กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพค่ะ ดิฉัน นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เขต ๔ พรรคเพื่อไทย ดิฉันขอนำความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนนำเสนอต่อท่านประธาน จำนวน ๓ เรื่อง ขออนุญาตเปิด Slide ค่ะ
เรื่องที่ ๑ ปัญหาริมตลิ่งพัง เนื่องจากอุทกภัยทำให้ดินทรุดและถนนคอนกรีตเสริมเหล็กพังเสียหาย ในพื้นที่ริมตลิ่งแม่น้ำยม เนื่องจากดิน Slide ทำให้โบราณสถาน กุฏิพระ และบ้านเรือนได้รับความเสียหายบริเวณ หน้าวัดวังเป็ด หมู่ที่ ๒ ตำบลบางระกำ ในพื้นที่ริมตลิ่งแม่น้ำน่าน หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๕ บ้านย่านยาว หมู่ที่ ๙ บ้านวังตาบัว ตำบลโคกสลุด อำเภอบางกระทุ่ม ประสบปัญหาอุทกภัยน้ำได้กัดเซาะ ริมตลิ่งเสียหายหนักมากค่ะ ดิฉันจึงขอให้กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการก่อสร้าง เขื่อนริมตลิ่งริมแม่น้ำยมและริมแม่น้ำน่านในพื้นที่ดังกล่าวเป็นกรณีเร่งด่วนค่ะ
เรื่องที่ ๒ ขอให้ขยายเขตชลประทานในพื้นที่ของแม่น้ำยมฝั่งขวาของอำเภอ บางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง ซึ่งฤดูน้ำหลากเราจะรับน้ำท่วมทุกปี ขณะนี้พื้นที่เกษตรกรตำบลหนองกุลา ตำบลนิคมพัฒนา ตำบลคุยม่วง ตำบลบึงกอก ตำบลพันเสา ตำบลบ่อทอง ตำบลปากแรด ตำบลวังอีทก ตำบลชุมแสงสงคราม ตำบลบางระกำ ตำบลท่านางงาม ได้เกิดภัยแล้งทำให้เราไม่มีน้ำใช้ในการเกษตร เรามองเห็นน้ำ จากโครงการท่อทองแดงแม่น้ำปิงจังหวัดกำแพงเพชรมีน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ในขณะที่ อำเภอบางระกำของเราไม่มีน้ำเลย เหมือนสองมาตรฐานไหมคะ ท่านประธานคะ เหตุใด กรมชลประทานถึงจัดสรรน้ำให้กับเกษตรกรในเขตพื้นที่แม่น้ำยมฝั่งขวาของอำเภอบางระกำไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่เป็นคนไทยเหมือนกัน ดิฉันขอความเห็นใจให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวอำเภอบางระกำ เราตามน้ำกันมาจากโครงการแม่น้ำปิงกว่า ๒๐ ปี ดิฉันจึงขอให้กรมชลประทานได้เข้ามา สำรวจและออกแบบพื้นที่ทำแก้มลิงและขยายเขตชลประทานให้กับพื้นที่แม่น้ำยมฝั่งขวา ของอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลกโดยเร่งด่วน
เรื่องที่ ๓ เรื่องสุดท้าย ขอให้แก้ไขภัยแล้งให้กับพื้นที่ตำบลวัดตายม ตำบลเนินกุ่ม อำเภอบางกระทุ่ม โดยขอให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้จัดทำฝนหลวง เป็นการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และดิฉันขอให้กรมชลประทานปรับปรุงฝายน้ำล้น ให้มีประตูปิดเปิดที่หมู่ที่ ๖ ตำบลเนินกุ่ม อำเภอบางกระทุ่ม เพื่อแก้ไขปัญหาการกักเก็บน้ำ และระบายน้ำ ในการนี้พี่น้องชาวจังหวัดพิษณุโลกโดยเฉพาะอำเภอบางระกำหวังว่าจะได้รับ การแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ด้วยความขอบพระคุณค่ะ สุดท้ายนี้ดิฉันขอส่งเอกสารผ่าน ท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย ขอบคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เขต ๔ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานสภาคะ วันนี้ดิฉันขอเสนอปัญหาความเดือดร้อนของ พี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำตื้นเขินไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ในฤดูแล้ง ซึ่งฤดูแล้งก็ขาดน้ำ ฤดูฝนน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรค่ะ ผ่านท่านประธานไปยังผู้อำนวยการโครงการ ชลประทานจังหวัดพิษณุโลก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีทั้งหมด ๕ เรื่องดังนี้นะคะ
เรื่องที่ ๑ ก็คือขอให้พัฒนาแหล่งน้ำที่คลองแม่เทียบและคลองโกรงเกรงเหนือ ตำบลท่าตาล อำเภอบางกระทุ่ม
เรื่องที่ ๒ แก้ไขระบบระบายน้ำคลองลำแตงกวา หมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๖ หมู่ที่ ๑๑ หมู่ที่ ๑๒ และหมู่ที่ ๑๓ ที่ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอบางระกำ
เรื่องที่ ๓ โครงการฟื้นฟูแหล่งน้ำสาธารณะ หมู่ที่ ๘ บ้านทุ่งใหญ่ ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอบางระกำ
เรื่องที่ ๔ ขุดลอกคลองพระรถ หมู่ที่ ๔ ตำบลพันเสา อำเภอบางระกำ
เรื่องที่ ๕ ขุดลอกคลองแห้ง หมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๑๑ หมู่ที่ ๑๒ ตำบลหนองกุลา อำเภอบางระกำ ฝากไปถึงกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแก้ไขในเรื่อง ของน้ำตื้นเขินแล้วก็น้ำท่วมไหลหลาก
เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องขอความอนุเคราะห์ติดตามงบประมาณซ่อมแซม คลองส่งน้ำด้วยไฟฟ้า หมู่ที่ ๕ ตำบลบ้านไร่ อำเภอบางกระทุ่ม เนื่องจากคลองส่งน้ำดังกล่าว เกิดการชำรุด ดินทรุดตัว คอนกรีตแตกร้าวทำให้การสูบน้ำขึ้นมาน้ำเกิดการรั่วไหล และเสียหาย พี่น้องประชาชนพยายามที่จะซ่อมกันเองด้วยงบประมาณของพวกเกษตรกร กันเอง แต่ว่าเนื่องจากเสียหายจำนวนมากและใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก จึงไม่สามารถ ที่จะดำเนินการแก้ไข จึงขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้พิจารณาแก้ไขปัญหา ดังกล่าวโดยเร่งด่วน
เรื่องที่ ๓ ขออนุมัติงบประมาณสร้างเขื่อนริมตลิ่ง หมู่ที่ ๔ ตำบลบ้านไร่ อำเภอบางกระทุ่ม เนื่องจากพื้นที่ริมตลิ่ง ๔๐๐ เมตรถูกน้ำกัดเซาะและพังทลายในริมแม่น้ำน่าน ทำให้พี่น้องประชาชนเดือดร้อนในการใช้รถใช้ถนนในการสัญจรเป็นอย่างมาก
เรื่องสุดท้าย ชาวไร่อ้อยฝากมาค่ะ ขอให้รัฐบาลได้ช่วยเหลือในเรื่องของ การตัดอ้อยสดในฤดูหีบ ปี ๒๕๖๕ และปี ๒๕๖๖ ตันละ ๑๒๐ บาทเป็นการเร่งด่วน เนื่องจากในเดือนธันวาคมนี้จะถึงฤดูหีบอ้อยแล้วพี่น้องชาวไร่อ้อยไม่มีทุน จึงฝากไปที่ กระทรวงอุตสาหกรรมช่วยพิจารณาเรื่องนี้เป็นการเร่งด่วน ขอบคุณค่ะ
ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เขต ๔ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ถ้าพูดถึงอำเภอบางระกำคนก็จะถามว่าน้ำท่วมไหม ปีนี้น้ำท่วมไหม เราพี่น้องชาวอำเภอบางระกำเราไม่ชอบน้ำท่วมเพราะเราเดือดร้อน และเราก็ไม่มีความสุข พื้นที่อำเภอบางระกำเป็นพื้นที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำยมตอนล่างค่ะ ท่านประธาน ภูมิประเทศส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ในฤดูน้ำหลากหรือฤดูฝนของทุกปี อำเภอบางระกำก็จะประสบปัญหาอุทกภัยเป็นจำนวนมาก พื้นที่ของอำเภอบางระกำ เปรียบเสมือนสะดือซึ่งสะดือในช่วงของฤดูน้ำหลากน้ำจะไหลเข้าก่อน แล้วก็จะไหลออกไป ทีหลังสุด เมื่อสิ้นฤดูน้ำหลากน้ำที่ท่วมขังก็จะระบายออกได้ทีหลังพื้นที่อื่น ซึ่งลักษณะเช่นนี้ ก็จะเป็นเกิดขึ้นทุกปี ท่านประธานคะ น้ำในแม่น้ำยมนี่ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตามพื้นที่ อำเภอบางระกำ ลุ่มน้ำยมฝั่งซ้ายก็จะเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาอุทกภัยมาโดยตลอด พื้นที่ บางระกำเป็นพื้นที่พิเศษที่จะรับน้ำทั้งหมด ๓ ลุ่มน้ำ ได้แก่ น้ำยม น้ำน่าน และน้ำปิง จากโครงการท่อทองแดง จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งทั้ง ๓ ลุ่มน้ำนี้ ในช่วงฤดูฝนจะมีปัญหาบางจุด น้ำล้นตลิ่งคันดินแล้วก็ไหลลงสู่พื้นที่ต่ำ ข้ามถนนท่วมพื้นที่การเกษตร ทำให้พืชผลทาง การเกษตรได้รับความเสียหาย ชาวบ้านก็จะต้องอพยพขึ้นสู่ที่สูง ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพราะน้ำที่ไหลบ่ามานี้มีมวลมหาศาลทำให้การแก้ไข ปัญหาและการบริหารจัดการน้ำเกินศักยภาพของท้องถิ่นที่จะดำเนินการเองได้ ยกตัวอย่าง เห็นได้ชัดเจนก็คือในกรณีที่แม่น้ำยมเหนือจากจังหวัดสุโขทัยมีมาปริมาณมากทำให้เกิน ขีดความสามารถที่แม่น้ำยมไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัยรับได้ ก็จะผันน้ำจากแม่น้ำยม สายปัจจุบันที่อำเภอสวรรคโลกเข้าสู่แม่น้ำยมสายเก่า โดยจะไหลผ่านพื้นที่อำเภอ พรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลกและเข้ามาท่วมอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำของอำเภอบางระกำซึ่งมีพื้นที่ ประมาณ ๒๖๕,๐๐๐ ไร่ และสามารถกักเก็บน้ำได้ถึง ๔๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตรนะคะ ท่านประธาน ทั้งนี้เพื่อเป็นการบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในตัวเมืองสุโขทัย ซึ่งเป็น พื้นที่เศรษฐกิจและมีความสำคัญในระดับหนึ่ง ซึ่งข้อมูลปัจจุบันพบว่าตอนนี้ ขณะนี้ เมื่อเช้านี้ พื้นที่ลุ่มต่ำน้ำได้ท่วมขังที่อำเภอบางระกำไปแล้ว ๑๖๔,๓๕๙ ไร่ คิดเป็นร้อยละ ๖๒ ปริมาณน้ำทั้งสิ้นขณะนี้อยู่ที่อำเภอบางระกำ ๒๘๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งคิดเป็นร้อยละ ๗๐ ของทั้งหมดที่เราสามารถรับได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเกษตรกรของอำเภอบางระกำจึงเป็น ผู้ที่เสียสละอย่างแท้จริง แล้วก็เป็นผู้ที่ยอมเสียพื้นที่การเกษตรเพื่อให้เป็นที่รองรับน้ำ ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดสุโขทัยไม่ให้เกิดอุทกภัย และเป็นการชะลอน้ำให้กับ พื้นที่ตอนล่าง ซึ่งเราเรียกการบริหารจัดการน้ำนี้ว่าบางระกำโมเดล เมื่อครั้งรัฐบาลของ ท่านนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ท่านได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการ น้ำในพื้นที่ลุ่มของอำเภอบางระกำไว้สองมาตรการ มาตรการแรก ก็คือไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง โดยการจัดปฏิทินการเพาะปลูกให้มีความเหมาะสมกับในฤดูน้ำหลาก โดยเกษตรกรจะเก็บ เกี่ยวผลผลิตให้เสร็จก่อนที่น้ำจะเข้ามา มาตรการที่ ๒ ใช้สิ่งก่อสร้างซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ กับระบบชลประทานเดิมซึ่งในพื้นที่เดิมมีอยู่แล้ว และสร้างมานานแล้วค่ะ โดยได้จัดสรร งบประมาณลงมาขุดลอกคลอง สร้างประตูระบายน้ำตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๕๕ มาโดยตลอด อีกทั้งยังให้บางระกำโมเดลเป็นต้นแบบกับการใช้ในพื้นที่อื่น ๆ นอกจากนี้ค่ะ ท่านประธานคะ อำเภอบางระกำมีพื้นที่กักเก็บน้ำเพียงแค่ ๓ แห่ง ได้แก่ บึงตะเครงเก็บน้ำ ได้ ๑๓.๕๔ ล้านลูกบาศก์เมตร บึงระมาณเก็บได้ ๑๖.๐๖ ล้านลูกบาศก์เมตร บึงขี้แร้งได้ ๑.๔๘ ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งรวมทั้ง ๓ แห่ง จุน้ำได้ทั้งสิ้น ๓๑.๖๒ ล้านลูกบาศก์เมตร ท่านประธานคะ คิดเป็นร้อยละ ๘ ของน้ำทั้งหมด ๔๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ชาวอำเภอ บางระกำรับน้ำไว้ แล้วน้ำอีก ๓๖๙ ล้านลูกบาศก์เมตร ยังไม่มีพื้นที่กักเก็บ จะต้องถูกปล่อย ทิ้งเสียเปล่าแล้วนำมาเก็บไว้ให้กับพี่น้องเกษตรกรเพื่อที่จะใช้ในช่วงฤดูแล้งในต่อไป ดิฉันจึง ขอฝากท่านประธานผ่านไปยังผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดให้ช่วยพิจารณาความเหมาะสมทางด้าน วิศวกรรม เพื่อก่อสร้างประตูกักเก็บน้ำไว้เป็นช่วง ๆ ในลักษณะขั้นบันไดในลำคลอง ธรรมชาติของอำเภอบางระกำ เพราะตลอดฤดูฝนน้ำในคลองมีปริมาณมาก แต่ไม่สามารถ พักน้ำเก็บไว้เป็นช่วง ๆ ได้ เพราะเนื่องจากขาดอาคารชลประทานเพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ในการบริหารจัดการน้ำ การก่อสร้างอาคารชลประทานในแต่ละแห่งขอเรียนให้ทราบว่าจะมี ความคุ้มค่าเป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยกักเก็บน้ำไว้ในพื้นที่เพื่อให้ใช้ในการอุปโภคบริโภค ทำการเกษตรได้ในช่วงฤดูแล้งเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังประโยชน์ทางอ้อมให้กับพี่น้อง ที่ไม่ต้องอพยพไปทำงานที่อื่น ถ้าหากมีน้ำอยู่ในพื้นที่และเกษตรกรก็อยู่กับครอบครัว เป็นการแก้ไขปัญหาสังคมให้ลดน้อยลงและคุณภาพชีวิตดีขึ้นค่ะ โครงการชลประทาน มีความประสงค์ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบอกว่าติดตามเร่งดำเนินการดังนี้
โครงการที่ ๑ ปรับปรุงของกรุงกรักพร้อมอาคารประกอบ โดยก่อสร้างประตู ระบายน้ำที่บ้านนิคมพัฒนา บ้านทุ่งอ้ายโห้ และระบบระบายน้ำพร้อมอาคารประกอบ ที่วัดพรหมเกษร บ้านหนองบัวนา บ้านพรสวรรค์ บ้านทุ่งใหญ่ บ้านหนองอ้อ คลองบึงแหง บ้านท่ามะเกลือ บ้านหนองไผ่ คลองพระรถ ซึ่งมีงบประมาณกว่า ๖๕๐ ล้านบาท ขอให้ กรมชลประทานได้ช่วยขยายพื้นที่ในลุ่มแม่น้ำยมฝั่งขวาของอำเภอบางระกำ และขอให้ ชลประทานพิจารณาส่งน้ำจากแม่น้ำปิงเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูกของอำเภอบางระกำ โดยขยาย เขตพื้นที่ชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดงจังหวัดกำแพงเพชร ให้อยู่ในการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง ในระยะยาว และขอให้เยียวยาชดเชยพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยได้ทันท่วงที ขอให้ รัฐบาลเร่งการแก้ไขปัญหาของลุ่มน้ำยมอย่างยั่งยืน โดยการพิจารณาสร้างเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เพื่อกักเก็บน้ำให้ทั่วถึงในทุกภูมิภาคค่ะ และสุดท้ายนี้เราควร ช่วยเหลือประชาชนให้ดีที่สุด อย่าให้พี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยต้องรับผิดชอบเพียงลำพัง อย่าให้น้ำท่วมได้สร้างน้ำตาให้กับประชาชนของเราอีกเลยค่ะท่านประธาน ขอบคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน พิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เขต ๔ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ วันนี้ดิฉันขอเสนอปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ทั้งหมด ๓ ประเด็น ขอ Slide ค่ะ
ประเด็นที่ ๑ ผ่านท่านประธานไปยังผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะนี้มีน้ำท่วมเป็นปริมาณมากทำให้น้ำท่วมไหลเข้าสู่พื้นที่การเกษตรจำนวนมาก จึงขอให้ พัฒนาแหล่งน้ำ ขุดลอกคลองตะเคียนและบึงตะเคียน หมู่ที่ ๙ ตำบลไผ่ล้อม อำเภอบางกระทุ่ม ขอให้ทำประตูระบายน้ำที่ตอนนี้ชำรุดเสียหาย รั่วซึมและกักเก็บน้ำไม่อยู่ ประตูปิดเปิด ลำบาก ประชาชนพี่น้องเดือดร้อนหลายตำบลจึงขอความอนุเคราะห์ให้ทำระบบระบายน้ำ พร้อมอาคารประกอบในจุดที่ ๑ บ้านสามเรือน จุดที่ ๒ บ้านปากคลองห้วยแก้ว ตำบลนครป่าหมาก อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก
ประเด็นที่ ๒ เรียนผ่านท่านประธานไปถึงกรมทางหลวงชนบท กระทรวง คมนาคม เนื่องจากมีกระแสน้ำเชี่ยวกรากอย่างรุนแรงทำให้ถนนบริเวณคอสะพานขาด ทำให้ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ จึงขอความอนุเคราะห์ติดตามโครงการซ่อมแซมสะพาน ข้ามคลองกรุงกรัก หมู่ที่ ๕ บ้านโคกสว่าง ตำบลบึงกอก อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก
ประเด็นที่ ๓ เรียนผ่านท่านประธานไปยังกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม เนื่องจากบริเวณสะพานดังกล่าวมีทางเท้าที่กีดขวางการสัญจรทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จึงขอความอนุเคราะห์งบประมาณขยายสะพาน ตรงจุดถนนหมายเลขทางหลวง ๑๑๗ สายพิษณุโลก-นครสวรรค์ กิโลเมตรที่ ๑๐๒ + ๕๕๔ บ้านซ้ายทาง ตำบลบ่อทอง อำเภอบางระกำ ขอบคุณมากค่ะท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพค่ะ ดิฉัน นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัด พิษณุโลก เขต ๔ พรรคเพื่อไทยค่ะ วันนี้ขออภิปรายในญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาการศึกษาแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนและค่าครองชีพ ขออนุญาตท่านประธานเปิด Slide นะคะ ท่านประธานคะ ค่าครองชีพที่สูงขึ้นแต่รายได้ เท่าเดิมจะเดินหน้าต่อกันอย่างไร นโยบายที่คนไทยคาดหวังหากได้รัฐบาลชุดใหม่ พบว่า เรื่องที่พี่น้องประชาชนอยากให้รัฐบาลชุดใหม่แก้ไขปัญหามากที่สุด ก็คือปัญหาในเรื่องของ ปากท้อง ค่าครองชีพสูง ข้าวของราคาแพง ด้วยสถานการณ์ที่รายได้สุทธิของครัวเรือน ในปี ๒๕๖๖ ปรับลดลงจากปีก่อนตามค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับภาระการผ่อนชำระ หนี้สินที่มีอยู่ในระดับสูง สร้างปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน และทำให้พวกเขาไม่กล้าจับจ่าย ใช้สอยค่ะ
เป็นเหตุให้พี่น้องประชาชน เกิดความเครียด ทั้งนี้เนื่องจากว่าความยากจนนี่ทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมได้ ด้วยปัจจัย ที่ส่งผลต่อภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงมีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน อย่างมาก ซึ่งปัญหาภาวะการครองชีพในประเทศไทยมีหลายปัจจัยค่ะ โดยศูนย์วิจัย กสิกรไทยเผยว่าได้สำรวจประเด็นความกังวลเกี่ยวกับภาวะการครองชีพครัวเรือนในช่วง ครึ่งปีหลัง ปี ๒๕๖๖ พบว่าประเด็นที่ครัวเรือนมีความกังวลมากที่สุด มี ๓ อันดับ ได้แก่
อันดับที่ ๑ ค่าครองชีพ ราคาของสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นสินค้าที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ทุกวันนี้ท่านประธานคะ ราคาไข่ไก่ เบอร์ ๐ ตามท้องตลาดราคาเฉลี่ยถึงฟองละ ๕ บาท ซึ่งแพงเป็นประวัติการณ์วันนี้ไข่ไก่ เบอร์ ๔ ที่ดิฉันนำมา ซึ่งเป็นเบอร์ที่เล็กสุดแล้วก็ราคาขณะนี้อยู่ในราคาแผงละ ๑๓๐ บาท ราคาฟองละ ๔.๓๓ บาท ท่านประธานซึ่งเล็กมากทานก็ยังอาจจะไม่อิ่มถ้าเราทานเป็นไข่ต้ม ท่านประธานคะราคาตอนนี้ ๑๓๐ บาทในราคาไข่ไก่เบอร์ ๔ จากเดิม ปี ๒๕๖๕ ราคา เบอร์ ๔ ไข่ไก่นี้แผงละ ๙๗ บาทค่ะท่านประธาน แต่คนส่วนใหญ่ถ้ามีรายได้น้อยก็จะซื้อ ทีละ ๑๐ ฟอง เพราะ ๑ แผง มี ๓๐ ฟอง ท่านประธานซื้อทีละ ๑๐ ฟอง ก็จะราคาสูงไปอีก ประมาณแผงละ ๖-๗ บาท ท่านประธานเมื่อก่อนนี้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและปลากระป๋อง เป็นอาหารที่ช่วยต่อยอดต่อชีวิตให้กับพี่น้องประชาชนให้อยู่ได้ถึงสิ้นเดือน แต่ขณะนี้ ไม่เหมือนเดิมอีกแล้วค่ะ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปราคาซองละ ๘ บาท ปลากระป๋องราคาสูงขึ้นมาก ขั้นต่ำราคาก็ ๑๕ บาท ที่พอทานได้ แล้วก็มีชิ้นเนื้อปลากระป๋องให้ทานได้
อันดับที่ ๒ รายได้และการจ้างงานรายรับไม่เพียงพอกับรายจ่าย นั่นหมายถึง การจ้างงานลดลง ข้าวของแพงขึ้น แต่ค่าแรงยังถูกเหมือนเดิม
อันดับที่ ๓ ที่ครัวเรือนกังวล ก็คือภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น มีทั้งการก่อหนี้เพิ่ม อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้น ทำให้การผ่อนชำระหนี้เป็นไปด้วยความยากลำบากค่ะ ปัญหาภาวะการครองชีพปัจจุบันท่านประธานคะ ดิฉันขอนำข้อเท็จจริงถึงความทุกข์ยาก เดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก และพี่น้องจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชนในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความไม่มั่นคง ในการดำรงชีวิต เสียโอกาสในการออมและการลงทุน เกิดข้อจำกัดในการศึกษาและอาชีพ ทำให้ไม่มีโอกาสในการพัฒนาความรู้และทักษะใหม่ ๆ หรือไม่สามารถเปลี่ยนอาชีพ ในกรณีที่ต้องการได้ รวมถึงความไม่มั่นคงในการรับดูแลสุขภาพที่เหมาะสม และความลำบากในการเพิ่มรายได้หรือขาดรายได้ที่มั่นคง ดิฉันจึงขอให้ทางรัฐบาล ได้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเป็นกรณีเร่งด่วน ๕ ประเด็นดังนี้ค่ะ
ประเด็นที่ ๑ ควบคุมราคาสินค้าและบริการให้สินค้าอุปโภคและบริโภค ขั้นพื้นฐานอยู่ในราคาที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคเพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยให้สามารถ ดำรงชีวิตอยู่ได้
ประเด็นที่ ๒ ส่งเสริมการเกษตรให้ภาครัฐส่งเสริมการควบคุมต้นทุนวัตถุดิบ ในการผลิตโดยเฉพาะปุ๋ย ยา เมล็ดพันธุ์พืช อาหารสัตว์ หรือวัคซีน
ประเด็นที่ ๓ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับ พี่น้องประชาชนจะได้ช่วยลดผลกระทบของราคาสินค้าที่สูงขึ้น
ประเด็นที่ ๔ นโยบายของรัฐบาลที่ประชาชนตั้งหน้าตั้งตารอในตอนนี้ เมื่อไรจะได้ใช้เงิน Digital ๑๐,๐๐๐ บาท จึงขอให้รัฐบาลเร่งทำนโยบายนี้ให้สำเร็จ เพราะชาวบ้านในพื้นที่ต้องการ เพราะว่าเขาอดทนกัดฟันสู้ชีวิตเพื่อให้อยู่รอด
ประเด็นสุดท้ายพี่น้องเกษตรกรมีภาระในเรื่องของหนี้เกษตรกรอยู่มาก จึงขอให้ทางรัฐบาลช่วยเหลือพักหนี้ชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ๓ ปี กับเกษตรกรที่เป็นหนี้กับ ธ.ก.ส. จำนวนที่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ขอให้รัฐบาลทบทวนและพิจารณาพักหนี้ในยอด ๓๐๐,๐๐๐ บาทเท่า ๆ กัน ยกตัวอย่างเช่น มีหนี้ ๕๐๐,๐๐๐ บาท ก็ขอให้พักหนี้ในจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาทแรกก่อน ส่วนอีก ๒๐๐,๐๐๐ บาทให้ถือเป็นหนี้ปกติเพื่อลดภาระรายจ่าย เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรได้อยู่ได้ ขอให้รัฐบาลได้เร่งทำนโยบายให้สำเร็จเพื่อต่อลมหายใจ ให้กับพี่น้องประชาชนและเกษตรกรได้ลืมตาอ้าปากได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นโดยเร็วค่ะ ท่านประธานคะ เงิน ๑๐๐ บาทของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน บางคนกินข้าวได้ทั้งวัน บางคน กินข้าวได้ทั้งครอบครัว แต่บางคนกาแฟถ้วยเดียวก็หมดแล้ว ขอบคุณค่ะท่านประธาน
กราบเรียนท่าน ประธานสภาที่เคารพค่ะ ดิฉัน นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพิษณุโลก เขต ๔ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ วันนี้ดิฉันขอนำเสนอปัญหา ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากถนนหลายพื้นที่ไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง ในช่วงกลางคืนมืดสนิททำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง จึงขอความอนุเคราะห์งบประมาณ ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างทั้งหมด ๓ สายทาง
๑. ถนนทางหลวงหมายเลข ๑๐๖๕ พรานกระต่าย-หนองกุลา กม.๓๓+๘๐๐ ถึง กม.๓๕+๕๐๐ บริเวณบ้านนาดง หมู่ที่ ๑๔ ตำบลหนองกุลา อำเภอบางระกำ ซึ่งมีบ้านเรือน หนาแน่นและในช่วงกลางคืนจะมีรถสัญจรข้ามจังหวัดระหว่างพิษณุโลกและกำแพงเพชร ปริมาณมากค่ะ
๒. ถนนทางหลวงหมายเลข ๑๒๘๑ สายบางระกำ-บ่อทอง กม.๐+๕๐๐ ถึง กม.๑+๙๕๐ บริเวณแยกคลองน้ำเย็นจุดป้อมตำรวจสามแยกบางระกำ ไปปลักแรดจนถึง แพล้นท์คอนกรีต และ กม.๒+๔๐๐ ถึง กม.๓+๘๐๐ ได้รับแจ้งจากท่านผู้ใหญ่สมบัติ บ้านตาโม่ หมู่ที่ ๕ ตำบลบางระกำว่า เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และ กม.๙+๒๕๐ ถึง กม.๑๐+๒๐๐ เนื่องจากได้รับแจ้งจากชาวตำบลปลักแรด ในพื้นที่ว่าในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลปลักแรด บริเวณโรงสีข้าวท่านกำนันศักดิ์ไปจนถึงสี่แยกไปบ้านพันเสาไม่มีไฟฟ้าส่องสว่างเพียงพอ และ กม.๑๑+ ถึง กม.๑๒+๓๐๐ เนื่องจากได้รับแจ้งจากท่านผู้ใหญ่บ้าน ท่านกำนันทวิช ย่อมแอ่น ตำบลบ่อทอง ว่าบริเวณวัดหนองแขมไปจนถึงบ้านดอนอภัย ตำบลบ่อทอง ถนนมืดสนิทและเป็นเส้นทางโค้งมาก และ ๓ ถนนทางหลวงหมายเลข ๑๓๐๓ สายปลายนา-หนองตูม กม.๑๒+๔๐๐ ถึง กม.๑๕+๑๐๐ หมู่ที่ ๓ บ้านใหม่เจริญธรรม หมู่ที่ ๑๒ บ้านบ่อไทรงาม มีบ้านเรือนหนาแน่น ๒ ข้างทาง ซึ่งกลางคืนมืดมาก จึงขอเร่งรัด ให้กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม พิจารณาให้แขวงทางหลวงพิษณุโลกที่ ๑ ดำเนินการ อนุเคราะห์งบประมาณติดตั้งระบบไฟฟ้าส่องสว่างในพื้นที่ดังกล่าวให้กับพี่น้องประชาชน โดยเร็ว เพื่อลดอุบัติเหตุและความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ขอบคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เขต ๔ พรรคเพื่อไทยค่ะ
วันนี้ดิฉันขอเสนอปัญหา ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ค่ะ ขอเรียนผ่านท่านประธานสภาไปถึง กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม เพื่อปรับปรุงถนนและขยายถนนหมายเลข พล.๒๐๔๓ แยกทางหลวงหมายเลข ๑๒ ถึงบ้านสนามคลีในจุดตำบลบ้านไร่ อำเภอ บางกระทุ่ม กิโลเมตรที่ ๓๓-๓๖ ถนนเส้นนี้เป็นถนนด้านหลังมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งคู่ขนาน กับคลองชลประทาน ตามสไลด์นะคะ ซึ่งถนนดังกล่าวนี้มีพี่น้องประชาชนใช้ ไม่ว่าจะเป็น ตำบลงิ้วงาม ตำบลท่าโพธิ์ ตำบลวัดพริก เขตอำเภอเมือง และตำบลบ้านไร่ ตำบลสนามคลี ตำบลโคกสลุด เขตอำเภอบางกระทุ่ม ถนนเส้นนี้ไปจนถึงจังหวัดพิจิตร เพราะฉะนั้นแล้วก็ เส้นทางนี้มีรถสัญจรจำนวนมาก แต่ว่าช่องการจราจรค่อนข้างคับแคบและไม่มีไฟฟ้า ส่องสว่าง ในช่วงกลางคืนมืดสนิทค่ะ แล้วก็มีความคดเคี้ยวมาก ซึ่งจุดนี้จะเป็นจุดของ ประตูน้ำ ซึ่งเป็นประตูน้ำวัดใหม่ราษฎร์ทรงธรรม มีสะพานข้าม มีทางแยก ซึ่งทำให้เกิด อุบัติเหตุบ่อยครั้ง ท่านประธานคะ ในปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นมากกว่า ๒๐ ครั้ง มีผู้เสียชีวิตในจุดนี้มากกว่า ๕ รายค่ะ ดิฉันจึงขอเร่งรัดให้ทางกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคมพิจารณาให้แขวงทางหลวงชนบทพิษณุโลกได้อนุมัติงบประมาณปรับปรุง และขยายถนนพร้อมติดตั้งระบบไฟฟ้าส่องสว่าง รวมทั้งป้ายจราจร Guard Rail ป้องกัน ในช่วงของทางโค้งในพื้นที่ดังกล่าวให้กับพี่น้องประชาชนโดยเร็ว เพื่อลดอุบัติเหตุและความ สูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน ขอบคุณค่ะ
กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพค่ะ ดิฉัน นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ สมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เขต ๔ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ดิฉันขอเสนอญัตติ เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการพัฒนาพื้นที่ เขตเศรษฐกิจภาคเหนือ ขอสไลด์ด้วยค่ะ
การศึกษาการพัฒนาพื้นที่ เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ Northern Economic Corridor เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ของ ประเทศชาติ ผู้ประกอบการ ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มของจังหวัดภาคเหนือ ตอนล่าง ๑ ทั้ง ๕ จังหวัด ซึ่งมีลักษณะพิเศษ เป็นจุดตัดของระเบียงเศรษฐกิจ เหนือ ใต้ Northern North South Economic Corridor กับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก ตะวันตก East West Economic Corridor ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นสี่แยกอินโดจีนอย่างแท้จริง ที่จังหวัด พิษณุโลก นอกจากนี้แล้วยังเป็นการตอบสนองแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๓ แล้วยังเป็นการเตรียมเสริมสร้างการก่อสร้างแลนด์บริดจ์ในภาคใต้ ที่กำลัง จะพิจารณาก่อสร้างขึ้นด้วยในอนาคต เป็นการสอดประสานกันได้อย่างดี ทำให้เกิดการ สร้างงาน สร้างธุรกิจ สร้างโอกาส ในทุก ๆ ด้านมีการเดินทางเข้ามาลงทุนทั้งต่างประเทศ ในพื้นที่ดังกล่าว จะทำให้มีสภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ผู้ประกอบการ SMEs ในภาคเหนือ และ ภาคเหนือตอนล่างจะมีโอกาสในด้านต่าง ๆ มากขึ้น ทั้งการค้าภายในประเทศ ต่างประเทศ ในทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่ของภาคเหนือตอนล่าง ๑ มีหลาย โครงการที่ได้เริ่มขึ้นแล้ว เช่น LIMEC เป็นระเบียงเศรษฐกิจ หลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลำไย นอกจากช่องทางการค้าอื่นแล้ว ก็ยังมี BIMSTEC ซึ่งเป็นความร่วมมือเหนืออ่าวเบงกอล ใน ด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย พม่า บังกลาเทศ ภูฏาน ประเทศอินเดีย ประเทศศรีลังกา และประเทศเนปาล เพราะประเทศเหล่านี้สามารถที่จะมาซื้อสินค้าที่ประเทศไทยได้สะดวก กว่าที่จะไปนิวเดลี ประเทศอินเดีย ทำให้ภาคเหนือตอนล่างเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน การศึกษา การเกษตร และสาธารณสุข ซึ่งจะมีศักยภาพเป็นศูนย์การแพทย์ Medical Hub บริการในเรื่องของสุขภาพ แพทย์แผนไทย ความงาม และสมุนไพร ท่านประธานคะ โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกของเขตเศรษฐกิจในกลุ่มภาคเหนือตอนล่าง นอกจากจะเป็นพื้นที่ที่สามารถรองรับทางด้านการค้าได้แล้ว จังหวัดพิษณุโลกยังได้รับการ ประกาศเป็น MICE City ทำให้เป็นศูนย์กลางทางด้านการประชุม การจัดนิทรรศการ การศึกษาพัฒนาบุคลากร รวมไปถึงการวิจัยพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ และด้านการท่องเที่ยว ซึ่งมีการคมนาคมที่สะดวกและมีถนนเชื่อมโยงไปยังภาคเหนือตอนบน ภาคกลาง ภาค ตะวันตก และภาคตะวันออกเชื่อมไปยังในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งจะมีรถไฟเชื่อมโยงจาก กรุงเทพมหานครไปยังภาคเหนือตอนบน มีสนามบินรองรับการเดินทาง ซึ่งในปี ๒๕๖๕ มี สถิติในการขนส่งทางอากาศมากที่สุดในกลุ่มภาคเหนือตอนล่าง ๑ มีจำนวนผู้โดยสารทั้งสิ้น ๓๗๒,๐๒๑ คน นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาในเรื่องของการขุดลอกแม่น้ำน่านให้กลับมาใช้ใน การขนส่งสินค้าทางแม่น้ำได้อีก และจะทำให้การขนส่งสินค้าทางเรือได้กลับมาใช้ในโอกาส ต่อไป ท่านประธานคะ ประเด็นการพัฒนาในเขตพื้นที่เศรษฐกิจภาคเหนือ โดยใช้การ วิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก โดยใช้ SWOT Analysis ก็จะทำให้เห็นว่าจุดแข็ง ก็จะมีความพร้อมต่อด้านการพัฒนาด้าน Logistics ทั้งภาคการค้า การบริการกับนานาชาติ สภาพเศรษฐกิจสังคมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาทางด้าน ภาคผลิตและธุรกิจการบริการ มีภูมิปัญญาที่หลากหลาย ซึ่งมีมูลค่าและมีแรงงานที่มีศักยภาพ มีวัตถุดิบทางด้านการเกษตร เกษตรแปรรูปและสมุนไพร มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทางศาสนา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชุมชน ธรรมชาตินิเวศที่หลากหลาย ส่วนในจุดอ่อนก็ยังมีการ ขยายตัวของพื้นที่เมือง ชุมชนอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้มีผลกระทบต่อการจัดการสิ่งแวดล้อม เราขาดการจัดตั้งศูนย์การพัฒนาการประสานงานเครือข่ายของประเทศคู่ค้า ขาดจุด ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ขาดการประยุกต์นวัตกรรมในการ ผลิตอาหารและแปรรูปสินค้าเกษตร
ในเรื่องของโอกาส เราก็จะมีการเชื่อมโยงทางด้านเส้นทางคมนาคม ทำให้เกิดโอกาสในการขยายตลาดการค้า ยุทธศาสตร์ Digital เพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่กำหนดแนวทางพัฒนาเมืองเป็นเมืองอัจฉริยะ มีการพัฒนาจังหวัดในพื้นที่สี่แยกอินโดจีน ที่เอื้อต่อการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ มีความสัมพันธ์และความร่วมมือของ เศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะทำให้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น มีความต้องการทางด้านอาหาร สินค้าเกษตรในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น
ส่วนในเรื่องของอุปสรรค นโยบายการเปิดการค้าเสรีจะส่งผลกระทบให้สินค้า เกษตร ทั้งการบริโภคและในกลุ่มจังหวัด และขาดการส่งเสริมในภาคของการผลิต เนื่องจากว่าเรามีสภาพการแข่งขันที่สูงขึ้น นำไปสู่ประเด็นการพัฒนามีดังนี้ค่ะ ด้านการเกษตรทำให้มีการพัฒนาในเรื่องของการส่งเสริมการศึกษาการเกษตรสมัยใหม่ ที่ครบวงจร เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด มีการส่งเสริมให้มีการเลี้ยงโคเนื้อ โคนม ไก่ดำ และแปรรูปอาหารสัตว์เพื่อการส่งออก และทำให้มีการพัฒนาแหล่งน้ำ ขยายเขต ชลประทานไปสู่ไร่นาของเกษตรกรอย่างทั่วถึง ในด้านของการค้าการลงทุนได้มีการจัดตั้ง พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ด้านการแปรรูปสินค้าเกษตรและอาหาร ช่วยพัฒนาช่องทาง การตลาด การค้าข้ามแดนของเขตเศรษฐกิจพิเศษ การพัฒนาเส้นทางคมนาคมระบบ Logistics เป็นการเชื่อมโยงเพื่อสู่ภูมิภาคทั่วประเทศ ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม เราได้กำหนดมาตรการในการบริหารจัดการขยะในพื้นที่ และจัดการปัญหา สิ่งแวดล้อมโดยการมีส่วนร่วม แก้ไขปัญหาในการขออนุญาตใช้พื้นที่อุทยานป่าไม้และ แหล่งที่ดินทำกิน ในด้านของการท่องเที่ยวเราจะพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงของแต่ละจังหวัด และสนับสนุนการท่องเที่ยวในเชิงสุขภาพ ด้านสมุนไพรและด้านความงาม ในด้าน สาธารณสุขจะผลักดันให้จังหวัดพิษณุโลกเป็นเมืองสมุนไพร และส่งเสริมการแพทย์แผนไทย ในระดับพื้นที่ มีการสร้างความรู้ทางด้านสุขภาพ และเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน พัฒนา ทั้งคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้เปราะบาง ทางด้านความมั่นคงเราจะพัฒนาทางด้านการศึกษา และปัญหาด้านยาเสพติดให้เกิดความปลอดภัย ดังนั้นจึงทำให้เห็นว่าการพัฒนาพื้นที่ เศรษฐกิจภาคเหนือตอนล่างจะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ จะกระจายความเจริญและพัฒนา เศรษฐกิจร่วมกันระหว่างนักลงทุนไทยและชาวต่างชาติให้ครอบคลุมในทุก ๆ มิติของสังคม อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ให้พี่น้องประชาชนในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือได้รับประโยชน์จาก การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามหลัก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงต่อไป ท่านประธานคะ วันนี้ดิฉันจึงขอเสนอญัตติ เรื่องขอให้สภา ผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ภาคเหนือ ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๔๙ ขอบคุณค่ะ
กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพิษณุโลก เขต ๔ พรรคเพื่อไทย ดิฉันขอตั้งกระทู้ถามท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวง คมนาคมในเรื่องของความคืบหน้าในการดำเนินการก่อสร้างถนนยกระดับเพื่อป้องกันน้ำท่วม ของถนนทั้ง ๒ สาย ซึ่งประกอบด้วย ๑. ถนนสายบ้านวังแดง ตำบลบางระกำ ผ่านบ้านท่านางงาม บ้านกรุงกรัก บ้านบางบ้า ตำบลชุมแสงสงคราม อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ระยะทาง ๑๓ กิโลเมตร ๒. ถนนสายบ้านหนองพะยอม-บ้านตระแบกงาม ตำบลชุมแสงสงคราม อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ระยะทาง ๑๐.๘๐ กิโลเมตร
เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวเกิดอุทกภัยมาจากแม่น้ำยมไหลบ่าเข้าท่วมตำบล บางระกำ ตำบลท่านางงาม ตำบลชุมแสงสงคราม เป็นประจำทุกปี ซึ่งมีราษฎรอยู่อาศัย จำนวน ๒,๐๐๐ หลังคาเรือน ประสบปัญหาอย่างนี้ทุกปี ทำให้ถนนเส้นนี้มีความจำเป็น อย่างมากที่เขาจะได้สัญจรเข้าออกเพื่อที่จะได้ออกมาติดต่อกับโลกภายนอก ซึ่งทำให้เขาไม่มี พื้นที่ที่จะเก็บสิ่งของอุปโภคบริโภคทางด้านการเกษตร การปศุสัตว์ ยานพาหนะต่าง ๆ ถนนเส้นนี้นอกจากนั้นแล้วเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย พื้นที่น้ำท่วมจะเห็นเป็นพื้นที่สีดำทั้งหมด ในเวลากลางคืนนะคะ ทำให้พี่น้องได้รับความเดือดร้อนทุกข์ทรมานเป็นเวลามามากกว่า ๕๐ ปี ขอถามท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อที่จะได้แก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้กับ พี่น้องประชาชนค่ะ
คำถามที่ ๑ กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม มีแผนการก่อสร้าง ยกระดับถนนเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมของถนนทั้ง ๒ สายนี้หรือไม่ อย่างไร และ ๒. ถ้ากรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม มีแผนแล้ว ขณะนี้ความคืบหน้าในการ ก่อสร้างของโครงการทั้ง ๒ โครงการนี้อยู่ในขั้นตอนใด และได้กำหนดกรอบระยะเวลา ของโครงการหรือไม่ว่าจะได้ดำเนินการก่อสร้างอย่างไร ขอทราบรายละเอียดค่ะ ขอบคุณค่ะ
เรียนท่านประธาน ต้องขอบคุณกรมทางหลวงชนบทที่จะได้บรรจุถนนสายบ้านหนองพะยอมถึงบ้านตระแบกงาม ตำบลชุมแสงสงคราม อำเภอบางระกำ ในงบประมาณปี ๒๕๖๘ ซึ่งจะได้ช่วยเหลือพี่น้อง ประชาชนได้เป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันในสายบ้านวังแดง ตำบลบางระกำ ดิฉันได้ทราบ มาว่าเป็นของ อบจ. พิษณุโลก แต่ว่างบประมาณปี ๒๕๖๗ อนุมัติเพียง ๒๐ ล้านบาท ซึ่งจะได้ระยะทางประมาณ ๒-๓ กิโลเมตร ซึ่งจุดนี้จะเป็นจุดที่ชาวบ้านใช้สัญจรออกไป ลำบากมาก ดังนั้นเมื่อท่านรัฐมนตรีได้ชี้แจงมาอาจจะต้องกลับไปเพื่อที่จะไปปรึกษา อบจ. พิษณุโลก เพราะว่า ๑๓ กิโลเมตร แล้วทำได้ ๓ กิโลเมตรนี้อาจจะยังไม่สามารถที่จะ ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ได้ อาจจะต้องขออนุญาตนำไปปรึกษาทาง อบจ. พิษณุโลกว่าจะ ยกถนนให้กับกรมทางหลวงชนบทได้หรือไม่ เพราะว่าถมค่อนข้างสูงนะคะ ต้องมีมากกว่า ๑ เมตร เพราะไม่อย่างนั้นพี่น้องจะออกมาไม่ได้เลยนะคะ
อันนี้คือตอนที่ไปมันท่วม แค่ประมาณ ๑๕-๓๐ เซนติเมตร ตอนที่ไปนี้ไปก่อนที่ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ที่ท่านลงพื้นที่บางระกำ ท่านลงพื้นที่วันที่ ๑๔ ตุลาคม แต่ว่าวันนี้ที่ไปคือ ๑๓ ตุลาคม พอเรา เข้าไปตรงนี้ยังน้อยอยู่นะคะ แต่พอผ่านวัดเข้าไปลงไปมันลึกมาก ทะเบียนรถของสมาชิกหาย เลยนะคะ เพราะว่ามันลึกมาก ประมาณ ๘๐ เซนติเมตร ตอนนี้ยังพอดูได้อยู่ ถ้าช่วงที่ ทุกท่านเห็นที่จะมีใส่รองเท้าอะไรอย่างนี้นะคะ ถ้าดูจากในรูปคือเป็นปัญหาที่เราจะต้องแก้ไข เร่งด่วนเพราะว่าเขาบอกว่าเขาทรมานมาก เขาไม่สามารถที่จะไปได้ อันนี้ก็คืออยู่ข้างทาง นะคะ รถคันนี้ความสูงก็ต้องมากกว่า ๖๐ เซนติเมตรอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นอันนี้คือสิ่งที่อาจจะ ต้องกลับไป แล้วก็บรรจุไว้เพื่อให้ อบจ. พิษณุโลกส่งมอบพื้นที่ให้กับกรมทางหลวงชนบท เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนให้กับพี่น้อง กราบขอบพระคุณอีกครั้งค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เขต ๔ พรรคเพื่อไทยค่ะ ดิฉันมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่องการพัฒนาระบบบำนาญพื้นฐานประชาชนของคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคมดังนี้
การสร้างระบบบำนาญให้ ประชาชน คือการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศชาติค่ะ เราทุกคนควรมีสิทธิ กินอิ่ม นอนหลับ ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างผาสุกและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่เว้นแม้กระทั่งในวันที่แก่ตัวลง และในวัยชราเท่านั้น ก็ไม่ควรที่จะถูกคาดหวังให้ตรากตรำทำงานเพื่อยังชีพ หรือกลายเป็น ภาระเลี้ยงดูของลูกหลาน ฉะนั้นหลักประกันรายได้ยามเกษียณอย่างบำนาญ จึงถือได้ว่าเป็น สิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นสวัสดิการของประชาชนที่ควรจะมีสิทธิที่จะได้รับอย่างทั่วถึงเสมอภาค และเป็นธรรม เพียงพอต่อการดำรงชีวิตอยู่ได้ไม่เป็นภาระของใคร ระบบบำนาญของไทย ทุกวันนี้กลับยังไม่สามารถที่จะเป็นหลักประกันที่มั่นคงและเหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ ของประเทศ กลไกบำนาญที่เป็นระบบพื้นฐานและเป็นระบบพึ่งพิงของผู้สูงอายุจำนวนมาก แต่เบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุยังถูกจ่ายในอัตราที่น้อยจนไม่สามารถที่จะเพียงพอกับเป็นหลักประกันคุณภาพชีวิต ขั้นต่ำได้ ไม่สามารถที่จะกระจายทรัพยากรไปยังผู้สูงอายุได้อย่างครอบคลุม อีกทั้ง ยังไม่มั่นคงในระยะยาวอีกด้วยค่ะ ขออนุญาตเปิดสไลด์นะคะ ท่ามกลางสถานการณ์ ของประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย จากการสำรวจข้อมูลโดยกระทรวงมหาดไทย ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ ผู้สูงอายุปัจจุบัน ปี ๒๕๖๕ ๑๒,๙๖๘,๓๖๒ ราย และใน ปี ๒๕๖๖ มีถึง ๑๓,๐๖๔,๙๒๙ ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง ๓๖๖,๕๖๗ ราย ซึ่งตัวเลขผู้สูงอายุ ๑๓ ล้านท่านนี้คิดเป็นร้อยละ ๒๐ ของจำนวนประชากรทั้งหมด ทำให้เบี้ยผู้สูงอายุกำลังเป็น ประเด็นนโยบายที่ทวีความสำคัญที่ต้องเผชิญกับความท้าทายมากขึ้นในทันที ท่านประธานคะ ถ้าถามว่าเบี้ยผู้สูงอายุเพียง ๖๐๐ บาท ถึง ๑,๐๐๐ บาทต่อเดือน จะช่วยเหลือผู้สูงอายุ ให้มีชีวิตอยู่รอดได้ในแต่ละวันหรือแต่ละเดือนได้อย่างไร แค่การใช้ชีวิตในต่างจังหวัด บ้านดิฉัน เงินจำนวนนี้ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตค่ะ ๓ วันก็ยังไม่ได้ นับประสาอะไรกับ ผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยถูกละเลย ปล่อยให้อยู่ตามลำพัง เพราะว่าลูกหลานมีความจำเป็นที่จะต้องไปหารายได้ในเมืองใหญ่ ทำให้หลายคนต้องพึ่งพิง เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่ทุกเดือน ประกอบกับในสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยปัจจุบันต้อง เผชิญกับวิกฤติทางเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่มาก ขึ้นในทุก ๆ วัน ซึ่งสวนทางกับรายได้ที่ค่อนข้างน้อยและต่ำลง ซ้ำยังต้องประสบกับอายุ ที่เพิ่มขึ้นทุกวัน เรี่ยวแรงก็ถดถอย ปล่อยให้โรครุมเร้า เหตุนี้ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยต้องดิ้นรน ที่จะนำสังขารของท่านออกมาประกอบอาชีพเพื่อประทังชีวิตให้รอดพ้นในแต่ละวัน เราจะเห็น ปรากฏในข่าวว่าคุณยายสู้ชีวิตอายุ ๘๐ ปี ที่จังหวัดพิจิตรเข็นรถออกมาเพื่อขายของ มันเป็น ภาพที่สะเทือนใจยิ่ง เพื่อนำรายได้อันน้อยนิดสามารถดำรงชีวิตและมีลมหายใจต่อไปได้ใน ทุก ๆ วัน ดังนั้นดิฉันจึงขอชื่นชมและสนับสนุนต่อข้อเสนอแนะแนวทางของคณะกรรมาธิการ เพื่อการแก้ไข พัฒนาระบบบำนาญขั้นพื้นฐานของประชาชนในลักษณะการจ่ายแบบถ้วน หน้าให้แก่ผู้สูงอายุที่มีสิทธิเท่ากันทุกเดือน ไม่ต้องเป็นแบบขั้นบันได นับเป็นขวัญและกำลังใจ กับผู้สูงอายุ และลดความห่วงใยจากลูกหลานที่ผู้สูงอายุจะได้รับการดูแลจากรัฐบาลอย่าง เหมาะสมยิ่งขึ้น รวมถึงพัฒนาระบบบำนาญพื้นฐานประชาชนควบคู่ไปกับกองทุนการออม ให้ประชาชนในวัยทำงานเริ่มเก็บออมกันมากขึ้น เพื่อที่จะได้มีเงินเลี้ยงดูตัวเองในช่วง ชราภาพ นำไปพัฒนาระบบบำนาญอย่างมีคุณภาพ อย่างไรก็ตามควรจะได้รับการพิจารณา ศึกษาแหล่งที่มาของงบประมาณในอนาคตที่จะนำมาดูแลพี่น้องประชาชนให้เหมาะสมและมี ความยั่งยืนมากกว่านี้ รวมถึงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนวางรากฐานที่มั่นคงต่อ ระบบบำนาญของประเทศไทยต่อไป ท่านประธานคะ ดิฉันเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะหาช่องทาง รายได้เพื่อนำมาเติมเต็มให้ความคุ้มครองคุณภาพชีวิตของประชาชนยามเกษียณให้เหมาะสม มากยิ่งขึ้น สุดท้ายนี้ดิฉันต้องขอบคุณท่านผู้สูงอายุทุกท่านที่ท่านได้สร้างบ้านแปลงเมือง มาจนถึงปัจจุบัน พวกเราในฐานะรุ่นลูก รุ่นหลาน ดิฉันในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะใช้ความพยายามในทุก ๆ วิถีทางให้สวัสดิการของผู้สูงอายุมีความมั่นคงเพียงพอในการ ดำรงชีวิตอย่างมั่นคงต่อไป ขอบคุณค่ะ