กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายเฉลิมพงศ์ แสงดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๒ พรรคก้าวไกล วันนี้ ต้องขอขอบพระคุณท่านประธานที่เปิดโอกาสให้ผมได้มีส่วนร่วมในการอภิปรายสนับสนุน ญัตติ เรื่อง ขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแก้ไข ปัญหาการอยู่ร่วมกันของคนภายในชุมชนและลิงในจังหวัดลพบุรี และในพื้นที่อื่น ๆ ที่เพื่อน สมาชิกท่านสาธิต ทวีผล พรรคก้าวไกล และเพื่อนสมาชิกอีกหลายพรรคการเมืองได้ร่วมกันเสนอ ท่านประธานครับ ก่อนอื่นผมต้องขออนุญาตชี้แจงผ่านท่านประธานไปยังพี่น้องประชาชนว่า วันนี้ทำไมสภาเราต้องมาพูดคุยกันเรื่องลิง แล้วไม่ใช่ลิงที่มีความหมายเปรียบเทียบกับ คนบางกลุ่ม แต่วันนี้สภาเราพูดคุยกันเรื่องลิงจริง ๆ ลิงที่กินกล้วย และไม่ใช่เรื่องกล้วย ๆ ที่แก้ไขได้ง่าย ๆ เพราะในบางพื้นที่มันไม่ใช่แค่เรื่องลิงที่อาศัยอยู่ในบริเวณชุมชน แต่มันเป็น เรื่องคนที่เข้าไปเกี่ยวด้วย ท่านประธานครับ ปัญหาลิงในจังหวัดภูเก็ตก็มีกับเขาเหมือนกัน จากข้อมูลทีมงานผมพบว่ามีหลายจุด เช่น เขาพระใหญ่ เป็นต้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นลิงกัง ลิงแสม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นปัจจุบันก็คือลิงที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ แต่แหล่งอาหาร ตามธรรมชาติไม่เพียงพอ จนทำให้บางจุดลิงกลายมาเป็นที่พึ่งอาหารจากนักท่องเที่ยว และบางครั้งสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชนในบริเวณใกล้เคียง จังหวัดภูเก็ต มีการแก้ไขปัญหาโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือการวางแผนจับลิงไปปล่อยตามเกาะต่าง ๆ ให้อาศัยตามธรรมชาติ ท่านประธานครับ เนื่องจากมีประชาชนร้องเรียนผ่านผมมาว่า การนำลิงไปปล่อยที่เกาะปู บริเวณหาดกะตะ จำนวน ๔ ตัว ขอสไลด์ด้วยครับ
โดยมีการเคลื่อนย้ายมาจากเขาพระใหญ่ คาดว่ามีจุดประสงค์คือต้องการเอาลิงมาปล่อยเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ดู แต่ท่านประธานครับ ชาวบ้านในพื้นที่กังวลว่าจะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ นั่นก็คือบนเกาะนั้นมีเหยี่ยวอาศัยอยู่ ก็คือนกเหยี่ยว ซึ่งเป็นสัตว์ดั้งเดิม จะถูกลิงรบกวน ลิงอาจจะไปกินไข่ของเหยี่ยว นี่คือสิ่งที่ ประชาชนกังวล นี่คือสภาพเกาะปูครับ อยู่ห่างจากเกาะภูเก็ต ๓ กิโลเมตร ไม่ทราบว่าลิง ว่ายน้ำไปเองได้หรืออย่างไร หรือมีคนเจตนานำลิงไปปล่อยบนเกาะ เรื่องนี้สำคัญตรงที่เหยี่ยวคือนักล่าสูงสุดในระบบนิเวศเป็นผู้ควบคุมประชากรนกพิราบ แต่ถ้าเหยี่ยวหายไปนกพิราบจะมา นกพิราบอาจจะเพิ่มปริมาณมากขึ้น จะสร้างความ เดือดร้อนเป็นวงกว้างจากมูลนกพิราบที่ขับถ่ายในสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ท่านประธานครับ เรื่องนี้ต้องตั้งคำถามการเคลื่อนย้ายลิงเหล่านี้ต้องมีการขออนุญาตจากหน่วยงานใดหรือไม่ มีการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาหรือไม่ การกระทำนี้เป็นความผิดหรือไม่ เพราะชาวบ้านในพื้นที่ว่าลิงไม่สมควรอยู่ตรงนั้น ควรมีการจัดการที่ดีกว่านี้ ตัวอย่างที่ผม ได้อภิปรายไปจะเห็นว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องลิงไม่ใช่เรื่องกล้วย ๆ เพราะเราไม่มองถึงภาพรวม ไม่ได้ทำการศึกษาทั้งระบบ การแก้ไขปัญหาแบบมักง่ายอาจนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ กระทบ ต่อสัตว์ชนิดอื่น ๆ และการกระทบต่อระบบนิเวศสูงสุด ด้วยเหตุนี้ผมจึงขอสนับสนุนให้ สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขการอยู่ร่วมกันของคน ภายในชุมชนและลิงในจังหวัดลพบุรี และในพื้นที่อื่น ๆ ที่เพื่อนสมาชิกได้เสนอ ขอบคุณครับ ท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายเฉลิมพงศ์ แสงดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๒ พรรคก้าวไกล ผมขอนำเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมาหารือต่อท่านประธาน เพื่อให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องได้แก้ไข ๓ เรื่อง
เรื่องแรก ปัจจุบันพื้นที่จังหวัดภูเก็ตมีการเจริญเติบโตของเมืองขยายตัวไป ทุกทิศทางส่งผลให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวประสบปัญหาการจราจรติดขัดอย่างรุนแรง ทั้งในเวลาปกติและในเวลาชั่วโมงเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นถนนสายหลัก ถนนเทพกระษัตรี ถนนสายกะทู้-ป่าตอง ถนนสายกมลา-ป่าตอง ถนนสายเชิงทะเล รวมไปถึงบริเวณ วงเวียนห้าแยกฉลอง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของเมืองภูเก็ต มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและ ความเป็นอยู่ของประชาชน และนักท่องเที่ยวทั้งในด้านการจราจรที่ไม่สะดวกรวดเร็ว อุบัติเหตุ และภาพลักษณ์ของเมืองท่องเที่ยวนานาชาติ ขอให้ท่านประธานหารือไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยผลักดันแก้ไขปัญหาการคมนาคมในจังหวัดภูเก็ตเป็นวาระเร่งด่วน ฝากท่านประธานหารือไปยังกระทรวงคมนาคมครับ
เรื่องที่ ๒ ขอความอนุเคราะห์ท่านรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมในการพิจารณา ศึกษาโครงการก่อสร้างสะพานบริเวณปากคลองมุดงเชื่อมต่อตำบลวิชิตไปยังตำบลฉลอง ซึ่งเป็นเส้นทางใหม่ให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวสัญจรเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการเร่ง ระบายการจราจรจุดต่าง ๆ และช่วยร่นระยะทาง ๕-๖ กิโลเมตร เชื่อมต่อไปยังชุมชน ฝากท่านประธานหารือไปยังกระทรวงคมนาคมครับ
เรื่องสุดท้าย เนื่องจากประชาชนร้องเรียนมาถึงปัญหาสาหร่ายจำนวนมาก ที่ขึ้นมาเกยตื้นบริเวณหาดป่าตอง โดยตั้งข้อสันนิษฐานว่าอาจจะเกิดการพัดพามาจาก การเดินเครื่องของเรือสำราญที่เข้ามาจอดลอยลำบริเวณหาดป่าตอง ดังนั้นจึงขอให้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดภูเก็ตเข้าไปตรวจสอบถึงผลกระทบที่คาดว่า อาจมาจากเรือสำราญดังกล่าว เพื่อคลายข้อสงสัยให้กับประชาชนในพื้นที่ ฝากท่านประธาน หารือไปยังกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม นายเฉลิมพงศ์ แสงดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๒ พรรคก้าวไกล วันนี้ต้องขอขอบคุณท่านประธานที่ให้ผมได้กรุณาอภิปรายตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาการจัดการขยะ ที่ท่าน สส. พูนศักดิ์ จันทร์จำปี และเพื่อนสมาชิกพรรคก้าวไกลได้ร่วมกันเสนอ ท่านประธานครับ ปัญหาขยะ ถือเป็นปัญหา ใหญ่ระดับประเทศ เท่าที่ฟังเพื่อนสมาชิกได้อภิปรายกันมา ไม่ว่าจังหวัดใด ๆ ก็ล้วนแต่ มีปัญหาขยะกันทั้งนั้น ผมพอจับประเด็นได้ว่าขยะนั้นเอาเข้าจริง ๆ เราสามารถจัดกลุ่ม ได้เป็น ๒ กลุ่มใหญ่ นั่นคือปัญหาขยะล้นเมืองกับปัญหาว่าด้วยการจัดการขยะล้นเมือง อย่างไรโดยไม่กระทบสิ่งแวดล้อม ท่านประธานครับ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๔ กรมควบคุมมลพิษ รายงานว่าประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศ ๒๔.๙๘ ล้านตัน ลดลงร้อยละ ๑.๔๕ ตัน จากปี ๒๕๖๓ ที่ลดลงนั้นไม่ใช่เพราะว่าเราสร้างขยะน้อยลงนะครับ แต่จำนวน นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมาประเทศไทยน้อยลงในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโรคโควิด-๑๙ เพราะฉะนั้นอย่าดีใจกับตัวเลขนี้นะครับท่านประธาน เพราะปี ๒๕๖๕ กรมควบคุมมลพิษเอง ก็มีรายงาน มีปริมาณขยะมูลฝอยรวมทั้งประเทศมากกว่าปี ๒๕๖๔ ตัวเลขอยู่ที่ ๒๕.๗ ล้านตัน พอไม่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ขยะก็กลับมาเพิ่มขึ้น ดังนั้นต้องดูตัวเลข ของปี ๒๕๖๖ และปี ๒๕๖๗ ว่าพอไม่มีโควิดและกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวเต็มที่ กิจกรรมในภาคการท่องเที่ยวที่รัฐบาลพยายาม Promote เชิญชวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ กลับมาเที่ยวในประเทศไทยนั้น มีตัวเลขปริมาณขยะมูลฝอยจะเป็นอย่างไร ท่านประธานครับ พอพูดถึงเรื่องการท่องเที่ยว ผมขอแวะไปที่จังหวัดภูเก็ตของผมสักนิดหนึ่งครับ ไม่แวะไม่ได้ ครับท่านประธาน เพราะจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดท่องเที่ยวระดับโลก รัฐบาลก็ให้ความสนใจ ท่านนายกรัฐมนตรีเองก็เดินทางไปจังหวัดภูเก็ตหลายครั้ง หรือเวลาท่านนายกรัฐมนตรี เดินทางไปต่างประเทศก็โฆษณาประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ดังนั้น เรื่องขยะในแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต จึงเป็นประเด็นสำคัญ ถือว่าเป็นหน้าเป็นตาของ ประเทศ ท่านประธานครับ ที่จังหวัดภูเก็ตมีภาคพี่น้องประชาชนจิตอาสาได้รวมตัวกันในนาม Page ขยะมรสุม ได้ทำจัดกิจกรรมเก็บขยะตามชายหาดต่าง ๆ เช่น หาดป่าตอง หาดกะรน หาดกะตะ และหาดราไวย์ และยังได้พบว่าขยะที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้มาจากบนฝั่งเสียทีเดียว แต่มาจากเรือสำราญ เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ และมาจากน่านน้ำทะเลประเทศอื่น ที่ถูกลมมรสุมพัดพามาที่ชายหาดบ้านเรา ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ หากได้ตั้งขึ้นมา ก็ควรนำประเด็นทำนองนี้ไปเข้าพิจารณาหาทางออกด้วยกันครับ ท่านประธานครับ ในเชิง ภาพรวม การบริหารจัดการขยะจังหวัดภูเก็ตในปัจจุบันมีศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมเทศบาล นครภูเก็ตอยู่ที่เดียว ซึ่งต้องรับผิดชอบการจัดการขยะ ทั้ง ๑๙ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็คือขยะจากทุก อบต. ทุกเทศบาลที่ถูกนำมาทิ้งรวมกันต้องวิ่งเข้าสู่ในเมือง พร้อมทั้งนี้มี การดำเนินการให้เอกชนเข้ามารับผิดชอบลดขยะ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือสิ่งปฏิกูลหรือของเหลว ต่าง ๆ ที่ติดมากับขยะ เพราะไม่ได้คัดแยก ไหลลงถนนจนเกิดภาพไม่น่ามอง บางครั้ง เกิดอุบัติเหตุกับประชาชน ซึ่งเรื่องนี้ผมเคยหารือกับท่านประธานไปแล้ว ในปัจจุบันก็ยังไม่มี การแก้ไข ในเชิงศักยภาพตอนนี้บ่อฝังกลบ ๕ บ่อ รับรองขยะได้รวม ๓.๓ ล้านตัน มีเตาเผา อยู่ ๒ เตา ปัจจุบันชำรุด ๑ เตา อยู่ระหว่างการซ่อมแซม เตาเผาที่ใช้การได้มีเตาเผาขยะแบบผลิตกระแสไฟฟ้า สามารถกำจัดขยะได้วันละ ๗๐๐ ตัน ในขณะที่ปริมาณขยะจังหวัดภูเก็ตต่อวัน เฉลี่ยอยู่วันละ ๘๕๑ ตัน มากกว่าศักยภาพที่เตาเผา กำจัดขยะต่อวัน อันนี้ตัวเลขเมื่อปี ๒๕๖๖ ผมโทร Check ข้อมูลล่าสุดเมื่อเช้านี้ ทุกวันนี้ทะลุ ไปวันละ ๙๐๐ ตันแล้วครับท่านประธาน นั่นหมายความว่าปริมาณขยะเตาเผาไม่ทันในแต่ละ วัน จะถูกนำไปฝังกลบ ซึ่งทำให้เกิดปัญหามลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมตามมา อย่างไรก็ตาม สำนักงานสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ตก็มีแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยการลดปริมาณการคัดแยก ขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งผมเห็นว่าเรื่องนี้ควรทำเป็นเชิงรุก คือรณรงค์ให้ทุกโรงแรม ทุก Resort แยกขยะตั้งแต่ต้นทางเพื่อลดต้นทุนในการจัดการขยะ ในส่วนการก่อสร้าง บ่อขยะหรือเตาเผาขยะเพิ่มเติมตามที่จังหวัดภูเก็ตมีแผนดำเนินการนั้นก็ควรสร้าง ความเข้าใจกับประชาชน คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม จัดหาสถานที่ที่เหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และคำนึงถึงมลภาวะที่จะเกิดขึ้นกับพ่อแม่พี่น้องประชาชน ในพื้นที่ เรื่องทั้งหมดนี้คงมีหลายประเด็นที่จะต้องลงรายละเอียดกันในคณะกรรมาธิการ วิสามัญ หวังว่าสภาผู้แทนราษฎรจะได้มีการลงมติขึ้นในวันนี้ ผมจึงขออภิปรายสนับสนุนญัตตินี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราใช้กลไกสภาผู้แทนราษฎรในการแก้ไขปัญหาขยะให้กับพ่อแม่ พี่น้องประชาชนได้ด้วยดีครับ ขอบคุณครับท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายเฉลิมพงศ์ แสงดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๒ พรรคก้าวไกล ผมขอนำ เรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมาหารือต่อที่สภา ดังนี้
เรื่องแรก ปัจจุบัน Web UFA พนันออนไลน์ กำลังระบาดหนักในจังหวัดภูเก็ตจนกลายเป็นปัญหาของสังคม ส่งผลกระทบต่อเยาวชน มีคน ของ Web คุกคามสื่อท้องถิ่นไม่เกรงกลัว จึงขอให้เร่งรัดการแก้ไขปัญหา Web พนันออนไลน์ ฝากท่านประธานหารือไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติและตำรวจไซเบอร์ครับ
เรื่องที่ ๒ ช่วงนี้เป็นฤดูกาลท่องเที่ยว High Season ทำให้นักท่องเที่ยว จำนวนมากใช้บริการการท่องเที่ยวทางทะเล ณ ท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง ซึ่งปัจจุบันเกิดปัญหา การแออัด มีโป๊ะท่าเทียบเรือแค่ฝั่งเดียว เนื่องจากโป๊ะท่าเทียบเรืออีกฝั่งถูกนำไปซ่อมแซม ยังไม่แล้วเสร็จ เรือที่จอดเทียบท่าและนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการไม่ได้รับความสะดวกสบาย และเพื่อความปลอดภัยขอให้เร่งรัดแก้ไขโป๊ะ ฝากท่านประธานหารือไปยัง อบจ. จังหวัด ภูเก็ตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครับ
เรื่องที่ ๓ ชุมชนบ้านตีนเขา หมู่ที่ ๓ ตำบลวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ไม่มีไฟฟ้าใช้มาอย่างยาวนาน ทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันเป็นไปอย่างยากลำบาก ต้องพ่วง ไฟฟ้าใช้กันเอง จึงขอดำเนินการแก้ไขให้ติดตั้งมิเตอร์เพื่อการเกษตรให้ประชาชนในชุมชน ได้ใช้ไฟฟ้า ฝากท่านประธานหารือไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครับ
เรื่องสุดท้าย จังหวัดภูเก็ตประสบปัญหาน้ำเสียไหลลงสู่ทะเลซ้ำแล้วซ้ำเล่า เนื่องจากปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราการปล่อยน้ำเสียสู่ทะเลเพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ได้เคยหารือในสภามาแล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับคำตอบหรือการดำเนินการแก้ไข แต่อย่างใด ฝากท่านประธานหารือไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยครับ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายเฉลิมพงศ์ แสงดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๒ พรรคก้าวไกล วันนี้ต้อง ขอขอบคุณท่านประธานครับที่กรุณาให้ผมได้ร่วมอภิปรายในญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาและจัดทำมาตรการป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟู และเยียวยา กรณีน้ำมันรั่วทางทะเลที่ท่านกฤช ศิลปชัย เป็นผู้เสนอ ท่านประธานครับ แม้ว่าญัตติ ในวันนี้ ตามที่ท่านผู้เสนอญัตติได้นำมาเสนอในที่ประชุมอาจจะเจาะจงเฉพาะถึงเหตุการณ์ น้ำมันรั่วที่จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี จังหวัดสมุทรปราการ ล้วนแล้วแต่เป็นจังหวัดชายฝั่ง ทะเลพื้นที่อ่าวไทย ขอสไลด์ด้วยครับ
ท่านประธานครับ วันนี้ผมจะขอใช้พื้นที่ ในเวลานี้พูดถึงเหตุการณ์น้ำมันรั่วในพื้นที่ฝั่งอันดามันครับ พื้นที่จังหวัดภูเก็ตและจังหวัด พังงาซึ่งถือเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวระดับโลก เป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทย ท่านประธานครับ ทราบไหมครับว่าทางฝั่งทะเลอันดามันก็มีเหตุการณ์น้ำมันรั่วเหมือนกันครับ เหตุการณ์เมื่อ วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ตามข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมพบว่ามีเรือลำ ๑ แล่นผ่าน บริเวณชายฝั่งทะเล ระนอง พังงา ภูเก็ต ปรากฏเส้นสีดำเป็นทางยาว ณ เวลานั้น ทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอาจจะยังไม่ทราบว่าเส้นสีดำดังกล่าวคืออะไร แต่ต่อมาทาง Page ขยะมรสุมซึ่งเป็นองค์กรอาสาสมัครประชาชนในจังหวัดภูเก็ตได้ลงพื้นที่พบว่ามีก้อนสีดำ หรือคราบน้ำมันสีดำถูกคลื่นซัดและสัตว์ทะเลขึ้นมาบนชายฝั่งเป็นจำนวนมาก วัตถุดังกล่าว มีกลิ่นคล้ายน้ำมัน ต่อมาเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๖๖ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ลงพื้นที่บริเวณหาดในหาน ตำบลราไวย์ จังหวัดภูเก็ต ก็พบคราบสีดำ มีกลิ่นคล้ายกับ น้ำมันดังกล่าวเป็นจำนวนมาก และวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๖ ที่ตำบลกะรน จังหวัดภูเก็ต ก็พบเต่าซึ่งถือว่าเป็นภาพที่น่าสงสารครับท่านประธาน เพราะภายในปากของเต่าทะเลตัวนี้ เต็มไปด้วยคราบน้ำมัน เหตุการณ์เช่นนี้ยังพบอีกครั้งเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๖ ที่หาด กะตะ ตำบลกะรน จังหวัดภูเก็ต ขอสไลด์สุดท้ายครับ เหตุการณ์นี้ผมได้ลงพื้นที่ไปด้วยตนเอง ในพื้นที่หาดในยาง อุทยานแห่งชาติสิรินาถ อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยท่าน สส. ฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ที่นั่งอยู่ทางด้านข้างผม ก้อนน้ำมันสีดำนี้มีลักษณะคล้ายกับ ขนมกะละแม แต่ไม่น่ากินหรอกครับท่านประธาน เพราะดมกลิ่นแล้วคล้ายน้ำมันดีเซล B7 มากกว่าครับ
ท่านประธานครับ เหตุการณ์นี้ผมได้เคยมาแถลงข่าวที่สภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่ปรากฏว่าจนถึงวันนี้ยังไม่มีการสืบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านี้เลย ยังไม่มีใครรู้ ว่าเรือลำดังกล่าวที่ปรากฏทางภาพถ่ายทางดาวเทียมเมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๖ เส้นสีดำเป็นทางยาวนั้นเกี่ยวกับคราบน้ำมันเหล่านี้หรือไม่ เราชอบบอกกันว่าภูเก็ตคือ ห้องรับแขกของประเทศไทย ถามว่าห้องรับแขก สกปรก ไม่สะอาด ไม่เรียบร้อย แขกที่ไหน เขาจะมาเที่ยว แขกที่ไหนจะพอใจหรือไม่ หรือไปกังวลว่าเรือลำดังกล่าว เป็นเรื่องของใคร ใครเป็นเจ้าของ จึงไม่กล้าที่จะมาตรวจสอบไม่กล้าที่จะค้นหาความจริง วันนี้ชาวภูเก็ตบอกว่ารัฐบาลต้องดูแลคนใน ใส่ใจคนนอก แต่มัวแต่กังวลเรื่องความรู้สึกของ คนนอก ความรู้สึกของนักท่องเที่ยว จนไม่มีใครดูแลคนในให้ดี บางทีประเด็นเหล่านี้อาจจะ เป็นประเด็นบานปลายไปทำลายภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวได้ท่านประธานครับ ในเมื่อ เรื่องนี้มีผลกระทบทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามันถือเป็นเรื่องในวงกว้าง ผมจึงขอให้สภา ผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาจัดทำมาตรการป้องกันแก้ไขฟื้นฟูและ เยียวยากรณีน้ำมันรั่วทางทะเล ตามที่เพื่อนสมาชิกได้เสนอครับ