไม่ได้ลงตามน้ำ ภาพนี้ก็จะเป็นในส่วนของการติดตั้งตาข่ายทีมงาน แล้วก็ตัวผมเอง เพื่อไม่ให้ขยะเข้ามาในบริเวณภายใต้โรงเรียนและสถานที่ราชการบ้านเรือน ต่าง ๆ นะครับ ปัญหาที่เราเห็นขยะนี้มันเกิดจากบนบกทั้งนั้นเลย แต่ไม่รู้ทำไมมันถึงลอยมา กับน้ำได้ อันนี้ผมก็ขออนุญาตนะครับ อันนี้ก็จะเป็นอีกการบริหารจัดการจัดเก็บขยะทาง ทะเล ยกตัวอย่าง อย่างเช่น อบต. แหลมฟ้าผ่า ท่านเห็นในสวิงไหมครับ สวิงนี้ไม่ใช่ปลาหมอ สีคางดำ ผมบอกไว้เลยนะครับ มันคือขยะ อีกแค่ไม่กี่กิโลเมตรออกทะเลไปแล้ว อันนี้ จะเป็นของเทศบาลแหลมฟ้าผ่า ก็ได้มีการส่งบุคลากรเจ้าหน้าที่ไปเก็บตามคลอง ตามคู ตามแหล่งน้ำ แล้วก็มีการเติมน้ำยาเพื่อบำบัดน้ำเสียนะครับ อันนี้ก็จะเป็นในส่วนของ เทศบาลพระสมุทรเจดีย์ อย่างที่ผมเกริ่นนำว่าขยะมันไม่ได้มาจากน้ำ มันมาจากขยะทางบก อันนี้ก็มีการจัดเก็บในขยะของทางบกแล้วก็ในส่วนของทางน้ำด้วย อันนี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ของ อบต. คลองบางปลากด ท่านที่เห็น เห็นทางภาพบน ซ้ายด้วยครับ ล่างด้วยครับ ไม่ใช่ถนนนะครับ อันนี้ไม่ใช่ถนนขยะนะครับ มันคือคลองครับ ท่านเห็นเป็นคลองไหมครับ ท่านประธาน ไม่มีสภาพเป็นคลองนะครับถ้ามองในภาพ แต่สิ่งอื่นใดผมอยากให้ท่านประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสังเกตภาพที่ผมยกตัวอย่างมานี้ในของ ๔ อปท. มีการจัดการ ที่ต่างกัน เนื่องจากงบประมาณที่ต่างกัน เครื่องไม้เครื่องมือที่ต่างกัน อันนี้ผมก็ฝากด้วย เพราะว่าเรามองเห็นถึงการเหลื่อมล้ำในการจัดเก็บหรือการบริหารขยะในพื้นที่ของ อปท.

นายบุญเลิศ แสงพันธุ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้ผมก็ฝากไว้ด้วยถึงอำนาจโดยตรง กระทรวงมหาดไทย แล้วก็ หน่วยงานอื่นด้วย เราควรจะแก้ไขปัญหานี้ได้แล้ว เพราะว่าคำว่า ขยะไปตรงไหน ก็มีแต่คน รังเกียจ แล้วก็อีกอย่างหนึ่งขยะนี้สามารถสร้างรายได้ให้กับเอกชนต่าง ๆ รวยบ้านเป็นหลัง เลยนะครับ อันนี้ก็ฝากด้วยถึงเวลาที่เราต้องแก้ไขจริง ๆ จัง ๆ แล้ว อย่าให้ถึงปีหน้า หรือวาระหน้าเราต้องมาคุยเรื่องขยะกันอีกเลย

นายบุญเลิศ แสงพันธุ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

สุดท้ายผมขอให้เพื่อนสมาชิกช่วยกันสนับสนุนญัตตินี้ เพื่อศึกษาแนวทางแก้ไข ปัญหาเพื่อเพิ่มศักยภาพให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการจัดเก็บขยะทางทะเล ตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้สามารถนำประเด็นนี้ไปแก้ปัญหาที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อน และนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน อย่าให้คนพระสมุทรเจดีย์เสียโอกาส ฝากท่านประธานด้วยครับ ขอบคุณมากครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านวีรนันท์ ฮวดศรี เชิญครับ

นายวีรนันท์ ฮวดศรี ขอนแก่น ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม วีรนันท์ ฮวดศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขต ๑ พรรคก้าวไกล ตำบลในเมือง ตำบลเมืองเก่า ตำบลพระลับ ขออภิปรายสนับสนุนให้สภาแห่งนี้ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหา เรื่อง การบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ดังนี้ ท่านประธานครับ ปัญหาการบริหารจัดการขยะนั้น รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ มาตรา ๒๕๐ กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ให้จัดให้มีระบบจัดการและการ กำจัดขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถนำไปใช้ให้เกิด ประโยชน์ด้านอื่น ๆ ได้ แต่ปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละเขตพื้นที่นั้นต่างเจอ ปัญหาในลักษณะเดียวกัน คือจำนวนขยะมูลฝอยในแต่ละชุมชนที่มีจำนวนมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้นเรื่อย ๆ และไม่มีท่าทีว่าจะน้อยลง แต่อย่างใด ปัญหาเหล่านี้นั้นส่งผลกระทบใน มุมกว้าง การบริหารจัดการขยะนั้นจำเป็นที่จะต้องใช้ทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นด้านงบประมาณ บุคลากร เครื่องจักรในการทำลายหรือแปรรูปพื้นที่ในการพักขยะบ่อรับสิ่งปฏิกูล รถเก็บขยะ อุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ ปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการ และเมื่อเป็น เช่นนี้แล้วทำให้ปริมาณขยะตกค้างหลายพันตันต่อวัน และยังสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีท่าที ว่าจะดีขึ้น ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นกับการบริหารจัดการขยะของท้องถิ่น คือ

นายวีรนันท์ ฮวดศรี ขอนแก่น ต้นฉบับ

ข้อที่ ๑ ปัญหาเชิงโครงสร้าง เรื่องแรก หน้าที่การควบคุมและบังคับใช้ กฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้านการจัดการขยะยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะการกำกับ ดูแลการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัด ที่เกี่ยวกับขยะและมาตรการรองรับ ในกรณีที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เรามักจะพบเห็นว่า บ่อขยะนั้นมีการสะสมของขยะจำนวนมากจนน่าตกใจครับ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ววิธีการจัดการ คือ การนำเข้าเตาเผาขยะแบบไม่มีระบบบำบัดมลพิษ แต่ด้วยขยะที่นำเข้าสู่เตาเผานั้นเป็นขยะ รวมที่ไม่มีการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง ทั้งยังมีการสะสมที่เพิ่มขึ้นของขยะอิเล็กทรอนิกส์ จึงจำเป็นต้องจัดการอย่างถูกวิธี ส่งผลให้ปัจจุบันนี้ใช้งบประมาณมากขึ้นในการจัดการขยะ

นายวีรนันท์ ฮวดศรี ขอนแก่น ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ข้อจำกัดด้านงบประมาณของท้องถิ่น เรื่องนี้เป็นปัจจัยสำคัญอย่ามาก ที่ต้องเร่งแก้ไข และแม้จะมีการเรียกเก็บค่าบริการขยะจากประชาชน แต่ก็ไม่เพียงพออยู่ดี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังต้องจ่ายเงินจำนวนมหาศาลในการจัดการขยะ รายได้ที่จัดเก็บ และเงินอุดหนุนจากรัฐไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของเงินที่ใช้ในการบริหารจัดการขยะ แล้วอย่างนี้เมื่อไรจะแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการขยะได้สักทีท่านประธานครับ ขอสไลด์ครับ

นายวีรนันท์ ฮวดศรี ขอนแก่น ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ การบริหารจัดการขยะ ต้องจัดการขยะทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง แต่ว่าในประเทศไทยมีปัญหา ในทุกขั้นตอนครับท่านประธาน ขอยกตัวอย่างในการจัดการปลายทาง ซึ่งเป็นขั้นตอน ในการกำจัด ก็คือโรงงานกำจัดขยะตามข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในประเทศไทย เรามีโรงงานกำจัดของเสียขยะสิ่งปฏิกูลประเภทโรงงาน ๑๐๑ ๑๐๕ ๑๐๖ อยู่ราว ๆ ๒,๐๐๐ แห่งทั่วประเทศ ซึ่งประเภท ๑๐๕ คือคัดแยกขยะอันไหน Recycle ได้ Recycle ส่วนที่ Recycle ก็เป็นรูปแบบฝังกลบ มีมากอยู่ประมาณ ๖๔ เปอร์เซ็นต์ หลายเทศบาล ก็ใช้วิธีนี้ แต่ปัญหาก็คือว่าโรงงานเหล่านี้ไม่มีที่ดินในการฝังกลบครับท่านประธาน ก็คือไม่รู้จะไปฝังที่ไหน เพราะว่าที่ครึ่งหนึ่ง ที่ราชพัสดุครึ่งหนึ่งกองทัพก็นำไปใช้แล้ว ต่อมา ก็คือประเภทโรงงาน ๑๐๖ คืออันไหน Recycle ก็ Recycle อันไหนที่ Recycle ไม่ได้ก็อัด เป็นแท่งเป็นก้อนนะครับ เป็นก้อนพลังงานเพื่อนำไปเข้าทำเชื้อเพลิง หรือที่เราเรียกว่า RDF ตามภาพสไลด์ที่เห็น ก็คือเป็นก้อนเชื้อเพลิงพลังงาน อันนี้ทางภาคอีสาน ส่วนใหญ่จะใช้กัน แต่วิธีนี้มันมีปัญหาอยู่ตรงที่ว่าไม่ค่อยมีโรงงานรับซื้อก้อนเชื้อเพลิงนี้ ไม่รู้ จะไปขายให้ใคร ส่งขายโรงไฟฟ้าโรงงานไหน หรือว่าทำให้โรงงานต้อง Stock ก้อนขยะ พลังงานนี้ไว้เป็นจำนวนมาก ก็คือว่าแทนที่จะเป็นก้อนพลังงานเชื้อเพลิงที่ผลิตพลังงานไฟฟ้า ให้กับพี่น้องประชาชนใช้ในราคาถูก แต่กลับกลายเป็นก้อนกองขยะที่สะสมแล้วจะมากขึ้น เรื่อย ๆ คำถามของผมคือว่า หรือว่ามีบริษัทไหนผูกขาดด้วยเรื่องพลังงานผลิตไฟฟ้าไว้หรือไม่ มันก็เลยขายก้อนพลังงานนี้ได้ยากหรือแทบจะขายไม่ได้ ต่อมาในเรื่องของขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะอันตรายครับ เทศบาลต่าง ๆ นี้ปกติจะให้ อบจ. ที่จังหวัดขอนแก่นก็เหมือนกัน จะให้ อบจ. เป็นคนกำจัดปีละครั้ง ผมเน้นย้ำกับท่านประธานอีกครั้งหนึ่งว่าปีละครั้งครับ ท่านประธาน ในปริมาณก็แล้วแต่ว่า อบจ. ไหนจะได้โควตาเท่าไร มีงบประมาณเท่าไรในการ บริหารจัดการ และเรื่องโรงงานกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ขยะอันตรายอย่างที่ถูกต้องถูกวิธี มีมาตรฐาน ปัจจุบันในประเทศไทยมีอยู่ไม่กี่ที่นะครับ ที่ทราบมาคร่าว ๆ ก็มีอยู่ประมาณ ๓ ที่ทั่วประเทศ กับขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมหาศาล ปกติคนเปลี่ยนโทรศัพท์หรือว่า คอมพิวเตอร์นี้ไม่รู้กี่ล้านล้านเครื่องต่อปี

นายวีรนันท์ ฮวดศรี ขอนแก่น ต้นฉบับ

เรื่องของขยะในจังหวัดขอนแก่น ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษปริมาณขยะ ที่เกิดขึ้นของขอนแก่นตกวันละ ๑,๘๐๐ ตันต่อวัน ขยะที่ถูกกำจัดไม่ถูกต้องนี้ถึง ๓๖๔ ตัน ต่อวัน ปัจจุบันจังหวัดขอนแก่นมีขยะตกค้างอยู่ประมาณ ๖๑๒,๖๔๐ ตัน ซึ่งถือว่าเป็นอันดับ ต้น ๆ ของประเทศครับท่านประธาน นอกจากนี้ยังมีในส่วนของเทศบาลตำบลเมืองเก่า มีประชากรอยู่ ๓๒,๐๐๐ กว่าคน แต่ว่าปริมาณขยะที่เก็บได้วันหนึ่ง ๓๑ ตัน เฉลี่ยเดือนละ ๙๕๐ ตัน เฉลี่ยต่อปีก็คือตก ๑๑,๐๐๐ ตันต่อปี ทีนี้ขยะ ๑๑,๕๐๐ ตัน หรือว่า ๑๒,๐๐๐ ตัน ต่อปี เราจะเห็นว่าเทศบาลตำบลเมืองเก่า อันนี้เป็นของปี ๒๕๖๖ รวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับ การบริหารจัดการขยะ ๑๗ ล้านบาท เกือบ ๑๘ ล้านบาทนะครับท่านประธาน

นายวีรนันท์ ฮวดศรี ขอนแก่น ต้นฉบับ

ต่อไปในส่วนของเทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลนครขอนแก่นมีประชากร ทั้งประชากรที่อยู่ประจำ ประชากรแฝง ประชากรจร อยู่ประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ ท่าน ก็คือ ขยะที่เกิดขึ้นเฉลี่ย ๑๗๐ ตันต่อวัน กว่า ๓,๕๐๐ ตันต่อเดือน หรือว่า ๖๓,๐๐๐ ตันต่อปี อัตราการเกิดขยะมูลฝอย ๑.๖ กิโลกรัมต่อคน ก็ถือว่าเป็นปริมาณที่มาก ๆ เลยนะครับ ท่านประธานครับ ซึ่งปัจจุบันเทศบาลนครขอนแก่นมีปัญหาด้านบุคลากรการจัดการขยะมูลฝอย ไม่เพียงพอ มีเจ้าหน้าที่ที่จำกัด เปิดรับสมัครเพิ่มก็ไม่ค่อยได้ เพราะติดระเบียบบริหารงาน บุคคลท้องถิ่น จึงไม่สามารถที่จะให้บริการเก็บขนขยะมูลฝอยในพื้นที่ความรับผิดชอบได้ อย่างทั่วถึง แม้ตัวเทศบาลเองจะมีโครงการเทศบาลเล็กในเทศบาลใหญ่ที่เป็นการร่วมมือกัน ระหว่างภาคประชาชนก็ยังไม่เพียงพอครับ สถานที่กำจัดขยะของเทศบาลนครขอนแก่น ตั้งอยู่ที่ตำบลโนนท่อน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถฝังกลบขยะที่เข้า มาใหม่ได้อีกแล้ว จึงให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการขยะมูลฝอยด้วยวิธีแปรรูปขยะ เป็นพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด ทำให้เทศบาลต้องใช้งบประมาณในการกำจัดขยะอยู่ราว ๆ ๔๖๐ บาทต่อตัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

นายวีรนันท์ ฮวดศรี ขอนแก่น ต้นฉบับ

สุดท้ายครับท่านประธาน นอกจากนี้ผมยังมีข้อเสนอ ๖ ข้อเสนอในการ บริหารจัดการ หรือว่าแก้ไขเรื่องปัญหาขยะ ๑. ก็คือให้ อปท. ปัจจุบันมีแนวทาง ที่ชัดเจนจากส่วนกลางในเรื่องการบริหารจัดการขยะ ๒. เรื่องงบอุดหนุนงบประมาณ ที่ไม่เพียงพอกับ อปท. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๓. เราต้องสร้างแรงจูงใจในการแก้ไข ปัญหาที่ต้นทางของประชาชน เพื่อให้เกิดการคัดแยกขยะที่ต้นทางที่บ้านนะครับ เช่นเรา อาจจะให้ ๓ ดาว ๕ ดาว หรือบ้านไหนคัดแยกขยะอาจจะมีส่วนลดในการเก็บค่าบริการขยะ หรือว่ามีมาตรการทางภาษี ๔. รัฐต้องให้การสนับสนุน Cluster ในการจัดการขยะ ลดต้นทุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็น Cluster ในการจัดการขยะ ๕. แก้ไข ระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่จะทำให้โรงงานไฟฟ้าใช้เชื้อเพลิงจากขยะมากขึ้น และ ๖. แก้ระเบียบบริหารงานบุคคลท้องถิ่นที่เป็นข้อจำกัดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ นอกจากนี้จากเหตุผลที่ผมได้อภิปรายมาทั้งหมดนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้และเพื่อนสมาชิกทุก ๆ ท่านที่จะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อ ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหา เรื่องการบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างเร่งด่วน ต้องรีบจัดการก่อนที่จะสายเกินไป ร่วมกันสร้างขยะที่เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า ให้กับสังคมร่วมกันขอบคุณครับท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม เชิญครับ

นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม อุดรธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี เขต ๘ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานที่เคารพ เป็นที่ทราบกันดีว่าขยะเป็นสิ่งที่มีปัญหา แล้วจะต้อง แก้ไขให้พี่น้องประชาชน การกำจัดขยะเราจะพบปัญหาและอุปสรรคคล้ายคลึงกันทุกท้องที่ ทุกท้องถิ่น คืองบประมาณไม่เพียงพอ สถานที่ใช้กำจัดขยะ เช่นการฝังกลบอะไรอย่างนี้ ก็ไม่เพียงพอ นอกจากนั้นการเก็บ การคัดแยกขยะก็ยังมีปัญหาอีก เนื่องจากว่าพฤติกรรม ของผู้คนยังไม่คุ้นชินกับการคัดแยกขยะ และการขนย้ายขยะก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เรา พบเสมอ เช่น รถขยะต้องผ่านชุมชน ต้องผ่านถนนที่ประชาชนใช้ประจำ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิด ปัญหาขยะหล่น ขยะมีกลิ่นอะไรพวกนี้ ซึ่งเราก็ทราบกันดีว่าขยะก็มีประเภทขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะอินทรีย์ ขยะ Recycle และขยะอิเล็กทรอนิกส์อันตราย เช่น พวกทีวี โทรศัพท์ แบตเตอรี่ต่าง ๆ เป็นต้น ท่านประธานครับ การกำจัดขยะเพื่อลดภาวะโลกร้อน การกำจัด ขยะที่มีประสิทธิภาพในชุมชน ในท้องถิ่น ในพื้นที่ปฏิบัติการ ในพื้นที่ต้นแบบเพื่อเป็น มาตรฐานในการกำจัดขยะเกิดประสิทธิผลต่อคน เพื่อนมนุษย์บนโลกใบนี้ให้มีสุขภาวะที่ดี มีชีวิตที่มั่นคงปลอดภัย เช่น ในต่างประเทศเราจะเห็นว่าแถบยุโรป ประเทศเยอรมนี ประเทศ เนเธอร์แลนด์ มีแผนกำจัดขยะมาตั้งแต่ ปี ค.ศ. ๑๙๙๐ แล้วครับ

นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม อุดรธานี ต้นฉบับ

ปัจจุบันนี้เนเธอร์แลนด์ก็ยังมี เมืองเดลฟท์ได้นำระบบ Door-to-Door มีผู้คนที่มีระเบียบวินัยในการกำจัดขยะลำดับต้น ๆ ของโลก เรานำมาปรับใช้ในประเทศไทยของเราได้ ท่านประธานครับ เมืองท่องเที่ยว ของไทยเรา เช่น จังหวัดภูเก็ตก็มีการวางแผนการกำจัดขยะโดยลดขยะต้นทาง การจัดการ ขยะกลางทางและปลายทางอย่างมีประสิทธิภาพ และขณะนี้ที่ภูเก็ตก็ยังมีบริษัทเอกชนมา ลงทุนคือ บริษัท อีเอ.ภูเก็ต จำกัด ซึ่งทุ่มทุน ๒,๐๐๐ ล้านบาท เพื่อผลิตโรงงานไฟฟ้าขยะ ภูเก็ต ซึ่งมีกำลังผลิตไฟฟ้า ๙.๙ เมกะวัตต์ ยกระดับสู่เมืองท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ซึ่งเราคงจะ ได้ใช้ในอีก ๓ ปีข้างหน้า ท่านประธานครับ ที่จังหวัดอุดรธานีบ้านผม มีปริมาณขยะที่เกิดขึ้น ๑,๖๓๔ ตันต่อวัน แต่มีที่กำจัดขยะมูลฝอย ๘๗ แห่ง ในพื้นที่ ๒๐ อำเภอ ซึ่งครอบคลุม ๖๙ อปท. ท่านประธานครับ การสร้างขยะให้เป็นเงินตรา การนำขยะที่เป็นพลาสติกมา แปรรูป มา Recycle ทำเป็นกระเป๋าแบรนด์ โดยบอกว่าภาคเอกชนก็สามารถที่จะส่งเสริม ผู้พิการให้ทำงานมีรายได้ โดยกลุ่ม Central ขออนุญาตเอ่ยนามนะครับ ผลิตแบรนด์ good goods ออกขายสร้างรายได้ให้ชุมชนคนพิการได้ถึง ๑ ล้านบาทต่อเดือน ที่จังหวัดอุดรธานี ชาวจังหวัดอุดรธานียินดีที่จะเป็นต้นแบบในการหาเงินตราสร้างรายได้ด้วยขยะ ขอกราบ ขอบคุณท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปอีก ๓ ท่าน ท่านแรก ท่านเฉลิมพงศ์ แสงดี ท่านที่ ๒ ท่านสมดุล อุตเจริญ ท่านที่ ๓ ท่านวรวิทย์ บารู เชิญท่านเฉลิมพงศ์ แสงดี ครับ

นายเฉลิมพงศ์ เเสงดี ภูเก็ต ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม นายเฉลิมพงศ์ แสงดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๒ พรรคก้าวไกล วันนี้ต้องขอขอบคุณท่านประธานที่ให้ผมได้กรุณาอภิปรายตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาการจัดการขยะ ที่ท่าน สส. พูนศักดิ์ จันทร์จำปี และเพื่อนสมาชิกพรรคก้าวไกลได้ร่วมกันเสนอ ท่านประธานครับ ปัญหาขยะ ถือเป็นปัญหา ใหญ่ระดับประเทศ เท่าที่ฟังเพื่อนสมาชิกได้อภิปรายกันมา ไม่ว่าจังหวัดใด ๆ ก็ล้วนแต่ มีปัญหาขยะกันทั้งนั้น ผมพอจับประเด็นได้ว่าขยะนั้นเอาเข้าจริง ๆ เราสามารถจัดกลุ่ม ได้เป็น ๒ กลุ่มใหญ่ นั่นคือปัญหาขยะล้นเมืองกับปัญหาว่าด้วยการจัดการขยะล้นเมือง อย่างไรโดยไม่กระทบสิ่งแวดล้อม ท่านประธานครับ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๔ กรมควบคุมมลพิษ รายงานว่าประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศ ๒๔.๙๘ ล้านตัน ลดลงร้อยละ ๑.๔๕ ตัน จากปี ๒๕๖๓ ที่ลดลงนั้นไม่ใช่เพราะว่าเราสร้างขยะน้อยลงนะครับ แต่จำนวน นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมาประเทศไทยน้อยลงในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโรคโควิด-๑๙ เพราะฉะนั้นอย่าดีใจกับตัวเลขนี้นะครับท่านประธาน เพราะปี ๒๕๖๕ กรมควบคุมมลพิษเอง ก็มีรายงาน มีปริมาณขยะมูลฝอยรวมทั้งประเทศมากกว่าปี ๒๕๖๔ ตัวเลขอยู่ที่ ๒๕.๗ ล้านตัน พอไม่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ขยะก็กลับมาเพิ่มขึ้น ดังนั้นต้องดูตัวเลข ของปี ๒๕๖๖ และปี ๒๕๖๗ ว่าพอไม่มีโควิดและกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวเต็มที่ กิจกรรมในภาคการท่องเที่ยวที่รัฐบาลพยายาม Promote เชิญชวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ กลับมาเที่ยวในประเทศไทยนั้น มีตัวเลขปริมาณขยะมูลฝอยจะเป็นอย่างไร ท่านประธานครับ พอพูดถึงเรื่องการท่องเที่ยว ผมขอแวะไปที่จังหวัดภูเก็ตของผมสักนิดหนึ่งครับ ไม่แวะไม่ได้ ครับท่านประธาน เพราะจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดท่องเที่ยวระดับโลก รัฐบาลก็ให้ความสนใจ ท่านนายกรัฐมนตรีเองก็เดินทางไปจังหวัดภูเก็ตหลายครั้ง หรือเวลาท่านนายกรัฐมนตรี เดินทางไปต่างประเทศก็โฆษณาประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ดังนั้น เรื่องขยะในแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต จึงเป็นประเด็นสำคัญ ถือว่าเป็นหน้าเป็นตาของ ประเทศ ท่านประธานครับ ที่จังหวัดภูเก็ตมีภาคพี่น้องประชาชนจิตอาสาได้รวมตัวกันในนาม Page ขยะมรสุม ได้ทำจัดกิจกรรมเก็บขยะตามชายหาดต่าง ๆ เช่น หาดป่าตอง หาดกะรน หาดกะตะ และหาดราไวย์ และยังได้พบว่าขยะที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้มาจากบนฝั่งเสียทีเดียว แต่มาจากเรือสำราญ เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ และมาจากน่านน้ำทะเลประเทศอื่น ที่ถูกลมมรสุมพัดพามาที่ชายหาดบ้านเรา ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ หากได้ตั้งขึ้นมา ก็ควรนำประเด็นทำนองนี้ไปเข้าพิจารณาหาทางออกด้วยกันครับ ท่านประธานครับ ในเชิง ภาพรวม การบริหารจัดการขยะจังหวัดภูเก็ตในปัจจุบันมีศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมเทศบาล นครภูเก็ตอยู่ที่เดียว ซึ่งต้องรับผิดชอบการจัดการขยะ ทั้ง ๑๙ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็คือขยะจากทุก อบต. ทุกเทศบาลที่ถูกนำมาทิ้งรวมกันต้องวิ่งเข้าสู่ในเมือง พร้อมทั้งนี้มี การดำเนินการให้เอกชนเข้ามารับผิดชอบลดขยะ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือสิ่งปฏิกูลหรือของเหลว ต่าง ๆ ที่ติดมากับขยะ เพราะไม่ได้คัดแยก ไหลลงถนนจนเกิดภาพไม่น่ามอง บางครั้ง เกิดอุบัติเหตุกับประชาชน ซึ่งเรื่องนี้ผมเคยหารือกับท่านประธานไปแล้ว ในปัจจุบันก็ยังไม่มี การแก้ไข ในเชิงศักยภาพตอนนี้บ่อฝังกลบ ๕ บ่อ รับรองขยะได้รวม ๓.๓ ล้านตัน มีเตาเผา อยู่ ๒ เตา ปัจจุบันชำรุด ๑ เตา อยู่ระหว่างการซ่อมแซม เตาเผาที่ใช้การได้มีเตาเผาขยะแบบผลิตกระแสไฟฟ้า สามารถกำจัดขยะได้วันละ ๗๐๐ ตัน ในขณะที่ปริมาณขยะจังหวัดภูเก็ตต่อวัน เฉลี่ยอยู่วันละ ๘๕๑ ตัน มากกว่าศักยภาพที่เตาเผา กำจัดขยะต่อวัน อันนี้ตัวเลขเมื่อปี ๒๕๖๖ ผมโทร Check ข้อมูลล่าสุดเมื่อเช้านี้ ทุกวันนี้ทะลุ ไปวันละ ๙๐๐ ตันแล้วครับท่านประธาน นั่นหมายความว่าปริมาณขยะเตาเผาไม่ทันในแต่ละ วัน จะถูกนำไปฝังกลบ ซึ่งทำให้เกิดปัญหามลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมตามมา อย่างไรก็ตาม สำนักงานสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ตก็มีแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยการลดปริมาณการคัดแยก ขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งผมเห็นว่าเรื่องนี้ควรทำเป็นเชิงรุก คือรณรงค์ให้ทุกโรงแรม ทุก Resort แยกขยะตั้งแต่ต้นทางเพื่อลดต้นทุนในการจัดการขยะ ในส่วนการก่อสร้าง บ่อขยะหรือเตาเผาขยะเพิ่มเติมตามที่จังหวัดภูเก็ตมีแผนดำเนินการนั้นก็ควรสร้าง ความเข้าใจกับประชาชน คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม จัดหาสถานที่ที่เหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และคำนึงถึงมลภาวะที่จะเกิดขึ้นกับพ่อแม่พี่น้องประชาชน ในพื้นที่ เรื่องทั้งหมดนี้คงมีหลายประเด็นที่จะต้องลงรายละเอียดกันในคณะกรรมาธิการ วิสามัญ หวังว่าสภาผู้แทนราษฎรจะได้มีการลงมติขึ้นในวันนี้ ผมจึงขออภิปรายสนับสนุนญัตตินี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราใช้กลไกสภาผู้แทนราษฎรในการแก้ไขปัญหาขยะให้กับพ่อแม่ พี่น้องประชาชนได้ด้วยดีครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านสมดุล อุตเจริญ เชิญครับ

นายสมดุลย์ อุตเจริญ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาที่เคารพ ผม สมดุล อุตเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขต ๗ อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย และ อำเภอไชยปราการ พรรคก้าวไกล เมื่อสักครู่นี้พูดปัญหาจากจังหวัดภาคใต้ จังหวัดภูเก็ต เพิ่งจบไป ตอนนี้ย้อนขึ้นไปทางเหนือบ้างครับ ไปที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเขตทาง ชายแดน ปัญหาขยะปัจจุบัน ผมยกตัวอย่างของเทศบาลตำบลเวียงฝาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

นายสมดุลย์ อุตเจริญ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เป็นปัญหา รวมถึงหา แนวทางวิธีแก้ไขร่วมกันทั้งหมด พื้นที่จัดเก็บขยะของเทศบาลตำบลเวียงฝาง ขณะนี้เกือบจะเต็ม ทำให้มีการลดปริมาณขยะลง เพื่อชะลอไม่ให้ขยะล้นบ่อ มีการจำกัดปริมาณการรับขยะ จาก อปท. โดยรอบ ส่งผลให้ อปท. ที่เข้ามาใช้บริการก็ไปลดขยะในพื้นที่โดยการจัดเก็บ หลายรูปแบบ เช่น เก็บขยะวันเว้นวัน หรือไม่ก็ ๒ วันต่อครั้ง โดยมีการประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนลดปริมาณขยะลง แต่ในทางกลับกันแม้มีขยะที่นำเข้าสู่บ่อขยะเทศบาลตำบล เวียงฝางลดลง แต่กลับมีการทิ้งขยะเรี่ยราดนอกบริเวณบ่อขยะ รวมไปถึงตามป่าเขา ต้นน้ำ ลำธาร ซึ่งนับวันจะก่อให้เกิดมลภาวะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากบ่อขยะที่เทศบาลตำบล เวียงฝางขณะนี้ได้สร้างมาประมาณ ๒๐ ปีแล้ว ไม่สามารถรองรับขยะในปัจจุบัน ทั้งปริมาณ และชนิดของขยะ รวมไปถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะติดเชื้อ ซึ่งนับวันจะก่อมลพิษเพิ่มขึ้น ทางเทศบาลเมืองฝางจึงพยายามที่จะบริหารจัดการให้มีการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี แต่พื้นที่ ที่จัดการขยะก็ไม่เพียงพอ ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เนื่องจากยังขาดแคลนงบประมาณ รวมถึงบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง ผมในฐานะของสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎร เขต ๗ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นคนในพื้นที่ไม่อาจนิ่งดูดายได้ จึงเข้าไปหาทางแก้ไข พร้อมกับเชิญดอกเตอร์พูนศักดิ์ จันทร์จำปี ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องขยะและสิ่งแวดล้อมจาก พรรคก้าวไกล เชิญผู้บริหารจาก อปท. ทั้ง ๒๐ แห่ง ที่ใช้บริการแห่งนี้มาเข้าร่วมประชุม ปรึกษาหารือ ออกแบบบริหารเพื่อเพิ่มปริมาณการจัดเก็บขยะให้กับบ่อขยะเทศบาลตำบล เวียงฝาง โดยจัดการให้มีรูปแบบที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ และให้เป็น Model สำหรับบ่อขยะขนาดเล็กของประเทศไทยต่อไป ใช้สำหรับเป็น ศูนย์การศึกษาดูงานการกำจัดขยะ เพื่อนำไปเป็นต้นแบบสำหรับประเทศต่อไปนะครับ จากหลุมฝังกลบเดิมจะต้องมีการปรับปรุงให้มีพื้นที่การจัดเก็บขยะที่เพียงพอเพิ่มขึ้น สามารถ รองรับขยะในปัจจุบันได้ การเชื่อมหลุมฝังกลบที่มีอยู่จากภาพเมื่อสักครู่นี้นะครับ จะต้องมี การขนขยะ ปรับความชัน ปิดคลุมด้วยดินและพลาสติก นี่เป็นภาพที่เห็นนี้ก็คือเป็นภาพขยะ ที่มีปัจจุบัน ตอนนี้เราก็จะปรับปรุงทั้งหมดให้เป็นบ่อขยะที่สามารถจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นอีก ประมาณเท่าตัวนะครับ รวมถึงการจัดตั้งท่อรวบรวมก๊าซ การคัดแยกขยะช่วยลดค่าใช้จ่าย ยืดอายุของบ่อขยะ ดังนั้นการคัดแยกขยะอินทรีย์ต้องควบคู่ไปกับการปรับปรุงอาคารหมัก เพื่อทำปุ๋ยจากขยะต่อไป โดยแบ่งออกเป็น ๓ วิธีครับ ระยะสั้น ให้ออกแบบหลุมฝังกลบของ เทศบาลตำบลเวียงฝาง สามารถขยายเวลารับขยะให้ได้อีกอย่างน้อย ๕-๘ ปี ตามปริมาณ ขยะที่มีอยู่ในปัจจุบัน ในระหว่างที่รอการประสานงานเพื่อจัดตั้งเตาเผาขยะสำหรับ ผลิตพลังงานต่อไป โดยการฝังกลบบ่อขยะที่เกือบเต็มปริมาณการเก็บ รวมถึงวางท่อ เพื่อจัดเก็บน้ำชะขยะ และวิธีลดปริมาณน้ำชะขยะ แล้วนำไปบำบัดก่อนที่จะปล่อยออกมา ในขณะเดียวกัน อปท. ก็ต้องลดปริมาณขยะที่จะนำไปทิ้งที่หลุมฝังกลบด้วย ต้องมีการฟื้นฟู โรงเรือน เครื่องจักรสำหรับไปผลิตปุ๋ยจากขยะเปียก เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชน ในพื้นที่ต่อไป ท่านประธานครับ ขณะเดียวกันการที่จะปรับปรุงต่าง ๆ ทางเทศบาลตำบล เวียงฝางยังขาดแคลนงบประมาณที่จะไปซ่อมบำรุงอาคารเครื่องจักรให้กลับมาใช้ดังเดิมได้ ระยะกลาง ส่งเสริมให้ประชาชนลดจำนวนขยะลง รวมถึงการคัดแยกขยะ การกำจัดขยะ เบื้องต้นอย่างถูกวิธี ให้ความรู้กับสถานศึกษา ให้ปลูกฝังนิสัยการทิ้งขยะอย่างถูกวิธี แล้วนำไปสู่ชุมชนร่วมกัน เพื่อที่จะลดการทิ้งขยะลง มีการจัดเก็บขยะอย่างถูกระบบ เช่น เก็บขยะเปียกวันเว้นวัน เก็บขยะทั่วไปที่สามารถนำไป Recycle ได้ทุกวันพุธ หรือทุกวันเสาร์ มีการจัดเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงขยะติดเชื้อด้วย ท่านประธานครับ จากเมื่อตอนเช้า มีการพูดถึงสถานีขนถ่ายขยะไปอยู่ท่านหนึ่ง เช่น เรามีการจัดตั้งสถานีขนส่งขยะ ทุก ๕ อปท. จะมีสถานีขนส่งขยะ ๑ จุด เพื่อการคัดแยกอย่างแท้จริงและลดงบประมาณ ค่าใช้จ่ายในการจัดส่งขยะไปยังสถานีกำจัดขยะอีกทีหนึ่ง สำหรับระยะยาวนั้นจะมี การประสานงานเพื่อจัดตั้งเตาเผาขยะเพื่อผลิตพลังงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งต้อง ระดมความคิดจากทุกภาคส่วน ท้ายที่สุดนี้ทางเทศบาลเวียงฝางอยากจะได้รับการสนับสนุน งบประมาณโดยเร่งด่วนจากทุกภาคส่วน เช่น กองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ไขหลุมฝังกลบ ปรับปรุงระบบบำบัดน้ำชะขยะ ฟื้นฟูโรงหมักปุ๋ย การบริหารจัดการขยะต่าง ๆ ร่วมกับ อปท. ข้างเคียง รวมทั้งหมด ๒๑ อปท. ดังนั้นผมจึงขอสนับสนุนญัตติ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นครับ ขอบคุณท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ต่อไปท่านวรวิทย์ บารู เชิญครับ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวิทย์ บารู ปัตตานี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม วรวิทย์ บารู พรรคประชาชาติ เขต ๑ จังหวัดปัตตานี ต้องขอเห็นด้วย แล้วก็ชื่นชม กับผู้ที่เสนอญัตตินี้เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการ ขอสนับสนุนในการจัดตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญคณะนี้นะครับ ปัญหาเรื่องการจัดการขยะนี้ก็เป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งรัฐจะต้องทุ่มเทและ จะต้องจริงจังนะครับ แล้วก็ต้องรับผิดชอบ เพราะว่ามันเป็นสิ่งสำคัญมากต่อวิถีชีวิต ประชาชนกับสุขภาพของประชาชน ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากขยะนี้มีมากมาย ถ้าอยู่ใกล้น้ำ ก็คือมลพิษทางน้ำ ถ้าอยู่กลางแจ้งก็มลพิษทางอากาศ แล้วก็มีอีกหลาย ๆ ส่วน ผมยกกรณี ของจังหวัดปัตตานี ขยะนี้ประมาณ ๑๑๖ ตันต่อวัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวิทย์ บารู ปัตตานี ต้นฉบับ

ก็มีการจัดการไปอยู่ในบริเวณ ที่เทขยะตามระบบ ซึ่งประเทศไทยเองก็มีหลายระบบ แต่ระบบที่มากที่สุด ก็คือระบบที่ไป เทกองกลางแจ้ง ก็ตั้ง ๑,๕๐๐ กว่าแห่ง เพราะฉะนั้นระบบนี้คือระบบที่เราน่าที่จะให้ความ สนใจเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่ความถูกต้องและถูกหลัก นอกเหนือจากสภาพที่มันเป็นจริงของ การจัดการเรื่องขยะนี้ ถ้าเราดูจริง ๆ แล้ว อำนาจอันนี้ถูกถ่ายไปที่องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ซึ่งมี ๘,๗๐๐ กว่าแห่งในประเทศนี้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อไปอยู่ในองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น กรมควบคุมมลพิษซึ่งดูแลโดยตรง แต่ในทางปฏิบัติจริง ๆ ผอ. กองสาธารณสุข ของปกครองท้องถิ่นจะดูแลในเรื่องเหล่านี้ เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ต้องมีการสังคายนาในการดูแล ของรัฐบาล ต้องบูรณาการในการจัดการอันนี้ ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับงบประมาณ ผมเห็นว่า ถ้าเราปล่อยมันก็จะเกิดปัญหา อย่างเช่นว่าตามที่เราเห็น ในปัตตานีไปตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำ แล้วก็ใกล้กับทางหลวงที่ผ่านไปทางจังหวัดนราธิวาส สุไหงโก-ลก แล้วก็มีที่ตรงนั้นมันเป็น ทิวทัศน์เป็นวิวที่สวยงามมาก เป็นที่ประกอบอาชีพ แล้วก็เป็นร้านอาหารของพี่น้องที่อยู่ใน ชานเมืองออกไป นักท่องเที่ยวหลายแห่งก็จะแวะรับประทานอาหาร แต่เนื่องจากว่า เราเทกลางแจ้ง เทกองกลางแจ้งก็ทำให้กลิ่นที่ไม่ค่อยดีมันก็รบกวน ผมเกรงว่าสิ่งเหล่านี้ก็จะ ทำให้เกิดผลกระทบที่กว้างออกไป นอกจากนั้นมันอยู่ใกล้แม่น้ำ ซึ่งมีการเลี้ยงปลาในกระชัง ในแถวอำเภอยะหริ่ง ตรงนั้นก็มีการเลี้ยงปลาในกระชัง แน่นอนเหลือเกินจากเป็นภูเขาสูง เราอยู่ที่นี่อีกซีกด้านหนึ่งของแม่น้ำที่ถนน นั่งที่ร้านอาหารนอกเหนือจากกลิ่นแล้วเราสามารถเห็น กองพะเนินของอันนี้ได้ เพราะฉะนั้นมันต้องจริงจังแล้วนะครับ ผมเห็นว่าความสะอาดเรียบร้อย ดีนะครับที่ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างหนึ่งความสะอาเรียบร้อยเราสามารถ เห็นได้ เพราะว่าเรากระจายอำนาจไปสู่ประชาชน สิ่งที่เป็นความร่วมมือระหว่างประชาชน หรือสถานที่มาขององค์กรที่มาจากประชาชน เราเชื่อได้ว่าความรัก ความใส่ใจในสิ่งเหล่านี้ มันมีมากกว่าองค์กรที่เราจัดตั้งขึ้นด้วยวิธีการอื่น การบริหารจัดการขยะนี้ผมมีข้อเสนอ ต้องมาดูในเรื่องของกฎหมายว่ากฎหมายที่จะเอื้อต่อการจัดการขยะโดยชุมชนต้องมี ความทันสมัย ร่วมสมัยด้วย ถ้าไม่มีสิ่งนี้นะครับ ในเรื่องของการจัดการงบประมาณก็ดี หรือว่าในการบูรณาการระหว่างหน่วยงานก็ดีก็จะมีปัญหา อันที่ ๒ งบประมาณต้องมี อย่างเพียงพอ รัฐกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่แยกกันต้องมายืนอยู่ที่จุดเดียวกัน ถ้าเราจะให้เอกชนนำ ในการทำจัดการเรื่องขยะนี้ก็ต้องมีความเห็นพ้องต้องกันในแต่ละหน่วยงานตรงนั้น หรือว่ารายจังหวัด ไม่ใช่ว่าเราคนที่แบกหนักก็หนักกันไป ผมได้รับการร้องเรียนจาก ผอ. กองสาธารณสุข ของเทศบาลก็ดี ของ อบต. ก็ดีว่าแทบไม่มีงบประมาณเลย อย่าว่าในเรื่องของการจะจัดการ เพราะว่ามันรวมกันในงบของการบริหารทั่วไปด้วย จึงมีปัญหา มากในเรื่องเหล่านี้ นอกจากนั้นในข้อเสนอต้องมีบุคลากรที่มีองค์ความรู้ในการจัดการขยะ ถ้ายังไม่มีก็ต้องมีการวางแผนในการจัดการ ในเมื่อเราให้งานแก่เขาแล้วความพร้อมเหล่านี้ แผนงานการจัดสร้างบุคลากรก็ต้องมีเช่นเดียวกัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวิทย์ บารู ปัตตานี ต้นฉบับ

ในประเด็นถัดไปที่อยากจะเสนอตรงนี้ ก็คือเทคโนโลยีมีหลายคนที่ได้พูดไป เทคโนโลยีที่ทันสมัยมีความพร้อมในการจะจัดการ เราจะเห็นว่าระบบการจัดการขยะ ในประเทศไทยมันก็มีหลายระบบ แต่ก็อย่างที่ได้กล่าวไว้ในระบบที่คิดว่าสบาย ๆ ที่สุดก็คือ ระบบประเภทเทกองกลางแจ้ง ซึ่งมันมีผลกระทบมากมาย ส่วนที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ ๆ เราก็ อาจจะมีปัญหาในเรื่องของแหล่งงบประมาณ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้อยากจะให้มีเทคโนโลยี แล้วก็มีความพร้อมมากกว่านี้ นอกจากนั้นบุคลากรการจัดการจะต้องมีองค์ความรู้ มีสถานที่ ที่จะฝึกที่จะอะไรเขา คนที่มีความรู้อยู่แล้ว การสร้างบรรยากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมือง ท่องเที่ยวหรือไม่ท่องเที่ยวก็ตาม สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุดอันหนึ่งนะครับ ในเรื่องของ การสร้างความตระหนักโรงเรียนเป็นจุดแรกอย่างที่พวกเราได้พูดกันไป อย่างไรก็ตามมี หลายโรงเรียนที่ทำได้ดีมาก โดยไม่ได้รับงบประมาณใด ๆ เลย เพียงแต่ว่าในทางองค์กร เอกชนที่ได้เข้าไปร่วมจนทำให้เกิดผลงาน อย่างโรงเรียนที่พวกเราได้ไปเยี่ยมในจังหวัดยะลา โรงหนึ่งที่ทำได้ดีมาก เป็นธนาคาร เป็นห้องสมุด คล้าย ๆ เป็นห้องปฏิบัติการของขยะ ของเขา เพราะฉะนั้นเหล่านี้จึงอยากจะให้ทางราชการที่เกี่ยวข้องได้ใส่ความดูแลในเรื่องนี้ อย่างจริงจังครับ ขอขอบพระคุณครับท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ อีก ๓ ท่านนะครับ ท่านแรก ท่านสาธิต ทวีผล ท่านที่ ๒ ท่านชลธิชา แจ้งเร็ว ท่านที่ ๓ ท่านจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ เชิญท่านสาธิต ทวีผล ครับ

นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม สาธิต ทวีผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี เขตเลือกตั้งที่ ๒ พรรคก้าวไกล ผู้แทนของพี่น้อง ชาวห้วยโป่ง หลุมข้าว เขาพระงาม ท่าศาลา นิคมสร้างตนเองโคกตูม และอำเภอพัฒนานิคม ทั้งอำเภอ ท่านประธานครับ ผมขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายสนับสนุนญัตติ เรื่อง ขอให้ สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาการจัดการขยะ ชุมชน ของท่าน สส. พูนศักดิ์ จันทร์จำปี ผู้เสนอญัตติ และอีก ๔ ญัตติ ของเพื่อนสมาชิก ที่เสนอญัตติเข้ามาครับท่านประธาน ท่านประธานครับ ปัญหาการจัดการขยะในชุมชนนั้น ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาตินะครับท่านประธาน ตามที่เพื่อนสมาชิกของพวกเรานั้น ได้อภิปรายให้เห็นปัญหาต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่ แต่ละบริบทของพื้นที่นั้นลักษณะคล้าย ๆ กัน คือปัญหาขยะของชุมชนที่ไม่ได้รับการจัดการแก้ไขอย่างจริงจัง ท่านประธานครับ จากสถิติ ของกรมควบคุมมลพิษจะเห็นว่า ๒๕.๗๐ ล้านตันนั้น เป็นปัญหาขยะทั้งปี หักเฉลี่ย เป็นวันแล้วจะตกอยู่ที่วันละ ๗๐,๔๑๑ ตันต่อวัน หักเฉลี่ยมาเป็นคนแล้วเราจะเหลือ ๑ กิโลกรัมต่อ ๑ คนครับท่านประธาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นก็มีการพยายาม ที่จะจัดการปัญหาขยะมูลฝอยให้กับพี่น้องประชาชนอย่างจริงจัง แต่ติดด้วยในส่วนของ เรื่องงบประมาณ เรื่องบุคลากรครับท่านประธาน ปัจจุบันประเทศไทยเรามีองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นทั้งหมด ๗,๘๕๒ แห่ง ซึ่งแบ่งเป็นเทศบาลเมือง เทศบาลนคร เทศบาลตำบล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ อบต. อีก ๑ ที่ แล้วก็องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบ พิเศษอย่างกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ทุกที่ล้วนมีปัญหาการจัดการบริหารเรื่องขยะ ทั้งหมด ตามที่เพื่อนสมาชิกได้อภิปรายกันไปพอสมควรแล้วครับ ท่านประธานครับ ด้วยระเบียบที่ยุ่งยากทางข้อกฎหมายและติดที่งบประมาณ การบริหาร จัดการขยะจึงยังมีปัญหาอยู่ อย่างเช่น ในจังหวัดลพบุรีครับท่านประธาน องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นนั้นมีอีกหลายที่ที่ยังไม่มีสถานที่ในการทิ้งขยะ ขอยกตัวอย่างในเขตเลือกตั้งของผม ยังมีอีกหลายตำบลที่ทาง อบต. หรือทางเทศบาลนั้นสามารถที่จะมีงบประมาณในการซื้อ รถขยะได้ แต่ติดขัดในเรื่องของพื้นที่ เนื่องจากไปทับซ้อนกับพื้นที่ของหน่วยงานราชการ บางหน่วย ทำให้ไม่สามารถจะมีสถานที่ทิ้งขยะให้พี่น้องประชาชนได้ ดังนั้นพี่น้องประชาชน จึงทำการจัดการขยะด้วยตนเอง ขอสไลด์ด้วยครับ

นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ

ด้วยวิธีการลักลอบทิ้งตามข้างทางสถานที่ เปลี่ยวครับท่านประธาน แล้วก็จะมีจุดเผาทำให้เกิดปัญหาฝุ่นที่ PM2.5 ตามมา หากเรา จริงจังจริงใจในการแก้ไขปัญหา มีการบริหารจัดการที่ดีตามที่เพื่อนสมาชิกนั้นได้อภิปราย เสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหามาแล้วเบื้องต้นครับ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ตามที่ท่าน สส. พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้อภิปรายเสนอเมื่อเช้าและ เพื่อนสมาชิกอีกหลายท่านได้เสนอวิธีการแก้ไขจัดการกับปัญหาขยะที่ล้นเมือง เราจะ สามารถทำให้บ้านเมืองสะอาดแล้วก็ลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้และมีรายได้จากการจัดการขยะ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน ดังนั้นผมจึงควรเห็นชอบว่าให้มีการตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาปัญหาแนวทางการแก้ไขปัญหา เรื่อง การจัดการ ขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครับท่านประธาน ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านชลธิชา แจ้งเร็ว เชิญครับ

นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ปทุมธานี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ดิฉัน นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี พรรคก้าวไกล วันนี้ ดิฉันขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายเพื่อสนับสนุนญัตตินี้ในการตั้งคณะกรรมาธิการกรรมาธิการ วิสามัญ เพื่อศึกษาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการขยะ ขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นนะคะ โดยในวันนี้ดิฉันจะขออภิปรายในแง่ของข้อจำกัดในการบริหารจัดการขยะ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่สามารถดำเนินการจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ เท่าที่ควรโดยลำพัง ซึ่ง ๒ ประเด็นหลัก ที่อยากจะพูดถึงในที่นี้ ประเด็นแรก ก็จะเป็นเรื่อง ของปัญหาของสถานที่กำจัดขยะที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ

นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ปทุมธานี ต้นฉบับ

และอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือเรื่องของปัญหาที่ดินรกร้างที่ถูกใช้เป็นที่ทิ้งขยะและที่เผาขยะไปในตัว สำหรับภาพรวม ของการกำจัดขยะมูลฝอยในจังหวัดปทุมธานีของเรา ข้อมูลจาก Website ของกรมควบคุม มลพิษได้ระบุว่า ในจังหวัดปทุมธานีมีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยอยู่ทั้งหมด ๔ แห่งด้วยกัน โดยแบ่งเป็นสถานที่กำจัดขยะที่ดำเนินการไม่ถูกต้องถึง ๒ แห่ง และเป็นสถานีขนถ่ายขยะ ๒ แห่ง ซึ่งไม่ได้มีข้อมูลปรากฏว่ามีการดำเนินการที่ถูกต้องหรือไม่อย่างไร และในช่วง ปี ๒๕๖๕ ข้อมูลได้ระบุว่าจังหวัดปทุมธานีมีปริมาณขยะมูลฝอย ประมาณ ๗๐๖,๐๐๐ กว่าตัน และหลังจากที่ขยะเหล่านี้ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์และถูกกำจัดแล้วนั้นยังคงเหลือ ขยะที่ตกค้างอยู่ สูงถึง ๑๓๐,๐๐๐ กว่าตัน อันนี้เฉพาะตัวเลขของจังหวัดปทุมธานีเท่านั้น นอกจากปัญหาที่ว่าเรากำลังสร้างขยะจำนวนมหาศาลแล้วนั้น ความสามารถในการนำ กลับมาใช้ประโยชน์ได้ก็น้อยนิดเท่านั้น และที่สำคัญปัญหาอีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ การที่เราขาดประสิทธิภาพในการกำจัด ขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการด้วยเช่นเดียวกันค่ะ ข้อมูลจาก Website ของ กรมควบคุมมลพิษระบุเป็นตัวอักษรสีแดงตามสไลด์ด้านบนว่า บ่อขยะ ๒ แห่งนี้ในจังหวัด ปทุมธานีนั้นดำเนินการไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจหมายถึงการเทกอง การเผากลางแจ้ง หรือการใช้ เตาเผาที่ไม่มีระบบการกำจัดมลพิษทางอากาศ แต่อย่างไรก็ดี Website ก็ไม่ได้บอก รายละเอียดว่าทั้ง ๒ สถานที่ในการกำจัดขยะแห่งนี้นั้นมีปัญหาอย่างไรบ้างที่ไม่ถูกต้อง แต่ข้อมูลก็ได้ระบุว่าบ่อขยะ ๑ ใน ๒ แห่งนี้ใช้วิธีการนำขยะมาเผาเป็นเชื้อเพลิง หรือ RDF นั่นเอง และจากข้อมูลของเว็บไซต์ Website ของกรมควบคุมมลพิษก็ระบุต่อไปอีกว่ามี แหล่งน้ำผิวดินอยู่ในรัศมีโดยรอบของบ่อขยะเอกชนแห่งนี้ แต่ไม่ได้มีการตรวจสอบค่ะ ท่านประธาน ไม่ได้มีการตรวจสอบคุณภาพของน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินของสถานที่กำจัด ขยะมูลฝอย และรวมไปถึงบริเวณใกล้เคียงของสถานที่ในการกำจัดขยะมูลฝอยอีกเช่นเดียวกัน ท่านประธานคะเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างมากที่เรามีสถานที่กำจัดขยะที่จดจัดแจ้งถูกต้องตาม กฎหมาย แต่ว่าเราไม่สามารถบังคับใช้ให้ถูกต้องตามหลักวิธีการในการจัดการขยะที่ดีได้ ดิฉันคิดว่าเรื่องนี้เป็นโจทย์สำคัญของพวกเราที่จะต้องพูดถึงต่อไป ดิฉันขอยกตัวอย่าง โดยในภาพจะเป็นภาพของภูเขาขยะในบริเวณพื้นที่ของอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งภูเขาขยะในส่วนนี้ก็ตั้งอยู่ท่ามกลางทุ่งนาสีเขียว อยู่ใกล้กับชุมชนแล้วก็พื้นที่เกษตรกรรม ของประชาชน และเมื่อเราสำรวจแหล่งน้ำที่ห่างออกไปไม่ถึง ๑๐๐ เมตร ก็พบสภาพดังกล่าว ว่าน้ำมีคุณภาพที่ทรุดโทรมอย่างมากแล้วก็มีสีดำ ที่สำคัญขณะนี้ส่งกลิ่นเหม็นอย่างมาก ดิฉันมีโอกาสได้คุยกับประชาชนซึ่งพักอาศัยอยู่ห่างจากบ่อขยะดังกล่าวกว่า ๓ กิโลเมตร แต่ว่ากลิ่นขยะก็ยังรบกวนไปถึงบริเวณดังกล่าว นอกจากปัญหาเรื่องของบ่อขยะแล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญในการจัดการขยะในพื้นที่โดยเฉพาะในแหล่งชุมชน ก็คือเรื่องของการ ทิ้งขยะและการเผาขยะในที่ดินรกร้าง จังหวัดปทุมธานี เรามีพื้นที่ที่ดินรกร้างกระจายอยู่ทั่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่เป็นชุมชนเมืองก็มีพื้นที่รกร้างที่กลายเป็นจุดทิ้งขยะ เช่นเดียวกัน แล้วพื้นที่รกร้างเหล่านี้ที่กลายเป็นพื้นที่ทิ้งขยะ ก็อยู่ไม่ได้ห่างไกลจากชุมชน เท่าใดนัก แล้วหลายครั้งก็เป็นพื้นที่ ที่ทั้งรถบรรทุกเอง หรือว่ารถบรรทุกขนาดใหญ่สามารถ เข้าถึงได้ง่ายเช่นเดียวกัน แล้วยิ่งไปกว่านั้นในพื้นที่ก็มีตลาดไท หรือว่าตลาดที่ใหญ่ที่สุดของ ประเทศไทย เป็นตลาดกลางส่งสินค้าทางการเกษตร และอาหารสด ดิฉันพบว่าในบริเวณ ใกล้เคียงของตลาดไท ก็มีจุดบางจุดที่กลายเป็นพื้นที่ทิ้งขยะ ซึ่งตามภาพสไลด์ด้านบนพื้นที่ ดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่ที่ถูกลักลอบมาทิ้งขยะ ภาพจากสไลด์ทางซ้ายมือนี้ก็จะเป็นตั้งแต่ตอน ช่วงเดือนตุลาคม ปี ๒๕๖๖ ผ่านมาแล้วเกือบ ๓ เดือน พื้นที่ดังกล่าวไม่ได้มีการจัดการขยะ ทางเทศบาลยังไม่ได้เข้าไปจัดเก็บขยะแต่อย่างใด มิหนำซ้ำเราพบว่ากองขยะนั้นมีเพิ่มมากขึ้น เสียด้วยซ้ำไป ซึ่งในส่วนนี้ดิฉันเข้าใจทาง อปท. ว่าไม่ง่ายเลยจริง ๆ ในการจัดการ โดยเฉพาะ ในพื้นที่ที่มีพื้นที่รกร้างอยู่เป็นจำนวนมหาศาล และจากการพูดคุยกับทาง อปท. หลายแห่ง ในจังหวัดปทุมธานีก็ได้มีการอ้างว่าหน่วยงานของภาครัฐเองไม่ง่ายเลยจริง ๆ ในการที่จะเข้า ไปจัดเก็บขยะในพื้นที่รกร้างของเอกชน โดยที่หากไม่มีการร้องเรียนมาจากทาง ภาคประชาชน ดิฉันจึงคิดว่าเรื่องนี้อาจจะต้องกลับมาทบทวนทั้งในเรื่องของกฎหมาย บทลงโทษ แล้วก็การเข้าถึงข้อมูลให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้เขาทำงานได้ง่าย ขึ้นค่ะ ดิฉันจึงสนับสนุนเป็นอย่างยิ่งค่ะท่านประธาน ที่จะต้องทำการตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะ และสิ่งที่สำคัญคือถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องทำการกระจายอำนาจ กระจายงบประมาณ และที่สำคัญเพิ่มกำลังบุคลากร เครื่องไม้เครื่องมือ และองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการแก้ไข ปัญหาค่ะ รวมไปถึงอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการกระตุ้นให้ประชาชนได้เข้ามามี ส่วนร่วมในการจัดการขยะในพื้นที่อย่างจริงจัง โดยเริ่มตั้งแต่ที่บ้าน คือการคัดแยกขยะอย่าง จริงจัง โดยมีหน่วยงานของท้องถิ่นให้การอำนวยความสะดวกทั้งในแง่ขององค์ความรู้ แล้วก็ เครื่องไม้เครื่องมือที่จำเป็นแก่ประชาชนในพื้นที่ ขอบพระคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ต่อไปท่านจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ เชิญครับ

นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดศรีสะเกษ ท่านประธานครับ ปัญหาขยะมูลฝอยเป็นปัญหาใหญ่ แต่ละปีประเทศไทยมีขยะมูลฝอย มากกว่า ๒๖ ล้านตัน ถ้าแบ่งเป็นส่วน ๆ เอาตัวเลข คร่าว ๆ ๑ ใน ๓ มีการนำกลับมาใช้ใหม่ ๑ ใน ๓ มีการบริหารจัดการถูกต้อง ส่วนอีก ๑ ใน ๓ มีการบริหารจัดการที่ไม่ถูกต้อง กล่าวคือแต่ละปีก็จะมีประมาณ ๙ ล้านตันที่พวกเรา จัดการขยะไม่ถูกต้อง แล้วก็มีขยะที่ตกค้างจัดการไม่หมด ประมาณอีก ๑๐ ล้านตัน ตัวขยะ ที่จัดการไม่ถูกต้องและตัวขยะที่ตกค้างเป็นตัวที่ก่อให้เกิดปัญหามากมายกระทบต่อคนไทย กระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะต้องหาทางแก้ไข โดยเฉลี่ยแล้วคนไทย ๑ คน จะมีการผลิตขยะประมาณ ๔๐๐ กิโลกรัมต่อปี หรือเฉลี่ย ประมาณ ๑ กิโลกรัมต่อวัน ขยะต่าง ๆ เหล่านี้ถ้าหากได้มีการบริหารอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะ เป็นการพยายามที่จะลดขยะ เช่น ถ้าเป็นอาหารก็ให้มีเศษอาหารน้อยลง หรือนำกลับมาใช้ ใหม่ เช่น ถุงพลาสติกใช้แล้วก็อย่าเพิ่งทิ้งนำกลับมาใช้ใหม่ หรือมีการส่งไป Recycle หรือมี การเปลี่ยนขยะนำมาใช้ประโยชน์เพิ่มเติม ซึ่งเรียกว่า Recover อย่างเช่น การเอาขยะไป เปลี่ยนเป็นพลังงาน การเอาขยะไปเปลี่ยนเป็นปุ๋ย หรือการนำขยะไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ อาจจะเป็น Furniture หรืออื่น ๆ ก็ตาม การใช้ การจัดการขยะอย่างเหมาะสมนั้นจะทำให้ ปัญหาขยะลดลงและเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนกว่าการถมงบประมาณลงไปเพื่อแก้ไข ปัญหาขยะ ซึ่งถ้าหากว่ามิได้มีการแก้ไขปัญหาขยะด้วยวิธีการที่ถูกต้องแล้ว แม้เราจะถม งบประมาณลงไปเท่าใด ผมก็ไม่เชื่อว่าเราจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ การจะแก้ไขปัญหา จึงต้องเริ่มต้นจัดการที่ต้นตอ ก็คือพยายามให้ผู้สร้างขยะได้หาวิธีที่จะจัดการกับขยะ ด้วยตนเอง ถ้าเป็นตามบ้านเรือนก็อาจจะทำตามที่ประเทศเกาหลี ประเทศญี่ปุ่น หรือ ประเทศไต้หวันพยายามทำ ก็คือมีการแยกขยะเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน อย่างเช่นถ้าเป็น ขวดนมมีฉลากกระดาษ ก็แยกฉลากกระดาษออกก่อนที่จะมีการทิ้งขวดพลาสติก ก็จะสามารถทำให้มีการนำขยะที่มีการทิ้งไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หรือจะเป็นวิธีการที่ประเทศสวีเดนได้มีการใช้ขยะที่เป็นทางชีวมวล ประมาณ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ก็ถูกนำไปใช้ในการผลิต Biogas แล้วก็มาใช้เป็นพลังงานในด้านต่าง ๆ ขวดที่เป็นขวดพลาสติก ก็มีเครื่องนะครับ ประชาชนสามารถที่จะเอาขวดพลาสติกไปบรรจุในเครื่อง แล้วก็จะมีการลง Record มีการลงบันทึกว่าประชาชนคนใดมีการเอาขวดพลาสติมา Recycle จำนวนเท่าใด มีการเอาขวดโค้กที่เป็นอลูมิเนียมมา Recycle เท่าใด แล้วก็จะมีการเครดิตเอาไว้แล้วก็จะคืน ให้กับประชาชน ทำให้มีผลลดขยะที่จะต้องไปขุด กลบ ฝัง เหลือเพียง ๑ เปอร์เซ็นต์ของขยะ ทั้งหมดที่สร้างขึ้น ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าพึงพอใจมากนะครับ ถ้าหากว่าประเทศของเราสามารถ ทำได้นี้ปัญหาขยะล้นเมืองหรือปัญหาขยะต่าง ๆ ก็จะสามารถลดได้อย่างมีนัยสำคัญ หรือแม้กระทั่งกระบวนการของประเทศสิงคโปร์ที่นำขยะที่มีปัญหาก็ไปเข้าโรงเผาขยะ เสียก่อน หลังจากเผาแล้วปริมาณขยะที่แต่เดิมมี ๑๐๐ กิโลกรัมก็จะเหลือเพียง ๑๐ กิโลกรัม หลังจากนั้นก็เอาเถ้าไปถมกลางทะเล ประเทศสิงคโปร์สร้างเกาะจากเถ้าขยะ ส่วนพลังงาน ที่ได้จากการเผาขยะก็เอาไปใช้ในการผลิตไฟฟ้า ก็เป็นการทำให้ปัญหาขยะของประเทศ สิงคโปร์สามารถจัดการได้ ทั้ง ๆ ที่ประเทศสิงคโปร์ก็เป็นประเทศที่มีการสร้างขยะที่มีจำนวน มหาศาลเช่นเดียวกัน และพื้นที่ก็เป็นเพียงพื้นที่เล็ก ๆ เป็นเกาะเล็ก ๆ นิดเดียว เล็กกว่า จังหวัดภูเก็ตเสียอีก แต่ก็สามารถจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นสิ่งที่ประเทศไทย น่าที่จะได้ลองศึกษาดู ขยะถ้าหากว่าดูในระดับโลกในส่วนหนึ่งก็เป็นปัญหา คือมีปัญหา คือ พวกเราต้องจัดการกับขยะ แต่ในขณะเดียวกันขยะก็เป็นโอกาสเช่นเดียวกัน ในอเมริกาเหนือ คาดการณ์กันมีการประมาณกันว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับขยะ ไม่ว่าจะเป็นการเอาขยะมาทำเป็น Biogas หรือการเอาขยะมาทำเป็น Natural Gas ก็ตาม เป็นแก๊สธรรมชาตินี้มีขนาด เศรษฐกิจถึง ๒๐๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพราะฉะนั้นในปัญหาก็มีโอกาส ในโอกาส ก็มีปัญหา ขึ้นอยู่กับว่าประเทศของเราจะจัดการกับปัญหาในเรื่องขยะอย่างไร จะทำอย่างไร ให้ขยะที่มีจำนวนมากมายมหาศาลในประเทศไทยที่เป็นภูเขาอยู่ในหลาย ๆ ที่ ทำอย่างไร จะให้เป็นทรัพย์สิน แล้วก็นำมาใช้ประโยชน์ให้ได้ ก็ขออนุญาตฝากไปยังหน่วยงานที่มี ส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นทางรัฐบาลหรือคณะกรรมาธิการสามัญหรือคณะกรรมาธิการ วิสามัญก็ดีที่จะได้พิจารณาในเรื่องนี้ได้มีการพิจารณาให้รอบคอบ แล้วก็มีข้อเสนอแนะที่ดี ต่อรัฐบาลต่อไป ขอบพระคุณครับท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปอีก ๓ ท่านนะครับ ท่านแรก ท่านศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ ท่านที่ ๒ ท่านปิยรัฐ จงเทพ ท่านที่ ๓ ท่านวรวงศ์ วรปัญญา เชิญท่านศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ เชิญครับ

นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ พิษณุโลก ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ กระผม ศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากจังหวัดพิษณุโลก เขต ๕ อำเภอนครไทย อำเภอชาติตระการ และอำเภอวัดโบสถ์ ขออภิปรายสนับสนุนญัตติการบริหารจัดการขยะ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก่อนอื่นผมก็ต้องขอขอบคุณเพื่อนสมาชิกที่ตั้งญัตตินี้ ขึ้นมานะครับ เข้าประเด็นเลยครับท่านประธาน ขยะมีที่มาที่ไป เมื่อขยะมีที่มาและที่ไป แต่ส่วนใหญ่ภาครัฐมักจะพยายามจัดการไปที่ที่ไปครับ โดยลืมใส่ใจกับที่มาของขยะ ดังนั้น การบริหารจัดการขยะเราไม่สามารถทำขาใดขาหนึ่งได้ เราจึงต้องบริหารจัดการทั้ง ๒ ขา คือทั้งบริหารที่มาแล้วก็ต้องจัดการกับที่ไปของขยะครับ ปัญหาของที่มาของขยะก็คือจำนวน คนที่สร้างขยะมีมากกว่าจำนวนคนที่จัดการขยะ เมื่อจำนวนคนที่ทิ้งมากกว่าคนที่เก็บ แน่นอนครับ ก็เกิดปัญหาที่มาของขยะ ปัญหาที่ ๒ จำนวนขยะที่มาใหม่มีมากกว่าจำนวน ขยะที่ถูกบริหารจัดการ เรามีขยะเกิดขึ้นใหม่ทุก ๆ วัน แต่จำนวนขยะที่ถูกจัดการนั้น มีน้อยกว่า มันจึงเกิดปัญหาของขยะล้นเป็นภูเขาเลากาในหลาย ๆ อปท. ทั่วประเทศ มากขึ้น เป็นทวีคูณในทุก ๆ วัน เราจึงจำเป็นต้องบริหารจัดการที่มาของขยะที่จะเกิดขึ้นใหม่เป็น ขาแรกนะครับ ขอสไลด์ครับ

นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ พิษณุโลก ต้นฉบับ

การแยกทรัพยากรก่อนที่มัน จะกลายเป็นขยะบนหลักการที่ว่า ขยะไม่มีอยู่จริง มีแต่ทรัพยากรที่ถูกจัดวางไว้ไม่ถูกที่ แต่การที่จะทำสิ่งเหล่านี้ให้สำเร็จได้นั้นมันต้องใช้องค์ความรู้ การคัดแยกขยะต้องใช้ องค์ความรู้ครับ อย่างขยะพลาสติก ขยะกระดาษ โลหะ เศษแก้ว กระจก ขวดต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งเศษอาหาร สิ่งเหล่านี้ต้องใช้องค์ความรู้ในการแยกขยะอย่างปลอดภัยแล้วก็ ถูกต้องนะครับ หรือแม้กระทั่งขยะอันตรายต่าง ๆ สารเคมีต่าง ๆ ขยะติดเชื้อ หรือขยะจากเทคโนโลยี ขยะอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งเหล่านี้ต้องใช้องค์ความรู้ในการคัดแยกอย่างถูกต้องและปลอดภัยครับ และในอีก ๕-๑๐ ปีข้างหน้า ผมอย่างที่ผมบอกองค์ความรู้ในการบริหารจัดการขยะนั้นสำคัญ มาก ๆ ในอีก ๕-๑๐ ปีข้างหน้าเราจะมีขยะประเภทใหม่จำนวนมาก นั่นก็คือขยะยานยนต์ ปัจจุบันมีการใช้รถ EV เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และในอีก ๕-๑๐ ปีข้างหน้าเราจะมีขยะยานยนต์ ที่เป็นเครื่องสันดาปจำนวนมหาศาล เพราะอะไรครับ เพราะปัจจุบันมีรถยนต์มากกว่า ๔๒ ล้านคันในประเทศเรา ดังนั้นก็จะเกิดขยะยานยนต์จำนวนมหาศาล และการคัดแยกขยะ จากยานยนต์เหล่านี้ต้องใช้องค์ความรู้อย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น การแยกแบตเตอรี่ออกมา จากรถยนต์นี้เราไม่สามารถเอาไปทำลายได้เลย เพราะมันอันตราย มันจะต้องผ่าน กระบวนการลดประจุไฟฟ้าลงก่อน สิ่งเหล่านี้ใช้องค์ความรู้ทั้งสิ้น นั่นก็คือการบริหารที่มา ของขยะ ต่อไปคือการจัดการกับที่ไปของขยะ การจัดการกับขยะที่มีอยู่ในปัจจุบัน ถ้ามี การคัดแยกทรัพยากรจากขยะอย่างเป็นระบบและมีคุณภาพแล้วนี้เราแทบจะไม่เหลือขยะ จริง ๆ ที่ต้องจัดการเลย หรือถ้ามีมันก็น้อยมากแล้วก็จัดการง่ายและปลอดภัย แนวทางที่ผม จะเสนอในการใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรจากขยะเหล่านี้ ก็คือ

นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ พิษณุโลก ต้นฉบับ

ข้อ ๑ เร่งระดมและเผยแพร่ความรู้ในการคัดแยกขยะเพื่อลดจำนวนขยะใหม่ และเพิ่มจำนวนคนที่ช่วยจัดการกับขยะให้มากขึ้น เพื่อไปลดปัญหาที่มาของขยะ ข้อ ๑ ก็คือ คนสร้างขยะเยอะกว่าคนที่จัดการขยะ

นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ พิษณุโลก ต้นฉบับ

ข้อ ๒ เมื่อ อปท. ทั่วประเทศ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้บริหารจัดการ ขยะในชุมชน ดังนั้น ข้อ ๒ ต้องเร่งเพิ่มงบประมาณอย่างจริงจัง เพิ่มงบประมาณอย่างจริงจัง ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการขยะ นอกจากเพิ่มงบประมาณ อย่างจริงจังแล้วนะครับ

นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ พิษณุโลก ต้นฉบับ

ข้อ ๓ ยังต้องให้อำนาจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการเข้าใช้พื้นที่ ในการจะจัดการขยะโดยผ่านความเห็นชอบจากประชาชนในพื้นที่ ไม่อย่างนั้นก็จะเกิดปัญหา แบบนี้ครับ อปท. ไม่สามารถเข้าไปบริหารจัดการพื้นที่ที่จะทิ้งขยะได้ เมื่อมีพื้นที่ที่เหมาะสม แต่พอเมื่อ อบต. หรือ อปท. ต่าง ๆ จะเข้าไปใช้พื้นที่ ปรากฏว่าเป็นพื้นที่ป่า ปรากฏว่า เป็นพื้นที่สาธารณะ ปรากฏว่าเป็นพื้นที่ที่ อปท. ไม่มีอำนาจในการเข้าไปบริหารจัดการพื้นที่ได้ ดังนั้นแค่เพิ่มงบประมาณไม่พอครับ มันจะต้องเพิ่มอำนาจให้อำนาจในการเข้าบริหารจัดการพื้นที่ให้ได้ด้วย

นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ พิษณุโลก ต้นฉบับ

ข้อ ๔ อีกปัญหาหนึ่งนะครับ ในหลาย อปท. ทั่วประเทศ ไม่มีบุคลากรทางด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ไม่มีนักวิชาการทางด้านนี้ ไม่มีนักวิชาการที่จะจัดการกับขยะและสิ่งแวดล้อม ทำให้ขาดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการ แต่ว่าทุก อปท. มีภารกิจที่ต้องจัดการกับขยะมูลฝอย แต่เขาไม่มีบุคลากร อปท. ก็เลยแก้ปัญหาด้วยการนำบุคลากรด้านอื่นเข้ามาปฏิบัติงานแทน มันก็อิหลักอิเหลื่อสะเปะสะปะแบบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อปท. ไหนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวก็จะยิ่งมีปัญหามาก เราจะปล่อยปละละเลยแบบนี้ไม่ได้เพราะเท่ากับเราไปลดแต้มต่อให้กับชุมชนที่เขากำลังจะลืมตาอ้าปากได้

นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ พิษณุโลก ต้นฉบับ

ข้อ ๕ ข้อสุดท้ายครับ ออกกฎหมายที่จะเข้มงวดกับบริษัทผู้ผลิตต้นทาง ในการที่จะใช้วัสดุที่ควรย่อยสลายง่าย และหรือมีแนวทางที่จะจัดการกับวัสดุของบริษัทเหล่านั้นที่ผลิตสินค้าออกมา วัสดุของท่านต้องมีแนวทางในการที่จะบริหารจัดการขยะปลายทางด้วย เช่น ถ้าบริษัทผลิตขวดน้ำมาแบบนี้ คุณจะต้องระบุไปเลยว่าหลังจากที่ใช้น้ำขวดนี้เสร็จแล้ว ขวดนี้จะต้องนำไปที่ไหน ส่งคืนที่ไหน จัดการอย่างไรให้ขยะเป็นศูนย์ เมื่อเราทำการแยกขยะหรือบริการจัดการตั้งแต่ต้นทางแล้ว ปลายทางเราจะไม่ต้องมาเสียงบประมาณและเสียสุขภาพของประชาชนมากขนาดนี้ครับ ทั้งหมดนั้นก็คือเพื่อยืนยันว่าการบริหารจัดการทรัพยากรขยะนั้นเป็นเรื่องขององค์ความรู้ ไม่ใช่เรื่องที่จะทำสะเปะสะปะได้ และไม่ใช่เรื่องที่น่ารังเกียจ รัฐควรส่งเสริมให้องค์ความรู้นี้ เปลี่ยนจากองค์ความรู้ให้กลายเป็นอาชีพ และต้องเป็นอาชีพที่มีมูลค่าสูง คนที่เข้ามาบริหาร จัดการขยะต้องสามารถใช้ความรู้เหล่านั้นในการประกอบอาชีพและมีรายได้ สามารถมี คะแนนคาร์บอนเครดิตได้ เปลี่ยนเป็นเงินได้ เพราะจำนวนบุคลากรเหล่านี้เป็นบุคลากร ที่ยังขาดอยู่มากในทุก ๆ อบต. ทุก ๆ อปท. ทั่วประเทศ แล้วก็จะช่วยแก้ปัญหาที่มาได้ เพื่อเพิ่มจำนวนของคนจัดการขยะให้มันมากขึ้นให้เท่ากับคนที่สร้างขยะนะครับ เพราะว่า อาชีพเหล่านี้จะช่วยทั้งรัฐ แล้วก็ช่วยสังคมแล้วก็ช่วยดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย ผมจึงขอ สนับสนุนญัตตินี้อย่างเต็มที่ครับ ขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านปิยรัฐ จงเทพ

นายปิยรัฐ จงเทพ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ผม ปิยรัฐ จงเทพ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล เขตพระโขนง เขตบางนาครับ วันนี้ผมขออภิปรายสนับสนุนญัตติของเพื่อนสมาชิก เรื่อง การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแก้ปัญหาการจัดการขยะชุมชน ของคุณพูนศักดิ์ จันทร์จำปี เพื่อนสมาชิก นะครับ วันนี้หลักการที่ผมสนับสนุนเรื่องนี้คือการจัดการปัญหาขยะชุมชนที่ส่งผลต่อ ประชาชน

นายปิยรัฐ จงเทพ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบ ในการจัดการขยะเกี่ยวกับขยะอินทรีย์ หลังจากที่มีการก่อตั้งโรงจัดการขยะที่บริเวณ อ่อนนุช ๘๖ เขตใกล้เคียงกับเขตบางนา เขตพระโขนงของกระผมนี้ ซึ่งแน่นอนในพื้นที่ กรุงเทพมหานครนั้นจะมีจุดกำจัดขยะหรือจัดการกับขยะทั้งหมด ๓ จุด ทั่วกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็นสายไหม หนองแขม และอ่อนนุช ซึ่งแน่นอนครับ ผลกระทบใกล้เคียงกันเลย สิ่งที่เกิดขึ้นคือส่งกลิ่นเหม็นไปคละคลุ้งทั่วเขตพื้นที่ใกล้เคียงและเขตพื้นที่ในการตั้งที่ทำการ โรงงานจัดการขยะนี้เอง ซึ่งภาพที่ท่านเห็นอยู่นี้เป็นจุดบริเวณอ่อนนุชครับท่านประธาน ซึ่งตรงนี้เป็นพื้นที่จัดการขยะที่เราเรียกว่า โครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเพื่อผลิต พลังงานขนาดไม่น้อยกว่า ๘๐๐ ตันต่อวัน ซึ่งจัดการหรือบริหารโดย บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัดนี้ผู้ถือหุ้นโดยกรุงเทพมหานคร หรือ กทม. จำนวนหุ้น คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ๙๙.๙๘ เปอร์เซ็นต์ หรือเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยกรุงเทพมหานครนั่นเอง และได้ทำสัญญากับกรุงเทพมหานครเพื่อก่อสร้างโรงจัดการขยะมูลฝอยเพื่อนำไปผลิตไฟฟ้า สะอาด แต่มันไม่ได้สะอาดอย่างที่คิดครับ อันนี้คือผังโรงงาน ผังจุดจัดการขยะอินทรีย์ที่พูด ง่าย ๆ ภาษาชาวบ้าน ก็คือเอาขยะที่มาจากเศษอาหารไปหมักให้ได้แก๊สไข่เน่าขึ้นมานะครับ แล้วก็เอาไปผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ในขณะที่เวลาคุณจัดการขยะนั้นคุณบอกว่าคุณมีระบบ จัดการ คุณมีระบบจัดการกลิ่น คุณมีระบบจัดการกาก แต่สุดท้ายแล้วกลิ่นเหล่านั้น โชยคละคลุ้ง โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาว ไปหลายสิบกิโลเมตร โดยเฉพาะเขตบางนา ของผมนั้นเปิดหน้าต่างออกไม่ได้นะครับท่านประธาน นั่งทานข้าวอาหารเย็นอยู่รับประทานกัน ไม่ได้เลยทีเดียว เพราะว่ากลิ่นค่อนข้างรุนแรง จนกระทั่งกรมอุตสาหกรรมโรงงานได้ลงพื้นที่ ไปตรวจสอบ ต้องขอบคุณท่านอธิบดี เดือนเมษายนปี ๒๕๖๖ ปีที่ผ่านมานี้เอง ลงพื้นที่ไป แล้วพบปัญหาจริงตามสิ่งที่ประชาชนร้องเรียน สั่งปิดโรงงานเลยครับ สั่งปิดโรงงานให้ไป จัดการเรื่องการจัดการกลิ่นก่อนที่คุณจะเปิด ซึ่งเราไปดูกันครับ ผังสถิติ ท่านจะเห็นสีเขียว ๆ นั้น คือจำนวนปริมาณขยะต่อเดือน พอเดือนพฤษภาคมสั่งปิดปุ๊บลดเหลือศูนย์เลย หมายถึงว่า ไม่เอาขยะเข้ามา ให้ไปจัดการขยะก่อน ไปจัดการกลิ่นให้เรียบร้อย จนกระทั่งเดือน พฤศจิกายนเปิดใหม่อีกรอบหนึ่ง เรื่องร้องเรียนมาเต็มที่เลยครับ มาผ่านผู้แทนราษฎร มาผ่าน สก. ก็มาผ่านเขตว่ากลิ่นกลับมาอีกแล้วและรุนแรงกว่าเดิม หมายความว่าการจะเอา ขยะอินทรีย์เอาไปทำให้เกิดการจัดการขยะบอกว่าแก้ไขปัญหาขยะล้นเมือง แก้ไขปัญหา ต่าง ๆ นั้นกลับเป็นสร้างมลภาวะทางกลิ่น หลังจากนั้นก็มีการพูดคุยกันตั้งเป็นคณะทำงานขึ้นมา ตั้งเป็นคณะกรรมการขึ้นมา ในการแก้ไขปัญหา ซึ่งแน่นอนพอไปดูรายงานจริง ๆ โรงงานนี้เริ่มก่อสร้างมา ปี ๒๕๖๑ ครับท่านประธาน เปิดดำเนินการมา ปี ๒๕๖๓ ด้วยวงเงินงบประมาณ ๓,๕๐๔ ล้านบาท ซึ่งเปิดมา ปี ๒๕๖๓ แต่ถูกปิดไป ปี ๒๕๖๖ และเปิดใหม่อีกทีเดือนพฤศจิกายน ผมทราบว่า จะถูกสั่งปิดอีกเร็ว ๆ นี้ และกำลังพิจารณาที่จะต่อสัญญาว่าจะมีการต่อสัญญาโรงงานนี้ ต่อหรือไม่ ทั้งนี้ทั้งนั้นเวลาจะต่อสัญญา ผมเคยเข้าไปพบกับท่าน ผอ. สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร พร้อมเพื่อน สส. กทม. ของกระผมนี้ ท่านก็ได้รับปากว่าถ้าจะมีการต่อ สัญญาก่อสร้างหรือผลิตโรงงานไฟฟ้านี้ต่อก็จะต้องมีการทำประชาพิจารณ์ก่อน ก็จะต้องทำ ถามพี่น้องประชาชนก่อน เราก็อยากยืนยันว่าถ้าจะถามจริง ๆ ก็อย่าไปถามเฉพาะในเขต พื้นที่อ่อนนุชบริเวณนั้น ก็มาถามแถวพระโขนง บางนาด้วย เพราะว่ากลิ่นไปไกลเหลือเกิน ฉะนั้น ๕ ข้อหรือ ๔ ข้อเรียกร้อง ที่ทางคณะกรรมการพูดคุยกัน บอกว่าขอ ๔ ข้อแก้ไข และข้อแนะนำ ๑. ก็คือเพิ่มเวลาล้างทำความสะอาดโรงงานในจุดที่เป็นต้นกำเนิดของกลิ่น หมายความว่า เราต้องมีการทำความสะอาดบ้างไม่ใช่ว่าผลิตอย่างเดียว และ ๒. ก็คือ การเพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดกลิ่นภายในอาคาร จริง ๆ ในโรงงานตัวนี้ มีระบบบำบัด กลิ่นแต่ไม่รู้ว่าไม่มีประสิทธิภาพหรือหย่อนยานตรงไหนถึงส่งกลิ่นออกมาได้ขนาดนั้น ๓. ก็คือ ก่อสร้างปิดคลุมโรงงานให้มิดชิดกว่าเดิม พูดง่าย ๆ ว่าหลายจุดเวลาเขาจะเติมกาก เศษอาหาร ท่านประธานครับ เขาก็จะเปิดประตูทั้งหมด ๑๔ บาน มีประตู ๑๔ บาน เขาจะ เปิดทีละบาน กลิ่นมันออกมาตอนเปิดประตูนี้นะครับท่านประธาน ฉะนั้นเขาบอกว่าเดี๋ยวเขา จะทำครอบอีกทีหนึ่ง ครอบประตูอีกทีหนึ่ง ซึ่งไม่รู้ว่าจะมีโครงการต่อไปหรือไม่ สุดท้ายแล้ว ก็คือการจัดช่วงเวลาการทำงานในส่วนต่างของโรงงาน หมายความว่าเขาบอกว่าถ้าช่วง กลางวัน ช่วงกลางวันประชาชนไม่อยู่บ้านพักอาศัยไปทำงาน เขาจะเริ่มเติมเศษอาหาร ในเวลานี้ พูดง่าย ๆ ว่าเศษขยะอินทรีย์ในเวลานี้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน ส่วนกลางคืน ประชาชนกลับมา เขาจะไม่เติม แต่สุดท้ายแล้วก็ยังส่งกลิ่นอยู่ ก็แสดงว่ายังมีการเปิดเติมเศษ อาหารในช่วงกลางคืนอยู่ ก็อยากสนับสนุนญัตตินี้ของเพื่อนสมาชิกเพื่อไม่ใช่แค่การไปพูดว่า จะต้องมีการทำโรงงานสะอาด เพื่อพลังงานสะอาดอย่างเดียว แต่ผลกระทบต่อสังคมใน อนาคตก็จะต้องช่วยกำกับดูแลด้วย เรื่องนี้ผมก็ท้วงติงไปในที่ประชุมของ กทม. แล้วก็ ในที่ประชุมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง ซึ่งแน่นอนสิ่งที่เขาแจ้งตอบกลับมาก็คือว่า พวกโรงงาน พวกสถานที่ก่อสร้างเกี่ยวกับการบำบัดขยะ บ่อขยะเหล่านี้มันตั้งมาก่อนคุณเกิด เสียอีก เพราะในบริเวณโดยรอบนั้นมันเป็นป่าหญ้าทั้งนั้น เมื่อ ๓๐ ปีก่อน จริงอยู่เมื่อ ๓๐ ปีก่อน มันเป็นป่าหญ้าเป็นทุ่งหญ้า แต่ว่า ณ เวลานี้สถานการณ์เปลี่ยนไป สังคมเปลี่ยนไป ก็อยากให้ คณะกรรมาธิการชุดนี้ถ้าจะมีการตั้งขึ้นก็พิจารณาเรื่องอนาคตด้วยครับ ขอบคุณครับ ท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านวรวงศ์ วรปัญญา เชิญครับ

นายวรวงศ์ วรปัญญา ลพบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายวรวงศ์ วรปัญญา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี เขต ๕ ประกอบไปด้วยอำเภอ ท่าหลวง อำเภอลำสนธิ และอำเภอชัยบาดาล วันนี้ผมขอใช้สภาอันทรงเกียรติและ ขออนุญาตอภิปรายสนับสนุนญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหา เรื่อง การบริหารการจัดการขยะขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น วันนี้มีเพื่อนสมาชิกมากมายที่ให้ความเห็นและให้ความสำคัญกับปัญหาขยะ ของประเทศเรา ไม่ใช่เพียงแต่ในพื้นที่ของผมเพียงเท่านั้น วันนี้สำหรับสถานการณ์ในประเทศ เรามีขยะเพิ่มมากขึ้นตลอด แต่ปัญหานี้คือกว่าขยะเหล่านั้นจะถูกจัดการอย่างถูกต้อง หรือกว่าจะถูกย่อยสลายไม่ได้เป็นไปตามเวลาที่สามารถจะผันแปรได้รวดเร็วนัก เราอาจจะ ต้องมีมติหรือมีการศึกษามากขึ้น เพื่อที่จะแก้ปัญหาขยะให้กับพี่น้องประชาชนทั่วทั้งประเทศไทย แต่วันนี้ผมขอลงลึกไปที่พื้นที่ของผมนะครับ ขอสไลด์ด้วยครับ

นายวรวงศ์ วรปัญญา ลพบุรี ต้นฉบับ

สถานที่ตรงนี้เรียกว่าบ่อขยะตรงเขาหินกลิ้ง อยู่ติดกับแม่น้ำป่าสักชลสิทธิ์ รวมถึงถนน ๒๐๕ ถ้าท่านจำได้ว่าบริเวณนี้ผมเคยใช้ช่วง เวลาตอนเช้าในการปรึกษาหารือไปแล้วว่าตรงบ่อขยะเหล่านี้ไม่ใช่เพียงแค่บ่อขยะ อย่างเดียว แต่ยังเป็นทั้งแหล่งมั่วสุมบ้าง แหล่งถูกนำสิ่งที่ไม่ควรมาทิ้งบ้าง จนกระทั่งเมื่อประมาณ ๓-๔ เดือนที่แล้ว มีการฆาตกรรมอำพราง แล้วก็เอาศพไปทิ้งบริเวณ ที่ไม่ใกล้กับบริเวณนี้เท่าไรนัก วันนี้ปัญหาบ่อขยะนี้ถูกส่งผลมาถึงพี่น้องประชาชน ใกล้ที่จะเข้าสู่หน้าฝน เมื่อไรก็ตามการที่จะมีน้ำป่าหลาก ทำให้ขยะเหล่านี้ลอยขึ้นมา ผ่านเส้นทางถนน แล้วก็ลอยไปยังบ้านเรือนของพี่น้องประชาชน หมู่ที่ ๑๒ ตำบลลำนารายณ์ อำเภอชัยบาดาล แต่บ่อขยะนี้ที่มาที่ไปในอดีตอาจจะไม่ได้ขอลงลึกมาก ปัจจุบันเป็นเทศบาล ตำบลลำนารายณ์ ผู้ที่เข้ามาดูแลในส่วนของการบริหารจัดการขยะ ซึ่งทำให้การจัดการขยะ อาจจะไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่น เนื่องด้วยอาจจะติดระเบียบต่าง ๆ หรือการที่ยังมีความ ไม่ชัดเจนในส่วนกลางก็ดี วันนี้อยากให้การที่เรามาอภิปรายกันในวันนี้ไม่ใช่แค่ผมคนเดียว แต่รวมถึงเพื่อนสมาชิกทั้งหลายที่มาร่วมกันอภิปราย อยากจะให้หาข้อสรุปสำหรับส่วนกลาง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถหาทางออกในพื้นที่ที่ทับซ้อน เพราะตรงนี้ถือว่าทับซ้อน เพราะเทศบาลเป็นคนบริหารจัดการขยะ แต่เป็นพื้นที่อยู่ในตำบล ในอดีตเราอาจจะไม่ได้ แบ่งแยกพื้นที่แบบนี้ แต่ปัจจุบันมันเกิดขึ้นแล้วก็ต้องร่วมกันแก้ไข อันนี้สด ๆ ร้อน ๆ เข้าใกล้ หน้าร้อนแล้ว เมื่อคืนนี้เองเกิดไฟไหม้บริเวณบ่อขยะที่ผมกำลังพูดถึงนี้ ซึ่งอันนี้ไม่ได้เกิดจาก การที่พี่น้องประชาชนเผาขยะ ซึ่งผมบอกเลยว่าที่ตำบลลำนารายณ์ แล้วก็ภายในอำเภอชัย บาดาลบางส่วนนี้เราค่อนข้างเป็นแอ่งกระทะ เมื่อเกิดการเผาไหม้หรือเพลิงลุกไหม้แบบไม่ได้ ตั้งใจแบบนี้มันทำให้ฝุ่นควันแล้วก็ปลิวไปปกคลุมบริเวณท้องฟ้าในส่วนของอำเภอชัยบาดาล ทำให้เกิดมลพิษ สงสารน้อง ๆ ที่กำลังเติบโต มีโอกาสที่จะได้ใช้ชีวิตอยากให้มีสุขภาพ ที่แข็งแรงมากขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้นช่วงหน้าร้อนมันไม่ใช่เพียงแค่ว่ามีในส่วนของไฟไหม้อย่างเดียว เพลิงไหม้อย่างเดียวมีการแอบไปหยิบขโมยขยะที่สามารถเอาไปขายได้ แต่สิ่งสำคัญมันมีขยะ ที่ปนเปื้อนสารเคมีแล้วไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง อันนี้จะเป็นอันตรายต่อบุคคลที่นำไป โดยพลการ รวมถึงเป็นอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าไปแก้ไขในอนาคตครับ ผมหวังว่า การอภิปรายในวันนี้จะนำไปสู่การหารือ จะนำไปสู่การร่วมกันแก้ปัญหาของทุกฝ่าย เพื่อชีวิต ที่ดีขึ้นของพี่น้องประชาชนทั่วทั้งประเทศไทย ผมขอสนับสนุนญัตตินี้ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านเอกราช อุดมอำนวย ครับ

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม จอจาน เอกราช อุดมอำนวย ผู้แทนคนดอนเมือง พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ วันนี้ผมก็จะนำเสนอปัญหาของขยะที่พี่น้องคนดอนเมืองต้องเผชิญ ใน ๓ ด้านมาให้ท่านประธานได้ดูก่อนที่จะอภิปรายว่าผมเห็นด้วยกับญัตติที่เพื่อนสมาชิก ได้เสนอ ท่านประธานครับ พี่น้องคนดอนเมืองต้องเผชิญกับปัญหาขยะที่ประชาชนมาแอบทิ้ง เอาไว้ในพื้นที่รกร้าง

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เขาทิ้งแล้วอย่างไรครับ เขาก็ แอบเผา ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว สร้าง PM สำนักงานเขตก็ทำอะไรไม่ได้ ยิ่งบริเวณถนนเทิดราชัน เขตดอนเมืองก็ได้รับผลกระทบจากกลิ่น เพราะเป็นพื้นที่ใกล้เคียง แต่ไม่ได้เกิดในเขตเท่านั้น มันแก้ปัญหายากมาก เพราะพื้นที่ที่ติดกัน อย่างเช่น อบต. หลักหก ก็มีคนแอบเอาขยะไปทิ้ง จำนวนมาก แล้วก็ทำอะไรไม่ได้ ท่านประธานครับ เรื่องที่มันเกิดขึ้นนี้ การทิ้งขยะนี้ไม่มีกฎ ไม่มีระเบียบหรอกครับ มันมีอยู่ แต่การบังคับใช้นี้เป็นปัญหา เพราะฉะนั้นจะต้องหา มาตรการหรือว่าการเคร่งครัดมากขึ้นที่จะทำให้ลงโทษจัดการเรื่องของระเบียบจัดการขยะ รกร้างข้างทางออกไป นี่คือสิ่งที่เร่งด่วนแล้วต้องลงโทษผู้ที่เผาขยะด้วย ขอเติมไปนิดหนึ่ง และเลียบทางรถไฟสายสีแดง หรือว่าทางรกร้างตรงไหนก็ตามมีการแอบเอาขยะเอาไปทิ้ง ทั้งหมด เพราะฉะนั้นเราต้องจัดการบรรดาบริษัทที่รับขนขยะ หรือต้องจัดการกับคนรับขน ต่าง ๆ ต้อง Check ตรวจสอบเส้นทางให้ได้ว่านำขยะไปทิ้งในจุดใดบ้าง นอกจากนี้ครับ ท่านประธาน ผมอยากฉายภาพในพื้นที่ให้เห็นก่อนแล้วผมจะเสนอแนะต่อไป

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ขยะเมื่อสักครู่นี้ที่ได้เห็นแล้ว ในเขตดอนเมืองผมก็ไปดูมามี อะไรบ้าง มีทั้งขยะจากอุตสาหกรรม ขยะจากครัวเรือน เคมีอันตราย ขยะจากก่อสร้าง ขยะติดเชื้อ มันก็มาจากหลากหลายที่มา ถ้าจะดูจากประเภท ไม่ว่าจะเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์สื่อสาร คอมพิวเตอร์ Sensor อะไรอีกที่นึกออก ขยะทางเคมี หรือครับ ยานพาหนะ อุปกรณ์ทางทหาร ในเขตดอนเมืองมีค่ายทหารอยู่ มีสนามบินอยู่ ปลอกระสุน สร้างอุปกรณ์วัสดุจำลองหรือครับ หรือแม้กระทั่งขยะที่สร้างบำรุงการก่อสร้าง การทำอาคารต่าง ๆ ก็ล้วนแต่เกิดขยะได้ หรือแม้กระทั่งในคลินิกในเขต โรงพยาบาลในเขต ผมก็มานึกออกว่าเขาจัดการปัญหาขยะอย่างเป็นระบบหรือไม่ อย่างไร หรือแม้กระทั่ง ในสนามบินดอนเมืองซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายที่คนไปใช้มีกิจกรรมจำนวนมาก ปริมาณขยะก็ต้อง เยอะแน่นอน ทั้งอาหาร บรรจุภัณฑ์ ความหลากหลายของขยะ พลาสติก กระดาษ สิ่งเหล่านี้ แน่นอนว่าจะต้องมีการขนย้าย ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องของการบำรุงรักษาอากาศยาน ก็ต้องการจัดการขยะแบบพิเศษ เคยมีการพูดถึงเรื่องนี้หรือไม่ ผมต้องการเป็นกระบอกเสียง ให้คณะกรรมาธิการหรือผู้ที่ได้ศึกษาเรื่องนี้ได้ตรวจสอบอย่างละเอียด เพราะว่าเป็นเรื่องที่ กระทบกับวิถีชีวิตของพี่น้องคนดอนเมือง ท่านประธานครับ ผมก็ไม่อาจจะไปแนะนำวิธีการ แก้ปัญหาได้ ผมก็ไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องการกำจัดขยะ แต่ผมก็จะพยายามสร้างการตระหนักรู้ แยกขยะนะครับ แต่ผมก็อยากพาท่านประธานไปดูตัวอย่างในต่างประเทศในเรื่องของ การจัดการขยะ ผมพาท่านประธานไปดูการแยกขยะต้นทางที่ประเทศสวีเดน เขาจัดการขยะ ได้ดีมาก เพราะว่าเขามีกฎหมายระเบียบที่เข้มงวด มีการรณรงค์ให้ประชาชนแยกขยะ ที่ต้นทาง แล้วเอาขยะนี้ไปผลิตไฟฟ้า แล้วก็รัฐบาลท้องถิ่นกับรัฐบาลกลางเขาทำงาน สอดคล้องกันมากครับท่านประธาน มีการส่งเสริมการลดใช้พลาสติกและวัสดุที่ย่อยสลายได้ ซึ่งประเทศสวีเดนถูกยกเป็นแบบ Very Good เลยท่านประธาน รูปแบบของขยะถูกจัดการ ไปสร้างพลังงานทั้งไฟฟ้า พลังงานความร้อน แล้วก็ใช้ในการจ่ายไฟฟ้า ทำให้ระบบความร้อน ในบ้านเรือนและอาคารต่าง ๆ แม้ว่าจะมีการเผาขยะอาจจะสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ว่า ถ้าจัดการอย่างเหมาะสมนี้ก็สามารถที่จะให้ปล่อยมลพิษต่ำกว่าการกำจัดขยะในรูปแบบ อื่น ๆ ได้ ซึ่งเขาถือว่าขยะเป็นพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญของเขา ด้านการจัดการก็อย่างที่ บอกไปว่าเขาก็มีความเข้มแข็ง อีกประเทศหนึ่งท่านประธาน ผมพาไปดูที่ประเทศเยอรมนี เขามีระบบจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลกเรื่องการ Recycle เลย เพราะเขา แยกขยะได้อย่างแม่นยำ การ Recycle กว้างขวาง เขาใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย มีทั้งระบบ ที่เขาเรียกว่า Green Dot System ก็คือเป็นระบบที่ส่งเสริมให้ผู้ผลิตเขารับผิดชอบต่อบรรจุ ภัณฑ์ต้อง Recycle หรือว่ากระทั่ง ระบบ Deposit Refund System ซึ่งเขาใช้ส่งเสริมให้ คนที่บริโภคต้องคืนขวด กระป๋องต่าง ๆ แล้วเขาเก็บเงินมัดจำจาก Supermarket ไว้ แล้วก็ ถ้าสมมุติว่ามีการคืนขวดหรือว่านำไป Recycle ก็จะได้เงินคืน ยกตัวอย่างเช่นขวดน้ำที่ใช้ได้ ถ้าเป็นพลาสติกก็สามารถใช้ซ้ำได้ถึง ๕๐ ครั้ง เขาก็มีการคืนค่ามัดจำให้อยู่ที่ระหว่าง ๐.๐๘ หรือ ๐.๒๕ ยูโร หรือประมาณราว ๓-๙ บาทต่อขวด แบบนี้เป็นต้น หรือกระป๋องที่ใช้ ครั้งเดียวทิ้งก็คืนได้อยู่ที่ประมาณ ๙ บาท แล้วก็นอกจากนั้นประเทศเยอรมนีเขาก็ไปออก กฎหมายด้วย ที่เป็นพระราชบัญญัติที่ขยายครอบคลุมถึงเกี่ยวกับ Packaging ต่าง ๆ โดยที่ กำหนดให้ผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้บริโภคต้องมีส่วนรับผิดในเรื่องของการจัดการขยะหรือว่า มีกฎระเบียบที่ออกโดยรัฐในการกำหนดมาตรฐานของบรรจุภัณฑ์ของสินค้า นอกจากนี้ผมก็ จะพาท่านประธานย้อนไปดูระเบียบโลกหรือกติการะหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยลงนาม เอาไว้เรื่องของการจัดการขยะ ไม่ว่าจะเป็นอนุสัญญาบราซิล ซึ่งอนุสัญญานี้ควบคุมการขนส่ง ขยะอันตรายและขยะอื่น ๆ ข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ มีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันขยะ อันตรายนำไปทิ้ง ตอนนี้เรายังมีข่าวเรื่องที่ประเทศไทยเป็นที่รับทิ้งขยะหรือเปล่า ก็ต้องไปดู นะครับ อันที่ ๒ อนุสัญญาสตอกโฮล์ม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการลดขยะการใช้สารเคมีอันตราย ซึ่งสามารถพบได้ในพวกขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือขยะอุตสาหกรรม หรือกติกาอัมสเตอร์ดัม ซึ่งเขามุ่งเน้นไปที่เรื่องของการควบคุมการค้าระหว่างประเทศสารเคมีอันตราย สารศัตรูพืช ที่จะต้องใช้ในการจัดการกับขยะที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี และอันสุดท้ายครับท่านประธาน อนุสัญญามินามาตะ ซึ่งสนธิสัญญานี้เขาจะควบคุมเรื่อง ของปรอทในการเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร แล้วก็ผลกระทบที่มีต่อสุขภาพของมนุษย์ ทั้งหมดนี้ผมก็ เห็นด้วยกับญัตตินี้นะครับ แล้วก็อยากให้เรื่องที่ผมได้อภิปรายนี้ถูกบรรจุ แล้วก็เป็นเนื้อหาที่ อย่างน้อยเป็นข้อเสนอแนะที่เพื่อนที่จะได้ไปศึกษา สมาชิกที่ได้ไปศึกษาคณะกรรมาธิการ นำข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะไปเรียบเรียง แล้วมีประโยชน์ในการออกกฎระเบียบที่เป็น ประโยชน์ต่อไป ขอบพระคุณครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ ครับ

นายณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ สมาชิกผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร ประเวศ สะพานสูง พรรคก้าวไกลครับ ท่านประธานครับ วันนี้ผมเองขอร่วมในการอภิปรายเพื่อสนับสนุนญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาการ จัดการขยะชุมชน ของ สส. พูนศักดิ์ จันทร์จำปี ท่านประธานครับ ผมมีเหตุผลทั้งหมด ประมาณ ๓ ประการ ในการที่จะสนับสนุนในส่วนของญัตตินี้

นายณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เหตุผลประการแรก เป็นเรื่องของความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ที่หนักมาก อย่างที่เมื่อสักครู่ทาง สส. ปิยรัฐ จงเทพ ได้มีการอภิปรายไปแล้วเกี่ยวกับเรื่อง ของความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากศูนย์ขยะอ่อนนุช หรือที่เราเรียกกันว่า โรงขยะอ่อนนุช

นายณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ผมขออนุญาตเปิดภาพที่ ๑ ได้ไหมครับ นี่ครับท่านประธาน อันนี้ผมรวบรวมความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนที่เป็น การยืนยันว่าสิ่งที่ทาง สส. ปิยรัฐ ได้อภิปรายเมื่อสักครู่นี้เป็นเรื่องที่พี่น้องประชาชนเดือดร้อน จริง ๆ นี่คือสิ่งที่ผมเองได้อ่าน Social Media ในทุก ๆ วัน ใน Facebook ใน Twitter ใน Platform ต่าง ๆ นานา มากมายท่านประธาน ทุก ๆ คนครับ ทางประชาชนต่าง ๆ เดือดร้อนมาก แล้วก็บ่นกันในเรื่องของปัญหากลิ่นเหม็นที่ได้รับผลกระทบกันทุกวี่ทุกวัน นี่คือสิ่งที่ผมเองได้อ่านในทุก ๆ วัน แล้วก็เป็นเรื่องที่ประชาชนเดือดร้อนหนักมากจริง ๆ แล้วต่อให้ประชาชนซื้อบ้านแพงแค่ไหนก็หนีไม่พ้น เนื่องจากว่ากลิ่นของโรงขยะนี้มันไกลแล้ว มันก็รุนแรงมาก ๆ รวมไปถึงเรื่องของปัญหาในเรื่องของสุขภาพก็เช่นเดียวกัน ซึ่งในส่วนนี้ ผมเองก็ต้องบอกว่าก่อนหน้านี้ผมเองเคยนำเรื่องนี้มาอภิปราย มาตั้งกระทู้ในสภาไป เรียบร้อยแล้วเกี่ยวกับเรื่องของการขอให้มีการแก้ไขปัญหาในเรื่องของกลิ่นเหม็นของโรงขยะ อ่อนนุชถึงทางท่านรัฐมนตรี ซึ่งวันนั้นทางท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านก็ มาตอบกระทู้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือว่า ในส่วนของการแก้ปัญหาในพื้นที่จริงส่วนใหญ่ก็ยัง เป็นเพียงการแก้ปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น ก็คือการแก้ปัญหาในลักษณะที่เป็นการฉีดพ่น น้ำยาดับกลิ่น หรือว่าการล้างถนนต่าง ๆ ซึ่งพี่น้องประชาชนแจ้ง Traffy Fondue แล้วแจ้ง Traffy Fondue อีก ท่านประธานก็ยังไม่ได้มีการแก้ปัญหาอย่างแท้จริงอย่างเป็นระบบ เพราะว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงมากของพี่น้องประชาชน ผมเองเคยเก็บข้อมูล ในส่วนของความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ตั้งแต่ปี ๒๕๖๔ ซึ่งวันนั้นผมเองยังไม่ได้ ยืนอยู่ในสภาแห่งนี้ ผมเองยังเป็นประชาชนที่อยู่ข้างนอกครับ แล้วก็มีการเก็บข้อมูลร่วมกับ พี่น้องประชาชนในหมู่บ้านอิมพีเรียล พาร์ค แล้วก็หมู่บ้านอื่น ๆ ที่อยู่ ในพื้นที่ข้างเคียงว่า ในปัญหาเหล่านี้พี่น้องประชาชนเดือดร้อนอย่างไรและมากมายแค่ไหน อันนี้เป็นเพียงขั้นต่ำ ใน Scope ที่ผมได้เก็บเท่านั้น จะเห็นว่ารัศมี ๕ กิโลเมตรต่าง ๆ นี้เป็นรัศมีที่บริเวณที่พี่น้อง ประชาชนได้รับผลกระทบเป็นประจำครับท่านประธาน จะเห็นว่าในรัศมีตรงนี้หมู่บ้านที่อยู่ ตรงนี้ ถ้าเกิดว่าแค่ที่ระบุในตัวแผนที่ท่านจะเห็นอยู่ประมาณสัก ๒๐ หมู่บ้าน แต่ความจริงแล้ว มันมากกว่านั้นมาก มันนับ ๑๐๐ หมู่บ้าน พี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนมีนับหมื่นคน อันนี้คงจะ ไม่ต้องยืนยันขนาดที่ว่านี้ท่านจะเห็น อย่างที่ทาง สส. ปิยรัฐ ได้พูดว่าไปถึงบางนา-พระโขนง ท่านก็ลองคิดดูว่ามันไกลแค่ไหน

นายณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เหตุผลประการที่ ๒ ที่มีการสนับสนุนให้มีการตั้งญัตตินี้ เนื่องจากว่าในส่วน ของโรงขยะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้มันไม่ใช่เพียงแค่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว แต่มันยังมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน อย่างเช่นผมยกตัวอย่าง ในส่วนของโครงการ กำจัดมูลฝอย มูลค่า ๘๐๐ ตันต่อวัน จำนวนปริมาณ ๘๐๐ ตันต่อวัน ที่ทาง สส. ปิยรัฐ ได้อภิปราย อันนี้ก็ได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานไหนท่านประธาน ก็คือทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมครับ แล้วนอกจากนี้ยังมี ความเกี่ยวข้องกับเรื่องของสำนักงาน กกพ. ด้วย เนื่องจากว่ามีการผลิตไฟฟ้าเพื่อที่จะ จำหน่ายไฟฟ้า เท่านั้นไม่พอครับ ถ้าหากว่าท่านมองไปในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน เมื่อพี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบแบบนี้มันก็ยังมีเรื่องของกรมควบคุมมลพิษที่จะต้องเข้า มาดูแล มันก็ยังมีเรื่องของกรมอนามัยที่จะต้องมาดูแลพี่น้องประชาชน ซึ่งมันเป็นเรื่องที่มี ปัญหามาก ๆ ซึ่งหน่วยงานราชการในประเทศนี้ก็มักจะไม่ได้พูดคุยกัน เพราะฉะนั้นผมคิดว่า เวทีของคณะกรรมาธิการน่าจะเป็นเวทีที่ทำให้พวกเราได้มาพูดคุยหาทางออกร่วมกันในแต่ ละหน่วยงาน

นายณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เหตุผลที่ ๓ ผมคิดว่าสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งก็คงเป็นเรื่องของ ความเชี่ยวชาญของการที่เรามีความจำเป็นที่จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยด้วย เนื่องจากว่า ในสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้พวกเราผู้แทนราษฎรอาจจะไม่ได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในทุก ๆ เรื่อง ถ้าหากว่าท่านดูในภาพที่ ๓ ในตอนนั้นที่ผมเข้าไปผลักดันกับพี่น้องประชาชนในเรื่อง ของโรงกำจัดมูลฝอย ๘๐๐ ตันต่อวัน ตอนนั้นเรามีการถกเถียงกันมากว่าเราจะทำอย่างไร ให้คนเชื่อมั่น ให้คนเชื่อจริง ๆ ว่าเราได้รับความเดือดร้อนเรื่องนี้ เพราะว่ามันเป็นผลกระทบ ทางกลิ่น เราไม่สามารถที่จะถ่ายภาพออกมาได้ว่ามันเหม็นแบบนี้แบบไหน ต้องพาคน เดินไปดม ทุก ๆ วัน ทุก ๆ ครั้งผมเองต้องพาสื่อมวลชนต่าง ๆ ลองเดินไปดมดูว่ามันเหม็น แค่ไหน แล้วก็วัดดวงเอาว่าวันนั้นมันจำเหม็น ไม่เหม็น วันนั้นก็โชคดีที่เรามีภาคประชาสังคม ที่เข้ามาช่วยในการที่จะผลักดัน ผมคงสามารถที่จะเอ่ยนามได้ไม่เสียหายนะครับ ก็เป็นทาง มูลนิธิบูรณะนิเวศ ก็อาจจะไม่ได้มีการผลักดันกับภาคการเมือง แต่ว่าไปช่วยพี่น้องประชาชน ในการที่จะเก็บข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์แล้วก็เป็นวิชาการ มีการเก็บข้อมูลว่าตรงนั้นมีน้ำเสีย อย่างไร ตรงนั้นส่งกลิ่นอย่างไร หรือว่าปล่อยค่า VOCs อย่างไรที่เป็นการก่อมลพิษต่าง ๆ มีสารก่อมะเร็งต่าง ๆ อันนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งที่พวกเราก็น่าจะต้องมีเวที ที่จะต้องเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับพวกเราในการ ที่จะแก้ไขปัญหานี้ และผมเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าในเรื่องของปัญหาขยะที่พี่น้องประชาชนได้รับ ความเดือดร้อนในการที่จะดมขยะกันอยู่ทุกวี่ทุกวัน ไม่ว่าจะซื้อบ้านในราคาแพงแค่ไหน ก็หนีไม่พ้น ก็เป็นเรื่องอากาศสะอาดที่พี่น้องประชาชนพร้อมอยู่แล้วที่จะลุกขึ้นมาทวงคืน สิทธิในอากาศบริสุทธิ์ของตัวเอง ดังนั้นผมเองก็ต้องขอสนับสนุนญัตตินี้เพื่อที่จะแก้ไขปัญหา ให้กับพี่น้องประชาชนในการที่จะทวงคืนอากาศบริสุทธิ์ แล้วก็เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าประชาชน พร้อมแล้วที่จะทวงสิทธิของตัวเองในการที่จะให้อากาศบริสุทธิ์ของเขากลับคืนมา ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านอับดุลอายี สาแม็ง ครับ

นายอับดุลอายี สาแม็ง ยะลา ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายอับดุลอายี สาแม็ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยะลา เขต ๓ ผมอยากจะอภิปราย ญัตติการนำเสนอในเรื่องของการจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็อยากจะให้ เหตุผลหนึ่งว่าวันนี้และหลาย ๆ ปีที่ผ่านมาเราก็ได้มีการพูดถึงปัญหาเรื่องขยะทั้งประเทศไทย มาโดยตลอดหลายสิบปี แต่ก็ยังไม่มีแนวทางที่จะไปจัดการขยะให้มันหมดปัญหาไปเสียที หลายงบประมาณที่เราไปจัดการ ไปดูเรื่องงานที่นั่นที่นี่ ไปดูในเรื่องของการศึกษาดูงาน หลาย ๆ ประเทศที่เขาจัดการเรื่องขยะ เขาบอกว่าได้ดี ทีนี้อีกอย่างหนึ่งในขณะเดียวกัน คนภายในประเทศของเราก็มีสุขภาพไม่ได้ดีขึ้นจากบริเวณที่เราอยู่ใกล้กับบ่อขยะ ซึ่งมี การสะท้อนมาโดยตลอดว่าเราควรจะต้องแก้ไขให้สำเร็จเสียทีในเรื่องของขยะ ผมอยากจะ เสนออย่างนี้ ผมเห็นด้วยกับญัตตินี้ในการที่จะไปให้ท้องถิ่นจัดการ แต่ในขณะเดียวกัน ท้องถิ่นเองก็ทราบ ๆ อยู่แล้วว่าเราไม่มีงบประมาณมากพอที่จะไปทำเรื่องโรงกำจัดขยะหรือ จะทำการแก้ไขในเรื่องของขยะได้ อย่างเช่นครั้งที่ผ่านมาเรามีงบประมาณของท้องถิ่น ของบประมาณปี ๒๕๖๗ แค่ ๑ ล้านล้านบาท ในการที่จะไปเป็นงบประมาณของท้องถิ่น ซึ่งดูแล้วก็ไม่สามารถที่จะไปแก้ไขตรงนั้นได้เลย จากงบประมาณ ๓ ล้านกว่าล้านบาท ในการ ที่จะไปเป็นงบประมาณของแผ่นดินนั้น ผมอยากจะนำเสนออย่างนี้นะครับว่า วิธีคิดใน การจัดการขยะ ถ้าเราคิดแบบ Social Welfare เหมือนทั่ว ๆ ไป เป็นเรื่องของสวัสดิการสังคมไปเลยนะครับ ถ้าเปรียบเสมือนหนึ่งว่าขยะนี้ก็เป็นสิ่งมีชีวิต ณ ขณะนี้เขาบาดเจ็บ เขาป่วย เขาไม่สบาย เขามีกลิ่นเหม็น ซึ่งส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมมากมาย ที่เราพูดถึง ดังนั้นถ้าหากว่าเรารัฐ ไม่ต้องไปคิดอะไรมากนะครับ วันนี้ก็ฟังมาโดยตลอดว่า การลงทุนเรื่องขยะอาจจะไม่คุ้มทุน มีภาคเอกชนจะไปวิเคราะห์ วิจัย จะเอาขยะไปทำ โรงไฟฟ้า ถ้ามีขยะต่ำกว่า ๓๐๐ ตันต่อวันนี้ก็ไม่สามารถที่จะไปทำโรงไฟฟ้าได้ ถือว่าไม่คุ้มทุน เรายังคิดถึงทุนอยู่ เรายังคิดถึงกำไรอยู่ แต่ในขณะเดียวกันขยะก็เจ็บปวด คนก็เจ็บป่วย ถามว่าเราจะแก้ปัญหาเมื่อไรให้มันยั่งยืนกันต่อไป ผมก็คิดว่าอย่างเช่นวันนี้จากข้อมูล หลาย ๆ จุดที่ขยะในกรุงเทพมหานคร อย่างเช่นที่อ่อนนุชเขาบอกว่ามีขยะประมาณสัก ๑,๐๐๐ ตันต่อวัน ก็มีการนำเสนอให้ทำโรงกำจัดขยะประมาณสัก ๕,๐๐๐ ล้านบาท เลยได้ ตัวเลขตัวนี้ว่าก็ไปดูในหลาย ๆ จังหวัด แล้วก็เฉลี่ยทั้งประเทศ ก็มีขยะจังหวัดละประมาณสัก ๕๐๐ ตัน ถ้าขยะประมาณสัก ๕๐๐ ตัน ถ้าเราลงทุนไปจังหวัดละประมาณ ๒,๕๐๐ ล้านบาท ก็อาจจะต้องใช้งบประมาณเพียงแค่ไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท เราจะมีโรงกำจัดขยะ ได้ทั้งประเทศ ทีนี้ถามว่าแล้วจะเอาเงินที่ไหนอีก ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท นี่คือเป็นปัญหา ที่รัฐบาลจะต้องมาคิดต่อร่วมกันว่าเราจะกู้เงินไหม เราจะกู้เงินเพิ่มไหม อย่างครั้งที่ผ่านมา ท้องถิ่นได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลไปเพียง ๑ ล้านล้านบาท ก็เพียง ๒๙ เปอร์เซ็นต์ ของงบประมาณแผ่นดิน เราก็ยังมีช่องว่างอยู่อีกประมาณ ๖-๗ เปอร์เซ็นต์ กว่าจะถึง ๓๕ เปอร์เซ็นต์ ดีไหมถ้าเราเอาส่วนนี้ขยับขึ้นไปสักนิดหนึ่ง ถือว่าให้กับท้องถิ่นไปเลย ให้ไป ก้อนเดียว ไปทำโรงกำจัดขยะ หรือแบบฝังกลบ หรืออะไรก็แล้วแต่ในแต่ละพื้นที่อาจจะมี ลักษณะที่แก้ปัญหาไม่เหมือนกัน แล้วก็โดยพื้นฐานอาจจะตั้งงบประมาณให้เขาเลย จังหวัดละ ๒,๕๐๐ ล้านบาท ก็ใช้งบประมาณอีก ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท เรากู้เพิ่มเข้าไปเลย แล้วก็เบ็ดเสร็จทีเดียว ในเรื่องของการบริหารจัดการขยะ ชุมชนเป็นคนสร้างขยะ ท้องถิ่น เป็นคนเก็บบริหารจัดการขยะ แล้วก็ในขณะเดียวกันโรงกำจัดขยะก็เป็นรัฐบาลลงทุนให้ แล้วพอลงทุนเสร็จเรียบร้อยก็ยกให้ท้องถิ่นไป จัดเก็บรายได้ได้เท่าไร อะไรเท่าไรมาบริหาร จัดการเอา ไม่ใช่ว่าให้เขาไปลงทุน รอให้ท้องถิ่นไปลงทุนจนถึงวันนี้เห็นไม่กี่ท้องถิ่น แม้แต่ กรุงเทพมหานครก็ยังไม่สามารถที่จะไปทำได้ เพราะเรามัวแต่คิดว่า ขยะมันเป็นเรื่องที่ มันเป็นเศษเป็นเลย เป็นอะไรที่เป็นของสังคมไปเลย ไม่มีใครอยากได้ขยะหรอกครับ แต่ถ้าเราไม่เอาใจใส่กับเรื่องนี้ สุขภาพของพี่น้องประชาชนก็จะแย่ลงทุกวัน ดังนั้นผมคิดว่า จะนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการเสียเลยว่าวันนี้ถ้าเราหาเงินอีก ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท สร้างโรงกำจัดขยะโดยรัฐบาล แล้วก็ให้ท้องถิ่นเป็นผู้บริหารจัดการในอนาคตต่อไป มอบให้ เขาไปเลยนะครับ ไม่ต้องเสียดาย และไม่ต้องไปคิดว่าจะกำไรจะขาดทุนเท่าไร ก็ถือว่า เป็นลักษณะของ Social Welfare เราให้สวัสดิการแห่งรัฐ วันนี้เราสร้างโรงพยาบาลมากมาย นั่นก็คือเป็นลักษณะหนึ่งในการที่จะไปให้รัฐสวัสดิการกับคน กับประชาชนในแผ่นดินนี้ ในขณะเดียวกันมองอีกด้านหนึ่ง ถ้าเราไปจัดการในเรื่องของขยะ ในลักษณะของ Social Welfare เหมือนกัน ผมคิดว่าการจัดการขยะก็คงจะได้ผลในระยะเร็ววัน ๖๐ ปีที่ผ่านมา เราก็พูดอย่างนี้ วันนี้เราก็ยังพูดแบบนี้ แล้ววันพรุ่งนี้มันจะเป็นอย่างไร และอีกกี่ปีข้างหน้า ถึงจะสำเร็จ แล้วเมื่อไรจะเกิดการแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืนของประเทศไทย ไม่ต้องไป หรอกคิดครับ ผมว่าถ้าทำอย่างนี้อาจจะเป็น ๑ ในโลกก็ได้นะครับท่านประธาน เราอาจจะ เป็นที่ ๑ ของโลกก็ได้ในการจัดการขยะที่ดีที่สุดของโลก วันนี้ผมอาจจะต้องใช้เวลาไม่มาก ผมฝ่ายรัฐบาล ก็คนสุดท้ายแล้วนะครับ ไม่ต้องให้เสียเวลาคนอื่น ขอขอบคุณท่านประธาน ที่ให้โอกาสครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านคำพอง เทพาคำ ครับ

นายคำพอง เทพาคำ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม คำพอง เทพาคำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ภาคอีสานครับ ท่านประธานครับ ผมเคยอยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากว่า ๓๐ ปี เคยได้เห็นพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงในการบริหารจัดการขยะน้ำเสียในชุมชนในเขต องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาตลอด สมัยนั้นเราคิดว่าเทศบาลก็มีไม่กี่แห่ง มีประมาณ ๑๒๐ กว่าแห่ง แต่ว่าเรื่องของการบริหารจัดการขยะนี้ก็ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของเทศบาล เลยทีเดียวนะครับ อย่างพวกผมในช่วงนั้นก็เริ่มต้นตั้งแต่การไปหาพื้นที่ทิ้งขยะ ดูพื้นที่ว่ามันมี กี่แห่งที่สามารถที่จะเข้าไปได้ ถูกต่อต้านถูกขัดขวางจากพื้นที่ชนบท เพราะว่าขยะใคร ๆ ก็ไม่อยากที่จะเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่อยากได้นะครับ ในช่วงนั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก พอสมควร เราเริ่มต้นตั้งแต่การที่จะทำทุ่งขยะ บ่อขยะ ป่าขยะ แล้วแต่ใครจะเรียก แต่ว่า พักหลังนี้ก็จะมีผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากทุ่งขยะ บ่อขยะนี้นะครับ หรือบางทีเป็นภูเขาขยะ แล้วนะครับท่านประธาน ก็จะมีการที่จะเปลี่ยนเป็นบ่อคำ บ่อทอง บ่อเงิน เพราะว่ามีการเข้าไป เก็บขยะ ไปเขี่ยขยะของพี่น้องผู้ประกอบอาชีพรับซื้อของเก่า บางคนก็ได้มีเงินมีทองมีกินมีใช้ ในการที่จะไปใช้ประโยชน์จากแหล่งที่ไปทิ้งขยะ ท่านประธานครับ บ้านเดิมผมอยู่ห่างจาก เขตเทศบาลเมืองประมาณ ๖๐ กิโลเมตร ถุงพลาสติก ถุงหูหิ้วเข้าไปถึงหมู่บ้านผม ครั้งแรก ประมาณเมื่อปี ๒๕๓๐ ผ่านไปเกือบ ๔๐ ปี ถุงหมากกะแหล่ง บ้านผมเรียกถุงหมากกะแหล่ง ที่ทำจากพลาสติกนะครับ พาเพื่อนพลาสติกขนาดต่าง ๆ แบบต่าง ๆ เข้าไปในเขตชุมชน เข้าไปในป่าเห็ดป่าหาว เข้าไปในลำห้วยลำธารบ้านผมที่อยู่ชนบทมากมายก่ายกอง ไม่รู้ว่าจะ ทำอย่างไรกับขยะเหล่านี้ เลยกลายเป็นขยะที่ย่อยสลายลำบาก ในช่วงที่บอกว่ามีเทศบาล ไม่กี่แห่ง รอบ ๆ เขตเขาเรียกว่าเขตชายแดนเทศบาล จะมีกองขยะ ไม่รู้ว่าของใคร เทศบาล ก็ไม่กล้าเทศบาลอย่างเทศบาลที่ผมอยู่ก็ไม่กล้าที่จะเข้าไปเก็บ เพราะว่ามันอยู่นอกเขต ออกไปทำการนอกเขตก็ไม่ได้นะครับ เป็นภาระ กองพะเนินเทินทึก เขาเรียกว่าขยะตามแนว ชายแดน หลังจากที่มีการยกฐานะของพื้นที่ทั่วประเทศให้เป็นเขตเทศบาล ให้เป็นเขตองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น ตอนนี้ก็จาก ๑๒๐ สมัยพวกผม ตอนนี้ก็เป็นเท่าไรแล้วครับ เฉพาะ เทศบาลก็ ๒,๕๐๐ เทศบาล อบต. อีก ๕,๐๐๐ ตอนนี้เรื่องของการบริหารจัดการขยะก็มี ระบบมีการจัดระบบมากขึ้น การจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยุคสมัยใหม่นี้ นอกจากสิ่งที่ให้ไว้ อย่างทุ่งขยะ บ่อขยะ ก็มีการจัดระบบนะครับ แต่ถามว่าการจัดระบบทำ ให้ขยะลดลงไหม มีแต่เพิ่มขึ้นครับท่านประธาน มีการรณรงค์แยกขยะ จัดกิจกรรมขยะเป็นศูนย์ ในชุมชน Recycle มีการแปรรูปขยะเป็นน้ำมันดีเซล ขยะพลาสติก เพื่อนผมคนหนึ่งเป็น วิศวกรไปทำขยะ ไปทำพลาสติกให้เป็นน้ำมันดีเซล เอาแก๊สมาด้วย ปรากฏว่าระเบิดใส่หน้า คิ้วหายไปหมดเลย เตาเผาความร้อนสูง โรงไฟฟ้าขยะ บางท้องถิ่นก็ทำได้ บางท้องถิ่นก็ถูก ชุมชนใกล้เคียงคัดค้าน เพราะได้รับผลกระทบโดยตรง ในช่วงปี ๒๕๔๑-๒๕๕๐ เครือข่าย ชุมชนแออัดจังหวัดอุบลราชธานีริเริ่มกิจกรรมอาชีพรถซุก ก็มีการทำการศึกษาว่ารถซุก ๑ คัน หรือรถเข็น ๑ คัน เก็บขยะขาย มีขยะอยู่ในนั้นประมาณ ๓๐๐ กิโลกรัม ถ้าจังหวัด อุบลราชธานี วารินชำราบ มีอยู่ ๑๐๐ คัน ๑๐๐ คัน นั่นก็หมายความว่าเดือนหนึ่งก็ได้กำจัด ขยะช่วยเทศบาลเป็น ๖๐๐ ตัน ปีหนึ่งเท่าไรครับ อันนี้ก็ถือว่าเป็นกิจกรรมของชุมชน ที่เชื่อมโยงกับการบริหารจัดการขยะในเมืองด้วยนะครับ ท่านประธานครับ ในเรื่องของแหล่งท่องเที่ยว ผมคิดว่าขยะในแหล่งท่องเที่ยวตอนนี้ แหล่งท่องเที่ยวมันมีทั้งทัศนอุจาด อาคารต่าง ๆ ใช่ไหมครับ ถังขยะไปวาง โดยเฉพาะในช่วง ที่มีการท่องเที่ยวหนาแน่น คนเข้าไปถือขยะเข้าไปด้วย ไม่ถือกลับนะครับ มีถังขยะก็วาง ไม่มีก็ทิ้ง ก็คิดว่าเรื่องของขยะในแหล่งท่องเที่ยวนั้นก็เป็นปัญหาสำคัญ ซึ่งสำหรับ ข้อเสนอแนะของผมนะครับ หลังจากที่คณะกรรมาธิการชุดนี้ได้ทำการศึกษาแล้ว ถ้าได้ บทสรุปอย่างไร ต้องสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในการจัดการขยะขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย รวมถึงทั้งในระดับเมืองเดียวเมืองเดี่ยว และระดับเครือข่ายของ เมืองแต่ละเมืองที่จะช่วยกันจัดการในเรื่องของการจัดการขยะ โดยให้มีการกระจายอำนาจ กระจายงบประมาณลงไปให้ท้องถิ่นเขาได้มีศักยภาพเพียงพอในการบริหารจัดการขยะเหล่านี้ ส่วนบุคลากรของท้องถิ่นก็ต้องดูแลด้วย ให้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้าไป ให้มีสวัสดิภาพ มีสวัสดิการที่ดี เพื่อนสมาชิกผมได้อภิปรายไปแล้วก็ไม่เพิ่มเติมไปมากกว่านี้นะครับ รวมถึง การที่จะส่งเสริมเครือข่ายองค์กรชุมชนในกลุ่มคนจนในเมืองที่เขาเก็บขยะขาย ให้เขามีโอกาส ได้เข้าถึงแหล่งทุนด้วย เพื่อที่จะได้มีทุนมีรอนในการเอาไปลงทุน ในการช่วยกันเก็บขยะ อย่างโครงการในชุมชนขยะเป็นศูนย์ หรือ Zero Waste ผมออกเสียงถูกหรือเปล่าไม่รู้ ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างน้อยก็สร้างความคิดให้เกิดขึ้นในชุมชนในครอบครัว สุดท้ายแหล่ง ท่องเที่ยวควรโอนการบริหารจัดการไปให้ท้องถิ่นเขา เขาจะได้บริหารจัดการขยะให้เขาเก็บ รายได้ได้ รวมถึงการทำนุบำรุงให้สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถอยู่ได้สามารถที่จะ พัฒนาแล้วก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสะอาดน่าท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ท้องถิ่น สร้างรายได้ให้กับประชาชนด้วย ขอบคุณมากครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านชัชวาล แพทยาไทย ครับ

นายชัชวาล แพทยาไทย ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ เพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่าน กระผม นายชัชวาล แพทยาไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๗ พรรคไทยสร้างไทย ลูกอีสานดินแดนทุ่งกุลาร้องไห้ เกษตรวิสัย ปทุมรัตต์ เมืองสรวง ท่านประธานที่เคารพครับ ขยะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาอย่างช้า นาน ในอดีตการจัดการขยะอาจจะง่าย เนื่องจากขยะส่วนมากเป็นวัสดุธรรมชาติ ย่อยสลายเอง แต่เมื่อสังคมมนุษย์เกิดการพัฒนา มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาการเกิดขึ้นของขยะที่ไม่สามารถ ย่อยสลายเองตามธรรมชาติได้ จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผนวกกับประชากรโลก มีอัตราสูงขึ้น จึงกลายเป็นปัญหาที่เรียกว่าขยะล้นเมือง เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ได้รับการรับรองจาก ๑๙๓ ประเทศสมาชิกองค์กรสหประชาชาติ มีการบรรจุเป้าหมายว่าด้วยการลดปริมาณขยะ เข้าไปเป็นเป้าหมายที่สำคัญ อันจะนำมาสู่การพัฒนาโลกให้ดีขึ้นภายในปี ๒๕๗๓ กลายเป็น วาระเร่งด่วนของเวทีโลก ในขณะที่ทั่วโลกต่างขะมักเขม้นในการลดปริมาณขยะครับ ท่านประธาน รัฐไทยในหลายยุคที่ผ่านมามีความพยายามในการลดปริมาณขยะมาโดยตลอด จะเห็นได้ชัดท่านประธานครับ ในยุครัฐบาล คสช. มีการวาง Roadmap การแก้ไขปัญหา ขยะของไทย ที่สำคัญมีทั้งอำนาจตามมาตรา ๔๔ แต่เหตุใดถึงไม่สามารถแก้ไขปัญหา การจัดการขยะได้ ท้องถิ่นบางแห่ง ตอนนี้ไม่มีแม้กระทั่งถังขยะท่านประธานครับ ผมขอฝาก ประเด็นข้อสังเกตผ่านท่านประธานไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะมีการตั้งขึ้น ๓ ประเด็น ดังนี้ครับ

นายชัชวาล แพทยาไทย ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ เรื่องอำนาจหน้าที่ เรื่องงบประมาณ หน่วยงานท้องถิ่นมีอำนาจการบริหารจัดการขยะในพื้นที่ตาม พ.ร.บ. รักษา ความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ ๒) ปีพุทธศักราช ๒๕๖๐ ตามกฎหมายหน่วยงานท้องถิ่นมีอำนาจอย่างชัดเจน แต่ถ้าหากพูดถึงเรื่องงบประมาณที่ส่วนกลาง จัดสรรให้ หลายท้องถิ่น แม้แต่งบประมาณจะนำไปดูแลพี่น้องประชาชนในด้านที่สำคัญกว่า ยังไม่เพียงพอเลยครับ งบประมาณในการซื้อถังขยะ รถเก็บขยะ ยังลำบากหากจะบริหารจัดการอย่างถูกวิธียิ่งเป็น เรื่องยากครับ เพราะติดขัดที่งบประมาณ การที่ส่วนกลางไม่ยอมกระจายงบประมาณ ให้กับท้องถิ่นอย่างแท้จริงนี้ ท้องถิ่นต้องรับภาระเพียงลำพัง การจัดการปัญหาขยะทั้งที่ ปัญหาขยะล้นเมืองควรเป็นวาระเร่งด่วนของชาติ นี่จึงเป็นปมปัญหาหลัก หากยังปล่อยให้ ปัญหาขยะถูกแก้ไขแบบไร้ทิศทางอย่างนี้การจัดการขยะตามมีตามเกิด แบบที่เกิดขึ้นมา หลายปีก็ยังจะเป็นอย่างนี้ต่อไป

นายชัชวาล แพทยาไทย ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ในเรื่องของการรับรู้ความเข้าใจของพี่น้องประชาชน ในการ มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาร่วมกัน ที่ผ่านมาภาครัฐมีมาตรการต่าง ๆ ในการบริหารจัดการจัดเก็บ ทำลายขยะมากมายหลายแนวทาง ๑ ในนั้นคือการสร้างโรงเผาขยะไฟฟ้า ขึ้นชื่อว่าขยะ โรงขยะ ที่เก็บขยะ หรือโรงเผาขยะ หากไปตั้งอยู่ตรงไหนมันก็มักจะมีปัญหาตามมาตลอด นั่นก็คือการต่อต้านจากชุมชน หรือจากพื้นที่ใกล้เคียง ยกตัวอย่างในช่วงกลางปี ๒๕๖๖ ที่อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ดบ้านผมครับ มีความพยายามจากหน่วยงานภาครัฐที่จะ ผลักดันโครงการก่อสร้างโรงเผาขยะไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยเป็นการได้รับอนุญาตสัมปทานจาก ภาครัฐ วัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาขยะที่ล้นเมืองและผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ โดยรองรับ ขยะจากหลายอำเภอของจังหวัดร้อยเอ็ด และใช้พื้นที่อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ดินแดนทุ่งกุลาร้องไห้ แหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิอันดับโลก เป็นตำแหน่งที่ตั้งโรงไฟฟ้า ขยะดังกล่าว ปัญหาที่ตามมาท่านประธานครับ เกิดการต่อต้านจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ อย่างหนัก นำไปสู่การประท้วง จนหน่วยงานภาครัฐต้องยกเลิกโครงการ ถือว่าเป็นโชคดีของ พี่น้องในพื้นที่ ที่โครงการขนาดใหญ่สร้างความไม่สบายใจให้แก่พี่น้องประชาชนและอาจ สร้างผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพถูกระงับไป แต่ปัญหาของพี่น้อง นั่นก็คือปัญหาเรื่องขยะ ยังไม่ถูกแก้ไข ปัจจุบันหน่วยงานท้องถิ่นยังแก้ไขปัญหาขยะแบบเดิม นั่นก็คือนำขยะไปกองรวม ฝังกลบในพื้นที่สาธารณะ และนับวันก็จะเริ่มขยายพื้นที่มากขึ้นเรื่อย ๆ รุกล้ำพื้นที่ป่าชุมชน และอาจสร้างความเสียหายให้กับทรัพยากรใต้ดินได้ เพราะฉะนั้นครับท่านประธาน การบริหารจัดการขยะ การจัดเก็บ การทำลาย จำเป็นต้องดำเนินการ โรงขยะที่เก็บขยะหรือ โรงเผาขยะไฟฟ้าท้ายที่สุดก็ต้องเกิด แต่จะเกิดขึ้นต้องมีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ผลกระทบทางวิถีชีวิต สร้างการรับรู้ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ รับฟังความคิดเห็นอย่าง รอบด้าน แล้วค่อยกำหนดรูปแบบวิธีการการจัดการที่จะเกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนใน พื้นที่เป็นหลัก เหล่านี้จะทำให้พี่น้องประชาชนเข้าใจปัญหาและพร้อมที่จะให้ความร่วมมือใน การแก้ปัญหาร่วมกัน

นายชัชวาล แพทยาไทย ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

ประเด็นสุดท้าย ประเด็นที่ ๓ ด้านการส่งเสริมและคัดแยกการนำขยะกลับมา ใช้ใหม่ การที่จะจัดการปัญหาขยะล้นเมืองได้อย่างยั่งยืนครับ ต้องมาดูที่ต้นทางด้วย นั่นก็คือ การสร้างจิตสำนึกของพี่น้องประชาชนและการวางแผนแนวนโยบายของภาครัฐ ซึ่งผม เห็นด้วยกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในการบริหารจัดการขยะที่จะต้องประสาน ความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนในการขับเคลื่อนร่วมกัน ท่านปลัดกระทรวง มหาดไทย ขออนุญาตที่เอ่ยนามครับ มีแนวคิดในการขับเคลื่อนธนาคารขยะร่วมกับท้องถิ่น ๗,๗๗๓ แห่งทั่วประเทศ ตั้งเป้าหมาย ๖๐ วัน ทุก อปท. ต้องมีธนาคารขยะอย่างน้อย ๑ แห่ง โครงการธนาคารขยะจะเป็นอีก ๑ ทางออก ให้กับวิกฤติขยะล้นเมือง ถือเป็นโครงการ ที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญและต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อย่าให้เป็นแค่ Event ทำแค่ฉาบฉวย ผักชีโรยหน้า ให้ทำจริงจังครับ ดำเนินการให้เป็นวาระแห่งชาติ ด้วยประการ เหล่านี้ เพื่อการศึกษาแนวทางอันจะนำมาซึ่งวิธีในการแก้ปัญหาขยะ ผมขอสนับสนุน ญัตติ เรื่อง ขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องการจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เพื่อนสมาชิก ผู้ทรงเกียรติได้ยื่นเข้ามาในสภาแห่งนี้ ด้วยความเคารพครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านณกร ชารีพันธ์ ครับ

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ณกร ชารีพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตัวแทนพี่น้องชาวนิคมคำสร้อย หนองสูง คำชะอี ดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร เขต ๒ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขออภิปรายสนับสนุนญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหา ขยะชุมชน ท่านประธานครับ ปัจจุบันปัญหาขยะล้นเมืองเป็นปัญหาที่นับวันยิ่งทวี ความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกวัน

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

สถานการณ์ขยะในปี ๒๕๖๕ ประเทศไทย มีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นอยู่ที่ ๒๕ ล้านตัน หรือประมาณ ๗๐,๐๐๐ ตันต่อวัน กระจายตัวอยู่ตาม ภูมิภาคต่าง ๆ มีอัตราการเกิดขยะมูลฝอยเมื่อเทียบกับประชากรคนไทย ๑ คน เฉลี่ยเราสร้าง ขยะอยู่ที่ ๑ กิโลกรัมต่อคนต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี ท่านประธานครับปัจจุบัน ขยะมูลฝอย ๒๕ ล้านตัน เรากำจัดแบบนี้ครับ ๑. กำจัดกันเองในพื้นที่อยู่ที่ ๑.๗ ล้านตัน หรือคิดเป็น ๗ เปอร์เซ็นต์ คัดแยกนำไปใช้ประโยชน์หรือ Recycle ๔ ล้านตัน คิดเป็นเพียง ๑๕ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็ทิ้งรวมไม่คัดแยก อยู่ที่ ๒๐ ล้านตัน คิดเป็น ๗๘ เปอร์เซ็นต์ และ ๒๐ ล้านตันนี้เป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการ ไม่ว่าจะเป็น การจัดการแบบใช้เตาเผาขยะฝังกลบหรือเทกอง ล้วนแต่เป็นหน้าที่ขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นที่ต้องให้บริการแก่พี่น้องประชาชน ท่านประธานครับ ในพื้นที่ของผมจังหวัด มุกดาหารประสบปัญหาการจัดการขยะเช่นกันครับ ปัจจุบันจังหวัดมุกดาหารมีขยะอยู่ที่ ๓,๑๘๕ ตันต่อเดือน และมีการเข้าสู่ระบบการจัดการขยะที่ถูกต้องเพียง ๑,๗๔๕ ตันต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ ๕๔ เท่านั้น เหลืออีก ๔๖ เปอร์เซ็นต์ ไม่มีการจัดการขยะที่ถูกต้อง จากที่ผม ลงพื้นที่พบผู้บริหารท้องถิ่นในพื้นที่ของผม พบปัญหาอุปสรรคในการจัดการขยะที่ผู้บริหาร ท้องถิ่นสะท้อนมาดังนี้ครับ

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

๑. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถแบกรับต้นทุนในการจัดการขยะ ให้พี่น้องประชาชนได้ ขาดทั้งรถเก็บขยะ ถังขยะ และคนในการเก็บขยะ โดยเฉพาะพื้นที่ ห่างไกล ใช้ทรัพยากรมากในการจัดการให้ทั่วถึง

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

๒. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีสถานที่นำขยะไปทิ้ง การขอใช้ในพื้นที่ ทำบ่อขยะเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะในจังหวัดมุกดาหารส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวน

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

๓. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังขาดองค์ความรู้ที่ถูกต้องในการจัดการขยะ แม้ในพื้นที่มีบ่อขยะ แต่ยังขาดมาตรฐานในการจัดการ ทั้งการเทกอง และการกำจัดน้ำเสีย ของบ่อขยะที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบครับท่านประธาน

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

๔. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถสร้างความร่วมมือกับพี่น้อง ประชาชนและเอกชนในการคัดแยกขยะต้นทางได้ ทำให้ส่งผลต่อความยากลำบากในการ จัดการขยะตามมา

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ เราต่างรู้ดีว่าปัญหาขยะล้นเมืองเป็นปัญหาที่ทวี ความรุนแรงแล้วก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งคน สัตว์ ทางตรงทางอ้อม การที่จะ แก้ปัญหาดังกล่าวได้สำเร็จต้องอาศัยความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน รัฐบาล เอกชน ที่เอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหา และหาทางออกร่วมกัน ผมในฐานะผู้แทนราษฎร ชาวมุกดาหารจึงอยากขอเสนอแนวทางดังนี้

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

๑. ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นแม่งานในการจัดการขยะในแต่ละ จังหวัด เนื่องจากมีอำนาจดูแลในทุกพื้นที่ของจังหวัด

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

๒. องค์การบริหารส่วนจังหวัดร่วมกำหนดเป้าหมายแผนงานในการจัดการ ขยะกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ เพื่อให้มีข้อตกลงทิศทางในการจัดการขยะเพื่อให้มี ประสิทธิภาพ ถูกต้อง ครบวงจร และทั่วถึงในทุกพื้นที่ของจังหวัด

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

๓. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องร่วมกันออกแบบแล้วก็การสร้างระบบ การคัดแยกขยะร่วมกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้มีการคัดแยกที่ถูกต้องและเกิดขึ้นจริง มีความยั่งยืนเหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

๔. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีการจัดเก็บค่าขยะที่เป็นธรรมกับพี่น้อง ประชาชนตามปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละครัวเรือน

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

๕. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะกำจัดขยะด้วยวิธีใด ไม่ว่าจะเป็น เตาเผาขยะ ฝังกลบ เทกอง ต้องมีมาตรฐานและคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพพี่น้อง ประชาชนก่อนเสมอ

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผมขอยกตัวอย่างของเทศบาลหนองแคน อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร นำโดยนายกบรรจง ชัยเพชร นายกเทศบาลหนองแคน เอ่ยชื่อได้ นะครับ ไม่เสียหาย ได้ร่วมมือกับประชาชนในพื้นที่คัดแยกขยะ รับซื้อขยะจากประชาชนและ จัดทำกองทุนขยะ Recycle ของเทศบาลหนองแคน เมื่อมีผู้เสียชีวิตจะมีเงินช่วยเหลือจาก กองทุนนี้เฉลี่ยศพละ ๓,๐๐๐ บาท ร่วมมือกับคณะก้าวหน้า ซึ่งนำโดย คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กองทุนนี้ได้รับการช่วยเหลือจากประชาชน ร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี เงินในกองทุน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ท่านประธานครับ จากที่เพื่อนสมาชิกลุกขึ้นอภิปรายกว่า ๕๐ คน ทำให้เราได้เห็นว่าปัญหาการจัดการขยะเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศเรา ปัญหาขยะหากจะ ได้รับการแก้ไขต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ต้องบูรณาการ แก้ไขปัญหา สนับสนุนทั้งทรัพยากรองค์ความรู้และดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิด การแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ด้วยเหตุนี้ผมจึงขอสนับสนุนญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะชุมชน เพื่อให้พี่น้องประชาชน ชาวจังหวัดมุกดาหารและพี่น้องคนไทยทุกคน ขอบคุณครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านเกียรติคุณ ต้นยาง ครับ

นายเกียรติคุณ ต้นยาง นนทบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ กระผม นายเกียรติคุณ ต้นยาง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี เขต ๗ อำเภอบางบัวทอง อำเภอไทรน้อย พรรคก้าวไกล ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาการแก้ไขปัญหาขยะชุมชนรวมทั้งองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ท่านประธานครับ ขยะสำหรับเราแล้วถือว่าเป็นสิ่งที่มันไม่มีค่า ไม่มีราคา แล้วก็ ไม่มีประโยชน์ เพราะเราได้ทิ้งไปแล้ว แล้วเราก็ไม่ปรารถนาเลยที่จะให้ขยะนั้นมาอยู่ใกล้เรา มาอยู่ใกล้บ้านเรา มาอยู่ใกล้ตัวเรา มาอยู่ใกล้สายตาเรา แม้กระทั่งมาอยู่ใกล้จมูกเรา ก็คือกลิ่น แต่สำหรับคนที่เขามีหน้าที่ เขามีงานที่ต้องมาเก็บขยะ นั่นละครับ ขยะถึงจะมีค่า สำหรับพวกเขา อย่างน้อยมันก็ทำให้เขามีงาน ทำมีรายได้ มีเงินไปเลี้ยงครอบครัว ถ้าท่าน ประธานเดินทางไปจังหวัดนนทบุรีของผม ไปถามนายกองค์การบริหารทุก อปท. ของจังหวัดนนทบุรี ทุกคนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าจะขอบคุณพี่น้องประชาชนชาวตำบล คลองขวาง อำเภอไทรน้อย เพราะอะไรละครับ เพราะชาวตำบลคลองขวางเป็นผู้เสียสละ ที่ดิน ๖๐๐ ไร่ ให้กลายเป็นบ่อขยะให้พี่น้องประชาชนคนนนทบุรีล้านกว่าคนเอาขยะมาทิ้ง ชาวนนทบุรี ๖ อำเภอ ๒ เทศบาลนคร ๑๐ เทศบาลเมือง ๑๐ เทศบาลตำบล ๔๕ อบต. เอาขยะวันละ ๑,๖๐๐ ตันมาทิ้งที่ตำบลคลองขวาง

นายเกียรติคุณ ต้นยาง นนทบุรี ต้นฉบับ

พี่น้องคลองขวางต้องทนกับอะไรครับ กลิ่น สภาพที่ต้องลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน ปัญหาขยะของ อปท. ทั้งหมด มีปัญหาเริ่ม ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ปัญหาต้นทางก็คือการจัดเก็บขยะ การทิ้งขยะของ พวกเราเองนี่ละครับ ไม่มีการคัดแยก มันจะแยกได้อย่างไรละครับ หน้าบ้านมีถังอยู่ใบเดียว มีอะไรก็ทิ้งไปในถังใบนั้น มันจะแยกได้อย่างไร เพราะหน้าที่การแยกก็กลายเป็นว่าคนที่มา เก็บนี่ละเขาเอาไปแยก เอาไปแยกตรงไหนครับ ในรัศมี ๕ กิโลเมตรจากบ่อขยะตำบล คลองขวาง อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี จะเห็นว่าในรัศมี ๕ กิโลเมตรนั้นจะมีโรงงาน Recycle โรงงานรับซื้อขยะพลาสติก กระดาษ อะไรก็แล้วแต่ที่ไม่ใช่ขยะติดเชื้อ ไม่ใช่ขยะ เปียก แล้วรถขยะพวกนี้ เขาก็จะวิ่งด้วยความเร็วสูงเพื่อจะรีบเข้าไปโรงงาน Recycle ก่อน เขาช่วยเราไปแยกขยะ ไปเพิ่มรายได้ของเขา หลังจากนั้นก็ค่อยไปที่บ่อขยะ นั่นคือปัญหา ที่ต้นทาง

นายเกียรติคุณ ต้นยาง นนทบุรี ต้นฉบับ

ปัญหากลางทาง ขณะที่รถกำลังวิ่งไป ท่านประธานทราบไหมครับ ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๒๑๕ จะวิ่งผ่าน ๒ ตำบลจาก ถนนกาญจนาภิเษก นั่นคือตำบลบางบัวทอง แล้วก็ตำบลไทรน้อย เพื่อไปสู่ตำบลคลองขวาง บ่อขยะ รถขยะวันละ ๓๐๐ คัน วิ่งผ่านถนนเส้นนี้ ใช้เวลาวิ่งตั้งแต่ ๑๐ โมงเช้าจนถึง ๔ โมงเย็น เฉลี่ยนาทีละ ๑ คัน ที่ชาวบ้านจะเห็นรถขยะวิ่ง วิ่งไปทำอย่างไรครับ ขยะตกหล่น เห็นไหมครับ ทางม้าลายหน้าโรงพยาบาลไทรน้อยที่ผมหารือท่านประธานมา ๒-๓ รอบนี้ ก็ใจดีนะครับ แขวงการทางอำเภอไทรน้อย ทาสีทางม้าลายให้ ไม่กี่วันจาง เพราะน้ำขยะ มันรดลงจากรถขยะ พื้นผิวการจราจรสกปรก ขยะตกหล่นระหว่างทาง นี่คือปัญหากลางทาง

นายเกียรติคุณ ต้นยาง นนทบุรี ต้นฉบับ

ปัญหาปลายทาง ก็คือบ่อขยะขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี มีการเทขยะแบบเทกอง ปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำในชุมชน จัดการขยะไม่เรียบร้อย ขยะส่ง กลิ่นเหม็นเนื่องจากจัดเก็บไม่ดีและถูกทิ้งมานานเป็นปี ๆ บ่อขยะ กองขยะไม่เรียบร้อย น้ำเซาะไหลลงคลองทำให้ชาวบ้านทำการเกษตรไม่ได้ ฝนตกน้ำท่วมเอ่อล้นทุ่งนา ไร่สวน แถวนั้นเสียหาย พ่อแม่พี่น้องที่อยู่ชายตำบลคลองขวางร้องเรียนผมมาก่อนเป็น สส. ปัจจุบัน เป็น สส. พัฒนาการดีขึ้นครับ ตำบลข้างเคียงเริ่มร้องเรียนแล้วครับ นั่นคือตำบลไทรน้อย คลองขวางเขาร้องจนคอแหบคอแห้งแล้ว เขาเลิกร้องแล้วครับ ตอนนี้ตำบลข้าง ๆ คือตำบล ไทรน้อยร้องแล้วครับ ท่านประธานดูสิครับ ขณะนี้เวลา ๒๒.๒๐ นาฬิกา ๔ ทุ่ม ๒๐ นาที มันเหม็น ชาวบ้านจะนอนอย่างไร ๔ ทุ่ม ๒๐ นาทีแล้วนะครับ เวลาพักผ่อนไหมครับ นอนกันไม่ได้ เพราะกลิ่นเหม็น จาก Location ที่เขาร้องผมไปถึงบ่อขยะระยะทางทาง อากาศประมาณ ๗ กิโลเมตร กลิ่นยังมาถึงขนาดนั้น หมู่บ้านอารียา หมู่บ้านโกลเด้นทาวน์ ละแวกนั้นกลางคืนอยู่กันไม่ได้ ตอนเช้าก็มาออกนอกบ้านไม่ได้ กลางคืนต้องปิดประตู ปิดหน้าต่างให้แน่น ไม่ใช่กลัวโจรนะครับ กลัวกลิ่นขยะ ทีนี้ผมจะบอกวิธีการแก้ไขให้ เดี๋ยวจะหาว่า ว่าอย่างเดียวแล้วไม่มีวิธีแนะนำ ปัญหาบ่อขยะที่มีปริมาณวันละ ๑,๖๐๐ ตัน รถขยะ ๓๐๐ คัน วิธีแนะนำนั่นคือการใช้เตาเผาขยะที่ระบบไร้กลิ่น ไร้ควัน ไร้มลพิษ เผาได้ ทั้งขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะติดเชื้อ ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ที่มา Model สถาบันวิจัยพัฒนา พลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นบ่อขยะที่ทำได้ ไม่ยุ่งยาก แล้วไม่ต้องไปรวมศูนย์ อยู่ที่เดียว ทั้งจังหวัดวิ่งไปบ่อเดียว แยกกันไปทีละเทศบาล อย่างที่ผมเรียนท่านประธาน ๒๐ เทศบาล ก็ทำ ๒๐ แห่ง ไม่ต้องวิ่งไปที่เดียว สงสารชาวคลองขวาง สงสารคนไทรน้อย และถ้าผมเรียกร้องได้ ถ้าตั้งคณะกรรมาธิการอยากจะศึกษาดูงาน กราบเรียนเชิญไปที่ตำบล คลองขวางของผม เดี๋ยวผมจะพาท่านไป กราบขอบคุณครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านอภิชาติ ศิริสุนทร ครับ

นายอภิชาติ ศิริสุนทร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม อภิชาติ ศิริสุนทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ ขออนุญาตท่านประธานใช้เวลาสักนิดหนึ่ง คงไม่นานอยากจะอภิปรายเพื่อแสดงความคิดเห็น หรือเสนอแนะเกี่ยวกับญัตติการบริหารจัดการขยะชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวของเพื่อนสมาชิกในหลาย ๆ ญัตติที่เสนอมา เพื่อจะได้เป็นแง่คิด หรือเป็นกรอบหากเมื่อมีการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาในเรื่องนี้ ท่านประธานครับ สถานการณ์ขยะนับวันจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ดังที่เพื่อนสมาชิกทุกท่านได้นำเสนอ ต่อท่านประธานไป ยิ่งนับวันยิ่งทวีความรุนแรง ยิ่งนับวันยิ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อสุขภาพ ต่อคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ซึ่งสถานการณ์นี้เพื่อนสมาชิกทุกท่านก็ได้ อภิปรายไปแล้ว แต่ผมก็อยากจะได้เน้นย้ำไปที่ประเด็นเรื่องของการจัดการกากขยะ จากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งตรงนี้เริ่มทวีความรุนแรงขยายออกไปเรื่อย ๆ จากภาคกลาง ภาคตะวันออกขยายไปสู่ภาคอีสานและภาคอื่น ๆ ที่มีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นโดยตรงและเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกรมควบคุม มลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องทั้งหมดเลยนะครับ ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็มีอำนาจ หน้าที่มีกฎหมายคนละตัวในการดำเนินการจัดการแบบให้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหาร ผมได้ Review ข้อมูลคร่าว ๆ เร็ว ๆ แล้วก็อยากจะให้ท่านประธานเห็นว่าขยะในภาค อุตสาหกรรมมันมีเยอะขนาดไหน แล้วมีการจัดการอย่างไร จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ เมื่อปี ๒๕๕๙ กากอุตสาหกรรมมีทั้งสิ้นประมาณ ๒.๘ ล้านตัน แล้วก็มีโรงงานที่ได้รับอนุญาต เห็นแต่ว่าได้รับอนุญาต แต่ว่าเรื่องคุณภาพของโรงงานหรือเรื่องของเทคโนโลยีที่นำมาจำกัด ขยะนั้นมีคุณภาพหรือไม่มีคุณภาพนั้นเดี๋ยวจะไปดูกันอีกที โรงงานที่ได้รับอนุญาต อย่างถูกต้องตามกฎหมายที่นำขยะไปจัดการได้ จาก ๒.๘ ล้านตัน นำไปจัดการอย่างถูก กฎหมายได้แค่ ๑.๑ ล้านตันเท่านั้นเอง หรือประมาณ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่ก็ลักลอบเอาไปทิ้ง ส่วนหนึ่งก็เอาไปจัดการแบบไม่ถูกต้องไม่ถูกวิธีจนเกิดช่องว่างใน การทำมาหากินของบริษัทต่าง ๆ ของทุนสีเทาบ้างอะไรบ้าง ก่อความเดือดร้อนให้กับพี่น้อง ประชาชนและสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก จำนวนถึง ๖๐ เปอร์เซ็นต์ อันนี้เป็นสถานการณ์ ปี ๒๕๕๙ นะครับท่านประธาน แล้วก็จากข้อมูลของมูลนิธิบูรณะนิเวศ เมื่อปี ๒๕๖๐-๒๕๖๖ เขาได้รวบรวมว่าการลักลอบการทิ้งขยะอุตสาหกรรมมีเยอะมาก ปี ๒๕๖๐-๒๕๖๖ มีการลักลอบทิ้งประมาณ ๓๙๕ เหตุการณ์ อันนี้เฉพาะกากขยะ มีการปล่อยน้ำเสียจาก โรงงานอุตสาหกรรม ๒๖๐ เหตุการณ์ กากอุตสาหกรรมที่มีพิษ ๙๐ เหตุการณ์ ขยะติดเชื้อ ๑๘ เหตุการณ์ ขยะทั่วไป ๒๗ เหตุการณ์ นี่เป็นจำนวนของการลักลอบจัดการที่ไม่ถูกต้อง ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ปี ๒๕๕๕-๒๕๖๔ ก็สอดคล้องกันว่ามีเหตุเกิดขึ้นในการลักลอบ ทิ้งขยะที่เป็นกากอุตสาหกรรม จำนวน ๗๙ ครั้ง ภาคตะวันออกเยอะที่สุด ๔๕ ครั้ง เพราะว่ามี EEC มีโรงงานอุตสาหกรรมขึ้นเยอะ ภาคกลาง ๒๑ ครั้ง ภาคตะวันตก ๘ ครั้ง และภาคอื่น ๆ รวมถึงจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นอีสานบ้านผมนะครับ ลักลอบทิ้งขยะกากอุตสาหกรรม ในปี ๒๕๖๐-๒๕๖๔ มากถึง ๓๒๒ ครั้ง เป็นข้อมูลที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นะครับท่านประธาน ขยะจัดการไม่ถูกต้อง ขยะที่ออกจากโรงงาน ซึ่งไม่รู้ว่ามีสารพิษสารอะไรบ้าง ผมได้มีโอกาส ลงพื้นที่ในฐานะคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งพี่น้อง ประชาชนร้องเรียนมาที่จังหวัดชลบุรี ลงไป ๒ ตำบล ก็ปรากฏว่าสิ่งที่พี่น้องร้องเรียนนั้นเราไปดูแล้วเหมือนกับในหนังท่านประธาน เหมือนในหนัง ที่มันเป็นเมืองร้าง มีน้ำสีดำมีกากขยะอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ แล้วก็อยู่ในโรงงานที่ไม่ได้รับ อนุญาต อยู่ในโรงงานที่ไม่ถูกต้อง แล้วก็ไม่เกรงกลัวกฎหมาย เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ไม่ได้ ตรวจสอบอย่างเข้มข้น นั่นสะท้อนว่าอะไรครับ สะท้อนว่ากฎหมายในเรื่องของการบริหาร จัดการขยะของประเทศไทยมีประสิทธิภาพน้อยมาก อัตราโทษต่ำ ผู้อนุญาตให้มีโรงงาน อุตสาหกรรม โรงงานจัดการขยะก็คือกรมโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งอนุญาตทั้งตรวจสอบ คนอนุญาตและคนตรวจสอบเป็นคน ๆ เดียวกัน เวลามีชาวบ้านร้องเรียนบ้างบางที่เป็น ๑๐ ปี ก็ไม่มีการดำเนินการจัดการ ซึ่งมันผิดหลัก ไม่มีหน่วยงานอื่นที่เป็นหน่วยงานกลาง ลงไปในการที่จะไปตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ เพราะฉะนั้นมันจำเป็นต้องมีหน่วยงานกลาง ที่ไปตรวจสอบในเรื่องนี้ อย่างเช่นประเทศที่เขาเป็นประเทศอุตสาหกรรม เขาจะมีหน่วยงาน กลางที่ตรวจสอบเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ ตรวจสอบเรื่องการอนุญาตในการจัดการขยะ อย่างถูกต้องโดยเฉพาะ แล้วอำนาจในการอนุญาตทั้งหลายก็ทับซ้อนกันระหว่างองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นและกรมโรงงานอุตสาหกรรม อปท. มีหน้าที่อนุญาตตาม พ.ร.บ. สาธารณสุข เรื่องการทำกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หากพบเห็นว่ากิจการนั้นไม่ถูกต้อง ก็แค่ถอนใบอนุญาต แต่บริษัทก็ยังอ้างว่าเขายังถือใบอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ไม่เกี่ยวกับท้องถิ่น เขายังดำเนินการต่อไปได้ นี่ก็หมายถึงว่าอำนาจมันทับซ้อนกันและ อำนาจทั้งหลายมันอยู่ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้นถึงเวลาที่เราจะต้อง แก้กฎหมายเหล่านี้แล้วครับ หมายถึงว่าต้องปรับโครงสร้างใหญ่ทั้งหมดในการบริหารจัดการ ในเรื่องนี้ ไม่อย่างนั้นจำนวนขยะที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นผมก็ฝากคณะกรรมาธิการที่สภาจะได้ตั้งขึ้น หรือจะมอบหมายให้คณะกรรมาธิการ ชุดไหนได้ไปศึกษาเรื่องนี้ ก็ให้เอาประเด็นนี้เข้าไปสู่การพิจารณาด้วยนะครับ ขอบคุณครับ ท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านกฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี ครับ

นายกฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี นครสวรรค์ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา กระผม กฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ เขตเลือกตั้งที่ ๑ คนปากน้ำโพ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายสนับสนุนญัตติ เรื่อง ขอให้ สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่อง การบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท่านประธานครับ ปัญหาของ การจัดการขยะในประเทศไทยที่สำคัญคือ ปัญหาการจัดการขยะที่ไม่ถูกวิธี ซึ่งมีสาเหตุหนึ่ง มาจากการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีหน้าที่ในการจัดการขยะในท้องถิ่นของตนเอง กลับไม่มีอำนาจในงบประมาณเพียงพอที่จะกำจัดขยะอย่างถูกวิธีและถูกสุขอนามัยนะครับ

นายกฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี นครสวรรค์ ต้นฉบับ

เราพบว่าในประเทศไทย มีสถานที่กำจัดขยะที่ถูกวิธีและมีมาตรฐาน เพียงแค่ ๑๕ เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมดนะครับ โดยปัจจุบันการกำจัดขยะที่นิยมก็คือแบบฝังกลบ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น มลพิษในดิน มลพิษทางน้ำ และมลพิษทางอากาศ นอกจากนี้เรายังมีปัญหาในเรื่องของ การนำเข้าขยะจากต่างประเทศ เพื่อป้อนเข้าโรงงานกำจัดขยะและโรงงานไฟฟ้าขยะ เนื่องจากขยะในประเทศไม่ได้มีการคัดแยกอย่างถูกวิธี จึงไม่สามารถนำมาใช้ในโรงงานกำจัด ขยะหรือโรงไฟฟ้าจากขยะทั้งหมด ผมขอยกกรณีปัญหาการจัดการขยะในจังหวัดนครสวรรค์ ภาพจากสื่อนะครับ ชาวบ้านร้องสื่อภูเขาขยะจังหวัดนครสวรรค์ส่งกลิ่นเหม็นปล่อยน้ำเสีย นานนับปี มีการร้องเรียนเรื่องมลพิษขยะที่ส่งกลิ่นเน่าเหม็น ขยะที่ปลิวว่อนจากแรงลมตกบน พื้นที่เกษตรและบ้านเรือนโดยรอบ รวมถึงน้ำเสียจากขยะ แม้จะอยู่ในพื้นที่ฝังกลบแต่ก็ส่งผล กระทบอยู่ดีกับประชาชนข้างเคียงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ท่านประธานครับสถานที่ แห่งนี้จากภาพ คือศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเทศบาลนครนครสวรรค์ ในพื้นที่ตำบลบ้านมะเกลือ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เป็นพื้นที่ฝังกลบที่มีพื้นที่กว่า ๒๖๖ ไร่ ปริมาณขยะในเขตเทศบาลทั้งหมดที่รับและรับพื้นที่ใกล้เคียงด้วย เริ่มเปิดพื้นที่ตั้งแต่ ปี ๒๕๔๑ เป็นระบบฝังกลบตามสุขาภิบาล (ไม่มีระบบบำบัดน้ำชะขยะและบ่อติดตาม การตรวจสอบคุณภาพใต้ดิน) จนถึงวันนี้ ๒๖ ปีแล้ว ที่ประชาชนตำบลบ้านมะเกลือต้อง ทนทุกข์กับกลิ่นเน่าเหม็นจากมลพิษของขยะที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพและชีวิต ความเป็นอยู่ และในกรณีนี้เองครับ ประชาชนตำบลบ้านมะเกลือได้เข้ามาร้องเรียนต่อ คณะกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ที่ผ่านมา ผมขอยกตัวอย่างใน Timeline นี้ บ่อขยะแห่งนี้ เพื่อให้เห็นภาพรวมแนวทาง การทำงานของรัฐท้องถิ่น บ่อขยะแห่งนี้เริ่มใช้พื้นที่ฝังกลบ เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๑ จากนั้นก็มีปัญหากระทบกระทั่งกับประชาชนในพื้นที่เรื่อยมา จนมาถึงปี ๒๕๖๓ มีการทำ สัญญาให้สิทธิเอกชนดำเนินโครงการก่อสร้างและบริหารจัดการระบบกำจัดขยะมูลฝอย และขยะบ่อฝังกลบเทศบาลนครสวรรค์ ซึ่งสัญญานี้ประชาชนในพื้นที่ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ขาดการประชาสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง เป็นการรวบรวมผู้คน มาแสดงความคิดเห็นในระบบจัดตั้ง ซึ่งเป็นวิธี Classic ของหน่วยงานที่ตั้งธงไว้ แล้วใช้ กระบวนการเพียงเป็นองค์ประกอบเพื่อให้ผ่านพ้นไป จึงเกิดการร้องเรียนและกระทบกระทั่ง กับประชาชนตลอดมา โครงการนี้ใช้เวลาก่อสร้างเนิ่นช้า เพิ่งส่งมอบไปเมื่อเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา เพื่อคัดแยกขยะในโรงงานแบบปิด นำขยะที่มีอยู่เดิมกว่า ๑ ล้านตันที่เป็นภูเขาขยะ มาคัดแยกเพื่อทำขยะเชื้อเพลิง หรือ Refill Delightful ท่านประธานครับ การจัดการขยะ ในจังหวัดนครสวรรค์ ปัจจุบันมีสถานที่กำจัดขยะทั้งหมด ๑๙ แห่ง มีเพียง ๔ แห่งเท่านั้น ที่มีระบบการกำจัดขยะที่ถูกต้อง ก็คือเทศบาลนครสวรรค์ เทศบาลตาคลี เทศบาลท่าตะโก เทศบาลชุมแสง โดยมีขยะมูลฝอยทั้งหมดทั้งจังหวัด ๘๓๖ ตันต่อวัน นำกลับมาใช้ได้ ๓๙๐ ตัน หรือ ๔๗ เปอร์เซ็นต์ กำจัดได้ถูกต้อง ๓๐๔ ตัน หรือ ๓๖ เปอร์เซ็นต์ แต่กำจัด ไม่ถูกต้อง ๑๔๒ ตัน หรือเท่ากับ ๑ ใน ๕ ของขยะทั้งหมด ต้องกองพะเนินอยู่ในที่กอง เก็บขยะ นั่นหมายความว่าเฉพาะจังหวัดนครสวรรค์แห่งเดียวจะมีขยะที่กำจัดไม่ถูกต้องถึง ๕๑,๘๓๐ ตันต่อปี ท่านประธานครับ ประชาชนตำบลมะเกลือแห่งนี้รับขยะจากพื้นที่ โดยรอบต้องทนทุกจากมลพิษขยะแทนพี่น้องร่วมบ้านเกิดในจังหวัดนครสวรรค์มากว่า ๒๐ ปี พวกเขาเล่าให้ฟังว่าเข็ดหลาบกับคำสัญญาของผู้นำท้องถิ่นในอดีตที่ให้ไว้ว่าจะคืนพื้นที่ทำ สวนสาธารณะ เมื่อ ๒๐ ปี เมื่อครบสัญญาแล้ว แต่ตอนนี้ยังเป็นกองภูเขาขยะอยู่ ภูเขาเข็ดหลาบ กับคำสัญญาที่เลื่อนลอยที่จะดูแลประชาชนในพื้นที่ดั่งญาติมิตร บอกว่าจะชดเชยความทุกข์ ด้วยสวัสดิการและบริการสาธารณะที่ดี ซึ่งยังไม่เป็นจริง พวกเขาเล่าให้ฟังอีกว่า พวกเขา ไม่ได้คัดค้านหรือขัดขวางการพัฒนา แต่ว่าการพัฒนาใด ๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับฟัง ประชาชนอย่างตั้งใจและรักษาคำสัญญาไว้อย่างซื่อตรง สำหรับข้อเสนอแนะมีหลายเรื่องที่ ดอกเตอร์พูนศักดิ์ เพื่อนของผมได้นำเสนอไปแล้ว ผมขอนำเสนออย่างกระชับ ๔ ด้าน คือ ๑. เราต้องวางกลไกกลางในการกำกับดูแลมาตรฐานการจัดการขยะทั้งประเทศ ๒. คือยกระดับอำนาจหน้าที่ ความสามารถของหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ๓. คือเพิ่ม อำนาจและงบประมาณท้องถิ่นในการบริการจัดการขยะ แล้วก็ ๔. คือสร้างแรงจูงใจสำหรับ การจัดการขยะ เช่น การลดหย่อนภาษีสำหรับการใช้เทคโนโลยีจัดการขยะ ท้ายนี้ผมขอ สนับสนุนญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหา เรื่อง การบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ สมาชิกท่านสุดท้ายที่อภิปราย เชิญท่านนพดล ทิพยชล ครับ

นายนพดล ทิพยชล นนทบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผมนพดล ทิพยชล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดนนทบุรี เขตเลือกตั้งที่ ๔ อำเภอ ปากเกร็ด พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ วันนี้ผมขอร่วมอภิปรายสนับสนุนญัตติ การบริหารจัดการขยะของชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพื้นที่เมืองท่องเที่ยว ของเพื่อนสมาชิก ท่านประธานครับ ผมเสียดายนิดเดียวเมื่อ ๒ ท่านที่แล้วเพื่อนสมาชิก สส. เกียรติคุณ จากจังหวัดนนทบุรีของผมก็ได้ลุกขึ้นอภิปรายถึงปัญหาการบริหารจัดการขยะของจังหวัด นนทบุรี ถ้าผมได้ลุกขึ้นอภิปรายต่อเนื่องกันนี้ Story มันก็จะเชื่อมต่อกัน ไม่เป็นอะไรครับ เสียดายนิดเดียวเท่านั้นเองครับ ท่านประธานครับ ปัจจุบันจังหวัดนนทบุรีมีผู้คนอยู่ประมาณ ๑,๒๕๐,๐๐๐ คน แล้วในแต่ละวันผู้คนจะได้ทิ้งขยะกันประมาณวันละ ๑,๖๐๐ ตัน เฉลี่ยแล้ว คนจังหวัดนนทบุรี ๑ คน จะทิ้งขยะประมาณ ๑.๓ กิโลกรัมต่อวัน แล้วขยะ ๑,๖๐๐ ตัน ต่อวัน ของจังหวัดนนทบุรีไปที่ไหนครับ ที่จังหวัดนนทบุรีเทศบาล และ อบต. ต่าง ๆ ในจังหวัดนนทบุรีจะทำหน้าที่รวบรวมขยะทั้งหมดนี้และจะถูกนำไปที่ศูนย์จัดการขยะของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลคลองขวาง อำเภอไทรน้อย จังหวัด นนทบุรี ผมขอแชร์ข้อมูลของศูนย์การบริหารจัดการขยะแห่งนี้ และข้อสังเกตของจังหวัด นนทบุรี ซึ่งผมได้มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมการจัดการในศูนย์จัดการขยะแห่งนี้ ก็ต้องขอขอบคุณ ท่านนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี ขออนุญาตเอ่ยชื่อว่าไม่ได้มีการเสียหาย ที่ให้โอกาสแล้วก็ให้เกียรติ สส. นนทบุรีพรรคก้าวไกลในการได้เข้าไปเยี่ยมศูนย์บริหารจัดการ ขยะของทาง อบจ. ในครั้งนี้ เมื่อขยะจากทุก อปท. ของจังหวัดนนทบุรีถูกลำเลียงมาที่ศูนย์ จัดการขยะของ อบจ. นนทบุรีแห่งนี้ ศูนย์จัดการขยะแห่งนี้จะทำหน้าที่กลบฝังขยะทั้ง ๑,๖๐๐ ตัน และคลุมด้วยผ้าใบเพื่อเก็บรวบรวมก๊าซมีเทนที่เกิดจากการหมักขยะอินทรีย์ แล้วก็ให้บริษัทเอกชนนำก๊าซนี้ไปขายคืนให้กับทางการไฟฟ้า ซึ่งการรวบรวมก๊าซและผลิต ไฟฟ้าจะมีภาคเอกชนมาดำเนินการแล้วก็แบ่งส่วนรายได้ให้กับทาง อบจ. ตามที่เขาได้ตกลง ทำ MOU กันไว้ แต่ว่ามีปัญหาใหญ่ครับท่านประธาน ในพื้นที่ศูนย์จัดการขยะแห่งนี้ยังมี กองขยะเก่าที่เกิดจากการฝังกลบมาแล้ว ๒๐ ปี จนเต็มพื้นที่บ่อเดิม ไม่สามารถนำขยะใหม่ ฝังกลบเพิ่มเติมได้ ทาง อบจ. ทำอย่างไรครับ ทาง อบจ. ได้จัดให้เอกชนมาลงทุนขุดขยะ ในพื้นที่ที่ไม่สามารถฝังกลบเพิ่มได้แล้ว ให้เอกชนมาลงทุนขุดคัดแยกขยะประมาณ ๓ ล้านตัน และเอามาทำเป็นเชื้อเพลิง RDF เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าและจำหน่ายกลับคืน ให้กับทางการไฟฟ้า แล้วสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าเป็นแบบไหน หลาย ๆ ท่านที่เข้าไปเยี่ยมชม วันนั้นก็เกิดความกังวลใจว่าหากมีการหยุดเครื่องจักร ทางการไฟฟ้ายังต้องจ่ายเงินให้กับทาง บริษัทเอกชนแห่งนี้หรือไม่ ก็ไม่ต้องกังวลนะครับ เพราะว่าประเด็นนี้ก็ได้สอบถามกับทาง บริษัทเอกชนแห่งนี้ สัญญาการซื้อขายไฟฟ้าที่นี่จะเป็นแบบ Non-Firm นั่นหมายความว่า ถ้าไม่มีการเดินเครื่องจักรการไฟฟ้าก็ไม่ต้องจ่ายเงินให้กับบริษัทเอกชนนั่นเอง ในระยะเวลา สัญญา ๒๐ ปี ทาง อบจ. นนทบุรี คิดราคาเชื้อเพลิงขยะจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้ประมาณ ๑๐.๕ ล้านบาทต่อปี และยังมีส่วนแบ่งจากการขายไฟฟ้าอีกส่วนหนึ่งด้วย โดยมีเป้าหมายปลายทาง คือการทำให้ขยะกองเดิมหายไป แต่แน่นอนครับ หลายคนก็ยังอาจกังวลใจกับกองขยะใหม่ ที่เพิ่มขึ้นอีกวันละ ๑,๖๐๐ ตัน ซึ่งทาง อบจ. ก็ได้วางแผนที่จะทำโรงไฟฟ้าเพิ่มอีก ๒ โรง ซึ่งโรงแรกกำลังจะเริ่มก่อสร้าง สามารถกำจัดขยะได้วันละ ๑,๐๐๐ ตัน แล้วก็โรงที่ ๒ ที่จะตามมาก็อีกประมาณ ๖๐๐ ตัน จนกว่ามีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ ๒ เสร็จ เพื่อที่จะทำให้ ขยะในจังหวัดนนทบุรีไม่ต้องนำไปฝังกลบอีกต่อไป

นายนพดล ทิพยชล นนทบุรี ต้นฉบับ

ดังนั้นเป้าหมายปลายทางของ อบจ. นนทบุรี ก็คือการจัดการกับบ่อฝังกลบ ทั้งบ่อเดิม แล้วก็บ่อที่ใช้ในปัจจุบันให้หมดไปในกรอบระยะเวลาไม่เกิน ๒๐ ปี เพื่อคืนพื้นที่ บ่อขยะเดิมให้เป็นสวนสาธารณะสำหรับประชาชนครับ และนอกจากนี้ในพื้นที่ศูนย์จัดการ ขยะแห่งนี้ยังมีเตาเผาขยะติดเชื้อ สำหรับโรงพยาบาล สถานพยาบาลในจังหวัดนนทบุรี และยังมีโรงกำจัดสิ่งปฏิกูลอีกด้วย ก็สามารถนำมาบริหารจัดการที่ศูนย์จัดการขยะแห่งนี้ เช่นกัน แต่ถึงแม้ทาง อปท. จะพยายามวางแผนอย่างไรก็ตาม และตั้งใจจัดการขยะทั้งหมด แต่ผลกระทบจากการจัดการขยะในปัจจุบันยังส่งผลกระทบถึงพี่น้องประชาชนในตำบล คลองขวางในบางช่วงเวลานะครับ อย่างเช่นในช่วงต้นฤดูหนาว แน่นอนก็จะมีกลิ่นเหม็นโชยมาหรือว่าบ่อรวบรวมน้ำชะขยะ ที่สุ่มเสี่ยงต่อการล้นในช่วงฤดูฝน และปนเปื้อนออกมาในพื้นที่ข้างเคียงนั่นเอง เช่นเดียว กับโรงไฟฟ้าเช่นกันที่จำเป็นต้องมีการติดตามค่าการปล่อยมลพิษ ต้องติดตามแบบ Real Time ด้วย และต้องแสดงให้เห็นชัดเจนบนกระดาน Dashboard ซึ่งต้องติดตั้งให้เห็น เป็นจุดขนาดใหญ่ในชุมชนด้วยเช่นกัน เมื่อมีผลกระทบข้างเคียง ในเบื้องต้นทาง อบจ. ทำอย่างไร เบื้องต้นเขาได้ชดเชยให้กับพี่น้องประชาชนในตำบลคลองขวาง โดยขยะทุกตัน ที่เข้ามาในพื้นที่นี้จะต้องชดเชยให้กับทาง อบต. คลองขวาง คิดเป็นเงินประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของค่าจัดการขยะที่ อบจ. เรียกเก็บจากเทศบาลและ อบต. เพื่อใช้ในการ พัฒนาของ อบต. คลองขวาง รวมปีหนึ่งก็หลายล้านบาทเช่นกัน ก็หวังว่าข้อมูลที่ผมแชร์ มาให้ในการบริหารจังหวัดของ อบจ. นนทบุรี ก็จะเป็นข้อสังเกตแล้วก็ข้อเสนอแนะให้กับ ทางคณะกรรมาธิการที่จะศึกษาแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้นำไปปรับใช้ได้ไม่มาก ก็น้อย แต่ถึงแม้ภาพรวมการจัดการขยะที่ อบจ. นนทบุรี ถือว่ามีแนวทางการจัดการ ที่ชัดเจน แต่ว่าก็ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ยังสามารถปรับปรุงแล้วก็เพิ่มเติมได้ครับ ท่านประธาน โดยเฉพาะการลดและการแยกขยะที่ต้นทางก่อนเลย ก็หมายถึงตั้งแต่ ที่บ้านบ้านเรือน ชุมชน หรือแม้กระทั่งตลาด และจัดการนำขยะไปใช้ประโยชน์จากกลางทาง อย่างเช่น เทศบาล อบต. คอนโดมิเนียม หรือว่าหมู่บ้านต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ปริมาณขยะ ฝังกลบปลายทางไม่เพิ่มขึ้น เท่ากับว่าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มมูลค่าจากการจัดการ ขยะโดยรวมให้เพิ่มขึ้นได้ สุดท้ายครับท่านประธาน ถึงเวลาแล้วที่ภาคการเมืองทุกส่วน ทั้งการเมืองระดับชาติและการเมืองท้องถิ่นต้องมาเรียนรู้แลกเปลี่ยนแนวทางแก้ไขปัญหา ขยะและปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ดังนั้นผมขอร่วมสนับสนุนให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา เรื่อง การบริหารจัดการขยะ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ สมาชิกที่ลงชื่ออภิปรายก็อภิปรายจนครบถ้วนแล้วนะครับ ต่อไปจะเป็นสิทธิ ของผู้เสนอญัตติที่จะอภิปรายสรุป ตอนนี้แจ้งความประสงค์ ๓ ท่าน ขอเริ่มจากท่านพูนศักดิ์ จันทร์จำปี ครับ

นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธาน ผม พูนศักดิ์ จันทร์จำปี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก่อนอื่น ผมต้องขอขอบคุณท่านประธานและเพื่อนสมาชิกทุกท่านที่ร่วมอภิปรายในญัตตินี้ ซึ่งผม ค่อนข้างดีใจที่งานด้านการจัดการขยะไม่ใช่เรื่องขยะ ๆ อีกต่อไป วันนี้เรามีการพูดถึง เรื่องขยะถึงกว่า ๗ ชั่วโมง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทุก ๆ ท่านค่อนข้างจะมีฉันทามติว่าการจัดการ ขยะเป็นประเด็นวิกฤติที่เราต้องแก้ไขทุกระบบ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ในวันนี้ ผมถือว่างานของผมนี้สำเร็จไปแล้ว ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ในการที่จะปรับปรุงหรือว่าพัฒนาการ จัดการขยะของประเทศ ให้เทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว งานอีก ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ที่ผม ทำเสร็จไปแล้วก็คือผมได้ยื่นพระราชบัญญัติการบริหารจัดการขยะและการหมุนเวียน ทรัพยากร ซึ่งได้ยื่นเข้าสู่สภา ในวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ ซึ่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้รวบรวม วิธีการในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในทุกมิติที่ทุก ๆ ท่านได้กล่าวถึงในวันนี้ไว้เรียบร้อยแล้ว งานอีก ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ที่ผมคิดว่าเราจะต้องมาช่วยกัน ในฐานะที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรก็คือว่าเราจะต้องรับรองกฎหมายฉบับนี้เพื่อนำไปบังคับใช้โดยเร็วที่สุด งานอีก ๕๐ เปอร์เซ็นต์หลังจากนี้ ก็คือว่าเราจะทำอย่างไรว่ากฎหมายเมื่อออกมาแล้วจะมี การบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ถ้าหากดำเนินการได้ตามนั้น ผมเชื่อว่า การกำจัดขยะที่หลาย ๆ ท่านพูดกันถึงทุกวันนี้ ๒,๐๐๐ กว่าแห่ง มันจะกลายเป็นศูนย์ได้ ภายในระยะเวลาไม่เกิน ๖ ปี และนอกจากนี้อัตราการ Recycle จะสามารถทำให้เพิ่มสูงขึ้น ถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ได้ ผมเชื่อมั่นว่าสามารถทำได้ภายในเวลาไม่เกิน ๖ ปีเช่นกัน นอกจาก การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญแล้ว ผมคาดหวังว่าทางสภาชุดนี้จะร่วมมือซึ่งกันและกัน ในการแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อทำให้การจัดการขยะของบ้านเรามีการพัฒนา มีการแก้ไข อย่างทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้ผมขออนุญาตเพิ่มสไลด์อีกนิดหนึ่งนะครับ เพราะหลังจากที่ผมได้ฟังหลาย ๆ ท่านพูดในวันนี้แล้วผมก็เริ่มรู้สึกว่าการบริหารจัดการขยะ มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน และเป็นเรื่องของในแต่ละพื้นที่ เราไม่สามารถที่จะเอา Model จากประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือว่าเมืองใดเมืองหนึ่งมาใช้ได้โดยทันที เราจะต้องเอา บริบทของประเทศเรา หรือว่าจังหวัดของเรา ในเขตของเราเอามาเป็นตัวตั้งก่อน แล้วถึงค่อย มาคัดเลือกวิธีในการจัดการ ซึ่งจากสไลด์ที่ให้เห็นนะครับ ผมยกตัวอย่างสมมุติว่ามีจังหวัด หนึ่งมีปริมาณขยะ ๘๕๐ ตันต่อวัน ตอนนี้เขามีเตาเผาขยะอยู่แล้ว ๗๐๐ ตันต่อวัน ดังนั้น เพื่อที่จะครอบคลุมปริมาณขยะเขาต้องมีการเพิ่มเตาเผา ซึ่งการเพิ่มเตาเผาเขาอาจจะเพิ่มที่ ๒๕๐ ตันต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณที่เหมาะสมที่จะทำให้เรียกว่ามีความคุ้มค่าต่อการดำเนินการ แต่มีอีกทางเลือกหนึ่ง ถ้าเกิดสมมุติว่าในอนาคตเราเริ่มเดินระบบในการคัดแยกขยะ ทำ Recycle เรื่องมีประสิทธิภาพประสิทธิผล ผมไม่ต้องพูดถึง ๖๐ เปอร์เซ็นต์ อย่างที่ ประเทศเยอรมนีเขาทำได้ ณ ตอนนี้ ผมเอาแค่ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ เท่ากับว่าขยะเราจะหายไป ๑๗๐ ตันต่อวัน เมื่อถึงวันนั้นขยะที่เราเกิดขึ้นมันจะไม่พอเผาแล้วครับ ซึ่งกรณีนี้ก็เกิดขึ้นกับ หลาย ๆ ประเทศที่เรายกเป็นตัวอย่าง เมื่อไม่พอเผาท่านจะทำอย่างไรครับ ท่านก็ต้องไป นำเข้าขยะมาจากที่อื่น หรือไม่ท่านก็เร่งประชาชนให้กลับมาสู่กระบวนการเดิม คือเร่ง การเกิดขยะให้มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งวิธีนี้ไม่ใช่เป็นวิธีที่ถูกต้องนะครับ เพราะเรากำลังพยายาม ที่จะสนับสนุนให้เกิดการลดการเกิดขยะที่ตัวต้นทาง อันนี้ผมก็เลยอยากจะขอฝากไว้นะครับ แล้วเดี๋ยวเราคงได้มีการพูดคุยหารือกันต่อตอนที่มีการตั้งคณะ ซึ่งไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมาธิการวิสามัญหรือว่าเป็นคณะอนุกรรมาธิการในการศึกษาเรื่องนี้ ขอบพระคุณ ท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับ ต่อไปเชิญท่านพรรณสิริ กุลนาถศิริ ครับ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน พรรณสิริ กุลนาถศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย พรรคเพื่อไทย ดิฉัน ได้เป็นผู้ร่วมเสนอญัตตินะคะ โดยเน้นประเด็นการพิจารณาศึกษาด้านกำจัดขยะ และสิ่งแวดล้อมในเมืองท่องเที่ยว ในเบื้องต้นดิฉันขอบคุณเพื่อนสมาชิกพรรคเพื่อไทยค่ะ ที่เราเห็นประเด็นปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ และเราร่วมเสนอญัตติด้วยกัน โดยประเด็นที่ เห็นพ้องต้องกันนี้เพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ร่วมแสดงความเห็นเป็นจำนวนมาก ถึง ๕๖ ท่านด้วยกัน รวมทั้งผู้เสนอญัตติอีก ๕ ท่าน รวมเป็น ๖๑ ท่าน ถือว่ามีปริมาณ มากมายเป็นประวัติการณ์ทีเดียว รวมทั้งในวันนี้เป็นวันท้ายสุดของสัปดาห์ ที่มีการเปิดสภา เพื่ออภิปรายแล้วก็แสดงความเห็นร่วมกัน นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อพี่น้องประชาชน และกระบวนการจัดการบริหาร เพื่อให้เกิดการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะด้วย สถานการณ์ปัญหาของขยะที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ที่ส่งผลกระทบทั้งต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพของพี่น้องประชาชน น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่งค่ะ ในส่วนของการอภิปรายแสดง ความคิดเห็นในมิติต่าง ๆ อย่างมากมาย โดยเฉพาะขอชื่นชมไปยังในส่วนของสำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้วยที่บูรณาการทั้ง ๕ ญัตติ แล้วก็วิเคราะห์ข้อมูล ประเด็นเชิงลึกได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ทำให้การอภิปรายในครั้งนี้มีความสมบูรณ์แบบ ที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาได้ทั้งในระดับนโยบาย และหลายท่านได้ให้ ความเห็นในด้านของการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ได้มีส่วนในการ รับผิดชอบและดำเนินการด้วยตนเองมากขึ้น ทั้งนี้รวมทั้งในการกระจายด้านงบประมาณ การบริหารอย่างบูรณาการในเชิงพื้นที่ รวมทั้งการมีส่วนร่วมของภาครัฐแล้วก็เอกชน ทั้งในส่วนของการจัดการต้นทาง ระหว่างทาง และท้ายที่สุดในเรื่องของขยะหมุนเวียน หรือการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นแล้วก็ลดปัญหาสภาพแวดล้อมให้น้อยลง ทั้งหมดนี้ดิฉันเห็นว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะนำไปสู่การพิจารณาในขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ ดิฉันก็ไม่ติดขัดอะไรทั้งในกรณีที่จะตั้งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญหรือในกรณีที่เราจะส่งไป ในคณะกรรมาธิการสามัญคณะต่าง ๆ อย่างไรก็ตามในส่วนของประเด็นการท่องเที่ยวในด้าน ของการแก้ปัญหาขยะแล้วก็เรื่องของสิ่งแวดล้อมนี้ ดังที่ดิฉันได้เสนอไปแล้ว ดิฉันขอฝาก ในเรื่องของ ๕ ข้อคิดเห็นเสนอแนะที่จะบูรณาการเข้าไปในการพิจารณาศึกษา และท้ายที่สุด ก็หวังว่าพี่น้องประชาชนจะได้รับประโยชน์ในเรื่องของการจัดการตรงนี้ และเห็นเป็นประเด็น พ้องต้องกัน ก็ขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งในทุกภาคส่วน ก็ขอบคุณมากค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านสฤษดิ์ บุตรเนียร ครับ

นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายสฤษดิ์ บุตรเนียร สส. นักพัฒนา แก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เขต ๓ พรรคภูมิไทย ผมต้องขอกราบขอบพระคุณที่ได้มีโอกาส สรุปการนำเสนอญัตติในเรื่องของการบริหารจัดการขยะขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีผู้ร่วมอภิปรายร่วมกันจำนวนมาก ๖๐ กว่าคน ก็แสดงว่ายอมรับกันแล้วว่าเรื่องปัญหา ขยะนี้เราต้องควรกำหนดเป็นวาระแห่งชาติได้แล้ว วันนี้ประเทศชาติเรา ไม่ว่าจะปัญหาสังคม ผู้สูงอายุ ปัญหาโลกร้อนที่เรากำลังบอกกันอยู่ ปัญหาขยะล้นประเทศ อีกทั้งตาม ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ เราก็บอกว่าเรามียุทธศาสตร์การสร้างความ เจริญเติบโตบนพื้นฐานคุณภาพชีวิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จริง ๆ เป็นนโยบาย เป็นยุทธศาสตร์ และแม้แต่กฎหมายรัฐธรรมนูญก็ยังพูดเรื่องของขยะและสิ่งแวดล้อมไว้ ผมเองในฐานะที่เป็น สส. ต่างจังหวัด ผมก็พยายามที่จะต่อสู้ ตั้งแต่สมัยที่แล้วก็พูดกัน เรื่องขยะ พยายามลดปริมาณอย่างไร ก็เชื่อมั่นเหลือเกินว่าทุกคนเห็นพ้องต้องกัน แต่สำหรับ ผมแล้วผมมองไปที่องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาล หน่วยย่อยที่จะต้องปลุกระดม ชาวบ้าน ปลูกจิตสำนึกให้ชุมชนทุกคน ผมเชื่อครับ

นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

ถ้าเกิดว่าตรงนี้ทฤษฎีผมจริง ๆ แล้ว สามารถจะใช้ได้ทุกสถานการณ์ ทฤษฎีสามเหลี่ยม ภาครัฐที่เราก็พูดคำว่า บูรณาการ นำหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วย ไม่ว่าจะเป็นกระทรวง ทบวง กรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวง พม. กระทรวงสาธารณสุข ถ้าจริง ๆ จริงจังดึงมาร่วมกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วเราบูรณาการเชิงประชุม ประชุมจบก็จบกัน แล้วก็ แจกงานกันไปทำ ประชาชนเราก็พร้อม เพราะทุกหมู่บ้านนี้เรามีแนวร่วมประชาชน อสม. ซึ่งคลุมทุก ๑๐ หลังคาเรือน หรือ ๒๐ หลังคาเรือน ก็มี อสม. แล้ว เรามี อพม. พัฒนา สังคม เรามีชมรม มีผู้สูงอายุ ซึ่งตอนนี้อย่างที่ผมบอกนะครับ เป็นจำนวนมาก เพียงแต่ว่า เราทำอย่างไรถึงจะเร่งเร้าให้เขามีส่วนร่วมในการที่เขาสร้างขยะขึ้นมา เช่นเดียวกันครับ วันนี้ กระทรวงมหาดไทย ก็ได้มีรายงานผลการขับเคลื่อนตรงนี้ล่ะครับ กระทรวงมหาดไทย ได้ Kick Off ขับเคลื่อนธนาคารขยะร่วมกับ อปท. ๗,๗๗๓ หน่วย จะตั้งเป้าว่าใน ๖๐ วัน ต้องมีธนาคารขยะอย่างน้อย ๑ แห่ง และย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอทั่วประเทศ บูรณาการทุกภาคส่วนหนุน เสริม ขับเคลื่อนร่วมกันกับ อปท. ทุกแห่ง เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี ชีวิตที่มีความสุขกับยั่งยืนของประชาชนครับ เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๖๖ ท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยได้เปิดเผยการขับเคลื่อนตรงนี้ นี่เคลื่อนมาแล้ว ๒๕ วัน เหลืออีก ๓๕ วัน หรือท่านจะมีเพียงธนาคารขยะประจำ อบต. ผมอยากให้ท่านขับเคลื่อน มากกว่านั้น นโยบายมันไม่มีทางสำเร็จได้ถ้าไม่มีการขับเคลื่อนหรือ Action ผมอยากให้ท่าน มีการดำเนินการ ที่กรมการปกครองก็ซื้อรถขยะให้ปีละ ๕๐๐ คัน คันละ ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท ใช้งบประมาณปีละ ๑,๐๐๐ กว่าล้านบาท ผมเชื่อเหลือเกินว่ามันเป็นวัตถุครับ แต่ถ้าคน ประชาชนมีจิตสำนึกให้รู้รับผิดชอบร่วมกันว่าสิ่งแวดล้อม อากาศ ดิน น้ำ มันเป็นของเรา ผมเชื่อเหลือเกินว่าตรงนี้จะเป็นพลังที่จะสร้างสรรค์สังคมได้ กระทรวงมหาดไทย ก็ประกาศมาตั้งแต่ ๒ ปีแล้วตั้งแต่วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๕ ว่า เราจะเป็นจังหวัดสะอาด มีถังขยะเปียก ลดโลกร้อน ทุกตำบล หมู่บ้านต้องมีขยะ ผมก็ยังไม่เคยเห็นเลยครับ ที่มีขยะเปียกเป็นอย่างไร แล้ววันนี้ก็เช่นเดียวกัน ผมกราบเรียนไปยังท่านปลัดกระทรวง ที่เป็นคนรับผิดชอบ กระทรวงมหาดไทย ถ้าขอทั่วประเทศก็อาจจะมากไป ผมขอจังหวัด ปราจีนบุรีนะครับ แล้วก็ทางท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ทางท่านนายอำเภอ ได้ขานรับนโยบาย นี้ด้วย เพราะทุกวันนี้ผมรณรงค์กับชาวบ้าน ไม่ใช่เพียงแต่ขยะเท่านั้น ความสะอาด ผมมอง ไปถึงเรื่องโลกร้อน วันนี้ผมอยากจะเสริมเรื่องธนาคารใบไม้อีก เราเอาใบไม้ที่เป็นทรัพย์ โดยธรรมชาติร่วงลงมา เราเอาใบไม้มาผสมกับมูลสัตว์คลุกกันหมักไว้จนเป็นปุ๋ยแล้วให้ ชาวบ้านไปใช้ มันเป็นการลดภาวะโลกร้อน ไม่ต้องไปเผา เห็นไหม ผมปลุกระดมชาวบ้าน นะครับ ผมเป็นนักปฏิบัติ ผมจึงอยากกราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ฝากผ่านไปยัง ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านปลัดกระทรวงมหาดไทย เพราะนโยบายนี้ การขับเคลื่อนเป็นสิ่งที่ท่านเป็นคนกำหนดนะครับ ซึ่งผมดีใจว่าท่านก็ Kick Off มาแล้ว ๒๕ วันแล้ว เหลือเวลาอีกประมาณ ๓๕ วัน ก็จะครบ ๖๐ วัน ผมเกรงว่ามันจะมีแต่ป้าย ธนาคารขยะติดอยู่ตาม อบต. ต่าง ๆ แต่การกระทำก็อาจจะเกิดขึ้นได้ยาก ถ้าไม่มีส่วนร่วม หรือภาครัฐเป็นผู้บูรณาการ ประชุม สั่งการ และขอความร่วมมือจากชาวบ้าน พ่อแม่พี่น้อง ทุกคนที่เป็นคนสร้างขยะตรงนั้น หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจที่ใช้น้ำ ใช้ลม ใช้อากาศ ในหมู่บ้านนั้น ปลุกจิตสำนึกขึ้นมา ถ้าเราต้องการให้ขยะทุกอย่างหลุดออกจากประเทศไทย เดี๋ยวผมจะขอยกตัวอย่างนิดหนึ่ง แม้ประเทศรวันดาในแอฟริกา เป็นประเทศยากจน ฆ่าล้าง เผ่าพันธุ์ เขายังมีนโยบายเรื่องความสะอาดขึ้นมา ทั้งประเทศก็ขานรับ โรงงานก็ไม่เลิกผลิต พลาสติก คนจะเข้าห้างก็ต้องมีถุงผ้า ผู้นำประเทศก็ลงมากวาดถนนด้วยกันทุกวันจันทร์ หรือวันอังคาร ทุกคนต้องร่วมมือกันครับ ไม่ใช่เพียงแต่นโยบายที่สวยหรูประกาศกันออกมา ให้พอแต่ว่าปีนี้จะทำอะไร สุดท้ายครบ ๖๐ วัน ก็คงจะหยุดโครงการไป ผมถึงกราบเรียน นะครับ กราบเรียนด้วยความเคารพจริง ๆ ว่าอยากเห็นประเทศไทยสะอาด อยากเห็น ประเทศไทยน่าดู เพราะเรามีธรรมชาติที่สวยงาม มีความอบอุ่น มีความน่ารัก มีความ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจ นี่ละครับ ที่การจะกลายเป็น Soft Power ที่ทำให้ประเทศไทยเรานี้ เป็นเมืองที่น่าอยู่บนพื้นฐานการเจริญเติบโตที่มีคุณภาพชีวิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่แท้จริง ขอกราบขอบพระคุณมากครับ เป็นเมืองที่น่าอยู่บนพื้นฐานการเจริญเติบโตที่มีคุณภาพชีวิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่แท้จริง ขอกราบขอบพระคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับ เราก็ได้ฟังการอภิปรายอย่างกว้างขวาง แล้วก็คิดว่าเป็นประเด็นที่เห็น ตรงกันหมดว่า เราจะตัดสินใจเรื่องนี้อย่างไรนะครับ ทางวิปรัฐบาล เชิญครับ

นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผม รวี เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต ๓ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ เนื่องจาก ญัตติเรื่องนี้ผู้เสนอได้เสนอมาเพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณารวมกัน จำนวนทั้งหมด ๕ ฉบับ ซึ่งจากที่ผมรับฟังนะครับ แล้วก็จับใจความได้ว่ามีประเด็น หลัก ๆ อยู่ ๒ ประเด็นที่คล้ายคลึงกัน นั่นก็คือเรื่องของการบริหารจัดการขยะขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วก็เรื่องที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นผมขอเสนอ ญัตติส่งให้คณะกรรมาธิการสามัญที่เกี่ยวข้องพิจารณาดังนี้ โดย ๑. ญัตติตามระเบียบวาระที่ ๕.๗ ของนางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช และนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง เป็นผู้เสนอ และระเบียบวาระที่ ๕.๖๑ นายสฤษดิ์ บุตรเนียร เป็นผู้เสนอ ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับ การบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเห็นสมควรส่งให้คณะกรรมาธิการ การกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ เพื่อพิจารณา และ ๒. ญัตติ ตามระเบียบวาระที่ ๕.๒๕ ของนายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี เป็นผู้เสนอ ระเบียบวาระที่ ๕.๓๖ นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ เป็นผู้เสนอ และระเบียบวาระที่ ๕.๕๐ นายวิทยา แก้วภราดัย กับคณะเป็นผู้เสนอ ซึ่งเป็นปัญหาการจัดการขยะ ซึ่งเห็นสมควรส่งให้คณะกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณา ขอผู้รับรองครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ผู้รับรองถูกต้องนะครับ มีท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นไหมครับ ไม่มีนะครับ เชิญท่านครับ

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานครับ ผม ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง พรรคก้าวไกลครับ ในฐานะวิปฝ่ายค้าน ไม่มีอะไรเห็นค้านครับ แล้วก็อยากให้ทั้ง ๒ คณะ พิจารณาแล้วเอามาให้ทางสภารับทราบว่า ผลการพิจารณาของทั้ง ๒ ฝ่าย จะแก้ปัญหาร่วมกันอย่างไร ก็เห็นตามกับทางฟากรัฐบาล ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญท่านอภิชาติ เมื่อสักครู่นี้ยกมือ ประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ตอนนี้รับเรื่องเยอะมากนะครับ เกรงว่าเดี๋ยวท่านจะไม่มีเวลาในการจัดการ เดี๋ยวลองฟังความเห็นของท่านด้วยนะครับ

นายอภิชาติ ศิริสุนทร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม อภิชาติ ศิริสุนทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะ ประธานคณะกรรมาธิการ ขออนุญาตหารือท่านประธานอย่างนี้ครับ จริง ๆ ถ้าจะส่งไปยัง คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เราก็ไม่ขัดข้อง ยินดีที่จะรับ มติของสภา ญัตติของสภาไปดำเนินการต่อ เพราะว่าเป็นญัตติที่มีประโยชน์ แต่ขอหารือ ท่านประธานอย่างนี้ครับ เนื่องจากว่าสภาได้ส่งญัตติไปยังคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาส่งไปแล้ว ๒ เรื่อง ถ้าเรื่องนี้อีก ๑ เรื่องก็เป็น เรื่องที่ ๓ ซึ่งเรายินดีนะครับ ซึ่งเราก็ตั้งคณะอนุกรรมาธิการ ตอนนี้เราตั้ง ๒ เรื่องแล้วใช่ไหมครับ ถ้าหากสภาส่งไปอีก ถ้าเราจะตั้งอีกมันก็รวมทั้งหมดเป็น ๔ คณะอนุกรรมาธิการ ผมก็เลยอยาก หารือท่านประธานว่าผมสามารถที่จะตั้งคณะอนุกรรมาธิการเพิ่มเต็มทั้ง ๔ คณะอนุกรรมาธิการ ได้เลยไหมครับ เพราะว่านโยบายของท่านประธานบอกว่า มีนโยบายว่าให้ตั้งได้ ๓ คณะ อนุกรรมาธิการใช่ไหมครับ เท่าที่ผมจำได้นะครับ แล้วคณะอนุกรรมาธิการที่จะเพิ่มขึ้นไปใหม่ สามารถที่จะตั้งเป็นคณะอนุกรรมาธิการ คณะที่ ๔ ได้เลยไหมครับ ขอทราบแนวปฏิบัติครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เรื่องนี้ ผมก็พยายามไปดูงบประมาณแล้วนะครับ ก็เห็นใจท่านประธานคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะเรื่องอยู่ที่ท่านเยอะจริง ๆ แล้วก็ถ้ารับแต่เรื่อง ของสภา เรื่องที่ท่านจะผลักดันเองในคณะกรรมาธิการก็จะไม่มีเวลาด้วยนะครับ ในขณะเดียวกันเรื่องแต่ละเรื่องที่ส่งไปก็ต้องการความรอบคอบ แล้วก็เอาจริงเอาจัง ในการศึกษามากนะครับ เดี๋ยวผมลองไปปรึกษากับทางท่านพิเชษฐ์ก่อนนะครับ ที่ท่านดู กรรมาธิการ แล้วเดี๋ยวเราดูว่าเราจะสามารถเพิ่มงบประมาณกับกำลังคนไปช่วยได้เพิ่ม หรือเปล่านะครับ

นายอภิชาติ ศิริสุนทร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

แต่เรื่องขยะนี่ผมยินดีนะครับ เพราะว่าคณะกรรมาธิการเราเองก็มีแผนอยู่แล้ว

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ครูมานิตย์ประท้วงหรือครับ

นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สุรินทร์ ต้นฉบับ

ไม่ครับท่านประธาน ไม่ได้ประท้วง

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เดี๋ยวรอท่านอภิชาติจบก่อนนะครับ

นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สุรินทร์ ต้นฉบับ

ผมรอแต่ท่านเลขาจบก่อน

นายอภิชาติ ศิริสุนทร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อย่างไรฝากท่านประธาน ด้วยครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

คือผม ยังตอบตอนนี้ไม่ได้นะครับ แต่ว่าแนวทางที่เดี๋ยวผมจะไปหารือกับท่านประธานก็คือว่า ถ้าท่านยินดีที่จะรับและทำในเวลาพร้อมกัน เราจะเติมเจ้าหน้าที่ หรือว่าเติมทรัพยากรอะไร เพิ่มได้บ้างนะครับ

นายอภิชาติ ศิริสุนทร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ขอบคุณครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญครูมานิตย์ครับ

นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สุรินทร์ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ผม ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ครับ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดสุรินทร์ ที่ท่านอภิชาติหารือผมเห็นด้วย นะครับ เพราะว่าวันนี้ถ้าตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา ท่านประธานครับ วิสามัญเราใช้ บุคลากรที่เป็นผู้แทนไปอยู่ในคณะกรรมาธิการวิสามัญเยอะมากแล้ว บางคน ๒-๓ คณะ พอ ๒-๓ คณะแล้ว มันวิ่งรอกประชุมพูดกันตรงไปตรงมา ผมคิดว่าให้กับให้คณะกรรมาธิการ สามัญ ผมคิดว่ามันเป็นประโยชน์กับแผ่นดิน ตั้งคณะอนุกรรมาธิการกี่คณะก็ได้และประธาน คณะกรรมาธิการสามัญเขาจะได้ดูในรายละเอียด แล้วก็เป็นพี่เลี้ยงไปในตัวด้วยท่านประธานครับ วันนี้ผมก็หารือกับคณะประสานงานของทั้งวิปฝ่ายค้าน ทั้งวิปฝ่ายรัฐบาล เราก็หยิบยกปัญหา นี้ขึ้นมานะครับ ผมคิดว่าไม่น่าจะเสียหาย แล้วก็เป็นประโยชน์กับบ้านเมืองด้วย แล้วก็ไปได้ ด้วยนะครับ ผมก็อยากเรียนเสนอท่านประธานไว้ว่าผมคิดว่าจะตั้ง ๔-๕ คณะ ก็ไม่น่าจะ ขัดข้องถ้ามันมีความจำเป็น เพราะในระเบียบ ในข้อบังคับก็ไม่ได้เขียนห้ามไว้ท่านประธานครับ ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เห็นด้วยครับ ในระเบียบไม่ได้ห้ามจริง ๆ ครับ แล้วก็สำคัญอยู่ที่เรื่องทรัพยากรมากกว่า เดี๋ยวเราจัดการกันใหม่นะครับ คิดว่าสนับสนุนแนวทางนี้ เชิญครับ

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผม ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดระยอง ในฐานะวิปฝ่ายค้าน เห็นด้วยกับทางท่านประธานวิปรัฐบาล ครูมานิตย์นะครับ ในการที่จะให้มีการขยายการตั้ง คณะอนุกรรมาธิการเพิ่มเติมในคณะกรรมาธิการที่มีการส่งเรื่องไปศึกษาเพิ่ม เพราะเท่าที่ผม ไล่ดูในญัตติต่าง ๆ ก็อาจจะมีส่งไปอีกนะครับ ผมว่าการวางแนวทางให้มีการขยายเพิ่มเพื่อรับ การศึกษาได้โดยที่ไม่ต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ถ้าจำเป็นก็เป็นเรื่องที่ดีครับ แล้วก็ฝาก ทบทวนหาแนวทางในการเพิ่มบุคลากรหรือว่าทำอย่างไรให้การเพิ่มข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ไปช่วยอำนวยความสะดวกน่าจะเป็นเรื่องที่ตอบโจทย์ เห็นด้วยกับทางท่านประธานวิป ท่านครูมานิตย์นะครับ ขอบคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

แล้วก็เรียนท่านประธานคณะกรรมาธิการเลยนะครับ ญัตติต่อไปก็เป็นเรื่องที่ดินเหมือนกัน นะครับ เรื่องของป่าต้นน้ำระบบนิเวศ ก็เห็นว่าคงจะออกทำนองนี้ ขอบคุณครับ อย่างนั้น ผมก็ขอเป็นมติตามนี้นะครับ ส่งไปที่คณะกรรมาธิการตามที่เพื่อนสมาชิกพรรคเพื่อไทย ได้เสนอ ท่านรวีนะครับ เป็นการใช้ตามมาตรา ๘๘ ขอเสนอระยะเวลาในการศึกษาครับ

นางสาวสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ อุบลราชธานี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธาน สภาที่เคารพค่ะ ดิฉัน สุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัด อุบลราชธานี เขต ๗ พรรคเพื่อไทยค่ะ ดิฉันขอเสนอระยะเวลาในการพิจารณา ๙๐ วัน ขอผู้รับรองด้วยค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ผู้รับรองถูกต้องนะครับ ดำเนินการตามนี้ เพื่อนสมาชิกครับ เราอภิปรายเรื่องขยะมาทั้งวัน แล้วนะครับ เชิญท่านวรวงศ์ครับ

นายวรวงศ์ วรปัญญา ลพบุรี ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ก็หลังจากจบญัตติขยะ วันนี้ ตามที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๑๑ วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๗ ที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจ ของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่น หรือย้ายไปสถานที่อื่นที่เหมาะสม พรรคเพื่อไทยขอแก้ไขรายชื่อกรรมาธิการวิสามัญในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย จำนวน ๒ ท่านครับท่านประธาน ท่านที่ ๑ นายขจิตร ชัยนิคม แทน ว่าที่ร้อยตรี โมฮามัดยาสรี ยูซง ท่านที่ ๒ นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แทน นายนริศร แสงแก้ว ขอผู้รับรองด้วยครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ผู้รับรองถูกต้องนะครับ ดำเนินการตามนี้ครับ เพื่อนสมาชิกครับ เราคุยเรื่องขยะกันมา เดี๋ยวอาทิตย์หน้าเราเริ่มลุยกันเลยนะครับ ผมได้มีการสั่งการให้มีการติดตั้งเครื่องกรองน้ำ แล้วก็ตู้กดน้ำเรียบร้อยแล้วนะครับ ก็จะมีอยู่ ๓ จุดครับ จุดแรกก็จะเป็นที่ห้องอาหาร จุดที่ ๒ ก็จะเป็นบริเวณใกล้ ๆ หน้าห้องประชุม แล้วก็จุดที่ ๓ ก็จะเป็นจุดที่นักข่าว อันนี้ เรื่องที่ ๑ นะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ก็คือท่านเห็นตู้อัดกระป๋องแล้วใช่ไหมครับ ที่อยู่ในห้องอาหาร อันนั้นก็คือเป็นระบบที่อยากให้สมาชิกใช้ ดื่มเครื่องดื่มให้เสร็จแล้วก็ล้างในห้องน้ำ สักนิดหนึ่งจะได้ไม่มีคราบน้ำหวาน แล้วก็ไปอัดกระป๋องได้เลย เพราะตอนนี้เอาไปใช้ทำ ขาเทียมไม่จำเป็นที่จะต้องแยกตัวฝาแล้วก็ตัวกระป๋องแล้วนะครับ ก็ใช้ทั้งกระป๋องได้เลย

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ เดี๋ยวอาทิตย์หน้าผมจะออกแบบสำรวจนะครับ ว่าท่านใดยินยอม ที่จะไม่รับเอกสารที่เป็นกระดาษ ตอนนี้ที่เราพยายามใช้ก็คือเราทยอยเอารายงานที่เป็น กระดาษน้อยลงเรื่อย ๆ นะครับ เพราะว่าสมาชิกที่มาประชุมในแต่ละวาระเฉลี่ยก็อยู่ ประมาณ ๒๐๐ กว่าคน ก็คงไม่ต้องพิมพ์ทั้ง ๕๐๐ เล่ม แต่อาทิตย์หน้าเดี๋ยวเราสำรวจกัน อีกทีว่าท่านใดอยากจะ Completely Paperless เลย ก็คือไม่ใช้กระดาษอีกเลย หรือว่าใช้ เมื่อมีการเบิกเท่านั้น อย่างนี้เป็นต้นนะครับ ก็เดี๋ยวพวกเราลุยกันว่าเราจะลดไปได้เท่าไร อย่างไรบ้างนะครับ เพื่อสภาของเราก็จะเป็นต้นแบบจุดเริ่มต้นของการเกิดขยะในการลด ไปเลยนะครับ เพื่อนสมาชิกครับ ไม่มีท่านใดจะหารือเรื่องอะไรแล้วนะครับ ญัตติในวันนี้ มีเพียงเท่านี้ ผมขอปิดการประชุม เจอกันอาทิตย์หน้าครับ