กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม สุรเกียรติ เทียนทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย วันนี้ผมขอหารือท่านประธานใน ๒ ประเด็น
ประเด็นที่ ๑ เป็นความเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมทางรถไฟสายเหนือ ๕ ชุมชน ก็คือ ชุมชนสวนผัก ชุมชนเคหะสถานเจริญชัย ชุมชนภักดี ชุมชนไทรคู่ ชุมชนใกล้เคียง รวมถึงประชาชนที่อยู่ใน ซอยวิภาวดีรังสิต ๑๗ และ ๑๙ โดยปัจจุบันพี่น้องประชาชนได้ร้องขอให้มีการสร้าง สะพานลอยเชื่อมต่อขยายจากสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงสถานีจตุจักร ให้ต่อขยายข้าม ถนนกำแพงเพชร ๒ มาถึงบริเวณทางออกท้ายซอยบริเวณวิภาวดี ๑๗ และ ๑๙ โดยปัจจุบัน พี่น้องประชาชนที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสถานีจตุจักรต้องเสี่ยงข้ามถนนกำแพงเพชร ๒ ซึ่งมี ความกว้างถึง ๖ เลน โดยไม่มีสะพานลอยหรือว่าไม่มีทางม้าลายใด ๆ ครับท่านประธาน ทำให้เกิดอุบัติเหตุและเกิดการสูญเสียกันอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นผมขอฝากถึงการรถไฟ แห่งประเทศไทยและกรุงเทพมหานคร ช่วยพิจารณาสร้างสะพานลอยข้ามถนนกำแพงเพชร ๒ ในจุดดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่ายครับ เพราะว่าจะทำให้มีผู้มาใช้บริการรถไฟฟ้า สายสีแดงเพิ่มมากขึ้นด้วยครับท่านประธาน
ประเด็นที่ ๒ สืบเนื่องจากที่ สส. ขัตติยา สวัสดิผล พรรคเพื่อไทย ได้เคยนำ เรื่องนี้มาหารือแล้วในสภาแห่งนี้ครั้งหนึ่ง เกี่ยวกับผู้เช่าแผงการค้าที่ตลาดโดม ปตท. พื้นที่ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย กม. ๑๑ หลังจากที่ได้หารือไป ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย ก็ได้มีการประชุมร่วมกับผู้เช่าแผง แต่ว่ามาตรการที่ออกมาก็ยังมีการเรียกเก็บค่าเช่าย้อนหลัง ในช่วงโควิดที่ผ่านมา โดยผู้เช่าต้องเซ็นยอมรับสภาพหนี้ก่อนถึงจะสามารถต่อสัญญาใหม่ได้ ก็ขอฝากถึงการรถไฟแห่งประเทศไทย ขอให้ท่านช่วยพิจารณาให้ความอนุเคราะห์ในการต่อ สัญญาผู้เช่ารายเดิมออกไปก่อนได้ไหม ต่อให้ไปก่อน แล้วค่าเช่าที่ค้าง ๆ กันอยู่ค่อยมาเจรจา กันตกลงกันทีหลัง เพราะว่าผู้เช่าส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ค้าขายแล้วก็อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น เป็นเวลานานแล้ว เพื่อลดผลกระทบกับผู้ค้าในบริเวณนั้นครับท่านประธาน กราบขอบพระคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพครับ ผม สุรเกียรติ เทียนทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ วันนี้ผมขอหารือท่านประธานในประเด็นความเดือดร้อนของ พี่น้องประชาชนที่ใช้รถ ใช้ถนน ใช้เส้นทางของถนนกำแพงเพชร ๖ ที่เรารู้จักกันดีในชื่อว่า Local road ปัญหานี้เริ่มต้นตั้งแต่อุโมงค์บางซื่อยาวไปจนถึงวัดเสมียนนารี เขตจตุจักร เขตหลักสี่ เขตดอนเมือง แล้วก็ไปจบที่ตำบลหลักหก จังหวัดปทุมธานี ประเด็นปัญหา ของถนนเส้นนี้แบ่งเป็น ๒ ประเด็นหลัก ๆ
ประเด็นแรก คือเรื่องผิวจราจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตของหลักสี่ และดอนเมืองก็มีการชำรุดเสียหาย เป็นหลุมเป็นบ่อค่อนข้างลึก ทำให้พี่น้องประชาชน ที่สัญจรไปมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถจักรยานยนต์จะประสบอุบัติเหตุกันบ่อยครั้งครับ
ปัญหาที่ ๒ พอตกกลางคืนเข้าก็จะเจอกับปัญหาใหญ่กว่าคือไฟสาธารณะ ด้วยถนนเส้นนี้เป็นถนนที่อยู่ใต้รถไฟฟ้าสายสีแดงพาดผ่านถึง ๑๐ สถานี ตอนนี้ไฟส่องสว่าง มีเฉพาะใต้สถานี ระหว่างสถานีถึงสถานีขาดการดูแล ทำให้มืด การสัญจรไปมาตอนกลางคืน พี่น้องประชาชนเกิดความหวาดกลัว เป็นที่ซ่องสุมของขโมยขโจรแล้วก็ยาเสพติด วันดีคืนดี ทางทีมงานเขตจตุจักร เขตหลักสี่ พรรคเพื่อไทยได้รับแจ้งอยู่บ่อยครั้งในเหตุร้าย แล้วพอ เข้าไปที่เกิดเหตุก็จบด้วยการวิ่งไล่จับขโมยที่มาขโมยสายไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ฝังลงดินก็ดี ทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนก็ดี ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาใหม่ เป็นปัญหาเรื้อรัง ที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ในปีที่แล้วอดีต สส. สุรชาติ เทียนทอง ก็เคยนำเรื่องนี้มาหารือในสภา แห่งนี้แล้ว และได้ทำจดหมายถึงการรถไฟแห่งประเทศไทยไปแล้วในปีที่แล้วถึง ๓ ครั้ง ก็ต้อง ขอบคุณครับท่านประธาน ขอบคุณสภาอันศักดิ์สิทธิ์และทรงเกียรติแห่งนี้ ในครั้งนี้ ได้ประสานไปทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะมีวาระหารืออีกครั้งในสภาวันนี้ แต่สัปดาห์ ที่ผ่านมาก็ได้พบว่ามีหน่วยงานเข้าไปซ่อมแซมไฟส่องสว่างบางจุด อย่างเมื่อวานนี้ผมเห็น ในสื่อได้มีการเอามาออกว่าไฟบนถนนกำแพงเพชร ๖ สว่างแล้ว ติดแล้ว ก็เป็นการติด เฉพาะจุด จุดแค่เขตจตุจักรเท่านั้น ในอีก ๒ เขต เขตดอนเมืองแล้วก็เขตหลักสี่ยังไม่ได้รับ การแก้ไขดูแล ถ้าเกิดว่าท่านสามารถแก้ไขปัญหานี้โดยใช้เวลาแค่ ๕-๗ วันในเขตจตุจักร จุดเดียว อย่างไรก็ฝากอีก ๒ เขตครับท่านประธาน ใช้เวลาน่าจะไม่เกิน ๑๐-๑๔ วัน ก็ฝาก หน่วยงานการรถไฟแห่งประเทศไทย อย่างไรท่านมีแผนในอนาคตอยู่แล้วว่าจะยกพื้นที่นี้ ให้ กทม. แต่เห็นแผนที่ท่าน Plan ไว้เกือบ ๒ ปีแล้ว อย่างไรฝากท่านช่วยประชุมกัน บูรณาการ แก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนให้จบเสียที ขอบพระคุณท่านประธานครับ
กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม สุรเกียรติ เทียนทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย สืบเนื่องจากที่ผมได้รับการร้องเรียนจากกับทีมงานของอดีต สส. สุรชาติ เทียนทอง เขตหลักสี่ เขตจตุจักร ถึงประเด็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในเขตดังกล่าว จึงขอหารือท่านประธานใน ๒ ประเด็น
ประเด็นที่ ๑ เรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่สัญจรไปมา ริมคลองลาดพร้าว บริเวณชุมชนพหลโยธิน ๓๒ กลุ่มแม่บ้านไทรทอง รัชดาภิเษก ๓๖ ร้องขอให้มีการทำรั้วเหล็กกั้นริมคลองลาดพร้าวบริเวณจุดเชื่อมต่อชุมชนหลังมหาวิทยาลัย ราชภัฏจันทรเกษม ถึงกลุ่มแม่บ้านไทรทอง รัชดาภิเษก ๓๖ รวมระยะทางประมาณ ๕๐๐ เมตร เนื่องจากบริเวณดังกล่าวไม่มี Footpath กั้น ไม่มีรั้วกั้นริมคันเขื่อน ทำให้ เกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์และรถยนต์พลัดตกลงไปในคลองลาดพร้าวอยู่บ่อยครั้งครับ จึงขอให้สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ช่วยพิจารณาดำเนินการ สร้างรั้วเหล็กกั้นริมคลองลาดพร้าวในจุดบริเวณดังกล่าว และเพื่อเป็นการแก้ไข เป็นการเฉพาะหน้าไปก่อน ทางทีมงานได้พบว่ามีแท่ง Barrier คอนกรีตที่ไม่ได้ใช้งาน กองอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นทรัพย์สินของศูนย์การก่อสร้างและบูรณะถนน ๓ สำนัก การโยธา เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร จึงขอให้ทางกรุงเทพมหานครช่วยพิจารณานำมาใช้ เป็นแนวกั้นชั่วคราวไปก่อนครับท่านประธาน
ประเด็นที่ ๒ เรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่พักอาศัยอยู่ใน โครงการบ้านมั่นคงหลายโครงการ บริเวณริมคลองเปรมประชากร ริมคลองบางบัว ริมคลอง ลาดพร้าว เกี่ยวกับระบบไฟส่องสว่างสาธารณะที่ไม่เพียงพอ บางชุมชนมีการติดตั้ง ไฟส่องสว่างด้านหน้าคันเขื่อนด้านหน้าโครงการ แต่บางชุมชนติดตั้งหลังโครงการ ซึ่งมีข้อแตกต่างกันอย่างไม่มีแบบแผน ทำให้เกิดปัญหาความไม่ปลอดภัยในยามค่ำคืน จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรุงเทพมหานคร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) การไฟฟ้านครหลวงช่วยพิจารณาดำเนินการแก้ไขให้ด้วย ขอบคุณครับท่านประธาน
ท่านประธานที่เคารพ ผม สุรเกียรติ เทียนทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ โดยส่วนใหญ่การเปิดประมูลคลื่นความถี่ของ กสทช. ก็จะเปิดประมูล ในระยะเวลา ๑๕ ปี แบ่งออกเป็นคลื่นความถี่ที่ใช้กับการโทรคมนาคม และใช้กับ การกระจายเสียงโทรทัศน์และวิทยุ เพราะฉะนั้นถ้าจะประเมินการปฏิบัติงานของ กสทช. เราคงต้องดูในภาพรวมของโครงการสำคัญ ๆ ที่ท่านได้กำกับดูแลอยู่
ผมมีคำถามถึงท่านผู้มาชี้แจง คือ กสทช. ว่าถ้าให้ท่านประเมินว่าในโครงการ Digital TV ที่ท่านกำกับดูแล และเป็นผู้เริ่ม ดำเนินการมา ๑๐ ปีที่ผ่านมาท่านคิดว่าโครงการนี้ได้รับความสำเร็จหรือไม่ การที่เราจะตอบ คำถามนี้ได้เราคงต้องย้อนกลับไปดูว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างวงการ TV ไทยใน ๑๐ ปีที่ผ่านมา ผมเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ว่ามหากาพย์แห่งทศวรรษ Digital TV มันเกิดอะไรขึ้น บ้างครับ ในปี ๒๕๕๖ กสทช. ได้นำคลื่นความถี่ออกมาประมูล Digital TV โดยใช้คำว่า ปฏิรูป ยกระดับ เปลี่ยนถ่าย วงการโทรทัศน์ TV เมืองไทย โดยประกาศออกสื่อว่ารายได้ ที่จะจัดเก็บจากใบอนุญาตจะมีมากถึง ๕๑,๗๐๐ กว่าล้านบาท โดยให้แบ่งจ่ายออกเป็น ๔ งวด และบางรายเป็น ๖ งวด โดยในขณะนั้นในตลาดเองมีผู้ประกอบการ TV ที่เป็น TV ดาวเทียม อยู่จำนวนมาก รายใหญ่หน่อยก็จะเป็นเจ้าของกล่องที่เราเคยเห็นกันอยู่ในท้องตลาด มีหลาย ๆ ยี่ห้อ แล้วการที่จะให้เจ้าของกล่องต่าง ๆ บรรจุช่อง Digital TV ลงไปในกล่อง จะทำอย่างไรล่ะครับ กสทช. ก็เลยออกกฎเกณฑ์มา ๒ กฎเกณฑ์ คือ Must Have กับ Must Carry ที่เราเคยได้ยินกัน Must have คืออะไรครับ คือกฎเกณฑ์ที่การถ่ายทอดอะไร ที่สำคัญ ๆ อย่างเช่นการกีฬา ต้องถ่ายทอดผ่านช่อง Free TV เท่านั้น Must Carry ก็คือ การที่บังคับให้เจ้าของกล่องทุกกล่องนำช่องของ กสทช. เรียงลำดับ ๑-๓๖ ตามที่ ท่านกำหนดลงไปบรรจุอยู่ในทุก ๆ Platform ซึ่ง ๒ หลักเกณฑ์นี้ที่เราเห็นกันว่าปัจจุบันนี้ มันกลับกลายมาเป็นยาพิษเข้ามาสู่ กสทช. อย่างที่เราเห็นกันชัด ๆ เลยก็คือการถ่ายทอด ฟุตบอลโลกที่ผ่านมา ท่านเองก็รับทราบดีถึงปัญหานี้ เมื่อมีนาคมที่ผ่านมา Board กสทช. ก็เพิ่งเห็นชอบให้ยกเลิกหลักเกณฑ์พวกนี้ ในปี ๒๕๕๗ ได้มีการใช้งบประมาณ ถึง ๑๕,๘๐๐ ล้านบาท ในการสนับสนุนเป็นส่วนลดในการซื้อกล่อง Digital TV แต่โครงการนี้ ก็ไม่ได้สำเร็จสักเท่าไร ในช่วงเวลานั้นเองก็มีผู้ประกอบการ TV Digital รวมตัวกันเข้าไป เจรจาก็ดี เข้าไปร้องเรียนกับ กสทช. ก็ดี ถึงการล่าช้าของการเปลี่ยนถ่าย ทำให้ผู้ประกอบการ บางรายไม่สามารถที่จะชำระค่าใบอนุญาตได้ จนไปถึงการที่ท่านไปยกเลิกใบอนุญาตแล้วก็ ยกเลิกสัญญาณเขา เป็นที่มาของในปี ๒๕๕๙ ที่บริษัท ไทยทีวี จำกัด ได้ทำการฟ้องท่านว่า ท่านประพฤติโดยมิชอบที่ไประงับสัญญาณเขา ต่อมาในปี ๒๕๖๑ ศาลปกครองสูงสุดก็ได้ ตัดสินให้ท่านต้องชำระเงินค่าใบอนุญาตคืนกับบริษัท ไทยทีวี จำกัด และคืน Bank Guarantee ก็คือท่านไปแพ้คดีเขานั่นเอง ในปีเดียวกันก็มี ม. ๔๔ ออกมาช่วยเหลือเยียวยา กันว่าถ้าใบอนุญาตที่ชำระมาแล้ว ที่ต้องชำระ ๔ งวด ก็ขยายให้เป็น ๖ งวด เยียวยากัน ยังไม่จบครับ ในปี ๒๕๖๒ ก็มี ม. ๔๔ ออกมาอีกรอบหนึ่งว่าการขยายการชำระค่าใบอนุญาต ๒ งวดสุดท้ายไม่ต้องชำระแล้ว แล้ว กสทช. ก็ยังมีหน้าที่ในการชำระค่าโครงข่าย คือ MUX แทน แล้วผู้ประกอบการที่ต้องการคืนใบอนุญาตก็สามารถคืนใบอนุญาตได้ โดย กสทช. ต้องคืนเงินค่าใบอนุญาตที่ชำระมาแล้วถึง ๖๓ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งขณะนั้นมีผู้คืน ใบอนุญาตถึง ๗ ราย ท่านประธานครับ สรุปง่าย ๆ คือ กสทช. จะสามารถจัดเก็บ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจากช่อง TV Digital ที่ขณะนี้มีอยู่ได้เพียงแค่ ๖๕ เปอร์เซ็นต์ และจากช่องที่คืนใบอนุญาตไปแล้วแค่เพียง ๒๗ เปอร์เซ็นต์ จนมาถึงคณิตศาสตร์ง่าย ๆ ที่ผมขอนำเสนอ จาก ๕๑,๗๙๘ ล้านบาท กสทช. จะคงเหลือรายได้จากการประมูล ช่อง TV Digital ได้เพียงแค่ ๒๕.๘๗ เปอร์เซ็นต์ ถ้าหักจากเงินสนับสนุนที่ท่านเอามา สนับสนุนการซื้อกล่องแล้ว เพียง ๒๕.๘ เปอร์เซ็นต์ ๑ ใน ๔ เท่านั้น ด้วยความห่วงใยครับ ท่านประธาน
สุดท้ายนี้จากข้อมูลที่ผมพูดมาทั้งหมด ผมไม่ได้จะมาบอกว่าการที่เราไป เยียวยา ไปช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เขาประสบปัญหามันไม่ดี มันดีครับท่านประธาน แต่ผมขอตั้งคำถามถึง กสทช. ครับ
คำถามที่ ๑ ใช่หรือไม่ที่มหากาพย์ที่ผมว่ามันเกิดทั้งหมด มันเกิดขึ้นจาก ต้นเหตุที่ท่านไม่เข้าใจในเรื่องกิจการของโทรทัศน์ดีเท่าที่ควร ท่านถึงไม่สามารถที่จะ Foresee หรือคาดการณ์ล่วงหน้าถึงเทคโนโลยีที่มันกำลังเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ และมี ผลกระทบกับวงการโทรทัศน์ไทยในขณะนั้นใช่หรือไม่ครับ
คำถามที่ ๒ เนื่องจากสัมปทานนี้ยังเหลือเวลาอีกแค่ ๕ ปี ผมขอสอบถามว่า ท่านมีแผนหรือยังที่จะนำคลื่นความถี่ตรงนี้นำไปใช้ประโยชน์อะไรต่อ ปกติแล้วองค์กรใหญ่ ๆ จะมีแผนในระยะ ๕ ปี ก็ฝากครับ เพราะว่าทุกวันนี้เทคโนโลยีมันเร็วกว่าเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว
คำถามที่ ๓ ผมได้ถามไปแล้วว่าถ้าให้ท่านประเมินตัวเองแล้วท่านคิดว่า โครงการ Digital TV มันเป็นโครงการที่ได้รับความสำเร็จตามเป้าประสงค์ของท่านหรือไม่ ก็ฝากผู้ที่มาชี้แจงตอบคำถามด้วยครับ ขอขอบคุณท่านประธานครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม สุรเกียรติ เทียนทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย วันนี้ผมขอหารือท่านประธาน ๒ ประเด็น
ประเด็นที่ ๑ เนื่องจากผม ได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนมาจากคุณพรพงษ์ เสาวคนธ์ นายก อบต. ทัพราช และคุณสวัสดิ์ กั๊วจรัญ สมาชิก อบต. ทัพราช แล้วก็คุณโกเมศ เพชรโกมล กำนันตำบลทัพราช จังหวัด สระแก้ว เรื่องช้างในอุทยานแห่งชาติปางสีดาเข้ามาทำลายพืชผลการเกษตรของชาวบ้าน หมู่ที่ ๑๒ บ้านคลองยาง ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว โดยฝูงช้างป่า ประมาณ ๑๒ เชือกได้เข้ามาในพื้นที่หมู่บ้านแล้วก็ทำลายพืชผลการเกษตร เช่น ข้าว กล้วย มันสำปะหลัง ชาวบ้านได้รับความเสียหายในพื้นที่เป็นจำนวนมากครับ หลายครัวเรือนได้รับ ความเดือดร้อนโดยช้างจะเข้ามาในเวลากลางคืน ซึ่งเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติปางสีดา ได้เข้ามาดูบ้าง แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด จึงขอฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามา ดูแลรับผิดชอบแล้วก็เยียวยาชาวบ้านด้วยครับ
ประเด็นที่ ๒ ผมได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนผ่านมายัง ทีมงานพรรคเพื่อไทย เขตจตุจักร เขตหลักสี่ ถึงความเดือดร้อนเรื่องป้ายจราจรบริเวณ ถนนกำแพงเพชร ๖ จากอุโมงค์บางซื่อไปจนถึงตำบลหลักหก จังหวัดปทุมธานี โดยถนนเส้นนี้ จะเป็นถนนที่ผ่านซอยเป็นจำนวนมาก มีการสลับช่องจราจรไปมาข้าม ๑ เลนบ้าง ๒ เลนบ้าง บางทีก็เป็น One-way และไม่มีป้ายจราจรบอกที่ชัดเจน ทำให้เกิดอุบัติเหตุนับเป็นรายวันเลย แล้วก็รวมถึงรั้วกั้นกันตกคลองระบายน้ำบริเวณทางเท้าหน้าชุมชนเคหสถานเจริญชัย ซึ่งแต่เดิม มีรั้วอยู่ครับ แต่พอมีการสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงก็ได้มีการรื้อถอนออกไป แล้วก็ไม่ได้มี การนำมาติดตั้งเหมือนเดิมหลังจากมีการสร้างเสร็จแล้ว ทำให้เกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง จึงขอฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการรถไฟแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานครช่วยดำเนินการ แก้ไขให้ด้วยครับ ขอบคุณครับท่านประธาน
ท่านประธานครับ สุรเกียรติ เทียนทอง ๔๓๙ แสดงตนครับ
กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม สุรเกียรติ เทียนทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย วันนี้ผมขอหารือกับท่านประธานใน ๒ ประเด็นครับ
ประเด็นที่ ๑ ขอให้เร่งรัด คืนผิวจราจรบนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าศูนย์ราชการถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อเป็นการลด ความแออัดของการใช้รถใช้ถนน และบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ใช้รถใช้ถนนในบริเวณ ดังกล่าว ด้วยปัจจุบันครับท่านประธาน รถไฟฟ้าสายสีชมพูได้ทำการก่อสร้างเสร็จแล้ว แล้วก็ เปิดให้พี่น้องประชาชนได้ใช้แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา แต่การคืนผิว จราจรบางส่วนยังคืนไม่แล้วเสร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณหน้าศูนย์ราชการ ช่วงเกาะกลาง แล้วก็จุดกลับรถบางจุดก็ยังเป็นหลุมเป็นบ่อ ไม่เรียบร้อยครับท่านประธาน เป็นสาเหตุให้ การจราจรติดขัดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วนอย่างที่เราเห็นกัน และในขณะนี้ ทราบว่าการไฟฟ้านครหลวงเองก็มีการวางท่อร้อยสายเคเบิลใต้ดินในบริเวณริมถนน แจ้งวัฒนะเพิ่มขึ้นอีก ทำให้เสียช่องทางจราจรไปอีก ๑ ช่องทาง จึงเป็นเหตุให้การจราจร ที่ติดอยู่แล้วติดมากยิ่งขึ้นครับ ก็ขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง กรุงเทพมหานครช่วยดำเนินการเร่งรัดการก่อสร้าง แล้วก็คืนผิวถนนให้ด้วยครับ
ประเด็นที่ ๒ ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนริมคลอง เปรมประชากร ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับชุมชนสวนผักในเขตจตุจักร ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจาก ไม่มีไฟฟ้าส่องสว่างในยามค่ำคืน และบริเวณดังกล่าวนี้รั้วกั้นเหล็กบริเวณถนนกับ ลำคลองนี้ก็ชำรุดเสียหายมานานแล้วครับ ยังไม่ได้รับการซ่อมแซม ทำให้เกิดอุบัติเหตุ มีรถจักรยานยนต์ตกลงไปในคลองอยู่บ่อยครั้ง ก็ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตจตุจักร สำนักงานระบายน้ำ ช่วยดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้ให้ด้วยครับ ขอบพระคุณท่านประธานครับ
กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม สุรเกียรติ เทียนทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ ปัจจุบันการจัดการขยะของหน่วยงานภาครัฐแล้วก็เอกชนโดยส่วนใหญ่ ยังมีมาตรการและกระบวนการกำจัดขยะที่ยังไม่ถูกต้อง ไม่ถูกวิธี แล้วก็ไม่ถูกขั้นตอน แล้วก็ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด การแก้ปัญหาขยะที่ต้นทาง การกำจัดขยะก็ดี ที่ไม่ถูกต้องส่งผลให้เกิดการสะสมของขยะ ขยะสารเคมีที่เป็นอันตราย ขยะพลาสติก กล่องโฟม เศษอาหารต่าง ๆ กระจายอยู่เต็มพื้นที่บ่อขยะที่เราเห็นกัน พื้นที่ฝังกลบเองก็ดี ลามไปจนถึงทุกวันนี้แม่น้ำลำคลอง ชายหาดก็มี พื้นที่ป่า พื้นที่ทะเล แล้วก็ชุมชนต่าง ๆ แล้วก็วันนี้เริ่มลามไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่เราพูดกันในวันนี้ ที่ผ่านมาครับท่านประธาน นโยบายของหลายรัฐบาลได้มีการวางแผนเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่สังคมที่เราเรียกว่า สังคมปลอดขยะ เรารู้จักกันดีในชื่อว่า Zero Waste Society ที่ยึดหลัก 3R โดยมี การจัดการขยะแบบผสมผสาน เน้นการลดขยะ คัดแยกขยะ การใช้ประโยชน์จากกองขยะ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่ปัจจุบันคำถามก็คือว่าสิ่งเหล่านี้มีอยู่จริงไหม ในสถานการณ์ ปัจจุบัน มีปริมาณขยะสูงขึ้นต่อเนื่อง ที่เรารู้ ๆ กันอยู่ เพื่อน ๆ สมาชิกทุกคนก็อภิปรายไป แล้วว่าขณะนี้ปริมาณขยะสูงขึ้นถึงปีละเกือบ ๒๖ ล้านตันต่อปี มีปริมาณขยะตกค้างถึง ๙.๙ ล้านตันต่อปี ขยะเหล่านี้เพิ่มขึ้นมาจากสาเหตุอะไรครับท่านประธาน สาเหตุของปัญหา มลพิษจากกองขยะมาจาก ๓ สาเหตุหลัก ๆ
สาเหตุที่ ๑ การกำจัดขยะไม่ถูกวิธี ไม่ถูกสุขอนามัย ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน โดยในปี ๒๕๖๕ มีสถานที่กำจัดขยะอยู่ ๒,๐๗๔ แห่ง แต่กลับพบว่ามีสถานที่กำจัดขยะแบบ ถูกต้อง มีเพียงแค่ ๑๑๑ แห่ง คิดเป็นแค่ ๕.๔ เปอร์เซ็นต์ สถานที่กำจัดขยะที่ไม่ถูกต้องครับ ท่านประธาน ๑,๙๖๓ แห่ง คิดเป็น ๙๔.๖ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีสถานีขนถ่ายขยะเพียงแค่ ๓๓ แห่ง พอเห็นสัดส่วนแบบนี้ก็น่าตกใจครับท่านประธาน ในปี ๒๕๖๕ มีขยะชุมชนอย่างที่ ผมกล่าวไปแล้วมีถึง ๒๕.๗ ล้านตัน มีขยะที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เพียงแค่ ๘.๘ ล้านตัน ในขณะที่ขยะที่กำจัดอย่างถูกต้องแค่ ๙.๘ ล้านตัน ขยะที่กำจัดไม่ถูกต้องสูงถึง ๗.๑ ล้านตัน
สาเหตุที่ ๒ ท่านประธานครับ เราคงต้องมาดูที่เนื้อหากฎหมายที่ล้าหลังและ ไม่มีการแก้ไขให้รองรับกับปัญหาขยะในปัจจุบัน ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับ การแก้ปัญหาขยะหลายฉบับ อาทิเช่น กฎหมายตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๓๔/๑ ครับท่านประธาน ให้การรวบรวมเก็บและขนส่งขยะ รวมทั้งการหาประโยชน์จากขยะเป็นหน้าที่และอำนาจของ ราชการส่วนท้องถิ่น แต่ข้อเท็จจริงเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามี อบต. บางแห่ง ผมขอย้ำว่าบางแห่ง กลับผลักภาระหน้าที่ในการจัดการขยะให้เป็นของประชาชน แล้วก็คนในชุมชน ซึ่งเป็น การปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพตามที่กฎหมายได้ให้อำนาจท่านไว้
สาเหตุที่ ๓ ท่านประธานครับ เรื่องเกี่ยวกับงบประมาณ งบประมาณในการ กำจัดขยะที่ไม่เพียงพอ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ให้ข้อมูลเกี่ยวกับงบประมาณ และด้านการจัดการขยะว่ามีค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะถึงปีละ ๑๓,๐๐๐ ล้านบาท กรุงเทพมหานครใช้งบประมาณถึง ๗,๐๐๐ ล้านบาท รวมกันแล้วก็ ๒๐,๐๐๐ ล้านบาท แต่องค์กรปกครองท้องถิ่นจัดเก็บรายได้จากขยะได้เพียงแค่ ๒,๓๐๐ ล้านบาท กรุงเทพมหานครจัดเก็บได้เพียงแค่ ๕๐๐ ล้านบาท ดังนั้นเราต้องใช้งบประมาณถึง ๑๗,๒๐๐ ล้านบาทต่อปีในการจัดการขยะ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ครับท่านประธาน สาเหตุหลัก ๆ นี้น่าจะเกิดจากการบริหารจัดการ ซึ่งในส่วนนี้เราคงต้องมา นั่งดูกันในเชิงลึก ท่านประธานครับ ๕ ปีที่ผ่านมาพฤติกรรมการใช้ชีวิตของพี่น้องประชาชน ได้เปลี่ยนไปมากครับ มีการซื้ออาหารแบบ Delivery การสั่งอาหาร แล้วก็ซื้อสินค้า Online มากขึ้น เราจะเห็นได้ชัด ๆ เลยในจำนวน Rider ขนส่งสินค้าและอาหารที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ส่งผลให้อะไรครับ ส่งผลให้ขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์แล้วก็สินค้านี้เพิ่มขึ้นสูง อย่างมากด้วย ยิ่งไปกว่านั้นแนวโน้มในปัจจุบันการใช้รถจากพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย ก็เริ่มมีความนิยมสูงขึ้นทุกวัน ๆ ในอีกไม่เกิน ๑๐ ปี รถยนต์ก็จะกลายเป็นสินค้า อิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างหนึ่ง แล้วแบตเตอรี่ละครับท่านประธาน ที่หมดอายุ ในการใช้งานแล้ว ก็จะกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างหนึ่ง ซึ่งต้องการการจัดการอย่างมี มาตรฐาน การเพิ่มปริมาณของขยะพลาสติกแล้วก็ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มากขึ้นเรื่อย ๆ อาจ กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่จะส่งผลต่อพี่น้องประชาชนและสิ่งแวดล้อมในอนาคตอันใกล้นี้ครับ ท่านประธาน หากเราไม่มีแผน แล้วไม่มีมาตรการรองรับอย่างทันท่วงทีกับปัญหานี้ อย่างครอบคลุม จากปัญหาและข้อสังเกตที่ผมได้กล่าวมาข้างต้น ผมจึงขอสนับสนุนญัตติ ดังกล่าวเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรช่วยกันพิจารณาศึกษาหาแนวทาง แก้ไขเรื่องการบริหาร จัดการขยะ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม สุรเกียรติ เทียนทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ วันนี้ผมขอเสนอญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาและ จัดทำมาตรการป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟู สิ่งแวดล้อมระบบนิเวศทางทะเลกรณีน้ำมันรั่วไหลทาง ทะเลครับ ปัญหาน้ำมันรั่วไหลทางทะเลนี้ถือเป็นปัญหาสำคัญที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทางธรรมชาติในทะเลเป็นอย่างมาก แล้วปัญหานี้ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสาเหตุของ การเกิดน้ำมันรั่วในทะเลและชายฝั่งเกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การขุดเจาะ การขนส่ง น้ำมัน การเดินเรือ การล้างถังอับเฉาเรือ ลักลอบทิ้งน้ำมันที่ปนเปื้อนหรือน้ำมันที่ใช้แล้ว รวมทั้งอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุให้คราบน้ำมันหรือที่เราเรียกว่าก้อนน้ำมันดินที่อยู่ใน ทะเลจะพัดเขาสู่ชายฝั่งในที่สุด แล้วก็ทำให้เกิดการรั่วไหลในทะเล ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทางกายภาพ ทางเคมีและทางชีวภาพ โดยกระบวนการที่เกิดขึ้นอยู่กับประเภทของน้ำมันครับ และสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ในขณะการรั่วไหล กระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีหลาย กระบวนการ มีทั้งการแผ่กระจายตัว การระเหย การเกิด Emulsion การเกิดปฏิกิริยา Photo-oxidation หรือการจมตัวหรือการตกตะกอนนั่นเองนะครับ นอกจากนี้ยังทำให้เกิด การปนเปื้อนของสารที่เราเรียกว่าปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนบางกลุ่มที่ตกค้างแล้วก็เป็นพิษ อย่างเฉียบพลัน เรื้อรังต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในทะเล สำหรับในประเทศไทยการรั่วไหล ของน้ำมันลงสู่ทะเลได้เกิดขึ้นในช่วง ๑-๒ ปีที่ผ่านมา ถือว่าส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อ ธรรมชาติทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๕ ที่มีน้ำมันดิบรั่ว ออกมาจากทุ่นขนถ่ายของบริษัทสตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ทางใต้ของนิคม อุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง โดยมีการรั่วถึง ๔๐๐,๐๐๐ ลิตร ซึ่งเหตุการณ์นี้บริษัท ได้ออกมาแสดงความเสียใจแล้วก็รับผิดชอบความเสียหาย รวมไปถึงฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมนะครับ หรือในเหตุการณ์เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๖๖ ที่จังหวัดภูเก็ตบริเวณหาดที่มีชื่อเสียงของจังหวัด ทั้งหาดไม้ขาว หาดในทอน หาดในยาง พบว่ามีก้อนน้ำมันดิน ที่เราเรียกว่าน้ำมันดินพัดเข้ามา ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหายาก อย่างเต่าตนุที่มีขนาดราว ๑๐ เซนติเมตร ซึ่งเต็มไปด้วย คราบน้ำมัน นอกจากนั้นคราบน้ำมันที่รั่วไหลยังลอยไปถึงเกาะราชาใหญ่ ที่เป็นสถานที่ ท่องเที่ยวสำคัญเลยของจังหวัดภูเก็ต ทำให้แนวปะการังในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดพังงาได้รับ ผลกระทบเป็นหลายพันไร่ และครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๖๖ ที่ผ่านมาก็เกิดเหตุ ท่อรับส่งน้ำมันของบริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) แตกตรงบริเวณอำเภอศรีราชา จังหวัด ชลบุรี ทำให้น้ำมันดิบไหลลงสู่ทะเลมากถึง ๔๕,๐๐๐ ลิตร โดยคราบน้ำมันได้เคลื่อนตัวเข้าสู่ ชายฝั่งบางพระ อ่าวอุดม กินพื้นที่ถึง ๔ กิโลเมตร เหตุการณ์น้ำมันรั่วแต่ละครั้งสร้างความ เสียหายไม่เพียงแต่เฉพาะระบบนิเวศทางทะเลที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ แต่ยังส่งผลกระทบ ต่อประชาชนในอีกหลาย ๆ ด้าน เช่น น้องประชาชนที่ทำอาชีพประมง ธุรกิจร้านอาหาร และร้านค้าเลียบชายฝั่ง และรวมถึงด้านสุขภาพของพี่น้องประชาชน ท่านประธานครับ มีสถิติน้ำมันรั่วในประเทศไทยที่รวบรวมโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและ ชายฝั่ง พบว่าปี ๒๕๕๙-๒๕๖๒ มีการพบน้ำมันรั่วในทะเลเฉลี่ยปีละ ๑๐-๑๕ ครั้ง แต่ใน ปี ๒๕๖๓ เป็นที่น่าสังเกตมีการพบน้ำมันรั่วลงไปสู่ในทะเลถึง ๔๗ ครั้ง โดยเป็นการเพิ่มขึ้น มากถึง ๓ เท่าในปีเดียว ยิ่งไปกว่านั้นในปี ๒๕๖๔ มีการพบการรั่วไหลของน้ำมันในทะเลสูง ถึง ๔๔ ครั้ง ซึ่งถ้ามองในภาพรวมก็จะเห็นว่าการรั่วไหลของน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นถ้าเราจะพูดถึงมาตรการป้องกันสำหรับเรื่องพวกนี้ เราควรจะต้องมาดูแนวทาง บทลงโทษของในประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทยกันครับ ตัวอย่างที่ ๑ ในประเทศญี่ปุ่น เขามีกฎหมายควบคุมมลพิษทางน้ำ เรียกว่า Water Pollution Control Law นะครับ มาตรา ๑๔/๒ ได้บัญญัติถึงมาตรการที่จะต้องดำเนินการในกรณีเกิดอุบัติเหตุ เป็นขั้นตอน ชัดเจนมีโทษหากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบนี้ไม่ปฏิบัติตาม และในมาตรา ๓๐ ของเขาระวางโทษ จำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๑ ล้านเยน แต่ปัญหาก็คือว่าการฟ้องร้องของเขาในส่วนใหญ่ก็ยังเป็นการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อ บุคคลแล้วก็ทรัพย์สินเท่านั้น ยังไม่มีการเกิดการฟ้องร้องค่าเสียหายอันเกิดจากผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อมทางทะเลโดยตรงครับ อีกตัวอย่างที่ผมอยากนำเสนอและอาจจะเห็นได้ชัด ของประเทศสหรัฐอเมริกา กฎหมายว่าด้วยมลพิษจากน้ำมัน Oil Pollution Act มีบทลงโทษ ทางแพ่ง โดยมีค่าปรับสูงถึง ๒๕,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน หรือ ๑,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐต่อ บาร์เรล ยิ่งไปกว่านั้นหากการรั่วไหลเกิดจากการประมาทเลินเล่อหรือมีเจตนา จะมีค่าปรับ สูงถึง ๓๒,๕๐๐ ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน หรือ ๔,๓๐๐ ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เหตุการณ์ ตัวอย่างในปี ๒๕๕๓ แท่นขุดเจาะน้ำมัน Deepwater Horizon ซึ่งปฏิบัติการอยู่ใน อ่าวเม็กซิโกเกิดการระเบิดแล้วจมลงสู่ทะเล ส่งผลให้การรั่วไหลของน้ำมันเกิดขึ้นครั้งใหญ่ ที่สุดในประวัติศาสตร์ ในปีเดียวกันหน่วยงานของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ยื่นฟ้องบริษัท ดังกล่าวต่อศาลแขวงของรัฐลุยเซียนา แล้วก็บริษัทเขามีโทษที่ต้องชดใช้ทั้งทางอาญา แล้วก็ ทางแพ่งสูงถึง ๒๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ นี่เป็นตัวอย่างของการมีบทลงโทษทางกฎหมาย ที่เข้มงวดและสามารถบังคับใช้ได้จริง พอเรามาดูกฎหมายในประเทศไทย ของเราไม่ได้มี การกำหนดบทลงโทษให้ชัดเจนมากนัก เช่น พ.ร.บ. ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทาง ทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๑๗ ได้วางหลักการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุน้ำมันรั่วลงทะเล และมีบทกำหนดโทษในมาตรา ๒๗ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับกฎหมายควบคุมมลพิษทางน้ำ ของประเทศญี่ปุ่น และใน พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้บัญญัติความรับผิดชอบทางแพ่งไว้ในหมวด ๖ มาตรา ๙๖ วรรคสอง วางหลักไว้ว่าค่าสินไหมทดแทนหรือค่าใช้จ่าย ซึ่งเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิด มลพิษมีหน้าที่ต้องรับผิด ความหมายรวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ราชการต้องรับภาระจ่ายจริง ในการขจัดมลพิษที่เกิดขึ้น นอกจากนั้นในมาตรา ๙๗ ก็วางหลักการไว้ว่าผู้ใดกระทำหรือ ละเว้นการกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการทำลายทรัพยากร ซึ่งเป็นของรัฐมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าทรัพยากรที่ถูกทำลายไป หรือเสียหาย ถึงแม้จะมีการกำหนดบทลงโทษทางแพ่งไว้แต่ก็ไม่ชัดเจน ต่างจากของประเทศ สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้กำหนดค่าปรับเป็นจำนวนเงินที่สูงไว้อย่างชัดเจน ถึงเวลาแล้วหรือยัง ครับท่านประธานที่เราจะมานั่งพิจารณาปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของ ประเทศไทยกันให้มีบทลงโทษชัดเจนมากขึ้น เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมที่เป็นทรัพยากรของ ประเทศที่มีค่ามหาศาล ทะเลเมืองไทยเป็นทะเลที่สวยงามเป็น Dream Destination ของต่างชาติ คนต่างชาติบางคนเขาทำงานกันเกือบทั้งชีวิตเพื่อที่จะได้มาเที่ยวเมืองไทย และเป็นสิ่งที่สร้างรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมหาศาล ผมจึงเห็นว่าการแก้ไขปัญหาน้ำมัน รั่วไหลลงสู่ทะเลที่เกิดขึ้นควรมีการวางแนวทางแล้วก็จะมีมาตรการที่ชัดเจน มีการเตรียม ความพร้อมด้านบุคลากรและอุปกรณ์ในการกำจัดคราบน้ำมัน รวมทั้งการหามาตรการในการ บรรเทาปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศทางทะเล แล้วก็ประชาชน อย่างครอบคลุมและรอบด้าน เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ที่เป็นตัวอย่างที่ผมได้เกริ่นขึ้นมาข้างต้นนี้ จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ดังนั้นท่านประธานครับ ผมจึงขอเสนอญัตติดังกล่าวมาตามข้อบังคับการประชุมสภา ผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๔๕ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาดำเนินการศึกษาจัดทำ มาตรการป้องกันแก้ไขฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมระบบนิเวศทางทะเล กรณีน้ำมันรั่วไหลทางทะเล และส่งผลให้รัฐบาลดำเนินการต่อไป ท่านประธานขอบคุณครับ