สวัสดีครับ ผม ปรีติ เจริญศิลป์ ครับ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี เขต ๕ ครับ วันนี้มาขอเรียนปรึกษาหารือ ท่านประธานเกี่ยวกับปัญหาในพื้นที่ของผมนะครับ
อย่างแรกครับ ข้อ ๑ เรื่องเกี่ยวกับปัญหากองทุนหมู่บ้านครับ ที่ทุกท่านรู้ดีว่า มีการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านในทุกพื้นที่ วันนี้มีการแตกตัวออกมาเป็นสถาบันการเงินปากเกร็ด ร่วมใจ ๒ ซึ่งหลีกเลี่ยงข้อกำหนดต่าง ๆ ที่กองทุนหมู่บ้านได้กำหนดไว้ไม่ว่าจะเป็นวงเงิน ในการปล่อยกู้ ภูมิลำเนาของสมาชิก รวมทั้งวัตถุประสงค์ในการนำเงินไปใช้ ปัจจุบัน ผู้เสียหายจำนวนมากไม่สามารถเบิกเงินได้จากสถาบันการเงินปากเกร็ดร่วมใจ ๒ ได้มีการแจ้งความไว้กับ สภ. ปากเกร็ดไปแล้วครับ กว่า ๑๓๘ คน มูลค่าความเสียหายกว่า ๑๑๗ ล้านบาท เรื่องนี้ยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากมีรายละเอียดซับซ้อนมากมายในเรื่อง ของทั้งข้อกฎหมาย แล้วก็เรื่องของการดำเนินคดีผู้ที่เกี่ยวข้อง ผมจึงอยากเรียนให้ทุกท่าน ทราบแล้วก็ขอให้ท่านประธานช่วยแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่นายกรัฐมนตรีในฐานะ ประธานคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ให้ร่วมลงมาแก้ไขปัญหา เหล่านี้ครับ
ข้อที่ ๒ ก็คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะกำกับดูแล ธนาคารออมสิน และมีอำนาจตาม พ.ร.บ. ธุรกิจสถาบันการเงินครับ
ข้อที่ ๓ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะกำกับดูแล DSI ครับ ให้ช่วยลงมารับเรื่องต่อจาก สภ. ปากเกร็ด ในการทำคดีนี้ให้สำเร็จครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ ยาวนานมาก กว่า ๒ ปีแล้วที่ประชาชนเดือดร้อนไม่สามารถเบิกเงินได้ครับ
เรื่องที่ ๒ ปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดนนทบุรีครับ ปัญหานี้เป็นปัญหาเรื้อรัง ที่เกิดขึ้นทุกปี ในพื้นที่ของผมมีพื้นที่ที่ติดแม่น้ำไม่ว่าจะเป็นตำบลปากเกร็ด ตำบลบางพลับ ตำบลอ้อมเกร็ด ตำบลท่าอิฐ ตำบลบางตะไนย์ ตำบลคลองพระอุดม และเกาะเกร็ดครับ ปัญหานี้ทุกปีท้องถิ่นจะต้องมาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ว่าจะเป็นการทำก่อกระสอบทราย หรือทำเขื่อนดินครับ ผมลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องครับ อยากให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมาดูแล เนื่องจากท้องถิ่นได้ทำงานอย่างเต็มที่แล้ว แต่เกินศักยภาพ ที่ท้องถิ่นจะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณต่าง ๆ แล้วก็ศักยภาพในเรื่องการศึกษาวิจัย จึงอยากขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะกำกับดูแลกรมโยธาธิการและ ผังเมืองนะครับ รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะกำกับดูแล กรมชลประทานครับ ลงมาช่วยศึกษาแล้วก็จัดสรรงบประมาณที่จำเป็น รวมทั้งแก้ไขปัญหา อย่างยั่งยืนให้ด้วยครับ ขอบพระคุณครับ
เรียนท่านประธานครับ ผม ปรีติ เจริญศิลป์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี เขต ๕ วันนี้ต้องขอบคุณทาง ป.ป.ช. ที่ทางท่านเลขาได้มาเองครับ วันนี้ผมจะมีข้อมูลที่จะเสนอแนะให้กับท่านเพื่อให้ปิดช่องโหว่ ในการบริหารงานครับ ในรายละเอียดในสิ่งที่ท่านอาจจะมองไม่เห็น ขอเปิด Slide เลยครับ เรื่องหลัก ๆ จะมี ๒ เรื่อง
เรื่องแรก ก็คือเรื่องเกี่ยวกับความซ้ำซ้อนในอำนาจหน้าที่ เรียนท่านประธาน ห้อง Slide ไม่ได้เปิด Slide ครับ ไม่เป็นไรครับ เดี๋ยวผมขอเล่าไปเลยแล้วกันนะครับ อย่างแรกเรื่องความซ้ำซ้อนในอำนาจหน้าที่ครับ ปัจจุบันความซ้ำซ้อนในอำนาจหน้าที่ ของ ป.ป.ช. ตามกฎหมายมีหน่วยงาน ๓ หน่วย ที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริต อย่างแรกคือ ป.ป.ช. อย่างที่ ๒ คือ ป.ป.ท. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตในภาครัฐ กระทรวงยุติธรรม ข้อ ๓ ปปป. กองบังคับการป้องกันและปราบปราม การทุจริตและประพฤติมิชอบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
๓ หน่วยงานนี้มีอำนาจในการสอบสวน เหมือนกัน เปลี่ยน Slide หน้าถัดไปเลยครับ มี ๓ หน่วยงานครับ ป.ป.ช. ตามกฎหมาย รัฐธรรมนูญมีอำนาจในการที่จะมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐ มีหน้าที่ในการตรวจสอบ ปราบปรามการทุจริตแทนได้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ก็คือทาง ปปป. และ ป.ป.ท. ไม่ได้เป็น หน่วยงานที่ขึ้นตรงกับ ป.ป.ช. จึงทำให้เกิดปัญหาหลายอย่าง เช่น กรณีที่ ป.ป.ท. ได้มีการสอบสวน หรือ ปปป. สอบสวนข้อมูลการทุจริตมาแล้วส่งให้ ป.ป.ช. ป.ป.ช. สามารถ ที่จะทบทวน หรือไม่รับสำนวนการสอบสวนได้ และนำข้อมูลมาสอบสวนเองทั้งหมด สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างนี้ครับ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่น ทั้ง ป.ป.ท. และ ปปป. หมดกำลังใจ ในการทำงานสอบสวน อันนี้คือข้อเรียกร้องที่ผมได้รับเรื่องต่อมานะครับ
ข้อที่ ๒ ตอนนี้เราขาดหลักเกณฑ์ที่แน่นอนว่าองค์กรใดจะเป็นผู้มีความรับผิดชอบ ในการสอบสวน เราจะไม่มีองค์กรกลางเหมือนศาลที่จะมีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจ ระหว่างศาลที่จะคอยชี้ขาดว่าคดีนี้จะอยู่ในอำนาจในศาลใด ผลคือทำให้เกิดความล่าช้า ในการพิจารณาการสอบสวน หรืออาจต้องพิจารณาคดีด้วยความรีบร้อน ปัญหาที่เกิดขึ้น อีกอันหนึ่ง อาจทำให้เกิดปัญหากรณีที่ ป.ป.ช. อาจจะหยิบยกบางคดีที่ตนเองต้องการ มาพิจารณา ทั้งที่เนื้อหา หรือฐานะของผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้แตกต่างไปจากคดีประเภท เดียวกันเลย หรือเรียกว่าอาจจะเกิดการล็อกผลคดีได้ครับ
ข้อที่ ๓ ในทางปฏิบัติเดิม ป.ป.ช. จะสอบสวนข้าราชการระดับ ซี ๙ ซี ๑๐ และซี ๑๑ และ ป.ป.ท. สอบสวนข้าราชการระดับซี ๑ ถึงซี ๘ แต่ในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ท่านมีการแบ่งใหม่ครับ ในทางปฏิบัติคือ ป.ป.ช. จะสอบสวนข้าราชการระดับอำนวยการ และบริหาร ส่วน ป.ป.ท. จะสอบสวนหน่วยงานด้านวิชาการ และทั่วไป ซึ่งจริง ๆ แล้ว ข้าราชการในระดับที่ปรึกษาที่เป็นซี ๑๐ ที่เขาดูแลด้านวิชาการ เขาไม่ได้ถูก ป.ป.ช. สอบสวน แต่เป็น ป.ป.ท. ที่เข้ามาสอบสวนแทนครับ นั่นหมายความว่าหลักเกณฑ์อาจจะ ไม่ถูกต้อง เนื่องจาก ป.ป.ช. ควรต้องสอบสวนข้าราชการระดับสูงเท่านั้น นี่คือสิ่งที่ ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่าหลักเกณฑ์ต่าง ๆ มันมีช่องโหว่อยู่ ก็อยากจะให้ท่านช่วยไปพิจารณา แก้ไขปรับปรุงครับ
ข้อที่ ๔ หน้าถัดไป เรื่องการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะครับ ปัจจุบัน บัญชีทรัพย์สินต่าง ๆ ของข้าราชการและนักการเมืองทาง ป.ป.ช. มีเปิดให้ดูได้ครับ ผมเอง เป็นคนหนึ่งในฐานะประชาชนธรรมดา ก่อนหน้านี้เมื่อ ๓-๔ เดือนก่อนผมเองได้เคยเข้าไป ป.ป.ช. ที่สนามบินน้ำเพื่อขอดูข้อมูลบัญชีทรัพย์สินของนักการเมืองที่เปิดเผย แต่ปรากฏว่า เมื่อผมเข้าไปถึงผมไม่สามารถเข้าไปขอดูได้โดยง่าย ใน ป.ป.ช. ชั้น ๑ ถ้าท่านทราบดีจะมี ห้องประตูไม้ห้องหนึ่งผมพยายามขอเข้าไป วันที่ผมเข้าไปในฐานะประชาชนห้องล็อกอยู่ ผมได้สอบถามเจ้าหน้าที่ว่าผมสามารถขอดูบัญชีทรัพย์สินนักการเมืองได้ไหม ที่ท่านปิดไว้ที่ Board เขาไม่ได้เปิดให้ผมดูครับ เขาถามผมว่าท่านจะดูของใคร แล้วก็ถามว่า มีบัตรประชาชนไหม วันนั้นผมก็ตัดสินใจกลับบ้านเลย เพราะว่ามันไม่มีความเป็นส่วนตัว แทนที่จะเปิดเผยให้ประชาชนสามารถดูได้ทั่วไปครับ อีกเรื่องหนึ่ง ข้อมูล ป.ป.ช. ที่เปิดเผย ทาง Website ซึ่งผมลองไปเปิดดูแล้วมีแต่หน้าปก ในรายละเอียดต่าง ๆ จะถูกปิดบังอยู่ อย่างเช่นเลขโฉนดที่ดินอย่างนี้ครับ ผมเชื่อว่าบางรายการควรเปิดเผย บางรายการไม่ควร เปิดเผย อย่างบ้านเลขที่นี้ครับผมไม่แน่ใจว่าควรเปิดเผยหรือไม่ แต่ผมคิดว่าถ้าหากต้องการ ให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบท่านควรต้องเปิดเผย อย่างผมเห็นนักการเมืองบางคน มีบ้านหลังในตำบลเดียวกัน ท่านปิดเลขบัญชี ผมไม่รู้หรอก ผมไปช่วยท่านตรวจสอบไม่ได้ จริง ๆ ถ้าหากเขามีบ้าน ๒ หลังในตำบลเดียวกันผมจะรู้ได้อย่างไรครับ
ข้อสุดท้าย เรื่องการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะในเรื่องการชี้มูลความผิด ของนักการเมือง หรือข้าราชการท้องถิ่นครับ ปัจจุบันท่านอาจจะเห็นว่ามีการเปิดเผย ออกข่าว ออกสื่อเป็นแค่บางคน ผมมาดูในรายงานของท่าน อย่างรายงานท่านในการชี้มูล ความผิดของข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปีที่ผ่านมา ๒๖๗ ราย รายการเหล่านี้ ท่านไม่ได้เปิดเผย ผลก็คือข้าราชการบางหน่วยที่ผมทราบ คือปกติแล้วมีการชี้มูลความผิด ถือว่าเป็นการผิดวินัยร้ายแรงตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด จะต้องให้ปลดออกครับ แต่ผมเห็นบางส่วนก็ยังอยู่ได้ ผมไม่เข้าใจว่าเกิดเหตุผลอะไร หากท่านไม่เปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ให้ประชาชนทราบ เราไม่สามารถช่วยท่านตรวจสอบได้เลย หรืออาจจะเป็นช่องว่างที่ทำให้ ป.ป.ช. มีส่วนในการทุจริตได้เองครับ สิ่งเหล่านี้ ที่ผมกล่าวไปอยากให้ท่านช่วยนำไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไข หรือเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ เกิดความโปร่งใส เพราะผมเชื่อว่างานท่านมีมาก ถ้าหากให้พวกเราช่วยกันดู ช่วยกัน ตรวจสอบ หรือประชาชนคนธรรมดาสามารถรับทราบข้อมูล ผมว่าจะส่งข้อมูลที่เป็น ประโยชน์ให้กับท่านในการพิจารณาได้แน่นอนครับ ขอบพระคุณครับ
สวัสดีครับท่านประธาน ผม ปรีติ เจริญศิลป์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี เขตที่ ๕ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอมา อภิปรายเรื่องเกี่ยวกับการทำงานของ สสส. ขอขึ้น Slide ครับ
วันนี้เท่าที่ผมตรวจสอบข้อมูลมาในการใช้ งบประมาณของ สสส. ปีหนึ่งจะมีงบประมาณเรียกว่า Earmarked Tax เป็นการเก็บเพิ่ม จากภาษีสรรพสามิตที่ภาครัฐจัดเก็บไปแล้ว ๒ เปอร์เซ็นต์ จากสุราและยาสูบ วันนี้ที่ผมเห็น ข้อมูลในภาพรวมผมไม่สบายใจอย่างยิ่งครับ วันนี้ผมดูข้อมูลการสูบบุหรี่ของคนไทย ปัจจุบัน มีข้อมูลการสูบบุหรี่ที่ลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้นครับ จากปี ๒๕๖๐ ๑๐.๗ ล้านคน ปี ๒๕๖๔ เหลือ ๙.๙ ล้านคน แต่ผลสำรวจขององค์การอนามัยโลกได้สำรวจสุขภาวะของ นักเรียนไทย มีการสูบบุหรี่ที่เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๘ จาก ๑๓.๘ เปอร์เซ็นต์ เป็น ๑๔.๔๐ เปอร์เซ็นต์ ในปี ๒๕๖๔ และมีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง ๑๓.๖ เปอร์เซ็นต์ ส่วนอัตราการดื่มสุรา มีแนวโน้มค่อนข้างคงที่ ดังนั้นในภาพรวมการบริโภคยาสูบไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายทั้งที่ท่านก็ Ban มาตลอด ๘ ปีที่ผ่านมา วันนี้ผมขอนิยาม ใหม่ครับ ผมดูจากข้อมูลแล้ว สสส. อาจจะหมายถึงซ้ำซ้อน ไม่โปร่งใส และไม่เป็น วิทยาศาสตร์ ใน ๓ ข้อที่ผมจะอภิปรายต่อไปนี้ครับ
ข้อแรก ท่านมีความซ้ำซ้อนในการกำหนดตัวชี้วัดและผลสัมฤทธิ์ของ การดำเนินงานมากมายครับ ในรายงานบอกว่าท่านเป็นผู้ประสานงาน เป็นคนเสริมพลัง เชื่อมการทำงาน ผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนต่าง ๆ นานา เมื่อเทียบกับงบประมาณ ๔,๕๐๐ ล้านบาทต่อปีแล้วมันเหมาะสมหรือไม่กับภารกิจงานแบบนี้ครับ ประหนึ่งว่า ถ้าหากไม่มี สสส. แล้วหน่วยงานอื่น ๆ ก็จะทำงานไม่ได้เลย วันนี้อัตราการสูบบุหรี่ เป้าหมาย แผนการลดการสูบบุหรี่ ตามแผนยุทธศาสตร์ท่านพลาดเป้า แล้วก็ขององค์การอนามัยโลก ที่จะให้มีการลดเป็น ๑๔.๗ เปอร์เซ็นต์ ในปี ๒๕๖๕ ท่านก็ทำไม่สำเร็จครับ ในรายงาน ของ สสส. ที่ผมได้อ่านฉบับนี้ไม่ได้พูดถึงเป้าหมายการลดผู้สูบบุหรี่เลย แต่ท่านไปพูดถึง การดำเนินงานกิจกรรมเชิงพื้นที่เสียมากกว่า ผมเลยไม่แน่ใจว่าอะไรคือตัวชี้วัดความสำเร็จ ของ สสส. กันแน่ ท่านทำงานซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นอีกหลายหน่วยงาน ในหลาย ๆ โครงการ ที่ท่านบอกว่าเป็นผลงานของท่านครับ นโยบายสถานศึกษาปลอดบุหรี่ ปลอดบุหรี่ไฟฟ้า และกัญชา หรือความสำเร็จในเรื่องจังหวัดควบคุมยาสูบ ๗๗ จังหวัดทั่วประเทศท่านบอก เป็นผลงานของตัวเอง ทั้งที่หลาย ๆ อย่างก็มาจากการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขทั้งสิ้น ผมเลยไม่แน่ใจว่าผลงานของท่าน ท่านมา Claim ผลงานที่เป็นของหน่วยงานที่เขามีความ รับผิดชอบอยู่แล้ว ถูกต้องหรือไม่ครับ
ข้อ ๒ ในเรื่องของความโปร่งใส วันนี้ผมเห็นงบประมาณ ๔,๕๐๐ ล้านบาท ไปกับ ๓,๔๘๒ โครงการ มีทั้งเป็นโครงการใหม่ แล้วก็มีภาคีเครือข่ายครับ แต่ในรายงาน ก็ไม่ได้ระบุว่าโครงการเหล่านี้ไปให้ใครบ้าง หน่วยงานไหนบ้าง พูดกว้าง ๆ จึงเป็นข้อสงสัย ต่าง ๆ นานาครับ สำหรับผมแล้วผมคิดว่าท่านควรต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด เราต้องการ ทราบครับ ทุกปีมีหน่วยงานไหนบ้างที่ได้ติดต่อกัน ๒๐ ปีที่ผ่านมา เมื่อไปดูสัดส่วนการใช้ งบประมาณครับ ท่านสนับสนุนงบประมาณด้านแผนควบคุมยาสูบเพียง ๓๑๓ ล้านบาท และแผนการลดการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสิ่งเสพติดเพียง ๓๓๒ ล้านบาท น้อยมาก เมื่อเทียบกับงบประมาณทั้งหมดที่ท่านได้รับ ทั้งที่ยาสูบคือปัญหาสำคัญ สุราและยาสูบ คร่าชีวิตคนไทยไปกว่า ๘๐,๐๐๐ คนต่อปีครับ ในรายงานท่านพูดถึงการกระจายทุน ส่วนใหญ่จะไปอยู่ที่มูลนิธิ หรือองค์กรสาธารณประโยชน์ถึง ๑,๑๙๙ ล้านบาท ซึ่งผม ก็ไม่ทราบว่าเป็นหน่วยงานไหนบ้าง ท่านควรเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบครับ
ข้อ ๓ ข้อมูลของท่านไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ได้อ้างอิงจากแหล่งที่มา ที่น่าเชื่อถือจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสุขในประเทศชั้นนำของโลก ผมขอ ยกตัวอย่างแค่บางเรื่อง เช่น เรื่องของบุหรี่ไฟฟ้า ต่างประเทศในสหรัฐอเมริกา ในอังกฤษ นายกรัฐมนตรีเขาสนับสนุนให้สูบบุหรี่ไฟฟ้าแทนบุหรี่ปกติ ในสหรัฐอเมริกามีการวิจัยว่าบุหรี่ ไฟฟ้าที่ไม่มีการเผาไหม้มีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไปครับ แคนาดาและนิวซีแลนด์สนับสนุน ให้ผู้สูบบุหรี่หันกลับมาเปลี่ยนเป็นบุหรี่ไฟฟ้าแทน แต่สิ่งที่ท่านทำครับให้มีการคงการ Ban บุหรี่ไฟฟ้าไม่ให้เกิดขึ้น เหมือนเป็นการปิดกั้นสิ่งที่อันตรายน้อยกว่าให้กับผู้บริโภค อย่างไรก็ตามเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้าท่านทำเรื่องรณรงค์ให้มีการ Ban บุหรี่ไฟฟ้า แต่ใน Internet มีขายมากมายครับ ท่านลองเปิด Facebook ของท่านไปกด Market Place พิมพ์คำว่าบุหรี่ไฟฟ้า มีขึ้นเยอะแยะมากมายเต็มไปหมดครับ ผลกระทบยิ่งกว่านั้นวันนี้ภาษี สรรพสามิตในหมวดบุหรี่ลดลงกว่า ๔,๔๑๖ ล้านบาท ต่อปีเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา นี่อาจจะ เป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายที่ท่านได้สนับสนุนไปในเรื่องการ Ban บุหรี่ไฟฟ้าครับ วันนี้ ๔,๕๐๐ ล้านบาทต่อปีครับ งบประมาณ Earmarked tax ที่ไม่ผ่านกระบวนการพิจารณา จัดสรรของรัฐสภาที่มาจากประชาชน ท่านควรต้องชี้แจงให้เห็นรายละเอียดต่าง ๆ ว่าท่านใช้ งบประมาณไปกับอะไร ตัวชี้วัดความสำเร็จของท่านคืออะไรกันแน่ ผมเชื่อว่าพวกท่าน มีเจตนาดีที่อยากจะให้ประเทศไทย คนไทยมีสุขภาวะที่ดี แต่ท่านต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ ปรับเปลี่ยนมุมมองให้สอดคล้องกับสังคมและยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ขอบพระคุณครับ
อยู่ครับ ปรีติ เจริญศิลป์ ครับ
ขอ Slide ด้วยครับ
สวัสดีครับท่านประธาน ผม ปรีติ เจริญศิลป์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล วันนี้จะขออภิปรายเรื่องเกี่ยวกับ บุหรี่ไฟฟ้าครับ เพื่อสนับสนุนการตั้งญัตติของการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ผลประโยชน์ของการมีกฎหมายควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้า
ข้อแรก อันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ผมเชื่อว่าทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าบุหรี่ หรือบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งปอด เสี่ยงต่อโรคหัวใจ หรือเสี่ยงต่อ ปอดอักเสบ วันนี้พวกเราเห็นแล้วว่าเราควรจะควบคุม หรือควรจะปล่อยปะละเลยบุหรี่ไฟฟ้า ปัจจุบันคนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้ากว่า ๗๘,๐๐๐ คน ยิ่งเป็นเด็กด้วย อายุ ๑๕-๒๔ ปี ถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ เห็นได้ว่ามันเป็นการบริโภคอย่างแพร่หลายไปแล้วสำหรับโรงไฟฟ้า ในประเทศไทย ปัจจุบันกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ผมไปลองค้นหาดูมี ๕ เรื่อง มีตั้งแต่ พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ มีประกาศกระทรวงพาณิชย์ คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ร.บ. ศุลกากร และ พ.ร.บ. สรรพสามิต มีข้อที่น่าสังเกตอันหนึ่ง ก็คือในเรื่องของ พ.ร.บ. ควบคุมยาสูบ ปัจจุบันมีการแก้ไขคำนิยามของคำว่าผลิตภัณฑ์ยาสูบ เขาหมายความว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของใบยาสูบ หรือพืช Nicotiana Tabacum และให้หมายความ รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นใดที่มีสารนิโคตินเป็นส่วนประกอบด้วยครับ หลังจากเห็นคำนิยามนี้แล้ว มันดูเหมือนบุหรี่ไฟฟ้าจะถูกควบคุมด้วย เพราะบุหรี่ไฟฟ้าปัจจุบันมีทั้งแบบที่มีนิโคตินและ ไม่มีนิโคติน แต่ส่วนกฎหมายตัวอื่น ๆ ของหน่วยงานอื่นเขาก็ยังควบคุมไม่ให้นำเข้าอยู่ นี่คือความสับสนของกฎหมายในปัจจุบันที่เกิดขึ้น ไม่ว่านักกฎหมายคนไหนตีความก็มองไป ได้หลายมุมว่าการนำเข้ามาผิดแน่นอน แต่การครอบครองจะผิดหรือไม่นะครับ ในหลักการ ของ พ.ร.บ. สรรพสามิตมีการระบุไว้สำหรับผู้ที่ซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ซื้อ รับไว้ หรือมีไว้ ในครอบครอง สินค้าที่หลีกเลี่ยงการพิธีการศุลกากรมีความผิด นั่นหมายความว่าผู้ซื้อ ผู้ครอบครองก็จะมีความผิดด้วย ผมเชื่อว่าในสภาแห่งนี้ถ้าหากค้นตัวกันก็มีคนที่จะมีของ ผิดกฎหมายเหล่านี้แน่นอน ดังนั้นโจทย์ที่เกิดขึ้นคือเราควรจะแก้ไขกฎหมายให้ถูกต้องไหม ในทุกหน่วยงานที่กำกับดูแลอยู่ ไม่ว่าจะเป็นประกาศของกระทรวงพาณิชย์ หรือคำสั่งของ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ๙/๒๕๕๘ ที่เขาระบุว่าห้ามขาย หรือห้ามให้บริการสินค้า บารากุ บารากุไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า นี่คือตัวอย่างครับ หากถ้าเรายังนิ่งเฉยไม่มีการออก กฎหมายเพื่อควบคุมกำกับดูแลบุหรี่ไฟฟ้ามันก็จะเกิดเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นครับ อันนี้คือ ข่าวในอดีตที่ผ่านมามีการจับผู้ขายที่เป็นคนไทยเขาถูกจับเขาครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า แต่ทำไม จับแค่บางคน หลายคนก็ไม่โดนครับ กรณีด้านซ้ายก็มีการประกันตัวไป ๑๐๐,๐๐๐ บาท อันนี้ที่จังหวัดชลบุรีครับ ส่วนด้านขวาก็มีเพื่อนสมาชิกได้เล่าไปแล้วก็คือนักแสดงชาวไต้หวัน อันนี้เป็นเพื่อนชายของนักแสดงไต้หวัน ว่าถูกข่มขู่ในการรีดไถเงินเมื่อมีการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า Case เหล่านี้ตำรวจควรเข้มแค่ไหนครับ บางที่จับบางที่ไม่จับ บางคนสูบได้ นี่ละครับคือ การบังคับใช้กฎหมายที่อาจจะไม่เท่าเทียมกัน และเป็นความสับสนของกฎหมายที่เกิดขึ้น ในปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้นหากเราไม่มีการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมายเราก็เสียโอกาส ในการเก็บภาษีสรรพสามิตด้วย ถ้าเทียบกับภาษีสรรพสามิตของบุหรี่ทั่วไปที่ลดลงกว่า ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท เทียบจากปีที่ผ่านมามีส่วนหนึ่งที่น่าจะมาเป็นส่วนของหันมาสูบบุหรี่ ไฟฟ้าครับ และมีนักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่าอาจจะมีรายได้เข้ารัฐถึง ๖,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี ลองคิดดูถ้าผ่านมาเราทำไปเมื่อ ๕ ปีที่แล้วได้หลายหมื่นล้านบาทครับ นี่คือเหตุผลที่ผม อยากเสนอให้สนับสนุนให้มีการตั้งญัตติเกี่ยวกับเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าให้มีการควบคุมให้ถูกต้อง
แล้วก็อีกเรื่องหนึ่ง เรื่องเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าปัจจุบันนี้กลายเป็นธุรกิจ ที่มีการค้ากันเกิดขึ้นทาง Online มากมายครับ ธุรกิจเหล่านี้เติบโตอย่างรวดเร็วถ้าหากไปดู ในตลาดนัดแต่ละที่บุหรี่เหล่านี้ก็มีจำหน่ายแล้ว แต่ไม่เข้าใจทำไมตำรวจท้องที่ก็ไม่ได้ ดำเนินการจับแต่อย่างใด เพราะเขาไม่มีความชัดเจนครับ เพราะวันนี้คนสูบไม่เป็นไร คนขาย ผิดอย่างเดียว ดังนั้นเหตุผลที่กล่าวขึ้นมาผมขอสนับสนุนให้มีการตั้งญัตติ เพื่อให้มีการออก กฎหมายเพื่อมากำกับ ดูแลให้ถูกต้อง สำหรับบุหรี่ไฟฟ้า ขอบพระคุณครับ
สวัสดีครับท่านประธาน ผม ปรีติ เจริญศิลป์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี เขต ๕ วันนี้มีเรื่องหารือท่านประธาน ๖ เรื่องด้วยกันครับ
เรื่องที่ ๑ ปัญหาน้ำท่วมขังหลังโรงเรียนปากเกร็ด บริเวณซอยแจ้งวัฒนะ ปากเกร็ด ๖ ขอ Slide ขึ้นด้วยครับ
เนื่องจากประชาชนได้รับความเดือดร้อน เวลาฝนตกหนักน้ำระบายช้ามากเพราะเป็นพื้นที่ต่ำ อยากจะให้ทางเทศบาลนครปากเกร็ด ช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ให้กับประชาชนด้วยครับ
เรื่องที่ ๒ ปัญหาน้ำเน่าเสียมีกลิ่นเหม็นมาก บริเวณสถานีสูบน้ำคลองทองหลาง วันนี้ประชาชนก็เอาน้ำมาให้ผมด้วยครับว่าตอนนี้น้ำสีข้นมาก อยู่ในซอยศาลเจ้า หลังตลาดพิชัย ก็คาดว่าน้ำเสียอาจจะไหลมาจากทางหมู่บ้านเคหะ อยากให้เทศบาล นครปากเกร็ดร่วมลงมาดูและเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหานี้ให้ด้วยครับ
เรื่องที่ ๓ ปัญหาน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตก บริเวณถนน นบ.๑๐๐๗ ระยะทาง ประมาณ ๓ กิโลเมตร ไม่มีท่อระบายน้ำ ประชาชนที่ตำบลลำโพและตำบลคลองข่อย เดือดร้อนมาก อยากจะขอให้ทางกระทรวงคมนาคม กรมทางหลวงชนบท พิจารณา ดำเนินการจัดทำท่อระบายน้ำให้ด้วยครับ
เรื่องที่ ๔ ปัญหาภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง อยู่ตลอดเวลาในตำบลเกาะเกร็ดประชาชนเดือดร้อนมาก เนื่องจากที่ดินเดิมที่เป็นที่ดิน เกษตรกรรม อัตราภาษีล่าสุด ๐.๐๑ เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าหากมีน้ำท่วมนี่เขาถูกตีความว่า เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า อัตราภาษีเพิ่มขึ้นเป็น ๐.๓ เปอร์เซ็นต์ ๓๐ เท่าจากภาษีเดิม ดังนั้นอยากให้กระทรวงการคลังช่วยหาหลักเกณฑ์การพิจารณาในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง อยู่ต่อเนื่องเพื่อให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมครับ
เรื่องที่ ๕ การเดินทางไปโรงพยาบาลปากเกร็ด ๒ เนื่องจากไม่มีรถขนส่ง สาธารณะประชาชนเดือดร้อนมากต้องจ่ายค่าแท็กซี่กว่า ๓๐๐ บาท อยากให้กระทรวง คมนาคมช่วยเร่งดำเนินการจัดหารถขนส่งให้ด้วยครับ
เรื่องที่ ๖ ปัญหาการก่อสร้างสนาม Futsal มูลค่า ๖๐ ล้านบาท ประชาชน ได้มีการร้องเรียนและในสื่อ Social Media จำนวนมากถึงความเหมาะสม ความคุ้มค่า และความถูกต้อง เนื่องจากการใช้งบประมาณส่วนนี้มีการโยกงบประมาณส่วนอื่นมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นงบเงินเดือนครู แล้วก็งบการบำบัดน้ำเสียต่าง ๆ รวมถึง ๖๐ ล้านบาท อยากให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ป.ป.ช. และ สตง. ลงมาตรวจสอบให้เกิดความกระจ่างด้วยครับ ขอบพระคุณครับ
เรียนท่านประธานครับ ผม ปรีติ เจริญศิลป์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี เขต ๕ ครับ วันนี้มีเรื่องมาหารือ ท่านประธาน ๖ เรื่องด้วยกันนะครับ
เรื่องที่ ๑ ปัญหาไฟส่องสว่างบริเวณ ซอยติวานนท์-ปากเกร็ด ๑๕ ตรงปากทางเข้าเคหะนนทบุรี ๑ มืดเป็นเวลามานานแล้ว อยากให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมาแก้ไขด้วยครับ
เรื่องที่ ๒ ปัญหาต้นไม้ ต้นสนและต้นไม้ต่าง ๆ บริเวณทางเข้าเคหะนนทบุรี เช่นกัน ทางฝั่งซอยถนนวัดกู้สูงแล้วก็มีอายุเยอะ มีการหักลงมาโดนรถยนต์ของประชาชน หลายคันแล้ว อยากให้การเคหะแห่งชาติลงมาตัดแล้วก็ดูแลด้วยครับ
เรื่องที่ ๓ เป็นเรื่องการจอดรถของ Site งานก่อสร้างของบริษัทก่อสร้าง ชื่อดังยักษ์ใหญ่ บริเวณซอยติวานนท์-ปากเกร็ด ๑๕ เช่นกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มาบังคับใช้ กฎหมายไปแล้ว แต่หลังจากตำรวจกลับไปก็มาจอดอีกแล้วครับ อยากให้ตำรวจเข้มงวด กว่าเดิม ต้องมีการจับปรับมากขึ้นครับ
เรื่องที่ ๔ ปัญหามลพิษจากการเผาไหม้ ไม่ว่าจะเป็นหญ้า พืช สายไฟ ใน ๓ อำเภอ ในพื้นที่ของผมมีอำเภอปากเกร็ด มีตำบลอ้อมเกร็ด หมู่ที่ ๔ ตำบลคลองข่อย หมู่ที่ ๓ อำเภอเมืองนนทบุรี ก็มีตำบลไทรม้า บริเวณหมู่บ้านเพอร์เฟค เพลส ๓ อำเภอบางบัวทอง บริเวณใกล้วัดลำโพ ประชาชนได้รับความเดือดร้อนมาก อยากให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลงมา แก้ไขปัญหาจริงจังครับ
เรื่องที่ ๕ รถไฟฟ้าสายสีชมพู ปัจจุบันได้ดำเนินการวิ่งเรียบร้อยแล้ว ข้างบนสวยหรู แต่ข้างล่างพื้นผิวถนนยังเป็นหลุมเป็นบ่อ มีเหล็กวางอยู่ การจราจรตรงเส้น แจ้งวัฒนะมีความยากลำบากมาก ตั้งแต่ลงถนนพระราม ๔ ลงมาเลย อยากให้ทาง รฟม. BTS รีบคืนพื้นผิวถนนให้กับประชาชนในพื้นที่โดยเร็วครับ
เรื่องที่ ๖ ปัญหาไฟส่องสว่างบริเวณถนนเลี่ยงเมืองปากเกร็ด ดับเป็น ระยะเวลานานแล้ว ถนนนี้เป็นการเชื่อมระหว่างติวานนท์มาออกแจ้งวัฒนะ มืดมากครับ นึกว่าอยู่ต่างจังหวัด ขอให้กรมทางหลวงมาแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ขอบพระคุณครับ
ท่านประธาน ปรีติ เจริญศิลป์ ๒๒๒ แสดงตนครับ
สวัสดีครับท่านประธานที่เคารพ ผม ปรีติ เจริญศิลป์ ครับ วันนี้ผมขอพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับพลุระเบิดที่จังหวัดสุพรรณบุรีครับ ก่อนอื่นผมต้องขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์พลุระเบิดในครั้งนี้ครับ ในฐานะที่ผมเอง ก็เป็นคนหนึ่งที่เกิดที่จังหวัดสุพรรณบุรี ในวันนั้นที่เกิดพลุระเบิดผมทราบข่าวผมรีบโทรหา ที่บ้านผมที่อยู่ที่สุพรรณบุรีว่าเป็นอย่างไรบ้าง เพราะผมเป็นห่วงครับ เหตุการณ์นี้ ที่สุพรรณบุรีไม่ใช่เป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้น เหตุการณ์พลุระเบิดที่สุพรรณบุรีเกิดขึ้นมาแล้ว ถึง ๙ ครั้ง เสียดายที่ ณ วันนั้นไม่มีการแก้ปัญหาเลย ไม่ว่าจะใครก็ตาม ผู้บริหารจังหวัด หรือนักการเมืองในพื้นที่ จนเมื่อเกิดเหตุ ณ วันนี้ ผมจะกล่าวให้ฟังครับ
ตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ จนถึงปัจจุบัน วันที่ ๒๐ มิถุนายน เกิดเหตุพลุระเบิดที่อำเภอบางปลาม้า ณ วันนั้นมีผู้สาหัสถึง ๓ ราย วันที่ ๑๓ สิงหาคม ต่อเนื่องมาปีเดียวกัน อำเภอเมือง มีผู้บาดเจ็บสาหัส ๒ ราย วันที่ ๒๙ ธันวาคม ที่อำเภอดอนเจดีย์ บาดเจ็บอีก ๓ ราย ต่อมา ปี ๒๕๕๕ อันนี้พอจะเป็นข่าว ได้บ้างพลุระเบิดในงานตรุษจีน ซึ่ง ณ วันนั้นมีการจัดงานใหญ่มากที่มังกรสวรรค์ ซึ่งอยู่ ตรงข้ามบ้านผมเลยครับ ห่างจากบ้านผมประมาณ ๓๐๐ เมตร มีการแสดงพลุใหญ่โต วันนั้นมีการถ่ายทอดสดด้วยครับ ผมยังจำได้วันนั้นผมโชคดี ผมไม่ได้อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุ ผมดูการถ่ายทอดสดอยู่ที่กรุงเทพฯ ครับ วันนั้นเกิดเหตุ พลุระเบิดมีผู้บาดเจ็บถึง ๗๕ ราย ผู้เสียชีวิต ๔ ราย บ้านเรือนเสียหายจากเหตุไฟไหม้ กว่าร้อยหลังคาเรือน รวมทั้งวัดพระธาตุก็ถูกเหตุเพลิงไหม้ด้วยครับ วันนั้นบ้านผมได้รับภัย กระจกแตกเกือบทั้งหลัง สุดท้ายได้รับเงินชดเชยจากภาครัฐเพียง ๙,๐๐๐ บาท ผมคิดว่า เหตุการณ์ ณ วันนั้นหลาย ๆ คนควรต้องมาระดมสมองกันเพื่อป้องกันเหตุเหล่านี้ครับ แต่ปรากฏว่าวันนี้ก็ยังเกิดเหตุการณ์พลุระเบิดขึ้นอีกที่จังหวัดสุพรรณบุรี หลังจากปี ๒๕๕๕ ยังเกิดเหตุต่อเนื่องอีก ๔ ครั้ง ปี ๒๕๕๖ อำเภอเมือง มีผู้เสียชีวิต ๕ ราย ปี ๒๕๕๘ ที่อำเภอเมืองอีกแล้วครับ เสียชีวิตอีก ๑ ราย ปี ๒๕๖๑ เสียชีวิต ๑ ราย ปี ๒๕๖๕ เสียชีวิต ๑ ราย และจนมาเกิดเหตุล่าสุดเสียชีวิตมากที่สุดคือ ๒๔ ราย ความอันตราย ของพลุไม่ใช่แค่การป้องกันเรื่องการตั้งโรงงานเข้มงวดครับ สัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ในช่วงเทศกาล ปีใหม่ หมาแมวเมื่อเขาได้ยินเสียงพลุเขาวิ่งออกจากบ้าน สุนัขบางบ้านเสียชีวิตเพราะเหตุ เสียงดัง เพราะเขาตกใจ ทีมงานก้าวไกลที่นนทบุรีวันนั้นผมบอกเลยว่าใครว่างไปช่วยกัน ช่วงเทศกาลปีใหม่ ในภาพคือการวางแผนครับ มีคุณ จ.เจตน์เป็นหัวหน้าทีม ผมให้ทีมงานผม ไปร่วมด้วย ในการช่วยหมาแมวที่ตกใจเสียงพลุระเบิด ไปช่วยกันจับ รูปขวาสุดนี่เราไปที่ ถนนสามัคคีครับ สุนัขตกใจเขาก็วิ่งไปในร้านอาหาร เราไปช่วยกันจับ นี่ครับคือภารกิจ ที่ผมช่วยทำ ในขณะที่คนบางกลุ่มก็ยังมองพลุว่าเป็นสีสันที่สวยงาม แต่อีกมุมหนึ่งมีสุนัข ทั้งบาดเจ็บวิ่งหนีออกจากบ้านถูกรถชนก็มีครับ
ข้อเสนอในวันนี้ผมคิดว่าเราไม่ควรแค่ออกมาตรการควบคุมโรงงานผลิตพลุ เราควรออกมาตรการในเรื่องควบคุมเกี่ยวกับการจุดพลุด้วย ไม่ว่าจะเป็นความดังของเสียง จำนวนพลุที่จุด มาตรการการป้องกันเหตุพลุระเบิด โดยการต้องแจ้งประชาชนในพื้นที่ ให้ทราบด้วยในรัศมีที่จะได้รับผลกระทบ บางบ้านมีสัตว์เลี้ยงเขาต้องคอยปกป้องหาที่ปิดหู หมาแมวไว้ครับ ไม่อย่างนั้นสัตว์เหล่านี้เขาตกใจและเสียชีวิตได้ การออกใบอนุญาตคงไม่ใช่ กระดาษแผ่นเดียว ควรต้องมองให้มันลึกกว่านั้นและต้องจริงจังในการแก้ปัญหา และผมหวัง ว่าเหตุการณ์พลุระเบิดที่จังหวัดสุพรรณบุรีจะเป็นครั้งสุดท้ายแล้วครับ ขอบพระคุณครับ
สวัสดีครับท่านประธานที่เคารพ ผม ปรีติ เจริญศิลป์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี วันนี้ผมมาขออภิปราย เห็นด้วยกับญัตติการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อการบริหารจัดการขยะขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น ผมเองเป็น สส. เขตครับ ได้รับการร้องเรียนมาจำนวนมากเกี่ยวกับเรื่อง การบริหารจัดการขยะของท้องถิ่น อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาส่วนนี้มันน่าจะเป็นการแก้ ที่ระบบมากกว่าไปโทษใครครับ ผมจะมาแชร์ปัญหาที่พบในท้องถิ่นของผมให้ฟังครับ ขอสไลด์ครับ
ข้อแรก ผมลองสำรวจเรื่องเกี่ยวกับ ค่าบริหารจัดการขยะในแต่ละพื้นที่ราคาก็จะไม่เท่ากัน อย่างบ้านทั่วไปในท้องถิ่นของผม ๑๑ อปท. ก็จะมีราคาการจัดเก็บขยะต่อหลังอยู่ที่ ๒๕ บาท ถึง ๔๐ บาทต่อเดือนต่อหลัง โดยที่หมู่บ้านจัดสรรเองก็มีราคาที่สูงกว่า ซึ่งผมได้ลองสืบทราบสอบถามมา หมู่บ้านจัดสรร จะใช้บริษัทเอกชนในการจัดเก็บขยะ ซึ่งจะมีราคาที่สูงกว่าเท่าตัวแน่นอน ในอดีตผมเคยลอง ให้ทีมงานไปสืบข้อมูลมา ปรากฏว่าการจัดเก็บขยะของหมู่บ้านจัดสรรกับบ้านทั่วไปผู้จัดเก็บ กลับกลายเป็นรายเดียวกัน นั่นหมายความว่าท้องถิ่นหรือบริษัทเอกชนเขาก็ใช้รถเก็บขยะคัน เดียวกัน บริษัทเดียวกัน แต่ราคาก็ยังไม่เท่ากันครับ อย่างบางแห่งที่มี อปท. จัดเก็บค่าจัดเก็บ ขยะ ๔๐ บาทต่อเดือน เช่น เกาะเกร็ด เป็นพื้นที่เกาะที่ต้องมีการเคลื่อนย้ายขยะด้วยเรือ ซึ่งงบประมาณเขาก็มีไม่เพียงพอ จึงต้องไปพึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใหญ่กว่า เช่น เทศบาลปากเกร็ดมาช่วย บนเกาะเกร็ดมีจำนวนหลังคาเรือนประมาณ ๑,๕๐๐ หลังคา เรือน แต่มีผู้ที่จ่ายค่าจัดเก็บขยะต่อเดือนเพียง ๔๐๐ หลัง สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าหลังที่ไม่จ่าย เกิดอะไรขึ้น เพราะปัญหาทางด้านเศรษฐกิจนั่นเอง จากส่วนนี้ส่งผลต่อมลพิษในเรื่องขยะ เป็นจำนวนมาก ซึ่งเขาจะต้องเอาขยะที่ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของเขาไม่ได้เก็บ ไปทิ้งในถังรวม ทำให้เกิดขยะล้น ปัญหาหนึ่งที่พบที่ได้รับการร้องเรียนคือความถี่ในการ จัดเก็บขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งก็ไม่เท่ากัน บางที่สัปดาห์ละ ๒ ครั้ง มาตรฐาน บางที่สัปดาห์ละ ๑ ครั้ง บางที่ ๒ สัปดาห์ ๑ ครั้ง อันนี้ไม่ทราบว่ามาตรฐาน มาจากไหน หรืออย่างไร
เรื่องร้องเรียนอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องเกี่ยวกับถังขยะมีไม่เพียงพอ ซึ่งผมเข้าใจ ว่าท้องถิ่นจะมีการแจกถังขยะให้กับบ้านเรือนแต่ละแห่งที่มีการชำระค่าขยะ แต่บางแห่ง ก็ไม่ได้รับเพราะเขาเป็นชุมชนที่รถขยะเข้าไม่ถึง จะมีถังรวมที่ให้ทุกคนเดินออกมาเพื่อมาทิ้ง ซึ่งบางทีก็ถังล้น เพราะว่าการจัดเก็บขยะยังไม่เป็นระบบเพียงพอ
ปัญหาสำคัญอีกอันหนึ่ง คือมีการแอบทิ้งขยะในพื้นที่สาธารณะ ที่ผมพบภาพ ด้านซ้ายที่เป็นขยะเป็นซากหัวหมูที่มีการเอามาทิ้งในพื้นที่ตำบลบางพลับ อำเภอปากเกร็ด ส่วนภาพขวาเป็นการทิ้งในพื้นที่ทางหลวง ใต้ทางกลับรถ ในตำบลคลองข่อย อำเภอ ปากเกร็ด ผมลองมาดูในเรื่องของกฎหมาย ภาพซ้ายเมื่อมีการทิ้งขยะในถนนทางหลวงก็จะมี ป้ายประกาศเตือนว่า การทิ้งขยะนี้ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ. ทางหลวง มีโทษปรับและจำคุก ๓ ปี ปรับไม่เกิน ๖๐,๐๐๐ บาท มีป้ายเตือนครับ แต่ปรากฏว่าขยะก็ยังทิ้งในจุดที่ติดป้ายนี้ จนเกือบจะมาทับป้ายเรียบร้อยแล้วครับ แต่ส่วนภาพด้านขวาเป็นพื้นที่ของเอกชนที่เขาติด ป้ายบอกห้ามทิ้งขยะ แล้วเขาสาปแช่งครับ สะอาดมาก ไม่มีใครกล้ามาทิ้งขยะครับ นี่คือสิ่งที่ อยากจะเป็นข้อเสนอของผมต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ ๔ ข้อดังนี้
ข้อแรก อยากให้มีการรณรงค์ปลูกฝังจิตสำนึกของประชาชนตั้งแต่เด็กเลย เหมือนอย่างต่างประเทศ ถ้าท่านไปที่ประเทศญี่ปุ่นท่านเห็นแน่นอนว่าประเทศ ที่สะอาดมาก ถังขยะก็แทบไม่มี คุณสร้างขยะ คุณต้องเก็บขยะของคุณเข้ากระเป๋าเพื่อไปทิ้ง ที่บ้านครับ
ข้อที่ ๒ ผมอยากให้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรืออำเภอ หรือส่วนภาครัฐ จัดหาสถานที่ทิ้งขยะขนาดใหญ่ในราคาถูกเพื่อไม่ให้มีการไปลักลอบทิ้งในที่สาธารณะ
ข้อที่ ๓ อยากให้ลองศึกษาดูว่าการบริหารจัดการจัดเก็บขยะมันควรจะเป็น สวัสดิการที่รัฐต้องทำให้ประชาชน หรือประชาชนต้องจ่ายเงินให้รัฐกันแน่ถึงจะแก้ปัญหาได้
ข้อที่ ๔ เราควรมีแรงจูงใจให้กับประชาชน เรียกว่าเป็น Incentive ให้กับ ประชาชนที่คัดแยกขยะ เช่น มีการลดค่าจัดเก็บขยะให้เขาถ้าเขามีการคัดแยกครับ เพื่อให้ ผู้จัดเก็บขยะเหล่านี้นำขยะที่คัดแยก ขยะที่มีมูลค่าไปขายได้ครับ
สุดท้ายนี้ก็ยังเห็นด้วยที่จะต้องตั้งกรรมาธิการวิสามัญการบริหารจัดการขยะ ของท้องถิ่น เพื่อให้ประเทศไทยเราดีกว่านี้ ขอบคุณครับ
กราบเรียนประธานสภาที่เคารพครับ ผม ปรีติ เจริญศิลป์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี เขต ๕ ผมขอสนับสนุน การแก้ไขกฎหมายร่าง พ.ร.บ. จัดสรรที่ดิน ตามที่ได้มีการเสนอไป แต่ส่วนหนึ่งก็แอบเสียดาย ที่ร่างของคุณณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ไม่ได้นำเข้ามาด้วย จึงไม่แน่ใจว่าจะแก้ปัญหาที่ผมจะ นำเสนอได้หรือไม่นะครับ ขอสไลด์ครับ
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนพื้นที่ในจังหวัด นนทบุรี เขต ๕ ของผม พื้นที่ส่วนใหญ่พื้นที่หมู่บ้านจัดสรร วันนี้นนทบุรีมีประชากรประมาณ ๑.๒๙ ล้านคน มีรายได้ต่อครัวเรือน ตอนนี้เป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย สิ่งที่ตามมา คือจะมีหมู่บ้านจัดสรรจำนวนมาก ผมจะชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันโครงการจัดสรรในจังหวัด นนทบุรีมี ๑,๗๓๗ โครงการ มีบ้านทั้งหมด ๓๓๖,๓๙๑ หลัง ผมอยากจำแนกให้เห็นว่า หมู่บ้านต่าง ๆ นี้ ที่ผมจำแนกตามปัญหาที่เกิดขึ้นตามการจัดสรรนิติบุคคลเป็นอย่างไร มี ๔ ประเภท
อย่างแรก คือหมู่บ้านจัดสรรที่ยังไม่มีนิติบุคคลกรณีนี้จะเป็นหมู่บ้านที่เพิ่ง สร้างใหม่กำลังขายหรือขายเสร็จแล้วแต่ยังตั้งไม่ได้
อย่างที่ ๒ หมู่บ้านจัดสรรที่มีนิติบุคคลแล้ว ก็เป็นหมู่บ้านทั่วไปที่มีการบริหาร จัดการได้ดี และยังมีนิติบุคคลต่อเนื่องไป
อย่างที่ ๓ เป็นปัญหาหลักเลยที่เกิดขึ้นที่ผมได้เจอ คือหมู่บ้านจัดสรรที่เคยมี นิติบุคคล แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว เพราะว่าเป็นหมู่บ้านที่เรียกว่ามีอายุนาน เช่น ๒๐ ปี ๓๐ ปี ความเป็นนิติบุคคลก็หาย การจ่ายค่าส่วนกลางไม่มีครับ แต่เขาก็มีการจัดตั้งกรรมการ หมู่บ้านขึ้นมาแทน ซึ่งผมจะบอกในลำดับถัดไปว่าต่างกันอย่างไร
อย่างที่ ๔ หมู่บ้านที่อยู่ในการดูแลของหน่วยงานรัฐ เช่น ของการเคหะ แห่งชาติในพื้นที่ผม ซึ่งมีพื้นที่เคหะชุมชนจังหวัดนนทบุรี ๑ อยู่ด้วย ในพื้นที่เขต ๕ ของผมมี โครงการจัดสรรประมาณ ๓๐๐ โครงการ เฉลี่ยแล้วมีบ้านเรือนเกือบ ๕๐,๐๐๐ หลังเกิดขึ้น โดยเฉพาะในเส้นถนนชัยพฤกษ์และราชพฤกษ์ที่เกิดมามีหมู่บ้านจัดสรรขึ้นมากมาย ถ้าเรา ไม่รีบแก้ไขกฎหมายตัวนี้ในอนาคตหมู่บ้านเหล่านี้จะเป็นหมู่บ้านที่ถูกทิ้งร้างได้ในอนาคตและ เป็นหมู่บ้านที่อาจจะไม่มีนิติบุคคล ในอีกประมาณ ๑๐ ปี ๒๐ ปีข้างหน้า ความแตกต่างของ การมีนิติบุคคลกับกรรมการหมู่บ้านคืออะไร ผมพยายามคิดครับ ทำไมต้องมีนิติบุคคล ทำไม ไม่ใช้กรรมการหมู่บ้าน ความเป็นที่มีนิติบุคคลเขาจะมีสาธารณูปโภคที่ดีกว่า ถนน ไฟ ส่วนกลาง มีการบำรุงรักษา มีการจัดการบริหารที่ดี แต่ส่วนหนึ่งที่ต้องแลกมาคือก็ต้องมี การจ่ายค่าส่วนกลาง ซึ่งปัจจุบันหมู่บ้านใหม่ ๆ ค่าส่วนราชการตารางวา ๑ อย่างน้อย ๔๐ บาท ขึ้นไปแล้วในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ส่วนกรณีที่มีนิติบุคคลนี้เขามีสภาพบังคับทาง กฎหมายเหมือนกัน ถ้าหากคุณมีบ้านอยู่ในโครงการจัดสรรคุณต้องการขายบ้าน คุณต้องไป ขอใบปลอดหนี้ก่อนจากนิติบุคคล ไม่อย่างนั้นสำนักงานที่ดินเขาไม่โอนให้ นี่คือความผูกพัน ทางกฎหมายส่วนหนึ่ง ที่ความเป็นนิติบุคคลผูกมัดให้คุณต้องจ่ายค่าส่วนกลาง และคน ในหมู่บ้านที่มีนิติบุคคลก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเพียงแค่กรรมการหมู่บ้าน ผมขอ ยกตัวอย่างปัญหาในพื้นที่ของผม อันนี้เป็นหมู่บ้านพญาไทวิลเลจ ในตำบลปากเกร็ดเป็น หมู่บ้านเก่าที่ปัจจุบันนี้ก็มีพยายามจัดตั้งกรรมการหมู่บ้านขึ้นมา ผมเคยเข้าไปร่วมฟัง ร่วมประชุมกับเขาครับ เขามีปัญหาน้ำท่วมขังเมื่อเวลามีฝนตก แต่สิ่งที่ยังแก้ไม่ได้คือเทศบาล ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่เอกชนได้ นี่คือปัญหาหนึ่งที่ผมก็รับมา ผมคิดว่าสิ่งที่ผู้แทนราษฎร ในบทบาทที่เราทำได้คือการแก้ไขกฎหมาย แล้ววันนี้ก็ถึงโอกาสที่ผมจะได้ทำสิ่งที่ต้องแก้ไข ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนครับ อันนี้หมู่บ้านดิเอมเมอรัลพาร์ค 3 อยู่ในตำบลบางพลับ หมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านเก่าครับในช่วงที่ผมเคยเดินลงไปพบหาประชาชนมีประชาชนบอกว่า ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อเดินทางลำบากมาก รูปด้านขวามือนี้เป็นส่วนกลางพื้นที่สนามเด็กเล่น ไม่มีการดูแลบำรุงรักษา เพราะเขาไม่มีนิติบุคคลแล้วเป็นหมู่บ้านที่มีมากกว่า ๓๐ ปี ในตำบล บางพลับ ถ้าเราแก้กฎหมายให้ท้องถิ่นสามารถเข้ามาช่วยดูแลเขาได้ นี่คือโอกาสดีเลยที่เรา จะช่วยเหลือพ่อแม่พี่น้องประชาชนที่เขาอยู่ในหมู่บ้านที่เคยมีนิติบุคคล และวันนี้ไม่มีแล้ว ทั้งที่เขาก็เสียภาษีให้ท้องถิ่นเช่นกัน อันนี้เป็นหมู่บ้านการเคหะแห่งชาติ ก็เป็นเคหะชุมชน นนทบุรี ๑ นี่เองครับ เมื่ออยู่ภายใต้การดูแลของการเคหะแห่งชาติ เทศบาลก็ไม่สามารถเข้า มาขุดลอกคูคลองได้เพราะเป็นพื้นที่ของรัฐวิสาหกิจ สนามฟุตบอลหญ้าสูงไม่มีการดูแล เพราะว่าการดูแลต้องใช้เวลาในการทำงบประมาณจัดซื้อจัดจ้าง การเข้าถึงไม่เร็วเท่าท้องถิ่น เข้าถึงแน่นอนครับ เมื่อมีหญ้าขึ้นก็ต้องบริหารจัดการกันเอง ช่วยกันตัดหญ้า อันนี้หมู่บ้าน มณียามีปัญหาเช่นกันที่ยังไม่มีนิติบุคคลหมู่บ้านแต่มีการจัดตั้งกรรมการหมู่บ้าน ปัญหาคือ เวลาน้ำขังน้ำท่วมเป็นปัญหาเรื่องการระบายน้ำ ซึ่งเขาจำเป็นต้องใช้งบประมาณเยอะมาก ในการสร้างระบบระบายน้ำให้ดีขึ้นครับ ถัดไปหมู่บ้านวิโรจน์วิลล์ ก็เป็นอีกหมู่บ้านในตำบล ละหาน เส้น ๓๔๕ ที่เป็นหมู่บ้านเก่าก็ยังขาดการดูแลจากท้องถิ่น เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ ยกให้กับท้องถิ่น ถัดไปหมู่บ้านคันทรีพาร์ค แคลิฟอร์เนีย 16 เช่นเดียวกัน ผมเคยไปทำ กิจกรรมที่นี่ สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่นก็ยังไม่มีงบที่จะบำรุงรักษาได้ ท้องถิ่น อบต. คลองข่อยอยากเข้ามาดูแลแต่ไม่ใช่พื้นที่เขาครับ การจะยกให้ก็ต้องเป็นมติเอกฉันท์ของคน ทั้งหมู่บ้าน ซึ่งยากมากครับที่มีการรวมทุกคนเซ็นยินยอมทั้งหมด ข้อที่ ๗ ปัญหาสุดท้ายที่อยากจะแชร์ให้ฟังครับ รูปด้านขวาเป็นพื้นที่ถนนสาธารณะที่มีการ เดินทางเข้าออกมากกว่า ๓๐ ปี วันหนึ่งเจ้าของบ้านเขาไปดูโฉนดว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็นของเขา มีการมาล้อมรั้วครับ นี่คือเกิดปัญหาขึ้นเลยครับว่าที่ที่เคยยกให้เป็นทางสาธารณะไปแล้ว โดยไม่ได้มีการจดทะเบียนที่ดิน วันนี้เอกชนสามารถเรียกคืนได้หรือไม่ ซึ่งผมได้ไปค้น คำพิพากษาศาลฎีกาเขาก็บอกว่าการยกให้เป็นทางสาธารณะมันไม่จำเป็นต้องจดทะเบียน แต่มีการใช้ติดต่อกันมาเกิน ๑๐ ปีถือว่าเป็นทางสาธารณะโดยกฎหมาย เรื่องนี้ได้เคยหารือ ในสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว ตอนนี้เรื่องที่เหลืออยู่ที่กรมชลประทานครับ
สุดท้ายครับ ปัญหาต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้บทบาทที่ สส. จะทำได้คือการแก้ไข กฎหมายหลาย ๆ ตัวเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่เขาก็เสียภาษีเช่นกันครับ ให้ท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อบจ. เทศบาล อบต. เข้าไปดูแลพื้นที่เอกชนได้ครับ ดังนั้นผมจึงขอ สนับสนุนการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ. จัดสรรที่ดินฉบับนี้ครับ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ปรีติ เจริญศิลป์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี เขต ๕ วันนี้มีเรื่องมาหารือ ท่านประธาน ๔ เรื่องด้วยกันครับ
เรื่องแรกขอทวงคืนถนนสาธารณะที่ ตำบลอ้อมเกร็ดและตำบลบางพลับ ด้วยผมได้รับแจ้งจากกำนันตำบลบางพลับและ อดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๑ ตำบลบางพลับ ว่ามีการยึดที่สาธารณะจากเอกชน โดยทางเส้นนี้ เป็นทางที่ใช้สัญจรระหว่างตำบลบางพลับและตำบลอ้อมเกร็ด ตรงบริเวณวัดใหญ่สว่างอารมณ์ ใช้เป็นทางผ่านมากว่า ๓๐ ปี ปัจจุบันเจ้าของที่เดิมมีการเอารั้วมาล้อมที่ถนน ซึ่งผมได้ศึกษา ข้อมูล ปรากฏว่ามีคำพิพากษาศาลฎีกาที่กำหนดไว้ว่าที่ดินที่ให้ใช้เป็นทางสาธารณะเกินกว่า ๑๐ ปี ถือว่าเป็นการมอบให้กับสาธารณะโดยปริยาย ดังนั้นอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยดำเนินการทวงถนนเส้นนี้คืนให้กับประชาชนชาวตำบลบางพลับและอ้อมเกร็ดด้วยครับ
เรื่องที่ ๒ เนื่องจากได้รับแจ้งว่าถนนชัยพฤกษ์ที่มีการก่อสร้างของทางหลวง ชนบทที่จะเสร็จปลายปี ๒๕๖๗ นี้ มีฝุ่นละอองเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นทางขาเข้าหรือ ขาออกไปทางถนนแจ้งวัฒนะ ตั้งแต่ทางลงสะพานพระราม ๔ มาเลยครับ ฝุ่นตรงนี้ครับ ผมได้สอบถามกรมทางหลวงชนบทไปแล้ว ปรากฏว่าได้ให้ภาคเอกชนเข้ามารดน้ำ แต่ว่า ยังไม่เพียงพอ ปัจจุบันรดเพียงแค่วันละ ๒ ครั้ง ก็ยังเกิดฝุ่นตลอดเวลา รถที่สัญจรไปมา ก็จะเปื้อนครับ แล้วคนขี่มอเตอร์ไซค์ก็จะต้องสวม Mask ตลอดเวลา เป็นมลพิษอย่างมาก อยากให้เพิ่มการรดน้ำอย่างน้อย ๔ รอบต่อวันครับ
เรื่องที่ ๓ อันนี้ขอแจ้งไปยังการไฟฟ้านครหลวงเกี่ยวกับโครงการที่ท่านกำลัง จะนำสายไฟฟ้าลงดิน ปรากฏว่ามีการขุดเจาะพื้นผิวถนนบริเวณหัวถนนปากเกร็ดและ เส้นแจ้งวัฒนะตลอดเส้น ปรากฏว่าตอนนี้มีอุบัติเหตุ อยากให้ท่านเข้ามาดูพื้นผิวโดยด่วนด้วยครับ
เรื่องที่ ๔ ขอทวงคืนไฟฟ้าส่องสว่างที่การเคหะนนทบุรี เนื่องจากมีไฟดับ อีกแล้ว ตั้งแต่ปากซอยจนถึงซอย ๗ จะฝากไปถึงผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติอีกครั้ง ขอบพระคุณครับ