เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม อภิชาติ ศิริสุนทร สมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ขออนุญาต ท่านประธานหารือเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนทางภาคเหนือ ผมได้รับ เรื่องร้องเรียนจากท่านนายก อบต. น้ำหมัน อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ เรื่องการอนุญาต ใช้ที่ดินสงวนในเขตนิคมสร้างตนเอง ลำน้ำน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อสร้างระบบผลิตประปา POG ขนาดกลาง Size M ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกรมส่งเสริมการปกครอง ท้องถิ่น เมื่อทาง อบต. ได้รับจัดสรรงบประมาณแล้วทาง อบต. ก็ได้ดำเนินการ ขออนุญาตใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้างซึ่งก็ส่งเรื่องมานาน แต่ขณะนี้ก็ไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แต่อย่างใด ท่านนายกและชาวบ้านเหมารถตู้ มาติดตามที่กระทรวงก็ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่าให้ไป Check หน่อยว่าเป็นที่สาธารณะ ประโยชน์หรือไม่ ทางท่านนายกก็ได้ประสานกับท่านนายอำเภอก็ตรวจสอบในสารบบ ปรากฏว่าไม่ใช่ที่สาธารณะประโยชน์ แต่ท่านนายอำเภอก็กรุณารับรองมาเพื่อเป็นประโยชน์ ต่อพี่น้องประชาชน แต่ในขณะนี้ก็ยังไม่ปรากฏว่าทางกระทรวงได้พิจารณาอนุมัติอนุญาต จนกระทั่งงบประมาณที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจัดสรรให้ก็ตกไป นี่เป็น ความเสียหายนะครับ พี่น้องประชาชนประชาชนแทนที่จะได้รับการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำดื่ม น้ำอุปโภคบริโภค แต่ก็ล่าช้าเพราะการขออนุญาตใช้พื้นที่ในการก่อสร้างของทางราชการ ดังนั้นผมจึงนำเรียนท่านประธานผ่านไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ให้ช่วยพิจารณาว่ามันติดขัดในประการใด ข้อไหน รีบเร่งแก้ไข ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนชาวตำบลน้ำหมันโดยด่วนครับ ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม อภิชาติ ศิริสุนทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ ขออนุญาตท่านประธานใช้เวลาสักนิดหนึ่ง คงไม่นานอยากจะอภิปรายเพื่อแสดงความคิดเห็น หรือเสนอแนะเกี่ยวกับญัตติการบริหารจัดการขยะชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวของเพื่อนสมาชิกในหลาย ๆ ญัตติที่เสนอมา เพื่อจะได้เป็นแง่คิด หรือเป็นกรอบหากเมื่อมีการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาในเรื่องนี้ ท่านประธานครับ สถานการณ์ขยะนับวันจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ดังที่เพื่อนสมาชิกทุกท่านได้นำเสนอ ต่อท่านประธานไป ยิ่งนับวันยิ่งทวีความรุนแรง ยิ่งนับวันยิ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อสุขภาพ ต่อคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ซึ่งสถานการณ์นี้เพื่อนสมาชิกทุกท่านก็ได้ อภิปรายไปแล้ว แต่ผมก็อยากจะได้เน้นย้ำไปที่ประเด็นเรื่องของการจัดการกากขยะ จากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งตรงนี้เริ่มทวีความรุนแรงขยายออกไปเรื่อย ๆ จากภาคกลาง ภาคตะวันออกขยายไปสู่ภาคอีสานและภาคอื่น ๆ ที่มีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นโดยตรงและเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกรมควบคุม มลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องทั้งหมดเลยนะครับ ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็มีอำนาจ หน้าที่มีกฎหมายคนละตัวในการดำเนินการจัดการแบบให้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหาร ผมได้ Review ข้อมูลคร่าว ๆ เร็ว ๆ แล้วก็อยากจะให้ท่านประธานเห็นว่าขยะในภาค อุตสาหกรรมมันมีเยอะขนาดไหน แล้วมีการจัดการอย่างไร จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ เมื่อปี ๒๕๕๙ กากอุตสาหกรรมมีทั้งสิ้นประมาณ ๒.๘ ล้านตัน แล้วก็มีโรงงานที่ได้รับอนุญาต เห็นแต่ว่าได้รับอนุญาต แต่ว่าเรื่องคุณภาพของโรงงานหรือเรื่องของเทคโนโลยีที่นำมาจำกัด ขยะนั้นมีคุณภาพหรือไม่มีคุณภาพนั้นเดี๋ยวจะไปดูกันอีกที โรงงานที่ได้รับอนุญาต อย่างถูกต้องตามกฎหมายที่นำขยะไปจัดการได้ จาก ๒.๘ ล้านตัน นำไปจัดการอย่างถูก กฎหมายได้แค่ ๑.๑ ล้านตันเท่านั้นเอง หรือประมาณ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่ก็ลักลอบเอาไปทิ้ง ส่วนหนึ่งก็เอาไปจัดการแบบไม่ถูกต้องไม่ถูกวิธีจนเกิดช่องว่างใน การทำมาหากินของบริษัทต่าง ๆ ของทุนสีเทาบ้างอะไรบ้าง ก่อความเดือดร้อนให้กับพี่น้อง ประชาชนและสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก จำนวนถึง ๖๐ เปอร์เซ็นต์ อันนี้เป็นสถานการณ์ ปี ๒๕๕๙ นะครับท่านประธาน แล้วก็จากข้อมูลของมูลนิธิบูรณะนิเวศ เมื่อปี ๒๕๖๐-๒๕๖๖ เขาได้รวบรวมว่าการลักลอบการทิ้งขยะอุตสาหกรรมมีเยอะมาก ปี ๒๕๖๐-๒๕๖๖ มีการลักลอบทิ้งประมาณ ๓๙๕ เหตุการณ์ อันนี้เฉพาะกากขยะ มีการปล่อยน้ำเสียจาก โรงงานอุตสาหกรรม ๒๖๐ เหตุการณ์ กากอุตสาหกรรมที่มีพิษ ๙๐ เหตุการณ์ ขยะติดเชื้อ ๑๘ เหตุการณ์ ขยะทั่วไป ๒๗ เหตุการณ์ นี่เป็นจำนวนของการลักลอบจัดการที่ไม่ถูกต้อง ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ปี ๒๕๕๕-๒๕๖๔ ก็สอดคล้องกันว่ามีเหตุเกิดขึ้นในการลักลอบ ทิ้งขยะที่เป็นกากอุตสาหกรรม จำนวน ๗๙ ครั้ง ภาคตะวันออกเยอะที่สุด ๔๕ ครั้ง เพราะว่ามี EEC มีโรงงานอุตสาหกรรมขึ้นเยอะ ภาคกลาง ๒๑ ครั้ง ภาคตะวันตก ๘ ครั้ง และภาคอื่น ๆ รวมถึงจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นอีสานบ้านผมนะครับ ลักลอบทิ้งขยะกากอุตสาหกรรม ในปี ๒๕๖๐-๒๕๖๔ มากถึง ๓๒๒ ครั้ง เป็นข้อมูลที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นะครับท่านประธาน ขยะจัดการไม่ถูกต้อง ขยะที่ออกจากโรงงาน ซึ่งไม่รู้ว่ามีสารพิษสารอะไรบ้าง ผมได้มีโอกาส ลงพื้นที่ในฐานะคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งพี่น้อง ประชาชนร้องเรียนมาที่จังหวัดชลบุรี ลงไป ๒ ตำบล ก็ปรากฏว่าสิ่งที่พี่น้องร้องเรียนนั้นเราไปดูแล้วเหมือนกับในหนังท่านประธาน เหมือนในหนัง ที่มันเป็นเมืองร้าง มีน้ำสีดำมีกากขยะอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ แล้วก็อยู่ในโรงงานที่ไม่ได้รับ อนุญาต อยู่ในโรงงานที่ไม่ถูกต้อง แล้วก็ไม่เกรงกลัวกฎหมาย เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ไม่ได้ ตรวจสอบอย่างเข้มข้น นั่นสะท้อนว่าอะไรครับ สะท้อนว่ากฎหมายในเรื่องของการบริหาร จัดการขยะของประเทศไทยมีประสิทธิภาพน้อยมาก อัตราโทษต่ำ ผู้อนุญาตให้มีโรงงาน อุตสาหกรรม โรงงานจัดการขยะก็คือกรมโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งอนุญาตทั้งตรวจสอบ คนอนุญาตและคนตรวจสอบเป็นคน ๆ เดียวกัน เวลามีชาวบ้านร้องเรียนบ้างบางที่เป็น ๑๐ ปี ก็ไม่มีการดำเนินการจัดการ ซึ่งมันผิดหลัก ไม่มีหน่วยงานอื่นที่เป็นหน่วยงานกลาง ลงไปในการที่จะไปตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ เพราะฉะนั้นมันจำเป็นต้องมีหน่วยงานกลาง ที่ไปตรวจสอบในเรื่องนี้ อย่างเช่นประเทศที่เขาเป็นประเทศอุตสาหกรรม เขาจะมีหน่วยงาน กลางที่ตรวจสอบเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ ตรวจสอบเรื่องการอนุญาตในการจัดการขยะ อย่างถูกต้องโดยเฉพาะ แล้วอำนาจในการอนุญาตทั้งหลายก็ทับซ้อนกันระหว่างองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นและกรมโรงงานอุตสาหกรรม อปท. มีหน้าที่อนุญาตตาม พ.ร.บ. สาธารณสุข เรื่องการทำกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หากพบเห็นว่ากิจการนั้นไม่ถูกต้อง ก็แค่ถอนใบอนุญาต แต่บริษัทก็ยังอ้างว่าเขายังถือใบอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ไม่เกี่ยวกับท้องถิ่น เขายังดำเนินการต่อไปได้ นี่ก็หมายถึงว่าอำนาจมันทับซ้อนกันและ อำนาจทั้งหลายมันอยู่ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้นถึงเวลาที่เราจะต้อง แก้กฎหมายเหล่านี้แล้วครับ หมายถึงว่าต้องปรับโครงสร้างใหญ่ทั้งหมดในการบริหารจัดการ ในเรื่องนี้ ไม่อย่างนั้นจำนวนขยะที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นผมก็ฝากคณะกรรมาธิการที่สภาจะได้ตั้งขึ้น หรือจะมอบหมายให้คณะกรรมาธิการ ชุดไหนได้ไปศึกษาเรื่องนี้ ก็ให้เอาประเด็นนี้เข้าไปสู่การพิจารณาด้วยนะครับ ขอบคุณครับ ท่านประธาน
เรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม อภิชาติ ศิริสุนทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะ ประธานคณะกรรมาธิการ ขออนุญาตหารือท่านประธานอย่างนี้ครับ จริง ๆ ถ้าจะส่งไปยัง คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เราก็ไม่ขัดข้อง ยินดีที่จะรับ มติของสภา ญัตติของสภาไปดำเนินการต่อ เพราะว่าเป็นญัตติที่มีประโยชน์ แต่ขอหารือ ท่านประธานอย่างนี้ครับ เนื่องจากว่าสภาได้ส่งญัตติไปยังคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาส่งไปแล้ว ๒ เรื่อง ถ้าเรื่องนี้อีก ๑ เรื่องก็เป็น เรื่องที่ ๓ ซึ่งเรายินดีนะครับ ซึ่งเราก็ตั้งคณะอนุกรรมาธิการ ตอนนี้เราตั้ง ๒ เรื่องแล้วใช่ไหมครับ ถ้าหากสภาส่งไปอีก ถ้าเราจะตั้งอีกมันก็รวมทั้งหมดเป็น ๔ คณะอนุกรรมาธิการ ผมก็เลยอยาก หารือท่านประธานว่าผมสามารถที่จะตั้งคณะอนุกรรมาธิการเพิ่มเต็มทั้ง ๔ คณะอนุกรรมาธิการ ได้เลยไหมครับ เพราะว่านโยบายของท่านประธานบอกว่า มีนโยบายว่าให้ตั้งได้ ๓ คณะ อนุกรรมาธิการใช่ไหมครับ เท่าที่ผมจำได้นะครับ แล้วคณะอนุกรรมาธิการที่จะเพิ่มขึ้นไปใหม่ สามารถที่จะตั้งเป็นคณะอนุกรรมาธิการ คณะที่ ๔ ได้เลยไหมครับ ขอทราบแนวปฏิบัติครับ
แต่เรื่องขยะนี่ผมยินดีนะครับ เพราะว่าคณะกรรมาธิการเราเองก็มีแผนอยู่แล้ว
อย่างไรฝากท่านประธาน ด้วยครับ
ขอบคุณครับท่านประธาน
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม อภิชาติ ศิริสุนทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ขอหารือท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๒ เรื่องครับ
เรื่องที่ ๑ ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจาก นายจิรวัฒน์ หนูจันทร์ พร้อมเพื่อนบ้าน ว่าถนนเข้าหมู่บ้านหลังวัดสีหราชเดโชไชย มีความชำรุด สภาพเป็นพื้นทรายหนา เป็นหลุม เป็นบ่อ คราวฤดูแล้งก็ไม่สามารถสัญจรได้ พอฤดูฝนน้ำก็ท่วมเป็นหลุมเป็นบ่อทำให้เกิด อุบัติเหตุบ่อยครั้ง ดังนั้นฝากนำเรียนท่านประธานผ่านไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ให้หารือสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนโดยด่วน
เรื่องที่ ๒ ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านในเขตชลประทานหนองหวาย อำเภอน้ำพอง และอำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ผ่านนายวุฒิรักษ์ แพงตาแก้ว อดีตผู้สมัคร สส. พรรคพรรคก้าวไกล ว่าปี ๒๕๐๙ กรมชลประทานได้ขอเวนคืนที่นาที่ทำกิน ของพี่น้องประชาชนเพื่อไปจัดทำระบบชลประทาน และบอกว่าเป็นบริเวณที่น้ำจะท่วมถึง แต่หลังจากนั้นหลังโครงการดำเนินการแล้วเสร็จไม่ปรากฏว่ามีน้ำท่วมแต่ประการใด เมื่อชาวบ้านได้รับการร้องขอให้เวนคืน ชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือ แต่พอกรมชลประทาน ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ชาวบ้านขอคืนเพราะจะทำให้เกิดความมั่นคงในที่ดินและอาชีพ ก็กลับ เป็นเรื่องใช้เงื่อนไข โน่น นี่ นั่น ทั้ง ๆ ที่มี พ.ร.บ. เวนคืน สามารถที่จะคืนให้กับพี่น้อง ประชาชนได้ หากหน่วยงานราชการไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว ดังนั้นผมขอหารือท่านประธาน ผ่านไปยังกระทรวงการคลัง กรมธนารักษ์ และผ่านไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน เพื่อเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน และคืนที่ดินให้กับ พี่น้องประชาชนโดยด่วน ขอบคุณครับท่านประธาน
ขอบคุณครับท่านประธาน
เรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม อภิชาติ ศิริสุนทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ขออนุญาตท่านประธานใช้เวลาสักนิดหนึ่ง ไม่เยอะครับ เพราะว่าเพื่อนสมาชิก หลาย ๆ ท่าน ในสภาที่พูดถึงรายละเอียดไปแทบจะครบทุกประเด็นแล้ว เพียงแต่ว่า ผมอยากจะพูดบ้างในฐานะที่ผมเคยเติบโต เคยเป็นปลัดท้องถิ่นจนถึงวันนี้ผมเป็น สส. คนก็ยังเรียกผมพี่ปลัดติ๋ง ปลัดติ๋งอยู่นะครับ เลือดวิญญาณแห่งการกระจายของความเป็น ท้องถิ่นยังระลึกถึงเพื่อนที่เคยทำงานเสมอ ท่านประธานครับ ร่างพระราชบัญญัติ ทั้ง ๔ ฉบับ ที่เพื่อนสมาชิกได้เสนอ ไม่ว่าจะเป็นร่างพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษา ความสงบแห่งชาติ ที่ ๘/๒๕๖๐ เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปบริหารงานบุคคลท้องถิ่น ลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๐ พ.ศ. .... ของเพื่อนสมาชิกวรภพ วิริยะโรจน์ และคณะ เป็นผู้เสนอ และอีก ๓ ฉบับของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งหลักการ ก็คล้าย ๆ กันนะครับ ผมก็เห็นด้วยทั้ง ๔ ฉบับ ว่าจริง ๆ แล้วหลักการกระจายอำนาจมันเป็น การจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น มุ่งให้ความเป็นอิสระให้กับท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นเขาแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นเขาได้อย่างอิสระ และแก้ไข ปัญหาตรงตามความต้องการของพี่น้องท้องถิ่น แต่หากเมื่อมีคำสั่งของ คสช. ที่ ๘/๒๕๖๐ เรื่องการบริหารงานบุคคลท้องถิ่นมันก็ถือว่าเป็นการขัดต่อหลักการกระจาย อำนาจอย่างใหญ่หลวง เพราะหลักการกระจายอำนาจนั้นก็ควรที่จะต้องมีความอิสระ ในทางการเมือง ในการบริหารด้านต่าง ๆ ไม่ว่าบริหารงานบุคคล บริหารงบประมาณ มีอำนาจทางการคลังที่จะบริหารการจัดเก็บรายได้ของตัวเองอย่างอิสระ ซึ่งเดิมทีอำนาจ ทั้ง ๓ ส่วนนี้กระทรวงมหาดไทยก็เบียดบังก็ครอบคลุมโดยผ่านการออกหนังสือกฎเกณฑ์ สั่งการให้ทำโน่น ทำนี่ ให้งบประมาณมา ก็จะตามมาใช้งบประมาณอีกใช่ไหมครับ ต้องอุดหนุนโน่น อุดหนุนนี่ ทั้ง ๆ ที่คนในท้องถิ่นเขาไม่ได้ต้องการที่จะให้แก้ไขปัญหาตามที่ ส่วนกลางได้สั่งการมา ก็ถูกเบียดบังคับครอบงำอำนาจเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา จนคำสั่งของ คณะ คสช. ที่ ๘/๒๕๖๐ ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าราชการส่วนกลาง อำนาจส่วนกลางเอง ไม่อยากจะคืนอำนาจ ผมใช้คำว่า คืน ให้กับท้องถิ่น ซึ่งเป็นอำนาจที่ชอบธรรมของเขาที่เขา ต้องบริหารจัดการตัวเอง ชัดเจนครับ ว่าเป็นการรวมศูนย์อำนาจตามแนวทางของระบบรัฐ รวมศูนย์ของประเทศไทย ดังนั้นจึงเป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงในการที่จะแก้ไขปัญหาเรื่อง การกระจายอำนาจส่วนท้องถิ่น ที่เขาต้องมีอำนาจในการบริหารงานบุคคลตั้งแต่การบรรจุ แต่งตั้ง การสอบแข่งขัน การประกาศกฎหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ให้ผู้มีอำนาจในการบริหารตาม หลักการกระจายอำนาจนะครับ ดังนั้นข้อเสนอหรือ พ.ร.บ. ทั้ง ๔ ฉบับ ที่ได้เสนอมานี้เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วนะครับ ต้องยืนยันในหลักการของการกระจายอำนาจ คืนอำนาจให้กับท้องถิ่น เพื่อสร้างขวัญ และกำลังใจให้กับเพื่อนพนักงานส่วนท้องถิ่น ราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งเขาทำงานรับใช้ พี่น้องประชาชนในท้องถิ่น เขาก็อยากเติบโตในหน้าที่การงาน แต่พอเอาอำนาจไปไว้ ที่ส่วนกลาง ๒ ปี ประกาศสอบครั้งหนึ่ง แล้วพอประกาศสอบ ทราบข่าวอย่างโดยเฉพาะ ครูมานิตย์บอกว่าทราบข่าวว่ามีการพูดถึงเรื่องเงินเรื่องทอง เรื่องความไม่โปร่งใส เรื่องใคร ไม่มีสตางค์ก็ไม่สามารถเติบโตในหน้าที่การงานตรงนั้นได้ ดังนั้นผมก็จะใช้เวลาเพียงเท่านี้ เพื่อที่จะสนับสนุน พ.ร.บ. ร่างทั้ง ๔ ฉบับ เพื่อให้เข้าสู่สภานี้ให้พิจารณาร่วมกันในหลักการ เพื่อปลดล็อกคืนอำนาจให้กับท้องถิ่น ขอบคุณครับท่านประธาน