นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล

  • ท่านประธานที่เคารพครับ กรวีร์ ปริศนานันทกุล พรรคภูมิใจไทย คนจังหวัดอ่างทองแท้ ๆ ครับ ขออนุญาตนำสะท้อนปัญหา เรื่องการก่อสร้างเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตจังหวัดอ่างทอง ทั้งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย ทั้งหมด ๑๒ จุด

    อ่านในการประชุม

  • จุดแรก บริเวณหมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๕ หมู่ที่ ๖ ตำบลไชโย จุดที่ ๒ หมู่ที่ ๔ ตำบลเทวราช ทั้ง ๒ จุดนั้นอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งพอดีกับช่วงน้ำหลาก ก็ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หาวิธีป้องกันเฉพาะหน้าไม่ให้พี่น้อง ประชาชนได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง จุดที่ ๓ คือหมู่ที่ ๑ ตำบลหลักฟ้า จุดที่ ๔ หมู่ที่ ๓ ตำบลจรเข้ร้อง ทั้ง ๒ จุดผมได้ติดตามตั้งแต่สมัยที่แล้ว ตอนนี้ได้รับงบประมาณแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงมือก่อสร้าง หลังจากหน้าน้ำก็ขอให้เร่งรัดติดตามในการลงมือก่อสร้าง จุดที่ ๕ จุดที่ ๖ ก็คือหมู่ที่ ๒ ตำบลไชโย และหมู่ที่ ๕ ตำบลราชสถิตย์ ทั้ง ๒ จุดนั้นยังไม่ได้ รับงบประมาณและได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติใหญ่น้ำท่วมในปีที่แล้ว จุดต่อไป จุดที่ ๗ หมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๓ ตำบลบางระกำ และจุดที่ ๘ หมู่ที่ ๒ ตำบลบางพลับบริเวณหน้าวัดเกาะ ทั้ง ๒ จุดนี้อยู่ริมแม่น้ำน้อย ได้รับงบประมาณแต่ยังไม่ได้ลงมือก่อสร้าง ขอให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องไปทำประชาคมรับฟังความต้องการของชาวบ้านก่อนที่จะลงมือก่อสร้าง จุดที่ ๙ หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๔ ตำบลบ่อแร่ จุดที่ ๑๐ หมู่ที่ ๑ และหมู่ที่ ๖ ตำบลบางระกำ และจุดที่ ๑๑ หมู่ที่ ๖ ตำบลองครักษ์ ทั้ง ๓ จุดยังไม่ได้รับงบประมาณ และได้รับความเสียหายใหญ่จาก น้ำท่วมรอบที่ผ่านมา จุดต่อไปจุดที่ ๑๒ จุดสุดท้าย เป็นเรื่องของการซ่อมแซมเขื่อนที่หมู่ที่ ๗ ตำบลบางเจ้าฉ่า ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยยังไม่ได้ใช้งานเลย พังตามรูปแล้ว เขื่อนทั้งหมดอยู่ใน การดูแลของกรมโยธาธิการและผังเมือง ดังนั้นฝากท่านประธานไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง ให้จัดสรรงบประมาณ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องสุดท้าย เรื่องไฟทางส่องสว่างของทางหลวงชนบท อท.๔๐๒๔ บริเวณ บ้านแก้วกระจ่าง ตำบลสีบัวทอง และจุดสุดท้าย ชุมชนบ้านวัดลั่นทม หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๔ ตำบลรำมะสัก ยังไม่มีไฟทางสว่าง ขอประสานไปยังทางหลวงชนบทในการแก้ไขปัญหาให้กับ ชาวบ้าน

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนิดเดียวครับท่านประธาน เรื่องของสภาของพวกเรา พวกกระผม พรรคภูมิใจไทย ก็ได้ติดตามแล้วก็รับฟังปัญหาเรื่องของการจัดสรรงบประมาณในการหา อาหารให้กับเพื่อนสมาชิก อยากจะฝากท่านรองประธานสภาทั้ง ๒ ท่านนะครับ ถ้าหากว่า เราได้รับฟังปัญหาหลายด้านเหลือเกิน ทั้งเรื่องของบางวันอาหารไม่พอ บางวันอาหารเหลือ เพื่อที่จะเป็นการแก้ไขปัญหาแล้วก็ประหยัดงบประมาณ ทางพวกเราพรรคภูมิใจไทย เสนออย่างนี้ได้ไหมครับ ให้ท่านจัดเตรียมสถานที่เอาไว้ อาจจะดูแลเรื่องของอุปกรณ์ ถ้วย จาน ชาม เจ้าหน้าที่มาดูแลเรื่องของการทำความสะอาด และเรื่องของอาหาร พวกเรา สมาชิกเรามีเงินเดือนอยู่แล้ว เพื่อที่จะแบ่งเบาปัญหา แล้วก็ลดงบประมาณ ซึ่งใช้งบประมาณ ปีหนึ่ง ๘๐-๑๐๐ ล้านบาท จะได้เอางบประมาณไปใช้ในส่วนอื่นที่เป็นประโยชน์มากกว่านี้ ขอบคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ กรวีร์ ปริศนานันทกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคภูมิใจไทย จากจังหวัดอ่างทอง มีเรื่องปัญหา ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมาหารือสะท้อนปัญหาในสภานะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก ผมได้ไปลงพื้นที่ในเขต อำเภอโพธิ์ทอง หมู่ที่ ๔ ที่บ้านกุ่ม พร้อมกับท่านนายก อบจ. แล้วก็ทางผู้ใหญ่บ้าน ท่านนายอำเภอ ถนนเส้นนี้เป็นถนนเข้าหมู่บ้านซึ่งทางเทศบาลเองไม่มีงบประมาณในการ ปรับปรุงถนนนะครับ ซึ่งชาวบ้านใช้กันมามากกว่า ๑๐ ปีแล้ว ณ ตอนนี้ทาง อบจ. ได้ใช้ เครื่องจักรกลของ อบจ. เข้าไปแก้ไขปัญหาให้เบื้องต้นส่งเรื่องผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยหางบประมาณมาเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนด้วย

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ เรื่องการแก้ไขปัญหาป้องกันน้ำท่วมนะครับ Slide ต่อไป ที่หมู่ที่ ๓ ตำบลจรเข้ร้อง อำเภอไชโย เรื่องนี้ผมได้ติดตามและพยายามผลักดันตั้งแต่ สมัยที่แล้ว ตอนนี้ทราบข่าวจากทางกรมโยธาธิการและผังเมืองว่าได้รับงบประมาณเรียบร้อย แต่ยังไม่ได้ลงนามกับผู้รับจ้าง ชาวบ้านฝากมากังวลครับ กลัวว่าอีกไม่กี่เดือนอาจจะเจอ ฤดูน้ำหลาก ก็อยากที่จะฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือกรมโยธาธิการและผังเมืองได้เร่งรัด ในเรื่องของการลงมือก่อสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันปัญหาเรื่องน้ำท่วมให้กับชาวบ้านด้วย

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ เรื่องของทางหลวงแผ่นดินเส้น ๓๓๗๓ ที่อำเภอสามโก้ จากบริเวณ แยกอบทมไปที่แยกบ้านเก่า ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาได้รับงบประมาณมาปรับปรุง ยกระดับเป็นสี่แยกไฟแดงไปเรียบร้อยแล้ว แต่เหลืออีกบางช่วงที่ยังไม่ได้รับงบประมาณ ในการปรับปรุงพัฒนา ฝากไปยังกรมทางหลวงทาง กระทรวงคมนาคม ได้ช่วยเร่งรัด จัดงบประมาณมาเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนที่แยกบ้านเก่า แยกอบทม อำเภอสามโก้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องต่อไปเป็นทางหลวงแผ่นดินเช่นเดียวกันเส้น ๓๔๕๔ ที่อำเภอโพธิ์ทอง เมื่อวานนี้ผมไปลงพื้นที่ ทางกระทรวงคมนาคมโดยกรมทางหลวงกำลังปรับปรุงถนนอยู่ ช่วงหนึ่ง เหลืออีกช่วงหนึ่งที่มีสภาพผิวถนนที่ชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน ช่วงตำบลบางเจ้าฉ่า ตำบลองครักษ์ อำเภอโพธิ์ทอง ฝากไปยังกรมทางหลวงแผ่นดินนะครับ กระทรวงคมนาคมในการจัดสรรงบประมาณ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องสุดท้าย ผมเองกับท่าน สส. ภราดรได้รับเสียงร้องเรียนจากชาวบ้าน หนาหูมากในช่วงนี้นะครับ เนื่องจากว่าในช่วงปลายปีที่ผ่านมาทางจังหวัดอ่างทองเราได้รับ ผลกระทบเรื่องของน้ำท่วม แล้วเราก็ได้รับงบประมาณในเรื่องของการปรับปรุงซ่อมแซมถนน เป็นจำนวนมาก พี่น้องชาวจังหวัดอ่างทองก็พูดกันจนติดปากว่าเป็นเมืองแห่งการทำถนนไปแล้ว ต้องขอบคุณทางกระทรวงคมนาคม โดยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านศักดิ์สยาม และอดีตเลขารัฐมนตรีท่านสุขสมรวย วันทนียกุล ที่ได้ช่วยประสานงานในการจัดสรร งบประมาณมา แต่ติดขัดนิดเดียวครับท่านประธาน อยากจะฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ช่วยในการกำชับผู้รับเหมาในเรื่องของการอำนวยความสะดวก ในเรื่องของการติดตั้ง ป้ายไฟต่าง ๆ ในการป้องกันปัญหาอุบัติเหตุให้กับพี่น้องประชาชนในช่วงที่ดำเนินการ ก่อสร้าง และขอให้เร่งดำเนินการก่อสร้างคืนผิวถนนให้กับพี่น้องประชาชนโดยเร็วครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ กรวีร์ ปริศนานันทกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดอ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ขออนุญาต ที่จะได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องของวาระรับทราบรายงานของผู้สอบบัญชีและการเงิน ของกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ก่อนที่จะได้มีการนำเสนอเรื่องรายงานมาให้สภาแห่งนี้ รับทราบ ผมก็ได้ไปเปิดดูว่ากองทุนตรงนี้เรามีหน้าที่ มีบทบาท มีเป้าประสงค์ของการทำงาน อย่างไรบ้าง ดีใจครับ แล้วก็ต้องบอกว่าเป็นความรู้ใหม่ ซึ่งตัวผมเองแม้กระทั่งอยู่กับพี่น้อง เกษตรกรอยู่ในพื้นที่เป็นผู้แทนมา ๑๐ กว่าปี ก็เพิ่งจะรู้ว่ามีกองทุนเพื่อที่จะสงเคราะห์ เกษตรกรอยู่ด้วย พอย้อนเข้าไปดูว่าเจตนาของการที่จะมีกองทุนแห่งนี้ขึ้นมา เรามีกองทุน แบบนี้เพื่อวัตถุประสงค์อะไร ก็ดีใจครับ แล้วก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับพี่น้องเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องเกษตรกรรายเล็ก รายน้อย รายย่อย ที่อยู่ตามต่างจังหวัด อยู่ตาม ชนบท จังหวัดอ่างทอง ยกตัวอย่างมีพื้นที่ในการทำเกษตรกรรมจำนวนมาก มีพี่น้อง เกษตรกรที่ประกอบอาชีพชาวนาเป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้าไปดูตามวัตถุประสงค์แล้วผมคิดว่า พี่น้องเกษตรกรควรที่จะได้รับประโยชน์จากกองทุนอย่างนี้เป็นอันมาก วันนี้เอาเฉพาะ เรื่องของการสอบบัญชีและการเงิน เพราะว่าผมพยายามที่จะหาเอกสาร ท่านไม่ได้มาสรุป รายงานการดำเนินงานประจำปี แต่เป็นเรื่องของการรายงานเรื่องของการสอบบัญชี และการเงิน ก็จะฝากเฉพาะประเด็นเรื่องของบัญชีและการเงินให้กับท่านได้ทราบ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรก คือผมไปดูในกองทุน ขนาดของกองทุนนี้ต้องยอมรับว่า ถือว่า ไม่ใช่กองทุนเล็ก ๆ เลย มีสินทรัพย์ขนาดของกองทุนอยู่ถึง ๖,๗๘๑ ล้านบาท ในปี ๒๕๖๔ มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ๓,๒๐๐ กว่าล้านบาท ท่านประธานครับ ถามว่าเงิน ๓,๒๐๐ กว่าล้านบาท ที่จะเป็นกองทุนเพื่อที่จะให้เกษตรกรเข้าถึงเงินกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ย ที่ต่ำ ต่ำคือ ๐-๒ เปอร์เซ็นต์ พี่น้องเกษตรกรถ้ารวมกลุ่มผ่านวิสาหกิจชุมชนกู้ดอกเบี้ยต่ำมาก ไม่ถึง ๒ เปอร์เซ็นต์ แต่น่าเสียดายครับ พอไปดูในรายละเอียดของการปล่อยกู้ ซึ่งมี ในเอกสารแนบนะครับ ทั้งหมดมีหลายโครงการ ผมต้องบอกลูกค้าส่วนใหญ่เพราะคนที่กู้ ก็ถือเป็นลูกค้าของกองทุน คนที่กู้ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานของรัฐอยู่ในกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ เพื่อนสมาชิกหลายคนได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมา แล้วไปดูว่าทั้งหมดนี้ท่านมี ลูกค้าอยู่เพียงแค่ ๒๓ ราย ที่มีวงเงินกู้ที่ปรากฏอยู่ในรายงานประมาณ ๓,๐๐๐ กว่าล้านบาท ใน ๓,๐๐๐ กว่าล้านบาท ผมไปดูว่าวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร พี่น้องเกษตรกร รายเล็กรายน้อย ดูจากไหนครับ ดูจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ดูจากกลุ่มเกษตรกรที่เขา รวมกลุ่มกัน น่าเสียดาย ไม่น่าเชื่อในเล่ม ๓,๐๐๐ กว่าล้านบาทนี้ มีกลุ่มวิสาหกิจเพียงแค่ ๗ กลุ่มเท่านั้น ในวิสาหกิจ ๗ กลุ่มนี้ ผมบวกเลขไปแล้วในวงเงินที่ปล่อยกู้ไปตอนนี้ ๓,๐๐๐ กว่าล้านบาท ใน ๗ กลุ่มนี้พี่น้องวิสาหกิจชุมชนจากทั่วทั้งประเทศมีวงเงินกู้อยู่เพียงแค่ ๒๐ กว่าล้านบาท น้อยมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนขนาดใหญ่ของกองทุนที่มีเงินทุนหมุนเวียนและยังมีเงินสด ฝากอยู่ในบัญชี ๓,๐๐๐ กว่าล้านบาท คำถามของผมที่จะต้องฝากท่านประธานไปยัง หน่วยงานที่มาชี้แจงก็คือว่าเราจะไปกอดเงินตรงนี้ไว้ทำอะไรครับ นอกจากนั้นยังไม่พอ ในรายงานท่านยังบอกว่ากระทรวงการคลังในปี ๒๕๖๔ อนุมัติเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีให้กับท่านอีก ๗๐๐ กว่าล้านบาท ผมก็ถามว่าในเมื่อกองทุนมี เรามีเงินสด อยู่ในกองทุน ๓,๐๐๐ กว่าล้านบาท แล้วเราจะต้องไปใช้งบประมาณประจำปีอีก ๗๐๐ กว่าล้านบาท ตรงนี้ไปเพื่ออะไรกันครับ ดังนั้นสิ่งที่อยากจะฝากถึงท่านและเป็นคำถาม ต่อท่านใน ๒-๓ ข้อที่เมื่อสักครู่นี้ผมได้สอบถามไป เรื่องของเงินสดที่คงค้าง เรื่องของ การเข้าถึงของพี่น้องเกษตรกร ผมไปดูในพันธกิจของท่านครับ และเป็นเป้าประสงค์หนึ่ง ของท่าน และอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ของปี ๒๕๖๕ บอกว่ามีแค่ ๒ ข้อ เรื่องที่ ๑ เรื่องของ การบริหารจัดการภายใน และเรื่องที่ ๒ คือเรื่องของการประชาสัมพันธ์ให้กับพี่น้องเกษตรกร ได้รับทราบ ผมตั้งเป้าหมายไว้นะครับ ถ้าท่านกลับมารายงานอีกครั้งหนึ่งในปีต่อ ๆ ไป ผมคาดหวังที่อยากจะเห็นพี่น้องเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มของวิสาหกิจชุมชน กลุ่มของเกษตรกรรายเล็กรายน้อย ที่ไม่ใช่องค์กร ที่ไม่ใช่หน่วยงานของกระทรวงเกษตร และสหกรณ์เข้าถึงกองทุนนี้ให้ได้มากขึ้น เป็นไปได้ไหมครับ ที่ท่านจะทำงานร่วมกับ ทางเกษตรจังหวัด ร่วมกับทางเกษตรอำเภอ ร่วมกับประมงอำเภอ ร่วมกับประมงจังหวัด หน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเครือข่ายอยู่ครอบคลุมในระดับตำบล ในระดับอำเภอทุกจังหวัด ทำอย่างไรให้พี่น้องเกษตรกรเหล่านี้เข้าถึงเงินกองทุนตรงนี้ ให้ได้มากขึ้น เพื่อให้ได้ใช้ประโยชน์จากเงินที่ยังคงค้างอยู่ในนี้ ๓,๐๐๐ กว่าล้านบาทตรงนี้ เปิดโอกาสให้เขาได้เข้าถึงให้มากขึ้นกว่านี้ นี่คือสิ่งที่อยากจะฝากไป

    อ่านในการประชุม

  • และท้ายที่สุดครับ ผมขอบคุณท่านประธานแล้วก็ขอบคุณทางผู้ที่มาชี้แจง ที่ได้กรุณาให้ความเข้าใจและมารายงานต่อสภาแห่งนี้ได้รับทราบว่าท่านเอาเงินตรงนี้ไปทำ อะไรบ้าง ครั้งหน้ามาหวังว่าจะมีรายละเอียดที่เพิ่มเติมมากกว่านี้ให้กับผู้แทนราษฎรของเขา จะได้ตรวจสอบ ได้ติดตามในการทำหน้าที่ แล้วหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในปีต่อ ๆ ไป กลุ่มพี่น้อง เกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องเกษตรกรรายเล็กรายน้อย ซึ่งวันนี้เขามีปัญหาเยอะมาก พี่น้องเกษตรกรชาวนาที่จังหวัดอ่างทองวันนี้ราคาข้าวเกวียนละ ๑๐,๐๐๐ กว่าบาท ท่านประธานอยู่ที่พิษณุโลก ท่านประธานก็ทราบดีครับ ในช่วงระยะเวลาที่ผมเป็น ผู้แทนราษฎรมา ๑๐ กว่าปี ราคาข้าว ๑๐,๐๐๐ กว่าบาทแทบจะไม่มีนะครับ แต่น่าเสียดาย ตอนนี้ราคาข้าวดี น้ำทำท่าจะไม่มีอีกแล้ว กองทุนตรงนี้ละครับ ที่จะมาช่วยเหลือพี่น้อง เกษตรกรเพราะมันเป็นวัตถุประสงค์ของกองทุน ก็ฝากท่านประธานไปยังผู้ที่มาชี้แจงว่า ฝากประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้จากผู้แทนราษฎร เพื่อที่จะได้ไปปรับปรุงและทำให้กองทุนนี้ เข้าถึงพี่น้องเกษตรกรได้มากกว่านี้ ขอบพระคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ ผม กรวีร์ ปริศนานันทกุล ขออนุญาตเป็นประเด็นที่ต่อเนื่องกัน จริง ๆ ก็เข้าใจท่านประธานนะครับว่า พยายามที่จะประสานงาน เพื่อที่จะให้งานในสภาเราเดินไปได้ แต่ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ที่เมื่อสักครู่นี้ทางท่านเพื่อนสมาชิก ขออภัยที่เอ่ยนาม ท่าน สส. ภราดร ได้ให้เหตุให้ผลไป จนท่านประธานก็ได้มีดำริว่าจะให้ไปพูดคุยมีการประชุมกัน ถ้าหากเอาอย่างที่ท่านประธาน ว่าเมื่อสักครู่นี้ว่าเชิญบางพรรคไปคุยกัน ผมเกรงว่ามันจะมีปัญหาในการทำงานร่วมกันต่อไป ในอนาคต และดูจากสัดส่วน ดูจากจำนวนที่ได้โควตาในการหารือ ถ้าท่านประธานจะกรุณา ได้ดูตัวเลขก็จะเห็นนะครับว่ามันไม่เป็นธรรมจริง ๆ กับการจัดสรรให้ในแต่ละพรรคการเมือง ซึ่งเรื่องของการหารือความเดือดร้อนของชาวบ้าน ผมเชื่อว่าทุกคนในเพื่อนสมาชิก ก็ทราบครับ ทุกพรรคการเมืองไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล มีปัญหาด้วยกันทั้งหมด ดังนั้นวิงวอนท่านประธาน ถ้าจะกรุณารบกวนท่านประธานเชิญประชุมให้เป็นทางการ จะดีกว่า ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ ผม กรวีร์ ปริศนานันทกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ต้องขอบคุณท่านประธานที่ได้กรุณาให้เวลาผมได้ร่วมอภิปราย ในแนวทางในการแก้ไขปัญหา ป้องกันราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ เป็นอีกครั้งที่สภาแห่งนี้ ผมจำได้ว่าในสมัยที่แล้วญัตติแรก ๆ ที่เสนอเข้าสู่สภา ก็คือญัตติ เรื่องของการแก้ไขปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำให้กับพี่น้องเกษตรกร และต้อง ขอบคุณเพื่อนสมาชิกทั้งฝ่ายค้านแล้วก็ฝ่ายรัฐบาล ตั้งแต่ช่วงสายเป็นต้นมานี่ผมได้นั่งฟังอยู่ ตั้งแต่เช้าก็เห็นปัญหาต่าง ๆ ที่ได้ช่วยกันสะท้อนกันเข้ามา เพื่อที่จะหาแนวทางในการแก้ไข เรื่องของปากท้องให้กับพี่น้องประชาชน ประเด็นที่ผมอยากที่จะร่วมอภิปรายในวันนี้ ประเด็นเดียว คือสินค้าหลักที่เป็นสินค้าทางการเกษตรของประเทศไทย นั่นคือเรื่องของ ข้าวเปลือกครับ ราคาข้าวนั้นท่านประธานเองอาจจะสงสัยว่าตอนนี้ราคาข้าวนี่มันขยับขึ้นมา จากแต่เดิมนี่ราคาอยู่ที่ ๖,๐๐๐-๗,๐๐๐ บาท จนวันนี้ราคาข้าวขาวอยู่ที่ประมาณ ๑๑,๐๐๐-๑๒,๐๐๐ บาท ข้าวหอมปทุม วันนี้ราคาขยับเข้ามาอยู่ที่เกวียนละ ๑๑,๐๐๐-๑๒,๐๐๐ กว่าบาท ราคาข้าวมันดีขึ้นแบบนี้แล้วมันจะมีปัญหาในเรื่องของ ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำอย่างไร ผมก็ต้องบอกแบบนี้ครับว่า ณ ปัจจุบันราคาข้าว ที่มันขยับขึ้นสูงนั้นมันเป็นเพียงแค่ภาพลวงตาครับ มันเป็นแค่สถานการณ์ระยะสั้น เพราะเกิดปัญหาในเรื่องของบางประเทศที่เขาจำกัดในเรื่องของการส่งออกข้าวสารออกไปสู่ ตลาดโลก มันทำให้ในฝั่งของปริมาณข้าวที่มีอยู่ในตลาดโลกนี่มันลดน้อยลง มันก็เลยทำให้ ราคาข้าวในประเทศไทยที่สามารถที่จะออกไปขายในต่างประเทศมันมีราคาที่สูงขึ้นได้ แต่ใครจะรู้ละครับว่าช่วงระยะเวลาแห่งความสุขของชาวนาตรงนี้นี่มันจะอยู่ได้กับพวกเรา อีกสักกี่วัน อีกสักกี่เดือน ย้อนกลับไปเมื่อช่วงกลางปีนี้ราคาข้าวมันยังอยู่ที่เกวียนหนึ่ง แค่ประมาณ ๖,๐๐๐-๗,๐๐๐ บาท แต่ตอนนี้ขึ้นมายืนอยู่ที่ประมาณ ๑๐,๐๐๐ กว่าบาท ต่อเกวียน ปัญหาที่อยากจะชี้ และอยากที่จะเสนอแนะต่อสภาแห่งนี้ก็คือว่าเราควรที่จะต้อง มาหามาตรการในการแก้ไขปัญหาระยะยาวเพื่อที่จะช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในระยะยาว ไม่ใช่ใช้มาตรการของรัฐในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรระยะสั้น ๆ ตามนโยบายของรัฐบาล ที่ผ่านมาเราทำอย่างไรครับ เวลาราคาข้าวตกต่ำเราก็ออกนโยบายครับ ตั้งแต่สมัย เมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อนก็มีนโยบายจำนำข้าว รอบที่ผ่านมาก็มีนโยบายประกันรายได้ แต่เสร็จ จากการประกันรายได้ไปแล้ว เสร็จจากโครงการจำนำข้าวแล้ว ราคาข้าวมันก็กลับมา ตกต่ำแบบเดิม เมื่อไรก็ตามที่รัฐบาลชักเอาฟืนออกจากไฟไฟมันก็มอดลงครับ ราคาข้าว มันก็กลับมาสู่ที่เดิม ดังนั้นอยากจะเห็นการแก้ไขปัญหาจากทางรัฐบาลที่เป็นรูปธรรม ที่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนได้ การแก้ไขปัญหานั้นได้ ผมเชื่อว่าเพื่อนสมาชิก พูดกันมา ผมจะเอาประเด็นที่ไม่ซ้ำนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรก คือเรื่องของการควบคุมต้นทุนในการผลิตจะทำอย่างไรที่จะ ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในการลดต้นทุนในการผลิตให้กับเขา และต้องยอมรับว่าต้นทุน ในการผลิตที่ผ่านมามันสูงขึ้นมากจริง ๆ ทั้งค่าน้ำมัน ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าเช่าที่ ค่าวิดน้ำเข้านา เป็นภาระของพี่น้องเกษตรกรทั้งนั้นละครับ อยากจะเห็นมาตรการในการช่วยพี่น้องเกษตรกร ในการลดต้นทุนในการผลิต ผมเสนออยู่ ๒ เรื่อง

    อ่านในการประชุม

  • ๑. เรื่องน้ำ ถ้ามีน้ำ มีนา มีเงิน พี่น้องเกษตรกรก็มีความสุขครับ วันนี้ในหลาย พื้นที่เป็นเรื่องแปลก ผมยกตัวอย่างในจังหวัดอ่างทองบ้านผม ท่านประธานทราบไหมครับ ในบางปีช่วงปลายปีกันยายน-ตุลาคม พี่น้องเจอกับปัญหาเรื่องของน้ำท่วม กลางปีมีนาคม เมษายน พฤษภาคม เจอกับปัญหาภัยแล้ง ปลายปีกันยายน ตุลาคม น้ำท่วมอีกแล้ว ในช่วง ปีหนึ่งที่ผ่านบางทีมีทั้งท่วม มีทั้งแล้ง เกิดขึ้นในปีเดียวกัน เพราะเราไม่มีแหล่งในการเก็บน้ำที่ดี เราไม่มีแหล่งในการเก็บน้ำลงไปอยู่ใต้ดิน เพื่อที่จะทำธนาคารน้ำให้กับพี่น้องเกษตรกรที่จะ สามารถเอาน้ำขึ้นมาเพื่อทำการเกษตรได้นะครับ ดังนั้นอยากที่จะเสนอและเสนอเป็นแนวทาง นโยบายของรัฐบาลนะครับ เป็นไปได้ไหมครับที่เราจะหาแหล่งน้ำใช้ขนาดเล็กที่จะกระจายไป ให้แก่พี่น้องเกษตรกรเขารวมกลุ่มกัน กลุ่มหนึ่ง ๒๐-๓๐ คน เพื่อที่จะรวมพื้นที่ให้ได้ประมาณ ๔๐-๕๐ ไร่ แล้วก็เจาะบ่อ เพื่อที่จะเอาบ่อน้ำขนาดเล็กตรงนี้ขึ้นมาเพื่อทำการเกษตรให้กับ พี่น้อง เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีมันไปแล้วครับ เราก็สามารถที่จะใช้บ่อน้ำที่ใช้แสง Solar Cell เพื่อที่จะประหยัดเรื่องของค่าพลังงานให้กับพี่น้องเกษตรกรได้ด้วย

    อ่านในการประชุม

  • อีกประเด็นหนึ่ง ก็คือเรื่องของค่าปุ๋ย ค่ายา ที่ผ่านมานั้นรัฐบาลบอกว่า จะช่วยเหลือลดต้นทุนในการผลิตให้กับพี่น้องเกษตรกรที่ทำนาด้วยการให้เงินให้เปล่าครับ ช่วยเหลือเขาไร่ละ ๑,๐๐๐ บาท ซึ่งตรงนี้กลายมาเป็นสิ่งที่พี่น้องเกษตรกรเขาเอาไปใช้ในการลดต้นทุนในยามที่น้ำมัน ในยามที่ปุ๋ยมีราคาแพง พี่น้องเกษตรกรก็ฝากถามมาครับว่านโยบายในการช่วยเหลือต่าง ๆ เหล่านี้ควรจะมีให้เขา เพื่อลดต้นทุนในการผลิตให้กับพี่น้องเกษตรกรหรือไม่

    อ่านในการประชุม

  • ท้ายที่สุดครับท่านประธาน ผมไม่รบกวนเวลาของสภามากนะครับ ผมหวังว่า อยากที่จะเห็นการแก้ไขปัญหาเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถที่จะแก้ไขได้จริง และสำหรับข้อเสนอที่จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อที่จะ มาศึกษาข้อมูลเรื่องนี้ ผมคิดว่าคงไม่มีความจำเป็น เพราะคณะกรรมาธิการสามัญของสภาแห่งนี้ ก็มีอยู่แล้ว และข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่เพื่อนสมาชิกให้มาผมก็คิดว่ามีประโยชน์ที่จะนำไปเป็น แนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กับรัฐบาลได้อยู่แล้ว กราบขอบคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ กรวีร์ ปริศนานันทกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดอ่างทอง พรรคภูมิใจไทย มีเรื่องปัญหา ความเดือดร้อนหารือกับท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรกเป็นเรื่องของการประปา ทั้งน้ำดื่ม น้ำใช้ น้ำอุปโภคบริโภค ผมได้ลงพื้นที่กับท่าน สส. ภราดร แล้วก็นั่งอยู่ด้วยกัน ตรงนี้ ท่าน สส. พลพีร์ ก็สะท้อนปัญหาแบบเดียวกันถึงคุณภาพของปัญหาน้ำดื่มน้ำใช้ ของแต่ละชุมชน ที่ไปลงพื้นที่ท่านประธานดูภาพนะครับ น้ำออกมานี่ไม่รู้ว่าน้ำประปา หรือว่าน้ำชาเย็น มีปัญหาแบบนี้มากทั้ง ๗ อำเภอในจังหวัดอ่างทอง จึงอยากจะฝากเรื่อง ไปถึงทั้ง ๒ หน่วยงานก็คือการประปาส่วนภูมิภาค จุดไหนที่พอที่จะขยายเขตเพื่อที่จะให้ พี่น้องประชาชนเข้าถึงน้ำประปาที่มีคุณภาพได้ก็อยากที่จะฝากให้ช่วยพิจารณา เช่นเดียวกันกับ อยากจะฝากถึงทางกระทรวงมหาดไทยให้เร่งออกสำรวจได้ไหมครับ ประปาหมู่บ้าน ที่ใช้กันอยู่ในแต่ละตำบล จุดไหนที่มีปัญหาอยากจะให้สำรวจในภาพรวมทั้งประเทศ และหางบประมาณมาเพื่อพัฒนาคุณภาพน้ำให้ดีมากยิ่งขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ เรื่องของถนนที่อยู่ในการดูแลของตำบลเทวราช หมู่ที่ ๗ เป็นถนน ทางเข้าหมู่บ้านที่บ้านลำท่าแดง ได้รับปัญหาความเดือดร้อนจากน้ำท่วมในรอบปีที่แล้ว จนบัดนี้ยังไม่ได้รับงบประมาณในการปรับปรุง ท่าน สจ. ในพื้นที่ ท่าน สจ. สมพิศ นวมจิตร์ ก็ได้เอาหินคลุกลูกรังไปลงแก้ไขปัญหาให้ชั่วคราว วิงวอนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็คือ อบต. ได้จัดสรรงบประมาณมาเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • จุดต่อไปเป็นเรื่องของถนนที่อำเภอแสวงหา เป็นถนนเชื่อมต่อระหว่าง ตำบลแสวงหาที่บ้านคูเมือง หมู่ที่ ๘ เชื่อมต่อไปที่ตำบลห้วยไผ่ จุดนี้เป็นถนนที่อยู่ในการดูแล ของกรมชลประทานแต่ยังไม่ได้รับงบประมาณมาเพื่อที่จะซ่อมแซมบำรุงดูแลถนน เพื่อที่จะ แก้ไขปัญหาให้กับพี่น้อง

    อ่านในการประชุม

  • อีกเส้นหนึ่งเป็นถนนของทางหลวงแผ่นดิน เส้น อท.๓๓๗๒ อยู่ที่อำเภอสามโก้ บ้านโพธิ์ม่วงพันธ์ เชื่อมต่อที่บ้านห้วยอีเขียว ตำบลโพธิ์ม่วงพันธ์ ถนนใช้งานมาหลายปีครับ อยากจะฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดสรรงบประมาณมาแก้ไขปัญหา

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องสุดท้าย นิดเดียวครับท่านประธาน ได้รับการประสานงานจากท่าน ผอ. โรงเรียนสตรีอ่างทอง ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ มีนักเรียนกว่า ๓,๐๐๐ คนในจังหวัด อ่างทอง มีปัญหาเรื่องของอาคารเรียน ตอนนี้ได้สำรวจออกแบบเพื่อที่จะหางบประมาณ ในการก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ ได้ตั้งงบประมาณไว้ถึง ๕๐ ล้านบาท ฝากกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงบประมาณในการจัดสรรงบประมาณเพื่อที่จะขยายให้กับโรงเรียนสตรีอ่างทอง ด้วยครับ ขอบคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ขออนุญาต ระหว่างที่ท่านประธานกำลังเรียกเพื่อนสมาชิกเข้ามา

    อ่านในการประชุม

  • ขออนุญาตครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • กรวีร์ ปริศนานันทกุล สมาชิก สภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดอ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ต่อในประเด็นของการเสนอญัตติ เรื่องราคาสินค้าตกต่ำนะครับท่านประธาน ผมนั่งอยู่ในสภาตรงนี้ตั้งแต่เมื่อวานต่อเนื่องมา จนถึงวันนี้เรื่องรับทราบ ท่านประธานก็จะเห็นนะครับ เพื่อนสมาชิกจากหลายพรรคการเมือง เขาตั้งใจเพื่อที่จะเสนอปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร ผมมีใบผู้เสนอญัตตินะครับ เอาเฉพาะผู้เสนอญัตติ ๑๑ ราย ๑๑ ญัตติ ในพรรคภูมิใจไทยของผม ทั้งท่าน สส. สฤษฏ์พงษ์ สส. มุกดาวรรณ สส. วรสิทธิ์ ที่มีปัญหาความเดือดร้อนเรื่องราคาสินค้าทางการเกษตร เราก็รอกันอยู่

    อ่านในการประชุม

  • ในระหว่างที่รอนะครับ ความสำคัญ ของการเห็นปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมันก็ดูกันตอนนี้ละครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ผมอย่างนี้นะครับ เรียนท่านประธานนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้อง ประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • ในฐานะที่เป็นตัวแทนของพรรค แล้วก็เป็นตัวแทนของทาง Whip ของพรรค ถ้าเป็นแบบนี้คิดว่าพรรคภูมิใจไทยของพวกเรา และเพื่อนสมาชิกที่เห็นความเดือดร้อนปากท้องของพี่น้องประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • ขอบคุณครับท่านประธานครับ กรวีร์ ปริศนานันทกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคภูมิใจไทย จากจังหวัดอ่างทองครับ มีเรื่องหารือใน ๓ ประเด็นหลัก ๆ เป็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในจังหวัดอ่างทอง

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรก เรื่องของทางการประปาส่วนภูมิภาค ผมได้รับคำร้องเรียน จากพี่น้องในเขตเทศบาลแสวงหา เรื่องของการใช้น้ำประปาที่คุณภาพน้ำนั้นค่อนข้างต่ำ ก็ได้มีการหารือกับทางการประปาส่วนภูมิภาคที่จังหวัดอ่างทอง ทราบว่าแหล่งน้ำนั้นใช้ แหล่งน้ำจากบ่อบาดาลทำให้การผลิตน้ำที่มีคุณภาพทำได้ยาก ทางผู้จัดการได้ขอใช้แหล่งน้ำ จากจังหวัดติดต่อกันก็คือจังหวัดสิงห์บุรี ก็ฝากไปยังการประปาส่วนภูมิภาคได้กรุณา สนับสนุนงบประมาณในการขยายท่อ เพื่อที่จะปรับปรุงคุณภาพของน้ำในเขตเทศบาล แสวงหา จุดที่ ๒ ก็คือในเขตเทศบาลของตำบลจรเข้ร้องก็เช่นเดียวกันครับ ทางเทศบาล เกษไชโยนั้นตั้งใจที่จะถ่ายโอนการบริหารจัดการประปาไปให้กับทางการประปาส่วนภูมิภาค แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ได้รับการถ่ายโอน ฝากติดตามไปยังการประปาส่วนภูมิภาคด้วย

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ เรื่องของถนนหนทาง ทางหลวงชนบทครับ ไฟทาง ได้รับ การประสานงานมาจากท่านสุชาติ คงประสงค์ นายกเทศมนตรีตำบลสามโก้ ถึงถนนทาง หลวงชนบทเส้น ๔๐๓๐ บริเวณหลังอำเภอสามโก้ยังไม่มีไฟทาง ยามค่ำคืนพี่น้องประชาชน สัญจรไปมาด้วยความยากลำบาก อีกจุดหนึ่งบริเวณแยกบ้านยางห้าร้อย ที่ตำบลบ้านพรานจุดนี้ เป็นถนน ๒ เส้นติดต่อกัน ระหว่างทางหลวงชนบทเส้น ๔๐๐๙ และทางหลวงแผ่นดินเส้น ๔๐๒๔ เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ผมได้หารือกันในสภาชุดที่แล้วนะครับ แต่ยังไม่ได้ มีการปรับปรุงเรื่องของการอำนวยความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชน ก็ฝากกับ ท่านประธานย้ำไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นสุดท้าย เรื่องของฝุ่นควัน PM2.5 ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา จังหวัดอ่างทองบ้านผม แม้จะเป็นจังหวัดเล็ก ๆ แต่ก็มีปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง ของประเทศไทย สร้างความตื่นตระหนก สร้างความกังวลใจให้กับพี่น้องประชาชนในจังหวัด อ่างทองอย่างมาก รัฐบาลชุดนี้ รัฐสภาแห่งนี้กำลังพิจารณา พ.ร.บ. เรื่องของอากาศสะอาดแต่ ในช่วงเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า อยากจะฝากท่านประธานไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเร่งรัดในการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้มีอากาศที่บริสุทธิ์ในช่วงนี้ด้วยครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ กรวีร์ ปริศนานันทกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคภูมิใจไทย จากจังหวัดอ่างทอง ผมขออนุญาต ที่จะได้มีส่วนร่วมในการอภิปรายต่อญัตติที่เพื่อนสมาชิกได้เสนอต่อสภาเป็นญัตติด่วนในเรื่อง ของการแก้ไขปัญหาป้องกันความรุนแรงในโรงเรียน ต้องขอบคุณเพื่อนสมาชิกที่ได้เห็น ความสำคัญแล้วก็ได้เสนอญัตติดังกล่าว และต้องขอบคุณเพื่อนสมาชิกที่ได้เห็นความสำคัญ แล้วก็ได้เสนอญัตติด่วนดังกล่าว และต้องขอบคุณท่านประธานที่เปิดโอกาสให้เพื่อนสมาชิก ได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง ผมได้ฟังเพื่อนสมาชิกจากทั้งซีกของฝ่ายค้านแล้วก็ฝั่งของรัฐบาล ผมเชื่อว่าสภาแห่งนี้ เห็นตรงกันครับ พวกเราในฐานะที่เป็นผู้แทนของพี่น้องประชาชนเห็นตรงกันว่าโรงเรียนนั้น ควรที่จะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย โรงเรียนควรที่จะเป็นสถานที่ที่ลูกหลานของพวกเราไม่ว่า จะอยู่ที่แห่งหนตำบลใดในประเทศนี้ก็แล้วแต่เขาควรที่จะไปโรงเรียนด้วยความสุข ควรที่จะ ไปโรงเรียนโดยปราศจากความหวาดกลัวที่จะต้องไปเจอเหตุความรุนแรงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ภายในโรงเรียน แล้วผมเห็นด้วยกับข้อเสนอของเพื่อนสมาชิกหลายข้อที่ได้ร่วมกันแสดง ความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการที่จะผลักดันให้มีหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายปกครอง ไม่ว่าจะเป็นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นทางสาธารณสุข คุณหมอ ที่จะต้องเข้ามาช่วยกัน เพื่อที่จะมาช่วยกันในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้มันเป็นเรื่องเป็นราว และต้องขอบคุณที่ข้อเสนอต่าง ๆ ที่เราจะเสนอผ่านสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้นั้นจะนำเสนอ ต่อไปยังรัฐบาลเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไปในอนาคต ผมอยากจะนำเสนอกับ ท่านประธานในระยะเวลาสั้น ๆ ตรงนี้ ผมเองเพิ่งจะได้รับคำร้องเรียนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นี้เอง เป็นโรงเรียนเล็ก ๆ ในต่างจังหวัดในเขตพื้นที่ที่จังหวัดอ่างทอง ก็มีเหตุการณ์ Bully กัน ในโรงเรียน และเด็กที่ก่อเหตุนั้นก็เป็นเด็กอายุเพียงแค่ ๗-๘ ขวบครับ อยู่แค่ ป. ๑ ที่ไป ก่อเหตุความรุนแรงภายในโรงเรียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนผู้ปกครองในโรงเรียนอดรนทนไม่ไหว มาหารือมาปรึกษากับผู้แทนราษฎรว่าจะช่วยกันในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ในโรงเรียน ได้อย่างไร ผมได้ประสานกับทางโรงเรียนครับ ได้ประสานกับทางสำนักงานเขตพื้นที่ การศึกษาเพื่อที่จะได้เข้าไปรับฟังปัญหา แล้วก็จะหาแนวทางป้องกันปัญหาต่อไปในอนาคต ก็ทราบถึงข้อจำกัดครับ ก็ได้รับฟังปัญหาจากคุณครูมาว่ามีปัญหามีอุปสรรคอะไรบ้าง คุณครู ก็สะท้อนปัญหามาประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจครับ นั่นก็คือวันนี้เวลาที่คุณครูเองซึ่งถือว่าครู ประจำชั้นครูผู้สอนเป็นคนที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด เขาจะรู้พฤติกรรมของเด็กว่าเด็กคนนี้ มีพฤติกรรมอย่างไร มีพฤติกรรมชอบแกล้งเพื่อน ชอบ Bully เพื่อนใช้ความรุนแรงต่อเนื่อง ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานพอสมควรแล้วหรือเปล่า ตอนนี้คุณครูถึงแม้ว่าอยากที่จะ ประเมินและอยากที่จะส่งตัวเด็กเหล่านี้ไปเข้าทำการรักษา เข้าไปหาจิตแพทย์ เข้าไป พบแพทย์ ทำไม่ได้ครับ ต้องให้ผู้ปกครองของเด็กให้ความยินยอมให้การอนุญาตเสียก่อน ซึ่งก็กลายเป็นปัญหา เอาล่ะ หลังจากที่คุยเสร็จสรรพเรียบร้อยแล้ว ผู้ปกครองอนุญาตส่งไปที่ โรงพยาบาลครับ ท่านประธานทราบไหมครับ โรงพยาบาลเล็ก ๆ ในต่างจังหวัดไม่มี แพทย์เฉพาะทาง ก็ต้องรอที่จะส่งตัวไปรักษาในโรงพยาบาลที่จังหวัดอีก ผมก็ถามแล้วคิว รอนานแค่ไหน ๓ เดือนกว่าที่จะได้คิวในการรับในการปรึกษาทางจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ชำนาญการเฉพาะด้าน คำถามก็คือแล้วภายใน ๓ เดือนนั้นเราจะปล่อยให้เด็กคนนี้มี พฤติกรรมแบบนี้ เราจะปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดซ้ำขึ้นอีกอย่างนั้นหรือครับ นี่คือปัญหา ที่เกิดขึ้นและได้รับเป็นเสียงสะท้อนออกมาจากคุณครูที่อยู่ที่หน้างานที่โรงเรียน นอกจากนั้น เรื่องที่พวกเราในสภาแห่งนี้เสนอกัน เรื่องของการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่า จะเป็นฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทางอำเภอ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทางแพทย์ ทางสาธารณสุข ทางพัฒนาสังคมที่จะเข้าไปช่วยเหลือในการดูแล ก็ต้องยอมรับ หน้าที่หลัก ต่าง ๆ ของหน่วยงานต่าง ๆ เหล่านี้งานประจำเขาก็มีมากอยู่แล้ว ลำพังที่จะให้โรงเรียนให้ คุณครูไปประสานงาน การตอบรับในการทำงานร่วมกันตรงนี้ก็เกิดปัญหาในการปฏิบัติที่หน้า งานที่หน้าโรงเรียนจริง ๆ ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้คือปัญหาที่เสียงของคุณครูที่ทาง กระทรวงศึกษาธิการควรที่จะต้องรับฟัง และไปหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เจตนา ของสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ที่เพื่อนสมาชิกได้นำเสนอกันมาตรงนี้ให้มันเกิดผลขึ้นจริงให้ได้

    อ่านในการประชุม

  • ประการสุดท้าย นั่นก็คือหน้าที่ของคุณครูในวันนี้ที่โรงเรียน ผมอยากจะชวน ท่านประธานลองนึกภาพโรงเรียนต่างจังหวัด ผมเป็นผู้แทนบ้านนอกครับ มีโรงเรียนมากมาย ที่มีเด็กนักเรียนอยู่ที่ประมาณ ๒๐ กว่าคน ๓๐ คน ผมไปเยี่ยมที่โรงเรียนครับ มีคุณครูที่เป็น ข้าราชการคนเดียว ไม่มีผู้บริหารครับ มีครูอัตราที่เป็นครูผู้ช่วยสอนอีก ๑ คนและนักการภารโรง อีก ๑ คน ทั้งโรงเรียนมี ๓ คน และหน้าที่ลำพังเฉพาะที่สอนให้ตั้งแต่เช้าจนถึงเย็นก็ทำ ด้วยความยากลำบากอยู่แล้ว และไหนที่จะเป็นภาระของคุณครูที่จะต้องเพิ่มมากขึ้นในการ ดูแลป้องกันเรื่องของความปลอดภัยที่จะเกิดขึ้นภายในโรงเรียนอีก เหล่านี้คือภาระ คือหน้าที่ ของคุณครูที่จะต้องไปเพิ่มให้เขาทั้งสิ้น ก็อยากจะให้ได้รับการสนับสนุนจากทางหน่วยงาน ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางกระทรวงศึกษาธิการที่จะต้องให้การสนับสนุนในการปฏิบัติ หน้าที่ เพื่อที่จะช่วยกันในการป้องกันปัญหาเหล่านี้ต่อไปในอนาคต

    อ่านในการประชุม

  • และท้ายที่สุด ผมเห็นด้วยกับเพื่อนสมาชิก และเป็นเรื่องจริงว่าการแก้ไข ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนนี้มันเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุครับ โรงเรียนเป็นเพียงแค่ สถานที่ที่เหตุมันเกิดขึ้นเท่านั้น แต่ปัญหาความรุนแรงนอกเหนือจากที่โรงเรียนนี้มันเกิดเหตุ สั่งสมมาจากครอบครัว จากบ้าน จากชุมชน จากสังคมรอบ ๆ ตัวของเด็กทั้งนั้นดังนั้น อย่าปล่อยให้ภาระหน้าที่ตรงนี้เป็นเพียงหน้าที่ของโรงเรียน อย่าปล่อยให้เรื่องนี้อยู่บนบ่าของ คุณครูแต่เพียงลำพังครับ ทุกภาคส่วน ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นที่ต้องมาช่วยเหลือ เพื่อที่จะสร้างอนาคต เพื่อที่จะดูแลลูกหลานของเราให้ดีมากขึ้นกว่านี้ ขอบคุณท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานนะครับ กรวีร์ ปริศนานันทกุล พรรคภูมิใจไทย จากจังหวัดอ่างทองครับ อยากจะรบกวนเวลาท่านประธาน และเพื่อนสมาชิกสักนิดหนึ่งนะครับ เข้าใจว่าน่าจะมีการประสานงานที่คลาดเคลื่อนกัน กฎหมายที่เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย โดยเพื่อนสมาชิกท่าน สส. โกแพ ท่านวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ เรารอนะครับ เพื่อที่จะได้อภิปรายสรุปในประเด็นนี้ เมื่อสักครู่นี้ขออภัย ที่เอ่ยนาม ท่านซูการ์โนก็ได้ลุกขึ้นอภิปรายเพื่ออภิปรายปิด พวกเราก็เข้าใจว่าคิวหลังจากนั้น จะเป็นของพรรคภูมิใจไทย ทีนี้ท่านประธานได้ดำเนินการไปจนถึงขั้นกำลังที่จะลงมติ ก็ไม่สบายใจครับ แล้วคิดว่ากฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง แล้วผม ก็เข้าใจเพื่อนสมาชิกทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล กฎหมายฉบับนี้ที่หลายพรรค หลายคน เสนอกันเข้ามา ไม่ใช่กฎหมายเพื่อเสนอแบบสุกเอาเผากินครับ เป็นกฎหมายที่พวกเรา ตั้งใจทำทั้งนั้น แล้วก็เป็นเจตนาดีที่ตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน เพราะฉะนั้น สั้น ๆ นิดเดียวครับ อยากจะขอโอกาสท่านประธานเวลาก่อนที่เราจะได้มีการลงมติ แบบใดก็แล้วแต่อยากจะให้มันเสร็จสิ้นกระบวนความ ขอโอกาสให้แก่ทางพรรคภูมิใจไทย โดยเพื่อนสมาชิกที่เป็นผู้ที่นำเสนอนี้ได้อภิปรายปิดสักครู่ครับ ขอบพระคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบขออภัยท่านประธานนะครับ กรวีร์ครับ ผมถึงได้กราบเรียนตั้งแต่ในเบื้องต้นว่าน่าจะเป็นการสื่อสารที่คลาดเคลื่อนกัน กฎหมายที่มีความสำคัญเช่นนี้ ทางพรรคภูมิใจไทยเอง แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าน สส. วรศิษฎ์ก็มีความตั้งใจที่อยากจะนำเสนอกฎหมายฉบับนี้ แล้วไม่ใช่เฉพาะรอบนี้นะครับ ตั้งแต่สมัยสภาชุดที่แล้วท่านวรศิษฎ์ก็เป็นคนเสนอ แล้วก็ต่อสู้เรื่องนี้ให้กับพี่น้องประชาชน พี่น้องชาวประมงมาโดยตลอด เพราะฉะนั้นก็คิดว่าเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นที่อยากจะ ขอโอกาสท่านประธานสักเล็กน้อยใช้เวลาไม่นาน เพื่อที่จะได้สรุปสาระสำคัญก่อนที่เราจะ ลงมติกันครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ผม กรวีร์ ปริศนานันทกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคภูมิใจไทย จากจังหวัดอ่างทองครับ มีเรื่อง หารือความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ๓-๔ เรื่อง

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก เรื่องของการพัฒนาเมือง แล้วก็แหล่งท่องเที่ยว ผมได้ไปลงพื้นที่กับท่าน สส. ภราดร แล้วก็ท่านนายก อบต. ที่ตำบล อินทประมูล ที่จังหวัดอ่างทองนั้น ที่วัดขุนอินทประมูลเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักที่สำคัญ ซึ่งอยากจะส่งผ่านไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อที่จะไปปรับปรุงให้เป็นสถานที่ ท่องเที่ยวให้เป็นจุดหลักเวลาที่ทำกิจกรรมสำคัญทางศาสนาของจังหวัดอ่างทองครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นต่อไป เรื่องของปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่อำเภอ แสวงหาแล้วก็อำเภอโพธิ์ทอง ท่านประธานดูในรูปนะครับ รถเมล์สีส้มแบบนี้ที่จังหวัด อ่างทองบ้านผมยังให้บริการอยู่เลยนะครับ เกือบจะเข้าพิพิธภัณฑ์แล้วครับ ใครผ่านไปผ่านมา พี่น้องประชาชนสัญจรไปมาด้วยรถโดยสาร ซึ่งมีความเก่า ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับ พี่น้องประชาชน และที่สำคัญก็คือรอบในการวิ่งรถไม่ได้มีความชัดเจน พี่น้องประชาชน ที่จะเดินทางจากอำเภอโพธิ์ทองไปที่อำเภอแสวงหานี้ได้รับความยากลำบากอย่างมาก ผมได้หยิบเรื่องนี้ผ่านทางคณะกรรมาธิการ ได้ผลักดันแล้วก็อยากจะติดตามไปยัง บขส. และกรมการขนส่งทางบกเพื่อที่จะเร่งแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นต่อไปเรื่องของการปรับปรุงยกระดับถนนเส้นย่านซื่อ ไปที่ตำบลไชโย อำเภอเมืองกับอำเภอไชโย เส้นนี้ได้รับงบประมาณมาส่วนหนึ่งแล้ว ทางกรมทางหลวงได้ไป ปรับปรุงขยายผิวการจราจรแล้วก็ยกระดับถนนไปบางส่วนแล้ว เหลือระยะทางอีกหลาย กิโลเมตร ก็อยากจะวิงวอนส่งเรื่องผ่านไปยังกรมทางหลวงแผ่นดิน กระทรวงคมนาคม ที่จะได้จัดสรรงบประมาณมาเพื่อที่จะขยายถนน เพื่อที่จะอำนวยความปลอดภัยให้กับพี่น้อง ในจังหวัดอ่างทองต่อไป ขอบคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ ผม กรวีร์ ปริศนานันทกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ต้องขอบคุณ ท่านประธานนะครับ ที่ได้กรุณาให้โอกาสในการร่วมพิจารณา พ.ร.บ. ที่เสนอโดย เพื่อนสมาชิกหลายฉบับครับ ผมขอสนับสนุนการเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ระเบียบบริหาร งานบุคคลส่วนท้องถิ่น ทั้ง ๓-๔ ฉบับ ที่เสนอต่อสภาในวันนี้ เพื่อนสมาชิกหลายท่าน ได้อภิปรายแล้วก็ให้เหตุผลถึงผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากคำสั่งของ คสช. ที่ ๘/๒๕๖๐ ไปแล้ว การรวบเอาอำนาจจากท้องถิ่นรวบกลับไปไว้ที่ส่วนกลาง เข้าใจ ในเจตนาครับ ณ ขณะนั้นอาจจะมีปัญหาเรื่องการทุจริต อาจจะมีปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใส อาจจะมีปัญหาเรื่องการจัดสอบ ซึ่งมีการเรียกร้องผลประโยชน์ต่าง ๆ ทำให้รัฐบาล ในขณะนั้นคิดว่าการรวบอำนาจกลับเข้าไป และเอาไปไว้ที่ส่วนกลางจะสามารถแก้ไขปัญหา เหล่านี้ได้ น่าเสียดายครับ เวลาวันนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามันไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหา ต่าง ๆ ตามที่ตั้งใจเอาไว้ได้เลย นอกจากไม่แก้ปัญหาดังกล่าวแล้ว ยังไปสร้างปัญหาใหม่ ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย วันนี้จึงไม่แปลกใจครับ ที่เพื่อนสมาชิกจากหลากหลายพรรคการเมือง ได้เห็นตรงกัน แล้วก็เสนอกฎหมายฉบับนี้ผ่านสู่สภาผู้แทนราษฎรเข้ามา เพื่อที่จะเอามา พิจารณา ผมยกตัวอย่างครับท่านประธาน ท้องถิ่นจากทั่วประเทศเราจะเห็นข่าว วันนี้ผมเชื่อ ว่าไม่ใช่เฉพาะจังหวัดอ่างทองบ้านผมอย่างเดียว ผมเองได้รับคำร้องเรียนได้พูดคุย กับทีมผู้บริหารขององค์การองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นหลายตำบล ทั้งเทศบาล ทั้ง อบต. ทั้ง อบจ. ครับ หลายที่มีปัญหา เรื่องของการขาดแคลนผู้บริหาร ไล่มาเลยครับ ตั้งแต่ปลัด รองปลัด ผอ. การคลัง ผอ. กองช่าง หลากหลายตำแหน่งที่วันนี้บางคนต้องควบครับ บางคน ต้องควบหลายตำแหน่ง ทั้ง ๆ ที่งานที่ตัวเองถนัดนั้นไม่ได้มีความเชี่ยวชาญ ไม่ได้มีความ ชำนาญ แต่ก็จำเป็นที่ต้องไปควบเพื่อรักษาการในตำแหน่งต่าง ๆ สุดท้ายคนที่ได้รับ ผลกระทบก็หนีไม่พ้นประชาชนละครับ การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ก็ล่าช้า การตัดสินใจ การที่ จะทำอะไรต่าง ๆ จากหน่วยงานของการปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหา ให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างทันท่วงที การแก้ไขกฎหมายเพื่อให้อำนาจนั้นกลับไปอยู่ใกล้ กับมือของประชาชนมากยิ่งขึ้น จึงคิดว่าน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า น่าจะเป็นประโยชน์ มากกว่า แต่ที่สำคัญก็คือต้องทำให้โปร่งใส ต้องเป็นธรรมและตรวจสอบได้ ผมอยากจะ สะท้อนปัญหาให้ท่านประธานได้รับทราบในวันนี้ครับ ผมเองได้คุยกับทางท้องถิ่นจังหวัด อ่างทอง มีหนังสือครับ จากสำนักงาน ก.จ. ก.ท. และ ก.อบต. ส่งไปยังประธาน ก.จ.จ. ก.ท.จ. จากทั่วทั้งประเทศ ส่งไปบอกว่า มีมติล่าสุดครับ ทาง ก.จ. ก.ท. ก.อบต. จากส่วนกลาง มีมติล่าสุด เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม เห็นชอบให้คณะกรรมการข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น กจจ. กทจ. ก.อบต. ของจังหวัดให้เป็นหน่วยดำเนินการสรรหา ผู้มาดำรงตำแหน่งสายงานผู้บริหารครับ ส่งหนังสือไปเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม และบอกให้ แต่ละจังหวัดเขาไปตั้งอนุกรรมการสรรหาข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่นจังหวัดขึ้นมา ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ วันพรุ่งนี้ครับ ผมได้สอบถามไปปรากฏพบว่าหลายจังหวัดไม่ทำครับ หลายจังหวัดตอบกลับไปส่วนกลางว่า ไม่มีความพร้อม ผมก็แปลกใจว่าทำไมในเมื่ออยากที่จะเอาอำนาจตรงส่วนนี้ในการคัดหา ในการจัดสอบกลับไปที่จังหวัด ปรากฏว่ามีปัญหาครับ มีปัญหาคือพอจะไปให้จังหวัด เอาแต่ ภารกิจไป ไม่ได้ให้งบประมาณไป การจัดสอบ การเก็บค่าธรรมเนียมในการสอบเก็บได้เพียง แค่ ๔๐๐ บาท จังหวัดเล็ก ๆ อย่างอ่างทองบ้านผมพอจำนวนข้าราชการตำแหน่งที่ว่าง เมื่อคนมันน้อย การจัดเก็บมา ผมยกตัวอย่างถ้าสมมุติมีขาดสัก ๑๐๐ คน ๑๐๐ คน เก็บคนละ ๔๐๐ บาท ก็ได้เพียงแค่ ๔๐,๐๐๐ บาท ไม่พอครับ กับการจัดสอบ นอกจากนั้น ปัญหาที่ตามมาอีกอย่างหนึ่งก็คือระยะเวลาที่มันกระชั้นชิดเหลือเกิน สั่งเขาช่วงสิ้นเดือน มกราคมให้เสร็จ ตั้งคณะกรรมการเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ จัดสอบเดือนมีนาคม เพื่อที่จะให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน เตรียมจะบรรจุกลางปีนี้ ทำไม่ทันครับ อันนี้ คือเสียงสะท้อนที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน จากการที่สื่อสารจากทางส่วนกลางออกไป ผมมี ข้อเสนอแนะ ๒-๓ ประการ ที่อยากที่จะให้สะท้อนผ่านท่านประธานไปยังคณะกรรมาธิการ วิสามัญที่กำลังจะตั้งขึ้นในการร่างกฎหมายฉบับนี้

    อ่านในการประชุม

  • ประการแรกครับ เรื่องของมาตรฐานในการทำข้อสอบ เราอยากจะเห็น ตรงกันเลยครับ นั่นก็คือการสอบที่ยุติธรรม โปร่งใส เพราะฉะนั้นจะเป็นไปได้ไหมครับ ที่จะมี ข้อสอบกลาง หรือข้อสอบที่มันเป็นมาตรฐานที่สามารถที่จะวัดผลให้เหมือนกันกับผู้ที่สมัคร สอบทั่วทั้งประเทศ เพื่อที่จะลดคำครหาว่าจังหวัดนั้นสอบแบบหนึ่ง จังหวัดนี้สอบแบบหนึ่ง ภาคนั้นเลือกอย่างหนึ่ง ภาคนี้เลือกอย่างหนึ่ง ทำให้มันเป็นมาตรฐานเดียวกันกับทั้งประเทศ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ อยากให้คำนึงถึงจังหวัดเล็ก ๆ ด้วย ในการกำหนดจังหวัดใน ตามร่างที่ยกร่างขึ้นมานี้ อ่านดูแล้วก็เหมือนกับว่าจะให้จังหวัดใครจังหวัดมันไปพิจารณา กันเอง จังหวัดเล็ก ๆ ล่ะครับ ในบางปีมีตำแหน่งว่าง ๒๐ คน ๓๐ คน ท่านจัดเก็บคนละ ๔๐๐ บาท มันจะไปพออะไรครับ ที่จะไปจัดสอบจังหวัดใครจังหวัดมัน ดังนั้นข้อเสนอก็คือ เป็นไปได้ไหมครับ ให้จังหวัดที่อยู่ใกล้เคียงกันรวมกลุ่มจังหวัดกัน จังหวัดอ่างทอง จังหวัด สิงห์บุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดลพบุรี จังหวัดที่อยู่ติดกันตรงนี้ ให้เขาจัดสอบรวมกันได้ แล้วก็ขึ้นบัญชีรวมเอาไว้ อย่างน้อยการเดินทางก็อยู่ภายในภูมิภาค ในจังหวัดที่ใกล้เคียง

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๓ เรื่องของงบประมาณ ทุกวันนี้ค่าสมัครสอบเพียงแค่ ๔๐๐ บาท อย่างที่ผมยกตัวอย่างให้ท่านประธานได้รับทราบไป สอบ ๑๐๐ คน ก็เพิ่งจะ ๔๐,๐๐๐ บาท ๒๐๐ คนก็เพิ่งจะ ๘๐,๐๐๐ บาท ไม่พอครับ เปิดช่องให้ทางท้องถิ่นเขาสามารถที่จะใช้เงิน เข้ามาสมทบ เงินเข้ามาอุดหนุนตามที่เขาต้องการบุคลากรได้ไหม หรือเปิดช่องในการ แก้ระเบียบในการจัดเก็บค่าสอบจาก ๔๐๐ บาท ขยับขึ้นมาเป็น ๖๐๐ บาท มาเป็น ๘๐๐ บาท เพื่อที่จะให้มันสอดคล้องกับค่าใช้จ่ายในการจัดสอบของแต่ละจังหวัดได้ไหม

    อ่านในการประชุม

  • ท้ายที่สุดครับ ผมเห็นด้วยและคิดว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะเอาอำนาจ ตรงนี้กลับคืนไปให้ท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นนั้นเขาสามารถที่จะแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง แต่อย่างไรก็ตามเราต้องให้หลักประกันกับพี่น้องประชาชนครับ ต้องให้หลักประกัน กับข้าราชการที่จะมาเข้าสอบถึงความโปร่งใส ถึงความยุติธรรมและมาตรฐานเดียวกัน ทั้งประเทศ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม