เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน แอนศิริ วลัยกนก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตทุ่งครุ เขตราษฎร์บูรณะ แขวงราษฎร์บูรณะ พรรคก้าวไกล ท่านประธานคะ ดิฉันมีเรื่องจะหารือ ๒ เรื่อง
เรื่องที่ ๑ การทำสะพานข้ามแยกเพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณ แยกทุ่งครุ ดิฉันได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องชาวทุ่งครุเป็นจำนวนมาก เนื่องจากถนนประชาอุทิศ เป็นถนนขนาด ๔ ช่อง ๒ ข้างทางเป็นถนนย่านธุรกิจ สถานศึกษา และมีประชากรประมาณ ๑๓๐,๐๐๐ คนที่ใช้ถนนประชาอุทิศเป็นเส้นหลัก ข้อมูลจากสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานครระบุว่าค่าเฉลี่ยของรถยนต์และรถจักรยานยนต์มีประมาณ ๔,๒๑๐ คัน ต่อชั่วโมง สามารถรองรับรถบนถนนได้ ๑,๒๐๐ คันต่อชั่วโมง อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ติดต่อกัน ระหว่างกรุงเทพมหานครและจังหวัดสมุทรปราการ ปัจจุบันนี้ยังมีหมู่บ้านเกิดขึ้น เพิ่มขึ้น เรื่อย ๆ จึงทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากที่ดิฉันลงพื้นที่ ปัญหาที่ประชาชน ได้ร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้สำนักงานเขตทุ่งครุและสถานีตำรวจนครบาลทุ่งครุ แก้ไขร่วมกับกรมทางหลวง เพื่อทำระบบวงเวียนบริเวณแยกทุ่งครุแก้ปัญหาการจราจรติดขัด แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาการจราจรได้เลย จึงยกเลิก ดิฉันลงพื้นที่ได้ศึกษาหารือกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องและประธานสภาคนเมืองเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาระยะยาว มีความเห็นตรงกันว่า ควรจะทำสะพานข้ามแยกเพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัด ดิฉันจึงเรียนผ่านท่านประธานไปยัง หน่วยงานกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคมด้วยนะคะ
เรื่องที่ ๒ การพัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วนบริเวณรอบนอกฝั่งใต้เป็นลานกีฬา จากการที่ดิฉันลงพื้นที่แยกสะพานข้ามแยกเห็นบริเวณใต้ทางด่วนเป็นพื้นที่รกร้างมีน้ำท่วม และขยะ หากนำพื้นที่ดังกล่าวมาพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะและเป็นลานกีฬาต้านยาเสพติด ตัวอย่างเช่นลานกีฬาแสงทิพย์ ซอยปรีดีพนมยงค์ ๒ เป็นพื้นที่ที่ถูกนำมาพัฒนา เป็นลานกีฬา ดิฉันคิดว่าคงจะดีไม่น้อยถ้าสามารถใช้พื้นที่ตรงนี้ให้เกิดประโยชน์ ปรับปรุง สภาพแวดล้อมให้มีลักษณะที่ดีขึ้น ถูกสุขภาวะ และทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชน ในพื้นที่ดีขึ้น จึงฝากเรียนท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงคมนาคม และกรุงเทพมหานครด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน แอนศิริ วลัยกนก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตทุ่งครุ เขตราษฎร์บูรณะ แขวงราษฎร์บูรณะ พรรคก้าวไกล ดิฉันมีเรื่องจะหารือ
เรื่องที่ ๑ สายสื่อสาร ขาดห้อย ตามจุดต่าง ๆ ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ถนนประชาอุทิศ ถนนราษฎร์บูรณะ เป็นจำนวนมาก ดิฉันเกรงว่าสายขาดห้อยจะเป็นอันตรายกับผู้ที่สัญจรไปมา และในพื้นที่ของ ดิฉัน เด็กผู้หญิงคนหนึ่งถูกสายสื่อสารฟาดเข้าที่ตาเมื่อ ๒ เดือนที่ผ่านมา ดิฉันได้ลงพื้นที่ ไปเยี่ยมอาการน้อง และน้องเกือบเสียดวงตาไปเกือบ ๑ ข้าง บ้านน้องมีฐานะยากจน จึงฝากหน่วยงานที่รับผิดชอบช่วยเยียวยาในการรักษาโดยเร่งด่วนด้วยนะคะ
เรื่องที่ ๒ ประปาหัวแดง การติดตั้งประปาหัวแดงในหมู่บ้านวิเศษสุข ประชาอุทิศ ๗๙ มีผู้อาศัยอยู่ประมาณ ๓,๐๐๐ กว่าหลังคาเรือน เคยมีเหตุเพลิงไหม้ ในพื้นที่รกร้างด้านหลังของหมู่บ้านวิเศษสุข แต่ประปาหัวแดงอยู่ไกลจากจุดเกิดเหตุ ทำให้หน่วยงานดับเพลิงเข้าไปดับเพลิงยาก จึงฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปติดตั้ง และตรวจสอบสำรวจพื้นที่โดยเร็ว
เรื่องที่ ๓ พื้นที่สนามกีฬาบริเวณใต้ทางด่วนกิโลเมตรที่ ๙ และใต้ทางด่วน ฝั่งธนาคารกสิกรไทยสำนักงานใหญ่ เนื่องจากมีโครงการก่อสร้างทางด่วน ทางหน่วยงาน จึงได้เรียกคืนพื้นที่ทั้ง ๒ จุดไปในระหว่างก่อสร้าง ซึ่งทั้ง ๒ จุดนี้เดิมมีผู้ใช้สนามกีฬา เป็นจำนวนมาก จึงขอฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากโครงการก่อสร้าง เสร็จสิ้น อยากให้พื้นที่ส่วนนี้กลับมาเป็นสนามกีฬาอย่างเดิม
เรื่องที่ ๔ เรื่องปัญหายาเสพติด ดิฉันได้รับเรื่องร้องเรียนจากพื้นที่ เป็นจำนวนมาก การขายยาเสพติดยิ่งกว่าขายขนม จึงฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไป ตรวจสอบ ดิฉันไม่อยากให้ลูกหลานของพวกเราเป็นปัญหาต่อไป ฝากด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน นางสาวแอนศิริ วลัยกนก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตทุ่งครุ เขตราษฎร์บูรณะ แขวงราษฎร์บูรณะ พรรคก้าวไกล ดิฉันมีเรื่องจะหารือทั้งหมด ๕ เรื่อง
เรื่องที่ ๑ การขุดลอกคลอง หรือลำรางคลองเล็ก เนื่องจากพื้นที่ในความดูแลของดิฉันคือทุ่งครุมีคลองทั้งหมด ๔๙ เส้น เขตราษฎร์บูรณะ เฉพาะแขวงราษฎร์บูรณะมีคลองทั้งหมด ๑๑ เส้น มีลำราง ขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก มีเรือขุดขนาดใหญ่เข้าไม่ถึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม ดิฉันจึงอยาก เสนอให้มีเรือลอกขนาดเล็กประจำเขต เพื่อใช้ในการขุดลอกลำรางและคูคลองได้อย่าง มีประสิทธิภาพเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วมในพื้นที่
เรื่องที่ ๒ เรื่องประตูระบายน้ำที่ไม่สามารถใช้งานได้ บางจุดประตูระบายน้ำ หายไป เป็นภาพจากประตูระบายน้ำคลองรางตรงที่ชำรุดเป็นรูขนาดใหญ่ คนสามารถมุดได้ ทำให้เกิดปัญหาน้ำเค็มหนุนสูงส่งผลกระทบเกษตรกรในพื้นที่ และยังเกี่ยวเนื่องไปถึงปัญหา การระบายน้ำอีกด้วยค่ะ จึงอยากฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดำเนินการ แก้ไขด้วยนะคะ
เรื่องที่ ๓ เรื่องเสาตอม่อบริเวณคลอง ไม่ว่าจะเป็นคลองรางจากคลองรางตัน คลองรางราชพฤกษ์และคลองรางปูน ถ้าตอนที่น้ำขึ้นจะมองไม่เห็นตอม่อ ทำให้เกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องที่ไม่ชำนาญทางและกลางคืนที่สัญจรไปมา จึงอยากรบกวน ท่านประธานเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยนำออกด้วยนะคะ
เรื่องที่ ๔ เรื่องป้ายรถเมล์ใต้ทางด่วนสุขสวัสดิ์ กม.๙ การก่อสร้างโดยไม่มี การป้องกันความปลอดภัย ไม่มีจุดผู้พักอาศัยและไม่มีทางข้ามทางม้าลายระหว่างป้ายรถเมล์ โดยเฉพาะตรงช่วงทางเข้าถนนประชาอุทิศได้มีรถเลี้ยวเข้าตลอด ประชาชนต้องระวัง รถเลี้ยวเองโดยไม่มีเจ้าหน้าที่หรือสัญญาณเตือน จึงเร่งขอปรับปรุงวิสัยทัศน์ให้แก่ประชาชน ที่รอรถสาธารณะด้วยนะคะ
เรื่องที่ ๕ การก่อสร้างในพื้นที่เขตทุ่งครุ เขตราษฎร์บูรณะ มีโครงการก่อสร้าง หลายโครงการ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง โครงการทางพิเศษพระราม ๓ และโครงการ วางท่อน้ำประปา การทำถนนต่าง ๆ ในพื้นที่เขตทำให้เกิดมลภาวะต่อพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฝุ่น เรื่องเสียง เรื่องการจราจรหรือเรื่องความปลอดภัย ดิฉันจึงอยากฝาก ท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด กำชับกับทางผู้รับเหมาให้ปฏิบัติตาม ข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด ขอบคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธาน สภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวแอนศิริ วลัยกนก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตทุ่งครุ เขตราษฎร์บูรณะ แขวงราษฎร์บูรณะ พรรคก้าวไกล หลายครั้งที่ดิฉันลงพื้นที่ รับฟังปัญหาจากพี่น้องประชาชน เรื่องค่าไฟแพงถือเป็นเรื่องหลักที่มักได้ยินพี่น้องพูดถึง บ่อยครั้ง ตั้งคำถามกับดิฉันเสมอว่าทำไมค่าไฟถึงแพงขึ้น และแพงขึ้นเพราะอะไร ทุกวันนี้ ประชาชนต้องรับภาระการจ่ายค่าไฟที่นับวันแพงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งที่ไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภค ขั้นพื้นฐานที่ประชาชนต้องเข้าถึงอย่างทั่วถึง ในหนึ่งบิลค่าไฟฟ้าที่เราทุกคนต้องเคยได้รับ ทุกคนทราบอยู่แล้วนะคะว่าการคำนวณค่าไฟฟ้าคิดจาก ๔ ข้อหลัก คือค่าไฟฟ้าพื้นฐาน ค่าบริการรายเดือน ภาษีหรือ VAT ๗ เปอร์เซ็นต์ และค่าไฟฟ้าผันแปรหรือ FT ซึ่งค่าไฟฟ้า ในส่วนนี้ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ไม่ว่าจะเป็นราคาเชื้อเพลิง หรือค่าพร้อมจ่าย ค่าพร้อมจ่ายนี่ล่ะที่ประชาชนต้องแบกรับ ซึ่งโดยปกติแล้วกำลังการผลิต สำรองไฟฟ้าที่เหมาะสมควรอยู่ที่ประมาณ ๑๕ เปอร์เซ็นต์ แต่จากข้อมูลเดือนเมษายน ปี ๒๕๖๔ ประเทศของเราได้สำรองไฟฟ้าประมาณราว ๕๕ เปอร์เซ็นต์ ตลอดระยะเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านมา ประเทศของเรามีการสำรองไฟฟ้าที่ล้นเกินความจำเป็น และการสำรองไฟฟ้า ที่ล้นเกินแต่ไม่ได้ใช้จะถูกเก็บบิลค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่าย เมื่อพูดถึงค่าไฟฟ้าแพงแน่นอน ที่สุดว่าปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก ประชาชนทุกคนใช้ไฟฟ้า ในปริมาณที่เท่าเดิม แต่กลับจ่ายค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็ต้อง ปรับขึ้นราคา ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นหมายถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน นอกจากจะต้องเจอปัญหา ค่าไฟแพงแล้วยังต้องเจอปัญหาข้าวของแพงขึ้นอีก ค่าครองชีพสูงขึ้น ค่าแรงไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม ประชาชนต้องแบกรับความลำบาก เพื่อใช้ในชีวิตให้ผ่านพ้นไปในแต่ละวัน และเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของดิฉัน เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๖๖ ดิฉันได้รับสายจากแม่ชีท่านหนึ่งว่า บ้านกำลังจะถูกตัดไฟ อยากให้ไปช่วยเจรจากับการไฟฟ้า เพื่อยืดเวลาในการชำระค่าไฟฟ้า เนื่องจากค่าไฟที่เพิ่มขึ้น แต่รายรับคงเดิม ทำให้ไม่มีเงินที่จะพอจ่ายค่า Bill ที่ค้างอยู่ถึง ๒ เดือน โดยการจ่ายไฟฟ้าไม่อนุญาตให้ยืดเวลาและยืนยันจะเข้ามาตัดไฟ แม่ชีท่านนี้ ก็มีคุณพ่อ คุณแม่ ที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง อุปกรณ์ทางการแพทย์หลายชิ้นที่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า หากไม่มีไฟฟ้าอาจจะอันตรายถึงชีวิต และดิฉันเมื่อได้ฟังเช่นนี้ก็ต้องประสานงานไปขอคุย ขยายระยะเวลาในการจ่ายกับการไฟฟ้า โดยรับประกันว่าจะมาจ่ายตามเวลาที่กำหนดไว้ การไฟฟ้าจึงยอมเลื่อนชำระให้ แต่เวลาผ่านไปไม่กี่วันหลังจากที่ดิฉันได้แจ้ง คุณพ่อของแม่ชี ท่านนี้ก็ได้จากไปอย่างสงบ ดิฉันก็ได้ไปร่วมงานอย่างที่เห็นในภาพดังกล่าว และเหตุการณ์นี้ ก็ในพื้นที่ของดิฉันอีก ในวันที่ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๖ ดิฉันได้ลงพื้นที่ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ในพื้นที่บ้านใกล้เรือนเคียงของคุณลุงท่านนี้ที่เห็น ในภาพดังกล่าว คุณลุงพยายามจะปลิดชีพตัวเองถึง ๒ ครั้ง เนื่องจากปัญหาค่าไฟที่แพง และค่าใช้จ่ายที่ไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นค่าสาธารณูปโภค ค่าครองชีพ หรือค่ารักษาพยาบาล ที่เพิ่มขึ้น เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่ประชาชนต้องทนกับปัญหาแบบนี้ ดิฉันก็ได้เข้าไปคุยกับคุณลุง และเข้าใจถึงปัญหาที่ประชาชนต้องเหนื่อยใจและหมดกำลังใจ เพราะไม่ว่าพยายาม จะทำงานเท่าไร ก็ยังไม่รู้ว่าจะเพียงพอกับค่าใช้จ่ายหรือเปล่า การที่ให้พี่น้องประชาชน ประหยัดไฟฟ้าหรือหันมาใช้ทางอื่นเพื่อประหยัดค่าไฟถือเป็นการแก้ปัญหา ไม่ใช่แก้ปัญหา ที่ต้นเหตุ เพราะตัวการสำคัญที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าแพงไม่ได้อยู่ที่ประชาชนค่ะ รัฐควรแก้ ต้นเหตุมากกว่าปล่อยให้ปัญหาเหล่านี้เป็นภาระความรับผิดชอบของประชาชน ดิฉัน จึงเชื่อว่าประชาชนเองก็ตั้งความหวังหากรัฐมีมาตรการหารือนโยบายที่จะแก้ปัญหาค่าไฟแพง ให้ทุเลาลงได้ ดิฉันในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชน มีความเห็นสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้อง เร่งหารือแก้ไขปัญหานี้ ขอสนับสนุนญัตติการแก้ปัญหาค่าไฟแพงให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อแก้ปัญหาค่าไฟนี้ ตามที่ผู้เสนอญัตติดังกล่าวด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาวแอนศิริ วลัยกนก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตทุ่งครุ เขตราษฎร์บูรณะ แขวงราษฎร์บูรณะ พรรคก้าวไกล ดิฉันจะขออภิปราย การบริหารจัดการขยะ
ปัญหาการจัดการจัดเก็บ ขยะมูลฝอยในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเกิดขึ้นมานานพร้อมกับการขยายตัวของชุมชน เมืองและจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น วิธีการดำเนินชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงต่อพฤติกรรม และการผลิตและผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสถานการณ์โควิด-๑๙ ที่ผ่านมา ที่ผู้คนนิยมการสั่งอาหาร Online มากขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจ การค้าขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ จากการขาย หน้าร้านเป็นการขาย Online ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนและส่งผลให้ปริมาณขยะมูลฝอยชุมชน ขยะบรรจุภัณฑ์ ขยะพลาสติกเพิ่มมากขึ้น จากพฤติกรรมการผลิตและการบริโภคที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ขยะมูลฝอยประเภทบรรจุภัณฑ์หรือพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีขยะมูลฝอยที่มีองค์ประกอบที่กำจัดยากขึ้น เช่น หน้ากากอนามัย ผ้าอ้อมที่ใช้แล้ว เมื่อเราพูดถึงการกำจัดขยะมูลฝอย พบว่าประชาชนยังขาดความเข้าใจและความตระหนัก ในการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยอย่างถูกวิธี จึงทำให้มีปริมาณขยะมูลฝอยเข้าสู่สถานที่ กำจัดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้การจัดการขยะมูลฝอยไม่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับขาด กฎหมายและกฎระเบียบที่จะรองรับการบริหารจัดการขยะมูลฝอย ทำให้การจัดเก็บ ขยะมูลฝอยเป็นภาระของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ขยะมูลฝอยของประเทศไทย ปี ๒๕๖๕ มีจำนวนประมาณ ๒๖ ล้านตัน ขยะที่จัดเก็บถูกต้อง มีเพียงแค่ ๙.๘ ล้านตัน และขยะที่กำจัดไม่ถูกต้องมี ๗.๑ ล้านตัน จากการประกอบด้วยขยะมูลฝอยทั้งหมด ๒ ประเภท อันได้แก่ขยะอาหารและขยะพลาสติกที่มีเป็นจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นระบบ การคัดแยกขยะมูลฝอยยังไม่มีประสิทธิภาพ และอีกสิ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลย ก็คือ การลักลอบทิ้งขยะ เนื่องจากการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ดิฉันอยากจะยกตัวอย่าง การลักลอบทิ้งขยะในพื้นที่เขตทุ่งครุและเขตราษฎร์บูรณะ ในพื้นที่ของดิฉัน ทำให้ถนนทั้ง ๒ ข้างทาง ไม่ว่าจะเป็นถนนพุทธบูชาหรือถนนประชาอุทิศ ได้มีการนำขยะมูลฝอยไปทิ้ง เป็นจำนวนมากและพื้นที่ใต้ทางด่วนก็เช่นกัน มีขยะทุกประเภทที่ไปทิ้งอยู่ใต้ขยะเป็นชิ้นใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นตู้เย็นเก่า ฟูกที่นอนเก่า พลาสติกและโฟม และเหตุการณ์ที่ดิฉันไม่อยาก จะคาดคิด ก็คือวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๖ ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้กองขยะที่บริเวณใต้ทางด่วน โชคดีที่มีการเข้าควบคุมเพลิงไฟไว้อย่างรวดเร็ว ไม่ได้เกิดความเสียหายกับตัวสะพานและ คนที่พักอาศัยอยู่แถวนั้น และที่จะต้องพูดถึงคือการทิ้งขยะในพื้นที่เอกชนที่นำขยะ การก่อสร้างหรือขยะมูลฝอยต่าง ๆ มาทิ้งในพื้นที่ของคนอื่น ซึ่งแม้กระทั่งการนำขยะมาทิ้ง ในพื้นที่ของตัวเอง ล้วนแต่สร้างปัญหาให้เกิดกับพี่น้องที่อาศัยอยู่โดยรอบ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องกลิ่น ฝุ่นและสิ่งรบกวน ทำให้ประชาชนเกิดการเดือดร้อน สร้างปัญหาให้เกิดทางด้าน สุขภาพกายและสุขภาพจิต ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ จริงอยู่อาจจะทิ้งในที่ไม่ใช่ พื้นที่ของตัวเอง แต่อาจจะส่งผลกระทบในพื้นที่ของคนที่อาศัยอยู่โดยรอบ ปัญหาการลักลอบ ทิ้งขยะในพื้นที่ต่าง ๆ เกิดขึ้นโดยตลอดเวลา และสาเหตุเกิดจากการจัดเก็บขยะที่ไม่มี ประสิทธิภาพ ดิฉันจึงเห็นว่าควรมีการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไข ปัญหาการจัดเก็บขยะตามที่ผู้เสนอญัตตินี้ด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาวแอนศิริ วลัยกนก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตทุ่งครุ เขตราษฎร์บูรณะ แขวงราษฎร์บูรณะ พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันมีเรื่องจะหารือ ทั้งหมด ๓ เรื่อง
เรื่องที่ ๑ คือปัญหาเรื่อง รถบรรทุกไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย รถบรรทุกวัสดุก่อสร้างที่ขับออกมาบนท้องถนนไม่มีการ คลุมผ้าเพื่อป้องกันเศษวัสดุ ระหว่างขนส่งได้เกิดเหตุวัสดุหล่นบนท้องถนน สร้างความ เดือดร้อนให้กับพี่น้องในพื้นที่เป็นอย่างมาก นอกเหนือจากเรื่องวัสดุตกหล่นแล้วยังมีปัญหา เรื่องรถบางคันไม่มีป้ายทะเบียน และรถบางคันวิ่งในเวลาห้ามวิ่ง เป็นปัญหาที่ดิฉันได้รับ เรื่องร้องเรียนเป็นอย่างมากเลยนะคะ
เรื่องที่ ๒ เรื่องปัญหารถโดยสารไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นสาย ๑๓๘ ๑๔๐ ๑๔๑ ซึ่งมีผู้โดยสารเป็นจำนวนมาก ปัญหาจำนวนรถที่ไม่เพียงพอทำให้ประชาชนต้อง รอนาน เมื่อรถมาผู้โดยสารก็แน่นจนขึ้นรถไม่ได้ ส่งผลกระทบให้ประชาชนหลายคนไป ทำงานสาย บางคนต้องเปลี่ยนไปขึ้นรถสายอื่นเพื่อหาทางต่อรถเพื่อไปทำงานให้ทัน ทำให้ เสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
เรื่องที่ ๓ ปัญหาทางเท้าบริเวณถนนสุขสวัสดิ์ เขตราษฎร์บูรณะ พื้นที่ ทางเท้าไม่เรียบเป็นหลุม เป็นแอ่ง แผ่นปูทางเดินกระดก เนื่องจากไม่ได้มีการปรับปรุงพื้น ทางเท้าเป็นเวลานาน ทำให้ประชาชนที่ใช้ในการเดินทางเท้าเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ดิฉัน จึงฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งแก้ไขและบรรเทาปัญหาให้กับพี่น้อง ในพื้นที่ด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาวแอนศิริ วลัยกนก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตทุ่งครุ เขตราษฎร์บูรณะ แขวงราษฎร์บูรณะ พรรคก้าวไกล
ดิฉันจะขอร่วมอภิปราย ญัตติขอให้กรรมาธิการการสาธารณสุขพิจารณาศึกษาการแยกกัญชงออกจากกัญชา ให้ชัดเจน อย่างที่ สส. หลาย ๆ คนกล่าวถึงนะคะว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีการประกาศ ให้พืชกัญชงและกัญชาถูกถอดออกจากยาเสพติดประเภทที่ ๕ ทำให้ประชาชนโดยทั่วไป สามารถปลูกในครัวเรือนได้ นอกจากจะทำให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากกัญชา ในทางการแพทย์ได้ ประชาชนยังสามารถจดแจ้งเพื่อปลูกกัญชาเชิงเศรษฐกิจและพาณิชย์ได้ เมื่อเราพูดถึงกัญชาก็ต้องพูดถึงกัญชงที่ถูกนับรวมเป็นพืชชนิดเดียวกัน ที่ถูกปลดล็อกและ ถูกจับรวมไว้ใน พ.ร.บ.เดียวกัน ซึ่งกัญชงและกัญชานับเป็นพืชที่มีลักษณะคล้ายกัน ที่แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยมีความใกล้เคียงกัน แต่ผลจากการคัดเลือกเพื่อการใช้ประโยชน์ ของพืชทั้ง ๒ ชนิดทำให้กัญชงและกัญชาค่อย ๆ มีความแตกต่างกันมากขึ้น ในตัวของกัญชง เป็นพืชที่ใช้ในวงการอุตสาหกรรมที่ได้รับการยอมรับจากหลาย Brand ทั่วโลก เนื่องจาก ผ้าทอจากใยกัญชงเป็นใยที่มีคุณภาพสูงและทนทาน ซึ่งประชาชนในพื้นที่ เหมือนที่ สส. เลาฟั้งได้กล่าวถึงในเศรษฐกิจของกลุ่มชาวพันธุ์ม้ง มีการปลูกกัญชงเพื่อนำลำต้น ใย ใบ ใช้ในส่วนต่าง ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับในสารกัญชงมาใช้เพื่อในอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นเชือก ผ้าทอ หรือกระดาษ ซึ่งเยื่อกัญชงมีคุณภาพที่ดีกว่าและทนทานกว่า นอกจากใบ ลำต้น และ ใยที่มีการนำน้ำมาแปรรูป ก็ยังมีการนำกัญชงมาสกัดสารเป็น CBD และ THC มาใช้ใน ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง อาหารเสริม หรือแม้แต่ยานวดแก้ปวดต่าง ๆ โดยการใช้เมล็ด ช่อกับ ดอกมาสกัด ต้องผ่านกระบวนการของขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมนั้น ควรจะต้องมีหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อควบคุมดูแลด้วย เพื่อให้เศรษฐกิจโลกไปได้ด้วย ในส่วนของกัญชามีการประกาศปลดล็อก โดยที่ไม่มีการให้ความรู้และชี้แจงให้กับประชาชน เข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับการใช้พืชกัญชานั้น ทำให้ส่งผลกระทบตามมาที่เราเห็นกัน หลายต่อหลายครั้งจากที่เป็นข่าว จากภาพที่ดิฉันยกตัวอย่างมานะคะ เจลลี่ผสมกัญชา เด็กวัย ๘ ขวบได้รับประทานเข้าไป ต้องเข้าห้องฉุกเฉิน อีกเคสหนึ่งลูกสาววัย ๕ ขวบกินขนมโตเกียวผสมกัญชาจนช็อก จากที่ดิฉันพูดเกิดจากอาการแพ้และเข้าโรงพยาบาล เกิดจากการที่รับประทานอาหารที่ใส่ กัญชาผสมไปโดยไม่รู้ตัว จากการนำกัญชามาใช้ในครัวเรือนหรือประกอบธุรกิจ ใส่เป็น ส่วนผสมในอาหารทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและชีวิตของผู้บริโภค เมื่อเกิดเหตุการณ์ อย่างนี้ หน่วยงานก็ได้ออกประกาศควบคุม แต่ก็ไม่สามารถควบคุมได้อย่างจริงจัง การปลด ล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดโดยให้เหตุผลว่า ใช้ในทางการแพทย์และเศรษฐกิจมันเป็น เช่นนั้นจริงหรือคะ เพราะข้อเท็จจริงที่หลาย ๆ ครั้งที่ดิฉันลงพื้นที่ ดิฉันไม่เห็นว่าเป็นเช่นนั้นเลย เพราะในพื้นที่ของดิฉัน ซึ่งมีการขายกัญชาอย่างโปร่งใส แล้วก็ในพื้นที่ที่เห็นอย่างในรูป ซึ่งห่างจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยไม่เกินประมาณ ๑ กิโลเมตร และแม้กระทั่งหน้าวัด และหน้ามัสยิดก็มีการขายกัญชาอย่างที่เห็นในภาพ นอกจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ก็ยังส่งผลให้นักท่องเที่ยวหลาย ๆ ประเทศ ควรจะมีการออกกฎหมายเหมือนประเทศในแถบ เอเชียของเรา ไม่ว่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่นหรือประเทศเกาหลีใต้ ได้มีการออกเตือนคน ในประเทศให้ระมัดระวังกัญชาที่ผสมในอาหารหรือเครื่องดื่ม ระมัดระวังการนำกัญชา เข้าประเทศ เนื่องจากกัญชาในบางประเทศนั้นยังถือเป็นสิ่งเสพติด ที่มีกฎหมายห้ามใช้ อย่างเข้มงวด อย่างที่ทราบกันดีอยู่ ปัจจุบันได้มีการควบคุมที่เข้มงวดและมีการรัดกุม ไม่มากพอทำให้ส่งผลกระทบต่อเด็กเยาวชนและประชาชนทั่วไป จากผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก การปลดล็อกนั้น ดิฉันสนับสนุนควรแยกกัญชงออกจากกัญชาให้ชัดเจน และกำหนด พ.ร.บ. กฎหมายที่ควบคุมทั้งกัญชงกัญชาอย่างเข้มงวด บังคับใช้อย่างจริงจัง และนำมาใช้เพื่อ อุตสาหกรรมหรือทางการแพทย์แยกออกจากกันให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ ที่แท้จริง และนำไปใช้ให้ถูกต้อง ขอบคุณมากค่ะ