เรียนท่านประธาน กระผม กฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ คนปากน้ำโพ พรรคก้าวไกล ขอเชิญฝ่ายโสตนะครับ ผมลำดับ ๑๑ กลุ่มอดีต ๘ พรรค MOU ขอ Slide ด้วยนะครับ
มีทั้งหมด ๖ เรื่อง เรียนผ่าน ท่านประธานไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนะครับ ขอ Slide ที่ ๓
เรื่องแรกเป็นเรื่องขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมตรวจสอบการขออนุญาต ประทานบัตรเหมืองแร่ของบริษัท ศิลาพระนอน จำกัด ที่ได้รับคำขอไว้อันดับที่ ๕/๒๕๖๔ โดยมีเนื้อที่ ๒๐๖ ไร่ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๑๐ ตำบลพระนอน และหมู่ที่ ๕ ตำบลเขากะลา อำเภอเมือง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ โดยมีประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ จากโครงการเหมืองแร่ชนิดหินปูนนี้ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และความเป็นอยู่ ของประชาชนนะครับ
ลำดับถัดไปครับ เป็นเรื่องของกรณีข้อพิพาทกับเรือนจำกลางนครสวรรค์ กับพี่น้องประชาชนนะครับ หมู่ที่ ๘ หมู่ที่ ๙ หมู่ที่ ๑๐ ตำบลนครสวรรค์ตก อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ นำโดยนายแสวง แอบเพชร เป็นที่ดินราชพัสดุที่ทับซ้อนกับที่ดินทำกิน มีการร้องเรียน เรียกร้องมา ต่อสู้ของพี่น้องประชาชนกว่า ๓๐ ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีการตั้ง คณะทำงานร่วมนะครับ คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำสั่งของจังหวัดนะครับ การประชุมครั้งล่าสุดมีมติให้มีการรังวัดเพื่อพิสูจน์สิทธิ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
เรื่องถัดมาครับ เป็นเรื่องที่ขอให้แขวงการทางจังหวัดนครสวรรค์นะครับ กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทบทวนราคาประเมินเพื่อชดเชย เงินค่าเวนคืนที่ดิน จากการที่กรมทางหลวงขยายเส้นทางหมายเลข ๑๒๒ สายเลี่ยงเมือง นครสวรรค์ด้านตะวันออก โดยประชาชนหมู่ที่ ๑๑ ตำบลเกรียงไกร ได้รับผลกระทบจาก ราคาประเมินที่ต่ำเกินจริง ไม่สามารถซื้อที่ดิน ที่ทำกินที่อยู่ใหม่ได้นะครับ ขอให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องนี้ด้วยครับ
เรื่องที่ ๔ เป็นเรื่องขอให้รื้อถอนหอส่งน้ำประปาเก่านะครับ หมู่ที่ ๗ ตำบลนครสวรรค์ออก อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นหอประปาที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว มีสภาพที่ไม่มั่นคงโยกคลอน ทั้งยังอยู่ในแหล่งชุมชนอาจเกิดภยันตรายได้ ขอให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องทำการรื้อถอนโดยเร่งด่วนครับ
เรื่องที่ ๕ ปัญหาน้ำประปาที่ขุ่นข้นในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อประชาชน ระบบท่อส่งที่ชำรุด ผมได้ลงพื้นที่ในหลายพื้นที่ในจังหวัดนครสวรรค์อาทิ ตำบลนครสวรรค์ตก ตำบลนครสวรรค์ออก ตำบลตะเคียนเลื่อน ตำบลกลางแดด ตำบลเกรียงไกร ตำบลแควใหญ่ ตำบลบางม่วง และตำบลบ้านมะเกลือ รวมถึงตำบลบางพระหลวงนะครับ หน่วยงานท้องถิ่นขาด งบประมาณสนับสนุนในการทำโรงผลิตประปาที่ดีครับ บางแห่งมีงบประมาณแต่ว่าไม่สามารถทำ อาคารได้ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องที่ดินที่ทับซ้อนกับหน่วยงานรัฐครับ ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภา ผม กฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ เขตเลือกตั้งที่ ๑ พรรคก้าวไกล คนปากน้ำโพ วันนี้ผมขอมีส่วนร่วมในการพิจารณารับทราบรายงานของ ผู้สอบบัญชีและรายงานทางการเงินกองทุนจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ เพื่อสรุปให้เราเข้าใจอย่างเรียบง่าย การจัดรูปที่ดินคืออะไร ทำไมต้องจัดรูปที่ดิน สรุปง่าย ๆ เพราะว่ากฎหมายเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินอาคารในปัจจุบันมีการกำหนด หลักเกณฑ์เกี่ยวกับขนาดของที่ดิน ความกว้างหน้าติดถนนก็เลยติดปัญหาขึ้น เพราะที่ดิน จำนวนมากเป็นที่ดินตาบอด เป็นที่ดินที่รูปทรงบิดเบี้ยวไม่เป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมจัตุรัส สี่เหลี่ยมผืนผ้า จึงจำเป็นจะต้องจัดรูปที่ดินใหม่ให้เหมาะสมต่อการพัฒนา ก็คือเอาที่ดิน ทั้งหมดมารวมกันแล้วแบ่งแปลงใหม่ ตัดถนนที่ให้ทุกแปลงมีทางเข้าออกและแบ่งแปลงใหม่ จัดที่ดินทุกแปลง โดยขนาดที่ดินจากการจัดรูปแล้วอาจจะเล็กลงกว่าเดิม มูลค่าไม่ต้องลดลง หลักการนี้พื้นฐาน พ.ร.บ. จัดรูปที่ดินเพื่อการพัฒนา พุทธศักราช ๒๕๔๗ คือให้สมาคม หน่วยงานของรัฐไปดำเนินการจัดรูปที่ดินภายใต้ความยินยอมของเจ้าของที่ดินอย่างน้อย ๒ ใน ๓ โดยกองทุนนี้จะจัดสนับสนุนเงินบางส่วนในการจัดรูปที่ดิน ประโยชน์สูงสุดของ โครงการนี้ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการจัดรูปที่ดินก็คือ
๑. เพื่อให้เมืองชุมชนมีความเป็นระเบียบสวยงาม
๒. เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน
๓. การใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ
๔. ที่ดินมีมูลค่าสูงขึ้น
เราคงรับทราบนะครับว่าในอดีตจะมีการจัดการที่ดินเวนคืน จัดรูปที่ดิน ๒ แบบเพื่อให้เข้าใจก็คือเรื่องของการเวนคืนที่ดินกับการจัดรูปที่ดิน อย่างที่ได้บอกไปแล้ว ก็คือการจัดรูปที่ดินเพื่อให้มีการเข้าถึงทุกแปลงของการเวนคืนที่ดิน คือที่ดินบางแปลงยังเป็นที่ดินตาบอดแม้จะติดถนนนะครับ เกิดทางแยกที่อันตรายในขณะที่ จัดรูปที่ดินไม่เกิดเรื่องนั้น แล้วก็ถนนนี้มีมาตรฐานไม่คดเคี้ยว และมีที่ดินส่วนกลางที่จัดเป็น ที่สาธารณะและพักผ่อน
อันนี้ขอสรุปสาระสำคัญของกองทุนนี้นะครับ กองทุนนี้ได้รับเงินอุดหนุน ปีละประมาณ ๔๐ ล้านบาท รายได้อื่นส่วนใหญ่เป็นดอกเบี้ยธนาคารและเงินกู้ ค่าใช้จ่าย บุคลากรตกปีละประมาณ ๒ ล้านบาท ที่เหลือเกือบทั้งหมดจะเป็นค่าใช้จ่ายในการอุดหนุน จากหน่วยงานรัฐก็คือการจัดรูปที่ดิน แต่ค่าใช้จ่ายในการอุดหนุนหน่วยงานจากภาครัฐ ทั้งหมดในปี ๒๕๖๔ ประมาณ ๓๙ ล้านบาทนั้นเป็นการอุดหนุนจัดรูปที่ดินเพียงจังหวัดตรัง จังหวัดเดียว ค่าใช้จ่ายในการอุดหนุนจัดรูปที่ดินทั้งหมด ๓๙ ล้านบาทที่จังหวัดตรัง แต่ท้ายที่สุดจัดรูปที่ดินไม่สำเร็จ และมีมติให้คืนเงินเมื่อสิงหาคม ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา จากข่าว วันที่ ๑๐ สิงหาคม ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการจัดรูปที่ดิน เพื่อการพัฒนาจังหวัดตรัง ครั้งที่ ๒ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๖ แล้วก็ในการประชุมนั้น มีการพิจารณาให้ทบทวนโครงการจัดรูปที่ดิน แล้วก็มีมติให้คืนเงินอุดหนุนดังกล่าว ของกองทุนจัดรูปที่ดินเพื่อการพัฒนา จำนวน ๓๙.๙ ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย เนื่องด้วย เหตุสุดวิสัย สรุปแล้วกองทุนนี้ไม่ได้มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันเลยในปี ๒๕๖๔ และเงินก้อนนี้ ถูกดึงไปดองไว้ถึง ๒ ปีแบบไม่สัมฤทธิผล นอกเหนือจากการได้ดอกเบี้ยเงินฝากคืนมา
ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งนะครับ หลังจากจังหวัดตรังจัดรูปที่ดินโครงการนี้ ไม่สำเร็จก็เสนอขอเปลี่ยนสถานที่ในการจัดรูปที่ดินใหม่ไปเป็นที่อื่น คำถามก็คือกองทุนนี้ ยังจะอุดหนุนไปให้อีกหรือไม่ ถ้าจะให้ก็ขอถามว่าทำไมถึงจะต้องให้ แน่ใจหรือว่าคราวนี้ จะไม่ล้มเหลวอีก ไม่มีพื้นที่อื่นแล้วหรือที่ของบประมาณเรื่องนี้มา
๒. คือหาผลงานไม่เจอเลยว่าจัดรูปที่ดินที่ไหนสำเร็จแล้วบ้าง เคยเห็น เหมือนกันนะครับ ผมไปไล่ดู แต่โดยเฉลี่ยที่ท่านเล่าให้ฟัง ๑๐ กว่าปีมานี้สำเร็จเพียง ไม่กี่โครงการ เฉลี่ยปีละ ๑-๒ โครงการเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์มาก เหมาะสมมากกว่าเวนคืนที่ดินอย่างมาก ในพื้นที่จัดรูปที่ดินสำเร็จแล้วมีปัญหาในการออก โฉนดที่ล่าช้า อยากถามท่านว่ายังมีปัญหานี้อีกหรือไม่ เพราะว่ายังมีโครงการจัดรูปที่ดิน ที่ยังไม่แล้วเสร็จนะครับ
ข้อสังเกตสุดท้ายครับ ระยะเวลาที่เนิ่นช้า ผมไปดูข้อมูลมากว่าจะจัดรูปที่ดิน สำเร็จ กว่าจะเสร็จเกือบ ๔ ปี ก็คือ ๑. ขั้นตอนการเตรียมโครงการ ๑ ปี ขั้นตอนอนุมัติ โครงการ ๖ เดือน โครงการดำเนินการ ๒ ปีแล้ว สิ้นสุดโครงการ ๖ เดือน ก็คือในเรื่องของ การออกโฉนดต่าง ๆ
ข้อสังเกต ๒ ข้อนี้สอบถามไปยังผู้ที่มาชี้แจงว่าโครงการที่มีปัญหาและ ความเนิ่นช้าของโครงการ รวมถึงการจะทำอย่างไรจะให้โครงการจัดรูปที่ดินนี้มีประสิทธิภาพ เพิ่มขึ้น มีในทุกจังหวัดเหมือนดังที่ได้ชี้แจงมา ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธาน กระผม กฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ เขตเลือกตั้งที่ ๑ คนปากน้ำโพ พรรคก้าวไกล ผมขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอภิปรายเพื่อสนับสนุนให้ สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาแนวทางการปรับปรุงแก้ไข กฎหมายและนโยบายที่ห้ามหรือเป็นอุปสรรคต่อการออกเอกสารสิทธิที่ดิน ที่อยู่อาศัย บนพื้นที่สูงและเกาะ และญัตติที่ดินของเพื่อนสมาชิกได้นำเสนอนะครับ
ปัจจุบันความเหลื่อมล้ำ การครอบครองที่ดิน โดย ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของที่ดินทั้งหมดกระจุกตัวอยู่ที่คนรวยที่สุด ๕ เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ ๗๕ เปอร์เซ็นต์ของคนไทยไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง ปัญหา การออกกรรมสิทธิ์ที่ดินในปัจจุบัน จากเอกสารประกอบการพิจารณานี้ในปี ๒๕๖๔ ประเทศไทยมีพื้นที่ถือครองที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ๑๔๙ ล้านไร่ ประชาชนที่มีที่ดิน เป็นของตัวเองประมาณ ๔๘ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๗๒ ล้านไร่ และกว่า ๗๗ ล้านไร่เป็นที่ดิน ที่ต้องเช่าผู้อื่น ในส่วนปัญหาการไร้ที่ดินทำกิน มีผู้ไร้ที่ดินทำกินขึ้นทะเบียน ส.ป.ก. กว่า ๘๒๓,๐๐๐ ราย
ผมขอสื่อสารปัญหานี้โดยยกตัวอย่างปัญหาในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ เป็นปัญหาเรื่องแรก เป็นกรณีพิพาท เป็นที่ดินจากพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดิน ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมือง อำเภอพยุหะคีรี อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ พื้นที่ กว่า ๒๐๐,๐๐๐ ไร่ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๗๙ นั่นคือเป็นกฎหมายที่ประกาศยึดที่ดิน ของประชาชนก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ อีก กว่า ๘๗ ปีล่วงมาแล้ว และจากข้อมูล พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ก็มีอยู่ในหลายพื้นที่ที่มีการใช้ที่ดินโดยกองทัพ ยกตัวอย่าง อันนี้เป็น ประกาศพระราชกฤษฎีกา อันนี้เป็นแผนที่ที่พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ผมได้ซ้อนทับกับแผนที่ ของกรมที่ดินในปัจจุบัน สังเกตเส้นสีแดงเล็ก ๆ เป็นการออกเอกสารสิทธิได้ พื้นที่ตอนบนสุด ก็คือตั้งแต่สะพานเดชาติวงศ์ลงมาจนถึงด้านล่างสุด บริเวณอำเภอพยุหะคีรี อันนี้เป็น Timeline ของปัญหาที่เกิดขึ้นจากพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ยกตัวอย่าง ใน ๑๐ ปีมานี้มีกรณี ที่ทหารมีการซ้อมยิงปืนใหญ่ และกระสุนตกไปทับรถของประชาชนเสียหายในปี ๒๕๕๖ แต่เคราะห์ดีไม่มีใครได้รับอันตราย และอีกกรณีหนึ่งในปี ๒๕๖๔ มีการชุมนุมประท้วง ของประชาชนตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ที่ทหารเตรียมออกหนังสือ น.ส.ล. หรือหนังสือสำคัญที่หลวงกว่า ๓,๐๐๐ ไร่ นำไปใช้ เพื่อเป็นสนามซ้อมยิงปืนใหญ่ ซึ่งทับที่ดินทำกินของประชาชนจนต้องร้องเรียนไปเกือบ ทุกหน่วยงาน แล้วก็มาร้องเรียนกับคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ในสมัยประชุมที่ผ่านมาของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว ปัจจุบันโครงการ ดังกล่าวเหมือนจะถูกชะลอไป แต่ประชาชนในพื้นที่ก็ยังไม่ไว้วางใจ อันนี้เป็นภาพกรณี เหตุการณ์ในปี ๒๕๕๖ ที่กระสุนตกบนรถของประชาชน กรณีถัดไป อันนี้เป็นภาพของแผนที่ หลังมหาวิทยาลัยมหิดลที่จะออกหนังสือเอกสารสิทธินี้
ข้อ ๒ เป็นกรณีที่ดินเรือนจำกลางของจังหวัดนครสวรรค์กับประชาชนกลุ่ม นายแสวง แอบเพชร มีข้อพิพาทกว่า ๓๐ ปี แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะขาดการมีส่วนร่วมของ ประชาชนและความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหา ทั้ง ๒ กรณีนี้ผมจึงขอเสนอแนวทางแก้ไข ปัญหา ขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณายกเลิกพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ปี ๒๔๗๙ ที่ครองพื้นที่ กว่า ๒๐๐,๐๐๐ ไร่ ในจังหวัดนครสวรรค์ แม้ปัจจุบันการถือครองโดยกรมธนารักษ์ แต่กองทัพก็ยังอ้างสิทธิครอบครองที่ดินจากพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้อยู่ ซึ่งทำให้การพิสูจน์สิทธิ เป็นไปด้วยความล่าช้าและยากลำบาก และหากมีการพิสูจน์สิทธิแล้ว พื้นที่ของประชาชน อาจจะไม่มีหลักฐานเพียงพอในการออกเอกสารสิทธิ รัฐโดยกรมธนารักษ์ควรให้ผู้ที่มี ข้อพิพาทหรือพิสูจน์สิทธิที่ดินอยู่เดิมได้สิทธิในการเช่า ใช้พื้นที่ในราคาที่เป็นธรรม จะทำให้ ประชาชนมีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง และมีการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ และการเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญคือให้รัฐเพิ่มงบประมาณบุคลากร โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ สำรวจ ผมไปคุยกับกรมธนารักษ์ที่จังหวัดนครสวรรค์มา มีการฝากเรื่องนี้มา เพราะว่าคนที่ ทำหน้าที่ในการสำรวจออกเอกสารสิทธิมีน้อยเหลือเกิน เพื่อทำให้มีการพิสูจน์สิทธิที่ดิน ทำกินที่ค้างอยู่ในระบบเป็นจำนวนมาก
ข้อ ๓ ก็คือให้มีการเพิ่มการประชุมหน่วยงานอย่าง คพร. คพร. คือ คณะอนุกรรมการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐของจังหวัดนครสวรรค์ นั่งโดยผู้ว่าราชการจังหวัด ของทุกจังหวัด ให้ถี่ขึ้นและมากขึ้นกว่าเดือนละครั้งอย่างที่เป็นอยู่ ซึ่งจะทำให้คิวในการออก เอกสารสิทธิที่ดินทำกินของประชาชนเพิ่มขึ้น
ข้อเสนอสุดท้าย เป็นข้อเสนอที่จะแก้ปัญหาที่ดินทั้งระบบ ทั้ง ๓ ข้อ ๑. คือพัฒนาระบบภาษีที่ดินรวมแปลง คือรวมมูลค่าที่ดินทั้งหมดแต่ละบุคคล และนิติบุคคล ที่ถืออยู่แล้วจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า ๒. คือปรับปรุงประสิทธิภาพในการจัดเก็บ ภาษีที่ดินรายแปลงแบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันเพื่อป้องกันการหลบเลี่ยง ๓. คือลดหย่อน หรือส่วนลดภาษีที่ดิน หรือ Negative Land Tax สำหรับพื้นที่ที่ถูกใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ เช่น พื้นที่สีเขียว พื้นที่อนุรักษ์ระบบนิเวศ ตามระยะเวลาที่ตกลงกัน อาจจะ ๓-๑๐ ปี
ท้ายนี้ผมขอสนับสนุนให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและนโยบายที่ห้าม หรือเป็นอุปสรรค ต่อการออกเอกสารสิทธิในที่ดินที่อยู่อาศัยบนพื้นที่สูงและเกาะ และญัตติของเพื่อนสมาชิก ขอบพระคุณครับ
เรียนท่านประธาน กระผม กฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ เขตเลือกตั้งที่ ๑ คนปากน้ำโพ พรรคก้าวไกล ขอหารือท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๔ เรื่อง ในวันนี้ ๒ เรื่อง ขอ Slide ด้วยนะครับ
๒ เรื่องแรกเป็นเรื่องที่เคย หารือไว้ในครั้งที่ผ่านมา หน้า ๔ นะครับ
เรื่องแรก เป็นเรื่องที่ติดตามเรื่องที่เคยหารือไว้ ผลกระทบเหมืองแร่หินของ ศิลาพระนอน Slide ถัดไปครับ วันที่ ๒๕ ที่ผ่านมา ประชาชนกว่า ๕๐๐ คน ร่วมยื่นหนังสือ ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เนื่องจากจะมีการจัดรับฟัง ความคิดเห็นประชาชน หรือ EIA ในค่ายทหาร ท่านฟังไม่ผิดนะครับในค่ายทหาร ขอ Slide ถัดไปครับ ผมมีตัวเลขที่น่าสนใจ ๒ ตัวเลข ตัวเลขแรก ๒๖ กิโลเมตรนะครับ ในค่ายทหารคือระยะทางและสถานที่ที่ผู้จัดทำ EIA รายนี้จะจัดเวทีรับฟังประชาชน ซึ่งไกลมากนะครับ ปกติก็ไม่ควรไกลขนาดนั้น Slide ถัดไปครับ อีกตัวเลขหนึ่งนะครับ ก็คือ ๑๕,๐๐๐ บาท จัดตั้ง ๓๐๐ คน ผมไม่แน่ใจตัวเลขนี้เป็นตัวเลขนี้เป็นตัวเลขของ การซื้อเสียงเพื่อทำประชามติให้สำเร็จหรือไม่ แต่ว่าหากทำจริงฝากท่านประธานแล้วก็ ประชาชนช่วยดูในเรื่องนี้นะครับ
เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องที่ติดตามหารือเช่นกัน เป็นเรื่องของปัญหาน้ำประปา ที่ขุ่นข้นในจังหวัดนครสวรรค์ ข้อเสนอเพิ่มเติมก็คือให้ท้องถิ่นมีการจัดฝึกอบรม คนที่ปฏิบัติหน้าที่และมีเครื่องตรวจ PH ค่าความขุ่นต่าง ๆ
เรื่องที่ ๓ เป็นเรื่องของประชาชนร้องเรียน เรื่องมลพิษทางอากาศนานนับปี จากกลุ่มอุตสาหกรรมตำบลหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเดือดร้อนอย่างมาก สังเกตจากภาพฝุ่นแล้วก็การเจ็บป่วยของพี่น้องประชาชน
เรื่องสุดท้าย เป็นเรื่องของประชาชนร้องเรียน เรื่องอันตรายของตลิ่งน้ำยม ทรุดพัง หมู่ที่ ๑๑ ตำบลท่าไม้ อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภา กระผม กฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ เขตเลือกตั้ง ที่ ๑ คนปากน้ำโพ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอเป็นส่วนหนึ่งในการอภิปรายสนับสนุนขอให้ สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาและการพัฒนา ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและลุ่มน้ำอื่น ๆ อย่างยั่งยืน
กรณีนี้เป็นกรณีของ บึงบอระเพ็ดนะครับ ท่านประธานครับ คำขวัญจังหวัดนครสวรรค์ เมืองสี่แคว แห่มังกร พักผ่อนบึงบอระเพ็ด ปลารสเด็ดปากน้ำโพ สถานที่ที่ผมกำลังจะพูดถึงก็คือบึงบอระเพ็ดอยู่ ในคำขวัญจังหวัดนครสวรรค์ ท่านประธานทราบไหมครับว่าบึงบอระเพ็ดดั้งเดิมนั้น เป็นที่ราบลุ่มปกคลุมไปด้วยป่าไม้เบญจพรรณ มีลำห้วยลำคลองไหลมารวมกันเกิดเป็น หนองน้ำ บึงขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่หลายแห่ง ก่อนจะไหลออกสู่แม่น้ำน่าน ทางคลองบึงบอระเพ็ด เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก พื้นที่บริเวณนี้จะท่วมท้นกลายเป็นบึงน้ำจืด ธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สุด ในประเทศไทย แต่ในฤดูแล้งจะเป็นคลองบึงเล็ก ๆ ที่เหือดแห้ง กระทรวงเกษตราธิการในสมัยนั้นได้สร้างคันกั้นน้ำและประตูระบายน้ำบริเวณ คลองบอระเพ็ดเพื่อทำการกักเก็บน้ำไว้เป็นแหล่งเพาะปลูก แล้วเสร็จในปี ๒๔๗๑ ก็คือ ในสมัยรัชกาลที่ ๗ จึงทำให้บึงบอระเพ็ดกลายเป็นแหล่งน้ำที่กว้างใหญ่และมีน้ำท่วมขัง ตลอดปี ซึ่งปัจจุบันบึงบอระเพ็ดมีพื้นที่กว่า ๑๓๒,๗๓๗ ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอท่าตะโก อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ในอดีตบึงบอระเพ็ดอุดมสมบูรณ์ไปด้วย พืชน้ำ รวมทั้งปลา สัตว์น้ำ นกน้ำ นานาชนิดครับ โดยเฉพาะมีจระเข้ชุกชุมอยู่มากมาย ในพื้นที่รู้จักคนทั่วไปด้วยคำว่า จอมบึงและทะเลเหนือ เป็นชื่อเรียกของบึงแห่งนี้ บึงบอระเพ็ดก็มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก เมื่อมีการค้นพบนกน้ำชนิดใหม่ ชื่อว่า นกเจ้าฟ้า สิรินธร ตอนนี้ปริมาณนกน้ำลดลงอย่างน่าวิตก จึงมีการประกาศให้พื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ ของบึงบอระเพ็ดประมาณ ๖๖,๒๕๐ ไร่ เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ข้อมูลเบื้องต้นพื้นที่บึงแห่งนี้ มีความจุ ๒๒๐ ล้านลูกบาศก์เมตร หรือปริมาณเทียบเท่า ๑ ใน ๔ ของเขื่อนป่าสัก มีนกเป็ดน้ำอพยพมาในช่วงพฤศจิกายนถึงมีนาคมของทุกปีนะครับ มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมด ๓ ฉบับ ก็คือพระราชบัญญัติที่ดินราชพัสดุ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครอง สัตว์ป่า และพระราชบัญญัติกำหนดการประมง จากภาพนี้เป็นภาพจากดาวเทียม Sentinel-2 ในวันที่ ๑๗ สิงหาคมหรือ ๒ เดือนที่ผ่านมา เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด เส้นสีเหลือง เป็นเขตบึงบอระเพ็ด พื้นที่ ๑๓๒,๗๓๗ ไร่ เส้นสีส้มคือพื้นที่ห้ามล่าสัตว์ป่า ข้อสังเกตก็คือเรา เหลือปริมาณน้ำในช่วงนั้น ๒ เดือนที่แล้วเพียง ๖.๖๒ ล้านลูกบาศก์เมตรหรือเพียง ๓ เปอร์เซ็นต์จากพื้นที่ความจุทั้งหมด ๒๒๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ภาพสถานการณ์น้ำ ในจังหวัดนครสวรรค์ภาพนี้เป็นข้อมูลของเมื่อวานนี้นะครับ เป็นภาพของจังหวัดนครสวรรค์พูดถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน Slide นี้เป็น Slide รายงานสภาพน้ำบึงบอระเพ็ด ในวันที่ ๑๑ เมื่อวานนี้นะครับ พื้นที่น้ำจุเพิ่มขึ้นเป็น ๘๙.๘๔ ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ ๔๑ เปอร์เซ็นต์ของความจุ สิ่งที่จะบอกก็คือนี่คือคุณค่า ของบึงบอระเพ็ดที่เป็นพื้นที่รับน้ำในช่วงฤดูฝน แล้วก็ในช่วงน้ำหลากซึ่งทดน้ำจากแม่น้ำน่าน ไม่ให้ท่วมบ้านเรือนประชาชนและกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อเกษตรกรรมในช่วงฤดูแล้ง ทั้งยังเป็น ที่อยู่ของสัตว์น้ำนานาชนิดด้วยแนวคิดการขุดวังปลาหรือ Deep Pool ซึ่งมีการเริ่ม ดำเนินการไปแล้ว ๑ บ่อ ใน ๔ บ่อจากแผนงาน จะเห็นได้ว่าพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด จากเป้าหมายแรกที่จะผลักดันเพียงเพื่อสงวนสัตว์น้ำ ต่อมาได้มีการสร้างคันกั้นน้ำ สามารถกักเก็บน้ำ ประชาชนกว่า ๕,๐๐๐ ครัวเรือนในพื้นที่ได้ประโยชน์โดยตรงจากการใช้ น้ำบึงบอระเพ็ดแล้วก็เป็นท่องเที่ยว อันนี้เป็นภาพแผนที่จากข้อมูลในการใช้ประโยชน์ ของบึงบอระเพ็ดในพื้นที่ต่าง ๆ ขอเสนอแนะเป็นข้อเสนอการพัฒนาพื้นที่บึงบอระเพ็ดคือ
๑. อยากให้มีการใช้เทคโนโลยีในการจัดการลอกตะกอนในบึงบอระเพ็ด แม่น้ำ คลอง บึง ทดแทน Macro โดยอยากแนะนำให้ใช้เรือดูดเลนแทน Macro ที่จะมี ปัญหาการขนย้ายและมีปัญหาในการตรวจนับจำนวนคิว จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการใช้ เทคโนโลยี
๒. อยากให้มีแผนบริหารจัดการน้ำที่มีส่วนร่วมจากภาคประชาชน
ท้ายนี้ ผมขอสนับสนุนให้สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและลุ่มน้ำอื่น ๆ อาทิ บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ขอบพระคุณครับ
เรียนท่านประธาน กระผม กฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ เขตเลือกตั้ง ที่ ๑ คนปากน้ำโพ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนญัตติขอให้ สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาความเดือดร้อน อันเกิดจากลิงนะครับ ท่านประธานครับ ภาพรวมสถิติปี ๒๕๖๑ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรามีประชากรลิงอยู่ที่ ๕๓,๐๐๐ ตัว มากที่สุดก็คือจังหวัดลพบุรี ๗,๒๐๐ ตัว จังหวัดนครสวรรค์บ้านเกิดผมมีกว่า ๗,๐๐๐ ตัว ในนครสวรรค์มีอยู่ ๓ จุด ที่มีปัญหาประชากรลิงจำนวนมากก็คือ เขาหน่อ ตำบลบ้านแดน อำเภอบรรพตพิสัย และวัดเกรียงไกรกลาง ตำบลเกรียงไกร อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ อันดับที่ ๓ ก็คือ เขาพระ ตำบลหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ วันนี้เราได้ฟังเรื่องราวเพื่อนสมาชิก หลายท่านที่พูดถึงปัญหาเรื่องลิงไปก่อความเดือดร้อนรำคาญให้ผู้คนนะครับ แต่ในกรณี นครสวรรค์ผมขอสื่อสารว่าตอนนี้มีคนไปก่อความรำคาญให้ลิงบ้างนะครับ ผมพูดไม่ผิดครับ การจับลิงในแง่นี้ก็คือมีแก๊งลักลิง ลัก ไม่ใช่ รักนะครับ มีแก๊งลักลิง จับลิงโดยการยิงยาสลบ เพื่อส่งออกเป็นสัตว์ทดลองนะครับ จากข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้โดยไทยพีบีเอสช่วงกุมภาพันธ์ ปี ๒๕๖๕ พาดหัวข่าว จับแก๊งค้าลิงวัดเขาหน่อแอบเปิดโรงเรือนเพาะสัตว์ป่า โดยพญาเสือ ขยายผลจับกุมแก๊งเป่าลูกดอกวัดเขาหน่อ จังหวัดนครสวรรค์ พบลิง ๓๐ ตัวและอุปกรณ์ เป่าลูกดอกในโรงเรือนที่เพิ่งขออนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในช่วงมกราคมที่ผ่านมา คนงานเห็นท่าไม่ดีปล่อยลิงหนีครับ พบสัตว์คุ้มครอง ๖๐ ตัว ไม่มีใบอนุญาตคุ้มครอง มีการแจ้งจับหลายข้อหา แล้วก็เพิกถอนใบอนุญาต จากข้อสังเกตนี้ ปัญหาที่พบนะครับ การใช้ยาสลบที่แก๊งลักลิงใช้ มีการนำของเหลวใส่หลอดฉีดยาที่พบใน ที่เกิดเหตุเป็น Ketamine นะครับ สัตวแพทย์ชั้นสูงถึงจะเบิกจ่ายได้ ผมเชื่อว่าหากรัฐ ตั้งใจจริงกับการแก้ปัญหานี้ ให้นำจับกลุ่มคนร้ายกลุ่มเครือข่ายเพื่อเอากลุ่มนี้มาลงโทษนะครับ
ข้อ ๒ ก็คือจากแหล่งข่าวทราบว่าลิงที่โดนจับจะถูกส่งออกผ่านเส้นทางธรรมชาติ สู่ประเทศเพื่อนบ้าน ลาวและกัมพูชา เพื่อไปล้างตัวให้สะอาดและตีว่าเป็นลิงฟาร์มและ ส่งกลับมายังไทยหรือส่งออกเพื่อเอาไปเป็นสัตว์ทดลองนะครับ
แนวทางการแก้ปัญหาจากข้อเสนอนี้ แก้ปัญหาเรื่องลิงและแก๊งลักลิง ไปพร้อม ๆ กัน ผมขอยกตัวอย่างในพื้นที่เขาหน่อ อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ จากการลงพื้นที่ของคุณนริศร์ชา ชัยสุกัญญาสันต์ อดีตผู้สมัคร สส. พรรคก้าวไกล นครสวรรค์ เขต ๔ และเป็นคณะทำงาน เป็นนักสิ่งแวดล้อม ได้พบประชาชน แล้วก็ประชาชนก็ได้ ให้ข้อเสนอนะครับว่าควรมีการจัดการควบคุมประชากรลิงไม่ให้มีมากจนเกินไป ในเรื่อง ของความเดือดร้อนรำคาญ ในพื้นที่เราพบว่าลิงไม่ได้ก่อความเดือดร้อนรำคาญ มิหนำซ้ำ ในพื้นที่ที่เขาหน่อลิงกลายเป็นพาคนมาท่องเที่ยว เป็นจุดท่องเที่ยวที่สำคัญนะครับ
ข้อเสนอที่ ๒ ก็คืออยากจะขอให้เจ้าหน้าที่รัฐ โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และประชาชนทำงานร่วมกันในรูปแบบของคณะกรรมการ PAC หรือ Protect Area Committee เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมซึ่งกันและกัน
ข้อเสนอที่ ๓ ก็คือขอให้เจ้าหน้าที่รัฐจริงจังกับการแก้ปัญหา แก๊งลักลิง หาผู้กระทำความผิด ขยายผลอย่างตั้งใจจริงอย่าทำเป็นไฟไหม้ฟางเหมือนปัจจุบันนะครับ และท้ายนี้ผมขอสนับสนุนให้สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเกี่ยวกับ การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอันเกิดจากลิงครับ ขอบพระคุณครับ
เรียนท่านประธานสภา กระผม กฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ เขตเลือกตั้ง ที่ ๑ คนปากน้ำโพ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอภิปรายเพื่อสนับสนุน ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาการขาดแคลน น้ำบาดาล และปัญหาน้ำบาดาลคุณภาพต่ำ ผมขอยกตัวอย่างกรณีปัญหาน้ำขุ่นข้น ประปา ขุ่นข้นในจังหวัดนครสวรรค์ ท่านประธานทราบไหมครับ จังหวัดนครสวรรค์แม้จะเป็น แหล่งรวมของต้นน้ำสำคัญ แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน รวมเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ปัญหา เรื่องการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทั้ง ๆ ที่เราอยู่ในยุค ศตวรรษที่ ๒๑ ยุคแห่งเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร ยุคแห่ง AI ปัญญาประดิษฐ์ แต่ปัญหา แค่น้ำประปาขุ่นข้น ไม่เพียงพอต่อการอุปโภค ยังแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนเราไม่ได้ ผมขอยกตัวอย่างกรณีพื้นที่ที่ผมรับผิดชอบในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ มีตำบล ๑๒ ตำบล ๙ ใน ๑๒ ตำบลนั้นมีปัญหาน้ำประปาที่ขุ่นข้น ได้แก่ ตำบลนครสวรรค์ตก ตำบลนครสวรรค์ออก ตำบลตะเคียนเลื่อน ตำบลกลางแดด ตำบลแควใหญ่ ตำบลบางม่วง ตำบลบ้านมะเกลือ และตำบลบางพระหลวง จากการลงพื้นที่พบกับประชาชนผู้นำท้องถิ่น ลงดูหน้างานในพื้นที่จริงในฐานผลิตประปาในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แล้วผมก็มีโอกาส นำปัญหาประปาขุ่นข้นมาหารือในสภาแห่งนี้ถึง ๒ ครั้ง ครั้งแรก ในวันที่ ๓ สิงหาคมที่ผ่านมา และวันที่ ๒๘ กันยายนที่ผ่านมา ท่านประธานครับ วันนี้ผมขอยกตัวอย่างปัญหาน้ำประปา ขุ่นข้นในพื้นที่ตำบลนครสวรรค์ตกเพื่อให้เห็นถึงปัญหา และการเชื่อมโยงรูปแบบโรงผลิต ประปาควรจะมีกี่โรง ขนาดเท่าไร ว่าเราควรจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร จากข้อมูล เป็นข้อมูลทางเทคนิค ข้อมูลนี้ผมเรียกว่าคู่มือเลือกรูปแบบผลิตประปาของกรมทรัพยากรน้ำ มีการแบ่งรูปแบบการผลิตน้ำประปาเป็น ๒ รูปแบบ ก็คือ แบบบาดาล แล้วก็แบบน้ำผิวดิน แบบบาดาลแบ่งเป็นทั้งหมวด ๔ ประเภท เริ่มจากขนาด ๒.๕ ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ไปถึง๒๐ ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง แบบผิวดินเริ่มจากขนาดกลาง ๕ ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ไปจนถึงประปาขนาดใหญ่พิเศษ ๕๐ ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ยกตัวอย่างจากแผนที่นี้ เป็นพื้นที่ อบต. นครสวรรค์ตก ก็คือในพื้นที่เมืองติดกับเขตเทศบาล ก็จะชวนพี่น้อง ประชาชนในพื้นที่ รวมถึงผู้นำท้องถิ่น อาจจะอยากรู้ว่าพื้นที่ตัวเองมีน้ำประปา โรงผลิต เพียงพอหรือไม่ ลองใช้ข้อมูลง่าย ๆ นำจำนวนครัวเรือน อย่างเช่น ตัวอย่าง อบต. นครสวรรค์ตก ๘,๔๑๘ ครัวเรือน ลองหาร ๑,๓๐๐ ดู แล้วเอา ประปาแบบ Jumbo ที่นี่ควรต้องมีประปาผิวดินขนาดพิเศษ ใหญ่พิเศษ ๗ แห่ง แต่ว่า ในพื้นที่นี้มีเพียง ๒ แห่ง จึงทำให้เกิดปัญหาเรื่องน้ำประปาขุ่นข้น น้ำประปาที่ไม่เพียงพอ ท่านประธานครับ จำนวนอีก ๕ แห่ง การผลิตแบบนี้ต้องใช้งบประมาณขั้นต่ำ ๔.๒ ล้านบาท ต่อหน่วยผลิต ฉะนั้นต้องใช้เงินประมาณ ๒๑ ล้านบาท แต่ท่านประธานครับ เป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่า อบต. เล็ก ๆ แห่งนี้มีงบประมาณเพียง ๕ ล้านบาทต่อปี การที่ผู้นำท้องถิ่นจะทำ ประปาจากขุ่นข้นให้สะอาดขึ้นให้บริโภคได้ ก็คงทำไปได้ยาก ก็เพียงแต่ต้องร้องขอหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ของบประมาณที่เกี่ยวข้อง เพราะงบประมาณไม่เพียงพอ ผมจึงขอเสนอแนวทาง แก้ไขปัญหาให้ท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงาน ดังนี้
เรื่องที่ ๑ ก็คือปัญหาคุณภาพประปา ๘๐ เปอร์เซ็นต์เป็นปัญหาจากการขาด ความรู้ความเอาใจใส่ของเจ้าหน้าที่ฐานผลิตประปาเอง
เรื่องที่ ๒ ผู้นำท้องถิ่นต้องลงมือ มาลงแก้ปัญหาอย่างจริงจังกับองค์กร ของท่าน ท้องถิ่นควรจะมีอุปกรณ์เพื่อตรวจวัดคุณภาพน้ำประปา ตรวจวัดค่า pH และควร ตรวจทุกวันด้วย ให้ประชาชนเข้าถึงได้ผ่านระบบ Online ให้หน่วยงาน อาทิ หน่วยงาน กรมทรัพยากรน้ำเข้ามาตรวจสอบเป็นระยะ จัดให้มีการอบรมเจ้าหน้าที่หน่วยประปาผลิต อย่างสม่ำเสมอ
เรื่องที่ ๓ ให้ออกกฎหมาย พ.ร.บ. ประปาดื่มได้ ซึ่งพรรคก้าวไกลเตรียม นำเสนอ พ.ร.บ. นี้ในสมัยประชุมนี้ เพื่อควบคุมคุณภาพน้ำประปา ปรับปรุงระบบท่อ ส่งประปาทั่วประเทศ อุดหนุนงบประมาณ ประมาณ ๗,๕๐๐ ล้านบาทต่อปี แผนระยะยาว ๘ ปี วางเป้าหมายให้ประชาชนสามารถดื่มน้ำสะอาดจากก๊อกได้ภายใน ๑๐ ปีนี้ เพื่อลด ค่าครองชีพของพี่น้องประชาชนแทนการซื้อน้ำดื่มน้ำใช้ ขอบพระคุณครับ
เรียนท่านประธานสภา กระผม กฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี สมาชิกผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ เขตเลือกตั้งที่ ๑ คนปากน้ำโพ พรรคก้าวไกล วันนี้ขอหารือท่านประธานสภาผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๔ เรื่อง ดังนี้
เรื่องแรก เป็นกรณีมลพิษ ทางอากาศจากฟาร์มสุกรทั้ง ๒ แห่ง ในจังหวัดนครสวรรค์ ก็คือตำบลเนินศาลา อำเภอโกรกพระ และตำบลบ้านไร่ อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ กรณีฟาร์มสุกรแห่งนี้ ผมทราบข่าวจากสื่อ ในท้องถิ่น ทราบว่ามีการร้องเรียนผ่านทางหน่วยงานจังหวัดศูนย์ดำรงธรรม แต่หลายเดือนผ่าน ทำได้เพียงส่งหนังสือไปมาระหว่างหน่วยงาน หาได้ลงพื้นที่ทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับ ประชาชนครับ เรื่องนี้ผมเข้าใจถึงความยากลำบากของผู้ประกอบการ แต่ไม่ได้ทำให้ท่าน ปล่อยปละละเลยให้พี่น้องเพื่อนบ้านของท่านต้องระทมทุกข์อยู่กับกลิ่นเน่าเหม็นทุกเช้าค่ำ แบบนี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งลงมือแก้ไขนะครับ
เรื่องที่ ๒ เป็นอุบัติเหตุรอยต่อจากสะพานเดชาติวงศ์ครับ เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ที่ผ่านมามีผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์เสียชีวิต ๑ ราย ญาติขอให้รัฐเร่งตรวจสอบ ถึงอุบัติเหตุครั้งนี้ และขอให้ชดเชยครอบครัวผู้เสียชีวิตบนสะพานเดชาติวงศ์สังเกต จากภาพจะมีรอยต่อขนาดกว้างกว่า ๑๐ เซนติเมตร อันนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งก็ได้ครับ ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ ผมขอฝากทางแขวงการทางลงพื้นที่ตรวจสอบและแก้ไขปัญหา ทางวิศวกรรม แล้วก็ดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิตให้ความเป็นธรรมกับเขาด้วยนะครับ กรณีสะพานเดชาติวงศ์เคยมีการคิดสั้นฆ่าตัวตาย ผมขอให้ทางจังหวัดนครสวรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือทางเทศบาลเร่งติดตั้งกล้องวงจรปิด อย่างน้อยอาจจะช่วยยับยั้ง การจบชีวิตจากการกระโดดน้ำ ซึ่งกู้ภัยอาจจะช่วยได้ทันนะครับ
เรื่องที่ ๓ คือประตูระบายน้ำคลองบางกระแหที่ชำรุดพัง ตำบลเกรียงไกร ประตูระบายน้ำแห่งนี้ทดน้ำจากแม่น้ำน่านสู่บึงบอระเพ็ด อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งลงพื้นที่ตรวจสอบครับ
เรื่องที่ ๔ เป็นปัญหาห้าแยกป้อม ๑ แยกนี้เป็นแยกวุ่นวายในเทศบาล นครสวรรค์ ปัญหาการจราจรในเมืองของเราติดไม่แพ้พื้นที่ใดในเมืองไทย ปัญหาอาจจะไม่มี การขนส่งมวลชนสาธารณะที่ดี แต่ควรจะมีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ว่าจะเป็น การจัดระบบการจราจร หรือศึกษาการเวนคืนที่ดินทำวงเวียนเพื่อเพิ่มทางลอดใต้สะพาน แล้วก็ทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับภาคประชาชน ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภา กระผม กฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ เขตเลือกตั้งที่ ๑ คนปากน้ำโพ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายสนับสนุนญัตติ เรื่อง ขอให้ สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่อง การบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท่านประธานครับ ปัญหาของ การจัดการขยะในประเทศไทยที่สำคัญคือ ปัญหาการจัดการขยะที่ไม่ถูกวิธี ซึ่งมีสาเหตุหนึ่ง มาจากการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีหน้าที่ในการจัดการขยะในท้องถิ่นของตนเอง กลับไม่มีอำนาจในงบประมาณเพียงพอที่จะกำจัดขยะอย่างถูกวิธีและถูกสุขอนามัยนะครับ
เราพบว่าในประเทศไทย มีสถานที่กำจัดขยะที่ถูกวิธีและมีมาตรฐาน เพียงแค่ ๑๕ เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมดนะครับ โดยปัจจุบันการกำจัดขยะที่นิยมก็คือแบบฝังกลบ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น มลพิษในดิน มลพิษทางน้ำ และมลพิษทางอากาศ นอกจากนี้เรายังมีปัญหาในเรื่องของ การนำเข้าขยะจากต่างประเทศ เพื่อป้อนเข้าโรงงานกำจัดขยะและโรงงานไฟฟ้าขยะ เนื่องจากขยะในประเทศไม่ได้มีการคัดแยกอย่างถูกวิธี จึงไม่สามารถนำมาใช้ในโรงงานกำจัด ขยะหรือโรงไฟฟ้าจากขยะทั้งหมด ผมขอยกกรณีปัญหาการจัดการขยะในจังหวัดนครสวรรค์ ภาพจากสื่อนะครับ ชาวบ้านร้องสื่อภูเขาขยะจังหวัดนครสวรรค์ส่งกลิ่นเหม็นปล่อยน้ำเสีย นานนับปี มีการร้องเรียนเรื่องมลพิษขยะที่ส่งกลิ่นเน่าเหม็น ขยะที่ปลิวว่อนจากแรงลมตกบน พื้นที่เกษตรและบ้านเรือนโดยรอบ รวมถึงน้ำเสียจากขยะ แม้จะอยู่ในพื้นที่ฝังกลบแต่ก็ส่งผล กระทบอยู่ดีกับประชาชนข้างเคียงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ท่านประธานครับสถานที่ แห่งนี้จากภาพ คือศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเทศบาลนครนครสวรรค์ ในพื้นที่ตำบลบ้านมะเกลือ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เป็นพื้นที่ฝังกลบที่มีพื้นที่กว่า ๒๖๖ ไร่ ปริมาณขยะในเขตเทศบาลทั้งหมดที่รับและรับพื้นที่ใกล้เคียงด้วย เริ่มเปิดพื้นที่ตั้งแต่ ปี ๒๕๔๑ เป็นระบบฝังกลบตามสุขาภิบาล (ไม่มีระบบบำบัดน้ำชะขยะและบ่อติดตาม การตรวจสอบคุณภาพใต้ดิน) จนถึงวันนี้ ๒๖ ปีแล้ว ที่ประชาชนตำบลบ้านมะเกลือต้อง ทนทุกข์กับกลิ่นเน่าเหม็นจากมลพิษของขยะที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพและชีวิต ความเป็นอยู่ และในกรณีนี้เองครับ ประชาชนตำบลบ้านมะเกลือได้เข้ามาร้องเรียนต่อ คณะกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ที่ผ่านมา ผมขอยกตัวอย่างใน Timeline นี้ บ่อขยะแห่งนี้ เพื่อให้เห็นภาพรวมแนวทาง การทำงานของรัฐท้องถิ่น บ่อขยะแห่งนี้เริ่มใช้พื้นที่ฝังกลบ เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๑ จากนั้นก็มีปัญหากระทบกระทั่งกับประชาชนในพื้นที่เรื่อยมา จนมาถึงปี ๒๕๖๓ มีการทำ สัญญาให้สิทธิเอกชนดำเนินโครงการก่อสร้างและบริหารจัดการระบบกำจัดขยะมูลฝอย และขยะบ่อฝังกลบเทศบาลนครสวรรค์ ซึ่งสัญญานี้ประชาชนในพื้นที่ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ขาดการประชาสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง เป็นการรวบรวมผู้คน มาแสดงความคิดเห็นในระบบจัดตั้ง ซึ่งเป็นวิธี Classic ของหน่วยงานที่ตั้งธงไว้ แล้วใช้ กระบวนการเพียงเป็นองค์ประกอบเพื่อให้ผ่านพ้นไป จึงเกิดการร้องเรียนและกระทบกระทั่ง กับประชาชนตลอดมา โครงการนี้ใช้เวลาก่อสร้างเนิ่นช้า เพิ่งส่งมอบไปเมื่อเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา เพื่อคัดแยกขยะในโรงงานแบบปิด นำขยะที่มีอยู่เดิมกว่า ๑ ล้านตันที่เป็นภูเขาขยะ มาคัดแยกเพื่อทำขยะเชื้อเพลิง หรือ Refill Delightful ท่านประธานครับ การจัดการขยะ ในจังหวัดนครสวรรค์ ปัจจุบันมีสถานที่กำจัดขยะทั้งหมด ๑๙ แห่ง มีเพียง ๔ แห่งเท่านั้น ที่มีระบบการกำจัดขยะที่ถูกต้อง ก็คือเทศบาลนครสวรรค์ เทศบาลตาคลี เทศบาลท่าตะโก เทศบาลชุมแสง โดยมีขยะมูลฝอยทั้งหมดทั้งจังหวัด ๘๓๖ ตันต่อวัน นำกลับมาใช้ได้ ๓๙๐ ตัน หรือ ๔๗ เปอร์เซ็นต์ กำจัดได้ถูกต้อง ๓๐๔ ตัน หรือ ๓๖ เปอร์เซ็นต์ แต่กำจัด ไม่ถูกต้อง ๑๔๒ ตัน หรือเท่ากับ ๑ ใน ๕ ของขยะทั้งหมด ต้องกองพะเนินอยู่ในที่กอง เก็บขยะ นั่นหมายความว่าเฉพาะจังหวัดนครสวรรค์แห่งเดียวจะมีขยะที่กำจัดไม่ถูกต้องถึง ๕๑,๘๓๐ ตันต่อปี ท่านประธานครับ ประชาชนตำบลมะเกลือแห่งนี้รับขยะจากพื้นที่ โดยรอบต้องทนทุกจากมลพิษขยะแทนพี่น้องร่วมบ้านเกิดในจังหวัดนครสวรรค์มากว่า ๒๐ ปี พวกเขาเล่าให้ฟังว่าเข็ดหลาบกับคำสัญญาของผู้นำท้องถิ่นในอดีตที่ให้ไว้ว่าจะคืนพื้นที่ทำ สวนสาธารณะ เมื่อ ๒๐ ปี เมื่อครบสัญญาแล้ว แต่ตอนนี้ยังเป็นกองภูเขาขยะอยู่ ภูเขาเข็ดหลาบ กับคำสัญญาที่เลื่อนลอยที่จะดูแลประชาชนในพื้นที่ดั่งญาติมิตร บอกว่าจะชดเชยความทุกข์ ด้วยสวัสดิการและบริการสาธารณะที่ดี ซึ่งยังไม่เป็นจริง พวกเขาเล่าให้ฟังอีกว่า พวกเขา ไม่ได้คัดค้านหรือขัดขวางการพัฒนา แต่ว่าการพัฒนาใด ๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับฟัง ประชาชนอย่างตั้งใจและรักษาคำสัญญาไว้อย่างซื่อตรง สำหรับข้อเสนอแนะมีหลายเรื่องที่ ดอกเตอร์พูนศักดิ์ เพื่อนของผมได้นำเสนอไปแล้ว ผมขอนำเสนออย่างกระชับ ๔ ด้าน คือ ๑. เราต้องวางกลไกกลางในการกำกับดูแลมาตรฐานการจัดการขยะทั้งประเทศ ๒. คือยกระดับอำนาจหน้าที่ ความสามารถของหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ๓. คือเพิ่ม อำนาจและงบประมาณท้องถิ่นในการบริการจัดการขยะ แล้วก็ ๔. คือสร้างแรงจูงใจสำหรับ การจัดการขยะ เช่น การลดหย่อนภาษีสำหรับการใช้เทคโนโลยีจัดการขยะ ท้ายนี้ผมขอ สนับสนุนญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหา เรื่อง การบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขอบพระคุณครับ
เรียนท่านประธาน กฤษฐ์หิรัญ ๐๑๐ แสดงตนครับ
๐๑๐ ครับ
เรียนท่านประธานสภา กระผม กฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ เขตเลือกตั้ง ที่ ๑ คนปากน้ำโพ พรรคก้าวไกล วันนี้ขอหารือท่านประธานสภาทั้งหมด ๓ เรื่อง ขอสไลด์ครับ
เรื่องแรก เป็นอุบัติเหตุรถไฟ ชนรถ Trailer เป็นรถ Backhoe ที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ วันที่ ๑๙ มกราคม จากเหตุเป็นรถ Trailer ติดร่องขอบถนน จากภาพนี้ไม่มีการลดความเร็วเลย จะเห็นได้ว่า จากภาพนี้ไม่มีการลดความเร็ว จึงขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทยทบทวนเรื่องความ ปลอดภัยไม่ให้เกิดเหตุเรื่องนี้ซ้ำอีก แล้วผมก็ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตครับ เป็นพนักงานรถไฟ ๑ ราย
เรื่องถัดไป เป็นเรื่องของรถไฟเหมือนกัน เป็นการก่อสร้างรถไฟรางคู่ที่ล่าช้า สัญญาช่วงที่ ๒ ท่าแค-ปากน้ำโพ มูลค่ากว่า ๘,๖๔๙ ล้านบาท มีการก่อสร้างเริ่มตั้งแต่ กุมภาพันธ์ปี ๒๕๖๑ ถึงปี ๒๕๖๔ มีการขยายเวลาให้แล้วจากโควิดถึงปี ๒๕๖๕ ตอนนี้ เดือนมิถุนายนคืบหน้าเพียง ๗๘ เปอร์เซ็นต์ และเป็นเส้นทางที่ล่าช้าที่สุดในเรื่องของ การรถไฟ
เรื่องต่อไป เป็นเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เรื่องการตั้งด่าน ที่ถี่ยิบจนประชาชนนครสวรรค์ค่อนขอดว่า นครสวรรค์เมืองร้อยด่าน หรือด่านรถเด็ดปากน้ำโพ ผมสังเกตด้วยตนเองว่าไปพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ด่านจังหวัดผมนี่เยอะกว่าทุกที่จริง ๆ ครับ และสถิติก็ไม่ได้ทำให้อุบัติเหตุลดลง จากข้อมูลอุบัติเหตุปี ๒๕๖๕ มีผู้เสียชีวิต ๑๑ ราย และปีนี้ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น ๑๕ ราย มีประชาชนร้องเรียนมาเป็นระยะเข้ามาถึงการปรับป่า ผมไม่แน่ใจความหมายนี้หมายความว่าอย่างไร วอนถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติทบทวน การทำงานของ สภอ. เมืองนครสวรรค์
ท้ายนี้ผมขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชน นักท่องเที่ยว ร่วมงานประเพณี แห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพจังหวัดนครสวรรค์ หรือ ๑๐๐ ปีมหัศจรรย์สีสันแห่งศรัทธา วันที่ ๓-๑๔ กุมภาพันธ์ ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภา กระผม กฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ เขตเลือกตั้ง ที่ ๑ คนปากน้ำโพ พรรคก้าวไกล กระผมขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายสนับสนุนแนวทาง การพิจารณาการพัฒนาระบบบำนาญพื้นฐานเพื่อประชาชน และขอชื่นชมคณะอนุ กรรมาธิการทุกท่านที่ได้เข้ามารายงานต่อสภา และขอสนับสนุนด้วยความตั้งใจอย่างยิ่ง เพื่อให้ทำโครงการนี้สำเร็จ ในประเทศไทยครับท่านประธาน เราได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยก่อนประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ จำนวนและสัดส่วนผู้สูงอายุของไทยกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ผู้สูงอายุของไทยจำนวนมาก ยังไม่มีความมั่นคง หรือที่เรียกว่าแก่ก่อนวัย แก่ก่อนรวย ที่ผ่านมาระบบการดูแลผู้สูงอายุ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน การจ่ายเบี้ยยังชีพยังเป็น ขั้นบันไดตามช่วงอายุ ก็คือ ๖๐๐-๑,๐๐๐ บาท โดยไม่มีการปรับเพิ่มมาตั้งแต่ ปี ๒๕๕๖ การดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยติดบ้านติดเตียง มีการจัดสรรทรัพยากรที่จำกัดและไม่เป็นไป ในลักษณะเป็นการสงเคราะห์มากกว่าเป็นสวัสดิการอย่างแท้จริง จากการลงพื้นที่ของผม พบพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งผมลงพื้นที่ทุกวันจันทร์ช่วงเย็น เพื่อพบปะ พ่อแม่พี่น้องประชาชนคนป่วย เยี่ยมคนป่วยที่ติดบ้านติดเตียงในพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ ผมอาจจะ มีของเยี่ยมไปเล็กน้อย นมไม่กี่กล่อง แต่ว่าความตั้งใจของผมก็คือเพื่อไปให้กำลังใจเขา เพื่อไปดูความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ ผมลงพื้นที่ทุกวันจันทร์เย็น ตอนนี้กว่า ๓๐ ชุมชน แล้วก็ตั้งใจจะไปให้ครบทุกพื้นที่ ในพื้นที่ของผมที่เป็นผู้แทนราษฎรอยู่ จากรายงานฉบับนี้ที่บอกธนาคารโลกเคยประเมินในปี ๒๕๖๑ ว่าคนไทย ๖.๗ ล้านคน หรือราว ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของประชากร จะมีรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจน ซึ่งตัวเลขนี้อยู่ที่ ๒,๗๖๓ บาทต่อคนต่อเดือน รายงานฉบับนี้ ในหน้าที่ ๙ พูดถึงตัวเลขที่น่าสนใจครับ เป็นเรื่องของจำนวนผู้สูงอายุ และร้อยละต่อจำนวนประชากร โดยผู้สูงอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป ในปี ๒๕๖๓ มีจำนวนทั้งสิ้น ๑๒.๖ ล้านคน หรือประมาณ ๑๙ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๑ ใน ๕ จากนั้นอีก ๑๐ ปี ปี ๒๕๗๓ เพิ่มเป็น ๑๗.๖ ล้านคน หรือประมาณ ๑ ใน ๔ ๒๗ เปอร์เซ็นต์ ๒๐ ปีถัดไป ปี ๒๕๘๓ ผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น ๒๐.๕ ล้านคน หรือกว่า ๓๒ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๑ ใน ๓ ของประชากร เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนคงตระหนักดี ทุกคนคงทราบดีนะครับ ผมมาดูข้อมูลของจังหวัดนครสวรรค์นะครับ จังหวัดนครสวรรค์ ปี ๒๕๖๖ มีผู้สูงอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป กว่า ๒๔๐,๐๐๗ คน หรือกว่า ๒๓ เปอร์เซ็นต์ ในนี้มีผู้สูงอายุที่เป็นผู้สูงอายุ อายุ ๑๐๐ ปีพอดี ชาย ๘๕ คน หญิง ๗๗ คนนะครับ แล้วก็ผู้สูงอายุที่เกิน ๑๐๐ ปี ของจังหวัดนครสวรรค์คนที่สูงอายุเยอะทีเดียวเพศชายและเพศหญิง ๓๓๗ คน แต่แน่นอน ผู้สูงอายุที่อายุมากขณะนี้ในการดูแลตนเองคงลำบาก หากเขาไม่มีเงินเก็บเพียงพอ แล้วต้อง อาศัยเบี้ยผู้สูงอายุที่ได้รับเพียง ๖๐๐ บาท ๗๐๐ บาท ๘๐๐ บาทต่อเดือน น่าจะไม่เพียงพอ ต่อการดำรงชีวิตนะครับ จากข้อมูลของท่านอนุกรรมาธิการ เรื่องของการจัดสรรงบประมาณ ด้านสวัสดิการ งบประมาณท่านจัดสรรไว้ ๔๑๐,๓๗๐ ล้านบาท ที่เป็นตัวเลขที่นำเสนอ เป็นในส่วนของบำนาญข้าราชการกว่า ๓๒๒,๗๙๐ ล้านบาท เบี้ยยังชีพตอนนี้ที่เราได้รับก็คือ ๘๑,๕๘๐ ล้านบาทต่อประชากร ๑๑.๓ ล้านคน ซึ่งน้อยนิดนะครับ ผมขอสรุปข้อมูล ในรายงานเล่มนี้ อยากจะถามท่านอนุกรรมาธิการ ๓ ข้อนะครับ
ข้อแรก จากรายงาน หน้า ๒๓ ว่าด้วยคุณสมบัติและเงื่อนไขของผู้ที่ได้รับ บำนาญในต่างประเทศ อาทิ ประเทศแคนาดา ประเทศเดนมาร์ก ประเทศกรีซนะครับ ประเทศแคนาดา ผู้สูงอายุที่ได้รับบำนาญตามข้อกำหนด อายุ ๖๕ ปีขึ้นไป ประเทศเดนมาร์ก ๖๕ ปี ประเทศกรีซ ๖๗ ปี ประเทศไอร์แลนด์ ๖๗ ปี ประเทศอิสราเอล ๖๗ ปี ประเทศ เนเธอร์แลนด์ ๖๖ ปี ประเทศนิวซีแลนด์ ๖๕ ปี สิ่งที่จะถามท่านก็คือตัวเลขผู้สูงอายุที่ในแต่ ละประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว เหตุใดที่เขาให้ผู้สูงอายุในช่วงอายุที่มากกว่าเรา ให้ตอนที่อายุ ๖๐ ปี อยากจะสอบถามท่านเรื่องนี้ เป็นเพราะว่าพวกเขาแข็งแรงกว่าผู้สูงอายุ คนไทยหรือไม่นะครับ
เรื่องที่ ๒ ได้ยินว่ากันว่าการใช้นโยบายอยู่ UBI หรือรัฐสวัสดิการในลักษณะนี้ จะทำให้คนขี้เกียจหรือไม่ยอมทำงาน หรือมีแนวโน้มที่จะเป็นอุปทานที่แรงงานหดตัวลง จริงหรือไม่อย่างไร อยากให้ท่านชี้แจงเรื่องนี้ เพราะผมยังไม่ได้รับข้อมูลในรายงานเรื่องนี้ครับ
เรื่องที่ ๓ ก็คือเรื่องของด้านที่มาของรายได้ มีหลายเรื่องที่ท่านได้หยิบยก เรื่องที่น่าสนใจ พูดถึงข้อเสนอด้านรายได้ ไม่ว่าจะเป็นงบจากกระทรวงการคลังที่เก็บภาษี ความมั่งคั่ง ภาษีกำไรจากอสังหาริมทรัพย์ หรือแม้กระทั่งของกระทรวงสาธารณสุขโดยการ เก็บภาษีธุรกิจ กระท่อม กัญชา ที่น่าสนใจคือภาษีในเรื่องของหวยนะครับ เรื่องนี้อยากให้ ท่านชี้แจงเพิ่มเติมเพื่อจะสื่อสารกับพี่น้องประชาชน แล้วก็ท้ายนี้ครับ ขอสนับสนุนรายงาน ของคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร เรื่อง การพัฒนาระบบบำนาญ พื้นฐานประชาชนครับ ขอบคุณครับ